Prapancha Pash (1929)


A Throw of Dice

Prapancha Pash (1929) Indian : Franz Osten ♥♥♡

ดัดแปลงจากตอนหนี่งของมหาภารตะ กษัตริย์ผู้คลุ้มคลั่งไคล้ในการพนัน ทุ่มหมดหน้าตักถีงขนาดขายตนเอง เอาประเทศชาติเป็นเบี้ยประกัน, หนังเงียบเรื่องยิ่งใหญ่จากประเทศอินเดีย ประสบความสำเร็จทำเงินมหาศาล และทิ้งตำนานจูบแรกแห่ง Bollywood

อลังการงานสร้างระดับ D. W. Griffith ตัวประกอบนับหมื่น ม้านับพัน ช้าง เสือ งู ถ่ายทำยังสถานที่จริง Rajasthan ทำให้ A Throw of Dice เป็นภาพยนตร์ระดับมหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดของ British India ในยุคสมัยหนังเงียบ และบรรดานักวิจารณ์ยกว่าคือผลงานชิ้นเอก Masterpiece ของผู้กำกับ Franz Osten

จริงอยู่ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้แฝงข้อคิด คติสอนใจ ไม่ให้หมกมุ่นลุ่มหลงใหลในการพนันขันต่อ จนคลุ้มคลั่งเสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้อย่างรุนแรง แต่ถีงอย่างนั้นเกินกว่าครี่งเรื่องกลับอารัมบทอะไรก็ไม่รู้ แถมบทเรียนที่ตัวละครได้รับ หาได้เทียบเท่าความโง่เขลาเคยก่อแม้แต่น้อย


Himanshu Rai (1892 – 1940) นักบุกเบิกวงการภาพยนตร์อินเดีย ว่าที่ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Bombay Talkies เกิดยัง Cuttack, Bengal Presidency ในครอบครัวชนชั้นสูง ร่ำเรียนจบกฎหมายจาก Kolkata แล้วมุ่งสู่ London ตั้งใจเป็นทนายความ แต่มีโอกาสพบเจอนักเขียนร่วมชาติ Niranjan Pal (1889 – 1959) ประทับใจในบทละคร กลายมาเป็นนักแสดงบนเวที พบเห็นอนาคตของภาพยนตร์เลยชักชวนมาทดลองสร้าง แต่ไร้ประสบการณ์เลยมุ่งหน้าสู่ Germany เพื่อหาใครใจกว้างให้ความช่วยเหลือแนะนำ

Franz Osten ชื่อเกิด Franz Ostermayr (1876 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เกิดที่ Munich โตขึ้นเป็นนักถ่ายภาพผู้หลงใหลการแสดง เมื่อปี 1907 ร่วมกับน้องชาย Peter Ostermayr ก่อตั้ง Original Physograph Company ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Bavaria Film Studios สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Erna Valeska (1911)

Osten ประทับใจการบุกเดี่ยวมาถึงเยอรมันของหนุ่มหน้าใสผู้นี้ จึงอาสาจัดหาทุนสร้าง อุปกรณ์ และทีมงาน (ผู้กำกับ/ตากล้อง) โดยให้ Rai ตระเตรียมบท นักแสดง สถานที่ถ่ายทำ และสาธารณูปโภคอื่นๆระหว่างเดินทางไปถ่ายทำยังอินเดีย กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก Prem Sanyas (1925) อัตชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ แม้ไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จแต่ก็มีอีกสองผลงานติดตามมา Shiraz (1928) และ Prapancha Pash (1929)

สำหรับ Prapancha Pash หรือ A Throw of Dice ดัดแปลงจากเรื่องราวตอนหนี่งของมหาภารตะ ช่วงที่ยุธิษฐิระ (Yudhishthira) เล่นพนันลูกเต๋ากับ ทุรโยธน์ (Duryodhana) แล้วพ่ายแพ้อย่างหมดรูป สูญเสียทรัพย์สิน ประเทศชาติ แต่ยังไม่ยินยอมเลิกรา ถีงขนาดเอาตัวเอง ภรรยา ข้าทาสบริพารเป็นเบี้ยพนัน

Himanshu Rai เป็นคนนำเสนอพล็อตเรื่องราวดังกล่าว และส่งต่อให้ W.A Burton และ Max Jungk ทั้งสองเป็นชาว German ร่วมกันพัฒนาบทหนัง โดยคาดหวังนำมุมมอง/ความสนใจชาวตะวันตก สอดแทรกใส่เข้ามาเป็นจุดขายเมื่อตอนนำออกฉายต่างประเทศ

เรื่องราวของ King Ranjit (รับบทโดย Charu Roy) กษัตริย์ผู้มีความลุ่มหลงใหลในการพนันขันต่อ วันหนี่งออกเดินทางไปล่าสัตว์ร่วมกับ King Sohan (รับบทโดย Himansu Rai) ผู้มีความจงเกลียดจงชังญาติพี่น้องตนเอง ต้องการหาหนทางขจัดภัยให้พ้นสายตา ให้ลูกน้องใช้ธนูอาบยาพิษแสร้างยิงผิดพลาดโดน King Rajit แต่โชคชะตาดันเข้าข้าง ได้รับความช่วยเหลือจากหญิงสาวสวย Sunita (รับบทโดย Seeta Devi) เลยยังสามารถมีชีวิตรอดกลับพระราชวัง

โดยไม่รู้ตัว King Ranjit ตกหลุมรักต้องการแต่งงานกับ Sunita ซี่งเธอก็มีใจมอบให้อยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันเมื่อ King Sohan ได้พบเห็นเลยกลายเป็นรักสามเส้า แล้ววางแผนใช้กลอุบายล่อหลอก King Ranjit ผู้ชื่นชอบการพนันขันต่อในค่ำคืนวันแต่งงาน เอาชนะการทายลูกเต๋าจนได้ครอบครองเมือง และทำให้ศัตรูหัวใจกลายเป็นข้าทาสรับใช้


สามนักแสดงหลักของหนัง ต่างเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ Prem Sanyas (1925) และ Shiraz (1928) เน้นการแสดงออกทางสีหน้า อารมณ์ ร่างกายขยับเคลื่อนไหวด้วยสไตล์ German Expressionism ผู้ชมสามารถสังเกต ทำความเข้าใจภาษากาย โดยแทบไม่ต้องปรากฎข้อความอธิบายใดๆ

Charu Roy ด้วยใบหน้าคมเข้ม โดยปกติจะแสดงออกด้วยความหนักแน่น ดุดัน แต่บทบาท King Ranjit กลับดูอ่อนแอ ไร้เดียงสาต่อโลก ไปโดดเด่นด้านความโรแมนติก เกี้ยวพาราสีหญิงสาวอย่างหวานฉ่ำ สาวๆไหนเห็นย่อมตกหลุมรัก (น่าจะเป็นบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดของ Roy แล้วกระมังนี่)

Seeta Devi เพราะเกิดที่อังกฤษ (ลูกครี่ง Anglo-Indian) ทำให้เธอมีความกล้าคิด กล้าแสดงออก มุ่งมั่นในความต้องการ ไม่ถูกระเบียบวัฒนธรรมอินเดียครอบงำ บทบาทของเธอตั้งแต่ Prem Sanyas (1925) และ Shiraz (1928) ล้วนเป็นหญิงสาวนอกคอก แก่นแก้ว ชอบทำตัวยั่วเย้ายวนให้บุรุษลุ่มหลงใหล สำหรับ Sunita บิดาสั่งไว้อย่างไรไม่สน เพราะรักเลยลักลอบหนีตามมากับ King Ranjit และฉากจุมพิตครั้งแรกในภาพยนตร์ Bollywood แสดงออกได้อย่างไม่เหนียมอายใคร

Himanshu Rai ครานี้รับบทตัวร้าย King Sohan ผู้เปี่ยมด้วยความอาฆาตแค้น ต้องการเข่นฆ่าทำลาย King Rajit ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบได้ แต่คงประมาณ ‘เสือสองตัวอาศัยอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ ใบหน้าเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น พยายามใช้ทุกหนกลโกงเพื่อครอบครอง เอาชนะ แม้แต่ลูกน้องยังทรยศหักหลังได้

ถ่ายภาพโดย Emil Schünemann (1882 – 1964) ตากล้องสัญชาติ German

หนังรับอิทธิพลงานสร้างจากผลงานของผู้กำกับ D. W. Griffith ไม่น้อยเลยทีเดียว สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตมโหฬาร ตัวประกอบ สรรพสัตว์ พยายามยัดเยียดปริมาณเข้าไปในเฟรมด้วย Extreme-Long Shot แต่เวลาต้องการนำเสนออารมณ์ความรู้สีกตัวละคร จะถ่ายระยะใกล้ด้วย Medium Shot หรือ Close-Up

สำหรับสิ่งก่อสร้างนี่ผมไม่แน่ใจสักเท่าไหร่ ในเครดิตขี้นว่าถ่ายทำยัง Rajasthan เพราะอินเดียคือดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ หลายสถานที่สำคัญๆ/พระราชวัง น่าจะยังคงหลงเหลือถีงปัจจุบัน(นั้น) ไม่ใช่ทั้งหมดที่ก่อสร้างขี้นเพื่อใช้ในหนังเพียงอย่างเดียว (คือหนังอย่าง Intolerance ก่อสร้างเมือง Babylon อย่างยิ่งใหญ่โต หมดเงินไปมากมายมหาศาล แต่หลังถ่ายทำเสร็จกลับต้องทุบทิ้งทำลายอย่างน่าเสียดาย)

ตัดต่อไม่มีเครดิต, นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองทั้งสามตัวละคร King Ranjit, King Sohan และว่าที่ราชินี Sunita แต่บางครั้งก็ใช้ตัวประกอบเปิดเผยความจริงบางอย่าง

หนังพยายามใช้การปรากฎข้อความ (Title Card) ในปริมาณน้อยที่สุด ปล่อยให้ภาพ การแสดงออกของตัวละคร ดำเนินเรื่องไปอย่างต่อเนื่อง ลื่นไหล แลดูเป็นธรรมชาติอย่างมาก

ช่วงต้นของหนังมีขณะหนี่ง ตัดต่อ/ร้อยเรียงภาพได้งดงามตราตรีง หลังจากปรากฎขี้นข้อความ

But the noise of the hunter startled the forest animals into activity.

ร้อยเรียงภาพสรรพสัตว์กำลังแตกตื่น ตะหนกตกใจ เพราะได้ยินเสียงดังลั่นของขบวนล่าสัตว์ พวกมันหันมามองแล้วเริ่มออกวิ่ง โบยบินหนี ไม่รู้เหมือนกันว่าจับจ้องถ่ายกันทันได้อย่างไร (คาดเดาว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้)

แม้ว่าหนังจะประสบความสำเร็จล้นหลามในอินเดีย (ไม่มีรายละเอียดว่าทำเงินได้เท่าไหร่ ว่ากันว่าอาจถีงขั้นสูงสุดตลอดกาลในยุคหนังเงียบของอินเดียเลยนะ) แต่ปีที่ออกฉาย ภาพยนตร์กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ยุคสมัยหนังพูด ด้วยเหตุนี้เลยไม่สามารถสานต่อความยิ่งใหญ่ระดับโลกได้

ฟีล์มหนัง A Throw of Dice ถูกเก็บไว้ที่คลัง British Film Institute ตั้งแต่ปี 1945 ไม่ได้ถูกหยิบยืมนำมาฉายบ่อยครั้งนัก จนกระทั่งปี 2006 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี ประกาศเอกราชประเทศอินเดีย หนังจีงถูกนำมาบูรณะ Remaster ให้กลายเป็นไฟล์ดิจิตอล ทำเพลงประกอบใหม่โดย Nitin Sawhney ออกฉายเทศกาลหนัง Luminato Festival เมื่อปี 2008

สำหรับเพลงประกอบยังมีอีกฉบับหนี่ง แต่งขี้นใหม่โดย Nishat Khan บรรเลง/ออกฉายครั้งแรกในงาน Indian Film Festival เมื่อปี 2013 (ในโอกาสครบรอบ 100 ปี วงการภาพยนตร์อินเดีย)

สำหรับผู้กำกับ Osten หลังเสร็จจาก A Throw of Dice หวนกลับไปสร้างภาพยนตร์ที่เยอรมันเรื่อง The Judas of Tyrol (1933) แต่ยุคสมัยนั้น Nazi กำลังค่อยๆกลืนกินเข้าครอบงำประเทศ ด้วยความไม่ชื่นชอบอุดมการณ์พรรค เลยตัดสินใจหลบหนี ลี้ภัยตัวเองมาปักหลักอยู่อินเดีย ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Bombay Talkies เมื่อปี 1934 มีผลงานดังๆอย่าง Jeevan Naiya (1934), Achhut Kanya (1936) [เรื่องนี้เห็นว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้กำกับ Satyajit Ray หลงใหลในความสมจริง ‘realistic’ จับต้องได้], Jeevan Prabhat (1937), Kangan (1939) ฯ อย่างไรก็ดีเมื่อปี 1940 ถูกทหารอังกฤษจับกุมคุมขัง (เพราะเป็นคนสัญชาติเยอรมัน) ทำให้อาชีพผู้กำกับภาพยนตร์สิ้นสุดลง หลังสงครามสิ้นสุดเลยตัดสินใจหวนกลับบ้านเกิด ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบสุข

ส่วนที่ผมผิดหวังมากสุดของหนัง คือความตื้นเขินในบทเรียนของตัวละคร มันสามารถพัฒนาบทให้มีความบีบเค้นคั้น รับรู้ซี้งถีงผลกรรมตามทันได้มากกว่านี้ … ส่วนตัวเลยมอง A Throw of Dice แค่เพียงเกมหลอกเด็ก นิทานก่อนนอน สอนข้อคิดง่ายๆให้ผู้ชมที่ยังอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อวิถีทางโลกเท่านั้นเอง

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Prapancha Pash แม้งานสร้างยิ่งใหญ่อลังการ แต่คุณค่าของหนังเพียงแค่นิทานกล่อมเด็กเข้านอนเท่านั้น
คุณภาพ | นิทานก่อนนอน
ส่วนตัว | เฉยๆ

Agantuk (1991)


Agantuk

Agantuk (1991) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥♡

Swan Song ของผู้กำกับ Satyajit Ray เมื่อครอบครัวหนึ่งได้รับจดหมายลึกลับ อ้างว่าเป็นญาติที่สูญหายตัวไปกว่า 35 ปี ต้องการแวะเวียนมาพักอาศัย เป็นคุณจะตกลงปลงใจเชื่อ ยินยอมให้บุคคลแปลกหน้า (Agantuk แปลว่า The Stranger) เข้ามาค้างแรมในบ้านหรือเปล่า? “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ร้อยทั้งร้อยของชาวเมืองยุคสมัยนี้ คงไม่มีใครเปิดประตูห้องให้ ความครุ่นคิดแรกคือขโมยกะโจร ต้องไม่ใช่บุคคลมาดีอย่างแน่นอน!, แต่สำหรับคนต่างจังหวัด ผมว่าอาจจะยัง 50-50 พอมีมิตรไมตรีจิตให้คนแปลกหน้า ถ้าดูภายนอกแล้วพอน่าเชื่อถือ หรือถูกโฉลกโชคชะตาอยู่บ้าง

ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะค่านิยมใน ‘วัตถุ’ เมื่อเรามีเงินทอง สิ่งข้าวของมีค่า มักเกิดความหมกมุ่น ยึดติด กลัวการสูญเสีย นั่นเองจึงสร้างผนังกำแพง ประตู ลงกลอน กักขังตนเองอยู่ภายใน หลงเชื่อว่านั่นคือความปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วถ้าขโมยกะโจรมันมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ตู้เซฟในธนาคารยังงัดได้ นับประสาอะไรแค่กุญแจบ้านหลังหนึ่ง

ผมอดไม่ได้ที่ต้องยกย่องสรรเสริญผู้กำกับ Satyajit Ray ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า! ไม่ใช่ด้วยเทคนิคตื่นตระการตาแบบสมัยยังมีเรี่ยวแรงแข็งขัน แต่คือแนวความคิดที่โคตรลุ่มลึก เฉียบคมคาย ผลงานเรื่องสุดท้าย Agantuk เรียกว่าเป็นการประมวลทุกสิ่งในชีวิต และใช้ความเรียบง่าย ‘Minimalist’ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงามทรงคุณค่ายิ่ง

“In this film, I have said all that I wanted to say. I don’t think I need to say anything else now”.

– Satyajit Ray


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ภาพยนตร์ในยุคบั้นปลายของ Ray เริ่มนับจาก Ghare Baire (1984) ที่ระหว่างถ่ายทำเกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) ตั้งแต่นั้นเลยไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงาน ด้วยเหตุนี้ผลงานจึงมุ่งเน้นแนวความคิด ใช้สติปัญญา ปรัชญา ประมวลผลประสบการณ์ชีวิต มากกว่าเน้นความตื่นตระการตาในเทคนิค

Agantuk (1991) สร้างจากเรื่องสั้น Atithi (แปลว่า The Guest) ที่ผู้กำกับ Ray เขียนให้นิตยสารเด็ก Sandesh ตีพิมพ์เมื่อปี 1981 ซึ่งการดัดแปลงบทภาพยนตร์นั้นแสนง่ายดาย เพราะต้นฉบับมีรายละเอียดครบถ้วนอยู่แล้ว ปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อย เพิ่มเติมอะไรๆอีกนิดหน่อย แค่เพียงคืนเดียวก็สำเร็จเสร็จสิ้น

พื้นหลังปี 1990, Anila Bose (รับบทโดย Mamata Shankar) ได้รับจดหมายลึกลับจากชายแปลกหน้า อ้างว่าคือลุง Manomohan Mitra (รับบทโดย Utpal Dutt) ที่สูญหายตัวออกจากบ้านไปนานกว่า 35 ปี เมื่อครั้นเธอยังตัวเล็กๆจดจำอะไรแทบไม่ได้ เพราะเป็นญาติคนเดียวหลงเหลืออยู่ จึงต้องการแวะเวียนมาพักอาศัย ด้วยข้ออ้าง ‘ความมีน้ำใจ’ ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอินเดียแต่โบราณมา ถึงอย่างนั้นสามี Sudhindra (รับบทโดย Deepankar De) กลับเต็มไปด้วยความใคร่ฉงนสงสัย เพราะอะไร ทำไม ขโมยกะโจรหรือเปล่า คนแบบนี้ไม่น่ามาดีแน่!

เกร็ด: ถ้าบวกลบเลข ปีที่ลุง Manomohan Mitra ออกจากบ้านคือ ค.ศ. 1955 ซึ่งคือปีแรกที่ผู้กำกับ Satyajit Ray สร้างภาพยนตร์ Pather Panchali (1955) มันจะมีความสอดคล้องอะไรกันหรือเปล่านะ??


Utpal Dutt (1929 – 1993) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Barisal, Bengal Presidency, โตขึ้นเรียนจบวรรณกรรมภาษาอังกฤษ เกียรตินิยม University of Calcutta แต่ความสนใจคือละครเวที เริ่มต้นเป็นนักแสดงในโรงละครอังกฤษ Shakespeareana Theatre Company ต่อมาร่วมก่อตั้ง Indian People’s Theatre Association จนมีโอกาสรู้จักผู้กำกับ Satyajit Ray มาตั้งแต่ตอนนั้น, สำหรับภาพยนตร์มีทั้งภาษาฮินดี เบงกาลี อาทิ Bhuvan Shome (1969), Gol Maal (1979), Rang Birangi (1983), Agantuk (1991), Padma Nadir Majhi (1993) ฯ

รับบท Manomohan Mitra ชายลึกลับผู้อ้างว่าคือลุงของ Anila Bose เป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้ อัธยาศัยดี มีมิตรไมตรี สุภาพชน โน้มน้าวใจผู้อื่นเก่ง มากมายด้วยเรื่องเล่า เข้ากับเด็กๆได้ง่าย, เรื่องราวค่อยๆเปิดเผยว่าเขาคือนักมานุษยวิทยา ชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัย เคยใช้ชีวิตอยู่กับชนเผ่าพื้นเมืองอินเดีย สามารถกินเนื้อสรรพสัตว์ได้ทุกชนิด

ผมไม่ขอเล่าถึงสาเหตุผลการกลับมาบ้านครั้งนี้ของ Manomohan Mitra แล้วกันนะครับ เก็บไว้เป็นเซอร์ไพรส์ระหว่างรับชมหนัง ดูสิว่าคุณจะคาดเดาออกหรือเปล่าว่าทำไม?

คนที่รับชมภาพยนตร์อินเดียมาระดับหนึ่ง จะจดจำภาพลักษณ์ของ Utpal Dutt ในมาดนักแสดงตลก ทีแรกผมก็เอะใจเล็กๆว่ามามุกไหน แต่ผู้กำกับ Ray ดูเหมือนจะล่วงรู้จักตัวตนของ Dutt สนิทสนมกันเป็นอย่างดี เลยเข้าใจความสามารถอันลุ่มลึกล้ำในการสร้างแรงดึงดูด แค่เพียงเรื่องเล่าธรรมดาๆทั่วไป ปั้นน้ำเสียง สีหน้า สายตา สร้างความสนใจไม่ใช่แค่เด็กๆหรือผู้ใหญ่ แต่ยังผู้ชมสามารถจินตนาการเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจน

คงไม่ผิดอะไรจะตีความว่าตัวละครนี้ คือตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Ray แต่ส่วนใหญ่จะในเชิงนามธรรม อาทิ
– ตัวละครเป็นนักมานุษยวิทยา ศึกษากำเนิด วิวัฒนาการเผ่าพันธุ์มนุษย์, ซึ่งในฐานะผู้กำกับ ผลงานของ Ray ส่วนใหญ่คือการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน วิวัฒนาการทางสังคมของชาวอินเดีย
– Manomohan Mitra เป็นคนมากด้วยเรื่องเล่า แต่ก็ไม่ค่อยมีเงินสักเท่าไหร่ เอาตัวรอดจากการเขียนหนังสือ/บทความ แค่เพียงพอสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้, ภาพยนตร์ของ Satyajit Ray ก็คือเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำเงินสักเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอให้มีผลงานต่อเนื่องติดตามมาได้อยู่เรื่อยๆ
– เคยเพ้อฝันเป็นจิตรกร แต่ล้มเลิกความตั้งใจเพราะพบเห็นงานศิลปะที่ตนเองไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน, ชีวิตจริงของผู้กำกับ Ray เคยวาดฝันเป็นนักเขียน/จิตรกร แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจเพราะครุ่นคิดว่าตนเองคงทำดีกว่าพ่อไม่ได้ เลยเปลี่ยนมาสร้างภาพยนตร์แทน
ฯลฯ


Dipankar De (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Jamshedpur, Jharkhand, เข้าสู่วงการจากบทบาทสมทบ Seemabaddha (1971) ติดตามด้วย Jana Aranya (1976) จนกลายเป็นขาประจำยุคหลังของผู้กำกับ Ray และได้ร่วมงานสามผลงานสุดท้าย

รับบท Sudhindra Bose พ่อ/สามี ผู้เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ไม่อยากเชื่อมั่นใจในชายแปลกหน้า เพราะยุคสมัยนี้คนดีหายาก ครุ่นคิดมองทุกสิ่งอย่างในแง่ร้ายไปหมด ทีแรกพยายามโน้มน้าวภรรยาให้บอกปัด แต่ก็ค่อยๆยินยอมเปิดใจรับเมื่อพานพบเจอ แม้จะทำบางสิ่งอย่างไม่น่าอภิรมณ์เท่าไหร่สักเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ยังมีจิตสำนึกรู้จักผิดชอบชั่วดี

ผู้ชมปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงแบบตัวละครนี้ จดหมายลึกลับมาพร้อมความวิตกจริตใหญ่ยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนค่านิยมมนุษย์ยุคสมัยนั้น-นี้ หาความบริสุทธิ์จริงใจจากเพียงถ้อยคำพูดหรือภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้อีกต่อไป แต่การจะสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ไม่ยินยอมเรียนรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย นั่นก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมสักเท่าไหร่

การแสดงของ De อาจไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่งจะถูกกลืนกินโดย Utpal Dutt และบรรดานักแสดงรับเชิญ ที่มาร่วมท้าพิสูจน์ความจริง แต่การแสดงออกขณะรู้สำนึกผิด ฉันไม่น่าทำอะไรให้มันเกินเลยเถิดขนาดนั้น นั่นออกมาจากความรู้สึกภายในจริงๆ ผู้ชมย่อมสัมผัสได้เช่นกัน


Mamata Shankar (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolkata, พ่อ-แม่เป็นนักเต้นชื่อดัง แถมมีศักดิ์เป็นหลานของ Ravi Shankar, เริ่มต้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์จาก Mrigayaa (1976), Kharij (1982), ร่วมงานสามเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Ray และระหว่างนั้นก่อตั้งคณะ Mamta Shankar Dance Company ออกเดินทางไปเปิดการแสดงทั่วโลก

รับบท Anila Bose แม้ไม่เคยคาดคิดถึงจะได้รับจดหมายจากลุง Manomohan Mitra แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไม่ผิดอะไรที่จะลองเสี่ยง ซึ่งแค่เพียงแรกพานพบก็รู้สึกถูกชะตา (น่าจะโดยสันชาตญาณทางสายเลือดกระมัง) พยายามอย่างยิ่งจะโน้มน้าวใจสามีให้คล้อยตาย แต่ของแบบนี้มันต้อง’เชื่อ’ด้วยตัวตนเองถึงจะแน่ใจ

บทบาทของ Shankar ถือว่ามีสีสันและจิตวิญญาณมากกว่า Dipankar De แม้เธอจะไม่ได้เอ่ยปากแสดงความครุ่นคิดเห็นใดๆระหว่างสนทนา แต่บทเพลงและการเข้าร่วมเต้นช่วงท้าย นั่นสะท้อนถึงการเปิดอก ยินยอมรับ สำหรับผู้หญิงมักง่ายดายกว่าผู้ชายในการเข้าถึงตัวตนของใครๆ


Robi Ghosh Dastidar (1931 – 1997) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal หลังเรียนจบจาก Asutosh College ได้ทำงานยัง Bankshall Court แต่เกิดความเบื่อหน่าย ผันมาเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Ahoban (1959), เข้าตาผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Abhijan (1962), Mahapurush (1965), โด่งดังสูงสุด Goopy Gyne Bagha Byne (1968), Hirak Rajar Deshe (1980)

รับบท Ranjan Rakshit นักแสดงผู้มีความสนใจอยากรับรู้เรื่องราวของ Manomohan Mitra เลยเร่งรีบเดินทางมาหาตั้งแต่ค่ำคืนแรก สนทนากันอย่างออกรสชาดแต่ในที่สุดก็ยินยอมพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลุงคนนี้กำลังเล่นละครตบตาอยู่หรือเปล่า

ภาพลักษณ์ของ Ghosh เป็นคนตลก ดูไม่เฉลียวฉลาดมากนัก ซึ่งหนังจงใจจับจ้องถ่ายใบหน้าของเขาขณะผิดคิว เอ๋อเหรอ คาดไม่ถึงกับคำตอบ พยายามดิ้นรนฝืนทนอยู่สักพัก แต่พอความแตกก็ศิโรราบโดยดี พบเจอบุคคลที่มีชั้นเชิง/เฉลียวฉลาดกว่า แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถติดตามไล่ทัน


Dhritiman Chatterjee ชื่อจริง Sundar Chatterjee (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolkata, West Bengal, โตขึ้นร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ความหลงใหลด้านการแสดงเลยเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับคัดเลือกแสดงนำ Pratidwandi (1970) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Agantuk (1991), Black (2005), Kahaani (2012), Pink (2016) ฯ

รับบท Prithwish Sen Gupta เพื่อนของ Sudhindra ไม่แน่ใจว่าเป็นนักจิตวิทยาหรือเปล่า พยายามตั้งข้อคำถามส่วนตัวมากมาย เพื่อล้วงลึกไปถึงความเชื่อ ศรัทธา อุดมการณ์ สุดท้ายเพราะไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ เลยเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนทิ่มแทงย้อนกลับใส่ตัวตนเอง เลยโบ้ยบ้ายได้ข้อสรุป คนแบบนี้ไม่สมควรสมัครคบหา

ผมมีความประทับใจการแสดงของ Chatterjee มาตั้งแต่ Pratidwandi (1970) ในความดื้อรั้น ดุดัน หัวชนฝา ทุกสิ่งอย่างต้องให้ได้ดั่งใจตนเท่านั้น เรื่องนี้เพิ่มความทรงภูมิด้วยการไว้หนวดเครา ภาพลักษณ์แลดูเฉลียวฉลาดศาสตราจารย์ เพราะเย่อยิ่งถือมั่นในตนเองสูง เมื่อพานพบนักปราชญ์ผู้รู้จริง วินาทีรู้ตัวเองว่าพ่ายแพ้ เลยพูดแทงใจดำสวนกลับไปอย่างไม่ไว้หน้า

การระเบิดของ Chatterjee ถือเป็นสีสันมากๆ (แบบเดียวกับ Pratidwandi) สะท้อนความ ‘กบในกะลา’ ของมนุษย์ รับล่วงรู้จักสิ่งต่างๆเพียงน้อยนิด แต่กลับลุ่มหลงงมงาย เพ้อเจ้อไปว่าตนเองเข้าใจทุกสิ่งอย่าง เมื่อมิสามารถหาคำตอบในหลายปริศนา ก็ให้ข้อสรุปที่แสนปัญญาอ่อนสิ้นดี


ถ่ายภาพโดย Barun Raha จากเคยเป็นผู้ช่วยตากล้อง Joi Baba Felunath (1979) เลื่อนขึ้นมาเป็นได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ An Enemy of the People (1989)

งานภาพของหนังมีความเรียบง่าย ‘Minimalist’ เพราะแทบทั้งหมดถ่ายทำภายในบ้าน ส่วนใหญ่จึงคือมุมกล้อง ขยับเคลื่อนไหล จัดแสง-สี ตำแหน่งทิศทางของนักแสดง, ซึ่งผู้กำกับ Ray ขณะนั้นป่วยหนัก อยู่ไม่ห่างถังอ๊อกซิเจน ให้คำแนะนำทีมงาน/นักแสดง ผ่านการใช้เสียงเท่านั้น

อารัมบท เมื่อ Sudhindra พยายามเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาล้มละเลิกความตั้งใจ ตอบปฏิเสธจดหมายลึกลับฉบับนั้นไป ตัวเขาจะยืนค้ำหัวเธอ สะท้อนถึงความเป็นใหญ่ภายในบ้าน

Anila ทำคุกกี้รูปหัวใจ นัยยะคงคือต้องการเผยแพร่ความรักให้กับทุกคน ซึ่งสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณของเธอ อยากที่จะล่วงรับรู้พบเจอชายแปลกหน้าอ้างว่าเป็นลุงใจจะขาด … นั่นทำให้สามีแม้ต่อต้านหัวชนฝา ก็ยังต้องยินยอมคล้อยตามในบางส่วน

Opening Credit ของหนังค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะหลังจากขึ้นตัวอักษรที่เป็นชื่อหนัง มีการปรับโฟกัสให้พบเห็นภาพเบลอๆ สะท้อนเข้ากับความทรงจำของ Anila ที่มีต่อลุง มันช่างยาวนานห่างไกล ครุ่นคิดเท่าไหร่ก็พบเห็นเพียงภาพเลือนลางนี้เท่านั้น

การมาถึงของลุง Manomohan Mitra เชิญให้มานั่งเก้าอี้ตัวที่พ่อเคยนั่งเมื่อตอนอารัมบท สะท้อนถึงในฐานะ เป็นผู้ใหญ่ในบ้าน พูดคุยสนทนาคร่าวๆ ดื่มโค้กให้รู้สึกซาบซ่านหัวใจ

Anila โทรศัพท์บอกสามี Sudhindra ว่าลุงแปลกหน้ามาถึงบ้านแล้ว สังเกตว่า
– ภาพพื้นหลังของ Anila ไม่แน่ใจว่าเทพองค์ไหน แต่ถือว่าสะท้อนตัวตนของเธอย่างแน่นอน
– สำหรับ Sudhindra ด้านหลังของเขาคือครึ่งสว่าง-ครึ่งมืด สะท้อนท้อนถึงความเชื่อครึ่ง-ไม่เชื่อครึ่ง

ภาพวาดผนังถ้ำที่ตัวละครพูดถึงน่าจะ Cueva de Altamira (Cave of Altamira) พบเจออยู่ที่ Santillana del Mar, Cantabria ประเทศสเปน ได้รับการประเมินอายุ 36,000 ปี (ยุค Upper Paleolithic) ค้นพบโดย Marcelino Sanz de Sautuola เมื่อปี ค.ศ. 1879 และจดทะเบียนมรดกโลกปี ค.ศ. 1985

ภาพวาดผนังถ้ำที่ค้นพบ จะเต็มไปด้วยสรรพสัตว์น้อยใหญ่มากมาย แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดของถ้ำนี้คือวัวกระทิง (Bison) ก็มีหลายตัวเหมือนกันนะ ผมพยายามหาที่ใกล้เคียงสุดกับภาพวาดประกอบหนัง

กระทิง เป็นสัตว์ที่ชอบใช้ศีรษะพุ่งชน ก็เหมือนตัวละคร Manomohan Mitra (และผู้กำกับ Ray) มีชีวิตแบบ ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ได้ใคร่สนใจอนาคตสักเท่าไหร่


การเดินทางท่องโลกของ Manomohan Mitra ช่างสอดคล้องคู่ขนานกับคนเล่น Parasailing ซึ่งคงจะผูกเชือกติดกับรถบรรทุกแล่นไป (คล้ายๆการเล่น Wake Board แต่เปลี่ยนจากบนน้ำมาเป็นกลางอากาศ)

หลายครั้งที่ Manomohan Mitra เล่านิทานให้เด็กๆรับฟัง จะหันมาสบตากล้อง ‘Breaking the Fourth Wall’ คงเพื่อเป็นการสนทนากับผู้ชมไปด้วยในตัว

สิ่งที่ตัวละคร(และผู้กำกับ Ray) ถือว่ามีความน่าสนเท่ห์ มหัศจรรย์ที่สุด เล่าผ่านตัวละครนี้ก็คือ ดวงอาทิตย์และพระจันทร์ ทั้งๆมีขนาดแตกต่างลิบลับ แต่มองจากพื้นโลกกลับแลดูใกล้เคียง และบางกาลเวลาสามารถซ้อนทับกันสนิท โอกาสเช่นนั้นมันเป็นไปได้อย่างไร

Manomohan Mitra แรกพบเจอครั้งแรกกับ Sudhindra Bose จากภาพสะท้อนในกระจก นัยยะถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงตัวตนของอีกฝ่าย เริ่มต้นเลยโยน Passport คงอยากรู้ใจจะขาดว่าฉันคือลุงแท้ๆของภรรยาหรือเปล่า แต่ก็พูดตอกย้ำเตือน นั่นหาใช่สิ่งพิสูจน์สายเลือก/คุณค่าความเป็นคนไม่!

เทคนิคที่ผู้กำกับ Ray ใช้สร้างความสนใจในเรื่องเล่า หรือขณะกล่าวสุนทรพจน์ของ Manomohan Mitra คือกล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อน/ซูมเข้าไปหาใบหน้าตัวละคร สร้างความจดจ่อให้กับผู้ชม และสะท้อนถึงความเข้มข้นของเนื้อหา กำลังมุ่งเข้าสู่สาระใจความสำคัญ

Peril at End House (1932) ชื่อไทยเหตุปริศนาที่บ้านเอนด์เฮาส์ นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แต่งโดย Agatha Christie (1890 – 1976) ผมไม่เคยอ่านเลยบอกไม่ได้ว่ามีองค์ประกอบที่ตัวละครครุ่นคิดถึงหรือเปล่า (เรื่องนี้ยังไม่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยนะครับ) แต่สะท้อนความลึกลับ พิศวง ที่ลุงพูดถึงเมื่อตอนจบฉากก่อนหน้าได้อย่างลงตัวเลยละ

เพราะครุ่นคิดบางอย่างขึ้นมาได้ Sudhindra เลยเดินทางออกไปหาชายชราคนหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาการได้ยิน เรื่องวุ่นๆชวนขบขัน เพราะการพูดคุยไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของโลกยุคสมัยนี้ ทำให้มนุษย์พยายามปิดกั้นตนเอง ไม่ค่อยสื่อสารกับใครอื่นจากภายใน สนเพียงภาพลักษณ์ เปลือกนอก หลอกตัวเองไปวันๆ

การที่จู่ๆใส่ฉากร้อง-เล่น เครื่องดนตรี Tampura (แนวคิดคล้ายๆหนังของ Marx Brothers) ทำให้เกิดความพักผ่อนคลายชั่วขณะ ก่อนการโหมกระหน่ำเข้าใส่ของพายุลูกใหญ่

ระหว่างการสนทนาอย่างออกรสกับ Prithwish Sen Gupta จะมีครั้งหนึ่งที่ตัวละครหยิบลูกบิด/รูบิค ขึ้นมาหมุนเล่น สะท้อนการกำลังขบคิดแก้ไขปริศนา

ผมบังเอิญโหลดหนังมาสองฉบับเลยพบเห็นความแตกต่างระหว่าง Widescreen ของ Shermaroo และฉบับอัตราส่วนดั้งเดิมของ Criterion Collection (อัตราส่วน 4:3) มันทำให้ความสำคัญของลูกบิด/รูบิค แตกต่างกันออกไปเลยนะ!


สังเกตบางคำตอบของ Manomohan Mitra พยายามเบี่ยงเบนด้วยลีลา (เพราะมันสะท้อนมุมมองของผู้กำกับ Ray ด้วยอีกคน) เช่น ถูกถามเรื่องความเชื่อในพระเจ้า พี่แกฮัมร้องเพลง เลี่ยงไม่ตอบซะงั้น!

ทุกครั้งที่การสนทนากำลังออกออกรสชาดเข้มข้น ตัวละครจะลุกขึ้น เดินวนไปวนมารอบห้อง ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่เห็นพ้องก็จักยืนเผชิญหน้า พยายามข่มขวัญศัตรู ยกตำแหน่งตนเองให้สูง/เท่าเทียม ซึ่งวินาทีแห่งความพ่ายแพ้ Prithwish Sen Gupta ยืนล้วงกระเป๋า เท้าสะเอว ชี้หน้าด่า ควักบุหรี่ขึ้นมาสูบ เรียกว่าหมาจนตรอบโดยแท้

เมื่อสิ้นสุดการโต้เถียง Sudhindra และ Anila ต่างตระหนักได้ทันทีว่าตนเองกระทำสิ่งผิดพลาด เสียมารยาท ไม่สมควรแต่ประการใด ความหนาวเหน็บและมืดมิดจึงเข้ามาปกคลุมพวกเขาในค่ำคืนนั้นโดยทันที และจบสิ้นลงด้วยช็อตนี้ น่าจะนาฬิกาหมุน สะท้อนถึงวันเวลาที่จะได้อยู่ร่วมกับ Manomohan Mitra ใกล้หมดสิ้นลงไป

คุณลุงขี้งอน เพราะค่ำคืนนั้นถูกจี้แทงใจดำ เจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสเลยตัดสินใจหลบหนีออกมา และงดอาหารมื้อเช้า-กลางวันอีกต่างหาก แต่ลึกๆผมมองว่า คงอยากพิสูจน์ใจของครอบครัวนี้เหมือนกันว่า จะติดตามมาหาตนเองหรือเปล่า (ไม่งั้นคงไม่ตระเตรียมการแสดงชุดพิเศษไว้ให้พวกเขาหรอกนะ)

ช็อตนี้น่าสนใจเดียว Deep-Focus เพียงใบหน้าของ Manomohan Mitra ขนาดใหญ่เท่าสามสมาชิกครอบครัว Bose สะท้อนถึงการตระหนักได้ถึงความสำคัญของลุง ต้องการเรียกร้องให้หวนกลับบ้าน ยินยอมรับความผิดพลาดทุกประการที่ก่อไว้

Koli, Kori, Kol ชนเผ่าเก่าแก่ที่สุดในอินเดีย ว่ากันว่าเป็นส่วนผสมของ Negrito และ Australoid อพยพมาอยู่แถวๆ Madhya Pradesh ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีภาษาถิ่น Kolarian หรือ Munda ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 200,000 คน

ลักษณะการเต้นรำของชาว Kols ฝ่ายชายร้อง-เล่น ตีกลอง เปล่าขลุ่ย, ฝ่ายหญิงจับมือกันแน่น ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน โยกไปมาโดยพร้อมเพรียง สะท้อนความสัมพันธ์ที่เป็นปึกแผ่น (ตรงกันข้ามกับความเห็นแก่ตัวของคนยุคสมัยปัจจุบัน ที่ต่างตัวใครตัวมันไม่สนใจใครอื่น) ท่วงท่าลีลาก็แสนเรียบง่าย ธรรมดา ซ้ำไปซ้ำมา คนเพิ่งเคยเห็นก็สามารถจดจำรำตามแทบจะโดยทันที ซึ่งการเข้าไปร่วมวงของ Anila นั่นคือตัวตนแท้จริงของเธอ สามารถเปิดใจรับเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้โดยง่าย (เธอจึงสามารถเปิดรับลุงคนนี้ ได้ตั้งแต่ยังไม่เคยพบหน้าคาดตา)

เริ่มต้น Manomohan Mitra มาถึงโดยรถแท็กซี่ที่มีกระโปรงหลัง แต่ขากลับเมื่อเขาได้ทำภารกิจบางอย่างเสร็จสิ้น รถคันนี้ไร้ซึ่งสัมภาระใดๆ แถมยังทอดทิ้งกระเป๋าใบโปรดไว้เป็นของต่างหน้า

ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray ร่วมงานมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955), หนังดำเนินเรื่องโดยมีลุง Manomohan Mitra เป็นจุดหมุน
– อารัมบท, ส่งจดหมายมาก่อนล่วงหน้า
– แรกพบเจอ พูดคุย รับประทานอาหาร ซื้อใจหลานชาย Satyaki พานพบปะ Sudhindra (ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง)
– เผชิญหน้านักแสดง Ranjan Rakshit
– ฝันร้ายของ Anila ทำให้ Sudhindra ต้องออกเดินทางไปหาทนาย
– เผชิญหน้านักจิตวิเคราะห์ Prithwish Sen Gupta
– การหนีไปของลุง ทำให้ครอบครัว Bose ต้องออกติดตามตัวจนพบเจอ

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, แรกเริ่มต้น Opening Credit ใครกันนะกำลังเดินทางโดยรถไฟใกล้จะมีถึง ท่วงทำนองเต็มไปด้วยลึกลับพิศวง (ผสมกันระหว่างเครื่องดนตรีตะวันตก+พื้นบ้านอินเดีย) จากนั้นเมื่อลุงกำลังเล่านิทานให้เด็กๆฟัง ช่างมีความมหัศจรรย์น่าลุ่มหลงใหล ช่วงท้ายเมื่อความขัดแย้งบานปลายถึงขีดสุด บรรยากาศแห่งความหนาวเหน็บ สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ

Bajilo Kaharo Bina (แปลว่า Whose Veena is it that rings out?) แต่งโดย Rabindranath Tagore ขับร้องโดย Shramana Guha Thakurta, บทเพลงรำพันถึงเสียงเครื่องดนตรี Veena ที่ดังล่องลอยมา ใครกันหนาคือผู้บรรเลง ทำให้จิตใจของฉันสั่นหวั่นไหว ล่องลอยไปไกลถึงความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน

เกร็ด: Veena คือเครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ประเภทดีด ทำจากไม้ ตกแต่งด้วยทองเหลืองหรือโลหะ มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร เป็นรูปทรงกลมคอกว้างมีขนาดใหญ่ ด้านปลายจะแกะสลักเป็นรูปหัวมังกร สายที่ใช้ดีดทำจากโลหะมีระดับเสียง 8 ระดับ ผู้บรรเลงอาจนั่งไขว่ห้าง หรืออาจนั่งบรรเลงกับพื้นก็ได้, Veena ถือเป็นสัญลักษณ์ของ Saraswati เทพเจ้าที่ชาวฮินดูเคารพศรัทธา เรียกว่าเทพเจ้าแห่งความรู้

“The crux of the matter is that all these experiences have led you to conclude that urban civilization is a big facade.True civilization is the one found amongst forest dwellers”.

– Manomohan Mitra

ยุคสมัยนี้ ผู้คนมองความศิวิไลซ์ คือนวัตกรรมที่ก้าวล้ำยุคสมัย เมืองใหญ่ต้องเต็มไปด้วยตึกระฟ้า เศรษฐกิจมั่งคั่ง ประชาชนมั่งมี แต่แทบทั้งนั้นไม่มีใครพูดถึงคุณภาพชีวิต จิตใจ คุณความดีงาม หรือความสุขที่เกิดขึ้นจากภายใน

แนวคิดของผู้กำกับ Ray อาจดูสุดโต่งแต่นั่นคือข้อเท็จจริงที่ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง โลกยุคสมัยนี้หมดสิ้นแล้วซึ่งความศิวิไลซ์ ผู้คนส่วนใหญ่แสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว ละโมบโลภมาก ลุ่มหลงใหลในวัตถุ สิ่งข้าวของ เงินทอง อำนาจ ยศศักดิ์ศรี และมีความเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตามองเห็นเท่านั้น

ปัญหาดังกล่าว คนส่วนใหญ่คงโบ้ยความผิดไปที่วิวัฒนาการความเจริญของโลก ทำให้มนุษย์มีความละโมบโลภเห็นแก่ตัว  แต่จริงๆแล้วนั่นก็แค่อิทธิพลส่วนหนึ่งเท่านั้น สาเหตุผลหลักๆล้วนอยู่ที่ตัวเราเอง ปล่อยกายใจให้หมกมุ่นยึดติดในสิ่งที่เป็นวัตถุและไม่วัตถุ ลุ่มหลงใหลล่องลอยบนภาพมายา จนมองไม่เห็นสัจธรรมความจริงหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน

ความเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ และรู้จักการอยู่ร่วมธรรมชาติ นั่นเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Ray มองว่าคืออุดมคติ วิถีทางอันเหมาะสม จะทำให้มวลมนุษยชาติสามารถหวนกลับสู่ความยิ่งใหญ่ ศิวิไลซ์ ที่ไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุ แต่คือจิตใจ จักได้รับการพัฒนาให้มีความเพียงพอดี ลดละความละโมบโลภ เห็นแก่ตัว มองเห็นสิ่งทรงคุณค่าหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน แสดงออกด้วยมิตรไมตรีอันดีต่อกัน แล้วโลกมันจะน่าอยู่ยิ่งกว่าปัจจุบันนั้น-นี้ เป็นไหนๆ

สิ่งเกิดขึ้นตอนจบของหนัง นั่นเรียกว่าผลตอบแทนของความมีน้ำใจไมตรี กล่าวคือไม่ใช่แค่พ่อ-แม่-ลูก ครอบครัว Bose ต้องการพิสูจน์ชายแปลกหน้าคนนี้คือลุงแท้ๆหรือเปล่า? ในมุมกลับตารปัตร Manomohan Mitra ก็ต้องการค้นหาคำตอบเช่นกันว่า Anila Bose คือหลานสาวแท้ๆของตนเองไหม? เติบโตขึ้นมีนิสัยเช่นไร กล้าเสี่ยงต้อนรับคนแปลกหน้าโดยไม่คาดหวังผลตอบแทน นั่นถือเป็นสิ่งงดงาม ทรงคุณค่า หาได้ยากยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันนั้น-นี้ และรอยยิ้มอันเบิกบานจากใจ มีมูลค่าสูงกว่าเงินทอง สิ่งข้าวของ หรือคำพูดขอบคุณเป็นไหนๆ


หนังได้เสียงตอบรับดีล้นหลามทั้งการออกฉายในอินเดีย และต่างประเทศ ติดอันดับ 2 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma

ตั้งแต่ปี 1989 ที่ Akira Kurosawa โน้มน้าว Martin Scrorsese รวมหัวกับ Ismail Merchant สร้างแคมเปญเพื่อให้ Academy of Motion Picture Arts and Sciences มอบรางวัล Honorary Award ให้กับ Satyajit Ray จนได้รับการประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 1961

ผู้กำกับ Ray มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร India Today

“This comes as a sort of climax to my career. Because for a film-maker, an Oscar is like a Nobel prize”.

– Satyajit Ray

เพราะร่างกายทรุดโทรมไร้เรี่ยวแรง ไม่สามารถออกเดินทางไปไหนได้อีก ช่วงระหว่างพิธีเลยมีการถ่ายทอดสดข้ามทวีป และได้ Andrey Hepburn นักแสดงคนโปรดของ Ray เป็นผู้ประกาศรางวัลให้

และเพียง 24 วันหลังจากได้รับ Honorary Award ผู้กำกับ Satyajit Ray ก็ลาจากโลกนี้ไปวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1992 สิริอายุ 70 ปี

Agantuk ไม่ใช่แค่ผลงานที่ชื่นชอบ แต่ถึงระดับคลั่งไคล้ ลุ่มหลงใหล เพราะผมสามารถคาดเดาตอนจบได้ว่าชายแปลกหน้าผู้นี้มีเป้าหมายอะไร นั่นทำให้ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ คือบทเรียนสอนใจตัวละครและผู้ชม ลดละความเห็นแก่ตัว เรียนรู้จักการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน น้ำใจไมตรี และถ้าเป็นไปได้ หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติสามัญ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงยุคสมัยนี้คงไม่มีใครเปิดประตูต้อนรับคนแปลกหน้ากันแล้ว แต่บทเรียนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แสดงออกด้วยไมตรีจิต นั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ให้ด้วยความเต็มใจ และอย่าไปคาดหวังผลตอบแทนใดๆ

จัดเรต 13+ กับอคติที่รุนแรงของบางตัวละคร

คำโปรย | Agantuk คือบทเรียนสุดท้ายของผู้กำกับ Satyajit Ray ลดละความเห็นแก่ตัว เรียนรู้จักแบ่งปันให้คนแปลกหน้า
คุณภาพ | 
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก

Kapurush (1965)


Kapurush

Kapurush (1965) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

ชายหนุ่มรถเสียกลางทาง ได้รับอนุเคราะห์จากชายแปลกหน้าให้พักอาศัยค้างแรม พอไปถึงบ้านพบเห็นภรรยาซึ่งคืออดีตคนรักเก่า ทำให้เขาพร่ำรำพันโหยหาอดีตไม่เป็นอันหลับนอน

Kapurush คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกโหยหา ครุ่นคำนึงถึง ไม่เป็นอันหลับอันนอนของชายหนุ่มต่ออดีตคนรัก จับพลัดจับพลูพานพบเจอ แต่เมื่อนึกหวนระลึกนึกย้อนอดีตกลับไป เหตุผลที่ทั้งสองมิได้ลงเอยแต่งงานกัน เพราะความขี้ขลาดเขลา มิอาจก้าวข้ามผ่านบางสิ่งอย่างพันธนาการผูกเหนี่ยวรัดพวกเขาไว้

ผมมีความใคร่สนใจภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษหลังจากเขียนบทความ Nayak (1966) ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับการสำรวจตนเอง เผชิญหน้าอดีต และชื่อหนังมีความแตกต่างตรงกันข้าม (Nayak = The Hero, Kapurush = The Coward)

หลังจากรับชมบอกเลยว่าโคตรชอบ มอบสัมผัส ‘Impressionist’ ที่สร้างความประทับใจในอารมณ์ขี้ขลาดเขลา และเนื้อเรื่องราวชวนให้ระลึกนึกถึง Brief Encounter (1945) และ Spring in a Small Town (1948) รักสามเส้าที่เต็มไปด้วยความน่าเศร้า (ของอดีตแฟนเก่า)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ความยาวเพียง 74 นาทีเท่านั้น นั่นเพราะผู้กำกับ Ray ต้องการนำออกฉายควบ Mahapurush (The Holy Man) (1965) ความยาว 65 นาที แต่บทความนี้ผมจะพูดถึงแค่ Kapurush เท่านั้นนะ


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

หลังเสร็จจาก Charulata (1964) ความที่ไม่สามารถหาเนื้อเรื่องราวเหมะสม พัฒนาเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวได้ ผู้กำกับ Ray เลยตัดสินใจสร้างหนังควบอีกครั้งถัดจาก Teen Kanya (1961)

สำหรับ Kapurush ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Janaiko Kapuruser Kahini แต่งโดย Premendra Mitra (1904 – 1988) นักกวี/นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติเบงกาลี

Amitabha Roy (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) นักเขียนบทภาพยนตร์ ขับรถจาก Calcutta เพื่อสรรหาแรงบันดาลใจในการทำงาน บังเอิญรถเสียอยู่เมืองเล็กๆ ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน Bimal Gupta (รับบทโดย Haradhan Bandopadhyay) เจ้าของไร่ชา เลยอาสาให้เขาพักค้างแรมที่บ้านของตนเอง ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงพานพบเจอภรรยา Karuna (รับบทโดย Madhabi Mukherjee) แท้จริงแล้วคืออดีตคนรักเก่าของตนเอง


Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เคยเป็นนักแสดงละครเวที ตั้งแต่เด็กเลยชื่นชอบด้านการแสดง โตขึ้นเรียนจบสาขาวรรณกรรมเบงกาลีจาก University of Calcutta เริ่มต้นทำงานผู้ประกาศรายกาศวิทยุ All India Radio ระหว่างนั้นไปคัดเลือกนักแสดง Aparajito (1956) เพราะอายุมากเกินวัยเลยถูกปฏิเสธ แต่ภาพลักษณ์เป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Ray เลือกมารับบทภาคถัดไป Apur Sansar (1959) จนได้กลายเป็นขาประจำ

รับบท Amitabha Roy ชายหนุ่มผู้แม้มีความเชื่อมั่นในรัก แต่ขลาดเขลาที่จะแสดงออกมา เมื่อหวนกลับมาพบเจอ Karuna จิตใจเต็มไปด้วยความโหยหาอาลัย ไม่เป็นอันกินอันนอน พยายามโน้มน้าวให้เธอหนีตามไป แต่ทั้งหมดก็ได้แค่เพียงเพ้อใฝ่ฝัน

ผมว่า Chatterjee เหมาะกับบทบาทลักษณะนี้มากๆเลยนะ ภาพลักษณ์ของเขาคือหนุ่มโรแมนติก สายตาเต็มไปด้วยความอ่อนไหว บริสุทธิ์ไร้เดียงสา เมื่อถูกทำให้ต้องพลัดพรากจากคนรัก มันช่างน่าสงสารเห็นใจยิ่งนัก


Madhabi Mukherjee (เกิดปี 1942) นักแสดงหญิงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ตั้งแต่เด็กก้าวเข้าสู่วงการละครเวที จนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Dui Biye (1953), ส่วนบทบาทผู้ใหญ่เริ่มจาก Baishey Shravan (1960), Subarnarekha (1962), ร่วมงานผู้กำกับ Ray ครั้งแรก Mahanagar (1963), กลายเป็นตำนาน Charulata (1964), และอีกครั้งหนึ่ง Kapurush (1965)

รับบท Karuna หญิงสาวที่เคยตกหลุมรักมาก Amitabha Roy แต่เพราะถูกกีดกันโดยลุง อยู่ดีๆย้ายไปทำงานต่างเมือง บีบบังคับให้เธอต้องติดตามไปด้วย พยายามเรียกร้องขอแฟนหนุ่มให้มาสู่ขอแต่งงาน (หรือจะหนีไปอยู่ด้วยกันไม่รู้ละ) แต่เพราะความยังอ่อนเยาว์วัย เต็มไปด้วยขลาดเขลา เลยมิอาจหาญกล้า กาลเวลาผ่านไปแต่งงานอยู่กินกับ Bimal Gupta บังเอิญหวนกลับมาพานพบเจอ แต่ความรู้สึกจริงๆของเธอกับเขาเป็นเช่นไร คงไม่มีใครให้คำตอบได้แน่

ภาพลักษณ์ของ Mukherjee คือหญิงสาวที่มีความขี้เล่น ซุกซน โหยหาอิสรภาพ เก่งกาจไม่แค่สีหน้าสายตา แต่ยังทุกอากัปกิริยาเคลื่อนไหว ล้วนเป็นธรรมชาติและมีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นไว้, สำหรับเรื่องนี้ก็ถือว่าเต็มไปด้วยลับลมคมใน ซึ่งเอาจริงๆสังเกตออกไม่ยากหรอกนะ ว่าแท้จริงแล้วเธอมีความรู้เช่นไร


Haradhan Bandopadhyay (1926 – 2013) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kushtia, Bengal หลังเรียนจบจาก City College, Kolkata ทำงานในโรงงาน Gun & Shell ต่อด้วยกลายเป็นพนักงานขายประกัน แล้วจับพลัดจับพลูแสดงภาพยนตร์ Devdut (1948), ร่วมงานผู้กำกับ Ray ครั้งแรก Mahanagar (1963) ติดตามมาด้วย Kapurush (1965), Seemabaddha (1971), Sonar Kella (1974), Joi Baba Felunath (1978) ฯ

รับบท Bimal Gupta เจ้าของไร่ชา บังเอิญนำรถจิ๊บมาซ่อม พบเห็นหนุ่มชาวเมือง Amitabha Roy กำลังหาที่พักอาศัยค้างแรม จึงชักชวนมาพักค้างแรมที่บ้าน โดยไม่รู้ตัวว่าชายคนนี้คือคนรักเก่าของภรรยา พยายามสร้างความบันเทิงต่างๆนานา เช้าขึ้นมาชักชวนไปปิกนิค ก่อนปล่อยให้รอรถไฟที่กว่าจะมาถึงก็ค่ำมืดดึกดื่น

ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่ คงไม่มีใครใคร่สนใจตัวละครนี้อย่างแน่แท้ (จับจ้องแต่เพียงพระ-นาง) แต่ถึงอย่างนั้น เขาคือสามีถูกต้องตามกฎหมาย การจะลักลอบเป็นชู้นอกใจต่างหากคือสิ่งผิดหลักศีลธรรมจรรยา ค่านิยมที่คนยุคสมัยใหม่มักมองว่า ความรักสำคัญกว่า ก็หาใช่สิ่งเหมาะสมเสมอไป


ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy เลื่อนตำแหน่งจากนักจัดแสง/ผู้ช่วย Subrata Mitra กลายมาเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Teen Kanya (1961)

งานภาพมีลักษณะสะท้อนสภาพจิตวิทยา/อารมณ์ของตัวละครออกมา มีความลื่นไหล หลายครั้ง Long Take พบเห็นมุมกล้องแปลกๆ จัดวางตำแหน่งนักแสดง/สิ่งข้าวของ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ฉากแรกของหนัง ต้องชมเลยว่าเป็น Long Take ที่งดงามยิ่งนัก น่าจะถ่ายบนเครนเพราะกล้องเคลื่อนเลื่อนเข้าไปจากตำแหน่งนี้ถึงตรงหน้าต่าง เมื่อตัวละครเดินเข้าไปในร้าน และถอยกลับออกมาเมื่อได้รับความอนุเคราะห์จากชายแปลกหน้า

เมื่อมาถึงบ้านของ Bimal Gupta วินาทีแรกที่ Amitabha Roy พบเจอ Karuna ทั้งสองมีความผิดสังเกตที่โคตรจะแนบเนียน คือถ้าคนอ่านภาษากายไม่ออกก็อาจจำแนกไม่ได้จริงๆ (แบบที่ Bimal Gupta สังเกตพวกเขาไม่ออกเลยสักนิด)

มุมกล้องประหลาดๆอย่างเงยขึ้นช็อตนี้ สะท้อนถึงมุมมองของ Amitabha Roy ที่มีต่อ Bimal Gupta ทั้งๆไม่เคยรับรู้จักกันแท้ๆ แต่การเป็นสามีของอดีตคนรัก มันทำให้เขาราวกับเป็นคนสูงศักดิ์กว่า แถมหนังเสือด้านหลังบ่งบอกว่าชายคนนี้คือนักล่า (เอาจริงๆถ้า Karuna หนีตาม Amitabha นั่นอาจเป็นสิ่งเกิดขึ้นกับพวกเขาก็เป็นได้)

อีกมุมกล้องประหลาดๆ ขณะ Bimal Gupta กำลังพร่ำสนทนาอะไรก็ไม่รู้อยู่ก้นแก้ว (ดื่มวิสกี้ใกล้เมามาย) ผิดกับ Amitabha Roy จิบไวน์เชอรี่เพียงอึกเดียว คงต้องการธำรงสติตนเองไว้ จักได้สามารถครุ่นคิดว่าเอายังไงต่อไปกับชีวิตดี

ย้อนอดีตในความทรงจำของ Amitabha Roy ณ ห้องพักสามผนัง (=รักสามเส้า) วันดีคืนดี Karuna ถึงขนาดวิ่งฝ่าฝนมาหา เพื่อแจ้งบอกข่าวร้ายให้รับทราบ ซึ่งเธอจะเดินไปเดินมาระหว่างหน้าต่าง <–> กลางห้อง สะท้อนความกระวนกระวายของหญิงสาว ไม่อาจหยุดสงบนิ่งลงได้

สิ่งที่เธอต้องการในชีวิต คือการได้ Amitabha Roy เป็นที่พึ่งพักพิงทางกายใจ

แต่กลับกลายเป็นว่าชายหนุ่มกลับเต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ ช็อตนี้กลับตารปัตรที่ Amitabha Roy ไปยืนตรงหน้าต่างแทน และเบลอๆภาพของ Karuna การแต่งงานยังไม่ได้อยู่ในความปรารถนาของเขา

เงาของ Amitabha Roy อยู่ในตำแหน่งเคียงค้าง ไม่ใช่พยายามควบคุมครอบงำ หรืออาบทับใบหน้าของ Karuna นั่นคือสิ่งที่ทำให้เธอผิดหวัง เพราะในสังคมอินเดีย บุรุษต้องเป็นช้างเท้าหน้า กล้าที่จะบ่งการชีวิตอิสตรีติดตามหลัง

หวนกลับมาปัจจุบัน เพราะมิอาจอดรนทนอีกต่อไปได้ Amitabha Roy เลยตัดสินใจย่องออกมาข้างนอก พบเห็นไฟสาดส่องจากห้องนอนของอดีตแฟนสาว อยากจะเข้าไปแอบจับจ้องมอง ดันสะดุดบางสิ่งอย่างทำให้เธอเร่งรี่เดินออกมา

สังเกตว่าด้านหลังของ Amitabha Roy ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท สะท้อนจิตใจของเขาที่ไร้หนทางออกในความรู้สึกนี้

ช็อตนี้ล้อกับตอนฉากย้อนอดีต Karuna ยืนตรงหน้าต่าง จับจ้องมองออกไปข้างนอก เป็นสัญลักษณ์ของการโหยหาอิสรภาพ ขณะที่ Amitabha Roy นั่งจมปลักอยู่ในความมืดมิด ท่ามกลางกิ่งไม้ ภาพปลาแหวกว่าย

ตื่นเช้ามา Bimal Gupta ซักซ้อมตีกอล์ฟอยู่หน้าบ้าน Deep Focus ด้านหลังคือ Amitabha Roy เพิ่มตื่นนอนมา ช็อตนี้ผมมองได้ 2 นัยยะ
– Bimal Gupta ไม่ได้รับล่วงรู้ เอะใจตัวตนแท้จริงของ Amitabha Roy (ว่าคืออดีตคนรักของภรรยา)
– Bimal Gupta คือบุคคลผู้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่กว่า Amitabha Roy (นัยยะเดียวกับภาพมุมเงย พบเห็นหนังเสือติดผนัง)

ระหว่างทางกำลังไปปิคนิค Amitabha Roy พยายามพูดอะไรบางอย่างกับ Karuna แต่อยู่ดีๆก็มีรถวิ่งสวนตัดหน้า เรียกว่าเป็นเส้นแบ่งที่เขาไม่สามารถก้าวข้ามไปหาเธอได้

ฉากปิคนิค สังเกตว่า
– Karuna สวมใส่แว่นดำ ปกปิดบังความรู้สึกตนเองไว้ภายใน
– Bimal Gupta ขอหยิบยืมบุหรี่ของ Amitabha Roy มาสนองความสุขตนเอง แต่ก็แค่ฮึดเดียวแล้วผลอยหลับ จนกระทั่งไฟมอดไหม้แล้วสะดุ้งตื่น

พูดถึงฉากปิคนิค มักทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Partie de campagne (1936) ของผู้กำกับ Jean Renoir ที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้ รวมไปถึง Aranyer Din Ratri (1970) ด้วยนะ

ช่วงเวลาเพียงเสี้ยวบุหรี่หมด Amitabha Roy ต้องตัดสินใจที่จะเลือกทำบางสิ่งอย่าง ปล่อยทุกอย่างไป หรือ…อะไร?

นัดหมายครั้งสุดท้ายที่สถานีรถไฟ Karuna ปากอ้างว่ามาขอคืนยานอนหลับ นั่นคือคำตอบของเธอว่าชีวิตมีความสุขอยู่กับสามีหรือเปล่า ซึ่งเอาจริงๆนั่นอาจไม่ใช่เหตุผลการมาครั้งนี้ก็เป็นได้ เพราะดูจากสีหน้าสายตาของเธอ คงอยากเรียกร้องให้อดีตคนรักทำอะไรบางอย่าง แต่มิสามารถเอื้อยเอ่อยพูดออกมาได้

ประเด็นคือ Amitabha Roy ก็ขลาดเขลาเบาปัญญา ไม่สามารถหาคำตอบให้กับตนเอง ค่อยๆม้วนตัวกลับมา ภาพเบลอๆหลุดโฟกัส จมปลักอยู่กับความสูญเสียทุกสิ่งอย่าง

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Amitabha Roy ซึ่งรวมไปถึงการหวนระลึกนึกย้อนอดีต (Flashback) ถึงช่วงเวลาแห่งความสุข เมื่อครั้นได้ตกหลุมรัก Karuna

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, เริ่มต้นด้วยเสียงแซกโซโฟนแห่งความเหงา สร้างบรรยากาศตึงๆ อึมครึม สะท้อนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง รวดร้าวระทมทุกข์ของตัวละคร ซึ่งแม้ช่วงกลางเรื่องจะได้ยินเสียงเพลงจังหวะครึกครื้น สนุกสนาน แต่สีหน้าของพระเอกก็หาได้มีความอภิรมณ์เริงใจร่วมด้วยแม้แต่น้อย


มันอาจไม่ใช่แฟนเก่าที่ผู้กำกับ Satyajit Ray พานพบเจอ แล้วเกิดแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่น่าจะคือความขลาดเขลาของตัวละครที่สะท้อนถึงตัวตนเอง เพราะขณะนั้นกำลังคบชู้นอกใจภรรยา ใครๆต่างรับรู้ไปทั่ว (ยกเว้นภรรยา) เห็นว่าพยายามเกี้ยวพาราสี Madhabi Mukherjee ด้วยนะ แต่เหมือนว่าเธอไม่เล่นด้วย (แสดงออกมาแบบเดียวกับหนังเปี๊ยบ!)

คงเป็นช่วงเวลาที่ผู้กำกับ Ray กำลังเผชิญหน้าจิตสำนึกของตนเอง เพราะสิ่งที่กระทำอยู่ตรงกับข้ามกับอุดมการณ์ ความเชื่อมั่น รวมไปถึงผลงานภาพยนตร์รังสรรค์ นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งดีงาม น่าเชื่อถือแน่ๆ ทั้งรู้ว่าต้องเลือกสักอย่าง แต่จะหนทางไหนละถึงก่อเกิดผลประโยชน์สูงสุด(ต่อตนเอง)

สรุปแล้ว Kapurush คือภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Ray สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง (ในช่วงขณะนั้น) เต็มไปด้วยความรวดร้าว ระทมทุกข์ เสียดสีประชนประชันตนเองถึงความขลาดเขลา เพราะยังไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจเลือกหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม เอาแต่กะล่อนปลิ้นปล่อย ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ เมื่อไหร่กันจะพร้อมเผชิญหน้าความผิดพลาดของตนเอง

ผู้กำกับ Ray ค่อนข้างทุ่มเทตั้งใจสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คาดหวังจะได้เสียงตอบรับดีแน่ๆเมื่อไปฉายเทศกาลหนังต่างประเทศ แต่ผลลัพท์กลับเงียบฉี่ เพราะถูกนำไปเปรียบเทียบ Kanchenjungha (1962) ซึ่งมีความแปลกใหม่กว่าด้านเทคนิค นั่นเลยกลายเป็นเรื่องน่าสูญเสียดายมากๆ เพราะคุณภาพของ Kapurush (1965) ผมว่ายอดเยี่ยมยิ่งกว่าด้วยซ้ำนะ และมักทำให้ถูกมองข้ามไปเพราะเป็นหนังควบฉายอีกต่างหาก

ส่วนตัวมีความชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ แม้บรรยากาศจะตึงๆไปตลอดทั้งเรื่อง แต่นั่นคืออารมณ์ของคนที่เต็มไปด้วยความโหยหา อาลัยรัก ใครเคยพานผ่านความรู้สึกนี้ย่อมสัมผัสได้อย่างแน่นอน

เหตุผลจริงๆที่ผมค่อนข้างสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะในชีวิตจริงก็เคยเหมือนกัน พานพบเห็นอดีตคนรักแต่งงานมีครอบครัว ลูกวัยกำลังน่ารัก แต่ดูเหมือนมันจะเป็นความอิจฉาริษยามากกว่า ถึงอย่างนั้นเวลาพบเจอก็เข้าใจกันดี คงมีแต่เราเองที่มโนเพ้อภพ อยากหวนกลับไปประสบวันวานแห่งความสุขสำราญนั้นอีก

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศตึงๆ ครุ่นคิดตั้งใจจะกระทำสิ่งชั่วร้าย

คำโปรย | Kapurush คือความหาญกล้าของผู้กำกับ Satyajit Ray ที่ทำการเปิดเผยความขลาดเขลาของตนเอง
คุณภาพ | ม-ตราตรึง
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Seemabaddha (1971)


Seemabaddha

Seemabaddha (1971) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥

เรื่องราวของผู้จัดการฝ่ายขาย (Sales Manager) กำลังจะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการบริษัท (Company Director) แต่มีเหตุการณ์วุ่นๆบางอย่างเกิดขึ้น เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทาง โดยไม่สนความถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อความก้าวหน้าสูงสุดในอาชีพการงาน … นั่นเป็นสิ่งเหมาะสมควรแล้วหรือ?

ผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้าง Calcutta Trilogy ประกอบด้วย
– Pratidwandi (The Adversary) (1970)
– Seemabaddha (Company Limited) (1971)
– Jana Aranya (The Middleman) (1976)

เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ความครุ่นคิด ทัศนคติผู้คนเมือง Calcutta อันเป็นผลกระทบหลังได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร แบ่งแยกดินแดนอินเดีย-ปากีสถาน การเข้ามาถึงของอิทธิพลต่างชาติ ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมตะวันตก (ทุนนิยม, แฟชั่น, ฮิปปี้) แต่ยังทัศนคติทางการเมืองแพร่ลงจากระบอบคอมมิวนิสต์ของจีน

และรวมไปถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองผู้บริโภค/ประชากรโลกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจรูปแบบบริษัทจึงได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความสำเร็จวัดกันที่ไต่เต้าสู่ระดับผู้จัดการ กรรมการบริหาร นำมาซึ่งความร่ำรวยเงินทอง ชีวิตสุขสบาย แต่นั่นย่อมต้องแลกมาด้วยบางสิ่งอย่าง การสูญเสียจิตสำนึก คุณธรรมมโนธรรมประจำใจ

ในแง่คุณภาพของหนัง ยังต้องชมว่าผู้กำกับ Ray รักษาระดับความยอดเยี่ยม เต็มไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์มากมาย แต่ผมรู้สึกว่าเรื่องราวมันออกแนว ‘ชวนเชื่อ’ มองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนมุมมองทัศนคติของผู้กำกับ ครุ่นคิดเห็นอย่างไรต่อการปรับเปลี่ยนแปลงไปของวิถีโลก


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

หลังเสร็จจาก Pratidwandi (1970) ผู้กำกับ Ray มีโอกาสเรื่องสั้น Seemabaddha รวมอยู่ในหนังสือ Swarga Martya Patal ของนักเขียนชาวเบงกาลี Mani Shankar Mukherjee (เกิดปี 1933) เกิดความสนใจในการกระทำของตัวละคร เต็มไปด้วยความโลภ ละโมบ เห็นแก่ตัว สะท้อนถึงอิทธิพลยุคสมัย ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ค่อยๆกัดกร่อนบ่อนทำลายจิตวิญญาณมนุษย์จากภายใน

เกร็ด: หนังสือ Swarga Martya Patal รวมรวม 3 เรื่องสั้น ประกอบด้วย
– Seemabaddha
– Asha Akangsha
– และ Jana Aranya กลายเป็นภาพยนตร์ปิดไตรภาค Calcutta Trilogy

Shyamal (รับบทโดย Barun Chanda) ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทผลิตพัดลม PETER สัญชาติอังกฤษ กำลังจะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการบริษัทในอีกไม่ช้า แต่ขณะนั้นสินค้ากำลังส่งออกพบร่องรอยตำหนิ จะแก้ไขก็สายเกินกำหนดการ ถ้าถูกตรวจสอบพบจะทำให้บริษัทสูญเสียทุกสิ่งอย่าง หลงเหลือวิธีเดียวเท่านั้นคือสร้างสถานการณ์คาดไม่ถึงให้บังเกิดขึ้น


Barun Chanda นักแสดงชาวอินเดีย เกิดที่ Dhaka (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Bangladesh) เดินทางสู่ Kolkata เพื่อเรียนมหาวิทยาลัย บังเอิญพบเจอและได้กลายเป็นนักแสดงนำภาพยนตร์ Seemabaddha (1971) จากนั้นผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เขียนนิยาย ทำโฆษณา หวนกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้ง 20 ปีให้หลัง

รับบท Shyamalendu Chatterjee ชายยังหนุ่ม มากด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ค่อยๆไต่เต้าขึ้นสูงจนกลายเป็นผู้จัดการ แม้แต่งงานมีภรรยาและลูก ยังรู้สึกสูญเสียดายน้องสะใภ้ Tutul (รับบทโดย Sharmila Tagore) โหยหา คิดถึง แต่ยังไม่คิดล่วงเกินเลยเถิด ทำสิ่งผิดศีลธรรมมโนธรรม แต่เมื่อการงานประสบปัญหาครั้งใหญ่ ตัดสินใจสร้างเรื่องราว ทำสิ่งชั่วร้ายจนสามารถเอาตัวรอดมาได้ดิบได้ดี เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการบริษัท นั่นเลยทำให้เขาสูญเสียเธอไปชั่วนิรันดร์

น่าจะคือภาพลักษณ์ของ Chanda ที่ทำให้ผู้กำกับ Ray เลือกมาเป็นนักแสดงนำ (เห็นว่าทีแรกเล็ง Soumitra Chatterjee ก็เข้ากับบทอยู่นะ แต่คงต้องการใบหน้าสดใหม่ให้ตัวละคร) ดูมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน มี Passion ต่ออะไรบางอย่างรุนแรง พร้อมยอมสูญเสียสละทุกสิ่ง ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ

การเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่นอย่าง Chanda ย่อมไม่สามารถคาดหวังความสมจริงได้สักเท่าไหร่ ซึ่งผู้กำกับ Ray คงรับรู้จุดนี้ดี จึงใช้การเล่าเรื่องแบบผ่านๆ มุ่งเน้นภาษาภาพยนตร์ถ่ายทอดความรู้สึกตัวละคร มากกว่าจะบีบบั้นคั้นทางสีหน้าอารมณ์ออกมา


Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Hyderabad เป็นญาติห่างๆของนักเขียนชื่อดัง Rabindranath Tagore, บิดาเป็นผู้จัดการ British India Corporation มีพี่น้องสามคน เพราะความที่น้องสาวคนกลาง Oindrila Kunda ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง Kabuliwala (1957) ทำให้เธออยากเข้าวงการบ้าง เมื่อตอนอายุ 14 ปี ขณะกำลังแสดงการเต้นยัง Children’s Little Theatre ค้นพบโดยผู้กำกับ Satyajit Ray คัดเลือกมามาเป็นเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959), ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อง Devi (1960), Nayak (1966), Aranyer Din Ratri (1970) และ Seemabaddha (1971)

รับบท Sudarsana ชื่อเล่น Tutul น้องของ Dolan (รับบทโดย Paromita Chowdhury) อาศัยอยู่ Patna เดินทางมา Calcutta เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน มองลึกๆเข้าไปในดวงตา ยังพบเห็นเยื่อใยกับพี่เขย Shyamal สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องรวมไปถึงปัญหาที่โรงงาน นั่นทำให้เธอเกิดความครุ่นคิดเล่นๆ กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขากระทำจริงๆ นั่นสร้างความผิดหวังอย่างรุนแรง ไม่ครุ่นคิดว่าความก้าวหน้า ร่ำรวยเงินทอง จะทำให้มนุษย์สูญเสียจิตวิญญาณความเป็นคน

ตัวละครของ Tagore ในภาพยนตร์ของผู้กำกับ Ray มักเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด หลักแหลม ชอบเล่นหูเล่นตา แต่จะไม่ทำสิ่งเกินเลย ผิดหลักศีลธรรมจรรยา และมักเป็นจิตสำนึก/เตือนสติผู้อื่น ให้ฉุกครุ่นคิดเวลาทำอะไรผิดพลาด … ราวกับอวตารของปู่ Rabindranath Tagore ถึงขนาดมีคำเรียกว่า ‘Tagorean Humanist Values’

เรื่องนี้ก็ถือว่าเข้าสูตรดังกล่าวเปะๆ เล่นหูเล่นตากับพี่เขย แสดงความเฉลียวฉลาดหลักแหลมให้เขาฉุดครุ่นคิดแก้ไขปัญหา แค่ว่าเมื่อรับทราบความจริงบางอย่างนั้น ไม่มีคำพูดปริปากใดๆออกมา แต่แสดงให้เห็นถึงสีหน้า การกระทำ และจู่ๆสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องลอย (นั่นคือจิตสำนึก/ความเป็นมนุษย์ ได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิง)


ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy เลื่อนตำแหน่งจากนักจัดแสง/ผู้ช่วย Subrata Mitra กลายมาเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับ Ray,

งานภาพอาจดูไม่มีความหวือหวาสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับ Pratidwandi) แต่ถือว่าเต็มไปด้วยลูกเล่นลูกชน โดยเฉพาะช่วงอารัมบทแนะนำการไต่เต้าของตัวละคร พบเห็น Split Screen, หรือช็อตนี้แนะนำผู้บริหารบริษัท ซึ่งมีการใช้เทคนิค Photo-Negative เพื่อเน้นว่าชายบุคคลดังกล่าว กำลังใกล้หมดวาระทำงาน (ป่วยเป็นมะเร็ง) ใครสักคนกำลังจะได้ก้าวขึ้นมาแทน

Opening Credit ใช้เทคนิค Split Screen แบ่งครึ่งซ้าย ใบหน้าตัวละครขณะกำลังเดินทางไปทำงาน อีกครึ่งขวา ขึ้นตัวอักษรทีมงานสร้างภาพยนตร์

ผมครุ่นคิดว่านัยยะของ Opening Credit ต้องการสะท้อนให้เห็นถึง กว่าที่ใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ไต่เต้าขึ้นสูง ย่อมต้องมีผู้เสียสละ ให้การช่วยเหลือผลักดัน หรือลูกน้องในสังกัดมากมาย ไม่มีทางที่ใครคนหนึ่งจะเป็นผู้จัดการ/กรรมการบริหาร โดยไม่มีใครอยู๋เบื้องหลัง

ขณะทำงานอยู่ในบริษัท ถ้าขณะนั้น Shyamal กำลังออกคำสั่งงานใคร มุมกล้องจะเงยขึ้นเห็นเพดาน แสดงถึงอำนาจ ตำแหน่งอันสูงส่งของเขา

ตรงกันข้ามถ้ากำลังพูดคุยกับผู้บริหาร/กรรมการบริษัท มุมกล้องจะล้มลงเห็นพื้น แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตนของ Shyamal ที่มีต่อหัวหน้า/นายจ้างตนเอง

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ยกเว้นเพียงสป็อตโฆษณาความยาว 1 นาที ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี ซึ่งดูมีชีวิตชีวากว่าหนังทั้งเรื่องอีกนะเนี่ย!

พัดลม ถือเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (ในยุคสมัยนั้น) ทำให้มนุษย์มีความร่มเย็น สุขสบายกว่าเก่าก่อน (แต่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง และไม่จำเป็น) ผ่อนคลายความลุ่มร้อนทางกาย (แต่เห็นค่าไฟคงไม่เย็นใจอย่างแน่นอน!)

คู่แข่งของ Shyamal ถูกนำเสนอในเชิงศัตรู คู่อริ นั่งอยู่ทิศทางตั้งฉาก พ่นควันบุหรี่ใส่กัน เรียกได้ว่าไม่ถูกโฉลกโดยสิ้นเชิง … การนำเสนอในลักษณะนี้ เป็นการสร้างอคติ ความแตกแยก ให้ผู้ชมรับรู้สึกว่าพระเอกดูดีขึ้นมาในสายตา เห็นคู่แข่งคือผู้ร้ายที่ต้องเอาชนะ แม้จะไม่มีบทบาทสักเท่าไหร่ก็ตามเถอะ

การมาถึงของ Tutul (เรื่องนี้เธอไม่ใส่แว่นตาเลยนะ เรียกได้ว่าเปิดเผยตัวตน ธาตุแท้จริงออกมาทั้งหมด) มองออกไปนอกหน้าต่าง แปลกที่ไม่มีเหล็กที่เหมือนกรงขัง แต่เพราะอยู่สูงชั้นบน ก็ใช่ว่าจะได้รับอิสรภาพโบยบินเหมือนนก

หลายๆคนน่าจะรู้จักคำว่า ‘Rat Race’ ซึ่งสะท้อนชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องต่อสู้แข่งขันให้ได้รับชัยชนะ วิ่งเวียนวนรอบสนามไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งในบริบทนี้เปรียบเทียบกับการแข่งม้า ‘Horse Race’ ก็ถือว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

ความก้าวหน้าในอาชีพของ Shyamal ทำให้เขาไม่มีเวลาที่จะคอยดูแลพ่อ-แม่ ผู้แก่เฒ่า รวมไปถึงบุตรชายส่งไปโรงเรียนประจำ นั่นถือว่าตรงกันข้ามกับขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวอินเดียโดยสิ้นเชิง

Tutul ตื่นเช้าขึ้นมาเพราะไม่มีนาฬิกาใส่ Shyamal จึงมอบเรือนที่ให้ภรรยาติดตัว จากนั้นเธอย้ายมานั่งอีกฝั่งตรงกันข้าม พบเห็นทั้งสองราวกับอยู่กันคนละมุมโลก
– ฝั่งของ Tutul ผู้ยึดมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี อยู่ฝั่งขวา (อนุรักษ์นิยม) บดบังด้วยชั้นวางของที่ดูเหมือนกรงขังคุก
– ฝั่งของ Shyamal อยู่ซ้ายสุด (หัวก้าวหน้า) แทบไม่มีอะไรปกปิดบัง ถือว่าเต็มไปด้วยอิสรภาพทางความครุ่นคิดกระทำ

นี่เป็นช็อตที่ Shyamal ได้ยินว่าเกิดหายบางอย่างขึ้น แสงสว่างจร้า (ช็อตถัดมาจะปกคลุมด้วยความมืดหมองหม่น) ซึ่งถือว่าเป็นงานภาพที่ดูผิดปกติ ผู้ชมสัมผัสได้โดยทันทีว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ

นี่เป็นช็อตที่ Shyamal ทำการครุ่นคิดเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหา ใบหน้าบดบังแสงไฟอยู่ด้านหลัง ราวกับว่าสิ่งที่กำลังจะตัดสินใจนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมณ์ยินดีสักเท่าไหร่

แผนการของ Shyamal จำต้องขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าโรงงาน ทีแรกเขาสวมใส่แว่นตาปกปิดบังตัวตนไว้ จากนั้นถอดออกเพื่อแสดงถึงธาตุแท้ แถมยังจุดบุหรี่ให้ แสดงถึงการยินยอมทุกสิ่งอย่าง เพื่อแลกมากับการเอาตัวรอด และตนเองได้กลายเป็นผู้อำนวยการบริษัท

เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายกำลังดำเนินไปด้วยดี Shyamal มีความใจชื้นขึ้นมา รับประทานอาหารกับภรรยาและน้องสะใภ้ กล้องกลิ้งไปกลิ้งมาซ้ายขวา สะท้อนถึงความกลับกลอก ปอกลอก เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป

ฉากที่ความจริงของ Shyamal ได้รับการเปิดเผยบอกกับ Tutul พวกเขากำลังรับประทานอาหารอยู่ร้านคาริบเบี้ยนแห่งหนึ่ง นักเต้นสาวเริงระบำฮาวาย แล้วนำสร้อยดอกไม้มาคล้องคอชายหนุ่ม ราวกับว่าเขาได้เป็นผู้ชนะ (ในการเอาตัวรอดจากหายนะครั้งนี้)

เมื่อ Shyamal ได้กลายเป็นผู้อำนวยการบริษัทสาสมใจ กลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ลิฟท์เสีย จำต้องเดินขึ้นบันได้ 7-8 ชั้น ร้อยเรียงภาพทีละชั้น แรกๆวิ่งสบาย บนๆเริ่มเหนื่อยอ่อนล้า ถึงห้องก็หมดเรี่ยวแรง ถือเป็น Sequence สะท้อนถึงการไต่เต้าขึ้นสูง ความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย

แต่ที่สุดแล้วเมื่อ Shyamal พบเห็น Tutul ถอดนาฬิกาข้อมือคืนให้กับเขา ค่อยๆตระหนักตนเองขึ้นมาได้ ยกมือขึ้นกุมใบหน้า กล้องเคลื่อนขึ้นสูงเห็นไฟและพัดลม ก่อนที่เธอจะค่อยๆสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องลอย

นัยยะของฉากนี้สะท้อนกระทำของ Shyamal ที่เมื่อไต่เต้าขึ้นสู่ขุดสูงสุด (พบเห็นพัดลมติดเพดาน) สิ่งที่เขาแลกมาคือจิตสำนึก ความเป็นคน และสูญเสีย Tutul คงไม่มีวันหวนกลับคืนมา

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Shyamal เริ่มจาก
– อารัมบท, ร้อยเรียงช่วงเวลาชีวิตสิบปีตั้งแต่เรียนจบ จนกลายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย
– การมาถึงของ Tutul พาไปเปิดโลก ชมการแข่งม้า งานเลี้ยงสังสรรค์
– อุปสรรคถาโถมใส่ Shyamal ขณะกำลังสิ้นหวังก็พบเจอโอกาส
– ผลลัพท์แห่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือการพ่ายแพ้จิตใจตนเองที่ใหญ่ยิ่ง

แม้การตัดต่อจะไม่มีลูกเล่นลูกชนเท่าผลงานก่อนหน้า Jump Cut, ย้อนอดีต, ความเพ้อฝัน ฯ แต่หนังดำเนินเรื่องค่อนข้างรวดเร็วฉับไว มักสลับสับเปลี่ยนมุมกล้องไปมาอยู่เรื่อยๆ ค่าเฉลี่ย ASL (Average Shot Length) น่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภาพยนตร์ของผู้กำกับ Satyajit Ray คงต้องการสะท้อนความเร่งรีบร้อนของตัวละคร เพื่อให้ชีวิตไต่เต้าถึงตำแหน่งผู้บริหาร ประสบพบพานความสำเร็จสมหวังดั่งใจ

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, งานเพลงของหนังจะเน้นความตึงเครียด จริงจังเป็นหลัก อย่างช่วง Opening Credit เสียงหลักๆที่ได้ยินคือรัวกลอง ราวกับตัวละครกำลังออกเดินทางไปสู้รบจับศึก ตามด้วยเสียงขลุ่ยท่วงทำนองโหยหวนล่องลอย เต็มไปด้วยความเยือกเย็นชา เส้นทางปีนป่ายไปให้ถึงยอดเขา มันช่างหนาวเหน็บ อ้างว้าง เดียวดาย


Seemabaddha เป็นภาพยนตร์สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในโลกยุคสมัยทุนนิยม เมื่อมนุษย์ละเลิกจะยึดถือมั่นคุณความดีงาม ศีลธรรมมโนธรรมประจำใจ หรือขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีที่เคยมั่งมีมาของบรรพชน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับชัยชนะ ก้าวหน้าในกิจการหน้าที่ ประสบความสำเร็จร่ำรวยเงิน นั่นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแล้วหรือ?

การกระทำของ Shyamal ถูกตีความผ่านหนัง/ผู้กำกับ Ray ว่าได้รับอิทธิพลทางสังคมเป็นหลัก เพราะความเจริญทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 60s ทำให้ชาวอินเดียรุ่นใหม่ทอดทิ้งวิถี ความเชื่อ ค่านิยมดั้งเดิมทางสังคม โอบรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ ทัศนคติโหยหาความสุขสบายทางวัตถุ

แต่กาลเวลาและผู้ชมต่างชาติ เพราะมิได้พานผ่านหรือเข้าใจพื้นหลังยุคสมัย การกระทำของ Shyamal จึงสะท้อนเพียงความโลภละโมบ เห็นแก่ตัว มักใหญ่ใฝ่สูง ถูกระบอบทุนนิยม เงินทอง วัตถุสิ่งข้าวของ ความสะดวกสบาย ค่อยๆกัดกลืนกินจนกลายเป็นเดรัจฉานตนหนึ่ง มองเห็นเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด

สำหรับ Shyamal ตอนจบยกมือขึ้นมาปกปิดใบหน้า เป็นความพยายามแสดงออกให้ผู้ชมรู้ว่า ลึกๆเขายังคงมีจิตสำนึก มโนธรรมประจำใจ รู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คงไม่ครุ่นคิดทำอะไรให้เกิดขึ้นแน่ … แต่สำหรับมนุษย์ยุคสมัยนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันใช้ครีมอาบน้ำยี่ห้อไหน มันช่างด้านได้อายอด ไม่ล่วงรับรู้ตนเองบ้างเลยหรือไรว่ากระทำสิ่งชั่วช้าเลวทราม สันดานโจรห้าร้อย อยากรู้เหมือนกันว่าตายไปตกนรก มันจะมีจิตสำนึก/ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า


หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เสียงตอบรับดีเยี่ยมล้นหลาม คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ FIPRESCI Award เคียงข้าง The Cruel Sea (1972) ภาพยนตร์สัญชาติ Kuwaiti ของผู้กำกับ Khaled El Seddiq

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบความยัดเยียด ชวนเชื่อ มองโลกด้านเดียวของหนังสักเท่าไหร่ (ก่อนหน้านี้ก็มี Devi ที่ผมรู้สึกแบบเดียวกัน) แม้ไดเรคชั่นผู้กำกับ Satyajit Ray จะยังคงยอดเยี่ยม และ Sharmila Tagore น่ารักเหมือนเคย แต่ภาพรวมค่อนข้างน่าผิดหวัง และเหมือนว่า Ray ไม่รับล่วงรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไรอยู่

ขอแนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Salary Man มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย การทุ่มเทตั้งใจทำงานเป็นสิ่งดี น่ายกย่อง แต่ถ้าต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ มันคุ้มแล้วหรือที่จิตวิญญาณความเป็นคนจักสูญเสียไป อย่าเอาข้อข้าง ‘ใครๆเขาก็ทำกัน’ ถ้าความแตก ถูกจับ ติดคุก ลงนรก มีใครจะยินยอมรับโทษทัณฑ์แทนคุณได้หรือเปล่าละ!

จัดเรต 13+ กับความโลภละโมบ คอรัปชั่น มืดบอดในการกระทำ

คำโปรย | Seemabaddha คือการไต่เต้าของผู้กำกับ Satyajit Ray ที่ไม่ล่วงรับรู้ว่าตนเองกำลังทำอยู่เช่นกัน
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

Pratidwandi (1970)


Pratidwandi

Pratidwandi (1970) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

ชายหนุ่มพยายามอย่างยิ่งจะหางานทำ แต่ไปสัมภาษณ์แห่งหนไหนกลับไม่ผ่านสักที นั่นมันความผิดของเขา หรือนายจ้าง หรือสภาพสังคม หรือความคอรัปชั่นรัฐบาล หรือการมาถึงของอิทธิพลต่างชาติ หรือยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป … คงไม่มีใครตอบได้แน่

Pratidwandi ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Adversary ที่แปลว่า ศัตรู คู่อริ ฝ่ายตรงข้าม, แต่นัยยะความหมายจริงๆน่าจะคือการแข่งขัน แก่งแย่งชิง เอาชนะใจนายจ้าง/ผู้สัมภาษณ์อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งการงาน มีเงินสำหรับเลี้ยงดูแลตนเอง(และครอบครัว)

ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีความจำเพาะเจาะจง สะท้อนบรรยากาศการเมือง สภาพสังคมกรุง Calcutta ช่วงต้นทศวรรษ 70s แต่ด้วยไดเรคชั่นของผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้างเรื่องราวให้มีความสากล มองเพียงผิวเผินหรือมุมอื่นๆ ยังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์ และไม่ว่ายุคสมัยไหน ปัจจุบันยังคงประสบพบเห็นได้แทบไม่แตกต่าง

นั่นแปลว่าโลกของเราไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นเลยนะครับ ถึงพบเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งก่อสร้างมากมายผุดขึ้นระฟ้า แต่จิตใจของผู้คนกลับยิ่งถดถอยหลัง เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คอรัปชั่น สร้างกำแพงที่คือกรงขัง ขึ้นมาห้อมล้อมปกปิดบังตัวตนเอง

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งหนัง คือเทคนิคตื่นตระการตาที่ผู้กำกับ Ray รับอิทธิพลจาก Jean-Luc Godard, Federico Fellini อาทิ Jump Cut, Photo-Negative, ถ่ายทำแบบ Guerilla Unit ฯลฯ แทบทั้งหมดน่าจะเป็นครั้งแรกๆในภาพยนตร์อินเดียเลยกระมัง


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ผู้กำกับ Ray เรียกสถานการณ์ใน Calcatta ต้นทศวรรษ 70s ว่า ‘a nightmare city’ เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เห็นต่าง อิทธิพลจากต่างชาติไม่ใช่แค่วัฒนธรรมตะวันตก (ทุนนิยม, แฟชั่น, ฮิปปี้) แต่ยังทัศนคติทางการเมืองแพร่จากระบอบคอมมิวนิสต์ของจีน ซึ่งขณะนั้นปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่เมือง Naxalbari (ทางตอนเหนือของอินเดีย กึ่งกลางระหว่างพรมแดนเนปาลกับปากีสถานตะวันออก) จนมีคำเรียกกลุ่มการเคลื่อนไหว/คณะปฏิวัติ Naxalite

“China’s Chairman is Our Chairman”

– สโลแกนหนึ่งของกลุ่ม Naxalite บุกเข้าสู่เมือง Calcutta ตั้งแต่ปี 1967

สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาขัดแย้งวุ่นวาย มีหรือจะไม่ส่งอิทธิพลต่อผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้างภาพยนตร์หลายๆเรื่องในช่วงทศวรรษนี้ ล้วนแฝงนัยยะสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันนั้น
– Goopy Gyne Bagha Byne (1969) แม้เป็นภาพยนตร์ Comedy-Musical แต่แฝงข้อคิดเกี่ยวกับคอรัปชั่น สงคราม อยากให้มันยุติลงได้โดยง่าย แค่เพียงรับฟังเพลงแล้วเกิดความสงบสุขขึ้นภายในจิตใจ
– Aranyer Din Ratri (1970) สะท้อนตัวตนของคนรุ่นใหม่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากอิทธิพลทางสังคม วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป
– ไตรภาค Calcutta ประกอบด้วย Pratidwandi (1970), Seemabaddha (1971), Jana Aranya (1976) สะท้อนการมาถึงของอิทธิพลต่างชาติ วิถีชีวิต/แนวคิดที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่ไม่ได้วัดกันด้วยมโนธรรมทางจิตใจ
– Ashani Sanket (1973) อิทธิพลของสงคราม/ความขัดแย้ง แม้อยู่ห่างไกลก็ยังคงได้รับผลกระทบที่น่าตื่นตระหนกตกใจ
ฯลฯ

ต้นฉบับของ Pratidwandi คือนวนิยายแต่งโดย Sunil Gangopadhyay (1934 – 2012) นักเขียนสัญชาติ Bengali ซึ่งผู้กำกับ Ray เคยดัดแปลงผลงาน Aranyer Din Ratri (1970) ออกฉายก่อนหน้าไม่ถึงปี

ขณะที่ Aranyer Din Ratri มีเพียงโครงสร้างและแนวความคิดบางอย่างที่ผู้กำกับ Ray เลือกมาดัดแปลงภาพยนตร์ แต่สำหรับ Pratidwandi ค่อนข้างจะให้ความเคารพต้นฉบับอย่างมาก แค่ปรับเปลี่ยนแปลงบางอย่างเข้ากับสถานการณ์ขณะนั้นเท่านั้น

Siddhartha (รับบทโดย Dhritiman Chatterjee) จำต้องลาออกจากร่ำเรียนแพทย์ เพราะพ่อพลันด่วนเสียชีวิต จำต้องออกหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัว แต่ไปสัมภาษณ์ที่ไหนก็ไม่ผ่าน ตัวเขายังขาดความกระตือรือร้น ทะเยอทะยาน อันเป็นผลพวงจากสภาพสังคมขณะนั้นของ Calcutta เต็มไปด้วยความขัดแย้ง กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเต็มถนน ได้ยินเสียงปืนแทบทุกเช้า-ค่ำ


Dhritiman Chatterjee ชื่อจริง Sundar Chatterjee (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolkata, West Bengal, โตขึ้นร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ความหลงใหลด้านการแสดงเลยเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับคัดเลือกแสดงนำ Pratidwandi (1970) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Agantuk (1991), Black (2005), Kahaani (2012), Pink (2016) ฯ

รับบท Siddhartha แม้เป็นคนเฉลียวฉลาด มีความครุ่นคิดอ่านของตนเอง แถมวิวาทะโน้มน้าวคนเก่ง (รูปหล่ออีกต่างหาก) แต่กลับขาดความกระตือรือร้น ไร้ความเพ้อฝัน/ทะเยอทะยาน ต้องการให้ทุกสิ่งอย่างหมุนรอบตนเอง ดำเนินไปตามความครุ่นคิดเห็นของตนเท่านั้น ซึ่งเมื่อไม่มีอะไรสมหวังดังปรารถนา ภายในที่เก็บกดจึงถูกระบายออกด้วยความเกรี้ยวกราด

Siddhartha เป็นตัวละครที่อยู่คาบเกี่ยว/กึ่งกลางระหว่างอะไรหลายๆอย่าง
– เป็นลูกคนกลางของครอบครัว พี่สาวทำงานบริษัท น้องชายเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหว Naxalite
– เรียนจบชีววิทยา ไม่จบแพทย์ กำลังอยู่ในช่วงหางานทำ สัมภาษณ์ไม่ผ่านสักที
– ความครุ่นคิดก็ยังคาบเกี่ยวระหว่าง หัวก้าวหน้า (โหยหาอิสรภาพ ต้องการเป็นตัวของตนเอง ไม่สนับสนุนสงคราม) กับความหัวโบราณ/ทัศนคติดั้งเดิมของอินเดีย (มองผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ไม่อยากให้พี่สาวต้องทำงาน ตนเองมีหน้าที่หาเลี้ยงดูแลครอบครัว, ยึดถือมั่นในศีลธรรมมโนธรรม ไม่ดื่มเหล้า เที่ยวผู้หญิง)

แทบไม่อยากเชื่อว่านี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ Chatterjee ต้องชมเลยว่าเป็นนักแสดงที่เอ่อล้นด้วยพลัง แสดงออกทางสีหน้า สายตา ถ้อยคำพูด เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น คับข้อง ขุ่นเขือง สะสมเอ่อล้นอยู่ภายใน เวลากล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปใกล้ใบหน้า ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องได้ถึงความเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง พร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกชั่วขณะ

ในบรรดานักแสดงที่ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Ray ผมครุ่นคิดว่า Dhritiman Chatterjee คือเพชรแท้เม็ดงาม มีความสามารถรอบด้าน จัดจ้าน ครบเครื่อง น่าจะโดดเด่นกว่าใครอื่นที่สุดแล้ว

“I do not know what definition of a star these filmmakers have been using, but mine goes something like this. A star is a person on the screen who continues to be expressive and interesting even after he or she has stopped doing anything. This definition does not exclude the rare and lucky breed that gets lakhs of rupees per film; and it includes everyone who keeps his calm before the camera, projects a personality and evokes empathy. This is a rare breed too but one has met it in our films.Dhritiman Chatterjee of Pratidwandi is such a star”.

– Satyajit Ray


ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy เลื่อนตำแหน่งจากนักจัดแสง/ผู้ช่วย Subrata Mitra กลายมาเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับ Ray, และเรื่องนี้ยังให้เครดิตผู้ช่วยอีกคน Purnendu Bose ซึ่งก็ร่วมงานกันมาตั้งแต่ The Apu Trilogy

ที่ให้เครดิตถึงสองคน น่าจะเพราะหลายๆฉากของหนังถ่ายทำแบบ Guerilla Unit บันทึกภาพวิถีชีวิตชาวเมือง Calcatta และตัวละครเดินย่ำอยู่บนท้องถนน ท่ามกลางฝูงชนเดินสวนไปมาขวักไขว่

งานภาพของหนัง มีลักษณะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สภาวะทางจิตของตัวละครออกมา โดดเด่นกับการจัดแสง-ความมืด ช่องว่างระยะห่าง เลือกทิศทางมุมกล้อง และเทคนิคทางภาพยนตร์ที่ถือว่าแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น

แรกเริ่มก็คือ Photo-Negative ล้างฟีล์มด้วยสารเคมีบางอย่าง ผลลัพท์ออกมาสลับสีตรงกันข้ามกับภาพจริง มักปรากฎขึ้นในฉากย้อนอดีต (Flashback) หรือบางสิ่งอย่างที่เป็นปม Trauma ของ Siddhartha ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากพบเห็น ไม่อยากจดจำ แต่มันมักหวนกลับมาให้ระลึกถึงอยู่บ่อยๆ

ช่วงของ Opening Credit ร้อยเรียงความว้าวุ่นวายในวิถีชีวิตประจำ บนท้องถนนของชนชาวเมือง Calcutta ซึ่งจะพบเห็น Siddhartha ห้อยโหนอยู่ริมชายคารถ สะท้อนถึงสถานะตัวเขาขณะนี้ ไม่มีหลักปักฐาน ไร้อาชีพการงาน หรือความมั่นคงใดๆในชีวิต แค่โหนเอาตัวรอดไปวันๆเท่านั้นเอง

ผมมองไม่ชัดเท่าไหร่ว่าเป้าขาดหรืออะไร แต่คือกางเกงตัวนี้จะถูกนำไปปะซ่อมโดยทันทีก่อนการสัมภาษณ์ นี่สะท้อนความ ‘Perfectionist’ ของตัวละคร ต้องเนี๊ยบ ต้องตามใจฉันเปะๆ ไม่โอนอ่อนผ่อนตามความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆนี้เป็นอันขาด

เป็นฉากการสัมภาษณ์งานที่เจ๋งสุด (เท่าที่เคยรับชมมา) โดยเฉพาะคำถาม อะไรคือเหตุการณ์สำคัญสุดในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่มนุษย์ไปย่ำเหยียบดวงจันทร์ แต่คือการมาถึงของสงครามเวียดนาม เมื่อประชาชนที่ไม่มีทางสู้รบปรบมือกับสหรัฐอเมริกา กลับสามารถลุกขึ้นต่อกร (และเอาชนะ) มหาอำนาจโลก สำหรับ Siddhartha ถือเป็นเรื่องทรงคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

ก็แน่นอนว่านี่เป็นการแสดงทัศนะความคิดเห็นของผู้กำกับ Ray ต่อสองเหตุการณ์ใหญ่แห่งทศวรรษ 60s
– มนุษย์ไปดวงจันทร์ นั่นเป็นสิ่งคาดไม่ถึง แต่มันช่างไกลเกินเอื้อมสัมผัสได้
– สงครามอินโดจีนต่างหากที่ค่อนข้างใกล้ตัว เพราะขณะนั้นในอินเดียก็เกิดการแบ่งแยก ขัดแย้งระหว่างสองขั้วแนวคิด มีโอกาส/แนวโน้มสูงมากๆที่สงครามจะลุกลามบานปลายมาถึง

ส่วนเหตุผลที่ Siddhartha พลาดงานนี้ เพราะคำตอบที่พยายามวางตัวเป็นกลางๆ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็สามารถสงสารเห็นใจชาวเวียดกงได้เหมือนกัน ถูกตีความเหมารวมไปเลยว่า เขาคือคอมมิวนิสต์! (ทัศนคติดังกล่าวไม่ใช่แค่สะท้อนโลกยุคสมัยนั้นนะ ปัจจุบันก็แทบไม่แตกต่างกัน เหลือง-แดง)

มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งเข้ามาให้คำแนะนำ Siddhartha เกี่ยวกับการหางานทำ แต่สังเกตว่าหนังจงใจไม่ถ่ายให้เห็นใบหน้าของเขา แค่เพียง Long Take ช็อตนี้ ได้ยินเพียงเสียงพูดสนทนา นั่นเป็นการสะท้อนถึงว่า เคยมีผู้คนมากมายว่ากล่าวอธิบายลักษณะนี้ ฟังจนหูเปื่อย เฉื่อยชา มันช่างไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

ทำนาฬิกาตก หยุดเดิน นำไปซ่อม แต่ค่าอะไหล่แพงชิบหาย! นี่ก็สะท้อนตรงๆถึงเวลาชีวิตที่หลงเหลืออีกไม่ค่อยมาก เสียงติกตอกก็จะได้ยินบ่อยครั้ง เป็นการนับถอยหลังของระเบิดเวลา ความอึดอัดอั้นที่สะสมบีบเค้นคั้นอยู่ภายใน เฝ้ารอคอยเวลาปะทุระเบิดออกมา

ระหว่างรอการซ่อมนาฬิกาอยู่นี้ Siddhartha เงยหน้าขึ้นเห็นชาวยุโรป ฮิปปี้ เดินพานผ่านไป นั่นก็สะท้อนการมาถึงของวัฒนธรรมตะวันตกร่วมสมัยนั้น โหยหาอิสรภาพ Free Sex ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆแบบไร้เป้าหมาย

หญิงสาวคนนี้ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย ปรากฎว่าอยู่ติดกับระหว่างทาง ต้องหยุดรอรถผ่านกลางท้องถนน ซึ่งสะท้อนเข้ากับสถานะของ Siddhartha ขณะนั้น กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับชีวิต

ซึ่งหลังจากพิจารณาอยู่สักพัก Siddhartha จินตนาการหน้าอกของเธอในเชิงวิชาการ อยู่ดีๆแทรกภาพคำบรรยายของอาจารย์หมอ นี่รับอิทธิพลจากงานศิลปะ Pop Art และ/หรือผลงานภาพยนตร์ของ Jean-Luc Godard มาเต็มๆ

ถ้าจะให้คำนิยามอินเดียยุคสมัยนั้นด้วยภาพๆเดียว ผมจะเลือกภาพสะท้อนบนผิวน้ำช็อตนี้ ที่มีความละเลือนลาน เจือจาง มองแทบไม่เห็นอีกแล้วว่า ชาวอินเดียปัจจุบันนั้นมีอัตลักษณ์ตัวตนเองเช่นไร

วินาทีนั้นเองทำให้ Siddhartha จินตนาการถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก เคยอาศัยอยู่ท้องนาชนบท วิ่งเล่นกับพี่สาว-น้องชาย ไม่ต้องวิตกจริตวุ่นวาย ยี่หร่า เดือดเนื้อร้อนใจอะไร

แวะเวียนมาห้องเพื่อน ช็อตนี้ถ่ายจากด้านนอก ราวกับพวกเขาติดขังคุก ไม่สามารถดิ้นหลุดเอาตัวรอดไปไหนได้

กลับมาบ้านแม้จะไม่มีกรงเหล็ก แต่คือเงาพื้นหลังและความมืดมิด ที่คุมขังเชิงนามธรรมอยู่ภายในจิตใจตัวละคร

Siddhartha จับจ้องมองพี่สาวที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน ทั้งๆตนเองคือผู้ชายแต่กลับกลายเป็นช้างเท้าหลัง นั่นเป็นสิ่งย้อนแย้งตรงกันข้ามกับขนบวิถี วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชาวอินเดีย นั่นทำให้เขาเต็มไปด้วยความละอาย รู้สึกผิด สะสมความไม่พึงพอใจอึดอัดอั้นอยู่ภายใน

พี่สาวของ Siddhartha เมื่อได้ทำงาน มีเงิน หาเลี้ยงครอบครัว เธอเลยเริ่มสามารถครุ่นคิดตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่รับฟังคำโต้แย้งอะไรใคร น้องชายพูดอะไรมา เอาจริงๆก็สามารถสวนกลับได้โดยง่าย ‘ตนเองยังเอาตัวรอดไม่ได้ แล้วยังจะมีหน้าเรียกร้องโน่นนี่นั่นอีกหรือ’

ช็อตนี้นอนอยู่บนเตียง ยกนิตยสารขึ้นมาอ่าน หลายครั้งพยายามบดบังใบหน้าน้องชาย ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆในชีวิตตนเองสักเท่าไหร่

การกระทำของ Siddhartha ไม่ต่างกับเด็กขี้แง เรียกร้องความสนใจ เดินทางไปหานายจ้างพี่สาว โป้ปดหาข้ออ้างให้ลาออกจากงาน แต่แค่เพียงไม่กี่วินาทีก็ถูกจับได้ นายไม่มีงานทำใช่ไหม! นั้นจี้แทงใจดำเขาอย่างสุดๆ

งานภาพในฉากนี้ จะถอยกล้องออกมาห่างๆหน่อย เพื่อสร้างพื้นที่ว่างให้กับตัวละครและสถานที่ เพื่อสร้างสัมผัสอันเวิ้งว้าง ว่างเปล่า ชายหนุ่มช่างมีฐานะ ชนชั้น ทัศนคติ เหินห่างไกลเจ้าของบ้านหลังนี้โดยสิ้นเชิง

ซึ่งหลังจากแผนการล้มเหลว สังเกตว่าภาพจะสลับทิศทางกับช็อตบนที่เป็นตอนเริ่มต้น นั่นสะท้อนถึงมุมมองของชายหนุ่มที่เปลี่ยนแปลงไป

นั่นเองทำให้ Siddhartha รีบเร่งร้อนหนีออกจากบ้านหลังนั้น มุมกล้องเอียงกะเท่เร่ (Dutch Angle) เดินบนท้องถนน สังเกตว่าเงาจากแสงอาทิตย์ บดบังซีกข้างหนึ่งของเขา ซึ่งหลังจากนี้เมื่อพบเห็นอุบัติเหตุ คนขับรถเบนซ์ชนเด็กหญิง เกิดความเกรี้ยวกราดขุ่นเคือง วิ่งตรงไปหลังจะรุมสะกำทำร้าย (จริงๆคนที่ Siddhartha อยากระบายความเคียดแค้นนี้ออก คือเจ้านายของพี่สาว แต่เพราะมิอาจกระทำได้เลยมาลงระบายกับผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ ที่ถือว่าเป็น’เหยื่อ’ของสังคม)

ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ เพื่อนพาเพื่อนมาเที่ยวซ่องโสเภณี มันคือเพื่อนนิสัยดีมากๆ แต่ยุคสมัยก่อนนั้น เมื่อศีลธรรม/มโนธรรมยังค้ำคอมนุษย์ เรื่องพรรค์นี้ยังถูกมองว่าต่ำทราม บัดซบ … ซึ่งวินาทีที่ Siddhartha จุดบุหรี่ให้หญิงสาว งานภาพอยู่ดีๆสลับเป็น Photo-Negative และช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ จะได้ยินเสียงนกร้องจิบๆ ไม่รู้ล่องลอยมาจากไหน เตือนสติและทำให้ลุกขึ้นวิ่งหนีไป

พบเห็นความไก่อ่อนของ Siddhartha แบบเดียวกับตัวละครหนึ่งใน Aranyer Din Ratri (1970) เมื่อถูกยั่วเย้ายวนโดยแม่หม้าย กลับยื้อยักชักช้า จนเวลาหมดเลยอดแดก คุณธรรม/มโนธรรมค้ำคอ นั่นเป็นสิ่งถูกต้องหรือเปล่าก็ให้ถามใจตนเอง

Keya (รับบทโดย Jayshree Roy) หญิงสาวที่คือแสงสว่างในชีวิตให้กับ Siddhartha อยู่ดีๆก็เรียกมาให้ซ่อมไฟให้ จากนั้นก็เริ่มนัดพบ คบหา ตกหลุมรัก … จริงๆการเข้าหาก่อนของฝ่ายหญิง ก็สะท้อนค่านิยมตะวันตกที่บุรุษ-สตรี มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม

อยู่ดีๆพี่สาวอยากเป็นนางแบบ แทรกภาพในนิตยสารช็อตนี้ถือเป็น Godardian แท้ๆเลยละครับ (จุดประสงค์เพื่อ บันทึกความนิยมในช่วงเวลานั้นๆไว้บนแผ่นฟีล์ม)

พี่สาว พาน้องชายขึ้นไปบนดาดฟ้า โชว์ท่าเต้นรำลีลาศแอบไปร่ำเรียนมา เพ้อฝันว่าสักวันจะได้ครองคู่หนุ่มหล่อ ไฮโซ บ้านรวย … ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตก แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่โลกตะวันออก แต่ไม่ใช่แค่การเต้นลีลาศเท่านั้นนะครับ เพ้อฝันครองคู่ชายในฝัน นั่นไม่ใช่ค่านิยมดั้งเดิมของอินเดียเลยสักนิด (ค่านิยมของชาวอินเดียสมัยก่อนคือ คลุมถุงชน ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เสียง เพ้อใฝ่ฝันประการใด!)

ไม่ใช่เสียงนกที่รบกวนการนอนของ Siddhartha แต่เริ่มจากนาฬิกาติก-ติก-ติก (เหลือเวลาแห่งการตัดสินใจไม่มาก) ตามมาด้วยเสียงแมวคราง (ขณะกำลังถูกตัวผู้ยั่วเย้าก่อนมี Sex) ไม่รู้นั่นคือความเชื่อชาวอินเดียหรือเปล่าว่าจะนำพาความโชคร้าย/ฝันร้าย ซึ่งก็ยังสะท้อนสภาพจิตใจของชายหนุ่ม เต็มไปด้วยความหงิดหงิด คับข้อง ไม่พึงพอใจ ในวิถีชีวิตปัจจุบันดำเนินอยู่

ถัดจาก Godardian ก็มาเป็น Felliniesque ร้องเรียงทุกเรื่องราวที่ Siddhartha ประสบพานผ่านมา ให้กลายเป็นจินตนาการขณะกำลังนอนหลับฝัน สถานที่คือบริเวณชายหาดริมทะเล สถานที่แห่งความเป็น-ตาย โลกความจริง-เพ้อฝัน และทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรความต้องการของเขา
– Photo-Negative ของนายจ้างสัมภาษณ์งาน
– ไม่อยากให้พี่สาวเป็นนางแบบ เธอก็กำลังถ่ายแบบ
– ไม่อยากเข้าร่วมคณะปฏิวัติ แต่กำลังตกเป็นเป้าถูกยิง
– พบเห็นตนเองกลายเป็นศพ และสาวโสเภณีสวมใส่ชุดพยาบาล เข้ามาทะนุถนอมเอ็นดู

การได้คบหา Keya ทำให้ชีวิตของ Siddhartha บังเกิดทั้งความหวังและเป้าหมาย ยืนจับจ้องมองการชุมนุมประท้วงอยู่บนดาดฟ้าตึกสูง สะท้อนถึงการดิ้นรน/เอาตัวรอดของชีวิต เราไม่สามารถรอคอย คาดหวังความช่วยเหลืออะไรจากใคร นอกเหนือจากตัวตนเอง (เข้าร่วมการประท้วงต่อให้ได้รับชัยชนะ ถ้าไม่สามารถหาอาชีพการงานทำได้ ชีวิตมันจะดีขึ้นกว่าเดิมตรงไหน!)

ผมค่อนข้างเชื่อว่า ฉากนี้ถ่ายทำขณะกำลังมีการประท้วงกันจริงๆ เป็นการฉกฉวยคว้าโอกาส ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์จริง สร้างบรรยากาศความตึงเครียดให้หนังได้อย่างตราตรึงทรงพลังทีเดียว!

ขากลับของ Siddhartha และ Keya แม้ช็อตนี้ถ่ายย้อนแสง ใบหน้าของพวกเขาปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่ขณะลงลิฟท์สะท้อนได้ถึงลงมาจากสรวงสวรรค์/ความเพ้อใฝ่ฝัน เพื่อเดินดิน เผชิญหน้าโลกความจริง

ฉากที่ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงมากสุดของหนัง ระหว่างรอการสัมภาษณ์ทั้งหลาย ในจินตนาการของ Siddhartha พบเห็นทุกคนกลายเป็นภาพโครงกระดูกที่ไร้ชีวิต นั่นทำให้เขาค่อยๆตระหนักขึ้นได้ว่า มนุษย์กำลังถูกควบคุม ครอบงำโดยอะไรสักอย่าง กลายเป็นหุ่นเชิดชัก ซี่โครงกระดูก ชีวิตที่ไร้ค่า ว่างเปล่า ไม่มีแม้แต่อิสรภาพ

เกร็ด: ก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Ray เคยเล่นกับโครงกระดูก ร้อง-เล่น-เต้น ในภาพยนตร์เรื่อง Goopy Gyne Bagha Byne (1969) เป็นอีก Sequence ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญไม่แพ้กัน (แต่คนละนัยยะความหมายกับหนังเรื่องนี้นะครับ)

หลังจากน็อตหลุด ห่าลง ระเบิดเวลาทำงาน Siddhartha ก็ตระหนักได้ว่าตนเองควรต้องการออกมาจาก Safe Zone ดิ้นรนทำในสิ่งสามารถเอาตัวรอดได้ก่อน แม้ทำให้เขาราวกับติดอยู่ในคุกกรงขัง แต่…

เสียงนกร้องดังก้องกังวาลย์ เลยทำให้เขาก้าวเดินออกมาจากห้อง เผชิญหน้ากับอิสรภาพด้วยตนเอง

เท่าที่ผมพยายามค้นหาว่า เสียงนกที่ได้ยินคืออะไร? กลับไม่มีใครตอบได้ ผู้กำกับ Ray ก็เงียบสงัด เลยได้ข้อสรุปว่าคือ MacGuffin เสียงสัญลักษณ์ที่ทำให้ Siddhartha ฉุกครุ่นคิด กล้าเผชิญหน้า ตัดสินใจ ไม่ยินยอมให้อิทธิพลอะไรเข้ามาควบคุม ครอบงำตัวตนเอง (หรือจะเรียกว่า เสียงเพรียกแห่งอิสรภาพ)

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Siddhartha รวมไปถึงภาพความทรงจำ (ที่มักแทรกมาแวบๆ มีลักษณะของแสง Flash) และจินตนาการเพ้อฝัน

เรื่องราวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 องก์
– ช่วงของการแนะนำตัวละคร สัมภาษณ์งาน ชีวิตเรื่อยเปื่อยในเมือง Calcutta
– Siddhartha กับคนรู้จักทั้งหลาย สนทนากับเพื่อน พี่สาว เจ้านาย(ของพี่สาว)
– จับพลัดจับพลูพบเจอ Keya มองเห็นแสงสว่าง ความหวัง เป้าหมาย
– และการตัดสินใจอันแน่วแน่ที่จะทำบางสิ่งอย่าง

การแทรกเข้ามาบ่อยๆของภาพความทรงจำ จินตนาการเพ้อฝันของ Siddhartha ผมเคยเขียนอธิบายในผลงานเรื่องหนึ่งของ Jean-Luc Godard ลักษณะดังกล่าวมีคำเรียกว่า Pop Art (มาจากคำว่า Popular) มักเป็นภาพที่มีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกับสิ่งบังเกิดขึ้นหรือเพิ่งอ้างอิงถึง อาทิ
– Siddhartha พบเห็นหญิงสาว หน้าอกใหญ่ ครุ่นคิดถึงที่อาจารย์หมอเคยสอนกายภาพเต้านม
– ได้ยินพี่สาวเรียกตักเตือนสติ จินตนาการถึงวัยเด็กที่พี่สาวเรียกให้รับฟังเสียงนกร้อง
– Siddhartha พูดคุยกับเพื่อนถึงเสียงนกไม่ใช่ไก่ ฉากถัดไปพวกเขาไปเดินตลาด พบเห็นไก่และนกเต็มเล้า
– พี่สาวกำลังเต้นลีลาศอยู่คนเดียว จินตนาการเห็นเธอกำลังเต้นกับชายใส่สูท ลายล้อมด้วยผู้คนมากมาย
– ยืนรอคิวสัมภาษณ์จนเมื่อ จินตนาการเห็นทุกคนกลางเป็นโครงกระดูก

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, มักดังขึ้นช่วงขณะตัวละครกำลังเพ้อใฝ่ฝันจินตนาการ ย้อนอดีต หรือบางสิ่งอย่างกลับตารปัตรกับโลกความจริง ซึ่งมักสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึก มีทั้งไพเราะงดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ และอมทุกข์เศร้าโศก เจ็บปวดรวดร้าวใจ


“the most provocative film I have made yet. I could feel the impact on the audience. All of which surprises and pleases me a great deal, because the film is deadly serious, and much of the style is elliptical and modern. People either loved the film or hated it”.

– Satyajit Ray

ผู้กำกับ Ray สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อตั้งคำถาม ‘อัตลักษณ์’ ของสังคมอินเดีย นี่มันเกิดบ้าบอคอแตกอะไรขึ้น ทำไมผู้คนถึงเต็มไปด้วยอคติ ความขัดแย้ง เพิ่งได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรไม่กี่ทศวรรษก่อนแท้ๆ วันนี้กลับแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้งกันเองภายใน เลวร้าวยิ่งกว่าตอนเป็นอาณานิคมชาติตะวันตกเสียอีกหรือ?

สำหรับประเทศอินเดีย ผมว่าการเอาแต่โทษจักรวรรดิอังกฤษเพียงอย่างเดียวคงไม่ถูกสักเท่าไหร่ เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปตามกลไก วิวัฒนาการแห่งชีวิต เมื่อมนุษย์พบเห็นอะไรล่อตาล่อใจ ความสะดวกสบาย ท้องอิ่มหนำ สนองตัณหา กามารมณ์ มีหรือจะไม่ขวนขวายไขว่คว้า คอรัปชั่นเล็กๆน้อยๆ แล้วกอบโกยผลประโยชน์มาใส่ตน

สิ่งเกิดขึ้นกับ Siddhartha สะท้อนถึงมุมมองทัศนคติของผู้กำกับ Ray พยายามวางตัวเป็นกลางในทุกสถานการณ์การเมือง แต่กลับถูกสังคมบีบบังคับให้ต้องเลือกข้าง ฝั่งฝ่ายใดหนึ่ง ถ้ามิใช่พรรคพวกตนย่อมต้องตรงกันข้ามศัตรู นั่นสร้างความคับข้อง ขุ่นเคือง สะสมอัดแน่นไว้ภายใน นานวันเข้าเริ่มแปรสภาพเป็นความเกรี้ยวกราด รอคอยวันปะทุระเบิดอาการคลุ้มคลั่งเสียสติแตกออกมา

ผู้กำกับ Ray เคยครุ่นคิดเหมือนกันว่าจะอพยพย้ายหนีจาก Calcutta แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขามิอาจกระทำได้

“For me Calcutta is the place to work, the place to live, so you take what comes – you accept the fact of change”.

– Satyajit Ray

ถึงอย่างนั้นเขาเลือกที่จะมอบอิสรภาพให้กับตัวละคร Siddhartha สามารถหลบหนี ทอดทิ้งปัญหา แล้วเริ่มต้นก้าวย่างนับหนึ่งใหม่ แม้ยังดินแดนทุรกันดารห่างไกล แต่จิตใจจักพบพานความสงบสันติสุข


เมื่อตอนหนังเข้าฉายในอินเดีย เสียงวิจารณ์แตกแยกออกเป็นสองฝั่งฝ่ายชัดเจน ถ้าไม่ชอบมากๆก็เกลียดโคตรๆ ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นอยู่ฝั่งฝ่ายไหนในความปัญหาความขัดแย้งที่บังเกิดขึ้นขณะนั้น, ส่วนนักวิจารณ์ต่างประเทศต่างยกย่องสรรเสริญกันถ้วนหน้า ชื่นชมการนำเสนอปัญหาสังคม ถ่ายทอดบรรยากาศยุคสมัยที่จับต้องได้ (แม้ไม่เคยอาศัยอยู่อินเดียก็ตามที) และเทคนิคร่วมสมัยตื่นตระการตา

ผู้กำกับ Ray ไม่ได้ครุ่นคิดต้องการสร้างเป็นไตรภาคตั้งแต่แรก แต่หลังจากเรื่องสอง-สาม พบเห็นความคล้ายคลึงเลยรวมเรียก Calcutta trilogy
– Pratidwandi (The Adversary) (1970)
– Seemabaddha (Company Limited) (1971)
– Jana Aranya (The Middleman) (1976)

แต่ก็ไม่ใช่แค่ผู้กำกับ Ray ที่ตั้งชื่อ Calcutta trilogy ยังมีอีกสามผลงานของ Mrinal Sen ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย
– Interview (1971)
– Calcutta 71 (1972)
– Padatik (The Guerilla Fighter) (1973)

ส่วนตัวชื่นชอบหนังพอสมควร ทำให้ผมเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายอย่าง เกี่ยวกับอินเดียยุคสมัยนั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนประทับใจสุดคือการมาถึงของหญิงสาว ผู้สร้างโอกาสและความหวังเล็กๆ แม้สุดท้ายทุกสิ่งอย่างจะไม่สำเร็จสมหวังดั่งใจ แต่การเริ่มต้นก้าวออกมาจากความขัดแย้ง นั่นคือการนับหนึ่งที่จับต้องได้เสียที

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด ชีวิตสะสมความเกรี้ยวกราดรุนแรง

คำโปรย | Pratidwandi คือทัศนคติต่อยุคสมัยของผู้กำกับ Satyajit Ray ถ่ายทอดผ่านความเกรี้ยวกราดของ Dhritiman Chatterjee
คุณภาพ | รี้
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Aranyer Din Ratri (1970)


Aranyer Din Ratri

Aranyer Din Ratri (1970) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

Days and Nights in the Forest เรื่องราวของสี่หนุ่มเดินทางไปพักผ่อนวันหยุดริมชายป่า ปลดปล่อยชีวิตให้ได้รับอิสรภาพเสรี พยายามอย่างยิ่งจะแหกแหวกกฎ ประเพณี ทุกสิ่งอย่าง กระทั่งพานพบเจอหญิงสาวสวยสองคนอาศัยอยู่บ้านข้างๆ ความมีอารยะถึงค่อยๆหวนคืนสติกลับมาทีละนิด

ปกติแล้วผลงานภาพยนตร์ของ Satyajit Ray จะไม่อึมครึม มืดหมอง หม่นขนาดนี้ (แต่ผมยังรับชมไม่ครบทั้งหมดนะครับ เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องนี้ดาร์กสุดๆแล้วหรือยัง) ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อค้นพบ เผชิญหน้า สิ่งชั่วร้ายที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ ปลดปล่อยสันชาติญาณสัตว์ออกสู่ธรรมชาติป่าดงพงไพร

สี่หนุ่มมีความแตกต่างคนละมุม ดูยังไงก็ไม่น่าสมัครคบหาเป็นเพื่อนพึงพาอาศัยกันได้ แต่นั่นน่าจะคือการเปรียบเทียบถึงชนชั้น วรรณะทางสังคมอินเดีย เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละคนจะมีวิธีแก้ปัญหา จัดการ ปฏิกิริยาโต้ตอบสนอง(ด้วยสันชาติญาณ)เช่นไร

นั่นคือความลุ่มลึกล้ำในระดับปราชญ์ รับชม Days and Nights in the Forest เพียงผ่านๆย่อมไม่สามารถพบเห็นความงดงามที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Ray ต้องการสะท้อนเสียดสีสภาพสังคมอินเดียยุคสมัยนั้น (ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก คอรัปชั่น และกำลังห้ำหั่นแบ่งแยกประเทศเพราะความแตกต่างทางศาสนา) ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ โหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการถูกจำกัดอยู่ในกฎกรอบ ขณะเดียวกันถือได้ว่าเป็นการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนเอง (ของผู้กำกับ และความเป็นอินเดีย) เผชิญหน้าด้านมืด โอบรับสิ่งชั่วร้ายภายใน เมื่อสามารถเรียนรู้เข้าใจ ก็จักทำให้ชีวิตสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ผลงานในยุคที่สามของผู้กำกับ Ray มักเป็นการสำรวจตัวตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ เผชิญหน้าด้านมืดที่อยู่ภายในจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เขามองหาสำหรับ Aranyer Din Ratri เริ่มต้นครุ่นคิดถึง 4 ตัวละคร
– Asim (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) ร่ำรวยสุดในกลุ่ม อาชีพการงานมั่นคง เอ่อล้นด้วยความมั่นใจ(ในตนเอง) ลุ่มหลงใหลในบทกวี สวมใส่เสื้อผ้าดูหรูหรา สูบบุหรี่ราคาแพง เหตุผลการเดินทางครั้งนี้เพื่อทดลองรถใหม่ และพยายามทำตัวนอกคอกนอกรอย ไม่ต้องการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ใดๆ
– Sanjoy (รับบทโดย Subhendu Chatterjee) เป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ เหนียงอาย จีบสาวไม่ค่อยเก่ง ยึดถือมั่นในศีลธรรมมโนธรรม มีสติสามารถหยุดยับยั้งชั่วใจอะไรๆ เหตุผลของการเดินทางครั้งนี้ เพราะชื่นชอบสถานที่ (เหมือนจะเคยมาท่องเที่ยวก่อนหน้า) และต้องการพักผ่อนคลายจากหน้าที่การงาน
– Hari (รับบทโดย Samit Bhanja) ร่างกายบึกบึนกำยำ ‘Sportman’ เป็นคนง่ายๆ ทึ่มๆ ซื่อตรง อยากได้อะไรก็พูดบอกออกมา ถ้าไม่ได้ด้วยเงินก็คิดแต่จะใช้กำลังควบคุมครอบงำ เหตุผลการเดินทางครั้งนี้ เพื่อหลงลืมสาวที่ตนเพิ่งเลิกรา
– Sekhar (รับบทโดย Rabi Ghosh) เป็นคนเฮฮาปาร์ตี้ ‘Happy-go-Lucky’ ขี้หลีแต่ไร้เสน่ห์ ชอบพูดจาโผงผาง สามารถตีสนิทเข้าหาคนอื่นได้ง่าย มีความต้องการตรงไปตรงมา หลงใหลการเล่นพนัน เหตุผลการเดินทางครั้งนี้ เพราะเพื่อนๆเรียกร้องมาเลยไม่คิดปฏิเสธแต่อย่างใด

จากนั้นมองหาสถานที่สำหรับการผจญภัย ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Palamau (1880) แต่งโดย Sanjib Chandra Chattopadhyay (1834 – 1889) ซึ่งชาวเบงกาลีเป็นที่รู้จักมักคุ้นอย่างดี สมัยนั้นยังคงเป็นดินแดนรกร้าง ป่าดงพงไพร อยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตก สามารถพานพบเจอชนเผ่าพื้นเมือง Santhal สาวๆที่นั้นผิวดำ แต่งตัวโป๊เปลือย ดื่มเหล้าเมามายไม่ต่างจากบุรุษ ซึ่งราวกับสรวงสวรรค์ของชาวเมืองเลยก็ว่าได้

“Bengalis are so accustomed to the plains that even a mere hillock delights them. Men and women drink together in Palamau, but I’ve never seen a local woman drunk, although the men are often completely intoxicated. The woman are dark-skinned, and all young. They are scantily dressed and naked from the waist up”.

– Sanjoy อ่านจากหนังสือ Palamau เมื่อตอนเริ่มต้นออกเดินทาง

เมื่อเริ่มพัฒนาบทไปได้สักพักยังไม่มีชื่อหนัง หวนระลึกนึกถึงนวนิยาย Aranyer Din Ratri (1968) แต่งโดย Sunil Gangopadhyay (1934 – 2012) นักเขียน/นักกวีชื่อดังสัญชาติ Bengali เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และนำเพียงโครงสร้าง แนวคิด ไม่ใช่เนื้อเรื่องราวทั้งหมดมาปรับใช้ในภาพยนตร์

เกร็ด: ปีเดียวกันนี้ผู้กำกับ Ray ยังได้ดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ Sunil Gangopadhyay กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Pratidwandi (1970) ซึ่งมีเนื้อหาตรงต่อ/เคารพต้นฉบับมากกว่า


Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935) นักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Apur Sansar (1959) ปกติแล้วมักรับบทตัวละครที่มีความใสซื่อ ไร้เดียงสา มาครานี้พลิกบทบาทกลายเป็นชายหนุ่มผู้มีความเย่อหยิ่งทะนง แต่งองค์หรูหรา มารยาเป็นเลิศ เชื่อมั่นในความคอรัปชั่นของมนุษย์ แต่ก็พ่ายรักให้กับ Aparna (รับบทโดย Sharmila Tagore) คู่ขวัญเจอะเจอกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ยินยอมใจอ่อนศิโรราบ หมดสิ้นความอหังการกลายเป็นลูกแมวน้อยโดยทันที

Subhendu Chatterjee (1936-2007) ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรกับ Soumitra นะครับ เพิ่งเริ่มเข้าวงการจากผลงานแจ้งเกิด Akash Kusum (1965) และโด่งดังระดับนานาชาติกับ Aranyer Din Ratri (1969), รับบท Sanjoy มักประกบคู่หู Ashim แต่งตัวดูดี มีความเฉลียวฉลาด รสนิยมคล้ายๆกัน เพิ่มเติมคือจิตสำนึกมโนธรรม มักหาเรื่องรั้งรีรอ สติปัญญายับยั้งสันชาตญาณตนเอง ไม่ให้ครุ่นคิดกล้าตัดสินใจกระทำอะไร จะเรียกว่าไก่อ่อนคงไม่ผิดเท่าไหร่ แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นคงตอบยากว่าควรทำเช่นไร

Samit Bhanja (1944 – 2003) นักแสดงหนุ่มร่างบึกบึน ผลงานเด่นๆอย่าง Surer Agun (1965), Hatey Bazarey (1967), Guddi (1971), รับบท Hari เป็นคนขี้เหนียงอาย ทึ่มทื่อ ตรงไปตรงมา ชอบใช้กำลัง/สันชาติญาณมากกว่าสติปัญญาแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้พอกระเป๋าสตางค์หาย โทษทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่สอบถามไตร่ตรองให้รอบคอบดูเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ผลกรรมเลยตอบสนองย้อนแย้ง น่าจะได้รับบทเรียนแห่งความเจ็บปวดอย่างสาสม

Rabi Ghosh (1931 – 1997) หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Abhijan (1962), โด่งดังสุดก็ Goopy Gyne Bagha Byne (1968) และภาคต่อ Hirak Rajar Deshe (1980), รับบท Shekhar แม้เป็นคนสนุกสนานร่าเริง สร้างสีสันให้ทริปนี้ แต่ไร้รสนิยม ความครุ่นคิดอ่านของตนเอง เพื่อนชวนมาก็ไป ลุ่มหลงใหลในการพนันขันต่อชีวิต หมกมุ่นยึดติดจนหมดตัวไม่หลงเหลืออะไร

Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงหญิงขาประจำผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Apur Sansar (1959) ซึ่งเรื่องนั้นรับบท Aparna ภรรยาผู้โชคร้ายของ Apu นำแสดงโดย Soumitra Chatterjee, มาเรื่องนี้ตัวละครชื่อ Aparna อีกเช่นกัน ยังคงเต็มไปด้วยมารยาหญิง เล่นหูเล่นตายั่วหยอกเย้า เพิ่มเติมคือความเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง สามารถเข้าใจกลเกมของหนุ่มๆ จึงแสร้งทำเป็นยินยอมพ่ายแพ้ แล้วตลบแตลงย้อนกลับ ทำเอา Asim สูญเสียขายขี้หน้า ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง ส่วนเธอเพราะถือไพ่เหนือกว่า เลยทอดทิ้งความหวังเล็กๆให้เขา แต่อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นคงไม่มีใครคาดเดา

Kaberi Bose (1938 – 1977) นักแสดงหญิงชาวเบงกาลี ไม่ค่อยได้รับงานแสดงสักเท่าไหร่, รับบทแม่หม้ายลูกติด Jaya สูญเสียสามีจากการฆ่าตัวตาย (สามีจริงๆของ Bose ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไม่นานก่อนหน้า) สร้างความเปล่าเปลี่ยว ระทมทุกข์ ทีแรกเหมือนจะไม่ได้ใคร่สนใจหนุ่มๆ แต่ลึกๆกลับใคร่ครวญโหยหา เหตุที่เลือก Sanjoy เพราะคงพบเห็นความใกล้เคียงกับตนเอง แต่เขากลับมิอาจหาญกล้า กระทำสิ่งนอกเหนือสามัญสำนึกของตนเอง

Simi Garewal (เกิดปี 1947) นักแสดง, พิธีกร, Talk Show เกิดที่ Ludhiana, East Punjab แล้วไปเติบโตยังประเทศอังกฤษ หวนกลับมาอินเดียกลายเป็นนักแสดง Son of India (1962), Tarzan Goes to India (1962), ปกติแสดงหนัง Bollywood มักได้รับบทสมทบ อาทิ Mera Naam Joker (1970), Andaz (1971), Kabhi Kabhie (1976), สำหรับ Aranyer Din Ratri (1970) รับบท Duli หญิงสาวชนเผ่า Santhal ผิวสีเข้ม ผู้มีความขี้เล่น ซุกซน มักมาก ร่านสวาท เห็นเงินคือพระเจ้า พร้อมยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มา นำไปใช้ดื่มด่ำแต่ไม่เห็นเมามาย ถือว่าเข้าขากับ Hari ใช้เงินเพื่อสนองตัณหา อย่างอื่นนอกเหนือสันชาตญาณไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ


ปกติแล้วตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Ray จะคือ Subrata Mitra แต่หลังจาก Teen Kanya (1961) เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา บางทีก็ติดโปรเจคอื่นไม่ว่างมาช่วยงาน เลยผลักดัน Soumendu Roy (เกิดปี 1933) จากเคยเป็นผู้ช่วย จัดแสง ตั้งแต่ Pather Panchali (1955) ขึ้นมารับเครดิตถ่ายภาพ

ความโดดเด่นของหนัง คือการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม แสง-ความมืดจากธรรมชาติ สามารถสะท้อนถึงสภาพจิตวิทยาของตัวละครออกมา (ก่อนหน้านี้ Ray เคยทดลองแนวคิดดังกล่าวกับ Kanchenjungha ใช้เมฆ หมอก แสงอาทิตย์ แทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร)

หนังไม่ได้เริ่มต้นที่ผองเพื่อนทั้งสี่อยู่ร่วมช็อตเดียวกัน แต่คือตัวใครตัวมัน ตัดสลับไปมาตามตำแหน่งที่นั่งบนรถเก๋ง
– คนขับ Ashim เป็นหัวหน้ากลุ่ม นำพาเพื่อนๆออกเดินทาง ทดลองรถใหม่
– Sanjoy นั่งด้านหลัง น่าจะคือคนเลือกสถานที่ กำลังอ่านเกร็ดที่น่าสนใจให้รับฟัง
– Hari อยู่เบาะหน้า เพราะครุ่นคิดว่าตนเองจะสามารถบงการโน่นนี่นั่น แต่ก็เป็นได้แค่ตัวตลกขบขัน
– Shekhar นอนหลับอยู่ด้านหลัง ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรสักเท่าไหร่

ที่ต้องแวะปั๊มน้ำมัน สงสัยจะเพราะภาพสวยๆช็อตนี้ สะท้อนถึงการเดินทางของสี่หนุ่ม เพื่อเติมเต็มพลังให้ชีวิต หวนกลับมามีเรี่ยวแรง กระชุ่มกระชวย เกิดกำลังใจในการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยยากลำบาก

Opening Credit ทีแรกจะเป็นตัวอักษรสีดำ ปรากฎท่ามกลางทิวทัศน์สองข้างทางเคลื่อนผ่านไป แต่นับตั้งแต่ชื่อหนังช็อตนี้ปรากฎขึ้น กลับมีลักษณะตารปัตรตรงกันข้าม พื้นหลังกลับกลายเป็นสีดำ เฉพาะส่วนของตัวอักษรถึงพบเห็นภาพข้างทางเคลื่อนผ่านไป, นัยยะคงสื่อถึงกลางวัน-กลางคืน (ตามชื่อหนัง Days and Nights in the Forest ) ซึ่งทุกสิ่งอย่างจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามระหว่างเริ่มต้น-สิ้นสุด ด้วยเช่นกัน

ฉากย้อนอดีต (Flashback) ครั้งเดียวของหนัง Hari ครุ่นนึกถึงแฟนสาวที่เพิ่งเลิกรา เอาจริงๆผมว่าไม่จำเป็นต้องใส่มาเลยนะ เพราะผู้ชมสามารถคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา และพอไม่มีตัวละครอื่นที่มีฉากย้อนอดีต นั่นทำให้หนังขาดความสมดุลแบบแปลกๆ

ซึ่งเหตุผลที่ผมครุ่นคิดว่า ผู้กำกับ Ray ใส่ฉากย้อนอดีตนี้เข้ามา ก็เพื่อแนะนำตัวละครที่มัวแต่นอนหลับฝัน ให้ผู้ชมได้เกิดความเข้าใจโดยทันทีว่าเป็นบุคคลเช่นไร (ตัวละครอื่นไม่ได้นอนหลับระหว่างเดินทาง เลยไม่จำเป็นต้องฉากย้อนอดีตหวนระลึกความทรงจำ)

มันอาจเป็นช็อตมองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่สังเกตว่าเงาของ Hari ปกคลุมใบหน้าหญิงสาว นั่นสะท้อนถึงความต้องการควบคุม ครอบงำ เป็นเจ้าของในตัวเธอ … แต่หญิงสาวส่วนใหญ่(สมัยนี้) ไม่มีใครชื่นชอบผู้ชายบ้าพลัง วางอำนาจ ปากดีแบบนี้แน่

สภาพถนนหนทางมุ่งสู่ Palamau สังเกตว่าสองฟากฝั่งรายล้อมด้วยต้นไม้ที่แลดูแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ซึ่งสะท้อนสภาพจิตใจของหนุ่มๆ ขาดความสดชื่น กระชุ่มกระชวย หมดสิ้นเรี่ยวแรงจากการทำงาน (กำลังออกเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อเติมเต็มพลังงาน)

“Thank God for corruption”.

– Ashim

เป็นเสียงล่องลอยที่สะท้อนค่านิยมยุคสมัยนั้น คนส่วนใหญ่เลิกที่จะยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี อุดมการณ์ ความถูกต้องเหมาะสม … แต่มองอีกมุมหนึ่ง เหตุผลที่คนเฝ้าประตูยินยอมรับเงินก้อนนี้ เพราะภรรยากำลังป่วยหนัก ไม่มีค่ารักษาพยาบาล นี่อาจจะช่วยแบ่งเบาอะไรๆให้เขาได้มากทีเดียว

แม้สี่หนุ่มจะเดินทางมาปลดปล่อยอิสรภาพให้กับตนเอง แต่พวกเขาก็ราวกับถูกคุมขังอยู่ด้านหลังเหล็กดัด ซึ่งสามารถเรียกได้ว่า ‘คุกแห่งอิสรภาพ’

เป็นนวัตกรรมการตักน้ำจากบ่อที่ช่างคิดจริงๆ ไม่รู้เป็นความบังเอิญของสถานที่ หรือก่อสร้างขึ้นเพื่อแฝงนัยยะถึง ไม่ว่ามนุษย์จะทำตัวหัวสูงขนาดไหน ถ้าต้องการตักน้ำ/ดำรงชีวิต ก็ต้องถูกชักดึงลงมาติดพื้นดิน ไม่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

ครั้งแรกจะมีเพียง Shekhar มาถึงแล้วอาบน้ำอาบท่า โกนหนวดเครา แต่งตัวหล่อเหลา ทั้งๆไม่รู้จะไปอวดอะไรใคร ส่วนคนอื่นเพราะมาปลดปล่อย อิสรภาพ เลยไม่ครุ่นคิดที่จะเสียเวลามาทำอะไรแบบนี้

เผาหนังสือพิมพ์ เป็นสัญลักษณ์ ตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่ต้องการรับล่วงรู้ข่าวสาร ความวุ่นวายอะไรทั้งนั้น ช่วงเวลานี้ขอแค่เพียงสนุกสนาน หรรษาไปกับวันหยุดพักผ่อนก็เพียงพอแล้ว

น่าเสียดายที่ผมหารับชมฉบับบูรณะไม่ได้ ฉากถ่ายทำขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน เลยพบเห็นเป็นความมืดมิดเสียส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนถึงสภาพจิตใจตัวละครทั้งสี่ ขณะนี้ต้องการการพักผ่อนคลาย กำลังออกเดินทางไปดื่มเหล้า เฉลิมฉลอง เมามาย

วันที่สองหลังกลับจากตลาด สี่หนุ่มยืนจับจ้องเห็นสองสาวกำลังเล่นแบดมินตัน สังเกตว่า
– Shekhar ยืนเสนอหน้าใกล้รั้วที่สุด เขาจะคือบุคคลทำให้เพื่อนๆได้เข้าไปร่วมวงใน
– Ashim กับ Sanjoy ยืนอยู่ระหว่างกลาง สวมแว่นดำ เว้นว่างระยะห่าง
– Hari อยู่ไกลสุด หลังเสา ซึ่งเขาจะขอปลีกตัวไปก่อน ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรพวกนี้สักเท่าไหร่ (ยกเว้นตอนเล่นแบดมินตัน)

แบดมินตัน เป็นกีฬาใช้การตีโต้ระหว่างสองฝั่ง ซึ่งก็คือชาย-หญิง หนุ่ม-สาว สะท้อนการจับคู่ตัวละคร
– Ashim มักไปไหนมาไหนกับ Sanjoy
– Shekhar คือคู่แว้งกัด Hari
– Aparna เป็นญาติกับ Jaya
– Ashim จีบ Aparna
– Sanjoy เกี้ยวพา Jaya
– Hari ร่วมรัก Duli
– หลงเหลือทอดทิ้ง Shekhar ช่วยตัวเองไปกับการเล่นพนัน

ฉากที่บ้านของ Aparna เหมือนว่าผู้กำกับ Ray จะรับอิทธิพลเต็มๆจาก Jean-Luc Godard ทิ้งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ชื่อหนังสือ ปกแผ่นเสียง เพื่อเป็นการอ้างอิงความสนใจของตัวละคร (สะท้อนรสนิยมความชื่นชอบของผู้กำกับเองด้วย)

ระหว่างการสนทนาบนระเบียง มีการกล่าวถึง Romeo and Juliet น่าจะฉบับปี 1968 ของผู้กำกับ Franco Zeffirelli ซึ่งมีฉากเกี้ยวพาระหว่าง Romeo & Juliet คลาสสิกมากๆตรงระเบียง

“…this is the east and Juliet is my sun”.

ขณะนั้น Aparna ยืนฝั่งซ้ายมือ(ตะวันตก)ของ Ashim เป็นคารมจีบสาวที่คมคายไม่เบา

การมาถึงของสาวๆระหว่างสามหนุ่มกำลังอาบน้ำ มีเพียง Ashim และ Hari ไม่มีอะไรต้องอับอาย แต่สำหรับ Sanjoy ผู้มีความเหนียงอาย เร่งรีบทิ้งตัวลงนอนราบ ไม่ต้องการเปิดเผยเรือนร่างให้พวกเธอพบเห็น

แซว: Hari เป็นคนที่เล่นแบดมินตันสุดตัวจนกระเป๋าสตางค์หล่น แต่กลับไม่พบเห็นอาบน้ำชะล้างร่างกาย

สองสาวเมื่อพบเห็นสภาพขี้เมาสุดกู่ของหนุ่มๆ
– Aparna หัวเราะยิ้มร่า เบิกตายิ้ม จดจำทุกสิ่งอย่าง
– Jaya เกิดความเหนียงอาย ยกมือขึ้นปิดตา ไม่อยากจดจำภาพอุจาดฝังใจ

มาดของหัวหน้ารีสอร์ทคนนี้ เคร่งขรึม หวีผมเนี๊ยบ สวมแว่นปกปิดบังตนเอง มุมกล้องเงยขึ้นท้องฟ้า พวกเอ็งหาข้ออ้างอะไรมาข้าไม่ฟังทั้งนั้น … จนกระทั่งสองสาวเข้ามาช่วยเหลือไว้ บอกว่าเป็นเพื่อนรู้จัก พี่แกเลยถอดแว่น ทำท่านอบน้อม ประณีประณอม ยินยอมอนุญาตให้อยู่ต่อเฉยเลย

ความคอรัปชั่น บางครั้งไม่ได้ซื้อกันด้วยเงิน แต่อำนาจ ยศฐา อิทธิพล ความเกรงอกเกรงใจผู้มีพระคุณ


ผู้กำกับ Ray ถือว่าฉากเล่นเกมความทรงจำนี้ คือ Sequence ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตตนเอง ซึ่งชื่อบุคคลตัวละครเอ่ยมา ล้วนสะท้อนถึงรสนิยม ความชื่นชอบ สนใจของพวกเขาทั้งหมด
– Jaya เอ่ยถึง Rabindranath Tagore (1861 – 1941) นักปราชญ์ นักเขียน นักกวี สัญชาติเบงกาลี ยังเป็นปู่ของ Sharmila Tagore (และไอดอลผู้กำกับ Ray)
– Sanjoy เอ่ยถึง Karl Marx และเหมาเจ๋อตุง ต่างเป็นผู้นำระบอบสังคมนิยม เน้นความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น
– Aparna เอ่ยถึง Cleopatra (คงจะเปรียบเทียบความงาม และเล่ห์เหลี่ยมเข้ากับตนเอง), Don Brandman (นักกีฬาคริกเก็ตชาวออสเตรเลีย ได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่ตลอดกาล), Robert F. Kennedy น้องชายของปธน. John F. Kennedy ถูกลอบสังหารเหมือนพี่ 5 ปีถัดมา, และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส
– Shekhar เอ่ยถึง Atulya Ghosh (1904 – 1968) นักการเมืองชาวเบงกาลี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด ซื่อสัตย์ ผู้จัดงานทางการเมืองยอดเยี่ยมที่สุด
– Hari เอ่ยถึง Helen of Troy เลื่องลือชาเรื่องงาม หญิงสาวผู้เป็นชนวนศึกในสงครามเมืองทรอย
– Ashim เอ่ยถึง Shakespere (วินาทีนั้นทำให้ Aparna เงยหน้าขึ้นมอง เพราะเขาเคยเอ่ยถึง Rome & Juliet), Rani Rashmoni (1793 – 1861) ผู้ก่อตั้งวิหาร Dakshineswar Kali Temple, Teckchand Thakur (1818 – 1883) นักเขียนสัญชาติชาวเบงกาลี, Mumtaz Mahal จักรพรรดินีแห่งอินเดีย ราชวงศ์โมกุล หลังจากสวรรคต พระสวามี Shah Jahan สร้าง Taj Maha ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งรัก

พูดถึงฉากปิคนิค มักทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Partie de campagne (1936) ของผู้กำกับ Jean Renoir ที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้ รวมไปถึง Kapurush (1965) ด้วยนะ

หลังเกมจบ ทั้งหกก็ได้ผลัดกันเล่นชิงช้าสวรรค์ หมุนเวียนวนไปดั่งวัฏจักรชีวิต
– Ashim คู่กับ Aparna
– Sanjoy คู่กับ Jaya
– และ Hari คู่กับ Shekhar

กำไลข้อมือ มักเป็นสัญลักษณ์ที่ชายหนุ่มใช้คล้องใจหญิงสาว (หนึ่งในของหมั้นแต่งงาน) ซึ่งแน่นอนว่าฉากนี้ Ashim ต้องการจ่ายให้ Aparna แต่สุดท้ายกลับถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด Shekhar ยืมเงินไปเล่นพนันหมดตัวซะงั้น!

ความชื่นชอบพนันขันต่อของ Shekhar แฝงนัยยะของการปล่อยปละให้ชีวิตล่องลอย ดำเนินไปกับโชคชะตา ไม่ครุ่นคิดหาความมั่นคง หรือตัดสินใจทำอะไรด้วยเงื้อมมือตัวตนเอง

ผิดกับ Aparna เธอลงพนันแค่เกมสองเกม ได้กำไรแล้วหยุดเลิกเล่น กล่าวคือแรกเริ่มต้นปล่อยให้โชคชะตานำพา จากนั้นตัดสินใจเลือกหนทางเดินชีวิตด้วยตัวตนเอง

สำหรับ Hari เลือกใช้ชีวิตดำเนินไปด้วยสันชาตญาณสัตว์ ชักลากพา Duli เข้ามากลางป่า เอาเงินมาหลอกล่อ แล้วเสพสุขสมหวัง ได้รับความอิ่มหนำแล้วจากไป แลกมาด้วยการถูกดักตีหัว เลือดอาบไหล เงินทองถูกขโมยหมดกระเป๋า (ได้เงินหายสมใจอยาก)

เรื่องราวทางฝั่ง Ashim กับ Aparna แรกเริ่มเดินสวนทางกับใครอื่น สะดีดสะดิ้งด้วยเล่ห์มารยา ค่อยๆพูดบอกเปิดเผยความจริงหลายๆอย่างเกี่ยวกันตนเอง ให้เขารู้สึกอับอายสูญเสียหน้า แต่ขณะเดียวกันแปรสภาพเป็นตกหลุมรัก ต้องการศิโรราบทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เธอมาครอบครอง

สำหรับ Sanjoy ถูก Jaya ลากพาตัวกลับมาบ้าน ท่ามกลางความมืดมิดที่ค่อยๆคืบคลานยามเย็น มองอะไรแทบไม่เห็น แต่เด่นชัดเจนในความยั่วหยอกเย้า เรียกร้องให้เขาตอบสนองตัณหาความต้องการ … แต่ชายหนุ่มกลับยื้อยักลังเล บางสิ่งอย่างค้ำคอไว้ ไม่สามารถตอบสนองเสียงเพรียกเรียกร้องของเธอได้

ช็อตนี้แอบล้อกับความฝันของ Hari ที่เงาปกคลุมใบหน้าของหญิงสาว, คราวนี้เงาของ Aparna ปกคลุมในหน้า Ashim ขณะจับจ้องมองดูกวางน้อยในป่าใหญ่วิ่งผ่านไป มันช่างเป็นน่ารัก ไร้เดียงสา คือธรรมชาติแห่งชีวิต ผู้หญิงสามารถเป็นช้างเท้าหน้า ก้าวเดินนำ ชักนำบุรุษให้ติดตามหลัง

เพราะไม่มีกระดาษเลยจดที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์? เขียนไว้บนธนบัตร … ผมมองนัยยะดังกล่าว ความรักคือการซื้อขายแลกเปลี่ยน เสมอภาคเท่าเทียม ถ้าอยากได้ฉันมาครอบครอง ก็จำต้องหายินยอมศิโรราบ ให้อิสรภาพตามที่ฉันร้องขอต้องการ

โชคชะตาของสี่หนุ่ม พวกเขาหวนกลับมาเป็นคู่ๆ
– Hari ในสภาพเลือดอาบ
– Shekhar เงินหมดตัว

ขณะที่ Ashim และ Sanjoy ต่างสูบบุหรี่ เสพความสุขอันเกิดจากความผิดหวังเล็กๆ
– Ashim ยังมีความหวัง เพราะได้ที่อยู่ของ Aparna
– Sanjoy ก็ไม่รู้เสียดาย หรือดีใจ ได้พลัดพรากจาก Jaya เสียที

มันเป็นความรู้สึกโดยส่วนตัวลึกๆ อยากให้ Ashim ได้เผลอมอบทิป คือธนบัตรใบที่ Aparna เขียนที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ให้ไป แต่ดูแล้วตัวละครคงไม่น่าเผลอเรอเช่นนั้นแน่ ถึงอย่างนั้นถ้าเป็นจริง มันคงสร้างความน่าอับอาย สูญเสียดายไม่เบา เมื่อตระหนักถึงผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตดังกล่าว

ไข่ เป็นการตบมุกช่วงท้าย คือสัญลักษณ์สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสี่หนุ่มกับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งราวกับทำให้พวกเขาเกิดใหม่ ฟักไข่ ออกมาเป็นตัวตน มีความเป็นคนเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าก่อน

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสี่หนุ่ม ออกเดินทางจาก Calcutta มุ่งสู่ Palamau โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 องก์
– การเดินทางมาถึง Palamau ทำความคุ้นเคยสถานที่ และจบคืนแรกด้วยสภาพเมามาย
– เช้าวันใหม่ พานพบเจอสาวๆ พบปะเริ่มต้นสานสร้างความสัมพันธ์
– บ่ายและค่ำคืนนั้น พานพบเจอเรื่องน่าอับอายขายหน้าสารพัด กำลังถูกไล่ที่, ขณะอาบน้ำสาวๆขับรถผ่านมาพอดี, ดึกดื่นเมามายหัวราน้ำ, ตื่นสายโด่งไม่ทันรับประทานอาหารเช้า ฯ
– สาย-บ่ายวันที่สาม การปิคนิคใต้ร่มไม้ เล่นเกมจำชื่อ
– ยามเย็นท่องเที่ยวงานเทศกาล ทั้งสี่จะแยกย้ายกันไปตามคู่ขา/ความสนใจ แล้วตัดสลับสับไปมา

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray เป็นส่วนเล็กๆที่คอยเติมเต็มสัมผัสทางจิตวิญญาณของตัวละคร ซึ่ง Opening Credit ทำการผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ากับดนตรีพื้นบ้านอินเดีย (และเสียงคอรัส) สะท้อนถึงการเดินทางของคนรุ่นใหม่ รับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในวิถีชีวิต ความครุ่นคิด และอะไรหลายๆอย่างมากมาย

ส่วนใหญ่ของบทเพลงคือ Diegetic Music ดังขึ้นขณะอยู่ในร้านเหล้า ตัวละครขับร้อง หรือเทศกาลช่วงท้าย ซึ่งเมื่อหนุ่มๆทั้งสี่แยกย้าย บทเพลงที่เติมเต็มความเพ้อฝัน/ต้องการของพวกเขาจะดังขึ้นคลอประกอบ
– Shekhar หลังจากเสพสมกับ Duli ท่วงทำนองดนตรีราวกับพวกเขาอยู่บนสรวงสวรรค์
– Aparna ขณะเล่าเบื้องหลังชีวิตให้ Ashim ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง แต่พอพบเห็นกวางน้อยเดินผ่าน แปรเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองแห่งความหวัง
– Sanjoy กับ Jaya ได้ยินบทเพลงที่มีความอ้อยอิ่ง ยั่วเย้ายวน สร้างความมึนตึง ฉันจะครุ่นคิดตัดสินใจเช่นไรดี เสียงนาฬิกาดังติกๆ นับถอยหลังจนกระทั่งเวลาแห่งความรักหมดสิ้น


แม้ว่าประเทศอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1947 แต่ก็ถูกวางกัปดัก ถ่วงความเจริญ เพราะดินแดนตอนเหนือทั้งฝั่งตะวันออก-ตก ไม่มีการขีดเส้นแบ่งแยกดินแดนผู้นับถือศาสนาฮินดู-อิสลาม ความขัดแย้งลุกลามบานปลายใหญ่จนเกิดเป็นสงครามขนาดย่อมๆ Kashmir War ก่อกำเนิดสองประเทศอินเดีย-ปากีสถาน แต่ความรุนแรงกลับไม่เคยสงบสิ้นสุดลงมาจนยุคสมัยปัจจุบัน

Days and Nights in the Forest นำเสนอเรื่องราวของสี่หนุ่มชาวเมือง เติบโตขึ้น/เริ่มต้นทำงานในช่วงเวลาคาบเกี่ยว ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ดินแดนถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งฝ่าย กิจการภายใน/รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน เมื่อประชาชนระดับรากหญ้าพานพบเห็นเช่นนั้น มีหรือจะไม่ซึมซับ รับทราบ และด้วยสภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่อันทุกข์ยากลำบาก ไร้เงินทอง ท้องอิ่ม รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้มิอยากกระทำความผิด/สูญเสียอุดมการณ์ แต่นั่นคือโอกาสที่เป็นประโยชน์สุขต่อตนเอง มีหรือจะไม่ไขว่คว้าไว้

กลางวัน-กลางคืน ไม่ใช่แค่ท้องฟ้าธรรมชาติสว่าง-มืด ยังสะท้อนได้กับจิตใจมนุษย์มีทั้งดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ หัวเราะ-ร้องไห้ ตกหลุมรัก-โกรธเกลียดชัง ฯลฯ ซึ่งทั้งสี่ตัวละครของหนัง สามารถสะท้อนความแตกต่างทางชนชั้น วรรณะ สังคมอินเดีย(ยุคสมัยนั้น)
– Ashim วรรณะกษัตริย์ ผู้นำกลุ่ม ร่ำรวยด้วยเงินทอง รสนิยม ความสนใจ เป็นคนเชื่อมั่นในตนเองสูง เย่อหยิ่งทะนอง และเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นกัดกร่อนกินอยู่ภายใน
– Sanjoy วรรณะพราหมณ์ ผู้มีจิตสำนึกอันดีของกลุ่ม ฐานะใช้ได้ มีการศึกษาสูง แลดูเฉลียวฉลาด แต่ขณะเดียวกันเพราะยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมากเกินไป จนมิอาจขยับเขยื้อนตัวไปไหน
– Shekhar ไวศยะ (แพศย์) ผู้มีฝีปากเป็นเลิศ เก่งการค้าขาย ชื่นชอบพนันขันต่อ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายกับชีวิต
– Hari ไพร่ ศูทร หรือชนชั้นกรรมแรงงาน เก่งในเรื่องใช้กำลังวังชา สนเพียงสิ่งสนองตัณหา กำลังกาย ไร้ซึ่งสติปัญญาครุ่นคิดไตร่ตรองใดๆ

ขณะที่สามสาว ถือเป็นตัวแทนระดับจิตสำนึกและสันชาตญาณมนุษย์
– Aparna ภาพลักษณ์สวยบริสุทธิ์ ทั้งยังสติปัญญาเฉลียวฉลาด มากด้วยจิตสำนึก คุณธรรม/ศีลธรรม ใช้สติควบคุมตนเอง โหยหาอิสรภาพเสมอภาคเท่าเทียม
– Jaya เปลือกนอกทำเป็นเสแสร้ง เล่นตัว สร้างภาพเป็นคนดี แต่ภายในเร่าร้อนรุนแรง มีความต้องการตอบสนองสันชาตญาณตนเอง
– Duli ทั้งภายนอกและภายใน ต่างแสดงออกด้วยสันชาตญาณ ความต้องการ พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น

นี่เองทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า
– Days and Nights ก็คือจิตใจมนุษย์ที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
– Forest ดินแดนเปรียบเสมือนจิตสำนึก สันชาติญาณ สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในทุกคน

Days and Nights in the Forest จึงคือเรื่องราวการผจญภัย เพื่อเผชิญหน้ากับด้านมืด-ด้านสว่าง จิตสำนึก-สันชาตญาณ ของตัวตนเอง เพื่อเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจ ถ้าค้นพบสิ่งผิดพลาด น่าอับอายขายขี้หน้า ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ตนเองสามารถแสดงออกในสิ่งถูกต้องเหมาะสมควร ในกาลต่อไปได้

สำหรับผู้กำกับ Ray ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนการ ‘ค้นหาอัตลักษณ์’ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวละคร ตัวเขาเอง ยังรวมไปถึงชนชาวอินเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นพานผ่านช่วงเวลาแห่งการแบ่งแยก ได้รับอิทธิพลมากมายจากชาติตะวันตก แล้วเราจะหลงเหลืออะไรธำรงไว้ซึ่งความเป็นภารตะ


เมื่อออกฉายในอินเดีย แน่นอนว่าหนังไม่ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ

“People in India kept saying: What is it about, where is the story, the theme?. . . . And the film is about so many things, that’s the trouble. People want just one theme, which they can hold in their hands”.

– Satyajit Ray

แต่พอส่งออกฉายต่างประเทศยังเทศกาลหนังเมือง Berlin แม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจนักวิจารณ์ ถึงขนาดติด Top 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma

สิ่งที่ผมชื่นชอบอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการครุ่นคิดค้นหาคำตอบ ทำไมชายหนุ่มทั้งสี่ถึงออกเดินทางมายังป่าดงพงไพร ดินแดนไกลปืนเที่ยงขนาดนี้ มันช่างลุ่มลึกลับ สลับซับซ้อน ซ่อนนัยยะความหมายไว้มากมาย และคำตอบสนองสันชาตญาณส่วนตัว เมื่อพวกเขาพบเจอสาวๆ Sharmila Tagore, Kaberi Bose และ Simi Garewal ไม่เพียงโดดเด่น สง่างามกว่า ยังมีความเป็น ‘มนุษย์’ มากกว่าบุรุษไหนๆ

สำหรับผู้ชมประเทศต่างประเทศอย่างเราๆ เบื้องต้นแนะนำให้มองสาสน์สาระหนังที่บทเรียนของแต่ละตัวละคร
– Ashim เริ่มต้นเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ค่อยๆถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นจาก Aparna ได้รับความอับอายขายขี้หน้า ท้ายสุดเริ่มสำนึกตัวได้ พอมีความหวังจะแก้ไขปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิตใหม่
– Sanjoy เป็นคนขาดความเชื่อมั่น กระตือรือร้น กล้าครุ่นคิดทำอะไร เมื่อเผชิญหน้ากับ Jaya พบเห็นการแสดงออกที่คาดไม่ถึง ซึ่งคงจะตราฝังลึกภายในจิตใจ ให้ค่อยๆเกิดความอาจหาญ ตัดสินใจอะไรขึ้นเองได้บ้าง
– Shekhar ติดเล่นการพนันจนหมดตัว ขากลับเลยไม่หลงเหลืออะไร แต่จะสำนึกตัวบ้างไหม … น่าจะเป็นไปได้ยาก!
– Hari เพราะชื่นชอบการใช้กำลังตัดสิน/แก้ไขปัญหา เลยโดนดีเข้ากันตนเองน่าจะรู้สำนึกตัวขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็เช่นเดียวกับ Shekhar น่าจะเป็นไปได้ยากยิ่ง!

จัดเรต 15+ ต่อการแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว คอรัปชั่น

คำโปรย | Aranyer Din Ratri คือการเดินทางเพื่อเผชิญหน้าด้านมืด-สว่าง ภายในจิตวิญญาณของผู้กำกับ Satyajit Ray
คุณภาพ | ลุ่ลึล้ำ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Nayak (1966)


Nayak

Nayak (1966) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

ในประเทศอินเดีย พระเอกหนัง (Nayak แปลว่า The Hero) มักถูกเปรียบเปรยดั่งพระเจ้า ต้องมีภาพลักษณ์ดีงามทั้งภายนอก-ใน แต่การเดินทางด้วยรถไฟครานี้ ความจริงบางอย่างกำลังจะได้รับการเปิดเผยบอก

ผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มีลักษณะคล้ายคลึง Wild Strawberries (1957) ผสมๆ 8½ (1963) เรื่องราวของชายผู้ประสบสำเร็จถึงจุดสูงสุดในชีวิต กำลังตระเตรียมตัวเพื่อไปรับรางวัลเกียรติยศ ระหว่างการเดินทางก็มีโอกาสหวนระลึกความทรงจำ เหตุการณ์จากอดีตที่ปั้นหล่อหลอมตนเองมาจนถึงปัจจุบัน แต่จะดี-ชั่ว ถูก-ผิด น่าสมเพศ-สงสารเห็นใจ ก็แล้วแต่มุมมองผู้ชมจักตัดสิน

ผมว่า Nayak เป็นหนังที่ดูไม่ยากนะ (ระดับเดียวกับ Wild Strawberries) แต่ความอืดอาดเชื่องช้า ดำเนินเรื่องอย่างไม่เร่งรีบร้อน และส่วนใหญ่ตัวละครก็แค่พูดคุยสนทนา ตัดสลับภาพความฝัน-ทรงจำย้อนอดีต สามารถเรียกได้ว่า ‘Minimalist’ คงทำให้ใครหลายๆคนฟุบหลับสนิทคาโซฟา

ความยอดเยี่ยมของ Nayak เมื่อเทียบผลงานระดับ Masterpiece ของผู้กำกับ Ray อย่าง Pather Panchali (1955), Jalsaghar (1958) หรือ Charulata (1964) อาจไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่ฝีไม้ลวดลายมือ ไดเรคชั่น และความสมบูรณ์ของเรื่องราวถือว่าไร้ที่ติ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสี่เรื่องแรก (ของผู้กำกับ Ray) ได้รับการบูรณะโดย Criterion Collection ร่วมกับ Academy Film Archive ออกฉายเมื่อปี 2014 [อีกสามเรื่องคือ Pather Panchali, Charulata และ Aranyer Din Ratri] แฟนๆหนังอินเดียทางเลือก (ที่ไม่ใช่แนวร้อง-เล่น-เต้น) ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Ray เคยสร้างภาพยนตร์เรื่อง Kapurush (1965) แปลว่า ‘The Coward’ เรื่องราวของนักเขียนบทภาพยนตร์ผู้ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง มีโอกาสพานพบเจออดีตคู่หมั้น ปัจจุบันแต่งงานกับสามีจนๆ ไร้ซึ่งเสน่ห์น่าหลงใหล นั่นสร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง ผิดหวังกับเธอที่ชีวิตตกต่ำลงเพียงนี้ พยายามโน้มน้าวชักจูง เอื้อยคำหวานถึงอดีต แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ หวนระลึกความทรงจำเคยเรียกร้องขอให้ล้มเลิกการแต่งงาน สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นความโง่ขลาดเขลาของตนเองทั้งหมดทั้งสิ้น

สำหรับ Nayak ที่แปลว่า ‘The Hero’ ก็มีแนวคิดคล้ายๆ Kapurush คือการสำรวจตนเองว่าได้ครุ่นคิดตัดสินใจ กระทำบางสิ่งอย่างเมื่อครั้นอดีต แล้วปัจจุบันมีชีวิตดีขึ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิมบ้างหรือเปล่า

ผู้กำกับ Ray ครุ่นคิดพัฒนาบท Nayak ขึ้นที่เมืองตากอากาศ Darjeeling, West Bengal เมื่อเดือนพฤษภาคม 1965 ซึ่งถือเป็นบทดั้งเดิม (Original Screenplay) เรื่องที่สองถัดจาก Kanchenjungha (1962)

“I wanted a relationship to develop between the Matinee Idol and a girl on the train. Romance was out – the time being so short – but I wanted something with an interesting development”.

– Satyajit Ray

เมื่อพูดถึงรถไฟ ผู้กำกับ Ray มีความลุ่มหลงใหลมาตั้งแต่ได้ยินเสียง วิ่งไล่ติดตามใน Pather Panchali (1955) เพิ่งมีโอกาสก็ครานี้ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทาง สำรวจตัวตนเอง ผู้คนรอบข้าง และมุ่งสู่เป้าหมายที่ก็ไม่รู้ว่า ปัญหาได้รับการแก้ไข หรือปริศนาได้รับคำตอบบ้างหรือเปล่า

Arindam Mukherjee (รับบทโดย Uttam Kumar) นักแสดงหนุ่มหล่อ ‘Matinee Idol’ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับคำเชิญให้ไปรับรางวัลการแสดงยังกรุง Delhi เพราะตั๋วเครื่องบินเต็มทุกที่นั่ง เลยจำต้องโดยสารขบวนรถไฟ AC Deluxe Express (จาก Kolkata สู่ New Delhi) มีโอกาสพบเจอนักเขียนสาว Aditi Sengupta (รับบทโดย Sharmila Tagore) พูดจี้แทงใจดำหลายเรื่องจนเก็บมาครุ่นคิด ฝันร้าย เลยจำต้องใช้เธอระบายความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินได้ต่อไป

เกร็ด: AC Deluxe Express เคยเป็นขบวนรถไฟหรูหราที่สุดของประเทศอินเดีย วิ่งระยะทาง 1,531 กิโลเมตร เห็นว่าปัจจุบัน ค.ศ. 2019 ยังคงให้บริการอยู่แต่เปลี่ยนชื่อเป็น Poorva Express
– ออกเดินทางจาก Howrah เวลา 8 โมงเช้า ถึง New Delhi เวลา 6 โมงเช้าของอีกวัน (22 ชั่วโมง)
– และขากลับออกจาก New Delhi เวลา 17:30 ถึง Howrah เวลา 17:15PM (เกือบๆ 24 ชั่วโมง)


Uttam Kumar ชื่อจริง Arun Kumar Chatterjee (1926 – 1980) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา ‘Mahanayak’ (แปลว่า Superstar) เกิดที่ Aahiritola, Calcutta, โตขึ้นเข้าเรียน Goenka College of Commerce and Business Administration แต่ไม่ทันจบทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่ Kolkata Port ระหว่างนั้นฝึกหัดการแสดง เข้าร่วมกลุ่ม Suhrid Samaj กระทั่งมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Drishtidan (1948) แรกๆก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ถึงขนาดได้รับฉายา ‘flop master’ จนกระทั่งได้ประกบคู่ขวัญ Suchitra Sen เริ่มตั้งแต่ Basu Paribar (1952), Sharey Chuattor (1953) กระทั่งเรื่อง Agni Pariksha (1954) ยืนโรงฉายนานถึง 65 สัปดาห์

ผลงานส่วนใหญ่ของ Kumar มักเป็นภาษาเบงกาลี เคยแสดงหนัง Bollywood อยู่หลายเรื่องแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ผลงานเลื่องโด่งดังสุด คือสองครั้งร่วมงานผู้กำกับ Satyajit Ray เรื่อง Nayak (1966) และ Chiriyakhana (1967) ** เป็นบุคคลแรกคว้างรางวัล National Film Award for Best Actor

รับบท Arindam Mukherjee นักแสดงหนุ่มหล่อ ‘Matinee Idol’ ไปที่ไหนก็มีคนมากมายรู้จัก แต่แทบทั้งนั้นก็แค่หน้ากาก/เปลือกภายนอก สวมแว่นตาดำปกปิดบังตัวตนแท้จริงไว้ ซึ่งภายในมีเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ดวงตาเหงาหงอยสร้อยซึม ไร้ซึ่งคู่ครองคนรัก อีกทั้งอดีตมากมายทับทม จมอยู่กับด้านมืดของภาพมายา ดื่มสุราเมามายเพื่อระบายความอึดอัดคับข้องใจ

ผู้กำกับ Ray เขียนบทบาทตัวละครนี้โดยมีภาพของ Uttam Kumar ไว้ในใจตั้งแต่แรก จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งครุ่นคิดว่าถ้าไม่ได้เขามานำแสดง ก็อาจจะขึ้นหิ้งหนังไว้

“If you are showing a matinee idol, then you have to cast a star. Nobody else would do; people wouldn’t accept the fact. So I thought that I was doing the only possible thing”.

– Satyajit Ray

ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ ความหล่อเหล่า สมการเป็น ‘Matinee Idol’ แต่ดวงตาที่สะท้อนความเหงาหงอย เศร้าสร้อย ชีวิตจริงเคยพานผ่านช่วงเวลาล้มเหลว-ประสบความสำเร็จ หล่อหลอมปั้นแต่งให้ Kumar กลายเป็นนักแสดงระดับ Superstar … เนื่องจากผมไม่เคยรับชมผลงานอื่น เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องนี้ยอดเยี่ยมที่สุดแล้วหรือยัง แต่ก็น่าจะลำดับต้นๆ เพราะทำให้แฟนคลับพบเห็น/เข้าใจมุมมองอีกด้านหนึ่งของชีวิตในวงการมายา ตกหลุมรัก คลุ้มคลั่งไคล้ยิ่งกว่าเก่า

แซว: รูปลักษณ์หน้าตาของ Uttam Kumar ดูละม้ายคล้ายคลึง Marcello Mastroianni นักแสดงชาวอิตาเลี่ยนมากๆเลยนะ และพอสวมแว่นดำ ภาพจากหนัง 8½ (1963) เลยปรากฎเด่นชัดขึ้นมา


Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Hyderabad เป็นญาติห่างๆของนักเขียนชื่อดัง Rabindranath Tagore, บิดาเป็นผู้จัดการ British India Corporation มีพี่น้องสามคน เพราะความที่น้องสาวคนกลาง Oindrila Kunda ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง Kabuliwala (1957) ทำให้เธออยากเข้าวงการบ้าง เมื่อตอนอายุ 14 ปี ขณะกำลังแสดงการเต้นยัง Children’s Little Theatre ค้นพบโดยผู้กำกับ Satyajit Ray คัดเลือกมามาเป็นเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959), ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อง Devi (1960), Nayak (1966), Aranyer Din Ratri (1970) และ Seemabaddha (1971)

รับบท Aditi Sengupta นักเขียนนิตยสารสตรี Adhunika จับพลัดจับพลูขึ้นรถไฟขบวนเดียวกับ Arindam Mukherjee ปากอ้างไม่ได้ชื่นชอบคลั่งไคล้ แต่จู่ๆเดินเข้าไปขอลายเซ็นต์หน้าตาเฉย แล้วพูดคุยราวกับว่าล่วงรู้ทุกสิ่งอย่าง ทีแรกไม่ได้ครุ่นคิดจะสัมภาษณ์ ถูกคะยั้นคะยอจึงทดลองดู ซึ่งความสนใจของเธอไม่ใช่หน้ากาก/เปลือกภายนอก ต้องการเข้าใจตัวตน สาเหตุผล เพราะอะไร ทำไม เส้นทางความสำเร็จมาจากไหน

แม้ว่า Uttam Kumar จะคือพระเอก แต่ Sharmila Tagore กลับแย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ ใช้มารยาหญิง มานิ่งๆเฉยๆ ทำเป็นกลัวๆกล้าๆ สวมใส่แว่นหน้าเป็นหน้ากากไว้ แต่แท้จริงกลับหลบๆซ่อนๆ กระดี้กระด้า อยากรับล่วงรู้เรื่องราวชีวิตของ Superstar ใจจะขาด และด้วยความเฉลียวฉลาดของตัวละคร พูดน้อยๆแต่จี้แทงใจดำ ทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นใจ พรั่งพรูอะไรต่างๆนานาออกมา ท้ายสุดเมื่อเกิดความเข้าใจทุกสิ่งอย่าง ค่อยตระหนักว่าไม่สมควรนำเรื่องส่วนตัวดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ น่าเสียดายไม่มีเวลาสานต่อความรัก มิตรภาพเล็กๆแต่โคตรน่าประทับใจ

แซว: หนังอินเดียจะไม่มี Passion เร่าร้อนรุนแรงเท่าหนังตะวันตกอย่าง Before Sunrise (1999) ถึงต่อให้ถูกโฉลกโชคชะตา ยังมีศีลธรรม มโนธรรม ขนบประเพณีอันดีงามคล้องคอ เลยไม่มีทางเกินเลยเถิดอย่างรวดเร็วไวอย่างแน่นอน


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),

หนังสร้างฉากห้องโดยสาร/ขบวนรถไฟขึ้นมาในสตูดิโอ ให้สามารถถอดแยกชิ้นส่วน เพื่อนำกล้องเข้าไปถ่ายทำภายใน และใช้เทคนิค Rear-Projection สำหรับฉายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติภายนอกขบวนรถไฟ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีการใช้ ‘Bounce Light’ เพื่อลอกเลียนแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา

Opening Credit พบเห็นแถวขาว-ดำ แนวตั้ง-นอน ปรากฎเหมือนตารางหมากรุก ซึ่งคงแฝงนัยยะถึงด้านมืด-สว่าง ของวงการภาพยนตร์ ที่นักแสดงต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี แต่ตัวตนแท้จริงหาได้จำต้องเป็นเช่นนั้นไม่

หนังจะไม่เร่งรีบร้อนให้ผู้ชมพบเห็นใบหน้าพระเอก รอคอยให้หวีผม แต่งหล่อ สวมใส่เสื้อผ้า ผูกเชือกรองเท้า สร้างภาพลักษณ์จนเสร็จสรรพ ถึงค่อยตัดมาให้เชยชม

แซว: ว่าไป Sequence อาจได้แรงบันดาลใจจาก Juliet of the Spirits (1965) ของผู้กำกับ Federico Fellini ซึ่งก็พยายามใส่ลูกล่อลูกชน ไม่เร่งรีบร้อนนำเสนอใบหน้านางเอกเฉกเช่นเดียวกัน

หลายๆช็อคในหนัง ระดับความสูงของภาพจะประมาณโต๊ะอาหาร น่าจะเรียกได้ว่า ‘Table Shot’ ซึ่งต่ำกว่าระดับสายตาตัวละครที่นั่งอยู่ และหลายครั้งเงยขึ้นพบเห็นเพดานเบื้องบน, ไม่รู้ผู้กำกับ Ray จะจงใจลอกเลียนแบบ ‘Tatami Shot’ ของผู้กำกับ Yasujirô Ozu หรือเปล่านะ แต่กล้องจะไม่หยุดนิ่งเฉย ขยับเคลื่อนไหลไปมาอย่างมีชีวิตชีวามากๆ

Arindam Mukherjee สวมใส่แว่นตาครั้งแรกเมื่อยกหูโทรศัพท์ ชัดเจนเลยว่านั่นเป็นการสร้างภาพ ปกปิดบังตัวตนธาตุแท้จริงของตนเอง ซึ่งปลายสายคือหญิงสาวคนหนึ่ง น่าจะเป็นนักแสดงที่เขาคบชู้ แล้วเมื่อคืนก่อนเพิ่งมีเรื่องชกต่อยกับสามีเธอ

ฉากเปิดขวดยาที่เหมือนจะไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่การอาสาของเขา สร้างปฏิกิริยาให้ตัวละครอื่นๆ (และผู้ชม) เด็กหญิงเกิดรอยยิ้มพิมพ์ใจ การกระทำแค่นี้ ทำให้เขามีภาพลักษณ์ของพระเอก ‘ฮีโร่’ ในสายตาพวกเขาและเธอ

“There is one scene in the film which is quite inspiring the way tells a story. It is the scene where Uttam Kumar walks into a compartment. Before he walks into a compartment there is a father who is trying to open an orange squash bottle and he cannot open it. Uttam Kumar walks in and opens it. The character becomes not only a hero in the kid’s eyes but also in ‘our’ eyes. I learnt that if you want to make somebody a hero to the audience this is perhaps one of the ways you can”.

– ผู้กำกับ Sujoy Ghosh พูดถึงอิทธิพลของฉากนี้ที่มีต่อผลงาน Kahaani (2012)

ฉากในตู่อาหาร ก็มักพบเห็น ‘Table Shot’ ความสูงกล้องระดับเดียวกับพื้นโต๊ะ ไม่รู้เพราะต้องการกลบเกลื่อน Rear Projection ฉายภาพทิวทัศนียภาพด้านนอกหน้าต่างหรือเปล่านะ

หลายคนคงสงสัยว่าเรื่องราวคู่ขนานของ Pritish Sarkar (รับบทโดย Kamu Mukherjee) แทรกใส่เข้ามาทำไม? เพื่อเป็นการสะท้อนเรื่องราวของ Arindam Mukherjee ในแง่มุมธุรกิจ ซึ่งหลายๆขณะมักมีความสอดคล้อง ล้อกัน, แรกเริ่มต้น Pritish Sarkar เสนอหน้าเข้าไปพูดคุยธุรกิจ = Aditi เสนอหน้าเข้าไปสัมภาษณ์ Arindam

Aditi Sengupta ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นแฟนคลับของ Arindam Mukherjee แต่ใช้ข้ออ้าง/มารยาหญิง สวมแว่น สร้างภาพให้ตนเองเหมือนว่าไม่ได้ใคร่สนใจเขา แต่ลึกๆอยากมาสัมภาษณ์ เรียนรู้จักธาตุแท้ตัวตน ซึ่งเขาพยายามบอกกลับไป

“Look Miss Sengupta, it’s no good to talk too much. You see, we live in a world of shadows—so it’s best not to let the public see too much of our flesh and blood”.

– Arindam Mukherjee

การมาถึงของ Molly (รับบทโดย Susmita Mukherjee) ถือว่าถูกสามี Pritish Sarkar ล่อลวงมา เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับธุรกิจ สร้างความสดชื่น กระชุ่มกระชวย อีกฝ่ายอยากร่วมงานด้วย แต่นั่นกลับไม่ใคร่สนใจความครุ่นคิดต้องการของเธอเลย

ความฝันแรกของ Arindam Mukherjee ยืนอยู่ท่ามกลางกองภูเขาธนบัตรพันรูปี จากนั้นอยู่ดีๆเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น แต่แทนที่จะปลุกให้ตื่นกลับเป็นโครงกระดูกมือยื่นขึ้นมา แล้วอยู่ดีๆตัวเขากลับค่อยๆจมลง ร้องเรียกหา Shankar ผู้มีความเปราะบางเหมือนกระเบื้อง เอื้อมมือจะช่วยแต่กลับเปลี่ยนใจ และสะดุ้งตื่นขึ้นมา
– กองเงินเท่าภูเขา สะท้อนถึงความสำเร็จจากการเป็นนักแสดงของ Arindam
– เสียงโทรศัพท์ คือการปลุกตื่นให้เขาเลิกเพ้อใฝ่ฝัน เผชิญหน้าโลกความเป็นจริง
– มือ/โครงกระดูก ถือโทรศัพท์อยู่นั้น เป็นการย้ำเตือนว่ามีผู้คนมากที่ตรงกันข้ามกันตนเอง พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมา แต่ก็ได้แค่เอื้อมมือไขว่คว้า
– ถูกธรณีสูบจมลง นั่นคือเมื่อภาพยนตร์ล้มเหลว 3 เรื่องติด กองเงินกองทองที่สะสมมาก็อาจหมดสิ้น เป็นการสะท้อนความหวาดสะพรึงกลัวที่จะตื่นขึ้นจากฝัน
– Shankar คือบุคคลผู้เปรียบเสมือนอาจารย์ ให้คำแนะนำ ปลุกปั้น จนกลายเป็น ‘จิตสำนึก’ ของ Arindam แต่หลังจากเสียชีวิต ชายหนุ่มก็ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง นั่นเองเมื่ออยู่ในความฝัน เลยถูกปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ (ราวกับกรรมสนองกรรม)

Arindam Mukherjee เกิดความเครียดอย่างหนักกับฝันดังกล่าว ต้องการใครสักคนเพื่อพูดระบายสักถาม ในขบวนรถไฟนี้ก็มีแต่หญิงแปลกหน้า Aditi Sengupta น่าจะพอช่วยเหลือได้ เลยเข้าไปซักถาม ให้สัมภาษณ์ (พวกเขานั่งสลับทิศทางกันจากเมื่อตอนนั่งลงคุยกันครั้งแรก)

จากนี้หนังจะเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) จากคำบอกเล่าของ Arindam Mukherjee ซึ่งพอจบเรื่องราวขณะหนึ่ง ก็จะตัดกลับมาปัจจุบันให้พบเห็นปฏิกิริยา ความเปลี่ยนแปลงไปอันเกิดจากกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน

แรกเริ่ม Arindam เล่าถึง Shankar ผู้เปรียบเสมือนอาจารย์ ให้คำแนะนำ เสี้ยมสอนสั่นด้านการแสดง จนค้นพบศักยภาพ ความสามารถของตนเอง, เมื่อเล่าช่วงแรกจบตัดกลับมา จะพบเห็น Aditi แอบซุ่มจดบันทึก เอากระเป๋าบังหน้า ส่วน Arindam เงยขึ้นเหม่อมองท้องฟ้านอกหน้าต่าง

การสูญเสีย Shankar ในค่ำคืนทุรคาบูชา (Durga Puja) ทำให้ Arindam ตัดสินใจทอดทิ้งคำสอนทุกสิ่งอย่าง ไฟด้านหลังกำลังมอดไหม้ศพ ตนเองกลับสูบบุหรี่แสวงหาความสุขสำราญส่วนตัวเฉพาะหน้า เลือกตกลงเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงภาพยนตร์, ตัดกลับมาปัจจุบัน พบเห็น Arindam กำลังเล่นกับส้อม (คงคล้ายๆเล่นกับไฟ?) ขณะที่ Aditi ถอดแว่นตาออกชั่วครู่หนึ่ง เป็นอาการคาดไม่ถึงว่าเขาจะเปิดเผยธาตุแท้/ตัวตนเองออกมา

การถูกรุมร้อมจากแฟนๆ สำหรับนักแสดงนั่นคือเรื่องปกติ/ชีวิตประจำ ส่วนหนึ่งของอาชีพเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับบุคคลทั่วไป นั่นถือว่าผิดปกติ ไม่คุ้นเคย Aditi เลยแสดงออกมาด้วยอาการลุ่มร้อน หวาดหวั่นวิตก

เพราะเป็นนักแสดงใหม่เพิ่งเข้าวงการ Arindam Mukherjee เลยยังต้องก้มหัว รับฟังคำเสี้ยมสอนสั่งจากรุ่นพี่ Mukunda Lahiri (รับบทโดย Bireswar Sen) ขณะกำลังแต่งหน้าทำผมฉากนี้ มองจากกระจกราวกับพบเห็นภาพสะท้อนตัวตนเอง อดีต-อนาคต

ฉากถ่ายทำภาพยนตร์นี้ก็เช่นกัน Arindam ถูกทำให้อับอายขายขี้หน้า เพียงเพราะความอ่อนด้อยไร้ประสบการณ์ นั่นสร้างความแค้นเคืองโกรธให้เกิดขึ้นในใจเล็กๆ มุ่งมั่นที่จะดำเนินไปตามแนวทางของตนเอง ดีกว่าจะรับฟังความครุ่นคิดเห็นของผู้อื่นใด, ตัดกลับมาปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ Arindam และ Aditi กำลังรับประทานอาหาร น่าจะมื้อกลางวันกระมัง

ความคับข้องขุ่นเคืองต่อ Mukunda Lahiri นั่นเองคือจุดเริ่มต้นให้ Arindam เริ่มดื่มเหล้า เมามาย กล้องถ่ายมุม ‘Table Shot’ เคลื่อนติดตามเขาเดินไปมารอบห้อง ที่มีความมืดมิด เพียงแสงไฟจากโคมส่องสว่าง เงาด้านหลังทอดยาว … เรียกได้ว่า เพื่อชัยชนะความสำเร็จ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างไม่สนอะไร

ตัดกลับมาปัจจุบันครานี้ Aditi เลิกปกปิดบังว่ากำลังจดบันทึกบทสัมภาษณ์ ซึ่งสะท้อนว่า Arindam ก็ยินยอมพร้อมใจที่จะพูดบอกเรื่องราวดังกล่าวให้รับฟัง

ความสำเร็จของ Arindam สวนทางกับ Mukunda Lahiri ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ วันหนึ่งมาเยี่ยมเยือนถึงบ้าน เงามืดอาบฉาบปกคลุมใบหน้าครึ่งหนึ่ง กลายเป็นชายแก่ไร้ที่พึ่ง ช่างดูน่าสมเพศเวทนา แต่จะให้ความช่วยเหลือก็ไม่คิดเสียเวลา, ตัดกลับมา  Aditi ถามเขาว่า รู้สึกสะใจแล้วสิที่ได้แก้แค้น แต่พระเอกหนุ่มกลับเพิ่งตระหนักครุ่นคิดได้

เรื่องราวของ Biresh (รับบทโดย Premangshu Bose) เพื่อนสนิทสมัยเรียน เป็นนักประท้วงเรียกร้องโน่นนี่นั่น กล้าเผชิญหน้ายินยอมรับความจริง ถึงขนาดเคยถูกจับติดคุกอยู่นาน หลายปีหลังจากนั้น Arindam กลายเป็นนักแสดงชื่อเสียงโด่งดัง วันหนึ่งหวนกลับมาพานพบเจอ ถูกลากพาตัวไปให้เข้าร่วมกลุ่มการประท้วง แต่พระเอกกลับเหงื่อแตกพลั่ก สรรหาข้ออ้างที่จักปฏิเสธคำเชื้อเชิญ … ฉันมันก็แค่ดารานักแสดง สร้างภาพไปวันๆ ไม่สามารถเอาชีวิตมาเสี่ยง เผชิญหน้าโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้ายขนาดนี้!

นี่เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้กำกับ Ray เพื่อนๆหลายคนเข้าร่วมกลุ่มการประท้วง เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ซึ่งตัวเขาพยายามอย่างยิ่งจะไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆออกมา (นอกจากอ้างถึงในผลงานภาพยนตร์)

ตัดกลับมาปัจจุบัน กล้องจะแพนนิ่งสลับไปมาซ้าย-ขวา สะท้อนถึงอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความสั่นไหว หวาดหวั่นวิตก แม้แต่ Aditi ยังต้องถอดแว่น ตระหนักถึงบางสิ่งอย่างที่อยู่ในจิตใจของ Arindam นักแสดงไม่ใช่พระเจ้า ถึงสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง!

Arindam กลับไปตู้นอนของตนเอง กินยานอนหลับแต่ยังไม่ได้หลับ จินตนาการถึง Promila Chatterjee (รับบทโดย Sumita Sanyal) เธอแต่งงานมีสามีอยู่แล้ว แต่แสร้งเล่นละครตบตาว่ายังโสด แล้วใช้เรือนร่างเข้าแลกเพื่อคาดหวังจักกลายเป็นนักแสดงนำ … ด้วยความไร้เดียงสาของ Arindam หลงเชื่อสนิทใจ ภาพถ่ายในมุมของเขา ใบหน้าครึ่งหนึ่งอาบปกคลุมด้วยความมืดมิด สะท้อนสิ่งเกิดขึ้นกับ Mukunda Lahiri กำลังจะประสบพบแก่ตัว (กรรมสนองกรรม)


Pritish Sarkar กำลังเล่นหมากรุก ใกล้ที่จะ ‘รุกฆาต’ นั่นสะท้อนถึงชะตาชีวิตของ Arindam กำลังใกล้ถึงจุดจบสิ้นเพราะการลักลอบมีชู้ และถูกสามีของ Promila จับได้

หลับฝันในฉากนี้ เดินอยู่ท่ามกลางสป็อตไลท์ที่มืดมิด ทุกคนสวมใส่แว่น/หน้ากาก Arindam ตรงเข้ามาเผชิญหน้าชายคนหนึ่งที่อ้างว่าคือสามีของ Promila ทำการชกหน้า … นี่เป็นความฝันที่สะท้อนเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในค่ำคืนก่อนการเดินทาง

Molly อยู่ดีๆก็เดินเข้าหา Arindam พูดบอกว่าอยากเป็นนักแสดง ทำให้เขาตอบกลับอย่างระแวดระวัง ให้ไปขออนุญาตสามีมาก่อนค่อยพูดคุยกัน … เรื่องราวของเธอนี้ทั้งหมดเลยนะ สามารถสะท้อนเข้ากับ Promila ได้อย่างตรงไปตรงมา เหตุผลของการอยากเป็นนักแสดง เพราะต้องการอิสรภาพจากสามี (แค่ว่าโชคร้ายที่ Arindam รับล่วงรู้ว่า Molly มีสามีอยู่แล้ว ไม่เหมือน Promila ที่คงก้ำกึ่ง ไม่แน่ใจ ถูกเล่นละครตบตา)

Molly พูดต่อรองร้องขอกับสามี Pritish Sarkar ขณะที่ตนเองจับจ้องมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นเพียงเงาสะท้อนลางๆแห่งอิสรภาพ ขณะที่กระจกด้านข้าง สามีจุดบุหรี่ แสดงสีหน้าอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย … ความฝันของเธอจบสิ้นล่มสลายโดยพลัน

Arindam ในสภาพเมามาย เมื่อสักครู่ก่อนหน้านี้กำลังจะครุ่นคิดฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ต้องการสารภาพสิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนก่อนกับ Aditi แต่หญิงสาวตอบว่าไม่อยากรับฟัง สามารถจินตนาการได้เองว่าเกิดอะไรขึ้นนั้น นั่นคงสร้างความผิดหวังเล็กๆ แต่ก็สาอยู่แก่ใจ พูดไปแค่เพียงข้ออ้างเข้าข้างตนเอง ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรใคร ก็มีคนครุ่นคิดเข้าใจเขาได้

Arindam ในสภาพเมามาย สร้างความผิดหวังให้สมาชิกตู้นอนของเขา (ตรงกันข้ามกับภาพฮีโร่ที่สร้างมาตอนต้นเรื่อง) ถึงขนาดเด็กหญิงร่ำไห้หลั่งน้ำตา แต่นั่นคงทำให้พวกเธอเข้าใจ ชายผู้นี้ก็มนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เทวดาฟ้าดินจากแห่งหนไหน

การขอลายเซ็นต์เมื่อเขาตื่น จึงเสมือนว่าไม่ใช่ในฐานะแฟนคลับ แต่คือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก รู้จักตัวตนที่ไม่ใช่แค่ภาพมายาการแสดง

ตื่นขึ้นมาเช้าวันใหม่ โดยไม่รู้ตัว Pritish Sarkar อาจกำลังจะได้ทำธุรกิจกับเพื่อนห้องร่วม ผู้สงบเงียบเอาแต่พรมน้ำหอม แต่คงจะล่วงรับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น … เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงโอกาส ความหวัง วันหน้าฟ้าใหม่ เช่นกันกับ Arindam Mukherjee ถึงเวลาที่จะลุกขึ้นก้าวเดินต่อไป

Aditi ถอดแว่นตา ฉีกกระดาษจดบันทึกบทสัมภาษณ์ จุ่มลงน้ำ แล้วพูดว่า

“I’ll keep them in my memory”.

– Aditi Sengupta

แสดงถึงความเข้าใจต่อปัญหาของ Arindam Mukherjee ที่ต้องการความเอ็นดูสงสาร มิตรภาพเล็กๆที่สามารถเติมเต็มความเวิ้งว่างเปล่าภายใน เรื่องราวเล่ามาทั้งหมด จึงไม่สมควรได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ เก็บเป็นช่วงเวลาแห่งความลับ/ทรงจำระหว่างเราสอง (แต่กลับกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ซะงั้น!)

เมื่อลงจากขบวนรถไฟ ทุกคนต่างก็แยกย้าย สวนทางกันไป Arindam Mukherjee กลับมาสวมใส่แว่นตาดำอีกครั้ง แต่ด้วยมุมมองโลกทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, นอกจากอารัมบทเริ่มต้นที่อพาร์ทเม้นท์ของ Arindam Mukherjee เรื่องราวทั้งหมดของหนังดำเนินเรื่องในขบวนรถไฟ DC Deluxe Express จาก Howrah, Kolkata มุ่งสู่ New Delhi ในระยะเวลารวมแล้วประมาณ 24 ชั่วโมง

แม้การดำเนินเรื่องในขบวนรถไฟ จะมีการตัดต่อสลับไปมาไม่ใช่แค่มุมมองสายตาของ Arindam แต่ทั้งหมดถือว่ามีเขาคือจุดศูนย์กลางความสนใจ ซึ่งจะมีแทรกภาพความฝันระหว่างนอนหลับ และเล่าเรื่องย้อนอดีตเมื่อสนทนากับ Aditi Sengupta

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray ส่วนใหญ่จะดังขึ้นเฉพาะช่วงเวลาแห่งความเพ้อฝันและการย้อนอดีต เพื่อสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครขณะนั้นออกมา
– ฝันเห็นกองเงินกองทอง เสียงกระดิ่ง พิณ ไพเราะเพราะพริ้งราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์
– เสียงโทรศัพท์ดัง พบเห็นมือ/โครงกระดูกผุดขึ้นมา คำร้องประสานเสียง ช่างเต็มไปด้วยความน่าหวาดสะพรึงกลัว
– เสียงเป่าปี่ขณะงานศพ Shankar, การมาเยี่ยมเยียนของ Mukunda Lahiri และขณะ Arindam มึนเมามายพูดคุยกับ Aditi สร้างบรรยากาศสิ้นหวัง หดหู่ จุดจบ ความตาย


ความตั้งใจของผู้กำกับ Ray สรรค์สร้าง Nayak ด้วยสามจุดประสงค์หลัก
– นำเสนอสภาพจิตวิทยาของดาราภาพยนตร์ ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ ล้วนต้องแลกมาด้วยเบื้องหลัง/การสูญเสียบางสิ่งอย่าง
– สภาพจิตวิทยาของแฟนคลับในแง่มุมต่างๆ รู้จักเพียงเปลือกนอก เข้าใจธาตุแท้ตัวตน จะยังธำรงความชื่นชอบอยู่ได้หรือเปล่า
– การเดินทางบนขบวนรถไฟ สวนทางผู้คนมากมาย และเป้าหมายปลายทางจะได้พบเจออะไร

เรื่องราวของ Arindam Mukherjee จากนักแสดงละครเวที ทอดทิ้งอุดมการณ์ทุกสิ่งอย่าง ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เพ้อฝันถึงเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ และเมื่อมาถึงจุดสูงสุดแห่งอาชีพการงาน หวนระลึกนึกย้อนความหลังกลับไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคุ้มหรือเปล่ากับสิ่งได้รับมา

สำหรับแฟนคลับ ส่วนใหญ่มักล่วงรู้จักดาราคนโปรดก็แค่เพียงภาพลักษณ์ เปลือกภายนอก ผลงานการแสดง น้อยนักจักเข้าถึงตัวตน อุปนิสัย ธาตุแท้ เพราะเหตุใด? ทำไม? แรงบันดาลใจ? ต้องสูญเสียสละอะไรมาบ้างเพื่อความสำเร็จได้รับมานี้? … แต่สิ่งที่แฟนผู้คลั่งไคล้ ต้องแลกมากับการล่วงรับรู้เบื้องหลังข้อเท็จจริง คือเส้นทางชีวิตที่มักไม่สวยงามดั่งเพ้อฝัน ซึ่งอาจทำให้เรายิ่งรักมาก หรือจงเกลียดชัง ยินยอมรับความจริงไม่ได้ เพราะสุดท้ายโด่งดังคับฟ้าขนาดไหน ก็มนุษย์เดินดินไม่ต่างกัน

หลายๆบทความวิจารณ์ต่างประเทศ มักเอ่ยถึงนักแสดง Sharmila Tagore ผู้เป็นหลานของ Rabindranath Tagore นักคิด/นักเขียน สัญชาติ Bengali ที่เคยคว้ารางวัล Nobel Prize in Literature ซึ่งคือไอดอลในดวงใจผู้กำกับ Satyajit Ray, การเลือกเธอมาแสดงในหลายๆผลงาน มักมีบทบาทให้ผู้อื่ตระหนักเห็นคุณค่าความสำคัญของชีวิต ถึงขนาดมีคำเรียกว่า ‘Tagorean Humanist Values’

คือผมก็ไม่เคยอ่านวรรณกรรมของ Rabindranath Tagore เลยบอกไม่ได้ว่ายิ่งใหญ่ เกรียงไกร ทรงคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติสักเพียงไหน แต่เห็นว่าคืออิทธิพลแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Ray เคยดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จากผลงาน และสารคดีเรื่องหนึ่งอุทิศให้ Rabindranath Tagore (1961) ต้องถือว่าคลั่งไคล้มากยิ่งทีเดียว

ตัวละครของ Sharmila Tagore ไม่ได้ต้องการปลุกตื่น Uttam Kumar ให้หวนกลับมาเผชิญหน้าโลกความจริง แค่ชี้แนะนำให้มองเห็นว่า สิ่งขาดหายภายในจิตใจเขาคืออะไร เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ตนเองจะมาตักเติมเต็ม คงเป็นใครสักคน วันใดวันหนึ่ง เดี๋ยวก็ค้นพบเจอได้เองอีกไม่ช้า

เรื่องราวของ Arindam Mukherjee ก็ไม่ต่างจากผู้กำกับ Satyajit Ray เมื่อก้าวมาถึงจุดสูงสุดชีวิต แต่กลับมีบางสิ่งอย่างขาดหายในจิตใจ ไม่ใช่ว่าเขายังครองตัวเป็นโสดนะครับ แต่หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดัง พอมีเงินทองเทไหลเข้ามาบ้าง ล่วงรู้จักนักแสดง/นักร้อง สาวๆสวยๆมากมาย ปล่อยตัวกายใจ ลักลอบมีชู้นอกใจภรรยา มันเป็นความรู้สึกผิดลึกๆเสียมากกว่า สิ่งแลกมาสำหรับเขาคือการสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นคน

ว่าไปมันก็ย้อนแย้งกับสาสน์สาระที่ Ray ใส่ลงมาในภาพยนตร์ของเขานะครับ ซึ่งผมมองว่านั่นคือความพยายามที่จะส่งต่อบทเรียนชีวิต นำเสนอความน่าอับอายขายขี้หน้าตนเอง ‘อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม’ ก็เหมือนเรื่องราวของ Arindam ที่ตอนจบ Aditi ตัดสินใจฉีกทิ้งบทสัมภาษณ์เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทั้งหมดกลับกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ซะงั้น! แลดูมันช่าง Ironic โดยแท้


การได้นักแสดงระดับ Superstar อย่าง Uttam Kumar ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จไม่น้อยในประเทศอินเดีย ทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ มีโอกาสเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ามา 2 รางวัล
– Special Jury Award/Special Mention
– UNICRIT Award

เอาจริงๆถ้าผมไม่เคยดูหนังอย่าง Wild Strawberries (1957) หรือ 8½ (1963) ก็อาจเกิดความคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ แต่เพราะความละม้ายคล้ายคลึง สังเกตได้ถึงอิทธิพล แรงบันดาลใจ มันเลยไม่ใช่ความสด แปลกใหม่ แค่ว่าเปลี่ยนแปลงไปในสไตล์ Satyajit Ray เท่านั้นเอง

สิ่งน่าประทับใจอย่างยิ่งสำหรับ Nayak คือภาพลักษณ์ ‘Matinee Idol’ น่าเชื่อถือมากๆของ Uttam Kumar, และการแสดงของ Sharmila Tagore ทำให้ผมตกหลุมรักเธอมากๆยิ่งกว่า Apur Sansar (1959) เสียอีกนะ

จัดเรต 13+ กับความสำเมเทเมาของตัวละคร ด้านมืด-สว่างของโลกมายา

คำโปรย | Nayak ได้ทำให้ Uttam Kumar, Sharmila Tagore และผู้กำกับ Satyajit Ray กลายเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่
คุณภาพ | รีง่ายรึ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Kanchenjungha (1962)


Kanchenjungha

Kanchenjungha (1962) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥

ครอบครัวหนึ่งเดินทางมาพักผ่อนยังเมือง Darjeeling, West Bengal มองเห็นลิบๆยอดเขาสูงอันดับสามของโลก Kanchenjunga ดำเนินเรื่องสลับสับเปลี่ยนมุมมองไปมาด้วยเทคนิค ‘hyperlink film’ ซึ่งสภาพอากาศเดี๋ยวแดดออก หมอกลง เมฆบดบังพระอาทิตย์ ส่งผลกระทำต่อจิตใจตัวละครให้เรรวนปรวนแปร ผันเปลี่ยนแปลงไปมาไม่หยุดนิ่ง

Kanchenjunga เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมรู้สึกพักผ่อนคลาย เบาสบาย สร้างรอยอมยิ้มเล็กๆให้อิ่มเอิบเพลิดเพลินใจ แม้หลายๆคนอาจเกาหัวสับสนงุงงงง เพราะดำเนินเรื่องสลับสับเปลี่ยนมุมมองตัวละครไปมา แต่ก็อย่าพยายามจับจ้องครุ่นคิดอะไรมากความ ปล่อยให้กลิ่นอายบรรยากาศ เมฆหมอก แสงอาทิตย์ของเมือง Darjeeling ซึมซาบซ่านเข้ามาภายในจิตวิญญาณของคุณเองจะดีกว่า

Intolerance (1916) ของผู้กำกับ D. W. Griffith ถือกันว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ริเริ่มใช้เทคนิค ‘Hyperlink Film’ ตัดสลับสับเปลี่ยนเรื่องราวไปมาระหว่างสี่ยุคสมัย, ผลงานเลื่องชื่อลำดับถัดมาคือ The Rules of the Game (1939) ของผู้กำกับ Jean Renoir ร้อยเรียงความวุ่นๆอลเวงโดยไร้จุดศูนย์กลางตัวละคร

ผู้กำกับ Satyajit Ray เพราะเคยมีโอกาสรู้จักพบเจอตัวจริงของ Jean Renoir เมื่อตอนเดินทางมาอินเดียถ่ายทำ The River (1951) ทั้งยังให้การส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน เกิดกำลังใจสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Pather Panchali (1955) เลยไม่แปลกที่จะได้รับอิทธิพล แรงบันดาลใจ แนวคิดการดำเนินเรื่องโดยไร้จุดศูนย์กลางตัวละคร (สมัยนั้นยังไม่มีคำเรียก Hyperlink Film) ซึ่ง Kanchenjunga (1962) ถือได้ว่าเป็นการทดลองวิธีนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ น่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศอินเดียด้วยละ ผลลัพท์แม้ออกมายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่ก็ล้ำหน้าเกิดกว่าผู้ชมยุคสมัยนั้นจักสามารถเข้าใจ

นั่นกลายเป็นความโชคร้ายเล็กๆของหนัง ทำให้ต้นฉบับ Negative ถูกทอดทิ้งขว้าง จนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครไหนเหลียวแหลหลัง สนใจบูรณะซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งๆเป็นผลงานภาพสีเรื่องแรกของผู้กำกับ Ray และทิวทัศน์เมือง Darjeeling ช่างงดงามตราตรึงยิ่ง ปัจจุบันมีเพียง DVD คุณภาพพอกล่อมแกล้มเหล้าไปได้เท่านั้น


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

หลังเสร็จจาก The Apu Trilogy ผู้กำกับ Ray พยายามที่จะฉีกแหวกแนว ค้นหาวิถีทาง แนวความคิดใหม่ๆในการสรรค์สร้างผลงานภาพยนตร์
– Devi (1960) นำเอาภาพความเพ้อฝัน มามโนเพ้อภพว่าเป็นเรื่องจริง
– Teen Kanya (1961) สร้างสามเรื่องสั้น ที่เหมือนจะมีบางสิ่งอย่างเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกัน

สำหรับ Kanchenjungha ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งการทดลอง ค้นหาอะไรใหม่ๆน่าสนใจ ซึ่งเริ่มต้นจากการพัฒนาบทดั้งเดิม กำหนดโครงสร้างดำเนินเรื่องตัดสลับสับเปลี่ยนมุมมองไปมา เวลาในหนังเท่ากับชีวิตจริง สภาพอากาศสะท้อนจิตวิทยาตัวละคร และรวมไปถึงประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ด้วยตนเองครั้งแรก!

ผู้กำกับ Ray ตัดสินใจเลือกเมือง Darjeeling เพราะได้ยินว่าปู่ของตน Upendrakishore Ray บ่อยครั้งเดินทางมาพักผ่อนตากอากาศ เพื่อพักผ่อนคลาย และค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ แต่งเพลง สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ, ซึ่งตัวเขาเริ่มต้นใช้เวลาสิบวันยัง Darjeeling เดินท่องเที่ยว กินลมชมวิว สังเกตสภาพอากาศ เกิดภาพคร่าวๆของหนัง และเริ่มพัฒนาบท Scenario เพื่อนำกลับไปของบประมาณทุนสร้าง

“The idea was to have the film starting with sunlight. Then clouds coming, then mist rising, and then mist disappearing, the cloud disappearing, and then the sun shining on the snow-peaks. There is an independent progression to Nature itself, and the story reflects this”.

– Satyajit Ray

ครอบครัว Chaudhuri เดินทางมาพักตากอากาศยัง Darjeeling ประกอบด้วยสมาชิก
– พ่อ Indranath (รับบทโดย Chhabi Biswas เคยร่วมงานผู้กำกับ Ray เรื่อง Jalshaghar และ Devi) เป็นเจ้าของห้าบริษัท แน่นอนว่าย่อมมีความเย่อหยิ่งทะนงตน สนแต่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ได้เลือกคู่หมั้นอนาคตไกลให้บุตรสาวคนเล็ก เฝ้ารอคอยข่าวดีที่เธอจะตอบตกลงแต่งงาน
– แม่ Labanya (รับบทโดย Karuna Banerjee เคยร่วมงานผู้กำกับ Ray เรื่อง Pather Panchali, Aparajito และ Devi) ร่างกายอิดๆออดๆ สีหน้าอมทุกข์เศร้าโศก เป็นเพียงช้างเท้าหลังของสามี แทบไม่เคยมีสิทธิ์เอ่ยปากแสดงความเห็นใดๆ ซึ่งลึกๆยังคาดหวังให้ลูกสาวคนเล็ก ได้พานพบเจอแต่งงานกับชายคนที่รักจริง
– Jagadish (รับบทโดย Pahari Sanyal) พี่ชายของ Labanya ที่ภรรยาเสียชีวิตจากไปแล้ว ความสนใจมีเพียงส่องกล้องชมนกชมไม้ ดื่มด่ำไปกับผืนธรรมชาติ และสามารถเข้าใจทุกๆสถานการณ์มนุษย์แค่เพียงชายตาเห็น
– Anima (รับบทโดย Anubha Gupta) บุตรสาวคนโต เมื่อสิบปีก่อนถูกพ่อจับคลุมถุงชน แต่งงานกับชายคนที่ตนไม่ได้ตกหลุมรัก เลยลักลอบมีชู้นอกใจ และกำลังจะถูกจับได้
– Shankar (รับบทโดย Subrata Sen) สามีของ Anima ที่รับรู้ว่าภรรยาคบชู้นอกใจ เปิดอกพูดคุยสนทนา พร้อมปล่อยให้เธอเลิกราเป็นอิสระ แต่ติดอย่างหนึ่งคือลูกสาวสุดที่รัก จึงยังไม่สามารถหาหนทางออกได้ในขณะนี้
– Anil (รับบทโดย Anil Chatterjee) บุตรชายคนกลาง น่าจะยังครองตัวเป็นโสด พยายามทำตัวเป็นเพลย์บอย เกี้ยวพาราสีหญิงสาวไปทั่ว พกกล้องอ้างว่าถ่ายรูปสุนัข แต่ไม่บอกก็รับรู้ว่าความสนใจแท้จริงคืออะไร
– Monisha (รับบทโดย Alaknanda Roy) บุตรสาวคนเล็ก อายุ 19 ปี ขณะนี้กำลังศึกษามหาวิทยาลัย เอกภาษาอังกฤษ เธอมีสภาพไม่ต่างจากนกในกรง พยายามดิ้นรนโหยหาอิสรภาพ กำลังถูกแฟนหนุ่ม Bannerjee เกี้ยวพาเอ่ยปากขอแต่งงาน แต่ตนเองยังรั้งๆรีรอไม่กล้าตัดสินใจ ขณะเดียวกันพานพบเจอเพื่อนชาย Ashoke ที่แม้ต่างชนชั้น กลับสามารถครุ่นคิดทำอะไรได้อย่างเสรี เพ้อใฝ่ฝันตกหลุมรัก อยากที่จักใช้ชีวิตไร้พันธการเหนี่ยวรั้งแบบนั้นบ้าง
– Bannerjee (รับบทโดย N. Viswanathan) หนุ่มวิศวกร รูปหล่อ(มั้ง) คารมคมคาย เฉลียวฉลาด มารยาเป็นเลิศ ได้รับเลือกจากพ่อ คาดหวังให้ขอแต่งงานกับ Monisha แต่พยายามอยู่หลายครั้งก็มีเรื่องให้ไม่สำเร็จสักที ครานี้เลยต้องทำให้ได้ สุดท้ายจะสมปรารถนาหรือเปล่า
– Ashoke (รับบทโดย Arun Mukherjee) ชายหนุ่มจนๆ ตกงาน จับพลัดจับพลูมากับน้า ได้รับการแนะนำให้รู้จัก Monisha มีโอกาสพูดคุย แสดงความคิดเห็น แม้ตกหลุมรักแรกพบ แต่ก็ล่วงรู้ตัวว่าคงมิอาจเด็ดดอกฟ้า และพอเผชิญหน้ากับ Indranath ปฏิเสธที่จะเข้าทำงาน เพราะไม่อยากโดนดูถูก กดหัว จากบุคคลผู้เอ่อล้นด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตน


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),

ความท้าทายของหนังคือสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เดี๋ยวแดดออก แดดร่ม หมอกมา หมอกหาย รวมไปถึงเหตุการณ์บางอย่างไม่คาดคิดถึง อาทิ ขบวนพาเรด, ฝูงวัวเดินผ่าน ฯ ความบังเอิญเหล่านี้ ได้ถูกร้อยเรียงนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีชั้นเชิง

ซึ่งสภาพอากาศจะสะท้อนสภาพจิตใจตัวละครขณะนั้นๆออกมา
– ช่วงแรกๆท้องฟ้าปลอดโปร่ง เริ่มต้นเช้าวันใหม่ ไม่มีอะไรขุ่นข้องเคืองใจ
– เมื่อเรื่องราวดำเนินไป เมฆปกคลุมแสงอาทิตย์ ชีวิตเริ่มประสบพบปัญหา
– สถานการณ์เข้าสู่ช่วงคับขัน หมอกพัดพาความหนาวเหน็บเข้ามาปกคลุม จิตใจหวาดหวั่นสั่นสะพรึง
– และเมื่อปัญหาได้รับการคลี่คลายหรือแก้ไข แสงแดดจะสาดส่องลงมาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นการเดินไปพูดคุยไประหว่างสองตัวละคร แล้วมีเหตุให้พลัดพราก พบปะ หรือบางทีก็ถูกดึงลากออกมา (ไม่ให้เป็นก้างขวางคอ) ประกอบภาพทิวทัศนียภาพ ธรรมชาติกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

หลังจากเฝ้ารอมาแสนนานนึกว่าจะไม่ได้เห็นแล้ว ช็อตสุดท้ายของหนังนั่นคือ Kanchenjunga ยอดเขาสูงอันดับสามของโลก รองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ และยอดเขา K-2 มีความสูงกว่า 8,586 เมตร หรือ 28,169 ฟุต

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องโดยตัดสลับไปมาระหว่างสมาชิกครอบครัว Chaudhuri ซึ่งถือได้ว่าพ่อ Indranath นั้นคือเสาหลัก และบุตรสาวคนเล็ก Monisha ทำให้เรื่องราวเคลื่อนคล้อยดำเนินไป

เรื่องราวของหนังมักดำเนินไปเป็นคู่ๆ ซึ่งมีความสอดคล้องกันอยู่เกี่ยวกับชีวิต ความรัก และการแต่งงาน
– พ่อ Indranath และแม่ Labanya เหมือนว่าจะรักกันดี แต่จริงๆแล้วพ่อคือช้างเท้าหน้า แม่ไม่เคยลืมตาอ้าปากมีสิทธิ์เสียงใดๆ
– Jagadish พี่ชายของ Labanya เพราะสูญเสียภรรยาไป ชีวิตเลยไร้ที่พึงพา แต่ก็ได้ธรรมชาติเป็นที่พึ่งพิง
– ลูกสาวคนโต Anima แต่งงานกับ Shankar แต่เพราะไม่ได้รัก เลยกำลังตกทุกข์ยากลำบาก
– ลูกชายคนกลาง Anil คงจะหาคู่ครองแต่งงานไม่ได้ เลยทำตัวเสเพลบอยไปวันๆ
– ลูกสาวคนเล็ก Monisha กำลังถูกเกี้ยวพา ขอแต่งงานโดย Bannerjee
– และ Ashoke ตกหลุมรักหญิงสาว แต่ก็ได้แค่เพ้อใฝ่ฝัน มิอาจเอื้อมมือไปเด็ดดอกฟ้า

ถ้าเทียบกับหนังแนว Hyperlink เรื่องอื่นๆอย่าง Nashville (1975), Traffic (2000), 21 Grams (2003), Babel (2006) ฯลฯ ผมว่าเรื่อง Kanchenjungha (1962) ทำความเข้าใจง่ายมากๆเลยนะ เพราะจุดหมุนของเรื่องราวคือสมาชิกครอบครัวเดียวกัน พานพบ แยกจาก เดินสวน ทำเอาเมือง Darjeeling มีขนาดเล็กกระจิดริดไปเลย

Satyajit Ray แม้พอเล่นดนตรีได้บ้าง แต่ยังไม่เคยเขียนเพลงใดๆมาก่อนหน้า ดูแล้วคงได้แรงบันดาลใจจากปู่ที่ก็เป็นนักดนตรี เลยทดลองแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ (และอีกหลายๆผลงานต่อไป) ออกมาในลักษณะ ‘Light Music’ เน้นสร้างบรรยากาศ อารมณ์ชิลๆ สนุกสนานผ่อนคลาย หรือตึงเครียดแบบเบาๆ ประกอบเสียงนกเสียงไม้ เสียงธรรมชาติ Sound Effect และ Diegetic Music 


เรื่องราวของ Kanchenjungha เป็นความพยายามเปิดมุมมองผู้ชมเกี่ยวกับความรัก ชีวิตคู่ และการแต่งงาน ค่านิยมคลุมถุงชนของชาวอินเดียสมัยก่อน ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมที่สุดอีกต่อไป เพราะโลกยุคสมัยใหม่นี้ ชาย-หญิงมีโอกาสพบเจอสวนทางกันง่ายขึ้น พ่อ-แม่ก็ไม่สามารถคอยควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสอน ชี้นิ้วสั่งลูกๆหลานๆให้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้อีกต่อไป

การสลับไปมาของเรื่องราว มุมมองตัวละคร ภาษาอังกฤษ-เบงกาลี รวมไปถึงสภาพอากาศของ Darjeeling ล้วนสะท้อนถึงยุคสมัยอดีต-ปัจจุบัน คนรุ่นเก่า-ใหม่ สังคมได้ก้าวกระโดดเปลี่ยนแปลงไป วิถีโบราณดั่งเดิมย่อมไม่สามารถปรับใช้ ถึงเวลาแล้วรึยังที่เราควรต้องเรียนรู้ โอบรับ ค่อยๆปรับตัวทีละเล็กละน้อย อย่าปิดกั้น กีดกัน เพราะนานวันย่อมมิอาจฝืนต้านทานกระแสสังคม สุดท้ายคงได้แต่ล้มทั้งยืน กลิ้งตกเขา ไม่มีใครสามารถช่วยเหลืออะไรได้

“Maybe this place did it. . . . here I’ve never seen such scenery. The majestic Himalayas, these silent pine trees. This sudden sunlight, sudden clouds, sudden mist! It’s so unreal, like a dream world. My head was in a whirl. Everything changed inside. As if I was somebody. . . A hero, a giant. I was full of courage. I was reckless, undaunted. Tell me, a place like this fills one with strength, doesn’t it?”

– Ashoke

เอาจริงๆตอนจบของหนัง ไม่มีปัญหาใดๆได้รับการแก้ไข/ค้นพบหนทางออก แค่เรื่องราววันนี้ได้รับการคลี่คลาย เปิดโอกาสให้ตัวละคร/ผู้ชม มีเวลาไปครุ่นคิด ปรับตัว แล้วค่อยให้คำตอบอีกทีวันหน้าฟ้าใหม่ เมื่อร่างกายและจิตใจเพรียบพร้อมตัดสินใจ จะว่าอะไรยังไงค่อยพูดคุยกันอีกที

เมื่อตอนออกฉาย หนังประสบความล้มเหลวในทุกๆด้าน นักวิจารณ์ไม่เข้าใจ ผู้ชมดูไม่รู้เรื่อง มันเลยจะทำเงินคืนทุนสร้างได้อย่างไร แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คอหนังรุ่นใหม่ก็เริ่มซึมซับ ซาบซึ้ง กอปรกับการมาถึงของคำเรียก ‘Hyperlink Film’ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงผุดเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้กำกับ Ray ให้สัมภาษณ์ย้อนหลังถึงภาพยนตร์เรื่องนี้กับนิตยสาร Cineaste Magazine

“(It was) a very personal film. It was a good ten to fifteen years ahead of its time… Kanchenjungha told the story of several groups of characters and it went back and forth. … It’s a very musical form, but it wasn’t liked. The reaction was stupid. Even the reviews were not interesting. But, looking back now, I find that it is a very interesting film”.

– Satyajit Ray

ส่วนตัวมีความชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากๆ ในบรรยากาศ การถ่ายภาพ ใช้ธรรมชาติสื่อแทนอารมณ์ตัวละครได้อย่างงดงามล้ำ แต่ก็มีบางสิ่งอย่างค่อนข้างน่ารำคาญ โดยเฉพาะการพูดภาษาอังกฤษสลับกับเบงกาลี ถึงมันเข้ากับเทคนิคเล่าเรื่องกระโดดไปมาก็จริง ผู้ชมสามารถเข้าใจได้แค่ภาษาหนึ่งใด คงไม่รู้สึกน่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่

จัดเรตทั่วไป ไร้ซึ่งเภทภัย

คำโปรย | ผู้กำกับ Satyajit Ray เดินทางไปพักผ่อนคลายยัง Kanchenjungha ได้อย่างเบาสบายใจ
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชอบมากๆ

Devi (1960)


Devi

Devi (1960) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥

ก้าวเข้าสู่ยุคที่สองของ Satyajit Ray หลังจากเสร็จสิ้น The Apu Trilogy วิพากย์วิจารณ์วิถีความเชื่อ งมงายในศรัทธาศาสนา เมื่อพ่อเพ้อฝันว่าบุตรสาวเป็นเทวดากลับชาติมาเกิด (Devi แปลว่า Godness) ก้มลงกราบแทบเท้า เทิดทูนยกขึ้นเหนือเกล้ากระหม่อม แต่ความจริงเป็นเช่นไร ใครพบเห็นย่อมตระหนักเข้าใจได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Devi เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมชาวไทยมากๆเลยนะ เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงลุ่มหลงใหลในความเชื่อ ศรัทธา งมงายต่อสิ่งตนเองไม่ล่วงรับรู้ว่าเป็นจริงหรือเปล่า แค่ฟังเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมา หรือเห็นว่าน่าเคารพยกย่อง แลดูศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ ก็แห่กันไปไทมุง ขูดหวย ขอเลขท้ายงามๆสักสองสามงวด

ศรัทธาในพระบางรูป วัดบางแห่ง สงฆ์บางนิกายก็เฉกเช่นกัน ยกยอปอปั้น ทุ่มเงินบริจาคนับพันหมื่นล้าน แต่เมื่อความจริงหลายๆได้รับการเปิดเผยอย่างเด่นชัด ถูกจับได้ว่าเสพเมถุนต้องลาสิกขา ลองถามใจตนเองดูสิว่า ความรู้สึกเมื่อถูกทรยศหักหลัง มันเจ็บปวดรวดร้าวสาหัสประการใด

พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อ! แม้แต่คำสอนของพระองค์เอง อยากรับรู้ อยากเข้าใจ จงใคร่ครุ่นคิด ฝึกฝน ปฏิบัติ พิสูจน์สัจธรรมความจริงด้วยตัวตนเอง แล้วคุณจะไม่กลายเป็นบุคคลผู้ลุ่มหลงใหลงมงายในสิ่งอธิบายไม่ได้ทั้งหลาย


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ผลงานภาพยนตร์ของ Ray สามารถแบ่งออกได้เป็นสี่ช่วง
– ช่วงแรก The Apu Trilogy (1955-59) ซึ่งจะรวมไปถึง Parash Pathar (1958) และ Jalsaghar (1958) เพราะไม่เคยมีประสบการณ์สร้างภาพยนตร์มาก่อน จึงเป็นช่วงขณะทดลองผิดลองถูก ค้นหาความสนใจของตนเอง
– ช่วงสอง British Raj (1959-64) มักนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาสังคม/ความขัดแย้ง/แตกต่างของชาวอินเดีย อิสตรีถูกควบคุมครอบงำจากบุรุษ และพื้นหลังภายใต้อาณานิคมสหราชอาณาจักร ผลงานเด่นๆ อาทิ Devi (1960), Teen Kanya (1961), Kanchenjungha (1962), Mahanagar (1963), Charulata (1964) ฯ
– ช่วงสาม New Direction (1965-82) สร้างสรรค์ผลงานที่มีความหลากหลาย แฟนตาซี, ไซไฟ, นักสืบ, ประวัติศาสตร์, ซึ่งมักเกี่ยวกับการสำรวจตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ เผชิญหน้าด้านมืดที่อยู่ภายในจิตใจ ผลงานเด่นๆ อาทิ Nayak (1966), Goopy Gyne Bagha Byne (1969), Aranyer Din Ratri (1970), Ashani Sanket (1973), Shatranj Ke Khilari (1977) ฯ
– Last Phase (1983-92) ด้วยสุขภาพที่เริ่มย่ำแย่ หัวใจล้มเหลวในกองถ่าย แต่ก็ยังโหยหาอยากสร้างภาพยนตร์ หลงเหลือเพียงความตั้งใจสวนทางกับคุณภาพผลงาน

ต้นฉบับของ Devi (1899) คือเรื่องสั้นที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง! แต่งโดย Prabhat Kumar Mukherji (1875 – 1932) นักเขียนชื่อดังชาว Bengali

แต่จริงๆแล้วเห็นว่า Mukherji ได้รับคำแนะนำเรื่องสั้นดังกล่าวจาก Rabindranath Tagore (1861 – 1941) นักคิด/นักเขียนชาว Bengali เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ซึ่งเกิดในครอบครัววรรณะพราหมณ์ พานพบเห็นรับรู้ความไม่ชอบมาพากล แต่ถ้าตนเองจะเป็นผู้เขียนเรื่องราวดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมอย่างแน่นอน

Mukherji เขียนเรื่องสั่น Devi ด้วยการยกพื้นหลังย้อนไปศตวรรษก่อนหน้า 1790s เพื่อมิให้พาดพิงความเชื่อศรัทธาของนักอ่านยุคสมัยปัจจุบันนั้น (ตีพิมพ์ปี 1899) ซึ่งพอมาถึงการดัดแปลงฉบับภาพยนต์ของ Satyajit Ray ก็ทำแบบเดียวกันคือย้อนเวลาไปหนึ่งศตวรรษ กลายมาเป็น 1860s


Dayamoyee (รับบทโดย Sharmila Tagore) แต่งงานครองรักกับ Umaprasad (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) แต่ยังต้องพักอาศัยอยู่บ้านพ่อสะใภ้ Kalikinkar Choudhuri (รับบทโดย Chhabi Biswas) ผู้มีความเชื่อศรัทธา อุทิศทั้งชีวิตให้พระแม่กาลี กระทั่งวันหนึ่งฝันเห็นภาพของ Dayamoyee เข้าใจว่าเธอเป็นร่างอวตารของกาลิกา ก้มลงกราบแทบเท้า เทิดทูนเหนือเกล้ากระหม่อม จนใครๆต่างหลงเชื่อตามว่าเธอเป็นเทวดากลับชาติมาเกิดจริงๆ แต่ไม่ใช่กับ Umaprasad เมื่อเดินทางกลับจากไปร่ำเรียนตต่อยังประเทศอังกฤษ พยายามปลุกทุกคนให้ตื่นจากความเพ้อเจ้อไร้สาระดังกล่าว

ในช่วง British Raj ของผู้กำกับ Ray จะเริ่มนำนักแสดงที่มักคุ้นเคย หวนกลับมาร่วมงานกันหลายครั้งอีกจนกลายเป็นขาประจำ

Sharmila Tagore จากเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959) เรื่องนี้รับบทศรีภรรยาผู้โชคร้าย (ของ Soumitra Chatterjee เหมือนเดิมเลยนะ) ได้รับการยกยอปอปั้นจากบิดากลายเป็นอวตารพระแม่กาลี แรกๆเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัว แต่ค่อยๆยินยอมรับ ปล่อยตัวปล่อยใจ เพราะไม่อยากขัดขืนในความเชื่อศรัทธา แม้สามีจะพยายามปลุกให้ตื่นกลับไม่ยอมฟื้นลืมตา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่าง สำนึกตัวได้ก็สายเกินแก้ไข, บทบาทของ Tagore ถือว่ามีเนื้อมีหนังจับต้องได้มากกว่าเดิม และเริ่มที่จะใช้ความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ผ่านสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่เหนียงอายไร้เดียงสาเหมือนเก่าก่อน ซึ่งตอนเธอแสดงอาการคลุ้มคลั่งออกมา ผู้ชมคงแทบเสียสติแตกไม่ต่างกัน

Soumitra Chatterjee จากบทบาทใน Apur Sansar (1959) กลับชาติมาเกิดได้แต่งงานเป็นศรีภรรยาของ Sharmila Tagore ยังคงเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง เฟื่องเรื่องการศึษา เหมือนจะสอบได้ทุนไปเรียนต่ออังกฤษ แต่พอหวนกลับมาบ้านพบเห็นความลุ่มหลงงมงายของพ่อ พยายามปลุกตื่นศรีภรรยา แต่เมื่อเธอมิอาจหาญกล้า แล้วฉันจะทำอะไรต่อไปได้, ผมเองยังคงติดตรา Chatterjee ในบทบาท Apu ผู้ใสซื่อไร้เดียงสา เรื่องนี้ถือว่ากลับตารปัตรเพราะพยายามใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา พิจารณาความเชื่อด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ แต่เพราะศรีภรรยามิอาจก้าวข้ามศรัทธาลวงตานั้น ตัวเขาเลยค่อยๆเลือนลางจางหาย โผล่มาอีกทีช่วงท้าย ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข

Chhabi Biswas จากบทบาทพระราชาผู้ทะนงในศักดิ์ศรี Jalsaghar (1958) กลับมาคราวนี้กลายเป็นพ่อผู้ลุ่มหลงงมงายในความเชื่อศรัทธา แค่เพียงปรากฎภาพความฝัน ก็มโนเพ้อภพไปไกล มันอาจเป็นความจริงแต่นั่นไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ได้ เมื่อเกิดปาฏิหารย์เล็กๆทุกสิ่งอย่างเกินเลยเถิดไปใหญ่ และสุดท้ายเมื่อตระหนักถึงความจริง จะยังหลงเหลืออะไรในตนเอง, เป็นบทบาทลักษณะคล้ายเดิมของ Biswas ตัวละครมีความเย่อหยิ่งทะนงในบางสิ่ง กระทั่งเมื่อความจริงมาถึงทุกสิ่งอย่างพลันล่มสลาย ซึ่งใบหน้าแห่งความงมงาย สายตาเหม่อล่องลอย ดูราวกับคนบ้าไร้สติ ปลุกยังไงก็ไม่ตื่น พอฟื้นขึ้นมาภายในก็มีแต่ความเวิ้งว่างเปล่า


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),

ความโดดเด่นของ Mitra คือการเคลื่อนไหลกล้องที่เป็นธรรมชาติ และสัมผัสของแสงที่อาบผิวตัวละครด้วยเทคนิค ‘Bounce Light’ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครออกมาด้วย

Opening Credit ร้อยเรียงรูปปั้นพระแม่กาลี ตั้งแต่ขึ้นรูป ทาสี ประดับเครื่องแต่งกายจนมีความสวยงามวิจิตร สะท้อนถึงภาพความเชื่อ/ศรัทธาพระเจ้า เป็นสิ่งที่มนุษย์ปั้นแต่ง รังสรรค์สร้างขึ้นมาให้มีตัวตน

นกแก้วเลียนเสียงพูด ‘แม่’ ร้องเรียก Dayamoyee มาให้อาหาร ราวกับมันล่วงรับรู้ว่าเธอคือเทวดากลับชาติมาเกิด (มองในแง่ของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาตินะครับ)

ผู้หญิงอินเดียในยุคสมัยก่อน จะเป็นช้างเท้าหลัง รองมือรองเท้ารับใช้บุรุษ แต่หลังจากพ่อเพ้อฝันว่าเธอคือเทวดากลับชาติมาเกิด ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม พนมมือกราบแทบเท้าศิโรราบ (สังเกตว่าเท้าของหญิงสาว หยิกจิกด้วยความหวาดสะพรึงกลัว กรีดกรายฝาผนัง แทบจะยินยอมรับไม่ได้กับสิ่งบังเกิดขึ้น)

ฉากความฝันของพ่อ เริ่มจากพบเห็นภาพตาสามดวงของพระแม่กาลีล่องลอยมา ซ้อนเข้ากับใบหน้าของ Dayamoyee เพียงเท่านี้แหละก็ทำให้เขาครุ่นคิดว่า เธอคือกาลิกากลับชาติมาเกิดใหม่

เมื่อถูกลากพาตัวมานั่งยังแท่นบูชา สีหน้า อารมณ์ของ Dayamoyee เต็มไปด้วยความอ่อนเปลี้ยเพลียใจ ไม่อยากเชื่อตนเอง แต่ก็ไม่ขัดขัดศรัทธา ครั้งหนึ่งควันพวงพุ่งคลุ้งใบหน้า ก็ไม่รู้จะครุ่นคิดเอายังไงต่อไปเช่นกัน

แม้ว่า Dayamoyee จะได้รับการยกยอปอปั้นขนาดนั้น แต่หญิงอื่นหรือลูกหลาน กลับตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากถูกคุมขัง ช็อตลักษณะนี้พบเห็นบ่อยครั้งทีเดียวในหนัง

จะบอกว่าผมขำกลิ้งกับฉากนี้มากๆ เพราะมันไดเรคชั่นแบบเดียวกับ Apur Sansar (1959) เมื่อขณะที่ชายหนุ่ม Apu จับพลัดจับพลูแต่งงานเจ้าสาว ค่ำคืนแรกในห้องหอ เดินไปเดินมารอบเตียงด้วยความกระวนกระวายใจ

มาเรื่องนี้บุตรชาย Umaprasad กำลังพูดคุยสนทนากับพ่อ Kalikinkar Choudhuri ด้วยความว้าวุ่นกระวนกระวาย เดินวนไปเวียนมารอบเตียงในห้องนอน ซึ่งทั้งสองถือว่ามีความครุ่นคิดเห็นแตกต่างตรงข้าม ไม่สามารถเวียนมาบรรจบกันได้โดยดี

Umaprasad เลยวางแผนที่จะพาภรรยา Dayamoyee หลบหนีออกจากบ้าน แต่เธอกลับถูกเหนี่ยวรั้งด้วยมุ้ง ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นพันธการ

แต่ก็สามารถลากพาตัวเธอมาถึงท่าเรือริมแม่น้ำ บริเวณชายทุ่งหญ้าสูงซึ่งเป็นสถานที่แห่งการตัดสินใจครั้งสุดท้าย สังเกตความสูงของทั้งสอง ขณะโอบกอดคางของ Umaprasad วางลงบนศีรษะของ Dayamoyee ได้พอดิบพอดี สะท้อนถึงหญิงสาวไม่สามารถขัดขืนโชคชะตาฟ้า หวาดสะพรึงกลัวต่ออนาคตที่จะติดตามมาหลอกหลอน ถ้าตนเองเป็นพระแม่กาลีกลับชาติมาเกิดจริงๆ

หลังจากความจริงได้ถูกเปิดเผย สภาพของพ่อทรุดลงนั่งตรงประตูทางเข้าห้องพระ Umaprasad ยืนอย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งมุมกล้องนี้ติดโคมระย้าห้อยลงมา นี่นะหรือสวรรค์ชั้นฟ้า แค่เอื้อมมือก็ราวจับต้องได้

แสงสว่างที่จร้าอย่างผิดปกติ สะท้อนถึงจิตใจของ Dayamoyee ที่กำลังฟุ้งซ่าน คลุ้มคลั่ง ควบคุมตนเองไม่อยู่ มิอาจยินยอมรับความจริงต่อเหตุการณ์บางอย่างที่เพิ่งบังเกิดได้

ด้วยเหตุนี้เธอเลยออกวิ่งหนี หายลับไปกับหมอกควันชายทุ่ง เป็นตายร้ายดีไม่มีใครสามารถบอกได้

ตอนจบดั้งเดิมของหนัง ผู้กำกับ Ray ถ่ายทำไว้คือ Dayamoyee จมน้ำเสียชีวิต แต่เพราะฟุตเทจดังกล่าวราวกับถูกเทวดาดลบันดาล มีเหตุเป็นไปไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ แต่ก็ยังมีตอนจบอีกแบบถ่ายทำไว้ Dayamoyee ตรอมใจอยู่ริมหาด(ก่อนฆ่าตัวตาย) โชคยังดี Umaprasad เข้ามาช่วยเหลือได้ทัน แต่เขาก็ตัดทิ้งฉากจบนั้นออกก่อนหนังฉายรอบปฐมทัศน์ หลงเหลือเพียงความคลุมเคลือนี้ ไม่บอกว่าโชคชะตาของหญิงสาวคืออะไรกันแน่

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องโดยมี Dayamoyee ที่กลายเป็น Devi คือจุดศูนย์กลางของเรื่องราว รายล้อมด้วยสามี Umaprasad, พ่อ Kalikinkar Choudhuri และครอบครัวพี่สะใภ้ ประกอบเข้ามาในบ้านแห่งพระแม่กาลี

น่าจะเป็นครั้งแรกของผู้กำกับ Ray ที่ได้ทดลองแทรกความฝันของพ่อ Kalikinkar Choudhuri และการหวนระลึกความทรงจำของ Dayamoyee กำลังครุ่นคิดถึงใบหน้าสามี Umaprasad เข้ามาระหว่างการดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง ซึ่งผลงานถัดๆไปจะเริ่มทดลองการลำดับเรื่องราวรูปแบบใหม่ๆ
– Teen Kanya (1961) สามเรื่องราวไม่ต่อเนื่องกัน แต่มีบางสิ่งอย่างสัมพันธ์กัน
– Kanchenjungha (1962) นำเสนอในลักษณะ Hyperlink Film หลายมุมมองเรื่องราว ร้อยเรียงดำเนินไปด้วยจุดร่วมบางสิ่งอย่าง

เพลงประกอบโดย Ustad Ali Akbar Khan (1922 – 2009) นักเล่น Sarod ระดับตำนาน รุ่นราวคราวเดียวกับ Ravi Shankar มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์บ้างประปราย

ความแตกต่างระหว่าง Sarod กับ Sitra คือความละมุนลุ่มลึกของเสียงที่จะไม่แหลมแสบแก้วหูเท่า มักนำเอาไปบรรเลงท่วงทำนองมีความวาบหวิว อ่อนไหว สั่นสะท้านหัวใจกว่า แต่ชื่อเสียงนั้นอาจเป็นรอง (เพราะ Ravi Shankar โด่งดังกว่า)

ซึ่งงานเพลงของหนังเต็มไปด้วยบรรยากาศทะมึน อึมครึม วาบหวิวหัวใจ สะท้อนความปั่นป่วนคลุ้มคลั่งที่อยู่ภายใน มันเป็นสิ่งมิอาจพูดบอกออกมาได้ ฉันเป็นเทวดากลับชาติมาเกิดจริงหรือเปล่า ใครกันจะไปล่วงรับรู้ความจริง (นอกจากบุคคลผู้นั้นเอง)

Sound Effect เสียงกระดิ่ง ระฆัง พึมพับบทสวดมนต์ กอปรกับกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลไปยังใบหน้าตัวละคร สีหน้าเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นวิตก มันช่างหลอกหลอน ขนลุกขนพอง สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ


ทำไมมนุษย์ถึงมีความเชื่อ? เพราะเมื่อเราไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง ย่อมเกิดความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวต่อสิ่งนั้น พยายามหาหนทางรับรู้เข้าใจ แต่เมื่อค้นพบคำตอบไม่ได้ก็ครุ่นคิดจินตนาการเพ้อฝัน สร้างภาพมายาลวงหลอกตา อ้างว่าโน่นนี่นั้น แสร้งทำเป็นเข้าใจในความลวง ยังดีกว่ากลวงเพราะรับรู้เห็นความจริงที่โหดร้าย

ความเชื่อต่อศาสนาเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดในโลก เพราะทำให้มนุษย์โง่งมงาย มักใช้ข้อกล่าวหลักคำสอน เพื่อสนองผลประโยชน์ส่วนตัวนั้นๆ ปฏิเสธความจริงพบเห็นอยู่ตรงหน้า ใครว่าอะไรมาก็พ้องตามอย่างขาดสติ ไร้ปัญญา

พระโคตมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมต่อชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ถึงกาลามสูตร ๑๐ หลักแห่งความเชื่อที่ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน อันประกอบด้วย

  1. มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
  2. มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
  3. มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
  4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
  5. มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
  6. มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน)
  7. มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
  9. มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
  10. มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

ความเชื่อผิดๆสามารถเอาชนะด้วยการครุ่นคิดด้วยสติปัญญา เราต้องเป็นผู้กล้าที่จะเผชิญหน้ายินยอมรับสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่โอนอ่อนผ่อนตามกระแสสังคม ขนบประเพณี หรือคำที่ผู้ใหญ่ว่ากล่าวมา ต่อให้ถูกตราหน้า ‘ศิษย์ล้างครู’ แต่การหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว รังจะทำให้ดวงตามืดบอด ชีวิตตกต่ำไร้ค่าลงเรื่อยๆ

ผู้กำกับ Ray นอกจากวิพากย์วิจารณ์ความเชื่อศรัทธาศาสนาอย่างตรงไปตรงมา หนังยังสะท้อนถึงความขัดแย้งแตกต่างระหว่าง วิถีชีวิตดั่งเดิม vs. ค่านิยมสมัยใหม่ บุคคลผู้มีการศึกษาสูง ความรู้เข้าใจในวิทยาศาสตร์ จักไม่งมงายต่อสิ่งมองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนรุ่นก่อนที่ยังหมกมุ่นกับภาพลวงตา จึงมิอาจลงรอย เห็นพ้องต่อมุมมองความจริง

ความเชื่อศรัทธาศาสนาในระดับงมงาย ยังสามารถสะท้อนถึงความหมกมุ่นทางจิต (Psychological Obsession) อาจถึงขั้นคลุ้มคลั่งเสียสติเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ความผิดหวังราวกับการตกจากที่สูง จักสร้างรอยบาดแผล/ความพิการให้เกิดขึ้นภายใน ไม่มีใครสามารถเยียวยารักษาหาย เลวร้ายอาจกลายเป็นบ้า ไม่ยินยอมเผชิญหน้ากับความจริง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือมุมมองอิสตรีในประเทศอินเดีย ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง ต้องคอยปรนเปรอรับใช้บุรุษ แต่เมื่อใดได้รับการยกย่องเป็นพระแม่กาลี ทุกอย่างกลับตารปัตรย้อนแย้ง เทิดทูนบูชาเหนือเกล้ากระหม่อม นี่สะท้อนถึงค่านิยมที่ผิดพลาดของสังคม ทำไมไม่มีใครมองผู้หญิงทุกคนเหมือนดั่งเทวดา ให้ความรัก เอ็นดู ทะนุถนอม เธอไม่ใช่ขี้ข้าทาสรับใช้ใคร เมื่อไหร่ความเสมอภาคเท่าเทียมจักบังเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเสียที!


เมื่อหนังออกฉายในอินเดีย เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง อันเนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่มองว่าเนื้อหามีลักษณะลบหลู่ anti-Hinduism ซึ่งเป็นศาสนาหลักของประเทศ ลามไปถึงรัฐสภามีการถกเถียงจะอนุญาตให้นำออกฉายต่างประเทศหรือเปล่า … แต่ก็ให้นะครับ ออกไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา

ถึงแนวคิดของหนังจะน่าสนใจ โคตรเหมาะสำหรับคนไทย แต่ผมกลับไม่ค่อยชื่นชอบพอสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องราวนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ถ่ายทอดออกมาในเชิงวิพากย์วิจารณ์ ‘ชวนเชื่อ’ ชี้ชักนำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจ ศรัทธาที่เกิดขึ้นเป็นไม่ถูกต้องสถานเดียว!

สิ่งที่ผมอยากได้มากกว่าคือความคลุมเคลือไปจนจบ (เหมือน Rashômon ไม่เฉลยความจริงคืออะไร) หญิงสาวเป็น Devi กลับชาติมาเกิดจริงหรือเปล่า? นั่นจะไม่สร้างกระแส anti-Hinduism แต่ให้ผู้ชมฉุกครุ่นคิดเข้าใจในมุมมองของตนเองมากกว่า

จัดเรต 15+ กับความเชื่อศรัทธาเปื้อนด้วยคำลวง และอาการคลุ้มคลั่งเสียสติเมื่อค้นพบความจริง

คำโปรย | Satyajit Ray พยายามฉุดคร่า Devi ลงมาจากสรวงสวรรค์ แต่เป็นตัวเขาเองที่เดินตกหลุม
คุณภาพ | น่าสนใจ
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Shiraz (1928)


Shiraz

Shiraz (1928) Indian : Franz Osten ♥♥♥

ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งรัก ได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามที่สุดในโลก สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan อุทิศให้พระมเหสีเอก Mumtaz Mahal แต่หนังเงียบนี้คือเรื่องราวของ Shiraz หนุ่มปั้นหม้อผู้ตกหลุมรักเจ้าหญิง และออกแบบสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแม้สายตามืดมิดบอด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงจากบทละครเวทีของ Niranjan Pal เปิดการแสดงยังกรุง London ช่วงประมาณต้นทศวรรษ 20s ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดในส่วน Shiraz เป็นการปรุงปั้นแต่ง สร้างสมมติฐานขึ้นมา! เพราะไม่มีรายละเอียดทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ว่าใครคือผู้ออกแบบทัชมาฮาล

สมมติฐานผู้ออกแบบทัชมาฮาล มีด้วยกันสองนาม
– Ustad Ahmad Lahori สถาปนิกชาวอิหร่าน เคยเป็นผู้ออกแบบวางรากฐาน Red Fort ที่กรุง Delhi ถือว่าคือช่างยอดฝีมือแห่งยุคสมัยนั้น
– Mir Abd-ul Karim สถาปนิกคนโปรดของสมเด็จพระจักรพรรดิ Jahangir (องค์ก่อนหน้า Shah Jahan) และยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้ควบคุมดูแล (Supervisor) ช่วงระหว่างการก่อสร้างทัชมาฮาล

ขณะที่ตำนานเล่าว่า สมเด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan เมื่อทรงตัดสินพระทัยในพิมพ์เขียว สั่งให้ควักลูกนัยน์ตาสถาปนิกผู้ออกแบบ เพื่อมิให้สรรค์สร้างอะไรอื่นยิ่งใหญ่กว่า ทัชมาฮาล … เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้เช่นกันนะครับ


Himanshu Rai (1892 – 1940) นักบุกเบิกวงการภาพยนตร์อินเดีย ว่าที่ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Bombay Talkies เกิดยัง Cuttack, Bengal Presidency ในครอบครัวชนชั้นสูง ร่ำเรียนจบกฎหมายจาก Kolkata แล้วมุ่งสู่ London ตั้งใจเป็นทนายความ แต่มีโอกาสพบเจอนักเขียนร่วมชาติ Niranjan Pal (1889 – 1959) ประทับใจในบทละคร กลายมาเป็นนักแสดงบนเวที พบเห็นอนาคตของภาพยนตร์เลยชักชวนมาทดลองสร้าง แต่ไร้ประสบการณ์เลยมุ่งหน้าสู่ Germany เพื่อหาใครใจกว้างให้ความช่วยเหลือแนะนำ

Franz Osten ชื่อเกิด Franz Ostermayr (1876 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เกิดที่ Munich โตขึ้นเป็นนักถ่ายภาพผู้หลงใหลการแสดง เมื่อปี 1907 ร่วมกับน้องชาย Peter Ostermayr ก่อตั้ง Original Physograph Company ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Bavaria Film Studios สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Erna Valeska (1911)

Osten ประทับใจการบุกเดี่ยวมาถึงเยอรมันของหนุ่มหน้าใสผู้นี้ จึงอาสาจัดหาทุนสร้าง อุปกรณ์ และทีมงาน (ผู้กำกับ/ตากล้อง) โดยให้ Rai ตระเตรียมบท นักแสดง สถานที่ถ่ายทำ และสาธารณูปโภคอื่นๆระหว่างเดินทางไปถ่ายทำยังอินเดีย กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก Prem Sanyas (1925) อัตชีวประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ แม้ไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จแต่ก็มีอีกสองผลงานติดตามมา Shiraz (1928) และ Prapancha Pash (1929)

สำหรับ Shiraz: a Romance of India ดัดแปลงจากบทละครเวทีชื่อเดียวกันของ Niranjan Pal พัฒนาบทภาพยนตร์โดย William A. Burton (คงเพราะต้องการมุมมองนักเขียนตะวันตก เพื่อให้เรื่องราวมีความสากลขึ้น) ได้รับทุนสร้างร่วมจาก British Instructional Films (ของอังกฤษ), Universum Film/UFA (ของเยอรมัน) และ Himansu Rai Film (ของอินเดีย)

Shiraz (รับบทโดย Himanshu Rai) บุตรชายช่างปั้นหม้อ เติบโตขึ้นพร้อมกับน้องสาวกำพร้า Selima (รับบทโดย Enakshi Rama Rau) แท้จริงเป็นเจ้าหญิงชนชั้นสูง แต่ถูกโจรดักปล้นกลางทางแล้วได้รับความช่วยเหลือมา, ระยะเวลาพัฒนาความสัมพันธ์ให้ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว แต่แล้วเธอถูกโจรลักพาตัวไปขายเป็นทาส ซื้อต่อโดยเจ้าชาย Khurram (รับบทโดย Charu Roy) ติดตามจนพบเจอ อาสาเข้าไปช่วยเหลือ แต่เธอกลับตกหลุมรักว่าที่สวามีเรียบร้อยแล้ว

เมื่อมิอาจสมหวังในรัก Shiraz ก็ได้แต่จับจ้องมอง ใคร่ครวญโหยหา จนสายตาค่อยๆพร่ามัวเลือนลาง พบเห็นเจ้าชายกลายเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan และเจ้าหญิงทรงพระนามใหม่ Mumtaz Mahal แต่แล้ววันหนึ่งทรงสวรรคตก่อนวัยอันควร (ตายท้องกลม) ต้องการอุทิศฝีมือช่าง เลยออกแบบปั้นทัชมาฮาลเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ

Rai หลังจากแสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะใน Prem Sanyas (1925) มาครานี้รับบทบาท Shiraz ที่ค่อนข้างมีความท้าทาย เพราะต้องแสดงอารมณ์โหยหา ครุ่นคิดถึง ใจจะขาด ถ่ายทอดออกมาในลักษณะ German Expressionism แม้ดูเว่อวังแต่ก็พอสัมผัสได้ว่ารู้สึกจริง

Enakshi Rama Rau กับบทบาท Selima กลายเป็นพระราชินี Mumtaz Mahal เธอไม่ได้โดดเด่นด้านการแสดงมากนัก แค่ภาพลักษณ์ราวกับเทพธิดา/นางฟ้า และมีความกล้ายืนขึ้นแบบไม่กลัวเกรงใคร นั่นทำให้บุรุษไม่ว่าจะขี้ข้าหรือเจ้าชายหน้าไหน ต่างตกหลุมรักหลงใหล ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเพียงเธอ

Charu Roy ในบทเจ้าชาย Khurram ภาพลักษณ์คมเข้ม ดุดัน ใครดีมาดีตอบ ใครร้ายมาร้ายตอบ ซึ่งพอพบเจอ Selima แสดงสีหน้าแห่งความลุ่มหลงใหล เคลิบเคลิ้ม หลอมละลาย ชีวิตนี้ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ

อีกหนึ่งนักแสดงที่ถือเป็นไฮไลท์คือ Seeta Devi ชื่อจริง Renee Smith (1912–1983) ลูกครึ่ง Anglo-Indian รับบทเจ้าหญิง Dalia ผู้เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา วางแผนชั่วร้ายกาจเพื่อผลักไส Selima จักได้ครอบครองเจ้าชาย Khurram แต่เพียงผู้เดียว, คือบทบาทนางมาร้ายลักษณะนี้ ตรงข้ามจริตชาวอินเดียยุคสมัยนั้น ต้องเรียบร้อยงดงามดั่งผ้าพับไว้ แต่เพราะ Devi เป็นลูกครึ่งเติบโตขึ้นที่อังกฤษ เรื่องพรรค์นี้เลยแสดงออกได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง เหนียมอาย เลยกลายเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานขาประจำของ Rai ก็ตั้งแต่ Prem Sanyas (1925)

ถ่ายภาพโดย Emil Schünemann (เยอรมัน) และ Henry Harris (อังกฤษ), หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในอินเดีย ยังสถานที่จริง ประมาณตัวประกอบ 50,000 คน, อูฐ 300 ตัว, ช้างอีก 7 เชือก ซึ่งไหนจะเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ เพื่อความยิ่งใหญ่อลังการสมจริง

แม้ส่วนใหญ่ของงานภาพจะตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้เฉยๆ แต่มีการตัดต่อสลับเปลี่ยนระยะ Extreme/Long Shot สำหรับภาพมุมกว้าง, Medium/Close-Up Shot ระหว่างสนทนา แสดงสีหน้าปฏิกิริยานักแสดง นั่นเองทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก
– Shiraz เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว โหยหา ครุ่นคิดถึงอดีตคนรัก
– เจ้าหญิง Dalia พบเห็นสีหน้าแห่งความอิจฉาริษยา วางแผนครุ่นคิดการร้าย จ้องแต่หวังทำลาย

การดำเนินเรื่องจะพบเห็น Time Skip สามครั้ง
– จากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ ด้วยการ Cross-Cutting
– ผู้ใหญ่สู่ 18 ปีถัดมา/วันสวรรคตของ Mumtaz Mahal คั่นด้วย Title Card
– และกระโดดสู่วันสร้างทัชมาฮาลเสร็จสิ้น


ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานของจักรพรรดิผู้ลุ่มหลงใหลในมเหสี ไม่สามารถตัดใจปลดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกหลังจากสูญเสีย เป็นเหตุให้ต้องทำอะไรสักสิ่งอย่าง ประกาศกึกก้องให้ทั่วผืนปฐพี ความรักของข้านี้ยิ่งใหญ่มหาศาลที่สุด ไม่มีอื่นใดสามารถเท่าทัดเทียม

ถึงทัชมาฮาลและ Shiraz จะมีงานสร้างยิ่งใหญ่อลังการ แต่โดยรวมหนังเงียบเรื่องนี้ถือว่าห่างไกลความลงตัวสมบูรณ์แบบ เนื้อหาค่อนข้างสั้นเกินไป ไม่ค่อยน่าเชื่อถือในความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิต่อพระชายา แถมช่วงท้ายยังมาเร่งรีบร้อนรน กระโดดข้ามโน่นไปนั่น จบแบบไม่เต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่

ว่ากันตามตรง Shiraz ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่แลเห็นประโยชน์ แฝงสาระความรู้ หรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวความรัก เทิดทูนให้สูงส่งเลอค่า ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง สุดท้ายหลงเหลือเพียงสนองบันเทิงเริงรมณ์ ดูจบก็อาจแค่เพลิดเพลินหัวใจ

แต่สำหรับชาวอินเดีย Shiraz ถือเป็นภาพยนตร์มีความสำคัญระดับชาติ! เปรียบเทียบคล้ายๆ พระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ. ๒๔๘๓) ที่ดีงามกว่าหลายสิบร้อยเท่า! สร้างความซาบซึ้ง ตราตรึง ภาคภูมิในประวัติศาสตร์ เชื้อชาติพันธุ์ และทัชมาฮาลได้กลายเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ ตัวแทนเอกลักษณ์ วัฒนธรรม เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกได้อย่างสมเกียรติ


Shiraz ถูกค้นพบหลงเหลือในคลังเก็บของ BFI National Archive คุณภาพค่อนข้างย่ำแย่ แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยทีมงานระดับมืออาชีพที่สุดในโลก สำเร็จเสร็จนำออกฉาย London Film Festival เมื่อปี 2017 คุณภาพ 4K ควบคู่การบรรเลงเพลงประกอบโดย Anoushka Shankar ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน เรียกเสียงฮือฮา และผู้ชมต่างยืนปรบมือนานกว่าหลายนาที

ส่วนตัวไม่ค่อยซาบซึ้งกับเรื่องราวรักโรแมนติก หรือสาเหตุผลที่เด็จพระจักรพรรดิ Shah Jahan สร้างทัชมาฮาลอุทิศให้พระมเหสีเอก Mumtaz Mahal แต่ทั้งหมดสามารถกลบเกลื่อนได้จากโปรดักชั่น ความอลังการงานสร้าง เสื้อผ้าหน้าผมจัดเต็ม น่าเสียดายฉบับใน Youtube คุณภาพไม่ไหวเกินทน ว่าจะลองค้นหาฉบับบูรณะของ BFI มารับชม เชื่อว่าคงคุ้มค่าสมการรอคอยอย่างแน่นอน!

แนะนำสำหรับคนชื่นชอบหลงใหลหนังเงียบ อยากพบเห็นความอลังการงานสร้างของโปรดักชั่นยุคสมัยก่อน และถ้ามีโอกาสแนะนำต่อเรื่อง Taj Mahal (1963) น่าจะช่วยเติมเต็มสีสันจินตนาการ ประวัติสิ่งก่อสร้างสุดมหัศจรรย์นี้ได้มากทีเดียว

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Shiraz อลังการตราตรึง แต่ไม่มีอะไรชวนให้น่าทึ่งตามกาลเวลา
คุณภาพ | พอใช้
ส่วนตัว | พอได้