Hyènes (1992)


Hyènes (1992) Senegalese : Djibril Diop Mambéty ♥♥♥♥

ภาพยนตร์กึ่งสุขกึ่งโศก (Tragi-Comedy) เมื่อมหาเศรษฐีนีเดินทางกลับบ้านเกิด ณ Colobane, Senegal พร้อมมอบเงินก้อนใหญ่ ให้ใครก็ตามลงมือเข่นฆาตกรรมอดีตชู้รัก เคยข่มขืนตนเองตอนอายุ 17 จนตั้งครรภ์ ระหว่างศีลธรรม ความถูกต้อง หรืออำนาจของเงิน ชาวบ้านแห่งนี้จะตัดสินใจเช่นไร?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เกร็ด: Hyènes หรือ Hyenas สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กินเนื้อ รูปร่างคล้ายสุนัขหรือหมาป่า กระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปแอฟริกา (และบางส่วนของอาหรับ อินเดีย) มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง (เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และเพื่อป้องกันการกินลูกของตนเอง) เป็นสัตว์กินไม่เลือก แม้แต่กระดูก ซากสัตว์ ขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าเล่ห์เพทุบาย และมีเสียงร้องเหมือนกับเสียงหัวเราะ

มนุษย์ไฮยีน่า คล้ายๆกับพวกแมงดา คือบุคคลที่ชอบกอบโกย เกาะกิน แสวงหาผลประโยชน์(จากความเดือดร้อน)ของผู้อื่น ในบริบทของหนังก็คือชาวเมือง Colobane ที่พอมหาเศรษฐีนี Linguere Ramatou ผู้ร่ำรวยยิ่งกว่าธนาคารโลกเดินทางกลับมา ก็พร้อมเลียแข้งเลียขา ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เศษเงินทอง นำมาสนองความสุขสำราญ ใช้ข้ออ้างความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ทอดทิ้งหลักศีลธรรม ตกเป็นทาสลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ไม่ต่างจากการถูกล่าอาณานิคม (Neo-Colonialism)

ความประทับใจจาก Touki Bouki (1973) ทำให้ผมขวนขวายมองหาผลงานอื่นของผกก. Djibril Diop Mambéty พอค้นพบว่า Hyènes (1992) ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว จะให้พลาดได้อย่างไร แค่ช็อตแรกๆก็อ้าปากค้าง ภาพสวยชิบหาย พยายามย้อมเหลือง-ทอง เพื่อสร้างความมันวาว เปร่งประกายให้กับสีผิวชาวแอฟริกัน แม้ลีลาการกำกับ ลูกเล่นภาพยนตร์จะไม่แพรวพราวเท่าผลงานก่อน แต่เนื้อเรื่องราวแฝงสาระข้อคิด มีความทรงคุณค่ายิ่งๆนัก


Djibril Diop Mambéty (1945-1998) นักกวี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Senegalese เกิดที่ Colobane ชานเมืองหลวง Dakar, Senegal ในครอบครัวมุสลิม ชนเผ่า Lebou แม้ฐานะยากจนแต่มักหาโอกาสรับชมภาพยนตร์ฉายกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน แค่เพียงฟังเสียงอยู่ข้างนอกก็ยังดี (นั่นคือหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เสียงในผลงานของ Mambéty มีความสำคัญอย่างมากๆ) โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano แต่ไม่ทันไรกลับถูกไล่ออกเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

แม้ไม่เคยร่ำเรียนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้วยความหลงใหลใน Italian Neorealist และ French New Wave เมื่อตอนอายุ 21 ปี ขอหยิบยืมกล้อง 16mm จาก French Cultural Centre ร่วมกับผองเพื่อนถ่ายทำหนังสั้น Badou Boy (1966) [แล้วรีเมค Badou Boy (1970)] บันทึกการเดินทางของชายหนุ่ม Badou Boy ตามท้องถนนหนทางเมือง Dakar [น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Borom Sarret (1963) ของ Ousmane Sembène] เข้าฉายเทศกาลหนัง Mondial des Arts Nègres (จัดที่ Dakar) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Touki Bouki (1973) ผกก. Mambéty ก็สูญหายตัวไปอย่างลึกลับกว่า 15+ ปี ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าเอาเวลาไปทำอะไร (คงคล้ายๆ Terrence Malick ที่ก็หายตัวไปเกือบ 20 ปี น่าจะออกค้นหาตัวตนเองกระมัง) บทสัมภาษณ์ที่พบเจอให้คำอธิบายประมาณว่า

I loved pictures when I was a very young boy — but pictures didn’t mean cinema to me then. When I was young, I preferred acting to making pictures. So I decided to study drama, but one day in the theater, I realized that I love pictures. That was how I found myself in this thing called cinema. From time to time, I want to make a film, but I am not a filmmaker; I have never been a filmmaker.

Djibril Diop Mambéty

ผกก. Mambéty หวนกลับมายุ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์อีกครั้ง จากการช่วยงานเพื่อนผกก. Idrissa Ouedraogo ถ่ายทำภาพยนตร์ Yaaba (1989) ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าตัวยังได้ถ่ายทำสารคดีขนาดสั้น บันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำ Parlons Grand-mère (1989)

สำหรับ Hyènes (1992) มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการติดตามหา(จิตวิญญาณ)ตัวละคร Anta จากภาพยนตร์ Touki Bouki (1973) ที่ตอนจบตัดสินใจขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส (ไม่ใช่ค้นหานักแสดง Mareme Niang ที่รับบท Anta นะครับ) อยากรับรู้ว่าเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน โชคชะตาของเธอจะปรับเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

I began to make Hyènes when I realized I absolutely had to find one of the characters in Touki Bouki, which I had made twenty years before. This is Anta, the girl who had the courage to leave Africa and cross the Atlantic alone. When I set out to find her again, I had the conviction that I was looking for a character from somewhere in my childhood. I had a vision that I already had encountered this character in a film. Ultimately, I found her in a play called The Visit (1956) by Friedrich Dürrenmatt. I had the freedom and confidence to marry his text with my film and make his story my own.

หลังจากใช้เวลาครุ่นคิดค้นหาอยู่สักพักใหญ่ๆ ผกก. Mambéty ก็ได้ค้นพบ(จิตวิญญาณ)ตัวละคร Anta อยู่ในบทละคอนสามองก์ แนวกึ่งโศกนาฏกรรมกึ่งสุขนาฏกรรม (Tragi-Comedy) เรื่อง The Visit (1956) แต่งโดย Friedrich Dürrenmatt (1921-90) นักเขียนชาว Swiss ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ Schauspielhaus Zürich, Switzerland เมื่อปี ค.ศ. 1956 ประสบความสำเร็จจนมีโอกาสเดินทางไป West-End และ Broadway ในปีถัดๆมา

เกร็ด: ชื่อเต็มๆของบทละคอนนี้คือ (เยอรมัน) Der Besuch der alten Dame, (ฝรั่งเศส) La visite de la vieille dame, (อังกฤษ) The Visit of the Old Lady

เกร็ด 2: ก่อนหน้านี้มีการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ The Visit (1964) กำกับโดย Bernhard Wicki, นำแสดงโดย Ingrid Bergman และ Anthony Quinn เสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่ อาจเพราะมีการปรับเปลี่ยนตอนจบ Happy Ending สไตล์ Hollywood

อธิบายแบบนี้หลายคนคงครุ่นคิดว่า Hyènes (1992) คือภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) แต่ผกก. Mambéty ไม่ได้จำกัดตนเองอยู่ภายในกรอบนั้น รวมถึงการดัดแปลงบทละคอน The Visit ที่ก็มีเพียงพล็อตดราม่าหลวมๆ แต่รายละเอียดอื่นๆล้วนคืออิสรภาพในการสร้างสรรค์ วิสัยทัศน์ของผู้สร้างในการถ่ายทอดเรื่องราวออกมา

I focused on the notion of freedom, which includes the freedom not to know. That implies confidence in your ability to construct images from the bottom of your heart. When artists converge on these images, there is no longer room for ethnic peculiarities; there is only room for talent. You mustn’t expect me to cut the patrimony of the mind into pieces and fragments. A film is a kind of meeting; there is giving and receiving. Now that I have made it, Hyènes belongs as much to the viewer as to me. You must have the freedom and confidence to understand and critique what you see.


เรื่องราวของมหาเศรษฐีนี Linguere Ramatou ผู้มีความร่ำรวยยิ่งกว่าธนาคารโลก ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด ณ Colobane, Senegal ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบรรดาชาวเมือง รวมถึงคนรักเก่า Dramaan Drameh คาดหวังให้เธอช่วยกอบกู้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมืองแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

แต่สิ่งที่ Linguere Ramatou เรียกร้องขอต่อชาวเมือง Colobane คือการเข่นฆาตกรรมอดีตคนรัก Dramaan Drameh เล่าว่าเมื่อตอนอายุ 17 โดนข่มขืนจนตั้งครรภ์ แล้วถูกขับไล่ ผลักไส กลายเป็นโสเภณี แล้วยังต้องเดินทางจากบ้านเกิดไปแสวงโชคยังต่างแดน

ในตอนแรกๆชาวเมืองต่างปฏิเสธเสียงขันแข็ง ด้วยข้ออ้างหลักศีลธรรมที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน จะให้เข่นฆ่าพวกพ้องมิตรสหายได้อย่างไรกัน นั่นทำให้ Linguere Ramatou ค่อยๆเอาวัตถุ ข้าวของ พัดลม ตู้เย็น ฯ สารพัดสิ่งอำนวยสะดวกสบายมาล่อซื้อใจ รวมถึงเศรษฐกิจของเมือง Colobane กลับมาเฟื่องฟู รุ่งเรือง นั่นทำให้ความครุ่นคิดของชาวเมืองค่อยๆผันแปรเปลี่ยน ก่อนในที่สุดจะตัดสินใจ …


ผกก. Mambéty โอบรับแนวคิดของ Italian Neorealism เลยเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์มาก่อน ล้วนคือชาวเมือง Colobane ที่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงภาพลักษณ์ตัวละคร

  • Dramaan Drameh (รับบทโดย Mansour Diouf) เจ้าของร้านขายของชำ ภายนอกเป็นคนอัธยาศัยดี มีไมตรีต่อเพื่อนพ้อง ขณะเดียวกันแอบหวาดกลัวภรรยา พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องชื่อเสียง ไม่ต้องการถูกตีตรา มีปัญหาเรื่องรักๆใคร่ๆ นั่นเพราะในอดีตเคยตกหลุมรัก แอบสานสัมพันธ์ Linguère Ramatou พลั้งพลาดทำเธอตั้งครรภ์ จ่ายสินบนให้พยานสองคน เพื่อตนเองจะได้รอดพ้นมลทิน
    • ผมไม่สามารถหารายละเอียดใดๆเกี่ยวกับ Mansour Diouf แต่ความน่าสนใจคือภาพลักษณ์ที่ดูไม่เหมือนบุคคลโฉดชั่วร้าย แถมยังอัธยาศัยดี มีมิตรไมตรีต่อเพื่อนพ้อง คำกล่าวอ้างของ Linguère Ramatou หลายคนอาจรู้สึกฟังไม่ขึ้น หลักฐานไม่เพียงพอ เกิดความสงสารเห็นใจ เหมือนถูกกลั่นแกล้ง/ผลกรรมตามทัน ท่าทางห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ค่อยๆยินยอมรับสภาพความจริง เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่มีอะไรจะพูดก่อนตาย
  • Linguère Ramatou (รับบทโดย Ami Diakhate) หญิงสูงวัยผู้พานเคยผ่านอะไรมามาก หลังโดนข่มขืน ตั้งครรภ์ ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน กลายเป็นโสเภณี ไต่เต้าจนกลายเป็นเศรษฐีนี หลังเอาตัวรอดจากเหตุการณ์เครื่องบินตก แขน-ขาพิการ ทำให้เธอตัดสินใจหวนกลับบ้านเกิดเพื่อล้างแค้น เอาคืน ไม่มีอะไรให้หวาดกลัวเกรงความตาย
    • ผมอ่านเจอว่าผกก. Mambéty พบเจอ Ami Diakhate เป็นแม่ค้าขายซุป (น่าจะก๋วยเตี๋ยว) อยู่ในตลาดเมือง Daker ด้วยน้ำเสียงหยาบกระด้าง เหมือนคนกร้านโลก พานผ่านอะไรมามาก และท่าทางเริดเชิด เย่อหยิ่งยโสโอหัง เหมาะกับบทนางร้าย มหาเศรษฐีนี จิตใจเลวทราม พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ล้างแค้น โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว อะไรทั้งนั้น
  • ผกก. Mambéty ยังรับบทตัวละครชื่อ Gaana ทีแรกผมนึกว่าคือบอดี้การ์ดของ Linguère Ramatou แต่แท้จริงแล้วคืออดีตผู้นำหมู่บ้าน Colobane ถูกใส่ร้ายป้ายสีหรืออะไรสักอย่าง ทำให้สูญเสียตำแหน่งของตนเอง ซึ่งก็ไม่รู้มีโอกาสไปพบเจอ ต่อรองอะไรถึงยินยอมร่วมมือกับ Ramatou เพื่อทำการยึดครอบครอง Colobane ปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็น …
    • ผมยังครุ่นคิดไม่ตกว่าทำไมผกก. Mambéty ถึงตัดสินใจเลือกรับบทบาทนี้ เหมือนตัวเขามีความเพ้อฝัน อยากจะฟื้นฟูบ้านเกิด Colobane ให้มีความรุ่งเรือง ไม่ใช่เสื่อมโทรมอย่างที่อาจเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น

ผมอ่านเจอว่าต้นฉบับบทละคร The Visitor ตัวละครมหาเศรษฐีนี Claire Zachanassian เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เมื่อหวนกลับบ้านเกิดจึงมีพวกนักข่าว ปาปารัสซี่ ติดสอยห้อยติดตาม ถ่ายภาพทำข่าวไม่ยอมเหินห่าง แต่ภาพยนตร์ของผกก. Mambéty เลือกตัดทิ้งความวุ่นๆวายๆนั้นไป ปรับเปลี่ยนมาเป็นบอดี้การ์ด และสาวรับใช้ 3-4 คน (หรือชู้รักก็ไม่รู้นะ) หนึ่งในนั้นคือหญิงชาวญี่ปุ่น ซึ่งดูผิดแผกแปลกประหลาดมากๆ เหตุผลก็คือ …

The point is not that she is Asian. The point is that everyone in Colobane–everyone everywhere–lives within a system of power that embraces the West, Africa, and the land of the rising sun. There is a scene where this woman comes in and reads: she reads of the vanity of life, the vanity of vengeance; that is totally universal. My goal was to make a continental film, one that crosses boundaries. To make Hyènes even more continental, we borrowed elephants from the Masai of Kenya, hyenas from Uganda, and people from Senegal. And to make it global, we borrowed somebody from Japan, and carnival scenes from the annual Carnival of Humanity of the French Communist Party in Paris. All of these are intended to open the horizons, to make the film universal. The film depicts a human drama. My task was to identify the enemy of humankind: money, the International Monetary Fund, and the World Bank. I think my target is clear.

Djibril Diop Mambéty

ถ่ายภาพโดย Matthias Kälin (1953-2008) ตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์/สารคดี สัญชาติ Swiss ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), สารคดี Lumumba: Death of a Prophet (1991), Hyènes (1992) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้แพราวพราวด้วยลูกเล่น ลีลาภาพยนตร์เหมือนกับ Touki Bouki (1973) แต่มีการย้อมสีเหลือง-ทอง เพื่อสร้างความมันวาว กลมกลืนเข้ากับพื้นหลังดินลูกรัง ทะเลทราย และยังทำให้สีผิวชาวแอฟริกันดูโดดเด่น เปร่งประกาย … กล้องที่ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ผู้ชมสัมผัสเหือดแห้ง อดอยากปากแห้ง ดินแดนขาดความสดชื่น ไร้ชีวิตชีวา

การมาถึงของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou แม้นำพาพัดลม โทนสีฟ้า น้ำทะเล รวมถึงสีสันอื่นๆที่ทำให้ดูร่มเย็น คลายความร้อนจากแสงแดดแผดเผาชาวเมือง Colobane แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างความลุ่มร้อน มอดไหม้ทรวงใน เพราะข้อเรียกร้องของเธอบ่อนทำลายจิตวิญญาณผู้คน กำลังจะสูญสิ้นความเป็นมนุษย์


ทีแรกผมก็แอบงงๆ เพราะหนังชื่อ Hyènes (1992) แต่ภาพช็อตแรกกลับถ่ายให้เห็นฝูงช้างแอฟริกันกำลังอพยพ ก้าวออกเดิน ก่อนตัดมาภาพฝูงชนชาว Colobane ก็กำลังก้าวเดินเช่นกัน นี่เป็นความพยายามเปรียบเทียบคู่ขนานระหว่างมนุษย์ = สัตว์ เป็นภาษาภาพยนตร์ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้ง!

ไฮไลท์คือชื่อหนัง Hyènes ปรากฎขึ้นระหว่างฝูงชนกลุ่มนี้กำลังก้าวเดินขึ้นมา นี่เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาเลยว่ามนุษย์ = ไฮยีน่า

แซว: มันไม่ใช่ว่าภาพสรรพสัตว์เหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปใน Colobane, Senegal แต่ผกก. Mambéty เดินทางไปขอถ่ายทำสัตว์เหล่านี้ทั่วแอฟริกัน Kenya, Uganda ฯ

To make Hyènes even more continental, we borrowed elephants from the Masai of Kenya, hyenas from Uganda, and people from Senegal.

Djibril Diop Mambéty

เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังดำเนินเรื่องยังร้านอาหาร ขายของชำ สถานที่แห่งความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน ชวนให้ผมนึกถึงโรงเตี๊ยมของหนังจีน(กำลังภายใน) นี่แสดงให้เห็นว่าแม้วัฒนธรรม ชาติพันธุ์แตกต่างกัน แต่วิถีของมนุษย์ไม่ว่าจะซีกโลกไหน ล้วนมีบางสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึงกัน

ผู้นำหมู่บ้านนักเรียกประชุมแกนนำ สำหรับวางแผนเตรียมการต้อนรับ Linguère Ramatou ยังสถานที่ที่ชื่อว่า “Hyena Hole” แค่ชื่อก็บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง ซึ่งก่อนนำเข้าฉากนี้ยังพบเห็นฝูงอีแร้งบินโฉบลงมา มันคือสัตว์ชอบกินเศษเนื้อที่ตายแล้ว พฤติกรรมไม่แตกต่างจากไฮยีน่าสักเท่าไหร่ (อีแร้งฝูงนี้ = แกนนำหมู่บ้าน)

สถานที่แห่งนี้ “Hyena Hole” ยังมีสภาพปรักหักพัง ซึ่งแสดงถึงความเสื่อมทรามของเมือง Colobane ไม่ใช่แค่สภาพเศรษฐกิจ สังคม ยังผู้คนเหล่านี้ที่ทำตัวลับๆล่อๆ พูดคุยวางแผนที่จะแสวงหา กอบโกยผลประโยชน์จากเศรษฐีนี Ramatou ไม่ต่างจากพวกอีแร้งนี้สักเท่าไหร่

หนึ่งในการตัดต่อคู่ขนานที่งดงามอย่างมากๆ อยู่ระหว่างพิธีต้อนรับ Linguere Ramatou มีการล้อมเชือดวัว และหญิงชุดแดงทำการโยกเต้นเริงระบำ (ทำเหมือนยั่ววัว) ด้วยท่าทางอันสุดเหวี่ยงของเธอ สะท้อนการต่อสู้ดิ้นรนของเจ้าวัวที่ไม่ต้องการถูกเชือด ก่อนท้ายสุดจะดับดิ้น สิ้นชีวิน

ซีเควนซ์นี้ถือเป็นอารัมบท นำเข้าสู่เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ Dramaan Drameh จู่ๆตกเป็นบุคคลเป้าหมายของ Linguère Ramatou และช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ของหนัง บรรดาชาวบ้านทั้งหลายก็ห้อมล้อมเข้าหาชายคนนี้ โชคชะตาไม่ต่างจากเจ้าวัวกระทิง!

ผมเรียกว่า “Citizen Kane style” มุมก้ม-เงย ตำแหน่งสูง-ต่ำ แสดงถึงวิทยฐานะทางสังคมของตัวละคร ซึ่งในบริบทของหนังนี้ Linguère Ramatou พอกลายเป็นมหาเศรษฐีนี ก็ได้รับการยกย่องเทิดทูน ยืนอยู่เบื้องบน ทำตัวสูงส่งกว่าชาวบ้าน Colobane แทบจะไร้สิทธิ์เสียง ทำได้เพียงก้มหัวศิโรราบ แม้ครั้งนี้ศักดิ์ศรียังค้ำคอ แต่อีกไม่นานทุกคนจักถูกซื้อใจ จนไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

หลังจากค้นพบว่าตำรวจ และผู้นำหมู่บ้าน ถูกซื้อใจไปเรียบร้อยแล้ว Dramaan Drameh เดินลงมาชั้นล่าง สถานที่ประกอบพิธีมิสซาศาสนาคริสต์ คาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้คงไม่ได้รับผลกระทบ เงินซื้อไม่ได้ แต่กลับกลายเป็น … กล้องถ่ายผ่านโคมระย้า หรูหรา ราคาแพง พบเห็นใบหน้าของ Drameh สอดแทรกอยู่ตรงกลาง สื่อถึงการถูกห้อมล้อมทุกทิศทาง จนแทบไร้หนทางออก

ยามดึกดื่น Dramaan Drameh ต้องการจะขึ้นรถไฟ หลบหนีไปจากเมืองแห่งนี้ แต่กลับถูกปิดกั้นโดยชาวเมือง กรูเข้ามาห้อมล้อม ทำตัวไม่ต่างจากฝูงไฮยีน่าที่กำลังเฝ้ารอคอยเหยื่ออันโอชา จนกระทั่งรถไฟเคลื่อนออกจากชานชาลา นั่นทำให้เขาเกิดความตระหนักรับรู้ตนเองว่า คงไม่สามารถหลบหนีพ้นโชคชะตา

ซึ่งระหว่างกำลังนั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ขึ้น มีการแทรกภาพไฮยีน่าตัวหนึ่งกำลังคาบเหยื่อวิ่งหลบหนี … Dramaan Drameh ตกเป็นเหยื่อของ Linguère Ramatou เรียบร้อยแล้วสินะ!

ก่อนเข้าพิธีละหมาดวันศุกร์ ผู้นำหมู่บ้านและครูสอนหนังสือ เดินทางมาพูดคุยต่อรองกับ Linguère Ramatou ร้องขอให้เปิดโรงงาน เพื่อว่าเศรษฐกิจของเมืองจะได้กลับมาเฟื่องฟู แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ เพราะจุดประสงค์แท้จริงไม่ได้ต้องการแค่จะล้างแค้น Dramaan Drameh แต่ยังต้องการให้ชาวเมือง Colobane ติดหนี้ติดสิน ยากจนตลอดชีวิต!

เมื่อเธอพูดประโยคดังกล่าว มีการฉายภาพพระอาทิตย์ทรงกลด ผมไม่ค่อยแน่ใจความเชื่อของชาวแอฟริกัน เป็นไปได้ว่าอาจจะสื่อถึงลางร้าย หายนะ ภัยพิบัติที่กำลังมาเยี่ยมเยือน หรือก็คือโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับชาวเมือง Colobane

ด้วยความที่ครูสอนหนังสือตระหนักรับรู้โชคชะตาของ Dramaan Drameh จึงเดินทางมาดื่มเหล้า มึนเมา โหวกเหวกโวยวาย รับไม่ได้กับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น จากนั้นจิตรกรเอารูปภาพวาด (ของ Dramaan Drameh) ฟาดใส่ศีรษะ ห้อยคอต่องแต่ง แสดงถึงการสูญเสียตัวตน จิตวิญญาณ (ภาพวาดมักคือภาพสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณของบุคคลนั้นๆ)

Dramaan Drameh เดินทางมาพูดคุยต่อรองกับ Linguère Ramatou นั่งอยู่บนดาดฟ้า เหม่อมองออกไปยังท้องทะเลกว้างไกล ภาพนี้ชวนให้ผมนึกถึง Le Mépris (1963) ของผกก. Jean-Luc Godard และคุ้นๆว่า Touki Bouki (1973) ก็มีช็อตคล้ายๆกัน งดงามราวกับสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้นคือสัญลักษณ์ความตาย กลายเป็นนิจนิรันดร์

และวินาทีที่ Dramaan Drameh ถูกห้อมล้อม เข่นฆาตกรรม Linguère Ramatou ก็ก้าวเดินลงบันได ภายในเงามืด ซึ่งก็สามารถสื่อนัยยะถึงความตาย ลงสู่ขุมนรก ไม่แตกต่างกัน!

สถานที่แห่งนี้ชื่อว่า Elephant Cementery ชาวเมืองต่างสวมใส่วิกผม เสื้อกระสอบ ทาแป้งให้หน้าขาว เลียนแบบผู้พิพากษาของพวกยุโรป/สหรัฐอเมริกา ทำการตัดสินความผิดของ Dramaan Drameh อะไรก็ไม่รู้ละ แต่ลงโทษประหารชีวิตด้วยการห้อมล้อมกันเข้ามา แลดูเหมือนการย้ำเหยียบของฝูงช้าง หรือจะมองว่าคือการกัดแทะของไฮยีน่า (เพราะไม่หลงเหลือแม้เศษซากโครงกระดูก)

The people of Colobane are dressed in rice bags. They are hungry; they are ready to eat Draman Drameh. They are all disguised because no one wants to carry the individual responsibility for murder. So what they have in common is cowardice. For each individual to have clean hands, everybody has to be dirty, to share in the same communal guilt. So the people of Colobane become animals. Their hair makes them buffaloes. The only thing they have that is human is greed.

Djibril Diop Mambéty

หลังถูกกัดกินจากความละโมบโลภมากของชาวเมือง Colobane สิ่งหลงเหลือสำหรับ Dramaan Drameh มีเพียงเศษผ้าขี้ริ้ว ที่จะถูกรถแทรคเตอร์ดันดินลูกรังเข้ามากลบทับ จนราบเรียบ ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง สัญลักษณ์ของการถูกกลืนกินโดยลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) และอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) และพบเห็นต้นไม้ลิบๆ รากเหง้าชาวแอฟริกันที่กำลังเลือนหาย สูญสลาย หมดสิ้นไป

ตัดต่อโดย Loredana Cristelli (เกิดปี 1957) เกิดที่อิตาลี แล้วไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง Zürich ก่อนกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อภาพยนตร์ของ Alain Tanner, Jean-Luc Godard, Nicolas Gessnet, ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), Hyènes (1992) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Dramaan Drameh เจ้าของร้านขายของชำในเมือง Colobane, Senegal เมื่อได้ยินข่าวคราวการหวนกลับมาของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou ได้รับมอบหมายจากผู้นำหมู่บ้านให้มาคอยต้อนรับขับสู้ หาวิธีการให้เธอช่วยฟื้นฟูดูแลเมืองแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง แต่ผลลัพท์กลับแลกมาด้วยข้อเรียกร้องที่ทำให้ทุกคนเกิดอาการอ้ำอึ้ง กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

  • อารัมบท
    • เริ่มต้นด้วยคนงาน แวะเวียนมายังร้านขายของชำของ Dramaan Drameh
    • นำเสนอความยากจนข้นแค้นของเมือง Colobane
    • ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมแกนนำ วางแผนเตรียมการต้อนรับ Linguère Ramatou
  • การหวนกลับมาของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou
    • Linguère Ramatou เดินทางมาถึงพร้อมบอดี้การ์ดและสาวใช้ ได้รับการต้อนรับยังสถานีรถไฟ
    • Linguère Ramatou หวนระลึกความหลังกับ Dramaan Drameh
    • ระหว่างการเชือดวัว Linguère Ramatou ได้ป่าวประกาศข้อเรียกร้อง พร้อมมอบเงินจำนวนมหาศาลให้กับใครก็ตามที่ยินยอมเข่นฆ่า Dramaan Drameh
  • ชีวิตอันน่าเศร้าของ Dramaan Drameh
    • บรรดาชาวเมืองต่างได้รับสินบนจาก Linguère Ramatou แวะเวียนมายังร้านของ Dramaan Drameh จับจ่ายใช้สอยมือเติบโดยขอให้ขึ้นบัญชีเอาไว้
    • Dramaan Drameh พยายามขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ผู้นำชุมชุน แต่ก็ค้นพบว่าทุกคนต่างถูกซื้อตัวไปหมดสิ้น
    • ชาวบ้านเข้าร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ตรงกันข้ามกับ Dramaan Drameh ต้องการเดินทางไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ แต่กลับถูกยื้อยั้ง หักห้าม ตกอยู่ในความสิ้นหวัง
  • ความจริงเริ่มปรากฎ สันดานธาตุแท้ของผู้คนได้รับการเปิดเผย
    • ผู้นำหมู่บ้านพยายามต่อรองร้องขอ Linguère Ramatou ให้เปิดโรงงาน เศรษฐกิจชุมชนจะได้กลับฟื้นคืน แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ
    • นั่นทำให้ครูสอนหนังสือตระหนักถึงหายนะที่กำลังจะคืบคลานเข้ามา ดื่มสุรามึนเมา เศร้ากับโชคชะตาของ Dramaan Drameh
    • Dramaan Drameh ถูกผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุม ตัดสินโชคชะตา
    • การตัดสินโชคชะตาของ Dramaan Drameh

หนังอาจดำเนินเรื่องไปอย่างเชื่องช้า เพื่อให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศสถานที่ ความลุ่มร้อน แผดเผา จนมอดไหม้ทรวงใน แต่หลายๆครั้งยังมีการแทรกภาพสิงสาราสัตว์ ช้าง ม้า วัว (ไม่มีควาย) สุนัข ลิง ไฮยีนา ฯ เพื่อเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ก็สะท้อนถึงพฤติกรรมมนุษย์ขณะนั้นๆ

ซีเควนซ์ที่ผมชื่นชอบสุดก็คือขณะล้อมเชือดวัว (เพื่อเตรียมงานเลี้ยงฉลอง) มีการนำเสนอคู่ขนานชาวบ้านกำลังไล่ต้อน ห้อมล้อมรอบเจ้าวัว ตัดสลับกับหญิงสาวชุดแดงคนหนึ่ง กำลังโยกเต้นเริงระบำ ท่าทางดิ้นรน ตะเกียกตะกาย (เลียนแบบความตายของเจ้าวัว) จากนั้น Linguère Ramatou ป่าวประกาศข้อเรียกร้อง พร้อมมอบเงินจำนวนมหาศาลให้กับใครก็ตามที่ยินยอมเข่นฆ่า Dramaan Drameh … นัยยะเชิงสัญลักษณ์ของซีเควนซ์นี้ช่างละม้ายคล้ายสำนวนไทย ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’


เพลงประกอบโดย Wasis Diop (เกิดปี 1950) น้องชายผกก. Djibril Diop Mambéty สัญชาติ Senegalese, โตขึ้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ตั้งใจจะร่ำเรียนวิศวกรรม ก่อนหันเหความสนใจมาด้านดนตรี รวมกลุ่มกับ Umbañ U Kset ก่อตั้งวง West African Cosmos ไม่นานก็ออกมาฉายเดี่ยว โดดเด่นจากการผสมผสานดนตรีพื้นบ้าน (Senegalese Folk Song) เข้ากับ Jazz และ Pop Music, ก่อนแจ้งเกิดจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Hyènes (1992)

ทีแรกผมคาดหวังจะได้ยินบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน แต่เริ่มต้นกลับเป็นดนตรี Pop บางบทเพลงก็เป็น Jazz ได้ยินเสียงคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีไฟฟ้า ท่วงทำนองโหยหวน คร่ำครวญ ลากเสียงโน๊ตยาวๆ อาจต้องรับชมจนจบถึงค้นพบว่าหนังนำเสนอเรื่องราวอันน่าเศร้าสลด โศกนาฎกรรมที่สร้างความขัดแย้งภายในจิตใจ จะว่าไปให้ความรู้สึกคล้ายๆ Funeral Song ไว้อาลัยให้กับการสูญสิ้นจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์

ปล. อัลบัมเพลงประกอบของ Wasis Diop ไม่ได้นำจากที่ใช้ในหนังมาใส่ทั้งหมด แต่มักทำการเรียบเรียง ปรับปรุงท่วงทำนองเสียใหม่ บางบทเพลงใส่เนื้อคำร้องเพิ่มเติม ฯ ยกตัวอย่าง Colobane ลองฟังเทียบกับ Opening Credit ในหนัง จะมีสัมผัสทางอารมณ์ที่แตกต่างกันพอสมควร

นอกจากลีลาตัดต่อที่ชอบแทรกภาพสารพัดสรรพสัตว์ บางบทเพลงประกอบยังใส่เสียง(หัวเราะ)ไฮยีน่า สิงสาราสัตว์ อย่างบทเพลง Dune นอกจากบรรเลงกีตาร์อันโหยหวน ทะเลทรายอันเวิ้งว่างเปล่า เหมือนได้ยินเสียงงูหางกระดิ่ง (จริงๆคือเสียงลูกแซก/ไข่เขย่า Maracas) ไม่เพียงเข้ากับบรรยากาศพื้นหลัง ยังสร้างสัมผัสอันตราย หายนะค่อยๆคืบคลานเข้ามา … เพลงนี้ดังขึ้นระหว่าง Dramaan Drameh นำพา Linguère Ramatou ไปหวนระลึกความหลังยังทะเลทราย บริเวณที่ทั้งสองร่วมรัก/ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

เอาจริงๆหนังแทบไม่มีบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน นอกเสียงจากคำร้องภาษา Wolof และการรัวกลองขณะเชือดวัว อาจเพราะต้องการแสดงให้ถึงการสูญเสียวิถีชีวิต วัฒนธรรม กำลังค่อยๆถูกกลืนกิน ตกเป็นทาสอาณานิคมรูปแบบใหม่ (Neo-Colonialism) ลุ่มหลงใหลการบริโภคนิยม (Consumerism) ในระบอบทุนนิยม (Capitalism)

The hyena is an African animal — you know that. It never kills. The hyena is falsehood, a caricature of man. The hyena comes out only at night; he is afraid of daylight always travels at night. The hyena is a permanent presence in humans, and that is why man will never be perfect. The hyena has no sense of shame, but it represents nudity, which is the shame of human beings.

After I unveiled this very pessimistic picture of human beings and society in their nakedness in Hyènes, I wanted to build up the image of the common people. Why should I magnify the ordinary person after this debauch of defects? The whole society of Colobane is made up of ordinary people. I do not want to remain forever pessimistic. That is why I have fished out cases where man, taken individually, can defeat money.

Djibril Diop Mambéty

แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลัง Colobane, Senegal แต่เราสามารถเหมารวมถึงชาวแอฟริกัน ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ (ในช่วงปี ค.ศ. 1959-60) ถึงอย่างนั้นแทบทุกอดีตประเทศอาณานิคม กลับยังต้องพึ่งพาอาศัย รับความช่วยเหลือจากอดีตจักรวรรดินิยม ซึ่งโดยไม่รู้ตัวซึมซับรับอิทธิพลทางความคิด ทัศนคติสมัยใหม่ ถูกแทรกแซงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมท้องถิ่นค่อยๆสูญสิ้น กลืนกินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม … มีคำเรียกอาณานิคมรูปแบบใหม่ (Neo-Colonialism)

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ กินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนบุคคล

Hyènes (1992) เป็นอีกภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกัน พยายามนำเสนอโทษทัณฑ์ของเงิน ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) เหมารวมถึงระบอบทุนนิยม (Capitalism) เพราะการมีเงินทำให้ชีวิตสุขสบาย สามารถจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งข้าวของมาอำนวยความสะดวก ตอบสนองความพึงพอใจ จนท้ายที่สุดยินยอมละทอดทิ้งหลักศีลธรรม ความถูกต้องเหมาะสม สรรหาข้ออ้างเพื่อส่วนรวม แท้จริงแล้วกลับเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลทั้งนั้น!

The film depicts a human drama. My task was to identify the enemy of humankind: money, the International Monetary Fund, and the World Bank. I think my target is clear.

ความร่ำรวยของ Linguère Ramatou ถือว่าได้มาอย่างโชคช่วย พร้อมๆกับการสูญเสียเกือบจะทุกสิ่งอย่าง (ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ) แต่แทนที่เธอจะบังเกิดความสาสำนึก นำมาเป็นบทเรียนชีวิต กลับเลือกโต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป้าหมายแม้คือการเข่นฆาตกรรม Dramaan Drameh แท้จริงแล้วยังพยายามจะล้างแค้นชาวเมือง Colobane ด้วยการทำลายเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน แล้วจะเอาที่ไหนใช้คืนหนี้สิน

ส่วนความตายของ Dramaan Drameh มันอาจฟังดูดี สมเหตุสมผล เสียสละบุคคลเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่นั่นใช่หนทางถูกต้องหรือไม่? สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือเปล่า? หรือเพียงความละโมบโลภมาก จนหน้ามืดตามัว มองไม่เห็นอนาคตที่มืดมิด สิ้นหวัง มันจึงเป็นความตลกร้าย คนที่สามารถทำความเข้าใจย่อมหัวเราะไม่ออกเลยสักนิด!

ภาพยนตร์ในทวีปแอฟริกัน น่าจะเป็นสิ่งหรูหรา ราคาแพง ยุคสมัยนั้นต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย นั่นอาจคือเหตุผลหนึ่งที่ผกก. Mambéty ไม่ได้มีความกระตือรือล้นกับมันมากนัก จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 90s ที่ค่ากล้อง ค่าฟีล์มราคาถูกลง เลยทำให้เขาเล็งเห็นโอกาสที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม แอฟริกันที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างค่านิยมชวนเชื่อรูปแบบใหม่

Africa is rich in cinema, in images. Hollywood could not have made this film, no matter how much money they spent. The future belongs to images. Students, like the children I referred to earlier, are waiting to discover that making a film is a matter of love, not money.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะดีเยี่ยม แต่กลับไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆติดมือกลับมา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆทั่วโลก

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K โดย Thelma Film AG ร่วมกับ Cinémathèque suisse และห้องแล็ป Eclair Cinema เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 เข้าฉาย 2018 Cannes Classic และสามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber

เกร็ด: ผู้กำกับ Rungano Nyoni เคยกล่าวว่า Hyènes (1992) คือแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ I Am Not a Witch (2017)

อาจเพราะความสำเร็จของ Touki Bouki (1973) ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่มองข้าม Hyènes (1992) ไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์น่าตื่นตาตื่นใจเทียบเท่า แต่ถ้าเอาเฉพาะเนื้อหาสาระ ผมคิดเห็นว่า Hyènes (1992) แฝงข้อคิด มีความทรงคุณค่ากว่ามากๆ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ระหว่างจิตสามัญสำนึก หลักศีลธรรม vs. อำนาจของเงิน, ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะสร้างความตระหนักให้กับผู้ชม บทเรียนเกี่ยวกับอำนาจของเงิน สะท้อนอิทธิพลของลัทธิทุนนิยม+บริโภคนิยม คนสมัยใหม่เชื่อว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า ขำไม่ออกเลยสักนิด!

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมไฮยีน่า อดีตชั่วช้า การแก้แค้น และตัดสินด้วยศาลเตี้ย

คำโปรย | Hyènes ภาพยนตร์กึ่งสุขกึ่งโศกของ Djibril Diop Mambéty รสชาดของการแก้แค้นมันช่างหอมหวาน และขื่นขม ทำให้ผู้คนจมอยู่ในลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ตกเป็นทาสอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism)
คุณภาพ | กึ่สุกึ่
ส่วนตัว | ขื่นขม

Touki Bouki (1973)


Touki Bouki (1973) Senegalese : Djibril Diop Mambéty ♥♥♥♥

การเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนเองของผู้กำกับ Djibril Diop Mambéty ในสไตล์ Bonnie and Clyde ปล้น-ฆ่า(วัว) ก่ออาชญากรรม เป้าหมายปลายทางคือฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ‘The Wizard of Oz’ แต่แท้จริงแล้วปารี่ ปารีส ไม่ต่างอะไรจากปาหี่

Touki Bouki (1973) ไม่ใช่แค่หมุดหมายสำคัญต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่ยังคือมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์โลก! ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากการลองผิดลองถูกของผกก. Mambéty ไม่เคยร่ำเรียน(ภาพยนตร์)จากแห่งหนไหน ทำการผสมผสานวิถีชีวิต แนวคิด ศิลปะ(แอฟริกัน) พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ในรูปแบบของตนเอง แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร อาจต้องดูหลายครั้งหน่อยถึงสามารถทำความเข้าใจ

Djibril Diop Mambéty’s ‘Touki Bouki’ is a landmark of world cinema, a bold and inventive work that challenges narrative conventions and offers a powerful exploration of cultural identity.

Richard Brody นักวิจารณ์จากนิตยสาร The New Yorker

Touki Bouki is an explosion of filmic energy. It announces the arrival of a new cinema language with its breathless fusion of African, European, and American sensibilities.

ผู้กำกับ Bong Joon-ho

ในขณะที่ผู้กำกับแอฟริกันร่วมรุ่นอย่าง Ousmane Sembène (ฺBlack Girl), Med Hondo (Soleil Ô) มักสรรค์สร้างผลงานต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism), ผกก. Mambéty ได้ทำสิ่งแตกต่างออกไป นั่นคือการเดินทางเพื่อออกค้นหาอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความหมายชีวิต ตอนจบแทนที่ตัวละครจะขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส กลับเลือกปักหลักใช้ชีวิตใน Senegal ทำไมฉันต้องดำเนินรอยตามอุดมคติเพ้อฝันที่ถูกปลูกฝัง/ล้างสมองโดยพวกจักรวรรดินิยม

Touki Bouki is an African film made by an African for Africans. It is a call to Africans to take their destiny into their own hands, to stop being the victims of colonization and become masters of their own lives.

Djibril Diop Mambéty

ผมรู้สึกว่าการรับชม Touki Bouki (1973) ต่อเนื่องจาก Black Girl (1966) และ Soleil Ô (1970) มีความจำเป็นอย่างมากๆสำหรับคนที่ไม่รับรู้ประวัติศาสตร์แอฟริกัน เพราะทำให้ตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ฝรั่งเศส เพราะเคยเป็นเจ้าของอาณานิคม Senegal (และอีกหลายๆประเทศในแอฟริกา) จึงพยายามปลูกฝังแนวคิด เสี้ยมสอนอุดมคติ ชวนเชื่อว่าฝรั่งเศสคือสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ไม่ต่างสหรัฐอเมริกาพยายามสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ‘American Dream’) แต่ในความเป็นจริงนั้น …

Over the Rainbow ของ Judy Garland ชิดซ้ายไปเลยเมื่อเทียบกับบทเพลง Paris, Paris, Paris ของ Joséphine Baker ถึงรับฟังภาษาฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อไหร่ได้ยินท่อนฮุค ปารี่ ปารี ปารีส มันสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ สัมผัสได้ถึงความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ชวนเชื่อจอมปลอม เต็มไปด้วยคำกลับกลอก ลวงหลอก นั่นคือสภาพเป็นจริง ขุมนรกบนดิน ทำลายภาพจำสวยหรูที่ Amélie (2001) เคยปลูกฝังไว้ในจิตวิญญาณ

Djibril Diop Mambéty (1945-1998) นักกวี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Senegalese เกิดที่ Colobane ชานเมืองหลวง Dakar, Senegal ในครอบครัวมุสลิม ชนเผ่า Lebou แม้ฐานะยากจนแต่มักหาโอกาสรับชมภาพยนตร์ฉายกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน แค่เพียงฟังเสียงอยู่ข้างนอกก็ยังดี (นั่นคือหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เสียงในผลงานของ Mambéty มีความสำคัญอย่างมากๆ) โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano แต่ไม่ทันไรกลับถูกไล่ออกเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

แม้ไม่เคยร่ำเรียนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้วยความหลงใหลใน Italian Neorealist และ French New Wave เมื่อตอนอายุ 21 ปี ขอหยิบยืมกล้อง 16mm จาก French Cultural Centre ร่วมกับผองเพื่อนถ่ายทำหนังสั้น Badou Boy (1966) [แล้วรีเมค Badou Boy (1970)] บันทึกการเดินทางของชายหนุ่ม Badou Boy ตามท้องถนนหนทางเมือง Dakar [น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Borom Sarret (1963) ของ Ousmane Sembène] เข้าฉายเทศกาลหนัง Mondial des Arts Nègres (จัดที่ Dakar) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

โปรเจคถัดไปคือหนังสั้น Contras’ City (1968) แปลว่า City of Contrasts ด้วยลักษณะ “City Symphony” ร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ ท้องถนน ตลาด มัสยิดเมือง Dakar เกือบทศวรรษภายหลังการได้รับอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1960 เก็บบันทึกไว้เป็น ‘Time Capsule’

เมื่อเริ่มมีประสบการณ์ทำงาน ก็ถึงเวลาที่ผกก. Mambéty ครุ่นคิดสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Touki Bouki (1973) นำเอาส่วนผสมจากทั้ง Badou Boy และ Contras’ City มาพัฒนาต่อยอด ขยับขยายเรื่องราว นำเสนอการเดินทางของหนุ่ม-สาว ร่วมก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เป้าหมายปลายทางเพื่อหาเงินขึ้นเรือสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน อุดมคติที่ถูกปลูกฝัง

With ‘Touki Bouki,’ I wanted to capture the essence of the youth in Dakar at that time, their desires, their dreams, and their frustrations. It was important for me to portray the struggles and contradictions of post-colonial Africa.

Djibril Diop Mambéty

หนังใช้งบประมาณเพียง $30,000 เหรียญ สนับสนุนจากกระทรวงสารสนเทศ (Senegalese Ministry of Information) และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ (Senegalese Radio and Television) ปฏิเสธความร่วมมือใดๆจาก Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema (CNC) องค์กรภาพยนตร์ที่ฝรั่งเศสจัดตั้งทิ้งไว้(ตั้งแต่ก่อนปลดแอก)สำหรับให้ความช่วยเหลือวงการภาพยนตร์ (แต่แท้จริงแล้วคอยตรวจสอบ คัดกรอง เซนเซอร์ ปฏิเสธผลงานที่เป็นภัยคุกคาม)


เรื่องราวของ Mory ไอ้หนุ่มเลี้ยงวัว ขับมอเตอร์ไซค์ฮ่าง แขวนกระโหลกศีรษะกระทิงไว้หน้ารถ (คาราบาวชัดๆเลยนะ) นัดพบเจอ Anta นักศึกษาสาว พรอดรักหลับนอน วาดฝันต้องการออกไปจากถิ่นทุรกันดาร ทวีปแอฟริกาแห่งนี้ มุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

แต่การจะขึ้นเรือไปยังดินแดนหลังสายรุ้ง จำต้องใช้เงินมหาศาล พวกเขาจึงพยายามหาวิธีการ เล่นพนัน ลักขโมย ในที่สุดสามารถล่อหลอกเศรษฐีเกย์ Charlie เปลี่ยนมาแต่งหรู ขับรถเปิดประทุน หลังซื้อตั๋วขึ้นเรือ ใกล้ถึงเวลาออกเดินทาง Mory กลับเกิดอาการโล้เลลังเล ก่อนตัดสินใจทอดทิ้ง Anta เลือกปักหลักอาศัยอยู่เซเนกัล ไม่รู้เหมือนกันอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น


สำหรับสองนักแสดงนำหลัก Magaye Niang (รับบท Mory) และ Mareme Niang (รับบท Anta) ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกันนะครับ ฝ่ายชายคือไอ้หนุ่มเลี้ยงวัว ฝ่ายหญิงเป็นนักศึกษาสาว ตามบทบาทของพวกเขา ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง (Non-Professional) ซึ่งเอาจริงๆก็แทบไม่ได้ต้องใช้ความสามารถใดๆ เพียงขยับเคลื่อนไหว กระทำสิ่งต่างๆตามคำแนะนำผู้กำกับเท่านั้นเอง … ผกก. Mambéty เพียงต้องการความเป็นธรรมชาติ และจับต้องได้ของนักแสดง เพื่อให้ทั้งสองเป็นตัวแทนคนหนุ่ม-สาว ชาวแอฟริกัน ที่ยังถูกครอบงำโดยอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม แต่ก็พยายามหาหนทางดิ้นหลุดพ้น ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวตนเอง

แม้คู่พระนางอาจไม่มีอะไรให้น่าจดจำ แต่ผกก. Mambéty ก็แทรกสองตัวละครสมทบ Aunt Oumy และเศรษฐีเกย์ Charlie สามารถแย่งซีน สร้างสีสันให้หนังได้ไม่น้อย

  • Aunt Oumy (รับบทโดย Aminata Fall) ป้าของ Anta เป็นคนปากเปียกปากแฉะ ไม่ชอบขี้หน้าพบเห็น Mory ทำตัวไม่เอาอ่าวก็ตำหนิต่อว่าต่อขาน แต่หลังจากแต่งตัวโก้ ขับรถหรู พร้อมแจกเงิน เลยเปลี่ยนมาสรรเสริญเยินยอ ขับร้องเพลงเชิดหน้าชูตา มันช่างกลับกลอกปอกลอกเกินเยียวยา
    • Aminata Fall (1930-2002) คือนักร้อง/นักแสดงชาว Senegalese รับรู้จัก Mambéty ตั้งแต่ตอนเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano ประทับใจในความสามารถโดยเฉพาะการขับร้องเพลง เมื่อมีโอกาสเลยชักชวนมาร่วมงานภาพยนตร์ บทบาทที่ต้องถือว่าเต็มไปด้วยสีสัน ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ สะท้อนเสียดสีพฤติกรรมชาวแอฟริกันได้อย่างแสบสันต์
  • Charlie (รับบทโดย Ousseynou Diop) เศรษฐีเกย์ เจ้าของคฤหาสถ์หรู เหมือนจะเคยรับรู้จัก Mory พอสบโอกาสเมื่ออีกฝ่ายมาขอความช่วยเหลือด้านการเงิน จึงฉุดกระชากลากพาเข้าห้อง ระหว่างกำลังอาบน้ำเตรียมพร้อม กลับออกมาตัวเปล่าล่อนจ้อน ทำได้เพียงโทรศัพท์ของความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งล้วนเป็นอดีตคู่ขาของเธอแทบทั้งนั้น
    • ตัวละครนี้แม้เป็นชาว Senegalese/แอฟริกัน แต่กลับมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากฝรั่งเศส/ลัทธิอาณานิคม คือสนเพียงจะครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาได้กระทั่งพวกพ้อง (ร่วมรักกับ)เพศเดียวกัน
    • บางคนอาจตีความตัวละครนี้ สื่อแทนความคอรัปชั่นภายในของแอฟริกัน ที่ยังได้รับอิทธิพล ถูกควบคุมครอบงำโดยอดีตจักรวรรดิอาณานิคม/ฝรั่งเศส ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง

เกร็ด: ใครอยากรับชมความเป็นไปของนักแสดง 40 ปีให้หลัง ลองหารับชมสารคดี Mille Soleils (2013) แปลว่า A Thousand Suns กำกับโดย Mati Diop หลานสาวผกก. Djibril Diop Mambéty จะพบเห็น Magaye Niang ยังคงเป็นคนเลี้ยงวัวอยู่ Dakar, ส่วน Mareme Niang ไม่ได้ปรากฏตัวแต่เห็นว่าอพยพย้ายสู่ยุโรปแบบเดียวกับตัวละคร


ถ่ายภาพโดย Pap Samba Sow, Georges Bracher

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยเทคนิค ลวดลีลา ภาษาภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่เฉดสีสันเหลือง-ส้ม ดูคล้ายสีลูกรัง-ดินแดง แทนผืนแผ่นดินแอฟริกัน, ลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง แพนนิ่ง ซูมมิ่ง มุมก้ม-เงย ดูผิดแผกแตกต่าง แสดงความเป็นวัยสะรุ่น คนหนุ่มสาว เอ่อล้นพลังงาน เต็มเปี่ยมชีวิตชีวา

สิ่งน่าสนใจที่สุดก็คือการร้อยเรียงวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ผู้คนในเมือง Dakar, Senegal รวมถึงภาพเชิงสัญลักษณ์ เกือบๆจะเรียกว่าเหนือจริง (Surrealist) มีทั้งปรากฎพบเห็นซ้ำๆ อาทิ เชือดวัว หัวกระโหลก ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์, หรือใช้แทนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่าง คลื่นลมซัดกระแทกเข้าหาฝั่ง (ระหว่างหนุ่ม-สาว กำลังร่วมเพศสัมพันธ์)

นักวิจารณ์แทบทั้งนั้นให้คำชื่นชมงานภาพของหนัง เป็นสิ่งที่ผู้ชม(ชาวตะวันตก)สมัยก่อนแทบไม่เคยพบเห็น [ฟังดูคล้ายๆ The River (1951) ของผกก. Jean Renoir] สามารถแปรสภาพ Dakar ให้กลายเป็นดินแดนลึกลับ แต่มีความโรแมนติก ชวนให้ลุ่มหลงใหล แบบเดียวกับ Casablanca และ Algiers

The dazzling visuals feature a smorgasbord of disorienting, poetic, and symbolic images that look like nothing you’ve ever seen before.

นักวิจารณ์ Jonathan Rosenbaum

แค่ฉากแรกหลายคนก็อาจทนดูไม่ไหวแล้ว! เราสามารถเปรียบเทียบเจ้าวัวเขาแหลมยาวใหญ่ (สายพันธุ์ Ankole-Watusi หรือ Watisu Cow) คือตัวแทนชาวแอฟริกัน ถูกลากเข้าโรงเชือด สามารถสื่อถึงพฤติกรรมจักรวรรดิอาณานิคม /ฝรั่งเศส เลี้ยงเพาะพันธุ์(ชาวแอฟริกัน)ไว้สำหรับทำประโยชน์ใช้สอย

เกร็ด: การมีเขาแหลมยาวใหญ่ (ภายในมีลักษณะกลวงเป็นโพรง แต่มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง ไว้สำหรับต่อสู้และระบายความร้อน) ถือเป็นลักษณะเด่นของวัวสายพันธุ์ Watisu พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา มีความทนทรหด สามารถอดน้ำ กินหญ้าคุณภาพต่ำ ชาวอียิปต์โบราณนิยมเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคเนิ้อและนมมาแต่ตั้งแต่โบราณกาล

การนำเสนอฉากเชือดวัว เป็นลักษณะของการยั่วยุ (provocation) ในเชิงสัญลักษณ์ ปลุกเร้าความรู้สึกชาวแอฟริกัน (ที่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจ) ให้เกิดความเกรี้ยวกราด หวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว ตระหนักว่าตนเองมีสภาพไม่ต่างจากเจ้าวัว ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบให้พวก(อดีต)จักรวรรดิอาณานิคมอีกต่อไป

และสังเกตว่าขณะลากจูงวัว จะได้ยินเสียงขลุ่ย Fula flute แทนวิถีธรรมชาติของชาวแอฟริกัน แต่พอตัดเข้ามาในโรงฆ่าสัตว์ กลับเป็นเสียงจักรกล ผู้คน วัวกรีดร้อง อะไรก็ไม่รู้แสบแก้วหูไปหมด มันช่างมีความแตกต่างตรงกันข้าม ราวกับโลกคนละใบ … เหมือนเป็นการบอกใบ้ด้วยว่าโรงเชือดแห่งนี้คือสภาพเป็นจริงของฝรั่งเศส สถานที่ใครๆขวนขวายไขว่คว้า อุดมคติที่ใครๆต่างเพ้อใฝ่ฝัน

ช็อตสวยๆนำเสนอความเหลื่อมล้ำในประเทศเซเนกัล กำลังพบเห็นได้อย่างชัดเจนหลังการประกาศอิสรภาพ (post-independence) ระหว่างสลัมเบื้องล่าง vs. ตึกระฟ้าสูงใหญ่กำลังก่อสร้าง

นอกจากภาพในช็อตเดียว ช่วงกลางเรื่องหลังจาก Mory & Anta ลักขโมยหีบสมบัติ แท็กซี่ขับผ่านคฤหาสถ์หรู สถานที่อยู่ของคนมีเงิน แต่บ้านพักแท้จริงของพวกเขาเมื่อขับเลยมา พบเห็นทุ่งหญ้ารกร้าง อาคารสร้างไม่เสร็จ ถูกทอดทิ้งขว้าง นี่ก็แสดงให้ถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ช่องว่างกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

บางคนอาจมองว่าพฤติกรรมของ Anta คือความเห็นแก่ตัว แต่การซื้อของแล้วไม่จ่ายเงิน นั่นก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นเดียวกัน … ซีนเล็กๆนี้สะท้อนอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมได้ชัดเจนทีเดียว กล่าวคือ

  • ชาวแอฟริกันดั้งเดิมนั้นมีมิตรไมตรี หยิบยืม ติดหนี้เล็กๆน้อยๆ ก็ไม่ติดใจอะไรว่าความ
  • Anta คือหญิงสาวที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม เงินทองคือเรื่องสลักสำคัญ (รวมถึงฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน) เล็กๆน้อยๆเลยยินยอมความกันไม่ได้

ลามปามไปถึงฉากถัดมา ผมไม่แน่ใจว่าป้า Oumy ตบตีแย่งน้ำกับเพื่อนคนนี้เลยหรือเปล่า รายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางจิตสามัญสำนึกของชาวเซเนกัล ตั้งแต่หลังประกาศอิสรภาพ (post-independence)

ระหว่างรับชม ผมครุ่นคิดว่าการถูกเชือกคล้องคอของ Mory สามารถเปรียบเทียบเหมือนวัวที่กำลังจะถูกเชือด (แบบเดียวกับฉากโรงเชือดก่อนหน้านี้) รวมถึงการโดนจับมัด พาขึ้นรถ แห่รอบเมือง มีการตัดสลับกับป้า Oumy กำลังเชือดวัวทำอาหารกลางวัน เป็นการนำเสนอคู่ขนานล่อหลอกผู้ชมได้อย่างแนบเนียนฉะมัด!

แต่หลังจากดูหนังจบ ฉากนี้ยังสามารถมองเป็นคำพยากรณ์ ลางสังหรณ์ บอกใบ้อนาคตของ Mory ถ้าตัดสินใจขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส อาจประสบโชคชะตากรรมลักษณะนี้ … ตลอดทั้งเรื่องจะมีหลายๆเหตุการณ์ดูคล้ายนิมิต ลางบางเหตุเกิดขึ้นกับ Mory ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจไม่ขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส

กระโหลกเขาวัวติดตั้งไว้บริเวณหน้ารถมอเตอร์ไซด์ฮ่าง (เพื่อสื่อถึงการเดินทางของ Mory = ชาวแอฟริกัน = วัวสายพันธุ์ Watisu) เบาะด้านหลังมีพนักทำจากเสาอากาศ ลักษณะคล้าย Dogon cross (หรือ Nommo cross) ของชนเผ่าชาว Malian ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ภาวะเจริญพันธุ์ (fertility) ด้วยเหตุนี้การที่ Anta เอื้อมมือจับ ย่อมสื่อถึงกำลังร่วมเพศสัมพันธ์

ไฮไลท์ของซีเควนซ์นี้คือภาพคลื่นซัดชายฝั่ง มันจะมีขณะหนึ่งที่โขดหินดูเหมือนปากอ่าว/ช่องคลอด น้ำทะเล(อสุจิ)กำลังเคลื่อนไหล กระแทกกระทั้นเข้าไป … พอจินตนาการออกไหมว่าสามารถสื่อถึงการร่วมเพศสัมพันธ์!

Mory เตรียมจะโยนบ่วงคล้อง หนังตัดภาพฝูงวัว นั่นทำให้ผู้ชมครุ่นคิดว่าเขาคงกำลังจะลักขโมยวัวไปขาย แต่ที่ไหนได้กลับคล้องคอรถมอเตอร์ไซด์ฮ่าง (ที่มีกระโหลกเขาวัวแขวนอยู่เบื้องหน้า) … หลายต่อหลายครั้งที่หนังพยายามล่อหลอกผู้ชมด้วยลีลาภาษาภาพยนตร์ แต่ความจริงกลับเป็นคนละสิ่งอย่าง ผมครุ่นคิดว่าสามารถเหมารวมถึงการชวนเชื่อปลูกฝังจากจักรวรรดิอาณานิคม ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ความจริงนั้นมันอาจคือขุมนรก โรงเชือด คำโป้ปดหลอกลวงเท่านั้นเอง)

พนันขันต่อ คือวิธีรวยทางลัด ง่ายที่สุดในการหาเงิน แต่เหมือนว่าโชคชะตาของ Mory จะพยายามบอกใบ้ จงใจให้เขาไม่สามารถเอาชนะ จึงต้องออกวิ่งหลบหนี(เจ้าหนี้)หัวซุกหัวซุน เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด … ฉากนี้สามารถตีความได้ทั้งรูปธรรม-นามธรรม นำเสนอหนึ่งในอุปนิสัยเสียของชาวแอฟริกัน(ทั้งๆไม่มีเงินแต่กลับ)ชื่นชอบพนันขันต่อ ขณะเดียวกันยังแฝงนัยยะถึงการเดินทางสู่ฝรั่งเศส เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง แต่ในความเป็นจริงเพียงการเสี่ยงโชค ไปตายเอาดาบหน้า ไม่ต่างจากการวัดดวง/พนันขันต่อนี้สักเท่าไหร่

แซว: การเปิดไพ่ Queen แล้วหมายถึงผู้แพ้ มันแอบสื่อนัยยะถึง …

เจ้าหน้าที่รับสินบท นี่เป็นสิ่งพบเห็นอยู่สองสามครั้งในหนัง แสดงว่ามันเป็นสิ่งฝังรากลึกในจิตวิญญาณชาว Senegalese/แอฟริกันไปแล้วละ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม ความมีอภิสิทธิ์ชนของพวกฝรั่งเศส เป็นต้นแบบอย่างความคอรัปชั่นได้อย่างชัดเจน

Where’s Wally? หากันพบเจอไหมเอ่ยคู่พระนาง Mory & Anta นั่งอยู่แห่งหนไหนกัน?

นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ Mory & Anta ลักขโมยหีบสมบัติจากสนามมวยปล้ำ Iba Mar Diop Stadium แต่เมื่อเปิดออกมากลับพบเห็นโครงกระดูก กระโหลกศีรษะ พร้อมได้ยินเสียงอีแร้งกา เหล่านี้ล้วนสัญลักษณ์ความตาย ลางบอกเหตุร้าย ให้ทั้งสอดหยุดความพยายามหาเงินออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส … เพราะอาจถูกเชือด และหลงเหลือสภาพเหมือนบุคคลนี้

หนังแอบแทรกคำอธิบายไว้เล็กๆผ่านเสียงอ่านข่าวจากวิทยุ ว่าชนเผ่า Lebou จัดกิจกรรมมวยปล้ำครั้งนี้เพื่อเป็นการระดมทุนสร้างอนุสรณ์สถานให้กับ Charles de Gaulle (1890-1970) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1970 … นี่อาจเป็นกระโหลกศีรษะของ de Gaulle กระมัง??

เกร็ด: เมื่อตอนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Charles de Gaulle คือบุคคลลงนามมอบอิสรภาพให้เซเนกัล และหลายๆประเทศในทวีปแอฟริกา

วินาทีที่ Mory เหม่อมองเห็นประภาคาร (ใครเคยรับชม The Lighthouse (2019) น่าจะตระหนักถึงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ตั้งตระหง่านโด่เด่เหมือนลึงค์/อวัยวะเพศชาย) จากนั้นฝูงนกโบยบินขึ้นท้องฟ้า (สัญลักษณ์ของการปลดปล่อยอิสรภาพ/น้ำกาม) เสียง Sound Effect ดังระยิบระยับ (ราวกับเสียงสวรรค์ ถึงจุดสูงสุด ไคลน์แม็กซ์)

เหล่านั้นเองทำให้เขาหวนนึกถึงเศรษฐี(เกย์)คนหนึ่ง มีคฤหาสถ์หรูอยู่ไม่ไกล ครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย แต่ก่อนจะออกเดินทางไป ขอแวะถ่ายท้องสักแปป แล้วภาพตัดมาโขดหินท่ามกลางคลื่นซัดพา (ลักษณะของโขดหิน ช่างดูละม้ายคล้ายก้อนอุจจาระ) จากนั้นกล้องค่อยๆซูมถอยหลังออกมา … ทั้งหมดนี้ล้วนบอกใบ้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับประตูหลัง

ท่วงท่าการโยนช่างมีความละม้ายคล้ายกันยิ่งนัก แต่เปลี่ยนจากบ่วงคล้องคอวัว มาทอดแหดักปลา นี่คือลักษณะการแปรสภาพของสิ่งสัญลักษณ์ แต่เคลือบแฝงนัยยะเดียวกัน

  • โยนบ่วงคล้องคอวัว เปรียบดั่งฝรั่งเศสล่าอาณานิคมเซเนกัล/ชาวแอฟริกัน
  • ส่วนการทอดแห สามารถสื่อถึงเศรษฐีเกย์ Charlie พยายามล่อหลอก ดักจับ Mory ร่วมรักประตูหลัง

พฤติกรรมของเศรษฐีเกย์ Charlie อย่างที่ผมเปรียบเทียบไปแล้วว่าไม่แตกต่างจากพวกลัทธิอาณานิคม เป้าหมายคือครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาได้กระทั่งพวกพ้อง ฉันท์ใดฉันท์นั้น โยนบ่วง=ทอดแห สังเกตว่าช็อตถัดๆมา Mory ราวกับติดอยู่ในบ่วงแห่

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดภาพวาดในห้องของ Charlie แต่มีลักษณะของ African Art และสังเกตว่าทั้งหมดล้วนเป็นภาพนู้ด สื่อถึงรสนิยมทางเพศตัวละครได้อย่างชัดเจน

เสื้อผ้าคือสิ่งแสดงวิทยฐานะบุคคล นั่นน่าจะเป็นเหตุผลให้ Mory ตัดสินใจลักขโมยเครื่องแต่งกายของ Charlie ซึ่งมีความหรูหรา เทรนด์แฟชั่น น่าจะราคาแพง ระหว่างเดินทางกลับเข้าเมือง ก็ปลดเปลื้องเปลือยกายล่อนจ้อน ป่าวประกาศให้โลกรับรู้ถึงอิสรภาพชีวิต

พอดิบพอดีกับการตัดสลับเคียงคู่ขนาน Anta ขับรถมอเตอร์ไซด์ฮ้างไปจอดทิ้งไว้ข้างทาง (มีคนป่ามารับช่วงต่อ) ไม่เอาอีกแล้ววิถีแอฟริกัน เตรียมพร้อมออกเดินทางมุ่งสู่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่ามีใครเดินทางมาเยี่ยมเยียนเซเนกัลช่วงปีนั้น เพราะนี่ดูเหมือนขบวนต้อนรับมากกว่าพิธีไว้อาลัย Memorial ให้ประธานาธิบดี Charles de Gaulle และลีลาการตัดต่อที่นำเสนอคู่ขนานกับ Mory & Anta แต่งตัวหรู โบกไม้โบกมือ ทำตัวราวกับพระราชา

นี่ไม่ใช่แค่การเสียดสีนิสัยแย่ๆ สันดานเสียๆ ของชาวแอฟริกันเท่านั้นนะครับ แต่ใครกันละที่เข้ามาปลูกฝังความคิด สร้างค่านิยมอุดมคติ ล้างสมองชวนเชื่อ เงินทองสามารถซื้อความสุขสบาย ร่ำรวยคือทุกสิ่งอย่าง ไม่ต่างจากฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน … มันขำออกเสียที่ไหนกัน

ลวดลายทางขาว-ดำ ของรูปภาพสรรพสัตว์บนฝาผนัง น่าจะสื่อถึงความกลับกลอกสองหน้าของชนชั้นผู้นำแอฟริกัน ซึ่งการที่เศรษฐีเกย์ Charlie โทรศัพท์ติดต่อหาตำรวจ แทนที่จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รับสาย กลับพยายามขอคุยกับหัวหน้า/คนเคยค้าม้าเคยขี่ สารพัดรายชื่อเอ่ยมาน่าจะเคยร่วมเพศสัมพันธ์กัน … แฝงนัยยะอ้อมๆถึงบรรดารัฐบาลบริหารประเทศ ทั้งๆได้รับการปลดแอก กลับยังคอยเลียแข้งเลียขาฝรั่งเศส

แซว: หัวหน้าแผนก Djibril Diop เสียงปลายสายที่ได้ยินก็คือ ผกก. Mambéty

ผมอ่านพบเจอว่าระหว่างโปรดักชั่น ผกก. Mambéty ถูกตำรวจจับกุมที่กรุง Rome ข้อหาเข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านการเหยียดผิว (Anti-Racism) ได้รับการประกันตัวโดยทนายจาก Italian Communist Party ซึ่งมีเพื่อนร่วมวงการอย่าง Bernardo Bertolucci และ Sophia Loren ให้การค้ำประกัน … นี่กระมังคือเหตุผลการกล่าวอ้างถึง Italian Communist Party

จริงๆฉากนี้ชาวฝรั่งเศสทั้งสองถกเถียงกันเรื่องทั่วๆไป ค่าจ้าง ค่าแรง ความล้าหลัง ศิลปะแอฟริกัน ฯ มันมีความจำเป็นอะไรในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเซเนกัล … เป็นวิธีพูดขับไล่พวกฝรั่งเศส โดยคนฝรั่งเศสด้วยกันเอง ได้อย่างแนบเนียนโคตรๆ

วินาทีที่กำลังจะก้าวขึ้นเรือ Mory เกิดอาการหยุดชะงักหลังได้ยินเสียงหวูดเรือ สัญญาณเตือนให้เร่งรีบขึ้นเรือ แต่พอหนังตัดภาพให้เห็นเจ้าวัวกำลังถูกลากเข้าโรงเชือด ผมเกิดความตระหนักว่า เสียงหวูดเรือมันช่างละม้ายเสียงร้องของเจ้าวัว นี่กระมังคือสาเหตุผล/ลางสังหรณ์/สัญญาณเตือนครั้งสุดท้าย ให้เขาเกิดความตระหนักว่า ‘อย่าลงเรือ’ เพราะโชคชะตาหลังจากนี้อาจลงเอยแบบเจ้าวัว ฝรั่งเศส=โรงเชือดสัตว์

Mory ตัดสินใจละทอดทิ้ง Anta แล้วออกวิ่งติดตามหามอเตอร์ไซด์ฮ้างคันโปรด ก่อนพบเจอประสบอุบัติเหตุอยู่กลางถนน กระโหลกเขาวัวแตกละเอียด ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง นั่งลงกึ่งกลางบันได ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรต่อไป … ผมตีความซีเควนซ์นี้ถึงการหวนกลับหารากเหง้า ตัวตนเอง หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เขาพบเจอกลับคือ Senegalese/แอฟริกันที่เกือบจะล่มสลาย (คนป่าประสบอุบัติเหตุปางตาย) เนื่องจากถูกกลืนกินโดยจักรวรรดิอาณานิคม จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นตัวของตนเองสักเท่าไหร่

ช่วงท้ายของหนังโดยเฉพาะช็อตนี้ มันมีความโคตรๆคลุมเคลือ เพราะผู้ชมสามารถวิเคราะห์ว่า

  • หนังต้องการร้อยเรียงชุดภาพที่เป็นการหวนกลับหาจุดเริ่มต้น จึงพบเห็น Mory & Anta พรอดรักริมหน้าผา และเด็กๆต้อนฝูงวัวผ่านหน้ากล้อง (แบบเดียวกับที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้า) … นี่จะทำให้เราสามารถตีความว่า Anta อาจจะออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ขณะเดียวกันยังสามารถมองว่า Anta ตัดสินใจขนของลงจากเรือ หวนกลับหา Mory แล้วมาพรอดรักริมหน้าผา ปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรูหรา ระหว่างจับจ้องมองเรือโดยสารแล่นออกจากท่า

ผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักชื่นชอบการตีความแบบแรก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงหนทางแยกของ Mory ปักหลังอยู่เซเนกัล ขณะที่ Anta เลือกออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส, แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าความตั้งใจผกก. Mambéty น่าจะเป็นอย่างหลัง หนุ่ม-สาวต่างตัดสินใจละทอดทิ้งความเพ้อฝัน เนื่องจากฝ่ายชายเกิดความตระหนักถึงความจริงบางสิ่งอย่าง ส่วนฝ่ายหญิงก็เลือกติดตามชายคนรัก ไม่รู้จะเดินทางไปตายเอาดาบหน้าทำไม สอดคล้องวัตถุประสงค์ของหนังที่ต้องการหวนหารากเหง้า

แต่ยังไม่จบเท่านั้น ผกก. Mambéty ยังทอดทิ้งอีกปมปริศนากับภาพช็อตนี้ เรือลำเล็กกำลังแล่นออกจากฝั่ง หรือว่า Mory & Anta เกิดการเปลี่ยนใจ แล้วร่วมกันออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง … นี่อาจฟังดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่าผกก. Mambéty ต้องการสร้างความโคตรๆคลุมเคลือ ให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิด ค้นหาบทสรุปหนังด้วยตัวคุณเอง

ตัดต่อโดย Siro Asteni, Emma Mennenti

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสองหนุ่มสาว Mory และ Anta ร่วมกันออกเดินทางผจญภัย ทำตัวเหมือนไฮยีน่า (Hyena) ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เพื่อสรรหาเงินมาซื้อตั๋วลงเรือ มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

  • Mory และ Anta
    • Mory นำพาฝูงวัวมาขายให้โรงเชือด
    • จากนั้น Mory สร้างความวุ่นวายให้ Aunt Oumy ตบตีลูกค้าขาประจำระหว่างเดินทางไปตักน้ำ
    • ถูกผองเพื่อนกระทำร้ายร่างกาย จับมัดมือ พาขึ้นรถ
    • Anta เดินทางมาหา Mory ถูกป้า Oumy ล่อหลอกว่าหลานชายฆ่าตัวตาย
    • จากนั้น Mory และ Anta ร่วมรักกันบริเวณหน้าผา เพ้อใฝ่ฝันถึงอนาคต
  • การเดินทางโดยมอเตอร์ไซด์ฮ้างของ Mory และ Anta
    • ในตอนแรก Mory เหมือนจะครุ่นคิดลักขโมยฝูงวัว แต่ตัดสินใจทำไม่สำเร็จ
    • พบเห็นคนรับพนัน ลงเงินหลักพัน แพ้แล้ววิ่งหลบหนี
    • วางแผนปล้นสนามมวยปล้ำ แม้ทำสำเร็จแต่ของในกล่องกลับมีเพียงโครงกระดูก
    • Mory เดินทางไปหาเศรษฐีเกย์ Charlie ถูกพาตัวขึ้นห้อง เลยโจรกรรมเสื้อผ้า เงินทอง และรถหรูกลับบ้าน
  • มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางของ Mory และ Anta
    • ทั้งสองเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่งตัวโก้หรู แวะกลับหาป้า Oumy
    • จากนั้นซื้อตั๋วเรือโดยสาร เตรียมตัวออกเดินทางขึ้นเรือ
    • แต่แล้ว Mory ตัดสินใจวิ่งกลับมา หวนกลับหามอเตอร์ไซด์ฮ้าง ราวกับตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง

ลีลาการตัดต่อรับอิทธิพลเต็มๆจาก ‘Soviet Montage’ พบเห็นเทคนิคอย่าง Quick Cuts, Dynamic Cut, Jump Cut, นำเสนอคู่ขนาน (Juxtaposition) ตัดสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์, บางครั้งก็พยายามล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิด ด้วยภาพเชิงสัญลักษณ์บางอย่าง

ซีเควนซ์ที่ผมรู้สึกว่าโคตรๆน่าอึ่งทึ่ง คือฉากที่ Mory ถูกผองเพื่อนรุมกระทำร้ายร่างกาย จัดมัดพาขึ้นรถ ตัดสลับคู่ขนานป้า Oumy กำลังเชือดวัว (เหมือนจะสื่อว่า Mory กำลังถูกเข่นฆาตกรรม) จากนั้นพูดบอก Anta กล่าวอ้างว่าหลานชายกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย หญิงสาวจึงรีบวิ่งตรงไปบริเวณริมหน้าผา ทำท่าเหมือนกำลังจะกระโดดลงมา แล้วตัดภาพคลื่นกระทบชายฝั่ง (ชวนให้ครุ่นคิดว่าเธอคงฆ่าตัวตายตาม) สุดท้ายค่อยเฉลยว่าไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไร เป็นภาษาภาพยนตร์ที่ล่อหลอกผู้ชมได้อย่างสนิทใจ! … ล้อกับการชวนเชื่อฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน แท้จริงแล้วหาก็แค่ปาหี่เท่านั้นเอง


ในส่วนของเสียงและเพลงประกอบ ต้องชมเลยว่ามีความละเมียด ละเอียดอ่อน เต็มไปด้วยรายละเอียดที่แทบสามารถหลับตาฟังก็ยังดูหนังรู้เรื่อง! (อย่างที่บอกไปว่าตั้งแต่สมัยเด็ก ผกก. Mambéty บางครั้งไม่มีโอกาสเข้าดูหนังกลางแจ้ง เพียงสดับรับฟังเสียง นั่นคือแรงบันดาลใจให้เขามีความละเอียดอ่อนต่อการใช้เสียงและเพลงประกอบอย่างมากๆ)

I am deeply inspired by the power of music in storytelling. Music has a way of transcending language and connecting people on a universal level. In my films, I carefully select music that not only complements the narrative but also reflects the cultural and emotional landscapes of the characters.

Djibril Diop Mambéty

หนังไม่มีเครดิตเพลงประกอบ เพราะทุกบทเพลงถ้าไม่มาจากศิลปินมีชื่อ (Josephine Baker, Mado Robin, Aminata Fall) ก็ท่วงทำนอง/ดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน (หลักๆคือเครื่องดนตรี Peul flute/Fula flute และกลอง Sabra Drum) ผสมผสานคลุกเคล้าให้เข้ากับ ‘Sound Effect’ เสียงรถรา แร้งกา คลื่นลม ผู้คน โรงฆ่าสัตว์ ฯ เพื่อให้เกิดมิติเกี่ยวกับเสียง สามารถเพิ่มประสบการณ์ กระตุ้นเร้าอารมณ์ ราวกับผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้น

Whether it’s traditional African rhythms, contemporary sounds, or a fusion of both, I believe that music can bring an added dimension to the cinematic experience, evoking emotions and immersing the audience in the world I am creating.

Music has a unique power to evoke emotions, memories, and cultural connections. In my films, I strive to find the right balance between traditional Senegalese music and contemporary sounds, to reflect the complexities of our society and the tensions between the past and the present.


เริ่มต้นขอกล่าวถึงอีกสักครั้ง Paris, Paris, Paris (1949) แต่งทำนองโดย Agustín Lara, คำร้องโดย Georges Tabet, ขับร้อง/กลายเป็น ‘Signature’s Song’ ของ Joséphine Baker ชื่อจริง Freda Josephine Baker (1906-75) เกิดที่สหรัฐอเมริกา บิดา-มารดาต่างเคยเป็นทาสคนดำ/อินเดียนแดง สมัยเด็กเลยโดนดูถูกเหยียดผิวบ่อยครั้ง โตขึ้นเลยตัดสินใจอพยพสู่ Paris กลายเป็นนักร้อง-นักแสดงชาวอเมริกันประสบความสำเร็จสูงสุดในฝรั่งเศส

อ่านจากประวัติก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Baker จะมีมุมมองต่อฝรั่งเศส ประเทศทำให้เธอประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง ราวกับดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์ พาราไดซ์ เหมือนดั่งบทเพลง Paris, Paris, Paris

ต้นฉบับฝรั่งเศสแปลอังกฤษ
Ne me demandez pas si j’aime la grâce
Ne me demandez pas si j’aime Paris
Autant demander à un oiseau dans l’espace
S’il aime le ciel ou s’il aime son nid

Autant demander au marin qui voyage
S’il peut vivre sans la mer et le beau temps
Autant demander à une fleur sauvage
Si l’on peut vraiment se passer de printemps

Paris, Paris, Paris
C’est sur la Terre un coin de paradis
Paris, Paris, Paris,
De mes amours c’est lui le favori
Mais oui, mais oui, pardi
Ce que j’en dis on vous l’a déjà dit
Et c’est Paris, qui fait la parisienne
Qu’importe, qu’elle vienne du nord ou bien du midi
Et c’est aussi le charme et l’élégance
Et l’âme de la France
Tout cela, mais c’est Paris

Madame c’est votre Louvre si joli
(Paris, Paris, Paris)
C’est votre beau bijou d’un goût exquis
Mais oui, mais oui, pardi
C’est aussi votre généreux mari
Mais oui, Paris, c’est votre boucle blonde
Qu’on sait le mieux du monde coiffer avec fantaisie
Mais oui, Paris, c’est votre beau sourire
C’est tout ce qu’on désire
Tout cela, mais c’est Paris

Et c’est aussi le charme et l’élégance
Et l’âme de la France
Tout cela, mais c’est Paris
Don’t ask me if I love grace
Don’t ask me if I love Paris
It’s like asking a bird in space
If it loves the sky or its nest

It’s like asking a traveling sailor
If he can live without the sea and good weather
It’s like asking a wild flower
If one can truly do without spring

Paris, Paris, Paris
On Earth, it’s a corner of paradise
Paris, Paris, Paris
Of my loves, it’s the favorite one
Yes, indeed, of course
What I’m saying has already been said to you
And it’s Paris that makes the Parisian
No matter if she comes from the north or the south
And it’s also the charm and elegance
And the soul of France
All of that, but it’s Paris

Madam, it’s your beautiful Louvre
(Paris, Paris, Paris)
It’s your exquisite jewel
Yes, indeed, of course
It’s also your generous husband
Yes, indeed, Paris, it’s your golden curl
That is known as the best in the world, styled with fantasy
Yes, Paris, it’s your beautiful smile
It’s all that one desires
All of that, but it’s Paris

And it’s also the charm and elegance
And the soul of France
All of that, but it’s Paris

การรับชม Touki Bouki (1973) อาจทำให้มุมมองของคุณต่อ Paris, Paris, Paris ปรับเปลี่ยนแปลงไป เพราะถูกใช้เป็นบทเพลงชวนเชื่อฝรั่งเศสที่ดังขึ้นบ่อยครั้ง จนสร้างความตะหงิดๆ หงุดหงิด รำคาญใจ เหมือนมันมีลับเลศลมคมในอะไรบางอย่าง ซึ่งผมค่อยข้างเชื่อว่าผู้ชมจะเกิดความตระหนัก Paris แท้จริงแล้วเป็นเพียงคำลวงล่อหลอก หาใช่ดินแดนอุดมคติอย่างที่ใครต่อใครวาดฝันไว้

ยิ่งถ้าคุณเคยรับชม Black Girl (1966) จะพบเห็นสภาพความเป็นจริงของฝรั่งเศส ที่หญิงชาว Senegalese เดินทางไปปักหลักอาศัย กลายเป็นสาวรับใช้ มันหาใช่ดินแดนหลังสายรุ้งแบบ ‘The Wizard of Oz’ เลยสักกะนิด!

ระหว่างที่ Mory เดินทางมายังคฤหาสถ์หรูของเศรษฐีเกย์ Charlie ได้ยินบทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง Plaisir d’amour (Pleasure of Love) เป็นบทเพลงรักคลาสสิก แต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1784 โดย Jean-Paul-Égide Martini (1741–1816) นำคำร้องจากบทกวี Célestine ของ Jean-Pierre Claris de Florian (1755–1794)

ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Mado Robin ชื่อจริง Madeleine Marie Robin (1918-60) นักร้องเสียงโซปราโน สัญชาติฝรั่งเศส บันทึกเสียงบทเพลงนี้เมื่อปี ค.ศ. 1952

ผมครุ่นคิดว่าการเลือกบทเพลง Plaisir d’amour ไม่ใช่แค่บอกใบ้รสนิยมทางเพศของ Charlie แต่ยังอธิบายเหตุผลที่ Mory ไม่ได้ขึ้นเรือเดินทางสู่ Paris พร้อมกับ Anta เพราะหมดรัก หมดศรัทธา ทำลายคำสัญญาเคยให้ไว้ สายน้ำยังคงเคลื่อนไหล แต่จิตใจกลับผันแปรเปลี่ยนไป

ต้นฉบับฝรั่งเศสแปลอังกฤษ
Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.

J’ai tout quitté pour l’ingrate Sylvie,
Elle me quitte et prend un autre amant.
Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.

“Tant que cette eau coulera doucement
vers ce ruisseau qui borde la prairie,
je t’aimerai”, me répétait Sylvie,
l’eau coule encor, elle a changé pourtant.

Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.
The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

I gave up everything for ungrateful Sylvia,
She is leaving me for another lover.
The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

“As long as this water will run gently
Towards this brook which borders the meadow,
I will love you”, Sylvia told me repeatedly.
The water still runs, but she has changed.

The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

ตอนจบของหนังมีการเลือกบทเพลงที่เกินความคาดหมายมากๆๆ น่าเสียดายผมหาชื่อบทเพลงและศิลปินไม่ได้ แต่ครุ่นคิดว่าน่าจะสไตล์ดนตรี Funk เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ ความคิดฟุ้งๆของตัวละคร ร้อยเรียงชุดภาพที่มอบสัมผัสเวิ้งว่างเปล่า ก้าวเดินอย่างเคว้งคว้าง สื่อถึงชีวิตได้สูญเสียเป้าหมายปลายทาง ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายลง (ทอดทิ้ง)คนรักเคยครองคู่กัน ต่อจากนี้เลยยังไม่รู้โชคชะตาจะดำเนินไปเช่นไร

สองหนุ่มสาว Mory และ Anta ต่างมีความเพ้อใฝ่ฝัน ครุ่นคิดอยากไปจากถิ่นทุรกันดาร ทวีปแอฟริกาแห่งนี้ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เมื่อครั้น Senegal ยังเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) จึงร่วมกันผจญภัย ออกเดินทาง ขับมอเตอร์ไซด์ฮ่าง ใช้สารพัดวิธีลักขโมยเงิน ซื้อตั๋วโดยสาร แต่ระหว่างกำลังขึ้นเรือเตรียมออกเดินทาง … กลับแยกย้ายไปตามทิศทางใครทางมัน

หลายคนอาจรับรู้สึกว่ามันช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย อุตส่าห์เปลืองเนื้อเปลืองตัว ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เกือบสูญเสียความบริสุทธิ์ประตูหลัง แล้วเหตุไฉน Mory ถึงไม่ขึ้นเรือออกเดินทาง กลับมาจมปลักสถานที่แห่งนี้ทำไมกัน? นี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความ มันเหมือนตัวละคร (อวตารของผกก. Mambéty) ตระหนักข้อเท็จจริงบางสิ่งอย่าง ฝรั่งเศสอาจไม่ใช่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์อย่างที่ใครต่อใครเคยวาดฝัน

เป้าหมายของผกก. Mambéty ต้องการให้ชาว Senegalese/แอฟริกัน (โดยเฉพาะบรรดาพวกผู้สร้างภาพยนตร์) ละเลิกทำตัวเหมือนผู้เคราะห์ร้าย ตกเป็นเหยื่อ เอาแต่(สร้างภาพยนตร์)ต่อต้านลัทธิอาณานิคม ทำไมเราไม่หันมาย้อนมองกลับมาดูตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ‘ความเป็นแอฟริกัน’ นั่นต่างหากจักทำให้เรามีตัวตน ความเป็นตัวของตนเอง

I try to demystify and decolonize the image of Africa. We have been the victims of colonization for too long. It’s time for us to become the masters of our own lives, to write our own stories, and to redefine our identities on our own terms.

Djibril Diop Mambéty

ผมมองเหตุผลที่ Mory (และผกก. Mambéty) ตัดสินใจหวนกลับขึ้นฝั่งในมุมสุดโต่งสักนิด คืออาการหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว ไม่กล้าออกจาก ‘Safe Zone’ นั่นเพราะยุคสมัยนั้นมีภาพยนตร์ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) ผุดขึ้นมากมายยังกะดอกเห็น ทำให้ชาว Senegalese/แอฟริกัน ตระหนักรับรู้ธาตุแท้ตัวตนฝรั่งเศส/จักรวรรดิอาณานิคม สรวงสวรรค์ที่เคยกล่าวอ้างไม่เคยมีอยู่จริง แล้วทำไมเรายังขวนขวายไขว่คว้า ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อออกเดินทางสู่ดินแดนแห่งนั้นอยู่อีก! … การถือกำเนิดขึ้นของ Touki Bouki (1973) และผกก. Mambéty ถือว่าสะท้อนอิทธิพลภาพยนตร์แอฟริกันยุคหลังประกาศอิสรภาพ (post-independence) ได้อย่างชัดเจน

สำหรับ Anta การออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสของเธอนั้น หลายคนอาจมองว่าเป็นการนำเสนอมุมมองตรงกันข้ามกับ Mory ลุ่มหลงงมงาย ยึดถือมั่นในมายาคติ แต่ขณะเดียวกันยังสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ เพราะสถานะสตรีเพศในทวีปแอฟริกา ไม่แตกต่างจากแนวคิดอาณานิคม (มีคำเรียกปิตาธิปไตย, Patriarchy สังคมชายเป็นใหญ่) ยังคงถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ไร้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ … การเดินทางของเธอจึงแม้อาจเป็นการมุ่งสู่ขุมนรก แต่คือการดิ้นหลุดพ้นจากพันธนาการทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์

แนวคิดของผกก. Mambéty ในแง่ศิลปะวัฒนธรรม มันคือการอนุรักษ์ รักษาอัตลักษณ์ ความเป็นชนเผ่า-ชุมชน-ประเทศ-ทวีป แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค สามารถสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สืบสานต่อยอดให้มั่นคงยั่งยืน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยะ

แต่ในแง่มุมอื่นๆผมว่าไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป จนถึงปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกายังคงล้าหลัง ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ประชาชนอดอยากปากแห้ง ขาดแคลนอาหาร-น้ำดื่ม-ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค-บริโภค ไร้งานไร้เงิน ไร้การเหลียวแลจากนานาอารยะ เฉกเช่นนั้นแล้วการแสวงหาโอกาสต่างแดน ขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส มันอาจเป็นสรวงสวรรค์ที่จับต้องได้มากกว่า!

ชื่อหนัง Touki Bouki เป็นภาษา Wolof แปลว่า The Journey of the Hyena สำหรับคนที่รับรู้จักเจ้าไฮยีน่า มันคือศัตรูตัวฉกาจของฝูงวัว เอาจริงๆควรสื่อถึงฝรั่งเศส/จักรวรรดิอาณานิคม แต่ผกก. Mambéty กลับเปรียบเทียบการผจญภัยของคู่รักหนุ่ม-สาว Mory & Anta พฤติกรรมพวกเขาไม่แตกต่างจากเจ้าหมาล่าเศษเนื้อ มันช่างขัดย้อนแย้งสัญญะที่ปรากฎอยู่ในหนังอย่างสิ้นเชิง! … แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผกก. Mambéty ทำการล่อหลอกผู้ชมนะครับ ตลอดทั้งเรื่องก็มีการใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างหนึ่ง แต่นัยยะความหมายอีกอย่างหนึ่ง นับครั้งไม่ถ้วน!

The hyena is an African animal. It never kills. The hyena is falsehood, a caricature of man. The hyena comes out only at night; he is afraid of daylight, like the hero of Touki Bouki-he does not want to see daylight, he does not want to see himself by daylight, so he always travels at night. He is a liar, the hyena. The hyena is a permanent presence in humans, and that is why man will never be perfect. The hyena has no sense of shame, but it represents nudity, which is the shame of human beings.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะผสมๆ คงเพราะผู้ชมส่วนใหญ่คงดูไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากติดตามต่อด้วยเทศกาล Moscow International Film Festival คว้ารางวัลนักวิจารณ์ FIPRESCI Prize นี่ก็แสดงว่าชาวรัสเซีย สามารถเข้าถึงความลุ่มลึกล้ำ ตระหนักถึงอัจฉริยภาพผกก. Mambéty

(สำหรับหนังที่มีลีลาตัดต่อมึนๆเช่นนี้ ไม่น่าแปลกใจจะสามารถเข้าถึงผู้ชมชาวรัสเซีย ประเทศต้นกำเนิดทฤษฎี ‘Montage’)

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 90 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ 66
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2012 อันดับ 72 (ร่วม)
  • Empire: The 100 Best Films Of World Cinema 2010 ติดอันดับ 52

ปัจจุบัน Contras’city (1968), Badou Boy (1970) และ Touki Bouki (1973) ต่างได้รับการบูรณะด้วยทุนสนับสนุนจาก World Cinema Foundation ของผู้กำกับ Martin Socrsese ทั้งหมดคุณภาพ 2K สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

หลายคนอาจรู้สึกว่าหนังเข้าถึงยาก มีความสลับซับซ้อน แต่ให้มองเป็นความท้าทาย ค่อยๆขบครุ่นคิด ทบทวนสิ่งต่างๆ เมื่อพบเจอคำตอบ ตระหนักเหตุผลที่ตัวละครปฏิเสธขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส นั่นเป็นสิ่งน่ายกย่องสรรเสริญ กล้าท้าทายขนบวิถีที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ล้างสมองโดยจักรวรรดิอาณานิคม … เป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่า อันดับหนึ่งของชาวแอฟริกันอย่างไร้ข้อกังขา!

จัดเรต 18+ กับภาพเชือดวัว การลักขโมย

คำโปรย | Touki Bouki การเดินทางค้นหาตัวตนเองของผู้กำกับ Djibril Diop Mambéty ปฏิเสธคล้อยตามอุดมคติชวนเชื่อจักรวรรดิอาณานิคม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ปารี่ ปารีส ปาหี่

West Indies ou les Nègres marrons de la liberté (1979)


West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) , Mauritanian : Med Hondo ♥♥♥♥

West Indies ชื่อเรียกหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean ดินแดนที่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา ต่อมากลายเป็นอาณานิคมยุโรป นำเข้าทาสผิวสีแอฟริกัน มาใช้แรงงานปลูกอ้อย แปรรูปน้ำตาล ทำออกมาในสไตล์หนังเพลง (Musical) ผสมผสานการละคอน+ภาพยนตร์ คลุกเคล้าอดีต+ปัจจุบัน เล่าประวัติศาสตร์ทาสเป็นไทได้อย่างมหัศจรรย์

เกร็ด: เหตุผลที่ตั้งชื่อหมู่เกาะย่านนี้ว่า West Indies เพราะอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้ามกับ East Indies (หรือ East India) เมื่อเอายุโรปเป็นจุดศูนย์กลางโลก!

แม้หนังจะชื่อ West Indies (1979) แต่เหมือนจะไม่มีสักฉาก (ยกเว้นภาพจาก Archive Footage) เดินทางไปถ่ายทำยังภูมิภาคนี้ เรื่องราวแทบทั้งหมดเกิดขึ้นบนเรือโดยสาร Slave Ship (ทำการก่อสร้างเรือ ถ่ายทำในโกดังร้างที่ฝรั่งเศส) ระหว่างบรรทุกทาสชาวแอฟริกันเดินทางไปๆกลับๆ ยุโรป-แอฟริกา-อเมริกัน เล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ถูกยึดครองโดย Spanish Empire มาจนถึง French West Indies (1628-1946)

เมื่อตอนรับชม Soleil Ô (1970) ผมรู้สึกว่าผกก. Hondo สรรค์สร้างภาพยนตร์ได้บ้าระห่ำมากๆ ซึ่งพอมารับชม West Indies (1979) สัมผัสถึงวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกระดับ! อาจไม่ได้แพรวพราวลูกเล่นภาพยนตร์เทียบเท่า แต่ความพยายามผสมผสาน Theatrical+Cinematic (ละคอนเวที+ลูกเล่นภาพยนตร์) แล้วคลุกเคล้าอดีต+ปัจจุบัน โดยใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน เพียงแค่นักแสดงเดินสวนกัน แบบนี้ก็ได้เหรอเนี่ย??

(โดยปกติแล้วการสลับเปลี่ยนช่วงเวลาดำเนินเรื่อง ง่ายสุดคือตัดต่อเปลี่ยนฉาก เท่ห์หน่อยถึงเพิ่มลูกเล่นภาพยนตร์ ล้ำสุดๆก็ใช้คอมพิวเตอร์ทำอนิเมชั่นเปลี่ยนผ่าน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กล้องเคลื่อนเลื่อนไหล นักแสดงจากสองช่วงเวลาเดินเข้า-ออก สวนทางกัน)

วัตถุประสงค์ของผกก. Hondo ต้องการปลดแอกตนเองออกจากวิถี(ภาพยนตร์)ยุโรป+อเมริกัน พยายามครุ่นคิด ประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ มองหาแนวทางสรรค์สร้างผลงานที่แตกต่างออกไป

I wanted to free the very concept of musical comedy from its American trade mark. I wanted to show that each people on earth has its own musical comedy, its own musical tragedy and its own thought shaped through its own history.

Med Hondo

หลายคนอาจไม่ชอบวิธีการของผกก. Hondo เพราะมันมีความผิดแผกแปลกประหลาด แตกต่างจากแนวทางภาพยนตร์ทั่วๆไป เหมือนกำลังรับชมโปรดักชั่นละคอนเวที (Theatrical) หาความสมจริงแทบไม่ได้ … ผมแนะนำให้ลองครุ่นคิดในมุมกลับตารปัตร ว่าหนังเป็นการบันทึกภาพ ถ่ายทำละคอนเวที แล้วสังเกตรายละเอียดงานสร้างภาพยนตร์ (สิ่งที่ละคอนเวทีทำไม่ได้ แต่สื่อภาพยนตร์ทำได้) แล้วคุณอาจค้นพบความมหัศจรรย์ของหนังอย่างคาดไม่ถึง


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970)

สำหรับ West Indies ou les Nègres marrons de la liberté ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง Les Négriers (1971) แปลว่า The Slavers แต่งโดย Daniel Boukman (เกิดปี 1936) นักเขียนชาว Martinican เกิดที่ Fort-de-France, Martinique (เกาะทางตะวันออกของทะเล Caribbean ปัจจุบันคือจังหวัดโพ้นทะเลของ French West Indies)

เกร็ด: แม้เรื่องราวไม่มีการระบุชื่อเกาะตรงๆ (เหมารวมว่าคือ West Indies) แต่แน่นอนว่า Daniel Boukman อ้างอิงถึง Martinique ได้รับการค้นพบโดย Christopher Columbus เมื่อปี ค.ศ. 1502, ต่อมาชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน ค.ศ. 1635 ก่อนกลายเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ค.ศ. 1674, ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์และอังกฤษเคยเข้าโจมตี สลับสับเปลี่ยนการยึดครอง (ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1794-1802 และ ค.ศ. 1809-1814) จนกระทั่ง ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสประกาศเกาะนี้เป็นจังหวัดโพ้นทะเล (Département d’outre-mer แปลว่า Overseas Department)

ผกก. Hondo ได้เคยดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้เป็นการแสดงละครเวทีเมื่อปี ค.ศ. 1972 เพื่อเตรียมความพร้อม ทดลองผิดลองถูก ตั้งใจจะดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าที่จะเก็บหอมรอมริดเงินส่วนตัว จึงต้องนำโปรเจคนี้ไปพูดคุยกับสตูดิโอต่างๆ

เห็นว่าผกก. Hondo เคยเดินทางไปพูดคุยโปรเจคนี้กับสตูดิโอ Warner Bros. และ MGM ซึ่งต่างก็แสดงความสนใจ แต่เรียกร้องขอให้ปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น

I told them: Fuck it. If it’s not the same subject, why ask me to do it? Do it yourself.

Med Hondo

สุดท้ายแล้วงบประมาณได้จากการรวบรวมเงินทุนหลากหลายแหล่ง (Private Funding) มีทั้งจาก Mauritania, Senegal, Algeria และ France จำนวน $1.3 ล้านเหรียญ มากเป็นประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกัน


นับตั้งแต่ Jean Aubert ค้นพบไร่อ้อยในภูมิภาค Caribbean เมื่อปี ค.ศ. 1640 ทำการแปรรูปน้ำตาล กลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกสร้างรายได้มหาศาล ทำให้จักรวรรดิฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามายึดครอบครองอาณานิคม French West Indies ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1674 วางแผนเพิ่มผลผลิตด้วยการนำเข้าแรงงานทาสจากแอฟริกัน ซึ่งราคาถูก สามารถทำงานหนัก และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาค Caribbean ได้โดยง่าย

เรื่องราวเริ่มต้นที่ห้าผู้นำ French West Indies (ประกอบด้วยสี่คนขาว+หนึ่งชาวแอฟริกันผิวสี) กำลังพูดคุยหาหนทางลดจำนวนประชากรชาวแอฟริกันที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ครุ่นคิดแผนการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสราวกับสรวงสวรรค์ ใครอาสาสมัครจักได้รับโบนัสสำหรับใช้ชีวิต แต่แท้จริงแล้วนั่นคือคำโป้ปดหลอกลวง เพื่อสามารถควบคุมครอบงำ จัดการชนกลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลือให้อยู่หมัด

ถึงอย่างนั้นชาวแอฟริกันกลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ใน French West Indies ต่างลุกฮือขึ้นมาชุมนุม ประท้วงหยุดงาน เรียกร้องต่อรองโน่นนี่นั่น จนห้าผู้นำครุ่นคิดอีกแผนการให้หนึ่งในสมาชิกที่เป็นชาวผิวสี ลงสมัครรับเลือกตั้ง กลายเป็นผู้นำประชาชน แต่แท้จริงแล้วหมอนี่ก็แค่หุ่นเชิดชักของพวกฝรั่งเศสเท่านั้นเอง!


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

มันไม่ใช่ว่าผกก. Hondo ไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำสถานที่จริง French West Indies แต่คงรับรู้ตัวเองตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่มีทางสรรหางบประมาณเพียงพอ อย่างน้อยก็น่าจะ $10-20 ล้านเหรียญ … ถ้าได้ทุนสนับสนุนจาก Hollywood อาจเพียงพอแน่ แต่ต้องแลกกับข้อเรียกร้องโน่นนี่นั่น ย่อมไม่มีทางเห็นพ้องต้องกัน!

ด้วยงบประมาณหาได้จำกัด ผกก. Hondo จึงเลือกลงทุนกับการก่อสร้างเรือโดยสาร Slave Ship ภายในโกดัง/โรงงานร้างของบริษัทผลิตรถยนต์ Citroën ณ Quai de Javel, Paris (โรงงานปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 1975) ผลลัพท์อาจทำให้หนังขาดความสมจริง แต่ภาพยนตร์มันจำเป็นต้องทำออกมาให้มีความสมจริงด้วยฤา??

ถ้าเราสามารถมองหนังเรื่องนี้คือการบันทึกภาพการแสดงละคอนเวที (Theatrical) มันจะช่วยลดอคติเกี่ยวกับความสมจริง-ไม่สมจริงได้อย่างมากๆ ลีลาการถ่ายภาพจะพบความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เต็มไปด้วยโคตรๆ Long Take และ(เมื่อถ่ายบนดาดฟ้าเรือ)กล้องมักขยับเคลื่อนไหลแทบตลอดเวลา นั่นแสดงให้ถึงการซักซ้อม ต้องตระเตรียมความพร้อม นักแสดงกว่าร้อยคน เตรียมงานสร้างมากว่า 7 ปี!

นอกจากลีลาการเคลื่อนกล้อง พยายามทำออกมาให้ดูโคลงเคลง ราวกับกำลังล่องลอยคออยู่บนท้องทะเล อีกความโดดเด่นคือการจัดวางองค์ประกอบภาพ ใช้ประโยชน์จากการออกแบบเรือโดยสาร Slave Ship ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสูง-ต่ำ สำหรับแบ่งแยกสถานะชนชั้น ผู้นำ-ฝรั่งเศส-ทาสแอฟริกัน

  • ห้าผู้นำ French West Indies อาศัยอยู่ในห้องบัญชาการ (Captain’s Cabin) ดูโอ่โถง หรูหรา มีหน้าที่ครุ่นคิดวางแผน บริหารจัดการ ซึ่งก็ยังแบ่งแยกผู้นำ ที่ปรึกษา บาทหลวง ฯ ไล่เลียงตามขั้นบันได
  • ชั้นดาดฟ้า คือสถานที่สำหรับคนขาว ชาวฝรั่งเศส (รวมถึงคนดำที่ถูกล้างสมองให้กลายเป็นฝรั่งเศส) มีความไฮโซ แต่งตัวหรูหรา มักพบเห็นร้องรำทำเพลงด้วยความสนุกสนานครื้นเครงไม่ว่าจะยุคสมัยไหน
  • ชั้นล่าง คือสถานที่สำหรับชาวแอฟริกัน ในอดีตเคยตกเป็นทาส ถูกบีบบังคับให้ต้องใช้แรงงานหนัก หลังได้รับอิสรภาพ กลายเป็นชุมชนแออัด เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

หนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำบนเรือโดยสาร Slave Ship ที่สร้างขึ้นภายในโกดัง/โรงงานร้าง ยกเว้นการฉายภาพ Archive Footage ด้วยฟีล์ม 16mm คุณภาพสีดูซีดๆ เบลอๆ พบเห็นชุมชน บ้านเรือน ผู้คนบนเกาะแห่งหนึ่งในเขตทะเล Caribbean และอาชีพหลักทำไร่อ้อย แปรรูปน้ำตาล

ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ยังได้ยินเสียงรัวกลอง ฟังดูราวกับพิธีกรรม ทำเหมือนอารัมบทถึงบางสิ่งอย่าง … จะว่าไปจังหวะรัวกลอง มีความสอดคล้องกับการตัดต้นอ้อย แต่ความหมายแท้จริงเดี๋ยวจะอธิบายต่อไป

ช่วงระหว่าง Opening Credit เป็นการถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ พบเห็นกล้องเคลื่อนจากภายนอกโกดัง/โรงงานร้าง ได้ยินเสียงเครื่องจักรกลล่องลอยมา (ในอดีตเคยเป็นโรงงานผลิตรถยนต์) แต่พอเลื่อนมาถึงบริเวณกองไฟ จู่ๆเสียงพื้นหลังปรับเปลี่ยน (ในสไตล์ Godardian) มาเป็นผู้คนตะโกนโหวกเหวกโวยวาย กล้องหันจากขวาสู่ซ้าย เข้าหาเรือโดยสาร Slave Ship สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นฉากประกอบภาพยนตร์

ผมมองการนำเสนอลักษณะนี้เพื่อเลือนรางระหว่างโลกความจริง(ภายนอก) vs. เหตุการณ์(ภายใน)ภาพยนตร์ เคลื่อนเลื่อนจากปัจจุบันสู่อดีต (ถือเป็นอารัมบทวิธีการดำเนินเรื่องที่มักใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน นักแสดงจากสองช่วงเวลาเดินสวนทางกัน) ให้ผู้ชมเกิดการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆเคยบังเกิดขึ้น มีความละม้ายคล้าย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในปัจจุบัน

การเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำ ณ (อดีต)โรงงานบริษัทผลิตรถยนต์ ก็ยังสามารถตีความถึงการใช้แรงงาน ระบอบทุนนิยม ปัจจุบันถูกทอดทิ้งร้าง ไม่แตกต่างจากเรื่องราวของหนัง!

ในเรือโดยสาร Slave Ship มักมีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยหลบมุม ซ่อนตัวในความมืดมิด คอยแสดงความคิดเห็นต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับสิ่งต่างๆที่พวกเบื้องบนพยายามนำเสนอ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล พวกเขาก็ปฏิเสธลงเสียง แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

สังเกตว่าหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้าน/คณะปฏิวัติ จะมีคนหนึ่งที่คอยตีกลองเบาๆ นั่นชวนให้ผมนึกถึง “Drum of Liberation” ใครตามอ่านวันพีซก็น่าจะมักคุ้นเป็นอย่างดี ในบริบทนี้สื่อถึงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ชนกลุ่มน้อย เลยได้ยินคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ

การเลือกตั้งครั้งนี้มันช่างไม่มีความโปร่งใสเลยสักนิด! พยายามถ่วงเวลาด้วยการเอ่ยขานชื่อ พร้อมพรรณาความสำคัญ ยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งพอพวกเขาเหล่านั้นหย่อนบัตรลงคะแนน ก็มีการสอดไส้กระดาษเข้าด้านหลัง … มันคืออะไรก็ช่างหัวมันเถอะครับ ให้มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เพียงพอแล้วละ

และเมื่อถึงคิวของบุคคลจากชั้นล่างกำลังจะลงคะแนนเสียง ก็ถูกปิดกั้นโดยทันที (พร้อมเสียงฉาบใหญ่) ด้วยข้ออ้างพระอาทิตย์กำลังตกดิน (แสงไฟดวงใหญ่ด้านหลังก็เคลื่อนคล้อยลงมา) นี่แสดงให้ว่า ประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์เสียงใดๆในระบอบประชาธิปไตย

ปล. หลายคนอาจมองซีเควนซ์นี้ว่ามีความไกลตัว เรื่องราวของคนขาวกับชาวแอฟริกัน แต่ผมไม่รู้สึกถึงความแตกต่างจากประเทศสารขัณฑ์ การเลือกตั้งไม่ต่างจากเล่นละคอน รัฐบาลไม่เคยสนหัวประชาชน

วิธีการที่หนังใช้เล่าเรื่องย้อนอดีต เมื่อหนึ่งในห้าผู้นำ French West Indies เล่าถึงประวัติศาสตร์เกาะแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1640 กล้องทำการเคลื่อนเลื่อนผ่านฝูงชน จนพบเห็นทาสแอฟริกันกำลังโยกเต้น เริงระบำ สังเกตจากเสื้อผ้าสวมใส่ก็เพียงพอบอกได้ว่าคือช่วงศตวรรษที่ 17th

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจใช้เป็นจุดสังเกต แยกแยะระหว่างอดีต-ปัจจุบัน คือคำขวัญ (Motto) ที่ปรากฎอยู่บนดาดฟ้าเรือ

  • Dieu et le Roi Protègent le Royaume แปลว่า God and The King Protect The Kingdom นี่คือคำขวัญของ Ancien Régime (Old Regime) เริ่มใช้มาตั้งแต่ King Louis XIII (1601-43) ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1610
  • Liberté égalitégent le Royaume แปลว่า Freedom Equality People the Kingdom คาดว่าใช้ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1789-1848
  • Liberté égalité Fraternité แปลว่า Liberty Equality Fraternity (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ) เริ่มต้นจากเป็นคำขวัญของ National Guards ในช่วงการปฏิวัติ French Revolution (1789-99) และ Revolution of 1848 ก่อนได้รับการบัญญัติเป็นหลักการพื้นฐาน/คำขวัญฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1848

แค่ท่านั่งของผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล หนึ่งในผู้นำ French West Indies ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ก็บ่งบอกถึงสันดานธาตุแท้ ทั้งๆมีเชื้อสายแอฟริกัน ผิวดำเหมือนกัน กลับไม่เคยสนหัวประชาชน เป็นเพียงหุ่นเชิดชักฝรั่งเศส กระทำสิ่งตอบสนองตัณหาส่วนตน

หลังจากการโฆษณาชวนเชื่อเสร็จสิ้น หนังทำการเคลื่อนเลื่อนกล้อง (ถ่ายทำแบบ Long Take) เก็บภาพบรรยากาศโดยรอบ พบเห็นผู้คนพูดคุย แสดงความคิดเห็น บางคนเห็นชอบ บางคนไม่เห็นด้วย พยายามหาข้ออ้าง โน้มน้าวกล่อมเกลา อธิบายเหตุผลการเดินทาง พรอดคำหวานเพราะกำลังจะร่ำลาจากกัน … ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องคงใช้การตัดต่อ ร้องเรียงชุดภาพ ไม่ก็ในลักษณะพูดคุยสัมภาษณ์ แต่สำหรับ West Indies (1979) พยายามแหกธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว ใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน ถ่ายทำแบบ Long Take เพียงหยุดฟังความคิดเห็น เสร็จแล้วก็ดำเนินต่อไป

นี่ถือเป็นอีกช็อตมหัศจรรย์ของหนัง! กล้องเริ่มถ่ายจากกลุ่มชาวแอฟริกัน(ช่วงทศวรรษ 1960-70s)ที่ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ตามคำชวนเชื่อรัฐบาล ระหว่างกำลังก้าวเดินผ่านดวงไฟขนาดใหญ่ยักษ์ น่าจะคือพระอาทิตย์ สวนทางกับบรรดาทาสชาวแอฟริกัน ล่ามโซ่ตรวน เดินเรียงเป็นขบวน กำลังถูกส่งตัวไปยัง West Indies ในช่วงศตวรรษที่ 17-18th … นี่เป็นอีกครั้งที่ใช้การเคลื่อนเลื่อนกล้อง แล้วเกิดการผันแปรเปลี่ยนยุคสมัย

ผมรู้สึกว่าท่าเต้นของทาสชาวแอฟริกัน ดูกรีดกรายด้วยความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน มือและเท้าต่างถูกพันธนาการ ไม่สามารถปลดปล่อยตนเอง กระโดดโลดเต้นได้อย่างสุดเหวี่ยง

ชายสูงวัยคนนี้ที่หันมาสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ทำเหมือนพยายามพูดคุยสนทนากับผู้ชม

Africa, my mother…
A great distance of water,
a great distance of days between you and me.

Africa, my mother,
face of a million wounds…
My strength is slowly ebbing.

ถือเป็นตัวละครเชื่อมต่อระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ตัวแทนจิตวิญญาณชาวแอฟริกันที่สร้างขวัญ กำลังใจ เรียกร้องให้ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องเสรีภาพ … ชวนให้ผมนึกถึง The Eternal Motherhood จากโคตรภาพยนตร์ Intolerance (1916)

จากคำโฆษณาชวนเชื่อ (ป้ายโฆษณาแปะเต็มพื้นหลัง) ฝรั่งเศสในอุดมคติ ราวกับสรวงสวรรค์! แต่พอบรรดาผู้อพยพเดินทางมาถึง (ฉากนี้ก็ยังถ่ายทำบนเรือโดยสาร) ราวกับถูกปล่อยเกาะ ทอดทิ้งขว้าง ไม่มีใครมารอต้อนรับ หน่วยงานรัฐไม่เคยเหลียวแลสนใจ ต้องมองหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน เอาตัวรอดด้วยตนเอง

ล้อกับตอนที่ชาว French West Indies ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส กล้องทำการเคลื่อนเลื่อน เก็บภาพบรรยากาศโดยรอบ พบเห็นผู้คนพูดคุยสนทนา แต่จากเคยสรรหาข้ออ้าง แสดงความคิดเห็น ว่าทำไมถึงอยากอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส เปลี่ยนมาเป็นพูดเล่าความรู้สึก เคยพานผ่านอะไร ทำงานอะไร หาเงินได้มากน้อยเพียงไหน และหลังจากกระโดดโลดเต้น (ได้ยินบทเพลง Mother France ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี ประชดประชัน) พวกเขาก็เดินตรงเข้าหากล้อง จ้องหน้าสบตา (Breaking the Fourth Wall) ราวกับมองหน้าหาเรื่อง

ประเด็นคือระหว่างซีเควนซ์นี้ไม่ได้มีการพูดบอกว่าเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร แต่คำอธิบายของห้าผู้นำ French West Indies พร้อมกับภาพอนิเมชั่น นั่นหมายถึงคนกลุ่มนี้น่าจะกำลังเดินทางกลับบ้าน (ที่ French West Indies) พูดเล่าความรู้สึกผิดหวัง เกรี้ยวกราด แสดงความไม่พึงพอใจต่อพวกฝรั่งเศสที่ทำการล่อหลอก กลับกลอก ผิดคำสัญญา

เป็นเรื่องปกติของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง สักวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน โค่นล้มพวกผู้มีอำนาจบาดใหญ่ สังเกตจากเสื้อผ้าสวมใส่ และคำขวัญบนดาดฟ้าเรือ ซีเควนซ์นี้น่าจะประมาณช่วงศตวรรษ 17-18th (ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส) เพราะทหารฝรั่งเศสถือปืนห้อมล้อมทาสแอฟริกัน สัญลักษณ์ของการกวาดล้าง ประหารชีวิต ยังคือช่วงเรืองอำนาจของเผด็จการ

สี่ภาพนี้นำเสนอประวัติศาสตร์โดยย่อ (นาง-นายแบบจะแสดงท่าทาง ภาษากาย แฝงนัยยะความหมายบางอย่าง) ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งเศสคือประเทศเดียวในโลกเลยหรือเปล่าที่มีการเลิกทาสถึงสองครั้ง!

  • First Abolition: วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1794 ในช่วงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส French Revolution (1789-99)
  • Reinstatement: ภายหลังจาก Napoleon Bonaparte ก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจ ในปี ค.ศ. 1802 มีการนำระบบทาสกลับมาใช้โดยเฉพาะกับอาณานิคม French West Indies จุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตแปรรูปน้ำตาล
    • King Louis Philippe I (1773-1850, ครองราชย์ 1830-48) เมื่อขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1830 เลือกที่จะวางตัวเป็นกลาง รักษาสถานะทาส ขณะเดียวกันแอบให้การสนับสนุนกลุ่ม Anti-Slavery
  • Second and Permanent Abolition: เริ่มต้นจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ The French Revolution of 1848 นำไปสู่การออกกฎหมายเลิกทาสวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1848 ก่อนค่อยๆทะยอยประกาศใช้ตามอาณานิคมต่างๆ เริ่มต้นจาก Martinique วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1848

แซว: ให้ลองสังเกต Napoleon จะมีการขยับหมวก 180 องศา (จากหลังหันสู่หน้า) สามารถสื่อถึงการ ‘Reinstatement’ นำระบบทาสที่ล้มเลิกไปแล้ว หวนกลับมาประกาศใช้ใหม่

François Arago (1786-1853) นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ สมาชิกองค์กร Freemason เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Minister of the Navy) เมื่อปี ค.ศ. 1848 และเป็นผู้นำกฎหมายเลิกทาส (Second Abolition) ไปประกาศใช้ยังอาณานิคม French West Indies

ตรงกันข้ามกับตอนที่ถูกล่ามโซ่ตรวน เมื่อชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ไม่ต้องตกเป็นทาสอีกต่อไป ท่าทางเต้นรำของพวกเขาช่างมีความสุดเหวี่ยง กระโดดลอยตัว เพื่อสื่อถึงอิสรภาพแห่งชีวิต

ในอดีตทหารฝรั่งเศสเคยถือปืน ห้อมล้อม จ่อยิงทาสแอฟริกันที่ลุกฮือขึ้นมาจะโค่นล้มรัฐบาล (ช่วงศตวรรษ 17-18th) พอกาลเวลาเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน(นั้น) ทศวรรษ 1960-70s แม้บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่มุมกล้อง อะไรหลายๆอย่างกลับยังคงเหมือนเดิม แรงงานแอฟริกันรวมกลุ่มกันเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากอาณานิยม ยังคงถูกห้อมล้อมโดยตำรวจฝรั่งเศส

ความแตกต่างคือแต่ก่อนมีเพียงการต่อสู้ระหว่างทาสแอฟริกัน vs. ชนชั้นผู้นำฝรั่งเศส, แต่โลกยุคสมัยใหม่ได้เพิ่มเติมชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ซึ่งมีทั้งคนขาวและชาวแอฟริกัน(ที่ถูกย้อมขาว, Whitewashing) อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เสมอภาคเท่าเทียม

ในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยกษัตริย์ จนมาถึงห้าผู้นำ French West Indies ต่างใช้อำนาจบาดใหญ่ในการปกครองอาณาประชาราษฎร์ จนกระทั่งการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) นี่น่าจะถือเป็นครั้งแรกที่ยินยอมเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่สังเกตบรรดาตัวแทนทั้งหลาย ต่างคือพวกชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) เต็มไปด้วยถ้อยคำสรรเสริญเยินยอ ข้อเรียกร้องที่ตอบสนองผลประโยชน์ ความพึงพอใจส่วนบุคคล … พวกชนชั้นผู้นำเองก็ได้ประโยชน์ เลยไม่ได้ปฏิเสธต่อต้านประการใด

ในอดีตตัวละครของ Robert Liensol เคยเป็นกษัตริย์ของชาวแอฟริกัน ค้าขายทาสให้กับพวกฝรั่งเศส (ส่งมาใช้แรงงานยังจังหวัดโพ้นทะเล) ต่อมาถือกำเนิดใหม่เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกผู้นำ French West Indies ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล และเมื่อรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนชั้นกลาง หลับฝันจินตนาการว่าตนเองสวมใส่มงกุฎ กลายเป็นกษัตริย์ปกครองหมู่เกาะ Caribbean (โดยมีพวกฝรั่งเศสชักใย ยืนอยู่เบื้องหลัง)

เกร็ด: Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélémy บนเกาะ Leeward Islands ซึ่งคือหนึ่งในจังหวัดโพ้นทะเล French West Indies ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูภูมิฐาน เหมือนคนมีการศึกษาสูง แถมชอบทำเริดเชิด แสดงความเย่อหยิ่ง ต้องถือว่าเกิดมาเพื่อรับบทบาทนี้

แต่เมื่อฟื้นตื่นจากความฝัน ภาพสะท้อนโลกความจริง ใบหน้าของ Liensol ซ้อนทับภาพชุมนุมประท้วงของพวกแรงงานแอฟริกัน นั่นคือสิ่งขัดขวางไม่ให้ความฝันของเขากลับกลายเป็นจริง!

หนังไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าสถานการณ์การเมืองของ French West Indies จะยุติลงเช่นไร ได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสหรือไม่ … แต่จนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2024 บรรดาจังหวัดโพ้นทะเลก็ยังคงเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ถึงอย่างนั้นหนังจบลงด้วยการเฉลิมฉลอง เริงระบำ ขับร้องเพลงเกี่ยวกับแอฟริกัน+อเมริกัน นี่ไม่ได้จะสื่อถึงชัยชนะ แต่นัยยะถึงการปลดปล่อย เสียงรัวกลองแห่งอิสรภาพ (Drum of Liberation) กล้องเคลื่อนหมุนรอบโลก 360 องศา สักวันหนึ่งการกดขี่ข่มเหงต้องหมดสูญสิ้นไป

ตัดต่อโดย Youcef Tobni มีผลงานเด่นๆ อาทิ Chronicle of the Years of Fire (1975), West Indies (1979) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครไหนเป็นพิเศษ แต่มีจุดศูนย์กลางคือเรือโดยสาร Slave Ship สลับสับเปลี่ยน เคลื่อนเลื่อนไหลจากห้าผู้นำ French West Indies มายังชาวฝรั่งเศสบนชั้นดาดฟ้า และชาวแอฟริกันที่อยู่ชั้นล่าง พานผ่านประวัติศาสตร์ตั้งแต่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา มาจนถึงปัจจุบัน(นั้น) ค.ศ. 1970

  • อารัมบท, ห้าผู้นำ French West Indies หลังจากรับชม Archive Footage อธิบายวัตถุประสงค์(ของหนัง) แผนการลดจำนวนประชากรชาวแอฟริกัน
  • การเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล
    • เริ่มต้นระหว่าง Opening คือการเดินขบวนหาเสียง
    • จากนั้นลงคะแนนเลือกตั้ง
    • หลังประกาศผลผู้ชนะ มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเต้นรำ
  • (ย้อนอดีต) (ร้องรำทำเพลง) เล่าประวัติศาสตร์ French West Indies
    • ตั้งแต่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา
    • Jean Aubert ค้นพบไร่อ้อย แปรรูปน้ำตาล
    • ฝรั่งเศสเข้ายึดครอง French West Indies
    • นำเข้าทาสแอฟริกันมาทำงานยัง French West Indies
  • แผนการชวนเชื่อ ส่งออกชาวแอฟริกัน
    • ห้าผู้นำ French West Indies ประชุมวางแผน หาวิธีการส่งออกชาวแอฟริกัน
    • (ร้องรำทำเพลง) โฆษณาชวนเชื่อ ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์
    • ผู้ว่าการ Justin กล่าวคำชวนเชื่อ เรียกร้องให้ชาวแอฟริกันอพยพสู่ฝรั่งเศส
    • มีชาวแอฟริกันทั้งที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นพ้อง ตัดสินใจออกเดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศส
  • (ย้อนอดีต) ฝรั่งเศสนำเข้าแรงงานทาสแอฟริกัน
    • สวนทางกับทาสแอฟริกันถูกล่ามโซ่ตรวน กำลังก้าวเดินขึ้นเรือ ออกเดินทางสู่ French West Indies
    • ผู้นำฝรั่งเศส พบเจอกษัตริย์ชาวแอฟริกัน
    • พบเห็นภาพทาสแอฟริกัน ต่อสู้ดิ้นรน (เต้นรำอย่างทุกข์ทรมาน) จากการถูกกดขี่ข่มเหงสารพัด
    • ระหว่างนั้นมีการสู้รบสงคราม สลับสับเปลี่ยนผู้ปกครองแคว้นอาณานิคม
  • ผู้อพยพมาถึงฝรั่งเศสฝรั่งเศส
    • บรรดาผู้อพยพเดินทางมาถึงฝรั่งเศส แต่กลับไม่ใครให้การต้อนรับ
    • พวกฝรั่งเศสรวมกลุ่มกันประท้วงต่อต้าน
    • เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฝรั่งเศส กับกลุ่มผู้อพยพ
    • ร้อยเรียงคำรำพันของผู้อพยพในฝรั่งเศส
  • การลุกฮือของชาวแอฟริกัน
    • ห้าผู้นำ French West Indies ประชุมวางแผน หาวิธีเร่งส่งออกพวกแอฟริกัน แต่กลับ…
    • (ย้อนอดีต) ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการเลิกทาสของฝรั่งเศส
    • พอดำเนินมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ทวีความรุนแรง ชนชั้นล่างแสดงความไม่พึงพอใจ แต่เมื่อห้าผู้นำ French West Indies เปิดโอกาสให้พวกเขายื่นข้อเรียกร้อง มีแต่ชนชั้นกลางเยินยอปอปั้น
    • (ความฝัน) ผู้ว่าการ Justin จินตนาการเพ้อฝันว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นประมุขปกครองหมู่เกาะ Caribbean
    • แต่เหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงก็คือ การชุมนุมเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกสับสน เพราะหนังใช้นักแสดงชุดเดิมทั้งในอดีต-ปัจจุบัน ยกตัวอย่าง Robert Liensol (ชายผิวสีที่เคยแสดงนำภาพยนตร์ Soleil Ô (1970)) อดีตเคยเป็นกษัตริย์ชาวแอฟริกัน → ต่อมากลายเป็นหนึ่งในห้าสมาชิก French West Indies → ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล … ไม่เชิงว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ถือเป็นการเวียนว่ายตายเกิดในหลายภพชาติ คล้ายๆภาพยนตร์ Cloud Atlas (2012)


เพลงประกอบโดย Georges Raymond Rabol (1937-2006) นักเปียโน นักแต่งเพลง สัญชาติ Martinican, วัยเด็กเริ่มสนใจด้านดนตรีหลังจากรับฟังบทเพลงของ Louis Moreau Gottschalk จากนั้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ไม่มีรายละเอียดว่าเข้าศึกษาต่อที่ไหน แต่ถนัดด้าน Jazz Pianist เคยเป็นนักเปียโนประจำรายการวิทยุ Le Tribunal des flagrants délires, โด่งดังสุดคือเพลงประกอบภาพยนตร์ West Indies (1979)

ในส่วนของเพลงประกอบถือว่ามีความหลากหลาย ทั้งบทเพลงสไตล์ Caribbean, พื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคลาสสิกยุโรป, French Pop/Rock, รวมถึง American Jazz ซึ่งจะผันเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์-ช่วงเวลา มีคำร้อง-เพียงท่วงทำนอง หรือบางครั้งอาจเป็นการพูดคุยประกอบจังหวะดนตรี (ผมเรียกว่า ‘พูดร้องเพลง’)

โดยหนังจะมี Main Theme ท่วงทำนองคล้ายๆ Mission: Impossible บางครั้งบรรเลงด้วยกีตาร์, ออร์เคสตรา, เสียงเป่าขลุ่ย, ดนตรีร็อค ฯ สร้างความรู้สึกเหมือนการต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางออกไปจากดินแดนแห่งนี้

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาคลิปหรือรายละเอียดบทเพลงประกอบหนัง แต่หนึ่งในนั้นที่มีความชื่นชอบเป็นการพิเศษ คาดเดาว่าน่าจะชื่อเพลง Mother France ขับร้องโดย Frank Valmont ดังขึ้นหลังจากการปะทะระหว่างผู้อพยพ vs. ชาวฝรั่งเศสที่รวมกลุ่มต่อต้าน เนื้อคำร้องออกไปในเชิงเสียดสี ประชดประชัน และกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำ เหมือนกำลังเดินทางกลับ French West Indies กระมังนะ (ถ่ายทำยังชั้นล่างของเรือ)

Mother France,
against your big breasts,
blue, white and red breasts,
I snuggle up without a worry.

For you, I agree to waste my life.
The good God protects you.
You eat to your heart’s content.
Please don’t forget me!

Mother France,
deprive me of freedom,
but please keep my fridge
and my stomach full!


West Indies (1979) นำเสนอประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกันกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกพวกจักรวรรดินิยมจับเป็นทาส ส่งมาใช้แรงงานยังหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean ปลูกอ้อย แปรรูปน้ำตาล สร้างรายได้มากมายมหาศาล แต่เมื่อปริมาณประชากร(ชาวแอฟริกัน)เพิ่มมากขึ้น มักเกิดการรวมกลุ่มต่อต้าน ชุมนุมประท้วง ลุกขึ้นมาเรียกร้องโน่นนี่นั่น

ในยุคแรกๆกลุ่มต่อต้านคงถูกพวกจักรวรรดินิยมปราบปรามจนหมดสิ้น! แต่ไม่นานพวกแอฟริกันก็รวมกลุ่มกันขึ้นมาใหม่ หลายครั้งเข้าจึงต้องประณีประณอม ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องหลายๆอย่าง มีการเลือกตั้งผู้ว่าการ จัดตั้งระบบสวัสดิการ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์คริสต์ ฯ ถึงอย่างนั้นได้คืบจะเอาศอก เรียกร้องโน่นนี่นั่นไม่หยุดหย่อน ชนชั้นผู้นำจึงครุ่นคิดแผนการใหม่ สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ พร้อมจ่ายโบนัสให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน จากนั้นก็ตัดหางปล่อยวัด ชนกลุ่มน้อยที่หลงเหลือจึงอยู่ในการควบคุมโดยง่ายดาย

West Indies is not a film more Caribbean than African. It summons all people whose past is made of oppression, whose present is made of failed promises and whose future remains to be conquered.

Med Hondo

แม้หนังจะมีพื้นหลังยังหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean แต่กลับสร้างฉากถ่ายทำในโกดัง/อดีตโรงงานผลิตรถยนต์ Citroën ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งยังทำการกระโดดไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน นั่นแสดงถึงความไม่จำเพาะเจาะจงสถานที่ วัน-เวลา (Space & Time) และอาจรวมถึงชนชาติพันธุ์ (ไม่จำเป็นต้องแค่เรื่องราวของชาวแอฟริกัน) นั่นเพราะผกก. Hondo ต้องการเหมารวมทุกสิ่งอย่าง เพื่อนำเสนอเรื่องราวการถูกกดขี่ข่มเหง คำสัญญาลวงหลอก และอนาคตของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเฉลียวฉลาด ซึ่งมักทำให้เกิดความเย่อหยิ่ง หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง แบ่งแยกสถานะทางสังคม ชนชั้นสูง-ต่ำ สีผิวดำ-ขาว บุคคลผู้มีอำนาจ-บริวารอยู่ภายใต้ นำไปสู่การกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ คำสัญญาหลอกลวง … แนวคิดของลัทธิอาณานิคม จึงเป็นสิ่งไม่มีวันหมดสูญสิ้นไปจากโลก

ใครเคยรับชม Soleil Ô (1970) และอาจรวมถึงผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Hondo ย่อมมักคุ้นกับเนื้อหาสาระ ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) โดยเฉพาะการชวนเชื่อ สร้างค่านิยม “ฝรั่งเศสคือดินแดนราวกับสรวงสวรรค์” ซึ่งเขาคือหนึ่งในบุคคลผู้หลงเชื่อ แอบขึ้นเรือ มาตายเอาดาบหน้า โชคดีว่าสามารถเอาตัวรอด ตระหนักถึงข้อเท็จจริง จึงพยายามนำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมารังสรรค์สร้างภาพยนตร์ บทเรียนเตือนสติพวกพ้องชาวแอฟริกัน

ภาพยนตร์ ว่ากันตามตรงเป็นสื่อที่ถูก ‘colonised’ โดยมหาอำนาจอย่าง Hollywood, ฝรั่งเศส, รัสเซีย ฯ ความสนใจของผกก. Hondo ยังต้องการปลดแอกผลงานของตนเอง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำ ซึมซับรับอิทธิพล จึงพยายามประดิษฐ์คิดค้น รังสรรค์ภาษาภาพยนตร์ ค้นหาวิธีการที่ไม่ซ้ำแบบใคร … คนที่ได้รับชม West Indies (1979) ก็น่าจะสัมผัสได้ถึงอิสรภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ หรือก็คือการประกาศอิสรภาพของผกก. Hondo นั่นเองละครับ!

ปล. ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจแนวคิด “การประกาศอิสรภาพของสื่อภาพยนตร์” ก็อาจตระหนักว่านี่คือโคตรผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ยืนเคียงข้าง Touki Bouki (1973) ได้อย่างสบายๆ


หนังใช้ทุนสร้าง $1.3 ล้านเหรียญ อาจดูไม่เยอะเท่าไหร่ แต่สำหรับชาวแอฟริกันยุคสมัยนั้นถือว่ามากมายมหาศาล ว่ากันว่าคือหนึ่งในโปรดักชั่นทุนสร้างสูงสุด(ของทวีปแอฟริกา)ตลอดกาล!

แต่เมื่อเข้าฉายในฝรั่งเศส เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เลยถูกเก็บเงียบเข้ากรุ จนกระทั่งมีโอกาสฉายยังสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1985 ปรากฎว่าได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม “revolutionary”, “witty”, “imaginative staging”, “very fluid visual style”

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Doriane Films (ฝรั่งเศส) รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น 3 Films de Med Hondo ประกอบด้วย Soleil Ô (1970), West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) และ Sarraounia (1986)

เพราะความประทับใจจาก Soleil Ô (1970) ทำให้ผมเต็มไปด้วยคาดหวังต่อ West Indies (1979) แต่ระหว่างรับชมกลับรู้สึกไม่ชมชอบแนวทางการนำเสนอสักเท่าไหร่ ดูเป็นละคอนเวทีมากเกินไป แต่พอสังเกตเห็นความเลือนลางระหว่างอดีต+ปัจจุบัน จึงเริ่มค้นพบความมหัศจรรย์ ประทับใจต่อโปรดักชั่น และสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Hondo โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำแบบใคร และคงไม่มีใครเลียนแบบอย่าง

ถ้าว่ากันด้วยเทคนิคภาพยนตร์ Soleil Ô (1970) ถือว่ามีความแพรวพราว ดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ทว่า West Indies (1979) จัดเต็มโปรดักชั่น อลังการงานสร้าง เรื่องราวระดับมหากาพย์ และวิธีการของผกก. Hondo ทำการประกาศอิสรภาพให้กับวงการภาพยนตร์

จัดเรต 13+ กับเรื่องทาส เผด็จการ ลัทธิอาณานิคม

คำโปรย | West Indies โคตรหนังเพลงของผู้กำกับ Med Hondo เล่าประวัติศาสตร์การตกเป็นทาส เพื่อทำการประกาศอิสรภาพให้กับวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | มหัศจรรย์ใจ

Soleil Ô (1970)


Oh, Sun (1970) French, Mauritanian  : Med Hondo ♥♥♥♥

กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหาทำงาน ถูกปฏิเสธต่อต้าน ขับไล่ ผลักไส หวาดกลัวการรุกรานของ ‘Black Invasion’ นำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลาย ท้าทาย คล้ายศิลปะภาพแปะติด (Collage)

Hondo offers a stylistic collage to reflect the protagonist’s extremes of experience, from docudrama and musical numbers to slapstick absurdity, from dream sequences and bourgeois melodrama to political analyses.

Richard Brody นักวิจารณ์จาก The New Yorker

ขณะที่ Ousmane Sembène คือบุคคลแรกที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์แอฟริกัน จนได้รับฉายา “Father of African Cinema” แต่ลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์ ไม่ได้มีความแปลกใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นอะไรให้โลกตกตะลึง, Med Hondo ถือเป็นผู้กำกับคนแรกๆ(ของแอฟริกา) ที่พยายามรังสรรค์สร้างภาษาภาพยนตร์ในสไตล์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยได้รับคำยกย่อง “Founding Father of African Cinema” … แค่เพิ่มคำว่า Founding ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Hondo ถือว่ามีความสุดโต่ง บ้าระห่ำ ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย มากมายแนวทาง (Genre) อย่างที่นักวิจารณ์ Richard Brody ให้คำเรียกศิลปะภาพแปะติด (Collage) ยกตัวอย่าง

  • เริ่มต้นด้วยภาพอนิเมชั่นเคลื่อนไหว
  • ให้นักแสดงเล่นละคอนสมมติ ที่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์
  • บางครั้งทำออกมาในเชิงสารคดี มีการพูดคุย สัมภาษณ์ สอบถามความคิดเห็นบุคคลต่างๆ (มีการสบตาหน้ากล้อง)
  • ตัวละครนอนหลับฝัน จินตนาการเหตุการณ์ที่อาจบังเกิดขึ้น
  • เข้าห้องเรียน อาจารย์สอนทฤษฎี อธิบายแนวคิด วิเคราะห์การเมืองโน่นนี่นั่น
  • ระหว่างนั่งดื่ม ก็มีการร้องรำทำเพลง โดยเนื้อเพลงมักมีเนื้อหาที่สอดคล้อง เข้ากับหัวข้อขณะนั้นๆ

เอาจริงๆผมไม่รู้จะให้คำนิยาม เรียกสไตล์ผกก. Honda ว่ากระไรดี? เป็นความพยายามครุ่นคิดค้นหา พัฒนาภาษาสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน ซึ่งจะว่าไปสารพัดวิธีการดำเนินเรื่อง ดูสอดคล้องเข้าความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ในการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 มีผลงานของผกก. Hondo ติดอันดับถึงสองเรื่อง ประกอบด้วย

  • Soleil Ô (1970) ติดอันดับ 243 (ร่วม)
  • West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) ติดอันดับ 179 (ร่วม)

นี่การันตีถึงอิทธิพล ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ชมทั่วโลก แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า Soleil Ô (1970) มีความยากในการรับชมระดับสูงสุด (Veteran) ถ้าครึ่งชั่วโมงแรกคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจอะไร ก็อย่าเพิ่งเร่งรีบร้อน รอสะสมประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก

Soleil Ô แปลว่า Oh, Sun นำเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง กึ่งๆอัตชีวประวัติของผกก. Hondo ตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศส พบเห็นความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนผู้อพยพชาวแอฟริกัน เดินทางมาไล่ล่าความฝัน แต่กลับถูกพวกคนขาวกดขี่ข่มเหงสารพัด ไร้งาน ไร้เงิน แล้วจะชวนเชื่อให้พวกฉันมายังสรวงสวรรค์ขุมนรกแห่งนี้ทำไมกัน??

เกร็ด: Soleil Ô คือชื่อบทเพลงของชาว West Africa (หรือ West Indian) รำพันความทุกข์ทรมานจากการถูกจับ พาตัวขึ้นเรือ ออกเดินทางจาก Dahomey (ปัจจุบันคือประเทศ Benin) มุ่งสู่หมู่เกาะ Caribbean เพื่อขายต่อให้เป็นทาส


นำแสดงโดย Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélemy, French West Indies (หมู่เกาะในทะเล Caribbean ที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) โตขึ้นอพยพย้ายสู่กรุง Paris ทำงานตัวประกอบละคอนเวที/ภาพยนตร์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 ร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Compagnie des Griots (ถือเป็นคณะของชาวแอฟริกันกลุ่มแรกในฝรั่งเศส) จนกระทั่งควบรวมกับคณะของ Med Hondo เมื่อปี ค.ศ. 1972 เปลี่ยนชื่อเป็น Griot-Shango Company

รับบทชาวชาว Mauritanian หลังเข้าพิธีศีลจุ่ม เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหางานทำ แถมยังถูกพวกคนขาวมองด้วยสายตาดูถูก แสดงความหมิ่นแคลน ใช้คำพูดเหยียดหยาม (Racism) เลวร้ายสุดคือโดนล่อหลอกโดยหญิงผิวขาว ครุ่นคิดว่าคนดำมีขนาดยาวใหญ่ สามารถเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’ พอเสร็จสรรพก็แยกทางไป นั่นคือฟางสุดท้าย แทบอยากระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง

เกร็ด: ทุกตัวละครในหนังจะไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เพียงคำเรียกขานอย่าง Visitor, Afro Girl, White Girl ฯ เพื่อเป็นการเหมารวม ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล

บทบาทของ Liensol ก็คือตัวตายตัวแทนผกก. Hondo เหมารวมผู้อพยพชาวแอฟริกัน เริ่มต้นเดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย เอ่อล้นด้วยพลังใจ คาดหวังจะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่หลังจากอาศัยอยู่สักพัก ประสบพบเห็น เรียนรู้สภาพเป็นจริง ค่อยๆตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้หาใช่สรวงสวรรค์ ตรงกันข้ามราวกับขุมนรก แสดงสีหน้าเคร่งขรึม บึ้งตึ้ง เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด ก่อนแหกปากตะโกน กรีดร้องลั่น ไม่สามารถอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป

ในบรรดากลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritanian ตัวละครของ Liensol ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า ร่างกายกำยำ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าหล่อเหลา กิริยาท่าทาง วางตัวเหมือนผู้มีการศึกษาสูง หลังพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในฝรั่งเศส บังเกิดแรงกระตุ้น ผลักดัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

ผกก. Hondo เก็บหอมรอมริดได้ประมาณ $30,000 เหรียญ เพียงพอสำหรับซื้อกล้อง 16mm ส่วนค่าจ้างนักแสดง-ทีมงาน ทั้งหมดคือผองเพื่อนคณะนักแสดง Compagnie des Griots และ La compagnie Shango มาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ (แถมยังต้องหยิบยืม ซื้อเสื้อผ้า สิ่งข้าวของเครื่องใช้ด้วยเงินส่วนตัว)

เห็นว่าทีมงานมีอยู่แค่ 5 คน ผกก. Hondo, ผู้ช่วยกำกับ Yane Barry, ตากล้อง François Catonné, ผู้ควบคุมกล้อง Denis Bertrand และผู้บันทึกเสียง (Sound Engineer) การทำงานจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งรีบ ให้นักแสดงฝึกซ้อมจนเชี่ยวชำนาญ สำหรับถ่ายทำน้อยเทค (ประหยัดฟีล์ม) รวมระยะเวลาโปรดักชั่นยาวนานถึง 3 ปี

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำมากมาย แต่งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยลูกเล่น หลากหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ปรับเปลี่ยนภาษาภาพยนตร์ไปเรื่อยๆจนไม่สามารถคาดเดา ผู้ชมต้องคอยสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาจุดประสงค์? เคลือบแฝงนัยยะความหมายอะไร? ไม่ใช่เรื่องง่าย เต็มไปด้วยความท้าทาย


ช่วงระหว่าง Opening Credit มีการใช้อนิเมชั่นสองมิติในการเล่าประวัติ ความเป็นมาของชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาว ในตอนแรกยืนค้ำศีรษะ (การกดขี่ข่มเหงในช่วงอาณานิคม) จากนั้นเข้ามาโอบกอด พยุงขึ้นยืน มอบหมวกให้สวมใส่ จากนั้นท้าวไหล่ กลายเป็นพวกพ้องเดียวกัน … จากเสียงหัวเราะกลายเป็นกรีดร้องลั่น

การสวมหมวกสีขาวให้กับชาวผิวสี ดูไม่ต่างจากการล้างสมอง ฟอกขาว (Whitewashing) ถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ตกเป็นเหยื่อพวกฝรั่งเศส ชักนำทางไปไหนก็คล้อยตามไป ค่อยๆถูกกลืนกิน จนสูญสิ้นจิตวิญญาณแอฟริกัน

พิธีศีลล้างบาป (Baptism) หรือพิธีศีลจุ่ม เป็นพิธีกรรมแรกที่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้องรับเพื่อเป็นการล้างบาปมลทิน เพราะชาวคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมา เป็นการล้างบาปกำเนิด และบาปทุกอย่างที่ติดตัวมาก่อนหน้า เพื่อให้กลับไปเป็นบุตรของพระเจ้าและสมาชิกของคริสตจักร

โดยปกติแล้วพิธีศีลจุ่ม จะแฝงนัยยะถึงการถือกำเนิด เกิดใหม่ หรือในบริบทนี้ก็คือกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กำลังจะละทอดทิ้งตัวตนแอฟริกัน ตระเตรียมอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส หรือก็คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่

แต่การอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ดินแดนที่ควรเป็นดั่งสรวงสวรรค์ แท้จริงแล้วนั้นกลับคือขุมนรก ต้องตกอยู่ในความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน เราจึงต้องมองซีเควนซ์นี้ใหม่ในทิศทางลบ ใจความประชดประชัน ต่อต้านศาสนาคริสต์ (Anti-Christ) พระเจ้าจอมปลอม (Anti-God)

ผมมองทั้งซีเควนซ์นี้คือการเล่นละคอน ที่สามารถขบครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์ เริ่มต้นจากกลุ่มชายฉกรรจ์แบกไม้กางเขน ก้าวเดินเข้ามาอย่างสะเปะสะปะ (สามารถสื่อถึงแอฟริกันยุคก่อนหน้าอาณานิคม) จนกระทั่งได้ยินเสียงออกคำสั่ง “French-American-English” จึงเปลี่ยนมาสวมใส่เครื่องแบบ เรียงแถว หน้าตั้ง (กลับหัวไม้กางเขน) ก้าวเดินอย่างเป็นระเบียบ (การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม เข้ามาควบคุม ครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น)

ผู้บังคับบัญชาผิวขาว ยืนอยู่บนแท่นทำตัวสูงส่งกว่าใคร แม้ไม่ได้พูดบอกอะไร เพียงส่งสัญญาณสายตา บรรดานายทหารจึงทำการรบพุ่ง ต่อสู้ เข่นฆ่าศัตรูให้ตกตาย แม้ทั้งหมดคือการเล่นละคอน แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อำนาจบาดใหญ่ เอาเงินมาเป็นสิ่งล่อหลอก ตอบแทน พอการแสดงจบสิ้นก็เก็บเข้ากระเป๋า … เหล่านี้คือสิ่งที่พวกฝรั่งเศสทำกับประเทศอาณานิคม เข้ามาควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น สนองความพึงพอใจ ให้ค่าตอบแทนน้อยนิด แล้วกอบโกยทุกสิ่งอย่างกลับไป

แม้ว่าตอนเข้าพิธีศีลจุ่มจะได้พบเห็นตัวละครของ Robert Liensol แต่หลังจบจากอารัมบท เรื่องราวจะโฟกัสที่ชายคนนี้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพหน้าตรง (Mug Shot) ระหว่างยืนเก๊กหล่อ แสยะยิ้มปลอมๆ โดยรอบทิศทาง … ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพถ่ายกายวิภาคใบหน้าตัวละครลักษณะนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก Vivre sa vie (1962) ของ Jean-Luc Godard

ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย แต่หลังจากเริ่มออกหางาน กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ โดนขับไล่ ไม่ใครว่าจ้าง ภาพช็อตนี้ระหว่างเดินเลียบกำแพงสูงใหญ่ ราวกับหนทางตัน ถูกปิดกั้น มีบางสิ่งอย่างกั้นขวางระหว่างคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน

ตลอดทั้งซีเควนซ์ระหว่างการหางานทำ สังเกตว่ามีการดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า แถมยังไร้เพลงประกอบ ซึ่งสร้างความหงุดหงิด กระวนกระวาย บรรยากาศอัดอั้น ตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องเข้ากับความรู้สึกตัวละคร ผิดหวังอย่างรุนแรง นี่นะหรือสรวงสวรรค์ที่ฉันใฝ่ฝัน

วันหนึ่งพอกลับมาถึงห้องพัก เคาะประตูเพื่อนข้างห้อง เหมือนตั้งใจจะขอคำปรึกษาอะไรบางอย่าง แต่พอเปิดประตูเข้ามาพบเห็นสามี-ภรรยา ต่างคนต่างนั่งดูโทรทัศน์เครื่องของตนเอง ไม่ได้สนใจใยดี แถมยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ กล้องส่ายไปส่ายมา ฟังอะไรไม่ได้สดับ เลยขอปิดประตูดีกว่า … นี่เป็นการสะท้อนสภาพสังคมชาวยุโรป ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้สนใจกันและกัน เหมือนมีกำแพงบางๆกีดขวางกั้น แตกต่างจากวิถีแอฟริกันที่เพื่อนบ้านต่างรับรู้จัก ชอบช่วยเหลือกันและกัน

คาดเดาไม่ยากว่า สิ่งที่ตัวละครของ Liensol ต้องการขอคำปรึกษา ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็เรื่องหางาน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจใยดี ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง ศรัทธาสั่นคลอน ซึ่งหนังใช้การเทศนาสั่งสอนของบาทหลวงจากโทรทัศน์ (ของคู่สามี-ภรรยาที่กำลังถกเถียงกันนั้น) พูดแทนความรู้สึกตัวละครออกมา

หนังไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเลยนะ จู่ๆตัวละครของ Liensol ก็กลายเป็นนักสัมภาษณ์ พูดคุยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานแอฟริกัน ผมเลยคาดเดาว่าชายคนนี้อาจคือรัฐมนตรีแรงงาน (หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง) ซึ่งระหว่างอธิบายแนวคิด เป้าหมายของหน่วยงานรัฐ จะมีการซูมเข้า เบลอใบหน้า ให้สอดคล้องประโยคคำพูดว่า “อีกไม่นานพวกคนดำจะกลายเป็นคนขาว” เลือนลางระหว่างสีผิว/ชาติพันธุ์

ทางกายภาพ แน่นอนว่าคนผิวดำไม่มีทางกลายเป็นผิวขาว (ถ้าไม่นับการศัลยกรรม) แต่คำพูดดังกล่าวต้องการสื่อถึงชาวแอฟริกันที่จะถูกเสี้ยมสอน ผ่านการล้างสมอง เรียนรู้จักแนวคิด ซึมซับวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา รวมถึงอุดมการณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้น บุคคลดังกล่าวย่อมกลายสภาพเป็น(หุ่นเชิดชักของ)ฝรั่งเศสโดยปริยาย

ระหว่างการสัมภาษณ์ดำเนินไป หลายครั้งจะมีแทรกภาพสำหรับขยับขยายหัวข้อการสนทนา ฉายให้เห็นว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ยกตัวอย่าง

  • ระหว่างกำลังอธิบายถึงวิธีการล้างสมองชาวแอฟริกัน ก็แทรกภาพการศึกษาในห้องเรียน กำลังเสี้ยมสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสง่ายๆ
  • พอเล่าถึงชาวแอฟริกันที่อพยพเข้ามาในฝรั่งเศสมากขึ้น ก็ปรากฎภาพบรรดาชายฉกรรจ์ยืนเรียงรายหลายสิบคน เพื่อจะสื่อว่าพวกนี้แหละที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน
  • ระหว่างให้คำแนะนำว่าชาวแอฟริกันควรได้รับการตรวจสอบ คัดเลือก ว่าจ้างงานก่อนเดินทางสู่ฝรั่งเศส ฉายให้เห็นภาพความพยายาม(ของตัวละครของ Liensol)มาตายเอาดาบหน้า เลยไม่สามารถหางานทำได้สักที!
  • และเมื่อพูดถึงวิวัฒนาการที่ไม่สามารถหยุดยับยั้ง ยังไงชาวแอฟริกันย่อมแห่กันอพยพเข้าสู่ฝรั่งเศส แทรกภาพตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาต่อรอง ขอจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้หยุดยั้งการชุมนุมประท้วง แต่กลับถูกโต้ตอบกลับว่ามันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อบทสัมภาษณ์กล่าวถึง ‘Black Invasion’ จะมีการร้อยเรียงภาพบรรดาผู้อพยพชาวแอฟริกัน แทรกซึมไปยังสถานที่ต่างๆทุกแห่งหนในฝรั่งเศส คลอประกอบบทเพลงชื่อ Apollo เนื้อคำร้องเกี่ยวกับยานอวกาศอพอลโล่ที่ถูกส่งไปสำรวจ/ยึดครองดวงจันทร์ (=ชาวแอฟริกันเข้ายึดครองฝรั่งเศส)

  • ชายคนหนึ่งพบเห็นเล่น Pinball นี่ถือเป็นการเคารพคารวะ French New Wave และแฝงนัยยะสะท้อนถึงผู้อพยพชาวแอฟริกันในฝรั่งเศส ดำเนินชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้เป้าหมาย เพียงเอาตัวรอดไปวันๆ
  • ระหว่างร้อยเรียงภาพบนท้องถนน มีกลุ่มชายฉกรรจ์จับจ้องมองเครื่องประดับ สร้อยคอหรูหรา ทำราวกับว่ากำลังตระเตรียมวางแผนโจรกรรม (คล้ายๆแบบพวกจักรวรรดินิยมที่เข้าไปกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอาณานิคม)
  • และอีกกลุ่มชายฉกรรจ์ ทำเหมือนบุกรุกเข้าไปยังคฤหาสถ์หรูหลังหนึ่ง (นี่ก็สอดคล้องเข้ากับแนวคิด ‘black invasion’ ตรงๆเลยนะ)

พ่อ-แม่ต่างผิวขาว แต่กลับมีบุตรผิวสี? หลายคนอาจครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงคบชู้นอกใจ สงสัยแอบร่วมเพศสัมพันธ์กับชาวแอฟริกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนะครับ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้อยู่ … แต่นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นอาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจ

ยีนที่ควบคุมลักษณะผิวขาวเป็นแอลลีลด้อย (Recessive Allele) ส่วนยีนที่ควบคุมผิวดำเป็นแอลลีลเด่น (Dominant Allele) หมายความว่า ผิวขาวจะปรากฏออกมาได้ก็ต่อเมื่อแอลลีลด้อยจากทั้งฝ่ายบิดาและมารดาจับคู่กันหรือเป็นพันธุ์แท้ (Homozygous), ขณะที่ผิวดำปรากฏได้ทั้งในกรณีที่แอลลีลเด่นจับคู่กัน และแอลลีลเด่นจับคู่กับแอลลีลด้อยหรือพันธุ์ทาง (Heterozygous) หากเป็นการข่มสมบูรณ์ (Complete Dominance) ทว่ายีนที่ควบคุมลักษณะทางสีผิวยังมีการข่มไม่สมบูรณ์ (Incomplete dominance) ซึ่งทำให้มีการแสดงลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ส่งผลให้มนุษย์มีสีผิวเข้ม-อ่อน แตกต่างกันไป

จริงอยู่ว่าชายชาวแอฟริกันมักมีอวัยวะเพศ(โดยเฉลี่ย)ขนาดใหญ่ยาวกว่าคนปกติ แต่มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีลีลารสรักอันโดดเด่น ความสนใจใน “Sexual Fantasy” ของหญิงชาวฝรั่งเศสคนนี้มีคำเรียกว่า “Sexual Objectification” มองชายชาวแอฟริกันไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ พึ่งใจส่วนบุคคล

แซว: ผมว่าคนไทยน่าจะสังเกตได้ว่ารูปภาพด้านหลัง มันคือลวดลายไทย หาใช่ศิลปะแอฟริกัน ส่วนลำตัวสีดำเกิดจากการถูหิน (Stone Rubbing)

ชาวแอฟริกันชื่นชอบการร้องรำทำเพลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ระหว่างเฮฮาสังสรรค์ สังเกตว่าชายคนนี้ทำการแยกเขี้ยวเหมือนแวมไพร์ดูดเลือด ชวนให้นึกถึงพวกลัทธิอาณานิคม ที่สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ดูดเลือดดูดเนื้อชาวแอฟริกัน ไม่แตกต่างกัน!

ปล. แทบทุกบทเพลงในหนังจะมีการขึ้นคำแปลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อคำร้อง มีความสอดคล้องเรื่องราว/ตัวละครขณะนั้นๆ แต่จะมีบทเพลงหนึ่งที่ชายผิวสีบรรเลงพร้อมกีตาร์เบาๆ อาจไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสเลยไม่มีคำแปล แต่ผมพยายามเงี่ยหูฟัง เหมือนจะได้ยินคำร้อง Soleil Ô อาจจะแค่หูแว่วกระมัง … ชื่อหนังมาจากบทเพลงนี้ มันคงแปลกถ้าไม่มีการแทรกใส่เข้ามา

ภายหลังการสังสรรค์ปาร์ตี้ ตัวละครของ Liensol ในสภาพมึนเมา กลับมาถึงห้องทิ้งตัวลงนอน กลิ้งไปกลิ้งมา จากนั้นแทรกภาพความฝัน อันประกอบด้วย …

ในห้องเรียนที่เคยเสี้ยมสอนภาษาฝรั่งเศสวันละคำ คราวนี้อาจารย์นำรูปปั้นคนขาวมาตั้งวางเบื้องหน้านักเรียนผิวสี จากนั้นเหมือนพยายามทำการสะกดจิต ล้างสมอง ปลูกฝังแนวคิดโน่นนี่นั่น เพื่อให้พวกเขาทอดทิ้งจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน แล้วเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็นคนขาว … กระมังนะ

ความฝันถัดมา ตามความเข้าใจของผมก็คือ หนึ่งในชายฉกรรจ์ได้รับเลือกตั้’เป็นประธานาธิบดี Mauritania แต่แท้จริงแล้วก็แค่หุ่นเชิดฝรั่งเศส บอกว่าจะรับฟังคำแนะนำรัฐบาล(ฝรั่งเศส) รวมถึงนำเอาแผนการ ข้อกฎหมายที่ได้รับไปประกาศใช้ ไม่ได้มีความสนใจใยดีประชาชนในชาติแม้แต่น้อย … พอได้ยินสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยพลัน!

แต่ถึงแม้สะดุ้งตื่นขึ้น หนังยังคงแทรกภาพความฝันถัดๆมา ราวกับว่ามันคือภาพติดตราฝังใจ ยังคงจดจำได้ไม่รู้ลืม

  • อนิเมชั่นแผนที่ทวีปแอฟริกา ทำสัญลักษณ์การอพยพย้ายถิ่นฐานจากทางตอนใต้ขึ้นเบื้องบน
  • กล้องเคลื่อนลงจากรูปปั้นสีขาว จากนั้นชายชาวฝรั่งเศส(ที่กำลังจูงสุนัข)กล่าวถ้อยคำ “You are branded by Western civilization. You think white.”
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง (น่าจะสื่อถือความเป็นแอฟริกันที่พังทลาย) ร่างกายแปะติดด้วยธนบัตร ล้อกับคำกล่าวของชายฝรั่งเศสก่อนหน้า คุณได้ถูกตีตราจากอารยธรรมตะวันตก
  • ระหว่างวิ่งเล่นกับสุนัข ตัวละครของ Liensol กำหมัด ยกมือขึ้น เป็นสัญญาณให้กระโดด นี่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกันที่ถูกล้างสมอง (ให้กลายเป็นคนขาว) เชื่องเหมือนสุนัข พร้อมปฏิบัติทำตามคำสั่ง
    • แม้เป็นสุนัขคนละตัวกับของชายชาวฝรั่งเศส แต่ถือว่าแฝงนัยยะเดียวกัน

พอฟื้นคืนสติขึ้นมา ตัวละครของ Liensol ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง จัดการเขวี้ยงขว้างสิ่งข้าวของในห้องพัก พยายามระบายอารมณ์อัดอั้น พอสามารถสงบสติอารมณ์ ก้าวออกเดินอย่างเร่งรีบ เลียบทางรถไฟ มาถึงยังบริเวณชานเมืองที่ยังเป็นผืนป่า พบเจอสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชักชวนมาร่วมรับประทานอาหารกับบุตรชาย

หลายคนอาจรู้สึกว่าซีเควนซ์นี้ดูผิดที่ผิดทาง แต่นั่นคือความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการนำเสนอความผิดที่ผิดทางของชาวแอฟริกันที่อพยพย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ผืนแผ่นดิน/บ้านเกินของตนเอง เลยถูกเด็กๆกลั่นแกล้งสารพัด (มองเผินๆเหมือนการเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แต่เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงพฤติกรรมหมิ่นแคลน ดูถูกเหยียดหยามของชาวฝรั่งเศส) ท้ายสุดเลยไม่สามารถอดรนทน ก้าวออกวิ่งหนีอีกครั้ง … กล่าวคือเป็นซีเควนซ์ที่ทำการสรุปโดยย่อเรื่องราวทั้งหมดของหนัง (ในเชิงจุลภาค)

ผมตั้งชื่อซีเควนซ์นี้ว่า ป่าแห่งการกรีดร้อง (Forest of Scream) เมื่อตัวละครของ Liensol วิ่งเข้ามาในผืนป่าแห่งนี้ ราวกับหูแว่ว ได้ยินเสียง(กรีดร้อง)ดังกึกก้องจากทั่วทุกสารทิศ ไม่นานนักเขาก็ส่งเสียงโต้ตอบ ระบายความอัดอั้นที่อยู่ภายในออกมา

และเมื่อมาทรุดนั่งยังโขดหิน/ขอนไม้ใหญ่ ดูราวกับรากฐานชาวแอฟริกัน แต่ละกิ่งก้านมีรูปภาพวาดนักปฏิบัติ (ที่เหมือนจะถูกลอบสังหาร) ซึ่งระหว่างกล้องถ่ายให้เห็นใบหน้าบุคคลสำคัญเหล่านั้น บางครั้งซ้อนภาพเปลวไปกำลังเผาไหม้ และบางครั้งแทรกภาพถ่ายแบบชัดๆ ผมพอดูออกแค่ Patrice Lumumba (Congo) และ Mehdi Ben Barka (Morroco) … นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลากหลายประเทศในแอฟริกัน ต่างประสบปัญหา(การเมือง)คล้ายๆกัน เก็บกดอารมณ์อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสมอภาค และภารดรภาพ ปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคมอย่างแท้จริง

ตัดต่อโดย Michèle Masnier, Clément Menuet

หนังนำเสนอเรื่องราวกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania (ประมาณ 9-10 คน) หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศส แต่โดยส่วนใหญ่เล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครของ Robert Liensol (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นด้วยด้วยรอยยิ้ม ความคาดหวัง ก่อนค่อยๆตระหนักถึงสภาพเป็นจริง เลยตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง

  • อารัมบท
    • Opening Credit ทำออกมาในลักษณะอนิเมชั่นสองมิติ เล่าอธิบายปรัมปรา ต้นกำเนิดชาวแอฟริกา
    • ชายฉกรรจ์ชาว Mauritania เข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์
    • ชายฉกรรจ์ทำการแสดงละคอน ต่อสู้ด้วยไม้กางเขน
  • เดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส
    • พยายามมองหางานทำ แต่ไปที่ไหนกลับไม่ใครยินยอมรับเข้าทำงาน
    • พบเห็นเพื่อนข้างห้องต่างคนต่างดูโทรทัศน์ แล้วเกิดการโต้ถกเถียงอย่างรุนแรง
    • มีการพูดคุยสัมภาษณ์ถึงแรงงานแอฟริกัน
      • ตัดสลับกับห้องเรียนสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
      • ตัวละครของ Liensol ไม่สามารถหางานทำได้สักที ถึงขีดสุดแห่งความสิ้นหวัง
      • พบเห็นตัวละครของ Liensol ทำงานในสหภาพแรงงาน พบเห็นชายคนหนึ่งต้องการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการยุติชุมนุมประท้วง
  • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กับความฝันที่พังทลาย
    • ร้อยเรียงภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ที่ต่างตกงาน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน
    • ตัวละครของ Liensol รวมกลุ่มชายกรรจ์ชาว Mauritania เพื่อพูดคุย หาข้อเรียกร้องต่อทางการ
    • ร้อยเรียงสารพัดอคติ (Racism) ของชาวฝรั่งเศส ต่อพวกแอฟริกัน
    • หญิงผิวขาวชาวแอฟริกัน ทำการเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Liensol ร่วมรักหลับนอน เพื่อเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’
    • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ระหว่างนั่งดื่มในบาร์ ร่วมกันร้องทำเพลง Soleil Ô
  • ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด
    • ค่ำคืนนั้นกลับมายังห้องพัก ตัวละครของ Liensol นอนหลับฝัน
      • คาบเรียนที่อาจารย์คนขาว พยายามล้างสมองชาวแอฟริกัน
      • หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าว
      • ภาพกราฟฟิกการอพยพของชาวแอฟริกัน
      • ราวกับเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ในเศษซากปรักหักพัง ร่างกายถูกแปะด้วยเงิน
      • วิ่งเล่นกับสุนัข สั่งให้มันนั่งลง
    • เมื่อตื่นขึ้นมา ระบายอารมณ์อัดอั้น ทำลายสิ่งข้าวของในห้อง
    • ก้าวออกเดิน ไปถึงยังผืนป่า ได้รับชักชวนจากชาวบ้าน รับประทานอาหารกับครอบครัว
    • วิ่งกลับเข้าป่าอีกครั้ง ตะโกนโหวกเหวก กรีดร้องลั่น ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง

วิธีการดำเนินเรื่องที่ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เอาจริงๆไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ (ยกตัวอย่าง Citizen Kane (1941) ก็มีทั้ง Newsreel, บทสัมภาษณ์นักข่าว, หวนระลึกความทรงจำ ฯ) แค่ว่ามันไม่มากมายแทบจะทุกซีเควนซ์เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างความท้าทายในการรับชมอย่างมากๆ แต่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการกระทำ ย่อมตระหนักถึงอัจฉริยภาพของผกก. Hondo สมฉายา “Founding Father of African Cinema” สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนชาวแอฟริกัน


สำหรับเพลงประกอบก็เต็มไปด้วยความหลากหลายเช่นเดียวกับวิธีการดำเนินเรื่อง อาทิ เพลงพื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคำร้องฝรั่งเศส, บรรเลงกีตาร์ Folk Song ฯ ทั้งหมดเรียบเรียงโดย George Anderson ศิลปินสัญชาติ Cameroonian และเนื้อร้องมักมีความสอดคล้องเรื่องราว หรือเคลือบแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดเพลงประกอบไม่ค่อยจะได้ ค้นพบเพียง Apollo บทเพลงเกี่ยวกับยานอวกาศที่ส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ จุดประสงค์เพื่อทำการยึดครอบครอง ‘Colonization’ ร้อยเรียงเข้ากับภาพชาวแอฟริกันเดินทางไปยังสถานที่สำคัญๆในฝรั่งเศส ดูเหมือนการบุกรุกราน ‘Black Invasion’ … เราสามารถเปรียบเทียบเนื้อคำร้อง มนุษย์ส่งยานอวกาศไปยึดครองดวงจันทร์ = ชาวแอฟริกันอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส

Some men went
Apollo, to the Moon to look for summer
Apollo, they challenged the cosmos
Apollo, they sang without echo
Apollo, leaving the Earth and its misery

I don’t know why
Apollo, they went round in circles
Apollo, did they want to discover
Apollo, diamonds or sapphires?
Apollo, leaving the Earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

They left without passports
Apollo, for the unknown, the infinite
Apollo, they could not resist
Apollo, within our limited frontiers
Apollo, leaving the earth and its misery

But the wars continue
Apollo, on the earth between tribes
Apollo, and hunger already has a hold
Apollo, in towns far and wide
Apollo, on this earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

ไม่ใช่แค่บทเพลงที่โดดเด่น แต่หลายๆครั้งความเงียบงัน รวมถึงการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ก็แฝงนัยยะอย่างลุ่มลึกล้ำ ยกตัวอย่าง

  • เมื่อตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส พยายามออกหางานทำ ช่วงนี้แทบจะไม่มีเพลงประกอบ สถานที่แห่งนี้มีเพียงความเงียบงัน สร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน หาใช่สรวงสวรรค์ดั่งที่ใครต่อใครว่ากล่าวไว้
  • สามี-ภรรยา จากขึ้นเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง ค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นกรีดร้อง ฟังไม่ได้สดับ ตามด้วยเสียงเทศนาของบาทหลวงในโทรทัศน์ สามารถสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร
  • ระหว่างที่หญิงชาวฝรั่งเศสทำการเกี้ยวพาราสี ล่อหลอกให้ตัวละครของ Liensol ตกหลุมรัก ผู้ชมจะได้ยินเสียงสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ เรียกร้องหาคู่ผสมพันธุ์
  • หลังถูกหญิงชาวฝรั่งเศสหลอกให้รัก ซีนถัดมาตัวละครของ Liensol ระหว่างยืนรอรถไฟ เสียงเครื่องยนต์ช่างบาดหู เจ็บปวดใจยิ่งนัก!
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง แต่ได้ยินผู้คนกรีดร้อง ตะโกนโหวกเหวก เสียงปืน ระเบิด ตึกรามบ้านช่องถล่มทลาย
  • ช่วงท้ายระหว่างออกวิ่งเข้าไปในป่า (Forest of Scream) ได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาโดยรอบ จนตนเองต้องเลียนแบบตาม

ตั้งแต่โบราณกาล ชาวแอฟริกันให้ความเคารพนับถือสุริยเทพ หรือเทพแห่งพระอาทิตย์ เชื่อว่าอวตารลงมาเป็นผู้นำชนเผ่าปกครองชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาวในช่วงศตวรรษ 16-17 ทำการยึดครอบครอง แล้วทำการ ‘Colonization’ พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ บีบบังคับให้ล้มเลิกนับถือเทพเจ้า เข้าพีธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์ แต่งตั้งตนเองให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่

ผมมองความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการเปรียบเทียบฝรั่งเศส = สุริยเทพองค์ใหม่ ที่แม้ชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Neo-Colonialism ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง ปรับเปลี่ยนมาแทรกแซงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

หนึ่งในนั้นคือการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งโอกาส สถานที่สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 60s มีชาวแอฟริกันจำนวนมหาศาลตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทำทุกวิถีทางเพื่อข้ามน้ำข้ามทะเล เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

แต่พอมาถึงดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ แทบทั้งนั้นจะค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้แม้งไม่มีอะไรเหมือนดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ ไร้งาน ไร้เงิน แถมยังถูกชาวฝรั่งเศสมองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม (Racism) พยายามขับไล่ ผลักไส อยากจะเดินทางกลับบ้านเกิดแต่ไม่รู้ทำยังไง จำต้องอดกลั้นฝืนทน รวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และภารดรภาพ

แซว: Soleil Ô (1970) ราวกับภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน อธิบายความพยายามชวนเชื่อ สร้างภาพให้ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้น … ไม่ต่างจากขุมนรกบนดินสำหรับชาวแอฟริกัน!

สำหรับผกก. Hondo ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ลุ่มหลงคำชวนเชื่อ อพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส โชคยังดีพอหาทำงาน สะสมเงินทอง เก็บหอมรอมริด สรรค์สร้าง Soleil Ô (1970) เพื่อเป็นบทเรียน/คำตักเตือนแก่ชาวแอฟริกันที่ครุ่นคิดจะเดินทางมาแสวงโชค รวมถึงพยายามให้คำแนะแนวทางว่าควรหางานให้ได้ก่อนย้ายมา (ผ่านพวกบริษัทจัดหาแรงงาน) อย่าคาดหวังมาตายเอาดาบหน้า เพราะอาจจะได้ดับดิ้นสิ้นชีวินเข้าจริงๆ


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในสาย International Critics’ Week เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม เลยมีโอกาสเดินทางไปฉายยังประเทศต่างๆมากมาย รวมถึง Quintette Theater ณ กรุง Paris ยาวนานถึงสามเดือนเต็ม! ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ผกก. Hondo มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆไป

Soleil Ô (1970) คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ได้รับการบูรณะในโครงการ African Film Heritage Project ริเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย The Film Foundation (ของผกก. Martin Scorsese) ร่วมกับ Pan African Federation of Filmmakers และองค์การ UNESCO เพื่อซ่อมแซมฟีล์มหนังเก่าจากทวีปแอฟริกันสู่สายตาชาวโลก

ฟีล์มต้นฉบับ 16 mm ของหนังมีความเสียหายหนักมากๆ จนต้องนำเอาฟีล์มออกฉาย 35mm มาแปะติดปะต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วทำการบูรณะ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Hondo สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 3 ประกอบด้วย Dos monjes (1934), Soleil Ô (1970) และ Downpour (1972)

ระหว่างรับชม ผมมีความก้ำๆกึ่งๆว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ฉงนสงสัยว่าจะทำออกมาให้สลับซับซ้อน ท้าทายผู้ชมไปถึงไหน จนกระทั่งซีเควนซ์ที่ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) นั่นสร้างความสยดสยอง ขนลุกขนพอง แผดเผาทรวงใน เข้าใจอารมณ์เกรี้ยวกราดของชาวแอฟริกัน อยากแหกปากกรีดร้องลั่น ไม่ต่างจากตอนจบของหนัง

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศเหนือจริง (Surrealism) คำอธิบายแนวคิดจักรวรรดินิยม (Colonialism) สารพัดการดูถูกเหยียดหยาม (Racism) ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification)

คำโปรย | Soleil Ô แปะติดปะต่อวิธีการดำเนินเรื่องอันหลากหลาย สไตล์ผู้กำกับ Med Hondo เมื่อฝรั่งเศสกลายเป็นสุริยันดวงใหม่ แต่กลับแผดเผา มอดไหม้ทรวงในชาวแอฟริกัน
คุณภาพ | โอ้ สุริยั
ส่วนตัว | แผดเผาทรวงใน

Mandabi (1968)


Mandabi (1968) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥♥

Mandabi ภาษา Wolof แปลว่าธนาณัติ (Money Order) ส่งมาจากหลานชายทำงานอยู่ฝรั่งเศส แต่การจะขอขึ้นเงินกลับเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ ต้องทำบัตรประชาชน ต้องถ่ายรูป ต้องมีสูติบัตร (ใบเกิด) แถมชาวบ้านละแวกนั้นเมื่อได้ยินเรื่องเงินก็หูผึ่ง มาขอหยิบยืม ทวงหนี้ อ้างโน่นนี่นั่น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

ถ้าไม่นับ Egypt และ Tunisia วงการภาพยนตร์ของทวีปแอฟริกัน เพิ่งเริ่มต้นภายหลังได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลุดพ้นจากสถานะอาณานิคมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959-60 แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อให้บุคคลผู้มีความสนใจในศาสตร์ภาพยนตร์ ได้ศึกษา ร่ำเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูก ทดลองทำโน่นนี่นั่น

Mandabi (1968) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) ลำดับที่สองของ Ousmane Sembène แต่ถือเป็นเรื่องแรกของ West African ที่ตลอดทั้งเรื่องสนทนาด้วยภาษา Wolof (ภาษาท้องถิ่น Senegal, Mauritania และ Gambia) นั่นเพราะก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ในแอฟริกา ยังต้องพึ่งพาเงินทุน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ถ่ายทำจากอดีตเจ้าของอาณานิคม ในกรณีของ Senegal คือประเทศฝรั่งเศส มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยังต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร

แต่จุดประสงค์การสรรค์สร้างภาพยนตร์ของผกก. Sembène แน่นอนว่าไม่ใช่พวกฝรั่งเศส เป้าหมายคือชาว Senegalese ยินยอมประณีประณอมกับ Black Girl (1966) เพื่อว่าชื่อเสียง ความสำเร็จ จะทำให้สามารถติดต่อหานายทุนสำหรับโปรเจคถัดไป จนนำมาสู่ Mandabi (1968) น่าจะถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์แอฟริกันแท้จริงเรื่องแรก!

ในตอนแรกผมไม่ได้มีความสนใจอยากเขียนถึงหนังเรื่องนี้เลยนะครับ จนกระทั่งพบเห็นหอภาพยนตร์เคยนำมาฉาย ผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว หน้าปกของ Criterion สวยงามมากๆ ก็เลยต้องลองหามารับชม รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานภาพสีสันสวยสดใส บทเพลง Sunu Mandat Bi ติดหูติดใจ แม้เรื่องราวตกยุคสมัย แต่ยังแฝงสาระข้อคิด บทเรียนให้กับชีวิต สะท้อนปัญหาสังคมที่จนถึงปัจจุบันเรื่องพรรค์นี้(ทั้งการฉ้อฉล และความคอรัปชั่นของคน)ก็ยังไม่หมดสิ้นเสียที


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) และภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) สัญชาติแอฟริกันแท้ๆเรื่องแรก Black Girl (1966)

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สอง Mandabi (1968) ดัดแปลงจากนวนิยายของตนเอง Le mandat แปลว่า The Money-Order รวบรวมอยู่ในหนังสือ Vehi-Ciosane ou Blanche-Genèse: Suivi du Mandat (1965) แปลตรงตัว Vehi-Ciosane or Blanche-Genèse: Monitoring of the Mandate ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Money-Order with White Genesis … หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสองเรื่องราวที่ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน The Money-Order และ White Genesis

เกร็ด: Sembène มองว่านวนิยายเป็นสื่อของชนชั้นสูง ต้องมีความรู้ ความสามารถในการอ่าน (รวมถึงมีเงินซื้อด้วยนะ) ยุคสมัยนั้นจึงเป็นสิ่งหรูหรา ฟุ่มเฟือย เกินอาจเอื้อมของชาวแอฟริกันจนๆ จึงเลือกเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วฉบับภาพยนตร์เปลี่ยนมาใช้ภาษา Wolof เพื่อให้เข้าถึงชาว Senegalese ในวงกว้างได้ง่ายกว่า


Ibrahima Dieng นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่กับภรรยาสองคน และบุตรอีกเจ็ดคน ในย่านสลัม Dakar, Senegal ขณะนั้นกำลังตกงาน ติดหนี้ติดสิน แทบไม่มีอันจะกิน จนกระทั่งได้รับจดหมายจากหลานชาย Abdou ไปทำงานอยู่กรุง Paris ฝากส่งธนาณัติจำนวน 25,000 ฟรังก์

เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Ibrahima ต้องเผชิญหน้าสารพัดปัญหาในการขึ้นเงิน เพราะต้องใช้บัตรประชาชน แต่การจะทำบัตรประชาชนต้องมีรูปถ่าย สูติบัตร (ใบเกิด) รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกปริมาณหนึ่ง แถมบรรดาชาวบ้านละแวกนั้น เมื่อได้ยินเรื่องเงินก็ทำหูผึ่ง มาขอหยิบยืม ทวงหนี้ อ้างโน่นนี่นั่น แม้แต่ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทนาย Mbaye ก็ไม่ละเว้น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เงินทอง แลกกับการกินหรูอยู่สบาย


ด้วยความที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน Senegal ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก จึงเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ สมัครเล่น ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์ Makhourédia Guèye (1924-2008) ผู้รับบท Ibrahima Dieng อาชีพเดิมคือนักดนตรี เป่าแซกโซโฟน แต่บุคลิกภาพถือว่าตรงตามตัวละคร ท่าทางเย่อหยิ่ง อวดดี เก่งกับภรรยา เวลาออกจากบ้านต้องสวมใส่ชุดหรูหรา แท้จริงแล้วก็แค่กบในกะลา ไม่รับรู้ ไม่ทันคน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ เลยถูกล่อหลอกลวง จนสูญเสียทุกสิ่งอย่าง พระเป็นเจ้าก็ไม่ช่วยอะไร

แสบสุดคงหนีไม่พ้น Farba Sarr รับบทลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทนาย Mbaye ชอบขับรถมาเยี่ยมเยียน Ibrahima แต่แท้จริงแล้ววางแผนจะฮุบบ้านและที่ดินแห่งนี้ ขายต่อให้นายหน้า นำเงินมาปรนเปรอความสุขสำราญ กินหรูอยู่สบาย เปลี่ยนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า พอสบโอกาสก็ตบหัวลูบหลัง ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ … แทนที่จะเอาความรู้ความสามารถไปใช้ในทางให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ กลับเต็มไปด้วยความฉ้อฉล สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน

และในบรรดานักแสดงทั้งหมด Mouss Diouf (1964-2012) ผู้รับบทหลานชาย Abdou ที่ไปทำงานอยู่กรุง Paris แม้เพียงบทบาทสมทบเล็กๆ ปรากฎตัวแค่ไม่กี่นาที กลับได้รับโอกาสมากมายในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส เครดิตตัวประกอบใน IMDB มากถึง 51 เรื่อง! … ชีวิตจริงทำได้เหมือนข้อความในจดหมายที่ตัวละครเขียนถึง

เกร็ด: ผกก. Ousmane Sembène มารับเชิญเป็นคนอ่านจดหมายที่ไปรษณีย์ แฝงนัยยะถึงการดัดแปลงนวนิยาย(ของตนเอง)ให้กลายเป็นสื่อภาพยนตร์ … ภาพบนโต๊ะคือ Che Guevara (1928-67) นักปฏิวัติชาว Argentine แต่โด่งดังจาก Cuban Revolution (1953-59) ตอนนั้นน่าจะเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน

ถ่ายภาพโดย Paul Soulignac สัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานเด่นๆ อาทิ La Pointe Courte (1955), La verte moisson (1959), Mandabi (1968) ฯ

งานภาพของหนังไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์ที่หวือหวา เพียงตั้งกล้องถ่ายภาพระดับสายตา แต่โดดเด่นกับการละเล่นเฉดสีสัน (ด้วยเทคโนโลยีสี Eastmancolor) ตัวละครสวมใส่ผ้าที่มีความฉูดฉาด ลวดลายพื้นบ้าน Senegalese ซึ่งสามารถใช้สำแดงวิทยฐานะ อวดอ้างบารมี แบ่งแยกชนชั้น รวมถึงความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่า vs. โลกยุคสมัยใหม่ (Ibrahima และภรรยาต่างสวมใส่ชุดพื้นบ้าน Senegalese ตรงกันข้ามกับลูกพี่ลูกน้อง Mbaye สวมใส่สูทผูกไทด์)

หนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำยัง Dakar, Senegal ในช่วงหน้าร้อน อากาศอบอุ่น แสงแดดส่องสว่าง แต่จะมีซีเควนซ์หนึ่งระหว่างอ่านจดหมายของหลานชาย มีการฉายให้เห็นภาพกรุง Paris, France ซึ่งมีความหรูหรา ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา คาคลั่งไปด้วยผู้คน สิ่งก่อสร้างทันสมัยใหม่ ซึ่งการถ่ายภาพยังมีความแตกต่างออกไป ใช้กล้อง Hand-Held ทำให้ดูสั่นๆ เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว ทั้งยังมีการปรับโฟกัสพื้นหลัง เบลอ-ชัด ระยะภาพใกล้-ไกล โทนสีเย็นๆ (เหมือนจะถ่ายทำช่วงฤดูหนาว) ดูจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา

เสื้อคลุมแขนกว้างที่ชาว West Africa (Senegal, Mauritania, Niger, Mali, Djibouti) นิยมสวมใส่มีชื่อเรียกว่า Boubou หรือ Grand Boubou สำหรับผู้ชายมักมีสีพื้น ไม่เน้นลวดลาย แต่ผู้หญิงจะเต็มไปด้วยลูกไม้ ลวดลาย และสีสันฉูดฉาดสะดุดตา, ส่วนหมวก/ผ้าคลุมศีรษะมีคำเรียกว่า Moussor

โดยปกติแล้วการสวมชุด Boubou มักในงานพิธีสำคัญๆทางศาสนา อาทิ งานแต่งงาน, งานศพ, วันอิด (วันอีดิ้ลฟิตริ และ วันอีดิ้ลอัฎฮา) รวมถึงเข้ามัสยิด ละมาดทุกวันศุกร์ ฯ

ภรรยาของ Ibrahima เมื่อได้รับจดหมายธนาณัติจากบุรุษไปรณีย์ ป่าวประกาศไปทั่วถึงเงินหลายหมื่นฟรังก์ ซื้อข้าวปลามาเลี้ยงฉลองจนอิ่มจุก ตรงกับสำนวนไทย ชิงสุกก่อนห่าม (ไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งเท่านั้นนะครับ แต่ยังทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัยหรือยังไม่ถึงเวลา) โดยไม่รู้ตัวนี่คือความอิ่มครั้งสุดท้าย ก่อนค่อยๆสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างไป

ซึ่งการรับประทานจนอิ่มหนำ แล้วหลับนอนจนเกินเลยเวลาละหมาด สามารถสะท้อนแนวคิดบริโภคนิยม (Consumerism) สังคมยุคสมัยใหม่ที่ผู้คนเอาแต่กอบโกย แสวงหาความสุขใส่ตน คนรวยมีเงินล้นฟ้า กระยาจกทำได้เพียงหาเช้ากินค่ำ ต่อสู้ดิ้นรนไปวันๆ

หลังจากพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย Ibrahima ก็ได้ข้อสรุปว่าโลกยุคสมัยใหม่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง ใครๆต่างมีพฤติกรรมคอรัปชั่น ไม่มีทางที่คนดีจะมีที่ยืนในสังคม (หยิบรองเท้าขึ้นมาชี้หน้า) มุมกล้องนี้ทำราวกับว่าเขากำลังสนทนากับพระเจ้า (จริงๆคือบุรุษไปรษณีย์) ซึ่งพยายามให้คำแนะนำ ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราทุกคน จะเลือกวิถีปฏิบัติ ใช้ชีวิตอย่างเพียงพอดี หรือศิโรราบต่อความชั่วร้าย

ตัดต่อโดย Gilou Kikoïne, Max Saldinger

หนังดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองตัวละคร Ibrahima Dieng เริ่มจากโกนผม โกนหนวดเครา สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ จากนั้นได้รับธนาณัติจากหลานชาย เพ้อใฝ่ฝันว่าเงินก้อนนี้จักทำให้ชีวิตกินหรูอยู่สบาย แต่ที่ไหนได้กลับนำพาหายนะ ติดหนี้ติดสิน แถมถูกฉ้อฉล ตกเป็นเหยื่อสารพัดกลโกง จนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว

  • Opening Credit
  • เรื่องวุ่นๆของการขึ้นเงินธนาณัติ
    • ภรรยาของ Ibrahima ได้รับจดหมายธนาณัติ ป่าวประกาศไปทั่ว ซื้อข้าวปลามาเลี้ยงฉลองจนอิ่มจุก
    • Ibrahima เดินทางไปขึ้นเงินยังไปรษณีย์
    • (ย้อนอดีต) อ่านจดหมายของหลานชาย Abdou ทำงานอยู่ฝรั่งเศส
    • ขึ้นเงินไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน เลยต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจ แต่ก็ถูกเรียกร้องสูติบัตร
    • วันถัดมาเดินทางไปยังศาลากลาง แต่ก็ยังไม่สามารถออกสูติบัตร เพราะไม่รับรู้วัน-เดือน-ปีเกิด
    • วันถัดมาเดินทางไปหาลูกพี่ลูกน้อง Mbaye รับรู้จักเส้นสายในศาลากลาง ให้มาติดต่อรับวันถัดไป
    • เดินทางไปธนาคารเพื่อขอขึ้นเช็ค (หยิบยืมมาจาก Mbaye) แต่เพราะไม่มีบัตรประชาชนเลยทำไม่ได้ บังเอิญมีเจ้าหน้าที่อาสาขึ้นเงินให้ แลกกับค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อย
    • จากนั้นแวะหาร้านรับจ้างถ่ายรูป
  • เรื่องราวขาลงของ Ibrahima
    • มารดาของ Abdou เดินทางมาทวงเงินที่บุตรชายส่งมาให้
    • Ibrahima เอาสร้อยทองภรรยาไปจำนำ ได้เงินก้อนหนึ่งมาจ่ายให้มารดาของ Abdou
    • เดินทางไปรับรูปถ่าย แต่กลับถูกหลอก เกิดการทะเลาะวิวาท เลือดตกยางออก
    • เมื่อกลับมาบ้านในสภาพเลือดตกยางออก ภรรยาทั้งสองเลยป่าวประกาศว่าสามีถูกทำร้าย สูญสิ้นเงินทอง
    • Ibrahima มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเจ้าของร้านขายของชำ จนถูกขับไล่
    • ได้รับอาสาช่วยเหลือจาก Mbaye ให้เซ็นชื่อ แล้วจะใช้คำสั่งทนายขึ้นเงิน
    • แต่วันถัดมา Mbaye กลับอ้างว่าเงินดังกล่าวถูกโจรกรรม หมดสิ้นเนื้อประดาตัว
  • ปัจฉิมบท, Ibrahima กลับมาบ้านด้วยความสิ้นหวัง พร่ำรำพัน มองหาหนทางออกชีวิต

การลำดับเรื่องราวถือว่าทำออกมาได้เป็นขั้นเป็นตอน จากสถานที่หนึ่งสู่อีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งถ้าดูแล้วสับสนก็จะมีคำอธิบายให้สามารถไล่เรียง จากไปรณีย์ → สถานีตำรวจ → ศาลากลาง → ธนาคารขึ้นเงิน → ร้านถ่ายรูป แสดงให้เห็นถึงความเรื่องมาก ยุ่งยาก สลับซับซ้อน รวมถึงพฤติกรรมคอรัปชั่นของระบบราชการ


ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น จึงทำการบันทึกเสียงพากย์ภายหลังถ่ายทำ (Post-Synchronization) พร้อมๆกับเสียงประกอบ (Sound Effect) และเพลงประกอบ (Soundtrack) ใครเคยรับชม Borom Sarret (1963) ก็น่าจะมักคุ้นกับหลายๆบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน (หรือ Senegalese) ไม่ได้มีนัยยะไปมากกว่าคลอประกอบพื้นหลัง สร้างบรรยากาศความเป็นแอฟริกัน

และที่มีความไพเราะ น่าจดจำอย่างมากๆ คือบทเพลงคำร้อง Sunu Mandat Bi มีความโหยหวน คร่ำครวญ พร่ำรำพันถึงหายนะของเงิน ได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้งจนลืมไม่ลง ขับร้องโดย Isseu Niang (1938-2000) รับบท Aram ภรรยาคนที่สอง

การจากไปของพวกจักรวรรดินิยม ทำให้แอฟริกาก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Post-Colonialism) เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ความเจริญค่อยๆแพร่กระจาย เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ คนร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตสุขสบาย ตรงกันข้ามกับคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กว่าจะหาเงินได้สักสลึงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีชีวิตกินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

Mandabi (1968) นำเสนอหลากปัญหาสังคมที่กำลังเกิดขึ้นใน Senegal เหมารวมถึงแอฟริกันยุคสมัยนั้น ซึ่งล้วนมีต้นสาเหตุมาจาก “เงิน” ทำให้มนุษย์สำแดงธาตุแท้ตัวตน กระทำการฉ้อฉล หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ทำลายความสัมพันธ์ญาติพี่น้อง ผองเพื่อน ค่อยๆถูกระบอบทุนนิยมกลืนกิน อีกไม่นานคงสูญเสียสิ้นจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์

หน่วยงานรัฐก็เฉกเช่นเดียวกัน แม้อาจเป็นงานมั่นคง สวัสดิการดี มีเงินใช้ตอนเกษียณ แต่การต้องทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ ให้บริการประชาชนไม่เว้นวัน สร้างความเอื่อยเฉื่อย เหนื่อยหน่าย ขาดความกระตือรือล้น จึงพยายามมองหาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสร้างรายได้ กอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋า นั่นคือพฤติกรรมคอรัปชั่นที่ค่อยๆบ่อนทำลายองค์กร ประเทศชาติ ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา

ค่านิยมของชาวแอฟริกันในยุคนี้ แทบไม่ต่างจากพวกจักรวรรดินิยม แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ได้ถูกฝัง หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณ/ประวัติศาสตร์แอฟริกัน แม้พวกเขาเต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะนำมาเป็นบทเรียน กลับทำการลอกเลียนแบบอย่าง

ไม่ใช่ว่าผมขี้เกียจเขียน ถึงทำการคัทลอกข้อความจาก Borom Sarret (1963) แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงใจความที่ละม้ายคล้ายคลึง ผลกระทบทางสังคมที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกันคือพวกจักรวรรดินิยม นำเสนอความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นก่อน vs. โลกยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง และแทนที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า กลับถดถอยหลังลงคลอง ราวกับกำลังถูกยึดครอบครองโดย Neo-Colonialism

เกร็ด: Neo-Colonialism แนวปฏิบัติเกี่ยวกับอาณานิคมรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง แต่ใช้วิธีแพร่ขยายอิทธิพล แทรกแซงเศรษฐกิจ การเงิน เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

เมื่อตอน Borom Sarret (1963) ผมสัมผัสได้ว่าผกก. Sembène เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ไม่อยากยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เขาคงรับรู้ตนเองว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกระแสแห่งกาลเวลา ช่วงท้ายของ Mandabi (1968) จึงใช้คำพูดในเชิงชักชวน โน้มน้าวร้องขอให้ผู้ชมช่วยครุ่นคิดหาหนทางออก เราควรร่วมพัฒนาประเทศชาติ ไม่ใช่เอาแต่กอบโกย สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ทำตัวเยี่ยงแร้งกา ไม่ต่างจากพวก(อดีต)จักรวรรดินิยม


ในหน้า Wikipedia บอกว่าหนังได้เข้าฉาย Venice International Film Festival และสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize เทียบเท่ากับ Grand Jury Prize (ที่สอง) แต่ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะตัวหนังไม่ได้มีโลโก้เทศกาล รวมถึงบ่งบอกว่าได้รับรางวัลใดๆ (นั่นเป็นธรรมเนียมของภาพยนตร์ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนัง Big 3 เพื่อป่าวประกาศให้ผู้ชมรับรู้ถึงความสำเร็จ)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ โดย StudioCanal คุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 ออกฉายยัง Lumière Festival สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

แม้พล็อตเรื่องราวของหนังไม่ได้มีความแปลกใหม่ เรียกว่าเฉิ่มเชยล้าหลังเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งน่ามหัศจรรย์ใจคือสถานที่พื้นหลัง นำเสนอวิถีชาวแอฟริกัน นั่นคือสิ่งที่ยุโรป-อเมริกัน หรือแม้แต่เอเชียอย่างเราๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสรับรู้ มันจึงเป็นการเปิดโลก พบเห็นแนวคิดที่แตกต่าง เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน อัดอั้นอารมณ์เกรี้ยวกราด

พบเห็นการทำงานของระบบราชการใน Mandabi (1968) ชวนให้ผมนึกถึง Ikiru (1952), The Trial (1962), Brazil (1985), The Story of Qiu Ju (1992), The Death of Mr. Lazarescu (2005), I, Daniel Blake (2016) ฯ ถ้ามันไม่ย่ำแย่เลวร้ายขนาดนั้น ใครไหนจะเสียเวลามาครุ่นคิดสร้างเป็นภาพยนตร์กันเล่า!

จัดเรต pg กับสารพัดการฉ้อฉล จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

คำโปรย | Mandabi ภาพยนตร์ชวนหัวที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน ตื่นตากับวิถีแอฟริกัน สะท้อนปัญหาสังคมเพื่อสร้างบทเรียนให้กับชีวิต
คุณภาพ | เต็มเปี่ยมด้วยสีสั
ส่วนตัว | ตื่นตา

La noire de… (1966)


Black Girl (1966) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥

หญิงสาวผิวดำชาว Senegalese ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส วาดฝันดินแดน ‘The Wizard of Oz’ แต่กลับถูกเจ้านายชี้นิ้วออกคำสั่ง กลายเป็นขี้ข้ารับใช้ เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism)

ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส La noire de… ใครเคยรับชม The Earrings of Madame de… น่าจะมักคุ้นกับการใช้คำว่า de… เพื่อจะสื่อถึงใครก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจง ระบุชื่อ-สกุล, แต่ชื่อภาษาอังกฤษ Black Girl มันช่างธรรมดาสามัญ ไร้ระดับ เหมือนคนแปล/ค่ายหนังไม่ต้องการให้ค่าอะไรใดๆภาพยนตร์เรื่องนี้!

If Africans do not tell their own stories, Africa will soon disappear.

Ousmane Sembène

สาธารณรัฐเซเนกัล (Republic of Senegal) แม้ได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากอาณานิคมฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1960 แต่ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะหวนกลับสู่สภาวะปกติ ยังคงรับอิทธิพล แนวคิด วิถีดำรงชีวิต … ประชาชนที่ถูกล้างสมองไปแล้ว ยากยิ่งนักจักมีความครุ่นคิดอ่านเป็นตัวของตนเอง

Black Girl (1966) ถือเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกๆ ไม่ใช่แค่ของประเทศเซเนกัล แต่ยังทั้งทวีปแอฟริกา! สร้างขึ้นในยุค Post-Colonialism นำเสนอผ่านมุมมองหญิงชาวแอฟริกัน ใจความต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) และยังสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติ Prix Jean Vigo นั่นทำให้ผู้กำกับ Ousmane Sembène ได้รับการยกย่อง “Father of African cinema”

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันมีเพียงอารมณ์เกรี้ยวกราดของผู้สร้าง ก็พอเข้าใจอยู่ว่าการเป็นประเทศอาณานิคม มันคงไม่น่าอภิรมณ์ สะสมความอัดอั้น แต่การนำเสนอเรื่องราวเพียงแง่มุมเดียว พยายามชี้นำความรู้สึกนึกคิดผู้ชม ผลลัพท์ไม่ต่างจากหนังชวนเชื่อ (Propaganda) สักเท่าไหร่


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) แปลว่า The Wagoner

ขอกล่าวถึง Borom Sarret (1963) สักหน่อยก่อนแล้วกัน! ต้องถือว่าคือภาพยนตร์เรื่องแรกอย่างแท้จริง สร้างโดยชาวแอฟริกัน บนผืนแผ่นดินแอฟริกา ภายหลังจาก Post-independence ร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันของคนขับเกวียน/รถลาก (ชนชั้นทำงาน/Working Class) ในกรุง Dakar พบเห็นความยากจนค้นแค้น หาเช้ากินค่ำอย่างยากลำบาก ท้องถนนเต็มไปด้วยมิจฉาชีพ แม้แต่คนรวย/พวกฝรั่งเศส อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หรูหรา ยังมีความฉ้อฉล แบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน … นี่เป็นเรื่องที่ผมอยากแนะนำให้หารับชม คุณภาพน่าประทับใจกว่า Black Girl (1966) ด้วยซ้ำนะ! ร้อยเรียงภาพเซเนกัลในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’ ได้อย่างงดงาม และน่าเศร้าสลดใจ

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Black Girl (1966) นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อครั้นผกก. Sembène พบเจอหญิงสาวชาว Senegalese เล่าว่าตนเองได้รับการว่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก แต่พอเดินทางถึงฝรั่งเศสกลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส จึงตัดสินใจหลบหนีขึ้นเรือกลับบ้าน

In Senegal, I met a girl who had worked as a domestic servant for a French family in Antibes. She had been promised a job as a nanny, but she was treated like a slave. I was struck by her story, and I decided to make a film about it.

“Black Girl” is based on a real incident that I witnessed, but it is also a story that is familiar to many Africans who have experienced the exploitation and mistreatment of colonialism.

Ousmane Sembène

แม้เคยมีประสบการณ์สร้างหนังสั้น Borom Sarret (1963) แต่ภาพยนตร์ขนาดยาวนั้นแตกต่างออกไป นั่นทำให้ Sembène ค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เซเนกัล โดยไม่รู้ตัวเรียกได้ว่าถูกยึดครอง ‘colonized’ โดยฝรั่งเศสไปตั้งแต่ก่อนหน้าการปลดแอก!

กล่าวคือเมื่อตอนยังเป็นประเทศอาณานิคม ฝรั่งเศสมีการจัดตั้งสถาบัน Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema (CNC) สำหรับควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนชาว Senegalese ให้รู้จักวิธีสร้างภาพยนตร์ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ ขณะเดียวกันก็แอบสอดแทรกแนวคิด วัฒนธรรม ปลูกฝังทัศนคติหลายๆอย่างใน ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ … ภายหลังจากเซเนกัลได้รับการปลดแอก สองสถาบันดังกล่าวกลับยังมีรากฐานมั่นคง ใครครุ่นคิดสร้างภาพยนตร์ก็จำต้องผ่านการพิจารณา ตรวจสอบเนื้อหา ถึงได้รับอนุมัติงบประมาณ

แน่นอนว่า Black Girl (1966) ไม่มีทางผ่านการพิจารณาของ Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Sembène จึงก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง Filmi Domirev (จริงๆก็ตั้งแต่สร้างหนังสั้น Borom Sarret (1963)) และแสวงหางบประมาณเพิ่มเติมจาก Les Actualités Françaises

และการจะถ่ายทำภาพยนตร์ในฝรั่งเศส กฎหมายระบุว่าต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Professional Card คล้ายๆกับ Green Card) แต่ผู้กำกับ Sembène ไม่เคยอยู่ภายใต้ระบบสตูดิโอ แถมมาจากอดีตประเทศอาณานิคม ต้องขอหนังสือจากต้นทางซึ่งก็คือ Bureau du Cinéma หรือ CNC เท่านั้น! … วิธีการหลบหลีกก็คือทำโปรดักชั่น Black Girl (1966) ให้ความยาวไม่เกิน 60 นาที (ปรับเปลี่ยนจากแผนการเดิม 70-90 นาที) ยุคสมัยนั้นในฝรั่งเศส น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงถือเป็นหนังสั้น ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน


เรื่องราวของ Gomis Diouana (รับบทโดย Mbissine Thérèse Diop) หญิงสาวชาว Senegalese ฐานะยากจน ระหว่างกำลังมองหางาน ได้รับเลือกจาก Madame พูดคุยกันว่าจะให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ดูแลลูกๆของเธอทั้งสาม พบเห็นความขยันขันแข็ง เลยชักชวนเดินทางขึ้นเรือสู่ฝรั่งเศส

แต่พอมาถึงฝรั่งเศส เธอกลับอาศัยอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์ ถูกบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น กลายเป็นหญิงรับใช้ หาใช่พี่เลี้ยงเด็กอย่างเคยตกลงกันไว้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งแสดงความไม่พึงพอใจ อารยะขัดขืน ปฏิเสธพูดคุย กระทำอะไรใดๆ จากนั้นโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ก่อนตัดสินใจอัตวินิบาต


Mbissine Thérèse Diop (เกิดปี 1949) นักแสดงสาวชาว Senegalese เกิดที่ Dakar บิดาเป็นมุสลิม มารดานับถือคาทอลิก โตขึ้นทำงานช่างตัดเย็บเสื้อผ้า วันหนึ่งได้รับคำท้าทายจากเพื่อนสนิท เลยตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนสอนการแสดง Ecole des Arts de Dakar (กลางวันทำงานเย็บผ้า, กลางคืนร่ำเรียนการแสดง) เป็นลูกศิษย์ของ Robert Fontaine (ที่ก็ร่วมแสดงภาพยนตร์ Black Girl) โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้พบเจอโดยผู้กำกับ Ousmane Sembène สร้างความประทับใจตั้งแต่ทดสอบหน้ากล้องครั้งแรก แม้จะถูกต่อต้านจากครอบครัว แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจ

รับบท Gomis Diouana หญิงสาวชาว Senegalese ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสด้วยความมุ่งมั่น คาดหวัง เพ้อใฝ่ฝัน แต่เมื่อมาถึงกลับถูกบีบบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นได้รับการว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไฉนทุกสิ่งอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง

I think Mbissine Thérèse Diop was extraordinary in the film. She was not a professional actress, but she was intelligent and had an innate understanding of the character. I didn’t give her any instructions for the role, but just let her develop it naturally. She was able to convey the character’s emotions and struggles in a very authentic way. I think she was the perfect choice for the role.

Ousmane Sembène

ภาพลักษณ์ของ Diop รวมถึงสไตล์การแต่งตัว ทำให้เธอดูเหมือนไฮโซ สูงศักดิ์ แถมมีความเริดเชิด น้ำเสียงเย่อหยิ่ง นั่นไม่ใช่ลักษณะของสาวรับใช้เลยสักนิด! กอปรกับทัศนคติ ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ยอมพูดเอ่ยความใน (อาจจะมองว่าสื่อสารไม่เข้า) จู่ๆแสดงอารยะขัดขืน แล้วกระทำอัตวินิบาต ปฏิเสธก้มหัว ถูกควบคุมครอบงำ เป็นขี้ข้าทาสผู้ใด … ไม่แปลกที่ผู้ชมชาวยุโรป & อเมริกัน จะจับต้องความรู้สึกตัวละครไม่ได้สักเท่าไหร่

ผมเองก็รู้สึกว่าตัวละครค่อนข้างแบนราบ นำเสนอมุมมองฝั่งของเธอเพียงด้านเดียว เอาแต่เก็บกดความรู้สึกนึกคิด แทนที่พูดบอกปัญหา แสดงความต้องการแท้จริงออกมา อาชีพคนรับใช้มันผิดอะไร? นั่นเพราะผกก. Sembène ต้องการให้เธอเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศอาณานิคม ถูกกดขี่ข่มเหงเยี่ยงทาสจากฝรั่งเศส … แต่เอาจริงๆนั่นก็ไม่สมจริงเลยสักนิด งานรับใช้ก็แค่ทำอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู มันคือกิจวัตรทั่วๆไป ไม่สามารถสร้างความรู้สึกอัดอั้น ทุกข์ทรมาน ถึงขนาดต้องลุกฮือขึ้นมาแสดงอารยะขัดขืน

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Diop ยังพอมีผลงานการแสดงอื่นๆประปราย แต่อาชีพหลักของเธอคือตัดเย็บเสื้อผ้า พออยู่พอกิน เก็บหอมรอมริด จนสามารถเปิดกิจการร้านของตนเอง


ถ่ายภาพโดย Christian Lacoste ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผกก. Ousmane Sembène มาตั้งแต่ Borom Sarret (1963),

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย (minimalist) ต้องการให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติ (Naturalistic) ไม่ได้ใช้เทคนิคภาพยนตร์หวือหวา แต่เหมือนจะมีการปรับความคมเข้มสีขาว-ดำ ให้ดูโดดเด่นชัดเจนขึ้นกว่าปกติ

  • ซีเควนซ์ที่ Dakar, Senegal มักถ่ายทำฉากภายนอก ท้องถนนหนทาง ทำให้พบเห็นความกลมกลืนระหว่างสีขาว-ดำ แทบไม่มีความแตกต่าง
    • เสื้อผ้าหน้าผมของชาว Senegalese มีการออกแบบลวดลายให้ดูละลานตา นั่นคือชุดพื้นเมือง Boubou และสวมผ้าโพกศีรษะ Moussor
  • ผิดกับ Antibes, France อาศัยอยู่แต่ภายในอพาร์ทเม้นท์ สาวใช้(ผิวดำ)ห้อมล้อมด้วยผนังกำแพงสีขาว สามารถสื่อถึงอิทธิพลของคนขาวที่มีมากกว่าคนดำ
    • ชาวฝรั่งเศสมักสวมสูท ไม่ก็ชุดสีพื้น ดูธรรมดาๆ ไม่ได้มีชีวาสักเท่าไหร่
    • ขณะที่ Gomis Diouana ถูกบังคับให้สวมผ้ากันเปลื้อน ชุดแม่บ้าน บางครั้งก็ผ้าคลุมอาบน้ำ แสดงถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง

เกร็ด: Special Feature ของ Criterion จะมี ‘Alternate Color Sequence’ เมื่อครั้น Gomis Diouana เดินทางถึงฝรั่งเศส จะถ่ายทำทิวทัศน์สองข้างทางด้วยฟีล์มสี เพื่อมอบสัมผัสคล้ายๆดินแดนหลังสายรุ้ง The Wizard of Oz (1939) แต่ทั้งหมดถูกตัดออกเพื่อให้ได้ความยาวต่ำกว่า 60 นาที

หน้ากาก (African Masks) ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน พบเจอในแถบตะวันตก-กลาง-ใต้ของทวีป สำหรับแสดงวิทยฐานะ, ประกอบพิธีกรรม เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่งงาน เฉลิมฉลอง สังสรรค์ทั่วไป, บ้างใช้เป็นสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณ สิ่งเหนือธรรมชาติ ฯลฯ ส่วนรูปลักษณะมีทั้งมนุษย์-สัตว์-ปีศาจ แล้วแต่วิถีความเชื่อของแต่ละชนเผ่า ชาติพันธุ์

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าหน้ากากของ Diouana มีชื่อเรียกหรือนัยยะสื่อความอะไร แต่ในบริบทของหนังสามารถตีความได้หลากหลาย

  • Diouana เคยอธิบายไว้ว่าหน้ากากคือสัญลักษณ์แทนตนเอง มอบให้ครอบครัวของ Madame แทนคำขอบคุณในการว่าจ้างงาน
    • ตอนแรกตั้งไว้บนชั้นวาง ล้อมรอบด้วยผลงานศิลปะ African Art และหน้ากากชิ้นอื่นๆ สามารถสื่อถึงตัวเธอขณะนี้ที่ยังอยู่เซเนกัล รายล้อมด้วยพรรคพวกพ้องชนชาติเดียวกัน
    • อพาร์ทเม้นท์ที่ฝรั่งเศส หน้ากากแขวนอยู่กึ่งกลางผนังห้อง ไม่มีผลงานศิลปะอื่นห้อมล้อมรอบ สื่อความถึงหญิงสาวตัวคนเดียว ล้อมรอบด้วยคนขาว
    • Diouana พยายามทวงคืนหน้ากาก สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการเรียกร้องอิสรภาพ ทวงคืนความเป็นแอฟริกันจากจักรวรรดิอาณานิคม
  • ช่วงท้ายของหนังเด็กชายสวมหน้ากาก (อันเดียวกับของ Diouana) สามารถสื่อถึงจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน ที่จักติดตามมาหลอกหลอกบรรดาจักรวรรดิอาณานิคม เคยกระทำอะไรไว้กับพวกตน สักวันหนึ่งต้องได้รับการตอบแทนอย่างสาสม

แซว: ในปัจจุบันหน้ากากของชาวแอฟริกัน ได้กลายสภาพเป็นเพียงของฝาก ของที่ระลึก (Souvenir) สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้นเอง

ชายผิวดำกำลังดูดไปป์ก็คือผกก. Ousmane Sembène เป็นคนนำทางชายชาวฝรั่งเศส สู่บ้านของครอบครัว Diouana ซึ่งแฝงนัยยะถึงการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ชักชวนให้ชาวยุโรปพบเห็นวิถีชีวิต ความเป็นไปของชาวแอฟริกัน

ตัดต่อโดย André Gaudier,

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง ความทรงจำ เสียงบรรยายของ Gomis Diouana ตั้งแต่เดินทางมาถึง Antibes, France ทำงานเป็นสาวรับใช้ ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงเด็กอย่างเคยเข้าใจ จึงเริ่มหวนระลึกความหลัง (Flashback) ตั้งแต่แรกพบเจอนายจ้าง ตกหลุมรักแฟนหนุ่ม ชีวิตเคยเอ่อล้นด้วยความหวัง ปัจจุบันทุกสิ่งอย่างกลับพังทลายลง

  • การเดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • Diouana โดยสารเรือมาถึงฝรั่งเศส มีนายจ้างมารอรับ ขับรถชมวิวสองข้างทาง จนกระทั่งมาถึงอพาร์ทเม้นท์
    • กิจวัตรของ Diouana ปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดบ้าน ปรุงอาหารพื้นเมือง ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากคนรับใช้
  • (Flashback) หวนรำลึกความทรงจำที่เซเนกัล
    • Diouana อาศัยอยู่ในสลัม ฐานะยากจน พยายามออกหางานทำ
    • จนกระทั่งพบเจอ Madame ได้รับการว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก
  • ตัดกลับมาปัจจุบัน Diouana เริ่มแสดงอารยะขัดขืน
    • Diouana เริ่มรู้สึกไม่พอใจนายจ้าง
    • ยามเช้าถูกปลุกตื่นอย่างไม่เต็มใจ จึงเริ่มแสดงอารยะขัดขืน ปฏิเสธทำตามคำสั่ง กักขังตนเองอยู่ในห้องนอน
    • Diouana ได้รับจดหมายจากทางบ้าน นายจ้างอาสาเขียนตอบกลับ แต่เธอแสดงอาการไม่พึงพอใจ
  • ความรัก vs. ความสูญเสีย
    • (Flashback) Diouana หวนระลึกถึงแฟนหนุ่มที่เซเนกัล ค่ำคืนร่วมรักหลับนอน ก่อนแยกจากกัน
    • กลับมาปัจจุบัน Diouana พยายามยื้อยักหน้ากาก ปฏิเสธรับเงินนายจ้าง แพ็กเก็บกระเป๋า ก่อนตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต
  • อดีตติดตามมาหลอกหลอน
    • ครอบครัวของ Madame ไม่สามารถอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังนี้ได้อีกต่อไป
    • สามีของ Madame เดินทางไปเซเนกัล เพื่อติดตามหาญาติพี่น้องของ Diouana แต่กลับถูกติดตามโดยเด็กชายสวมหน้ากาก (เดียวกันที่เคยได้รับจาก Diouana) จนต้องรีบเผ่นขึ้นรถหลบหนี

ความที่ผกก. Sembène ร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์จากฟากฝั่งสหภาพโซเวียต ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องการตัดต่อ Black Girl (1966) จึงมีลวดลีลา วิธีดำเนินเรื่อง ตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน หวนระลึกความทรงจำ (Flashback) เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงคำมั่นสัญญา(ที่ฝรั่งเศส)เคยให้ไว้ แต่กลับไม่มีอะไรเป็นไปตามความเอ่ยกล่าวสักสิ่งอย่าง!


สำหรับเพลงประกอบไม่มีขึ้นเครดิต แทบทั้งหมดน่าจะคือ ‘diegetic music’ ได้ยินจากเครื่องเล่น วิทยุ ประกอบด้วยดนตรีคลาสสิกกลิ่นอาย French Riviera (เมื่อตอน Diouana เดินทางมาถึงฝรั่งเศสจะได้ยินจากวิทยุบนรถ) และบทเพลงพื้นเมือง Senegalese เวลาเดินตามท้องถนนเซเนกัล มักดังล่องลอยมาจากสักแห่งหนไหน

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดศิลปิน เนื้อคำร้อง ผู้แต่งบทเพลง Ending Song รับรู้แค่ว่าคือภาษา Wolof (ท้องถิ่นของชาว Senegalese) แต่ให้ความรู้สึกเหมือนบทเพลงขับไล่ผี พิธีศพ ส่งวิญญาณคนตายสู่สุขคติ

Black Girl (1966) นำเสนอเรื่องราวหญิงสาวผิวดำชาว Senegalese เดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สถานที่อุดมคติหลังสายรุ้ง ‘The Wizard of Oz’ (ได้รับการปลูกฝังมาเช่นนั้น) แต่สภาพความเป็นจริงได้ประสบพบเจอ กลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ไม่ต่างจากคุกคุมขัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง สูญสิ้นอิสรภาพ จึงพยายามแสดงอารยะขัดขืน โต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ปฏิเสธก้มหัวให้เผด็จการ/ลัทธิอาณานิคม

บางคนอาจตีความสิ่งเกิดขึ้นกับ Gomis Diouana คืออาการ ‘cultural shock’ ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม เมื่อบุคคลหนึ่งอพยพย้ายไปอยู่ยังประเทศ/สภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สังคม การดำเนินชีวิตผิดจากบ้านเกิดเมืองนอน อาจสร้างความสับสน รู้สึกไม่คุ้นเคย ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ ปรับตัว แต่ก็มีบางคนที่ไม่สามารถยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง … ในกรณีของ Diouana ยังมองว่าเกิดจากอุปนิสัยเย่อหยิ่งผยอง หลอกตัวเอง ไร้ความอดทน จึงไม่สามารถเปิดใจเข้ากับวิถีโลกสมัยใหม่

ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Sembène ต้องการโจมตีลัทธิอาณานิคมทั้งเก่า-ใหม่ (Colonialism & Neo-Colonialism) โดยให้หญิงสาวผิวดำ Gomis Diouana คือตัวแทน Senegalese เหมารวมถึงชาวแอฟริกัน! เคยได้รับคำมั่นสัญญา(เมื่อตอนประกาศอิสรภาพ)จากฝรั่งเศส/ประเทศเจ้าของอาณานิคม แต่ในความเป็นจริงกลับมีพฤติกรรม ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ เต็มไปด้วยความกลับกลอก ปอกลอก ล่อหลอกมาใช้แรงงาน แล้วกดหัวบีบบังคับเยี่ยงทาส ด้วยคำพูด-สีหน้า-ท่าทางดูถูกเหยียดยาม (Racism)

การแสดงออกที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนักของ Diouana จุดประสงค์เพื่อจำลองสภาพจิตวิทยาบุคคล/ประเทศตกเป็นอาณานิคม ที่จักค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน จากเคยสามารถแต่งกายในสไตล์ตนเอง เปลี่ยนมาสวมใส่ผ้ากันเปื้อน ชุดคนรับใช้ที่ไร้สีสัน จนกระทั่งเหลือเพียงผ้าคลุมอาบน้ำ นอกจากนี้ยังรวมถึงภาษาพูด-อ่าน-เขียนจดหมาย (เซเนกัลใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ) แม้ประเทศได้รับการปลดแอก แต่อะไรอย่างอื่นกลับยังต้องพึ่งพาศัย โดยไม่รู้ตัวถูกยึดครองครอบ (Neo-Colonialism) ด้วยวิธีการอื่นแตกต่างออกไป

อัตวินิบาตของ Diouana คือสัญลักษณ์ความเกรี้ยวกราดของผกก. Sembène ประกาศกร้าวว่าต่อจากนี้ชาว Senegalese รวมถึงแอฟริกันทั้งทวีป! จะไม่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบให้พวกคนขาว ต่อจากนี้เราต้องได้รับอิสรภาพทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ ปลดแอกไม่เพียงผืนแผ่นดิน ยังต้องอิทธิพลอื่นๆ รวมถึงลัทธิอาณานิคมใหม่

หน้ากากก็เป็นอีกตัวแทน(ไสยศาสตร์)ของชาวแอฟริกัน จากเคยมอบให้ในฐานะสหาย มิตรแท้ แต่เมื่อถูกทรยศหักหลัง มันจึงกลายสภาพสู่คำสาป คอยติดตามหลอกหลอน สืบทอดต่อรุ่นหลาน-เหลน-โหลน ไม่หลงลืมเหตุการณ์บังเกิดขึ้น และสักวันหนึ่งจักสามารถทวงคืนความยุติธรรม


แม้หนังได้เสียงตอบรับอย่างดีในเซเนกัล และทวีปแอฟริกา แต่เมื่อเข้าฉายยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา กลับเต็มไปด้วยข้อตำหนิ ติเตียน การดำเนินเรื่องที่เชื่องช้า ไร้มิติ เพียงมุมมองด้านเดียว และพยายามชี้นำความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมมากเกินไป

The narration… treats the audience as a group of addlepated schoolchildren. It says what we can see, and then it says it again. It tells us what we are supposed to think and feel, in case we were too dense to get the point.

[Black Girl] has an important point to make, but it is not made with intelligence, with grace, or even with much coherence.

Renata Adler นักวิจารณ์จาก The New York Times

The white couple is one-dimensional, without depth or complexity, and the movie suffers because of their lack of interest… the white couple is not made human in the way, say, the white characters were in ‘The Battle of Algiers.’ They are simply shallow, selfish and uncomprehending, and the one-dimensional nature of their roles weakens the entire movie.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2.5/4

แต่กาลเวลาก็ทำให้ Black Girl (1966) ได้รับการยินยอมรับในวงกว้างมากขึ้น นั่นเพราะกลายเป็นหมุดหมาย ภาพยนตร์เรื่องสำคัญของประเทศเซเนกัล และทวีปแอฟริกา ทำให้การจัดอันดับ “The Greatest Film of All-Times” ครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับสูงถึง 95 (ร่วม)

ปัจจุบันทั้ง Borom sarret (1963) และ Black Girl (1966) ต่างได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ด้วยทุนสนับสนุนจาก The Film Foundation ของผู้กำกับ Martin Scorsese เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่น World Cinema Project สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รับชมออนไลน์ทั้งสองเรื่องทาง Criterion Channel

ว่ากันตามตรง คุณภาพของ Black Girl (1966) ไม่ได้เลิศเลอขนาดนั้น แค่เทียบกับผลงานก่อนหน้า Borom Sarret (1963) ยังยอดเยี่ยมกว่าหลายเท่าตัว! แถมลักษณะการยัดเยียด ชี้นำความรู้สึกนึกคิด ผลลัพท์ไม่ต่างจากหนังชวนเชื่อ แต่ผมพอจะเข้าใจอิทธิพลต่อชาวแอฟริกัน(ทั้งทวีป) เลยไม่แปลกจะติดอันดับภาพยนตร์ค่อนข้างสูงลิบๆ

จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม โลกทัศน์ด้านเดียว บรรยากาศ Colonialism

คำโปรย | Black Girl คือการระบายความเกรี้ยวกราดต่อลัทธิอาณานิคม ไม่ใช่แค่ผู้กำกับ Ousmane Sembène แต่ยังชาวแอฟริกันทั้งทวีป
คุณภาพ | เกรี้ยวกราด
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Borom Sarret (1963)


The Wagoner (1963) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥♥

ถือเป็นโปรดักชั่นภาพยนตร์(ขนาดสั้น)เรื่องแรกๆของชาวแอฟริกัน สร้างโดยชาวแอฟริกัน เพื่อชาวแอฟริกัน ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัยอาณานิคม (Post-Colonialism) พยายามสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดจากการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ คนรุ่นเก่า ขับเกวียนรับจ้าง จะสามารถปรับตัวอย่างไร?

เอาจริงๆคำกล่าวนี้ไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ Egypt และ Tunisia มีความเก่าแก่ยาวนาน ตั้งแต่การมาถึงของ Auguste and Louis Lumière ก่อนยุคหนังเงียบเสียอีก! แต่ส่วนใหญ่มักถูกมองข้าม ไม่ได้รับการเหมารวมร่วมกับวงการภาพยนตร์แอฟริกัน เพราะนักแสดง/ผู้กำกับล้วนเป็นคนขาวทั้งนั้น!

ก่อนหน้านี้ก็มีสารคดี/หนังสั้นที่สร้างโดยผู้กำกับสัญชาติแอฟริกันอย่าง Mouramani (1953) จากประเทศ Guinea, Song of Khartoum (1955) จากประเทศ Sudan ฯ แต่ยังถูกควบคุมครอบงำโดยพวกจักรวรรดินิยม, ผิดกับ Borom Sarret (1963) สร้างขึ้นภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ภายใต้ลัทธิอาณานิคมอีกต่อไป

ทีแรกผมไม่ได้ครุ่นคิดจะเขียนถึง Borom Sarret (1963) ตั้งใจจะเริ่มต้นที่ Black Girl (1966) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกที่สร้างโดยชาวแอฟริกัน แต่บังเอิญพบเจอเบื้องหลัง (Special Feature) ของ Criterion Collection มีหนังสั้นเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย เลยลองรับชมแล้วรู้สึกว่าสมควรต้องเขียนถึงสักหน่อย!


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) แปลว่า The Wagoner

นำเสนอเรื่องราวในหนึ่งวันของ Borom Sarret คนขับเกวียนรับจ้าง อาศัยอยู่ย่านสลัม Dakar เมืองหลวงของ Senegal ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1960 แม้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว พบเห็นตึกระฟ้า สิ่งก่อสร้างสูงใหญ่ แต่กลับแบ่งแยกคนรวย-จน อาชญากรมากมายเต็มท้องถนน และเมื่อเกวียนเทียมถูกยึดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาจะหาเลี้ยงชีพ เอาตัวรอดเช่นไร?


ถ่ายภาพโดย Christian Lacoste,

งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Neorealist ถ่ายทำจากสถานที่จริง ด้วยนักแสดงสมัครเล่น และใช้เพียงแสงธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Bicycle Thieves (1948) เนื้อเรื่องราวก็ละม้ายคล้ายกัน เปลี่ยนจากจักรยานถูกลักขโมย มาเป็นเทียมเกวียนโดนตำรวจยึด สะท้อนปัญหาสังคม ความยากจน อาชญากรเต็มท้องถนน

ผมแอบรู้สึกว่าจุดประสงค์หลักๆของผกก. Sembène ในการสรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องนี้ เพราะต้องการเก็บภาพบรรยากาศเมือง Dakar, Senegal ในช่วงทศวรรษ 60s ฝังไว้ในไทม์แคปซูล! ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองคนขับเกวียนรับจ้าง เพราะสามารถเดินทางไปโดยรอบ บันทึกภาพสถานที่ต่างๆ พบเห็นทิวทัศน์สองข้างทาง ถนนลูกรังสู่ราดยาง (ยังใหม่เอี่ยมอยู่เลยนะ) และความแตกต่างระหว่างชุมชนแออัด (วิถีดั้งเดิม) vs. อพาร์ทเมนท์/บ้านจัดสรรหรูหรา (โลกยุคสมัยใหม่)

ภาพช็อตแรกของหนังคือสุเหร่า/มัสยิด ศาสนสถานของชาวมุสลิม รวมถึงภาพแรกตัวละครก็เพิ่งเสร็จจากพิธีละหมาด กล่าวขอบคุณพระอัลเลาะห์ ขอให้ปกป้องตนเองและครอบครัว … นี่แสดงถึงความใกล้ชิด ศรัทธา ยึดถือหลักคำสอนศาสนาอย่างเคร่งครัด (ชาว Senegalese มากกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลาม)

นั่นทำให้เมื่อคนขับเกวียนรับจ้างพบเจอโต๊ะอิหม่าม (หรือคอเต็บ หรือบิหลั่น) ผู้แสดงธรรมให้ชาวมุสลิม เขาจึงไม่สามารถควบคุมตนเอง ยินยอมบริจาคเงินหมดตัว! … ในมุมคนนอกย่อมคิดเห็นว่านี่คือการหลอกลวง แต่ชาวมุสลิมจะบอกว่าคือประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ซึ่งในประเด็นนี้สะท้อนถึงความเชื่อศาสนาที่กำลังค่อยๆเสื่อมศรัทธาในโลกยุคสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหากิน หลอกลวงผู้คน ไม่สนถูก-ผิด ชั่ว-ดี ขอเพียงให้อิ่มท้อง อยู่สบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอย

งานรับจ้างของคนขับเกวียน มีความหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง! นอกจากรับ-ส่งผู้โดยสาร (มีทั้งจ่ายเงิน-ไม่จ่ายเงิน) บางครั้งยังบรรทุกสิ่งข้าวของ หญิงตั้งครรภ์กำลังจะคลอด ทารกน้อยเพิ่งเสียชีวิต (เกิด-ตาย) ฯ เรียกว่าพยายามนำเสนอทุกความเป็นไปได้ที่สามารถประสบพบเจอ

แซว: เรื่องราวตอนที่บิดาไม่สามารถฝังศพทารกน้อย ถูกคนเฝ้าสุสานสั่งให้ไปขอใบอนุญาต หลักฐานอะไรสักอย่าง จะมีการนำไปสานต่อภาพยนตร์ Mandabi (1968) เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชน

นี่ถือเป็นช็อตทรงพลังที่สุดของหนัง ขณะคนขับเกวียนกำลังเอื้อมมือไปหยิบเหรียญเกียรติยศตกลงสู่พื้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการเหยียบย่ำยี แสดงถึงความไม่สนเกียรติ ศักดิ์ศรี ปากอ้างว่าทำหน้าที่ แต่แท้จริงแล้วคือการเลือกปฏิบัติ กดขี่ข่มเหงบุคคลผู้ต่ำต้อยด้อยกว่าตนเอง คนระดับล่างจึงทำได้เพียงกำมัด อดกลั้น ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน

ทั้งซีเควนซ์นี้สะท้อนถึงอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แม้มอบอิสรภาพให้กับประเทศอาณานิคม แต่สิ่งทอดทิ้งไว้คือการเป็นต้นแบบที่ไม่มีอะไรดีสักสิ่งอย่าง ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่เลยทำการลอกเลียนแบบ กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยกว่าตน

ภาพช่วงท้ายของภาพยนตร์ Bicycle Thieves (1948) บิดาและบุตรชายก้าวออกเดินในสภาพสิ้นหวังอาลัย ไม่แตกต่างจาก Borom Sarret (1963) บิดาโอบอุมทารกน้อย สีหน้านิ่วคิ้วขมวด เทียมเกวียนถูกยึด ไม่มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร แล้วต่อจากนี้จะทำอะไรยังไงต่อไปดี?

ตอนจบลักษณะนี้หลายคนอาจมองว่าเป็นปลายเปิด ให้ผู้ชมร่วมด้วยช่วยค้นหาหนทางแก้ปัญหา แต่ผมกลับรู้สึกว่าผกก. Sembène ต้องการให้ชาวแอฟริกันบังเกิดอารมณ์เกรี้ยวกราด รับไม่ได้กับสถานการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงสภาพสังคมเต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง รวย-จนไม่ละเว้น เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง … ถ้าใครเคยรับชมตอนจบของ Mandabi (1968) น่าจะรับรู้ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Sembène

ตัดต่อโดย André Gaudier, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/เสียงบรรยายคนขับเกวียนรับจ้าง เริ่มต้นตื่นเช้าทำพิธีละหมาด จากนั้นขึ้นเกวียนออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รับ-ส่งลูกค้า พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ก่อนโชคชะตาจะทำให้สูญเสียเทียมเกวียน กลับบ้านด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป

  • Opening Credit
  • ตื่นเช้ามาทำพิธีละมาด ตระเตรียมตัวออกไปทำงาน
  • ขึ้นเกวียนออกเดินทาง รับ-ส่งลูกค้าขาประจำ (ที่ไม่เคยจ่ายค่าจ้าง)
  • ระหว่างพักผ่อนข้างทาง มีขอทานมาขอส่วนบุญ แต่เขาก็ไม่เงินสักแดง
  • รับจ้างขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง
  • เดินทางไปส่งหญิงตั้งครรภ์ยังโรงพยาบาล
  • รับฟังคำสอนของโต๊ะอิหม่าม (หรือคอเต็บ หรือบิหลั่น) บริจาคทานหมดตัว
  • เดินทางไปยังสุสาน ส่งทารกน้อยผู้เสียชีวิต
  • ได้รับการว่าจ้างให้ไปส่งยังบริเวณบ้านจัดสรร แอบอ้างว่ามีเส้นสาย แต่พอไปถึงกลับขึ้นรถเผ่นหนี เลยถูกตำรวจยึดเกวียนเทียม
  • เดินทางกลับบ้านกับเจ้าม้าอย่างเหงาหงอย เศร้าซึม
  • มาถึงบ้านด้วยความหมดสิ้นหวังอาลัย

ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น จึงทำการบันทึกเสียงภายหลังการถ่ายทำ (Post-Synchronization) กอปรด้วยคำบรรยายความครุ่นคิดของคนขับเกวียนรับจ้าง และได้ยินบทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง คาดว่าดังจากแผ่นเสียงบันทึกพร้อมๆกัน โดยช่วงที่อยู่ในสลัม ถิ่นฐานคนจน จะได้ยินเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน แต่เมื่อเดินทางมาถึงยังบ้านจัดสรร ชุมชนคนรวย ปรับเปลี่ยนมาใช้บทเพลงคลาสสิก ฟังดูหรูหรามีระดับ (ระหว่างทางกลับถึงละแวกบ้าน ก็จะได้ยินเพลงพื้นบ้านแอฟริกันอีกครั้ง)


แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลังกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล (Senegal) แต่เราสามารถเหมารวมถึงทวีปแอฟริกา ในยุคสมัยนั้นไม่ได้มีความผิดแผกแตกต่างมากนัก เพราะหลายๆประเทศเพิ่งได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ภายใต้พวกจักรวรรดินิยมอีกต่อไป

การจากไปของพวกจักรวรรดินิยม ทำให้แอฟริกาได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Post-Colonialism) เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ความเจริญค่อยๆแพร่กระจาย เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ คนร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตสุขสบาย ตรงกันข้ามกับคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กว่าจะหาเงินได้สักสลึงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีชีวิตกินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

ค่านิยมของชาวแอฟริกันในยุคนี้ แทบไม่ต่างจากพวกจักรวรรดินิยม แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ได้ถูกฝัง หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณ/ประวัติศาสตร์แอฟริกัน แม้พวกเขาเต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะนำมาเป็นบทเรียน กลับทำการลอกเลียนแบบอย่าง

ผกก. Sembène เล็งเห็นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จึงสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักให้กับชาวแอฟริกัน หรือกล่าวได้ว่าสำแดงคติต่อวิถีสมัยใหม่ หงุดหงิดรำคาญใจต่อเสียงล้อเอี๊ยดๆอ๊าดๆ ไม่อยากยินยอมรับ ไม่ต้องการปรับตัว (คนขับเกวียนรับจ้าง ก็มักแสดงความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยถ้อยคำตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ ไม่พึงพอใจอะไรสักสิ่งอย่าง) แต่เพราะไม่รู้จะทำอะไรยังไง ไม่มีใครสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลก มิอาจอดรนทนต่อสังคมมีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเท่า เพียงเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราดไว้ภายใน

หลายคนอาจมองว่ามุมมองของผกก. Sembène ค่อนข้างคับแคบ หัวโบราณ ไม่ยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ แต่ผมมองว่าหนังพยายามสะท้อนความเป็นจริงที่ไม่มีใครอยากยินยอมรับ เพราะวิถีชีวิตแบบเก่าได้สูญสิ้นไป รวมถึงความเสื่อมถอยของศรัทธาศาสนา เงินทองกลายเป็นปัจจัยห้า ผิดอะไรที่มนุษย์จะโหยหาความสุขสบาย กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ


Borom Sarret (1963) และ Black Girl (1966) ต่างได้รับการบูรณะพร้อมกันเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดย The Film Foundation, Institut National de l’Audiovisuel (INA) และ Sembène Estate ด้วยงบประมาณจาก Doha Film Institute เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2013 เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classic สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray คุณภาพ 4K หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion CHannel

ส่วนตัวมีความชื่นชอบ Borom Sarret (1963) >> Black Girl (1966) เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้พบเห็นวิถีชีวิต สภาพสังคม ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับชาวแอฟริกันในช่วงหลังอาณานิคม (Post-Colonialism) ด้วยวิธีการอันเรียบง่าย แต่เคลือบแผงอารมณ์เกรี้ยวกราด เก็บบันทึกภาพประวัติศาสตร์ฝังไว้ในไทม์แคปซูล

เหตุผลที่ผมไม่ค่อยชอบ Black Girl (1966) เพราะนำเสนอมุมมองด้านเดียว ยัดเยียดอารมณ์เกี้ยวกราดของชาวแอฟริกันต่อฝรั่งเศส/ลัทธิอาณานิคม เรื่องราวก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล ว่ากันตามตรง Borom Sarret (1963) สมควรติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound มากกว่าเสียด้วยซ้ำ!

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Wagoner ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆของชาวแอฟริกัน สร้างโดยชาวแอฟริกัน เพื่อชาวแอฟริกัน ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัยอาณานิคม
คุณภาพ | ม์ูล
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

La Pyramide humaine (1961)


The Human Pyramid (1961) French : Jean Rouch ♥♥♥♥

หลังจากหลายๆประเทศในแอฟริกาได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลุดพ้นจากลัทธิอาณานิคม ผู้กำกับ Jean Rouch ทำการทดลองให้กลุ่มนักเรียนคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน มาอาศัยอยู่ร่วมชั้นเรียนเดียวกัน พวกเขาจะสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ยินยอมรับกันและกันได้หรือไม่?

การทดลองดังกล่าวของผกก. Jean Rouch ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างมากๆ แต่วิธีการนำเสนอที่ไม่เชิงสารคดี กึ่งเรื่องแต่ง (Docu-Drama หรือ Docu-Fiction) อาจสร้างความรู้สึกขัดย้อนแย้ง (Controversial) ให้ใครหลายคน

นั่นเพราะวิธีการของผกก. Rouch เริ่มต้นอ้างว่าให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด (Improvised) โดยไม่เข้ามายุ่งย่ามก้าวก่ายใดๆ แต่ทิศทาง มุมกล้อง องค์ประกอบต่างๆ รวมถึงลีลาตัดต่อ และพากย์เสียงภายหลัง (Post-Synchronization) มันสังเกตได้ชัดเจนว่ามีการวางแผน ปรุงแต่ง ผ่านการครุ่นคิดมาโดยละเอียด … มันฟังดูไม่ขัดย้อนแย้งกันหรอกหรือ?

I want the racists to talk like racists. For a film on robbery, I’d ask someone to steal. But even if it’s a fake theft, I’d be an accomplice, even if I’m filming.

Jean Rouch

ระหว่างรับชมผมเองก็รู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน เพราะรับรู้สึกได้ว่าทุกอย่างมันเฟค จอมปลอม หลอกหลวง คือถ้าตอนต้นเรื่องผกก. Rouch ไม่ยืนกรานว่ามอบอิสรภาพให้นักแสดงในการดั้นสด ทำออกมาเป็นภาพยนตร์ ‘fictional’ แบบทั่วๆไป มันคงไม่เกิดข้อขัดแย้งดังกล่าวให้ถกเถียงจนวุ่นวายใจ

แต่อย่างไรก็ดี The Human Pyramid (1961) เป็นสารคดี/ภาพยนตร์ที่ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดค้นหาความเป็นไปได้ถึงวิวัฒนาการ ความสัมพันธ์ระหว่างคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน ซึ่งเมื่ออคติชาติพันธุ์เลือนลางจางหาย สุดท้ายแล้วพวกเขาจะสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียวกันได้หรือไม่?


Jean Rouch (1917-2004) นักมานุษยวิทยา (Anthropologist) และผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักสำรวจ ทหารเรือ(ในช่วง WW1) พบเจอว่าที่ภรรยาระหว่างภารกิจขั้วโลกใต้ Antarctica, สำหรับบุตรชาย โตขึ้นร่ำเรียนวิศวกรรม École nationale des ponts et chaussées (National School of Bridges and Roads) จากนั้นได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมงานก่อสร้างถนนหนทางยังประเทศ Niger ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่า มีแรงงานหลายสิบเสียชีวิต พบเห็นพิธีกรรมไล่ผีสาง ปัดเป่าความชั่วร้าย นั่นทำให้เขาเกิดความสนใจในชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางกลับฝรั่งเศส เข้าคอร์สเกี่ยวกับมานุษยวิทยา (Anthropologist) รวมถึงการถ่ายภาพยนตร์ ก่อนหวนกลับสู่ทวีปแอฟริกา ถ่ายทำสารคดีสั้นเรื่องแรกๆ Au pays des mages noirs (1947) แปลว่า In the Land of the Black Magi ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ “father of Nigerien cinema”

ผลงานในยุคแรกๆของผกก. Rouch เพียงการบันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม นำเสนอออกมาในลักษณะ Ethnographic Film อาทิ In the Land of the Black Magi (1947), Initiation into Possession Dance (1949), จากนั้นจึงเริ่มครุ่นคิดมองหาแนวคิดอะไรใหม่ๆ ทำการผสมผสานเรื่องราวปรุงแต่งสร้างขึ้น Docu+Drama พัฒนากลายมาเป็น Ethno+Fiction (ส่วนผสมของ Ethnographic+Fiction) เริ่มต้นกับ The Mad Masters (1955), Mon, un noir (1958), La pyramide humaine (1961) ฯ

ช่วงระหว่างกันยายน ค.ศ. 1958 จนถึงตุลาคม ค.ศ. 1960 มีอาณานิคมฝรั่งเศส (French Colonial) ในทวีปแอฟริกาจำนวนถึง 15 ประเทศ ได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ นั่นทำให้ผกก. Rouch เกิดความสนใจเดินทางสู่ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ตั้งใจจะบันทึกภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกัน ณ โรงเรียนมัธยมปลายที่ Abidjan ก่อนค้นพบความผิดหวัง เพราะมันไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น “relations between black and white students virtually non-existent”

ด้วยเหตุนี้ผกก. Rouch จึงครุ่นคิดทำการทดลอง โดยนำเอาสองกลุ่มนักเรียนคนขาวและชาวแอฟริกันจำนวนสิบคน (ฝั่งละห้าคน) มาอาศัยอยู่ร่วมชั้นเรียนเดียวกัน ให้อิสระพวกเขาการครุ่นคิด ดั้นสด สร้างเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้น “Breaking the Ice” สารคดี/ภาพยนตร์เรื่องนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของทวีปแอฟริกัน

สำหรับชื่อสารคดี La Pyramide humaine แปลตรงตัว The Human Pyramid มาจากชื่อหนังสือ Les Dessous d’une vie ou la Pyramide humaine (1926) แปลว่า An Underbelly of Life or A Human Pyramid รวบรวมบทกวีของ Paul Éluard (1895-1952) สัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Surrealism และได้รับการยกย่องย่อง “The Poet of Freedom”

As a child I opened my arms to purity. ‘Twas but a flutter in my eternal skies. A loving heart beating in a subdued chest. In love with love I could not fall. The Light blinds me yet I save enough to watch the night nightly, all nights. All virgins differ. I only dream of one. Black-smocked she sits in the class before me. When she turns to ask me for an answer her innocent eyes so confuse me that in pity she slips her arms around my neck. Then she leaves and goes aboard a ship. We’re almost strangers. So young is she her kiss does not surprise me. When she is ill I hold her hand in mine til death, til I awake. I race to meet her, fearing to arrive after other thoughts have stolen me from myself. The world nearly ended and we didn’t know our love. Slowly and caressingly she searches for my lips. That night I thought to bring her to the day. ‘Tis ever the same vow, same youth, same eyes, same arms around my neck, same caress and revelation, but never the same woman. The cards say I shall meet her but until I know her, let us love Love.


ถ่ายภาพโดย Louis Miaille, Roger Morillière และ Jean Rouch ใช้กล้องขนาดเบา Kodachrome ฟีล์ม 16mm แลปสี Eastmancolor ที่สามารถแบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ‘unchained camera’ ไม่มีอุปกรณ์บันทึกเสียง เมื่อได้ฟุตเทจเพียงพอเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ (Post-Production) ถึงให้นักแสดงพากย์เสียงทับ พร้อมกับบันทึกเสียงเพลงประกอบ (Post-Synchronization)

ถึงผกก. Rouch จะกล่าวอ้างว่าไม่ได้ครุ่นคิด สร้างเรื่องราวใดๆขึ้นมา ทั้งหมดเกิดจากการให้อิสระกลุ่มนักแสดงสมัครเล่นที่คัดเลือกมาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เวลาถ่ายทำจริงนั้นกลับพบเห็นทิศทาง มุมกล้อง จัดวางองค์ประกอบภาพ (ช่วงแรกๆมีการแบ่งแยกฝั่งนักเรียนคนขาวและชาวแอฟริกันออกจากกัน แต่พอพวกเราเริ่มสานสัมพันธ์จะสลับตำแหน่งที่นั่งโดยไม่แบ่งแยกสีผิว/ชาติพันธุ์) โดยเฉพาะการโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ล้วนมีการวางแผนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นมืออาชีพ บทพูดสนทนาก็เฉกเช่นเดียวกัน!

คนที่มีความเข้าใจในศาสตร์สารคดี น่าจะสังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าวไม่ยากเย็น แต่สำหรับผู้ชมทั่วไปอาจเพลิดเพลินกับเรื่องราวจนหลงลืมว่านี่ควรเป็น ‘สารคดี’ มันจัดวางองค์ประกอบ ถ่ายมุมกล้องแบบนั้นนี้ได้อย่างไรกัน?? ลักษณะดังกล่าวมีคำเรียก Docu+Fiction หรือ Docu+Drama หรือจะ Ethno+Fiction เป็นการผสมผสานการนำเสนอสไตล์สารคดี+ปรุงแต่งสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ … ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าสไตล์ภาพยนตร์ลักษณะนี้ควรเรียกสารคดีจริงๆนะหรือ??

สำหรับสถานที่ถ่ายทำมีทั้งกรุง Paris, France พบเห็นประตูชัย Arc de Triomphe บนถนน Champs-Elysees และโรงเรียนมัธยมปลาย Lycée Français ณ Abidjan, Côte d’Ivoire (Ivory Coast)

แซว: ผมจับจ้องภาพช็อตนี้อยู่นาน ทำไมสถานที่พื้นหลังดูมักคุ้นยิ่งนัก ก่อนพบว่าถนนเส้นนี้มีคำเรียก “Champs-Elysées-shot New Wave” เป็นบริเวณที่บรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave ชื่นชอบถ่ายกันจัง เหมือนจะเริ่มต้นจาก Breathless (1960) ระหว่างสุดสวย Jean Seberg กำลังขายหนังสือพิมพ์ New York Herald Tribune

ตัดต่อโดย Marie-Josèphe Yoyotte (Love in Jamaica, The 400 Blows, Testament of Orpheus, Léon Morin, Priest) และ Geneviève Bastid

ในช่วงแรกๆที่ยังมีการแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน การดำเนินเรื่องจะตัดสลับทั้งสองฟากฝั่งไปมา จนกระทั่งต่างฝ่ายต่างเริ่มเปิดใจ พูดคุย แลกเปลี่ยนกิจกรรม สานสัมพันธ์ จึงเกิดการรวมตัวผสมผสาน และเมื่ออ่านบทกวี La Pyramide humaine ครึ่งหลังนำเข้าสู่เรื่องราวความรักระหว่างชาติพันธุ์ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ใช้กำลังรุนแรง และสมมติการกระทำอัตวินิบาต

  • อารัมบท, ผกก. Rouch อธิบายการทดลองของสารคดี คัดเลือกนักเรียนสองกลุ่มมาอาศัยอยู่ร่วมกัน
  • เริ่มต้นสานสัมพันธ์
    • ช่วงแรกๆนักเรียนทั้งสองกลุ่มต่างแยกกันอยู่ ทำกิจกรรมฟากฝั่งของตนเอง ซุบซิบนินทาฟากฝั่งตรงข้าม
    • กระทั่งวันหนึ่งหลังคาบเรียน ฟากฝั่งคนขาวชักชวนเพื่อนผิวสีเข้าร่วมกิจกรรม เล่นกีตาร์ เตะฟุตบอล ซุบซิบนินทา
    • ความขัดแย้งบังเกิดขึ้นจากการที่ใครคนหนึ่งเรียกอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ (เกี่ยวกับคำเรียกสรรพนาม Ju, Tu) จึงมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรับความเข้าใจ
    • ฟากฝั่งชาวแอฟริกันผิวสี ชักชวนนักเรียนคนขาวเข้าร่วมงานเต้นรำยามค่ำคืน
  • เรื่องราวความรักต่างชาติพันธุ์
    • วันหนึ่งในห้องเรียน ครูให้อ่านบทกวี La Pyramide humaine
    • นั่นทำให้ใครต่อใครตกหลุมรัก Nadine
      • เพื่อนผิวสีปั่นจักรยานเล่นด้วยกัน
      • เพื่อนคนขาวพาไปปิกนิคบนเรือร้าง
      • เพื่อนผิวสีอีกคนพาล่องเรือข้ามแม่น้ำ
      • เพื่อนคนขาวนักดนตรี พาไปยังอาคารร้าง สถานที่หลบซ่อนของตนเอง
    • แม้ว่า Nadine จะเห็นทุกคนเป็นเหมือนเพื่อน แต่หนุ่มๆไม่ว่าจะสีผิวอะไรต่างบังเกิดความหึงหวง ต้องการเอาชนะ จะได้ครองคู่แต่งงาน
    • เพื่อนทั้งคนขาวและชาวแอฟริกัน ต่างพยายามพูดเตือนสติ Nadine ให้เลือกใครสักคน แต่เธอกลับไม่เอาใครสักคน
  • โศกนาฎกรรม(สมมติ)
    • ในห้องเรียน เพื่อนๆต่างถกเถียงถึงอิสรภาพ/การปฏิวัติในแอฟริกา
    • รับชมฟุตเทจภาพยนตร์ร่วมกัน
    • ผองเพื่อนทั้งหมดมาเที่ยวเล่นยังบนเรือร้าง แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตายประชดรัก
    • เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกคนตกอยู่ในความหดหู่ สิ้นหวัง Nadine เลยตัดสินใจเดินทางกลับฝรั่งเศส
  • ปัจฉิมบท, จบลงด้วยคำบรรยายของผกก. Rouch

หลายคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นความพิลึกพิลั่น เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเป็นการทดลอง ปรุงแต่งสรรค์สร้างขึ้น แล้วไฉนยังต้องพูดบอกสมมติการกระทำอัตวินิบาต? เตือนสติผู้ชมที่อาจหลงลืมไปว่านี่สารคดี Docu-Fiction? ความตั้งใจของผกก. Rouch ดังคำบรรยายช่วงท้าย

No matter whether the story is plausible, no matter the camera or the mic, or the director or whether, a film was born or never existed. More important is what happened around the camera. Something did occor in the decors and childish, poetic loves and fake catastrophes.

Jean Rouch

ในส่วนของ Post-Production มีการบันทึกเสียงพากย์ เพลงประกอบ และเสียงประกอบ (Sound Effect) ไปพร้อมๆกันยังสตูดิโอที่กรุง Paris ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เสียงพูดตรงกับปากขยับ แต่นั่นคือความจงใจของผกก. Rouch เพื่อสร้างบรรยากาศ ‘dream-like’ ราวกับเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝัน จินตนาการล่องลอย จับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่

สำหรับเพลงประกอบไม่มีเครดิต ก็มีทั้งการผิวปาก ร้อง-เล่นดนตรีสด (ระหว่างบันทึกเสียง) และเปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ทั้งหมดถือเป็น ‘diegetic music’ ต้องได้ยินจากแหล่งกำเนิด (ยกเว้นระหว่าง Opening & Closing Credit)


ในอดีตคนขาวก็อยู่ส่วนคนขาว คนดำก็อยู่ส่วนคนดำ ความแตกต่างทางสีผิวทำให้เกิดการแบ่งแยก ความขัดแย้ง หวาดกลัวการมีปฏิสัมพันธ์ พวกคนขาวที่มีความเฉลียวฉลาด/เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงใช้วิธียึดครอบครอง ออกล่าอาณานิคม (Colonialism) สร้างสถานะนาย-บ่าว ข้าทาส คนรับใช้ ยกยอปอปั้นตนเองว่ามีความยิ่งใหญ่ สูงส่ง และปลูกฝังทัศนคติดังกล่าวสืบทอดส่งต่อลูกหลานเหลนโหลน ให้ดูถูกเหยียดหยามบุคคลชนชั้นต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน

สงครามโลกครั้งที่สองถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ความเจริญแพร่กระจายสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วโลก เมืองขยับขยาย คนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาระดับสูง ทำให้แนวคิดอาณานิคม (Colonialism) ค่อยๆเสื่อมถดถอย จนกระทั่งถูกล้มล้าง หลายๆประเทศสามารถปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแม้บังเกิดขึ้นแล้วในหลายๆประเทศ แต่อคติต่อชาติพันธุ์ ความทรงจำต่อลัทธิอาณานิคม ยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ คนขาว-คนดำจึงยังคงแยกกันอยู่ ไม่ต้องสุงสิง คบค้าสมาคม ปรับตัวเข้าหาได้โดยทันที!

แม้เหตุการณ์ทั้งหมดในสารคดีเรื่องนี้จะเป็นการปรุงแต่ง สร้างขึ้นมา แต่ความตั้งใจของผกก. Rouch ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวและชาวแอฟริกัน ทำการทดลองให้นักเรียนสองชาติพันธุ์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จากเคยเหินห่าง หมางเมิง พอเริ่มเปิดใจกว้าง มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น ย่อมสามารถยินยอมรับ ปรับตัว กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม หลงลืมความขัดแย้งของบรรพบุรุษที่เคยสะสมมา

และที่สุดของวิวัฒนาการความสัมพันธ์ คือรักไร้พรมแดน ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างสีผิว เชื้อชาติ นั่นคือคนขาวตกหลุมรักสาวผิวสี …vice versa… ชาวแอฟริกันตกหลุมรักหนุ่มฝรั่งเศส อะไรก็สามารถบังเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น!

แม้ท้ายที่สุดอคติระหว่างชาติพันธุ์จะหมดสูญสิ้นไป เรื่องราวรักๆใคร่ๆของคนสอง-สาม-สี่ ย่อมสร้างความอิจฉาริษยา กลับนำไปสู่ความขัดแย้ง ใช้กำลังรุนแรง และอาจถึงขั้นโศกนาฎกรรม … หลายคนอาจมองว่าไคลน์แม็กซ์หลุดประเด็นไปไกล แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้บังเกิดขึ้นได้เมื่อวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ ดำเนินไปถึงจุดที่ไม่มีใครคำนึงถึงสีผิวของกันและกัน นั่นถือเป็นอุดมคติของความเสมอภาคเท่าเทียม

For those ten people, racism no longer means anything. The movie end but the story is not over.

Jean Rouch

ชื่อสารคดี The Human Pyramid อาจฟังดูสับสน ขัดย้อนแย้ง เพราะลักษณะของพีระมิดมักใช้ในการแบ่งแยกสถานะ ชนชั้น คล้ายๆห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกันในยุคอาณานิคม (คนขาวอยู่เบื้องบน คนดำอยู่เบื้องล่าง) ไม่ได้มีความสอดคล้องเข้ากับวัตถุประสงค์ผู้สร้าง

แต่เท่าที่ลองพยายามสอบถาม AI มองว่า ‘Human Pyramid’ คือสัญลักษณ์ความสมัครสมาน สามัคคี เพราะบุคคลที่เป็นฐานเบื้องล่างต้องมีความแข็งแกร่ง เสียสละตนเองเพื่อให้พวกพ้องสามารถปีนป่าย ต่อตัวให้กลายเป็นรูปทรงพีระมิดที่มีความงดงาม … ตีความแบบนี้ก็พอฟังขึ้นระดับหนึ่ง สอดคล้องเข้ากับความพยายามทำให้นักเรียนคนขาวและชาวแอฟริกันบังเกิดมิตรภาพต่อกัน แต่ผมยังรู้สึกว่าเป็นชื่อที่ไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่


แม้สารคดีจะได้เสียงตอบรับอย่างดีในฝรั่งเศส (เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของผกก. Éric Rohmer) แต่กลับถูกทางการสั่งห้ามนำออกฉายในแทบทุก(อดีต)ประเทศอาณานิคมแอฟริกันที่พูดภาษาฝรั่งเศส (มีคำเรียก Francophone Africa) เพราะหวาดกลัวความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชาติพันธุ์ (Miscegenation) จะลุกลาม บานปลาย นั่นทำให้ความตั้งใจของผกก. Rouch แทบสูญสลาย

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย Centre National du Cinema และ Les Films de la Pleidade สามารถหาซื้อ DVD (ไม่มี Blu-Ray) คอลเลคชั่น Eight Films by Jean Rouch ของค่าย Icarus Films ประกอบด้วย

  • Mammy Water (1955)
  • The Mad Masters (1956)
  • I, a Negro (1958)
  • The Human Pyramid (1961)
  • The Punishment (1962
  • The Lion Hunters (1965)
  • Jaguar (1967)
  • Little by Little (1969)

แม้ผลงานของผกก. Rouch จะมีความน่าสนใจอย่างมากๆ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่างให้กับผู้ชมไม่น้อย, ผมเองก็เฉกเช่นเดียวกัน อยากจะชื่นชอบ แต่วิธีการนำเสนอสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน เอาว่าชอบครึ่ง-ไม่ชอบครึ่ง มันช่างสมกับความกึ่งสารคดี กึ่งเรื่องแต่ง (Docu-Drama หรือ Docu-Fiction)

สำหรับคนที่ยังรู้สึกอคติต่อสารคดีเรื่องนี้ ไม่ชื่นชอบวิธีการนำเสนอ แนะนำให้ลองหา Chronique d’un été (1961) แปลว่า Chronicle of a Summer ผลงานชิ้นเอกของผกก. Rouch (ร่วมกำกับ Edgar Morin) ก็อาจสามารถทำความเข้าใจอะไรๆเพิ่มขึ้นได้อีกพอสมควร

จัดเรต 13+ กับเรื่องราวรักๆใคร่ๆ ฆ่าตัวตายเพราะรัก

คำโปรย | The Human Pyramid กึ่งสารคดี กึ่งเรื่องแต่ง (Docu-Fiction) นำเสนอวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างคนขาว-ชาวแอฟริกัน ที่แม้เส้นแบ่งชาติพันธุ์เจือจางลง แต่ยังคงมีบางสิ่งทำให้มนุษย์เกิดความขัดแย้ง แยกจากกัน 
คุณภาพ | พีมิ
ส่วนตัว | ชอบครึ่งไม่ชอบครึ่ง

Moi, un noir (1958)


I, a Negro (1958) French : Jean Rouch ♥♥♥♡

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดยุคสมัย แต่ผู้กำกับ Jean Rouch ยังสามารถรังสรรค์สร้างสารคดีบันทึกวิถีชีวิตผู้อพยพชาว Nigerien เดินทางมาปักหลักใช้แรงงานอยู่ยัง Treichville, Abidjan เมืองหลวงประเทศ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ใกล้จะได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส

Moi, un noir is, in effect, the most daring of films and the humblest. It may look like a scarecrow, but its logic is foolproof, because it is the film of a free man in the same way as Chaplin’s A King in New York. Moi, un Noir is a free Frenchman freely taking a free look at a free world.

Jean-Luc Godard

One of the first films, ethnographic or otherwise, that depicted the pathos of life in changing Africa…MOI, UN NOIR is a film that obliterates the boundaries between fact and fiction, documentary and story, observation and participation, objectivity and subjectivity.

Paul Stoller

นอกจาก Egypt และ Tunisia วงการภาพยนตร์ในทวีปแอฟริกาช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20th ช่างมีความเงียบเหงา เป่าสาก เพราะแทบทุกประเทศ(ในแอฟริกา)ล้วนตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยม (Colonial Era) และเห็นว่าฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพ สรรค์สร้างภาพยนตร์ในประเทศอาณานิคม เพราะกลัวการแสดงออกทางการเมือง วัฒนธรรม อันจะนำไปสู่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยม

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นสูง ปัญญาชนแอฟริกันจึงรวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากสถานะอาณานิคม ทำให้พวกจักรวรรดินิยมจำต้องผ่อนปรนมาตรการหลายๆอย่าง จึงเริ่มมีผู้สร้างภาพยนตร์เดินทางสู่ทวีปแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น อาทิ

  • Afrique 50 (1950) กำกับโดย René Vautier ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของฝรั่งเศสที่นำเสนอแนวคิด Anti-Colonialism ผลลัพท์ทำให้ Vautier ถูกจับขังคุกนานหนึ่งปี และหน้งโดนแบนห้ามฉายกว่า 40 ปี
  • Les statues meurent aussi (1953) แปลว่า Statues Also Die กำกับโดย Alain Resnais, Chris Marker, Ghislain Cloquet สามารถคว้ารางวัลหนังสั้น Prix Jean Vigo แต่ครึ่งหลังที่ทำการวิพากย์วิจารณ์ Colonialism ถูกแบนห้ามฉายนานกว่าสิบปี

Jean Rouch ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสนใจในวิถีแอฟริกัน สรรค์สร้างสารคดีที่ไม่ได้มุ่งเน้นการ Anti-Colonialism แต่พยายามนำเสนอวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ กระบอกเสียงเล็กๆให้ได้ยินกึกก้อง เป็นที่รับรู้ของนานาอารยะ ซึ่งนั่นสร้างความขัดแย้ง (Controversial) ครุ่นคิดเห็นต่างให้ทั้งชาวฝรั่งเศสและแอฟริกัน


ว่ากันตามตรงระหว่างที่ผมรับชม Mon, un noir (1958) ดูไปก็หงุดหงิดไป นี่มันสารคดียังไง? ทั้งมุมกล้อง ลีลาตัดต่อ รวมถึงการพากย์เสียงทับภายหลัง (Post-Synchronization) มันช่างดูไม่สมจริง ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นการจัดฉาก ลวงหลอกผู้ชม! แต่พอครุ่นคิดไปมาก็พลันนึกถึง Nanook of the North (1922) ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก ภายหลังมีคำเรียกสารคดีประเภทนี้ว่า Docu+Fiction (ส่วนผสมของ Documentary+Fictional) เลยบังเกิดความตระหนัก เข้าถึงแนวทางของผกก. Rouch ที่ทำการประดิษฐ์คิดค้น สรรค์สร้างแนวทางภาพยนตร์ของตนเองขึ้นมา

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะให้การยินยอมรับ แม้สารคดีของ Rouch จะให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด ครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวอย่างอิสระ แต่ถึงอย่างนั้นมุมกล้อง ลีลาตัดต่อ รวมถึงการพากย์เสียงทับภายหลัง นั่นคือข้อขัดแย้งที่ทำให้เกิดการถกเถียง (Controversial) ทำลายความสมจริง ฝืนธรรมชาติ แถมยังถูกตีตราจากบิดาแห่งวงการภาพยนตร์แอฟริกัน Ousmane Sembène

Ethnographic films have often done us harm. Because something is being shown, a certain kind of reality is being constructed, but we don’t see any kind of evolution. What I have against these films, and what I reproach Africanists for, is that you are looking at us like insects.

Ousmane Sembène

ปล. นี่ไม่ได้แปลว่า Sembène มีอคติใดๆต่อผกก. Rouch นะครับ เพราะบทสัมภาษณ์นี้มาจากการพูดคุยระหว่างทั้งสอง (Sembène กับ Rouch) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา และเห็นว่า Sembène ชื่นชอบประทับใจ Moi, un noir (1958) อย่างมากๆเสียด้วยนะ

One film that you made which I really like – which I have defended and which I will continue to defend – is Moi, un Noir (1958). In principle, an African could have made it, but none of us were in a position to do so at the time.

Ousmane Sembène กล่าวชื่นชม Mon, un noir (1958)

Jean Rouch (1917-2004) นักมานุษยวิทยา (Anthropologist) และผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักสำรวจ ทหารเรือ(ในช่วง WW1) พบเจอว่าที่ภรรยาระหว่างภารกิจขั้วโลกใต้ Antarctica, สำหรับบุตรชาย โตขึ้นร่ำเรียนวิศวกรรม École nationale des ponts et chaussées (National School of Bridges and Roads) จากนั้นได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมงานก่อสร้างถนนหนทางยังประเทศ Niger ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่า มีแรงงานหลายสิบเสียชีวิต พบเห็นพิธีกรรมไล่ผีสาง ปัดเป่าความชั่วร้าย นั่นทำให้เขาเกิดความสนใจในชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางกลับฝรั่งเศส เข้าคอร์สเกี่ยวกับมานุษยวิทยา (Anthropologist) รวมถึงการถ่ายภาพยนตร์ ก่อนหวนกลับสู่ทวีปแอฟริกา ถ่ายทำสารคดีสั้นเรื่องแรกๆ Au pays des mages noirs (1947) แปลว่า In the Land of the Black Magi ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ “father of Nigerien cinema”

ปล. ถึงสารคดีสั้นเรื่องนี้จะไม่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ แต่ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ

ผลงานในยุคแรกๆของผกก. Rouch เพียงการบันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม นำเสนอออกมาในลักษณะ Ethnographic Film อาทิ In the Land of the Black Magi (1947), Initiation into Possession Dance (1949), จากนั้นจึงเริ่มครุ่นคิดมองหาแนวคิดอะไรใหม่ๆ ทำการผสมผสานเรื่องราวปรุงแต่งสร้างขึ้น Docu+Drama พัฒนากลายมาเป็น Ethno+Fiction (ส่วนผสมของ Ethnographic+Fiction) เริ่มต้นกับ The Mad Masters (1955), Mon, un noir (1958), La pyramide humaine (1961) ฯ

สำหรับ Mon, un noir (1958) แปลตรงตัว Me, a Black (people) ใช้ชื่ออังกฤษ I, a Negro จุดเริ่มต้นเกิดจากผกก. Rouch มีโอกาสพบเจอ Oumarou Ganda ชายหนุ่มชาว Nigerian ที่เพิ่งเสร็จภารกิจทหาร เดินทางกลับจากสงคราม First Indochina War (1946-54) แล้วอพยพย้ายสู่ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) เพื่อมองหางานทำ

I followed a small group of young Nigerian émigrés to Treichville, a suburb of Abidjan, and suggested they make a film where they could do and say anything. So we improvised a film.

Jean Rouch

Oumarou Ganda (1935-81) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Nigerien เกิดที่ Niamey, Niger ชาติพันธุ์ Djerma, หลังเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พออายุ 16 อาสาสมัครทหาร French Far East Expeditionary Corps เข้าร่วมสงคราม First Indochina War (1946-54) พอปลดประจำการกลับมาอาศัยอยู่ Niamey แต่กลับหางานทำไม่ได้ เลยอพยพย้ายสู่ Côte d’Ivoire ทำงานเป็นคนขนของ (Longshoreman) ท่าเรือ Abidjan ทำให้มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Jean Rouch กลายเป็นตัวประกอบสารคดี Zazouman de Treichville (1957) และแจ้งเกิดภาพยนตร์ Moi, un Noir (1958)

เรื่องราวของสารคดี Mon, un noir (1958) เกาะติดหนึ่งสัปดาห์ของ Ganda เรียกตัวเองว่า Edward G. Robinson (ตามชื่อนักแสดง Hollywood คนโปรด) และพวกพ้องผู้อพยพชาว Nigerien ที่อาศัยอยู่ชุมชนสลัม Treichville, Abidjan วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานเหน็ดเหนื่อย เช้าชามเย็นยาม สวมใส่เสื้อผ้าขาดๆ หลับนอนข้างถนน เฝ้ารอคอยการมาถึงของเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย ดื่มด่ำ ร่ำนารี มองหาคู่ชีวี

เกร็ด: ทุกตัวละครจะมีชื่อเล่นอย่าง Edward G. Robinson, Eddie Constantine, Tarzan, Petit Jules, Dorothy Lamour ฯ เพื่อแสดงถึงความเพ้อใฝ่ฝัน อยากได้อยากมี อยากเป็นอย่างบุคคลที่โปรดปราน

หลังเสร็จจาก Mon, un noir (1958) ทำให้ Ganda ตัดสินใจหวนกลับ Niamey (ตามคำรำพันที่เพ้อไว้ตอนจบ) แล้วมีโอกาสเข้าร่วม Franco-Nigerien Cultural Center ฝึกฝนเรียนรู้งานภาพยนตร์ กลายเป็นผู้ช่วยฝ่ายเทคนิค ตามด้วยเขียนบท กำกับหนังเรื่องแรก Cabascabo (1968), โด่งดังกับ Le Wazzou Polygame (1970), Saïtane (1972), L’Exilé (1980) ฯ


ถ่ายภาพโดย Jean Rouch ใช้กล้องขนาดเบา Kodachrome ฟีล์ม 16mm เทคโนโลยีสี Eastmancolor ที่สามารถแบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ‘unchained camera’ ไม่มีอุปกรณ์บันทึกเสียง เมื่อได้ฟุตเทจเพียงพอเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ (Post-Production) ถึงให้นักแสดงพากย์เสียงทับ พร้อมกับบันทึกเสียงเพลงประกอบ (Post-Synchronization)

ถึงผกก. Rouch จะกล่าวอ้างว่าไม่ได้ครุ่นคิด สร้างเรื่องราวใดๆขึ้นมา ทั้งหมดเกิดจากการสังเกต ติดตาม ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลในความสนใจยาวนาน 6 เดือน! (ต่อเนื่องมาจากโปรเจคก่อนหน้า Zazouman de Treichville (1957)) แต่เวลาถ่ายทำจริงนั้นกลับพบเห็นทิศทาง มุมกล้อง องค์ประกอบภาพ โดยเฉพาะโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ล้วนมีการวางแผนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นมืออาชีพ บทพูดสนทนาก็เฉกเช่นเดียวกัน!

คนที่มีความเข้าใจในศาสตร์สารคดี น่าจะสังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าวไม่ยากเย็น แต่สำหรับผู้ชมทั่วไปอาจเพลิดเพลินกับเรื่องราวจนหลงลืมว่านี่ควรเป็น ‘สารคดี’ มันจัดวางองค์ประกอบ ถ่ายมุมกล้องแบบนั้นนี้ได้อย่างไรกัน?? ลักษณะดังกล่าวมีคำเรียก Docu+Fiction หรือ Docu+Drama หรือจะ Ethno+Fiction เป็นการผสมผสานการนำเสนอสไตล์สารคดี+ปรุงแต่งสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ … ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าสไตล์ภาพยนตร์ลักษณะนี้ควรเรียกสารคดีจริงๆนะหรือ??


ตัดต่อโดย Marie-Josèphe Yoyotte (Love in Jamaica, The 400 Blows, Testament of Orpheus, Léon Morin, Priest) และ Catherine Dourgnon

ทำการเกาะติดเรื่องราวชีวิตของ Oumarou Ganda เรียกตัวเองว่า Edward G. Robinson และผองเพื่อนผู้อพยพชาว Nigerian ที่ปักหลักอาศัยอยู่ชุมชนสลัม Treichville, Abidjan เมืองหลวงประเทศ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ในรอบสัปดาห์ โดยจะมีปรากฎข้อความคั่นแบ่งเมื่อเข้าสู่เสาร์-อาทิตย์

  • อารัมบท, เสียงบรรยายผกก. Rouch แนะนำตัวละคร อธิบายวัตถุประสงค์ของสารคดี ก่อนส่งต่อให้กับ Oumarou Ganda
  • วันทำงานของ Edward G. Robinson
    • ยามเช้าเดินทางไปทำงาน พานผ่านสถานที่ต่างๆ ตลาด ชุมชน สลัม ฯ
    • ทำงานเป็นคนขนของ (Longshoreman) ยังท่าเรือ
    • พักเที่ยงรับประทานอาหาร นอนกลางวัน ก่อนเข้างานกะบ่าย
    • กิจวัตรยามค่ำคืน ฝึกฝนต่อยมวย ใฝ่ฝันอยากเป็นแชมป์โลก
  • วันเสาร์
    • แต่งตัวหล่อ ขึ้นรถแท็กซี่ เดินทางไปเล่นน้ำทะเล
    • จินตนาการตนเองขึ้นชกชิงแชมป์โลก (ถ่ายในเวที) ก่อนตัดให้พบเห็นการชกชิงแชมป์โลกจริงๆ (ถ่ายจากนอกเวที)
    • ค่ำคืนไปดื่มด่ำ เต้นรำ ค่ำคืนนี้หลับนอนตัวคนเดียว ไม่มีใครเคียงข้างกาย
  • วันอาทิตย์
    • ตื่นเช้ารีบไปเหล่สาวยังโบสถ์ศาสนาคริสต์ (แต่ตัวเองเป็นมุสลิม)
    • หลังแวะร้านตัดผม ถึงค่อยไปละหมาดยังมัสยึด
    • รับชมการแข่งขันฟุตบอล
    • ล้อมวงรับชมการแสดงความสามารถต่างๆ เล่นดนตรี ปั่นจักรยานผาดโผน ฯ
    • หัวค่ำมีกิจกรรมประกวดเต้นรำเพื่อค้นหา King & Queen แห่ง Treichville
    • ดึกดื่นดื่มด่ำ มึนเมามาย สูญเสียแฟนสาวให้กับคนขาว
  • เช้าวันจันทร์
    • ตื่นขึ้นมายังไม่สร่างเมา เคาะประตูห้องแฟนสาว มีเรื่องชกต่อยกับชายคนขาว
    • พร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย เบื่อหน่ายกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ก่อนตัดสินใจจะเดินทางกลับบ้านเกิด

ลีลาการตัดต่อถือว่ามีความแพรวพราวอย่างมากๆ ถือเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องราว และช่วยให้สารคดีมีความลึกล้ำ ศิลปะขั้นสูง ท้าทายผู้ชมให้เกิดข้อคำถาม การถกเถียง ยกตัวอย่างระหว่าง Edward G. Robinson พร่ำเพ้อว่าเคยขึ้นเรือออกเดินทางไปทำงานยังประเทศต่างๆ ครอบครองหญิงผิวขาวทั่วยุโรป ขณะนั้นมีการแทรกภาพเรือขนส่งหลายๆลำ แต่นั่นไม่ใช่จะสื่อถึงเรือที่อาจจะเคยประจำการ ยังสร้างความรู้สึกว่าตัวละครก็แค่คุยโวโอ้อวดเก่งไปวันๆ

(เวลาที่ตัวละครพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย ก็มักมีการร้อยเรียงชุดภาพ ตัดสลับมุมกล้องไปมา เพื่อสร้างสัมผัสว่าหมอนี่กำลังคุยโวโอ้อวดเก่ง ไม่ต่างจากเด็กเลี้ยงแกะ)

The editing decisions themselves also proved quite controversial. For instance, in the scene where Edward G. Robinson brags about his conquests with white women in Europe to Élite, the film cuts to shots of the sterns of ships registered in the ports that he name-checks (such as Oslo), corresponding to the shipments of sacks that they have just loaded in their menial jobs, suggesting that the character is being untruthful.

ในส่วนของ Post-Production มีการบันทึกเสียงพากย์ เพลงประกอบ และเสียงประกอบ (Sound Effect) ไปพร้อมๆกันยังสตูดิโอที่กรุง Paris ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เสียงพูดตรงกับปากขยับ แต่นั่นคือความจงใจของผกก. Rouch เพื่อสร้างบรรยากาศ ‘dream-like’ ราวกับเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝัน จินตนาการล่องลอย จับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่ … แน่นอนว่านี่เป็นอีกสาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สารคดีถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าทำให้เรื่องราวที่ควรมีลักษณะ Neo-Realist กลายมาเป็นเรื่องเล่าปรับปรา เทพนิยายแอฟริกา นิทานก่อนนอน

สำหรับเพลงประกอบ ก็มีทั้งที่เชิญศิลปินมาขับร้อง เล่นสด (ระหว่างบันทึกเสียง) รวมถึงเปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ทั้งหมดถือเป็น ‘diegetic music’ ต้องได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง (ยกเว้นระหว่าง Opening & Closing Credit) และสำหรับเสียงประกอบ (Ambient) อย่างผู้คนในผับบาร์ รถราบนท้องถนน ฯ เห็นว่าทำการบันทึกเสียงจาก(ท้องถนน)กรุง Paris สถานที่แห่งไหนก็เหมือนๆกันทั้งนั้น


ทวีปแอฟริกาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แม้การสู้รบยังพอพบเห็นอยู่บ้าง มีสลับสับเปลี่ยนประเทศผู้ครอบครองอาณานิคม แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายรุนแรงเมื่อเทียบกับยุโรปและญี่ปุ่น, ภายหลังสิ้นสุดสงคราม ประเทศอาณานิคมเหล่านี้จึงได้รับการปรับปรุงพัฒนา ให้ความเจริญก้าวหน้า ทันสมัยเทียบเท่านานาอารยะ พบเห็นอาคารบ้านเรือน ตึกระฟ้าสูงใหญ่ ทำให้ผู้คนแห่กันอพยพเข้าเมือง เผื่อว่าจะมีอาชีพ ทำงานหาเงิน เลี้ยงดูแลตนเองและครอบครัว

นอกจากความเจริญทางวัตถุที่เผยแพร่เข้ามา ยังพร้อมกับแนวคิดสมัยใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยได้รับการเสี้ยมสอน ปลูกฝังถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม เรียกร้องหาประชาธิปไตย ต้องการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ตกเป็นทาสจักรวรรดินิยมอีกต่อไป

เกร็ด: Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1960

แม้ว่าสารคดี Moi, un noir (1958) จะไม่ได้มีการกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองโดยตรง (แต่พบเห็นภาพชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องอิสรภาพ) ถึงอย่างนั้นผู้ชมสามารถสัมผัสบรรยากาศ(การเมือง)ที่ยังคุกรุ่น ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม การดำรงชีวิต พบเห็นการแบ่งแยกสถานะ ชนชั้น รวย-จน ขาว-ดำ ถ้อยคำพร่ำรำพัน เพ้อใฝ่ฝัน อยากได้อยากมี อยากทำโน่นนี่นั่น โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง (แฟนสาวเลือกเอาคนขาว)

เอาจริงๆถ้าสารคดีเรื่องนี้ไม่เอาประเด็นชาติพันธุ์ (Ethnographic) มาเป็นจุดขาย มันก็คือภาพยนตร์ดราม่าสังคม Neorealist แบบทั่วๆไป คล้ายๆหนังไทยที่มีเรื่องราวบ้านนอกเข้ากรุงอย่าง เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (พ.ศ. ๒๕๒๐), มุ่งเน้นการสะท้อนปัญหาอาชญากรรม ความแตกต่างระหว่างชนบท-สังคมเมือง แบ่งแยกชนชั้นรวย-จน และการปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่

แต่สิ่งที่กล่าวมาหาใช่ความสนใจของผกก. Rouch ต้องการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คน สภาพสังคม แนวคิดของชาวแอฟริกันที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ได้รับอิทธิพลจากลัทธิจักรวรรดินิยม โหยหาเงินทอง ร่ำรวยสุขสบาย ใฝ่ฝันความสำเร็จ กลายเป็นคนมีชื่อเสียง เลียนแบบดารา นักร้อง-นักแสดง ฯ พวกเขากำลังค่อยๆถูกกลืนกิน สูญเสียอุดมการณ์แท้จริงของชนชาวแอฟริกัน

จะว่าไปตอนจบที่ Oumarou Ganda/Edward G. Robinson ไม่ยินยอมอดรนทนต่อความอยุติธรรมทางสังคม (หลังแฟนสาวถูกคนขาวแก่งแย่งไปครอบครอง) ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่ Niamey, Niger นั่นราวกับเป็นการประกาศอิสรภาพ ปลดแอกตนเองจากการตกเป็นเบี้ยล่างทางสังคม/ลัทธิอาณานิคม


Moi, un noir (1958) นอกจากคว้ารางวัล Prix Louis-Delluc ยังถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์/สารคดีที่สร้างอิทธิพลให้ยุคสมัย French New Wave โดยเฉพาะผกก. Jean-Luc Godard ยกย่องสรรเสริญ “unprecedented levels of truth captured on film” และเลือกติดอันดับ 4 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของตนเอง

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย Centre National du Cinema และ Les Films de la Pleidade สามารถหาซื้อ DVD (ไม่มี Blu-Ray) คอลเลคชั่น Eight Films by Jean Rouch ของค่าย Icarus Films ประกอบด้วย

  • Mammy Water (1955)
  • The Mad Masters (1956)
  • I, a Negro (1958)
  • The Human Pyramid (1961)
  • The Punishment (1962
  • The Lion Hunters (1965)
  • Jaguar (1967)
  • Little by Little (1969)

แม้ระหว่างรับชม ผมไม่ค่อยชอบวิธีการนำเสนอสักเท่าไหร่ รู้สึกล่องลอย จอมปลอม มันคือสารคดียังไง? แต่หลังผ่านการครุ่นคิด ค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Rouch เข้าใจข้อจำกัดยุคสมัย ก็เพียงพอรับได้ประมาณหนึ่ง บังเกิดความชื่นชอบ ประทับใจ และตระหนักถึงความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน

สำหรับคนที่ยังรู้สึกอคติต่อสารคดีเรื่องนี้ ไม่ชื่นชอบวิธีการนำเสนอ แนะนำให้ลองหา Chronique d’un été (1961) แปลว่า Chronicle of a Summer ผลงานชิ้นเอกของผกก. Rouch (ร่วมกำกับ Edgar Morin) ก็อาจสามารถทำความเข้าใจอะไรๆเพิ่มขึ้นได้อีกพอสมควร

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | I, a Negro คือเรื่องเล่าปรัมปรา เทพนิยายแอฟริกา นิทานก่อนนอน สารคดีบันทึกวิถีชีวิตชาวแอฟริกันในช่วงก่อนการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ
คุณภาพ | ปรัมปราแอฟริกัน
ส่วนตัว | ประทับใจ

White Material (2009)


White Material (2009) French : Claire Denis ♥♥♥♡

ณ ประเทศสมมติในทวีปแอฟริกา กำลังเกิดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เจ้าของไร่กาแฟรับบทโดย Isabelle Huppert กลับปฏิเสธจะทอดทิ้งสิ่งที่เป็นของตนเอง หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material”

ผลงานลำดับที่ 9 ของผกก. Claire Denis แต่เพิ่งเป็นครั้งที่สาม (ทั้งสามเรื่องห่างกันเกือบๆ 10 ปี) เดินทางกลับบ้านเกิด ถ่ายทำในทวีปแอฟริกา นักวิจารณ์หลายคนมองว่าราวกับภาคต่อ Chocolat (1988) เพราะนักแสดง Isaach de Bankolé จากคนรับใช้ (Protée) กลายมาเป็นนักปฏิวัติ (The Boxer) ถึงอย่างนั้นเนื้อหาของทั้งสองเรื่อง ไม่ได้มีความต่อเนื่องสัมพันธ์อะไร

No, White Material is not related to Chocolat. There is no connection at all. They are entirely different visions of Africa and the cinema. Chocolat is about friendship and family, and maybe sex and longing, and White Material is about remaining strong in the face of danger.

Claire Denis

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ Isabelle Huppert รูปร่างผอมเพียวช่างมีความพริ้วไหว (ชวนให้นึกถึง Katharine Hepburn จากภาพยนตร์ Summertime (1955)) ทั้งสีหน้า ท่วงท่า ลีลาของเธอเอ่อล้นด้วยความเชื่อมั่น เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ใครบอกอะไรไม่สน ฉันสามารถทำทุกสิ่งอย่าง ไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย สุดท้ายเมื่อตระหนักถึงความเป็นจริง เลยสูญเสียสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

Isabelle Huppert is an immoveable object surrounded by unstoppable forces.

คำนิยมจาก RottenTomatoes

…small and slender, [she] embodies the strength of a fighter. In so many films, she is an indomitable force, yet you can’t see how she does it. She rarely acts broadly. The ferocity lives within. Sometimes she is mysteriously impassive; we see what she’s determined to do, but she sends no signals with voice or eyes to explain it.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 3.5/4

จริงๆยังมีอีกหลายผลงานของผกก. Denis ที่ผมอยากเขียนถึง แต่ตัดสินใจเลือก White Material (2009) เพราะเรื่องราวมีพื้นหลังถ่ายทำยังทวีปแอฟริกา และถือว่าปิดไตรภาค ‘African Film’ จะได้เขียนถึงหนังจากแอฟริกันเรื่องอื่นสักที!


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Chocolat (1988), Nénette and Boni (1996), Beau Travail (1999), The Intruder (2004), 35 Shots of Rum (2008) ฯ

หลังเสร็จงานสร้างภาพยนตร์ Vendredi soir (2002) หรือ Friday Night, ผกก. Danis มีโอกาสพบเจอ Isabelle Huppert พูดคุยสอบถาม ชักชวนมาร่วมงานกัน ในตอนแรกแนะนำให้ดัดแปลง The Grass Is Singing (1950) นวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนชาวอังกฤษ Doris Lessing (1919-2013) ซึ่งมีพื้นหลัง Southern Rhodesia (ปัจจุบันคือประเทศ Zimbabwe) ทางตอนใต้ทวีปแอฟริกา ช่วงทศวรรษ 40s

ผกก. Denis มีความชื่นชอบหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะคือหนึ่งในแรงบันดาลใจภาพยนตร์ Chocolat (1988) แต่เหตุผลที่บอกปฏิเสธเพราะเธอไม่เคยอาศัยใช้ชีวิต รับรู้อะไรเกี่ยวกับ South Africa (สมัยวัยเด็ก ผกก. Denis ใช้ชีวิตอยู่แถบ East & West Africa ไม่เคยลงใต้ไปถึง South Africa ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ) ถึงอย่างนั้นก็เสนอแนะว่าจะครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่จากวิสัยทัศน์ของตนเอง

after I made Friday Night, Isabelle [Huppert] asked me if I would like to work with her, to which I said “yes!” She wondered if I wanted to adapt a Doris Lessing novel called The Grass Is Singing, which is the story of her parents in the ‘30s in South Africa. It’s about a couple of originated English people trying to farm—although they are not farmers, know nothing about farming—and the fight to farm land they don’t know. It ends with…cows. It’s more or less what Doris Lessing described of her own family. Later, she wrote a novel about her brother who stayed in South Africa, actually in old Rhodesia—Zimbabwe now—who’s a farmer and it’s a disaster.

So I was thinking, and I told Isabelle that although I like the book very much—actually it’s a very important book for me because it was one of the sources of inspiration for Chocolat (1988)—I told her that to go back to that period in Africa, especially in South Africa—I’m not a South African, and for me, I don’t know how to say it, for me to imagine us to go somewhere in South Africa together and do a period movie in a country that has changed so much, after Mandela has been elected and apartheid is finished, I thought I’m going to make a wrong move. So I said if you want, I have a story, I’ll think about a story of today. I was reading many books about the Liberia and Sierra Leone. I told Isabelle I was trying to do my own…to say “vision” is a bit too much, but to describe something I feel, it could be a very good story for her, and I would be interested.

เรื่องราวของ White Material (ไม่มีชื่อฝรั่งเศส อ่านทับศัพท์ไปเลย) ได้แรงบันดาลใจจากสารพัดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) ที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกันช่วงหลายๆทศวรรษนั้น อาทิ Ethiopian Civil War (1974-91), Rwandan Civil War (1990-94), Djiboutian Civil War (1991-94), Algerian Civil War (1991-2002), Somali Civil War (1991-), Burundi Civil War (1993-2005), Republic of the Congo Civil War (1997-99), First Ivorian Civil War (2002-07) ฯลฯ นี่แค่ตัวอย่างผิวเผินเท่านั้นเองนะครับ ผมเห็นปริมาณรายการความขัดแย้ง/สงครามกลางเมืองจากวิกิพีเดียแล้วรู้สึกสั่นสยองขึ้นมาทันที [List of conflicts in Africa]

สงครามกลางเมืองเหล่านี้ ถ้าขบครุ่นคิดดีๆจะพบว่าล้วนเป็นผลกระทบภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากการเป็นประเทศอาณานิคม สิ่งที่พวกจักรวรรดินิยมทอดทิ้งไว้ให้นั้น สร้างความลุ่มหลง งมงาย ประชาชนยึดติดในอำนาจ วัตถุนิยม สิ่งข้าวของเครื่องใช้ “White Material” โหยหาเงินทอง ความสะดวกสบาย ใช้ความรุนแรง โต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

ผกก. Denis ร่วมงานกับนักเขียนนวนิยาย Marie NDiaye (เกิดปี 1967) สัญชาติ French-Senegalese เคยได้รับรางวัล Prix Femina จากนวนิยาย Rosie Carpe (2001) และ Prix Goncourt (เทียบเท่า Nobel Prize สาขาวรรณกรรมของฝรั่งเศส) ผลงาน Trois femmes puissantes (2009) … หลังจาก White Material (2009) ยังโด่งดังกับการร่วมพัฒนาบท Saint Omer (2022)

ด้วยความที่ NDiaye ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนบทภาพยนตร์มาก่อน จึงต้องปรับตัวไม่น้อยระหว่างร่วมงานผกก. Denis ทั้งสองออกเดินทางสู่แอฟริกาเพื่อค้นคว้าข้อมูล และร่วมกันพัฒนาบท White Material จนแล้วเสร็จสรรพ

There were circumstances at the beginning of our relationship that we had to sort out. Marie is a writer and she is used to spending a lot of time on her own, but I always work with people and when I do that I have to spend time with them. I know that Marie found this difficult at first. She was used to working and thinking without a partner. But we travelled together to Africa and that’s when the work came together. I had an African childhood, which Marie did not have, and we discussed that, and what it meant to be white in Africa, and it was from that contradiction that we began to put together White Material.


ณ ประเทศสมมติในทวีปแอฟริกา กำลังเกิดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เจ้าของไร่กาแฟ Maria Vial (รับบทโดย Isabelle Huppert) กลับปฏิเสธทอดทิ้งเมล็ดกาแฟที่กำลังออกผลผลิต แม้คนงานหลบลี้หนีหาย ก็ยังพยายามใช้เงินซื้อหา ว่าจ้างคนท้องถิ่นมาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่แล้วสงครามกลางเมืองก็ค่อยๆคืบคลานเข้าหา กลุ่มผู้ก่อการร้ายเด็ก (Child Soldiers) บุกรุกเข้ามาในไร่กาแฟ เป็นเหตุให้บุตรชาย Manuel ถูกจี้ปล้น โดนบังคับให้ถอดเสื้อผ้า นั่นทำให้จากเคยเป็นคนเฉื่อยชา ตัดสินใจโกนศีรษะ เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ด้วยความที่รัฐบาลครุ่นคิดว่าพวกคนขาวให้ที่หลบซ่อนผู้ก่อการร้าย ทหารกลุ่มหนึ่งจึงบุกเข้ามาในไร่กาแฟของ Maria (โชคดีว่าขณะนั้นเธอไม่อยู่บ้าน) ทำการเชือดคอทหารเด็ก กราดยิง เผาทั้งเป็น เมื่อเธอหวนกลับมาเห็น ก็ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง


Isabelle Anne Madeleine Huppert (เกิดปี 1953) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Jews ส่วนมารดาทำงานครูสอนภาษาอังกฤษ ผลักดันให้ลูกๆเป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าเรียน Conservatoire à rayonnement régional de Versailles ติดตามด้วย Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) เริ่มต้นมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์ Le Prussien (1971), ตามด้วยภาพยนตร์ Faustine et le Bel Été (1972), Les Valseuses (1974), La Dentelliere (1977) คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Aloïse (1975), Violette Nozière (1978), Une affaire de femmes (1988), La Cérémonie (1995), The Piano Teacher (2001), Gabrielle (2005), Amour (2012), Elle (2016) ฯ

รับบท Maria Vial สืบทอดกิจการไร่กาแฟจากบิดา Henri ของอดีตสามี Andre (คาดว่าหย่าร้างเพราะจับได้ว่าเขาแอบมีความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี) จึงมีความหมกมุ่น ยึดติดกับสถานที่แห่งนี้ แม้ได้รับคำตักเตือนจากกองทัพฝรั่งเศสที่กำลังถอยร่นระหว่างสงครามกลางเมือง กลับแสดงความดื้อรั้น ปฏิเสธรับฟัง เชื่อมั่นว่าตนเองจักสามารถเอาตัวรอด เงินทองซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง

ภาพจำของ Huppert แม้ร่างกายผอมบาง แต่มีจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง เอ่อล้นด้วยพลัง ความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่หวาดกลัวเกรงภยันตรายใดๆ ล้มแล้วลุก ปฏิเสธยินยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้กับทุกสิ่งอย่าง!

การเดินทางสู่แอฟริกาของ Huppert ทำให้เธอต้องใช้ศักยภาพทางร่างกายค่อนข้างมาก ฝึกฝนขับรถ ขับมอเตอร์ไซด์ ห้อยโหยท้ายรถโดยสาร รวมถึงเรียนรู้วิธีการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่เต็มไปด้วยขั้นตอนหลากหลาย แต่ทุกท่วงท่า อากัปกิริยาของเธอ เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น จริงจัง ฉันสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง นั่นแสดงถึงความลุ่มหลง งมงาย ยึดติดกับ White Material แม้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ทวีปแอฟริกา แต่ไม่มีทางจะได้รับการยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวแอฟริกัน!

สำหรับความสิ้นหวังของตัวละคร สังเกตว่าไม่ได้มีการร่ำร้องไห้ หรือเรียกหาความสนใจ แต่ยังแสดงความดื้อรั้น ดึงดัน ไม่สนคำทัดทานผู้ใด พยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อหวนกลับไป แล้วกระทำสิ่งไม่มีใครคาดคิดถึง … บางคนอาจรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่ผมสมเพศเวทนากับความลุ่มหลง งมงาย หมกมุ่นยึดติดใน White Material


สำหรับสมาชิกครอบครัวแตกแยก (Dysfunctional Family) ของ Maria Vial ประกอบด้วย

  • อดีตสามี André (รับบทโดย Christopher Lambert) คาดว่าสาเหตุที่หย่าร้างเพราะแอบคบชู้นอกใจ สานสัมพันธ์กับหญิงผิวสีชาวแอฟริกัน จนมีบุตรชายลูกครึ่ง Jose 
    • André พยายามเกลี้ยกล่อมบิดาให้ยกไร่กาแฟให้กับตนเอง เพื่อจะนำไปขายต่อให้กับชาวแอฟริกัน แล้วหาทางหลบหนีออกจากประเทศแห่งนี้ พยายามเกลี้ยกล่อมบิดา จนแล้วจนรอด ท้ายสุดถูกฆาตกรรมโดยกองทัพรัฐบาล
  • บิดาของ André (รับบทโดย Michel Subor) เกิด-เติบโตยังทวีปแอฟริกา เป็นเจ้าของไร่กาแฟสืบทอดจากบิดา ตั้งใจจะมอบทุกสิ่งอย่างให้กับลูกสะใภ้ Maria ส่วนตนเองใช้ชีวิตวัยเกษียณ เดินไปเดินมา เฝ้ารอคอยความตาย แต่สุดท้ายกลับถูกฆาตกรรม/ทรยศหักหลังโดย Maria
  • Manuel (รับบทโดย Nicolas Duvauchelle) บุตรชายของ Maria และ André อายุประมาณ 17-18 มีความเกียจคร้าน ขี้เกียจสันหลังยาว แต่หลังจากถูกกลั่นแกล้ง ทำให้อับอายโดยพวกทหารเด็ก กลับมาบ้านตัดสินใจโกนศีรษะ อาสาสมัครเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนถูกเผาตายทั้งเป็นโดยกองทัพรัฐบาล
    • เมื่อตอนที่ Manuel โกนศีรษะ ชวนให้ผมนึกถึง Travis Bickle จากภาพยนตร์ Taxi Driver (1976) ทำผมทรงโมฮอกแสดงอาการน็อตหลุด ใกล้จะคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง เรียกร้องความสนใจ ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์การมีตัวตน ฉันก็เป็นลูกผู้ชาย (นั่นอาจคือเหตุผลที่หนังจงใจถ่ายให้เห็นไอ้จ้อน ระหว่างถูกทำให้เปลือยกายล่อนจ้อน)
  • Jose อายุ 12 ปี แม้เป็นบุตรชายของ André กับชู้รัก คนรับใช้ชาวแอฟริกัน แต่ยังได้รับความรักจาก Maria คอยไปรับไปส่ง ดูแลเหมือนลูกแท้ๆ ตอนจบไม่รับรู้โชคชะตา (แต่ก็คาดเดาไม่ยากเท่าไหร่)

ถ่ายภาพโดย Yves Cape (เกิดปี 1960) ตากล้องสัญชาติ Belgian โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการถ่ายภาพยัง Institut national supérieur des arts du spectacle et des techniques de diffusion (INSAS) จากนั้นเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วย แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Ma vie en rose (1997), Humanity (1999), Buffalo Boy (2004), White Material (2009), Holy Motors (2012) ฯ

ปล. เหตุผลที่ผกก. Denis ไม่ได้ร่วมงานตากล้องขาประจำ Agnès Godard เพราะอีกฝ่ายกำลังตั้งครรภ์ และมารดายังล้มป่วยหนัก เห็นว่าเสียชีวิตใกล้ๆกับตอนโปรดักชั่น เลยตัดสินใจมองหาตากล้องคนอื่นขัดตาทัพไปก่อน

แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Denis ที่มักพยายามรังสรรค์งานภาพให้ออกมาเสมือนภาพนิ่ง บรรยากาศโหยหา คร่ำครวญ หวนรำลึกนึกถึงอดีต, อาจเพราะ White Material (2009) มีพื้นหลังในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง จึงเลือกใช้กล้อง Hand-Held แบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ซึ่งสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร อาการสั่นไหว หวาดกังวล โดยไม่รับรู้ตัวว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้าหา

ในหลายๆบทสัมภาษณ์ของผกก. Denis มักกล่าวพาดพิงถึง First Ivorian Civil War (2002-07) สงครามกลางเมืองในประเทศ Ivory Coast (หรือ Côte d’Ivoire) แม้เมื่อตอนเริ่มต้นโปรดักชั่น สงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองยังถือว่าไม่น่าปลอดภัย [Second Ivorian Civil War เกิดขึ้นติดตามมาระหว่าง ค.ศ. 2010-11] ด้วยเหตุนี้เลยต้องมองหาสถานที่อื่น ถ่ายทำยังประเทศ Cameroon ติดชายแดน Nigeria

It’s not my intention to be vague. The film is inspired by real events in the Ivory Coast. Of course, it was impossible to shoot the film there because a near-civil war is still going on there. I thought it was better to shoot in a country at peace. Also, I wanted the child soldiers to be played by normal children who go to school. I think it’s necessary for a film containing certain violence. I didn’t want to write, “This story takes place in 2003 in the Ivory Coast” over the credits. Anyone who knows Cameroon could recognize that’s where I shot it. The border of Nigeria and Cameroon is very visible. Many times at screenings in France, people recognized the locations. If I had claimed it was set in the Ivory Coast, it would have been a lie. Otherwise, I would take the risk to shoot there.

Claire Denis

เกร็ด: ผกก. Denis เลื่องชื่อในการทำงาน “shooting fast, editing slowly” เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำ White Material (2009) แค่เพียงสิบวันเท่านั้น!


จริงๆมันมีสถานที่มากมายที่จะให้ตัวละคร Maria หวนระลึกเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แต่การให้เธอปีนป่ายหลังรถโดยสาร นั่งอยู่ท่ามกลางชาวผิวสี เพื่อสื่อถึงการเดินทาง/สถานการณ์ที่ตนเองไม่สามารถควบคุม กำหนดทิศทางชีวิต แม้แต่จะขอให้หยุดจอด หรือเรียกร้องขอโน่นนี่นั่น (คือสิ่งที่คนขาว หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material”) เพียงสงบสติอารมณ์ แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปตามครรลองของมัน

ผมไม่ได้มีความสนใจในเครื่องแต่งกายตัวละครมากนัก บังเอิญพบเห็นบทสัมภาษณ์ของผกก. Denis เปรียบเทียบชุดเดรสสีชมพู (พร้อมกับทาลิปสติก) ดูราวกับเกราะคุ้มกันภัย นั่นทำให้ตัวละครมีความเป็นเพศหญิง … บางคนอาจมองพฤติกรรมห้าวเป้งของตัวละคร ดูเหมือนทอมบอย เพศที่สาม แต่การเลือกใส่ชุดกระโปรง ถือว่าตัดประเด็นนั้นทิ้งไปได้เลย (สวมใส่กางเกง รองเท้าบูท เฉพาะระหว่างทำงานในไร)

It’s very feminine. We used color to speak about the character without psychology. There is a yellow dress at the beginning, and the second dress is pink. We tried a turquoise dress, but it didn’t seem to belong to the story. The others fit it. The camera lingers on the pink dress because she puts it on to seem strong. It’s like armor.

Claire Denis

ตัวละคร The Boxer (รับบทโดย Isaach de Bankolé) เหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มต่อต้าน/ผู้ก่อการร้าย (สังเกตจากสวมหมกสีแดง) ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล ถูกยิงบาดเจ็บ จึงมาหลบซ่อนตัวในไร่กาแฟของ Maria โดยอ้างว่าเป็นญาติกับคนงาน เลยได้รับความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายเหมือนว่าทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตก่อนการมาถึงของกองทัพรัฐบาล

เพราะเคยมีบทบาทเด่นในภาพยนตร์ Chocolat (1988) ผมก็นึกว่าบทบาทของ Bankolé จะมีความสลักสำคัญต่อเรื่องราว แต่ตลอดทั้งเรื่องได้รับบาดเจ็บ นั่งๆนอนๆอยู่บนเตียง ถึงอย่างนั้นภาพวาดฝาผนัง แสดงให้ถึงการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ … นำพาหายนะมาให้กับครอบครัวของ Maria

ไร่กาแฟ (Coffee Plantation) เป็นผลิตภัณฑ์พบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจอะไรจนกระทั่งพบเห็นช็อตนี้ จากเมล็ดที่เคยเป็นสีดำ ถูกนำไปผ่านกรรมวิธีอะไรสักอย่าง ขัดสีฉวีวรรณจนกลายเป็นเมล็ดขาว นี่แฝงนัยยะถึงการฟอกขาว (Whitewashing) วิธีการของลิทธิจักรวรรดินิยม เมื่อเข้ายึดครอบครอง พยายามปรับเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างของประเทศอาณานิคมให้กลายเป็นแบบของตนเอง

หลายคนอาจมองว่า Maria คงคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตกไปแล้วกระมัง ถึงกระทำการ !@#$% แต่มุมมองคิดเห็นของ Huppert ถือว่าน่าสนใจทีเดียว มองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการทำลาย ‘ความเป็นคนขาว’ ของตนเอง!

For me, is very metaphorical. It’s not like she’s committing an act of revenge like in a thriller, but she’s symbolically murdering the white part of herself by killing the ultimate white man — who just happens to be her step-father. She’s almost taking a Swiss-like side in the matter —  having gone through her own son’s death, and her ex-husband’s death, she comes to realize that no matter how trustful she is of other people, she still have to face this internal antagonist in her herself.

Isabelle Huppert

ตัดต่อโดย Yann Dedet (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Bride Wore Black (1968), แล้วกลายเป็นขาประจำ François Truffaut, Maurice Pialat และ Nicole Garcia, ผลงานเด่นๆ อาทิ Day for Night (1973), Under the Sun of Satan (1987), Van Gogh (1991), Nénette and Boni (1996), White Material (2009), I Am Not a Witch (2017) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Maria Vial หญิงผิวขาว ชาวฝรั่งเศส เจ้าของไร่กาแฟแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกัน (ไม่มีการระบุประเทศ) ระหว่างสงครามกลางเมือง กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เธอกลับดื้อรั้น ดึงดัน ปฏิเสธรับฟัง จนสถานการณ์ลุกลามบานปลาย พยายามหาหนทางกลับบ้าน ระหว่างนั่งอยู่ในรถโดยสาร หวนระลึกนึกย้อน ทบทวนเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น

  • อารัมบท, (อนาคต) ร้อยเรียงภาพหายนะของไร่กาแฟ ทุกสิ่งอย่างกำลังมอดไหม้ ฝุ่นควันฟุ้งกระจาย
  • ความดื้อรั้นของ Maria
    • (ปัจจุบัน) Maria หลบซ่อนจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนโบกรถหาทางกลับบ้าน ห้อยโหยตรงบันไดด้านหลัง
    • ครุ่นคิดถึงตอนที่เฮลิคอปเตอร์พยายามตะโกนบอก Maria ให้ออกไปจากประเทศแห่งนี้ แต่เธอกลับทำหูทวนลม
    • The Boxer หลบหนีจากกองทัพรัฐบาล หลบซ่อนตัวในไร่กาแฟของ Maria
    • Maria ระหว่างทางกลับบ้าน พบเห็นคนงานต่างอพยพหลบหนี ไม่ต้องการเสี่ยงชีวิตเพื่อ White Material
    • เมื่อกลับมาถึงบ้านก็เตรียมตัวออกหาคนงานใหม่ ไม่ต้องการให้ไร่กาแฟเสียหาย
    • พอขับรถมาถึงกลางทางถูกรีดไถเงิน แวะเข้าเมืองซื้อของ แล้วเดินทางไปว่าจ้างคนงาน
    • ขากลับแวะเวียนไปรับหลานชายลูกครึ่ง Jose (บุตรของอดีตสามี มีความสัมพันธ์กับคนใช้ผิวสี)
  • สถานการณ์ตึงเครียด
    • ยามเช้า Maria ปลุกตื่นบุตรชาย Manuel ระหว่างกำลังเล่นน้ำ เกือบถูกลอบฆ่าโดยทหารเด็ก
    • ทหารเด็กแอบเข้ามาในไร่กาแฟ ทำการประจาน Manuel จนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง โกนศีรษะ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • Maria เก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ
    • ค่ำคืนนี้แบ่งปันเสบียงกรังกับคนงาน
  • เหตุการณ์เลวร้าย หายนะบังเกิดขึ้น
    • รายงานข่าวแจ้งว่ากองทัพรัฐบาลมีความเคลือบแคลงสงสัย ว่าพวกคนขาวเจ้าของไร่กาแฟ ให้สถานที่หลบภัยต่อกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • คนงานเรียกร้องขอค่าจ้าง ต้องการไปจากสถานที่แห่งนี้ แต่เงินในตู้เซฟกลับถูกลักขโมย สูญหายหมดสิ้น
    • ระหว่างขับรถเข้าเมือง ถูกพวกผู้ก่อการร้ายดักปล้น เข่นฆ่าผู้คน
    • กองทัพรัฐบาลบุกเข้าในไร่กาแฟ เชือดคอทหารเด็ก เผาทำลายทุกสิ่งอย่าง
    • (ปัจจุบัน) Maria พยายามหาหนทางกลับบ้าน ก่อนพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ และตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

ผกก. Denis ดูมีความชื่นชอบการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) หวนระลึกความทรงจำ ทำแบบนี้เพื่อให้ตัวละครเกิดความตระหนัก รับรู้ตัว และสาสำนึกผิด ถ้าฉันไม่หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material” ก็คงไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ช่วยตนเองไม่ได้แบบนี้ แต่ปัญหาเล็กๆคือมันไม่จำเป็นต้องกระโดดไปกระโดดมาบ่อยครั้งก็ได้

เมื่อตอน Beau Travail (1999) แม้ใช้วิธีเล่าเรื่องกระโดดไปกระโดดมา อดีต-ปัจจุบัน คล้ายๆเดียวกัน แต่ตัวละคร Galoup ในปัจจุบันยังเดินทางไปไหนมาไหนทั่วกรุง Marseille ไม่ซ้ำซากจำเจอยู่แต่ในห้อง, ผิดกับ White Material (2009) พบเห็นเพียง Maria Vial นั่งหง่าวอยู่ในรถโดยสาร ไม่สามารถทำอะไร ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย … เหตุผลการทำแบบนี้ก็อย่างที่อธิบายไป แต่การเน้นๆย้ำๆหลายครั้ง มันสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ


เพลงประกอบโดย Stuart Ashton Staples (เกิดปี 1965) นักร้อง นักกีตาร์ สัญชาติอังกฤษ, ร่วมก่อตั้งวง Tindersticks แนว Alternative Rock มีโอกาสร่วมงานผกก. Claire Denis ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Nénette et Boni (1996), Trouble Every Day (2001), The Intruder (2004), White Material (2009), High Life (2018) ฯ

งานเพลงของหนังมีลักษณะของ Ambient Music (หรืออาจจะเรียกว่า Rock Ambient เพราะใช้เบส กีตาร์ เครื่องดนตรีไฟฟ้า ในการสร้างเสียง) แนวเพลงที่เน้นเรื่องของเสียงมากกว่าตัวโน้ต พยายามสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องเข้ากับสภาพแวดล้อม คลอประกอบพื้นหลังเบาๆจนบางครั้งเหมือนไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่ผู้ฟังกลับรู้สึกปั่นป่วนมวนท้องไส้ มึนๆตึงๆ สัมผัสอันตราย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา

ปล. ในอัลบัม Soundtrack เรียกสไตล์เพลงลักษณะนี้ว่า Art Rock ก็แล้วแต่จะเรียกแล้วกันนะครับ

การเลือกใช้วงดนตรีร็อค แทนที่จะเป็นออร์เคสตรา ทำให้หนังมีกลิ่นอายร่วมสมัย (Contemporary) ใกล้ตัว จับต้องได้ อย่างบทเพลง Attack on the Pharmacy มีลีลาลีดกีตาร์อย่างโหยหวน ท้องไส้ปั่นป่วน (จากพบเห็นภาพความตาย) จังหวะกลองทำให้เจ็บปวดรวดร้าว หัวใจแทบแตกสลาย

[White Material]’s could mean two things, an object or person. In pidgin English, when ivory smugglers were very efficient they were called white material. Ivory and ebony instead of white and black. And in some slang they call white people “whitie” or “the white stuff,” you know? So I mixed it.

White Material แปลตรงตัว วัสดุสีขาว แต่ในบริบทของหนังสื่อถึง สิ่งข้าวของ(ของ)พวกคนผิวขาว อะไรก็ตามที่นำเข้าจากต่างประเทศ “สร้างโดยคนขาว เป็นของคนขาว ใช้โดยคนขาว” เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ทำสิ่งต่างๆโดยง่าย ล้ำยุคทันสมัย ไม่ใช่ของชนชาวแอฟริกัน

การมาถึงของคนขาวในทวีปแอฟริกัน ตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยมล้วนเพื่อยึดครอบครอง เสาะแสวงหาทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติ โดยใช้ข้ออ้างนำความเจริญทางอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนคือ “White Material” สำหรับกอบโกยผลประโยชน์ ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเอง

เรื่องราวของ White Material (2009) เกี่ยวกับหญิงผิวขาว ชาวฝรั่งเศส ผู้มีความหมกมุ่นยึดติดใน “White Material” ไม่ยินยอมพลัดพราก แยกจาก ปฏิเสธรับฟังคำทัดทาน เชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยในสงครามกลางเมือง ฉันคือส่วนหนึ่งของแอฟริกัน แต่ความเป็นจริงนั้นกลับเพียงภาพลวงหลอกตา

I wanted to show in this film how being white in Africa gives you a special status, almost a kind of magical aura. It protects you from misery and starvation. But although it can protect you, it is dangerous too. This is what Maria has to learn. The danger for Maria is that she thinks she belongs in Africa because she is close to the land and the people. She cannot return to France because she thinks that it will weaken her. But she learns that she doesn’t belong in Africa as much as she thinks. For many white people in Africa this is the reality.

Claire Denis

ในบทสัมภาษณ์ของ Hoppert มองเห็น Maria ในมุมที่แตกต่างออกไป จริงอยู่ว่าตัวละครหมกมุ่นยึดติดใน “White Material” แต่ขณะเดียวกันเธอไม่เคยครุ่นคิดถึงความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ ฉันอาศัยอยู่สถานที่แห่งนี้มานานหลายปี มีลูก รับเลี้ยงหลานลูกครึ่ง(แอฟริกัน) ไม่เคยแสดงอคติ รังเกียจเหยียดยาม แอฟริกาคือบ้านของฉัน แต่สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง ตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถยินยอมรับความจริง (State of Denial)

Therefore, I think that my character Maria carries this hope or illusion that all these differences between people should be abolished and not exist. She believes this so strongly that she has blinders on to what’s happening around her, and is in a state of denial.

Isabelle Huppert

ความคิดเห็นที่แตกต่างของ Huppert ทำให้ผมมองว่าผกก. Denis ก็ไม่แตกต่างจากตัวละคร Maria แม้เคยอาศัยใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดเรียกตนเองว่า “Daughter of African” แต่นั่นคือความลุ่มหลง ทะนงตน ยึดติดมโนคติ ภาพลวงตา คงเพิ่งตระหนักได้ว่าไม่มีวันที่ฉันจะเป็นชาวแอฟริกัน … เส้นแบ่งระหว่างสีผิว ชาติพันธุ์ เป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง แต่ขณะเดียวกันกลับมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า!

จะว่าไป White Material ไม่ได้สื่อถึงแค่วัสดุ สิ่งข้าวของ ในเชิงรูปธรรมเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงแนวคิด วิถีชีวิต เป้าหมาย อุดมการณ์ของคนขาว ล้วนมีความแตกต่างจากชาวผิวสี (เหมารวมเอเชีย แอฟริกัน อเมริกาใต้ ฯ) ผลกระทบจากการตกเป็นอาณานิคม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เลือนหาย ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลายๆประเทศในแอฟริกันก็ยังคงหาความสงบสุขไม่ได้จนถึงปัจจุบัน


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับกลางๆ เลยไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา ทำให้ทุนสร้าง $6.3 ล้านเหรียญ (ในวิกิฝรั่งเศสบอกว่า €6.3 ล้านยูโร) ทำเงินได้เพียง $1.9 ล้านเหรียญ ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียง 147,295 ใบ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน!

หนังได้รับการจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ซึ่งมีการสแกนดิจิตอล (digital transfer) ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Denis และตากล้อง Yves Cape

ถึงส่วนตัวจะหลงใหลสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis และการแสดงอันโดดเด่นของ Isabelle Huppert แต่เนื้อเรื่องราวของ White Material (2009) สร้างความหงุดหงิด รำคาญใจ รู้สึกสมเพศเวทนาพวกคนขาว/จักรวรรดินิยม เลยไม่สามารถชื่นชอบประทับใจหนังได้เท่าที่ควร … เป็นแนวไม่ค่อยถูกจริตสักเท่าไหร่

และผมยังรู้สึกว่าหนังขาดมนต์เสน่ห์หลายๆอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับ Chocolat (1988) และ Beau Travail (1999) ที่อย่างน้อยภาพสวย เพลงไพเราะ, White Material (2009) นอกจากการแสดงของ Huppert ก็แทบไม่มีอะไรอย่างอื่นให้น่าจดจำ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศสงครามกลางเมือง ความรุนแรง อคติต่อชาติพันธุ์ และทหารเด็กก่อการร้าย

คำโปรย | ความลุ่มหลง ทะนงตน หมกมุ่นยึดติดใน White Material ของ Isabelle Huppert (รวมถึงพวกจักรวรรดินิยม) ทำให้สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
คุณภาพ | สูญเสียสิ้น
ส่วนตัว | สมเพศเวทนา