Corpse Bride (2005)


Corpse Bride (2005) hollywood : Tim Burton, Mike Johnson 

ชีวิตมักพบเจอเรื่องไม่คาดฝันเสมอ แต่คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าแต่งงานกับศพ/คนที่ไม่ได้รัก แล้วใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตราบจนวันตาย ต่อให้คำอ้างของผู้ใหญ่ อยู่ไปเดี๋ยวก็รักกันเอง ใช่ว่าจะจริงเสมอไป และโลกสมัยนี้คงไม่ค่อยมีใครยอมรับเรื่องแบบนี้ได้แล้วแน่

ในปีที่ชื่อของผู้กำกับ Tim Burton และนักแสดงคู่บุญ Johnny Depp ยังขายได้อยู่ หลังจาก Charlie and the Chocolate Factory (2005) ออกฉายเดือนกรกฎาคม ผมก็ตั้งหน้าตั้งตารอชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่เข้าฉายเดือนกันยายน ตื่นตาตื่นใจกันความงามจากภาพสุดแปลกประหลาด การเคลื่อนไหวติดๆขัดๆสร้างอารมณ์สุดพิลึก เพิ่งมารู้เอาตอนหลังว่านั่นคือ Stop-Motion (คือตอนแรกคิดว่าเป็น 3d) เอาหุ่นมาตั้งเรียงไว้ในฉากแล้วถ่ายรูป ขยับนิดนึงแล้วถ่ายรูป 20-25 ภาพต่อวินาที นาทีหนึ่งประมาณ 1,500 รูป ชั่วโมงหนึ่งก็กดชัตเตอร์ 9,000 ครั้ง แล้วนำมาเรียงร้อยต่อเนื่องกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว OMG! มันต้องใช้เวลา-ความพยายาม สักเท่าไหร่กันถึงจะสามารถสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องหนึ่งสำเร็จได้

นับแต่นั้นมาผมก็เกิดความหลงใหลใคร่ศึกษาเรียนรู้ อึ้งทึ่งกับกระบวนการสร้าง Motion-Capture รู้ตัวเองว่าคงทำแบบนั้นไม่ได้แน่ คงได้แต่ชื่นชมยกย่อง คารวะผู้สร้างถึงความพยายาม อดทน เหน็ดเหนื่อย กว่าจะได้ภาพยนตร์ออกมาสักเรื่องหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของ Stop-Montion อนิเมชั่น เริ่มจาก Albert E. Smith กับ J. Stuart Blackton สร้างภาพยนตร์เรื่อง The Humpty Dumpty Circus (1897) นำเอาของเล่นและหุ่นสัตว์ทั้งหลาย มาถ่ายทำกายกรรมเคลื่อนไหวทีละช็อต น่าเสียดายฟุตเทจสูญหายไปแล้ว, เรื่องที่โด่งดังในยุคแรกๆก็คือ The Haunted Hotel (1907) กำกับโดย J. Stuart Blackton ต้นไม้ ประตูหน้าต่าง ถ้วยชาม หรือแม้แต่สายฟ้า สามารถเคลื่อนไหวเองได้

ในอเมริกา บุรุษผู้แรกที่มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Stop-Motion คือ Willis O’ Brien (1886 – 1962) ผู้สร้างสรรค์ผลงาน อาทิ The Lost World (1925), King Kong (1933), Mighty Joe Young (1949) [คว้ารางวัล Oscar: Best Visual Effects] ฯ ถือเป็นผู้สร้างเสาหลัก Milestone ของวงการ Stop-Motion โดยแท้

และบุคคลที่นำ Stop-Motion พัฒนาสู่จุดสูงสุดของความเป็นเลิศทางศิลปะคือ Raymond Frederick ‘Ray’ Harryhausen (1920 – 2013) ลูกศิษย์เอกของ O’Brien สร้างสรรค์ผลงานดัง อาทิ The Beast from 20,000 Fathoms (1953), It Came from Beneath the Sea (1955), Jason and the Argonauts (1963), The Golden Voyage of Sinbad (1973), Clash of the Titans (1981) ฯ

เกร็ด: จะมีช็อตหนึ่งในหนัง บนเปียโนที่ Victor เล่นก่อนพบกับ Victoria มีป้ายสลักชื่อ Harryhausen ปรากฎอยู่ นี่เป็นการคารวะบุคคลในตำนาน (Idol ของ Tim Burton) และเห็นว่า Harryhausen ให้เกียรติมาเยี่ยมเยือนยังสตูดิโอโรงถ่าย ตามคำเชิญของผู้กำกับด้วยละ

Timothy Walter Burton (เกิดปี 1958) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ นักเขียน/อนิเมเตอร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Burbank, California ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้าน Gift Shop มีของเล่นมากมาย ทำให้ Burton นิยมชมชอบเล่นกล้องถ่ายภาพทำหนังสั้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นำมาทำเป็น Stop-Motion อนิเมชั่น โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of the Arts ศึกษา Character Animation (CalArts) จบออกมาสมัครงานที่ Walt Disney ทำงานเป็น animator วาดภาพ storyboard ออกแบบ concept artist ให้กับอนิเมชั่นเรื่อง The Fox and the Hound (1981), Tron (1982), The Black Cauldron (1985) ฯ สร้างอนิเมชั่น/Stop-Motion ขนาดสั้น อาทิ Vincent (1982), Frankenweenie (1984) ฯ จนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Pee-wee’s Big Adventure (1985), มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Beetlejuice (1988), Batman (1989), Edward Scissorhands (1990), Batman Returns (1992)

แม้จะเป็นเพียงโปรดิวเซอร์ของ The Nightmare Before Christmas (1993) แต่ถือเป็นผู้ริเริ่มตั้งไข่โปรเจคนี้ให้ได้รับการสร้างขึ้นจนออกฉาย และขณะใกล้เสร็จสำเร็จ Burton ได้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งจาก Joe Ranft ผู้เป็น Storyboard Supervisor ชื่อ Shivhei ha-Ari เขียนโดย Rabbi Yitzchak Luria รวบรวมเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวยิวรัสเซีย (Jewish Folk Story/Russian Folktale) ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 มีตอนหนึ่งชื่อ The Finger ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังจะแต่งงาน ขณะฝึกหัดท่องคำสัตย์สาบาน เผลอเอาแหวนสวมใส่นิ้วนางของศพหญิงสาว (เพราะคิดว่าเป็นเพียงกิ่งไม้) ทันใดนั้นร่างของเธอผุดลุกขึ้นจากหลุมตอบรับคำ ด้วยความตกใจหวาดสะพรึงกลัว เจ้าบ่าวพา Corpse Bride ไปหา Rabbi ประจำเมือง ที่ได้ตัดสินประกาศว่า ‘คนตายมิอาจทวงสิทธิ์เหนือคนเป็น’ ทำให้ร่างของศพสาวแหลกละเอียดสลายกลายเป็นผุยผง มิอาจกลับขึ้นมามีชีวิตได้อีก

แต่กว่าโปรเจคนี้จะเป็นรูปเป็นร่าง และ Burton มีเวลาเหลือสร้างก็ทศวรรษถัดมา หลังเสร็จจาก Big Fish (2003) กำลังเตรียมงาน Charlie and the Chocolate Factory (2005) ได้พูดคุยตกลงกับ Mike Johnson ที่เคยทำงานเป็น Stop-Motion อนิเมเตอร์เรื่อง The Nightmare Before Christmas (1993) กับ James and the Giant Peach (1996) ให้ขึ้นมา co-directing ควบคุมดูแลงานประจำวันในกองถ่าย ส่วน Burton จะกำกับ direction ทิศทางของหนัง

“In a co-directing situation, one director usually handles one sequence while the other handles another. Our approach was more organic. Tim knew where he wanted the film to go as far as the emotional tone and story points to hit. My job was to work with the crew on a daily basis and get the footage as close as possible to how I thought he wanted it.”

– Mike Johnson

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้บริการของ Henry Selick ที่เป็นตัวตายตัวแทนของ Burton กำกับ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่อง The Nightmare Before Christmas (1993) และ James and the Giant Peach (1996) ผมว่าเหตุผลคงตรงไปตรงมา ดังแล้วแยกวง หรือไม่ก็คงมีความขัดแย้งทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง Selick ขณะนั้นเมื่อปี 2004 ได้งานเป็น Supervising Director ให้กับสตูดิโอ Stop-Motion เปิดใหม่ Laika Entertainment ไม่เคยหวนกลับมาช่วยงาน Burton อีกเลย

เกร็ด: เห็นว่า Laika Entertainment รับงานจากเรื่องนี้เป็น Contract work ด้วยนะครับ น่าจะเป็นโปรเจคแรกๆของสตูดิโอเลยละ ก่อนมีชื่อเสียงโด่งดังกับ Coraline (2009), ParaNorman (2012), Kubo and the Two Strings (2016) ฯ

เรื่องราวมีพื้นหลังในยุค Victorian Era (1837 – 1901) ประเทศอังกฤษ, Victor Van Dort (พากย์เสียงโดย Johnny Depp) ชายหนุ่มลูกพ่อค้าขายปลาจนร่ำรวยเงินทอง ถูกจับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับ Victoria Everglot (พากย์เสียงโดย Emily Watson) ลูกสาวของครอบครัวชนชั้นสูง แต่กำลังตกยากเพราะขาดทุนทรัพย์ใช้หนี้ แม้การพบเจอกันทำให้พวกเขาตกหลุมรักแรกพบ แต่เพราะความขี้อาย ป่ำๆเป๋อๆ ไม่แน่ใจในตัวเองของ Victor ทำให้ไม่สามารถท่องสัตย์สาบานระหว่างแต่งงานกับ Victoria ด้วยความผิดหวังในตัวเอง วิ่งหนีเข้าไปในป่า คราวนี้ซักซ้อมพูดได้คล่องปล๋อ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยไม่รู้ตัวได้แต่งงานกับ Emily (พากย์เสียงโดย Helena Bonham Carter) ศพสาวที่ถูกฆาตกรรมวันแต่งงาน ผุดลุกขึ้นมาตอบรับกลายเป็นสามี-ภรรยา เรื่องวุ่นๆทั้งหลายจึงเกิดขึ้น

วันหนึ่งในกองถ่าย Charlie and the Chocolate Factory ผู้กำกับ Burton เดินเข้าหา Johnny Depp ยื่นบทภาพยนตร์ Corpse Bride หลังอ่านจบก็เกิดความชื่นชอบสนใจ ตอบตกลงรับคำให้เสียงพากย์ ก็คาดว่าคงอีกสักพักที่จะได้เริ่มงานนี้ แต่แล้วไม่กี่วันถัดมา Burton ก็เดินมาบอกว่า ‘คืนนี้เราจะไปบันทึกเสียงพากย์ Corpse Bride กัน’ สร้างความตกตะลึงงัน ไม่ทันตั้งตัว Depp มีเวลาเตรียมพร้อมไม่ถึง 15 นาที แล้วก็เข้าห้องบันทึกเสียงเลย

Victor Van Dort ชายหนุ่มขี้อาย กลัวๆกล้าๆยังขาดความมั่นใจในตนเอง โชคดีได้พบเจอหญิงสาวที่มีความคล้ายคลึงกับตน มองตารับรู้เข้าใจ เป็นรักแรกพบที่หาเจอได้ยาก แต่ลึกๆแล้วเหมือนว่าเขายังมีความลังเลไม่แน่ใจอยู่ ความสะเพร่าเลินเล่อและโชคชะตาที่พลิกผันแต่งงานกับศพสาว ทำให้เขาเรียนรู้ความผิดพลาด ค้นพบเจอความต้องการตั้งใจจริงของตนเอง คราวนี้แหละช้างสารก็มิอาจฉุดรั้งไว้ได้

Depp ก็คือ Depp วันยังค่ำ แม้แค่ได้ยินเสียงแต่ก็สะท้อนตัวตนของเขาอย่างชัดเจน (ภาพลักษณ์ที่หลายคนรู้สึกว่าเหมือน แต่หุ่นของ Victor สร้างขึ้นก่อน Burton เลือก Depp ให้มาพากย์เสียงตัวละครนะครับ ถือเป็นความบังเอิญล้วนๆที่ทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันมากๆ) แต่ผมก็ไม่เคยเห็น Depp รับบทตัวละครไหน (ใน Live-Action) มีท่าทางเจี๋ยมเจี้ยม เคอะๆเขินๆ พูดจาติดๆขัดๆแบบนี้ (ปกติจะรับบทตัวละครสุดเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน ปากร้าย บุคลิกพิศดาร) ก็อยากเห็นเหมือนกันนะ แต่คิดว่าคงไม่เข้ากับภาพลักษณ์ของพี่แกเสียเท่าไหร่

ชีวิตสมรสของ Tim Burton แต่งงานกับ Lena Gieseke เมื่อปี 1987 หย่าขาดปี 1991 จากนั้นมีคู่ขาคือ Lisa Marie Smith ระหว่างปี 1993–2001 และล่าสุดกำลังเกี้ยวพาจีบกับ

สำหรับ Helena Bonham Carter แม้ขณะนั้น (ตั้งแต่ปี 2001) จะเป็นคู่ขาของ Tim Burton แต่การเลือกเธอมาพากย์เสียง Corpse Bride มาจากการ Audition และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์กว่าจะรู้ผล เพราะเขาต้องเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวโปรดิวเซอร์ให้เห็นผลลัพท์จากการเลือกใช้เสียงของเธอ [นี่ผิดกับ Depp ที่พอเสนอชื่อไปปุ๊ปอนุมัติปั๊ปเลย]

Emily หรือ Corpse Bride หญิงสาวสุดสวยสดใสร่าเริงเป็นมิตรกับผู้คน ถูกฆาตกรรมขณะยังเป็นเจ้าสาวในวันแต่งงาน ทำให้สถานะยังโสดซิง ตายแล้วเลยไม่สามารถปลดปล่อยใจไปผุดเกิดใหม่ได้ การบังเอิญแต่งงานกับ Victor ได้เติมเต็มความฝันเป็นเจ้าสาว แต่เพราะเขาไม่ได้รักจะให้ทำอย่างไร เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอจึงพร้อมเสียสละปล่อยเขาไป ขณะที่ชายหนุ่มก็พร้อมเสียสละบางอย่างเพื่อเธอเช่นกัน นั่นทำให้ Emily ได้พบกับเจ้าบ่าวตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด

เสียงพากย์ของ Helena Bonham Carter มีความยียวนกวนแรด ตามประสาลีลาท่าทางของเธอ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ใครเคยรับชมผลงานอย่าง Harry Potter รับบท Bellatrix Lestrange หรือผลงานประจำกับ Tim Burton ย่อมมีความคุ้นเคยเป็นอยางดี แต่ตัวจริงของเธอไม่ได้แรงขนาดนั้นนะครับ แค่รสนิยมความชื่นชอบ สไตล์การแต่งตัว มันออกดาร์คๆโกธิคสักหน่อย

Emily Watson นักแสดงหญิงยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ ที่โด่งดังกับภาพยนตร์เรื่อง Breaking the Waves (1996), Hilary and Jackie (1998), Gosford Park (2001), Red Dragon (2002) ฯ พากย์เสียง Victoria Everglot น้ำเสียงหวานๆ มีความเพ้อฝัน คาดหวังสิ่งดีงามในชีวิต แต่เป็นดั่งนกน้อยในกรง ไม่สามารถดิ้นหลุดหนีไปไหนได้ การได้พบเจอเป็นคู่หมั้นของ Victor เติมเต็มความฝันของตนเอง พร้อมที่จะทุ่มเทกายใจให้ แต่เพราะเขาพบเจอกับสิ่งเหนือธรรมชาติไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้บางสิ่งอย่างอันชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้าหาเธอ

การออกแบบตัวละคร สังเกตว่าพวกมนุษย์จะเป็นโทนสีขาว-เทา-ดำ สะท้อนถึงความจืดชืด น่าเบื่อหน่าย ทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิต, สำหรับพ่อ-แม่ ของทั้ง Victor และ Victoria จะมีรูปลักษณ์ตรงกันข้าม

ฝั่งของ Victor: พ่อจะหัวใหญ่คางลีบ (สามเหลี่ยมคว่ำ) หัวล้าน คิ้วชี้ขึ้น ร่างผอมบาง, ส่วนแม่จะหน้าผากแคบแก้มยุ้ย (สามเหงี่ยมหงาย) ผมม้วนมัด คิ้วชี้ลง ร่างท้วนบวม

ฝั่งของ Victoria: พ่อจะอ้วนกลมป้อมตัวเตี้ย, ส่วนแม่ผอมบาง คางยาว ผมชี้โด่ง สูงลีบ

ส่วนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Victor คล้ายคลึงกับ Depp มากที่สุดก็คือดวงตาอันเหลอหลา มีรอยดำคล้ำเหมือนคนไม่ได้หลับนอนมาหลายวัน กอปรเข้ากับท่าทางอันเฟอะฟะ พูดจาติดๆขัดๆ … แต่ว่าไปภาพลักษณ์นี้ก็คล้ายกับ Tim Burton เวลาหวีผมเนียบๆเหมือนกันนะ

ขณะที่ Victoria เธอมีใบหน้าที่กลมกว่า Victor (เหมือนหัวผักกาด) ลักษณะสมมาตรลงตัวพอดี มักมีแสงสว่างส่องลงมา ทำให้เหมือนนางฟ้าทั้งน้ำเสียง รูปลักษณ์ และจิตใจ

ขณะที่ Corpse Bride และเหล่าสมาชิกของคนตายทั้งหลาย ล้วนเต็มไปด้วยสีสันสดใส เน้นเขียว-เหลือง-น้ำเงิน เป็นสถานที่ตรงกันข้ามกับโลกมนุษย์โดยสิ้นเชิง

ตัวละคร Emily ใช้โทนสีน้ำเงินทั้งตัว เว้นปากทางลิปสติกสีแดง ทรงผมหยิกย้อย กระเซอะกระเซิง แขนข้างหนึ่งเป็นโครงกระดูก เอวบางร่างน้อย ใบหน้ามีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ดีใจ เสียใจ สุขทุกข์ ฯ

ถ่ายภาพโดย Pete Kozachik, เป็นอนิเมชั่น Stop-Motion เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลรุ่น Canon EOS-1D Mark II จำนวน 32 ตัว หน่วยความจำ 1 GB สามารถถ่ายภาพได้ 100 ช็อต ใช้เลนส์ของ Nikon ขนาด 14mm – 105mm ด้วยเหตุนี้จึงสามารถปรับโฟกัส ใกล้ไกลได้ ซูมเข้าออก แถมด้วย Green-Screen เพื่อนำไปใส่ Visual Effect ประกอบได้ ใช้เวลาถ่ายทำ 55 สัปดาห์ ถ่ายภาพทั้งหมด 109,440 รูป แล้วนำไปเรียบเรียงตัดต่อในโปรแกรม Apple’s Final Cut Pro (เรื่องแรกของโลกเช่นกัน)

Burton เลือกสตูดิโอ 3 Mills Studios ที่ East London ในการก่อสร้างฉากถ่ายทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ แทนที่จะเป็น Hollywood เพราะตัวเขาถ่ายทำ Charlie and the Chocolate Factory ที่กรุง London อยู่ไม่ห่างไกลกันมาก

ปกติแล้วส่วนหัวของหุ่นมักจะใช้การดึงออกเปลี่ยน สร้างเป็นร้อยๆศีรษะเมื่อต้องการแสดงสีหน้า/การพูดของตัวละคร แต่นี่เป็นครั้งแรกของโลกอีกเช่นกัน ที่มีการสร้างกลไกสำหรับขยับตา หูและปากสามารถเคลื่อนขยับได้ทีละนิด (ใช้กลไกไขลานติดในหู) แม้จะสร้างความยุ่งยากมากกว่าเดิม แต่ทำให้ลักษณะการแสดงออกของสีหน้าเปลี่ยนไปมาก (แต่เฉพาะกับ 3 ตัวละครหลัก Victor, Victoria และ Corpse Bride เท่านั้น)

 “[This technique] enables us to get much more expressive performances than you could with replacement animation, Little paddles and gears allow us to get the tiny increments. Put an Allen key inside an ear and Victor smiles; put it inside the other ear and he frowns.”

– Mike Johnson ให้สัมภาษณ์กับ VFXWorld Magazine

สิ่งที่ยุ่งยากวุ่นวายสุดในการถ่ายทำคือ ผ้าคลุมหน้าของ Corpse Bride โดยเฉพาะขณะเดินที่ต้องพริ้วไหวดังสายน้ำอยู่ตลอดเวลา, ใช้การทดลองอยู่ 4 เดือน ก็ได้วิธีการคือ เอาเส้นลวดขนาดเล็กๆบางๆถ่ายภาพมองไม่เห็นติดผ้าคลุมหน้าไว้ เท่านี้ก็สามารถควบคุมการพริ้วไหวของผ้าผืนบางนี้ได้แล้ว

“When she gently takes off her veil and we see her for the first time, it becomes a glamour-girl shot, The most difficult thing was having Corpse Bride walk with a veil because it has to be transparent, it has to animate and it has to be very fluid … like it was under water.”

สำหรับเพลงประกอบ ใช้บริการของ Danny Elfman แต่เพราะต้องทำงานควบคู่ไปกับ Charlie and the Chocolate Factory จึงได้ว่าจ้าง John August ให้มาช่วยแต่งคำร้องบางบทเพลง

นครแห่งความตาย โดดเด่นเรื่องสีสันและดนตรี Jazz เต็มไปด้วยชีวิตชีวา (ทั้งๆที่ตายกันไปหมดแล้วเนี่ยนะ!) ไฮไลท์คือบทเพลง Remains of the Day ตัวละคร Bonejangles หลังจากสรรหานักร้องนับสิบ บันทึกเสียงไปแล้วสาม แต่มิได้เป็นที่พึงพอใจของผู้กำกับ สุดท้าย Danny Elfman เลยได้โชว์ลูกคออีกครั้ง

สำหรับ Theme Song มีบรรยากาศความหลอนสะพรึง โลกความจริงที่แสนโหดร้าย แต่ในนั้นก็ประกายแห่งความหวังอยู่เล็กๆ, มีท่อนหนึ่งที่เป็นการ Solo เปียโน (เป็นบทเพลงที่ Victor เล่นขณะพบเจอ Victoria ครั้งแรก) มีสัมผัสคล้ายบทเพลง Beethoven: Moonlight Sonata สะท้อนความโดดเดี่ยว อ้างว้าง เดียวดาย แต่เมื่อได้พบเจอหญิงสาวราวกับพลันได้พบแสงสว่างที่สวยงามสดใส

การสร้างให้โลกมนุษย์กับโลกคนตายต่างกันสุดขั้วแบบนี้ เป็นการสะท้อนถึงยุคสมัย Victoria ที่ผู้คนมักจะยึดมั่นในกรอบกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด ไม่มีใครคิดกล้าที่จะฝ่าฝืน ความตายเปรียบได้กับอิสรภาพ เสรีทางความคิดที่สามารถกระทำทุกอย่างดั่งใจ จึงมีสีสันและดนตรี Jazz เขย่าวิญญาณ เรียกว่าไม่มีกฎอะไรมาบังคับคนตายได้อีกแล้ว

การเลือกคู่ครอง ความสนใจก็เช่นกัน ไม่รู้ตั้งแต่ยุคสมัยไหนที่มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับเรื่องการแต่งงานขึ้นมา บุตรชายสาวจำเป็นต้องอยู่ในภาระของพ่อแม่/สังคม ในการเลือกคู่ครองให้กับลูกของตน โดยพิจารณาความเหมาะสมจากชนชั้นฐานะ ความเชื่อศาสนา และเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ฯ นี่ทำให้คนรักกันไม่ได้ครองคู่ แต่งงานเพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์สมัยหนึ่งจะยึดถือติดมั่นกับวิถีประเพณีแนวคิดนี้อย่างเหนียวแน่นผ่อนปรนไม่ได้

แล้วยุคสมัยแห่งอิสรภาพก็หวนกลับคืนสู่มนุษย์อีกครั้ง คาดการณ์ว่าคงเริ่มตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของประเทศอเมริกา ดินแดนแห่งโลกเสรี ผู้คนมากมายหลายถิ่นเผ่า ไม่มีเหตุผลใดๆที่มนุษย์จำต้องยึดถือมั่นในระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมใดหนึ่ง พบเจอหน้าถูกชะตาก็ฉุดคร่าควรได้ครองคู่ จะยื้อยักรีรอขังตัวอยู่ในกรอบล้าสมัยทำไม ไม่นานนักแนวคิดนี้ก็ค่อยๆเผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก แม้จะยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่น่าจะกลายเป็นส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ไปแล้ว

การจับพลัดจับพลูของ Victor แต่งงานกับเจ้าสาวที่เป็นศพไร้ลมหายใจ มองได้เป็นการสะท้อนการแต่งงานแบบคลุมถุงชน เพราะเจ้าบ่าวสาวไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตนเอง หาได้ตกหลุมรักชอบคอ แต่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยแหวนนิ้วนางและประเพณี ก็ไม่ต่างอะไรกับอยู่กินร่วมรักซากศพคนตาย ไร้ซึ่งความสุขในชีวิต

Corpse Bride คือเรื่องราวของการค้นหาความต้องการของตัวเอง และตัดสินใจเลือก เปรียบเทียบกับคู่ครองที่มาจากการจับพลัดจับพลู/คลุมถุงชน
– Emily คือเจ้าสาวที่ -ให้ตายเถอะ- Victor ไม่ได้มีความต้องการแม้แต่น้อย แต่กลับได้มาครอบครองแบบไม่มีสิทธิ์เลือก ตัวเขาในตอนแรกก็ปฏิเสธขันแข็ง แต่ต่อมาค่อยๆรู้สึกเห็นใจและพร้อมยินยอมเป็นผู้เสียสละ
– Victoria คือว่าที่เจ้าสาว Victor พบหน้าถูกชะตา แม้ไม่มีสิทธิ์เลือกแต่มีสิทธิ์ตัดสินใจ กระนั้นเขายังลังเลไม่แน่ใจในตัวเอง ทำให้พลาดโอกาสแต่งงาน นั่นทำให้เขาได้เรียนเข้าใจ และมีความกล้าตัดสินใจเลือกในสิ่งถูกต้องสมควร

การได้เติมเต็มสิ่งที่ตนเองต้องการ ทำให้ Emily กลายเป็นอิสระ ได้ไปผุดไปเกิดใหม่, ขณะที่ Victor ก็คงได้ลงเอยแต่งงานกับ Victoria สมตามประสงค์ แม้ไม่ใช่คู่ครองที่เลือกเอง แต่ก็หมดสิ้นความลังเล ตัดสินใจเลือกด้วยตนเองว่าจะแต่งงานกับเธอ

นับตั้งแต่ Edward Scissorhands (1990) ที่ Burton รู้จักร่วมงานกับ Johnny Depp ก็ได้ใช้บริการเขาให้เป็นตัวตายตัวแทนภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งกับเรื่องนี้ตัวละครเสียงพากย์ของ Depp จับพลัดจับพลูแต่งงานกับ Corpse Bride หรือตัวละครเสียงพากย์ของ Helena Bonham Carter คู่ขาของตนขณะนั้น นี่ต้องเป็นการสะท้อนความต้องการของ Burton ออกมาอย่างแน่นอน กล่าวคือ ฉันยินยอมอยู่กินร่วมกับเธอ แต่มิได้หมายความว่าจะเอามาเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย, และยังเป็นการแสดงทัศนะเรื่องการแต่งงาน มันหาได้จำเป็นต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ตามกรอบที่สังคมเคยวางไว้ ก็อยู่ที่ตัวเราเองจะเป็นผู้ตัดสินใจ อิสระในการเลือก

Burton แต่งงานกับ Lena Gieseke เมื่อปี 1987 เลิกราปี 1991 นี่คงเป็นรอยร้าวจดจำฝังใจ ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยแต่งงานอีก แต่ใช้ชีวิตเป็นคู่ขาร่วมกับ Lisa Marie Smith (1993–2001) และ Helena Bonham Carter (2001–2014) รายหลังคงรักมาก นิสัยภาพลักษณ์เพี้ยนๆบ้าๆบอคล้ายกัน ถึงขนาดมีลูกด้วยกันสองคน แต่กลับหย่ากันโดยไม่มีชี้แจงสาเหตุ กระนั้นยังเห็นร่วมงานกันอยู่ได้

ด้วยทุนสร้างตัวเลขกลมๆ $40 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ทั่วโลก $117.2 ล้านเหรียญ กำไรเพียงเล็กน้อย, เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature Film แต่พ่ายให้กับ Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit (2005) ตัวเต็งปีนั้นที่ก็เป็นอนิเมชั่น Stop-Motion อีกเรื่อง

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมาก หลงใหลในเสียงพากย์ การเคลื่อนไหว และพล็อตสุดประหลาด แม้มันจะไม่ค่อยมีสาระอะไรเท่าไหร่นอกจากความบันเทิงรมย์ แต่คือเรื่องที่ทำให้ผมรู้จักคลั่งไคล้กับ Stop-Motion เลยขอยกไว้ในฐานเข้าใจ

แนะนำกับคออนิเมชั่น Stop-Motion ทั้งหลาย, ชื่นชอบแนว Romance Horror, Musical, Fantasy เกี่ยวกับโครงกระดูก ผีๆสางๆ, แฟนๆผู้กำกับ Tim Burton และนักพากย์นำ Johnny Depp, Helena Bonham Carter ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg เด็กๆดูแล้วจะสยิวกาย หลอนๆกับภาพหัวกระโหลกและความตาย

TAGLINE | “Corpse Bride อนิเมชั่น Stop-Motion สุดเพี้ยนของผู้กำกับ Tim Burton ใช้ร่างอวตาร Johnny Depp ครองรักกับ Helena Bonham Carter ที่ฟื้นขึ้นจากหลุม”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

The Nightmare Before Christmas (1993)


The Nightmare Before Christmas

The Nightmare Before Christmas (1993) hollywood : Henry Selick ♥♥♥♥

ภาพยนตร์อนิเมชั่น Stop-Motion เรื่องที่น่าจะโด่งดังสุดในโลก มักออกฉายซ้ำทุกๆ Halloween ดัดแปลงจากบทกวีของ Tim Burton แต่เพราะติดสัญญาต้องกำกับ Batman Returns (1992) จึงมอบหมายให้เพื่อนสนิท Henry Selick สานต่องานแทน ด้วยสไตล์ German Expressionism เด็กๆอาจฝันร้าย ส่วนผู้ใหญ่จะอึ้งทึ่งกับความงามทางศิลปะ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เมื่อพูดถึงเทศกาล Halloween มักมีภาพยนตร์ 2 เรื่องที่ใครๆมักระลึกถึง
– Halloween (1978) ของผู้กำกับ John Carpenter เพราะชื่อหนังตรงกับชื่อเทศกาลที่สุดแล้ว แต่ขอยกไว้เขียนปีถัดๆไปแล้วกัน (ให้ช่วงเทศกาลนี้ปีอื่นมีอะไรให้เขียนถึงบ้าง),
– อีกหนึ่งคืออนิเมชั่น Stop-Motion ในตำนาน The Nightmare Before Christmas (1993) แม้ชื่อจะชวนให้สับสนกับวันคริสต์มาส แต่นี่คือภาพยนตร์แห่งเทศกาล Halloween แถมดูได้ทั้งครอบครัวในค่ำคืนแห่งการระลึกถึงความตาย

ขอเท้าความถึงต้นกำเนิดเทศกาลสักหน่อยก่อนแล้วกัน, Halloween ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Eves (Hallow + Eve = Halloween) โดยคำว่า Hallow แปลว่า ทำให้ศักดิ์สิทธิ์, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักบุญ ฯ ดังนั้น All Hallow Eve จึงแปลว่า วัน(ก่อน)สมโภชนักบุญทั้งหลาย มักคู่กับ Christmas Eve ซึ่งแปลว่า วัน(ก่อน)สมโภชพระคริสต์ หรือค่ำคืน(ก่อน)คริสต์มาส

วันฮาโลวีนของทุกปี จะตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม เชื่อว่ามีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลท์ (Celt) ในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่เรียกว่า Samhain ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งความตาย ซึ่งวันที่ 31 ตุลาคม ถือเป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เดือดร้อนถึงคนเป็น ต้องหาทุกวิถีทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงสู่ร่างตน ชาวเซลท์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน ให้อากาศหนาวเย็น และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย และยังพยายามแต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผีร้าย และส่งเสียงดัง เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายสาบสูญไป

ในสมัยต่อมา ชาวโรมันคาทอลิกต้องการกำจัดพิธีเฉลิมฉลองของกลุ่มชนนอกศาสนาคริสต์เหล่านี้ สันตะปาปา Gregory ที่ 4 จึงได้กำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายนให้เป็นวันเฉลิมฉลอง All Saints Day หรือ All Hallows Day สำหรับชาวคริสต์เพื่อระลึกถึงนักบุญ และผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่การเฉลิมฉลองในคืนวันที่ 31 ตุลาคม หรือ Hallow´s Eve ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่ชื่อเรียกได้เพี้ยนไปเป็น Halloween

แต่เดิมนั้น เทศกาลฮาโลวีนจัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ และประเทศข้างเคียงเท่า แต่เมื่อชาวไอริช และชาวสก็อต อพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1840 ก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติด้วย ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา กลายเป็นเทศกาลประจำชาติจนทุกวันนี้

กิจกรรมในวันฮาโลวีน เน้นเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก
– เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง เรียกว่า การเล่น Trick or Treat (หลอกหรือเลี้ยง) เดินเคาะประตูขอขนมตามบ้าน,
– นอกจากนี้ยังมีการนำแอปเปิ้ล กับเหรียญชนิดหกเพนซ์ใส่ลงในอ่างน้ำ หากใครสามารถแยกแยะของสองอย่างนี้ออกจากกันได้ด้วยการใช้ปากคาบเหรียญขึ้นมา และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิลให้ติดเพียงครั้งเดียว ถือว่าผู้นั้นจะโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังมาถึง,
– ทางด้านสาวอังกฤษสมัยก่อนจะออกไปหว่านและไถกลบเมล็ดป่านชนิดหนึ่งในยามเที่ยงคืนของวันฮาโลวีน พร้อมกับเสี่ยงสัตย์อธิษฐานด้วยการท่องคาถาว่า ‘เจ้าเมล็ดป่านที่ข้าหว่านจงช่วยบันดาลให้ผู้ที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของข้าปรากฏตัวให้เห็น’ หลังจากนั้นลองเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายของตนเองดู ก็จะได้เห็นนิมิตเรือนร่างของผู้ที่จะมาเป็นสามีในอนาคตของตน

ตำนานที่เกี่ยวกับฟักทอง เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวไอริช กล่าวถึง แจ๊กจอมตืด (Stingy Jack) ซึ่งเป็นนักเล่นกลขี้เมา วันหนึ่งหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ ‘ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก’ แล้วเขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ๊กตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ เพราะเขามีความคิดไปในทางของความชั่วร้าย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะลงนรก เพราะเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจไว้ ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา เพื่อให้เขาใช้นำทางไปในทางที่มืดมิด และหนาวเย็น และแจ๊กได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอร์นิพที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาด (Turnip) และใส่ไฟในด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง ‘การหยุดยั้งความชั่ว’ เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ และพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันพบว่าฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน

reference: https://hilight.kapook.com/view/30133

Timothy Walter Burton (เกิดปี 1958) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ นักเขียน/นักวาดสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Burbank, California ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้าน Gift Shop มีของเล่นมากมาย ทำให้ Burton นิยมชมชอบเล่นกล้องถ่ายภาพทำหนังสั้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นำมาทำเป็น Stop-Motion อนิเมชั่น โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of the Arts ศึกษา Character Animation (CalArts) จบออกมาสมัครงานที่ Walt Disney ทำงานเป็น animator วาดภาพ storyboard ออกแบบ concept artist ให้กับอนิเมชั่นเรื่อง The Fox and the Hound (1981), Tron (1982), The Black Cauldron (1985) ฯ

ระหว่างอยู่ที่ Disney ยังมีโอกาสสร้างอนิเมชั่น/Stop-Motion ขนาดสั้น อาทิ Vincent (1982), Frankenweenie (1984) ฯ จนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Pee-wee’s Big Adventure (1985)

นับตั้งแต่ความสำเร็จของ Vincent (1982) ทำให้ Tim Burton แต่งกวีความยาว 3 หน้ากระดาษตั้งชื่อว่า The Nightmare Before Christmas (1982) ได้แรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตวัยเด็ก ที่พอถึงช่วงเทศกาลสิ้นปีทีไร ห้างสรรพสินค้ามักจำหน่ายวางขายของ Halloween ควบคู่กับ Christmas ไปพร้อมๆกัน แล้วถ้ามีคนหยิบสลับ ซื้อผิด มันคงน่าขบขันไม่น้อย,

ส่วนผสมของบทกวีนี้ ยังนำแรงบันดาลใจจาก Rudolph the Red-Nosed Reindeer, How the Grinch Stole Christmas! และบทกวีชื่อ A Visit from St. Nicholas, ใครมี DVD/Blu-ray จะมีคลิปเสียงอ่านประกอบภาพ Original Poem โดย Christopher Lee โชคดีมีใน Youtube นำมาให้รับชมฟังกัน

ด้วยความตั้งใจให้เป็นหนังสั้น หรือฉายรายการพิเศษทางโทรทัศน์ แต่พอ Disney นำไปพิจารณากลับขึ้นหิ้งไว้ เพราะรู้สึกว่า ‘too weird’ แปลกประหลาดเกินไป ไม่นานจากนั้น Burton ก็ถูกไล่ออก ทำให้เขาไปสร้าง Beetlejuice (1988) กับ Batman (1989) ให้ Warner Bros. จนประสบความสำเร็จล้นหลาม

เพราะความที่พัฒนาโปรเจคนี้ไว้กับ Disney ทำให้ลิขสิทธิ์มิอาจเปลี่ยนมือได้ Burton หลังจากสร้างชื่อให้กับตัวเอง จึงต้องการหวนกลับมาสานต่องาน ยื้อจนผู้บริหารยินยอมตกลง แต่นำไปฝากฝังกับ Touchstone Pictures (สตูดิโอลูกของ Disney) เพราะไม่อยากติดโลโก้ Disney หน้าหนัง กลัวว่าจะมืดหม่นน่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก ‘too dark and scary for kids’

แต่ความที่ Burton โด่งดังแล้วงานล้นมือ ยังมีสัญญาติดค้างกับ WB ต้องกำกับภาคต่อของ Batman มิอาจเสียเวลาเป็นปีๆเพื่อโปรดักชั่น Stop-Motion ทำให้ต้องไหว้วานฝากงานกับ Henry Selick เพื่อนสนิทนักอนิเมเตอร์ร่วมรุ่น ให้เข้ามาดูแลกำกับงานสร้างทั้งหมด

Henry Selick (เกิดปี 1952) ผู้กำกับอนิเมชั่น Stop-Motion ชื่อดัง เกิดที่ Glen Ridge, New Jersey ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบหลงใหลในผลงานของ Lotte Reiniger เรื่อง The Adventures of Prince Achmed (1926) และสัตว์ประหลาดใน The 7th Voyage of Sinbad (1958) โตขึ้นเลือกเข้าเรียนศิลปะที่ Syracuse University ตามด้วย Central Saint Martins College of Art and Design และ California Institute of the Arts ระหว่างเรียนได้ฝึกงาน ‘in-betweener’ กับ Walt Disney ทำอนิเมชั่นเรื่อง Pete’s Dragon (1977), The Small One (1978) จบออกมาได้กลายเป็นพนักงานเต็มตัวเรื่อง The Fox and the Hound (1981) ทำให้ได้รู้จักร่วมงานกับ Tim Burton

กลายเป็นส้มหล่นโดยไม่รู้ตัวสำหรับ Selick ไม่ได้มีความสนใจเป็นผู้กำกับอนิเมชั่นตั้งแต่แรก แต่เพราะเป็นคนเดียวที่มาด้วย passion และ Burton เชื่อมือให้สานต่อโปรเจคนี้ กลายเป็นผลงาน debut จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับโอกาสสร้างอนิเมชั่น Stop-Motion อีกหลายเรื่อง อาทิ James and the Giant Peach (1996), Coraline (2009) ฯ ปัจจุบันทำงานอยู่กับ Pixar หัวหน้าแผนก Stop-Motion โดยเฉพาะ

สำหรับบทหนัง Burton ตั้งใจมอบหมายให้ Michael McDowell นักเขียนที่เคยร่วมงานกันเรื่อง Beetlejuice (1988) แต่หลังจากคุยไปคุยมา ได้รับการเสนอแนะให้ทำเป็น Musical ร้องเล่นเต้นจะมีความน่าสนใจกว่า ผู้กำกับจึงได้ติดต่อกับ Danny Elfman นักแต่งเพลงขาประจำ ร่วมกันเริ่มต้นพัฒนาเพลงประกอบหนังขึ้นก่อน

“one of the easiest jobs I’ve ever had. I had a lot in common with Jack Skellington.”

– Danny Elfman พูดถึงการเขียนเพลงประกอบอนิเมชั่นเรื่องนี้

Elfman แต่งทั้งหมด 11 เพลงทั้งทำนองและคำร้องขึ้นก่อนจนเสร็จ จากนั้น Burton ไปว่าจ้างนักเขียนอีกคน Caroline Thompson ให้มาช่วยขัดเกลาบทหนังสอดคล้องรับกับบทเพลง แต่ก็เกิดความล่าช้าไปมาก เพราะโปรดักชั่นเริ่มแล้ว แต่บทหนังก็ยังเขียนไม่เสร็จ

เรื่องราวของ Jack Skellington เจ้าของฉายา ‘Pumpkin King’ แห่งเมือง Halloween Town เกิดความเบื่อหน่ายในอาชีพการงานของตนเอง วันหนึ่งได้ค้นพบประตูวิเศษนำพาเขาไปถึงเมือง Christmas Town เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในโลกใบนั้น ต้องการเป็นผู้นำเริ่มต้นเทศกาลคริสต์มาสด้วยตนเอง เรื่องราววุ่นๆราวกับฝันร้าย (Nightmare) ในค่ำคืน Christmas Eve จึงเริ่มขึ้น

เกร็ด: ประตูวันหยุดทั้ง 7 บาน ประกอบด้วย
– รูปฟักทอง (Pumpkin) สำหรับ Halloween
– ต้นคริสต์มาส สำหรับ Christmas
– ไก่งวง (turkey) สำหรับ Thanksgiving
– ไข่ สำหรับ Easter
– ใบโคลเวอร์สีเขียว 4 แฉก สำหรับ St. Patrick’s Day
– หัวใจสีแดง สำหรับ Valentine
– และดอกไม้ไฟสีแดงขาว น่าจะคือ Independence day

การออกแบบ Jack Skellington มีลักษณะเป็นโครงกระดูกสีขาว สูงโปร่ง (เย่อหยิ่ง ทะนงตน เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน) หัวกลมเหมือนผักกาด ไร้ดวงตา (ไร้วิสัยทัศน์) สวมใส่ทักซิโด้สีขาวสลับดำ (ภายนอกเป็นสุภาพบุรุษ แต่ข้างใน…) ตรงคอผูกโบว์ค้างคาว (หากินกลางคืน), Danny Elfman ตัดสินใจเป็นเสียงร้องของตัวละครนี้ และได้เลือก Chris Sarandon ที่มีสไตล์การพูดคล้ายกันมาให้เสียงพากย์ปกติ

Jack เป็นตัวละครที่มี Expression การแสดงออกทางสีหน้ามากที่สุด (เพราะเป็นตัวละครหลัก) ทีมงานจึงต้องสร้างส่วนหัวที่มีการขับเคลื่อนไหวของปาก ดวงตา ยิ้ม หัวเราะ ทำหน้าเครียด ฯ รวมแล้วกว่า 400 ชิ้น

Sally (พากย์เสียงโดย Catherine O’Hara) สิ่งประดิษฐ์ของ Finklestein มีลักษณะเป็นหุ่นประกอบ มีรอยเย็บปะเต็มตัว ชุดทำมาจากเศษผ้า (แสดงถึงฐานะอันต้อยต่ำ) มีความชื่นชอบตกหลุมรัก Jack เชีี่ยวชาญด้านพิษวิทยา (toxicologist) พยายามหาทางหนีเป็นอิสระจากการคุมขังของ Finklestein

เพราะความรักที่มีต่อ Jack ไม่ต้องการให้เขาสูญเสียความมั่นใจ พยายามที่จะชี้แนะนำ แม้ไม่สำฤทธิ์ผลแต่ภายหลังก็ทำให้เขามองเห็นคุณค่าของเธอ

เกร็ด: ส่วนหัวของ Sally เห็นว่ามีเพียง 10 กว่าแบบเท่านั้น เพราะเดิมมีหน้ากากปิดปากสวมอยู่ แต่ภายหลังได้ตัดสินใจลบออก แล้วแทรก CG ขยับปากพูดเข้าไปแทน

Doctor Finklestein (พากย์เสียงโดย William Hickey) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ หรือ Mad Scientist (ได้เครดิตว่า Evil Scientist) เป็นบิดาผู้ให้กำเนิด Sally, ใบหน้ามีลักษณะเหมือนเป็ด สวมแว่นเดินไม่ได้ (เฉลียวฉลาดแต่พึ่งพาไม่ค่อยได้) สามารถเปิดกระโหลกศีรษะเห็นสมอง หยิบออกมาใส่หุ่นโคลนของตนเอง

นิสัยของคนเป็นพ่อมักจะหึงหวงลูกสาวของตน แต่ความรักของ Finklestein มากล้นเกินไป ถึงขนาดพยายามกักขังหน่วงเหนี่ยว มอง Sally ราวกับสิ่งของของตน ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้เชยชม

Oogie Boogie (พากย์เสียงโดย Ken Page) ปีศาจถุงกระสอบทราย ข้างในบรรจุไปด้วยแมลงหลากหลายสายพันธุ์ มีลักษณะเหมือนปลาดาว อาศัยอยู่ใต้ดิน มีความชื่นชอบการพนันเป็นชีวิตจิตใจ และใช้ความหวาดกลัวเป็นอาวุธ (แต่ไฉนกลับกลัว Jack เสียอย่างงั้น)

สำหรับตัวละครที่ผมชอบสุด คือ Mayor (พากย์เสียงโดย Glenn Shadix) นายกเทศมนตรีเมือง Halloween Town ผู้มีสองหน้าในคนเดียว Two-Faced คือหน้ายิ้ม (Happy) กับหน้าเศร้า (Sad) [แต่เหมือนหน้าโกรธมากกว่า] นี่เป็นการสะท้อนตัวตนของนักการเมือง/ผู้นำสังคม ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สวมหน้ากากไม่รู้หน้าไหนเป็นตัวจริง

แถมรูปร่างอ้วนป้อม ลงพุง (ท่าทางคงจะกินจุน่าดู) มีแมงมุมติดปกเสื้อ (มักคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง) เอาจริงๆไม่ได้มีความคิดอ่านอะไรเป็นของตัวเอง มักเออออคล้อยตาม Jack อยู่เสมอ

เดิมนั้นเสียงพากย์จะมี Prologue/Epilogue ของ Sir Patrick Stewart อยู่ด้วย แต่ถูกตัดออกไป กระนั้นในอัลบัมเพลงประกอบ ได้มีการใส่เสียงบรรยายนี้เข้ามาด้วย

ต้องบอกเลยว่าเสียงพากย์ของ Stewart ลีลาแบบว่าสุดๆเลย เล่นเสียงสูงต่ำ หนักเบา ได้จังหวะอย่างลงตัว ทรงพลัง

โปรดักชั่นเริ่มต้นกรกฎาคม 1992 ที่ San Francisco, California ด้วยทีมงาน 120 คน สร้างฉาก 20 Sound Stages ประกอบหุ่น 227 ตัว ด้วยความเร็วภาพที่ใช้คือ 24 fps (24 ภาพต่อวินาที) รวมๆแล้ว 76 นาที ต้องถ่ายภาพทั้งหมด 109,440 ช็อต

สไตล์ของการออกแบบ มีลักษณะคล้ายกับ German Expressionism รับอิทธิพลจากสองนักวาดการ์ตูนชื่อดัง Ronald Searle และ Edward Gorey สังเกตว่าพื้นดิน, ภูเขา, ต้นไม้ จะมีลวดลายผืนผิว Texture เป็นเส้นขีดต่อเนื่องยาวๆ นี่ให้สัมผัสคล้ายกับ Living Illustration

ตัวอย่างผลงานของ Ronald Searle (1920 – 2011) ศิลปิน นักวาดการ์ตูนล้อเลียนสัญชาติอังกฤษ

Edward Gorey (1925 – 2000) นักเขียนและนักวาด Illustrated Book โดดเด่นมากเรื่องภาพ pen-and-ink ราวกับเคลื่อนไหวได้

ฉากยากสุดในการถ่ายทำคือ ช็อตเปิดประตูตรงต้น Christmas มีการ Close-Up ไปที่ลูกบิดซึ่งดันเห็นภาพสะท้อนกับใบหน้าของ Jack, บอกตามตรงผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าช็อตนี้ถ่ายทำอย่างไร เห็นว่าไม่มีการใช้ CG ใดๆเข้าช่วยด้วยเป็นมุมกล้องล้วนๆ

สำหรับเพลงประกอบ This is Halloween คือไฮไลท์แรกของอนิเมชั่น นักพากย์ทุกคนจะร่วมกันขับร้องเพลงนี้  (ถ้าตั้งใจฟังดีๆ จะได้ยินเสียงของ Patrick Stewart ด้วยนะครับ) เพื่อทำการแนะนำเมือง Halloween Town และตัวละครทั้งหลาย

บทเพลงตัดพ้อรำพันของ Jack’s Lament ต่อความเบื่อหน่ายในชีวิต ไร้ซึ่งเป้าหมาย มีแต่อะไรซ้ำๆเกิดขึ้นเวียนวนไม่รู้จักจบจักสิ้น, นี่คือเสียงร้องของ Danny Elfman นะครับ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีลีลาราวกับนักแสดง Broadway

บทเพลงที่เป็นไฮไลท์ What’s This? ทำนองดนตรีนี้ใครเป็นแฟนของ Danny Elfman ย่อมคุ้นหูเป็นอย่างดี เป็นการแสดงความประหลาดใจของ Jack คาดคิดไม่ถึงกับสิ่งที่พบเห็น ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าจะมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดกิเลสโลภละโมบโหยหา แสดงความกระหายต้องการออกมา

Christmas จะวุ่นวายขนาดไหน ถ้าตัวละครจาก Halloween ไปปรากฎโผล่อยู่ บทเพลง Christmas Eve Montage เป็น Soundtrack ที่มีส่วนผสมของความสับสนวุ่นวายอลม่าน การเผชิญพบหน้าระหว่างสองเทศกาล Halloween vs Christmas นี่เป็นการผสานสองแนวดนตรีเข้ากันได้อย่างลงตัวมากๆ

และบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุด Poor Jack เมื่อราชาฟักทองได้พบเจอความผิดพลาด ไม่สมหวังจากการพยายามเป็นซานตาคลอส นี่คือวินาทีที่เขาเข้าใจตัวเอง ฉันเป็นใคร ทำอะไรได้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปลอมตัว กลายเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง

ต้องยกย่องเลยว่าบทเพลงของ Elfman คือไฮไลท์ที่ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ตราตรึง มีความไพเราะเสนาะหู คลาสสิกฟังง่าย ทรงพลัง สอดคล้องเข้ากับสไตล์การออกแบบ และเทศกาล Halloween vs Christmas เป็นที่สุด

เกร็ด: Elfman ได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best Original Score จากอนิเมชั่นเรื่องนี้ แต่หลุดโผลไม่ได้เข้าชิง Oscar ปีนั้น

เรื่องราวของอนิเมชั่นเรื่องนี้ เป็นการค้นหาตัวเองของ Jack Skellington แม้เขาจะเป็นถึง ‘Pumpkin King’ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดใน Halloween Town แต่กลับไม่มีความเพียงพอดีในตนเอง ยังคงหลงใหลเพ้อฝันทะเยอทะยาน ไขว่คว้าค้นหาสิ่งที่เหนือกว่าขึ้นไปอีก การได้พบเจออะไรใหม่ๆใน Christmas Town ทำให้เกิดความอยากรู้อยากลอง แต่เมื่อหาทางเป็นไม่ได้จึงปลอมตัวแปลงกายลอกเลียนแบบ แล้วก็ได้พบเจอความล้มเหลวถึงได้เข้าใจตัวเอง “ทำไมฉันต้องฝืนเป็น ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง”

การตีความอนิเมชั่นเรื่องนี้มองได้สองแง่สองง่าม
– ในแง่ดี เรื่องราวพยายามสอนให้เรารู้จักเพียงพอกับสิ่งที่เป็นอยู่
– แง่ร้าย คือการกีดกันแนวคิดสิ่งใหม่ๆ สอนให้ยึดมั่นในกรอบกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด ขนบธรรมเนียมประเพณีไม่ได้มีไว้ให้แหก

นี่ก็แล้วแต่ว่าคุณจะมองอนิเมชั่นเรื่องนี้ในมุมไหน ไม่มีถูกผิดทั้งนั้น เพราะชีวิตจำเป็นต้องมีเป้าหมาย ความท้าทาย หรืออะไรใหม่ๆเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มันอาจเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่เหมาะสมบ้าง ดูยังไงก็ไม่น่าเป็นไปได้ได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่เคยทดลอง ก็อย่ารีบด่วนสรุปว่าไม่มีวัน มันอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ให้พิจารณาจากผลลัพท์ที่เกิดขึ้น

สำหรับ Tim Burton พัฒนาเรื่องราวนี้ขึ้นคงเพื่อเป็นการสื่อสาร ค้นหาตัวเอง ฉันเป็นอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ชีวิตไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนแบบแนวทางของใคร ยึดมั่นในวิถีถนัดของตนเอง “เป็นตัวของตนเองนั่นแหละดีที่สุดแล้ว”

ถึงผู้ได้รับเครดิตกำกับ Stop-Motion อนิเมชั่นเรื่องนี้คือ Henry Selick แต่เขาก็แสดงความเห็นว่า

“It’s as though he [Burton] laid the egg, and I sat on it and hatched it. He wasn’t involved in a hands-on way, but his hand is in it. It was my job to make it look like ‘a Tim Burton film’, which is not so different from my own films.”

ในรอบ 2-3 ปีของโปรดักชั่น Burton ขึ้นมาหาที่ San Francisco เพียง 5 ครั้งเท่านั้น ใช้เวลาอาศัยอยู่ร่วมกันประมาณ 8-10 วัน แต่ก็ต้องถือว่าแทบทุกสิ่งอย่างของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ริเริ่มต้นมาจากชายผู้นี้ ซึ่งชื่อเรื่องในบางครั้งจะขึ้นว่า Tim Burton’s The Nightmare Before Christmas เป็นการคารวะให้เกียรติอย่างมาก เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจผิดคิดว่าผู้กำกับคือ Tim Burton อย่างแน่นอน

ด้วยทุนสร้าง $18 ล้านเหรียญ ทำรายรับในการเข้าฉายครั้งแรก $50 ล้านเหรียญ เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ทำให้แฟนๆเรียกร้องให้นำกลับมาฉายทุกเทศกาลวัน Halloween ซึ่ง Disney ก็บ้าจี้ยินยอมตามตั้งแต่ปี 2006 ทำรายได้ถึงปัจจุบัน $76.2 ล้านเหรียญ

เนื่องจากปีนั้นยังไม่มีรางวัล Oscar สาขา Best Animated Feature แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ได้เข้าชิงสาขา Best Effects, Visual Effects พ่ายให้กับ Jurassic Park (1993) แบบไม่ต้องลุ้นเท่าไหร่

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมาก ทุกๆ 2-3 ปี จะหยิบมาดูในช่วง Halloween อยู่เรื่อยๆ เพราะหลงใหลใน Stop-Motion การออกแบบตัวละคร/พื้นหลัง และเพลงประกอบอย่างยิ่งยวด

แนะนำกับคออนิเมชั่น Stop-Motion ชื่นชอบงานศิลปะสไตล์ German Expressionism, แนว Musical, Dark Fantasy, เกี่ยวกับเทศกาล Halloween และ Christmas, แฟนๆของ Tim Burton และนักแต่งเพลง Danny Elfman ไม่ควรพลาด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ข้อคิดของอนิเมชั่นเรื่องนี้อาจมีความกำกวนอยู่บ้าง แต่มันมีสาสน์สาระต่อเด็กๆอย่างยิ่งเลยละ ไม่ใช่แค่ความหวาดสะพรึงกลัว แต่คือความบันเทิง เพลิดเพลิน เริงรมย์ ถึงบางคนดูจบอาจอยากเป็นแบบ Jack Skellington ผู้ใหญ่อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนะครับ ตรงกันข้ามตัวละครนี้เต็มเปี่ยมด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆจนกว่าจะเห็นผลลัพท์ มีอุดมการณ์ของ’นักวิทยาศาสตร์’โดยแท้

จัดเรต pg ผู้ใหญ่ควรรับชมกับเด็กเล็ก เพราะภาพและการออกแบบมีความน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

TAGLINE | “The Nightmare Before Christmas อาจทำให้เด็กๆฝันร้าย ส่วนผู้ใหญ่จะอึ้งทึ่งกับความงามทางศิลปะ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

The Ten Commandments (1956)


The Ten Commandments (1956) hollywood : Cecil B. DeMille 

ภาพยนตร์ดัดแปลงจากคัมภีร์ไบเบิลเรื่องที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ขณะฉายทำเงินสูงสุดเป็นรองเพียง Gone With the Wind (1939) ปัจจุบันปรับค่าเงินแล้วอยู่อันดับ 7 ของโลก, ผลงาน Swan Song ชิ้นเอกเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Cecil B. DeMille ตื่นตระการตา ขนลุกขนพองกับฉากข้ามทะเลแดง อันทำให้ Charlton Heston กลายเป็นตำนาน Moses โลกมิรู้ลืม

ในบรรดาผู้กำกับยุคบุกเบิก Hollywood ตั้งแต่ทศวรรษ 1910s เห็นจะมีเพียง Cecil B. DeMille ผู้นี้คนเดียวกระมังที่หลงเหลือสู่ยุคทอง Golden Age of Hollywood ทศวรรษ 50s ไม่มีปัญหาเรื่องการปรับตัวในยุคเปลี่ยนผ่าน จากหนังเงียบเป็นหนังพูด ภาพขาว-ดำเป็นภาพสี แถมแทบจะไม่เคยทำหนังทุนสร้างน้อยลงเลย (ก็มีทำหนังขาดทุนอยู่บ้างนะ) ส่วนใหญ่แต่เพิ่มสูง อลังการยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผลงานเรื่องสุดท้ายนี้ ได้ยินว่าผู้บริหาร Paramount Picture สั่งจ่ายไม่อั้น อยากใช้เท่าไหร่ก็ตามสะดวก

Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts แม่มีเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ส่วนพ่อเป็นนักแสดงและ Lay Reader (นักเทศน์ฝั่งฆราวาส) ที่ Episcopal Church เสียชีวิตตอนเขาอายุ 12 ทำให้ตัดสินใจเดินตามรอยเท้า เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway พอเอาตัวไม่รอด ร่วมกับ Jesse Lasky, Sam Goldfish เดินทางสู่ Los Angeles (ตามรอย D. W. Griffith) บุกเบิก Hollywood ก่อตั้งสตูดิโอ Lasky Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914)

ความสนใจยุคแรกๆของ DeMille มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Sex สะท้อนเสียดสีสังคม มีลายเซ็นที่พบเจอบ่อยๆ อาทิ หญิงสาวอาบน้ำ, ฮาเร็ม, สิงโตกระโจนเข้าโจมตี ฯ ผลงานเด่นอาทิ Old Wives for New (1918), Don’t Change Your Husband (1919) ฯ  ขณะที่ภาพยนตร์แนว Epic เริ่มต้นจาก Joan the Woman (1916) แม้จะไม่ทำกำไรเพราะทุนสูงเกิน แต่ก็ทำให้เรียนรู้จักเทคนิคการสร้างหนังสเกลขนาดใหญ่ ปรับมาใช้กับแนว Social ที่ถนัด กลายเป็น Male and Female (1919) ทำเงินล้านแรกของผู้กำกับ ตามด้วยไตรภาค Biblical Trilogy เริ่มจาก The Ten Commandments (1923), The King of Kings (1927), The Sign of the Cross (1932)

ในยุคหนังพูดเดินทางไปเรียนภาพยนตร์ถึงยุโรป รัสเซีย กลับมาสร้างหนัง Epic เรื่องแรกแห่งยุค The Sign of the Cross (1932) ตามด้วย Cleopatra (1934), The Crusades (1935), The Plainsman (1936), Union Pacific (1939), Samson and Delilah (1949), The Greatest Show on Earth (1952) [คว้ารางวัล Oscar: Best Picture] ฯ แม้ DeMille จะไม่ใช่ผู้กำกับคนแรกที่ริเริ่มสร้างหนังแนว Epic แต่คือผู้นำเทรนด์และเป็นเสาหลัก Milestone แห่งยุคสมัยนี้

เกร็ด: หนัง Epic เรื่องเก่าแก่แรกสุดของโลกคือ Cabiria (1914) สัญชาติอิตาเลี่ยนของผู้กำกับ Giovanni Pastrone, ขณะที่หนัง Hollywood แนว Epic เรื่องแรกๆคือ The Birth of a Nation (1915) กับ Intolerance (1916) ของผู้กำกับ D. W. Griffith

เกร็ด 2: Samson and Delilah (1949) คือภาพยนตร์เรื่องที่เปิดประตูแนว Biblical Epic เทรนด์นิยมแห่งยุค 50s – 60s

เมื่อปี 1954, DeMille เข้าหาบอร์ดผู้บริหารของ Paramount Picture แสดงความประสงค์ต้องการ remake หนังเงียบที่ตนเคยสร้าง The Ten Commandments แต่สมาชิกหลายคน(ที่เป็นชาว Jews ด้วยนะ)กลับแสดงความไม่เห็นด้วยต่อต้าน ทั้งๆที่สองผลงานก่อนหน้า Samson and Delilah (1949) กับ The Greatest Show on Earth (1952) ทำเงินมหาศาลให้กับสตูดิโอ โชคดีได้ประธานผู้บริหาร Adolph Zukor พูดกล่าวว่า

“We have just lived through a war where our people were systematically executed. Here we have a man who made a film praising the Jewish people, that tells of Samson, one of the legends of our Scripture. Now he wants to make the life of Moses. We should get down on our knees to Cecil and say ‘Thank you!’”

เนื่องจากตอนอนุมัติโปรเจคนี้ DeMille ไม่ได้มีงบประมาณตั้งต้นในใจแจ้งเอาไว้ สตูดิโอก็ปล่อยให้อิสระเต็มที จึงเสมือนว่ามีทุนสร้างไม่อั้นขณะทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องถลุงเงินจนทำสถิติใหม่ขณะนั้น

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Aeneas MacKenzie, Jesse L. Lasky Jr., Jack Gariss, Fredric M. Frank นำแรงบันดาลใจจาก
– Prince of Egypt (1949) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกา Dorothy Clarke Wilson
– Pillar of Fire (1859) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกา Joseph Holt Ingraham
– On Eagle’s Wings (1937) เขียนโดยบาทหลวงของ Methodist Church สัญชาติอังกฤษ Arthur Eustace Southon
– และจากหนังสืออพยพ (Book of Exodus) เป็นหนังสือเล่มที่สองในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม และเป็นเล่มที่สองในหมวดเบญจบรรณ เชื่อกันว่า Moses เป็นผู้เขียนขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่า ได้ทำการศึกษาค้นพบเอกสารโบราณที่คาดว่าสูญหายไปแล้ว อาทิ Midrash Rabbah, Life of Moses เขียนโดย Philo, รวมถึงแกะสลักข้อความเขียนโดย Josephus กับ Eusebius ฯ รวบรวมนำมาเติมเต็มส่วนขาดหายในชีวิตของ Moses, แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์หลายคนทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้ เพราะค้นไม่พบหลักฐานตามคำกล่าวอ้าง จึงสันนิษฐานว่าเป็นเพียงคำโปรโมทหนังของผู้สร้างเท่านั้น

เรื่องราวของหนัง เริ่มต้นในรัชสมัยของ Pharaoh Rameses I แห่ง Egypt [ประมาณปี 1292–1290 B.C.] ได้สั่งประหารเด็กชายแรกเกิดเชื้อสาย Hebrew ตามคำพยากรณ์ที่จะกลายเป็นกษัตริย์ แต่กลับมีทารกน้อยคนหนึ่งรอดมาได้จากการที่แม่ Yoshebel ปล่อยลอยคอทางแม่น้ำไนล์ ได้รับการช่วยเหลือรับเลี้ยงดูโดย Bithaina (รับบทโดย Nina Foch) ตั้งชื่อให้ว่า Moses

มาจนถึงรัชสมัยของ Pharaoh Sethi (รับบทโดย Sir Cedric Hardwicke) [ครองราชย์ 1290–1279 B.C.] มีทายาทสองคนที่กำลังตัดสินใจเลือกให้เป็นผู้สืบบัลลังก์ ประกอบด้วยลูกแท้ๆในไส้ Rameses II (รับบทโดย Yul Brynner) และลูกชายของน้องสาว Moses (รับบทโดย Charlton Heston) โดยผู้ที่ได้เป็นฟาโรห์องค์ต่อไปจะได้แต่งงานกับ Nefretiri (รับบทโดย Anne Baxter) แม้ Sethi จะโปรดปราน Moses มากกว่า แต่เมื่อพื้นหลังข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผย ทำให้ถูกขับไล่ออกจากอิยิปต์ และ Rameses II ได้กลายเป็นรัชทายาทแต่เพียงผู้เดียว

ครั้นรัชสมัยของ Pharaoh Rameses II [ครองราชย์ 1279–1213 B.C.] ชาวทาส Hebrew มีชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก ทำให้ Moses รับคำของพระเจ้ากลายเป็นพระผู้มาไถ่ เดินทางกลับมาเผชิญหน้ากับ Rameses ร้องขอให้ปลดปล่อยชาว Hebrew เป็นอิสระ แต่เพราะไม่ยินยอมจึงเกิดภัยพิบัติ 10 ประการ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวอิยิปต์ไปทั่วทุกสารทิศ จนในที่สุดต้องยินยอมปลดปล่อย ขับไล่ชาวอิสราเอลให้ออกจากประเทศของตน, กระนั้นด้วยความโศกเศร้าจากการสูญเสียลูกชายคนโต ทำให้ Ramese ตัดสินใจขึ้นราชรถขับออกไล่ล่าติดตาม พร้อมเข่นฆ่าชาว Hebrew ทุกคน ที่ขณะนั้นตั้งค่ายอยู่ริมทะเลแดงไร้หนทางหนี แต่แล้ว Moses ก็ได้แสดงปาฏิหารย์จากพระเจ้า พาทุกคนข้ามฝากฝั่งได้อย่างปลอดภัย

เป้าหมายของชาว Hebrew คือแผ่นดินแห่งพระสัญญา (Land of Promise) แต่เพราะไม่มีใครล่วงรู้ว่าอยู่ตรงไหน Moses จึงต้องขึ้นไปขอคำแนะนำจากพระเจ้าที่ Mount Sinai ได้มาเป็นบัญญัติ 10 ประการ (The Ten Commandments) แต่กว่าจะกลับลงมาใช้เวลา 40 วัน 40 คืน ผู้คนต่างใจร้อนคลุ้มคลั่งจนสูญเสียสิ้นศรัทธา สร้างลูกวัวทองคำ (Golden Calf) ขนานว่า ‘นี่เป็นตัวแทนพระเจ้าของเรา’ เมื่อ Moses ลงมาพบเห็นก็ได้ทำลายแผ่นหินพระบัญญัติ พร้อมสาปแช่งคนที่ไร้ศรัทธาพระเจ้าจมลงสู่ผืนแผ่นดิน ชาวอิสราเอลที่หลงเหลือ หลงทางอยู่ในทะเลทรายกว่า 40 ปี ถึงมาถึงเมือง Canaan ริมแม่น้ำ Jordan แผ่นดินแห่งพระสัญญา

*** ในทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวนี้อาจเกิดขึ้นมีจริงหรือเป็นเพียงเรื่องแต่งไม่มีใครให้คำตอบได้ แม้ส่วนใหญ่จะอ้างอิงมาจากหนังสืออพยพที่น่าจะพอเชื่อถือได้ แต่หลักฐานทางฝั่งอิยิปต์ไม่ปรากฎพบแม้แต่น้อย (อาจเพราะถูก Rameses สั่งให้ลบหายไปจากหนังสือทุกเล่ม) อันนี้ก็แล้วแต่วิจารญาณของผู้ชมเองนะครับ ว่าคุณจะ’เชื่อ’หรือเปล่า

Charlton Heston ชื่อเดิม John Charles Carter (1923 – 2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Wilmette, Illinois มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก และชอบเล่นกล้อง 16mm เข้าเรียน Winnetka Community Theatre โดดเด่นจนได้รับทุนเข้าศึกษาต่อที่ Northwestern University จบมาเล่นหนัง Hollywood รับบทนำเรื่องแรก Dark City (1950) โชคดีได้พบเจอกับ Cecil B. DeMille เลือกมาแสดงใน The Greatest Show on Earth (1952) เพราะความที่ใบหน้าคล้ายกับรูปปั้น Moses ของ Michelangelo Buonarroti จึงได้รับเลือกให้มาแสดงหนังเรื่องนี้

Heston ตีความ Moses แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
– ช่วงที่ยังเป็นรัชทายาท ถือตัวเองเป็นชาวอิยิปต์ผู้ยิ่งใหญ่ทะนงตน แต่ไม่เย่อหยิ่งจองหองอวดดี มีความเฉลียวฉลาด เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี ไม่แบ่งชนเชื้อชาติพันธุ์ เห็นทุกชีวิตมนุษย์ต่างมีค่าเป็นของตนเอง
– เมื่อรับรู้ว่าต้นกำเนิดของตนแท้จริงเป็นชาว Hebrew มีความผิดหวังเป็นล้นพ้น ลงโทษตัวเองด้วยการทำตัวต่ำต้อย ยินยอมกลายเป็นข้าทาสใช้แรงงาน หมดสิ้นความทะเยอทะยาน ท้อแท้สิ้นหวัง แต่ยังวางตนทัดเทียมเสมอภาคกับชาวอิยิปต์ และเริ่มครุ่นคิดถึงจิตใจผู้อื่น
– หลังจากได้รับสัมผัสจากพระเจ้า ทั้งภายนอกภายในเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น มองตัวเองสูงส่งเหนือกว่าผู้อื่น (เพราะมีพระเจ้าหนุนหลัง) จะถ่อมตนเฉพาะตอนอยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่การแสดงที่ทำให้ Heston กลายเป็นตำนาน แต่คือภาพลักษณ์โดยเฉพาะตอนที่ตัวละครได้รับสัมผัสจากพระเจ้า ผมต้องขยี้ตาแล้ววนกลับไปดูอีกรอบ หนวดเครา สีหน้า สายตา เปลี่ยนไปราวกับคนละคน และตอนยกมือขึ้นสองข้าง ‘Behold his mighty hand!’ จากนั้น … ถึงคุณไม่เคยเห็นรูปปั้นของ Moses แต่ก็จะรู้สึกได้ว่า ต้องหน้าตาแบบนี้แหละ

แม้บทบาทนี้จะไม่ได้เข้าชิง Oscar แต่ยังได้ลุ้น Golden Globe: Best Actor ทำให้ต่อจากนี้ใครๆมักจดจำ Heston ในภาพลักษณ์ของฮีโร่ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ อาทิ Ben-Hur (1959), El Cid (1961), The Greatest Story Ever Told (1965) รับบท John the Baptist, The Agony and the Ecstasy (1965) รับบท Michelangelo Buonarroti, Julius Caesar (1970) รับบท Mark Anthony ฯ

สำหรับนักแสดงที่รับบททารกน้อย Moses เห็นว่าเป็นลูกแท้ๆของ Heston ที่เพิ่งคลอดได้สามเดือน ถูกผู้กำกับจับมาเข้าฉาก หน้าตาจิ้มลิ้มเหมือนพ่อนักเชียว

Yul Brynner ชื่อเดิม Yuliy Borisovich Briner (1920 – 1985) นักแสดงสัญชาติ Russian เกิดที่ Vladivostok, Far Eastern Republic (ปัจจุบันคือ Primorsky Krai, Russia) เดินทางสู่อเมริกาปี 1940 เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway เป็นที่รู้จักกับ The King and I (1951) คว้ารางวัล Tony Award: Best Actor ทำให้ได้แสดงภาพยนตร์รับบทเดียวกัน The King and I (1957) คว้ารางวัล Oscar: Best Actor ด้วยภาพลักษณ์เป็นคนที่มี Charisma มาดผู้นำ หล่อเข้มคมคาย จึงมักได้รับบทผู้นำสำคัญในประวัติศาสตร์ อาทิ General Sergei Pavlovich Bounine เรื่อง Anastasia (1956), Solomon เรื่อง Solomon and Sheba (1959), The Magnificent Seven (1960) ฯ

รับบท Rameses II ชายขี้อิจฉาริษยา พยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะ Moses แต่กลับไม่เคยได้รับชัยสักอย่าง (ยกเว้นได้ขึ้นครองบัลลังก์) เมื่อได้ขึ้นเป็นฟาโรห์ก็แสดงความเย่อหยิ่งจองหอง ทะนงตนอวดดี ปกครองประชาชีด้วยความก้าวร้าว เห็นแก่ตัว และใช้ความกลัวสร้างอิทธิพลเหนือทุกสิ่ง

ในประวัติศาสตร์ Rameses II คือมหาราช Ramesses the Great ฟาโรห์องค์ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์ ทำศึกสงครามรบทัพจับศึกไม่เคยพ่ายแพ้ แพร่ขยายอิทธิพลไปถึงเมือง Canaan นอกจากนี้ยังสร้างเมืองขนาดใหญ่ Pi-Ramesses และมหาวิหารที่มีรูปสลักแทนพระองค์ Abu Simbel นี่คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ แต่ในคัมภีร์ไบเบิ้ลจะไม่มีการเอ่ยพระนาม แค่บอกว่าฟาโรห์ผู้เป็นศัตรูของโมเสสเฉยๆเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบตามศักราชก็จะลงตัวที่ยุคสมัยนี้พอดี แต่ความจริงเป็นยังไงก็คงไม่มีใครสมัยนี้ตอบได้แน่ๆ

นี่เป็นภาพมัมมี่ของ Rameses II ค้นพบแกะออกเมื่อปี 1974 โดยนัก Egyptologists ชื่อ Gaston Maspero ต่อมาได้ส่งไปศึกษา/วิจัย/ชันสูตร ที่ประเทศฝรั่งเศส พระองค์ได้รับ Passport สัญชาติอิยิปต์ อาชีพ ‘King (deceased)’ ปัจจุบันส่งกลับมาจัดแสดงอยู่ที่ Egyptian Museum ณ กรุง Cairo

ตอนที่ Brynner รู้ตัวว่าได้รับบทนี้และต้องเปลือยอกเข้าฉาก รีบยกเวทเล่นกล้ามให้ดูแข็งแรงบึกบึน ไม่ยอมน้อยหน้า Heston นี่ก็ตั้งแต่ขณะเล่นหนัง The King and I (1956) ซึ่งถ้าใครเคยดูเรื่องนั้นมาแล้ว คงจดจำภาพลักษณ์ King Mongkut ที่เนื้อแน่นเป็นพิเศษ และท่าเท้าสะเอวที่ติดมาถึงเรื่องนี้ เป็นภาษากายแสดงความจองหองอวดดี ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ อยากได้อะไรต้องได้

ส่วนตัวรู้สึก Brynner เป็นนักแสดง type-cast มักได้รับบทบาทคล้ายๆซ้ำเดิมที่เหมือน King Mongkut อย่างมาก กับหนังเรื่องนี้ก็แทบไม่ต่าง ถึงภาพลักษณ์ภายนอกจะมีเปลี่ยนนิดหน่อย (ไว้ผมเปียตลกๆ และเปลือยอก) แต่ลักษณะนิสัยของตัวละคร การแสดงออก แทบจะยกเครื่องถอดแบบเก่ามาเลยละ

Anne Baxter (1923 – 1985) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Michigan City, Indiana ตั้งแต่อายุ 5 ขวบมีโอกาสแสดงละครเวทีของโรงเรียน เกิดความชื่นชอบหลงใหล ผลักดันตัวเองให้กลายเป็นนักแสดงอาชีพ เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง Broadways กำลังจะโด่งดังจาก The Philadelphia Story (1939) ในบทน้องสาวของตัวละคร Katherine Hepburn แต่สงสัยไก่เห็นตีนงู Hepburn ไม่ชอบเธอเป็นการส่วนตัวจึงขอเปลี่ยนนักแสดง, ตอนอายุ 16 มีโอกาสมาคัดเลือกนักแสดงหนังเรื่อง Rebecca (1941) แต่ผู้กำกับ Alfred Hitchcock มองว่าเธอยังเด็กเกินไป เลยมอบบทให้ Joan Fontaine, ต่อมาได้เซ็นสัญญา 7 ปีกับ 20th Century Fox มีผลงานเรื่องแรก 20 Mule Team (1940) ตามมาด้วย The Magnificent Ambersons (1942), ได้ Oscar: Best Supporting Actress จากหนังเรื่อง The Razor’s Edge (1946) มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดกับ All About Eve (1950) และหนังเรื่องนี้ เดิมเป็นตัวเต็งรับบท Sephora แต่เพราะผู้กำกับมองว่า Andrey Hepburn หน้าอกเล็กเกินไปสำหรับบท Nefretiri ส้มเลยหล่น Baxter โดยปริยาย

รับบท Nefretiri หญิงสาวไม่รู้ต้นกำเนิด แต่ได้รับความรักใคร่เอ็นดูจาก Pharaoh Sethi ผูกหมั้นให้ต้องแต่งงานกับว่าที่ฟาโรห์องค์ต่อไป ในตอนแรกก็รักใคร่ปานจะกลืนกินกับ Moses แม้รับรู้ถึงชาติกำเนิดก็ไม่แสดงความรังเกียจ แต่พอเขาจากไปเธอจึงตกเป็นของ Rameses II มีโอรสชายด้วยกันหนึ่งองค์ แต่เมื่ออดีตคนรักกลับมา เธอจึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ได้เขามาครอบครอง

ในประวัติศาสตร์นั้น Nefertari Meritmut (Nefertari แปลว่า ‘beautiful companion’, ส่วน Meritmut แปลว่า ‘Beloved of [the goddess] Mut’) คือภรรยาคนแรก Great Royal Wives ของ Ramesses the Great อภิเสกสมรสก่อนขึ้นครองบัลลังก์ มีโอรสชาย 4 พระองค์ และธิดาอีก 2 พระองค์, Nefertari ถือเป็นราชินีแห่งอิยิปต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นรองเพียง Cleopatra เก่งกาจเรื่องการทูต และงานฝีมือ เป็นผู้ประดับตกแต่ง Valley of the Queen ได้สวยงามยิ่งใหญ่ แทบจะทัดเทียมกับ Abu Simbel

ถ้าคุณจดจำการแสดงของ Baxter ได้จาก All About Eve กับเรื่องนี้ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ยกเว้นทรงผม มีความเริดเชิดหยิ่งยโสโอหัง แรกๆเหมือนจะเป็นคนดี แต่เพราะรักมากจนหลงใหลยึดติด ช่วงท้ายแปรสภาพกลับกลายเป็นนางงูเห่า คิดแว้งกัดอดีตคนรักด้วยความคลั่งแค้น ได้แต่งงานอยู่กินกับ Rameses II ราวกับกิ่งทองใบหยก

สำหรับนักแสดงแย่งซีนที่สุดของหนังคือ Edward G. Robinson ชื่อเดิม Emanuel Goldenberg (1893 – 1973) นักแสดงสัญชาติ Romanian เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Bucharest แล้วอพยพสู่อเมริกา ปักหลักที่ New York City มีความชื่นชอบสนใจในการแสดงตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากละครเวที Yiddish Theater District ตามด้วย Broadway เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ในยุคหนังพูด ผลงานเด่นอาทิ Little Caesar (1931), Double Indemnity (1944), Key Largo (1948), Soylent Green (1973) ฯ

เกร็ด: Edward G. Robinson เป็นนักแสดงชายยอดนิยมติดอันดับ 24 จาก 25 Greatest Male Stars of Classic American จัดอันดับโดย American Film Institute

รับบท Dathan เป็นคนเชื้อสาย Hebrew แต่ทรยศพวกพ้องของตัวเอง เข้าข้างกับ Rameses II ด้วยการบอกตัวตนแท้จริงของ Moses ทำให้ได้เป็นผู้ว่าการ Governor of Goshen แต่หลังจากเกิดภัยพิบัติ 10 ประการ ถูกขับไล่ออกจากอิยิปต์ ทำให้ต้องลี้ภัยเดินทางไปกับ Moses ซึ่งก็ได้พยายามชักจูงชี้นำให้ผู้คนเห็นต่าง เกิดศรัทธาในลูกวัวทองคำที่ตนสร้างขึ้น ก่อนถูกธรณีสูบในตอนจบ

ทั้งๆที่การแสดงก็ไม่ได้มีอะไรมาก ทำหน้านิ่งๆพูดจากวนๆในจังหวะเหมาะๆ แต่ต้องถือว่าบทส่งตัวละครนี้เหลือเกิน แย่งซีนโดดเด่นได้มาก เห็นว่าในคัมภีร์ไบเบิลถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของเรื่องราวนี้ ตัวอย่างของผู้กระทำความชั่ว ไม่ยึดถือมั่นในศรัทธาต่อพระเจ้า แถมยังพยายามชักจูงคนอื่นให้เห็นผิด สุดท้ายแม้ผืนแผ่นดินก็มิอาจแบกรับคนประเภทนี้ไว้ได้

ถ่ายภาพโดย Loyal Griggs (1906 – 1978) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ปกติเป็นขาประจำของ George Stevens คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Shane (1953) ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Spawn of the North (1938), White Christmas (1954), The Greatest Story Ever Told (1965), In Harm’s Way (1965) ฯ

หนังใช้ฟีล์มระบบ VistaVision ขนาด 35mm (1.85:1) แลปสี Technicolor นี่เป็นเทคโนโลยีที่ Paramount Picture พัฒนาต่อยอดขึ้นมาเอง น่าเสียดายที่ไม่ใช่ CinemaScope ขนาด 70mm (2.35:1) แม้ความอลังการกว้างใหญ่ของภาพจะเทียบไม่ได้ แต่โดดเด่นกว่าเรื่องความละเอียด เห็นภาพระยะไกลคมชัด และมี grained น้อยกว่า, ต้องถือว่านี่คือฟีล์มคุณภาพดีที่สุดขณะนั้น และได้รับการพัฒนาต่อเป็น IMAX และ OMNIMAX ในยุค 70s

เกร็ด: หนังเรื่องแรกที่ใช้ VistaVision คือ White Christmas (1954) กำกับโดย Michael Curtiz

ถึงหนังจะใช้พื้นหลังจากสถานที่จริง ณ ประเทศ Egypt บริเวณ Sinai Peninsula และ Mount Sinai แต่มีเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่ปรากฎในหนัง อย่าง Yul Brynner เห็นว่าเดินทางไปถ่ายทำที่อิยิปต์วันเดียวเท่านั้นแล้วบินกลับเลย (ตอนนั้นอยู่ระหว่างถ่ายทำ The King and I อยู่ด้วย) ฉากที่เหลือถ่ายในสตูดิโอ Hollywood ทั้งหมด ด้วยความมหัศจรรย์ของ Rear Projection และภาพวาด Matte Painting

เนื่องจาก DeMille เคยทำหนังเรื่อง The Crusades (1935) เป็นที่ชื่นชอบของชาวอาหรับอย่างมาก ทำให้ทางการอิยิปต์ยินยอมอนุญาตให้เขาสร้างอะไร ขนาดใหญ่แค่ไหนก็ได้ ใช้เวลาเตรียมงานอยู่เกือบปี ดูจากภาพเอาเองแล้วกันนะครับ เป็นฉากขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ใช้ตัวประกอบกว่า 14,000 คน สรรพสัตว์อีก 15,000 ตัว



Special Effect ของหนัง สร้างโดย John P. Fulton ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ประกอบด้วย พุ่มไม้ที่ลุกโชน (The Burning Bush), เกล็ดหิมะตกจากฟากฟ้า, เทวทูตแห่งความตาย (Angel of Death), เสาเพลิง (Pillar of Fire), เสาเมฆ(Pillar of Cloud), แหวกทะเลแดง และสลักบัญญัติ 10 ประการ

เกร็ด: หนังนำเสนอ ภัยพิบัติ 10 ประการ ไม่ครบนะครับ ขาดไปเยอะเลยละ อาทิ ภัยจากกบ ริ้น เหลือบ ตั๊กแตน ฯ เหตุผลง่ายๆก็คือ ไม่รู้จะนำเสนอถ่ายทำอย่างไรให้มีความสมจริง ถือเป็นข้อจำกัดทาง Special Effect ของยุคสมัยนั้น แต่คุ้นๆว่ามีการเอ่ยถึงอยู่

ไฮไลท์ของหนังคือช็อตแหวกทะเลแดง ได้รับการยกย่องว่า ‘Greatest Special Effect of All Time’ เกิดจากการซ้อนภาพหลายๆชั้น ประกอบด้วย
– นักแสดงยืนอยู่ริมฝั่ง ถ่ายทำที่ Paramount Studios
– แทงค์น้ำขนาดใหญ่ ทำเขื่อนกั้นสองด้านรูปตัว U (U-shapes) บรรจุน้ำ 360,000 แกลลอน ปล่อยทะลักลงมาจนเห็นเป็นน้ำตก แล้วใช้การ Reverse Shot ทำให้เห็นเหมือนทะเลแหวกออกสองฝั่ง
– ท้องฟ้า ใช้ควันบุหรี่สีขาวพ่นใส่ cloud tank แล้วนำไปใส่สีให้มีความสมจริงเหมือนก้อนเมฆ
– ระหว่างเดินข้าม สองฝากฝั่งกำแพงน้ำ ใช้การตั้งกล้อง 90 องศา ถ่ายภาพน้ำที่ไหลตกจากเขื่อน

อ่านไม่รู้เรื่องไปดูคลิปแล้วกันนะครับ

ตัดต่อโดย Anne Bauchens ขาประจำของ DeMille มาตลอด 40 ปี ด้วยความยาว 220 นาที (รวม intermission) ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Moses ตั้งแต่ทารก ข้ามวัยเด็กไปเป็นผู้ใหญ่เลย

หนังไม่มีความรีบร้อนใดๆในการดำเนินเรื่อง ค่อยๆสร้างเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงออกของตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปอย่างชัดเจน โดยไม่อ้างอิงกับเวลา มีการกระโดดข้าม Time Skip หลายครั้งในหนังทีเดียว (แบบโดยไม่รู้ตัวเท่าไหร่)

ช่วงการตัดต่อที่ผมประทับใจสุดของหนัง คือก่อนเริ่มต้นอพยพ จะมีการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ภาพของผู้คนชาว Hebrew กับเรื่องวุ่นๆมากมาย เรื่องราวที่ก็ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรต่อหนัง แต่เพื่อสร้างบรรยากาศของการเตรียมตัว มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ใช่อยู่ดีๆทุกคนจะพร้อมเริ่มเดินทางได้ทันทีเลย (นี่ทำให้นักแสดงตัวประกอบมากมายทั้งหลาย มีบทเล็กๆ ที่สามารถเห็นหน้าตัวเองในหนังด้วยนะครับ)

ในตอนแรก DeMille มีความต้องการให้ Victor Young ขาประจำของตนมาทำเพลงให้ แต่เพราะเจ้าตัวป่วยหนักใกล้ตาย เลยกลายเป็นโอกาสของ Elmer Bernstein ที่เพิ่งสร้างชื่อให้กับตัวเองเรื่อง The Man with the Golden Arm (1955)

เกร็ด: Victor Young เสียชีวิตจากเลือดออกในสมองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1956 ไม่รู้เพราะเครียดโหมงานหนักไปรึเปล่า อายุเพียง 56 ปีเท่านั้น

บทเพลงมีความยิ่งใหญ่ ทรงพลังอลังการ จัดเต็มด้วย Soundtrack ความยาวกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ใช้ Orchestra เต็มวง นักดนตรีหลักร้อย พร้อมเครื่องดนตรีไม่คุ้นชื่อนักในสมัยนั้น อาทิ Shofar, Tiple และ Theremin

ในสไตล์เพลง Romantic มีการใช้ Leitmotifs หรือ Character Song สำหรับพระเจ้า, Moses, Rameses, Nefretiri ฯ ให้สัมผัสกลิ่นอายของ Egypt ชวนให้ขนลุกขนพองในหลายๆฉาก กลายเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของ Bernstein เมื่อทำเพลงให้กับหนัง Epic โดยปริยาย

บทเพลงที่หลายคนคงคุ้นหูมากสุดของหนัง ดังขึ้นในช่วง The Exodus Scene เริ่มต้นขณะอพยพ

“I want something like ‘Onward Christian Soldiers'”.

– คำขอของ DeMille ต่อ Bernstein

ทำนองมีลักษณะคล้ายบทเพลง March ขณะกรีธาทัพ/เดินสวนสนาม เพื่อการปลุกใจผู้คน ให้เริ่มต้นก้าวเท้าออกเดินด้วยความหวังเต็มเปี่ยม สู่อนาคตที่แม้จะไม่รู้ว่าคืออะไรแต่ย่อมดีกว่าปัจจุบัน

เรื่องราวของ Moses ในหนังเรื่องนี้ ถือได้ว่าพลิกโฉมแนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อ จากที่เคยเป็นเพียงผู้เผยพระวจนะในคัมภีร์ไบเบิล ชาวคริสต์ต่างเคารพเทิดทูนศรัทธาไว้ในใจราวกับสมมติเทพจับต้องไม่ได้ เมื่อกลายมาเป็นตัวละครในภาพยนตร์ มีรูปลักษณ์ตัวตน เรื่องราวชีวิตที่จับต้องได้ ทำให้เห็นเหมือนมนุษย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง มีเลือดเนื้อจิตใจ ใครๆก็สามารถรับรู้เข้าถึงได้

นี่ถือว่าแตกต่างจาก The Ten Commandments (1923) ต้นฉบับของ DeMille พอสมควร เรื่องนั้นยังคงภาพของ Moses เป็นตัวแทนของพระเจ้า เน้นแค่นำเอาบัญญัติ 10 ประการ มาต่อยอดเรื่องราว ปรับแนวคิดให้เข้ากับยุคสมัยเท่านั้น

ใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้ว่าไปแทบจะไม่ได้เกี่ยวกับบัญญัติ 10 ประการแม้แต่น้อย ปรากฎมาช่วงท้ายเพื่อเติมเต็มเรื่องราวของหนังให้สมบูรณ์ตามชื่อเท่านั้น, เรื่องราวหลักๆ เป็นการนำเสนอชีวประวัติบุคคลสำคัญโลกชื่อ Moses ในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ พบเจอในชีวิต จากมนุษย์คนธรรมดาหนึ่ง กลายมาเป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า ได้รับพลังสามารถกระทำสิ่งอันยิ่งใหญ่ นำพาชาว Hebrew ที่มีชีวิตเยี่ยงทาส ถูกกดขี่ทรมานข่มเหงราวกับสัตว์ สู่ความเสมอภาคกลายเป็นอิสระ และออกเดินสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา

มองในมุมของ Rameses II เป็นความน่าเห็นใจเล็กๆอยู่เหมือน ตัวเองเป็นลูกฟาโรห์แท้ๆ แต่พ่อกลับมีใจให้ Moses มากกว่า ทำให้ความริษยาครอบงำบดบังทุกสิ่ง แม้ปากจะบอกรักกันเหมือนพี่น้อง แต่จิตใจหาเป็นเช่นนั้นไม่, ถ้าในประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้จริงไม่น่ามีทางที่ Rameses จะได้รับการยกย่องว่าเป็น Great King แน่ๆนะครับ

Cecil B. DeMille เป็นชาว Jews ที่ใครๆคงคิดว่ามีจิตศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า กำกับภาพยนตร์แนวนี้มาก็หลายเรื่อง แต่ผมกลับคิดว่าเขาสร้าง Biblical Epic เพื่อเป็นการไถ่โทษตนเองมากกว่า, อย่างหนึ่งที่ได้ยินมาคือ DeMille มี Mistress ในชีวิตอย่างน้อย 3 คน คือนอกใจเมีย ผิดบัญญัติ 10 ประการข้อ ‘ห้ามล่วงประเวณีผัวเมียเขา’ กับคนทำตัวแบบนี้ แต่กลับทำหนังเรื่องนี้ มันก็มีคนแค่ลักษณะเดียวเท่านั้นแหละครับ

ด้วยทุนสร้างทำสถิติใหม่สมัยนั้น $13.2 ล้านเหรียญ [ถูกแซงโดย Ben-Hur (1959) ที่ $15.9 ล้านเหรียญ] ทำเงินในอเมริกาตอนออกฉายครั้งแรก $65.5 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2017 = $1,169.83 ล้านเหรียญ) สูงติดอันดับ 6 [อ้างอิงจาก Boxofficemojo.com] ขณะที่รวมทั่วโลก $122.7 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2014 = $2,187 ล้านเหรียญ) สูงติดอันดับ 7 [อ้างอิงจาก Guinness World Records]

เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture (พ่ายให้กับ Around the World in 80 Days)
– Best Cinematography, Color
– Best Art Direction-Set Decoration, Color
– Best Costume Design, Color
– Best Sound, Recording
– Best Film Editing
– Best Effects, Special Effects ** คว้ารางวัล

น่าแปลกใจที่สาขา Best Director ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille พลาดไปไม่ได้เข้าชิง อย่างค่อนข้างน่ากังขาทีเดียว

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ เคยรับชมมาหลายรอบแล้วแต่ก็ยังตื่นตระการตาตรึงใจกับฉากแหวกทะเลแดงที่สุดแล้ว เทียบก็เหมือนแข่งราชรถของ Ben-Hur (1959) ที่หนังทั้งเรื่องแทบไม่ต้องทนดูอะไรอย่างอื่น แค่ฉากไฮไลท์เดียวมีความยิ่งใหญ่อลังการ สมค่าการรอคอยที่สุด

แนะนำกับชาวคริสต์ทั้งหลายที่สนใจ Biblical Film ผู้ชื่นชอบหนังประวัติศาสตร์อิยิปต์สุด Epic มี Special Effect สุดอลังการแบบคลาสสิก, แฟนๆผู้กำกับ Cecil B. DeMille และคลั่งไคล้นักแสดง Charlton Heston, Yul Brynner, Anne Baxter และ Edward G. Robinson ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความรุนแรง และพฤติกรรมความชั่วร้ายของตัวละคร

TAGLINE | “The Ten Commandments ฉบับปี 1956 ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille ได้ทำให้ Charlton Heston กลายเป็น Moses แหวกทะเลแดงสู่ความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

The Ten Commandments (1923)


The Ten Commandments 1923

The Ten Commandments (1923) hollywood : Cecil B. DeMille ♥♥♡

คนที่เคยรับชม The Ten Commandments (1956) ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille แล้วค้นหาต้นฉบับหนังเงียบปี 1923 คงรู้สึกเหมือนโดนหลอก เพราะมีเรื่องราวของ Moses แค่เพียง 45 นาทีแรกเท่านั้น ส่วนครึ่งหลังที่เหลือมันอะไรก็ไม่รู้ ราวกับหนังคนละเรื่อง

ผมทำใจอยู่ประมาณวันหนึ่งแล้วค่อยกลับมาดูต่อ สิ่งที่หนังนำเสนอก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แค่ความผิดหวังที่เกิดขึ้นก่อนหน้าทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นโดยสิ้นเชิง ต่อให้เรื่องราวครึ่งหลังสะท้อนกับครึ่งแรกลงตัวมากมายเพียงใด แต่มีหรือจะสร้างเทียบเท่ายิ่งใหญ่กว่าได้

ก็เหมือนว่าถ้าคุณพบเจอไคลน์แม็กซ์น้ำแตกตั้งแต่ชั่วโมงแรก แล้วชั่วโมงถัดไปจะยังมีเรี่ยวแรงต่อรอบสองอยู่หรือเปล่า หรือถ้าทำได้จะยังรู้สึกพึงพอใจเทียบเท่ากว่าครั้งแรกไหม

แต่คิดว่าถ้าคุณรับรู้ไปก่อนรับชม ว่าหนังแบ่งออกเป็น 2 เรื่องราว มีความสัมพันธ์แต่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ความคาดหวังแล้วผิดหวังจะลดลงมากๆ ไม่เกิดอคติต่อต้านรุนแรงแบบที่ผมรู้สึกแน่

Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts แม่มีเชื้อสาว Jews อพยพจาก German ส่วนพ่อเป็นนักแสดงและ Lay Reader (นักเทศน์ฝั่งฆราวาส) ที่ Episcopal Church เสียชีวิตตอนเขาอายุ 12 ทำให้ตัดสินใจเดินตามรอยพ่อ เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway พอเอาตัวไม่รอด ร่วมกับ Jesse Lasky, Sam Goldfish เดินทางสู่ Los Angeles (ตามรอย D. W. Griffith) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก Hollywood ก่อตั้งสตูดิโอ Lasky Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914) บุกเบิกเทคนิคการจัดแสง (รับอิทธิพลจากละครเวที) มีชื่อเรียกว่า ‘motivated lighting’ ครั้งแรกเรื่อง The Warrens of Virginia (1915),

ความสนใจยุคแรกๆของ DeMille มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Sex สะท้อนเสียดสีสังคม มีลายเซ็นที่พบเจอบ่อยๆ อาทิ หญิงสาวอาบน้ำ, ฮาเร็ม, สิงโตกระโจนเข้าโจมตี ฯ อาทิ Old Wives for New (1918), Don’t Change Your Husband (1919),  Male and Female (1919), Why Change Your Wife? (1920) ฯ

ครั้งหนึ่งได้จัดการประกวด ค้นหาแนวคิดน่าสนใจ สำหรับนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไป, ผู้ชนะคือ F.C. Nelson จาก Lansing, Michigan ที่มีแนวคิดสั้นๆแต่ได้ใจความว่า

“You cannot break the Ten Commandments—they will break you.”

ร่วมงานกับ Jeanie MacPherson (1886 – 1946) นักแสดง/นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นผู้หญิงคนแรกของ Hollywood เลยหรือเปล่าที่กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Tarantula (1913) หลังจากเคยเป็นนักแสดงขาประจำของ D. W. Griffith ได้มีโอกาสพบเจอกับ DeMille บอกปัดที่จะเป็นนักแสดง ขอเป็นนักเขียนบท ร่วมงานกันถึง 30 เรื่อง จนสิ้นสุดทศวรรษ 30s

เกร็ด: MacPherson คือหนึ่งใน Mistress ของ DeMille แต่ก็ไม่เคยประเจิดประเจ้อจนสังคมเกิดข้อครหานินทา

ทั้ง MacPherson และ DeMille หลังจากเลือกแนวคิดนี้ ตัดสินใจแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วน คือ
– ครึ่งแรกนำเสนอเรื่องราวอิงตามคัมภีร์ไบเบิล
– และครึ่งหลังเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบัน จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นกับคนที่หันหลังให้กับบัญญัติ 10 ประการ

จะว่าไปหนังเงียบก่อนหน้านี้ที่มีการนำเสนอ เรื่องราวคนละยุคสมัย มีความสัมพันธ์แต่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน คือ Masterpiece ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเรื่อง Intolerance (1916) ของผู้กำกับ D. W. Griffith มีถึง 4 เรื่องราวซึ่งมากเกินไป

“He told four stories under the guise of one, and consequently all four failed. Because that is a formula that so far as I know has never been successful on the stage. One-act plays can be successful but not … the same theme running through four separate stories as one play.”

– DeMille แสดงทัศนะต่อความล้มเหลวของ Intolerance (1916)

DeMille ไม่เคยมีความพยายามสร้างภาพยนตร์ให้มีโครงสร้างสลับซับซ้อนเท่ากับหนังของ Griffith แต่กับ The Ten Commandments น่าจะถือว่ามีความใกล้เคียงที่สุดแล้ว ลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเหลือเพียง 2 เรื่อง 2 ช่วงเวลา และไม่ตัดสลับไปมา ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงหนังได้มากกว่า

ครึ่งแรกนำเสนอความทุกข์ยากของชาวยิวในอิยิปต์ ปกครองโดย Ramesses II หรือ The Magnificent (รับบทโดย Charles De Roche) ได้รับการปลดแอกโดย Moses หรือ The Lawgiver (รับบทโดย Theodore Roberts) นำทางพาหลบหนีข้าม Red Sea และต่อมาได้รับบัญญัติ 10 ประการจากพระเจ้า สลักไว้บนแผ่นหิน 2 แผ่น ที่ภูเขาซีนาย เพื่อนำมาเผยแพร่ให้กับมนุษย์ทั้งหลาย

ครึ่งหลังนำเสนอเรื่องราวของสี่ตัวละครหลักในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการแสดงทัศนะแนวคิดของคนทั้ง 4 ต่อบัญญัติ 10 ประการ ประกอบด้วย
– แม่ Mrs. Martha McTavish (รับบทโดย Edythe Chapman) เป็นคนหัวโบราณคร่ำครึ ยึดมั่นในบัญญัติ 10 ประกาศแบบเคร่งครัด ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน คาดหวังกึ่งบังคับให้ลูกๆประพฤติแสดงออกแบบตนเอง
– หญิงสาว Mary Leigh (รับบทโดย Leatrice Joy) เธอไม่เคยอ่านบัญญัติ 10 ประการ ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่เป็นคนมีจิตใจดีงาม เข้ากับคนอื่นได้ง่าย (และไม่เคยกระทำอะไรที่ขัดกับบัญญัติ 10 ประการ)
– Dan McTavish (รับบทโดย Rod La Rocque) รับรู้ถึงบัญญัติ 10 ประการอย่างถ่องแท้ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับการมีตัวตนของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง
– John McTavish (รับบทโดย Richard Dix) รับรู้ถึงบัญญัติ 10 ประการ มีความโอนอ่อนผ่อนปรน ยึดถือเชื่อมั่นปฏิบัติตาม แต่ไม่เคร่งครัดจริงจังมากแบบแม่

ความที่ผู้คนยุคสมัยใหม่ไม่ค่อยสนใจ พูดคุย เชื่อถือเรื่องศาสนากันแล้ว มองว่าเป็นสิ่งไกลตัว ไร้สาระ จับต้องไม่ได้ แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งพวกนี้ใกล้ตัวอย่างยิ่ง สำหรับบัญญัติ 10 ประการมีถึง 4 ข้อที่สอดคล้องกับศีล 5 ถืือเป็นหลักปฎิบัติในการใช้ชีวิต คำแนะนำสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สังคมใดยึดถือปฏิบัติย่อมเจริญรุ่งเรือง น่าอยู่อาศัย ผู้คนเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี ตรงกันข้ามกับสังคมที่มีแต่ผู้แหกกฎ ย่อมมีแต่ทรุดโทรมเสื่อมลง เต็มด้วยภยันตราย และอาจถึงขั้นล่มสลายต่อไปในอนาคต

ด้วยสเกลขนาดใหญ่ และใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ค่อนข้างมาก จำต้องมีตากล้องถึง 4 คน ประกอบด้วย Bert Glennon, Peverel Marley, Archibald Stout, J.F. Westerberg

มีหลายช็อตในช่วงอพยพที่ใช้ two-strip Technicolor แต่อย่าไปคาดหวังจะได้เห็นภาพสีสันสวยสดใสอะไร เต็มที่ก็แค่รูปช็อตนี้แหละ และมีแค่บางฉบับเท่านั้นที่จะพบเจอเห็นสี

DiMille ได้สร้างฉากอิยิปต์โบราณ ตั้งชื่อให้ว่า City of the Pharaohs ขึ้นที่ Guadalupe Dunes, Santa Maria Valley ริมชายฝั่งทางตอนเหนือของ Los Angeles ประกอบด้วยรูปปั้น Pharaoh Ramses ความสูง 35 ฟุต (11 เมตร), Sphinxes หนัก 5 ตัน, กำแพงความสูง 120 ฟุต ยาว 750 ฟุต, ทีมงานก่อสร้าง 1,600 คน ประกอบด้วย ช่างไม้ ช่างทาสี พ่อครัว ฯ และนักแสดงตัวประกอบ ทหาร/ทาส รวมแล้วอีก 2,500 คน ตั้งแคมป์กว่า 1,000 หลัง และสัตว์อีก 5,000 ตัว (ลิง ม้า แกะ อูฐ ฯ) ใช้เวลาก่อสร้าง-ถ่ายทำ อาศัยอยู่ 3 เดือน หมดงบไปน่าจะน้อยกว่า $1 ล้านเหรียญ เสร็จสิ้นแล้วใช้ระเบิดทำลาย เศษซากทั้งหลายถูกลมทะเลทรายพัดกลบทับถม

เกร็ด: ว่ากันว่า City of the Pharaohs แห่งนี้ ขนาดใหญ่กว่ากรุง Babylon ของ Intolerance (1916) เสียอีกนะ ทุนสร้าง/ปริมาณนักแสดง ก็เยอะกว่ามากๆด้วย

แต่กาลเวลาก็ยังไม่นานพอให้สิ่งก่อสร้างทั้งหลายเหล่านี้ แหลกสลายกลายเป็นผุยผง เมื่อ 1983 ผู้กำกับสารคดี Peter Brosnan ได้ไปขุดสำรวจพบเจอซากปรักหักพังที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พยายามระดมทุนทำให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ตั้งชื่อว่า Lost City of DeMille

“If 1,000 years from now, archaeologists happen to dig beneath the sands of Guadalupe, I hope that they will not rush into print with the amazing news that Egyptian civilization extended all the way to the Pacific Coast of North America.”

– Cecil B. DiMille

ไฮไลท์ของหนังช่วงเดินข้าม Red Sea ใช้การ Reverse Shot ถ่ายขณะปล่อยน้ำลงอ่าง แล้วฉายย้อนกลับ ซ้อนกับภาพถ่าย Long Shot ฝูงคนคนเดินบนหาด Seal Beach, California ส่วนสองฟากฝั่งน้ำ นั่นคือ Jell-O ขนมเยลลี่เจลาติน (ตอนแรกผมนึกว่า Cool Gel) ใช้ไฟรนให้เกิดการเคลื่อนไหวยุบยับ เหมือนเหมือนกระแสน้ำไหลวน

ผู้ชมสมัยนั้นเห็นแค่นี้ก็อึ้งทึ่ง ลุกขึ้นยืนปรบมือ ส่งเสียงเกรียวกราว ช่างมีความสวยงามสมจริงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกว่าจะมีหนังเรื่องต่อไปสามารถก้าวผ่านฉากข้าม Red Sea ก็โน่นเลย The Ten Commandments (1956) ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille อีกนะแหละ

สำหรับฉากยุคสมัยปัจจุบัน ถ่ายทำที่ San Francisco และโบสถ์ Cathedral ถ่ายทำที่ Sts. Peter and Paul Church (ขณะนั้นกำลังสร้างอยู่) ตั้งอยู่ Filbert Street บริเวณใกล้ๆ Washington Square

ตัดต่อโดย Anne Bauchens นักตัดต่อหญิงคนแรกของอเมริกา และยังคว้า Oscar: Best Film Editing จากเรื่อง North West Mounted Police (1940) [เป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลสาขานี้ด้วย] เข้าชิงอีก 3 ครั้งเรื่อง Cleopatra (1934), The Greatest Show on Earth (1952), The Ten Commandments (1956)

DeMille เป็นนักตัดต่อที่แย่ แต่หลังจากได้รู้จักร่วมงานกับ Bauchens เรื่อง Carmen (1915) ผลงานของเขาก็ดีวันดีขึ้น จนเป็นนักตัดต่อคนเดียวที่ไว้ใจเชื่อมือ มีผลงานร่วมกันถึง 41 เรื่อง

เกร็ด: แน่นอนว่า Bauchens คืออีกหนึ่ง Mistress ของ DeMille

เราสามารถมองว่าครึ่งแรกของหนัง เรื่องราวของ Moses เป็นจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลของแม่ Mrs. Martha McTavish ก็ยังได้ ส่วนครึ่งหลังก็ใช้มุมมองตัวละครทั้งสี่ แม่, Mary, John และ Dan ไม่เน้นเจาะจงใครเป็นพิเศษ

สำหรับ Title Card ครึ่งแรกเหมือนจะอ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิลมาเปะๆเลย (แถม reference ให้พร้อม) ขณะที่ครึ่งหลังจะลดคำบรรยายเรื่องราวลง เน้นบทสนทนาระหว่างตัวละครมากขึ้น

DeMille นำเงินมาจากไหนเยอะแยะ ทั้งๆที่ทุนสร้างออกโดย Paramount Pictures สูงถึง $1,000,000 เหรียญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ถ่ายทำไปสักพักเงินหมดคลัง โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท Amadeo Giannini หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bank of America สมทบทุนให้อีก $500,000 เหรียญ รวมแล้วเกือบๆ $1.5 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดในโลกขณะนั้นโดยปริยาย [จริงๆถือว่าพอๆกับ When Knighthood Was in Flower (1922) ที่ก็ใช้ทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ เช่นกัน] ก่อนถูกแซงโดย Ben-Hur: A Tale of the Christ (1925) เจ้าของสถิติหนังเงียบทุนสร้างสูงสุดตลอดกาลที่ $4 ล้านเหรียญ

“This spectacle will show people that we have an obligation to the public and that motion pictures can be more than mere stories […] The reason for the spectacle in ‘The Ten Commandments’ is to bring force to the picture […] The idea of the spectacle as it is presented is worth a million.”

ความสำเร็จที่หนังเรื่องนี้ได้รับ $4.2 ล้านเหรียญ ได้สร้างค่านิยมความเชื่อที่ว่า ภาพยนตร์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิ้ล ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ‘bigger is better, and no cost is too great.’

ส่วนตัวค่อนข้างชอบครึ่งแรกของหนังนะ แต่เพราะความผิดหวังที่มันจบเร็วเกินไป ทำให้ฝืนทนดูครึ่งหลังไม่สนุกเท่าไหร่ ทั้งๆที่ก็แฝงเนื้อหาสาระสะท้อนใจความสำคัญได้อย่างลงตัว แต่มันหมดใจไปแล้วจะให้ทำยังไงได้

ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับบัญญัติ 10 ประการ ตรงกันข้ามมองว่าเป็นสิ่งคล้ายกับศีล 5 คือคำแนะนำ หลักปฏิบัติใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม อันจะก่อให้เกิดความร่มเย็นสงบสุข, ซึ่งใจความสำคัญจากครึ่งหลังของหนัง เป็นการชวนเชื่อให้ชาวคริสเตียนเกิดความตระหนัก รับรู้ถึงความเป็นไปได้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการแหกบัญญัตินี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนเราเมื่อคิดกระทำความชั่วไว้ สักวันมันต้องหวนกลับคืนสนอง

“You cannot break the Ten Commandments—they will break you.”

รู้สึกแนวคิดนี้ตรงกับคำสอนของชาวพุทธเรา “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง”

ในยุคหนังเงียบ ผู้กำกับได้สานต่อภาพยนตร์แนวศาสนาอีก 2 เรื่อง กลายเป็น DeMille’s Biblical Trilogy ประกอบด้วย The King of Kings (1927) และ The Sign of the Cross (1932)

และสำหรับเรื่องที่น่าจะเรียกได้ว่าคือ Swan Song ของ DeMille คือการสร้างใหม่ The Ten Commandments (1956) ภาพยนตร์ในกำกับเรื่องสุดท้ายในชีวิต และคือ Masterpiece

แนะนำกับชาวคริสต์ทั้งหลาย ที่ชื่นชอบแนว Biblical ในยุคสมัยหนังเงียบ ยิ่งใหญ่อลังการ และแฟนๆผู้กำกับ Cecil B. DeMille ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg กับความคอรัปชั่นเห็นแก่ตัวของตัวละคร

TAGLINE | “The Ten Commandments ฉบับหนังเงียบของ Cecil B. DeMille รับชมครึ่งแรกจบแล้วเลิกดูเลยก็ได้นะ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Amrapali (1966)


Amrapali (1966) Indian : Lekh Tandon 

อัมพปาลี ตามตำนานเล่าว่าเธอถือกำเนิดโดยโอปปาติกะ เพราะความงามมากล้นจนเป็นโทษ ทำให้ต้องกลายเป็นหญิงคณิกา (โสเภณี) แห่งนครเวสาลี ตกหลุมรักกับพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ แต่เพราะทั้งสองเมืองเป็นศัตรูกันทำให้เกิดสงครามฆ่าล้าง เธอจึงพบความไม่จีรังของชีวิต หันหน้าพึ่งพิงพุทธศาสนา ภายหลังบวชเป็นภิกษุณีและบรรลุอรหันต์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าเรื่องแค่เสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตอัมพปาลีเท่านั้นนะครับ ตั้งแต่ได้กลายเป็นนางคณิกา จนถึงความล่มสลายของนครเวสาลี ทำให้เธอต้องมองหาที่พึ่งพิงใหม่ และพบเจอพุทธศาสนา ไม่ได้ดำเนินต่อไปจนถึงสาระสำคัญที่สุดของชีวิตนาง คือการบรรลุอรหันต์และคำสอนเทศนาสำคัญ

หนัง Bollywood ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็มักแบบนี้แหละครับ เพราะผู้กำกับ/ทีมงานส่วนใหญ่นับถือฮินดู ไม่ก็อิสลาม ทำให้ไม่เข้าใจหรือเห็นความสำคัญของพุทธศาสนาสักเท่าไหร่ ถ้าเลี่ยงได้ก็มักไม่นำเสนอเลยด้วยซ้ำ นำเพียงส่วนดราม่าทางประวัติศาสตร์ที่มีความน่าสนใจมาเท่านั้น … คงด้วยเหตุผลนี้กระมังทำให้หนังล้มเหลวด้านรายรับในอินเดียตอนออกฉาย แต่ได้เป็นตัวแทนของประเทศส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film (แต่ไม่ผ่านสักรอบ) กาลเวลาถึงปัจจุบันได้แปรสภาพให้กลายเป็นคลาสสิก และผมมองว่านี่เป็นหนังที่เหมาะกับคนไทยชาวพุทธอย่างยิ่งเลยละ

ขอกล่าวถึงตำนานของอัมพปาลีก่อนนะครับ อ้างอิงจากพระไตรปิฏก อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา วิสตินิบาต ๑. อัมพปาลีเถรีคาถา
reference: http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=467

พระเถรีแม้รูปนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ บรรพชาอุปสมบทในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี สมาทานสิกขาบทของภิกษุณีอยู่.

วันหนึ่ง ไหว้พระเจดีย์ ทำประทักษิณเวียนขวา เมื่อพระขีณาสวเถรีเดินไปก่อน พลันถ่มน้ำลาย ก้อนน้ำลายก็ตกไปที่ลานพระเจดีย์ พระขีณาสวเถรีไม่เห็นก็เดินไป ภิกษุณีรูปนี้เดินไปข้างหลังเห็นก้อนน้ำลายนั้นก็ด่าว่า อีแพศยาชื่อไรนะ ถ่มน้ำลายลงที่ตรงนี้.

ภิกษุณีรูปนี้ รักษาศีลในเวลาเป็นภิกษุณี เกลียดการเข้าอยู่ในครรภ์ ก็ตั้งจิตไว้ให้อยู่ในอัตภาพเป็นอุปปาติกะ. ด้วยการตั้งจิตนั้น ในอัตภาพสุดท้าย ภิกษุณีรูปนั้นก็บังเกิดเป็นอุปปาติกะ ที่โคนต้นมะม่วง ในพระราชอุทยาน กรุงเวสาลี.

พนักงานเฝ้าอุทยานเห็นเด็กหญิงนั้นก็นำเข้าพระนคร เพราะบังเกิดที่โคนต้นมะม่วง นางจึงถูกเรียกว่า อัมพปาลี.

ครั้งนั้น พวกพระราชกุมาร [เจ้าชาย] มากพระองค์ เห็นนางสะสวยน่าชมน่าเลื่อมใส ทั้งแสดงคุณพิเศษมีเสน่ห์น่ารักน่าใคร่เป็นต้น ต่างก็ปรารถนาจะทำให้เป็นหม่อมห้ามของตนๆ จึงเกิดทะเลาะวิวาทกัน.

คณะผู้พิพากษาได้รับคำฟ้องของนาง เพื่อระงับการทะเลาะวิวาทของพวกราชกุมารเหล่านั้น จึงตั้งนางไว้ในตำแหน่งคณิกาหญิงแพศยา ว่าจงเป็นของทุกๆ คน.

นางได้ศรัทธาในพระศาสดา สร้างวิหารไว้ในสวนของตน มอบถวายแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ภายหลังฟังธรรมในสำนักของพระวิมลโกณฑัญญเถระ บุตรของตน ก็บวชเจริญวิปัสสนา อาศัยความที่สรีระของตนคร่ำคร่าลงเพราะชรา ก็เกิดสังเวชใจ

เมื่อจะชี้แจงถึงความที่สังขารไม่เที่ยงอย่างเดียว จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

แต่ก่อน ผมของข้าพเจ้ามีสีดำเสมือนสีแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้ ผมเหล่านั้นก็กลายเป็นเสมือนป่านปอ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน มวยผมของข้าพเจ้าเต็มด้วยดอกไม้หอมกรุ่น เหมือนผอบที่อบกลิ่น เดี๋ยวนี้ ผมนั้นมีกลิ่น เหมือนขนแพะ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ผมของข้าพเจ้าดกงามด้วยปลายที่รวบไว้ด้วยหวีและเข็มเสียบ เหมือนป่าไม้ทึบที่ปลูกไว้เป็นระเบียบ เดี๋ยวนี้ ผมนั้นก็บางลงในที่นั้นๆ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน มวยผมดำ ประดับทอง ประดับด้วย ช้องผมอย่างดีสวยงาม เดี๋ยวนี้ มวยผมนั้นก็ร่วงเลี่ยนไปทั้งศีรษะ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน คิ้วของข้าพเจ้าสวยงามคล้ายรอยเขียนที่จิตรกรบรรจงเขียน เดี๋ยวนี้ กลายเป็นห้อย ย่นลง เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ดวงตาทั้งคู่ของข้าพเจ้าดำขลับมีประกายงาม คล้ายแหวนมณี เดี๋ยวนี้ ถูกชราทำลายเสียแล้วจึงไม่งาม พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน เมื่อวัยสาว จมูกของข้าพเจ้าโด่งงามเหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้ กลับเหี่ยวแฟบ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริงเป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ใบหูทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงามเหมือนตุ้มหูที่ช่างทำอย่างประณีตเสร็จเรียบร้อยแล้ว เดี๋ยวนี้กลายเป็นห้อยย่น เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ฟันของข้าพเจ้าสวยงามเหมือนหน่อตูมของต้นกล้วย เดี๋ยวนี้กลับหักดำ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ข้าพเจ้าพูดเสียงไพเราะเหมือนนกดุเหว่า ที่มีปกติเที่ยวไปในไพรสณฑ์ในป่าใหญ่ ส่งเสียงร้องไพเราะ เดี๋ยวนี้ คำพูดของข้าพเจ้าก็พูดพลาดเพี้ยนไปในที่นั้นๆ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่ แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน คอของข้าพเจ้าสวยงามกลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ขัดเกลี้ยงเกลาดีแล้ว เดี๋ยวนี้ กลายเป็นงุ้มค้อมลง เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน แขนทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงาม เปรียบเสมือนไม้กลอน กลมกลึง เดี๋ยวนี้ กลายเป็นลีบเหมือนกิ่งแคคด เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น.

แต่ก่อน มือทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงาม ประดับด้วยแหวนทองงามระยับ เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเสมือนเหง้ามัน เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ถันทั้งสองของข้าพเจ้าอวบอัดกลมกลึงประชิดกันและงอนสล้างสวยงาม เดี๋ยวนี้ กลายเป็นหย่อนยานเหมือนถุงหนังที่ไม่มีน้ำ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้า ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน กายของข้าพเจ้าเกลี้ยงเกลาดังแผ่นทอง สวยงาม เดี๋ยวนี้ กลายเป็นสะพรั่งด้วยเส้นเอ็นอันละเอียด เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน ขาอ่อนทั้งสองข้างของข้าพเจ้าสวยงามเปรียบเหมือนงวงช้าง เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเหมือนข้อไม้ไผ่ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน แข้งทั้งสองของข้าพเจ้าประดับด้วยกำไลทองเกลี้ยงเกลาสวยงาม เดี๋ยวนี้ กลายเป็นเหมือนต้นงาขาด เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

แต่ก่อน เท้าทั้งสองของข้าพเจ้าสวยงามเปรียบเสมือนรองเท้าหุ้มปุยนุ่น เดี๋ยวนี้ แตกเป็นริ้วรอยเพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

บัดนี้ ร่างกายนี้ เป็นเช่นนี้ คร่ำคร่าเป็นแหล่งที่อยู่แห่งทุกข์เป็นอันมาก ปราศจากเครื่องลูบไล้ เป็นเรือนชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสแต่ความจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่แปรเป็นอื่น.

– พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

สำหรับพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาองค์ที่ 3 แห่งแคว้นมคธ ปกครองทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าพิมพิสารและพระนางเวเทหิ พระธิดาของพระเจ้ามหาโกศลแห่งแคว้นโกศลและพระภคินีของพระเจ้าปเสนทิโกศล

เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในพระครรภ์ พระนางเวเทหิประชวรพระครรภ์ อยากเสวยพระโลหิตของพระสวามี ด้วยความรักพระมเหสีและบุตรในครรภ์ พระองค์จึงรองพระโลหิตของพระองค์ไปให้พระมเหสีเสวย ทางด้านโหราจารย์ทำนายว่าราชกุมารในครรภ์จะเป็นทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อ) พระนางเวเทหิจึงพยายามทำแท้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าพิมพิสารเมื่อทรงทราบก็ทรงห้าม พอประสูติมีพระนามว่า อชาตศัตรู (แปลว่า ผู้ที่ไม่เป็นศัตรู)

ในวัยเยาว์ ทรงเลี้ยงดูพระโอรสเป็นอย่างดี สถาปนาเป็นรัชทายาท เมื่อเข้าวัยรุ่นทรงมีสติปัญญาเฉียบแหลม แต่ก็ได้รู้จักกับพระเทวทัตที่กำลังจะแสวงหาผู้ที่จะมาช่วยตนปลงพระชนม์ พระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งต้องการได้รับความสนับสนุนจากผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง และด้วยที่พระเจ้าอชาตศัตรูขาดประสบการณ์ สามารถชักจูงได้ง่าย เกิดความศรัทธาในพระเทวทัต ถูกเสี้ยมสอนว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่เที่ยงไม่แน่ว่าจะได้ครองราชย์สมบัติ จึงควรปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเสีย แล้วขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระเทวทัตจะปลงพระชนม์พระศาสดาและทำหน้าที่ปกครองสงฆ์

พระเจ้าอชาตศัตรูก็หลงเชื่อ จึงพยายามแอบลอบปลงพระชนม์พระบิดา แต่ถูกองครักษ์จับได้ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงตรัสถามทำอย่างนี้ทำไม พระราชโอรสได้ตรัสตอบว่าต้องการราชสมบัติ จึงทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติมอบให้แก่อชาตศัตรูราชกุมาร แต่เมื่อได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว พระเทวทัตก็ยังยุยงอีกว่าแม้พระเจ้าบิดาจะทรงสละราชสมบัติ แต่อาจกลับมาแย่งชิงตำแหน่งคืนก็เป็นไปได้ ทำให้พระองค์หลงเชื่อมีรับสั่งให้จับพระเจ้าพิมพิสารไปจองจำขังในคุกและทรมานโดยวิธีการต่างๆ จนสิ้นพระชนม์

เมื่อนั้นถึงได้สำนึกว่าทำกรรมอันหนักยิ่ง จึงทรงบำเพ็ญกุศลต่างๆ เพื่อลบล้างความผิดให้เจือจางลงไปบ้าง และทรงปฏิญาณตนเป็นอุบาสกบริษัท ตั้งมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ ปกครองการเมืองโดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมและราชสังควัตถุ ทำให้ประชาราษฎร์อยู่อย่างเป็นสุข และยังมีแสนยานุภาพเป็นที่เกรงขามของแคว้นอื่น แต่ก็ไม่สามารถอุปสมบท หรือบรรลุธรรมขั้นสูง เพราะการกระทำกรรมหนักคือปิตุฆาต

ตามสุมังคลวิลาสินี อาสวักขยญาณกถาวัณณนา ระบุว่าหลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูทรงถูกพระเจ้าอุทัยภัทร พระราชโอรสกระทำปิตุฆาต จากนั้นได้ไปเกิดในโลหกุมภีนรก ใช้เวลาสามหมื่นปีจึงจะจมลงถึงพื้นล่าง และใช้เวลาอีกสามหมื่นปีจึงจะโผล่ขึ้นมาถึงปากโลหกุมภี รวมระยะเวลาชดใช้กรรมถึงหกหมื่นปี แต่ในอนาคตพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า ชีวิตวิเสส

reference: http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=7

Lekh Tandon (1929 – 2017) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Lahore, Punjab เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ Prithviraj Kapoor เข้าเรียนที่ Khalsa High School ด้วยเหตนี้จึงตามติดโตขึ้นได้ทำหนัง Bollywood เริ่มจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ แล้วเลื่อนขั้นสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Professor (1962) และผลงานลำดับที่สองถัดมาคือ Amrapali (1966)

นับตั้งแต่ประเทศปากีสถานและอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 1947 ทั้งสองประเทศต่างฉลองเอกราชที่ได้รับอย่างยิ่งใหญ่ แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เมื่อมีการประกาศว่าเส้นพรมแดนของตนอยู่ตำแหน่งไหน ไม่มีฝ่ายไหนพึงพอใจผลลัพท์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นสงครามอินเดีย-ปากีสถาน เพื่อแก่งแย่งชิงดินแดนที่ตนเองต้องการ

ผมพอคาดเดาความตั้งใจของผู้กำกับ Tandon ได้ไม่ยาก เพราะเขาเกิดที่ Lahore อดีตคือ British India แต่หลังจากอินเดีย-ปากีสถาน แบ่งแยกดินแดนเรียบร้อยแล้ว บ้านเกิดของเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถาน ทำให้หมดสิ้นโอกาสกลับสู่ผืนแผ่นดินบ้านเกิดโดยสิ้นเชิง ซึ่งใจความ Anti-War ต่อต้านสงครามของหนังเรื่องนี้ คงเป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสองประเทศชาติ มันมีค่าอะไรให้ต้องทำการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้อื่น

พระเจ้าอชาตศัตรู (รับบทโดย Sunil Dutt) กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ด้วยความทะเยอทะยานมักมาก ต้องการแพร่ขยายอำนาจบารมีของตนเองให้กว้างไกลไพศาล เป้าหมายต่อไปคือกรุงเวสาลี แต่เพราะเหล่าทหารได้ตรากตรำกำศึกหนักมานานหลายปี เกิดความเหนื่อยอ่อนล้า ทำให้สงครามครานี้พ่ายแพ้ย่อยยับ และพระเจ้าอชาติศัตรูได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงแอบลักลอบปลอมตัวโกนเคราเป็นนายทหารของเวสาลี ลักลอบหนีเข้าไปในเมือง ทำให้ได้พบเจอตกหลุมรัก อัมพปาลี (รับบทโดย Vyjayanthimala) นางคณิกาประจำเมือง ที่รังเกลียดพระเจ้าอชาตศัตรูเข้ากระดูกดำ แต่เมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย เธอจึงต้องเลือกระหว่างประเทศชาติกับความรัก

เกร็ด: เวสาลี/ไวศาลี/ไพศาลี (Vaishali) คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล ส่วนหนึ่งของแคว้นวัชชี (Vajjian) ปัจจุบันคือรัฐพิหาร (Bihar) ว่ากันว่าเป็นเมืองที่ปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตยแห่งแรกๆ ของโลก (บ้างก็ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย) มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จเยี่ยมเมืองแห่งนี้หลายครั้ง มีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้น อาทิ
– ที่กูฏาคารศาลา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี (พระน้านางของพระพุทธองค์) พร้อมด้วยบริวาร สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้เป็นครั้งแรกในโลก
– ในการเสด็จครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ ได้ทรงรับสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางคณิกาประจำเมืองเวสาลี ซึ่งได้อุทิศถวายเป็นอารามในพระพุทธศาสนา
– พระพุทธองค์ได้ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุวคาม และได้ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์
– และเมื่อหลังพุทธปรินิพพานได้ 100 ปี มีการทำสังคายาครั้งที่ 2 (ทุติยสังคายนา) ณ วาลิการาม

เกร็ด2: ในช่วงไม่นานหลังพุทธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมืองเวสาลีได้ตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ โดยการนำของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งราชคฤห์ คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า สาเหตุของการเสียเมืองแก่แคว้นมคธเพราะความแตกสามัคคีของเจ้าวัชชี เพราะการยุยงของวัสสการพราหมณ์ (พราหมณ์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูส่งเป็นไส้ศึก) เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพมายึดเมืองจึงสามารถยึดได้โดยง่าย เพราะไม่มีเจ้าวัชชีองค์ใดต่อสู้ขัดขืน เพราะความขัดแย้งกันเอง ทำให้แคว้นวัชชีล่มสลาย เมืองเวสาลีหมดฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้น และตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ

Vyjayanthimala Bali (เกิดปี 1936) นักแสดง นักร้อง นักเต้น และนักการเมืองสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Triplicane, Madras Presidency ได้รับการยกย่องว่าคือ ‘First Female Superstar of South Cinema’ มีผลงานเรื่องแรก Vazhkai (1949) ภาษา Tamil ตามด้วย Jeevitham (1950) ภาษา Telugu ทั้งสองเรื่องประสบความสำเร็จล้นหลาม จนทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงดาวรุ่งพุ่งแรกของวงการภาพยนตร์อินเดียตอนใต้ กรุยทางสู่ Bollywood ผลงานดังๆ อาทิ Devdas (1955), Naya Daur (1957), Sadhna (1958), Madhumati (1958), Gunga Jumna (1961), Sangam (1964) ฯ

รับบท อัมพปาลี/อมราปาลี/Amrapali หญิงสาวสุดสวย แต่งตัวโป๊เปลือย (แต่ก็ไม่โป๊นะครับ) ลีลาการเต้นงดงาม ได้รับการยกย่องให้เป็นที่หนึ่ง จนได้รับตำแหน่งนางคณิกา Nagarvadhu (Royal Courtesan) เป็นหน้าเป็นตาของเมืองเวสาลี, เธอตกหลุมรักนายทหารคนหนึ่ง ที่พอได้รับการเปิดเผยว่าเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ก็มิอาจตัดสินใจเลือกได้ระหว่างประเทศชาติหรือชายคนรัก

เกร็ด: ตำนานเล่าว่า ค่าตัวของนางอัมพปาลีคณิกาสมัยนั้นคือ ๕๐๐ กหาปณะ (๑ กหาปณะ เท่ากับ ๔ บาท) ต้องระดับเศรษฐีเท่านั้นถึงใช้บริการได้

ความงามก็เรื่องหนึ่ง สีหน้าสายตาก็โดดเด่น แต่ลีลาการเต้นของ Vyjayanthimala โอ้โห! รวดเร็วปานสายฟ้าฟาด บ้าคลั่งยิ่งกว่าตอนรับบทโสเภณี Chandramukhi เรื่อง Devdas (1955) เสียอีก แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าแรงเว่อไปมากๆจนขาดความลื่นไหลต่อเนื่อง แถมเป็นความทุ่มเทที่เหมือนจะสูญเปล่า ความล้มเหลวไม่ทำเงินของหนังทำให้เธอหัวใจแตกสลาย ตั้งใจจะออกจากวงการ แต่ยังวนเวียนอยู่อีก 2-3 ปี ถึงค่อยรีไทร์ถาวร และเข้าสู่วงการเมือง

Sunil Dutt หรือ Balraj Dutt (1928 – 2005) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักการเมืองสัญชาติอินเดีย เกิดที่หมู่บ้าน Khurd, Punjab ตอนอายุ 18 เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดีย (Partition of India) ได้เพื่อนดีทำให้ย้ายครอบครัวมาอยู่ฝั่งอินเดียสำเร็จ ต่อมาเดินทางสู่ Lucknow ตามด้วย Bombay ทำงานเป็นคนขับรถ, จัดรายการวิทยุที่ Radio Ceylon, มีผลงานการแสดงเรื่องแรก Railway Platform (1955), โด่งดังกับ Mother India (1957), Mujhe Jeene Do (1963), Yaadein (1964), Khandan (1965), Milan (1967) ฯ

รับบท พระเจ้าอชาตศัตรู (Samrat Ajatashatru) กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ (Magadha) เป็นคนเลือดร้อนรุนแรง เย่อหยิ่งจองหอง เต็มเปี่ยมด้วยความทะเยอทะยาน มีความเฉลียวฉลาดเก่งกาจแต่มักคิดหน้าลืมหลัง ไม่ค่อยฟังคำใครจึงมักตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะการได้ลิ้มรสรู้จักความรัก ทำให้ยินยอมทุ่มเททุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ความสุขกลับคืนสนอง

เรื่องราวของพระเจ้าอชาตศัตรูในหนังเรื่องนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากจากภาพที่เราๆรับรู้เรียนกันมาพอสมควร คงเพราะไม่มีพระเทวทัตคอยเป่าหูอยู่ข้างกาย และหนังหลีกเลี่ยงการพูดถึงการปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสารโดยสิ้นเชิง นี่ทำให้มุมมองของผู้ชมถูกจำกัดเหลือเพียงในเรื่องราวของหนังเท่านั้น ซึ่งอาจดูขัดใจบ้างแต่ก็คิดเสียว่าเป็นเรื่องแต่ง ตัวละครหนึ่งไปก็แล้วกัน

การแสดงของ Sunil Dutt อาจไม่โดดเด่นเท่าตอนเล่นเรื่อง Mother India (1957) แต่ก็ถือว่าเป็นคนมี Charisma ค่อนข้างสูง ตัวละครแสดงทั้งด้านเข้มแข็งก้าวร้าว และอ่อนไหวอ่อนแอ มีความเป็นมนุษย์จับต้องได้พอสมควร และตอนจบเมื่อครุ่นคิดระลึกตามได้ ก็เกิดความต้องการเฉกเช่นเดียวกับอัมพปาลี หักดาบเป็นสัญลักษณ์ของจุดสิ้นสุด พอแล้วกับการต่อสู้/สงคราม

ถ่ายภาพโดย Dwarka Divecha ที่มีผลงานดัง Sholay (1975), เรื่องราวของหนังออกไปในทาง Period Drama ส่วนใหญ่ถ่ายทำภายใน เน้นการพูดคุยสนทนา เกี้ยวพาของตัวละคร และการร้องเล่นเต้นรำ

แม้ฉากสงครามต้นเรื่องจะขาดความสมจริงโดยสิ้นเชิง แต่นี่เรียกว่า Visual Graphic คือการนำเสนอให้เห็นว่ามีสงคราม มีการสู้รบ ฟาดฟันกันมีคนตาย คนเจ็บ ใช้มุมกล้องขณะถูกฟัน ไม่ให้เห็นการแทงเข้าเนื้อเลือดไหลสักฉากเดียว,

การร้องเล่นเต้นรำ มักถ่ายภาพแบบ Full Shot เห็นศีรษะจรดเท้า โชว์ลีลาทั้งเรือนร่างกาย แบบเดียวกับหนังของ Fred Astaire แต่จะมีการ Close-Up ท่าทางสำคัญๆ และใบหน้า สำหรับเล่นหูเล่นตา ทำท่าหยอกเย้ายั่วยวนในระยะประชิด

ไฮไลท์ของการถ่ายภาพ คือฉากสงครามอีกครั้งช่วงท้าย แต่จะไม่มีการต่อสู้ รบพุ่งใดๆเกิดขึ้น เป็นการซ้อนภาพของ
– เหล่าทหารของแคว้นมคธ กรีธาทัพ วิ่งเข้าจู่โจมตี
– ประชาชนชาวเมืองเวสาลี กำลังวิ่งหนีอุตลุดวุ่นวาย

พอการต่อสู้/สงครามสิ้นสุด จะมีภาพใบหน้าของพระเจ้าอชาตศัตรู ซ้อนกับซากศพเกลื่อนกลาด และเด็กน้อยลุกขึ้นยืนร้องไห้ขี้มูกโป่ง

นัยยะของการซ้อนภาพนี้ คือสองสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน บรรจบกัน เป็นสิ่งเดียวกัน มีความหมายแสดงถึงการสงครามที่ทหารเข้าจู่โจมตี ต่อสู้ ฆ่าฟันประชาชนชาวเวสาลี (อย่างเลือดเย็น) นี่เป็นการรวบรัดตัดตอนการสู้รบของสงคราม ด้วยภาษาภาพยนตร์ที่เน้นนำเสนอผลลัพท์มากกว่าความยิ่งใหญ่ของสิ่งที่เกิดขึ้น, ต้องชมว่านี่เป็นไดเรคชั่นที่เจ๋งสุดของหนังเลยก็ว่าได้

ตัดต่อโดย Pran Mehra ที่มีผลงาน Naya Daur (1957), Gumrah (1963), Waqt (1965), Deewaar (1975), Kabhie Kabhie (1976) ฯ ถึงหนังจะชื่อ Amrapali แต่กลับเริ่มต้นที่พระเจ้าอชาตศัตรู และเล่าเรื่องผ่านมุมมองของทั้งสองตัดสลับกันไปมาตลอดทั้งเรื่อง

ถือเป็นธรรมเนียมของหนัง Bollywood ที่มักให้ความสำคัญกับการเต้นมากๆ เรียกว่าจัดเต็มทุกบทเพลง ทำให้การดำเนินเรื่องราวหลักหยุดชะงักไปเป็นช่วงๆ กระนั้นก็มีหลายไดเรคชั่นการตัดต่อที่เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยละ

โดดเด่นอย่างยิ่งช่วงท้ายหลังสงคราม เมื่ออัมพปาลีฟื้นคืนสติ ออกมาข้างนอกเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น หนังใช้การตัดสลับภาพเทคนิค Montage ระหว่างสีหน้าของหญิงสาว กับสิ่งที่เธอมองเห็น ตัดพ้อถึงชีวิตไร้ซึ่งความจีรัง และเรื่องราวดำเนินต่อจากนั้น ราวกับอัมพปาลีออกเดินตามเสียงสวดมนต์ที่ล่องลอยมา ไปถึงสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ก้มลงวันทา เกิดความสงบขึ้นในใจ

เพลงประกอบโดยสองคู่หู Shankar Jaikishan กำลังอยู่ในช่วง peak ของอาชีพการงาน แต่งเพลงพื้นบ้านโดยใช้เครื่องดนตรี Indian Classic ใช้เพียง 5 เพลง ขับร้องทั้งหมดโดยนักร้องเสียงไนติงเกล Lata Mangeshkar และออกแบบท่าเต้นโดย Gopi Krishna

ในบรรดาเพลงเต้นทั้งหมดของหนัง Neel Gagan Ki Chhaon Mein (แปลว่า In the shade of the blue skies) คือไฮไลท์ที่แสดงความสามารถของ Vyjayanthimala ได้รวดเร็วบ้าคลั่งที่สุด โดยเฉพาะช่วงท้ายขณะรัวกลอง โยกย้ายสะบัดเคลื่อนไหวไม่หยุด ระดับ Breathtaking เลยละ

บทเพลง Tumhen Yaad Karte Karte (แปลว่า I will be thinking of you) รำพึงรำพันโหยหาถึงคนรัก ในค่ำคืนที่กำลังเคลื่อนผ่าน ฉันต้องการจะครุ่นคิดถึงเธอเพียงคนเดียวเท่านั้น

บทเพลงไพเราะสุดของหนังคือ Tadap Yeh Din Raat Ki (แปลว่า Tormented night and day) หญิงสาวบ่นตัดพ้อถึงความรักของพวกเขา ทำไมมันช่างเจ็บปวดรวดร้าว ทรมานทุกข์ใจทั้งวันทั้งคืนแบบนี้ ไม่อยากจะอยู่ไกลห่างจากเธอแม้แต่วินาทีเดียว

***ในบรรดาเพลงของ Lata Mangeshkar นับร้อยนับพันที่ผมเคยฟังมา นี่เป็นบทเพลงมีความไพเราะเสนาะ สั่นสะท้านหัวใจ แทบจะที่สุดแล้วละ

ผมไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้บิดเบือนจากประวัติศาสตร์ไปมากน้อยแค่ไหน เท่าที่ศึกษาจากพระไตรปิฏกจะพบว่าพระเจ้าอชาตศัตรู ยกทัพมาตีแตกกรุงเวสาลี สมัยหลังพุทธกาล (หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว) ขณะที่อัมพปาลี มีโอกาสพบเจอบรรลุธรรมก่อนพระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์, ทั้งสองอาจเคยพบเจอ ใช้บริการนางคณิกา แต่จะถึงขนาดแอบรัก ตีเมืองเพื่อแย่งชิง นี่ไม่น่าเป็นไปได้แน่ๆ สำหรับคนศึกษาประวัติศาสตร์ แนะนำให้ยึดเนื้อหาจากพระไตรปิฏกเป็นหลักนะครับ เพราะโอกาสบิดเบือนไม่ถูกต้องนั้นมีน้อยมากกว่าหนังสือตำราประวัติศาสตร์ทั่วไป

ในบริบทของหนัง เรื่องราวของอัมพปาลี หญิงสาวพบเจอความรักสุดยิ่งใหญ่ สมประสงค์ทุกสิ่งตามใจหมาย จากนั้นชีวิตกลับต้องทนทุกข์ทรมาน โศกเศร้าจากการไม่ได้รับการยอมรับ กบฎของแผ่นดิน สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง โอ้ละหนอชีวิต ทำไมไม่มีอะไรเที่ยงแท้มั่นคงยืนยง เมื่อคิดได้ทำให้สามารถปล่อยวางจากทุกข์สุข มุ่งหน้าเดินทางสายกลาง ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใด

ประเด็นต่อต้านสงคราม (Anti-War) ผมว่าหาได้มีสาระสำคัญเทียบเท่าหรือยิ่งใหญ่กว่า การปล่อยวางเดินทางสายกลางของอัมพปาลีเลยนะครับ, เท่าที่อ่านพบเจอในบทความวิจารณ์ของยุโรป/อเมริกา ล้วนยกย่องประเด็นนี้ว่าสมความยิ่งใหญ่ สั่นสะเทือนสะท้านโลกา ตบหน้าบุคคลที่ส่งเสริมการสงคราม ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แต่กลับคือความพ่ายแพ้ของมนุษย์ชาติ นั่นคงเพราะพวกเขาไม่เข้าใจความสำคัญของการปล่อยวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถยุติสงครามได้ทันพลัน หาต้องการสื่อถึงประเด็นต่อต้านสงครามแม้แต่น้อย

กระนั้นในความตั้งใจของผู้กำกับ Tandon ตามที่เกริ่นบอกไปตั้งแต่แรก คิดว่าคงมีความต้องการสื่อสะท้อนประเด็นนี้ลึกๆไว้ในใจ ถึงขนาดไปขวนขวายหาเรื่องราวที่ในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ค่อยมีการบันทึกอยู่สักเท่าไหร่ สร้างเรื่องราวของการสงครามอันไร้จุดหมาย ถ้าเพียงทั้งสองฝ่ายสามารถลดทิฐิ ปล่อยวางความยึดถือติดมั่น หันหน้าเข้าหาพูดคัยกันตรงๆได้ ความขัดแย้งคงไม่เกิด แม่ก็จะไม่สูญเสียลูก ภรรยาไม่สูญเสียสามี เลือดก็จักไม่นองเอ่อ และการตายก็จะไม่สูญเปล่า

สำหรับเสียงสวดมนต์ช่วงท้ายของหนัง พยายามตั้งใจฟังอยู่แต่ก็ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าสวดอะไร (น่าจะบาลีแน่ๆ แต่สำเนียงอินเดียแท้ๆฟังไม่ได้สดับเลย) แต่ก็จับได้ตอนจบ บทสวดไตรสรณคมน์ ๓ ท่อนสุดท้ายหลังจากพระเจ้าอชาติศัตรูหักดาบ

“พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”

ปกติแล้วในประเทศอินเดีย มักไม่ค่อยมีหนังที่คำวิจารณ์ดีท่วมท้นแต่ทำเงินขาดทุนย่อยยับ (ยกเว้นหนังอาร์ทจัดๆ หรือไม่ใช่แนวตลาด) กับหนังเรื่องนี้ถือว่ามีความผิดปกติอย่างมาก แม้องค์ประกอบกลิ่นอายสไตล์ Bollywood จะมีอยู่ครบถ้วน แต่กลับเจ๊งสนิทระดับ ‘colossal flop’ มันอาจเพราะว่าหนังมีการเอ่ยถึงพุทธศาสนา ทำให้ไม่มีชาวมุสลิมหรือฮินดูทั่วไป อยากที่จะเข้าไปรับชมเสียเท่าไหร่

อย่าลืมนะครับว่าเป็นชาวฮินดูกับอิสลามนี่แหละ ที่ขับไล่ชาวพุทธออกจากอินเดียจนสูญสิ้นหมดไป ถ้าไม่เพราะวิสัยทัศน์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมณทูต 9 สายออกเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วโลก ปัจจุบันคงไม่มีพุทธศาสนิกชนหลงเหลืออยู่แน่

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก แม้คงจะบิดเบือนประวัติศาสตร์เยอะอยู่ แต่ใจความสำคัญหนักแน่น เพลงประกอบเสียงร้องไนติงเกลของ Lata Mangeshkar หวาดสุดๆ และการแสดงของ Vyjayanthimala ระดับตำนานดาวค้างฟ้าเลยละ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะกับคนไทยชาวพุทธ ความรักใคร่ที่มีมากล้นจนเกินไป เมื่อไม่สมหวังจักทำให้ใจรวดร้าวราน ทุกข์ทรมานปางตาย ทำไมไม่ลองฝึกจิตให้เป็นกลาง วางตัวไม่เข้าข้างฝักฝ่ายใด ชีวิตก็จะพบเจอความสุขสงบตราบชั่วนิจนิรันดร์

แนะนำกับคอหนัง bollywood ร้องเล่นเต้นสนุกสนาน, สนใจประวัติศาสตร์ครั้นสมัยพุทธกาล เรื่องราวของอัมพปาลี กับพระเจ้าอชาตศัตรู, ชื่นชอบนักแสดง Vyjayanthimala, Sunil Dutt ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg กับความรักที่มีมากล้น สงคราม และความตาย ผู้ใหญ่ควรนั่งดูกับเด็กเล็ก

TAGLINE | “Amrapali พบเจอความรักสุดยิ่งใหญ่ จากนั้นทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย ก่อนสามารถปล่อยวางจากทุกสิ่ง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Oliver! (1968)


Oliver!

Oliver! (1968) British : Carol Reed ♥♥♥♥

เข้าชิง Oscar 11 สาขา กวาดมา 5 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของ Charles Dickens ใส่ความเป็น Musical เข้าไปทำให้ดูง่าย สนุกสนาน เพลิดเพลิน เด็กๆดูได้เห็นสาระ ผู้ใหญ่ชื่นชมความงามของศิลปะ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในบรรดาภาพยนตร์หลายสิบเรื่องตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชน Oliver Twist มีเพียง 3-4 เรื่องเท่านั้นที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
– Oliver Twist (1922) หนังเงียบ กำกับโดย Frank Lloyd มี Lon Chaney รับบท Fagin
– Oliver Twist (1948) กำกับโดย David Lean มี Alec Guinness รับบท Fagin
– Oliver! (1968) หนังเพลง กำกับโดย Carol Reed มี Ron Moody รับบท Fagin
– Oliver Twist (2005) กำกับโดย Roman Polanski มี Ben Kingsley รับบท Fagin

ผมน่าจะไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ แต่เคยรับชมภาพยนตร์ฉบับของ Lean กับ Polanski เมื่อครั้นนานมากแล้ว จดจำรางๆได้ว่าไม่ค่อยชอบเสียเท่าไหร่ ทั้งๆที่มันควรเป็นหนังเกี่ยวกับเด็ก แต่กลับเต็มไปด้วยความเครียด ซีเรียส หัวหนักอึ้ง จนไม่สามารถจับสาระประโยชน์อะไรได้ ก็เลยพยายามมองข้ามหนังเรื่องนี้มาโดยตลอด

การรับชมครั้งนี้ พอพบว่าเป็น Musical เกิดอาการอึ้งแปลกใจไม่น้อย ครุ่นคิดระหว่างทาง เออมันก็เจ๋งดีนะ ช่วยลดความตึงเครียดของเนื้อหาลงได้เยอะ แถมทำให้สาระของเรื่องราวโดดเด่นชัดเจนขึ้นมา หลังดูหนังจบทำให้ผมเข้าใจเหตุผลโดยทันทีเลย ว่าทำไม Oliver Twist ถึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนชิ้นสำคัญของโลก

ขอกล่าวถึงผู้แต่งก่อนสักนิด Charles John Huffam Dickens (1812 – 1870) นักเขียนนิยายสัญชาติอังกฤษในยุค Victorian Era เกิดที่ Landport, Portsea Island (Portsmouth) พ่อเป็นเสมียนในกองทัพเรือ ที่รักใคร่ชื่นชอบของผู้คน แต่กลับมีปัญหาการเงินอันเกิดจากความไม่รับผิดชอบของตนเอง ทำให้หนี้มหาศาลจนถูกจับติดคุก ขณะที่แม่และพี่น้องคนอื่นๆหนีทิ้งพ่อไป แต่ Charles Dickens กลับตัดสินใจทำงานในโรงงานโกโรโกโสแห่งหนึ่ง (เป็นงานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับรองเท้า) เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว

หลังพ่อออกจากคุกจึงมีโอกาสกลับเข้าเรียนที่ Wellington House Academy จบมาเป็นเสมียนในโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง จากนั้นได้งานนักข่าวอิสระให้สมาคมทนายความ คบหญิงสาวสวยแต่ต้องแยกทางเพราะครอบครัวไม่ยอมรับฐานะที่แตกต่าง ต่อมาทำงานนักข่าวที่รัฐสภา เขียนบทความลง The Morning Chronicle และตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกลงใน The Monthly Magazine ใช้นามปากกาว่า Boz

Dickens เป็นคนทำงานหนักหามรุ่มหามค่ำ มีผลงานสม่ำเสมอต่อเนื่อง แถมไม่เคยส่งเรื่องช้ากว่ากำหนด ความสนใจมักเป็นเรื่องราวสะท้อนเสียดสีสังคม รณรงค์ต่อต้านความชั่วร้ายรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง (เรียกว่านำเอาประสบการณ์ทั้งหลายที่พบเจอใส่ลงไปในผลงาน) ผลงานเด่นๆอาทิ Oliver Twist (1839), A Christmas Carol (1843), David Copperfield (1850), A Tale of Two Cities (1859), Great Expectations (1861) ฯ

สำหรับ Oliver Twist หรือ The Parish Boy’s Progress นิยายลำดับที่สองของ Dickens เริ่มจากตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Bentley’s Miscellany ช่วงระหว่างกุมภาพันธ์ 1837 – เมษายน 1839, เรื่องราวของนิยายสะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิต และสังคมชนชั้นล่างของประเทศอังกฤษ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วย เด็กกำพร้า (Orphan), การใช้แรงงานเด็ก (Child Labour) และอาชญากรรมเด็ก (Children Criminal)

ไม่แน่ใจตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่เหล่าโปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลง นิยมนำบทละคร/วรรณกรรมชื่อดังในอดีต มาดัดแปลงตีความใหม่ให้กลายเป็นละครเพลง (Musical) Oliver! ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยนักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ Lionel Bart เปิดการแสดงใน West End ที่ New Theatre (ปัจจุบันชื่อ Noël Coward Theatre) ตั้งแต่ปี 1960 ได้รับความนิยมอย่างสูงถึง จำนวน 2,618 รอบ นำแสดงโดย Ron Moody รับบท Fagin

สำหรับ Broadway ซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงสร้างโดย David Merrick ออกแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Imperial Theater เมื่อปี 1963 จำนวน 774 รอบ ได้เข้าชิง 10 Tony Award คว้ามา 3 รางวัล (Best Scenic Design, Best Original Score, Best Music Direction)

Sir Carol Reed (1906 – 1976) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Putney, London เป็นลูกนอกสมรสของนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Sir Herbert Beerbohm Tree โตขึ้นตั้งใจเป็นนักแสดงตามพ่อ แต่พอได้รู้จักร่วมงานเป็นผู้ช่วยนักเขียนนิยาย Thriller ชื่อดัง Edgar Wallace ก็ตัดสินใจจะเป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก It Happened in Paris (1935), มีชื่อเสียงโด่งดังหลังสงครามโลกจาก Odd Man Out (1947), The Fallen Idol (1948), หนังนัวร์ในตำนาน The Third Man (1949) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Mutiny of the Bounty (1962), The Agony and the Ecstasy (1965) ฯ

อาจมีบางคนครุ่นคิดรู้สึกว่า Reed ผู้กำกับโคตรหนังนัวร์เนี่ยนะ จะมาสร้างหนังเกี่ยวกับเด็ก? Oliver Twist  ไม่ใช่แค่หนังเด็กเท่านั้นนะครับ ยังมีใจความสะท้อน’ด้านมืด’ของสังคมออกมาด้วย ซึ่งถ้าคุณสังเกตโปรดักชั่นงานสร้างพื้นหลัง โดยเฉพาะส่วนสลัมของกรุง London ให้สัมผัสคล้ายกับ The Third Man อย่างยิ่ง นี่เป็นการนำเอาสไตล์ความถนัดของตนเองมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้จะเป็นหนังคนละแนวเลยก็ตาม เด็กๆเห็นแล้วคงไม่มีใครกล้าไปย่ำเหยียบสถานที่แบบนี้แน่!

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Vernon Harris ที่นำทั้งจากวรรณกรรมของ Dickens และบทละครเพลงของ Bart มาเลือกในส่วนที่น่าสนใจ หลายบทเพลงไม่ได้ใช้ในหนัง แต่บางครั้งมาในทำนองเพลงประกอบ (Incidental Music) นี่ทำให้หนังมีความลงตัวมากๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบหนึ่งใด

เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กกำพร้าชื่อ Oliver Twist ทำงานใน Workhouse แห่งหนึ่ง แต่เพราะความหัวขบถจึงถูกขายให้กับสัปเหร่อ (Undertaker) แล้วสามารถหลบหนีเดินทางสู่ London รู้จักกับเพื่อนเด็กล้วงกระเป๋า Artful Dodger นำพาไปพบกับต้นตอแห่งความชั่วร้าย Fagin (รับบทโดย Ron Moody) ที่พยายามเสี้ยมสอนให้เขากลายเป็นอาชญากรผู้ยิ่งใหญ่, ต้องไปลุ้นกันว่า Oliver จะสามารถหลุดออกจากวงจรอุบาศว์นี้ได้หรือไม่

-ถ้าใครเคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้มา จะพบว่าหนังตัดตัวละครชื่อ Monks ทิ้งไปเลย ให้เวลากับการร้องเล่นเต้นแค่นี้ก็ 153 นาทีแล้ว ถ้ายังแทรกเรื่องราวนั้นเข้ามาอีกคงได้ความยาวเกิน 3 ชั่วโมงแน่-

Ron Moody ชื่อจริง Ronald Moodnick (1924 – 2015) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ Tottenham, Middlesex ในครอบครัวชาว Jews โตขึ้นเข้าเรียน London School of Economics ตั้งใจจบมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครเป็นทหารอากาศ RAF จนเชี่ยวชาญ Radar Technician, ช่วงระหว่างกำลังฝึกงาน ทำงาน part-time ในโรงละครเวที เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวดเลยตัดสินใจผันตัวเป็นนักแสดงอาชีพ

รับบท Fagin หัวขโมยสูงวัยมากประสบการณ์ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว มักมาก ขี้กลัว หวาดระแวง เหมือนจะเป็นคนดีเพราะชอบรับเลี้ยงดูแลเด็กๆกำพร้าไร้บ้าน แต่กลับพยายามปลูกฝังแนวคิดผิดๆ สอนให้รู้จักการลักขโมย กระทำสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อเติมเต็มความฝันของตนเมื่อสูงวัยกว่านี้ จะได้สุขสบายไม่ต้องทุกข์ลำบาก

(ชะตากรรมในนิยายของ Fagin ถูกจับได้และแขนคอ)

ไฮไลท์การแสดงของ Moody คือขณะร้องเล่นเต้นบทเพลง Reviewing the Situation ทั้งสีหน้า ดวงตา วิธีการแสดงออกมีความลังเล ยื้อยัก ชะล่าใจ โดยเฉพาะขณะกรีดกรายนิ้วร้องว่า I’m reviewing the situation. น่าขนลุกพิลึก ท่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนการครุ่นคิดเลยนะครับ

ในชีวิตของ Moody เป็นคนเลือกงานอย่างยิ่ง เขามีความพึงพอใจกับการแสดงบท Fagin นี้อย่างมาก จนไม่คิดว่าจะมีบทบาทไหน หรือการแสดงอื่นใดของใครเทียบเท่าได้อีกแล้ว … แน่นอนว่าเขาคิดผิด ทำให้เสียโอกาสก้าวหน้าทางการงาน และไม่มีผลงานอื่นใดได้รับการจดจำอีกเลย

เกร็ด: นกฮูกของ Fagin ทุกครั้งที่ผู้กำกับตะโกนว่า Action! มันจะหมุนหัว 180 องศา *-*

Robert Oliver Reed (1938 – 1999) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หลานของผู้กำกับ Carol Reed เกิดที่ Wimbledon ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติหน่วยพยาบาล ปลดประจำการออกมาเลือกงานสายการแสดง ได้รับบทนำครั้งแรก The Curse of the Werewolf (1961) ตอนรู้ว่าลุง?กำลังจะสร้างหนังเรื่องนี้ เข้าไปอ้อนวอนร้องขอเล่นรับเล่นบทนี้ ถือเป็นบทบาทโด่งดังสุดของ Oliver Reed เลยก็ได้

รับบท Bill Sikes เป็นหัวขโมยระดับมืออาชีพ ที่คงเป็นเด็กปั้นของ Fagin จนเติบใหญ่ ไม่สามารถวางมือหรือสรรหาอาชีพสุจริตทำงานได้ ชีวิตไม่รู้จักคำว่าสุขสบาย เต็มไปด้วยความเครียดเก็บกด สะสมความรุนแรงซ่อนเร้นอยู่ภายใน พร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกเวลา และสามารถทำลายล้างทุกสิ่งอย่างรอบข้างให้พังทลายสิ้นสูญ

จริงๆตัวละครนี้ในฉบับ Broadway มีฉากต้องร้องเพลงหนึ่งด้วย (ตอนเปิดตัว) แต่โปรดิวเซอร์ตัดสินใจตัดออก เพราะมันดูไม่เข้ากับบุคลิกความโหดโฉดชั่ว อยู่ดีๆร้องเพลงขึ้นมาคงแปลกพิลึกน่าดู แต่ก็มีการใช้ทำนองเพลงประกอบคลอเป็นพื้นหลัง

เห็นว่า Oliver Reed เป็นนักแสดง method acting ที่พยายามอยู่ในตัวละครตลอดเวลา นี่ทำให้เด็กๆต่างหวาดกลัวไม่มีใครกล้าเข้าหาใกล้ๆ มักเก็บตัวอยู่คนเดียว ก็ต้องถือว่าเป็นการแสดงที่สมจริง บ้าคลั่ง ทรงพลัง และชะตากรรมตัวละครห้องต่องแต่งอยู่ตรงกึ่งกลาง ไม่สามารถกระโดดข้ามเอาตัวรอดถึงอีกฝั่งพ้น (ฝั่งความดี-ความชั่ว)

Mark Lester (เกิดปี 1958) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Oxford ในครอบครัวชาว Jews ตอนอายุ 8 ขวบ เป็นหนึ่งในกว่า 5,000 คนที่มาคัดตัว และได้รับบท Oliver Twist

เด็กชายกำพร้า Oliver Twist มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ขาดบ้านและครอบครัวที่จะดูแลเอาใจใส่มอบความรักความอบอุ่นให้ ทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าว ขัดขืน หัวขบถ แต่เมื่อได้ออกเดินทางสู่ลอนดอน พบเจอเพื่อน มิตรภาพ ความอบอุ่น แม้จะยังไม่รู้สำนึกดีชั่วก็ยินยอมพร้อมใจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตมันย่อมมีดีได้มากกว่านี้ ถ้าโอกาสนั้นมาถึง

ขณะที่เสียงร้องเป็นของ Kathe Green แต่ Lester ก็ได้แสดงความใสซื่อไร้เดียงสาออกมาให้ผู้ชมเกิดความสงสารเห็นใจ โถเด็กน้อย ทำไมชีวิตช่างอาภัพได้ขนาดนี้ คาดหวังให้พบเจอสิ่งดีๆ และเอาตัวรอดจากความชั่วร้ายนานัปการ

หลังจากนี้ Lester ยังได้เล่นหนังอีกหลายเรื่อง อาทิ Eyewitness (1970), Scalawag (1973), La Prima volta sull’erba (1974) [คว้า Golden Bear เทศกาลหนังเมือง Berlin] แต่พออายุ 19 ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการ ค้นหาความสนใจอื่น อาทิ เรียนคาราเต้ได้สายดำ แล้วอยู่ดีๆก็เกิดความสนใจเกี่ยวกับหมอนวดจับเส้นให้กับนักกีฬา เข้าเรียน Osteopath ที่ British School of Osteopathy จบออกมาเปิดคลินิกของตัวเอง Carlton Clinic ที่ Cheltenham ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย

เกร็ด: นักแสดงเด็กจากเรื่องนี้จะได้รับค่าตัวเป็นก้อนๆ ซึ่งพออายุครบ 18 ก็จะได้เงินที่เหลือพร้อมโบนัสกำไรของหนัง ซึ่งวันที่ Lester ได้เงินก้อนนี้ เขารีบนำไปซื้อรถ Ferrari ซื้อบ้านที่ Belgravia ปาร์ตี้ พี้ยาจนเงินหมด

Jack Wild (1952 – 2006) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Royton, Lancashire ครอบครัวเป็นชนชั้นทำงาน ฐานะค่อนข้างยากจน ร่วมกับพี่ชาย Arthur พยายามช่วงพ่อแม่หาเงิน ร่วม Audition เป็นส่วนหนึ่งของนักแสดงละครเพลง West End เรื่องนี้ โดยพี่ชายได้บท Oliver ส่วน Jack เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเด็กของ Fagin (เพราะตอนนั้นตัวยังเล็กอยู่) ผ่านมาหลายปีเมื่อเริ่มมีแผนสร้างภาพยนตร์ ถือว่าอายุพร้อม ความสูงถึง ไปคัดตัวนักแสดงอีกครั้ง คราวนี้โตพอได้รับบท Artful Dodger ตามใจหวังเสียที

อนาคตช่างเลือนลางเหลือเกินสำหรับ Artful Dodger หลังจากเรียนรู้จนเชี่ยวชำนาญวิธีการล้วงกระเป๋า ก็มิอาจหักห้ามชะล่าใจตัวเองได้เมื่อเห็นโอกาส เรียกว่าติดในระดับสันดาน ชีวิตนี้คงเลิกเป็นอาชญากรไม่ได้แน่ๆ แต่จะโตขึ้นกลายเป็นแบบ Bill Sikes คงไม่มีใครบอกได้

(ในนิยาย Dodger โดนจับได้ แต่เพราะอายุยังไม่ถึงเลยรอดชีวิตไม่ต้องรับโทษแขวนคอ แค่ก็ถูกส่งไปคุกต่างประเทศ)

การแสดงของ Wild ขโมยซีนแทนทุกฉาก อายุตัวละครน่าจะประมาณ 11 – 12 โตกว่า Oliver นิดหน่อย จึงดูเป็นผู้ใหญ่กว่า (แต่เป็นผู้ใหญ่ในคราบเด็ก) มาดผู้ดีด้วยสูทหรู ถ้าไม่เพราะหน้ามอมแมมใครๆคงคิดไม่ถึงแน่นอนว่าจะเป็นหัวขโมยนักล้วงกระเป๋า

หลังความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ที่ถึงขนาดทำให้ Wild เข้าชิง Oscar, Golden Globe, BAFTA Award มีหรือจะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา ตอนอายุ 12 ติดบุหรี่อย่างหนัก อายุ 17 ติดเหล้าอย่างหนัก อายุ 21 หางานทำไม่ได้ ชีวิตแต่งงานล้มเหลว ชีวิตล้มเหลว เสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งปาก ขณะอายุ 53 ปีเท่านั้น

ถ่ายภาพโดย Oswald Morris (1915 – 2014) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ Moulin Rouge (1952), Moby Dick (1956), Lolita (1962), Fiddler on the Roof (1971) [คว้า Oscar], The Man with the Golden Gun (1974) ฯ ก่อนหน้านี้เคยเป็น Camera Operator ให้กับ Oliver Twist (1948) ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ผู้กำกับ Reed ชักชวนให้มาถ่ายหนังเรื่องนี้

หนังถ่ายทำด้วยกล้อง Panavision (anamorphic) ขนาด 35mm แลปสี Technicolor
– ครึ่งแรกเขตเมือง London จะเน้นสีเข้ม ดำ น้ำตาล เต็มไปด้วยความสกปรก รกรุงรัง ไม่ได้มีความน่าอาศัยอยู่แม้แต่น้อย,
– ขณะที่ครึ่งหลังหมู่บ้านคนรวย ตกแต่งประดับประดาด้วยตึกขาวโพลน สะอาดตา สบายใจ ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์

สถานที่ถ่ายทำ แทบทั้งหมดสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ Shepperton Film Studio, Surrey แม้แต่ท้องฟ้ากับพระอาทิตย์ก็วาดขึ้นนะครับ นี้เพื่อจำลองกรุง London ศตวรรษที่ 19 และสามารถออกแบบให้มีลักษณะของ Expressionist สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาได้

ลีลาการถ่ายภาพมีการจัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่ง เคลื่อนไหว มุมกล้องได้อย่างสวยงาม แฝงนัยยะสำคัญ สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมแบบเดียวกับความรู้สึกของ Oliver แทบทั้งหมด

เช่นกันกับเสื้อผ้าตัวละคร ที่เหมือนจะแฝงนัยยะบางอย่างเช่นกัน อาทิ
– Nancy มักสวมชุดสีแดง นัยยะถึง Passion เลือด และปักธงความ…
– Fagin สวมชุดสีเขียว นัยยะของความชั่วร้าย (อ้างอิงจาก The Wizard of Oz)
– Bill Sikes ก็สวมสีเขียวเช่นกัน แต่เป็นเขียวแก่เข้มกว่าชุดของ Fagin มีนัยยะถึงความชั่วร้ายยิ่งกว่า และไม่สามารถย้อนหวนกลับคืนสู่ความปกติได้แล้ว
– Artful Dodger สวมชุดสีน้ำเงิน นัยยะถึง…

เห็นเด็กๆเดินพร้อมเพียงราวกับหุ่นยนต์ในฉากนี้แล้ว ชวนให้ระลึกถึงหนังเรื่อง Metropolis (1925) ราวกับพวกเขาเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรกลไก หาได้มีชีวิต ความคิด จิตใจเป็นของตนเองไม่ แถมสถานที่นี้ชื่อ God of Love ใครๆคงบอกได้ว่าไม่น่าใช่แล้ว

ฉากที่ Nancy พา Oliver หลบหนีการไล่ล่าของ Bill Sikes ระหว่างทางแทบทุกช็อตจะต้องมีเสา คาน หรืออะไรสักอย่าง ลักษณะเอียงๆเหมือนสามเหลี่ยม นี่คือสไตล์ Expressionist แนวถนัดของผู้กำกับ Carol Reed ไม่ได้เหมือนเปะๆกับ The Third Man แต่ให้สัมผัสคล้ายๆกันกับหนังนัวร์ คือใช้สถานที่แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร

  

หนทางสู่รังลับของ Fagin ถ้าไม่เฉลยช่วงท้ายคงไม่มีใครคาดคิดถึงแน่ ว่าอยู่ส่วนลึกสุดของหนองบึง (จะเรียกว่าก้นเบื้องความโสโครกของสังคม) ที่เมื่อฝูงชนต่างพยายามหาทางเปิดเผยออก มันกลับจมลงพังทลาย ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

ลักษณะการออกแบบฉากนี้ ถือเป็นอีกหนึ่ง Expressionist สะท้อนกับความชั่วร้ายที่อยู่ส่วนลึกสุดในจิตใจมนุษย์

ช็อตที่น่าจะสวยสุดในหนังอยู่ตอนจบ เมื่อ Fagin กระโดดลัลล้าไปกับ Artful Dodger มุ่งสู่เช้าวันใหม่อนาคตที่สดใส (ตรงไหน), ฉากนี้จะเห็นว่าตึกโค้งเอียงไปตามถนน คล้ายกับฉากหมู่บ้านของคนรวยที่ตึกแถวโค้งเอียงไปตามมุมถนนเช่นกัน นี่อาจเป็นการสะท้อนว่า ไม่ว่าคนจนคนรวย ก็สามารถมีชีวิต ความสุข ทุกข์ ได้เหมือนกันไม่แตกต่าง

ตัดต่อโดย Ralph Kemplen (1912 – 2004) นักตัดต่อสัญชาติอังกฤษ ผลงานดังอาทิ The African Queen (1951), Moulin Rouge (1952), Room at the Top (1959), A Man for All Seasons (1966), The Day of the Jackal (1973) ฯ

ถึงหนังจะเล่าในมุมมองสายตาของ Oliver Twist แต่หลายครั้งทีเดียวใช้การส่งไม้ต่อดำเนินเรื่องผ่าน Fagin และตามด้วย Nancy และหรือ Bill Sikes ซึ่งล้วนเป็นตัวละครมีความน่าสนใจกว่าเป็นไหนๆ

ผมชื่นชอบการตัดต่อขณะ Nancy พา Oliver หลบหนีการไล่ล่าของ Bill Sikes เป็นอย่างยิ่ง มีความแม่นยำ พอดีเปะ ลงตัว คมกริบ, เพราะผมนั่งแคปรูปฉากนี้อยู่หลายช็อต เลยสังเกตพบเทคนิคการตัดต่อที่ใช้ ขณะตัวละครวิ่งหนีหายลับไปจากฉากปุ๊ป ก็ทำการตัดควับไปให้เห็นอีกผู้ติดตามทันที (ไม่มีค้างช็อตเปล่าในฉากนี้เลย) ถือว่ามีความรวดเร็ว เร่งรีบ ประกอบเข้ากับเพลง สร้างความลุ้นระทึก อกสั่นไหว นี่เป็นพลังชนิดหนึ่งของการตัดต่อที่สามารถสร้างจังหวะและอารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นได้

สำหรับเพลงประกอบ เรียบเรียงทำนองโดย Johnny Green ทั้งหมดอ้างอิงจากต้นฉบับของ Lionel Bart แต่ก็ตัดหลายเพลงออก และบางเพลงใช้เฉพาะบรรเลง Soundtrack ตัดเสียงร้องออก, จริงๆมีหลายเพลงที่โดดเด่นระดับสามารถเข้าชิง Oscar ได้เลย แต่เพราะมันไม่ใช่ Original Song เลยหมดสิทธิ์ กระนั้นสาขา Best Score สมัยนั้นยังอะลุ่มอะล่วยให้ เพราะมีคำต่อท้ายคือ Original or Adaptation

ไฮไลท์แรกคือบทเพลง Food, Glorious Food ขับร้องโดย Temple Choir ที่ London กำกับโดย Sir George Thalben-Ball แค่เห็นเด็กๆเดินพร้อมเพียงราวกับหุ่นยนต์ ผมก็สะดุ้งเซอร์ไพรส์แล้วละครับ เพราะเพิ่งเข้าใจว่านี่มันหนังเพลงนี่หว่า! ซึ่งบทเพลงนี้สามารถใช้อธิบายความทุกข์ยากลำบาก ชีวิตของเด็กๆกำพร้าที่ถูกผู้ใหญ่กดขี่ข่มเหง แถมกับเด็กๆด้วยกันเอง Oliver ยังกลายเป็นแกะดำ ถูกขับไสไล่ส่ง เห็นแล้วทุกข์ทรมานใจเสียจริง

บทเพลง Where Is Love ขับร้องโดย Kathe Green (ลูกสาวของ Johnny Green) ฉากที่ Oliver ถูกขังในห้องใต้ดินที่เต็มไปด้วยโลงศพ รำพึงรำพันโหยหายในความรักความอบอุ่นของชีวิต, ส่วนตัวคิดว่าบทเพลงนี้ไพเราะสุดในหนังแล้ว ทำให้ผมเกิดความสั่นสะท้านไปถึงทรวง

บทเพลงโคตรไฮไลท์ของหนังคือ Reviewing the Situation ไม่ใช่แค่เสียงร้องหรือทำนอง แต่รวมถึงการแสดงของ Ron Moody ที่ทำให้บทเพลงนี้มีความทรงพลัง น่าหลงใหลมากๆ เป็นความยื้อยักลังเลใจ ครุ่นคิดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชั่งน้ำหนักตัดสินใจ ฉันจะทำยังไงต่อไปดี

ตอนผมได้ยินเพลงนี้ครั้งแรก เริ่มจากเสียงปี่ก็ชวนให้หวนนึกถึงหนังเรื่อง Fiddler on the Roof (1971) ยิ่งสำเนียง ลีลาลูกคอ เสียงร้องของ Ron Moody มีส่วนคล้ายคลึงกับ Topol พอสมควร

แถมให้กับ Oom Pah Pah ขับร้องโดย Shani Wallis จังหวะ Waltz สนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจที่สุดในหนัง เห็นว่าในฉบับ Broadway นี่เป็นเพลงเปิด Act 2 เท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเรื่องราวหลัก แต่หนังเรื่องนี้ถือว่าทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจ ชี้เป็นชี้ตาโชคชะตาของ Oliver เลยละ

ก็ไม่รู้ Oom Pah Pah แปลว่าอะไรนะครับ แต่ชวนให้ผมนึกถึงเหล่าคนแคระใน Oompa Loompas จากเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory [ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันนะครับ]

Oliver! เป็นเรื่องราวของเด็กชายผู้โชคร้าย จับพลัดจับพลูเติบโตขึ้นในสังคมอังกฤษ ยุคสมัยที่ยังไม่มีใครสนใจคุณค่าของมนุษย์ และความเสมอภาคเท่าเทียม ชนชั้นล่างของสังคม กรรมกรแรงงาน ต่างต่อสู้ดิ้นรนอย่างลำบากยากเข็น งานแสนหนักแต่ค่าแรงแสนถูก ขณะที่นายทุนพยายามทำทุกอย่างเพื่อลดต้นทุนแล้วได้รับผลผลิตมากๆ (กดค่าแรงต่ำๆ ขยายเวลาการทำงาน) นี่คือสิ่งเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของโลกยุคอุตสาหกรรม ที่จะค่อยๆต่อยอดกลายเป็นระบอบทุนนิยมในไม่ช้า

สำหรับต้นกำเนิดของ Oliver หนังไม่ได้ให้ความสำคัญเสียสักเท่าไหร่ (เพราะมีหลายตัวละครหายไป ทำให้มิอาจเชื่อมโยงความสัมพันธ์เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ กระนั้นเราอาจสมมติว่า พ่อบุญธรรมที่รับเลี้ยง Oliver ช่วงท้าย คือปู่ของเขาจริงๆ) แต่ในหนังสือของ Dickens ถือว่ามีสาระสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการสะท้อน เปรียบเทียบกับปัญหาของโลกยุคอุตสาหกรรม ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนสองชนชั้น พ่อ-ลูกสาว, ชนชั้นสูง-ชนชั้นต่ำ, คนรวย-คนจน, นายทุน-ลูกจ้าง ฯ

ซึ่งใจความของหนังเรื่องนี้มุ่งเน้นพูดถึง ความดี-ความชั่ว และการเลือกข้างเสียมากกว่า, Oliver เด็กชายที่พบเจอทั้งสิ่งดีงามและชั่วร้าย สุดท้ายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเลือกอาศัยอยู่กับใคร (เพราะเขาเลือกได้) ตรงกันข้าม Fagin กับ Artful Dodger ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือก แต่เพราะมิอาจหักห้ามใจหรือแปรเปลี่ยนกลับมาเป็นคนดีได้ จึงต้องวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาศว์นี้ต่อไป

หลังจาก Dickens ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ชาวอังกฤษต่างตระหนักเห็นความโหดร้ายทารุณของความเป็นอยู่ในสมัยนั้น จึงพยายามปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างในทางที่ดีขึ้น คนจนมีงานทำ, สถานที่/สภาพการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น, เด็กๆได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ทำงานได้แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม, พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายขึ้น แต่ … ก็ใช่ว่าโลกจะสามารถพลิกเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้โดยทันที

วรรณกรรมเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งที่ได้รับการวิพากย์วิจารณ์รุนแรงมากๆตั้งแต่ตอนตีพิมพ์ปีแรกๆ คือตัวละคร Fagin มีลักษณะของชาว Jews ซึ่งการสร้างให้เป็นศูนย์กลางของความชั่วร้าย มองได้ว่าเป็นการ Anti-Semitic (ต่อต้านชาวยิว), เห็นว่าภาพยนตร์ฉบับของ David Lean ที่ Alec Guinness รับบทนี้ เรียกว่าชั่วร้ายจัดเต็ม มองเป็นการเหยียดยังได้ แต่กับหนังเรื่องนี้ เพราะ Ron Moody เป็นชาวยิวเองด้วย เขาจึงพยายามลดความชั่วร้ายนั้นลง เสริมใส่มิติ Comedy ให้กับตัวละคร จนผู้ชมเกิดความรู้สึกทั้งสงสารเห็นใจ และรับรู้มุมความชั่วร้าย นี่เป็นการพยายามบอกว่า ‘ไม่ใช่ชาวยิวทุกคนจะคือศูนย์กลางของความชั่วร้ายของโลก’

ด้วยทุนสร้าง $10 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $37.4 ล้านเหรียญ (ทำเงินสูงสุดอันดับ 7 ของปี) รวมทั่วโลก $77.4 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม

เข้าชิง Oscar 11 สาขา กวาดมา 5 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Ron Moody)
– Best Supporting Actor (Jack Wild)
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Art Direction Art Direction ** คว้ารางวัล
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Musical Adaptation Score ** คว้ารางวัล

นอกจากนี้หนังยังมอบ Honorary Award ให้กับ Onna White สำหรับการออกแบบท่าเต้นอันโดดเด่นให้กับหนัง

ถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้ดีพอจะคว้า Oscar ปีนั้นหรือไม่ มองย้อนกลับไปต้องบอกว่าพูดยาก เพราะ 5 เรื่องที่เข้าชิงไม่มีเรื่องไหนหลงเหลือเป็นตำนานให้พูดถึงในปัจจุบันมากนัก Funny Girl, The Lion in Winter, Rachel Rachel, Rome and Juliet ขณะที่หนังเหนือกาลเวลาอย่าง 2001: A Space Odyssey, The Graduate หรือ Rosemary’s Baby ถูกมองข้ามรางวัลใหญ่โดยสิ้นเชิง

เกร็ด: Oliver! คือหนังเพลงเรื่องสุดท้ายที่คว้า Oscar: Best Picture จนกระทั่ง Chicago (2002)

ขณะที่ BAFTA Award ปีนั้น ถึงได้เข้าชิงถึง 8 สาขา แต่กลับไม่ได้สักรางวัล
– Best Film
– Best Direction
– Best Actor (Ron Moody)
– Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Jack Wild)
– Best Film Editing
– Best Art Direction
– Best Costume Design
– Best Sound Track

โดยเรื่องที่คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ BAFTA Award คือ The Graduate (1967) ที่เพิ่งเข้าฉาย

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ตำหนิเดียวคือความยาว แต่ถ้าคุณอินจัดก็อาจมองข้ามไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ, โปรดักชั่น ไดเรคชั่น การแสดง เพลงประกอบ ท่าเต้น ทุกสิ่งอย่างมีความสมบูรณ์ลงตัว ไม่มี Miss สักบทเพลง แต่รู้สึกว่าไม่ถึงขั้น Masterpiece เพราะเมื่อเทียบกับ The Third Man เรื่องนั้นมันระดับตำนานของวงการเลยละ Oliver! คือผลพวงที่เกิดจากการต่อยอด ในสไตล์ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Carol Reed ที่สวยงามลงตัวพอดิบดี

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แนะนำทั้งเด็กและผู้ใหญ่
– เด็กๆจะมีความหวาดสะพรึง กลัวเกรง ละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำความชั่วที่อาจทำให้ตัวตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย
– สำหรับผู้ใหญ่ พยายามหวนระลึกถึงตัวเอง เคยกระทำความชั่ว แสดงความเห็นแก่ตัว หรือปลูกฝังแนวคิดอะไรผิดๆให้กับลูกหลานของคุณบ้างรึเปล่า ตระหนักได้ว่าเคยจงรีบแก้ไขเสียนะครับ

จัดเรต PG-13 เพราะเรื่องราวเต็มไปด้วยแนวคิดผิดๆ มุมมืดของโลก และความชั่วร้ายนานัปการ แต่ผู้ใหญ่สามารถนั่งดูกับเด็กเล็ก ให้คำแนะนำไปด้วยได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง

TAGLINE | “Oliver! ของผู้กำกับ Carol Reed พอใส่ Musical เข้าไปทำให้ดูง่าย สนุกสนาน เพลิดเพลิน เด็กๆดูได้เห็นสาระ ผู้ใหญ่ชื่นชมความงามของศิลปะ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Hello, Dolly! (1969)


Hello, Dolly! (1969) hollywood : Gene Kelly 

ด้วยทุนสร้างที่เป็นรองเพียง Cleopatra (1963) เข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขา คว้ามา 3 รางวัล เป็นความตั้งใจให้ยิ่งใหญ่กว่า The Sound of Music (1965) แต่เพราะยุคทองการเต้นสไตล์ Gene Kelly ได้จบสิ้นลงแล้ว ทำเงินขาดทุนย่อยยับ และนักวิจารณ์สมัยใหม่เหยียบย่ำจมมิดดิน บ่นกันขรม เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีนั้นไปได้อย่างไร!

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีความคับข้องใจพอสมควร ไม่ใช่ว่าทำไมหนังได้เข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขานะครับ เพราะในส่วนโปรดักชั่นโคตรอลังการ ย่อมมีความเป็นไปได้อยู่แล้วในสาขาเทคนิค แต่เฉพาะกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี มันเป็นไปได้เช่นไรกัน! มาแบบเดียวกับ Cleopatra (1963) ที่ได้ชิง Best Picture เพราะความโดดเด่นในโปรดักชั่นล้วนๆ

– จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ ต้องไล่ย้อนไปถึงบทละครเวที 1-Act เรื่อง A Day Well Spent (1835) แต่งโดย John Oxenford สัญชาติอังกฤษ เปิดการแสดงที่ Theatre Royal, English Opera House, London
– ต่อมาพัฒนาเป็นละครเวทีเต็มเรื่อง (3-Act) ชื่อ Einen Jux will er sich machen (1842) โดย Johann Nestroy สัญชาติ Austrian
– ตามด้วยบทละครเวทีฉบับอเมริกัน The Merchant of Yonkers (1938) โดย Thornton Wilder ไปเข้าตาผู้กำกับ Max Reinhardt เปิดการแสดงที่ Guild Theatre ได้ 39 รอบ
– The Matchmaker (1955) เป็นการนำบทละครฉบับอเมริกันของ Thornton Wilder มาปัดฝุ่นใหม่โดยผู้กำกับ Tyrone Guthrie เพิ่มส่วน Comedy Slapstick เปิดการแสดงที่ Royale Theatre ตามด้วย Booth ทั้งหมด 486 รอบ นักแสดงนำหญิง Ruth Gordon ได้เข้าชิง Tony Award: Best Actress ขณะที่ผู้กำกับคว้ารางวัล Best Director
– ฉบับภาพยนตร์ The Matchmaker (1958) กำกับโดย Joseph Anthony นำแสดงโดย Shirley Booth รับบท Dolly, Anthony Perkins รับบท Cornelius และ Shirley MacLaine รับบท Irene
– และ Hello, Dolly! (1964) ฉบับละครเพลง Broadway แต่งคำร้องและทำนองโดย Jerry Herman คว้า 10 รางวัล Tony Award (สถิติสูงสุดตอนนั้นเทียบเท่า South Pacific) รวมถึง Best Musical อัลบัมรวมเพลงขึ้นถึงอันดับ 1 Billboard Album เปิดรอบปฐมทัศน์ที่ St. James Theatre วันที่ 16 มกราคม 1964 ดำเนินอยู่ถึง 7 ปี รวมทั้งสิ้น 2,844 รอบการแสดง

หลังความสำเร็จสุดยิ่งใหญ่ของ The Sound of Music (1965) สตูดิโอ 20th Century Fox มีความประสงค์ต้องการสร้างหนังแนว Musical ที่มีโปรดักชั่นสุดยิ่งใหญ่อลังการ ทุ่มเงินไม่อั้นกับอีก 3 เรื่อง ประกอบด้วย Doctor Dolittle (1967), Star! (1968) และ Hello Dolly! (1969) แต่ปรากฎว่าไม่มีเรื่องไหนทำเงินเข้าเป้า เจ๋งสนิทผู้บริหารส่ายหน้า ทำเอาสตูดิโอเกือบล้มละลาย โปรดิวเซอร์ทั้งหลายถูกไล่ออกตกงานโดยทันที

Fox ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง Hello Dolly! เป็นภาพยนตร์เมื่อปี 1965 โดยมีข้อแม้หนึ่งจากโปรดิวเซอร์ของ Broadway คือจะไม่นำออกฉายจนกว่าการแสดงจะปิดรอบ แต่พอหนังสร้างเสร็จปลายปี 1968 ละครเพลงยังคงได้รับความนิยมอยู่ ทำให้ Fox ต้องจ่ายเงินเพิ่มก้อนโตประมาณ $1-2 ล้านเหรียญ เพื่อให้ได้ออกฉายปี 1969 (การแสดง Broadway สิ้นสุดธันวาคมปี 1970)

มอบหมายหน้าที่ผู้กำกับให้ Gene Kelly ชื่อจริง Eugene Curran Kelly (1912 – 1996) นักแสดง นักเต้น ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania ตั้งแต่เด็กแม่ส่งเข้าเรียนเต้นกับพี่ชาย แต่เพราะความไม่ชอบเลยออกมาเป็นนักเลง จนอายุ 15 ถึงค่อยยอมไปเรียนเต้น แค่จะไปเป็นเพื่อนน้องชาย แต่กลับเต้นเก่งจนคว้ารางวัล Local Talent Contest จากนั้นเข้าเรียน University of Pittsburgh สาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของชมรม Cap and Gown Club จนมีโอกาสได้เป็นผู้กำกับโปรดักชั่นละครเพลงอยู่หลายปี แล้วออกมาเปิดโรงเรียนสอนเต้นชื่อ The Gene Kelly Studio of the Dance กลายเป็นนักเต้นเต็มตัว และเริ่มมุ่งหน้าสู่วงการแสดง ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ Broadways ได้เซ็นสัญญาทาสกับ David O. Selznick มุ่งหน้าสู่ Hollywood ผลงานเรื่องแรก For Me and My Gal (1942) ประกบ Judy Garland ที่ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำอย่างมาก, เข้าชิง Oscar: Best Actor ครั้งแรกครั้งเดียวจาก Anchors Aweigh (1945), กลายเป็นตำนานกับ On the Town (1949), An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952) และ Invitation to the Dance (1956)

Kelly หาใช่นักแสดงที่เก่งกาจอะไร แต่เป็นนักเต้นที่มีความ innovate (ริเริ่มสร้างสรรค์/แปลกแนว) สูงมากๆ สไตล์ของเขาคือเน้นให้มีความเว่อๆอลังการเข้าไว้ ผสมผสานบัลเล่ต์เข้าไปในการเต้นรูปแบบปกติ (บ้างเรียกว่า Sport Dancing) ต้องถือว่าในช่วงทศวรรษ 40s – 50s นี่เป็นสิ่งแปลกใหม่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน แตกต่างจากลีลาเต้นคู่สุดพริ้วไหวของ Fred Astaire โดยสิ้นเชิง (ที่ก็ทำให้ Astaire ต้องปรับตัวเองพอสมควรเพื่อความอยู่รอด) ขณะที่การกำกับภาพยนตร์ถือเป็นความสามารถรองๆลงมา เพราะเคยร่วมงานกับผู้กำกับยอดฝีมือ อาทิ Vincente Minnelli, Stanley Donen ฯ ทำให้เรียนรู้จักแนวคิด วิธีการทำงาน สร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่แตกต่าง และสามารถนำสไตล์ความสนใจของตนเองใส่ลงไปได้ แต่ยังขาดวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้กำกับ ทำให้ขาดสันชาติญาณการแก้ปัญหาเอาตัวรอด ถือว่าไม่ใช่ผู้กำกับที่มีความโดดเด่นสักเท่าไหร่

ใน 7 สาขาของหนังที่ได้เข้าชิง Oscar ก็ไม่มี Best Director ให้กับ Gene Kelly นะครับ จะถือว่านี่คือจุดอ่อนที่สุดของหนังเลยก็ว่าได้

พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Ernest Lehman (1915 – 2005) นักเขียนสัญชาติอเมริกาชื่อดัง ผู้เข้าชิง Oscar ถึง 6 ครั้งแต่ไม่เคยได้รางวัลจน Academy ต้องมอบ Honorary Award ให้เมื่อปี 2001 ผลงานเด่นอาทิ Sabrina (1954), The King and I (1956), North by Northwest (1959), West Side Story (1961), The Sound of Music (1965), Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966) ฯ

พื้นหลังปี 1890 หม้ายสาวสุดสวย Dolly Levi (รับบทโดย Barbra Streisand) เดินทางสู่เมือง Yonkers เพื่อเป็นแม่สื่อหาคู่ให้กับเศรษฐีครึ่งล้าน (half-a-millionaire) Horace Vandergelder (รับบทโดย Walter Matthau) ซึ่งเธอได้นำพาหลานสาวกับแฟนหนุ่ม และสองเสมียนที่กำลังใคร่ครวญหาความรัก เดินทางสู่ New York City ไปด้วยกัน เพื่อเติมเต็มความฝันของพวกเขาและตนเอง

Barbara Joan ‘Barbra’ Streisand (เกิดปี 1942) นักร้องนักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถคว้า Emmy, Grammy, Oscar และ Tony Award (รวมถึง Emmy) ได้ครบทุกสถาบัน เกิดที่ Brooklyn ในครอบครัวชาว Jews แม่เป็นนักร้องเสียง Soprano จึงได้ลูกคอติดมา โตขึ้นเป็นนักร้อง นักแสดงละครเพลง Broadway ออกรายการโทรทัศน์ ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องแรก Funny Girl (1968) ดัดแปลงจากละครเพลง Broadway ที่เธอนำแสดงเอง กำกับโดย William Wyler สามารถคว้า Oscar: Best Actress ร่วมกับ Katherine Hepburn จากเรื่อง The Lion in Winter (เป็นหนึ่งใน 3 ครั้งเท่านั้นทีมีการมอบให้เสมอกัน), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Owl and the Pussycat (1971), The Way We Were (1973), A Star Is Born (1976), Nuts (1987), The Prince of Tides (1991), The Mirror Has Two Faces (1996) ฯ

รับบท Dolly Levi หญิงหม้ายที่จิตใจยังจมอยู่กับความทุกข์โศกหลังจากสูญเสียสามีไป สวมหน้ากากให้ยิ้มแย้มร่าเริงแจ่มใส ต้องการแบ่งปันความสุขในรักให้กับผู้อื่น ซึ่งหลังจากทรมานตัวเองมาสักพักใหญ่ ก็ค้นพบบุคคลที่หัวใจตนเองถามหา แต่จะทำอย่างไรให้ได้เขามาครอบครอง ก็ต้องเล่นตัวกันหน่อย ทำตัวเริดเชิดหยิ่งผยองหัวสูง สร้างโลกให้เต็มไปด้วยสีสัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เขารู้สึกมีชีวิตชีวาไปได้อย่างไร

ชุดทองเหลืองอร่ามนี้ออกแบบโดย Irene Sharaff สนราคา $8,000 เหรียญ น้ำหนัก 40 ปอนด์ (ประมาณ 18 กิโลกรัม) เดิมนั้นจะมีหางยาวติดด้านหลัง แต่เพราะระหว่างซักซ้อมเข้าฉาก Streisand สะดุดล้มหลายรอบ ทำให้ทีมงานตัดสินใจเอาออกเสียเลยดีกว่า

ใบหน้าของ Streisand มีมนต์เสน่ห์บางอย่างที่ชวนให้น่าหลงใหล หน้ายาว จมูกยาว ตาคม มีลักษณะเหมือนตุ๊กตาหน้าใสบริสุทธิ์ พอถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องทำผม ราวกับเจ้าหญิงออกมาจากเทพนิยาย เสียงร้องนั้นทรงพลังไร้ตำหนิ แค่การเต้นออกลีลาเว่อมากไปนิด แต่กระนั้นความลัลล้า บ้าบอคอแตก โหยหาในรักของเธอขโมยใจผมไปเต็มๆ

Walter Matthau (1920 – 2000) นักแสดง/ตลก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, New York ครอบครัวเป็นชาว Jews อพยพจาก Lithuanian เริ่มมีความสนใจด้านการแสดงหลังจากเข้าร่วมค่าย Tranquillity Camp ตั้งแต่เด็ก ทำให้ได้หัดเรียนการแสดง โตขึ้นเข้าร่วมละครเวที Yiddish Theatre District สงครามโลกครั้งที่ 2 สมัครเป็นทหารอากาศ ปลดประจำการออกมาเข้าเรียนต่อการแสดงที่ The New School จบออกมาเล่นละครเวที Broadway จนคว้ารางวัล Tony Award ตามด้วยภาพยนตร์โทรทัศน์ และรับบทตัวร้ายในหนังเรื่องแรก The Kentuckian (1955), ผลงานสร้างชื่อคือ Fail Safe (1964) กับ The Odd Couple (1965), คว้า Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง The Fortune Cookie (1966)

เกร็ด: Matthau เคยเป็นหนึ่งในพิธีกร (Host) งานประกาศรางวัล Oscar ถึงสองครั้งปี 1976 และ 1983

รับบท Horace Vandergelder เศรษฐีครึ่งล้าน สถานะโสด เปิดร้านขายของอยู่ที่เมือง Yonkers อาศัยอยู่กับหลานสาวและลูกน้องเสมียนสองคน วันหนึ่งครุ่นคิดตระหนักได้ว่า ชีวิตโสดมันช่างเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเดียวดายเสียเหลือเกิน จึงตัดสินใจใช้บริการของ Dolly Levi เพื่อหาคู่ครองให้กับตน(และหลานสาว) แต่กลับถูกเธอกลั่นแกล้งจนไม่หลงเหลือใคร แต่ก็ได้ฝากรอย(เท้า)ความประทับตราตรึงในใจ แท้จริงแล้วสิ่งที่เขาต้องการก็คือ …

เห็นว่า Matthau ไม่ชอบหน้า Streisand อย่างแรงกล้า เรียกเธอว่า ‘had no more talent than a butterfly’s fart’ ครั้งหนึ่งโต้เถียงกันอย่างรุนแรง จนไม่ยอมพูดคุยเข้าหาถ้าไม่เข้าร่วมฉากกัน เคมีของทั้งคู่เลยออกมาน้ำกับไฟแบบเด่นชัดเจนมากๆ กลายเป็นสุดยอดไปเลย เอาความเกลียดของตนเองถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ *-*

ถ่ายภาพโดย Harry Stradling Sr. (1901 – 1970) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกา ผลงานเด่นอาทิ Mr. & Mrs. Smith (1941), Suspicion (1941), The Picture of Dorian Gray (1945), A Streetcar Named Desire (1951), My Fair Lady (1964), Funny Girl (1968) ฯ

เหตุผลที่หนังใช้ทุนสร้างมหาศาล เพราะมีการสร้างฉาก New York City ขนาดเท่าของจริงขึ้นมาเป็นพื้นหลังที่ Malibu Ranch ด้วยขนาด 15 เอเคอร์ ประกอบด้วยตึก 60 หลัง ตัวประกอบประมาณ 5,000 คน พาเหรด 16 ขบวน ม้า 146 ตัว จุดบริการน้ำ 60 จุด ห้องน้ำ 17 ห้อง และสถานพยาบาลอีก 5 จุด ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายเฉพาะฉากนี้ $200,000 เหรียญต่อวัน (สงสัยกลัวเงินไม่ได้ถูกแจกจ่ายไปทั่ว ตามคำพูดของอดีตสามีนางเอก)

ด้วยเหตุนี้งานภาพจึงมีความโคตรอลังการ ด้วยกล้อง Todd-AO ขนาด 65 mm แลปสี DeLuxe ให้ความสวยคมสด เห็นลวดลายความละเอียดระดับวิจิตร และหลายช็อตทุ่มทุนใช้เฮลิคอปเตอร์เคลื่อนภาพถอยออก แล้วล่อยลองเหินเวหา เรียกว่าทุกเทคนิคที่มีความอลังการครุ่นคิดได้ในสมัยนั้น หนังเรื่องนี้จัดเต็มทุกกระเบียดนิ้ว

ตัดต่อโดย William H. Reynolds สัญชาติอเมริกา ผลงานเด่นอาทิ The Sound of Music (1965), The Godfather (1972), The Sting (1973) ฯ หนังใช้มุมมองของ Dolly Levi ในการเล่าเรื่อง แต่หลายครั้งจะนำเสนอก่อนหน้าที่เธอจะปรากฎตัว เหมือนเพื่อโหมโรงเกริ่นเรื่องราว ก่อนนางเอกตัวจริงจะปรากฎตัวออกมา

หนังมีความยาวถึง 148 นาที ความน่าเบื่ออยู่ที่แต่ละฉากมีความยืดยาว และจัดเต็มครบทุกเพลงไม่มีตัด ทำให้เรื่องราวดำเนินไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้าเกินไป, นี่น่าจะอ้างอิงมาจากการแสดงละครเพลง ที่มักเปลี่ยนฉากบ่อยๆไม่ได้ เลยต้องย่ำอยู่กับที่นานๆ ใช้เวลาอย่างกับซีนนั้นๆให้คุ้มค่า

เพลงประกอบได้ Jerry Herman ผู้แต่งเพลงจาก Broadway ช่วยเรียบเรียงและบันทึกเสียงให้ใหม่ตั้งแต่ก่อนการถ่ายทำ (pre-record) เว้นเพียง 2 เพลงที่เขียนขึ้นใหม่ใช้เฉพาะในหนังคือ Just Leave Everything to Me (เพลงนี้แต่งให้ Streisand โดยเฉพาะ) กับ Love Is Only Love

แต่กลายเป็นว่าบทเพลงแนะนำตัวละคร Just Leave Everything to Me คือ Flop แรกของหนังที่โดยส่วนตัวไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ มันดูเร่งๆรีบๆยังไงชอบกล หลุดคาแรคเตอร์ของ Dolly Levi

แต่ขณะที่ Love Is Only Love น่าจะคือบทเพลงไพเราะสุดในหนัง ด้วยอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของ Dolly Levi ได้พบเจอชายคนที่ตนไขว่คว้าค้นหา คงใกล้ถึงเวลาที่จะปลดปล่อยตนเองจากพันธการความรักของสามีเก่า เริ่มต้นกลับมามีความสุขจากใจอีกครั้ง

เสียงร้องของ Streisand โหยหวนสั่นสะท้านไปถึงทรวงเลย ชวนให้นึกถึง Judy Garland สมัยขับร้อง Have Yourself a Merry Little Christmas เรื่อง Meet Me in St. Louis (1944) [ก็ว่านะ ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้รับเลือกให้แสดงในหนัง A Star Is Born ฉบับปี 1976]

เมื่อปี 1964 ขณะที่วง The Beatles กำลังครองเมือง 14 สัปดาห์รวด 3 เพลงติดๆ (I Want To Hold Your Hand, She Loves You, Can’t Buy My Love) มีบทเพลงชื่อ Hello, Dolly! ฉบับขับร้องโดย Louis Armstrong สามารถไต่ขึ้นติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Top 100 ได้สำเร็จ

เดิมนั้นขับร้องโดย Carol Channing (นักแสดงชุดแรกของ Broadway) แต่งโดย Jerry Herman แต่พอผู้จัดการของ Louis Armstrong ร้องขอให้เขาขับร้องเพื่อโปรโมท กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ละครเพลงเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ อัลบัมขายดีเป็นเทน้ำเทท่าระดับ Gold Record (เกิน 500,000 แผ่น) แถมคว้ารางวัล Grammy Award: Song of the Year และ Best Vocal Performance, Male

มีหรือจะพลาดไม่นำ Armstrong มารับเชิญในหนัง ใช้เวลาเพียงครึ่งวันถ่ายทำเทคเดียวผ่าน บันทึกเสียงสดร้องรับกับ Barbra Streisand เข้ากันได้อย่างสุดมหัศจรรย์ (เห็นว่าไม่ได้เตี๊ยมอะไรกันด้วยนะ มาถึงก็ร้องเลย), แต่ผมขอนำต้นฉบับแท้ๆเลยมาให้รับฟังกันดีกว่า

เกร็ด: นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Louis Armstrong

ออกแบบท่าเต้นโดย Michael Kidd นัก Choreographer ชื่อดังในตำนาน, จริงๆแล้ว Gene Kelly จะออกแบบท่าเต้นเองก็ได้ แต่ขอความช่วยเหลือจาก Kidd ที่มีพลังความสร้างสรรค์โดดเด่นมากกว่าตน เพื่อจะได้เอาสมองไปครุ่นคิดกับการกำกับมากกว่า กระนั้นทั้งคู่ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างการถ่ายทำ ผลลัพท์คือ Kidd นำสไตล์จากยุคทองของ Kelly มาปรับใช้ในหนังมากกว่าจะมีลายเซ็นต์ของตนเอง ด้วยท่าเต้นที่ออกลีลากว้าง ใช้พื้นที่อย่างมาก และมีจังหวะสุดเร้าใจ

นิยามความรักของ Dolly Levi คือการโปรยทาน เผื่อแผ่ความสุขไปให้ทั่วผืนปฐพี ส่งมอบความหวัง ความฝัน สู่บุคคลที่ตกหลุมใหลต้องการความรัก ให้ได้พบเจอสิ่งล้ำค่าสุดในชีวิต, แต่เพราะการที่หญิงสาวเพิ่งจะพบเจอความทุกข์หนักอกจากสามีที่เสียชีวิต มันคล้ายกับวิธีการลงโทษทำร้ายตัวเอง ให้เห็นผู้อื่นมีความสุขก็ต้องอดรนฝืนทน จนกว่าจะถึงเวลาที่ฉันจะกลายเป็นอิสระจากพันธการ เมื่อนั้นจะกอบโกยตักตวงหาผลประโยชน์ทุกความสุขกลับคืนสู่ตน

ว่าไปเรื่องราวของหนังนี้มีลักษณะ ‘ผู้หญิงจีบผู้ชาย’ สังเกตว่าไม่มีหนุ่มหล่อ ชายหน้าตาดี มีแต่แก่รวย/ซื่อบื้อ/ความสูงเกิน/เด็กไร้เดียงสา หาได้มีความปกติธรรมดาไม่ ผิดกลับหญิงสาวที่ต่างสวย รวย น่ารัก (ไฮโซ) น่าหลงใหลทั้งนั้น สงสัยผู้แต่งบทละครเรื่องนี้คงจะ ‘ผิดหวังในรัก’ อย่างรุนแรง เลยต้องการสร้างเรื่องราวที่จะพูดบอกสาวๆว่า ใช่ว่าผู้ชายทุกคนจะดีเลิศประเสริฐศรี ต่างต้องมีตำหนิข้อบกพร่องกันทั้งนั้น

เช่นกันกับผู้ชายหน้าตาธรรมดาทั่วไป ไม่ได้หล่อเหลา ขาดความเร้าใจ มั่นในตัวเอง หรือผมหงอกขึ้นหัวแล้ว ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสพบเจอความรักกับหญิงสาวสุดสวย ชีวิตมนุษย์เรา อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แค่อย่าปิดกั้นดูถูกตัวเอง กล้าออกมาเผชิญโลกกว้าง โอกาสมีอยู่ทุกหนแห่งสำหรับทุกคนที่ต้องการไขว่คว้า

ผมว่ามันคือปาฏิหารย์เลยนะกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนจบ น้ำกับไฟ/น้ำกับน้ำมัน สองสิ่งที่เข้ากันไม่ได้แต่กลับเติมเต็มซึ่งกันและกัน ใครก็ตามที่ได้พบเจอคู่แบบนี้ ชีวิตมักมีความสุขกระสันต์ รักแท้ที่สามารถพึ่งพาร่วมด้วยช่วยกัน คงไม่ค่อยพบเจอความน่าเบื่อหน่ายเสียเท่าไหร่ เว้นแต่ถ้าต่างกันมากจนเกินไป ต้องระวังให้มากเพราะมีโอกาสแบ่งแยกจาก ทางใครทางมันได้เช่นกัน

ทุนสร้างตั้งต้นของหนังคือ $20 ล้านเหรียญ ใช้เวลาถ่ายทำเกินไปวันเดียวเท่านั้น แต่ก็หมดค่าประชาสัมพันธ์และเพิ่มเติมส่วนต้องจ่ายให้กับโปรดิวเซอร์ของ Broadway รวมแล้วใช้เงินสูงถึง $25 ล้านเหรียญ (ปี 2015 =$164 ล้านเหรียญ) เป็นรองเพียง Cleopatra (1963) ที่ใช้งบประมาณ $31.1 ล้านเหรียญ

ตอนออกฉายสัปดาห์แรก เห็นว่าทำเงินสูงกว่า The Sound of Music เสียอีก แต่เสียงตอนรับไม่ค่อยดีมากจนสุดท้ายทำเงินในอเมริกาได้เพียง $33.2 ล้านเหรียญ สูงอันดับ 4 แห่งปี แต่ถือว่าขาดทุนย่อยยับ

เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 3 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture (เรื่องชนะปีนี้คือ Midnight Cowboy)
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Music, Score of a Musical Picture (Original or Adaptation) ** คว้ารางวัล

ประเด็นหลักๆที่ทำให้หนังเจ๊ง ขาดทุนย่อยยับ คือมันไม่สนุกอ่ะครับ ขาดความกลมกล่อมที่ลงตัว ซึ่งถ้าสังเกตจาก 6 ใน 7 สาขาเข้าชิง Oscar เป็นด้านโปรดักชั่นและเทคนิค จุดนี้ต้องยอมรับเลยว่ามีความสมควรอย่างยิ่ง เพราะการรวบรวมทีมงานยอดฝีมือระดับแนวหน้าหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน แต่การนำมาผสมคลุกเคล้ารวมตัวให้เข้ากัน มันเป็นหน้าที่ของคนๆหนึ่ง ผู้กำกับภาพยนตร์ แต่เพราะความสามารถและวิสัยทัศน์ที่มีไม่มากถึงเพียงพอ มันก็เลยทำให้ทุกอย่างขาดความลงตัว ไม่สามารถกลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้!

ความล้มเหลวของหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดหนังเพลงทุนสูง (จากยุค Classic) โดยทันที ไม่มีสตูดิโอไหนอีกแล้ว -โดยเฉพาะ Fox- ต้องการสร้างหนังแนว Musical อีกต่อไป แต่อีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ Cabaret (1972) และ All That Jazz (1979) จะเปิดประตูบานใหม่ของหนังเพลง ที่แตกต่างไปจากเดิม

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แม้จะมีอะไรหลายๆอย่างสวยงามยิ่งใหญ่อลังตระการตา แต่ปัญหาใหญ่สุดๆเลยคือ Gene Kelly กำกับหนัง ควบคุมงานสร้างขนาดใหญ่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าสร้างภาพยนตร์เป็น

แต่ก็ไม่ถึงขั้นต่อต้านรับไม่ได้ เพราะมันมีสิ่งหนึ่ง ภาพเกิดขึ้นในหัวจากการได้เห็นตุ๊กตาบาร์บี้ Streisand และเสียงร้องอันทรงพลังเธอ ทำให้ผมหวนนึกถึง Judy Garland ราวกับว่าเป็นตัวตายตัวแทนกันจริงๆเลยละ นี่เป็นสิ่งประทับใจเหลือล้นให้ไม่รู้สึกเสียเวลาทนรับชมหนังเรื่องนี้จนจบได้

แนะนำกับคอหนัง Musical ชื่นชอบความยิ่งใหญ่อลังการ เพลงประกอบเพราะๆ เรื่องราวโรแมนติกกุ๊กกิ๊ก ชื่นชอบ Gene Kelly, Barbra Streisand ไม่ควรพลาด

จัดเรตทั่วไป ไร้ซึ่งพิษภัย

TAGLINE | “Hello Dolly! ยิ่งใหญ่อลังการ ทะเยอทะยาน แต่ไร้ซึ่งเป้าหมายให้เอื้อมไขว่คว้า ยกเว้น Barbra Streisand ขับร้องประสาน Louis Armstrong ได้อย่างแขนแข็ง”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

The Blue Max (1966)


The Blue Max

The Blue Max (1966) British : John Guillermin ♥♥♥♡

Pour le Mérite หรือ The Blue Max คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดของประเทศ Prussia/Germany มอบให้กับทหารหรือพลเรือนที่ทำความชอบในการสงครามปกป้องประเทศชาติ สำหรับทหารอากาศจะได้รับก็ต่อเมื่อสามารถยิงเครื่องบินศัตรูตก 20 ลำ แต่นั่นใช่สิ่งที่ควรใฝ่ฝันไขว่คว้ามาครอบครองหรือเปล่า, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถ้าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคสมัยสงครามใหญ่ WW1 หรือ WW2 การันตีว่าต้องโดนแบน ห้ามฉาย ถูกทำลายทิ้งอย่างแน่นอน เพราะช่วงเวลาขณะนั้นมีหรือรัฐบาล ผู้ปกครองประเทศไหนๆ จะยินยอมอนุญาติให้ภาพยนตร์แนวต่อต้านสงคราม มีอิทธิพลบทบาทเหนือความคิดของผู้คน

แต่เพราะหนังสร้างขึ้นในยุคสมัยสงครามเย็น คอมมิวนิสต์กำลังแพร่ขยายอิทธิพล อเมริกาเตรียมพร้อมรอรบกับเวียดนาม ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเต็มขยาดกับสงครามใหญ่ ไม่มีใครต้องการให้มันหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกในเร็ววัน การมาถึงของ The Blue Max ถือว่าถูกที่ถูกเวลา เหมาะสมกับโอกาส นำเสนอแนวคิดการเข่นฆ่าผู้อื่นเพื่อความยิ่งใหญ่ หรือต้องการเป็นวีรบุรุษ มันไม่ได้มีคุณค่าอะไรทั้งนั้น เรียกว่าโลกขณะนั้นหมดสิ้นค่านิยมนี้ลงแล้ว

บอกเลยว่าผมขนลุกขนพองกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนจบของหนัง ทั้งๆที่พระเอกในมุมหนึ่งถือว่าคือวีรบุรุษ/ฮีโร่ของชาติ กลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ แต่เพื่อการตัดตอนขายผ้าเอาหน้ารอดของท่านผู้มีอำนาจ โอ้! มันช่างบัดซบประไร เป็นการตอกย้ำคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่งที่เข้าร่วมสงคราม ต่อให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ Ace Pilot เก่งกาจมากแค่ไหน ก็เพียงเบี้ยตัวหนึ่งในตารางหมาก ได้รับการส่งเสริมก็มีค่า หมดสิ้นสูญศรัทธาทำให้เสียหน้าก็…โยนทิ้งขว้าง

สร้างโดย John Guillermin (1925 – 2015) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ ขึ้นชื่อเรื่องหนังทุนสูย Action, Adventure เกิดที่กรุง London โตขึ้นเข้าเรียน University of Cambridge แต่ลาออกมาสมัครเป็นทหารอากาศ Royal Air Force (R.A.F) หลังออกมาผันตัวทำงานสายภาพยนตร์ เริ่มจากเรียนรู้สร้างสารคดีที่ฝรั่งเศสอยู่หลายปี กลับสู่ London ร่วมกับ Robert Jordan Hill ก่อตั้งสตูดิโอเล็กๆ กำกับหนังร่วมกันเรื่อง High Jinks in Society (1949) มีชื่อเสียงจาก Town of Trial (1957), The Whole Truth (1958), Tarzan’s Greatest Adventure (1959), Never Let Go (1960) ฯ ได้มีโอกาสรู้จักกับ Darryl F. Zanuck ทำให้ได้สร้างหนัง Hollywood โด่งดังสุดกับ The Towering Inferno (1954), The Bridge at Remagen (1959), The Blue Max (1966), King Kong (1976), Death on the Nile (1978) ฯ

หลังความสำเร็จของ Those Magnificent Men in their Flying Machines (1965) และความที่ตัวเองเคยเป็นทหารอากาศ จึงเกิดความสนใจสร้างภาพยนตร์แนวนี้ ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน แต่งโดย Jack D. Hunter (1921 – 2009) นักเขียนสัญชาติอเมริกา พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Ben Barzman กับ Basilio Franchina

เกร็ด: Hunter เขียนนิยายภาคต่ออีก 2 เล่ม กลายเป็น Bruno Stachel Series ประกอบด้วย The Blue Max (1964), The Blood Order (1979) และ The Tin Cravat (1981)

เรื่องราวมีพื้นหลังเริ่มต้นปี ค.ศ. 1916 ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเล็กน้อย, Corporal Bruno Stachel (รับบทโดย George Peppard) นายทหารของ German ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังเอาตัวรอดจากสนามรบภาคพื้นดิน ตัดสินใจสมัครเป็นทหารอาการ Deutsche Luftstreitkräfte (German Army Air Service) โดยมีเป้าหมายเพื่อประดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max มีทั้งคนที่ส่งเสริมเห็นชอบด้วย General Count von Klugermann (รับบทโดย James Mason) และคนที่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง Hauptmann Otto Heidemann (รับบทโดย Karl Michael Vogler) เขาจึงต้องการพิสูจน์ตัวเอง ให้ได้รับการยอมรับจาก Willi von Klugermann (รับบทโดย Jeremy Kemp) นักบินคนล่าสุดที่เพิ่งระดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max

เกร็ด: Pour le Mérite หรือ The Blue Max ริเริ่มมอบโดย King Frederick II แห่ง Prussia ตั้งแต่ปี 1740 ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดมอบให้ทั้งทหารและพลเรือน ผู้กระทำความดีความชอบให้ Kingdom of Prussia ต่อเนื่องมากับ German Empire ปัจจุบันไม่ได้มีการมอบอีกแล้ว (เพราะไม่มีสงครามใหญ่) คนสุดท้ายที่ได้รับคือพลเรือน Ernst Jünger เสียชีวิตปี 1998

เห็นว่านิยายกับภาพยนตร์มีความแตกต่างกันพอสมควร น่าจะระดับใจความสำคัญเลยละ เพียงนำเอาพื้นหลัง ชื่อตัวละคร และเรื่องราวมาปรับใช้เท่านั้น, และในเรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียน Hunter ครั้งหนึ่งได้ไปเยี่ยมเยือนกองถ่าย เห็นงานสร้างที่เกิดขึ้นแล้วก็ส่ายหัว แค่ดูเหมือนแต่ขาดความสมจริงโดยสิ้นเชิง

George Peppard (1928 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan หลายคนอาจจดจำได้จากการประกอบ Audrey Hepburn เรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961) นอกจากนี้ Home from the Hill (1960), How the West Was Won (1962), The Carpetbaggers (1964), ซีรีย์ The A-Team (1983-1987)

รับบท Corporal Bruno Stachel เจ้าของฉายา Cobra เกิดในครอบครัว Middle Class แต่หลังจากได้เป็นนักบิน มองตัวเองเป็นคนชั้นสูง (aristocratic) มีความเย่อหยิ่งทะนงตน หัวสูง ชอบท้าทาย แข่งขัน เพื่อเป้าหมายพิสูจน์ตัวเองให้ได้การยอมรับ จึงพร้อมเสียสละกระทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนเรื่องคุณธรรมมโนธรรม แม้ต้องโกหกหลอกหลวงเพื่อให้ได้มาครอบครองก็ตาม

ในนิยายตัว Stachel อายุ 19 ปีเท่านั้น แต่ Peppard ขณะเล่นหนังอายุย่าง 37 แม้ดูเกินวัยไปมากแต่ก็แลกกับภาพลักษณ์ของตัวละครมีความ ‘authentic’ น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง

เกร็ด: Stachel ภาษา German แปลว่า sting, การต่อย, เหล็กในผึ้ง

ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงของ Peppard ราวกับตัวจริงเขาก็เป็นคนแบบนี้ เย่อหยิ่ง ทะนงตน มองตัวเองสูงส่งกว่าผู้อื่น แต่ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่ทุ่มเทเพื่อบทบาทมาก ลงทุนเรียนขับเครื่องบินก่อนหน้าถ่ายทำถึง 4 เดือน 210 ชั่วโมงการบิน และบินเดี่ยว 130 ชั่วโมง แต่กลับไม่มีสักช็อตที่เขาบินด้วยตนเองปรากฎขึ้นในหนัง (ฉากใน Cockpit ถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด)

James Neville Mason (1909 – 1984) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Huddersfield, West Riding of Yorkshire เข้าเรียนเป็นสถาปนิกที่ Peterhouse, Cambridge เวลาว่างๆไปรับงานแสดงเป็นตัวประกอบในโรงละครเวทีใกล้บ้าน จนกระทั่งไปเข้าตาผู้กำกับ Alexander Korda ชักชวนให้มารับบทเล็กๆใน The Private Life of Don Juan (1933) แต่แค่สามวันก็ตัดฉากเขาทิ้งทั้งหมด กระนั้นก็ทำให้ได้รับโอกาสแสดงในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Man in Grey (1943), The Wicked Lady (1945), Hatter’s Castle (1942), The Seventh Veil (1945), Odd Man Out (1947) โด่งดังระดับนานาชาติกับ Julius Caesar (1953), A Star Is Born (1954), North by Northwest (1959), Lolita (1962), The Verdict (1982) ฯ

รับบท General Count von Klugermann นายพลคนชั้นสูงที่สนแต่ภาพลักษณ์ หน้าตา ชื่อเสียงของตนเอง ถือว่าเป็นคนคอรัปชั่น เพราะมีอำนาจควบคุมสั่งการทุกสิ่งอย่างได้ จึงพร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างเลือดเย็น

Mason ที่เหมือนจะไม่มีบทบาทอะไรมากในหนัง แต่กลับแย่งซีนโดดเด่นช่วงท้ายไปเต็มๆ กับการตัดสินใจกระทำบางอย่างเลือดเย็น เรียกว่าสะท้อนตัวตนของกลุ่มผู้นำประเทศ ที่สนแต่ตนเอง คดโกงกินคอรัปชั่น ดั่งกระแสน้ำนิ่งๆด้านบน แต่ภายใต้ปั่นป่วนคลื่นแรงบ้าคลั่ง

เชื่อว่าหนุ่มๆหลายคนคงหลงใหลหลั่งคลั่ง กับผ้าเช็ดตัวผืนน้อยที่บดบังเต้าปทุมถันถ์ของ Ursula Andress (เกิดปี 1936) นักแสดงสัญชาติ Swiss สาว Bond Girl คนแรก Honey Ryder ภาค Dr. No (1962) ความเซ็กซี่เย้ายวนของเธอยังคงเปร่งปรั่ง รับบท Countess Kaeti von Klugermann หลานสาวคนรักของ Willi ที่ Stachel สามารถแก่งแย่งมาครอบครองได้, ไฮไลท์ของตัวละครคือช่วงท้ายเช่นกัน การแสดงออกซึ่งความอิจฉาริษยา เรียกว่าเป็นผลกรรมของ Stachel ที่ได้แก่งแย่งชิงเธอมา ทำให้ต้องใช้ชีวิตและชีวิต

Jeremy Kemp (1935) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ที่มักมีผลงานซีรีย์เสียมากกว่า รับบทสมทบหนังอย่าง Operation Crossbow (1965), A Bridge Too Far (1977), Top Secret! (1984) ฯ รับบท Leutnant Willi von Klugermann นักบินคนล่าสุดที่เพิ่งระดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max ด้วยฐานะทางสังคมเป็นคนชั้นสูง ทำให้ Stachel เกิดความอิจฉาริษยา ต้องการท้าพิสูจน์ตนเอง แต่ไม่เคยได้รับการยอมรับใดๆ ทั้งบนเตียงและชีวิตจริง, Kemp ถือเป็นดาราหน้าใหม่ในวงการขณะนั้น บทบาทนี้ทำให้ได้รับการจับตามองอย่างสูง เข้าชิง BAFTA Award: Most Promising Newcomer to Leading Film Roles แต่สุดท้ายก็ค่อยๆเจือจางหายไป

Karl Michael Vogler (1928 – 2009) นักแสดงสัญชาติเยอรมันที่มักได้รับบทสมทบ อาทิ Bekenntnisse eines möblierten Herrn (1963), Paarungen (1967), Downhill Racer (1969), Patton (1970) ฯ รับบท Hauptmann Otto Heidemann เจ้าหน้าที่ระดับสูง (Commanding Officer) ผู้มีความเชื่อมั่นในคุณธรรมมโนธรรม กฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสงคราม ไม่ได้ต้องการฮีโร่ที่มีความเห็นแก่ตัว แต่เข้าใจคุณค่าของชีวิตมนุษย์, การแสดงของ Vogler ไม่มีอะไรน่าพูดถึงนักนอกจากความดื้อด้าน เชื่อมั่นในอุดมการณ์หัวชนฝา คนส่วนใหญ่คงไม่ชอบตัวละครนี้ แต่ไม่มีใครบอกว่าเขาคิดผิดแน่

ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe ตากล้องสัญชาติอังกฤษ โด่งดังกับผลงานไตรภาค Raiders of the Lost Ark (1981) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Guns at Batasi (1965), The Lion in Winter (1969), Travels with My Aunt (1972), The Great Gatsby (1975), Julia (1977) ฯ

หนังได้รับการยกย่องว่ามีฉากต่อสู้ทางอากาศ (Dogfight Scene) ที่ตื่นเต้น ลุ้นระทึกสุดในโลก ติดตั้งกล้องหลายจุดบนเครื่องบิน ถ่ายเห็น Point-Of-View ขณะกำลังยิง, ควันพวยพุ่งออกมาหลังถูกยิง, โฉบเฉี่ยวใกล้ฝูงบิน/ต้อนฝูงแกะ, ไฮไลท์คือบินลอดใต้สะพาน (ขับเครื่องบินจริงๆลอดผ่านนะครับ)

เทียบกับ Wing (1927) หรือ Hell’s Angel (1930) ต้องชมเลยว่าหนังเรื่องนี้เหนือกว่าพอสมควร คงเพราะเทคโนโลยีการถ่ายภาพและเทคนิคของภาพยนตร์ก้าวล้ำไปไกล มันเลยมีความสมจริงจับต้องได้มากกว่า ในรูปแบบที่ไม่ใช้ CG เว่ออลังการเหมือนปัจจุบัน

(จริงอยู่ที่ Dogfight ของหนังอย่าง Star Wars ปัจจุบันย่อมเหนือชั้นกว่ามาก แต่มันฉวัดเฉวียวเว่อแบบเกินจริงไปมาก ให้อารมณ์ตื่นเต้นสนุกสนานลุ้นระทึก แต่จับต้องไม่ได้เสียเท่าไหร่)

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในประเทศ Ireland ยกเว้นฉากใน Berlin ถ่ายทำที่กรุง Dublin, สำหรับเครื่องบินสร้างขึ้นใหม่หมด ภายนอกคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของยุคสมัยนั้น ส่วนเครื่องยนต์เป็นของใหม่หมดเพื่อลดความเสี่ยงในอุบัติเหตุ (แต่การนำเครื่องบินโมเดลเก่าๆขึ้นบิน ก็มีความเสี่ยงสูงอยู่)

สำหรับเครื่อง Death-Trap (ในนิยายใช้ชื่อ Adler แปลว่า Eagle) ที่เป็น monoplane ลำสุดท้ายของหนังมีจริงในประวัติศาสตร์นะครับ รับแรงบันดาลใจจาก Fokker E.V. สร้างโดยกองทัพ German โด่งดังมากเพราะคร่าชีวิตนักบินเก่งๆไปหลายคน จากโครงสร้างปีกทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างมาก มีการออกแบบใหม่หลายรุ่นกว่าจะเสถียรจนได้เป็น  Fokker D.VIII

จะมีอยู่ 2-3 ครั้งในหนังที่อยู่ดีๆ ภาพถ่ายจะหมุนเอียงกระเทเร่ (Dutch Angle) มักเกิดขณะมีเหตุการณ์บางอย่างกระทบกระทั่งกับอารมณ์ของตัวละครอย่างรุนแรง เช่น ตอน Countess บอกเลิกกับ Bruno, หรือตอน Death Trap ตกพื้น ฯ

ตัดต่อโดย Max Benedict สัญชาติ Austrian ใช้มุมมองของ Bruno Stachel ตลอดแทบทั้งเรื่อง เว้นแต่ช่วงท้ายที่เป็นในสายตาของ General Count von Klugermann

จุดเด่นของฉากต่อสู้ทางอากาศ (Dogfight Scene) คือการตัดต่อที่ใช้เทคนิค Montage ตัดสลับไปมาระหว่างนักบินที่นั่งอยู่ใน Cockpit กับภาพที่พวกเขามองเห็น หลายครั้งมีการส่งสัญญาณมือสื่อสาร (สมัยนั้นยังไม่มีวิทยุสื่อสารไร้สายติดในเครื่องบิน) ช็อต POV ถ่ายเห็นขณะปืนกำลังยิงศัตรู หรือภาพเครื่องบินหมุนขณะกำลังตก

สำหรับฉากจบของหนัง การเปลี่ยนมาเป็นมุมมองสายตาของ General Count von Klugermann มีความน่าสนเท่ห์ไม่น้อย เพราะเมื่อบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้มีอำนาจสูงสุดจำต้องคิดตัดสินใจ กระทำการบางอย่างด้วยตนเอง นี่เป็นการยกระดับของเรื่องราวจากมุมมองของ Bruno Stachel ที่แทนด้วยนายทหารระดับปฏิบัติการ สู่นายพลระดับบัญชาการ/ผู้สั่งการ สะท้อนถึงการสงครามไม่ว่าผู้เข้าร่วมจะระดับไหน ต่างมีความคอรัปชั่นในแนวคิดอุดมการณ์ไม่แตกต่างกัน (พวกที่ยกย่องเชิดชูสงคราม เห็นชีวิตคนเหมือนผักปลา ต่างเห็นผิดเป็นชอบทั้งนั้น)

สำหรับเพลงประกอบ ในตอนแรกติดต่อ Ron Goodwin แต่ได้ถอนตัวไป กลายเป็น Jerry Goldsmith สัญชาติอเมริกัน ที่พอได้ยินโปรดิวเซอร์เปิดบทเพลง Richard Strauss: Also Sprach Zarathustra ร้องขอต้องการความยิ่งใหญ่ให้ได้แบบนี้ ทำเอาหน้าซีดแต่ก็ยินยอมรับคำท้า

“I admit it worked fairly well but my first reaction was to get up and walk away from the job. Once you’ve heard music like that with the picture, it makes your own scoring more difficult to arrive at.”

เกร็ด: หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นก่อน Stanley Kubrick นำ Also Sprach Zarathustra ไปใช้เป็นเพลงเปิด 2001: A Space Odyssey (1968)

ถ้าคุณเป็นขาประจำของ Jerry Goldsmith น่าจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความคล้ายคลึงในสไตล์ดนตรีได้เป็นอย่างดี เน้นเครื่องเป่าที่มีเสียงแหลม พริ้วไหวไล่ตัวโน๊ตราวกับสายลม, กับหนังเรื่องนี้เพื่อความยิ่งใหญ่อลังการ ว่านักดนตรีกว่า 100 คน จัดเต็มเน้นเครื่องเป่าลม ขนาดว่าต้องใช้บริการของ National Philharmonic Orchestra กำกับวงโดย Sidney Sax บันทึกเสียงที่ Shepperton Studios, London

Main Title ให้สัมผัสของความยิ่งใหญ่ทรงพลัง โลกที่แสนกว้างใหญ่ ผืนแผ่นท้องฟ้าสุดลูกหูลูกตา ล่องลอยกลางเวหา โบยบินอย่างอิสระไร้ข้อจำกัด

บทเพลง The Attack เริ่มต้นจากเสียงรัวกลอง ราวกับการ March กรีธาเข้าสู่สนามรบ เมื่อทุกอย่างพร้อมเพรียงดนตรีจะเปลี่ยนไปเป็นเผชิญหน้าประจันบาน, บทเพลงนี้จะไม่เน้นความสับสนวุ่นวายอลม่านนัก แต่เน้นสร้างบรรยากาศให้สัมผัสที่โฉบเฉี่ยว ตื่นเต้น ลุ้นระทึกนัก

Sound Effect มีความโดดเด่นพอสมควร โดยเฉพาะเสียงเครื่องบิน แม้จะไม่ได้มีความหลากหลายมากนัก แต่สามารถบ่งบอกสถานะของภาพที่เห็นบนจอได้ เช่นว่า ยังบินได้อยู่ ถูกยิงหรือกำลังจะตก ฯ เพิ่มความสมจริงให้กับหนังได้อย่างพอสมควร (แต่ก็น่าสงสัยว่านั่นเสียงของเครื่องบินรุ่นนั้นๆจริงไหมนะครับ มันเหมือน Stock Sound มากกว่า)

ยุคสมัยเคลื่อนผ่าน แนวคิด ทัศนคติ อุดมการณ์ของคนก็เปลี่ยน นี่คือสัจธรรมความจริงหนึ่งของโลก ไม่มีอะไรยิ่งยืนยงคงอยู่ตลอดกาล, กับหนังเรื่องนี้พูดถึง ‘วีรบุรุษสงคราม’ ในสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง การเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตของศัตรู คือเป้าหมายสูงสุดแห่งชัยชนะ ทำการยกย่องเชิดชูฮีโร่ ทำให้ผู้คนเกิดความหึกเหิมมีกำลังใจ ภาคภูมิใจกับสิ่งที่กระทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น Great Depression ทำให้ผู้คนรับรู้สึกตัว ตื่นขึ้นจากความโง่เขลา ค้นพบว่าสงครามมันคือความบ้าคลั่งไร้สาระเสียสติ ทรัพย์สินบ้านเรือนที่สูญเสียไปยังเทียบไม่ได้กับชีวิตคน ลูกหลาน

The Blue Max เป็นหนังที่ไม่ได้เชิดชูวีรบุรุษ ยกย่องการเกิดขึ้นของสงคราม ตรงกันข้ามคือต่อต้านสุดขีด Anti-War ใช้สองตัวละครเป็นตัวเปรียบเทียบในสองระดับ
– Bruno Stachel (ระดับปฏิบัติการ) นักบินที่มีความกระหายในชัยชนะ ต้องการเป็นวีรบุรุษ ประดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max
– General Count von Klugermann (ระดับบัญชาการ) ผู้นำที่กระหายชัยชนะ ความยิ่งใหญ่ ปากอ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ แต่จริงๆแล้วเพื่อชื่อเสียง หน้าตาของตัวเองล้วนๆ

คงเพราะมันมีผลพวงข้อดีของการได้เป็นวีรบุรุษ ทำให้ใครๆต่างแสวงหา วาดฝัน ไขว่คว้า, เป้าหมายของ Stachel คือการยกระดับฐานะทางสังคมของตัวเอง เพราะครอบครัวพื้นหลังเป็นเพียงคนชนชั้นกลาง ไม่ได้มีบทบาทหน้าตาชื่อเสียงใดๆ ถ้าฉันสามารถกลายเป็นวีรบุรุษที่ใครๆต่างรู้จัก นับหน้าถือตาได้รับการยอมรับ เมื่อนั้นก็ราวกับได้กลายเป็นคนชนชั้นสูงโดยสง่างาม สามารถกระทำอะไรก็ได้ตามความต้องการ จีบสาว… Countess ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

แต่หนังยังลึกล้ำไปกว่านั้น เพราะเมื่อ Stachel กำลังจะได้ประดับเหรียญเกียรติยศสูงสุด The Blue Max และการันตีเป็นหนูตกถังข้าวสาร แต่กลับบอกปัดคำร้องขอของ Countess เลือกเดินตามอุดมการณ์ความเพ้อฝันทะเยอทะยาน นี่ผมก็ไม่รู้แล้วนะว่าเขาคาดหวังอะไรเหนือไปกว่านี้ ทั้งๆไม่หลงเหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์แล้ว ถึงจุดสูงสุดเป้าหมายของชีวิต นี่สะท้อนตัวตนของมนุษย์ที่ ‘ไม่รู้จักพอ’ ผลลัพท์ก็คือ …

ด้วยทุนสร้าง $5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ทั่วโลก $16.1 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จอย่างสูง, ในประเทศอังกฤษ เข้าชิง BAFTA Award 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best British Cinematography (Colour)
– Best British Art Direction (Colour) ** ได้รางวัล
– Best British Costume (Colour)
– Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Jeremy Kemp)

เกร็ด: Peter Jackson ยกย่องหนังเรื่องนี้คือ 1 ใน 6 หนังสงคราม WW1 ที่ชื่นชอบสุด [อีก 5 เรื่องประกอบด้วย All Quiet on the Western Front (1930), Paths of Glory (1957), Lawrence of Arabia (1962), Gallipoli (1981), Beneath Hill 60 (2010)]

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากพอสมควรเลยละ ประทับใจในแนวคิดของต่อต้านสงคราม สะท้อนความหมายของฮีโร่ ‘วีรบุรุษต้องแลกมากับอะไร’ เสียดสีแสบลึกไปถึงทรวง และฉากต่อสู้ทางอากาศ (Dogfight Scene) มีความตราตรึง ลุ้นระทึกมากๆ

แนะนำกับคอหนังต่อต้านสงคราม, ชื่นชอบเครื่องบิน, สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1, แฟนๆนักแสดง George Peppard, James Mason ไม่ควรพลาด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แล้วตั้งคำถามให้กับตนเองให้ได้ สงครามคืออะไร? วีรบุรุษคืออะไร? มันมีเกียรติยศอะไรในการสังหารผู้อื่น? เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วคุณจะพบเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในโลกคือ ‘ชีวิต’

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมความเย่อหยิ่งผยอง เห็นแก่ตัว และการตายแบบไร้ค่า

TAGLINE | “The Blue Max สะท้อนเสียดสีต่อต้านวีรบุรุษสงคราม ได้อย่างเจ็บแสบลึกลึกถึงทรวง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Topkapi (1964)


Topkapi

Topkapi (1964) hollywood : Jules Dassin ♥♥♥♥♡

จากยุคสมัย Film Noir พัฒนาต่อยอดมาเป็น Heist Film เริ่มต้นจากผู้กำกับ Jules Dassin ซึ่ง Topkapi ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญของแนวนี้ ทำให้ Peter Ustinov คว้า Oscar ตัวที่สอง, แรงบันดาลใจฉากห้อยโหนตัวไม่แตะพื้นของ Mission Impossible, และเป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับ Christopher Nolan

Heist Film หนึ่งใน Sub-genre ของ Crime Film มักเป็นเรื่องราวของกลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมาย มุ่งเน้นการวางแผน เตรียมตัว ปฏิบัติการ และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังโจรกรรมใหญ่ ซึ่งไฮไลท์ก็คือ Plot Twists หักมุมแล้วหักมุมอีกจนแทบจะคาดการณ์อะไรไม่ได้

– ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ถือว่าเป็น Heist Film คือ The Great Train Robbery (1903),
– โดดเด่นสุดในยุคหนังเงียบคือ The Unholy Three (1925) ของผู้กำกับ Tod Browning นำแสดงโดย Lon Chaney,
– เรื่องแรกแห่งยุคหนังพูด Raffles (1930), ตามด้วย Ninotchka (1939), High Sierra (1941), The Asphalt Jungle (1950) ฯ
– **Milestone แรกที่ถือเป็นกระแสนิยม Heist Film คือ Rififi (1955) ของผู้กำกับ Jules Dassin
– หนึ่งใน Masterpiece ของแนวนี้คือ The Killing (1956) ผู้กำกับ Stanley Kubrick
– เรื่องอื่นๆที่ดังๆ อาทิ Ocean’s 11 (1960), Gambit (1966), The Italian Job (1969), The Sting (1973), Dog Day Afternoon (1975), The Castle of Cagliostro (1979), A Fish Called Wanda (1988), Reservoir Dogs (1992), Heat (1995), Inception (2010) ฯ

Julius ‘Jules’ Dassin (1911 – 2008) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Middletown, Connecticut ครอบครัวเป็นชาว Jews อพยพจาก Ukraine-Polish หลังเรียนจบเคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ของอเมริกา แล้วลาออกหลังเหตุการณ์ความรุนแรง Molotov-Ribbentrop Pact เมื่อปี 1939 เริ่มต้นทำงานเป็นนักแสดง Yiddish Actor เลื่อนขั้นผู้ช่วยผู้กำกับ Alfred Hitchcock, Garson Kanin กำกับหนังสั้นเรื่องแรก The Tell-Tale Heart (1941) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Nazi Agent (1942) ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแนวชวนเชื่อ แต่เพราะฉายช่วงระหว่างสงครามโลกเลยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

หลังสงครามจบกลายเป็นผู้กำกับ Film Noir คนสำคัญแห่งยุค อาทิ Brute Force (1947), The Naked City (1948), Thieves’ Highway (1949) และ Night and the City (1950) เป็นเรื่องสุดท้าย เพราะติด Hollywood Blacklist ไม่สามารถหางานทำได้ จึงต้องหลบลี้หนีภัยสู่ฝรั่งเศสสร้างหนังเรื่อง Rififi (1955) คว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes กลายเป็นตำนานไปโดยทันที

สำหรับ Topkapi ดัดแปลงสร้างจากนิยายเรื่อง The Light of Day (1962) แต่งโดย Eric Ambler นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีความชื่นชอบแนว Thriller และ Spy Novels สามารถคว้ารางวัล Edgar Allan Poe Awards สาขา Best Novel (สำหรับนิยายแนว Mystery) เมื่อปี 1964, ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Monja Danischewsky นักเขียนสัญชาติ Russian ที่อพยพสู่ Great Britain ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1

Elizabeth Lipp (รับบทโดย Melina Mercouri) มีความต้องการขโมยกริชมรกตของ Sultan Madmud I ที่พระราชวัง Topkapi Palace, Istanbul ประเทศ Turkey ติดต่ออดีตคนรักนักโจรกรรม Walter Harper (รับบทโดย Maximilian Schell) ให้เป็นผู้เตรียมการวางแผน โดยได้เลือกยอดฝีมือสมัครเล่นสามคน และโจรกระจอก Arthur Simpson (รับบทโดย Peter Ustinov) ที่จับพลัดจับพลูกลายเป็นสายของตำรวจ Turkish Security โดยไม่รู้ตัว

เกร็ด: Topkapi ภาษา Turkish แปลว่า Cannon Gate

Maria Amalia Mercouri (1920 – 1994) นักแสดงหญิงสัญชาติกรีก เกิดที่กรุง Athens โตขึ้นเข้าเรียน National Theatre of Greece จบมาเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Stella (1955) เสียงตอบรับดีมากๆ ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้ได้พบกับผู้กำกับ Jules Dassin ต่อมาได้ร่วมงานกันหลายเรื่อง จนแต่งงานอยู่ร่วมกันปี 1966,

ผลงานเด่นของ Mercouri อาทิ Never on Sunday (1960) คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Phaedra (1962), Promise at Dawn (1970) ฯ

รับบท Elizabeth Lipp หญิงสาวที่มีมารยาเสน่ห์ หยอกเย้ายวนใจสูง (Seductive) ชอบถูกเนื้อถูกตัว เล่นหูเล่นตากับเหล่าผู้ชายทั้งหลาย เพื่อให้ตัวเองบรรลุความต้องการบางอย่าง (พื้นหลังคงเป็นคนมีเงินร่ำรวย พ่อแม่เลี้ยงดูแบบตามใจ ทำให้อยากได้อะไรต้องขวนขวายครอบครอง) สำหรับเธอแล้วการได้ครอบครองไม่ว่ามรกตหรือผู้ชาย ทำให้สุขสมหวังถึงจุดไคลน์แม็กซ์เท่าเทียมกัน

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะมองว่า Mercouri ดูแก่ไปนิดในการรับบทนี้ ขาดความเซ็กซี่ยั่วเย้ายวนเหมือนสาวๆยุคสมัยนั้น แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม เพราะความสูงวัย 40 กว่าๆ ทำให้เหมือน’สาวใหญ่’ ภาษาเก่าๆจะเรียกว่าสวยกระรัต เป็นความงามที่กาลเวลาก็มิอาจมองข้ามได้

Sir Peter Ustinov ชื่อเต็ม Peter Alexander von Ustinov (1921 – 2004) นักแสดง นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London พ่อเป็นชาว Russian เชื้อสาย Jewish ตอนแรกไม่ได้มีความสนใจด้านการแสดงมากนัก แต่เพื่อจะไม่ต้องไปโรงเรียนโดนเพื่อนดูถูกรังแก เริ่มต้นกับละครเวทีที่ Players’ Theatre  สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จับพลัดจับพลูได้เป็นนักแสดงในหนังชวนเชื่อเรื่อง One of Our Aircraft Is Missing (1942)

หลังสงครามรับบทสมทบ We’re No Angels (1955) ตามด้วย Quo Vadis (1951), Spartacus (1960) ที่คว้า Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Romanoff and Juliet (1961), Billy Budd (1962), Hammersmith Is Out (1972), Logan’s Run (1976), Death on the Nile (1978) ฯ

รับบท Arthur Simon Simpson ชายร่างท้วมที่ได้รับฉายาว่า Schmo (แปลว่า a stupid person) เป็นคนไม่เอาอ่าว พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ กลัวความสูง ไร้ความทะเยอทะยาน ได้รับโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตแต่ก็ทำผิดพลาด ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เรียกว่าโชคชะตาไม่เข้าข้างเสียเลย

เห็นว่าในฉบับนิยายตัวละครนี้ชื่อว่า Arthur Abdel Simpson ตอนถูกว่าจ้างให้ขับรถสู่ Istanbul จริงๆแล้วถูก Blackmail จากการถูกจับได้ว่าแอบขโมยเช็คเงินของ Harper (โจรกระจอกโดยแท้) ระหว่างการเดินทางจะมี Flashback เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของตัวละคร เหตุผลที่ทำให้เขาเป็นคนป้ำๆเป๋อๆแบบนี้

เดิมนั้นผู้กำกับตั้งใจให้ Peter Sellers รับบทนี้ แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธเพราะไม่อยากร่วมงานกับ Maximilian Schell ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเรื่องมากในการทำงาน ทำให้ Dassin เลือก Ustinov มารับบทแทน, ผมละจินตาการไม่ออกเลยว่า Sellers จะรับบทนี้ให้ดีกว่า Ustinov ได้อย่างไร เพราะเขาได้สร้างตัวละครนี้ให้มีความตราตรึงตั้งแต่นาทีแรกๆที่ปรากฎตัว ใครๆคงรับรู้ได้ทันทีว่าหมอนี้มันไม่เอาอ่าวสักนิด แต่พอถูกจับตำรวจจับก็เริ่มลุ้นเอาใจช่วย ชีวิตเอ็งจะเป็นอย่างไร ดิ้นรนเอาตัวรอดได้ไหม เป็นการแสดงโคตรสมจริง จับต้องได้ แย่งซีนโดดเด่นสุดในหนังแล้ว

เกิดความบ้าบอคอแตกขึ้นในช่วงเทศกาลประกาศรางวัล เพราะ Ustinov กลับมีชื่อเข้าชิง Oscar สาขา Best Supporting Actor ขณะที่ Golden Globe Award ได้เข้าชิง Best Actor – Comedy or Musical นี่ทำให้ Mercouri เกิดความคับข้องใจมากๆ เคยให้สัมภาษณ์บ่นถึงบอกว่า ไม่เห็นรู้ว่าตัวละคร Simpson มีบทบาทไป Support ใคร?, สำหรับ Ustinov เหมือนจะไม่ได้คาดหวังอะไรกับรางวัลนี้ เห็นว่าไม่เข้าร่วมงานด้วย แล้วอยู่ดีๆเซอร์ไพรส์เป็นผู้ชนะ เป็น Jonathan Winters ที่ขึ้นรับรางวัลแทน

Maximilian Schell (1930 – 2014) นักแสดงสัญชาติ Swiss เจ้าของรางวัล Oscar: Best Actor จากเรื่อง Judgment at Nuremberg (1961) เกิดที่ Vienna, Austria ในครอบครัวนักแสดง แต่พวกเขาต้องอพยพสู่ Switzerland ปักหลักที่ Zurich ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, Schell มีความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็กตามพ่อ-แม่ เข้าเรียนการแสดงที่ Basel Theatre ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นแนว Anti-War เรื่อง Kinder, Mütter und ein General (1955) อยู่ยุโรปหลายปีก่อนเดินทางสู่อเมริกา เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก The Yong Lions (1958)

ผลงานเด่นๆ อาทิ Erste Liebe (1970), The Pedestrian (1974) [ทั้งสองเรื่อง เล่นเองกำกับเอง เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Fillm], Counterpoint (1968), The Man in the Glass Booth (1975), A Bridge Too Far (1977), Julia (1977), The Diary of Anne Frank (1980) ฯ

รับบท Walter Harper อดีตคนรักหนุ่มของ Elizabeth Lipp เป็นหัวขโมยนักวางแผน (master-criminal) สัญชาติ Swiss มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ ระแวดระวังภัยรัดกุม รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี

ว่าไปตัวละคร Harper ถือว่าตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ Simpson คนแรกเก่งสามารถทุกสิ่งอย่าง ขณะที่คนหลังปอดแหก ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้สักอย่าง เพราะการตัดสินใจเลือกชายคนนี้ทำให้เกิดปัจจัยอันควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถคาดการณ์ป้องกันอะไรทั้งนั้น

การแสดงของ Schell ค่อนข้างเข้มข้นมากทีเดียว เข้ากับรูปลักษณ์ที่ทั้งหล่อเท่ห์ คมคาย มีเสน่ห์น่าหลงใหล ราวกับบุคคลในอุดมคติ สมบูรณ์แบบทุกสิ่งอย่าง นี่ทำให้ตัวละครจับต้องไม่ได้เท่าไหร่ แต่เพราะหลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นแบบคาดเดาไม่ได้ เราจึงมีโอกาสเห็นเทวดาตกสวรรค์ ครุ่นคิดค้นหาทางไต่กลับคืนสู่ดินแดนของตนเอง

แถมให้อีกคนกับ Joe Dassin (1938 – 1980) นักร้องสัญชาติฝรั่งเศสระดับตำนาน ลูกชายแท้ๆของผู้กำกับ Jules Dassin รับบท Joseph น่าจะเป็นอีกหนึ่งอดีตคนรักของ Elizabeth Lipp สมาชิกของคณะคาราวานสวนสนุก มีหน้าที่ลักลอบขนของออกนอกประเทศ

ถ่ายภาพโดย Henri Alekan ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานดัง อาทิ La Belle et la bête (1946), Anna Karenina (1948), Roman Holiday (1953), Wings of Desire (1987) ฯ งานภาพมีความโดดเด่นเรื่องการใช้แสง โทนสี และถ่ายเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ (ถ่ายทำภาพวิถีชีวิตผู้คนในเมือง Istanbul)

ราวกับความฝันในฉากแรกของหนัง ขณะที่ Elizabeth Lipp กำลังแนะนำกริชมรกตของ Sultan Mahmud I งานภาพจะมีโทนสีสันสดใสผิดปกติ คิดว่าอาจเกิดจากการซ้อนภาพแสงหลากสีเข้าไป (Optical Effects) ทำให้เห็นความพริ้วไหวราวกับแสงสะท้อนผืนน้ำ

Title Credit ของหนังเรื่องนี้ มีความสวยงามมากๆเลยละ ออกแบบโดย Jean Fouchet ที่เคยออกแบบ Title หนังเรื่อง Last Year at Marienbad (1961), The Longest Day (1962), That Man from Rio (1964), The Tenant (1976) ฯ

ฉากที่ผมชื่นชอบมากๆของหนัง คือขณะที่ Turkish Security ควบคุมตัวกำลังสัมภาษณ์ Arthur Simpson ในห้องมืดที่มีแสงไฟส่องอย่างมีนัยยะสำคัญ

ช็อตของ Simpson จะมี 3 ระดับ Long-Medium-Closeup พื้นหลังมืดสนิทมองไม่เห็นอะไร แสงไฟหนึ่งดวงคงเปรียบได้กับดวงวิญญาณ ประทีปแห่งชีวิตของเขา จะรอดหรือไม่รอดก็อยู่ที่ตัวของเขาเองไม่มีใครช่วยได้

แต่ไฮไลท์สำหรับหลายๆคนคงเป็นฉากห้อยโหนลงมาเพื่อขโมยกริชมรกต แสดงผาดโผนโดย Gilles Ségal เจ้าของฉายา The Human Fly ต้องชมเลยว่ามีลีลากายกรรมบนเส้นเชือก ทรงตัวได้ไม่ธรรมดาทีเดียว

(การที่หนังตัดบทพูดของตัวละครนี้ออก ทำให้ไม่ต้องมาพะวงเรื่องความสมจริงทางการแสดงหรือการบันทึกเสียงใหม่)

เหมือนว่าหนังจะรับอิทธิพลของผู้กำกับ Robert Bresson มาพอสมควร ในเรื่องการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ยิบๆย่อยๆมากมาย เพื่อเพิ่มความสมจริงจังให้กับหนัง และทำให้ผู้ชมรับรู้เห็นทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในระยะประชิดตัว, อย่างขณะปฏิบัติการ จะมีรายละเอียดเล็กๆอย่าง ขีดชอล์กบอกระยะ, สัญญาณเท้าของ The Human Fly, วางกระจกกันภัยเข้าล็อค ฯ

ตัดต่อโดย Roger Dwyre ขาประจำของ Dassin ตั้งแต่ Rififi (1955) และยังขาประจำของผู้กำกับ René Clément มีผลงานดังอย่าง Forbidden Game (1952) ฯ ในตอนแรกเหมือนว่าหนังจะใช้มุมมองของ Elizabeth Lipp แต่พอได้พบเจอกับ Arthur Simpsons ก็เปลี่ยนไปนำเสนอผ่านสายตาของเขาแทบทั้งหมด

ต้องถือว่าการตัดต่อมีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ทำให้การเล่าเรื่องมีความต่อเนื่องด้วยจังหวะที่ลงตัว โดยเฉพาะขณะกำลังขโมยกริชมรกต ช่วงนี้ไม่มี Soundtrack ประกอบอารมณ์ แต่ใช้ความสงบนิ่งเงียบ และการตัดต่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก สมจริง ทรงพลังอย่างที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ เพราะปฏิบัติการโจรกรรมจำต้องใช้ข้อแก้ตัว (Alibi) โดยสถานที่คือสนามแข่งมวยปล้ำ ดึงดูดความสนใจของผู้ติดตามตำรวจ Turkish Security ได้โดยง่าย, จังหวะที่โจรกรรมสำเร็จ ตัดมามวยปล้ำคู่ชิงรู้ผลแพ้ชนะ นัยยะนี่ตรงตัวเลยนะ

เพลงประกอบโดย Manos Hatzidakis นักแต่งเพลงสัญชาติกรีก เคยคว้า Oscar: Best Original Song จากหนังเรื่อง Never on Sunday (1960)

ผมไม่แน่ใจดนตรีพื้นบ้านของประเทศตรุกีนัก แต่คิดว่าทำนองน่าจะแบบนี้แหละ Main Theme ให้กลิ่นอายของ Istanbul ได้อย่างงดงาม ดินแดนที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย กึ่งยุโรปกึ่งอาหรับ สนุกสนานครื้นเครง เป็นกันเอง น่าหลงใหล

เสียงปี่บทเพลง Turkish Security กลิ่นอายอาหรับลอยหึ่งมาไกล หลับตาฟังเห็นงูกำลังค่อยโยกหัวขึ้นมาจากไห แต่หนังจะไม่แบบนั้นให้เห็นนะครับ เป็น Turkish Security ที่โผล่หัวมาแทน *-*

Sound Effect ค่อนข้างโดดเด่นทีเดียว ตอนที่กลุ่มชายสามอยู่บนหลังคา เราจะได้ยินเสียงหวูดรถไฟ หวูดเรือ ดังมาไกลมาก ตอนแรกผมก็สงสัยทำไมดังบ่อยจัง ไม่กี่ช็อตจากนั้นก็จะได้รับคำอธิบายจากภาพมุมสูง ของเมือง Istanbul, มันก็มีนัยยะอยู่นะครับ คล้ายกับเสียงนกเสียงกา แทนด้วยวิถีชีวิต ความปกติทั่วไปที่คงไม่มีใครมาสังเกตเห็น ว่ากำลังจะเกิดเรื่องเหนือความคาดหมายนี้ขึ้นได้ (มาเหนือเมฆเลยละ)

เรื่องราวของหนังเป็นการจับพลัดจับพลูของชายคนหนึ่ง โจรกระจอกไม่รู้ประสีประสา ทำการอะไรมักไม่ค่อยสำเร็จ ได้รับโอกาสใหญ่พร้อมกับเงินก้อนโต ทั้งๆเป็นงานง่ายๆใช้เพียงกำลังแรงกับความกล้า แม้จะทำสำเร็จได้ แต่โชคชะตากลับไม่ยอมให้โอกาส คงยังซวยทั้งขึ้นทั้งร่อง

หนังเรื่องนี้ถือว่าจัดเต็มเรื่องคุณภาพและความบันเทิง แค่เนื้อหาสาระอาจไม่ค่อยมีมากนัก เหมือนเป็นการสอนคนให้เป็นโจร แต่ก็ยอมหักมุมตอนจบทำในสิ่งไม่น่าเป็นไปได้ ‘คนชั่วไม่มีวันลอยนวล’ ส่วนตัวไม่ค่อยชอบตอนจบนี้นัก แต่ก็เอาเถอะอย่างน้อยพวกเขาก็โจรกรรมสำเร็จระดับหนึ่ง

ผมเคยพูดถึงหนังเรื่อง Pickpocket (1959) ของผู้กำกับ Robert Bresson ถ้าอยากเป็นโจรล้วงกระเป๋า หรือเป็นคนที่รู้หลบเป็นปีกไม่อยากถูกล้วงกระเป๋า ต้องดูหนังเรื่องนี้ จัดเป็นดาบสองคมที่เป็นทั้งประโยชน์และภัย เฉกเช่นเดียวกับ Topkapi แม้การปล้นครั้งนี้จะดูเว่อๆ แต่กลับมีอาญชากรนำไปใช้ปฏิบัติการจริง 6 สัปดาห์หลังหนังฉาย ปล้นเพชร 22 เม็ดที่พิพิธภัณฑ์สถาน New York City แต่สามารถตามจับกุมได้ใน 48 ชั่วโมง

ไม่มีรายงานทุนสร้าง ในอเมริกาทำเงินได้ $4 ล้านเหรียญ รวมทั้วโลก $7 ล้านเหรียญ น่าจะพอทำกำไรได้อยู่

– เข้าชิงและคว้า Oscar สาขา Best Supporting Actor (Peter Ustinov)
– สำหรับ Golden Globe ได้แค่เข้าชิง 2 สาขา ประกอบด้วย
> Best Actor – Comedy or Musical (Peter Ustinov)
> Best Actress – Comedy or Musical (Melina Mercouri)

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้เพราะการแสดงของ Peter Ustinov ประมาณ 60% และที่เหลือคือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Jules Dassin โดดเด่น สวยงาม น่าหลงใหลอย่างยิ่ง ตำหนิเล็กๆน้อยๆล้วนพอมองข้ามให้อภัยได้

แนะนำกับคอหนังโจรกรรม Heist Film ที่ใช้สมองครุ่นคิดวางแผน มีความลุ้นระทึก Thriller ตื่นเต้นเร้าใจ, ภาพสวยๆ ตัดต่อเยี่ยม เพลงเพราะๆ, แฟนๆนักแสดง Peter Ustinov หรือ Maximilian Schell ไม่ควรพลาด

จัดเรต pg เด็กๆควรรับชมกับผู้ใหญ่ ให้คำแนะนำเรื่องการโจรกรรม และความเย้ายวนของนางเอก

TAGLINE | “Topkapi ของผู้กำกับ Jules Dassin ด้วยความสามารถอันเหนือชั้นของ Peter Ustinov ได้โจรกรรมจิตใจของผู้ชมได้สำเร็จ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

The Hallelujah Trail (1965)


The Hallelujah Trail

The Hallelujah Trail (1965) hollywood : John Sturges ♥♥♥

ภาพยนตร์แนว Epic Western Comedy ดำเนินเรื่องแบบ Mockumentary เต็มเปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานหวังสูงถึงสรวงสวรรค์ แต่กลับตกม้าตายเพราะทุกอย่างมันล้นเกินจนควบคุมไม่อยู่, Burt Lancaster ต้องปวดหัวกับเรื่องวุ่นๆของกลุ่มคนประกอบด้วย
– Jim Hutton ลูกน้องที่พยายามเกี้ยวพาลูกสาวของตน,
– Lee Remick หญิงสาวที่พยายามเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของสตรี และรณรงค์เรื่องการดื่ม Whiskey,
– Martin Landau รับบทอินเดียแดงชื่อ Walks-Stooped-Over ต้องการปล้นเกวียนขนส่ง Whiskey,
– กลุ่มชาว Irish ที่ขับเกวียนขนส่ง Whiskey ต้องการประท้วงหยุดงาน,
– และชาวเมือง Denver เพราะความร้อนรนที่ไม่มีเหล้ากิน เลยออกมาต้อนรับเกวียนขนส่ง Whiskey ด้วยตัวเอง

John Eliot Sturges (1910 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Oak Park, Illinois เข้าสู่ Hollywood จากการเป็นนักตัดต่อ ได้ทำกำกับสารคดีข่าวให้กับกองทัพอากาศช่วง WW2 จึงมีโอกาสกำกับหนังเกรด B เรื่องแรก The Man Who Dared (1946) เริ่มมีชื่อเสียงจาก Bad Day at Black Rock (1955) ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Director ตามด้วย Gunfight at the O.K. Corral (1957), The Magnificent Seven (1960), A Great Escape (1963), Ice Station Zebra (1968) ฯ

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Hallelujah Trail (1963) เขียนโดย Grover C. ‘Bill’ Gulick (1916 – 2013) นักเขียน/นักประวัติศาสตร์สัญชาติอเมริกา ที่ชื่นชอบเขียนนิยายแนว Western อย่างมาก, บทภาพยนตร์โดย John Gay (1924 – 2017) ที่มีผลงานดังอย่าง Separate Tables (1958), Run Silent Run Deep (1958)

เรื่องราวมีพื้นหลังปี 1867 ฤดูหนาวกำลังย่างกรายเข้ามา ชาวเหมือง Denver ขึ้นชื่อเรื่องความขี้เมา กำลังเกิดความวิตกกังวลเพราะ Whiskey ที่มีอยู่กำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ รับคำแนะนำจาก Oracle Jones (รับบทโดย Donald Pleasence) ท้าทาย Wallingham Freighting Company ให้ขนส่งเกวียนบรรทุกสุราจำนวน  เดินทางตรงมายัง Denver แต่เพราะอันตรายจากชาวอินเดียแดงพื้นเมือง จึงได้ว่าจ้าง Colonel Thaddeus Gearhart (รับบทโดย Burt Lancaster) กองพลทหารม้าจาก Fort Russell ให้มาอารักขา แต่เรื่องไปเข้าหู Cora Templeton Massingale (รับบทโดย Lee Remick) ผู้นำกลุ่มเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของสตรี และต่อต้านการดื่มเหล้าทุกประเภท เรื่องราววุ่นๆทั้งหลายจึงบังเกิดขึ้นที่ Battle of Whiskey Hills

นี่ไม่ใช่เรื่องจริงนะครับ แต่หนังทำให้เหมือนอ้างอิงจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ด้วยวิธีการเล่าเรื่องคล้ายสารคดี (Documentary) ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกเรียกว่า DocuComedy หรือ Mockumentary (ส่วนผสมของ Mock กับ Documentary) สารคดีเก๊/ สารคดีเทียม/สารคดีปลอม/ล้อเลียนแบบสารคดี ก็แล้วแต่จะเรียกกัน

Burt Lancaster (1913 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ชายผู้ขึ้นชื่อเรื่องรับบทตัวละคร ‘Tough Guys’ เกิดที่ Manhattan, New York สมัยเด็กมีความสนใจยิมนาสติกและบาสเกตบอล เข้าเรียน New York University ด้วยทุนกีฬาแต่ลาออกกลางคันมาเป็นนักแสดงละครสัตว์เล่นกระโดดผาดโพน สมัครเป็นทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลดประจำการมาเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก Desert Fury (1947) แต่กลับออกฉายหลังภาพยนตร์เรื่องที่สอง The Killers (1946)

โด่งดังกับ From Here to Ethernity (1953), Trapeze (1956) คว้า Silver Bear for Actor จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, Elmer Gantry (1960) คว้า Oscar: Best Actor, Judgment at Nuremberg (1961), Birdman of Alcatraz (1962) คว้า Volpi Cup for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice, Atlantic City (1980)

รับบท Colonel Thaddeus Gearhart ประจำ Fort Russell เป็นผู้ยึดมั่นถือปฏิบัติในหน้าที่ทหาร ตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ต้องคอยควบคุมดูแลผู้อยู่ภายใต้ให้ทำตามคำสั่ง แต่กลับต้องพบเจอเรื่องวุ่นๆเพราะแทบไม่ยอมฟังคำของเขาแบบผู้มีความศิวิไลซ์แม้แต่น้อย

ตัวละครนี้พอเริ่มครึ่งหลังปุ๊ป ภาพของเผด็จการทหารผุดขึ้นมาในหัวของผมเลย ผู้อยู่ภายใต้การปกครองมีแต่สนใจความต้องการของตนเอง ทำให้พระเอกต้องลุกฮือขึ้นมาควบคุมทุกสิ่งอย่างด้วยตนเอง แถมต่อมายังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก (Martial Law) เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย แต่สุดท้ายก็หามีใครฟังไม่

การแสดงของ Lancaster เต็มไปด้วยความคับข้อง เหน็ดเหนื่อยหน่ายใจ ชวนให้เครียด น่าปวดหัวอย่างมาก เพราะตัวละครมิอาจสรรหาทางออกให้กับทุกฝ่ายได้อย่างน่าพึงพอใจ แถมพอไม่มีใครฟังสุดท้ายแล้วก็ ตามมีตามกรรมของพวกเอ็งแล้วกันนะ

Lee Ann Remick (1935 – 1991) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Quincy, Massachusetts ลูกของนักแสดง Gertrude Margaret ทำให้เธอมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนเต้นที่ Swaboda School of Dance การแสดงที่ Barnard College และ Actors Studio เริ่มต้นมีผลงานละครเวที Broadway เรื่อง Be Your Age (1953) เข้าตาผู้กำกับ Elia Kazan สมทบเรื่อง A Face in the Crowd (1957)

Remick เข้าชิง Oscar: Best Actress จากเรื่อง Days of Wine and Roses (1962) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Anatomy of a Murder (1959), Wild River (1960), The Detective (1968), The Omen (1976), The Europeans (1979) ฯ

รับบท Cora Templeton Massingale หญิงหม้ายจากสามี 2 คนที่เสียชีวิตเพราะดื่มสุราหนักเกินไป เธอจึงต้องการเรียกร้องสิทธิของสตรี และเป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหว Temperance ต่อต้านการดื่มสุราทุกประเภท ขณะนั้นกำลังทำการรณรงค์อยู่ที่ Fort Russell ซึ่งพอได้ยินว่า Colonel Thaddeus Gearhart กำลังส่งทหารไปคุ้มกันการขนส่งเกวียนบรรทุก Whiskey จึงได้ออกอาละวาดหนัก ใช้เล่ห์มารยาหญิงสารพัดเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ แต่แล้ว …

การแสดงของ Remick โดดเด่นอย่างมากทีเดียว มีความ Comedy แบบกวนประสาท น่าหมั่นไส้ ตัวละครเหมือนเต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ แต่แท้จริงแล้วเป็นการกระทำเพื่อปกปิดความอ่อนแอที่อยู่ในใจ (เห็นชัดตอนที่ดื่มกินเหล้ากับ Col. Gearhart) และเรียกร้องความสนใจ (จากผู้ชาย)

Donald Pleasence (1919 – 1995) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Worksop, Nottinghamshire ในครอบครัว Methodist ตั้งแต่เด็กมีความต้องการเป็นนักแสดง เป็นอาสาสมัครทหารอากาศช่วงสงครามโลก ปลดประจำการออกมาเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Beachcomber (1954) โดดเด่นจาก The Great Escape (1963), Cul-de-sac (1966) ฯ

รับบท Oracle Jones นักพยากรณ์ที่ล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างแต่เมื่อเหล้าเข้าปากเท่านั้น ชาวเหมือง Denver ต่างเชื่อมั่นและรับฟังคำทำนายอย่างแม่นยำ แต่หารู้ไม่ทั้งหมดนี้เป็นแผนการอันลุ่มลึก เพื่อความสำราญของตนมีสุรากินฟรีไปอย่างน้อยเป็นสิบๆปี

ผมละโคตรชอบความกวนประสาทของตัวละครนี้อย่างยิ่ง และการแสดงของ Pleasence มีความน่า Pleasure อย่างมาก พูดจายียวนแบบมีจังหวะ พอกระดกเหล้าหมดแก้วก็ทำเป็นครุ่นคิดไม่ออก มันชัดเจนตั้งแต่แรกๆแล้วว่า หมอนี่ต้องมีลับลมคมในอะไรแน่ๆ แต่ผู้ชมจะไม่สามารถคาดเดาออกจนกว่าจะถึงตอนจบของหนัง อันทำให้ผมตบโต๊ะฉากใหญ่ คิดได้ไงเจ๋งว่ะ! ลุ่มลึกล้ำแบบสุดๆไปเลย

แต่กับนักแสดงแย่งซีนที่สุดของหนังคือ Martin Landau (1928 – 2017) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ที่ส่วนใหญ่รับบทสมทบจนกลายเป็นตำนาน, เกิดที่ Brooklyn, New York ในครอบครัวชาว Jews เรียนจบทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือการ์ตูน ลาออกเพื่อเรียนการแสดงที่ Actors Studio รุ่นเดียวกับ Steve McQueen ภาพยนตร์เรื่องแรก North by Northwest (1959), ผลงานอื่นๆอาทิ Cleopatra (1963), The Greatest Story Ever Told (1965), Nevada Smith (1965), Tucker: The Man and His Dream (1988), Crimes and Misdemeanors (1989), และคว้า Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง Ed Wood (1994)

รับบทอินเดียแดงชื่อ Walks-Stooped-Over ในตอนแรกทำให้ทุกคนเข้าใจผิดคิดว่าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่มีท่าทางยียวนกวนประสาท สอดรู้สอดเห็นถือธงขาวโบกสะบัด แต่พอเมื่อเหล้ากำลังจะเข้าปากก็หลุดพูดภาษาอังกฤษออกมา ให้ตายเถอะใครกันจะไปคาดถึง (แต่หนังก็ทิ้งคำใบ้ให้พอสมควรเลยนะครับ)

เป็นอีกหนึ่งนักแสดงในตำนาน ที่มีความยียวนกวนบาทา หน้านิ่งๆแต่ร้ายนักของ Landau ที่ทำให้ผมชะล่าสงสัยมาตั้งแต่ต้นว่าทำไมคุ้นๆจัง พอเห็นเครดิตท้ายเรื่องเท่านั้นละตบโต๊ะอีกฉาด ไม่มีใครเหมาะกับบทเดิน-หยุด-ข้าม (ชื่อยังกะไฟเขียว-เหลือง-แดง) ได้มากกว่าชายคนนี้อีกแล้ว

ไว้อาลัยให้กับสตั๊นแมน Bill Williams ผู้เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำ ในฉากเกวียนตกจากหน้าผาสูง ซึ่งนักแสดงแทนคนอื่นสามารถกระโดดลงจากรถทันก่อนเคลื่อนตกหน้าผา แต่ Williams ไม่รู้ผิดคิวหรือยังไงไม่ได้กระโดดลงมา ทำให้เสียชีวิตคาที่ขณะตกถึงพื้น, เห็นว่าผู้กำกับใส่ฉากนี้ไว้ในหนังด้วย เพื่อเป็นการเคารพคารวะต่อการสูญเสียครั้งนี้ แต่จะช็อตไหนไปสังเกตหาเอาเองนะครับ

ถ่ายภาพโดย Robert L. Surtees ตากล้องสัญชาติอเมริกันในตำนาน ผู้คว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 3 ครั้งจาก King Solomon’s Mines (1950), The Bad and the Beautiful (1952), Ben-Hur (1959) นอกจากนี้ยังมีผลงานอย่าง Quo Vadis (1951), The Graduate (1967), The Last Picture Show (1971), The Sting (1973) ฯ

หนังถ่ายทำด้วย Ultra Panavision ขนาด 70mm เพื่อฉายในโรงจอโค้ง Cinerama ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ Comedy Epic ของทศวรรษนั้น ตามหลัง It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963) และ The Great Race (1965)

แน่นอนว่างานภาพมีความสวยงามกว้างใหญ่อลังการ พื้นหลังถ่ายทำที่ New Mexico เป็นส่วนใหญ่ แต่มันดูมั่วๆไปสักนิดในวันแห่งโชคชะตา เพราะเต็มไปด้วยฝุ่นทรายพัดตลบอบอวล มองอะไรแทบไม่เห็น แต่ได้ความสับสนวุ่นวาลอลม่านเป็นที่สุด

ตัดต่อโดย Ferris Webster สัญชาติอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ The Picture of Dorian Gray (1945), Lili (1953), Blackboard Jungle (1955), Forbidden Planet (1956), Cat on a Hot Tin Roof (1958), The Magnificent Seven (1960), The Manchurian Candidate (1962), The Great Escape (1963) ฯ

หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่ดำเนินเรื่องตามเสียงบรรยายของ John Dehner ที่เล่าเสมือนเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจริง อ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ แถมสอดแทรกภาพกราฟฟิกแผนที่จำลองสถานการณ์ หลังจากแนะนำเรื่องราวของแต่ละกลุ่มเสร็จสิ้นลงแล้ว

ถึงการบรรยาย Mockumentary จะมีความน่าสนใจ แต่หนังมีตำหนิใหญ่ๆก็ตรงการตัดต่อ ที่ไม่สามารถควบคุมเรื่องราวต่างๆให้ดำเนินไปพร้อมเพียงได้อย่างน่าสนใจ นี่ผิดกับ The Great Escape ที่ทั้ง Sturges กับ Webster ทำงานได้อย่างเข้าขา มีความลงตัวแทบทุกกระเบียดนิ้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากวันแห่งโชคชะตา Battle of Whiskey Hills มันดูไม่รู้เรื่องจริงๆนะครับ ใครเป็นใคร ฝั่งไหนเป็นฝั่งไหน เพราะฝุ่นทรายเต็มไปหมด มองไม่เห็นใบหน้านักแสดง เสื้อผ้าก็แยกออกแค่ของอินเดียแดงกับคนปกติ มันเลยทำให้ความน่าสนใจที่สร้างมาเละเป็นโจ๊ก

เพลงประกอบโดย Elmer Bernstein นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ผลงานเด่น อาทื The Man with the Golden Arm (1955), The Ten Commandments (1956), The Magnificent Seven (1960), To Kill a Mockingbird (1962), The Great Escape (1963), Thoroughly Modern Millie (1967) [คว้า Oscar: Best Original Score], Airplane! (1980), The Age of Innocence (1993), Far from Heaven (2002) ฯ

ผมค่อนข้างชอบ Main Theme ของหนังมากๆ มีความทรงพลังอลังการ พอใส่เสียงคอรัสยิ่งน่าหลงใหลคลั่งไคล้ ว่าไปโดดเด่นตราตรึงกว่าหนังทั้งเรื่องเสียอีก, คงเพราะมีทำนองคล้ายบทเพลง Hallelujah ที่ชาวคริสต์ใช้ร้องสรรเสริญพระเจ้าด้วยกระมังทำให้รู้สึกคุ้นหู แม้เป้าหมายของหนังจะไม่ได้เป็นการสรรเสริญเยินยอปอปั้นอะไร แต่ทำให้เกิดความหึกเหิม ครึกครื้น รุกเร้า ขอเรียกว่าบทเพลง ‘ประจันบาญ’

Sound Effect โดดเด่นสุดๆขณะ Oracle Jones มอบคำทำนายให้กับชาวเหมือง Denver มีจังหวะลีลาคั่งค้างคา เหล้าไม่ถึงปากทุกอย่างก็เงียบลง ไม่มีอะไรต้องลุ้นพูดออกมา โดยเฉพาะคำร้องคอรัส Hallelujah ราวกับมีนัยยะสื่อว่า นี่เป็นวิธีการสรรเสริญพระเจ้าลักษณะหนึ่ง

Hallelujah คือคำอุทานสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า, ส่วน Trail แปลว่า ทาง, ลู่, พ่าง หรือครรลอง ชื่อหนัง The Hallelujah Trail คือหนทางสู่การสรรเสริญพระเจ้า แต่ก็น่าสนใจนะครับว่า อะไรคือ’พระเจ้า’ในหนังเรื่องนี้?

คำตอบก็คือ ‘Whiskey คือพระเจ้า’ สิ่งที่ใครๆแทบทุกคนในหนังต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป
– พระเอก Colonel Thaddeus Gearhart แม้ดื่มกินอยู่ประจำ แต่ก็ไม่ได้มีความขาดแคลนแต่ประการอะไร แค่ต้องการทำตามภาระหน้าที่ของตัวเอง ปกป้องอารักขาขบวนเกวียนบรรทุกสุราไปส่งถึงเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วงเท่านั้น
– นางเอก Cora Templeton Massingale ต้องการที่จะทำลายสุรา มองว่าเป็นสิ่งกัดกร่อนทำลายผู้ชาย (แต่สุดท้ายเธอกลับเปลี่ยนใจเสียเอง ยินยอมรับว่ามันเป็นสิ่งขาดไม่ได้สำหรับมนุษย์)
– กลุ่มอินเดียแดง ขนพลกันมาเพื่อขโมยปล้นชิงเพื่อดิ่มกินให้อิ่มหนำ ไร้ซึ่งความรับผิดชอบใดๆ
– ชาวเมืองขี้เมา Denver กำลังจะลงแดงตายถ้าขาดสุรา
– Oracle Jones ชายหัวหมอสุดละโมบ ที่ต้องการฮุบทุกสิ่งอย่างให้กลายเป็นของตน สร้างลู่ทางเดิน ชักนำพาทุกผู้คนให้เดินตามกระดานหมาก ก่อนจับรุกฆาตกินเรียบ ได้รับชัยชนะเหนือทุกสิ่งอย่าง

ถ้ามนุษย์ไม่ยึดติดหลงใหลในสุราจนเรื้อรัง หรือโลกใบนี้ไม่มีของมึนเมา เรื่องราวของหนังก็จะไม่มีวันบังเกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งเราก็เทิดทูนเจ้าสิ่งนี้มากเกินไป จนกลายเป็นสิ่งขาดแคลนไม่ได้ เกิดความวิตกกังวลกระวายใจ จะเป็นจะตายถ้าไม่หลงเหลือติดตัว, ผลกรรมจากความโลภละโมบของเหล่ามนุษย์ ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ถูกชายคนหนึ่งคดโกงกินคอรัปชั่นโดยไม่รู้ตัว มันน่าหัวร่อเยาะเย้ยสมน้ำหน้า สะใจโดยแท้

ด้วยทุนสร้าง $7 ล้านเหรียญ เพราะคำวิจารณ์ตอนออกฉายต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำเงินในอเมริกาได้เพียง $4 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับ

ทั้งๆที่หนังค่อนข้างจะเละๆ แต่ส่วนตัวกลับค่อนข้างชอบหนังและแทบไม่มีอคติใดๆ คงเพราะไม่ได้มีความคาดหวังอะไรเลยไม่มีอะไรให้ผิดหวัง ประทับใจการแสดงของสองนักแสดงตัวประกอบ Donald Pleasence และ Martin Landau มากกว่าสองนักแสดงนำเสียอีก และเพลงประกอบของ Elmer Bernstein คือไฮไลท์โดยแท้

แนะนำกับคอหนัง Epic Western Comedy งานภาพกว้างใหญ่อลังการ แอ๊คชั่นเร้าใจ เพลงประกอบกลิ่นอาย Western สุดไพเราะ, แฟนๆผู้กำกับ John Sturges นักแสดงอย่าง Burt Lancaster, Lee Remick ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความสับสนวุ่นวายอลม่าน สุรา และพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของมนุษย์

TAGLINE | “The Hallelujah Trail แม้ไปไม่ถึงสรวงสวรรค์ แต่ก็ไม่ถูกทรายดูดจมจนมิด สามารถลอยป่องขึ้นมาเองได้”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE