If Beale Street Could Talk (2018)


If Beale Street Could Talk

If Beale Street Could Talk (2018) hollywood : Barry Jenkins ♥♥♥♥

ประวัติศาสตร์เขียนขึ้นโดยผู้ชนะ! ขณะที่ชาวผิวสีในสหรัฐอเมริกา -ผู้พ่ายแพ้- ส่งต่ออดีตผ่านเรื่องเล่า บทเพลง งานศิลปะ ฯ จุดเริ่มต้นก็จาก Beale Street, เมือง Memphis, รัฐ Tennessee ทุกคนต่างประสบพบเจอเรื่องร้ายๆมากมายในชีวิต ทำอย่างไรถึงสามารถต่อสู้ก้าวเดินฟันฝ่าต่อไปได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“Every black person born in America was born on Beale Street, whether in Jackson, Mississippi, or in Harlem, New York. Beale Street is our legacy”.

– อารัมบท

ในเมื่อ Beale Street สามารถสื่อแทนถึงคนดำในสหรัฐอเมริกา เราสามารถแปลประโยค If Beale Street Could Talk ตามนัยยะของเรื่องราวประมาณว่า ‘ถ้าคนผิวสีสามารถพูดได้!’ สิ่งที่พวกเขาอยากตะโกนกรีดร้องออกมา ฉันไม่ได้ทำอะไรเลยสักนิด แต่โดนใส่ร้ายป้ายสีความผิด มันเกิดความบ้าบอคอแตกเหี้ยห่าอะไรขึ้นในประเทศแห่งนี้

แซว: ถึงชื่อหนังคือ Beale Street แต่ก็แค่การเอ่ยถึงเท่านั้นนะครับ พื้นหลังจริงๆคือ Harlem, New York City

หน้าหนังของ If Beale Street Could Talk นำเสนอเรื่องราวความรักหวานฉ่ำของหนุ่มสาว กำลังมีประจักษ์พยานรอวันลืมตาสู่โลก แต่พวกเขากลับประสบพบความอับโชคร้าย มิได้กระทำอะไรผิดกลับติดคุกหัวโต พยายามหาหนทางออกแต่ก็หมดสิ้นจนปัญญา เรียกได้ว่าตกเป็น ‘เหยื่อ’ จากความอยุติธรรมของสังคม

เนื้อในใจความสะท้อนบรรยากาศยุคสมัย 60s – 70s ณ Memphis, Tennessee ที่คนผิวสีได้รับการเลือกปฏิบัติ ดูถูกเหยียดหยาม ‘Racism’ ทั้งๆไม่เคยสร้างความยุ่งยากเดือดร้อน ทำอะไรให้ใครโกรธเกลียด เพราะเหตุใดทำไมถึงต้องเดียดฉันท์กันขนาดนี้


Barry Jenkins (เกิดปี 1979) ผู้กำกับ/เขียนบทสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Liberty City, Miami หลังพ่อเสียชีวิตตอนเขาอายุ 12 ขวบ แยกอยู่จากแม่เพราะเธอติดโคเคนจนเลอะเลือน โตขึ้นเข้าเรียนสาขาภาพยนตร์ที่ Florida State University, Tallahassee ภาพยนตร์เรื่องแรก Medicine for Melancholy (2008) ยา(วิธีการ)สำหรับรับมือความโศกเศร้า เสียงตอบรับดีล้นหลามจากเทศกาลหนัง จนเข้าตา Brad Pitt เจ้าของสตูดิโอ Plan B Entertainment ได้ทุนสร้าง Moonlight (2016) คว้า Oscar: Best Picture

ประมาณปี 2011-12 ก่อนหน้าเริ่มต้นพัฒนาโปรเจค Moonlight ผู้กำกับ Barry Jenkins มีโอกาสเข้าร่วมสมาชิก Cinereach Fellowship ณ New York กลุ่มคนรุ่นใหม่ในวงการภาพยนตร์ นัดหมายร่วมวงพูดคุย ให้ปรึกษาคำแนะนำโน่นนี่นั่นซึ่งกันและกัน, วันหนึ่ง Jenkins พูดพร่ำถึงความชื่นชอบหลงใหลในผลงานของ James Baldwin จนกระทั่งใครคนหนึ่งพูดว่า

“Why don’t you try adapting him?”

หลายวันถัดมา เพื่อนคนนั้นของ Jenkins ส่งนวนิยาย If Beale Street Could Talk ชักชวนให้ลองดัดแปลงและหาโอกาสสร้างเป็นภาพยนตร์

“The purity of the love between them is definitely something that grabbed me. When I first read the book, or second-read the book, I thought, How amazing would it be to fuse those two things into a cinematic language?”

– Barry Jenkins

If Beale Street Could Talk (1974) นวนิยายลำดับที่ห้าของ James Arthur Baldwin (1924 – 1987) เกิดที่ New York City แม่ทนอยู่กับพ่อติดยาไม่ได้เลยย้ายไปอยู่ Harlem ตัวเขาเมื่อเติบโตขึ้นก็รับสภาพสังคมแห่งการเหยียดยามไม่ได้ อพยพย้ายสู่ประเทศฝรั่งเศส กลายเป็นนักเขียน/เคลื่อนไหวเพื่อคนผิวสี นวนิยายเรื่องแรก Go Tell It on the Mountain (1953) ได้รับการจัดอันดับ ‘TIME 100 Best English-language Novels from 1923 to 2005’ ขณะที่ผลงานเรื่องสุดท้ายเขียนไม่เสร็จ Remember This House ดัดแปลงสร้างสารคดี I Am Not Your Negro (2016) เข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature

เกร็ด: ช่วงระหว่างเรียนหนังสือ Baldwin ได้เป็นเพื่อนร่วมห้องกับ Marlon Brando สนิทสนมพบเจออยู่เรื่อยๆขณะยังอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา

Jenkins ไม่เร่งรีบร้อนดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้ เพราะได้ยินข่าวลือหนาหูถึงความหึงหวงเรื่องมากของผู้จัดการมรดก ‘Baldwin estate’ หลังพัฒนาบทร่างแรกเสร็จสิ้นปี 2013 และหาโปรดิวเซอร์ร่วมงาน ปีถัดมาเลยส่งรายละเอียดพร้อมผลงานเรื่องแรก Medicine for Melancholy (2008) เป็น Resume ขอลิขสิทธิ์สร้างภาพยนตร์

ความล่าช้าของการตอบรับ ทำให้ Jenkins ทุ่มเวลาให้ Moonlight (2016) จนสำเร็จเสร็จสิ้นลงก่อนประสบความสำเร็จล้นหลาม สามารถเลือกโปรเจคไหนต่อก็ได้ทุนสร้างไม่จำกัด แต่หวนกลับมาหา If Beale Street Could Talk ตั้งใจไว้แล้วต้องไม่ผิดสัญญากับตนเอง

ณ Harlem, New York City เรื่องราวของ Tish (รับบทโดย KiKi Layne) รู้จักสนิทสนม Fonny (รับบทโดย Stephan James) เพื่อนเล่นตั้งแต่ยังเด็กเล็ก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ค่อยๆตกหลุมรักใคร่ เพ้อวาดฝันอนาคตสวยหรู แต่แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดถึง เขาถูกจับข้อหาข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาวชาว Puerto Rico โดนชี้ตัวติดคุกหัวโตทั้งๆไม่ได้เคยพบหน้ารู้จักตัว ครอบครัวจึงพยายามต่อสู้ดิ้นรน ว่าจ้างทนาย ลักลอบค้าขายขโมยของผิดกฎหมาย และแม่เดินทางสู่ Puerto Rico ร้องขอโจทก์ให้มาขึ้นศาลเป็นพยาน แต่สุดท้ายโชคชะตาก็ไม่ยินยอมเข้าข้าง เลยยินยอมรับสารภาพเพื่อลูกชายเพิ่งคลอดลืมตา อีกไม่กี่ปีหรอกหนาคงได้กลับออกมาสู่โลกภายนอก


นำแสดงโดย Kiandra ‘KiKi’ Layne (เปิดปี 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cincinnati, Ohio ตั้งแต่เด็กมีหนังเรื่องโปรดคือ The Lion King (1994) โตขึ้นร่ำเรียนฟลุต ทรัมเป็ต French Horn ตามด้วยสาขาการแสดง DePaul University, Chicago สู่วงการภาพยนตร์ในบทสมทบซีรีย์ Chicago Med (2016), มาคัดเลือกได้แสดงนำแจ้งเกิด If Beale Street Could Talk (2018)

รับบท Clementine ‘Tish’ Rivers หญิงสาวอายุ 19 ปี ยังคงสดใสบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยอาการหวาดหวั่นสั่นกลัว ใช้ความพยายามอย่างมากถึงกล้าพูดบอกครอบครัวว่าตนเองตั้งครรภ์ โชคดีได้พ่อ-แม่ และพี่สาวเข้าใจหัวอก โอบกอดยินยอมรับด้วยความปรารถนาดี ผิดกับแม่ของ Fonny แสดงความเหยียดเดียดฉันท์ หลานตนเองแท้ๆกลับปฏิเสธต่อต้าน พยายามทำทุกสิ่งอย่างในความสามารถเพื่อช่วยเหลือสุดที่รักออกมาจากคุก

ความยังสดใหม่ต่อหน้ากล้องของ Layne แล้วถูกขอให้จับจ้องมองมาตรงๆ สร้างความเคอะเขิน เหนียงอาย เกิดปฏิกิริยาหวาดหวั่นสั่นกลัว นั่นคือสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจากตัวละครนี้ หญิงสาวไร้เดียงสาอ่อนต่อโลก ไม่รู้จักทำอย่างไรดีต่อสถานการณ์ แต่ยังคงได้รับการส่งเสริมผลักดัน เต็มไปด้วยขวัญกำลังใจรอบข้าง แค่นั้นก็เพียงพอแล้วให้สามารถต่อสู้ก้าวเดิน และให้กำเนิดทารกน้อย ของขวัญสุดล้ำค่าแห่งชีวิตมนุษย์


Stephan James (เกิดปี 1993) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Scarborough, Ontario ครอบครัวเชื้อสาย Jamaican โตขึ้นเรียนจบจาก Jarvis Collegiate Institute สู่วงการจากนักแสดงซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Home Again (2012), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Selma (2014), Race (2016), If Beale Street Could Talk (2018) ฯ

รับบท Alonzo ‘Fonny’ Hunt สุดที่รักของ Tish ชายหนุ่มผู้ร่าเริงสดใส เต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แม้เรียนไม่เก่งแต่งานฝีมือแกะสลักไม้กำลังค่อยๆวิวัฒนาการสู่ศิลปะเลอค่า แต่โชคชะตาพลัดพาให้ถูกป้ายสีจับติดคุก ทุกข์ทรมานรวดร้าวแสนสาหัส แม้ชีวิตจะไม่เป็นธรรมแต่เพื่อลูกจึงยินยอมสารภาพ พฤติกรรมดีๆอีกไม่นานคงได้รับการปลดปล่อยตัว

นอกจากเคมีอันเร่าร้อนรุนแรงที่มีต่อ KiKi Layne ยังโดดเด่นในการถ่ายทอดสีหน้าอารมณ์ เพราะเกินครึ่งเรื่องถูกกักตัวอยู่เบื้องหลังกระจก ความพลุกพร่านรวดร้าวสะสมคลุ้มคลั่งอยู่ภายใน นี่ฉันทำอะไรผิดถึงต้องมาลงเอยในคุกอย่างเสียสติ กระทั่งเมื่อค้นพบตัวตนเองทุกสิ่งอย่างถึงเริ่มผ่อนคลาย ชีวิตไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะ ต้องใช้เวลาร่ำเรียนรู้สร้างสรรค์ เก็บสะสมประสบการณ์ สักวันหนึ่งย่อมตระหนักเข้าใจได้ ความหมายชีวิตและเป้าหมายผลงานคืออะไร


คงไม่มีใครในหนังโดดเด่นไปกว่า Regina Rene King (เกิดปี 1971) นักแสดง/ผู้กำกับหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles โตขึ้นเข้าเรียนสาขาการแสดง University of Southern California เริ่มต้นแจ้งเกิดกับซีรีย์ 227 (1985-90), สมทบภาพยนตร์ Friday (1995), Jerry Maguire (1996), Ray (2004), คว้า Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง If Beale Street Could Talk (2018)

รับบท Sharon Rivers แม่ของ Tish ผู้มีความเข้าใจหัวอกของลูกสาว พร้อมผลักดันให้ความช่วยเหลือ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสุขของลูกๆ ออกเดินทางมุ่งสู่ Puerto Rico เพื่อไหว้วานร้องขอโจทก์ที่ถูกข่มขืนให้มาขึ้นศาล แต่สิ่งเกิดขึ้นกลับไม่มีอะไรสมประสงค์ดั่งใจหวัง

การแสดงของ King เปลือกนอกเต็มไปด้วยความเข้มแข้งแกร่ง แสดงออกให้ใครอื่นพบเห็นว่า ฉันพร้อมเสียสละทำทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก! แต่เบื้องลึกภายในเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ทุกข์ทรมานแสนสาหัส การแต่งหน้าทำผมทาปากก่อนออกไปรบนั้น ช่างลุ่มลึกทรงพลัง สะท้อนความขลาดหวาดกลัวจากภายในที่ต้องปกปิดหลบซ่อนไว้ เพราะนี่คือหน้าที่ของคนเป็นแม่ ไม่มีใครอื่นสามารถเทียบแทนที่ได้


ถ่ายภาพโดย James Laxton เพื่อนร่วมรุ่น/ตากล้องขาประจำของ Barry Jenkins ร่วมงานกันตั้งแต่สร้างหนังสั้น Medicine for Melancholy (2008), Moonlight (2016), If Beale Street Could Talk (2018) ฯ

ใครช่างสังเกตจะพบว่าขนาดของงานภาพไม่ใช่ Widescreen (16:9) หรือ Anamorphic (2.39:1) แบบปกติทั่วไป แต่คือ Univisium (2.00:1) ผลิตโดย Universal Picture เริ่มใช้ตั้งแต่ Jurassic World (2015) ซึ่งปี 2018 มีภาพยนตร์สี่เรื่อง ประกอบด้วย Hereditary (2018), A Simple Favor (2018), Green Book (2018) และ If Beale Street Could Talk (2018)

งานภาพ ‘สไตล์ Jenkins’ โดดเด่นในการเคลื่อนกล้องและใช้แสงสี ซึ่งเรื่องนี้เน้นโทนเขียว-เหลือง (ทั้งเสื้อผ้า/ฉากพื้นหลัง) เพื่อสร้างสัมผัสฤดูใบไม้ร่วง ‘Autumn’ มีความอบอุ่น สดใสร่าเริง ราวกับหลุดจากเทพนิยายของคนผิวสี (เขียว-เหลือง เป็นเฉดสีที่ทำให้คนดำดูสว่างสดใสขึ้นมาก)

แซว: เขียว-เหลือง ว่าไปคือโทนสีแห่งความรัก ที่เข้ากับคนดำมากกว่าชมพูเสียอีกนะ!

ฉากแรกของหนังที่เป็นการเดินไปอย่างเชื่องช้าของสองคู่รัก สังเกตว่า Fonny ใส่เสื้อสีเหลืองอยู่ด้านใน ขณะที่ Tish สวมโค้ทเหลืองคลุมด้านนอก แค่นี้ก็สะท้อนได้ว่าพวกเขาเป็นของกันและกัน ทั้งภายใน-ภายนอก ร่างกาย-จิตวิญญาณ

คุ้นๆเคยอ่านเจอว่า ผู้กำกับ Jenkins ลุ่มหลงใหลคลั่งไคล้ผลงานของปรมาจารย์ Yasujirō Ozu หนึ่งในสไตล์ที่พบเห็นในหนังเรื่องนี้ ตัวละครขณะพูดคุยสนทนาด้วยการจับจ้องมองกล้องมาตรงๆ ถือเป็นการสบตา/สื่อสารกับผู้ชม สร้างความเคอะเขิน กระอักกระอ่วน ขณะเดียวกับเหมือนจะพบเห็นบางสิ่งอย่างอยู่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้

สำหรับสีเขียว เริ่มสะดุดตากับฉากภายในบ้านของ Tish เธอสวมเสื้อลายสี Teal (กระโปรงเหลือง) ผ้าม่านด้านหลังเขียวอ่อนๆ มีความกลมกลืนกับแสงไฟออกส้มเหลืองอ่อนๆ

คงแปลกพิลึกถ้าหนังไม่ถ่ายทำยังสถานที่จริง Harlem, New York City แต่ประเด็นคือบริเวณนี้ได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากยุค 60s-70s ค่อนข้างมาก เลยไม่ใช่เรื่องง่ายจะค้นหาสถานที่เหมาะสม ก็พอพบเห็นอยู่ 2-3 ฉาก ใครเคยรับชม Do the Right Thing (1989) อาจพอคุ้นเคยบ้างอยู่

ฉาก Sex Scene อาบด้วยแสงเหลืองทองอร่าม สาดส่องรับกับผิวสีดำได้อย่างละมุ่นไม นี่เรียกว่าโป๊เปลือยอย่างมีศิลปะ และความสุขสำราญมันจะ Slow-Motion สักหน่อย ค่อยๆสอดเข้าสอดออกเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า ตราฝังตรึงในความทรงจำชั่วนิจนิรันดร์

ลักษณะการใช้แสงแบบนี้ ตรงกันข้ามกับ Moonlight แสงจันทร์สีน้ำเงินอาบฉาบผิวดำได้หยาบแข็งกระด้าง ชาย-ชาย แบบนั้นรุนแรงล้างผลาญ ขณะที่ชาย-หญิง แบบนี้งดงามกว่ากันมาก!

Long Take ของสองลูกผู้ชาย เรื่องที่พวกเขาสนทนามันช่างน่าตื่นตระหนก หวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน! ซึ่ง Sequence นี้ถือได้ว่าเป็นการเล่าแทนเหตุการณ์ฝั่ง Fonny ขณะอาศัยอยู่ในคุก เพราะผู้ชมจะพบเห็นเพียงเขานั่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกระจกสนทนากับ Tish ครั้งหนึ่งดวงตาแดงกล่ำ ใบหน้าบวมช้ำ พร้อมริ้วรอยบาดแผล นั่นทำให้ใครๆสามารถจินตนาการต่อได้ว่า ชีวิตข้างในคงเลวร้ายบัดซบอย่างถึงที่สุด!

อีกหนึ่ง Long Take ที่งดงามมากทีเดียว เมื่อ Fonny ทำการวาดฝันจินตนาการถึงอพาร์ทเม้นท์หลังใหม่ให้กับ Tish จริงๆจะตัดต่อสักหน่อยก็ได้ แต่ความลื่นไหลต่อเนื่องของฉากนี้ สะท้อนถึงจิตวิญญาณพวกเขาที่ล่องลอยโหยหา ‘บ้าน’ สถานที่พักอยู่อาศัยของเราเอง นั่นไม่ใช่สิ่งพบเจอได้ง่ายๆ ทำไมไม่ลองเสี่ยงดูสักหน่อย ผลลัพท์อาจออกมาดีเยี่ยมก็เป็นได้!

เห็นว่านี่คือฉากแรกของการถ่ายทำ ชวนให้ผมระลึกถึงฉากสวมแหวนเรื่อง Always Sunset On Third Street (2005) แต่ไม่ถึงขั้นโรแมนติกซาบซ่านขนาดนั้น!

การเดินทางของแม่สู่ Puerto Rico ถือเป็นโอกาสสุดท้ายเพื่อช่วยเหลือ Fonny ออกจากคุก ลงจากเครื่องบินสวมชุดสีเขียว แสงอาทิตย์ยามเย็นใกล้ตก ถ้าครั้งนี้ต่อรองไม่สำเร็จ ทุกสิ่งอย่างคงตกอยู่ในความมืดมิด!

แม้ความตั้งใจของทีมงาน ต้องการถ่ายทำฉากนี้ยัง Puerto Rico แต่การมาถึงของพายุเฮริเคนระดับห้า Maria เมื่อเดือนกันยายน 2017 เลยจำต้องยายสถานที่ไปยัง Dominican Republic

“We had to decide what was the right thing to do in the aftermath of the hurricane — go and infuse what we could back into the local economy or was it a time to step back. But we were able to hire a lot of the crew we’d pinpointed in Puerto Rico and bring them to the Dominican Republic”.

– Barry Jenkins

ตัดต่อโดย Joi McMillon และ Nat Sanders ทั้งสองเคยร่วมงานกับ Jenkins เรื่อง Moonlight (2016)

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองและเสียงบรรยายของ Clementine ‘Tish’ Rivers ตัดสลับระหว่างปัจจุบันดำเนินไปข้างหน้า และหวนระลึกนึกย้อนอดีตขณะคบหา Alonzo ‘Fonny’ Hunt

ต้นฉบับนวนิยายของ James Baldwin ก็ใช้มุมมองดำเนินเรื่องของ Tish เป็นที่ตั้ง ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงบรรยายครุ่นคิดภายในตัวละคร ผู้กำกับ Jenkins เลือกนำแรงบันดาลใจ Voice-Narration อ้างอิงถึง In the Mood for Love (2000) ของ Wong Kar-Wai เลือกสรรค์บทพูดที่มีความสอดคล้องกับช่วงเวลา เหตุการณ์ขณะนั้น ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด


เพลงประกอบโดย Nicholas Britell สัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Jenkins เรื่อง Moonlight (2016) อีกเช่นกัน ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Big Short (2015), Battle of the Sexes (2017), Vice (2018) ฯ

เสียงประสานของเครื่องสายคือสิ่งเสริมสร้างอารมณ์ให้กับหนัง คอยคุมโทนบรรยากาศ ชักนำพาความรู้สึกผู้ชมให้เคลื่อนคล้อยตามเรื่องราว/ตัวละคร ทั้งหวานแหววและเจ็บปวดซึมเศร้า ผสมผสานคลุกเคล้าได้อย่างทรงพลังตราตรึง

มีบทเพลงหนึ่งที่ขนลุกขนพองสั่นสะท้าน เริ่มต้นวินาทีแม่เดินทางไปถึง Puerto Rico เสียงเครื่องสายและเครื่องเป่าประสานดังขึ้นพร้อมกัน สะดุ้งโหยง! จากนั้นค่อยๆแปรสภาพสู่ความสับสนอนม่าน พลุกพร่านสั่นไหว นี่เป็นท่วงทำนองสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจของเธอ ไม่พูดบอกแสดงออก ปกปิดบังด้วยการสวมใส่วิก ทาลิปสติก เตรียมตัวพร้อมออกรบ ต่อสู้สมรภูมิที่ไม่รู้จักสามารถคว้าชัยชนะมาได้หรือเปล่า!

แถมท้ายไม่ได้มีในหนังหรอกนะ กับบทเพลง Beale Street Blues (1917) แนว Blues/Jazz Standard แต่งโดย W.C. Handy (1873 – 1958) ได้แรงบันดาลใจจาก Beale Street ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ James Baldwin ตั้งชื่อหนังสือ If Beale Street Could Talk, นำฉบับโด่งดังสุดประกอบภาพยนตร์ชีวประวัติ W.C. Handy เรื่อง St. Louis Blues (1958) ขับร้องโดย Ella Fitzgerald

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน If Beale Street Could Talk สะท้อนค่านิยม/สภาพสังคมอเมริกัน ที่คนผิวขาวมักดูถูกหมิ่นแคลนชาวผิวสี ว่ามีความน่ารังเกียจขยะแขยง พยายามหาเรื่องใส่ร้าย ป้ายสีความผิด อคติทางเชื้อชาติพันธุ์ เหยียบเหยียดย่ำ และยกระดับตนเองว่ามีความสูงส่งเหนือกว่า

คนผิวสีถือว่าอยู่ในฐานะ ‘ผู้แพ้’ ทางประวัติศาสตร์โลกมายาวนาน ตั้งแต่ยุคกรีกโรมันถูกจับมาเป็นข้าทาสบริวารรับใช้ ยิ่งสมัยชาวยุโรปอพยพมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา นำพาชาวแอฟริกันข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อสนองตัณหา ความสะดวกสบายของตนเอง กดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ไม่แตกต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน แถมยังพยายามกีดกันมิให้ได้รับสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ

แม้ตั้งแต่ Abraham Lincoln ประกาศเลิกทาสวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1862 ผ่านมากว่าศตวรรษจนถึงปัจจุบันก็ใช่ว่าพฤติกรรมโกรธเกลียด รังเกียจเดียดฉันท์ จะหมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา เพราะประวัติศาสตร์ยังคงตราฝังลึกในความรู้สึกผู้คน ไม่มีทางหมดสูญสิ้นโดยง่ายตราบใดมนุษย์มีความแตกต่าง เหมารวมความชั่วร้ายหวาดสะพรึงกลัว น้อยนักจะครุ่นคิดหัวอกผู้อื่น ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’

แม้แต่ในชุมชนชาวผิวสีด้วยกันเอง ใช่ว่าทุกคนจะมีความคิดเห็นสอดคล้อง บ้างก้มหน้ายินยอมรับโชคชะตากรรม ใครทนไม่ไหวจึงเคลื่อนไหวตอบโต้ อาจเฉพาะคนมีสติปัญญาอย่างผู้เขียน James Baldwin เรื่องอะไรจักต้องอดทนเลยอพยพย้ายหนีสู่ฝรั่งเศส แต่การกระทำแบบนี้ครึ่งค่อนคงตำหนิต่อว่า หมอนี่ปอดแหกไม่ใช่ลูกผู้ชาย … แบบไหนถูกผิดก็ครุ่นคิดตามโลกทัศนคติของตนเองก็แล้วกันนะ

ทารกน้อย ตัวแทนของคนผิวสีรุ่นถัดไป แม้ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางโชคชะตาอันเลวร้าย ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเติบโตขึ้นเป็นคนโหดโฉดชั่ว มองเป็นสัญลักษณแห่งโอกาสและความหวังใหม่ ทำให้คนรุ่นเก่ามีกำลังใจอดรนทนสู้ต่อ เฝ้ารอคอยวันได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง

ศาสนาเป็นอีกสิ่งที่ผู้เขียน Baldwin เกิดอคติต่อต้านรุนแรง คือสาเหตุผลหนึ่งทำให้มนุษย์เกิดความแบ่งแยกเลือกข้าง อ้างโน่นนี่นั่นตามหลักศีลธรรม แต่ชีวิตเกิดมาไม่ว่าจะดี-ชั่ว ถูก-ผิด การยินยอมรับความจริงปัจจุบันต่างหากคือสิ่งสำคัญสูงสุด

ผู้กำกับ Barry Jenkins ให้คำนิยามนวนิยาย/ภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ‘Love Letter to Harlem’ ความที่ตนเองมีอะไรหลายๆอย่างคล้ายคลึงผู้เขียน Baldwin พยายามครุ่นคิดหาทางออกของตนเอง ภาพยนตร์เปรียบเสมือน ‘ยา’ คอยบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดชอกช้ำระกำใจ

ว่าไปพี่แกปัจจุบันยังครองตัวเป็นโสด เคยให้สัมภาษณ์หลังรับชม Shoplifters (2018) ว่าเกิดความโหยหาซาบซึ้งครอบครัวที่ตนยังไม่เคยมีโอกาสประสบพบเจอ … หลายๆอย่างของ If Beale Street Could Talk สามารถมองได้คืออุดมคติ ความเพ้อใฝ่ฝัน สักวันอยากจะตกหลุมรักใครสักคนแบบนั้น ขอให้ได้เป็นจริงเข้าสักวันแล้วกันนะ


หนังใช้ทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบๆสามเท่าตัวจาก Moonlight (2016) แต่เพราะพลาดเข้าชิง Oscar: Best Picture ทำให้ดูแล้วคงไม่สามารถคืนทุนแน่ๆ ฉายมากสามเดือนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2019 ทำเงินในอเมริกาได้เพียง $14.4 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar สามสาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Supporting Actress (Regina King) ** คว้ารางวัล
– Best Adapted Screenplay
– Best Original Score

หนังถูก SNUB จากแทบทุกสาขาอื่นๆโดยเฉพาะ Best Picture ที่ปีนี้มีเพียง 8 เรื่องเท่านั้น น่าจะด้วยเหตุผลการเปรียบเทียบกับ Moonlight (2016) ความตราตรึงทรงพลังไม่มากเท่า อะไรๆเลยดูต่ำต้อยด้อยค่ากว่า

ส่วนตัวยก Moonlight ขึ้นแท่นหนึ่งในหนังโปรดเรียบร้อยแล้ว ลึกๆเลยรู้สึกผิดหวังใน If Beale Street Could Talk แต่คุณภาพยังคงจัดเต็ม ลุ่มลึกละเมียดไม ดั่งบทกวีพรรณาความรู้สึกของชาวผิวสี เจ็บปวดทุกข์ทรมาน สงสารเห็นใจ คงทำอะไรไม่ได้นอกจากเป็นกำลังใจให้

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ฉากที่แม่ (ตัวละครของ Regina King) เดินทางสู่ Puerto Rico พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อช่วยเหลือลูกสะใภ้ ถามตัวคุณเองจะสามารถทำอะไรแบบนั้นได้หรือเปล่า! ยินยอมรับลูกหลานท้องก่อนแต่ง และคอยอยู่เบื้องหลังผลักดันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นพ่อแม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอมุมมองการกระทำ …ไม่ใช่ว่าดี-ชั่ว หรือถูก-ผิด.. พบเห็นแบบไหนสาแก่ใจ ก็จงแสดงเช่นนั้นออกมา

จัดเรต 15+ กับการเหยียดหยาม ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ Sex Scene อันเร่าร้อนรุนแรง

คำโปรย | ผู้กำกับ Barry Jenkins พรรณาความรู้สึกของคนผิวสีผ่าน If Beale Street Could Talk กรีดร้องอย่างละเมียดไม
คุณภาพ | มี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Crash (2004)


Crash

Crash (2004) hollywood : Paul Haggis ♥♥♥♡

ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ฐานะ ชนชั้นทางสังคม เป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดการกระทบกระทั่ง กระแทก’ชน’กัน จนเกิดปฏิกิริยาโกรธ เกลียด เหยียดหยาม ไม่พยายามครุ่นคิดเข้าใจหัวอกผู้อื่น

ผมว่า Crash เป็นภาพยนตร์ที่เจ๋งมากๆเรื่องหนึ่ง คล้ายๆ Short Cuts (1993), Magnolia (1999) ฯ ร้อยเรียงเรื่องราวจากหลากหลายกลุ่มผู้คน ผสมผสานคลุกเคล้าให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมบางอย่าง ปัญหาคือการคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้าตัวเต็งหนึ่ง Brokeback Mountain (2005) เป็นความอัปยศเกือบๆที่สุดแห่งสถาบัน Academy Award

“Was [Crash] the best film of the year? I don’t think so. Crash, for some reason, affected people, it touched people. And you can’t judge these films like that. I’m very glad to have those Oscars. They’re lovely things. But you shouldn’t ask me what the best film of the year was because I wouldn’t be voting for Crash”.

– ผู้กำกับ Paul Haggis ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2015

นิตยสาร Film Comment เมื่อปี 2014 มีการจัดอันดับ Worst Winners of Best Picture Oscars ผลสำรวจปรากฎว่า
1) Crash
2) Slumdog Millionaire
3) Chicago


Paul Edward Haggis (เกิดปี 1953) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ London, Ontario ครอบครัวเป็นเจ้าของ The Gallery Theatre ตั้งแต่เด็กเลยเกิดความลุ่มหลงใหลในสายงานนี้ มีความชื่นชอบผู้กำกับ Alfred Hitchcock, Jean-Luc Godard หลังจากมีโอกาสรับชม Blowup (1966) ของ Michelangelo Antonioni มีความต้องการเป็นตากล้องแฟชั่น เข้าเรียนถ่ายภาพยัง Fanshawe College จบแล้วมุ่งสู่ Hollywood เริ่มต้นจากเขียนบทรายการโทรทัศน์ โปรดิวเซอร์ซีรีย์ โด่งดังจากดัดแปลงบท Million Dollar Baby (2004), และภาพยนตร์ Crash (2004)

แรงบันดาลใจของ Crash เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ผู้กำกับ Haggis ตื่นขึ้นกลางดึกหวนระลึกนึกถึงเมื่อหลายปีก่อน 1991 ขากลับจากเดินทางไปรับชม The Silence of the Lambs ถูกชายผิวสีสองคนดักโจรกรรมขโมยรถ Porsche กลายเป็นปม Trauma ฝังลึกในใจ โกรธเกลียดเหยียด ผ่านมาหลายปีจึงค่อยๆครุ่นคิดขึ้นเองได้ ทำไมฉันถึงเหมารวมคนดำทั้งหมดคือความชั่วร้าย

ร่วมงานกับนักเขียนขาประจำ Bobby Moresco พัฒนาบทภาพยนตร์เสร็จสิ้นในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นำไปพูดคุย Don Cheadle อาสาแสดงนำและเป็นโปรดิวเซอร์ช่วยหาทุนสร้างให้

เรื่องราวหลักๆของหนังประกอบด้วย
– นักสืบ Graham Waters (รับบทโดย Don Cheadle) เริ่มต้นกำลังมี Sex กับสาวละตินเพื่อนร่วมงาน แต่กลับไม่ครุ่นคิดสานสัมพันธ์ลึกซึ้ง สาเหตุเพราะมีแม่ติดยา ตำหนิต่อว่าตนเองทอดทิ้งน้องชาย Peter (รับบทโดย Larenz Tate) หนีออกจากบ้านกลายเป็นอาชญากรข้างถนน
– Farhad (รับบทโดย Shaun Toub) ชายสูงวัยชาวเปอร์เซีย และลูกสาว Dorri (รับบทโดย Bahar Soomekh) เดินทางไปซื้อปืนสำหรับป้องกันตัว เหตุเกิดเมื่อกลอนประตูร้านของพวกเขามีสภาพไม่ค่อยแข็งแรง ติดต่อนักซ่อมกุญแจ Daniel Ruiz (รับบทโดย Michael Peña) แต่ปัญหาอยู่ที่บานประตู สื่อสารไม่เข้าใจเป็นเหตุให้ค่ำคืนนั้นถูกโจรปล้นทำลายข้าวของ หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง
– ทนาย Rick Cabot (รับบทโดย Brendan Fraser) และภรรยา Jean (รับบทโดย Sandra Bullock) ถูกชายผิวสีสองคนปล้นชิงรถ SUV ไปต่อหน้าต่อตา แถมติดตามตัวไม่ได้เสียที สร้างความหวาดหวั่นสั่นกลัว หญิงสาวพบเห็นใครไม่ใช่ผิวขาวเหมารวมแสดงการเหยียดหยามออกมา
– Anthony (รับบทโดย Ludacris) ชายผิวสีผู้ต้องการร่ำรวยทางลัด ร่วมออกปล้นรถ SUV กับ Peter (รับบทโดย Larenz Tate) โดยมีเป้าหมายเฉพาะคันคนขาว แต่หนึ่งในเป้าหมายกลับเป็น Cameron Thayer (รับบทโดย Terrence Howard) ผู้กำกับภาพยนตร์ผิวสี รู้สึกผิดหวัง อับอายขายขี้หน้าต่อตนเองเป็นอย่างมาก
– นายตำรวจ John Ryan (รับบทโดย Matt Dillon) มีพ่อป่วยไม่สบายโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ วันนั้นขับรถสายตรวจร่วมกับ Tom Hansen (รับบทโดย Ryan Phillippe) เรียกจอดรถ SUV ของ Cameron Thayer และภรรยา Christine (Thandie Newton) หาข้ออ้างโน่นนี่นั่นทำการเหยียดหยามลวนลาม วันถัดมาโดยพบเห็นอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ พยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยเหลือ แต่คนติดอยู่ในนั้นคือ Christine
ฯลฯ

ในบรรดาทีมนักแสดง Ensemble Cast โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้น Matt Dillion ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เริ่มต้นมาด้วยการเป็นตำรวจจอมเหยียด สร้างความขยะแขยงโกรธเกลียดให้ใครหลายๆคน แต่ฉากถัดๆมาเมื่อตัวละครเริ่มเล่าถึงอดีต เบื้องหลัง ความทุกข์ทรมานของพ่อ และที่สุดคือให้ความช่วยเหลือหญิงสาวผิวสี … คนที่เขาลวนลามกับมือเองเมื่อคืนก่อน ให้ตายเถอะ! มันช่างเป็นวินาทีกลืนไม่เข้าคายไม่ออก บอกไม่ได้ว่าควรจะรู้สึกแสดงออกเช่นไรดี

จริงๆมีอีกคนต้องชื่นชมไม่แพ้กัน นั่นคือ Thandie Newton หญิงสาวผิวสีที่ถูกตัวละครของ Dillion ลูบไล้ลวนลาม หลังจากนั้นเต็มไปด้วยความขุ่นเคืองสามีที่กลับเพิกเฉยเฉื่อยชา นี่ฉันแต่งงานกับหมาข้างถนนหรืออย่างไร! ไฮไลท์เกิดขึ้นขณะประสบอุบัติเหตุติดอยู่ในรถ แม้หัวคว่ำหกคะเมนตีลังกา พอรับรู้ว่านายตำรวจที่กำลังช่วยเธอคือหมอนี่ วินาทีแรกย่อมปฏิเสธขัดขืน แต่ความเป็นตายกลับทำให้มนุษย์คลายอคติทั้งหมดสิ้นเคยมีมา

แซว: Sandra Bullock บทบาทน้อยสุดในหนัง ประมาณ 5 นาทีได้กระมัง แต่กลับค่าตัวสูงสุด แถมชื่นบนเครดิตบนสุดอีกต่างหาก!


ถ่ายภาพโดย J. Michael Muro สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ James Cameron ผลงานเด่นๆ อาทิ The Abyss, Terminator 2: Judgment Day, True Lies, คว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Dances with Wolves, Titanic

สไตล์ถนัดของ Muro คือใช้กล้อง Steadicam จัดแสงธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้โดดเด่นมากกับฉากกลางคืน ปรับโฟกัสระยะใกล้-ไกล พบเห็นแสงไฟกลมๆระยิบระยับประดับพื้นหลัง ราวกับดวงวิญญาณ ภยันตรายกำลังคืนคลานเข้าหา

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า ช่วงกลางๆเรื่องตัวละครของ … มีพูดถึงการขึ้นโดยสารรถประจำทาง

“You have no idea why they put them great big windows on the sides of buses, do you?

One reason only. To humiliate the people of color who are reduced to ridin’ on ’em”.

ปากดีหนักหนาว่าจะไม่มีวันปล้นรถ ทำร้ายคนผิวสีด้วยกันเอง แต่เมื่อผิดพลาดพลั้งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หมอนี่เลยโดยสารรถประจำทาง ยินยอมรับความอับอายขายขี้หน้าต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตัดต่อโดย Hughes Winborne สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Crash (2004), The Pursuit of Happyness (2006), The Help (2011), Guardians of the Galaxy (2014) ฯ

จุดหมุนของหนังคือเมือง Los Angeles ในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เริ่มต้นจากกลางคืนวันที่สอง ย้อนกลับไปเมื่อวาน และสิ้นสุดเหตุการณ์วันพรุ่งนี้

หนังประกอบขึ้นจากหลากหลายเรื่องราว/กลุ่มคน/สถานที่ ซึ่งการเชื่อมต่อเปลี่ยนฉาก มักมีบางสิ่งอย่างสำหรับส่งไม้ผลัด อาทิ
– กำลังขับรถผ่าน พบเห็นอีกเหตุการณ์จึงนำเข้าสู่เรื่องราวนั้น
– ตัวละครตรงรี่ไปเปิดประตู ตัดไปอีกเรื่องราวที่เริ่มต้นจากตอนเปิดประตู
ฯลฯ

สำหรับเพลงประกอบ เครดิตโดย Mark Isham นักทรัมเป็ต Synthesist สัญชาติอเมริกัน โดดเด่นแนว Jazz กับ Electronic สร้างสรรค์บทเพลงที่มีสัมผัสแห่งความเวิ้งว้างว่างเปล่า ราวกับสุญญากาศ จิตวิญญาณมนุษย์ค่อยๆถูกครอบงำด้วยบางสิ่งอย่าง ภยันตรายรายล้อมแทบทุกทิศทาง … แต่นั่นอยู่ที่มุมมองทัศนคติของตัวคุณเอง

คงไม่มี Soundtrack ไหนของหนังจะทรงพลังไปกว่า A Really Good Cloak ราวกับว่ามีเทพเทวดา เสื้อกันกระสุนล่องหนจริงๆปกคลุมเสียงกรีดร้องอย่างสโลโมชั่นและปฏิกิริยาสีหน้าอันตื่นตระหนัก ก่อนเด็กหญิงจะเงยหน้าขึ้นพูดประโยคอึ้งทึ่ง “It’s a really good cloak”.

แซว: มีคำวิจารณ์ใน Comment ของ Youtube ยกย่องฉากนี้ว่า “Most Wrenching Scenes in the history of American film”.

ชื่อหนัง Crash ไม่ใช่แค่ขับรถหรือเดินชนจนเกิดอุบัติเหตุ ยังหมายถึงการเผชิญหน้าระหว่างสองกลุ่ม อันก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจกัน ลุกลามบานปลายเหมารวมทั้งหมดว่าคือชนวนสาเหตุ

Crash นำเสนอเรื่องราวของคนผิวขาว-ผิวเหลือง-ผิวสี เอเชีย-เปอร์เซีย-ละติน ตำรวจ-อาชญากร ฐานะร่ำรวย-ยากจน สูงวัย-เด็กหญิง ทั้งหมดมีความแตกต่างเป็นพื้นฐาน ชนวนสาเหตุให้เกิดความขัดแย้ง โกรธเกลียดกลายเป็นเหยียด เหมารวมสิ่งร้ายๆทั้งที่เป็นเรื่องตัวบุคคล เมื่อถึงจุดๆหนึ่งถูกย้อนแย้งบางสิ่งเข้ากับตัว ถึงค่อยตระหนักครุ่นคิดขึ้นเองได้

สิ่งดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทุกสิ่งดีงาม-ชั่วร้ายที่ตัวละครกระทำในครึ่งแรก ล้วนส่งผลกระทบย้อนแย้งเข้ากับตัวในครึ่งหลัง
– ตำรวจจอมเหยียด ให้ความช่วยเหลือหญิงผิวสีที่ตนลวนลาม
– ตำรวจหนุ่มผู้มากด้วยอุดมการณ์ กลับเข่นฆ่าคนดีไม่ได้ครุ่นคิดร้ายประการใด
– อาชญากรลักขโมยรถ ปลดปล่อยแรงงานทาสผิดกฎหมาย
– ชายสูงวัยชาวอิหร่าน หงุดหงิดโทโสต่อคนซ่อมกุญแจ ตั้งใจจะยิงปืนขู่ฆ่า พลั้งพลาดโดนเด็กหญิง โชคดีกระสุนเปล่า สำนึกตัวได้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องสมควร
– หญิงสาวพูดจาเหยียดหยาม แสดงอาการหวาดกลัวเกรงชนชาติอื่นๆ เมื่อตกบันไดได้รับการช่วยเหลือจากคนรับใช้ คงเกิดความเข้าใจไม่ใช่ทุกคนจะชั่วร้ายเลวทราม
ฯลฯ

ไม่มีตัวละครไหนใน Crash ที่คือผู้ก่อเหตุ ทั้งหมดคือ ‘เหยื่อ’ ถูกกระทำจากบริบททางสังคม ผลพวงกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์หนึ่งสู่เหตุการณ์หนึ่ง พลังบวกกลายเป็นลบ ตั้งใจดีกลับได้ผลร้ายๆ หลังจากผ่านช่วงเวลาอันน่าอับอาย ทุกสิ่งอย่างจะกลับตารปัตรตรงกันข้าม

แม้หนังออกฉายเทศกาล Toronto International Film Festival ตั้งแต่ปี 2004 แต่สตูดิโอ Lions Gate ผู้จัดซื้อไม่ได้นำออกฉายปลายปีนั้น ล่วงเลยข้ามปี 2005 เลยได้ลุ้น Oscar อีกหนึ่งปีถัดมา


ด้วยทุนสร้าง $6.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $53.4 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $98.4 ล้านเหรียญ แม้ประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่เป็นหนังรางวัล Oscar: Best Picture ทำเงินน้อยสุดในอเมริกานับตั้งแต่ The Last Emperor (1987) [ก่อนตามด้วย The Hurt Locker (2008)]

เข้าชิง Oscar 6 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Supporting Actor (Matt Dillon)
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Original Song บทเพลง In the Deep

เกร็ด:
– Paul Haggis คือคนแรกคนเดียวที่เขียนบทหนังคว้ารางวัล Oscar: Best Picture สองปีติด (ปีก่อนจาก Million Dollar Baby)
– เรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้า Oscar: Best Picture แต่ไม่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Golden Globe Awards
– ชื่อหนังพยางค์เดียวจำนวนอักษรน้อยสุด เคียงข้าง Wings (1927)

ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่คว้า Oscar: Best Picture ผมเชื่อว่าน่าจะได้รับยกย่องสรรเสริญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา โดยเฉพาะการมาถึงของ #OscarSoWhite และ #MeToo มีใจความต่อต้านการเหยียด เหมารวมแทบทุกสิ่งอย่าง

แต่ประเด็นคือหนังคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้าตัวเต็งหนึ่ง Brokeback Mountain น่าจะด้วยสาเหตุเดียวเท่านั้น คือสมาชิก Academy ยังยินยอมเปิดรับเรื่อง ‘รักร่วมเพศ’ ไม่ได้ อคติเกิดขึ้นจากความเห็นต่าง เป็นโชคชะตากรรมของหนังที่แสน Ironic นักเชียว!

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้พอสมควรเลยละ จี๊ดมากๆตอนตำรวจจอมเหยียดให้ความช่วยเหลือสาวผิวสีที่ตนลวนลาม ความ Ironic ดังกล่าว สอนใจใครต่อใครไม่น้อยทีเดียว

แนะนำคอหนัง Drama แนววิพากย์สังคม แฝงข้อคิดดีๆต่อการใช้ชีวิต, นักตัดต่อ ผู้สร้างภาพยนตร์, รวมทีมนักแสดง Sandra Bullock, Don Cheadle, Matt Dillon, Terrence Howard, Thandie Newton ฯ

จัดเรต 18+ กับการเหยียดหยาม ลวนลาม พฤติกรรมอันน่าละอาย

คำโปรย | Crash เป็นภาพยนตร์ที่กระแทกกระทั้นผู้อื่นไปทั่ว แม้ด้วยความปรารถนาดี แต่ล้วนมีความเข้าใจผิดเสียๆหายๆ
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Shakespeare in Love (1998)


Shakespeare in Love

Shakespeare in Love (1998) hollywood : John Madden ♥♥♥♡

ร่วมค้นหาแรงบันดาลของ William Shakespeare ในการสรรค์สร้างผลงานชิ้นเอกก้องโลก Romeo and Juliet เรื่องคุณภาพก็ใช่ว่าย่ำแย่เลวร้ายประการใด แต่การคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้า Saving Private Ryan, The Thin Red Line, Life Is Beautiful มันช่างน่าพิศวงเสียจริง!

บุคคลผู้เรียกตนเองว่า ‘ศิลปิน’ มักสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ตนเองเป็นที่ตั้ง! William Shakespeare คงเฉกเช่นเดียวกันไม่แตกต่าง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้หาใช่อัตชีวประวัติ หรือมีหลักฐานอ้างอิงเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ทั้งหมด หลายๆส่วนคือการสมมติแต่งเติมขึ้นจากแนวโน้มความเป็นไปได้

“This film is entertainment, which doesn’t require it to be justified in the light of historical theory”.

– Tom Stoppard หนึ่งในนักเขียนบท

การตีความบทละคร Romeo and Juliet ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมว่ามันเจ๋งเป้งสร้างสรรค์มากๆเลยนะ ทำให้ความยากในการเข้าถึงผลงานอมตะก้องโลกนี้กลายเป็นของง่ายขึ้น (ถ้าสามารถดูเข้าใจ) ชีวิตจริงของ William Shakespeare อาจไม่ต่างอะไรกับหนังเรื่องนี้

เกร็ด: ช่วงชีวิตของ William Shakespeare ระหว่าง ค.ศ. 1585 – 92 มีคำเรียกว่า ‘Lost Year’ ไม่รู้ไม่ได้ถูกบันทึกหรือสูญหายไปแล้วอย่างไร้ร่องลอย นั่นทำให้ผู้สร้างสามารถประติดประต่อเรื่องราวเองโดยไม่ต้องอิงความถูกต้องมากมาย

ความน่าพิศวงของหนังเรื่องนี้ก็คือ ทำไมถึงได้ใจคณะกรรมการ Academy ปีนั้นอย่างล้นหลาม ถึงขนาดคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้าภาพยนตร์ระดับ Masterpiece เรื่องอื่นๆอย่างหน้าตาเฉย คงต้องอ้างคำกล่าวของตัวละคร “I don’t know. It’s a mystery”.

จุดเริ่มต้นของ Shakespeare in Love เกิดจากความคิดลูกชายของ Marc Norman เมื่อประมาณปลายทศวรรษ 80s ขีดๆเขียนๆบทร่างนำไปเสนอผู้กำกับ Edward Zwick และแนะนำ Julia Roberts ให้รับบทนำ แม้ชื่นชอบแนวคิดแต่ Zwick ไม่ประทับใจพล็อตเรื่องของ Norman เลยว่าจ้าง Tom Stoppard ให้มองหาแนวทางใหม่

หลังจากได้บทหนังที่น่าพึงพอใจ นำไปยื่นขอทุนสร้างได้จาก Universal จึงเริ่มต้น Pre-Production ตระเตรียมสร้างฉาก ตัดเย็บเครื่องแต่งกาย แต่ติดปัญหาที่ใครจะรับบทนำ William Shakespeare ด้วยความดื้อรั้นของ Julia Roberts เรียกร้องอยากได้ Daniel Day-Lewis แต่เขาบอกปัดปฏิเสธไม่ใคร่สนใจ กำลังง่วนอยู่กับ In the Name of the Father (1993) ทำให้เธอถอนตัวออกจากหนังเพียง 6 สัปดาห์ก่อนหน้าถ่ายทำ และ Universal ยกเลิกให้ทุนตามมาด้วย

เพราะลงทุนลงแรงไปมากแล้ว Zwick เลยเร่งรีบร้อนหาสตูดิโอใหม่ โชคดีได้ Miramax แสดงความสนใจ แต่บอสใหญ่ Harvey Weinstein กลับล็อบบี้ให้ John Madden ต้องเป็นผู้กำกับเท่านั้น! ก็ยังดีกว่าไม่ได้สร้าง Zwick จึงยินยอมถอยได้เครดิตโปรดิวเซอร์

John Philip Madden (เกิดปี 1949) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Portsmouth, Hampshire เรียนจบสาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ Sidney Sussex College, Cambridge เริ่มต้นทำงานโทรทัศน์ กำกับบางตอนซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Ethan Frome (1993), ได้รับคำชมอย่างมากกับ Mrs. Brown (1997) เรื่องราวความสัมพันธ์พิศวาสระหว่าง Queen Victoria (รับบทโดย Judi Dench) กับคนรับใช้เลี้ยงม้า … นั่นคือสาเหตุให้เข้าตา Weinstein ชักชวนให้มากำกับ Shakespeare in Love (1998)

พื้นหลังกรุงลอนดอน ค.ศ. 1593, William Shakespeare (รับบทโดย Joseph Fiennes) ขณะนั้นเป็นนักเขียนดาวรุ่ง กำลังเริ่มต้นพัฒนาบทละครสุขนาฎกรรมเรื่องใหม่ Romeo and Ethel, the Pirate’s Daughter แต่กำลังประสบปัญหา Writer’s Block ครุ่นคิดอะไรไม่ออก จนกระทั่งพบเจอตกหลุมรัก Viola de Lesseps (รับบทโดย Gwyneth Paltrow) บุตรสาวพ่อค้าฐานะร่ำรวย หมั้นหมายอยู่แล้วกับ Lord Wessex (รับบทโดย Colin Firth) หลาน/เหลนของ Queen Elizabeth I (รับบทโดย Judi Dench) ถึงกระนั้นเรื่องของความรักหาได้เกี่ยวกับชนชั้น ฐานะ ชาติตระกูล นำเหตุการณ์ต่างๆที่ประสบพบเจอ ปรับประยุกต์กลายเป็นบทละครโศกนาฎกรรม Romeo and Juliet


นำแสดงโดย Joseph Alberic Twisleton-Wykeham-Fiennes (เกิดปี 1970) นักแสดงสัญชาติอังกฤ เกิดที่ Salisbury, Wiltshire น้องชายของ Ralph Fiennes โตขึ้นได้เข้าร่วม Young Vic Youth Theatre ตามด้วยเรียนการแสดงยัง Guildhall School of Music and Drama เริ่มต้นละครเวที West End รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Stealing Beauty (1996), Elizabeth (1998), Shakespeare in Love (1998) ฯ

รับบท William Shakespeare ชายหนุ่มหล่อไฟแรง ฮอร์โมนกำลังพลุกพร่าน แต่ขณะนั้นประสบปัญหา Writer’s Block ต้องการแรงบันดาลใจจากหญิงสาว พบเจอตกหลุมรัก Viola de Lesseps แม้มากด้วยความแตกต่างทางฐานะ ชนชั้น วงศ์ตระกูล ก็ไม่ใช่อุปสรรคปัญหา เพราะสิ่งสำคัญสุดคือความต้องการภายในจิตใจ ถ้าเธอตอบรับมาแค่นั่นก็เพียงพอพึงปรารถนา

หลังจาก Daniel Day-Lewis ปฏิเสธไม่รับบท Zwick คัดเลือกนักแสดงใหม่ได้ Joseph Fiennes ประกบ Gwyneth Paltrow แต่พอหนังย้ายค่ายมา Miramax โปรดิวเซอร์ Harvey Weinstein ต้องการล็อบบี้ให้ Ben Affleck ขึ้นมาแทน เจ้าตัวบอกปัดสนใจอยากรับอีกบทบาทมากกว่า เรียกว่าโชคยังเข้าข้างให้ Fiennes ได้โอกาสเล่นหนังเรื่องนี้

การแสดงของ Fiennes ค่อนข้างประดิษฐ์ประดอย ทึ่มทื่อตรงไปตรงมา หยาบกระด้าง พอสังเกตได้ว่ารับอิทธิพลจากละครเวทีค่อนข้างมาก ขัดแย้งตรงกันข้ามกับการแสดงของ Paltrow ที่มีความเป็นธรรมชาติลื่นไหล ถ่ายทอดตัวตนออกมาจากภายใน … นี่อาจเป็นความจงใจของผู้สร้าง แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างตรงกันข้าม แต่ถ้าใจยังรักก็สามารถเอาชนะทุกสิ่ง


Gwyneth Kate Paltrow (เกิดปี 1972) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles บุตรสาวคนโตของ Bruce Paltrow และ Blythe Danner พ่อเชื้อสายยิว แม่นับถือคาทอลิก เติบโตขึ้นในบรรยากาศสองศาสนา มีพ่อทูนหัวคือ Steven Spielberg, เริ่มเข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงโทรทัศน์ที่พ่อกำกับ High (1989) ติดตามแม่สู่ละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Shout (1991), Hook (1991), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Se7ev (1995) ครองรักกับ Brad Pitt อยู่ระยะหนึ่ง

รับบท Viola de Lesseps บุตรสาวของพ่อค้าฐานะร่ำรวย ได้รับการเลี้ยงดูแบบนกในกรง วันๆเอาแต่อ่านหนังสือจึงหลงใหลบทกวี ละครเวที เพ้อฝันต้องการเป็นนักแสดง, วันหนึ่งพบเจอตกหลุมรักถ้อยคำหวานของ William Shakespeare แม้ตนเองถูกหมั่นหมายไว้ก่อนแล้วกับ Lord Wessex แต่เรื่องอะไรต้องยินยอมคล้อยตาม ตัดสินใจทำสิ่งที่ตนปรารถนา ตอบสนองเสียงเพรียกแห่งรัก สามารถเอาชนะทุกสิ่งอย่าง

ก่อนหน้านี้ Paltrow เคยได้รับการว่าจ้างจาก Harvey Weinstein แสดงนำเรื่อง Emma (1996) ระหว่างนั้นมีค่ำคืนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว อยู่ในห้องบนโรงแรมสองต่อสองกำลังจะถูกลวนลาม ก็ไม่รู้เอาตัวรอดไม่รอดมาได้อย่างไร นำความไปบอกแฟนหนุ่มขณะนั้น Brad Pitt

“If you ever make her feel uncomfortable again, I’ll kill you”.

– Brad Pitt เผชิญหน้ากับ Harvey Weinstein

สำหรับ Shakespeare in Love ไม่เคยอยู่ในความสนใจของ Paltrow กระทั่งชายตาเห็นบทหนังวางอยู่ในห้องของ Winona Ryder หยิบยืมขอมาอ่าน คัดเลือกนักแสดง ฉกแย่งชิงบทนำมาได้ … ทั้งสองหลังจากนั้นไม่เคยนัดพบเจอหน้า พูดคุยสนทนากันอีกเลย

พอได้ตอบรับบทนำ Paltrow มีเรื่องให้ต้องเลิกรา Brad Pitt สภาพจิตใจหดหู่ซึมเศร้าหมอง ไม่คิดว่าจะเล่นหนังได้อีกแล้ว แต่ถูกโน้มน้าวโดยโปรดิวเซอร์ Paul Webster บอกให้ทุ่มเททุกสิ่งอย่างใส่ลงไปไม่ต้องสนอะไรอื่น ยินยอมคล้อยตาม ที่เหลือคือประวัติศาสตร์!

นี่อาจเป็นบทบาทดีสุดในชีวิตของ Paltrow เพราะสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณแท้จริงของเธอเอง ไม่ต่างอะไรกับเจ้าหญิง ไฮโซ นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ อยากได้ต้องได้ อยากทำต้องทำ ไม่แคร์อะไรทั้งนั้น ฉันคือศูนย์กลางจักรวาล! นั่นทำให้เคมีกับ Joseph Fiennes มีความเร่าร้อนรุนแรงพิศวาส ไม่ว่าจะแต่งหน้าชาย-หญิง อยู่สองต่อสองเมื่อไหร่ต้องถาโถมเข้าใส่

หลายคนอาจมองว่า Paltrow ไม่เหมาะสมจะได้ Oscar: Best Actress ปีนั้น แต่เธอคือตัวเต็งหนึ่งเลยนะ กวาดรางวัลมาตั้งแต่ Golden Globe, SAG Award คู่แข่งสำคัญมีเพียง Cate Blanchett จาก Elizabeth (1998) เท่านั้นเอง, มันคืออคติจากนิสัยส่วนตัวของเธอมากกว่า หัวสูง เย่อหยิ่งผยอง เห็นแก่ตัว ที่ทำให้ใครๆไม่ค่อยชื่นชอบพอ เลิกรากับ Brad Pitt เป็นอะไรที่โง่งี่เง่าบรม!

สำหรับนักแสดงสมทบ ขอกล่าวถึงโดยคร่าวๆแล้วกันนะ
– Geoffrey Rush รับบท Philip Henslowe เจ้าของโรงละคร The Rose Theatre เริ่มต้นมาถูกเผารองเท้าบูท บทบาทค่อยๆเลือนหาย แต่ได้รับการจดจำอีกทีก็เมื่อพูดประโยคซ้ำๆ “I don’t know. It’s a mystery”.
– Colin Firth รับบท Lord Wessex เป็นการแสดงมิติเดียวคือโหดโฉดชั่วร้าย โกรธเกลียดเคียดแค้นต้องการเข่นฆ่า William Shakespeare ที่พยายามเกี้ยวพาคู่หมั้นหมาย Viola de Lesseps แต่กลับเข้าใจผิดตัวเป็น Christopher ‘Kit’ Marlowe ผู้โชคร้าย สุดท้ายอับอายขายขี้หน้าเพราะตัณหาของตนเอง
– Ben Affleck รับบท Ned Alleyn นักแสดงผู้วางมาดเก็ก มี Charisma ที่ดูโหดโฉดชั่วร้าย (คือกระจกสะท้อน Lord Wessex) ครุ่นคิดว่าตนเองคงได้รับบทเยอะๆ แต่กลับน้อยนิดคอยแย่งซีนเสียมากกว่า
– Judi Dench รับบท Queen Elizabeth I จัดเต็มเสื้อผ้าหน้าทรงผม วางตัวได้อย่างสูงศักดิ์ การแสดงแทบไม่ขยับเขยื้อนไปไหน พูดไม่กี่ประโยคแต่สร้างความโดดเด่นน่าสนใจให้ตัวละคร เพียงพอคว้า Oscar: Best Supporting Actress ซะงั้นอ่ะ!

เกร็ด: นิตยสาร Slate Magazine รายงานเมื่อปี 1999 ตอนที่ Queen Elizabeth II กำลังจะแต่งตั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ให้ Prince Edward ทีแรกครุ่นคิดไว้คือ Duke of Cambridge แต่หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ พระองค์ทรงขอให้พระชนนีเปลี่ยนเปลี่ยน Earl of Wessex ซึ่งสูญไปจากอังกฤษตั้งแต่ปี 1066 โดย Harold Godwinson กลายเป็น King Harold II


ถ่ายภาพโดย Richard Greatrex ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Mrs Brown (1997), Shakespeare in Love (1998), A Knight’s Tale (2001), The Upside of Anger (2005) ฯ

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริง บริเวณกรุงลอนดอน ประกอบด้วย
– Broughton Castle,  Oxfordshire
– Holkham Hall and Estate, Norfolk
– Hatfield House, Hertfordshire
– ส่วนฉากภายใน สร้างขึ้นยัง Shepperton Studios
ฯลฯ

การถ่ายภาพต้องชมเลยว่ามีความลื่นไหลโฉบเฉี่ยว เคลื่อนจากหน้าไปหลังเวทีราวกับไม่มีอะไรกีดกั้นขวาง บ่อยครั้งหมุนรอบตัวละครแทบจะ 360 องศา ใช้ทั้งรางเลื่อน ดอลลี่ เครนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด!

ถ้าให้เปรียบเทียบลักษณะการถ่ายภาพ ดูเหมือนสายลมพัดพาความกระชุ่มกระชวย กลิ่นอายความรักจากปลายศตวรรษที่ 16 มาให้ผู้ชมยุคสมัยปัจจุบันได้ซึมซับสัมผัสรสชาติความหวานหอมอร่อย

ใครเคยรับชม Romeo and Juliet (1968) ของผู้กำกับ Franco Zeffirelli [ฉบับได้รับการกล่าวขวัญว่ายอดเยี่ยมที่สุด] น่าจะคุ้นเคยกับหลายๆฉาก อาทิ โรแมนติกตรงระเบียง, พบเจอเต้นรำ ฯ ถือเป็นการเคารพคารวะหนังเรื่องนั้นเลยก็ว่าได้

หลายๆอย่างของหนังเป็นการผสมผสานคลุกเคล้าจากบทละครเรื่องอื่นๆของ Shakespeare ที่ล้วนได้รับความนิยมในยุคสมัยนั้น อาทิ
– การสลับเพศ Cross-Dressing
– (ราชินี)ปลอมตัว
– เข้าใจชื่อตัวละครผิด
– ต่อสู้ด้วยดาบ (Sword Fight)
– ลักลอบมีชู้
– การปรากฎตัวของผี
– ละครในละคร (Play within a play)
ฯลฯ

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Sandy Powell เจ้าแม่แห่งยุคสมัย Period ผลงานเด่นๆ อาทิ Gangs of New York (2002), The Young Victoria (2009), Carol (2015), Mary Poppins Returns (2018), The Favourite (2018) ฯ

ยุคสมัยของหนังคือ Elizabethan จุดเด่นคือ Ruff ผ้าที่พับเป็นแผงใช้สวมรวบคอ ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งชาย-หญิง ในช่วงศตวรรษ 16-17 ความอลังการของชุดจะสะท้อนฐานะชนชั้นทางสังคม พระราชินีก็จะเว่อวังอลังการแบบนี้แหละ กว่าจะแต่งหน้าขาวสวมใส่เสร็จคงไม่ต่ำกว่าชั่วโมงหนึ่งแน่ๆ

ผมว่าฉากนี้แหละที่ทำให้ Judi Dench คว้า Oscar: Best Supporting Actress จากการพูดประโยคสองแง่สองง่าม เรียกเสียงหัวเราะได้ฮากริบ

“Have her then, but you’re a lordly fool. She’s been plucked since I saw her last, and not by you… it takes a woman to know it”.

ตัดต่อโดย David Gamble สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Shakespeare in Love (1998), Veronica Guerin (2003), Shopgirl (2005)

สอดคล้องรับการถ่ายภาพที่เคลื่อนไหลไปเรื่อยแทบไม่มีหยุดนิ่ง ตัดต่อก็เช่นกันมีความรวดเร็วฉับไว แทนได้ด้วยฮอร์โมนอันพลุกพร่าน ความต้องการรักของ William Shakespeare

หลายครั้งมีการตัดต่อสลับไปมาระหว่างสิ่งที่ Shakespeare ประสบพบเจอเข้ากับตัว กับเรื่องราวบทละครที่กำลังซักซ้อมตระเตรียมการแสดง นี่เป็นการชี้ชักนำให้เห็นว่า ผลงานของศิลปินมักคัทลอกนำจากชีวิตจริง!


เพลงประกอบโดย Stephen Warbeck สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Mrs. Brown (1997), Shakespeare in Love (1998), A Christmas Carol (1999), Billy Elliot (2000) ฯ

บทเพลงคละคลุ้งหอมกรุ่นด้วยกลิ่นอายความรัก ชักนำพาให้ฮอร์โมนวัยรุ่นพลุกพร่านพล่าน จิตวิญญาณเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส เพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน ต้องการทำทุกสิ่งอย่างให้เสร็จสำเร็จสมหวังดั่งใจปอง

 

ทุกสิ่งอย่างล้วนมีที่มาที่ไป! William Shakespeare ศิลปินเอกของโลกก็เฉกเช่นกัน เวลาสร้างสรรค์ผลงานย่อมต้องมีแรงบันดาลใจ เขียนเรื่องราวบทละครจากประสบการณ์ตรง พบเห็นเข้ากับตา หรือได้รับมาส่วนตัว ถึงสามารถถ่ายทอดผ่านสื่อถนัด ออกมากลายเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่

สุนทรภู่ก็เฉกเช่นกันนะครับ ได้รับฉายา ‘เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย’ (เกิดหลังเกือบๆสองศตวรรษ) ทุกๆผลงาน นิราศ กาพย์ กลอน ฉันท์ ฯ ล้วนนำจากประสบการณ์ตรง พบเห็นเข้ากับตา หรือได้รับมาส่วนตัว นำมาเรียงร้อยรังสรรค์ด้วยลีลาภาษาถนัด ใครๆพบเห็นต่างตระหนักถึงความสูงส่งเลิศเลอค่า กาลเวลามิอาจแปรสภาพบ่อนทำลาย คงอยู่คลาสสิกตราบชั่วนิจนิรันดร์

เรื่องราวของ Shakespeare in Love และ Romeo and Juliet นำเสนอโชคชะตาแห่งความรัก หนุ่ม-สาวเกิดในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด แบ่งแยกด้วยชนชั้น ฐานะ วงศ์ตระกูล สองครอบครัวเป็นศัตรูคู่อาฆาต ไม่มีทางอยู่ร่วมปรองดองจับมือ ยินยอมรับนับถือกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้ขัดแย้ง ต้องเข่นฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง!

สิ่งแตกต่างระหว่าง Shakespeare in Love กับ Romeo and Juliet คือผลลัพท์ตอนจบ จากควรเป็นโศกนาฎกรรมกลับสวรรค์บันดาล Happy Ending มันช่างเพ้อฝัน โลกสวย สไตล์ Hollywood เกินไปเสียหน่อย (ให้โบ้ยความผิดทั้งหมดไปที่ Harvey Weinstein เลยนะครับ)

ถึงกระนั้นเราสามารถมองการจบแบบ Happy Ending เป็นการเคารพคารวะ แสดงความรักต่อ William Shakespeare เห็นเขียนแต่เรื่องราวโศกนาฎกรรม ชีวิตคงพานผ่านความทุกข์โศกมามาก สักครั้งหนึ่งประไรได้พบเจอสุขนาฎกรรม ตอนจบมีโอกาสครองรักหญิงสาว เติมเต็มสิ่งขาดหาย และก้าวเดินครั้งต่อไปกับ Twelfth Night


ด้วยทุนสร้าง $25 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $100.3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $289.3 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม

เข้าชิง Oscar 13 สาขา คว้ามา 7 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Actress (Gwyneth Paltrow) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Geoffrey Rush)
– Best Supporting Actress (Judi Dench) ** คว้ารางวัล
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Art Direction ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design ** คว้ารางวัล
– Best Makeup
– Best Sound
– Best Original Musical or Comedy Score ** คว้ารางวัล

เกร็ด:
– ครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ Judi Dench และ Cate Blanchett ต่างเข้าชิง Oscar ในบทบาท Queen Elizabeth แต่จากหนังคนละเรื่อง!
– Judi Dench คว้า Oscar: Best Supporting Actor ด้วยการปรากฎตัวเพียง 6 นาทีจาก 4 ซีน สั้นสุดอันดับสองรองจาก Beatrice Straight เรื่อง Network (1976) ว่ากันว่าเป็นการยกผลประโยชน์ให้จำเลย เพราะปีก่อนเธอพลาดรางวัล Best Actress จากเรื่อง Mrs. Brown (1997) แบบไม่น่าให้อภัย
– ความที่หนังมีโปรดิวเซอร์ถึง 5 คน ขึ้นรับรางวัล Oscar: Best Picture ทำให้ปีถัดมาออกกฎเข้มให้ได้เพียง 3 คน แต่ก็เริ่มหย่อนยานอีกครั้งหลังปี 2007 (สาเหตุเพราะ Little Miss Sunshine)

ไม่ใช่ว่า 1998 เป็นปีที่คุณภาพหนังเลวร้ายย่ำแย่ประการใด แต่การมาถึงของภาพยนตร์แนวสงครามถึงสามเรื่องติด Saving Private Ryan, The Thin Red Line และ Life Is Beautiful มันทำให้คนเบื่อหน่ายโดยง่าย ซึ่งมีเพียง Shakespeare in Love มอบความบันเทิงผ่อนคลาย แถมยังเชิดชูศาสตร์การแสดงละครเวที มันเลยมีความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ต่อผู้ชมมวลรวมมากกว่า … จริงๆถือว่าเป็นตัวเต็งหนึ่งมาตั้งแต่คว้า Golden Globes: Best Motion Picture – Comedy or Musical และ BAFTA Award: Best Film ไม่ได้ผิดคาดอะไรมากมาย

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง ประทับใจการตีความบทละคร Romeo and Juliet ในลักษณะที่รู้สึกว่าใช่ เหมาะสมควรเป็น! แม้รำคาญมุกตลกฝืดผิดที่ผิดทางบ้างแต่ก็ไม่เป็นไร การแสดงของ Gwyneth Paltrow ก็มิได้ขี่เหล่ประการใด

ถึงกระนั้นการคว้า Oscar: Best Picture ทำให้หนังถูกตีตรา ถีบส่ง เทียบคุณภาพไม่ได้กับ Saving Private Ryan, The Thin Red Line หรือแม้แต่ Life Is Beautiful ลึกๆก็แอบสงสารเห็นใจ ถ้าไม่ได้รางวัลคงได้รับการจดจำยิ่งกว่านี้แน่

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก พีเรียต ยุคสมัย Elizabethan, ชื่นชอบบทละคร Romeo and Juliet ของ William Shakespeare, นักเขียน นักแสดง ทำงานในวงการบันเทิง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ, รวมนักแสดงดัง Gwyneth Paltrow, Joseph Finnes, Geoffrey Rush, Colin Firth, Ben Affleck และ Judy Dench ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับรักๆใคร่ๆ ทรยศหักหลัง โศกนาฎกรรม

คำโปรย | Shakespeare in Love ตีความแรงบันดาลใจของ Romeo and Juliet ได้งดงาม แต่ไดเรคชั่นของหนังมีความฉาบฉวยเกินไปนิด
คุณภาพ | งดงามแบบฉาบฉวย
ส่วนตัว | ค่อนข้างชอบ

Out of Africa (1985)


Out of Africa

Out of Africa (1985) hollywood : Sydney Pollack ♥♥♥♡

แม้ถูกจัดเป็นหนึ่งใน Worse Oscar: Best Picture แต่ความงดงามผืนแผ่นดิน East Africa การแสดงชั้นเลิศของ Meryl Streep และเพลงประกอบสุดฟินโดย John Barry จักทำให้คุณอิ่มหนำสุขสำราญ แม้ด้วยความอืดอาดเชื่องช้า 161 นาที

ถึงผมไม่มีปัญหากับความยาวเกือบๆสามชั่วโมงของหนัง แต่รู้สึกได้ว่าต้องสร้างปัญหาให้ผู้ชมรุ่นใหม่ที่บริโภคความรวดเร็วฉาบฉวย เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Out of Africa จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน Worse Oscar: Best Picture แต่ถ้าคุณสามารถผ่านจุดเบื่อหน่ายนั้นไปได้ จักพบเห็นความงดงามอลังการของผืนธรรมชาติ หารับชมแทบไม่ได้แล้วแล้วในยุคปัจจุบัน

สิ่งควรทำควบคู่ไปด้วยกับการอ่านบทความนี้ คือรับฟัง Main Theme แต่งโดย John Barry ไพเราะงดงามราวกับบทกวี พรรณาถึงผืนธรรมชาติแอฟริกันอันกว้างใหญ่ไพศาล จินตนาการเห็นยีราฟ ม้าลาย ควายป่า ฯ สรรพสัตว์มากหลากหลายอาศัยอยู่ร่วม และมนุษย์ตัวเล็กๆ อ่อนแอสุดกลับสามารถต่อสู้เอาชนะได้ทุกสิ่งอย่าง

Sydney Irwin Pollack (1934 – 2008) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lafayette, Indiana ในครอบครัว Russian-Jewish ตอนเด็กวาดฝันอยากเป็นหมอ (พ่อเป็นเภสัชกรขายยา) แต่เปลี่ยนใจมาเรียนการแสดงที่ Neighborhood Playhouse School of the Theatre ได้อาจารย์ Sanford Meisner หลังกลับจากรับใช้ชาติ ทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับบทของ John Frankenheimer, จากนั้นกำกับซีรีย์เป็นตอนๆ อาทิ The Twilight Zone (1961), The Fugitive, The Alfred Hitchcock Hour, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Slender Thread (1965), แจ้งเกิด They Shoot Horses, Don’t They? (1969), ประสบความสำเร็จสูงสุด Tootsie (1982) และ Out of Africa (1985)

ต้นฉบับ Out of Africa (1937) คือบันทึกความทรงจำ/ชีวประวัติ Baroness Karen Christenze von Blixen-Finecke (1885 – 1962) นักเขียนหญิงสัญชาติ Danish ใช้นามปากกา Isak Dinesen

ชีวิตวัยเด็กของ Karen สนิทสนมกับบิดา Wilhelm Dinesen เป็นนักเขียนนิยาย เลี้ยงดูแบบชอบพาไปท่องเที่ยวผจญภัย ศึกษาธรรมชาติ ต้นไม้ สังเกตพฤติกรรมสัตว์ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เด็กเลยมีนิสัยแก่นแก้ว เอาแต่ใจ แทบไม่ต่างอะไรกับผู้ชาย แต่พอเธออายุ 10 ขวบ พ่อกลับฆ่าตัวตายเพราะป่วยโรคซิฟิลิสกลัวอาการวิกลจริต จากนั้นอาศัยอยู่กับแม่ โตขึ้นได้ฝึกงานที่ Oxford หมั้นหมายกับ Baron Bror von Blixen-Finecke และอพยพย้ายสู่ประเทศเคนย่า ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1913-34

มีความพยายามดัดแปลงชีวประวัติของ Baroness Karen von Blixen เป็นภาพยนตร์มาแสนนาน ผู้กำกับดังๆให้ความสนใจ อาทิ Orson Welles, David Lean, Nicolas Roeg จนแล้วจนรอดไม่ประสบความสำเร็จสักที เพราะหนังสือ Out of Africa แทบไม่มีเนื้อหาอะไรจับต้องได้ จนกระทั่งการมาถึงของ Sydney Pollack หลังเสร็จจาก Tootsie (1982) ใช้เวลาเกือบๆสองปีร่วมกับนักเขียนขาประจำ Kurt Luedtke พัฒนาบทโดยคลุกเคล้าเข้ากับ
– Shadows on the Grass (1961) หนังสืออีกเล่มของ Isak Dinesen รวบรวมเรื่องสั้น ชีวิตประจำวันในประเทศ Kenya
– หนังสือชีวประวัติ Isak Dinesen: The Life of a Story Teller แต่งโดย Judith Thurman
– และชีวประวัติอีกเล่ม Silence Will Speak ของ Errol Trzebinski

Karen Dinesen (รับบทโดย Meryl Streep) ติดตามว่าที่สามี Baron Bror von Blixen (รับบทโดย Klaus Maria Brandauer) อพยพย้ายสู่ Nairobi, British East Africa เมื่อปี 1913 ตอนแรกตั้งใจทำฟาร์มปศุสัตว์ แต่พอพบเห็นสถานที่เลยเปลี่ยนมาปลูกไร่กาแฟ ระหว่างนั้นมีโอกาสพบเจอผู้ดีชาวอังกฤษ Denys Finch Hatton (รับบทโดย Robert Redford) แม้ไปๆมาๆไม่ค่อยหยุดอยู่นิ่งกับที่ กลับค่อยๆตกหลุมรักหลงใหล กระทั่งวันหนึ่งเธอติดโรคซิฟิลิส ไม่ต้องสืบความสามีก็ล่วงรับรู้ความจริงได้ ฉะนั้นเลยไม่ผิดอะไรถ้าฉันจะคบชู้นอกใจ!


นำแสดงโดย Mary Louise ‘Meryl’ Streep (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ได้รับการยกย่องว่า ‘Best Actress of her Generation’ เกิดที่ Summit, New Jersey พ่อมีเชื้อสาย German, Swiss ตอนเด็กเป็นเชียร์ลีดเดอร์, แสดงละครเวทีโรงเรียน แต่ไม่คิดจริงจังจนกระทั้งนำแสดงเรื่อง Miss Julie สร้างความตกตะลึงสมจริงให้กับทุกคน เลยตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Yale School of Drama จบออกมาเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที Broadway จนประสบความสำเร็จคว้า Tony Award: Best Actress เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากความประทับใจ Robert De Niro เรื่อง Taxi Driver (1976), ผลงานเรื่องแรก Julia (1977), โด่งดังพลุแตกกับ The Deer Hunter (1978) [ได้ร่วมงานกับ Idol ของตนเอง], ปีเดียวกันแสดง mini-Series เรื่อง Holocaust (1978), บทเล็กๆใน Manhattan (1979), และคว้า Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง Kramer vs. Kramer (1979)

รับบท Baroness Karen von Blixen หญิงสาวผู้มีความแก่นแก้ว เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ แถมยังมั่นใจในตนเองสูง ไม่สนกฎระเบียบขนบวิถีทางสังคม อยากได้อะไรต้องได้ในวิถีทางของฉัน โลกทั้งใบต้องหมุนรอบตนเอง, การแต่งงานกับ Baron Bror von Blixen เริ่มต้นด้วยผลประโยชน์ ขณะกำลังพัฒนาสู่ความรักกลับติดโรคซิฟิลิสทำให้สูญเสียความมั่นใจ หวนกลับมาใหม่ลุ่มหลงใหล Denys Finch Hatton ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเขา แต่ผู้ชายแบบนี้ก็เหมือนเสือ ต่อให้เลี้ยงดูอย่างดีในกรงขังก็ไม่มีวันเชื่องความสัมพันธ์

Streep ไม่ใช่นักแสดงที่อยู่ในความสนใจของผู้กำกับ Pollack ด้วยเหตุผลว่า เธอไร้ซึ่ง ‘Sex Appeal’ รู้ถึงเจ้าตัวมาทดสอบหน้ากล้องสวมใส่ Low-Cut Blouse กับ Push-Up Bra (เป็นยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ!)

การแสดงของ Streep ต้องเรียกว่า ‘never better!’ อยู่ในช่วงกำลังท็อปฟอร์ม แต่คำนี้สองแง่สองง่าม มองได้สองความหมายคือ ยอดเยี่ยมไร้ตำหนิ และที่สุดก็เท่านี้แหละ ไม่ดีเลิศไปกว่านี้! สิ่งโดดเด่นเป็นพิเศษรู้สึกจะทรงผมอันกระเซอะกระเซิง และริมฝีปากมักเปิดอ้าเล็กๆขณะกำลังพยายามทำความเข้าใจบางสิ่งอย่าง แต่มีครั้งหนึ่งตอนเสือกระโจนเข้าหา ขบกัดจนเป็นแผลเลือดออก นั่นสะท้อนความเครียดกดดันสะสมอัดอั้นอยู่ภายในจิตใจตัวละคร

ปัญหาเดียวในชีวิตของ Streep คือเธอขาด Sex Appeal แบบที่ผู้กำกับ Pollack ว่านะแหละ เรื่องฝีมือนั้นไร้ข้อกังขา แต่ภาพลักษณ์ดูธรรมดาสามัญไปหน่อย คือถ้าหนังได้นักแสดงอย่าง Greta Garbo หรือ Katharine Hepburn (ช่วยวัยกลางๆคน)มารับบทนี้ละก็ เชื่อว่ามีความโดดเด่นน่าหลงใหลกว่ากันมาก


Charles Robert Redford Jr. (เกิดปี 1936) นักแสดง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California สมัยเด็กชื่นชอบศิลปะและกีฬา โตขึ้นเข้าเรียน University of Colorado ไม่ทันจบหนีไปเที่ยวยุโรป ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี กลับมาเรียนวาดรูปที่ Pratt Institute, Brooklyn ตามด้วยการแสดงที่ American Academy of Dramatic Arts, New York City เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadways ตามด้วยแสดงซีรีย์โทรทัศน์ จนได้เข้าชิง Emmy Award: Best Supporting Actor, ภาพยนตร์เรื่องแรก Tall Story (1960) เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Chase (1966), Barefoot in the Park (1967), โด่งดังกับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), Downhill Racer (1969), The Sting (1973), All the President’s Men (1976) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Ordinary People (1980) คว้า Oscar: Best Director

รับบท Denys Finch Hatton ผู้ดีชาวอังกฤษที่ชอบเร่ร่อนพเนจรไปทั่ว East Africa เปรียบได้กับเสือ/ราชสีห์ ไม่สามารถเลี้ยงดูปูเสื่อ สอนให้เชื่องแล้วจะไม่ย้อนแย้งกัด ทุกๆหลายวันต้องออกท่องโลกกว้าง ก็ไม่รู้ทำอะไรแต่นั่นคืออิสรภาพแห่งชีวิต หยุดอยู่นิ่งปักหลักกับที่ไม่ได้ เหมือนจะขาดใจตายทั้งเป็น

แม้ภาพลักษณ์ของ Redford จะดูเหมาะสมกับตัวละครเถื่อนๆ ดูเหมือนสัตว์ป่า ไม่สามารถสอนให้เชื่อง/ขังอยู่ในกรง แต่การแสดงของเขากลับมีท่าทีเหน็ดเหนื่อยหน่าย เบื่ออ่อนล้าต่อโลกเสียเหลือเกิน, เห็นว่าตอนแรกอยากให้ตัวละครมีความเป็นสุภาพบุรุษแท้ๆ พูดสำเนียงอังกฤษหนาเตอะ (ตัวจริงของ Hatton คือผู้ดีอังกฤษจริงๆ) แต่ผู้กำกับมองว่านั่นจะเบี่ยงเบียนความสนใจผู้ชมเกินไป เลยขอให้ปรับเปลี่ยนเป็นตัวของตนเอง และมีการพากย์เสียงทับใหม่หลังการถ่ายทำ ผลลัพท์แกว่งไปแกว่งมา เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้สักอย่าง

คือมันก็ไม่ถึงขั้น Miscast แต่ผมว่าไดเรคชั่นของ Pollack ทำให้ Redford ขาด Passion ในการรับบทบาท แถมเคมีกับ Streep ดูไม่ค่อยอินเลิฟกันเท่าที่ควร แสดงออกเหมือนถูกรักข้างเดียวมากกว่าเติมเต็มกันและกัน


Klaus Maria Brandauer (เกิดปี 1943) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Austrian เกิดที่ Bad Aussee, Styria โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Salzburg Connection (1972), มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Mephisto (1981), ตามด้วยรับบทตัวร้าย Maximillian Largo เรื่อง Never Say Never Again (1983), ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง Out of Africa (1985)

รับบท Baron Bror von Blixen แม้ต้นตระกูลสูงส่งแต่ตกหลุมรักกับคนรับใช้ ยินยอมแต่งงานกับ Karen Dinesen เพื่อหวังเงินจากครอบครัว แล้วอพยพย้ายไปปักหลักอาศัย ดิ้นรนเอาตัวรอดยังทวีปแอฟริกา ลึกๆคงมีความรักมอบให้เธอบ้าง แต่นิสัยเพลย์บอยปล่อยตัวปล่อยใจ ติดโรคซิฟิลิสแต่กลับไม่เป็นอะไร ทำเอาภรรยาป่วยหนักต้องกลับไปพักรักษาตัวยังบ้านเกิด หวนกลับมาก็ไม่มีทางที่อะไรๆจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

เกร็ด: Brandauer รับบท Baron Hans von Blixen พี่ชายของ Bror ด้วยนะ

Brandauer เป็นตัวเลือกแรกเดียวของผู้กำกับ Pollack ภาพลักษณ์นี่ใช่เลย มีความอ่อนแอปวกเปียกเหมือนคนขี้โรค พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ แต่เกียรติศักดิ์ศรีลูกผู้ชายค้ำคอ ทำอะไรกล้ายินยอมรับ พร้อมเผชิญหน้าอดีตภรรยาในห้วงเวลาสำคัญๆ ผู้ชมจะรู้สึกสงสารเห็นใจ ขณะเดียวกันก็สมเพศเวทนา สมควรอย่างมากจะได้เข้าชิงรางวัลมากมายปลายปี


ถ่ายภาพโดย David Watkin (1925 – 2008) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ บุคคลแรกที่ใช้เทคนิค Bounce Light ให้เกิดแสงนุ่มๆ (Soft Light) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Knack …and How to Get It (1965), Chariots of Fire (1981), Yentl (1983), Out of Africa (1985) ฯ

ประมาณ 70% ของหนังถ่ายทำยังประเทศเคนย่า ไม่ห่างไกลเท่าไหร่จากบ้านของ Baroness Karen แต่ต้องปลูกสร้างเลียนแบบของจริงขึ้นมาใหม่ทั้งหลัง เพราะขณะนั้นกลายเป็นสถานรับเลี้ยงดูเด็ก มันคงยุ่งยากวุ่นวายเกินจะไปขอใช้สถานที่

ส่วนฉากภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Shepperton Studios, ประเทศอังกฤษ

ความน่าเสียดายของหนัง คือถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm อัตราส่วน 1.85:1 แทนที่จะเป็น 70mm แบบ Anamorphic Widescreen, ผู้กำกับ Pollack ให้เหตุผลต้องการให้ฉายโทรทัศน์ได้แบบไม่ต้องตัดทอนอะไร!

ด้วยวิสัยทัศน์อันคับแคบดังกล่าว ทำให้การจะเปรียบเทียบความงดงามอลังการของหนังกับ Lawrence of Arabia (1962) ยังถือว่าห่างชั้นกันอยู่มาก แม้จะมีช็อตเคารพคารวะ(ตั้งแต่ภาพแรกของหนัง พระอาทิตย์กำลังขึ้นจากสุดปลายขอบฟ้า) แต่ก็ใช้การตัดต่อแบบเร็วๆสร้างไดเรคชั่นดำเนินเรื่องที่แตกต่างออกไป

ฉากที่โดยส่วนตัวมองว่ามีความงดงามในศิลป์มากสุด คือขณะ Baroness Karen กำลังเล่านิทานก่อนนอนให้สองหนุ่ม ภาพแพนจากหน้าเธอไปที่เทียนไข เสียงพูดเงียบสงัดลง จากนั้นซ้อนภาพ Cross-Cutting พบเห็นใบหน้าของ Denys Finch Hatton จับจ้องมองอย่างใคร่สนใจ และเปลวเพลิงอันร้อนแรงจากเตากระพรือคุกรุ่น

เศษเสี้ยววินาทีเล็กๆนี้ สะท้อนเปลวเพลิงราคะ ความใคร่สนใจในตัว Baroness Karen ของ Denys Finch Hatton เริ่มจากก็แค่หญิงสาวแต่งงานแล้วคนหนึ่ง เรื่องเล่าดังกล่าวเปรียบได้กับเปลวเทียน ตอนจบแปรสภาพเป็นกองไฟ ตกหลุมหลงใหลคลั่งไคล้

เข็มทิศ สิ่งสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายทั้งรูปธรรม-นามธรรม ใช้นำทางสู่เป้าหมายค่ายทหารของสามี ขณะเดียวกันย่อมหมายถึงการเดินทางของชีวิต ค้นพบความปรารถนาต้องการของตัวตนเอง!

ขณะที่ครึ่งหลัง Denys Finch Hatton ขับเครื่องบิน นอกจากเพื่อโชว์อ๊อฟภาพถ่ายสวยๆจากมุม Bird Eye View ยังคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ กางปีกโบยบิน สะท้อนรสนิยมตัวตนของทั้งสอง ไม่ต้องการยึดติดอยู่กับสิ่งอื่นใด

ผมไปอ่านเจอเกร็ดหนังฉากนี้ที่น่าสะพรึง: Streep ได้รับคำยืนกรานจากทีมงาน ว่ามีการล่ามเชือก/โซ่ไว้กับเสือ ไม่มีทางที่มันจะกระโจนเข้าทำร้าย แต่ตอนเข้าฉากจริงๆไม่รู้ลืมหรืออย่างไรมิได้มีการผูกล่ามไว้ พอเธอฟาดแส้ไปอย่างเต็มแรง สีหน้าเต็มไปด้วยอาการหวาดสะพรึงกลัว เกือบตาย!

เสือ/ราชสีห์ สัตว์สัญลักษณ์เจ้าป่า ใช้ชีวิตด้วยสันชาติญาณ หิวโหยถึงออกหาอาหาร เมื่ออิ่มหนำก็มักแค่หยอกล้อแกล้งเล่น ซึ่งหนังเปรียบเทียบตรงๆกับ Denys Finch Hatton ไม่มีใครสามารถเลี้ยงดูแล้วทำให้มันเชื่องในกรงขังได้

Days of Heaven (1978), Tess (1979) ฯ ต่างเป็นภาพยนตร์ที่ร้อยเรียงภาพการทำกสิกรรม สะท้อน/เปรียบเทียบเข้ากับเรื่องราวของตัวละครที่กำลังประสบพบเจอในชีวิต Out of Africa (1985) ก็เฉกเช่นกัน

เนื่องจากผมขี้เกียจไล่เปรียบเทียบตั้งแต่ต้น จึงขอสรุปคร่าวๆเลยแล้วกันว่า ตลอดช่วงเวลาที่ Baroness Karen มาอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา จะมีการเล่าเรื่องคู่ขนานสลับไปมาระหว่างการปลูกไร่กาแฟ กับเหตุการณ์ต่างๆประสบพบเจอในชีวิต อาทิ
– เมื่อเริ่มเดินทางมาถึง = ออกเดินทางสำรวจพื้นที่ ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำไร่กาแฟ
– ชีวิตดำเนินไป = ต้นกาแฟค่อยๆเติบโต
– เมื่อสูญเสียคนรัก บอกเลิกร้างรากับ Denys Finch Hatton = เกิดอุบัติเหตุไฟมอดไหม้ สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
ฯลฯ

อีกหนึ่งฉากสวยๆก่อนการจากไปชั่วนิรันดร์ของ Denys Finch Hatton สังเกตว่าพวกเขาค่อยๆเต้นรำจากฝั่งที่มีแสงไฟ สู่ด้านแห่งความมืดมิด … นี่เป็นการพยากรณ์ความตายของตัวละครได้เลยนะเนี่ย!

เป็นอีกฉากที่ผมค่อนข้างชื่นชอบทีเดียว Baroness Karen รับทราบข่าวการเสียชีวิตจากไปของ Denys Finch Hatton สถานที่ก็คือภายในบ้านที่กำลังขนของเคลื่อนย้าย รอบข้างรายล้อมด้วยของเครื่องใช้ (ของ Hatton) และกองหนังสือ (สัญลักษณ์ของเรื่องราว/ความทรงจำ) … นั่นคือสิ่งทุกอย่างที่เธอหลงเหลือให้กับเขา

ด้วยฟุตเทจปริมาณมหาศาล จำต้องใช้บริการทีมงานตัดต่อถึงสี่คน ประกอบด้วย Fredric Steinkamp, William Steinkamp, Pembroke Herring และ Sheldon Kahn

ความเชื่องช้าของหนังเกิดจากการร้อยเรียงภาพ Montage ระหว่างเสียงบรรยาย/อ่านบันทึกของ Baroness Karen von Blixen ประกอบด้วยทิวทัศนียภาพ ผืนธรรมชาติ สัตว์ป่า การทำงานไร่กาแฟ ฯ มีลักษณะเหมือนคำพรรณาของบทกวี สร้างสัมผัสเนื่องระหว่างวรรค/บท ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

หนังดำเนินเรื่องโดยหาได้สนระยะเวลาดำเนินไปกว่า 20 ปี (1913 – 34) ไม่มีการขึ้นบอกหรือกล่าวถึง แต่บางครั้งสามารถคาดเดา สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี 1914-18


เพลงประกอบโดย John Barry (1933 – 2011) นักแต่งเพลงระดับตำนานสัญชาติอังกฤษ หลายคนคงจดจำผลงานชิ้นเอก James Bond Theme ลำดับถัดมาคือ Out of Africa (1985) และ Dances with Wolves (1990)

เกร็ด: Out of Africa ติดอันดับ 15 ชาร์ท AFI’s 100 Years of Film Scores

การเลือกใช้วง Symphony Orchestra แทนเครื่องดนตรีพื้นบ้านแอฟริกา แฝงนัยยะถึงยุคสมัยอาณานิคม British East Africa อันทำให้ชาวเคนย่าค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง แต่ก็ถือเป็นตัวเลือกเหมาะสมกับหนังนะครับ เพราะตัวละครหลักๆคือคนผิวขาว ปักหลักอาศัยในประเทศโลกที่สาม

บทเพลงมีการใช้ Clarinet ค่อนข้างเยอะ เสียงผิวอันนุ่มนวลมอบสัมผัสราวกับสายลมแห่งธรรมชาติ พัดพาจิตวิญญาณให้ฟูฟ่องลอยละล่อง อิ่มเอิบสุขสำราญกายใจ พักผ่อนคลาย ‘ฟิน’ ไม่หาย เปิดก่อนนอนคงหลับสบายฝันหวานอย่างแน่นอน

สำหรับเพลงคลาสสิกที่ได้ยินในหนัง/เครื่องเล่น ประกอบด้วย
– Mozart: Clarinet Concerto in A major, K.622 (1791)
– Mozart: Piano Sonata No. 11 in A major, K. 331 – III. Rondò alla Turca (1778)
– Mozart: Sinfonia Concertante for Violin & Viola in E flat major (1779) ** เปิดให้ลิงฟัง
– Mozart: Three Divertimenti (1772)
ฯลฯ

Baroness Karen von Blixen หญิงสาวจอมแก่น พยายามทำทุกสิ่งอย่างสนองความปรารถนาต้องการของตนเอง แต่กลับหลงลืมไปว่าสัตว์ป่าไม่มีทางอาศัยอยู่ในกรงขัง ยุคสมัยบุรุษเป็นใหญ่ไม่มีวันก้มหัวให้อิสตรี ก็เหมือนตัวเธอเองไม่ได้ต้องการยึดติดกฎกรอบวิถีสังคม แล้วจะไปคาดหวังให้ทั้ง Baron Bror von Blixen และ Denys Finch Hatton อยู่ภายใต้อาณัติได้อย่างไร

เฉกเช่นเดียวกับ British East Africa ในอดีตสหราชอาณาจักรแผ่ขยายอิทธิพล เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาณานิคมทั่วพื้นพิภพทวีป จนได้รับฉายา ‘Sun never sets on British Empire’ แต่ปีที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แทบทุกประเทศในแอฟริกาได้รับการปลดแอก หลุดพ้นจากสถานะประเทศอาณานิคมเรียบร้อยแล้ว

“We’re not owners here. We’re just passing through.”

เกร็ด: ประเทศเคนย่า ได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร 12 ธันวาคม ค.ศ. 1963

ราคาของอิสภาพนั้นสูงส่ง เพราะสิ่งที่ต้องแลกมาสำหรับ Baroness Karen von Blixen คือการมิได้ครองคู่แต่งงานกับชายในฝันที่ตนตกหลุมรักจริง และเมื่อเขาจากไป ทุกสิ่งอย่างเคยปลูกสร้างมา(ไร่กาแฟ)ก็มอดไหม้พังทลายย่อยยับเยิน

ก็ไม่เชิงเป็นข้อคิด แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามชี้ชักนำว่า ‘ไม่มีอะไรในโลกที่ได้มาฟรีๆ’ ทุกสิ่งอย่างต้องมีข้อแลกเปลี่ยนอันเท่าเทียม สมเหตุสมผล และสิ่งใดมิใช่ของตนเอง ก็ไม่มีวันที่เราจะได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ … อยากมากก็แค่ชั่วครั้งคราว ถ้าต้องการยาวๆสักวันย่อมพบความสูญเสีย

Racism เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พบเห็น ไม่ใช่แค่การดูถูกเหยียดหยามชนพื้นเมือง คนรับใช้ ชาวผิวสี แต่เรื่องนี้เหมารวมถึงเพศหญิง โดยเฉพาะ Men Club ห้ามผู้หญิงเข้า! ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ มองมุมหนึ่งเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวทางเพศ (Women Club ยังมีเลย!) ขณะเดียวกันคือการกีดกัน แบ่งฝักฝ่าย เล่นพรรคเล่นพวก สร้างความแตกแยกให้บังเกิดขึ้น

แน่นอนว่าเมื่ออิสตรีสามารถกระทำบางสิ่งอย่างได้ด้วยความคิดอ่านของตนเอง ประเด็น Feminist จึงโดดเด่นชัดขึ้นมา กล้าบ้าเดินทางไปส่งเสบียงยังหน่วยรบแนวหน้า ท้ายที่สุดได้รับการยอมรับจากเหล่าบุรุษ ครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ East Africa ผู้หญิงเข้าไปใน Men Club ดื่มให้กับความคิดไม่ถึงของชีวิต!

อีกสิ่งหนึ่งที่หนังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าไหร่ นั่นคือการล่าสัตว์ (=ล่าอาณานิคม) งานอดิเรกของคนผิวขาว เพื่อความบันเทิงและเป็นมื้ออาหาร ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรมประจำใจ อิ่มหนำสุขสำราญแล้วจากไป … ศาสนาฝั่งตะวันตกเสี้ยมสอนไว้ มนุษย์สูงส่งกว่าสัตว์ จริงๆนะหรือ!

ประเทศผู้ล่าอาณานิคมก็เฉกเช่นเดียวกัน มองชาวพื้นเมืองผิวสีด้วยสายตาดูถูกดูแคลน ต่ำต้อยด้อยคุณค่า กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ หมดสิ้นแล้วสะบัดตูดหนีเหมือนหมา นี่นะหรืออารยะ พฤติกรรมไม่แตกต่างจากเดรัจฉาน

Sydney Pollack ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับ ‘Woman Film’ มักสร้างภาพยนตร์ที่มีผู้หญิง (หรือกระเทย) นำแสดง ซึ่งมักสอดแทรกสาระ Feminist ปลูกฝังทัศนคติเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเรื่องนี้มากกว่าแค่ชาย-หญิง ก้าวไปสู่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ (และสรรพสัตว์) ยิ่งใหญ่อลังการระดับโลกเลยทีเดียว


ด้วยทุนสร้าง $28 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $87 ล้านเหรียญ ราวทั่วโลก $227.5 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลามถล่มทลาย

เข้าชิง Oscar 11 สาขา คว้ามา 7 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Meryl Streep)
– Best Supporting Actor (Klaus Maria Brandauer)
– Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Original Score ** คว้ารางวัล

เป็นปีที่การแข่งขันค่อนข้างจืดชืด คู่แข่งสำคัญของ Out of Africa มีเพียง The Color Purple (1985) ของ Steven Spielberg ด้วยเหตุนี้เลยคือตัวเต็งหนึ่ง ไม่เกินความคาดหมายใดๆ

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ หลงใหลในภาพและบทเพลง แต่งเติมเต็มด้วยการแสดงของ Meryl Streep แต่ก็แอบเสียดายไดเรคชั่น Sydney Pollack น่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก ประกอบทิวทัศน์พื้นหลังสวยๆทวีป East Africa, ชื่นชอบนวนิยายของ Isak Dinesen, แฟนๆผู้กำกับ Sydney Pollack, นำแสดงนำ Robert Redford, Meryl Streep ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความหยามเหยียด คบชู้ ติดโรค

คำโปรย | Out of Africa แม้มีความไพเราะงดงามอลังการ แต่ก็ทำให้ผู้ชมหมดเรี่ยวแรงไปมาก
คุณภาพ | งดงามอลังการ
ส่วนตัว | ค่อนข้างชอบ

Gigi (1958)


Gigi

Gigi (1958) hollywood : Vincente Minnelli ♥♥

กวาดเรียบ 9 รางวัล Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี สูงเป็นสถิติแต่ตกต่ำสุดด้านศีลธรรมมโนธรรม, Leslie Caron รับบทลูกสาวโสเภณี ได้รับการเสี้ยมสั่งสอนวิธีเกาะกินผู้ชาย ทีแรกพยายามดิ้นรนขัดขืนแต่สุดท้ายข้ออ้างเพราะรัก อยากทำอะไรกับฉันก็ยินยอม

Gigi (1958) ได้รับการยกย่อง ‘หนังเพลงเรื่องสุดท้ายแห่งยุคคลาสสิก’ แต่ไม่ใช่กระแสนิยมต่อแนว Musical หลังจากนี้จะลดลงนะครับ แค่ว่าการสร้างภาพยนตร์ลักษณะ ‘คลาสสิก’ ที่มักหมกตัวในสตูดิโอ สร้างฉากอลังการใหญ่โต จักเปลี่ยนแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น เรื่องราวมีเนื้อหาจับต้องได้มากขึ้น ถ่ายทำยังสถานที่จริง ทิวทัศนียภาพพื้นหลังสวยๆแบบ South Pacific (1958), The Sound of Music (1965)

ผมเกิดความตกตะลึงคาดไม่ถึง ว่าผู้กำกับระดับ Vincente Minnelli จะหาญกล้าสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมมโนธรรม ไร้ข้อคิดสาระประโยชน์ เผชิญหน้ากับ Hays Code แบบไม่หวาดกลัวเกรง! นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งกระมังให้หนังประสบความสำเร็จล้นหลาม กวาดเรียบรางวัลทั้งๆคุณภาพโดยรวมห่างชั้นกับ Meet Me in St. Louis (1944), An American in Paris (1951) หรือแม้แต่ The Band Wagon (1953) อยู่ไกลโข

กาลเวลาแบ่งฝักฝ่ายผู้ชมออกเป็นสองขั้วชัดเจน ชื่นชอบมากๆ-รังเกียจแบบสุดๆ, ผมเป็นแบบหลัง อนาจต่อทิศทางการตัดสินใจ แรกเริ่มตัวละครอยากจะเอาชนะกฎกรอบเกณฑ์บางอย่าง แต่สุดท้ายกลับก้มหัวยินยอมรับได้ แบบนี้มันดีแต่พูด เพ้อเจ้อ “It’s a bore!”


ต้นฉบับ Gigi (1944) คือนวนิยายแต่งโดย Colette ชื่อจริง Sidonie-Gabrielle Colette(1873 – 1954) นักเขียนหญิงชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจาก Yola Henriquet ลูกสาวโสเภณีชั้นสูง ตกถังข้าวสารแต่งงานกับ Louis Eugène Henri Letellier (1868 – 1960) ทายาทมหาเศรษฐี พ่อเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้าง Jacob Delafon, ตัวเขาโตขึ้นร่วมทุนกับน้องชายทำหนังสือพิมพ์ Le Journal (1892 – 1944) และเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Deauville ระหว่างปี 1925–28

ก่อนหน้านี้ได้รับการดัดแปลงเป็น
– ภาพยนตร์ฝรั่งเศส (1949) นำแสดงโดย Danièle Delorme และ Gaby Morlay
– ฉบับละครเวที Broadway นำแสดงโดย Audrey Hepburn (ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการ) รอบปฐมทัศน์ยัง Fulton Theatre วันที่ 24 พฤศจิกายน 1951 จำนวน 219 รอบการแสดง (ถือว่าประสบความสำเร็จ)

โปรดิวเซอร์ Arthur Freed ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์จาก Anita Loos เจ้าของฉบับละครเวทีมูลค่า $87,000 เหรียญ มอบหมายดัดแปลงบทโดย Alan Jay Lerner จากความประทับใจร่วมงาน An American in Paris (1951), Brigadoon (1954) และคาดหวัง Vincente Minnelli กำกับโปรเจคนี้

Vincente Minnelli ชื่อเกิด Lester Anthony Minnelli (1903 – 1986) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน (เชื้อสายอิตาเลี่ยน) เกิดที่ Chicago พ่อเป็น Musical Conductor อยู่ที่ Minnelli Brothers’ Tent Theater ตั้งแต่เด็กเลยมีความชื่นชอบหลงใหลในเสียงเพลง หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Paul Stone เชี่ยวชาญถ่ายภาพนักแสดง ต่อมาทำงานออกแบบฉาก/ตัดเย็บเสื้อผ้าให้ Chicago Theatre กลายเป็นผู้กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจนได้รับการชักชวนจาก Arthur Freed เข้าร่วม MGM เมื่อปี 1940 ภาพยนตร์เรื่องแรก Cabin in the Sky (1943), โด่งดังกับ Meet Me in St. Louis (1944), Ziegfeld Follies (1945), An American in Paris (1951), Brigadoon (1954), Kismet (1955) ฯ

พื้นหลังปี 1900 ณ กรุงปารีส, ด้วยข้ออ้างประเพณีของครอบครัว Madame Alvarez (รับบทโดย Hermione Gingold) ส่งตัวหลานสาว Gilberte ‘Gigi’ (รับบทโดย Leslie Caron) ไปร่ำเรียนวิชาเข้าสังคมจากน้าทวด Liane d’Exelmans (รับบทโดย Eva Gabor) คาดหวังให้เมื่อเติบโตขึ้นจะสามารถหาเกาะผู้ชายกิน แต่ด้วยความทะเล้นซุกซนจึงไม่ใคร่สนใจอะไรจริงจัง นอกเสียจาก Gaston Lachaille (รับบทโดย Louis Jourdan) แรกๆก็ครุ่นคิดแค่พี่ชาย สนุกสนานครื้นเครงไปวันๆ กระทั่งพบเห็นโดยน้าทวดบอกไม่ได้ไม่เหมาะสม เกินเลยกว่านี้ตั้งหมั้นหมายแต่งงานเท่านั้น!


Leslie Claire Margaret Caron (เกิดปี 1931) นักเต้น/นักแสดงหญิง สัญชาตฝรั่งเศส เกิดที่ Boulogne-sur-Seine, Seine แม่เป็นอดีตนักเต้น Broadway โตขึ้นเลยมีความสนใจด้านนี้ ร่ำเรียนบัลเล่ต์ ได้รับการค้นพบโดย Gene Kelly ระหว่างอยู่ในคณะ Ballet des Champs Elysées แจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ An American in Paris (1951) เลยได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับ MGM ตามด้วย The Glass Slipper (1955), Lili (1953), Daddy Long Legs (1955), Gigi (1958), ผลงานเด่นอื่นๆที่ไม่ใช่หนังเพลง อาทิ Fanny (1961), The L-Shaped Room (1962), Chocolat (2000) ฯ

รับบท Gilberte ‘Gigi’ เด็กหญิงสาวยังเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ไม่ใคร่สนใจอะไรนอกจากหาความสุขใส่ตัวไปวันๆ ชื่นชอบเล่นหัวสนุกสนานกับ Gaston Lachaille ไม่เคยครุ่นคิดมากกว่าสัมพันธ์พี่น้อง จนกระทั่งถูกย่า/น้าทวด ครอบงำเป่าหู เสี้ยมสอนสั่งพยายามทำทุกอย่างให้เธอเติบโตสมวัย เริดเชิดหยิ่งยโสโอหัง มีความสามารถปรนปรนิบัติผู้ชาย อนาคตข้างหน้าจักได้สุขสบาย หนูตกถังข้าวสาร

แม้ว่า Audrey Hepburn จะเป็นนักแสดงนำฉบับละครเวที และตอนนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์แล้ว แต่เธอก็ไม่ใช่นักร้องนักเต้น ซึ่งโปรดิวเซอร์ Freed มีความสนใจในตัว Caron มากกว่า ต้องการสานต่อความสำเร็จของ An American in Paris (1951) แม้อายุขณะนั้น 25 เล่นเป็นเด็ก 14-15 คงไม่น่ามีปัญหา

ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงครึ่งแรกของ Caron เด็กสาวจอมแก่น ขี้เล่นสนุกสนาน เต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส แต่พอมาครึ่งหลังแปรสภาพสู่หญิงสาว เปลี่ยนไปราวกับคนละคน! แม้ยังพอพบเห็นความบริสุทธิ์เดียงสา แต่มีความหยาบกร้านโลก นี่มันโสเภณีชัดๆ ต้องทำกันขนาดนี้เลยหรือ!

สังเกต: ลวดลายเก้าอี้เปรียบเทียบตรงๆถึงนกน้อย และเสื้อผ้าลายสก็อต สี่เหลี่ยมเหมือนซี่กรงขังล้อมรอบตัวตน/จิตวิญญาณ

Louis Jourdan ชื่อเกิด Louis Robert Gendre (1921 – 2015) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Marselle โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง École Dramatique จบออกมามีผลงานละครเวที เข้าตาผู้กำกับ Marc Allégret ชักชวนมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Le Corsaire (1939) แต่สร้างไม่เสร็จเพราะการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง, ข้ามน้ำข้ามทะเลเซ็นสัญญาในสังกัด David O. Selznick ผลงาน Hollywood เรื่องแรก The Paradine Case (1947), ผลงานเด่นๆ Letter from an Unknown Woman (1948), Madame Bovary (1949), Gigi (1958) ฯ

รับบท Gaston Lachaille หนุ่มหน้าใส หล่อรวย ทำธุรกิจหนังสือพิมพ์ การเลิกราหญิงสาวที่ตนจีบอยู่ กลายเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งโด่งดังระดับโลก ตกเป็นที่สนใจของใครต่อใคร, ความสนิทสนมกับ Madame Alvarez เรียกเธอว่า Mamita จึงพบเจอเล่นหัว Gigi บ่อยครั้ง โดยไม่รู้ตัวถูกบีบให้แสดงความประสงค์แท้จริง ค่อยๆรับรู้ตนเองว่าตกหลุมรัก แต่จะถึงขั้นแต่งงานไหม นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจ

นอกจากความหล่อเหลาของ Jourdan ผมไม่เห็นด้านการแสดงจะมีฝีมือโดดเด่นอะไร ยังคงสไตล์คลาสสิก ลีลาด้วยคำพูด ท่าทาง พยายามกลั่นอารมณ์แต่สัมผัสไม่ได้ถึงความสับสนปนเป เคมีกับ Caron เข้าขาเพียงตอนเล่นหัวสนุกสนาน ไม่สามารถแปรสภาพสู่รักโรแมนติก อินเลิฟได้เลยสักนิด


Maurice Auguste Chevalier (1888 – 1972) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris พ่อเป็นช่างทาสี โตขึ้นรับงานหลากหลาย กระทั่งมีโอกาสขับร้องเพลงยัง Café แห่งหนึ่ง แม้ไม่ได้เงินแต่เกิดความสนใจ กระทั่งมีโอกาสขึ้นเวทียัง l’Alcazar, Marseille ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระหว่างเป็นทหาร ทำให้เรียนรู้จัก Jazz และ Ragtime จากทหารอังกฤษและอเมริกัน หลังจากนั้นเลยมุ่งหน้าสู่ Hollywood กลายเป็นนักแสดงหนังเงียบ A Woman of Paris (1923), เซ็นสัญญา Paramount Pictures โด่งดังกับ The Love Parade (1929), The Big Pond (1930), Monkey Business (1931), The Merry Widow (1934), Love in the Afternoon (1957), Gigi (1958) ฯ

รับบท Honoré Lachaille มีศักดิ์เป็นลุงของ Gaston Lachaille เรียกว่าเพลย์บอยคงไม่ผิดอะไร มากความรู้ประสบการณ์ ฝีปากวิวาทะเป็นเลิศ วันๆเห็นเอาแต่หลีสาว อดีตเคยมีความหลังกับ Liane d’Exelmans แต่ชีวิตขอเป็นโสดดีกว่า และคอยให้ความช่วยเหลือหลานชายผู้ทึ่มทื่อซื่อบื้อในรัก เปิดโลกทัศน์ตนเอง ผู้หญิงไม่ได้มีคนเดียวในโลกนี้!

การวางตัวของ Chevalier แม้สูงวัยกลับยังดูดีมีสไตล์ เรียกว่าเพลย์บอยชั้นสูงก็ยังได้ รอยยิ้มกลั่นออกมาจากใคร ไม่เคยบึ้งตึงโกรธเกลียดเคียดแค้นใคร แถมตัวละครนี้ยังเป็นผู้นำร่องดำเนินเรื่อง ขับร้องเพลงนุ่มๆแต่ลุ่มด้วยความหื่นกระหาย


ถ่ายภาพโดย Joseph Ruttenberg (1899 – 1983) ตากล้องสัญชาติ Russian เชื้อสาย Jews อพยพมุ่งสู่อเมริกัน เริ่มจากเป็นนักข่าวถ่ายภาพ ก่อนได้งานตากล้องถ่ายทำหนังเงียบ สู่ยุค Talkie สามารถคว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 4 ครั้ง จาก The Great Waltz (1938), Mrs. Miniver (1942), Somebody Up There Likes Me (1956) และ Gigi (1958)

สตูดิโอ MGM ร้องขอให้ Minnelli เดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง Paris, France แล้วค่อยหวนกลับมาถ่ายฉากภายในยัง Hollywood เพื่อประหยัดงบประมาณใช้จ่าย (แต่ก็ไม่รู้ลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหนนะ)

Opening Credit ร้อยเรียงภาพวาดการ์ตูนของ Sem หรือ Georges Goursat (1863–1934) เลือกจากช่วงเวลา La Belle Époque (1900-14)

หนังจะไม่มีการพูดคำว่าโสเภณีออกมาตรงๆ แต่ซ่อนเร้นไว้ในภาษาภาพยนตร์ อย่างในห้องของ Madame Alvarez  ผนัง/เฟอร์นิเจอร์สีแดง หมายถึงเลือด Passion ความบริสุทธิ์ของหญิงสาว และการที่ Gigi เดินตรงเข้าไปโอบกอดด้านหลังนี้ สื่อถึงการพึ่งพิงยังไม่สามารถดูแลเอาตัวรอดเองได้

ถ้าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับ Paris เรื่องอื่นๆ จะพบเห็นหอไอเฟลแบบเต็มๆ แต่เรื่องนี้พบเห็นเพียงโครงสร้างเหล็กด้านล่างมุมเงยขึ้นช็อตนี้ ฉายจาก Rear Projection เท่านั้น นี่คงต้องการสะท้อนความตกต่ำทางศีลธรรมของเรื่องราว แม้ตัวละครจะชนชั้นสูง แต่ก็หมกมุ่นวุ่ยวายกับเรื่องรักๆใคร่ๆ ใต้กางเกงเพียงอย่างเดียว

ชุดของ Gigi มีความหลากลายพอสมควร เริ่มต้นด้วยลายสก็อต โค้ทคลุม หมวกใบใหญ่ๆ สะท้อนการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว (ดั่งนกในกรงขัง) กระทั่งเมื่อเวลามาถึงได้รับการแต่งแต้มเปลี่ยนแปลงเป็นสุภาพสตรี มีความสวยสง่า เจิดจรัส (นกโผลบินออกจากรัง)

ไดเรคชั่นที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือบรรดาผู้ชม/ตัวประกอบ ต่างหยุดนิ่ง อึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง จับจ้องมองพร้อมเพรียงต่อบุคคลกำลังเดินเข้ามาในร้าน … นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ Angst essen Seele auf (1974) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ก็ได้นะ

ในบรรดาชุดของ Gigi ส่วนตัวชื่นชอบดอกไม้ปิดปากนี้ที่สุด บอกเป็นนัยๆให้เธอจงเงียบไป ไม่ใช่เวลาแสดงสิทธิ์เสียงความต้องการแท้จริง จำต้องกระทำตามคำสั่งย่า/น้าทวด ห้ามขัดขืน!

ชุดคอสูงของ Gigi แม้มีสีขาวดูสง่างาม แต่สะท้อนความเย่อหยิ่งจองหอง ไฮโซ ชนชั้นสูง นั่นคือสิ่งที่เธอถูกครอบงำบีบบังคับให้กลายเป็น หมดสิ้นแล้วความบริสุทธิ์ใสซื่อไร้เดียงสาแบบเด็กๆ

สุดท้ายแล้ว Gigi ก็ไม่แตกต่างจากหญิงอื่น แม้สวมชุดมีปีกโบยบิน แต่กลับเติบโตขึ้นด้วยการถูกครอบงำจากกฎเกณฑ์ แบบแผนทางสังคม นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องยินยอมรับเข้าใจ หรือปฏิเสธขัดขืนกันแน่!

การจุดบุหรี่/สูบซิการ์ ระหว่างชาย-หญิง แฝงนัยยะถึงการมี Sex แบบตรงไปตรงมาเลยนะ!

ตัดต่อโดย Adrienne Fazan (1909 – 1986) สัญชาตอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ Minnelli สังกัดสตูดิโอ MGM ผลงานเด่นๆ อาทิ The Tell-Tale Heart (1941), Anchors Aweigh (1945), An American in Paris (1951), Singin’ in the Rain (1952), Kismet (1955), Gigi (1958) ฯ

แม้หนังชื่อ Gigi แต่เรื่องราวไม่ได้เวียนวนในมุมมองเธอ แต่คือ Honoré Lachaille ผู้บรรยายที่มักสนทนากับผู้ชม จับจ้องมองกล้อง (Break the Fourth Wall) ดำเนินเรื่องผ่านหลานชาย Gaston Lachaille ระหว่างเลิกราแฟนสาวคนแรก ตกหลุมรัก Gigi จนกระทั่งขอเธอแต่งงาน


เพลงประกอบโดย Frederick Loewe (1901 – 1988) สัญชาติ German เชื้อสาย Jews อพยพสู่ New York ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, Loewe มีชื่อเสียงโด่งดังกับผลงานละครเพลงอย่าง My Fair Lady, Camelot แต่คว้า Oscar จาก Gigi (1958)

Main Theme คลุกเคล้ากลิ่นอายฝรั่งเศส (ด้วยเครื่องดนตรี Accordion) แล้วสะท้อนถึงความเพ้อฝันของเด็กหญิงสาว Gigi แม้รายล้อมด้วยชีวิตอันเลิศหรูหราสุขสบาย กลับยังคงโหยหาในอิสรภาพเสรี ต้องการโบยบินออกจากพันธนาการกรงขัง เฝ้ารอคอยวันนั้นไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่กัน

Thank Heaven for Little Girls ขับร้องโดย Maurice Chevalier เสียงร้องแห้งๆของปู่ ฟังดูเซ็กซี่แบบหื่นๆ แถมเนื้อคำร้องแอบเสื่อม โดยเฉพาะตอนพูดคำว่า Gigi สื่อถึงอะไรไปจินตนาการต่อเองแล้วกันนะ

เกร็ด: Thank Heaven for Little Girls ติดอันดับ 56 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs

The Night They Invented Champagne อาจไม่ใช่บทเพลงที่มีความไพเราะโดดเด่นอะไร แต่ไดเรคชั่น Long Take อาจทำให้ใครๆอ้าปากค้าง ต้องซักซ้อมสักเท่าไหร่ถึงออกมาได้อย่างเปะๆแบบนี้

I Remember It Well ขับร้องโดย Maurice Chevalier & Hermione Gingold, แม้บทเพลงนี้จะไม่ใช่ Long Take แต่แสงสีส้มพื้นหลังที่ค่อยๆปรับไปเรื่อยๆ แทนพระอาทิตย์ตกดิน มีความสวยสดงดงามไม่น้อย

นี่เป็นบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง เพราะเนื้อคำร้องสะท้อนความจริงที่ว่า ผู้หญิงจดจำได้ทุกสิ่ง ขณะที่ผู้ชายหลงลืมทุกอย่าง!

บทเพลงรางวัลของหนังคือ Gigi ขับร้องโดย Louis Jourdan, เนื้อคำร้องเป็นการครุ่นคิดทบทวนความสัมพันธ์ต่อ Gigi จากเคยเล่นหัวสนุกสนาน เติบโตวิวัฒนาการ กาลเวลาผ่านไปไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่

ส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบบทเพลงนี้สักเท่าไหร่ แต่ประทับใจภาพพื้นหลังร้อยเรียงฝูงหงส์ รูปปั้น น้ำพุ สวยๆงามๆทั้งนั้น

I’m Glad I’m Not Young Anymore ขับร้องโดย Maurice Chevalier เป็นบทเพลงที่มีความไพเราะมากๆเลยนะ แต่ไดเรคชั่นฉากนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจาก Long Take ตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้เฉยๆ ขายความมีสไตล์ลีลาของ Chevalier อย่างเดียวเท่านั้นหรือไร!

Gigi คือเรื่องราวของเด็กหญิงสาว เปรียบดั่งนกในกรงพยายามดิ้นรนโหยหาอิสรภาพ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเติบโตขึ้น รับเรียนรู้ว่าไม่มีทางที่ตนจะโบยบินหนีไปไหนได้ไกล ยินยอมรับเพียงพอใจต่อสิ่งที่มี ได้แต่งงานกับชายคนนี้ชีวิตคงเป็นสุขมากโขแล้ว!

จะว่าไปหลายๆผลงานของผู้กำกับ Vincente Minnelli มักมีลักษณะชี้ชักนำให้เกิดความเพียงพอใจในชีวิต อะไรที่มันเกินตัวก็มักผิดพลาดพลั้งหรือกระทำไม่สำเร็จ ทำไมเราถึงไม่ก้มหัวยินยอมรับระเบียบแบบแผนของสังคม มันไม่น่าเบื่อหน่ายขนาดนั้นหรอกนะ!

ส่วนตัวมองว่าหนังมีความขัดย้อนแย้งกันเองทุกสิ่งอย่าง
– หญิงสาวโหยหาอิสรภาพ แต่สุดท้ายเลือกจมปลักในทิศทางที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้ให้
– พระเอกไม่ชอบความเบื่อหน่ายจำเจ สุดท้ายกลับยินยอมรับความซ้ำๆซากๆนั้นได้
– ผู้กำกับ Minnelli เหมือนต้องการท้าทาย Hays Code แต่สุดท้ายก็ยินยอมก้มหัวให้ ไม่มีอะไรเกินเลยนอกจากภาษาภาพยนตร์
ฯลฯ

การที่ตัวละครชื่อ Gigi ก็ด้วยเหตุผลนี้กระมัง ออกเสียงซ้ำสองครั้งหมายถึงเน้นย้ำ ซ้ำๆ ไม่อยากฝืนแต่กลับทำ ภายนอกเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เบื้องลึกกลับร่านราคะ ปากว่าตาขยิบ ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง

ด้วยเหตุผลข้ออ้าง ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ คือมโนทัศนคติอันเลิศหรูหราของชาวตะวันตก แท้จริงไม่ต่างอะไรกับลูกอมอาบยาพิษ ชักชวนให้หมกมุ่นลุ่มหลงใหลยึดติด เวลาหมดสิ้นความรักมันคงกลับตารปัตรพ่ายแพ้ทุกสิ่งอย่าง

เพราะเหตุใดผู้กำกับ Minnelli ถึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้? แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นเกย์ แต่ชายคนนี้แต่งงานกับผู้หญิงถึงสี่ครั้ง อื้อฉาวสุดก็ Judy Garland ว่าไปอาจไม่แตกต่างจาก Gigi สักเท่าไหร่! [Judy กับ Gigi ออกเสียงคล้ายคลึงกันด้วยนะ]


ด้วยทุนสร้าง $3.3 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $6.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $9.7 ล้านเหรียญ ได้กำไรประมาณ $1.983 ล้านเหรียญ และเมื่อฉายซ้ำ Re-Release ปี 1966 รวมรายรับ $13.2 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 9 สาขากวาดเรียบ
– Best Picture
– Best Director
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography, Color
– Best Film Editing
– Best Art Direction, Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Musical Score
– Best Original Song บทเพลง Gigi

แม้กลายเป็นสถิติใหม่ ภาพยนตร์คว้ารางวัล Oscar สูงสุด แต่ก็ได้เพียงปีเดียวเพราะการมาถึงของ Ben-Hur (1959) เข้าชิง 12 สาขา กวาดไป 11 รางวัล

เกร็ดน่ารักๆ: หลังจากหนังคว้าไป 9 รางวัล Oscar ผู้บริหาร MGM สั่งให้พนักงานรับโทรศัพท์ เวลาสายเข้าให้พูดว่า “Hello, M-Gigi-M”

มิใช่แค่ความกลวงๆที่ทำให้ผมไม่ชื่นชอบหนัง แต่ยังไดเรคชั่นของ Vincente Minnelli ดูเร่งๆรีบร้อนไปที ขาดลีลาอันโดดเด่นเป็นสไตล์ และบทเพลงไร้ท่วงทำนองน่าสนใจ ดูไปเลยรู้สึกเพียงเสียเวร่ำเวลา

แนะนำคอหนัง Musical ชื่นชอบผลงานของ Colette, นักออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม แฟชั่นดีไซเนอร์, หลงใหลฝรั่งเศส ถ่ายภาพพื้นหลังสวยๆ, แฟนๆผู้กำกับ Vincente Minnelli และนักแสดงนำ Leslie Caron, Louis Jourdan ลองหามารับชมดู

จัดเรต 15+ กับความล่อแหลม ไร้ศีลธรรมมโนธรรมของเรื่องราว

คำโปรย | แม้ว่า Gigi คือภาพยนตร์โด่งดัง/ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Vincente Minnelli แต่คือความอัปยศหักหลังต่อจิตสำนึกตนเอง
คุณภาพ | ปอกลอก
ส่วนตัว | เสียเวลา

Around the World in 80 Days (1956)


Around the World in Eighty Days

Around the World in 80 Days (1956) hollywood : Michael Anderson ♥♥♡

ตื่นตระการตาไปกับการผจญภัยรอบโลก 80 วัน พร้อมนักแสดงรับเชิญร่วมสร้างสีสันมากมาย ถ่ายทำด้วยกล้อง Todd-AO 70mm เพลงประกอบโคตรไพเราะโดย Victor Young พบเห็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคประมาณ 10 วินาที และ Closing Credit อนิเมชั่นโดย Saul Bass เพียงเท่านี้ก็สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Picture

การมาถึงของเทคโนโลยีภาพสี และฟีล์มขนาด 70mm ในช่วงกลางทศวรรษ 50s [เริ่มต้นที่ Oklahoma! (1955)] ยกระดับประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างล้นหลาม จนสามารถเรียกได้ว่ายุคสมัยแห่งความ ‘Epic’ อลังการ มีถึง 4 เรื่องคว้ารางวัล Oscar: Best Picture
– Around the World in 80 Days (1956)
– The Bridge on the River Kwai (1957)
– Ben-Hur (1959)
– Lawrence of Arabia (1962)

ประสบการณ์ใหม่ที่ว่านี้ได้เปิดโลกทัศน์ผู้ชม ถูกความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ถาโถมเข้าใส่ เกิดความอิ่มหนำสุขสำเริงราญ ปัจจุบันมีคำเรียกขาน ‘ฟิน’ พึงพอใจอย่างถึงที่สูงสุด! แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน เปิดซิงเสร็จสิ้นไปนาน อารมณ์เฉื่อยชาเฉิ่มเชยทั่วไป นั่นทำให้หลายๆเรื่องที่อดีตเคยยิ่งใหญ่ ปัจจุบันเสื่อมคลายมนต์ขลังความชื่นชอบนิยม

Around the World in 80 Days รับชมในยุคสมัยนี้ถูกผู้ชมตีตราหน้า คว้า Oscar: Best Picture มาครอบครองได้อย่างไร! เพราะแทบไม่มีเนื้อหาอะไรจับต้องได้ นอกเสียจากความอลังการงานภาพสี 70mm แต่ดูในจอโทรทัศน์ แท็บเล็ต มือถือ จะไปเข้าถึงประสบการณ์สุดยิ่งใหญ่ได้เช่นไร

แต่หนังก็มีข้อเสียอื่นด้วยนะครับ คือความมากเกินไปของผู้กำกับ Michael Anderson ไม่รู้เสียดายฟุตเทจที่ถ่ายทำมาหรืออย่างไร ตัดต่อได้ความยาวกว่าสามชั่วโมง ให้ตายเถอะ! ต้อนกระทิงอย่างเดียวก็เบื่อแทบแย่แล้ว


Le tour du monde en quatre-vingts jours (1873) หรือ Around the World in Eighty Days คือนวนิยายผจญภัย แต่งโดยนักเขียนชื่อก้องโลก Jules Gabriel Verne (1828 – 1905) สัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของฉายา ‘Father of Science Fiction’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Journey to the Center of the Earth (1864), From the Earth to the Moon (1865), Twenty Thousand Leagues Under the Sea (1870) ฯ

Verne ประพันธ์ Around the World in Eighty Days ในช่วงระหว่าง Franco-Prussian War (1870–71) แม้ชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เกิดแรงบันดาลใจระหว่างอ่านหนังสือพิมพ์ยามบ่าย ณ Paris Café แห่งหนึ่ง พบเห็นข่าวความสำเร็จการเชื่อมทางรถไฟสองฟากฝั่งตะวันออก-ตก (First Transcontinental Railroad) ของสหรัฐอเมริกา นี่ทำให้การเดินทางรอบโลกมีแนวโน้มความเป็นไปได้ด้วยระยะเวลาสั้นสลงมาก

“I have a great number of scientific odds and ends in my head. It was thus that, when, one day in a Paris café, I read in the Siècle that a man could travel around the world in 80 days, it immediately struck me that I could profit by a difference of meridian and make my traveller gain or lose a day in his journey. There was a dénouement ready found. The story was not written until long after. I carry ideas about in my head for years – ten, or 15 years, sometimes – before giving them form”.

– Jules Verne

แม้สไตล์ถนัดของ Verne จะคือ Sci-Fi โลกอนาคต แต่นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องยุคสมัยปัจจุบัน การเดินทางเกินครึ่งค่อนเวียนวนอยู่ใน British Empire ศตวรรษนั้นครอบครองอาณานิคมครึ่งค่อนโลก (จนได้รับฉายา ‘sun never sets’) และวันสิ้นสุดการเดินทาง 21 ธันวาคม 1872 คือวันที่ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ตอนแรก

การเดินทางในนวนิยายประกอบด้วย
– ระยะเวลา 7 วัน, เริ่มจาก London นั่งรถไฟมา Brindisi, Italy แล้วขึ้นเรือ Mongolia ข้ามทะเล Mediterranean ถึงช่องแคบ Suez
– ระยะเวลา 13 วัน, จากช่องแคบ Suez เดินทางด้วยเรือ Mongolia ผ่านทะเลแดงสู่มหาสมุทรอินเดียจนถึง Bombay, India
– ระยะเวลา 3 วัน, จาก Bombay เดินทางด้วยรถไฟถึง Calcutta
– ระยะเวลา 13 วัน, จาก Calcutta เดินทางด้วยเรือ Rangoon ข้ามช่องแคบมะละกา สู่ทะเลจีนใต้จนถึง Victoria, Hong Kong
– ระยะเวลา 6 วัน, จาก Hong Kong ขึ้นเรือ Carnatic ผ่านทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และมหาสมุทร Pacific จนถึง Yokohama, Japan
– ระยะเวลา 22 วัน, จาก Yokohama ขึ้นเรือ General Grant ข้ามมหาสมุทร Pacific จนถึง San Francisco, United States
– ระยะเวลา 7 วัน, จาก San Francisco นั่งรถไฟถึง New York City
– ระยะเวลา 9 วัน, จาก New York ขึ้นเรือ China ผ่านมหาสมุทร Atlantic มาถึง London และขึ้นรถไฟสิ้นสุดปลายทาง Liverpool

ความสำเร็จล้นหลามของ Around the World in Eighty Days ไม่แปลกที่จะได้รับการดัดแปลงสื่ออื่น ก่อนหน้านี้ประกอบด้วย
– ละครเวที ปี 1874, สร้างโดย Verne และ Adolphe d’Ennery เปิดการแสดงที่ Théâtre de la Porte Saint-Martin, Paris จำนวน 415 รอบการแสดง ก่อนย้ายไป Théâtre du Châtelet ต่อเนื่องอีก 2,195 รอบ ยาวนานถึง 64 ปี
– หนังเงียบ Around the World in Eighty Days (1919) นำแสดงโดย Conrad Veidt
– ละครวิทยุ ปี 1946, สร้างโดย Orson Welles ออกอากาศรายการ The Mercury Theatre on the Air และตนเองให้เสียง Phileas Fogg
– ละครเวที ปี 1946, สร้าง/นำแสดงโดย Orson Welles ตั้งชื่อว่า Around the World แต่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

Michael ‘Mike’ Todd (1909 – 1958) โปรดิวเซอร์ละครเวที/ภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Minneapolis, Minnesota ครอบครัวเป็นผู้อพยพชาว Polish เชื้อสาย Jews ฐานะยากจน มีพี่น้องถึง 9 คน แม้มีความสามารถทางการแสดงตั้งแต่เด็ก จำต้องออกจากโรงเรียนรับจ้างทำโน่นนี่นั่นเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เปิดบริษัทก่อสร้างจนมีโอกาสทำงานในโรงถ่ายหนัง Hollywood แต่การมาถึงของ Great Depression ขาดทุนล้มละลาย เลยผันตัวสู่ธุรกิจโรงละคร กลายเป็นเจ้าของ Federal Theatre Project, Chicago ประสบความสำเร็จพอสมควร กระทั่งทศวรรษ 50s ร่วมก่อตั้ง Cinerama เพื่อนำเทคโนโลยี Widescreen มาใช้ในภาพยนตร์ แต่พบเห็นจุดข้อจำกัด/จุดบกพร่อง เลยลาออกมาควบกิจการ American Optical Company ตั้งชื่อเทคโนโลยีฟีล์มว่า Todd-AO ทดลองกับ Oklahoma! (1955) และผลักดันโปรเจค Around the World in 80 Days ให้เป็นรูปเป็นร่าง

มอบหมายให้ James Poe (Cat on a Hot Tin Roof, Summer and Smoke, Lilies of the Field), S. J. Perelman (Monkey Business, Horse Feathers) ดัดแปลงบทภาพยนตร์ และ John Farrow เป็นผู้กำกับ แต่เมื่อเริ่มถ่ายทำเพียงสัปดาห์เดียวกลับถูกไล่ออก (Farrow ได้ขึ้นเครดิตเขียนบทแทน) ส้มหล่นใส่ Michael Anderson

Michael Joseph Anderson (1920 – 2018) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London ทั้งตระกูลเป็นนักแสดงตั้งแต่รุ่นทวด เข้าสู่วงการจากบทสมทบ Housemaster (1938), In Which We Serve (1942), ต่อด้วยกลายเป็นผู้ช่วย และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Private Angelo (1949), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Dam Busters (1955), Around the World in 80 Days (1956), Logan’s Run (1976) ฯ

พื้นหลังปี 1872 กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, Phileas Fogg (รับบทโดย David Niven) ได้รับคำท้าทายจากสี่เกลอสมาชิก Reform Club ด้วยเงินพนัน £20,000 ปอนด์ (เทียบปี 2015 เท่ากับ £1.8 ล้านปอนด์) ต่อการเดินทางรอบโลกระยะเวลา 80 วัน ร่วมกับคนรับใช้ใหม่ Passepartout (รับบทโดย Cantinflas) ขึ้นบอลลูนมุ่งสู่ฝรั่งเศส แต่กลับไปโผล่ประเทศสเปน ต่อด้วย อิตาลี, อินเดีย, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา สุดท้ายจะสามารถเดินทางทันกำหนดระยะเวลาหรือไม่!


James David Graham Niven (1910 – 1983) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Belgravia, London โตขึ้นเข้าเรียนโรงเรียนทหาร Royal Military College, Sandhurst จบออกมาได้ยศรองผู้พัน สังกัดทหารบก ได้รับมอบหมายสังกัด Highland Light Infantry ประจำอยู่ Malta, Dover เบื่อหน่ายในความสงบลาออกมาเป็นอาจารย์ เซลล์แมนขายวิสกี้ มุ่งสู่อเมริกากลายเป็นตัวประกอบ เข้าตาเซ็นสัญญา MGM เริ่มมีชื่อเสียงกับ Dodsworth (1936), The Prisoner of Zenda (1937), The Dawn Patrol (1938), Wuthering Heights (1939) ฯ พอสงครามโลกครั้งที่สองหวนกลับไปรับใช้ชาติ ขึ้นฝั่งร่วมกับพันธมิตรในวัน D-Day จนได้ยศพันโท ก่อนกลับอเมริกามีผลงานสร้างชื่อคือ A Matter of Life and Death (1946), จากนั้นกลายเป็นตำนานกับ Around the World in 80 Days (1956), Separate Tables (1958) ** คว้า Oscar: Best Actor, The Guns of Navarone (1961), The Pink Panther (1963), รับบท James Bond เรื่อง Casino Royale (1967) ฯ

รับบท Phileas Fogg ผู้ดีชาวอังกฤษที่มีความตรงต่อทุกสิ่งอย่าง เวลาทำอะไรต้องเปะๆ ไม่ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เล็กน้อย ยินยอมรับคำท้าพนันเดินทางรอบโลกไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองแต่ด้วยเกียรติศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ระหว่างทางพานพบเจอเหตุการณ์โน่นนี่นั่น จิตใจค่อยๆโอนอ่อนผ่อนตาม ให้ความช่วยเหลือตกหลุมรักหญิงสาว เธออาจเป็นคนเดียวในโลกเข้าใจตัวตนแท้จริงของเขา

ความตั้งใจแรกของโปรดิวเซอร์ Mike Todd อยากได้ Cary Grant แต่พอไม่สามารถเกลี้ยกล่อมได้ในระยะเวลาหกเดือนเลยขอยอมแพ้ และแค่พบเจอพูดคุยซักถาม Niven อยากรับบท Phileas Fogg ไหม? เจ้าตัวตอบทันควัน ‘I’d do it for nothing!’

ความเนี๊ยบของ Niven มาดสุภาพบุรุษไม่มีหลุด ดูเป็นผู้ดีอังกฤษโดยแท้ แม้การแสดงอาจดูแข็งทึ่มทื่อไปสักหน่อย แต่ผู้ชมพบเห็นแล้วจักจดจำภาพลักษณ์ รับล่วงรู้บุคลิกนิสัยตัวละครได้โดยทันที … ไม่มีอะไรมากกว่านี้

เกร็ด: ในบรรดาตัวละครทั้งหมด Niven ให้สัมภาษณ์บอกว่า ชื่นชอบประทับใจ Phileas Fogg ที่สุดแล้ว


Mario Fortino Alfonso Moreno Reyes หรือ Cantinflas (1911 – 1993) นักแสดง/ตลก สัญชาติเม็กซิกัน เกิดที่ Santa María la Redonda, Mexico พี่น้องแปดคน ตั้งแต่เด็กมีความเฉลียวฉลาดปราดเปรี่ยว ขี้เล่นสนุกสนานเลยเคยทำงานคณะละครสัตว์ ร้องเล่นเต้นออกทัวร์จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับชักชวนแสดงภาพยนตร์ No te engañes corazón (1939), ผลงานสร้างชื่อ Ahí está el detalle (1940), El supersabio (1948), แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ Around the World in 80 Days (1956), Pepe (1960) ฯ

รับบท Passepartout คนรับใช้ใหม่ของ Phileas Fogg นิสัยร่าเริงสนุกสนาน ไม่ชอบยึดติดอยู่กับกฎกรอบเกณฑ์ วันๆต้องหยอกล้อหลีสาว เป็นเหตุให้ไขว้เขว้หลงลืมสิ่งที่กำลังจะทำได้โดยง่าย และด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ จึงตกอยู่ในสถานการณ์เป็นตายบ่อยครั้ง เอาตัวรอดมาได้ด้วยโชคช่วยแบบสุดๆ

เกร็ด: Passepartout สามารถแปลได้ว่า ‘Goes Everywhere’ สะท้อนตัวละครที่สามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง

ดั้งเดิมบทบาทนี้ในนวนิยายแทบไม่มีอะไรโดดเด่น แต่การได้ Cantinflas ถือเป็นนักแสดงชื่อดังฝั่งละตินอเมริกา จะมาแค่สมทบตัวประกอบก็กระไรอยู่ ผู้สร้างเลยเพิ่มเติมส่วน Comedy และความสามารถเฉพาะตัวต้อนวัวกระทิง ไม่ต้องใช้สแตนอินเล่นโลดโผนเองได้ทุกช็อตฉาก

เกร็ด: Cantinflas เคยให้สัมภาษณ์บอกสิ่งอยากสุดของหนัง คือการขี่จักรยานล้อสูง Penny-Farthing นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด!

สำหรับนักแสดงรับเชิญมีประมาณ 40 คน (น่าจะเยอะสุดที่ปรากฎในหนังเรื่องหนึ่งแล้วกระมัง) ยกดังๆที่ผมรู้จักมาก็แล้วกันนะ
– Shirley MacLaine รับบท Princess Aouda (นางเอกที่ถูกตัดบท เพราะเธอท้องระหว่างถ่ายทำ เลยไม่สามารถทำอะไรได้มาก)
– Robert Newton รับบท Inspector Fix (โดยไม่รู้ตัว หมอนี่เป็นคนที่สามเดินทางรอบโลกสำเร็จ 80 วัน)
– Noël Coward
– Sir John Gielgud รับบท Foster คนรับใช้เก่าของ Fogg ที่กำลังขอลาออก
– Charles Coburn
– Peter Lorre รับบทสจ๊วตบนเรือ SS Carnatic
– Marlene Dietrich โฮสเทจที่ San Francisco
– John Carradine รับบท Col. Stamp Proctor
– Frank Sinatra นักเปียโน
– George Raft
– Ronald Colman
– Buster Keaton ผู้ควบคุมรถไฟ (จาก San Francisco ถึง Fort Kearney)
– Victor McLaglen ต้นหน SS Henrietta


ถ่ายภาพโดย Lionel Lindon (1905 – 1971) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Going My Way (1944), The Blue Dahlia (1946), Around the World in 80 Days (1956), I Want to Live! (1958), The Manchurian Candidate (1962) ฯ

ความที่เทคโนโลยี Todd-AO มีความเร็วขับเคลื่อน 30fps ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้กับเครื่องฉายฟีล์มทั่วไป 35mm ความเร็ว 24fps วิธีการของหนังคือถ่ายทำสองครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณไม่น้อย

หนังเดินทางไปรอบโลก 13 ประเทศ สร้างฉาก 140 เซ็ตที่ Hollywood (หยิบยืมโรงถ่ายของสตูดิโอ RKO-Pathe, RKO, Universal-International, Warner Brothers, Columbia Pictures และ Twentieth Century Fox) ตัวประกอบ 68,894 คน สัตว์อีก 8,552 ตัว (แกะ 3,800 ตัว, ควาย 2,448 ตัว, ลา 950 ตัว, ม้า 800 ตัว, ลิง 512 ตัว, วัวกระทิง 17 ตัว, ช้าง 15 ตัว, Skunks 6 ตัว และนกกระจอกเทศ 4 ตัว) แต่ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 75 วัน ถือว่ามีความรวดเร็วสูงมากๆ

งบประมาณเกือบครึ่งล้าน หมดไปกับค่าตัดเย็บเสื้อผ้า 74,685 ตัว ถือเป็นสถิติปริมาณเครื่องแต่งกายสูงสุดขณะนั้น (ไม่รู้ถูกทำลายไปหรือยังนะ!)

ฉากใหญ่สุดของหนังคือต้อนกระทิง นี่ไม่มีในนวนิยายของ Jules Verne ใส่เข้ามาเพราะต้องการขายความสามารถพิเศษของ Cantinflas โดยเฉพาะ! ตอนแรกเรียกรวมพลเมืองยัง Chinchón, Spain มาได้กว่า 6,500 คน แต่ยังไม่พึงพอใจโปรดิวเซอร์ต้องการหลักหมื่น ที่เหลือได้จาก Madird อยู่ห่างไป 45 กิโลเมตร

กลัวว่าภาพที่ออกมาจะดูหลอกๆ (เพราะใช้กล้องถ่ายทำขนาดใหญ่) โปรดิวเซอร์เลยทุ่มทุนซื้อรถไฟ สร้างทางให้สามารถถล่มพังทลายได้จริงๆ [นี่ล้อกับหนังเรื่อง The General (1926) ที่ Buster Keaton กำกับ/นำแสดง], เช่นกันกับเรือเดินสมุทร สำหรับข้าม Atalantic Ocean สามารถถอดชิ้นส่วนประกอบกันกลางทะเลเลยละ

ฉากผจญภัยได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญมากที่สุด คือล่องบอลลูน นี่ไม่มีในนวนิยายของ Jules Verne อีกเช่นกัน โปรดิวเซอร์ใส่เพิ่มเข้ามาเพื่อโชว์อ๊อฟกล้อง Todd-AO เพื่อถ่ายทำภาพสวยๆจากมุมสูงโดยเฉพาะ! แซวว่า David Niven เป็นโรคกลัวความสูง ช็อตถ่ายทำสองนักแสดงบนบอลลูนลอยขึ้นจากพื้นเพียงระยะ 49 เมตรเท่านั้น

ทิ้งท้าย 10 วินาที กับภาพกระบวนพยุหยาตราชลมารคจากเมืองไทย ได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ติดพื้นหลังพระบรมหาราชวัง, ฟุตเทจจากเมืองไทยมีอีกช็อตหนึ่งนะ แต่เป็นตอนพลบค่ำเลยมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่

ด้วยปริมาณฟุตเทจ 680,000 ฟุต (=210,000 เมตร) ใช้ระยะเวลา 9 เดือนเต็ม ตัดต่อโดย Gene Ruggiero และ Howard Epstein ให้หลงเหลือเพียง 25,734 ฟุต (=7,844 เมตร) ความยาว 179 – 183 นาที**

เกร็ด: สาเหตุที่หนังมีความยาวไม่เท่ากัน เกิดจากความเร็วของเครื่องเล่น คือถ้าต้นฉบับจากฟีล์ม 35mm (25fps) จะได้ความยาว 179 นาที แต่ถ้านำจากฟีล์ม 70mm (30fps) เล่นในเครื่องเล่น 25fps ผลลัพท์เลยยาวนานขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองหลักๆของสองนักผจญภัย Phileas Fogg และ Passepartout ซึ่งพอพวกเขาเดินทางถึงแห่งหนใด ก็มักตัดสลับกลับมายัง Reform Club เพื่อแจ้งข่าวสารต่อสี่เกลอนักพนันขันต่อ พูดคุยสนทนาแสดงปฏิกิริยาต่อสิ่งได้ยินมา

หนังเริ่มต้นแนะนำตัวละครแบบหยาบๆ สร้างความสัมพันธ์ระว่าง Fogg กับ Passepartout อย่างหลวมๆ แล้วให้เวลากับการผจญภัยแต่ละประเทศ ร้อยเรียงมอนเทจภาพทิวทัศน์สวยๆสองข้างทาง ตัดสลับปฏิกิริยาอึ้งทึ่งไม่เคยเห็นของตัวละคร ดำเนินไปเช่นนี้เวียนวนมาหลายครั้งจนกลายเป็นสูตรสำเร็จ ผู้ชมที่จินตนาการแผนที่โลกไม่ออกคงรำพัน เมื่อไหร่จะถึงจุดสิ้นสุดเส้นชัยสักที!

ตรงกันข้ามกับคนล่วงรู้จักภูมิทัศน์ของโลกเป็นอย่างดี คงโคตรหงุดหงิดหัวเสีย ล่องเรือผ่านพม่า/ช่องแคบมะละกา ไฉนกลับมีภาพพระราชวัง แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร, หรือฉากที่ญี่ปุ่น Great Buddha แห่ง Kamakura อยู่ห่างจาก Yokohama พอสมควรเลยนะ!


เพลงประกอบโดย Victor Young (1900 – 1956) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ผู้มีหลายผลงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Reap the Wild Wind (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), So Evil My Love (1948), The Greatest Show on Earth (1952), The Quiet Man (1952), Shane (1953) และผลงานสุดท้ายก่อนเสียชีวิตคือ Around the World in 80 Days (1957)

จัดเต็มด้วย Symphoney Orchestra มอบสัมผัสที่คือจิตวิญญาณเหมือนดั่งลูกโป่ง/บอลลูน ล่องลอยตามแรงลมอยู่บนฟากฟ้า เคลื่อนไหลไปตามโชคชะตา ชีวาก็เฉกกัน!

น่าเสียดายผมหาอนิเมชั่นความยาว 7 นาที สรรค์สร้างโดย Saul Bass มาให้รับชมไม่ได้ (หาดูในหนังเอาเองแล้วกันนะครับ) ด้วยระยะเวลาดังกล่าวสมัยนั้นถือว่านานมากๆ จนกลายเป็นสถิติ Closing Credit เยิ่นยาวที่สุด ก่อนถูกแซงโดย Superman (1978)

แซว: ปัจจุบันยาวสุดน่าจะ Lord of the Rings มั้งนะ!

จริงๆหนังมีบทเพลงขับร้อง Around the World แต่งเนื้อโดย Harold Adamson แต่ไม่ได้ถูกนำใส่ในหนัง บันทึกเสียงครั้งแรกโดย Bing Crosby ต่อมาได้รับการ Re-Record นับครั้งไม่ถ้วนทีเดียว (โด่งดังกว่า Soundtrack ของหนังอีกมั้งนะ!)

เกร็ด: ฉบับขับร้องโดย Crosby ติดสูงสุดอันดับ 25 ชาร์ท Billboard Hot 100

จากความเชื่อว่าโลกแบน ได้รับการพิสูจน์เปลี่ยนเป็นโลกกลม ต่อมา Christopher Columbus แล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกค้นพบทวีปอเมริกา (เป็นการยืนยันว่าโลกกลม) เทคโนโลยีค่อยๆวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ รถต่อเรือต่อรถไฟต่อเครื่องบิน จนในที่สุดสามารถเดินทางรอบโลกในระยะเวลาเพียง 80 วัน

เกร็ด: ตั้งแต่ปี 1993 จะมีการแข่งขันเดินทางรอบโลก เลียนแบบ Around the World in 80 Days ตั้งชื่อรางวัลว่า Jules Verne Trophy สถิติเมื่อปี 2017 โดย Francis Joyon ชาวฝรั่งเศส ใช้เวลา 40 วัน 23 ชั่วโมง 30 นาที 30 วินาที

สูตรสำเร็จเรื่องราวแนว Travelogue ผู้เดินทางจะได้เปิดโลกทัศน์ พบเห็นสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้จักวัฒนธรรมแตกต่าง ค่อยๆแปรสภาพภายใน อาจจากเคยตึงเครียดซึมเศร้าหมองหม่น สู่ความโอนอ่อนผ่อนคลายยิ้มแย้มสุขสบาย, ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน
– Phileas Fogg จากเคยเป็นคนตรงกว่าไม้บรรทัด ระหว่างทางพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว เริ่มแสดงออกน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ภายในอันโอนอ่อนโยนค่อยๆผ่อนคลายออกมา
– สำหรับ Passepartout แม้ดูไม่แตกต่างตั้งแต่ต้นจนจบ แต่บทเรียนชีวิตมากมายระหว่างเดินทาง รอดมาได้หลายครา คงเกิดความจดจำฝังใจบ้าง … ไม่มากก็น้อย

ข้อคิดดีสุดที่ผมหาได้จากหนัง, การออกเดินทางสู่โลกกว้างจะทำให้เราค้นพบมุมมองใหม่ๆ ไม่จมปลักอยู่กับความคร่ำครึโบราณ เพราะชีวิตคืออิสรภาพ! เปิดออกแล้วโบยบิน จักพบเห็นได้ยินว่ามีอะไรอีกมากที่เรามิเคยล่วงรับรู้

และมิตรภาพระหว่างการเดินทาง คือสิ่งสวยงามมากๆถ้าใครได้พบเจอ!


ด้วยทุนสร้าง $6 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $33 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $42 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับสองของปีรองจาก The Ten Commandments (1956)

เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 5 รางวัล
– Best Picture **คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Writing, Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
– Best Cinematography, Color **คว้ารางวัล
– Best Film Editing **คว้ารางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration, Color
– Best Costume Design, Color
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture **คว้ารางวัล

ถ้ามองเมื่อตอนหนังออกฉาย Around the World in 80 Days ถือว่าคือเต็งหนึ่ง เพราะเพิ่งคว้ารางวัล Golden Globe: Best Motion Picture – Drama แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปย้อมมองคู่แข่งเรื่องอื่น The Ten Commandments, Giant, The King and I และ  Friendly Persuasion ดูดีมีภาษีกว่าทั้งนั้น จากเคยยิ่งใหญ่กลายเป็นปีอัปยศของ Academy เทียบแล้วอาจเป็นรองแค่ The Greatest Show on Earth (1952)

เกร็ด:
– Around the World in 80 Days กลายเป็นชื่อภาพยนตร์ยาวสุดคว้า Oscar: Best Picture ถูกเทียบเคียงโดย One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) และแซงได้เรื่อง The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)
– Victor Young หลังจากเข้าชิง Oscar มาทั้งหมด 22 ครั้ง เสียชีวิตก่อนได้รับรางวัลจากหนังเรื่องสุดท้ายนี้
– หนึ่งในนักเขียนบท S. J. Perelman ไม่ได้เข้าร่วมรับรางวัล แต่ได้ส่ง Hermione Gingold อ่านโน๊ตที่เขียนไว้ เธอพูดว่า

“I’m very proud to receive this object d’art on behalf of Mr. Perelman, who writes … he cannot be here for a variety of reasons, all of them spicy. He’s dumbfounded, absolutely flummoxed. He never expected any recognition for writing ‘Around the World in Eighty Days’. And, in fact, only did so on the expressed understanding that the film would never be shown”.

เมื่อก่อนผมเคยชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มรู้จักหลังรับชม Around the World in 80 Days (2004) ฉบับนำแสดงโดยเฉินหลง แต่ครานี้หวนกลับมาดูรู้สึกผิดหวังโดยสิ้นเชิง ‘รูปสวยใจทราม’ นอกจากภาพสวย เพลงเพราะ อย่างอื่นเละตุ้มเปะพอๆกับหนังของ Michael Bay เลยก็ว่าได้

แนะนำคอหนังผจญภัยรอบโลก หลงใหลวัฒนธรรมหลากหลาย ชื่นชอบผลงาน Jules Vern, งานภาพสวยๆอลังการ (เหมาะรับชมในโรงภาพยนตร์จอใหญ่ๆ) เพลงประกอบไพเราะ, และแฟนๆนักแสดงอย่าง David Niven, Cantinflas, Shirley MacLaine ฯลฯ

จัดเรตทั่วไป ไม่มีพิษมีภัย

คำโปรย | Around the World in 80 Days เรียกได้ว่า ‘รูปสวยใจทราม’ เหมาะสำหรับรับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น
คุณภาพ | รูปสวยใจทราม
ส่วนตัว | ค่อนข้างผิดหวัง

Cavalcade (1933)


Cavalcade

Cavalcade (1933) hollywood : Frank Lloyd ♥♥♥

อีกหนึ่ง Worse Oscar: Best Picture นำเสนอครอบครัวชาวอังกฤษ มีชีวิตพานผ่านวันสิ้นปี 1899 จนถึงปีใหม่ 1933, พบเห็นสงคราม Second Boer War (1899-1902), การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (22 มกราคม 1901), เรือไททานิคล่ม (14 เมษายน 1912) และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18)

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือดอกไม้ประดับพื้นหลัง หนังนำเสนอแค่มุมมองตัวละคร อิทธิพลผลกระทบ สภาพจิตใจขณะพานผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเท่านั้นเอง!

รับชมยุคสมัยปัจจุบัน แทบทั้งนั้นส่ายหัวกับความไม่มีอะไรสักอย่าง ไร้อารมณ์ร่วมจับต้องได้ แค่ภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ แฝงซ่อนเร้นประเด็น Patriotism แต่ผมว่า Anti-Wars กลับโดดเด่นชัดกว่า

จริงๆถ้าเราลดอคติคาดหวังต่อหนังลง ผมมองว่า Cavalcade เป็นภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมหนึ่ง มีไดเรคชั่นเป้าหมายนำเสนอเด่นชัดเจน และทำออกมาได้ค่อนข้างดีมากๆด้วย จะเรียกว่าหนังอาร์ท (Art Film) ที่มาก่อนเวลาเลยก็ยังได้


ต้นฉบับของ Cavalcade คือละครเวทีสร้างโดย Sir Noël Peirce Coward (1899 – 1973) นักเขียน/นักแสดง/ผู้กำกับละครเวที สัญชาติอังกฤษ ในชีวิตเคยสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อร่วมกับ David Lean เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น In Which We Serve (1942) แต่ได้รับการยกย่องคว้ารางวัล Academy Honorary Award

Coward มีความต้องการสร้างละครเวทีที่มีโปรดักชั่นอลังการ ทีแรกครุ่นคิดเรื่องราวเกี่ยวกับ French Revolution แต่เมื่อพบเห็นภาพถ่ายเก่าๆจากหนังสือพิมพ์ Illustrated London News ขณะกองทัพทหารอังกฤษกำลังขึ้นเรือออกเดินทางสู่ Boer War เลยเกิดแรงบันดาลใจ Cavalcade

เพื่อความอลังการงานสร้างที่สุด ทีแรก Coward ติดต่อ London Coliseum (โรงละครขนาดใหญ่สุดในประเทศอังกฤษขณะนั้น) แต่คิวไม่ว่างเลยจำต้องเลือก Theatre Royal, Drury Lane ที่มีขนาดรองลงมา เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ 13 ตุลาคม 1931 นำแสดงโดย Mary Clare, Edward Sinclair แม้ประสบปัญหาขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย แต่ได้เสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม กลายเป็นละครเวที West End ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปี 405 รอบการแสดง สิ้นสุดกันยายน 1932

ความสำเร็จของละครเวที แม้ยังประเทศอังกฤษมีหรือจะไม่เข้าหูเข้าตาสตูดิโอ Fox Film Corporation ส่งตากล้องไปบันทึกการแสดงสดหวังใช้เป็นไกด์ไลน์สร้างภาพยนตร์ ทีแรกวางตัว Frank Borzage แต่ได้รับการปัดปฏิเสธ โปรดิวเซอร์เลยมองหาผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ (เพราะเข้ากับพื้นหลังเรื่องราว) และได้ตัว Frank Lloyd สดๆร้อนๆเพิ่งคว้า Oscar: Best Director จากเรื่อง The Divine Lady (1929)

Frank William George Lloyd (1886 – 1960) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Glasgow, Scotland พ่อเป็นชาว Welsh แม่เชื้อสาย Scottish โตขึ้นมุ่งสู่ London กลายเป็นนักร้อง/แสดงละครเวที มุ่งสู่ Hollywood แสดงหนังเงียบสังกัด Universal Studio แต่เสียงตอบรับไม่ดีเลยผันสู่เบื้องหลัง สร้างชื่อตอนอยู่สตูดิโอ Fox ชื่นชอบดัดแปลงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง A Tale of Two Cities (1917), Les Misérables (1917), Oliver Twist (1922) ฯ ปรับตัวสู่ยุคหนังพูด The Divine Lady (1929), Cavalcade (1933), Mutiny on the Bounty (1935) ฯ

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Reginald Berkeley, Sonya Levien เห็นว่าแทบไม่มีการปรับเปลี่ยนแปลง เพิ่มตัดต่อเติมเนื้อหาส่วนใดจากละครเวทีออกไปเลย

เรื่องราวของครอบครัว Marryot และคนรับใช้ เล่าผ่านมุมมองของภรรยา/แม่ Jane Marryot (รับบทโดย Diana Wynyard) พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่วันสิ้นปี 1899 จนถึงปีใหม่ 1933
– สงคราม Second Boer War (1899-1902) พบเห็นสามี/พ่อ Robert Marryot (รับบทโดย Clive Brook) และคนรับใช้ Alfred Bridges (รับบทโดย Herbert Mundin) เตรียมตัวออกเดินทางเข้าร่วมปฏิบัติการ Siege of Mafeking เพื่อยึดครองเมือง Mafeking (ปัจจุบันคือ Mahikeng, South Africa)
– แม้ได้รับชัยชนะกลับจากสงคราม แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ทรงสวรรคตวันที่ 22 มกราคม 1901
– ปี 1908, อดีตคนรับใช้ Alfred และภรรยา Ellen Bridges (รับบทโดย Una O’Connor) ออกไปตั้งตัว เปิดกิจการผับบาร์ของตนเอง แต่เขากลับมีอาการคล้ายๆ PTSD ดื่มเหล้าเมามายหัวราน้ำ ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต
– 25 กรกฎาคม 1909, ครอบครัว Marryot บังเอิญพบเจออดีตคนรับใช้เก่า Bridges ที่ริมทะเล พบเห็น Louis Blériot สร้างประวัติศาสตร์ขับเครื่องบินข้ามช่องแคบอังกฤษเป็นครั้งแรก
– เมษายน 1912, พี่ชายคนโต Edward Marryot (รับบทโดย John Warburton) แต่งงานกับเพื่อนเล่นวันเด็ก Edith Harris (รับบทโดย Margaret Lindsay) ขึ้นเรือ RMS Titanic ตั้งใจไปฮันนีมูนยังสหรัฐอเมริกา แต่แล้ว…
– การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง (1914 – 18) ทำให้พ่อ Robert ต้องหวนกลับไปรับใช้ชาติ ขณะที่ลูกชายคนเล็ก Joe Marryot (รับบทโดย Frank Lawton) ก็อาสาสมัครเป็นทหาร วันหนึ่งระหว่างวันพักผ่อน พบเจอตกหลุมรัก Fanny Bridges (รับบทโดย Ursula Jeans) ที่กลายเป็นนักร้อง/นักเต้น พยายามเกี้ยวพาราสีแต่เธอกลับลีลาเล่นตัว แล้วโศกนาฎกรรมก็บังเกิดขึ้นอีกหน
– 11 พฤศจิกายน 1918 ณ Trafalgar Square พบเห็น Jane ร่ำร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ท่ามกลางฝูงชนที่ต่างยินดีปรีดากับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง


นำแสดงโดย Diana Wynyard ชื่อเกิด Dorothy Isobel Cox (1906 – 1964) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Lewisham, South London เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที เข้าร่วมคณะ Liverpool Repertory Company ตามด้วย Hamilton Deane Repertory Company มีโอกาสไปแจ้งเกิด Broadway และแสดงภาพยนตร์สังกัด Fox Film Coporation ผลงานเด่นๆ Cavalcade (1933), On the Night of the Fire (1939), Gastlight (1940) ฯ

รับบทภรรยา/แม่ Jane Marryot เริ่มต้นเอ่อล้นด้วยความรัก แต่มักพานพบเจอการสูญเสีย เป็นเหตุให้จิตใจที่เคยเป็นสุขค่อยๆทุกข์เศร้าหมองจนหมดอาลัย เพราะเหตุไฉนทำไมโชคชะตาถึงเล่นตลกบ่อยครั้งครากับฉันขนาดนี้

กราฟความสุขของตัวละครนี้ เริ่มต้นจากสูงสุดค่อยๆลดต่ำลงจนเหลือศูนย์(ลงไปติดลบ) ตรงกันข้ามกับการแสดงของ Wynyard เริ่มต้นเหมือนไม่มีอะไรค่อยๆสะสมความอึดอัดอั้นทรมาน จากเคยยิ้มนานกลายเป็นอมทุกข์เศร้าหมอง ถ่ายทอดผ่านสีหน้าอารมณ์ตัวละครได้อย่างหม่นหมองรวดร้าวราน

นักแสดงอื่นขอไม่พูดถึงแล้วกันนะครับ เพราะโดดเด่นมีเพียง Wynyard อยู่คนเดียว นอกนั้นเหมือนตัวประกอบสมทบ Ensemble Cast มีลักษณะ Charactor Stock เท่านั้นเอง


ถ่ายภาพโดย Ernest Palmer (1885 – 1978) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Seventh Heaven (1927), Street Angel (1928), สู่หนังพูด Cavalcade (1933), และคว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Blood and Sand (1941)

ตัดต่อโดย Margaret Clancey (1897 – 1989) นักแสดง/นักตัดต่อหญิง สังกัดสตูดิโอ Fox ตามด้วย United Artists

หนังถ่ายทำทั้งหมดยังสตูดิโอ Fox แม้ฉากภายนอกก็ใช้เทคนิค Rear Projection ฉายภาพที่กองสองไปถ่ายทำไว้ขึ้นฉากพื้นหลัง นักแสดงไม่จำต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานที่จริง

ไดเรคชั่นของหนัง นำเสนอผ่านมุมมองสายตาของ Jane Marryot ประสบพบเจอเรื่องราวการสูญเสียต่างๆนานา แต่จะไม่มีการนำภาพโศกนาฎกรรมเหล่านั้นถ่ายทอดให้ผู้ชมพบเห็น
– สามี Robert Marryot ไปสงคราม Second Boer War แต่จะไม่มีภาพการสู้รบเข่นฆ่าฟัน
– การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย มีเพียงข่าวหนังสือพิมพ์ ขบวนนำพระศพก็ไม่พบเห็น
– เรือไททานิคล่ม เห็นแค่ป้ายชื่อเท่านั้นละ
– สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รับรู้จากการอ่านจดหมายแล้วเป็นลมล้มพับ

การที่หนังไม่นำเสนอภาพเหตุการณ์สูญเสียสักอย่าง ถือเป็นความอาร์ทอย่างหนึ่ง! เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกตัวละคร ที่ก็รับรู้สิ่งต่างๆจากได้ยินมา อ่านหนังสือพิมพ์ หรือข้อความในจดหมาย ไม่จำเป็นต้องประสบพบเห็นด้วยตา สามารถเกิดความรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัสได้เช่นกัน

ถึงกระนั้นมุมมองผู้ชมยุคสมัยปัจจุบัน ถ้าไม่เคยล่วงรู้ประวัติศาสตร์มาก่อนคงยากจะเข้าใจ หงุดหงิดหัวเสียเพราะไม่เห็นมันมีอะไร! หนังนำเสนอเพียงปฏิกิริยา สีหน้า อารมณ์ตัวละคร ขณะประสบพบเห็น พานผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ทุกครั้งที่กำลังจะ Time Skip มีภาพทหารม้ากำลังเดินทัพ ตัวอักษรปรากฎขึ้นเลขปีคริสต์ศักราช นั่นเป็นการสะท้อนชื่อหนัง Cavalcade แทนความหมายกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน คงเป็นความตั้งใจให้คล้ายๆแม่ไกวเปลเด็กของ Intolerance: Love’s Struggle Throughout the Ages (1916)

นอกจากนี้หนังยังมีความโดดเด่นอีกประการหนึ่ง คือการสอดแทรก Comedy เข้าไปในบทสนทนา แทบทุกครั้งจะมีการตบมุกล้อเลียน ขำบ้างไม่ขำบ้าง คนไม่คล่องแคล่วภาษาอังกฤษอาจเสียเปรียบพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น

Annie: Eh, where is Africa Mr. Bridges?
Alfred Bridges: Well I don’t rightly know where it is but, it’s bloody hot when ya get there.

เกร็ด: Cavalcade คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการใช้คำหยาบ Damn, Hell, และ Hell of a lot ซึ่งล้วนมาจากต้นฉบับละครเวที สาเหตุรอดตัวเพราะยังอยู่ช่วงก่อนหน้าการมาถึงของ Hays Code หรือที่เรียกว่า Pre-Code

และช่วงท้ายจะมีการสรุปประมวลผลเหตุการณ์ หวนระลึกห้วงความทรงจำ 30 ปี ของครอบครัว Marryot ใช้เทคนิคซ้อนภาพจากอดีต ผสมเสียงและบทเพลงสลับเปลี่ยนไปมา ช่างดูสับสนวุ่นวายอลม่านเสียจริง! … แต่ทุกสิ่งอย่างได้เกิดขึ้นพานผ่านพ้นไปหมดแล้ว ปัจจุบันหลงเหลือเพียงความว่างเปล่าที่แสนเงียบเหงาและสงบสุข

สำหรับเพลงประกอบ ส่วนหนึ่งนำจากต้นฉบับละครเวทีของ Noël Coward เพิ่มเติมเพลงชาติอังกฤษ, แนวปลุกใจทหาร (Patriotic Song), Ballads, Hyms, Jazz ฯ ล้วนเพื่อให้สอดคล้องเข้ากับยุคสมัยและเรื่องราว อาทิ
– Cavalcade March Song (1932) ทำนอง Louis De Francesco, คำร้อง Reginald Berkeley
– Edward Elgar: Pomp and Circumstance March No. 1 in D Major, Op. 39 (1901) ดังขึ้นเมื่อตอนเริ่มต้น/สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
– Frédéric Chopin: Sonata No. 2 in Bb-, Op. 35: Marche Funebre (1837) งานพระศพ Queen Victoria
– Johann Strauss: Kaiserwalzer (Emperor Waltz), Op. 437 (1889) ในงานเลี้ยงบอลรูม และบนเรือไททานิค
– Auld Lang Syne (1788) คำร้องโดย Robert Burns
– Soldiers of the Queen (1894) แต่งโดย Leslie Stuart
– When Johnny Comes Marching Home (1863) แต่งโดย Louis Lambert
– Over There (1917) แต่งโดย George M. Cohan
ฯลฯ

นำบทเพลง Lover of My Dreams (Mirabelle Valse) แต่งโดย Noël Coward ในหนังขับร้องโดย Ann Shaw, Adele Crane และ Stuart Hall

Great Depression ช่วงปลายทศวรรษ 20s แพร่ระบาดความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ปกคลุมทั่วผืนแผ่นดินโลก เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองหายาก ข้าวปลาไม่ค่อยมีกิน แต่นั่นหาใช่จุดสิ้นสุดชีวิต รับชมละครเวที/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ย่อมสามารถหลบหลีกหนี ‘Escapist’ และสร้างขวัญกำลัง แรงบันดาลใจให้ใครๆสามารถลุกขึ้นก้าวเดิน

ดูจากความตั้งใจของ Noël Coward และผู้กำกับ Frank Lloyd รังสรรค์สร้าง Cavalcade ให้มีกลิ่นอายรักชาติ ‘Patriotism’ ปลุกผู้ชมให้ฮึกเหิม เกิดกำลังใจลุกขึ้นต่อสู้ แม้พานผ่านโศกนาฎกรรมมากมาย ตราบใดยังชีวิตก็ยังต้องดิ้นรนดำเนินต่อ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมองในมุมของ Jane Marryot แม่ผู้เต็มไปด้วยความหวาดสะพรึงกลัว อันเนื่องจากสงครามทำให้เกิดการพลัดพราก ชีวิตต้องทนทุกข์ยากตกระกำลำบาก นี่ถือเป็นใจความต่อต้าน Anti-War อันก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมสูญเสีย จากเคยสุขสำราญแปรสภาพสู่หมดสิ้นหวังอาลัย

หลายคนอาจสงสัย ทำไมผมถึงจัดหนังเรื่องนี้เข้าหมวด Art Film? นั่นเพราะไดเรคชั่นดำเนินเรื่อง มีความแน่วแน่ในการนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร ด้วยลีลาหลีกเลี่ยงนำเสนอเหตุการณ์ออกมาตรงๆ นี่เป็นวิธีการที่หนังอินดี้ทุนสร้างต่ำๆสมัยปัจจุบันนี้นิยมกัน แม้เรื่องนี้กลับจัดเต็มงบประมาณ เลยสามารถเรียกว่า ‘Art Film ที่มาก่อนเวลา’ ก็น่าจะได้อยู่!


ด้วยทุนสร้างประมาณ $1.2 เหรียญ ทำเงินได้ $3.5 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จกำไรล้นหลามทีเดียว, เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Outstanding Production **คว้ารางวัล
– Best Director **คว้ารางวัล
– Best Actress (Diana Wynyard)
– Best Art Direction **คว้ารางวัล

อีกเหตุผลหนึ่งที่หนังถูกปู้ย้ำปู้ยีเมื่อกาลเวลาผ่านไป เพราะสามารถเอาชนะเรื่องที่กลายเป็นตำนานอย่าง 42nd Street, Little Women และ The Private Life of Henry VIII. ได้อย่างน่ากังขา

เกร็ด: Cavalcade คือภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของ Fox Film Corporation ที่คว้ารางวัล Oscar: Best Picture ก่อนผนวกรวมบริษัทกับ 20th Century Pictures เมื่อปี 1935 เปลี่ยนชื่อเป็น 20th Century Fox

เกร็ด 2: Frank Lloyd เป็นผู้กำกับคนที่สองถัดจาก Lewis Milestone คว้า Oscar: Best Director ได้ถึงสองครั้งจาก The Divine Lady (1929) และ Cavalcade (1933)

ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆกับหนัง แต่อดไม่ได้จะยกย่องไดเรคชั่น/เป้าหมายของหนัง มีความแน่วแน่ชัดเจน เรียกได้ว่า ‘Art Film ที่มาก่อนกาลเวล’ น่าเสียดายผู้ชมสมัยนี้มองไม่เห็นคุณค่าความสำคัญนั้น

แนะนำคอหนัง War Drama บันทึกประวัติศาสตร์ แฝงใจความต่อต้านสงคราม, แฟนๆผู้กำกับ Frank Lloyd และนักแสดงนำ Clive Brook, Diana Wynyard ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับโศกนาฎกรรมที่แม้ไม่พบเห็น แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของตัวละคร

คำโปรย | แม้ดูยังไงก็น่าเบื่อ แต่ Cavalcade ของผู้กำกับ Frank Lloyd จัดเป็นหนังอาร์ทก่อนเวลา ที่มีเป้าหมายโดดเด่นชัดเจน
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | เฉยๆ

Cimarron (1931)


Cimarron

Cimarron (1931) hollywood : Wesley Ruggles ♥♥♥

ถึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน Worse Oscar: Best Picture แต่การได้พบเห็นประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการรัฐ Oklahoma ตั้งแต่เริ่มต้นบุกเบิก 1889 จนถึงปี 1929 ช่างอลังการงานสร้างยิ่งนัก

เหตุผลที่ Cimarron (1931) ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดแย่ คว้ารางวัล Oscar สาขา Outstanding Production หรือ Best Picture เพราะรับชมในยุคสมัยปัจจุบัน พบเห็นการเหยียดหยาม ‘Racism’ เกลื่อนกลาดเต็มไปหมด! แต่ผมกลับมองว่านั่นคือประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องของสหรัฐอเมริกา ข้อเท็จจริงไม่สามารถลบเลือนได้แม้กาลเวลา

ส่วนตัวมองว่าถึงหนังอลังการงานสร้าง แต่ขาดมนต์เสน่ห์อันน่าหลงใหลแบบ Gone With the Wind (1939) กล่าวคือเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ตัวละครมีพัฒนาการเติบโต แล้วยังไงต่อ… สุดท้ายหลงเหลือเพียงสัมผัสหวนระลึกถึง ‘Nostalgia’ ต่อกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่านเท่านั้น

จริงๆต้องเปรียบเทียบกับอีกเรื่องหนึ่งด้วย Giant (1952) เพราะดัดแปลงสร้างจากนักเขียนคนเดียวกัน Edna Ferber (1885 – 1968) แถมลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกันมากๆ โดยมี’เวลา’เคลื่อนดำเนินไป แต่เรื่องนั้นมีอะไรๆน่าลุ่มหลงใหลกว่าเยอะ วิสัยทัศน์ผู้กำกับ และวิวัฒนาการยุคสมัย เลยไม่แปลกที่ใครๆจะค่อยๆหลงลืมเลือน Cimarron (1931)


ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน Cimarron (1929) แต่งโดย Edna Ferber (1885 – 1968) นักเขียนหญิงสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ So Big (1924)** คว้ารางวัล Pulitzer Prize, Show Boat (1926), Giant (1952) ฯ

ขอกล่าวถึง Edna Ferber โดยคร่าวๆ เกิดที่ Kalamazoo, Michigan พ่อเป็นชาว Hungarian เชื้อสาย Jews ทำธุรกิจไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เลยมักออกพาครอบครัวอพยพเดินทางไปเริ่มต้นดินแดนใหม่อยู่เรื่อยๆ, ชีวิตวัยเด็ก Ferber มักถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียนจากพวก Anti-Semitsim โตขึ้นเข้าเรียน Lawrence University, Wisconsin จบออกมาทำงานหนังสือพิมพ์ Appleton Daily Crescent ตามด้วย Milwaukee Journal ก่อนผันตัวมาเขียนนวนิยาย ซึ่งมักให้ตัวละครนำเพศหญิงมีความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็งแกร่ง สอดแทรกประเด็น Feminist สร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ

คำว่า Cimarron มาจาก Cimarron Territory หมายถึงดินแดนที่ยังไม่ได้รับการจดจำอย่างเป็นทางการ บ้างเรียกว่า No Man’s Land เจ้าของเดิมคือชนพื้นเมืองอเมริกัน อาทิ Cherokee, Sioux ฯ เมื่อปี 1886 รัฐบาลกลางกวาดซื้อที่ดินจากอินเดียแดงในราคาแสนถูก แล้วเปิดให้ประชาชนจับจองเป็นเจ้าของ หนึ่งในนั้นก็คือ Oklahoma จากดินแดนอันว่างเปล่า ค่อยๆพัฒนากลายเป็นเมืองใหม่

นวนิยายไม่เพียงได้เสียงตอบรับอย่างดี ยังกลายเป็น Best-Selling ประจำปี 1930 ทำให้ผู้อ่านสมัยนั้นเหมือนได้หลุดหลีกหนีความทุกข์ยากลำบาก ของโรคระบาด Great Depression ที่แผ่ปกคลุมสหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษ 20s

มีหรือจะรีรอช้า RKO Radio Pictures เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์มา ทุ่มจ่ายเงินสูงถึง $125,000 เหรียญ มอบหมายให้ Howard Estabrook และ Louis Sarecky ดัดแปลงบท และ Wesley Ruggles รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์

Wesley Ruggles (1889 – 1972) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles เข้าสู่วงการภาพยนตร์ปี 1915 เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง มีผลงานร่วมกับ Chalie Chaplin หลายเรื่องทีเดียว ก่อนผันตัวมาสู่เบื้องหลัง ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นตากล้องสังกัด Army Signal Corps ปลดประจำการออกมาสร้างหนังเงียบ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Age of Innocence (1924), Street Girl (1929), โด่งดังสุดในชีวิต Cimarron (1931)

การมาถึงของ Oklahoma Land Rush วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1889, ผู้คนจำนวนมหาศาลเร่งรีบร้อนเพื่อจับจองดินแดนใหม่ยัง Oklahoma Territory หนึ่งในนั้น Yancey Cravat (รับบทโดย Richard Dix) พยายามอย่างยิ่งจะได้ครอบครองพื้นที่บริเวณหนึ่ง แต่ถูกฉกแย่งชิงโดย Dixie Lee (รับบทโดย Estelle Taylor) ก็ไม่เป็นไร! นำพาภรรยา Sabra (รับบทโดย Irene Dunne) เริ่มต้นเปิดกิจการโรงพิมพ์ยังเมือง Osage สร้างชื่อเสียงให้ตนเองจากการต่อสู้ดวลปืนเอาชนะ Lon Yountis (รับบทโดย Stanley Fields) และอาชญากรชื่อดัง The Kid (รับบทโดย William Collier Jr.) กระทั่งการมาถึงของ Cherokee Strip Land Run ปี 1893 ไม่สามารถทำให้จิตวิญญาณของ Yancey สงบสุขลงได้


นำแสดงโดย Richard Dix ชื่อเกิด Ernst Carlton Brimme (1893 – 1949) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Paul, Minnesota ตอนเด็กมีความต้องการเดินตามรอยพ่อที่เป็นศัลยแพทย์ แต่พรสวรรค์ด้านการแสดงพบเห็นตั้งแต่เด็ก แถมเก่งกีฬา ระหว่างเข้าเรียน University of Minnesota ใช้เวลายามค่ำแสดงละครเวที ไต่เต้าจนกลายเป็นนักแสดงนำสังกัด Morosco Stock Company เซ็นสัญญาภาพยนตร์กับ Paramount Pictures ปกติมักแสดงหนัง Western แต่ได้รับการจดจำจาก The Ten Commandments (1923) ก้าวผ่านสู่ยุคหนังพูดกับ Cimarron (1931)

รับบท Yancey Cravat หนุ่มมาดแมน ร่างกายบึกบึนกำยำ ชอบพร่ำคำสอนพระเจ้า ฝีมือการต่อสู้ยิงปืนแม่นยำเก่งกาจ จนได้ความเคารพยำเกรงจากทุกๆผู้คน อดีตคงผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ชื่นชอบผจญภัยบุกเบิกดินแดนใหม่ๆ แม้ตกหลุมรักแต่งงานกับ Sabra แต่จิตใจยังคงโหยหาอิสรภาพ ไม่สามารถปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งหนใดเกิน 4-5 ปี

ภาพลักษณ์ Macho ของ Dix ชวนให้ระลึกถึง John Wayne อยู่นิดๆ มาดเท่ห์ทรงเสน่ห์ พึ่งพาได้ จิตใจดีงาม แถมยิ่งแก่ยิ่งเก๋า  เรียกได้ว่าดีพร้อมสมบูรณ์แบบ ทำอะไรไม่เคยผิดพลาด วิสัยทัศน์ก้าวไกล แต่กลับทำอะไรโง่ๆ ตายบัดซบตอนจบซะงั้น!

Irene Marie Dunn (1898 – 1990) นักร้อง/นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Louisville, Kentucky แม่เป็นนักเปียโน/ครูสอนดนตรี ทำให้ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในบทเพลง/การแสดง ด้วยเสียง Soprano ได้ทุนเข้าเรียน Chicago Musical College ทีแรกตั้งใจเป็นนักร้องโอเปร่า แต่ไม่ได้รับคัดเลือกจาก Metropolitan Opera Company เลยกลายเป็นนักแสดงละครเวที Broadway, เซ็นสัญญากับ RKO ภาพยนตร์เรื่องแรก Leathernecking (1930), แจ้งเกิดกับ Cimarron (1931), ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Theodora Goes Wild (1936), Show Boat (1936), The Awful Truth (1937), Love Affair (1939), Anna and the King of Siam (1946), I Remember Mama (1948) ฯ

รับบท Sabra Cravat ลูกคุณหนูจากครอบครัวที่ทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน ก็ไม่รู้อย่างไรถึงตกหลุมรักแต่งงาน Yancey ยินยอมติดตามสามีมุ่งสู่ Oklahoma Territory ทีแรกเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ระแวงโน่นนี่นั่น โอนอ่อนผ่อนตามกระแสสังคม ค่อยๆพัฒนาการทัศนคติ กาลเวลาทำให้เธอตระหนักหวนระลึกถึงคุณค่า สุดที่รักคนนี้ละหนาคือผู้เข้าใจทุกสิ่งอย่าง

ขณะที่ Yancey เป็นคนรักในอิสรภาพเสรี Sabra คือผู้อยู่ในกฎกรอบ ถูกครอบงำโดยขนบวิถีทางสังคม ปกติแล้วทั้งสองไม่น่าอาศัยอยู่ร่วมกันได้ แต่อะไรๆในชีวิตที่ประสบพานพบเจอ ทำให้หญิงสาวค่อยๆเรียนรู้ปรับตัว และกาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง มองย้อนกลับไปถึงได้เข้าใจการกระทำของสามี

การแสดงของ Dunn เริ่มต้นด้วยนิสัยเอาแต่ใจ ลูกคุณหนู ขลาดหวาดกลัวโน่นนี่นั่น โลกทัศน์คับแคบ สร้างความรำคาญอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อกาลเวลาค่อยๆเคลื่อนเลยผ่าน นิสัยตัวละครก็เริ่มปรับเปลี่ยนแปลงไป เกิดวิวัฒนาการ ‘จุดยืน’ ของตนเอง จนได้รับการยินยอมรับจากสังคม ทุกผู้คนรอบข้าง … นี่คงไม่ใช่บทบาทดีสุด แต่ก็ถือว่ายอดเยี่ยม (ผมว่าการแสดงโดดเด่นกว่า Dix เสียอีกนะ)


ถ่ายภาพโดย Edward Cronjager (1904 – 1960) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน มีผลงานตั้งแต่หนังเงียบ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 7 ครั้ง ไม่เคยได้รางวัล อาทิ Cimarron (1931), Sun Valley Serenade (1941), The Pied Piper (1942), To the Shores of Tripoli (1942), Heaven Can Wait (1943), Home in Indiana (1944), Beneath the 12-Mile Reef (1953)

ทุ่มไม่อั้นด้วยการเหมาซื้อที่ดิน 89 เอเคอร์ แถวๆ Encino สำหรับจำลองสร้างเมือง Osage, Oklahoma ที่ค่อยๆเติบโตขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ, สำหรับฉากเปิดหนัง Oklahoma Land Rush ถ่ายทำยัง Jasmin Quinn Ranch ตัวประกอบกว่า 5,000 คน ใช้ตากล้อง 28 คน (ผู้ช่วยอีกนับร้อย) เพื่อให้ผลลัพท์ออกมาสมจริง อลังการงานสร้างที่สุด

งานภาพอาจไม่ได้มีเทคนิคหวือหวาอะไร แต่ขายความสมจริงอลังการ เก็บรายละเอียดสถานที่ (ก็อุตส่าห์ทุ่มทุนสร้างมาละนะ) ผู้คนเดินไปมาขวักไขว่คาคั่ง ดูช่างสับสนวุ่นวาย คงไม่ใช่เรื่องง่ายจะควบคุมฝูงชนได้ขนาดนี้

ตัดต่อโดย William Hamilton (1893 – 1942) ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Cimarron (1931), Morning Glory (1933), The Gay Divorcee (1934), Roberta (1935), Top Hat (1935), Stage Door (1937), The Hunchback of Notre Dame (1939), Suspicion (1941) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Yancey Cravat ก่อนส่งต่อให้ภรรยา Sabra Carvet ด้วยระยะเวลา 40 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1889 – 1929 ซึ่งมีการ Time Skip กระโดดไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ น่าสนใจเท่านั้น

ผมชอบการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของหนัง อาทิ ตอน Yancey และ Sabra มาถึงเมือง Osage ครั้งแรก ขณะกำลังขับเกวียนตามท้องถนน พบเห็นผู้คน สถานที่ต่างๆมากมาย นี่เป็นการแนะนำตัวละครสมทบไปพร้อมๆกันด้วย

สำหรับเพลงประกอบ ก่อนการมาถึงของ King Kong (1933) ล้วนมีลักษณะเป็น Diegetic Music มักดังขึ้นจากแผ่นเสียง ผับบาร์ ตัวละครขับร้องรำทำเพลงเท่านั้น เว้นเสียแต่ Opening/Closing Credit เพิ่มเติมโดย Max Steiner


Cimarron นำเสนอเรื่องราวของนักบุกเบิก ปลุกปั้นผืนแผ่นดินแดนอันรกร้างว่างเปล่า ให้กลายเป็นศูนย์กลางอารยธรรม ว่าไปไม่แตกต่างจากพระเจ้าสร้างโลก เมื่อจุดเริ่มต้นเสร็จสิ้น ก็ปล่อยให้ทุกสิ่งวิวัฒนาการดำเนินไป

‘Racism’ คือสิ่งอยู่คู่กับชาวอเมริกันมาช้านาน อคติที่เริ่มต้นจากเชื้อชาติพันธุ์ อ้างอวดดีถึงความสูงส่ง เฉลียวฉลาด อำนาจ ฐานะเหนือกว่า พยายามครอบงำ กีดกัด สร้างความแบ่งแยก ซึ่งโลกทัศนคติอันคับแคบปรากฎพบเห็นในหนังประกอบด้วย
– ชาวยิวถูกกลั่นแกล้งโดยนักเลงหัวไม้ ใช้เชือดมัดรัด ยิงปืน กรอกเหล้าเข้าปาก
– เด็กชายผิวสีถูกหัวเราะเยาะ ทั้งยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าโบสถ์
– อินเดียแดงมีความสกปรกโสมม รับไม่ได้ถ้าลูกชายจะแต่งงานกับคนรับใช้
– ผู้หญิงประกอบอาชีพโสเภณี ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม ต้องการขับไล่ออกจากเมือง
ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ผมมองว่าเป็นความจงใจ เพราะการสร้างโลกใบใหม่ไม่ใช่แค่ให้เกิดความเจริญทางวัตถุ เมืองขยายใหญ่โต ผู้คนคาคลั่ง ประกอบอาชีพการงานประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ แต่ครึ่งหลังของหนังยังนำเสนอพัฒนาการทางจิตใจ ขึ้นศาลไต่สวนหาข้อสรุปความขัดแย้ง ซึ่งถ้าสังคมมนุษย์สามารถก้าวข้ามผ่านอคติชน โดยเฉพาะการดูถูกเหยียดหยาม ‘Racism’ ดินแดนแห่งนี้ย่อมเกิดความสงบสุขบริบูรณ์ทั้งกายใจ

ทำไม Yancey Cravat ถึงเลือกจบชีวิตโง่งี่เง่าปานนั้น? จะมองว่าเป็นกฎแห่งกรรม หรือโชคชะตาของนักบุกเบิก เพราะโหยหาอิสรภาพโลกใบใหม่ จึงไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งยังสถานที่แห่งหนึ่งใดเกิน 4-5 ปี อุดมการณ์ดังกล่าวเมื่อถึงคราสิ้นสุดยุคสมัย ก็ไม่หลงเหลืออะไรให้ไขว่คว้าหา ทั้งยังมิหาญกล้าเผชิญหน้าความจริง เลยจบสิ้นไม่หลงเหลือเพียงตำนานรูปปั้นลือเล่าขาน

ผมว่าผู้สร้างอาจไม่ได้ตระหนักถึงนัยยะตอนจบบางอย่าง เพราะตั้งแต่ต้นเราสามารถเปรียบ Yancey ได้กับพระเจ้าผู้สร้าง ซึ่งการตายหยังเขียดของเขาตอนจบ สะท้อนได้ถึงศรัทธาพระเจ้าที่ค่อยๆเสื่อมลงจนสุดท้ายไม่หลงเหลืออะไร หรอกหรือ?


แม้ตอนออกฉายได้เสียงตอบรับดีเยี่ยม แถมทำเงินสูงสุดแห่งปีถึง $1,383,000 เหรียญ แต่ก็ไม่สามารถคืนทุนอันมหาศาล $1,433,000 เหรียญ

เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Outstanding Production ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Actor (Richard Dix)
– Best Actress (Irene Dunne)
– Best Writing, Adaptation ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Art Direction ** คว้ารางวัล

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังนะ ตื่นตระการในความอลังการงานสร้าง วิวัฒนาการเติบโตของเมืองช่างตราตรึงเสียเหลือเกิน แต่ก็เท่านั้นละ ไม่พบเห็นเนื้อหาสาระน่าสนใจสักเท่าไหร่

แนะนำคอหนัง Western Epic อลังการงานสร้าง, สนใจประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา, ชื่นชอบนวนิยายของ Edna Ferber, และแฟนๆนักแสดงนำ Richard Dix, Irene Dunne ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความ ‘Racism’ แทรกอยู่เต็มไปหมด

คำโปรย | แม้มีความอลังการงานสร้าง แต่คุณภาพของ Cimarron ก็เสื่อมถดถอยไปตามกาลเวลา ไม่น่าไปย่ำเหยียดผู้อื่นไว้เยอะ ปัจจุบันเลยถูกหยามยีจากผู้ชม
คุณภาพ | อลังการงานสร้าง
ส่วนตัว | แอบชอบนิดหน่อย

The Burmese Harp (1956)


The Burmese Harp

The Burmese Harp (1956) Japanese : Kon Ichikawa ♥♥♥♥♡

ทหารญี่ปุ่นนายหนึ่งเมื่อพบเห็นความเป็น-ตาย การสูญเสียอันไร้สาระช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ไม่เชิงว่าออกบวชแต่ได้กลายเป็นพระสงฆ์ในประเทศพม่า ตัดสินใจไม่หวนกลับบ้าน ต้องการทำบางสิ่งอย่างให้สำเร็จลุล่วงเสียก่อน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

การยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่น (Surrender of Japan) เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 แม้ได้ปิดฉากการสู้รบสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ยังมีกองทหารอีกจำนวนมากที่กระจัดกระจายทั่วโลกมิได้รับข่าวสาร สองปฏิกิริยาแสดงออกสุดขั้วคือ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ และดื้อรั้นหัวชนฝา ประเภทหลังมีปริมาณไม่น้อยกระทำการ Seppuku/Harakiri (คว้านท้อง ฆ่าตัวตายแบบซามูไร)

ผมคงไม่แสดงความเห็นว่า เกียรติศักดิ์ศรี vs. การมีชีวิตอยู่ อย่างไหนทรงคุณค่ากว่ากัน เพราะในมุมของคนที่พบเห็น/เข้าใจโลกทัศนคติทั้งสองฝั่ง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจักครุ่นคิดขึ้นได้ว่า ‘ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่สลักสำคัญสักอย่าง!’

The Burmese Harp เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องแรกๆ นำเสนอสงครามโลกครั้งที่สองผ่านมุมมองผู้แพ้สงคราม เป้าหมายเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน สอดแทรกปรัชญาพุทธศาสนาในการดำรงชีวิต ปล่อยวางอคติ ทิฐิมานะ ถึงเวลายินยอมรับความพ่ายแพ้ให้ได้เสียที


ต้นฉบับคือ The Burmese Harp (1948) วรรณกรรมเยาวชนแต่งโดย Michio Takeyama (1903 – 1984) อาจารย์สอนภาษาเยอรมัน/นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น ตัวเขาไม่เคยเป็นทหาร หรือก้าวย่างเหยียบผืนแผ่นดินพม่า แต่เลือกพื้นหลังเพราะมีเครื่องดนตรีท้องถิ่นซองเกาะ/พิณพม่า (Burmese Harp) ตรงเนื้อหาสาระ ความตั้งใจของตนเอง

The Burmese Harp ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Akatonbo ระหว่างปี 1947-48 โดยมีเป้าหมายเด็กเล็กถึงวัยรุ่น แต่ก็สร้างความสนใจให้ผู้ใหญ่อยากมาก จนเมื่อวางขายรวมเล่มกลายเป็น Best Selling โดยทันที (เรื่องแรกเรื่องเดียวของ Takeyama ที่ประสบความสำเร็จ)

หลังจากสตูดิโอ Nikkatsu ได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลง มอบหมายให้ Tasaka Tomotaka (1902–74) ผู้กำกับดังจากสองหนังสงคราม Five Scouts (1939) และ Mud and Soldiers (1939) แต่เจ้าตัวพลันล้มป่วยหนักไม่สามารถทำงาน ประจวบกับ Kon Ichikawa เสนอตัวมาพอดีเลยได้รับโอกาส

Kon Ichikawa ชื่อเดิม Giichi Ichikawa (1915 – 2008) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ise, Mei วัยเด็กหลงใหลการวาดรูป ชื่นชอบการ์ตูน Silly Symphony (1929 – 39) โตขึ้นเลยเลือกเข้าเรียน Ichioka Commercial School, Osaka ทำงานเป็นอนิเมเตอร์ยัง J.O. Studio กระทั่งสตูดิโอตัดสินใจปิดแผนก เลยผันมาเป็นผู้ช่วย Yutaka Abe, Nobuo Aoyagi, หลังสงครามโลกในช่วงแรกๆสร้างหนังตลก กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Burmese Harp (1956), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Enjo (1958), Odd Obsession (1959), Fires on the Plain (1959), An Actor’s Revenge (1963), Tokyo Olympiad (1965) ฯ

“That was the first film I really felt I had to make”.

– Kon Ichikawa พูดถึง The Burmese Harp (1956)

สำหรับการดัดแปลงบทภาพยนตร์ Ichikawa มอบหมายให้ศรีภรรยา Natto Wada (1920 – 1983) ซึ่งค่อนข้างตรงต่อต้นฉบับ ลดความแฟนตาซีออกไป และตัดออกประเด็นการพบเจอชนเผ่ากินคน (เอิ่ม… มันจะเกินเด็กไปไหม)

เรื่องราวของ Private Mizushima (รับบทโดย Shoji Yasui) นายทหารญี่ปุ่นซึ่งมีความสามารถเล่นซองเกาะ ในกองทหารของ Captain Inouye (รับบทโดย Rentarō Mikuni) หลังการยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้รับมอบหมายเกลี้ยกล่อมกองทหารอีกหน่วยหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธเสียงแข็งจนทุกคนต่างสูญเสียชีวิต มีเพียงเขาที่รอดตัวฟื้นคืนชีพจากความตาย ได้รับการพยาบาลโดยพระสงฆ์รูปหนึ่ง ลักขโมยจีวรปลอมตัวเป็นพระ ทีแรกตั้งใจหวนกลับหน่วยตนเอง แต่ระหว่างทางประสบพบเห็นสภาพศพทหารร่วมชาติเกลื่อนกราด เลือกปักหลักอยู่พม่าเพื่อกระทำการบางสิ่งจนกว่าจิตใจจักสงบเยือกเย็นลง

เกร็ด: ค่ายกักกันที่มุดอน (Mudon) ไม่ได้มีความใกล้ย่างกุ้งเลยนะครับ แต่กลับพบเห็นเจดีย์ชเวดากองซะงั้น!


นำแสดงโดย Rentarō Mikuni (1923 – 2013) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Gunma เป็นคนไม่มีพ่อ ตั้งแต่เด็กเลยมีนิสัยเกเร หนีจากโรงเรียนไปเอาตัวรอดยัง Tokyo สมัครทหารสงครามโลกครั้งที่สอง ประจำการประเทศจีนแต่ไม่ได้เข้าร่วมรบยิงปืนสักนัด กลับมาทำงานหลายๆอย่างจนเข้าตาแมวมอง ไม่ได้อยากเป็นนักแสดงแต่พอได้รับเลือก Zenma (1951) กำกับโดย Keisuke Kinoshita คว้ารางวัล Blue Ribbon Award: Best Newcomer เลยค้นพบเป้าหมายตนเอง ผลงานเด่นๆ อาทิ Samurai I : Musashi Miyamoto (1954), The Burmese Harp (1956), Harakiri (1962), Kwaidan (1965), A Fugitive from the Past (1965), Zatoichi the Outlaw (1967), Vengeance is Mine (1979) ฯ

รับบท Captain Inouye นักเรียนดนตรีที่พอสมัครทหารกลายเป็นกัปตัน พยายามให้ลูกน้องในสังกัดมีความรักในดนตรี ขับร้องเพลงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ทั้งยังใช้เป็นแผนการสู้รบปรบมือ จนสามารถเอาตัวรอดมาด้วยกันทั้งคณะ กระทั่งการยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในค่ายกักกัน มุดอน (Mudon)

ในบรรดานายทหารใต้สังกัด มีความสนิทสนมกับ Mizushima ซึ่งคงมีความอิจฉาความสามารถด้านดนตรีอยู่บ้าง ทั้งสองหลังจากแยกย้ายไม่เคยพูดคุยเผชิญหน้า แต่สามารถสื่อสารผ่านท่วงทำนองอารมณ์เพลง จนเกิดความเข้าใจกันอย่างถ่องแท้ถึงระดับจิตวิญญาณ นายคงไม่ต้องการกลับบ้านสินะ รับรู้โดยไม่ต้องเปิดจดหมายอ่านออก

แม้บทบาทโดยรวมของ Mikuni จะมิได้โดดเด่นนัก แต่การมีตัวตนนั้นสำคัญ ภาพลักษณ์ดูมีสง่าราศี เหมาะสมเป็นผู้นำที่ดี ได้รับการเคารพนับถือ ทั้งยังเฉลียวฉลาด เข้าใจความรู้สึก/ต้องการของลูกน้องในสังกัด สามารถทำให้กองทหารหน่วยนี้เอาตัวรอดไปได้ทุกสถานการณ์


Shōji Yasui (1928 – 2014) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดงทัวร์ของ Kazuo Hasegawa จากนั้นเซ็นสัญญาสตูดิโอ Nikkatsu ภาพยนตร์เรื่องแรก The Moon Has Risen (1955), โด่งดังเป็นตำนานกับ The Burmese Harp (1956) ฯ

รับบท Private Mizushima โชคชะตาฟ้าลิขิตให้มีพรสวรรค์เล่นซองเกาะ ได้อย่างไพเราะตราตรึง จนเป็นที่รักของทุกคนในกองทหาร ซึ่งเขาก็จดจำคำหัวหน้า Captain Inouye ยึดถือเชื่อมั่นในวิถีทางความคิด ‘ชีวิตคือสิ่งสำคัญที่สุด!’ แต่พอพบเห็นการกระทำของเพื่อนร่วมชาติ/หน่วยกองอื่น พลันให้เกิดความทุกข์โศกเศร้าหมอง จิตใจสั่นไหวเพราะมิอาจปลดปล่อยวาง ปลอมตัวเป็นพระออกเดินทางจนค่อยๆค้นพบตัวเอง มีบางสิ่งอย่างที่ต้องการทำก่อนหวนกลับญี่ปุ่น

ผมว่าผู้ชมน่าจะแยกไม่ออกเหมือนตัวละคร ภาพลักษณ์ของ Yasui เมื่อแต่งตัวเหมือนพม่า หรือสวมจีวรพระ ดูแทบไม่แตกต่างจากคนพื้นเมืองสักเท่าไหร่ กระนั้นนั่นก็เพียงภาพลักษณ์ภายนอก ภายในของเขาที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปต่างหากที่โดดเด่น พบเห็นความขัดแย้งของ อยากกลับบ้าน vs. ทำบางสิ่งอย่าง, เกียรติศักดิ์ศรี vs. การมีชีวิตอยู่ หลั่งน้ำตาเพราะเจ็บปวดรวดร้าว เสียงบรรเลงซองเกาะ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างทรงพลัง

เกร็ด: เครื่องดนตรีซองเกาะที่พบเห็นในหนัง เป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบฉากชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถเล่นบรรเลงได้จริง

เกร็ด 2: ชื่อตัวละคร Mizushima เป็นส่วนผสมของ
– Muzu แปลว่า สายน้ำ, ความอ่อนไหว
– Shima แปลว่า ภูเขา, ตั้งมั่นคง เข้มแข็งแกร่ง


ถ่ายภาพโดย Minoru Yokoyama ขาประจำของผู้กำกับ Ichikawa, ในตอนแรกตั้งใจถ่ายทำด้วยฟีล์มสี แต่การยกกองถ่ายทำยังประเทศพม่า เต็มไปด้วยอุปสรรคยุ่งยาก ภาพขาว-ดำ เลยคือคำตอบของปัญหา (กระนั้นเกินครึ่งของหนังถ่ายทำที่ญี่ปุ่น!)

คือหนังเรื่องแรกหรือเปล่าไม่รู้ ที่สอดแทรกปรัชญาพุทธศาสนาลงในภาษาภาพยนตร์ นี่ไม่ใช่แค่ตัวละครเป็นพระสงฆ์ หรือภาพพื้นหลังเจดีย์ พระพุทธรูปปั้นเท่านั้นนะครับ

“The soil of Burma is red, and so are its rocks!”

อารัมบทนี้สามารถตีความได้หลากหลาย หนึ่งในนั้นเปรียบเทียบผืนแผ่นดินพม่า ซึ่งทศวรรษนั้นคือสมรภูมิกลางแห่งสงครามขัดแย้ง ระอุด้วยเลือด ดินหินลูกรังจึงเสมือนเปื้อนสีแดง เต็มไปด้วยหลุมฝังศพคนตาย

กองทหารมีปริมาณหลักสิบ แต่พวกเขาต่างไร้ชื่อเสียงเรียงนาม เว้นเพียง 2-3 ตัวละครหลักๆเท่านั้น นี่เป็นการสะท้อน ‘ภาพรวมหมู่คณะ’ รับรู้ไปไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆ

หลายๆช็อตของหนังมีการใช้เทคนิค Deep Focus ระยะใกล้-ไกลมีความคมชัด อย่างช็อตนี้ Captain Inouye กับ Mizushima แทบจะอยู่คนละฝั่งตรงกันข้าม แต่สามารถพบเห็นทั้งคู่โดดเด่นเป็นสง่า

การจัดแสงถือเป็นหนึ่งไฮไลท์ของการถ่ายภาพ โดยเฉพาะฉากกลางคืนมักส่องสว่างเฉพาะจุดสังเกตุสำคัญๆ อาทิ ดวงตา, ใบหน้าตัวละคร ฯ และบางครั้งแบบช็อตนี้ ทิศทาง ความเข้ม-สว่าง ค่อยๆมีการปรับเปลี่ยนแปลงไป

วินาทีที่กองทหารญี่ปุ่นเตรียมตัวเตรียมใจ พร้อมแล้วจะเผชิญหน้าทหารอังกฤษ ทันใดนั้นเสียงเพลง Home Sweet Home ล่องลอยค่อยๆดังขึ้นมา แต่สิ่งน่าขนลุกขนพองที่สุด คือจากความมืดมิดค่อยๆส่องสว่างแสงจันทรา นั่นทำให้บรรยากาศอันตึงเครียดค่อยๆผ่อนคลาย นี่พวกเราคงรอดตายแล้วอย่างแน่แท้

ช็อตนี้คือตอนที่ Captain Inouye ตัดสินใจส่ง Mizushima ไปพูดคุยต่อรองกองทหารญี่ปุ่นอีกหน่วยยินยอมจำนน สังเกตว่าเงาของเต้นท์อาบฉาบใบหน้าของกัปตันครึ่งหนึ่ง นี่แปลว่าเขาคงมีความลังเล สองจิตสองใจ ก็ไม่ได้อยากให้ไปเสี่ยงตายหรอก แต่ถ้ายังมีโอกาสก็อยากให้ทดลองดู

กองทหารญี่ปุ่นตั้งฐานทัพอยู่บนถ้ำ/ภูเขาสูง นี่เป็นการสะท้อนความเย่อหยิ่งจองหอง มากด้วยเกียรติศักดิ์ศรี สูงส่งเสียจนยอมตายดีกว่าเสียหน้าจำนนพ่ายแพ้

ผมเรียกฉากนี้ว่า ‘ฟื้นคืนชีพจากความตาย’ (Mizushima ไม่ได้ตายจริงนะครับ เป็นคำอุปมาอุปไมย) หลังจากกองทหารญี่ปุ่นผู้จองหองในเกียรติศักดิ์ศรีถูกฆ่าตายเรียบ รอดหนึ่งคือนายทหารผู้ไร้ซึ่งทิฐิมานะ แต่ได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ขามาก่อนหน้า ทำให้กลิ้งตกเขา หวนกลับสู่ภาคพื้นดินแห่งความเท่าเทียม

หลายช็อตของหนังจะพบเห็น ‘พระจันทร์เต็มดวง’ สัญลักษณ์ของการกระจ่าง เกิดความเข้าใจบางสิ่งอย่างถ่องแท้, นี่คงเป็นการสะท้อนถึงช่วงเวลาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 กึ่งกลางของปี

“Can’t you see that whatever you do is futile? The armies of Britain and Japan can come and fight all they wish. Burma is still Burma. Burma is the Buddha’s country”.

ความน่าอึ้งทึ่งของช็อตนี้ แสงไฟสาดส่องพระพุทธรูปสองปาง และสะท้อนพระสงฆ์-นายทหาร (นั่ง-นอน) ขณะที่ผลไม้ป้อนเข้าปาก ดูแล้วน่าจะผลเดียวกับที่เพื่อนทหารโยนให้พระสงฆ์หน้าค่ายกักกัน

นี่เป็นฉากที่เพิ่มเติมเข้ามาในหนัง เนื้อหาดั้งเดิม Mizushima ได้รับการช่วยเหลือโดยมนุษย์เผ่ากินคน รักษาเลี้ยงดูแลให้อ้วนฉี่ ตั้งใจให้กลายเป็นอาหารอันโอชา แล้วค่อยหาทางหลบหนีเอาตัวรอดออกมา

การเดินทางของ Mizushima มาจนถึงริมน้ำ ภาพช็อตนี้แปลกประหลาดมาก พื้นทราย/โคลนเลน มีความขาว/เทาโพลนสีเดียวกับแม่น้ำ อันนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าถ่ายทำอย่างไร (ใช้ฟิลเลอร์กระมัง) ดูเหมือนกำลังย่ำอยู่ท่ามกลางผืนแผ่นดินเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างระหว่าง ดิน-น้ำ กาย-ใจ ชีวิต-ความตาย ฯ

หลายคนอาจสงสัยว่าหลวงพี่รับรู้ความต้องการของ Mizushima ได้อย่างไร ให้สังเกตจากมุมกล้องเงยขึ้นพบเห็นก้อนเมฆและท้องฟ้า นั่นคือคำตอบฟ้าลิขิตนะครับ ซึ่งผมว่าท่านอาจรับล่วงรู้ด้วยซ้ำว่าชายคนนี้ปลอมตัวเป็นพระ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาคือพระปลอมๆนะ

การสวนทางระหว่าง Mizushima กับพรรคพวกเพื่อนกองทหาร บริเวณคือตรงสะพาน เชื่อมต่อระหว่างสองฟากฝั่ง, นัยยะฉากนี้สะท้อนถึงทิศทางการดำเนินชีวิตไปข้างหน้าของพวกเขา ถึงจุดสวนทางตรงกันข้าม หนึ่งคือกำลังรอคอยวันกลับบ้าน สองตัดสินใจหวนกลับสู่สนามรบเพื่อกระทำบางสิ่งอย่าง

เมื่อ Mizushima ตระหนักถึงสิ่งที่เขาต้องกระทำ ภาพช็อตนี้ Extreme Long-Shot พบเห็นผืนน้ำ ท้องฟากฟ้า กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพ นั่นสะท้อนความกว้างใหญ่ไพศาลของโลก และปรัชญาพุทธศาสนา ชีวิตไม่ใช่สิ่งจบสิ้นลงแค่ปัจจุบันชาตินี้ มนุษย์ตัวกระจิดริดเมื่อเทียบกับสากลจักรวาล

Captain Inouye พยายามสอนนกแก้วให้พูดประโยค “Mizushima, Let’s return to Japan together.” แต่ใบหน้าของเขาอาบฉาบด้วยเงามืดมิดสนิท ลึกๆคงรับรู้ตัวว่านั่งคงเป็นสิ่งไม่ประสบผลสำเร็จ

สำหรับช็อตนี้ เงาสาดส่องจากภายนอกผ่านม่านไม้ไผ่ อาบฉาบลูกน้องของ Captain Inouye ราวกับกำลังตกอยู่ในกรงขังของจิตใจ ไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับ Mizushima

Ruby, ทับทิมสีแดง สัญลักษณ์ของเลือดเนื้อ/จิตวิญญาณ ซึ่งการที่ Mizushima นำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ใส่หีบห่อแบบญี่ปุ่น เป็นการสะท้อนว่าจิตใจของเขาราวกับเสียชีวิตตายจากไปแล้ว

นั่นทำให้ Captain Inouye สามารถเข้าใจความปรารถนาของลูกน้องคนสนิทโดยทันที ว่าคงตัดสินใจไม่หวนกลับญี่ปุ่น ปักหลักใช้ชีวิตตัดทางโลก เลือกทางสายกลาง

ขณะกองทหารกำลังซักซ้อมร้องเพลงหน้าพระพุทธรูปปั้นปางปรินิพาน ได้ยินเสียงซองเกาะล่องลอยมา รีบออกค้นหาพบว่าดังจากภายใน ซึ่ง Mizushima หลบซ่อนตัวอยู่ ความตั้งใจของเขาคือฝังกลบ Ruby จิตวิญญาณของตนเอง หวังอุทิศให้พุทธศาสนาทั้งหมดสิ้น แต่ขณะนั้นยังตัดขาดไม่ได้ จับพิณเล่นดนตรีร่วมกับเพื่อนๆอีกสักครั้ง มองลอดผ่านร่องรอยแตกร้าว ยังคงโหยหาคำนึงถึงตัดไม่ได้

การพบเจอร่ำลาครั้งสุดท้าย มีรั้วลวดหนามแบ่งเขตคั่นกลาง ระหว่างทางโลก-ทางธรรม ต่างฝ่ายไม่สามารถก้าวข้ามไปหากัน เว้นเพียงเสียงดนตรีขับร้อง-บรรเลง ประสานกาย-ใจให้เป็นหนึ่งเดียว

ผมเพิ่งมาสังเกตจริงจังกับเครื่องดนตรีซองเกาะ ลักษณะของสายพิณดูคล้ายซี่กรงขัง ซึ่งตำแหน่งหลวงพี่ Mizushima อุ้มถือไว้ค่อนข้างใกล้หัวใจ นี่สามารถตีความหมาย จิตวิญญาณมนุษย์ถูกกักขังไว้ในเรือนร่างกาย จนกว่าความตายหรือการบรรลุหลุดพ้นถึงได้รับอิสรภาพจากพันธนาการเนื้อหนัง

สำหรับนกแก้วสองตัว จะมองว่าคือหยิน-หยาง ก็ยังได้ แถมมันดันพูดประโยคตรงกันข้าม
– Let’s return to Japan together.
– I won’t go back!

การอ่านจดหมายของ Mizushima จะมีการแทรกภาพพื้นหลังผืนน้ำมหาสมุทร และขอบฟ้าไกล นั่นสะท้อนถึงธรรมชาติ/สัจธรรมแห่งชีวิต มีความกว้างใหญ่ไพศาล ไม่จบสิ้นสุดเพียงแค่ชาติภพนี้

ตัดต่อโดย Masanori Tsujii สังกัดสตูดิโอ Nikkatsu ขาประจำของผู้กำกับ Kô Nakahira ผลงานเด่นๆ อาทิ The Quiet Duel (1949), The Burmese Harp (1956), Crazed Fruit (1956) ฯ

ต้นฉบับหนังสือเล่าเรื่องผ่านตัวละคร Captain Inouye จะไม่มีย้อนอดีตหรือสลับมุมมองของ Private Mizushima ซึ่งเหตุการณ์ส่วนเกินนั้น ได้รับการบอกกล่าวผ่านเนื้อหาในจดหมายตอนจบ

สำหรับหนักจะมีการดำเนินเรื่องสลับไปมาระหว่าง Captain Inouye และ Private Mizushima โดยมีจุดหมุนสองครั้ง
– มอบหมายหน้าที่เกลี้ยกล่อมกองทหารอีกหน่วยหนึ่ง นั่นถือเป็นทางแยกของพวกเขา
– และเดินสวนระหว่างข้ามสะพาน ขณะนั้น Mizushima โกนหัวสวมจีวรกลายเป็นพระปลอมๆ ตรงกันข้ามกับพรรคพวกเพื่อนกองทหาร

ช่วงท้ายของหนังหลังจาก Captain Inouye อ่านจดหมายจบ กล้องค่อยๆเคลื่อนตรงเข้าหาชายแปลกหน้าคนนี้ ผู้คือเสียงบรรยายประกอบตั้งแต่ต้น … ใครว่ะ? จริงๆเราสามารถเปรียบเขาคือผู้เขียนนิยาย หรือมุมมองบุคคลที่สาม (ที่ไม่ใช่ Captain Inouye และ Private Mizushima)

เพลงประกอบโดย Akira Ifukube (1914 – 2006) นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น ได้รับการจดจำสูงสุดก็ Godzilla (1954) ซึ่งหนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายลายเซ็นต์ที่คล้ายคลึงมากๆ ใครรับชมต่อกันอาจสัมผัสจับต้องได้เลยละ

Soundtrack ของหนังมีความทรงพลังสั่นสะท้าน มอบสัมผัสอันโดดเดี่ยวอ้างว่างเปล่า ดินแดนแห่งความตาย ขณะที่เสียงพิณ/ซองเกาะราวกับท่วงทำนองจากสรวงสวรรค์ เสียงเพรียกของจิตวิญญาณที่ทำให้ใครๆเกิดความหวัง เป็นสุข รู้สึกชื้นใจ ธำรงชีวิตอยู่ได้แม้ดินแดนหายนะสิ้นโลกแห่งนี้

สำหรับบทเพลง Home! Sweet Home! ต้นฉบับจากโอเปร่า Clari, or the Maid of Milan (1823) ประพันธ์โดย Henry Bishop, คำร้องโดย John Howard Payne, ฉบับภาษาญี่ปุ่นชื่อ Hanyuu no Yado, มีลักษณะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างตะวันออก-ตก ท่วงทำนองอันคุ้นเคยแม้ขับร้องไม่ได้แต่สามารถฮัมตาม และเนื้อใจความสะท้อนอาการโหยหา เพ้อใฝ่ฝัน รอคอยวันที่จะได้หวนกลับบ้านอันแสนสุขสบาย

The Burmese Harp คือเรื่องราวของชายผู้มองเห็นโศกนาฎกรรมจากสงคราม ตระหนักรับรู้ได้ถึงความไร้สาระประโยชน์ จึงต้องการไถ่โทษ กระทำบางสิ่งอย่างเพื่อให้จิตใจสามารถสงบลง และปล่อยวางจากความยึดติดใดๆในโลก

การบวช/อุปสมบทที่ถูกต้องตามคำสอนพระพุทธเจ้ามีด้วยกันสามวิธี
1) เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทที่กล่าวคำว่าท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด เฉพาะพระพุทธเจ้าบวชให้โดยพระองค์เอง
2) ติสรณคมนูปสัมปทา การอุปสมบทที่ผู้บวชกล่าวว่าพระรัตนตรัยเป็นที่พึง โดยพระเถระที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งอนุญาตแทน
3) ญัตติจตุตถกรรมวาจา การอุปสมบทด้วยการเห็นชอบของสงฆ์ ตามพระบรมพุทธานุญาติ

คงไร้ข้อกังขาถึงความเป็นพระของ Mizushima มิได้เข้าหลักการอุปสมบท/บรรพชาใดๆถูกต้องตามหลักธรรมคำสอน ถึงกระนั้นการห่มผ้าเหลืองแล้วปฏิบัติตนยึดถือมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอน จิตใจที่เป็นพระ ย่อมดีกว่าเปรตเดนเดรัจฉาน สวมชายผ้าเหลืองเพื่อกอบโกยกิน หาผลประโยชน์สุขสบายใส่ตนเป็นไหนๆ

หลายคนอาจถกเถียง การกระทำของ Mizushima ก็หาได้เข้าข่ายการเป็นพระที่ดี … นี่อีกเช่นกันที่ถ้าคุณเกิดคำถามลักษณะนี้ แปลว่ายังมองคนสนเพียงภายนอก, จิตใจของอดีตทหารหนุ่ม เริ่มต้นด้วยความสับสนว้าวุ่นวาย หวาดสะพรึงกลัวต่อความตาย เมื่อถึงจุดๆหนึ่งครุ่นคิดได้ เกิดความต้องการแสวงหาพื้นที่ความสงบสุข ฝังกลบร่างศพทหาร ก่อเกิดสมาธิอสุภกรรมฐาน ค่อยๆปลดปล่อยวางคลายความยึดติดทางโลก นั่นยังไม่ถือเป็นพระที่ปฏิบัติดีอยู่อีกหรือ

จดหมายถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่คอยฉุดเหนี่ยวรั้ง เมื่อได้รับการส่งต่อจึงสามารถออกเดินทางครั้งใหม่ มุ่งสู่การค้นหาสัจธรรมความจริง เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฎฎะสังสาร ไม่หวนกลับมาเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ว่ายเวียนวนบนโลกใบนี้อีกต่อไป

ใจความต่อต้านสงคราม Anti-Wars โดดเด่นชัดมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ (และอีกหลายๆผลงานของ Ichikawa) เพราะยุคสมัยนั้นชาวญี่ปุ่นคงเริ่มตระหนักครุ่นคิดกันได้ เกียรติศักดิ์ศรี สู้รบสงคราม ความตาย มันช่างเป็นสิ่งโง่เขลาเบาปัญหา การมีชีวิตต่างหากทรงคุณค่าสูงสุดเหนือสิ่งใด

สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมต่างประเทศก่อเกิดอคติ นั่นคือการนำเสนอภาพลักษณ์ทหารญี่ปุ่นที่ดูบริสุทธิ์เดียงสาเกินไป ตรงกันข้ามการกระทำอันโหดเหี้ยมทารุณแท้จริง ดูอย่างหนัง The Bridge on the River Kwai (1957) ยังมีความสมจริงมากกว่า, ผมไม่คิดว่าผู้เขียน Michio Takeyama และผู้กำกับ Kon Ichikawa จะรับทราบเบื้องหลัง/ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามสักเท่าไหร่ แต่นั่นก็หาใช่สาระสลักสำคัญใดๆ เพราะเป้าหมายผู้สร้างต้องการเสนอด้าน ‘มนุษยธรรม’ นำหลักพุทธศาสนามาปรับใช้ดำรงชีวิต ปล่อยวางจากความยึดติด ทิฐิมานะ พ่ายสงครามแต่ไม่ใช่แพ้ทุกสิ่ง เพราะตราบยังมีชีวิตย่อมสามารถครุ่นคิดกระทำ โอกาสหวนกลับมาเป็นผู้ชนะใหม่ก็ยังได้


ตอนออกฉายญี่ปุ่น หนังแบ่งเป็นสองภาคห่างกันหนึ่งเดือน รวมเวลา 143 นาที (63 + 80 นาที) แต่เมื่อนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ถูกตัดทอนลงเหลือ 116 นาที (โดยที่ Ichikawa ไม่พึงพอใจสักเท่า) คว้ามา 3 รางวัล
– OCIC Award – Honorable Mention
– San Giorgio Prize
– Special Mention (For the nobility of its images.)

และหนังยังได้เป็นตัวแทนญี่ปุ่น เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่พ่ายให้กับ La Strada (1954) ของผู้กำกับ Federico Fellini

Ichikawa ได้ทำการสร้างใหม่ The Burmese Harp (1985) กลายเป็นหนังสี เสียงตอบรับในญี่ปุ่นดีล้นหลาม ทำเงินสูงสุดแห่งปี (อันดับสองตลอดกาลขณะนั้น) เข้าชิง Japanese Academy Prize ถึง 7 สาขา แต่เสียงตอบรับจากนานาชาติเทียบต้นฉบับไม่ได้เท่าไหร่, นอกจากนี้ยังมีฉบับอนิเมชั่น The Harp of Burma (1986) น่าจะสานต่อเนื่องความสำเร็จของภาพยนตร์

มาคิดเล่นๆ หนังเรื่องนี้จะผ่านกองเซนเซอร์เมืองไทยได้หรือเปล่า? ผมว่าไม่น่ารอด นาคปรก (พ.ศ. ๒๕๕๑) โจรปลอมตัวเป็นพระยังยินยอมรับกันแทบไม่ได้ ประสีประสาอะไรกับเรื่องนี้!

ขณะที่เนื้อเรื่องไม่กินใจผมสักเท่าไหร่ แต่ไดเรคชั่นผู้กำกับ Kon Ichikawa สอดแทรกปรัชญาพุทธศาสนาในภาษาภาพยนตร์ งดงามทรงคุณค่าอย่างยิ่งยวด

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อย่ามัวแต่ครุ่นคิดว่าชายคนนี้คือพระหรือเปล่า? สิ่งที่เขาประสบพบเจอต่างหากคือสาระสำคัญ ทำไมถึงตัดสินใจและแสดงออกมาเช่นนั้น

จัดเรต 13+ กับสงคราม ความตาย ค่ายกักกัน

คำโปรย | เสียงพิณใน The Burmese Harp ของผู้กำกับ Kon Ichikawa สร้างความตราตรึงระดับจิตวิญญาณ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก

Prem Sanyas (1925)


The Light of Asia

Prem Sanyas (1925) : Franz Osten & Himansu Rai ♥♥♡

หนังเงียบชีวประวัติพระพุทธเจ้า เรื่องเก่าแก่ที่สุดหลงเหลือถึงปัจจุบัน ร่วมทุนสร้างอินเดีย & Weimar Germany แต่อย่าไปคาดหวังอะไรมากมาย แค่ได้เห็นพุทธคยาเมื่อทศวรรษ 20s ก็คุ้มค่าแล้ว

เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ภาพยนตร์เรื่องแรกเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าคือ Buddhadev (1923) กำกับโดย Dadasaheb Phalke (1870–1944) เจ้าของฉายา ‘Father of Indian Cinema’ แต่คาดคิดว่าฟีล์มคงสูญหายไปแล้วตามกาลเวลา

พบเห็นแรงบันดาลใจดังกล่าว ทำให้ Himanshu Rai (1892 – 1940) อีกหนึ่งนักบุกเบิกวงการภาพยนตร์อินเดีย ว่าที่ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Bombay Talkies เกิดความสนใจดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติพระพุทธเจ้าขึ้นเองบ้าง ด้วยประสบการณ์เคยไปเรียนต่อต่างประเทศ มุ่งหน้าสู่ Munich, Weimar Germany มองหาใครสักคนให้ความสนใจร่วมทุนสร้าง

Franz Osten ชื่อเกิด Franz Ostermayr (1876 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เกิดที่ Munich โตขึ้นเป็นนักถ่ายภาพผู้หลงใหลการแสดง เมื่อปี 1907 ร่วมกับน้องชาย Peter Ostermayr ก่อตั้ง Original Physograph Company ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Bavaria Film Studios สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Erna Valeska (1911)

Osten ประทับใจการบุกเดี่ยวมาถึงเยอรมันของหนุ่มหน้าใสผู้นี้ จึงอาสาจัดหาทุนสร้าง อุปกรณ์ และทีมงาน (ผู้กำกับ/ตากล้อง) โดยให้ Rai ตระเตรียมบท นักแสดง สถานที่ถ่ายทำ และสาธารณูปโภคอื่นๆระหว่างเดินทางไปถ่ายทำยังประเทศอินเดีย

ร่วมงานกับ Niranjan Pal (1889 – 1959) นักเขียนชาว Calcutta ก่อนหน้านี้เคยดัดแปลงหนังสือ The Light of Asia กลายเป็นละครเวที เปิดการแสดงยังกรุง London เมื่อต้นทศวรรษ 1910s พบเห็นโดย Himanshu Rai เลยชักชวนให้พัฒนาบทภาพยนตร์ และต่อมาร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Bombay Talkies

The Light of Asia (1879) หรือ The Great Renunciation หนังสือรวบรวมบทกวีร้อยกรอง ‘Narrative Poem’ ประพันธ์โดย Sir Edwin Arnold (1832 – 1904) สัญชาติอังกฤษ รวบรวมชีวประวัติพระพุทธเจ้า หลักคำสอน อ้างอิงจากพระคัมภีร์ลลิตวิสตระ พุทธประวัติฝ่ายมหายาน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากพระไตรปิฎกนิกายเถรวาทพอสมควร อาทิ
– เจ้าชายสิทธัตถะประสูติใต้ต้นมะเดื่อ (นิกายเถรวาท จะว่าใต้ต้นสาละ)
– อัครมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ ในหนังคือพระนางโคปา หรือพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (นิกายเถรวาท ถือว่าคือพระภัททากัจจานาเถรี หรือพระนางยโสธราพิมพา)
– เมื่อครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยาน พบเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย (นิกายเถรวาท เทวดาได้เนรมิตเทวทูต 4 อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช)
– ในหนังพระนางโคปามิได้ตั้งครรภ์ ประสูติโอรสเจ้าชายราหุล ก่อนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีจากพระราชวังสามฤดู เพื่อออกบรรพชา
ฯลฯ

สำหรับนักแสดงนำ Himanshu Rai ตัดสินใจรับบทเจ้าชายสิทธัตถะด้วยตนเอง และว่าจ้าง Seeta Devi ชื่อเกิด Renee Smith (1912 – 1983) คาดว่าคงพบเจอกันที่กรุงลอนดอน รับบทอัครมเหสี พระนางโคปา

ถ่ายภาพโดย Willi Kiermeier และ Josef Wirsching (1903 – 1967) รายหลังจากเรื่องนี้ ตัดสินใจปักหลักกลายเป็นตากล้องรุ่นบุกเบิกของอินเดีย ประสบความสำเร็จล้นหลามในสังกัด Bombay Talkies ผลงานเด่นๆ อาทิ Mahal (1949), Dil Apna Aur Preet Parayi (1960), Pakeezah (1972) ฯ

แม้หนังมิได้มีเทคนิคถ่ายทำอะไรโดดเด่น (มากสุดคือซ้อนภาพ) แต่ต้องชมการจัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่งนักแสดงได้อย่างเหมาะสม เชี่ยวชำนาญ และการลำดับตัดต่อ (ไม่มีเครดิต) มีความลื่นไหลต่อเนื่อง แทรกใส่ Title Card ในปริมาณเพียงพอดี แทนคำอธิบายและบทสนทนาตัวละคร

สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมเลยคือโปรดักชั่น เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ และพื้นฉากหลัง มีความงดงามวิจิตร ทั้งๆดูแล้วคงไม่สมจริงอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้สักเท่าไหร่ แต่มีความตระการอลังการ และเลือกสถานที่โดยเฉพาะองก์แรก พุทธคยาเมื่อทศวรรษ 20s อดไม่ได้ยกมือไหว้สาธุเบาๆ

หนังใช้ทุนสร้าง 171,423 รูปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพยนตร์อินเดียสมัยนั้นกว่า 10 เท่า ออกฉายในประเทศล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ชมมองไม่เห็นความสมจริงใดๆทางประวัติศาสตร์ ตรงกันข้ามกับเมื่อออกฉายเยอรมัน ได้รับเสียงชื่นชม และประสบความสำเร็จล้นหลาม

ได้เข้าฉายอเมริกาด้วยนะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ หนึ่งในความเห็นนักวิจารณ์สมัยนั้น ‘ชาวอเมริกันมิใคร่สนใจอยากเห็น เจ้าชายกลายเป็นกระยาจก’

มุมมองของต่างชาติ ภาพยนตร์ชีวประวัติพระพุทธเจ้าไม่แตกต่างจากนวนิยายเรื่องหนึ่ง (ก็เหมือนหนังชีวประวัติพระเยซูคริสต์ มองผ่านสายตาคนนอกก็ไม่ต่างจากนิยายเรื่องหนึ่ง) อาจยกย่องบ้างในหลักคำสอน ปรัชญาชีวิต มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แต่ก็หาได้มีความสลักสำคัญทรงคุณค่าอื่นใด

แต่สำหรับชาวพุทธ ชีวประวัติพระพุทธเจ้าถือเป็นหนึ่งในหลักธรรมคำสอน สิ่งต่างๆที่ทรงประสบพบเจอ อารมณ์ความรู้สึก มุมมอง ทัศนคติ อะไรบ้างคือสิ่งจริง-เท็จ แล้วทำอย่างไรถึงสามารถหลุดออกจากภาพมายา มุ่งสู่สัจธรรม นิพพาน ไม่หวนกลับมาเกิด(ความทุกข์)อีก

“…มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัวอยู่อีกเล่า!”

– พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ปาสราสิสูตร

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ เพียงนำเสนอชีวประวัติพระพุทธเจ้า ก็แค่มหาบุรุษท่านหนึ่งเท่านั้น! ชัดเจนเลยว่าผู้สร้างมิได้เข้าถึงแก่นแท้ สาระสำคัญ จิตวิญญาณพุทธศาสนาสักเท่าไหร่ เลือกนำเสนอช่วงเวลาที่มีความสนุกสนาน บันเทิงใจ อาทิ ประสูติ, พิสูจน์ตนเองเพื่อแต่งงาน, ประสบพบเจอสามเทวทูตเป็นเหตุออกบรรพชา, แล้วก็ตรัสรู้ เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนเลย

ผมเองครุ่นคิดไม่ออกเลยนะว่า ต่างชาติ/คนนอกศาสนา รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วจะได้สาระประโยชน์อะไร เพราะส่วนตัวมองไม่เห็นข้อคิด หลักคำสอน หรือแม้แต่คติธรรมง่ายๆ ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะพบเห็นคนเจ็บ คนแก่ คนตาย แล้วเกิดอาการสมเพศเวทนา ตัดสินใจออกบรรพชา ตัดละทิ้งทุกสิ่งอย่างทางโลก

แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากแนะนำชาวพุทธผู้หลงใหลภาพยนตร์ สักครั้งในชีวิตก็ยังดี รับชมหนังเงียบเรื่องนี้แล้วครุ่นคิดสังเกตตาม ด้วยวิจารณญาณแยกแยะให้ได้ว่าอะไรถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขาดแหว่งอะไรที่คือข้อคิด สัจธรรมแห่งชีวิต

ปล. หนังเงียบเรื่องนี้เคยเข้าฉายเมืองไทยชื่อ ‘บูรพประทีป’ ในเทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ SF  World Cinema ไม่แน่ว่าสักวันในอนาคต อาจได้มีโอกาสหวนกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์อีกนะครับ

จัดเรตทั่วไป

คำโปรย | Prem Sanyas งดงามในแง่มุมภาพยนตร์ แต่ห่างไกลสัจธรรมพุทธศาสนา
คุณภาพ | กลางๆ
ส่วนตัว | ไม่ประทับใจสักเท่าไหร่