Empire (1965)


Empire (1965) hollywood : Andy Warhol, John Palmer ?????

ประมาณ 8 ชั่วโมงกับภาพถ่ายตึก Empire State Building ตั้งแต่พระอาทิตย์ใกล้ตกดิน จนท้องฟ้ามืดมิด แล้วเปิดไฟส่องสว่าง บางคนอาจสามารถเพลิดเพลินผ่อนคลาย แต่สำหรับอีกหลายคนกลับรู้สึกน่าเบื่อหน่ายชิบหาย

หลายคนอาจครุ่นคิดว่า บ้ารึเปล่ากับการดูหนัง 8 ชั่วโมงที่ไม่มีห่าเหวอะไรไปมากกว่าภาพตึก Empire State Building แต่คุณเคยหรือไหม? เวลาไปท่องเที่ยว ขับรถเล่น กินลมชมวิวข้างทาง หรือนั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ขึ้น-ตกดิน อยู่เฉยๆหลายชั่วโมงโดยไม่ขยับเขยื้อนไปไหน

ฉันท์ใดฉันท์นั้น 8 ชั่วโมงกับภาพตึก Empire State Building มันคือความเพลิดเพลินของคนที่สามารถผ่อนคลาย ครุ่นคิดได้ว่าผู้สร้างต้องการนำเสนออะไร มีคนอีกมากมายนะครับที่สามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ลุกไปไหน แถมเกิดความชื่นชอบ หลงใหลคลั่งไคล้ อย่างคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทุกครั้งมีการจัดอันดับ ‘Greatest Film of All-Times’ ของนิตยสาร Sight & Sound พยายามโหวต Empire (1965) แต่ไม่ยังเคยติดอันดับ Top250 เลยสักครั้งเดียว

เกร็ด: รูปภาพที่ผมนำมาแทบโปสเตอร์นี้คือ Andy Warhol และ Mary Woronov (หนึ่งในนักแสดงขาประจำ Warhol superstar โด่งดังจากบท Hanoi Hannah เรื่อง Chelsea Girls (1966)) อยู่เบื้องหน้าตึก Empire State Building ถ่ายโดย David McCabe เมื่อปี ค.ศ. 1965

ผม … ไม่เสียเวลานั่งดูหนัง 8 ชั่งโมงหรอกนะครับ แต่ก็สามารถเข้าใจแนวคิด วัตถุประสงค์ของ Andy Warhol & John Palmer และ Jonas Mekas พยายามจะเปิดมุมมองโลกทัศน์ผู้ชมยุคสมัยนั้น ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสื่อภาพยนตร์

เอาจริงๆผมครุ่นคิดมาเยิ่นยาวนาน ว่าจะเขียนบทความภาพยนตร์แนวทดลองอย่าง Empire (1965) หรือ Wavelength (1967) อย่างไรดี? จนกระทั่งหลายวันก่อนได้รับชม Chelsea Girls (1966) อดรนทนกว่าสามชั่วโมงที่ไม่มีสาระห่าเหวอะไร แต่แค่เพียงเศษเสี้ยววินาทีเมื่อใครคนหนึ่งพยายามอธิบายถึง ‘taste’ รสนิยมส่วนบุคคล นั่นสร้างความตระหนักถึง ‘endless possibility’ ราวกับพบเจอเพชรในตม งมเข็มในมหาสมุทร

แซว: ลักษณะของตึก Empire State Building ดูเป็นแท่งๆ สูงๆ ตั้งโด่เด่ เหมือนสัญลักษณ์ลึงค์/อวัยวะเพศชาย


จุดเริ่มต้นของ Empire เกิดขึ้นช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1964 ระหว่างที่ Jonas Mekas เดินทางมาส่งพัสดุร่วมกับผู้ช่วย John Palmer เมื่อทั้งสองเดินออกจากไปรษณีย์ แหงนเงยหน้าขึ้น พบเห็นทิวทัศน์ตึก Empire State Building ตั้งตระหง่านอยู่ไกลลิบๆ จู่ๆเอ่ยถ้อยคำเรื่อยเปื่อย

John Palmer: Oh, this is like a perfect image for Andy Warhol.
Jonas Mekas: Well, why don’t you tell this to Andy? I think he should film it.

ทิวทัศน์จากมุมกล้องที่เป็นแรงบันดาลใจ Empire (1965)

ก่อนอื่นของกล่าวถึง Jonas Mekas (1922-2019) ศิลปิน นักกวี ผู้กำกับ วิจารณ์ภาพยนตร์ ได้รับฉายา “The Godfather of American Avant-Garde Cinema” เกิดที่ Semeniškiai, Lithuania ระหว่างถูกยึดครองโดย Nazi แอบทำงานบรรณาธิการ เขียนบทความให้นิตยสารใต้ดิน Naujosios Biržų žinios ของ Lithuanian Activist Front, เมื่อปี ค.ศ. 1944 ร่วมกับพี่ชายพยายามออกเดินทางสู่ Switzerland แต่ถูกทหารเยอรมันจับกุมตัวส่งไปค่ายกักกันแรงงาน ณ Elmshorn เป็นเวลาแปดเดือนก่อนสามารถดิ้นหลบหนี แล้วซุกซ่อนตัวจนสิ้นสุดสงคราม, หลังจากนั้นเข้าศึกษาปรัชญา University of Mainz ได้รับทุนสนับสนุนอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ปักหลักอาศัย Williamsburg, Brooklyn เก็บเงินซื้อกล้อง Bolex 16mm ก่อตั้งนิตยสาร Film Culture, ตามด้วย Film-Makers’ Cooperative และ Filmmakers’ Cinematheque (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Anthology Film Archives) คลังเก็บหนัง Avant-Garde ขนาดใหญ่สุดในโลก

Mekas มีโอกาสพบเจอ Andy Warhol เมื่อปี ค.ศ. 1964 ระหว่างนำภาพยนตร์ Eat (1964) มาฉายยัง Film-Makers’ Cooperative ในตอนแรกก็ไม่ได้รู้จักมักคุ้น ไม่ได้ชื่นชอบเนื้อหานำเสนอ “I didn’t like the film, I found it stupid”. แต่ไม่นานก็บังเกิดความอึ่งทึ่ง ประทับใจในวิสัยทัศน์ แนวคิดขัดแย้งต่อขนบ ต่อต้านวิถีทางสังคม

Andy was a genius, there’s no question about that. He had an incredible ability to see things in a new and different way, and to create art that was both provocative and challenging. His films and other works are still as powerful and influential today as they were when he first created them. It was an honor and a privilege to work with him and to be part of his creative vision.

Jonas Mekas กล่าวชื่นชม Andy Warhol

John Palmer (1935-2006) ช่างภาพ ผู้กำกับภาพยนตร์ Avant-Garde สัญชาติอเมริกัน โตขึ้นศึกษาภาพยนตร์ยัง Wagner Memorial Lutheran College ร่วมรุ่นเดียวกับ Gerard Malanga จบออกมาได้เข้าร่วม The Factory ทำงานเป็นตากล้องให้ Andy Warhol บ่อยครั้งแวะเวียนมาช่วยงาน อาศัยหลับนอนอยู่ห้องใต้หลังคาสตูดิโอ Film Maker’s Cooperative ของ Jonas Mekas ซึ่งมีวิวหน้าต่าง เหม่อมองออกไปพบทิวทัศน์เห็นตึก Empire State Building

เมื่อ Palmer นำแนวคิดดังกล่าวไปพูดคุยกับ Warhol ได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น อาจเพราะก่อนหน้านี้เคยสรรค์สร้าง Sleep (1964) ความยาว 5 ชั่วโมง เลยครุ่นคิดจะถ่ายทำตึก Empire State Building ในระยะเวลา 8 ชั่วโมง จ่ายค่าตั๋ว 8 ดอลลาร์

Yes, great idea. We’ll make it eight hours long, and you’ll have to pay eight dollars to see it. I’ll bet people will stay away in droves.

Andy Warhol

Andrew Warhola Jr. (1928-87) ศิลปิน ‘Visual Artist’ ชาวอเมริกัน ผู้นำหลักในขบวนการศิลปะ ‘Pop Art’ เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania ครอบครัวอพยพจาก Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Slovakia) บิดาทำงานเหมืองถ่านหิน นับถือ Ruthenian Catholic, ช่วงวัยเด็ก ล้มป่วยจากโรคทางระบบประสาท ส่งผลให้สุขภาพอ่อนแอและทำให้ผิวสีซีดตลอดชีวิต ช่วงเวลานั้นใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเตียง มารดามักนำสมุดระบายสีให้วาดเล่นแก้เหงา จึงค้นพบความชื่นชอบด้านศิลปะตั้งแต่นั้น

ต่อมาเข้าศึกษาพาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) ณ Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันคือ Carnegie Mellon University) สนิทสนมกับเพื่อนร่วมรุ่น Philip Pearlstein เคยพากันออกเดินทางท่องเที่ยว New York แล้วนำเอาแฟ้มผลงานไปโชว์ให้บริษัทต่างๆ สะดุดตานิตยสาร Glamour ได้งานฟรีแลนซ์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

หลังเรียนจบก็ย้ายมาปักหลัก New York City ทำงานวาดภาพประกอบนิตยสารชื่อดังอีกหลายเล่ม Vogue, Harper’s Bazaar, The New Yorker รวมถึงออกแบบรองเท้าให้แบรนด์เนมชื่อดังอย่าง I. Miller ขณะเดียวกันยังมีโอกาสจัดงานแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ค.ศ. 1956 นำเอาผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนคุ้นเคยอย่างกระป๋องซุป Campbell’s Soup Cans, ขวดน้ำอัดลม Green Coca-Cola Bottles มาวาดด้วยสีอะคริลิกลงบนผืนผ้าใบ แบบเดียวกับที่ถูกจัดเรียงบนชั้นตาม Supermarket แรกๆไม่ได้เสียงตอบรับดีนัก แต่ภายหลังกลายเป็นหนึ่งในภาพเขียนราคาหลายสิบล้านเหรียญ!

เมื่อปี ค.ศ. 1963, ระหว่าง Warhol มองหาสถานที่สำหรับทำเป็นเป็นสตูดิโอแห่งใหม่ พบเจอตึกเคยเป็นโรงงานเก่า 231 East 47th Street, Midtown Manhattan ตั้งชื่อว่า The Factory จากนั้นก็ชักชวนคนหนุ่มสาว ศิลปิน จิตรกร นักเขียน นักแสดง นักดนตรี ฯลฯ มาร่วมเฮฮาปาร์ตี้ เสพยา มั่วกาม และสรรค์สร้างผลงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ บทเพลง

ภาพยนตร์ก็เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ Warhol ได้ทำการทดลองประหลาดๆ Experimental, Avant-Garde, Art-House, Underground Film (ก็แล้วแต่จะเรียก) ผลงานเป็นที่รู้จัก อาทิ

  • Kiss (1963) ความยาว 50 นาที มีเพียงการจุมพิตระหว่างชาย-ชาย หญิง-หญิง และชาย-หญิง
  • Eat (1964) ความยาว 45 นาที นำเสนอการรับประทานอาหารของศิลปิน Robert Indiana
  • Blow Job (1964) ไม่ต้องอธิบายกระมัง
  • Sleep (1964) ความยาว 20 นาที ถ่ายภาพระหว่างหลับนอนของ John Giorno (คู่ขาขณะนั้นของ Warhol)
  • Empire (1965) บันทึกภาพตึก Empire State Building ระยะเวลา 485 นาที (ประมาณ 8 ชั่วโมง)
  • Chelsea Girls (1966) ทำการฉายภาพสองจอ ‘split screen’ พร้อมๆกัน
  • Blue Movie (1969) aka. Fuck ภาพยนตร์เรื่องแรก(ฉายในวงกว้าง)พบเห็นฉากร่วมเพศสัมพันธ์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัย Golden Age of Porn

สถานที่สำหรับตั้งกล้องถ่ายทำคือชั้น 41 จากความสูง 48 ชั้น บนตึก Time & Life Building (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น 1271 Avenue of the Americas) เพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1960 อยู่บริเวณ Sixth Avenue ระหว่าง 50th-51st Streest ย่าน Midtown Manhattan, New York City ห่างจากตึก Empire State Building ระยะทาง 16 บล็อก (ถ้าตาม Google Maps อยู่ห่างประมาณ 1 ไมล์)

เหตุผลของการเลือกตึก Time & Life Building นั่นเพราะ John Palmer รับรู้จักกับรองประธาน Henry Romney ของ Rockefeller Foundation ซึ่งมีสำนักงาน/ห้องทำงานส่วนตัวอยู่บนตึกดังกล่าว พบเห็นทิวทัศน์ Empire State Building โดยไม่มีสิ่งกีดขวางกั้นใดๆ เห็นว่าออกมารอต้อนรับ อนุญาติให้ใช้สถานที่ภายหลังเลิกงานตั้งแต่ 8:06 PM วันที่ 24 กรกฎาคม ถ่ายทำเสร็จสิ้นเวลา 2:42 AM วันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1964 (ประมาณสัปดาห์หลังจาก Palmer นำแนวคิดดังกล่าวไปพูดคุยกับ Warhol)

เกร็ด: เป็นความบังเอิญพอดิบพอดีที่ช่วงปีนั้นมีการจัดงาน 1964 New York World’s Fair ระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 18 ตุลาคม ค.ศ. 1964 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองนิทรรศการโลก จึงมีการเปิดไฟส่องสว่างบนตึก Empire State Building ตั้งแต่ชั้น 30 ได้รับคำกล่าวขวัญ “a chandelier suspended in the sky”

ด้วยความที่ Warhol ต้องการให้หนังความยาว 8 ชั่วโมง จึงมีการเลือกกล้อง Auricon ที่สามารถบันทึกภาพได้ครั้งละ 33-35 นาที ส่วนฟีล์ม 16mm เลือกใช้รุ่น ASA 400 Tri-X สำหรับตอนยังพอมีแสงอาทิตย์ และ ASA 1000 หลังจากท้องฟ้ามืด พบเห็นเพียงแสงไฟส่องสว่าง … รวมทั้งหมดฟีล์ม 10 ม้วน

กล้องและอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นของ Jonas Mekas นำจาก Film Maker’s Cooperative แถมยังต้องควักเนื้อจ่ายสด (เพราะหนังไม่ได้ของบประมาณจากแห่งหนไหน) ประเด็นคือเตรียมฟีล์มมาแค่ 10 ม้วน ซึ่งถ้าคำนวณระยะเวลา 33*10=330 นาที แค่ประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ยังไม่ถึง 8 ชั่วโมงตามเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้จึงนำออกฉายด้วยเครื่องโปรเจอเตอร์อัตราเร็ว 16 fps (Frame per Second) เพื่อให้ภาพออกมาสโลโมชั่น (Slow-Motion) ขยับขยายจาก 33 เป็น 48 นาทีต่อม้วน เมื่อคำนวณ 48*10=480 นาที (เวลาจริงคือ 485 นาที) เท่ากับ 8 ชั่วโมงเกือบจะพอดิบดี!

แซว: กล้อง Auricon เป็นรุ่นที่สามารถบันทึกเสียงในตัว ‘Sound-on-Film’ ซึ่งคือครั้งแรกของ Warhol ถ่ายทำด้วยระบบดังกล่าว ทีแรกตั้งใจจะให้บันทึกเสียงพูดคุยเล่นของทีมงานที่อยู่หลังกล้อง แต่สุดท้ายจำต้องตัดทิ้งเสียงทั้งหมด (เพราะเปลี่ยนมาฉายแบบสโลโมชั่น)

สำหรับสมาชิกที่อยู่เบื้องหลังในการถ่ายทำครั้งนี้ประกอบด้วย Andy Warhol (ซึ่งไม่เคยสัมผัสจับต้องกล้องเลยสักครั้ง), นักกวี Gerard Malanga, John Palmer, Jonas Mekas, Marie Desert (แฟนสาวของ Jonas), รวมถึง Henry Romney โดยบุคคลที่เป็นผู้เลือกมุมกล้องดังกล่าวคือ Jonas Mekas (ไม่มีใครตอบได้ว่าพบเห็นตึก Empire State Building ตั้งแต่ชั้นไหน ส่วนใหญ่คาดเดาว่าน่าจะตั้งแต่ 41 (ตามชั้นที่ถ่ายทำจาก Time & Life Building) จนถึงจุดสูงสุดเสาอากาศ) พอติดตั้งเสร็จให้ Warhol ตอบตกลง แล้วก็เริ่มต้นถ่ายทำ

John Palmer, Jonas Mekas and I changed the reels for Andy. He barely touched the camera during the whole time it was being made. He wanted the machine to make the art for him.

Gerard Malanga

ปล. ว่ากันว่าฟีล์มสามม้วนแรก เนื่องจากถ่ายทำตอนยังมีแสงสว่าง จึงอาจสามารถพบเห็นภาพทีมงานสะท้อนในกระจก รวมถึงม้วนเจ็ดอาจพบเห็น Warhol แบบเลือนๆลางๆ ถึงอย่างนั้นคุณภาพใน Youtube ค่อนข้างต่ำทราม และผมก็ไม่เคยรับชมตั้งแต่ต้นจนจบเลยบอกไม่ได้ว่าจริง-เท็จประการใด

Empire

Empire State Building หนึ่งในตึกระฟ้ามีชื่อเสียงที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนเกาะ Manhattan, มหานคร New York, สหรัฐอเมริกา บริเวณจุดตัดถนน Fifth Avenue และ West 34 Street, นับเป็นอาคารหลังแรกของโลกที่มีความสูงมากกว่า 100 ชั้น (ความสูง 102 ชั้น) ออกแบบโดยสถาปนิกสามคน Shreve, Lamb & Harmon (Richmond Harold Shreve, William F. Lamb และ Arthur Loomis Harmon) สถาปัตยกรรม Art Deco และเคยเป็นอาคารสูงที่สุดในโลกตั้งแต่สร้างเสร็จปี ค.ศ. 1931 ความสูงจนถึงยอดเสาอากาศ 443.2 เมตร (ถ้านับแค่หลังคาคือ 381 เมตร)

เกร็ด: ชื่อตึกหลังนี้ “Empire State” มาจากชื่อเล่นของ New York City ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นอาจตั้งแต่ ปธน. George Washington เขียนจดหมายถึงนายกเทศมนตรี James Duane เมื่อปี ค.ศ. 1785 โดยเรียกมหานครแห่งนี้ว่า “the Seat of the Empire”

เมื่อตอนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ Empire State Building ยังเป็นอาคารสูงที่สุดโลก จนกระทั่งการก่อสร้าง World Trade Center แล้วเสร็จปี ค.ศ. 1972 แต่หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ทำให้ตึก Empire State หวนกลับมาเป็นอาคารสูงสุดใน New York ชั่วคราวอีกครั้ง! (แต่ก็ไม่ใช่อาคารสูงสุดในโลกอีกต่อไป) ปัจจุบันตึกใหม่ One World Trade Center สร้างเสร็จปี ค.ศ. 2012 จุดสูงสุด 546.2 เมตร

ตึก Empire State Building ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ตัวแทน ‘cultural icon’ วัฒนธรรมอเมริกันสมัยใหม่ เคยได้การยกย่อง “Eighth Wonder of the World” มักถูกการกล่าวถึงในภาพยนตร์ นวนิยาย บทเพลงมากมาย โด่งดังที่สุดคงคือ King Kong (1933) เจ้าลิงยักษ์ปีนป่ายขึ้นไปบนจุดสูงสุด แล้วตกลงมาเสียชีวิตเบื้องล่าง [ในหนังก็มีคำเรียกเจ้าลิงยักษ์ “Eighth Wonder of the World” เช่นเดียวกับอาคารหลังนี้]


John Palmer: Why is nothing happening? I don’t understand.
Henry Romney: What would you like to happen?
John Palmer: I don’t know.
Henry Romney: Andy, Now is the time to pan!
John Palmer: Definitely not!
Andy Warhol: Henry, what is the meaing of action?
Henry Romney: Action is the absence of inaction.
Andy: Let’s say things intelligent.
Gerard Malanga: Listen! We don’t want to decieve the public, dear.
John Palmer: We are hitting a new milestone.
Andy Warhol: Henry, say Nietzsche.
Henry Romney: Another aphorism?
John Palmer: B Movies are better than A Movies.
Andy Warhol: Jack Smith in every garage.
Marie Desert: Someday we’re all going to live underground and this movie will be a smash.

บทสนทนาระหว่างสมาชิกทั้ง 6 ถ่ายทำ Empire (1965) อยู่บนตึก Time & Life Building

บทสนทนาที่อาจดูสะเปะสะปะดังกล่าว โดยไม่รู้ตัวอธิบายจุดประสงค์ของ Empire (1965) คือการทดลองเพื่อโต้ตอบกลับภาพยนตร์ทั้งโลก ‘Action = Reaction’ ด้วยการนำเสนอมุมกล้องที่ไม่มีการขยับเคลื่อนไหว ไม่ให้เกิดแรงกิริยาใดๆ แต่ทุกสิ่งอย่างรอบข้างล้วนมีการผันแปรเปลี่ยน ท้องฟ้ามืดมิด แสงไฟส่องสว่าง หรือคือแรงปฏิกิริยาขนาดเท่ากันแต่มีทิศทางตรงกันข้าม (กฎข้อที่สามของ Sir Issac Newton)

‘เวลา’ คือหนึ่งในใจความสำคัญของหนัง ทำไมไม่แค่หนึ่งวินาที หรือหนึ่งนาที การนั่งเฉยๆชั่วโมงนึงก็แทบแย่แล้ว แต่ Warhol กลับเลือกระยะเวลา 8 ชั่วโมง หนึ่งในสามของหนึ่งวัน (24 ชั่วโมง) เท่ากับระยะเวลาเข้ากะทำงาน หลับนอนโดยเฉลี่ย บางคนอาจมองเอียงๆเหมือนสัญลักษณ์ ∞ (อนันต์, Infinity)

นั่นเพราะถ้าเราสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ 8 ชั่วโมง (ไม่ต้องถึง 8 ชั่วโมงก็ได้นะครับ เอาแค่ร่างกาย-จิตใจ อดรนทนไหว) มันจะเกิดความรู้สึกนึกคิด นี่ฉันกำลังทำห่าเหวอะไร? ปล่อยเสียเวลาว่างอยู่ใย? ตั้งคำถามถึงเหตุผลการสรรค์สร้างผลงาน เพื่ออะไร? ทำไม? เพราะเหตุใด? … ถ้าหนังความยาวน้อยเกินไป ผู้ชมอาจไม่เกิดความครุ่นคิด อารมณ์รุนแรง จุดแตกหัก, ขณะเดียวกันถ้าหนังยาวกว่านี้ อาจสร้างความเหน็ดเหนื่อย เอือมระอา จนปัญญาจะมองหาเหตุผลมารองรับ

สำหรับคนบางคน การรับชม Empire (1965) ทำให้เกิดความตระหนักถึง ‘เวลาคือสิ่งสำคัญ’ ทำไมฉันต้องมาเสียเวลานั่งดูภาพไร้สาระ ไร้เหตุผล ไม่มีเรื่องราวใดๆ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ดีกว่า!

สำหรับคนบางคน การรับชม Empire (1965) ทำให้เกิดความตระหนักถึง ‘เวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ’ มันคือโซ่ตรวน พันธนาการเหนี่ยวรั้ง บีบบังคับให้คนเราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎกรอบ ต้องเข้า-ออกทำงานแปดชั่วโมง ห้าวันต่อสัปดาห์ ไร้ซึ่งอิสรภาพใดๆ นั่นรวมถึงการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย มนุษย์มีลมหายใจเฉลี่ยเพียงแปดสิบกว่าปี เมื่อเทียบสรรพสิ่งใต้หล้า กัปกัลป์ อสงไขย มันไม่ได้มีความหมายอะไรใดๆ

สำหรับคนบางคน การรับชม Empire (1965) ทำให้เกิดความตระหนักถึง ‘น่าอัศจรรย์ของมนุษย์’ สามารถก่อร่างสร้างตึกสูงเฉียดฟ้า แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าแห่งอารยธรรม รวมถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ ‘cultural icon’ วัฒนธรรมยุคสมัยใหม่แห่งสหรัฐอเมริกา

สำหรับคนบางคน การรับชม Empire (1965) ทำให้เกิดความตระหนักถึง ‘ความหยิ่งผยอง จองหอง หลงตัวเอง’ ด้วยลักษณะตึกสูงดูคล้ายลึงค์/อวัยวะเพศชาย ตั้งโด่เด่เหมือนหอคอยบาเบล ปรัมปราในหนังสือปฐมกาล (11:1-9) จุดมุ่งหมายสร้างให้สูงถึงสวรรค์ แม้มนุษย์ทั้งหลายจะรวมพลัง แสดงความสมัครสมานสามัคคี ขณะเดียวกันนำมาซึ่งความเย่อหยิ่ง อวดดี ครุ่นคิดท้าทายพระเป็นเจ้า … อีโก้ของ Warhol ก็ไม่แตกต่างกัน

สำหรับคนบางคน การรับชม Empire (1965) ทำให้เกิดความตระหนักถึง ‘ทุกสิ่งอย่างล้วนอนิจจัง’ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน คงอยู่อมตะนิรันดร์ ท้องฟ้าจากกลางวันสู่กลางคืน เครื่องบินเคลื่อนพานผ่าน แสงไฟส่องสว่าง แปดชั่วโมงสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลง สรรพชีวิตว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร, รวมถึงการรับชมหนังในปัจจุบัน Empire State Building จากเคยเป็นอาคารสูงที่สุดในโลก เมื่อสูญเสียสถานะดังกล่าว มันก็แค่ตึกสูงๆแห่งหนึ่งเท่านั้นเอง

และสำหรับคนบางคน การรับชม Empire (1965) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย หายใจเข้าออก อาจใช้เวลาดังกล่าวทำสมาธิ หรือครุ่นคิดเรื่อยเปื่อย ปล่อยจิตล่องลอย เพียงเพลิดเพลินกับการ “to see time go by”. สำหรับ Warhol อาจไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

I think Empire is really far out because you can just sit there and look at it and feel all sorts of different things and think all sorts of different things.

When I saw it [Empire State Building] all together, I knew it would be the most beautiful thing in the world … I think ‘Empire’ is my most beautiful movie.

Andy Warhol

งานศิลปะที่ดี ทรงคุณค่า เหนือกาลเวลา มักทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม แล้วนำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยโต้ถกเถียง … Empire (1965) ที่แทบไม่มีลูกเล่นเทคนิคอะไรใดๆ แต่กลับสร้างความขัดแย้ง อารมณ์รุนแรง (เบื่อหน่าย โกรธรังเกียจ หงุดหงิดหัวเสีย ฯลฯ) นั่นถือเป็นคุณสมบัติของศิลปะขั้นสูง ไม่ใช่ทุกคนจักทำความเข้าใจ บางคนไม่สามารถยินยอมรับว่าคือภาพยนตร์เสียด้วยซ้ำ!


หนังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1965 ณ City Hall Cinema, Manhattan ไม่มีรายงานผู้ชมกี่คนในจำนวน 576 ที่นั่ง แต่แค่เพียงสิบนาทีพบเห็นคนเดินออกเกินกว่าครึ่ง! บ้างพยายามขอเรียกร้องเงินคืนก็ยินยอมให้ไป สำหรับพวกอดรนทนอยู่ ก็มีทั้งเข้าๆออกๆ ซื้ออาหารมารับประทาน นั่งนอนหลับสบาย ส่งเสียงหวีดหวิวเมื่อพบเห็นเครื่องบินแล่นผ่าน หรือขณะไฟติดบนตึก Empire State

เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์เมื่อตอนออกฉายก็เต็มไปด้วยความก้ำกึ่ง ชื่นชมถึงความหัวขบถ วิธีคิดที่แตกต่าง ท้าทายขนบของ Hollywood แต่เพราะความเวิ้งว่างเปล่า เยิ่นยาวนาน น้อยคนจะสามารถอดรน เสียเวลาทนดูหนังจนถึงตอนจบ

Empire is not a film, it’s an event… I saw it, not only saw it but stayed with it, for as long as I could take it, for as long as my eyes could stand it, for more than six hours… I couldn’t take my eyes off it, but then again, I couldn’t watch it for more than half an hour. It is, visually, a fantastic sight: so serene, so magical, so unreal and so beautiful. The building does move, but so slightly that you have to concentrate to notice it. The building grows, but so slightly that it can’t be proved. The sun, the daylight, the night, the lights from the building and from the city, the sounds of the streets and the cars and the sirens, the snow, the raindrops on the lens, the changes of the seasons, the changes of the sky, the changes of the colors, the cloud formations, the stars, the airplanes, the moonrise, and the moonset – all are there for you to see, to experience, to participate in. And you do experience them, if you just look at them long enough, if you can stay with the film long enough.

Jonas Mekas เขียนลงนิตยสาร The Village Voice เมื่อปี ค.ศ. 1964

แม้ปัจจุบันใครต่อใครสามารถรับชม Empire (1965) ได้ทาง Youtube มีทั้งแบบ 8 ชั่วโมง, 6 ชั่วโมงตามต้นฉบับ, หรือกระทั่งย่นย่อ 2 นาที! แต่บ่อยครั้งที่หนังยังได้รับการจัดฉายตามพิพิธภัณฑ์ The Museum of Modern Art, Manhattan ไม่ก็ The Andy Warhol Museum, Pittsburgh ถือเป็นภาพยนตร์ Avant-Garde, Art-House, Experimental, Underground Film (แล้วแต่จะเรียก) ทรงคุณค่าทางศิลปะเรื่องหนึ่ง

ผมไม่สามารถประเมินค่า ให้คะแนนความชื่นชอบ เพราะถือว่า Empire (1965) เป็นผลงานที่มีความเฉพาะตัว ผิดแผกแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆโดยสิ้นเชิง จึงมิอาจเปรียบเทียบ จัดหมวดหมู่ นอกจากศึกษาเรียนรู้ ค้นพบ และทำความเข้าใจด้วยตนเอง

จัดเรตทั่วไป แต่คนส่วนใหญ่คนไม่เสียเวลารับชม

คำโปรย | ทิวทัศน์ตึก Empire (1965) สำหรับบางคนสามารถเพลิดเพลินผ่อนคลาย แต่สำหรับอีกหลายคนกลับรู้สึกน่าเบื่อหน่ายชิบหาย
คุณภาพ | ????????
ส่วนตัว | ????????

ใส่ความเห็น