Little Toys (1933)


Little Toy

Little Toys (1933) Chinese : Sun Yu ♥♥♥♡

Ruan Lingyu รับบทนักประดิษฐ์ของเด็กเล่น กิจการเล็กๆภายในครอบครัว แต่เมื่อเกิดการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงอาวุธสงคราม ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ กลายสภาพเป็นหนังชวนเชื่อ ปลุกกระแสรักชาตินิยม ภาคภูมิใจในสิ่งของผลิตทำเองในประเทศ สามารถต่อกรมหาอำนาจชาติอื่นได้ไม่น้อยหน้า

ก่อนอื่นต้องเอ่ยปากชื่นชมแนวคิดของหนัง ผมว่ามันเจ๋งเป้งมากๆเลยนะที่เปรียบเทียบของเด็กเล่น กับอาวุธสงคราม แต่เนื้อหาสาระที่คือการชวนเชื่อ ‘Propaganda’ ดูขัดย้อนแย้งกันเองซะงั้น!

การเปรียบเทียบ อาวุธสงคราม=ของเด็กเล่น จริงๆมันควรที่จะเป็นหนังแนวต่อต้านสงคราม ‘Anti-Wars’ สะท้อนแนวคิดเทคโนโลยีไม่สมควรตกไปอยู่ในมือของบุคคลผู้ไม่รู้ความสำคัญ หรือใช้มันเพื่อสนองความต้องการตนเองเท่านั้น

สิ่งบ้าคลั่งอย่างหนึ่งของหนังเงียบเรื่องนี้ คือความพยายามผสมผสานของเด็กเล่น กับอาวุธสงคราม ช่วงท้ายที่ตัวละครของ Ruan Lingyu เกิดอาการคลุ้มคลั่งเสียสติแตก (คล้ายๆ PTSD) นั่นสามารถตีความว่า เธอไม่สามารถแยกระหว่าง ของเด็กเล่น-อาวุธสงครามจริงๆ ออกจากกันได้

Sun Yu (1900 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติจีน เกิดที่ Chongqing ด้วยความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Tsinghua University, Beijing แล้วไปต่อสาขาการแสดงยัง University of Wisconsin–Madison พบเห็นอนาคตของวงการภาพยนตร์ ศึกษาการถ่ายภาพ/ตัดต่อ New York Institute of Photography และเขียนบทที่ Columbia University, กลับมาประเทศจีน 1926 เข้าร่วม Minxin Film Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก A Romantic Swordsman (1928), แต่มาแจ้งเกิดประสบความสำเร็จกับสตูดิโอ Lianhua บุกเบิก ‘Leftist Movement’ ผลงานเด่นๆ อาทิ Wild Rose (1932), Loving Blood of the Volcano (1932), Daybreak (1933), Little Toys (1933), The Big Road (1934) ฯ

หลายปีก่อนการมาถึงของ Second Sino-Japanese War (1937 – 1945) ญี่ปุ่นทะยอยส่งกองกำลังทหารเข้ารุกรานประเทศจีนอยู่เรื่อยๆ ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์ก้าวล้ำกว่า ทั้งเครื่องบิน ระเบิด ปืนกล ฯ สร้างความได้เปรียบอย่างมาก ผู้กำกับ Sun Yu เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ กลายมาเป็น Little Toys (1933) และ The Big Road (1934)

เรื่องราวของ Sister Ye (รับบททโดย Ruan Lingyu) นักประดิษฐ์ของเล่นประจำหมู่บ้าน ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่แล้วโศกนาฎกรรมเกิดขึ้นวันที่สามีล้มป่วยเสียชีวิต และลูกชายคนเล็กถูกลักพาตัวไปขายให้เศรษฐินีที่เซี่ยงไฮ้ ไม่นานหลังจากนั้นหมู่บ้านของเธอกลายเป็นสนามรบพุ่ง ทำให้ต้องออกเดินทางย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัย

สิบปีถัดมา ลูกสาวคนโตเติบโตขึ้น Zhu’er (รับบทโดย Li Lili) กลายเป็นนักประดิษฐ์ของเล่นเหมือนแม่ เฉลียวฉลาดเก่งกว่าด้วย แต่แล้วหมู่บ้านดังกล่าวกลายเป็นสถานรบพุ่งกับกองทัพญี่ปุ่น พ่ายแพ้ย่อมยับเกิดการสูญเสียมากมาย

แม่ผู้ยังคงมีชีวิตอยู่ ในวันตรุษจีน สวมชุดขาดๆท่ามกลางนครเซี่ยงไฮ้ ลูกชายแท้ๆของเธอมาซื้อของเล่นดันจดจำไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันพบเห็นภาพหลอน ส่งเสียงกรีดร้องราวกับคนบ้า เพรียกเรียกให้ฝูงชนตระเตรียมตัวต่อสู้รับมือทหารญี่ปุ่น อีกไม่นานต้องเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นอีกแน่

นำแสดงโดย Ruan Lingyu หรือ Ruan Fenggen (1910 – 1935) นักแสดงหญิงยุคหนังเงียบ เจ้าของฉายา ‘Greta Grabo แห่งวงการหนังจีน’ เกิดที่ Shanghai ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เล็ก แม่ทำงานเป็นคนรับใช้ พออายุ 16 ปี เซ็นสัญญากับ Mingxing Film Company แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก A Married Couple in Name Only (1926), เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก Spring Dream of an Old Capital (1930), ค้างฟ้ากับ Love and Duty (1931), Three Modern Women (1932), Little Toys (1933), The Goddness (1934), New Women (1934) และผลงานสุดท้าย National Customs (1935) ก่อนกินยาเกินขนาดฆ่าตัวตาย ขณะอายุเพียง 24 ปี

รับบท Sister Ye ชีวิตเริ่มจากรอยยิ้ม แต่ด้วยความยากลำบาก ต้องต่อสู้ดิ้นรนเหน็ดเหนื่อยหน่าย หลังสามีจากไปพร้อมลูกชาย หมดเรี่ยวแรงสิ้นหวังหดหู่ การเติบโตของลูกสาวสร้างความกระชุ่มกระชวย สุดท้ายกลับต้องเจ็บปวดรวดร้าวเพราะความสูญเสีย จนแทบคลุ้มคลั่งเสียสติแตก

ให้ตายเถอะ! บทบาทนี้ของ Ruan Lingyu แทบจะครอบจักรวาล ทุกสีหน้าอารมณ์ถูกถ่ายทอดออกมา เวลายิ้มร่าเริงโลกสวยสดใส แต่พอทุกข์เศร้าโศกสูญเสียโลกทั้งใบแทบพังทลายลงมา สมฉายา ‘Greta Grabo แห่งวงการหนังจีน’ และว่าที่ Superstar อันดับหนึ่งของประเทศจีน (ปี 1933 ยังได้ที่สองอยู่นะ) สามารถถ่ายทอดความลุ่มลึกออกจากภายในได้อย่างหลากหลายทรงพลัง

อีกหนึ่งนักแสดงสมทบที่มาร่วมสร้างสีสัน Li Lili ชื่อจริง Qian Zhenzhen (1915 – 2005) นักร้อง/นักแสดงชาวจีน เกิดที่ Beijing ด้วยความชื่นชอบร้องเล่นเต้นตั้งแต่เด็ก เลยถูกส่งมาเซี่ยงไฮ้ เข้าร่วม China Song & Dance Troupe (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Bright Moon Song and Dance Troupe) ซึ่งชื่อในวงการของเธอมาจากหัวหน้าคณะ Li Jihui ประสบความสำเร็จล้นหลามในช่วงทศวรรษ 20s ก่อนผนวกรวมกับ Lianhua Film Company เมื่อปี 1931 สู่วงการภาพยนตร์กลายเป็นขาประจำของผู้กำกับ Sun Yu ตั้งแต่ Loving Blood of the Volcano (1932), Daybreak (1933), Little Toys (1933), The Big Road (1934) ฯ

รับบท Zhu’er บุตรสาวคนสวยของแม่ Ye ต้องถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ชีวิตยังเต็มไปด้วยความสนุกสนานร่าเริง สดใสไร้เดียงสา ยังชอบเล่นเหมือนเด็ก ถูกหนุ่มๆมากมายหมายตา แต่ไม่น่าเลยโดนลูกหลงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

Li Lili ก่อนกลายเป็นอีกหนึ่งนักแสดงอมตะชาวจีน ภาพลักษณ์ของเธอคือสาวบ้านๆนอกคอกนา นิสัยขี้เล่นไร้เดียงสา ที่รักของใครๆ แต่รัศมีการแสดงของเธอเรื่องนี้ แค่คอยแย่งซีนเฉยๆ ยังห่างชั้นกว่าพรสวรรค์ของ Ruan Lingyu อยู่มากโขทีเดียว

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Sun Yu แม้รับเอาอิทธิพลจากตะวันตกมาเยอะทีเดียว แต่ก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นหลังประเทศจีน อาทิ ฉากเปิดเรื่องด้วยการล่องเรือ นำเสนอภาพวิถีชีวิตชนบทอันเรียบง่าย ฯ

บ่อยครั้งพบเห็นระยะภาพ Close-Up จับจ้องใบหน้าตัวละคร เพื่อถ่ายทอดสีหน้าอารมณ์นักแสดงออกมาอย่างชัดๆ โดยเฉพาะ Ruan Lingyu ผมรู้สึกว่ามีการเลือกใช้สัมผัสแสงที่แตกต่างออกไป(ตามอารมณ์) แต่คุณภาพฟีล์มที่หลงเหลือถึงปัจจุบัน สังเกตได้ไม่เด่นชัดสักเท่าไหร่

สิ่งโดดเด่นมากๆของหนังคือการตัดต่อ รับอิทธิพลเต็มๆจาก Soviet Montage (Sun Yu คือผู้กำกับคนแรกของจีนที่นำเทคนิคนี้มาใช้) โดยเฉพาะการเปรียบเทียบของเด็กเล่นกับอาวุธสงคราม แต่ก็มีอย่างอื่นด้วยนะ อาทิ ของเล่นชิ้นใหม่กับสามีที่กำลังถูกรุมแกล้ง, หรือการซ้อนภาพใบหน้าของ Ruan Lingyu กับภาพสงครามที่เพิ่งผ่านพ้นไป ฯ

นอกจากนี้ยังมีการร้อยเรียงชุดภาพต่อเนื่อง พรรณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ ประดิษฐ์ของเล่นทำมือ สร้างของเล่นในโรงงานเปิดใหม่ หรือฉากต่อสู้รบพุ่ง ฯ ลักษณะดังกล่าวมักได้รับการเปรียบเทียบเหมือนบทกวี

Little Toys ของเล่นเด็ก สิ่งประดิษฐ์ชิ้นเล็กๆ ไม่น่าเชื่อจะสามารถวิวัฒนาการ แปรสภาพสู่อาวุธสงคราม ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ นำไปต่อสู้ศัตรู ปกป้องประเทศชาติจากภัยคุกคามภายนอก

ถึงความเจริญทางเทคโนโลยีจะเชื่องช้าล้าหลังกว่าต่างประเทศ/ชาติตะวันตก แต่ชนชาวจีนก็มีความเฉลียวฉลาด อัจฉริยภาพ ถ้าได้มีโอกาสศึกษาร่ำเรียนองค์ความรู้ ย่อมสามารถหวนกลับนำมาพัฒนา บริหารประเทศ สร้างโรงงาน ผลิตยุทโธปกรณ์ ต่อกรนานาอารยะได้อย่างเท่าทัดเทียม

ใจความชวนเชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ ชักนำให้เกิดความภาคภูมิในศักยภาพ สามารถของคนในชาติ แม้หลายๆอย่างอาจเชื่องช้าล้าหลังแต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจ ลงแรงแข็งขัน ย่อมสามารถต่อกรอริศัตรู(ญี่ปุ่น)ที่กำลังเข้ามารุกราน ขับไล่ออกจากผืนแผ่นดินแม่ของเราได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้หนังยังสอดแทรกประเด็น Feminist ผ่านตัวละครของ Ruan Lingyu ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆให้กับสตรีชาวจีน ที่ปกติแล้วคือช้างเท้าหลังบุรุษ ให้รู้จักกล้าครุ่นคิด ตัดสินใจ เด็ดเดี่ยวมั่นคง สร้างจุดเริ่มต้นของความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

ส่วนตัวชื่นชอบแนวคิดของหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจการแสดงของ Ruan Lingyu และหลายๆไดเรคชั่นผู้กำกับ Sun Yu ครบเครื่อง งดงาม คลาสสิก

แนะนำสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์จีน ยุคสมัย Leftist Movement, แฟนคลับของ Run Lingyu และ Li Lili ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม

คำโปรย | ของเล่นเด็ก Little Toys ของผู้กำกับ Sun Yu ได้กลายเป็นของเล่นผู้ใหญ่ในมือของ Ruan Lingyu
คุณภาพ | คลาสสิก
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

ใส่ความเห็น