Ruka (1965)


The Hand (1965) hollywood : Jiří Trnka ♥♥♥♥

Jiří Trnka เจ้าของฉายา “Walt Disney of Eastern Europe” สรรค์สร้างผลงานสวอนซองเรื่องสุดท้าย ระบายความอึดอัดอั้นต่อหัตถ์ของพระเจ้า การถูกควบคุมครอบงำโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ Czechoslovakia ได้รับยกย่องหนึ่งใน “Greatest Animated Shorts Film of All-Time”

ถ้าคุณมีความสนใจใน Czech Animation จำเป็นต้องรับรู้จัก Jiří Trnka ผู้บุกเบิกวงการอนิเมชั่นของ Czechosklovakia ให้เป็นที่รู้จัก โด่งดังระดับนานาชาติ นำเข้าสู่ยุคสมัย Czech Golden Age of Animation (1945-89)

ผมค่อนข้างหนักใจทีเดียวว่าจะเลือกผลงานไหนของผกก. Trnka เพราะเต็มไปด้วยเรื่องที่น่าสนใจทั้งนั้น อาทิ

  • Zvírátka a petrovstí (1946) อนิเมชั่นขนาดสั้น (Traditional Animation) เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes (จัดขึ้นเป็นปีแรก) และสามารถคว้ารางวัล Best Short Film
  • The Czech Year (1947) อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก (Stop-Motion Animation) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล International Award for Animated Picture
    • อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว
  • A Midsummer Night’s Dream (1959) อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องสุดท้าย (Stop-Motion Animation) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Prix de la meilleure sélection (Best Selection Award)
  • The Cybernetic Grandma (1962) อนิเมชั่นขนาดสั้น (Stop-Motion Animation) แนว Sci-Fi Horror นี่เป็นผลงานของผกก. Trnka ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากสุด

เหตุผลที่ผมตัดสินใจเลือก The Hand (1965) จุดเริ่มต้นจากพบเห็นคะแนนเว็บ IMDB สูงถึง 7.9 สูงสุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของผกก. Trnka (อันดับรองลงมาคะแนนแค่ 7.4 เท่านั้นเอง!) ระหว่างค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ ยังพบเห็นนักวิจารณ์หลายสำนักยกย่องมาสเตอร์พีซ และได้รับการโหวตติดอันดับ 12 ชาร์ทนิตยสาร TIMEOUT: The 30 Best Animated Short Films Ever Made

ความน่าสนใจโคตรๆของ The Hand (1965) คือการใช้มือลึกลับ ไม่รู้เป็นของใคร มาจากไหน พยายามบีบบังคับให้ตัวละครกระทำโน่นนี่นั่น โดยไม่สนการต่อต้านขัดขืน เป็นอนิเมชั่นที่พาดพิงการเมือง รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Czechoslovaki อย่างชัดเจนมากๆ … หลังจากผกก. Trnka เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1969 พอดิบพอดีช่วงที่สหภาพโซเวียตบุกรุกรานกลุ่มประเทศ Warsaw Pact เข้ามาชักใยบงการเบื้องหลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างเต็มรูปแบบ อนิเมชั่นเรื่องนี้เลยถูกแบนห้ามฉายโดยพลัน!


Jiří Trnka (1912-69) นักสร้างหุ่น ผู้กำกับอนิเมชั่น เกิดที่ Pilsen, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบสร้างหุ่น ด้วยการแกะสลักจากไม้ โตขึ้นได้เป็นลูกศิษย์ของ Josef Skupa (บุคคลที่ถือเป็น ‘public figure’ ของ Czech Puppeteer) ส่งต่อให้เข้าเรียน School of Applied Arts (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Academy of Arts, Architecture and Design in Prague, VŠUP) จบออกมาทำงานเป็นนักวาดภาพ (Illustrator) ให้กับสำนึกพิมพ์ Melantrich มีผลงานวรรณกรรมเยาวชนกว่า 130 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นปรัมปรา เทพนิยาย โดยเฉพาะเรื่องเล่าของพี่น้อง Brothers Grimm, ขณะเดียวกันยังร่วมก่อตั้งโรงละครเชิดหุ่น (Puppet Theater) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1936 แต่รวมกลุ่มได้ไม่นานก็ต้องแยกย้ายเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง Trnka ร่วมกับ Eduard Hofman และ Jiří Brdečka ก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่น Bratři v triku เริ่มต้นด้วยการสรรค์สร้างอนิเมชั่นสองมิติ (Traditional Animation) ผลงานเรื่องแรก Zasadil dědek řepu (1945) [แปลว่า Grandfather Planted a Beet], แจ้งเกิดโด่งดังจาก Zvířátka a Petrovští (1946) [แปลว่า Animals and Bandits] เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แล้วสามารถคว้ารางวัล Best Short Film

แม้ผลงานในช่วงแรกจะประสบความสำเร็จ ได้รับคำชื่นชมระดับนานาชาติอย่างล้นหลาม แต่ว่าผกก. Trnka กลับไม่รู้สึกชื่นชอบพอนักกับอนิเมชั่นสองมิติ (Traditional Animation) จึงตัดสินใจหวนกลับหารากเหง้า เปลี่ยนมาสรรค์สร้างหุ่น (Puppet Animation) ทำออกมาในสไตล์ Stop-Motion เริ่มต้นจาก Špalíček (1947) [แปลว่า The Czech Year] รวบรวมหกเรื่องสั้นที่เป็นตำนาน ปรัมปราของชาว Czech ส่งเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล International Award for Animated Picture

ผลงานส่วนใหญ่ของผกก. Trnka มักเป็นการดัดแปลงปรัมปรา เทพนิยาย นิทานแฝงข้อคิดสำหรับเด็ก แต่ทุกเรื่องราวล้วนซุกนัยยะซ่อนเร้น ต่อต้านสงคราม (Anti-War), เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Anti-Totalitarian), เคยนำเสนอโปรเจค Don Quixote แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการ

ความโดดเด่นในผลงานของผกก. Trnka คือการออกแบบสร้างโมเดลหุ่น (ชื่นชอบการทำหุ่นมาตั้งแต่เด็ก) ให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านปฏิกิริยาสีหน้า ภาษากาย ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนวงการ Stop-Motion Animation เลยก็ว่าได้

Puppet films are truly unlimited in their possibilities: they can express themselves with the greatest force precisely when the realistic expression of the cinematographic image often faces insurmountable obstacles.

Jiří Trnka

ช่วงระหว่างสรรค์สร้างอนิเมชั่นขนาดยาว(เรื่องสุดท้าย) Sen noci svatojánské (1959) [แปลว่า A Midsummer Night’s Dream] ผกก. Trnka เริ่มตระหนักถึงสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ อ่อนเรี่ยวแรง เจ็บปวดอิดๆออดๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 60s จึงเปลี่ยนมาสรรค์สร้างอนิเมชั่นขนาดสั้น เพราะสามารถเลือกโปรเจคมีความเป็นส่วนตัว เหลือเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น และได้รับอิสรภาพในความคิดสร้างสรรค์มากกว่า

  • Vášeň (1962) [แปลว่า The Passion] เรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มผู้มีความหลงใหลคลั่งไคล้รถมอเตอร์ไซด์ … สามารถเปรียบเทียบตรงๆกับผกก. Trnka
  • Kybernetická babička (1962) [แปลว่า The Cybernetic Grandma] เรื่องราวเกิดขึ้นในโลกอนาคต เด็กหญิงเดินทางไปหาคุณย่า แต่กลับพบว่าเธอคือหุ่นยนต์ AI เป็นการสะท้อนอิทธิพลของเทคโนโลยีต่อชีวิตประจำวันที่น่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก … นี่ไม่ใช่แค่คำพยากรณ์อนาคต แต่คือจดหมายให้กับคนรุ่นหลัง ไม่ให้หลงระเริงต่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจนหลงลืมลูกๆหลานๆ
  • Archanděl Gabriel a paní Husa (1964) [แปลว่า The Archangel Gabriel and Ms Goose] ดัดแปลงจากตำนานสิบราตรี Decameron

และสำหรับ Ruka [แปลว่า The Hand] ผกก. Trnka รับรู้ตนเองว่านี่คงคือผลงานเรื่องสุดท้ายแล้วจริงๆ จึงทำการระบายทุกสิ่งอย่างอึดอัดอัน ทำงานไม่ยอมหลับยอมนอน กาแฟยังไม่ยอมเสียเวลาชง ดื่มแบบผงขมๆสดๆ เรียกว่ายินยอมพร้อมตายเพื่องานศิลปะ ไม่สนห่าเหวอะไรแล้วทั้งนั้น “a kind of hymn to the creative freedom raging”

เรื่องราวของช่างปั้นหม้อ Harlequin อาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ แล้วจู่ๆถูกมือลึกลับบุกเข้ามาก่อกวน สร้างความวุ่นวาย พยายามบีบบังคับให้ปั้นหม้อตามรูปทรง แต่เจ้าตัวพยายามปฏิเสธ ต่อต้านขัดขืน จนกระทั่งวันหนึ่งถูกจับกุม คุมขัง เลยจำใจต้องแกะสลักรูปปั้นมือให้ตามคำร้องขอ ได้รับคำสรรเสริญเยินยอ ประดับเหรียญเกียรติยศเต็มอก ถึงอย่างนั้นเขายังพยายามหาทางดิ้นหลบหนี หวนกลับมาที่ห้องปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถรอดพ้นโชคชะตา ได้รับการจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติ


ถ้าเป็นฟากฝั่ง Hollywood รับรู้ตัวเองว่าอาจกำลังสรรค์สร้างผลงานเรื่องสุดท้าย ก็มักทำออกมาให้มีความเว่อวังอลังการ (ลองนึกถึง Bob Fosse กำกับ All That Jazz (1979)) แต่นั่นไม่ใช่สำหรับผกก. Trnka เลือกที่จะหวนกลับหารากเหง้า ใช้เพียงฉากเดียวในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ ลักษณะเหมือนโรงละคร (Puppet Theatre) บางคนอาจนับกรงขังอีกฉากหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหญ่โต แค่ถ่ายติดพื้นหลัง Blue-Screen สำหรับซ้อนภาพ Visual Effect เท่านั้นเอง

อพาร์ทเม้นท์ของ Harlequin ถือว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน (ในระดับ Minimalist) เตียงนอน เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า อ่างล้างหน้า รวมถึงโต๊ะทำงานสำหรับขึ้นหม้อดินเผา ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้! แต่การมาถึงของมือลึกลับ พยายามผลักดันกล่องวิเศษ (เหมือนกระเป๋าโดเรมอน) ภายในมีโทรศัพท์ โทรทัศน์ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่มันมีความจำเป็นต่อชีวิตจริงๆหรือเปล่า?

สำหรับกรงนก กรงขัง สื่อนัยยะตรงไปตรงมาถึงการสูญเสียอิสรภาพ แต่ที่น่าสนใจคือพื้นหลัง Visual Effect ดูราวกับภาพสามมิติลวงตา แบบเดียวกับตอนต้น-ท้ายเรื่อง ราวกับเรื่องราวทั้งหมดล่องลอยอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน หรือจะมองว่าโลกวิญญาณ/หลังความตายก็ได้กระมัง

ด้วยความที่ผกก. Trnka ชื่นชอบการแกะสลักหุ่นเชิดมาตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าย่อมเป็นผู้ควบคุมดูแลงานในส่วนออกแบบสร้างโมเดลตัวละครขึ้นด้วยตนเอง โดยเฉพาะเค้าโครงใบหน้ามักทำออกมาให้มีความกลมมนเป็นเอกลักษณ์! ส่วนดวงตา-ริมฝีปาก จะใช้การวาดภาพ ลงสีสัน เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไข แสดงออกทางอารมณ์ … ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ด้วยงบประมาณที่สูงขึ้น มักใช้การสร้างโมเดลใบหน้าขึ้นมาเป็นสิบๆร้อยๆชิ้น ขยับปรับเปลี่ยนสำหรับแสดงปฏิกิริยาสีหน้าได้อย่างสมจริงยิ่งขึ้น!

แซว: ใครช่างสังเกตน่าจะพบว่าดวงตาสองข้างของตัวละคร ดูจะเบี้ยวๆอยู่เล็กๆด้วยนะ

หลายคนน่าจะคาดเดาได้ว่า Harlequin ก็คือตัวตายตัวแทนผกก. Trnka มีความชื่นชอบหลงใหลในงานขึ้นรูป ปั้นหม้อดินเผา (สามารถสื่อตรงๆถึงงานสร้างโมเดล Stop-Motion) สำหรับใช้เป็นกระถาง (รากฐานวงการ Stop-Motion Animation) ปลูกดอกกุหลาบ รดน้ำ สักวันย่อมงอกงามขึ้นมา (อนาคตแห่งความหวัง สักวันผลงานของเขาต้องได้รับการยอมรับ Czech Animation ต้องกลายเป็นที่รู้จักของนานาอารยะ)

แต่การมาถึงของมือลึกลับ/หัตถ์พระเจ้า พยายามจะควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ Harlequin ปรับเปลี่ยนรูปทรงเครื่องปั้นดินเผา ให้กลายมาเป็นมือของตนเอง นี่สามารถสื่อถึงการยกยอปอปั้น สรรค์สร้างผลงานชวนเชื่อ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน โดยไม่สนความต้องการของศิลปิน/ช่างปั้นหม้อแต่ประการใด … การกระทำดังกล่าวยังถือว่าเป็นการทำลายรากฐานอนาคต ไม่สนคุณค่าความงดงามของงานศิลปะ

มือลึกลับ หัตถ์พระเจ้า ต้องถือว่ามีลักษณะผิดแผกแปลกประหลาด ดูเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติในอนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ได้แกะสลักจากไม้เหมือนตัวละคร เพียงทำการสร้างถุงมือลวดลายต่างๆ (ขาว, ดำ, ลูกไม้) สวมใส่โดยผกก. Trnka และใช้การบันทึกภาพแบบปกติ (เพราะมือสามารถขยับเคลื่อนไหวได้เองอยู่แล้ว ยังจะถ่ายทีละช็อตนำมาร้อยเรียงด้วยเทคนิค Stop-Motion ทำไมกัน?)

  • ถุงมือขาว พยายามโน้มน้าวชักจูง เรียกร้องขอให้ Harlequin ทำตามสิ่งที่ตนเองร้องขอโน่นนี่นั่น
  • ถุงมือดำ แสดงความไม่พึงพอใจ ใช้ความรุนแรง บีบบังคับ ชักใยอยู่เบื้องหลัง
  • ถุงมือลายลูกไม้ เปิดปลายนิ้ว ทาเล็บสีแดง (อาบด้วยแสงสีแดงด้วยเช่นกัน) ทำท่าโยกเต้น สวยเซ็กซี่ บทเพลงยั่วเย้ายวนใจ เหมือนต้องการลวงล่อหลอกให้ Harlequin ยินยอมคล้อยตามคำเรียกร้องขอของตนเอง

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสามารถขบครุ่นคิด เข้าใจนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของมือลึกลับ/หัตถ์พระเจ้า ไม่ใช่แค่สื่อถึงกองเซนเซอร์ภาพยนตร์ หรือรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่ง Czechoslovakia แต่ยังเหมารวมถึงระบอบเผด็จการ ชอบใช้พลังอำนาจในการควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ประชาชน บุคคลใต้สังกัด กระทำสิ่งโน่นนี่นั่นตามคำสั่ง ถ้ามีการต่อต้านขัดขืนก็จักใช้ความรุนแรงโต้ตอบ กักขังหน่วงเหนี่ยว กลายเป็นหุ่นเชิดชัก และสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์

สำหรับหินแกะสลักรูปมือ จะมีการชี้นิ้วชี้ขึ้นฟ้า บ้างว่าคือสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่ง สื่อถึงอุปนิสัยเย่อหยิ่ง หลงตนเอง สร้างภาพ/รูปปั้น บ่งบอกว่าฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร! หรือจะมองว่าเป็นการชี้นิ้วบงการ (นิ้วชี้คือนิ้วจอมบงการ) แสดงอำนาจบีบบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามคำสั่งของตน

ขณะเดียวกันก็เพราะรูปแกะสลักนี้เองที่ทำให้ Harlequin สามารถหลบหนีออกจากกรงขัง นั่นสะท้อนถึงพฤติกรรมหลงระเริงในอำนาจ ทำให้ขาดความรอบคอบ ครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคงยินยอมก้มหัวศิโรราบ แต่ไม่เข้าใจพื้นฐานอิสรภาพของมนุษย์ … ใครกันจะยินยอมเป็นหุ่นเชิดชัก ถูกกักขังอยู่ในกรง

เรื่องราวของ The Hand (1965) สามารถแบ่งออกเป็นสามองก์(+อารัมบท) โดยมีตัวละคร Harlequin คือจุดศูนย์กลาง

  • อารัมบท, เช้าตื่นขึ้นมา ทำการบริหาร รดน้ำต้นไม้ นั่งขึ้นรูปหม้อดินเผา
  • การมาถึงของมือลึกลับ (มือขาว) พยายามควบคุมครอบงำ โน้มน้าวให้ Harlequin ขึ้นรูปตามรูปแบบที่กำหนด แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธไม่ยินยอมทำตาม
  • การมาถึงของมือดำ นำความรุนแรง แสดงอาการไม่พึงพอใจ จับกุมคุมขัง Harlequin กลายเป็นหุ่นเชิดชัก แกะสลักหินรูปมือ ไม่ต่างจากบุคคลสูญเสียจิตวิญญาณ
  • เมื่อสบโอกาส Harlequin จึงดิ้นรนหลบหนีออกจากกรงขัง หวนกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ ปิดกั้นประตูหน้าต่าง ก่อนประสบอุบัติเหตุ ได้รับความเห็นใจจากมือลึกลับ จัดพิธีศพให้อย่างสง่างาม

โครงสร้างดำเนินเรื่อง รวมถึงลีลาตัดต่อของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ได้มีความซับซ้อนประการใด แต่เพราะตัวละครไม่มีบทพูดสนทนา เพียงท่าทางขยับเคลื่อนไหว เต็มไปด้วยนัยยะซ่อนเร้นมากมาย จึงไม่ง่ายที่จะขบครุ่นคิด อาจต้องใช้ประสบการณ์รับชมสักนิด การันตีว่าคุ้มค่าการเสียเวลาอย่างแน่นอน


เพลงประกอบโดย Václav Trojan (1907-83) คีตกวีสัญชาติ Czech เกิดที่ Plzeň, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) สำเร็จการศึกษาด้านการประพันธ์เพลงจาก Prague Conservatory จบออกมาเริ่มแต่เพลง Jazz ก่อนกลายเป็นผู้อำนวยการเพลง (Music Director) ให้กับ Radio Prague (ระหว่าง 1937-45) ภายหลังสงครามโลกครั้งสอง ร่วมงานขาประจำผกก. Jiří Trnka อาทิ The Czech Year (1947), Prince Bayaya (1950), Old Czech Legends (1953), The Hand (1963) ฯ

งานเพลงของ Trojan ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากๆ ไม่เพียงสร้างบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลัง ยังคอยเติมเต็มเรื่องราว ช่องว่างระหว่างเหตุการณ์ (ลักษณะเหมือน ‘สร้อยบทกวี’) และชี้นำทางอารมณ์ให้กับผู้ชม อาทิ

  • เช้าตื่นมายืดแข้งยืดขา ท่วงทำนองสนุกสนาน บรรยากาศผ่อนคลาย
  • การมาถึงของมือลึกลับ ในช่วงแรกๆเสียงขลุ่ยเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่ไม่นานก็พลันเงียบงัน
  • ระหว่างรับชมโฆษณาชวนเชื่อทางโทรทัศน์ ได้ยินแทรมโพลีน เครื่องเป่าเสียงทุ่มต่ำ สร้างบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดัน รู้สึกไม่ปลอดภัย สิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา
  • เช่นเดียวกับตอนถูกคุมขัง และหลบหนี แทรมโพลีนราวกับจังหวะการเต้นหัวใจ ตุบ-ตุบ ตับ-ตับ มีความระทึก ตื่นเต้น เฉียดเป็น-เฉียดตาย จะเอาตัวรอดหนีออมาได้ไหม

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ ‘Sound Effect’ อาจไม่ได้มีรายละเอียดมากมาย แต่ทุกสรรพเสียงแทรกใส่เข้ามา ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เสียงของมันเท่านั้น ยกตัวอย่างช่วงท้ายระหว่างพิธีศพ ได้ยินเสียงนกร้องจิบๆ (ล้อกับตอนต้นเรื่อง ตื่นเช้าอย่างสุขสำราญ) สามารถสื่อถึงอิสรภาพ/ความตายของ Harlequin ราวกับนกโบยบินออกจากกรงขัง = จิตวิญญาณล่องลอยออกจากร่างกาย


หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งสอง ค.ศ. 1945 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ก่อตั้งสถาบัน Československý filmový ústav (Czechoslovak Film Institute) เพื่อควบคุม ดูแล ตรวจอนุมัติ และมอบทุนสร้างโปรเจคภาพยนตร์ภายในประเทศ จากนั้นก็เริ่มมีการแบ่งสาขาหนังสั้น/อนิเมชั่น และภาพยนตร์ขนาดยาว หนึ่งในนั้นที่แยกตัวออกมาก็คือสตูดิโอ Bratři v triku ร่วมก่อตั้งโดย Jiří Trnka, Eduard Hofman และ Jiří Brdečka

ทุกโปรเจคไม่ว่าจะภาพยนตร์หรืออนิเมชั่น ล้วนต้องผ่านการตรวจสอบ อนุมัติโดยสถาบัน Československý filmový ústav (จริงๆจะเรียกกองเซนเซอร์ก็ไม่ผิดอะไร) ถึงได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล (ทุกโปรเจคที่สร้างใน Czechoslovakia ยังต้องร่วมทุนกับรัฐบาล) นั่นคือวิถีของประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้สร้างไม่ต่างหุ่นเชิดชัก ถูกควบคุมขังในกรงนก ไม่สามารถโบกโบยบิน สรรค์สร้างผลงานศิลปะได้อย่างอิสระตามอารมณ์ศิลปิน

ผกก. Trnka เคยพานผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาอย่างโชกโชน โชกเลือด! โปรเจคมากมายเสนอไปไม่ได้รับคำตอบอนุมัติ บางครั้งก็จำใจกลายเป็นหุ่นถูกเชิดชัก สรรค์สร้างอนิเมชั่นชวนเชื่อ Pérák a SS (1946) [แปลว่า Springman and the SS] คงคือตราบาปฝังใจไม่รู้ลืม

ตั้งแต่เริ่มรับรู้สึกถึงสภาพร่างกาย อาจมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ผกก. Trnka ค่อยๆสามารถปลดปล่อยวางจากหลายๆสิ่งอย่าง ผลงานในช่วงทศวรรษ 60s แม้มีเรี่ยวแรงสรรค์สร้างได้เพียงอนิเมชั่นขนาดสั้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีความเป็นส่วนตัว ใกล้กับหัวใจ ไม่สนห่าเหวอะไรใคร และผลงานเรื่องสุดท้าย The Hand (1965) ระบายความอึดอัดอั้น ทำการโจมตีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างตรงไปตรงมา ถึงถูกฆ่า/ตายเพราะอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ไม่ถือสา … กระถางต้นไม้หล่นใส่ศีรษะ Harlequin ผมมองว่าสื่อถึงจุดจบจากผลงานของตนเอง (ไม่ใช่ฆ่าตัวตายนะครับ) หรือจะมองอุดมการณ์ “ตายเพื่อศิลปะ” ก็ได้กระมัง

และที่สุดของอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็คือตอนจบ นั่นไม่ใช่แค่พิธีศพ/ความตายของ Harlequin แต่ยังคือการร่ำลาของผกก. Trnka ต่อจากนี้จะได้รับการปลดปล่อย จากไปด้วยรอยยิ้ม (เพียงแต้มแก้มแดง ก็ทำให้ใบหน้าเศร้าๆกลายเป็นรอยยิ้มอิ่มสุข) อิสรภาพทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ … มงกุฎเกียรติยศ ดอกกุหลาบคืออนาคต แสงเทียนจุดประกายความหวัง ล่องลอยอยู่ในโลกแห่งความฝัน/หลังความตาย

หลังเสร็จสร้าง The Hand (1965) ผกก. Trnka คงไม่หลงเหลือเรี่ยวแรงสำหรับสรรค์สร้างผลงานเรื่องถัดไป เสียชีวิตจากโรคหัวใจวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1969 สิริอายุเพียง 57 ปี

หลังจากผกก. Trnka เสียชีวิตได้เพียง 4 เดือน อนิเมชั่นเรื่องนี้ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ Czechoslovakia สั่งแบนห้ามฉาย ยึดฟีล์มทั้งหมดเก็บใส่ตู้เซฟ แต่ยังมีเล็ดลอดจากฉบับที่เคยนำออกฉายต่างประเทศ ไม่รู้เพราะเหตุผลนี้หรือเปล่าเลยมีโอกาสได้เข้าชิง BAFTA Award: Best Animated Film แต่พ่ายให้กับ Pas de deux (1968)

เกร็ด: The Hand (1965) ยังเป็นหนึ่งในเก้าเรื่องได้รับการพิจารณาเข้าชิง Oscar: Short Subjects, Cartoons เมื่อปี ค.ศ. 1966 แต่ไม่ผ่านเข้ารอบสามเรื่องสุดท้าย

ด้วยความที่อนิเมชั่นเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการบูรณะ ฉบับหารับชมในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยริ้วรอยขีดข่วน คุณภาพเสื่อมถดถอยตามกาลเวลา แต่ก็ยังไม่เลวร้ายถึงขนาดดูไม่ได้ (อาจเพราะถูกเก็บเข้ากรุ ไม่ได้นำออกฉาย คุณภาพเลยยังค่อนข้างดีอยู่) … คลิปบน Youtube พอดูได้อยู่

ในบรรดาผลงานของผกก. Trnka แม้ส่วนตัวจะชื่นชอบ The Cybernetic Grandma (1962) มากกว่า The Hand (1965) แต่ก็สัมผัสได้ถึงอารมณ์เกรี้ยวกราด บรรยากาศท้อแท้สิ้นหวัง นั่นเพราะเจ้าตัวตระหนักว่านี่อาจคืออนิเมชั่นเรื่องสุดท้าย เลยขอระบายทุกสิ่งอย่างอึดอัดอั้น ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น แสดงออกความเป็น ‘ศิลปิน’ ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่า Walt Disney

อนิเมชั่นของผกก. Jiří Trnka ทรงอิทธิพลมากๆไม่ใช่แค่ Czech Animation แต่ยังวงการ Stop-Motion Animation เปิดประตูแห่งความเป็นไปได้ มากกว่าแค่สื่อสำหรับเด็ก ผสมผสานความเป็นส่วนตัว ศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ

จัดเรต 13+ กับความเผด็จการของมือ

คำโปรย | The Hand ผลงาน Swan Song ของผู้กำกับ Jiří Trnka ระบายความอึดอัดอั้นต่อหัตถ์พระเจ้า การถูกควบคุมครอบงำโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ Czechoslovakia
คุณภาพ |
ส่วนตัว | อัดอั้นทรวงใน

ใส่ความเห็น