Grand Hotel (1932)


Grand Hotel (1932) hollywood : Edmund Goulding ♥♥♥♥

ครั้งแรกๆของภาพยนตร์รวมดารา (Ensemble Cast) ดำเนินเรื่องภายในโรงแรมหรูหรา Grand Hotel ณ กรุง Berlin แต่ทั้งหมดถ่ายทำยังสตูดิโอ MGM สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Picture ด้วยการเข้าชิงเพียงสาขาเดียว

ผมลองสอบถาม ChatGPT ว่าภาพยนตร์เรื่องไหนคือเรื่องแรกที่ทำการรวมดารา คำตอบย่อหน้าแรกมันทำการยื้อๆยักๆ ชักแม่น้ำทั้งห้า พยายามอธิบายแนวคิด ‘Ensemble Cast’ แล้วบอกว่าเป็นไปได้ยากจะหาข้อสรุปเรื่องแรก! เพราะนักแสดงแต่ละคนก็มีชื่อเสียงไม่เท่ากัน ต้องโด่งดังระดับไหนถึงเป็น Superstar และต้องกี่คนขึ้นไปถึงเรียกรวมดาวดารา

จากนั้นก็เท้าความไปถึงระบบ ‘Star System’ ที่ใช้จัดอันดับชื่อเสียง ความสำเร็จ มูลค่าทางการตลาดของนักแสดง มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 1910s ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงทศวรรษ 1920s-30s (และเสื่อมสิ้นความนิยม 60s)

จากมาตรวัดความนิยมนักแสดงด้วยระบบ ‘Star System’ ถึงค่อยได้รับคำตอบว่า Grand Hotel (1932) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการรวมดาวดารา ประกอบด้วย (อันดับจากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 1932)

  • Greta Garbo ติดอันดับ #1 Quigley Poll, #1 Motion Picture Herald (นักแสดงหญิง)
  • John Barrymore ติดอันดับ #3 Quigley Poll, #1 Motion Picture Herald (นักแสดงชาย)
  • Joan Crawford ติดอันดับ #8 Quigley Poll, #5 Motion Picture Herald (นักแสดงหญิง)
  • Wallace Beery ติดอันดับ #2 Quigley Poll, #2 Motion Picture Herald (นักแสดงชาย)
  • Lionel Barrymore ติดอันดับ #10 Quigley Poll, #6 Motion Picture Herald (นักแสดงชาย)

เอาแค่ห้านักแสดงที่ต่างติดอันดับ Top10 ของทั้งสองชาร์ทนักแสดงแห่งปี! ผมว่ามันก็เพียงพอให้เรียก Grand Hotel (1932) ว่าคือภาพยนตร์รวมดารา (Ensemble Cast) อีกทั้งความสำเร็จรายรับ รวมถึงคว้ารางวัล Oscar: Best Picture ถือว่าจุดประกายหนังแนวนี้ให้ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Hedwig ‘Vicki’ Baum (1888-1960) นักเขียนหญิงสัญชาติ Austrian เรียกตัวเองว่า “New Woman” ล้มเหลวกับการแต่งงานสองครั้ง จึงเลือกใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาบุรุษ เขียนนวนิยายเล่มแรกตอนอายุ 31 จากนั้นก็มีผลงานใหม่ๆวางขายทุกๆปีรวมกว่า 50+ เล่ม

สำหรับผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดของ Baum ก็คือ Menschen im Hotel (1929) แปลว่า People in the Hotel หลังจากวางจำหน่ายไม่นานกลายเป็น Best-Selling แล้วได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีภาษาเยอรมัน กำกับโดย Max Reinhardt ทำการแสดงยังกรุง Berlin เมื่อปี ค.ศ. 1929

เกร็ด: ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Menschen im Hotel (1929) จุดประกายนวนิยายแนว ‘hotel novel’ แพร่หลายไปทั่วโลก

เมื่อนวนิยายได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Geoffrey Bles ค.ศ. 1930 โปรดิวเซอร์ Irving Thalberg ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ทันทีสูงถึง $13,000 เหรียญ แล้วมอบหมาย William A. Drake (1899-1965) ดัดแปลงเป็นละครเวที Broadway ทำการแสดงยัง National Theatre ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1930 จำนวน 459 รอบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

I thought Menschen im Hotel was a brilliant novel, and I knew that it would make a great film. The characters were complex and interesting, the story was compelling, and the setting was perfect.

Irving Thalberg

ความสำเร็จของ Broadway ทำให้ Thalberg ต้องการพัฒนาต่อเป็นโปรเจคภาพยนตร์ โดยใช้บทของ Drake รวมกับ Béla Balázs และมอบหมายผู้กำกับในสังกัด Edmund Goulding

Edmund Goulding (1891-1959) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Feltham, Middlesex เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง เขียนบท กำกับละครเวทีที่ West End จากนั้นอาสาสมัครทหารสงครามโลกครั้งหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บจึงอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องแต่กลับมีโอกาสแสดงหนังเงียบ Three Live Ghosts (1922) จากนั้นเข้าร่วมสตูดิโอ MGM ทำงานเขียนบทหนัง The Broadway Melody (1929), กำกับภาพยนตร์ดังๆ อาทิ The Trespasser (1929), Grand Hotel (1932), The Dawn Patrol (1938), Dark Victory (1939), The Razor’s Edge (1946), Nightmare Alley (1947) ฯ

I was drawn to Grand Hotel because it was a story about people from all walks of life who came together in a single place, a grand hotel.

Edmund Goulding

นำเสนอเรื่องราว 3 วัน 2 คืนของบรรดาผู้เดินทางมาพักอาศัยโรงแรมหรู Grand Hotel ตั้งอยู่ ณ กรุง Berlin เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ แต่ประเดี๋ยวทุกสิ่งอย่างก็พานผ่านไป ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น

People coming, going. Nothing ever happens.

คำกล่าวของหนึ่งในผู้พักอาศัย Doctor Otternschlag

แขกเหรื่อที่เดินทางมาเข้าพักอาศัยในสุดสัปดาห์นี้ ตัวละครหลักๆมีทั้งหมดห้าคน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันโดยไม่รับรู้ตัว ประกอบด้วย

  • Baron Felix von Gaigern (รับบทโดย John Barrymore) ดูเป็นคนใจกว้าง อัธยาศัยดีงาม ชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แต่แท้จริงแล้วคือนักต้มตุ๋น (Con Artist) วางแผนโจรกรรมเครื่องประดับของนักเต้นสาว Grusinskaya โดยไม่รู้ตัวกลับถูกเธอขโมยหัวใจ ซะงั้น!
  • Elizaveta Grusinskaya (รับบทโดย Greta Garbo) นักเต้นสาวชาวรัสเซีย เป็นคนขี้เหงา เอาแต่ใจ ชอบทำตัวหัวสูง จมปลักอยู่ในโลกมายา ปากบอกว่าต้องการอยู่คนเดียว แท้จริงแล้วโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย บังเอิญพบเจอ Baron Gaigern ระหว่างกำลังเข้ามาโจรกรรมเครื่องประดับ กลับกลายเป็นตกหลุมรัก เฝ้ารอคอยวันพรุ่งนี้จะได้ขึ้นรถไฟไปฮันนีมูนร่วมกัน
  • General Director Preysing (รับบทโดย Wallace Beery) เดินทางมาต่อรองธุรกิจอะไรสักอย่าง แต่ถูกทาง Manchester ล้มเลิกแผนควบรวมกิจการ ถึงอย่างนั้นเขากลับยังดื้อรั้น ดึงดัน ไม่สนห่าเหวอะไร และเวลาว่างๆก็พยายามเกี้ยวพาราสีนักพิมพ์ดีดสาว Flaemmchen หวังครอบครอบ สนองตัณหา
  • Flaemmchen (รับบทโดย Joan Crawford) นักพิมพ์ดีดสาว มีความละอ่อนวัย ดูสวยใสไร้เดียงสา ในตอนแรกเกิดความสนใจ Baron Gaigern ต่อมาถูก Preysing พยายามฉกฉวยโอกาส แต่สุดท้ายเธอกลับตัดสินใจเลือก Otto Kringelein พากันออกเดินทาง ใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หร่าอะไรใคร … ไม่ต่างอะไรกับ ‘Gold Digger’
  • Otto Kringelein (รับบทโดย Lionel Barrymore) นักบัญชีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าล้มป่วยหนัก ใกล้เสียชีวิตในอีกไม่กี่วัน ทำให้จากเคยก้มหน้าก้มตาทำงานบริษัทของ Preysing มาวันนี้จับจ่ายใช้สอย ปล่อยตัวปล่อยใจ ปล่อยชีวิตไม่ยี่หร่าอะไรใคร

Greta Garbo ชื่อจริง Greta Lovisa Gustafsson (1905 – 1990) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Södermalm, Stockholm วัยเด็กเป็นคนเพ้อฝัน ไม่ชอบโรงเรียน แต่มีศักยภาพผู้นำ ตอนอายุ 15 ระหว่างทำงานในห้างสรรพสินค้าชื่อ PUB ได้เป็นนางแบบขายหมวก ถูกแมวมองชักชวนมาถ่ายทำโฆษณาเสื้อผ้าหญิง แล้วเข้าตาผู้กำกับ Erik Arthur Petschler แสดงหนังสั้นเรื่องแรก Peter the Tramp (1922), นั่นเองทำให้เธอตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Royal Dramatic Theatre’s Acting School, Stockholm เริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานของ G. W. Pabst เรื่อง Die freudlose Gasse (1925), เซ็นสัญญากับ Louis B. Mayer มุ่งหน้าสู่ Hollywood ผลงานเด่นๆช่วงหนังเงียบคือ Torrent (1926), The Temptress (1926), Flesh and the Devil (1926), A Woman of Affairs (1928), ก้าวข้ามผ่านยุคหนังพูด Mata Hari (1931), Grand Hotel (1932), Queen Christina (1933), เข้าชิง Oscar: Best Actress ทั้งหมด 3 ครั้ง Anna Christie (1930) กับ Romance (1930)**เข้าชิงปีเดียวกัน, Camille (1936), Ninotchka (1939)

เกร็ด: Greta Garbo ติดอันดับ 5 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends

รับบทนักเต้นบัลเล่ต์ Elizaveta Grusinskaya ชาวรัสเซีย เคยประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ปัจจุบันความนิยมเริ่มเสื่อมถดถอย (ตามกาลเวลา) เลยเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยานักเต้นหน้าใหม่ แล้วเกิดอาการหลงผิด ไม่สามารถยินยอมรับสภาพเป็นจริง อีกทั้งการต้องต่อสู้ดิ้นรนเพียงลำพัง ไร้บุคคลเคียงข้างกายคอยให้การพึ่งพักพิง เมื่อได้พบเจอ Baron Gaigern ทำให้โลกสวยสดใส ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

ด้วยความที่ Garbo เป็นชาว Swedish แต่ต้องมารับบทหญิงสาวชาว Russian เลยทำให้ถูกตั้งข้อครหาอย่างรุนแรง สำเนียงเสียงพูดก็ฟังไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ แต่เรื่องพรรค์นี้ในยุคสมัยนั้นไม่มีสตูดิโอไหนสนใจกัน เพราะเธอคือ Superstar อันดับหนึ่งแห่งทศวรรษ! ไม่ว่าจะบทบาทไหนย่อมประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

หลายคนอาจรับรู้สึกว่าบทบาทนี้ของ Garbo ช่างมีความเหนือจริง Over-Acting จับต้องไม่ได้ แต่นั่นคืออาการป่วยจิต หลงตนเอง จมปลักอยู่ในโลกมายาของตัวละคร ทุกท่วงท่า สีหน้า อิริยาบท เต็มไปด้วยการปั้นแต่ง เว่อวังอลังการ (คล้ายการแสดงยุคหนังเงียบ) ราวกับเป็นบุคคลสูงส่ง นางฟ้าบนสรวงสวรรค์ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอาจเอื้อมมือไขว่คว้า เติมเต็มความต้องการของหัวใจ

Miss Garbo is superb as the fading ballerina, Grusinskaya. She gives a performance of great intensity and passion, and she captures the character’s loneliness and despair with great skill.

นักวิจารณ์ Mordaunt Hall จาก The New York Times

Garbo gives a performance of such depth and power that it is impossible to look away.

นักวิจารณ์ Edwin Schallert จาก The Hollywood Reporter

แม้ยังอีกหลายปีกว่าที่ Garbo จะเกษียณตัวออกจากวงการ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากตัวละคร รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย อยากไปใช้ชีวิตอย่างสงบ ตัวคนเดียว “I want to be alone.” ซึ่งเธอก็ไม่เคยแต่งงาน-มีบุตรด้วยนะครับ

เกร็ด: “I want to be alone”. ติดอันดับ 30 ของ AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes

John Barrymore ชื่อจริง John Sidney Blyth (1882-1942) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน น้องชายของ Lionel Barrymore เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania วัยเด็กเพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นจิตรกร แต่ก่อนจำใจเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงตามรอยพี่ชาย โด่งดังกับโปรดักชั่นละครเวที Justice (1916), Richard III (1920), Hamlet (1922) จนได้รับฉายา “greatest living American tragedian” ตามมาด้วยหนังเงียบ Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1920), Sherlock Holmes (1922), The Sea Beast (1926) พอเปลี่ยนมายุคหนังพูด (Talkie) ก็ยังคงประสบความสำเร็จกับ Grand Hotel (1932), Twentieth Century (1934), Midnight (1939) ฯ

รับบท Baron Felix von Gaigern ดูเป็นคนใจกว้าง อัธยาศัยดีงาม แอบอ้างทำตัวเหมือนผู้ดีมีสกุล แท้จริงแล้วคือนักต้มตุ๋นหลอกลวง (Con Artist) วางแผนโจรกรรมเครื่องประดับนักเต้นสาว Grusinskaya แต่โดยไม่รู้ตัวกลับถูกเธอขโมยหัวใจ เกิดความปรารถนาในรัก ต้องการครอบครองคู่อยู่ร่วม น่าเสียดายเพราะเงินตัวเดียว ทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลายลง

คนน้อง Barrymore (โด่งดังกว่าพี่ชาย) ถือเป็นนักแสดงระดับ Superstar อันดับหนึ่งแห่งทศวรรษนั้น! แม้อายุย่างเข้า 40 ปี ยังรูปหล่อ คารมเป็นต่อ เต็มไปด้วยมารยาเสน่ห์ วางมาดผู้ดี สาวๆกรี๊ดสลบ เคมีเข้าขากับ Garbo (ขณะนั้นอายุ 26-27) ราวกับเจ้าชายขี่ม้าขาว … แอบชวนให้นึกถึง John Gilbert อยู่เล็กๆ

แต่ความโดดเด่นของ Barrymore ที่ทำให้ได้รับฉายา ‘greatest tragedian’ และ ‘great profile’ เพราะมักเลือกบทบาทที่ซับซ้อน ถ่ายทอดความรู้สึกขัดแย้งภายใน ทุกสิ่งอย่างพบเห็นล้วนคือการปรุงแต่ง สร้างภาพ (รวมถึงศักดินา Baron บลา บลา บลา ก็น่าจะชื่อปลอมทั้งนั้น) แท้จริงแล้วเป็นนักต้มตุ๋น ลวงล่อหลอกให้ผู้อื่นตายใจ ไม่ได้อยากลักขโมยสิ่งของผู้ใด แต่หนี้สินต้องชดใช้ โชคชะตาจึงนำพาให้ประสบเหตุโศกนาฎกรรม

Barrymore is magnificent as the Baron, a man who is both a cynic and a romantic. He gives a performance of great range and subtlety.

นักวิจารณ์ Mordaunt Hall จาก The New York Times

Barrymore is simply mesmerizing as Gaigern, the charming and debonair aristocrat who is also a con artist and jewel thief.

นักวิจารณ์ Edwin Schallert จาก The Hollywood Reporter

Joan Crawford ชื่อเดิม Lucille Fay LeSueur (1904 – 1977) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Antonio, Texas บิดาแท้ๆทอดทิ้งเธอไปไม่กี่เดือนหลังคลอด มารดาแต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงทำงานอยู่ Opera House ทำให้เกิดความชื่นชอบหลงใหลด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เคยทำงานสาวเสิร์ฟ เซลล์เกิร์ล ก่อนได้ขึ้นเวทียัง Winter Garden Theatre เข้าตาโปรดิวเซอร์ Harry Raph จับเซ็นสัญญาสตูดิโอ M-G-M มุ่งหน้าสู่ Hollywood ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เริ่มจากบทสมทบเล็กๆ The Circle (1925), The Merry Widow (1925), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Sally, Irene and Mary (1925) ติดหนึ่งใน WAMPAS Baby Stars ตามด้วย The Unknown (1927), Our Dancing Daughters (1928), การมาถึงของยุคหนังพูด ยิ่งทำให้โด่งดังยิ่งขึ้นกว่าเดิม Untamed (1929), Grand Hotel (1932), กระทั่งย้ายมา Warner Bros. มีผลงานชิ้นเอก Mildred Pierce (1945) คว้า Oscar: Best Actress, เด่นๆนอกจากนี้ อาทิ Possessed (1947), Sudden Fear (1952), Johnny Guitar (1954), Whatever Happened to Baby Jane? (1962) ฯ

เกร็ด: Joan Crawford ติดอันดับ 10 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends

รับบท Flaemmchen นักพิมพ์ดีดสาว (Stenographer) มีความละอ่อนวัย สวยใส ชอบทำตัวไร้เดียงสา แต่จริงๆเป็นคนเฉลียวฉลาด ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เมื่อได้ยินสมญา Baron ก็แสดงทีท่าหูพึ่ง หรือตอนได้รับการชักชวนจาก General Director Preysing พร้อมต่อรองร่วมออกเดินทางโดยไม่หวงเนื้อหวงตัว และสุดท้ายพบเห็นความร่ำรวยของ Otto Kringelein ก็ยินยอมไปกับเขาโดยไม่สนหน้าตา อายุ … ผู้หญิงสายพันธุ์นี้มีคำเรียก Gold Digger

ชื่อเสียงของ Crawford ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดอาจยังไม่โด่งดังเท่า Garbo (Crawford จะได้รับการจดจำมากกว่าในช่วงวัยกลางคน) แต่บทบาทของทั้งสองถือว่าแตกต่างขั้วตรงข้าม ในหนังเหมือนไม่เคยพบเจอกันด้วยซ้ำนะ

  • Garbo/Grusinskaya คือนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ ไกลเกินเอื้อม จับต้องไม่ได้
  • Crawford/Flaemmchen ดูเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ มีความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เลยเป็นที่หมายปองของใครต่อใคร

การแสดงของ Crawford ก็ดูเป็นธรรมชาติ มีความสมจริง จับต้องได้มากกว่า และที่สุดยอดก็คือธาตุแท้ตัวตน หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าเธอคือนักขุดทอง (Gold Digger) พร้อมละทอดทิ้งชายคนหนึ่ง สู่ชายอีกคนหนึ่ง โดยไม่สนอายุ หน้าตา ขอแค่มีเงิน สามารถตอบสนองความต้องการ ได้หมดถ้าสดชื่น!

Miss Crawford is surprisingly good as Flaemmchen, the ambitious young stenographer… She is a little more hard-bitten than I thought she would be, but she is also more vulnerable, and her scenes with Beery are excellent.

นักวิจารณ์ Frank S. Nugent จาก The New York Times

Wallace Fitzgerald Beery (1885-1949) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Clay County, Missouri วัยเด็กมีความสนใจด้านดนตรี แต่ไม่ชอบเรียนหนังสือเลยลาออกมาทำงาน อายุ 16 หลบหนีออกจากบ้านเข้าร่วมคณะละครสัตว์ Ringling Brothers Circus เป็นผู้ช่วยฝึกช้าง แต่ก็ลาออกสองปีถัดมาเพราะถูกเสือดาวข่วน จากนั้นมุ่งสู่ New York City กลายเป็นนักแสดงตัวประกอบ Broadways กระทั่งการมาถึงของวงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญา Essanay Studios เริ่มจากเป็นนักแสดงตลก ไปๆมาๆอาจเพราะใบหน้าอันน่าเกรงขาเลยได้รับบทผู้ร้าย ผลงานเด่นๆ อาทิ The Four Horsemen of the Apocalypse (1920), The Last of the Mohicans (1920), Robin Hood (1922), The Sea Hawk (1924), The Lost World (1925), Beggars of Life (1928), คว้ารางวัล Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Champ (1930)

รับบท General Director Preysing ผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่งที่อังกฤษ เดินทางสู่ Grand Hotel เพื่อต่อรองธุรกิจอะไรสักอย่าง แต่ถูกต้นสังกัดล้มเลิกแผนควบรวมกิจการ ถึงอย่างนั้นเขากลับยังดื้อรั้น ดึงดัน พยายามโน้มน้าว ล่อหลอกบริษัทคู่ค้า เพื่อให้ได้ข้อตกลง/ลายเซ็นต์ โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ปากอ้างว่าซื่อสัตย์ภรรยา กลับสิเน่หานักพิมพ์ดีดสาว Flaemmchen ต้องการจะครอบครอง ตอนบสนองตัณหา

นี่ถือเป็นตัวละคร ‘stereotype’ ของ Beery มีความอึดถึก ดื้อรั้น บ้าพลัง (Alpha Male) อุปนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ปฏิเสธโอนอ่อนผ่อนปรน ไม่เคยสนความรู้สึกผู้อื่นใด เพิ่มเติมคือพฤติกรรมโฉดชั่ว คอรัปชั่น พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเติมเต็มความปรารถนา ตอบสนองตัณหาราคะ

แต่เมื่อไหร่เรื่องเลวร้ายบังเกิดขึ้นกับตนเอง (ได้รับโทรเลขจากต้นสังกัดให้ล้มเลิกการควบรวมกิจการ หรือหลังจากเข่นฆาตกรรม Baron Gaigern) ก็แสดงอาการพูดไม่ออกบอกไม่ถูก อ้ำๆอึ้งๆ สีหน้าซีดเผือก ไม่รู้จะทำอะไร เลยพยายามดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอด สุดท้ายไม่สามารถหลบหนีพ้น แล้วผลกรรมเคยทำไว้ล้วนติดตามทัน

Beery is magnificent as the ruthless and demanding General Director Preysing. He gives a performance of such power and intensity that it is impossible to look away. His eyes gleam with suppressed fury, and his voice is like a whiplash when he is angered. But he can also be tender and compassionate, as when he tries to comfort the dying Kringelein.

นักวิจารณ์ Mordant Hall จาก The New York Times

Lionel Barrymore ชื่อเดิม Lionel Herbert Blythe (1878 – 1954) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน พี่ชายของ John Barrymore เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania พ่อ-แม่เป็นจิตรกร แต่ตัวเขาเติบโตขึ้นกับทวดที่เป็นนักแสดง เลยถูกบังคับให้เป็นเล่นละครเวทีตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ D. W. Griffith มีผลงานร่วมกันหลายเรื่อง (ส่วนใหญ่สูญหายไปแล้ว) ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดด้วยความเริ่มมีอายุสูงวัย เลยไม่ต้องดิ้นรนปรับตัวอะไรมาก คว้ารางวัล Oscar: Best Actor จากเรื่อง A Free Soul (1931), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Mysterious Island (1929), Grand Hotel (1932), Captains Courageous (1937), You Can’t Take It with You (1938), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ It’s a Wonderful Life (1946)

รับบท(อดีต)นักบัญชี Otto Kringelein จากเคยมุ่งมั่นทุ่มเททำงานบริษัทของ Preysing หลังแพทย์วินิจฉัยว่าล้มป่วยหนัก อยู่ได้อีกเพียงสามสัปดาห์ เกิดความตระหนักว่าตนเองยังไม่เคยรู้จักการใช้ชีวิต เลยตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ลาออกจากงาน ออกเดินทางมุ่งสู่ Grand Hotel จับจ่ายใช้สอย ปล่อยตัวปล่อยใจ ดื่มเหล้ามึนเมามาย หลงเชื่อว่าได้รับมิตรภาพจาก Baron Gaigern และ Flaemmchen (แท้จริงแล้วทั้งสองต่างมีลับลมคมในบางอย่าง)

ผมมีภาพจำคนพี่ Barrymore จากนายธนาคารผู้ชั่วร้ายใน It’s a Wonderful Life (1946) แต่เรื่องนี้แค่ติดหนวด สวมแว่น ก็แทบจดจำหน้าตาไม่ได้! แถมบุคลิกภาพก็มีความแตกต่างตรงกันข้าม ท่าทางรุกรี้รุกรน เต็มไปด้วยความหวาดกังวล ร้อนรน วิตกจริต บางคนอาจรู้สึกน่าหงุดหงิด สมเพศเวทนา แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่หลังรับฟังข้อเท็จจริง ล้มป่วยหนักใกล้ตาย คงเกิดความสงสารเห็นใจ

ในบรรดานักแสดงชายของหนัง ผมถือว่าคนพี่ Barrymore มีการแสดงที่ตราตรึง น่าประทับใจมากที่สุด ราวกับบ่อเงินบ่อทอง แสดงออกความต้องการตรงไปตรงมา ดึงดูดใครต่อใครตรงเข้าหาอย่างลับเลศนัย ผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ คาดหวังให้ได้พบเจอคนดีๆ ไม่ฉกฉวยโอกาส เติมเต็มช่วงเวลาหลงเหลือ/ช่องว่างภายในที่ขาดหาย

แม้ว่า Flaemmchen ในความเป็น ‘Gold Digger’ อาจไม่ใช่ผู้หญิงดูดีสักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยการแสดงออกไม่ได้ดูเสแสร้ง หรือต้องการเงินทองของอีกฝ่ายเพียงอย่างเดียว พร้อมให้ความช่วยเหลือ แสดงความเป็นห่วงเป็นใย นั่นทำให้ Kringelein รู้สึกชีวิตได้รับการเติมเต็ม ไม่สูญเสียดายเมื่อถึงเวลาตายจากไป

Barrymore’s performance is one of the most moving and unforgettable in screen history. He captures the essential pathos of the character without ever resorting to cheap sentiment.

นักวิจารณ์ John Grierson จาก The New York Sun

Barrymore’s performance is a masterpiece of understatement and suggestion; he never overplays, but he always conveys the full range of Kringelein’s emotions. A master of the glance, the gesture, the half-line, he communicates more with the smallest inflection than many actors with their full repertoire of tricks. . His Kringelein is a figure of tragic pathos, but he is never sentimentalized; he is simply a man, and a very human one.

นักวิจารณ์ James Agee จาก The Nation

ถ่ายภาพโดย William H. Daniels ตากล้องส่วนตัวของ Greta Garbo และขาประจำผู้กำกับ Erich von Stroheim ผลงานเด่นๆ อาทิ Foolish Wives (1922), Greed (1924), Flesh and the Devil (1926), Queen Kelly (1928), Ninotchka (1939), เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 4 ครั้ง Anna Christie (1930), The Naked City (1949)**คว้ารางวัล, Cat on a Hot Tin Roof (1959), How the West Was Won (1962)

งานภาพของหนังมีหลากหลายลูกเล่นที่ถือว่าน่าสนใจ ทั้งการจัดแสง-ความมืด, ขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง, รวมถึงถ่ายทำแบบ Long Take ฯ จะว่าไปล้วนเป็นเทคนิคที่พยายาม ‘show off’ เน้นขายความยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้าง ให้ดูวิจิตรงดงามเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ทุกช็อตฉากของหนังถ่ายทำภายในสตูดิโอ MGM ด้วยการออกแบบงานสร้างโดย Cedric Gibbons รับอิทธิพลมาจาก Art Deco (ไม่ได้นำแรงบันดาลใจอะไรจากสถานที่จริง Grand Hotel ณ กรุง Berlin) เน้นความสวยหรู อลังการ วิจิตรศิลป์ และโดยเฉพาะบริเวณล็อบบี้ ออกแบบให้สามารถถ่ายทำได้จากทุกทิศทาง 360 องศา! … งานออกแบบฉากของหนัง ได้สร้างอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์อย่างมากๆทีเดียว

The set design for Grand Hotel was one of the most influential in film history. … It helped to define the Art Deco style, and it continues to be used by designers today.

นักวิจารณ์ John Baxter

ดูจากภาพเบื้องหลังงานสร้าง หลายคนคงตระหนักว่าสตูดิโอ MGM ไม่น่าจะมีเพดานสูงสำหรับถ่ายมุมก้มลงมาจากเบื้องบน แต่ภาพยนตร์คือศาสตร์มายากลที่สามารถซ้อนภาพ รวมถึงเทคนิค Matte Painting สำหรับลวงหลอกตาผู้ชม

การออกแบบภายใน Grand Hotel ให้มีลักษณะวงกลม สามารถสื่อถึงโลกใบนี้ที่ก็มีลักษณะทรงกลม! ส่วนพื้นชั้นล่างสลับลายขาว-ดำ (มีความละลานตา ราวกับภาพลวงตา) จะมองว่าคือด้านดี-ชั่ว ภายนอก-ใน สองสิ่งขั้วตรงข้ามที่คือพื้นฐานแห่งชีวิต ทุกสิ่งอย่างล้วนเวียนวน พานผ่านมาแล้วก็พานผ่านไป ‘circle of life’

William H. Daniels คือตากล้องส่วนตัวของ Greta Garbo เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขารับรู้ว่าต้องถ่ายมุมไหน จัดแสงอย่างไร ถึงทำออกมาให้เธอมีความเจิดจรัส เปร่งประกาย งดงามที่สุด!

ซึ่งคนที่สามารถทำความเข้าใจรายละเอียดแสง-เงา ย่อมมีความเพลินเพลินกับสัมผัสของแสง โดยเฉพาะซีนของ Garbo ช่วงแรกๆมักรายล้อมรอบด้วยความมืดมิด แต่หลังจากตกหลุมรัก Baron มันจะมีความฟุ้งๆ จร้าๆ ลองเปรียบเทียบสองช็อตที่ผมนำมานี้นะครับ แรกพบยามค่ำคืน vs. เช้าวันถัดมา

หลายช็อตฉากของหนังจะมีแสงภายนอกสาดส่องผ่านบานเกร็ด ทำให้พบเห็นเงาบนผนัง ลักษณะเหมือนซี่กรงขัง สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจตัวละคร ราวกับถูกจองจำ พันธนาการเหนี่ยวรั้ง ยังไม่สามารถหลบหนี ดิ้นหลุดพ้น อย่างขณะนี้ Kringelein และ Flaemmchen นั่งซึมเศร้า ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป (ภายหลังจาก Preysing เข่นฆาตกรรม Baron Gaigern)

ตัดต่อโดย Blanche Irene Sewell (1898-1949) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Oklahoma แล้วมาเติบโตที่ Idaho ตามด้วย Los Angeles, โตขึ้นเข้าทำงาน First National Pictures เป็นผู้ช่วยตัดฟีล์ม (Assistant Cutter) จากนั้นกลายได้เป็นผู้ช่วย Viola Lawrence (นักตัดต่อหญิงคนแรกของวงการภาพยนตร์) เริ่มทำงานสตูดิโอ MGM ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 มีผลงานเด่นๆ อาทิ Grand Hotel (1932), Queen Christina (1933), The Wizard of Oz (1939) ฯ

หนังดำเนินเรื่องทั้งหมดภายในโรงแรม Grand Hotel ณ กรุง Berlin ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ส่วนใหญ่จะเวียนวนอยู่บริเวณเคาน์เตอร์ ล็อบบี้ ห้องพักชั้นหนึ่ง (VIP) และห้องอาหาร นำเสนอพานผ่านหลากหลายตัวละคร พบเจอ-พูดคุย-แยกจาก มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใยแมงมุม

ผมขอแบ่งหนังออกตามระยะเวลา 3 วัน 2 คืน แล้วกันนะครับ

  • วันแรก
    • อารัมบท แนะนำตัวละครต่างๆ พูดคุยโทรศัพท์ และเช็คอินเข้าห้องพัก
    • เรื่องวุ่นๆวายๆของ Otto Kringelein กับการเช็คอินเข้าห้องพัก ได้รับรู้จัก Baron Gaigern อาสาให้ความช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส
    • เมื่อนักพิมพ์ดีดสาว Flaemmchen เดินทางมาถึง ถูกเกี้ยวพาโดย Baron Gaigern ก่อนเริ่มทำงานกับ General Director Preysing
    • นักเต้นสาว Grusinskaya รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต ไม่อยากไปทำการแสดง แต่ก็ถูกโน้มน้าวจนยินยอมออกเดินทาง
    • ดึกดื่น Baron Gaigern สบโอกาสปีนป่ายเข้าทางหน้าต่าง แอบเข้าห้องพัก Grusinskaya เตรียมลักขโมยเครื่องประดับ แต่เธอดันหวนกลับมาก่อน
    • หลังจากพบเห็นสภาพของ Grusinskaya ทำให้ Baron Gaigern ตัดสินใจเปิดเผยตนเอง พยายามโน้มน้าว เกี้ยวพาราสี แสดงออกว่าตกหลุมรัก
  • วันที่สอง
    • ตั้งแต่เช้าจรดเย็น General Director Preysing ต่อรองธุรกิจจนแล้วเสร็จ จากนั้นชักชวน Flaemmchen ร่วมออกเดินทางกลับอังกฤษ
    • Baron Gaigern เกี้ยวพาราสี Grusinskaya จนเธอมีรอยยิ้มสดชื่น เย็นวันนั้นตัดสินใจหวนกลับไปทำการแสดง เฝ้ารอคอยจะได้พบเจอเขาอีกครั้ง
    • หลังเลิกงาน Flaemmchen ได้พบเจอ Baron Gaigern แต่เขากลับสารภาพว่าตกหลุมรักหญิงสาวอีกคน (Grusinskaya)
    • Baron Gaigern ยังคงมีปัญหาเรื่องการเงิน จึงชักชวน Otto Kringelein ร่วมเล่นการพนัน แต่กลับเป็นตนเองที่หมดตัว
    • ค่ำวันนั้น Flaemmchen เข้าพักในโรงแรม Grand Hotel เพื่อเตรียมตัวออกเดินทางสู่อังกฤษร่วมกับ General Director Preysing
    • ดึกดื่น Baron Gaigern เข้ามาลักขโมยเงินในห้องพักของ General Director Preysing เลยถูกฆาตกรรมปิดปาก แล้วเรื่องวุ่นๆวายๆก็บังเกิดขึ้น
    • Grusinskaya เดินทางกลับมาถึงโรงแรม เฝ้ารอคอยจะได้พบเจอ Baron Gaigern
  • วันที่สาม
    • General Director Preysing ถูกตำรวจควบคุมตัว
    • Grusinskaya ออกเดินทางด้วยความคาดหวังจะได้พบเจอ Baron Gaigern
    • และ Flaemmchen ร่วมออกเดินทางไปกับ Otto Kringelein เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

มันเป็นความน่ามหัศจรรย์ของการดำเนินเรื่อง ที่สามารถเชื่อมโยงหลากหลายตัวละคร/เรื่องราวเข้าด้วยกัน สำหรับคนช่างสังเกตจักพบเห็นจุดเชื่อมโยงอยู่เป็นระยะๆ ลักษณะคล้ายๆการส่งไม้ผลัด บางครั้งแค่เดินสวนทางก็สลับสับเปลี่ยนมุมมองเรื่องราว


สำหรับเพลงประกอบยกเว้น Opening Credit แต่งขึ้นใหม่โดย William Axt นอกนั้นจะเป็นบทเพลงคลาสสิก ดังล่องลอยมาจากสักแห่งหนไหน (น่าจะเป็นบทเพลงจากวิทยุ/แผ่นเสียงที่โรงแรมเปิดบริเวณล็อบบี้) ในลักษณะ ‘diegetic music’ ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของ Johann Strauss ซึ่งเน้นสร้างความผ่อนคลาย เบาสบาย ฟังแล้วนอนหลับสบาย

  • Johann Strauss: The Blue Danube (1867)
    • ดังขึ้นบ่อยครั้งบริเวณล็อบบี้
  • Johann Strauss: Morning Papers (1862)
  • Johann Strauss: Artist’s Life (1867)
  • Sergei Rachmaninoff: Piano Concerto No.2 in C minor, Op. 18, Mvt. III (1901)
    • ปลุกตื่น Grusinskaya ขึ้นมายามเย็น
  • Johann Strauss: Tales from the Vienna Woods (1868)
    • Grusinskaya และคณะกำลังออกเดินทางไปยังโรงละครเวที
  • Rudolf Sieczynski: Vienna, City of My Dreams
    • เมื่อตอน Baron Gaigern เปิดเผยตกเองกับ Grusinskaya
  • Edvard Grieg: Jeg Elsker Dig (Ich Liebe Dich) (1864)
    • ขับร้องโดย Greta Garbo ระหว่างอยู่ในห้องพัก
  • Noel Gay: The King’s Horses
    • Kringelein กำลังมึนเมาอยู่ในห้องตัวคนเดียว
  • Alfons Czibulka: Love’s Dream after the Ball
    • ดังขึ้นในบาร์ภายหลังจาก Grusinskaya มีเรื่องกับ Preysing

บทเพลงเหล่านี้ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ไม่ให้ผู้ชมเกิดความตึงเครียด เงียบสงัดจนเกินไป (มันยังเป็นข้อจำกัดในยุคสมัยเปลี่ยนผ่านหนังเงียบสู่หนังเสียง ว่าบทเพลงต้องดังจากแหล่งกำเนิดอะไรสักอย่าง) และบางครั้งยังเลือกบทเพลงที่มีท่วงทำนองสอดคล้อง กลมกลืนเข้ากับเหตุการณ์ขณะนั้นๆ

I wanted to create a film that would be a microcosm of society, with characters from all walks of life intersecting at the Grand Hotel. I thought an ensemble cast would be the best way to achieve this.

Edmund Goulding

โรงแรมหรู Grand Hotel (1932) คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ ผู้คนมากมายพานผ่านมาแล้วก็พานผ่านไป ก็เหมือนโลกใบนี้ที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาและตายจากไป ซึ่งเรายังสามารถเปรียบเทียบระดับจุลภาคของสังคม (microcosm of society) แต่ละตัวละครสามารถเป็นตัวแทนกลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้

  • Baron Gaigern ตัวแทนชนชั้นสูง ผู้ดีมีสกุล (Aristocratic) แต่แท้จริงแล้วคือนักต้มตุ๋น หลอกลวงผู้คน
  • General Director Preysing ตัวแทนนายทุน เจ้าของกิจการ ผู้บริหารบริษัท (Bourgeois/Upper-Middle Class) พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ตอบสนองตัณหา โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว วิธีการคอรัปชั่นประการใด
  • Otto Kringelein พนักงานบัญชี ชนชั้นกลาง (Lower-Middle Class) ก้มหน้าก้มตาทำงานตามคำสั่งหัวหน้า จนกระทั่งวันใกล้ตายค่อยสามารถตระหนักถึงความจริง ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างไม่ยี่หร่าอะไร
  • Grusinskaya ตัวแทนศิลปิน นักแสดง (Artists) ลุ่มหลงในชื่อเสียง เงินทอง จมปลักอยู่ในมายาคติ โหยหาใครสักคนสำหรับเป็นที่พึ่งพักพิง
  • Flaemmchen ตัวแทนชนชั้นทำงาน (Working Class) โหยหาเงินทอง บุคคลร่ำรวย พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสุขสบาย เติมเต็มความต้องการของจิตใจ

จริงๆยังมีตัวละครหมอ Dr. Otternschlag, พนักงานโรงแรม, คนรับใช้ของ Grusinskaya ฯ ซึ่งก็สามารถเป็นตัวแทนกลุ่มบุคคลต่างๆในสังคมเช่นกัน แต่เนื่องจากมิได้มีความสลักสำคัญต่อเนื้อเรื่องราวสักเท่าไหร่ จึงขอไม่กล่าวถึงนะครับ

จะว่าไปแทบทุกตัวละครล้วนมีด้านดี-ชั่ว ภายนอกสร้างภาพ/แสดงออกให้ดูดี ปกปิดซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างไว้ภายใน … นี่เป็นการสะท้อนสภาพความเป็นจริงของโลกใบนี้ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักรู้ ครุ่นคิดถึงสถานะตนเอง ฉันอยู่ตรงไหน มีบทบาทอะไร เข้าใจมุมมองบุคคลอื่น และรู้จักสังคมมากน้อยเพียงไหน

ในบรรดาตัวละครทั้งหมด เรื่องราวของ Otto Kringelein น่าจะเข้าถึงผู้ชมส่วนใหญ่ (ที่เป็นชนชั้นกลาง) พนักงานบริษัททำงานงกๆ แทบไม่มีเวลาว่าง แสวงหาความสุขใส่ตน ต้องรอจนปลดเกษียณ แพทย์วินิจฉัยป่วยใกล้ตายก่อนหรือไร ถึงสามารถปลดปล่อยตนเอง กระทำสิ่งตอบสนองเสียงเรียกร้องหัวใจ

I wanted Grand Hotel to be a film that would give people hope. I wanted them to see that even in the midst of tragedy, there is always hope for redemption and new beginnings.

ความหรูหราอลังการของโรงแรม Grand Hotel ชวนให้ผมนึกถึง The Great Gatsby และยุคสมัย Roaring Twenties แห่งความฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย ผู้คนจับจ่ายใช้สอย ปลดปล่อยชีวิตอย่างไม่ยี่หร่าอะไร ซึ่งนั่นสะท้อนกระแสนิยม Hollywood และอาจรวมถึงผู้กำกับ Goulding ด้วยกระมัง

ผู้กำกับ Goulding แม้ทำหนังประสบความสำเร็จมากมาย ได้รับการยินยอมรับจากผู้ชมทั่วไป แต่เบื้องหลังมีรสนิยมทางเพศ ‘bisexual’ เลื่องชื่อใน Hollywood ว่าชอบจัดกิจกรรม Sex Party และ Casting Couch (จินตนาการเอาเองนะครับว่ามันคืออะไร) นั่นทำให้ผมครุ่นคิดว่าภาพยนตร์ Grand Hotel (1932) ที่ทำการรวบรวมดาวดาราดัง พักอาศัยในม่านรูดโรงแรมหรู ผู้คนพานผ่านมาแล้วก็พานผ่านไป อาจแฝงนัยยะอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องพรรค์นี้ (คือผมก็ไม่อยากเขียนอธิบาย เอาไปครุ่นคิดต่อเองแล้วกัน)


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Astor Theatre, New York City วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 เสียงตอบรับถือว่าดีล้นหลาม ด้วยทุนสร้าง $750,000 เหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $1.359 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $2.594 ล้านเหรียญ ทำกำไรงามๆกว่า $947,000 เหรียญ

นอกจากนี้หนังยังคว้ารางวัล Academy Award for Outstanding Production เรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ด้วยการเข้าชิงเพียงสาขาเดียวเท่านั้น!

Grand Hotel is a brilliant picture, one of the best of the year. It is a superb example of ensemble acting, with all the parts well played and beautifully fitted together, and it is a brilliant example of screen craftsmanship.

นักวิจารณ์ B.R. Crisler จาก New York Times

Grand Hotel is a corking picture, with a cast that is practically perfect, a story that is simple and well told, and a production that is lavish and beautiful.

นักวิจารณ์ Mordaunt Hall ตีพิมพ์ลง Vareity (Hall เขียนบทความลงทั้ง New York Times และ Variety)

Grand Hotel is the original Ocean’s Eleven for its star power, and like Gosford Park for its dense structure that tells the stories. Most importantly, the film holds up better today than it should.

Well, Grand Hotel would be a good place to start connecting with old-fashioned Hollywood. Made in 1932, the pacing is quick, the acting is eloquent and the stories are actually interesting. It’s pure theatricality. But ‘Hotel’ lasted thanks to its simplicity, and the star power doesn’t hurt either. This is grand, old Hollywood captured on film.

นักวิจารณ์ Blake Goble จาก The Michigan Daily ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2009

ผมแอบแปลกใจเล็กๆว่าทำไม Blu-Ray คุณภาพ 2K เมื่อปี ค.ศ. 2013 ถึงจัดจำหน่ายโดยสตูดิโอ Warner Bros. ลองค้นหาข้อมูลก็พบว่าลิขสิทธิ์เฉพาะ Home Entertainment (DVD/Blu-Ray) ถูกขายให้ WB เมื่อปี ค.ศ. 2012 มูลค่าสูงถึง $2 พันล้านเหรียญ!

แต่หลังจาก Amazon ควบรวมกิจการ MGM เมื่อปี ค.ศ. 2022 มูลค่า $8.5 พันล้านเหรียญ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำให้ Warner Bros. สูญเสียลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย Home Entertainment หรือเปล่านะครับ

สมัยก่อนเวลาดูหนังรวมดารา ผมก็มักสนใจแต่นักแสดงที่ชื่นชอบอย่าง Greta Garbo, Joan Crawford (ผมเป็นผู้ชายไง เลยไม่ค่อยสนใจนักแสดงชาย) ทั้งสองช่างมีความแตกต่างขั้วตรงข้าม เจิดจรัสเหนือจริง-นุ่มนวลจับต้องได้ แม้พวกเธอไม่เคยพบเจอพูดคุย แค่เดินสวนทาง แต่กลับสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนนักแสดงนำชาย John Barrymore, Wallace Beery, Lionel Barrymore ต่างประชันความสามารถ แข่งขันกันโดดเด่น ไม่มีใครยอมใคร ไฮไลท์ต้องมอบให้ Barrymore (คนพี่) หลายคนอาจรู้สึกน่ารำคาญ แต่เมื่อรับรู้ถึงสิ่งบังเกิดขึ้นกับตัวละคร ย่อมทำให้หลายคนเปลี่ยนความรู้สึกสงสารเห็นใจ

นอกจากการรวมดารา ผมยังชื่นชอบโปรดักชั่นงานสร้างของ Grand Hotel (1932) ทั้งการออกแบบฉากในสตูดิโอ และหลายๆช็อตที่เป็น Long-Take มันช่างดูอลังการ วุ่นวาย สมจริง รับชมในปัจจุบันยังคงความคลาสสิก

จัดเรต pg กับเรื่องวุ่นๆในโรงแรม Grand Hotel การพนัน อาชญากร ฆาตกรรม

คำโปรย | แม้โรงแรม Grand Hotel จะถ่ายทำในสตูดิโอ แต่ก็มีความหรูหรา อลังการ รวมดาวดาราเจิดจรัสจร้า ผู้คนพานผ่านมาแล้วก็พานผ่านไป
คุณภาพ | จิรัร้
ส่วนตัว | เพลิดเพลิน

ใส่ความเห็น