Mandabi (1968)


Mandabi (1968) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥♥

Mandabi ภาษา Wolof แปลว่าธนาณัติ (Money Order) ส่งมาจากหลานชายทำงานอยู่ฝรั่งเศส แต่การจะขอขึ้นเงินกลับเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ ต้องทำบัตรประชาชน ต้องถ่ายรูป ต้องมีสูติบัตร (ใบเกิด) แถมชาวบ้านละแวกนั้นเมื่อได้ยินเรื่องเงินก็หูผึ่ง มาขอหยิบยืม ทวงหนี้ อ้างโน่นนี่นั่น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

ถ้าไม่นับ Egypt และ Tunisia วงการภาพยนตร์ของทวีปแอฟริกัน เพิ่งเริ่มต้นภายหลังได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลุดพ้นจากสถานะอาณานิคมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959-60 แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อให้บุคคลผู้มีความสนใจในศาสตร์ภาพยนตร์ ได้ศึกษา ร่ำเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูก ทดลองทำโน่นนี่นั่น

Mandabi (1968) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) ลำดับที่สองของ Ousmane Sembène แต่ถือเป็นเรื่องแรกของ West African ที่ตลอดทั้งเรื่องสนทนาด้วยภาษา Wolof (ภาษาท้องถิ่น Senegal, Mauritania และ Gambia) นั่นเพราะก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ในแอฟริกา ยังต้องพึ่งพาเงินทุน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ถ่ายทำจากอดีตเจ้าของอาณานิคม ในกรณีของ Senegal คือประเทศฝรั่งเศส มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยังต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร

แต่จุดประสงค์การสรรค์สร้างภาพยนตร์ของผกก. Sembène แน่นอนว่าไม่ใช่พวกฝรั่งเศส เป้าหมายคือชาว Senegalese ยินยอมประณีประณอมกับ Black Girl (1966) เพื่อว่าชื่อเสียง ความสำเร็จ จะทำให้สามารถติดต่อหานายทุนสำหรับโปรเจคถัดไป จนนำมาสู่ Mandabi (1968) น่าจะถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์แอฟริกันแท้จริงเรื่องแรก!

ในตอนแรกผมไม่ได้มีความสนใจอยากเขียนถึงหนังเรื่องนี้เลยนะครับ จนกระทั่งพบเห็นหอภาพยนตร์เคยนำมาฉาย ผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว หน้าปกของ Criterion สวยงามมากๆ ก็เลยต้องลองหามารับชม รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานภาพสีสันสวยสดใส บทเพลง Sunu Mandat Bi ติดหูติดใจ แม้เรื่องราวตกยุคสมัย แต่ยังแฝงสาระข้อคิด บทเรียนให้กับชีวิต สะท้อนปัญหาสังคมที่จนถึงปัจจุบันเรื่องพรรค์นี้(ทั้งการฉ้อฉล และความคอรัปชั่นของคน)ก็ยังไม่หมดสิ้นเสียที


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) และภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) สัญชาติแอฟริกันแท้ๆเรื่องแรก Black Girl (1966)

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สอง Mandabi (1968) ดัดแปลงจากนวนิยายของตนเอง Le mandat แปลว่า The Money-Order รวบรวมอยู่ในหนังสือ Vehi-Ciosane ou Blanche-Genèse: Suivi du Mandat (1965) แปลตรงตัว Vehi-Ciosane or Blanche-Genèse: Monitoring of the Mandate ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Money-Order with White Genesis … หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสองเรื่องราวที่ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน The Money-Order และ White Genesis

เกร็ด: Sembène มองว่านวนิยายเป็นสื่อของชนชั้นสูง ต้องมีความรู้ ความสามารถในการอ่าน (รวมถึงมีเงินซื้อด้วยนะ) ยุคสมัยนั้นจึงเป็นสิ่งหรูหรา ฟุ่มเฟือย เกินอาจเอื้อมของชาวแอฟริกันจนๆ จึงเลือกเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วฉบับภาพยนตร์เปลี่ยนมาใช้ภาษา Wolof เพื่อให้เข้าถึงชาว Senegalese ในวงกว้างได้ง่ายกว่า


Ibrahima Dieng นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่กับภรรยาสองคน และบุตรอีกเจ็ดคน ในย่านสลัม Dakar, Senegal ขณะนั้นกำลังตกงาน ติดหนี้ติดสิน แทบไม่มีอันจะกิน จนกระทั่งได้รับจดหมายจากหลานชาย Abdou ไปทำงานอยู่กรุง Paris ฝากส่งธนาณัติจำนวน 25,000 ฟรังก์

เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Ibrahima ต้องเผชิญหน้าสารพัดปัญหาในการขึ้นเงิน เพราะต้องใช้บัตรประชาชน แต่การจะทำบัตรประชาชนต้องมีรูปถ่าย สูติบัตร (ใบเกิด) รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกปริมาณหนึ่ง แถมบรรดาชาวบ้านละแวกนั้น เมื่อได้ยินเรื่องเงินก็ทำหูผึ่ง มาขอหยิบยืม ทวงหนี้ อ้างโน่นนี่นั่น แม้แต่ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทนาย Mbaye ก็ไม่ละเว้น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เงินทอง แลกกับการกินหรูอยู่สบาย


ด้วยความที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน Senegal ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก จึงเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ สมัครเล่น ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์ Makhourédia Guèye (1924-2008) ผู้รับบท Ibrahima Dieng อาชีพเดิมคือนักดนตรี เป่าแซกโซโฟน แต่บุคลิกภาพถือว่าตรงตามตัวละคร ท่าทางเย่อหยิ่ง อวดดี เก่งกับภรรยา เวลาออกจากบ้านต้องสวมใส่ชุดหรูหรา แท้จริงแล้วก็แค่กบในกะลา ไม่รับรู้ ไม่ทันคน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ เลยถูกล่อหลอกลวง จนสูญเสียทุกสิ่งอย่าง พระเป็นเจ้าก็ไม่ช่วยอะไร

แสบสุดคงหนีไม่พ้น Farba Sarr รับบทลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทนาย Mbaye ชอบขับรถมาเยี่ยมเยียน Ibrahima แต่แท้จริงแล้ววางแผนจะฮุบบ้านและที่ดินแห่งนี้ ขายต่อให้นายหน้า นำเงินมาปรนเปรอความสุขสำราญ กินหรูอยู่สบาย เปลี่ยนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า พอสบโอกาสก็ตบหัวลูบหลัง ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ … แทนที่จะเอาความรู้ความสามารถไปใช้ในทางให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ กลับเต็มไปด้วยความฉ้อฉล สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน

และในบรรดานักแสดงทั้งหมด Mouss Diouf (1964-2012) ผู้รับบทหลานชาย Abdou ที่ไปทำงานอยู่กรุง Paris แม้เพียงบทบาทสมทบเล็กๆ ปรากฎตัวแค่ไม่กี่นาที กลับได้รับโอกาสมากมายในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส เครดิตตัวประกอบใน IMDB มากถึง 51 เรื่อง! … ชีวิตจริงทำได้เหมือนข้อความในจดหมายที่ตัวละครเขียนถึง

เกร็ด: ผกก. Ousmane Sembène มารับเชิญเป็นคนอ่านจดหมายที่ไปรษณีย์ แฝงนัยยะถึงการดัดแปลงนวนิยาย(ของตนเอง)ให้กลายเป็นสื่อภาพยนตร์ … ภาพบนโต๊ะคือ Che Guevara (1928-67) นักปฏิวัติชาว Argentine แต่โด่งดังจาก Cuban Revolution (1953-59) ตอนนั้นน่าจะเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน

ถ่ายภาพโดย Paul Soulignac สัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานเด่นๆ อาทิ La Pointe Courte (1955), La verte moisson (1959), Mandabi (1968) ฯ

งานภาพของหนังไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์ที่หวือหวา เพียงตั้งกล้องถ่ายภาพระดับสายตา แต่โดดเด่นกับการละเล่นเฉดสีสัน (ด้วยเทคโนโลยีสี Eastmancolor) ตัวละครสวมใส่ผ้าที่มีความฉูดฉาด ลวดลายพื้นบ้าน Senegalese ซึ่งสามารถใช้สำแดงวิทยฐานะ อวดอ้างบารมี แบ่งแยกชนชั้น รวมถึงความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่า vs. โลกยุคสมัยใหม่ (Ibrahima และภรรยาต่างสวมใส่ชุดพื้นบ้าน Senegalese ตรงกันข้ามกับลูกพี่ลูกน้อง Mbaye สวมใส่สูทผูกไทด์)

หนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำยัง Dakar, Senegal ในช่วงหน้าร้อน อากาศอบอุ่น แสงแดดส่องสว่าง แต่จะมีซีเควนซ์หนึ่งระหว่างอ่านจดหมายของหลานชาย มีการฉายให้เห็นภาพกรุง Paris, France ซึ่งมีความหรูหรา ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา คาคลั่งไปด้วยผู้คน สิ่งก่อสร้างทันสมัยใหม่ ซึ่งการถ่ายภาพยังมีความแตกต่างออกไป ใช้กล้อง Hand-Held ทำให้ดูสั่นๆ เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว ทั้งยังมีการปรับโฟกัสพื้นหลัง เบลอ-ชัด ระยะภาพใกล้-ไกล โทนสีเย็นๆ (เหมือนจะถ่ายทำช่วงฤดูหนาว) ดูจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา

เสื้อคลุมแขนกว้างที่ชาว West Africa (Senegal, Mauritania, Niger, Mali, Djibouti) นิยมสวมใส่มีชื่อเรียกว่า Boubou หรือ Grand Boubou สำหรับผู้ชายมักมีสีพื้น ไม่เน้นลวดลาย แต่ผู้หญิงจะเต็มไปด้วยลูกไม้ ลวดลาย และสีสันฉูดฉาดสะดุดตา, ส่วนหมวก/ผ้าคลุมศีรษะมีคำเรียกว่า Moussor

โดยปกติแล้วการสวมชุด Boubou มักในงานพิธีสำคัญๆทางศาสนา อาทิ งานแต่งงาน, งานศพ, วันอิด (วันอีดิ้ลฟิตริ และ วันอีดิ้ลอัฎฮา) รวมถึงเข้ามัสยิด ละมาดทุกวันศุกร์ ฯ

ภรรยาของ Ibrahima เมื่อได้รับจดหมายธนาณัติจากบุรุษไปรณีย์ ป่าวประกาศไปทั่วถึงเงินหลายหมื่นฟรังก์ ซื้อข้าวปลามาเลี้ยงฉลองจนอิ่มจุก ตรงกับสำนวนไทย ชิงสุกก่อนห่าม (ไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งเท่านั้นนะครับ แต่ยังทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัยหรือยังไม่ถึงเวลา) โดยไม่รู้ตัวนี่คือความอิ่มครั้งสุดท้าย ก่อนค่อยๆสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างไป

ซึ่งการรับประทานจนอิ่มหนำ แล้วหลับนอนจนเกินเลยเวลาละหมาด สามารถสะท้อนแนวคิดบริโภคนิยม (Consumerism) สังคมยุคสมัยใหม่ที่ผู้คนเอาแต่กอบโกย แสวงหาความสุขใส่ตน คนรวยมีเงินล้นฟ้า กระยาจกทำได้เพียงหาเช้ากินค่ำ ต่อสู้ดิ้นรนไปวันๆ

หลังจากพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย Ibrahima ก็ได้ข้อสรุปว่าโลกยุคสมัยใหม่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง ใครๆต่างมีพฤติกรรมคอรัปชั่น ไม่มีทางที่คนดีจะมีที่ยืนในสังคม (หยิบรองเท้าขึ้นมาชี้หน้า) มุมกล้องนี้ทำราวกับว่าเขากำลังสนทนากับพระเจ้า (จริงๆคือบุรุษไปรษณีย์) ซึ่งพยายามให้คำแนะนำ ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราทุกคน จะเลือกวิถีปฏิบัติ ใช้ชีวิตอย่างเพียงพอดี หรือศิโรราบต่อความชั่วร้าย

ตัดต่อโดย Gilou Kikoïne, Max Saldinger

หนังดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองตัวละคร Ibrahima Dieng เริ่มจากโกนผม โกนหนวดเครา สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ จากนั้นได้รับธนาณัติจากหลานชาย เพ้อใฝ่ฝันว่าเงินก้อนนี้จักทำให้ชีวิตกินหรูอยู่สบาย แต่ที่ไหนได้กลับนำพาหายนะ ติดหนี้ติดสิน แถมถูกฉ้อฉล ตกเป็นเหยื่อสารพัดกลโกง จนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว

  • Opening Credit
  • เรื่องวุ่นๆของการขึ้นเงินธนาณัติ
    • ภรรยาของ Ibrahima ได้รับจดหมายธนาณัติ ป่าวประกาศไปทั่ว ซื้อข้าวปลามาเลี้ยงฉลองจนอิ่มจุก
    • Ibrahima เดินทางไปขึ้นเงินยังไปรษณีย์
    • (ย้อนอดีต) อ่านจดหมายของหลานชาย Abdou ทำงานอยู่ฝรั่งเศส
    • ขึ้นเงินไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน เลยต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจ แต่ก็ถูกเรียกร้องสูติบัตร
    • วันถัดมาเดินทางไปยังศาลากลาง แต่ก็ยังไม่สามารถออกสูติบัตร เพราะไม่รับรู้วัน-เดือน-ปีเกิด
    • วันถัดมาเดินทางไปหาลูกพี่ลูกน้อง Mbaye รับรู้จักเส้นสายในศาลากลาง ให้มาติดต่อรับวันถัดไป
    • เดินทางไปธนาคารเพื่อขอขึ้นเช็ค (หยิบยืมมาจาก Mbaye) แต่เพราะไม่มีบัตรประชาชนเลยทำไม่ได้ บังเอิญมีเจ้าหน้าที่อาสาขึ้นเงินให้ แลกกับค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อย
    • จากนั้นแวะหาร้านรับจ้างถ่ายรูป
  • เรื่องราวขาลงของ Ibrahima
    • มารดาของ Abdou เดินทางมาทวงเงินที่บุตรชายส่งมาให้
    • Ibrahima เอาสร้อยทองภรรยาไปจำนำ ได้เงินก้อนหนึ่งมาจ่ายให้มารดาของ Abdou
    • เดินทางไปรับรูปถ่าย แต่กลับถูกหลอก เกิดการทะเลาะวิวาท เลือดตกยางออก
    • เมื่อกลับมาบ้านในสภาพเลือดตกยางออก ภรรยาทั้งสองเลยป่าวประกาศว่าสามีถูกทำร้าย สูญสิ้นเงินทอง
    • Ibrahima มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเจ้าของร้านขายของชำ จนถูกขับไล่
    • ได้รับอาสาช่วยเหลือจาก Mbaye ให้เซ็นชื่อ แล้วจะใช้คำสั่งทนายขึ้นเงิน
    • แต่วันถัดมา Mbaye กลับอ้างว่าเงินดังกล่าวถูกโจรกรรม หมดสิ้นเนื้อประดาตัว
  • ปัจฉิมบท, Ibrahima กลับมาบ้านด้วยความสิ้นหวัง พร่ำรำพัน มองหาหนทางออกชีวิต

การลำดับเรื่องราวถือว่าทำออกมาได้เป็นขั้นเป็นตอน จากสถานที่หนึ่งสู่อีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งถ้าดูแล้วสับสนก็จะมีคำอธิบายให้สามารถไล่เรียง จากไปรณีย์ → สถานีตำรวจ → ศาลากลาง → ธนาคารขึ้นเงิน → ร้านถ่ายรูป แสดงให้เห็นถึงความเรื่องมาก ยุ่งยาก สลับซับซ้อน รวมถึงพฤติกรรมคอรัปชั่นของระบบราชการ


ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น จึงทำการบันทึกเสียงพากย์ภายหลังถ่ายทำ (Post-Synchronization) พร้อมๆกับเสียงประกอบ (Sound Effect) และเพลงประกอบ (Soundtrack) ใครเคยรับชม Borom Sarret (1963) ก็น่าจะมักคุ้นกับหลายๆบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน (หรือ Senegalese) ไม่ได้มีนัยยะไปมากกว่าคลอประกอบพื้นหลัง สร้างบรรยากาศความเป็นแอฟริกัน

และที่มีความไพเราะ น่าจดจำอย่างมากๆ คือบทเพลงคำร้อง Sunu Mandat Bi มีความโหยหวน คร่ำครวญ พร่ำรำพันถึงหายนะของเงิน ได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้งจนลืมไม่ลง ขับร้องโดย Isseu Niang (1938-2000) รับบท Aram ภรรยาคนที่สอง

การจากไปของพวกจักรวรรดินิยม ทำให้แอฟริกาก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Post-Colonialism) เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ความเจริญค่อยๆแพร่กระจาย เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ คนร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตสุขสบาย ตรงกันข้ามกับคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กว่าจะหาเงินได้สักสลึงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีชีวิตกินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

Mandabi (1968) นำเสนอหลากปัญหาสังคมที่กำลังเกิดขึ้นใน Senegal เหมารวมถึงแอฟริกันยุคสมัยนั้น ซึ่งล้วนมีต้นสาเหตุมาจาก “เงิน” ทำให้มนุษย์สำแดงธาตุแท้ตัวตน กระทำการฉ้อฉล หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ทำลายความสัมพันธ์ญาติพี่น้อง ผองเพื่อน ค่อยๆถูกระบอบทุนนิยมกลืนกิน อีกไม่นานคงสูญเสียสิ้นจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์

หน่วยงานรัฐก็เฉกเช่นเดียวกัน แม้อาจเป็นงานมั่นคง สวัสดิการดี มีเงินใช้ตอนเกษียณ แต่การต้องทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ ให้บริการประชาชนไม่เว้นวัน สร้างความเอื่อยเฉื่อย เหนื่อยหน่าย ขาดความกระตือรือล้น จึงพยายามมองหาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสร้างรายได้ กอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋า นั่นคือพฤติกรรมคอรัปชั่นที่ค่อยๆบ่อนทำลายองค์กร ประเทศชาติ ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา

ค่านิยมของชาวแอฟริกันในยุคนี้ แทบไม่ต่างจากพวกจักรวรรดินิยม แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ได้ถูกฝัง หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณ/ประวัติศาสตร์แอฟริกัน แม้พวกเขาเต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะนำมาเป็นบทเรียน กลับทำการลอกเลียนแบบอย่าง

ไม่ใช่ว่าผมขี้เกียจเขียน ถึงทำการคัทลอกข้อความจาก Borom Sarret (1963) แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงใจความที่ละม้ายคล้ายคลึง ผลกระทบทางสังคมที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกันคือพวกจักรวรรดินิยม นำเสนอความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นก่อน vs. โลกยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง และแทนที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า กลับถดถอยหลังลงคลอง ราวกับกำลังถูกยึดครอบครองโดย Neo-Colonialism

เกร็ด: Neo-Colonialism แนวปฏิบัติเกี่ยวกับอาณานิคมรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง แต่ใช้วิธีแพร่ขยายอิทธิพล แทรกแซงเศรษฐกิจ การเงิน เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

เมื่อตอน Borom Sarret (1963) ผมสัมผัสได้ว่าผกก. Sembène เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ไม่อยากยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เขาคงรับรู้ตนเองว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกระแสแห่งกาลเวลา ช่วงท้ายของ Mandabi (1968) จึงใช้คำพูดในเชิงชักชวน โน้มน้าวร้องขอให้ผู้ชมช่วยครุ่นคิดหาหนทางออก เราควรร่วมพัฒนาประเทศชาติ ไม่ใช่เอาแต่กอบโกย สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ทำตัวเยี่ยงแร้งกา ไม่ต่างจากพวก(อดีต)จักรวรรดินิยม


ในหน้า Wikipedia บอกว่าหนังได้เข้าฉาย Venice International Film Festival และสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize เทียบเท่ากับ Grand Jury Prize (ที่สอง) แต่ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะตัวหนังไม่ได้มีโลโก้เทศกาล รวมถึงบ่งบอกว่าได้รับรางวัลใดๆ (นั่นเป็นธรรมเนียมของภาพยนตร์ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนัง Big 3 เพื่อป่าวประกาศให้ผู้ชมรับรู้ถึงความสำเร็จ)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ โดย StudioCanal คุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 ออกฉายยัง Lumière Festival สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

แม้พล็อตเรื่องราวของหนังไม่ได้มีความแปลกใหม่ เรียกว่าเฉิ่มเชยล้าหลังเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งน่ามหัศจรรย์ใจคือสถานที่พื้นหลัง นำเสนอวิถีชาวแอฟริกัน นั่นคือสิ่งที่ยุโรป-อเมริกัน หรือแม้แต่เอเชียอย่างเราๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสรับรู้ มันจึงเป็นการเปิดโลก พบเห็นแนวคิดที่แตกต่าง เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน อัดอั้นอารมณ์เกรี้ยวกราด

พบเห็นการทำงานของระบบราชการใน Mandabi (1968) ชวนให้ผมนึกถึง Ikiru (1952), The Trial (1962), Brazil (1985), The Story of Qiu Ju (1992), The Death of Mr. Lazarescu (2005), I, Daniel Blake (2016) ฯ ถ้ามันไม่ย่ำแย่เลวร้ายขนาดนั้น ใครไหนจะเสียเวลามาครุ่นคิดสร้างเป็นภาพยนตร์กันเล่า!

จัดเรต pg กับสารพัดการฉ้อฉล จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

คำโปรย | Mandabi ภาพยนตร์ชวนหัวที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน ตื่นตากับวิถีแอฟริกัน สะท้อนปัญหาสังคมเพื่อสร้างบทเรียนให้กับชีวิต
คุณภาพ | เต็มเปี่ยมด้วยสีสั
ส่วนตัว | ตื่นตา

Chocolat (1988)


Chocolat (1988) French : Claire Denis ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Claire Denis เดินทางกลับบ้านเกิดยัง West Africa แม้จากมาหลายปี แต่หลายๆความทรงจำดีๆ ยังคงติดตราฝังใจ ทำออกมาในลักษณะบันทึกความทรงจำ (memoir) อาจดูเรื่อยๆเปื่อยๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนใช้ผิวสี ช่างมีความตึงเครียด(ทางเพศ)ยิ่งนัก!

แซว: ชื่อหนัง Chocolat หลายคนอาจเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเกี่ยวกับโกโก้ ช็อกโกแล็ต แต่นั่นมันอีกภาพยนตร์ Chocolat (2000) กำกับโดย Lasse Hallström, นำแสดงโดย Juliette Binoche, Judi Dench, Johnny Depp ฯ เรื่องนี้ก็น่าสนใจ ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

เมื่อตอนที่ผมเขียนถึง Beau Travail (1999) แม้พอสังเกตเห็น ‘female gaze’ ที่สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน แต่ยังเข้าไม่ถึงสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis กระทั่งครานี้เมื่อได้รับชม Chocolat (1988) ค่อยตระหนักความสนใจของเธอคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Sexual Tension’ ความตึงเครียดทางเพศ ไม่จำเพาะเจาะจงชาย-หญิง บางครั้งชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือระหว่างพี่-น้อง พ่อ-แม่-ลูก ฯ นี่เป็นสิ่งมองไม่เห็นด้วยตา เพียงสัมผัสได้ด้วยอารมณ์

ซึ่งความตึงเครียดทางเพศระหว่างหญิงชาวฝรั่งเศส กับคนรับใช้ผิวสี(ชาวแคเมอรูน) สามารถสะท้อนความสัมพันธ์กับประเทศอาณานิคม (French Cameroon) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ และที่ต้องเอ่ยปากชมคือการแสดงของ Isaach de Bankolé สง่างามไม่ด้อยไปกว่า Sidney Poitier

ระหว่างรับชม Chocolat (1988) ช่วงแรกๆผมนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Black Narcissus (1947), The River (1951), Out of Africa (1985) ฯ ที่เกี่ยวกับคนขาวเดินทางไปปักหลักอาศัยยังประเทศอาณานิคม และพอเริ่มสังเกตเห็น ‘Sexual Tension’ ก็ชวนให้นึกถึงอีกเรื่อง A Passage to India (1984) … เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้ลองหารับชมดูนะครับ


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ

ระหว่างทำงานเป็นผู้ช่วย Wim Wenders ทำให้ผกก. Denis เกิดความตระหนักว่าถึงเวลามองหาโปรเจคในความสนใจ ริเริ่มต้นสรรค์สร้างผลงานของตนเองเสียที! หลังจากครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ๆ ขึ้นเครื่องบินออกเดินทางสู่ Senegal (หนึ่งในประเทศที่เคยอยู่อาศัยวัยเด็ก) ค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แทบไม่มีอะไรหลงเหลือจากความทรงจำ

เมื่อเดินทางกลับฝรั่งเศส ร่วมงานเพื่อนนักเขียนขาประจำ Jean-Pol Fargeau นำแรงบันดาลใจจากทริปล่าสุดนี้ พัฒนาบทหนังออกมาในลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) หวนระลึกความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับอดีตคนรับใช้ผิวสี ระหว่างอาศัยอยู่ที่ Cameroon

เกร็ด: ชื่อหนัง Chocolat มาจากคำว่า Être Chocolat แปลว่า To be Cheated เป็นคำเรียกในเกมไพ่ เพื่อใช้ล่อหลอก ให้อีกฝ่ายหลงเชื่อ เลยตกเป็นเหยื่อกลโกง ขณะเดียวกันยังคือศัพท์สแลง คำหยาบคายที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกคนผิวสี/ทาสแอฟริกัน นั่นเพราะโกโก้ ช็อกโกแลต สมัยก่อนเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากแอฟริกาสู่ยุโรปผ่านระบบทาส (Slave System)


หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างออกเดินเรื่อยเปื่อยอยู่บนท้องถนน ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)ที่สามารถพูดฝรั่งเศส แท้จริงแล้วเป็นชาว African-American อพยพมาปักหลักอาศัยอยู่ Douala, Cameroon อาสาพาขับรถไปส่งยังเป้าหมาย

ระหว่างการเดินทาง France หวนระลึกนึกถึงอดีต ค.ศ. 1957 เมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง สนิทสนมกับคนรับใช้ผิวสี อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวที่ Mindif, French Cameroon

  • บิดา Marc Dalens (รับบทโดย François Cluzet) ทำงานเป็นผู้ดูแลอาณานิคม (Colonial Administrator) มักไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ต่างๆ
  • มารดา Aimée Dalens (รับบทโดย Giulia Boschi) เพราะสามีไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงเกิดความโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หวาดกลัวต่อความเงียบงันของทวีปแอฟริกา จึงโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย
  • คนรับใช้ผิวสี Protée (รับบทโดย Isaach de Bankolé) ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบวางตัวหัวสูงส่ง แม้ตั้งใจทำงานตามคำสั่งนายจ้าง แต่ภายในเหมือนจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พยายามเก็บกด อดกลั้น ขีดเส้นแบ่งความถูกต้องเหมาะสมระหว่างชาติพันธุ์

Isaach de Bankolé ชื่อจริง Zachari Bankolé (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติ Ivorian เกิดที่ Abidjan, Ivory Coast ในครอบครัวเชื้อสาย Yoruba อพยพมาจาก Benin และ Nigeria, โตขึ้นเดินทางสู่กรุง Paris สำเร็จการศึกษาปริญญาโทฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ University of Paris, ระหว่างเข้าโรงเรียนสอนการบิน มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Gérard Vergez แนะนำให้สมัครเข้าโรงเรียนการแสดง Cours Simon, แจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Black Mic Mac (1986), Chocolat (1988), A Soldier’s Daughter Never Cries (1998), Manderlay (2005), Casino Royale (2006), Black Panther (2018) ฯ

รับบทคนรับใช้ผิวสี Protée มองผิวเหมือนเหมือนเป็นคนจงรักภักดี ปฏิบัติตามคำสั่งนายจ้างโดยไม่เคยต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นปฏิกิริยาท่าทางมักมีความกล้ำกลืน พยายามอดกลั้นฝืนทน เพราะไม่เคยมองตนเองต่ำต้อยด้อยค่ากว่าใคร พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ แต่เมื่อถูกกระทำร้ายก็พร้อมโต้ตอบเอาคืน เขาเลยต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Protée หรือ Proteus ในปรัมปรากรีกคือชื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลรุ่นเก่า หนึ่งในสมาชิก Old Man of the Sea ฟังดูอาจไม่ได้มีความเกี่ยวกับข้องอะไรกับหนัง แต่ผมอ่านเจอว่าผกก. Denis เคยทำการเปรียบเทียบทวีปแอฟริกันดั่งมหาสมุทร

I always thought of Herman Melville (ผู้แต่งนิยาย Moby Dick) as a brother in the sense of sharing his feelings of sadness, nostalgia and disappointment, the sense of having lost something. For me Africa is like the seas Melville missed so much.

Claire Denis

เกร็ด2: ผมยังเจออีกบทความหนึ่งว่าผกก. Denis ไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า Protégé (ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ ได้รับการคุ้มครอง ในวงการบันเทิงหมายถึงลูกศิษย์ เด็กฝึกงาน) มองเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม เลยตั้งชื่อตัวละคร Protée (จริงๆมันก็ไม่ได้มีความละม้ายคล้าย Protégé สักเท่าไหร่) คำเรียกของคนขาวในเชิงดูแคลนชาวผิวสี

หน้าตาอาจไม่ละม้ายคล้าย แต่หลายๆสิ่งอย่างของ Bankolé ชวนให้ผมนึกถึงโคตรนักแสดง Sidney Poitier ทั้งบุคลิกภาพ วางมาดเหมือนผู้ดี มีการศึกษา ทำตัวสุภาพบุรุษ ขณะเดียวกันยังเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด เต็มไปด้วยความอัดอั้น ขัดแย้งภายใน ใกล้ถึงเวลาปะทุระเบิดออกมา

สายตาของ Protée เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่าย สมเพศเวทนา Aimée ไม่เข้าใจความอ่อนแอ หวาดกลัวโน่นนี่นั่น พึ่งพาตนเองไม่ค่อยจะได้ แม้ถูกเธออ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสี กลับไม่มีความรู้สึกอะไรใดๆ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ปฏิเสธทำตามคำสั่ง พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ ไม่ต้องการให้ใครก้าวเลยเถิด (ยกเว้นเพียงเด็กหญิงที่ยังไร้เดียงสา) แต่ถ้าใครล่วงมาก็พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน ปฏิเสธยินยอมศิโรราบต่อผู้อื่นใด


Giulia Boschi (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Rome เป็นบุตรของพิธีกรรายการโทรทัศน์ Aba Cercato, โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละคอนเวที เข้าสู่วงการจากภาพยนตร์ Pianoforte (1984), Secrets Secrets (1985), The Sicilian (1987), Chocolat (1988), ตั้งแต่ปี 2001 เกษียณตัวจากการแสดงเพื่อทำงานแพทย์แผนจีน เขียนตำรา กลายเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ฯ

รับบท Aimée Dalens ภรรยาผู้อ่อนแอ ขลาดเขลา ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่อยู่ใหม่ เพราะรักจึงยินยอมติดตามสามีมายังดินแดนทุรกันดารห่างไกล ถึงอย่างนั้นกลับถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง(กับบุตรสาว)บ่อยครั้ง โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว กลัวความตาย เลยพยายามโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย ใกล้ตัวสุดคือคนรับใช้ผิวสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับไม่เคยแสดงความสนใจ

ตัวละครของ Boschi คือตัวแทนประเทศอาณานิคม ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง ชอบชี้นิ้วออกคำสั่ง ไม่พึงพอใจอะไรก็ใส่อารมณ์เกรี้ยวกราด แต่ทุกการแสดงออกของเธอเป็นความพยายามปกปิดด้านอ่อนแอ ขลาดเขลา หวาดกลัวความตาย ทำไมฉันต้องมาทุกข์ทรมานอยู่ยังดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้?

ไฮไลท์การแสดงก็คือปฏิกิริยาสีหน้า ท่าทาง สำหรับอ่อยเหยื่อคนใช้ผิวสี Protée นี่อาจต้องจับจ้องกันสักหน่อย เพราะเธอพยายามทำให้ไม่ประเจิดประเจ้อ เด่นชัดเจนเกินไป แต่ภาษาภาพยนตร์จะช่วยให้ผู้ชมสังเกตเห็นรายละเอียดเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น (ถ้าอ่านออกนะ) … เป็นการซ่อนเร้นที่แนบเนียน ซับซ้อน และน่าค้นหา


ถ่ายภาพโดย Robert Alazraki (เกิดปี 1944) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Casablanca, French Morocco โตขึ้นเดินทางสู่ London เข้าเรียนการถ่ายภาพ Royal College of Art หลังสำเร็จการศึกษาเดินทางสู่ฝรั่งเศส เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตภาพยนตร์ Les petites fugues (1979), Chocolat (1988), And Then There Was Light (1989), My Father’s Glory (1990), My Mother’s Castle (1990) ฯ

ผกก. Denis ไม่ได้ใคร่สนใจในทฤษฎีภาพยนตร์นัก “Film theory is just a pain in the ass!” สไตล์ของเธอให้ความสำคัญกับภาพและเสียง สำหรับสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ “I want to share something that is a vision, or a feeling.” โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราด และเศร้าโทมนัส ทำออกมาในลักษณะกวีนิพนธ์ จดบันทึกความทรงจำ (Memoir)

Anger is part of my relation to the world I’m filled with anger, I’m filled with regret, I’m filled with great memories, also poetic memories.

Claire Denis

ด้วยเหตุนี้งานภาพของหนังจึงมักตั้งกล้องบันทึกภาพ นานๆครั้งถึงมีการขยับเคลื่อนไหว ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย (แลดูคล้ายๆการถ่ายภาพนิ่ง) ถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศโดยรอบของสถานที่นั้นๆ

การตั้งกล้องบันทึกภาพ มักเลือกใช้ระยะกลาง-ไกล (Middle/Long Shot) พบเห็นอากัปกิริยา ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ไม่เน้นถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดระหว่างตัวละคร เหมือนมีช่องว่าง กำแพงที่มองไม่เห็น แบ่งแยกพวกเขาออกจากกัน


ภาพแรกของหนังตั้งกล้องถ่ายทำริมชายหาด หันออกไปทางท้องทะเล พบเห็นพ่อ-ลูกผิวสีกำลังเล่นน้ำกันอย่างสุดสนาน หลังจากจบ Opening Credit กล้องทำการแพนนิ่ง หมุนประมาณครึ่งโลก 180 องศา พบเห็นหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศส กำลังนั่งเหม่อล่องลอยอยู่ริมหาดทราย

เนื่องจากผมขี้เกียจทำไฟล์เคลื่อนไหว (GIF) ก็เลยนำสองภาพเริ่มต้น-สิ้นสุด กล้องถ่ายท้องทะเล-หันหน้าเข้าฝั่ง พ่อลูกผิวสี-หญิงสาวผิวขาว ถือเป็นสองช็อตที่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม! แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างกลาง เพียงช่องว่าง ความเหินห่าง เพราะพวกเขาต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน

นอกจากเรื่องมิตรภาพ น้ำใจไมตรี ยังสามารถสื่อถึงชนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก แทบทุกประเทศได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิอาณานิคม พวกเขาสามารถขับเคลื่อน กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง โดยไม่มีใครควบคุมครอบงำ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป!

จะว่าไปเด็กชาย (ที่มากับบิดา) ยังถือเป็นภาพสะท้อนวัยเด็กของ France สำหรับคนช่างสังเกตน่าจะพบเห็นถ้อยคำพูด กิริยาท่าทาง หลายสิ่งอย่างมีความละม้ายคล้ายคลึง

Pic de Mindif หรือ Mindif Peak หรือ Mindif Tooth ภูเขาในย่าน Maya-Kani ทางตอนเหนือสุด (Far North) ของประเทศ Cameroon ความสูงประมาณ 769 เมตร มีความโดดเด่นเป็นสง่า แต่การจะปีนป่ายถึงยอดไม่เรื่อง่าย เพราะเป็นโขดหินและมีความลาดชัน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท้าทายของนักปีนเขาใน Central และ West Africa

ละม้ายคล้ายๆ Mount Fuji ของประเทศญี่ปุ่น ยอดเขา Mindif ถือเป็นจุดศูนย์กลาง/ที่พึ่งพักพิงทางจิตใจของผู้คนละแวกนี้ มีความสูงใหญ่ ตั้งตระหง่าน จึงพบเห็นแทรกแซมหลายๆช็อตฉาก สามารถสื่อถึงผืนแผ่นดินแอฟริกาที่แม้ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดินิยม แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน ที่มีความเข้มแข็งแกร่งประดุจภูผา

ขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ Cameroon สักหน่อยก็แล้วกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) กลายเป็น German Kamerun จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18) ความพ่ายแพ้ทำให้เยอรมันล่มสลาย จักรวรรดิฝรั่งเศส (French Empire) และสหราชอาณาจักร (British Empire) แบ่งเค้กออกเป็นสองก้อนฟากฝั่งตะวันออก (French Cameroons) และฟากฝั่งตะวันตก (British Cameroons)

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1946 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาติให้ Cameroon จัดตั้งรัฐบาลปกครองกันเอง แล้วได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1960 กลายมาเป็น Republic of Cameroon จากนั้นค่อยๆกลืนกินดินแดนในส่วนสหราชอาณาจักร จนสามารถรวมประเทศได้สำเร็จวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1961

เกร็ด: แม้ชาว Cameroonese ส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่น African แต่กลับเลือกใช้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาสื่อสารทางการ

การต้องมาอาศัยอยู่ต่างที่ต่างถิ่น ต่างวิถีชีวิต ต่างวัฒนธรรม มักทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘cultural shock’ ไม่สามารถปรับตัวยินยอมรับ แสดงอาการหวาดกังวล มารดา Aimée ยามค่ำคืนหวาดกลัวเสียงไฮยีน่า ถึงขนาดต้องเรียก Protée มาเฝ้ายามในห้องนอน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัวอะไร เพราะมันคือเหตุการณ์ปกติทั่วไป อยู่ไปอยู่มาเดี๋ยวก็มักคุ้นเคยชิน

เช่นเดียวกับความตายของสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพียงยินยอมรับแล้วดำเนินชีวิตต่อไป แต่พวกคนขาวกลับเรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามหนทางของตนเอง … นี่คือลักษณะของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

เรื่องอาหารการกินของมารดา นี่ก็ชัดเจนมากๆถึงการไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามความต้องการ ฉันคือชาวฝรั่งเศสก็ต้องกินอาหารฝรั่งเศส! พอประณีประณอมได้กับอาหารอังกฤษ แต่ไม่เคยกล่าวถึงอาหารของชาวแอฟริกัน นี่เป็นการแบ่งแยกสถานะของตนเองอย่างชัดเจน

จะว่าไปขนมปังมดที่ Protée ทำให้กับเด็กหญิง France นั่นแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กยังสามารถเรียนรู้ ปรับตัว เปิดใจให้กับสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักการสร้างเส้นแบ่ง/กำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น แต่ตรงกันข้ามกับ Protée ซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนมารดา Aimée จึงพบเห็นการปฏิเสธมื้ออาหาร ทานผลไม้ได้คำหนึ่งแล้วโยนทิ้ง

Aimée ออกคำสั่งให้ Protée รูดซิปชุดเดรสด้านหลัง มองผิวเผินก็แค่การกระทำทั่วๆไป แต่ลีลาการนำเสนอของผกก. Denis ใช้กล้องแทนกระจกเงา ทำให้ดูเหมือนตัวละครหันมาสบตา (Breaking the Fourth Wall) ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน ซึ่งสามารถเทียบแทนความรู้สึกระหว่างทั้งสองขณะนี้ นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่?

ปล. เห็นภาพช็อตนี้ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Persona (1966) บุคคลสองราวกับจะกลืนกินกันและกัน

การมาถึงของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan ในขณะที่สามีออกสำรวจ ไม่อยู่บ้าน นี่แสดงถึงนัยยะเคลือบแฝง ลับลมคมใน สังเกตจากถ้อยคำพูด “I have that same felling with you Aimée” ชัดเจนว่าต้องการเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน อาศัยอยู่ดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้ มันช่างโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว โหยหาใครสักคนมาเติมเต็มความต้องการหัวใจ

ซึ่งช็อตที่ Jonathan พูดกล่าวประโยคนี้ เดิมที Aimée เหมือนกำลังเล่นหูเล่นตากับ Protée จากนั้นเขาเดินเข้ามาบดบังมิดชิด เรียกร้องความสนใจ ทำไมไม่เอาพวกเดียวกัน?

สภาพอากาศร้อนระอุ คงสร้างความลุ่มร้อนรน กระวนกระวายให้กับ Aimée เพราะยุโรปอากาศเย็นสบาย เมื่อต้องมาพบเจอแดดร้อนๆ เหงื่อไคลไหลย้อย ร่างกายจึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแอฟริกา

Aimée เป็นคนที่มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตนในชาติพันธุ์ ซึ่งความรู้สึกบางอย่างที่มีต่อกับ Protée ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ไม่ต้องการยินยอมรับ ไม่ต้องการอีกฝ่ายอยู่เคียงชิดใกล้ (เลยสั่งไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามก้าวก่ายในห้องนอน) แต่หลายๆครั้งกลับเริ่มไม่สามารถหักห้ามใจตนเอง

การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม มักนำเอาสิ่งต่างๆที่สร้างความสะดวกสบาย อย่างการอาบน้ำด้วยฝักบัว พบเห็นโดย Protée จึงทำการลอกเลียนแบบ ประดิษฐ์คิดค้นด้วยวิธีการของตนเอง … นี่แสดงถึงอิทธิพลของจักรวรรดินิยม บางสิ่งอย่างอาจไม่ได้ต้องการเผยแพร่ สงวนไว้กับตน แต่ถ้ามันก่อให้เกิดประโยชน์ ย่อมเกิดการคัทลอกเลียนแบบ

ปฏิกิริยาสีหน้าของ Protée หลังได้ยินเสียง Aimée และ France เดินผ่านมาขณะกำลังอาบน้ำ นั่นดูไม่ใช่ความอับอาย แต่รู้สึกเหมือนเสียหน้า ราวกับว่าไม่ต้องการให้นายจ้างรับรู้ว่าตนเองทำการลอกเลียนแบบฝักบัวอาบน้ำ … คงเป็นศักดิ์ศรี ทะนงตนของชาวแอฟริกัน ไม่ต้องการยินยอมรับพวกจักรวรรดินิยม แต่กลับได้รับอิทธิพล แอบทำตามหลายๆสิ่งอย่าง

จะว่าไปผมไม่เคยได้ยินตัวละครชาวฝรั่งเศสพูดภาษาแอฟริกันในหนัง! (แต่ตัวละครชาวแอฟริกันได้ยินพูดฝรั่งเศส อังกฤษ และแอฟริกัน) นั่นก็แสดงถึงความไม่สนใจใยดีที่จะเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่น ผิดกับเด็กหญิง France เล่นเกมกับ Protée ชี้นิ้วทายคำเรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งยังล้อกับตอนต้นเรื่องที่เด็กชายผิวสีเล่นทายคำแบบเดียวกันนี้กับบิดาระหว่างขับรถไปส่งหญิงสาว France

สมาชิกเครื่องบินโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ จำต้องลงจอดฉุกเฉิน ณ Mindif ประกอบด้วย

  • กัปตัน Captain Védrine
  • ต้นหน Courbassol
  • สามี Machinard เจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาประจำการยัง M’Banga และภรรยา Mireille ออกเดินทางมาแอฟริกาครั้งแรก เลยพามาท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา
    • แต่ภายหลังภรรยามีอาการปวดท้องไส้ (คาดว่าน่าจะท้องร่วง) ต้องรอคอยตอนเช้าถึงสามารถพาไปส่งโรงพยาบาล
  • Joseph Delpich เจ้าของไร่กาแฟ มาพร้อมกับแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse
    • แท้จริงแล้วเธอคนนั้นคือชู้รัก (หรือภรรยาก็ไม่รู้) ภายนอกแสดงออกแบบนาย-บ่าว แต่พออยู่ในห้องนอนก็ปรนปรนิบัติเธออย่างดี

ท่าทางลับๆล่อๆ ลุกรี้ร้อนรนของ Joseph Delpich เต็มไปด้วยลับลมคมใน พยายามใช้เงินซื้อใจชาวแอฟริกัน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่มีใครสนใจ … เอาจริงๆถ้าพูดคุยอย่างสุภาพ ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม ก็อาจได้รับความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น แต่พฤติกรรมตัวละคร ครุ่นคิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง เลยถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

และสิ่งน่าตกใจที่สุดก็คือแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse ท่าทางลับๆล่อๆในห้องครัว และพอเข้ามาห้องพักก็ยังปิดไฟมิดชิด นี่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ต้องการปกปิด แต่ไม่ว่าจะในฐานะภรรยาหรือชู้รัก การแสดงออกของ Joseph ดูไม่ให้การเคารพ เหมือนทำการบีบบังคับ ใช้อำนาจ(ทางเพศ)ควบคุมครอบงำ จำต้องทำตามคำสั่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เมื่อตอนกลางวันถูกสั่งให้ทำสนามเปตอง พบว่ามีความสนุกสนาน แปลกใหม่ ยามค่ำคืนบรรดาคนใช้จึงโยนเล่นกันอย่างสนุกสนาน … นี่คือวิธีการของลัทธิอาณานิคม นำสิ่งต่างๆมาเผยแพร่ให้กับคนท้องถิ่น บางเรื่องอาจเป็นสิ่งดี บางเรื่องก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใด ทำให้เกิดการผสมผสาน กลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรม ค่อยๆถูกกลืนกินโดยไม่รับรู้ตัว

ทั้งๆแสดงความรังเกียจ พูดคำเหยียดหยาม แต่ทว่า Luc Segalen กลับเลือกใช้ชีวิตแบบเดียวกับชาวแอฟริกัน ตั้งแต่ขุดดินทำถนน อาบน้ำนอกบ้าน รับประทานอาหารร่วมกับคนใช้ ในสายตาของ Protée เหล่านี้คือพฤติกรรมดูถูกหมิ่นแคลน บังเกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด จนในที่สุดก็มีเรื่องทะเลาะวิวาท กระทำร้ายร่างกาย สู้ไม่ได้เลยต้องหลบหนีจากไป

พฤติกรรมขัดย้อนแย้งของ Segalen น่าจะต้องการสื่อถือคนขาวไม่มีทางกลายเป็นคนผิวสี ต่อให้พยายามลอกเลียนแบบ กระทำตามทุกสิ่งอย่าง แต่สิ่งแตกต่างคือความรู้สึกนึกคิด ถ้าจิตใจยังคงปิดกั้น ไม่เปิดใจยินยอมรับ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

ขณะเดียวกันเหมือนว่า Segalen จะมีความสนใจในตัว Aimée สังเกตเห็นแววตาของเธอที่มีต่อ Protée หลายต่อหลายครั้งจึงพยายามขโมยนซีน ทำตนเองให้โดดเด่น พูดง่ายๆก็คือเรียกร้องความสนใจ … กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์เพื่อแก่งแย่งชิงหญิงสาว

Aimée นั่งหลบมุมอยู่ข้างๆประตูระหว่าง Protée กำลังปิดผ้าม่าน ทำเหมือนกำลังเฝ้ารอคอย อ่อยเหยื่อ เสร็จเมื่อไหร่ช่วยพาฉันเข้าห้องนอน แต่เขากลับฉุดกระชากให้เธอลุกขึ้นอย่างรุนแรง ปลุกตื่นจากความฝัน แล้วเดินจากไปอย่างไร้เยื่อใย ยังคงหงุดหงิดไม่พึงพอใจ เหมารวมพวกฝรั่งเศสไม่แตกต่างจาก Segalen 

จากเหตุการณ์เมื่อค่ำคืน ทำให้ Aimée เกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อ Protée ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ(ทางเพศ) จึงขอให้สามีขับไล่ ผลักไส มุมกล้องถ่ายจากภายในบ้าน ประตูทางเข้าเปิดออกพบเห็นทิวเขา Mindif Peak (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) และ Protée กำลังปัดกวาดเช็ดถู รดน้ำต้นไม้อยู่เบื้องหลัง … นี่เป็นช็อตสไตล์ Citizen Kane บุคคลผู้อยู่ภายนอก เบื้องหลัง ระยะห่างไกลออกไป ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงในการตัดสินใจใดๆ (นั่นรวมถึงช็อต Close-Up ใบหน้าสามีที่บดบังทิวทัศน์ด้านหลังมิดชิด)

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ระหว่างมารดายืนกรานว่าจะขับไล่ Protée คงสร้างความไม่พึงพอใจให้กับเด็กหญิง France ลุกขึ้นจากตัก แล้วเดินออกทางประตูหน้าบ้าน … หนังจงใจทำให้รายละเอียดตรงนี้ไม่เด่นชัดนัก เพราะให้ผู้ชมค้นพบความรู้สึกของตัวละครด้วยตนเอง

การถูกไล่ออกจากงานของ Protée ฟังดูอาจเป็นสิ่งเลวร้าย แต่เราสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำ ทำตามคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป ซึ่งเขายังมานั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ รุ่งอรุณ เช้าวันใหม่ และบทเพลงชื่อ Earth Bird (จริงๆมันควรจะ Early Bird หรือเปล่า?)

รอมฎอน คือการถือศีลอดของชาวมุสลิม (เดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม หรือระหว่างมีนาคม-เมษายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งสามารถสื่อถึงช่วงเวลาที่ชาวแอฟริกันต้องอดทน อดกลั้น จากการถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกจักรวรรดินิยม จนกระทั่ง Protée ถูกไล่ออกจากงาน เช้าวันนี้เหมือนจะสิ้นสุดเดือนรอมฏอนพอดิบดี!

มันอาจเป็นการกระทำชั่วร้ายของ Protée ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดหลังถูกนายจ้างขับไล่ออกจากงาน ด้วยการล่อหลอกเด็กสาวผู้ไม่รู้ประสีประสา จับท่อน้ำร้อน เกิดรอยไหม้บนฝ่ายมือที่ไม่มีวันเลือนหาย แต่นัยยะของแผลเป็นนี้สื่อถึงตราบาปที่จะตราฝังชั่วนิรันดร์อยู่ในความทรงจำ จิตวิญญาณชาวฝรั่งเศส รวมถึงบรรดาประเทศอาณานิคม เข้ามายึดครอบครอง เรียกร้องเอาโน่นนี่นั่น จากนั้นก็สะบัดตูดหนีหาย ใครกันแน่ที่โฉดชั่วร้าย?

เครื่องบินขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ยังต้องการจะนำเปียโนหลังใหญ่ยัดเยียดกลับไปด้วย นี่ไม่ใช่แค่ไม่รู้จักพอ ไม่ประมาณตนเอง ยังแสดงถึงพฤติกรรมกอบโกยของจักรวรรดินิยม แสวงหาผลประโยชน์ต่อประเทศอาณานิคม และพอถึงเวลาจากไป (ภายหลังการประกาศอิสรภาพ) ยังไม่ยินยอมทอดทิ้งอะไรสักสิ่งอย่างไว้

“I’m nothing here. If I died now, I’d completely disappear.”

William J. Park รับบทโดย Emmet Judson Williamson

คำกล่าวนี้อาจฟังดูหดหู่ เศร้าสร้อย น่าผิดหวัง แต่นั่นคือทัศนคติพวกชาวยุโรป+อเมริกัน โหยหาการมีตัวตน ได้รับการยินยอมรับ ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจบารมี ยศศักดิ์ศรี ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ฝากรอยเท้าไว้ในประวัติศาสตร์ กลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา

แต่สำหรับชาวแอฟริกัน ทุกคนล้วนมีความเป็นพี่น้องหนึ่งเดียวกัน เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียง เงินทอง หรือพิสูจน์การมีตัวตนว่าฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร เพราะมนุษย์ล้วนเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วัฏจักรชีวิต พบเห็นได้โดยปกติทั่วไป

สำหรับคนช่างสังเกตจะพบว่าซับไตเติ้ลมักไม่ค่อยแปลภาษาแอฟริกัน นั่นทำให้ตอนชายผิวสีอ่านลายมือของ France เหมือนจะพูดบอกอะไรสักอย่าง (เป็นภาษาแอฟริกัน) แต่กลับไม่ปรากฎคำแปล เลยไม่รู้ให้คำแนะนำอะไร แถมหนังก็ยังตัดข้าม กระโดดไปตอนเตรียมขึ้นเครื่องบินกลับฝรั่งเศส สร้างความคลุมเคลือ แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิด สรุปแล้วหญิงสาวได้เดินทางไปแวะเวียนบ้านหลังเก่าที่ Mindif หรือไม่?? นอกจากนี้การไม่สามารถอ่านลายมือ ไม่รับรู้อนาคต (ไม่ใช่ไม่มีอนาคตนะครับ) สื่อถึงอะไรก็เกิดขึ้นได้ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น เพราะหนังถ่ายภาพระยะกลาง-ไกล และจงใจไม่ให้เห็นใบหน้านักแสดงอย่างชัดเจน นั่นคือ France เหมือนจะคลาดแคล้วกับ Protée ทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร ดูออกไหมเอ่ยว่าคือคนไหน? เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพื่อสื่อถึงการปลดแอก/แยกจากระหว่าง France (สื่อได้ทั้งหญิงสาวและประเทศฝรั่งเศส) และ Protée (ที่เป็นตัวแทนชาวแอฟริกัน) ไม่ได้เป็นของกันและกันอีกต่อไป

สามพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร เข้ามาหลบฝนใต้อาคาร พูดคุยสนทนากันอย่างออกรส แต่ผู้ชมจะได้ยินเพียงสายฝนและบทเพลง African Market นี่เป็นตอนจบที่อาจขัดใจใครหลายคน ทว่าสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตน ชนชาวแอฟริกัน พวกเขาโหยหาความเรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เมื่อได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากพวกอาณานิคม จึงหวนกลับหารากเหง้า ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย

ตัดต่อโดย Monica Coleman, Claudine Merlin, Sylvie Quester

หนังเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิด Cameroon (ไม่ได้ระบุปี แต่คาดเดาไม่ยากว่าคือปัจจุบันนั้น ค.ศ. 1987-88) เคยพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง ค.ศ. 1957 ยังคงจดจำความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี Protée ตั้งแต่แรกพบเจอ และร่ำลาจากกัน

เรื่องราวในความทรงจำของ France นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึก ‘Memoir’ เพียงร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบ พบเห็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมารดา Aimée และคนรับใช้ผิวสี Protée เหมือนมีอะไรบางอย่างที่เด็กหญิงยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่

  • อารัมบท, หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)อาสาขับรถพาไปส่งยังที่หมายปลายทาง
  • France, มารดา Aimée และ Protée
    • France นั่งหลังรถกับ Protée กำลังเดินทางไปยังบ้านที่ Mindif, French Cameroon
    • บิดาเตรียมออกสำรวจ หลงเหลือเพียง France, มารดา Aimée และบรรดาคนรับใช้ผิวสี
    • กิจวัตรประจำวันเรื่อยเปื่อยของ France, มารดา Aimée และ Protée
    • ยามค่ำคืนได้ยินเสียงไฮยีน่า มารดา Aimée จึงขอให้ Protée เฝ้ายามอยู่ในห้องนอน
  • การมาเยี่ยมเยียนของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan
    • หลังกลับจากเยี่ยมเยียนบาทหลวง Aimée ร้องขอพ่อครัวให้ทำอาหารฝรั่งเศส
    • แต่แล้วก็มีแขกมาเยือนโดยไม่ได้นัดหมาย Aimée จึงต้องร้องขอให้พ่อครัวทำอาหารอังกฤษ
    • ดินเนอร์ เต้นรำ ดื่มด่ำ พอหลับนอนก็ปิดเครื่องปั่นไฟ
    • หลังผู้ว่าการชาวอังกฤษเดินทางจากไป France, มารดา Aimée และ Protée ก็หวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เฝ้ารอคอยวันที่สามีกลับบ้าน
  • การมาถึงของเครื่องบินท่องเที่ยว ลงจอดฉุกเฉิน
    • ยามเย็นพบเห็นเครื่องบินลำหนึ่งผ่านบ้านไป
    • วันถัดมาบิดาต้อนรับสมาชิกเครื่องบินลำนั้น ลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากเครื่อยนต์ขัดข้อง
    • รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
  • เรื่องวุ่นๆของ Luc Segalen
    • วันถัดมาคนงานทำถนน ซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบิน
    • ภรรยาของผู้โดยสาร ล้มป่วยอะไรสักอย่าง แต่หมอไม่สามารถรักษา ต้องรอเช้าวันถัดมาถึงสามารถเดินทางเข้าเมือง
    • หนึ่งในผู้โดยสาร Luc Segalen มีความขัดแย้งกับ Protée จนมีเรื่องทะเลาะวิวาท จนกระทั่งชกต่อย
  • การจากไปของ Protée
    • Aimée พยายามเกี้ยวพาราสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับปฏิเสธ
    • Aimée จึงขอให้สามีขับไล่ Protée
    • เครื่องบินซ่อมเสร็จ ผู้สารขึ้นเครื่องออกเดินทางกลับ
  • ปัจฉิมบท, ตัดกลับมาปัจจุบัน France เดินทางมาถึงสนามบิน เตรียมขึ้นเครื่องกลับฝรั่งเศส

การดำเนินเรื่องของหนังถือว่ามีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า (ในมุมมองของผู้ชมสมัยใหม่) แต่จุดประสงค์ของผกก. Denis ชัดเจนว่าต้องการให้ซึมซับบรรยากาศ ความสวยงามของสถานที่ วิถีชีวิตชาวแอฟริกัน (ที่ไม่ได้มีความเร่งรีบร้อนเหมือนยุโรป+อเมริกัน) รวมถึงสัมผัสความตึงเครียดระหว่างตัวละคร สร้างความปั่นป่วนมวนท้องไส้โดยไม่รู้ตัว


เพลงประกอบโดย Abdullah Ibrahim ชื่อจริง Adolph Johannes Brand (เกิดปี 1934) นักเปียโน แต่งเพลงสัญชาติ South African เกิดที่ Cape Town, South Africa มารดาเป็นนักเปียโน ทำการแสดงในโบสถ์ระหว่างพิธีมิสซา บุตรชายเลยมีความชื่นชอบ ประทับใจ ฝึกฝนร่ำเรียนดนตรีตั้งแต่ 7 ขวบ กลายเป็นมืออาชีพตอนอายุ 15 ซึมซับรับสไตล์ดนตรี Marabi, Mbaqanga และ American Jazz, อพยพย้ายสู่ยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ออกอัลบัม ทำการแสดงทัวร์ เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Chocolat (1988), No Fear, No Die (1990) ฯ

แม้ว่าผกก. Denis จะนิยมชมชอบการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ในการสร้างบรรยากาศคลอประกอบพื้นหลัง (ทั้งกลางวัน-กลางคืน จะได้ยินเสียงจิ้งหรีดเรไรอยู่ตลอดเวลา) แต่ทว่าเพลงประกอบจะช่วยเสริมกลิ่นอายความเป็นแอฟริกัน บทเพลงของ Ibrahim มีส่วนผสมของท่วงทำนองพื้นบ้าน(แอฟริกัน) + American Jazz แม้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกแทบทั้งหมด แต่กลับยังมีความเฉพาะตัวในสไตล์ดนตรีแอฟริกัน

เกร็ด: Abdullah Ibrahim ไม่ได้แค่ประพันธ์เพลงประกอบ แต่ยังเล่นเปียโน เป่าฟลุต และส่งเสียงเอื้อยแจ้ว ร่วมกับวงดนตรี Dollar Brand

บทเพลงชื่อ Pule [แปลว่า มั่งคั่ง, อุดมสมบูรณ์, เจริญรุ่งเรือง] แต่ภาพทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างเด็กหญิง France และครอบครัวขับรถพานผ่าน กลับพบเห็นแต่ความเหือดแห้งแล้ง ทุรกันดาร ถนนลูกรัง ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ … แต่นั่นอาจเฉพาะมุมมองคนขาว ชาวยุโรป ผิดกับคนแอฟริกันผิวสี ผืนแผ่นดินแห่งนี้คือบ้านเกิดเมืองนอน ย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ กระมัง?

บทเพลงชื่อ Earth Bird แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าควรจะเป็น Early Bird ที่หมายถึงอรุณรุ่ง นกที่ตื่นเช้า หลังจาก Protée ถูกไล่ออกจากงาน นั่งเหม่อมองพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนขึ้นริมขอบฟ้า เสียงขลุ่ยอาจฟังดูเศร้าสร้อย เหงาหงอย ผิดหวัง เกรี้ยวกราด แต่ขณะเดียวกันมันคือประกายความหวังสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่

African Market ดังขึ้นช่วงท้ายของหนัง ตั้งแต่หญิงสาวผิวขาวชาวฝรั่งเศสเดินทางถึงสนามบิน ดังต่อเนื่องไปจนสิ้นสุด Closing Credit ผมถือว่าบทเพลงนี้คือตัวแทนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากประทศอาณานิคม พวกเขาไม่ได้มุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยะยุโรป/อเมริกัน แต่หวนกลับหารากเหง้า เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามวิถีบรรพบุรุษ

เกร็ด: เผื่อใครอยากหารับฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ Abdullah Ibrahim ออกอัลบัมชื่อว่า Mindif (1988) มีทั้งหมด 8 บทเพลง แต่นำมาใช้จริงน่าจะไม่ถึงครึ่ง

มองอย่างผิวเผิน Chocolat (1988) คือการหวนระลึกความหลัง เรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) ช่วงเวลาวัยเด็กของผกก. Denis ระหว่างพักอาศัยอยู่ French Cameroon นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึกความทรงจำ ‘Memoir’ ร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบพบเห็น ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนรับใช้ผิวสี

แต่ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Denis ต้องการสะท้อนความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension) ระหว่างมารดา (ตัวแทนฝรั่งเศส) และคนรับใช้ผิวสี (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) กับบรรยากาศขัดแย้งระหว่างประเทศอาณานิคม (Colonialism) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ … ร่วมรักหลับนอน

When you look at the hills, beyond the houses and beyond the trees, where the earth touches the sky, that’s the horizon. Tomorrow, in the daytime, I’ll show you something. The closer you get to that line, the farther it moves. If you walk towards it, it moves away. It flees from you. I must also explain this to you. You see the line. You see it, but it doesn’t exist.

Marc Dalens

คำกล่าวของบิดาเกี่ยวกับเส้นขอบฟ้าที่ไม่มีอยู่จริง เป็นความพยายามสื่อถึงความแตกต่างระหว่างสีผิวขาว-ดำ ชาติพันธุ์ยุโรป-แอฟริกัน แต่ความจริงแล้วทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องแบ่งแยก ขีดเส้นแบ่ง สร้างกำแพงที่ไม่มีอยู่จริง เพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครอง เป็นเจ้าของ (Colonialism) นำเอาทรัพยากรมาใช้ … สุดท้ายแล้วพวกประเทศหมาอำนาจเหล่านั้น สักวันย่อมต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป (ใจความ Anti-Colonialism)

ในบรรดาผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด ผมค่อนข้างรู้สึกว่า Chocolat (1988) มีความใกล้ตัว ใกล้หัวใจ และใกล้จิตวิญญาณผกก. Denis มากที่สุดแล้ว! ถ้าไม่นับรวม Beau Travail (1999) ก็อาจจะคือ Chocolat (1988) คือผลงานยอดเยี่ยมรองลงมา … เป็นเรื่องที่น่าติดอันดับ Sight & Sound มากกว่า Je tu il elle (1975) ของ Chantal Akerman เสียอีกนะ!


ผกก. Denis ต่อรองค่าจ้าง 200,000 ฟรังก์ (จากทุน 1.3 ล้านฟรังก์) โดยไม่เรียกร้องขอส่วนแบ่งใดๆ เพราะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องแรกมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำกำไร แต่ด้วยยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 793,738 ใบ ประมาณการรายรับ $2.3 ล้านเหรียญ เห็นว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน! … จนกระทั่ง Let the Sunshine In (2017) ทำเงินได้ $4.2 ล้านเหรียญ (แต่กำไรน่าจะน้อยกว่านะ)

เมื่อปี ค.ศ. 2022 หนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K โดย Éclair labs ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Claire Denis และตากล้อง Robert Alazraki สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง BFI Video (ผมพบเห็นใน Criterion Channel แต่เหมือนคุณภาพแค่ HD และยังไม่มีจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray)

ในตอนแรกมีความหวาดหวั่นต่อผลงานของผกก. Claire Denis เพราะความทรงจำต่อ Beau Travail (1999) เป็นหนังดูยากฉะมัด! แต่พอได้รับชม Chocolat (1988) ก็ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง พบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ ลูกเล่นความสนใจ ลุ่มลึก ท้าทาย เอร็ดอร่อย รสชาดถูกปากมากๆ

เอาจริงๆผมก็อยากหาผลงานอื่นๆของผกก. Denis มารับเชยชมอีก แต่น่าเสียดายค่อนข้างจะหาดูยากพอสมควร เลยเลือกเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจอีกแค่สองสามเรื่อง แล้วจะได้แวะเวียนสู่ African Film ที่หลายคนเรียกร้องเสียเหลือเกิน

จัดเรต pg กับบรรยากาศเหงาๆ วังเวง ความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension)

คำโปรย | Chocolat ของผู้กำกับ Claire Denis มีความงดงาม ตึงเครียด รสชาดเอร็ดอร่อยสำหรับผู้ที่สามารถลิ้มลองชิม
คุณภาพ | ช็
ส่วนตัว | เอร็ดอร่อย

Ballada o soldate (1959)


Ballad of a Soldier (1959) USSR : Grigory Chukhray ♥♥♥♥

บทกวีรำพันเรื่องราวทหารรัสเซียนายหนึ่ง ได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้าน แต่ระหว่างทางพบเจอเรื่องวุ่นๆวายๆ ที่จักทำให้ผู้ชมอมยิ้ม ตกหลุมรัก ก่อนหัวใจแตกสลาย, สามารถเข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay

ภายหลังการเสียชีวิตของ Joseph Stalin ค.ศ. 1953 ผู้นำสหภาพโซเวียตคนใหม่ Nikita Khrushchev พยายามทำสิ่งต่างๆที่เป็นการลบล้าง ต่อต้าน (de-Stalinization) ผ่อนปรนมาตรการเข้มงวด รวมถึงวงการภาพยนตร์มีคำเรียก Khrushchev Thaw (ระหว่างกลางทศวรรษ 1950s ถึงกลางทศวรรษ 1960s) คล้ายๆฤดูกาล Prague Spring (1968) คือช่วงเวลาแห่งอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานศิลปะ โดยไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวว่าจะโดนจับหรือถูกแบนห้ามฉาย

ในช่วงทศวรรษ Khrushchev Thaw ถือเป็นอีกยุคทองของวงการภาพยนตร์แห่งสภาพโซเวียต (ถัดจากยุคหนังเงียบที่บุกเบิกเทคนิคตัดต่อ ‘Soviet Montage’) มีหลากหลายผลงานที่พอได้รับอิสรภาพในการสร้างสรรค์ ออกเดินทางไปกวาดรางวัลระดับนานาชาติมากมาย อาทิ The Cranes Are Flying (1957), Ballad of a Soldier (1959), Fate of a Man (1959), Ivan’s Childhood (1962), Nine Days of One Year (1962), I Am Twenty (1965) ฯ

ผมรับรู้จัก Ballad of a Soldier (1959) ระหว่างเขียนบทความ Ivan’s Childhood (1962) ทีแรกก็ไม่ได้มีความกระตือลือร้นสักเท่าไหร่ จนกระทั่งพบว่าคือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Hayao Miyazaki เลยรู้สึกว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แอบเหนื่อยหน่ายใจเพราะหนังสงครามจากสหภาพโซเวียต มักเป็นแนวชวนเชื่อ สรรเสริญความยิ่งใหญ่กองทัพ แต่ปรากฎว่า … ผิดคาด!

คงเพราะอิทธิพลจากยุคสมัย Khrushchev Thaw ทำให้ผกก. Grigory Chukhray กล้านำเสนอเรื่องราวที่ไม่ใช่การชวนเชื่อสงคราม แต่แสดงให้ถึงผลกระทบ หายนะ นายทหารหนุ่มผู้มีความละอ่อนวัย สดใส ยังดูไร้เดียงสา ต้องการเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนมารดา แต่นั่นคือครั้งสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะร่ำลาจากชั่วนิรันดร์ … เตรียมทิชชู่ไว้ด้วยแล้วกัน


Grigory Naumovich Chukhray, Григорiй Наумович Чухрай (1921-2001) ผู้กำกับสัญชาติ Ukrainian เกิดที่ Melitopol (ปัจจุบันคือ Zaporizhzhia Oblast, Ukraine) ครอบครัวหย่าร้างตอนอายุเพียงสามขวบ อาศัยอยู่กับมารดาและพ่อเลี้ยง โตขึ้นอาสาสมัครทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเข้าศึกษาภาพยนตร์ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เป็นลูกศิษย์ของ Sergei Yutkevich และ Mikhail Romm จบออกมาทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ Kiev Film Studio จนกระทั่งการมาถึงของ Khrushchev Thaw เขียนบท-กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Forty-First (1956) สามารถคว้ารางวัล Special Award จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

เรื่องราวโดยย่อของ The Forty-First (1956) ระหว่างสงครามกลางเมือง Russian Civil War (1917-23) นักแม่นปืนสาวกองทัพแดง (Red Army) บังเอิญติดเกาะกับเจ้าหน้าที่ทหารหนุ่มขบวนการขาว (White Army) ทีแรกว่าจะเข่นฆ่า ภายหลังกลับตกหลุมรัก … พล็อตคร่าวๆนี้แสดงถึงใจความต่อต้านสงคราม (Anti-War) ความรักเกิดขึ้นได้แม้กับศัตรูฟากฝั่งตรงข้าม

ด้วยความสำเร็จอันล้นหลามของ The Forty-First (1956) ยอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 25.1 ล้านใบ แถมยังสร้างความประทับใจท่านผู้นำ Nikita Khrushchev ถึงขนาดเอ่ยปากให้การสนับสนุนโปรเจคถัดไปของผกก. Chukhray

Баллада о солдате อ่านว่า Ballada o soldate แปลตรงตัว Ballad of a Soldier นำจากประสบการณ์ตรงของผกก. Chukhray และเพื่อนนักเขียน Valentin Yezhov ต่างเป็นทหารผ่านศึกในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และได้รับประดับเหรียญเกียรติยศเหมือนกัน!

Valentin Ivanovich Yezhov, Валентин Иванович Ежов (1921-2004) นักเขียนบทละคอน/ภาพยนตร์ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Samara แล้วย้ายมาเติบโตยัง Moscow ก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครเข้าโรงเรียนการบิน School for Junior Airmen (ShMAS) เข้าร่วมสู้รบยัง Russian Far East, หลังปลดประจำการสมัครเรียนเขียนบท All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เป็นลูกศิษย์ของ Joseph Manevich และ Alexander Dovzhenko, แจ้งเกิดกับบทภาพยนตร์ Ballad of a Soldier (1959), Wings (1966), White Sun of the Desert (1970), Siberiade (1979) ฯ

I was a soldier. It was as a soldier that I made my way from Stalingrad to Vienna. On the way, I left behind many comrades who were dear to me. What Valentin Ezhov and I wanted to show was not how our hero fought in the war, but what kind of man he was, why he fought. This boy (Alyosha) could have become a good father, a loving husband, an engineer or a scientist, he could have grown wheat or gardens. The war didn’t allow it. He didn’t come back.

Grigory Chukhray

ณ แนวหน้า Eastern Front, นายทหารหนุ่ม Alyosha Skvortsov (รับบทโดย Vladimir Ivashov) อายุเพียง 19 ปี จับพลัดจับพลูทำลายรถถังเยอรมันได้ถึงสองคัน จนได้รับประดับเหรียญเกียรติยศ แต่ร้องขอผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนเป็นลาหยุดกลับบ้าน ต้องการไปซ่อมหลังคาที่รั่วไหล

ระหว่างทางกลับก็มีเหตุการณ์วุ่นๆวายๆเกิดขึ้นมากมาย ให้ความช่วยเหลือทหารได้รับบาดเจ็บพบเจอภรรยา ฝากส่งของให้กับคู่หมั้น และยังตกหลุมรักหญิงสาว Shura (รับบทโดย Zhanna Prokhorenko) กว่าจะเดินทางมาถึงหมู่บ้านพบเจอมารดา ยังไม่ทันหายคิดถึงก็จำต้องหวนกลับสู่แนวหน้า


แทนที่จะมองหานักแสดงมีชื่อ หรือเคยผ่านงานการแสดง ผกก. Chukhray ตัดสินใจเฟ้นหานักแสดงหน้าใหม่ Vladimir Ivashov (1939-95) และ Zhanna Prokhorenko (1940-2011) ต่างไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงใดๆ

We took a big risk. It was risky to give the main roles to quite inexperienced actors. Not many would have done so in those times, but we ventured and did not regret afterwards. Volodya and Zhanna gave the most precious colouring to the film, that is, the spontaneity and charm of youth.

Grigory Chukhray

ความตั้งใจของผกก. Chukhray ในการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ เพราะพวกเขายังมีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ท่าทางเคอะๆเขินๆ ขาดๆเกินๆ แต่นั่นคือเสน่ห์ ‘charm of youth’ สอดคล้องเข้ากับตัวละครที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่สงคราม ไม่รับทราบถึงหายนะ ความชิบหายวายป่วน ยังมองโลกในแง่ดี เอ่อล้นด้วยความหวัง ซึ่งนั่นขัดแย้งต่อสภาพเป็นจริง และโชคชะตาของพวกเขา(ที่รับรู้ตั้งแต่ตอนต้น) จักทำให้ผู้ชมเกิดความเจ็บปวด รวดร้าว หัวใจแตกสลาย

หลังแจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสองนักแสดงนำต่างก็มีงานแสดงติดต่อเข้ามามากมาย แต่น่าเสียดายไม่มีผลงานไหนน่าจดจำไปกว่า Ballad of a Soldier (1959)


ถ่ายภาพโดย Vladimir Nikolayev (1909-95) และ Era Savelyeva (1913-85)

งานภาพของหนังอาจไม่ได้ตื่นตระการตาเหมือน The Cranes Are Flying (1957) แต่ถือว่ามีลูกเล่นในการนำเสนอพอสมควร สังเกตว่ากล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว เลยโดดเด่นกับการจัดวางองค์ประกอบ กล้าทดลองมุมกล้องแปลกๆ (โดยเฉพาะมุมเอียงขณะถูกไล่ล่าโดยรถถัง) ตำแหน่งนักแสดงใกล้-ไกล บันทึกภาพทิวทัศน์สวยๆ และเทคนิคซ้อนภาพระหว่างหวนระลึกความทรงจำ

ฉากบนตู้โดยสารรถไฟระหว่าง Alyosha และ Shura ได้รับคำชื่นชมอย่างมากๆ แสงจากภายนอกลอดผ่านช่องว่างผนังไม้ ในช่วงแรกมีความทะมึน อึมครึม ปกคลุมด้วยเงามืด แต่จักค่อยๆส่องสว่าง เงาต่างๆเลือนลาง จนกระทั่งเกิดการฟุ้งกระจาย สะท้อนความสัมพันธ์ทั้งสองที่เริ่มจากปฏิเสธต่อต้าน แต่หลังจากทำความรู้จัก มักคุ้นเคยชิน โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก แทบไม่อยากพลัดพรากจากกัน

There is something in the tone of this film – in the light structure of thin-branched birch trees floating outside the carriage windows, in the young faces of Alyosha and Shurochka, illuminated by a ray of sunlight through the slits of the teplushka, in the purity and understatement of their relationship, in the smooth, slightly slowed down, as if chanting rhythm in which one episode overflows into another – something that does not fit into the framework of the chronicle, which makes up its external form; in the reality and vital authenticity of its episodes, something ideal.

นักวิจารณ์ Maya Turovskaya

จากคนแปลกหน้า เคยพยายามผลักไส ตีตนให้ห่างไกล แต่เมื่อได้รับรู้จัก มักคุ้นเคยชิน สนิทสนมชิดเชื้อ เกิดความตกหลุมรักใคร่ พอใกล้ถึงเวลาพรากจากลา ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย Alyosha และ Shura ยืนอยู่ระหว่างตู้โดยสารรถไฟ (เป็นบริเวณที่สามารถแยกตู้โบกี้ออกจากกัน สะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ถึงจะต้องร่ำลาจาก)

สังเกตว่าพวกเขายืนนิ่ง จับจ้องตาไม่กระพริบ ราวกับว่าต้องการจดจำใบหน้า ช่วงเวลานี้ไว้ให้แสนนาน แต่ภาพพื้นหลังกลับเคลื่อนพานผ่านไปอย่างรวดเร็ว อีกไม่นานก็จะถึงสถานีปลายทาง และพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์

หนึ่งในช็อตที่ผมรู้สึกว่าทรงพลังอย่างมากๆ คือการจากลาของ Alyosha และ Shura มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายติดท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆหมอก บรรยากาศทะมึน อึมครึม สะท้อนความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ อยากจะร่ำร้องไห้ (สังเกตว่าพื้นยังเปียกแฉะ) และสร้างสัมผัสราวกับว่าทั้งสองจะไม่มีโอกาสพบเจอกันอีกต่อไป

พบเจอหน้ามารดายังไม่ทันหายคิดถึง Alyosha ก็จำต้องบอกร่ำลา หมดเวลา ต้องเดินทางกลับแนวหน้า ภาพช็อตนี้อาจเห็นไม่ค่อยชัดนัก แต่ใบหน้าทั้งสองมีร่มเงาไม้พริ้วไหวไปมา แทนความรู้สึกสั่นไหว โหยหาอาลัย ไม่ต้องการพลัดพรากจากไป

ภาพการจากลาของ Alyosha ชวนให้ผมนึกถึงตอนจบภาพยนตร์ My Darling Clementine (1946) ของผู้กำกับ John Ford ซึ่งมีทิศทางมุมกล้องละม้ายคล้ายกันมากๆ (แถมต้องทำถนนให้โค้งๆแบบเดียวกันด้วยนะ) แล้วพอตัดมาฟากฝั่งมารดา สังเกตว่ามีจัดวางตำแหน่งนักแสดงแทนระดับความสำคัญ มารดายืนหน้าสุด ตามด้วยเพื่อนสาวข้างบ้าน และชาวบ้านอื่นๆโบกมืออยู่เบื้องหลัง

สำหรับภาพสุดท้ายของหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้น (Tilt Up) ขึ้นสู่ท้องฟากฟ้า แน่นอนว่าสื่อถึงความตายของ Alyosha น่าจะไปสู่สุขคติ สรวงสวรรค์

ตัดต่อโดย Mariya Timofeyeva

หนังเริ่มต้นด้วยภาพหญิงวัยกลางคน กำลังก้าวออกเดิน เหม่อมองทางเข้า-ออกหมู่บ้านชนบทห่างไกล ตามด้วยเสียงบรรยายกล่าวถึงบุตรชายที่เสียชีวิตจากสงคราม จากนั้นเล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) นายทหารหนุ่ม Alyosha Skvortsov จับพลัดจับพลูทำลายรถถังศัตรูสองคัน ได้รับประดับเหรียญเกียรติยศ จึงร้องขอผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนมาเป็นวันลากลับบ้าน ระหว่างทางพบเจอเรื่องวุ่นๆวายๆมากมาย กว่าจะไปถึงเป้าหมายเกือบแทบไม่ทันเวลา

  • อารัมบท, มารดาเฝ้ารอคอยบุตรชายกลับบ้าน
  • แนวรบด้านตะวันออก (Eastern Front)
    • นายทหารหนุ่ม Alyosha จับพลัดจับพลูทำลายรถถังศัตรูสองคัน
    • ได้รับประดับเหรียญเกียรติยศ แต่ร้องขอผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนเป็นวันลากลับบ้าน
    • ระหว่างเข็นรถตกโคลนเลน รับฝากของเพื่อนทหาร Pavlov สำหรับส่งให้กับภรรยาสุดสวย
  • เรื่องราวของ Vasya ทหารผู้ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม
    • Alyosha มาถึงสถานีรถไฟ พบเจอกับ Vasya ที่สูญเสียขาข้างหนึ่ง ยังสองจิตสองใจว่าจะเดินทางกลับหาภรรยาหรือไม่ แต่ได้รับการโน้มน้าวจนยินยอมขึ้นรถไฟ
    • พูดคุยสนทนา ขับร้องเพลงบนขบวนรถไฟ
    • พอมาถึงสถานีปลายทาง Alyosha ยินยอมเสียเวลาอยู่ร่วมกับ Vasya รอจนกว่าภรรยาจะเดินทางมารับ
  • Alyosha แอบขึ้นรถไฟกับ Shura
    • ด้วยความที่ Alyosha ตกรถไฟขนส่ง จึงขอแอบขึ้นขบวนพิเศษ ด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่
    • ระหว่างทางหญิงสาว Shura ก็แอบลักลอบขึ้นรถไฟมาเช่นกัน แรกพบเจอเต็มไปด้วยความหวาดกลัวเกรง แต่หลังจากพูดคุยสนทนา ปรับความเข้าใจ ก็ค่อยๆยินยอมรับอีกฝ่าย
    • ระหว่างรถไฟจอดหยุดพัก Alyosha ลงไปเติมน้ำ Shura ถูกจับได้ว่าแอบลักลอบขึ้นขบวนรถไฟ แต่หลังจากผู้บังคับบัญชามาเห็น จึงอนุญาตให้ทั้งสองติดขบวนไปด้วย
    • แต่ระหว่างรถไฟจอดหยุดพักอีกสถานี คราวนี้ Alyosha ลงไปตักน้ำไม่ทัน จึงตัดสินใจโบกรถออกเดินทาง
    • โชคยังดี Shura เฝ้ารอคอย Alyosha อยู่สถานีปลายทาง
  • ของฝากของเพื่อนทหาร Pavlov
    • Alyosha และ Shura ออกติดตามหาภรรยาของนายทหาร Pavlov แต่พบว่าที่อยู่ให้ไว้หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
    • ติดตามค้นหาจนพบเจอภรรยาของ Pavlov อาศัยอยู่กับชู้รัก สร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
    • Alyosha จึงนำเสบียงกรังมอบให้กับบิดาของ Pavlov พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
    • การจากลาระหว่าง Alyosha และ Shura
  • การเดินทางครั้งสุดท้ายของ Alyosha
    • ระหว่างโดยสารขบวนรถไฟ พูดคุยสนทนากับผู้อพยพ
    • โชคร้ายที่สะพานรถไฟถูกทำลาย ทำให้ต้องจอดแน่นิ่ง ไม่สามารถออกเดินทางไปต่อ
    • แต่ระหว่างรอรถไฟคันใหม่ Alyosha ตัดสินใจโบกรถ เดินทางกลับหมู่บ้านเกิด
    • พบเจอมารดา และการร่ำจากลา

การเริ่มต้นด้วยคำพูดบอกบทสรุป โชคชะตาของ Alyosha ทำให้ผู้ชมตระหนักรับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ในตอนแรกผมคาดคิดว่าคงมีเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างทาง เลยทำให้ไม่สามารถกลับถึงบ้าน แต่กลายเป็นว่าตอนจบนำเสนอครั้งสุดท้ายที่แม่-ลูก พบเจอหน้า ร่ำจากลาชั่วนิรันดร์ นั่นสร้างความเจ็บปวด รวดร้าว ทำเอาหัวใจแทบแตกสลาย … คือถ้าไม่ใช่การเล่าย้อนอดีต แล้วค่อยมาเปิดเผยโชคชะตาตัวละครช่วงท้าย มันจะเพียงสร้างความตกใจ ‘Shock Value’ หนังจบประเดี๋ยวก็ลืมเลือนไป ผิดกับวิธีการนี้ของหนังทำให้ผู้ชมค่อยๆมอดไหม้ทรวงใน (เพราะรับรู้โชคชะตาตัวละครตั้งแต่แรกแล้ว) ปวดร้ายหฤทัย ใครจะไปหลงลืมความเจ็บปวดนี้ได้ลง


เพลงประกอบโดย Mikhail Pavlovich Ziv, Михаил Павлович Зив (1921-94) นักแต่งเพลงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Moscow, โตขึ้นอาสาสมัครทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Moscow Conservatory จบมาเป็นครูสอนดนตรี จนกระทั่งมีโอกาสแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ผลงานเด่นๆ อาทิ Ballad of a Soldier (1959), Clear Skies (1961), อนิเมชั่น Gena the Crocodile (1969), Tryasina (1978) ฯ

งานเพลงของ Ziv รังสรรค์ท่วงทำนองกลิ่นอายโรแมนติก ฟังแล้วติดหูโดยทันที มีความอ่อนไหว ยิ่งใหญ่ทรงพลัง จัดเต็มวงออร์เคสตรา มุ่งเน้นการบดขยี้ บี้หัวใจผู้ฟังให้แหลกละเอียด สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ การเสียสละชีพเพื่อผืนแผ่นดินมาตุภูมิ เป็นสิ่งคุ้มค่าใช่หรือไม่?

ผมแนะนำให้ลองรับฟัง Prologue เทียบกับ Shura and Alesha และ Epilogue ทั้งสามบทเพลงต่างบรรเลงท่วงทำนองเดียวกัน แต่ปริมาณ/ประเภทเครื่องดนตรีที่ใช้มีความแตกต่างกันพอสมควร Prologue ว่ายิ่งใหญ่อลังการ พอมารับฟัง Shura and Alesha เสียงขลุ่ยและไวโอลินช่างหวานหยดย้อย หัวใจอ่อนระทวย และ Epilogue เพิ่มเติมเครื่องกระทบ โดยเฉพาะเปียโนกระแทกกระทั้น ใครกันจะไปอัดอั้นธารน้ำตาไม่ให้ไหลริน

ปล. งานเพลงของ Mikhail Ziv ถือว่ามีอิทธิพลอย่างล้นหลามต่อทั้ง Hayao Miyazaki และ Joe Hisaishi นั่นกระมังคือเหตุผลที่ทำให้เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ได้ยินครั้งแรกก็รู้สึกมักคุ้นชิน (ผมปรากฎภาพของ Princess Mononoke ลอยขึ้นมาตรงหน้า) โดยเฉพาะการค่อยๆไต่ไล่ระดับจนถึงจุดสูงสุด (Musical Crescendo)

ตั้งแต่ที่ Joseph Stalin ขึ้นมาเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1922 พยายามทำให้สื่อภาพยนตร์มีลักษณะชวนเชื่อ (Propaganda) สร้างค่านิยมคอมมิวนิสต์ การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เสี้ยมสอนให้ประชาชนเสียสละชีพ ปกป้องผืนแผ่นดินมาตุภูมิ เพื่อนำพาประเทศสู่ความยิ่งใหญ่เกรียงไกร

การจากไปของ Stalin ทำให้สหภาพโซเวียตก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ Nikita Khrushchev ออกนโยบาย Khrushchev Thaw ผ่อนคลายมาตรการตึงเครียด ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงาน The Cranes Are Flying (1957), Ballad of a Soldier (1959), Fate of a Man (1959) ฯ ล้วนนำเสนอภาพการสูญเสียคนรัก ครอบครัว เต็มไปด้วยอารมณ์อัดอั้น บีบเค้นคั้น สงครามคือหายนะ ความตาย จิตวิญญาณสูญสลาย แฝงใจความ Anti-War

นายทหาร Alyosha Skvortsov ด้วยวัยเพียง 19 ปี ยังมีความบริสุทธิ์ ละอ่อนวัย ไร้เดียงสาต่อโลก เด็กเกินกว่าจะเข้าใจความเหี้ยมโหดร้ายของสงคราม ครุ่นคิดเพียงอยากเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนมารดา (จะมองในเชิงสัญลักษณ์ของ ‘มาตุภูมิ’ ก็ได้กระมัง) กลับประสบพบเจอเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ เสียสละเวลาของตนเองให้ผู้อื่น ได้รับยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษ แต่สุดท้ายกลับไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

สารพัดเรื่องราววุ่นๆวายๆที่ Alyosha ประสบพบเจอระหว่างเดินทางกลับบ้าน ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนอิทธิพล ผลกระทบ หายนะจากสงคราม ประกอบด้วย ทหารได้รับบาดเจ็บ/พิการ ล้มป่วยอาการ ‘Shell Shock’, คนรักคบชู้นอกใจ รักแท้แพ้ชิดใกล้, ครอบครัวพลัดพราก อพยพจากถิ่นฐานบ้านเกิด และที่สุดก็คือการสูญเสีย ความตาย มารดาไม่มีโอกาสพบเจอหน้าบุตรชาย

เรื่องราวโรแมนติกระหว่าง Alyosha กับ Shura ก็เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดสายสัมพันธ์ เอ็นดูทะนุถนอม สนิทชิดเชื้อตัวละคร ก่อนที่พวกเขาจะต้องพลัดพรากจากลา ไม่มีโอกาสหวนกลับคืนมาพบเจอหน้ากันอีก นั่นสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน หัวใจแตกสลาย ถ้าไม่เพราะสงคราม หนุ่ม-สาวอาจได้ครองรักกัน … แต่ก็อาจเป็นดั่งคำที่ผกก. Douglas Sirk เมื่อตอนสรรค์สร้าง A Time to Love and a Time to Die (1958) เคยกล่าวว่า “If it weren’t for the war this would not be love at all.”

แม้เรื่องราวของหนังจะมีพื้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สามารถสะท้อนบรรยากาศสงครามเย็น (Cold War) ในช่วงทศวรรษ 50s-60s ได้เป็นอย่างดี! โดยเฉพาะเมื่อตอนแรกพบเจอ Alyosha กับ Shura สังเกตว่าเธอมีปฏิกิริยาปฏิเสธต่อต้าน ครุ่นคิดแต่ว่าอีกฝ่ายจะต้องมาร้ายเท่านั้น พยายามดิ้นรนหลบหนี ปิดกั้น ไม่รับฟัง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียต & สหรัฐอเมริกา เอาแต่หวาดกลัวเกรงอะไรก็ไม่รู้

ความตั้งใจของท่านผู้นำ Nikita Khrushchev ไม่เพียงผ่อนคลายมาตรการตึงเครียดภายในประเทศ ยังรวมถึงพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา Ballad of a Soldier (1959) คือหนึ่งใน(สาม)ภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีเนื้อหาแฝงนัยยะให้ทั้งสองชาติลดทิฐิมานะ หันหน้าพูดคุย ปรับความเข้าใจ (แบบความสัมพันธ์ระหว่าง Alyosha กับ Shura) คาดหวังว่าสักวันสงครามจักสิ้นสุด สองประเทศหวนกลับเป็นพันธมิตร สมานฉันท์ กลมเกลียวกันอีกครั้ง … แต่ความตั้งใจดังกล่าวพลันล่มสลายภายหลัง Khrushchev ถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1964 สหภาพโซเวียตกลับกลายเป็นคอมมิวนิสต์เบ็ดเสร็จอีกครั้ง


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ในสหภาพโซเวียตมียอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 30.1 ล้านใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กลายเป็นหนึ่งในหลายๆเรื่องได้รับโอกาสเข้าฉายสหรัฐอเมริกาในช่วงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภายหลังจาก Lacy-Zarubin Agreement ลงนามเมื่อปี ค.ศ. 1958

โดยคาดไม่ถึงการเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น ทำให้หนังได้เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay แต่พ่ายให้กับ Splendor in the Grass (1961) นี่น่าจะเป็นครั้งของภาพยนตร์จากสหภาพโซเวียตที่ได้เข้าชิงสาขานี้!

เมื่อตอนเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Special Award ด้วยคำยกย่อง “high humanism and outstanding quality” นอกจากนี้ยังคว้ารางวัล BAFTA Award: Best Film from any Source และได้เข้าชิงอีกสาขา Best Foreign Actor (Vladimir Ivashov) เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จระดับนานาชาติอย่างล้นหลาม!

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะแล้วหรือยัง เพราะของค่าย Criterion Collection มีเพียงจัดจำหน่าย DVD ไม่มีรายละเอียดอื่นใดเขียนอธิบาย … หรือจะหารับชมทางช่อง Youtube ของ Mosfilm คุณภาพ HD พร้อมซับอังกฤษ

ผมแอบเสียดายที่ดันสร้างกำแพงเล็กๆไว้ก่อนหน้า เลยทำให้ระหว่างรับชมไม่สามารถปล่อยตัวปล่อยใจ เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่มีความโรแมนติก ชวนอมยิ้ม ประมาณกลางเรื่องถึงเริ่มตระหนักถึงความแตกต่าง สุดท้ายเลยแค่ชื่นชอบ ไม่ถึงขั้นตกหลุมรัก แต่ก็ทำให้หัวใจสั่นไหวอยู่ไม่น้อยเลยละ

สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดของหนัง คือมนุษยธรรมของ Alyosha ยินยอมเสียสละตนเอง ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งๆในช่วงเวลาสงครามมีแต่คนเห็นแก่ตัว พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย นั่นทำให้พอถึงตอบจบ เสียงบรรยายย้ำเตือนสติถึงความสูญเสีย ใครต่อใครย่อมหัวใจแตกสลาย

จัดเรต pg กับบรรยากาศสงคราม

คำโปรย | Ballad of a Soldier งดงาม-เจ็บปวด ตกหลุมรัก-หัวใจแตกสลาย ชวนเชื่อและต่อต้านสงคราม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Babettes Gæstebud (1987)


Babette’s Feast (1987) Danish : Gabriel Axel ♥♥♥♥

งานเลี้ยงฉลองสุดหรูหราด้วยฝีมือเชฟจากภัตตาคารฝรั่งเศสชื่อดัง ปรุงให้กับชาวบ้านผู้เคร่งครัดศาสนา (Pietistic Lutheranism) แต่พวกเขากลับเชื่อว่าอาหารมื้อนี้จักทำให้ตกนรกหมกไหม้, คว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film

ผมรับรู้จัก Babette’s Feast (1987) จากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Hayao Miyazaki ทีแรกก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับชื่อหนัง จนกระทั่งตอนเขียนถึง The Scent of Green Papaya (1993) กำกับโดย Trần Anh Hùng แล้วพบเจอบทความพาดพิงผลงานล่าสุด The Taste of Things (2023) ทำการการเปรียบเทียบ Babette’s Feast (1987) เลยเพิ่งค้นพบว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาเกี่ยวกับมื้ออาหารฝรั่งเศสสุดหรูหรา

นั่นเองทำให้ผมมีความโคตรๆคาดหวังต่อ Babette’s Feast (1987) เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่จะพบเห็นมื้ออาหารดังกล่าว? ซึ่งสิ่งคาดไม่ถึงอย่างสุดๆคือนำเสนอศาสตร์เกี่ยวกับอาหาร ทั้งระหว่างทำ และขณะรับประทาน (ใครเคยรับประทานอาหารฝรั่งเศส น่าจะรับรู้ถึงความละเอียดอ่อน เต็มไปด้วยลำดับขั้นตอน จานนี้ทานก่อน-หลัง คู่กับไวน์ขาว-แดง แชมเปญ หรืออะไรใดๆ ฯลฯ) เชฟไม่แตกต่างจากศิลปิน มื้ออาหารเปรียบดั่งงานศิลปะชั้นสูง!

ความเป็นครัวชั้นสูง อาหารสไตล์ยุโรป อาจทำให้ชาวเอเชียอย่างเราๆ เข้าไม่ถึงสัมผัส รสชาติ ผิดแผกแตกต่างจากภาพยนตร์อย่าง Tampopo (1985), The Scent of Green Papaya (1993), Eat Drink Man Woman (1994) หรือ Jiro Dreams of Sushi (2011) ปรุงแต่งมื้ออาหารที่มักคุ้นเคยชิน แค่ได้ยินเสียงครก สับหมู หรือกระทะไฟแดง กลิ่นหอมฉุยก็แทบจะลอยมาเตะจมูก


Axel Gabriel Erik Mørch (1918-2014) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Aarhus, Denmark ครอบครัวเป็นเจ้าของโรงงาน ฐานะร่ำรวย ถูกส่งไปใช้ชีวิตยัง Paris, France จนกระทั่งอายุ 17 กิจการล้มละลายเลยต้องหวนกลับ Denmark ฝึกฝนเป็นคนทำงานไม้ (Carbinet Maker) ก่อนได้เข้าเรียนการแสดง Royal Danish Theatre จบออกมามุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส เป็นนักแสดงละครเวที Théâtre de l’Athénée, Théâtre de Paris, จากนั้นเริ่มผันตัวสู่เบื้องหลัง กำกับซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Nothing But Trouble (1955), ผลงานส่วนใหญ่มักเป็นแนวตลกโปกฮา ว้าวุ่นวายเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ อาทิ The Red Mantle (1967), Sex and the Law (1967), The Goldcabbage Family (1975) ฯ

มีโปรเจคหนึ่งที่อยู่ในความใฝ่ฝันของ Axel คือดัดแปลงเรื่องสั้น Babettes Gæstebud แปลว่า Babette’s Feast ชื่อไทย งานเลี้ยงของบาเบตต์ ประพันธ์โดย Isak Dinesen นามปากกาของ Baroness Karen Christenze von Blixen-Finecke (1885-1962) นักเขียนชาว Danish เจ้าของอีกผลงานดัง Out of Africa (1937)

นวนิยายน่าอ่านเล่มนี้ใช้ฉากเรียบง่ายแต่กลับให้ภาพหรูหรา นำเสนอมุมมองอันบริสุทธิ์แต่จริงแท้ของตัวละคร ผู้อ่านจะได้ดื่มด่ำไปกับมื้ออาหารสุดหรูที่ฉาบทาด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวปนอหังการของศิลปิน!!!

คำโปรยฉบับแปลไทย รสวรรณ พึ่งสุจริต (สำนักพิมพ์สมมติ)

แรกเริ่มนั้น Dinesen เขียนเรื่องสั้น Babette’s Feast เป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Ladies Home Journal เมื่อปี ค.ศ. 1953 จากนั้นทำการแปลภาษา Danish สำหรับการแสดงละครวิทยุ (Radio Drama) ก่อนรวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Anecdotes of Destiny (1958)

All I can say is that in Babette’s Feast there’s a minister, but it’s not a film about religion. There’s a general, but it’s not a film about the army. There’s a cook, but it’s not a film about cooking. It’s a fairy tale, and if you try to over-explain it, you destroy it. If you wish, it’s a film about the vagaries of fate and a film about art because Babette is an artist. She creates the greatest masterpiece of her life and gives it to the two old maids.

Gabriel Axel

เรื่องราวของชุมชนชาวบ้านริมเล Jylland อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของ Denmark ในช่วงศตวรรษที่ 19th ต่างใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ปฏิเสธชื่อเสียง เงินทอง ยึดถือมั่นตามหลักคำสอนศาสนา Pietistic Lutheranism จนกระทั่งการมาถึงของ Babette Hersant (รับบทโดย Stéphane Audran) อดีตเชฟภัตตาคารฝรั่งเศสชื่อดัง Café Anglais อพยพหลบหนีสงคราม อาสาทำงานเป็นคนรับใช้ ปักหลักอาศัยมายาวนานกว่าสามสิบปี

กระทั่งวันหนึ่งบังเอิญถูกรางวัลล็อตเตอรี่ 10,000 ฟรังก์ ต้องการเลี้ยงอาหารฝรั่งเศสตอบแทนบุญคุณชาวบ้านทั้งหลาย จึงสั่งซื้อวัตถุดิบชั้นดี เครื่องปรุงที่มีความเลิศรส หรูหรา ราคาแพง แต่กลับสร้างความหวาดหวั่นวิตกให้กับชาวบ้านริมเล Jylland เพราะมองว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รับประทานอาหารที่มีความสิ้นเปลือง อาจนำทางพวกเขาสู่ขุมนรกมอดไหม้


ในส่วนของนักแสดง ตอนแรกสตูดิโอ Nordisk Film อยากประหยัดงบประมาณด้วยการเลือกใช้เพียงนักแสดงสัญชาติ Danish แต่ผกก. Axel เรียกร้องความถูกต้องตามสัญชาติ ทีมนักแสดงก็เลยมีทั้งฝรั่งเศส, เดนมาร์ก, สวีเดน

  • บทบาท Filippa ประกอบด้วย Bodil Kjer (วัยชรา), Hanne Stensgaard (วัยสาว), Tina Kiberg (ขับร้องเสียงโซปราโน)
  • บทบาท Martine ประกอบด้วย Birgitte Federspiel (วัยชรา), Vibeke Hastrup (วัยสาว)
  • ในส่วนของผู้ดี/ราชวงศ์สวีเดน ก็เลือกนักแสดงสัญชาติ Swedish อาทิ Jarl Hulle และ Bibi Andersson ทั้งสองเป็นที่รู้จักจากการร่วมงานผกก. Ingmar Bergman
  • ชาวบ้าน/ผู้สูงวัยใน Jylland ต่างเป็นนักแสดงชาว Danish หลายคนเคยร่วมงานผกก. Carl Theodor Dreyer อาทิ Lisbeth Movin (Day of Wrath), Preben Lerdorff Rye (Ordet), Axel Strøbye (Gertrud), Bendt Rothe (Gertrud), Ebbe Rode (Gertrud) ฯ

และสำหรับ Babette ในตอนแรกผกก. Axel มีความสนใจอยากได้ Catherine Deneuve แม้เจ้าตัวมีความสนอกสนใจ แต่กลัวการถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมกับบท เลยบอกปัดปฏิเสธไป, ต่อมาคือ Stéphane Audran จากความประทับใจ Violette Nozière (1978), Cop au Vin (1985) ทีแรกลองติดต่อหาสามี/ผกก. Claude Chabrol ได้รับความเห็นชอบด้วย เลยส่งบทหนังให้อ่าน เพียงไม่ถึงสองชั่วโมงโทรศัพท์มาตอบตกลง

Stéphane Audran ชื่อจริง Colette Suzanne Jeannine Dacheville (1932-2018) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, Seine-et-Oise โตขึ้นฝึกฝนการแสดงยัง Ecole de théâtre Charles Dullin แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับละคอนเวทีนัก เลยผันตัวมาแสดงภาพยนตร์ ร่วมงานครั้งแรกกับว่าที่สามี Claude Chabrol ตั้งแต่ Les Cousins (1959) ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Biches (1968), Le Boucher (1970), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), Violette Nozière (1978), Cop au Vin (1985), Babette’s Feast (1987) ฯ

รับบท Babette Hersant อดีตเชฟภัตตาคารหรูในฝรั่งเศส จำต้องอพยพหลบหนีสงครามออกนอกประเทศ ยินยอมทำงานเป็นสาวใช้สองพี่น้อง Filippa & Martine ยังหมู่บ้านชาวเล Jylland เป็นเวลากว่าสามสิบปี ลึกๆเหมือนยังคงโหยหา ครุ่นคิดถึงบ้านเกิด จนกระทั่งวันหนึ่งถูกรางวัลล็อตเตอรี่ 10,000 ฟรังก์ นั่นคือโอกาสสำหรับหวนกลับไป แต่เธอกลับเลือกใช้เงินนั้นจับจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ เครื่องปรุง สำหรับมื้ออาหารสุดพิเศษ เลี้ยงขอบคุณชาวบ้านแห่งนี้ให้ที่ชีวิตใหม่กับตนเอง

หลังจากได้รับบทหนัง เห็นว่า Audran เปิดเพียงหน้าท้ายๆ พบเห็นบทสรุปเรื่องราว รวมถึงถ้อยคำคมๆอย่าง “An artist is never poor.” นั่นคือเหตุผลการตอบตกลงที่เรียบง่าย รวดเร็ว … อาจเพราะสามี Chabrol เป็นคนแนะนำบทหนังด้วยกระมัง จึงมีความเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่าบทบาทต้องเหมาะสมกับตนเอง

Babette เป็นตัวละครที่บทพูดไม่เยอะ (นั่นเพราะเธอเป็นชาวฝรั่งเศส ต้องฝึกพูดภาษา Danish) แต่ความโดดเด่นคือการแสดงออกภาษากาย โดยเฉพาะท่าทางขยับเคลื่อนไหวในห้องครัว เห็นว่าไปร่ำเรียนกับหัวหน้าเชฟ Jan Cocotte-Pedersen ภัตตาคาร La Cocotte ณ Copenhagen สอนทั้งสูตรอาหาร มารยาต่างๆ รวมถึงฝึกฝนลีลาทำครัวให้ออกมาดูสมจริงมากที่สุด

ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าปฏิกิริยาอารมณ์ตัวละครระหว่างทำอาหารมื้อนั้น จะมีความแตกต่างจากกิจวัตรประจำวันทั่วไป สีหน้ามุ่งมั่น ท่าทางจริงจัง ตั้งใจทำงานหนัก เสร็จแล้วสูบบุหรี่ผ่อนคลาย ราวกับได้ยกภาระอันหนักอึ้งออกจากทรวงอก หมดทุกข์หมดโศก ไม่เกิดความสูญเสียดายอะไรใดๆอีกต่อไป สามารถนอนตายตาหลับได้เลยกระมัง


ถ่ายภาพโดย Henning Kristiansen (1927-2006) ผู้กำกับ/ตากล้องสัญชาติ Danish ผลงานเด่นๆ อาทิ Hunger (1966), The Missing Clerk (1971), Babette’s Feast (1987) ฯ

งานภาพของหนัง พยายามทำออกมาให้ดูความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่เน้นลูกเล่นภาพยนตร์หวือหวา ในสไตล์ Minimalist เพื่อสอดคล้องวิถีชีวิตชาวเล Jylland ต่างยึดถือปฏิบัติตามคำสอนศาสนาอย่างเคร่งครัด เลยไม่ต้องการแสงสีสันสว่างสดใส บรรยากาศเย็นๆ โทนสีซีดๆ เฉพาะงานเลี้ยงเต้นรำและการแสดงอุปรากรที่หรูหราอลังการ

ต้นฉบับเรื่องสั้นระบุพื้นหลังเมืองท่า Berlevåg เหนือสุดของประเทศ Norway แต่พอผกก. Axel เดินทางไปสำรวจสถานที่ พบว่ามีความหรูหรา สวยงามเกินไป “beautiful tourist brochure” ไม่เหมาะกับวิถีสมถะเรียบง่าย เลยตัดสินใจมองหาสถานที่แห่งใหม่ ก่อนพบเจอหมู่บ้าน Vigsø, Thisted Kommune ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของ Nordjylland (North Jutland)

There is a lot that works in writing, but when translated to pictures, it doesn’t give at all the same impression or feeling. All the changes I undertook, I did to actually be faithful to Karen Blixen.

Gabriel Axel

พอได้สถานที่ถ่ายทำ มอบหมายให้ Sven Wichmann (Production Design) ออกแบบสร้างหมู่บ้านขึ้นใหม่ เน้นความเรียบง่าย ไม่ต้องการให้มีจุดโดดเด่นอะไร

โบสถ์แห่งนี้คือ Mårup Kirke (แปลว่า Mårup Church) ตั้งอยู่ยัง Vendsyssel ทางตอนเหนือของ Jylland ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1250 ด้วยสถาปัตยกรรม Romanesque มีความเรียบง่ายทั้งภายนอก-ใน แต่สิ่งสำคัญสุดคือความเชื่อศรัทธาทางจิตใจของชาวคริสเตียน

จะว่าไปมีช่วงกึ่งกลางเรื่อง Filippa & Martine หลังจากพบเห็นเครื่องปรุงอาหาร วัตถุดิบที่ยังมีชีวิตของ Babette บังเกิดความหวาดกลัว จินตนาการเตลิดเปิดเปิง ภาพซ้อนวันโลกาวินาศ คนขี่ม้าสี่คนแห่งวิวรณ์ (Four Horsemen of the Apocalypse) ราวกับว่านี่อาจเป็นกระยาหารมื้อสุดท้าย รับประทานแล้วคงได้ตกนรกทั้งเป็น

เมนูของ Babette ต้นฉบับเรื่องสั้นเห็นว่ามีเขียนชื่อเมนู แต่จะไม่ลงรายละเอียดว่าทำอะไรยังไง (ไม่มีสูตร) ผกก. Axel จึงมอบหมายให้หัวหน้าเชฟ (Head Chef) Jan Cocotte-Pedersen จากภัตตาคาร La Cocotte ณ Copenhagen เป็นผู้ออกแบบเมนู 5-course ประกอบด้วย

  • (ซุป) Soupe de tortue géante [Giant Turtle Soup]
    • ไวน์องุ่น Xérès amontillado [Amontillado Sherry]
  • (ออร์เดิฟ) Blinis Demidoff (au caviar et à la crème) [Blinis Demidoff (with caviar and cream)]
    • แชมเปญ Champagne Veuve Clicquot 1860
  • (จานหลัก) Cailles en sarcophage au foie gras et sauce aux truffes [Quail in sarcophagus with foie gras and truffle sauce]
    • ไวน์แดง Clos de Vougeot 1845
  • (สลัด) Salade d’endives aux noix [Endive salad with walnuts]
    Fromages français d’Auvergne [French cheeses from Auvergne]
    Savarin et salade de fruits glacés [Savarin and frozen fruit salad]
  • (ของหวาน) Baba au rhum [Rum Baba and fresh glazed fruit salad]
    • แชมเปญ Vieux marc Fine Champagne

หลังอิ่มหนำจากมื้ออาหาร ชาวบ้านทั้งหลายออกมาจับมือเต้นรำวนรอบบ่อน้ำ แสดงความสุขสำราญราวกับได้ขึ้นสรวงสวรรค์ มุมกล้องพยายามถ่ายให้ติดดวงดาวบนท้องฟากฟ้า (ราวกับว่านั่นคือสรวงสวรรค์) ให้อิสระผู้ชม/ชาวคริสเตียนครุ่นคิดตีความ อาหารมื้อนี้จะทำให้เราขึ้นสวรรค์หรือตกนรกมอดไหม้

คำร้อง Danishคำแปล Google Translate
Klokken slår, tiden går,
evigheden os forestår.
Lad os da bruge den kostbare tid,
tjene vor Herre med al vor flid,
så skal vi nok komme hjem!
The clock strikes, time passes,
eternity presides over us.
Let us then use the precious time,
serve our Lord with all our diligence,
then we must come home!

ตัดต่อโดย Finn Henriksen (1933-2008) ผู้กำกับ นักเขียน ตัดต่อภาพยนตร์ สัญชาติ Danish,

แม้ชื่อหนังจะคือ Babette’s Feast แต่เรื่องราวไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองของ Babette Hersant เป็นพี่น้อง Filippa และ Martine สองผู้สูงวัยอาศัยอยู่หมู่บ้านริมเล Jylland เริ่มต้นหวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นยังเป็นสาวสวย ต่างพบเจอบุรุษผู้หมายปอง และการมาถึงของ Babette เมื่อสามสิบห้าปีก่อน ได้นำพาความเปลี่ยนแปลงเล็กๆให้กับชาวบ้านละแวกนี้

การดำเนินเรื่องอาจชวนสับสนในครึ่งแรก เพราะเป็นการแนะนำตัวละคร อารัมบทก่อนการมาถึงของ Babette และเมื่อเรื่องราวหวนกลับสู่ปัจจุบัน ก็บังเกิดเหตุการณ์วุ่นๆ ถูกรางวัลล็อตเตอรี่ นำไปสู่งานเลี้ยงอาหารฝรั่งเศส ลาภปากที่ขัดย้อนแย้งต่อจิตสามัญสำนึกผู้คน

  • อารัมบท แนะนำผู้สูงวัย Filippa, Martine และสาวใช้ Babette
  • สัมพันธ์รักของ Filippa และ Martine
    • เริ่มจากเจ้าหน้าที่ทหาร Lorens Löwenhielm ได้รับมอบหมายให้มาประจำการยัง Jylland ตกหลุมรัก Martine แต่ก็มิอาจอดรนทน รับรู้ว่าตนเองไม่มีทางครองคู่ จึงเดินทางกลับสวีเดน ดำเนินตามความฝันตนเอง
    • นักร้องอุปรากรชื่อดัง Achille Papin มาทำการแสดงที่สวีเดน แล้วตัดสินใจหยุดพักผ่อนยัง Jylland ตกหลุมรักน้ำเสียงของ Filippa อาสาเป็นครูสอนร้องเพลง เชื่อมั่นว่าสักวันจะต้องแจ้งเกิดโด่งดัง แต่เธอกลับปฏิเสธความสำเร็จนั้น
  • การมาถึงของ Babette
    • หลายปีต่อมา Achille Papin เขียนจดหมายถึง Filippa ให้ช่วยรับอุปถัมภ์ Babette Hersant หลบลี้หนีภัยจากสงครามกลางเมืองฝรั่งเศส
    • Babette Hersant ใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวเล Jylland
  • Babette ถูกรางวัลล็อตเตอรี่
    • ตัดกลับมาปัจจุบัน 35 ปีให้หลัง Babette กลายเป็นสมาชิกหมู่บ้านที่ได้รับความรัก ความเอ็นดู เป็นที่โปรดปรานของใครๆ
    • วันหนึ่งมีจดหมายส่งจาก Paris แจ้งว่า Babette ถูกรางวัลล็อตเตอรี่ 10,000 ฟรังก์
    • หลังจากครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ Babette อาสาจัดงานเลี้ยงรับประทานอาหารในสไตล์ฝรั่งเศษ
  • งานเลี้ยงของ Babette
    • Babette เดินทางไปสั่งวัตถุดิบ เครื่องปรุง นำกลับมายังหมู่บ้านแห่งนี้
    • หลังจากพบเห็นวัตถุดิบของสัตว์มีชีวิต สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวบ้าน ว่าอาหารมื้อนี้จะนำทางพวกเขาสู่ขุมนรก
    • General Lorens Löwenhielm ตอบรับคำเชิญ เดินทางมาร่วมงานเลี้ยงมื้อนี้
    • ค่ำคืนงานเลี้ยงของ Babette
    • และหลังงานเลี้ยง เดินทางกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย

ในส่วนของเพลงประกอบ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ ‘diegetic music’ พบเห็นการขับร้อง ทำการแสดงสด บทเพลงสรรเสริญพระเจ้า, บรรเลงออร์เคสตรา และอุปรากร Mozart: Don Giovanni

  • Mozart: Don Giovanni
    • Act 1, Scene 3: Fin ch’ han dal vino (แปลว่า As long as they have wine) ชื่อเล่น Champagne Aria
    • Act 1, Scene 9: Là ci darem la mano (แปลว่า There we will give each other our hands)
  • Brahms: Waltz in A-Flat Major, Op. 39 No. 15
  • Kuhlau: Sonatina in F Major, Op. 55, No. 4: II. Andantino Con Espressione

ส่วนบทเพลง Soundtrack โดย Per Nørgård (เกิดปี 1932) คีตกวี นักทฤษฎีดนตรี สัญชาติ Danish เกิดที่ Gentofte, โตขึ้นเข้าศึกษา Royal Danish Academy of Music แล้วไปเรียนต่อที่กรุง Paris หลงใหลในสไตล์เพลงร่วมสมัย (Contemporary Music) ทำงานเป็นครูสอนดนตรียัง Odense Conservatory ตามด้วย Royal Danish Conservatory of Music มีผลงาน Orchestral, Opera, Concertante, Chamber Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Red Mantle (1967), Babette’s Feast (1987) ฯ

งานเพลงของ Nørgård สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจรับฟัง อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีอยู่ ท่วงทำนองสั้นๆ เรียบง่าย กลมกลืนพื้นหลัง คลอประกอบหนังเบาๆ ส่วนใหญ่เป็นการบรรเลงเปียโน ไม่ก็ออร์แกน (โดย Finn Gravnbøl) สอดคล้องสไตล์ Minimalist และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเล Jylland


หนึ่งในบทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์อย่างคาดไม่ถึง Là ci darem la mano บทเพลงคู่ (Duet) ที่นักร้องอุปรากร Achille Papin (รับบทโดย Jean-Philippe Lafont นักร้องเสียง Baritone สัญชาติฝรั่งเศส) ทำการเสี้ยมสอน พร้อมเกี้ยวพาราสี Filippa (ขับร้องโดย Tina Kiberg นักร้องเสียง Soprano สัญชาติ Danish) เนื้อคำร้องมันช่างมีความสอดคล้องจองเรื่องราวขณะนั้นๆ … หลายคนอาจไม่คุ้นกับฉบับได้ยินในหนัง เพราะขับร้องด้วยภาษาฝรั่งเศส (ต้นฉบับคืออิตาเลี่ยน)

เกร็ด: Don Giovanni แรกพบเจอตกหลุมรัก Zerlina แม้ว่าเธอหมั้นหมายกับ Masetto วางแผนชักชวนทั้งสองมาร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลองแต่งงานที่ปราสาท พอแฟนหนุ่มกลับบ้านไปก่อน เขาจึงเริ่มหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีด้วยบทเพลง Là ci darem la mano

แถมให้อีกบทเพลงเพราะๆ Se, hvor sig dagen atter skynder แปลว่า See how the day hastens again ได้ยินหลังเสร็จจากรับประทานอาหาร Filippa ขับร้อง บรรเลงเปียโน รวบรวมอยู่ใน Danish Hymnbook No. 766 (บทเพลงสรรเสริญพระเจ้า)

ต้นฉบับ Danishคำแปล Google Translation
Se, hvor sig dagen atter skynder,
i vestervand sig solen tog,
vor hviletime snart begynder;
o Gud, som udi lyset bor
og sidder udi Himmelsal,
vær du vort lys i mørkeds dal.
Vort timeglas det alt nedrinder,
af natten drives dagen bort,
al verdens herlighed forsvinder
og varer kun så ganske kort;
Gud, lad dit lys ej blive slukt
Og nådens dør ej heller lukt.
See how the day hastens again,
in the west the sun set,
our hour of rest soon begins;
o God, who lives outside the light
and sits outside Himmelsal,
be our light in the valley of darkness.
Our hourglass it all pours down,
by night the day is driven away,
all the glory of the world vanishes
and lasts only so very briefly;
God, do not let your light be extinguished
And the door of grace does not smell either.

LINK: https://www.youtube.com/watch?v=uDKNlLzrDfw

Babette’s Feast (1987) นำเสนอเรื่องราวของชุมชนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาศาสนาอย่างแรงกล้า เลือกที่จะใช้ชีวิตสมถะ กินอยู่อย่างเรียบง่าย พอมีพอใช้ ไม่ต้องการชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จอะไรๆใดๆ เพียงยึดถือปฏิบัติตามคำสอน เพื่อว่าเมื่อลาจากโลกใบนี้ ตายแล้วได้เข้าสู่สรวงสวรรค์ กลับไปอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า

การมาถึงของ Babette Hersant หญิงต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม เคยมีชีวิตเลิศหรูหรา เชฟระดับภัตตาคาร แต่เพราะภัยสงครามทำให้ต้องอพยพหลบหนี ลี้ภัยมาอาศัยอยู่กับชาวบ้านแห่งนี้ ค่อยๆเรียนรู้ที่จะปรับตัว ปล่อยวาง เข้าใจความเพียงพอดี กระทั่งกาลเวลาพานผ่านมากว่า 35 ปี วันหนึ่งบังเอิญถูกล็อตเตอรี่ นี่อาจคือการร่ำจากลาครั้งสุดท้าย

แม้ว่า Babette ยังมีความคร่ำครวญ โหยหา ครุ่นคิดถึงช่วงเวลาเคยอาศัยอยู่ฝรั่งเศส เป็นเชฟระดับภัตตาคาร แต่กาลเวลาได้พานผ่านมาเนิ่นนาน ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว ปล่อยวาง คลายความยึดติดกับโลกใบนั้น การถูกรางวัลล็อตเตอรี่ไม่ได้ทำให้เธอกระตือรือล้นที่จะหวนกลับไป แต่เกิดความต้องการจะทำบางสิ่งอย่างเพื่อตอบแทนชาวบ้านทั้งหลาย เรียกร้องขอครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิต ปรุงอาหารฝรั่งเศสมื้อสุดท้าย

ผกก. Axel เป็นชาว Danish แต่กลับใช้ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ Paris, ฝรั่งเศส ฟังดูมันช่างตรงกันข้ามกับ Babette เชฟชาวฝรั่งเศส แต่ต้องอพยพลี้ภัยมาอยู่ประเทศ Denmark

เชฟ (Chef) คือคำเรียกผู้ประกอบอาหารระดับสูง มีความรู้ เชี่ยวชำนาญ มากด้วยประสบการณ์ รังสรรค์มื้ออาหารด้วยความประณีต วิจิตรศิลป์ ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ หน้าตาภายนอก แต่ยังสัมผัสอันซับซ้อนของรูป-รส-กลิ่น-เสียง แบบเดียวกับศิลปินรังสรรค์งานศิลปะ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์

แม้ว่า Babette’s Feast (1987) จะไม่ใช่ผลงานเรื่องสุดท้ายของผกก. Axel แต่ก็มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในชีวิตต้องการดัดแปลงเรื่องสั้น สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้จงได้ พยายามเก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ มองหาโอกาสในอาชีพการงาน ท้ายที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จ แบบเดียวกับ Babette ปรุงอาหารมื้อสุดท้าย ต่อจากนี้คงได้นอนตายตาหลับ ไม่มีอะไรหลงเหลือติดค้างคาใจ

เนื่องจากผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ จึงขอไม่วิเคราะห์ถึงกระยาหารมื้อนี้ จักทำให้ชาวคริสเตียนตกนรกมอดไหม้หรือไม่? แต่สำหรับชาวพุทธ ไม่มีกล่าวถึงความหรูหราฟุ่มเฟือยของมื้ออาหาร เพียงหักห้ามเนื้อสัตว์บางประเภท (พระสงฆ์ห้ามรับประทาน เนื้อมนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข ราชสีห์ ฯ) และสอนให้พิจารณาอาหารโดยความเป็นของน่าเกลียด

อาหาเรปฏิกูลสัญญา (กัมมัฏฐาน, คัมภีร์อังคุตตรนิกาย) คือการพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร กำหนดหมายว่า อาหารที่บริโภค ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล เหตุให้ได้รับทุกข์ ภัย อุปัทวันตรายต่างๆ รวมถึงภัยจากความยินดีในการรับประทาน หากพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดสุขุม จะพบเห็นโทษภัยที่น่ากลัว และถ้าขาดการพิจารณาจะมองไม่เห็นโทษเลย

อาหารมื้อที่มีความปรารถนาน้อยเปนเนื้อข้าว มีความสันโดษเปนกับข้าว เปนอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกนี้ บางคนกล่าวว่ามื้อที่หิว ข้อนั้นย่อมไม่แน่นอนนัก เพราะคนที่มีหิวบางคนก็ยังเลือกอาหาร และติเตียนเมื่อบริโภคแล้ว.

ข้าวสุกเปล่าที่เคี้ยวบดอยู่ในปากมีความสันโดษในห้วงแห่งดวงใจเปนกับ ย่อมหวานยิ่งกว่าข้าวสุกระคนด้วยนมข้นอย่างหวาน แต่เคี้ยวกลืนด้วยหัวใจแห่งชาวโลกธรรมดา! แม้ว่าตามธรรมชาติของแป้งข้าวในข้าวสุข เมื่อผสมกับน้ำลายแล้ว แปรธาตุเปนน้ำตาลรู้สึกหวานแก่ผู้เคี้ยวก็จริง แต่มันหวานไม่ถึง 1/100 ของข้างที่เคี้ยวและกลั้วด้วยน้ำลายอันผสมด้วยเชื้อแห่งสันโดษ.

เคยปรากฏแก่ข้าพเจ้าในบางครั้งว่า หวานจนขนลุกและเย็นซ่าไปทั่วตัว มีกลิ่นหอมและชุ่มชื่น จนรู้สึกว่า 3-4 คำก็พอแล้วสำหรับชีวิตในวันนี้ แต่ถ้าบางวันข้าพเจ้าเผลอลืมราดน้ำปรุงรสกล่าวคือความสันโดษนี่แล้ว ย่อมรู้สึกว่า ชาวบ้านช่างใจจืดแก่พวกเราเสียจริงหนอ! เขาไม่ให้อาหารที่เปนรสชาติแก่ลิ้นเสียเลย ทั้งที่วันนั้นมีการแกงไม่น้อยกว่า 2-3 อย่างก็มี

พระพุทธบิดาตรัสว่า จิตต์เปนธรรมชาติที่มีอารมณ์อันเดียว หมายความว่ามันเสวยอารมณ์ หรือรู้สึกอารมณ์ได้คราวละอัน ท่านจะป้อนอารมณ์อันไหนก็ให้แก่มันย่อมแล้วแต่ท่านจะเลือก เมื่อสันโดษเปนธรรมารมณ์ที่จิตเสวยอยู่แล้ว เมื่อนั้นมันย่อมเปนเด็กที่เลี้ยงง่ายไม่อ้อน และไม่รู้สึกถึงการที่มันเคยเลี้ยงยากครั้งก่อนๆ หรือครั้งอื่นๆ เลย

เพราะมันมีอารมณ์อันเดียว เปนแต่มันเปลี่ยนอารมณ์เร็วมากเท่านั้น เมื่อท่านไม่ยอมให้มันเปลี่ยน ผูกมัดไว้แน่นกับเสาเขื่อนคือสันโดษเหมือนลูกโคที่เขาจะนำไปฆ่าแล้ว ผักล้วนๆ หรือข้าวสุกล้วน ไม่มีอะไรเจือปน ก็ทำความพอใจอิ่มเอมให้แก่จิตต์เท่ากันกับอาหารที่ท่านหลงเพ้อว่าวิเศษทั้งหลาย ซึ่งเปนอาหารชนิดยาเสพติดมากกว่า ถ้าทำถูกวิธีจิตต์จะมีอารมณ์อันเดียว และไม่อ้อนเลย

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นโคกินหญ้าด้วยความสังเกตยิ่งกว่าทุกวัน เข้าใจว่ามันรู้สึกอร่อยเท่าที่พวกมันเปนทาสลิ้นเห็นอาหารตามภัตตาคารสูงๆ หรือแม่ครัวฝีมือดีเหมือนกัน วันหนึ่งข้าพเจ้าเลี้ยงปลาในสระด้วยข้าวสุกอย่างเดียว ข้าวสุกซึ่งมนุสส์กินแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่พวกปลามันเห็นเปนดุจว่า เทวดาเอาของทิพย์มาหว่านให้ทีเดียว นี่คือธรรมชาติ! มนุสส์ได้ยอมเปนขี้ข้าของปิสาจมหาอุบาทว์คือตัณหาในรสที่ลิ้นไปเสียแล้ว จึงกินข้าวสุกอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งที่มนุสส์ก็คือสัตว์ธรรมชาติชนิดหนึ่งเหมือนกัน

วันหนึ่งข้าพเจ้าสละทองหยิบ และขนมหม้อแกง และของอื่นบางอย่าง แทนที่จะบริโภคเอง ให้พวกปลานั้นกิน แต่มันหากินไม่ ดูเถิดธรรมชาติ! มนุสส์สัตว์ธรรมชาติ ได้ละจากสิ่งที่บริสุทธิ์ ไปยึดสิ่งที่เศร้าหมอง เสพติดยาฝิ่นอย่างเงียบๆ ให้เป็นของจำเป็นสำหรับชีวิตด้วยการยึดถือ เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเปนของเลวทราม สิ่งที่ปรุงใหม่ และหายากเปนของดี เพราะอุปทานที่ลิ้น!…ข้าวต้องผัดต้องปรุงเสียก่อน จึงจะกินข้าวนั้นได้โดยไม่ต้องกินกับข้าว ซึ่งความจริงมันก็เหมือนกับข้าวนั่นเอง

ธรรมชาติต้องการอาหารที่บำรุง หาต้องการอาหารที่แสลงไม่, อาหารที่ปรุงยิ่งวิเศษยิ่งขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งเป็นอาหารเลวทรามลงเพียงนั้น เพราะแสลงและไม่เปนประโยชน์แก่ร่างกายยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเป็นอาหารเลวทรามลงเพียงนั้น เพราะแสลงและไม่เปนประโยชน์แก่ร่างกายยิ่งขึ้น เปนแต่มีกลิ่น, สี, รส ฝั่งมนุสส์ให้โง่หลงผิดยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง…

อาหารมื้ออร่อยที่สุด โดยพุทธทาสภิกขุ

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เห็นว่าเสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่สามารถคว้ารางวัล Prize of the Ecumenical Jury – Special Mention จากนั้นตระเวนออกฉายตามเทศกาลหนัง โดยไม่รู้ตัวบังเกิดกระแสนิยมจากผู้ชมอเมริกัน กลายเป็นตัวแทนเดนมาร์กเข้าชิง Golden Globe และคว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 2K ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 จัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดยค่าย Criterion Collection และ Artificial Eye

โชคดีที่ผมพอมีความรู้นิดๆหน่อยๆเกี่ยวกับอาหารฝรั่งเศส (สมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีวิชาที่สอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร) เคยติดตามรายกายทำอาหารอย่างมาสเตอร์เชฟ ท็อปเชฟ ฯ เลยสามารถเข้าใจวัฒนธรรมการกินที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน มองเป็นศาสตร์ศิลปะ

ขณะเดียวกันความขัดแย้งระหว่างอาหารชั้นสูง vs. ศรัทธาศาสนา ทำให้งานเลี้ยงสุดเต็มไปด้วยความหรรษา ว้าๆวุ่นวาย พร้อมถ้อยคำเฉียบคมคาย “An artist is never poor.”

จัดเรต pg กับสรรพสัตว์ที่กำลังจะถูกเชือดทำอาหาร

คำโปรย | Babette’s Feast มื้ออาหารสุดหรูหราของ Gabriel Axel อิ่มหนำทั้งร่างกาย และจิตวิญญาณ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | อิ่มหนำ

Mùi đu đủ xanh (1993)


The Scent of Green Papaya (1993) French,  : Trần Anh Hùng ♥♥♥♥♡

กลิ่นมะละกอ (Papaya) บางคนว่าหอมหวน บางคนว่าเหม็นหืน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตลบอบอวลด้วยความทรงจำผู้กำกับ Trần Anh Hùng จากบ้านเกิดมาตั้งแต่อายุสิบสอง มองย้อนกลับไปรู้สึกสงสารเห็นใจ ประเทศเวียดนามยังคงยึดถือมั่นในสังคมปิตาธิปไตย (Patriarchy)

ทั้งๆไม่มีสักช็อตถ่ายทำในเวียดนาม (ฉากทั้งหมดสร้างขึ้นในสตูดิโอที่ฝรั่งเศส) แต่กลับได้รับยกย่องหนึ่งในภาพยนตร์(สัญชาติเวียดนาม)ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุด! ติดอันดับ #89 ชาร์ท Busan: Asian Cinema 100 Ranking (2015) … เป็นหนังเวียดนามเรื่องเดียวติดชาร์ทนี้!

ไม่ใช่ว่าผมหยิบผลงานผู้กำกับ Trần Anh Hùng เพราะกระแสกำลังนิยมของ The Taste of Things (2023) แต่คือความเข้าใจผิดๆ ครุ่นคิดว่านี่คือหนังโรแมนติก –” จริงๆตั้งใจจะเขียนถึง Norwegian Wood (2010) ในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่มันเลยมาไกลแล้วก็เอาเรื่องอื่นด้วยแล้วกัน

ผมมีความคาดไม่ถึงหลายๆอย่างต่อ The Scent of Green Papaya (1993) โดยเฉพาะความละเมียด เต็มไปด้วยรายละเอียด สัมผัสกวีภาพยนตร์ (ในสไตล์ Robert Bresson ผสมเข้ากับ Pather Panchali (1955)) นำเสนอผ่านมุมมองสายตาเด็กหญิง ถูกครอบครัวส่งมาทำงานเป็นคนรับใช้ เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น สังเกตสิ่งต่างๆรอบข้าง ทั้งผู้คน สรรพสัตว์น้อย-ใหญ่ เรียนรู้ ฝึกฝน อดรนทน จนเติบโตเป็นสาว แล้วครองรักกับนายจ้าง … เป็นภาพยนตร์ที่ประหยัดถ้อยคำ ใช้เพียงนักแสดงสมัครเล่น ดำเนินเรื่องด้วยภาษาภาพยนตร์ ถ่ายภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ มีความละมุน นุ่มนวล งดงามวิจิตรศิลป์ คละคลุ้งด้วยกลิ่นมะละกอ พอครุ่นคิดออกหรือเปล่าว่าแฝงนัยยะอะไร?


Trần Anh Hùng (เกิดปี 1962) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Vietnamese-French เกิดที่ Da Nang, South Vietnam ในช่วงสงคราม Vietnam War (1955-75) อพยพสู่ลาว ก่อนลี้ภัยไปฝรั่งเศส โตขึ้นระหว่างร่ำเรียนปรัชญา กระทั่งมีโอกาสรับชม A Man Escaped (1956) กำกับโดย Robert Bresson หันเหความสนใจมายังภาพยนตร์ ร่ำเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นตากล้อง กำกับหนังสั้น The Married Woman of Nam Xuong (1989), La pierre de l’attente (1991), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Scent of Green Papaya (1993)

ความสนใจของ Trần Anh Hùng ไม่ใช้การเล่าเรื่องแบบปกติทั่วๆไป พยายามมองหาวิธีสื่อสาร ภาษาภาพยนตร์รูปแบบใหม่ๆ ให้คำนิยามงานศิลปะ “Art is the truth wearing a mask” ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดค้นหาคำตอบของสิ่งที่หลบซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังหน้ากาก

ตามธรรมเนียมนักศึกษาภาพยนตร์จบใหม่(จากฝรั่งเศส) ผลงานเรื่องแรกมักสรรค์สร้างแนว ‘Coming-of-Age’ ซึ่งสำหรับ Trần Anh Hùng ได้ทำการหวนระลึกความหลัง ช่วงเวลาวัยเด็กเคยอาศัยอยู่เวียดนามใต้ (ก่อนย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส) แต่ไม่ใช่เอาตนเองอวตารเป็นเด็กหญิง Mùi ต้องการนำเสนอเรื่องราวของมารดา สตรีเพศในสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งสามารถสะท้อนจิตวิญญาณชาวเวียดนามได้เช่นเดียวกัน!

What I talk about in the film is what I know: my life with my mother. The emotional charge transferred to the film is a function of my description of women who have led similar lives to my mother.

I took the story from a literary cliché—a cliché of Vietnamese literature. It’s a simple theme, really: The woman assumes all the familial responsibilities; the husband, on the other hand, is quite idle and lazy, and doesn’t do anything except receive the good things of life. Beyond that, my interest in the film was to create a certain freshness and poetry in daily life. By this means, I wanted to give a rhythm to the movie, a rhythm that I hope represents a certain manner of living in Vietnam, and through that rhythm to reveal the soul of the country.

Trần Anh Hùng

ชื่อหนังเขียนได้ดังนี้: (เวียดนาม) Mùi đu đủ xanh, (ฝรั่งเศส) L’Odeur de la papaye verte, (อังกฤษ) The Scent of Green Papaya

ชื่อหนังภาษาเวียดนาม Mùi đu đủ xanh สังเกตคำแรก Mùi ตรงกันชื่อตัวละครเด็กหญิง-สาว มีความหมายว่า Odor (กลิ่น) ขณะที่ đu đủ xanh คือ Green Papaya แสดงว่าเราสามารถแปล กลิ่นของมะละกอ และ/หรือ มะละกอของเด็กสาว Mùi


เด็กหญิง Mùi วัยสิบขวบ เป็นเด็กช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น และที่สำคัญคือตั้งใจทำงาน ขยันขันแข็ง เรียนรู้การเป็นคนรับใช้ในครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิก

  • บิดาเป็นคนเกียจคร้าน วันๆเอาแต่หลับนอน เล่นดนตรี ไม่สนใจกิจการงาน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสารไปวันๆ
  • มารดาทำงานร้านขายผ้า ขณะนั้นยังมีความเศร้าโศกหลังการจากไปของบุตรสาวคนเล็ก (เลยเอ็นดูเด็กหญิง Mùi ราวกับลูกของตนเอง)
  • คุณยายตั้งแต่สูญเสียสามีคนรัก ก็กักขังตัวอยู่ในห้องชั้นบนไม่เคยก้าวลงมา วันๆเอาแต่สวดมนต์ ไม่ยินยอมทำอะไรอย่างอื่น
  • บุตรชายคนโตไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบออกไปสุงสิงกับเพื่อนสนิท(ที่มีฐานะร่ำรวย)
  • บุตรคนที่สองเป็นหนอนหนังสือ ทำเหมือนขยันขันแข็ง แต่แท้ที่จริงขี้เกียจคร้าน ชื่นชอบการทรมานสัตว์ตัวเล็กๆ
  • ส่วนบุตรคนเล็กนิสัยขี้เล่นซุกซน ยังไม่ค่อยรับรู้ประสีประสา แต่ชอบกลั่นแกล้งเด็กหญิง Mùi อยู่เป็นประจำ

วันหนึ่งบิดาผู้มีความเบื่อหน่ายกับชีวิตวันๆ ลักขโมยเงินเก็บ (เป็นครั้งที่สี่) หลบหนีหายตัวออกจากบ้าน ทำให้ครอบครัวเกือบตกอยู่ในสภาพคับขัน ต้องขายผ้าเอาหน้ารอด หลายวันจากนั้นบิดาหวนกลับมาในสภาพซมซาน ล้มป่วยหนัก มารดาจำต้องขายสิ่งของสะสม นำเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อย่างชีวิต

สิบปีถัดมาเมื่อลูกๆเติบใหญ่ย้ายออกจากบ้าน ครอบครัวจึงไม่สามารถว่าจ้างคนรับใช้ Mùi ได้อีกต่อไป เลยส่งเธอไปทำงานกับ Khuyen เพื่อนของบุตรชายคนโต(ที่เคยมาเยี่ยมเยียน แวะรับประทานอาหาร) ปัจจุบันจบจากนอก กลายเป็นนักเปียโนคอนเสิร์ต หมั้นหมายอยู่กับแฟนสาวสวย แต่ไม่นานเขาก็หลงในเสน่ห์(ปลายจวัก)ของ Mùi เลิกราคู่หมั้น แต่งงานครองรัก และกำลังจะมีบุตรร่วมกัน


ในส่วนของนักแสดง เพราะไม่ได้ถ่ายทำในเวียดนาม ก็เลยต้องมองหาคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ทั้งหมดล้วนเป็นมือสมัครเล่น ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์ ด้วยเหตุนี้ผกก. Trần Anh Hùng จึงต้องครุ่นคิดหาวิธีใหม่ๆ (แรงบันดาลใจจาก ‘สไตล์ Bresson’) เริ่มจากลดบทพูดสนทนา พัฒนาภาษาสื่อสารทางร่างกาย (ที่สอดคล้องวัฒนธรรมเวียดนาม) และใช้มุมกล้อง-ตัดต่อช่วยในการดำเนินเรื่องราว

เฉกเช่นเดียวกับบทสนทนา ภาษาเวียดนามมีหลากหลายสำเนียงเหนือ-กลาง-ใต้ (ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ฝรั่งเศสมานาน หลายคนก็เริ่มลืมเลือนภาษาบ้านเกิด) ด้วยเหตุนี้จึงพยายามลดทอนบทพูด และเวลาสื่อสารเลือกใช้สำเนียงเป็นกลางที่สุด (พากย์ทับเอาภายหลัง) … น่าเสียดายที่ถ้าคุณไม่ได้สื่อสารภาษาเวียดนาม ย่อมไม่สามารถแยกแยะออก

First of all, it’s very difficult to find Vietnamese actors. The Vietnamese are, by nature, a gentle people, and also to be an actor is not considered a very good thing. It’s not considered a serious thing, to be in the cinema. Once I found my actors, I had to work with them on a whole system of rediscovery of “typically Vietnamese” gestures. But I couldn’t stop just at that level. After I had worked on getting the children, especially, to have those gestures, I had to go one step further. I had to render those gestures stylized. What I really wanted to avoid was local color.

I did the same kind of work on their voices. I had to take into account the situation of the Vietnamese who live in France. Here I am giving them a film which has no local color. They don’t find their Vietnam, specifically, when they go to watch it. And yet, they all admitted that the film was profoundly Vietnamese.

Trần Anh Hùng

เกร็ด: นักแสดงที่รับบท Mùi ตอนโต(อายุ 20 ปี) คือ Trần Nữ Yên Khê ศรีภรรยาของผกก. Trần Anh Hùng ซึ่งเธอยังร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อาทิ Cyclo (1995), The Vertical Ray of the Sun (2000) ฯ


ถ่ายภาพโดย Benoît Delhomme (เกิดปี 1961) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาจาก École nationale supérieure Louis-Lumière จบออกมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง Bruno Nuytten ถ่ายทำภาพยนตร์ Jean de Florette (1986), Manon des Sources (1986), ฉายเดี่ยวกับ The Scent of Green Papaya (1993), Cyclo (1995), Family Resemblances (1996), Artemisia (1997), The Proposition (2008), 1408 (2007), The Boy in the Striped Pajamas (2008), The Theory of Everything (2017), At Eternity’s Gate (2018) ฯ

งานภาพของหนังรับอิทธิพลจากผลงานของผู้กำกับ Robert Bresson อีกเช่นเดียวกัน! โดดเด่นในการเก็บรายละเอียด สิ่งเล็กสิ่งน้อย ผ่านมุมมองสายตาเด็กหญิง Mùi หลายครั้งจึงดูเหมือนแอบถ่าย/ถ้ำมอง ลอดผ่านสิ่งข้าวของ วับๆแวมๆ ซึ่งนั่นช่วยทำให้จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล

ผกก. Trần Anh Hùng เดินทางกลับเวียดนามครั้งแรกในรอบ 16 ปี (ตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม) ตั้งใจสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำในกรุงโฮจิมินห์ แต่กาลเวลาได้ทำให้ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยน (เรื่องราวมีพื้นหลังทศวรรษ 50s-60s แต่ปีที่ถ่ายทำคือ 90s) เลยตัดสินใจหวนกลับฝรั่งเศส สร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Studios de Bry ตั้งอยู่ Bry-sur-Marne, Val-de-Marne

This was an extremely mental film, and it gives a mental image of Vietnam. It’s not a documentary. So the only thing I had to do was resist, in a sense, the reality that I discovered because that reality in front of me risked destroying the script that I had written. I had to return, or pull back into a mental state, the indices of reality. It was only by doing this that I managed to produce something that was extremely Vietnamese.

Trần Anh Hùng

มะละกอ (đu đủ) พบได้ทั่วไปทางตอนใต้ของเวียดนาม เป็นผลไม้ที่นิยมใช้ในเทศกาลตรุษญวน Tết Nguyên Đán (แปลตรงตัว Festival of the First Day) เฉลิมฉลองการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิ มีลักษณะเหมือนกับประเพณีตรุษจีน (เพราะเวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนนานนับพันปี) จัดขึ้นวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ (ก็ตรงกับวันตรุษจีนนั่นแหละ!)

เอาจริงๆผมไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ว่าเด็กหญิง Mùi หลงใหลอะไรในมะละกอ กลิ่นหอมหวน น้ำยางหล่นไหล รสสัมผัส เมล็ดภายใน? อาจเพราะเธอมองผลไม้ชนิดนี้ไม่ต่างจากตนเอง (เด็กหญิง Mùi = มะละกอดิบ ตัวแทนหญิงชาวเวียดนาม) คนส่วนใหญ่สนใจเพียงรสชาติภายนอก ทอดทิ้งแกนใน เมล็ดเหล่านี้แม้กินไม่ได้ แต่มันคือต้นกำเนิดชีวิตใหม่

ชายสูงวัยคนนี้ เหมือนจะมีความจงรักภักดี ติดตามคุณยายไปทุกแห่งหน คอยสอบถามสารทุกข์สุขดิบจากเด็กหญิง Mùi แต่เอาจริงๆพฤติกรรมไม่แตกต่างจาก Stalker ต้องการครอบครอง อยากได้เธอมาเป็นเจ้าของ ไม่ยินยอมปลดปล่อยอีกฝ่ายให้หลุดรอดจากเงื้อมมือตนเอง

ในตอนแรกเด็กหญิง Mùi พลั้งพลาดทำแจกันหล่นแตก ด้วยความไม่รู้ประสีประสาจึงได้รับการยกโทษให้อภัย … พยากรณ์ความตายของบิดา

ครั้งสองมีการกล่าวอ้างว่าหญิงสาว Mùi ทำแจกัน(ของคู่หมั้นนายจ้าง)ตกแตก แม้ไม่มีถ่ายซีนนั้นให้เห็น แต่ครั้งหนึ่งระหว่างทาลิปสติก เกือบทำแจกัน(ใบที่สอง)ตกแตก นั่นแสดงถึงความไม่ยี่หร่าต่อเจ้าของแจกัน … บอกใบ้ว่าท้ายที่สุดเธอคนนั้นย่อมต้องจากไป

คู่หมั้นนายจ้างเต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เขวี้ยงขว้างสิ่งข้าวของ ก่อนทำลายแจกันของตนเอง (แล้วถอดแหวนวางลงบนเปียโน) นี่สื่อตรงๆถึงหัวใจแตกสลาย สูญเสียชายคนรัก

In teaching Mui to read and write, the husband gives weapons to the wife to liberate herself. But this is just a possibility. Because, in the ending scene, Mui – after monologuing directly to the camera lens let out a cry and closed his eyes… the fetus moved in Mui’s belly. With this fetus, does the above-mentioned cycle begin again and the traditional relationship model is recreated?

Trần Anh Hùng

การอ่าน-เขียนหนังสือ ทำให้ภรรยาสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในมุมของผู้กำกับ Trần Anh Hùng เปรียบดั่งเมธาอาวุธสำหรับปลดแอกตนเองให้ได้รับอิสรภาพ แต่นั่นแค่เพียงความเป็นไปได้หนึ่งเท่านั้น เพราะการเคลื่อนเลื่อนกล้องจากครรภ์ของ Mùi พบเห็นภาพเบลอๆของชีวิต และสิ้นสุดเลื่อนขึ้นเห็นรูปปั้นเทพเจ้าเบื้องบนศีรษะ ราวกับว่านั่นโชคชะตาฟ้าลิขิต เบื้องบนกำหนดไว้ มนุษย์ไม่มีวันดิ้นหลุดพ้น (ในบริบทนี้ไม่ใช่เทพเทวดาฟ้าดิน แต่คือผู้นำประเทศชาติ บุคคลมีอำนาจดูแลประชาชน)

ตัดต่อโดย Nicole Dedieu, Jean-Pierre Roques

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาเด็กหญิง Mùi ตั้งแต่เดินทางมาถึงบ้านนายจ้าง เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น หลายครั้งจึงดูเหมือนแอบถ่าย/ถ้ำมอง ลอดผ่านสิ่งข้าวของ โดยปกติมักไม่ค่อยมีคำอธิบายเหตุการณ์ใดๆ ผู้ชมต้องคอยสังเกตความเป็นไปต่างๆด้วยตนเอง นานๆครั้งถึงได้ยินเสียงแม่บ้านที่คอยสอนงาน เล่าถึงเบื้องหลังครอบครัว สำหรับช่วยเติมเต็มความครุ่นคิดจินตนาการ

  • การมาถึงของเด็กหญิง Mùi
    • Opening Credit เด็กหญิงกำลังมองหาบ้านนายจ้าง ในที่สุดก็เดินทางมาถึง
    • เรียนรู้งานจากแม่บ้าน ทำอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู
    • พบเห็นกิจวัตรประจำวันของสมาชิกในครอบครัว
  • การจากไปของบิดา
    • เช้าวันหนึ่งบิดาหายตัวออกไปจากบ้าน ลักขโมยเงินเก็บ เครื่องประดับหมดสิ้น
    • พบเห็นปฏิกิริยาของสมาชิกในครอบครัว และด้วยเงินทองหร่อยหรอ เลยต้องกินอยู่อย่างประหยัด
    • พอสถานะการเงินกลับมามั่นคง บิดาก็หวนกลับมาในสภาพล้มป่วยหนัก
    • มารดาจึงจำต้องขายของสะสมเก่า นำเอาเงินมาจ่ายค่าหมอ ทำการฝังเข็ม แต่ก็ไม่เป็นผลอะไร

องก์สามของหนังจะเป็นการ ‘Time Skip’ กระโดดไปข้างหน้า สิบปีต่อมา Mùi เติบโตเป็นสาวแรกรุ่น ถูกส่งไปทำงานบ้านหลังใหม่ แม้ยังคงมีความอยากรู้อยากเห็น เพิ่มเติมคือความทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝัน ใช้มารยาเสน่ห์(ปลายจวัก) จนในที่สุดก็ได้เลื่อนสถานะ แต่งงานครองคู่รักนายจ้าง

  • สิบปีให้หลัง
    • หลังจากลูกๆย้ายออกไปมีครอบครัว มารดาจึงตัดสินใจส่ง Mùi ไปทำงานบ้านหลังใหม่
    • ณ บ้านหลังใหม่ Mùi เป็นสาวรับใช้ที่มีความขยันขันแข็ง ขณะเดียวกันก็สังเกตกิจวัตรประจำวันของนายจ้างและคู่หมั้น
    • วันหนึ่งระหว่างทั้งสองออกไปนอกบ้าน Mùi แต่งชุดอ่าวหญ่าย ทาลิปสติก เพ้อใฝ่ฝันอยากมีชีวิตเช่นนั้น บังเอิญนายจ้างหวนกลับมาพบเห็น ต่างฝ่ายต่างเริ่มไม่สามารถควบคุมตนเอง
    • นายจ้างตัดสินใจเลิกราคู่หมั้น แล้วมาแต่งงานกับ Mùi สอนให้รู้จักอ่านเขียน และกำลังจะมีบุตรร่วมกัน

ไฮไลท์การตัดต่อ คือการแทรกภาพสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ใช้เปรียบเทียบคู่ขนานกับเรื่องราวของมนุษย์ นี่ชวนให้ผมนึกถึง Pather Panchali (1955) กำกับโดย Satyajit Ray ทำให้หนังมีสัมผัสธรรมชาติ ใส่ใจรายละเอียดรอบข้าง ลักษณะของกวีภาพยนตร์

นอกจากนี้การตัดต่อยังพยายามทำออกมาให้สอดคล้องจังหวะของบทเพลง ช่วงแรกๆมีความช้าเนิบ เพราะความไม่รู้เดียงสา ว่าฉันกำลังจะพบเจออะไร แต่เมื่อเด็กสาวเริ่มสามารถปรับตัวเข้ากับกิจการงานบ้าน หนังจะมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วขึ้น(ทีละนิด) และองก์สามถือว่าโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน แคล่วคล่องว่องไว แสดงถึงประสบการณ์ เชี่ยวชำนาญ รับรู้ความต้องการของตนเอง

I wanted to give a rhythm to the movie, a rhythm that I hope represents a certain manner of living in Vietnam, and through that rhythm to reveal the soul of the country.

Trần Anh Hùng

เพลงประกอบโดย Tôn-Thất Tiết (เกิดปี 1933) คีตกวีสัญชาติ Vietnamese-French เกิดที่ Huê เดินทางสู่ Paris ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 เพื่อมาร่ำเรียนการแต่งเพลงยัง Conservatoire de Paris เคยเข้าคลาสของ Jean Rivier และ André Jolivet รับอิทธิพลการผสมผสานเพลงบทเพลงพื้นบ้านเข้ากับดนตรีตะวันตก (Eastern & Western) จบออกมามีผลงานประพันธ์ซิมโฟนี ออร์เคสตรา บัลเล่ต์ เพลงประกอบภาพยนตร์, เมื่อปี ค.ศ. 1993 ก่อตั้งสมาคม France-Vietnam Music Association เพื่อโปรโมทบทเพลงพื้นบ้าน (Traditional Music) ในประเทศเวียดนาม

งานเพลงของ Tôn-Thất Tiết สามารถแบ่งออกเป็นครึ่งแรก(องก์หนึ่งและสอง) คละคลุ้งด้วยกลิ่นอายเครื่องดนตรีพื้นบ้านเวียดนาม (Traditional Vietnamese) พบเห็นบิดาบรรเลง Đàn nguyệt (ด่านเวียต) เครื่องดนตรีประเภทสาย (เครื่องดีด) ลักษณะคล้ายกีต้าร์ แต่มีเพียง 2 เส้น, ส่วนขลุ่ยไม้ไผ่มีคำเรียก Sáo หรือ Sáo Trúc

ส่วนองก์สามหลังจาก Mùi ย้ายมาทำงานกับนายจ้างคนใหม่ ครานี้ได้ยินเสียงดนตรีตะวันตก บรรเลงเปียโน (และไวโอลินกรีดกราย) บทเพลงคลาสสิกดังๆอย่าง Debussy: Clair de Lune, Chopin: Prélude No. 23-24

แม้ไม่ได้มีท่วงทำนองติดหู แต่งานเพลงของ Tôn-Thất Tiết มีลักษณะเหมือนสร้อยบทกวี คอยเติมเต็มสัมผัสทางอารมณ์ ให้สอดคล้องเหตุการณ์ขณะนั้นๆ … บทเพลงเป็นสิ่งช่วยสร้างอรรถรสในการรับชม และเสริมความเข้าใจเรื่องราวบังเกิดขึ้น

I don’t use music as an illustration but as a tool to communicate with the viewer. The music comes when the viewer’s emotions are ripe. And importantly, the music must match the rhythm and atmosphere of the movie, they work together to create a very special space when enjoying.

Trần Anh Hùng

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือการใช้ ‘Sound Effect’ เต็มไปด้วยเสียงของธรรมชาติ สรรพสัตว์น้อย-ใหญ่ ทั้งที่มองเห็น-ไม่เห็น นั่นรวมถึงสัญญาณไซเรน (เคอร์ฟิว) และเครื่องบินผ่านศีรษะ นี่ไม่ใช่แค่การสร้างบรรยากาศเวียดนามยุคสมัยนั้น ยังพยายามเชื่องโยงความสัมพันธ์ระหว่างภายในครอบครัว (จุลภาค) และสังคมภายนอก/ประเทศชาติ (มหภาค)

  • สัญญาณไซเรนในช่วงเคอร์ฟิว สื่อถึงการใช้อำนาจของรัฐควบคุมประชาชน = ลูกหลานปฏิบัติตามคำสั่งบิดา
  • เสียงเครื่องบินผ่านศีรษะ ในตอนแรกผมครุ่นคิดถึงภยันตรายย่างกรายเข้ามา (ความสัมพันธ์นาย-บ่าว ขัดต่อหลักจริยธรรมทางสังคมสมัยนั้น) ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงการเอื้อมมือไขว่คว้า ต้องการครอบครองเทพบุตรสุดหล่อของสาวใช้ Mùi

ครึ่งแรก (องก์หนึ่งและสอง) นำเสนอเรื่องราววุ่นๆวายๆของบรรดาเพศชาย (ทั้งสามีและลูกๆ) พฤติกรรมของพวกเขาต่างไม่เคยสนใจใยดี หนำซ้ำยังพยายามกลั้นแกล้ง กดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ วางอำนาจบาดใหญ่ (ตามวิถีสังคมปิตาธิปไตย) สตรีเพศไม่ต่างจากคนรับใช้ ต้องคอยปัดกวาดเช็ดถู ดูแลงานบ้านการเรือน ปรนเปรอปรนิบัติ(สามี) คอยทำทุกสิ่งอย่างอยู่เบื้องหลัง(ช้างเท้าหลัง)เพื่อครอบครัว

การจากไปของบิดา เสาหลักของบ้าน แม้วันๆไม่เห็นทำอะไร เอาแต่นั่งๆ นอนๆ เล่นดนตรี มีความขี้เกียจคร้าน แต่กลับทำให้ครอบครัวตกอยู่ในสภาวะสั่นคลอน ขาดที่พึ่งพิง ไม่ใช่แค่มารดา ยังลูกๆทั้งสามเรียกร้องถามหา … นี่แสดงถึงรากฐานครอบครัว/สังคม จิตวิญญาณของประเทศเวียดนาม เติบโตขึ้นจากแนวคิดปิตาธิปไตย

องก์สามของหนัง มองผิวเผินเหมือนการได้รับอิสรภาพ ความรักทำให้หญิงสาวปลดแอกจากการเป็นคนรับใช้ แต่ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยา คือบ่วงบาศ โซ่ตรวน อันจะทำให้สถานะของเธอปรับเปลี่ยนเป็นมารดา นั่นคือการเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

When meeting love, the gestures of service and service change their meaning and content, becoming gestures of sacrifice and dedication. Love frees women from being servants, while at the same time imprisoning them in the relationship of serving men like never before. The complexity and ambivalence in the relationship between service and love are the issues that The Scent of Green Papaya wants to raise.

Trần Anh Hùng

คู่หมั้นสาวสวย vs. คนรับใช้ Mùi หลายคนอาจเปรียบเทียบถึงชนชั้นสูง-ต่ำ (จริงๆมันต้อง Middle Class vs. Working Class), สาวสมัยใหม่ ระริกระรี้แรดร่าน vs. หญิงสมัยเก่า เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้, ผกก. Trần Anh Hùng ให้เหตุผลของการเลือกของฝ่ายชาย (ไม่ได้สะท้อนรสนิยมของเขาเอง) คือหวาดกลัวการสูญเสียอำนาจ

two methods of seduction in a sexual relationship. On one side is Khuyen’s Europeanized fiancee and her Western seduction style, based on force correlation and provocation. On the other side is Mui and the Oriental seduction, based on the permeation and relationships between men and women that avoid each other to become necessary for each other. Ultimately, a woman’s choice of traditional silk may be due to the desire to return to the source or because of fear of radical changes.

สิ่งที่หนังพยายามนำเสนอ คือวังเวียนวน วงจรอุบาทว์ วัฏจักรชีวิตหญิงชาวเวียดนาม ภายใต้วิถีสังคมปิตาธิปไตย

  • เด็กหญิง Mùi คือช่วงเวลาฝึกฝน เรียนรู้ ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง
  • หญิงสาว Mùi ใช้มารยาเสน่ห์(ปลายจวัก)ในการเกี้ยวพาราสี ปลดแอกจากการเป็นคนรับใช้ แต่งงาน มีบุตร ครุ่นคิดว่าอนาคตคงสุขสบาย
  • มารดาพอหมดความสวยสาว ถูกสามีเฉดหัว ไม่สนใจใยดี (หนีออกจากบ้าน/คบชู้นอกใจ) แต่ยังต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัว บุตรชาย-สาว อดกลั้นต่อความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน
  • ยายวัยชรา หลังสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ทำได้เพียงสวดมนต์อธิษฐาน เฝ้ารอคอยวันตาย ไม่สามารถกระทำสิ่งอื่นใด

มารดาของผู้กำกับ Trần Anh Hùng ไม่เคยเป็นสาวใช้ หรือมีสภาพหมดอาลัยเหมือนคุณยาย แต่วิถีชีวิตของเธอคือช้างเท้าหลัง ไร้อำนาจ สิทธิ์เสียง เพียงศิโรราบต่อบิดา นั่นเป็นสิ่งที่เขารับรู้สึกว่ามันไม่ค่อยถูกต้อง

The nature of the relationship with my mother is affectionate and sympathetic. The nature of the relationship with the father is authority: the father is the one in charge of the family, the one who whips, and not just figuratively.

ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งเสรีชน คนหัวก้าวหน้า อิสรภาพในการครุ่นคิดแสดงออก เสมอภาคเท่าเทียมระหว่างบุรุษ-สตรี เหล่านี้ล้วนสร้างอิทธิพลให้กับ Trần Anh Hùng พอมองย้อนกลับมาดูตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติที่จากมา บังเกิดความขัดแย้งภายใน ต้องการสำแดงบางอย่างให้ชาวเวียดนาม ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ออกจากกบในกะลาคลอบ

มะละกอดิบ สัญลักษณ์แทนโชคชะตาหญิงชาวเวียดนาม ในสังคมปิตาธิปไตย ยังไม่ทันหง่อมก็ถูกตัดมาทำเป็นอาหาร ขูดๆสับๆ ได้เท่าไหร่เท่านั้น เหลือก็โยนทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย … เอาจริงๆผมไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ แต่มันอาจคือวัฒนธรรมการบริโภคของชาวเวียดนาม ชอบมะละกอสดๆดิบๆ ไม่กินแบบสุกๆหรือเก็บไว้ในตู้เย็น กระมั้งนะ

The image of a green papaya speaks metaphorically of the main theme of the fate of Vietnamese women, a traditional relationship between women and men, the service relationship. A service accepted with an extraordinary spiritual power that one can encounter in Vietnamese mothers. An unacceptable regime, if considered materialistically.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในโปรแกรมฉาย Un Certain Regard เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม (ยุคสมัยนั้น Un Certain Regard ยังไม่ใช่สายการประกวด เลยไม่มีการมอบรางวัลใดๆ) สามารถคว้ารางวัล Caméra d’Or สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก (Best First Feature Film)

จริงๆแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ออกทุน-จัดจำหน่ายโดยสตูดิโอสัญชาติฝรั่งเศส แต่เพียงเพราะพูดภาษาเวียดนาม จึงได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศเวียดนามส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ถือเป็นครั้งแรกครั้งเดียว(ของเวียดนาม)เข้าถึงรอบห้าเรื่องสุดท้าย แต่พ่ายให้กับ Belle Époque (1992) จากประเทศสเปน [เอาจริงๆไม่มีลุ้นเพราะปีนั้นสายแข็งโคตรๆ เพราะยังมี Farewell My Concubine (1993) และ The Wedding Banquet (1993))

ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะ แต่ฉบับ DVD/Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2011 คุณภาพถือว่าดียอดเยี่ยม

ส่วนตัวมีความหลงใหลคลั่งไคล้ The Scent of Green Papaya (1993) ประทับใจในลีลาการนำเสนอ มีความละเมียด เต็มไปด้วยรายละเอียด สัมผัสกวีภาพยนตร์ เกือบจะได้กลายเป็นหนังโปรดเรื่องใหม่ ถ้าไม่เพราะองก์สุดท้าย ‘Time Skip’ ดูเร่งรีบร้อน รวบรัดตัดตอน ไอ้เด็กเวรเยี่ยวใส่กระโถนมันหายหัวไปไหน? ค้างๆคาๆโน่นนี่นั่นมากเกินไป ดวงตาอันบริสุทธิ์ของเด็กหญิง แปรสภาพสู่ความยั่วเย้ายวน แย่งผัวชาวบ้าน ได้รับอิสรภาพชีวิต … เห้อ!

จัดเรต pg กับบรรยากาศชายเป็นใหญ่ คบชู้นอกใจ

คำโปรย | ความตลบอบอวลของ The Scent of Green Papaya มันอาจหอมหวนสำหรับชาวเวียดนาม แต่สำหรับ Trần Anh Hùng กลับเหม็นหืน กล้ำกลืน รู้สึกสงสารเห็นใจ
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก

Rupan Sansei: Kariosutoro no Shiro (1979)


The Castle of Cagliostro (1979) Japanese : Hayao Miyazaki ♥♥♥♥♡

ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของ Hayao Miyazaki ดัดแปลงจากมังงะ Lupin the Third ปรับเปลี่ยนอาชญากรผู้เหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ให้กลายเป็นจอมโจรโรแมนติก ปล้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือหัวใจหญิงสาว

ไม่ใช่แค่หนึ่งในภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมตลอดกาล! ยังได้รับคำชื่นชมจากผู้กำกับชื่อดัง Steven Spielberg ว่าเป็นหนึ่งใน “Greatest Adventure Movies of All Time” กลายเป็นแรงบันดาลใจแฟนไชร์ Indiana Jones, The Adventures of Tintin และโดยเฉพาะฉากขับรถไล่ล่า ยังกล่าวด้วยว่าคือหนึ่งใน “Greatest Chase sequences ever filmed”

I started looking through the old photographs of my trips to Japan. I’m very emotional about this talk about what a huge influence the country of Japan its people and my friend Hayao Miyazaki had on me. He showed me about three sequences from the film and I was blown away. Because this was the first animated film that I thought was made to entertain all ages. Clearly this was a film that was made by a filmmaker and not just for children. It made me feel I was not alone in the world. It’s for adults. It’s smart, it’s clever. The economy of the action. It was such smart filmmaking. It filled my soul – that’s what I wanted to create.

Technically, artistically, story-wise, this movie was a tremendous inspiration for me and it had a tremendous impact on me.

John Lasseter

หลายคนที่มีปัญหาในการรับชมผลงานส่วนใหญ่ของผกก. Miyazaki แต่เมื่อมีโอกาสดู Lupin III: The Castle of Cagliostro (1979) ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเข้าถึงง่าย สนุกสนานเพลิดเพลิน ตื่นเต้นเร้าใจอย่างที่สุด! ทั้งๆภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ รับหน้าที่เป็นเพียง ‘มือปืนรับจ้าง’ แต่ต้องถือว่าคือจุดเริ่มต้น เอ่อล้นความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทดลองผิดลองถูก ยังอยู่ในช่วงมองหาสไตล์ลายเซ็นต์

Lupin the Third ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Arsène Lupin (ในช่วงแรกๆเคยอ้างว่าเป็นทายาทรุ่นที่สาม แต่เพราะถูกฟ้องร้องลิขสิทธิ์จากฝรั่งเศส ผู้แต่งมังงะ Monkey Punch เลยตัดญาติขาดมิตร) เอาจริงๆผู้ชมก็ไม่จำเป็นต้องรู้จัก หรือรับชมอนิเมะซีรีย์ก่อนหน้า/ภาคต่อติดตามมา อารมณ์ประมาณ James Bond ฉบับจอมโจร ขับรถเต่า มาดเก๋าเจ้ง สร้างเสียงหัวเราะขบขัน และฉากแอ๊คชั่นสุดเมามันส์

The Castle of Cagliostro (1979) น่าจะเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกๆของโลก ที่สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ไม่แบ่งแยกว่าอนิเมชั่นเหมาะสำหรับเด็ก หรือเนื้อหาภาพยนตร์ของผู้ใหญ่ (แบบพวก Animerama) และที่สำคัญก็คือคุณภาพที่ยังคงทันสมัยใหม่ รับชมในปัจจุบันยังไม่รู้สึกเก่าแก่เลยสักนิด!

เกร็ด: The Castle of Cagliostro (1979) เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาว (Feature Lengeth) เรื่องที่สองถัดจาก The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) สามารถคว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award


ก่อนอื่นขอกล่าวถึงมังงะ Lupin III (ルパン三世 อ่านว่า Rupan Sansei) แนว Comedy Adventure สร้างโดย Monkey Punch นามปากกาของ Kazuhiko Katō, 加藤一彦 (1937-2019) ตีพิมพ์ครั้งแรกลงนิตยสาร Weekly Manga Action วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1967

ความตั้งใจแรกเริ่มของ Monkey Punch ต้องการให้ตัวละคร Lupin III มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หลานชายรุ่นสามของจอมโจร Arsène Lupin ที่สร้างโดย Maurice Leblanc แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำเช่นนั้นเพราะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ต้นฉบับ เลยใช้วิธีการเปลี่ยนชื่อตัวละคร Wolf, Rupan, Hardyman (Germany), Edgar de la Cambriole (France) ฯ

มังงะเรื่องนี้ของ Monkey Punch เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ ตัวละคร Lupin III ออกแบบมาให้มีความดิบเถื่อน อวดดี ขี้เมา เสือผู้หญิง สร้างภาพผู้ดีสไตล์ James Bond (มีคำเรียก ‘gentleman thief) เวลาก่ออาชญากรรม มักใช้ความรุนแรง ข่มขืนกระทำชำเรา ไร้สามัญสำนึกดีชั่ว … เป็นมังงะที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน

ความสำเร็จของมังงะเข้าตานักอนิเมเตอร์ Gisaburō Sugii พยายามโน้มน้าว Yutaka Fujioka ผู้ก่อตั้ง/เจ้าของสตูดิโอ Tokyo Movie (ปัจจุบันคือ TMS Entertainment) ให้ดัดแปลงเป็นอนิเมะซีรีย์ ด้วยความที่สตูดิโอมีเงินทุนไม่มากนัก จึงเริ่มต้นด้วยการสร้างตอน Pilot Film (1969) เพื่อมองหาผู้จัดจำหน่าย แต่กลับไม่มีใครสนใจเนื่องจากความรุนแรง และมีเรื่องทางเพศมากเกินไป! จนกระทั่งปี ค.ศ. 1971 ถึงได้ Yomiuri Television ตอบตกลงอนุมัติงบประมาณซีรีย์ 26 ตอน

เกร็ด: Lupin the Third Part I (1971-72) ถือเป็นอนิเมะซีรีย์(ญี่ปุ่น)เรื่องแรกที่มีกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ใหญ่, ส่วนภาพยนตร์อนิเมชั่น(สำหรับผู้ใหญ่)คือไตรภาค AnimeRama ประกอบด้วย A Thousand and One Nights (1969), Cleopatra (1970) และ Belladonna of Sadness (1973)

ตอนแรกที่ออกฉายวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1971 ผลปรากฎว่าเสียงตอบรับย่ำแย่ เรตติ้งต่ำมากๆ สถานีโทรทัศน์จึงโน้มน้าวให้ผู้กำกับ Masaaki Ōsumi ปรับแก้ไขเนื้อหาให้สามารถเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง แต่เจ้าตัวกลับตอบปฏิเสธจึงถูกไล่ออกกลางคัน!

Hayao Miyazaki และ Isao Takahata ที่เพิ่งขนข้าวของย้ายออกจาก Toei Animation มายัง Tokyo Movie ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลงานสร้างแทนตั้งแต่ตอนที่ 7 ทำการปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น ลดความเหี้ยมโหดร้ายของตัวละคร Lupin III จนกลายเป็นบุคคล ‘happy-go-lucky’ ขณะที่เรื่องราวก็มีลักษณะ ‘Family-Friendly’ … ครึ่งแรก-ครึ่งหลังราวกับอนิเมะคนละเรื่อง!

The transition [between Ōsumi’s seinen-themed episodes and the family-friendly Miyazaki-Takahata installments] is not entirely smooth, but [the series is] a fascinating watch for the curious, and can give new viewers a glimpse into the variety the franchise offers as a whole.

Reed Nelson นักวิจารณ์จาก Anime News Network

ด้วยกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นจากตอนท้ายๆ (ที่ดูแลงานสร้างโดย Miyazaki & Takahata) ทำให้อนิเมะได้ไปต่อซีซันสอง Lupin the 3rd Part II (1977-80) [Miyazaki มีส่วนร่วมแค่ตอน 145 และ 155], ตามด้วยภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Mystery of Mamo (1978) กำกับโดย Sōji Yoshikawa

สำหรับโปรเจคภาพยนตร์ถัดมา ผู้กำกับอนิเมชั่น Yasuo Ōtsuka พยายามมองหาความท้าทายใหม่ให้กับแฟนไชร์ Lupin III เลยชักชวน Hayao Miyazaki ให้มีร่วมตีความจอมโจรคนนี้ในรูปแบบใหม่

So there was a basic premise that Lupin can be interpreted in many different ways, then we started discussing “how we should draw it this time” for this next film piece. In the actual timeline it was May of 1979 that I asked Miya-san to join. The rest of the plan was completely blank.

Yasuo Ōtsuka

Hayao Miyazaki (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสร้างอนิเมชั่น เจ้าของฉายา “godfather of animation” สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Bunkyō, Tokyo มีพี่น้อง 4 คน บิดาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องบิน Miyazaki Airplane ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องอพยพหนีระเบิดจาก Tokyo ไปยัง Utsunomiya, Kanuma โชคดีเอาตัวรอดมาได้, ประมาณปี ค.ศ. 1947 มารดาล้มป่วยโรคกระดูกสันหลังอักเสบเนื่องจากวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายปี

ตั้งแต่เด็กมีความเพ้อฝันต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน รับอิทธิพลจาก Tetsuji Fukushima, Soji Yamakawa และ Osamu Tezuka แต่หลังจากรับชมอนิเมชั่น The White Snake Enchantress (1958) ตกหลุมรักนางเอกอย่างจัง เลยเบี่ยงเบนความสนใจไปทางนี้ หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยสมัครงานเป็น In-Between Artist สตูดิโอ Toei Animation มีส่วนร่วมโปรเจค Doggie March (1963), Wolf Boy Ken (1963), ต่อมากลายเป็น Chief Animator, Concept Artist, Scene Designer ก่อนขนข้าวของย้ายไปสตูดิโอ Tokyo Movie (Shinsha) ร่วมงานกับ Isao Takahata สร้างซีรีย์ Lupin the Third (1971), ฉายเดี่ยวกับ Future Boy Conan (1978), และกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (1979),

To be honest, when I was first asked to join, I thought “why now?” For me, and I think Otsuka-san feels much the same, but Lupin was a character living in 60s to 70s. So I thought the theme to use Lupin was bit old and dated.

… after the first TV series comes the second, and then the movie (The Mystery of Mamo). I felt that Lupin had seen all the glory and ended all its chapters. So I was quite astonished when they were starting up again.

Hayao Miyazaki

แม้ในตอนแรก Miyazaki ตั้งใจจะตอบปฏิเสธ แต่หลังจากพูดคุย ถกเถียงกับ (ผู้กำกับอนิเมชั่น) Yasuo Ōtsuka ค้นพบว่าตนเองยังสามารถขบครุ่นคิด ตีความตัวละคร Lupin III ให้ผิดแผกแตกต่างออกไปจากเดิม ให้คำนิยามสั้นๆว่า “growing up”

I questioned myself. What do I want to do with it now? For what kind of audience? … all I could think was the image of Lupin lived in his glory in 60s and early 70s, now living in the regret and shame for his young and wild life… He stopped caring about those fashion and status ten years ago. The same goes for his comrades.

ร่วมพัฒนาบทอนิเมะโดย Haruya Yamazaki แต่เห็นว่าแค่เพียงบทส่งอนุมัติโปรเจค เพราะระหว่างออกแบบร่าง Storyboard ผกก. Miyazaki ไม่ได้สนใจรายละเอียดใดๆในบทของ Yamazaki ปรับเปลี่ยน แก้ไข ปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินตามวิวัฒนาการของมันเอง … นี่คือสไตล์การทำงานของผกก. Miyazaki (นอกจากผลงานหลัง) มักยังไม่ครุ่นคิดตอบจบ พัฒนาเรื่องราว/Storyboard ไม่เคยเสร็จทันตอนเริ่มต้นโปรดักชั่น


พื้นหลัง ค.ศ. 1968, จอมโจร Lupin III พร้อมคู่หู Daisuke Jigen หลังปล้นเงินจากบ่อนคาสิโน ณ Monte Carlo ค้นพบว่าสิ่งที่ลักขโมยคือธนบัตรปลอม สร้างขึ้นโดย Count Cagliostro ประเทศเล็กๆอยู่ไม่ไกลจาก Monaco สถานที่ที่เขาเคยพยายามลักลอกเข้าไปเมื่อสิบปีก่อน แต่ประสบความล้มเหลว เฉียดตาย เอาตัวรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด

ระหว่างการเดินทางไปยังปราสาท Castle of Cagliostro จู่ๆผู้หญิงในชุดเจ้าสาวขับรถตัดหน้า กำลังถูกไล่ล่าโดยรถคันหลัง จอมโจร Lupin จึงเหยียบมิดคันเร่ง พยายามให้การช่วยเหลืออีกฝ่าย แต่แม้สามารถเอาตัวรอดตายอย่างหวุดหวิด สุดท้ายเธอยังคงถูกจับกุมตัว ก่อนพบว่าหมั้นหมายอยู่กับ Count of Cagliostro

หลังจากรับทราบเรื่องราวของ Count of Cagliostro จอมโจร Lupin III จึงส่งจดหมายท้าทาย ประกาศว่าจะทำการลักขโมยคู่หมั้น Clarisse ที่ถูกควบคุมขังอยู่ยังชั้นบนสุดของปราสาท สถานที่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยหนาแน่น ทันสมัยใหม่ที่สุดในโลก และยังต้องครุ่นคิดหาวิธีเปิดโปงการปลอมแปลงธนบัตร สุดท้ายแล้วจะทำได้สำเร็จหรือไม่??


Yasuo Yamada, 山田 康雄 (1932-95) นักแสดง ตลก พาย์เสียง (Seiyuu) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo วัยเด็กมีความสนใจกีฬาเบสบอล แต่หลังจากรับชมการแสดงของ Danny Kaye ภาพยนตร์ The Secret Life of Walter Mitty (1977) จึงค้นพบความชื่นชอบหลงใหล ต้องการเป็นนักแสดงตลก สมัครงานคณะการแสดง Mingei Theatre Company แต่พอค้นพบว่าไม่สามารถทำตามความฝัน จึงออกมาจัดรายการวิทยุ จนมีโอกาสเดี่ยวบนเวที Theater Echo, จากนั้นกลายเป็นนักพากย์อนิเมะและภาพยนตร์ โด่งดังกับตัวละคร Lupin III, นอกจากนี้ยังมักให้เสียงนักแสดง Clint Eastwood, Jean-Paul Belmondo ฯ

พากย์เสียง Lupin III จอมโจรสุภาพบุรุษ (Gentleman Thief) ผู้มีความเฉลียวฉลาด หน้าตาอาจไม่หล่อ แต่คารมเป็นต่อ ชื่นชอบหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีสาวๆไปทั่ว แต่ไม่เคยเห็นจริงจังกับใคร โหยหาความท้าทาย แต่ด้วยอุดมการณ์ไม่ปล้นคนจน เป้าหมายจึงมักเป็นพวกเศรษฐีปลอมๆ หลอกลวง คอรัปชั่น และด้วยวัยวุฒิเพิ่มสูงขึ้น เริ่มครุ่นคิดโหยหาอดีต รู้สึกเสียดายหลายๆสิ่งอย่างเคยทอดทิ้งขว้าง

การเข้ามาของ Miyazaki & Takahata ได้ทำการปรับเปลี่ยนจอมโจม Lupin จากเคยเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย อาชญากรโรคจิต สยองขวัญ ไม่มีอะไรน่าจดจำ กลายมามาดเท่ห์ ทรงเสน่ห์ ใบหน้าทรงรี มีความยียวน บุคลิกภาพป่วนๆ หน้าตาทะเล้น ชวนให้นึกถึงนักแสดง Jean-Paul Belmondo และเสียงพากย์ของ Yamada คงด้วยประสบการณ์นักแสดงตลก เลยสามารถละเล่นระดับเสียงสูง-ต่ำได้อย่างมหัศจรรย์ (เวลาทะเล้นก็เล่นเสียงสูง พอจริงจังก็กดเสียงต่ำ อะไรอย่างอื่นก็ระหว่างนั้น)

คนที่กลายเป็นแฟนคลับ Lupin III ส่วนใหญ่มักมีจุดเริ่มต้นจากภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับมังงะสักเท่าไหร่ ผู้แต่ง Monkey Punch แม้ชื่นชอบอนิเมะ แต่ไม่นานก็ตระหนักถึงผลกระทบเลวร้ายติดตามมา

95% of Lupin III fans outside Japan cite this work as what ‘triggered them to become a fan.’ I said, ‘This is not my Lupin.’ It’s a very good work by Miyazaki-kun, wrapped in kindness that I couldn’t have drawn. But the second half of the caper was cut off, and only the first word was taken up. My Lupin is poisonous… I wouldn’t have had him rescue the girl, I would have had him rape her!

Monkey Punch

Sumi Shimamoto ชื่อจริง Sumi Koshikawa, 越川 須美 (เกิดปี 1954) นักแสดง นักพากย์ (Seiyuu) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kōchi สำเร็จการศึกษา Toho Gakuen College of Drama and Music จากนั้นเข้าร่วมคณะการแสดง Gekidan Seinenza, โด่งดังจากการให้เสียงพากย์ Clarisse อนิเมะ The Castle of Cagliostro (1979), Nausicaä อนิเมะ Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), Shokupanman แฟนไชร์ Soreike! Anpanman ฯ

พากย์เสียงเจ้าหญิง Clarisse สมาชิกราชวงศ์คนสุดท้ายของ Cagliostro ถูกบีบบังคับให้หมั้นหมายแต่งงานกับ Count Cagliostro ซึ่งเคยเป็นข้าราชบริพารก่อการกบฎ โค่นล้ม เข่นฆ่าล้างราชวงศ์ ด้วยจุดประสงค์เปิดขุมทรัพย์ ครอบครองสิ่งของล้ำค่าที่สุด แต่เธอพยายามดิ้นรน หลบหนี หลายครั้งเข้าจนหมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ จนได้รับความช่วยเหลือจาก Lupin III เข้ามาขโมยหัวใจ ให้บังเกิดความหวังขึ้นในชีวิตอีกครั้ง

ตอนแรกผมรู้สึกคุ้นๆเหมือนเคยได้ยินเสียงของ Shimamoto จากแห่งหนไหน พอรับรู้ว่าเคยพากย์ Nausicaä ก็เกิดความเชื่อมโยงขึ้นโดยทันที แม้ว่า Clarisse จะออกไปทาง ‘damsel in distress’ เคยมีสภาพท้อแท้สิ้นหวัง มิอาจต่อต้านอำนาจบารมีของ Count Cagliostro แต่เพราะได้รับประกายความหวังจาก Lupin III จึงแสดงจิตวิญญาณอันมุ่งมั่น แน่วแน่ กล้าครุ่นคิดตัดสินใจ และยินยอมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น … อาจดูไม่เหมือนนางเอกในอุดมคติของผกก. Miyazaki แต่อยู่ในช่วงวัยกำลังเติบโต

เกร็ด: Clarisse ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Bright, Famous ถือเป็นตัวละคร ‘moe’ แรกๆของวงการอนิเมะ และเคยได้รับการโหวตตัวละครหญิงอันดับหนึ่งอยู่หลายปี จนกระทั่งการมาถึงของ Nausicaä (ซึ่งก็พากย์เสียงโดย Seiyuu คนเดียวกัน)

Tarō Ishida ชื่อจริง Gentarō Ishida, 石田 弦太郎 (1944-2013) นักแสดง นักพากย์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto เป็นบุตรของนักแสดง Shigeki Ishida โตขึ้นเข้าศึกษาภาษาสเปน Sophia University แต่ยังไม่ทันเรียนจบออกมาเป็นนักแสดง พากย์เสียง Gene Hackman, Anthony Hopkins, Count Cagliostro อนิเมะ The Castle of Cagliostro (1979), Colonel Shikishima อนิเมะ Akira (1988), Gasparde อนิเมะ One Piece: Dead End Adventure (2003) ฯ

พากย์เสียง Count Cagliostro อุปราชแห่ง Cagliostro ผู้มีความร่ำรวย(จากการผลิตธนบัตรปลอม) เต็มไปด้วยเส้นสาย หลังยึดอำนาจจากบิดาของ Clarisse บีบบังคับให้หมั้นหมาย แต่งงาน เพื่อตนเองจักกลายเป็นกษัตริย์ และค้นพบขุมสมบัติสุดท้ายที่ซุกซ่อนเอาไว้

Count Cagliostro น่าจะเป็นตัวร้ายตัวเดียวในอาชีพการงานของผกก. Miyazaki (โดยปกติผลงานปู่แกไม่มีตัวร้ายที่เหี้ยมโหดชัดเจนขนาดนี้ ส่วนใหญ่จะเทาๆ พบเห็นทั้งด้านดี-ร้ายในตนเอง) แต่การออกแบบตัวละคร ไม่ได้มีจุดโดดเด่น หรือทำออกมาแปลกพิศดารอะไร เพียงใบหน้าเหลี่ยมๆ (เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม) รูปร่างสูงใหญ่ อกผายไหล่ผึ่ง และรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยลับเลศนัย

น้ำเสียงของ Ishida ก็ไม่ได้มีความโฉดชั่วร้ายใดๆ เหมือนผู้ใหญ่วัยกลางคน มีความทุ้ม หนักแน่น ฟังดูสุขุม เยือกเย็น แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดเฉพาะตอนที่ลูกน้องทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ และเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าสามารถต้อนจนมุม Lupin III แต่กลับกลายเป็นตนเองที่ … แตกโพล๊ะ

ถ่ายภาพโดย Hirokata Takahashi (The Rose of Versailles, Space Adventure Cobra, Castle in the Sky)

งานภาพ/ออกแบบศิลป์ของอนิเมะคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย ‘Nostalgia’ ทั้งทิศทาง การจัดแสง เลือกใช้สีสัน หลายครั้งพบเห็นตัวละครเดินกินลมชมวิว ดื่มด่ำทัศนียภาพงามๆ พานผ่านเศษซากปรักหักพัง หวนระลึกวันวาน สถานที่แห่งความทรงจำ นาฬิกานับถอยหลัง

ด้วยความยังหนุ่มแน่นของผกก. Miyazaki โปรดักชั่นเริ่มต้นพฤษภาคม ค.ศ. 1979 เสร็จสิ้นเดือนพฤศจิกายน (ประมาณห้าเดือนกว่าๆ) นั่นเป็นระยะเวลาน้อยที่สุดในการสรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น (ของ Miyazaki) เลยก็ว่าได้!

I first learned the limits of my physical strength with this work.

Hayao Miyazaki

แต่ความเร่งรีบร้อนดังกล่าว รวมถึง Storyboard ที่ยังวาดไม่ทันเสร็จ ไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อโปรดักชั่นของอนิเมะ ตรงกันข้ามสร้างเพราะไม่มีใครรับรู้ว่าตอนจบจะลงเอยเช่นไร จึงเต็มไปความคลุมเคลือ ไม่แน่นอน อะไรๆล้วนบังเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ใครเคยรับชม The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ของผกก. Paul Grimault น่าจะสังเกตเห็นอิทธิพลที่มีมากล้นต่อทั้งเรื่องราว และการออกแบบปราสาท Castle of Cagliostro จนบางคนอาจรู้สึกเหมือน ‘rip off’ คล้ายๆแบบ Lupin III ทำการโจรกรรมสิ่งของมีค่า (= Miyazaki ลักขโมยหลายๆสิ่งอย่างจากภาพยนตร์/อนิเมชั่นก่อนหน้า)

ผมเขียนถึงรายการภาพยนตร์เรื่องโปรดของผกก. Miyazaki มาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า พบเห็นกังหันลมก็ชวนนึกถึง The Old Mill (1938), เครื่องจักร ฟันเฟือง ภาพยนตร์ Modern Times (1936), ฉากโลดโผนบนหอนาฬิกา Safety Last! (1923) ฯ เหล่านี้ถ้าพูดตรงๆก็คือลักขโมยมา แต่ภาษาศิลปินจะเรียกว่าได้รับอิทธิพล แรงบันดาลใจ ไม่ได้เหมือนเป๊ะขนาดนั้น … จะว่าไปสิ่งต่างๆเหล่านี้ ทำให้อนิเมะคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย ‘Nostalgia’ แต่เฉพาะบุคคลเคยรับรู้จักมาก่อนเท่านั้น!

เมื่อตอน The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) และ The King and the Mockingbird (1980) ต่างเป็นอนิเมะที่ไม่เคยเปิดเผยว่าหลังจาก The King กดปุ่ม หล่นตุ๊บ ล่องจุ๊น บุคคลเหล่านั้นสูญหายตัวไปไหน? ผกก. Miyazaki ก็ได้ขบไขปริศนา มอบคำตอบที่อาจชวนคลื่นไส้วิงเวียน แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมโฉดชั่วร้าย สถานที่ที่ความตายคือรากฐาน

โดยปกติแล้ว Lupin III มักขับรถหรูหราราคาแพงอย่าง Mercedes Benz (ด้วยเหตุผลว่าเป็นรถคันโปรดของ Adolf Hitler) แต่ความตั้งใจของผกก. Miyazaki ต้องการนำเสนอการเติบโตของตัวละคร สร้างเรื่องราวให้มีกลิ่นอาย ‘Nostalgia’ จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นรถเต่าคลาสสิก Fiat 500 กลายเป็น ‘Iconic’ ของภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้โดยพลัน!

I thought this Lupin was probably a kind of man who used to drove Mercedes Benz SSK but now he is out of that phase and bored with it. He realized, after all, it does not matter what car he drives, as long as it drives, and he is just driving around with the most basic car. He is over the fame and status which came with the money. He is no longer a man who would pull out the most rare and expensive cigarette lighter to light his cigarette anymore. He does not give a single damn about such thing. He is fine with the cheap disposable one as long as it does the job. That was my image of Lupin. I felt like I finally understood Lupin. And based on that image, I created this film.

Hayao Miyazaki

เกร็ด: Fiat 500 คือรถคันปัจจุบัน(ขณะนั้น)ของผู้กำกับอนิเมเตอร์ Yasuo Ōtsuka, ขณะที่ Citroen 2CV ในฉากไล่ล่า คือรถคันแรกของผกก. Miyazaki

เมื่อตอน

ไคลน์แม็กซ์ของอนิเมะบังเกิดขึ้นยังหอนาฬิกา Lupin III vs. Count Cagliostro ต่างยืนบนเข็มยาว-สั้น (ฟากฝั่งขั้วตรงข้าม) ฝ่ายหนึ่งพลัดตกหล่นเบื้องล่าง อีกฝ่ายปีนป่ายขึ้นสู่เบื้องบน และเมื่อเข็มเคลื่อนมาตำแหน่ง 00:00 ทำให้อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เวียนมาบรรจบครบรอบ เปิดเผยขุมสมบัติของ Cagliostro ที่เก็บซุกซ่อนเอาไว้

ขุมสมบัติของ Cagliostro แท้จริงแล้วคือเมืองใต้บาดาล แรงบันดาลใจจากดินแดน Atlantis ที่จมลงใต้มหาสมุทร แต่สถาปัตยกรรมเหมือนจะหยิบยืมมาจากจักรวรรดิโรมัน (อิตาลี) ซึ่งถือว่ามีมูลค่าทางจิตใจมากมายมหาศาล ดั่งคำกล่าวของ Lupin III ที่ว่า “Treasure for all Mankind”

แต่สำหรับ Count Cagliostro ถ้ายังมีชีวิตอยู่คงตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง นี่นะหรือคือสิ่งที่อุตส่าห์เสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมา เพราะมันไม่มีมูลค่าทางวัตถุใดๆ ไม่สามารถนำไปขายทอดตลาด ไม่แตกต่างจากธนบัตรปลอมๆผลิตขึ้นมา

ถ้าเป็นเมื่อสิบปีก่อน ไม่แน่ว่า Lupin III อาจจะลักพาตัว Clarisse กลายเป็นคู่หู Bonnie and Clyde แต่ใจความอนิเมะเรื่องนี้เกี่ยวกับการหวนระลึก ความทรงจำวันวาน กาลเวลาได้เคลื่อนพานผ่าน ปัจจุบันรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย แก่เกินแกง สุดท้ายเลยขีดเส้นแบ่ง ยินยอมปลดปล่อยเธอสู่อิสรภาพ ร่ำลาจากตอนนี้เลยดีกว่า!

Even when it comes to love, he keeps the same stance. Maybe if it was ten years ago, he would have fallen for love, but now he knows he is not that young nor innocent, so he excuse himself as “old man” and draw the line.

Hayao Miyazaki

ตัดต่อโดย Mitsutoshi Tsurubuchi,

นำเสนอการผจญภัยของจอมโจร Lupin III (และผองพวก) หลังจากปล้นคาสิโน ณ Monte Carlo ออกเดินทางสู่ประเทศ Cagliostro วางแผนลักขโมยเจ้าหญิง Clarisse และสิ่งล้ำค่าที่สุดในปราสาทแห่งนี้

  • อารัมบท, จอมโจร Lupin III ปล้นคาสิโน Monte Carlo
  • Castle of Cagliostro
    • ระหว่างทางไปยัง Cagliostro พบเห็นผู้หญิงในชุดเจ้าสาวถูกรถคันหลังไล่ล่า Lupin III (และ Daisuke Jigen) จึงพยายามให้การช่วยเหลือ
    • เดินทางมาถึงปราสาท Cagliostro เหมือนว่า Lupin III จะมีความหลังบางอย่างกับสถานที่แห่งนี้
    • แนะนำตัวละคร Count Cagliostro เข้าไปในห้องของเจ้าหญิง Clarisse แล้วออกคำสั่งให้ลูกน้องจัดการ Lupin III
    • หลังรับประทานอาหารมื้อเย็น Lupin III (และ Daisuke) ก็ถูกโจมตีโดยลูกน้องของ Count Cagliostro
  • การโจรกรรมของ Lupin III
    • เช้าวันถัดมา Chief Inspector Koichi Zenigata และ Fujiko Mine ต่างเดินทางมาถึงปราสาทแห่งนี้
    • ยามค่ำคืน Lupin III หาหนทาง ลักลอบเข้าไปในปราสาทได้สำเร็จ
    • ปีนป่ายขึ้นไปยังห้องของเจ้าหญิง Clarisse ให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือเธอออกมา แต่กลับถูกล้อมจับกุมโดย Count Cagliostro
    • Lupin III และ Chief Inspector Koichi ร่วมมือกันหลบหนีจากห้องใต้ดิน เผาทำลายเครื่องผลิตธนบัตร
    • Lupin III พยายามจะช่วยเหลือเจ้าหญิง Clarisse แต่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส เธอจึงยินยอมเป็นตัวประกันให้ปล่อยตัวเขาหลบหนีได้สำเร็จ
  • ขุมสมบัติของ Castle of Cagliostro
    • ระหว่างพักรักษาตัว Lupin III เล่าถึงความหลังที่เคยพบกับเด็กหญิง Clarisse เมื่อสิบปีก่อน
    • งานแต่งงานระหว่าง Count Cagliostro และเจ้าหญิง Clarisse
    • พิธีแต่งงานถูกรุกรานโดย Lupin III และผองพวก
    • Lupin III, Clarisse และ Count Cagliostro กับภารกิจหาสมบัติของ Castle of Cagliostro
  • ปัจฉิมบท, การจากไปของ Lupin III ถูกไล่ล่าโดย Chief Inspector Koichi

อนิเมะมี ‘จังหวะ’ (Pacing) การดำเนินเรื่องที่น่าทึ่งมากๆ เริ่มต้นด้วยฉากไล่ล่า หลบหนี สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ทำให้ผู้ชมเต็มไปด้วยความคาดหวัง จากนั้นลดความเร็วลงเพื่ออธิบายโน่นนี่นั่น กราฟอารมณ์ขึ้นๆลงๆ เหมือนเครื่องเล่น Roller Coaster ก่อนพุ่งทะยานสู่ไคลน์แม็กซ์สูงสุด แล้วจากไปอย่างโคตรเท่ห์ … นี่คือสูตรสำเร็จภาพยนตร์แอ็คชั่นที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน แต่อนิเมะสร้างมากว่า 40+ ปี ยังไม่มีความเก่าเลยสักนิด!


เพลงประกอบโดย Yuji Ohno, 大野 雄二 (เกิดปี 1941) นักแต่งเพลง แจ๊ส สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Atami, Shizuoka สามารถเล่นเปียโนตั้งแต่อยู่โรงเรียนอนุบาล โตขึ้นเข้าศึกษาวิชากฎหมาย Keio University แล้วยังได้เป็นสมาชิกวง Keio University Light Music Society, จบออกมาเริ่มจากเล่นดนตรี Backing แต่งเพลง ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ โทรทัศน์ โด่งดังจากซีรีย์ Lupin III มีผลงานตั้งแต่ซีซันสอง Lupin III Part II (1977-1978) จนถึงปัจจุบัน

ใครเคยรับชมแฟนไชร์ Lupin III น่าจะมักคุ้นกับ Main Theme คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Jazz รสสัมผัส Bebop จังหวะรวดเร็ว สนุกสนาน เต็มไปด้วยลีลาโลดโผนของการเปลี่ยนแปลงคีย์และคอร์ด ทำให้ผู้ฟังไม่สามารถคาดเดาอะไร คล้ายๆอุปนิสัย/พฤติกรรมจอมโจร Lupin III ผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา … แต่สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ Main Theme ของ Lupin III จะแทรกแซมอยู่ตามท่วงทำนองต่างๆ ระหว่างการขับรถไล่ล่า เผชิญหน้าอันตราย หาใช่บทเพลงประกอบหลักไม่!

นั่นเพราะเนื้อหาสาระของอนิเมะ คือการลักขโมยหัวใจหญิงสาว (สมบัติล้ำค่าที่สุด) จึงคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายโรแมนติก และอาการโหยหาความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน (Nostalgia) ท่วงทำนองหลักจึงเป็น Variation จากบทเพลงคำร้อง 炎のたからもの อ่านว่า Honō no Takaramono แปลว่า Fire Treasure (บางครั้งอาจใช้ชื่อ Treasures of Time), คำร้องโดย Jun Hashimoto, ต้นฉบับขับร้องโดย Toshie Kihara ร่วมกับวงดนตรี You & The Explosion Band มีคำเรียกสไตล์ Jazz Funk

คำร้องญี่ปุ่นคำแปลอังกฤษ
Shiawase o tazunete watashi wa yukitai
Ibara no michi mo itetsuku yoru mo
Futari de watatte yukitai

Tabibito no samui kokoro o
Dare ga daite ageru no
Dare ga yume o kanaete kureru

Honoo to moesakaru watashi no kono ai
Anata ni dake wa wakatte hoshii
Kizuna de watashi o tsutsunde……

Kōya o sasurau anata o
Nemurasete agetai no
Nagareboshi wa anata no koto ne

Honō to moesakaru watashi no kono ai
Anata ni dake wa wakatte hoshii
Nazomeku kiri mo harete iku
I want to go in search of happiness
Through thorny paths and frozen nights
I want to go across the road together

Who will hold the traveler’s cold heart
Who will hold you in their arms?
Who will make my dreams come true

My love that burns with fire
I only want you to understand
Wrap me in your bonds ……

As you wander in the wilderness
I want to put you to sleep
You are the shooting star

My love that burns with fire
I only want you to understand
And the mists of mystery will clear

Variation ของ Fire Treasure จะมีการเลือกใช้เครื่องดนตรีหลักแตกต่างกันไป ขลุ่ย (โดดเดี่ยวอ้างว้าง) ไวโอลิน (บีบเค้นคั้นทรวงใน) และคลาริเน็ต (ครุ่นคิดถึง คำนึงหา) ส่วนตัวชื่นชอบประทับใจมากสุดก็คือ #3 ดังขึ้นช่วงท้ายขณะร่ำลาจาก Clarisse เหม่อมองการจากไปของ Lupin III ด้วยสายตาโหยหาอาลัย ฉันจะจดจำช่วงเวลาทรงคุณค่านี้ไว้ ติดตราฝังใจไม่รู้ลืมเลือน

มีอีกบทเพลงหนึ่งที่ผมอดกล่าวถึงไม่ได้ Bach: Pastorale in F major, BWV 590 ท่อนที่ III. Aria โดยปกติจะบรรเลงโดยออร์แกน (เป็นบทเพลงเดียวของ Bach ที่แต่งขึ้นเพื่อ Chruch Organ) แต่ด้วยความไพเราะเพราะพริ้ง ราวกับเสียงสวรรค์ จึงได้รับความนิยมนำมาบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอื่นมากมาย

แต่ที่แน่ๆนี่ไม่ใช่บทเพลงสำหรับงานแต่งงาน ฟังแล้วราวกับตกนรกทั้งเป็น แถมการบรรเลงใช้โน๊ตเสียงสูง มีความขัดย้อนแย้งกันเอง (โดยปกติออร์แกนจะมีเสียงทุ้มต่ำ) นั่นเพราะ Clarisse ไม่ได้อยากหมั้นหมายครองรักกับ Count Cagliostro เธอจึงรู้สึกหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป

Lupin III ฉบับของผกก. Miyazaki ต้องเรียกว่าจอมโจรโรแมนติก ใช้ชีวิตพานผ่านอะไรๆมามาก ลักขโมย ปล้น-ฆ่า เกี้ยวพาราสีหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า จนมากระทั่งถึงวัยกลางคน ไม่เชิงว่า ‘midlife crisis’ แต่เริ่มเกิดความตระหนัก เข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่าง รถหรู เงินทอง มันก็แค่สิ่งของภายนอก เกิดความเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ โหยหาสิ่งท้าทาย เติมเต็มความต้องการหัวใจ

โดยปกติแล้วจอมโจร Lupin III ถือเป็นอาชญากรโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย สมควรตีตนออกห่างไกล! แต่เราสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมหัวขบถ นอกคอก ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ โหยหาอิสรภาพในการใช้ชีวิต, ขณะที่การลักขโมย โจรกรรม ในเชิงนามธรรมสามารถสื่อถึงความชื่นชอบหลงใหล สิ่งสร้างอิทธิพล ก่อบังเกิดแรงบันดาลใจ … ผกก. Miyazaki คลั่งไคล้ภาพยนตร์อนิเมชั่น The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) ลักขโมยหลายสิ่งอย่างมาใส่ในผลงานเรื่องนี้ของตนเอง!

(นัยยะเดียวกับ One Piece โจรสลัดคืออาชญากรโฉดชั่วร้าย แต่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ถึงพฤติกรรมหัวขบถ นอกคอก ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ โหยหาอิสรภาพในการใช้ชีวิต)

เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆ Lupin III = ผกก. Miyazaki ต่างเป็นคนหัวขบถ รักอิสระ ชื่นชอบทำสิ่งแปลกใหม่ ท้าทายศักยภาพตนเอง เติมเต็มความต้องการหัวใจ แม้ในตอนแรกไม่ครุ่นคิดอยากหวนกลับมาทำแฟนไชร์นี้อีก (เพราะเคยกำกับอนิเมะซีรีย์ซีซันแรกไปแล้ว) แต่เล็งเห็นโอกาสทำสิ่งแปลกใหม่ ตัวตนเองที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป

ในบริบทของอนิเมะมีการย้อนระลึกความหลังประมาณสิบปีก่อน ซึ่งตรงกับช่วงที่ผกก. Miyazaki เคยทำงานอยู่ Toei Animation = Castle of Cagliostro ซึ่งท่าน Count of Cagliostro สามารถเปรียบเทียบถึงผู้บริหาร(สตูดิโอ Toei)ที่มีความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ เผด็จการ … แนะนำให้ไปอ่านบทความ The Great Adventure of Horus, Prince of the Sun (1968) จะเข้าใจเหตุผลที่ทั้ง Isao Takahata และ Hayao Miyazaki ตัดสินใจร่ำจากลา Toei Animation ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971

สิ่งที่ผกก. Miyazaki ลักขโมยมาจาก Toei Animation คือประสบการณ์ทำงาน (และประสบการณ์ชีวิต) ได้เรียนรู้ทั้งงานอนิเมเตอร์ สรรค์สร้างอนิเมชั่น ระบบการทำงาน สำคัญที่สุดก็คือสันดานธาตุแท้มนุษย์ และความคอรัปชั่นของระบอบทุนนิยม

เมื่อตอนสรรค์สร้างอนิเมะเรื่องนี้ ผกก. Miyazaki มีอายุย่าง 38 ปี ถือว่าอยู่ในช่วงวัยกลางคน พานผ่านอะไรๆมาพอสมควร จึงเริ่มเข้าใจสัจธรรมชีวิต มองย้อนกลับไปก็มีทั้งสิ่งที่โหยหา ครุ่นคิดถึง (Nostalgia) บางอย่างก็เป็นเรียนชีวิต ให้เรียนรู้ ปรับปรุงตนเอง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ … มันไม่เชิงว่า The Castle of Cagliostro (1979) คือภาพยนตร์แนว ‘Coming-of-Age’ แต่คือการเติบโตของ Hayao Miyazaki ในฐานะผู้กำกับอนิเมชั่น


ด้วยทุนสร้าง ¥500 ล้านเยน (ประมาณ $2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทุบทำลายสถิติทุนสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นสูงสุดตลอดกาลของ Space Battleship Yamato (1977) [ที่ ¥200 ล้านเยน] ก่อนจะถูกแซงโดย Laputa: Castle in the Sky (1986) [ที่ ¥800 ล้านเยน]

แม้เสียงตอบรับจะดียอดเยี่ยม แต่ในญี่ปุ่นสามารถทำเงินได้เพียง ¥610 ล้านเยน (ประมาณ $2.784 ล้านเหรียญสหรัฐ) ฉายต่างประเทศก็ไม่ได้รายรับเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นมีการนำออกฉายซ้ำอยู่เรื่อยๆจนได้รับกระแสคัลท์ (Cult Following) ยอดขาย VHS, DVD, Blu-Ray ก็น่าจะทำกำไรได้แล้วละ

เกร็ด: The Castle of Cagliostro (1979) ได้รับการโหวตติดอันดับ #20 ชาร์ท Laputa: Top 150 Japanese and World Animation (2003) ถือเป็นเรื่องที่ห้าของผกก. Miyazaki ถัดจาก #6 Future Boy Conan (1978), #7 My Neighbour Totoro (1988), #16 Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) และ #19 Laputa: Castle in the Sky (1986)

แม้ลิขสิทธิ์อนิเมะจะไม่ใช่ของสตูดิโอ Ghibli แต่ทว่า TMS Entertainment เก็บทำนุรักษาฟีล์มต้นฉบับไว้เป็นอย่างดี ผ่านการบูรณะ 4K UHD เมื่อปี ค.ศ. 2019 จัดจำหน่าย Blu-Ray โดย Discotek Media ของแถมพอสมควรเลยละ

ในบรรดาผลงานของผกก. Miyazaki ผมมีความสนุกสนาน เพลิดเพลินมากที่สุดกับ The Castle of Cagliostro (1979) ทั้งฉากแอ๊คชั่นมันส์ๆ อนิเมชั่นบ้าระห่ำ พบเห็นสารพัดการเชื่อมโยง The King and the Mockingbird (1980) ของผกก. Paul Grimault ยิ่งทำให้รู้สึกอึ่งทึ่ง คาดไม่ถึง ปล้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือหัวใจผู้ชม!

The Castle of Cagliostro (1979) ถือเป็นไฮไลท์ยืนหนึ่งของแฟนไชร์ Lupin III ด้วยความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากต้นฉบับมังงะ หรือซีรีย์ตอนอื่นๆ จึงไม่มีเรื่องไหนๆสามารถก้าวข้ามผ่าน ใกล้เคียงสุดอาจคือภาพยนตร์สามมิติ Lupin III: The First (2019) กำกับโดย Takashi Yamazaki ทำการเคารพคารวะ พล็อตเรื่องคล้ายๆกัน (แต่หลายคนบอกว่าขาดกลิ่นอายสไตล์อนิเมะสองมิติไปพอสมควร)

จัดเรต pg เกี่ยวกับการลักขโมย พฤติกรรมคอรัปชั่น กักขังหน่วงเหนี่ยว

คำโปรย | The Castle of Cagliostro ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของ Hayao Miyazaki เต็มไปด้วยความโรแมนติก ปล้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือหัวใจผู้ชม
คุณภาพ | ติ
ส่วนตัว | ปล้นหัวใจ

Wanpaku Ōji no Orochi Taiji (1963)


The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) Japanese : Yūgo Serikawa ♥♥♥♥

หลังทดลองผิดลองถูก สะสมประสบการณ์มาจนถึงภาพยนตร์อนิเมชั่นลำดับที่หกของ Toei Animation แต่ถือเป็นมาสเตอร์พีซเรื่องแรก สำแดงความเป็นญี่ปุ่น ดัดแปลงตำนานเทพปกรณัมเมื่อครั้น Izanami และ Izanagi ให้กำเนิดหมู่เกาะ Ōyashima (ประเทศญี่ปุ่น) และบุตรชาย Susanoo ต่อสู้อสูรกายแปดหัว Yamata no Orochi

ว่ากันอย่างไม่อ้อมค้อม The White Snake Enchantress (1958) คิอภาพยนตร์อนิเมชั่นที่น่าอับอายขายขี้หน้า เพียงความหาญกล้าแต่ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ ไม่สมควรเป็นตัวแทนอะไรหลายๆอย่าง … อนิเมะขนาดยาวเรื่องแรกของค่าย Toei Animation, อนิเมะฟีล์มสีเรื่องแรกของญี่ปุ่น, อนิเมะส่งออกฉายต่างประเทศเรื่องแรกๆ ฯลฯ

The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) ต่างหากละ!เป็นผลงานสมควรค่าแก่การจดจำ ตั้งแต่ดัดแปลงเรื่องราวเทพปกรณัมสร้างเกาะญี่ปุ่น ตัวละคร สไตล์ลายเส้น ลูกเล่นอนิเมชั่น สร้างขึ้นด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน (ชัยชนะหลังการประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1961 ทำให้คุณภาพชีวิตของนักอนิเมเตอร์ดีขึ้นพอสมควร และยังเป็นช่วงฤดูกาล ‘Prague Spring’ ของสตูดิโอ Toei Animation) ร่วมแรงร่วมใจสรรค์สร้างอัตลักษณ์ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ เปิดประตูสู่จุดเริ่มต้นวงการอนิเมะ(ญี่ปุ่น)ที่แท้จริง

วันก่อนเขียนถึง Tale of a Street Corner (1962) อนิเมชั่นเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award แล้วเหลือบไปเห็น The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกที่คว้ารางวัลนี้ในปีเดียวกัน! (เฉพาะปีแรกที่มอบรางวัลให้อนิเมชั่นสองเรื่อง) เลยเกิดความสนอกสนใจ เห็นว่าได้รับการบูรณะแล้วด้วยจึงลองขวนขวายหามารับชม

เกร็ด: กว่าจะมีภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวถัดจาก The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) ที่สามารถคว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award ก็ต้องรอคอยนานนับทศวรรษ The Castle of Cagliostro (1979)

นอกจากนี้ในชาร์ท Laputa: Top 150 Japanese and World Animation (2003) อนิเมชั่นเรื่องนี้ยังติดอันดับ #10 การันตีถึงอิทธิพล ทรงคุณค่าต่อคนในวงการ อาจจะเรียกได้ว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นมาสเตอร์พีซเรื่องแรกของประเทศญี่ปุ่น ก็ว่าได้กระมัง!


Yūgo Serikawa, 芹川 有吾 (1931-2000) ผู้กำกับอนิเมชั่น เกิดที่ Koishikawa, Tokyo บิดาเป็นเจ้าของโรงหนัง Tokyo Cinema Shoka จึงมีความชื่นชอบหลงใหลสื่อภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก เคยฝึกงาน เป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่ยัง Shintoho กระทั่งมีโอกาสรับชม Bambi (1942) และ The White Snake Enchantress (1958) จึงสมัครงานสตูดิโอ Toei Animation กำกับอนิเมะเรื่องแรก The Little Warrior (1961), โด่งดังกับ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963), ผลงานอื่นๆ อาทิ Cyborg 009 (1966), Little Remi and Famous Dog Capi (1970), The Panda’s Great Adventure (1973) ฯ

わんぱく王子の大蛇退治 อ่านว่า Wanpaku Ōji no Orochi Taiji, แปลตรงตัว The Naughty Prince’s Orochi Slaying นำแรงบันดาลใจจากพงศาวดารญี่ปุ่น 日本書紀 (ค.ศ. 720) อ่านว่า Nihon Shoki หนังสือเก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสองของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคคลาสสิก โดยบทแรกจะมีการกล่าวถึงตำนานการสร้างของเกาะญี่ปุ่น อธิบายต้นกำเนิดของโลกและเทพเจ็ดรุ่นแรก

เมื่อคราที่เทพบิดร Inzanagi (イザナギ) และเทพมารดร Izanami (イザナミ) สร้างประเทศญี่ปุ่นด้วยการเอาง้าวจุ่มลงในทะเลโคลน กวนให้น้ำแยกออกจากกันจนกลายเป็น 7 เกาะใหญ่ (Ōyashima) ได้บังเกิดจอมอสูร Yamata no Orochi (山田 の オロチ) มีลักษณะเป็นงูยักษ์ ร่างกายใหญ่โตปานขุนเขา ศีรษะแปดหัว (Yamata แปลว่าแปดง่าม หรือมีหัวทั้งแปด) และสามารถพ่นไฟ ไม่ว่าปรากฎตัวยังหมู่บ้านแห่งหนไหนล้วนก่อให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ จนกระทั่งถูกสังหารโดยจอมเทพ Susanoo (スサノオ) น้องชายเทพเจ้าดวงอาทิตย์ Amaterasu (アマテラス) และเทพเจ้าดวงจันทร์ Tsukuyomi (ツクヨミ) [หรือก็คือบุตรของ Izanagi และ Izanami]

เกร็ด: Working Title ของอนิเมะเรื่องนี้คือ 日本神話 虹のかけ橋 แปลว่า Japanese Mythology: Rainbow Bridge

บทอนิเมะดัดแปลงโดย Ichirō Ikeda และ Takashi Iijima แน่นอนว่าการจะนำเสนอตำนานเทพปกรณัมอย่างตรงไปตรงมาคงไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ เพราะกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชน จึงจำต้องปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เข้าใจง่าย Susanoo กลายเป็นเด็กชาย ใช้ปมสูญเสียมารดาเป็นแรงผลักดันให้ออกผจญภัยค้นหาบทเรียนชีวิต (ที่สะท้อนถึงประเทศญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม), เพิ่มเติมเพื่อนร่วมเดินทาง กระต่ายน้อย Akahana, ยักษ์เผ่าไฟ Titanbō, และพยายามออกแบบตัวละครไม่ให้น่าเกลียดน่ากลัวเกินไป

เกร็ด: หนึ่งในผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ก็คือ Isao Takahata แต่ผมไม่แน่ใจว่า Hayao Miyazaki มีส่วนร่วมอะไรกับโปรเจคนี้ไหม ขณะนั้นน่าจะได้เข้าทำงาน Toei Animation แล้วละ!


เด็กชาย Susanoo (ให้เสียงโดย Morio Kazama) อาศัยอยู่บนเกาะ Onogoro ร่วมกับบิดา-มารดา Izanagi และ Izanami วันๆชอบเล่นต่อสู้กับสรรพสัตว์ มีพละกำลังแข็งแกร่งเหนือใคร อยู่มาวันหนึ่งมารดาจากไปโดยไม่บอกกล่าว เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ร่ำร้องไห้จนน้ำเกือบท่วมโลก พอฟื้นคืนสติ จึงครุ่นคิดออกเดินทางติดตามหา สรวงสวรรค์/ยมโลก มารดาอยู่แห่งหนไหน

  • ล่องเรือข้ามมหาสมุทรร่วมกับกระต่ายน้อย Akahana ต่อสู้กับปลาปีศาจ Akuru (暴れる) ได้รับคำขอบคุณจากเทพเจ้าแห่งท้องทะเล Wadatsumi (わだつみ)
  • เยี่ยมเยียนพี่ชาย Tsukuyomi ยังดินแดนแห่งความมืด Yoru no wosu kuni (よる の をす 国)
  • ออกเดินทางต่อสู่ดินแดนแห่งไฟ Hinokoku (火の国 ) ต่อสู้กับเทพเจ้าไฟ Hinokami (火の神) แล้วร่วมออกเดินทางต่อกับยักษ์เผ่าไฟ Titanbō 
  • มาถึงยังที่ราบบนท้องฟ้าสูง Takamagahara (高天原) พบเจอพี่สาว Amaterasu พยายามจะตั้งรกรากถิ่นฐาน แต่กลับถูกชาวเมืองขับไล่ ผลักไสส่ง
  • ท้ายที่สุดเดินทางมาถึง Izumo (出雲) พบเจอกับ Princess Kushinada (クシナダ) เทียมม้าสวรรค์ (Tianma, 天馬) Amenohayakoma ต่อสู้กับจอมอสูร Yamata no Orochi ใช้ดาบ Kusanagi (草薙) ฟันคอสุดท้ายเสียชีวิต

ซูซาโนโอะ (須佐之男命 อ่านว่า Susano-o no mikoto) เทพเจ้าแห่งพายุและท้องทะเลในศาสนาชินโต (神道, Shinto) ตามตำนานเล่าว่าถือกำเนิดจากจมูกของ Izanagi ได้รับการมอบหมายให้ปกครองท้องทะเล แต่ด้วยความที่เป็นเทพเจ้าที่หัวแข็ง ไม่ยินยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใดๆ ชื่นชอบออกเดินทางผจญภัย อีกทั้งยังใจร้อน หุนหันพลันแล่น จึงมักทำลายทุกสรรพสิ่งที่ไปย่างเหยียบ

ฉบับดัดแปลงภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ ปรับเปลี่ยนเทพเจ้า Susanoo ให้กลายเป็นเด็กชาย (ตามวิสัยการ์ตูน Shonen) นิสัยขี้เล่น ซุกซน ชอบใช้กำลัง ความรุนแรงแก้ปัญหา รักและเคารพมารดา หลังเธอจากไปโดยไม่ร่ำลา จึงร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอย่างหนัก พอฟื้นคืนสติจึงครุ่นคิดออกเดินทางติดตามหา มารดาอยู่แห่งหนไหน? ผจญภัยไปยังสถานที่ต่างๆ เรียนรู้จักโลกกว้าง พิสูจน์ตนเอง และค้นพบเป้าหมายชีวิต

ว่ากันตามตรงปรัมปรา Susanoo ไม่ใช่เทพเจ้านิสัยดีสักเท่าไหร่ ดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แต่พอภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ปรับเปลี่ยนให้เป็นเด็กชาย พยายามอธิบายสาเหตุผล สร้างความถูกต้องชอบธรรม ผลลัพท์ถือว่าน่าอึ่งทึ่ง กลายเป็นเรื่องราวแฝงสาระข้อคิดสำหรับเด็กๆ (และผู้ใหญ่) บทเรียนการใช้ชีวิต ออกเดินทางค้นหาตัวตนเอง และอัตลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น

พากย์เสียงโดย Morio Kazama, 風間杜夫 (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Setagaya, Tokyo บิดาทำงานแผนกการขายสตูดิโอ Shintoho ตั้งแต่เด็กจึงมีความชื่นชอบหลงใหลด้านการแสดง ตอนอายุ 8 ขวบเข้าร่วม Toei Children’s Theater Training Institute มีผลงานถ่ายโฆษณา การแสดง พากย์เสียงอนิเมชั่น แต่กว่าจะเริ่มมีชื่อเสียงจริงๆก็ตอนโต Shiki Natsuko (1980), Yūgure made (1980) ฯ

ถ้าเป็นอนิเมะสมัยใหม่ ตัวละครเด็กชายมักให้เสียงโดยนักพากย์หญิง เพื่อความนุ่มนวล ละอ่อนวัย (ยังไงก็แยกแยะไม่ค่อยออกอยู่แล้วว่าเสียงชายหรือหญิง) แต่อนิเมะยุคแรกๆมักจะเลือกนักพากย์ให้ตรงตามเพศสภาพ ซึ่งน้ำเสียงของ Kazama ในวัยสิบขวบกว่าๆ ฟังดูรีบร้อน แข็งกระด้าง เข้ากับอุปนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจของเด็กชาย Susanoo ได้เป็นอย่างดี!

ภาพวาดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าญี่ปุ่น ศาสนาชินโต มักมีลักษณะสร้างความหวาดกลัว ดูหลอกหลอน สยดสยอง ขนหัวลุกพอง เพื่อสร้างความตระหนักถึงนรก-สวรรค์ สอนให้คนทำความดีละเว้นความชั่ว บลา บลา บลา ซึ่งภาพเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งเหมาะสมจะมาทำเป็นอนิเมะสำหรับเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุนี้งานศิลป์ ภาพพื้นหลัง และตัวละคร จึงพยายามออกแบบให้ดูเรียบง่าย เกลี้ยงเกลา ไม่เก็บรายละเอียดมากนัก มีลักษณะ Modernism บางตัวละครก็ออกไปทาง Abstracted Character (ไม่เน้นความสมจริง แต่มองผ่านๆรับรู้ได้ว่าคืออะไร) ซึ่งยังสามารถลดงานทำอนิเมชั่นได้พอสมควรเลยละ! … ออกแบบตัวละครโดย Yōichi Kotabe

ผมเห็นหน้าตาของเจ้าเสือ Tarô แวบแรกนึกถึงภาพวาด Le Rêve (แปลว่า The Dream) ของ Henri Rousseau แต่พอครุ่นคิดไปมา Tiger ของ Pablo Picasso ก็มีความละม้ายคล้ายคลึงอยู่เล็กๆ แต่สไตล์การออกแบบของอนิเมะเรื่องนี้เค้าเรียกกันว่า Modernism ไม่ได้พยายามจะวาดออกมาให้ดูเหมือนเปะๆ เพียงรูปร่าง เค้าโครง เอกลักษณ์บางอย่าง มองผ่านๆก็ยังสามารถทำความเข้าใจได้ว่ามันคือเสือ

เจ้าเสือว่าแปลกประหลาดแล้วนะ ยังมีม้ากระป๋องม้าสวรรค์ (Tianma, 天馬) ชื่อว่า Amenohayakoma หน้าตาเหมือนม้าโยก/เครื่องเล่นม้าหมุน มีเพียงรายละเอียดที่แลดูเหมือนม้า ทำออกมาในลักษณะ Minimal ที่สุดแล้ว

สองการต่อสู้ พิสูจน์ตนเองของ Susanoo ก่อนพบเจอพี่ชายและพี่สาว มีความแตกต่างตรงกันข้ามอย่างชัดเจน

  • ปลาปีศาจ Akuru อสูรกายอาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล ดำผุดดำว่าย ชิงไหวชิงพริบ สามารถใช้เพียงพละกำลังร่างกายต่อสู้เอาชนะ
  • เทพเจ้าแห่งไฟ Hinokami อาศัยอยู่ในป่องภูเขาไฟ สามารถโบยบิน แยกร่าง พลังกายภาพไม่สามารถทำอะไร จำต้องหยิบยืมพลังน้ำแข็งของพี่ชาย ถึงสามารถหยุดยับยั้ง แช่แข็งอีกฝั่งฝ่าย
    • นอกจากบทเรียน พละกำลังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง! ยังสอนให้รู้จักครุ่นคิด นำเอาสิ่งตรงกันข้าม แพ้ทาง จุดอ่อนของอีกฝ่ายมาใช้จัดการปัญหา

สำหรับพี่ชาย Tsukuyomi และพี่สาว Amaterasu ของ Susanoo จะมีการออกแบบตัวละคร (รวมถึงสถานที่) ที่ก็มีความแตกต่างตรงกันข้าม

  • ดินแดนแห่งความมืด Yoru no wosu kuni อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเลลึก ต้องดำผุดดำว่าย ได้รับการชี้นำทางจากเทพเจ้าแห่งท้องทะเล Wadatsumi, ที่ราบบนท้องฟ้าสูง Takamagahara อยู่บนท้องฟากฟ้า ได้รับการชี้ทางจากเทพเจ้าแห่งไฟ Hinokami มอบนกยักษ์สำหรับโบยบินขึ้นไป
  • Tsukuyomi จะมีรูปร่าง ใบหน้าตา เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม เรียวแหลมคม, ตรงกันข้ามกับทรงกลม โค้งมนของ Amaterasu
  • เฉดสีสันของ Tsukuyomi ใช้โทนน้ำเงิน-ฟ้า รู้สึกหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก, Amaterasu เต็มไปด้วยแสงสี เหลือง-ส้ม สัมผัสอบอุ่น ลุ่มร้อน

ยุคสมัยก่อนหน้านี้ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น จะมีหน้าที่กำหนดทิศทาง พูดคุยประสานงานแผนกต่างๆ เขียนบท (Script Writing), ออกแบบตัวละคร (Charactor Design), งานศิลป์ (Art Direction), ภาพพื้นหลัง (Backgroud Art), ลงสีสัน (Color Design), กำกับอนิเมชั่น (Animation Director), และยังรวมถึงงาน Post-Production ตัดต่อ พากย์เสียง เพลงประกอบ ฯ

แต่ด้วยความที่ Yūgo Serikawa ไม่ใช่ผู้กำกับมาจากสายอนิเมเตอร์ จึงไม่มีความรู้ เชี่ยวชาญในการทำอนิเมชั่น ด้วยเหตุนี้จึงบังเกิดตำแหน่งงานใหม่ Animator Supervising โดย Sanae Yamamoto เป็นผู้คอยแบ่งงาน ตรวจสอบความถูกต้อง ควบคุมดูแลในส่วนงานสร้างอนิเมชั่นทั้งหมด (งานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทำอนิเมชั่น เขียนบท ตัดต่อ พากย์เสียง เพลงประกอบ ก็ตกเป็นหน้าที่ของผู้กำกับแทน) … นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นระบบ “Animator Director” อันเป็นรากฐานวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน

เห็นว่าระบบ Animator Director ครุ่นคิดจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ Alakazam the Great (1960) ตั้งใจมอบหมายให้ Osamu Tezuka เป็นผู้กำกับดัดแปลงมังงะของตนเอง แต่ได้รับการบอกปัดเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน, การประท้วงหยุดงานเมื่อปี ค.ศ. 1961 (ที่มี Hayao Miyazaki คือหนึ่งในแกนนำ) สตูดิโอ Toei Animation ยินยอมเพิ่มค่าจ้างนักอนิเมอร์ระดับล่างกว่าเท่าตัว นั่นกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ทุกคนตั้งใจทำงาน หัวหน้าพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นลูกน้อง แทบจะเรียกได้ว่ายุคสมัย ‘Prague Spring’

เกร็ด: Prague Spring (1968) คือช่วงเวลาเจ็ดเดือนสั้นๆที่ชาว Czechoslovakia ได้รับอิสรภาพจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ไม่ถูกกีดกัน ควบคุมครอบงำ ทำให้บรรดาศิลปิน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สรรค์สร้างผลงานศิลปะที่สำแดงอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์! ฉันท์ใดฉันท์นั้น ต้นทศวรรษ 60s ของสตูดิโอ Toei Animation เป็นช่วงเวลาที่คนทำงานสายอนิเมชั่น ได้รับสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม ไม่มีหัวหน้า-ลูกน้อง หรือยึดหลักอาวุโส-เด็กใหม่ ทุกคนสามารถพูดคุย โต้ถกเถียง แสดงความคิดเห็น ระบบดังกล่าวจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำวิสัยทัศน์ของบุคคลภายนอกเข้าสู่วงการอนิเมะ … คนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านอนิเมชั่น ก็สามารถทำงานเป็นผู้กำกับอนิเมะ


ถ่ายภาพโดย Mitsuaki Ishikawa (Panda and the Magic Serpent, Magic Boy, Alakazam the Great) และ Hideaki Sugawara

ด้วยกระแสนิยม CinemaScope กำลังได้รับความล้นหลามใน Hollywood ลุกลามมาถึง Lady and the Tramp (1955) ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วย Anamorphic Widescreen (2.39:1) นั่นทำให้ Toei Animation ตัดสินใจดำเนินรอยตามกับ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) ใช้ระบบชื่อว่า ToeiScope (มันก็คือ CinemaScope อัตราส่วนภาพ Anamorphic แค่เพียงฟีล์มสร้างขึ้นในประเทศญี่ปุ่น)

การเลือกใช้ Anamorphic Widescreen แม้อาจเพิ่มภาระงานให้นักอนิเมเตอร์ แต่ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์อนิเมชั่น ก็ยิ่งใหญ่อลังการเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอสูรกายแปดหัว Yamata no Orochi มันช่างเต็มตาเต็มใจ ยิ่งใหญ่อลังการ ผู้ชมสมัยนั้นคงจะอ้าปากค้าง เด็กๆคงขนหัวลุกพอง สร้างบรรยากาศ(พร้อมเพลงประกอบ)ได้หวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก!

มุมมองผู้ชมสมัยใหม่หลายคนคงทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ดูจากภาพไม่เห็นมันจะน่าหวาดสะพรึงกลัวตรงไหน? หน้าตาทรงสี่เหลี่ยมของ Yamato no Orochi ดูตลกขบขันเสียมากกว่า! ผมอยากแนะนำให้ลองหาอนิเมะมารับชมดูก่อนนะครับ คือตลอดทั้งเรื่องมันจะมีภาพออกแบบตัวละครหน้าตาแปลกๆประหลาดให้เราปรับตัว ปรับทัศนคติ มักคุ้นชินกับสไตล์ลายเส้น พอมาถึงอสูรกายแปดหัวตัวนี้ก็จะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังมีงานศิลป์ที่พยายามทำออกมาให้ทะมึน อึมครึม ท้องฟ้ามืดมิด ลำดับเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเพลงประกอบของ Akira Ifukube สร้างบรรยากาศขนลุกขนพองชิบหาย … อย่าตัดสินคนที่ใบหน้า ตัวละครแค่ภาพวาด ต้องลองรับชม แล้วจะพบเห็นความโคตรๆมหัศจรรย์ของไคลน์แม็กซ์นี้

เครดิตงานศิลป์ (Art Direction) โดย Reiji Koyama, วาดภาพพื้นหลัง (Background Art) ประกอบด้วย Eiko Sugimoto, Hideo Chiba, Isamu Kageyama, Norio Fukumoto, และออกแบบสีสัน (Color Design) โดย Saburo Yokoi

บนเกาะ Onogoro บ้านเกิดของ Susanoo ภาพพื้นหลังที่มีความสวยสดงดงาม มองผ่านๆเหมือนภาพวาด Post-Impressionist เน้นความเรียบง่าย ไม่ได้พยายามทำออกมาให้ดูสมจริง เพียงมองผ่านๆหางตา ก็สามารถบังเกิดความประทับใจ รับรู้ว่าคือภาพวาดดังกล่าวคิออะไร

เกร็ด: อนิเมะเรื่องนี้ใช้ทีมงาน 180 คน วาดภาพทั้งหมด 250,000+ เฟรม ปริมาณสีประมาณ 1 ตัน!

ใครเคยรับชมอนิเมชั่น The Snow Queen (1957) น่าจะมักคุ้นเคยกับการออกแบบพระราชวังคริสตัล ณ ดินแดนแห่งความมืด Yoru no wosu kuni มีความแวววาว ระยิบระยับ เต็มไปด้วยเหลี่ยมแหลมคม เฉกเช่นเดียวกับผู้คนในเมืองแห่งนี้ ทหารหาญไม่เป็นมิตรกับ Susanoo ตั้งแต่แรกพบเจอ ทำให้เกิดการปะทะ ต่อสู้ ก่อให้เกิดความเสียหายขยายวงกว้างไปทั่ว

ดินแดนแห่งไฟ Hinokoku แน่นอนว่าต้องใช้โทนสีเหลือง-ส้ม-แดง (สีของไฟ) มีความเหือดแห้งแล้ง ทะเลทราย ต้นไม้เหี้ยมเกรียม ที่พักอาศัยเหมือนจะรับอิทธิพลจาก Primitive Art และตัวละครยักษ์เผ่าไฟ Titanbō ขนาดใหญ่โต ผิวสีดำ ดูไม่ต่างจากชนพื้นเมืองแอฟริกัน

และหลังจาก Susanoo เอาชนะเทพเจ้าไฟ Hinokami เฉดสีสันของดินแดนแห่งนี้ก็กลับตารปัตรขั้วตรงข้าม น้ำเงิน-ฟ้า-คราม ดูสดสว่าง สบายตา แต่ต้นไม้ก็ยังคงเหี้ยมเกรียม ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะสามารถบูรณะฟื้นฟู

บางคนอาจมีความสงสัยว่าทำไมที่ราบบนท้องฟ้าสูง Takamagahara ถึงแลดูเหมือนภาพวาด Chinese Landscape Painting แต่จริงๆแล้วมันมีคำเรียก 山水画 อ่านว่า Shanshui (China) หรือ Sansuiga (Japan) ซึ่งเหมารวมผลงานภาพวาดทิวทัศน์ของ Chinese, Korean และ Japanese (Far East) ล้วนมีลวดลายเส้นที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน

  • ภาพแรกชื่อว่า Eight Views of Xiaoxiang (ประมาณศตวรรษที่ 12) ผลงานของ Li Shi จิตรกรภูมิทัศน์ชาวจีน
  • อีกภาพชื่อว่า Mountain Landscape (ประมาณกลางศตวรรษที่ 15) ผลงานของ Tenshō Shūbun พระสงฆ์นิกาย Zen/จิตรกรชาวญี่ปุ่น

ผมแอบคาดไม่ถึงกับการใช้ภาพ Abstract Art (แรงบันดาลใจจาก Fantasia (1940)) ระหว่างซีเควนซ์เต้นระบำ Dance of AMENOUZUME เพื่อนำเสนออิทธิพล ความสำคัญของแสงสว่าง บรรดาชาวเมืองที่ราบบนท้องฟ้าสูง Takamagahara ต่างพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เทพเจ้า Amaterasu กลับออกมาสู่โลกมนุษย์อีกครั้ง

Izumo สถานที่ต่อสู้ระหว่าง Susanoo และ Yamata no Orochi ยามค่ำคืนช่างดูราวกับขุมนรก ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้าน หนามแหลม ทะเลสาปกว้างใหญ่ รายล้อมรอบด้วยทิวเขาสูงชัญ (ในลักษณะของ Shanshui) ยิ่งดึกจะยิ่งมืดมิด ปรับเฉดสีจนทะมึนดำ การต่อสู้ระหว่างทั้งสอง ทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลาย ราบเรียบเป็นหน้ากลอง

ตัดต่อโดย Ikuzō Inaba (The Littlest Warrior, Arabian Nights: The Adventures of Sinbad)

หลังอารัมบทเกริ่นนำ Izanagi และ Izanami ให้กำเนิดหมู่เกาะญี่ปุ่น! อนิเมะดำเนินเรื่องผ่านมุมมองบุตรชาย Susanoo หลังการสูญเสียมารดา (Izanami) ตัดสินใจออกเดินทางร่วมกับกระต่ายน้อย Akahana ไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อติดตามค้นหา มารดาอยู่แห่งหนไหน?

การผจญภัยของ Susanoo ผมขอแบ่งออกเป็นตอนๆ (Episodic) ตามสถานที่ต่างๆเดินทางไปถึง

  • อารัมบท เกริ่นนำ Izanagi และ Izanami ให้กำเนิดหมู่เกาะญี่ปุ่น
  • แนะนำเด็กชาย Susanoo
    • เด็กชาย Susanoo นิสัยซุกซน ชื่นชอบการต่อสู้ เอาชนะสรรพสัตว์ทั้งหลาย
    • การสูญเสียมารดาทำให้ Susanoo เศร้าโศกเสียใจ
    • ก่อนตัดสินใจเริ่มต้นออกเดินทาง ติดตามค้นหา มารดาอยู่แห่งหนไหน?
  • ล่องเรือข้ามมหาสมุทร
    • ต่อสู้กับปลาปีศาจ Akuru
    • ได้รับคำขอบคุณจากเทพเจ้าแห่งท้องทะเล Wadatsumi ชี้นำทางสู่ดินแดนแห่งความมืด
  • ดินแดนแห่งความมืด/ปราสาทน้ำแข็ง
    • เดินทางมาถึงดินแดนแห่งความมืด Yoru no wosu kuni แต่ถูกทหารหาญเข้าใจผิดจึงเกิดการปะทะต่อสู้
    • พบเจอกับพี่ชาย Tsukuyomi
  • ดินแดนแห่งไฟ Hinokoku
    • ออกเดินทางมาถึงดินแดนแห่งไฟ
    • ต่อสู้กับเทพเจ้าไฟ Hinokami
    • หลังได้รับชัยชนะ ร่วมออกเดินทางกับยักษ์เผ่าไฟ Titanbō 
  • ที่ราบบนท้องฟ้าสูง Takamagahara
    • โบยบินมาถึงที่ราบบนท้องฟ้าสูง พบเจอพี่สาว Amaterasu
    • ระหว่างพยายามตั้งรกรากถิ่นฐาน Susanoo กลับก่อเรื่องวุ่นๆวายๆ
    • จนพี่สาว Amaterasu รู้สึกอับอายจึงหลบซ่อนตัวในถ้ำ ทำให้ชาวเมืองทำพิธีล่อหลอกให้เธอกลับออกมา
    • สุดท้ายพี่สาวก็ร้องขอให้ Susanoo ออกเดินทางไปจากดินแดนแห่งนี้
  • เดินทางมาถึง Izumo
    • พบเห็นแม่น้ำกลายเป็นลำธารเลือด รับรู้เหตุการณ์บังเกิดขึ้นจาก Princess Kushinada
    • Susanoo ทำการเทียมม้าสวรรค์ Amenohayakoma
    • จากนั้นตระเตรียมแผนการมอมเหล้า
    • ต่อสู้กับจอมอสูร Yamata no Orochi
    • หลังจากได้รับชัยชนะ Susanoo ก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ยังดินแดนแห่งนี้

ไฮไลท์ตัดต่อต้องยกให้การต่อสู้ระหว่าง Susanoo และ Yamata no Orochi ต้องเริ่มตั้งแต่เริ่มต้นเตรียมความพร้อม สร้างบรรยากาศขนลุกขนพอง จนกระทั่งการต่อสู้บนอากาศ บินโฉบไปโฉบมา มีการสลับสับเปลี่ยนมุมกล้อง ผมอ่านเจอว่ากว่า 300+ ช็อต 10,000+ ภาพเคลื่อนไหว ถือเป็นหนึ่งในซีเควนซ์มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ สร้างมาตรฐานฉากการต่อสู้ไว้สูงลิบลิ่วทีเดียว


เพลงประกอบโดย Akira Ifukube, 伊福部 昭 (1914-2006) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kushiro, Hokkaido วัยเด็กมีความหลงใหลบทเพลงพื้นบ้าน Ainu Music บังเกิดความตั้งใจอยากเป็นนักแต่งเพลงหลังได้ยินบทเพลง Stravinsky: The Rite of Spring (1913) แต่โตขึ้นเข้าเรียนต่อวนศาสตร์ Hokkaido Imperial University ใช้เวลาว่างศึกษาดนตรีด้วยตนเอง (Self-Taught) จนสามารถแต่ง Piano Suite, โด่งดังจากบทเพลง Japanese Rhapsode (1935) คว้ารางวัล(อย่างเป็นเอกฉันท์)การแข่งขันระดับนานาชาติ ถึงขนาดผู้จัดงาน Alexander Tcherepnin เดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อมอบรางวัล และยังให้คำแนะนำ Masterclass เป็นการส่วนตัว! หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นครูดนตรี Tokyo Music School (ปัจจุบันคือ Tokyo University of the Arts) แล้วมีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Snow Trail (1947), The Quiet Duel (1949), Children of Hiroshima (1952), โด่งดังจากให้กำเนิดเสียง Gojira (1954), The Burmese Harp (1956), The Tale of Zatoichi (1962), The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) ฯลฯ

งานเพลงของ Ifukube คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Gojira แต่ปรับเปลี่ยนเรื่องราวมาเป็นเจ้าชายน้อย Susanoo ต่อสู้สารพัดสิ่งชั่วร้าย ก่อนครั้งสุดท้ายเผชิญหน้าอสูรกายแปดหัว Yamata no Orochi เต็มไปด้วยความยิ่งใหญ่อลังการ ไม่ด้อยไปกว่าภาพยนตร์คนแสดง

สไตล์เพลงของ Ifukube ชอบที่จะบรรเลงท่วงทำนองซ้ำๆ เน้นย้ำหลายครั้ง มีคำเรียก Ostinato (มาจากภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า Stubborn) เพื่อสร้างความตื่นเต้น รุกเร้าใจ สอดคล้องจังหวะการเต้นหัวใจ และยังภาพอนิเมชั่นการต่อสู้ มันไม่ใช่ว่าพระเอกตรงเข้าไปฟันฉับคอขาด แต่ต้องพุ่งเข้า-โฉบออก เดี๋ยวรุก-เดี๋ยวรับ โต้ตอบสลับกันไปมา … นี่คือศาสตร์การแต่งเพลงให้เข้ากับฉากต่อสู้ที่ทรงพลังอย่างมากๆ

ไม่ใช่แค่ Main Theme ที่เป็นไฮไลท์ของอนิเมะ แต่ยังความหลากหลายของท่วงทำนองเพลง ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศพื้นหลัง เหตุการณ์ต่างๆที่ Susanoo ต้องประสบพบเจอ และหลายครั้งยังมีการใช้เสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น (ผสมผสานกับดนตรีตะวันตก) ทำออกมาในลักษณะคล้ายๆ ‘Silly Symphonies’ สร้างจังหวะให้สอดคล้องการกระทำ หลายครั้งใช้แทนเสียงประกอบ Sound Effect … นี่ถือเป็นวิวัฒนาการทางดนตรีประกอบอนิเมชั่นครั้งสำคัญของญี่ปุ่น สามารถสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเอง แยกตัวออกมาจาก Walt Disney ได้สำเร็จเสียที!

Dance of AMENOUZUME ดังขึ้นระหว่างชาวที่ราบบนท้องฟ้าสูง Takamagahara ทำการร้อง-เล่น-เต้น เพื่ออัญเชิญเทพเจ้า Amaterasu ให้กลับออกมาส่องแสงสว่างสู่โลกภายนอก, บทเพลงนี้ไม่ใช่ Traditional Japanese แต่ยังมีการผสมผลาสเครื่องดนตรีตะวันตก กลิ่นอาย Slavic มีการแสดงความคิดเห็นว่าควรเรียก Pan-Eurasia น่าจะใกล้เคียงที่สุด

ทิ้งท้ายด้วยบทเพลง Lullaby For A Motherless Child (母のない子の子守歌 อ่านว่า Haha no Nai Ko no Komoriuta) แต่งคำร้องโดย Takashi Morishima, ขับร้องโดย Setsuko Watanabe, ดังขึ้นระหว่างที่มารดา Izanami ขับกล่อมบุตรชาย Susanoo ระหว่างการอาบน้ำ ชำระร่างกาย แต่น่าเสียดายผมไม่สามารถหาคลิปแยกมาให้ ก็ลองไล่ฟังไปเรื่อยๆในคลิปรวมอัลบัมนี้เองนะครับ (นาทีที่ 3:49)

The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าการถือกำเนิดเกาะ Ōyashima แม้เป็นเพียงปรัมปรา ตำนานประเทศญี่ปุ่น แต่สะท้อนความเชื่อศรัทธาของผู้คนสมัยก่อน ที่ถึงขนาดมีการจดบันทึกลายลักษณ์อักษร สืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เทพเจ้า/เด็กชาย Susanoo เพราะไม่สามารถยินยอมรับการสูญเสียมารดา Izanami จึงตัดสินใจออกเดินทาง ติดตามค้นหา มารดาอยู่แห่งหนไหน ซึ่งระหว่างการผจญภัย ได้รับบทเรียนต่างๆมากมาย

  • นิสัยใจร้อนของ Susanoo ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ทำสิ่งพลาดพลั้ง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์เกรี้ยวกราด โกรธเกลียด สนเพียงใช้พละกำลังทำลายล้าง
  • ไม่ใช่ทุกครั้งที่การใช้พละกำลังจะสามารถต่อสู้เอาชนะ แก้ไขอุปสรรคปัญหา บางครั้งต้องครุ่นคิดวางแผน ใช้สติปัญญา รู้จักประณีประณอม อ่อนน้อมถ่อมตน เอาใจเขามาใส่ใจเรา

บทเรียนสำคัญที่สุดของ Susanoo ก็คือการยินยอมรับความตาย/หายนะบังเกิดขึ้น ค้นพบว่ามารดาจักยังคงอยู่ภายในจิตใจชั่วนิรันดร์ และหลังจากพบเห็นซากศพอสูรกาย Yamata no Orochi กลายเป็นผืนน้ำ ลำธาร ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี สถานที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ นั่นแฝงนัยยะถึงการเวียนว่ายตายเกิด วงเวียนวัฏจักรแห่งชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถดิ้นหลุดพ้น

ดินแดน Izumo สามารถเปรียบเทียบถึงประเทศญี่ปุ่น ถูกรุกรานโดยอสูรกาย Yamata no Orochi (นัยยะคล้ายๆ Gojira ฉบับดั้งเดิม สามารถสื่อถึงระเบิดปรมาณูจากสงครามโลกครั้งที่สอง) ทุกสถานที่ที่มันเคลื่อนพานผ่าน ด่อให้เกิดหายนะ ความตาย สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เลือดไหลนองเต็มลำธาร

ซากศพของ Yamato no Orochi ทำให้สถานที่รกร้างกลับกลายเป็นผืนแผ่นดินเขียวขจี! นี่ก็คือญี่ปุ่นหลังสงครามโลก จากความสูญเสียหายย่อยยับเยิน เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านกว่าทศวรรษ ทุกสิ่งอย่างก็กำลังฟื้นคืน ต้นไม้เติบโต เขียวขจี ราวกับประเทศญี่ปุ่นได้ถือกำเนิดใหม่ขึ้นอีกครั้ง!

(จะว่าไปแทบทุกสถานที่ผจญภัยของ Susanoo ล้วนต้องมีก่อน-หลัง มืด-สว่าง พังทลาย-ซ่อมแซมใหม่ จุดสูงสุด-ต่ำสุด ก่อนค้นพบดินแดนแห่งความสุขทางใจ)

วงการอนิเมะก็เฉกเช่นเดียวกัน สงครามโลกทำให้ทุกสิ่งอย่างแช่แข็ง หยุดนิ่ง ไร้การเติบโตนานนับทศวรรษ Toei Animation พยายามปลูกต้นกล้า เริ่มต้นใหม่กับ The White Snake Enchantress (1958) แต่มันยังไม่ใช่ผลงานสำแดงอัตลักษณ์ ตัวตน จนกระทั่ง The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) นี่ต่างหากถือเป็นหมุดหมายแท้จริงของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น … ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ

อนิเมะใช้ทุนสร้างสูงถึง 70 ล้านเยน! แม้ไม่มีรายงานรายรับ แต่เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม นอกจากคว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award ยังเดินทางไปฉายเทศกาล Venice International Film Festival: Children’s Film และคว้ารางวัล Bronze Osella ดูแล้วน่าจะขายต่างประเทศได้พอสมควรเลยละ

อิทธิพลของ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) พบเห็นได้จากซีรีย์ Samurai Jack (2001-04), วิดิโอเกม The Legend of Zelda: The Wind Waker (2002) และหลายๆผลงานของผกก. Tomm Moore (เจ้าของผลงาน The Secret of Kells (2009), Song of the Sea (2014) ฯ)

ปัจจุบันอนิเมะได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2020 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของ Toei Video เหมือนจะมีวางจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น แต่หารับชมออนไลน์ไม่ยาก คุณภาพคมชัดกริบ!

ผมรับชมฉบับ DVD คุณภาพเห่ยๆ เสียงแตกๆ ไปประมาณครึ่งค่อนเรื่องระหว่างรอโหลด Blu-Ray ซึ่งพอเห็นคุณภาพฉบับบูรณะ 4K แม้งแตกต่างราวฟ้ากับเหว เลยตัดสินใจเริ่มดูใหม่ตั้งแต่ต้นอีกรอบ บอกเลยว่าคนละอรรถรส ดื่มด่ำไปกับงานศิลป์ อนิเมชั่น ฉากแอ๊คชั่นตื่นตระการตา และเพลงประกอบของ Akira Ifukube ฟังลื่นหู สบายอารมณ์ ทรงพลังยิ่งกว่าเดิมเสียอีก!

เอาจริงๆถ้าไม่เพราะฉบับบูรณะ ผมคงก้ำๆกึ่งๆว่าจะชอบหรือไม่ชอบ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963) แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นไร้ข้อกังขา เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่ามาสเตอร์พีซ สนุกกว่าอนิเมะแอ็คชั่นสมัยใหม่บางเรื่องเสียอีก!

จัดเรต pg กับการต่อสู้สรรพสิ่งชั่วร้าย อสูรกายแปดหัว

คำโปรย | The Little Prince and the Eight-Headed Dragon การผจญภัยของ Susanoo ในเทพปกรณัมญี่ปุ่น มีความสนุกสนาน ยิ่งใหญ่อลังการ งดงามวิจิตรศิลป์ หมุดหมายแท้จริงแห่งวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตื่นตาตื่นใจ

Aru Machi Kado no Monogatari (1962)


Tales of a Street Corner (1962) hollywood : Yusaku Sakamoto & Eiichi Yamamoto ♥♥♥♥♡

อนิเมชั่นเรื่องแรกๆของ Mushi Production (ก่อตั้งโดย Osamu Tezuka) ทำการทดลองสร้างตัวละครจากภาพโปสเตอร์ที่ติดอยู่ตามตรอกซอกซอย แม้ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว แต่ใช้ลูกเล่นตัดต่อสร้างจังหวะให้สอดคล้องบทเพลง แถมยังมีเรื่องราวจับต้องได้, คว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award

Osamu Tezuka เป็นชื่อที่ใครต่อใครต่างให้การยกย่องสรรเสริญ เจ้าของฉายา God of Manga และ Godfather of Anime สรรค์สร้างผลงานอมตะอย่าง Astro Boy, Kimba the White Lion, Princess Knight, Phoenix, Dororo, Black Jack ฯ แต่แปลกที่ไม่ค่อยมีใครในวงการอนิเมชั่นพูดกล่าวถึงสักเท่าไหร่?

เท่าที่ผมสืบค้นหาข้อมูลก็พบว่า Tezuka เป็นที่รังเกียจจากบรรดาคนทำงานสายอนิเมะเสียมากกว่า โดยเฉพาะ Hayao Miyazaki ทั้งๆเคยเป็นไอดอล รับอิทธิพลสไตล์ลายเส้นมาไม่น้อย แต่พอเติบใหญ่ได้เรียนรู้จักมุมมอง วิสัยทัศน์ ถึงได้ค้นพบพฤติกรรมชั่วร้าย ความเห็นแก่ตัว สาเหตุที่นักอนิเมเตอร์ระดับล่าง (In-Between Animator) คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ถูกกดค่าแรงต่ำๆ ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากชายคนนี้นี่แหละ!

When I was finally forced to admit that my drawings actually did look like Tezuka’s, I took out the sketches I had stored in the drawer of our dresser and burned them all. I burned them and resolved to start over from scratch, and in the belief that I needed to study the basics first, I went back to practicing drawing and draftsmanship. Yet it still wasn’t easy to rid myself of Tezuka’s influence.

I found myself disgusted by the cheap pessimism of works like [Mermaid] or [The Drop], which showed a drop of water falling on a thirsty man adrift at sea. I felt that this pessimism was qualitatively different from the pessimism Tezuka used to have in the old days, as in the early days of [Astro Boy], for example — but it also could have been that in the early days I felt great tragedy and trembled with excitement at Tezuka’s cheap pessimism precisely because I was so young.

Hayao Miyazaki

เอาจริงๆมันอาจไม่ใช่ความผิดของ Tezuka เพียงฝ่ายเดียว ยังต้องโทษความเห็นแก่ตัวของพวกนายทุน สตูดิโออนิเมชั่น ใช้เงินทุนน้อยๆ ได้กำไรงามๆ คุณภาพห่วยๆก็ช่างหัวมัน แต่นั่นคือผลงานของบุคคลได้รับฉายา God of Manga, Godfather of Anime จริงๆนะหรือ?? ลองรับชมคลิปนี้ดูนะครับ วิเคราะห์เหตุผลที่วิสัยทัศน์ของ Tezuka บ่อนทำลายอุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

How Tezuka Osamu Ruined the Anime Industry: https://www.youtube.com/watch?v=e3Mf03ZIROg


เมื่อพูดถึงผลงานของ Tezuka ผมเคยรู้จักแต่อนิเมะกระแสหลัก (Mainstream) อาทิ Astro Boy, Kimba the White Lion, Black Jack ฯ แต่เพิ่งมารับรู้ไม่นานมานี้ ไฮไลท์ที่แท้จริงนั้นคืออนิเมชั่นแนวทดลอง (Experimental) กล้าทำสิ่งแปลกใหม่ ท้าทายขนบกฎกรอบ ไม่มีใครเหมือน และไม่มีวันเหมือนใคร

ในบรรดาอนิเมชั่นแนวทดลองของ Tezuka จริงๆก็มีหลายเรื่องน่าสนใจ Mermaid (1964), Pictures at an Exhibition (1966), Jumping (1984), Broken Down Film (1985), Legend of the Forest, Part I (1987) ฯ แต่ผมหลงใหลคลั่งไคล้ Tales of a Street Corner (1962) ไม่ใช่แค่ลักษณะ ‘anti-Disney’ แต่ยังเนื้อเรื่องราวที่มีความเป็นมนุษยนิยม (Humanism) และใจความต่อต้านสงคราม (Anti-War) … อาจเป็นผลงานใกล้ตัวใกล้หัวใจ Tezuka มากที่สุดแล้วกระมัง!


Osamu Tezuka, 手塚 治 (1928-89) นักวาดมังงะ ผู้กำกับอนิเมะ เกิดที่ Toyonaka, Osaka ในครอบครัวฐานะมั่งคั่ง ตั้งแต่เด็กมารดาชอบพาบุตรชายไปรับชมการแสดง Takarazuka Grand Theater, หลงใหลภาพยนตร์ Bambi (1942) [อ้างว่ารับชมไม่ต่ำกว่า 80 รอบ] คือแรงบันดาลใจวาดรูปตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ยังชื่นชอบแมงเต่าทอง (Ground Beetle) นำมาใช้เป็นนามปากกา Osamushi (治虫)

โตขึ้นเข้าศึกษาการแพทย์ Osaka University ขณะเดียวกันใช้เวลาว่างเขียนมังงะ ตีพิมพ์ผลงานเรื่องแรก Diary of Ma-chan (1946) ลงหนังสือพิมพ์ Shokokumin Shinbun, แจ้งเกิดกับ New Treasure Island (1947), Lost World (1948), Metropolis (1949), ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ …

  • Kimba the White Lion (1950-54) แรงบันดาลใจภาพยนตร์อนิเมชั่น The Lion King (1994)
  • Astro Boy (1952-68) จุดเริ่มต้นอนิเมะแนว Robot, Mecha
  • Princess Knight (1953-56) จุดเริ่มต้นมังงะ/อนิเมะแนว Shōjo

เมื่อปี ค.ศ. 1959, Tezuka ได้รับการติดต่อจาก Toei Animation แสดงเจตจำนงค์ต้องการดัดแปลงมังงะ Boku no Son Gokū (1953-59) หรือที่หลายๆคนรู้จักในชื่อไซอิ๋ว (Journey to the West) เห็นว่าในตอนแรกจะให้เครดิตผู้กำกับ แต่เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้ เลยลดบทบาทเหลือเพียงวาดภาพ Storyboard ปรากฎว่าทำงานล่าช้ากว่ากำหนด แถมปริมาณ 500+ หน้ากระดาษ จะกลายเป็นอนิเมชั่น 90 นาทีได้อย่างไร? … สุดท้ายแล้วสตูดิโอ Toei เลยจัดแจงทำโน่นนี่นั่นด้วยตนเอง กลายมาเป็น Alakazam the Great (1960)

ความผิดหวังต่อระบบการทำงานของ Toei Animation ทำให้เมื่อปี ค.ศ. 1961, Tezuka ตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่นของตนเอง Tezuka Osamu Production ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Mushi Production (虫プロダクション) แถมยังซื้อตัว(ด้วยการจ่ายเงินเพิ่มสองเท่าพร้อมค่าอาหารกลางวัน)นักอนิเมเตอร์หลายคน(มาจาก Toei Animation) อาทิ Yusaku Sakamoto, Eiichi Yamamoto, Hayashi Shigeyuki (Rintaro), Gisaburō Sugii, Gisaburō Sugii ฯ

เกร็ด: ภาษาญี่ปุ่น Mushi, 虫 แปลว่า Bug นำจากความชื่นชอบแมลงเต่าทองตั้งแต่เด็กของ Osamu Tezuka


จุดประสงค์การก่อตั้งสตูดิโอของ Tezuka เป้าหมายหลักๆคือดัดแปลงมังงะตนเองให้กลายเป็นอนิเมะ โดยในช่วงแรกๆที่ยังไม่สามารถขอทุนสร้างจากแห่งหนไหน เลยทำการควักเนื้อ(กำไรจากมังงะ)เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เริ่มโปรเจคในฝัน ด้วยการดัดแปลงมังงะ Astro Boy วางแผนจะทำฉายรายสัปดาห์ทางโทรทัศน์

ต้องเกริ่นสักนิดนึงก่อนว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) วงการอนิเมชั่นในญี่ปุ่นอยู่ในจุดแช่แข็ง หยุดนิ่งนานนับทศวรรษ ถัดจาก Momotarō’s Sea Eagles (1942) และ/หรือ Momotaro: Sacred Sailors (1945) กว่าจะมีภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาว (Feature Length) ลำดับถัดมาก็คือ The White Snake Enchantress (1958) ของค่าย Toei Animation ซึ่งต้องใช้งบประมาณ เทคโนโลยี และนักอนิเมเตอร์จำนวนมหาศาล! มันจึงยังไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีความพร้อมขยับขยายมาสรรค์สร้างอนิเมะรายสัปดาห์

Tezuka เล็งเห็นโอกาสบุกเบิกช่องทางดังกล่าว จึงยื่นข้อเสนอต่อสถานีโทรทัศน์ ตัดราคาชาวบ้านชาวช่องให้เหลือเพียง ¥500,000 ล้านเยนต่อตอน (ประมาณ $3,000-$4,000 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งถือว่าน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย (ราคาโปรดักชั่นต่อตอนควรอยู่ที่ประมาณ ¥2-3 ล้านเยน) แล้วครุ่นคิดพัฒนาสารพัดเทคนิค ‘limited animation’ ที่มีความฉาบฉวย สำหรับการทำงานอย่างรวดเร็ว อาทิ วาดภาพนิ่งแล้วใช้ลูกเล่นภาพยนตร์ Panning, Zooming, Cross-Cutting, ออกแบบท่าทางขยับเคลื่อนไหวตัวละครซ้ำไปซ้ำมา (Reverse & Repeat Animation), โดยปกติอัตราเร็วการฉายอยู่ที่ 20-29 fps ปรับลงมาเหลือเพียง 10 fps ฯลฯ เหล่านี้ช่วยลดเวลางาน ลดงบประมาณ คุณภาพอาจไม่ดีเลิศ กลับถูกอกถูกใจผู้ชมบางกลุ่ม ชื่นชมในความอาร์ทจัดๆ

เทคนิควิธีการดังกล่าวอาจฟังดูน่าสนใจดี แต่ในความเป็นจริง Tezuka ได้สร้างมาตรฐานระดับต่ำให้วงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น บรรดานายทุนต่างคาดหวังให้สตูดิโออื่นๆดำเนินรอยตาม ด้วยการลดค่าใช้จ่าย ทำกำไรงามๆ นั่นส่งผลกระทบถึงพนักงานระดับล่าง (โดยเฉพาะ In-Between Animation) ถูกกดค่าแรง แถมยังต้องทำงานเกินเวลา นำไปสู่การชุมนุมประท้วงหยุดงาน ค.ศ. 1961 … หนึ่งในแกนนำครั้งนั้นก็คือ Hayao Miyazaki รับไม่ได้กับสภาพการทำงาน เดือนหนึ่งต้อง OT (Overtime) เกินกว่า 230 ชั่วโมง เพื่อค่าแรงแค่ 8,000 เยน!


กลับมาที่จุดเริ่มต้นโปรเจค Astro Boy มันไม่ใช่ว่าจู่ๆ Tezuka จะสามารถเดินเข้าไปติดต่อของบประมาณจากนายทุน สถานีโทรทัศน์แห่งหนไหน เขาจึงใช้เงินเก็บ(กำไรจากมังงะ)เริ่มต้นสร้างตอน Pilot และวางแผนจัดงานนิทรรศการ Mushi Production Work Exhibition สำหรับโชว์ผลงาน ขายวิสัยทัศน์ แต่ถ้ามีแค่อนิเมะเรื่องนี้เรื่องเดียวก็คงน้อยเกินไปสักหน่อย

ด้วยเหตุนี้พอโปรดักชั่น Astro Boy ใกล้เสร็จสิ้น จึงแบ่งทีมงานบางส่วนแยกตัวออกมาสรรค์สร้าง ある街角の物語 อ่านว่า Aru Machi Kado no Monogatari แปลตรงตัว Tales of a Street Corner นำแรงบันดาลใจจากภาพโปสเตอร์ติดอยู่บนผนังกำแพงตามตรอกซอกซอย มาสรรค์สร้างเรื่องราว ‘Slice-of-Life’ ร้อยเรียงวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลก(ครั้งที่สอง) และหายนะหลังจากนั้น

ความที่ Tezuka เป็นคนงานยุ่งมากๆ ไหนจะมังงะ ไหนจะอนิเมะ โปรเจค Tales of a Street Corner จึงเพียงครุ่นคิดเรื่องราว (Original Idea) และวาดภาพร่างคร่าวๆ จากนั้นมอบหมาย Yusaku Sakamoto และ Eiichi Yamamoto รับหน้าที่ผู้กำกับ/ดูแลงานสร้างแทน

โปรดักชั่นใช้ระยะเวลาเพียงเดือนกว่าๆ ระหว่างกันยายน-ตุลาคม ค.ศ. 1962 ด้วยข้อจำกัดทั้งเงินทุนและระยะเวลา จึงต้องมองหาการทดลองเทคนิคใหม่ๆ ใช้ประโยชน์จากภาพโปสเตอร์ ลดงานอนิเมชั่นเคลื่อนไหว เพียงภาพวนซ้ำไปซ้ำมา (Reverse & Repeat Animation), ละเล่นกับเทคนิคภาพยนตร์ Panning, Zooming, Cross-Cutting และตัดต่อให้สอดคล้องเข้ากับเพลงประกอบ เพียงเท่านี้ผลลัพท์ถือว่าน่ามหัศจรรย์ยิ่ง!


ตัดต่อโดย Eiichi Yamamoto,

ตามชื่ออนิเมะ Tales of a Street Corner นำเสนอเรื่องราววุ่นๆที่บังเกิดขึ้นในตรอกซอกซอยแห่งหนึ่ง ดำเนินเรื่องในลักษณะ ‘ส่งไม้ผลัด’ เริ่มจากเด็กหญิงอาศัยอยู่ห้องใต้หลังคา พลัดทำตุ๊กตาหมีตกลงมาตรงระเบียง พบเห็นโดยลูกหนูอาศัยอยู่ในรู เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น แล้วจู่ๆพลัดตกลงท่อระบายน้ำ มึนๆเบลอๆ ภาพโปสเตอร์บนผนังกำแพงเหมือนว่าจะสามารถขยับเคลื่อนไหว โยกไปโยกมาตามเสียงเพลง

อนิเมะอาจไม่ได้มีโครงสร้าง เนื้อเรื่องราวที่เป็นแก่นสาระ เพียงร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน พานผ่านช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน และคาบเกี่ยวระหว่างสงคราม (โลกครั้งที่สอง)

  • เด็กหญิงพยายามไขว่คว้าตุ๊กตาหมีที่ทำตกหล่น
  • ลูกหนูวิ่งเล่นซุกซน เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย เป็นห่วงเป็นใยตุ๊กตาหมี
  • ต้นมะเดื่อพยายามมองหาสถานที่สำหรับเมล็ดพันธุ์ ให้กำเนิดชีวิตใหม่
  • โคมไฟถนนติดๆดับๆ แต่คอยให้การช่วยเหลือ ดูแลสมาชิกในตรอกซอกซอยแห่งนี้
  • แมงเม่าจอมกร่าง ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นไปทั่ว
  • โปสเตอร์นักเปียโน เกี้ยวพาราสีนักไวโอลิน ด้วยสายตาอิจฉาริษยาจากนางแบบสุดเซ็กซี่

การมาถึงของโปสเตอร์นายพล มาดเข้มครึมจริงจัง ตอนแรกที่มาแค่ใบเดียวยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรสักเท่าไหร่ แต่ครั้งถัดๆมาทำการฉีกกระชาก แปะเรียงเต็มผนังกำแพงรอบด้าน พร้อมๆเสียงสัญญาณเตือนเครื่องบินทิ้งระเบิด แสงไฟวูบวาบ เปลวเพลิงมอดไหม้ สุดท้ายลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง เหล่านี้สามารถสื่อถึงหายนะจากสงคราม แฝงใจความ Anti-War อย่างตรงไปตรงมา


เพลงประกอบโดย Takai Tatsuo, 高井 達雄 (เกิดปี 1933) นักแต่งเพลงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kobe City, Hyogo ตอนยังเด็กติดตามบิดาไปอาศัยอยู่ Dongdaemun, Seoul ก่อนเดินทางกลับหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาปักหลัก Beppu City, Oita โตขึ้นศึกษาการแต่งเพลง Kunitachi College of Music ระหว่างนั้นมีโอกาสฝึกงานสถานีโทรทัศน์ NHK, ทำเพลงประกอบละครเวที Koma Theater, และได้รับชักชวนจาก Osamu Tezuka ทำเพลงประกอบอนิเมชั่น Tales of a Street Corner (1962) และ Astro Boy (1963)

งานเพลงของ Tatsuo มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง บรรเลงท่วงทำนองง่ายๆ ได้ยินซ้ำไปซ้ำมา ไม่นานนักก็เริ่มมักคุ้นชิน โยกศีรษะ ฮัมตามอย่างรวดเร็ว, หลายครั้งพยายามสรรค์สร้างท่วงทำนองให้สอดคล้องการกระทำ ท่าทางขยับเคลื่อนไหว และเติมเต็มด้วย Sound Effect ในลักษณะคล้ายๆ ‘Silly Symphonies’

ส่วนไฮไลท์ต้องยกให้การโต้ตอบกลับไปกลับมา ระหว่าง(โปสเตอร์)ไวโอลิน vs. เปียโน แน่นอนว่าย่อมต้องได้ยินการสนทนาภาษาดนตรี หยอกล้อ เกี้ยวพาราสี แรกๆอยู่ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวจิตวิญญาณ จนกระทั่งเมื่อเธอเข้ามา ชีวิตจึงเต็มไปด้วยสีสัน สงครามเกือบทำให้พวกเขาพลัดพราด แต่ท้ายที่สุดก็สามารถเคียงข้าง ตายจาก กลายเป็นนิรันดร์


การทดลองของ Tales of a Street Corner คือความพยายามค้นหาวิธีสรรค์สร้างอนิเมชั่น ทำอย่างไรให้ประหยัดเวลา งบประมาณ รวมถึงปริมาณนักอนิเมเตอร์ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจค ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้จัดเต็มด้วยสารพัดเทคนิค ใช้ภาพโปสเตอร์แทนตัวละคร (รวมถึงต้นมะเดื่อ, เสาโคมไฟ ฯ) เพราะไม่สามารถขยับเคลื่อนย้ายไปไหน จึงทำได้เพียงโยกซ้ายโยกขวา วาดภาพนิ่งแล้วใช้เทคนิคภาพยนตร์เข้าช่วยเหลือ

เทคนิคดังกล่าว ‘limited animation’ ถือเป็นการปฏิวัติวงการอนิเมชั่นสมัยนั้น (จะเรียกว่า ‘Traditional Animation’ New Wave ก็ได้กระมัง) เพราะก่อนหน้านี้นักอนิเมเตอร์พยายามรังสรรค์ผลงานโดยอ้างอิงจากโลกความจริง (Photorealistic) บางครั้งอาจดูเว่อวังอลังการไปบ้าง แต่ยังอยู่ขนบกฎกรอบของการวาดภาพด้วยมือ

ผลงานอนิเมชั่นของ Osamu Tezuka เปรียบเทียบคล้ายๆศิลปะ Pop Art ของ Andy Warhol, หรือผู้กำกับ French New Wave อย่าง Jean-Luc Godard พยายามทำสิ่งขัดแย้งต่อขนบกฎกรอบ ด้วยวิธีการอันฉาบฉวย เร่งรีบร้อน และราคาถูก เพื่อสร้างความแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ และสามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง … ซีรีย์ Astro Boy (1963) เป็นผลงานที่ชัดเจนสุดๆเลยนะ แพรวพราวด้วยลูกเล่น แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความฉาบฉวย ราคาถูก มุ่งเน้นปริมาณ คุณภาพช่างหัวมัน แต่ก็ใครหลายคนหลงใหลคลั่งไคล้ความอาร์ทติสต์

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับวิธีการของ Tezuka อย่างผู้กำกับ Hayao Miyazaki มองการกระทำดังกล่าวเป็นการด้อยค่าวงการอนิเมชั่น และยังสร้างมาตรฐานต่ำๆให้กับอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อคนทำงานระดับล่าง (In-Between Animation) ต้องแบกรับภาระทำงานเกินเวลา ค่าจ้างน้อยนิด คุณภาพชีวิตย่ำแย่เกินทน

The world that Tezuka showed us wasn’t only bright, but often scary, absurd, painful or hopeful. Modernism meant prosperity and mass consumption and at a time it invented destruction. At the corner of Asia, only Tezuka found it. He realized the absurdity of modernism more deeply than Disney.

Hayao Miyazaki

ในบทสัมภาษณ์เดียวกันนั้น ผกก. Miyazaki ยังบอกว่ารู้สึกขยะแขยงกับ Tales of a Street Corner (1962) โดยเฉพาะฉากที่บรรดาโปสเตอร์ทั้งหลายถูกฉีกขาด แล้วแปะทับด้วยโปสเตอร์นายพลเรียงรายเต็มไปหมด ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าทำไมเขาถึงมีปฏิกิริยาเช่นนั้น ก่อนตระหนักว่านี่ไม่ใช่แค่แฝงนัยยะเกี่ยวกับสงคราม แต่ยังสะท้อนถึงวิถีโลกยุคสมัยใหม่ (Modernism) การมาถึงของระบอบทุนนิยม ทุกสิ่งอย่างถูกคัทลอก ทำซ้ำ เลียนแบบ แลดูเหมือนกันไปหมด … ชวนให้นึกถึงหลายๆผลงานของ Andy Warhol ขึ้นมาโดยพลัน (ภาพตัวอย่างนำมาประกอบด้วย Marilyn Diptych (1962) และ Campbell’s Soup Cans (1962))

ผมไม่คิดว่า Tesuka จะมีความตั้งใจอย่างที่ Miyazaki เตลิดเปิดเปิงไปขนาดนั้น ใครเคยอ่านมังงะหรือรับชมการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ยกตัวอย่าง Astro Boy ย่อมพบเห็นใจความต่อต้านสงคราม (Anti-War) อย่างชัดเจน! เพียงแค่ว่าภาพพบเห็นมันคือผลผลิตของแนวคิด อิทธิพลโลกยุคสมัย (Modernism) ยินยอมขายวิญญาณให้ปีศาจ เพื่อโอกาสในการสรรค์สร้างผลงาน เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ในอนิเมะเรื่องนี้ คือความโหยหาอดีต (Nostalgia) บรรดาภาพโปสเตอร์ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราว ความทรงจำ ชวนเพ้อฝัน ก่อนถูกทำลาย สูญหายไป มอดไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน หลงเหลือเพียงความหวังของเมล็ดพันธุ์ งอกเงยขึ้นบนโลกยุคสมัยใหม่


Tales of a Street Corner (1962) คือหนึ่งในสามผลงาน (ร่วมกับเรื่องสั้นสามนาที Male (1962) และตอนแรกของ Astro Boy (1963)) เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในงานนิทรรศการ Mushi Production Work Exhibition จัดขึ้นวันที่ 5-6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 ณ Yamaha Hall, Ginza

แม้จะแค่เพียงรอบฉายเดียว แต่ก็เข้าตาคณะกรรมการ Mainichi Film Awards ปีถ้ดมาได้ริเริ่มสร้างสาขา Ōfuji Noburō Award ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรตินักอนิเมเตอร์ Noburō Ōfuji บุคคลแรกๆที่สร้างชื่อเสียงให้วงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นในระดับนานาชาติ โดยในปีแรกมอบรางวัลให้กับอนิเมชั่นสองเรื่อง Tales of a Street Corner (1962) และ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963)

เกร็ด: มีผลงานของ Osamu Tezuka ที่เคยคว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award จำนวนสี่เรื่อง (ก่อนถูก Hayao Miyazaki แซงหน้าที่ 7 เรื่อง)

แน่นอนว่าในการจัดอันดับ Laputa: Top 150 Japanese and World Animation (2003) มีผลงานของ Tezuka ติดชาร์ทอยู่หลายเรื่องทีเดียว ประกอบด้วย

  • อนิเมะซีรีย์ Astro Boy (1963-66) ติดอันดับ #33
  • อนิเมะสั้น Jumping (1984) ติดอันดับ #59
  • อนิเมะสั้น Broken Down Film (1985) ติดอันดับ #69
    • https://www.youtube.com/watch?v=6FMKlXmboEo
    • คุณภาพฟีล์มอาจจะดูย่ำแย่ แต่ให้ทนดูไปจนจบแล้วจะเข้าใจว่ามันคือความจงใจทำออกมาเช่นนี้
  • อนิเมะสั้น Tales of a Street Corner (1962) ติดอันดับ #77
  • ภาพยนตร์ A Thousand and One Nights (1969) ติดอันดับ #105

นอกจากช่องทางออนไลน์ (รับชมได้ทาง Youtube, Dailymotion, Bilibili ฯ) เผื่อใครอยากหาซื้อแผ่นเก็บ มีอยู่สองคอลเลคชั่นรวบรวมหลากหลายผลงานแนวทดลอง (Experimental Film) ของ Osamu Tezuka ที่น่าสนใจ

  • ดีวีดี The Astonishing Work of Tezuka Osamu ของค่าย Kino Lorber จัดจำหน่ายปี ค.ศ. 2009
  • บลูเรย์ Osamu Tezuka Works: The Experimental Films ของค่าย Happinet จัดจำหน่ายปี ค.ศ. 2015

ไม่รู้เพราะผมเพิ่งรับชม Tale of Tales (1979) ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหรือเปล่า เลยมีความชื่นชอบหลงใหลอนิเมชั่นลักษณะคล้ายๆคลึงกัน แนวทดลอง มนุษยนิยม และใจความต่อต้านสงคราม, รู้สึกอึ่งทึ่งในวิสัยทัศน์ กล้าได้กล้าเสี่ยง แม้อนาคตตัวตนของ Tezuka อาจสร้างปัญหามากมาย Tales of a Street Corner (1962) ยังคือผลงานที่ยังคงงดงาม ตราตรึง หนึ่งในมาสเตอร์พีซแห่งวงการอนิเมชั่น

จัดเรต pg กับพฤติกรรม ‘bully’ บรรยากาศเครียดๆ และหายนะจากสงคราม

คำโปรย | Tales of a Street Corner อนิเมชั่นแนวทดลองของ Osamu Tezuka ไม่เพียงงดงาม ตราตรึง แต่ยังลุ่มลึกล้ำ แฝงใจความต่อต้านสงคราม (Anti-War) ได้อย่างทรงพลัง
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล

Yózhik v tumáne (1975)


Hedgehog in the Fog (1975) USSR : Yuri Norstein ♥♥♥♥♡

เม่นแคระ (Hedgehog) พลัดหลงทางเข้าไปในละอองหมอก มันช่างเป็นสถานที่ที่มีความลึกลับ หวาดสะพรึง ต้องเผชิญหน้ากับ(ความกลัวของ)ตนเอง ถึงสามารถค้นหาหนทางออก พบเจอเป้าหมายชีวิต, มาสเตอร์พีซแห่งวงการอนิเมชั่น และเป็นที่โปรดปรานของ Hayao Miyazaki

Midway upon the journey of our life
I found myself within a forest dark,
For the straightforward pathway had been lost.

Dante Alighieri (1265-1321) บทกวีจากวรรณกรรม Inferno, Canto I ส่วนหนึ่งของ Divine Comedy (1308-21)

มันไม่ใช่ว่าอนิเมชั่น Hedgehog in the Fog (1975) ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมทัวร์นรกของ Dante แต่ย่อหน้าแรกอันเลื่องชื่อ โดยไม่รู้ตัวสอดคล้องกับการผจญภัยของเจ้าเม่นแคระ ซึ่งบางคนอาจตีความละอองหมอกไม่ต่างจากขุมนรก พบเจอสรรพสัตว์ชั่วร้าย ก่อนข้ามแม่น้ำ Styx ราวกับการถือกำเนิดชีวิตใหม่

เอาจริงๆผมไม่ค่อยแน่ใจว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้เหมาะสำหรับเด็กไหม? เพราะการออกแบบตัวละครทำออกมาได้อัปลักษณ์พิศดาร บรรยากาศภายในละอองหมอก ช่างดูลึกลับ ชวนขนหัวลุก และเพลงประกอบช่วยเสริมความหลอกหลอน แต่โดยไม่รู้ตัวถ้าคุณสามารถเผชิญหน้าความกลัว เอาชนะตัวตนเอง (แบบเดียวกับเจ้าเม่นแคระ) อาจปรับเปลี่ยนแนวคิด ค้นพบเจอเป้าหมาย/ความหมายชีวิต

เมื่อตอนเจ้าเม่นแคระก้าวย่างเข้าไปในละอองหมอก ไม่ใช่แค่บรรยากาศหลอกหลอน ดูไปสักพักผมเริ่มเกิดความเอะใจ เห้ย! มันทำออกมาได้ยังไง? นี่ไม่ใช่อนิเมชั่นสามมิติ พึ่งพา CG (Computer Graphic) แต่เป็นเพียง Cut-Out Animation นำเอาวัตถุสองมิติมาประกอบร่างให้สามารถขยับเคลื่อนไหว แล้วความขมุกมัว เดี๋ยวเบลอเดี๋ยวชัด เดินเข้าเดินออก เลือนหายไปกับละอองหมอง ใช้เทคนิค ลูกเล่น วิธีการอันใด? ยิ่งรับชมยิ่งรู้สึกชื่นชอบ หลงใหล คลั่งไคล้ แฝงแนวคิดปรัชญาลุ่มลึกล้ำ ต้องยกย่องระดับมาสเตอร์พีซ หนึ่งในอนิเมชั่นยอดเยี่ยมที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์

เกร็ด: Hedgehog in the Fog (1975) ได้รับการโหวตอันดับ #1 ในชาร์ท Top 150 Japanese and World Animation จัดอันดับโดยนักอนิเมเตอร์ & นักวิจารณ์จำนวน 140 คน ที่เข้าร่วมเทศกาลอนิเมชั่น Laputa Animation Festival เมื่อปี ค.ศ. 2003 (เทศกาลนี้ยกเลิกจัดงานตั้งแต่ปี 2011)


Yuri Borisovich Norstein, Ю́рий Бори́сович Норште́йн (เกิดปี 1941) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Andreyevka, Penza Oblast ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ระหว่างที่มารดาพร้อมพี่ๆกำลังอพยพหลบหนีสงคราม (ส่วนบิดาออกรบแนวหน้า) ภายหลังปักหลักอยู่ Maryina Roshcha, Moscow ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในงานศิลปะ โตขึ้นเคยทำงานช่างไม้ ณ โรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง ก่อนตัดสินใจเข้าเรียนคอร์สอนิเมชั่นของสตูดิโอ Soyuzmultfilm แล้วได้รับว่าจ้างงาน เริ่มจากทำอนิเมเตอร์ Who Said “Meow”? (1962), ร่วมกำกับอนิเมชั่นเรื่องแรก 25th October, the First Day (1968) เฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี October Revolution (1908)

สำหรับผลงานแจ้งเกิด The Battle of Kerzhenets (1971) ร่วมงานผกก. Ivan Ivanov-Vano เล่าเรื่องปรับปราในยุคกลาง (Middle Ages) กล่าวถึงตำนานเมือง Kitezh ที่สามารถจมลงใต้น้ำเพื่อหลบซ่อนจากการโจมตีของชาว Mongols (เมือง Kitezh ได้รับฉายา Russian Atlantis) แต่ไฮไลท์ของอนิเมชั่นคือการต่อสู้รบระหว่างกองทัพทั้งสอง โดยงานศิลป์นำแรงบันดาลใจจากภาพวาดศิลปะช่วงศตวรรษ 14th-16th ทำออกมาในลักษณะ Cut-Out Animation (หลายๆช็อตชวนให้ผมนึกถึงผลงานของ Andrei Rublev)

The Battle of Kerzhenets (1971): https://www.youtube.com/watch?v=fWKOvaDkxPc

ยังมีอีกสองผลงานของผกก. Norstein ที่อยากแนะนำให้รับชม The Fox and the Hare (1973) และ The Heron and the Crane (1974) เพื่อจักได้พบเห็นพัฒนาการ การสะสมประสบการณ์ สไตล์ลายเซ็นต์ ก่อนสรรค์สร้างสองผลงานโลกตะลึง Hedgehog in the Fog (1975) และ Tale of Tales (1979)

อนิเมชั่นทั้งสองเรื่องต่างดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านรัสเซีย (Russian Folk Tale) รวบรวมอยู่ในหนังสือ Explanatory Dictionary of the Living Great Russian Language (1863-) ของ Vladimir Dal (1801-72) นำเสนอความขัดแย้งระหว่างสองตัวละครตามชื่อ สุนัขจิ้งจอก vs. กระต่ายป่า, นกกระยาง vs. นกกระเรียน ที่จะแฝงสาระข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

The Fox and the Hare (1973): https://www.youtube.com/watch?v=9FUzM7KbPZg
The Heron and the Crane (1974): https://www.youtube.com/watch?v=BuobSn9jA5M

เมื่อปี ค.ศ. 1974, ระหว่างกำลังสรรค์สร้าง The Heron and the Crane (1974) ผกก. Norstein ได้รับการติดต่อจาก Sergei Grigorievich Kozlov, Сергей Григорьевич Козлов (1939-2010) นักกวี/นักเขียนเทพนิยายชื่อดัง ด้วยความชื่นชอบประทับใจผลงาน The Fox and the Hare (1973) จึงพยายามชักชวนให้เลือกดัดแปลงวรรณกรรมของตนเองเป็นอนิเมชั่น

หลังเสร็จสร้าง The Heron and the Crane (1974) ผกก. Norstein จึงทะยอยอ่านหนังสือของ Kozlov ก่อนตัดสินใจเลือก Ёжик в тумане อ่านว่า Yózhik v tumáne แปลตรงตัว Hedgehog in the Fog เล่าเหตุผลระหว่างการอ่าน บังเกิดภาพจินตนาการ พบเห็นสไตล์อนิเมชั่นที่อยากสรรค์สร้าง (หนังสือของ Kozlov มีเพียงตัวหนังสือ ไร้ซึ่งภาพวาดประกอบ)

I just felt the fairy tale spatially… As if somewhere far away, behind the thin amalgam of the screen there is a sphere from where the sound comes here and turns into an image.

Yuri Norstein

บทอนิเมชั่นที่ผกก. Norstein พัฒนาขึ้นกับ Kozlov มีการปรับแก้ไขจนแตกต่างจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิง! จากเคยเต็มไปด้วยข้อความบรรยายยาวๆ (Literary Script) หลงเหลือเพียงคำอธิบายสั้นๆในลักษณะ ‘Impressionist’ จำพวกรายละเอียด องค์ประกอบ ภาพร่างตัวละคร ยกตัวอย่างข้อความที่ใช้ “logs overgrown with velvety mold”, “the rustle of falling earth”, “dry autumn leaf”, “hot mouth of a dog” ฯ

บทอนิเมชั่นที่แทบไม่มีรายละเอียดใดๆ เมื่อยื่นเสนอผ่านกองเซนเซอร์ Goskino ได้รับความเห็น ‘boring story’ และถูกตั้งคำถามว่าต้องการทำอะไร? คำตอบของผกก. Norstein อ้างอิงบทกวีจากวรรณกรรม Dante: Divine Comedy

Midway upon the journey of our life
I found myself within a forest dark,
For the straightforward pathway had been lost.

Dante Alighieri (1265-1321) บทกวีจากวรรณกรรม Inferno, Canto I ส่วนหนึ่งของ Divine Comedy (1308-21)

เจ้าเม่นน้อย (Hedgehog) ทุกค่ำคืนจะออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกหมีขี้บ่น (Bear-Cub) นั่งบนขอนไม้ พูดคุย จิบชา นับดวงดาวบนท้องฟ้า

ค่ำคืนหนึ่งเจ้าเม่นน้อยได้นำเอาแยมราสเบอรี่ติดตัวไปด้วย โดยไม่รู้ตัวนกเค้าอินทรียูเรเซีย (Eagle-Owl) แอบย่องติดตามด้วยสายตาอันชั่วร้าย จนกระทั่งมาถึงบริเวณละอองหมอก มองอะไรแทบไม่เห็น พลัดหลงออกจากเส้นทาง แต่ลิบๆนั่นมีม้าสีขาว เงาช้างตัวใหญ่ ค้างคาวโบยบิน หอยทางคลานจากใบไม้ ฯ พยายามตะโกนโหวกเหวกถามทาง จนกระทั่งพลัดตกลงแม่น้ำ ได้รับความช่วยเหลือจากปลาใหญ่ และในที่สุดก็มาถึงบ้านลูกหมี นั่งจิบชา ทานแยมราสเบอรี่ อดไม่ได้ครุ่นคิดถึงการผจญภัยพานผ่านมา


ผกก. Norstein มีความหลงใหลในงานศิลปะอย่างมากๆ งานออกแบบของ Hedgehog in the Fog (1975) รับอิทธิพลจากผลงานจิตรกรเลื่องชื่อมากมาย อาทิ Van Gogh, Rembrandt, Picasso, Georges Braque, Paul Klee, Hieronymus Bosch, ฟากฝั่งเอเชียก็อย่าง Katsushika Hokusai, Hasegawa Tōhaku, Guo Xi, Ma Yuan, Zhu Da ฯ

เจ้าเม่นน้อย (Hedgehog) นักวิจารณ์ให้ข้อสังเกตว่าอาจมีต้นแบบจากนักเขียน Lyudmila Petrushevskaya แต่ผกก. Norstein ยืนกรานว่าเธอไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย (เป็นการเชื่อมโยงมั่วซั่วสุดๆ) แล้วอธิบายถึงความพยายามร่างแบบกว่าร้อยภาพ ซึ่งต้องแยกชิ้นส่วน องค์ประกอบ สำหรับทำเป็น Cut-Out Animation แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้แบบอย่างที่ต้องการ จนกระทั่งศรีภรรยา Francesca Yarbusova เข้ามาปรับแต่งเล็กๆน้อย นำแรงบันดาลใจจากภาพวาด The Zvenigorod Saviour (1410) ของ Andrei Rublev (1360-1430) จิตรกรเอกชาวรัสเซียแห่งยุคกลาง (Medieval Art)

เกร็ด: นอกจาก The Zvenigorod Saviour (1410) อีกสองภาพขวามือคือผลงานของ Paul Klee (1879-1940) จิตกรสัญชาติ Swiss-German มีชื่อเสียงจากผลงาน Expressionism, Cubism และ Surrealism ภาพแรกคือ Little Jester in a Trance (1929) และภาพสอง The Clown (1929) ต่างก็ให้ความรู้สึกเหมือนเจ้าเม่นน้อย รวมถึงบรรดาตัวละครหน้าขนทั้งหลาย

แวบแรกผมครุ่นคิดว่านกฮูก แต่แท้จริงแล้วมันคือนกเค้าอินทรียูเรเซีย (Eurasian Eagle-Owl) หรือนกเค้าแมวอินทรีสายพันธุ์ยูเรเซีย อาศัยอยู่ในพื้นที่ของทวีป Eurasia (Europe + Asia) เป็นนักล่าขนาดใหญ่ที่สุดและแข็งแรงที่สุด ความยาวของลำตัวอยู่ที่ 61-91 เซนติเมตร หนักประมาณ 2.2-3.6 กิโลกรัม

ท่าทางของเจ้านกเค้าอินทรียูเรเซีย ดูมีความสนอกสนใจในเจ้าเม่นน้อย แอบย่องติดตามหลัง ท่าทางยื้อๆยักๆ ทำไม่รู้ไม่ชี้ บอกไม่ได้ว่ามาดีหรือร้าย เหมือนเฝ้ารอคอยเวลา หาจังหวะสบโอกาส แต่ระหว่างเดินผ่านแอ่งน้ำและบ่อน้ำ พบเห็นภาพสะท้อน(ในแอ่งน้ำ)และเสียงสะท้อน(ในบ่อน้ำ) โดยไม่รู้ตัวดึงดูดความสนใจไปจากเจ้าเม่นน้อย

The owl is the same as the hedgehog, only in reverse. It is just as simple-mined, only bad.

Yuri Norstein

เกร็ด: บ่อน้ำอีกแล้วหรือนี่?? เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ Ivan’s Childhood (1962) ของผกก. Andrei Tarkovsky

ยังมีสัตว์หน้าขนอีกตัวหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่ มันคือเจ้า Cocker Spaniel สุนัขพันธุ์ขนาดกลาง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสเปน (Spain) จัดเป็นสุนัขนักล่า มีความคล่องแคล่วในการล่านก Woodcock นิสัยอ่อนโยน ขี้เล่น ชอบกระโดดโลดเต้น เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น สามารถเข้ากับคนอื่นได้ดี แถมอายุยืนยาวนานอีกต่างหาก

ผมติดใจตรงคีย์เวิร์ด ‘สุนัขนักล่า’ คล้ายๆกับเจ้านกเค้าอินทรียูเรเซีย ท่าอ้าปากหาวช่างดูน่าหวาดสะพรึง แต่มันกลับแสดงความเป็นมิตรกับเจ้าเม่นน้อย ขี้เล่นซุกซน แถมยังช่วยติดตามหาถุงผ้าใส่แยมราสเบอรี่ แล้วนำมาส่งมอบคืนให้ อัธยาศัยดีงามอย่างคาดไม่ถึง! … ถือได้ว่าเป็นตัวละครสะท้อนเจ้านกเค้าอินทรียูเรเซีย นักล่าเหมือนกันแต่อุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม

ยังมีสามสิ่งมีชีวิตลึกลับที่ไม่ใช่สัตว์หน้าขน ในมุมมองเจ้าเม่นน้อย พวกมันช่างมีความสง่างาม น่าเกรงขาม สร้างความลุ่มหลงใหล เหนือจินตนาการเกินกว่าเข้าใจ (แต่ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ว่ามันคืออะไร)

  • ม้าขาว แม้ท่ามกลางละอองหมอก ยังพอมองเห็นรูปร่างหน้าตา สร้างความลุ่มหลงใหล กลายเป็นภาพจดจำฝังใจเจ้าเม่นน้อย ช่างมีความงดงาม ‘unearthly beauty’ ถึงขนาดเก็บนำไปครุ่นคิดจินตนาการ
    • นอกจากอ้างอิงถึงผลงานผกก. Tarkovsky, ในปรัมปรา West Slavic มีความเชื่อว่าม้าขาวทำหน้าที่นำทางจิตวิญญาณสู่โลกหลังความตาย
  • ช้างยักษ์ เป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวใหญ่มหึมายิ่งกว่าม้าขาว จึงพบเห็นเพียงเค้าโครงอันเลือนลาง ในมุมของเจ้าเม่นตัวกระจิดริด ย่อมไม่สามารถครุ่นคิดจินตนาการ เหนือเกินกว่าตนเองจะรับรู้เข้าใจ
  • ปลาในแม่น้ำ นี่ก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่เจ้าเม่นน้อยมองไม่เห็น (เพราะมันอยู่ในน้ำ) ไม่สามารถครุ่นคิดจินตนาการ (ผู้ชมก็มองแทบไม่เห็นรูปร่างหน้าตา) ได้ยินเพียงเสียงพูดคุยสื่อสาร โดยไม่รู้ตัวบังเกิดความสัมพันธ์ แถมอีกฝ่ายยังให้ความช่วยเหลือพาขึ้นฝั่ง
    • เอ็ฟเฟ็กของน้ำ เห็นว่าใช้น้ำจริงๆ เพราะมันยังไม่มีเทคนิคที่จะออกมาให้ดูสมจริงขนาดนั้น

สัตว์ทั้งสามชนิดคือตัวแทนสิ่งที่เจ้าเม่นน้อยไม่สามารถรับรู้เข้าใจ (ระดับมหภาค) เกินกว่าขอบเขตศักยภาพตนเองจะมองเห็น คล้ายๆจิตวิญญาณ เทพยดา พระเป็นเจ้า ฯ ต่างเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ เกินกว่ามนุษย์จักครุ่นคิดจินตนาการ

ตรงกันข้ามกับสามสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมา หอยทาก ค้างคาว หิ่งห้อย ต่างมีขนาดตัวเล็กกว่าเจ้าเม่นน้อย แต่เต็มไปด้วยความลึกลับ น่าหวาดสะพรึง พิศวงสงสัยไม่แตกต่างกัน

  • การปลิดปลิวของใบไม้ ทำให้เจ้าเม่นน้อยถึงขนาดปิดตา ตัวสั่น ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่พอพบเห็นหอยทากค่อยๆคลืบคลานจากไป เพราะขนาดตัวเล็กกว่า ไร้พิษภัย จึงคลายอาการหวาดกังวล … สัญลักษณ์ของความกลัวก็ได้กระมัง
  • ค้างคาวคือสัตว์ปีก ขนาดตัวเล็กกว่าเจ้าเม่นน้อย แต่จู่ๆก็บินโฉบเข้ามา แม้ไม่เป็นอันตรายสักเท่าไหร่ กลับสร้างความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ ทำไมต้องก่อกวนฉันด้วย
  • หิ่งห้อย (จะรวมถึงแมลงเม่าช่วงท้ายเรื่องด้วยก็ได้) คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ไม่ได้มีอันตราย หรือเข้ามาก่อนกวนใจ แต่ด้วยลักษณะเหมือนดวงไฟ สร้างความพิศวง ลุ่มหลงใหล มองตามจนกระทั่งสูญหายไป

เฉกเช่นเดียวกับสามสัตว์ขนาดใหญ่มหึมา สามสัตว์ขนาดเล็กจิ๋ว ตัวแทนของสิ่งที่เจ้าเม่นน้อยไม่สามารถรับรู้เข้าใจ (ระดับจุลภาค) แต่สามารถมองเห็น จับต้องได้ ไร้พิษภัย แต่ก็เกินกว่าขอบเขตศักยภาพตนเองจะทำความเข้าใจ

แซว: หลังเสร็จจาก Tale of Tales (1979) ผกก. Norstein สรรค์สร้างโปรเจคเรื่องใหม่ The Overcoat แต่ด้วยความโหยหาความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ทำงานเชื่องช้าจนถูกไล่ออกจากสตูดิโอ Soyuzmultfilm เลยต้องเก็บหอมรอมริด ใช้ทุนส่วนตัว ปัจจุบัน ค.ศ. 2023 ก็ยังสร้างไม่เสร็จ (แต่น่าจะใกล้แล้วละ) จนได้รับฉายา The Golden Snail

สุดท้ายกับตัวละครลูกหมีขี้บ่น (ตรงกันข้ามกับเจ้าเม่นน้อยที่แทบไม่ได้ปริปากอันใด) มาถึงก็เอาแต่พร่ำพูดเพ้อเจ้อ ฟังไม่ได้สดับ ผมเองขณะนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง สภาพไม่ต่างจากเจ้าเม่นน้อย ดวงตาพองโต เหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เพราะยังคงครุ่นคิดทบทวนสิ่งต่างๆ พร่ำเพ้อจินตนาการถึงม้าขาว ช่างมีความงดงาม น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งนัก

วันก่อนผมนั่งไล่ชม Golden Collection ของ Soyuzmultfilm แล้วยังติดตากับ Winnie-the-Pooh (1969) ฉบับรัสเซียที่ออกแบบเจ้าหมีอ้วน Winnie Pooh ได้น่ารักน่าชัง น่าจดจำกว่าฉบับของ Walt Disney ชวนให้นึกถึงลูกหมีตัวนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว

Winnie-the-Pooh (1969): https://www.youtube.com/watch?v=ApfKv8Kx4oI

ในส่วนของภาพพื้นหลัง ผกก. Norstein รับอิทธิพลมาจากภูมิทัศน์จีน (Chinese Art) ผลงานศิลปะของ Guo Xi (1020-90), Ma Yuan (1160/65-1225), Zhu Da (1626–1705) ซึ่งมีความโดดเด่นในลวดลายเส้น ต้นไม้ ลำธาร ขุนเขา ดูราวกับมีชีวิต และมักมีพื้นที่ว่างสำหรับเติมเต็มจินตนาการ

The Eastern principle of painting differs in that it reveals a lot of empty space-unpainted and unfilled fragments-while Western paintings are completely covered in paint and detail. Thus, the contemplator is invited to think of emptiness.

Yuri Norstein

ภาพวาดที่ผมนำมาประกอบด้วย

  • Guo Xi: Early Spring (1072)
  • Ma Yuan: Dancing and Singing (Peasants Returning from Work) (1160-1225)
  • Ma Yuan: Walking on a Mountain Path in Spring

ในส่วนของละอองหมอก นำแรงบันดาลใจจากภาพวาด 松林図 (1595), อ่านว่า Shōrin-zu byōbu, แปลว่า Pine trees [สังเกตตัวอักษรญี่ปุ่น 林 มีลักษณะเหมือนต้นไม้] ผลงานของ Hasegawa Tōhaku (1539-1610) จิตรกรชาวญี่ปุ่น สองภาพนี้ถือเป็นทรัพย์สมบัติแห่งชาติ (National Treasure)

แต่ต้นไม้สูงใหญ่ (World Tree) ที่พบเห็นในอนิเมชั่น เห็นว่าผกก. Norstein นำแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Solaris (1972) ของผกก. Andrei Tarkovsky จะว่าไปตัวละครของ Donatas Banionis ก็เคยออกเดินเล่นในสวน ท่ามกลางหมอกควัน พานผ่านต้นไม้ใหญ่ (สัญลักษณ์ของธรรมชาติ องค์ความรู้ ศูนย์กลางสรรพชีวิต) ทำกระเป๋าหล่นหาย พบเห็นม้าขาว และไปสิ้นสุด ณ หนองน้ำ … เหมือนเป๊ะเลยนะเนี่ย!

ถ่ายภาพโดย Aleksandr Borisovich Zhukovskiy, Александр Борисович Жуко́вский (1933-99) ตากล้องสัญชาติรัสเซีย โตขึ้นร่ำเรียนศิลปะยัง Moscow Theater and Art School ตามด้วยสาขาการถ่ายภาพ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) จบออกมาทำงาน Make-Up Artist ที่สตูดิโอ Mosfilm ก่อนย้ายมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง Soyuzmultfilm Studio เคยทำงาน Tsentrnauchfilm Studio ถ่ายทำสารคดี หนังสั้น ก่อนหวนกลับมา Soyuzmultfilm ร่วมงานผกก. Yuri Norshtein ตั้งแต่ The Heron and the Crane (1974), Hedgehog in the Fog (1975) ฯ

แม้ว่า Zhukovskiy จะพอมีประสบการณ์ถ่ายทำอนิเมชั่นมาบ้าง แต่การร่วมงานผกก. Norshtein พวกเขาจำเป็นต้องครุ่นคิดหาวิธีการถ่ายทำรูปแบบใหม่! ทำการก่อสร้างคานไม้ ติดตั้งกล้องไว้เบื้องบน แสงไฟอยู่ด้านข้าง เพื่อให้นักอนิเมเตอร์สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เพียงแค่วางโมเดลกระดาษ Cut-Out Animation ลงบนโต๊ะเท่านั้น! ดูตามภาพร่างเอาเองแล้วกันนะครับ

He was more than a cinematographer, more than a cameraman. He humanized space. I can’t say “he filmed.” No. He influenced the camera with his whole being, with his whole composition on the light, on the film, on the drawing. He spiritualized ordinary glass, ordinary celluloid. For him, there was no difference between a huge pavilion and a cartoon machine.

Yuri Norshtein

สิ่งที่ถือว่าคือความยิ่งใหญ่ เปิดโลกทัศน์ใบให้ให้กับผู้ชม ก็คือลูกเล่นละอองหมอก ‘fog effect’ ซึ่งช่วยสร้างมิติ ความตื้น-ลึกให้กับอนิเมชั่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์! ซึ่งวิธีการที่ตากล้อง Zhukovskiy และผกก. Norstein ครุ่นคิดขึ้นมานั้น ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร เพียงใช้กระดาษฝ้าบางๆ วางซ้อนเบื้องหน้า-หลังชิ้นส่วนนั้นๆ (ที่จะให้เบลอหรือชัด)

ถ้าจะอธิบายโดยละเอียด ควรต้องทำความเข้าใจ Cut-Out Animation คือการวาดภาพลงบนกระดาษ(แข็ง) ตัดแปะชิ้นส่วนต่างๆ แขน-ขา ใบหน้า ริมฝีปาก สำหรับใช้ในการขยับเคลื่อนไหว (แบบเดียวกับหนังตะลุง หุ่นเชิดเงา ฯ) แต่แทนที่เราจะเชื่อมโยงอวัยวะต่างๆเข้าด้วยกัน ก็นำกระดาษฝ้ามาวางซ้อนทับ คั่นระหว่างลำตัว-แขนขา ทำให้บางส่วนเบลอ บางส่วนคมชัด เกิดความตื้นลึกหนาบาง

คลิป Masterclass สอนวิธีทำอนิเมชั่นของ Yuri Norstein: https://www.youtube.com/watch?v=yYmN-3jmzxI

I put the hedgehog character on a white background and covered it on top with a thin sheet of thin tracing paper – but very thin, so thin that when you put it close to the hedgehog – you can’t see that the hedgehog is behind this thin sphere. And then I started to lift this sheet, and the hedgehog suddenly blurred and disappeared in the fog, and the projection was going on the screen.

แกะจากคำอธิบายของ Yuri Norstein

ปล. ฟากฝั่ง Walt Disney มีการประดิษฐ์สร้างอุปกรณ์ด้วยแนวคิดคล้ายๆเดียวกันนี้ชื่อว่า Multiplane Camera แต่จะแบ่งแยกชั้นด้วยกระจกใส มีกลไกขยับขึ้นลง กล้องเลื่อนซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปด้านบน, อุปกรณ์จากฟากฝั่งสหภาพโซเวียตนี้ แทบจะเรียกได้ว่า ‘Home Made’ ทำจากวัสดุบ้านๆ ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ผลลัพท์ขึ้นอยู่กับศิลปินสรรค์สร้างผลงาน

สิ่งที่น่าจะมีความยุ่งยาก ท้าทาย สลับซับซ้อนที่สุดของอนิเมชั่น ก็คือการถ่ายทำต้นไม้ใหญ่ (World Tree) ไม่ใช่แค่แบ่งแยกรายละเอียดออกเป็นชั้นๆ (มากสุดที่ 4 เลเยอร์) เพื่อให้เกิดมิติละอองหมอก แต่ยังลีลาถ่ายทำเคลื่อนเลื่อนจากเปลือกไม้ เงยหน้าขึ้นเห็นลำต้น กิ่งก้าน ต้นสูงใหญ่ (แถมกล้องยังมีการหมุนวนรอบเล็กๆอีกต่างหาก) สร้างความตื่นตา มหัศจรรย์ใจ

To shoot the tree, it was divided into several parts. From a certain position, the camera shot glass tiers on which the trunk and branches were drawn. In order to get the effect of a rotating tree, it was necessary to rotate the glass with the branches, while the flat trunk remained stationary. It was important not to touch the glasses, because the best filter is the natural layer of dust.

Yuri Norstein

ตัดต่อโดย Nadezhda Trescheva (เกิดปี 1936) ทำงานในสังกัดสตูดิโอ Soyuzmultfilm Studio ร่วมงานขาประจำผกก. Yuri Norstein ตั้งแต่ The Fox and the Hare (1973), The Heron and the Crane (1974), Hedgehog in the Fog (1975) และ Tale of Tales (1979)

แม้อนิเมชั่นจะมีความแค่สิบกว่านาที แต่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดการผจญภัย ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเจ้าเม่นน้อย (Hedgehog) ยามค่ำคืนออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกหมี (Bear-Cub) แต่วันนี้ต้องพานผ่านละอองหมอก สถานที่แห่งความลึกลับ พิศวง จดจำไปจนวันตาย

  • อารัมบท, เจ้าเม่นน้อยก้าวออกเดินทาง แอบติดตามด้วยนกเค้าอินทรียูเรเซีย ก็ไม่รู้มาดีหรือมาร้าย
  • หลงทางในละอองหมอก
    • ก่อนก้าวเข้าสู่ละอองหมอก พบเห็นม้าขาวตัวใหญ่ บังเกิดความลุ่มหลงใหล
    • พอเข้าสู่ละอองหมอกไม่นาน เจ้าเม่นน้อยก็พลัดหลงทาง เกิดอาการหวาดสะพรึงกลัวใบไม้ร่วงหล่น ก่อนพบเห็นหอยทากคืบคลานจากไป
    • พบเห็นเงาเลือนลางของช้าง ม้าขาวยื่นหน้าเข้าหา ค้างคาวบินมาก่อกวน นกเค้าอินทรียูเรเซียก็เช่นเดียวกัน
    • คลำทางไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ แล้วตระหนักว่าทำถุงผ้าใส่แยมราสเบอรี่หล่นหาย
    • พยายามคลำทางออกติดตามหา ได้หิ่งห้อยช่วยนำทาง แต่ไม่นานทุกสิ่งอย่างก็ปกคลุมด้วยความมืดมิด
    • สารพัดสิ่งลี้ลับในเงามืด ร้อยเรียงมาสร้างความหวาดกลัวให้เจ้าเม่นน้อย
    • ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากสุนัข Cocker Spaniel ทั้งยังนำถุงผ้าใส่แยมราสเบอรี่มามอบคืนให้
    • พลัดตกลงแม่น้ำ ได้รับความช่วยเหลือจากปลาใหญ่ จนสามารถไปถึงฟากฝั่งฝัน
  • ปัจฉิมบท, เดินทางมาถึงบ้านลูกหมี นั่งลงบนขอนไม้ จิบชา ทานแยมราสเบอรี่ เหม่อมองท้องฟ้า จินตนาการถึงม้าขาวที่ได้พบเจอ

ช่วงท้ายของอนิเมชั่นจะมีช็อตน่าพิศวงอยู่ครั้งหนึ่ง ตำแหน่งของเจ้าเม่นน้อยและลูกหมี จู่ๆพวกเขาสลับที่นั่งกัน นั่นเป็นความจงใจของผกก. Norstein ให้เหตุผล “not to break the plasticity of the still frame” แต่บรรดาผู้ชม/นักวิจารณ์กลับมองเป็นความผิดพลาด เรียกการกระทำดังกล่าว ‘unprofessionalism’

เพลงประกอบโดย Mikhail Alexandrovich Meyerovich, Михаи́л Алекса́ндрович Мееро́вич (1920-93) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Kyiv ก่อนย้ายติดตามครอบครัวมายัง Moscow โตขึ้นเข้าศึกษายัง Moscow Conservatory ร่ำเรียนเปียโนและแต่งเพลง จบออกมาสอนดนตรีอยู่สามปี จากนั้นเริ่มแต่งเพลงซิมโฟนี ออร์เคสตรา โซนาตา อุปรากร บัลเล่ต์ เพลงประกอบภาพยนตร์ อนิเมชั่น ร่วมงานขาประจำผกก. Yuri Norstein ตั้งแต่ The Fox and the Hare (1973), The Heron and the Crane (1974), Hedgehog in the Fog (1975) และ Tale of Tales (1979)

Meyerovich ใช้เวลาถึงสองเดือนในการทำเพลงประกอบความยาวแค่ 6 นาที! นั่นเพราะในช่วงแรกๆพวกเขามีความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกันบ่อยครั้ง จนกระทั่งผกก. Norstein ตัดสินใจนำเอาภาพร่าง Storyboard มาใช้ประกอบคำอธิบายถึงลักษณะบทเพลงที่ต้องการ

You see, I brought you a sketch so that you understand the tonality of the music. Because it’s not just about the melody, but also about the tonality seeping through the image, dissolving into it.

Yuri Norstein

อีกสิ่งหนึ่งที่ผกก. Norstein พูดคุยกับ Meyerovich คือการนำแรงบันดาลใจจากภาพวาดศิลปะ เพื่อนำมาสร้างสัมผัสบรรยากาศให้กับอนิเมชั่น

I told Meerovich about such things, showed the texture, Paul Klee’s fine amalgam, drew the plastic: here the sound seems to be gathered in one point, piercing the screen, and here it moves across the entire space of the screen and, overlapping it, then slides away, revealing something else. Suddenly something appears out of the fog and touches the Hedgehog – the sound and graphic touch coincide.

งานเพลงของ Meyerovich เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ยิบย่อยเต็มไปหมด พยายามทำออกมาให้มีความสอดคล้องเหตุการณ์ต่างๆ แทบจะ ‘frame-by-frame’ จริงๆแล้วนี่ลักษณะของ ‘Silly Symphonies’ พยายามทำให้เสียงสอดคล้องกับภาพอนิเมชั่น ความแตกต่างของ Hedgehog in the Fog (1975) ไม่ได้มุ่งเน้นความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งเน้นสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดปฏิกิริยาอารมณ์ กระตุ้นความรู้สึกภายใน หวาดกลัว (Fear) หลอกหลอน (Horror) ใคร่ฉงนสงสัย (Curiosity)

เจ้าเม่นน้อย ก้าวย่างเข้าไปในละอองหมอก พลัดหลงออกจากเส้นทาง เผชิญหน้าสิ่งต่างๆที่ตนเองไม่สามารถทำความเข้าใจ บังเกิดความหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว อีกทั้งยังทำถุงผ้าใส่แยมราสเบอรี่หล่นหลาย แต่โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากสรรพสัตว์แปลกหน้า จนสามารถเอาตัวรอด พบเจอหนทางออก ในที่สุดก็มาถึงบ้านลูกหมีอย่างปลอดภัย

Every day, the Hedgehog goes to the Bear Cub, but once, he walks in through the fog and comes out of it a different person. This is a story about how, under the influence of some circumstances which we are totally unaware of, our habitual state can suddenly turn into a catastrophe

Yuri Norstein

ละอองหมอก (Fog) มีความฝ้าฟาง ขุ่นมัว มองเข้าไปไม่เห็นอะไร เพียงภาพเลือนลาง เจือจาง สัญลักษณ์ของความไม่รู้เดียงสา ไม่สามารถทำความเข้าใจ สถานที่เต็มไปด้วยความลึกลับ พิศวง เหนือธรรมชาติ ราวกับโลกอีกใบ (otherworld) เกินกว่าสิ่งที่(มนุษย์)จะครุ่นคิดจินตนาการ

ในบริบทของอนิเมชั่น ผู้ชมย่อมรับรู้จักทุกสรรพสัตว์ที่ปรากฎเข้ามา แต่ให้ลองสมมติตัวเองคือเจ้าเม่นน้อย ตัวกระเปี๊ยก ละอ่อนวัย ไร้เดียงสา ตั้งแต่แรกพบเจอนกเค้าอินทรียูเรเซีย ตามด้วยม้าขาว ช้างใหญ่ หอยทาก ค้างคาว สุนัข ปลาในแม่น้ำ ฯ สัตว์ต่างสายพันธุ์ ต่างสปีชีย์ ขนาดเล็ก-ใหญ่ อาศัยอยู่บนบก-ใต้น้ำ-โบยบินบนท้องฟ้า ต่างไม่สามารถเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจกันและกัน

ซึ่งเมื่อเราย้อนกลับมามองในมุมของมนุษย์ ยังมีอีกหลายสิ่งมากมายบนโลกใบนี้ หรือระดับสากลจักรวาล ที่ยังไม่สามารถรับรู้ ทำความเข้าใจ เกินกว่าจะครุ่นคิดจินตนาการ แต่ผู้คนสมัยนี้กลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย ทำตัวเองเหมือนผู้ยิ่งใหญ่ สูงส่งกว่าใคร ทั้งๆที่มนุษย์เป็นแค่เพียงแค่สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ตายไปก็กลายเป็นเถ้าทุลี ค่อยๆเลือนหายตามกาลเวลา

สิ่งที่จะทำให้เจ้าเม่นน้อย (รวมถึงมนุษย์) สามารถเอาตัวรอดในละอองหมอก (จักรวาลกว้างใหญ่) คือแสงสว่างจากหิ่งห้อย (เปรียบดั่งแสงเทียนในโบสถ์) นำทางพบเจอกับสุนัข Cocker Spaniel (สัตว์ผู้พิทักษ์) แล้วได้รับความช่วยเหลือจากปลาในแม่น้ำ (พระผู้มาไถ่) ให้ราวกับกำเนิด เกิดใหม่ (Baptist) ไปถึงฟากฝั่งฝัน ดินแดนบนสรวงสวรรค์ เป้าหมายปลายทางตามความเชื่อชาวคริสเตียน

มุมมองเด็กๆเกี่ยวกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ คงเป็นการเผชิญหน้าความหวาดกลัว พบเจอสิ่งอาจยังไม่เคยรู้จัก เรียนรู้ที่จะเอาชนะใจตนเอง (เอาชนะความหวาดกลัว) ก้าวดำเนินชีวิตด้วยความมุ่งมั่น จิตวิญญาณอันเข้มแข็ง แล้วเราจักได้รับความรัก ความเอ็นดู จนสามารถดำเนินสู่เป้าหมายปลายทาง อิ่มอร่อยกับความสำเร็จ

หลายคนอาจมีความฉงนสงสัย เรื่องราวของ Hedgehog in the Fog (1975) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นส่วนตัวผกก. Norstein เฉกเช่นไร? การผจญภัยของเจ้าเม่นน้อย เผชิญหน้ากับสิ่งไม่รู้ ทำให้เกิดความหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว สามารถสะท้อนประสบการณ์วัยเด็ก ภาพติดตาจากสงครามโลกครั้งที่สอง มารดาต้องพาลูกๆอพยพหลบหนี หาหนทางเอาตัวรอด ไม่มีใครรับรู้พรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร จะมีโอกาสพบเจอกับใคร ภายภาคหน้าช่างเต็มไปด้วยหมอกควัน มองไม่พบเห็นอะไรสักสิ่งอย่าง

I love films where there are no spectacular stories, where the idea itself is prosaic, but under the director’s thought it takes on a global character. Then we get what is called a work of art.

Yuri Norstein

ตั้งแต่ตอนยื่นเสนอโปรเจค กองเซนเซอร์ Goskino ไม่ได้มีความเชื่อมั่นว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จ หลังสร้างเสร็จจึงนำออกฉายแค่เพียงโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กๆ Rossiya Cinema ณ กรุง Moscow โดยไม่รู้ตัวผู้ชมต่อคิวซื้อตั๋ว เต็มทุกรอบยาวนานนับปี แถมเดินทางไปกวาดรางวัลตามเทศกาลหนัง/อนิเมชั่นมากมาย จนสุดท้ายทางการสหภาพโซเวียตต้องมอบรางวัล State Prize of the USSR เมื่อปี ค.ศ. 1979

เกร็ด: ในพิธิเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว Sochi 2014 มีการกล่าวถึงบุคคล ภาพยนตร์ บทเพลง ฯ สิ่งที่ถือเป็นลายเซ็นต์/ความสำเร็จของรัสเซีย หนึ่งในนั้นก็คืออนิเมชั่น Hedgehog in the Fog (1975)

สแตมป์ Hedgehog in the Fog จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988

เมื่อปี ค.ศ. 2020, สตูดิโอ Soyuzmultfilm ได้ทำการรวบรวมอนิเมชั่นในสังกัดระหว่างทศวรรษ 1950s ถึง 80s มาทำการบูรณะ สแกนดิจิตอล (คุณภาพ HD) ปรับแต่งคุณภาพสี และเพลงประกอบ มีคำเรียก Golden Collection ทั้งหมดสามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Youtube บางเรื่องคุณภาพ 4K ด้วยนะครับ

ส่วนตัวมีความหลงใหล คลั่งไคล้ รู้สึกอึ่งทึ่งในความมหัศจรรย์ของ Hedgehog in the Fog (1975) คาดไม่ถึงว่ายังสามารถค้นพบภาพยนตร์/อนิเมชั่นที่สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เหนือจินตนาการ เกินกว่าจะหาถ้อยคำมาบรรยาย แถมเรื่องราวยังสามารถครุ่นคิดต่อยอดไม่รู้จุดจบสิ้น

จัดเรต pg กับบรรยากาศทะมึน อึมครึม เด็กเล็กอาจเกิดความหวาดสะพรึงกลัว

คำโปรย | Hedgehog in the Fog อนิเมชั่นมาสเตอร์พีซที่มีความลึกลับ หวาดสะพรึง หลงทางในละอองหมอก แต่ต้องเผชิญหน้ากับ(ความกลัวของ)ตนเอง ถึงสามารถค้นหาหนทางออก พบเจอเป้าหมายชีวิต
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | มหัศจรรย์

Urga – territoriya lyobvi (1991)


Close to Eden (1991) USSR, French : Nikita Mikhalkov ♥♥♥♡

ถ่ายทำยังท้องทุ่งกว้าง พื้นที่ราบในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ช่างมีความงดงาม ราวกับสรวงสวรรค์ (Close to Eden) ดินแดนแห่งอิสรภาพที่กำลังเลือนลาง ถูกคุกคามโดยสังคมเมืองใหญ่, คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

ชื่อหนังภาษาอังกฤษ Close to Eden เป็นการแปลที่ไม่ค่อยตรงสักเท่าไหร่ У́рга — территория любви อ่านว่า Urga — territoriya lyobvi แปลว่า Urga — Territory of Love, ซึ่งความหมายของ Urga นอกจากเป็นชื่อเดิมของ Ulaanbaatar เมืองหลวงประเทศ Mongolia, ยังคือท่อนไม้ยาวๆที่มีบ่วงบาศตรงปลาย สำหรับคล้องม้า จับสัตว์ รวมถึงผูกมัดสตรี/ภรรยา ปักเอาไว้กลางทุ่งเพื่อประกาศอาณาเขต ไม่ให้ใครอื่นมาเข้าใกล้ เพราะฉันกำลังพรอดรัก ร่วมเพศสัมพันธ์ … ถึงสรวงสวรรค์เหมือนกันกระมัง!

ตอนผมเห็นรายละเอียดคร่าวๆของ Close to Eden (1991) ถ่ายทำยังพื้นที่ราบ Inner Mongolia (ไม่ใช่ประเทศมองโกเลียนะครับ คือเขตปกครองตนเองของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ก็แอบคาดหวังว่าคงละม้ายคล้าย The Horse Thief (1986) ครึ่งแรกต้องชมเลยว่าทิวทัศนธรรมชาติมีความงดงาม สร้างความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ ไฮไลท์คือความสัมพันธ์ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา แม้จีน-รัสเซียสื่อสารไม่เข้าใจ แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยจิตวิญญาณ

น่าเสียดายที่ครึ่งหลัง ผกก. Mikhalkov ดันทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก ใส่ความติสต์แตกของตนเอง เพื่อรำพันสถานการณ์ไม่สงบในสหภาพโซเวียต (ที่ใกล้ถึงวันล่มสลาย ค.ศ. 1991), วิพากย์วิจารณ์นโยบายลูกคนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน, รวมถึงพยายามเลือนลางระหว่างสรวงสวรรค์กับโลกความจริง (พบเห็นภาพในจอโทรทัศน์ ซ้อนทับโลกความจริง), นอกจากรางวัลสิงโตทองคำ ยังได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ไปถึงห้าเรื่องสุดท้าย!


Nikita Sergeyevich Mikhalkov, Никита Сергеевич Михалков (เกิดปี 1945) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Moscow ในตระกูลผู้ดีเก่า Mikhalkov family, ปู่ทวดเคยปกครองแคว้น Yaroslavl, บิดา Sergey Mikhalkov เป็นนักเขียนวรรณกรรมเด็ก และประพันธ์เนื้อเพลงชาติรัสเซียที่ใช้ในปัจจุบัน, ส่วนพี่ชาย Andrei Konchalovsky คือนักเขียน/ผู้กำกับชื่อดัง (เพื่อนร่วมรุ่น Andrei Tarkovsky ช่วยกันพัฒนาบท Ivan’s Childhood (1962) และ Andrei Rublev (1966))

ตั้งแต่เด็ก Mikhalkov เข้าโรงเรียนการแสดง Moscow Art Theatre ต่อด้วย Shchukin School ของโรงละคอน Vakhtangov Theatre ระหว่างนั้นมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Walking the Streets of Moscow (1964), โตขึ้นเข้าศึกษาต่อ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) ร่ำเรียนการกำกับจาก Mikhail Romm, สรรค์สร้างหนังสั้นนักศึกษา ภาพยนตร์เรื่องแรก At Home Among Strangers (1974), เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ A Slave of Love (1976), An Unfinished Piece for Mechanical Piano (1977), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Dark Eyes (1987), Close to Eden (1991), Burnt by the Sun (1994), The Barber of Siberia (1998), 12 (2007) ฯ

ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 80s สถานการณ์การเมืองในสหภาพโซเวียตกำลังมีความโกลาหล ใกล้ถึงจุดล่มสลาย ผกก. Mikhalkov จึงเริ่มมองช่องทางออกของตนเองตั้งแต่ Dark Eyes (1987) ร่วมทุนสร้าง Italian & Soviet เพื่อหลบหลีกหนีความวุ่นๆวายๆที่กำลังจะบังเกิดขึ้น

It not only avoids the complicated and chaotic situation in the country, but also uses the movie to accomplish another heavy contemplation about the nation and history.

Nikita Mikhalkov

เมื่อปี ค.ศ. 1987 ตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง Студия ТриТэ, Studio Trite (แปลว่า Three T ในภาษารัสเซีย Товарищество, Творчество, Труд ประกอบด้วย Companionship, Creation, Labour) สำหรับระดุมทุนนานาชาติ สรรค์สร้างโปรเจคใหม่ๆ โดยไม่ต้องยุ่งวุ่นวาย เฝ้ารอคอยทางการรัสเซียคอยสนับสนุนงบประมาณให้

ความสำเร็จของ Dark Eyes (1987) ทำให้ผกก. Mikhalkov สามารถนำเสนอโปรเจคถ่ายทำยังพื้นที่ราบ Hulunbuir Prairie, Inner Mongolia (ติดชายแดนรัสเซีย-มองโกเลีย) รวบรวมทุนสร้างจากสตูดิโอ Camera One, Hachette Première, UGC Images, Arion Productions รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส (Ministère de la Culture et de la Communication) และสถาบัน Centre national du cinéma et de l’image animée (CNC)

สำหรับบทภาพยนตร์ผกก. Mikhalkov ร่วมพัฒนากับ Rustam Ibragimbekov (1939-2022) นักเขียนชาว Azerbaijani เห็นว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากวรรณกรรมซีรีย์สำหรับเด็ก The Black Stallion (1941) ของ Walter Farley (1915-89) นักเขียนชาวอเมริกัน (เรื่องเล่าเกี่ยวกับม้าที่เหมาะสำหรับเด็ก)

เกร็ด: หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ผกก. Mikhalkov ยังได้ร่วมงานกับนักเขียน Rustam Ibragimbekov อีกสองครั้ง Burnt by the Sun (1994) และ The Barber of Siberia (1998)


Gombo คนเลี้ยงแกะอาศัยอยู่ยังพื้นที่ราบ/ทุ่งหญ้า Inner Mongolia มีความระริกระรี้ อยากร่วมเพศสัมพันธ์กับภรรยา Pagma แต่เธอกลับต่อต้านขัดขืน เรียกร้องขอให้สามีไปซื้อถุงยางอนามัย ไม่รู้หรือไรประเทศจีนมีการประกาศนโยบายลูกคนเดียว (ขณะนั้นพวกเขามีบุตรกันแล้วสามคน!)

ระหว่างนั้นคนขับรถบรรทุกชาวรัสเซีย Sergei กำลึงง่วงหงาวหาวนอน โดยไม่รู้ตัวเกือบขับรถตกแม่น้ำ ตะโกนโหวกเหวกขอความช่วยเหลือ พอดิบดี Gombo อาศัยอยู่ละแวกนั้น เลยชักชวนมาพักค้างแรมยังกระโจมชั่วคราว (มีคำเรียก Yurt หรือ Ger) รับประอาหารเย็น ดื่มด่ำเมามาย วันถัดมาจึงอาสาขับรถพาเข้าเมือง แต่ก็ยังสองจิตสองใจ จะซื้อถุงยางอนามัยดีหรือไม่?


ในส่วนของนักแสดง หลายคนอาจครุ่นคิดว่า Gombo และ Pagma คือสามี-ภรรยาชาวจีน/มองโกเลียใน ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบ Inner Mongolia น่าจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่แท้จริงแล้วทั้งคู่ต่างเป็นนักแสดงอาชีพ เลยไม่มีความกระอักกระอ่วน เก้ๆกังๆต่อหน้ากล้อง เข้าถึงบทบาทตัวละครได้อย่างเป็นธรรมชาติ (พวกเขาไม่ได้เป็นสามี-ภรรยากันนะครับ)

  • Gombo รับบทโดย Bayaertu ผมหาข้อมูลได้แค่เป็นนักแสดงละคอนเวที
  • Pagma รับบทโดย Badema เป็นนักร้อง/นักแสดง มาจากครอบครัวศิลปิน/นักร้อง Traditional Mongolian Folk Song, สำเร็จการศึกษาจาก Central Conservatory of Music (ที่ Beijing) ก่อนหน้านี้เคยแสดงนำภาพยนตร์ Joan of Arc of Mongolia (1988), และหลังจากนี้ Norjmaa (2013) คว้ารางวัล Golden Rooster Award: Best Actress

สำหรับนักแสดงรัสเซีย Vladimir Vasilyevich Gostyukhin, Влади́мир Васи́льевич Гостю́хин (เกิดปี 1946) เกิดที่ Sverdlovsk, Sverdlovsk Oblast โตขึ้นเรียนจบเทคนิค ทำงานวิศวกรช่างไฟ ก่อนค้นพบความสนใจด้านภาพยนตร์ มุ่งสู่ Moscow เข้าศึกษา Russian State Institute of Performing Arts (GITIS) หลังกลับจากเกณฑ์ทหาร กลายเป็นนักแสดงละคอนเวที มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Ascent (1977), Close to Eden (1991) ฯ

รับบท Sergei คนขับรถบรรทุก สำหรับบุกเบิกเส้นทางถนนยัง Inner Mongolia เกิดอาการหลับใน จนเกือบพลัดตกแม่น้ำ ได้รับความช่วยเหลือจาก Gombo แม้พูดคุยสื่อสารไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แต่บังเกิดมิตรภาพผองเพื่อน อาสาขับรถพาเข้าเมือง ค่ำคืนนั้นดื่มด่ำเมามาย ระบายความอึดอัดอั้นถึงชีวิตครอบครัว โหยหาอิสรภาพแบบชาวเพื่อนรักชาวมองโกเลียใน

การแสดงของ Gostyukhin อาจดูลุกรี้ร้อนรน สติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เอาแต่พูดพร่ำเพ้อไม่เคยหยุดหย่อน (แม้สื่อสารไม่รู้เรื่องก็ตามเถอะ) อาจสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ แต่หนังพยายามแสดงให้เห็นความแตกต่างกับ Gombo & Pagma ที่ดูสงบเสงี่ยม พูดน้อย เน้นแสดงออกภาษากาย เพียงมองตาก็สามารถรับรู้ความต้องการอีกฝ่าย … สะท้อนถึงชีวิตที่สงบสุข vs. วุ่นๆวายๆ

แน่นอนว่าตัวละคร Sergei ย่อมสะท้อนถึงผกก. Mikhalkov ชาวรัสเซียเดินทางมายังต่างที่ต่างถิ่น ทีแรกก็เต็มไปด้วยอคติ รับไม่ได้กับวิถีชีวิต ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร แต่โดยไม่รู้ตัวพวกเขากลับสามารถเข้าใจกันและกัน เหมือนได้รับการปลดปล่อย ผ่อนคลายจากความวุ่นๆวายๆ … ฉากขึ้นร้องเพลงบนเวที (แล้วถูกจับกุม) นั่นสะท้อนความรักชาตินิยมของผกก. Mikhalkov ได้อย่างชัดเจน!


ถ่ายภาพโดย Vilen Aleksandrovich Kalyuta, Вілен Олександрович Калюта (1930-99) ตากล้องชาว Ukrainian เกิดที่ Huliaipole, Zaporizhzhia Oblast (ปัจจุบันคือประเทศ Ukraine) ฝึกฝนการถ่ายภาพจาก Dovzhenko Film Studios มีผลงานขาประจำ Studio Trite (Russia) และ Camera One (France) อาทิ Close to Eden (1991), Burnt by the Sun (1994) ฯ

สถานที่สวยๆทำให้การถ่ายภาพมีชัยไปกว่าครึ่ง! พื้นที่ราบ Hulunbuir Prairie, Inner Mongolia เป็นดินแดนที่มีความกว้างใหญ่ไพศาล ท้องทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตา ทิวเขาลิบๆ เมฆหมอกเต็มท้องฟ้า ทำให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย ราวกับจิตวิญญาณได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ, ผิดแผกแตกต่างจากครึ่งหลังเมื่อเข้าไปถ่ายทำในเมืองใหญ่ เต็มไปด้วยแสงสีสัน ความว้าวุ่นวาย ผู้คนมากมาย เหม่อมองไปทางไหนพบเห็นตึกรามบ้านช่อง กฎกรอบห้อมล้อมรอบ ไม่ต่างจากการถูกควบคุมขัง

จากนั้นพอเข้าสู่องก์สามของหนัง ความติสต์แตกของผกก. Mikhalkov คือพยายามซ้อนทับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน (หลังฝันถึงเจงกีสข่าน) พบเห็นภาพในจอโทรทัศน์ ซ้อนทับโลกความจริง! นั่นอาจสร้างความสับสน มึนงงให้กับผู้ชมทั่วไป แต่ถ้าสามารถขบครุ่นคิดตามได้ ก็อาจเข้าใจคำพยากรณ์อนาคต จุดจบของสรวงสวรรค์อยู่อีกไม่ไกล


โปสเตอร์ภาพยนตร์ Cobra (1986) นำแสดงโดย Sylvester Stallone, ผมเคยรับชมเมื่อนานมากๆแล้ว เน้นเอามันส์อย่างเดียว จดจำเนื้อเรื่องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ก็พยายามหาอ่านเรื่องย่อเพื่อมองหาสัมพันธ์ แล้วพบว่ากลุ่มก่อการร้ายที่มือปราบกระดูกเหล็กต้องเผชิญหน้ามีชื่อว่า “New World” น่าจะพอเชื่อมโยงกับหนังเรื่องนี้ได้อยู่กระมัง

แทนที่เด็กหญิงจะฝึกฝนเครื่องดนตรีพื้นบ้านมองโกเลียใน เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น กลับไปฝึกฝนแอคคอร์เดียนที่เป็นเครื่องดนตรีประจำชาติฝรั่งเศส! นี่แฝงนัยยะถึงการค่อยๆถูกแทรกซึม กลืนกิน วัฒนธรรมท้องถิ่นกำลังใกล้สูญหาย คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของประวัติศาสตร์

ถ้าไม่เพราะผมเพิ่งรับชม Burnt by the Sun (1994) ก็คงไม่สามารถจดจำผกก. Mikhalkov แอบมาปรากฎตัว (Cameo) ปั่นจักรยานตัดหน้ากล้อง (สวมเสื้อสีเขียว)

ระหว่างที่อยู่ในเมือง Gombo เตร็ดเตร่เร่ร่อนอยู๋ในเมืองใหญ่ เดินไปเดินมาถึงสวนสนุก จ่ายเงินขึ้นนั่งเครื่องบินเด็กเล่น นี่ไม่ได้สื่อถึงชีวิตอันโลดโผน หรือเคว้งคว้างล่องลอยอย่างไร้แก่นสาร แต่นัยยะคล้ายๆการไต่รถถังของ The 400 Blows (1959) สะท้อนชีวิตชาวเมืองที่เวียนวนไปวนมา เหมือนได้รับอิสรภาพโบยบิน แต่กลับถูกยึดเหนื่ยวรั้งด้วยบางสิ่งอย่าง

ข้อดีของโทรทัศน์/สื่อสารมวลชน ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จากสถานที่ทุรกันดารห่างไกล แต่ขณะเดียวกันมันก็ค่อยๆบ่อนทำลายอัตลักษณ์ สูญเสียวัฒนธรรม ผู้ชมได้รับอิทธิพลจากสิ่งต่างๆพบเห็น ค่อยถูกชวนเชื่อ ล้างสมอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วสักวันในอนาคต สิ่งเคยพบเห็นในชีวิตจริง ก็จักหลงเหลือเพียงภาพ(ยนตร์) ประวัติศาสตร์ ฉายผ่านจอตู้สี่เหลี่ยม … รวมถึงเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ภาพสุดท้ายของหนังเป็นสิ่งที่น่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก! จากทุ่งหญ้าเคยเขียวขจี มีท่อนไม้ Urga ปักอยู่กลางท้องทุ่ง เปลี่ยนแปลงสภาพกลายเป็นปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรม ผืนดินแปรสภาพลูกรัง นั่นคือภาพสะท้อนอนาคต (หรือปัจจุบันนั้น-นี้) อิทธิพลโลกภายนอกทำให้ชนพื้นเมือง Inner Mongolia สูญเสียวิถีชีวิต ถูกกลืนกินวัฒนธรรม ไม่หลงเหลือภาพสรวงสวรรค์อีกต่อไป

ตัดต่อโดย Joëlle Hache, เรื่องราวของหนังเวียนวนอยู่กับสามตัวละคร Gombo, Pagma และชายชาวรัสเซีย Sergei ครึ่งแรกดำเนินเรื่องอยู่ยังพื้นที่ราบ Hulunbuir Prairie, Inner Mongolia ส่วนครึ่งหลัง Sergei ขับรถพา Gombo เดินทางเข้าไปในเมืองใหญ่ จากนั้นจะร้อยเรียงภาพของทั้งสาม ทำสิ่งแตกต่างกันไป

  • พื้นที่ราบ Hulunbuir Prairie, Inner Mongolia
    • Gombo พยายามใช้ Urga คล้องภรรยาเพื่อร่วมเพศสัมพันธ์ แต่เธอกลับต่อต้านขัดขืน เพราะไม่ต้องการทำผิดกฎหมายจากนโยบายลูกคนเดียว
    • การมาถึงของคนขับรถบรรทุก Sergei ในสภาพง่วงหงาวหาวนอน ครึ่งหลับครึ่งตื่น เกือบจะไม่ฟื้น อีกนิดเกือบพุ่งลงแม่น้ำ
    • Gombo ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือของ Sergei แต่ตอนนี้เย็นแล้วจึงชักชวนมายังกระโจมบ้านพัก
    • ฆ่าแกะทำอาหารเย็น ดื่มสุราเมามาย ค่ำคืนนี้นอนหลับฝันดี
    • เช้าวันถัดมา Pagma พยายามโน้มน้าวให้ Gombo ซื้อโทรทัศน์และถุงยางอนามัย
  • เดินทางสู่เมืองใหญ่
    • Sergei อาสาพา Gombo เดินทางเข้าเมืองใหญ่
      • Gombo แวะเวียนเข้าร้านขายยา แต่ก็สองจิตสองใจ ไม่อยากซื้อถุงยางอนามัย จากนั้นล่องลอยเรื่อยเปื่อยในเมืองใหญ่ ซื้อของฝาก ขึ้นเครื่องบินสวนสนุก
      • ขณะที่ Sergei หวนกลับหาภรรยา ร่วมเพศสัมพันธ์
      • ตัดกลับมา Pagma และลูกๆ เฝ้ารอคอยการกลับมาของสามีอย่างใจจดใจจ่อ
    • ค่ำคืนนั้น Sergei ชักชวน Gombo มาดื่มด่ำในผับบาร์ พอมึนเมามายขึ้นร้องเพลงบนเวที ถูกตำรวจจับกุม
    • Gombo ขอความช่วยเหลือจากพี่ชายของภรรยา จนสามารถลากพา Sergei กลับออกมา
  • ระหว่างทางกลับบ้าน
    • เช้าวันถัดมา Gombo จึงซื้อสิ่งข้าวของฝาก แล้วออกเดินทางกลับบ้าน
    • ระหว่างทางกลับบ้าน Gombo แวะเวียนยังวัดแห่งหนึ่ง เหมือนต้องการอธิษฐานขอพรอะไรสักอย่าง
    • ช่วงพักทานอาหาร เหมือนจะนอนหลับฝันกลางวัน พบเห็นภรรยาควบขี่ม้ามากับเจงกิสข่าน
    • พอกลับมาถึงบ้าน ติดตั้งเสาสัญญาณ พบเห็นภาพในโทรทัศน์ซ้อนทับเหตุการณ์จริง
    • Sergei หวนกลับมาเยี่ยมเยียน เสียงบรรยายของบุตรชายกล่าวถึงอนาคต

ช่วงแรกของหนังดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อย เอื่อยเฉื่อย ไม่เร่งรีบร้อน เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับความงดงามทิวทัศน์ท้องทุ่ง/พื้นที่ราบกว้างใหญ่ แต่พอเข้าสู่องก์สองและสาม การตัดต่อจะเริ่มมีความเร่งรีบ สลับมุมมองชวนให้สับสน ชีวิตเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ ซึ่งสะท้อนวิถีสังคมเมือง และทิศทางอนาคตที่ชนบทกำลังจะถูกกลืนกิน หมดสูญสิ้น


เพลงประกอบโดย Eduard Nikolayevich Artemyev, Эдуа́рд Никола́евич Арте́мьев (1937-2022) นักแต่งเพลง สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Novosibirsk, สำเร็จการศึกษาจาก Moscow Conservatory เป็นลูกศิษย์ของ Yuri Shaporin, มีความสนใจในดนตรีไฟฟ้า (Electronic) และเครื่องสังเคราะห์ (Synthesizer) ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Andrei Tarkovsky, Andrei Konchalovsky และ Nikita Mikhalkov. อาทิ Solaris (1972), A Slave of Love (1976), An Unfinished Piece for Mechanical Piano (1977), Stalker (1979), Siberiade (1979), Close to Eden (1991), Burnt by the Sun (1994), The Barber of Siberia (1998), 12 (2007), The Postman’s White Nights (2014) ฯ

ผมแอบคาดหวังไว้พอสมควรว่าจะได้ยินบทเพลงพื้นบ้านมองโกเลียใน (Traditional Mongolian Folk Song) แต่ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นเสียงขลุ่ย (Flute) มีความล่องลอยโหยหวน พัดพาจิตวิญญาณให้ล่องลอยไป พร้อมภาพทิวทัศน์กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ผสมผสานคลุกเคล้าเครื่องดนตรีไฟฟ้า/สังเคราะห์เสียง (สไตล์ถัดของ Artemyev) เพื่อสื่อถึงการแทรกซึม แทรกแซม อนาคตทุกสิ่งอย่างจะเลือนลางเข้าหากัน

ด้วยความที่นักแสดงนำหญิง Badema ในชีวิตจริงยังเป็นนักร้องเพลงพื้นบ้าน จึงมีหลายบทเพลงที่เธอทั้งแต่งและขับร้อง ถึงฟังความหมายไม่ออก แต่ผู้ฟังย่อมสามารถสัมผัสถึงจิตวิญญาณ บางสิ่งอย่างจากท่วงทำเพลง

Amtataig idsen chi, Garandaa shingeehgue
(Even if its delicious, it doesn’t soak into your hand/mouth)
Altin edend chi, Altan biend naaldahgue
(Even if its gold, it doesn’t stick on your body)
Amtataig idsen chi, Garandaa shingeehgue
(Even if its delicious, it doesn’t soak into your hand/mouth)
Hairtai chi mini alas yavad ireh shinjgue
(And my lovely dear whose gone far away, seems won’t come back)
Huils haa baivak suuder tendee shuu
(Where huils?.. there is shadow)
Hairtai nuhur mini haa baival setgel tendee shuu
(Where my lovely husband there is my heart/soul)

บทเพลงไพเราะสุดของหนังคือ Urga Love เริ่มต้นด้วยเสียงเป่าขลุ่ย มีความพริ้วไหว ราวกับจิตวิญญาณล่องลอยไป ก่อนค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นเครื่องสังเคราะห์เสียง/ดนตรีไฟฟ้า บรรเลงท่วงทำนองเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการ ปัจจุบัน-อนาคต โลกกำลังปรับเปลี่ยนแปลง แต่เรื่องราวความรักไม่ว่ายุคสมัยนั้นก็ยังคงเดิมตลอดกาลนาน

บทเพลงของ Artemyev มักได้ยินในรูปแบบ Soundtrack (Non-Diegetic) คลอประกอบพื้นหลัง พร้อมๆภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ท้องทุ่งกว้างใหญ่, แต่ก็ยังมีบทเพลงอื่นๆดังจากแหล่งกำเนิดเสียง (Diegetic Music) วิทยุ/โทรทัศน์, แสดงดนตรีสด/ขับร้องเพลงในผับบาร์, เดี่ยวเปียโน (Chopin: Nocturne Op.9 No.2), เดี่ยวแอคคอร์เดียน ฯ

สำหรับบทเพลงที่บุตรสาวโชว์เดี่ยวแอคคอร์เดียนหลังรับประทานอาหารเย็นชื่อว่า España cañí (แปลว่า Gypsy Spain) หรือ Spanish Gypsy Dance แต่งโดย Pascual Marquina Narro (1873–1948)

และบทเพลงที่อยู่บนแผ่นหลังของ Sergei ก็คือ On the Hills of Manchuria (1906) ชื่อเต็มๆ The Mokshansky Regiment on the Hills of Manchuria ท่วงทำนอง Waltz ประพันธ์โดย Ilya Alekseevich Shatrov (1879/85-1952) นักแต่งเพลงประจำกองทัพรัสเซีย ครุ่นคิดเขียนขึ้นจากประสบการณ์ Battle of Mukden (1905) ระหว่าง Russo-Japanese War (1904-05) อุทิศให้เพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากไป

On the Hills of Manchuria เรียกได้ว่า ‘เพลงชาติ’ ประจำกองทัพรัสเซีย สำหรับปลุกใจทหารหาญ ให้พร้อมเสียสละชีพเพื่อชาติ ซึ่งการเลือกใช้บทเพลงนี้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์รักชาตินิยม (Nationalism) ของผกก. Mikhalkov ไม่มีวันสั่นคลอน แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศจะย่ำแย่ลงสักเพียงใด

คำร้องรัสเซียคำอ่านรัสเซียคำแปลอังกฤษ
Тихо вокруг, сопки покрыты мглой,
Вот из-за туч блеснула луна,
Могилы хранят покой.
Белеют кресты – это герои спят.
Прошлого тени кружат давно,
О жертвах боёв твердят.

Плачет, плачет мать родная,
Плачет молодая жена,
Плачут все, как один человек,
Злой рок и судьбу кляня!

Тихо вокруг, ветер туман унёс,
На сопках маньчжурских воины спят
И русских не слышат слёз.
Пусть гаолян вам навевает сны,
Спите герои русской земли,
Отчизны родной сыны.

Плачет, плачет мать родная,
Плачет молодая жена,
Плачут все, как один человек,
Злой рок и судьбу кляня!

Вы пали за Русь, погибли вы за Отчизну,
Поверьте, мы за вас отомстим
И справим кровавую тризну!
Tiho vokrug, sopki pokryty mgloj,
Vot iz-za tuč blesnula luna,
Mogily hranjat pokoj.
Belejut kresty – èto geroi spjat.
Prošlogo teni kružat davno,
O žertvah boëv tverdjat.

Plačet, plačet matʹ rodnaja,
Plačet molodaja žena,
Plačut vse, kak odin čelovek,
Zloj rok i sudʹbu kljanja!

Tiho vokrug, veter tuman unës,
Na sopkah manʹčžurskih voiny spjat
I russkih ne slyšat slëz.
Pustʹ gaoljan vam navevaet sny,
Spite geroi russkoj zemli,
Otčizny rodnoj syny.

Plačet, plačet matʹ rodnaja,
Plačet molodaja žena,
Plačut vse, kak odin čelovek,
Zloj rok i sudʹbu kljanja!

Vy pali za Rusʹ, pogibli vy za Otčiznu,
Poverʹte, my za vas otomstim
I spravim krovavuju triznu!
Around us, it is calm; Hills are covered by mist,
Suddenly, the moon shines through the clouds,
Graves hold their calm.
The white glow of the crosses – heroes are asleep.
The shadows of the past circle around,
Recalling the victims of battles.

Dear mother is shedding tears,
The young wife is weeping,
All like one are crying,
Cursing fate, cursing destiny!

Around us, it’s calm; The wind blew the fog away,
Warriors are asleep on the hills of Manchuria
And they cannot hear the Russian tears.
Let sorghum’s rustling lull you to sleep,
Sleep in peace, heroes of the Russian land,
Dear sons of the Fatherland.

Dear mother is shedding tears,
The young wife is weeping,
All like one are crying,
Cursing fate, cursing destiny!

You fell for Russia, perished for Fatherland,
Believe us, we shall avenge you
And celebrate a bloody wake!

ชายชาวรัสเซีย มีความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ครึ่งหลับครึ่งตื่น เกือบจะไม่ฟื้นเพราะขับรถพุ่งลงแม่น้ำ โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากคนพื้นเมือง Inner Mongolia แม้พูดคุยสื่อสารไม่รู้เรื่อง แต่แค่มองตา ภาษากาย ก็สามารถทำความเข้าใจ รับรู้ความต้องการ บังเกิดมิตรภาพคาดไม่ถึง

แต่สรวงสวรรค์แห่งนี้กำลังได้รับผลกระทบ อิทธิพลจากโลกภายนอกค่อยๆแทรกซึมเข้ามา อาหารการกิน, สิ่งอำนวยความสะดวก, ของเด็กเล่น, เครื่องดนตรี (แอคคอร์เดียน), เครื่องใช้ไฟฟ้า, โทรทัศน์, วิทยุ, โปสเตอร์ภาพยนตร์, ท้องถนนหนทาง, รวมถึงนโยบายลูกคนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน บีบบังคับให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิด แต่นั่นเป็นการบ่อนทำลายวิถีชีวิต กลืนกินวัฒนธรรม กิจกรรมทางเพศมันหักห้ามกันได้เสียที่ไหน!

อิทธิพลภายนอกที่กำลังคืบคลานเข้ามา ทำให้ผกก. Mikhalkov แสดงทัศนะถึงอนาคตอันใกล้ สรวงสวรรค์แห่งนี้จักค่อยๆเลือนลาง วัฒนธรรมเจือจางหาย วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดอาจหลงเหลือเพียงภาพ(ยนตร์)ในจอโทรทัศน์ เก็บบันทึกประวัติศาสตร์ เจงกีสข่านไว้ให้คนรุ่นหลังได้เชยชม

ตัวละคร Sergei อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าคือตัวแทนผกก. Mikhalkov พลัดหลงมายังดินแดนห่างไกล พบเห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมแปลกใหม่ ตกหลุมรักธรรมชาติงดงาม บังเกิดความสงบสุขขึ้นภายใน, ตอนรำพันถึงภรรยาขณะมึนเมามาย สามารถสะท้อนสถานการณ์ความไม่สงบในสหภาพโซเวียต นั่นคือเหตุผลของการออกเดินทาง สรรค์สร้างภาพยนตร์ยังต่างประเทศ นั่นไม่ได้แปลว่าตนเองทรยศต่อชาติบ้านเกิด ตรงกันข้ามกลับยิ่งโหยหา ครุ่นคิดถึง (เมาแล้ว)จึงขึ้นไปร่ำร้องเพลง ประกาศให้โลกรับรู้ถึงความรักต่อมาตุภูมิ …. รักชาตินิยม (Nationalism)


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม (ประธานกรรมการปีนั้น Gian Luigi Rondi คือนักเขียน/วิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งยังได้เชิญเพื่อนนักวิจารณ์มาร่วมสังฆกรรมอีกสองคน) สามารถคว้ามาสามรางวัลรวมถึง Golden Lion โดยเอาชนะภาพยนตร์อย่าง Edward II, The Fisher King, Mississippi Masala, My Own Private Idaho, Raise the Red Lantern ฯ

  • Golden Lion
  • OCIC Award
  • Pasinetti Award – Best Film

ช่วงปลายปียังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศจากหลากหลายสถาบัน แต่ส่วนใหญ่พ่ายให้กับ Indochine (1992) กำกับโดย Régis Wargnier ตัวแทนจากฝรั่งเศส

  • Academy Award: Best Foreign Language Film
  • César Awards: Best Foreign Film (Meilleur film étranger)
  • European Film Award: European Film of the Year ** คว้ารางวัล
  • Golden Globe Award: Best Foreign Language Film

หนังอาจหารับชมยากสักหน่อย มีจัดจำหน่ายเพียง DVD คุณภาพก็ตามมีตามเกิด หรือหาทางออนไลน์ใน Youtube ค้นชื่อภาษาอังกฤษไม่เจอก็ใช้ภาษารัสเซีย ไม่ต้องซับไตเติ้ลก็ยังพอดูรู้เรื่อง

ส่วนตัวชื่นชอบครึ่งแรกของหนังมากๆ เพลิดเพลินกับความงดงามของทิวทัศน์ท้องทุ่ง/พื้นที่ราบ และความสัมพันธ์ต่างเชื้อชาติ-ต่างภาษา น่าเสียดายความติสต์แตกของผกก. Mikhalkov ครึ่งหลังทำให้ผมหงุดหงิด หัวเสีย ทำไมต้องทำเรื่องง่ายๆให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก ขึ้นสวรรค์อยู่ดีๆตกนรกโดยพลัน

จัดเรต pg ภาพการฆ่าสัตว์ ดื่มสุราเมามาย ระริกระรี้อยากมีเพศสัมพันธ์

คำโปรย | ความงดงามของพื้นที่ราบ Inner Mongola ราวกับสรวงสวรรค์ Close to Eden ถ้าไม่เพราะความติสต์แตกของผู้กำกับ Nikita Mikhalkov อาจสมบูรณ์แบบยิ่งกว่านี้!
คุณภาพ | ค์ติสต์แตก
ส่วนตัว | ล่องลอย