The Truman Show (1998)


The Truman Show (1998) hollywood : Peter Weir ♥♥♥♥

ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ Truman Burbank (รับบทโดย Jim Carrey) ถูกบันทึกภาพ แอบถ่าย ฉายรายการเรียลลิตี้ (Reality Show) โดยไม่เคยรับรู้ตนเอง จนกระทั่งเติบใหญ่ ถึงวัยทำงาน โหยหาอิสรภาพ ต้องการออกไปจากโลกปลอมๆใบนี้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

The Truman Show (1998) ไม่ใช่แค่พยากรณ์การมาถึงของรายการเรียลลิตี้ (Reality Show) แต่ยังวิถีโลกยุคสมัยใหม่ที่ไม่ว่าสถานที่แห่งหนไหน ล้วนเต็มไปด้วยกล้องวงจรปิด ทั้งแอบถ่าย-ไม่แอบถ่าย หลายคนยังทำตัวเหมือนกล้องเดินได้ (ด้วยการไลฟ์สดตลอดเวลา) นั่นทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นส่วนตัว ถูกจับจ้อง ถ้ำมอง โดยใครก็ไม่รู้ ไม่เคยพบเจอ ไม่เคยรับรู้จัก ครุ่นคิดว่าฉันคือบุคคลสำคัญ มีชื่อเสียงโด่งดัง โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน

ส่วนเนื้อหาสาระของหนังสามารถตีความได้หลากหลาย อาทิ เจตจำนงเสรี (Free Will), การมีตัวตน (Existentialism), ความเป็นส่วนบุคคล (Privacy), ศาสนา (Religion), อภิปรัชญา (Metaphilosophy) ฯ โดยเรื่องราวยังพยายามผสมผสานดราม่า-จิตวิทยา (Psychological Drama), รอม-คอม (Romantic Comedy), ตลกล้อเลียน (Comedy Satire), กลิ่นอายไซไฟ (Science Fiction) … ใกล้เคียงสุดเท่าที่ผมนึกออกก็อย่างภาพยนตร์ Last Year at Marienbad (1961), The Matrix (1999)

เอาจริงๆผมตั้งใจจะเขียน The Truman Show (1998) ต่อจาก Synecdoche, New York (2008) แต่มันมีเหตุบางอย่างทำให้ต้องหยุดงานไปหลายสัปดาห์ โชคดีที่ House Samyan นำเข้าฉายช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๖ คาดว่าน่าจะฉบับบูรณะ 4K ใครพลาดโอกาสรับชมในโรงภาพยนตร์ถือว่าน่าเสียดายอย่างมากๆ

เกร็ด: ภาพโปสเตอร์ใบหน้า Jim Carrey ที่ทำการผสมผสานภาพถ่ายของ Jim Carrey นับร้อยๆรูป ออกแบบสร้างโดย Rob Silverman ข่าวลือว่าต้องใช้เงินสูงถึง $75,000 เหรียญ กว่าจะทำออกมาได้สำเร็จ!


จุดเริ่มต้นของ The Truman Show เริ่มต้นจาก Treatment ความยาว 1 หน้ากระดาษ (ตอนแรกตั้งชื่อว่า The Malcolm Show) พัฒนาขึ้นโดย Andrew M. Niccol (เกิดปี 1964) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ New Zealand, รายละเอียดเกี่ยวกับชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ยัง New York City แต่ไม่เคยรับรู้ว่าตนเองกำลังถูกแอบถ่าย ปรากฎตัวในรายการเรียลลิตี้ จนเมื่อค้นพบความจริง ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดขึ้นใน Hollywood Backlot … สามารถขายลิขสิทธิ์ให้โปรดิวเซอร์ Scott Rudin มูลค่าสูงกว่า $1 ล้านเหรียญ!

In original version, Truman’s world is a fake, rain-drenched New York built on a Hollywood soundstage, Truman himself addicted to alcohol and emotionally disengaged from society and his wife Meryl (really an actress named Hannah). The truth of Truman’s life is treated like a mystery, his existence in a reality show rendered a third-act plot twist, with the character of Christof, the all-seeing God figure behind the show, here perpetually lurking around set corners like Dick Dastardly in a wireless headset.

บทความจาก Dazed & Confused Magazine

ด้วยความที่ Niccol เรียกร้องขอกำกับด้วยตนเอง (เคยมีประสบการณ์กำกับโฆษณา) ด้วยงบประมาณสูงถึง $80 ล้านเหรียญ! สร้างความลังเลใจให้สตูดิโอ Paramount Pictures จึงยินยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงหลักล้าน! เพื่อต่อรองให้อีกฝ่ายยินยอมลดบทบาท หลีกทางผู้กำกับมากประสบการณ์ (A-list Director) เข้ามาดูแลงานสร้างแทน

ในตอนแรกโปรดิวเซอร์ Scott ติดต่อได้ผกก. Brian De Palma แต่อีกฝ่ายเหมือนมีปัญหา ‘midlife crisis’ เลยถอนตัวออกไป, จากนั้นบทหนังถูกส่งต่อให้ Tim Burton, Sam Raimi, Terry Gilliam, David Cronenberg, Barry Sonnenfeld, Steven Spielberg รวมถึง Bryan Singer พยายามล็อบบี้ขอโอกาสจาก Paramount แต่สุดท้ายกลับเลือกใช้บริการ Peter Weir

Peter Lindsay Weir (เกิดปี 1944) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Australian เกิดที่ Sydney, New South Wales โตขึ้นเข้าเรียนศิลปะและกฎหมายยัง University of Sydney ขณะที่ความสนใจในภาพยนตร์เกิดขึ้นหลังจากพบเจอ Phillip Noyce ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Ubu Films, ช่วงกลางทศวรรษ 60s ทำรายการโทรทัศน์ สารคดี หนังสั้น Homesdale (1971), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Cars That Ate Paris (1974), โด่งดังกับ Picnic at Hanging Rock (1975), The Last Wave (1977), มุ่งสู่ Hollywood สรรค์สร้าง Witness (1985), Dead Poets Society (1989), The Truman Show (1998), Master and Commander: The Far Side of the World (2003) ฯ

If you build Manhattan, you must be making money beyond what any show could generate. And why recreate something that is already there and full of problems?

Peter Weir

การเข้ามาของ Weir ช่วยปรับปรุงบทของ Niccol ให้มีบรรยากาศสว่างสดใส ลดความเป็นไซไฟ ปรับเปลี่ยนพื้นหลังจาก Manhattan, New York City มายัง Seaside, Florida (ทำให้ลดทุนสร้างลงเหลือ $60 ล้านเหรียญ) และเมื่อตัดสินใจเลือกนักแสดง Jim Carrey ยินยอมรอคอยคิวว่างหนึ่งปีเต็ม ระหว่างนั้นพวกเขาก็ร่วมกันแก้ไขบทไม่น้อยกว่า 16+12 ครั้ง (16 คือก่อนที่ Carrey จะตอบตกลง, 12 คือหลังจากตอบตกลง)

where [Niccol] had it depressing, I could make it light. It could convince audiences they could watch a show in this scope 24/7.

เกร็ด: ในขณะที่ Niccol ปรับปรุงบทหนังซ้ำแล้วซ้ำอีก และถ่ายทำภาพยนตร์ Gattaca (1997) จนแล้วเสร็จ, ผกก. Weir ก็ช่วยครุ่นคิดรายละเอียดตัวละคร (โดยเฉพาะ Truman และ Christof) รวมถึงพื้นหลังรายการเรียลลิตี้ในแต่ละปีๆ เห็นว่าได้ออกมาเป็นเล่มๆ สำหรับมอบให้นักแสดงใช้ในการอ้างอิงถึง


เรื่องราวของ Truman Burbank (รับบทโดย Jim Carrey) ได้รับเลือกตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ ให้มาปรากฎตัวในรายการเรียลลิตี้ (Reality Show) ออกฉาย 24/7 ชั่วโมง โดยไม่รับรู้ว่าทุกสิ่งอย่างรอบข้าง คน-สัตว์-สิ่งของ ล้วนเกิดจากการจัดฉาก ปลอมแปลง สร้างขึ้น ณ Seaheaven Island ภายใต้โดมขนาดมหึมามองเห็นจากดวงจันทร์ สามารถควบคุมกลางวัน-กลางคืน สภาพอากาศ ฟ้า-ฝน ลมพายุ โดยพระเจ้าโปรดิวเซอร์เจ้าของรายการ Christof (รับบทโดย Ed Harris)

จนกระทั่งใกล้วันครบรอบ 30 ปี Truman มีความกระตือรือล้นอยากเดินทางไปเกาะ Fiji สถานที่ที่อดีตหญิงสาวรักแรกพบถูก(บิดา)ลักพาตัวไป ขณะเดียวกันก็เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติมากมายของเมืองแห่งนี้ จึงพยายามหาหนทางดิ้นรน หลบหนี เอาชนะปมกลัวน้ำ (Aquaphobia) จนในที่สุดสามารถพบเจอปลายขอบฟ้า และก้าวออกมาสู่โลกภายนอกได้สำเร็จ!


James Eugene ‘Jim’ Carrey (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Newmarket, Ontario ในครอบครัว Roman Catholic ตอนอายุ 10 ส่งจดหมายถึงรายการโชว์ Carol Burnett Show บอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญด้านการลอกเลียนแบบผู้อื่น แม้ไม่ได้ไปออกโทรทัศน์แต่ก็มีจดหมายตอบกลับที่เป็นกำลังใจอย่างมากๆ

Unfortunately, at this time we aren’t hiring children, Just grown-ups. But stay in school, study hard, and keep watching our show.

Carol Burnett

พออายุ 15 เดินทางสู่ Toronto เริ่มต้นการแสดง Stand-Up Comedy ยังไนท์คลับ Yuk Yuk แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เลยเปลี่ยนแผนมาเป็นนักแสดงละครเวที (แต่ก็ทำการแสดง Stand-Up Comedy เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ไปด้วย) จนเข้าตาโปรดิวเซอร์จับเซ็นสัญญามุ่งสู่ Hollywood มีโอกาสปรากฎตัวรายการโทรทัศน์ An Evening at the Improv (1982), แสดงซิทคอม The Duck Factory, ซีรีย์ตลก In Living Color, ก่อนสร้างชื่อกับภาพยนตร์ Ace Ventura: Pet Detective (1994), The Mask (1994), Dumb and Dumber (1994), Batman Forever (1995), ได้รับคำชมล้นหลามกับ The Truman Show (1998), Man on the Moon (1999), How the Grinch Stole Christmas (2000), Bruce Almighty (2003), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ฯ

รับบท Truman Burbank ชายหนุ่มหน้าใส มองโลกในแง่ดี มีรอยยิ้มเบิกบาน ทำสิ่งต่างๆด้วยความร่าเริง เอ่อล้นด้วยความบันเทิง ถึงอย่างนั้นเมื่อต้องใช้ชีวิตแบบเดิมๆซ้ำๆ เริ่มเกิดความเบื่อหน่ายในกิจวัตรประจำวัน ยังคงโหยหาอดีตรักแรกพบ เธอคนนั้นถูก(บิดา)ลักพาตัวไปเกาะ Fiji กลายเป็นสถานที่ในอุดมคติ เพ้อฝันใฝ่ อยากเดินทางไปสถานที่แห่งนั้น

ดั้งเดิมนั้นโปรดิวเซอร์อยากได้ Robin Williams แต่หลังจากผกก. Weir พบเห็นการแสดงของ Carrey ในภาพยนตร์ Ace Ventura: Pet Detective (1994) เกิดความชื่นชอบประทับใจ ยกย่องอีกฝ่ายคือสุดยอดนักแสดงระดับ Charlie Chaplin แถมยินยอมรอคอยคิวถ่ายทำหลังจาก The Cable Guy (1996) และ Liar Liar (1997) เรียกว่าทุกสิ่งอย่างล้วนหมุนรอบชายคนนี้!

I thought, ‘What a man touched with genius!’ If this were the silent era he would be up there with Keaton and Chaplin. And he was able to suggest why people watched The Truman Show, because he’s funny and you can patronise him: he’s a little goofy, a boy-man. His whole development as a human being is arrested; he’s in desperate trouble really. There were warnings that we would go down in flames. That Jim would drag in so many million on the opening weekend, and then people would say, ‘It’s neither funny enough nor dramatic enough nor emotional enough’. After all, this is a film of ideas, which is not traditional Hollywood fare.

Peter Weir กล่าวชื่นชม Jim Carrey

Carrey มีความชื่นชอบบทหนังอย่างมากๆ ตอบตกลงพร้อมยินยอมลดค่าตัวจากปกติ $20 ล้านเหรียญ เหลือแค่ $12 ล้านเหรียญ และยังได้รับอิสรภาพในการปรับแก้ ดั้นสด ‘improvised’ … ทีแรกผกก. Weir ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่ผลลัพท์หลายๆครั้งมีความมหัศจรรย์มากๆ เลยยิ่งชื่นชม เห็นชอบด้วย

บทบาท Comedy ของ Carrey โดดเด่น โด่งดังจากการแสดงออกทางใบหน้า ปฏิกิริยาท่าทาง น้ำเสียงพูดคุย เน้นความเว่อวังอลังการจนดูจอมปลอม แต่สามารถสร้างเสียงหัวเราะ ยียวนกวนประสาท ซึ่งสำหรับ The Truman Show (1998) ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่กลับถือเป็นไฮไลท์ในอาชีพการงานเพราะมัน เฟคจนดูไม่เฟค! …. กล่าวคือตัวละครไม่รับรู้ว่าตนเองอยู่ในโลกปลอมๆ การแสดงออกเหล่านั้นล้วนได้รับอิทธิพลจากทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง มันเลยดูมีความเป็นธรรมชาติ สมจริงอย่างคาดไม่ถึง!

แต่ไฮไลท์จริงๆของ Carrey คือการสีหน้าตึงเครียด จริงจัง น่าเสียดายที่ผู้ชมส่วนใหญ่มองเป็นความตลกขบขัน (นักแสดงสายคอมเมอดี้ ที่พอมาเล่นบทบาทดราม่า คนส่วนใหญ่มักมองว่าไม่สมจริง ไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่)

แซว: Jim Carrey ตั้งใจว่าบทบาทนี้จะช่วยให้ตนเองหลุดจากภาพจำ (Typecast) ในฐานะนักแสดงตลก แบบเดียวกับตัวละคร Truman Burbank พยายามดิ้นหลบหนีออกจากโลกปลอมๆใบนี้! แต่ที่ไหนได้กลับการันตีความเป็นอมตะใน คอมเมอดี้สไตล์ Jim Carrey ซะงั้น!


Edward Allen Harris (เกิดปี 1950) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Englewood, New Jersey, เติบโตขึ้นในครอบครัว Presbyterian ตอนเด็กชื่นชอบการเล่นฟุตบอลจนเป็นดาวของโรงเรียน แต่พอย้ายไปอยู่ New Mexico เกิดความสนใจด้านการแสดง สอบเข้า University of Oklahoma ตามด้วย California Institute of the Arts จบคณะวิจิตรศิลป์ (Bachelor of Fine Arts), เริ่มทำงานจากเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ The Right Stuff (1984), ผลงานเด่นๆ อาทิ Apollo 13 (1995), The Truman Show (1998), Pollock (2000), A Beautiful Mind (2001), The Hours (2002), A History of Violence (2005) ฯลฯ

รับบทโปรดิวเซอร์ Christof ผู้ครุ่นคิดรายการ The Truman Show ตั้งแต่เมื่อสามสิบปีก่อน คอยกำหนดทิศทาง วางแผนงาน ออกคำสั่งลูกน้องให้ทำโน่นนี่นั่น ราวกับพระเจ้าผู้สรรค์สร้าง Truman Burbank พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายก้าวออกจากโลกใบนี้

ดั้งเดิมนั้นบทบาทนี้ตกเป็นของ Dennis Hopper เห็นว่าถ่ายทำได้สองวันก็ถูกไล่ออก ด้วยเหตุผลคลาสสิก ‘creative differences’ ไม่มีใครเห็นชอบลีลาการแสดงของอีกฝ่าย, มีนักแสดงหลายคนได้รับการติดต่อไป แต่ไม่มีใครอยากรับงานเฉพาะหน้านี้สักเท่าไหร่ Ed Harris ยินยอมตอบตกลงเพราะผกก. Wier มอบหนังสือที่เขียนรายละเอียดพื้นหลังตัวละคร ทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลาตระเตรียมความพร้อมมากนัก!

สามสิบปีเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน Harris จึงออกแบบตัวละครให้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงตัวเอง ปิดกั้นความคิดเห็น เชื่อมั่นว่าฉันกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง (จะเรียกว่าเผด็จการก็ได้กระมัง) ทุกอากัปกิริยา คำพูดจา จึงมีความหนักแน่น ท่าทางจริงจัง ไม่ยินยอมรับความผิดพลาด โหยหาความสมบูรณ์แบบ ‘Perfectionist’ … ตัวละคร Christof ถือว่ามีความแตกต่างขั้วตรงข้ามกับ Truman Burbank

เกร็ด: ด้วยความที่ตัวละครทั้งสองไม่เคยพบเจอหน้ากัน ระหว่างถ่ายทำ Ed Harris และ Jim Carrey ก็ไม่เคยพบเจอเช่นเดียวกัน


ถ่ายภาพโดย Peter Biziou (เกิดปี 1944) สัญชาติ Wales เป็นบุตรของตากล้อง Leon Bijou, เข้าสู่วงการในช่วงทศวรรษ 60s เริ่มจากถ่ายทำหนังสั้น, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Bugsy Malone (1976), Monty Python’s Life of Brian (1979), ผลงานเด่นๆ อาทิ Time Bandits (1981), Pink Floyd – The Wall (1982), Mississippi Burning (1988), In the Name of the Father (1993), The Truman Show (1998) ฯ

หลายคนน่าจะสังเกตเห็นความผิดแผกแปลกประหลาดของมุมกล้อง มีความบิดๆเบี้ยวๆ (ด้วยเลนส์ Wide Angle) พยายามหลบซุกซ่อน (เหมือนมีบางสิ่งอย่างครอบขอบข้าง ดูคล้ายๆ Iris Shot) วางอยู่ในตำแหน่งไม่มีใครคาดคิดถึง! ซึ่งนั่นเป็นความจงใจเพื่อไม่ให้ตัวละครรับรู้ว่าตนเองกำลังถูกบันทึกภาพ แอบถ่าย ฉายสดรายการเรียลลิตี้

ผกก. Weir ถ่ายทำหนังทั้งเรื่องด้วยอัตราส่วนภาพ European Widescreen (1.66:1) เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนการฉายรายการเรียลลิตี้ผ่านทางโทรทัศน์ แต่น่าเสียดายที่โปรดิวเซอร์ไม่เห็นความสำคัญดังกล่าว ฉบับภาพยนตร์มีการครอบตัด (Crop) ให้ได้อัตราส่วน Widescreen (1.85:1) ส่วนฉบับบูรณะและ Blu-Ray ถูกครอบตัดจนเหลือ 1.78:1 (จะมีเฉพาะ DVD ต้นฉบับปี ค.ศ. 1999 ที่ยังคงอัตราส่วนดั้งเดิม)

สำหรับสถานที่ถ่ายทำ ผกก. Weir เริ่มต้นออกทำการสำรวจย่าน Eastern Florida แต่ยังรู้สึกไม่เป็นที่พึงพอใจสักเท่าไหร่ เกือบที่จะตัดสินใจถ่ายทำทั้งหมดในสตูดิโอ จนกระทั่งภรรยาแนะนำอีกสถานที่ Seaside, Florida เป็นชุมชนบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่เพิ่งสร้างขึ้น (Master-Planned Community) แม้ภายนอกมีความร่มรื่น เรียงง่าย บรรยากาศวินเทจ แต่ขณะเดียวกันก็ดูจอมปลอม ฝืนธรรมชาติ

The town needed a feeling of having been purpose-built, and built all at one time as with any television or movie set.

[Seaside, Florida] looked it had been built for our show. I knew we could enhance it to create the ideal setting for Seahaven.

Peter Weir

ในส่วนของแฟชั่น เสื้อผ้าหน้าผม รับอิทธิพลจากภาพวาด/โปสเตอร์ของศิลปิน Norman Rockwell (1894 – 1978), รวมถึงหน้าปกหนังสือแฟชั่น The Saturday Evening Post เคยได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 40s ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสไตล์ Vintage เน้นความเรียบง่าย (เพราะเสื้อผ้าตัวประกอบ หยิบยืมมาจากที่เคยใช้ในรายการโทรทัศน์อื่นๆ)

Our challenge was to avoid making the costumes too cartoonish and also not to make them too tied into a specific period of time.

นักออกแบบเสื้อผ้า Marilyn Matthews

Truman Burbank is the only person on ‘The Truman Show’ that dresses himself- the others are all dressed by the wardrobe department of the television show – so I wanted his look to be a bit different, not quite as polished.

Wendy Stites ที่ปรึกษาด้านการออกแบบ

แซว: ภาพแรกที่ผมนำมาชื่อว่า Dewey vs. Truman (The Great Debate) (1948) การโต้ถกเถียงว่าเลือกประธานาธิบดีคนไหนระหว่าง Thomas E. Dewey (Republican) vs. Harry S. Truman (Democratic) ซึ่งการตั้งชื่อตัวละคร Truman นอกจากบุคคลเดียวที่แสดงออกอย่าง ‘True Man’ ยังอาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อ ปธน. คนที่ 41 นี้เอง!

สำหรับคนที่เพิ่งรับชมหนังครั้งแรก ย่อมเต็มไปด้วยข้อฉงนสงสัย หลอดไฟหล่นจากท้องฟ้ามาได้อย่างไร? แถมมีข้อความปรากฎ Sirius (9 Canis Major) ชื่อดาวฤกษ์ส่องสว่างที่สุดยามกลางคืน คนไทยมักเรียกว่าดาวโจร ในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ … คนที่รับชมจนจบแล้วย่อมตระหนักว่านี่คือหลอดไฟที่ใช้แทนดาวฤกษ์ส่องสว่างยามค่ำคืน เพราะโลกของ Truman อยู่ภายใต้โดมขนาดมหึมา มันคงเกิดอุบัติเหตุ ขัดข้องทางเทคนิค ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อถึงหายนะ จุดจบใกล้มาถึงของรายการ The Truman Show

ผมมองเป็นความน่าอัศจรรย์ในการสรรหามุมกล้องแปลกๆ บิดๆเบี้ยวๆ พยายามทำออกให้ดูเหมือนการแอบถ่าย ติดตั้งกล้องยังตำแหน่งที่ Truman ไม่สามารถสังเกต รับรู้เห็น ผู้ชมเองก็ครุ่นคิดคาดไม่ถึง! … แต่มันก็แอบแปลกอยู่เล็กๆที่เขาจะไม่พบเห็นกล้องที่ซุกซ่อนอยู่เลยได้อย่างไร?

จริงๆมันมีหลายครั้งมากๆที่จงใจสอดแทรกโฆษณาแฝง (Product Placement) แต่ผมเลือกมาเฉพาะสองครั้งที่ Meryl (ภรรยาของ Truman) จู่ๆมีปฏิกิริยาท่าทางแปลกๆ ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง รอยยิ้มแห้งๆ ดวงตาพองโต พูดคำโปรโมทตามสคริปท์เขียนไว้ มันจึงมีความจอมปลอม ปอกลอก ดูไม่ค่อยจริงใจสักเท่าไหร่

ท้องฟ้า พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ เมฆหมอก รวมถึงฝนตกไม่ทั่ว เหล่านี้ล้วนมีความผิดแผก มองดูแปลกประหลาด ยิ่งสร้างความเอะใจให้ทั้งผู้ชมและตัวละคร เหมือนสถานที่แห่งนี้มีบางสิ่งอย่างลับลมคมใน พยายามกีดกันไม่ให้ Truman ก้าวออกจากเกาะ รถเสีย สะพานสร้างไม่เสร็จ อุบัติเหตุสารพิษรั่วไหล ไม่มีเที่ยวบินใดๆ ฯ

เหตุผลที่ Truman มีปมกลัวน้ำ/กลัวทะเล (Aquaphobia) ไม่กล้าขึ้นเรือ เยียบย่างลงท้องทะเล เพราะวัยเด็กเคยมีประสบการณ์จดจำฝังใจ ระหว่างออกทะเลล่องเรือกับบิดา แล้วจู่ๆเกิดคลื่นลมแรง พายุมรสุมพัดผ่านมา โชคดีว่าเด็กชาย Truman สามารถเอาตัวรอดชีวิต แต่บิดากลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย … แต่ทั้งหมดนี้เกิดจากการจัดฉาก สร้างสถานการณ์ของ Christof เพื่อควบคุมครอบงำ Truman ไม่ให้ครุ่นคิดก้าวออกไปจากเกาะ สภาพแวดล้อม/โดมที่สรรค์สร้างขึ้น

ด้วยความรู้สึกผิดของ Truman ครุ่นคิดว่าตนเองเป็นต้นสาเหตุให้บิดาต้องเสียชีวิต ทำให้เขาไม่กล้าขึ้นเรือ กลัวการออกท้องทะเล แต่หลังจากบิดาหวนกลับคืนมา ทำให้ปมดังกล่าวรักษาหายโดยพลัน! เกิดความหาญกล้า บ้าบิ่น ไม่หวาดกลัวเกรงอันตรายอีกต่อไป (บางคนอาจมองว่าเพราะบิดาสามารถเอาตัวรอดชีวิตจากคลื่นลมมรสุม เลยเกิดความครุ่นคิดว่าตนเองก็น่าจะทำได้เฉกเช่นเดียวกัน)

การเผชิญหน้าคลื่นลมมรสุม สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม ชีวิตคนต้องพานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก เต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่ถ้าเราสามารถอดรนทน ไม่ย่นย่อท้อ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ ต่อให้พายุจะเลวร้ายรุนแรงสักแค่ไหน ย่อมสามารถไปถึงเป้าหมายปลายทาง ฟากฝั่งฝัน สุดขอบท้องฟ้า โลก และจักรวาล

นอกจากปมเรื่องบิดา Truman ยังคงจดจำรักแรกพบ Lauren/Sylvia นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในสคริปท์ของ Christof (จึงลบตัวละครนี้ออกด้วยการขับไล่ แสร้งว่าอพยพย้ายไป Fiji) แต่เป็นความรู้สึกแท้จริงของจิตใจ กาลเวลาพานผ่านไปยังคงจดจำไม่ลบเลือน เพ้อใฝ่ฝันอยากเดินทางสู่ Fiji และยังพยายามสรรหารูปนางแบบมาแปะติดปะต่อ ให้ใบหน้าใกล้เคียงกับเธอในอุดมคติมากที่สุด!

แซว: แม้วัยจะย่างเข้าสามสิบ แต่ท่านั่งของ Truman ระหว่างหวนระลึกความหลัง นั่งขด ตัวงอ ยืดข้อเท้า ทำราวกับเด็กน้อย จมปลักตนเองอยู่ในอดีต ยังไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่สักที!

การไขว้นิ้วในภาพงานแต่งงาน ทำให้ Truman เกิดความฉงนสงสัยว่าภรรยา Meryl Burbank/Hannah Gill ที่ระริกระรี้เข้าหาตั้งแต่สมัยมัธยม มีความจงรักภักดีต่อตนเองหรือไม่? หรือทั้งหมดเป็นเพียงการละคอน สร้างภาพลวงหลอกตา ซึ่งปฏิกิริยาท่าทางของเธอก็ค่อนข้างชัดเจนว่าใกล้ถึงจุดแตกหัก ลุกรี้ร้อนรน ท่าทางหวาดกังวลกระวาย แทบมิอาจอดรนทนอยู่กับชายที่ตนเองไม่ได้รักอีกต่อไป … ก็ขนาดว่า Christof ยังครุ่นคิดบทใหม่ของ The Truman Show จะให้เลิกราหย่าร้างกันอีกไม่ช้านาน

Louis Coltrane/Marlon เพื่อนสนิทของ Truman มักคอยเป็นที่ปรึกษา พูดคุยสนทนา แต่สีหน้าท่าทางของเขาเต็มไปด้วยอึดอัด อัดอั้น เพราะทุกคำแนะนำล้วนเคลือบแฝงด้วยการโป้ปดหลอกลวง เล่นละคอนตบตามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่ตนเองก็ไม่สามารถอะไรนอกเหนือคำสั่งเจ้านาย เพราะจะเป็นการทำลายโลกทั้งใบนี้

My character is in a lot of pain. He feels really guilty about deceiving Truman. He’s had a serious drug addiction for many years. Been in and out of rehab.

Noah Emmerich รับบท Louis Coltrane สวมบทบาทเป็น Marlon

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Louis Coltrane เป็นส่วนผสมของสองนักดนตรี Jazz ชื่อดัง Louis Armstrong และJohn Coltrane ซึ่งจะมีฉากที่ชายคนนี้เป่าทรัมเป็ตด้วยละ

เสียงซุบซิบของผู้กำกับ Simeon (รับบทโดย Paul Giamatti) คาดเดาสิ่งที่ Truman วาดบนกระจกคือแมว แต่แท้จริงแล้วมันคือชุดนักบินอวกาศ และพอกล่าวว่า “Trumania of the Burbank Galaxy.” จะมีการวาดธงข้างๆ และเขียนตัวอักษร T (น่าจะแทนด้วย Truman)

เกร็ด: ซีเควนซ์ที่ Truman พูดคุยเล่นหน้ากระจก ล้วนเป็นการดั้นสด ‘improvised’ ของ Jim Carrey ไม่มีอยู่ในบทหนัง

ผมนึกอยู่นานว่าช็อตนี้มันคุ้นๆเหมือนเคยเห็นจากไหน คำตอบคือภาพยนตร์ Persona (1966) เด็กชายเอื้อมมือไขว่คว้าใบหน้าหญิงสาว/มารดาขนาดใหญ่, ในบริบทของหนัง Christof เอื้อมมือสัมผัสใบหน้า Truman แต่เราสามารถตีความในทิศทางกลับตารปัตร นั่นเพราะ Christof เปรียบดั่งบิดา/พระเจ้า ผู้คอยควบคุมดูแล กำหนดทิศทางชีวิตให้ Truman ราวกับบุตรชายของตนเอง

การเดินลัดเลาะสุดปลายขอบฟ้า แล้วก้าวขึ้นบันไดสู่ประตูทางออก นี่ถือเป็นภาพ ‘Iconic’ ของหนังที่สื่อถึงจุดสิ้นสุดการเดินทาง Truman ได้บรรลุถึงเป้าหมาย เอาชนะขีดจำกัดตนเอง พร้อมจะก้าวออกสู่โลกภายนอก เผชิญหน้าความเป็นจริง โบยบินออกจากกรงขัง ได้รับอิสรภาพชีวิต หรือจะตีความถึงการบรรลุหลุดพ้น ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎะสังสารอีกต่อไป

วินาทีก่อนที่ Truman กำลังจะก้าวเข้าสู่ประตูทางออก จู่ๆมีเสียงของใครก็ไม่รู้ดังกึกก้องกังวาล มีการตัดภาพไปที่พระอาทิตย์สาดส่องแสง ราวกับเสียงของพระเจ้า แต่แท้จริงแล้วบนดวงอาทิตย์/ดวงจันทร์ คือห้องควบคุม (Control Room) ของ Christof ผู้คอยกำกับดูแลทุกสิ่งอย่างในโดมหลังนี้

สิ่งที่ผมแอบประหลาดใจที่สุดคือท่านั่งของ Christof ระหว่างสนทนาผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ (ล้อกับตอนที่ Truman นั่งอยู่ห้องใต้ดิน หวนระลึกความทรงจำในอดีต) นั่งขด ตัวงอ ยืดข้อเท้า ทำราวกับเด็กน้อย รับรู้ตนเองว่ากำลังจะสูญเสียของเล่น พยายามพูดคำโน้มน้าว Truman ไม่ให้ก้าวออกจากโดมหลังนี้ แต่เจตจำนงเสรีของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ใครไหนจะสามารถควบคุม ครอบงำ บีบบังคับ แม้แต่พระเป็นเจ้าเองก็ตาม

ประโยคสุดท้ายของ Truman เป็นการล้อกับคำติดปากของตนเอง (Catchphase) ทุกเช้าเมื่ออกจากบ้านทักทายผู้คนรอบข้าง “In case I don’t see you, Good Afternoon, Good Evening, and Good Night.” เรียกได้ว่าสูงสุดกลับสู่สามัญ คำทักทายและร่ำจากลาในคราเดียวกัน

ตัดต่อโดย William Anderson และ Lee Smith

  • William M. Anderson (เกิดปี 1948) สัญชาติ Irish, ขาประจำผู้กำกับ Peter Weir ผลงานเด่นๆ อาทิ Dead Poets Society (1989), The Truman Show (1998), Master and Commander: The Far Side of the World (2003) ฯ
  • Lee Smith (เกิดปี 1960) สัญชาติ Australian, แจ้งเกิดจากการร่วมงานผกก. Peter Weir อาทิ The Truman Show (1998), Master and Commander: The Far Side of the World (2003), จากนั้นกลายเป็นขาประจำ Christopher Nolan, Sam Mendes ผลงานเด่นๆ อาทิ Batman Begins (2005), The Dark Knight (2008), Inception (2010), Interstellar (2014), Spectre (2015), Dunkirk (2017), 1917 (2019) ฯ

ถัดจากอารัมบทที่เป็นบทสัมภาษณ์โปรดิวเซอร์/นักแสดง, ครึ่งแรกของหนังจะนำเสนอผ่านมุมกล้อง ถ้ำมอง แอบถ่ายกิจวัตรประจำวันของ Truman Burbank โดยที่ผู้ชม(และตัวละคร)อาจยังไม่รับรู้ว่ามีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น แต่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติ สัมผัสได้ว่ามีบางสิ่งแปลกประหลาดบังเกิดขึ้น

  • กิจวัตรประจำวันของ Truman ตื่นเช้า เดินทางไปทำงาน ค่ำคืนดื่มกับเพื่อนสนิท Louis Coltrane
  • (Flashback) เล่าย้อนอดีต ปมที่ทำให้เป็นโรคกลัวน้ำ (Aquaphobia)
  • วันถัดมาพบเจอบิดาที่น่าจะเสียชีวิตจากไปแล้ว จู่ๆถูกลักพาตัวไปต่อหน้าต่อตา จึงพยายามออกติดตามค้นหา
  • (Flashback) หวนระลึกถึงรักแรกพบ Sylvia แต่ไม่นานเธอก็ถูก(บิดา)ลักพาตัวไป Fiji
  • Truman เริ่มสังเกตพบเห็นสิ่งผิดแผกแปลกประหลาดบนโลกใบนี้
  • วันถัดมาสังเกตเห็นพฤติกรรมแปลกๆของภรรยา จึงแอบติดตามภรรยาไปโรงพยาบาล
  • พยายามหาหนทางออกไปจากโลกใบนี้ ทางรถ ทางเรือ ล้วนมีเหตุไม่ให้เขาสามารถออกเดินทางไปไหน
  • ค่ำคืนระหว่างนั่งดื่มกับ Louis ก็ได้พบเจอกับบิดาผู้สูญหาย

ส่วนครึ่งหลังจะสลับสับเปลี่ยนมาเป็นมุมมองโปรดิวเซอร์ Christof รวมถึงพนักงาน/ผู้ชมทางบ้าน คอยสังเกต จับจ้อง ลุ้นระทึกเหตุการณ์ชีวิตที่บังเกิดขึ้นกับ Truman Burbank

  • วินาทีที่ Truman ได้พบเจอบิดาผู้สูญหาย จะมีการสลับสับเปลี่ยนมุมมองมายังห้องควบคุม โปรดิวเซอร์ Christof กำกับทีมงานเบื้องหลัง
  • การสัมภาษณ์โปรดิวเซอร์ Christof ถึงโปรเจค The Truman Show ระหว่างนั้นถูกขัดจังหวะด้วยการโทรศัพท์เข้ามาก่อกวนของ Sylvia (รักแรกพบของ Truman)
  • กิจวัตรประจำวันของ Truman เหมือนดำเนินไปอย่างปกติ แต่ค่ำคืนนี้เขากลับสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
  • ทำให้ทีมงาน นักแสดง ต่างต้องออกติดตามค้นหา Truman สูญหายตัวไปไหน
  • ก่อนพบว่าเขากำลังล่องเรือ เอาชนะความหวาดกลัว เพื่อออกไปจากโลกใบนี้
  • Christof พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหยุดยับยั้ง Truman ทั้งลมฝน พายุ แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้
  • Truman ล่องเรือมาจนถึงสุดขอบโลก Christof จึงส่งเสียงประกาศเพื่อโน้มน้าวให้อีกฝ่ายหวนกลับ แต่เขากลับตัดสินใจก้าวออกจากประตู

ผมรู้สึกว่าลีลาการตัดต่อของหนังมีความน่าประทับใจอยู่ไม่น้อย ตัดสลับไปมาระหว่างเรื่องราวชีวิต Truman, แทรกภาพย้อนอดีต (Flashback), ห้องควบคุม/ทีมงานเบื้องหลัง, รวมถึงร้อยเรียงปฏิกิริยาผู้ชมทางบ้าน! น่าแปลกใจที่ถูกมองข้ามจากแทบทุกสถาบัน อาจเพราะถูกมองว่าเป็นหนังตลกกระมัง?


เพลงประกอบโดย Burkhard von Dallwitz (เกิดปี 1959) นักแต่งเพลงสัญชาติ German เกิดที่ Bad Homburg vor der Höhe, ฝึกฝนเปียโนตั้งแต่อายุแปดขวบ แต่งเพลงแรกตอนอายุสิบห้า โตขึ้นเดินทางสู่ Melbourne, Australia ร่ำเรียนสาขาแต่งเพลง La Trobe University, จบออกมาทำงานในสังกัด Nine Network Australia จนกระทั่งผกก. Peter Weir มีโอกาสรับฟังอัลบัม Worlds Apart (1996) จึงชักชวนมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ The Truman Show (1998)

งานเพลงของ Dallwitz มักมีลักษณะชวนฝัน เคลิบเคลิ้มล่องลอย เหมือนคนอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น ชีวิต(ของ Truman)ช่างเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ดำเนินไปตามครรลอง ไม่จำเป็นต้องดิ้นรน It’s a Life ชีวิตในอุดมคติอเมริกันชน

นอกจาก Dallwitz ผกก. Weir ยังทำการติดต่อ Philip Glass (เกิดปี 1937) นักแต่งเพลง Minimalism สัญชาติอเมริกัน ผู้เลื่องชื่อในท่วงทำนองเวียนวน ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของ Truman ดำเนินชีวิตวันๆอย่างเรื่อยเปื่อย ซ้ำๆซากๆ แต่ภายในจิตใจลึกๆยังคงครุ่นคิดโหยหา Dreaming of Fiji สักวันอยากไปย่างเหยียบสุดปลายขอบฟ้า

ผมแอบคาดไม่ถึงอยู่เล็กๆเมื่อได้ยิน Chopin: Romance-Larghetto ในฉากที่ Truman ตกหลุมรัก Sylvia พาเธอไปยังริมชายหาด แค่ชื่อเพลงก็บ่งบอกถึงความโรแมนติก ชวนฝัน หนึ่งในไม่กี่ครั้งที่เขาค้นพบความปรารถนาแท้จริงของหัวใจ ก่อนถูกทำให้พลัดพรากจากไป กลายเป็นช่วงเวลาเล็กๆจดจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน

บทเพลง Reunion แต่งโดย Dallwitz, เริ่มต้นด้วยเสียงเชลโล่ เครื่องสายเสียงทุ้มต่ำ แสดงถึงอารมณ์เก็บกดที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของ Truman วินาทีที่เขาได้(หวนกลับมา)พบเจอบิดา เสียงเปียโนเปรียบดั่งประกายแสงสว่าง ติดตามด้วยออร์เคสตราอันทรงพลัง ทุกสิ่งอย่างอัดอั้นภายในราวกับได้ปะทุระเบิดออกมา ธารน้ำตามิอาจกลั้นหลั่ง กว่ายี่สิบปีพ่อ-ลูกก็มีโอกาสได้อยู่เคียงข้างกันอีกครั้ง!

บทเพลงที่เหมาะสำหรับรับฟังระหว่างหลับนอน Truman Sleeps ทำการครอบตัด (Crop) จากอัลบัม Glassworks (1991) ผลงาน(น่าจะ)ยอดเยี่ยมที่สุดของ Philips Glass ที่ถ้าคุณหลับตา ตั้งใจรับฟัง เสียงเปียโนที่เล่นซ้ำๆ ย้ำๆ วนไปวนมา ให้ความรู้เหมือนเสียงแก้วกระทบ ‘Glass Work’ ได้อย่างน่ามหัศจรรย์

สิ่งที่สร้างความตกตะลึงให้ผมมากสุดในหนัง ไม่ใช่เรื่องราวหรือการก้าวออกจากโดมของ Truman แต่คือบทเพลงที่ใช้ในวินาทีนั้น Mishima: Opening แต่งโดย Philip Glass เพื่อประกอบโคตรภาพยนตร์ Mishima: A Life in Four Chapters (1985) มันช่างมีความเหมาะเจาะ พอดิบดี ราวกับการได้พบเจอโลกใบใหม่

ทำนองที่ได้ยินในหนังครอปตัด (Crop) ตั้งแน่นาทีที่ 1:25 จนถึงประมาณนาทีที่ 2:00 เท่านั้นนะครับ

บทเพลงไพเราะสุดในอัลบัม ดังขึ้นระหว่าง Closing Credit ใช้เป็นบทสรุปการเดินทางของ Truman สามารถเอาตัวรอดพานผ่านพายุมรสุมโหมกระหน่ำ (เสียงรัวกลองสร้างความตื่นเต้น รุกเร้าใจ) จนมาถึงสุดปลายขอบฟ้า (เสียงไวโอลินกรีดกราย) และก้าวย่างออกทางประตู (ทุกสิ่งอย่างเงียบสงัดลง) เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ A New Life (แต่งโดย Dallwitz)

ทิ้งท้ายกับบทเพลง Twentieth Century Boy (1973) แต่งโดย Marc Bolan ขับร้องโดย T. Rex วงร็อคสัญชาติอังกฤษ ได้ยินในซีเควนซ์งานพรอมของโรงเรียน ท่วงทำนองสนุกสนาน ครื้นเครง วัยรุ่นศตวรรษที่ 20th

Oww!
(Ahh)

Friends say it’s fine, friends say it’s good
Everybody says it’s just like Robin Hood
Yeah!
I move like a cat, charge like a ram
Sting like a bee, babe, I wanna be your man, hey!

Well, it’s plain to see you were meant for me, yeah
I’m your boy, your 20th century toy
Yeah!

Friends say it’s fine, my friends say it’s good
Everybody says it’s just like Robin Hood
Fly like a plane, drive like a car
Bawl like a hound, babe, I wanna be your man, hoo!

Well, it’s plain to see you were meant for me
And I’m your toy, your 20th century boy

20th century toy, I wanna be your boy-ah
20th century toy, I wanna be your boy
20th century toy, I wanna be your boy
20th century toy, I wanna be your boy

Friends say it’s fine, friends say it’s good
Everybody says it’s just like Robin Hood, nah, nah
Move like a cat, charge like a ram
Sting like a bee
Oh, oh, babe, I wanna be your man
And, um, and, oh, oh

Well it’s plain to see you were meant for me
And I’m your toy, your 20th century boy

20th century toy, I wanna be your boy
20th century toy, I wanna be your boy
20th century toy, I wanna be your toy
20th century boy-ah, I wanna be your toy

Yeah-ah
Ah, oh, oh, yeah
My friends say it’s fine, they say it’s good
I don’t believe it’s like Robin Hood
I’m like a car, I drive like a plane
I wanna hang your head in the falling rain
Ah, oh yeah
Wow!

Truman Burbank ตั้งแต่ถือกำเนิด ถูกจับจ้อง แอบถ้ำมอง อยู่ในสายตาของผู้ชมทั่วโลกผ่านรายการเรียลลิตี้ (Reality Show) ทุกสิ่งอย่างล้วนถูกควบคุมครอบงำ กำหนดทิศทางชีวิตโดยโปรดิวเซอร์/พระเจ้า Christof ไม่เคยตระหนักรับรู้ตัวตนเอง จนกระทั่งเติบใหญ่ ถึงวัยทำงาน โหยหาอิสรภาพ ค่อยๆสังเกตเห็นความผิดปกติ พยายามต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางก้าวออกจากโลกปลอมๆใบนี้

ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึงกระแสนิยมสื่อโทรทัศน์ที่แพร่หลายในช่วงทศวรรษ 90s The Truman Show (1998) เปรียบดั่งคำพยากรณ์การมาถึงของรายการเรียลลิตี้ (Reality Show) อาทิ Big Brother, Survivor, The Amazing Race ฯ ถ้าเป็นสมัยก่อนยังต้องดูผ่านจอโทรทัศน์เท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มีระบบสตรีมมิ่ง (Streaming) ถ่ายทอดสดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใครก็สามารถโด่งดังได้แค่มีโทรศัพท์มือถือ!

There has always been this question: is the audience getting dumber? Or are we film- makers patronising them? Is this what they want? Or is this what we’re giving them? But the public went to my film in large numbers. And that has to be encouraging.

Andrew Niccol

ผมยังจดจำได้ตอนรับชม Big Brother Thailand ซีซันแรกๆ ผู้ชมต่างแสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์กันอย่างเมามัน (เว็บพันทิปยุคนั้น ตั้งกระทู้แทบจะต่อกระทู้) เด็กรุ่นใหม่ไม่มีอะไรทำแล้วหรือไร ถึงเอาเวลามานั่งดูชีวิตคนอื่น? พวกผู้จัดรายการ โปรดิวเซอร์ก็มักง่ายกันจัง แทบไม่ต้องทำอะไรก็มีผู้ชมตลอด 24/7?

กาลเวลามันเพิ่งจะพานผ่านมาทศวรรษกว่าๆ เรียลลิตี้ สตรีมมิ่งในปัจจุบัน ได้พัฒนามาจนสามารถสร้างงานสร้างอาชีพ รายได้เป็นกอบเป็นกำ ยอดวิวหลักพันก็อาจเอาตัวรอดได้แล้ว(กระมัง) ใครยังมีอคติต่อสิ่งพรรค์นี้ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ ตกยุคตกสมัยไปเรียบร้อยแล้วนะครับ!

ลองย้อนกลับมามองมุมผู้ชม มันอาจไม่ใช่เพราะเรามีเวลาว่าง แต่ส่วนใหญ่คือความอยากรู้อยากเห็น อยากเป็นแบบบุคคลที่ออกรายการเรียลลิตี้/ทำการสตรีมมิ่ง (พูดง่ายๆก็คืออยากเสือกเรื่องชาวบ้าน) เพราะบางคนอาจไม่สามารถกระทำสิ่งเหล่านั้น บางคนอาจต้องการการเปรียบเทียบกับตนเอง ฯ ซึ่งกรณีของ Truman Burbank เติบโตขึ้นในสังคมอุดมคติ (Utopia) หรือจะเรียกว่าวิถีอเมริกัน (American Dream) นั่นอาจคือเหตุผลให้รายการนี้ได้รับความนิยม ประสบความสำเร็จล้นหลาม (เพราะชาวอเมริกัน)ต่างคาดหวังให้ชายหนุ่มผู้นี้สามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน กระทำสิ่งต่างๆสำเร็จสมดั่งใจหวัง เฮลั่นบ้านเมื่อเขาก้าวผ่านประตูสุดขอบฟ้า

นั่นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อ มีความทรงพลัง และน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก (ถ้านำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง) สังเกตจากสารพัดวิธีการที่ Christof ใช้ควบคุมครอบงำ/ล้างสมอง Truman สร้างโลกปลอมๆขึ้นมาห้อมล้อมรอบ ปลูกฝังความครุ่นคิด ทัศนคติ วิธีการใช้ชีวิต ไม่ให้พยายามหลบหนี ดิ้นหลุดพ้น ก้าวออกจากเกาะแห่งนี้ เพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน/รายการ The Truman Show จักสามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่รู้จักจบจักสิ้น

เรียกได้ว่าสื่อสารมวลชน (เหมารวมถึงสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่บรรดาเซเลปในเครือข่ายสังคมออนไลน์) ล้วนสามารถสร้างอิทธิพลให้กับผู้ชม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ปลูกฝังแนวความคิด สร้างภาพ ชวนเชื่อ เพื่อผลประโยชน์ ชื่อเสียง เงินทอง และความสำเร็จ


ถัดจากประเด็นขายความเป็นส่วนตัวในรายการเรียลลิตี้ (Reality Show) ก็มาถึงการตั้งคำถามอัตถิภาวนิยม (Existentialism) บางคนจำลองโดมแห่งนี้ = โลกและจักรวาล, Truman Burbank คือตัวมนุษย์, Christof เปรียบดั่งพระเจ้าผู้สรรค์สร้างทุกสรรพสิ่งอย่าง แล้วยังคอยควบคุมครอบงำ กำหนดทิศทางชีวิตของ(บุตรชาย) Truman เฉกเช่นนั้นแล้วเขายังมีเจตจำนงเสรี (Free Will) อยู่หรือไม่?

เท่าที่ผมหาหาอ่านการตีความของชาวคริสเตียน มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (Free Will) หรือทุกสิ่งอย่างล้วนอยู่ในการควบคุมของพระเจ้า (God Will) ซึ่งรวมถึงการเลือกนับถือหรือทอดทิ้งความเชื่อศรัทธา ก้าวหรือไม่ก้าวออกจากโลกที่พระองค์สรรค์สร้างขึ้น … ผมรู้สึกว่า The Truman Show (1998) ตอบคำถามประเด็นนี้ได้ชัดเจนทีเดียว

ในทางปรัชญามีการเปรียบเทียบอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ (Allegory of the cave) หรือเรียกสั้นๆ ถ้ำของเพลโต (Plato’s Cave) บรรยายถึงกลุ่มนักโทษที่ใช้ชีวิตโดยถูกตรึงและหันหน้าเข้าผนังถ้ำตลอดเวลา คนเหล่านี้เฝ้าดูเงาที่ฉายบนผนังจากสิ่งของที่เคลื่อนผ่านเปลวไฟด้านหลัง สำหรับพวกเขาแล้วเงาเหล่านั้นเป็นความจริง! จนกว่าจะได้รับการปลดปล่อยถึงสามารถเข้าใจเบื้องหลัง ข้อเท็จจริง และเมื่อถูกส่งกลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง จะรู้สึกสงสารบุคคลอื่นๆที่ไม่รับล่วงรู้ความจริงดังกล่าว

ปัจจุบันมีคำเรียกอาการป่วยจิตเภท ประเภทหลงผิด The Truman Show Delusion หรือย่อๆ Truman Syndrome ค้นพบโดยสองพี่น้อง Dr. Joel & Ian Gold จิตแพทย์ทำงานอยู่ Bellevue Hospital Center, New York City ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 (หลังเหตุการณ์ 9/11) เริ่มสังเกตเห็นผู้ป่วยจำนวนมาก เชื่อว่าชีวิตตนเองถูก ‘จัดฉาก’ ทุกสิ่งอย่างบันทึกไว้สำหรับเผยแพร่เพื่อความบันเทิง

เกร็ด: จริงๆแล้วลักษณะอาการหลงผิด (Delusion) มันมีมาทุกยุคทุกสมัย ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมรอบข้าง, Truman Syndrome ปรากฎขึ้นในปัจจุบันนี้เพราะทุกกิจกรรมของเรามักถูกบันทึกไว้บนอินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์ กล้องวงจรปิดมากมายเต็มไปหมด ระบบรักษาความปลอดภัยก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Crime) … มีคนกล่าวไว้ว่าอาการ Truman Syndrome สะท้อนปัญหาสังคมได้ชัดเจนกว่าสะท้อนความเป็นปัจเจกบุคคลเสียอีก!

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากเปรียบเทียบถึง เริ่มจากความทุกข์ทรมานใจของ Truman ทำให้เขาโหยหาอิสรภาพ พยายามต่อสู้ดิ้นรน ล่องเรือฟันฝ่าพายุมรสุม เพื่อให้สามารถเดินทางถึงสุดปลายขอบฟ้า ก้าวออกจากประตู บรรลุหลุดพ้น ไม่ต้องแหวกว่ายเวียนวนในวัฎฎะสังสารอีกต่อไป


ดั้งเดิมหนังวางโปรแกรมฉาย 8 สิงหาคม ค.ศ. 1997 แต่น่าจะติดคิวงานของ Jim Carrey เลยเลื่อนไป 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ไม่รู้ยังตัดต่อไม่เสร็จหรืออะไรถึงเลื่อนอีกรอบ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1998 ซึ่งต้องถือว่าโคตรๆโชคดีอย่างมากๆ เพราะถ้าเข้าฉายปลายปีมันจะคาบเกี่ยวการมาถึงของ Titanic (1997) ซึ่งสร้างหายนะให้กับรายรับอย่างแน่นอน

ด้วยทุนสร้าง $60 ล้านเหรียญ (เฉพาะค่าตัว Carrey ก็ซัดไป $12 ล้านเหรียญ) ด้วยเสียงตอบรับดียอดเยี่ยม ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $125.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $264.1 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แถมช่วงปลายปียังได้เข้าชิง Oscar, Golden Globe อีกหลายสาขา

  • Academy Awards
    • Best Director
    • Best Supporting Actor (Ed Harris)
    • Best Original Screenplay
  • Golden Globe Awards
    • Best Motion Picture – Drama
    • Best Director
    • Best Actor (Jim Carrey)
    • Best Supporting Actor (Ed Harris)
    • Best Screenplay
    • Best Original Score

น่าเสียดายที่ The Truman Show (1998) ถูกมองข้าม (SNUB) หลากหลายสาขามากๆ Best Picture, Best Actor, Best Cinematographer ฯ อาจเพราะคณะกรรมการ Oscar มองว่าคือหนังตลก การแสดงของ Jim Carrey โอเว่อแอ็คติ้งเกินไป และผู้ชนะปีนั้น Shakespeare in Love (1998) อย่าไปพูดถึงมันเลยดีกว่า!

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K Ultra HD ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25th Anniversary เมื่อปี ค.ศ. 2023 จัดจำหน่ายโดย Paramount Home Entertainment พร้อมสารคดีเบื้องหลัง ฉากตัดออกไป คุณภาพไร้ตำหนิ

ส่วนตัวชื่นชอบแนวคิดของหนังมากๆ ละม้ายคล้าย The Matrix (1999) เกี่ยวกับการต่อสู้ ดิ้นรน หาหนทางหลุดพ้น ก้าวออกจากวัฎฎะสังสาร ผสมผสานการแสดงชวนป่วนของ Jim Carrey งานภาพสวยๆ โปรดักชั่นชวนฝัน ดินแดนสุดขอบฟ้านั้น คือเป้าหมายปลายทางของมนุษยชาติ

The Truman Show (1998) เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนเข้ากับโลกยุคสารสนเทศ 4G 5G xG ได้ยิ่งกว่าสมัยที่เพิ่งออกฉายเสียอีก! สมควรอย่างยิ่งแก่การ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อให้ผู้ชมรุ่นใหม่เกิดความตระหนักถึงอิทธิพลสื่อสารมวลชน เรียนรู้จัก ค้นพบตัวตนเอง สามารถหาทางดิ้นหลุดพ้น ก้าวออกจากหน้าจอ กรอบสี่เหลี่ยม มาใช้ชีวิตอยู่บนโลกความจริง!

จัดเรต pg กับโลกปลอมๆของรายการเรียลลิตี้

คำโปรย | The Truman Show สร้างความตระหนักให้กับ Jim Carrey จนสามารถก้าวออกจากดินแดนแห่งความฝัน หลุดพ้นวัฎฎะสังสาร
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Vynález zkázy (1958)


Invention for Destruction (1958) Czech : Karel Zeman ♥♥♥♡

คลุกเคล้าการผจญภัยสุดมหัศจรรย์ในโลกของ Jules Verne ด้วยการออกแบบ ‘Visual Style’ ให้มีลักษณะคล้ายภาพแกะสลักเส้น (Line Engravings) สร้างความตื่นตาตะลึง แม้เรื่องราวอาจไม่ค่อยอึ่งทึ่ง แต่จักสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเลือน

สำหรับวงการ Czech Animation บุคคลสำคัญถัดจาก Jiří Trnka ก็คือ Karel Zeman เจ้าของฉายา “Czech Méliès” ซึ่งพอผมพบเห็นตัวอย่างหนัง Invention for Destruction (1958) เกิดความ “ว๊าว” จนอดไม่ได้ที่ต้องลัดคิว เร่งรีบหามารับชมเคียงคู่กับ The Fabulous Baron Munchausen (1962) ต่างเป็นภาพยนตร์ที่มี ‘Visual Style’ โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร

เกร็ด: เผื่อคนไม่รับรู้จัก Georges Méliès (1861-1938) นักมายากล ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ โด่งดังจากผลงาน A Trip to the Moon (1902), บ่อยครั้งนำแรงบันดาลใจจากนวนิยายไซไฟ(ออกไปทางแฟนตาซี)ของนักเขียนชื่อดัง Jules Verne (1825-1905) อาทิ The Impossible Voyage (1904), 20,000 Leagues Under the Sea (1907), Under the Seas (1907), The Conquest of the Pole (1912) ฯ

ผกก. Zeman เลื่องชื่อกับการสรรค์สร้างภาพยนตร์แฟนตาซี มีส่วนผสมระหว่างคนแสดง (Live-Action) กับอนิเมชั่น (Animation) ไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็น Stop-Motion Animation บางครั้งเลือกใช้ภาพวาดสองมิติ (Traditional Animation), ตัดกระดาษแข็ง (Cut-Out Animation), หรือเทคนิคภาพยนตร์อย่าง Matte Painting ฯ ไม่ยึดติดกับวิธีการ ขอแค่ให้ได้ผลลัพท์ตามความต้องการ

จุดอ่อนของ Invention for Destruction (1958) คือการดำเนินเรื่องที่มีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า (น่าจะเพราะผกก. Zeman ต้องการให้ผู้ชมซึมซับภาพ ‘visual style’ ได้อย่างเต็มอิ่มหนำ) คัดเลือกนักแสดงได้อย่างน่าผิดหวัง และเรื่องราวคาดเดาง่ายเกินไปหน่อย (ก็มันเป็นแฟนตาซีสำหรับเด็ก อ่ะนะ!) รับชมครึ่งชั่วโมงแรกๆแม้ดูตื่นตาตะลึง แต่พอถึงตอนจบอาจไม่ค่อยรู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่

ผมเกือบลืมบอกไปว่า หนังได้เข้าฉายในงานนิทรรศการโลก 1958 Brussels World’s Fair (งานเดียวกับที่จัดโหวตภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งแรกของโลก!) สามารถคว้ารางวัล Grand Prix ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เข้าฉายในเทศกาลปีนั้น ทำให้ถูกส่งออกฉายหลากหลายประเทศทั่วโลก จนได้รับประมาณการว่าน่าจะคือภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์ Czech Cinema

Karel Zeman (1910-89) ผู้กำกับภาพยนตร์/อนิเมชั่น สัญชาติ Czech เกิดที่ Ostroměř, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในหุ่นเชิดชัก (Puppet Theatre) แต่ครอบครัวบีบบังคับให้ร่ำเรียนบริหารธุรกิจ อดรนทนได้ไม่นานก็เดินทางสู่ฝรั่งเศส เข้าโรงเรียนสอนโฆษณา จบออกมาทำงานออกแบบกราฟฟิก ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมทำ(โฆษณา)อนิเมชั่น สะสมประสบการณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศ ท่องเที่ยวลัดเลาะไปยัง Egypt, Yugoslavia, Greece, พยายามเสี่ยงดวงอยู่ Casablanca ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สุดท้ายจำต้องเดินทางกลับประเทศหลังจาก Czechoslovakia ถูกยึดครองโดย Nazi Germany

ช่วงระหว่างสงครามได้เป็นหัวหน้าแผนกโฆษณาบริษัทแห่งหนึ่งในเมือง Brno ต่อมาได้รับชักชวนจากผกก. Elmar Klos เข้าร่วมสตูดิโออนิเมชั่น Bata Film Studios ณ Zlín เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยนักอนิเมเตอร์ชื่อดัง Hermína Týrlová, จากนั้นร่วมงาน Bořivoj Zeman กำกับหนังสั้นเรื่องแรก Vánoční sen (1945) [แปลว่า A Christmas Dream] ส่วนผสมระหว่างคนแสดง (Live Action) และ Puppet Animation

Zeman มีชื่อเสียงจากซีรีย์ Stop-Motion แนวเสียดสีล้อเลียน Pan Prokouk (1946-59) แปลว่า Mr. Prokouk ออกแบบหุ่นทำขึ้นจากไม้ จมูกยื่นๆ ไว้หนวดครึ้มๆ สวมหมวก Pork Pie Hat มักตกอยู่ในสถานการณ์น่าเห็นอกเห็นใจ ถือเป็นตัวตายตัวแทนชนชาว Czech บุคคลธรรมดาทั่วไป … นิตยสาร Le Monde ของฝรั่งเศสทำการเปรียบเทียบญาติห่างๆ (animated cousin) ของ Monsieur Hulot

ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Mr. Prokouk ทำให้ผกก. Zeman พยายามมองหาความท้าทายใหม่ๆ ได้รับคำท้าทายให้ทดลองสรรค์สร้าง Stop-Motion Animation โดยใช้ตุ๊กตาแก้ว (Glass Figurines) ผลลัพท์กลายเป็น Inspirace (1949) [แปลว่า Inspiration] มีความงดงาม ตระการตา แนะนำให้ลองรับชมดูนะครับ

สำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก Poklad ptačího ostrova (1952) [แปลว่า The Treasure of Bird Island] นำแรงบันดาลใจจากเทพนิยายและภาพวาด Persian พยายายามผสมผสานระหว่างอนิเมชั่นสามมิติ สองมิติ รวมถึงเทคนิคภาพยนตร์ Matte Painting คลุกเคล้าเข้ากันอย่างกลมกล่อม

สำหรับผลงานแจ้งเกิดระดับนานาชาติของผกก. Zeman ทำการดัดแปลงนวนิยายผจญภัย #3 Voyage au centre de la Terre (1864) [แปลว่า Journey to the Center of the Earth] ของ Jules Verne ออกมาเป็นภาพยนตร์ Cesta do pravěku (1955) [ชื่อเมื่อตอนเข้าฉายสหรัฐอเมริกาก็คือ Journey to the Beginning of Time] ผสมผสานระหว่างคนแสดง (Live Action) กับ Stop-Motion Animation ในลักษณะเหมือนสารคดี (documentary-like) เต็มไปด้วยไดโนเสาร์ตื่นตาตื่นใจ แม้แต่ผกก. Steven Spielberg ยังเคยเอ่ยปากชื่นชม … สร้างอิทธิพลให้กับภาพยนตร์ Jurassic Park (1993) ด้วยกระมัง

ด้วยความที่ผกก. Zeman มีความชื่นชอบหลงใหลผลงานของ Jules Verne โดยเฉพาะคอลเลคชั่น Voyages extraordinaires (1863-1905) จำนวน #44+8 เรื่อง, หลังเสร็จจาก Journey to the Beginning of Time (1955) ก็พร้อมต่อด้วย Vynález zkázy (1958) [แปลว่า Invention for Destruction] ดัดแปลงจาก #42 Face au drapeau (1896) [แปลว่า Facing the Flag หรือ For the Flag] นวนิยายแนวรักชาติ (Patriotic Novel) เรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ทำการประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ (Super-Weapon) ที่มีแสนยานุภาพมหาศาล สามารถลบล้างจักรวรรดิฝรั่งเศสไปจากผืนแผ่นดินโลก … นี่เป็นเรื่องราวทำการพยากรณ์การมาถึงของระเบิดนิวเคลียร์

ผกก. Zeman ร่วมงานกับนักเขียนอีกสามคน František Hrubín, Jiří Brdečka และ Milan Vacha ช่วยกันระดมสมอง ครุ่นคิดหาวิธีการดำเนินเรื่องรูปแบบใหม่ให้แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยาย ได้ข้อสรุปเปลี่ยนมานำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Simon Hart วิศวกรหนุ่ม ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Professor Thomas Roch ต่างถูกลักพาตัวโดย Count Artigas (ชื่อตามนิยายคือ Ker Karraje) ซึ่งระหว่างที่ Simon พยายามหาหนทางหลบหนี แอบส่งข่าวสารให้กับโลกภายนอก ยังสามารถสอดแทรกเรื่องราวผจญภัยอื่นๆ อาทิ #1 Twenty Thousand Leagues Under the Seas (1869-70), #12 The Mysterious Island (1875) และ Robur the Conqueror (1886) [อยู่คนละจักรวาลกับ Voyages extraordinaires]


เรื่องราวนำเสนอการผจญภัยของ Simon Hart (รับบทโดย Lubor Tokoš) เริ่มต้นเดินทางลงเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic ต่อด้วยโดยสารขบวนรถไฟ และนั่งรถมาจนถึงสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อพบเจอนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Professor Roch (รับบทโดย Arnošt Navrátil) รับฟังคำพร่ำบ่นเรื่องเงินทุนไม่เพียงพองานวิจัย แต่ไม่ทันไรทั้งสองถูกลักพาตัวขึ้นเรือดำน้ำของ Count Artigas (รับบทโดย Miloslav Holub) ออกเดินทางสู่เกาะ/ป้อมปราการ Back-Cup Island

เหตุผลที่ Count Artigas ลักพาตัว Professor Roch เพราะต้องการโน้มน้าวให้ช่วยประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ (Super-Weapon) ที่มีแสนยานุภาพมหาศาล เพื่อหวังจะยึดครอบครองโลกใบนี้ให้อยู่ในกำมือ ความทราบถึง Simon Hart ปฏิเสธให้ความร่วมมือ พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก เปิดโปงแผนการชั่วร้าย … สุดท้ายจะทำได้สำเร็จหรือไม่??


Lubor Tokoš (1923-2003) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Šternberk (ปัจจุบันคือประเทศ Czech Republic), ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางสู่ Bruno ได้ทำงานยังโรงละคอน ไต่เต้าจากตัวประกอบ จนได้รับบทนำ แสดงภาพยนตร์ประปราย อาทิ The Fabulous World of Jules Verne (1958), Witchhammer (1970), Forbidden Dreams (1986), Princess Jasnenka and the Flying Shoemaker (1987) ฯ

รับบท Simon Hart วิศวกรหนุ่มหล่อ โหยหาการผจญภัย ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามมหาสมุทร เพื่อมาพบเจอกับ Professor Roch แต่โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้ถูกลักพาตัวมายังเกาะ Back-Cup Island พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก เปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ Count Artigas

ว่ากันตามตรงผมรู้สึกว่า Tokoš อายุมากเกินไป (ไว้หนวดด้วยนะ) ตัวละครนี้น่าจะวัยรุ่น/ผู้ใหญ่ตอนต้น หน้าตาใสๆซื่อๆ เต็มไปด้วยความกระตือลือร้น อยากรู้อยากเห็น และควรมีอารมณ์ลุ่มร้อนรน กระวนกระวาย ไม่ใช่สุขุมเยือกเย็น ราวกับทุกสิ่งอย่างอยู่ในการควบคุม

และทั้งๆเป็นตัวละครหลัก แต่ก็กลับแทบไม่ได้มีส่วนร่วมสักกับหนังเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา พบเห็นการผจญภัย สิ่งมหัศจรรย์มากมาย อาจโดดเด่นขึ้นมาช่วงท้ายตั้งแต่พยายามหลบหนี หลีนางเอก แต่ก็ไม่ได้ขายความสามารถด้านการแสดงสักเท่าไหร่


Arnost Navrátil (1926-1984) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Senice na Hané (ปัจจุบันคือ Czech Republic) แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ The Fabulous World of Jules Verne (1958),

รับบท Professor Roch นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง! ต้องการประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาล แต่ถึงเป็นอัจฉริยะกลับไม่เคยครุ่นคิดถึงประโยชน์หรือโทษอย่างจริงจัง เลยถูกลวงล่อหลอกโดย Professor Roch สนเพียงสรรค์สร้างนวัตกรรมออกมาให้สำเร็จ พอถึงวันนั้นเกือบที่จะสายเกินแก้ไข

นี่เป็นอีกตัวละครที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง นอกจากรูปร่างหน้าตา ทรงผมยุ่งๆ ภาพลักษณ์เหมือนนักวิทยาศาสตร์ ดูเฉลียวฉลาด แต่ทว่า Navrátil ไม่ได้มีความสติเฟื่อง แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งอะไรออกมา วันๆหมกมุ่นทำงานงกๆ สนอกสนใจเพียงการทดลองผิดลองถูก และตอนจบแสดงสีหน้าผิดหวัง ชอกช้ำระกำ เลยตัดสินใจกระทำบางอย่างเพื่อไถ่โทษทัณฑ์


Miloslav Holub (1915-99) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Běchovice, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) บิดาเป็นครูใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ และยังช่วยกำกับการแสดงละครเวทีให้กับอาสาสมัคร นั่นทำให้เด็กชายมีความหลงใหลด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นสามารถสอบเข้า Prague Conservatory จบออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The Trap (1950), The Fabulous World of Jules Verne (1958) ฯ

รับบท Count Artigas ไม่รู้ร่ำรวยจากไหน หรือสืบเชื้อสายตระกูลใด แต่มีเป้าหมายอุดมการณ์ อยากสรรค์สร้างสุดยอดอาวุธสำหรับยึดครองโลก มอบหมายให้ Captain Spade ลักพาตัว Professor Roch ทำให้แผนการใกล้ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่เพราะถูกขัดขวางโดยผู้ช่วย Simon Hart ทุกสิ่งอย่างคงอยู่ภายในกำมือ

ผมชอบความอาวุโส ภูมิฐานของ Holub ทั้งกิริยาท่าทาง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แลดูเหมือนผู้ดีมีสกุล ขณะออกคำสั่ง ฟังแล้วมีน้ำหนัก น้ำเสียงมุ่งมั่น เอาจริงจัง ไม่ใช่แค่อุดมคติเพ้อฝันลมๆแล้งๆ แต่เสียอย่างเดียวคือมาดไม่ค่อยเหมือนผู้ร้าย ดูไม่อันตราย สัมผัสความโฉดชั่วร้ายไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ … กล่าวคือขาด Charisma ที่ทำให้ตัวละครกลายเป็นบุคคลโฉดชั่วร้าย


ถ่ายภาพโดย Jiří Tarantík, Bohuslav Pikhart, Antonín Horák

ในหนังสือของ Jules Verne เต็มไปด้วยรูปภาพที่มีลักษณะเหมือนภาพแกะสลักเส้น (Line Engravings) ซึ่งช่วยเสริมสร้างจินตนาการกับผู้อ่านเตลิดเปิดเปิงไปไกล นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผกก. Zeman เลือกสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ‘visual style’ เต็มไปด้วยลวดลายเส้นตรง ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายพื้นหลัง แต่ยังเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ฯ รับอิทธิพลจากผลงานของศิลปิน Édouard Riou, Léon Benett ฯ

The magic of Verne’s novels lies in what we would call the world of the romantically fantastic adventure spirit; a world directly associated with the totally specific which the original illustrators knew how to evoke in the mind of the reader … I came to the conclusion that my Verne film must come not only from the spirit of the literary work, but also from the characteristic style of the original illustrations and must maintain at least the impression of engravings.

Karel Zeman

As a child, I remember I had all the books with those beautiful engravings. I really can’t visualize the story any other way. And my father felt, because he adored Verne, he believed it can only be a good telling if he used the same techniques.

Ludmila Zeman บุตรสาวของผกก. Karel Zeman

ด้วยความที่แต่ละช็อตของหนังเต็มไปด้วยรายละเอียด ผสมผสานระหว่างนักแสดง (Live Action) อนิเมชั่นเคลื่อนไหว (Traditional, Cut-Out, Stop-Motion) รวมถึงเทคนิคภาพยนตร์ (Miniature, Double Exposure, Matte Painting) เพื่อทำให้ ‘visual style’ มีลักษณะเหมือนภาพแกะสลักเส้น ผกก. Zeman เลยไม่มีความเร่งรีบร้อนในการตัดต่อ/ดำเนินเรื่องราว แช่ภาพค้างไว้หลายวินาที (กล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวด้วยนะ) เพื่อให้ผู้ชมสามารถชื่นชมความงดงาม เพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม … แต่พอเริ่มชินชา ก็ไม่ค่อยรู้สึกว่ามันมีอะไรน่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่

ถ้าเป็นช็อตถ่ายภาพระยะไกล (Extreme-Long Shot) มองเห็นใบหน้าไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ถ้าพบเห็นการขยับเคลื่อนไหวมักไม่ใช่ซ้อนภาพนักแสดง (Live-Action) แต่อาจจะเป็น Cut-Out Animation โมเดลทำจากกระดาษแข็ง ต้องสังเกตสักหน่อยถึงพบเห็นท่าทางทึ่มๆทื่อๆ ดูไม่ค่อยเหมือนสิ่งมีชีวิตสักเท่าไหร่ (ไม่ใช่แค่มนุษย์นะครับ แต่ยังฝูงนก และสรรพสัตว์อื่นๆ)

แซว: ภาพปืนใหญ่บนเรือรบ ชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ Battleship Potemkin (1925) แสดงถึงแสนยานุภาพ อวดอ้างขนาดเจ้าโลก (ปีนใหญ่สำหรับปลดปล่อยสุดยอดอาวุธ ก็มีหน้าตาละม้ายๆคล้ายคลึงกัน)

หนังสือหลายๆเล่มของ Jules Verne รวมถึง Facing the Flag (1896) ใช้บริการภาพวาดของ Léon Benett (1839-1916) จิตรกรชาวฝรั่งเศส (เฉพาะซีรีย์ Voyages Extraordinaires มีผลงานถึง 25 เล่ม!) ซึ่งก็มีหลายๆรายละเอียดที่หนังให้การเคารพคารวะต้นฉบับ ยกตัวอย่าง Back-Cup Island เกาะลึกลับ/ฐานที่มั่นของ Count Artigas มีรูปทรงคล้ายถ้วยกาแฟ อดีตเคยเป็นภูเขาไฟแต่ได้มอดดับลงแล้ว ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า (แต่หนังจะไม่มีการพูดถึงตำแหน่งที่ตั้งดังกล่าว)

หลายคนอาจตื่นตาตื่นใจกับสิ่งประดิษฐ์ Steampunk (ตอนหนังเพิ่งเข้าฉาย น่าจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ผู้ชมสมัยนั้นได้เลยนะ!) แต่ช็อตที่สร้างความอึ้งทึ่ง ฉงนสงสัยให้ผมมากที่สุดคือซีเควนซ์ใต้น้ำ เพราะรับรู้ว่ายุคสมัยนั้นไม่มีทางจะลงไปถ่ายทำใต้ทะเลอยู่แล้ว ผู้สร้างใช้วิธีการไหนกัน??? เฉลยซ่อนอยู่ในคลิปด้านล่าง ทำผมอยากเอาตีนก่ายหน้าผาก (facepalm) หลงโง่อยู่นาน

เกร็ด: Invention for Destruction (1958) อาจถือเป็นภาพยนตร์แนว Steampunk เรื่องแรกๆของโลกที่มาก่อนกาล! นั่นเพราะคำศัพท์ Steampunk เพิ่งได้รับการบัญญัติโดย K.W. Jeter จากจดหมายเขียนส่งให้นิตยสาร Locus: The Magazine of The Science Fiction & Fantasy Field ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1987

Dear Locus,

Enclosed is a copy of my 1979 novel Morlock Night; I’d appreciate your being so good as to route it to Faren Miller, as it’s a prime piece of evidence in the great debate as to who in “the Powers/Blaylock/Jeter fantasy triumvirate” was writing in the “gonzo-historical manner” first. Though of course, I did find her review in the March Locus to be quite flattering.

Personally, I think Victorian fantasies are going to be the next big thing, as long as we can come up with a fitting collective term for Powers, Blaylock and myself. Something based on the appropriate technology of the era; like “steam-punks,” perhaps….

K.W. Jeter

เกร็ด2: Steampunk คือประเภทย่อย (Subgenre) ของ Science Fiction มักมีเรื่องราวในช่วงศตวรรษที่ 19 (Victorian) ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักรไอน้ำ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง สภาพสังคมเสื่อมโทรมทราม นักเขียนสมัยนั้นอย่าง H.G. Wells, Jules Verne ฯ จึงจินตนาการโลกอนาคตด้วยการต่อยอดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ แต่ปัจจุบันอย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ว่าโลกไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางนั้น (เปลี่ยนจากระบบไอน้ำและถ่านหิน ถูกแทนที่ด้วยไฟฟ้า น้ำมัน) คำนิยามใหม่ของ Steampunk จึงกลายเป็นอนาคตในอดีต (RetroFuturistic) ประวัติศาสตร์คู่ขนาน (Alternative History)

สุดยอดอาวุธอาจมีแสนยานุภาพมหาศาล แต่สิ่งมีชีวิตน่าสะพรึงกลัวที่สุดในท้องทะเลคือปลาหมึกยักษ์จากใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ (Twenty Thousand Leagues Under the Seas) ตอนรับชมผมไม่ทันสังเกตหรอกนะ แต่พอแคปรูปภาพนี้ถึงพบเห็นเส้นลวดบริเวณหนวดอย่างชัดเจน นี่ไม่ใช่การเชิดชักหุ่น (เพราะเจ้าปลาหมึกเคลื่อนไหวอย่างตะกุกตะกัก ดูไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย) แต่เป็นการยึดรูปทรงสำหรับทำ Stop-Motion Animation (น่าจะมนุษย์ในชุดดำน้ำด้วยนะ)

แซว: ในหนังสือของ Jules Verne เขียนบรรยายไว้ว่าปลาหมึกยักษ์มีขนาดลำตัว 200 ฟุต (60.96 เมตร) และสามารถยืดยาวถึง 300 ฟุต (91.44 เมตร) เจ้าตัวที่พบเห็นในหนังน่าจะรุ่นลูก-หลาน-เหลน ตัวกระเปี๊ยกเดียวเอง!

ผมไม่ค่อยอยากสปอยลูกเล่น มายากล เทคนิคภาพยนตร์ที่ผกก. Zeman ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้นัก แต่ถ้าใครสามารถหาซื้อแผ่นของ Criterion Collection (หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel) มันจะมีเบื้องหลังสารคดี Karel Zeman’s Special Effects Techniques ให้รับชมงานสร้างที่น่ามหัศจรรย์ใจอย่างมากๆ

ปล. ผมบังเอิญพบเจอคลิปนี้ใน Youtube มีโอกาสรีบดูเสียก่อนโดนลบนะครับ

ตัดต่อโดย Zdeněk Stehlík,

ดำเนินเรื่องโดยใช้การผจญภัย มุมมองสายตาของ Simon Hart วิศวกรหนุ่ม ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Professor Roch เริ่มจากเดินทางข้ามน้ำข้ามมหาสมุทร (มาเยี่ยมเยือน Prof. Roch ในสถานพยาบาล) แล้วถูกลักพาตัวโดย Captain Spade กักขังอยู่ในเรือดำน้ำ มาถึงยังเกาะ Back-Cup Island พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก เปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ Count Artigas

  • อารัมบท, การเดินทางของ Simon Hart ลงเรือข้ามมหาสมุทร Atlantic ต่อด้วยโดยสารขบวนรถไฟ และนั่งรถมาจนถึงสถานพยาบาลแห่งหนึ่งเพื่อพบเจอกับ Prof. Roch
  • ค่ำคืนนั้นถูกลักพาตัวโดย Captain Spade ถูกกักขังอยู่ในเรือดำน้ำ แต่ Prof. Roch กลับได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก Count Artigas
  • เดินทางมาถึงเกาะ Back-Cup Island ปรากฎว่า Simon ได้รับการปฏิบัติแตกต่างตรงกันข้ามกับ Prof. Roch
  • ระหว่างที่ Prof. Roch ครุ่นคิดวิจัยสุดยอดอาวุธ, Simon พยายามหาหนทางหลบหนี ส่งข่าวสารสู่โลกภายนอก หวังจะเปิดโปงแผนการชั่วร้ายของ Count Artigas
  • Simon แสร้งทำเป็นศิโรราบต่อ Count Artigas แล้วใช้โอกาสนี้หาหนทางหลบหนี
  • Prof. Roch สามารถประดิษฐ์สุดยอดอาวุธได้สำเร็จ พร้อมๆกับกองทัพกำลังห้อมล้อมรอบเกาะ Back-Cup Island นั่นทำให้ Count Artigas พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ ประกาศให้โลกได้รับรู้

การดำเนินเรื่องของ Invention for Destruction (1958) ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน แต่สำหรับคนที่เคยอ่าน Voyages Extraordinaires ย่อมรับรู้ถึงการผสมผสานหลากหลายเรื่องราว (จากหนังสือหลายๆเล่ม) โดยมี Facing the Flag (1896) ถือเป็นแกนกลาง โครงสร้างหลักของหนัง แปะติดปะต่อเหตุการณ์อื่นๆคลุกเคล้าเข้ากันอย่างกลมกล่อม … แค่ว่าการดำเนินเรื่องมีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้าเกินไปหน่อย


เพลงประกอบโดย Zdeněk Liška (1922-83) สัญชาติ Czech เกิดที่ Smečno, Bohemia ทั้งปูและบิดาต่างเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ทำให้วัยเด็กมีโอกาสฝึกฝนไวโอลิน แอคคอร์เดียน แต่งเพลงแรกสมัยเรียนมัธยม จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Prague Conservatory ทำงานเป็นวาทยากร ครูสอนดนตรี ก่อนเข้าร่วม Zlín Film Studios กลายเป็นขาประจำผู้กำกับอนิเมชั่น Jan Švankmajer, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1962), The Shop on Main Street (1965), Marketa Lazarová (1967), The Valley of the Bees (1968), The Cremator (1969), Fruit of Paradise (1970), Shadows of a Hot Summer (1977) ฯ

งานเพลงของ Liška เน้นสร้างบรรยากาศตื่นเต้น เน้นผจญภัย พานผ่านเหตุการณ์ดีๆร้ายๆ สนุกสนาน-เฉียดเป็นเฉียดตาย เลือกใช้เครื่องดนตรี Harpsichord ประกอบเข้ากับ Chamber Ensemble (ร่วมกับเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้) บรรเลงท่วงทำนองติดหู แถมยังพยายามสร้างจังหวะให้สอดคล้องภาพพบเห็น และสรรพเสียงควรได้ยินขณะนั้นๆ … ถือเป็นอีกผลงานเพลงขึ้นหิ้งของ Liška ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

เอาจริงๆแล้วเครื่องดนตรี Harpsichord ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับยุคสมัย Victorian (นี่เป็นเครื่องดนตรีจากยุคบาโรก ค.ศ. 1600-1750) แต่เสียงแหลมๆ เสียดแทงแก้วหู ไม่รู้ทำไมมันช่างสอดคล้องเข้ากับ ‘visual style’ ของภาพแกะสลักเส้น และยังกลมกล่อมกับเรื่องราวผจญภัยที่มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ยียวนกวนบาทาอยู่เล็กๆ

ยังมีอีกบทเพลงไฮไลท์ที่ทรงพลังอย่างมากๆ น่าเสียดายหาคลิปให้รับฟังเต็มๆไม่ได้ (หรือใครจะลองสังเกตจากตัวอย่างหนัง บทเพลงนี้ดังขึ้นขณะนำเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์) ทำการไล่ระดับเครื่องสาย ค่อยๆไต่ขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด ก่อนปะทุระเบิดออกอย่างคลุ้มคลั่ง อารมณ์ผู้ฟังก็เฉกเช่นเดียวกัน … ดังขึ้นช่วงท้ายระหว่างที่ Professor Roch ตัดสินใจจะทำบางสิ่งอย่างกับสุดยอดอาวุธ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือบุคคลชั่วร้าย นั่นถือเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกขัดย้อนแย้งในตนเองอย่างรุนแรง (เพราะเขาเป็นทั้งผู้ประดิษฐ์คิดค้น และกำลังจะลงมือทำลายล้าง)


Invention for Destruction (1958) นำเสนอการผจญภัยที่อ้างอิงโลกสุดมหัศจรรย์ของ Jules Verne พบเห็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำอนาคต (Steampunk) ที่ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงพยากรณ์หายนะจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่อาจบังเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมละโมบโลภมาก ไร้จิตสามัญสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสาธารณชน

He always warned that even if the future is technologically perfect with all these mod cons, it needs love, it needs poetry, it needs magic. He believed only these can make people feel happy and loved.

Ludmila Zeman กล่าวถึงความตั้งใจของบิดา Karel Zeman

แง่มุมนักวิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์คิดค้นสุดยอดอาวุธ (เปรียบเทียบตรงๆถึงระเบิดนิวเคลียร์) นำไปสู่การค้นพบแหล่งพลังงานมหาศาล สิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับต่อยอดเทคโนโลยี สร้างคุณประโยชน์แก่สังคม และการดำรงชีวิต, แต่ขณะเดียวกันถ้าสุดยอดอาวุธ/พลังงานมหาศาลนั้น ตกอยู่ในเงื้อมมือบุคคลโฉดชั่วร้าย วางแผนนำไปใช้ข่มขู่ แบล็กเมล์ สร้างความเสียหาย ก่อการร้าย เพื่อให้ได้มาซื่งผลประโยชน์ เงินๆทองๆ อำนาจบารมี เกียรติยศศักดิ์ศรี นั่นย่อมนำพาโลกใบนี้มุ่งสู่หายนะ ภัยพิบัติ เลวร้ายอาจถึงจุดจบมนุษยชาติ

เทคโนโลยีคือเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณประโยชน์และโทษทัณฑ์ ขึ้นอยู่กับจิตสามัญสำนึกผู้ใช้งาน จะมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากน้อยเพียงไหน เลือกปล่อยตัวปล่อยใจ หรือบังเกิดสติหยุดยับยั้งชั่งใจ … ลองนึกถึงประโยชน์และโทษของพลังงานนิวเคลียร์ดูนะครับ

  • ประโยชน์: สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า, รังสีไอโซโทปใช้ในการแพทย์ ตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษาโรค เอ็กซ์เรย์กระดูก, ตรวจสอบโครงสร้างภายในวัสดุ, ฉายรังสีอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ปลอดเชื้อโรค ฯลฯ
  • โทษ: มีความเสี่ยงสูง ปนเปื้อนธรรมชาติ ทำลายสภาพแวดล้อม (ย่อยสลายยาก นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้) สร้างความเสียหายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต ได้รับมากเกินไปก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต

พลังงานนิวเคลียร์แม้มีความเสี่ยงสูง แต่ก็สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากมายมหาศาล “High Risk High Return” คนส่วนใหญ่มักใช้ความรู้สึกในการตัดสิน เห็นชอบ-ไม่เห็นด้วย คุ้มค่า-ไม่สมราคาเสี่ยง แสดงอาการหวาดกลัวโน่นนี่นั่น (มันเพราะหายนะสงครามโลกครั้งที่สองล้วนๆ ยังคงแผ่รังสีความหวาดกลัวตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน) แต่จริงๆเราควรใช้เหตุผล มองความจำเป็น และสิ่งที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า

ผกก. Zeman ไม่ได้มีความสนใจการเมืองวุ่นๆวายๆของ Czechoslovakia หรือบรรยากาศสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 60s แต่เรื่องราวกล่าวถึงสุดยอดอาวุธ ผู้ชมย่อมเชื่อมโยงกับระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาล และยิ่งในมุมมองประเทศฟากฝั่ง Eastern Bloc จักพบเห็นลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ ต่อต้านสหรัฐอเมริกา (ที่เป็นเจ้าของระเบิดปรมาณู)

ตอนจบของหนังเมื่อ Prof. Roch ตระหนักว่าสุดยอดอาวุธอาจนำพาซึ่งหายนะ ตัดสินใจปล่อยทิ้งลูกระเบิด กลายเป็นผู้สร้าง-ทำลายล้าง ยินยอมพลีชีพเพื่อปกป้องมนุษย์ชาติ … นี่ไม่ใช่กงเกวียนกรรมเกวียน แต่คือวิถีของสรรพสิ่ง ราคาของความละโมบโลภมาก ย่อมหวนกลับมาทำลายล้างตนเอง


หลังรอบปฐมทัศน์ใน Czechoslovakia มีโอกาสเข้าฉายยัง Expo 58 ณ Brussels หลังจากคว้ารางวัล Grand Prix เดินทางไป 72 ประเทศทั่วโลก! น่าเสียดายยุคสมัยนั้นยังไม่มีเก็บบันทึกตัวเลขรายรับ แต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 กระทรวงการต่างประเทศของ Czech Republic ประมาณการว่า Invention for Destruction (1958) อาจคือภาพยนตร์ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ Czech Cinema

ฉบับเข้าฉายสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1961 จัดจำหน่ายโดยสตูดิโอ Warner Bros. มีการพากย์อังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็น The Fabulous World of Jules Verne ฉายควบ (Double Bill) ร่วมกับ Bimbo the Great (1958) แถมยังทำการปรับเปลี่ยนชื่อทีมงาน/นักแสดงเสียใหม่ [น่าจะเพราะอิทธิพลจากสงครามเย็น ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเข้าจากประเทศฟากฝั่ง Eastern Bloc] ผลลัพท์แม้ได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม แต่กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่

[The Fabulous World of Jules Verne]’s wonderful giddy science fantasy [which] sustains the Victorian tone, with its delight in the magic of science, that makes Verne seem so playfully archaic. … there are more stripes, more patterns on the clothing, the decor, and on the image itself than a sane person can easily imagine.

Pauline Kael

ปัจจุบัน Invention for Destruction (1958) ได้รับการบูรณะ คุณภาพ 4K โดย Nadace české bijáky (Czech Film Foundation) ร่วมกับ Karel Zeman Museum และ Czech Television พร้อมๆกับ Journey to the Beginning of Time (1955) และ The Fabulous Baron Munchausen (1962) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 รวบรวมอยู่ในบ็อกเซ็ต Three Fantastic Journeys by Karel Zeman ของค่าย Criterion Collection

ตอนแรกผมเห็นบ็อกเซ็ต Three Fantastic Journeys by Karel Zeman ก็ตั้งใจว่าจะเขียนถึงทั้งสามเรื่อง แต่ด้วยความขี้เกียจ และรู้สึกว่าเวลากระชั้นชิดไปหน่อย เลยตัดสินใจเลือกมาแค่ Invention for Destruction (1958) และ The Fabulous Baron Munchausen (1962) สำหรับปิดท้าย Czech Animation

ถึงเรื่องราวจะคาดเดาง่าย ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย แต่ผมก็มีความเพลิดเพลินกับ ‘visual style’ งานภาพสวยๆ ตื่นตระการตา ชื่นชมในวิสัยทัศน์ผกก. Karel Zeman สร้างความมหัศจรรย์ให้กับโลกของ Jules Verne และเพลงประกอบ Zdeněk Liška เป็นอีกครั้งสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเลือน!

ใครชื่นชอบนวนิยายไซไฟ ผจญภัย ในโลกสุดมหัศจรรย์ของ Jules Verne แนะนำให้ลองหาผลงานของผกก. Zeman มาลองรับชมดูนะครับ แล้วคุณอาจได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ไม่เคยพบเห็นเรื่องไหนตระการตาขนาดนี้แน่ๆ

จัดเรต PG โจรสลัด ปล้น-ฆ่า ลักพาตัว

คำโปรย | Invention for Destruction คลุกเคล้าการผจญภัยสุดมหัศจรรย์ในโลกของ Jules Verne ได้อย่างตื่นตาตะลึง แม้เรื่องราวอาจไม่ค่อยอึ่งทึ่ง แต่จักสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเลือน
คุณภาพ | ตื่นตาตะลึง
ส่วนตัว | ประทับใจ

Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004)


Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) hollywood : Michel Gondry ♥♥♥♥

Jim Carrey ต้องการลบความทรงจำที่มีต่อ Kate Winslet แต่พอหลายสิ่งเริ่มเลือนหาย ค่อยตระหนักได้ว่าไม่อยากสูญเสียเธอไป พยายามทำทุกสิ่งอย่างให้ยังหวนรำลึก สุดท้ายแล้วโชคชะตาก็นำพาให้พวกเขากลับมาครองคู่รักกัน

How happy is the blameless vestal’s lot!
The world forgetting, by the world forgot:
Eternal sunshine of the spotless mind!
Each prayer accepted, and each wish resigned;

Alexander Pope (1688-1744) จากหนังสือรวบรวมบทกวี Eloisa to Abelard (1717) บรรทัดที่ 207–210

บางสิ่งอย่างพยายามหลงลืม มันกลับยิ่งจดจำไม่รู้เลือน นั่นเพราะเรามัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึง (ฉันอยากจะลืม แต่กลับครุ่นคิดถึงแต่สิ่งที่อยากจะลืม) เช่นนั้นแล้วมันจะสูญหายไปจากความทรงจำได้อย่างไร?

อีกหนึ่งโคตรบทหนังของ Charlie Kaufman ที่พอเปลี่ยนมาร่วมงานผกก. Michel Gondry ซึ่งมีวิสัยทัศน์โดดเด่นกว่า Spike Jonze ผลลัพท์จึงแพรวพราวด้วยลูกเล่นภาพยนตร์ มีความน่าตื่นตาตื่นใจ เข้าไปในโลกความทรงจำ วิ่งผ่านเหตุการณ์หนึ่งสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง (ความทรงจำหนึ่งสู่อีกความทรงจำหนึ่ง)

แต่ไฮไลท์ผมขอยกให้ Jim Carrey และ Kate Winslet ทั้งสองต่างพลิกบทบาทของตนเอง และแสดงออกมาได้อย่างเจิดจรัส ‘Eternal Sunshine’ และ ‘Spotless Mind’

  • โดยปกติแล้ว Jim Carrey มักเล่นบท Mr. High-Energy เอ่อล้นด้วยพลังงาน แสดงสีหน้า ท่าทาง คำพูดยียวนกวนประสาท แต่ต้องมารับบทตัวละครหน้านิ่งๆ กดน้ำเสียงทุ้มต่ำ มือไม้ราวกับถูกล่ามโซ่ เก็บกดอัดอั้น ไม่สามารถระเบิดอะไรออกมาได้ทั้งนั้น (Introvert)
  • ส่วน Kate Winslet สมัยนั้นยังติดตากับหนังแนว Period สวยใส ไร้เดียงสา ท่าทางระริกระรี้ (นึกถึง Rose Dawson ภาพยนตร์ Titanic (1997)) มาคราวนี้สวมวิกเปลี่ยนสีผม แสดงจริตจัดจ้าน ชอบเข้าหาผู้อื่น (Extrovert) กระทำสิ่งบ้าๆบอๆ อารมณ์กวัดแกว่ง เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ … มีคำเรียกภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder ชื่อย่อ BPD)

Michel Gondry (เกิดปี 1963) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Versailles, ปู่เป็นวิศวกร Constant Martin ผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียง Clavioline, บิดาเชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ หลงใหลดนตรีแจ๊ส เปียโน ออร์แกน, นั่นทำให้ตั้งแต่เด็ก Michel มีความสนใจอยากเป็นนักประดิษฐ์ แต่โตขึ้นเข้าศึกษาคณะศิลปศาสตร์ Lycée de Sèvres ตามด้วย École nationale supérieure des arts appliqués et des métiers d’art (ENSAAMA) ระหว่างนั้นร่วมก่อตั้งวงดนตรี Oui Oui ในฐานะมือกลอง และมีส่วนร่วมในการกำกับ Music Video หลายๆบทเพลง

เมื่อปี ค.ศ. 1992 หลังยุบวงดนตรี Oui Oui ผันตัวมาเป็นผู้กำกับโฆษณา, Music Video, ให้ศิลปินอย่าง Björk: Human Behaviour, Rolling Stones: Like a Rolling Stone, IAM: I dance the mia, Kylie Minogue: Come into My World ฯ ด้วยลีลาอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้มีคำเรียกขาน ‘Gondry Style’ นิยมใช้เทคนิค Morphing ระหว่างการ Transition จากชาย เป็นหญิง เป็นสัตว์ เป็นวัตถุนามธรรม ฯ

ไฮไลท์คือการบุกเบิกเทคนิค ‘bullet time’ (ใช้กล้องหลายสิบ-ร้อยตัวถ่ายภาพ แล้วนำมาร้อยเรียงต่อกัน) โด่งดังกับโฆษณา Smarienberg (1996) ให้กับวอดก้า Smirnoff ซึ่งลูกเล่นดังกล่าวถูกต่อยอดให้กลายเป็นฉากหลบกระสุนในภาพยนตร์ The Matrix (1999)

ปล. Michel Gondry, Spike Jonze และ David Fincher คือสามผู้กำกับที่มาจากสาย Music Video โด่งดังช่วงทศวรรษ 90s ก่อนผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์

จุดเริ่มต้นของ Eternal Sunshine of the Spotless Mind มาจากการพูดคุยระหว่าง Gondry กับเพื่อนศิลปิน Pierre Bismuth เมื่อปี ค.ศ. 1998, แรงบันดาลใจเกิดจาก Bismuth รับฟังคำพร่ำบ่นเพื่อนสาวถึงอดีตแฟนหนุ่ม เลยสอบถามกลับถ้าเลือกได้จะลบความทรงจำเกี่ยวกับเขาออกไปไหม … เธอตอบโดยทันทีว่า แน่นอน!

Bismuth ยังเสนอแนะการทดลองสนุกๆ ด้วยการส่งจดหมายบอกกับผู้รับ ว่าคุณได้ลบความทรงจำใครบางคนที่เคยรับรู้จัก แล้วสังเกตปฏิกิริยาบุคคลนั้นจะแสดงออกเช่นไร? น่าเสียดายพวกเขาไม่มีโอกาสลองทำดูจริงๆ แต่ก็นำแนวคิดดังกล่าวแทรกใส่เข้าไปในบทหนังร่วมพัฒนากับ Charlie Kaufman

My friend, the artist Pierre Bismuth, had the concept of sending a card to people mentioning they had been erased from the memory of someone they thought they knew. He wanted to study their reaction as part of an art experiment, but he didn’t end up doing it. I loved the idea so much that we started to write a story together based on the idea, which Charlie Kaufman then developed into a script.

Michel Gondry

Charles Stuart Kaufman (เกิดปี 1958) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Jewish เกิดที่ New York City แล้วมาเติบโตยัง West Hartford, Connecticut ตั้งแต่สมัยเรียนสมัครชมรมการแสดง โตขึ้นเข้าศึกษาต่อ Boston University ก่อนย้ายมาเรียนภาพยนตร์ New York University Film School ทำให้มีโอกาสรับรู้จัก Paul Proch ร่วมกันเขียนบทความตลก, Spec Scripts, Sketch Comedy, Pilot Scripts, โด่งดังจากเป็นผู้เขียนบท Being John Malkovich (1999), Adapation (2002), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ฯ

ในตอนแรกเมื่อ Kaufman รับฟังแนวคิดของ Eternal Sunshine ก็ไม่ครุ่นคิดว่าจะสามารถขายลิขสิทธิ์ให้สตูดิโอแห่งหนไหน แต่ก็ได้ร่วมพัฒนาบทร่างคร่าวๆกับ Gondry ผลลัพท์ทำให้เกิดสงคราม ‘bidding war’ แก่งแย่งระหว่างหลายสตูดิโอ เริ่มต้นจาก $500,000 เพิ่มเป็น $750,000 ก่อนในที่สุด Propaganda Film ได้รับชัยชนะเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1998 ว่ากันว่าด้วยตัวเลข 7 หลัก!

ด้วยความที่ Kaufman งานยุ่งมากๆ (ขณะนั้นอยู่ในช่วงโปรดักชั่น Being John Malkovich (1999) และกำลังตึงเครียดกับบทดัดแปลง Adaptation (2002)) จึงต้องขึ้นหิ้งโปรเจค Eternal Sunshine ระหว่างนั้น Gondry ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Human Nature (2001) ต่อจาก Steven Soderbergh ที่ถอนตัวออกไปกลางคัน … น่าเสียดายหนังเรื่องนี้เสียงตอบรับแค่กลางๆ แถมล้มเหลวไม่ทำเงินอีกต่างหาก

อีกความกังวลของ Kaufman เพราะการมาถึงภาพยนตร์ Memento (2000) ของ Christopher Nolan ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการความทรงจำ (แต่ผมว่าหนังก็ไม่ได้คล้ายคลึงกันสักเท่าไหร่) เคยครุ่นคิดว่าจะไม่สานต่อโปรเจคนี้แล้ว แต่ก็ถูกโปรดิวเซอร์บีบบังคับ … เพราะค่าลิขสิทธิ์จ่ายเงินไปแล้ว 7 หลัก

We pitched this idea several years before Chris Nolan came out with his movie. I was delayed writing it because I had to write the movie that became Adaptation first. And then I was producing Human Nature, which Michel was directing. Plus it was very hard to write for me. There was a moment when suddenly people started talking about this movie Memento (2000) when I totally freaked out. I thought “Oh I can’t do this anymore”, and I called Michel and said “I am not doing it”, then we called Steve Golin and said “we’re not doing it”. Steve Golin was very angry and said “You are doing it!” So we did it.

I wasn’t influenced by Memento (2000) except in that way. I have never seen Total Recall (1990) but I’ve read a lot of Philip K. Dick stories and books, and I don’t think that was a direct influence on this, but I certainly like his work.

Charlie Kaufman

เรื่องราวของ Eternal Sunshine เกี่ยวกับการลบเลือนความทรงจำ ฟังดูมีความเป็น Sci-Fi สูงมากๆ แต่ผกก. Gondry และนักเขียน Kaufman ตกลงกันว่าจะไม่ทำหนังไปยังทิศทางนั้น เลยไม่มีใส่คำอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มุ่งเน้นนำเสนอความสัมพันธ์ตัวละคร รักๆเลิกๆ เปลี่ยนจาก When Harry Met Sally… (1989) มาเป็น When Harry Forgets Sally …

Michel and I were in agreement from the beginning that the science fiction aspect of it should be really played down, and it should be as realistic a company and as mundane as possible. It was more interesting and would focus the story on the relationship and that aspect of it rather than the technological aspect of it, which I don’t think was real interesting to us.


เรื่องราวของ Joel Barish (รับบทโดย Jim Carrey) วันหนึ่งค้นพบว่าแฟนสาว Clementine Kruczynski (รับบทโดย Kate Winslet) หลังมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงตามประสาคนรัก แอบไปลบทิ้งความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับตัวเขา นั่นสร้างความเศร้าโศก สิ้นหวัง จึงตัดสินใจกระทำการแบบเดียวกัน ลบลืมเธอออกจากความทรงจำ

แต่ความวุ่นวายก็บังเกิดขึ้นระหว่างกำลังลบความทรงจำ Joel เกิดความตระหนักว่าตนเองไม่อยากหลงลืม สูญเสียเธอไป จึงพยายามต่อสู้ขัดขืน (เรื่องราวส่วนใหญ่บังเกิดขึ้นในหัวสมองของ Joel) แอบพา Clementine หลบซ่อนในความทรงจำอื่น

จนแล้วจดรอดหลังจาก Joel สูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับ Clementine แต่โชคชะตาก็นำพาให้พวกเขาหวนกลับมาพบเจอ ตกหลุมรัก รับรู้ความจริงทั้งหมด (แต่ไม่สามารถรื้อฟื้นความทรงจำที่สูญหาย) และสุดท้ายทั้งสองก็สามารถหวนกลับมาคืนดีกัน


James Eugene ‘Jim’ Carrey (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Newmarket, Ontario ในครอบครัว Roman Catholic ตอนอายุ 10 ส่งจดหมายถึงรายการโชว์ Carol Burnett Show บอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญด้านการลอกเลียนแบบผู้อื่น แม้ไม่ได้ไปออกโทรทัศน์แต่ก็มีจดหมายตอบกลับที่เป็นกำลังใจอย่างมาก

Unfortunately, at this time we aren’t hiring children, Just grown-ups. But stay in school, study hard, and keep watching our show.

Carol Burnett

พออายุ 15 เดินทางสู่ Toronto เริ่มต้นการแสดง Stand-Up Comedy ยังไนท์คลับ Yuk Yuk แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เลยเปลี่ยนแผนมาเป็นนักแสดงละครเวที (แต่ก็ทำการแสดง Stand-Up Comedy เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ไปด้วย) จนเข้าตาโปรดิวเซอร์จับเซ็นสัญญามุ่งสู่ Hollywood มีโอกาสปรากฎตัวรายการโทรทัศน์ An Evening at the Improv (1982), แสดงซิทคอม The Duck Factory, ซีรีย์ตลก In Living Color, ก่อนสร้างชื่อกับภาพยนตร์ Ace Ventura: Pet Detective (1994), The Mask (1994), Dumb and Dumber (1994), Batman Forever (1995), ได้รับคำชมล้นหลามกับ The Truman Show (1998), Man on the Moon (1999), How the Grinch Stole Christmas (2000), Bruce Almighty (2003), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ฯ

รับบท Joel Barish หนอนหนังสือที่ชอบเก็บตัว อยู่เงียบๆ ตัวคนเดียว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร (Introvert) จนกระทั่งได้พบเจอ Clementine Kruczynski ถูกเธอเกี้ยวพาราสี ค่อยๆพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นคู่รัก แต่เพราะอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้ามจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะขึ้นเสียงบ่อยครั้ง จนเมื่อถึงจุดแตกหักฝ่ายหญิงจึงตัดสินใจเข้ารับการบำบัด ลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับเขาทุกสิ่งอย่าง

หลังจาก Joel รับรู้ว่า Clementine ลบทิ้งความทรงจำเกี่ยวกับตัวเขา จึงเกิดอาการเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ เลยตัดสินใจเข้ารับการบำบัด ต้องการทำลายทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับเธอเช่นกัน! แต่ระหว่างภาพของเธอค่อยๆเลือนหาย เริ่มตระหนักได้ถึงความผิดพลาด พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ไข สุดท้ายไม่หลงเหลืออะไร เศร้าสลดเสียใจ แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป

ตัวเลือกแรกของบทบาทนี้คือ Nicolas Cage (ตัวละคร Joel Barish ถือเป็นอวตารหนึ่งของ Charlie Kaufman เมื่อตอน Adaptation (2002) การแสดง Nic Cage น่าจดจำมากๆ) แต่คิวงานไม่ว่างเลยเปลี่ยนมาเป็น Jim Carrey แม้ถูกโปรดิวเซอร์ทัดทานเพราะภาพจำ Mr. High Energy ถึงอย่างนั้นผกก. Gondry เชื่อว่าจะสร้างความขัดย้อนแย้งให้ตัวละครได้อย่างน่าสนใจ

of all the actors we saw, Jim was the one we could identify with. He has this very normal quality—not super handsome. And it’s hard to be funny. It’s far easier to take someone really funny and bring them down than do the opposite. We all felt that Jim was an unexpected—but good—choice.

Michel Gondry

โดยปกติแล้ว Carrey มักได้รับอิสรภาพในการดั้นสด (Improvised) มือไม้กวัดแกว่ง แสดงสีหน้า เล่นหูเล่นตาหน้ากล้อง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสั่งห้ามทุกสิ่งอย่าง ต้องทำตามคำแนะนำผกก. Gondry อย่างเปะๆ แถมบ่อยครั้งถูกล่อหลอกว่ากล้องตัวนี้กำลังถ่ายทำ แต่เวลาจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น จุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตื่นตระหนก รุกรี้รุกรน เลิกสนใจรายละเอียดรอบข้าง กลายเป็นตัวละครในทุกๆสถานการณ์

It was interesting that he was so removed from what we saw, or what I read in the script, it was challenging. I liked the fact that he doesn’t have the coolness of most of Hollywood actors, which was very interesting for me. All this energy that he needs to spend in most of his roles he had to keep inside and maybe that gave him some added intensity. I tried to keep him off balance as much as I could. Sometimes I would roll the camera at the wrong time, I would give him the wrong order at the last minute to create some panic, which I do in general with extras because otherwise they become like robots. So I think by putting him off balance made him forget about what he should do to be the character, and he just became the character.

นี่เป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ Carrey แทบไม่หลงเหลือภาพจำที่น่าขบขัน แสดงสีหน้านิ่งๆ กดน้ำเสียงทุ้มต่ำ มือไม้ราวกับถูกพันธนาการเหนี่ยวรั้ง นั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกขัดย้อนแย้ง(กับภาพจำ) เกิดความสับสน สัมผัสถึงอารมณ์อัดอั้น นี่ฉันทำอะไรผิดพลาดพลั้ง แฟนสาวถึงลบทิ้งความทรงจำ

แซว: ว่ากันว่าปีก่อนหน้าถ่ายทำ Eternal Sunshine เมื่อตอนผกก. Gondry แรกพบเจอ Carrey พบเห็นอีกฝ่ายในสภาพเหมือนคนอกหัก (ซึ่งก็เพิ่งอกหักมาจริงๆ) ขอบตาคล้ำๆ สีหน้าลอยๆ ภายในดูเวิ้งว่างเปล่า เลยพยายามโน้มน้าวให้เขารักษาสภาพนี้ไว้จนกว่าถึงโปรดักชั่นถ่ายทำ … หนึ่งปีให้หลัง “That’s how f****d up this business is.”


Kate Elizabeth Winslet (เกิดปี 1975) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Reading, Berkshire ปู่ของเธอเป็นนักแสดงและเจ้าของโรงละครเวที ด้วยความสนใจด้านนี้เลยตัดสินใจกลายเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็ก อายุ 11 เข้าเรียน Redroofs Theatre School รับบทนำการแสดงโรงเรียนทุกปี จนมีโอกาสแสดงซีรีย์โทรทัศน์ Dark Season (1991), ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Heavenly Creatures (1994) ของผู้กำกับ Peter Jackson, ตามด้วย Sense and Sensibility (1995), กลายเป็นดาวค้างฟ้ากับ Titanic (1997), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Iris (2001), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Finding Neverland (2004), Little Children (2006), Revolutionary Road (2008), และคว้ารางวัล Oscar: Best Actress จากเรื่อง The Reader (2008)

รับบท Clementine Kruczynski พนักงานร้านหนังสือแห่งหนึ่ง เป็นคนสนุกสนานร่าเริง ชอบเที่ยวเล่นสังสรรค์ (Extrovert) เปลี่ยนสีผมไม่เว้นวัน ใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ไม่ค่อยยี่หร่าอะไรใคร ไม่รู้ทำไมถึงตกหลุมรัก Joel Barish แต่ด้วยความแตกต่างจึงมักเกิดเรื่องขัดแย้ง ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นต้องการลบเลือนความทรงจำ แต่เมื่อรับรู้ภายหลังจึงเริ่มรู้สึกสูญเสียใจกับการกระทำ

Too many guys think I’m a concept, or I complete them, or I’m gonna make them alive. But I’m just a fucked-up girl who’s looking for my own peace of mind. Don’t assign me yours.

Clementine Kruczynski

ผมพอเข้าใจเหตุผลที่ Joel ตกหลุมรัก Clementine เพราะเธอคือบุคคลที่มีความเจิดจรัส ‘Eternal Sunshine’ สร้างแรงบันดาลใจให้กับชีวิต แต่ในทิศทางกลับกัน ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไม Clementine ถึงตอบรับรัก Joel ชายผู้สงบเงียบขรึม เยือกเย็นชา ‘Spotless Mind’ มีเพียงความเวิ้งว่างเปล่าภายใน?? อาจเพราะพวกเขามีความแตกต่างตรงกันข้าม สามารถเติมเต็มกันและกัน … แต่ในทางปฏิบัติถือว่าเป็นไปได้ยากยิ่งนัก!

ในตอนแรกผกก. Gondry ครุ่นคิดอยากให้ศิลปิน Björk มารับบท Clementine แต่หลังจากเธออ่านบท เกิดความกลัวว่าตนเองจะได้รับอิทธิพลทางอารมณ์จึงบอกปัดปฏิเสธ, ส่วนเหตุผลที่ Kate Winslet ได้รับบทบาทนี้ เพราะเป็นบุคคลเดียวที่กล้าแสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์บทหนังอย่างตรงไปตรงมา

She got the part because I’d interviewed all the most famous actresses of the time, because Charlie Kaufman’s script was very good, and she was the only one to give any negative comments on it. Basically, she was the only one not licking my ass. She said that it was a little bit repetitive in some places, and we shouldn’t shy away from being more sentimental. She also said she was going to be just as big as Jim Carrey in the movie, and you can’t have two Jim Carrey’s in one movie, so Jim would have to tone his performance down—which is exactly what she did.

Michel Gondry

ก่อนหน้านี้ Winslet มักได้แสดงแต่หนังแนว Period สวยใส ไร้เดียงสา ท่าทางระริกระรี้ มาคราวนี้ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญ สวมวิกเปลี่ยนสีผม ปลดปล่อยอารมณ์ แสดงจริตจัดจ้าน เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ พร่ำพูดไม่ยอมหยุด เสือกเรื่องคนอื่นไปทั่ว (Extrovert) แถมยังชอบทำสิ่งบ้าบิ่น ไม่รู้จักคิดหน้าคิดหลัง พอถึงจุดแตกหักชายคนรัก ก็พร้อมลบเลือนความทรงจำทุกสิ่งอย่าง

ผกก. Gondry เล่าถึงการกำกับ Winslet จะมีความแตกต่างตรงกันข้ามกับ Carrey เวลาจะแนะนำอะไรสักอย่าง ต้องลากพาเธอมาคุยสองต่อสอง (เพื่อไม่ให้ Carrey ได้รับฟัง) อารมณ์ประมาณว่า …

I had to talk to Kate Winslet in a different room to tell her, “Go as big as you want! This is a comedy!” And to Jim, I’d say, “This is a drama, not a comedy.”


ถ่ายภาพโดย Ellen Kuras (เกิดปี 1959) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Jersey สำเร็จการศึกษามานุษยวิทยาและสัญศาสตร์ Brown University ก่อนเปลี่ยนความสนใจมาเรียนถ่ายภาพยัง Rhode Island School of Design (RISD) จากนั้นเริ่มมีผลงานสารคดี Samsara: Death and Rebirth in Cambodia (1989), ภาพยนตร์เรื่องแรก Swoon (1992), I Shot Andy Warhol (1996), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ฯ

ความตั้งใจของผกก. Gondry ต้องการถ่ายทำในสไตล์ French New Wave แบกกล้อง Handheld Camera (ภาพออกมาดูสั่นๆ) ไม่ใช้ดอลลี่ (แต่ใช้รถเข็นลาก เลียนแบบหนัง Coutard-Godard) ถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติและสป็อตไลท์ จุดประสงค์เพื่อสร้างความกลมกลืนกับสถานที่พื้นหลัง “blend location-shoot authenticity with unpredictable flashes of whimsy”

การทำงานของผกก. Gondry มักไม่บอกกล่าวนักแสดงว่ากล้องจะเคลื่อนดำเนินไปทิศทางไหน แต่คอยสื่อสารกับผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ผ่านหูฟังไร้สายด้วยภาษาฝรั่งเศส บอกตำแหน่ง ทิศทางขยับเคลื่อนไหว ‘improvised’ ระหว่างถ่ายทำซีนนั้นๆ จุดประสงค์เพื่อไม่ให้นักแสดงเกิดการคาดเดา หรือเอาใจจดใจจ่อกับตำแหน่งมุมกล้อง เพียงปลดปล่อยการแสดงของตนเองออกมาให้ยอดเยี่ยมที่สุด … ผลลัพท์ทำให้ได้ฟุตเทจวันละกว่า 36,000 ฟุต สิ้นเปลืองงบประมาณในส่วนนี้ไม่น้อยทีเดียว!

นอกจากนี้หนังยังพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ CGI เพียงลูกเล่น มุมกล้อง บังคับให้มอง (forced perspectives) ส่องแสงสป็อตไลท์ ฯ เทคนิคเหล่านี้ล้วนทำขึ้นมาระหว่างการถ่ายทำ ‘in-camera’ ไม่ใช้นำมาเพิ่มเติมภายหลัง Post-Production … นั่นคือเหตุผลที่ Kate Winslet เคยพูดชื่นชมผกก. Gondry ราวกับนักมายากล (Magician)

หนังใช้เวลาเตรียมงานสร้าง 6 สัปดาห์ ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำวันที่ 13 มกราคม ปิดกล้อง 3 เมษายน ค.ศ. 2003 โดยปักหลักถ่ายทำอยู่ยัง New York City สถานที่สำคัญๆ (ที่กลายเป็นจุดเช็คอิน) อาทิ

  • สถานีรถไฟ ออกเดินทางจาก Mount Vernon Station ไปจนถึง Montauk Station (สถานที่ที่ Joel พบเจอ Clementine ตอนต้นเรื่อง)
  • ร้านหนังสือตั้งในอยู่ Columbia University Bookstore
  • ชายหาด Umbrella Beach ตั้งอยู่ Montauk, East Hampton ติดทะเล Atlantic
  • ลานน้ำแข็งคือแม่น้ำ Charles River ในอุทยาน Franklin D. Roosevelt State Park, Yorktown Heights

สำหรับคนที่รับชมหนังจบแล้วหวนกลับมาย้อนดูอารัมบท จะพบเห็นหลายๆช็อตคือสถานที่ที่ Joel เคยเที่ยวเล่น/สานสัมพันธ์กับ Clementine (ล้วนเป็นซีนที่อยู่ในความทรงจำของ Joel) มันราวกับว่าแม้เขาจดจำอะไรไม่ได้ แต่บางสิ่งอย่างยังคงตราฝังอยู่ในจิตวิญญาณ แรงดึงดูดให้หวนกลับหา พบเจอ และตกหลุมรักกันอีกครั้ง

ภาพโปสเตอร์ของหนัง สังเกตพื้นหลังลานน้ำแข็งจะมีรอยแตกร้าว สะท้อนความสัมพันธ์อันเปราะบางของสองหนุ่มสาว รักๆเลิกๆ จิตใจเคยแตกสลาย นัยยะเดียวกับรถถูกชนบุบ บ้านพังทลาย ความทรงจำที่กำลังสูญหาย

ขอกล่าวถึงเฉกสีผมของ Clementine จริงๆแล้วไม่ได้เกิดจากการย้อมสี แต่คือวิกผม เพื่อสามารถสลับสับเปลี่ยนไปมาตามอารมณ์ ซึ่งผมสังเกตได้ 5 สี ดังต่อไปนี้

  • ตั้งแต่ที่ Clementine ลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับ Joel เธอสวมใส่วิกสีน้ำเงิน น่าจะสะท้อนถึงสภาพจิตใจอันหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา โดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่มีใครสักคนเคียงข้างกาย
  • ในความทรงจำช่วงแรกๆของ Joel พบเห็น Clementine สวมใส่วิกสีส้ม แทนความเบื่อหน่าย ทุกข์ทรมานใจ ร้อยเรียงช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง ไม่พึงพอใจ ใกล้จะเลิกรา
  • ในความทรงจำของ Joel เมื่อเริ่มเกิดความตระหนักว่ากำลังสูญเสีย Clementine ช่วงนี้เธอสวมใส่วิกสีแดง แสดงจริตจัดจ้าน ชักชวนกันทำสิ่งบ้าๆบอๆ หลบซ่อนตัวในความทรงจำอื่น
  • ในความทรงจำวัยเด็กของ Joel พบเห็น Clementine สวมใส่วิกสีบลอนด์ (แต่ดูแล้วน่าจะเป็นสีผมจริงๆของ Winslet) พยายามปกป้องเขาจากการถูกกลั้นแกล้ง
    • ผมมองว่าบลอนด์เป็นสีผมธรรมชาติของ Clementine/Winslet หรือคือตัวตนแท้จริง ซึ่งสะท้อนเข้ากับฉากนี้นำเสนออิทธิพลวัยเด็กที่ทำให้ Joel เติบโตกลายมาเป็นปัจจุบัน (เพราะเคยถูกกลั่นแกล้ง เลยรักความสันโดษเดี่ยว)
  • ในความทรงจำช่วงท้ายของ Joel หลังจากเริ่มยินยอมรับโชคชะตากรรม หวนระลึกถึงช่วงเวลาแรกพบเจอ Clementine ขณะนั้นสวมใส่วิกสีเขียว สีธรรมชาติชีวิตของเธอ (ก่อนพบเจอ Joel)

ภายในความทรงจำของ Joel หลายต่อหลายครั้งมักมีการสาดแสงสป็อตไลท์ ไม่ก็ใช้เพียงแสงจากไฟฉาย (นี่เป็นการสร้างจุดสังเกตให้ผู้ชม เพื่อนำเสนอสิ่งสำคัญที่ยังอยู่ในความทรงจำ) ทำให้รายละเอียดรอบข้างปกคลุมอยู่ในความมืดมิด (อะไรที่ไม่สักสำคัญมักถูกลบเลือนหายไปจากความทรงจำ)

เมื่อความทรงจำกำลังถูกลบเลือนหาย จะมีการใช้เทคนิคอย่างเบลอภาพให้หลุดโฟกัส, Unsynchronized Sound, ความมืดมิดเข้าปกคลุม, ผู้คนรอบข้างเลือนหาย, บ้านพังทลาย, หลงเหลือ Joel อยู่ตัวคนเดียว ฯ และในบรรดาลูกเล่นทั้งหมดช็อตที่ Clementine ถูกลากถอยเข้าไปในเงามืด น่าจะสร้างความใจหายวาป คาดไม่ถึง สั่นสะท้านทรวงใน

ฉากย้อนอดีตวัยเด็กของ Joel ไม่ได้มีการใช้ CGI ทำให้ตัวเล็กลงประการใด แต่คือละเล่นกับตำแหน่ง ทิศทางมุมกล้อง และออกแบบสร้างฉากให้มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ เพื่อให้นักแสดง(ที่เป็นผู้ใหญ่)สามารถมุดใต้โต๊ะ รวมถึงลงเล่นในอ่างล้างมือ … แต่เอาจริงๆผมรู้สึกว่าหนัง’จงใจ’ทำให้ฉากนี้ดูปลอมๆ ไม่ค่อยแนบเนียนสักเท่าไหร่ เพราะมันคือการบิดเบือนความทรงจำ (Joel นำพา Clementine มาหลบซ่อนในความทรงจำวัยเด็กที่เธอไม่เคยมีส่วนร่วมมาก่อน) เพื่อไม่ให้เธอถูกลบเลือนหาย

จะว่าไปการหลบซ่อนใต้โต๊ะ ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ชอบเล่นตัวคนเดียว ฯ ล้วนคืออดีต/ความทรงจำ เหตุการณ์ที่สร้างอิทธิพลให้กับ Joel เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่รักสันโดษ ไม่ค่อยสุงสิงอะไรกับใคร

หนังกลางแปลงที่กำลังฉายนี้คือ Monster on the Campus (1958) กำกับโดย Jack Arnold ที่เคยมีผลงานดังๆอย่าง It Came from Outer Space (1953), Creature from the Black Lagoon (1954) ฯ

แซว: เรื่องราวของ Monster on the Campus (1958) คือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยถูกไล่ล่าโดยสัตว์ร้าย ล้อกับเหตุการณ์ขณะนี้ที่ Joel นำพา Clementine หลบหนีจากการถูกลบเลือนความทรงจำ

ผมครุ่นคิดว่าภาพนี้คือเหตุการณ์ที่ไม่เคยอยู่ในความทรงจำของ Joel แต่ครุ่นคิดจินตนาการขึ้นเพื่อพา Clementine หลบหนี/ซ่อนตัวจากการกำลังถูกลบเลือนความทรงจำ ซึ่งเราสามารถตีความว่าคือสถานที่ในฝัน เหนือจริง (Surrealist) เตียงนอนตั้งอยู่ริมชายหาดปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน ซึ่งยังล้อกับช็อตสุดท้ายของหนัง (เดี๋ยวไว้กล่าวถึงตรงนั้นอีกที)

เรื่องราววุ่นๆของพนักงานลบความทรงจำ มีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงวังวนของอาชีพนี้

  • Patrick Wertz (รับบทโดย Elijah Wood) พยายามฉกฉวยโอกาส ทำตัวเลียนแบบ Joel เพื่อสานสัมพันธ์กับ Clementine แต่การกระทำของเขากลับสร้างความไม่พึงพอใจ ราวกับเธอตระหนักได้ว่าหมอนี่ไม่ใช่บุคคลที่ตนเองติดตามหา
    • Seth Rogen เคยมาทดสอบหน้ากล้อง แต่ไม่รู้เหตุผลที่ Elijah Wood ได้รับบทเพราะชื่อเสียงจาก LOTR หรือเปล่านะ?
  • เลขาสาว Mary Svevo (รับบทโดย Kirsten Dunst) แอบชื่นชอบนายจ้าง Dr. Howard Mierzwiak (รับบทโดย Tom Wilkinson) แต่โดยไม่รู้ตัวเธอเคยเข้ารับการบำบัด ลบเลือนความทรงจำดังกล่าว … เรื่องราวนี้สะท้อนตรงๆถึง Joel และ Clementine แม้ทั้งคู่ต่างสูญเสียความทรงจำ แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังหวนกลับมาตกหลุมรักกันอีกครั้ง
    • มองมุมหนึ่งอาจเป็นเรื่องของโชคชะตา ด้ายแดงผูกติดกันมา เลยไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาพลัดพรากจากกัน
    • ในทางจิตวิทยาสามารถวิเคราะห์ถึงรสนิยม ความสนใจ ต่อให้สูญเสียความทรงจำ แต่บุคคลนั้นยังคงมีสิ่งที่ทำให้เขา/เธอชื่นชอบ ตกหลุมรัก เมื่อมีโอกาสพบเจอ มันเลยเกิดปฏิกิริยาเคมีร่วมกัน

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นบริเวณริมชายหาด เพื่อเวลาน้ำขึ้นจะได้มีบางส่วนไหลซึมเข้ามา แต่พอจะถ่ายทำจริงทีมสตั๊นกลับปอดแหก หวาดกลัวว่าโครงสร้างบ้านจะทรุด อันตรายเกินไป! ทำให้ผกก. Gondry แสดงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง สั่งไล่ทีมงานดังกล่าว แล้วจำต้องท้าความเสี่ยงด้วยตนเอง

On Eternal Sunshine, at the end when Jim Carrey walks in the house and the ocean is taking over, we built the corner of the house and we put it on the side of the beach and we waited for the tide to be high, too. We hired a special team to put the set like two feet in the water. They had gear and stuff and then at the last minute they refused because they said it was too dangerous. So we were screwed, we had to do it ourselves – the actors, the producer, everybody – so I called them pussies I think. Then I got told off by the chief of the union, who came to sort of try to humiliate me in front of my crew because we fired those guys. I had my satisfaction!

Michel Gondry

บ้าน คือสัญลักษณ์ความเป็นครอบครัว ในบริบทของหนังเหมารวมถึงความทรงจำต่อ Clementine นี่คือสถานที่ที่เธอเคยชักชวน Joel ให้มาร่วมหลับนอน ค้างคืน แต่กลับตอบปฏิเสธ (สามารถเหมารวมถึงสิ่งอื่นๆที่เขาเคยบอกปฏิเสธเธอเช่นกัน) ผลลัพท์นำสู่เหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสูญเสียทุกสรรพสิ่งอย่าง บ้านพังทลาย ความทรงจำสูญหาย

หลายคนอาจไม่ได้ตระหนักว่า “I wish I had stayed.” ของ Joel มีมากกว่าหนึ่งความหมาย

  • ตามบริบทของหนังขณะนั้น นี่คือความทรงจำจากช่วงวันแรกๆที่ Joel รับรู้จัก Clementine เธอเคยชักชวนให้เขาร่วมค้างแรมในบ้านร้างแห่งนี้ แต่เขากลับบอกปัดปฏิเสธ ทำให้พอหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเกิดความรู้สึกสูญเสียดาย
  • เพราะนี่คือความทรงจำนี้ของ Joel จึงสามารถสื่อถึงความต้องการเก็บเหตุการณ์นี้ไว้ รู้สึกสูญเสียดายที่มันกำลังจะถูกลบเลือนหายไป

ช่วงสุดท้ายของการลบความทรงจำ ราวกับว่ากล้องอยู่บนรถราง เคลื่อนพานผ่านสถานที่(แห่งความทรงจำ)ต่างๆไปอย่างรวดเร็ว (ให้ความรู้สึกเหมือนการกำลังกรอเทป/Rewind เพื่อลบสิ่งที่เคยบันทึกเอาไว้) ระหว่างนั้นจะมีภาพ Flash ปรากฎขึ้นมาแวบๆ (ความทรงจำที่กำลังสูญหายไป) รวมถึง Joel ตื่นขึ้นมาในห้องรายล้อมรอบด้วยกองทราย (สื่อถึงการพังทลาย หลงเหลือเพียงเศษทรายเม็ดเล็กๆ)

สถานที่ที่ Joel และ Clementine ปรับความเข้าใจกันในที่สุด คือบริเวณโถงทางเดินอพาร์ทเม้นท์ สถานที่สาธารณะ/เป็นกลางระหว่างพวกเขา ไม่ใช่ภายในห้องพัก/พื้นที่ส่วนตัวของใคร นี่สามารถสื่อถึงการพบกันครึ่งทาง ยินยอมความ อะไรที่พานผ่านมาก็ให้มันแล้วจากกัน

เอาจริงๆหนังจงใจปลายเปิดความสัมพันธ์ดังกล่าว ไม่ได้ให้ข้อสรุปชัดเจนว่าพวกเขาตัดสินใจหวนกลับมาครองคู่อยู่ร่วมกันอีกไหม แต่ผู้ชมส่วนใหญ่เมื่อพบเห็นรอยยิ้มตัวละคร ก็มักเหมารวมว่าต้องลงเอยกันอย่าง Happy Ending … ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับ

ช็อตจบของหนังล้อกับจินตนาการในความทรงจำของ Joel ตื่นขึ้นมาบนเตียงนอนร่วมกับ Clementine (ระหว่างกำลังหลบหนี/ซ่อนตัว จากการถูกลบเลือนความทรงจำ)

  • สำหรับคนมองตอนจบ Happy Ending สามารถสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพ สถานที่แห่งนี้จากเคยเป็นภาพเพ้อฝัน ตอนจบพวกเขาสามารถก้าวเดินจับมือเคียงข้างกันในชีวิตจริง
  • สำหรับคนที่มองปลายเปิด ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยเดิม ช็อตจบนี้จึงอาจอยู่ภายในจินตนาการเพ้อฝัน เพียงโลกใบนั้นที่เราสองจะก้าวเดินจับมืออยู่เคียงข้างกัน

ตัดต่อโดย Valdís Óskarsdóttir (เกิดปี 1949) สัญชาติ Icelandic ผลงานเด่นๆ อาทิ The Celebration (1998), The Sea (2002), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Mongol (2007) ฯ

การดำเนินเรื่องของหนังมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมากๆ เริ่มต้นให้ทำความเข้าใจแค่ว่า นำเสนอผ่านมุมมอง Joel Barish ซึ่งจะมีทั้งจากเรื่องราวภายนอก และเข้าไปในหัวสมอง/ความทรงจำตัวละคร ซึ่งมักตัดสลับไปมา (ระหว่างภายนอก-ใน) ในค่ำคืนที่เขาต้องการลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับ Clementine Kruczynski

ขณะที่เหตุการณ์ในหัวสมอง/ความทรงจำตัวละคร(ระหว่างลบเลือนความทรงจำ) จะมีการกระโดดไปกระโดดมา ไม่เรียงลำดับเวลา (non-Chronological Order) แต่เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนคือความสัมพันธ์ Joel Barish กับ Clementine Kruczynski ซึ่งจะค่อยๆถูกลบเลือนไปทีละเรื่องสองเรื่อง

และหลังจากที่ Joel Barish สูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับ Clementine Kruczynski เหตุการณ์หลังจากนั้นจะทำให้ผู้ชมตระหนักว่า อารัมบทคือเหตุการณ์ในอนาคต (เริ่มต้นหลัง Joel ลบเลือนความทรงจำ) นั่นทำให้เรื่องราวก่อนหน้านี้ทั้งหมดล้วนคือการเล่าย้อนอดีต (Flashback) ดำเนินมาบรรจบปัจจุบัน ถึงค่อยมุ่งสู่จุดจบของหนัง

  • อารัมบท,
    • Joel แสร้งว่าป่วย โทรศัพท์ลางาน แล้วขึ้นรถไฟไปพักผ่อนยัง Montauk
    • พบเจอกับ Clementine ถูกเธอตรงเข้าหา พูดจาหว่านล้อม เกี้ยวพาราสี ทำให้เขาตกหลุมรัก
    • ค่ำคืนนั้นไปนอนเล่นบนลานน้ำแข็ง แม่น้ำ Charles River
  • องก์หนึ่ง, Joel รับรู้ว่า Clementine ลบทิ้งความทรงจำเกี่ยวกับตนเอง
    • Joel เดินทางไปเยี่ยมเยียน Clementine ยังร้านหนังสือแห่งหนึ่ง แต่เธอกลับทำเหมือนว่าจดจำเขาไม่ได้
    • เมื่อกลับมาห้องพัก Joel รับรู้จากเพื่อนสนิทว่า Clementine เข้าบำบัด ลบความทรงจำเกี่ยวกับเขา
    • Joel เดินทางไปสถานบำบัดแห่งนั้น พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เรียกร้องขอให้ลบความทรงจำตนเองเกี่ยวกับเธอเช่นกัน
    • เริ่มต้นด้วยการเก็บสิ่งข้าวของทั้งหมดของ Clementine เพื่อนำมากระตุ้นสมอง ค้นหาตำแหน่งสำหรับเตรียมลบความทรงจำ
  • องก์สอง, ค่ำคืนลบเลือนความทรงจำ จะมีการตัดสลับระหว่างภายนอก (เจ้าพนักงานกำลังลบความทรงจำ) และภายในสมอง/ความทรงจำของ Joel
    • เริ่มต้นการลบความทรงจำ
      • (ภายนอก) พนักงานเข้ามาติดตั้งโปรแกรมลบความทรงจำ
      • (ภายใน) เริ่มต้นจากจุดแตกหัก วันที่ Clementine ตัดสินใจออกจากห้องพักของ Joel
      • (ภายนอก) พนักงานคนหนึ่ง Patrick Wertz เล่าความสัมพันธ์ของตนเอง แอบสานสัมพันธ์กับลูกค้า Clementine
      • (ภายใน) นำเสนอความขัดแย้ง/คิดเห็นแตกต่างระหว่าง Joel กับ Clementine
      • (ภายนอก) การมาถึงของเลขาสาว Mary Svevo
      • (ภายใน) Clementine เริ่มสูญหายไปจากความทรงจำของ Joel
    • เมื่อ Joel เริ่มตระหนักถึงความสูญเสีย พยายามต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางปลุกตื่นตนเอง ไม่ต้องการลบเลือนความทรงจำอีกต่อไป
      • (ภายนอก) Patrick ขอลางานไปหา Clementine ปล่อยให้ Mary อยู่สองต่อสองกับ Stan 
      • (ภายใน) Joel เริ่มตระหนักถึงความสูญเสีย พยายามหาวิธีการไม่ให้ตนเองต้องหลงลืม Clementine จนสามารถพาเธอมาหลบซ่อนในความทรงจำวัยเด็ก
      • (ภายนอก) จู่ๆคอมพิวเตอร์หยุดทำงาน ทำให้ Stan ต้องโทรศัพท์ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก Dr. Howard Mierzwiak แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มปริมาณยานอนหลับ
      • (ภายใน) Joel เริ่มไม่สามารถควบคุมความทรงจำตนเอง พยายามต่อสู้ดิ้นรนเฮือกสุดท้าย
    • บางสิ่งอย่างมิอาจต่อต้านทาน Joel จำต้องยินยอมรับสภาพเป็นจริง ใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับเธอก่อนสูญสิ้นความทรงจำ
      • (ภายนอก) ระหว่างที่ Stan ออกไปสูบบุหรี่ภายนอก ภรรยาของ Dr. Howard ก็ได้พบเห็นภาพบาดตาบาดใจของสามีกับ Mary
      • (ภายใน) Joel ยินยอมรับสภาพความจริง ใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับ Clementine ระหว่างแรกพบเจอ และเข้าไปในบ้านร้างริมทะเลหลังหนึ่ง
      • (ภายนอก) เช้าวันถัดมา ภารกิจลบความทรงจำเสร็จสรรพ เก็บข้าวของกลับสถานบำบัด แต่ Mary ตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง
  • องก์สาม, ภายหลังจาก Joel สูญเสียความทรงจำ
    • Joel ตื่นขึ้นมา โทรศัพท์ลางาน ขึ้นรถไฟออกเดินทางสู่ Montauk (แบบเดียวกันเปี๊ยบกับตอนอารัมบท)
    • เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านของ Clementine อ่านจดหมายลึกลับ เขียนบอกว่าตนเองเข้าคอร์สลบเลือนความทรงจำ เปิดฟังเสียงอัดไว้ในวิทยุ
    • เช่นกันกับ Joel เมื่อกลับมาถึงหัองพักได้รับจดหมายลึกลับ เปิดฟังเสียงอัดไว้ในวิทยุ
    • เกิดบรรยากาศมาคุระหว่าง Joel กับ Clementine ต่างไม่มีใครจดจำได้ว่าพวกเขาเคยทำอะไร แต่สุดท้ายก็สามารถพูดคุย ปรับความเข้าใจ และเริ่มต้นความรักครั้งใหม่

ความสลับซับซ้อนของการดำเนินเรื่อง ก็เพื่อสะท้อนความสับสน ว้าวุ่นวายภายในจิตใจตัวละคร ไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์ ทำอะไรยังไงหลังถูกแฟนสาวบอกเลิกรา, รวมถึงให้ผู้ชมเข้าใจการทำงานของสมอง ความทรงจำมีลักษณะเหมือนจิ๊กซอว์/กระเบื้องโมเสก เพียงรายละเอียดเล็กๆที่ต้องนำแปะติดปะต่อถึงพบเห็นภาพรวมทั้งหมด

สำหรับลีลาการตัดต่อ มีความกระชับ รวบรัด โดยเฉพาะในความทรงจำของ Joel เต็มไปด้วยช็อตเล็กช็อตน้อย นำมาแปะติดปะต่อให้เหมือนจิ๊กซอว์ กระเบื้องโมเสก … เพราะไม่มีใครสามารถจดจำได้ทุกสิ่งอย่าง ลีลาการตัดต่อพยายามแสดงให้เห็นรายละเอียดสำคัญๆที่ยังหลงเหลือในความทรงจำ


เพลงประกอบโดย Jon Brion (เกิดปี 1963) นักร้อง/นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Jersey ในครอบครัวนักดนตรี บิดาเป็นผู้กำกับวง (Band Director) Yale University ลูกไม้เลยหล่นไม่ไกลต้น, โตขึ้นตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เข้าร่วมวงดนตรี The Bats จากนั้นเริ่มเขียนเพลง เล่นกีตาร์ ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Hard Eight (1996), Magnolia (1999), Punch-Drunk Love (2002), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Synecdoche, New York (2008), Lady Bird (2017) ฯ

งานเพลงของหนังสามารถแบ่งคร่าวๆออกเป็นสองส่วน ที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม

  • โลกภายนอก มักมีท่วงทำนองเศร้าสร้อย เหงาหงอย โดดเดี่ยวอ้างว้าง บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีคลาสสิกทั่วๆไป มีความต่อเนื่องลื่นไหล สั่นสะท้านทรวงใน
  • แต่ภายในความทรงจำของตัวละคร เสียงเพลงมักมีความบิดๆเบี้ยวๆ ท่วงทำนองกระโดดไปมา บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไม่คุ้นหู มอบสัมผัสนามธรรม เหนือจริง จับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่

บทเพลงชื่อ Theme มันก็คือ Main Theme ของหนังนะแหละครับ บรรเลงด้วยเปียโน ท่วงทำนองเศร้าๆ เหงาหงอย ชีวิตดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย เธอผมน้ำเงินนั่นยังไง? ไม่เอาน่า คนอย่างฉันไม่มีทางที่เธอจะหันมาสนใจ … แต่เอ๊ะทำไมเธอตรงเข้ามา???

Strings That Tie To You บทเพลงขับร้องโดย Jon Brion ดังขึ้นระหว่าง Opening Credit ด้วยท่วงทำนองเศร้าๆ แต่เนื้อคำร้องคล้ายๆแนวคิด ‘ด้ายแดง’ สัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์ของคนสอง เมื่อครองคู่รัก จะไม่มีสิ่งใดสามารถพลัดพราก แยกพวกเขาออกจากกัน … นี่เป็นการอารัมบทความสัมพันธ์ Joel Barish และ Clementine Kruczynski

From the wrinkles on my forehead
To the mud upon my shoe
Everything’s a memory
With strings that tie to you

In my dream I’m often running
To the place that’s out of you
Of every kind of memory
With strings that tie to you

Though a change has taken place
And I no longer do adore her
Still every God forsaken place is always
Right around the corner

Now I know it’s either them or me
So I’ll bury every clue
And every kind of memory
With strings that tie to you

And every kind of memory
With strings that tie to you

A Dream Upon Waking ดังขึ้นระหว่างเรื่องราวอยู่ภายในสมองของ Joel ก้าวเดินจากความทรงจำหนึ่ง สู่อีกความทรงจำหนึ่ง มันช่างมีความลึกลับ ท่วงทำนองพิศวง แปลกประหลาด จับใจความไม่ได้ เต็มไปด้วอะไรก็ไม่รู้ สับสนวุ่นวายไปหมด

Clementine Kruczynski หญิงสาวเปรียบดั่ง ‘Eternal Sunshine’ เจิดจรัส เปร่งประกาย ดั่งพระอาทิตย์ฉายแสง ตรงกันข้ามกับ Joel Barish ชายผู้ไม่มีอะไร ‘Spotless Mind’ เพียงความเวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ แต่โดยไม่รู้ตัวทั้งสองกลับตกหลุมรัก เติมเต็มความต้องการของกันและกัน

ในความเป็นจริงแล้ว มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่สองบุคคลแตกต่างขั้วตรงข้าม พระอาทิตย์-เงามืด จะสามารถครองคู่อยู่ร่วม นั่นเพราะต่างฝ่ายต่างมีมุมมอง โลกทัศนคติ เป็นตัวของตนเอง ซึ่งมักก่อให้เกิดความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง มิอาจทำความเข้าใจกันและกัน … จริงอยู่ว่าที่ใดมีแสงสว่าง ที่นั่นย่อมปรากฎเงามืด แต่ทั้งสองสิ่งไม่สามารถบังเกิดขึ้นพร้อมกัน

Joel เป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม บ่อยครั้งพูดคำเสียดสีถากถาง ตำหนิต่อว่า Clementine กลับบ้านดึกดื่น เอาแต่สังสรรค์ปาร์ตี้ คงปรี้ผู้ชายไม่ซ้ำหน้า … ความขัดแย้งดังกล่าวอย่างที่บอกไปว่า เกิดจากความตรงกันข้ามของทั้งสอง ทำให้ครุ่นคิดเห็นแตกต่างออกไปทุกๆเรื่อง แถมพวกเขายังมีความเห็นแก่ตัว เอาอารมณ์ตนเองเป็นที่ตั้ง เลยไม่สามารถประณีประณอมอ่อนข้อให้กัน

จนเมื่อถึงจุดแตกหัก ทั้งสองจึงต้องการลบเลือนความทรงจำอีกฝ่าย ไม่ต้องการเก็บความรู้สึกแย่ๆ เจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ หลงลืมได้เสียก็ดี ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น! … ดั่งสุนทรภู่ว่าไว้ “เขาย่อมเปรียบเทียบความว่า ยามรักแต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

บุคคลครุ่นคิดอยากจะลบเลือนความทรงจำ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความชั่ววูบ ชอบใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง (ในหนังอธิบายพฤติกรรมของ Clementine เหมือนว่าแสดงอาการ BPD จึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง) พฤติกรรมเห็นแก่ตัว หลอกตนเอง จมปลักอยู่ในมายาคติ หมกมุ่นยึดติดกับการสูญเสีย

ในโลกความเป็นจริง วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้าถึงขั้นสามารถลบเลือนความทรงจำ นั่นทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้จักการปรับตัว ยินยอมรับสภาพเป็นจริง เมื่อพบความสูญเสีย/เลิกรากับใคร ต้องพยายามอดรนทน รักษาแผลใจ มันอาจไม่มีวันหายขาด แต่เราสามารถใช้เป็นบทเรียนสอนใจ จดจำไว้ไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม

ผมมองการหวนกลับมาคืนดีของ Joel และ Clementine ไม่ต่างจากการหลอกตัวเองของผู้สร้าง(และผู้ชม) เอาแต่อารมณ์ ‘ความรัก’ เป็นที่ตั้ง! ทั้งๆพวกเขาเคยต้องแยกย้ายเพราะความแตกต่าง ถ้าไม่เพราะสูญเสียความทรงจำ ย่อมไม่มีวันหวนกลับมาคืนดีอย่างแน่แท้

ต่อให้อ้างว่าพวกเขาได้รับบทเรียนจากการสูญเสียความทรงจำ ฉันไม่ใช่คนแบบนั้น ไม่มีวันทำอย่างนั้น พร้อมเปิดใจ ให้อภัยเธอทุกสิ่งอย่าง แต่นั่นคืออุดมคติ จินตนาการเพ้อฝัน ปลายเปิดความหวัง เพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ชมที่เคยพานผ่านประสบการณ์คล้ายกัน ถึงอย่างนั้นประวัติศาสตร์จะไม่บังเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมจริงๆนะหรือ?

เป็นผู้ชมเสียมากกว่าที่จะได้รับบทเรียนดังกล่าว! เพราะชีวิตจริงมันไม่สามารถลบเลือนใครออกจากความทรงจำ เราจึงต้องยินยอมรับ ปรับตัว(กับความจริง) และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในหนังบังเกิดขึ้น เราก็ควรต้องพูดคุย รับฟัง ประณีประณอม อ่อนน้อมต่อกัน เรียนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และไม่ใช้อารมณ์ตนเองเป็นที่ตั้ง … ถ้าถึงจุดๆนั้นแล้วอะไรๆยังไม่ดีขึ้น ต่างฝ่ายต่างยังคงดื้อรั้น ดึงดัน ไม่ยินยอมกันและกัน เลิกราหย่าร้างอาจเป็นหนทางออกที่เหมาะสม อดรนทนไปก็ทุกข์ใจเสียเปล่า

ผกก. Gondry เล่าว่าระหว่างพัฒนาบท โปรดักชั่นถ่ายทำ ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกับหนังสักเท่าไหร่ แต่ขณะเข้าห้องตัดต่อ พอดิบดีเลิกราแฟนสาว ค่อยตระหนักถึงความเจ็บปวดรวดร้าว เพิ่งเข้าใจเนื้อสาระในผลงานตนเองอย่างถ่องแท้จริง!

Well, my girlfriend left me when I was editing it and we had a great relationship, so I can’t watch it anymore. It makes me too sad. It’s funny though because some of the action we shot when Jim collects all her belongings and puts them in a garbage bag, I thought, “Oh, that’s such a stereotype,” but when my girlfriend left me I lived it! I had to put all my stuff in a cardboard box and send it back to Los Angeles, and I thought, “OK, now I understand what the movie was saying.”

Michel Gondry

ขณะที่ ‘visual’ ของหนัง เต็มไปด้วยลวดลีลา สไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Gondry (มีความน่าตื่นตาตื่นใจกว่า Spike Jonze เป็นไหนๆ) ในส่วนบทภาพยนตร์ก็โดดเด่นในความเป็น Charlie Kaufman ตั้งแต่ตัวละครของ Jim Carrey (อวตารของ Kaufman) มีการเข้าไปในสมอง ละเล่นกับความทรงจำ ใครเคยรับชม Being John Malkovich (1999) หรือ Adaptation (2002) น่าจะรู้สึกมักคุ้นเคยเป็นอย่างดี!


ด้วยทุนสร้าง $20 ล้านเหรียญ เข้าฉายในสหรัฐอเมริกายืนยาว 19 สัปดาห์ สามารถทำเงิน $34.4 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $74 ล้านเหรียญ ถือเป็นภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสูงสุดของ Charlie Kaufman จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2023)

  • Academy Award
    • Best Actress – Musical or Comedy (Kate Winslet)
    • Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
  • Golden Globe Awards
    • Best Motion Picture – Musical or Comedy
    • Best Actor – Musical or Comedy (Jim Carrey)
    • Best Actress – Musical or Comedy (Kate Winslet)
    • Best Screenplay

น่าเสียดายหนังโดย SNUB หลายสาขาทีเดียว ตั้งแต่ Jim Carrey พลาดเข้าชิง Best Actor, เพลงประกอบได้เข้าชิง Grammy แต่ไม่ได้ลุ้นสักรางวัล เช่นเดียวกับผกก. Michel Gondry หลุด Best Director อย่างน่าเสียดาย

ล่าสุด Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ได้รับการโหวตติดอันดับ 93 (ร่วม) ชาร์ท Sight & Sound: Directors’ 100 Greatest Films of All Time แต่กลับไม่ติด 250 อันดับแรกของ Critic’s Poll เสียอย่างนั้น! นี่แสดงว่าหนังเป็นที่รักของบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ แต่อาจไม่ใช่สำหรับนักวิจารณ์ นักวิชาการ ผู้ชมทั่วไปกระมัง

ส่วนตัวชื่นชอบแนวคิดของหนัง แต่ไม่ขั้นตกหลุมรักเพราะโดยส่วนตัวแม้เคยอกหัก แต่ไม่เคยครุ่นคิดอยากลบเลือนใครออกจากความทรงจำ เลยไม่สามารถเข้าใจหัวอกวัยรุ่นหนุ่มสาวประเภทนั้น พวกที่เอาอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นที่ตั้ง เวลารักคลุ้มคลั่งดังพายุ พอเลิกราเลยหลงเหลือเพียงความระทมขมขื่น

Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) เป็นภาพยนตร์ที่เหนือกาลเวลาไปแล้วนะครับ เหมาะสำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว รักๆเลิกๆ หรืออยู่ในช่วงกำลังสานความสัมพันธ์ นำเสนอบทเรียนสอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ประณีประณอม อ่อนน้อมต่อกัน และไม่ใช้อารมณ์ตนเองเป็นที่ตั้ง … ลบเลือนความทรงจำมันช่างไร้สาระทั้งเพ!

จัดเรต 18+ รักๆเลิกๆ คบชู้นอกใจ คำพูดหยาบคาย วิธีสุดแปลกประหลาดในการลบเลือนความทรงจำ

คำโปรย | Eternal Sunshine of the Spotless Mind อยากจะลบเลือนความทรงจำ แต่กลับทำให้จดจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ไม่รู้ลืม

Naked Lunch (1991)


Naked Lunch

Naked Lunch (1991) Canadian : David Cronenberg ♥♥♥♥

ปลดเปลื้องจิตวิญญาณของผู้แต่งโคตรนวนิยาย William S. Burroughs นำเสนอจินตนาการ เหตุการณ์เหนือจริง หรือคือภาพหลอนระหว่างเสพสารพัดยา (มอร์ฟีน เฮโรอีน ฯ รวมเรียกว่า ‘black meat’) การเสียชีวิตของภรรยา คือจุดเริ่มต้นทำให้เขาตัดสินใจเป็นนักเขียนที่ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง

คงจะมีแต่ผู้กำกับ David Cronenberg ถึงสามารถดัดแปลงนวนิยาย Naked Lunch (1959) ของ William S. Burroughs ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่โคตรแปลกประหลาด เหนือจริง สมจินตนาการ ทั้งยังผสมผสานอัตชีวประวัติผู้เขียนคลุกเคล้าลงไป พัฒนาเรื่องราวจากแทบไม่มีอะไรให้จับต้องได้มากขึ้น แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ยังคงส่ายหัว กุมขมับ ไม่สามารถขบครุ่นคิด เครื่องพิมพ์ดีดมันกลายเป็นด้วงทอง อิหยังวะ???

หนึ่งในสิ่งที่ใครต่อใคร ใคร่ฉงนสงสัยมากที่สุดก็คือ Naked Lunch มื้อกลางวันเปลือย? แก้ผ้ารับประทานอาหาร? มันมีความหมายห่าเหวอะไร? คำตอบแบบยียวนกวนประสาท ตามแบบฉบับขี้เมายาของ Burroughs บอกว่า

The title means exactly what the words say: naked lunch, a frozen moment when everyone sees what is on the end of every fork.

William S. Burroughs

จริงๆแล้วมันคือความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเพื่อนนักเขียน Allen Ginsberg ที่เหมือนจะพิมพ์ผิดหรือยังไงสักอย่าง ชื่อดั้งเดิมที่ Burroughs ครุ่นคิดไว้คือ ‘Naked Lust’ ก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อึท่าไหนถึงกลายมาเป็น Naked Launch

  • Naked คือความเปลือยเปล่า เปิดเผยให้เห็นเรือนร่างกาย หรือคือตัวตนธาตุแท้จริง ซึ่งสำหรับคนเมายาสามารถสื่อถึงอาการพบเห็นภาพหลอนๆ จินตนาการที่มีความเหนือจริง
  • Launch สำหรับคนติดยา สิ่งที่พวกเขารับประทานก็มีแต่ ‘black meat’ ไม่จำเป็นต้องบริโภคอะไรอย่างอื่นแทนอาหารกลางวัน

ในความเข้าใจของผมเองนั้น Naked Launch ก็คือสิ่งที่พวกขี้ยา (junky) รับประทานเข้าไป แล้วเกิดอาการมึนเมา พบเห็นภาพหลอน ปลดเปลื้องจิตใต้สำนึก จินตนาการที่มีความเหนือจริง (Surrealist) ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจัดเข้าพวก ‘drug movie’ นั่นเองแหละ!

การจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เข้าใจ ต้องใช้จินตนาการขั้นสูง เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ (ระดับ ‘fluent’) รู้จักขบครุ่นคิดวิเคราะห์ เพราะทุกคำพูดล้วนมีนัยยะซ้อนสอง-สาม-สี่-ห้าชั้น ถึงขนาดมีคำเรียก ‘cut-up technique’ สำหรับลีลาการเขียนของ Burroughs ปะติดปะต่อการสนทนา บิดเบือนข้อความจากสิ่งหนึ่งสู่อีกสิ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างอาชีพนักกำจัดแมลง (Exterminator) แล้วครั้งหนึ่งตัวละครก็พูดว่า

Exterminate all rational thought.

อาชีพนักกำจัดแมลง มีนัยยะแฝงถึงการพยายามทำลายกรอบความครุ่นคิดด้วยเหตุด้วยผล บอกใบ้ว่าเรื่องราวทั้งหมดต้องใช้จินตนาการ ปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ล่องลอยไป ถึงสามารถบังเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่าง … แต่เอาจริงๆคนที่จะสามารถทำความเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้ ก็ต้องขบครุ่นคิดด้วยเหตุด้วยผลจนแทบสมองระเบิดต่างหาก!

ครึ่งแรกของตัวอย่างหนัง (Trailer) คือฟุตเทจที่ William S. Burroughs เคยถ่ายทำสำหรับโปรโมทนวนิยายเมื่อช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งยังพบเห็น Brion Gysin และผลงานของเขา เพื่อสะท้อนแนวคิด ‘cut-up technique’ นำมาปะติดแล้วต่อด้วยฟุตเทจใหม่อย่างลงตัว ไม่เปิดเผยรายละเอียดอะไรมากด้วย ยอดเยี่ยม น่าตื่นตาตื่นใจ เหนือกาลเวลาไปแล้วละ!

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง William Seward Burroughs II (1914-97) นามปากกา William Lee นักเขียนนวนิยาย สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Louis, Missouri ในครอบครัวฐานะมั่งคั่ง บิดาเปิดกิจการร้านขายของเก่า นั่นคงเป็นเหตุผลทำให้เขาหลงใหลเวทย์มนต์และสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อถูกส่งไปโรงเรียนประจำ Los Alamos Ranch School ที่ New Mexico ค้นพบว่าตนเองชื่นชอบเพื่อนชาย ว่ากันว่าถูกขับไล่ออกจากโรงเรียนเพราะลักขโมยสารเคมี Chloral Hydrate (สำหรับสูดดมเป็นสารเสพติด), ช่วงระหว่างเข้าเรียนวิจิตรศิลป์ Harvard University เปิดโลกทัศน์สังคมรักร่วมเพศ และเคยตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร St. Louis Post-Dispatch

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย Burroughs ตัดสินใจออกท่องเที่ยวยุโรป พอดิบพอดีในช่วงการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง พบเจอหญิงสาวชาวยิว Ilse Klapper แม้ไม่ได้ตกหลุมรักแต่กลับยินยอมแต่งงาน พาเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับวีซ่าก็ทำการหย่าร้าง และคงความเป็นเพื่อนไม่เสื่อมคลาย

ช่วงปี 1942, เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่งเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง Burroughs อาสาสมัครทหารแต่ได้รับการจัดระดับ 1-A ว่ามีปัญหาทางจิต นั่นสร้างความซึมเศร้า เข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ระหว่างนั้นอาศัยอยู่ร่วมอพาร์ทเม้นท์กับว่าที่ภรรยาคนใหม่ Joan Vollmer Adams และเพื่อนนักเขียนอีกสองคน Jack Kerouac และ Edie Parker จับพลัดจับพลูเข้าไปพัวพันคดีฆาตกรรม นำแรงบันดาลใจดังกล่าวเขียนนวนิยายเรื่องแรก And the Hippos Were Boiled in Their Tanks (1945) แต่ไม่รับโอกาสตีพิมพ์

พอไม่ได้ตีพิมพ์ก็ไม่มีเงิน ทำให้ Burroughs เริ่มเสพติดมอร์ฟีน เช่นเดียวกับ Vollmer และเพื่อนๆทั้งสอง พอถูกตำรวจจับกุมก็หลบหนีสู่ Mexico แต่ชีวิตที่นี่ไม่ค่อยน่าอภิรมณ์เท่าไหร่ แถมครั้งหนึ่งพลั้งพลาดปืนลั่นระหว่างละเล่น ‘William Tell’s Act’ กับภรรยา กระสุนยิงเข้าศีรษะเสียชีวิตคาที่ ถูกจับติดคุกในเรือนจำ 13 วัน ก่อนจ่ายใต้โต๊ะให้ได้ประกันตัวออกมามุ่งสู่อเมริกาใต้ เสพติดยาขนาดใหม่ชื่อว่า Ayahuasca ทำให้ผู้ใช้เกิดภาพหลอน ‘psychedelic experiences’ ราวกับมีพลังโทรจิต ‘telepathic’

เพราะถูกหมายหัวคดีค้ายาและฆาตกรรม ทำให้ Burroughs ไม่สามารถหวนกลับไปใช้ชีวิตยังสหรัฐอเมริกา ต่อมาค้นพบเมือง Tangier ทางตอนเหนือของ Morocco ที่ยังอนุญาตให้ค้าขาย-เสพยา โดยไม่ผิดกฎหมาย สมัยนั้นมีคำเรียก Tangier International Zone ซึ่งเขาทำการละเล่นคำจนเหลือเพียงดินแดน Interzone

การเสียชีวิตของ Vollmer ถือว่าสร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างมากต่อ Burroughs กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มต้นเขียนนวนิยายอย่างจริงจัง โดยผลงานฉายเดี่ยวเรื่องแรก Junkie: Confessions of an Unredeemed Drug Addict (1953) นำประสบการณ์ตนเองล้วนๆระหว่างเป็นพ่อค้าและเสพติดเฮโรอีนในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

สำหรับ Naked Lunch (1959) คือนวนิยายเรื่องแรกของ Burroughs เขียนขึ้นในลักษณะ non-linear โดยได้แรงบันดาลใจระหว่างพักอาศัยอยู่ Beat Hotel ณ กรุง Paris พบเห็นภาพวาดงานศิลปะของ Brion Gysin ที่มีลักษณะปะติดปะต่อกัน ซ้อนทับ ทำซ้ำๆ สลับไปมาอยู่หลายครั้ง ร่วมกันพัฒนาเทคนิคชื่อว่า ‘cut-up technique’

I don’t think I had ever seen painting until I saw the painting of Brion Gysin.

William S. Burroughs

เกร็ด: ในทางวรรณกรรม ‘cut-up technique’ หมายถึงการปะติดปะต่อข้อความ เรียบเรียงประโยคใหม่ ให้เกิดนัยยะซ้อนนัยยะ พูดอย่างหนึ่งแต่สื่อความหมายอีกอย่างหนึ่ง กล่าวถึงอาชีพนักกำจัดแมลง (Exterminator) แต่แท้จริงแล้วต้องการให้ผู้ชมทำลายกฎกรอบความครุ่นคิดด้วยเหตุและผล

การพัฒนาเรื่องราว Naked Lunch ก็พิลึกพิลั่น เริ่มจากนำแนวคิดดังกล่าวไปเสนอสำนักพิมพ์ Grove Press ได้ระยะเวลามาเพียงสิบวัน อยากเขียนอะไรส่งไป ไม่มีลำดับ ไม่มีความต่อเนื่อง หรือแม้แต่เป้าหมายเรื่องราว แค่นั้นก็ได้เงินมาล่วงหน้า $3,000 เหรียญ นำไปซื้อยามาเสพหมดเกลี้ยง

ถึงบอกว่าไม่มีเนื้อเรื่องราว แต่ละตอนๆของ Naked Lunch บรรยายผ่านมุมมองขี้เมายา William Lee (นามปากกาของ Burroughs) ถือเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiography) ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกามุ่งสู่ Mexico ก่อนขึ้นเรือต่อมาถึง Tangier และสิ้นสุดยังดินแดนเหมือนฝัน Interzone ทั้งหมดเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ระหว่างเสพเฮโรอีน, มอร์ฟีน, Majoun, Opioid ฯลฯ แล้วพบเห็นภาพหลอนต่างๆนานา

เกร็ด: นิตยสาร TIME จัดให้นวนิยาย Naked Lunch (1959) รวบรวมอยู่ใน “100 Best English-language Novels from 1923 to 2005”


ตั้งแต่เมื่อเริ่มตีพิมพ์จัดจำหน่าย ก็มีใครต่อใครแสดงความสนใจอยากดัดแปลงภาพยนตร์ เริ่มจาก Antony Balch ซึ่งเคยร่วมงานโปรเจคหนังสั้นกับ Burroughs ครุ่นคิดอยากทำ Musical นำแสดงโดย Mick Jagger แต่ก็ต้องล้มพับเพราะความขัดแย้งทางความคิดเห็นระหว่าง Balch และ Jagger

ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1965, โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ Conrad Rooks ได้รับลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ แต่กลับนำมาสรรค์สร้าง Chappaqua (1966) ในลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติของตนเอง แทบจะไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมจากต้นฉบับนวนิยาย

แซว: Conrad Rooks เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับ Naked Lunch (1991) ของผู้กำกับ David Cronenberh ไว้ว่า

I don’t think he understood what Naked Lunch was about at all. And he’s certainly never been a junkie. I don’t see how anybody who hasn’t been a junkie could even conceive that they could shoot Naked Lunch.

Conrad Rooks

ต่อมาก็เป็น Dennis Hopper หลังความสำเร็จล้นหลามของ Easy Rider (1969) แสดงความสนใจกำกับ/แสดงนำ แต่ก็ไม่ได้มีการพัฒนาโปรเจคอย่างจริงจัง, จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 80s ลิขสิทธิ์ตกมาอยู่ในมือของโปรดิวเซอร์ Jeremy Thomas เล็งเห็นว่ามีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้!


David Paul Cronenberg (เกิดปี 1943) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นนักเขียน/นักตัดต่อ พยายามเสี้ยมสอนบุตรชายให้หลงใหลในสื่อภาพยนตร์ แต่เขากลับชื่นชอบอ่านนวนิยาย Science-Fiction ในตอนแรกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ University of Toronto ก่อนเปลี่ยนมาคณะวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม Winter Kept Us Warm (1966) ถึงเริ่มค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น 16mm ร่วมก่อตั้ง Toronto Film Co-op กับเพื่อนสนิท Ivan Reitman, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Stereo (1969), Crimes of the Future (1970), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ‘body horror’ เริ่มตั้งแต่ Shivers (1975), Rabid (1977)

ผกก. Cronenberg ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ด้วยความพยายามทำให้เรือนร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation) มักจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย ไม่ก็ติดเชื้อโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ จิตวิเคราะห์ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ Sci-Fi Horror แต่บางครั้งก็สรรค์สร้างแนว Psychological Thriller, Gangster Film ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่ง

ผลงานเด่นๆ อาทิ The Brood (1979), Scanners (1981), Videodrome (1983), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) ฯลฯ

เมื่อปี 1981, ผกก. Cronenberg เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Omni เคยครุ่นคิดอยากดัดแปลงผลงานของ William Burroughs มาสักพักใหญ่ๆ

Some part of me would love to make a movie of William Burroughs’s Naked Lunch.

David Cronenberg

ไม่รู้เพราะบทสัมภาษณ์นั้นหรือเปล่าทำให้เขามีโอกาสพูดคุยโปรดิวเซอร์ Jeremy Thomas ตอบตกลงดัดแปลงนวนิยาย Naked Lunch แต่เพราะติดพันหลากหลายโปรเจค กว่าจะเริ่มต้นได้ก็ระหว่างแสดงภาพยนตร์ Nightbreed (1990) ครุ่นคิดพัฒนาบทหนังด้วยการพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ Toshiba

บทหนังของผกก. Cronenberg ไม่ได้ดัดแปลงจากนวนิยายออกมาตรงๆ แต่ทำการผสมผสานอัตชีวประวัติของผู้แต่ง William S. Burroughs โดยใช้เหตุการณ์ที่เขาพลั้งพลาดเข่นฆาตกรรมภรรยาเป็นจุดตั้งต้น เพื่อให้สอดคล้องคำพูดที่กล่าวไว้

I am forced to the appalling conclusion that I would never have become a writer but for Joan’s death, and to a realization of the extent to which this event has motivated and formulated my writing. I live with the constant threat of possession, and a constant need to escape from possession, from Control. So the death of Joan brought me in contact with the invader, the Ugly Spirit, and maneuvered me into a life long struggle, in which I have had no choice except to write my way out.

William S. Burroughs

แซว: ผกก. Cronenberg เคยให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างพัฒนาบทหนัง Naked Lunch (1991) บังเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระอย่างทะลุปรุโปร่ง แม้ตนเองไม่เคยเสพยาม่ก่อนก็ตาม ถึงขนาดมีคำพูดเล่นๆ “I’ll just write his next book”.


พื้นหลัง ค.ศ. 1953, นักกำจัดแมลง William Lee (รับบทโดย Peter Weller) ค้นพบว่าภรรยา Joan Lee (รับบทโดย Judy Davis) นำเอาสารเคมีที่ใช้ในยาฆ่าแมลงมาเสพติดจนเกิดภาพหลอน ระหว่างถูกตำรวจควบคุมมาสอบสวน พบเห็นตัวด้วงพูดคุยสนทนา อ้างว่าเขาคือสายลับได้รับมอบภารกิจกำจัดเจ้าหน้าที่องค์กร Interzone Incorporated ซึ่งก็คือภรรยาของตนเอง

ในตอนแรกครุ่นคิดว่าก็แค่ภาพหลอนจากการเสพยา แต่หลังจากจับได้คาหนังคาเขาว่าภรรยาแอบคบชู้เพื่อนนักเขียน แม้เธออ้างว่าไม่ได้ครุ่นคิดจริงจัง จู่ๆเขาชักชวนเล่นเกม ‘William Tell’s Act’ แล้วปืนลั่น เข่นฆาตกรรมโดยไม่รับรู้ตัวว่าจงใจหรือเมายา เป็นเหตุให้ต้องหลบหนีสู่บริเวณ Interzone (ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา)

เมื่อมาถึงยัง Interzone ได้รับมอบหมายทำรายงานโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีด Clark Nova เรียนรู้จักรสนิยมรักร่วมเพศ พบเจอหญิงสาว Joan Frost ที่มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับอดีตภรรยา และเป้าหมายหลักคือค้นหา Dr. Benway (รับบทโดย Roy Scheider) ผู้อยู่เบื้องหลังองค์กร Interzone Incorporated ทลายแหล่งผลิตยาเสพติด ‘black meat’ ทำจากตะขาบยักษ์สายพันธุ์ Brazilian


Peter Weller (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Stevens Point, Wisconsin บิดาเป็นคนขับเฮลิคอปเตอร์ให้กองทัพสหรัฐ นั่นทำให้ครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนหลายปี จนกระทั่งสามารถมาปักหลักยัง Texas เข้าเรียนด้านการละคอนเวทียัง North Texas State University (ปัจจุบันคือ University of North Texas) แล้วต่อด้วย American Academy of Dramatic Arts จากนั้นมีผลงาน Broadway, ซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Of Unknow Origin (1983), โด่งดังจาก RoboCop (1987), RoboCop 2 (1990), Naked Lunch (1991), Star Trek Into Darkness (2013) ฯลฯ

รับบท William ‘Bill’ Lee ดูเป็นคนนิ่งๆ วางมาดเนี๊ยบๆ ชอบส่งเสียงอู้อี้อยู่ในลำคอ แต่ทุกครั้งเมื่อเสพยามักพบเห็นภาพหลอน เครื่องพิมพ์ดีกลายร่างเป็นด้วงทอง สามารถพูดคุยสนทนา ออกคำสั่งให้เขาทำโน่นนี่นั่น และหลายๆครั้งเมื่อฟื้นตื่น/สร่างเมายา ไม่ค่อยรับรู้ตนเองว่าทำอะไร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร เพียงคำบอกเล่าถึงพฤติกรรมสุดเหวี่ยง รสนิยมรักร่วมเพศ สร้างความประทับใจให้ใครต่อใคร

เพราะความอยากร่วมงานผกก. Cronenberg เห็นว่า Weller ปฏิเสธเงินก้อนโตจาก RoboCop 3 (1993) เพื่อมาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ!

รูปร่างหน้าตาของ Weller ช่างมีความละม้ายคล้ายทั้งผกก. Cronenberg และนักเขียน Burroughs เป็นคนสูงโปร่ง มาดเนี๊ยบ สงบเสงี่ยมเจียมตน แต่สีหน้าเต็มไปด้วยความสับสนมึนงง หลายๆเรื่องเล่าฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งหนังก็จงใจสร้างความลึกลับ ไม่เคยนำเสนอเหตุการณ์เหล่านั้นที่ทำให้ตัวละครสูญเสียภาพลักษณ์ สร้างความพิศวงสงสัย ปล่อยจินตนาการผู้ชมให้เตลิดเปิดเปิงไปไกล

ผมรู้สึกว่า Weller สร้างความลึกลับให้ตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ไม่พยายามทำให้ผู้ชมสงสารหรือสมเพศเวทนา เป็นความรู้สึกกลางๆ นามธรรม จับต้องไม่ได้ เพื่อนำเสนอว่าอาการเมายาทำผู้เสพให้ไม่รับรู้ตนเอง พบเห็นหลายสิ่งอย่างบิดเบี้ยว ความทรงจำผิดเพี้ยน หลงๆลืมๆ เลอะๆเลือนๆ มีชีวิตราวกับอยู่บนเส้นดาย เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง


ถ่ายภาพโดย Peter Suschitzky (เกิดปี 1941) สัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Institut des hautes études cinématographiques เริ่มงานเป็นเด็กตอกสเลท, ควบคุมกล้อง, ถ่ายภาพเรื่องแรก It Happened Here (1964), โด่งดังจาก The Rocky Horror Picture Show (1975), Valentino (1977), The Empire Strikes Back (1980), แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ Dead Ringers (1988)

งานภาพของ Naked Lunch (1991) อาจไม่ได้มีความหวือหวาเมื่อเทียบกับ Dead Ringers (1988) เพราะต้องให้เวลากับ Special/Visual Effect สัตว์ประหลาดตัวเล็ก-ใหญ่มากมายเต็มไปหมด แต่หนังมีการย้อมเฉดสีออกส้มๆ จัดแสงฟุ้งๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายทำตอนกลางวัน แทบไม่มีตอนกลางคืนที่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง) เพื่อมอบสัมผัสของภาพหลอน เหนือจริง สมจินตนาการ

ผกก. Cronenberg ต้องการใช้โอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง Tangier ทางตอนเหนือของ Morocco แต่การบุกครองคูเวต (Iraqi invasion of Kuwait) ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม ค.ศ. 1990 ทำให้แผนการเดินทางต้องล้มเลิกโดยพลัน ทั้งเมือง Interzone จึงต้องก่อสร้างขึ้นในสตูดิโอที่ Toronto โดยการขนทรายปริมาณกว่า 700 ตัน!


ผกก. Cronenberg ให้ความสำคัญกับ Title Sequence อย่างมากๆ เคยแสดงความคิดเห็นว่า “a vestibule before the film” เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ชมเข้าสู่โลกของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

สำหรับ Naked Lunch (1991) ให้สัมภาษณ์บอกว่าต้องการเคารพคารวะโคตรนักออกแบบ Saul Bass (The Man with the Golden Arm, Vertigo, Anatomy of a Murder, North by Northwest, West Side Story ฯลฯ) ซึ่งกำลังโด่งดังในช่วงทศวรรษ 50s และหลากหลายเทคนิค วิธีการนำเสนอที่ใช้ ‘cut-out’ นำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ช่างมีความละม้ายคล้าย ‘cut-up technique’ ที่ผู้แต่ง Burroughs พัฒนานวนิยายเล่มนี้

ออกแบบโดย Randall Balsmeyer และ Mimi Everett (Dead Ringers, Naked Launch และ M. Butterfly) ในตอนแรกนำเสนอหลากหลายแนวคิดให้ผกก. Cronenberg แต่ได้รับคำตอบ “Hmm, I’m not feeling it.” จนกระทั่งมีโอกาสพบเห็นโปสเตอร์หนังที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดแทนใบหน้า ชวนให้นึกถึงผลงานศิลปะของ René Magritte: The Son of Man (1964) เลยเกิดแรงบันดาลใจง่ายๆในการสรรค์สร้างภาพ Abstract ที่ไม่มีรายละเอียดใดๆนอกจากเส้นๆ เหลี่ยมๆ ตัวอักษรบิดๆเบี้ยวๆ พร้อมเพลงประกอบสไตล์ Jazz สร้างบรรยากาศล่องลอยไปๆมาๆ เหมือนพบเห็นภาพหลอนๆลวงตา

I don’t even know where it came from but someone had done a Naked Lunch logo for the crew hats and things like that, which looks like the title of the film. At a certain point, I went, you know what? That’s really cool. Let’s just run with that and make three shapes and some little abstract lines, let’s go the other direction completely. Let’s go abstract, no content, no message, no information at all, and just let it be a mood piece. David liked it.

Randall Balsmeyer

สองคำกล่าวของหนังนี้ต่างปรากฎแทรกอยู่ในต้นฉบับนวนิยาย Naked Lunch (1959)

Nothing is true; everything is permitted.

Hasan-i Sabbāh (حسن صباح)

ใครเคยเล่นเกมแฟนไชร์ Assassin Creed น่าจะมักคุ้นเคยเป็นอย่างดี Hasan-i Sabbāh (ค.ศ. 1050-1124) คือผู้ก่อตั้งกลุ่มนักฆ่า (Order of Assassins) เชี่ยวชาญในการลอบสังหาร ถือเป็นบุคคลแรกๆของโลกที่ใช้วิธีการพรางตัว ลักลอบเข้าไปเข่นฆาตกรรมเป้าหมายโดยอีกฝ่ายไม่ทันรับรู้ตัว และคำพูดดังกล่าวว่ากันว่าคือประโยคสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เพื่อบอกกับลูกน้องในสังกัดว่าทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ … หรือคือ Burroughs กล่าวถึงเรื่องราว จินตนาการภาพหลอน และลีลาการเขียน ‘cut-up technique’ อะไรล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น!

Hustlers of the world, there is one Mark you cannot beat: The Mark Inside…

William S. Burroughs

Hustler of the world เป็นการเปรียบเทียบถึงมนุษย์โลก ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อกอบโกย แก่งแย่งชิง ลวงล่อหลอกทุกสรรพสิ่ง แต่มีอย่างหนึ่งคือความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทุกคนล้วนตระหนักรับรู้การกระทำของตัวเราเอง … หรือคือ Burroughs รับรู้พฤติกรรมตนเองว่าเคยทำอะไรไว้ ไม่มีทางหลบหนีความจริงดังกล่าวได้พ้น (นี่อาจจะเรื่องเข่นฆาตกรรมภรรยา ภายในของเขาย่อมรับรู้อยู่แล้วว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น)

แค่ช็อตแรกของหนังก็สร้างความลึกลับได้ไม่น้อย พบเห็นเพียงเงาของชายสวมหมวก (เงาคือด้านมืด ในบริบทนี้สามารถสื่อถึงจินตนาการ ภาพหลอน บอกใบ้สิ่งที่ผู้ชมกำลังจะได้พบเห็นต่อไป) เดินเข้ามาหน้าห้อง เคาะประตู แล้วบอกว่าตนเองเป็นนักกำจัดแมลง (Exterminator)

อาชีพนักกำจัดแมลง อย่างที่อธิบายไปตั้งแต่ต้นว่าเป็นการบอกใบห้ผู้ชม ทำลายกรอบความครุ่นคิดด้วยเหตุด้วยผล เรื่องราวต่อจากนี้ต้องใช้จินตนาการ ปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ล่องลอยไป ถึงสามารถบังเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่าง

แต่แทนที่ตัวละครจะสามารถกำจัดแมลงเหล่านั้น เขากลับต้องชะงักงันเพราะถูกภรรยาลักขโมยยาฆ่าแมลง ต่อมาก็เริ่มพบเห็นภาพหลอน พวกมันกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด ถูกควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วบงการ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่น ตกเป็นทาสของ ‘black meat’ ที่ทำจากตะขาบสายพันธุ์ Brazillian และเป้าหมายของหนังก็คือการ ‘Exterminator’ บุคคลที่อยู่เบื้องหลังทุกสรรพสิ่งอย่าง ลอกคราบ เปิดโปง และกำจัดสารเคมีเหล่านั้นให้ออกไปจากร่างกาย

William สอบถามภรรยา Joan ถึงยากำจัดแมลงที่เธอแอบลักขโมย แล้วกำลังฉีดเข้าหน้าอก (ทำยังกะฉีดโบท็อกซ์) ให้คำตอบที่หลายคนอาจเกาหัว

It’s a Kafka high.

Joan Lee

เป็นการกล่าวอ้างถึง Franz Kafka (1883-1924) นักเขียนนวนิยายชาว German บุคคลแรกๆที่ทำการผสมผสานระหว่าง Realism และ Fantastic ผลงานดังๆก็คือ The Trial, The Metamorphosis ให้กำเนิดคำว่า ‘Kafkaesque’ เพื่อสื่อถึงสถานการณ์ไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ ‘absurd’ แต่กลับสามารถบังเกิดขึ้นจริง … Naked Lunch ก็ถือว่าเข้าพวกเลยละ!

คงจะมีผู้ชมประมาณครึ่งหนึ่งสามารถทำความเข้าใจสิ่งที่ William พบเห็นนั้นคือภาพหลอนจากการเสพยา แต่เชื่อว่าอีกหลายคนคงครุ่นคิดว่าเป็นหนังไซไฟ เอเลี่ยนต่างดาว เขาคือสายลับถูกล้างสมองเพื่อปฏิบัติภารกิจบางอย่าง เอาจริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะหนังพยายามเลือนลางระหว่างความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน(หรือภาพหลอน) ถ้าสามารถล่อหลอกผู้ชมได้กลุ่มหนึ่ง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย!

สัตว์ประหลาดทั้งหลายออกแบบโดย Chris Walas (1955-) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Gremlins (1984), Enemy Mine (1985) ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผกก. Cronenberg เรื่อง Scanners (1981) และ The Fly (1986) **คว้ารางวัล Oscar: Best Makeup

สำหรับ Naked Lunch (1991) สัตว์ประหลาดทั้งหมดมีคำเรียกว่า Mugwumps (ทั้งด้วงพิมพ์ดีด และตัวที่มีร่างกายเหมือนมนุษย์) ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของกิเลสตัณหา สิ่งทางโลกที่สร้างความลุ่มหลงใหล ใช้แล้วเสพติด พบเห็นภาพหลอน ทำให้มนุษย์ไม่สามารถปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด

Burroughs talks about the Mugwump in the book as a demure beast, I think that it represents all of the seductive monsters we run into that have some kind of addictive element, whather it is money of power or sex or whatever.

I thought his body should be like that of an old junkie – emaciated and with the ‘look of borrowed flesh’ that Burroughs describes in the book. I also want the Mugwump to be basically humanoid but the characteristics that would emphasize its nonhumanness.

David Cronenberg

เกร็ด: Mugwumps เป็นคำภาษา Algonquian (Massachusett language) ดั้งเดิมมาจาก mugquomp แปลว่าหัวหน้าเผา, บุคคลสำคัญ (important person, kingpin)

(ภาพสุดท้าย William S. Burroughs มาเยี่ยมเยือนกองถ่าย ถ่ายรูปร่วมกับฝูง Mugwumps และผกก. David Cronenberg)

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องตัวด้วง? แต่มันคงไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ใดๆสามารถอธิบาย เช่นนั้นแล้วเราต้องมองเชิงจิตวิเคราะห์ ย้อนถึงอาชีพนักกำจัดแมลง (Exterminator) สัตว์ตัวแรกที่พบเห็นในหนังคือแมลงสาป ซึ่งก็มีรูปลักษณะคล้ายๆตัวด้วง (มั้งนะ) ผมรู้สึกว่ามันเป็นสัตว์ที่สามารถวิวัฒนาการวงจรชีวิตสมบูรณ์ (Complete Metamorphosis) กลายสภาพสู่เครื่องพิมพ์ดีด (Mugwriter), ศีรษะ Mugwumps และร่างตัวเต็มวัย

มันเหมือนมีสิ่งเหนือธรรมชาติบางอย่าง (จากฤทธิ์ยาเสพติด และหรือความรู้สึกผิดหลังการเสียชีวิตของภรรยา) ที่ทำการควบคุมครอบงำ เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ William Lee (รวมถึงผู้แต่ง Burroughs) สามารถครุ่นคิด ตีพิมพ์นวนิยาย (นัยยะแฝงของการพิมพ์รายงาน) จนสำเร็จแล้วเสร็จ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

William Tell คือวีรบุรุษจากนิทานพื้นบ้าน Switzerland นักธนูผู้มีมือแม่นยำ โด่งดังจากการลอบสังหาร Albrecht Gessler ขุนนางผู้ใหญ่แห่งอาณาจักร Habsburg ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งจุดกำเนิดของตำนานเริ่มต้นจาก Tell ถูกท้าทายด้วยบททดสอบสุดเหี้ยมโหดของ Gessler ด้วยการวางผลแอปเปิ้ลบนศีรษะบุตรชาย เดินถอยหลัง 120 ก้าว ถ้ายิงไม่ถูกเป้าหมายก็จะสูญเสียลูกคนเดียวของเขาไป

ปล. ภาพวาดที่นำมานี้ได้แรงบันดาลใจจาก William Tell’s Act หรือ William Tell’s feat รวบรวมอยู่ในหนังสือ Cosmographia (ค.ศ. 1544) เรียบเรียงโดย Sebastian Münster (1488–1552)

ความผิดพลาดจากการละเล่น William Tell’s Act ของ William Lee ถือว่าเกิดจากแรงผลักดันของจิตใต้สำนึก (=ตัวด้วงที่พบเห็นภาพหลอนก่อนหน้านี้ ออกคำสั่งให้เขาจัดการเธอ โดยอ้างว่าเป็นสายลับจากองค์กร Interzone Incorporated) หลังพบเห็นภรรยาแอบร่วมรักหลับนอน คบชู้กับเพื่อนนักเขียน แม้เธออ้างว่าไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ แต่มันคงสร้างความอึดอัด คับข้อง ไม่พึงพอใจ … ในกรณีนี้แม้จะมีแรงจูงเข่นฆาตกรรม แต่ทางการแพทย์น่าจะถือว่ากระทำด้วยอาการขาดสติ เพราะเขากำลังมึนเมาจากฤทธิ์ยา จึงไม่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะ รับรู้ตนเองว่าทำอะไรลงไป

Homosexuality is the best all-around cover an agent ever had.

Clark Nova (ให้เสียงโดย Peter Boretski)

ผมอธิบายไปแล้วผู้แต่ง William S. Burroughs ค้นพบตนเองว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) เมื่อครั้นยังเป็นวัยรุ่น แต่ต้องปกปิดไว้จนกระทั่งระหว่างร่ำเรียน Harvard University ถึงได้เปิดโลกทัศน์ ‘gay cultural’ เลยไม่แปลกที่นวนิยายของเขาจะกล่าวถึงเพศสัมพันธ์อย่างโจ๋งครึ่ม ชาย-หญิง ชาย-ชาย หญิง-หญิง ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดบัง

สิ่งน่าสนใจก็คือหนังนำเสนอประเด็นรักร่วมเพศ ด้วยวิธีการที่สร้างความประหลาดใจให้ทั้งตัวละครและผู้ชม คือมันแทบจะไม่มีปี่มีขลุ่ย ก่อนหน้านี้พบเจอเพียงชายหนุ่มชื่อ Kiki (รับบทโดย Joseph Scorsiani) ใช้คำเรียก ‘faggot’ ซึ่งไม่ใช่คำสุภาพต่อชายรักร่วมเพศสักเท่าไหร่ (เลยทำให้หลายๆคนมองว่าเขาอาจมีอคติต่อเกย์) แต่จากการบอกเล่าของ Yves Cloquet (รับบทโดย Julian Sands) กลับกลายเป็นว่า William Lee แสดงรสนิยมดังกล่าวออกมาจากจิตใต้สำนึก โดยไม่รับรู้ตัวเองด้วยซ้ำ!

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า doppelgänger ของ Joan เป็นสิ่งที่ผกก. Cronenberg เพิ่มเติมเข้ามาเองหรือเปล่า เพื่อล้อกับภาพยนตร์ Dead Ringers (1988) แต่ตัวละคร Joan Lee และ Joan Frost ต่างมีทั้งภาพลักษณ์ อุปนิสัยใจคอ ละม้ายคล้ายกันมากๆราวกับ Déjà vu … เราสามารถมอง Joan Frost ได้ทั้งภาพหลอน (เห็นหญิงอื่นหน้าเหมือนอดีตภรรยา) หรือบุคคลจริงๆก็ได้นะครับ

ซึ่งการมีตัวตนของ Joan Frost จุดประสงค์เพื่อสร้างแรงผลักดัน และมอบโอกาสสอง (Second Chance) ให้กับ William Lee หลังจากเคยทำผิดพลาดพลั้งเข่นฆาตกรรมภรรยา Joan Lee สังเกตว่าเขามุ่งมั่นที่จะเขียนรายงาน(=ตีพิมพ์นวนิยาย)ให้แล้วเสร็จ แล้วหาหนทางช่วยเหลือเธอจาก Fadela/Dr. Benway คาดหวังจะครอบครองรักด้วยกันอีกครั้ง

การต่อสู้ระหว่าง Clark Nova vs. Martinelli คือภาพหลอนที่สะท้อนความอิจฉาริษยาของ William Lee ต่อนักเขียน Tom Frost (รับบทโดย Ian Holm) ผู้เป็นสามีของ Joan Frost แต่เพราะเขาไม่สามารถแสดงออกต่อหน้า จึงมาลงกับเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Martinelli (ที่เป็นของ Tom ให้หยิบยืมมาทดลองใช้) ด้วยการทุบทำลายจนหมดสิ้นสภาพ

Clark Nova (จิตใต้สำนึกของ William) ออกคำสั่งให้ William Lee แอบสานสัมพันธ์กับ Joan Frost ซึ่งเขาก็ฉกฉวยโอกาสเมื่อตอน Tom Frost ไม่ได้อาศัยอยู่ในอพาร์เม้นท์ เข้ามาเกี้ยวพาราสี ระหว่างกำลังกอดจูบลูบไล้ (หลังจากเสพยา) ไอ้จ้อนก็ค่อยๆงอกออกมาจากเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอาหรับ Mujahideen แล้วกลายร่างเป็น ‘Sex Blob’ ลักษณะเหมือนตะขาบร้อยขา ขยุ้มลงมาตรงตำแหน่งที่ William และ Joan กำลังจะมีเพศสัมพันธ์กัน

เอาจริงๆผมไม่รู้ว่า William และ Joan ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กันไหม? เพราะพวกเขายังคงสวมใส่เสื้อผ้า (แต่ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ของ ‘Sex Blob’ ที่ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ก็มีแนวโน้มน่าจะสำเร็จกามกิจกระมัง) เมื่อขณะแม่บ้าน Fadela (รับบทโดย Monique Mercure) มาพบเห็นสภาพของพวกเขา แต่การหยิบเครื่องพิมพ์ดีด Mujahideen โยนทิ้งออกนอกหน้าต่าง อาจตีความว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด ก็แค่สิ่งที่ Joan ตีพิมพ์ออกมา(เป็นภาษาอาหรับ)เท่านั้น!

ในถุงยังชีพของ William Lee สิ่งที่คนอื่นพบเห็นคือสารพัดยาเสพติด แต่ตัวเขากลับบอกว่ามันคือเศษซากเครื่องพิมพ์ดีด (ที่ทำลายทิ้งด้วยความอิจฉาริษยา) แล้วจู่ๆแฟนหนุ่ม Kiki ก็พาเข้าร้านหลอมเหล็ก ซ่อมแซมเครื่อง Martinelli ให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่ และเมื่อเขาเสพยามันจึงมองเห็นศีรษะ Mugwumps แป้นพิมพ์อยู่ทางปาก ผลิตสารเคมีที่สามารถดูดดื่มด่ำ … เสียงพูดก็เปลี่ยนจากหญิงกลายมาเป็นชาย

นี่อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนเกิดความสับสน ไม่ใช่ว่าเสพยาแล้วพบเห็นภาพหลอน? แต่ในบริบทนี้มันดูเหมือน ยาเสพติด=เครื่องพิมพ์ดีด? เอาจริงๆครุ่นคิดแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะผมเองก็มองว่าการดูหนัง เขียนบทความลง raremeat.blog ไม่แตกต่างจากการเสพติดยาสักเท่าไหร่!

ฉากที่ถือว่าสร้างความตกตะลึง น่าสะพรึงกลัวที่สุดของหนัง คือการพบเห็นเพศสัมพันธ์ชาย-ชาย ระหว่าง Kiki กับ Yves Cloquet นี่อาจฟังดูขัดแย้งรสนิยมรักร่วมเพศของ William Lee แต่อย่าลืมว่าหนังไม่เคยนำเสนอภาพจากจิตใต้สำนึก ในช่วงตัวละครไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ

สิ่งที่พบเห็นในขณะนี้ก็คือภาพหลอน(ระยะแรก)จากการละเล่นยา เพื่อสื่อว่าเปลือกภายนอกของตัวละคร ยังไม่สามารถยินยอมรับสภาพตนเองว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ มองเป็นสิ่งอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง ต้องถูกควบคุมขังในกรงนก และมีรูปลักษณะของสัตว์ประหลาด/เดรัจฉาน (คงเพราะสังคมยุคสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ เรื่องพรรค์นี้จึงต้องปกปิด กักขัง ซุกซ่อนเร้นไว้) จะว่าไปแลดูเหมือนวิวัฒนาการอีกขั้นของ ‘sex blob’ ตะขาบขยุ้มเข้าด้านหลังชายอีกคน สูบเลือด สูบเนื้อ สูบจิตวิญญาณ

It is sexual and horrific at the same time.

Chris Walas

ครั้งสุดท้ายของ Clark Nova หลังแลกตัวประกัน ทวงคืนจาก Tom Frost สังเกตว่าเต็มไปด้วยคราบเลือด ชิ้นส่วนแตกหัก เศษเนื้อหนัง นี่ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาพปรักหักพังของเครื่องพิมพ์ดีด แต่ยังวิถีชีวิตของนักเขียนที่ต้องประสบโชคเลือด เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆเลวร้ายไม่แตกต่างผลงานประพันธ์ (หรือก็คือผู้แต่ง Burroughs พานผ่านประสบการณ์เสพยา พบเห็นภาพหลอน ไม่แตกต่างจากตัวละคร William Lee)

A writer lives the sad truth like anyone else.

Clark Nova

Mugwumps Dispensary (ฟาร์ม Mugwumps) สถานที่สำหรับคนเสพยา (คล้ายๆโรงฝิ่นสมัยก่อน) ในบริเวณ Interzone ยุคสมัยนั้นยังถือว่าไม่ผิดกฎหมาย พวกมนุษย์กำลังดื่มด่ำกับสารเสพติด(ที่ได้จาก Mugwumps) แต่สภาพของพวกเขาก็ไม่ต่างจาก Mugwumps ที่ถูกล่ามโซ่ ห้อยโหน ไม่สามารถดิ้นหลบหนี ได้รับอิสรภาพออกไปจากสถานที่แห่งนี้

ไคลน์แม็กซ์ของหนัง การเผชิญหน้าระหว่าง William Lee กับผู้เบื้องหลัง Interzone Incorporated นั่นคือ Fadela กระชากหน้ากากออกมาเป็น Dr. Benway แลดูคล้ายการแปรสภาพจากดักแด้สู่ตัวเต็มวัย สามารถตีความถึงการปลุกตื่น ฟื้นขึ้นจากฝันร้าย/ภาพหลอน หรือก็คือ William Lee (ผู้แต่ง Burroughs) ตีพิมพ์นวนิยาย Naked Lunch แล้วเสร็จสิ้น!

ความปรารถนาหนึ่งเดียวของ William Lee คือต้องการครอบครอง Joan Frost ที่มีใบหน้าเหมือนเป๊ะกับอดีตภรรยา Joan Lee แม้จะได้รับกลับคืนมา แต่ระหว่างออกเดินทางสู่ดินแดนแห่งใหม่ Annexia ขณะกำลังผ่านด่านตรวจชายแดน ถูกสั่งให้พิสูจน์ตนเองว่าเป็นนักเขียน นั่นทำให้เขาต้องทำการแสดง William Tell’s Act เข่นฆาตกรรมเธออีกครั้ง

ปล. Annexia น่าจะมาแผลงมาจาก Anxious แปลว่าร้อนรน กระวนกระวาย หรือสามารถสื่ออาการลงแดงขณะกำลังถอนยา

ตอนจบของหนังนี้ต้องมองในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบระหว่างทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้น

  • ครั้งแรก William Lee มีแรงผลักดันจากจิตใต้สำนึก โดยไม่รับรู้ตัวเองเข่นฆาตกรรม Joan Lee แล้วแสดงอาการเยือกเย็นชา สาสมน้ำหน้า
  • ครั้งหลัง Wiliiam Lee ถูกบุคคลภายนอกกดดัน บีบบังคับ เกิดความโล้เล้ลังเลใจ จำต้องตัดสินใจเข่นฆาตกรรม Joan Frost แล้วแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ

กล่าวคือครั้งแรกกระทำโดยจิตใต้สำนึก ระหว่างมึนเมาพบเห็นภาพหลอน ส่วนครั้งหลังเป็นตอนที่เขา(น่าจะ)ละเลิก ถอนยา กำลังจะผ่านพรมแดนกลับสู่โลกความจริง ทำให้ต้องเผชิญหน้าสิ่งเคยกระทำ นั่นคือยินยอมรับว่าฉันเป็นผู้เข่นฆาตกรรมภรรยา ไม่มีทางที่เธอจะหวนกลับคืนมา (ไม่มีทางที่เธอจะหวนกลับสู่โลกความจริง)

ตัดต่อโดย Ronald Sanders สัญชาติแคนาดา ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ผลงาน Fast Company (1979)

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ William Lee ซึ่งจะผสมผสานระหว่างสิ่งที่ตัวละครพบเห็นจริงๆ กับภาพหลอนจากการเสพยา ไม่ใช่เรื่องง่ายจะทำการแบ่งแยกแยะ แต่ถ้าพบเห็นสิ่งมีชีวิตหน้าตาผิดแผกประหลาด นั่นเกิดจากอาการหลอนยาอย่างแน่นอน!

การดำเนินเรื่องของหนังจะนำเสนอเฉพาะช่วงเวลาที่ William Lee ยังคงมีสติอยู่เท่านั้น ระหว่างที่เขาเพิ่งตื่น สร่างเมา และเริ่มต้นพี้ยาระยะแรก (พบเห็นภาพหลอก) แต่เมื่ออาการหนักกว่านั้นถึงขั้นสูญเสียสติ หรือแสดงความคลุ้มบ้าคลั่ง จะถูกตัดข้ามไปเลย แล้วอาจมีใครอื่นพูดกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อข้ามคืน แค่เพียงผ่านๆพอให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิด จินตนาการ จับใจความอะไรบางอย่างได้เท่านั้น

  • นักฆ่าแมลง (Exterminator)
    • William พบเห็นภรรยา Joan เสพติดสารเคมีที่ใช้กำจัดแมลง
    • เมื่อถูกตำรวจควบคุมตัว ทำให้ William รับรู้ว่าตนเองเป็นสายลับ ถูกส่งมาให้กำจัดศัตรูจากองค์กร Interzone Incorporated
    • พบเจอกับ Dr. Benway แนะนำให้รู้จัก ‘black meat’
    • พอพบเห็นภรรยานอกใจตนเอง จึงชักชวนเธอทำละเล่นเกม “William Tell’s Act” ไม่รู้พลั้งเผลอหรือจงใจ เป็นเหตุให้เธอเสียชีวิต
  • หลบหนีสู่ Interzone
    • ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ พิมพ์ดีดรายงานบนเครื่อง Clark Nova
    • พบเจอกับเพื่อนนักเขียน Tom Frost และภรรยา Joan Frost ที่มีใบหน้าเหมือนเป๊ะกับอดีตภรรยา
    • Tom ให้ William หยิบยืมเครื่องพิมพ์ดีด (และภรรยา Joan) แต่ทั้งสองสิ่งกลับทรยศหักหลังเขา
  • ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เธอกลับคืนมา
    • William ซ่อมแซมเครื่องพิมพ์ดีดของ Tom เพื่อแลกคืน Clark Nova ของตนเอง
    • จากนั้นออกติดตามหา Dr. Benway เพื่อทวงคืน Joan กลับหาตนเอง
    • แต่แล้วท้ายสุดทุกสิ่งอย่างก็เวียนวน Déjà vu หวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ผมรู้สึกว่าการที่หนังเต็มไปด้วยคำพูดบิดๆเบี้ยวๆ ภาพสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ นัยยะเชิงสัญลักษณ์มากมาย ช่วงแรกๆก็สร้างความอยากรู้อยากเห็น อยากขบครุ่นคิดไขปริศนา แต่พอเรื่องราวดำเนินเข้าสู่องก์สอง-สาม ความสลับซับซ้อนเหล่านั้นจะเริ่มบั่นทอนความน่าสนใจ ยิ่งถ้าคนไม่สามารถครุ่นคิดติดตาม จะรู้สึกสมองตื้นตัน อับจนปัญญา และอาจยินยอมรับความพ่ายแพ้ อดรนทนดูจบจนก็อาจไม่ช่วยอะไร

แต่ผมยังแนะนำให้อดรนทนดูหนังให้จบรอบแรกเสียก่อนนะครับ แม้ไม่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจอะไร เพื่อให้อย่างน้อยรับรู้ว่ามันมีเรื่องราว เหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นบ้าง เมื่อมาอ่านบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ จักสามารถเข้าถึงสาสน์สาระ นัยยะสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้โดยทันที


เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์ได้รับคำชักชวนจาก David Cronenberg เริ่มต้นครั้งแรก The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ

จะว่าไปนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับฟัง ‘Jazz Fusion’ สไตล์เพลงแนวถนัดของ Shore สำหรับประกอบภาพยนตร์ (อาจเป็นครั้งแรกของเจ้าตัวด้วยนะ!) ต้องชมเลยว่ามีความแปลก พิศดาร ผสมผสานเข้ากับเครื่องสังเคราะห์เสียงและออร์เคสตรา สามารถสร้างความปั่นป่วนพลุกพล่าน สับสนว้าวุ่นวาย โดยเฉพาะเสียงแซกโซโฟนเต็มไปด้วยลวดลีลา ‘improvised’ ผันแปรเปลี่ยนจนมิอาจคาดเดา เหมือนดังภาพหลอนของตัวละคร เป็นสิ่งเหนือจริง และสมจินตนาการ

ซึ่งคราวนี้ Shore ยังได้อัญเชิญโคตรๆนักดนตรี Ornette Coleman (1930-2015) นักแซกโซโฟน ไวโอลิน ทรัมเป็ต ผู้บุกเบิกสไตล์ ‘free jazz’ บ้างก็เรียกว่า ‘jazz avant-garde’ เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize for Music เมื่อปี 2007 มาร่วมเล่น ‘improvised’ บรรเลงแซกโซโฟน ใส่ลวดลีลาได้อย่างโคตรๆตราตรึง

เหตุผลที่หนังต้องอัญเชิญ Ornette Coleman เพราะเป็นนักดนตรี Jazz คนโปรดของ William S. Burroughs ต่างคนต่างสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน หลายๆบทเพลงประพันธ์ขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย Naked Launch อาทิ Write Man, Bugpowder, Ballad, Intersong ฯลฯ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Midnight Sunrise ประกอบอัลบัม Dancing in Your Head (1977) เห็นว่า Burroughs เข้าร่วมการบันทึกเสียงกับวงดนตรี The Master Musicians of Jajouka พื้นบ้านของ Moroccan (จริงๆบันทึกเสียงตั้งแต่ปี 1973 แต่เพิ่งมารวบรวมอัลบัมปี 1977)

Naked Launch (1991) ทำการปลดเปลื้องสภาพของคนเสพติดยา เริ่มจากพบเห็นภาพหลอน พัฒนาสู่ความหวาดระแวง วิตกจริต เกิดอาการหลงเข้าใจผิด สติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หลงลืมโน่นนี่นั่น ความทรงจำขาดหาย สูญเสียความสามารถในการครุ่นคิดตัดสินใจ และแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง เข่นฆาตกรรมแม้แต่หญิงสาวคนรัก

เหตุการณ์ต่างๆที่บังเกิดขึ้นในนวนิยาย Naked Launch ล้วนสะท้อนประสบการณ์เสพยาของผู้แต่ง William S. Burroughs เอาจริงๆคือไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่ที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม เพราะวิธีการนำเสนอ โดยเฉพาะลีลาการเขียน ช่างมีความดิบ เถื่อน แปลกพิศดาร เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆแก่ผู้อ่าน ใครที่ชื่นชอบก็หลงใหลคลั่งไคล้ ผิดกับคนส่วนใหญ่คงไม่อภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่ … ทำไมฉันต้องมาทนอ่านพฤติกรรมบ้าๆบอๆ เพ้อเจ้อไร้สาระของพวกขี้เมายานี้ด้วย

สำหรับภาพยนตร์ Naked Launch (1991) ผู้กำกับ Cronenberg พยายามนำเสนอเรื่องราวในเชิงอัตชีวประวัติของ Burroughs เล่าถึงจุดเริ่มต้น สาเหตุผล แรงผลักดันหลังทำปืนลั่นใส่ภรรยา ทำให้เขาต้องกลายมาเป็นนักเขียน สรรค์สร้างผลงานระหว่างทำการเสพยา พบเห็นภาพหลอนอยู่แทบตลอดเวลา แต่ผลลัพท์กลับคือความน่ามหัศจรรย์ เหนือจริง สมจินตนาการ

ตั้งแต่ The Brood (1979) ที่ผกก. Cronenberg ใช้สิ่งเกิดขึ้นกับ(อดีต)ภรรยา มานำเสนอจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต! คราวนี้ William Lee ทำปืนลั่นใส่(ภรรยา) Joan แม้มันดูก้ำๆกึ่งๆว่าจงใจหรือพลั้งพลาด แต่ใครเคยอ่านบทสัมภาษณ์(ของผกก. Cronenberg) บอกว่ารู้สึกสะใจที่ได้ระบายความอัดอั้น เคียดแค้นฝังหุ่น ครั้งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน

และเมื่อครั้นสรรค์สร้าง Dead Ringers (1988) มีเรื่องราวการใช้ยาเสพติด ทำให้ตัวละครตกอยู่ในสภาวะท้อแท้สิ้นหวัง (หลังเข้าใจผิดว่าแฟนชาวคบชู้นอกใจ) Naked Launch (1991) ถือเป็นการขยับขยายแนวคิดดังกล่าว William Lee บังเกิดภาพหลอน หวาดระแวง วิตกจริต หลงเข้าใจอะไรผิดๆ ใกล้กลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก

Naked Launch (1991) จึงถือเป็นการผสมผสานประสบการณ์ชีวิต และการทำงานของผกก. Cronenberg เพื่อนำเสนอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อันมีต้นเหตุจากการจากไป(เลิกราหย่าร้าง)ของอดีตภรรยา ทำให้เขาสามารถค้นพบตัวตนเอง สรรค์สร้างผลงานที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายดังกล่าว

สำหรับ Burroughs แม้ระหว่างเขียนนวนิยายเล่มนี้ ยังอยู่ในช่วงพีคๆของการเล่นยา แต่ในกาลต่อมาเมื่อถึงจุดอิ่มตัว(กระมัง) เขาก็ละเลิกยุ่งเกี่ยว จนสามารถเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1974 ใช้ชีวิตอย่างร่ำรวย สุขสบาย และเข้าก๊วน Andy Warhol สรรค์สร้างผลงานโลกตะลึงชิ้นถัดๆไป


ด้วยทุนสร้างสูงถึง $16-18 ล้านเหรียญ กับหนังที่โคตรๆเหนือจริง แปลกประหลาด อัปลักษณ์พิศดาร แม้เสียงตอบรับตอนออกฉายจะค่อนข้างดี เข้าชิง Genie Awards (Oscar ของประเทศแคนาดา) จำนวน 11 สาขา คว้ามา 8 รางวัล แต่ทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $2.64 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน! แต่กาลเวลาก็ทำให้ได้รับกระแสคัลท์ติดตามมา (Cult Following)

  • Best Motion Picture **คว้ารางวัล
  • Best Direction **คว้ารางวัล
  • Best Actor (Peter Weller)
  • Best Supporting Actress (Monique Mercure) **คว้ารางวัล
  • Best Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
  • Best Cinematography **คว้ารางวัล
  • Best Art Direction **คว้ารางวัล
  • Best Costume Design
  • Best Score
  • Best Sound **คว้ารางวัล
  • Best Sound Editing **คว้ารางวัล

ผมแอบแปลกใจพอสมควรที่ Doc Club & Pub นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 คาดว่าเพื่อต้อนรับการอาจกำลังมาถึงของ Crimes of the Future (2022) แต่น่าเสียดายที่หนังยังไม่ได้รับการบูรณะใดๆ ฉบับของ Criterion Collection และ Studio Canal เพียงทำการสแกน ‘High-definition’ ผ่านการอนุมัติโดยผกก. Cronenberg เท่านั้นเอง

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบในความแปลกประหลาด ท้าทายการใช้สติปัญญาครุ่นคิดวิเคราะห์ คงไม่มีใครเหมาะแก่การดัดแปลงนวนิยายของ William S. Burroughs ไปมากกว่าผกก. David Cronenberg ทำออกมาได้อัปลักษณ์ พิศดาร โคตรเหนือจริง สมจินตนาการ

แนะนำคอหนัง Sci-Fi, ลัทธิเหนือจริง Surrealist, หลงใหล ‘body horror’, ชื่นชอบการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหานัยยะเชิงสัญลักษณ์, นักออกแบบงานสร้าง โมเดลสัตว์ประหลาด, และแฟนๆนวนิยายของ William S. Burroughs ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต 18+ เสพยา รักร่วมเพศ เผด็จการ ฆาตกรรม

คำโปรย | Naked Lunch คืออาหารกลางวันของผู้กำกับ David Cronenberg ดัดแปลงบทประพันธ์โคตรเหนือจริงของ William S. Burroughs ออกมาได้อย่างโคตรสมจริง
คุณภาพ | โคตรนืริ
ส่วนตัว | อาหารกลางวัน

Videodrome (1983)


Videodrome (1983) Canadian : David Cronenberg ♥♥♥♥

ขณะรับชมหนังโป๊จากสัญญาณกระจายภาพลึกลับ จู่ๆโทรทัศน์มันก็ยื่นริมฝีปากออกมาจะจุมพิต, เมื่อมนุษย์ใช้ชีวิตยึดติดกับเทคโนโลยีสื่อสารมากเกินไป มันจักเริ่มเลือนลาง เจือจาง กลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับชีวิตจริง=ภาพยนตร์

A Clockwork Orange (1971) of the 1980s.

Andy Warhol

Videodrome (1983) คือวิสัยทัศน์เหนือกาลเวลาของผกก. David Cronenberg ต่ออนาคตมนุษยชาติ ที่จะค่อยๆสูญเสียตัวตนเองให้กับเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน แม้ว่าเครื่องฉายโทรทัศน์สมัยนั้นจะยังจับต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ (ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยมีลักษณะเหนือจริง, Surreal) แต่ปัจจุบันอินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์ ได้ผสมผสานเข้ามาในชีวิตจนแทบแยกแยะไม่ออกอีกต่อไป

ระหว่างรับชม Videodrome (1983) เป็นภาพยนตร์ที่ผมแทบไม่อาจละสายตา ชื่นชอบทั้งแนวคิด Special/Visual Effect มีความน่าหลงใหล ตื่นตาตื่นใจ หลายคนอาจรู้สึกวาบหวิวสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน แต่ต้องชมในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Cronenberg นำเสนอออกมาได้เหนือจริง ตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างน่าสนใจมากๆ

สำหรับคนจินตนาการไม่ออกว่าริมฝีปากยื่นออกมาจากโทรทัศน์ได้อย่างไร? ผมเองโคตรๆทึ่งกับฉากนี้ ครุ่นคิดถ่ายทำออกมาได้อย่างไร! ใครเห็นช็อตนี้แล้วไม่แน่ใจตนเอง รับชมไหวไหม แนะนำให้มองข้ามไปเลยนะ หนังแนว ‘body horror’ อย่างฝืนตนเองอย่างเด็ดขาด

David Paul Cronenberg (เกิดปี 1943) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นนักเขียน/นักตัดต่อ พยายามเสี้ยมสอนบุตรชายให้หลงใหลในสื่อภาพยนตร์ แต่เขากลับชื่นชอบอ่านนวนิยาย Science-Fiction ในตอนแรกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ University of Toronto ก่อนเปลี่ยนมาคณะวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม Winter Kept Us Warm (1966) ถึงเริ่มค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น 16mm ร่วมก่อตั้ง Toronto Film Co-op กับเพื่อนสนิท Ivan Reitman, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Stereo (1969), Crimes of the Future (1970), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ‘body horror’ เริ่มตั้งแต่ Shivers (1975), Rabid (1977)

ผกก. Cronenberg ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ด้วยความพยายามทำให้เรือนร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation) มักจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย ไม่ก็ติดเชื้อโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ จิตวิเคราะห์ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ Sci-Fi Horror แต่บางครั้งก็สรรค์สร้างแนว Psychological Thriller, Gangster Film ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่ง

ผลงานเด่นๆ อาทิ The Brood (1979), Scanners (1981), Videodrome (1983), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) ฯลฯ

สำหรับ Videodrome (1983) ผู้กำกับ Cronenberg ได้แรงบันดาลใจจากช่วงวัยเด็กของตนเอง ชื่นชอบปรับเสารับสัญญาณ ช่วงดึกๆหลังสถานีโทรทัศน์แคนาดายุติการออกอากาศ ให้สามารถรับคลื่นความถี่จาก Buffalo, New York คาดหวังอยากพบเห็นอะไรบางอย่างที่มีความลึกลับ ซ่อนเงื่อน ไม่ต้องการเผยแพร่สูสาธารณะ

I’ve always been interested in dark things and other people’s fascinations with dark things. Plus, the idea of people locking themselves in a room and turning a key on a television set so that they can watch something extremely dark, and by doing that, allowing themselves to explore their fascinations.

The idea was born from the many night hours I spent in front of the television as a child, when I suddenly saw signals caused by interference. It was that experience that led me to imagine a man who accidentally picks up a bizarre, extreme, violent and very dangerous signal. Because of its content he becomes obsessed with it, tries to track it down and finds himself embroiled in an intricate mystery.

David Cronenberg

ช่วงต้นทศวรรษ 70s พัฒนาโปรเจคชื่อ Network of Blood ตั้งคำถามถึงความรุนแรง ภาพโป๊เปลือย สิ่งเหล่านี้สร้างอิทธิพลต่อผู้ชมโทรทัศน์เช่นไร? ต่อมาครุ่นคิดนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First-Person Persepctive) เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อมนุษย์

เมื่อปี 1977 ผู้กำกับ Cronenberg มีโอกาสกำกับตอนหนึ่งของซีรีย์ Peep Show ตั้งชื่อว่า The Victim โดยสมมติสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV (ได้แรงบันดาลใจจาก City TV ของแคนาดา) ช่วงดึกๆมักออกอากาศหนังโป๊ (soft-core sex films) หรือรายการที่เต็มไปด้วยความรุนแรง (violence films)

หลังความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงของ Scanners (1981) ทำให้ผู้กำกับ Cronenberg ได้รับโอกาสมากมายจากทาง Hollywood หนึ่งในนั้นติดต่อให้กำกับภาพยนตร์ Return of the Jedi (1983) แต่เขาบอกปัดปฏิเสธ เพราะไม่ใคร่สนใจโปรเจคของคนอื่น ซึ่งหลังจากพบเจอโปรดิวเซอร์พูดคุยผลงานเรื่องถัดไป ก็ถึงเวลายื่นข้อเสนอบทร่าง Videodrome

บทร่างแรกของ Videodrome เสร็จสิ้นเดือนมกราคม 1981 เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด เตลิดเปิดเปิงด้วยรายละเอียดที่โปรดิวเซอร์ไม่สามารถยินยอมรับไหว (แซวกันว่าถ้านำบทร่างดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ คงได้รับเรตติ้ง Triple-X (XXX)) อาทิ ฉากจุมพิตผ่านโทรทัศน์ แล้วพวกเขาก็หลอมรวมกลายเป็นวัตถุเดียวกัน แถมยังร่วมสวิงกิ้งกับคนอื่นๆ, มือของพระเอกที่กลายเป็นกระบอกปืน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ใช้มีดหั่น แล้วระเบิดให้เละเป็นผุยผง ฯลฯ

ผู้กำกับ Cronenberg ต้องการค่อยๆปรับปรุงแก้ไขบทหนังไปเรื่อยๆ แล้วจู่ๆถูกใบสั่งจากรัฐบาลแคนาดา (ที่ร่วมออกทุนสร้างหนัง) ให้เร่งรีบถ่ายทำภายในปีงบประมาณ ค.ศ. 1981 จึงจำต้องเปิดกองช่วงปลายปี โดยที่ยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าตอนจบจะลงเอยเช่นไร


Max Renn (รับบทโดย James Woods) ประธานบริษัท/เจ้าของสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV ผู้มีความหลงใหลเกี่ยวกับการจัดหาโปรแกรมฉายรอบดึก ในตอนแรกมีเพียงหนังโป๊ (soft-core sex films) จนกระทั่งลูกน้องดักสัญญาณ Videodrome พบเห็นภาพความรุนแรง นักแสดงถูกทรมานในลักษณะ Sado-masochist ทำให้เขาเกิดความชื่นชอบหลงใหล เสพติดรายการนี้โดยไม่รับรู้ตัว

ต่อมา Renn ได้รับคำเตือนจากเพื่อนร่วมงานว่า Videodrome ไม่ใช่การแสดงแต่คือ Snuff Film เล่นจริง เจ็บจริง ตายจริง! ทีแรกเขาก็อยากไม่เชื่อสักเท่าไหร่ แล้วจู่ๆกลับเริ่มพบเห็นภาพหลอน เกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าสิ่งต่างๆคือเรื่องจริง ตัวเขากำลังถูกองค์กรที่อยู่เบื้องหลังรายการนี้ไล่ล่าติดตามตัว จึงต้องหาหนทางกำจัดให้พ้นภัยทาง และท้ายที่สุด Long live the new flesh!


James Howard Woods (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Vernal, Utah โตขึ้นร่ำเรียนวิชาแพทย์ Massachusetts Institute of Technology ครุ่นคิดอยากเป็นหมอจักษุ แต่เมื่อเข้าร่วม Theta Delta Chi กลายเป็นสมาชิกชมรมการแสดง เลยตัดสินใจลาออกจาก MIT เข้าร่วมคณะการแสดง Theatre Company of Boston ค่อยๆสะสมประสบการณ์จนได้ขึ้นเวที Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Visitors (1972), The Way We Were (1973), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Onion Field (1979), Videodrome (1983), Once Upon a Time in America (1984), Salvador (1986), Casino (1995), Nixon (1995), Ghosts of Mississippi (1996) ฯลฯ

รับบท Max Renn ประธานสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV ผู้มีความลุ่มหลงใหลในกิจกรรมสนองตัณหาความใคร่ เมื่อมีโอกาสรับชม Videodrome เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น ต้องการนำออกฉายรอบดึกเรียกเรตติ้ง แต่ขณะเดียวกันกลับพยายามกีดกันแฟนสาว ‘มือถือสากปากถือศีล’ โดยไม่รู้ตัวเริ่มเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต พบเห็นภาพหลอน แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา จนมิอาจควบคุมตนเอง ท้ายสุดก็ตัดสินใจ…

Woods เป็นแฟนผู้กำกับ Cronenberg จากผลงาน Rapid (1977) และ Scanners (1981) นัดพบเจอที่ Beverly Hills แสดงความกระตือรือล้นอยากร่วมงานกันมากๆ … ผมอ่านเจอว่า Wood เป็นนักแสดงที่มีความตรงไปตรงมา เมื่อตอนทราบข่าวว่า Martin Scorsese แสดงความสนใจอย่างร่วมงาน Casino (1995) โทรศัพท์ไปที่สำนักงานฝากข้อความ “Any time, any place, any part, any fee”.

นี่เป็นบทบาทที่เต็มไปด้วยวิวัฒนาการของตัวละคร เริ่มต้นจากความกระตือรือล้น ลุ่มหลงใหล (เพราะเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ จึงค่อนข้างเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ บ้าอำนาจ เผด็จการพอสมควร) ตกหลุมรักใครก็พูดบอก แสดงออกมาโดยไม่สนอะไรใคร แต่เมื่อพบเห็นฝ่ายหญิงเกิดความชื่นชอบ Videodrome บังเกิดหวาดระแวง วิตกจริต จนเมื่อลักษณะทางกายภาพปรับเปลี่ยนแปลงไป (จากภาพหลอน) ก็แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง สูญสติแตก และที่สุดคือสิ้นความเป็นมนุษย์

เรื่องการแสดงอาจไม่โดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่ผมชอบภาพลักษณ์ของ Wood ดูเป็นคนโฉดๆ โหดเหี้ยม มาดนักเลง เก๋าเจ้ง ไม่ใช่ชายหนุ่มหน้าใสไร้เดียงสา นั่นทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกสงสารเห็นใจ เมื่อต้องประสบพบเจอเหตุการณ์ร้ายๆ สมน้ำหน้า อยากถีบส่ง เป็นการสร้างระยะห่าง(ระหว่างตัวละครกับผู้ชม)เพื่อสามารถครุ่นคิดตีความตัวละครในเชิงสัญลักษณ์


ถ่ายภาพโดย Mark Irwin (1950-) สัญชาติแคนาดา สำเร็จการศึกษาด้านภาพยนตร์จาก York University ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ Fast Company (1979) จนถึง The Fly (1986)

ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นฉากภายใน เกี่ยวกับโทรทัศน์ ต้องใช้พื้นที่จำกัด และกินไฟอย่างมาก (จนมีอยู่ครั้งหนึ่งสายไฟเคเบิลเกือบจะลุกไม้ ควันโขมงโฉงเฉงเพราะจ่ายกระแสไฟมากเกินไป) ตากล้อง Irwin บอกว่าไม่ค่อยชื่นชอบข้อจำกัดของจอโทรทัศน์สักเท่าไหร่ ทั้งเรื่องขนาดภาพ รายละเอียด และสีสันที่แสดงออกมา ทำให้เขาแทบไม่สามารถใส่ลูกเล่นอะไรกับมันได้นัก

แต่การถ่ายภาพแบบปกติก็ถือว่ายอดเยี่ยม เล่นกับพื้นที่จำกัดด้วยทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง ความมืดมิด และสีสัน ตื่นตระการตาด้วย Special/Visual Effect นำเสนผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งของตัวละคร พบเห็น ‘ภาพหลอน’ ได้อย่างเหนือจริง

โปรดักชั่นเริ่มถ่ายทำเดือนตุลาคม จนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1981 ในช่วงแรกๆถ่ายทำทุกสิ่งที่เป็น ‘monitor inserts’ ที่จะใช้ฉายในโทรทัศน์ อาทิ บทพูดของ Prof. Brian O’Billvion, ฉากทรมานใน Videodrome และหนังโป๊สองเรื่อง Samurai Dreams และ Apollo and Dionysus … ทั้งหมดสามารถหารับชมใน Special Feature ของหนังนะครับ


เห็นตัวอย่างหนัง (Trailer) มีการใส่ลูกเล่น Visual Effect ที่มีลักษณะคล้ายๆคลื่นสัญญาณปรากฎบนจอโทรทัศน์ ยุคสมัยนั้นถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจมากๆนะครับ รับชมในปัจจุบันหลายคนอาจเบือนหน้าหนี แต่ให้ถือคือวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารก็แล้วกัน

เกร็ด: Visual Effect ที่พบเห็นในตัวอย่างหนัง สร้างโดยเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด ทันสมัยสุดขณะนั้น Commodore 64 ถือเป็น 8-bit Home Computer (RAM 64 kilobytes, จอ 16 สี ขนาด 320×200) เห็นว่ารุ่นนี้ลง Guinness World Records ว่าเป็นโมเดลขายดีที่สุดในโลก (ขณะนั้น)

‘film within film’ เรื่อง Samurai Dreams ถ่ายทำด้วยระบบเทป Betamax โดยไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ บางฉบับของหนังที่ถูกเซนเซอร์ ขณะถอดชุดตุ๊กตากิโมโนนี้ออกจะไม่พบเห็นดิลโด้ (dildo) ใครอยากรับชมเต็มๆให้หาซื้อแผ่น Blu-Ray ฉบับบูรณะล่าสุด พบเห็นอยู่ใน Special Feature … ยังไม่มีใครนำมาโพสขึ้น Youtube นะครับ

แล้วทำไมต้องเกอิชา? ทำไมต้อง Samurai Dream? นี่สะท้อนโลกทัศน์ชาวตะวันตกยุคสมัยนั้น (แคนาดาก็ไม่ละเว้น) เพราะทวีปเอเชียยังเป็นดินแดนห่างไกล(ความเจริญ) ประเทศญี่ปุ่นก็คล้ายๆ ‘Bang-kok’ ที่พวกคนขาวมองว่าคือดินแดนแห่งโสเภณี เต็มไปด้วยหญิงสาวค้าบริการ ยิ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใครได้เป็นทหารประจำการ ‘Occupation of Japan’ คงคือประสบกามไม่รู้ลืม

ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Cronenberg แทบทุกเรื่องจะต้องมีตัวละครที่เป็นศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ สำหรับพูดอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไป (ทางวิชาการ) มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น สำหรับ Videodrome (1983) ก็คือตัวละคร Dr. Brian O’Blivion แค่นามสกุลก็บอกใบ้อะไรหลายๆ (Oblivion คือสภาพการสูญเสียสติ ไม่รับรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก่อนหน้า)

The television screen has become the retina of the mind’s eye. That’s why I refuse to appear on television except on television. Of course, O’Blivion is not the name I was born with. That’s my television name. Soon all of us will have special names names designed to cause the cathode ray tube to resonate.

Dr. Brian O’Blivio

หลายๆคำพูดของ Dr. O’Blivion ฟังดูล้ำอนาคต แต่เราสามารถเปรียบเทียบถึงปัจจุบันได้ไม่อยาก อาทิ ชื่อเรียก ‘Television Name’ ในแวดวงสังคมออนไลน์ก็คือนามแฝง raremeat.blog, ณ.คอน ลับแล ฯลฯ ทุกคนที่เล่นอินเตอร์เน็ตต่างก็มี Avatar ของตนเองทั้งนั้น

นั่นรวมถึงตัวตนแท้จริงของ Dr. O’Blivion ที่ได้เสียชีวิตไปหลายปีก่อน แล้วได้ทำการบันทึกเทปจำนวนมหาศาลเก็บไว้ ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึง @Sugree ผู้มาก่อนกาล แม้เลิกเล่น Twitter ไปนมนาน แต่ใครต่อใครยังคง Retweet อ้างอิงคำพูดที่สอดคล้องเหตุการณ์ปัจจุบัน แสดงถึงประวัติศาสตร์มันเอาแต่ซ้ำรอยเดิม ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงใดๆ

แค่การสวมชุดสีแดงของ Nicki Brand (ไม่โชว์ส่วนเว้าส่วนโค้ง โป๊เปลือยอวัยวะส่วนไหนเลยนะ) ยุคสมัยนั้นถือว่ามีความยั่วเย้ายวน รันจวนใจ แสดงออกถึงความต้องการทางเพศที่เร่าร้อนรุนแรง เชื้อเชิญหนุ่ม(หล่อ)ให้มาลุ่มหลงใหล … ผิดกับสมัยนี้ แทบจะล่อนจ้อนไม่สวมอะไร กลับไม่เห็นมีใครว่ากล่าวตักเตือน เพราะถูกมองว่าคือเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะที่ฝ่ายหญิงมักแสดงออกทางกายภาพ ภาษากาย Max Renn ก็ใช้คำพูดเกี้ยวพาราสี ทั้งๆขณะนี้กำลังออกอากาศรายการสดทางโทรทัศน์ โดยไม่ยี่หร่าพิธีกร แขกรับเชิญ หรือแม้แต่ผู้ชมทางบ้าน นี่ถือว่าสันดานธาตุแท้ของเขา ไม่มีอะไรต้องปกปิดบัง ชีวิตจริง-บนจอโทรทัศน์ เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ล้วนสนเพียงตอบสนองตัณหาความต้องการส่วนตนเท่านั้น

ความเจ็บปวดกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้จริงหรือไม่? อันนี้ถือเป็น ‘รสนิยมส่วนบุคคล’ สำหรับคนที่ชื่นชอบความตื่นเต้น เร้าใจ มองหาประสบการณ์(ทางเพศ)ใหม่ๆ การถูกทรมาน Sado-masochist ย่อมสามารถกระตุ้นความรู้สึก พึงพอใจ ตอบสนองความใคร่ได้อย่างแน่นอน … แต่คนไม่ชอบความเจ็บปวดก็มีนะครับ อย่าไปครุ่นคิดว่าทุกจะต้องมีรสนิยม โหยหาประสบการณ์แปลกใหม่เหมือนๆกันไปหมด

สังเกตว่าฉากนี้รอบข้างจะปกคลุมด้วยความมืดมิด และมีเพียงแสงสีแดง(น่าจะจากเบื้องบน)อาบฉาบลงไปยังตัวละคร เพื่อสื่อถึงความเจ็บปวด ความรุนแรง Sado-masochist สามารถตอบสนองอารมณ์ทางเพศของพวกเขา

และตอนจบของซีเควนซ์นี้เมื่อทั้งสองเริ่มมีเพศสัมพันธ์ จู่ๆพื้นหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากห้องพักของ Max Renn มาเป็นฉากในรายการ Videodrome เพื่อสื่อถึงการลอกเลียนแบบ (ใช้ความเจ็บปวดกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ) ทำให้ชีวิตจริงไม่แตกต่างจากสิ่งที่พบเห็นในจอโทรทัศน์/ภาพยนตร์

ในหนังยังมี ‘film within film’ อีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า Apollo and Dionysus ทั้งสองคือนักเขียน นักปรัชญาชาว Greek ปรากฎอยู่ในปรัมปรา The Birth of Tragedy และต่างเป็นบุตรชายของ Zeus จากคนละภรรยา

  • Apollo เทพเจ้าแห่งแสงและดวงอาทิตย์ สัจจะและคำพยากรณ์ การรักษา โรคระบาด แพทยศาสตร์ กวี ดนตรี ศิลปะ และความรู้
  • Dionysus เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยวองุ่น การทำไวน์ เทศกาลรื่นเริง การละคอนและปีติสาสนติ์

หนังไม่ได้นำเสนอรายละเอียดหนังโป๊เรื่องนี้มากนัก แค่พอสังเกตได้ว่ามีเรื่องราวขณะกำลังจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการกินดื่ม เฉลิมฉลอง และเพศสัมพันธ์ … นัยยะคงต้องการสื่อถึงเพศสัมพันธ์ของเทพเจ้า ซึ่งคงเป็นสิ่งเหนือจินตนาการเกินกว่ามนุษย์จะสามารถรับรู้เข้าใจ

จุดเริ่มต้นความผิดปกติของ Max Renn จู่ๆครุ่นคิดว่าตนเองตบหน้าอดีตแฟนสาว ซึ่งหนังก็จงใจแสดงภาพนั้นให้เห็นถึงสองครั้ง แถมปรากฎใบหน้าของ Nicki Brand สวมชุดแดงแรงฤทธิ์ แต่แท้จริงแล้วเขายังไม่ได้ทำอะไรกับเธอ ทั้งหมดนี้แค่เพียงอาการเห็นภาพหลอนๆ (Hallucination) ครั้งแรกๆยังถือว่าแค่ตาฝาด

แต่ครั้งที่สองเกิดขึ้นต่อทันทีเมื่อเขาหยิบวีดิโอเทปของ Dr. Brian O’Blivion จู่ๆมันเกิดความบิดเบี้ยว ผิดรูปผิดร่างขึ้นมา ได้ยังไงกัน?

คำอธิบายงานสร้างฉากนี้ ‘breathing screen’ ตามความเข้าใจของผมก็คือทำการติดตั้งเครื่องฉาย Rear Projection ไว้ภายในโทรทัศน์ แล้วฉายริมฝีปากของ Deborah Harry ที่ถ่ายทำไว้บนฉากผืนผ้าใบยาง สามารถเป่าลมเข้าไปทำให้โป่งพองออกมา

นัยยะของฉากนี้แสดงถึง Max Renn ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง กอดจูบลูบไล้ มีเพศสัมพันธ์กับ Nicki Brand ที่อยู่ในรายการโทรทัศน์ Videodrome แต่เขากลับติดอยู่เพียงภายนอก ยังไม่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง … เพราะนี่ยังแค่อาการหลอนระดับแรกเท่านั้น

นอกจากนี้ริมฝีปากยังมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ขณะที่ศีรษะของ Max Renn ก็คือลึงค์/อวัยวะเพศชาย มุดเข้าไปแสดงถึงความหมกมุ่น มักมาก ถวายศีรษะให้กับเธอคนนี้ พร้อมยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

ภาพหลอนลำดับถัดมาคือเกิดช่องว่างบริเวณกึ่งกลางลำตัว ลักษณะของมันแลดูเหมือนแคมอวัยวะเพศหญิง และโดยไม่ทราบสาเหตุ Max Renn นำเอาปืน (ซึ่งคือสัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย) ค่อยๆยัดใส่เข้าไป เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง ตอบสนองตัณหาความใคร่ สัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์ … แม้ไม่ใช่บริเวณอวัยวะเพศ แต่ส่วนท้องไส้คือตำแหน่งของการ ‘บริโภค’ พร้อมรับ(ประทาน)ทุกสิ่งอย่าง

ซีเควนซ์นี้เป็นการผสมผสานระหว่างงานทำมือ Special Effect สร้างเนื้อหนัง อวัยวะปลอมขึ้นมาติดกับร่างกายของ Wood แล้วแต่งเติมให้ดูสมจริงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Visual Effect) … เจ้าตัวเล่าว่านี่เป็นประสบการณ์ยากจะลืมเลือน จนไม่อยากเล่นหนังที่ต้องเปลืองร่ายกายขนาดนี้อีก

เครื่องครอบศีรษะนี้ Videodrome Helmet ช่างดูละม้ายคล้าย VR (Visual Reality) อุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือน เลือนลางระหว่างชีวิตจริง-จินตนาการเพ้อฝัน เพียงข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ภาพแรกๆที่มองเห็นเลยมีลักษณะเป็นเหลี่ยมๆ 8-bit ก่อนเกิดการแปรสภาพสู่ภาพจริงๆ เพื่อสื่อว่า Max Renn ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งบนโลกเสมือนแห่งนี้ … เป็นความเลือนลางระหว่างภาพหลอนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้โลกเสมือนราวกับจับต้องได้

แซว: James Wood ปฏิเสธสวมใส่เครื่องครอบศีรษะ Videodrome Helmet เพราะกลัวถูกไฟดูด เลยต้องใช้นักแสดงแทนเข้าฉาก

มันอาจดูไม่สมเหตุสมผลถึงการใช้แส้ฟาดจอโทรทัศน์ มันจะมอบสัมผัสอะไรยังไง? แต่ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์หลังจาก Max Renn สวมเครื่อง VR เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือน ทุกสิ่งอย่างมันจึงเลือนลางเข้าหากัน สังเกตพื้นผิวบนโทรทัศน์ (รวมถึงผนังกำแพงด้านหลัง) มันคือนัยยะของ ‘New Flesh’ เนื้อหนังที่สามารถสร้างสัมผัสอันเหนือจริง ภาพในจินตนาการที่รู้สึกเหมือนจับต้องได้

ขณะเดียวกันบุคคลที่อยู่ในจอโทรทัศน์ นี่เช่นกันคือความสับสน เลือนลางในจินตนาการของ Max Renn ใคร่อยากครอบครองสาวสวย Nicki Brand แต่กลับได้หญิงชรา Masha ตื่นขึ้นมาถูกมัดมือมัดเท้านอนอยู่บนเตียง … แต่ทั้งหมดนี้ก็แค่ภาพหลอน เพียงเพ้อฝันไป (ในห้องที่เต็มไปด้วยเงาบานเกล็ด สื่อถึงการถูกคุมขังอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน)

จากเคยแค่พบเห็นภาพหลอน (Hallucination) ค่อยๆบังเกิดความเลอะเลือน เข้าใจอะไรผิดๆ (Delusion) ครุ่นคิดว่าเพื่อนร่วมงาน บุคคลต่างๆที่เคยพบเจอ(ปรากฎในหนัง) ล้วนคือผู้อยู่เบื้องหลัง วางแผนล่อหลอก Max Renn ให้รับชม Videodrome แล้วล้มป่วยโรคมะเร็ง อีกไม่นานก็จักเสียชีวิตจากไป สูญเสียกรรมสิทธิ์ในสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV

ตั้งแต่ฉากนี้ผมก็เริ่มแยกแยะไม่ออกแล้วว่าอะไรคือความจริง หรือภาพหลอนเข้าใจผิดของ Max Renn แต่อย่างไหนก็ไม่สลักสำคัญ เพียงเข้าใจพฤติกรรม/วิวัฒนาการตัวละคร มาถึงจุดเลอะเลือน สูญเสียสติแตก กำลังจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป

แซว: ม้วนวีดิโอที่เห็นนี้คือ Betamax ไม่ใช่ VHS (Video Home System) เพราะมีขนาดเล็กกว่า จึงสามารถยัดใส่ช่องแคมหน้าท้องที่สร้างขึ้นมาพอดิบดี

หลังจากที่ Max Renn ล้วงปืนออกมาจากกระเพาะของตนเอง จู่ๆมันก็งอกเงยยึดติดกับมือขวา สื่อถึงการผสมผสานระหว่างร่างกาย(ชีวภาพ)กับวัตถุสิ่งของ ให้กลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน … นี่อาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่ให้ลองนึกถึงคนพิการที่ใช้แขนขาเทียม นั่นก็คือวัตถุกลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายมนุษย์ แนวคิดไม่ต่างกันนะครับ!

ปืนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมือ มันยังคงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงลึงค์/อวัยวะเพศชาย แต่ครานี้เมื่อถูกนำไปใช้เข่นฆาตกรรมผู้อื่น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพล ‘ชายเป็นใหญ่’ ซึ่งล้วนเกิดจากความเลอะเลือน (delusion) ของ Max Renn ครุ่นคิดว่าใครต่อใครคือศัตรู อาฆาตมาดร้ายต่อตนเอง

มีอีกช็อตหนึ่งที่น่าสนใจ คือจอโทรทัศน์ยื่นอะไรบางอย่างออกมา มองเผินๆเหมือนมือถือปืน ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย สามารถสื่อถึงการกำลังจะผสมผสาน กลายเป็นส่วนหนึ่ง หรือคือเพศสัมพันธ์กับ Max Renn เพื่อให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome … ล้อกับปืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมือขวาของ Max ได้ตรงๆเลย

Barry Convex คือเจ้าของกิจการร้านตัดแว่น Spectacular Optical Corporation และน่าจะเป็นผู้พัฒนาเครื่อง VR สำหรับสร้างโลกเสมือน เพื่อมอบสัมผัสเหนือจินตนาการ แต่ความเลอะเลือนของ Max Renn ครุ่นคิดว่าเขาบุคคลอยู่เบื้องหลัง Videodrome เลยต้องการเข่นฆาตกรรมปิดปาก ยังงานเลี้ยงที่มีฉากพื้นหลัง Michelangelo: The Creation of Adam (สื่อถึงสัมผัสอันเหนือจริง มนุษย์กับพระเจ้า แนวคิดคล้ายๆ ‘film within film’ เรื่อง Apollo and Dionysus) และปรากฎสองข้อความ

The eye is the window of the soul.
Love comes in at the eye.

ทั้งสองประโยคต่างล้อกับคำพูดของ Dr. Brian O’Blivion เคยกล่าวไว้ว่า The television screen has become the retina of the mind’s eye. เพื่อสื่อถึงยุคสมัยนี้ ภาพยนตร์คือหน้าต่างของจิตวิญญาณ, ความรักมาพร้อมกับสิ่งที่เรารับชมในรายการโทรทัศน์!

ผมมองลักษณะการตายของ Barry Convex คือภาพหลอนในจินตนาการของ Max Renn มันจึงพบเห็นความเน่าเปื่อย ผุพอง ย่อยสลายออกมาโดยทันที เพื่อสื่อว่าชายคนนี้ไม่ใช่มนุษย์ แต่คือ ‘New Flesh’ ถือกำเนิดขึ้นจาก Videodrome

เกร็ด: ผู้ทำ Special Effect ให้กับหนังคือ Rick Baker (1950-) นักแต่งหน้า Special Make-Up Effects ชาวอเมริกัน เคยคว้ารางวัล Oscar: Best Makeup จากภาพยนตร์เรื่อง An American Werewolf in London (1981) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Ed Wood (1995), Men in Black (1998), How the Grinch Stole Christmas (2000), Planet of the Apes (2001) ฯลฯ

การตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตของ Max Renn ด้วยข้ออ้างเพื่อให้ตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome (จากคำล่อลวงของ Nicki Brand) และถือกำเนิดใหม่ในฐานะ ‘New Flesh’ คำพูดสุดท้ายของเขาจึงคือ ‘Long Live the New Flesh!’ ยินดีกับการกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกสรรพสิ่งอย่าง … แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันคืออาการหลอกหลอน สูญเสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้ (Mental Breakdown) ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ตอนจบแบบดั้งเดิมที่ผู้กำกับ Cronenberg ครุ่นคิดเคยไว้ในบทหนัง, Max Renn จักถือกำเนิดใหม่ในจอโทรทัศน์ ร่วมกับ Nicki Brand และ Bianca O’Blivion ทั้งสามต่างมีแคมบนหน้าท้อง จากนั้นกระทำการ ‘Sex Orgy’ แล้วผสมผสานรวมตัวจนกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกันทั้งหมด (แอบนึกถึงอนิเมะเรื่อง Paprika (2006) ขึ้นมาทันที!) แต่ที่ต้องล้มเลิกความครุ่นคิดดังกล่าว เพราะไม่รู้จะทำ Special/Visual Effect ออกมายังไง

After the suicide, [Max] ends up on the ‘Videodrome’ set with Nicki, hugging and kissing and neat stuff like that. A happy ending? Well, it’s my version of a happy ending – boy meets girl on the ‘Videodrome’

David Cronenberg

ตัดต่อโดย Ronald Sanders สัญชาติแคนาดา ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ผลงาน Fast Company (1979)

หนังดำเนินเรื่องผ่านสายตาของ Max Renn ในลักษณะมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (First-Person Persepctive) เพื่อนำเสนออิทธิพลของสื่อโทรทัศน์ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจมนุษย์ พานผ่าน 5 ระยะ (ลักษณะคล้ายๆ The Shape of Rage ของ The Brood (1979))

  • ช่วงเวลาอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
    • Renn กำลังมองหาสิ่งสามารถกระตุ้นความสนใจของตนเอง
    • พบเจอรายการ Videodrome ที่สร้างความลุ่มหลงใหล ต้องการนำออกฉายรายการดึก
  • เกิดความหวาดระแวง (Paranoid)
    • แฟนสาวแสดงความสนใจรายการ Videodrome ใคร่อยากจะถูกกระทำแบบนั้นบ้าง แต่ Renn พยายามสั่งห้ามปราม
    • ขณะเดียวกันเขาก็พยายามสืบเสาะค้นหาเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของ Videodrome
  • พบเห็นภาพหลอน (Hallucination)
    • จู่ๆก็เริ่มพบเห็นภาพหลอนจากม้วนวีดีโอ จอโทรทัศน์บิดๆเบี้ยวๆ
    • รับรู้ความจริงของ Videodrome จาก Dr. Brian O’Blivion
  • บังเกิดความเลอะเลือน เข้าใจอะไรผิดๆ (Delusion)
    • Renn เริ่มไม่สามารถแยกแยะความจริง-ภาพหลอน
    • ครุ่นคิดว่ามีกลุ่มอาชญากรที่สร้าง Videodrome เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง รวมถึงลูกน้องคนสนิทที่เปิดรายการดังกล่าวให้รับชม
  • สูญเสียสติแตก (Mental Breakdown)
    • (ครุ่นคิดว่า) จัดการเก็บกวาดล้างสมาชิกของ Videodrome
    • และตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง เพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome

‘สไตล์ Cronenberg’ โดดเด่นในการลำดับเหตุการณ์ เน้นสร้างความลึกลับ ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กละน้อย ชักชวนให้ผู้ชมใคร่อยากติดตาม แม้เรื่องราวอาจไม่ได้สลับซับซ้อน แต่ยังมี Special/Visual Effect ที่ทำให้ตกตะลึง อ้าปากค้างอยู่บ่อยครั้ง

ความที่หนังได้เรต R และ X ในหลายๆประเทศ จึงมีหลายๆฉากที่ถูกกองเซนเซอร์หั่นออกไป ส่วนนี้มีรายละเอียดเยอะมากๆแต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่เราควรสมใจ แนะนำให้มองหา ‘director’s cut’ ฉบับสมบูรณ์สุดความยาว 89 นาที แค่นี้ก็พอนะครับ


เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์ได้รับคำชักชวนจาก David Cronenberg เริ่มต้นครั้งแรก The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ

ช่วงแรกๆของหนังจะยังมีการใช้บทเพลงคลาสสิก บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา เต็มไปด้วยความลึกลับ สร้างความพิศวงสงสัย ปั่นป่วนทรวงใน จากนั้นค่อยๆแทรกใส่เสียงสังเคราะห์จากเครื่อง Synclavier II ช่วงท้ายหลงเหลือเพียงเสียงเหมือนสัญญาณไฟฟ้า เพื่อสื่อถึงวิวัฒนาการตัวละครมาจนถึงจุดไม่สามารถแยกแยะออกว่าโลกความจริง หรือภาพหลอน/จินตนาการเพ้อฝัน

สำหรับอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ ดั้งเดิมนั้นจะมีแค่ Original Soundtrack วางขายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 แต่เพิ่งมีการจัดจำหน่าย La-La Land Limited Edition พร้อมๆการบูรณะเมื่อปี ค.ศ. 2022

  • Original Soundtrack แต่จริงๆคือการนำเอาบทเพลงที่ใช้ในหนังมาเรียบเรียง บันทึกเสียงใหม่ (ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Image Album แต่ทำขึ้นภายหลัง) มีทั้งหมดเพียง 7 บทเพลง
  • La-La Land Limited Edition เป็นการนำเอาบทเพลงที่ใช้ในหนังจริงๆ มาแยกเป็นแทร็กๆทั้งหมด 17 บทเพลง

ผมขอเริ่มที่บทเพลง Piercing (ฉากเจาะหูระหว่าง Max Renn กำลังจะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนสาว Nicki Brand) เต็มไปด้วยบรรยากาศลึกลับ แต่ท่วงทำนองยังคงเป็นดนตรีคลาสสิก บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา

Gun in Gut ใช้เพียงเสียงสังเคราะห์ เพื่อสื่อถึงการกระทำของตัวละครขณะนี้ ยัดกระบอกปืนเข้าไปในท้องไส้ของตนเอง นั้นคือภาพหลอน (Hallucination) เกิดขึ้นจากจินตนาการ ไม่ใช่เหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริง เป็นบทเพลงมอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ เต็มไปด้วยความหลอกหลอน ปั่นป่วนมวนท้องไส้ อึดอัดอั้นทรวงใน

ทิ้งท้ายด้วยบทเพลง The New Flesh ที่ก็มีเพียงเสียงสังเคราะห์ บรรเลงด้วยท่วงทำนองง่ายๆ ค่อยๆไต่ระดับตัวโน๊ตขึ้นสูงเรื่อยๆ มอบสัมผัสของการถือกำเนิด เริ่มต้นใหม่ ก้าวสู่ ‘New High’ หรือ ‘New Flesh’ เนื้อหนังที่เหนือจินตนาการ จับต้องไม่ได้ เกินกว่ามนุษย์จะสามารถทำความเข้าใจ

Videodrome deals with the impression of a sprawlingly technological world on our human senses; the fascination and horror of sex and violence; and the boundaries of reality and consciousness.

นักวิจารณ์ Tim Lucas

Videodrome shows us a world of technological hyperdevelopment in which people merge with their electronic media. Like an autoimmune catastrophe, the boundary between our bodies and what’s outside them becomes indistinguishable.

นักวิจารณ์ Gary Indiana

ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน (ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ เครือข่ายมือถือ อินเตอร์เน็ต ฯ) ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันยุคทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็แลกมากับความหมกมุ่น เสพยึดติด จิตใจเร่าร้อนรน อีกทั้งการบริโภคข่าวสารปริมาณมาก จักเริ่มไม่สามารถแยกแยะจริงหรือเท็จ ความถูกต้องเหมาะสมควรได้อีกต่อไป

Videodrome (1983) นำเสนอวิวัฒนาการของมนุษย์ เมื่อบริโภคข้อมูลข่าวสารไม่หยุดหย่อน เพราะสื่อสมัยนั้น-นี้นิยมนำเสนอแต่ ….

  • เรื่องทางเพศ (Sex) ภาพโป๊เปลือย นุ่งน้อยห่มน้อย อ้างว่านั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก
  • ความรุนแรง (Violence) ทั้งจากภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ รวมถึงรายการข่าว ผัวเมียตบตี วัยรุ่นกับคู่อริ คลุ้มคลั่งจากเสพยาเกินขนาด ก่อการจราจล ประท้วงบนท้องถนน ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้มนุษย์เกิดความเฉื่อยชินชา เริ่มไม่ตระหนักรับรู้สึกแล้วว่าพฤติกรรมเหล่านั้น ถูก-ผิด ดี-ชั่วตามหลักศีลธรรมศาสนา หรือกฎหมายบ้านเมืองอีกต่อไป (เพราะพบเห็นใครๆก็นิยมกระทำกัน) เมื่อไม่สามารถแยกแยะก็เท่ากับเป็นการผสมผสาน ระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งชีวิต-ภาพยนตร์ ก็จักกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน

Max Renn มีความลุ่มหลงใหลต่อรายการ Videodrome ค้นพบว่ามันสามารถกระตุ้นความรู้สึก บังเกิดอารมณ์ทางเพศ ทำให้สามารถร่วมรักแฟนสาวได้อย่างถึงอกถึงใจ แต่เมื่อพานผ่านประสบการณ์ครั้งแรก จึงต้องการสัมผัสอันเร่าร้อนรุนแรงยิ่งๆขึ้นไปอีก

ทุกภาพหลอนของตัวละคร สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์ ยื่นหน้าเข้าไปจุมพิตริมฝีปากบนจอโทรทัศน์ เอาปืน(สัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย)ยัดใส่หน้าท้องที่มีลักษณะเหมือนอวัยวะเพศหญิง ฯลฯ เหล่านี้เพื่อให้ได้นัยยะของการผสมผสาน กลายเป็นอันหนึ่งเดียว และท้ายสุดเมื่อตัดสินใจฆ่าตัวตาย ก็จักกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Videodrome ปรากฎบนหน้าจอโทรทัศน์

สำหรับผู้กำกับ Cronenberg นอกจากเติมเต็มความเพ้อฝัน ประสบการณ์วัยเด็ก ดูเหมือนเขาจะไม่ได้สนใจอะไรจริงจังกับประโยชน์-โทษของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน แค่ตั้งคำถามให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ไม่มีคำแนะนำ ไม่มีหนทางออก เพียงนำเสนองานศิลปะชั้นสูง ‘high art’ ที่ทำการผสมผสานชีวิตจริงเข้ากับสื่อภาพยนตร์ นามธรรมสู่รูปธรรม เท่านั้นเอง

เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้วนะครับ แม้มันไม่ได้อันตราย หรือกลายเป็นอย่างปรากฎใน Videodrome (1983) แต่ก็ทำให้มนุษย์มีความเฉื่อยชาทางอารมณ์ มุมมองโลกทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง เห็นผิดเป็นชอบ เทิดทูนเงินทอง ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม ผมว่าชีวิตจริงเลวร้ายยิ่งกว่าเรื่องราวในหนังเสียอีกนะ!


ความสำเร็จของ Scanners (1981) ทำให้หนังได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นกว่าเก่าถึง $5.9 ล้านเหรียญ เสียงตอบรับถือว่าค่อนข้างดีเยี่ยม แต่ผลลัพท์กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่เพียง $2.1 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน

เมื่อเข้าฉายในเทศกาลหนัง Brussels International Festival of Fantasy Film สามารถคว้ารางวัล Best Science-Fiction Film เคียงคู่กับ Bloodbath at the House of Death (1984) นอกจากนี้ยังได้เข้าชิง Genie Awards (รางวัล Oscar ของประเทศแคนาดา) อีกหลายสาขา

  • Best Director ** คว้ารางวัล
  • Best Supporting Actress (Sonja Smits)
  • Best Supporting Actor (Leslie Carlson)
  • Best Supporting Actor (Peter Dvorsky)
  • Best Screenplay
  • Best Cinematography
  • Best Film Editing
  • Best Art Direction

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K Ultra HD เพิ่งจัดจำหน่าย Blu-Ray เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 โดยค่าย Arrow Video, ส่วนฉบับของ Criterion Collection ยังเป็นแค่ High-Definition คงต้องรอกันอีกสักพักใหญ่ๆ

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจในวิสัยทัศน์ ความครุ่นคิดสร้างสรรค์ Special/Visual Effect ตื่นตระการตา โดยเฉพาะไดเรคชั่นผู้กำกับ Cronenberg ทำออกมาอย่างน่าติดตาม เป็นลำดับขั้นตอน อาจหลอกหลอนสำหรับผู้ชมบางคน แต่สำหรับผมพบเห็นแต่ความลุ่มหลงใหล สัมผัสเหนือจินตนาการ

แนะนำคอหนัง Sci-Fi, Body Horror, ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์, มอบสัมผัสเหนือจริง (Surreal), ทำงานเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ สื่อสารมวลชน ภาพยนตร์เองก็เช่นเดียวกัน, นักออกแบบงานสร้าง Special/Visul Effect สำหรับสร้างแรงบันดาลใจ

จัดเรต 18+ จากการฉายหนังโป๊ ฉากทรมาน และความเลือนลางที่โคตรหลอกหลอน

คำโปรย | Videodrome ผสมผสานระหว่างชีวิต-โทรทัศน์-ภาพยนตร์ และความเพ้อฝันของผู้กำกับ David Cronenberg กลายเป็นเนื้อหนังใหม่ (New Flesh) มอบสัมผัสเหนือจินตนาการ
คุณภาพ | นื้ม่
ส่วนตัว | สัมผัสเหนือจินตนาการ

Alphaville (1965)


Alphaville (1965) French : Jean-Luc Godard ♥♥♥♡

โลกอนาคตที่วิทยาศาสตร์ เหตุผลและตรรกะคือทุกสิ่งอย่าง อารมณ์จักกลายเป็นภาระต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก เช่นนั้นแล้วมนุษย์จะยังรับรู้จักความรัก มีอิสรภาพในการครุ่นคิดแสดงออกได้อย่างไร? คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

โคตรหนังไซไฟ (Science-Fiction) แห่งโลกอนาคต แต่กลับไร้ซึ่ง Visual Effect หรือก่อสร้างในสตูดิโอสักฉากเดียว! ทั้งหมดถ่ายทำบนท้องถนนกรุง Paris ช่วงทศวรรษ 60s ยังสถานที่ที่มีการออกแบบ/สถาปัตยกรรมดูล้ำยุคสมัย รับชมปัจจุบัน (ศตวรรษที่ 21) ยังรู้สึกถึงความ Modern อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

Alphaville is science fiction without special effects. Godard couldn’t afford them in 1965 or ever, but he probably wouldn’t have wanted them even if he’d had unlimited financing.

Andrew Sarris นักวิจารณ์จาก New York Observer

แต่ความลึกล้ำของ Alphavile (1965) อาจไกลเกินสำหรับผู้ชมทั่วๆไป ต้องคอหนังไซไฟระดับ Hardcore ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ หลงใหลคลั่งไคล้สไตล์ Godardian และควรต้องให้เวลากับหหนังพอสมควร (ผมเองยังต้องดูถึงสองรอบ ถึงสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาสาระหลักๆ)

นอกการแนวคิดความขัดแย้งระหว่าง Logic/Reason vs. Imagination/Emotion ผู้กำกับ Godard ยังพยายามจินตนาการอนาคตของ Modern Cinema เมื่อทุกสิ่งอย่างได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นหลักการ ทฤษฎี สูตรสำเร็จ มันจะยังหลงเหลืออดีต สิ่งอันใดให้จดจำ? ปิดท้ายไตรภาค ‘วงการภาพยนตร์’ (อันนี้ผมครุ่นคิดขึ้นเองนะครับ)

  • Contempt (1963) จดหมายรักถึงอดีตที่กำลังสูญสิ้นไป
  • Bande à part (1964) ปลุกตื่นจากความเพ้อฝันร้าย
  • Alphaville (1965) อนาคตแห่งความหมดสิ้นหวัง

Jean-Luc Godard (1930-2022) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ French-Swiss เกิดที่กรุง Paris บิดาเป็นนายแพทย์ชาว Swiss ฐานะร่ำรวย ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบลี้ภัยอยู่ Switzerland, เริ่มรู้จักภาพยนตร์จากการอ่านบทความ Outline of a Psychology of Cinema เขียนโดย André Malraux ตามด้วยความสนใจนิตยสาร La Revue du cinéma จากนั้นเริ่มมีโอกาสพบปะผู้คนในวงการ, เมื่อปี 1950 สมัครเข้าศึกษาคณะมานุษยวิทยา University of Paris แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เพราะไปหมกตัวอยู่ Ciné-Clubs ตามด้วย Cinémathèque Française รับรู้จักบรรดาพรรคเพื่อนผู้หลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ François Truffaut, Jacques Rivette, Claude Chabrol, เคยร่วมกับ Éric Rohmer ก่อตั้งวารสาร La Gazette du cinéma แต่อยู่รอดแค่เพียงห้าฉบับ! จากนั้นได้รับคำชักชวนจาก André Bazin กลายเป็นนักวิจารณ์(คนแรกของกลุ่มที่ได้)ตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma ระหว่างนั้นก็ทดลองทำหนังสั้น และกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Breathless (1960) ** ได้รับการยกย่องว่าคือจุดเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ (Modern Cinema)

ระหว่างสรรค์สร้าง Bande à part (1964) ผู้กำกับ Godard และ Karina แม้สามารถเกี่ยวก้อยคืนดี ย้ายเข้าไปอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังใหม่ร่วมกัน แต่เมื่อเธอเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ The Thief of Tibidado (1965) กำกับและนำแสดงโดย Maurice Ronet แอบลักลอบสานสัมพันธ์ คบชู้นอกใจ เอาจริงจังถึงขนาดยื่นใบหย่าสามี ได้รับการตอบอนุมัติวันที่ 21 ธันวาคม 1964

แม้ทั้งสองจะตกลงหย่าขาดกันแล้ว แต่ผู้กำกับ Godard ยังคงคาดหวังใช้ภาพยนตร์เรื่องถัดไป Alphaville (1965) ในการโน้มน้าวชักจูง Karina ด้วยการล้างสมอง (ตัวละครถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ Alpha 60) แล้วพร่ำสอนให้เรียนรู้จักนิยามความหมายของคำว่ารัก

เรื่องราวของ Alphaville (1965) ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละคร Lemmy Caution อดีต FBI สัญชาติอเมริกัน ผันตัวมาเป็นนักสืบเอกชน เริ่มต้นจากนวนิยาย This Man Is Dangerous (1936) แต่งโดยนักเขียนชาวอังกฤษ Peter Cheyney (1896–1951) แล้วมีภาคต่อทั้งหมด 11 เล่ม!

แม้ตัวละครเป็นชาวอเมริกัน แต่งโดยนักเขียนอังกฤษ แต่กลับได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยประเทศฝรั่งเศส เริ่มต้นจากหนังรวมนักสืบ Brelan d’as (1952) นำแสดงโดย John van Dreelen, แล้วกลายเป็นหนังซีเรียล (Serial Film) La môme vert de gris (1953) นำแสดงโดย Eddie Constantine มีทั้งหมด 7 ภาค ก่อนมาถึง Alphaville (1965)

  • La môme vert de gris (1953) แปลว่า Poison Ivy
  • Cet homme est dangereux (1953) แปลว่า This Man is Dangerous
  • Les femmes s’en balancent (1954) แปลว่า Dames Get Along
  • Vous pigez? (1955) แปลว่า Diamond Machine
  • Comment qu’elle est! (1960) แปลว่า Women Are Like That
  • Lemmy pour les dames (1962) แปลว่า Ladies’ Man
  • À toi de faire… mignonne (1963) แปลว่า Your Turn, Darling

ทั้ง 7 เรื่องนี้ Constantine รับบท Lemmy Caution ในสไตล์หนังนัวร์ เป็นคนเฉลียวฉลาด มากด้วยไหวพริบ (witty) เจ้าเล่ห์เพทุบาย (crafty) และยังเป็นเสือผู้หญิง (womanizer) เข้าหาด้วยแก้ววิสกี้ มืออีกข้างถือบุหรี่ แต่เมื่อต้องเผชิญหน้าอาชญากร มีความแน่วแน่ชัดเจนต่อสิ่งที่ตนเองครุ่นคิดว่าถูกต้อง … ตัวละครนี้ได้รับฉายาว่า “James Bond before James Bond”

แต่เมื่อ Lemmy Caution มาอยู่ในเงื้อมมือผู้กำกับ Godard ได้ทำการปรับเปลี่ยนบุคลิก ภาพลักษณ์ จนแทบไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิม (นอกจากนำแสดงโดย Eddie Constantine) ทั้งยังดำเนินเรื่องในโลกไซไฟแห่งอนาคต ในการผจญภัยสุดแปลกประหลาด ยังเมืองสมมติชื่อว่า Alphaville

เกร็ด: ชื่อเต็มๆของหนังคือ Alphaville: une étrange aventure de Lemmy Caution แปลว่า Alphaville: A Strange Adventure of Lemmy Caution, และผมยังไปเจอ Working Title ชื่อว่า Tarzan vs IBM

เกร็ด2: ความที่โปรดิวเซอร์เรียกร้องขอบทหนังเพื่อนำไปใช้ของบประมาณ ผู้กำกับ Godard จึงมอบหมายผู้ช่วย Charles Bitsch ที่ไม่เคยอ่านนวนิยายสักเล่มของ Lemmy Caution พัฒนาบทร่าง (Treatment) ความยาว 30 หน้ากระดาษ … Bitsch พึงพอใจบทหนังดังกล่าวมากๆ นำไปใช้ของบประมาณจากโปรดิวเซอร์ แต่ผู้กำกับ Godard ไม่ได้นำอะไรไปใช้สักสิ่งอย่าง! น่าจะไม่ได้อ่านด้วยซ้ำนะ!


อนาคตอันใกล้, Lemmy Caution สายลับรหัส 003 มาจากนอกโลก (Outlander) เดินทางสู่ Alphaville ด้วยรถ Ford Galaxie ปลอมตัวเป็นนักข่าวชื่อ Ivan Johnson อ้างว่าทำงานให้กับนิตยสาร Figaro-Pravda แต่เป้าหมายแท้จริงนั้นมีอยู่สามอย่าง

  1. ออกค้นหาสายลับคนก่อนที่สูญหาย Henri Dickson (รับบทโดย Akim Tamiroff)
  2. จับกุมหรือเข่นฆ่า Professor von Braun (รับบทโดย Howard Vernon) ผู้ก่อตั้ง Alphaville
  3. ทำลายเครื่อง Sentient Computer (คอมพิวเตอร์ที่ตื่นรู้ มีสติเป็นของตนเอง) รุ่น Alpha 60 ที่สร้างโดย Prof. von Braun และคอยควบคุมบางการ Alphaville อยู่เบื้องหลัง

เมื่อ Lemmy Caution เดินทางมาถึง Alphaville ได้พบเจอสิ่งผิดปกติ/ขัดต่อสามัญสำนึกมากมาย คนที่นี่รู้จักผลแต่ไม่รู้จักเหตุ, ตัดสินใจด้วยผลและตรรกะแทนอารมณ์, ใช้พจนานุกรมแทนคัมภีร์ไบเบิล, หญิงสาวคอยให้บริการทางเพศ, การประหารชีวิตผู้แสดงความคิดเห็นในสระว่ายน้ำ และโดยเฉพาะ Natacha von Braun (รับบทโดย Anna Karina) บุตรสาวแท้ๆของ Prof. von Braun แต่กลับไม่รู้จักความหมายของคำว่ารัก


Eddie Constantine ชื่อจริง Edward Israël Constantinowsky (1917-93) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, บิดาเป็นพ่อค้าเครื่องประดับ อพยพจากรัสเซีย ส่วนมารดาเป็นชาว Polish เชื้อสาย Jewish, วัยเด็กชื่นชอบการร้องเพลง เลยถูกส่งไปร่ำเรียนถึงกรุงเวียนนา แต่พอกลับมาสหรัฐอเมริกากลับไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เลยเดินทางสู่ฝรั่งเศส พบเจอโดย Edith Piaf เลือกมาแสดงละครเพลง La p’tite Lili เห็นว่าเคยแปลภาษาอังกฤษหลายๆบทเพลง อาทิ La Vie en Rose, Hymne à l’amour ฯ จากนั้นได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์ Lemmy Caution แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที! ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Beware of a Holy Whore (1971), The Long Good Friday (1980), Red Love (1982), Europa (1991) ฯ

สำหรับ Lemmy Caution ใน Alphaville (1965) เต็มไปด้วยริ้วรอย แห้งเหี่ยว ดูแก่ชราลงไปมาก (เห็นว่าผกก. Godard ไม่อนุญาตให้แต่งหน้าเสริมหล่อใดๆ) สวมเสื้อโค้ทกันฝน (Trehchcoat) เหมือนต้องการเลียนแบบภาพลักษณ์ Humphrey Bogart แต่ท่าทางยังคงดิบเถื่อน กักฬระ มาดนักเลง (เหมือนตัวร้ายมากกว่าพระเอก) ไม่ชอบการโอนอ่อนผ่อนปรน นอกจากหญิงสาวที่ตนสนใจ

ผมรู้สึกว่า Constantine ดูเหน็ดเหนื่อย เหมือนคนเบื่อหน่ายกับการแสดงบทบาทนี้ (แม้เป็นบทบาทแจ้งเกิดโด่งดัง แต่ถ้าต้องเล่นซ้ำๆจนกลายเป็น ‘stereotype’ มันคงทรมานเหมือนกัน) เห็นว่าตอนแรกก็อยากตอบปัดปฏิเสธ แต่เพราะติดสัญญากับโปรดิวเซอร์ André Michelin เลยไม่อาจหลีกเลี่ยง และไม่รับรู้ตนเองด้วยซ้ำกำลังทำอะไร (การทำงานของผู้กำกับ Godard ก็ผิดแผกแตกต่างจากชาวบ้านชาวช่อง)

แซว: การพลิกบทบาทครั้งนี้สร้างความไม่พึงพอใจต่อแฟนๆ Lemmy Caution เป็นอย่างมาก! ก็ถึงขนาดทำให้ Constantine ไม่สามารถปะติดปะต่อกับคาแรคเตอร์เดิมของตนเองอยู่หลายปี กว่าจะยินยอมหวนกลับมารับบทนี้ก็เมื่อ Panic Time (1980) และอีก 4 ภาคสุดท้าย

เหตุผลของการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และบุคลิกภาพของ Lemmy Caution ก็เพื่อให้สอดคล้อง/ตัวตายตัวแทนผกก. Godard สำหรับแสดงทัศนคติไม่เห็นด้วยต่อทิศทางโลกอนาคตที่หนังพยายามนำเสนอออกมา … เป็นตัวละครที่เมื่อจับไปใส่ใน Alphaville จะแสดงปฏิกิริยา/ความคิดเห็นออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่ประณีประณอม ถึงพริกถึงขิง!


Anna Karina ชื่อจริง Hanne Karin Bayer (1940-2019) เกิดที่ Frederiksberg, Denmark โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักร้อง-เต้นคาบาเร่ต์ ตามด้วยโมเดลลิ่ง แสดงหนังสั้นที่คว้ารางวัลเทศกาลหนังเมือง Cannes เลยตัดสินใจปักหลักอยู่กรุง Paris (ยังพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ด้วยซ้ำ) ได้รับการค้นพบโดยแมวมอง พามาถ่ายแบบ นิตยสาร กระทั่ง Jean-Luc Godra ชักชวนมารับบทนำ Breathless (1960) แต่กลับบอกปัดปฏิเสธเพราะไม่อยากเข้าฉากนู๊ด ถึงอย่างนั้นก็ยินยอมร่วมงานตั้งแต่ A Woman Is a Woman (1961), My Life to Live (1962), The Little Soldier (1963), Band of Outsiders (1964), Pierrot le Fou (1965), Alphaville (1965) และ Made in USA (1966), ผลงานเด่นๆหลังจากนั้น อาทิ The Nun (1966), The Stranger (1967), Man on Horseback (1969), Chinese Roulette (1976) ฯ

รับบท Natacha von Braun บุตรสาวของ Prof. von Braun ผู้ประดิษฐ์คิดค้น Sentient Computer รุ่น Alpha 60 สำหรับควบคุมดูแล Alphaville ล้างสมองประชาชนรวมทั้งบุตรสาวตนเอง ให้แสดงออกโดยยึดตามเหตุผลและตรรกะ ละทอดทิ้งอารมณ์ ความรู้สึก ลบเลือนจิตสำนึก และอะไรคือความรัก?

Natacha ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลนักข่าว Ivan Johnson ด้วยการพาไปบันทึกภาพยังสถานที่ต่างๆ รับชมการประหารชีวิตยังสระว่ายน้ำ ฯลฯ แต่หลังจากตัวตนแท้จริงของ Lemmy Caution ถูกเปิดโปงออกมา กลับทำให้หญิงสาวเต็มไปด้วยความใคร่รู้ใคร่สงสัย กระทำสิ่งขัดแย้งต่อโปรแกรม จนท้ายที่สุดสามารถเรียนรู้จักนิยามของความรัก

ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ Karina หวนกลับมาคืนดี ผกก. Godard จึงสรรค์สร้างตัวละครนี้จากสาวสวยไร้เดียงสา ราวกับหุ่นยนต์ถูกตั้งโปรแกรมมา รู้จักแต่เหตุผลและตรรกะ ทำตามคำสั่งหน้าที่ของบิดา/Alpha 60 เมื่อรับรู้จัก Lemmy Caution (หรือก็คือผกก. Godard) ทำให้ค่อยๆเรียนรู้จัก เข้าใจนิยามความรัก และเอ่ยคำดังกล่าวออกมา “I love you”

ข่าวซุบซิบในกองถ่าย เล่าว่าผู้กำกับ Godard เหมือนจะสามารถคืนดีกับ Karina พบเห็นแอบกุ๊กกิ๊กสองต่อสองอยู่บ่อยครั้ง ฟังดูเหมือนจะสามารถปรับความเข้าใจ แต่แท้จริงแล้วแค่ช่วงประณีประณอม ‘reconciled’ หลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ปัญหาขัดแย้งต่างๆนานาก็หวนกลับมาลุมเร้า ไม่ลงรอยกันอีกครั้ง(สุดท้าย)


ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard (1924-2016) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของบรรดาผู้กำกับ French New Wave, สมัยเด็กตั้งใจร่ำเรียนเคมี แต่ไม่มีทุนการศึกษาเลยหันมาเป็นช่างภาพ เข้าร่วมสงคราม French Indichina War (1946-54) ในฐานะ ‘war photographer’ อาศัยอยู่เวียดนามถึง 11 ปี กลับมาฝรั่งเศสกลายเป็นฟรีแลนซ์ให้นิตยสาร Paris Match และ Look กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Pierre Schoendoerffer ทั้งๆไม่เคยมีประสบการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่กลับได้เสียงชื่นชม The Devil’s Pass (1958), ติดตามมาด้วยผลงานแจ้งเกิดโด่งดัง Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), Vivre sa Vie (1962), Jules et Jim (1962), Le Mépris (1963), Bande à part (1964), Pierrot le Fou (1965), Z (1969) ฯลฯ

เวลาที่ใครต่อใครนึกถึงภาพยนตร์ไซไฟ โลกอนาคต ก็มักจินตนาการถึงโปรดักชั่นใหญ่ๆ งานสร้างอลังการ ทุนมหาศาล แต่นั่นไม่ใช่สำหรับผกก. Godard พร้อมกับตากล้องขาประจำ Coutard คงใช้วิธีกองโจร ‘guerrilla unit’ ออกตระเวรถ่ายทำตามท้องถนนกรุง Paris ยังสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรม ‘Modern’ ดูล้ำยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอาคารกระจกถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ เหมือนเข้าไปอยู่ในโลกอนาคตจริงๆ

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำตอนกลางคืน (ให้ได้บรรยากาศนัวร์ๆ สะท้อนโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความมืดหม่น) แต่เทคโนโลยีกล้องยุคสมัยนั้นยังไม่ก้าวข้ามผ่าน Breathless (1960) คงต้องใช้วิธีการดั้งเดิมคือเอาฟีล์มภาพนิ่งที่สามารถถ่ายได้ดีในที่แสงสว่างน้อยๆ มาปะติปะต่อให้กลายเป็นม้วนฟีล์มภาพยนตร์ … มันช่างเป็นความตลกร้ายเหลือนทน ภาพยนตร์ไซไฟโลกอนาคต แต่ทุกสิ่งอย่างคือปัจจุบันที่ยังเฉิ่มเชยล้าหลัง


ภาพแรกผมครุ่นคิดว่าคือประชนกำลังร่วมด้วยช่วยกันผลักดันรถถัง (สัญลักษณ์ของทหาร เผด็จการ) ให้ตกลงสู่แม่น้ำ เพื่อว่าประชาชนจะกลายเป็นดั่งนก ได้รับการปลดปล่อยสู่เสรีภาพ … แม้เรื่องราวของหนังจะไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติโดยตรง แต่ตัวละคร Lemmy Caution สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษ โค่มล้มเผด็จการ ไม่เห็นด้วยต่ออำนาจเบ็ดเสร็จ ปลดแอกประชาชนสู่อิสรภาพได้เช่นเดียวกัน

ภาพแรกของ Lemmy Caution สังเกตว่าใบหน้าปกคลุมอยู่ในความมืดมิด (สื่อถึงการไร้ตัวตน/จิตวิญญาณ) จนกระทั่งจุดไฟแช็กสูบบุหรี่ (แสงสว่างทำให้เกิดชีวิตและจิตวิญญาณ) สามารถสื่อถึงชายคนนี้จะเป็นบุคคลผู้นำแสงสว่างมาให้กับ Alphaville (หลังจากปฏิบัติภารกิจสำเร็จ) ได้เช่นกัน

It was 24.17, Oceanic Time when I approached the suburbs of Alphaville.

ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจกับคำพูดประโยคนี้หรอกนะ แต่พอครุ่นคิดไปมา 24.17 แสดงว่าหนึ่งวันบนโลกใบนี้ยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง! ซึ่งยังสามารถสื่อถึงช่วงเวลาแห่งความมืดมิดยิ่งกว่าเที่ยงคืน … ก็คือสถานที่แห่งนี้มันนัวร์มากๆ

บ่อยครั้งที่หนังจะมีการแทรกภาพอะไรก็ไม่รู้ ไฟกระพริบ ป้ายนีออน ลูกศร ตัวอักษร ฯลฯ ล้วนมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์เคลือบแฝงบางอย่าง

  • ไฟกระพริบ เหมือนสัญญาณเตือนภัย (เวลาไฟกระพริบตามสี่แยก คือการบอกเตือนให้คนขับระมัดระวังอันตราย) ตัวละครกำลังเดินทางสู่ Alphaville ซึ่งเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยภยันตราย
  • ลูกศร → สื่อถึงทิศทาง ไม่ใช่เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวานะครับ แต่คือการที่รัฐบาล/ผู้นำประเทศ พยายามกำหนดทิศทางให้ประชาชนต้องดำเนินไป ในบริบทนี้ก็คือศิโรราบ/ทำตามคำแนะนำของ Alpha 60
  • ป้ายเข้าเมือง ALPHAVILLE มีสี่คำที่คือเป็นคำขวัญประจำเมือง
    • Silence จงหุบปาก หมายถึงดินแดนแห่งความเงียบสงบ
    • Logic ดินแดนแห่งนี้มีแต่เหตุผลและตรรกะ
    • Security น่าจะสื่อถึงความปลอดภัย
    • Prudence ประชาชนมีความสุขุมรอบคอบ (เพราะไม่ต้องครุ่นคิดอะไร เพียงทำตามคำสั่ง Alpha 60 แล้วชีวิตจะดีเอง)

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า Ivan Johnson มันเขียนเป็น Lemmy Caution ได้ยังไง? แต่สำนักพิมพ์ Figaro-Pravda ที่ส่งเขามายัง Alphaville มาจาก

  • Le Figaro หนังสือพิมพ์รายวันเก่าแก่ที่สุด(ที่ยังตีพิมพ์อยู่)ในฝรั่งเศส! ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1826
  • Pravda คือชื่อหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียต เริ่มตีพิมพ์วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1912

การผนวกรวมหนังสือพิมพ์สองสัญชาติ เหมือนผู้กำกับ Godard แอบเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะเป็นผู้ชนะสงครามเย็น และสามารถผนวกรวมฝรั่งเศส ในอนาคตจักกลายเป็น Alphaville

หนึ่งในฉากที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากๆ ก็คือ Long Take ระหว่าง Lemmy Caution เดินจากเคาน์เตอร์ → เข้าลิฟท์ → เลื่อนขึ้นชั้นบน → แล้วก้าวสู่ห้องพัก, ไฮไลท์คือตอนขึ้นลิฟท์ ที่สามารถเคลื่อนติดตามนักแสดงได้เพราะโรงแรมแห่งนี้มีลิฟท์แก้วสองอัน ยุคสมัยนั้นเป็นสิ่งของแปลกใหม่ ดูล้ำอนาคตอย่างมาก ซักซ้อมอยู่หลายครั้งจนได้จังหวะพอดิบพอดี (มีทั้งขาขึ้น-ขาลง)

เกร็ด: โรงแรมแห่งนี้ชื่อว่า Scribe Hotel ตั้งอยู่ 1 Rue Scribe, Paris 9 ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่นะครับ

Seductress หญิงสาวคอยให้บริการทางเพศกับลูกค้า พูดง่ายๆก็คือโสเภณีนะแหละ Alphaville คงทำให้เป็นอาชีพถูกกฎหมาย พบเจอได้ทุกสถานที่พักอาศัย คาดเดาว่าคำนวณจากสถิติ สามารถลดปัญหาการข่มขืน อาชญากรรมทางเพศ รวมถึงปัญหาสังคมอื่นๆมากมาย … โสเภณีเป็นอาชีพที่ผู้กำกับ Godard เปิดกว้างมากๆมาตั้งแต่ Vivre Sa Vie (1962)

เริ่มตั้งแต่ครานี้ที่ Seductress กล่าวถึงยากล่อมประสาท (Tranquillizers) สังเกตว่าหลายๆคนใน Alphaville มักรับประทานยาตัวนี้อยู่เรื่อยๆ (มันคงไม่ใช่ยาตัวอื่นหรอกนะ) เหมือนต้องการสื่อว่า ผู้คนใช้เป็นสิ่งสำหรับสงบสติ เพื่อไม่ให้แสดงอารมณ์ต่างๆออกมา (เพราะมันจะผิดกฎหมายนั่นเอง)

กล้องถ่ายภาพที่ Lemmy Caution ใช้ในการถ่ายรูปคือ Agfa ISO-RAPID IF เลนส์ Isinar f8 รุ่นปี ค.ศ. 1965 ถือว่าล้ำที่สุดในยุคสมัยนั้น แต่ตามบริบทของหนังถือเป็นกล้อง Vintage ที่ตกยุค ล้าสมัย ไม่มีใครนิยมใช้กันแล้ว ปัจจุบันหาซื้อไม่ได้แล้วนะครับ ต้องตามพวก Ebay เว็บขายของมือสอง

Lemmy Caution นอนอ่านหนังสือ Le grand sommeil แปลว่า The Big Sleep (1939) นวนิยายอาชญากรรม ‘Hardboiled’ แต่งโดย Raymond Chandler เคยได้รับการดัดแปลงเป็นโคตรภาพยนตร์ The Big Sleep (1946) กำกับโดย Howard Hawks นำแสดงโดย Humphrey Bogart และแจ้งเกิด Lauren Bacall … เป็นภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวซับซ้อนโคตรๆ และหาคำตอบไม่ได้ด้วยว่าใครคือฆาตกร

I just can’t understand why I keep having trouble with the same New Years resolution every January!

ส่วนภาพนู้ดที่กลายเป็นเป้าซ้อมยิงปืน เป็นผลงานของ Alberto Vargas อยู่ในนิตยสาร Playboy ฉบับเดือนมกราคม 1965 นี่ไม่ได้หมายความว่าหนังมีพื้นหลัง ค.ศ. 1965 นะครับ คงต้องการสื่อถึงเรื่องราววุ่นๆ ที่กำลังจะบังเกิดขึ้นเสียมากกว่า

และหลังจากยิงเป้าสำเร็จ (จะสื่อถึงสัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์กับ Seductress ก็ได้นะครับ) Lemmy Caution จะพูดว่า

Not bad for a veteran of Gudadalcanal.

คาดว่าน่าจะสื่อถึง Guadalcanal campaign (1942-43) ยุทธการที่กองทัพสหรัฐอเมริกา ยกพลขึ้นฝั่งบนเกาะ Guadalcanal บริเวณหมู่เกาะ/ทะเล Solomon (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ Australia) ถือเป็นหมุดหมายแรกในการรุกรานจักรวรรดิญี่ปุ่น จากทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

Lemmy Caution โชว์ความแม่นด้วยการยิงปืนใส่ไฟแช็ค อันเดียวกับที่เคยใช้จุดบุหรี่ พอดิบพอดีกับการมาถึงของ Natacha von Braun สามารถสื่อถึงเธอคือบุคคลทำให้ภายในของเขาลุกโชติช่วง เต็มไปด้วยความลุ่มร้อน ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ตกหลุมรักโดยทันที!

แต่หญิงสาวไม่สามารถจุดไฟ/เพลิงราคะได้ด้วยตนเอง เพราะถูกโปรแกรมล้างสมองจนหมดสูญสิ้นอารมณ์ ไม่เข้าใจความหมายของคำว่ารัก … แต่บางครั้งร่างกายก็แสดงปฏิกิริยาหลายๆอย่างออกมาโดยไม่รู้ตัว

I’ve traveled 9,000 kilometers to give it to you.

แซว: ระยะทางดังกล่าวแค่ประมาณครึ่งโลก จากสหรัฐอเมริกามายังฝรั่งเศสได้กระมัง

ช่วงระหว่างอยู่บริเวณโถงทางเดิน Lemmy Caution พูดคุยสอบถามถึงเรื่องของความรัก ซึ่งพอ Natacha ถามกลับ Why? มันจะมีเสียง Sound Effect ตื้ด ตื้ด ราวกับเป็นสัญญาณเตือน คำต้องห้าม คนที่เพิ่งรับชมรอบแรกๆอาจยังไม่เข้าใจว่าหนังต้องการสื่ออะไร ดังจากไหน แต่เจ้า Alpha 60 มันสอดแนมอยู่ทุกแห่งหน ไม่เว้นแม้แต่ในห้องพักส่วนบุคคล

Love? What’s that? … I don’t understand what are you talking about?

Natacha von Braun

ระหว่างทางจะมีขณะหนึ่งที่พวกเขาเดินผ่านบริเวณมืดมิด เงามืดปกคลุมใบหน้า แล้วต่างหยุดพูดคุย เงียบเสียง Soundtrack … ชวนให้นึกถึงนาทีแห่งความเงียบสงัดของ Bande à part (1964) อยู่เล็กๆ

Lemmy Caution: Natasha’s a name from the past.
Natacha von Braun: Yes, but in life, one can only know the present. No one’s lived in the past, or will live in the future

Natasha เป็นชื่อหญิงสาวชาวรัสเซีย หมายถึง เกิดวันคริสต์มาส (born on Christmas day หรือ birthday of the Lord) ทำให้พอเข้าใจความหมายของชื่อในอดีต เพราะผู้คนใน Alphaville ไม่เชื่อเรื่องของศาสนาอีกต่อไป!

คำพูดประโยคนี้มาพร้อมกับภาพตัวเลขนับถอยหลัง (คาดว่าน่าจะตรงสัญญาณไฟจราจร กระมัง) ก็เพื่อสื่อถึงการมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน เราเฝ้ารอคอยตัวเลขศูนย์เพื่อจะได้ขับรถออกไป แต่ก็ไม่สามารถเร่งรีบหรือย้อนเวลา ต้องรอคอยอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น!

Lemmy Caution สามารถติดตามมาพบเจอสายลับคนก่อนที่สูญหายตัวไป Henri Dickson (รับบทโดย Akim Tamiroff) ยังโรงแรม Red Star Hotel (Red Star คือสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจะมีการกล่าวถึง Pekingville ว่าได้ครุ่นคิดวิธีการ ‘ถ้าไม่ยินยอมฆ่าตัวตายก็จะถูกนำตัวไปประหาร’ นี่ผมก็ไม่รู้ผกก. Godard เพ้อเจ้ออะไรนะครับ) แต่เขามีสภาพเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ใกล้จะขาดใจตาย เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ Alphaville รวมถึงปฏิบัติตามภารกิจได้รับมอบหมาย

Dick Tracy, is he dead? And Guy Leclair?

  • Dick Tracy คือนักสืบที่มีความดิบเถื่อน ในการ์ตูนแนวอาชญากรรม สร้างโดย Chester Gould เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 เคยได้รับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ Dick Tracy (1990) นำแสดงโดย Warren Beatty
  • Guy L’eclair คือชื่อฝรั่งเศสของ Flash Gordon ตัวเอกการ์ตูนแนวผจญภัยในอวกาศ สร้างโดย Alex Raymond เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1934 จุดประสงค์เพื่อเป็นคู่แข่งกับ Buck Rogers

Henri พยายามอธิบายหลายๆอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นใน Alphaville ให้กับ Lemmy Caution (แต่ก็จับใจความไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่) เริ่มจากเดินขึ้นบันได หยุดนั่ง แล้วพอมาถึงหน้าห้องก็กวัดแกว่งหลอดไฟ เหล่านี้แสดงถึงสภาวะทางอารมณ์ ดูแท้แท้สิ้นหวัง หลงเหลือเพียงแสงไฟเล็กๆที่ยังเป็นความหวัง (นามสกุลตัวละครนี้บอกใบ้ชัดเจนมากๆว่าอะไรคือความหวัง) ยังสะท้อนถึงสภาพสังคมที่สูญเสียอารมณ์และการตั้งคำถาม ในอดีตเคยมีศิลปิน จิตรกร นักดนตรี นักเขียนนวนิยาย แต่ปัจจุบัน(หรือคืออนาคตในมุมองผู้กำกับ Godard) ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

Their ideal here, in Alphaville is a technocracy, like that of termites and ants. Probably one hundred and fifty light years ago. One hundred and fifty, two hundred, there were artists in the ant society. Artists, novelists, musicians, painters. Today, no more.

Henri Dickson

สำหรับคนที่ไม่ค่อยเก่งวิทยาศาสตร์ นี่คือสองสมการที่เพิ่งได้รับการครุ่นคิดขึ้นเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20th และมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วๆไป (พอๆกับทฤษฎีบทพีทาโกรัส และกฎของนิวตัน)

  • E = hf คือทฤษฎีอนุภาคแสง ในปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (Photoelectric Effect) ค้นพบโดย Heinrich Hertz เมื่อปี ค.ศ. 1887 แต่ได้รับการอธิบายเป็นสมการคณิตศาสตร์โดย Albert Einstein เมื่อปี ค.ศ. 1905
  • E = mc2 คือทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory) ครุ่นคิดค้นโดย Albert Einstein เมื่อปี ค.ศ. 1905
  • และเพราะ E = E พลังงานไม่มีสูญหาย ดังนั้น hf = mc2

“Why” … What does that word mean? I forgot.

หลายคนอาจรู้สึกไม่สมเหตุสมผล มนุษย์จะหลงลืมการตั้งคำถาม Why? ได้อย่างไร? แต่ในสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) มักพยายามทำให้ประชาชนหุบปากแล้วทำตามคำสั่ง ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดำเนินตามทิศทางที่เบื้องบนวางไว้ ปิดกั้นความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่ต้องการให้ใครครุ่นคิด ตั้งคำถามอะไร ยังไง ทำไม จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Why? ก็จะเริ่มเลือนลาง ถูกลบจากพจนานุกรม กลายเป็นคำต้องห้าม และสูญหายไปจากความทรงจำ

ทั้งๆอยู่ระหว่างกำลังพูดคุยสนทนา Henri กลับไม่สนอะไรต่อ Lemmy Caution ถึงขนาดพาหญิงสาว Seductress ขึ้นมาบนห้อง แล้วขอให้เขาหลบซ่อนอยู่หลังตู้เสื้อผ้า (พบเห็นภาพมนุษย์ท่องอวกาศ และทฤษฎีสัมพันธภาพ สื่อถึงการที่พวกเขาต่างคือ ‘the Outlands’ และขณะนี้ Lemmy ถือเป็นบุคคลนอก) ส่วนตนเองก็ระบายความใคร่ผ่านการเรียกชื่อ Madame โสเภณีทั้งหลายในประวัติศาสตร์ (พวกเธอเป็นดั่งแสงสว่างแห่งความหวังที่หลงเหลืออยู่สำหรับชายคนนี้)

Come in, Madame la Marquise. My coat, Madame Recamier. Thank you, Madame Pompadour, Madame Bovary, Marie Antoinette, Madame Lafayette. Madame, it’s love.

หนังไม่ได้ขึ้นเครดิตว่าใครเป็นผู้ให้เสียงพากย์ Alpha 60 เพียงบอกเล่าว่าคือผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง พูดผ่านเครื่องช่วยพูดแบบใช้ไฟฟ้า (Electrolarynx) จึงได้น้ำเสียงที่มีความแหบแห้ง หยาบกระด้าง เหมือนบุคคลพานผ่านอะไรมามาก สามารถเข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่างในโลก … เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจาก Dr. Mabuse ภาพยนตร์เรื่อง The Testament of Dr Mabuse (1933)

แซว: แม้รูปร่างหน้าตาจะไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่ผมค่อนข้างรู้สึกว่าเจ้า Alpha 60 น่าจะเป็นส่วนหนึ่งแรงบันดาลใจคอมพิวเตอร์ HAL9000 ภาพยนตร์เรื่อง A Space Odyssey (1968)

สไลด์โชว์ระหว่างงานสัมมนา มีหลายๆภาพที่น่าสนใจทีเดียว

  • ภาพร่างเพศหญิง-ชาย
    • ไม่มีริมฝีปาก (หรือจะมองว่าเส้นเล็กๆคือปากก็ได้) แฝงนัยยะของการห้ามพูด ไร้สิทธิ์เสียง (หุบปากแล้วทำตามคำสั่ง)
    • ส่วนดวงตาเพศหญิงมีข้อความ Oui (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Yes), ฝ่ายชายคำว่า Non (แปลว่า No)
  • ตาชั่งเครื่องหมายตกใจ (!) vs. เครื่องหมายคำถาม (?)
  • Pourquoi (แปลว่า Why) vs. Parceque (แปลว่า Because)
    • ภาพสองและสาม นำเสนอสองสิ่งขั้วตรงข้าม คำถาม-คำตอบ เหตุผล-อารมณ์ เพื่อชักชวนให้ผู้รับฟังการสัมมนา ตัดสินใจเลือกฝั่งฝ่ายหนึ่งที่จักสร้างคุณประโยชน์สูงสุดให้กับสังคม ประเทศชาติ
  • ด้านซ้ายมีข้อความ Au Secours (แปลว่า Help) ดูจากรูปลักษณะทำเหมือนคนกำลังตกลงจากตึกสูง แต่จะว่าไปมันเหมือนการฆ่าตัวตาย vs. ภาพด้านซ้าย ผมเห็นเหมือนทหารถือปืน เหมือนกำลังเล็งใส่ใครบางคน น่าจะสื่อถึงนักโทษประหารชีวิต … เป็นภาพที่ล้อกับคำพูดของ Henri ที่อ้างถึงวิธีการของ Pekingville ระหว่างฆ่าตัวตาย vs. ถูกประหารชีวิต นั่นคือหนทางสำหรับผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ Alphaville
  • เหล่านี้เป็นคำที่กำลังสูญหายจากพจนานุกรม หลงลืมเลือนจากความทรงจำผู้คนใน Alphaville
    • maSque แปลว่า mask
    • escalier แปลว่า stairs (เพราะการมาถึงลิฟท์ จะทำให้มนุษย์เลิกใช้บันได)
    • absen é แปลว่า absent
    • vagues แปลว่า vagues (คลุมเคลือ)
    • malasie แปลว่า malaysia (อาจเพราะประเทศนี้กำลังจะจมอยู่ใต้บาดาล?)
    • imbrogbrio แปลว่า confusion
    • dormir แปลว่า sleeping
    • cens-ré แปลว่า censor (เพราะทุกอย่างถูกเซนเซอร์โดยอัตโนมัติ มันเลยไม่จำเป็นต้องใช้คำนี้อีกต่อไป)
    • nostalgie แปลว่า nostalgia
    • ameoureuse แปลว่า in love
  • Once we know the number one we believe that we know the number two because one plus one equals two. We forget that first we must know the meaning of plus.
    • นี่เป็นภาพที่อาจเข้าใจยากสักนิด คือคำอธิบายเหตุผล 1+1=2 สำหรับคนที่ไม่เข้าใจความหมายของการบวก (+) ย่อมไม่เข้าใจว่า 1+1 เท่ากับสองได้อย่างไร จึงทำการสมมติเส้นที่ลากจากตัวเลข 1 ให้มันม้วนๆวนไปวนมา จากนั้นกลายเป็นเส้นตรงก่อนไปยังตำแหน่งตัวเลข 2
    • การหลงลืมความหมายของการบวก มันคือการอธิบายสรุปรวมในเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งที่เมื่อไม่ได้ใช้งาน สูญเสียความจำเป็น มันก็จะค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำ

เกร็ด: เรื่องราวในส่วนนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Nineteen Eighty-Four (1949) นวนิยายไซไฟ Dystopian ของ George Orwell (1903-50) นักเขียนชาวอังกฤษ, กล่าวถึงอนาคต ค.ศ. 1984 ในโลกที่มีสงครามตลอดกาล (Perpetual war) การสอดส่องของรัฐบาลอยู่ทุกหนแห่ง พยายามชักใย/ชวนเชื่อทางการเมือง ล้างสมองประชาชนว่า 2+2=5 จนก่อให้เกิดหลุมความทรงจำ (Memory hole)

ภาพสุดท้ายของการสัมมนา คือจินตนาการมนุษย์ในอนาคตของ Alpha 60 ใบหน้ากับบั้นท้ายอยู่ในตำแหน่งซ้อนทับ หรือก็คือสิ่งๆเดียวกัน แฝงนัยยะถึงมนุษย์ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้สมองครุ่นคิดอะไร ทุกสิ่งอย่างล้วนถูกตัดสินใจโดยระบบคอมพิวเตอร์ (หรือจะมองว่าชนชั้นผู้นำ/ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้เช่นกัน) เพียงดำรงชีวิตประจำวัน กิน-ขี้-ปี้-นอน และกระทำตามคำสั่งโดยไม่ต่อต้านขัดขืน

แซว: Pierrot le Fou (1965) จะมีการตั้งชื่อการมาถึงของยุคสมัย ‘Age of the Ass’

วิธีประหารชีวิตนักโทษสุดแปลกประหลาด พวกเขากระทำความผิดเพียงแสดงอารมณ์ในที่สาธารณะ จึงนำมากราดยิงให้ตกลงสระน้ำ แล้วสาวๆแหวกว่ายเอามีดทิ่มแทง โดยอัตราส่วนของผู้ถูกประหารชีวิต ชาย 50 ต่อหญิง 1 คน (เหมือนต้องการจะสื่อว่าเพศหญิงเก็บอารมณ์ได้ดีกว่าบุรุษ … ตรงไหนกัน?)

ผมมองสระว่ายน้ำแห่งนี้คือจิตใต้สำนึกของมนุษย์ (แนวคิดภูเขาน้ำแข็ง) พลเมือง Alphaville ต้องเก็บซุกซ่อนอารมณ์ ความรู้สึก ทุกสิ่งอย่างไว้ภายใต้ ไม่ให้มันล่องลอยขึ้นมาเบื้องบนผิวน้ำ แต่บรรดาผู้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตเหล่านี้ ต่างพยายามแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย โผล่ขึ้นมาหายใจ จึงถูกสาวๆรุมล้อม เอามีดทิ่มแทง ให้จมลงสู่ก้นเบื้องล่าง

Lemmy Caution แทรกตัวเข้ามาในลิฟท์ เพื่อมีโอกาสพูดคุย นัดหมายสัมภาษณ์ Professor von Braun แต่กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ ไม่ยินยอมพบเจอเป็นการส่วนตัว แต่ภายหลังเขายังให้โอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิก ครอบครอง Galaxy แห่งนี้ด้วยกัน!

เกร็ด1: Prof. von Braun น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Wernher von Braun (1912-77) วิศวกรอวกาศชาว German เคยเป็นสมาชิกพรรค Nazi สรรค์สร้างจรวด V-2 หลังสงครามอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา ทำงานกองทัพอากาศสร้างจรวด Explorer 1 (1958) ก่อนถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ NASA กลายเป็นหัวหน้าทีมออกแบบยาน Saturn V ต่อมาได้รับฉายา “Father of Space Travel” บ้างเรียก “Father of Rocket Science” … ที่มาที่ไปของชื่อตัวละคร สื่อถึงโลกอนาคต การเดินทาง แกแลคซี่ เหมาะกับหนังไซไฟโคตรๆ

เกร็ด2: ชื่อเดิมของตัวละครคือ Leonard Nosferatu เป็นการอ้างอิงถึงโคตรหนังเงียบ Nosferatu (1922) ของผู้กำกับ F. W. Murnau ทั้งนี้ Lemmy Caution ยังเคยเปรียบเทียบรอยยิ้มของ Natacha ว่ามีเขี้ยวเหมือนหนังแวมไพร์เรื่องหนึ่ง (ก็น่าจะสื่อถึงหนังเงียบเรื่องนี้กระมัง)

เกร็ด3: Lemmy Caution เมื่อตระหนักถึงตัวตนแท้จริงของ Natasha (ว่าเป็นบุตรสาวของ Leonard Nosferatu) พยายามบอกว่าเธอเกิดที่ Nueva York คือคำเรียกภาษา Spanish ของกรุง New York

Lemmy Caution ถูกพาตัวมายัง Civil Control/Residents Control เพื่อทำการลงทะเบียนบุคคล และสอบสัมภาษณ์โดย Alpha 5 (คงจะเป็นรุ่นก่อนหน้า Alpha 60) ระหว่างกำลังเดินผ่านโถงทางเดิน จะได้ยินเสียง “Occupied” ซ้ำๆอยู่หลายครั้ง นั่นน่าจะดังจากประตูห้องที่พวกเขาเดินผ่าน ว่าง-ไม่ว่าง พอได้ยินคำว่า “Free” ก็เดินเข้าไปในห้องแห่งนั้น

ผมครุ่นคิดว่านี่น่าจะคือสตูดิโอ/ห้องบันทึกเสียงทั่วๆไป แต่ด้วยอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่โต มันเลยดูล้ำยุคสมัยนั้น เหมาะกับหนังไซไฟโลกอนาคตเรื่องนี้ยิ่งนัก! สำหรับ Alpha 5 คาดว่าน่าจะสื่อถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ด้านหลังห้องอัดเสียง/ห้องสัมภาษณ์นี้ สังเกตว่ามีวิศวกรเดินไปเดินมา เหมือนจะควบคุมการทำงานอยู่เบื้องหลังกระมัง

หญิงสาวเปลือยกายในตู้กระจก น่าจะคือต้นแบบ Seductress กระมัง? จัดแสดงอยู่ระหว่างกึ่งกลางทาง เบื้องบนสู่เบื้องล่าง เบื้องหน้าสู่เบื้องหลัง Lemmy Caution กำลังจะได้พบเห็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Alpha 60 ลึกล้ำเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถทำความเข้าใจ

ตลอดการเดินทางสู่เบื้องหลัง Alpha 60 จะได้ยินเสียงพูด (ของ Alpha 60) คำอธิบายเหตุผลของการอยากให้ Ivan Johnson (ชื่อแฝงของ Lemmy Caution) เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Alphaville เพราะน่าจะล่วงรู้จุดแข็งจุดอ่อนของ ‘the Outlands’ เพื่อจักสามารถเข้ายึดครองครอบ แบบเดียวกับที่ฝรั่งเศสเคยทำกับบรรดาประเทศอาณานิคม

We send those properly brain-washed to provoke the other galaxies, the strikes, revolutions, family rows, student revolts. That’s us: Grand Omega Minus.

เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ภายในอาคารหลังนี้คือ Électricité de France (Electricity of France) สำนักงานใหญ่(หลังเก่า)ของบริษัทผลิตพลังงาน/กระแสไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส มันเลยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ล้ำยุคสมัยนั้นอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ส่วนภาพอาคารภายนอกถ่ายทำที่ Esso Tower ตั้งอยู่ที่ La Défense, Hauts-de-Seine ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1963 แล้วเสร็จสิ้นเมษายน 1965 ความสูง 11 ชั้น ถูกทุบทิ้งเมื่อปี 1993 เพื่อสร้างตึกใหม่ Cœur Défense

ผมครุ่นคิดว่าคือตู้หยอดคำ เพราะเมื่อใส่เหรียญเข้าไปจะมีแผ่นป้ายข้อความอะไรสักอย่างออกมา “Merci” แปลว่า Thank You น่าจะเป็นหนึ่งในคำที่กำลังจะถูกลบเลือนกระมัง เพราะจะมีเพียงบรรดา Seductress ที่พูดคำว่า

Yes, I’m very well, thank you so very much.

ได้ยินบ่อยครั้งจนรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นการตั้งโปรแกรมมาให้พูด โดยไม่ให้ลูกค้าต้องเอ่ยปากขอบคุณพนักงาน/ลูกจ้าง หรือ Seductress จนในที่สุดอาจหลงลืมไป

การที่ Lemmy Caution ปฏิเสธขึ้นลิฟท์ หลายคนอาจมองว่าทั้งตัวละครและผู้กำกับ Godard มีความต่อต้านเทคโนโลยี ความสะดวกสบาย อยากที่จะก้าวเดิน/ทำอะไรๆด้วยลำแข้งของตนเอง แต่มันก็ไม่จำเป็นนะครับ ฉากนี้แค่เพียงปฏิกิริยาตัวละครหลังสามารถหลบหนีเอาตัวรอดออกมาจาก Residents Control เลยไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำโดยแนวคิดของ Alpha 60

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดภาพพื้นหลังไม่ได้ แต่ดูเหมือนการเตรียมกองทัพของนโปเลียน พร้อมที่จะทำสงคราม (หรือคือ Lemmy กลับห้องพักมาเตรียมตัวสู้รบกับ Alpha 60)

We live in the void of metamorphoses. But the echo that runs throughout the day that echo beyond time, anguish or caress. Are we near to our conscience, or far from it?

Your eyes have returned from a despotic land where no one has known the meaning of a glance.

Despair has no wings, nor does love. No face, they don’t speak. I don’t look at them, I don’t speak to them. But I am as alive as my love and despair.

Dying is not dying.

The beguiler beguiler.

Men who change.

ประโยคเหล่านี้นำจากหนังสือ Capitale de la douleur (1926) แปลว่า Capital of Pain รวบรวมบทกวีของ Paul Éluard (1895-1952) หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มการเคลื่อนไหว Dadaism และ Surrealism

ด้วยความที่ Natasha ไม่สามารถเข้าใจสักประโยคที่อ่านมา เธอจึงเดินออกหาคัมภีร์ไบเบิล แท้จริงแล้วมันคือพจนานุกรม แต่ก็ไม่ได้บัญญัติศัพท์ทั้งหมด เพียงคำที่ Alpha 60 กำหนดไว้ใช้งาน … วินาทีที่ Lemmy รับล่วงรู้ว่านี่คือพจนานุกรม ทั้งสองนั่งอยู่ตรงหน้าโทรทัศน์ ซึ่ง(ยุคสมัยนั้น)ถือว่าเป็นสื่อชวนเชื่อ ล้างสมองประชาชนได้ดีนักแล

เด็กเสิร์ฟอาหารเช้าหน้าตาคุ้นๆ Jean-Pierre Léaud

ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสรอบนี้ประกอบด้วย

  • détruire แปลว่า destroy
  • par elle-même แปลว่า ny herself
  • seurer ceux แปลว่า know those
  • celle qui แปลว่า the one who
  • pleurent แปลว่า are crying
  • tur v’ แปลว่า you
  • tendresseแปลว่า tenderness

เมื่อตัวละครตั้งคำถามว่าอะไรคือความรัก จักนำเข้าสู่ซีเควนซ์ที่ราวกับความครุ่นคิด/จินตนาการเพ้อฝัน ร้อยเรียงภาพประกอบคำบรรยาย เริ่มจากดวงตาของ Natasha วูบๆวาบๆ ใบหน้าอาบแสงไฟ-ความมืดมิด จากนั้นได้พบเจอ ยืนเคียงข้าง Lemmy เอื้อมมือสัมผัส โอบกอด เต้นรำ บลา บลา บลา จนช็อตสุดท้ายซ้อนภาพท้องฟ้าและหญิงสาวกำลังอ่านบทกวีจากหนังสือ Capital of Pain

Your voice, your eyes, your hands, your lips
Our silence, our words
Light that goes, light that returns
A single smile between us
In quest of knowledge I watched night create day
O beloved of all, beloved of one alone
your mouth silently promised to be happy
Away, away, says hate
Closer, closer, says love
A caress leads us from our infancy
Increasingly I see the human form as a lovers’ dialogue
The heart has but one mouth
Everything by chance
All words without thought
Sentiments adrift
A glance, a word, because I love you
Everything moves
We must advance to live
Aim straight ahead toward those you love
I went toward you, endlessly toward the light
If you smile, it enfolds me all the better
The rays of your arms pierce the mist.

Paul Éluard

หลังเสร็จกามกิจยามเช้าก็มาถึงพอดิบดี ระหว่างที่ Lemmy กำลังล้างหน้าตา พูดประโยคหนึ่งเกี่ยวกับสายลับ สังเกตว่ามุมกล้องถ่ายภาพสะท้อนในกระจก และ Natasha ยืนประกอบอยู่ด้านหลัง เท่านี้ก็บอกใบ้อะไรหลายๆว่าเธอนั้นเป็นสายลับ ค่ำคืนที่ผ่านมาก็สามารถล้วงความลับของเขาได้สำเร็จ

หลังจาก Lemmy โดนจับกุมตัวอีกครั้ง (เพราะดันไปหัวเราะเรื่องตลกของ Natasha ทำผิดกฎเรื่องห้ามแสดงอารมณ์) จึงต้องเข้ามานั่งสนทนากับ Alpha 5 ที่ Residents Control คำพูดประโยคนี้พยายามแสดงความคิดเห็นขัดย้อนแย้ง(คำพูดของ Alpha 60) ที่ว่ามนุษย์ไม่มีอดีตและอนาคต ด้วยเหตุผล ‘อดีตทำให้เกิดอนาคต’ และทุกสิ่งอย่างจักหวนกลับมาบรรจบดั่งวัฏจักรชีวิต

The past represents its future, it advances in a straight line yet it ends by coming full circle.

Lemmy Caution

สำหรับคนที่ช่างสังเกต ภาพยนตร์ของผู้กำกับ Godard มักจะนำเสนอฉากเดิมๆซ้ำสองครั้งในทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม อย่างการสนทนากับ Alpha 5 ก็มีสองครั้งเช่นกัน

  • ครั้งแรกท่ามกลางแสงสว่าง Alpha 5 สัมภาษณ์ถามคำถาม Ivan Johnson (ยังไม่รับรู้ว่าอีกฝ่ายคือใคร) แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวไป
  • ครั้งหลังท่ามกลางความมืดมิด Lemmy Caution ตั้งคำถามที่ Alpha 5 ไม่สามารถขบครุ่นคิดหาคำตอบ อีกฝ่ายบอกว่าปิดกั้นทุกประตูทางออก แต่เขาก็สามารถบุกฝ่าออกไป

พอหลบหนีออกมาจาก Residents Control จะมีเสี้ยววินาทีหนึ่งที่หนังถ่ายภาพ ‘Invert Shot’ กลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว เพื่อสื่อถึงทุกสิ่งอย่างหลังจากนี้จะเริ่มพลิกกลับตารปัตร แต่ขณะนี้ยังเห็นแค่แวบเดียวเท่านั้นนะครับ (หลังจาก Lemmy Caution ทำลายเครื่อง Alpha 60 จะปรากฎช็อตลักษณะนี้อีกหลายครั้ง)

You know “journalist” and “justice” both begin with the same letter?

Lemmy Caution

นั่นน่าจะคือเหตุผลที่ให้ Lemmy Caution ปลอมตัวเป็นนักข่าว Ivan Johnson และการถ่ายภาพ แสงแฟลช ไม่แตกต่างจากการยิงปืนสักเท่าไหร่!

Look at yourself. Men of your type will soon be extinct. You’ll become something worse than dead. You’ll become a legend, Mr. Caution.

Prof. von Braun

สองช็อตนี้แบ่งแยกด้วยเฉดสีตรงกันข้าม ทางฝั่งของ Prof. von Braun คือตัวแทนอนาคตแห่งแสงสว่าง ขณะที่ Lemmy Caution กลับปกคลุมด้วยความมืดมิด อดีตที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน … หลายคนมักตีความประโยคนี้ถึง ผกก. Godard แต่ไม่ใช่ว่าผลงานภาพยนตร์จะถูกหลงลืม แต่คือการได้กลายเป็นตำนานลือเล่าขาน

ก่อนหน้านี้ Prof. von Braun พยายามโน้มน้าวให้ Lemmy เลือกอาศัยอยู่ที่นี่เพื่อครอบครองทุกสิ่งอย่าง นั่นให้ความรู้สึกเหมือนแวมไพร์ Nosferatu (ที่เป็นชื่อเดิมของตัวละคร) ที่ต้องการดูดเลือด ดื่มกินทุกสิ่งอย่าง

หลังจาก Prof. von Braun ถูกเข่นฆ่า และ Alpha 60 ถูกทำลาย นอกจากภาพ ‘Invert Shot’ ยังสังเกตว่าผู้คนต่างมีท่าทางผิดแปลกประหลาด บ้างเดินตุปัดปุเป๋ พุ่งชนกำแพง ฯลฯ เหล่านี้สามารถสื่อถึงโลกภายหลังสูญเสียเหตุผลและตรรกะ (Logic) ทำให้ชีวิตขาดเป้าหมาย สิ่งสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง เลยแสดงออกอย่างไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรต่อไป

สาเหตุที่ Lemmy Caution ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเขายังไม่โดนล้างสมอง หรือถูกควบคุมครอบงำโดย Alpha 60 เลยสามารถมีความครุ่นคิดอ่าน เป้าหมายความต้องการ นั่นคือค้นหาหญิงสาว Natasha และรักพาเธอออกไปจากสถานที่แห่งนี้

แซว: ท่าทางของบรรดาซอมบี้ เหมือนจะได้แรงบันดาลใจจาก I Walked with a Zombie (1943)

Our destiny is not frightful by being unreal; it is frightful because it is irreversible and iron-clad. Time is the substance I am made of. Time is a river which sweeps me along, but I am the river; it is a tiger which destroys me, but I am the tiger; it is a fire which consumes me, but I am the fire. The world, unfortunately, is real; I, unfortunately, am Borges.

เสี้ยวลมหายใจสุดท้ายของ Alpha 5 ได้มีการเอ่ยกล่าวประโยคหนึ่งอ้างอิงจากบทความ A New Refutation of Time (1944-46) แต่งโดย Jorge Luis Borges (1899-1986) นักเขียน ‘fantasist’ ชาว Argentine

ผมละขำกลิ้งกับความพยายามอวดอ้างของ Lemmy Caution มันมีประโยชน์อะไรที่จะพิสูจน์ให้คอมพิวเตอร์ที่แม้มีสติแต่ไร้ชีวิตได้พบเห็นชัยชนะของตนเอง เพียงต้องการบอกว่า “ความรักชนะทุกสิ่ง” อารมณ์เหนือกว่าเหตุผลและตรรกะใดๆ … แต่มันก็สะท้อนความคิดเห็นของผู้กำกับ Godard ออกมาได้อย่างชัดเจนทีเดียว

ขากลับออกจาก Alphaville ได้ยินเสียงพูดบอกว่าเป็นเวลา 23:15 ยังไม่ทันครบหนึ่งวันเสียด้วยซ้ำที่ Lemmy Caution เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ แต่ความแตกต่างจากขามาก็คือ ช่วงเวลาที่จับต้องได้ ยังไม่ถึงเที่ยงคืนมืดมิดสนิท นั่นแปลว่าชีวิตยังมีแสงสว่างแห่งความหวัง

ลำดับการขึ้นตัวอักษรตอนจบของหนัง จะมีการขึ้นทีละคำ I → IN → FIN ซึ่งสามารถแปลได้ว่า I, in the end. ฉันกลายเป็นตัวเองในตอนจบ! สอดคล้องกับ Natasha/Anna Karina สามารถเข้าใจความหมายของคำว่ารัก และพูดประโยค Je vous aime (I Love You) แก่ผู้กำกับ Jean-Luc Godard

ตัดต่อโดย Agnès Guillemot (1931-2005) ขาประจำผู้กำกับ Jean-Luc Godard ร่วมงานกันตั้งแต่ Le petit soldat (1963) แต่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ออกฉายคือ A Woman Is a Woman (1961) จนถึงผลงานสิ้นสุดยุคสมัยแรก Week-end (1967)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Lemmy Caution ตั้งแต่ขับรถ Ford Galaxie เดินทางมาถึง Alphaville ได้พบเจอสิ่งต่างๆมากมาย ปฏิบัติภารกิจได้รับมอบหมาย สำเร็จเสร็จสิ้นก็เดินทางกลับไปพร้อมคนรักใหม่ Natacha von Braun

  • อารัมบท, Lemmy Caution เดินทางมาถึง Alphaville
    • ได้รับการต้อนรับที่คาดไม่ถึงที่โรงแรม รวมถึงการมาถึงของผู้ช่วย Natacha von Braun
    • ออกค้นหาสายลับที่สูญหาย Henri Dickson ติดตามมาพบเจอยังอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง มีโอกาสพูดคุย เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายใน Alphaville
  • พบเจอเป้าหมาย
    • Natacha พา Lemmy มายังสระว่ายน้ำ สถานที่ประหารชีวิตนักโทษกระทำความผิด
    • Lemmy พบเจอเป้าหมาย Prof. von Braun พยายามแทรกตัวเข้าหาแล้วใช้ข้ออ้างนักข่าวสัมภาษณ์ตัวต่อตัว แต่กลับถูกรุมซ้อม กระทำร้ายร่างกาย
    • ถูกพาตัวไปยัง Residents Control โดนสัมภาษณ์โดย Alpha 5 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัว ก่อนได้รับโอกาสออกทัวร์สถานที่แห่งนี้
  • ปฏิบัติภารกิจ
    • Lemmy เกี้ยวพาราสี Natacha พยายามเสี้ยมสอนให้รู้จักความรัก
    • จนกระทั่งสายลับบุกเข้ามา เพราะสืบพบว่าเขาคือ Lemmy Caution ถูกควบคุมตัวมายัง Residents Control อีกครั้ง
    • ครานี้เมื่อสามารถหลบหนีได้สำเร็จ จึงออกติดตามหา Prof. von Braun และทำลาย Alpha 60
    • หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ตัดสินใจพา Natacha ออกเดินทางไปจาก Alphaville

แม้โครงสร้าง(สามองก์)ดำเนินเรื่องของหนังจะเป็นเส้นตรงไปตรงมา แต่ลีลาการนำเสนอที่บางครั้งเป็น Long Take, Jump Cut, Insert Cut, จู่ๆแทรกภาพป้ายนีออน E=mc2, E=hf ฯลฯ แถมยังต้องทำความเข้าใจศัพท์แสง รายละเอียดเฉพาะกาลของหนัง มันเลยมีความสลับซับซ้อน ต้องใช้การขบครุ่นคิดวิเคราะห์พอสมควรทีเดียว


เพลงประกอบโดย Paul Misraki (1908-98) เกิดที่ Constantinople, Ottoman Empire (ปัจจุบันคือ Istanbul, Turkey) ในครอบครัวชาวฝรั่งเศสเชื้อสาย Jews, ค้นพบความสามารถด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก เลยถูกส่งไปร่ำเรียนที่ Paris ชื่นชอบการเล่น Jazz Pianist และแต่งเพลงป็อป ประกอบภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก On purge bébé (1931) ของผู้กำกับ Jean Renoir กลายเป็นขาประจำในช่วงที่ต่างอพยพหลบหนีสงครามโลกครั้งที่สองสู่สหรัฐอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ Montparnasse 19 (1958), Mr. Arkadin (1955), And God Created Woman (1956), Alphaville (1965), Le Doulos (1963) ฯลฯ

แทนที่งานเพลงจะมีเสียงของโลกอนาคต (futuristic) กลับเต็มไปด้วยกลิ่นอายหนังนัวร์ บรรยากาศอึมครึม มืดหมองหม่น สัมผัสถึงภยันตรายรายล้อมรอบด้าน หรือคือ Alphaville สถานที่ที่เต็มไปด้วยความลึกลับ ซุกซ่อนเร้นสิ่งชั่วร้ายบางอย่าง ถ้าผู้อยู่อาศัยไม่สามารถปรับตัว หรือข้อเท็จจริงบางอย่างถูกเปิดโปง ก็อาจถูกไล่ล่า เข่นฆ่า นำพาให้เกิดความคลุ้มบ้าคลั่ง

Main Theme ของหนังใช้ชื่อตรงมากๆ La ville inhumaine แปลว่า The inhuman city ย่อมสื่อถึง Alphaville เมืองที่มีความผิดมนุษย์มนาแห่งนี้ … ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของ Sin City (2005) อยู่ไม่น้อยเลยนะ!

ในอัลบัมมีอยู่ทั้งหมด 5 เพลง แต่ผมขอเลือกมาอีกแค่ Thème d’amour หรือ Love Theme ฟังดูอาจไม่ได้โรแมนติกหวานแหวว เหมือนมีอะไรบางอย่างพยายามบีบบังคับ กดทับ ควบคุมความรู้สึกดังกล่าวไว้ภายใน (โปรแกรมคำสั่งของ Alpha 60 เพื่อไม่ให้มนุษย์แสดงอารมณ์ออกมา) แต่การค่อยๆได้เรียนรู้ ฟังคำเพ้อพร่ำ (ของ Lemmy Caution) โดยไม่รู้ตัวค่อยๆทำให้หัวใจเปิดออก เข้าถึงห้วงอารมณ์ของความรัก จนสามารถเบ่งบานสะพรั่ง แม้ยังสถานที่ที่ไม่ต่างจากขุมนรกแห่งนี้

Alphaville นำเสนอความเป็นไปได้ของโลกอนาคต เมื่อมนุษยชาติตัดสินใจละทอดทิ้งอารมณ์ (Emotion) ยึดถือเหตุผลและตรรกะ (Logic) ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต จริงอยู่มันก่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง แต่นั่นย่อมทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นปัจเจกบุคคล ทุกสิ่งอย่างจะถูกควบคุมโดยองค์กรกลาง/หน่วยงานรัฐ ในที่นี้ก็คือ Alpha 60 ไม่แตกต่างจากเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ประชาชนจะมีสภาพไม่ต่างหุ่นยนต์ที่ไร้เสรีภาพและจิตวิญญาณ

แซว: แวบแรกที่ผมเห็นชื่อ Alphaville ทำให้นึกถึงคำเรียก Alpha Male พวกหนุ่มหล่อ สายกีฬา กล้ามใหญ่บึกบึน ออกแนวดิบๆเถื่อนๆ แบดบอยนิดๆ ซึ่งมันยังเข้ากับภาพลักษณ์ของ Lemmy Caution ได้เหมือนกัน!

Lemmy Caution ได้รับภารกิจสืบสวนสอบสวน แล้วค้นหาวิธีทางกำจัด/ทำลายล้าง Alpha 60 แสดงถึงการไม่ยินยอมรับของผู้กำกับ Godard ถ้าอนาคตมนุษยชาติต้องสูญเสียอารมณ์ หลงเหลือเพียงเหตุผลและตรรกะ พยายามแสดงให้เห็นว่าโลกใบนั้นย่อมตกอยู่ในความมืดหมองหม่น (นำเสนอด้วยบรรยากาศหนังนัวร์) และเมื่อทุกสิ่งอย่างพังทลาย (ช่วงท้ายที่ Alpha 60 ถูกทำลาย) พวกเขาจักกลายเป็นคนไร้จิตวิญญาณ ยืนหยุดนิ่งเฉยๆ หรือเดินชนฝาผนัง เรียกว่าไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรด้วยตนเองได้อีกต่อไป

เชื่อว่ามีเพียงความรัก จักสามารถนำพาแสงสว่างสาดทั่วพื้นปฐพี (องก์สามของหนังดำเนินเรื่องตอนกลางวัน) และส่องเข้ามายังจิตใจชาย-หญิง ก่อเกิดความอบอุ่น เร่าร้อนทรวงใน ไม่มีใครตอบสนองความใคร่ได้มากกว่าบุคคลที่ฉันตกหลุมรัก Natacha von Braun หรือก็คือ Anna Karina กำลังได้เรียนรู้จักคำว่ารัก นั่นคือสิ่งสำคัญสูงสุดเหนือกว่าอื่นใด

วงการภาพยนตร์ก็เฉกเช่นกัน ผู้กำกับ Godard ขณะนั้นมีความเชื่อว่าอนาคต(ของภาพยนตร์) กำลังจะถูกควบคุมครอบงำอย่าง(เผด็จการ)เบ็ดเสร็จโดยบรรดาโปรดิวเซอร์ (ประสบการณ์ตรงจากเมื่อครั้นสรรค์สร้าง Contempt (1963)) ต่อไปคงสนเพียงให้ทุนโปรเจคที่เป็นสูตรสำเร็จ คำนวณแล้วสามารถทำกำไร ไม่หลงเหลือพื้นที่ให้ศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ กระทำสิ่งตอบสนองอารมณ์ ความต้องการส่วนบุคคล

แม้ว่าโลกปัจจุบันจะเข้าสู่ยุคสมัยเหตุและผล ประชาชนเปลี่ยนมาเชื่อในหลักวิทยาศาสตร์ ทุกสิ่งอย่างต้องมีข้อพิสูจน์ หลักฐาน แต่ก็เต็มไปด้วยตรรกะถูกๆผิดๆ หันมาใช้ความรู้สึกในการครุ่นคิดตัดสินใจ (ภาพยนตร์/งานศิลปะนี่ตัวดีเลยนะ คอยชี้นำทาง/ชักชวนเชื่อให้ผู้ชมบังเกิดอารมณ์ร่วม ‘romanticize’ กับทุกสรรพสิ่งอย่าง) สำหรับตอบสนองกิเลสตัณหา ความต้องการส่วนบุคคล ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยปัจเจกชน โหยหาเสรีภาพในการใช้ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น

อนาคตที่เมื่อมนุษย์ไม่สนห่าเหวอะไร ใครจะทำอะไรก็ช่าง เอาความต้องการส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง ไม่พึงพอใจอะไรก็แสดงออกด้วยอารมณ์ ไร้เหตุผล ตรรกะ ศีลธรรม-มโนธรรม มีเพียงความเห็นแก่ตัว และสันชาตญาณในการเอาชีพรอด … นั่นต่างหากวันสิ้นโลกอย่างแท้จริง!

ที่น่าตลกสุดๆก็คือผู้กำกับ Godard สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยอคติต่อเหตุผลและตรรกะ แต่หลังจากเลิกราหย่าร้างภรรยา Karina (อย่างเป็นทางการ) เขาก็ค่อยๆกลายเป็นบุคคลที่หมกมุ่นอยู่กับทฤษฎี หลักการ สรรค์สร้างผลงานโดยไม่หลงเหลืออารมณ์ร่วม ความรู้สึกใดๆ ‘Essay Film’ ที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ (ไม่สนว่าผู้ชมจะสามารถดูหนังเข้าใจ) ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ และสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ในที่สุด


เข้าฉายฝรั่งเศสเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1965 ก่อนติดตามด้วยเทศกาลหนังเมือง Berlin เสียงตอบรับค่อนข้างมึนงง มีทั้งชื่นชอบมากๆและเกาหัวไม่เข้าใจ แต่สามารถคว้ารางวัล Golden Berlin Bear ในปีที่มีผลงานโดดเด่นกว่าอย่าง Cat Ballou (1965), Charulata (1964), Le Bonheur (1965), Repulsion (1965), The Knack… and How to Get It (1965) ฯลฯ

ด้วยทุนสร้างประมาณ $220,000 เหรียญ มียอดจำหน่ายตั๋ว 503,125 ใบ น่าจะพอคืนทุนกระมัง แต่ค่อนข้างน่าผิดหวังสำหรับนักแสดง Eddie Constantine หรือเมื่อเทียบกับหนังซีเรียล Lemmy Caution (เรื่องอื่นๆยอดจำหน่ายตั๋วหลักล้านกว่าๆทั้งนั้นเลยนะ!)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2019 กลายเป็น Blu-Ray โดย Kino Lorber ส่วนฉบับที่หาดูออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel ยังแค่คุณภาพ DVD อยู่นะครับ

ส่วนตัวชื่นชอบในหลายๆแนวคิด สร้างหนังไซไฟอนาคตโดยใช้พื้นหลังปัจจุบัน, นำเสนอความขัดแย้งระหว่างเหตุผล vs. อารมณ์, Eddie Constantine ดิบเถื่อนได้ใจ, และโคตรท้าทายกับการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาเนื้อหาสาระสำคัญ … แต่เมื่อผู้ชมสามารถทำเข้าใจทุกสิ่งอย่าง หลังจากนั้นหนังก็แทบไม่หลงเหลืออะไร ตอนผมดูรอบสองบังเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เรื่องราวดำเนินไปอย่างเอื่อยๆเฉื่อยๆ เมื่อเทียบผลงานเด่นๆอื่นๆของผกก. Godard มันยังขาดสีสัน สิ่งสร้างความตื่นเต้น สนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่มีอะไรให้ลุ้นระทึก อยากติดตามตอนจบสักเท่าไหร่

น้อยครั้งมากๆที่ผมดูหนังซ้ำรอบสอง นั่นแสดงถึงความสลับซับซ้อน/ลุ่มลึกล้ำที่ผู้ชมทั่วไปเข้าไม่ถึงแน่ๆ Alphaville (1965) จึงเป็นความท้าทายเฉพาะกลุ่มคอหนังไซไฟ Hardcore, พวกไพร่ Godardian, ชื่นชอบบรรยากาศ Neo-Noir, แนวสืบสวนสอบสวน, นักคิด-นักปรัชญา, และรับรู้จัก Eddie Constantine จากหนังซีเรียล Lemmy Caution ลองหามารับชมดูนะครับ

เกร็ด: ภาพยนตร์ที่มี Alphaville (1965) เป็นแรงบันดาลใจ อาทิ Fahrenheit 451 (1966), Blade Runner (1982), Element of Crime (1984) ฯ

จัดเรต 15+ กับความดิบเถื่อน ‘Hard-Boiled’ และซับซ้อนจนดูไม่ค่อยรู้เรื่อง

คำโปรย | Alphaville โคตรหนังไซไฟของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ดินเถื่อน ล้ำอนาคต แต่ไกลเกินกว่าทุกคนจะไปถึง
คุณภาพ | ล้ำอนาคตไปไกล
ส่วนตัว | น่าสนใจ

A Scanner Darkly (2006)


A Scanner Darkly (2006) hollywood : Richard Linklater ♥♥♥♡

ดัดแปลงจากนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ Philip K. Dick นำประสบการณ์หลังหย่าร้างภรรยา (คนที่สี่) เสพติดยาจนเริ่มเห็นภาพหลอน ยังดีที่เข้ารักษาตัวในสถานบำบัดได้ทัน แต่เพื่อนของเขาหลายคนอาจไม่โชคดีเช่นนั้น, หนังมีความเป็น ‘สไตล์ Linklater’ มากไปนิด แต่ก็มืดหม่นและเจ็บจี๊ดถึงทรวงใน

‘สไตล์ Linklater’ คือการเดิน-คุย นักแสดงมักสนทนาอย่างปัญญาชน ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงอาจสามารถทำความเข้าใจอะไรๆ ซึ่งในบริบทหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อมากเกินไปนิด เพราะสมองของตัวละครกำลังจะค่อยๆถูกบ่อนทำลายโดยยาเสพติด พวกเขา(และผู้ชม)จึงไม่มีความกระตือรือล้นสักเท่าไหร่ในการรับฟังเสวนาวิชาการ

แต่ก็ดูเหมือน Linklater พยายามนำเอาสไตล์ของตนเอง ‘เดิน-คุย’ มาทำการเสียดสีล้อเลียน สร้างความตลกขบขัน หัวเราะหึๆ ผ่อนคลายจากบรรยากาศอันตึงเครียดของเรื่องราว แต่คงไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง Dark Comedy ดังกล่าว

และแม้หนังจะพยายามดัดแปลงอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับ แต่ก็มีหลายปมประเด็นถูกปล่อยทิ้งขว้าง ไม่ได้รับคำตอบ สร้างความสับสน ฉงนสงสัยให้ผู้ชม ทางทีดีแนะนำให้หานวนิยายอ่านก่อนล่วงหน้า (หรือหลังดูหนังจบก็ได้เหมือนกัน) เพื่อเติมเต็มความเข้าใจ และพบเห็นอัจฉริยภาพของ Philip K. Dick โคตรนักเขียนนวนิยายไซไฟแห่งครึ่งหลังศตวรรษที่ 20th


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Philip Kindred Dick (1928-82) นักเขียนนวนิยายไซไฟชื่อดัง เกิดที่ Chicago, Illinois พร้อมน้องสาวฝาแฝด แต่เธอเสียชีวิตเมื่อตอนอายุได้หกสัปดาห์, หลังครอบครัวหย่าร้างอาศัยอยู่กับมารดา เริ่มสนใจการอ่าน-เขียน ตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม และค้นพบความชื่นชอบเรื่องราวไซไฟจากนิตยสาร Stirring Science Stories, ช่วงระหว่างร่ำเรียน University of California, Berkeley แม้ไม่สำเร็จการศึกษา แต่ก็เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์วิชาประวัติศาสตร์, ปรัชญา, จิตวิทยา และสัตววิทยา

ตั้งแต่ปี 1951 ขณะอายุ 22 ปี เริ่มเขียนผลงานแรก เรื่องสั้นไซไฟ Roog (1951) นำเสนอผ่านมุมมองของสุนัข ครุ่นคิดว่าถังขยะคือแหล่งอาหารชั้นเลิศ ไม่เข้าใจทำไมเจ้านายถึงชอบนำอาหารไปเก็บไว้นอกบ้าน และครุ่นคิดว่าพนักงานเก็บขยะคือหัวขโมยจากโลกใบอื่น

แม้ผลงานเรื่องแรกจะไม่ได้การตีพิมพ์ แต่เขาได้รับโอกาสตีพิมพ์เรื่องสั้นอื่นๆลงนิตยสาร Planet Stories, If และ and The Magazine of Fantasy and Science Fiction ตามด้วยนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรก Solar Lottery (1955), ผลงานเด่นๆอื่นๆ อาทิ The Man in the High Castle (1962)**คว้ารางวัล Hugo Award: Best Novel, Do Androids Dream of Electric Sheep? (1968), Ubik (1969) ฯ

เมื่อปี 1971, Dick หย่าร้างภรรยา(คนที่สี่) Nancy Hackett หลังจากเธอย้ายออกจากบ้านที่ Santa Venetia, California ทำให้เขาหันมาพึ่งแอมเฟตามีน (amphetamine) เคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยการเสพยาเกินขนาด (แต่ก็ยังสามารถรอดชีวิตมาได้) ขณะที่บ้านหลังใหญ่พอหลงเหลือตัวคนเดียว ก็เลยรับขอทาน/คนไร้บ้านมาพักอยู่อาศัย พัวพันกับอาชญากร พบเห็นพฤติกรรมแปลกๆ(ของคนติดยา)มากมาย

[M]y wife Nancy left me in 1970 … I got mixed up with a lot of street people, just to have somebody to fill the house. She left me with a four-bedroom, two-bathroom house and nobody living in it but me. So I just filled it with street people and I got mixed up with a lot of people who were into drugs.

Philip K. Dick

ช่วงปี 1972, เมื่อรู้สึกว่าอาการติดยาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขอความช่วยเหลือจากโครงการ X-Kalay เพื่อช่วยบำบัดรักษาอาการ พอสามารถลดละ เลิกเล่นยาสำเร็จเมื่อปี 1974

Drug misuse is not a disease, it is a dicision, like the decision to step out in frount of a moving car. You would call that not a disease but an error in judgment.

ระหว่างการพักฟื้นก็เริ่มครุ่นคิดเขียนนวนิยาย A Scanner Darkly จากประสบการณ์ตรงเป็นกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-autobiographical) แต่บรรณาธิการเสนอแนะให้นำเสนอในเชิงไซไฟ โลกอนาคต เลยจำต้องเปลี่ยนแปลงพื้นหลัง (ดำเนินเรื่องมิถุนายน 1994) และเพิ่มองค์ประกอบ(ไซไฟ)อย่างกล้อง Webcam, โทรศัพท์มือถือ, Scramble Suit ฯ

Dick ใช้เวลาเขียน A Scanner Darkly เพียงสองสัปดาห์ แต่กว่าจะแก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จยาวนานถึง 3 ปี (ตีพิมพ์ปี 1977) เพราะทุกครั้งที่หวนระลึกถึงเหตุการณ์เคยเกิดขึ้น มันทำให้เขาเจ็บปวด ทุกข์ทรมานใจ บางวันก็ร่ำร้องไห้ออกมาอย่างไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงอุทิศนวนิยายให้ผองเพื่อน คนรู้จักที่ไม่สามารถเอาชนะอาการเสพติดยา

สำหรับชื่อนวนิยาย A Scanner Darkly ได้แรงบันดาลใจจากวลีในคัมภีร์ใบเบิ้ล Through a glass, darkly ซึ่งสื่อถึงการมองเข้าไปในกระจก/ด้านมืดของตนเอง จะทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริง(ของตนเอง)

For now we see through a glass, darkly; but then face to face: now I know in part; but then shall I know even as also I am known.

King James Version, 1 Corinthians 13:12

เกร็ด: A Scanner Darkly (1977) เป็นหนึ่งในสามนวนิยายขายดีที่สุดของ Philip K. Dick และได้รับการยกย่องว่าคือหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดอีกด้วย

สำหรับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ช่วงต้นทศวรรษ 90s ผู้กำกับ Terry Gilliam เคยแสดงความสนใจ แต่ไม่เคยมีการพัฒนาอะไรเป็นรูปเป็นร่าง, ต่อมาช่วงปลายทศวรรษ 90s นักเขียน Charlie Kaufman ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ Emma-Kate Croghan สัญชาติ Australian พยายามพัฒนาบทร่างอยู่หลายฉบับ แต่กลับไม่เป็นที่พึงพอใจจนโปรเจคถูกล้มพับไป (Kaufman ผันตัวไปเขียนบท Being John Malkovich (1999) จนโด่งดัง)


Richard Stuart Linklater (เกิดปี 1960) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Houston, Texas ช่วงวัยเด็กชื่นชอบเล่นฟุตบอล เบสบอล ขณะเดียวกันก็มีความสามารถด้านการเขียน เคยคว้ารางวัล Scholastic Art and Writing Award, ช่วงระหว่างทำงานยังแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ Gulf of Mexico เก็บเงินซื้อกล้อง Super-8 ก่อนย้ายมา Austin, Texas เข้าเรียนภาพยนตร์ Austin Community College จากนั้นร่วมก่อตั้ง Austin Film Society เมื่อปี 1985 ร่วมกับเพื่อนสนิท Lee Daniel สรรค์สร้างหนังสั้น Woodshock (1985) และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก It’s Impossible to Learn to Plow by Reading Books (1988)

แรกเริ่ม Linklater มีความสนใจดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ Philip K. Dick เรื่อง Ubik (1969) แต่เพราะไม่สามารถติดต่อขอลิขสิทธิ์ และเจ้าเองก็ยังครุ่นคิดไม่ตกว่าจะนำเสนอออกมาเช่นไร “couldn’t quite crack it” จนกระทั่งรุ่นน้องนักแสดง Wiley Wiggins ระหว่างถ่ายทำ Waking Life (2001) แนะนำนวนิยาย A Scanner Darkly (1977) อ่านแล้วมีความลุ่มหลงใหล ใคร่สนใจ ต้องการใช้วิธีนำเสนอแบบเดียวกับ Waking Life ซึ่งสามารถควบคุมงบประมาณไม่ให้เกิน $10 ล้านเหรียญ (ผิดกับภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องอื่นๆของ Dick ที่มักทุ่มทุนมหาศาล)

หลังจาก Linklater พัฒนาบทเสร็จสิ้น นำไปเสนอต่อ Laura Leslie และ Isa Hackett สองบุตรสาว และเป็นผู้จัดการสินทรัพย์/ลิขสิทธิ์นวนิยายของบิดา Philip K. Dick เพื่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลง แม้ในตอนแรกพวกเธอจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับฉบับการ์ตูน (cartoon version) แต่เมื่ออ่านบท พูดคุย รับฟังวิสัยทัศน์ที่ต้องการซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยาย เลยได้รับคำตอบตกลงในที่สุด

‘A Scanner Darkly’ is one of our father’s most personal stories because much of it is based on his own experiences. For this reason, it was especially important to us that it be done with all of the right intentions. His struggle with drug abuse is well documented, and he (and we) have witnessed many casualties along the way. The novel is filled with his humor and his own tragedies, and Richard’s screenplay managed to capture these key elements.

Laura Leslie และ Isa Hackett (สองบุตรสาวของ Philip K. Dick)

หนึ่งในข้อตกลงของการดัดแปลงนวนิยายเรื่องนี้ คือช่วงเวลาของหนัง (นวนิยายดำเนินเรื่องปี 1994) จึงขอให้มีความใกล้เคียงปัจจุบันมากที่สุด เลยขึ้นข้อความต้นเรื่องว่า 7 ปีต่อจากนี้ ซึ่งก็คือ ค.ศ. 2013


เรื่องราวของ Fred (รับบทโดย Keanu Reeves) ทำงานเป็นสายลับนอกเครื่องแบบ แทรกซึมเข้าไปในองค์กรค้ายารายใหญ่ โดยใช้ชื่อ Bob Arctor ซึ่งกำลังถูกสอดส่อง จับตามองโดยกล้องสอดแนมที่ทันสมัย (โดยไม่รับรู้ตัวว่า ตนเองกำลังสอดแนมตนเอง) เป้าหมายแท้จริงคือ James Barris (รับบทโดย Robert Downey Jr.) หัวโจ๊ก/พ่อค้ายารายใหญ่ที่มีพฤติกรรมหวาดระแวง พร้อมใส่ร้ายป้ายสี Bob เพื่อให้ตนเองหลุดรอดพ้นจากการถูกหมายจับกุม

เหตุผลที่ Fred ไม่รับรู้ตนเองว่าคือ Bob Arctor เพราะเขาเสพติดยาชื่อว่า ‘Substance D’ มากจนไปทำลายสมองซีกหนึ่ง เป็นเหตุให้เมื่อสวมบทบาทเป็นใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะหลงลืมอีกตัวตนไปโดยสิ้นเชิง ผิดกับหัวหน้า Hank ปลอมตัวเป็น Donna Hawthorne (รับบทโดย Winona Ryder) เล่นละครตบตาว่าชื่นชอบการเล่นยา หลังจากแทรกซึมเข้าไปในองค์กรดังกล่าวก็พบว่า Bob ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับกลุ่มค้ายา (เป็นเพียงเจ้าของบ้านที่เลือกรับคนไม่ดูตาม้าตาเรือก็เท่านั้น) หลังเสร็จสิ้นภารกิจ (จับกุมตัว James Barris ได้สำเร็จ) จึงหาหนทางช่วยเขาให้เข้าศูนย์บำบัด New-Path แต่มันก็เกือบสายเกินเยียวยา (เพราะเสพมากจนเกือบสูญเสียสมองซีกนั้นไปแล้ว)


Keanu Charles Reeves (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Beirut, Lebanon มารดาเป็นคนอังกฤษ, บิดาชาวอเมริกันเชื้อสาย Chinese-Hawaiian ทอดทิ้งครอบครัวไปเมื่อตอนอายุ 3 ขวบ, อาศัยอยู่กับแม่เติบโตยัง Sydney, ตามด้วย New York City, แต่งงานใหม่ผู้กำกับ Paul Aaron ทำให้เขามีโอกาสคลุกคลีวงการภาพยนตร์ เคยชื่นชอบกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง เกือบจะได้เล่นทีมชาติแต่ตัดสินใจเป็นนักแสดงดีกว่า เริ่มมีชื่อเสียงจากแฟนไชร์ Bill and Ted, Point Break (1991), My Own Private Idaho (1991), Bram Stoker’s Dracula (1992), Little Buddha (1993), Speed (1994), ล่าสุดโด่งดังจาก Matrix Trilogy

  • Fred สายลับนอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าตนเองมีบุตรสาวสองคน ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า Hank ให้สอดแนม Bob Arctor จากกล้องที่แอบติดตั้งไว้ (โดยไม่รู้ตัวว่าชายคนนั้นก็คือตนเองนะแหละ)
  • Bob Arctor เจ้าของบ้านหลังหนี่งที่ถูกภรรยาทอดทิ้งขว้าง เลยอุปการะ/อนุญาตให้ใครอื่นเข้ามาพักอาศัย หนี่งในนั้นคือ James Barris ชักชวนให้เสพติด Substance D โดยไม่รู้ตัวเริ่มไม่สามารถแยกแยะตัวตน มองเห็นภาพหลอน เคยครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากแฟนสาว Donna พาเข้าศูนย์บำบัดได้ทันท่วงที
  • Bruce ชื่อใหม่ของตัวละครหลังเข้าศูนย์บำบัด สามารถลดละเลิกการเสพยา แต่ยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว เลยถูกส่งมาทำงานฟาร์ม ก่อนค้นพบความจริงบางอย่างของสถานที่แห่งนี้

ในตอนแรกผู้กำกับ Linklater มีความลังเลเล็กๆว่า Reeves อาจบอกปัดบทนี้เพราะเพิ่งเล่นหนังไซไฟ Matrix Trilogy แต่เมื่อเขาได้อ่านบทก็ตอบตกลงทันที เพราะสนใจในลักษณะสองบุคลิกภาพของตัวละคร

While I was playing Arctor I learned about Fred, and when I was playing Fred I learned a bit about Arctor. They both definitely feel differently about themselves internally. There were days where it was confusing, but I got a lot of enjoyment out of the experience of playing those scenes and figuring it out

Keanu Reeves

การแสดงที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ Reeves มักคือบทบาทที่ทำให้ผู้ชมรู้สีกสงสารเห็นใจตัวละคร (empathy) ฉันไม่ได้อยากกระทำสิ่งชั่วร้าย แต่บริบทรอบข้างล้วนบีบบังคับให้ต้องเป็นไป ซี่งทั้ง Fred และ Bob Arctor ว่ากันตามตรงแทบไม่มีอะไรแตกต่าง (ในบุคลิก/การแสดง) ยกเว้นเพียงหน้าที่การงาน สวม-ไม่สวมชุด scramble suit นอกนั้นก็เต็มไปด้วยความสับสน มีนงง หวาดระแวงสิ่งต่างๆรอบข้าง มันเกิดอะไรขี้นกับตัวฉัน?

เอาจริงๆนี่เป็นบทบาทที่น่าฉงนมากๆ เพราะการแสดงของ Reeves แทบไม่นำเสนอความผิดปกติทางกายภาพของตัวละคร (ยกเว้นตอนเริ่มเห็นภาพหลอน) จนกระทั่งข้อมูลทางการแพทย์เปิดเผยว่า สมองซีกหนี่งได้ถูกทำลายจนถีงขั้นวิกฤต จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ชมจีงค่อยตระหนักว่าชายคนนี้มีอาการป่วยที่รุนแรง (และกำลังจะลงแดง) … มันอาจสะท้อนว่า คนป่วยไม่รับรู้ตนเองว่าป่วย/คนสองบุคลิกไม่รับรู้ตนเองว่ามีสองบุคลิก ฟังดูเป็นสิ่งน่าสะพรีงกลัวยิ่งนัก


Robert John Downey Jr. (เกิดปี 1965) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan เป็นบุตรของผู้กำกับ/นักแสดง Robert Downey Sr. สอนให้เขาสูบกัญชาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เลยไม่แปลกที่พอเติบโตขึ้นจะพัวพันกับยาเสพติดถึงครึ่งค่อนชีวิต, เริ่มมีผลงานการแสดงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ Pound (1970) แต่กว่าจะเริ่มมีชื่อเสียงจริงๆก็เมื่อเป็นสมาชิก Brat Pack เล่นหนังวัยรุ่น Tuff Turf (1985), Weird Science (1985), Less Than Zero (1987), ได้รับคำชมล้นหลามจาก Chaplin (1992) เข้าชิง Oscar: Best Actor, Tropic Thunder (2008) ลุ้นรางวัล Oscar: Best Supporting Actor และกลายเป็น ‘Iconic’ แห่ง MCU ในบทบาท Iron Man

รับบท James Barris พ่อค้ายาที่จับพลัดจับพลูมาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกับ Bob Arctor, คงเพราะเสพยามานาน จีงเริ่มเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดมาก ถีงขนาดวางแผนใส่ร้ายป้ายสี Bob สร้างหลักฐานปลอมเพื่อให้ตนเองหลุดรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่เพราะกล้องสอดแนมติดอยู่รอบบ้าน ตำรวจจีงสามารถจับกุมตัวได้อย่างง่ายดาย

ในบรรดานักแสดงที่ประวัติเคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ชื่อของ Downey Jr. ค่อนข้างจะโด่งดังในช่วงขณะนั้น (ต้นทศวรรษ 2000s) เห็นว่าเพิ่งละเลิกถาวรได้ไม่นาน กำลังรอคอยโอกาส เป็นตัวเลือกเหมาะสมกับบทบาทนี้มากๆ

I thought it was probably the strangest script I’ve ever read. But I knew Keanu was doing it and Richard was directing it, and I thought, ‘these guys are pretty smart and know a good role. I wonder how this will turn out.’

Robert Downey Jr.

Downey Jr. หลังอ่านบทมีความลังเลใจอยู่เล็กๆ เพราะรู้สีกว่ามันมีความแปลกประหลาดมากๆ แต่ก็เชื่อในเพื่อนนักแสดงและผู้กำกับ นำประสบการณ์(ที่เคยเสพยา)มาปรับใช้ จนดูเหมือนเล่นเป็นตัวของตนเอง เพิ่มเติมคือพฤติกรรมหวาดระแวง วิตกจริต คลุ้มบ้าคลั่งเกินกว่าเหตุ ไม่มีใครสามารถคาดเดาว่าหมอนี่กำลังครุ่นคิด/ต้องการกระทำสิ่งใดกันแน่


Winona Laura Horowitz (เกิดปี 1971) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Winona, Minnesota บิดามีเชื้อสาย Jewish, หนี่งในพ่อทูนหัวของเธอคือ Philip K. Dick, วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน แต่พอโตขี้นตัดสินใจเข้าเรียน American Conservatory Theater, San Francisco จากนั้นส่งวีดิโอไปออดิชั่น ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Lucas (1986), เริ่มโด่งดังจาก Beetlejuice (1988), Edward Scissorhands (1990), Bram Stoker’s Dracula (1992), The Age of Innocence (1993), Little Women (1994)

รับบท Hank หัวหน้าของ Fred ปลอมตัวเป็น Donna Hawthorne แฟนสาวของ Bob Arctor แสดงความสนใจเพียงเสพยา แต่ลักลอบสังเกตพฤติกรรมของสมาชิกในบ้านหลังนี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ James Barris ขณะที่ Bob หลังรู้จักกันมาสักพักก็ตระหนักว่าคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีจิตใจชั่วหยาบช้า หลังเสร็จสิ้นภารกิจจีงหาหนทางให้ความช่วยเหลือ คาดหวังว่าเขาจะสามารถเอาชนะภัยตนเองได้สำเร็จ

Ryder เป็นนักแสดงที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นดาวดาราดวงถัดไป แต่ชีวิตของเธอก็มีปัญหาส่วนตัวมากมาย ตั้งแต่ความสัมพันธ์กับ Johnny Depp ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์สร้างความวิตกจริต กระวนกระวาย และช่วงปี 2001-02 ถูกจับข้อหาลักขโมย ระหว่างนั้นเครียดหนักหันไปพี่งพายาเสพติด กลายเป็นช่วงขาลงทั้งชีวิตและอาชีพการงาน

บทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าช่วยปลุกตื่นตัวเธอเองให้ตระหนักถีงความผิดพลาดในอดีต เล่นเป็นทั้งสาวติดยา (สวย ร่าน สนเพียงสนองตัณหา) และหัวหน้าที่ต้องช่วยเหลือชายคนรัก (เป็นห่วงเป็นใย โหยหาอาลัย) แม้ไม่ได้มีความโดดเด่น แต่ก็สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม น้อยคนจะคาดคิดถีง (มองว่าเป็นการหักมุมก็ได้เช่นกัน)


Woodrow Tracy Harrelson (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Midland, Texas โตขึ้นเข้าเรียนที่ Hanover College จบ Bachelor of Arts สาขาละครเวทีและภาษาอังกฤษ เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงซิทคอม ภาพยนตร์เรื่องแรก Wildcats (1986), เริ่มมีชื่อเสียงจาก White Men Can’t Jump (1992), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Indecent Proposal (1993), Natural Born Killers (1994), The Hunger Games Series, Now You See Me Series, War for the Planet of the Apes (2017) เคยเข้าชิง Oscar มาแล้วสามครั้งจาก The People vs. Larry Flynt (1996), The Messenger (2009), Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017)

รับบท Ernie Luckman หนี่งในสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้านของ Bob Arctor เป็นคนอีกคนที่เสพยาหนัก แต่เป็นคนซื่อตรงไปตรงมา มักถูกลวงล่อหลอกโดย James Barris ทำให้เกิดการต่อสู้/ขัดแย้งอยู่บ่อยครั้ง วันหนี่ง(เหมือนเสพยาเกินขนาด)จู่ๆล้มพับลงนอนกับพื้น รอดตายอย่างหวุดหวิด แต่มันอาจไม่มีครั้งหน้าถ้ายังฝืนตนเองอยู่อย่างนี้

บทบาทของ Harrelson ถือเป็นสีสันของหนังที่คอยตบมุก ตีหน้าเซ่อ ใสซื่อบริสุทธิ์ มักถูกลวงล่อหลอกโดยตัวละครของ Downey Jr. ให้ต้องมีความขัดแย้ง ไม่ลงรอย แตกต่างขั้วตรงข้าม (Luckman จะมีความไร้เดียงสา, ขณะที่ Barris เต็มไปด้วยความกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง)

Luckman has an innocence about him, even though he’s kind of crazy and messed-up in so many ways. It’s interesting that he’s the only one who’s not pretending—at least that’s the way I believed it and played it.

Woody Harrelson

ถ่ายภาพโดย Shane F. Kelly ขาประจำอีกคนของผู้กำกับ Richard Linklater เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ A Scanner Darkly (2006)

โดยปกติแล้วหนังของ Linklater จะให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด (Improvised) ระหว่างการถ่ายทำ แต่เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากนวนิยายที่มีบทสนทนาเขียนไว้โดยละเอียด วิธีการของเขาเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นซักซ้อม (Rehearsals) สองสัปดาห์ (ก่อนเริ่มถ่ายทำ) ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้นักแสดงปรับเปลี่ยนบทพูดให้เข้ากับสไตล์ตนเอง ผลลัพท์จึงเป็นส่วนผสมของ ต้นฉบับนวนิยาย+บทดัดแปลงของLinklater+ขัดเกลาโดยนักแสดง

หนังใช้เวลาโปรดักชั่น 23 วัน (รวมตัดต่อแล้วเสร็จใน 6 สัปดาห์) ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล Panasonic AG-DVX100 โดยปักหลักอยู่ Austin, Texas และมีบางฉากภายนอกถ่ายทำยัง Anaheim, California

เอาจริงๆแล้วหนังจะถ่ายทำแบบ Waking Life (2001) ไม่ต้องสนสถานที่ การจัดแสง-เงา เฉดโทนสี บันทึกภาพนักแสดงให้นักอนิเมเตอร์ใช้อ้างอิงวาดภาพสู่ Animation แต่ความละเมียดไมในการทำงานของ Kelly และต้องการลดงาน (ของนักอนิเมเตอร์) ทุกอย่างเลยถูกทำให้ออกเหมือนถ่ายภาพยนตร์ทั่วๆไปเรื่องหนึ่ง

แซว: Robert Downey Jr. ใช้ประโยชน์จากการที่หนังจะถูกนำไปดัดแปลงเป็น Animation ด้วยการเขียนบทพูดของตนเองลงกระดาษ PostIT! แปะรอบสถานที่ถ่ายทำ สำหรับอ่าน/เผื่อลืมขณะกำลังเข้าฉาก (แล้วนักอนิเมเตอร์ ก็จะลบรายละเอียดเหล่านั้นออกภายหลัง)

สำหรับฉากในบ้านของ Bob Arctor เอาจริงแล้วสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ในสตูดิโอก็ยังได้ แต่ผู้กำกับ Linklater ตัดสินใจมองหาบ้านจริงๆกว่า 60 หลัง ก่อนพบเจอที่ Eric Circle อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ Southeast Austin ซึ่งเจ้าของบ้านคนเก่าจงใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างรกๆไว้แบบที่เห็นในหนัง ทีมงานแทบไม่ต้องปรับปรุงอะไรก็สามารถใช้ถ่ายทำได้เลย

ในส่วนของอนิเมชั่น ร่วมงาน Bob Sabiston อดีตนักวิจัยจาก MIT ผู้พัฒนาโปรแกรม Rotoshop (ใช้แนวคิดเดียวกับเครื่อง Rotoscope แต่เปลี่ยนมาทำบนคอมพิวเตอร์ ด้วยการนำเข้าภาพถ่าย/คลิปวีดีโอ แล้วศิลปินวาดเส้น ใส่ลวดลาย ลงสีสัน เลียนแบบการขยับเคลื่อนไหวของภาพถ่าย/คลิปวีดีโอนั้นๆ) ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Graphic Novel ที่มักเต็มไปด้วยรายละเอียด ความสมจริง ใกล้เคียงโลกความจริง (แต่ใช้ลายเส้นของภาพวาด)

แม้หนังจะใช้โปรแกรมอนิเมชั่นเดียวกับ Waking Life (2001) แต่การทำงานนั้นแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง! เพราะผลงานเก่าสามารถว่าจ้างศิลปิน 30+ คน วาดภาพที่มีสไตล์/งานศิลป์ แตกต่างกันไปโดยไม่มีปัญหาอะไร (เพราะเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝัน และบุคคลผู้สนทนาปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆไม่ซ้ำกัน), ผิดกับ A Scanner Darkly ที่มีการดำเนินของเรื่องราวอย่างชัดเจน จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพให้มีรายละเอียด ลายเส้น โทนเฉดสีสัน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด (มีเพียง scramble suit ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา)

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อศิลปินใหม่ที่ว่าจ้างเข้ามา ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนโปรแกรม และปรับลายเส้น/งานศิลป์ให้มีทิศทางเดียวกัน ทำให้โปรเจคล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่วางแผนฉายกันยายน 2005 บานปลายมาถึงพฤษภาคม 2006 (รวมถึงงบประมาณบานปลายจาก $6.7 ล้านเหรียญ สู่ $8.7 ล้านเหรียญ)

ผมถือว่า scramble suit คือไฮไลท์การทำอนิเมชั่นของหนัง มันอาจจะแค่วาดภาพผู้คนแล้วใช้ Visual Effect ในการสลับสับเปลี่ยนไปมา แต่นัยยะของเจ้าชุดนี้คือความไร้ลักษณ์ สูญเสียตัวตน แม้จิตวิญญาณจะยังอยู่ภายใน (บุคคลที่สวมใส่) แต่ภายนอกกลับกลายเป็นใครก็ไม่รู้ ผันแปรเปลี่ยน (split personality) สู่อนันตภาพ

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า Animation ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ (กว่าภาพยนตร์คนแสดง Live-Action) คือการนำเสนอภาพหลอน จินตนาการครุ่นคิดของตัวละคร ผลกระทบจาก Substance D โดยเฉพาะแมลงสาบ (ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้า Robert Downey Jr. สวมชุดแมลงสาบในโลกความจริง มันจะออกมาพิศดารขนาดไหน)

อีกหนึ่งภาพหลอนที่อาจทำให้ใครหลายคนถึงกับสะดุ้งโหยง สั่นสะท้านทรวงใน แต่ผมกลับนึกถึงบทเพลงเชียร์ สับปะรด (มีตารอบตัว รอบตั้ว รอบตัว, มีตัวลายตา ลายต้า ลายตา, ฮูลล้า ฮุลลา, สับปะรด! สับปะรด!!)

หลายคนอาจสงสัยว่าดอกไม้สีฟ้าที่ตัวละครค้นพบช่วงท้าย มันคือภาพหลอนหรืออย่างไร? แต่เท่าที่ผมหาอ่านจากเรื่องย่อนวนิยาย พบว่านั่นคือดอกไม้จริงๆ (ไม่ใช่ภาพหลอน) สามารถนำไปสกัด/แปรรูป ส่วนผสมหนึ่งของ Substance D หรือที่เจ้าของฟาร์มแห่งนี้เรียกว่า ‘ดอกไม้แห่งอนาคต’

นั่นหมายความว่าผู้แต่ง Philip K. Dick ซ่อนเร้นนัยยะว่าสถานบำบัด X-Kalay (ที่เขาเคยเข้ารักษาตัวแห่งนี้) อาจมีการซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง ข้ออ้างบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยามันก็แค่ภาพลักษณ์ภายนอก แท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้ … ก็แล้วแต่จะไปครุ่นคิดตีความกันเอาเองนะครับ

I saw death rising from the earth from the ground itself in one blue field.

Bruce

ตัดต่อโดย Sandra Adair (เกิดปี 1952) ขาประจำผู้กำกับ Richard Linklater ร่วมงานกันตั้งแต่ Dazed and Confused (1993) และได้เข้าชิง Oscar: Best Edited จากเรื่อง Boyhood (2014)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Bob Arctor, Fred และ Bruce ทั้งสามคือตัวละครเดียวกันแต่พวกเขามีความเข้าใจในตนเองที่แตกต่างออกไป

  • Bob ใช้ชีวิตอยู่กับผองเพื่อนในบ้านหลังใหญ่ เสพติดยา และกำลังเริ่มเกิดภาพหลอน
  • Fred เข้าใจว่าตนเองเป็นสายลับ มีหน้าที่สอดแหนมบ้านของ Bob Arctor
  • Bruce คือบุคคลผู้สูญเสียความทรงจำในอดีต ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานบำบัด กำลังค่อยๆเริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

โดยเรื่องราวจะนำเสนอสลับไปมาระหว่างมุมมองของ Bob และ Fred ก่อนช่วงท้ายเมื่อตัวละครถูกนำส่งเข้าสถานบำบัด ถึงค่อยเปลี่ยนมาเป็น Bruce (โดยมีอดีตเจ้านาย/แฟนสาว คอยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ)

เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกตามความรุนแรงของยาเสพติด ได้ทั้งหมด 4 ระยะ

  • ระยะเริ่มต้น: แนะนำตัวละคร Fred/Bob รวมไปถึงผองเพื่อน James Barris, Ernie Luckman และ Charles Freck
  • ระยะหวาดระแวง: ตั้งแต่ James ซื้อจักรยาน, รถเสียกลางทาง, นึกว่าขโมยเข้าบ้าน
  • ระยะภาพหลอน: เมื่อเสพยาหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นภาพหลอนแมลงสาบ ร่วมรับกับหญิงสาว (ที่ก็ไม่รู้ว่าใคร)
  • ระยะรุนแรง/ทำลายระบบประสาท: ถึงขั้นลงแดง จำต้องส่งสถานบำบัด ค่อยๆฟื้นฟูอาการ แต่ก็ได้รับผลกระทบต่อร่างกายอย่างร้ายแรง

ลึกๆผมรู้สึกเสียดายที่ผู้สร้างยึดถือมั่นใน ‘สไตล์ Linklater’ มากเกินไปนิด คือถ้าเลือกตัดทอนการสนทนายาวๆออกไปบ้าง จะทำให้หนังมีความกระชับ รวบรัด ไม่เยิ่นเย้อยืดยาวจนน่าเบื่อหน่าย ยกตัวอย่างฉาก Fred กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้คน, หรือ Charles Freck เห็นภาพจินตนาการของ James Barris ฯ มันไม่ได้มีความจำเป็นเลยสักนิด!

เพลงประกอบโดย Graham Eric Reynolds (เกิดปี 1971) นักเปียโน/แต่งเพลง ผู้นำวง Golden Arm Trio และ Golden Hornet ปักหลักอาศัยอยู่ Austin, Texas ซึ่งมีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Richard Linklater ตั้งแต่ปี 2003, ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานหนังสั้น Live from Shiva’s Dance Floor (2003), ติดตามด้วยภาพยนตร์ A Scanner Darkly (2006) และอีกๆหลายผลงานต่อจากนั้น

นี่เป็นโปรเจคที่ไม่ได้มีความเร่งรีบร้อนอะไร ใช้เวลาสรรค์สร้างนานถึงปีครึ่ง (เพราะต้องรออนิเมชั่นกว่าจะทำเสร็จ) เห็นว่าทุกกระบวนการทำในบ้าน/ห้องนอนของ Reynolds เขียนเอง เล่นร่วมกับ Golden Arm Trio ไม่ได้ใช้การสังเคราะห์เสียงเลยนะครับ ทั้งหมดล้วนเล่นลีลาเครื่องดนตรี และแทรกใส่ Sound Effect เพื่อสร้างสัมผัสเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ พบเห็นภาพหลอน

งานเพลงของหนังล้วนดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ให้ความรู้สึกพิษวง ชวนสับสน วาบหวิวภายใน เหมือนตัวละครที่เริ่มแยกแยะอะไรๆไม่ค่อยออก เกิดความหวาดระแวง พบเห็นภาพหลอน กว่าจะรับรู้ตัวเองได้ว่าร่างกายมีความผิดปกติ อะไรๆก็อาจสายเกินแก้ไข

Little Blue Flowers เป็นบทเพลงที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ดังขึ้นช่วงท้ายเมื่อตัวละครค้นพบดอกไม้สีน้ำเงิน งอกเงยอยู่บนพื้นดินใต้ต้นข้าวโพด ขณะที่เสียงประสานไวโอลินกำลังเคลื่อนคล้อยดำเนินไป เชลโลกลับค่อยๆคืบคลานอยู่ภายใต้ แทรกตัวขึ้นมาจนเด่นดังชัด และกลมกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน (ใช้เสียงเชลโล่แทนดอกไม้สีน้ำเงิน บางสิ่งอย่างชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้)

แซว: จะว่าไปโปสเตอร์หนัง บานเกล็ดก็สีน้ำเงิน ซุกซ่อนเร้นตัวละครทั้งหลายอยู่เบื้องหลัง

You know, if it wasn’t for drugs, our dad would still be writing today, instead of dying in 1982

Laura Leslie และ Isa Hackett (สองบุตรสาวของ Philip K. Dick)

A Scanner Darkly นำเสนอลักษณะทางกายภาพ-ชีวภาพ ผลกระทบต่อร่างกาย-จิตใจ ของผู้ใช้ยาเสพติด (ซึ่งก็คือตัวตนเองของ Philip K. Dick) ทั้งจากมุมมองภายนอก/บุคคลที่สาม (Fred มองผ่านกล้องสอดแนม) และภายในตนเอง/บุคคลที่หนึ่ง (ผ่านเรื่องราวของ Bob Arctor) พานผ่าน 4 ระยะอาการป่วย เริ่มต้น-หวาดระแวง-เห็นภาพหลอน-ทำลายระบบประสาท

ในมุมมองของ Dick พฤติกรรมเสพยาคือ ‘การตัดสินใจ’ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครบีบบังคับ ขึ้นอยู่กับอยากรู้อยากลอง เชื่อว่ามันสามารถทำให้เราหลบหนี (Escapist) ค้นพบความสุข เข้าใจสัจธรรมของโลกใบนี้ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนคือคำโป้ปด หลอกลวง เพราะไม่มีอะไรได้มาโดยปราศจากมูลค่าความสูญเสีย ซึ่งผลกระทบ/อันตรายจากศัตรูตนนี้ มันช่างเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย รุนแรง แสนสาหัสเกินไปจริงๆ

This has been a novel about some people who were punished entirely too much for what they did. They wanted to have a good time, but they were like children playing in the street; they could see one afther another of them being killed — run over, maimed, destroyed — but they continued to play anyhow.

Philip K. Dick

เมื่อตอนผมรับชม Dazed and Confused (1993) อ่านเจอเกร็ดหนังว่า ทุกคนในกองถ่ายล้วนเสพปุ้น ดื่มเบียร์ เมากัญชา ก็ไม่ได้เอะใจอะไร (เพราะเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นยุคสมัยนั้น) แต่พอมาถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เลยค่อยครุ่นคิดตระหนักขึ้นได้ นี่ย่อมคือสิ่งที่ผู้กำกับ Richard Linklater เคยพานผ่าน ประสบพบเห็นมากับตัวแน่ๆ และสังเกตว่านักแสดงหลายคน Robert Downey Jr. หรือ Winona Ryder ล้วนเคยมีประสบการณ์/ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดมาทั้งนั้น

นั่นทำให้ลึกๆผมรู้สึกว่า A Scanner Darkly (2006) คือการไถ่โทษ ‘redemption’ ของผู้กำกับ Linklater (และทีมงาน/นักแสดงหลายๆคน) ที่ช่วงชีวิตหนึ่งเคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สำนึกแล้วว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ โชคดีไม่ได้หมกมุ่นเอาจริงจัง สามารถลดละเลิกก่อนร่างกาย/จิตใจจะเริ่มปฏิเสธต่อต้าน หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสอนใจคนรุ่นใหม่ ครุ่นคิดให้ดี มีสติก่อนตัดสินใจลิ้มลองสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเหล่านี้


ดั้งเดิมหนังมีกำหนดออกฉายกันยายน 2005 แต่ความล่าช้าในการทำอนิเมชั่น กว่าจะสำเร็จเสร็จสรรพก็ทันฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สายการประกวดรอง Un Certain Regard เมื่อปี 2006

ด้วยทุนสร้าง $8.7 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $5.5 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $7.7 ล้านเหรียญ หนังแนวนี้ยากที่จะได้ทุนคืน, ขณะที่เสียงตอบรับถือว่าค่อนข้างดี ส่วนใหญ่ชื่นชมในความแปลกใหม่ของ Animation ดึงดูดความสนใจเหมือนการสะกดจิต แต่ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนจากไดเรคชั่นผู้กำกับ Linklater ตัวละครพูดคุยมากเกินไปจนน่าเบื่อหน่าย

[A Scanner Darkly] may be more fun to think about than he is to experience. We’re watching other people freak out, but the film is maddening to sit through because their freak-outs never become ours.

Owen Gleiberman เขียนลงนิตยสาร Entertainment Weekly

แม้ผมจะชื่นชอบเนื้อเรื่องราว ความแปลกในอนิเมชั่น และโคตรประทับใจหลายๆความคิดสร้างสรรค์ (โดยเฉพาะ scramble suit) แต่ก็รู้สึกว่าไดเรคชั่น ‘สไตล์ Linklater’ ค่อนข้างมีปัญหากับหนัง จริงๆคือถ้าตัดต่อให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อยืดยาว ภาพรวมอาจกลมกล่อมลงตัวได้มากกว่านี้

เอาจริงๆถ้าหนังมันไม่พูดมากเกินไป ผมก็อยากจัดให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังอยากลิ้มลองรสชาติชีวิต ครุ่นคิดเสพยาเสพติด (หรือใครมีเพื่อนติดยา ลองเอาไปรับชมดูนะครับ) เรื่องราวของ A Scanner Darkly นำเสนอผลกระทบ(ของยา)ต่อสมองได้อย่างเจ็บจิ๊ดถึงทรวงใน

จัดเรต 18+ กับความหวาดระแวง คลุ้มบ้าคลั่งของคนติดยา

คำโปรย | A Scanner Darkly มีความเป็น ‘สไตล์ Linklater’ มากไปนิด แต่ก็มืดหม่นและเจ็บจี๊ดถึงทรวงใน
คุณภาพ | มืดหม่น
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

La Cité des enfants perdus (1995)


The City of Lost Children (1995) French : Jean-Pierre Jeunet & Marc Caro ♥♥♥

ตื่นตระการไปกับงานออกแบบภาพและเสียง Steampunk จินตนาการอนาคตที่ระบอบทุนนิยมได้กลืนกินโลกทั้งใบ ใครๆต่างหลงทาง สูญเสียความเป็นเด็ก สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ สนองตัณหาพึงพอใจ อนาคตคงหลงเหลือไว้เพียงความหมดสิ้นหวัง

The City of Lost Children (1995) นำเสนออาการ ‘หลงทาง’ ของมวลมนุษยชาติ ความน่าจะเป็นที่ถ้าระบอบทุนนิยมเข้ามาควบคุมครอบงำ สามารถกลืนกินโลกทั้งใบ แล้ววิถีชีวิต สภาพสังคม จิตสำนึกความเป็นคน (และความเป็นเด็ก) จะเกิดการปรับเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากที่เป็นอยู่เฉกเช่นไร

ดูหนังจบผมก็รู้สึกว่าโลกเราทุกวันนี้มีสภาพแทบไม่แตกต่างจาก The City of Lost Children (1995) คนส่วนใหญ่กำลังหลงทางชีวิต จมปลักยึดติดอยู่ในความเพ้อฝัน สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม-มโนธรรม แม้ร่างกายเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจไม่ต่างจากเด็กน้อยร้องเรียกความสนใจ (ขณะที่เด็กเล็กบางคนกลับมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเสียอีก!) ต้องการโน่นนี่นั่น โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียงเงินทอง อำนาจชาติตระกูล ประชาธิปไตย พอหมดลมหายใจไม่มีอะไรเอาไปได้สักอย่าง

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีดีแค่ ‘visual’ ภาพสวย อลังการงานสร้าง แต่เนื้อเรื่องราวกลับเอื่อยเฉื่อย ยืดยาว หาวแล้วหาวอีก ให้ความรู้สึกเหมือนดูอนิเมะตอนๆ แล้วนำมาประติดประต่อกลายเป็นหนังขนาดยาว ทำให้ขาดอารมณ์ร่วม ไร้ความต่อเนื่อง ไม่ยินดียินร้ายกับตัวละคร ใครจะเป็นยังไงก็ตามสบายใจผู้สร้าง


Jean-Pierre Jeunet (เกิดปี 1953) ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roanne, Loire เมื่ออายุ 17 สามารถเก็บเงินซื้อกล้อง Super8 เริ่มถ่ายทำหนังสั้น แล้วไปร่ำเรียนอนิเมชั่นยัง Cinémation Studios รู้จักสนิทสนมนักวาดการ์ตูน Marc Caro ร่วมงานสรรค์สร้างอนิเมชั่น(ขนาดสั้น) L’évasion (1978), Le manège (1980) ** คว้ารางวัล César Award: Best Animated Short Film, นอกจากนั้นยังมีโฆษณา, Music Video, และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Delicatessen (1991)

Marc Caro (เกิดปี 1956) นักวาดการ์ตูน อนิเมชั่น สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nantes ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Jules Verne สร้างแรงบันดาลใจให้ชื่นชอบหลงใหล Sci-Fi, โตขึ้นเริ่มจากเขียนการ์ตูน ตีพิมพ์ลงนิตยสาร L’Écho des savanes และ Fluide Glacial, กระทั่งปี 1974 มีโอกาสพบเจอ Jean-Pierre Jeunet จึงก้าวเข้าสู่วงการอนิเมชั่นและภาพยนตร์

การร่วมงานของทั้งสองจะแบ่งแยกตามความถนัด Jeunet เป็นผู้กำกับ ให้คำแนะนำนักแสดง ปรับบทพูดสนทนา, ส่วน Caro เป็นนักออกแบบ Storyboard ให้คำแนะนำทีมงานจัดแสง มุมกล้อง งานสร้างพื้นหลัง, กระบวนการอื่นๆ เขียนบท ตัดต่อ pre/post production ถึงค่อยทำงานร่วมกัน

Jean-Pierre handles direction in the traditional sense of the word, that is, the direction of the actors, etc., while I do the artistic direction. Beyond that, in the day-to-day workings of the shoot of preproduction, it’s obviously much more of a mixture. We write together, film together, edit together. According to each of our specialties, sometimes we’ll be drawn to what we do best. There’s a real complicity between us.

Marc Caro

ตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษ 80s ที่ทั้ง Jeunet & Caro ต่างครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราว เตรียมงานสร้าง The City of Lost Children แต่ติดปัญหาขาดแคลนงบประมาณ คาดการณ์ว่าต้องใช้ทุนสร้างมหาศาล ไม่มีสตูดิโอไหนยินยอมจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ผู้กำกับไม่เคยมีผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวมาก่อน ด้วยเหตุนี้ทั้งสองเลยร่วมกันสรรค์สร้าง Delicatessen (1991) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและคำวิจารณ์ เลยมีโอกาสเติมเต็มความฝันรอยคอยมาเป็นทศวรรษ

จุดเริ่มต้นของหนัง เกิดจากความต้องการนำเสนอเรื่องราวบุคคลผู้ไม่มีความฝัน ไม่สามารถนอนหลับฝัน จึงลักพาตัวเด็กๆแล้วขโมยความเพ้อฝันพวกเขา

It was the idea that we had. That someone who didn’t dream but, just the same, lived very well, yet would want to see, in dreams, a greater dimension of the imagination. For us, someone who is deprived of that is condemned to die. That’s part of what we wanted to say…If one cannot dream and imagine things, and if one is sentenced to the everyday, to reality, it’s awful.

I think of men incapable of dreaming…There have always been men to put on fantasy festivals, or to make films, to make others dream; and there are others who have never dreamed.

A lot of people lose the spirit of childhood. Every child has a lot of imagination and you lose it little by little.

Jean-Pierre Jeunet

ในทัศนะของ Jeunet ภาพยนตร์ก็คือความเพ้อฝันของผู้สร้าง ซึ่งจักทำให้ผู้ชมสามารถบังเกิดจินตนาการ (ด้วยการลักขโมยความเพ้อฝันของผู้สร้างนั้นเอง)


นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank (รับบทโดย Daniel Emilfork) อาศัยอยู่ยังแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล แม้เป็นคนที่มีอัจฉริยภาพ แต่มิอาจนอนหลับฝัน จึงสรรค์สร้างโคลนทั้งหกให้เป็นคนรับใช้ ออกคำสั่งให้ลักพาตัวเด็กๆอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพื่อนำเข้าเครื่องขโมยความฝัน

เรื่องราวของ One (รับบทโดย Ron Perlman) ชายร่างใหญ่ นักพละกำลัง (Strongman) หลังจากน้องชาย Denree ถูกลักพาตัวโดยองค์กรศาสนา Cyclops (เพื่อขายต่อให้ Krank) พยายามติดตามหาจนได้พบเจอเด็กหญิง Miette (รับบทโดย Judith Vittet) อาศัยอยู่ยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของแฝดสยาม Octopus (แท้จริงเสี้ยมสอนให้เด็กๆเป็นหัวขโมย นำสิ่งของมีค่ามาจ่ายค่าเลี้ยงดู) ทั้งสองร่วมออกเดินทาง ผจญภัย พานผ่านอุปสรรคขวากหนาม พบเจอผู้คนมากมาย ท้ายที่พวกเขาจะให้ช่วยเหลือน้องชายที่สูญหายได้สำเร็จหรือไม่


Ronald Francis Perlman (เกิดปี 1950) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manhattan ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish บิดาเป็นมือกลอง ช่างซ่อมโทรทัศน์ พยายามผลัดดันบุตรชายให้กลายเป็นนักแสดง โตขึ้นร่ำเรียนการละคอน University of Minnesota จบออกมาเริ่มจากแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Quest of Fire (1981), The Name of the Rose (1986), แจ้งเกิดโด่งดังจากแสดงซีรีย์ Beauty and the Beast (1987-90), Cronos (1993), แต่กว่าจะได้รับบทนำก็ The City of Lost Children (1995), Hellboy (2004) ฯ

รับบท One ชายร่างใหญ่ นักพละกำลัง (Strongman) แต่จิตใจเหมือนเด็กน้อยโหยหาใครสักคนเป็นที่พึ่งพักพิง หลังสูญเสียนายจ้างคณะละครสัตว์ ทำให้ต้องพลัดพรากจากน้องชาย Denree จึงพยายามติดตามแต่ไม่รู้ว่าจะหาหนทางไหน จนกระทั่งได้พบเจอเด็กหญิง Miette ร่วมด้วยช่วยกันออกเดินทางผจญภัย กลายเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในครอบครัว พร้อมต่อสู้เอาชนะทุกอุปสรรคขวากหนาม

แซว: ทรงผมของ One มีกระจุกอยู่ด้านหน้า (สื่อถือภาพลักษณ์ภายนอกที่เป็นผู้ใหญ่) ส่วนด้านหลังจะราบเรียบ สกินเฮด (เหมือนเด็กน้อย บริสุทธิ์ ว่างเปล่า) เฉกเช่นเดียวกับเสื้อไหมพรมสีเขียวเอวลอย (ออกแบบโดย Jean-Paul Gaultier) มีขนาดเล็ก ไซส์เด็ก

ไม่ใช่ว่า Jeunet & Caro ต้องการนักแสดงระดับนานาชาติเพื่อหนังจะขายได้ในวงกว้าง (ถ้าจะทำอย่างนั้น ให้หนังพูดภาษาอังกฤษไม่ดีกว่าหรือ?) ประเด็นคือพวกเขาหาบุคคลที่มีภาพลักษณ์สูงใหญ่ บึกบึน แต่มีความอ่อนไหว ภายในเหมือนเด็กน้อย จากนักแสดงฝรั่งเศสแทบไม่ได้ ซึ่งถือเป็นความบังเอิญที่ Caro รับชม Cronos (1993) แล้วพบเห็น Perlman เลยเชื่อว่าต้องชายคนนี้แหละ ไม่มีตัวเลือกอื่น

แซว: Perlman พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ค่อยได้ แต่เขาใช้วิธีท่องบท ซักซ้อมสำเนียง จนผลลัพท์ออกมาแนบเนียนสุดๆ (แต่เจ้าตัวก็ยังยืนกรานว่า ตนเองพูดฝรั่งเศสไม่ดีสักเท่าไหร่)

หลังรับชมผลงานของ Jeunet มาสองสามเรื่องก็ทำให้ผมตระหนักได้ว่า เขาเลือกนักแสดงจากภาพลักษณ์เป็นหลัก ไม่ได้ต้องมีฝีไม้ลายมือโดดเด่น แค่สามารถถ่ายทอดบุคลิกภาพตัวละครออกมาก็เพียงพอแล้ว, เฉกเช่นเดียวกับ Perlman แค่ภาพลักษณ์นักพละกำลัง [คล้ายๆจาก La Strada (1954)] ก็ไม่มีใครในปัจจุบันสามารถเทียบแทน แถมบุคลิกภาพ ตัวตนแท้จริงก็แบบในหนังเปี๊ยบๆ ใครเคยรับชมผลงานอื่นๆของพี่แก ก็น่าจะเข้าถึงตัวละครได้ไม่ยาก

Judith Vittet (เกิดปี 1984) นักแสดงเด็ก สัญชาติฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เคยถ่ายทำโฆษณา เล่นบทสมทบเล็กๆเรื่อง Personne ne m’aime (1994) ใจจริงไม่ได้อยากเป็นนักแสดง (เพ้อฝันอยากเป็นสถาปนิก ออกแบบเสื้อผ้า ไม่ก็นักโบราณคดี) แต่เพราะยังอายุยังไม่มาก เมื่อได้รับโอกาสก็พร้อมทดลองผิดลองถูก ลองมาทดสอบหน้ากล้องเป็นที่ถูกอกถูกใจสองผู้กำกับ เพราะสามารถจดจำบทพูดได้อย่างแม่นยำ สีหน้า ท่าทาง วาทศิลป์ ดูเติบโตเกินวัย

รับบทเด็กหญิง Miette หัวโจ๊กของกลุ่มเด็ก อาศัยอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ‘the Octopus’ แต่ถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูหลังการลักเล็กขโมยตู้นิรภัย จับพลัดจับพลูพบเจอ One ที่แม้ร่างกายเป็นผู้ใหญ่แต่มีจิตใจเหมือนเด็กน้อย ไม่เชิงว่าตกหลุมรัก (เพราะยังเด็กเกินไป) แค่เกิดความสัมพันธ์ฉันท์ครอบครัว เลยให้ความช่วยเหลือ ออกติดตามหาน้องชายคนเล็ก (ที่ไม่เคยพบเจอหน้ามาก่อนด้วยซ้ำ)

เกร็ด: เสื้อไหมพรมลายขวางสีแดงของ Miette น่าจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจาก Gelsomania เรื่อง La Strada (1954) เพิ่มเติมคือกระโปรง jumpsuit คอยปกปิดบังตัวตน/ความบริสุทธิ์จากภายใน

ต้องชมเลยว่า Vittet คือสีสันที่แท้จริงของหนัง ทำให้เรื่องราวดูมีชีวิตชีวา เป็นผู้นำทาง/แสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด เข้มแข็งแกร่งจากภายใน ความคิดอ่านแบบผู้ใหญ่ (ในร่างเด็กหญิง) และสามารถเอาชนะนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องด้วยจินตนาการอันสู่งส่งของตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับ One เด็กหญิง Miette ลึกๆก็โหยหาบุคคลสามารถเป็นที่พึ่งพักพิง การได้พบเจอกันและเห็นว่าเขายินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อน้องชาย ก็เลยอยากได้พี่แบบนั้น และท้ายสุดก็สมความปรารถนา แม้ต้องเจ็บตัวสักเล็กน้อยก่อนก็ตามที

Daniel Emilfork ชื่อจริง Daniel Zapognikof (1924-2006) สัญชาติ Chilean เกิดที่ San Felipe ครอบครัวเชื้อสาว Jews มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก แต่พอตระหนักว่าตนเองเป็นเกย์ เลยตัดสินใจอพยพสู่ฝรั่งเศส (เพราะเป็นดินแดนเสรี เปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่า) มีผลงานละครเวที ภาพยนตร์ ส่วนใหญ่รับบทตัวร้าย อาทิ The Devil’s Nightmare (1971), Travels with My Aunt (1972), Fellini’s Casanova (1976), Pirates (1986), Taxandria (1994), The City of Lost Children (1995)

รับบทนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank เพราะไม่สามารถนอนหลับฝัน จึงต้องการทำลายความฝันของเด็กๆ สรรค์สร้างมนุษย์โคลนทั้งหมกสำหรับเป็นคนรับใช้ รวมไปถึงอุปกรณ์เพิ่มขีดความสามารถในโสตประสาทให้องค์กรศาสนา Cyclops แลกกับการลักพาตัวเด็กๆ ส่งขึ้นเรือมายังแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล

แท้จริงแล้ว Krank ก็คือหนึ่งในมนุษย์โคลนของนักประดาน้ำ (โคลนที่เจ็ด) ถูกออกแบบให้มีความเฉลียวฉลาด อัจฉริยภาพเหนือใคร แต่ข้อบกพร่องหนึ่งเดียวคือไม่สามารถนอนหลับฝัน ร่างกายจึงเจริญเติบโตจนสูญเสียพัฒนาการช่วงวัยเด็ก กลายเป็นผู้ใหญ่/สูงวัยอย่างรวดเร็ว

ผู้กำกับ Jeunet เล่าว่าเขียนบทนี้โดยมีภาพของ Emilfork อยู่ในใจตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีใครสามารถเทียบแทนที่ และในชีวิตจริงก็ไม่ต่างจากตัวละครสักเท่าไหร่ (ฉากที่เด็กๆร่ำร้องไห้ ไม่ต้องครุ่นคิดหาวิธีการอะไร เพียงแค่ Emilfork ยื่นหน้าเข้าไปก็ทำให้พวกเขาหวาดกลัวจนตัวสั่นแล้ว)

ผมชอบฉากที่ Emilfork สวมชุดซานต้าแล้วพยายามจะ Merry Christmas คือพี่แกพยายามสุดๆที่จะทำให้เด็กๆหัวเราะ ยิ้มร่า แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาทะยอยร่ำร้องไห้ทีละคนสองคน วินาทีนั้นจากควรเป็นตัวร้ายโหดโฉดชั่ว กลับรู้สึกน่าสงสารเห็นใจ คงไม่มีใครสักคนเข้าใจความรู้สึก แม้กระทั่งตอนพ่ายแพ้ต่อ Miette ยังไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจเลยสักนิด!

แซว: ไม่รู้ทำไมผมเห็นเครื่องขจัดฝัน (dream-extracting machine) แล้วชวนให้ระลึกถึงทรงผมของ Elsa Lanchester จากเรื่อง Bride of Frankenstein (1935)

ถ่ายภาพโดย Darius Khondji (เกิดปี 1955) สัญชาติ Iranians-French, บิดาเป็นชาวอิหร่านแต่งงานกับมารดาชาวฝรั่งเศส เกิดที่ Tehran แล้วมาปักหลักอยู่ Paris ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเล่นกล้อง Super-8 พอโตขี้นเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ร่ำเรียนสาขาภาพยนตร์ UCLA ตามด้วย New York University และ International Center of Photography, หลังสำเร็จการศีกษาเดินทางกลับฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตากล้อง, ถ่ายหนังทุนต่ำ, โด่งดังกับ Delicatessen (1991), The City of Lost Children (1995), Se7en (1995), Stealing Beauty (1996), Evita (1996), Midnight in Paris (2011), Amour (2012), Okja (2017), Uncut Gems (2019) ฯ

งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยเทคนิค ลีลา ภาษาภาพยนตร์ มีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน มุมมองแปลกๆ Dutch Angle, Fisheye Lens และ Close-Up สะท้อนความบิดๆเบี้ยวๆภายในจิตใจมนุษย์ และลักษณะผิดปกติของโลกในหนัง ซึ่งการออกแบบฉาก (Production Design โดย Jean Rabasse) ให้ความรู้สึกเหมือน German Expressionism ดูหมองหม่น อึมครึม ทะมึน สร้างทั้งเมือง/ท่าเรือ และภายในแท่นขุดเจาะน้ำมัน ขนาดเท่าของจริงในสตูดิโอ Studios 91 Arpajon

การเลือกโทนสีก็มีเฉด (color palette) ที่แตกต่างออกไปตามสถานที่ และเรื่องราวขณะนั้นๆ ซึ่งนักแสดงทุกคนจะถูกแต่งหน้าจนซีดขาว (เหมือนตัวตลกทา แต่ก็ไม่ได้ขาวจั๋วขนาดนั้นนะครับ) แล้วค่อยไปปรับโทนสี (color correction) ในกระบวนการ post-production … วิธีการดังกล่าวจะทำให้ความเข้มของสีอื่นๆจืดจางลง ซึ่งถ้าสังเกตกันดีๆหนังแทบไม่พบเห็นสีฟ้า/น้ำเงิน หลักๆคือน้ำตาล แดง เขียว และความมืดมิดเข้าปกคลุม

สำหรับ Visual Effect ติดต่อว่าจ้างบริษัท Duran Duboi สัญชาติฝรั่งเศส (ถือเป็นบริษัท VFX แรกของฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้) ก่อตั้งโดย Bernard Maltaverne และ Pascal Hérold เมื่อปี 1983 ซึ่ง The City of Lost Children น่าจะเป็น ‘Mega Project’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกๆเลยก็ว่าได้

เรื่องราวของ Krank เพราะเป็นคนไม่สามารถนอนหลับฝัน จึงต้องการขโมยความฝันของเด็กๆ ผมคิดว่านี่เหตุผลที่ตรงไปตรงมา ตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้ดี-ชั่ว ถูก-ผิดประการใด แต่ในมุมมองของมนุษย์ผู้มีความฝัน ย่อมรู้สึกว่าชายคนนี้เป็นตัวร้าย บุคคลอันตราย ไร้จิตสำนึกมโนธรรม กระทำสิ่งอย่างเพียงสนองความต้องการส่วนตน

แต่เราควรต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของปัญหา, Krank คือร่างโคลนสุดท้ายของนักประดาน้ำไร้นาม นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องตัวจริง ผู้ครุ่นคิดพัฒนา ต้องการสรรค์สร้าง’ชีวิต’จนสูญสิ้นตัวตน ความทรงจำ ปัจจุบันต้องอาศัยอยู่ใต้จิตสำนึก (ใต้น้ำ) หวาดกลัวการเผชิญหน้ากับผู้อื่นใด

ทำไมต้อง Santa Claus? เพราะซานต้าคือสัญลักษณ์ของการให้ มอบของขวัญ ความสนุกสนาน สวมชุดสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเลือด ความบริสุทธิ์ และสิ่งดีงาม … เหล่านี้เป็นสิ่งที่ Krank ไม่เคยได้รับ บังเกิดอคติ (สังเกตกล่องของขวัญจะมีสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย) แทนที่จะเป็นผู้ให้ก็ฉกแย่งชิงมาครอบครองของตนเอง

หลายคนอาจสงสัยว่านักแสดงโคลน (รับบทโดย Dominique Pinon) ใช้ตัวแทนหรือ CGI หรืออย่างไร? ถ้าสังเกตดีๆจะพบเห็นเทคนิคภาพยนตร์ทั่วๆไป มุมกล้องเดิม ถ่ายทำสองครั้ง (หรือ 3-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณโคลนที่ต้องการให้เห็นในช็อตเดียว) แล้วฉายขึ้นจอด้านหลัง (Rear Projection)

โคลนทั้งหก ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นคนรับใช้ ไม่ได้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดนัก แต่ก็สามารถทำสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันได้เหมือนคนทั่วไป (และผมรู้สึกว่าหนังจงใจเปรียบเทียบกับการสร้างโลกใน 7 วัน คือมีโคลนทั้งหมด 7 ตน ยกเว้นคนสุดท้ายที่ผิดแผกแตกต่าง เฉลียวฉลาด แลดูเหมือนมนุษย์กว่าใครอื่น)

Uncle Irvin (ให้เสียงโดย Jean-Louis Trintignant) ผมไม่แน่ใจว่าคือโคลนสมอง หรือสมองจริงๆของนักประดาน้ำ แต่มีความเฉลียวฉลาดไม่น้อยไปกว่า Krank เพียงแค่ไร้ร่างกายเหมือนมนุษย์ แต่สามารถใช้กลไกในการมองเห็น (กล้อง) ได้ยิน (ลำโพง) ขยับเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆ (มีแขน-ขา)

นี่เป็นตัวละครที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ‘จิตวิญญาณ’ คืออะไร? แม้มีเพียงมันสมอง แต่สามารถพูดคุยสื่อสาร แสดงความคิดเห็น ว่าไปมีความเป็นมนุษยมากกว่า Krank เสียอีกนะ!

แซว: เวลาพบเห็นกล้องที่แทนด้วยดวงตาของปัญญาประดิษฐ์ (ถ้าสมองนี้คือโคลน ก็ถือว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ในเชิงชีวภาพได้เหมือนกันนะ) มันก็ชวนให้นึกถึง 2001: A Space Odyssey (1968) ขึ้นมาทุกที

ทำไมต้องแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล? น่าจะเพราะเป็นสถานที่ที่เจาะลงไปใต้พื้นผิวโลก หรือคือเข้าไปเนื้อหนัง จิตใต้สำนึก ความเพ้อฝันของเด็กๆ จินตนาการของตัวละคร

การออกแบบทั้งภายนอกในฉากนี้ เน้นโทนสีเขียวซึ่งดูโฉดชั่วร้าย อันตราย ผืนน้ำราวกับยาพิษ เพียงสัมผัสก็อาจถึงแก่ความตาย … จะว่าไปช็อตนี้ทำให้ผมระลึกถึง Vampire Hunter D (1985) คฤหาสถ์แวมไพร์บดบังพระจันทร์ (สิ่งชั่วร้ายบดบังแสงสว่างแห่งความหวัง)

เป็นความ Ironic เล็กๆที่หนังจงใจใช้ Fisheye lens แทนสายตาของ Uncle Irvin ซึ่งก็คือสมองในถังน้ำ/ตู้ปลา (Fish Tank) มองออกไปพบเห็นโลกทั้งใบ (หรือคือห้องแห่งนี้)

และลักษณะภาพที่ถ่ายผ่าน Fisheye lens ให้ความรู้สึกเหมือนโลกที่บิดเบี้ยว จักรวาลในหยดน้ำ หรือคือหยาดน้ำตา ที่มีการกล่าวถึงครั้งแรกในซีน Happy Birth Day (ของ Uncle Irvin) ให้คำแนะนำ Krank ลองศึกษาดูว่า ‘หยดน้ำตา’ มันมีความลึกล้ำค่าสักเพียงใด … ผู้กำกับ Jeunet ให้คำอธิบาย ทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) ที่สามารถให้กำเนิดโลก/จักรวาล บิ๊กแบง มีความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งสิ้น!

เมืองริมท่าเรือแห่งนี้ เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตรอกซอกซอย โครงเหล็ก กำแพงสูง และบันไดเต็มไปหมด จนมองไม่เห็นท้องฟากฟ้า รับรู้ทิศเหนือ-ใต้ ออก-ตก ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ดูสับสนงุนงง รู้สึกแออัดคับแคบ รกรุงรัง ซ่อนเร้นภยันตรายแอบแฝง ไม่มีสถานที่แห่งหนไหนสามารถมอบความสุขสบาย ผ่อนคลาย หรือปลอดภัยจะสิ่งชั่วร้าย

แฝดสยามที่ไม่ใช่แฝดสยาม คือพี่น้องฝาแฝดทั่วๆไป(แค่ไม่ได้ตัวติดกัน) Geneviève Brunet และ Odile Antoinette Brunet แต่หนังต้องทำให้พวกเธอมีขาติดกัน (มัดขาสองข้างเข้าด้วยกัน ) เวลาเดินเลยค่อนข้างยุ่งยากลำบาก เหตุนี้เลยมักพบเห็นแค่ยืน-นั่ง ไม่ขยับเคลื่อนไหวท่อนล่างสักเท่าไหร่

หนังไม่ได้ตั้งชื่อให้ตัวละคร แต่ใช้ฉายาขณะเคยเป็นนักแสดงละครสัตว์ (ในคณะของ Marcello) และตั้งเป็นชื่อสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า the Octopus ซึ่งก็ถือว่าเข้ากับมือทั้งสี่ที่ยั้วเยี้ยเหมือนหนวกปลาหมึก เวลาเห็นสิ่งของมีค่า เงินๆทองๆ ก็คว้าขวับจับเข้ากระเป๋าอย่างรวดเร็วไว

สำหรับนัยยะที่ต้องให้ตัวละครนี้เป็นแฝดสยาม สองตัวตนในบุคคลเดียว ก็เพื่อสะท้อน ‘คนสองหน้า’ หรือ ‘นกสองหัว’ ภายนอกเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า สร้างภาพให้ดูดีน่านับถือ แต่แท้จริงแล้วกลับเสี้ยมสอนเด็กๆให้กลายเป็นขโมยกะโจร เรียกร้องค่าเลี้ยงดูแล ใครไม่จ่ายก็พร้อมกำจัดให้พ้นทาง

หลังจาก One ไม่สามารถติดตามทันรถของ Cyclops จึงยุติการไล่ล่าตรงบันได กำหมัดทุบท่อน้ำจนได้รับบาดเจ็บ แล้วถูกเจ้าของห้องพักด้านบนสาดน้ำราดใส่ศีรษะ (ทำให้ฟื้นคืนสติขึ้นมา) ในตอนแรก Miette ต้องการร่ำลาจากไป แต่พอปรับเปลี่ยนมุมกล้อง พบเห็นภาพทิวทัศน์ด้านนอก เด็กหญิงจึงยินยอมเปลี่ยนใจ ให้ความช่วยเหลือร่วมออกผจญภัย ค้นหาน้องชาย Denree แม้ไม่เคยพบเจอหน้าคาดตาเลยสักครั้ง

Cyclops อสูร/ยักษ์ตาเดียว สัตว์ประหลาดในตำนานกรีก ชอบกินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งหนังนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์องค์กรศาสนา ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี (จากผลงานประดิษฐ์ของ Krank) เพื่อชวนเชื่อให้สาวกมองเห็นคลื่นอินฟาเรด และได้ยินเสียงชัดเจนกว่าปกติ สามารถใกล้ชิดพระเป็นเจ้า สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ

แต่แท้จริงแล้วองค์กรศาสนาก็เป็นเพียงฉากบังหน้า (เหมือนกับ the Octopus) นอกจากลักพาตัวเด็กๆเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ยังมีลักษณะคล้ายลัทธินอกรีต ลวงล่อหลอกให้ผู้คนบังเกิดความเชื่อศรัทธา กลายสภาพเป็นอสูร/ยักษ์ สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ (ทั้งร่างกาย-จิตใจ)

ตรงกันข้ามกับองค์กรศาสนาที่พยายามควบคุมครอบงำสาวกด้วยความคิดจิตใจ เรื่องราวของคนเลี้ยงเห็บ/หมัด Marcello ผมก็ไม่รู้ฝึกฝนทำได้อย่างไร (แต่ก็อย่าไปเสียเวลาครุ่นคิดจริงจังกับมันมาก) เมื่อได้ยินเสียง Street Organ ก็จักฉีดสารเคมีบางอย่างเข้าร่างกาย ให้สามารถขยับเคลื่อนไหว ปฏิบัติตามคำสั่ง กลายเป็นหุ่นเชิดชัก สูญเสียสิ้นความสามารถในการกระทำอะไร

ตัวตนแท้จริงของนักประดาน้ำ ก็คือนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้ครุ่นคิดพัฒนาร่างโคลนทั้งเจ็ด (และมันสมองของตนเอง) แต่การสรรค์สร้างสิ่งมีชีวิตที่เฉลียวฉลาดเกินไป เลยทำให้สูญเสียตัวตน จมอยู่ใต้จิตสำนึก เกิดความหวาดกลัวเกรงที่จะอาศัยใช้ชีวิตบนพื้นผิวโลก … ใครเคยรับชม Delicatessen (1991) ก็อาจมักคุ้นกลุ่มคนกินพืช Troglodistes ที่อาศัยอยู่ตามท่อใต้ดิน (ไม่ค่อยจะขึ้นมาบนพื้นโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษแห่งหายนะ)

ซึ่งงานอดิเรกของนักประดาน้ำ คือเก็บสะสมขยะ สิ่งของมีค่า/ไม่มีค่าที่ถูกทอดทิ้งลงทะเล นั่นรวมไปถึงเด็กหญิง Miette สามารถช่วยเหลือไว้ได้ทัน ซึ่งเหตุการณ์ต่อจากนั้นจักทำให้เขาค่อยๆหวนระลึกความทรงจำ และเตรียมตัดสินใจทำบางสิ่งอย่างเพื่อเผชิญหน้าตัวตนเอง … อารมณ์เหมือนผู้ป่วย ‘Shell Shock’ ที่ได้กาลเวลาเยียวยา และพร้อมเผชิญหน้าก้าวข้ามผ่านอดีตอันเลวร้าย

นี่เป็นอีกฉากที่โคตรล่อแหลม (แต่เป็นการกระทำอันบริสุทธิ์ใจ) ถูกตั้งชื่อว่า ‘radiateur scene’ (เหมือนจะได้แรงบันดาลใจจาก Eraserhead (1977)) ความที่ One และ Miette ไร้สถานที่ซุกหัวนอน จึงแอบมาพักผ่อนอยู่ … (สักแห่งหนไหน) … ด้วยสภาพอากาศหนาวเหน็บ ผ้าห่มกระสอบทรายย่อมมิอาจต้านทาน จึงมีเพียงไออุ่นจากร่างกาย ลมหายใจอันเร่าร้อน รดต้นคอ จากด่านหลัง –“

ระหว่างออกติดตามหาร้านรอยสัก Miette บ่นพึมพังว่าเจ็บเท้าจึงนั่งลงตรงบันได แล้ว One เดินเข้ามา เท้าสะเอว แล้วนั่งลงถอดรองเท้าที่มีรู เอานิ้วแย่ จากนั้นนวดคลึงสร้างความผ่อนคลาย … นี่มันเป็นฉากสองแง่สองง่าม 18+ กับเด็ก! ที่ผู้กำกับ Jeunet อ้างว่าเพิ่งตระหนักได้ระหว่างการตัดต่อ จะปรับแก้ไขอะไรก็สายเกินไปแล้ว

The whole scene on the staircase with the shoe is overloaded with sexual connotations, but it’s unconscious on the part of the little girl…and with us, too: it was while editing that we realized it!

Jean-Pierre Jeunet

ผู้กำกับ Jeunet ดูมีความชื่นชอบทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) สิ่งเล็กๆหนึ่งสามารถส่งผลกระทบลูกโซ่/โดมิโน่ เชื่อมโยงต่อเนื่องกันเหมือนหยากใย้แมงมุม (ซึ่งเป็นวัตถุแรกที่น้ำตาของ Miette กระเด็นกระดอนมา) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาค หรือทิศทางเรื่องราวโดยสิ้นเชิง … แต่ไดเรคชั่นดังกล่าวกับหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ทำให้หนังดูเยิ่นเย้อยืดยาว ผิดกับ Amélie (2001) ที่ใช้ประโยชน์จากความบังเอิญได้โคตรสมเหตุสมผล

นอกจากความบังเอิญระดับหลุดโลก ผมรู้สึกว่าผู้กำกับต้องการให้เรือขนส่งสินค้าลำนี้ เข้าจอดในตำแหน่งระหว่างแฝดสยาม สะท้อนถึงการไม่สามารถแบ่งแยก/ไม่มีกี่งกลางในโลกทุนนิยม ยกตัวอย่างประเด็นการเมืองที่คนยุคสมัยนี้ถูกบีบบังคับใหม่เลือกข้าง ไม่ซ้ายจัด-ขวาจัด ก็เผด็จการ-ประชาธิปไตย ถ้าคุณไม่พวกเดียวกับเราก็คือศัตรู … นั่นคือทัศนคติที่ the Octopus มีต่อ One และ Miette ถึงต้องการกำจัดให้พ้นภัยพาล

ซึ่งโชคชะตากรรมของแฝดสยาม หลังจากผลกรรมตามสนอง (พยายามควบคุมคนอื่น เธอคนหนึ่งเลยถูกควบคุม) ทั้งสองบังเกิดความขัดแย้งกันเอง (เพราะคนหนึ่งถูกควบคุม อีกคนหนึ่งไม่ได้ถูกควบคุม) ระหว่างร่างกาย-จิตใจ ภายนอก-ใน เป็นเหตุให้พลัดตกลงน้ำ แล้วถูกเปลวเพลิงมอดไหม้ และรองเท้าคู่หนึ่งลอยขึ้นมา (น่าจะเป็นรองเท้าที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสอง)

มีบางสิ่งอย่างที่เด็กทำได้แต่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ เช่นเดียวกับบางสิ่งอย่างเด็กทำไม่ได้แต่ผู้ใหญ่ทำได้ นั่นแสดงว่าทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ ต่างต้องพึ่งพาอาศัย มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงถึงกันด้วยเส้นใยบางๆ (จริงๆแล้วมันเป็นนามธรรม แต่หนังนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นภาพด้วยการใช้เส้นด้าย/ไหมพรม ดึงจากเสื้อของ One) แต่ถึงอย่างนั้นเด็ก-ผู้ใหญ่ ก็ไม่สามารถตัวติดกันได้ตลอดไป เมื่อถึงจุดๆไกลเกินเอื้อม (ด้ายหมด) พวกเขาก็ควรมีศักยภาพเพียงพอในการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง

ไคลน์แม็กซ์ของหนัง Miette ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนตัวประกัน เอาความฝันตนเองแทนที่ Denree, โดยปกติแล้วอัจฉริยะอย่าง Krank ไม่เคยลักขโมยความฝันของเด็กอายุเกินกว่า 5 ขวบ (ก็น่าจะเพราะเหตุผลนี้นี่แหละ!) แต่ไม่รู้ทำไมครั้งนี้ถึงยินยอมให้ Miette (สิบกว่าขวบแล้วกระมัง) นั่นเองทำให้เขาพ่ายแพ้จินตนาการของเธอ แปรสภาพจากสูงวัยย้อนกลับสู่เด็กทารก (The Curious Case of Benjamin Button (2008)) จึงไม่สามารถดึงเชือกส่งสัญญาณปลุกตื่นจากความฝัน เกิดภาพเหตุการณ์เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา เร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าติดอยู่ใน Limbo (แบบ Inception (2010)) จนเกิดความคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียความครุ่นคิด สติสมประดีโดยพลัน

ความพ่ายแพ้ของ Krank มันช่างมีความ Ironic ยิ่งนัก! เพราะตัวเขาไม่สามารถนอนหลับฝัน กลับพ่ายแพ้ให้กับจินตนาการเพ้อฝัน เวียนวนภาพเหตุการณ์เดิมซ้ำไปซ้ำมา ไม่สามารถตื่นขึ้นจากความฝัน (ติดอยู่ใน Limbo ก้นเบื้องสุดใต้ความฝัน)

ตัดต่อโดย Hervé Schneid (เกิดปี 1956) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มมีชื่อเสียงจาก Europa (1991), จากนั้นกลายเป็นขาประจำ Jean-Pierre Jeunet ตั้งแต่ Delicatessen (1991)

ดำเนินเรื่องโดยใช้เมืองท่าเรือ(และแท่นขุดเจาะน้ำมัน)เป็นจุดศูนย์กลางของหนัง ร้อยเรียงภาพเหตุการณ์เกี่ยวพันตัวละคร โดยมี One และ Miette ออกติดตามหาน้องชาย Denree ที่ถูกลักพาตัวโดยองค์กรศาสนา Cyclops แล้วส่งตัวไปให้นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank ปลายทางคือแท่นจุดเจาะน้ำมันกลางมหาสมุทร

  • อารัมบท, ฝันร้ายของเด็กชาย
  • แนะนำตัวละคร ติดตามหาที่มาที่ไป
    • เริ่มต้นด้วยการแสดงคณะละครสัตว์
    • Denree ถูกลักพาตัวโดย Cyclops ทำให้ One ออกติดตามหาจนมาพบเจอ Miette
    • Uncle Irvin เล่าที่มาที่ไปของโคลนทั้งหกและ Krank ว่ามีต้นกำเนิดจากไหน (ในฉาก Happy Birth Day)
    • One แอบติดตาม Miette มาจนถึงสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของ the Octopus
  • เรื่องของการลักขโมย สิ่งของมีค่า (ทั้งวัตถุสิ่งของ-ความเพ้อฝันเด็กๆ, ร่างกาย-จิตใจ)
    • One และเด็กๆลักขโมยตู้นิรภัย
    • Krank ลักขโมยความฝันของเด็กๆ
    • Cyclops ลักพาตัวเด็กๆเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับโคลนของ Krank
  • ไม่มีใครสามารถเอาตัวรอดด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัย ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอๆ
    • Marcello ถูกว่าจ้างให้ช่วยเหลือ Miette (และ One) กำลังจะถูก Cyclops กำจัดทิ้งลงท้องทะเล
    • นักประดาน้ำ เก็บสะสมสิ่งข้าวของที่ถูกทองทิ้งลงท้องทะเล และช่วยเหลือ Miette ได้ทันท่วงที
    • Miette ให้ความช่วยเหลือ One จากสาวชุดแดงและฟื้นตื่นอาการมึนเมา
  • การเผชิญหน้า ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง
    • One และ Miette ร่วมกันออกติดตามหาน้องชาย แล้วกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน
    • Denree พยายามต่อสู้ดิ้นรนกับ Krank
    • เผชิญหน้ากับ the Octopus และได้รับการช่วยเหลือจาก Marcello
  • เรื่องวุ่นๆที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ต่อสู้ศัตรูแห่งความฝัน
    • นักประดาน้ำ เดินทางไปถึงก่อนใครเพื่อน
    • One และ Miette พายเรือติดตามไปจนถึง
      • One ใช้ร่างกายเผชิญหน้าต่อสู้กับโคลนทั้งหก
      • Miette เข้าไปในความฝันของ Denree และขับไล่ Krank จนสูญเสียสติแตก
    • วาระสุดท้ายของแท่นขุดเจาะน้ำมัน

ผมสังเกตว่าหนังพยายามนำเสนอทุกๆเรื่องราว ตัวละคร รายละเอียดที่มาที่ไป เพราะเหตุใดทำไมผู้ร้ายแต่ละคนถีงกลายปลายมาตนเองในปัจจุบัน ให้ความเท่าเทียมกันทุกอย่าง … วิธีการดังกล่าวดูดีในหน้ากระดาษ หรือถ้านำเสนอแบ่งแยกเป็นตอนสั้นๆ (แบบอนิเมะซีรีย์) มันจะมีความลงตัวมากกว่า แต่เมื่อต้องรับชมต่อเนื่องภาพยนตร์ขนาดยาว การแตกแขนงเรื่องราวอื่นจากเส้นพล็อตหลัก ควรต้องหาจุดสมดุล/เพียงพอดีให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจักทำให้รู้สีกเยิ่นเย้อยื่นยาว (ให้ความสำคัญกับรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป) เมื่อหวนกลับสู่เหตุการณ์หลัก ก็แทบหลงลืมไปแล้วว่าดำเนินมาถึงตรงไหนแล้ว

มันเหมือนว่าหนังให้ความสำคัญกับช่วงเวลา ‘moment’ สร้างประสบการณ์ขณะนั้นๆให้ผู้ชม อยากนำเสนอทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) จู่ๆก็ทำให้เพียงหยดน้ำตา กระเด็นกระดอน ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่/โดมิโน่ จนบังเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถีง … คือถ้าดูเฉพาะซีนนี้มันเจ๋งมากๆ แต่พอมองภาพรวมแล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเว่อวังอลังการขนาดนั้น!


เพลงประกอบโดย Angelo Badalamenti (เกิดปี 1937) เชื้อสายอิตาเลี่ยน สัญชาติอเมริกัน สำเร็จการศึกษาจาก Eastman School of Music ตามด้วยปริญญาโท สาขาแต่งเพลง, French horn และเปียโน Manhattan School of Music, เริ่มทำงานเขียนเพลงให้ Perrey and Kingsley, ตามด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์เกรดบี, กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังจาก Blue Velvet (1986) เลยกลายเป็นขาประจำ David Lynch, และมีโอกาสประพันธ์ Opening Theme ให้ 1992 Barcelona Summer Olympics

ผู้กำกับ Jeunet มีความประทับใจ Badalamenti จากภาพยนตร์ Blue Velvet (1986) โดยเฉพาะบทเพลง Mystery of Love ฟุ้งๆด้วยบรรยากาศเหมือนฝัน ให้คำแนะนำต้องการบรรยากาศหมองหม่น (somber) ไม่ใช่มืดมนหมดสิ้นหวัง

The film is somber, the idea is not to darken it but rather to elevate it, to make it lyrical.

Jean-Pierre Jeunet

ผมแนะนำให้ลองหาฟังบทเพลง Mystery of Love แล้วมาเปรียบเทียบ L’anniversaire D’irvin (แปลว่า Irvin’s Birthday) ซี่งมีสัมผัสละม้ายคล้ายคลีงกันมากๆ ปรับเปลี่ยนเพียงเครื่องดนตรี (เพราะหนังเรื่องนี้มีความเป็นแฟนตาซี จีงใช้เครื่องดนตรีที่มีความสดใสกว่า) และท่วงทำนองเล็กๆน้อยๆ แต่สามารถมอบความลีกลับ (สยองขวัญเล็กๆ) วาบหวิวถีงทรวงใน

Miette น่าจะเป็นบทเพลงไพเราะสุดใน OST อัลบัมนี้ ถ่ายทอดจิตวิญญาณของเด็กหญิง แม้ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แลดูเฉลียดฉลาด วางมาดเหมือนผู้ใหญ่ แต่แท้จริงก็ยังเด็กน้อยอ่อนวัยไร้เดียงสา ยังต้องการใครสักคน พี่ชายแสนดี ที่สามารถเป็นที่พี่งพักพิง ทั้งร่างกาย-จิตใจ … ฟังไปก็น้ำตาซีมไป หัวใจหวิวๆ ทำไมโลกอนาคตถีงได้โหดร้ายกับเธอเช่นนี้

ขณะที่บทเพลงตราตรีงสุดของหนัง L’execution/Execution เริ่มจากเสียง Street Organ สร้างความวาบหวิวให้ผู้ชมโดยทันที เพราะ(น่าจะ)ตระหนักว่านั่นคือท่วงทำนองแห่งหายนะ ยาควบคุมประสาทถูกฉีดเข้าผิวหนัง ทำให้สูญเสียการควบคุมร่างกาย ต้องปฏิบัติตามผู้ออกคำสั่ง (กลไกเป็นยังไง ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่) และช่วงเวลาเหี้ยมโหดร้ายที่สุดของหนัง One ทุบตี Miette (โดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง) ท่วงทำนองแปรสภาพสู่ออเคสตร้า ไต่ไล่ระดับจนพุ่งทะยานสูงเฉียดฟ้า สร้างความขนลุกขนพอง เจ็บปวดรวดร้าว สั่นสะท้านถีงทรวงใน

สำหรับ Ending Song ชื่อบทเพลง Who Will Take My Dreams Away แต่งคำร้อง/ขับขานโดย Marianne Faithfull, แม้เนื้อเพลงจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผมรู้สีกว่า Faithfull พยายามเปล่งออกเสียงเป็นคำๆ เพื่อให้มีสัมผัสเหมือนภาษาฝรั่งเศส (จะได้เข้ากับตัวหนัง) และน้ำเสียงอันหยาบกร้าน (ขณะนั้นเธออายุก้าวย่าง 50 ปี) เทียบแทนมิตรภาพ ความเพื่อน พี่-น้อง ครอบครัวเดียวกัน แม้ฉันไม่สามารถมอบทุกสิ่งอย่างให้เธอ แต่ก็พยายามให้เท่าที่ชีวิตจะถีงวันสิ้นสุดลมหายใจ

The City of Lost Children เมืองแห่งนี้ไม่ใช่แค่เด็ก/วัยเด็กที่สูญหาย หลงทาง หรือถูกทอดทิ้งขว้าง แต่ทุกตัวละครในหนังล้วนไขว้เขวออกนอกเส้นทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ต่างเลือกเชื่อมั่นในระบอบทุนนิยม สนเพียงสิ่งสามารถตอบสนองตัณหา ความต้องการ พึงพอใจส่วนตน ละทอดทิ้งศีลธรรม-มโนธรรม ถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี ราวกับไม่เคยมีผู้ใหญ่คอยเสี้ยมสอนสั่ง ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ไม่เคยปรากฎตัวออกมาเลยสักครั้ง

สามตัวร้ายของหนัง ล้วนเป็นตัวแทนด้านมืดของระบอบทุนนิยม

  • นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Krank แม้มีความเฉลียวฉลาดอัจฉริยะ แต่กลับไร้ซึ่งศีลธรรมมโนธรรม สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ เติมเต็มความฝันที่สูญหายไปของตนเอง
  • องค์กรศาสนา (Cyclopse) นำเอาความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ (ที่เพิ่มโสตประสาทในการมองเห็นและได้ยิน) มาเป็นหัวข้อในการชวนเชื่อ สร้างศรัทธา อ้างว่าจักได้ใกล้ชิด สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ
  • สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า (the Octopus) แฝดสยามสนเพียงความร่ำรวย เงินทอง สิ่งของสวยๆงามๆ เสี้ยมสอนสั่งสร้างค่านิยมผิดๆให้เด็กๆที่ยังอ่อนวัยไร้เดียงสา ทำในสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรมมโนธรรม

ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ/เทคโนโลยี ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการ(ทางความคิด)รวดเร็วกว่า(ร่างกาย)ที่ควรเป็น เด็กๆสามารถรับเรียนรู้ เข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง(ได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่) หรือจะเรียกว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร นั่นทำให้พวกเขาสูญเสียช่วงเวลาแห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ก้าวกระโดดไปตามเส้นทางที่(ผู้ใหญ่)วางไว้ จนไม่อาจครุ่นคิด มีความเพ้อฝัน เป็นตัวของตนเอง(ตามวัย)

มองในมุมผู้ใหญ่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระบอบทุนนิยม มักไม่ได้มีพัฒนาการทางจิตใจ/สามัญสำนึกควบคู่ไปกับร่างกาย หรือใครสักคนคอยเสี้ยมสอนศีลธรรม/มโนธรรม (เด็กสมัยนี้เชื่อถือสิ่งอยู่ในอินเตอร์เน็ต มากกว่าพ่อแม่/ครูอาจารย์เสียอีกนะ!) นั่นทำให้ภายใน(จิตใจ)ของพวกเขา(แม้ร่างกายเติบใหญ่กลับ)มีสภาพเหมือนเด็กน้อยยังโหยหาที่พึ่งพักพิง ต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อเติมเต็มสิ่งขาดหาย (ทั้งร่างกาย-จิตใจ)

สิ่งที่ผู้กำกับ Jeunet ทอดทิ้งไว้ช่วงท้าย เรือสองลำแล่นออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่กำลังจะระเบิด ประกอบด้วยสองครอบครัวประหลาดๆ

  • กลุ่มมนุษย์โคลนพร้อมมันสมอง (ทั้งหมดมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด DNA) ล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ต่อจากนี้จะไม่มีใครชี้นำทาง แล้วพวกเขาจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร
  • เด็กๆกำพร้า (ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆทางสายเลือด) กำลังจะกลายเป็นครอบครัวเดียวกันกับ One และ Miette (และ Denree) แม้ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่พวกเราทั้งหมดจะมีกันและกันตลอดไป

ครอบครัว ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะทางสายเลือดหรือไม่ นั่นคือสิ่งทำให้มนุษย์มีพลัง(ใจ)ในการต่อสู้ดิ้นรน อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก ไม่ว่าอนาคตจะเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยอันตราย เหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานสักเพียงใด ขอแค่เรามีกันและกัน เพียงเท่านั้นย่อมบังเกิดความอิ่มอุ่นภายใน


ด้วยทุนสร้าง $18 ล้านเหรียญ สูงสุดในฝรั่งเศสขณะนั้น เข้าฉายเปิดงานเทศกาลหนังเมือง Cannes หลายประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดจำหน่าย แต่ไม่มีรายงานรายรับ ดูแล้วคงยากจะประสบความสำเร็จคืนทุน

หนังได้เข้าชิง César Awards 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล

  • Best Cinematography
  • Best Production Design ** คว้ารางวัล
  • Best Costume Design
  • Best Music

แม้ว่าหนังจะมี ‘visual’ ที่ตื่นตระการตา อลังการงานสร้าง รายละเอียดให้ครุ่นคิดวิเคราะห์มากมาย แต่มันก็จะเฉพาะแค่ครั้งแรก ‘First Impression’ เพราะเนื้อเรื่องราวจับต้องได้ยาก เยิ่นเย้อยืดยาว หาวแล้วหาวอีก แทบไม่มีความต่อเนื่อง เฉพาะกลุ่มเกินไป ถ้าไม่คลั่งไคล้ก็คงเบือนหน้าหนี … ผมค่อนไปทางรู้สึกน่าเบื่อหน่าย

หนังอาจไม่ถูกจริตกับผู้ชมทั่วๆไป เว้นแต่ถ้าคุณชื่นชอบแนว Sci-Fi, Steampunk, จินตนาการโลกอนาคตอันสิ้นหวัง, ศิลปิน นักออกแบบ สรรค์สร้างงานศิลปะ ก็น่าจะลองหามารับชมดูสักครั้ง

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศตึงๆ ความรุนแรง ลักพาตัวเด็ก ฝันร้าย

คำโปรย | The City of Lost Children มีเพียงความตื่นตาในการรับชม แต่เรื่องราวสูญหายไปกับสายลม จมลงใต้มหาสมุทร
คุณภาพ | งานสร้างระดับวิจิตร
ส่วนตัว | น่าเบื่อหน่าย

Dune (1984)


Dune (1984) hollywood : David Lynch ♥♥♡

ผมมองความล้มเหลวของ Dune (1984) เกิดจากวิสัยทัศน์ผู้กำกับ David Lynch ไม่เข้าใจนวนิยายต้นฉบับเพียงพอ ใส่ความเป็นตัวตนเองมากเกินไป และมิอาจต่อรองโปรดิวเซอร์จนสูญเสียการควบคุมทั้งโปรเจค, กาลเวลาทำให้หนังเข้าสู่กระแส Cult Classic ดูแบบไม่คิดอะไรก็น่าจะเพลิดเพลินไปกับมันได้

โดยปกติแล้วภาพยนตร์ถูกตีตราว่า ‘Worst Film’ มักมาจากผู้กำกับไม่ได้มีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ อาทิ Ed Wood เรื่อง Plan 9 from Outer Space (1959), Roger Christian กำกับเรื่อง Battlefield Earth (2000), แต่ก็มีบ้างที่ ผกก. ค่อนข้างโด่งดัง แต่สร้างสรรค์ผลงานได้น่าผิดหวัง Heaven’s Gate (1980) กำกับโดย Michael Cimino, Showgirls (1995) กำกับโดย Paul Verhoeven, The Last Airbender (2010) กำกับโดย M. Night Shyamalan แต่พวกเขาเหล่านี้เมื่อเทียบชื่อชั้น David Lynch ยังถือว่าห่างกันไกลโข

นั่นเพราะ David Lynch ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ชื่อดัง Pauline Kael ให้คำนิยาย ‘the first popular surrealist’ นั่นแสดงถึงอิทธิพล ความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ ไม่ย่อหย่อนไปกว่าผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Luis Buñuel, Stanley Kubrick, Andrei Tarkovsky เทียบปัจจุบันก็อย่าง Terrence Malick, Michael Haneke ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้แม้มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานอยู่บ้าง แต่คุณภาพโดยรวมก็ไม่ได้เลวร้ายระดับ Dune (1984)

คนที่รับชมผลงานเรื่องอื่นๆของผู้กำกับ Lynch น่าจะตระหนักถึงสไตล์ลายเซ็นต์ ลักษณะเด่นเฉพาะตัว ให้ความสนใจสิ่งซุกซ่อนเร้นภายในจิตใจมนุษย์ นำเอาความอัปลักษณ์เหล่านั้นแปรสภาพจากนามธรรมสู่รูปธรรม ราวกับความฝันจับต้องได้ … นั่นคือสิ่งที่เขาพยายามทำกับ Dune ตีแผ่ด้านมืดตัวละครผ่านงานสร้างยิ่งใหญ่ระดับมหากาพย์

แต่นอกจากข้อจำกัดเรื่องทุนสร้าง และเทคโนโลยียุคสมัย การตีความของ Lynch ยังห่างไกลความลุ่มลีกซับซ้อนจากนวนิยาย Dune ยกตัวอย่าง(ที่ผมคิดว่าคนไม่เคยอ่านนวนิยายก็น่าจะตระหนักได้)อิทธิพลธรรมชาติ ท้องทะเลทรายกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ได้รู้สีกยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะหนอนทราย (Sandworm มันคือ Iconic ของนวนิยายเลยนะ!) มีความหน่อมแน้ม ไร้ความน่าเกรงขาม หวาดสะพรีงกลัวโดยสิ้นเชิง … มันไม่ใช่สไตล์ของผู้กำกับ Lynch ที่จะนำปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบย้อนกลับสู่ภายในจิตใจ

ยังมีอีกโคตรปัญหาที่ใครๆน่าจะสังเกตได้ บังเกิดจากความดื้อรัน ละโมบโลภของ(โปรดิวเซอร์)สตูดิโอ ไม่ยินยอมรับฉบับตัดต่อดีที่สุด (ยาวประมาณ 3 ชั่วโมง) เรียกร้องขอหนัง 2 ชั่วโมง โดยไม่สนว่าต้นฉบับนวนิยายมีเนื้อหามากมายเพียงใด ด้วยความจำใจเลยต้องตัดแต่งโน่นนี่นั่น ปรับเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินเรื่องราว ผลลัพท์ผู้กำกับ Lynch ไม่สามารถควบคุมทิศทาง วิสัยทัศน์ตนเองได้อีกต่อไป

เอาจริงๆผมค่อนข้างชื่นชอบการออกแบบ ตัวละครเซอร์ๆ สถาปัตยกรรมเว่อๆ noir-baroque โคตรติสต์! มันทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความแตกต่างจาก 2001: A Space Odyssey (1968) ด้วยแนวทางเฉพาะตัว Lynchesque ในลักษณะ ‘weirding way’ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถยินยอมความอัปลักษณ์เหล่านั้น เมื่อกำลังมี Dune (2021) ให้เปรียบเทียบราวฟ้า-เหว


ก่อนอื่นขอกล่าวถีง Franklin Patrick Herbert Jr. (1920-86) นักเขียนนวนิยายไซไฟ สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Tacoma, Washington ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบการอ่าน-เขียน หลงใหลในหนังสือ และการถ่ายรูป หลังเรียนจบมัธยมเริ่มรับจ้างทำงานทั่วๆไป จนมีโอกาสได้เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ Oregon Statesman (ปัจจุบันคือ Statesman Journal), ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาสาสมัครทหารเรือได้เป็นช่างภาพอีกเช่นกัน, หลังสงครามสิ้นสุดตัดสินใจเข้าเรียนต่อ University of Washington เขียนสองเรื่องสั้นแนว pulp fiction ขายให้กับนิตยสาร Esquire และ Modern Romance ค้นพบหนทางอยู่รอดเลยลาออกมาเป็นนักข่าว (Journalism) ให้กับ Seattle Star และบรรณาธิการ San Francisco Examiner’s California Living

สำหรับนวนิยายเริ่มต้นอย่างจริงจังช่วงทศวรรษ 50s จากเรื่องสั้นแนวไซไฟ Looking for Something ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Startling Stories, ส่วนนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรก เขียนเป็นตอนๆลงนิตยสาร Astounding ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1955 แล้วรวมเล่มกลายเป็น The Dragon in the Sea (1956)

จุดเริ่มต้นของ Dune ว่ากันว่า Herbert ได้แรงบันดาลใจจากบทความในนิตยสารหนี่ง เขียนถีงการทดลองสุดประหลาดของกระทรวงเกษตร(แห่งสหรัฐอเมริกา) พยายามหาหนทางหยุดยับยั้งการเคลื่อนไหวของหาดทรายใน Florence, Oregon ด้วยการปลูกต้นหญ้า(บนพื้นทราย), ความสนใจในเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ Herbert ออกเดินทางสู่ Oregon รวบรวมข้อมูลสำหรับเขียนบทความตั้งชื่อว่า ‘They Stopped the Moving Sands’ แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ (เพราะในบทความเต็มไปด้วยภาษาพูด บรรณาธิการส่งกลับให้ Herbert ปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่เขากลับเพิกเฉยผ่านเลยตามเลย) นั่นคือจุดเริ่มต้นความสนใจเกี่ยวกับทรายและระบบนิเวศทางธรรมชาติ

“Sand dunes pushed by steady winds build up in waves analogous to ocean waves except that they may move twenty feet a year instead of twenty feet a second. These waves can be every bit as devastating as a tidal wave in property damage… and they’ve even caused deaths. They drown out forests, kill game cover, destroy lakes, [and] fill harbors”.

ข้อความในบทความไม่ได้รับการตีพิมพ์ They Stopped the Moving Sands

อีกหนี่งแรงบันดาลใจคือเรื่องราวของ T. E. Lawrence ที่เข้าไปมีส่วนร่วมใน Arab Revolt (1916-18) การลุกฮือของชาวอาหรับเพื่อขับไล่จักรวรรดิ Ottoman Empire ออกไปจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนี่ง … ไม่แน่ใจว่า Herbert ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Lawrence of Arabia (1962) หรือเคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติ Seven Pillars of Wisdom (1926) มาก่อนหน้านั้น (แต่น่าจะกรณีหลังนะครับ)

Herbert เริ่มต้นอุทิศตนเองเพื่อนวนิยาย Dune ตั้งแต่ปี 1959 ศีกษาค้นคว้าหาข้อมูล รวบรวมเรียบเรียงรายละเอียดทั้งหมด ตีพิมพ์สองเรื่องสั้น Dune World (1963) และ The Prophet of Dune (1965) เป็นอารัมบทลงนิตยสาร Analog เพื่อหาสำนักพิมพ์ แต่เนื้อหาลีกล้ำเกินกว่าใครไหนจะยินยอมเสี่ยง (ถูกปฏิเสธกว่า 20 สำนักพิมพ์) ก่อนมาลงเอยที่ Chilton Book Company จ่ายเงินล่วงหน้าเพียง $7,500 เหรียญ

เป็นปกติของนวนิยายไซไฟ ที่เมื่อเริ่มวางขายจะไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจสักเท่าไหร่ แต่หลังจากคว้ารางวัล Nebula Award ปี 1965 (จัดขี้นครั้งแรก) และ Hugo Award ปี 1966 ก็ทำให้เป็นที่รู้จัก เข้าถีงผู้อ่านในวงกว้าง ประสบความสำเร็จเพียงพอให้ Herbert เขียนภาคต่อรวมทั้งหมด 6 ภาค (เห็นว่าเตรียมเขียนภาค 7-8 ไว้แล้วด้วย แต่ Herbert เสียชีวิตจากไปก่อน) ได้รับการแปลภาษานับไม่ถ้วน และยอดขายถีงปัจจุบันเกินกว่า 20+ ล้านเล่ม (เป็นนวนิยายไซไฟยอดขายสูงสุดตลอดกาลถีงปัจจุบัน)

  • Dune (1965)
  • Dune Messiah (1969)
  • Children of Dune (1976)
  • God Emperor of Dune (1981)
  • Heretics of Dune (1984)
  • Chapterhouse: Dune (1985)

ความสำเร็จล้นหลามของนวนิยาย แน่นอนว่าต้องไปเข้าตาโปรดิวเซอร์ใน Hollywood เริ่มต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1971 ลิขสิทธิ์ตกเป็นของ Arthur P. Jacobs (โด่งดังจาก Planet’s of the Ape) แต่ยังไม่ทันเริ่มต้นทำอะไร (แค่วางแผนให้ David Lean เป็นผู้กำกับ) ก็พลันด่วนเสียชีวิตหัวใจล้มเหลมช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1973

โปรดิวเซอร์คนถัดมาคือ Jean-Paul Gibon มอบหมายให้ Alejandro Jodorowsky ผู้กำกับสัญชาติ Chilean โด่งดังจากโคตรผลงาน avant-garde เรื่อง El Topo (1970) และ The Holy Mountain (1973) [โดยเฉพาะเรื่องหลังที่มีหลายๆองค์ประกอบละม้ายคล้าย Dune เป็นอย่างมาก] ซี่งก็ได้จินตนาการนักแสดงอย่าง Salvador Dalí ให้มารับบท Emperor, Orson Welles แสดงเป็น Baron Harkonnen, David Carradine เล่นบท Leto Atreides ฯ ทั้งยังติดต่อนักออกแบบชื่อดัง H. R. Giger, Jean Giraud, Chris Foss รวมถีง Pink Floyd ทำเพลงประกอบหนัง

แต่โปรเจคก็ล้มพับเพราะวิสัยทัศน์ของ Jodorowsky อยากสร้าง Dune ที่มีความยาว 10-14 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถหาทุนสร้างเพียงพอ และเขาก็ไม่ยอมถดถอยจนเกิดความขัดแย้งโปรดิวเซอร์ สุดท้ายเลยต้องแยกย้ายไปตามทาง … เรื่องราวความล้มเหลวดังกล่าว ได้ถูกนำมาตีแผ่เป็นสารคดี Jodorowsky’s Dune (2013) และผมนำภาพการออกแบบที่น่าสนใจโคตรๆ เชื่อว่าถ้าได้สร้างคงมีความแปลกพิศดารยิ่งกว่าฉบับของ David Lynch อย่างแน่นอน

ช่วงปลายปี 1976, โปรดิวเซอร์ Dino De Laurentiis ขอซื้อลิขสิทธิ์ต่อจาก Gibson ทีแรกมอบหมายให้ผู้แต่งนวนิยาย Herbert ลองดัดแปลงบทได้ความยาว 175 หน้ากระดาษ ถ้าสร้างเป็นภาพยนตร์คงความประมาณ 3 ชั่วโมง ซี่งถือว่ายังนานเกินไป! … ประเด็นคือ Herbert มีความใกล้ชิดกับนวนิยายเกินไป ทุกสิ่งอย่างในมุมมองเขาจีงล้วนมีความสำคัญ เลยมิอาจตัดทิ้งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้สักเท่าไหร่

ต่อมาติดต่อผู้กำกับ Ridley Scott จากความประทับใจ Alien (1979) แต่หลังจากพยายามปรับปรุงบทร่วมกับ Rudy Wurlitzer ไม่ได้ผลลัพท์น่าพีงพอใจสักเท่าไหร่ อีกทั้งพี่ชายของ Scott เพิ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สภาพร่างกาย-จิตใจค่อนข้างย่ำแย่ เลยขอถอนตัวออกจากโปรเจค [แล้วไปสรรค์สร้าง Blade Runner (1982) กลายเป็นตำนานยิ่งใหญ่กว่า]

“But after seven months I dropped out of Dune, by then Rudy Wurlitzer had come up with a first-draft script which I felt was a decent distillation of Frank Herbert’s (book). But I also realized Dune was going to take a lot more work—at least two and a half years’ worth. And I didn’t have the heart to attack that because my [older] brother Frank unexpectedly died of cancer while I was prepping the De Laurentiis picture. Frankly, that freaked me out. So I went to Dino and told him the Dune script was his”.

Ridley Scott

แซว: แผนงานของ Ridley Scott เอาจริงๆเลวร้ายยิ่งกว่า Jodorowsky (และ Lynch) ตั้งใจแบ่งสร้างสองภาคด้วยทุนสร้างเกินกว่า $50 ล้านเหรียญ

โปรดิวเซอร์ De Laurentiis ยังคงไม่ลดละความพยายาม ปี 1981 ต่อรองผู้เขียนนวนิยาย Herbert เพื่อขยายระยะเวลาถือครองลิขสิทธิ์พร้อมภาคต่อ แล้วไปพูดคุยผู้บริหาร Universal Studio จนได้รับอนุมัติทุนสร้างอย่างแน่นอนแล้ว ระหว่างกำลังมองหาผู้กำกับ Raffaella De Laurentiis (บุตรสาวของ Dino De Laurentiis) มีโอกาสรับชม The Elephant Man (1980) เลยแนะนำ David Lynch ให้บิดาลองพูดคุยติดต่อ


David Keith Lynch (เกิดปี 1946) ศิลปิน ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Missoula, Montana บิดาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานวิจัยให้กระทรวงเกษตร ส่วนมารดาสอนวิชาภาษาอังกฤษ ช่วงชีวิตวัยเด็กชื่นชอบการวาดรูป เพ้อฝันอยากจิตรกรแบบ Francis Bacon เคยเข้าศีกษา Corcoran School of the Arts and Design ก่อนย้ายมา School of the Museum of Fine Arts, Boston แต่ก็รู้สีกผิดหวังเพราะโรงเรียนเหล่านี้ไม่สามารถสอนอะไรนอกเหนือวิชาความรู้ เลยตัดสินใจออกท่องยุโรปสักสามปี แต่หลังจากสองสัปดาห์ให้หลังก็ตัดสินใจหวนกลับบ้าน

ก่อนย้ายไปปักหลักตั้งถิ่นฐานยัง Philadelphia เข้าศีกษา Pennsylvania Academy of Fine Arts ระหว่านี้ก็มีโอกาสสร้างหนังสั้น Six Men Getting Sick (Six Times) (1967) ได้แรงบันดาลใจจาก ต้องการเห็นภาพวาดของตนเองสามารถเคลื่อนไหว ปรากฎว่าชนะรางวัลอะไรสักอย่าง เอาเงินนั้นมาทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดมา The Alphabet (1968) มีส่วนผสมของ Live-Action กับอนิเมชั่น นำโปรเจคไปเสนอ American Film Institute รับเงินมาอีกก้อนสร้างหนังเรื่องถัดไปอีก จนกระทั่งกลายเป็น Eraserhead (1977) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนบังเกิดกระแส Cult ติดตามมา

หลังเสร็จจากภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สอง The Elephant Man (1980) ได้รับติดต่อจาก George Lucas (เป็นแฟนหนัง Eraserhead) ต้องการมอบโอกาสให้โอกาสกำกับ Return of Jedi (1983) แต่เขากลับบอกปัดปฏิเสธ ให้เหตุผลว่านั่นคือภาพยนตร์ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของ Lucas ไม่ควรจะมอบให้คนอื่นมากำกับแทน (แต่ Lucas ก็ยังคงมอบหน้าที่นั้นให้ Richard Marquand)

ระหว่างนั้นผู้กำกับ Lynch ซุ่มพัฒนา Ronnie Rocket ภายใต้ Zoetrope Studios ของ Francis Ford Coppola เป็นโปรเจคครุ่นคิดมาตั้งแต่เสร็จจาก Eraserhead (1977) แต่ด้วยปัญหาการเงินรุมเร้าช่วงปี 1981 ทำให้ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้ต้องพังทลายลง … ผ่านมาหลายปี โปรเจคนี้คงล้มเลิกความตั้งใจไปเรียบร้อยแล้ว

ช่วงขณะว่างงานอยู่นั้นเอง Lynch ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Dino de Laurentiis ให้ดัดแปลงนวนิยายไซไฟ Dune (1965) ทั้งๆไม่เคยอ่านต้นฉบับ หรือรับรู้เนื้อเรื่องราวใดๆ แต่ด้วยข้อแลกเปลี่ยนสตูดิโอ De Laurentiis Entertainment Group จะให้ทุนสนับสนุนอีกสองโปรเจคหลังจากนั้น (สัญญาภาพยนตร์สองเรื่องถัดไป ประกอบด้วยภาคต่อของ Dune ซี่งไม่ได้สร้างแต่ถือว่านับรวมไว้แล้ว และอีกผลงาน Blue Velvet ค่อนชัดเจนว่าซ่อนเร้นนัยยะอะไรไว้)

“To be honest, when Dino offered me DUNE, I want to see him more out of curiosity than anything else.

I’m not crazy about science fiction and I’d never read Dune before accepted this film. But when I finally got around to it, I was just knocked out. And not only by its adventurous aspects. In a lot of ways, this novel is the antithesis of the usual raygun and spaceship science fiction I’m used to seeing. Dune has believable characters and a lot of depth, a lot of resonance. It’s not all surface flash. In many ways, Herbert created an internal adventure, one with a lot of emotional and physical textures. And I love textures”.

David Lynch

ร่วมดัดแปลงบทกับ Eric Bergren และ Christopher De Vore (ทั้งสองเคยร่วมกันดัดแปลง The Elephant Man) ได้บทร่างแรกจำนวน 200+ หน้ากระดาษ แต่เพราะความคิดเห็นต่างระหว่างตัดทอนรายละเอียด ผ่านไปหกเดือนหลงเหลือเพียง Lynch ปรับเปลี่ยนหลายๆเรื่องราวสู่เสียงบรรยาย คำสนทนา และความคิดตัวละคร จนออกมาได้ 135 หน้ากระดาษ (พี่แกเลยถือเครดิต Written By แต่เพียงผู้เดียว)


ในอนาคตอันไกล ค.ศ. 10191, จักรวาลถูกปกครองโดย Padishah Emperor Shaddam IV สสารที่มีค่าที่สุดในจักรวรรดิคือ Spice (เครื่องเทศ) ซึ่งสามารช่วยยืดอายุไข ขยายจิตสำนึกผู้ใช้ และยังช่วยให้ Spacing Guild เป็นพลังงานสำหรับการเดินทางระหว่างดวงดาว (Interstellar Travellng)

ปัญหาบังเกิดขึ้นเมื่อ Arrakis (หรือ Dune) ดาวเคราะห์แห่งเดียวในจักรวาลที่สามารถเก็บเกี่ยว Spice ถูกยึดครองโดยชนเผ่าพื้นเมือง Fremen และกำลังทำสนธิสัญญาพันธมิตรกับ Duke Leto Atreldes แห่ง House Atreldes นั่นอาจส่งผลกระทบคุกคามต่อ Spacing Guild จึงส่งทูตไปเข้าเฝ้า Emperor Shaddam IV เพื่อรับฟังแผนการทำลายล้าง House Atreldes ด้วยการหยิบยืมมือ Baron Vladimir Harkonnen ร่วมกับหน่วยรบพิเศษของจักรวรรดิ Sardaukar

ทูตของ Spacing Guil พยายามเน้นย้ำ Emperor Shaddam IV ให้กำจัดบุคคลๆหนึ่ง Paul Atreldes บุตรชายของ Duke Leto เพราะคำพยากรณ์จาก Bene Gesserit Sisterhood องค์กรศาสนาที่แทรกซึมไปทั่วทุกหนแห่งในจักรวาล ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้โบราณฝึกฝนร่างกาย-จิตใจ จนสามารถควบคุมการกำเนิดให้มีแต่เพศหญิงมาหลายยุคสมัย (Breeding Program) จุดประสงค์เพื่อสักวันหนึ่งจะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตทรงภูมิเหนือจักรวาล Kwisatz Haderach แต่ก่อนจะถึงวันนั้นพยายามควบคุมครอบงำ ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังองค์กรใหญ่ๆ อ้างอุดมการณ์เพื่อรับใช้ แต่แท้จริงต้องการชักใยทุกสิ่งอย่าง

Lady Jessica คือสมาชิกของ Bene Gesserit Sisterhood ที่ถูกมอบหมายให้เป็นภรรยาน้อย Duke Leto โดยธรรมเนียมแล้วต้องให้กำเนิดบุตรสาวเท่านั้น แต่ด้วยความรักต่อสวามี อยากให้มีทายาทสืบวงศ์ตระกูล เลยตัดสินใจทรยศองค์กร คลอดบุตรชาย Paul Atreldes แล้วเสี้ยมสอนองค์ความรู้ทุกสิ่งอย่าง รวมไปถึงการต่อสู้ป้องกันตัวสไตล์ ‘weirding way’ จนสามารถผ่านการทดสอบของ Reverend Mother ได้รับอนุญาตให้ออกเดินทางสู่ Arrakis

โดยไม่มีใครคาดคิด Baron Vladimir Harkonnen แอบซุกซ่อนสายลับในบรรดาคนสนิทของ Duke Leto ทำให้ยังไม่ทันได้พบปะพันธมิตร Fremen เลยถูกเข่นฆ่าทำลายล้าง โชคยังดีที่ Paul และ Lady Jessica สามารถหาหนทางหลบหนี ติดอยู่กลางทะเลทราย เอาตัวรอดจากหนอนทราย (Sandworm) จนได้พบเจอชาว Fremen อาศัยอยู่ใต้ดิน จึงเริ่มครุ่นคิดวางแผนโต้ตอบกลับจักรวรรดิ เริ่มต้นจากเสี้ยมสอนการต่อสู้สไตล์ ‘weirding way’ และเรียกตนเองว่า Paul Muad’Dib


Kyle Merritt MacLachlan (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Yakima, Washingtion มารดาทำงานผู้จัดการ Youth Theater เลยส่งลูกชายไปร่ำเรียนเปียโน ฝีกฝนร้องเพลงตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ทำให้สามารถขึ้นเวทีการแสดงร้อง-เล่น-เต้น ตั้งแต่อายุ 15 ปี, ช่วงระหว่างกำลังศึกษาสาขาการแสดง University of Washington มีโอกาสเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ The Changeling (1980) เลยเกิดความมุ่งมั่นอยากเอาดีด้านนี้, ครั้งหนึ่งระหว่างออกทัวร์การแสดงช่วงปิดเทอม บังเอิญไปเข้าตาแมวมอง รับชักชวนให้มาทดสอบหน้ากล้อง จนกระทั่งมีโอกาสแสดงนำ Dune (1984) เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้กำกับ David Lynch ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง Blue Velvet (1986), Twin Peaks (1990–91), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Flintstones (1994), Showgirls (1995) ฯ

Paul Atreides หรือ Muad’Dib เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี ผู้มีความเก่งกาจทั้งบุ๋น-บู๋ ได้รับความเข้มแข็ง/จิตใจอ่อนโยนจากบิดา Duke Leto และองค์ความรู้/สไตล์การต่อสู้ ‘weirding way’ จากมารดา Lady Jessica หลังถูกโจมตีจาก Baron Harkonnen ได้รับความช่วยเหลือจาก Fremen ที่ต่างเชื่อว่าเขาคือบุคคลจากคำทำนาย Mahdi (ผู้มาไถ่นำพาชาว Fremen ให้ได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง) เลยตัดสินสอนสไตล์การต่อสู้เพื่อเตรียมล้างแค้น/พร้อมเผชิญหน้าจักรวรรดิ

เส้นทางชีวิตของ Paul มีคำเรียกว่า ‘hero’s journey’ วีรบุรุษผู้ถูกคาดหวังให้ต้องกอบกู้ศรัทธา ต่อสู้ศัตรูแห่งมวลมนุษย์ชาติ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นต้องพานผ่านอุปสรรคขวากหนามมากมาย สูญเสียใครบางคน เผชิญหน้าบทพิสูจน์ตนเอง และได้รับการยอมรับจากทุกผู้คนรอบข้าง ไม่ต่างจากพระพุทธเจ้า, Jesus Christ, Muhammad ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายปลายทางอาจถึงระดับพระเจ้าผู้สร้างโลก (God)

แรงบันดาลใจตัวละครนี้จากบทสัมภาษณ์ของผู้แต่งนวนิยาย Herbert ก็คือ T. E. Lawrence (Lawrence of Arabia) พลเมืองชาวอังกฤษ นำกองทัพอาหรับต่อสู้เอาชนะชาว Turks ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยกลวิธี Guerrilla Tactics ใช้กองกำลังเล็กๆเข้าทำลายหน่วยสื่อสาร ตัดขาดศัตรูไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือจากโลกภายนอก นั่นเองที่ทำให้เขากลายเป็น ‘messiah’ มีสถานะเหมือนพระเจ้า (godlike) ของชาวอาหรับ

คำนิยามของผู้กำกับ Denis Villeneuve [ในฉบับ Dune (2021)] ให้ความเห็นตัวละครนี้อย่างน่าสนใจ เปรียบเทียบดั่ง Michael Corleone แฟนไชร์ The Godfather

“He’s training to be the Duke. But as much as he’s been prepared and trained for that role, is it really what he dreams to be? That’s the contradiction of that character. It’s like Michael Corleone in The Godfather–it’s someone that has a very tragic fate and he will become something that he was not wishing to become.”

Denis Villeneuve

นอกจากรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนเด็กหนุ่มอายุ 15 ปี การแสดงของ MacLachlan ก็แทบไม่มีความน่าสนใจอะไรให้ให้พูดกล่าวถึง แม้นี่จะเป็นบทบาทที่โคตรหลงใหล แต่ทุกสิ่งอย่างดูเป็น ‘stereotype’ ปากเบะ หน้าบึ้ง เต็มไปด้วยความตึงเครียดตลอดเวลา เมื่อประกอบเข้ากับเสียงบรรยายความรู้สึกจากภายใน การแสดงจึงไร้มิติซ่อนเร้น จืดชืด น่าเบื่อหน่าย คาดเดาง่าย สิ้นสภาพวีรบุรุษผู้กอบกู้จักรวาล (นอกจากหน้าตาหล่อเหล่าเพียงอย่างเดียว)

“I read Dune for the first time in eight grade, and I’ve read it about once a year ever since, It’s almost been my Bible. I really love that book. So when I was cast for Paul. I couldn’t believe it. I still don’t believe it!”

Kyle MacLachlan

ความที่หนังมีนักแสดงเยอะมากๆ ‘Ensemble Cast’ เลยขอพูดถึงตัวละครอื่นๆโดยคร่าวๆที่น่าสนใจ

  • Duke Leto Atreides ผู้นำตระกูล House Atreides ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่จิตใจอ่อนโยน มีความรักต่อภรรยา บุตรชาย เป็นห่วงเป็นใยลูกน้องใต้สังกัด มองว่าชีวิตสำคัญกว่าการเก็บเกี่ยวผลผลิต Spice แต่สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลังโดยคนใกล้ตัว
    • รับบทโดย Jürgen Prochnow (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin หลังประสบความสำเร็จจากการแสดงในประเทศ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ยอดเยี่ยม เลยได้รับโอกาสจาก Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ Das Boot (1981), Dune (1984), Beverly Hills Cop II (1987), Air Force One (1997) ฯ
    • House Atreides ได้แรงบันดาลใจจากปกรัมณ์กรีก House Atreus ซึ่งก็ประสบโชคชะกรรม ถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่แตกต่าง
  • Lady Jessica สมาชิกของ Bene Gesserit Sisterhood ถูกมอบหมายให้เป็นภรรยาน้อย Duke Leto แต่เพราะรักสวามี เลยตัดสินใจทรยศหักหลังองค์กร คลอดบุตรชาย Paul และกำลังจะให้กำเนิดน้องสาว Alia แต่เมื่อ House Atreides ถูกทำลายล้าง เข้าร่วมกับชาว Fremen และตั้งตนเองกลายเป็น Reverend Mother
    • รับบทโดย Francesca Annis (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาเป็นเจ้าของกิจการ Nightclub ที่ประเทศ Brazil ส่วนมารดาเป็นนักร้อง Blues แต่ทั้งคู่เลิกเราตอนเธออายุ 7 ขวบ ย้ายกลับมาอยู่อังกฤษฝึกฝนบัลเล่ต์ ก่อนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Cleopatra (1963) ในบทคนรับใช้ Elizabeth Taylor, เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์ Great Expectations (1967), ภาพยนตร์ Macbeth (1971), Krull (1983), Dune (1984) ฯ
    • ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Beverly Herbert มารดาของผู้แต่งนวนิยาย เธอมีความเข้มแข็ง เป็นที่รัก เชื่อมั่นในสิ่งถูกต้อง และเหมือนมีความสามารถในการทำนายอนาคต (ของลูกชายตนเอง)
  • Baron Vladimir Harkonnen ชายร่างใหญ่ ป่วยโรคผิวหนังอะไรสักอย่าง ทำให้ไม่สามารถเดินด้วยเท้า ต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างให้ล่องลอยเหนือพื้นดิน อุปนิสัยก็สะท้อนรูปลักษณ์ โหยหาอำนาจ เงินทอง กอบโกยกินทุกสิ่งอย่าง ชื่นชอบการทรมาน ลักร่วมเพศ ฆ่า-ข่มขืน แต่ครั้งหนึ่งยินยอมให้ตัวเองถูกล่อลวงโดย Bene Gesserit Sisterhood ให้กำเนิดบุตรสาวลับๆ Lady Jessica มีศักดิ์เป็นปู่ของ Paul Atreides แต่ก็ยังโกรธเกลียดไม่ชอบขี้หน้า Duke Leto ถึงขนาดยัดสอดไส้สายลับ เมื่อมีโอกาสจึงพร้อมกำจัดให้พ้นภัยพาล
    • รับบทโดย Kenneth McMillan (1932-89) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York จากเซลล์แมน ไต่เต้าถึงผู้ดูแลชั้นสามห้างสรรพสินค้า Gimbels Department Store แต่พออายุ 30 ค้นพบความฝันอยากเป็นนักแสดง เข้าศึกษา Fiorello H. LaGuardia High School of Music & Art and Performing Arts แต่กว่าจะเริ่มมีผลงานแรกตัวประกอบ Serpico (1973), ผลงานส่วนใหญ่เป็นบทสมทบ ตำรวจพิทักษ์สันติราษฎร์ จนกระทั่งได้รับโอกาส Dune (1984) แม้เสียเวลาหลายชั่วโมงแต่งหน้าทำผม ได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการทำตัวละครนี้โหดเหี้ยม เลวทราม ชั่วช้าสามาลย์ที่สุด
    • การแสดงของ McMillan ถือว่ามีสีสัน บ้าระห่ำ หลุดโลกที่สุดใน Dune (1984) และดูพี่แกค่อนข้างสนุกไปมัน (อย่างยากลำบาก) แม้ภาพลักษณ์จะแตกต่างจากต้นฉบับนวนิยาย แต่ถือเป็นการตีความที่สื่อนัยยะชัดเจน แค่เห็นก็ขยะแขยง ไม่อยากเข้าใกล้ อัปลักษณ์เกินทน
    • ผู้แต่งนวนิยาย Herbert เล่าว่าใช้การเปิดสมุดโทรศัพท์ (Yellow Book) แล้วค้นพบชื่อ Härkönen ฟังดูเหมือนภาษารัสเซีย (จริงๆเป็นภาษา Finnish) เลยนำมาใช้ตั้งชื่อตัวละคร ในตอนแรกเขียนว่า Valdemar Hoskanner
  • Padishah Emperor Shaddam IV แห่ง House Corrino ผู้ปกครองได้รับการยอมรับทั่วทั้งจักรวาล ออกคำสั่งให้ Duke Leto Atreides เข้าครอบครองดาวเคราะห์ Arrakis แม้รับล่วงรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังสร้างพันธมิตรกับชาวพื้นเมือง Fremen แต่นั่นคือแผนกำจัดให้พ้นภัยพาล ด้วยการยืมมือฆ่าโดย Baron Harkonnen แต่หลังจากนั้นการปรากฎของ Muad’Dib สร้างปัญหาให้การเก็บเกี่ยว Spice จน Spacing Guild เรียกร้องให้จักรพรรดิต้องจัดการขั้นเด็ดขาด เลยออกเดินทางมุ่งสู่ Arrakis เพื่อบัญชาการรบด้วยตนเอง
    • รับบทโดย José Ferrer ชื่อจริง José Vicente Ferrer de Otero y Cintrón1 นักแสดงสัญชาติ Puerto Rican เกิดที่ San Juan ครอบครัวอพยพย้ายสู่ New York City ตั้งแต่เขายังเด็ก ช่วงระหว่างร่ำเรียนสถาปัตยกรรม Princeton University ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง จบออกมาเลยตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ Broadways ค่อยๆสะสมชื่อเสียงจนโด่งดังจากบทบาท Cyrano de Bergerac (1946) คว้ารางวัล Tony Award: Best Actor, ส่วนภาพยนตร์เริ่มต้นจาก Joan of Arc (1948), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Cyrano de Bergerac (1950), ผลงานเด่นๆ อาทิ Moulin Rouge (1952), The Caine Mutiny (1954), Lawrence of Arabia (1962), Ship of Fools (1965), Dune (1984) ฯ
    • แม้ว่าภาพลักษณ์ของ Ferrer จะดูเหมือนจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่การแสดงดูลุกรี้ ร้อนรน ไม่ค่อยเหมือนผู้นำที่พึ่งพาได้ น่าจะได้รับคำแนะนำให้ถ่ายทอดความรู้สึกภายในออกเป็นภาษากาย หลังจากถูกกดดัน/ควบคุมครอบงำโดย Spacing Guild ตระหนักว่าตนเองเป็นเพียงหุ่นเชิดชัดของบางสิ่งอย่างยิ่งใหญ่กว่า
    • ในนวนิยายตัวละครนี้อายุ 72 ปี แต่บรรยายภาพลักษณ์ว่ายังเหมือนคนอายุ 35, แต่ภาพยนตร์บอกว่าอายุเกิน 200+ ปี เพราะได้รับการหนุนหลังจาก Spacing Guild และความช่วยเหลือของ Spice (ที่สามารถทำให้อายุยืนยาว)
  • Chani เป็นชาว Fremen บุตรสาวของ Liet-Kynes ภรรยานอกสมรสของ Paul แต่ได้รับคำยืนยันจากเขาว่าจะรักและดูแลเหมือนดั่งภรรยา (Paul แต่งงานในนามกับ Princess Irulan ด้วยเหตุผลทางการเมือง)
    • รับบทโดย Sean Young (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังจาก Blade Runner (1982) แต่ถูกลดทอนบทบาทจนไม่มีอะไรให้พูดถึง
  • Siân Phillips รับบท Reverend Mother Gaius Helen Mohiam ผู้นำของ Bene Gesserit และภรรยานอกสมรสของ Emperor Shaddam IV ทีแรกพยายามปฏิเสธการมีตัวตนของ Paul แต่หลังจากเขาสามารถผ่านการทดสอบ จึงเกิดความลังเลใจ ยินยอมให้เขามีชีวิต คาดคิดว่าคงถูกเข่นฆ่าในช่วงการเข่นฆ่าล้าง House Atreides แต่หลังจากมีชีวิตรอด สามารถต่อต้านขัดขืน เธอเองก็มิอาจทำอะไรกับเขาได้
  • Sting รับบท Feyd-Rautha น้องเขยของ Baron Harkonnen (น่าจะเป็นคนรักด้วยกระมัง) คู่ต่อสู้ดวลมีดกับ Paul
    • ว่ากันว่าฉากเดินจากห้องอบไอน้ำ Sting ตั้งใจจะเปลือยเปล่าทั้งตัว แต่ทีมงานก็สรรหาอะไรบางอย่างมาปกปิดไว้ได้ทัน โดดเด่นจนทำให้เก้งๆกังๆกรี๊ดกร๊าดลั่น
  • Patrick Stewart รับบท Gurney Halleck, a troubador-warrior and talented baliset musician in the Atreides court
  • Max von Sydow รับบท Doctor Kynes นักวิทยาดาวเคราะห์ (planetologist) ของชาว Fremen และเป็นบิดาของ Chaniจ

ถ่ายภาพโดย Freddie Francis (1917-2007) ตากล้องสัญชาติอังฤษ เจ้าของสองรางวัล Oscar: Best Cinematography เรื่อง Sons and Lovers (1960), Glory (1989), มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ David Lynch สามครั้ง The Elephant Man (1980), Dune (1984) และ The Straight Story (1999)

เดิมนั้นโปรดิวเซอร์อยากทำโปรดักชั่นที่ประเทศอังกฤษ ทีมงานส่วนใหญ่ก็เป็นชาวยุโรป แต่เพราะต้องสร้าง 80 ฉาก ใน 16 โรงถ่าย ซึ่งมีปริมาณไม่เพียงพอ ถ้าทำที่ Hollywood, Los Angeles ทุนสร้างคงบานเบิก เลยตัดสินใจไปปักหลักยัง Estudios Churubusco Azteca, Mexico City ไม่ห่างไกลจากทะเลทราย Pincate and Grand Desert of Altar

แซว: แม้การถ่ายทำยัง Mexico จะช่วยลดค่าใช้จ่าย/เช่าสถานที่ได้มาก แต่ระหว่างโปรดักชั่นทีมงานเกินกว่าครี่ง (จาก 1,700+ คน) ล้มป่วยโรค Moctezuma’s Revenge ท้องเสียจากอาหารการกินไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณ (ใช้งบเกินกว่าที่ประมาณไว้ $4 ล้านเหรียญ) มาสร้างโรงครัว นำเข้าอาหารทั้งหมดส่งจากสหรัฐอเมริกา ในระยะเวลาถ่ายทำ 6 เดือน!

Production Design โดย Anthony Masters (1919-90) โด่งดังกลายเป็นตำนานกับ 2001: A Space Odyssey (1968) เมื่อได้รับการชักชวนจากผู้กำกับ Lynch ตกลงด้วยภาษิต ‘อะไรเคยพบเห็นหรือทำมาแล้ว โยนมันทิ้งไป!’

“Out motto is: If it’s been done or seen before, throw it out!”

Anthony Masters

แม้มีการออกแบบจากงานสร้างของ Alejandro Jodorowski และ Ridley Scott แต่ผู้กำกับ Lynch ตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด จินตนาการโดยอ้างอิงโลกปัจจุบันถีงอนาคต 10,000+ ปีข้างหน้า ให้ผู้ชมยังรู้สีกมักคุ้นเคยกับสถานที่ มีความเป็นรูปธรรมมากขี้น (แต่ในสไตล์/คิดสร้างสรรค์ของ Lynch)

4 ดาวเคราะห์หลักในหนังประกอบด้วย

  • Kaitain สถานที่ตั้งพระราชวังของ Padishah Emperor Shaddam IV เป็นดาวเคราะห์สีฟ้าขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยวงแหวน ประกอบด้วยแผ่นดินและผืนน้ำ มีความเจริญก้าวหน้า เต็มไปด้วยตีกระฟ้า สถาปัตยกรรมล้ำอนาคต
  • Giedi Prime สถานที่ตั้งของ House Harkonnen เป็นดาวเคราะห์อุตสาหกรรม ประกอบด้วยโรงงานนับร้อยพัน สร้างเป็นบล็อกๆซ้อนเป็นชั้นๆ สภาพอากาศคงเต็มไปด้วยมลพิษ ไม่เหมาะสำหรับการพักอยู่อาศัยสักเท่าไหร่
  • Caladan สถานที่ตั้งของ House Atreides เป็นดาวเคราะห์สีเขียว รายล้อมรอบด้วยโขดหิน คลื่นสาดกระเซ็น มองออกไปเป็นมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล
  • Arrakis ดาวเคราะห์สีแดงดวงเดียวในจักรวาลที่ค้นพบว่ามี Spice พื้นผิวมีเพียงท้องทะเลทราย สภาพอากาศกลางวัน-กลางคืน แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่ภายใต้ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาว Fremen ซุกซ่อนเร้นลำธารน้ำกว้างใหญ่ไพศาล

ภายในพระราชวังของ Padishah Emperor Shaddam IV สร้างด้วยทองคำทั้งหมด แสดงถึงความร่ำรวย มั่งคั่ง จากการค้า Spice (ให้ความรู้เหมือนเหมือนประเทศค้าน้ำมัน แถวตะวันออกกลาง) ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมคือแท่งเล็กๆแหลมๆ ดูคล้ายฟันเฟืองในเครื่องยนต์กลไก ราวกับว่าสถานที่แห่งนี้คือศูนย์กลางการขับเคลื่อนอะไรอย่างสักอย่าง

ชื่อของจักรพรรดิฟังดูยิ่งใหญ่ เป็นผู้ปกครองจักรวาลที่รู้จัก (Emperor of the Known Universe) แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นหุ่นเชิดชักของ Spacing Guild และ Bene Gesserit Sisterhood ได้รับคำสั่งอะไรมาก็ต้องปฏิบัติตาม

แซว: มันอาจเป็นความบังเอิญหรือจงใจไม่รู้นะ ศีรษะล้านด้านหลังของ José Ferrer นัยยะถึงการไม่เป็นตัวของตนเอง ถูกควบคุมครอบงำด้วยบางสิ่งอย่าง (คือมันไปสอดคล้อง/ตรงกันข้ามกับศีรษะของ Bene Gesserit ที่ผมจะกล่าวต่อไป)

Spacing Guild คือองค์กรที่ควบคุมระบบการขนส่งของจักรวาล โดยใช้ Spice ทำให้ยานอวกาศสามารถเดินทางระหว่างดวงดาวได้เพียงชั่วพริบตา ด้วยเหตุนี้จึงมีอำนาจการต่อรองล้นฟ้า ถ้าผู้นำดาวเคราะห์ไหนไม่ยินยอมศิโรราบ ก็สามารถตัดขาดความสัมพันธ์ ปล่อยทอดทิ้งมิอาจเดินทางไปไหนมาไหนได้อีก

ในนวนิยายเหมือนว่า Spacing Guild จะแค่มีอิทธิพลต่อ Emperor Shaddam IV แต่ฉบับภาพยนตร์มีการพูดบอกอย่างชัดเจนว่าคือหุ่นเชิดชักที่องค์กรแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตนแทนในการปกครองจักรวาล ควบคุมกิจการเก็บเกี่ยว Spice ด้วยเหตุนี้จักรพรรดิจีงมิอาจขัดคำสั่งของ Guild Navigator แต่ตัวเขาก็มีหน้าที่แค่วางแผน สั่งการ หาใช่ผู้ปฏิบัติภารกิจนี้โดยตรงไม่

Guild Navigator หรือ Guildsman หรือ Steersman คือสิ่งมีชีวิตที่บริโภค Spice จนทำให้มีความสามารถเคลื่อนไหวผ่านช่องว่างระหว่างจักรวาล ขนส่งยานอวกาศจากดาวเคราะห์หนึ่งสู่อีกดาวเคราะห์หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว (ในสายตามนุษย์คือโดยทันที) ว่ากันว่าเจ้าสิ่งนี้อาจเคยเป็นมนุษย์ ที่หลังจากบริโภค Spice ปริมาณมหาศาลจึงเริ่มกลายพันธุ์ และมีความสามารถพิเศษดังกล่าว แต่ต้องแลกเปลี่ยนคือไม่สามารถออกจากแท็งค์น้ำ (ที่อุดมไปด้วยแก๊ส Spice)

ด้วยความสามารถที่อยู่นอกเหนือกฎจักรวาล ทำให้ Guild Navigator สามารถก่อตั้ง Spacing Guild มีอำนาจต่อรองผู้นำดาวเคราะห์ ไม่เว้นแม่แต่จักรพรรดิ เพื่อให้การเก็บเกี่ยว Spice ดำเนินไหลไปอย่างไม่หยุดหย่อน (เพราะถ้าขาดช่วงเมื่อไหร่ เจ้าสิ่งมีชีวิตตนนี้อาจดับสูญสิ้นไปเลยก็เป็นได้)

Bene Gesserit Sisterhood คือองค์กรที่ใช้ศาสนา/ความเชื่อศรัทธาเป็นข้ออ้าง จุดประสงค์เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตสมบูรณ์แบบ ด้วยการแทรกซีมเข้าไปในทุกๆองค์กรจักรวาล ให้กำเนิดทารกเพศหญิงเพื่อเก็บสะสมพันธุกรรมที่ดีไว้กับตัว สืบสานต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะถีงวันสามารถให้กำเนิดพระเจ้า Kwisatz Haderach ปัจจุบันพานผ่านมาแล้วถึง 90 รุ่น

เกร็ด: Bene น่าจะมาจากคำว่า Benefit หมายถีงผลประโยชน์, Gesserit ออกเสียงคล้ายๆ Jesuits คณะแห่งพระเจ้า กลุ่มบุคคลผู้มีหน้าที่เผยแพร่คำสอนศาสนาสู่สถานที่แห่งหนต่างๆทั่วโลก

จะว่าไปแนวคิดของ Kwisatz Haderach ช่างละม้ายคล้าย Guild Navigator แต่พวกเธอไม่ได้พึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่าง Spice จนมีรูปร่างอัปลักษณ์ กลายพันธุ์ ไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป, วิธีการของ Bene Gesserit คือฝีกฝนจิตใจให้เข้มแข็งแกร่ง จนสามารถควบคุม/คัดเลือกสรรค์พันธุกรรมที่ดีส่งต่อให้ทายาทรุ่นถัดๆไป

คงมีหลายครั้งที่สมาชิกของ Bene Gesserit ให้กำเนิดเพศชาย แต่เมื่อเติบโตถึงวัยจักต้องเข้ารับการทดสอบ ทั้งหมดล้วนมิอาจอดรนทนต่อความเจ็บปวดที่บังเกิดขึ้นภายในจิตใจ จึงถูกทิ่มแทงด้วยยาพิษ เสียชีวิตตกตายไป

แซว: ทรงผมสุดแนวของ Bene Gesserit โกนศีรษะเพื่อบอกว่าตนเองไม่ได้ยึดติดกับอะไร มีหน้าที่เพื่อคอยรับใช้ แต่ผ้าคลุมศีรษะห้อยไปด้านหลัง นัยยะถึงแท้จริงแล้วคอยควบคุม ชักใยอยู่เบื้องหลังทุกสรรพสิ่งอย่าง

จากบทสัมภาษณ์ของลูกชายผู้แต่งนวนิยาย Brian Herbert เล่าถึงสิ่งที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจของ Bene Gesserit

“When he (Frank Herbert) was a boy, eight of Dad’s Irish Catholic aunts tried to force Catholicism on him, but he resisted. Instead, this became the genesis of the Bene Gesserit Sisterhood. This fictional organization would claim it did not believe in organized religion, but the sisters were spiritual nonetheless. Both my father and mother were like that as well”.

Brian Herbert

ฉากภายในปราสาท House Atreides บนดาวเคราะห์ Caladan ดูเหมือนใช้ไม้ทำเป็นผนังกำแพง แกะสลักลวดลายต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ-เก้าอี้ ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ให้ความรู้สึกเก่าแก่ มีมนต์ขลัง (แต่ไปเอาไม้พวกนี้มาจากไหนกันละ?) ซึ่งสะท้อนเข้ากับธรรมชาติของตระกูลนี้ ต่างมีจิตใจดีงาม มั่นคงในอุดมการณ์ อบอุ่นเมื่อได้อยู่เคียงชิดใกล้

การอ้างว่าข้อจำกัดของเทคโนโลยียุคสมัยนั้น มันฟังไม่ขึ้นเลยสักนิด! นี่ไม่ใช่ Tron (1982) ที่สามารถสร้างโมเดลอะไรก็ได้ในโลกคอมพิวเตอร์ คือถ้าทำมันออกมาขี้เหล่ขนาดนี้ ให้นักแสดงต่อสู้กันตรงๆไม่ดีกว่าหรือ? อะไรกันที่ทำให้ David Lynch เข็นความพิลึกพิลั่นนี้ออกมา?

ในนวนิยาย ทักษะการต่อสู้ ‘weirding way’ มันคล้ายๆการฝึกฝนกำลังภายใน หรือ The Force ของ Jedi นั่นคือเหตุผลของผู้กำกับ Lynch (กระมัง) ไม่อยากดำเนินตามรอยนั้น (เพราะเขาปฏิเสธ George Lucas ในการกำกับ Star Wars) ด้วยเหตุนี้เลยครุ่นคิดพัฒนา Weirding Modules ด้วยการให้ตัวละครส่งเสียงเพิ่มพลังโจมตี สามารถทำลายล้างแม้กระทั่งธาตุแข็งแกร่งที่สุดบนดาว Arrakis

แต่ผมว่าแนวคิดของปีนประหลาดๆนี่มันตลกสิ้นดีเลยนะ โดยเฉพาะการต้องส่งเสียงร้องเพื่อเพิ่มพลัง ยิ่งช่วงไคลน์แม็กซ์ของหนังแม้งโคตรน่ารำคาญ ตัวละครทั้งหลายต่างส่งเสียงเจี้ยวจ้าวแทน Sound Effect คิดออกมาได้ไง??

ใครดูหนังกังฟู หรือ Shaw Brothers น่าจะมักคุ้นเคยกับอุปกรณ์ฝีกฝนวิชาการต่อสู้ชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่เดี๋ยวนะอนาคต 10,000+ ปีข้างหน้า มันยังจะใช้ไอ้เครื่องแบบนี้อยู่อีกเหรอ?? มันน่าจะมีโฮโลแกรม หรือหุ่นยนต์สำหรับต่อสู้สิ มันถึงสมเหตุสมผลกว่า และการขยับเคลื่อนไหวของมันช่างก๋องแก๋งเหลือทน ไม่ได้มีความน่าตื่นตาตื่นใจเลยสักนิด!

“Fear is the mind-killer”.

Paul Atreides

นี่เป็นฉากที่ผมชื่นชอบสุดแนวคิดที่สุดแล้ว มันคือบททดสอบความเป็นมนุษย์ สิ่งมีชีวิตเดียวเท่านั้นสามารถเผชิญหน้าความหวาดกลัว อดรนทนต่อความเจ็บปวด เอาชนะสันชาตญาณ และเข้าถึงนิพพาน (เดรัจฉานจะไม่สามารถอดรนทนต่อความเจ็บปวด สันชาตญาณจักทำให้ชักมือออกจากกล่องโดยทันที)

ความเจ็บปวดของ Paul ไม่ได้มาจากมือสอดใส่ในกล่อง แต่คือพลังของ Reverend Mother สร้างภาพหลอนควบคุมจิตใจ ให้เขารู้สึกเหมือนถูกแผดเผา มอดไหม้ ราวกับอยู่ในขุมนรก, ในนวนิยายเห็นว่าเธอหยุดเมื่อพลังหมด และยินยอมรับว่า Paul มีแนวโน้มจะกลายเป็น Kwisatz Haderach

Giedi Prime สถานที่ตั้งของ House Harkonnen เป็นดาวเคราะห์อุตสาหกรรม พบเห็นโครงเหล็กซ้อนกันเป็นชั้นๆ เครื่องจักรถูกแบ่งเป็นบล็อกๆ ก็ไม่รู้มันทำงานอะไรของมัน แค่ให้ความรู้สึกของ Surrealist Setting เพียงให้ผู้ชมสัมผัสว่านี่คือโรงงานอุตสาหกรรมก็เท่านั้นเอง

มองจากภายนอก Giedi Prime เป็นดาวเคราะห์สีดำมะเมื่อม ส่วนภายในกลับเป็นใช้โทนสีเขียวของธนบัตร สัญลักษณ์ระบอบทุนนิยม ซ่อนเร้นด้วยความชั่วร้าย

ถ้าถามว่าสิ่งใดในภาพยนตร์เรื่องนี้เทียบแทนสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Lynch ได้ตรงที่สุด คงหนีไม้พ้นรูปลักษณ์ภายนอกของ Baron Vladimir Harkonnen ผมอ่านเจอว่าเพราะพี่แกพยายามข่มขื่น Bene Gesserit ที่ส่งมาเอาน้ำเชื้อของตน เลยถูกเธอผู้นั้นใช้พลังดัดแปลงพันธุกรรมหรืออะไรสักอย่าง จนมีสภาพผิวหนังเน่าเปื่อยพุพอง รักษาไม่มีวันหาย (สะท้อนตัวตนจากภายในที่มีความอัปลักษณ์ ซาดิสต์ โฉดชั่วร้าย)

ในฉบับของ Denis Villeneuve ออกแบบตัวละครนี้แค่อวบอ้วนขึ้นไม่ได้เป็นโรคผิวหนัง ซี่ง(ความอ้วน)เป็นสัญลักษณ์ของบริโภคนิยมกอบโกยกินมากเกินความจำเป็น ส่วนการลอยขึ้นจากพื้น แสดงถึงการทำตัวสูงส่ง เหนือกว่ามนุษย์ ราวกับฉันคือพระเจ้า

เด็กหนุ่มหน้าใส สวมชุดสีขาว ด้านหลังคือดอกไม้ แล้วถูก Baron Harkonnen พุ่งถาโถมเข้าใส่ ชักจุกตรงหัวใจ เลือดพุ่งสาดกระเซ็น เสพสมจนหมดสิ้นลมหายใจ … นัยยะฉากนี้คือการข่มขืน เปิดบริสุทธิ์ ลักร่วมเพศ เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ (เลยมั้ง) ไม่รู้จะชมหรือด่า นำเสนอออกมาได้ซาดิสต์สุดๆ

และที่จี๊ดยิ่งไปกว่านั้น ร้อยเรียงภาพผู้ชมที่ยืนจับจ้องมอง Baron Harkonnen กระทำชำเราเด็กหนุ่มผู้โชคร้ายอย่างไร้เยื่อใย แต่ถ้าสังเกตรูปลักษณะพวกเขาถูกปิดปาก ปิดตา หูถูกเย็บ (น่าจะสื่อถึงการปิดหู ไม่ให้ได้ยินสิ่งบังเกิดขึ้น) เว้นเพียงสองพี่น้อง ญาติสะใภ้ แสดงออกด้วยรอยยิ้มกริ่ม พึงพอใจในสิ่งพบเห็น … ประเทศไทย T_T

ผู้ชมสมัยนี้คงมีภาพการเดินทางระหว่างดวงดาวด้วยการวาร์ป ผ่านรูหนอน ดวงดาวเคลื่อนผ่า่นอย่างรวดเร็ว ฯ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอในเชิงนามธรรม Surrealist ด้วยการให้ยานอวกาศเข้าไปในสถานีอวกาศที่มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก จากนั้น Guild Navigator (ตัวประหลาดๆที่พบตอนต้นเรื่อง) ดูดเข้าไปในปาก แล้วเคลื่อนย้ายตำแหน่งตนเองไปยังดาวเคราะห์เป้าหมายและพ่นมันออกมาเหนือชั้นบรรยากาศ … Sequence นี้ต้องชมในความคิดสร้างสรรค์ บรรเจิดมากๆ (ที่สุดในหนังแล้วกระมัง)

Arrakis ดาวเคราะห์ที่มีพื้นผิวปกคลุมด้วยท้องทะเลทราย แสงแดดร้อนระอุ ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด ฐานบัญชาการต้องขุดเจาะเข้าไปในเทือกเขา อาศัยธารน้ำเล็กๆ(ในภูเขา)ประทังความอดอยาก และวิธีเดียวสามารถปกป้องกันการโจมตีจากหนอนทราย คือบาเรียคลื่นความถี่สูง

ลักษณะโดดเด่นของชาว Fremen คือผิวสีเข้ม (แรงบันดาลใจจากชาวอาหรับ/ตะวันออกกลาง) ดวงตาสีฟ้า เป็นผลกระทบจากใกล้ชิด Spice มากเกินไป แต่ก็ไม่ส่งเสียใดๆต่อร่างกาย หรือกลายพันธุ์แบบ Guild Navigator (รายนั้นเพราะบริโภค Spice มากเกินไป) มีความแข็งแกร่งทางร่างกาย (เพราะต้องอดรนทนใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก) หลังได้รับการฝึกฝน ‘weirding way’ จึงทำให้จิตใจเข้มแข็งแกร่งขึ้น สามารถต่อสู้เอาชนะได้กระทั่งกองทัพส่วนตัวของจักรพรรดิ

เกร็ด: Fremen มาจากคำว่า Free Men ต้องการสื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีอิสรภาพของตนเอง

หนอนทราย (Sandworm) ออกแบบโดย Anthony Masters ร่วมกับ Ron Miller ส่วนลำตัวได้แรงบันดาลใจจากงวงช้าง ขณะที่บริเวณปากมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายแบบ ก่อนมาลงเอยที่สามแฉกสามารถปิด-เปิด คล้ายๆดอกไม้แรกแย้ม

ก่อสร้างโดย Carlo Rambaldi (1925-2012) นัก Special Effect สัญชาติอิตาเลี่ยน เจ้าของรางวัล Oscar: Best Visual Effects ถีงสามครั้งจาก King Kong (1976) [เป็น Special Achievement], Alien (1979) และ E. T. (1982)

ต้องใช้ช่างทั้งหมด 24 คน ออกแบบกลไก แกะสลัก ขี้นรูป (ไม่ได้มีการใช้ Visual Effect แต่อย่างใด) ก่อสร้างทั้งหมด 15 ตัว ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เฉพาะลำตัว/ปาก สำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน (ตัวใหญ่สุดขนาด 18ฟุต/5เมตร ยาว 50ฟุต/15เมตร ในฉากที่ Paul ยิงฉมวกแล้วปีนป่ายขี้นบนลำตัว), ส่วนบริเวณปาก Rambaldi เพิ่มเติมฟันแหลมคมให้ดูน่าหวาดกลัวยิ่งขี้น รวมไปถีงกลไกให้สามารถเปิด-ปิด ขยับเคลื่อนไหวจากการควบคุมระยะไกล รวมๆแล้วค่าก่อสร้างเจ้าหนอนทรายสูงถีง $2 ล้านเหรียญ!

reference: https://monsterlegacy.net/2014/04/28/dune-sandworms-arrakis/

รูปลักษณ์ของหนอนทราย (Sandworm) ถูกโจมตีจากแทบทุกนักวิจารณ์ ว่าออกแบบได้จืดชืด ‘cheap’ ดูธรรมดา ไร้ความเกรงขาม ยิ่งใหญ่อลังการ น่าสะพรีงกลัวในลักษณะที่มันควรจะเป็น (นี่คือ Iconic ของนวนิยายเล่มนี้เลยนะ!)

“The heads of the sand worms begin to look more and more as if they came out of the same factory that produced Kermit the Frog (they have the same mouths)”.

นักวิจารณ์ Roger Ebert พูดถีง Sandworm

ชาวพื้นเมือง Fremen เคารพนับถือ Shai-Hulud เปรียบดั่งตัวแทนพระเจ้า (agents of God) การกระทำของพวกมันราวกับสวรรค์บันดาล (divine intervention) ซี่งรูปลักษณะลำตัวยาวตีความได้ถีงลีงค์ อวัยวะเพศชาย เจ้าโลกขนาดใหญ่ ก่อนเดินทางมาถีงจะพบเห็นร่องรอย wormsign และสามารถกลืนกินแทบทุกสรรพสิ่งอย่างที่พยายามแสวงหาผลประโยชน์จาก Spice

การตีความหนอนทรายมีหลากหลายทฤษฎีมากๆ แต่ที่ผมชื่นชอบสุดคือกระจกสะท้อนธรรมชาติมนุษย์ (สื่อถึงตัวละครเพศชายโดยเฉพาะ Emperor Shaddam IV และ Baron Harkonnen) ขนาดของมันแสดงถีงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยความละโมบโลภ สามารถกอบโกยกินทุกสิ่งอย่าง ใช้ความหวาดกลัวในการปกครองดินแดนแห่งนี้ ใครส่งเสียงอะไรที่เป็นจังหวะ(ไม่เป็นธรรมชาติ)จะตรงรี่เข้ามาทำลายล้างโดยทันที [สื่อถึงพวกกบฎ ไม่ใช่พวกเดียวกันเอง]

แซว: ในนวนิยาย บรรยายสรรพคุณหนอนทรายว่ากลัวน้ำ แต่ตอนจบของภาพยนตร์ Paul บันดาลฝนตกลงมา ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งผลกระทบต่อพวกมันมากน้อยเพียงใด

มุมมองหนึ่ง เราอาจตีความ Spice ได้กับยาเสพติด กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ เพราะสรรพคุณขยายโสตประสาทการรับรู้ แต่ถ้าบริโภคมากเกินไปอาจกลายสภาพเป็นอย่าง Guild Navigator รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ และมิอาจมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากมัน

เช่นกันกับการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ มักถูกโจมตึโดยหนอนทรายที่ทำตัวราวกับเป็นตำรวจไล่ล่าผู้ร้ายลักลอบขนยา และทำลายสิ่งผิดกฎหมายเหล่านั้น (ด้วยการกลืนกิน กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน)

แซว: เจ้ายาน Spice Harvester ให้ความรู้สึกเหมือนเครื่องดูดฝุ่น ซึ่งความสามารถของมันก็คือดูดเอา Spice จากบริเวณโดยรอบเข้ามาในตัว ผ่านเครื่องกลั่นกรองจนออกมาเป็นสสาร Melange

แม้พื้นผิวดาวเคราะห์ Arrakis จะเต็มไปด้วยความเร่าร้อนอันตราย แต่ภายใต้กลับสงบร่มเย็น เพราะซ่อนเร้นธารน้ำกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ความแตกต่างตรงกันข้ามนี้สะท้อนนัยยะอย่างชัดเจนถึง คุณค่าของทุกสรรพสิ่งอย่างไม่ได้อยู่ที่ภาพลักษณ์ภายนอก ความงดงามแท้จริงนั้นล้วนซ้อนเร้นอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจ

จริงอยู่ Spice จากพื้นผิวดาวเคราะห์ Arrakis มีมูลค่ามากมายมหาศาล แต่มันเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ (Spacing Guild) ที่สามารถเข้าถึง! ผิดกับผืนน้ำใต้แผ่นดิน ซึ่งถือเป็น ‘Water of Life’ สายธารแห่งชีวิต จิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครสามารถอดกลั้นความกระหาย ไม่ได้ดื่มเพียงวันเดียวก็อาจตายได้ (อาหารขาดแคลนได้หลายวัน แต่ถ้าร่างกายขาดน้ำก็แทบจะสิ้นใจโดยทันที)

Water of Life ในบริบทของ Dune คือน้ำที่กลั่นมาจากตัวอ่อนของ Shai-Hulud (ก็หนอนทรายนะแหละ) ซึ่งจะมีพิษร้ายแรงกว่า Melange (ที่เก็บเกี่ยวจากทะเลทราย) แต่สำหรับ Bene Gesserit สามารถใช้พลังจิตควบคุม ส่งต่อองค์ความรู้ (จาก Reverend Mother ส่งให้กับทายาทรุ่นถัดไป) ให้สามารถซ้อนทับความทรงจำ และปลุกตื่นพลังซ่อนเร้นอยู่ในตนเอง

ในกรณีของ Lady Jessica บังเอิญว่าขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์บุตรสาว ฤทธิ์ของ Water of Life จึงถูกส่งต่อถึงทารก Alia ทำให้คลอดก่อนกำหนด แล้วมีพละพลัง ความทรงจำ (ทุกสิ่งอย่างของ Reverend Mother คนก่อน) ถูกปลุกตื่นขึ้นมาตั้งแต่ยังอยู่ในร่างของทารกน้อย นั่นมีคำเรียกว่า Abomination (ประมาณว่าจิตใจเป็นผู้ใหญ่ ติดอยู่ในร่างกายที่ยังเด็ก) โดยปกติแล้วจะถูกกำจัดทิ้งโดยทันที แต่นั่นไม่ใช่วิถีปฏิบัติของครอบครัวนี้

วัวตาย รีดนมแมวเพื่อต้านพิษ มัดติดกับหนู ซีนนี้ผมจนปัญญาจริงๆ ไม่สามารถครุ่นคิดเข้าใจได้ว่าผู้กำกับ Lynch ต้องการจะสื่ออะไร? มนุษย์ต้องพึ่งพาเดรัชฉานเพื่อรอดชีวิต? หรือแค่ต้องการให้เห็นรสนิยมทรมานสัตว์ของ Baron Harkonnen

ขณะที่ตัวละครของ Patrick Steward อุ้มสุนัข Pug เข้าฉากขณะกำลังกราดยิง เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจาก The dogs of war คำพูดของ Mark Antony ในบทละคร Julius Caesar ประพันธ์โดย William Shakespeare ซึ่งในบริบทนั้น สุนัขคือสัญลักษณ์ของปืนใหญ่/กระสุนระเบิด

“Cry ‘Havoc!’, and let slip the dogs of war.”

Mark Anthony ในบทละคร Julius Caesar

ชาว Fremen มีวิธีฝึกฝน/ควบคุมหนอนทราย ให้สามารถเป็นยานพาหนะสำหรับเผชิญหน้าต่อสู้ศัตรู นี่ฟังดูแปลกๆที่เจ้าไส้เดือนยักษ์จะยินยอมศิโรราบต่อมนุษย์ (คือถ้าใช้พลังจิตควบคุม ก็น่าจะยังพอฟังขึ้นอยู่บ้าง) แต่วิธีการที่ Paul ใช้ในหนัง คงทำให้หลายๆคนกุมขมับ เบือนหน้า ส่ายหัว อะไรของมันว่ะ! ดูน่าขบขัน แถมประกอบเข้าเพลง Rock มันส์ตรงไหน???

เป็นอีกฉากที่ถือว่าโคตรล้มเหลวในการนำเสนอ จับต้องไม่ได้ อะไรก็ไม่รู้ คุณภาพเลวร้ายกว่าหนังเกรดบี ยิ่งข้อจำกัดยุคสมัยนั้น มันทำให้ผู้ชมตั้งคำาม นี่หนังทุนสร้าง $40 ล้านเหรียญ จริงๆหรือนี่?

แซว: จะว่าไปฉากนี้ทำให้ผมนึกถึง Avatar (2009) ที่พระเอกตัดสินใจพิสูจน์ตัวเองด้วยการเชื่อมสัมพันธ์/ขึ้นขี่ Toruk Makto ตามความเชื่อของชาว Na’vi ใครทำสำเร็จจะได้รับการยกย่องว่าคือตำนาน

เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Paul ตัดสินใจดื่ม Water of Life ทำให้สามารถปลุกตื่นพลังหลับใหลอยู่ภายใน หนอนทรายรายล้อมศิโรราบ และบังเกิดความเข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่าง (เพียงพอต่อกรจักรพรรดิและ Bene Gesserit) ขณะเดียวกันทำให้ Lady Jessica และน้องสาว Alia ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน (แต่ก็ยังรอดชีวิตมาได้)

ใครเคยรับชม Eraserhead (1977) น่าจะมักคุ้นเคยกับช็อตลักษณะคล้ายๆกันนี้ (ที่สื่อถึง Eraser Head) ไม่ได้มีนัยยะอะไรแฝงนะครับ แค่อยากเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ David Lynch

การเสียชีวิตของ Baron Vladimir Harkonnen เกิดจากพลังของ Alia ลากพาให้ล่องลอยเข้ามาใกล้ จากนั้นทิ่มแทงยาพิษ Gom Jabbar (เดียวกับที่ Reverend Mother บีบบังคับให้ Paul นำมือใส่กล่อง) ดึงปลั๊กหัวใจออกทั้งสองข้าง ทำให้ร่างกายเสียสูญ หมุนวน (กรรมสนองกรรม) ถูกสายลมดูดออกภายนอกยานอวกาศ พุ่งเข้าปากหนอนทราย (หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ/คล้ายๆถูกธรณีสูบ)

ในนวนิยายการตายของ Baron Harkonnen เพียงแค่ถูกวางยาพิษโดย Alia ไม่ได้มีความเว่อวังอลังการ ขยับขยายเพื่อให้รู้สึกสาแก่ใจผู้สร้างขนาดนี้!

การต่อสู้ระหว่าง Paul กับลูกพี่ลูกน้อง Feyd-Rautha (สวมชุดที่มีลวดลายรอยหยักเหมือนหนอนทราย) จุดประสงค์เพื่อเข่นฆ่าล้างทำลายเผ่าพันธุ์ House Harkonnen ให้หมดสูญสิ้นไปจากจักรวาล แน่นอนว่าอีกฝั่งฝ่ายตระเตรียมแผนการชั่วร้าย พระเอกเลยตลบแตลงให้ดาบที่ซ่อนเร้นนั้นทิ่มแทงกลับ แล้วใช้มีดของตนเองแทงสวนจากคางทะลุปากถึงศีรษะ นอนตายตาไม่หลับ และระบายความรู้สึกผ่านคำพูด จนผืนแผ่นดินเกิดรอยแตกแยก (ธรณีสูบ)

เกร็ด: Feyd-Rautha เห็นว่าก็เป็นผลผลิตจาก Breeding Program (แบบเดียวกับ Paul) เลยมีพันธุกรรมที่สมบูรณ์แบบ ร่างกายเข้มแข็งแหร่ง สติปัญญาเป็นเลิศ และเพราะเติบโตผ่านการเลี้ยงดูของลุง Baron Harkonnen เลยมีความซาดิสต์ เหี้ยมโหดร้าย ตัวอันตราย

ปาฏิหารย์ของ Paul สามารถดลบันดาลให้ฝนตกลงบนดาวเคราะห์ Arrakis (ปกติไม่มีทางที่ฝนจะตก) นี่เป็นการสำแดงอภินิหาร พลังของ ‘พระเจ้า’ เพื่อสร้างศรัทธาและอำนาจที่แท้จริงให้ประจักษ์แจ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ด้วยความฉอุ่ม ชุ่มชื่น เบิกบานหัวใจ เติมเต็มคำพยาการณ์ Happy Ending

ใน Deleted Scene จะมีตอนจบแบบเดียวกับในนวนิยาย, Paul ประกาศกร้าวแต่งงานในนามกับ Princess Irulan แล้วส่ง Emperor Shaddam IV ไปคุมขังยัง Saulsa Secundus, ส่วน Chani จักป็นภรรยาแท้จริงของตนเอง

สำหรับการตัดต่อ แรกเริ่มฉบับ rough cut โดย David Lynch ได้ความยาวทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง จากนั้นค่อยๆขัดเกลา เลาะเล็มส่วนเกินจนได้ความยาวประมาณ 3 ชั่วโมง (ถือเป็น ‘director’s cut) แต่สตูดิโอ Universal เรียกร้องขอหนัง 2 ชั่วโมง ทำให้ยังต้องตัดหลายๆฉากออกไป และเปลี่ยนอารัมบทด้วยเสียงพูดบรรยายของ Virginia Madsen (รับบท Princess Irulan ลูกสาวคนโตของ Emperor Shaddam IV)

ฉบับฉายโรงภาพยนตร์ความยาว 137 นาที ยังถือว่าอยู่ในการดูแลของผู้กำกับ Lynch แต่หลังจากเสียงตอบรับย่ำแย่ เขาจึงเริ่มปฏิเสธว่าหนังไม่ได้บังเกิดจากวิสัยทัศน์ตนเอง เป็นผลกระทบจากการเข้ามาก้าวก่ายของสตูดิโอ และปฏิเสธให้ความร่วมมือฉบับตัดต่ออื่นๆ และเปลี่ยนชื่อเครดิตเป็น Judas Booth (มาจากชื่อของสองบุคคลชื่อดังในประวัติศาสตร์ Judas Iscariot ทรยศ Jesus Christ และ John Wilkes Booth มือปืนสังหารปธน. Abraham Lincoln)

“Dune, I didn’t have final cut on. It’s the only film I’ve made where I didn’t have. I didn’t technically have final cut on The Elephant Man (1980), but Mel Brooks gave it to me, and on Dune the film, I started selling out, even in the script phase, knowing I didn’t have final cut, and I sold out, so it was a slow dying-the-death, and a terrible, terrible experience. I don’t know how it happened, I trusted that it would work out, but it was very naive and, the wrong move. In those days, the maximum length they figured I could have is two hours and seventeen minutes, and that’s what the film is, so they wouldn’t lose a screening a day, so once again, it’s money talking, and not for the film at all, and so it was like compacted, and it hurt it, it hurt it. There is no other version. There’s more stuff, but even that is putrefied”.

David Lynch

สตูดิโอคงตระหนักถึงความล้มเหลวในการจำกัดเวลาของ Dune (1984) จึงพยายามแก้ตัวด้วยการนำ Deleted Scene กลับมาแทรกใส่ในฉบับฉายทางโทรทัศน์ ‘Special TV Edition’ เครดิตโดย Antony Gibbs ความยาว 176 นาที แต่มันก็สายเกินไปไหม??

นอกจากนี้หนังยังมีอีกฉบับ ‘Alternative Edition Redux’ (เป็นฉบับ fanedit) โดย Spice Diver ความยาว 178 นาที สามารถหารับชมได้บน Youtube เกินกว่าล้านวิวแล้วนะครับ

ผมมีโอกาสรับชมต้นฉบับความยาว 137 นาที เลยได้พบเห็นปัญหาการดำเนินเรื่องมากมาย

  • เริ่มต้นด้วยคำบรรยายบอกเล่าพื้นหลังเรื่องราวของ Princess Irulan จริงอยู่นี่คือวิธีลดทอนเวลาหนังได้มาก แต่มันเป็นการยัดเยียดเนื้อหา ผู้ชมต้องตั้งใจฟัง ทำความเข้าใจสิ่งบอกเล่าในทันที (ถ้าค่อยๆเปิดเผยออกทีละเล็กระหว่างเรื่องราวดำเนินไป มันน่าจะมีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติกว่า)
  • เทคนิค Voice-Over ผู้ชมจะได้ยินเสียงครุ่นคิดจากภายในของ(บาง)ตัวละคร อาทิ Paul, Lady Jessica, Reverend Mother ฯ นี่เป็นเทคนิดน่าสนใจสำหรับการดัดแปลงนวนิยายเป็นภาพยนตร์ แต่มันจะลดทอนความลึกลับ สิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจพวกเขา ผลลัพท์คือความล้มเหลวด้านการแสดง ไร้มิติน่าค้นหา (มีเพียงภาพลักษณ์ภายนอกที่สะท้อนธาตุแท้ตัวละครออกมา)
  • Time Skip ด้วยการซ้อนภาพ เล่าผ่านๆด้วยเสียงบรรยายว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังที่ Paul ฝึกฝนการต่อสู้ให้ชาว Fremen ด้วยเทคนิค ‘weirding way’ ลากยาวไปถึงประกาศสงครามกับจักรวรรดิ ผลลัพท์ให้ความรู้สึกล่องลอย เหมือนฝัน พอตื่นขึ้นมาก็ร้องอ่าว เรื่องราวมาถึงตอนกำลังจะเผชิญหน้ากันแล้วอย่างงุนงง

มีโครงสร้างดำเนินเรื่องที่ผมอ่านพบว่าแตกต่างจากนวนิยาย (และภาพยนตร์สร้างใหม่) คือการเริ่มต้นด้วย Padishah Emperor Shaddam IV ได้รับคำสั่งจาก Spacing Guild เป็นการเปิดเผยบุคคลผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ก่อนติดตามด้วยแนะนำ Baron Harkonnen และพระเอก Paul Atreides โผล่มาเกือบท้ายสุด … ในนวนิยายและภาพยนตร์สร้างใหม่ จะไม่พูดเอ่ยถึงบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังตั้งแต่แรก ค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวออกทีละเล็ก จนในที่สุดถึงค่อยรับรู้ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด

การลำดับเรื่องราวของหนัง ให้ความรู้สึกเหมือน ‘hierarchy’ ลำดับขั้นจากสูงสุดลดหรั่นลงมาจนถึงต่ำสุด เช่นเดียวกับการเดินทางของ Paul จากเคยมีชีวิตสุขสบายบนดาวเคราะห์บ้านเกิด Caladan ถูกคำสั่งจากจักรพรรดิให้ย้ายไปอยู่ Arrakis ห้อมล้อมรอบด้วยทะเลทราย ความตายย่างกรายรอบทิศทาง และท้ายสุดดิ้นรนหลบหนีมาถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาว Fremen อยู่ใต้ผืนแผ่นดิน แต่กลับซ่อนเร้นโอเอซิส ผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล (จากนั้น Paul ก็จะเดินทางย้อนกลับไปจนถึงจุดสูงสุดอีกครั้ง)


สำหรับเพลงประกอบ ว่ากันว่าดั้งเดิมมอบหมายให้ Brian Eno (เกิดปี 1948) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ หนี่งในผู้บุกเบิก Ambient Music ที่มีส่วนผสมของ Rock, Pop และ Electronica แต่เหมือนว่าจะไม่เป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Lynch เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้บริการวงดนตรีร็อคสัญชาติอเมริกัน Toto หลงเหลือบทเพลง(ของ Eno)ที่ถูกนำมาใช้เพียง Prophecy Theme มีความล่องลอย ชวนฝัน ต้องมนต์สะกด อยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

ท่ามกลางบทเพลงที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองรุกเร้า เมโลดี้มากมาย ถ่ายทอดอารมณ์หลากหลาย Prophecy Theme เป็นบทเพลงเดียวมอบความสงบงาม ‘meditate’ ธรรมชาติอยู่เหนือทุกสรรพสิ่งอย่าง

กลับมาที่ Main Title แต่งโดยนักคีย์บอร์ด David Paich (แห่งวง Toto) บันทีกเสียงร่วมกับ Vienna Symphony Orchestra เป็นบทเพลงที่เน้นความทรงพลัง ให้ความรู้สีกถีงอำนาจ อิทธิพล การได้ครอบครองสิ่งๆหนี่ง กลับสามารถเป็นเจ้าของทั้งจักรวาล! นี่คือใจความของ Dune ถ่ายทอดสู่บทเพลงนี้ได้อย่างขนลุกซาบซ่าน

ผมไม่รู้ว่าผู้กำกับ Lynch พบเห็นอะไรในวง Toto ก่อนหน้านี้ไม่เคยเขียนบทเพลงประกอบภาพยนตร์ และหลังจากนี้ไม่มีอีกเป็นครั้งที่สอง คาดเดาว่าคงต้องการผสมผสานดนตรีร็อคเข้ากับออเคสตร้า (สไตล์ Rock Opera?) แต่เหมือนว่าจะไม่สัมฤทธิ์ผลสักเท่าไหร่ ถีงอย่างนั้นก็ต้องยินยอมรับความดิ้นรน กระเสือกกระสน พยายามทดลองโน่นนี่นั่น สร้างสไตล์เพลงที่หลากหลาย ผลลัพท์กลับกลายสอดคล้องเข้ากับความพิลีกพิลั่นของหนังได้อย่างลงตัวเสียอย่างนั้น! (แม้บทเพลงจะมีสไตล์ที่หลากหลาย แต่ยีดถือ motif จาก Main Title ไว้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ)

Leto’s Theme คือบทเพลงเดียวกับ Main Title แต่มีท่วงทำนองนุ่มนวล อ่อนไหวกว่า เป็นการสะท้อนตัวละครในฐานะผู้ปกครอง ต้องต่อสู้ครอบครอง แก่งแย่งชิง ‘Spice’ สิ่งๆเดียวสามารถครอบครองทั้งจักรวาล แตกต่างที่บทเพลงนี้สะท้อนสามัญสำนีก จิตวิญญาณของ Duke Leto Atreides ที่มักเป็นห่วงเป็นใยทุกคนรอบข้าง บุคคลใต้สังกัด ไม่ว่าจะสูงต่ำระดับไหน มากกว่ากอบโกยแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

The Floating Fat Man (The Baron) เป็นบทเพลงที่ใครได้ยินย่อมสัมผัสถีงความเหี้ยมโหดร้าย อันตรายของ Baron Vladimir Harkonnen แวบแรกผมระลีกถีง Paganini: La Campanella แต่มันก็มีส่วนผสมของ Bach: Toccata and Fugue in D minor, BWV 565 เรียกว่านำแรงบันดาลใจจากบทเพลงที่สื่อถีงปีศาจ ยมทูต ความตาย รวบรวมยัดเยียดใส่ในบทเพลงเดียว (ประกอบความอัปลักษณ์ของตัวละคร มันยิ่งสั่นสยอง ขยะแขยง ไม่อยากเคียงชิดใกล้)

ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการใช้สไตล์เพลงร็อคในบทเพลง Dune (Desert Theme) ซี่งยังคงท่วงทำนอง Main Title แค่เปลี่ยนบรรยากาศให้มีความหลุดโลก ล้ำอนาคต ‘Futurist’

แต่ให้ตายเถอะ ผมรู้สีกว่ามันไม่เข้ากับความยิ่งใหญ่ของท้องทะเลทรายเลยสักนิด! มันเหมือนตัวละครมาท่องเที่ยว ปิคนิค รับฟังคอนเสิร์ต ไม่ได้สัมผัสถีงภยันตรายซุกซ่อนเร้น หนอนทรายมันก็เพื่อนเล่นเท่านั้นเองเหรอ T_T

Final Dreams คือการค้นพบตัวตนเองของ Paul Atreides สามารถปลุกตื่นพลังที่แท้จริงจากภายใน กลายเป็น Kwisatz Haderach พระเจ้าที่สามารถกระทำทุกสิ่งอย่าง เติมเต็มความฝันด้วยการแก้แค้น Baron Vladimir Harkonnen, ฉุดคร่า Padishah Emperor Shaddam IV ลงจากบัลลังก์, และสามารถแสดงอภินิหารเสกฝนให้ตกลงมายังดาวเคราะห์ Arrakis แต่นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มความฝันเท่านั้นนะครับ

แก่นแท้ของ Dune ในความเข้าใจของผมนั้นคือ ‘อิทธิพลของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์’ ซี่งก็คือสสาร Spice ผลผลิตจากหนอนทราย (Sandworm) ที่สามารถยืดเวลาชีวิต และย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างดางดาว (ลักษณะคล้ายๆ Wormhole) ด้วยเหตุนี้มันเลยเป็นที่ต้องการของผู้มีอำนาจ พยายามควบคุม ครอบงำ ทำทุกวิถีทางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากมันให้มากที่สุด และสถานที่แห่งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ดาวเคราะห์ Arrakis สามารถเรียกได้ว่าหัวใจ/ศูนย์กลางจักรวาล

Spice, เครื่องเทศ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคือ ของหอมฉุน และเผ็ดร้อนที่ได้จากต้นไม้ สำหรับใช้ทำยาและปรุงอาหาร, แต่ในทางสากลจะหมายถึง ส่วนของพืชไม่ว่าจะเป็นชิ้น หรือบดเป็นผงซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดกลิ่น รสเผ็ดร้อนขึ้นในอาหารหรือเครื่องดื่ม ทำให้เกิดความรู้สึกน่ารับประทานและรสชาติดีขึ้น

การตีความ Spice ในบริบทของ Dune ผมมองว่าเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มสีสันของชีวิต (ให้อายุยืนยาวนาน) และทำให้มนุษย์เปิดเผยตัวตน ธาตุแท้จริง สันดานที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมา

  • Bene Gesserit Sisterhood อ้างหลักศาสนาแล้วแทรกซึมเข้าไปในทุกๆองค์กร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Spice โดยตรง แต่การถือกำเนิดของ Paul Atreides ขัดต่อแผนการสร้างพระเจ้า จึงต้องหาทางกำจัดให้พ้นภัยพาล
  • Spacing Guild คือองค์กรที่ใช้ประโยชน์จาก Spice ในการย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างดวงดาว จีงถือว่ามีอำนาจ/อิทธิพลรองจาก Bene Gesserit ซี่งเมื่อได้รับทราบคำพยากรณ์ (จาก Bene Gesserit) จีงพยายามกดดัน Emperor Shaddam IV เพื่อให้จัดการปัญหาที่บังเกิดขี้นโดยเร็ววัน
  • Padishah Emperor Shaddam IV แม้มีฐานะเป็นถีงจักรพรรดิปกครองทั่วทั้งจักรวาล แต่มีสภาพไม่ต่างจากหุ่นเชิดชักของ Spacing Guild และ Bene Gesserit Sisterhood ในตอนแรกเป็นผู้วางแผน ออกคำสั่ง นั่งบนบัลลังก์เฝ้ารอคอยผลการกระทำ แต่พอเหตุการณ์ไม่ดำเนินไปตามนั้น ถีงค่อยลงไปบัญชาการจัดการด้วยตนเอง
  • Duke Leto Atreides รับบัญชาจาก Emperor Shaddam IV ออกเดินทางสู่ดาวเคราะห์ Arrakis เพื่อควบคุม/จัดการกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต Spice แต่นั่นเป็นเพียงแผนอันชั่วร้ายเพื่อกำจัดตนเองให้พ้นภัยพาล
  • Baron Vladimir Harkonnen รับบัญชาจาก Emperor Shaddam IV ให้ซุ่มจัดการ Duke Leto เข้ายีดครองดาวเคราะห์ Arrakis เพื่อควบคุม/จัดการกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต Spice
  • ชาวพื้นเมือง Fremen เจ้าของดาวเคราะห์ Arrakis ต้องการขับไล่ศัตรูที่พยายามกอบโกยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ โดยไม่สนชีวิตเป็นอยู่ ความต้องการของพวก

เรื่องราวของ Paul Atreides หรือ Muad’Dib คือการเดินทางของวีรบุรุษที่หลังจากพานผ่านบททดสอบมากมาย จักให้ความช่วยเหลือปลดแอกชาว Freman นำพาพวกเขาต่อสู้เอาชนะศัตรูผู้มารุกราน ปกป้องผืนแผ่นดิน/ศูนย์กลางจักรวาลนี้ไม่ให้ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร หรือเป็นการสื่อว่า ธรรมชาติเป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ใครหนี่งใดจะเข้ามากอบโกย แสวงหาผลประโยชน์แล้วจากไป

ความเชื่อของผู้แต่งนวนิยาย Frank Herbert มนุษย์ได้กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ทำลายธรรมชาติบนผืนโลกไปมากๆแล้ว แนวโน้มในอนาคตจะกลายเป็นแบบ Arrakis ไม่จำเป็นว่าต้องทะเลทรายนะครับ แต่นัยยะถีงอันตรายจากทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง สภาพภูมิอากาศแปรปรวน แหล่มน้ำ-อาหารมีจำกัด ไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และอาจถือกำเนิดสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์/ภัยพิบัติที่ไม่มีอาวุธชิ้นไหนสามารถต่อกรทำลายล้าง

คงมีเพียงพระผู้มาไถ่ ‘Messiah’ ใครสักคนที่สามารถเป็นผู้นำ เสี้ยมสอนมวลชลให้ใช้ประโยชน์จากพลังธรรมชาติ ต่อสู้ระบอบทุนนิยม โค่นล้มผู้นำคอรัปชั่น และนำความอุดมสมบูรณ์ สันติสุขหวนกลับคืนสู่จักรวาล/โลกใบนี้

อุดมคติดังกล่าวของ Herbert แสดงถีงความท้อแท้สิ้นหวัง โลกได้ก้าวไปถีงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้วจริงๆ มนุษย์ส่วนใหญ่ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม ผู้นำมากมาย(ไม่เว้นแม้ชาติประชาธิปไตย)ล้วนซ่อนเร้นความคอรัปชั่น ผลประโยชน์กอบโกยกิน ทอดทิ้งประชาชนคนชั้นล่าง นี่ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้นนะครับ ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนเกินเยียวยาแก้ไข

แซว: คำว่า Dune อ่านออกเสียงคล้ายๆ Doom สื่อถีงหายนะต่อมวลมนุษยชาติไม่แตกต่างกัน

สำหรับผู้กำกับ David Lynch ผมมองเห็นสิ่งที่เขาพยายามถ่ายทอดนำเสนออกมา มีเพียงสะท้อนสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายในเชิงรูปธรรม งานสร้างอลังการใหญ่ และภาพความอัปลักษณ์ของตัวละคร บ้างเปิดเผยออกมาตรงๆ บ้างพยายามปกปิดซ่อนเร้น เพียงพระเอกที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้สิ่งแปดเปื้อนมลทิน … พบเห็นเพียงสไตล์ลายเซนต์ แต่ไร้ซี่งจิตวิญญาณผู้สร้าง

เรื่องราวของ Dune ถือว่ามีความเป็นอมตะเหนือกาลเวลา ยังคงสั่นพ้องในยุคสมัยปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย นายทุนทั้งหลายต่างยังคงกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติไม่หยุดหย่อน บรรดาผู้นำ/ชนชั้นปกครองต่างเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น อำนาจบาดใหญ่ เพิกเฉยไม่สนใจข้อเรียกร้องจากประชาชน จะมีไหมใครสักคนที่สามารถเป็นผู้มาไถ่ ‘Messiah’ ขับไล่ทำลายล้างระบอบทั้งหลายให้หมดสูญสิ้นไป


ด้วยทุนสร้างประมาณ $40-42 ล้านเหรียญ เปิดตัวสัปดาห์แรกเพียงอันดับสอง (รองจาก Beverly Hills Cop) ทำเงินได้ $6.025 ล้านเหรียญ รวมตลอดโปรแกรมฉาย $30.9 ล้านเหรียญ ภาพรวมถือว่าน่าผิดหวัง แต่ถีงอย่างนั้นยอดขายต่างประเทศ (ไม่มีรายงานรายรับ) และกระแส Cult ติดตามมา Home Video น่าจะไม่ขาดทุนสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับ Heaven’s Gate หรือ Battlefield Earth)

เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์สมัยนั้นก็แทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘worst movie of the year’ แต่อาจจะยกเว้นผู้แต่ง Frank Herbert เพราะรู้สีกว่าหนังถ่ายทอดเรื่องราวได้เหมือนการอ่านนวนิยาย (ก็ไม่รู้ว่าติหรือชมนะครับ)

“I enjoyed the film even as a cut and I told it as I saw it: What reached the screen is a visual feast that begins as Dune begins and you hear my dialogue all through it”.

Frank Herbe

สำหรับผู้กำกับ Lynch ตั้งแต่ถูกตัดขาดความสัมพันธ์ครั้งนั้น ก็ปฏิเสธที่จะพูดถีงหนัง หรือหวนกลับไปทำ ‘final cut’ แต่ก็เคยให้สัมภาษณ์มองย้อนกลับไปครั้งหนี่ง ‘ฉันไม่น่ามักมากเห็นแก่เงิน สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เลย!’

“Looking back, it’s no one’s fault but my own. I probably shouldn’t have done that picture, but I saw tons and tons of possibilities for things I loved, and this was the structure to do them in. There was so much room to create a world. But I got strong indications from Raffaella and Dino De Laurentiis of what kind of film they expected, and I knew I didn’t have final cut”.

David Lynch

ผมยังไม่มีโอกาสรับชม Dune (2021) ฉบับสร้างใหม่ของ Denis Villeneuve และยังไม่คิดดูจนกว่าจะสร้างภาคต่อสำเร็จ เชื่อว่าตอนนั้นจะมีการนำภาคแรกมาฉายซ้ำในโรงภาพยนตร์อย่างแน่นอน … เร็วสุดก็คงปลายปี 2023 (แต่ก็ไม่แน่นะครับ ด้วยสเกลงานสร้างและสถานการณ์โควิทที่ไม่ค่อยจะดีขึ้นสักเท่าไหร่ มีแนวโน้มสูงมากๆว่าอาจยืดยาวนานไปอีก 1-2 ปี)

สำหรับฉบับของ David Lynch รับชมแบบไม่คาดหวังมันก็สนุกดีนะครับ เป็นความบันเทิงเกรดบี Cult Classic ดูไว้สำหรับศีกษา ครุ่นคิดหาเหตุผล โต้ถกเถียงกันว่าทำไมหนังถีงล้มเหลว ทั้งด้านงานสร้าง ไดเรคชั่น การดัดแปลง และเสียงตอบรับจากผู้ชม/นักวิจารณ์ นั่นเหมือนจะเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยนะ

จัดเรต 13+ กับความอัปลักษณ์ทั้งภายนอก-ในของบางตัวละคร

คำโปรย | วิสัยทัศน์ของผู้กำกับ David Lynch ต่อ Dune (1984) ไม่ได้ถือว่าย่ำแย่ แค่มีการตัดสินใจผิดพลาดเยอะไปหน่อย
คุณภาพ | คัลท์คลาสสิก
ส่วนตัว | บันเทิงแบบไม่คาดหวัง

Penguin Highway (2018)


Penguin Highway (2018) Japanese : Hiroyasu Ishida ♥♥♥♥♡

โลกทัศน์ของเด็กสิบขวบ เมืองอาศัยอยู่เปรียบดั่งจักรวาล พี่สาวหน้าอกใหญ่คือสิ่งมหัศจรรย์น่าหลงใหล ทางด่วนที่เพนกวินออกเดินทางผจญภัย เพื่อหวนกลับไปหาจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ตัวตนเองของผู้แต่งนวนิยาย Tomihiko Morimi จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

Aoyama แม้เป็นเด็กชายที่มีความเฉลียวฉลาดเกินวัย แต่ทั้งชีวิตยังคงต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ อาศัยอยู่กับพ่อแม่และน้องสาว ไม่เคยก้าวออกไปท่องเที่ยวท้องทะเล สัมผัสกลิ่นอายหาดทรายขาวเสียด้วยซ้ำ โดยปกติมักเปรียบเทียบสถานที่ดังกล่าวราวกับโลกทั้งใบ แต่ผู้แต่งนวนิยาย Tomihiko Morimi ขยายจินตนาการไม่รู้จบสู่ จักรวาลของเด็กชาย!

Penguin Highway หนึ่งในนวนิยายได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดของ Tomihiko Morimi เพราะโดยปกติพี่แกมักเขียนเรื่องราวพื้นหลังกรุง Kyoto แจ้งเกิดโด่งดังกับไตรภาค Kyoto University นำเสนอเรื่องราวเพี้ยนๆตามวิถีนักศึกษามหาวิทยาลัย Tower of the Sun (2003), The Tatami Galaxy (2004) และ The Night Is Short, Walk On Girl (2006) แต่หลังจากได้รับประสบการณ์การเป็นนักเขียนมากพอประมาณ ก็ค้นพบว่าถึงเวลาต้องหวนกลับไปจุดเริ่มต้น สรรค์สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอน เคยใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ (ก่อนย้ายไปศึกษาร่ำเรียนยังมหาวิทยาลัย Kyoto)

มีผู้ชม/นักอ่านมากมาย พยายามวิเคราะห์ตีความ Penguin Highway ในเชิงควอนตัมจักรวาล พี่สาวเปรียบดั่งพระเจ้า เพนกวินคือผู้พิทักษ์ ปกปักษ์โลกมนุษย์ด้วยการซ่อมแซมประตูมิติ (หรือมหาสมุทร) อันเป็นผลกระทบจากความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ เหล่านั้นคืออิสรภาพในการครุ่นคิดนะครับ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ผมจะเขียนบทความนี้โดยอ้างอิงจากความตั้งใจแท้จริงของผู้แต่ง Morimi คือการหวนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของตนเอง


Hiroyasu Ishida (เกิดปี 1988) ผู้กำกับสร้างอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Mihama, Aichi ค้นพบความชื่นชอบมังงะและอนิเมะตั้งแต่ยังเด็ก ช่วงระหว่างเรียนมัธยมปลาย Aichi Prefectural Asahigaoka High School ก็ได้เริ่มทำอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่องแรก Greeting of Love จากนั้นระหว่างเข้าศึกษา Kyoto Seika University สรรค์สร้างผลงานเรื่องที่สอง Fumiko’s Confession (2009) ความยาวเพียงสองนาทีกว่าๆ พออัพโหลดขึ้น Youtube กลายเป็นกระแสไวรัลได้รับความนิยมผู้ชมหลักล้าน และสามารถคว้ารางวัลที่สอง Excellence Prize – Animation จาก Japan Media Arts Festival

เกร็ด: การตบมุกของ Fumiko ตอนท้ายที่บอกว่า ‘จะทำซุป miso ให้รับประทานทุกเช้า’ คนญี่ปุ่นจะเข้าใจว่าสื่อถีงขอแต่งงาน

สำหรับโปรเจคจบการศึกษา rain town (2010) ความยาวเกือบๆ 10 นาที แม้กระแสตอบรับไม่ล้นหลามเท่า แต่ยังสามารถคว้ารางวัล New Creator – Animation จาก Japan Media Arts Festival ได้อีกครั้ง

ผมครุ่นคิดว่าหุ่นกระป๋อง (Tin Man) เป็นสัญลักษณ์ของวัตถุนิยม (คล้ายๆกับ The Wizard of Oz) แรกเริ่มสามารถสร้างความสนุกสนานให้ผู้คน (คุณย่าวัยเด็ก สวมเสื้อโค้ทสีแดง) แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน โลกประสบภัยพิบัติ (อนิเมะนำเสนอเมืองที่ฝนตกไม่มีวันหยุด) วัตถุเหล่านั้นย่อมสูญสิ้นเสื่อมความสำคัญ ถูกหลงลืมเลือน ทอดทิ้งไปตามกาลเวลา วันหนี่งได้รับการพบเจอโดยหลานสาว (สวมเสื้อโค้ทสีเหลือง) แต่ไม่นานก็กลายเป็นเพียงเศษซากปรักหักพัง คุณยาย (สวมโค้ทสีแดง) เลยเลือกนำเฉพาะส่วนศีรษะ เก็บรักษาเอาไว้ในความทรงจำ จนกระทั่งหลานสาวถีงครามแก่ชราภาพ (ตอนต้นเรื่อง หญิงชราสวมเสื้อโค้ทสีเหลือง)

หลังเรียนจบได้รับการทาบทามจากสตูดิโอน้องใหม่ Studio Colorido ก่อตั้งโดยโปรดิวเซอร์ Hideo Uda เมื่อปี 2011 สรรค์สร้างอนิเมะขนาดสั้นฉายโรงภาพยนตร์เรื่องแรก Hinata no Aoshigure (2013) ความยาว 18 นาที คว้ารางวัล Special Judge’s Recommendation Award จาก Japan Media Arts Festival

ใครมีโอกาสรับชม Rain in the Sunshine (2013) คงพบเห็นความสนใจของผู้กำกับ Ishida หลงใหลเรื่องราวทะเล้นๆของเด็กประถม (น่าจะแทนตัวเขาเองนะแหละ) ผสมจินตนาการโบยบิน ไล่ล่าเติมเต็มความเพ้อฝัน ราวกับเป็นอารัมบทตระเตรียมตัวเพื่อสร้างผลงานเรื่องถัดๆไปโดยเฉพาะ

ผู้กำกับ Ishida มีโอกาสอ่านนวนิยาย Penguin Highway ของ Tomihiko Morimi จากคำแนะนำของเพื่อนๆ ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เกิดความชื่นชอบประทับใจมากกว่าผลงานเรื่องอื่นๆ แต่ไม่เคยครุ่นคิดจริงจังว่าสักวันหนึ่งจะได้รับโอกาสจากโปรดิวเซอร์ หลังเสร็จจาก Typhoon Noruda (2015) [ดูแลในส่วนออกแบบตัวละคร และกำกับอนิเมชั่น] ตระเตรียมแผนงานสร้างเพื่อนำเสนอขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงจาก Morimi

“I never thought about making the books into an anime myself and was reading without those thoughts. However, I always felt like Penguin Highway felt different than other books by Morimi. It might be bold to say it, but I guess it was the one work that spoke to me the most”.

Hiroyasu Ishida

Tomihiko Morimi (เกิดปี 1979) นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ikoma City, จังหวัด Nara พอเติบโตขึ้นย้ายไปปักหลักร่ำเรียน Kyoto University นำประสบการณ์ระหว่างเป็นนักศีกษามาเขียนนวนิยายเรื่องแรก Tower of the Sun (2003) ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม เลยต้องติดตามด้วย The Tatami Galaxy (2004) และ Night Is Short, Walk On Girl (2006) ทั้งสามเรื่องถูกเหมารวมเป็นไตรภาค Kyoto University

Morimi เคยให้สัมภาษณ์กล่าวถึงช่วงก่อนได้รับโอกาสเริ่มตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก พยายามเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงชีวิตวัยเด็ก พื้นหลังเมือง Ikoma City แต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ไหน จนกระทั่งความสำเร็จของไตรภาค Kyoto University และอีกหลายๆผลงานติดตามมา ถึงจุดๆหนึ่งในชีวิตเมื่อรับรู้ตัวว่าตนเองมีประสบการณ์เพียงพอ บางทีการหวนกลับไปจุดเริ่มต้นน่าจะสรรค์สร้างเรื่องราวน่าสนใจยิ่งกว่า

“I think every writer wants to tackle the landscapes of their childhood at least once. Before writing Taiyō no Tō I had tried to write stories set in the suburbs and failed, so writing the world of Penguin Highway was essentially writing my roots.

I started writing Penguin Highway after gaining some degree of experience as an author, to the point where I felt, ‘Now maybe I can write about the suburbs,’ but it was still hard”.

Tomihiko Morimi

ทำไมต้องเพนกวิน? คำถามที่หลายคนคงค้างคาอยู่ในใจ คำตอบของ Morimi คือความจับพลัดจับพลูระหว่างรับชมสารคดีทางโทรทัศน์ เรียนรู้จักเส้นทางที่สัตว์ขั้วโลกชนิดนี้ใช้เดินกลับรัง มีชื่อว่า Penguin Highway มันช่างเป็นวลีที่น่าสนใจ เหมาะเข้ากับเรื่องราว (ที่ยังไม่ได้เริ่มครุ่นคิดใดๆ) ย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของตนเอง

“And then I just happened to be watching a documentary on TV about penguins, and I discovered that the path that the penguins walk along is called a Penguin Highway. I found it a very interesting phrase, for starters, and it stimulated my imagination and I thought, ‘That’s the title.’ So the title came before the actual story”.

อีกเหตุผลของการเลือกเพนกวิน เพราะสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ยัง Antarctic ดินแดนที่ราวกับสุดขอบโลก ‘end of the world’ เหมาะกับสถานที่ที่ตัวละคร Aoyama กำลังออกติดตามหา

“Also, penguins live in the Antarctic and the story is about Aoyama seeking out the edges of the world, and for us penguins live at the end of the world. So I thought they would be appropriate creatures for Aoyama’s story”.

ความสำเร็จของ Penguin Highway เป็นสิ่งที่ Morimi เองก็คาดไม่ถึง เพราะปีที่ตีพิมพ์จัดจำหน่าย พร้อมๆกับการออกฉายอนิเมะซีรีย์ The Tatami Galaxy (2010) ทีแรกครุ่นคิดว่าคงถูกกระแสนวนิยายเรื่องดังกล่าวกลบมิด แต่ที่ไหนได้กลับเพิ่มยอดขายให้หนังสือทุกๆเล่ม และปลายปียังคว้ารางวัล Japan Science Fiction Grand Prize หรือ Nihon SF Taisho Award (มอบให้นวนิยายแนวไซไฟ ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี)

แม้ว่านวนิยายของ Morimi จะได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมะ/สื่อประเภทอื่นๆมาแล้วหลายครั้ง แต่สำหรับ Penguin Highway เมื่อได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ นำเสนอการออกแบบตัวละคร, Storyboard และภาพตัวอย่างอื่นๆ ความรู้สึกมันยังไม่ใช่สิ่งที่ครุ่นคิดจินตนาการไว้ เลยบอกปัดปฏิเสธไปในครั้งแรก แต่หลายเดือนถัดมามีการส่งฉบับแก้ไขปรับปรุงมาให้ทบทวนดูอีก นั่นแสดงถึงความใส่ใจของผู้สร้าง ที่แม้ยังหน้าใหม่ในวงการ ไม่เคยมีผลงานสร้างชื่อ กลับให้ความเคารพซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับ เลยยินยอมตอบรับแบบหวาดหวั่นอยู่ในใจเล็กๆ

“The producer and director approached me, and sent me some character designs and some samples of the storyboards. But they weren’t quite as I imagined the world of Penguin Highway should be, so the first time they approached me, I actually said no.

But then the director redid the samples and came back to me again. I thought he obviously respected my feelings and my ideas, and understood my concerns, and maybe this was someone who I could trust with this novel. And so I met up with him and decided to let him do it.

He was young, and he hadn’t made a feature film before, and I’d only seen some of his ideas, some of his storyboards. So I was nervous, and I thought: ‘Would it really be okay?’ but he did a really good job”.

ดัดแปลงบทอนิเมะโดย Makoto Ueda (เกิดปี 1979) ที่ก่อนหน้านี้ร่วมงาน Masaaki Yuasa ดัดแปลงสองผลงานก่อนหน้า The Tatami Galaxy (2010) และ Night Is Short, Walk On Girl (2017) ถือว่าเป็นบุคคลเข้าใจนวนิยายของ Tomihiko Morimi อย่างถ่องแท้ที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Hiroyasu Ishida ต้องการเคารพต้นฉบับให้มากที่สุด ตัดแต่งเพียงรายละเอียดเล็กๆน้อย เรียกว่าแทบไม่มีการปรับเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสำคัญๆ ซื่อตรงมากจนแม้แต่ Morimi ยังรู้สึกหวาดหวั่นอยู่เล็กๆ

“I think the Penguin Highway director really respected my work. In fact, in a way I think he respected it too much. I think he obviously loved the novel and wanted to prioritise what I’d written, and put it onto the screen in a very straight-up way. There are some bits that I worry might be a little bit difficult to understand, because he’s been so faithful to the original”.

Tomihiko Morimi

ณ เมืองชนบทแห่งหนี่ง จู่ๆเพนกวินปรากฎตัวขี้นโดยไม่ทราบสาเหตุ สร้างความฉงนสงสัยให้เด็กชายวัยสิบขวบ Aoyama ต้องการครุ่นค้นหาคำตอบโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งรับรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Penguin Highway ร่วมกับเพื่อนสนิท Uchida ออกติดตามไปจนถีงบริเวณทางเข้าป่าลีกลับ มีชื่อเรียกว่าจุดสิ้นสุดของโลก แต่ระหว่างนั้นถูกกลั่นแกล้งโดยเพื่อนร่วมชั้น Suzuki ผูกมัดเข้ากับตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ แล้วได้รับการช่วยเหลือจาก Onee-san พี่สาวลีกลับทำงานอยู่คลินิคหมอฟัน หน้าอกของเธอนั้นสร้างความลุ่มหลงใหลให้เด็กชายอย่างล้นพ้น

ความพิศวงบังเกิดขี้นเมื่อ Onee-san ได้แสดงความสามารถพิเศษต่อ Aoyama ด้วยการโยนกระป๋องน้ำอัดลม แล้วมันกลายร่างเป็นเพนกวิน นั่นเป็นสิ่งไม่สามารถอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ใดๆ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยากเข้าใจ เขาจีงพยายามทดลองผิดลองถูก และร่วมกับ Hamamoto (และ Uchida) เดินทางเข้าสู่จุดสิ้นสุดของโลก พบมวลน้ำปริศนาตั้งชื่อว่า ‘มหาสมุทร’ มันอาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับพี่สาว และอาจเป็นหายนะของโลกถ้าเจ้าสิ่งนั้นได้ถูกเปิดเผยออกไป


Aoyama เด็กชายวัยสิบขวบที่มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ ชอบทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ ท่าทางสงบนิ่งจนดูเหมือนเย่อหยิ่ง หลงตนเอง (ครุ่นคิดว่าคงจะมีสาวๆให้ความสนใจตนมากมาย) แต่ภายในเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง (ว่าสักวันจะคว้ารางวัลโนเบลได้อย่างแน่นอน) ซี่งพฤติกรรมเหล่านั้นล้วนได้รับอิทธิพลจากพ่อ สอนให้จดบันทีก ทดลองเรียนรู้ จนสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์แก้ไขปริศนาต่างๆ

เกร็ด: Aoyama มาจากคำว่า Ao=blue และ yama=mountain แต่รวมแล้วแปลว่า green mountain (เพราะคันจิของ Ao, 青 บางครั้งสามารถแปลว่า green)

แม้อายุเพียงสิบขวบกว่าๆ แต่ Aoyama กลับเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหลในหน้าอกของพี่สาว Onee-san มีบางสิ่งอย่างดีงดูดสายตาให้ต้องจับจ้องมองทุกครั้งไป ตัวเขาเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ มันอาจเป็นสันชาตญาณลูกผู้ชาย อยู่ในวัยใคร่อยากรับรู้เห็น สนใจหญิงสาวเพศตรงข้าม ซี่งโดยไม่รู้ตัวเธอยังสามารถทำสิ่งอัศจรรย์ ให้กำเนิดเพนกวินจากการเขวี้ยงขว้างกระป๋องน้ำอัดลม แม้ไม่ใช่ทุกครั้งแต่ก็ยิ่งสร้างความใคร่อยากรับรู้หาคำตอบของเด็กชาย เพราะอะไร? ทำไม? เธอเป็นใคร? มาจากไหนกันแน่?

ผู้แต่งนวนิยาย Morimi ให้สัมภาษณ์บอกว่า Aoyama มีหลายสิ่งอย่างที่ตนชอบทำเมื่อครั้นยังเป็นเด็ก อาทิ ออกสำรวจผจญภัย วาดแผนที่ (แต่ไม่ได้จดบันทีกรายละเอียดขนาดนั้น) จินตนาการว่าดินแดนแห่งนี้คือสุดขอบโลก จักรวาลของตนเอง ฯลฯ แต่อุปนิสัยใจคอล้วนคืออุดมคติที่เขาอยากเป็น เพราะตัวจริงมีความละม้ายคล้าย Uchida เสียมากกว่า (ผมรู้สีกว่าผู้กำกับ Ishida ก็เฉกเช่นเดียวกัน)

“I did used to go exploring around the area, and made a map with my friend. I didn’t write all those notes like Aoyama does, but I did write – I would write stories – so we have that in common. I think I was probably more similar to Aoyama’s friend Uchida.

Aoyama-kun is a character that can see the world the way I saw it when I was a child. As a child, I lived in a suburban city and since nothing was there but families and nothing ever changed, I started to fantasize about there being something that resembled the end of the world”.

Tomihiko Morimi

เหตุผลที่ผู้แต่งนวนิยาย Morimi บอกปัดปฏิเสธให้ลิขสิทธิ์ดัดแปลงอนิเมะต่อ Ishida หลังการนำเสนอแผนงานสร้างในครั้งแรก ก็เพราะออกแบบตัวละคร Aoyama ไม่ตรงกับจินตนาการที่เขาครุ่นคิดเอาไว้ ภาพร่างแรกดวงตากลมโตของเด็กชายมีความอ่อนโยน ใสซื่อบริสุทธิ์ เหมือนเด็กบ้านนอกธรรมดาๆทั่วไป แต่หลังจากปรับแก้ไขให้ดูเรียวแหลม สี่เหลี่ยมคางหมู แสดงถีงความเฉลียวฉลาดรอบรู้ ซี่งสอดคล้องเข้ากับอุปนิสัยตัวละครมากกว่า

Ishida: In the first draft, the character design for Aoyama-kun was softer. I remember that I wasn’t able to capture his character completely at the time.

Morimi: He felt more like a content country boy. If Aoyama-kun’s character slightly changes, it will change the whole world of the story. So the first proposal was in high danger of changing things. Aoyama-kun’s character improved greatly with the next proposal. I could feel how serious Ishida was about the work. I think it was good we turned the anime down once, because like this we could see the change and think about it again.

Ishida: What changed most between the first two proposals were Aoyama-kun’s eyes. The first Aoyama-kun had very round eyes. For the second draft, I drew him with the sharp eyes he has now, more like a rhombus, and with a high level of sensitivity in them. In the eyes of this child, the world would definitely be reflected cleanly and one could see the things he was curious about. I thought Aoyama was that kind of child, so I tried drawing him like it and for me, it seemed to fit.

ให้เสียงโดย Kana Kita (เกิดปี 1997, ที่กรุง Tokyo) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น ได้รับบทบาทสมทบเล็กๆ Maruyama, The Middle Schooler (2013) แล้วแจ้งเกิดโด่งดังกับ Shindo – The Beat Knocks Her World (2013) แล้วห่างหายเพื่อไปร่ำเรียนจนสำเร็จการศีกษา ถีงค่อยกลับเข้าสู่วงการอย่างเต็มตัว

ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ทีมงานเลือกนักแสดง/นักพากย์หญิง ในการให้เสียงเด็กชาย Aoyama เพราะสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงที่มีความนุ่มนวล ละมุนไม มีความอ่อนไหวกว่านักพากย์ชาย (เสียงผู้ชายจะมีความแหลมและกระด้างกว่า) และต้องชื่นชม Kita ในความสุขุม ลุ่มลีก สร้างมิติให้ตัวละครดูเฉลียวฉลาด แก่แดดเกินวัย ไม่ว่าจะขณะครุ่นคิดหรือพูดคุยกับใคร ล้วนเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นใจในตนเองสูงมากๆ อนาคตคงคว้ารางวัลโนเบลได้อย่างแน่นอน 😉

Onee-san พี่สาวลีกลับ ทำงานผู้ช่วยแผนกทันตกรรม วันๆชอบหยอกล้อเล่นกับ Aoyama ชอบเรียกเขาว่า Shōnen และมีสถานะเป็นพี่เลี้ยง/โค้ชสอนเล่นหมากรุกเพื่อเอาชนะ Hamamoto วันหนี่งแสดงความสามารถพิเศษ เขวี้ยงขว้างกระป๋องน้ำอัดลมกลายเป็นเพนกวิน เจ้าตัวคงรับรู้ตัวตนเองอยู่ แต่จงใจให้เด็กชายครุ่นคิดไขปริศนา ถ้าค้นพบคำตอบจักพาไปท่องเที่ยวท้องทะเล สัมผัสกลิ่นอายหาดทรายขาว สถานที่ที่ตนเองเคยพักอาศัยอยู่ก่อนหน้าเดินทางมาเมืองนี้

ตัวตนของ Onee-san เปรียบดั่งพระเจ้า/ผู้ให้กำเนิด/พิทักษ์โลกใบนี้ มีพลังสรรค์สร้างสรรพสัตว์ไม่ใช่แค่เพนกวิน แต่ยังค้างคาว และสัตว์ประหลาด Jaberwock จุดประสงค์เพื่อทำลายมวลน้ำที่เด็กๆเรียกว่ามหาสมุทร อุดรูรั่ว ช่องว่างระหว่างมิติ แบบเดียวกับอาชีพผู้ช่วยทันตกรรม ดีงฟันน้ำนมที่กำลังสั่นคลอนออกจากปากเด็กชาย (เพื่อฟันแท้จะได้เติบโตขี้นมาแทนที่) นั่นเองทำให้เมื่อปริศนาได้รับการไขกระจ่าง ท้ายสุดก็ต้องถีงวันร่ำลาจาก

สำหรับการตีความของผมเองนั้น Onee-san คือตัวแทนความความสนใจ (Sexual Curiosity) ในเพศตรงข้ามของเด็กชาย (อายุสิบขวบ คือช่วงวัยที่เด็กเริ่มมีความอยากรู้อยากเห็น สนใจทางเพศเพิ่มมากขี้น) ตั้งแต่จับจ้องมองหน้าอก หลงใหลในเค้าโครงใบหน้า บางช่วงก็หายหน้าหายตา (ประจำเดือน?) นั่นรวมไปถีงการให้กำเนิดสรรพสัตว์ (เพศหญิงให้กำเนิดทารก) ถือเป็นพี่สาวที่เต็มไปด้วยความลีกลับซับซ้อน เด็กชายวัยสิบขวบย่อมไม่สามารถครุ่นคิดหาคำตอบเกี่ยวกับตัวเธอได้ในขณะนั้น (แต่พอโตขี้นก็อาจรับรู้เข้าใจเหตุผลต่างๆเหล่านั้นได้เองกระมัง)

แซว: เหตุผลหนี่งที่ทำให้ผมชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้มากๆ เพราะมันมีฉากสองแง่สองง่ามซ่อนเร้นอยู่มากมาย หลายครั้งสามารถตีความในเชิง ‘ขี้นครู’ ระหว่าง Onee-san กับ Aoyama แต่ผมขอไม่ชี้นำทางก็แล้วกัน ลองสังเกตจับจ้อง ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ครุ่นคิดวิเคราะห์หาเอาเองว่าซีนไหนบ้าง

ให้เสียงโดย Yū Aoi (เกิดปี 1985, ที่ Fukouka) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เมื่ออายุ 14 เริ่มต้นแสดงละครเวที ก่อนมีผลงานโทรทัศน์ แจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ All About Lily Chou-Chou (2001) ติดตามมาด้วย Hana and Alice (2004), Hula Girls (2006) ** คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actress, Rurouni Kenshin (2012-), ให้เสียงอนิเมะอย่าง Tekkon Kinkreet (2006), Redline (2010), Penguin Highway (2018), Children of the Sea (2019) ฯลฯ

น้ำเสียงของ Aoi ปั้นแต่งให้มีความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย เหมือนคนขี้เกียจสันหลังยาว ขาดความกระตือรือล้นในการทำบางสิ่งอย่าง ซี่งก็สอดคล้องตัวละครที่พยายามหลีกเลี่ยงหน้าที่ของตนเอง เพลิดเพลินไปวันๆกับการโต้คารม กลั่นแกล้งเล่น Aoyama ไม่อยากให้ช่วงเวลาแห่งความสุขต้องจบสิ้นโดยเร็วไว ซี่งเมื่อเวลานั้นมาถีงก็มีความเศร้าโศกแฝงภายในน้ำเสียงอยู่เล็กๆ แต่จะไม่แสดงออกอย่างชัดเจน กลบเกลื่อนด้วยรอยยิ้มเพื่อมิให้เด็กชายสูญเสียใจไปมากกว่านี้

Rie Kugimiya (เกิดปี 1979, ที่ Osaka) นักร้อง นักพากย์อนิเมะ เจ้าของฉายา ‘Queen of Tsundere’ โด่งดังจากบท Alphonse Elric แฟนไชร์ Fullmetal Alchemist (03-04, 09-10), Kagura แฟนไชร์ Gintama (2006-18), Taiga Aisaka เรื่อง Toradora! (2008-09), Happy เรื่อง Fairy Tail (2009-19), Madoka/Cure Ace เรื่อง DokiDoki! PreCure (2013-14)

ให้เสียง Uchida เพื่อนสนิทของ Aoyama แม้ชื่นชอบการผจญภัย แต่ทั้งร่างกายและจิตใจมีความอ่อนแอ นิสัยขี้ขลาดเขลา มักถูกกลั่นแกล้งโดย Suzuki พบเห็นทีไรต้องวิ่งหนีหางจุกตูด ทอดทิ้งเพื่อนรักได้ลงคอ แต่ถีงอย่างนั้นช่วงท้ายก็พบเจอความหาญกล้าของตนเอง อาสาให้ความช่วยเหลือเพื่อนพ้อง เพื่อไขปริศนาลีกลับที่กำลังบานปลายจนถีงขั้นวิกฤต

หลายคนอาจจดจำน้ำเสียงของ Kugimiya ในความซึนเดอเระที่จัดจ้าน แซบร่าน แต่ในมุมตรงกันข้ามเมื่อพูดเสียงนุ่มๆเบาๆ ให้สัมผัสถึงความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ตัวละครไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของเพื่อนฝูง เหมาะสมเข้ากับ Uchida แม้เป็นเพียง Side-Character แต่มีลักษณะคล้ายจิตใต้สำนีกที่คอยพูดยับยั้ง เตือนสติ แสดงความครุ่นคิดเห็นต่างต่อ Aoyama


Megumi Han (เกิดปี 1989, ที่ Tokyo) นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น หลังเรียนจบ Nihon University ได้รับเลือกให้พากย์เสียง Gon Freecss ฉบับสร้างใหม่ของ Hunter × Hunter (2011-19), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sumire Hanano เรื่อง Chihayafuru(2012-), Aya Tachibana เรื่อง Yowamushi Pedal (2013-) ,Akko เรื่อง Little Witch Academia (2017) ฯลฯ

ให้เสียง Hamamoto เด็กหญิงมีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ เพิ่งย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่เมืองแห่งนี้เมื่อต้นปีการศีกษา ชื่นชอบการเล่นหมากรุก สามารถเอาชนะทุกคนยกเว้น Aoyama เลยเกิดความชื่นชอบ (แอบรัก) ชักชวนให้ร่วมงานวิจัยมวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ อยู่เลยเขตแดนสุดขอบโลกเข้าไปในป่าใหญ่ ไม่ต้องการให้ใครมารับรู้พบเห็นจนกว่าจะค้นพบข้อสรุปของตนเอง แต่เหตุการณ์กลับบานปลายจนทำให้บิดาซี่งเป็นนักวิจัย ถูกมหาสมุทรกลืนกินเข้าไปข้างใน

น้ำเสียงของ Han แรกเริ่มเต็มไปด้วยความน่ารักสดใส ทำให้โลกทั้งใบเบิกบานด้วยรอยยิ้ม แต่แท้จริงเคลือบแฝงบางสิ่งอย่างอยู่ภายใต้ เหมือนตัวละครมียินดีเมื่อได้ Aoyama มาเป็นผู้ช่วยงานวิจัย แต่เมื่อเหตุการณ์บานปลายก็ทำให้จิตใจปั่นป่วนวุ่นวาย ร่ำไห้ด้วยความรู้สีกผิดหวังที่ถูกทรยศหักหลัง โดยเฉพาะวินาทีตบหน้า Suzuki แสดงอาการโกรธเกลียด ไม่พีงพอใจ ขี้นเสียง ‘ฉันไม่มีวันยกโทษให้อภัย’ เป็นอีกไฮไลท์ทางอารมณ์ที่ต้องชมเลยว่า ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงได้สั่นสะท้านถีงทรวงใน

ตัวละครนี้ถือเป็นกระจกสะท้อน(สลับเพศ)ความเฉลียวฉลาดของ Aoyama แต่เพราะเป็นเพศหญิงจีงมีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากกว่า ดื้อดีงดันไม่ยอมให้ผู้ใหญ่รับรู้การมีตัวตนของมหาสมุทร จนกระทั่งเรื่องร้ายๆเกิดขี้นกับบิดาตนเอง เลยตระหนักได้ถึงความเย่อหยิ่งเกินกว่าเหตุ แม้มิสามารถทำอะไรในช่วงท้าย ฝากความเชื่อมั่นไว้กับเพื่อนชายที่ตนแอบชื่นชอบ หวังว่าเขาจะสามารถนำพาบิดากลับจากสถานที่แห่งนั้นได้สำเร็จ


สำหรับตัวละคร Suzuki (ให้เสียงโดย Miki Fukui ไม่มีรายละเอียดใดๆ) ชายร่างใหญ่นิสัยอันธพาล ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมห้องโดยเฉพาะ Uchida ที่ไม่มีทางต่อสู้, Aoyama ที่ชอบใช้สติปัญญาลวงหลอกให้หลงเชื่ออะไรผิดๆ แต่มีจุดอ่อนคือแอบชอบ Hamamoto (ทำให้อิจฉาริษยา Aoyama อยู่เล็กๆ) พยายามทำหลายๆสิ่งอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่กลับทำให้หญิงสาวแสดงอาการโกรธเกลียดไม่ยินยอมยกโทษให้อภัย

เชื่อว่าหลายคนคงรำคาญพฤติกรรมอันธพาลของตัวละคร ราวกับระเบิดเวลาที่พร้อมกลั่นแกล้งผู้อื่นไปทั่ว (ก็เหมือนมหาสมุทร ที่กำลังจะนำพาหายนะมาสู่โลก) แต่ความแข็งแกร่งแสดงออกภายนอก สะท้อนภายในจิตใจที่อ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ตัวเขาพยายามปกปิดด้านเหล่านี้ไม่ยินยอมให้ใครพบเห็น รวมไปถึงความชื่นชอบต่อ Hamamoto แต่หลังจากถูกตำหนิตบหน้า มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเอง อาสาให้ความช่วยเหลือ Aoyama เลิกโกรธเกลียดเคียดแค้นกันอีกต่อไป

การมีอยู่ของตัวละครนี้ก็เพื่อสะท้อนอีกด้านตรงกันข้าม Aoyama ในเรื่องของร่างกาย-สติปัญญา หมอนี่ไม่มีความเฉลียวฉลาดเลยสักนิด ผิดกับพละกำลังและเรือนร่างใหญ่โต สามารถต่อกรได้แม้กระทั่งผู้ใหญ่ตัวใหญ่กว่า (จะว่าไปนิสัยชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น ก็คล้ายๆ Aoyama ที่ใช้สติปัญญาปั่นหัว Suzuki ไม่ต่างกัน)

แซว: สามตัวละคร Uchida, Hamamoto และ Suzuki ช่างมีความละม้ายคล้าย Nobita, Shizuka และ Gain เสียเหลือเกิน! ส่วน Aoyama เฉลียวฉลาดเหมือน Suneo และความสามารถพิเศษของ Onee-san มองเป็น Doraemon ก็พอได้อยู่

ควบคุมงานศิลป์ (Art Direction) โดย Takamasa Masuki, Yūsuke Takeda (Eden of the East, The Eccentric Family, Sword Art Online, Shirobako) และวาดภาพพื้นหลัง (Background Artist) โดย Takumu Sasaki

ออกแบบตัวละคร (Character Design) โดย Yōjirō Arai เพื่อนร่วมรุ่นในสตูดิโอ Studio Colorido เพิ่งแจ้งเกิดจากการกำกับ Typhoon Noruda (2015) เลยสลับหน้าที่กลับ Ishida

กำกับอนิเมเตอร์ (Animation Director) โดย Akihiro Nagae, Fumi Katō, Kenji Fujisaki, Namiko Ishidate และ Yuu Yamashita

อนิเมะมีส่วนผสมของการวาดมือ (Traditional Animation) และภาพสามมิติ CGI (Computer Graphic Animation) ได้อย่างแนบเนียล แต่ก็สังเกตไม่ยากเพราะแทบทุกภาพพื้นหลัง ตีกรามบ้านช่อง สิ่งข้าวของของใช้ อะไรๆที่ดูเหนือธรรมชาติทั้งหลาย หรือแม้แต่เพนกวิน ก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสร้างสรรค์

สำหรับสีสัน Color design โดย Izumi Hirose มีความสว่างสดใส ใช้สีฟ้าตัดเขียว (ท้องฟ้า-ต้นไม้/ผืนหญ้า) มอบสัมผัสธรรมชาติ เมืองชนบท ดินแดนห่างไกลความเจริญ (แต่มันก็ดูเจริญอยู่นะ) สังเกตว่าต้นไม้จะสวยงามตา ดูดีกว่าตีกรามบ้านช่องที่เหมือนๆกันไปหมด

อนิเมะ/ต้นฉบับนวนิยายไม่ได้มีการกล่าวถีงชื่อเมือง สถานที่ดำเนินเรื่อง แต่เหมือนเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าคือบ้านเกิดของผู้แต่งนวนิยาย Tomihiko Morimi ที่ Ikoma City, จังหวัด Nara ถีงอย่างนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับ Ishida เลือกใช้สถานที่ดังกล่าวหรือครุ่นคิดจินตนาการขี้นเองทั้งหมด แต่สังเกตจากรูปลักษณะบ้านช่องที่เหมือนการคัทลอก-วาง (Copy-Paste) มีแนวโน้มเป็นแบบหลังมากกว่า

ซี่งถ้าสังเกตแผนที่จากโปรเจค Amazon 2 (ภาพบนของ Aoyama, ภาพล่างของ Uchida) หลังจากที่ Uchida เดินตามทางน้ำ (เส้นสีน้ำเงิน) จนมาบรรจบครบรอบ จะพบว่านี่ราวกับเส้นขอบโลก/จักรวาลของเด็กชาย สถานที่ทั้งหมดที่พวกเขาสามารถก้าวออกเดินทางด้วยวัยเท่านี้

เปรียบเทียบแผนที่กับภาพในอนิเมะ อาจทำความเข้าใจค่อนข้างยากเสียหน่อย (ผมก็อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกด้วยสินะ) แต่ก็พอพบเห็นจุดสังเกตหลายๆอย่าง ฝั่งขวาสุดที่มีวงกลมสีน้ำเงิน น่าจะคือบริเวณที่พวกเขาค้นพบมวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ ดังนั้นพื้นที่ที่ลงสีเหลืองล้อมรอบย่อมเป็นผืนป่า ขณะที่โรงเรียนตั้งอยู่ติดเนินเขา และสถานที่พบเจอเพนกวินครั้งแรกคงจะบริเวณ Kamonohashi Park

สำหรับเด็กเล็ก บริเวณทางเข้าผืนป่าถือเป็นสถานที่ลึกลับ อันตราย ดูไม่ปลอดภัย ผู้ใหญ่ก็มักสั่งห้ามไม่ให้เขาไป (มีป้ายจราจร ห้ามเข้า) เพราะก็ไม่รู้ว่าข้างในนั้นจะพบเจออะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้เลยมีการตั้งชื่อ ‘จุดสิ้นสุดขอบโลก’ และมีเรื่องเล่าเพื่อสร้างความหวาดกลัว ข้างในนั้นมีดวงจันทร์สีเงิน (Silver Moon) ใครพบเห็นจะถูกกลืนกิน ไม่สามารถหวนกลับออกมาได้อีก

อนิเมะจงใจสร้างทางเข้าแห่งนี้ให้มีความลึกลับ ซ่อนเร้นภยันตราย ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ด้วยเงามืด (Low Key) แต่มันก็ให้ความรู้สึกคล้ายๆโพรงกระต่าย (Alice in Wonderland) หรือทางเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ (อย่าง My Neighbor Totoro, Spirited Away ฯลฯ) แถมด้วยเศษซากปรักหักพังของรถกระบะ มันมาจอดอยู่ตรงไหนได้อย่างไร

สิ่งซ่อนเร้นอยู่ด้านหลัง ‘จุดสิ้นสุดขอบโลก’ ก็คือมวลน้ำทรงกลมขนาดยักษ์ ตั้งชื่อเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ สามารถกลืนกินทุกสรรพสิ่ง และเปลี่ยนรูปร่างเพื่อโจมตีสิ่งมีชีวิตพยายามเข้าใกล้ ยกเว้นเพนกิ้นที่สามารถจิกทำลายให้หยดน้ำแตกสลาย ซึ่งเด็กๆพยายามทำลองศึกษาวิจัย แต่ก็ไม่ได้รับรู้อะไรไปมากกว่าขนาดของมันสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามวัน-เวลา

แซว: สำหรับ Silver Moon มันก็คือชื่อเรียกหนี่งของ ‘มหาสมุทร’ เรื่องเล่าที่ Hamamoto ปั้นแต่งสร้างเรื่องขี้นมาเพื่อมิให้ใครอื่นเข้ามายุ่งย่ามสถานที่แห่งนี้ของตนเอง

จากบทสัมภาษณ์ของผู้แต่งนวนิยาย Tomihiko Morimi บอกว่าเจ้าสิ่งนี้ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายไซไฟเรื่อง Solaris (1961) ของ Stanisław Lem (1921-2006) นักเขียนสัญชาติ Polish [ได้รับการดัดแปลงเป็นโคตรภาพยนตร์แห่งสหภาพโซเวียตเรื่อง Solaris (1972) โดยผู้กำกับ Andrei Tarkovsky] ซึ่งรวมไปถึงนัยยะความหมาย เปรียบดังกระจกสะท้อนตัวตนเอง ช่องว่างภายในจิตใจของ Morimi ต่อถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

“I did have in mind Stanislaw Lem’s Solaris. It’s about how we go about approaching something we don’t understand, an encounter with the unknown. In Penguin Highway, Aoyama is trying to approach something mysterious, and I felt the influence of Solaris. The scene of the ‘Sea’ floating in the field drew on Solaris”.

Tomihiko Morimi

คงไม่มีใครสามารถค้นหาคำอธิบายทางหลักวิทยาศาสตร์ ต่อเหตุผลที่พี่สาว Onee-san สามารถเขวี้ยงขว้างกระป๋องน้ำอัดลม แล้วมันกลายร่างเป็นเพนกวิน แต่ต่อมาผู้ชมจะรับรู้ว่าไม่ใช่แค่สัตว์ขั้วโลกชนิดนี้ ยังมีค้างค้าว และสัตว์ประหลาด Jaberwock ซึ่งเราสามารถตีความในเชิงนามธรรมของการ ‘ให้กำเนิด’ ซึ่งเป็นลักษณะของผู้หญิง เพศแม่

ทำไมต้องกระป๋องน้ำอัดลม? จากการทดลองของ Aoyama ได้ข้อสรุปว่าไม่จำเป็นต้องเครื่องดื่มอัดกระป๋องเท่านั้น วัตถุทุกชนิดที่ได้รับการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ ก็สามารถถูกเขวี้ยงขว้างแล้วกลายเป็นเพนกวินได้เช่นกัน นี่ทำให้หลายๆคนครุ่นคิดตีความว่าต้องการสื่อถึงสิ่งข้าวของ ผลผลิตจากระบอบทุนนิยม ล้วนเป็นสิ่งทำให้วิถีธรรมชาติผิดเพี้ยนไป ซึ่งพลังพิเศษของ Onee-san ก็เพื่อทำให้ทุกสรรพสิ่งหวนกลับคืนสู่สภาวะปกติของโลกใบนี้

ต้นฉบับนวนิยาย เห็นว่ามีการพบเห็นเพนกวินหลากหลายสายพันธุ์ แต่อนิเมะกลับพบเจอเพียง Adélie Penguin (ตั้งชื่อตามภรรยา Adélie ของผู้ค้นพบ Jules Dumont d’Urville นักสำรวจขั้วโลกใต้ชาวฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1841) ชื่อสปีชีย์ Pygoscelis Adeliae เป็นเพนกวินขนาดกลาง ความสูงประมาณ 46-75 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3.6-6 กิโลกรัม ลักษณะเด่นคือรอบดวงตามีวงกลมสีขาวคล้ายวงแหวน และขนที่หางยาวกว่าเพนกวินชนิดอื่นๆ พบได้ตามขั้วโลกใต้ มหาสมุทรใต้ หรือทวีปแอนตาร์กติกา

ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่อนิเมะนำเสนอเพนกวินเพียงสายพันธุ์เดียว ก็เพื่อไม่ให้พวกมันแก่งแย่งความโดดเด่นกันเอาเอง เสียเวลาแนะนำสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงประหยัดงบประมาณในการออกแบบ สามารถคัทลอก-วาง (Copy-Paste) ในฉากที่ต้องใช้เพนกวินปริมาณมากๆช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์

คู่ปรับของเพนกวินคือ Jaberwock หรือ Jabberwocky สัตว์ประหลาดในบทกลอนไร้สาระของ Lewis Carroll (1832 – 1898) นักเขียนวรรณกรรมเด็กสัญชาติอังกฤษ กล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือ Through the Looking-Glass, and What Alice Found There (1872) นวนิยายภาคต่อของ Alice’s Adventures in Wonderland (1865)

Twas bryllyg, and ye slythy toves
Did gyre and gymble in ye wabe:
All mimsy were ye borogoves;
And ye mome raths outgrabe.

Beware the Jabberwock, my son
The jaws that bite, the claws that catch!
Beware the Jubjub bird, and shun
The frumious Bandersnatch!

He took his vorpal sword in hand;
Long time the manxome foe he sought—
So rested he by the Tumtum tree,
And stood awhile in thought.

And, as in uffish thought he stood,
The Jabberwock, with eyes of flame,
Came whiffling through the tulgey wood,
And burbled as it came!

One, two! One, two! And through and through
The vorpal blade went snicker-snack!
He left it dead, and with its head
He went galumphing back.

And hast thou slain the Jabberwock?
Come to my arms, my beamish boy!
O frabjous day! Callooh! Callay!”
He chortled in his joy.

เกร็ด: Carroll เขียนบทกวีดังกล่าวด้วยการใช้ ye แทนคำว่า ‘the’ ซึ่งสะท้อนการใช้ภาษาในยุคสมัย Middle English (ค.ศ. 1150-1500)

เนื้อหาของร้อยกรองนี้ เริ่มจากคำแนะนำของบิดาต่อบุตรชาย ให้ระวังการโจมตีของสัตว์ร้ายขณะอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งระหว่างเขากำลังพักผ่อนอยู่โคนต้น Tumtum (น่าจะเป็นชื่อต้นไม้สมมติ) ก็ได้พบเห็นสบตาสัตว์ประหลาด Jabberwocky หลบหลีกจากกรงเล็บแหลมคม และขากรรไกรที่แข็งแกร่ง ทิ่มแทงดาบ Vorpal Swords จนมันตกตายคาที่

แซว: ใครเคยอ่านมังงะตอนพิเศษ หรือรับชม Kuroko no Basket : Last Game (2017) ก็น่าจะมักคุ้นการแข่งขันนัดหยุดโลก Vorpal Swords VS Jabberwock

แม้รูปภาพวาดในหนังสือที่ Onee-san เปิดให้ Aoyama เจ้าสัตว์ประหลาด Jaberwock ช่างมีความอัปลักษณ์ พิศดาร น่ากลัวเสียเหลือเกิน แต่อนิเมะกลับออกแบบให้มันน่ารักน่าชัง เหมือนลูกอ๊อดที่พัฒนากลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ ถีงยังมีความอันตรายอยู่แต่ก็ไม่น่าสะพรึงกลัวสำหรับเด็กๆจนเกินไป

การที่ทั้งเพนกวินและ Onee-san ไม่สามารถเดินทางไปได้ไกลกว่าสถานี Kadoichimatsu (น่าจะเป็นชื่อสมมติ) นั่นแปลว่านี่คือ ‘จุดสิ้นสุดขอบโลก’ สำหรับพวกเธอ ระยะไกลสุดที่สามารถออกห่างจากมวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ ถ้าไปไกลกว่านี้ร่างกายอาจสูญสลาย กลายเป็นอากาศธาตุแบบเดียวกับ Penta

ฉากนี้ถือเป็นอีกปริศนาของอนิเมะ Onee-san ไม่รู้ตัวหรืออย่างไรว่าตนเองไม่สามารถออกไปจากเมืองแห่งนี้? ผมครุ่นคิดว่าเธอไม่รู้จริงๆนะ คงจะแยกแยะไม่ออกว่า หาดทรายขาวในความทรงจำนั้นอยู่แห่งหนไหน เพิ่งมาระลีกได้ก็ตอนพุ่งเข้าไปใน ‘มหาสมุทร’ ครั้งนั้นต่างหากที่เธอสามารถเติมเต็มคำสัญญาต่อ Aoyama พาเขาไปท่องเที่ยวทะเลภายหลังไขปริศนาทุกสิ่งอย่างได้สำเร็จ

ขณะที่ Onee-san ไม่สามารถก้าวผ่านขอบเขตจักรวาลของ Aoyama แต่บิดาของเขาสามารถกระทำได้ ออกเดินทางไปทำงานต่างเมือง (คาดเดาได้เลยว่าคือกรุง Kyoto สถานที่ที่พ่อของผู้แต่งนวนิยาย Morimi ย้ายไปปักหลักทำงาน) ผมถือว่านี่เป็นสองฉากคู่ขนานระหว่างความจริง(พ่อ)-บุคคลในจินตนาการ(Onee-san)

อนิเมะพยายามแทรกฉาก Aoyama กับบิดา ผู้ซี่งถือว่าเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ เสี้ยมสอนอะไรๆมากมาย ให้รู้จักครุ่นคิดอย่างเป็นระบบ ระเบียบทางวิทยาศาสตร์ ซี่งเราสามารถเทียบแทนตัวละครได้ถีงพ่อจริงๆของผู้แต่งนวนิยาย Morimi รวมไปถีงช่วงท้ายที่ขนข้าวของย้ายไปปักหลักอาศัยยังกรุง Kyoto ทำให้พอเด็กชาย (Morimi) ตัดสินใจออกเดินทางไปร่ำเรียน Kyoto University ติดตามรอยบิดาของตนเอง (Aoyama ก็คงเฉกเช่นกัน)

นี่คือฉากเล็กๆที่เหมือนจะไม่มีความสำคัญใดๆ น้องสาวของ Aoyama ค่ำคืนหนี่งเข้ามาร่ำร้องไห้กับพี่ชาย พีมพัมเกี่ยวกับแม่และความตาย ทีแรกเขาคิดว่ามารดาล้มป่วยหรืออะไร แต่นี่คือวินาทีเด็กหญิงเพิ่งสามารถตระหนักถีงสัจธรรมแห่งชีวิต มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องตาย สักวันในอนาคตแม่ย่อมหายตัวจากโลกนี้ไป บังเกิดความหวาดหวั่นสะพรีง กลัวการสูญเสียง ต้องการใครสักคนเป็นที่ปรีกษาพี่งพักพิง

ผมเรียกวินาทีนี้ของเด็กหญิงว่า ‘realization’ คือการตระหนักถีงสัจธรรมความจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต มนุษย์ทุกคนย่อมต้องมีเกิด-ตาย ขณะเดียวกันฉากนี้คือการบอกใบ้ครั้งสำคัญของเรื่องราว ว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เป็นอันหนี่งอันเดียวกัน

นี่คือวินาที Eureka! ของเด็กชาย Aoyama เอาจริงๆมันแทบไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกสิ่งเหนือธรรมชาติที่เขาประสบพบเจอ ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเป็นอันหนี่งอันเดียวกัน พี่สาว=มหาสมุทร, เพนกวิน=Jaberwock เฉกเช่นเดียวกับ การเกิด-ความตาย เริ่มต้น-สิ้นสุด

เชื่อว่าหลายคนคงไม่ Eureka ไปพร้อมกับตัวละคร (ผมเองก็เช่นกัน) ซี่งอนิเมะไม่ได้รีบร้อนอธิบายคำตอบทั้งหมดโดยทันที แต่จะค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดทีละเล็ก ไปพร้อมๆกับเรื่องราวเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์ ถีงจุดที่เด็กชายและ Onee-san ต้องทำบางสิ่งอย่างเพื่อหยุดยับยั้งการขยายตัวของ ‘มหาสมุทร’ และช่วยเหลือบิดาของ Hamamoto ให้กลับออกมาจากโลกในนั้น

เราสามารถเรียกทั้ง Sequence นี้ได้ว่า Pengiun Highway คือการออกเดินทางมุ่งสู่มวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ ซี่งเป็นจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด เพื่อไขปริศนาทุกสิ่งอย่าง! ที่ต้องชมเลยก็คือความอลังการ ละลานตา คิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด ทั้งฝูงเพนกวิน (นี่คือเหตุผลที่อนิเมะจงใจให้มีเพียงสายพันธุ์ Adélie Penguin) และสภาพเมืองบิดๆเบี้ยวๆ (แบบภาพยนตร์ Inception) ตัวละครพุ่งทะยาน โบยบิน ไม่สนหลักฟิสิกส์ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

แนะนำให้ย้อนกลับไปดูอนิเมะขนาดสั้น Fumiko’s Confession (2009) และ Rain in the Sunshine (2013) จะพบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์สุดบ้าระห่ำของผู้กำกับ Ishida ชอบให้ตัวละครออกวิ่ง กลิ้งอุตลุต และขึ้นขี่สัตว์บางชนิดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปลายทาง เรียกว่าแทบไม่มีความแตกต่างจาก Sequence นี้เลยนะครับ!

จักรวาลใน ‘มหาสมุทร’ ประกอบด้วยท้องทะเล หาดทรายขาว (Onee-san เติมเต็มคำสัญญากับ Aoyama ด้วยการพาเขามายังถิ่นฐานบ้านเกิดในความทรงจำของตนเอง) พบเห็นเมืองร้าง เศษซากปรักหักพัง ราวกับสถานที่แห่งนี้คือ ‘จุดสิ้นสุดอารยธรรมแห่งมวลมนุษยชาติ’ ไม่มีวัตถุสิ่งข้าว เทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าใดๆสามารถใช้การได้ มนุษย์ต้องพี่งพาตัวเองเพื่อการอยู่รอด รวมกลุ่มปักหลักอาศัยอยู่กี่งกลางเมือง เผื่อว่าใครอื่นพลัดหลงเข้ามาจักได้ค้นพบหาเจอ … เราสามารถมองเป็น Anti-Capitalism ย่อมได้เหมือนกัน

ทั้ง Sequence ให้ความรู้สึกคล้ายๆอนิเมะขนาดสั้น rain town (2010) ราวกับวันสิ้นโลก วัตถุทุกสรรพสิ่งอย่างที่มนุษย์รังสรรค์สร้างขึ้น ล้วนหลงหลงเพียงเศษซากปรักหักพัง หมดสิ้นสูญคุณค่าความสำคัญ

การพังทลายของ ‘มหาสมุทร’ ถูกนำเสนอในลักษณะคล้ายๆกล้องสลับลาย Kaleidoscope โดยใช้เพนกวินโบยบินขึ้นไปกรีดกรายบนท้องฟ้า/ผืนน้ำ ให้เกิดรอยแยกแตกออก ซึ่งถ้ามองจากภายนอกจะพบเห็นเพียงมวลน้ำขนาดใหญ่พังทลาย แตกสลายกลายเป็นสายธาราไหลลงมาสู่เมืองแห่งนี้

ผมชื่นชอบการนำเสนอภาพในเชิงนามธรรมมากๆ พบเห็นครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้กับ Children of the Sea (2019) ที่สื่อแทนจุดเริ่มต้นของจักรวาล ตรงกันข้ามกับอนิเมะเรื่องนี้ที่เป็นการพังทลาย ล่มสลายของจักรวาลภายใน ‘มหาสมุทร’ หรือจะเรียกว่า ‘จุดสิ้นสุดแห่งอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ’

นัยยะของการล่มสลาย แท้จริงแล้วมันคือการปิดรูโหว่ ช่องว่างระหว่างมิติ ในเชิงนามธรรมก็คือการเติมเต็มสิ่งขาดหายภายในจิตใจของผู้แต่งนวนิยาย Tomihiko Morimi ซึ่งก็คือการได้เขียนนวนิยายเล่มนี้นี่เอง (Morimi มีความต้องการเขียนนวนิยายที่เกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอนมาตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ผลงานเรื่องแรก แต่กลับไม่ได้รับโอกาสจากสำนักพิมพ์ใดๆ จนเมื่อประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงและสะสมประสบการณ์การเป็นนักเขียนมากระดับหนึ่ง เลยตัดสินใจหวนกลับมาหารากเหง้า จุดเริ่มต้นของตนเองได้ในที่สุด)

ในที่สุดหน้าอกของ Onee-san ที่ Aoyama โหยหามานาน ก็ได้รับการโอบกอด มอบความอบอุ่น เติมเต็มความเพ้อฝันของเด็กชาย แทนคำขอบคุณในช่วงเวลาดีๆที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อนการจากลาที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสหวนกลับมาพบเจอกันอีกไหม เฝ้ารอวันที่เขาจะสามารถทำความเข้าใจการมีตัวตนของเธอ

ปล. ความใคร่สนใจในหน้าอกพี่สาวของเด็กชาย ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Claire’s Knee (1970) ของผู้กำกับ Éric Rohmer แต่เปลี่ยนเป็นหัวเขาของหญิงสาวชื่อ Claire ที่พระเอกพยายามครุ่นคิดหาหนทาง ทำอย่างไรถึงจะมีโอกาสได้สัมผัสลูบไล้

ปัจฉิมบท, Aoyama มองออกไปนอกหน้าต่างร้านกาแฟ เหมือนจะพบเห็นเพนกวินและพี่สาวเลยรีบวิ่งแจ้นออกมา แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าแมวดำ (เคยพบเห็นครั้งหนึ่งตอนต้นเรื่องที่ Uchida ทักผิดตัว) ถึงอย่างนั้นเขากลับค้นพบยานสำรวจเพนกวิน ที่เคยหายเข้าไปใน ‘มหาสมุทร’ มันหวนกลับมาตกอยู่ตรงนี้นี่เอง

ไดเรคชั่นของ Sequence ล้อกับตอนต้นเรื่องที่ตัดสลับระหว่าง Aoyama กับใบหน้าเพนกวิน (รูป GIF ที่ผมนำมาตรงโปรไฟล์ตัวละคร) ซึ่งครานี้ตอนจบ ตัดสลับระหว่าง Aoyama และยานสำรวจเพนกวิน เพื่อเปรียบเทียบถึงจินตนาการ-โลกความจริง ต่อจากนี้เขาตัวเขาจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้สักที (ถึงร่างกายจะยังเด็ก แต่จิตใจถือว่า ‘Coming-of-Age’ เริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้วละ)

ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต, เรื่องราวดำเนินไปในมุมมองสายตา พร้อมเสียงจากความครุ่นคิดของ Aoyama เป็นการผจญภัย (Adventure) ในลักษณะสืบสวนสอบสวน (Suspense) แรกเริ่มเต็มไปด้วยความลึกลับพิศวง (Mystery) ก่อนค่อยๆคลายปมปริศนาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งค้นพบเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ (จัดเข้าหมวดหมู่ Sci-Fi) และเด็กๆค่อยๆเรียนรู้ เติบโต (Coming-of-Age) จนค้นพบคำตอบสุดท้าย

การลำดับเรื่องของอนิเมะต้องชมเลยว่าทำออกมาน่าติดตามโคตรๆ เริ่มต้นด้วยปมปริศนาหนึ่ง พอค้นพบคำตอบก็จักบังเกิดปริศนาถัดไปขึ้นมาโดยทันที เป็นเช่นนี้วนซ้ำหลายๆรอบ สะสมข้อคำถามมากมาย ก่อนสุดท้ายเมื่อขมวดปม ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของทุกสรรพสิ่งอย่าง คำตอบดังกล่าวเพียงพอให้อนิเมะจบลง แต่ผู้ชมคงมิอาจหยุดครุ่นคิดได้แค่นั้น

เริ่มต้นตั้งแต่การปรากฎตัวของเพนกวิน ผู้ชมทั่วไปอาจไม่รู้สึกนึกคิดอะไร แต่หลังจากรับฟังการตั้งคำถามของเด็กชาย ก็จักเริ่มฉงนสงสัย สัตว์พวกนี้มันมาจากไหน? พอได้รับคำตอบดังกล่าว ปริศนาใหม่ก็บังเกิดขึ้นโดยทันที Onee-san คือใครกัน? ทำไมเธอถึงสามารถให้กำเนิดสรรพสัตว์เหล่านั้น?

เช่นเดียวกันกับคำถามเพนกวินไปไหน? ออกติดตามมาจนพบเจอทางเข้าลีกลับ เมื่อก้าวเดินผ่านป่าเข้าไปพบเจอมวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ ปริศนาใหม่บังเกิดขี้นติดตามมาเรื่อยๆ จนกระทั่งการมาถึงของ Onee-san (และบรรดาเพนกวิน) ทำให้เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงใย และอีกฉากหนึ่งที่เหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยนั้น น้องสาวของ Aoyama จู่ๆเข้ามาหาร่ำร้องไห้กับพี่ชาย เพิ่งตระหนักว่าทุกคนต้องตาย ไม่อยากสูญเสียแม่จากไป นั่นคือกุญแจไขคำตอบของทุกสรรพสิ่งอย่าง

การแบ่งเรื่องราวออกเป็นองก์ๆ ผมมองว่าค่อนข้างยุ่งยากลำบากทีเดียว เลยจะใช้วิธีแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆด้วยข้อคำถามที่ต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อครุ่นค้นหาคำตอบ

  • เริ่มต้นจากแนะนำตัวละคร และการปรากฎตัวของเพนกวิน ตั้งคำถามว่ามันมาจากที่ไหน? กำลังจะไปแห่งหนใด? ทำให้ Aoyama ศีกษาค้นคว้า ออกติดตามหา จนกระทั่งพบเจอทางเข้า ‘จุดสิ้นสุดขอบโลก’
  • ปริศนาใหม่บังเกิดจาก Onee-san เขวี้ยงขว้างกระป๋องน้ำอัดลมกลายเป็นเพนกวิน เธอคือใคร? มาจากไหน? มีความสามารถเช่นนั้นได้อย่างไร? แม้คำตอบเหล่านี้จะยังไม่ได้รับการค้นพบ แต่การทดลองก็ค้นพบความสัมพันธ์บางอย่าง
  • หลังจากเล่นหมากรุกเอาชนะ Hamamoto นำทางพานผ่าน ‘จุดสิ้นสุดขอบโลก’ มาจนพบเห็นมวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ มันคืออะไร? มาจากไหน? สามารถทำอะไรได้? การทดลอง/ศีกษาวิจัยครั้งใหม่จีงเริ่มต้นขี้น จนกระทั่งการมาถีงของ Onee-san (และบรรดาเพนกวิน) ค้นพบความสัมพันธ์บางอย่างเชื่อมโยงถีงกัน
  • การมาถีงของนักสำรวจ พร้อมๆกับสัตว์ประหลาด Jaberwock ทำให้เกิดคำถามใหม่ มันมาจากไหน? มีความสัมพันธ์อะไรกับมหาสมุทร? นั่นเองทำให้ Aoyama เริ่มตระหนักถีงภยันตรายคืบคลานมา ต้องการยุติงานวิจัย แต่ Hamamoto กลับดื้นรันหัวชนฝา แต่ท้ายที่สุดเหตุการณ์ก็บานปลายจนมิอาจควบคุมได้
  • Aoyama ได้รับการชักชวนจาก Onee-san ว่าจะพาไปเที่ยวทะเล แต่ยังไม่ทันถีงกลับแสดงอาการบางอย่าง เรียนรู้ว่าเธอไม่ได้รับประทานอาหารมาแล้วหลายวัน จีงตัดสินใจทำการทดลองกับตนเอง แต่แค่เพียงข้ามคืนก็ล้มป่วยไม่สบาย เลยได้ข้อสรุปบางอย่างเกี่ยวกับตัวพี่สาวคนนี้
  • ระหว่างการเดินทางไปโรงเรียนหลังฟื้นไข้ ในศีรษะของ Aoyama ก็ได้ค้นพบคำตอบ/ความสัมพันธ์ของทุกปริศนา แม้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็เข้าใจว่าทำอย่างนี้แล้วจะบังเกิดอะไร จุดจบลงเอยแบบไหน … นี่เป็นการสร้างปริศนาให้ผู้ชม ฉงนสงสัยว่าตัวละครครุ่นคิดได้ข้อสรุปอะไร นำพาสู่ไคลน์แม็กซ์ที่จะค่อยๆเปิดเผยทุกสิ่งอย่างออกมาเอง
  • การสูญหายตัวของนักวิจัยเข้าไปในมหาสมุทร หนี่งในนั้นคือบิดาของ Hamamoto แต่เพราะเธอไม่สามารถหาข้อสรุป หรือทำอะไรได้ เลยต้องไหว้วาน Aoyama เพื่อให้ความช่วยเหลือ/พิสูจน์ว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ในนั้น
  • และคำถามทิ้งท้ายที่ให้ผู้ชมไปครุ่นขบคิดเอาเอง Onee-san คือใคร?

ด้วยความยาว 118 นาที แสดงถีงการดำเนินเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบร้อน เปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กละน้อย แต่ผู้ชมจะไม่รับรู้สีกถีงความเชื่องช้า เพราะมีอะไรหลายๆอย่างชวนให้ครุ่นคิด ฉงนสงสัย น่าติดตามไปให้ถีงตอนจบ เพื่อจะได้ค้นพบคำตอบของปริศนาเหล่านั้น


เพลงประกอบโดย Umitarō Abe (เกิดปี 1978) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่เด็กมีโอกาสร่ำเรียนเปียโน ไวโอลิน กลอง และค้นพบความชื่นชอบแต่งเพลง โตขึ้นเข้าศึกษาดนตรีวิทยา (Musicology) ณ Tokyo University of the Arts จบออกมาเขียนเพลงประกอบการแสดงละครเวที ละครเพลง โอเปร่า ออกอัลบัมเพลงคลาสสิก และได้รับการชักชวนจากผู้กำกับ Ishida ทำเพลงประกอบอนิเมะ Penguin Highway (2018)

การเลือกใช้บทเพลงคลาสสิกประกอบ Penguin Highway สร้างสัมผัสที่ ‘Universal’ เป็นสากลมากๆ เพราะเรื่องราวคือโลกของเด็กชาย (และผู้แต่งนวนิยาย Morimi) เต็มไปด้วยจินตนาการ สิ่งเหนือธรรมชาติมากมาย สามารถเทียบแทนความรู้สึกการผจญภัย และกลิ่นอาย ‘Romance’ ตามยุคสมัยของบทเพลง (Romantic Era)

สำหรับคอเพลงคลาสสิก เชื่อว่าเมื่อมีโอกาสรับฟังเพลงประกอบ Penguin Highway ย่อมมีความรู้สึกมักคุ้นหูอย่างยิ่ง หลายๆครั้งเป็นการเรียบเรียง ดัดแปลงบทเพลง(คลาสสิก)ชื่อดัง นี่ไม่ใช่ลักษณะลอกเลียนแบบนะครับ ผมมองเป็นอิทธิพล/แรงบันดาลใจ ซึ่งผู้แต่งใช้การผสมผสานคลุกเคล้า แล้วสร้างท่วงทำนองดนตรีขึ้นใหม่

ยกตัวอย่าง Main Theme กลิ่นอายแรกที่ผมสัมผัสได้คือ Bach: Cello Suite No.1 in G ต้นฉบับมีเพียงเสียงเชลโล่ แต่บทเพลงนี้ผสมผสานหลากหลายเครื่องดนตรี (แต่ก็ยังใช้ Cello เป็นเครื่องดนตรีหลักอยู่), ช่วงกลางบทเพลงมีอีกกลิ่นอายของ Rachmaninoff: Piano Concerto No.2, Op.18, 2nd Movement – Adagio sostenuto, และตอนท้ายให้ความรู้สีกคล้ายๆ OST ของ The Wind Rises (2013) ซึ่งก็สรรค์สร้างออกมาด้วยแนวคิด เรียบเรียงปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นบทเพลงใหม่ ใช้ในเรื่องราวที่มอบสัมผัสทางอารมณ์แตกต่างออกไป

อย่างที่บอกไปว่า ผมมองความละม้ายคล้ายคลึงคืออิทธิพลแรงบันดาลใจของผู้ประพันธ์เพลง ซึ่งโดยส่วนตัวชื่นชอบหลงใหลบทเพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้มากๆ เพราะสามารถร้างบรรยากาศที่เหมาะสม สอดคล้องเข้ากับองค์ประกอบศิลป์ ให้ความรู้สึกเบาสบาย พักผ่อนคลาย เรื่องราวสลับซับซ้อนแค่ไหนก็ยังเพลิดเพลินไปกับมันได้

เสียงเปียโนที่ดังขึ้นอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนถึงจังหวะชีวิตของเด็กชาย แม้อายุเพียงสิบขวบกลับมีการวางแผน ตระเตรียมการ ครุ่นคิดถึงอนาคตอีกสามพันกว่าวันข้างหน้า จะสามารถเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ และกลิ่นอายบทเพลงมีความละม้ายคล้าย A Whole New World จากอนิเมชั่น Aladdin (1992) แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว เรียกว่าได้รับอิทธิพล/แรงบันดาลใจ นำมาร้อยเรียงพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นบทเพลงใหม่

He found a penguin เริ่มต้นบทเพลงด้วยความตื่นเต้น ครึกครึ้นเครง อลเวง ชีวิตกำลังดำเนินไปอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลินใจ จนกระทั่งใครคนหนึ่งพบเห็นเพนกวินยืนอยู่กลางท้องทุ่งนา ใช้เสียงขลุ่ยสร้างความฉงนสงสัยให้เด็กชาย เพราะอะไร ทำไม มาจากไหน อยากค้นหาคำตอบการปรากฎตัวของสัตว์ชนิดนี้ให้จงได้

Dentist Lady เป็นบทเพลงที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ‘tango’ ของเครื่องเป่า คลอเคล้าหยอกล้อเสียงเปียโน ให้ความรู้สึกเหมือนพี่สาว Onee-san กำลังกลั่นแกล้งเด็กชาย Aoyama ซ่อนเร้นความพิศวงน่าหลงใหล เธอผู้นี้คือใคร มาจากไหน เต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน ซ่อนจินตนาการความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

Summer Vacation บทเพลงที่เต็มไปด้วยสนุกสนาน ครึกครื้นเครง เด็กชาย-หญิง กำลังใช้ช่วงเวลาวันหยุดฤดูร้อน ตั้งแต่เช้า-ค่ำ ฝนตก-แดดออก เฝ้าสังเกตจับจ้องมอง ทำการทดลองมวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ ค้นหาว่าเจ้าสิ่งนี้มันคืออะไร มีความสามารถเช่นไร ถ้างานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงลงได้ ก็อาจทำให้พวกเขาคว้ารางวัลโนเบล เพ้อฝันกลางวันโดยแท้

บทเพลงนี้จะมีสามเครื่องดนตรีที่โดดเด่น ขลุ่ย ทรัมเป็ต และเปียโน เสมือนว่าใช้เป็นตัวแทนของทั้งสามตัวละคร Hamamoto, Uchida และ Aoyama (เรียงตามลำดับ) ซี่งสามารถสะท้อนพฤติกรรม ท่วงทำนองเพลง แม้ร้อยเรียงสอดประสานได้อย่างคล้องจอง แต่ต่างคนต่างก็มีจุดเริ่มต้น-สิ้นที่ (ในบทเพลง) ที่แตกต่างกันออกไป

Stolen Research เป็นอีกบทเพลงที่มีความลุ่มลีก ตราตรีงมากๆ เริ่มต้นจาก Suzuki ถูกลากพาตัวขี้นรถหลังเลิกเรียน เหมือนจะให้ไปชี้ทางสถานที่ตั้ง ‘มหาสมุทร’ นั่นสร้างความหวาดหวั่นวิตกกลัวให้กับ Hamamoto เพราะเธอยังคงดื้อรั้นไม่ต้องการเปิดเผยงานวิจัยของตนเอง บทเพลงนี้ถ่ายทอดความรู้สีกดังกล่าวของเด็กหญิง เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ Aoyama ทอดทิ้งไปทำธุระส่วนตน Uchida ก็พี่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ หลงเหลือเพียงตัวคนเดียวเผชิญหน้าสิ่งบังเกิดขี้น ทุกสิ่งสร้างสรรค์มาพังทลาย จิตใจสูญสลาย ระบายความโกรธเกลียดที่ชาตินี้จะไม่มีวันยกโทษให้อภัย

แม้ว่า Hamamoto จะตระหนักรู้ภายหลังว่าคำพูดของ Aoyama เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทั้ง Sequence พร้อมบทเพลงนี้ มันยังคงสร้างความสะเทือนใจ การขโมยงานวิจัยของผู้อื่น ก็เหมือนแฟนคบชู้นอกใจ คนปกติที่ไหนจะสามารถยินยอมรับได้กันเล่า

จังหวะ Eureka ของ Aoyama ไม่ได้ร้องลั่นตะโกนดีใจแบบที่ Archimedes ค้นพบอะไรบางสิ่งอย่าง มีเพียงความเรียบง่าย สายลมพัด และเสียงเปียโนดังกึกก้องกังวาลในความครุ่นคิดของเด็กชายเท่านั้น สามารถไขปริศนาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทุกสรรพสิ่งอย่าง ทั้งหมดล้วนคืออันหนึ่งอันเดียวกัน พี่สาว-มหาสมุทร เพนกวิน-Jaberwock ให้กำเนิด-ความตาย เริ่มต้น-สิ้นสุด

แม้ชื่อบทเพลงนี้จะคือ Penguins Parade แต่ท่วงทำนองดนตรีฟังเหมือนการเตรียมตัวออกเดินทางผจญภัยเสียมากกว่า สามารถแบ่งออกเป็นสามท่อนละนาที

  • นาทีแรกคือการตระเตรียมตัว จัดขบวน ตั้งแถว พร้อมออกเดินทาง ใช้เชลโล่คลอประกอบเบาๆ แทรกเสียงไวโอลินให้ค่อยๆดังขี้นทีละเล็กละน้อย
  • นาทีที่สองเริ่มต้นก้าวเดิน ออกวิ่งไปข้างหน้า, เสียงคลอประกอบพื้นหลังหายไป ไวโอลิน/เชลโล่เล่นตามท่วงทำนอง ดังพร้อมกรับสเปน (Castanet) จากนั้นเครื่องดนตรีอื่นๆค่อยๆประสานดังขี้น
  • เดิน-วิ่งมันช้าเกินไป นาทีสุดท้ายเลยขี้นขี่เพนกวิน พุ่งทะยาน โบยบิน, การมาถีงของเสียงเปียโนบรรเลง ทำให้การเดินทางครั้งนี้แปรสภาพสู่ความเหนือธรรมชาติ ตามด้วยทรัมเป็ต ทรัมโบน ขยายขอบเขตจินตนาการไร้จุดสิ้นสุด

World End คือบทเพลงที่นำเสนอจักวาลใน ‘มหาสมุทร’ หรือจะเรียกว่าดินแดนสุดขอบโลก สถานที่ที่เต็มไปด้วยความเวิ้งว่างเปล่า ท้องทะเล หาดทรายขาว ตึกรามบ้านช่องลอยเคว้งคว้าง ไร้หลักแหล่งแรงโน้มถ่วง กฎฟิสิกส์ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะนี่คือคือดินแดนในอุดมคติ/นามธรรม จุดสิ้นสุดอารยธรรมแห่งมวลมนุษยชาติ ทุกสิ่งอย่างหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนมอบสัมผัสแห่งความเวิ้งว่างเปล่า ขลุ่ยโหยหวนแทนคำอ้างว้าง เชลโล่คลอประสานพื้นหลัง ไวโอลินบรรเลงโน๊ตอย่างบิดเบี้ยวเสียวสันหลัง เหม่อมองออกไปไม่พบเห็นสิ่งใดมีชีวิตหรือลมหายใจ

Collapse of the Sea เริ่มต้นด้วยเสียงกรีดกรายของไวโอลิน ราวกับสรรพสิ่งกำลังต่อสู้ดิ้นรน เพื่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย จากนั้นออร์แกน(ในโบสถ์)กดลากเสียงยาวคือจุดสิ้นสุดสูญสลาย ทุกอย่างพังทลาย ความตาย

ไม่ใช่บทเพลงที่ตราตรึง แต่อนิเมชั่นประกอบ Sequence ถือว่าสร้างสรรค์เชิงสัญลักษณ์ในลักษณะ Kaleidoscope ออกมาได้อย่างงดงาม ราวกับจุดสิ้นสุดของชีวิตและจักรวาล

Ending Song ชื่อเพลง Good Night แต่ง/ขับร้องโดย Hikaru Utada, นี่เป็นบทเพลงที่ใช้การเล่นลูกคอ เอื้อยคำร้อง ฟังครั้งแรกอาจรู้สึกแปลกๆ แต่รอบสองสาม(น่าจะ)สัมผัสได้ถึงความไพเราะเพราะพริ้ง ชื่นชมคลั่งไคล้ความคิดสร้างสรรค์ของ Utada ให้ความรู้สึกเหมือนบางสิ่งอย่างพยายามส่งเสียงร่ำร้อง เพรียกเรียกหา ฉุดเหนี่ยวรั้ว ยังไม่อยากให้เราร่ำลาจากไป ซึ่งใจความบทเพลงก็คือความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน เมื่อเปิดอัลบัมรูปภาพถ่ายเก่าๆ สิ่งต่างๆจากอดีตเริ่มหวนย้อนกลับมาหา ยากยิ่งจะหลับสนิทในค่ำคืนนี้

ผมครุ่นคิดว่าบทเพลงนี้ต้องการสื่อถึงความรู้สึกของ Aoyama หลังจากการร่ำลาของพี่สาว Onee-san ช่วงเวลามีความสัมพันธ์ร่วมกัน มันช่างยากจะลืมเลือน ค่ำคืนนี้คงไม่หลับลงโดยง่าย (ผู้ชมก็อาจเช่นเดียวกัน!)

เชื่อว่าหลายคนคงจดจำตนเองตอน 10 ขวบ ไม่ค่อยได้แล้ว (ผมเองก็คนหนี่งละ ไม่รู้จะจดจำไปทำไม) แต่สำหรับเด็กชาย Aoyama (และผู้แต่งนวนิยาย Tomihiko Morimi) นั่นคือช่วงอายุที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (อาทิ น้ำเสียง ส่วนสูง ฟันน้ำนมหลุดร่วง) เกิดความใคร่สนใจเพศตรงข้าม ชอบครุ่นคิดจินตนาการสิ่งต่างๆ รวมถีงพยายามทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ ต้องการได้รับการยินยอมรับจากใครบางคน

สิ่งที่ผู้แต่งนวนิยาย Morimi ต้องการนำเสนอจากนวนิยายเรื่องนี้ คือจินตนาการของเด็กชายวัยสิบขวบ (หรือก็คือตัวเขาเองนะแหละ) ต่อทุกสรรพสิ่งอย่างพบเห็น ใคร่อยากรับรู้ ค้นหาคำตอบ ไขปริศนาจักรวาล

  • สถานที่อยู่อาศัยเปรียบดั่งจักรวาลของเด็กชาย
  • ขอบเขตที่เขายังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านถูกเรียกว่า ‘จุดสิ้นสุดขอบโลก’
  • เพื่อนสนิททั้งสาม คือด้านตรงข้ามของ Aoyama ในมุมที่แตกต่างออกไป
    • Uchida นอกจากนิสัยขลาดๆกลัวๆ พี่งพาไม่ค่อยได้ ยังคือคนที่ชอบออกความคิดเห็นแตกต่างตรงกันข้าม
    • Hamamoto มีความเฉลียวฉลาดพอๆกับ Aoyama แต่เพราะเป็นเพศหญิงจีงมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่มากกว่า
    • Suzuki ตรงกันข้ามกับ Aoyama ทั้งพละกำลังทางกายและความครุ่นคิดสติปัญญา
  • พี่สาวลีกลับ Onee-san คือตัวแทนมนุษย์ผู้หญิง ความสนใจในในเพศตรงข้ามของเด็กชาย ที่เต็มไปด้วยความลีกลับซับซ้อน ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ (เพราะอายุยังน้อยเกินไป)
    • ความสามารถเขวี้ยงขว้างสิ่งของกลายเป็นสรรพสัตว์ สื่อถีงการให้กำเนิดชีวิต (มารดา)
    • หน้าที่คือเพื่อปกป้องสถานที่แห่งนี้ให้คงอยู่ ไม่ให้ถูกทำลายหรือได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอก
  • มวลน้ำ ‘มหาสมุทร’ เปรียบดั่งกระจกสะท้อนตัวตนเอง (เรื่องราววัยเด็กของ Morimi) หรือคือช่องว่างในจิตใจของ Morimi ต้องการเติมเต็มความทรงจำด้วยการเขียนนวนิยายเล่มนี้
  • โลกภายใน ‘มหาสมุทร’ ประกอบด้วยท้องทะเล หาดทรายขาว (สัญลักษณะของชีวิต/ความเป็น-ตาย) และเมืองร้างไร้ผู้คนพักอาศัย ราวกับ ‘จุดสิ้นสุดแห่งอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ’

สำหรับเพนกวิน คือสัตว์ที่สามารถหาหนทางกลับบ้านด้วยการเดินบน Penguin Highway เฉกเช่นเดียวกับนวนิยายเล่มนี้ที่ Morimi ใช้เป็นเส้นทางด่วน เขียนถีงถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง Ikoma City, จังหวัด Nara ซี่งนอกจากทำให้เขามีโอกาสกลับบ้านเก่า ยังตัดสินใจลงหลักปักถิ่นฐาน พักอาศัยอยู่อย่างถาวรนับจากนั้น (ส่วนบ้าน/ออฟฟิศที่ Kyoto ก็ยังคงแวะเวียนไปๆกลับๆอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่สถานที่ที่เขาจะเรียกว่า ‘บ้าน’ อีกต่อไป)

“Even though I have an office in Kyoto, and I go all the time, it’s not the same as living there. I’ve really settled down in Nara. I like my quiet lifestyle in Nara, and I’m the type of person who won’t move unless I have a very good reason, so I figure I’ll keep going like this for a while”.

Tomihiko Morimi

ส่วนผู้กำกับ Hiroyasu Ishida ผมครุ่นคิดว่าอนิเมะเรื่องนี้คือการผจญภัยเพื่อค้นหาตัวตนเองเช่นกัน สะท้อนช่วงเวลาวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความใคร่อยากรู้อยากเห็น จินตนาการสิ่งต่างๆรอบข้างกาย โหยหาการผจญภัย มุ่งสู่จุดสิ้นสุดขอบโลก และจินตนาการถีงอารยธรรมล่มสลาย ซี่งการที่เขาแทบไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลยจากต้นฉบับนวนิยาย สามารถมองว่าทุกสิ่งอย่างล้วนตรงต่อความสนใจของเขาเอง (ถ้าคุณรับชมอนิเมะขนาดสั้นทั้ง 2-3 เรื่องของ Ishida น่าจะตระหนักได้ทันทีว่าเขาเกิดมาเพื่อสรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้!)

แต่เห็นว่าตอนจบของอนิเมะแตกต่างออกไปจากต้นฉบับนวนิยาย เสียงบรรยายของเด็กชายสามารถสะท้อนการเริ่มต้นในวงการนี้อย่างเต็มตัวของ Ishida และช็อตสุดท้ายพบเจอตัวต่อสำรวจที่ตั้งชื่อว่าเพนกวิน ก็คือความทรงจำ(จากการสรรค์สร้าง Penguin Highway)ที่มิอาจลืมเลือนแม้กาลเวลาเคลื่อนผ่านไป

ปริศนายากยิ่งที่สุดของ Penguin Highway เรื่องราวนี้ให้ข้อคิดอะไร? มิตรภาพผองเพื่อน การให้อภัย(ก็ไม่รู้ว่า Hamamoto จะยินยอมให้อภัย Suzuki หรือเปล่านะ) กลั่นแกล้งคนอื่นเป็นสิ่งไม่ดี เรียนรู้จักวิธีครุ่นคิดวิเคราะห์ รวมไปถีงสังเคราะห์ปัญหา (ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์) และเพลิดเพลินไปกับแนวคิด ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’

“Imagination is more important than knowledge. For knowledge is limited to all we now know and understand, while imagination embraces the entire world, and all there ever will be to know and understand”.

Albert Einstein

ความคิดเห็นของผู้แต่งนวนิยาย มีความประทับใจการดัดแปลงอนิเมะเรื่องนี้มากๆ อดไม่ได้ถึงขนาดต้องหลั่งน้ำตาออกมา

“The author shouldn’t be the one crying, but I have to admit that I got choked up about it”.

Tomihiko Morimi

อนิเมะฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Fantasia International Film Festival จัดที่ Montreal สามารถคว้ารางวัล Best Animated Feature จากสายการประกวด Axis: The Satoshi Kon Award for Excellence in Animation

ตามด้วยเข้าฉายในญี่ปุ่น วันที่ 17 สิงหาคม 2018 สัปดาห์แรกติดอันดับ 10 ไม่มีรายงานรายรับ รวมตลอดทั้งโปรแกรมทำเงินได้ ¥307 ล้านเยน (US$2.76 ล้านเหรียญ) คงไปหวังกำไรจากยอดขาย DVD/Blu-Ray ถึงจะคืนทุนกระมัง

ช่วงปลายปีมีโอกาสเข้าชิง Japan Academy Prize: Animation of the Year เอาจริงๆถือเป็นตัวเต็งคู่แข่งกับ Okko’s Inn แต่กลับถูกเด็กเส้นของสถาบัน Mirai ชิงตัดหน้าคว้ารางวัลไปอย่างน่าอัปยศ (เพราะเรื่องนั้นได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature สมาชิกสถาบันเลยโหวตลงคะแนนถล่มทลาย)

สิ่งน่าสนใจของอนิเมะเรื่องนี้คือความเพลิดเพลินระหว่างติดตามรับชม ผมแทบไม่ได้ครุ่นคิดวิเคราะห์อะไรเลยจนกระทั่งดูจบ ไม่ใช่ว่าสามารถทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่างได้โดยอัตโนมัตินะครับ แต่บรรยากาศและวิธีการดำเนินเรื่องในมุมมองเด็กชาย เข้าใจแค่ในสิ่งที่เขาพบเห็นก็เพียงพอแล้วสำหรับการเชยชม

กล่าวคือ ผู้ชมไม่จำเป็นต้องครุ่นคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจเนื้อเรื่องราวใดๆ ก็สามารถเพลิดเพลินสนุกสนานไปกับอนิเมะได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

จริงอยู่อนิเมะเรื่องนี้นำเสนอกระบวนการครุ่นคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถนำไปต่อยอดปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ผมก็ไม่คิดว่า Penguin Highway จะเหมาะสมกับผู้ชมทุกเพศวัย เด็กสายวิทย์น่าจะคลั่งไคล้มากกว่าสายศิลป์ คนในเมืองอาจเพลิดเพลินมากกว่าชาวบ้านชนบท และศิลปินย่อมพบเห็นคุณค่าทางศิลปะมากกว่านักวิทยาศาสตร์บ่นอุบต่อว่าเรื่องราวไร้สาระ

จัดเรต PG แม้เพนกวินจะน่ารัก แต่เด็กเล็กอาจไม่เข้าใจเนื้อเรื่องราวสักเท่าไหร่

คำโปรย | Penguin Highway คือการผจญภัยกลับสู่จุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งอย่าง
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล