The Blue Kite (1993)


The Blue Kite (1993) Chinese : Tian Zhuangzhuang ♥♥♥♥

ว่าวสีฟ้าไม่สามารถต่อต้านทานกระแสแรงลม ล้วนถูกมรสุมทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่การรณรงค์ต่อต้านพวกความคิดเอียงขวา (1957-59), การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62) และการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ไม่รอดพ้นการถูกแบนห้ามฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่กลับได้รับยกย่องมาสเตอร์พีซในระดับนานาชาติ

The Blue Kite (1993) เป็นภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวบ้านๆ ธรรมดาสามัญ มารดาและบุตรชายที่ยังไม่ค่อยรับรู้ประสีประสา เติบโตขึ้นพานผ่านสามช่วงเวลาสถานการณ์การเมืองอันคลุ้มบ้าคลั่ง Hundred Flowers Campaign & Anti-Rightist Campaign (1957-59), Great Leap Forward (1958-62) และ Cultural Revolution (1966-76) ต้องการเพียงชีวิตที่เรียบง่าย สุขสบาย เป็นอยู่ปลอดภัย แต่ไฉนกลับประสบแต่เหตุการณ์อันเลวร้าย

มนุษย์โหยหาความจริง แต่ความจริงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อยากยินยอมรับ

มีภาพยนตร์สามเรื่องของผู้กำกับรุ่นห้า (Fifth Generation) สร้างขึ้นในช่วงเวลาไล่ๆเลี่ยๆกัน จับต้องประเด็นอ่อนไหวที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เลยได้รับผลกรรมแตกต่างกันไป

Farewell My Concubine (1993) กำกับโดยเฉินข่ายเกอ เพราะสามารถคว้ารางวัล Palme d’Or ทำให้หนังถูกแบนเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนทางการจีนยินยอมประณีประณอม เพียงตัดทอนบางฉากแล้วนำกลับออกฉาย เพื่อเรียกคะแนนโหวตเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2000

To Live (1994) กำกับโดยจางอี้โหมว แม้ไปคว้าหลายรางวัลจากเทศกาลหนังเมือง Cannes (Grand Prize, Best Actor, Prize of the Ecumenical Jury) กลับถูกแบนถาวรห้ามฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ (แต่ปัจจุบันเหมือนจะหารับชมได้แล้วทางออนไลน์) และผู้กำกับก็โดนใบสั่งไม่ให้ยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์นานถึง 5 ปี (แต่แค่ไม่ถึงปีก็ผ่อนปรนให้แล้ว)

แต่สำหรับ The Blue Kite (1993) อาจเพราะผู้กำกับเทียนจวงจวง เริ่มมีปัญหากองเซนเซอร์มาตั้งแต่ Unforgettable Life (1988) [หนังโดนแบน 17 ปี!] มาคราวนี้หลังถ่ายทำเสร็จ ระหว่างช่วงกระบวนการตัดต่อ มีการทดลองฉายให้หน่วยงานต่างๆจนได้ข้อสรุปว่าหนังมี ‘ปัญหา’ ขณะกำลังจะแทรกแซงไม่ให้สร้างเสร็จ โปรดิวเซอร์ลักลอบขนฟีล์มต้นฉบับไปทำ Post-Production ต่อที่ญี่ปุ่น แล้วส่งออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สร้างความไม่พึงพอใจให้ทางการจีนอย่างรุนแรง สั่งแบนถาวรห้ามฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ (ปัจจุบันก็หารับชมออนไลน์ไม่ได้) และผู้กำกับห้ามยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์นานถึง 7 ปี แบบไม่มีผ่อนปรนใดๆ

I finished shooting The Blue Kite in 1992. But while I was involved in post-production, several official organizations involved with China’s film industry screened the film. They decided that it had a problem concerning its political ‘leanings,’ and prevented its completion. The fact that it can appear today seems like a miracle… The stories in the film are real, and they are related with total sincerity. What worries me is that it is precisely a fear of reality and sincerity that has led to the ban on such stories being told.

ผู้กำกับเทียนจวงจวง

สาเหตุที่ The Blue Kite (1993) ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายขนาดนั้น เพราะผู้กำกับเทียนจวงจวง พยายามแทรกใส่การวิพากย์วิจารณ์นโยบายต่างๆของรัฐ ผ่านการแสดงออกของเด็กชาย และตัวละครอื่นๆในเชิงสัญลักษณ์ คล้ายๆภาพยนตร์ The Tin Drum (1979) ที่ไอ้เด็กเวรสามขวบมักตีกลองร้องป่าว เมื่อพบเห็น/บังเกิดปฏิกิริยาไม่พึงพอใจต่อเหตุการณ์ใดๆ … นึกถึงประเทศสารขัณฑ์ที่แค่สวมชุดไทย พิมพ์เบอร์สั่งพิซซ่าผิด ก็มีคนระริกระรี้แจ้งความหมิ่น

แต่ความทรงพลังระดับมาสเตอร์พีซของหนัง ไม่ได้เกิดจากความสลับซับซ้อนในเชิงสัญลักษณ์ คือการนำเสนอที่สุดแสนเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ บันทึกเรื่องราวความทรงจำ ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความบริสุทธิ์ใจของผู้สร้าง แต่ไฉนทางการจีนกลับไม่ยินยอมรับความจริง นั่นเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง!


เทียนจวงจวง, 田壮壮 (เกิดปี 1952) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง เป็นบุตรของนักแสดงชื่อดังเทียนฟาง, 田丰 ที่ต่อมากลายเป็นหัวหน้าสตูดิโอ Beijing Film Studio, ส่วนมารดาคือนักแสดงหญิงชื่อดังอวี้หลัน, 于蓝 ทั้งสองงานยุ่งมากจึงต้องฝากบุตรชายไว้กับคุณย่า จนกระทั่งการมาถึงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) พบเห็นพ่อ-แม่ถูกพวกยุวชนแดงทุบตีต่อหน้าต่อตา ตั้งแต่นั้นมาก็หมกตัวอยู่กับกองหนังสือ ไม่สนใจโลกภายนอก หลังเรียนจบมัธยมก็ได้เข้าร่วม ‘ปัญญาชนอาสาพัฒนาชนบท’ ที่อำเภอเจิ้นไล่ มณฑลจี๋หลิน

เกร็ด: เทียนจวงจวงเป็นเพื่อนสนิทวัยเด็กกับเฉินข่ายเกอ วิ่งเล่นในกองถ่ายด้วยกัน แต่การมาถึงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เฉินข่ายเกอเลือกสมัครเข้าร่วมยุวชนแดง กล่าวประณามบิดา-มารดา ส่วนเทียนจวงจวงติดตามครอบครัวไปยังมณฑลจี๋หลิน

แม้เกิดในครอบครัวภาพยนตร์ แต่เทียนจวงจวงก็ไม่เคยคิดติดตามรอยเท้า จนกระทั่งระหว่างอาสาสมัครกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army) ณ มณฑลเหอเป่ย อยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองงานศิลปะและการแสดง มีโอกาสพบเจอช่างภาพสงคราม ให้คำแนะนำการถ่ายรูปจนเกิดความชื่นชอบหลงใหล หลังปลดประจำการได้งานผู้ช่วยตากล้อง Beijing Agricultural Film Studio จนกระทั่ง Beijing Film Academy เปิดรับนักศึกษาใหม่ ยื่นใบสมัครต้องการเป็นช่างภาพแต่กลับถูกบังคับให้ร่ำเรียนสาขากำกับ ถ่ายทำหนังสั้นนักศึกษา Our Corner (1980) ถือว่าจุดเริ่มต้นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับรุ่นห้า (Fifth Generation)

เกร็ด: เทียนจวงจวง ได้รับเลือกเป็นประธานรุ่น Beijing Film Academy ’78 คงไม่ผิดอะไรจะกล่าวว่าคือผู้นำกลุ่มผู้กำกับรุ่นห้าด้วยเช่นกัน!

หลังสำเร็จการศึกษา ได้รับมอบหมายให้ทำงานอยู่ยัง Beijing Film Studio เริ่มจากร่วมกำกับ Red Elephant (1982), ภาพยนตร์เรื่องแรก September (1984), สารคดีแนวทดลอง On the Hunting Ground (1985), ภาพยนตร์ The Horse Thief (1986) สองเรื่องหลังแม้ไม่ประสบความสำเร็จในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เมื่อนำออกฉายต่างประเทศกลับได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม, Li Lianying: The Imperial Eunuch (1991) คว้ารางวัล Honourable Mention จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, The Blue Kite (1993) ถูกทางการจีนสั่งแบนแต่ยังแอบลักลอบนำไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้เทียนจวงจวงโดนห้ามยุ่งเกี่ยวภาพยนตร์อยู่หลายปี ก่อนหวนกลับมา Springtime in a Small Town (2002), The Go Master (2006) และผลงานทิ้งท้าย The Warrior and the Wolf (2009)

สไตล์หนังของเทียนจวงจวง มุ่งแสวงหาความเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่เน้นปรุงปั้นแต่งเรื่องราว/ตัวละครมากเกินพอดี ใช้ภาษาภาพยนตร์ในการสร้างมิติตื้นลึกหนาบาง และโดดเด่นกับมุมกล้องถ่ายภาพ (ก็แน่ละมาจากสายช่างภาพ แบบเดียวกับจางอี้โหมว)


สำหรับ The Blue Kite (1993) มีจุดเริ่มต้นจากผู้กำกับเทียนจวงจวง มีความประทับใจบทภาพยนตร์ของเหมาเสี่ยว, 肖矛 เรื่อง Someone Loves Just Me (1990) และ Bloody Morning (1992) เข้ามาพูดคุยแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องราวผ่านมุมมองเด็กชาย พานผ่านสามเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีน

Zhuangzhuang and I are about the same age as the Tietou in The Blue Kite (1993). The memory of childhood is actually a very complicated state for us children, but it is interesting that we experienced. It is very simple and happy at the time, and this feeling of suddenly dreaming is very wonderful.

นักเขียนเหมาเสี่ยว

เหมาเสี่ยวเป็นรุ่นน้องของเทียนจวงจวง ตอนเริ่มต้นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ขณะนั้นยังเรียนชั้นประถม (ส่วนเทียนจวงจวงอยู่ชั้นมัธยม) แต่ความทรงจำถึงช่วงเวลานั้นยังคงเด่นชัด พวกเขาก็ตกลงกันว่าจะไม่แตะต้องประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา เพียงนำเสนอผลกระทบ อิทธิพลต่อครอบครัว ผู้คนรอบข้าง และเหตุการณ์เคยประสบพบเห็นในช่วงเวลาดังกล่าว

When I was a child, I lived in the environment of a large courtyard, and I naturally recalled our family and living environment when we were young, as well as some past events of our relatives and neighbors. During that time, we remembered a lot of old stories and old stories. So when I think about it as an adult, I have some involuntary heart palpitations and sudden realizations, even some sadness and sadness. In the nearly one year of writing The Blue Kite, we seem to be salvaging some memories with the colander of time.

ระยะเวลาหนึ่งปีที่เหมาเสี่ยวร่วมพัฒนาบท The Blue Kite นอกจากหวนระลึกความทรงจำวัยเด็ก ยังทำให้เกิดความเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่างที่ตอนนั้นไม่รู้ประสีประสา ตระหนักถึงโชคชะตาของบุคคลเหล่านั้น มันช่างเป็นความโหดร้าย น่าเศร้าสลดเสียใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย

We can’t make one or two movies like The Blue Kite in our lifetime, because it’s too sad. This materialized environment is no longer able to allow the creation of such a film, and I cherish this cooperation from the bottom of my heart.


เรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองของเด็กชายเถี่ยเถา (แปลว่า Iron Head, หัวเหล็ก) เติบโตขึ้นพานผ่านสามครอบครัว/สามการแต่งงานของมารดาเฉินซู่เจียน (รับบทโดย ลฺหวี่ลี่ผิง) ที่ลงเอยด้วยการเป็นม่ายทั้งสามครั้งครา

  • บิดาหลินเส้าหลง (รับบทโดย ผู่ฉวนซิน) เริ่มต้นกำลังเตรียมงานแต่งงานแต่ต้องเลื่อนไปสิบวันเพราะการเสียชีวิตของ Joseph Stalin (5 มีนาคม 1953) แล้วปีต่อมาพวกเขาให้กำเนิดบุตรชายเถี่ยเถา
    • การมาถึงของการรณรงค์ร้อยบุปผา (1956-57) นำสู่การรณรงค์ต่อต้านพวกความคิดเอียงขวา (1957-59) ทำให้บิดาโดนส่งไปใช้แรงงานหนักต่างจังหวัด (ในฐานะแพะรับบาป) ประสบอุบัติเหตุระหว่างตัดต้นไม้ล้มทับเสียชีวิต
  • ลุงหลี่กั่วตง (รับบทโดย หลี่เสวี่ยเจี้ยน) ภายหลังการเสียชีวิตของบิดา เลยเดินทางมาเยี่ยมเยียนมารดาและเถี่ยเถาอยู่บ่อยครั้ง ก่อนเปิดเผยความรู้สึกผิดที่เคยใส่ร้ายป้ายสีหลินเส้าหลง ทำให้ถูกส่งไปใช้แรงงานหนักจนเสียชีวิต
    • การมาถึงของการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62) ประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง หลังลุงหลี่แต่งงานกับมารดาไม่นาน ทรุดล้มป่วยหนัก(จากโรคขาดสารอาหาร)จนเสียชีวิต
  • พ่อบุญธรรมอู๋เสี่ยวเฉิง (รับบทโดย กัวเป่าชาง) ไม่มีพิธี ไม่มีงานแต่งงาน มารดาและบุตรชายเพียงย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านหรูสองชั้น แต่ความสุขสบายก็แลกมากับความโดดเดี่ยวเดียวดาย
    • การมาถึงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ทำให้บิดาบุญธรรมรับรู้ตัวว่าอาจไม่อยู่รอดปลอดภัย เลยขอหย่าร้างภรรยา ระหว่างกำลังถูกกล่าวยุวชนแดงประณามเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ลฺหวี่ลี่ผิง, 吕丽萍 (เกิดปี 1960) นักแสดงชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง สำเร็จการศึกษาจาก Central Academy of Drama กลายเป็นนักแสดงในสังกัด Shanghai Film Studio เริ่มมีชื่อเสียงจาก Old Well (1986), No Regrets About Youth (1991), The Blue Kite (1993) ฯลฯ

รับบทเฉินซู่เจียน ทำงานเป็นครูสอนหนังสือ เพียงต้องการชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุขสบาย อยู่รอดปลอดภัยร่วมกับบุตรชาย แต่กลับต้องสูญเสียสามี แล้วพอแต่งงานใหม่อีกสองครั้งล้วนมีเหตุให้กลายเป็นหม้าย จนสุดท้ายแทบมิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป

ผมรู้สึกว่าลฺหวี่ลี่ผิง เป็นนักแสดงหน้าตาบ้านๆ ไม่ได้สวยเจิดจรัส ดูธรรมดาๆติดดิน แต่ฝีไม้ลายมือถือว่าหาตัวจับยากยิ่ง! รอยยิ้มของเธอสร้างความอบอุ่น พบเห็นแล้วรู้สึกเบิกบานหฤทัย เมื่อไหร่คิ้วขมวด สีหน้าตาบึ้งตึง ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความอึดอัดอั้น เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน รู้สึกสงสารเห็นใจ ทำไมชีวิตประสบพบเจอแต่เรื่องร้ายๆ

ในตอนแรกผมมองตัวละครนี้คือสัญลักษณ์ ‘มาตุภูมิ’ จีนแผ่นดินใหญ่ แต่งงานสามสามีก็คือสามนโยบายหลักของประธานเหมาเจ๋อตุง แต่หลังจากขบครุ่นคิดอยู่สักพัก มันก็ไม่จำเป็นต้องตีความให้ลึกซึ้งขนาดนั้น เพียงแค่หญิงสาวและมารดา ตัวแทนประชาชนทั่วๆไปที่โหยหาชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุขสบาย อยู่รอดปลอดภัย ก็เพียงพอแล้วนะครับ!


สำหรับสามี/บิดาทั้งสาม ผมขอกล่าวถึงเพียงคร่าวๆนะครับ

  • ผู่ฉวนซิน, 濮存昕 (เกิดปี 1953) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ปักกิ่ง วัยเด็กป่วยเป็นโปลิโอเลยมักโดดเพื่อนล้อเลียน จนกระทั่งอายุ 9 ขวบเข้ารับการผ่าตัดจนสามารถเดินได้เหมือนปกติ, ความที่บิดาเป็นนักแสดงชื่อดัง โตขึ้นเลยติดตามรอยเท้าบิดา ผลงานส่วนใหญ่คือละครเวที มีผลงานภาพยนตร์ประปราย อาทิ The Blue Kite (1993) ฯ
    • รับบทบิดาหลินเส้าหลง ทำงานบรรณารักษ์ห้องสมุด เริ่มต้นเป็นคนร่าเริงสนุกสนาน ก่อนแปรสภาพสู่ความเก็บกด เคร่งขรึม เพราะหลังจากเพื่อนสนิทแสดงความคิดเห็นเอียงขวา แล้วเพื่อนอีกคนโยนความผิดข้อหาดังกล่าวให้ กลายเป็นความโชคร้ายหล่นใส่ (แถมเข้าห้องน้ำไม่รู้เวลาร่ำเวลา) เลยถูกส่งตัวไปใช้แรงงานหนัก เสียชีวิตแบบไม่มีใครคาดคิดถึง
  • หลี่เสวี่ยเจี้ยน, 李雪健 (เกิดปี 1954) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ Juye County มณฑลซานตง, ช่วงระหว่างอาสาสมัครกองทัพปลดปล่อยประชาชน ได้เข้าร่วมคณะการแสดง Kongzheng Art Troupe ตามด้วย Central Experimental Theatre จากนั้นมีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Unforgettable Life (1989), The Blue Kite (1993), The Emperor and the Assassin (1998), The Go Master (2006) ฯลฯ
    • รับบทลุงหลี่กั่วตง เพราะความหวาดกลัวต่อการรณรงค์ต่อต้านพวกความคิดเอียงขวา ทำให้เขียนรายงานใส่ร้ายป้ายสีหลินเส้าหลง แม้ตนเองสามารถเอาตัวรอดพ้น แต่เพื่อนรักกลับต้องประสบอุบัติเหตุตกตาย กลายเป็นความรู้สึกผิดไม่เป็นอันกินอันนอน พยายามให้ความช่วยเหลือเฉินซู่เจียน และชอบตามใจเถี่ยเถา จนเธอยินยอมใจอ่อนตอบตกลงแต่งงาน ยังไม่ทันมีความสุขร่วมกันก็พลันจบชีวิต ล้มป่วยโรคขาดสารอาหาร
  • กัวเป่าชาง, 郭寶昌 (เกิดปี 1940) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับชาวจีน เกิดที่ปักกิ่ง ที่บ้านมีฐานะยากจน เลยเติบโตขึ้นกับครอบครัวบุญธรรม วัยเด็กชื่นชอบการเขียนนวนิยาย พอโตขึ้นได้รับโอกาสเข้าเรียนสาขาการกำกับ Beijing Film Academy ด้วยความที่เป็นคนขวาจัดเลยถูกจับคุมขัง ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่หลังจากพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว ก็ได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio มีผลงานทั้งการแสดง กำกับภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในบุคคลเบื้องหลังช่วยผลักดันผู้กำกับรุ่นห้า
    • รับบทพ่อบุญธรรมอู๋เสี่ยวเฉิง เป็นคนนิ่งเงียบ เคร่งขรึม วันๆเห็นแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน แทบไม่เคยพูดคุยกับเฉินซู่เจียน (ราวกับคนรับใช้) หรือเล่นสนุกสนานกับเถี่ยเถา (แม้ไม่ชอบหน้าสักเท่าไหร่ แต่อยู่ๆไปก็เริ่มเปิดใจอ่อน) กระทั่งวันหนึ่งรับรู้ตัวว่าอาจไม่อยู่รอดปลอดภัย เลยขอหย่าร้างภรรยา และระหว่างกำลังถูกกล่าวประณามเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ส่วนเด็กชายเถี่ยเถา ต้องชมทีมคัดเลือกนักแสดง สามารถสรรหาเด็กสามคนที่หน้าตาเหมือนกันยังกะแกะได้อย่างไร ประกอบด้วย Yi Tan (เด็กเล็ก), Zhang Wenyao (เด็กชาย) และ Chen Xiaoman (เด็กหนุ่ม) แถมแสดงนิสัยแก่นแก้ว เอาแต่ใจ ยังโคตรๆน่าประทับใจมากๆ


ถ่ายภาพโดยโฮ่วหยง, 侯詠 (เกิดปี 1960) ตากล้อง/ผู้กำกับรุ่นห้า สำเร็จการศึกษาจาก Beijing Film Academy เมื่อปี 1982 เริ่มต้นร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวง The Horse Thief (1986), The Blue Kite (1993), และผู้กำกับจางอี้โหมวเรื่อง Not One Less (1999), The Road Home (1999), Hero (2002) ฯลฯ

แน่นอนว่าชื่อหนัง The Blue Kite (1993) ก็ต้องพบเห็นน้ำเงินเข้มๆปรากฎอยู่แทบทุกช็อตฉาก (ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่) แต่เพราะมันไม่ใช่สีที่เจิดจรัส (เหมือนสีแดงหรือเหลืองทอง) และคุณภาพ DVD หารับชมได้ในปัจจุบันก็ไม่เลิศเลอสักเท่าไหร่ มันเลยรู้สึกกลมกลืนพื้นหลัง คอยสร้างบรรยากาศอึมครึม หนักอึ้ง เหมือนมีอะไรบางอย่างกดทับผู้ชม สะสมความอึดอัดอั้นไปพร้อมๆกับตัวละคร

อย่างที่อธิบายไปว่าสไตล์ของผู้กำกับเทียนจวงจวง เน้นความเรียบง่าย ธรรมดาๆสามัญ งานภาพของหนังก็ไม่ได้มีเทคนิคลูกเล่น ลีลาการนำเสนอหวือหวาประการใด แต่ก็ซุกซ่อนเร้นนัยยะเชิงสัญลักษณ์ผ่านการจัดองค์ประกอบฉาก ‘Mise-en-scène’ สำหรับชวนให้ขบครุ่นคิดไม่น้อยทีเดียว


ภาพแรก-สุดท้าย Opening-Closing Credit นำเสนอว่าวน้อยสีน้ำเงินในลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม ถ่ายตามแสง-ย้อนแสง สว่างจร้า-เงามืด โบยบินบนท้องฟ้า-หยุดนิ่งติดอยู่บนยอดไม้

นี่ไม่ใช่การ ‘ชักว่าว’ แบบหนังของคุณเจ้ย แต่คือสัญลักษณ์ของความหวัง เพ้อใฝ่ฝัน อิสรภาพโบยบิน แต่ทุกครั้งที่พบเห็นตัวละครกำลังเล่นว่าว ล้วนมีเหตุให้มันต้องแล่นมาติดบนยอดไม้ ไม่สามารถนำกลับลงมาได้ ต้องปล่อยให้พังทลาย ย่อยสลาย แล้วค่อยเริ่มต้นสร้างว่าวอันใหม่

สังเกตว่าทุกครั้งที่ว่าวน้อยติดอยู่บนยอดไม้ มักเป็นจุดเปลี่ยนนำเข้าสู่หายนะในตอนนั้นๆ ความสุขที่เคยได้รับกำลังจะสูญเสียมันไป อันเป็นผลกระทบจากอิทธิพลยุคสมัย นโยบายใหม่ๆของประธานเหมาเจ๋อตุง ครุ่นคิดขึ้นมาสำหรับพัฒนาประเทศชาติ (ให้ก้าวถดถอยหลังลงคลอง)

งานแต่งงานต้องเลื่อนไปสิบวันเพราะการเสียชีวิตของ Joseph Stalin ใครก็ไม่รู้?? นี่เป็นการใบ้ถึงวิถีชีวิตชาวจีนยุคสมัยนั้น ถูกบีบบังคับให้ต้องยุ่งเกี่ยวประเด็นการเมือง ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้เรื่อง หรือมีความเข้าใจ กลับได้รับอิทธิพล ผลกระทบ ถึงขั้นเป็น-ตาย ชิบหายวอดวาย ไร้ซึ่งความสงบสุข ไม่มีใครอยู่รอดปลอดภัย

ของขวัญวันแต่งงานของ(ลุง)หลี่กั่วตง คือปูนปั้นปลาสเตอร์ม้า แพะ และลูกแกะ นี่น่าจะเป็นการอ้างอิงถึงผลงานก่อนหน้า The Horse Thief (1986) ซึ่งเจ้าม้าคือสัตว์สัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณมนุษย์ ในบริบทนี้สามารถสื่อถึงบรรดาสามีทั้งสาม หลินเส้าหลง (ลุง)หลี่กั่วตง และอู๋เสี่ยวเฉิง ซึ่งระหว่างกำลังขับร้องเพลงแต่งงาน/สรรเสริญประธานเหมา ศีรษะของมันก็ตกหล่นคอขาด นี่มันลางบอกเหตุร้ายชัดๆ แถมแฝงอีกนัยยะโจ่งแจ้งเกินไปไหม???

สำหรับเจ้าแพะ(หรือแกะหว่า?)คือตัวแทนของภรรยา/มารดาเฉินซู่เจียน ส่วนลูกแกะเถี่ยเถาไม่รู้ทำไมถึงมีสองตัว?? อาจเป็นการอวยพรให้มีน้องสองคน แต่ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จสมหวัง

เฉินซู่เซิง (พี่ชายของเฉินซู่เจียน) คือนักบินอนาคตไกล มีแนวโน้มได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สายตากลับค่อยๆพร่ามัว ไม่สามารถเผชิญหน้าแสงแดดจร้า ซึ่งหลายครั้งหนังก็จงใจขณะเปิดประตู ทำให้แสงภายนอกดูฟุ้งๆ ขาวโพลน ทำให้เขาค่อยๆสูญเสียอนาคตจนมองไม่เห็นอะไร

แซว: ขณะที่เด็กๆทำได้แค่ละเล่นว่าว ผู้ใหญ่สามารถขับเครื่องบินไปไกลกว่า แต่สุดท้ายแล้วเฉินซู่เซิงกลับสูญเสียการมองเห็น ไม่สามารถทะยานขึ้นท้องฟ้าได้อีกต่อไป (=ว่าวติดอยู่บนยอดไม้)

ถึงผมจะอ่านข้อความไม่ออกสักคำ แต่การจัดฉากลักษณะนี้สร้างบรรยากาศช่วง Hundred Flowers Campaign (1956-57) และ Anti-Rightist Campaign (1957-59) ได้ดีนักแล! คาดว่ามันคงคือการแสดงความคิดเห็นของปัญญาชน กลายเป็นกฎกรอบห้อมล้อมโลกทัศน์ของประชาชน

ความพิลึกพิลั่นของสาธารณรัฐประชาชนจีนยุคสมัยนั้น คือเริ่มต้นออกนโยบายการรณรงค์ร้อยบุปผา, Hundred Flowers Campaign (1956-57) ตั้งใจส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย แต่เบื้องลึกกลับเป็นการล่อเสือออกจากถ้ำ นำสู่การรณรงค์ต่อต้านพวกความคิดเอียงขวา, Anti-Rightist Campaign (1957-59) เพื่อกำจัดบุคคลผู้เห็นต่างทางการเมือง … เอาจริงๆคือเกิดความขัดแย้งระดับผู้นำภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานเหมาซึ่งมีฐานเสียงมั่นคงกว่าจึงออกแคมเปญใหม่เพื่อกำจัดศัตรู(การเมือง)เหล่านั้น

นี่คือช็อตแห่งความซวยของหลินเส้าหลง เข้าห้องน้ำไม่รู้จักเวล่ำเวลา ระหว่างการประชุมเพื่อหาโควต้าส่งคนไปใช้แรงงานเกษตรกรรมต่างจังหวัด พอดิบพอดีเดินเข้าห้องประชุมช็อตนี้ กล้องถ่ายจากด้านหลัง(ของหลินเส้าหลง)เห็นผู้เข้าร่วมประชุมนั่งเรียงรายฝั่งขวา (ล้อกับชื่อช่วงเวลา Anti-Rightist อย่างตรงไปตรงมา)

แฟนสาวของเฉินซู่เซิง จากเคยเจิดจรัสนักแสดงนำละครเวที มีแนวโน้มจะได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เพราะปฏิเสธคำสั่งของหัวหน้า ต้องการเลือกดำเนินชีวิตอย่างเสรี สนองความพึงพอใจของตนเอง เลยถูกส่งไปโรงงานผลิตท่อ เปลอะเปลื้อน เกรอะกรัง แถมยังถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเอนเอียงฝั่งขวา โดนจับติดคุกติดตาราง สูญเสียสิ้นอิสรภาพ ชีวิตบัดซบโดยทันที!

การพองตัวของกบ/คางคก/อึ่งอ่าง มักเพื่อข่มขู่ศัตรูให้เกิดความหวาดกลัว มักใช้เป็นสัญลักษณ์ของการโอ้อวด (ระหว่างผสมพันธุ์ให้ตัวเมียหลงใหล) เย่อหยิ่งจองหอง หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง แต่ถ้าไม่รู้จักประมาณตนย่อมระเบิดแตกตายก็เป็นได้!

เอาจริงๆผมค่อยแน่ใจว่าฉากนี้ต้องการสื่ออะไร? เพราะมันปรากฎขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย มารดาต้องการขอโทษบุตรชายที่เข้าใจผิดเรื่องจดหมาย เลยยินยอมพับกบให้เป่าพองลม แต่มันสามารถล้อเลียนถึงรูปร่างอันอวบอ้วนของประธานเหมา รวมถึงการไม่รู้จักประมาณตนเองในหลายๆเรื่อยๆ

เฉินซู่เจียนอ่านจดหมายความตายของหลินเส้าหลง ท่ามกลางความมืดมิด ขณะนั้นไฟฟ้าดับสนิท จึงต้องเปิดไฟฉายสาดส่อง เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจตัวละครขณะนี้ได้เป็นอย่างดี! ซึ่งระหว่างนี้จะมีปรากฎภาพหลุมฝังศพ ณ ป่าเบิร์ชแห่งหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าอยู่แห่งหนไหน (น่าจะทางตอนเหนือของประเทศจีน)

เกร็ด: เบิร์ช (Birch Tree) หนึ่งในต้นไม้ประจำชาติ จิตวิญญาณของชาวรัสเซีย แม้ภายนอกดูบอบบางแต่ก็มีความแข็งแกร่งภายใน ชื่นชอบอากาศหนาวจึงเติบโตแถบอเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น จีน และหลายๆประเทศที่มีหิมะตก, ชาว Celts/Celtic เชื่อว่าคือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ของการถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่ เรียกว่าวัฎจักรชีวิตก็ได้เช่นกัน

การมาถึงของลุงหลี่กั่วตง (เมื่อเข้าสู่องก์ที่สอง) กล้องถ่ายมุมเงยย้อนพระอาทิตย์ เหมือนต้องการสื่อว่าเขาจักกลายเป็นแสงสว่างแห่งความหวังใหม่ของครอบครัว และยังช่วยทำถ่านหิน(มั้งนะ) สิ่งสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาวรอบใหม่ที่กำลังย่างกรายมาถึง

เถี่ยเถาไม่ได้ตั้งใจจะปล่อยเจ้านกกระจอก แต่มันบินออกจากมือของเขาไปเอง สามารถสื่อถึงสันชาตญาณทุกสรรพชีวิต ไม่มีใครไหนอยากโดนจับกุม คุมขัง หรือถูกควบคุมครอบงำ โดยเฉพาะถึงชาวจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ใครต่อใครย่อมโหยหาอิสรภาพชีวิต แต่น้อยนักจักสามารถดิ้นหลบหนีออกมา … ส่วนใหญ่คือลูกไก่ในกำมือ ถูกบีบก็ตาย ผ่อนคลายก็รอด

ใครเคยรับชม To Live (1994) น่าจะมักคุ้นกับการหลอมเหล็กในช่วง Great Leap Forward (1958-62) ซึ่งผมก็พยายามมองหาว่าหนังจะมีการนำเสนออะไรไหม แต่กลับไม่ปรากฎพบเจอเลยสักฉาก! นอกเสียจากเถี่ยเถากำลังเล่นกับธนูไม้ จริงอยู่มันไม่ได้ดูอันตรายใดๆ แต่ถือเป็นการวิพากย์วิจารณ์/ล้อเลียนยุคสมัยนี้ได้อย่างแนบเนียน เฉียบคมคาย!

การบริจาคเศษเหล็กเพื่อนำมาสร้างอาวุธ ฟังดูเป็นแนวคิดที่ดีแต่ความเป็นจริงแล้วมันกลับนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ (เพราะเศษเหล็กที่ได้จากการบริจาคมักมีธาตุอื่นผสมเจือปน จึงนำมาหลอมอาวุธไม่ได้!) กลายเป็นเศษขยะไร้ค่าหลายล้านตัน! เสียเวลา ไร้สาระ ไม่ต่างจากเด็กชายเถี่ยเถากำลังเล่นธนูไม้อย่างไร้ประสีประสา

ระหว่างที่ผู้ใหญ่กำลังสนทนาอะไรกันสักอย่าง เถี่ยเถาก็หยิบกล่องขึ้นมาตีฆ้องร้องเปล่า ราวกับรู้สึกไม่พึงพอใจ(เรื่องที่พวกผู้ใหญ่กำลังสนทนา) แม้เด็กชายยังไม่รู้ประสีประสา แต่มันคือการแสดงทัศนคติ/ความคิดเห็น/การวิพากย์วิจารณ์ของผู้กำกับเทียนจวงจวง (ต่อเรื่องราวที่บังเกิดขึ้น)

แซว: ฉากนี้นี่เองที่ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ The Tin Drum (1979) ไอ้เด็กเวรสามขวบนั่นชอบที่จะตีกลองเวลาไม่พึงพอใจอะไร ก็นัยยะคล้ายๆกันนี้แล

ลุงหลี่กั่วตงมาช่วยต่อท่อระบายอากาศ คงเป็นสัญลักษณ์ของการช่วยต่อลมหายใจ เพราะในช่วง Great Leap Forward (1958-62) ได้เกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (เกษตรกรถูกเกณฑ์มาหลอมเหล็ก จนต้องละทิ้งผลผลิตทางการเกษตร) อาหารการกินขาดแคลน ส่วนแบ่งที่ได้เพิ่มเติม (จากลุงหลี่) ทำให้แม่-ลูกไม่ต้องอดอยากปากแห้ง … แต่นั่นก็ให้ลุงหลี่เสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหารแทน

หลี่กั่วตง พยายามสารภาพความผิดของตนเองที่ทำให้เฉินซู่เจียนต้องสูญเสียสามีหลินเส้าหลง แม้เธอไม่ได้แค้นเคืองโกรธประการใด แต่พยายามปฏิเสธความเห็นอกเห็นใจของเขา ลุกขึ้นยืนเห็นเพียงเงา ฉันไม่ใช่ขอทาน สามารถดูแลตนเองได้ แต่เขายังคงยืนกราน ไม่นานก็เอ่ยปากขอแต่งงาน แบบงงๆ … ในช่วงเวลาที่เถี่ยเถากำลังล้มป่วย นอนซมซานอยู่บนเตียง

โคมไฟของเถี่ยเถา ผมพยายามสังเกตจนเห็นว่ามันคือรูปม้า แน่นอนว่าล้อกับ The Horse Thief (1986) ที่เคยอธิบายไปแล้วว่าคือสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณ ซึ่งหลังจากมันมอดไหม้ (เพราะถูกกลั่นแกล้งจนตกใจ) เด็กชายวิ่งกลับบ้านพบเห็นลุงหลี่ระหว่างกำลังถือถาดเกี๋ยว (dumpling) จู่ๆทรุดล้มลงเข้าโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตจากไป

แซว: มันเป็นความบังเอิญไปไหมที่ To Live (1994) ก็ใช้เกี๋ยว เป็นสัญลักษณ์แทนการเสียชีวิตในช่วงเวลา Great Leap Forward (1958-62) น่าจะเพราะมันเป็นอาหารบ้านๆของชาวจีน สื่อถึงการตายที่เสียเปล่า เสียค่าโง่

การแต่งงานครั้งที่สามของมารดา ทำให้เถี่ยเถาย้ายมาอาศัยอยู่บ้านพ่อบุญธรรมอู๋เสี่ยวเฉิง แม้มีความหรูหรา ชนชั้นกลาง แต่กลับมอบสัมผัสเวิ้งว้าง เดียวดาย หลายช็อตมักถ่ายผ่านบานประตู ราวกับมีบางสิ่งอย่างมองไม่เห็นกีดกั้นขวางความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา

เถี่ยเถาดูแล้วน่าจะเกิดอาการ ‘culture shock’ ล้อกับการกำลังมาถึงของ Cultural Revolution (1966-76) อย่างตรงไปตรงมา! ผู้ชมก็น่าจะสัมผัสได้เช่นเดียวกัน พบเห็นเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่แตกต่างขั้วตรงข้าม จากเคยมีเพียงห้องเช่าหลังเล็กๆ อาศัยอยู่ชิดใกล้มารดา สามารถวิ่งเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ พบปะผู้คนมากมาย กลายมาเป็นบ้านหลัง มีห้องส่วนตัว เริ่มเหินห่างจากมารดา (กลายสภาพเหมือนสาวใช้) ความสัมพันธ์กับบิดาบุญธรรมก็ยิ่งห่างไกล ไร้เพื่อนฝูง แทบไม่มีโอกาสรับรู้จักใครอื่น วันๆเลยต้องขลุกตัวอยู่แต่ในห้อง

แซว: ไม่รู้ทำไมพอพบเห็นบ้านหลังนี้ ชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ The Marriage of Maria Braun (1978) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder โครงสร้างเรื่องราวก็ละม้ายคล้ายๆกันด้วยนะ

เถี่ยเถาขณะนี้น่าจะมีอายุประมาณ 11-12 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มอยากรู้อยากลอง มีความสนใจทางเพศ ‘sexual curiosity’ ฉงนสงสัยว่าบิดา-มารดาทำอะไรกันอยู่ชั้นบน แม้เป็นการแสดงออกที่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา แต่มักสร้างความไม่พึงพอใจต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ชอบให้ลูกหลานมาสอดรู้สอดเห็นเรื่องทางเพศของตนเอง

นอกจากพัฒนาการทางร่างกายจากเด็กเล็กสู่วัยรุ่ย ยังมีเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม กล่าวคือพวกเขาจักเริ่มครุ่นคิดว่า ตนเองเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ใช่เด็กในปกครองของใครอีกต่อไป! ช่วงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถสะท้อนพฤติกรรมของยุวชนแดง เมื่อวัยรุ่นหนุ่ม-สาวได้รับอำนาจ อภิสิทธิ์ชน มีสิทธิ์เสียงเหนือกว่าผู้ใหญ่ สิ่งที่พวกเขาจะแสดงออกก็คือ …

เถี่ยเถาพาน้องชาย (หลานของบิดาบุญธรรม) มาเล่นว่าวยังบริเวณที่มีสภาพปรักหักพังแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถสื่อถึงสภาพประเทศจีนในช่วง Cultural Revolution (1966-76) ด้วยอุดมการณ์ “ทำลายโลกเก่า สร้างโลกใหม่” มันก็เลยหลงเหลืออยู่แค่นี้แหละ!

เถี่ยเถากลับไปเยี่ยมเยียนบ้านพักหลังเก่า มีสภาพถูกทิ้งร้าง ปรักหักพัก นี่เช่นกันสะท้อนอุดมการณ์ของ Cultural Revolution (1966-76) “ทำลายโลกเก่า สร้างโลกใหม่” และเด็กชายก็กำลังจะได้ลิ้มลองรสชาติการสูบบุหรี่เป็นครั้งแรก!

มาถึงจุดนี้ผู้ชมคงคาดเดาได้ไม่ยากว่า บิดาบุญธรรมย่อมต้องประสบโชคชะตาเดียวกับบิดาและลุง/สามีสองคนก่อนหน้า แต่ฉากนี้ผมเอาแต่จับจ้องมองสมุดปกแดง สงสัยอยู่นานว่านำมาวางไว้ทำไม ก่อนเฉลยว่าเขาซุกซ่อนเงินเอาไว้ … นั่นทำเอาผมหลุดหัวเราะลั่น

เกร็ด: คติพจน์จากประธานเหมาเจ๋อตุง เป็นหนังสือรวบรวมคำแถลงการณ์จากสุนทรพจน์ และงานเขียนอื่นๆของเหมาเจ๋อตุง เริ่มตีพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 ถึงประมาณปี ค.ศ. 1976 ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม โดยฉบับที่ได้รับความนิยมมากสุดคือการตีพิมพ์เล่มขนาดเล็ก พกพาสะดวก และปกสีแดงสด จึงมักเป็นที่รู้จักในระดับสากลว่า หนังสือเล็กแดง (Little Red Book)

ซึ่งการซุกซ่อนเงินในสมุดปกแดง บิดาบุญธรรมคงเชื่อว่าพวกยุวแดงคงไม่เปิดค้นหนังสือเล่มนี้ (เพราะราวกับหนังสือศักดิ์สิทธิ์/คัมภีร์ไบเบิ้ล เทิดทูนเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม) แต่แท้จริงแล้วมันก็แค่ถ้อยคำจอมปลอม หลอกลวง สร้างค่านิยมชวนเชื่อแบบผิดๆ จนกลายเป็นอีกความอัปยศของชาติบ้านเมือง

อิฐ คืออุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการก่อสร้างบ้าน ซึ่งมักใช้เป็นสัญลักษณ์ของการก่อสร้างประเทศชาติ(จีน) แต่เมื่อเถี่ยเถาถูกบรรดายุวแดงลุมกระทำร้าย ฉุดคร่ามารดา/บิดาบุญธรรม เขาเลยหยิบก้อนอิฐขึ้นมาทุบศีรษะใครคนหนึ่ง (ในจังหวะที่มุมกล้องถ่ายย้อนแสงอาทิตย์ด้วยนะ!) นี่เป็นการแสดงทัศนะอย่างเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง รากฐานที่ควรมั่นคงเข้มแข็ง กลับใช้เป็นอาวุธในการทำลายตนเอง มันช่างเป็นความเจิดจรัสที่มืดมิดยิ่งนัก

ตัดต่อโดย Qian Lengleng, 錢泠泠

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองเด็กชายเถี่ยเถา หวนระลึกความทรงจำโดยการเล่าจากเสียงบรรยาย (เหมือนว่าตัวละครเติบใหญ่จนสามารถรับรู้เรื่องราวทุกสิ่งอย่าง) ระหว่างเติบโตพานผ่านสามครอบครัว/สามการแต่งงานของมารดาเฉินซู่เจียน ที่ลงเอยด้วยการเป็นม่ายทั้งสามครั้งครา

  • บิดาหลินเส้าหลง
    • การรณรงค์ร้อยบุปผา, Hundred Flowers Campaign (1956-57) และการรณรงค์ต่อต้านพวกความคิดเอียงขวา, Anti-Rightist Campaign (1957-59) คือช่วงเวลาแห่งการทรยศหักหลัง อะไรๆก็สามารถบังเกิดขึ้นได้ หลินเส้าหลงไม่ได้ทำผิดอะไร ถูกใส่ร้าย และซวยชิบหาย!
  • ลุงหลี่กั่วตง
    • การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า, Great Leap Forward (1958-62) ก่อให้เกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ทำให้ข้าวยากหมากแพง นำไปสู่การเสียชีวิตด้วยของประชาชนนับล้านๆ รวมถึงลุงหลี่กั่วตงจากโรคขาดสารอาหาร
  • พ่อบุญธรรมอู๋เสี่ยวเฉิง
    • การปฏิวัติทางวัฒนธรรม, Cultural Revolution (1966-76) ช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวกล่าวประณามผู้หลักผู้ใหญ่ ทุบทำลายสิ่งข้าวของจากอดีต (เถี่ยเถาเลยโต้ตอบกลับด้วยการใช้ก้อนอิฐทุบพวกยุวชนแดง) จนหัวใจ/จิตวิญญาณของชาติพังทลายสูญสิ้น (อู๋เสี่ยวเฉิงหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต

ลีลาการตัดต่อก็ไม่ได้มีอะไรหวือหวา แต่สิ่งน่าทึ่งคือการเติบโตของเด็กชายเถี่ยเถา ทำเอาผมเข้าใจผิดไปสักพักเพราะใบหน้าพิมพ์เดียวกันเปี๊ยบ (เด็กๆทั้งสามไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆทางสายเลือด) ทีแรกแอบนึกว่าจะเป็นแบบ Boyhood (2014) จริงๆนะ!

คนที่เคยรับชม Farewell My Concubine (1993) และ To Live (1994) คงอดไม่ได้จะเกิดการเปรียบเทียบ ความแตกต่างคือ ‘มุมมอง’ การนำเสนอ The Blue Kite (1993) ใช้เด็กชายเถี่ยเถาซึ่งยังไม่ค่อยรู้ประสีประสา บิดาจากไปไหน? ลุงมาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้งทำไม? หรือแม้แต่ ‘sexual curiosity’ ระหว่างมารดากับพ่อบุญธรรม? และโดยเฉพาะช่วงท้าย เด็กชายน่าจะยังไม่รับรู้ตัว อะไรคือแรงผลักดันให้หยิบก้อนอิฐมาทุบศีรษะยุวชนแดงเหล่านั้น?

ความไร้เดียงสาของเด็กชายเถี่ยเถา น่าจะคือสิ่งที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์หวาดสะพรึงกลัวที่สุด เพราะหนังสามารถปลุกเร้า สร้างอารมณ์ร่วม แม้ตัวละคร(เถี่ยเถา)ยังไม่รับรู้เรื่องอะไร แต่ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่จักบังเกิดความเข้าใจทุกสิ่งอย่าง!


เพลงประกอบโดย Otomo Yoshihide (เกิดปี 1959) นักกีตาร์/แต่งเพลง ชาวญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama แล้วไปเติบโตยยัง Fukushima ค้นพบความชื่นชอบดนตรี Jazz หลงใหลลีลากีตาร์ของ Masayuki Takayanagi, หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยร่วมก่อวงดนตรี Ground Zero แนว Expreimental Rock และมีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Blue Kite (1993), Summer Snow (1995), Blue (2001), Inu-Oh (2022) ฯลฯ

งานเพลงของหนังมีลักษณะ Minimalist ท่วงทำนองไม่ได้สลับซับซ้อน ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นแต่มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ (กีตาร์, แบนโจ, เปียโน, เครื่องสังเคราะห์เสียง ฯ) ได้ยินเพียงสองสามครั้งก็สามารถจดจำได้ (มีต้นฉบับจาก Crow Song แล้วจะได้ยินท่วงทำนอง ‘nursery song’ นี้ตลอดทั้งเรื่อง) ล้วนเพื่อแต่งเติมเสริมบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลัง แทนอารมณ์ความรู้สึกที่หลบซ่อนอยู่เบื้องลึกในจิตใจ

ขอเริ่มต้นที่ Crow Song คุ้นๆว่าได้ยินทุกองก์ของหนังเลยนะ (มีทั้งพบเห็นเด็กชายขับร้อง, ท่วงทำนองดนตรี, Soundtrack ล่องลอยมา) ผมขี้เกียจหาข้อมูลรับรู้แค่ว่าคือเพลงสำหรับเด็ก ‘nursery song’ ก็เพียงพอแล้วกระมัง! ซึ่งเนื้อคำร้องเอาจริงๆเปลี่ยนจากอีกา (Crow) เป็นว่าวสีน้ำเงิน (Blue Kite) ก็ได้นัยยะไม่ต่างกันเลยนะ!

The crow on the tree,
The crow flying free.
The old crow flies no more,
Circling birds cry and caw.
Little birds look for food.
First feed mum and then the breed.
I wait for mine patiently,
For mum has always fed me.

Main Title (และ Ending Title) ล้วนนำท่วงทำนองจาก Crow Song มาเรียบเรียงดนตรีประกอบ Soundtrack ความแตกต่างมีเพียงจังหวะ/ความเร็ว (Tempo) และการใช้เครื่องดนตรีสลับสับเปลี่ยนแปลงไปมา (กีตาร์, แบนโจ, เปียโน, เครื่องสังเคราะห์เสียง ฯ) ซึ่งสามารถแทนความรู้สึก ห้วงอารมณ์ บรรยากาศเรื่องราวขณะนั้นที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตวิทยาตัวละคร

สำหรับ Ending Title (ก็คือ Main Title นะแหละ) ทำการผสมผสานกีตาร์ + เปียโน ท่วงทำนองเบาๆ สร้างความเคลิบเคลิ้ม ให้รู้สึกผ่อนคลายจากไคลน์แม็กซ์อันตึงเครียด (แต่บางคนอาจท้อแท้หมดสิ้นหวังยิ่งขึ้นไปอีก) เหมือนต้องการนำพาผู้ชมหวนกลับสู่โลกความจริง ฟื้นตื่นขึ้นจากความเพ้อฝัน(ร้าย) หายนะของประเทศจีนก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงแค่ความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน

The Blue Kite (1993) ความทรงจำสีน้ำเงินเข้มๆของผู้กำกับเทียนจวงจวง และนักเขียนเหมาเสี่ยว (เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นของเหมาเสี่ยว แต่การแสดงทัศนะเชิงสัญลักษณ์น่าจะเป็นของเทียนจวงจวง) ในช่วงเวลาที่ชาวจีนส่วนใหญ่ต้องอดกลั้นฝืนทนต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะพวกเขายังละอ่อนเยาว์วัย ไม่รู้ประสีประสา เลยหลงเหลือเพียงความรู้สึก อารมณ์บางอย่างตราติดตรึงทรวงใน

ถ้านับจากการเสียชีวิตของ Joseph Stalin วันที่ 5 มีนาคม 1953 แล้วปีถัดมาให้กำเนิดเถี่ยเถา ถือว่าอยู่ในช่วงการประการรัฐธรรมนูญฉบับแรก (First Constitution) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 20 กันยายน 1954 นั่นแปลว่า

  • เถี่ยเถาอายุเพียง 2-5 ขวบระหว่าง Hundred Flowers Campaign (1956-57) และ Anti-Rightist Campaign (1957-59) ถือว่ายังไม่รู้ประสีประสาอะไรทั้งนั้น
  • อายุ 4-8 ขวบระหว่าง Great Leap Forward (1958-62) น่าจะพอจดจำอะไรๆได้บ้างแล้ว
  • อายุ 12 ขวบเมื่อการมาถึงของ Cultural Revolution (1966-76) เริ่มที่จะรับรู้ เกิดอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆ

อายุของเถี่ยเถาก็คืออายุของสาธารณรัฐประชาชนจีน! ในช่วงแรกๆต่างยังละอ่อนเยาว์วัย ออกนโยบายเหมือนเด็กไร้เดียงสา (Hundred Flowers Campaign & Anti-Rightist Campaign) อยากจะเร่งรีบเติบโตแบบก้าวกระโดด (Great Leap Forward) แล้วปฏิวัติโค่นล้มอำนาจผู้หลักผู้ใหญ่ (Cultural Revolution) แต่กลับทำให้ทุกสิ่งอย่างถดถอยหลังลงคลอง เพราะวุฒิภาวะขณะนั้นก็แค่เด็กอายุ 12 ขวบ!

แซว: ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 22 ปี (สิ้นสุด Cultural Revolution) ถึงค่อยตระหนักรับรู้ว่าทุกสิ่งอย่างคือความผิดพลาด

ถ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมารดาเฉินซู่เจียนกับสามสามี ก็จะพบเห็นการแสดงความคิดเห็น/วิพากย์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในเชิงสัญลักษณ์ อย่างเจ็บปวดรวดร้าว สั่นสะท้านทรวงใน

  • สามีหลินเส้าหลง ปฏิบัติต่อภรรยาอย่างเท่าเทียม มีทั้งมุมดีๆ-แย่ๆกับบุตรชาย ไม่เคยแสดงความคิดเห็นเข้าข้างฝ่ายใด แต่กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี ตีตราว่าเอนเอียงฝั่งขวา เลยโดนส่งไปใช้แรงงานหนัก ซวยชิบหายตัดต้นไม้หล่นทับ!
  • ลุงหลี่กั่วตง เพราะความรู้สึกผิดต่อเฉินซู่เจียนและเถี่ยเถา จึงยินยอมอดข้าวอดน้ำ ให้ความช่วยเหลือ นำสิ่งข้าวของมาปรนปรนิบัติ เอาอกเอาใจทั้งสอง นั่นทำให้เขาล้มป่วยเสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหาร
  • พ่อบุญธรรมอู๋เสี่ยวเฉิง เพราะมีลาภยศ ฐานะทางสังคม สองแม่ลูกจึงมีความเป็นอยู่สุขสบาย แต่ก็แลกมากับความเย็นชา เหินห่าง ไม่ต่างจากคนรับใช้ ถึงอย่างนั้นเขากลับยังถูกยุวชนแดงฉุดคร่า กล่าวประณาม จนหัวใจมิอาจอดรนทนไหว

ไม่เพียงเท่านี้ตัวละครรอบข้าง/ญาติพี่น้อง ต่างเคลือบแฝงนัยยะเชิงสัญญะไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ที่เจ็บจี๊ดสุดๆก็คือเฉินซู่เซิง แม้เคยเป็นทหารอากาศอนาคตสดใส แต่สายตากลับค่อยๆมืดบอด (สื่อถึงอนาคตของประเทศจีนที่ค่อยๆพร่าเลือนลางจนมองไม่เห็นอีกต่อไป) รวมถึงความสัมพันธ์กับแฟนสาวที่เหินห่างไกล (ความสุขที่ไม่มีวันได้รับ) ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากโศกนาฎกรรมสักเท่าไหร่

ผู้กำกับเทียนจวงจวง คือหนึ่งในบุคคลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) พบเห็นบิดา-มารดา ถูกพวกยุวชนแดงฉุดคร่า กล่าวประณามต่อหน้าสาธารณะ นั่นทำให้เขาเต็มไปด้วยอคติ ไม่เข้าใจ ไม่พึงพอใจ มันบังเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร? เมื่อกลายมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ก็มักสอดแทรกทัศนคติดังกล่าวลงไปในผลงานอยู่เรื่อยๆ September (1984), On the Hunting Ground (1985) โดยเฉพาะ The Horse Thief (1986) ที่เหมือนไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอะไร แต่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า

The Horse Thief is a story about belief, death, and how to survive. No matter which generation you’re from, you’ll always have to think about that. Because at the time, I just experienced the biggest political movement at the time, The Cultural Revolution, of course I was thinking about these themes. Using a Tibetan story is easier to tell than using a Han Chinese story, which would be more complex.

เทียนจวงจวง

แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง การสรรค์สร้างผลงานที่เอาแต่หลบหลีก เบี่ยงเบนความสนใจ (จากกองเซนเซอร์) มันไม่เพียงพอตอบสนองความอึดอัดอั้นที่ฝังลึกทรวงในศิลปิน จึงกลายมาเป็นภาพยนตร์ The Blue Kite (1993) ที่พร้อมเผชิญหน้า ท้าต่อยตี แต่พยายามอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงประเด็นละเอียดอ่อน แล้วซุกซ่อนความคิดเห็นผ่านนัยยะเชิงสัญญะ

ความโคตรน่าฉงนคือไม่ใช่แค่เทียนจวงจวง แต่ยังเฉินข่ายเกอ และจางอี้โหมว สามผู้กำกับร่วมรุ่นห้า (Fifth Generation) ไฉนถึงหาญกล้าเผชิญหน้ากองเซนเซอร์จีน สรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในช่วงเวลาไล่เลี่ย เหมือนแอบนัดหมายกันล่วงหน้า … ผมก็คาดเดาว่าพวกเขาอาจนัดหมายกันจริงๆนะแหละ เพื่อว่ารวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย ถ้าไม่ตอนนี้แล้วจะตอนไหน!

ไคลน์แม็กซ์ของหนัง การแสดงออกทางอารมณ์ของเถี่ยเถา สังเกตไม่ยากว่าเขายังเด็กเกินจะรับรู้เข้าใจ เพียงพบเห็นมารดา(และบิดาบุญธรรม)ถูกกระทำร้ายโดยเหล่ายุวชนแดง ตระหนักถึงสิ่งเคยบังเกิดขึ้นกับครูใหญ่ (ที่เขาคงมีส่วนร่วมด้วยกระมัง) เลยพยายามเข้าไปหักห้าม หยุดยับยั้ง เมื่อพบว่าอับจนหนทางจึงหยิบก้อนอิฐ (สัญลักษณ์รากฐานพรรคคอมมิวนิสต์) ทุบศีรษะใครบางคน แต่นั่นก็ไม่สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไร

ภาพยนตร์เรื่องนี้ The Blue Kite (1993) ก็ไม่ต่างจากอิฐก้อนนั้น ต้องการพูดบอกความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์ แสดงปฏิกิริยาอารมณ์ต่อช่วงเวลาดังกล่าวออกมา แต่ทำได้แค่สะกิดต่อมลูกหมากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้กำกับเทียนจวงจวงเลยโดนโต้ตอบกลับอย่างแสนสาหัส ไม่สามารถนำหนังออกฉาย หรือก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ขณะที่เจ้าว่าวน้อยสีน้ำเงิน ทุกครั้งเมื่อนำมาถลาเล่นลม ล้วนมีเหตุให้ร่อนติดอยู่บนยอดไม้ ราวกับว่าความสุขเล็กๆได้พังทลาย เพียงต้องการชีวิตที่เรียบง่าย อยู่รอดปลอดภัย ล้วนมีเหตุอันเป็นไป ไม่สามารถต่อต้านทานกระแสแรงลม ล้วนติดหล่มมรสุมทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน

โชคชะตาของผู้กำกับเทียนจวงจวง หลังจากถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์นานถึง 7 ปี! มันช่างเลวร้ายรุนแรงมากๆ จำต้องลาออกจากตำแหน่งใน Beijing Film Studio พอหมดแบนก็แทบหมดสิ้นพละกำลังใจ ผลงานหลังจากนั้นล้วน ‘play safe’ ไม่ขอยุ่งเกี่ยวประเด็นการเมือง มันจึงขาดความน่าหลงใหล ก่อนตัดสินใจรีไทร์หลังเสร็จสร้าง The Warrior and the Wolf (2009)


การลักลอกเข้าฉาย Directors’ Fortnight ในเทศกาลหนังเมือง Cannes ระหว่างถูกสั่งแบนในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีหลายประเทศ/เทศกาลหนัง แสดงความสนใจนำไปจัดจำหน่าย และกวาดรางวัลความสำเร็จมากมายโดยเฉพาะ Tokyo International Film Festival คว้ามาถึง 3 รางวัล

  • Tokyo Grand Prix
  • Best Actress (ลฺหวี่ลี่ผิง)
  • Special Mention ให้กับเด็กๆทั้งสาม Chen Xiaoman, Zhang Wenyao และ Yi Tan

แต่โอกาสที่หนังจะได้รับการบูรณะค่อนข้างน้อยยิ่งนัก ปัจจุบันพบเห็นเพียง DVD ของ Kino Video คุณภาพแค่พอใช้ ตามมีตามเกิด ไม่รู้จะมีค่ายไหนหาญกล้าทำ Blu-Ray ออกมาจัดจำหน่าย

ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังพอสมควร แต่น้อยๆกว่า Farewell My Concubine (1993) และ To Live (1994) เพราะหนังใส่อารมณ์ในการวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง พยายามบีบเค้นคั้นผู้ชมให้จิตใจแตกสลาย จริงอยู่การนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ทำให้มีความทรงคุณค่าทางศิลปะ แต่ความธรรดาๆของหนังก็น่าจะคืออีกเหตุผลหนึ่งที่เมื่อเปรียบเทียบสองผลงานอมตะ ทำให้ภาพรวมดูจืดจางลงไป ไม่ยิ่งใหญ่อลังการ ไม่สร้างความประทับใจ เพียงความท้อแท้หมดสิ้นหวัง บอกตามตรงทำเอาผมไม่คิดอยากดูซ้ำสักเท่าไหร่

แนะนำคอหนังจีน ดราม่ารันทด ชีวิตครอบครัว เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย, นักเรียน/นักศึกษา สาขารัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สนใจการวิพากย์วิจารณ์นโยบายการปกครองของรัฐ, และสำหรับคนที่ชอบครุ่นคิดวิเคราะห์นัยยะเชิงสัญลักษณ์ ว่าวที่แม้ไม่สามารถต้านกระแสแรงลม แต่จักคงอยู่ภายในจิตใจผู้ชมชั่วนิรันดร์

จัดเรต 15+ กับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

คำโปรย | The Blue Kite ว่าวที่แม้ไม่สามารถต้านกระแสแรงลม แต่จักคงอยู่ภายในจิตใจผู้ชมชั่วนิรันดร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ใจแตกสลาย

The Horse Thief (1986)


The Horse Thief (1986) Chinese : Tian Zhuangzhuang ♥♥♥♥

โชคชะตาของโจรขโมยม้า ในยุคสมัยที่ชาวทิเบต ค.ศ. 1923 ยังเต็มเปี่ยมด้วยแรงเชื่อมั่นศรัทธาพุทธศาสนา จึงถูกขับไล่ออกจากชนเผ่า เลยต้องหาหนทางเอาตัวรอดท่ามกลางธรรมชาติกว้างใหญ่ รอคอยชดใช้ผลกรรมเคยกระทำไว้

The Horse Thief (1986) เป็นภาพยนตร์ที่แทบไม่มีเนื้อเรื่องราวใดๆ เพียงนำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อศรัทธาชาวธิเบต ในลักษณะ ethnic film หรือ race film (ภาพยนตร์แนวชาติพันธุ์) แต่ความงดงามของธรรมชาติกว้างใหญ่ ขุนเขาลำเนาไพร รวมถึงวัดเก่าแก่ในทิเบต จักสร้างความตื่นตาตะลึง อึ้งทึ่ง และยิ่งได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K การันตีโดยผู้กำกับ Martin Scorsese ยกย่องว่าคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดเคยรับชมช่วงทศวรรษ 90s (Best Films of the 1990s)

แซว: ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะคือเหตุผลหนึ่งที่ Martin Scorsese ตัดสินใจสรรค์สร้าง Kundun (1997)

ผมมีความสนใจในสองผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับเทียนจวงจวง The Horse Thief (1986) และ The Blue Kite (1993) มาสักพักใหญ่ๆ เรื่องแรกเห็นข่าวการบูรณะคุณภาพ 4K พร้อมๆกับ Yellow Earth (1984) แสดงว่ามันต้องยอดเยี่ยมมากแน่ๆ ส่วนเรื่องหลังคือหนึ่งใน Great Movie ของนักวิจารณ์ Roger Ebert จะพลาดได้อย่างไร!

แม้ส่วนตัวแอบผิดหวังเล็กๆต่อ The Horse Thief (1986) ที่เนื้อเรื่องราวเบาบางไปสักหน่อย แถมนำเสนอศรัทธาชาวธิเบต (พุทธศาสนา) ในลักษณะคร่ำครึ งมงาย หลงเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ต้องยอมรับว่างานภาพของหนังมีความงดงาม ตื่นตระการตา สร้างความประทับใจอ้าปากค้างตั้งแต่แรกพบเห็น ถ้ามีโอกาสแนะนำเลยว่าต้องหารับชมในโรงภาพยนตร์!


เทียนจวงจวง, 田壮壮 (เกิดปี 1952) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง เป็นบุตรของนักแสดงชื่อดังเทียนฟาง, 田丰 ที่ต่อมากลายเป็นหัวหน้าสตูดิโอ Beijing Film Studio, ส่วนมารดาคือนักแสดงหญิงชื่อดังอวี้หลัน, 于蓝 ทั้งสองงานยุ่งมากจึงต้องฝากบุตรชายไว้กับคุณย่า จนกระทั่งการมาถึงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) พบเห็นพ่อ-แม่ถูกพวกยุวชนแดงทุบตีต่อหน้าต่อตา ตั้งแต่นั้นมาก็หมกตัวอยู่กับกองหนังสือ ไม่สนใจโลกภายนอก หลังเรียนจบมัธยมก็ได้เข้าร่วม ‘ปัญญาชนอาสาพัฒนาชนบท’ ที่อำเภอเจิ้นไล่ มณฑลจี๋หลิน

เกร็ด: เทียนจวงจวงเป็นเพื่อนสนิทวัยเด็กกับเฉินข่ายเกอ วิ่งเล่นในกองถ่ายด้วยกัน แต่การมาถึงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เฉินข่ายเกอเลือกสมัครเข้าร่วมยุวชนแดง กล่าวประณามบิดา-มารดา ส่วนเทียนจวงจวงติดตามครอบครัวไปยังมณฑลจี๋หลิน

แม้เกิดในครอบครัวภาพยนตร์ แต่เทียนจวงจวงก็ไม่เคยคิดติดตามรอยเท้า จนกระทั่งระหว่างอาสาสมัครกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army) ณ มณฑลเหอเป่ย อยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองงานศิลปะและการแสดง มีโอกาสพบเจอช่างภาพสงคราม ให้คำแนะนำการถ่ายรูปจนเกิดความชื่นชอบหลงใหล หลังปลดประจำการได้งานผู้ช่วยตากล้อง Beijing Agricultural Film Studio จนกระทั่ง Beijing Film Academy เปิดรับนักศึกษาใหม่ ยื่นใบสมัครต้องการเป็นช่างภาพแต่กลับถูกบังคับให้ร่ำเรียนสาขากำกับ ถ่ายทำหนังสั้นนักศึกษา Our Corner (1980) ถือว่าจุดเริ่มต้นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับรุ่นห้า (Fifth Generation)

เกร็ด: เทียนจวงจวง ได้รับเลือกเป็นประธานรุ่น Beijing Film Academy ’78 คงไม่ผิดอะไรจะกล่าวว่าคือผู้นำกลุ่มผู้กำกับรุ่นห้าด้วยเช่นกัน!

หลังสำเร็จการศึกษา ได้รับมอบหมายให้ทำงานอยู่ยัง Beijing Film Studio เริ่มจากร่วมกำกับ Red Elephant (1982), ภาพยนตร์เรื่องแรก September (1984), สารคดีแนวทดลอง On the Hunting Ground (1985), ภาพยนตร์ The Horse Thief (1986) สองเรื่องหลังแม้ไม่ประสบความสำเร็จในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เมื่อนำออกฉายต่างประเทศกลับได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม, Li Lianying: The Imperial Eunuch (1991) คว้ารางวัล Honourable Mention จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, The Blue Kite (1993) ถูกทางการจีนสั่งแบนแต่ยังแอบลักลอบนำไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้เทียนจวงจวงโดนห้ามยุ่งเกี่ยวภาพยนตร์อยู่หลายปี ก่อนหวนกลับมา Springtime in a Small Town (2002), The Go Master (2006) และผลงานทิ้งท้าย The Warrior and the Wolf (2009)

สไตล์หนังของเทียนจวงจวง มุ่งแสวงหาความเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่เน้นปรุงปั้นแต่งเรื่องราว/ตัวละครมากเกินพอดี ใช้ภาษาภาพยนตร์ในการสร้างมิติตื้นลึกหนาบาง และโดดเด่นกับมุมกล้องถ่ายภาพ (ก็แน่ละมาจากสายช่างภาพ แบบเดียวกับจางอี้โหมว)

I want to make film for the audience in the 21th century.

เทียนจวงจวง

สำหรับ The Horse Thief ต้นฉบับมาจากนวนิยาย 盗马贼的故事 (1984) แปลว่า The Story of the Horse Thief แต่งโดย Zhang Rui, 张锐 ตีพิมพ์ลงนิตยสารเฟย​เทียน,飞天 สามารถคว้ารางวัล Youth Literature Award ครั้งที่ 4 ประจำปี 1984

ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ อู๋เทียนหมิง, 吴天明 ขณะนั้นเป็นหัวหน้าสตูดิโอ Xi’an Film Studio สามารถติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายจาก Zhang Rui แล้วมอบหมายให้ผู้กำกับเทียนจวงจวง เพราะความประทับใจจากผลงานก่อนหน้า On the Hunting Ground (1985) มอบความเชื่อมั่น อิสรภาพเต็มที่ในการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์

แต่แทนที่บทหนังจะได้รับการพัฒนาขึ้นก่อน ทีมงานกลับเร่งรีบออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ถ่ายทำ คัดเลือกนักแสดงทิเบตไว้แล้วเสร็จสรรพ ทำให้ผู้กำกับเทียนจวงจวง เลยต้องมาครุ่นคิดเขียนบทช่วงระหว่างโปรดักชั่น ส่วนใหญ่จึงเป็นการดั้นกันสดๆ บันทึกภาพทิวทัศน์สวยๆ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อศรัทธา นำเสนอออกมาในลักษณะกึ่งๆสารคดีเสียมากกว่า

แถมยุคสมัยนั้นมีกฎระเบียบสำหรับภาพยนตร์ว่าต้องพูดภาษาจีนกลาง Mandarin เท่านั้น! สำเนียงท้องถิ่นยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ผู้กำกับเทียนจวงจวงมองว่ามันไม่เหมาะสมกับหนังแนวชาติพันธุ์นี้เลย นักแสดงก็คัดเลือกชาวทิเบตที่พูดได้แต่ Tibetan เลยตัดสินใจถ่ายทำแบบไม่สนใจอะไร แล้วค่อยๆลดทอนบทสนทนา เน้นนำเสนอเรื่องราวผ่านภาษาภาพ ‘visual image’ ถึงอย่างนั้นเมื่อหนังพร้อมฉายก็ยังถูกสั่งห้าม เลยต้องพากย์ทับจีนกลางอยู่ดี!

เกร็ด: ผู้กำกับเทียนจวงจวง ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญภาษาทั้ง Tibetan และ Mandarin เพื่อมาทำ Subtitle แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้เพราะถูกบังคับให้ต้องพากย์จีนกลางทับอยู่ดี


พื้นหลัง ค.ศ. 1923 ณ ทุ่งหญ้าเซียะเหอ, 桑科大草原 จังหวัดกานหนาน แขวงปกครองตนเองชนชาติทิเบต ทางตอนใต้มณฑลกานซู่

เรื่องราวของนอร์บู, ནོར་བུ (ภาษาทิเบต แปลว่าอัญมณี) คนเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า สมาชิกชนเผ่ากงกา, 贡嘎山 อาศัยอยู่ร่วมกับภรรยาตารา/ทารา, སྒྲོལ་མ (พระโพธิสัตว์ในพุทธนิกายมหายาน ปรากฎกายในรูปของเพศหญิง) และบุตรชายจาซือ, བཀྲ་ཤིས (แปลว่ามงคล รุ่งเรือง, ชาวทิเบตจะนิยมพูดว่า จาซือเตเล่, Tashi Delek แปลว่า ขอให้โชคดี) ด้วยความยากจนข้นแค้นจึงตัดสินใจเป็นโจรขโมยม้า เมื่อหัวหน้าชนเผ่าได้รับแจ้งจากทางการ จึงตัดสินใจขับไล่นอร์บูออกจากชนเผ่า

นอร์บูและตารา ต่างมีศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เมื่อจาซือล้มป่วยหนักจึงเข้าไปอธิษฐานขอพรยังวัดลาบรัง (Labrang Monastery) แต่ราวกับผลกรรมเคยกระทำไว้ติดตามทัน เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียบุตรชาย ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ทั้งสองจึงออกจาริกขอขมาด้วยการกราบไหว้อัษฎางคประดิษฐ์ และเมื่อมาจนถึงวัดลาบรัง ตาราก็ตระหนักว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์

แต่ชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่กลางท้องทุ่งหญ้า เต็มไปด้วยภยันตรายรอบทิศทาง ทั้งจากสภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาดห่าใหญ่ ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน แถมในอดีตเลยเป็นโจรขโมยม้า มาตอนนี้ม้าของพวกเขาเลยถูกลักขโมย นอร์บูจึงพยายามโน้มน้าวภรรยาให้พาทารกน้อยหวนกลับชนเผ่ากงกา ส่วนตนเองขอเผชิญหน้ารับผลกรรมเคยก่อกระทำไว้


ถ่ายภาพมีสองเครดิต ทั้งสองต่างเป็นเพื่อนร่วมรุ่น Beijing Film Academy ประกอบด้วย

  • โฮ่วหยง, Hou Yong (เกิดปี 1960) ตากล้อง/ผู้กำกับชาวจีน หลังสำเร็จการศึกษาจาก Beijing Film Academy เริ่มต้นร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวง The Horse Thief (1986), The Blue Kite (1993), และผู้กำกับจางอี้โหมวเรื่อง Not One Less (1999), The Road Home (1999), Hero (2002) ฯลฯ
  • เจาเฟย, Zhao Fei (เกิดปี 1961) ตากล้องชาวจีน เกิดที่ซีอาน มณฑลส่านซี, หลังสำเร็จการศึกษาจาก Beijing Film Academy เริ่มต้นร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวง The Horse Thief (1986), The Last Eunuch (1991), ผลงานเด่นๆ อาทิ Raise the Red Lantern (1992), The Emperor and the Assassin (1998), The Sun Also Rises (2007), Let the Bullets Fly (2010) ฯ

ความงดงามของหนังไม่ได้มาจากแค่ทิวทัศน์ ท้องทุ่งหญ้า สภาพอากาศผันแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลเท่านั้น แต่คือการขับเน้นเฉดสีที่เป็นธรรมชาติ ตัดกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อศรัทธาของชาวทิเบต ซึ่งจะมีความสวยสด สีสันฉูดฉาด สร้างบรรยากาศลึกลับ สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติ สะกดจิตผู้ชมให้ราวกับต้องมนต์ขลัง ในลักษณะการผสมผสานระหว่าง realism และ surrealism

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าประทับใจสุดของหนัง คือการนำเสนอภาพความขัดแย้งทางอารมณ์ของตัวละคร (psychological) ซ้อนทับความเชื่อศรัทธาของชาวทิเบต (religious) นอร์บูรับรู้ว่าลักขโมยคือสิ่งไม่ถูกต้อง แต่เพราะความยากจนข้นแค้น อาชีพที่ทำอยู่ก็ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้อง ประเพณีขอโน่นขอนี่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไร อยากให้ครอบครัวมีชีวิตสุขสบาย แล้วฉันจะต้องทำอย่างไร?

หลายคนอาจมองว่าภาพทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆคือไฮไลท์ของการถ่ายภาพ แต่ผมกลับโคตรประทับใจ ขนลุกขนพองกับฉากเต้นรำจาม (Cham dance, འཆམ་) ป็นฉากที่มีสัมผัสลึกลับ เหนือธรรมชาติ สร้างความหลอกหลอนให้ทั้งนอร์บูและผู้ชม เพื่อย้ำเตือนว่าอย่าทำผิดศีลให้มากกว่านี้


อารัมบทของหนัง เริ่มต้นด้วยการนำเสนอวิถีแห่งธรรมชาติ ก้อนเมฆเคลื่อนพานผ่าน แสงสว่าง-มืดมิด จากนั้นพบเห็นอีแร้งกากำลังเฝ้ารอคอย โบยบินลงมารุมล้อมจิกกัดมื้ออาหาร แต่พอหนังแทรกภาพพระลามะกำลังสวดมนต์ พร้อมกงล้ออธิษฐาน (Prayer Wheel) เหมือนว่าสิ่งที่พวกมันรับประทานน่าจะคือเนื้อมนุษย์ เพราะช่วงกลางเรื่องเมื่อผู้นำชนเผ่าเสียชีวิต ก็จะนำเสนอภาพเดียวกันนี้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันเรายังสามารถมองถึงเหตุการณ์ตอนจบของหนัง สิ่งบังเกิดขึ้นกับนอร์บูได้ด้วยเช่นกัน เวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น แสดงถึงวัฎจักรแห่งชีวิต

คนที่รับชมซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษอาจฉงนสงสัยว่า Triratna คืออะไร? ถ้าแปลตรงตัวก็คือไตรรัตน์ หรือพระรัตนตรัย น่าจะคือคำอธิษฐานถึงพระพุทธเจ้าของชาวทิเบต เปรียบเทียบคงคล้ายๆ ‘God bless’ ขอให้พระเจ้าคุ้มครอง นี่เป็นการแสดงออกที่สะท้อนถึง ‘ความเชื่อศรัทธา’ คนไทยก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เวลามีปัญหาก็พนมมือขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ไม่เคยศึกษาหลักคำสอนให้เข้าถึงธรรมะแล้วนำไปปฏิบัติใช้จริงในชีวิตประจำวัน ศาสนาเลยเสื่อมลงทุกวี่วัน

เกร็ด: ชาวธิเบตเชื่อว่าทุกครั้งที่กงล้อนี้หมุน เท่ากับเป็นการสวดมนต์ครบหนึ่งจบ ดังนั้นผู้ที่ทำการสวดมนต์และหมุนกงล้ออธิษฐานไปพร้อมๆกัน จะเป็นตัวช่วยเพิ่มพูนบุญกุศล ชำระบาปกรรม ด้วยกรรมดี

ทังกา (Thangka) จิตกรรมพุทธศาสนาบนผืนผ้าขนาดใหญ่ หนึ่งในวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวทิเบตที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี คาดว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 โดยรับอิทธิพลจากเนปาลและจีน (สมัยราชวงศ์ถัง) จุดประสงค์เพื่อให้ผู้พบเห็นบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนา ซึ่งยังเป็นการฝึกฝนจิตสมาธิของผู้วาด ผลงานเปรียบดั่งสะพานเชื่อมจิตใจให้ผู้มองเห็นไปสู่พระพุทธเจ้า มิใช่เพียงการมองผ่านดวงตา แต่ยังดวงจิตอันกระจ่างแจ้งถึงพระธรรม

แม้ชาวทิเบตนับถือพุทธศาสนา แต่พวกเขาก็ยังคงนับถือพระเจ้าอื่นๆ Mountain God (เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา) คงเชื่อว่าคือเทพยดาปกปักษ์ดูแลผืนแผ่นดินแดนแห่งนี้ จึงมีประเพณี (ไม่รู้ชื่ออะไร) ทำคันศร บูชายันต์แกะ เพื่อให้ชีวิตประสบความสงบสุข อยู่รอดปลอดภัย

แต่การทิ้งท้ายซีเควนซ์นี้ด้วยการโยนกระดาษปลิดปลิว ทำลายทัศนียภาพอันสวยงาม ไม่รู้ทำไมผมถึงรู้สึกเหมือนใบปลิวชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำจอมปลอม ลวงล่อหลอกให้หลงเชื่อใน

  • Mountain God = ประธานเหมาเจ๋อตุง
  • ทำอาวุธคันศร = หลอมเหล็กในช่วง Great Leap Forward (1958-62)
  • บูชายันต์แกะ/สังเวยผู้เห็นต่าง = Anti-Right Campaign (1957-59)

สถานที่แห่งนี้คือ วัดลาบรัง หรือ วัดลาภูลั้นซื่อ (Labrang Monastery) วัดทิเบตเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี (สร้างขึ้น ค.ศ. 1709) ตั้งอยู่ในอำเภอเซี่ยเหอ แคว้นปกครองตนเองกานหนาน กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลกานซู่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน, จัดเป็น 1 ใน 6 วัดสำคัญของพุทธศาสนา นิกายเกลุก/เกรุปปะ/หมวกเหลือง (Gelugpa Sect) ฝ่ายวัชรยาน ทั้งยังเปิดโรงเรียนสอนทิเบตศาสตร์ถึง 6 แขนง มีพระลามะอาศัยอยู่ 2,000 รูป และไฮไลท์สำคัญคือกงล้ออธิษฐานเรียงตามทางเดินยาวกว่า 2,000 กงล้อ (ถ้าจะหมุนให้ครบต้องใช้เวลาเกินกว่าชั่วโมง)

เกร็ด: วัดลาบรัง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญระดับชาติเมื่อปี ค.ศ. 1982 และปัจจุบันเพิ่งเสร็จสิ้นการบูรณะซ่อมแซมขนาดใหญ่ (ครั้งแรกในรอบ 300+ ปี) ด้วยเงินลงทุนกว่า 400 ล้านหยวน

ตรรกะเพี้ยนๆของหัวขโมย แบ่งสิ่งของออกเป็นกองเล็ก-ใหญ่ ตั้งใจส่วนหนึ่งแบ่งไปทำบุญ ส่วนนอร์บูเลือกบริจาคทั้งหมดให้วัด (เพื่อสุขภาพที่ดีของบุตรชายจาซือ) แต่เมื่อพบเห็นสร้อยคอ (ในกองที่จะเอาไว้ทำบุญ) ควักเงินจ่ายเพื่อนำมาเป็นของขวัญให้บุตรชาย

ผมเริ่มเกาหัวตั้งแต่แบ่งของที่ลักขโมยมาทำบุญ คือเมิงทำชั่วแล้วยังหวังได้บุญคืน WTF! ไม่ต่างจากคนสมัยนี้ที่โกงกินคอรัปชั่น แล้วยังมีหน้าเข้าวัดทำบุญ สร้างภาพอ้างว่าฉันเป็นคนดีมีศีลธรรม

ส่วนสร้อยคอที่นอร์บูควักเงินจ่ายจากกองทำบุญ (เอาไปเลยก็ได้มั้ง ยังไงทั้งหมดนี่ก็ลักขโมยมา) แต่เหมือนว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เขาถูกขับไล่ออกจากชนเผ่า และผลกรรมทำให้บุตรชายราวกับถูกสาป ต้องล้มป่วยหนัก จนกระทั่งเสียชีวิต (มีความตั้งใจดีแต่กระทำสิ่งชั่วร้าย เลยได้รับความชอกช้ำทั้งร่างกาย-จิตใจ)

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าชาวทิเบตมีประเพณีเกี่ยวกับการชะล้างร่างกายอะไรรึเปล่า (นึกถึงชาวฮินดูในอินเดียที่เชื่อว่าการอาบน้ำในแม่น้ำคงคา จะช่วยชำระล้างบาป หลุดพ้นจากวงจรชีวิตและความตาย) แต่ฉากนี้ให้ความรู้สึกเหมือนมีมากกว่าแค่การทำความสะอาด โดยเฉพาะช็อตของตาราแลดูเหมือน ‘พระแม่ธรณีบีบมวยผม’ สัญลักษณ์ของความมั่นคงและป้องกันสิ่งเลวร้าย

พุทธประวัติเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงผจญกับเหล่าพวกพญามารทั้งหลาย ซึ่งได้ออกอุบายต่างๆนานา เพื่อให้ทรงเกิดกิเลสตัณหา แต่พระพุทธองค์ทรงไม่ยินดียินร้าย และในครั้งนั้นเองพระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าพญามารโดยทรงบีบมวยผม ให้น้ำไหลออกมาท่วมพวกพญามารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป

แต่เหมือนว่าพญามารจักคือนอร์บู เพราะหลังจากนี้สิ่งชั่วร้ายเคยกระทำจักได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ และถูกหัวหน้าไล่ออกจากชนเผ่า ไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้อีก!

นี่เป็นช็อตที่ผมรู้สึกขัดแย้งกันยิ่งนัก พบเห็นลำแสงขาวสาดส่องมายังเด็กชายจาซือ (ราวกับแสงจากสรวงสวรรค์ สัมผัสของพระพุทธเจ้า) แต่ใบหน้าของตารากลับอาบฉาบแสงสีแดง สะท้อนความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน (ที่พบเห็นบุตรชายล้มป่วยหนัก) สรุปว่ามันดีหรือร้ายกันแน่?

ช็อตนี้ยังทำให้ผมรู้สึกว่าหนังต้องการเปรียบเทียบเด็กชายจาซือ กับแกะที่ถูกใช้บูชายันต์ต่อ Mountain God การสังเวยชีวิตก็เพื่อให้กำเนิดอีกชีวิตใหม่ (เกิด-ตาย คือวงเวียนวัฎจักรชีวิต)

นอร์บูต้องการน้ำศักดิ์สิทธิ์จากวัดลาบรัง เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของบุตรชาย แต่วิธีการของเขาคือเฝ้ารอคอยน้ำหยดจากกำแพงสูง ให้ความรู้สึกเหมือนการเป็นเพียงเศษฝุ่นใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท แบ่งปันน้ำพระทัยตามพระอัชฌาสัย (พอจินตภาพสิ่งที่ผมพยายามเปรียบเทียบนี้ไหมเอ่ย?) และยังสามารถสื่อถึงโชคชะตาของผู้ถูกไล่ขับ/ตีตราความผิดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)

เมื่อถึงจุดๆหนึ่งนอร์บูก็เลยช่างแม้ง เพียงตั้งเหยือกใส่น้ำทิ้งไว้แล้วไปทำอะไรอย่างอื่น นี่ฟังดูเฉลียวฉลาด แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งหมายถึงเขาได้สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ น้ำในเหยือกนี้(วางลงบนพื้น)จึงไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

แวบแรกที่ผมเห็นการจุดเทียนเรียงรายแบบนี้ ชวนระลึกถึงภาพยนตร์ Hero (2002) เปลวไฟแห่งอารมณ์ สามารถตรวจจับอารมณ์ความตั้งใจของผู้คน แต่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นการจุดเทียนสืบชะตา สะเดาะห์เคราะห์ ต่ออายุ ทำให้เรื่องร้ายๆกลับกลายเป็นดี ปัดเป่าเสนียดจัญไร ทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายทั้งปวงก็จักหายไป

ขณะเดียวกันนอร์มูก็กระทำการกราบไหว้อัษฎางคประดิษฐ์ รูปแบบการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์(ด้วยความเคารพสูงสุด)ของพุทธศาสนานิกายวัชรยานตันตระ มีต้นกำเนิดตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12

  • เริ่มต้นด้วยการยืนตัวตรง ประนมมือที่ระดับหน้าอก โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ภายในอุ้งมือเป็นรูปดอกบัว แล้วจึงเคลื่อนมือไปยังตำแหน่งกลางกระหม่อม หน้าผาก ลำคอ และหน้าอก อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจุดจักระ (Chakra)
  • จากนั้นเหยียดแขนออกไปข้างหน้า ย่อเข่าลงพร้อมโน้มเอียงตัวไปข้างหน้าจนลำตัวเหยียดตรง นอนราบลงกับพื้น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้หัวเข่าแตะพื้นก่อนที่ลำตัวจะเหยียดออกไป
  • จากนั้นเคลื่อนลำแขนทั้งสองข้างไปด้านข้างของลำตัวตามแนวโค้งของวงกลมพร้อมกับค่อยๆ ชันตัวขึ้นบนเข่า ยืดตัวขึ้นกลับมาสู่ท่ายืนตรงอย่างตอนเริ่มต้น

เกร็ด: สำหรับบุคคลที่จาริกแสวงบุญหรือเดินจงกรม จะก้าวเดิน 3 ก้าว แล้วกราบอัษฎางคประดิษฐ์กับพื้นหนึ่งครั้ง (โดยใช้การไถตัวไปข้างหน้า) สลับไปมาจนกว่าจะถึงเป้าหมายปลายทาง

ราวกับว่ากาลเวลาได้เคลื่อนพานผ่านไป นอร์บูสูญเสียบุตรชายตั้งแต่ช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงก้าวย่างสู่ช่วงหิมะตก แสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจ รับรู้สึกผิดที่ตนเองเคยกระทำสิ่งชั่วร้าย จึงเหมือนตั้งมั่นปณิธาน ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์จริงใจ เริ่มออกจาริกแสวงบุญขอขมาร่วมกับภรรยา เดินสามก้าวแล้วก้มกราบไหว้อัษฎางคประดิษฐ์

ตลอดซีเควนซ์จาริกขอขมาครั้งนี้ หนังทำการซ้อนภาพระหว่างนอร์บูกำลังก้มกราบ และภาพวาด/ประติมากรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และเสียงเพลงที่มอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ เหล่านี้ราวกับว่ามีอะไรบางอย่าง(พระพุทธเจ้า)รับรู้การแสดงออกของพวกเขา เลยอำนวยอวยพรให้ตาราตระหนักว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์

เมื่อสองสามีภรรยาจาริกขอขมาถึงวัดลาบรัง พวกเขาก็ตรงเข้าไปหมดกงล้ออธิษฐาน ทำให้ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี (ในเชิงสัญลักษณ์) จากนั้นรับชมระบำจาม (Cham Dance) ถ่ายทำตอนกลางคืน พื้นหลังมืดมิด คละฟุ้งด้วยหมอกควันขาว ราวกับว่านี่คือภาพนิมิต/จินตนาการของนอร์มูและภรรยา (มุมกล้องเอียงๆด้วยนะ) เพื่อคอยย้ำเตือนสติถึงสิ่งชั่วร้ายที่เคยกระทำ ครานี้ยังสามารถปัดเป่าปีศาจร้าย แต่ถ้ากระทำผิดซ้ำก็ตามมีตามเกิดแล้วละ

พานผ่านฤดูกาลหนาวเหน็บ ก็หวนกลับสู่ทุ่งหญ้าเขียวขจี (หน้าร้อน) วัฏจักรธรรมชาติไม่ต่างจากวัฏจักรชีวิต สองปีหลังจากสูญเสียบุตรชายคนแรก ตาราก็ให้กำเนิดบุตรคนใหม่ นำพาความสดชื่น เริงรื่น ชีวิตชีวากลับสู่ครอบครัวอีกครั้ง

การมาถึงของโรคระบาดห่าใหญ่ ทำให้สรรพสัตว์ล้มตาย ผู้นำชนเผ่าก็ไม่รอดชีวิต จึงต้องมีการขุดดินกลบฝังเจ้าแกะน้อยที่ดูเหมือนไม่ได้เจ็บป่วยอะไรเลย … เห็นฉากนี้ทำให้ผมนึกถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-76) อีกเช่นกัน! พฤติกรรมของพวกยุวแดงไม่แตกต่างจากโรคระบาดห่าใหญ่ พบเห็นใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็พร้อมจับกุม กลบฝัง (ในเชิงสัญลักษณ์) ป่าวประจานต่อหน้าสาธารณะ ทั้งๆที่คนเหล่านั้นอาจไม่ได้กระทำผิดอะไร

ความเยิ่นยาวของฉากนี้ทำให้ผู้ชมเริ่มเกิดข้อสงสัย สังเกตพฤติกรรมของชาวบ้าน พวกเขาดูเร่งรีบ เอาจริงจัง เหมือนเต็มไปด้วยความ(ขลาด)หวาดกลัว เจ้าแกะตัวไหนพยายามตะเกียกตะกายก็เอาเสียมทุบศีรษะ ราวกับว่าตอนถ่ายทำมันเกิดเหตุการณ์โรคระบาดห่าใหญ่ขึ้นมาจริงๆ แถมกลบดินเกือบมิดหัว! … บรรยากาศของฉากนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมของยุวแดงได้ด้วยเช่นกัน ผู้กำกับเทียนจวงจวงเหมือนต้องการสื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นคงเต็มไปด้วยความ(ขลาด)หวาดกลัว ไม่ได้ระเริงรื่นกับสิ่งที่แสดงออกสักเท่าไหร่ เพียงพบเห็นใครทำอะไรก็ต้องเฮโลตามเขาไป ถ้าขัดขืนต่อต้านก็อาจกลายเป็นผู้โดนกระทำ ถูกดินกลบฝังมิดศีรษะเช่นเดียวกัน

ล้อกับตอนต้นเรื่องที่นำเสนอประเพณีเกี่ยวกับ Mountain God มาคราวนี้ในทิศทางตรงกันข้าม พิธีกรรมการขับไล่วิญญาณชั่วร้ายลงสู่แม่น้ำ ด้วยการนำรูปปั้นหน้าตาเหมือนเปรต/ปีศาจ โอบอุ้มโดยนอร์มู (สามารถเปรียบเทียบตรงๆว่าเขาได้กลายเป็น River Ghost) ลงไปล่องลอยคออยู่กลางแม่น้ำ แล้วถูกชาวบ้านเขวี้ยงขว้างก้อนหินขับไล่ และมีลูกหลงโดนศีรษะของเขาจนเลือดอาบไหล … แต่แทนที่จะรู้สึกผิด กลับหยิบเงินบริจาคที่วางอยู่บนก้อนหินเก็บใส่กระเป๋า

เกร็ด: เมืองไทยเราก็มีประเพณีคล้ายๆกันนี้นะครับ อย่างสิบสองเป็ง, ปุพพเปตพลี ฯ มักจัดขึ้นช่วงสารทเดือนสิบ (วันนรกดับ) จุดประสงค์เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ให้ได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น

สำหรับชาวทิเบต ม้า (Horse) ถือเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ของรักของหวง เลี้ยงดูแลราวกับบุตรหลาน หรือจะมองว่าคือจิตวิญญาณของผู้เลี้ยง การถูกขายหรือลักขโมยก็เท่ากับเป็นการสูญสิ่งบางสิ่งอย่างในตนเอง

นอร์มูขณะนี้ก็ราวกับสูญเสียความมนุษย์ ไม่ต่างจากเปรด/วิญญาณล่องลอย (River Ghost) ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน ออกเดินค้นหาอาหารที่ไม่รู้อยู่แห่งหนใด พบเจอโดยโชคชะตา และพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อประทังชีวิตตนเองและครอบครัว ไม่ต้องอดอยาก อยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน

แค่ตัวเองยังเอาตัวไม่รอด จะให้ธำรงอยู่ในศีลในธรรมได้อย่างไร? เจ้าแกะตัวนี้แม้ผูกผ้าพันคอแสดงความเป็นเจ้าของ แต่นอร์มูมิอาจอดรนทนต่อความหิวโหยจึงล้อมจับและเข่นฆ่า (น่าจะตายจริงๆนะครับ) นี่แสดงถึงความท้อแท้หมดสิ้นหวัง มาถึงจุดที่เขายินยอมตกนรกหมกไหม้ ย่อมดีกว่าหิวโหยจนขาดใจตาย

สังเกตว่านอร์มูเข่นฆ่าเจ้าแกะตัวนี้บนพื้นที่ขาวโพลนด้วยหิมะ เพื่อแสดงถึงการกระทำอันบริสุทธิ์ โดยสันชาติญาณ ไม่มีความชั่วร้ายใดๆเจือปน แต่ถึงอย่างนั้นมันกลับขัดย้อนแย้งกับหลักศีลธรรม ความถูกต้องเหมาะสม สังคมไม่ยินยอมรับ และสักวันหนึ่งต้องใช้ผลกรรมในสิ่งที่ก่อ นี่มันยุติธรรมตรงไหน? … คนที่ต้องคำถามลักษณะนี้แสดงว่าไม่เข้าใจวัฏจักรชีวิตเลยนะครับ มองเพียงสิ่งบังเกิดขึ้นตรงหน้า ขณะนี้ ชาตินี้ ทำไมฉันถึงลำบาก? ต้องทนทุกข์ทรมาน? ไม่มีอะไรจะกิน? ล้วนเป็นผลกรรมสะสมมาจากชาติปางก่อนทั้งนั้น

การที่จู่ๆแท่นบูชาไฟลุกไหม้โชติช่วง นั่นคือลางร้ายบอกเหตุ เหมือนว่า Mountain God ไม่พึงพอใจอะไรบางอย่าง? นั่นทำให้ผมมองย้อนกลับไปหาฉากก่อนหน้าที่มีการเข่นฆ่าเจ้าแกะน้อย หรือมันเป็นตัวที่ใช้สังเวย/บูชาเทพเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงนอร์มู(และครอบครัว)จึงถูกฟ้าดินลงทัณฑ์ ขับไล่ให้ออกไปจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

นี่เป็นอีกฉากที่สร้างความรำคาญใจให้ผมอย่างมาก เพราะเป็นการนำเสนอความงมงายต่อเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ทำไมตอนหิวโหยไม่เคยช่วยเหลืออะไร แต่พอกระทำสิ่งชั่วร้าย/ไม่พึงพอใจกลับขับไล่ไสส่ง … พฤติกรรมของ Mountain God เอาแต่ใจไม่ต่างจากประธานเหมาเลยนะ!

กลับตารปัตรจากตอนต้นเรื่อง นอร์มูและเพื่อนลักขโมยม้าตอนกลางคืนกลางท้องทุ่งหญ้า <> สลับมาตอนกลางวันแสกๆโจรสองคนปีนป่ายขึ้นเนินเขามาลักขโมยม้าของนอร์มู … นี่เรียกว่ากรรมสนองโดยแท้

ผมละแอบเกาหัวเล็กๆ ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไฟไหม้แท่นบูชา Mountain God แล้วทำไมพวกเขาถึงอพยพย้ายมาตั้งเต้นท์บนเนินเขา? หรือเพราะอยู่ในช่วงระหว่างการเดินทางผ่าน กำลังมองหาสถานที่ตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานใหม่? แต่ภูเขาหิมะที่อยู่ด้านหลังอันตรายมากเลยนะ ไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมต่อการย้ายบ้านเลยสักนิด!

ไม่ต้องอธิบายฉากนี้ก็น่าจะรับรู้ได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไร สังเกตว่าพื้นหิมะขาวช่วยขับเน้นสีแดงเลือดให้มีความเด่นชัด สามารถสื่อถึงความตายของผู้บริสุทธิ์ ประชาชนชาวจีนไม่รู้เท่าไหร่ที่เสียชีวิตในช่วงรัชสมัยประธานเหมาเจ๋อตุง จากการออกนโยบายไร้สาระอะไรก็ไม่รู้ Anti-Right Campaign (1957-59), Great Leap Forward (1958-62), Cultural Revolution (1966-76) ฯลฯ มีบทความหนึ่งตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ New York Times ตั้งชื่อได้น่าสนใจมากๆว่า Who Killed More: Hitler, Stalin, or Mao?

เกร็ด: ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12 ล้านคน เหมือนจะเยอะแต่เมื่อเทียบกับ Great Leap Forward (1958-62) มีชาวจีนที่เสียชีวิตจากความหิวโหย (Famine) ประมาณ 15-55 ล้านคน!

ตัดต่อโดย Li Jingzhong, 李京中 และ Li Kezhi, 李克之 (Red Sorghum (1988))

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองนอร์บู ตั้งแต่ครั้งแรกที่ลักขโมยม้า คือเหตุผลทำให้ถูกขับไล่ออกจากชนเผ่า สูญเสียบุตรชาย ร่วมกับภรรยาออกจาริกขอขมาสู่วัดลาบรัง และการตัดสินใจเผชิญหน้ายินยอมรับผลกรรม

  • อารัมบท, นอร์บูและเพื่อนลักขโมยม้า
  • ชนเผ่ากงกา
    • นำเสนอวิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อศรัทธาของชาวทิเบต
    • นอร์บูปล้นพ่อค้าขายของ ทำให้ถูกขับไล่ออกจากชนเผ่า
  • การสูญเสียจาซือ
    • จาซือล้มป่วยหนัก นอร์บูพยายามอธิษฐานขอพรวัดลาบรัง
    • การเสียชีวิตของจาซือ ทำให้นอร์บูและภรรยาจาริกขอขมาสู่วัดลาบรัง
    • รับชมการแสดงเต้นรำจาม เริ่มทำให้ตระหนักถึงผลของการกระทำ
  • เผชิญหน้ายินยอมรับผลกรรม
    • เกิดเหตุการณ์โรคระบาดสัตว์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย
    • นอร์บูพยายามโน้มน้าวภรรยาให้พาทารกน้อยกลับสู่ชนเผ่า
    • นอร์บูถูกโจรลักขโมยม้า เลยออกติดตามไล่ล่า และได้รับผลกรรมคืนตอบสนอง

เรื่องราวของหนังไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร แถมยังไม่ค่อยมีบทพูดสนทนา ส่วนใหญ่ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพ ‘visual image’ ร้อยเรียงปะติดปะต่อเพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละคร ทำให้เกิดสัมผัสของบทกวีภาพยนตร์


เพลงประกอบโดยฉวีเสี่ยวซุง, 瞿小松 (เกิดปี 1952) คีตกวีชาวจีน หลังสำเร็จการศึกษาจาก Central Conservatory of Music ได้รับทุนแลกเปลี่ยน Columbia University เลยปักหลักอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา มีผลงานออร์เคสตรา, โอเปร่า, Chamber Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Sacrificed Youth (1986), The Horse Thief (1986), Samsara (1988), King of the Children (1988), Life on a String (1991), Pushing Hands (1991) ฯลฯ

งานเพลงของฉวีเสี่ยวซุง ไม่เชิงว่ามีกลิ่นอายทิเบต (แต่ก็ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอยู่บ้าง) มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศลึกลับ มอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ ระยิบระยับด้วยกระดิ่ง ระฆัง บางครั้งก็เสียงสวดมนต์ ประสานขับร้องคอรัส และเครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) ให้ผู้ชมรับรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอย่างที่เราไม่สามารถเผชิญหน้าต่อกร นั่นคือวิถีแห่งชีวิต สัจธรรมความจริง จำต้องยินยอมรับผลของกรรมในสิ่งเคยกระทำ

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ แต่อยากจะแนะนำการเต้นรำจาม (Cham Dance) ชาวตะวันตกให้คำเรียก ‘devil dance’ โดยนักแสดงสวมหน้ากากสีดำ ตัวแทนของพระวัชรกาลี, Vajrakilaya (อวตารหนึ่งของพระโพธิสัตว์วัชรปาณี) ทำพิธีปัดเป่าขับไล่วิญญาณชั่วร้าย หน้ากากโครงกระดูก ศีรษะกวาง ให้ผู้เข้าร่วมประสบแต่ความโชคดีมีชัย

The Horse Thief (1986) นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรน ยินยอมกระทำสิ่งขัดแย้งต่อวิถีชีวิต ขนบประเพณี ความเชื่อศรัทธาของชนเผ่า/ชาวทิเบต เพื่อหาหนทางเอาชีพรอด (Survival) นำความเป็นอยู่สุขสบายมามอบกับครอบครัว

The Horse Thief is a story about belief, death, and how to survive. No matter which generation you’re from, you’ll always have to think about that. Because at the time, I just experienced the biggest political movement at the time, The Cultural Revolution, of course I was thinking about these themes. Using a Tibetan story is easier to tell than using a Han Chinese story, which would be more complex.

ผู้กำกับเทียนจวงจวง

บอกตามตรงผมครุ่นคิดไม่ถึงว่า ผู้กำกับเทียนจวงจวงจะทำการเปรียบเทียบเรื่องราวของหนัง กับประสบการณ์ที่เคยได้รับเมื่อครั้นการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-76) หลังจากครอบครัวถูกยุวชนแดงกล่าวประณาม ส่งไปใช้แรงงานหนักยังมณฑลจี๋หลิน ก็เหมือนกับนอร์บูโดนขับไล่ออกจากชนเผ่า จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าเซียะเหอ

แซว: ทีแรกผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับเทียนจวงจวงต้องการโจมตี การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62) เพราะนำเสนอความอดอยากปากแห้งของตัวละคร คือต้นสาเหตุให้มนุษย์ก่อกระทำความผิด

เรื่องราวในหนังบุตรชายจาซือล้มป่วยเสียชีวิต สามารถสื่อถึงเด็กชายเทียนจวงจวงที่สูญเสียจิตวิญญาณ ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อครอบครัว แต่ไม่นานก็ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่ ค้นพบความสนใจของตนเอง และก่อนมีโอกาสเดินทางกลับปักกิ่ง (ได้งานผู้ช่วยตากล้อง Beijing Agricultural Film Studio) บิดาของเขาก็ล้มป่วยเสียชีวิต คงเปรียบเทียบถึงผลกรรมของโจรขโมยม้ากระมัง

แม้ผู้กำกับเทียนจวงจวง เหมือนเต็มไปด้วยอคติต่อบิดา (เปรียบเทียบกับโจรขโมยม้า) แต่เขาก็พยายามนำเสนอให้เห็นถึงจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ฉันก็ไม่ได้อยากกระทำสิ่งนี้ (องก์สองของหนังเต็มไปด้วยการแสดงความสำนึกผิด) แต่เพื่อการเอาชีพรอด ครอบครัวเป็นอยู่สุขสบาย แล้วมันผิดอะไรตรงไหนกัน?

ถ้าเรามองพุทธศาสนาเป็นเพียงความเชื่อศรัทธา ย่อมบังเกิดความฉงนสงสัย โล้เล้ลังเลใจ โหยหาสิ่งสร้างความสุขภายนอกกาย อยากร่ำรวย อยากโด่งดัง อยากเป็นเจ้าของโน่นนี่นั่น ก่อเกิดกิเลสตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ นำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน เวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎะสังสาร

พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแห่งความเชื่อหรือศรัทธา แต่ท้าทายให้ชาวพุทธต้องพิสูจน์ ศึกษาร่ำเรียน เข้าถึงธรรมะด้วยตัวเราเอง นำเสนอหลากหลายสรรพวิธีในการใช้ชีวิต ชี้ให้เห็นถึงสัจธรรมชีวิต กฎแห่งกรรมคือความจริง จิตวิญญาณว่ายเวียนวนอยู่ในวัฎฎะสังสาร

สำหรับศีลห้าคือการห้ามปราม ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ทำแล้วต้องชดใช้ผลกรรมตามที่เคยก่อ ‘ลักขโมยม้าของผู้อื่น สักวันหนึ่งย่อมต้องถูกโจรลักขโมยม้าของเรา’ สังเกตว่าทั้งห้าข้อล้วนเกี่ยวกับการกระทำต่อผู้อื่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ข่มขืน โกหกหลอกลวง และชั่วร้ายสุดคือสุราเมระยะ เสพของมึนเมา นอกจากเป็นการทำร้ายตนเอง ยังคือต้นเหตุก่อให้เกิดความประมาท สามารถกระทำผิดศีลสี่ข้อก่อนหน้าได้ทั้งหมด

น่าเสียดายที่ผมรู้สึกว่าประเด็นศาสนาของหนังถูกนำเสนอในลักษณะความเชื่อศรัทธา ดูงมงาย และมอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนกรอบความคิด ‘ปัญญาชน’ ชาวจีนยุคสมัยนั้นที่ต้องการทุบทำลายอดีต รวมถึงทุกๆศาสนา แล้วเปลี่ยนมาเชื่อในตัวบุคคล ประธานเหมาเจ๋อตุง ซึ่งแม้ผู้กำกับเทียนจวงจวงจะเต็มไปด้วยอคติต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่เขาย่อมได้รับการเสี้ยมสอนปลูกฝัง ในฐานะ ‘ปัญญาชน’ ด้วยทัศนคติชาวจีนรุ่นใหม่

เอาจริงๆถ้าผู้กำกับไม่พูดออก ผมเองยังไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหนังกับการปฏิวัติวัฒนธรรม มันเป็นการเปรียบเทียบที่โคตรห่างไกล แน่นอนว่ากองเซนเซอร์จีนย่อมไม่อาจจินตนาการถึง จึงยินยอมปล่อยผ่าน แถมให้การสนับสนุน อนุรักษาแถมยังให้ทุนบูรณะ … ผู้ชมไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงประเด็นการเมืองก็ได้นะครับ เพียงเพลิดเพลินไปกับงานภาพสวยๆ การต่อสู้ดิ้นรน/ธรรมชาติชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเหี้ยมโหดร้าย

ผมค่อนข้างสนใจกลุ่มเป้าหมายของผู้กำกับเทียนจวงจวง เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องเพื่อผู้ชมศตวรรษที่ 21 หรือก็คือพวกเรายุคสมัยนี้! ได้มีโอกาสพบเห็นสิ่งที่ต้องถือว่าแทบจะหมดสูญสิ้น ไม่หลงเหลือวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อศรัทธาดังกล่าวบนโลกนี้อีกแล้วกระมัง … ถือเป็นการบันทึกอดีต หรือที่เรียกว่าไทม์แคปซูล

I try to make films for this century. No director doesn’t want their films to be seen by the people of their age. But sometimes you’ll create films that have completely different tastes from your general audience. That is fate. That’s fate’s problem, and there’s nothing you can do about it.

ผู้กำกับเทียนจวงจวง ให้สัมภาษณ์เมื่อตอนนำหนังฉบับบูรณะเข้าฉาย Cannes Classic เมื่อปี 2019

หลังจากหนังสร้างเสร็จสิ้น กลับไม่ได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้นำออกฉาย เพราะนักแสดงพูดภาษา Tibetan เลยต้องนำมาพากย์เสียงทับ Mandarin โชคดีว่ามีสตูดิโอจัดจำหน่ายสัญชาติฝรั่งเศส Les Films de l’Atalante ได้ติดต่อขอซื้อฟีล์มต้นฉบับ จึงยังสามารถหารับชมภาษา Tibetan ที่ฝรั่งเศสและหลายๆประเทศในยุโรป/สหรัฐอเมริกา

ขณะที่ฉบับบูรณะคุณภาพ 4K Digital Restoration ได้รับทุนสนับสนุนจาก China Film Archive ซึ่งทางการจีนอนุญาตให้ฟื้นฟูเสียงต้นฉบับ (ภาษา Tibetan) ภายใต้การดูแลของผู้กำกับเทียนจวงจวง และตากล้องโฮ่วหยง แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2018 จัดฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Beijing International Film Festival ติดตามด้วยเทศกาลหนังเมือง Cannes Classic

เพียงไม่กี่ช็อตของหนังก็สร้างความ ‘overwhelming’ ให้ผมอย่างล้นหลาม แม้เรื่องราวจะไม่มีอะไรน่าจดจำ แต่เราก็สามารถเพลิดเพลินไปกับงานภาพสุดตระการตา ความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ-ชีวิต สะกดจิตผู้ชมราวกับต้องมนต์ขลัง สู่วังวนแห่งศรัทธาความเชื่อพุทธศาสนา กระทำสิ่งใดๆไว้ย่อมได้รับผลกรรมนั้นคือตอบสนอง

แนะนำคอหนัง Art House ใช้ภาพในการเล่าเรื่องราว ‘visual image’ งดงามดั่งบทกวีภาพยนตร์, ช่างภาพ ตากล้อง ชื่นชมทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ ขุนเขากว้างใหญ่, สนใจวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อศรัทธาชาวธิเบตสมัยก่อน, และโดยเฉพาะชาวพุทธ นิกายวัชรยาน สัมผัสมนต์ขลังของกฎแห่งกรรม

จัดเรต 13+ กับภาพความตาย และการโจรกรรม

คำโปรย | The Horse Thief ของผู้กำกับเทียนจวงจวง นำเสนอความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ ชีวิต สะกดจิตผู้ชมราวกับต้องมนต์ขลัง สู่วังวนแห่งศรัทธาความเชื่อพุทธศาสนา
คุณภาพ | ต้ต์
ส่วนตัว | เพลิดเพลินตา

A Simple Life (2011)


A Simple Life (2011) Hong Kong : Ann Hui ♥♥♥♥

ชีวิตมันไม่ง่ายนะครับ! น่าจะเพราะพานผ่านอะไรๆมามาก ผู้สูงวัยจึงเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ มองโลกในแง่ร้าย หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับหลายๆสิ่งอย่าง หรือคือฉันยังไม่อยากตาย แต่ถ้าเราสามารถปล่อยละวาง ยินยอมรับสภาพความจริง ใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างคุ้มค่า เมื่อนั่นบั้นปลายชีวิตถึงพบความเรียบง่าย พร้อมจากโลกนี้ไปสู่สุขคติ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผู้กำกับสวีอันฮัว ตั้งใจจะสรรค์สร้าง A Simple Life (2011) เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายแล้วรีไทร์จากวงการภาพยนตร์ (ขณะนั้นเธออายุ 63-64 ปี) แต่เพราะความสำเร็จระดับนานาชาติ บ้างยกย่องว่าคืออีกผลงานมาสเตอร์พีซ จึงยังสามารถใช้ชีวิตบั้นปลาย ทำในสิ่งที่หัวใจยังคงเรียกร้องหา (คือได้รับโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์อีกหลายๆเรื่องต่อจากนี้)

แต่เรายังต้องถือว่า A Simple Life (2011) คือพินัยกรรมของผู้กำกับสวีอันฮัว (เพราะเธอตั้งใจไว้เช่นนั้น) นำเสนอช่วงเวลาบั้นปลายของตนเอง/สาวใช้สูงวัย เมื่อล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก แค่ก้าวเดินยังยุ่งยากลำบาก พอไม่สามารถทำหลายๆสิ่งอย่างที่เคยทำก็เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งเรื่องราวของหนังก็เต็มไปด้วยสิ่งค้างๆคาๆมากมาย (หลายคนอาจรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แต่นั่นคือไดเรคชั่นของหนัง เพื่อให้รับรู้ถึงการเป็นผู้สูงวัยก็ได้แค่นี้แหละ) ถึงเวลาต้องเรียนรู้จักการปล่อยละวาง ยินยอมรับสภาพความจริง คลายความหมกมุ่นยึดติด ใช้ชีวิตที่หลงเหลืออย่างคุ้มค่า ตายไปเมื่อไหรจักไม่ให้สูญเสียใจเอาภายหลัง

ผมไม่รู้สึกว่าหนังพยายามบีบเค้นคั้นอารมณ์ บังคับน้ำตาผู้ชมไหลหลั่ง (Tearjearker) แต่มันก็อาจแล้วแต่บุคคลนะครับ ใครเซนซิทีฟก็น่าจะซึมๆอยู่บ้าง นั่นเพราะผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้ต้องการสร้างความฟูมฟาย จะเป็นจะตาย แม้ฉากที่ตัวละครแสดงอาการเจ็บปวดยังแทบไม่ปรากฎให้เห็น พยายามสร้างภาพสุดท้าย(ของตนเอง)ให้เข็มแข็งแกร่ง เมื่อฉันจากไปก็ไม่ต้องเศร้าโศกใจ เพราะนั่นคือสัจธรรมแห่งชีวิต


สวีอันฮัว, 許鞍華 (เกิดปี 1947) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่อันชาน มณฑลเหลียวหนิง, บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น เมื่ออายุ 5 ขวบ ครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่มาเก๊า ค้นพบความชื่นชอบด้านวรรณกรรม บทกวี สมัยเรียนเข้าร่วมชมรมการแสดง สำเร็จการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณกรรม University of Hong Kong, จากนั้นไปเรียนต่อสาขาภาพยนตร์ London Film School

เมื่อเดินทางกลับฮ่องกง มีโอกาสทำงานผู้ช่วยผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) จากนั้นเข้าร่วม Television Broadcasts Limited (TVB) กลายเป็นนักเขียนบท กำกับสารคดีฉายโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Secret (1979), โด่งดังระดับนานาชาติจาก Boat People (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Song of the Exile (1990), Summer Snow (1995), The Way We Are (2008), A Simple Life (2012) … ทั้งสี่เรื่องนี้ล้วนเกี่ยวกับผู้สูงวัย

สำหรับ A Simple Life (2012) เริ่มต้นจากโปรดิวเซอร์ Roger Lee, 李恩霖 นำเรื่องราวจริงๆของตนเองกับหญิงรับใช้ จงชุนเตา, 鍾春桃 พื้นเพเป็นคนไถชาน มณฑลกวางตุ้ง ได้รับการอุปถัมถ์จากคุณยาย (ของโปรดิวเซอร์ Roger Lee) กลายเป็นคนรับใช้ตั้งแต่อายุ 13 ปี ติดตามมาอาศัยอยู่ด้วยกันที่ฮ่องกง รวมระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี! จนกระทั่งล้มป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2003 และเสียชีวิตเมื่อปี 2007

Because I am also getting old, 64 years old, single, I began to worry about loneliness, and I was afraid that I would be too old.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ด้วยความชื่นชอบเรื่องราวดังกล่าวมากๆ ผู้กำกับสวีอันฮัวจึงโน้มน้าวให้โปรดิวเซอร์ Roger Lee พัฒนาโครงเรื่องราวคร่าวๆ (ภายหลังนำมาเรียบเรียงทำเป็นหนังสือชีวประวัติ 桃姐與我 (2012) แปลว่า Sister Tao and Me) แล้วส่งต่อให้นักเขียน Susan Chan, 陳淑賢 (ที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้นนานมาแล้ว The Romance of Book and Sword (1987)) ดัดแปลงสู่บทภาพยนตร์

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 桃姐 อ่านว่าเตาเจี่ย โดยคำว่า 桃 แปลว่าลูกท้อ (Peach), 姐 คือพี่สาว สามารถแปลตรงๆว่า Sister Peach คำเรียกของ จงชุนเตา, 鍾春桃

แม้โปรเจคนี้ได้รับการพัฒนามาสักพักใหญ่ๆ แต่กลับไม่ใครไหนยินยอมออกทุนสร้าง จนสร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจให้ผู้กำกับสวีอันฮัว (คงคือเหตุผลหนึ่งเลยกระมัง ตั้งใจจะรีไทร์หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้) กระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับหลิวเต๋อหัว สอบถามตรงๆเลยว่าช่วยเหลือเรื่องการเงินได้หรือเปล่า ผลลัพท์ยินยอมควักกระเป๋าจ่ายล่วงหน้า ¥30 ล้านหยวน (แต่ภายหลังก็ได้ Bona Film Group เข้ามาร่วมสมทบทุน)

I feel so sad. Sometimes when you make a movie, they say, aren’t you afraid to lose money? It’s not the best-selling, it’s not the most famous, but sometimes you’re moved, maybe it’s the action, maybe it’s the script, and the many little drops add together to make me do it. I work hard to make money every day, so I won’t be stupid.

หลิวเต๋อหัว อธิบายเหตุผลที่ยอมควักเนื้อเพื่อโอกาสในการสรรค์สร้าง A Simple Life (2011)

เรื่องราวของ อาเตา (รับบทโดย เยี่ยเต๋อเสียน) หญิงรับใช้ที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่ในบ้านตระกูลเหลียง แต่หนึ่งเดียวที่เธอผูกพันมากที่สุดคือ โรเจอร์ (รับบทโดย หลิวเต๋อหัว) แม้คนอื่นๆจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ แต่เขายังเลือกอยู่อาศัย-ทำงานในฮ่องกง แต่เมื่อเธอจำต้องเกษียณตัวเอง ล้มป่วยกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก เพราะไม่ต้องการเป็นภาระใครอื่น จึงมุ่งมั่นจะอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว โดยหลานชายบุญธรรม(โรเจอร์)คอยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถเอื้ออำนวย จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต


เยี่ยเต๋อเสียน, 葉德嫻 (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง บิดาเป็นผู้จัดการโรงแรม เติบโตในอพาร์ทเม้นท์ย่านจิมซาจุ่ย หลังเรียนจบทำงานช่างแต่งหน้า พนักงานต้อนรับสายการบิน เคยครุ่นคิดสมัครแอร์โฮสเตสแต่ว่ายน้ำไม่เป็น ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนนักดนตรีกลายเป็นนักร้องประจำวง มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ จับพลัดจับพลูทำอัลบัม แสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ อาทิ Cream Soda and Milk (1981), Dances with Dragon (1991) ฯลฯ ร่วมงานบ่อยครั้งกับหลิวเต๋อหัว ตั้งแต่ The Unwritten Law (1985) ล่าสุดก็เมื่อตอน Prince Charming (1999) แล้วรีไทร์จากวงการภาพยนตร์ไป 12 ปี ก่อนหวนกลับมาแสดงผลงานชิ้นเอก A Simple Life (2011) [นับรวมทั้งหมดก็ 10 ครั้ง!]

รับบทอาเตา หรือจงชุนเตา, 鍾春桃 แม่บ้านตระกูลเหลียง ทำงานรับใช้ครอบครัวมานานกว่า 60 ปี เป็นคนเจ้าระเบียบ พิถีพิถัน และมีเสน่ห์ปลายจวัก คาดว่าเคยแอบตกหลุมรักบิดาของโรเจอร์ พอไม่สมหวังก็เลยครองตัวเป็นโสด (เพื่อจักอยู่เคียงข้างเขา) ด้วยเหตุนี้จึงเอ็นดูโรเจอร์เหมือนบุตรชายแท้ๆ จนกระทั่งพอแก่ตัว ล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ยืนกรานจะเข้าพักอาศัยยังบ้านพักคนชรา

ช่วงที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่บ้านพักคนชราใหม่ๆ ไม่สิ่งใดๆอะไรๆถูกใจอาเตา (เพราะเคยเป็นคนเจ้าระเบียบ เจ้ากี้เจ้าการ อาหารการกินก็ไม่ค่อยถูกปาก) เคยครุ่นคิดอยากหลบหนีไปให้ไกล แต่ก็ไม่อยากสร้างปัญหาใดๆกับโรเจอร์ จึงยินยอมอดรนทน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถปรับตัว ปล่อยละวางหลายๆสิ่งอย่าง ใช้ชีวิตที่หลงเหลืออยู่โดยไม่มีอะไรติดค้างคาใจอีกต่อไป

ผู้กำกับสวีอันฮัว ยืนกรานว่าบทบาทอาเตาต้องเป็นของเยี่ยเต๋อเสียน เพราะความสัมพันธ์บนจอเงินกับหลิวเต๋อหัว ช่วงหลังๆมักรับบทแม่-ลูก คือภาพจำที่ผู้ชมรุ่นเก่ายังคงตราฝังใจไม่รู้ลืมเลือน

ไม่รู้ทำไมผมเห็นการแสดงของเยี่ยเต๋อเสียน ชวนหวนระลึกถึง Kirin Kiki (ในหลายๆผลงานผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda) ทั้งสองต่างเป็นหญิงแกร่ง มักอดกลั้นฝืนทนต่อความเจ็บปวด ไม่ต้องการแสดงด้านอ่อนแอให้ใครพบเห็น โดยเฉพาะลูกๆหลานๆ ปฏิเสธทำตัวเป็นภาระผู้อื่น จนบางครั้งดูดื้อด้าน เห็นแก่ตัว แต่ก็ค่อยๆสามารถปรับตัว ยินยอมรับตามสภาพของตนเอง นั่นจักสร้างความประทับใจให้ผู้ชมอย่างล้นหลาม

ฉากที่ต้องซูฮกเยี่ยเต๋อเสียนก็คือตอนป่วยอัมพาตครึ่งซีก นั่นเป็นการแสดงทางร่างกายที่ต้องใช้พลังอย่างมากๆ ใครเคยมีญาติล้มป่วย น่าจะพบเห็นความแนบเนียน สมจริงจนแยกไม่ออก ทำเอาผมรู้สึกใจหายวูบวาบ เต้นสั่นระริกรัว หวาดกลัวแทนตัวละคร มันช่างเป็นโรคที่มีความเสี่ยง ล้มมาทีเดินไม่ได้ ก็แทบตกตายทั้งเป็น

แต่ไฮไลท์ผมยกให้ช่วงท้ายก่อนเสียชีวิต เหมือนว่าตัวละครจะไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว พูดคุยสนทนาได้อีกต่อไป! เห็นนั่งอยู่บนรถเข็น ให้โรเจอร์ลากเที่ยวเล่นสวนสาธารณะ แต่สีหน้าดวงตาที่ยังขยับเคลื่อนไหว สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมา ราวกับต้องการพูดบอกออกมาว่า ‘ฉันไม่อยากเป็นภาระ แต่ก็ขอบคุณทุกสิ่งอย่าง’

แซว: เยี่ยเต๋อเสียน ให้สัมภาษณ์บอกว่าตนเองไม่ได้อยากเกษียณตัวเองเมื่อสิบกว่าปีก่อนหรอก แต่เหมือนถูกล็อบบี้จากใครบางคนเลยไม่ได้รับการติดต่อว่าจ้าง ซึ่งหลังจากความสำเร็จล้นหลามของ A Simple Life (2011) งานการก็เริ่มไหลมาเทมาอีกครั้ง แต่เลือกรับเฉพาะกับคนรู้จัก เท่าที่ร่างกายยังสู้ไหว

I was viewed by some in the business as a disobedient actress who loves to play the role of a director on set. I am also not great at networking. I guess these are the reasons why I haven’t been offered a lot of work.

เยี่ยเต๋อเสียนกล่าวถึงเหตุผลที่ห่างหายจากวงการบันเทิงไปกว่าสิบปี!

หลิวเต๋อหัว, 劉德華 (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB มีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1988), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, House of Flying Daggers (2004), The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทโรเจอร์ เหลียง, Roger Leung (梁羅傑 อ่านทับศัพท์ว่า เหลียงโรเจอร์) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง ทั้งๆครอบครัวอพยพย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา แต่ตนเองยังคงปักหลักทำงานอยู่ฮ่องกง ส่วนหนึ่งเพราะพะวงกับอาเตา สาวใช้ที่เลี้ยงดูแลเขามาตั้งแต่เด็ก มีความสนิทสนมเหมือนพี่สาว จนกระทั่งวันหนึ่งทรุดล้มลง ตรวจพบป่วยอัมพาตครึ่งซีก ใจจริงต้องการพากลับมาอยู่บ้าน แต่เธอยืนกรานขออาศัยอยู่บ้านพักคนชรา เลยจัดหาสถานที่อยู่ใกล้ๆ แล้วแวะเวียนกลับมาทุกครั้งที่มีโอกาส

นานๆๆครั้งจะได้เห็นหลิวเต๋อหัวรับบทคนธรรมดาๆ ไม่ต้องใช้พลังในการแสดงมากมาย แต่ถึงเล่นน้อยกลับมีความเข้มข้น เพราะตัวละครต้องซุกซ่อนอารมณ์ความรู้สึกไว้ภายใน เป็นห่วงเป็นใยอาเตา แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแต่ก็รู้สำนึกบุญคุณ อยากให้ความช่วยเหลือ ตอบแทนมากกว่านี้ แต่เธอก็ยืนกรานว่าเพียงพอแล้วละ

หนักสุดของอาหลิวคงเป็นขณะตัดสินใจ บอกหมอไม่ขอยื้อชีวิตเธอไว้ นั่นไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวนะครับ แต่คือไม่อยากให้อาเตาต้องทนทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้ การปั๊มหัวใจถ้าฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช่ว่าทุกอย่างจะหวนกลับเป็นปกติ บางคนต้องนอน ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ รับประทานทางหลอดอาหาร ไม่สามารถพูดคุย ขยับเคลื่อนไหว นั่นไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น! … ปล่อยให้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนนั้นยังดีเสียกว่า!

ผมแอบรู้สึกว่าบทบาทนี้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่อาหลิวยินยอมควักเนื้อ ออกทุนสร้างให้ผู้กำกับสวีอันฮัว ก็ด้วยความรู้สำนึกบุญคุณ เพราะเธอคือบุคคลแรกที่ช่วยเหลือ ผลักดัน ความสำเร็จของ Boat People (1982) ถือว่าให้กำเนิดหลิวเต๋อหัวมาจนถึงทุกวันนี้!


ถ่ายภาพโดย Yu Lik-wai, 余力为 (เกิดปี 1996) ช่างภาพ/ผู้กำกับชาวฮ่องกง ไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังประเทศ Belguim จบจากสถาบัน INSAS (Institut National Superieur des Arts de Spectacle) กลับมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับเจี่ยจางเคอ ตั้งแต่ Pickpocket (1997), Still Life (2006), A Touch of Sin (2013) ฯลฯ นอกจากนี้ยังร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮุยอยู่หลายครั้ง Ordinary Heroes (1997), A Simple Life (2011), Our Time Will Come (2017)

งานภาพในช่วงแรกๆชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) มีการจัดให้เป็นระเบียบแบบแผน ราวกับกฎกรอบที่ห้อมล้อม บีบรัดจนสร้างความอึดอัด ทุกสิ่งอย่างต้องแม่นเปะ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร แต่หลังจากอาเตาทรุดล้มลง ป่วยโรคอัมพาตครึ่งซีก อะไรๆก็เริ่มผันแปรเปลี่ยนไป

ตั้งแต่นั้นมางานภาพของหนังเหมือนได้รับอิสระ คล้ายๆแนวคิดของ ‘Unchained Camera’ ใช้การถือกล้อง Hand-Held ขยับเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละคร หลายครั้งแทนมุมมองสายตา เมื่อตอนเข้าอาศัยในบ้านพักคนชรา แรกๆยังดูใคร่รู้ใคร่สงสัย กระวนกระวายใจ บรรยากาศน่าหวาดสะพรึงกลัวอยู่เล็กๆ จากนั้นค่อยๆปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับสภาพเป็นจริง ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติด ตระหนักว่าชีวิตไม่สามารถหวนกลับเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

หนังเริ่มถ่ายทำในช่วงวันตรุษจีนใช้เวลาเพียงสองเดือน โดยสถานที่หลักๆบ้านพักคนชราตั้งอยู่บริเวณ Mei Foo Sun Chuen ย่านอสังหาริมทรัพย์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาลูน (ตอนนั้นไม่หลงเหลือสลัมแล้วนะครับ) ส่วนอพาร์ทเม้นท์ของโรเจอร์ คืออพาร์ทเม้นท์จริงๆของโปรดิวเซอร์ Roger Lee หยิบยืมเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของ พยายามตกแต่งให้เหมือนที่เขาเคยอยู่อาศัยเมื่อหลายปีก่อน

[Mei Foo Sun Chuen] is an unfamiliar Hong Kong. I think the residents and businesses in this place are full of warmth and humanity. Some people will think that the pace here is lazy, but I prefer it. There are more than 700 elderly homes in Hong Kong, 80% of which are privately run, with three types of large, medium and small scales. Staff and volunteers provide 24-hour care.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ฉากแรกของหนังถ่ายทำยังสถานีรถไฟ สัญลักษณ์ของการเดินทาง เหตุการณ์ในหนังคือตัวละครโรเจอร์ (หลิวเต๋อหัว) เหมือนกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน/อพาร์ทเม้นท์ ขณะที่ภาพวาดด้านหลังคือวิถีเซน ขุนเขาสูงตระหง่านคือธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะ (หรือคือวัฎจักรชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) ถ้าสามารถเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าว จักทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติดอะไรหลายๆอย่าง

โดยปกติแล้วสถานีรถไฟควรจะมีผู้คนพลุกพล่าน แต่ช็อตนี้กลับมีเพียงโรเจอร์นั่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ใครคนอื่นๆ สมาชิกในครอบครัวล้วนอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา (นี่แอบล้อกับ Boat People (1982) เพราะอีกไม่กี่ปีฮ่องกงจะหวนกลับสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ เมื่อเวลานั้นมาถึงดินแดนแห่งนี้คงจะ …) ถึงอย่างนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ ทำให้เขายังมิอาจปล่อยละวางจากสถานที่แห่งนี้

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าฮ่องกงมีทะเลทรายด้วยเหรอ? แต่จากภาพที่หนังร้อยเรียงเข้ามานี้สะท้อนความแห้งแล้ว ฤดูใบไม้ร่วง หรือคือความตาย ไม่ใช่แค่สื่อถึงสภาวะทางอารมณ์ หรือเรื่องราวของตัวละครที่กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่ยังฮ่องกงแห่งนี้ในช่วงเวลาที่กำลังนับถอยหลัง อีกไม่กี่ปีจักหวนกลับสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2049

อาเตาทำอาหารให้โรเจอร์ = ให้อาหารเจ้าเหมียว เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา แม้เธอไม่สามารถลูบหัวเขาเหมือนเจ้าแมว แต่ก็สื่อถึงความรัก ความเอ็นดู เป็นห่วงเป็นใย

ไดเรคชั่นของทั้ง Sequence สังเกตว่าตัวละครแทบจะไม่พูดคุยสนทนา ทุกสิ่งอย่างมีความเป็นระเบียบแบบแผน พิถีพิถัน รักษาความสะอาด หรือแม้แต่การจัดวางจานยังให้ต้องสมมาตร (เมื่อมีจานที่สามก็ต้องจัดระเบียบใหม่) รวมถึงทิศทาง-มุมกล้องที่ชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975)

การที่หนังใช้งบประมาณสูงถึง ¥30 ล้านหยวน (หมดไปกับค่าโปรดับชั่นเพียง ¥12 ล้านหยวน) ไม่ใช่ว่าหมดไปกับนักแสดงรับเชิญระดับบิ๊กๆๆเหล่านี้รึเปล่า ฉีเคอะ, หงจินเป่า, หวงชิวเชิง, ตู้เหวินเจ๋อ, กวนจินผิง, โปรดิวเซอร์ Raymond Chow หรือแม้แต่ Angelababy ฯลฯ แต่ลึกๆผมแอบดีใจนะที่(ตอนนั้น)หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายแข็งแรง ส่วนใหญ่ก็เข้าวัยเกษียณ ให้ความรู้สึกเหมือนหนังรวมญาติๆของผู้กำกับสวีอันฮัว ในงานเลี้ยงแห่งการร่ำลา

เฮียหลิวก็ไม่ธรรมดานะ ตอนนั้นอายุย่างเข้า 50 ปี ก็ยังคงหล่ออมตะ

ลิ้นวัว เป็นส่วนที่หลายคนเข้าใจผิดว่าไขมันสูง คอเลสตอรอลสูง จริงๆแล้วกลับตารปัตรตรงกันข้าม เพราะส่วนประกอบหลักของลิ้นคือกล้ามเนื้อ จึงมีโปรตีนสูงกว่าไขมัน สามารถช่วยรักษาโรคกระเพาะ, โลหิตจาง, วิตามินสูง (เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์และคนหลังผ่าตัด) ทั้งยังช่วยผลิตอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

แต่การรับประทานก็ควรเพียงพอดีนะครับ เพราะจะส่งผลต่อตับไต ไทรอยด์ หอบหืด เกิดปัญหาการเผยผลาญในการลดน้ำหนัก และทำให้ภูมิคุ้นกันของผู้สูงวัยย่ำแย่ลง

ถ้าเป็นหนังที่ขายดราม่า ต้องการให้ผู้ชมบีบเค้นคั้นน้ำตา (Tearjerker) ก็มักมีฉากที่ตัวละครทรุดล้มลง แสดงอาการเจ็บปวด ดิ้นรนทนทุกข์ทรมาน แต่ไม่ใช่กับ A Simple Life (2011) ใช้เพียงภาษาภาพยนตร์ ตัดข้ามไปเลย หรือแค่เสียงบรรยายกล่าวถึงเท่านั้น ปฏิเสธนำเสนอให้เห็นด้านอ่อนแอของอาเตา … นี่สะท้อนถึงตัวผู้กำกับสวีอันฮัวได้ชัดเจนมากๆ

อย่างฉากนี้ตอนอาเตาทรุดล้มลงครั้งแรก (กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก) จะพบเห็นแค่เพียงเศษฝุ่นเข้าตา ขยี้หลายครั้งจนเริ่มผิดสังเกต แล้วก็ตัดไปตอนโรเจอร์กำลังลากกระเป๋ากลับอพาร์ทเม้นท์ วันนี้ดันหลงลืมกุญแจ เคาะประตูก็ไม่เสียงตอบ ผู้ชมสัมผัสถึงลางสังหรณ์อันเลวร้าย

อารมณ์ขันของผู้กำกับสวีอันฮัว มักมาในลักษณะตลกร้าย (Black Comedy) ตัวละครทำหน้าเคร่งเครียดจริงจัง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเรื่องไร้สาระ ผมละขำกลิ้งตอนอาหลิวอ่านคู่มือใช้เตาแก๊ส เครื่องซักผ้า (พออาเตาเข้าโรงพยาบาล เลยเริ่มตระหนักถึงความยุ่งยากลำบากในชีวิต) และตอนถูกทักผิดว่าเป็นพนักงานล้างแอร์ เพราะดันใส่เสื้อแจ็คเก็ตลายคล้ายๆเดียวกัน (ต่อให้ร่ำรวย ชื่อเสียงโด่งดัง อำนาจล้นฟ้า ก็ไม่แตกต่างจากคนธรรมดาสามัญ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่สามารถหลบหนีวัฎจักรชีวิต)

ทีแรกผมโคตรสงสัย ทำไมตอนโรเจอร์มาเยี่ยมไข้อาเตาถึงนั่งอยู่ซะไกล? นั่นเพราะหนังต้องการนำเสนอความแตกต่างระหว่างเจ้านาย-คนรับใช้ แม้พวกเขาสนิทสนมเรียกพี่สาว-หลานชาย แต่มันก็มีช่องว่าง ระยะห่าง เส้นแบ่งบางๆที่มองไม่เห็นกีดขวางกั้น … โรเจอร์อยากเข้าไปนั่งใกล้ๆแต่อาเตากวักมือขับไล่ ไม่อยากให้เขาต้องมาเสียเวลามาดูแลคนรับใช้อย่างตนเอง

หวงชิวเชิง (Anthony Wong) รับเชิญในบทเจ้าของธุรกิจบ้านพักคนชรา วางมาดเท่ห์ด้วยการสวมผ้าปิดตาข้างหนึ่ง (เหมือนจะล้อกับการล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีกของอาเตา) ซึ่งระหว่างกำลังพูดคุยสนทนากับเพื่อนเก่าโรเจอร์ กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจนเห็นภาพเงาสะท้อนบนผนังกำแพง

ผมรู้สึกว่าทั้งการปิดตาและภาพสะท้อนนี้ เหมือนต้องการสื่อถึงธุรกิจบ้านพักคนชรา จริงอยู่ว่านี่คือวิธีแก้ปัญหาผู้สูงวัย แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนวิถีโลกยุคสมัยใหม่ ความเห็นแก่ตัวของลูกๆหลานๆ … ไม่เชิงว่าเป็นธุรกิจสีเทา แต่มันคาบเกี่ยวสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์

ความประทับใจแรก ‘First Impression’ ต่อบ้านพักคนชรา ผู้สูงวัยส่วนมากเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เอาแต่ใจ บางคนก็เริ่มป่ำๆเป๋อๆ ทำอะไรเซ่อๆซ่าๆ บางคนก็เก็บข้าวของอยากกลับบ้าน (หนังจงใจตัดต่อให้เหมือนอาเตากำลังเก็บเสื้อผ้า แต่แท้จริงแล้วคือใครคนอื่น) แต่ประตูที่ล็อกกุญแจ ทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างจากเรือนจำ … นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงสภาพของประเทศเวียดนามใน Boat People (1982) ซึ่งเรายังสามารถเหมารวมถึงฮ่องกง(ขณะนั้น)ได้ด้วยเช่นกัน

ภายในบ้านพักคนชรา จะมีการปรับโทนสีให้ดูเหือดแห้งแล้ง คล้ายๆภาพทะเลทรายที่พบเห็นตอนต้นเรื่อง ให้เข้ากับสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ วัยใกล้โรยรา ไร้ซึ่งความสดชื่น/ชีวิตชีวา

เมื่อครั้นโรเจอร์เดินทางมาเยี่ยมเยียน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ คำตอบของอาเตากลับชื่นชมบ้านพักคนชราดีอย่างโน้น ดีอย่างนั้น สรรเสริญเยินยอปอปั้น แต่มันตรงกันข้ามจากความจริงโดยสิ้นเชิง!

ให้สังเกตภาพจากกระจกเงา โดยปกติควรจะเห็นเต็มตัว/เต็มหน้าตาเพื่อสะท้อนร่างกาย-จิตใจ ภายนอก-ใน แต่มุมกล้องนี้กลับพบเห็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่ง นั่นหมายถึงทั้งหมดที่พูดบอกไม่ตรงกับความรู้สึกภายใน เพียงการสร้างภาพ แสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็งแกร่ง (ปฏิเสธแสดงด้านอ่อนแอของตนเองออกมา) … จริงๆสังเกตภาษากาย จะเห็นมือข้างที่ขยับได้ถูๆหน้าขาอยู่นั่น แสดงถึงความกังวล หวาดหวั่นวิตก ไม่อยากจะพูดความจริงออกมา

นี่ถือเป็นอีกตลกร้ายของหนัง แต่ก็ชักชวนทำให้ผู้ชมขบครุ่นคิดในแง่มุมกลับตารปัตร เพราะโดยปกติแล้วบ้านพักคนชรา ก็ตามชื่อคือที่อยู่อาศัยของคนชรา แต่มันยังรวมถึงบุคคลไม่สามารถพึ่งพาตนเอง มารดาสูงวัยไม่อาจดูแลบุตรสาวเลยส่งตัวมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะมีพยาบาล/ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้สูงวัยที่ร่วมแสดงในหนัง ส่วนหนึ่งก็มาจากบ้านพักคนชราจริงๆ อีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มนักแสดงผู้สูงอายุ เลือกมา 8 คนที่มีบทบาทเล็กๆ ไม่เคอะเขินหน้ากล้อง … เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลก็พบว่า ฮ่องกงมีคณะละครเวทีสำหรับผู้สูงวัยอยู่จริงๆ แต่จุดประสงค์หลักๆไม่ได้เน้นเงินๆทองๆ ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ค้นพบศักยภาพตนเอง ‘อายุก็แค่ตัวเลข’

เมื่ออาเตาอาศัยอยู่บ้านพักคนชรามาระยะหนึ่ง ก็สามารถปรับตัวเอง ยินยอมรับสภาพความจริง ร่างกายที่เคยล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก ก็ทำกายภาพบำบัดจนอาการดีขึ้นมากๆ จนสามารถเย็บกระดุมเสื้อให้เพื่อนสูงวัย (=ซ่อมแซมร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ) เต็มเปี่ยมด้วยพลังใจอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมีโอกาสหวนกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ อาเตาก็ตรงไปรื้อค้นสิ่งข้าวของ ทบทวนหวนระลึกความหลัง อาทิ จักรเย็บผ้า (ยี่ห้อคนโสด Singer) เงินค่าจ้างครั้งแรก ผ้าคลุมผืนเก่า รูปถ่ายสมัยยังสาว ฯลฯ เหล่านี้แสดงถึงความหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับอดีต หลายสิ่งอย่างคือความทรงจำฝังใจ ยังไม่สามารถปล่อยละวางได้โดยง่าย

มันแทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะมองจากมุมกล้องทิศทางไหน ในการค้นหาคนรับใช้ที่พร้อมมุ่งมั่นทุ่มเททุกสิ่งอย่างเหมือนอาเตา แต่ละคนต่างก็มีข้อเรียกร้อง ความต้องการของตนเอง ซึ่งสะท้อนค่านิยม’ปัจเจกบุคคล’ของยุคสมัยปัจจุบัน … การสัมภาษณ์งานในร้านอาหารแห่งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน (ก่อนหน้านี้ตอนโรเจอร์และอาเตามารับประทานอาหาร เด็กเสิร์ฟก็ดูไม่ยี่หร่าอะไรลูกค้าสักเท่าไหร่)

เมื่อพบเห็นคู่แต่งงานใหม่มาถ่ายรูปในสวนสาธารณะ โรเจอร์กับอาเตาก็เลยเปิดประเด็นสนทนา ทำไมอีกฝั่งไม่ยินยอมแต่งงาน? ซึ่งถ้าสังเกตบุคคลที่อยู่ในความสนใจของแต่ละฝ่าย ล้วนสะท้อนชนชั้น วิทยฐานะ มีความเหมาะสมเข้ากันดี

  • อาเตา ประกอบด้วยคนขายผัก (greengrocer), พ่อค้าปลา (fish-stall owner), ช่างตัดเย็นเสื้อผ้า (haberdasher) … ล้วนคือชนชั้นทำงาน (Working Class)
  • โรเจอร์ คือหญิงสาวจบด็อกเตอร์ตอนอายุ 24 ย่อมถือเป็นชนชั้นกลาง (Medium Class)

สำหรับเหตุผลการไม่แต่งงานของอาเตา ก็ชัดเจนจากปฏิกิริยาที่เธอแสดงออกมา ว่าแอบชื่นชอบบิดาของโรเจอร์ แต่เพราะความแตกต่างทางชนชั้น วิทยฐานะ ยุคสมัยนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงไม่มีทางเป็นได้อย่างแน่นอน!

เป็นความจงใจโคตรๆที่เพื่อนชายผู้สูงวัยมาขอยืมเงินอาเตา (หลังจากฉากที่โรเจอร์กับอาเตาสนทนาเรื่องการแต่งงาน) ในครั้งแรกกล้องถ่ายแบบแอบๆ ปรับโฟกัสให้รอบข้างเบลอๆ (สื่อถึงยังไม่เข้าใจว่าจะหยิบยืมเงินเอาไปทำอะไร) แต่ครั้งที่สองเมื่อเปลี่ยนมาขอยืมเงินจากโรเจอร์ แอบติดตามไปพบเห็นว่ากำลังซื้อบริการโสเภณี

ครั้งที่สามระหว่างเทศกาลกลางปี ชายคนนี้มาขอยืมเงินครั้งที่สามด้วยการยืนอยู่กึ่งกลางระหว่าง ขณะที่โรเจอร์แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ ไม่อยากให้หยิบยืมเงิน แต่อาเตากลับบอกว่าให้ๆไปเถอะ สงเคราะห์คนชรา ตอนนี้ยังทำอะไรได้ก็ทำไป พอตกตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีโอกาสทำสิ่งนั้นๆได้อีก … ซึ่งหลังจากการจากไปของอาเตา ชายคนนี้ยังคงพยายามหาผู้ใจบุญคนใหม่ แต่ก็ไม่มีใครช่วยสงเคราะห์เขาอีกต่อไป

เมื่อมารดาของโรเจอร์มาเยี่ยมเยียนอาเตา ก็นำเอาของฝากหลายๆอย่างมอบให้ นอกจากของกินยังมีอีกสองสิ่งน่าสนใจ

  • ถุงเท้า คือสัญลักษณ์ที่แสดงชนชั้นฐานะของอาเตา ในฐานะคนรับใช้ตระกูลเหลียง
  • แต่ต่อมากลับมอบผ้าพันคอของตนเอง ผมมองถึงการยินยอมรับอีกฝั่งฝ่ายว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความเสมอภาคเท่าเทียม

ขณะที่ผู้สูงวัยคนอื่นๆเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดปีใหม่ (น่าจะคือตรุษจีนนะครับ ไม่ใช่วันขึ้นปีใหม่สากล) แต่สำหรับอาเตาไม่มีบ้านให้กลับ โรเจอร์ก็อยู่กับสมาชิกครอบครัวอื่นๆ เธอจึงมาเดินเที่ยวเล่นงานเทศกาล ทีแรกตั้งใจจะซื้อกังหันที่แขวนอยู่ด้านบนแต่ราคาสูงเกิน เลยสอบถามราคาอีกอันที่วางอยู่ข้างล่าง นี่เช่นกันแอบสะท้อนวิทยฐานะ อาชีพคนรับใช้ได้แค่นี้ก็เพียงพอแล้วละ … การนั่งอยู่คนเดียวภายนอกรั้วกั้นก็เช่นกัน เป็นการแบ่งแยกตนเองจากผู้อื่น โลกภายนอก ตึกระฟ้าสูงใหญ่

ฟันแท้ คือสิ่งที่ถ้าสูญเสียไปแล้วไม่มีทางงอกเงยขึ้นใหม่ นอกเสียจากจะทำฟันปลอม แต่ถึงอาเตาไม่ยินยอม โรเจอร์กลับบีบบังคับให้ต้องทำ … ผมมองนัยยะของการทำฟันปลอม คือความพยายามยื้อชีวิต ต่อลมหายใจ ต้องการให้เธอยังอยู่ต่อไปอีกสักพัก อย่างน้อยหลังฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ โปรดดูให้จนจบ Ending Credit

เช่นเดียวกับตอนที่มารดาของโรเจอร์ พาอาเตาขึ้นไปยังอพาร์ทเมนท์ (ที่ขับไล่คนไร้บ้านออกไป) มอบให้เป็นสถานที่อยู่อาศัย (คงเผื่อว่าเมื่ออาการดีขึ้น ออกจากบ้านพักคนชราก็จักมาอาศัยอยู่ห้องหับนี้) และดื่มน้ำสร้างความกระชุ่มกระชวย (สามารถสื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ได้เช่นกัน) … แต่เหมือนหนังจะรวบรัดตัดประเด็นนี้ทิ้งไปเลยนะ ไม่รู้อาเตายังคงอยู่บ้านพักคนชรา หรือตกลงย้ายมาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

ฉันอยากกินห่านย่าง ล้อกับตอนต้นเรื่องที่โรเจอร์เรียกร้องให้อาเตาทำลิ้นวัว! แต่สภาพของเธอตอนนี้หลังทรุดล้มลงครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ทำให้ร่างกายกลายเป็นอัมพาตทั้งตัว ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว สื่อสารด้วยคำพูดแทบจะไม่ได้อีกต่อไป … หลงเหลือเพียงสีหน้า สายตา และเขย่าร่างกายให้สั่นๆ พยายามบอกกับเขาไม่ต้องเป็นห่วงฉัน แต่สภาพนี้ใครกันจะไม่รู้สึกเศร้าสลดเห็นใจ

หลังจากนี้มันจะมีช็อตที่โรเจอร์เดินเอาทิชชู่ไปทิ้งถังขยะ นั่นคือมุมมองของอาเตาต่อสภาพตนเองขณะนี้ ไม่ต่างจากเศษขยะที่กำลังจะถูกทิ้ง กลายเป็นภาระให้ผู้อื่น … แต่นั่นไม่ใช่สิ่งโรเจอร์ครุ่นคิดเลยนะครับ ระหว่างเดินกลับจากถังขยะ สังเกตดีๆจะพบว่ามือข้างหนึ่งถือธนบัตร น่าจะกำลังไปซื้อห่านย่างมาให้รับประทานอย่างแน่นอน

หลังจากที่อาเตาเข้าโรงพยาบาล อาการถือว่าหนัก แม้โรเจอร์เหมือนไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียด อึดอัดอั้น กล้ำกลืนรับประทานบะหมี่สำเร็จรูปตั้งแต่กลางวันจนยามค่ำคืนก็ยังเห็นถ้วยโฟมวางอยู่ ก่อนคุยโทรศัพท์และบอกกับหมอถึงการตัดสินใจของตนเอง

สังเกตมุมกล้องตั้งแต่ที่โรเจอร์ได้ครุ่นคิดตัดสินใจ มีการถ่ายให้อะไรบางอย่างถูกบดบัง ปรับโฟกัสเบลอๆ มืดดำ แทนถึงสภาพจิตใจตัวละครที่กำลังสูญเสียบางอย่างไป

นี่น่าจะเป็นถุงเท้าคู่ที่มารดา(ของโรเจอร์)มอบให้อาเตา แม้จะถือว่าเป็นสิ่งของต่ำ สัญลักษณ์ของคนรับใช้ แต่สำหรับเขามันคือความภาคภูมิใจที่ได้รู้จัก สนิทสนม มีเธอคอยอยู่เคียงชิดใกล้ตั้งแต่เกิด สิ่งที่สามารถกระทำได้ขณะนี้ก็มีเพียงปัดผมให้ดูดี สวมถุงเท้าให้เรียบร้อย ครั้งสุดท้ายก่อนร่ำลากจากกัน

Reunions and partings are equally hard
The listless east wind, the withered blooms
The silkworm spits out silk until its death
The candle weeps tears until it gutters out
The mirror in the morning reflects wispy hairs
The chill evening moonlight, declaiming poems
No road to the magic mountain…
The eager bluebird quests in search

หลี่ชางหยิน, 李商隱 (ค.ศ. 813-858) นักกวีสมัยราชวงถัง

หลี่ชางหยินตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ไม่สามารถพูดบอก เปิดเผยความสัมพันธ์สู่สาธารณะ จึงทำได้เพียงพรรณาความรู้สึกออกมาเป็นบทกวี ตั้งชื่อว่า 无题 (แปลว่า Untitle) 相见时难别亦难 (ท่อนแรกของบทกวี ยากที่จะพบเจอ ยากที่จะพลัดพรากจาก)

ระหว่างที่ชายสูงวัยคนหนึ่งรำพันบทกวีนี้ออกมา ก็ปรากฎภาพเถาวัลย์เลื้อยเกาะแก่งบนกำแพงปูน พวกมันพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างสุดๆ เพื่อเสาะแสวงหาผืนแผ่นดินสำหรับดำรงชีพรอด แต่ทุกสรรพชีวิตเมื่อถึงจุดๆหนึ่งย่อมต้องตกตาย พลัดพรากจากกันไป คือสัจธรรมที่ไม่มีใครหลบลี้หนีพ้น

ปัจฉิมบทของหนังหลังจากพิธีศพ โรเจอร์กำลังเดินกลับอพาร์ทเม้นท์ อาเตาที่ควรตกตายไปแล้วกลับปรากฎมาให้เห็นอีกครั้ง? ได้ยังไงกัน? ผมมองว่าเธอคือวิญญาณที่ยังคงล่องลอย ห่วงหวงหา เลยหวนกลับมาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (เป็นผีเฝ้าบ้าน) อาจคือสถานที่สุขคติ(ของอาเตา)ก็เป็นได้กระมัง

ผมไม่ค่อยอยากตีความประเด็นการเมืองของหนังสักเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้จงใจแทรกใส่เข้าไปตรงๆ เพียงสิ่งที่ผู้ชมสามารถครุ่นคิด มองในแง่มุมสภาพของฮ่องกง หลงเหลือเวลาอีกไม่มากก่อนหวนกลับสู่จีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2046 ใครร่ำรวยมั่งมี ก็สามารถอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศอื่นที่มีความมั่นคง (อย่างสหรัฐอเมริกา) แต่สำหรับหลายๆคนก็คงต้องสู้ชีวิตต่อไป พึงพอใจในสิ่งที่มี อะไรจะเกิดมันก็เกิด อีกไม่นานก็ตกตาย หวังว่าฉันคงไม่มีลมหายใจอยู่ถึงตอนนั้น … แต่ก็ไม่แน่หรอกนะ

ตัดต่อโดย Wei Shufen, 韦淑芬 และ Kwong Chi-leung, 鄺志良 รายหลังมีผลงานเด่นๆอย่าง Painted Faces (1988), King of Beggars (1992), Chungking Express (1994), Ashes of Time (1994), Comrades, Almost a Love Story (1996), Perhaps Love (2005), Cold War (2012) ฯลฯ และร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัวอยู่หลายครั้ง Ordinary Heroes (1999), July Rhapsody (2001), A Simple Life (2011) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของโรเจอร์และอาเตา เคียงคู่ขนานกันไป ซึ่งเราสามารถมองทั้งสองเรื่องราวให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันก็ยังได้

  • เรื่องราวของโรเจอร์ กำลังตระเตรียมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ต่อรองผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ จนแล้วเสร็จสิ้น ฉายรอบปฐมทัศน์
  • อาเตาทรุดล้มลง ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ทำให้ต้องเกษียณตัวจากการเป็นแม่บ้าน(ของโรเจอร์) เข้าพักยังสถานคนชรา ปล่อยละวางกับช่วงสุดท้ายของชีวิต

ผมของแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 องก์ โดยใช้ชื่อตามโปรดักชั่นภาพยนตร์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเรื่องราว

  • ตระเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ (Pre-Production)
    • แนะนำโรเจอร์กับอาเตา วิถีของเจ้านาย-สาวรับใช้
    • โรเจอร์ประชุมเตรียมงานสร้างกับผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์
    • อาเตาทรุดล้มลง ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ตัดสินใจเกษียณจากการทำงาน ขอไปอยู่ยังบ้านพักคนชรา
    • โรเจอร์ออกแสวงหาบ้านพักคนชราให้อาเตา (=Scounting Location ออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์)
  • ช่วงเวลาถ่ายทำ (Production)
    • อาเตาย้ายเข้ามายังบ้านพักคนชรา ช่วงแรกๆยังมีความหวาดหวั่นกลัว เต็มไปด้วยอคติ ไม่มีอะไรได้ดั่งใจ เคยครุ่นคิดจะหลบหนีไปให้ไกล แต่ก็ค่อยๆสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับสภาพความจริง สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น
    • โรเจอร์ (และมารดาของโรเจอร์) เดินทางมาเยี่ยมเยียนอาเตาบ่อยครั้ง พาไปรับประทานอาหาร แวะเวียนกลับอพาร์ทเม้นท์ พร้อมให้การช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกทุกสิ่งอย่าง
  • การฉายรอบปฐมทัศน์ และหลังจากนั้น (Premiere & Release)
    • โรเจอร์พาอาเตามารับชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ พบปะดาราดังมากมาย
    • นำเสนอบั้นปลายชีวิตของอาเตา จนกระทั่งทรุดล้มลงอีกครั้ง คราวนี้ไม่สามารถพูดคุย ขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้อีก เฝ้ารอคอยวันตาย และพิธีศพหลังจากนั้น

จริงๆมันควรจะมีหลังการถ่ายทำ (Post-Production) แต่ผมไม่รู้จะแทรกใส่ตรงไหน เพราะรอบฉายปฐมทัศน์ (Premiere) มาเร็วเกินไปมากๆ ช่วงองก์สามเลยเยิ่นเย้อยืนยาวพอสมควร … นี่ทำให้ผมแอบครุ่นคิดว่าหนังอาจมี Director’s Cut เพราะเหมือนตัดต่ออะไรๆหายไปค่อนข้างเยอะ (แต่แค่นี้หนังก็สมบูรณ์อยู่นะครับ ความยาว 118 นาทีถือว่ากำลังดีด้วย)


เพลงประกอบโดย Law Wing-Fai, 羅永暉 คีตกวีชาวฮ่องกง สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีสังเคราะห์จาก University of California ชื่นชอบมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านจีน-คลาสสิกตะวันตก ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Hong Kong Academy for Performing Arts มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Opera, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์, ร่วมงานบ่อยครั้งกับผู้กำกับสวีอันฮัว อาทิ Boat People (1982), A Simple Life (2011) ฯ

งานเพลงของ Law Wing-Fai จะไม่มีความหวือหวาเท่า Boat People (1982) แต่เน้นความเรียบง่าย (แบบชื่อหนัง) ด้วยการบรรเลงเปียโนนุ่มๆ บางครั้งคลอประกอบเครื่องสาย และเครื่องเป่า (เน้นใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น) เพื่อมอบบรรยากาศเศร้าๆ เหงาๆ รู้สึกโหวงเหวงวังเวง เหมือนกำลังจะสูญเสียบางสิ่งอย่าง ขณะเดียวกันก็มีความซาบซึ้ง อิ่มเอิบหัวใจ ฟังแล้วผ่อนคลาย ขอบคุณที่ได้รับรู้จักกัน

ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าองก์แรกของหนัง (ไม่นับอารัมบท & Opening Credit) แทบไม่มีการใช้บทเพลงประกอบใดๆ เพราะความเงียบงันสามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด นั่นคือความตั้งใจสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างโรเจอร์กับอาเตา วิถีชีวิตพวกเขาไม่ต้องสื่อสารก็สามารถรู้ใจกันและกัน

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ เพราะการบรรเลงเปียโนช่วงต้นเรื่อง และเสียงโอโบช่วงท้าย (เหมือนจะบทเพลงเดียวกันนะ) ให้ความรู้สึกเหมือนจิตวิญญาณ(ของอาเตา)ยังคงล่องลอยอยู่เคียงชิดใกล้โรเจอร์ ไม่ได้เหินห่างไกลไปไหน ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย รักและปรารถนาดี โปรดอย่าเศร้าโศกเสียใจกับการจากไป อีกไม่นานเราคงได้พบเจอกันอีก


คนรับใช้ (Maid) คืออาชีพที่สังคมไหนๆ ประเทศใดๆ คนส่วนใหญ่มองว่าต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ความเสมอภาคเท่าเทียมกับเจ้านาย/สมาชิกอื่นๆในครอบครัว เพียงคนนอกที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยร่วมชายคาเดียวกัน คอยปรนปรนิบัติรับใช้ ดูแลกิจการงานบ้านให้มีความเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ

แต่การจะเป็นคนรับใช้ที่ดีได้นั้น ต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละอุทิศตนเอง เรียนรู้สะสมประสบการณ์ทำงาน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งถึงได้รับการให้เกียรติ เสมอภาคเท่าเทียม แบบเดียวกับ A Simple Life (2011) อาเตาทำงานโดยไม่ขาดตกบกพร่องมานานกว่า 60 ปี มีความสนิทสนมชิดใกล้กับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะโรเจอร์ถึงขนาดได้รับคำเรียกพี่สาว-หลานชาย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีช่องว่าง ระยะห่าง การแบ่งแยก(ชนชั้น)ระหว่างเจ้านาย-บ่าวรับใช้ โลกทัศนคติบางอย่างไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไป

ทางฝั่งโรเจอร์ แม้ต้องการให้ความช่วยเหลือ พร้อมว่าจ้างพยาบาล คนรับใช้ ให้อยู่อพาร์ทเม้นท์หลังใหม่ แต่อาเตากลับปฏิเสธดื้อดึงดัน ไม่ต้องการทำตัวเป็นภาระ เขาจึงไม่สามารถทำอะไรนอกจากส่งเธอไปบ้านพักคนชรา แล้วแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหาบ่อยๆครั้ง … เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เขาจึงมิอาจบีบบังคับ ทุ่มเทตนเองให้กับเธออย่างเต็มร้อย แต่ก็มากสุดเท่าที่จะให้ได้

สำหรับอาเตา แม้อ้างว่าไม่ต้องการเป็นภาระกับโรเจอร์ แต่จริงๆมองตนเองคือคนรับใช้ต้อยต่ำด้อยค่า ไม่สมควรได้รับสิทธิ์ดูแลเอาใจใส่จาก(อดีต)เจ้านาย ให้ความช่วยเหลือเท่านี้ก็มากเกินเพียงพอ ไม่ต้องแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหาบ่อยครั้งก็ได้ … แต่ถึงพูดบอกออกมาเช่นนั้น อาเตาก็เฝ้ารอคอยวันที่โรเจอร์จะหวนกลับมาเยี่ยมเยียนหา กลายเป็นช่วงเวลาเล็กๆแห่งความอิ่มสุข ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

บ้านพักคนชรา คือวิธีการแก้ปัญหาหนึ่งของโลกยุคสมัยนี้ เมื่อลูกหลานไม่มีเวลา ไม่สามารถดูแลบิดา-มารดา ญาติพี่น้อง ผู้สูงวัย หรือบุคคลผู้พึ่งพาตนเองไม่ได้ (รวมถึงเด็กเล็กก็ด้วยนะ) เลยต้องไปฝากขังไว้ยังสถานรับเลี้ยง จ่ายเงินให้ผู้คุมช่วยดูแล ไม่ต้องห่วงหาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง

โลกทัศน์ของคนยุคสมัยนี้ การส่งผู้สูงวัยสู่สถานคนชรา (หรือเด็กเล็กสู่สถานรับเลี้ยง) ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายประการใด นั่นคือสิ่งที่ใครๆต่างกระทำกัน เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ ความสะดวกสบาย อาจปลอดภัยกว่าอาศัยอยู่บ้านเสียด้วยซ้ำ (เพราะมีผู้เชี่ยวชาญ/คนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง) แต่มันก็ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์ บุพการีของเราเองแท้ๆ ทำไมต้องว่าจ้างคนอื่นให้เลี้ยงดูแล ไม่รู้จักความกตัญญูรู้คุณเลยหรืออย่างไร?

นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่แนวความคิดของสองฟากฝั่ง โต้ถกเถียงกันอย่างเมามันส์ ไม่มีถูก<>ไม่มีผิด แต่ผมแนะนำให้ถามใจตนเองดูนะครับว่า เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คุณยังอยากที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านพักคนชราหรือเปล่า? ผมคนหนึ่งละที่ขอไปบวชเสียดีกว่า

มันไม่จำเป็นว่าหลังเลิกสร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับสวีอันฮัวตั้งใจจะเกษียณตนเองแล้วมาอยู่อาศัยยังบ้านพักคนชรานะครับ เธอสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนแนวความคิด ค่านิยมคนสมัยใหม่ รวมถึงนำเสนอความเป็นไปได้ของบั้นปลายชีวิต เรียนรู้จักสถานที่ชื่อว่าบ้านพักคนชรา (เรียกเล่นๆภาพยนตร์โปรโมท/แนะนำสถานคนชรา) แก่แล้วไม่รู้ลูกหลาน ญาติพี่น้องให้พึ่งพา ก็เดินทางมายัง The Ballad of Narayama (1958/83) กันดีกว่า!

ผมอดไม่ได้จริงๆกับภาพยนตร์มาสเตอร์พีซ The Ballad of Narayama มีอยู่สอบฉบับ Keisuke Kinoshita (1958) และ Shōhei Imamura (1983) บ้านพักคนชราดูไม่แตกต่างจากเทือกเขา Narayama สถานที่เฝ้ารอความตายของผู้สูงวัย บางคนอาจบอกไม่เห็นเหมือนกันตรงไหน แต่ถ้าคุณเกิดความตระหนักรู้แจ้งเมื่อรับชม จิตสามัญสำนึกก็จักถือกำเนิดขึ้นโดยทันที!

ฉากสุดท้ายชีวิตในความคาดหวังของผู้กำกับสวีอันฮัว ก็คือสิ่งที่นำเสนอผ่านตัวละครอาเตา หลังเกษียณคงต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ จากนั้นค่อยๆปล่อยละวางทีละอย่าง สองสามอย่าง อะไรทำได้ก็ทำ ได้แค่ไหนแค่นั่น ใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดกังวล อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด สักวันหนึ่งทุกคนต้องตกตาย ขอแค่อย่าเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และไปสู่สุขคติก็เพียงพอแล้วละ


ด้วยทุนสร้าง ¥30 ล้านหยวน (=$5.4 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินในจีนแผ่นใหญ่ ¥69.33 ล้านเยน รายทั่วโลกถือเป็นกำไร กลายเป็นผลงานทำเงินสูงสุดของผู้กำกับสวีอันฮัวโดยปริยาย

  • ฮ่องกงทำเงินได้ HK$27.8 ล้าน (= $3.59 ล้านเหรียญ)
  • ไต้หวันทำเงินเกินว่า NT$60 ล้าน (= $1.9 ล้านเหรียญ)
  • ประเทศไทยใช้ชื่อ “แค่เธอยิ้ม หัวใจก็อิ่มรัก” รายได้ประมาณ 300,000 กว่าบาท

เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice แม้พ่ายรางวัล Golden Lion ให้กับ Faust (2011) แต่ยังสามารถคว้ารางวัลอื่นๆมากที่สุดของเทศกาลปีนั้น

  • Volpi Cup for Actress (เยี่ยเต๋อเสียน)
  • Equal Opportunities Award
  • Signis Award – Honorable Mention
  • La Navicella Award

หนังยังได้ตัวแทนฮ่องกงส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นช่วงปลายปีก็กวาดรางวัลมากมายจากหลายๆสถาบันทางฝั่งเอเชีย

  • Asian Film Awards
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว)
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • People’s Choice for Favorite Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • People’s Choice for Favorite Actress (เยี่ยเต๋อเสียน)
    • Lifetime Achievement Award มอบให้ผู้กำกับสวีอันฮัว
  • Hong Kong Film Awards
    • Best Film **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (ฉินเพ่ย)
    • Best Supporting Actress (ฉินไห่ลู่)
    • Best Screenplay **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography
  • Golden Horse Awards
    • Best Film
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • Best Screenplay
    • Best Film Editing

เกร็ด: ช่วงระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ หลิวเต๋อหัวเขียนไดอารีส่วนตัว บันทึกประสบการณ์ทำงาน สิ่งต่างๆที่สังเกตเห็น รวมถึงภาพถ่ายเบื้องหลัง ตอนแรกตั้งใจจะโพสขึ้นบล็อกเพื่อแชร์บนเว็บไซต์แฟนคลับ แต่ไปๆมาๆตัดสินใจรวมเล่ม My 30 Work Days: Diary of Shooting A Simple Life ตีพิมพ์ปี 2012

ผมค่อนข้างชอบหนังนะ แต่ไม่ชอบหลายๆสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในหนัง มันสะท้อนค่านิยม/จิตสำนึกแย่ๆของคนยุคสมัยนี้ ทำเหมือนผู้สูงวัยคือปัญหา ภาระบุตรหลาน เมื่อมีเงินแต่ไม่มีเวลา ก็ส่งไปบ้านพักคนชรา ปล่อยให้เฝ้ารอคอยวันตายอย่างเยือกเย็นชา … เป็นสถานที่ที่ไม่ต่างจาก The Ballad of Narayama (1958/83) ของโลกปัจจุบัน!

ปัญหาของโลกยุคสมัยนี้คือ ‘จิตสำนึก’ ที่สูญหาย เพราะฉันต้องไปทำงาน ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ไม่มีเวลาว่างดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว จึงผลักภาระไปให้บ้านพักคนชรา ใช้เงินในการแก้ปัญหา … นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับคนหนุ่ม-สาว น่าจะสร้างสามัญสำนึกต่อพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ผู้สูงวัยในครอบครัว เรียนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ ตอบแทนท่านในสิ่งที่เหมาะสมควร และขอให้เป็นทางออกสุดท้ายจริงๆ ถ้าคิดจะส่งพวกท่านไปบ้านพักคนชรา (ไม่ได้จะบอกว่าสถานที่นี้ไม่ดี แต่มันคือ’จิตสำนึก’ของลูกหลานควรจะดูแลบุพการี ไม่ใช่ปล่อยทิ้งขวางให้เป็นภาระผู้อื่น)

แซว: ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนหนังเรื่องนี้ให้ตีพิมพ์วันแม่นะครับ เป็นความบังเอิญอย่างพอดิบพอดี ซึ่งแม้อาเตาไม่ใช่มารดาแท้ๆของโรเจอร์ แต่สัมพันธภาพพวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่หรอก

จัดเรต 13+ กับความเครียด ดื้อด้าน เอาแต่ใจของผู้สูงอายุ

คำโปรย | A Simple Life ชีวิตไม่ง่ายของผู้กำกับสวีอันฮัว แต่เมื่อถึงเวลาก็ควรปล่อยละวางจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติด
คุณภาพ | ล่
ส่วนตัว | แค่ชอบ

Boat People (1982)


Boat People (1982) Hong Kong : Ann Hui ♥♥♥♥

ภายหลังไซ่ง่อนแตก ค.ศ. 1975 ชาวเวียดนามใต้ต้องเลือกระหว่างศิโรราบต่อพรรคคอมมิวนิสต์ หรือหาหนทางขึ้นเรือหลบหนีออกนอกประเทศ จะว่าไปไม่แตกต่างจากหลังสงครามกลางเมืองจีน (1945-49) สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋นอพยพสู่เกาะไต้หวัน รวมถึงปัจจุบันที่ชาวฮ่องกงกำลังเตรียมตัวลี้ภัย ไปให้ไกลก่อนดินแดนแห่งนี้กลับคืนเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2047

Boat People (1982) เป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในความสนใจของผมมานานมากๆ เตะตาเตะใจตั้งแต่เห็นติด Top10 ในลิส “Best Hong Kong Movie of All-Time” และเมื่อตอนหาข้อมูลนักแสดงหลิวเต๋อหัว พบว่าเจ้าตัวได้รับการผลักดันจากโจวเหวินฟะ แนะนำผู้กำกับสวีอันฮัวให้เลือกเด็กหนุ่มหน้าใสคนนี้ แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที!

ระหว่างรับชม Boat People (1982) ทำให้ผมระลึกถึง Apocalypse Now (1979) และ The Killing Fields (1984) ที่แม้ไม่ใช่หนังสงคราม (ถือเป็น Post-Wars film) แต่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย ภาพความตายบาดตาบาดใจ (เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนรับชมนะครับ!) เผยให้เห็นถึงสันดานธาตุแท้เผด็จการ สนเพียงสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่คนในชาติกลับปฏิบัติเหมือนเชือดหมูเชือดไก่ ไม่ใคร่สนหลักศีลธรรม มโนธรรม และมนุษยธรรม พบเห็นความคอรัปชั่นแทรกซึมอยู่ทุกๆระดับ

แต่สิ่งน่าตกอกตกใจที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ออกทุนสร้าง! สาเหตุเพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน เพิ่งเกิดสงครามจีน-เวียดนาม (Sino-Vietnamese War) หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สาม เป็นการสู้รบชายแดนระยะเวลาสั้นๆ ช่วงระหว่าง 17 กุมภาพันธ์ถึง 16 มีนาคม ค.ศ. 1979 เพื่อตอบโต้การบุกยึดครองกัมพูชาของเวียดนามเมื่อต้นปี 1978 (เป็นการทำลายอิทธิพลเขมรแดงที่จีนให้การหนุนหลัง) … ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอนุมัติสร้างภาพยนตร์ที่มีลักษณะต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam)

ซึ่งการได้รับทุนสร้างจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนนั้น ทำให้หนังถูกตีตราจากพวกฝั่งขวา/เสรีนิยม (Leftist) ว่าเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) เมื่อได้รับเลือกเข้าร่วมสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes กลับถูกรัฐบาลฝรั่งเศสล็อบบี้ห้ามฉาย เพราะกลัวจะทำลายความสัมพันธ์อันดีกับอดีตประเทศอาณานิคม (เวียดนามเคยตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส)

นอกจากนี้หนังยังถูกแบนในไต้หวัน (ช่วงนั้นมีนโยบายห้ามนำเข้าหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่) ขณะที่กองเซนเซอร์จีนก็สั่งห้ามฉายเพราะดูไม่ค่อยเหมือนหนังต่อต้านเวียดนาม ส่วนฮ่องกงหลังจากกลับคืนสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่ ค.ศ. 1997 จะไปรอดพ้นการโดนแบนได้อย่างไร

โชคชะตากรรมของ Boat People (1982) ก็เลยล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร … ผู้ชมที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าจะรู้สึกเคว้งคว้าง หมดสิ้นหวังอาลัยเช่นกัน!


สวีอันฮัว, 許鞍華 (เกิดปี 1947) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่อันชาน มณฑลเหลียวหนิง, บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น เมื่ออายุ 5 ขวบ ครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่มาเก๊า ค้นพบความชื่นชอบด้านวรรณกรรม บทกวี สมัยเรียนเข้าร่วมชมรมการแสดง สำเร็จการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณกรรม University of Hong Kong, จากนั้นไปเรียนต่อสาขาภาพยนตร์ London Film School

เมื่อเดินทางกลับฮ่องกง มีโอกาสทำงานผู้ช่วยผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) จากนั้นเข้าร่วม Television Broadcasts Limited (TVB) กลายเป็นนักเขียนบท กำกับสารคดีฉายโทรทัศน์ Below the Lion Rock หนึ่งในนั้นคือตอน Boy from Vietnam (1978) บันทึกภาพผู้อพยพ เด็กชายชาวเวียดนามแอบเข้าฮ่องกงอย่างผิดกฎหมาย เพื่อติดตามหาพี่ชาย … กลายเป็นจุดเริ่มต้น Vietnam Trilogy

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก The Secret (1979) คว้ารางวัล Golden Horse Award: Best Feature Film, ติดตามด้วย The Spooky Bunch (1980), The Story of Woo Viet (1981) ถือเป็นเรื่องที่สองของ Vietnam Trilogy ชายหนุ่มหูเยว่, 胡越 (รับบทโดยโจวเหวินฟะ) กำลังหาทางหลบหนีออกจากฮ่องกง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งมายังฟิลิปปินส์ เอาตัวรอดด้วยการเป็นมือปืนรับจ้าง

ภายหลังสิ้นสุดสงครามจีน-เวียดนาม, Sino-Vietnamese War เมื่อปี 1979 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์นำเสนอโปรเจคที่มีลักษณะชวนเชื่อ ต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam) แม้นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของผู้กำกับสวีอันฮัว แต่โปรดิวเซอร์มองว่านั่นคือโอกาสหายากยิ่ง (ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อน ผู้กำกับจากฮ่องกงหรือไต้หวันที่แสวงหาทุนสร้างจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่) และสามารถเลือกสถานที่ถ่ายทำยังเกาะไหหลำ (เพราะคงไม่มีทางเข้าไปถ่ายทำยังดานัง ซึ่งในประเทศจีนก็เพียงมณฑลแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมและอยู่ใกล้เวียดนามมากที่สุด)

สำหรับ 投奔怒海 (แปลตรงตัวว่า Into the Raging Sea) ชื่อภาษาอังกฤษ Boat People (1982) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในไตรภาค Vietnam Trilogy ร่วมงานกับนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 (ตั้งแต่ The Story of Woo Viet (1981)) ได้แรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์ที่ผู้กำกับสวีอันฮัว เมื่อตอนถ่ายทำสารคดี Boy from Vietnam (1978) มีโอกาสพูดคุยกับผู้อพยพชาวเวียดนามนับร้อย ส่วนใหญ่คือพวกเข้าเมืองผิดกฎหมาย เล่าถึงประสบการณ์อันน่าหวาดสะพรึงระหว่างอยู่บนเรือ รอดไม่รอด ถึงไม่ถึงฝั่ง

ฉบับร่างแรกพัฒนาตัวละครโตมินห์ (รับบทโดยหลิวเต๋อหัว) นักโทษหลบหนีออกจาก New Economic Zone (N.E.Z) เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางข้ามมหาสมุทร (ตามชื่อหนัง Boat People) แต่ความยุ่งยากในการถ่ายทำ รวมถึงงบประมาณที่จำกัด ก็เลยต้องมองหาเรื่องราวอื่นเสริมเพิ่มเติมเข้าไป

In the original script he gets away and most of the film is set at sea. And in the real story the boat was sunk. What happened was that the Viet­namese had two patrol boats which fired into the hull of the refugee boat and then went around and around it, until they created a great whirlpool, so that the whole boat was sunk. It was in all the newspapers in Hong Kong at the time. But we couldn’t shoot the whirlpool, be­cause technically it was impossible for us.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ผู้กำกับสวีอันฮัวได้แรงบันดาลใจตัวละครช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa (รับบทโดย หลินจื่อเสียง) จากการค้นพบหนังสือ Letter to Uncle Wah (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเขียนโดยใคร ตีพิมพ์ปีไหน) นำเสนอในลักษณะไดอารี่ของเด็กหญิงชาวเวียดนาม (เขียนถึง Uncle Wah) บรรยายความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต แม้พื้นหลัง ค.ศ. 1974 แต่ก็แทบไม่แตกต่างจากหลังไซ่ง่อนแตก ค.ศ. 1979

During our research, we came across a book written by a Japanese reporter called Letter to Uncle Wah. It’s set in Vietnam in 1974 and written in the form of a diary for a little girl. And we found, when comparing this account with conditions in Vietnam after the Liberation, that the living stan­dards of the very poor had not basically changed. If anything, they were worse. So the details of the diary could be trans­posed to 1978.

แซว: Chiu Kang-Chien เล่าว่าในการพัฒนาบท Boat People (1982) ทำให้เขาต้องนั่งฟัง Mozart: Requiem ไม่ต่ำกว่าร้อยๆรอบ เพื่อซึมซับบรรยากาศอันหดหู่ หมดสิ้นหวัง จักได้เข้าใจความรู้สึกชาวเวียดนามสมัยนั้น


เรื่องราวเริ่มต้นปี ค.ศ. 1975 หลังจากไซ่ง่อนแตก ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa (รับบทโดย หลินจื่อเสียง) มีโอกาสบันทึกภาพชัยชนะของของเวียดนามเหนือ ขณะเดียวกันก็หันไปพบเห็นเด็กชายขาขาดคนหนึ่ง กลายเป็นภาพจำติดตา ทำให้เขาอยากหวนกลับมาเวียดนามอีกครั้ง

สามีปีให้หลัง Akutagawa ก็มีโอกาสเดินทางกลับมาเวียดนามอีกครั้ง ด้วยคำเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาล เพื่อบันทึกภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเมืองดานัง พบเห็นเด็กๆเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ไม่นานก็รู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจัดฉาก สร้างภาพภายนอกให้ดูดี แท้จริงแล้ว…

หลังจาก Akutagawa ได้รับอนุญาตให้สามารถออกเตร็ดเตร่ เดินทางไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆด้วยตนเอง (โดยไม่มีใครติดตาม) ทำให้พบเห็นสภาพเสื่อมโทรมของประเทศเวียดนาม ทหาร/ตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ประชาชนอดๆอยากๆไม่มีอันจะกิน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยเงินๆทองๆ โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ไร้สามัญสำนึก มโนธรรม ศีลธรรม สนเพียงทำอย่างไรให้อิ่มท้อง เอาตัวรอดไปวันๆ


หลินจื่อเสียง, 林子祥 (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ฮ่องกง บิดาเป็นหมอสูติศาสตร์ ส่งบุตรชายเข้าโรงเรียนนานาชาติ ทำให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ตั้งแต่เด็ก, คุณปู่ซึ่งก็เป็นหมอเหมือนกัน ชอบพาหลานชายไปชมภาพยนตร์ แต่เจ้าตัวมีความชื่นชอบด้านการร้องเพลง ร้อง-เล่นเปียโน ดีดกีตาร์, โตขึ้นเดินทางไปศึกษาต่อประเทศอังกฤษ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาฮ่องกงตัดสินใจเป็นนักร้อง ออกอัลบัมแรก Lam (1976) มีบทเพลงทั้งภาษาอังกฤษ/กวางตุ้งดังๆติดชาร์ทอันดับหนึ่งนับไม่ถ้วน, นอกจากนี้ยังรับงานแสดง ซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Luckies Trio (1978), The Secret (1979), Boat People (1982), King of Beggars (1992) ฯ

รับบทช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa เคยถ่ายภาพชัยชนะของกองทัพเวียดนามเหนือหลังไซ่ง่อนแตก แล้วถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก สร้างความประทับใจให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ จึงชักชวนเขากลับมาบันทึกภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเมืองดานัง เพื่อนำเสนอพัฒนาการหลังสิ้นสุดสงคราม ประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกอีกครั้ง! แต่ไม่นานก็ตระหนักว่าสิ่งเหล่านั้นคือการจัดฉาก สร้างภาพลวงหลอกตา เพราะเมื่อพบเห็นเด็กสาวก๋ามเนือง แอบติดตามไปที่บ้าน รับรู้ถึงวิถีชีวิต สภาพครอบครัว เต็มไปด้วยความยากจนข้นแค้น พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยเงินๆทองๆ เอาตัวอยู่รอดไปวันๆ

ใครที่รับรู้จักหลินจื่อเสียง คงจดจำหนวดงามๆ หล่อมั้งนะ! ต้องชมในความทุ่มเทพยายาม เพราะช่างภาพเป็นอาชีพที่ต้องกระตือรือล้น เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น สังเกตว่าตัวละครเลือกจะบุกป่าฝ่าดง ออกเดินทางผจญภัย หลายๆครั้งถึงขนาดเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เพื่อให้ได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง แม้ไม่มีกล้องบันทึกภาพ แต่นั่นคือสิ่งจักถูกเปิดเผยแก่ผู้ชมภาพยนตร์!

ซึ่งเมื่อตัวละครพบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายของสังคม หลายๆครั้งก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน แสดงออกปฏิกิริยาอารมณ์อย่างเกรี้ยวกราด ครุ่นคิดว่าตนเองต้องกระทำบางสิ่งอย่าง แม้ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่สำหรับคนที่เขามีโอกาสรับรู้จัก แม้เสี่ยงชีวิตเข้าแลกก็ยินยอมเสียสละ เพื่ออนาคตน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่

การที่ตัวละครนี้แสดงปฏิกิริยาอารมณ์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ถือเป็นการชี้ชักนำทางผู้ชม (Manipulate) ให้รับรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันนั้น คนที่สามารถสังเกตได้จะรู้สึกอึดอัดรำคาญใจ เพราะนี่คือลักษณะหนึ่งของการ ‘ชวนเชื่อ’ ซึ่งผมรู้สึกว่าผู้กำกับสวีอันฮัวจะไม่รับรู้ตนเองด้วยซ้ำนะ


หลิวเต๋อหัว, 劉德華 (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB มีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1988), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, House of Flying Daggers (2004), The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทโตมินห์ (To Minh) เพราะเคยเป็นคนแปลภาษาให้ทหารอเมริกัน หลังสงครามเลยถูกส่งตัวไปใช้แรงงานยังค่าย New Economic Zone แต่ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีอาการบาดเจ็บที่ต้นขา ตระเตรียมวางแผนขึ้นเรือหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา พยายามลักขโมยกล้องถ่ายรูปของ Shiomi Akutagawa จึงถูกจับกุมตัวแล้วส่งกลับไปค่ายอีกครั้ง ครานี้โดนสั่งทำงานปลดเหมืองระเบิด เหลือเวลาอีกเพียง 4 วันจะออกเดินทางไปจากนรกขุมแห่งนี้

เกร็ด: ชื่อที่คนเวียดนามนิยมใช้คือ ตงมินห์, Thông Minh ไม่ใช่ To Minh (อาจแปลมาผิดเพราะออกเสียงคล้ายๆกัน) ซึ่งคำว่า Minh แปลว่าเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด มีความยอดเยี่ยม

แรกเริ่มนั้นผู้กำกับสวีอันฮัวต้องการโจวเหวินฟะให้มารับบทโตมินห์ แต่พอเจ้าตัวรับรู้ว่าหนังได้ทุนสร้างจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ กลัวจะสูญเสียแฟนๆจากไต้หวัน (และโดน Blacklist) เลยบอกปัดปฏิเสธ พร้อมแนะนำนักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งเคยร่วมงานแต่ยังจดจำชื่อไม่ได้ ทีแรกก็ไม่ใครรับรู้ว่าคือใคร แต่มันคือโชคชะตาของหลิวเต๋อหัวให้ได้รับบทบาทภาพยนตร์เรื่องแรกนี้

ทีแรกผมดูไม่ออกเลยนะว่าตัวละครนี้คือหลิวเต๋อหัว เพราะใบหน้ายังดูละอ่อน แถมมีการย้อมสีผิวให้คมเข้ม (เหมือนชาวเวียดนาม) กลมกลืนไปกับตัวประกอบจนแยกไม่ออก แต่การแสดงถือว่าเจิดจรัสมากๆ (กว่าหลินจื่อเสียงด้วยซ้ำไป!) โดยเฉพาะตอนปลดระเบิด สีหน้าอันตึงเครียด สมาธิอันแน่แน่ว สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ทำเอาผมแทบไม่กล้าผ่อนลมหายใจ

ยุคสมัยนั้นกับการแสดงที่โคตรสมจริงขนาดนี้ ถือว่าอนาคตในวงการของอาหลิวได้เปิดกว้างอย่างมากๆ จนสามารถประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับมีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่หวนกลับมาร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัว หนึ่งในนั้น A Simple Life (2011) เรียกว่าสูงสุดกลับคืนสามัญคงไม่ผิดอะไร ซึ่งถือเป็นอีกผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของทั้งคู่ด้วยนะครับ


หม่าซือเฉิน, 馬斯晨 นักแสดง/ผู้ช่วยผู้กำกับ ด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์ จึงมักรวมกลุ่มเพื่อนๆ พูดคุยพบปะสังสรรค์ยัง Patio Cafe ในโรงแรม Renaissance Kowloon Hotel ย่านจิมซาจุ่ย (เหมือนจะปิดบริการไปแล้ว) วันหนึ่งไปเข้าตาแมวมอง ผู้กำกับสวีอันฮัวชักชวนมาเป็นแสดงภาพยนตร์ Boat People (1982), แต่อาจเพราะหน้าตาธรรมดาๆ เลยพยายามทำงานเบื้องหลัง ก่อนค่อยๆเลือนหายตัวออกไปจากวงการ

รับบทก๋ามเนือง (Cam Nướng) เด็กสาวชาวเวียดนาม สูญเสียบิดาจากสงคราม มารดาล้มป่วยอิดๆออดๆแต่ก็แอบรับงานโสเภณี กลายเป็นพี่คนโตในครอบครัวดูแลน้องๆอีกสองคน กลางวันเปิดแผงลอยขายชานอ้อย กลางคืนรับจ้างล้างจานใกล้ๆย่านผู้หญิงขายบริการ ครั้งหนึ่งระหว่างกำลังจ่ายตลาด ชูนิ้วกลางใส่ Shiomi Akutagawa สร้างความฉงนสงสัยจนทำให้เขาติดตามมาจนถึงบ้าน ขอให้เธอเป็นไกด์พาไปยังสถานที่ต่างๆ

เกร็ด: Cam แปลว่าส้ม, ส่วน Nướng มาจากแหนมเนือง หรือแหนมย่าง (แปลว่า ย่าง) นำมารวมกันอาจงงๆ ส้มย่าง??

ทีแรกผมนึกว่าทีมงานคัดเลือกนักแสดงเวียดนาม เพราะความกลมกลืน ดูไม่ฝืนธรรมชาติเลยสักนิด! แต่แท้จริงหม่าซือเฉินเป็นชาวฮ่องกงแท้ๆ นั่นสร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างมากๆ นั่นแสดงว่าเธอมีความสามารถที่โดดเด่น แม้อายุยังน้อยแต่พร้อมทุ่มเทให้กับการแสดง … โดยเฉพาะฉากตั้งใจจะเสียความบริสุทธิ์ พบเห็นภาษากายที่หลายๆคนน่าจะอ่านออกอย่างชัดเจน (คือเข้าใจเรื่องพรรค์นี้ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ!)

น่าเสียดายที่แม้ฝีไม้ลายมือโดดเด่น เห็นว่าคว้ารางวัล Best New Performer ตัดหน้าหลิวเต๋อหัวด้วยซ้ำนะ! แต่เพราะรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ธรรมดาเกินไป เลยไม่มีใครไหนมอบโอกาสทางการแสดงให้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Wong Chung-kei, 黃宗基 ร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัวตั้งแต่ The Secret (1979), Boat People (1982), An Autumn’s Tale (1987), Painted Faces (1988), God of Gamblers (1989), Once Upon a Time in China (1991), King of Beggars (1992) ฯ

งานภาพของหนังมีลักษณะคล้ายๆการถ่ายทำสารคดี (documentary-like) เน้นความเป็นธรรมชาติ ดูสมจริง ดิบ เถื่อน กลิ่นอายเหมือน Neorealist แต่ไม่ใช่ Neorealist (เพราะทุกสิ่งอย่างเป็นการจัดฉากขึ้นจึงไม่ใช่คำที่ถูกต้องสักเท่าไหร่) เลือกถ่ายทำยังเกาะ/มณฑลไหหลำ เพราะมีสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ใกล้เคียงประเทศเวียดนามมากที่สุด

ถึงหนังได้รับการบูรณะแล้ว แต่ผมยังรู้สึกว่างานภาพมีความเก่าๆ ดูซีดๆ แทบจะไม่มีสีสันอะไร แต่นั่นถือว่าเข้ากับบรรยากาศอันหมองหม่น แสดงถึงความเสื่อมโทรมของเวียดนามยุคสมัยนั้น และไฮไลท์คือสีแดงของเลือด เมื่อปรากฎขึ้นจะมีความโดดเด่นชัดเจนมากๆ … แอบให้ความรู้สึกเหมือน Schindler’s List (1993) แต่แทนที่จะเป็นฟีล์มขาว-ดำ กลับปรับโทนสีอื่นๆให้ดูจืดจาง ซีดลง แล้วเมื่อไหร่สีแดง/เลือดปรากฎขึ้น ผู้ชมย่อมสัมผัสได้ถึงหายนะ ความตาย

แม้งานภาพจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา บดขยี้หัวใจผู้ชมให้แตกสลาย แต่ผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้พึงพอใจในไดเรคชั่นสักเท่าไหร่ แสดงความเห็นว่าประเด็นของหนังมันทรงพลังเกินกว่าจะหาวิธีนำเสนอ ‘visual style’ ให้มีความโดดเด่นไปกว่า

In Boat People the style does not make a statement. It’s just a plain narrative. But I still can’t think of better ways to shoot it.

I’m not very satisfied with the style of the film. I didn’t find a way of shooting it that was wholly appro­priate. Perhaps it was because the sub­ject matter is so strong, the script and dialogue so carefully written, that I couldn’t use an obtrusive visual style. 

ผู้กำกับสวีอันฮัว

30 เมษายน ค.ศ. 1975 วันแห่งการเสียกรุงไซ่ง่อน (เรียกโดยผู้สนับสนุนเวียดนามใต้) หรือการปลดปล่อยไซ่ง่อน (เรียกโดยผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือ) คนไทยเรียกเหมารวมว่าว่า ไซ่ง่อนแตก หลังจากสหรัฐอเมริกาอพยพทหารออกไป กองทัพเวียดนามเหนือก็กรีฑาเข้ามาในเวียดนามใต้

แต่ท่ามกลางการปรบมือ ขบวนพาเรดทหาร/รถถังเข้ายึดเมืองไซ่ง่อน ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Akutagawa กลับพบเห็นเด็กชายขาพิการคนหนึ่ง อดรนทนไม่ได้ต้องติดตามไปบันทึกภาพ มันเป็นความขัดย้อนแย้งต่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ใครต่อใครพยายามถูกปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ นั่นคือฝั่งผู้พ่ายแพ้ย่อมต้องก้มหัว ศิโรราบ ยินยอมรับโชคชะตากรรมหลังจากนี้

ไดเรคชั่นของหนังทั้งเรื่องก็จะเป็นไปในทิศทางนี้นะครับ เริ่มต้นด้วยสิ่งสวยหรู ดูดี แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างภาพ ลวงหลอกตา เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ ทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรตรงกันข้าม อะไรที่หลงเหลือล้วนคือหายนะ ความวิโยค โศกนาฎกรรม

Last night I dreamed of Chairman Ho
He has a long, long beard and silvery hair
I long to hold him, to snower kisses on him
May Chairman Ho live 10000 years!
May Chairman Ho live 10000 years!

ระหว่างที่เด็กๆกำลังขับร้องเพลงสรรเสริญลุงโฮจิมินห์ (ไม่ได้มีความแตกต่างจากประธานเหมาเจ๋อตุงเลยนะ!) ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Akutagawa ก็พูดประโยคแรกของหนัง “Don’t look at the camera”. นี่ไม่ใช่แค่คำบอกกล่าวเด็กๆ อย่าหันมาสบตาหน้ากล้อง เดี๋ยวภาพถ่ายออกมาไม่สวย แต่ยังคือคำสนทนา/ท้าทายผู้ชม เพราะการสั่งห้ามมักทำให้มนุษย์เกิดความอยากรู้อยากเห็น ต้องการจับจ้องมอง (เสือกเรื่องราวบ้าน) รับรู้ให้ได้ว่าภาพยนตร์นี้กำลังจะนำเสนออะไร

โดยปกติแล้วรองเท้ามีไว้สวมใส่ แต่ชายคนนี้กลับนำมาห้อยคออย่างภาคภูมิใจ ทำราวกับเป็นของสูงส่งล้ำค่า แต่ผมรู้สึกเหมือนเป็นการอวดอ้างตนเองเสียมากกว่า (ก็ไม่รู้ว่าเข่นฆ่าจริงๆหรือลักขโมยมา) เพื่อเขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ใน New Economic Zone โดยไม่ต้องหวาดกลัวจะถูกจับกุมข้อหาต่อต้านรัฐบาล … รองเท้าคู่นี้คือเป็นหลักประกันถึงความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิส์

โชคชะตากรรมของลุงคนนี้ ก็ไม่รู้เสียชีวิตอย่างไร แต่แทนที่จะได้สวมใส่รองเท้าคู่นี้ก้าวเดินสู่ยมโลก กลับตกเป็นของชายคนที่นั่งอยู่ทางซ้าย ราวกับต้องการจะสื่อว่าบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ไม่ได้ใคร่สนความต้องการของประชาชนสักเท่าไหร่

ระหว่างทางกลับจาก New Economic Zone มีการหยุดมุงดูเหตุการณ์ไฟไหม้ ตำรวจกำลังไล่ล่าจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ ด้วยสันชาตญาณนักข่าวของ Akutagawa จึงรีบเร่งตรงเข้าไปบันทึกภาพโดยพลัน

เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารหลังนี้ สามารถเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงสงคราม การต่อสู้ ทำให้ประเทศชาติมอดไหม้วอดวาย ตำรวจ vs. ผู้ก่อการร้าย ก็คือตัวแทนเวียดนามเหนือ vs. ใต้ ผลลัพท์คือต่างฝ่ายต่างตกลงมา นอนแอ้งแม้ง ไม่ว่าฝั่งฝ่ายไหนล้วนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะที่บุคคลนอก Akutagawa ทั้งๆไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นแค่เพียงบันทึกภาพ กลับถูกถีบส่ง โดนกระทำร้ายร่างกาย อย่ามาเสือกเรื่องชาวบ้าน!

ต่อให้พยายามสร้างภาพ New Economic Zone ให้ดูดีสักเพียงไหน แต่ไม่มีใครสามารถควบคุมเด็กๆตัวเล็กๆ บีบบังคับให้พวกเขาทำโน่นนี่นั่น เพราะสันชาตญาณมนุษย์ต้องการความรัก ความอบอุ่น ใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง สังเกตได้จากการขอให้อุ้ม เพื่อเติมเต็มความเวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ

ฉากนี้ยังสะท้อนการจัดการของเบื้องบน/คอมมิวนิสต์ ที่สนเพียงภาพลักษณ์ โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัด ขีดความสามารถบุคคล คนๆเดียวจะจัดการทุกสิ่งอย่างได้อย่างไร? แต่เมื่อผลลัพท์ออกมาไม่น่าพึงพอใจ ก็สั่งย้าย ไล่ออก กำจัดภัยพาล ไร้ซึ่งจิตสามัญสำนึก มนุษยธรรม มโนธรรมประการใด!

Akutagawa หลังพบเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายๆอย่างใน New Economic Zone เลยตัดสินใจร้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เงวียน (Comrade Nguyễn) ให้ออกเตร็ดเตร่ไปด้วยตนเองโดยไม่มีใครคอยติดตาม

สถานที่ที่พวกเขาเดิน-คุย คือบริเวณริมชายหาด พบเห็นต้นมะพร้าว และพระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า ซึ่งสามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดของมายา ภาพลวงหลอกตา (เวียดนามที่แสร้งว่าเจิดจรัสดั่งพระอาทิตย์) หลังจากนี้เรื่องราวจะดำเนินสู่ยามค่ำคืนอันมืดมิด พบเห็นวิถีชีวิต/สภาพแท้จริงของสาธารณรัฐเวียดนาม

เมื่อได้รับโอกาสออกเตร็ดเตร่ไปตามดานัง Akutagawa กลับพบเจอเห็นแต่ผู้คนที่ไม่เป็นมิตร แสดงสีหน้าเคร่งเครียด ปฏิเสธพูดคุยสนทนา นั่นเพราะพวกเขายังเต็มไปด้วยอคติต่อชาวต่างชาติ กลัวจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วโดนตัวส่งตัวเข้า New Economic Zone ในมุมมองพวกเขาไม่ต่างจากคุก สถานกักกัน มีแต่นักโทษ อาชญากร รับโทษทัณฑ์

จนกระทั่งมาถึงร้านขายอาหารข้างทางแห่งหนึ่ง มีคนทำชามใส่เส้นหล่นลงพื้น แล้วมีเด็กๆกรูเข้ามาหยิบรับประทาน หนึ่งในนั้นคือเด็กสาวก๋ามเนือง หันมาชูนิ้วกลางใส่ Akutagawa สร้างความประทับใจ ฉงนสงสัย ทำไมเธอถึงปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้น เลยแอบติดตามไป

Akutagawa แอบติดตามก๋ามเนืองมาจนถึงเรือ? เธอมาทำอะไรยังสถานที่แห่งนี้กัน? พอวางกระชอนก็เห็นถกกางเกงลง … อ๋อ … ปลดทุกข์ ซึ่งจะว่าไปเรื่องราวต่อจากนี้ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ในครอบครัวของเด็กสาว หรือคือสภาพที่แท้จริงของประเทศเวียดนาม

ถ่ายทุกข์บนเรือ นี่มันอะไรกันเนี่ย?? ระบบสาธารณสุขของเวียดนามสมัยนั้นย่ำแย่ขนาดนั้นเชียวหรือ?? ขณะเดียวกันทำไมต้องบนเรือ หรือจะล้อถึง Boat People กลุ่มบุคคลที่ถูกมองเป็นสิ่งปฏิกูล/ของเสีย ต้องขับออกจากประเทศเวียดนาม??

แซว: จะมีฉากที่เฉลยว่าสถานที่แห่งนี้ตอนกลางเรื่องด้วยนะครับ ก๋ามเนืองยังพูดบอกว่าการถ่ายทุกข์ลงทะเล เป็นความรู้สึกที่ผ่อนคลายจริงๆ

นี่เป็นช็อตเล็กๆที่นำเสนอสภาพครอบครัวของก๋ามเนือง (สามารถเทียบแทนระดับจุลภาคของประเทศเวียดนาม) สังเกตว่าภายในบ้านปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่ภายนอกกลับสว่างไสว และพวกเขาทั้งสี่ต่าง(ไล่ระดับความสูงกันเลยนะ) ยืนคนละฟากฝั่งกับ Akutagawa แสดงถึงการไม่ยินยอมรับเข้าพวกเดียวกัน

น้องชายคนรองวันหญาก (Văn Nhạc) สวมหมวกทหารเวียดนาม (น่าจะของบิดา) ประดับสองดั้ง เป็นคนพูดคุยต่อรองกับ Akutagawa รับรู้ทางหนีทีไล่ เข้าใจผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทำตัวเหมือนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในครอบครัวนี้ (เทียบแทนด้วยสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และอำนาจการปกครองอยู่ในเงื้อมมือเผด็จการทหาร)

ฟาร์มไก่ เป็นชื่อที่หลอกลวงผู้ชมเอามากๆ เพราะใครๆคงนึกว่าคงเป็นฟาร์มหรือไก่ตัวเป็นๆ แต่ที่ไหนได้ … นี่คือไดเรคชั่นของหนังที่ผมอธิบายไป เริ่มต้นด้วยการสร้างภาพลวงหลอกผู้ชม จากนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ

สถานที่แห่งนี้ทำให้ Akutagawa ได้พบเจอกับโตมินห์ (กล้องถ่ายมุมเงยให้สัมผัสเหมือนคือสวรรค์บันดาล โชคชะตาที่ได้พบเจอ) เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจาก New Economic Zone มารักษาแผลที่ขาหน้า และวันหญากยืนเหยียบศพผู้เสียชีวิต ทำราวกับว่าตนเองคือวีรบุรุษ ภาคภูมิใจในสิ่งที่กระทำ (กล้องถ่ายจากเบื้องบนค่อยๆซูมเข้าหา ราวกับสวรรค์จับจ้องมอง/จดบันทึกความตายของคนเหล่านั้นไว้)

ตัดกลับมาทางฝั่งเจ้าหน้าที่เงวียน นำพา Akutagawa มายังบาร์แห่งหนึ่ง หนังไม่ได้ระบุชื่อคุณนาย (รับบทโดย เหมียวเฉียนเหริน) เพียงแค่คำอธิบายว่าพื้นเพเป็นชาวจีน เมื่อญี่ปุ่นยึดครองไซ่ง่อน (ค.ศ. 1940) เสียตัวครั้งแรกให้นายพลขณะอายุ 14 ตามด้วยฝรั่งเศส อเมริกัน (ที่ผลัดกันเข้ายึดครองไซ่ง่อน) พานผ่านประสบการณ์มาจากโชกโชน และขณะนี้ก็ตกมาเป็นของเขา ปัจจุบันอายุย่างเข้า 50 ยังคงสวยไม่สร่าง

ผมชอบการเลือกบทเพลง La Vie en Rose ของ Édith Piaf เปิดแผ่นเสียงคลอประกอบบรรยากาศร้าน (ขณะรับฟังคำบรรยายของเจ้าหน้าที่เงวียน) เพื่อสะท้อนตัวตนของคุณนาย แม้พลีกายให้ผู้ชายมากมาย แต่บุคคลที่เธอรักมากสุดกลับเป็นชายหนุ่มโตมินห์ พร้อมปรนเปรอ มอบเงินทอง หวังว่าเขาจะสามารถเอาตัวรอด หลบหนีออกไปจากประเทศแห่งนี้

เพียงเห็นเลือดจากการหั่นสเต็ก Medium-Rare ก็ทำให้ Akutagawa เกิดอาการปั่นป่วนท้องไส้ หวนระลึกเหตุการณ์ที่ฟาร์มไก่ ซึ่งเราสามารถตีความถึง(เลือด)มนุษย์และ(เลือด)สัตว์ ประชาชนชาวเวียดนามมีสภาพไม่แตกต่างจากหมูหมากาไก่สักเท่าไหร่!

สำหรับประชาชนทั่วๆไป ข้าวปลาไม่มีอันจะกิน เด็กชายวันหญากต้องขุดคุ้ยกองขยะ เผื่อค้นพบสิ่งของมีค่านำไปค้าขายได้ราคา แต่โชคร้ายอะไรปานนั้น หยิบระเบิดมือขึ้นมา ตูม! แล้วพบเห็นใครบางคนวิ่งเอาธงชาติเวียดนามมาปกคลุม มองมุมหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้ชมทนเห็นภาพบาดตาบาดใจ ซึ่งลักษณะนี้คล้ายๆพิธีศพของทหาร คือการให้เกียรติ/สตุดีความเสียสละ ตายอย่างลูกผู้ชาย เพื่อคนอื่นจักรอดชีวิตอีกมากมาย

สิ่งหลงเหลือที่ก๋ามเนืองนำกลับบ้าน คือรองเท้าของวันหญาก คงต้องการเก็บไว้ให้น้องสวมใส่ ล้อกับคุณลุงตอนต้นเรื่องที่ห้อยรองเท้าทหารอเมริกัน แต่เรื่องราวขณะนี้มันไม่มีความน่าภาคภูมิใจอะไรเลยสักนิด!

บาร์ของคุณนาย ชั้นบนคือห้องนอนสำหรับรองรับแขกเหรื่อ บุคคลมีอำนาจ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ชนชั้นสูงที่ครอบครองเวียดนามขณะนั้นๆ (ผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา) แต่เธอดูไม่ได้กะตือรือล้น หลังเสร็จกามกิจก็สวมใส่เสื้อผ้า ยกมือข้างหนึ่งพาดไว้เหนือศีรษะ (เป็นท่วงท่าที่เหมือนคนไม่ยี่หร่าอะไรใคร)

ส่วนชั้นล่างด้านหลัง คุณนายกลับซุกซ่อนชู้รักโตมินห์ ชายหนุ่มคนธรรมดาๆ หน้า(ไม่)บ้านๆ ไร้ซึ่งการงาน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพักพิง สถานภาพถือว่าชนชั้นต่ำ แต่เธอกลับเต็มไปด้วยอารมณ์พิศวาส ร่านราคะ โอบรัดกัดกินมือของอีกฝ่าย (สัญลักษณ์ของเพศสัมพันธ์)

แซว: หมอน คือสิ่งสำหรับหนุนศีรษะเวลาหลับนอน ถ้าเป็นหนังอาชญากรมักซุกซ่อนปืนไว้ใต้หมอน แสดงถึงสิ่งสำคัญ ของรักของหวง ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้คุณนายเก็บเงินส่วนตัวเอาไว้ เพื่อนำมามอบให้ชู้รัก (จริงๆเรียกโตมินห์ว่าแมงดา น่าจะชัดเจนกว่านะ)

กล้องถ่ายรูปของ Akutagawa ถือเป็นจิตวิญญาณ ของรักของหวง เลยไม่ยินยอมให้โตมินห์ลักขโมยเอาไป พยายามเหนี่ยวรั้ง ทำทุกสิ่งอย่าง กดบาดแผลที่หน้าขาจนเขาล้มลง แสดงอาการเจ็บปวด ไม่สามารถวิ่งหลบหนีตำรวจ ซวยแล้วกรู! และโดยที่ไม่มีใครล่วงรับรู้ บาดแผลดังกล่าวซุกซ่อนแผ่นทองคำ ตั้งใจไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับขึ้นเรือออกเดินทาง คาดหวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา … มันช่างล้อกันได้เจ็บปวดยิ่งนัก!

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสังเกตไม่ยากว่า การแสดงออกที่ผิดปกติของก๋ามเนือง แท้จริงแล้วต้องการจะทำอะไร (ก็หนังพยายามชี้นำซะขนาดนั้น) รวมถึงคำตอบของ Akutagawa ร้อยทั้งร้อยไม่มีทางทำสิ่งเหล่านั้นโดยเด็ดขาด! นี่เป็นฉากที่ผมมองว่าสะท้อนความสิ้นหวัง เด็กสาวยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง (แม้กระทั่งขายตัว) เพื่อให้ตนเองและครอบครัวสามารถเอาชีวิตรอดไปวันๆ

แต่สิ่งที่ผมสนใจคือปฏิกิริยาแสดงออกของ Akutagawa จริงๆคงตระหนักมาสักพักแล้วละ จนกระทั่งเห็นขึ้นไปบนเตียง พร่ำบ่นเรื่องเท้าไม่สะอาด เลยเข้าไปยกอุ้มขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อบอกว่าเธอยังเป็นเด็กน้อย อายุฉันก็มากเท่ารุ่นพ่อ จะไปมีอารมณ์/ความต้องการทางเพศได้อย่างไร

แซว: เรื่องราวของก๋ามเนือง สามารถเชื่อมต่อกับคุณนาย (ที่เคยเสียตัวให้นายพลญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 14) ถ้าฉากนี้เธอขายตัวได้สำเร็จ โชคชะตาชีวิตคงดำเนินไปไม่แตกต่างกัน

ปฏิกิริยาของ Akutagawa หลังส่งก๋ามเนืองกลับบ้าน ตรงไปยังบาร์ของคุณนาย ดื่มเหล้าหมดแก้วแล้วแก้วเล่า แล้วเขวี้ยงขว้างลงบนพื้น ท่ามกลางแสงสีแดงอาบฉาบ แสดงถึงความรู้สึกภายในอันเกรี้ยวกราด … ไม่ได้โกรธพฤติกรรมของก๋ามเนืองนะครับ แต่คือสภาพแวดล้อม(แสงสีแดง)ที่หล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นแบบนั้นต่างหาก!

เหมืองระเบิด คือบริเวณที่เคยใช้สู้รบระหว่างสงคราม จึงมีการฝังระเบิดไว้ใต้ดินสำหรับลอบทำลายศัตรู แต่ก็มีบางลูกที่ยังไม่เคยใช้งาน พอจบสงครามก็ไม่มีใครไหนหวนกลับมาขุดกลบ จึงกลายเป็นหน้าที่พลเมืองชั้นเลว สมาชิก New Economic Zone รับหน้าที่เสี่ยงตายไม่เว้นวัน ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย/รั้วลวดหนาม (แต่ถึงยังรอดตัว บางคนก็หัวใจแตกสลาย)

การนำเสนอฉากปลดระเบิดแม้ไม่ได้มีเทคนิคหวือหวา แต่ต้องชมเลยว่าเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ลุ้นระทึก แทบมิอาจผ่อนลมหายใจ เพราะตัวละครต้องกระทำสิ่งอย่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามลำดับขั้นตอน ผิดพลาดพลั้งก็อาจดับดิ้นแค่เพียงเสี้ยววินาที … สะท้อนถึงการมีชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ทำอะไรผิดหูผิดตา/ไม่เป็นที่พึงพอใจเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ก็อาจระเบิดลง ถูกเก็บเข้ากรุ ตกตายทั้งร่างกาย-จิตใจ

เอาจริงๆมันก็มีโอกาสมากมายหลายครั้งเลยนะที่ Akutagawa จะถ่ายรูปคู่กับก๋ามเนือง แต่หนังกลับเลือกขณะฝนตกพรำ หลังจากพูดบอกผู้ติดตามว่าจะไม่ยื่นขอต่อวีซ่า (สายฝน=หยาดน้ำตาแห่งการร่ำลา) อีกไม่นานก็จักเดินทางกลับญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนี้เขายังพาเธอไปเลี้ยงอาหารหรู (คงตั้งใจให้เป็นงานเลี้ยงอำลา)

Hồ chủ-tịch vĩ-đại sống mãi trong sự nghiệp của chúng
แปลว่า Great President Ho living in our live forever.

ภายหลังการเสียชีวิตของโตมินห์ หนังตัดมาจากภาพวาด(ชวนเชื่อ)ในร้านอาหารหรูๆแห่งหนึ่ง ข้อความภาษาเวียดนามแปลว่า ‘ลุงโฮจิมินห์จะอยู่ภายในจิตใจพวกเราตลอดไป’ ซึ่งสามารถสื่อถึงโตมินห์จะอยู่ในใจผู้ชมตลอดไปก็ได้เช่นกัน (แต่หลายคนอาจตีความในทิศทางตรงกันข้าม ว่าโศกนาฎกรรมของโตมินห์เกิดจากความคอรัปชั่นในการบริหารจัดการรัฐบาลคอมมิวนิสต์/ลุงโฮจิมินห์)

มารดาของก๋ามเนือง โดนทางการควบคุมตัวข้อหาค้าประเวณี กระทำสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม ระหว่างกำลังถูกประจานต่อหน้าผู้คน เธอตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ด้วยการใช้ตะขอทิ่มแทงเข้าที่บริเวณลำคอ เหมือนปลาที่ถูกเบ็ดเกี่ยว ไม่สามารถแหวกว่ายดิ้นรน หลุดรอดพ้นจากโชคชะตากรรม

ผมเห็นตะขอฉากนี้ทำให้นึกถึงปลาตัวใหญ่ที่ก๋ามเนือง(และ Akutagawa)ต่อรองซื้อขาย ตั้งใจจะนำมาทำเป็นอาหารเย็น แต่น้องชายวันหญากดันโดนลูกระเบิดเสียชีวิต มันก็เลยถูกทิ้งขว้างไว้ข้างกองขยะ … ประสบโชคชะตาไม่แตกต่างกัน

อย่างที่บอกไปว่ากล้องถ่ายรูปคือจิตวิญญาณของ Akutagawa ไม่ยินยอมให้ถูกลักขโมยโดยโตมิญ แต่หลังจากพบเห็นการกระทำอัตวินิบาต(มารดาของก๋ามเนือง) ทำให้บางสิ่งอย่างภายในของเขาได้หมดสูญสิ้น ตกตายไป ซึ่งระหว่างกำลังเก็บกล้องใส่กล่อง จะมีการตัดต่อเคียงคู่ขนานกับการตอกปิดฝาโลงศพ!

ไม่ใช่ว่า Akutagawa หมดความสนใจในการเป็นช่างถ่ายภาพนะครับ แต่คือสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศแห่งนี้ เลยต้องการให้ความช่วยเหลือก๋ามเนือง ยินยอมขายกล้องที่เป็นของรักของหวง/จิตวิญญาณของตนเอง เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายขึ้นเรือออกเดินทาง ไปให้ไกลจากขุมนรกแห่งนี้

รอยแผลเป็น สำหรับชายชาติทหารมักคือสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ได้ผ่านการต่อสู้เสี่ยงเป็นเสียงตาย! สำหรับเจ้าหน้าที่เงวียน อาจมีความอับอายอยู่เล็กๆเลยบอกปัดปฏิเสธ Akutagawa ไม่ยินยอมให้ถ่ายรูปจนกว่าจะถึงวันตายของตนเอง นี่ก็ล้อกับรองเท้าทหารอเมริกันของลุง (ตอนต้นเรื่อง) บอกว่าต้องการสวมใส่ในวันที่ตนเองเสียชีวิต แต่สุดท้ายแล้วโชคชะตาทั้งสองเหมือนกันเปะ เมื่อวันนั้นมาถึง (แม้เจ้าหน้าที่เงวียนยังมีชีวิตอยู่ แต่การถูกย้ายไปดูแล New Economic Zone ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น) ต่างไม่มีใครได้รับในสิ่งคาดหวัง

ในกรณีของเจ้าหน้าที่เงวียน เหตุผลที่ไม่ได้ถ่ายรูปแผลเป็นเพราะ Akutagawa เพิ่งขายกล้องให้คุณนาย จริงๆถ้าเขาต้องการก็สามารถหยิบยืมมาก่อนก็ได้ แต่ในบริบทนี้จะสื่อว่าเขาสูญเสียความเชื่อมั่นต่อเวียดนามไปหมดสิ้น ภาพถ่ายรอยแผลเป็น (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ชัยชนะจากสงคราม) จึงไม่อยู่ในสายตาอีกต่อไป

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า เจ้าหน้าที่เงวียนทำอะไรผิดพลาดถึงถูกส่งเข้ากรุ ไม่รู้ความรับผิดชอบต่อ Akutagawa หรือเปล่า? แต่หลักการทำงานของคอมมิวนิสต์ก็เช่นนี้แหละ ใครทำอะไรไม่ถูกใจเจ้านาย ก็มักโดนเช่งหัว ขับไล่ สูญเสียทุกสิ่งอย่างสร้างมาทันใด

ภายหลังการเสียชีวิตของมารดา ก๋ามเนืองและน้องชายกำลังจะถูกส่งไป New Economic Zone ค่ำคืนสุดท้ายขณะกำลังเตรียมเก็บข้าวของ ร้อยเรียงภาพในบ้านที่ดูโหวงเหวง วังเวง ปกคลุมด้วยความมืดมิด เทียบแทนถึงเวียดนามขณะนั้น ช่างมีความน่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก!

การมาถึงของ Akutagawa แบกถังน้ำมันเข้ามา (ทีแรกผมนึกว่าจะนำมาเผาบ้าน ล้อกับตอนต้นเรื่องที่เขาพบเจอกลุ่มผู้ต่อต้าน) จากนั้นช่วยขับกล่อมร้องเพลง แล้วกล้องค่อยเคลื่อนเลื่อนจากชั้นล่างขึ้นไปบนหลังคา น่าจะแทนด้วยความคาดหวังว่าสักวันประชาชน(ชั้นล่าง)จะมีสิทธิ์เสียง เทียบเท่าเทียมบรรดาเบื้องบน(ชนชั้นสูง)ที่อาศัยอยู่อย่างเลิศหรูสุขสบาย

แวบแรกผมนึกถึงการเริงระบำแห่งความตายจากภาพยนตร์ The Seventh Seal (1957) ขณะที่ฉากนี้คือการเสียสละของ Akutagawa แม้ร่างกายมอดไหม้ แต่ก็สามารถกลายเป็นเปลวไฟ/แสงสว่างแห่งความหวัง (เริงระบำ=)อำนวยอวยพรให้ก๋ามเนืองสามารถหลบหนีจากสถานที่แห่งนี้ อยู่รอดปลอดภัย และมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อพูดถึงการเผาไหม้ตัวตาย นี่ย่อมเป็นการอ้างอิงพระสงฆ์ทิก กว๋าง ดึ๊ก (Thích Quảng Đức) ภิกษุมหายานชาวเวียดนามที่จุดไฟเผาตัวเองจนมรณภาพ ณ ถนนสี่แยกกรุงไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1963 เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกที่ข่มเหงชาวพุทธในประเทศเวียดนามใต้ มีการบันทึกภาพถ่ายโดย Malcolm Browne ได้รับเผยแพร่ไปทั่วโลกจนคว้ารางวัล Pulitzer Prize

No news picture in history has generated so much emotion around the world as that one.

John F. Kennedy ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาขณะนั้น

ผู้กำกับสวีอันฮัวคงคาดหวังว่าผู้ชมจะบังเกิดความรู้สึกบางอย่างกับฉากนี้! สำหรับผมเต็มไปด้วยความโกรธ เกรี้ยวกราด เหมือนเปลวไฟกำลังลุกมอดไหม้อยู่ภายใน แต่เพราะได้แค่จับจ้องมอง เพียงรับชมภายนตร์ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไร เวลาผ่านไปสักพักเลยกลายเป็นขี้เถ้าถ่าน ท้อแท้หมดสิ้นหวังอาลัย

ช็อตสุดท้ายของหนัง ก๋ามเนืองเหม่อมองออกไปท่ามกลางมหาสมุทรอันไกลโพ้น ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร เธอจักสามารถไปถึงฝั่งฝันไหม หรืออาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างกลางท้องทะเล เพียงแช่ภาพค้างไว้แล้วปล่อยให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมีความหวัง กำลังใจ แต่ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับโชคชะตากรรม

ตัดต่อโดย Kin Kin, 健健 ในเครดิตมีเพียงสองผลงาน Boat People (1982) และ Homecoming (1984)

หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa ซึ่งสามารถเปรียบได้กับมุมมองของผู้ชมผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ (ตัวละครมองเหตุการณ์ผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป = ผู้ชมพบเห็นตัวละครผ่านจอภาพยนตร์) ซึ่งปฏิกิริยาทั้งหลายที่(ตัวละคร)แสดงออกมา(เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ) ล้วนคือความรู้สึกนึกคิดของผู้สร้าง ต้องการชี้นำอารมณ์ผู้ชมให้เป็นไปในทางทิศเดียวกัน … นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าการครอบงำ ‘manipulate’

เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์

  • อารัมบท, วันไซ่ง่อนแตก
  • ภาพลวงตาของ New Economic Zone
    • Shiomi Akutagawa ได้รับเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้ถ่ายภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ประชาชนอาศัยกันอย่างสงบสันติสุข
    • แต่หลังจากพบเห็นเหตุการณ์ตำรวจไล่จับกลุ่มผู้ต่อต้าน ทำร้ายอีกฝั่งฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส/เสียชีวิต ก็ตระหนักถึงความผิดปกติที่ถูกซุกซ่อนเร้นไว้
  • สภาพความเป็นจริงของชาวเวียดนาม
    • Akutagawa ได้รับอนุญาตให้ออกไปเตร็ดเตร่ยังสถานที่ต่างๆโดยไม่มีผู้ติดตาม
    • บังเอิญถูกชะตาก๋ามเนือง เลยแอบติดตามไปจนถึงบ้าน พบเห็นวิถีชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ท้องอิ่ม ปล้นสิ่งของผู้เสียชีวิต (ฟาร์มไก่) ขุดคุ้ยเศษซากกองขยะ มารดากลายเป็นโสเภณี ฯลฯ
    • ตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีชีวิตอย่างหรูหรา สุขสบาย ดื่มกินเสพสำราญ สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ต้องสนอะไรใครนอกจากเลียแข้งเลียขาเจ้านาย
  • เรื่องราวของโตมินห์
    • โตมินห์ต้องการขึ้นเรือหลบหนีมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา เลยพยายามลักขโมยกล้องถ่ายรูปของ Akutagawa แต่โดนจับได้เลยถูกส่งกลับไปยัง New Economic Zone
    • Akutagawa ได้รับใบผ่านจาก ติดตามโตมินห์ไปพบเห็นสภาพที่แท้จริงของนักโทษใน New Economic Zone
    • โตมินห์ถูกมอบหมายให้ทำงานเหมืองระเบิด ระหว่างเฝ้ารอคอยการขึ้นเรือหลบหนี แต่พอวันนั้นมาถึง ก็มิอาจดิ้นหลุดพ้นโชคชะตากรรม
  • การตัดสินใจของ Shiomi Akutagawa
    • Akutagawa ตัดสินใจไม่ต่อวีซ่า แต่ต้องการช่วยเหลือโตมินห์ให้ออกไปจากนรกขุมนี้

สิ่งหนึ่งที่ต้องชมคือการลำดับเรื่องราวที่มีความค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก เช่นเดียวกับภาพโหดๆที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้ผู้ชมปรับตัว บังเกิดภูมิต้านทาน สามารถอดรนทนดูหนังจนจบ … และสำหรับคนที่อินกับเรื่องราวมากๆ มันจะเกิดความโกรธเกลียดเกรี้ยวกราด สะสมอันแน่นจนแทบปะทุระเบิดออกมา


เพลงประกอบโดย Law Wing-Fai, 羅永暉 คีตกวีชาวฮ่องกง สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีสังเคราะห์จาก University of California ชื่นชอบมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านจีน-คลาสสิกตะวันตก ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Hong Kong Academy for Performing Arts มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Opera, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์, ร่วมงานบ่อยครั้งกับผู้กำกับสวีอันฮัว อาทิ Boat People (1982), A Simple Life (2011) ฯ

ถึงผมไม่เคยรับรู้ว่าบทเพลงกลิ่นอาย Vietnamese นั้นเป็นเช่นไร แต่เหมือนหนังจะไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่ (นอกจากที่เด็กๆขับร้องบทเพลงภาษาเวียดนาม) พยายามทำให้เป็นสากล/เข้าถึงผู้ชมด้วยดนตรีคลาสสิก สำหรับเสริมเติมแต่งอารมณ์ และผสมเสียงจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์เมื่อต้องการเน้นย้ำเหตุการณ์อันเลวร้าย ภาพความตาย สร้างความปั่นป่วนท้องไส้ รำคาญแก้วหูเสียจริง

ไม่ใช่ว่าทุกบทเพลงจะขับเน้นแต่อารมณ์หดหู่ หมดสิ้นหวัง ยกตัวฉากฉากที่ก๋ามเนืองนำพา Akutagawa แนะนำให้รู้จักฟาร์มไก่ เริ่มต้นขณะออกวิ่งด้วยท่วงทำนองครึกครื้นเครง อลเวง เสียงเครื่องเป่าล้อละเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่นั่นกลับเป็นการลวงล่อหลอกผู้ชม แบบเดียวกับการดำเนินเรื่องของหนัง เริ่มต้นสร้างภาพให้ดูดี ก่อนค่อยเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้คือ…

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ เพราะผมพยายามหาคำแปลบทเพลงภาษาญี่ปุ่นของ Akutagawa (ครั้งแรกขับร้องให้เด็กๆฟัง และช่วงท้ายกับสองพี่น้องก่อนพาหลบหนี) แต่ก็ไม่มีเจ้าไหนแปลซับไตเติ้ลให้เลย (แต่เพลงที่เด็กๆขับร้องสรรเสริญลุงโฮกลับมีคำแปล ซะงั้น!) นี่แสดงว่าผู้กำกับสวีอันฮัวจงใจใช้บทเพลงนี้ สำหรับผู้ชมที่ไม่รับรู้เนื้อคำร้อง ยังสามารถทำความเข้าใจท่วงทำนอง ห้วงอารมณ์ที่ตัวละครขับขานออกมา … เท่าที่ผมพอจับใจความได้บางคำ เกี่ยวกับการเดินทางไกล แม้ต้องทนทุกข์ยากลำบากขนาดไหน แต่ถ้าเราสามารถอดรนทน สักวันหนึ่งย่อมพบเจอหนทางออก ท้องฟ้าสว่างสดใส


ผู้กำกับสวีอันฮัว สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงช่วงปลายทศวรรษ 70s คาคลั่งไปด้วยคลื่นผู้อพยพมากหน้าหลายตา ไม่ใช่แค่จากเวียดนาม ยังรวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ (หลบหนีการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)) ทำให้ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สถานที่อยู่อาศัยเริ่มคับแคบแออัด ท้องถนนเต็มไปด้วยคนยากไร้ ขอทาน อาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง คุณภาพชีวิตสวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยความฉงนสงสัยว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? ผู้กำกับสวีอันฮัวจึงเริ่มครุ่นคิด ศึกษาค้นคว้า แล้วค้นพบต้นตอของปัญหา จากนั้นก็สรรค์สร้างสารคดี Boy from Vietnam (1978), ติดตามด้วยภาพยนตร์ The Story of Woo Viet (1981) และ Boat People (1982) ด้วยจุดประสงค์แทนคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้น ให้ชาวฮ่องกงได้รับรู้โดยทั่วกัน

Boat People เป็นคำเรียกที่มีความจำเพาะเจาะจงถึงผู้อพยพชาวเวียดนาม พยายามหลบหนีออกนอกประเทศทางเรือ ตั้งแต่หลังสงคราม Vietnam War (1955-75) ช่วงระหว่างปี 1975-95 คาดการณ์ตัวเลขมากกว่า 800,000+ คน โดยปลายทางอันดับหนึ่งคือฮ่องกง (น่าจะใกล้สุดกระมัง) แต่ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถเอาตัวรอดชีวิต เพราะต้องเผชิญหน้าโจรสลัด พายุลมฝน หรือถูกล้อมสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เพราะคนเหล่านี้มักพกพาเงินทอง สิ่งข้าวของราคาแพงๆติดตัวไปเริ่มต้นชีวิตยังประเทศใหม่) ประมาณผู้เสียชีวิตในทะเลกว่า 200,000-400,000 คน!

I don’t know what Political Truth is. All I know is that I stand by the statements I make in Boat People, the things I say and present in it. I have been under a lot of attack in Hong Kong, as well as here, for the movie and its politics. I’ve been bandied about by one party and another as anti-Communist – which I firmly state that I am not. The film has been shamelessly used by political parties as a weapon for attacking other parties. But Boat People is a survival story set in a tragic moment in history. It’s not a propaganda state­ment against Communism.

ผู้กำกับสวีอันฮัว กล่าวในรอบสื่อ (Press Conference) ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes

ผู้กำกับสวีอันฮัว พยายามให้คำอธิบายถึง Boat People (1982) คือเรื่องราวแนวต่อสู้เอาชีวิตรอด (Survival) โดยมีพื้นหลังในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศ ปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้พ่ายแพ้ (เวียดนามใต้) แม้คนส่วนใหญ่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบต่อพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยเลือกต่อสู้ เผชิญหน้า หรือหาหนทางหลบหนีขึ้นเรือออกนอกประเทศ ขอไปเสี่ยงโชคชะตาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ดีกว่า (ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบากภายใต้ระบอบเผด็จการ)

ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับสวีอันฮัว ก็น่าจะตระหนักถึงคำพูดดังกล่าวเป็นความจริง! เธอไม่น่าจะรับรู้ตนเองด้วยซ้ำว่ากำลังสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สามารถตีความประเด็นการเมือง แสดงออกว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนขนาดนี้ ผมครุ่นคิดว่าอาจเพราะการเติบโตในครอบครัวสองสัญชาติ (บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น) ได้สร้างอิทธิพลต่อความคิด โลกทัศนคติ เข้าใจความแตกต่าง หลากหลาย พอสังเกตเห็นอะไรไม่ชอบมาพากล ย่อมเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากขบครุ่นคิดค้นหาคำตอบ แล้วเอามาตรฐานตนเองเป็นที่ตั้ง แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งนั้นอย่างตรงไปตรงมา (ที่ให้ตัวละคร Akutagawa เป็นชาวญี่ปุ่น เพราะต้องการนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลนอก(ไม่ใช่คนจีนหรือเวียดนาม))

ความสนใจจริงๆของผู้กำกับสวีอันฮัว มักเกี่ยวกับเรื่องของชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน โดยเฉพาะหญิงสาวที่ต้องปรับเอาตัวรอดในสถานการณ์แตกต่างออกไป ซึ่งสำหรับ Boat People (1982) สังเกตว่าตัวละครเพศหญิงล้วนมีมิติกว่าเพศชายเสียอีก

  • เด็กหญิงก๋ามเนืองมีวัยวุฒิมากสุดในครอบครัว จึงต้องพยายามดูแลน้องๆ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่อสนิทสนมกับ Akutagawa ต้องการขายความบริสุทธิ์ เพื่อแลกกับอนาคตของครอบครัว
  • คุณนาย (เหมียวเฉียนเหริน) ยินยอมขายตัวให้ชาวฝรั่งเศส อเมริกัน จีน ญี่ปุ่น ใครก็ตามที่มีลาภยศ ตำแหน่งสูงศักดิ์ ทำให้รู้จักผู้คนมากมาย มีเส้นสายเต็มไปหมด จึงสามารถเปิดบาร์ ขายเหล้าหรู เอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์

สำหรับโตมินห์ที่ถือว่าเป็นตัวละครหลักในบทร่างฉบับแรกๆ ก็เต็มไปด้วยความพยายามในการต่อสู้ดิ้นรน มีความเพ้อฝันอยากออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา แต่โชคชะตาล้วนนำพาให้ประสบเรื่องร้ายๆ จนท้ายที่สุดก็ไม่สามารถไปไกลเกินกว่าผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

เอาจริงๆการมองหนังประเด็นการเมือง (Political) ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะปัจจัยแวดล้อม/สภาพสังคม ล้วนเป็นผลกระทบต่อความไร้ศักยภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล/หน่วยงานรัฐ แต่การจะโทษว่ากล่าวตรงๆถึงพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว! อย่าลืมว่าพื้นหลังของหนังเพิ่งสิ้นสุดสงครามเวียดนามไปไม่นาน ประเทศยังอยู่ในช่วงการบูรณะฟื้นฟู ใครเคยศึกษายุโรป/สหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกทั้งสองครั้งจะมีคำเรียก ‘Great Depression’ รวมไปถึงการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง พวกมหาอำนาจประชาธิปไตยนี่ตัวดีเลยนะ ใช้อำนาจศาลกำจัดคนเหล่านั้นให้พ้นภัยพาล … มันไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมในแง่มุมการเมืองหรอกนะครับ

ความพิลึกพิลั่น อาจจะถือว่าคือโชคชะตากรรม! ผู้ชม/นักวิจารณ์มักมองหนังเรื่องนี้ด้วยความสุดโต่งจากทั้งสองฝั่ง หนึ่งคือเห็นนัยยะใจต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Communist) หรือต่อต้านเผด็จการ (Anti-Totalitarianism) ขณะที่พวกขวาจัด (Leftist) พอได้ยินว่าสรรหาทุนจากรัฐบาลจีน จึงต้องเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) สนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิต์ … มันเป็นไปได้อย่างไรที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง Boat People (1982) จะถูกลอยคอพร้อมกันจากโลกทั้งสองฝั่ง

นั่นถือเป็นสิ่งโคตรๆ Ironic สำหรับ Boat People (1982) เพราะนำเสนอเรื่องราวของคนที่ต้องการหลบหนี (ออกจากกะลาครอบ) ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ในสถานการณ์ที่ถูกรายล้อมด้วยความเหี้ยมโหดร้าย (ไม่ว่าผู้ชม/นักวิจารณ์ฝั่งฝ่ายไหน ล้วนจ้องจิกภาพยนตร์เรื่องนี้ดั่งอีแร้งกา) ท้ายที่สุดก็ได้แต่ล่องลอยคอ เคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ไม่รู้อนาคตจักดำเนินไปถึงเป้าหมายปลายทางหรือเปล่า

แซว: ถ้าค้นหนังใน Google จะปรากฎชื่อไทยว่า “ใส่ความบ้าท้านรก” ผมรู้สึกว่ามันไม่เข้าเค้าเสียเลยนะ! แต่ระหว่างกำลังมองหาโปสเตอร์หนังกลับพบอีกชื่อไทย “สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน” ฟังดูเหมาะสมกว่ามากๆ (ไม่แน่ใจว่าใครป้อนข้อมูลผิดๆหรือเปล่า แต่ชื่อจากโปสเตอร์นี้น่าจะถูกต้องนะครับ)

หนังเข้าฉายในฮ่องกงเดือนตุลาคม 1982 สามารถทำเงิน HK$15.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม สูงเป็นอันดับ 5 แห่งปี! นอกจากนี้ยังคว้ามาอีก 5 รางวัล Hong Kong Film Awards และเป็นตัวแทนฮ่องกงส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ

  • Best Film **คว้ารางวัล
  • Best Director **คว้ารางวัล
  • Best Actor (George Lam)
  • Best Actress (Cora Miao)
  • Best Actress (Season Ma)
  • Best New Performer (Andy Lau)
  • Best New Performer (Season Ma) **คว้ารางวัล
  • Best Screenplay **คว้ารางวัล
  • Best Cinematography
  • Best Editing
  • Best Art Direction **คว้ารางวัล
  • Best Original Score

ดั้งเดิมหนังได้รับเลือกเข้าสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes แต่หลังถูกล็อบบี้จากรัฐบาลฝรั่งเศส ก็ยังมีการแอบลักลอบนำเข้าฉายนอกสายการประกวด (out-competition) ถึงอย่างนั้นเสียงตอบรับกลับแตกละเอียด แม้ได้รับคำชมถึงลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอน่าประทับใจ อย่างที่บอกไปว่าผู้ชม/นักวิจารณ์ฝั่งเสรีนิยม (Leftist) ต่างมองว่าเป็นหนังชวนเชื่อคอมมิวนิสต์ (Propaganda) แม้แต่ผู้กำกับสวีอันฮัวยังโดนโจมตีในการสัมภาษณ์สื่อ (Press Conference)

At some point, we were asked to negotiate with the [authorities] in Paris, and were told that we couldn’t be included in the [main] competition anymore. We were still given the status of ‘official selection’, [but were instead] presented there as the ‘film surprise’. And they told me that the preceding ‘film surprise’, which was also prevented by the government [from competing], was Andrei Tarkovsky’s Stalker. At that point, I was so smitten I just said yes.

ผู้กำกับสวีอันฮัว กล่าวถึงการโดนระงับฉายในสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Cannes

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ 4K ได้รับการอนุมัติโดยผู้กำกับสวีอันฮัว สามารถหารับชมออนไลน์และเบื้องหลังได้ทาง Criterion Channel

แม้โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบหนังที่มีความรุนแรงสุดโต่ง แต่อาจเพราะภูมิต้านทานจาก Apocalypse Now (1979) และ The Killing Fields (1984) ทำให้ไม่ค่อยเกิดอคติต่อ Boat People (1982) นี่ต้องปรบมือให้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับสวีอันฮัว ค่อยๆเปิดเผยเรื่องราว รายละเอียด พบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายอย่างมีลำดับขั้น ผู้ชมจึงสามารถค่อยๆปรับตัว เข้าถึงข้อเท็จจริงอันหมดสิ้นหวัง

สำหรับผู้ชมต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก ย่อมไม่สามารถเข้าใจว่า Boat People (1982) เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ระดับ ‘Best Movie of All-Time’ ได้อย่างไร (เมื่อเทียบกับ Apocalypse Now (1979) หรือ The Killing Fields (1984) ก็ยังห่างไกลโข) แต่สำหรับชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม เกาหลีเหนือ และสารขัณฑ์ นี่เป็นหนังที่นำเสนอข้อเท็จจริง เปิดโปงความเหี้ยมโหดร้ายของเผด็จการ มันจะบังเกิดความเกรี้ยวกราดอย่างรุนแรงขึ้นมาด้วยระหว่างรับชม

ความเหนือกาลเวลาของ Boat People (1982) ทำให้ผู้ชมโดยเฉพาะชาวฮ่องกง(และไต้หวัน) ตระหนักถึงอนาคตที่มีแนวโน้มสูงมากๆ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงพยายามจะเข้ายึดครอง หวนกลับมาเป็นเจ้าของ แล้วปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินไปในทิศทางเดียว ‘จีนหนึ่ง’ ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง (ฮ่องกงได้ถูกขีดเส้นตายไว้แล้วคือ ค.ศ. 2047) เหตุการณ์แบบภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีโอกาสหวนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้น!

แนะนำคอหนังสงคราม (Post-Wars) การเมือง (Political) แนวเอาตัวรอด (Survival), สนใจประวัติศาสตร์เวียดนาม สภาพสังคมหลังเหตุการณ์ไซ่ง่อนแตก, โดยเฉพาะช่างภาพ นักข่าว น่าจะสร้างแรงบันดาลใจได้มาก

จัดเรต 18+ กับการสังหารโหด ความคอรัปชั่นของเผด็จการ ก่อนรับชมเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนละ!

คำโปรย | Boat People ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับสวีอันฮัว จักทำให้จิตวิญญาณผู้ชมล่องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | เคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร

Center Stage (1991)


Center Stage (1991) Hong Kong : Stanley Kwan ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ชีวประวัติกึ่งสารคดีนักแสดงหนังเงียบที่กลายเป็นตำนาน หยวนหลิงอวี้ (Ruan Lingyu) รับบทโดยจางม่านอวี้ (คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Berlin) ไม่เพียงพยายามสร้างฉากจากภาพยนตร์ที่สูญหาย (Lost Film) ยังชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับเธอเพราะอะไร?

อีกหนึ่ง Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์จีน! นำเสนอด้วยวิธีการที่โคตรแปลกประหลาด ทำการผสมผสานสิ่งต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกัน

  1. สัมภาษณ์บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้น รวมถึงพูดคุยกับทีมงาน นักแสดง ผู้กำกับ และเบื้องหลังการถ่ายทำ
  2. เรื่องราวในภาพยนตร์ จางม่านอวี้แสดงเป็นหยวนหลิงอวี้
  3. ภาพนิ่งและฟุตเทจหนังเงียบที่ยังหลงเหลือของหยวนหลิงอวี้

มองผิวเผินมีลักษณะชีวประวัติกึ่งสารคดี (Biography & Semi-Documentary) แต่ไคลน์แม็กซ์ของหนังมันเล่นช็อตต่อช็อต ฉากต่อฉาก จางม่านอวี้สวมบทบาทหยวนหลิงอวี้นอนเป็นศพ → ผู้กำกับสั่งคัทเธอก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา → ภาพการเสียชีวิตของหยวนหลิงอวี้จากหน้าหนังสือพิมพ์, ต้องบอกเลยว่าแปลกประหลาด แต่โคตรสร้างสรรค์ ช่วงแรกๆอาจไม่มักคุ้นชิน แต่เมื่อเริ่มปรับตัว เข้าใจเหตุผลการนำเสนอ ก็น่าจะตระหนักได้ว่านี่คือผลงาน Masterpiece

ผมมีความประทับใจการแสดงของหยวนหลิงอวี้ ตั้งแต่เคยรับชม The Goddess (1934) จริงๆก็รู้จัก Center Stage (1991) มาตั้งแต่ครั้งนั้น จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งเขียนถึงภาพยนตร์ Rouge (1987) ของผู้กำกับกวนจินเผิง แล้วเพิ่งค้นพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จสิ้น! เลยอดใจไม่ไหวต้องรีบสรรหามารับชม

แม้ว่า Rouge (1987) ยังขาดความกลมกล่อม หลายๆฉากรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องชมวิสัยทัศน์ผู้กำกับกวนจินเผิง คาคลั่งไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์! ซึ่งผลงานลำดับต่อมา Center Stage (1991) ใครๆต่างถือว่าคือจุดสูงสุดในอาชีพการงาน มีความละเมียด ละเอียด ละมุ่นไม และเต็มไปด้วยรายละเอียด mise-en-scène ประณีตบรรจง งดงามระดับวิจิตรศิลป์


ก่อนอื่นต้องกล่าวถึง หยวนหลิงอวี้, 阮玲玉 ชื่อเดิม หยวนเฟิ่งเกิน, 阮鳳根 (1910-35) นักแสดงชาวจีน เกิดที่เซี่ยงไฮ้ ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก มารดาทำงานเป็นสาวใช้ เมื่ออายุ 16 ปี เข้าตาแมวมองจับเซ็นสัญญา Mingxing Film Company แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก A Married Couple in Name Only (1926) [สูญหายไปแล้ว]

ต่อมาย้ายสู่ Da Zhonghua Baihe Company เริ่มมีชื่อเสียงจาก Spring Dream of an Old Capital (1930) [สูญหายไปแล้ว] แล้วเซ็นสัญญา Lianhua Film Company เมื่อปี 1930 มีผลงานอาทิ Love and Duty (1931), A Spray of Plum Blossoms (1931), จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดจากการร่วมงานผู้กำกับฝั่งขวา (Leftist) ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า Three Modern Women (1932), Little Toys (1933), The Goddess (1934), New Women (1935), National Customs (1935) ฯลฯ

เมื่อตอนอายุ 16 หยวนหลิงอวี้รับรู้จักกับจางต๋าหมิน, 张达民 บุตรชายของครอบครัวที่มารดาเคยทำงานเป็นแม่บ้าน แม้ไม่ได้แต่งงาน แต่ก็ยังรับเลี้ยงบุตรสาวบุญธรรม หนานหนาน, 囡囡 อาจเพราะความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ สร้างปมด้อยให้เขา (ยุคสมัยนั้นคนจีนยังมีแนวคิด บุรุษคือช้างเท้าหน้า) เลยหันไปพึ่งพาสุรา นารี ติดการพนัน เลยถูกบอกเลิกราเมื่อปี 1933

ต่อมาคบหากับถังจี้ชาน, 唐季珊 นักธุรกิจค้าชา แต่เพราะเขาแต่งงานมีภรรยาอยู่แล้ว เลยถูกจางต๋าหมินฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หยวนหลิงอวี้จึงตกเป็นเป้าหมายโจมตีของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ความเครียดจากการถูกฟ้องร้อง คุกคามจากสื่อ และปัญหาส่วนตัว ทำให้เธอตัดสินใจรับประทานยานอนหลับเกินขนาด (Barbiturates) เสียชีวิตเวลาประมาณเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1935 สิริอายุเพียง 24 ปี มีผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด 29เรื่อง … หนังสือพิมพ์ New York Times กล่าวว่าพิธีศพของหยวนหลิงอวี้เป็น “the most spectacular funeral of the century” ประมาณผู้เข้าร่วมกว่า 100,000+ คน

หยวนหลิงอวี้ เขียนจดหมายลาตายสองฉบับ ส่งให้สื่อและถังจี้ชาน อธิบายเหตุผลของการกระทำอัตวินิบาต ทั้งสองฉบับได้รับการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ (ในหนังจะมีเสียงอ่านตอนช่วงท้าย) สามารถหาฉบับเต็มๆได้ที่ Wikipedia

แม้เรื่องราวชีวิตของหยวนหลิงอวี้จะจบสิ้นลงไป ณ จุดสูงสุดกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า แต่จางต๋าหมินยังคงหากินกับความตายอดีตคนรัก เซ็นสัญญารับบทเป็นตัวเองในภาพยนตร์ Tears of Love (1935) แม้ถูกสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง ก็แค่เปลี่ยนชื่อมาเป็น Who’s to Blame? (1937) ตามต่อด้วย Wife of a Friend (1938) ทั้งสองเรื่องล้วนไม่ประสบความสำเร็จ ฟีล์มได้สูญหายไปแล้ว ก่อนที่เขาจะล้มป่วยเสียชีวิตเมื่อปี 1938 ไม่มีเงินติดตัวสักแดง!

เกร็ด: ทั้งฟีล์มหนังและหลุมฝังศพของหยวนหลิงอวี้ ได้ถูกทุบทำลายจนแทบหมดสิ้นในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ที่ยังหลงเหลือ/ค้นพบเจอในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากฉบับนำออกฉายต่างประเทศแทบทั้งนั้น

เรื่องราวชีวิตของหยวนหลิงอวี้ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์/ซีรีย์ จนถึงปัจจุบันประกอบด้วย

  • ฉบับซีรีย์ Ruan Lingyu/The Stardust Memories (1985) ความยาว 20 ตอน นำแสดงโดยหวงซิ่งซิ่ว (เจ้าของฉายาหนึ่งในเจ็ดนางฟ้าของสถานีโทรทัศน์ TVB)
  • ฉบับภาพยนตร์ Center Stage (1991) กำกับโดยกวนจินเผิง, นำแสดงโดยจางม่านอวี้
  • ฉบับซีรีย์ Ruan Lingyu (2005) ความยาว 30 ตอน นำแสดงโดยอู๋เชี่ยนเหลียน

กวนจินเผิง, 关锦鹏 (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวฮ่องกง, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านวรรณกรรม งานศิลปะ และการแสดงละครเวที สำเร็จการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน Hong Kong Baptist College, แล้วเข้าทำงานยังสถานีโทรทัศน์ TVB เริ่มจากนักเขียน แล้วมีโอกาสเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหยูหยานไท่ (Ronny Yu), สวีอันฮัว (Ann Hui) อาทิ The Savior (1980), The Story of Woo Viet (1981), Boat People (1982) ฯ แล้วกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Women (1985), ผลงานส่วนใหญ่มักเป็นหนังโรแมนติก เกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องความรัก อาทิ Rouge (1987), Center Stage (1992), Hold You Tight (1998), Lan Yu (2001) ฯ

เกร็ด: กวนจินเผิง คือผู้กำกับชาวเอเชียไม่กี่คนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ผ่านสารคดีเรื่อง Yang ± Yin: Gender in Chinese Cinema (1996) และสรรค์สร้างผลงาน Lan Yu (2001) นำเสนอเรื่องราวชายรักชาย

หลังเสร็จจาก Rouge (1987) ผู้กำกับกวนจินเผิง มีความตั้งใจจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ชีวประวัติหยวนหลิงอวี้ พูดคุยกับนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Love Unto Waste (1986) ใช้เวลาศึกษาหาข้อมูล เตรียมงานสร้างกว่าสองปี … ระหว่างนั้นกวนจินเผิงก็แวบไปกำกับ Full Moon in New York (1990)

ในตอนแรกครุ่นคิดจะนำเสนอในเชิงกึ่งๆสารคดี ออกเดินทางไปสัมภาษณ์หลายๆบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ ผู้กำกับซุนหยู, นักแสดงหลี่ลี่ลี่, เฉินหยานหยาน ฯลฯ

แต่หลังจากสะสมข้อมูลได้มากพอสมควร ผู้กำกับกวนจินเผิงก็เริ่มหวนกลับมาครุ่นคิด มันมีประโยชน์อะไรจะสรรค์สร้างเรื่องราวชีวิตหยวนหลิงอวี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก? (ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีซีรีย์ฉายโทรทัศน์ The Stardust Memories (1985)) ทบทวนถึงช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา รายละเอียดเล็กๆน้อยที่ค้นคว้ามาได้มีลักษณะคล้ายจิ๊กซอว์ ทำไมไม่นำเสนอภาพยนตร์ที่ชักชวนให้ผู้ชมร่วมปะติดปะต่อ มองหาสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? หยวนหลิงอวี้ถึงตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต?

After collecting data, I told the screenwriter that I was not going to make a biography. What’s the point of filming Ruan Lingyu’s life again? I would like to think whether it can be like a jigsaw puzzle, and whether there is an opportunity for me to see the contributions they made to Chinese films in the 1930s, whether on stage or behind the scenes. I’m going to slowly put together a good puzzle piece by piece.

กวนจินเผิง

ในตอนแรกนั้นผู้กำกับกวนจินเผิง หมั้นหมายเหมยเยี่ยนฟางที่ร่วมงาน Rouge (1987) ตั้งใจเป็นโปรเจคส่งให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า แต่หลังเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 เธอออกมาแสดงคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน จึงถูกแบนห้ามเข้าประเทศ เลยไม่สามารถเดินทางถ่ายทำยังเซี่ยงไฮ้ จำต้องขอถอนตัวออกไป

แล้วพอติดต่อจางม่านอวี้ที่ไม่เคยรู้จัก/รับชมผลงานของหยวนหลิงอวี้ พอโน้มน้าวจนยินยอมตอบตกลง ก็เริ่มถ่ายทำตั้งแต่เธอเริ่มศึกษาภาพยนตร์ที่ทีมงานหามาให้ชม พูดคุยสนทนาโต๊ะกลม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค่อยๆรับรู้จักเธอไปพร้อมๆการถ่ายทำ … และมีเรื่องเล่าหลอนๆว่าใครบางคนพบเห็นวิญญาณของหยวนหลิงอวี้ในกองถ่ายด้วยนะ!

Is it alright to let Anita Mui and Ruan Lingyu talk in the movie? I called the screenwriter Chiu Kang-Chien right away, he said yes, it’s something to think about, but it’s past 3 o’clock, please let me sleep.

Later, because of personal reasons, Anita Mui did not go to Shanghai to film, so we replaced Maggie Cheung. With this format, I don’t think Anita Mui is important anymore. At that time, it was very clear that an actress and a group of film workers in the early 1990s went to Shanghai to trace the golden age of Chinese cinema in the 1930s.

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 阮玲玉 เรียกตรงๆถึงหยวนหลิงอวี้ (Ruan Lingyu) แต่ฉบับนำออกฉายต่างประเทศเปลี่ยนเป็น Center Stage บ้างก็ใช้ The Actress (ผมชอบ The Actress มากกว่านะ สื่อตรงๆถึงความเป็นนักแสดง! ส่วน Center Stage มันคืออะไรกัน??)


จางม่านอวี้, 張曼玉 (เกิดปี 1964) นักแสดงหญิงชาวจีน เกิดที่ฮ่องกง บิดา-มารดาเป็นคนเซี่ยงไฮ้ (คงอพยพมาตอนสงครามกลางเมืองจีน) ตอนเธออายุ 8 ขวบ ติดตามครอบครัวย้ายไป Bromley, London ประเทศอังกฤษ ก่อนหวนกลับมาฮ่องกงตอนอายุ 18 ตั้งใจแค่มาท่องเที่ยววันหยุด กลับเข้าตาแมวมอง ได้ทำงานโมเดลลิ่ง ตัดสินใจเข้าประกวด Miss Hong Kong คว้ารางวัลที่สองและขวัญใจช่างภาพ ติดตามด้วย Miss World สามารถผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ, เซ็นสัญญาสถานี TVB เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, แจ้งเกิดภาพยนตร์ Police Story (1985), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับหว่องกาไว As Tears Go By (1988), Days of Being Wild (1990), Ashes of Time (1994), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Full Moon in New York (1989), Center Stage (1991), New Dragon Gate Inn (1992), Irma Vep (1996), Comrades: Almost a Love Story (1996), Hero (2002), Clean (2004) ฯลฯ

รับบทหยวนหลิงอวี้ นักแสดงสาวพราวเสน่ห์ แม้ภายนอกดูสวยเริด เชิดหยิ่ง ทำตัวหัวสูงส่ง แต่ก็พร้อมทุ่มเทให้ทุกการแสดง ยินยอมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ขอเล่นทุกบทบาทที่สะท้อนเข้ากับชีวิตตนเอง ทั้งยังเป็นราชินีบนฟลอร์ (Dancing Queen) ใช้ชีวิตตอบสนองความต้องการหัวใจ เลิกราแฟนหนุ่ม กลายเป็นชู้รักชายอื่น สิ่งที่ฉันทำมันไม่ได้หนักหัวใคร แต่ทำไมสังคมกลับติฉินนินทา ตำหนิต่อว่าร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนรอบข้าง หลงเหลือวิธีเดียวสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจิตใจ

ตัวตนจริงๆของจางม่านอวี้ เป็นคนสนุกสนานร่าเริง เต็มที่สุดเหวี่ยงกับชีวิต ว่าไปไม่ค่อยแตกต่างจากหยวนหลิงอวี้ (ก็อย่างที่พบเห็นในเบื้องหลัง ทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ช่างดูบริสุทธิ์จากภายใน) แม้ภาพลักษณ์เหมือนบ้างไม่เหมือนบางมุม แต่เรื่องการแสดงไม่เป็นสองรองใคร แค่หนังเงียบเรื่องแรก(ที่จางม่านอวี้แสดง ‘film within film’) ก็สร้างความตะลึงงัน อ้าปากค้าง ดึงดูดผู้ชมจนไม่สามารถเบี่ยงเบนไปไหน

เกร็ด: คนที่ฟังภาษาจีนออก น่าจะสังเกตได้ว่าจางม่านอวี้พูดกวางตุ้ง (Cantonese), แมนดาริน (Mandarin), และสำเนียง Shanghainese อย่างคล่องแคล่วชัดเจน (เธอยังสามารถพูดอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ด้วยนะครับ)

ไฮไลท์ของจางม่านอวี้นั้นมีนับครั้งไม่ถ้วน หลายคนน่าจะชื่นชอบงานเลี้ยงปาร์ตี้ส่งท้าย (น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Veronika Voss (1982)) ภายนอก’เล่นละคร’ทำตัวเหมือนปกติ แต่จิตใจกำลังครุ่นคิดวางแผนฆ่าตัวตาย แต่ผมคลั่งไคล้ฉากการแสดงในโรงพยาบาล “I want to live!” ผู้กำกับต้องสั่งคัทสามครั้ง พอถ่ายทำเสร็จเธอถึงกับร้องไห้คลุมโปง แทบไม่สามารถแบ่งแยกแยะระหว่างการแสดง-ชีวิตจริง (ผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากับลีลาการนำเสนอของหนังได้อย่างสมบูรณ์แบบ!)

เห็นว่าจริงๆแล้วจางม่านอวี้ไม่ได้ชื่นชอบการแสดงสักเท่าไหร่ (รีไทร์หลังภาพยนตร์ Clean (2004)) แต่เพราะโชคชะตานำพา และ Center Stage (1991) คือผลงานที่ทำให้เธอกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า โด่งดังระดับนานาชาติ จากการคว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress


ถ่ายภาพโดย Poon Hang-Sang, 潘恆生 ผู้กำกับ/ตากล้อง ร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Hong Kong Baptist University จบออกมาเข้าร่วม Radio & Television Hong Kong ทำงานเป็นคนจัดแสง ช่างภาพ ภาพยนตร์เรื่องแรก Home Coming (1984), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Island (1985), Peking Opera Blues (1986), A Chinese Ghost Story (1987), Center Stage (1991), Kung Fu Hustle (2004), Fearless (2006), Ip Man 2 (2010) ฯลฯ

ผมได้รับชมฉบับบูรณะของหนัง ต้องบอกเลยว่าคุณภาพยอดเยี่ยมไร้ตำหนิ การถ่ายภาพเต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา อาจมีความเชื่องช้าน่าหลับสำหรับคอหนังรุ่นใหม่ แต่ทุกช็อตฉากล้วนมีนัยยะซุกซ่อนเร้น เต็มไปด้วยรายละเอียด mise-en-scène สัมผัสถึงความละเมียด ละมุ่นไม ประณีตบรรจง งดงามระดับวิจิตรศิลป์

สิ่งที่ผู้ชมสามารถสังเกตเห็น แบ่งแยกแยะได้อย่างชัดเจนก็คือสีสันของหนัง

  • ส่วนของภาพยนตร์ (จางม่านอวี้แสดงเป็นหยวนหลิงอวี้) จะเต็มไปด้วยแสงสีสัน ลวดลาย แต่มักปกคลุมด้วยความมืดมิด (โทนของภาพจะออกเข้มๆ ‘Low Key’ เพื่อสะท้อนเรื่องราวอันมืดหม่น นำไปสู่โศกนาฎกรรม)
  • บทสัมภาษณ์ การพูดคุยสนทนา หรือแม้แต่ฟุตเทจจากฟีล์มหนังเงียบ จะถูกทำให้ออกโทนน้ำตาล (ซีเปีย) เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเก่าแก่ โบร่ำราณ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องราว
  • แต่จะมีช่วงต้น-ช่วงท้าย บทสัมภาษณ์จางม่านอวี้และเบื้องหลังฉากงานศพหยวนหลิงอวี้ กลับเป็นภาพสีทั้งหมด (ไม่มีการแบ่งแยกด้วยสีซีเปีย) เพื่อทำการซ้อนทับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ชีวิตจริง-การแสดงภาพยนตร์ สำหรับพวกเธอทั้งสองล้วนคือสิ่งหนึ่งเดียวกัน

สิ่งน่าอัศจรรย์สุดของ Center Stage (1991) คือความพยายามสร้าง (re-create) ฟุตเทจภาพยนตร์ที่สูญหาย (Lost Film) จากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ยังหลงเหลืออยู่ (บางเรื่องมีแค่ภาพนิ่ง/บทหนัง ก็นำมาตีความ ขยับขยายต่อ และต้องนำเสนอให้สอดคล้องเรื่องราวหลักของหนังด้วยนะ) และจะมีข้อความขึ้นปรากฎ ให้ผู้ชมลุ้นระลึกว่าเรายังสามารถหารับชมผลงานเรื่องนั้นๆได้หรือไม่ … ทุกครั้งที่ขึ้นว่า Lost Film ผมจะรู้สึกเศร้าโศก เสียดายตำนานที่สูญหาย

เอาจริงๆหนังจะสร้างฉากขึ้นใหม่ ถ่ายทำอยู่ฮ่องกงเลยก็ยังได้ แต่กลับเลือกใช้สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งสตูดิโอ Lianhua Film Company, เซี่ยงไฮ้ (ช่วงท้ายของหนังจะมีนำเสนอภาพปรับหักพังของสตูดิโอ) ก่อนนำมาบูรณะซ่อมแซมจนมีสภาพเหมือนใหม่ … ด้วยเหตุนี้กระมังเลยมีคนพบเห็นวิญญาณของหยวนหลิงอวี้ ปรากฎตัวในกองถ่ายอยู่บ่อยครั้ง

ในส่วนของงานออกแบบ (Art Director) และเครื่องแต่งกาย (Costume Design) กลับมาใช้บริการ Piu Yeuk-Muk, 影視作品 รู้จักกันมาตั้งแต่ในกองถ่าย Boat People (1982) มีผลงานร่วมกันตั้งแต่ Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Centre Stage (1992), และยังออกแบบเครื่องแต่งกาย Lust, Caution (2007)

Piu Yeuk-Muk เป็นคนที่มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ เก่งในเรื่องค้นคว้าหาข้อมูล ติดตามหาเอกสารเก่าๆที่สูญหาย ค้นพบความนิยมของยุคสมัยนั้น 30s ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสไตล์ Art Nouveau (1883–1914) ผสมๆกับ Art Deco (1910-49) … เซี่ยงไฮ้ยุคสมัยนั้นคือเมืองท่าของประเทศจีน สำหรับติดต่อสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตก เลยไม่แปลกที่จะได้รับอิทธิพลในหลายๆด้าน

รายละเอียดที่สังเกตได้ง่ายๆก็คือลวดลายฝาผนัง (Wallpaper) และชุดกี่เพ้า (Cheongsam) มีลักษณะเรขาคณิต รูปดอกไม้ หรือลวดลายอะไรบางอย่างที่นำมาเรียงต่อกันซ้ำๆจนกลายเป็นแบบแผน (Pattern) ดูละลายลายตา

อารัมบทเริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงภาพนิ่ง หลายๆผลงานการแสดงของหยวนหลิงอวี้ ทั้งที่ยังพอมีฟีล์มหลงเหลือและสูญหายไปแล้ว (Lost Film) ผมเพิ่งมาสังเกตตอนหวนกลับมาวนๆดูอีกรอบ แทบทั้งหมดล้วนถูกนำไปอ้างอิงถึงในเรื่องราว หรือทำการสร้างฉากนั้นๆขึ้นมาใหม่ (re-create) ให้ภาพนิ่งเหล่านี้ราวกับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ผมคงไม่จำเป็นต้องอธิบายความหมายของภาพนี้ แต่ให้ข้อสังเกตว่าปรากฎขึ้นพอดิบพอดีขณะที่ผู้กำกับกวนจินเผิงกำลังกล่าวถึงการกระทำอัตวินิบาตของหยวนหลิงอวี้ นี่สะท้อนถึงมุมมองคิดเห็น(ของผกก.กวนจินเผิง)ต่อการเสียชีวิต(ของหยวนหลิงอวี้) มีอะไรบางสิ่งอย่างกักเธอไว้ภายในกรงขัง สูญเสียอิสรภาพในการครุ่นคิด ไร้หนทางออกในการดำเนินชีวิตต่อไป

ผู้กำกับกวนจินเผิงสอบถามจางม่านอวี้ ถึงสิ่งที่อยากให้ผู้ชมจดจำตนเองในทศวรรษถัดไป? เอาจริงๆผมแอบขนลุกเลยนะ เพราะปัจจุบันมันก็ผ่านมาหลายทศวรรษ ความครุ่นคิดเห็นเมื่อตอนได้กลายเป็นจริงทั้งหมดแล้ว ผู้ชมจดจำเธอในมุมที่เจิดจรัส เปร่งประกาย นักแสดงชาวจีนที่ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก และเมื่อถึงจุดสูงสุดนั้นก็รีไทร์ออกจากวงการ กลายเป็นตำนานจบบริบูรณ์ ละม้ายคล้ายหยวนหลิงอวี้ ในทิศทางแตกต่างตรงกันข้าม!

มันเหมือนเป็นสันชาติญาณของผู้กำกับที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ จะต้องมีฉากขายเซอร์ (นี่ก็ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา) เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้บรรดาเก้งกวางน้ำลายไหลเยิ้ม กับฉากหนุ่มๆในห้องอาบน้ำ/ซาวน่า ถอดเสื้อผ้า เปลือยหน้าอก

การสนทนาของคนหนุ่มๆแก่ๆ สมาชิกสตูดิโอ Lianhua Film Company ถือว่าล้อกับไดเรคชั่นของหนังที่จะมีการพูดคุยล้อมวงระหว่างผู้กำกับ/ทีมงาน แสดงความคิดเห็นถึงสิ่งต่างๆเกี่ยวกับหยวนหลิงอวี้ … ฉากลักษณะนี้พบเห็นบ่อยครั้งทั้งในอดีต-ปัจจุบัน

ผู้กำกับกวนจินเผิงพยายามผสมผสานสองแนวคิดที่มีความคู่ขนานเข้าด้วยกัน

  • (ยุคสมัยปัจจุบัน, โลกความจริง) กองถ่ายหนังเดินทางสู่เซี่ยงไฮ้ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ชีวประวัติหยวนหลิงอวี้
  • (ยุคสมัยอดีต, เรื่องราวในภาพยนตร์) สตูดิโอ Lianhua Film Company ถ่ายทำภาพยนตร์โดยมีนักแสดงนำหยวนหลิงอวี้

Dream of the Ancient Capital (1930) [สูญหายไปแล้ว] แม้ไม่รับรู้เรื่องราว แต่แค่ชื่อหนังก็บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง นอกจากความเพ้อฝันของหยวนหลิงอวี้ในการเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง! ยังสามารถสื่อถึงผู้กำกับกวนจินเผิง กำลังเพ้อฝันถึงอดีต เมืองหลวงแห่งภาพยนตร์ของประเทศจีน (สมัยก่อนก็คือนครเซี่ยงไฮ้นี้แหละ) และเธอคนนี้ที่คือตำนานเหนือกาลเวลา

ภาพสะท้อนกระจก ก็คือหยวนหลิงอวี้ในบทบาทการเป็นนักแสดง ที่ต้องปรับเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราว ภาพยนตร์เรื่องต่างๆไม่ซ้ำแบบใคร, ส่วนลวดลายฝาผนัง (Wallpaper) ที่ละลานตา ดูราวกับว่านี่คือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สะกดจิตวิญญาณผู้ชมให้ลุ่มหลงใหลในโลกมายา

หยวนหลิงอวี้ไม่เคยมีประสบการณ์แต่งงาน คลอดบุตร (เลยรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมหนานหนาน เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว) เมื่อต้องรับบทมารดาในภาพยนตร์ จึงต้องพูดคุยสอบถามเพื่อนนักแสดง แล้วทำการซักซ้อม จินตนาการว่ากำลังโอบอุ้มทารก ลงไปกลิ้งเกลือกบนพื้นหิมะในภาพยนตร์ Wild Flowers by the Road (1930) [สูญหายไปแล้ว] … นี่เป็นฉากที่นำเสนอกระบวนการ วิธีการที่หยวนหลิงอวี้สวมบทบาทเป็นตัวละคร เทียบกับยุคสมัยปัจจุบันเรียกว่า Method Acting ก็ถือว่าใกล้เคียง

ซีนเล็กๆเมื่อตอนหยวนหลิงอวี้เดินทางกลับบ้าน แทนที่จะเร่งรีบเข้าไปภายใน กลับแอบจับจ้องมองมารดาและบุตรสาวบุญธรรมหนานหนาน หลบอยู่ภายนอกหน้าต่าง แฝงนัยยะถึงชีวิตครอบครัวที่เธอไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่ง แม้เคยแสดงบทบาทมารดา แต่ชีวิตจริงกลับไม่เคยพานผ่านประสบการณ์เหล่านั้นสักครั้ง!

นี่อาจคือสาเหตุผลหนึ่งที่หยวนหลิงอวี้สามารถกระทำอัตวินิบาต โดยไร้ซึ่งความรู้สึก สามัญสำนึก ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีประการใด เพราะไม่เคยพานผ่านประสบการณ์เป็นมารดา คลอดบุตร ทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บครรภ์ มีเพียงแต่เคยแสดงภาพยนตร์ เล่นละครตบตา เลยไม่สามารถตระหนักรับรู้ถึงคุณค่าของชีวิต

หลอดไฟขาดระหว่างกำลังรับประทานอาหาร สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างหยวนหลิงอวี้ กับจางต๋าหมิน ที่ใกล้ถึงจุดจบเต็มทน แม้แต่มารดา(ของหยวนหลิงอวี้)ก็เริ่มแสดงอาการไม่พึงพอใจต่อพฤติกรรมอีกฝั่งฝ่าย แทบไม่เคยกลับบ้านมาดูแลตนเองและบุตรสาว เอาแต่เที่ยวเตร่สำเมเทเมา เกี้ยวพาราสีหญิงอื่น พึ่งพาไม่ได้เลยสักอย่าง!

แต่ทันทีที่มารดาทำการเปลี่ยนหลอดไฟ จางต๋าหมินก็กลับบ้านพอดิบดี! ซึ่งหนังก็พยายามบอกใบ้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ผ่านภาษาภาพยนตร์ต่อไปนี้

ภาพแรกตรงบันไดหยวนหลิงอวี้เดินลงมาจากเบี้ยงบน หยุดยืนตำแหน่งสูงกว่า (แสดงถึงอิทธิพลของเธอที่มีต่อเขา) จากนั้นเป็นคนมอบของขวัญคือแหวน (สัญลักษณ์ของการแต่งงาน แต่โดยปกติควรจะเป็นฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงไม่ใช่เหรอ?) สวมใส่ไม่เข้าสักนิ้ว (สื่อถึงบุคคลที่ไม่เหมาะกับการแต่งงาน)

ส่วนอีกภาพทั้งสองพากันขึ้นมายังห้องนอน พบเห็นภาพสะท้อนในกระจกที่มีเส้นบางๆเหมือนกรงขัง และจางต๋าหมินโอบกอดจากด้านหลัง จะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ช้างเท้าหลัง หรือบุคคลผู้สนเพียงผลประโยชน์ พร้อมทรยศ/แทงข้างหลังแฟนสาวได้ทุกเมื่อ

วินาทีที่ถ่ายภาพช็อตนี้ พอดิบดีกับใครบางคนชูตลูกบาสเกตบอลลงห่วง! ซึ่งสามารถสื่อถึงเกมการแข่งขันแก่งแย่งชิงความเป็นหนึ่ง (ในวงการภาพยนตร์) แต่พวกเขาก็ถูกขัดจังหวะจากใครสักคน นำข่าวสารการรุกรานจากญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้าน เรียกร้องให้มีการแบนสินค้าจากต่างประเทศ (แต่ยังคงอีกสักพักกว่าการมาถึงของ Second Sino-Japanese War (1937–1945))

ภาพวาดตึกระฟ้า เมืองแห่งอนาคตบนผนังกำแพง สามารถสื่อถึงอิทธิพลจากสังคม/โลกภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ (เพราะหนังไม่ได้มีทุนมากมาย เลยใช้ภาพวาดนี้แทน CGI ถ่ายทำเพียงใน Lianhua Film Company แทบจะไม่มีฉากทิวทัศน์ภายนอกสักเท่าไหร่

การออกแบบผับบาร์แห่งนี้ มีความเป็น Art Deco ดูหรูหรา สง่างาม ด้วยลักษณะที่เรียบง่าย เทียบกับหญิงสาวก็คือลูกคุณหนู ไฮโซ บทเพลงที่บรรเลงก็เป็นสไตล์ Western เหมาะสำหรับ ‘dancing queen’ อย่างหยวนหลิงอวี้ พบเห็นฉากนี้ทีไรต้องลุกขึ้นมาโยกเต้น โอ้ลัลล้า ปลดปล่อยตนเอง ไม่ยี่หร่าอะไรครั้งนั้น

ครั้งแรกมากับเพื่อนร่วมงาน (Lianhua Film Company) จับพลัดจับพลูพบเจอจางต๋าหมิน (มากับหญิงสาวที่กำลังขายขนมจีบ) ปรากฎว่าไฟดับถึงสองครั้งครา (ครั้งแรกไฟตก ครั้งหลังญี่ปุ่นบุก) สะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ถึงจุดจบกับชายคนรัก … ราวกับจะบอกว่านี่คือสัญญาณเตือนครั้งที่สองแล้วนะ!

ครั้งสองมากับถังจี้ชาน อีกฝั่งฝ่ายพยายามเกี้ยวพาราสี แต่หยวนหลิงอวี้ยังไม่ได้บอกเลิกรากับจางต๋าหมิน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เลยยังต้องปกปิด ไม่มีการโยกเต้นบนเวทีประการใด

และครั้งสุดท้ายหลังงานเลี้ยงอำลา (ก่อนค่ำคืนแห่งการฆ่าตัวตาย) หยวนหลิงอวี้ทำการปลดปล่อยตนเองด้วยท่าทางโยกเต้นอย่างเต็มที่สุดเหวี่ยง ปล่อยให้ถังจี้ซานทรุดล้มลงลุกขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ยี่หร่าอะไรใครอีกต่อไป

ระหว่างที่หยวนหลิงอวี้หลบหนีญี่ปุ่นมายังยังเกาะฮ่องกง อาศัยอยู่ห้องพักเดียวกับจางต๋าหมิน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองมาถึงจุดแตกหัก ต่างฝ่ายต่างไม่ใคร่สนใจอะไรกันและกัน มุมกล้องปรับโฟกัสเบลอ-ชัด หรือสภาพแวดล้อมภายในห้องนี้แสงไฟก็กระพริบติดๆดับๆ (จากใบพัดลมที่บดบังแสงไฟจากบนเพดาน)

กระทั่งตอนหยวนหลิงอวี้ปฏิเสธจุมพิตจางต๋าหมิน เขาเดินมายังหน้ากระจกเงา พ่นไอร้อนออกจากปากทำให้เห็นภาพ(ในกระจก)เบลอๆบริเวณริมฝีปาก สื่อถึงความสัมพันธ์อันเลือนลาง ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร แสดงความรักต่อกันได้อีกต่อไป

ตั้งแต่ที่จางม่านอวี้ให้ข้อสังเกตลีลาการแสดง เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหยวนหลิงอวี้ ชอบที่จะแหงนหน้าเหม่อมองท้องฟ้า หนังก็พยายามแทรกใส่หลายๆฉากที่ตัวละครแสดงออกลักษณะดังกล่าว อย่างช็อตนี้หลังกลับจากฮ่องกง สภาพจิตใจคงรู้สึกหมดสิ้นหวังกับจางต๋าหมิน ในค่ำคืนที่มืดมิด แสงสีน้ำเงินหนาวเหน็บ ทำให้เธอแหงนเงยหน้ามองฟากฟ้ายามค่ำคืน ครุ่นคิดทบทวนฉันควรทำอะไรต่อไปดี?

สิ่งที่หยวนหลิงอวี้กระทำฉากต่อมาก็คือ ต่อรองร้องขอผู้กำกับผู่หยวนชาง ให้เลือกตนเองเป็นหนึ่งในสามนักแสดงนำ Three Modern Women (1933) รับบทบาทหญิงสาวรุ่นใหม่ นักปฏิวัติ ชนชั้นแรงงาน! ตอนแรกก็ได้รับการบอกปัดเพราะเธอมีภาพจำที่แตกต่างตรงกันข้าม (มุมกล้องถ่ายจากด้านนอกเข้ามาตรงระเบียงสำนักงาน ยืนตำแหน่งประตู-หน้าต่าง) แต่หญิงสาวจู่ๆถอดเสื้อคลุม ลบรอยลิปสติก ปัดๆทรงผม (มุมกล้องถ่ายออกจากระเบียง พบเห็นทิวทัศน์/ภาพวาดตึกระฟ้าด้านหลัง) เรียกว่ายินยอมปฏิวัติ/ปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง พร้อมทุ่มเทให้ทุกบทบาทภาพยนตร์ … นี่ถือเป็นครั้งแรกที่หยวนหลิงอวี้ร่วมงานผู้กำกับฝั่งขวา (Leftist Director) อันจะการันตีความเป็นอมตะ เจิดจรัสค้างฟ้า!

การถ่ายทำ Three Modern Women (1933) ในฉากที่หยวนหลิงอวี้และนักแสดงชายก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ขณะที่กล้องถ่ายจากด้านข้าง ราวกับกำลังจับจ้องมองชีวิตของพวกเขา ดำเนินพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ … สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างหยวนหลิงอวี้กับจางต๋าหมิน ขณะที่เธอได้รับคำชมจากผู้กำกับ เขากลับถูกตำหนิให้ปรับปรุงแก้ไข (ตัวละครนี้เป็นเพลย์บอย เหมือนพยายามเกี้ยวพาราสีหญิงสาว แต่ก็ไม่สามารถยินยอมรับสภาพความเป็นจริงที่พบเห็นขณะนี้)

ขณะเดียวกันชู้รักคนใหม่ถังจี้ชาน ก็เดินทางมาเยี่ยมเยียน มอบกำลังใจ อยู่ฟากฝั่งข้างหลังกล้อง เคลื่อนดำเนินติดตามไป(พร้อมๆการจุดบุหรี่ = รู้สึกพึงพอใจที่ได้พบเห็น) สื่อถึงความสัมพันธ์คู่ขนาน พบรักในชีวิตจริงของหยวนหลิงอวี้

แซว: ทีแรกผมนึกว่าไปถ่ายทำยังท่าเรือจริงๆ แต่พอเห็นความแตกต่างของภาพพื้นหลัง ก็ต้องชมโคตรแนบเนียนสุดๆ

ความสำเร็จของ Three Modern Women (1933) แทนที่จะเป็นแรงผลักดันให้หยวนหลิงอวี้ แต่กลับทำให้เธอเกิดความสับสนในตนเอง สังเกตจากฉากนี้หลังการถ่ายรูปหมู่ เธอยืนอยู่ตรงกึ่งกลางบันได

  • ด้านล่างคือชู้รักคนใหม่ถังจี้ชาน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ไขข้อเรียกร้องเห็นแก่ตัวของจางต๋าหมิน
  • ขณะที่เพื่อนนักแสดง ผู้กำกับ ต่างเดินแซงหน้าขึ้นชั้นบน นำเสนอผลงานเรื่องใหม่ ชักชวนให้เธอติดตามขึ้นไป

จนจบฉากนี้ หยวนหลิงอวี้ก็ไม่สามารถตัดสินใจเลือกเดินขึ้นชั้นบนหรือลงมาชั้นล่าง (ขึ้นบันได=กลายเป็นนักแสดงเจิดจรัส, ลงชั้นล่างคือเลือกชีวิตสุขสบาย เคียงข้างชายคนรักใหม่) มากสุดก็เพียงถอยหลัง 1-2 ก้าว แล้วเดินกลับขึ้นมา 1-2 ขั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปความต้องการของตนเอง อยากจะทุ่มเทให้ความรัก? หรือกับการแสดงภาพยนตร์?

Night in the City (1933) [สูญหายไปแล้ว] จะมีฉากที่หยวนหลิงอวี้ต้องแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียบิดา นั่นคือสิ่งที่ในชีวิตจริงของเธอ (สูญเสียบิดาตั้งแต่ยังเด็ก) เก็บซ่อนไว้เบื้องลึก ไม่ต้องการเปิดเผยออกมา แต่อาชีพนักแสดงย่อมมีโอกาสพบเจอฉากลักษณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดความรู้สึกดังกล่าวออกมา (ชีวิตจริงซ้อนทับการแสดง) … ซึ่งความรู้สึกสูญเสียบิดาครั้งนี้ สามารถสะท้อนถึงการเลิกราจาก(สูญเสียชายคนรัก)จางต๋าหมินได้เช่นเดียวกัน

Little Toys (1933) ก็จะมีฉากคล้ายๆกัน สลับเป็นมารดา (หยวนหลิงอวี้) กำลังจะสูญเสียบุตรสาว (หลี่ลี่ลี่) แต่ผู้กำกับ (ซุนหยู) ยังรู้สึกว่าการแสดงของหลี่ลี่ลี่ยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ (สังเกตว่าใบหน้าของเขาขณะเดินเข้ามาให้แนะนำ ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด) ขอเวลาไปขบครุ่นคิด แต่เป็นหยวนหลิงอวี้ให้คำแนะนำอะไรบางอย่าง ฉากนี้จึงสามารถผ่านไปได้ด้วยดี … ด้วยการให้หลี่ลี่ลี่ไม่แสดงปฏิกิริยาใกล้ตายออกมาอย่างเว่อวังอลังการ ‘Over-Acting’ แนะนำให้พยายามทำตัวเข้มแข็งแกร่ง ปกปิดซ่อนเร้นความเจ็บปวด ซึ่งนั่นคือสิ่งที่หยวนหลิงอวี้แสดงออกมาขณะเตรียมการฆ่าตัวตาย ไม่เคยเปิดเผยความอ่อนแอให้ใครเห็น เก็บกดดันความรู้สึกทั้งหมดไว้ภายใน

ผมละแอบงงๆกับสมัยนั้นจริงๆนะ หยวนหลิงอวี้ไม่ได้แต่งงานกับจางต๋าหมินไม่ใช่เหรอ? ทำไมตอนเลิกราถึงต้องให้ทนายมาเป็นพยาน แถมยังมีการจ่ายค่าเสียหาย/ค่าเลี้ยงดูอีกต่างหาก??? หลังจากเซ็นชื่อเสร็จสิ้น หนังตัดมาภาพช็อตนี้ที่ฝ่ายชาย(จางต๋าหมิน)กำลังเดินเรื่อยเปื่อยยามพลบค่ำ อยู่บริเวณรางรถไฟ บริเวณจุดเชื่อมต่อ สื่อนัยยะตรงๆถึงทางแยกจาก

หลังเลิกรากับจางต๋าหมิน หยวนหลิงอวี้ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังเก่า ทำลาย/ขายทิ้งทุกสิ่งอย่างที่เขาเคยเป็น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ แต่บ้านหลังนี้ที่อยู่ใจกลางเมือง ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกเหมือนกรงนก บานประตู/หน้าต่างแลดูเหมือนกรงขัง ลวดลายฝาผนังก็มีความเป็นนามธรรม (Abstract) ดอกไม้ ใบหญ้า ดูเหมือนสวนป่า (ที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์) แถมเพื่อนบ้านตรงข้ามก็ชอบทำท่าทางซุบซิบ ส่งเสียงจิบๆ สอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่นไปทั่ว

ผมเพิ่งมารับรู้จากฉากนี้ว่านักแสดงจีนคนแรกที่กระทำอัตวินิบาต แต่คืออ้ายเฉีย, 艾霞 (1912-34) นักแสดง/นักเขียนจากสตูดิโอคู่แข่ง Mingxing Film Company เพราะถูกสื่อโจมตีในเรื่องส่วนตัว รักๆใคร่ๆ ไม่ใช่ต้นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม (ว่าไปก็แทบไม่แตกต่างจากหยวนหลิงอวี้) เลยตัดสินใจเสพฝิ่นเกินขนาด เสียชีวิตตอนอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น!

อ้ายเฉียมีความสนิทสนมกับไช่ฉู่เชิง(เมื่อตอนยังอยู่ Mingxing Film Company) บ้างว่าทั้งสองเคยมีสัมพันธ์โรแมนติก ซึ่งหลังจากทราบข่าวคราวดังกล่าวเลยพัฒนาบทหนัง New Woman (1935) เพื่ออุทิศให้กับเธอ นำแสดงโดยหยวนหลิงอวี้ … ใครจะไปคาดคิดว่าทั้งสองเลือกโชคชะตาเดียวกัน!

ไดเรคชั่นฉากนี้ที่ไช่ฉู่เชิง (เหลียงเจียฮุย) เล่าถึงความตายของอ้ายเฉีย มีลำดับการนำเสนอน่าสนใจทีเดียว

  • เริ่มต้นถ่ายจากภายนอกห้อง พบเห็นไช่ฉู่เชิงเดินผ่านหน้าต่างที่มีกรงเหล็ก(=กรงขัง) มายังประตูทางออกตรงระเบียง
    • นี่เป็นช่วงที่ไช่ฉู่เชิงระบายความเกรี้ยวกราด อ้ายเฉียไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่เป็นบรรดาสื่อ/หนังสือพิมพ์ที่เข่นฆ่าเธอให้ตกตาย
  • จากนั้นถ่ายออกมาจากภายในห้อง พบเห็นทิวทัศน์ ภาพวาดตึกระฟ้า สะพานสูงใหญ่ แล้วไช่ฉู่เชิงก้าวเดินออกมา
    • ไช่ฉู่เชิงหวนระลึกถึงความทรงจำต่ออ้ายเฉีย เป็นนักแสดง/นักเขียน หัวก้าวหน้า (Leftist)
  • และติดตามด้วยหยวนหลิงอวี้ ถามคำถามจี้แทงใจดำไช่ฉู่เชิง (ว่าอ้ายเฉียเคยตกต่ำจนกลายเป็นโสเภณีจริงหรือเปล่า?) นั่นทำให้เขาต้องทรุดนั่งยองๆลงกับพื้น

การนั่งยองๆของไช่ฉู่เชิง คือสัญลักษณ์แทนความรู้สึกอ่อนแอ ท้อแท้ สภาพจิตใจกำลังตกต่ำ (มันจะพอดิบพอดีกับที่เขาพูดว่า มนุษย์เราย่อมมีด้านอ่อนแอในชีวิต) ซึ่งฉากต่อมาหยวนหลิงอวี้ ขอนั่งยองๆอยู่เคียงข้าง เพื่อต้องการสื่อว่าฉันก็ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่ใครต่อใครพบเห็น ซึ่งภาพสะพานที่อยู่ด้านหน้าพวกเขา กลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ผมไม่ค่อยแน่ในความสัมพันธ์ระหว่างไช่ฉู่เชิงกับหยวนหลิงอวี้ ว่ามีข่าวลือหรือหนังประดิษฐ์ครุ่นคิดขึ้น แต่เพื่อจุดประสงค์ล้อกับความสัมพันธ์ระหว่างไช่ฉู่เชิงกับอ้ายเฉีย ใครคบหาชายคนนี้ย่อมประสบโศกนาฎกรรม (หมอนี่มันตัวซวยนี่หว่า!)

หลังจากเสียเวลาค้นหาอยู่สักพัก เพราะผมคุ้นว่านี่น่าจะคือภาพวาดของ Van Gogh ก็ค้นพบเจอ Oleanders (1888) ด้วยความเข้าใจว่าดอกยี่โถ คือสัญลักษณ์ของชีวิต (life-affirming) ความสนุกสนานร่าเริง (Joyous) เพราะมันเบิกบานตลอดทั้งปี แต่ในความเป็นจริงกลับมีพิษร้ายแรง เผลอรับประทานเข้าไปอาจถึงตาย (แต่ถ้าในปริมาณเหมาะสมก็สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้หลายอย่าง)

เกร็ด: Van Gogh คือจิตรกรที่ตัดสินใจปลิดชีพตนเอง ล้อกับเรื่องราวของหนังได้เป็นอย่างดี

ภาพวาดนี้พบเห็นในห้องนอนของหยวนหลิงอวี้ ระหว่างที่จางต๋าหมินบุกเข้ามาเยี่ยมเยียน อ้างว่าต้องการเที่ยวชมบ้าน แต่จุดประสงค์แท้จริงกลับต้องการขอเงิน (อ้างว่าไปทำธุรกิจ แต่เชื่อเถอะว่าคงไปเล่นการพนันหมดตัว) สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับภาพวาดนี้เป็นอย่างดี ภายนอกดูสวยงาม แต่แท้จริงเต็มไปด้วยพิษภัยร้ายแรง และอาจถึงแก่ความตาย!

นี่คือปฏิกิริยาของหยวนหลิงอวี้ หลังจากถูกจางต๋าหมิน จองเวรจองกรรมไม่ยอมเลิกรา อยากจะบวชเป็นแม่ชี แล้วปล่อยละวางจากทุกสิ่งอย่าง แต่เธอกลับร่ำร้องไห้ออกมา ไม่สามารถหยุดยั้งหักห้ามตนเองแม้หลังจากผู้กำกับสั่งคัท! … ภาพยนตร์เรื่อง A Sea of Fragrant Snow (1934) [สูญหายไปแล้ว]

ผมเคยรับชมผลงานของหยวนหลิงอวี้อยู่สองสามเรื่อง เลยมีความรู้สึกเฝ้ารอคอย อยากพบเห็นโดยเฉพาะ The Goddess (1934) ซึ่งหนังไม่ใช่แค่ทำการสร้างฉากนี้ขึ้นใหม่ (re-create) แล้วเปรียบเทียบฟุตเทจจากแผ่นฟีล์ม แต่ก่อนหน้านี้ยังอารัมบทในห้องนอนระหว่างหยวนหลิงอวี้ กับถังจี้ชาน แถมมีโคมไฟเหนือศีรษะ ท่านั่งบนโต๊ะ ไขว้แขน พ่นควันบุหรี่ และตั้งคำถามถ้าฉันและภรรยาของคุณเป็นโสเภณีจะเลือกใคร? (เรื่องราวของฉากนี้คือหญิงสาวขายตัวเพื่อนำมาเงินมาเลี้ยงดูแลบุตร)

พอพบเห็นฉากนี้ซ้ำๆ 3-4 ครั้ง (ถ้านับตอนเทคสองด้วยนะ) ทำให้ผมเกิดความพึงพอใจอย่างยิ่งยวด! เพราะถือเป็นฉากสำคัญสุดๆของหนัง ถ้าทำออกมาไม่ดีก็จบเห่ แต่ต้องชมเลยว่าเกินความคาดหมายมากๆ แถมปรากฎขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพจิตใจของหยวนหลิงอวี้เริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ (ล้อกับคำถามจี้แทงใจดำไช่ฉู่เชิง ว่าอ้ายเฉียเคยตกต่ำจนกลายเป็นโสเภณีจริง? เพราะบทบาทใน The Goddess (1934) หยวนหลิงอวี้กำลังเล่นเป็นโสเภณี!)

ขณะที่ฉากทรงพลังสุดของหนัง มาจากระหว่างทำการแสดง New Women (1935) ฉากในโรงพยาบาลคือความต้องการมีชีวิต “I want to live!” เริ่มตั้งแต่อ้ายเฉีย ที่ผู้กำกับไช่ฉู่เชิงสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่ออุทิศให้กับเธอ และหยวนหลิงอวี้ สะท้อนความรู้สึกเก็บกดอัดอั้น ชีวิตที่ไม่เคยสมหวังในเรื่องใดๆ ทุกสิ่งอย่างเลยพลั่งพลูออกมาในครานี้

และความซับซ้อนของฉากนี้แตกต่างจาก The Goddess (1934) แทนที่จะเปรียบเทียบเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของหยวนหลิงอวี้ กลับเปลี่ยนมาเป็นเบื้องหลังถ่ายทำของจางม่านอวี้ พบเห็นเธอกำลังคลุมโปงร่ำร้องไห้อยู่ใต้ผ้าห่ม ทำเป็นว่ากำลังอินกับบทบาท … จริงไม่จริงก็ถามใจผู้ชมเองว่าอยากจะเชื่อแบบไหน

ถ้าไม่ใช่บทบาทการแสดง หยวนหลิงอวี้แทบไม่เคยแสดงความอ่อนแอใดๆออกมา แต่หลังจากอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ถูกจางต๋าหมินยื่นฟ้องร้อง ข้อหาคบชู้ อาศัยอยู่กับถังจี้ชาน นั่นคงสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวลึก ถึงขนาดมิอาจควบคุมตนเอง ร่ำร้องไห้ออกมาลั่นบ้าน ถือว่าสภาพจิตใจตกต่ำถึงขีดสุด!

หยวนหลิงอวี้พยายามจะต่อรองกับจางต๋าหมิน แต่ฝ่ายชายกลับเต็มไปด้วยความมักมาก เห็นแก่ตัว ปากอ้างว่ายังรัก แต่จิตใจกลับสนเพียงเงินๆทองๆ โหยหาความสุขสบาย ไม่ต้องการอาศัยอยู่ห้องเช่าโกโรโกโสแบบนี้ (ที่เปิดประตูก็เจอห้องน้ำ)

ผมมองการทุบกระจกแตกของจางต๋าหมิน ไม่ได้ต้องสื่อถึงจิตใจอันแตกสลาย แต่คือความต้องการทำลายทุกสิ่งอย่างของหยวนหลิงอวี้ เพื่อให้ได้เธอกลับมาครอบครอง เป็นเจ้าของ เรียกว่าสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัวตนเองเท่านั้นแหละ!

หยวนหลิงอวี้เลือกที่จะเดินออกประตูหน้า ฝ่าฝูงชน พร้อมอดรนทนต่อส่งเสียงซุบซิบนินทา แต่เมื่อใครคนหนึ่งด่าพ่อล่อแม่ หันหลังกลับไปเผชิญหน้า ก็ทำหน้าจ๋อยเหมือน ‘หมาเห่าใบตองแห้ง’ มันแน่ไม่จริงนี่หว่า

ซึ่งระหว่างการเดินฝ่าฝูงชน จะมีขณะหนึ่งที่ใบหน้าของหยวนหลิงอวี้จะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด นั่นก็สะท้อนสภาพจิตใจของเธอ มิอาจอดรนทนต่อเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่ เก็บเอามาครุ่นคิดมาก พยายามเผชิญหน้าแล้วก็มิอาจต่อต้านทาน ไม่รู้จะหาหนทางแก้ปัญหาอะไรอีกต่อไป

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว หยวนหลิงอวี้นัดพบเจอไช่ฉู่เชิงยังร้านอาหารแห่งหนึ่ง ยื่นข้อเสนอให้หลบหนีจากสถานที่แห่งนี้ไปด้วยกัน ระหว่างนั้นเธอหยิบยาสูบจากมวนบุหรี่นำมาเคี้ยวใส่ปาก (เหมือนสมัยนั้นผู้หญิงที่สูบบุหรี่มักถูกมองว่าเป็นคนนิสัยไม่ดี กร้านโลก และอาจทำลายภาพลักษณ์ของหยวนหลิงอวี้ด้วยกระมัง)

โดยปกติแล้วการสูบบุหรี่คือสัญลักษณ์ของ Sex ได้รับความพึงพอใจ ระบายความอึดอัดอั้น สนองความพึงพอใจส่วนบุคคล, ในบริบทของหนังนี้เริ่มต้นคือการอ่อยเหยื่อของหยวนหลิงอวี้ พยายามชักชวนไช่ฉู่เชิงให้หลบหนีไปด้วยกัน แต่ถ้ามองสภาพจิตใจของหญิงสาวขณะนั้น ยาสูบอาจเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในสถานการณ์ขณะนั้น

หยวนหลิงอวี้ได้รับชักชวนเข้าร่วมงานเลี้ยงขอบคุณโปรดิวเซอร์ชาวต่างชาติ ที่นำเข้าเครื่องบันทึกเสียงสำหรับหนังพูด (Talkie) แต่สำหรับเธอตั้งใจให้เป็นคืองานเลี้ยงอำลา (น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Veronika Voss (1991)) พอเริ่มมึนเมาก็เดินไปรอบห้อง จุมพิตแก้มซ้าย-ขวาบุรุษทุกคน และสตรีบางคน เพื่อเป็นการขอบคุณต่อทุกสิ่งอย่าง

ซึ่งระหว่างการจุมพิต 3-4 บุคคลสำคัญๆในชีวิตของหยวนหลิงอวี้ จะมีการแทรกภาพระหว่างงานศพ ที่คนเหล่านั้นจักกล่าวคำร่ำลา หรือแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของเธอผู้เป็นที่รักยิ่ง … การตัดต่อในช่วงนี้ถือว่าเป็นการลำดับ หยวนหลิงอวี้ขณะยังมีชีวิต=สิ้นลมหายใจ (ถือว่าตกตายไปตั้งแต่ตอนนี้แล้วละ)

หยวนหลิงอวี้ไม่เพียงจุมพิตไช่ฉู่เชิงยาวนานที่สุด แต่ยังพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก (ฝั่งซ้ายมือของภาพ) เพื่อสื่อถึงความรู้สึกภายในที่มีให้มากกว่าคนอื่น … หลายๆฉากก็แอบบอกใบ้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งคู่อยู่แล้วนะครับ แต่มันจะเกินเลยเถิดถึงเพศสัมพันธ์ไหม ไม่มีใครตอบได้นอกจากพวกเขาเอง

ซึ่งในงานศพไช่ฉู่เชิงกลับแค่แอบอยู่ด้านหลังผู้คน ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแบบบุคคลสำคัญอื่นๆที่กล่าวสุนทรพจน์เคียงข้างเรือนร่างของหยวนหลิงอวี้ ซึ่งเขาก็จะก้มศีรษะ ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด ก่อนเป็นลมล้มพับหมดสติ มิอาจทำใจจากการสูญเสียครั้งที่สอง (อ้ายเฉีย+หยวนหลิงอวี้)

ค่ำคืนแห่งความตายของหยวนหลิงอวี้ จะเต็มไปด้วยกระจกที่บางครั้งเห็นแล้วโคตรหลอน เพราะมันสะท้อนร่างกาย-จิตวิญญาณ เดินเวียนวนไปวนมารอบบ้าน ร่ำลาครอบครัวครั้งสุดท้าย และช็อตที่เธอกำลังรับประทานยานอนหลับ จะพบเห็นดอกไม้ใส่แจกัน (ผมไม่แน่ใจว่าดอกอะไร แต่มันควรจะล้อกับภาพวาด Van Gogh: Oleanders ดอกยี่โถที่ผมเคยอธิบายไป)

ชุดของหยวนหลิงอวี้มองไกลๆเหมือนช่อดอกไม้ม้วนๆ แต่เมื่อมองใกล้ๆจะเห็นเป็นวงกลมหมุนๆ สื่อถึงวังวน ความสับสนในชีวิต เต็มไปด้วยความหมกมุ่นยึดติด จนไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นจากโชคชะตากรรม

หนังไม่ได้พยายามสร้างใหม่ให้เหมือนเปะๆ ใครชอบจับผิดก็น่าจะสังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับกวนจินเผิง เมื่อถ่ายทำทางฝั่งจางม่านอวี้เสร็จสิ้น จะพบเห็นเธอลืมตาหายใจ คนส่วนใหญ่อาจตีความแค่การนำเสนอเบื้องหลัง vs. ภาพยนตร์ vs. ภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์ แต่ผมมองไกลไปถึงความเป็นอมตะของหยวนหลิงอวี้ (และจางม่านอวี้) แม้ชีวิตจริงลาจากโลกนี้ไป แต่พวกเธอก็ราวกับยังมีชีวิต/ลมหายใจ โลดแล่นบนแผ่นฟีล์ม … ชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย Peter Cheung, 張耀宗 ขาประจำผลงานของบรูซ ลี และเฉินหลง อาทิ Fist of Fury (1972), The Way of the Dragon (1972), Enter the Dragon (1973), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Project A (1983), Long Arm of the Law (1984), Mr. Vampire (1985), Police Story (1985), Rouge (1987), Center Stage (1991), The Legend (1993), The Legend of Drunken Master (1994), Crime Story (1994) ฯลฯ

ฉบับตัดต่อแรกสุดของหนังความยาว 118 นาที (ผมไม่เคยดูฉบับนี้นะ แต่คาดว่าคงไม่มีพวกบทสัมภาษณ์ และเบื้องหลังถ่ายทำ) ต่อมามีการทำ Director’s Cut ความยาว 147 นาที (น่าจะมีแค่บทสัมภาษณ์ของจางม่านอวี้ และเบื้องหลังการถ่ายทำ) และระหว่างการบูรณะ มีการค้นพบฟุตเทจเพิ่มเติม Extended Version นำมาผสมรวมจนกลายเป็น 154 นาที (คงเพิ่มเติมในส่วนบทสัมภาษณ์นักแสดง/ทีมงานคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่จางม่านอวี้แต่เพียงผู้เดียว)

  • Original Cut ความยาว 118 นาที (1 ชั่วโมง 58 นาที)
  • Director’s Cut ความยาว 147 นาที (2 ชั่วโมง 27 นาที)
  • Extended Version (4K Restoration) ความยาว 154 นาที (2 ชั่วโมง 27 นาที)

ผมขอยึดตามฉบับที่ได้รับชม Extended Version, หนังดำเนินเรื่องผ่านกองถ่ายภาพยนตร์จากฮ่องกง เดินทางสู่นครเซี่ยงไฮ้เพื่อเตรียมงานสร้าง ถ่ายทำหนังชีวประวัติหยวนหลิงอวี้ ซึ่งจะมีการตัดสลับไปมาระหว่าง

  • พูดคุยกับทีมงาน ผู้กำกับกวนจินเผิง นักแสดง (จางม่านอวี้, หลิวเจียหลิง, เหลียงเจียฮุย ฯ) สัมภาษณ์บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้น (ผู้กำกับซุนหยู, นักแสดงหลี่ลี่ลี่, เฉินหยานหยาน ฯ) รวมถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ
  • เรื่องราวในภาพยนตร์ จางม่านอวี้แสดงเป็นหยวนหลิงอวี้ ระหว่างเซ็นสัญญาอยู่กับสตูดิโอ Lianhua Film Company (1930-35)
  • ภาพนิ่งและฟุตเทจหนังเงียบที่ยังหลงเหลือของหยวนหลิงอวี้
    • Dream of the Ancient Capital, 故都春夢 (1930) กำกับโดยซุนหยู ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • Wild Flowers by the Road, 野草閒花 (1930) กำกับโดยซุนหยู ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • The Peach Girl หรือ Peach Blossom Weeps Tears of Blood, 桃花泣血記 (1931) กำกับโดยผู่หยวนชาง
    • Three Modern Women, 三个摩登女性 (1933) กำกับโดยผู่หยวนชาง ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • Night in the City, 城市之夜 (1933) กำกับโดยเฟยมู่ ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • Little Toys (1933) กำกับโดยซุนหยู
    • The Goddess, 神女 (1934) กำกับโดยอู๋หย่งกัง
    • A Sea of Fragrant Snow, 香雪海 (1934) กำกับโดยเฟยมู่ ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • New Women, 新女性 (1935) กำกับโดยไช่ฉู่เชิง

เรื่องราวของหนังสามารถแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา

  • แนะนำนักแสดง/ตัวละคร ยุคแรกๆของหยวนหลิงอวี้กับ Lianhua Film Company
    • บทสัมภาษณ์จางม่านอวี้, ผู้กำกับกวนจินเผิง
    • หยวนหลิงอวี้ กับผลงานในยุคแรกๆที่ Lianhua Film Company (1930-31)
    • ความสัมพันธ์ระหว่างหยวนหลิงอวี้กับครอบครัว และจางต๋าหมิน
  • ยุคที่สองร่วมงานผู้กำกับฝั่งขวา (Leftist Director)
    • บทสัมภาษณ์ผู้กำกับซุนหยู
    • หยวนหลิงอวี้เลิกรากับจางต๋าหมิน คบชู้กับถังจี้ชาน ย้ายครอบครัวไปอยู่บ้านใหม่
    • หยวนหลิงอวี้ต้องการลบล้างภาพลักษณ์เดิมของตนเอง เริ่มต้นใหม่กับผลงาน Three Modern Women (1933)
  • ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง
    • การถกเถียงสาเหตุผลของโศกนาฎกรรม
    • จางต๋าหมิน พยายามเรียกร้องโน่นนี่นั่น ต้องการคืนดีกับอดีตคนรัก พอไม่สมหวังก็ตัดสินใจฟ้องร้องค่าเสียหาย
    • กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวลงข่าวหนังสือพิมพ์ สร้างปัญหาให้ทุกคนรอบข้าง
    • หยวนหลินอวี้กว่าจะแสดงฉากในโรงพยาบาล “I want to live” ทำให้เธอไม่สามารถแยะแยะชีวิตจริง-การแสดงได้อีกต่อไป
  • การตัดสินใจของหยวนหลิงอวี้
    • งานเลี้ยงต้อนรับโปรดิวเซอร์จากต่างประเทศ แต่กลับเป็นการกล่าวคำร่ำลาของหยวนหลิงอวี้
    • ค่ำคืนสุดท้ายของหยวนหลิงอวี้ พร้อมเสียงอ่านจดหมายลาตาย
    • พิธีศพจากการแสดง vs. เบื้องหลังถ่ายทำ vs. ภาพถ่ายจากหน้าหนังสือพิมพ์

วิธีการดำเนินเรื่องแบบ ‘non-narrative’ ด้วยการตัดสลับไปมาระหว่าง บทสัมภาษณ์/เบื้องหลัง vs. การแสดงภาพยนตร์ vs. ภาพนิ่ง/ฟุตเทจจริงๆ ก็เพื่อให้ทุกสิ่งอย่างผสมผสานกลายเป็นอันหนึ่ง … ใครเคยรับชม Rouge (1987) ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับกวนจินเผิง น่าจะตระหนักถึงสไตล์ลายเซ็นต์ แนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากอัตลักษณ์ทางเพศ แม้ร่างกายเป็นชาย-จิตใจเป็นหญิง (ผกก.กวนจินเผิง เปิดเผยว่าตนเองเป็นคนรักร่วมเพศ!) ขยับขยายสู่แนวคิดหยิน-หยาง หลายๆสิ่งอย่างสามารถรวมเป็นอันหนึ่ง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ชีวิตจริง-การแสดง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้กระมังเลยตั้งชื่อหนังภาษาอังกฤษ Center Stage เวทีที่อยู่กึ่งกลางของทุกสรรพสิ่งอย่าง


เพลงประกอบโดย Johnny Chen หรือ Chen Huan-Chang, 陳煥昌 (เกิดปี 1958) นักร้อง/นักแต่งเพลง ศิลปิน Mandopop ชื่อเสียงโด่งดังจากไต้หวัน ได้รับชักชวนจากผู้กำกับกวนจินเผิง ร่วมงานทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Center Stage (1991) และ Red Rose White Rose (1994)

แม้ว่า Chen Huan-Chang ไม่เคยมีประสบการณ์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์มากก่อน อีกทั้งเขาเป็นชาวไต้หวัน ไม่เคยรับรู้จักสไตล์เพลง Shanghainese แถมแนวย้อนยุค 30s อีกต่างหาก! แต่ก็ต้องชมว่ารังสร้างผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ เสริมสร้างบรรยากาศนำเข้าสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรมได้อย่างมืดหมองหม่น ด้วยท่วงทำนองพื้นบ้านจีน บางครั้งก็ดนตรีคลาสสิก (Tradition Eastern vs. Modern Western) ในรูปแบบ diegetic (พบเห็นนักแสดงร้อง-เล่น-เต้น) และ non-diegetic (Soundtrack ประกอบพื้นหลัง) 

ขอเริ่มที่บทเพลง Wild Grass and Flowers in Spring, 野草閒花蓬春生 ขับร้องโดย Tracy Huang หรือ หวงอิงอิง, 黃鶯鶯 ศิลปินชาวไต้หวัน, คำร้องเดียวกับ Burial of Heart แต่ในสไตล์ดนตรีพื้นบ้านจีน แล้วนำไปเปิดบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Gramophone) บันทึกเสียงอีกรอบเพื่อให้ได้สัมผัสความเก่าๆ โบร่ำราณ ดังขึ้นพร้อมภาพถ่ายของหยวนหลิงอวี้ สิ่งที่ยังหลงเหลือของนักแสดงสาวผู้เป็นตำนาน

Soundtrack ส่วนใหญ่ของหนังจะเน้นสร้างบรรยากาศอึมครึม หมองหม่น บางครั้งเพียงเปียโน บางครั้งใช้เสียงสังเคราะห์ บางครั้งยกมาทั้งออร์เคสตร้า เพื่อนำทางความรู้สึกผู้ชมไปสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม แต่มันจะไม่ใช่มืดจนมิด หมองจนดำสนิท เพราะสภาพจิตใจของหยวนหลิงอวี้ ไม่เคยแสดงความหมดสิ้นหวังอาลัย แค่วิธีการของเธอในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ มันสุดโต่งแบบไม่ยี่หร่าอะไรทั้งนั้น

我好快樂 แปลว่า I’m so happy. เป็นบทเพลงที่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์หยวนหลิงอวี้ ในค่ำคืนสุดท้ายของชีวิต ระหว่างกำลังเตรียมการกระทำอัตวินิบาต แม้มีบรรยากาศหวิวๆ หลอนๆ เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนทุ้มต่ำ แต่ไม่ได้มอบความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เหมือนเพียงชีวิตดำเนินไป พร้อมแล้วจะเผชิญหน้าความตาย อะไรจะเกิดขึ้นฉันก็ยินยอมรับได้ ไม่รู้สึกสูญเสียใจใดๆทั้งนั้น

Buried My Heart, 葬心 ทำนองโดย Chen Huan-Chang, คำร้องโดย Yao Ruolong, ขับร้องโดย หวงอิงอิง ซึ่งก็คือบทเพลงเดียวกับ Wild Grass and Flowers in Spring แต่ในสไตล์ Modern Music ด้วยไวโอลิน และเครื่องดนตรีไฟฟ้า ดังขึ้นตอน Closing Credit

Chen Huan-Chang เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์เหนือธรรมชาติ ในค่ำคืนระหว่างแต่งบทเพลงนี้ เหมือนได้ยินเสียงแว่ว ใครสักคนกำลังฮัมท่วงทำนอง โดยไม่รู้ตัวมือเขียนโน๊ตตาม แล้วเสร็จภายในสามชั่วโมง โทรศัพท์ติดต่อหาหวงอิงอิง ทักถามเหมือนได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้อยู่ปลายสาย … ก็ไม่น่าจะเป็นใครอื่น!

Butterfly fly away, heart is not there
Who will wipe away the tears in the long night
It’s a little bit of greed, a little bit of dependence, a little bit of love
The old fate should be difficult to replace with sorrow
How can you stand this one guessing over there?
People’s words merge into sorrow
The hardships given by God are not to blame
Never should never be afraid of loneliness
Lin Hua thanked and buried her heart
Where will he be when Chunyan returns?
The hardships given by God are not to blame
Never should never be afraid of loneliness
Butterfly fly away, heart is not there
Who will wipe away the tears in the long night
Lin Hua thanked and buried her heart
Where will he be when Chunyan returns?

เกร็ด: คำแปลบทเพลงนี้จงใจค้างคำ Lin Hua และ Chunyan ซึ่งจะสื่อถึงบุคคลก็ได้ แต่ความหมายจริงๆ 林花 แปลว่าดอกไม้ป่า, 春燕 หมายถึงฤดูใบไม้ผลิ

When filming ‘Center Stage’, what I was most interested in was not reshaping Ruan Lingyu’s life, I just wanted to use the medium of film to explore the essence of film, its true and false. I never believed that film could be 100% presenting reality, it can only restore a reality, a smell of movie life.

ผู้กำกับกวนจินเผิง

ระหว่างรับชม Center Stage (1991) ทำให้ผมระลึกนึกถึง All That Jazz (1979), Veronika Voss (1982), I’m Not There (2007) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นภาพยนตร์ Biopic ที่มีความผิดแผก แปลกประหลาด ด้วยวิธีการสุดพิศดาร ไม่ได้นำเสนอตามอย่างสูตรสำเร็จ ‘Narrative Film’ แบบทั่วๆไป ท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นคิดตั้งคำถาม ว่าผู้กำกับต้องการนำเสนออะไรออกมา?

การผสมผสานระหว่าง บทสัมภาษณ์/เบื้องหลัง vs. การแสดงภาพยนตร์ vs. ภาพนิ่ง/ฟุตเทจจริงๆ อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่ามีจุดเริ่มต้นจากอัตลักษณ์ทางเพศของผู้กำกับกวนจินเผิง แม้ร่างกายคือชาย-จิตใจกลับเป็นหญิง ขยับขยายสู่แนวคิดหยิน-หยาง ต้องการผสมผสานหลายสิ่งอย่างรวมเป็นอันหนึ่ง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ชีวิตจริง-การแสดง ฯลฯ เพื่อชักชวนผู้ชมให้ขบครุ่นคิด ค้นหาเหตุผล ทำไมหยวนหลิงอวี้ ถึงกระทำการอัตวินิบาต?

แม้การฆ่าตัวตายของหยวนหลิงอวี้จะมีคำอธิบาย เขียนจดหมายถึงสองฉบับ จู่โจมตีพฤติกรรมของสื่อที่ทำให้เธอไม่รู้จักแก้ปัญหาอย่างไร แต่มันก็ยังแปลกพิศดาร ทุกสิ่งอย่างตระเตรียมการมาอย่างดี ไม่มีสิ่งใดๆหลงเหลือติดค้างคาใจ แถมหนังยังนำเสนอฉากงานเลี้ยงร่ำลาอีกต่างหาก มันช่างดูเหมือน Anti-Psychology ใช้เหตุผลทางจิตวิทยามาอธิบายอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง!

ถ้าเรามองโศกนาฎกรรมดังกล่าวแบบเพียงผิวเผิน ก็อาจโทษว่ากล่าวโชคชะตา ตำหนิพฤติกรรมเห็นแก่ตัว/สนเพียงเงินของจางต๋าหมิน และความไร้จริยธรรมของสื่อยุคสมัยก่อน (ปัจจุบันก็ดูไม่ได้พัฒนาขึ้นสักเท่าไหร่!) แต่ปัญหาแท้จริงล้วนมาจากตัวของหยวนหลิงอวี้ ที่ไม่สามารถหักห้ามใจตนเอง กระทำสิ่งขัดต่อศีลธรรมจรรยา และเมื่อสังคมถูกตั้งข้อครหาก็ปฏิเสธการเผชิญหน้า ฆ่าตัวตายเหมือนเพื่อหลบหนีปัญหา

แต่การกระทำอัตวินิบาตของหยวนหลิงอวี้ ในความครุ่นคิดเห็นของผู้กำกับกวนจินเผิง ยังพยายามชี้นำถึงอิทธิพลจาก ‘ความเป็นนักแสดง’ ปะติดปะต่อหลายๆฉากในผลงานหนังเงียบ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวชีวิต ทำให้เกิดความสับสนระหว่างโลกความจริง-มายาการแสดง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธออาจไม่สามารถแยกแยะความแตกต่าง (ระหว่างชีวิตกับละคร โดยเฉพาะฉากในโรงพยาบาล “I want to live”) หาคำตอบไม่ได้ว่าฉันควรแสดงออกต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นนี้เช่นไร เลยเลือกแก้ปัญหาแบบนางเอก ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องความสนใจ

If I was famous…
If I was a legend…
Then I had to die when I was most beautiful.

เหลียงเจียฮุย

ในภาพยนตร์ Rouge (1987) ผู้กำกับกวนจินเผิงตั้งคำถามถึงอุดมคติแห่งรัก ชาย-หญิงในอดีตยินยอมพร้อมยอมตกตายตามกันเพื่อพิสูจน์รักแท้ แต่หนุ่ม-สาวสมัยใหม่ให้ตายยังไงก็ไม่ยินยอมพร้อมใจ! สำหรับ Center Stage (1991) ก็มีการตั้งคำถามคล้ายๆกันนี้กับจางม่านอวี้ แม้เธอมีหลายๆสิ่งอย่างเหมือนหยวนหลิงอวี้ แต่ไม่ว่าอะไรยังไง ฉันจะไม่ยินยอมฆ่าตัวตายเพื่อกลายเป็นตำนาน … แต่เธอก็ออกจากวงการในช่วงเวลาที่ยังสวยสาว (ตอนอายุ 40 ปี) คงความกระพัน กลายเป็นอีกตำนานค้างฟ้าไม่ต่างกัน!

ชื่อหนังภาษาไทย สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา (นำเข้าโดยสหมงคลฟีล์ม) ช่างมีความสลับซับซ้อนยิ่งนัก! สตรีย่อมหมายถึงหยวนหลิงอวี้, โลกแกล้งคือการถูกสังคมตำหนิต่อว่า อดีตคนรักทรยศหักหลัง, แพงน้ำตา น่าจะสื่อถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เธอคิดสั้นฆ่าตัวตาย สร้างความเศร้าเสียใจให้ผู้คนมากมายจนมิอาจประเมินมูลค่าได้ (หรือจะมองว่าเป็นความเจ็บปวดของหยวนหลิงอวี้ที่มีราคามหาศาล)

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ชมส่วนใหญ่อาจไม่เอะใจ แต่เพราะผมเพิ่งรับชม Rouge (1987) เลยตะหนักถึงความ ‘queer’ ของ Center Stage (1991) สะท้อนรสนิยม(ทางเพศ)ของผู้กำกับกวนจินเผิง พบเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆที่บรรดาหนุ่มๆเปลือยกายท่อนบนเข้าห้องอาบน้ำ/อบซาวน่า มาจนถึงช่วยท้ายๆในงานเลี้ยงร่ำลาที่หยวนหลิงอวี้ โอบกอดจุมพิตแก้มซ้าย-แก้มขวา ไม่เว้นแม้เพศชาย-หญิง ก็ไม่รู้เหล่านั้นคือเหตุการณ์จริงหรือผู้กำกับเพิ่มเติมเข้ามา แต่ก็สะท้อนแนวคิดสองฟากฝั่งขั้วตรงข้าม ผสมผสานรวมตัวกลายเป็นอันหนึ่ง กึ่งกลาง Center Stage!


เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี และจางม่านอวี้คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress ถือเป็นนักแสดงจีนคนแรก (รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน) ที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังใดๆในยุโรป (โดยเฉพาะ Big 3) เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกความสำเร็จให้กับวงการภาพยนตร์จีนเลยก็ว่าได้!

แม้หนังได้รับเสียงชื่นชมระดับนานาชาติ แต่ทั้งฮ่องกงและไต้หวัน กลับไม่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่สาขานักแสดงนำหญิง ไม่มีใครสามารถแก่งแย่งชิงไปจากขุ่นแม่

  • Hong Kong Film Awards
    • Best Picture พ่ายให้กับ Cageman (1992)
    • Best Director
    • Best Actress (จางม่านอวี้) ** คว้ารางวัล
    • Best Original Screenplay
    • Best Cinematography ** คว้ารางวัล
    • Best Art Direction ** คว้ารางวัล
    • Best Makeup & Costume Design
    • Best Original Score ** คว้ารางวัล
    • Best Original Song บทเพลง Burning Heart, 葬心 ** คว้ารางวัล
  • Golden Horse Film Festival
    • Best Feature Film พ่ายให้กับ A Brighter Summer Day (1991)
    • Best Director
    • Best Actress (จางม่านอวี้) ** คว้ารางวัล
    • Best Original Screenplay
    • Best Cinematography ** คว้ารางวัล
    • Best Film Editing
    • Best Art Direction
    • Best Makeup & Costume Design
    • Best Original Score
    • Best Original Song บทเพลง Burning Heart, 葬心
    • Best Sound Recording

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2021 ผมเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสสูงเข้าฉายในไทย แต่สำหรับคนไม่อยากรอสามารถหาชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channal, Amazon Prime, iQiYi หรือจะซื้อ Blu-Ray ของค่าย Film Movement คุณภาพค่อนข้างดีทีเดียว และหน้าปกสวยมากๆ (Criterion ยังไม่มี Blu-Ray เรื่องนี้นะครับ แต่เชื่อว่าไม่น่าพลาดละ!)

หลังจากรับชม Rouge (1987) ไปเมื่อหลายวันก่อน มันเลยสร้างความคาดหวังให้ผมมากๆในการรับชม Center Stage (1991) … ก็ถึงขนาดลัดคิวแผนอื่นที่เตรียมไว้ … ผลลัพท์ก็ไม่ผิด แม้ไม่ถึงขั้นหลงใหลคลั่งไคล้ แต่ก็ชื่นชอบประทับใจในลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอที่แปลก และชักชวนให้ผู้ขบครุ่นคิดถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ดาวดาราที่เจิดจรัสถึงมีจุดจบเช่นนั้น

ก่อนจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมอยากแนะนำให้ศึกษาชีวประวัติ และหาผลงานของหยวนหลิงอวี้ อาทิ Little Toys (1933), The Goddess (1934), New Women (1935) ฯลฯ หลายๆเรื่องสามารถรับชมได้ทาง Youtube มาเตรียมความพร้อม จะทำให้สามารถเข้าใจอะไรๆได้เพิ่มมากขึ้น

แนะนำคอหนังย้อนยุค ดราม่า-โรแมนติก ประเทศจีนทศวรรษ 30s, บรรดานักข่าว นักหนังสือพิมพ์, สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์, คนทำงานสายการแสดง นักออกแบบ สถาปนิก แฟชั่นดีไซเนอร์, ศิลปินที่หลงใหลศิลปะสไตล์ Art Deco, แฟนคลับจางม่านอวี้ และโดยเฉพาะใครที่รับรู้จักหยวนหลิงอวี้ เรื่องนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับการเดินทางสู่โศกนาฎกรรม

คำโปรย | Center Stage ภาพยนตร์ชีวประวัติกึ่งสารคดีหยวนหลิงอวี้ ที่มีจางม่านอวี้และผู้กำกับกวนจินเผิง ชักชวนให้ขบครุ่นคิดถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ดาวดาราที่เจิดจรัสถึงมีจุดจบเช่นนั้น
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Rouge (1987)


Rouge (1987) Hong Kong : Stanley Kwan ♥♥♥♡

โศกนาฎกรรมในชีวิตจริงของเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะยิ่งขนหัวลุกพอง เพราะทั้งสองรับบทคู่รักจากอดีต เกาะฮ่องกงเมื่อทศวรรษ 1930s แต่ครอบครัวไม่ยินยอมรับเลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย กลายมาเป็นวิญญาณล่องลอย ติดตามหากันจนมาถึง ค.ศ. 1987

ผมเพิ่งมีโอกาสรับรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน จากคอลเลคชั่นออกใหม่ของ Criterion (วางจำหน่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2022) ผลงานที่ได้รับความสนใจจากค่ายนี้มันต้องบางสิ่งอย่างน่าสนใจ! แล้วพอ Facebook ขึ้นโฆษณา(จนน่ารำคาญ)เทศกาลภาพยนตร์ Making Waves – Navigators of Hong Kong Cinema ระหว่าง 22-24 กรกฎาคม 2022 ที่ SFW เห็นรอบฉายฉบับบูรณะยิ่งสร้างความฉงนสงสัย เลยตั้งใจจะลองหามารับชมให้จงได้

ฉบับบูรณะที่รับชมจาก Criterion ผมยังรู้สึกว่าคุณภาพของหนังดูถดถอยไปพอสมควร ทั้งสีสันที่ขับเน้นไม่ขึ้นเอาเสียเลย (น่าจะเป็นความเสื่อมตามกาลเวลาของฟีล์มสี) รวมถึงหลายๆแนวคิดแม้มีความน่าสนใจ แต่ยังนำเสนออกมาไม่กลมกล่อมสักเท่าไหร่ ทำลายความสมเหตุสมผลในความไม่สมเหตุสมผล บางส่วนพอมองข้ามได้ แต่พอบ่อยเกินไปก็รู้สึกกระอักกระอ่วนหัวใจ

หลายคนอาจมองเห็น Rouge (1987) คือภาพยนตร์แนวรักโรแมนติก ต่อให้ความตายก็มิอาจขวางกั้น แต่ความสนใจแท้จริงของผู้กำกับกวนจินเผิง (สแตนลีย์ กวน) ต้องการเปรียบเทียบวิถีชีวิต สภาพสังคม การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ-จิตภาพ ของเกาะฮ่องกงระหว่างทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 โดยเฉพาะมุมมองความรักที่เคยเต็มไปด้วยสีสัน หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ปัจจุบัน(นั้น)ใครต่อใครสนเพียงความพึงพอใจของตนเอง ให้ตกตายตามกันไปไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วละ!


กวนจินเผิง, 关锦鹏 (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวฮ่องกง, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านวรรณกรรม งานศิลปะ และการแสดงละครเวที สำเร็จการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน Hong Kong Baptist College, แล้วเข้าทำงานยังสถานีโทรทัศน์ TVB เป็นผู้ช่วยผู้กำกับหยูหยานไท่ (Ronny Yu), สวีอันฮัว (Ann Hui) อาทิ The Savior (1980), The Story of Woo Viet (1981), Boat People (1982) ฯ ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Women (1985), ผลงานส่วนใหญ่มักเป็นหนังโรแมนติก เกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องความรัก อาทิ Rouge (1987), Center Stage (1992), Hold You Tight (1998), Lan Yu (2001) ฯ

เกร็ด: กวนจินเผิง คือผู้กำกับชาวเอเชียไม่กี่คนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ผ่านสารคดีเรื่อง Yang ± Yin: Gender in Chinese Cinema (1996) และสรรค์สร้างผลงาน Lan Yu (2001) นำเสนอเรื่องราวชายรักชาย

สำหรับ Rouge, 胭脂扣 (อ่านว่า Yānzhī kòu, แปลว่า ตลับสีชาด) เป็นโปรเจคของโปรดิวเซอร์เฉินหลง (Jackie Chan) ขณะนั้นเซ็นสัญญาอยู่กับสตูดิโอ Golden Harvest ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ประพันธ์โดยลิเลียน ลี นามปากกาของลีบัค, Lee Bak (เกิดปี 1959) นักเขียนชาวจีน เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Farewell My Concubine, Green Snake ฯลฯ

ดั้งเดิมนั้นโปรเจคนี้อยู่ในการดูแลของผู้กำกับ Terry Tong, 唐基明 แต่ใช้เวลาพัฒนาบทนานเกินเลยขอถอนตัวออกไป เมื่อกวนจินเผิงได้รับการติดต่อ ก็มอบหมายนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 ที่เพิ่งเคยร่วมงาน Love Unto Waste (1986) ก่อนติดตามด้วย Center Stage (1992), ทำการปรับเปลี่ยนวิญญาณหญิงสาวที่ล่องลอยจับต้องไม่ได้ (เหมือนหนังผีทั่วๆไป) ให้มีรูปร่างตัวตน ใบหน้าคมๆ มองผิวเผินไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป


ฮ่องกง ค.ศ. 1934, เรื่องราวของหยูฮวา (รับบทโดย เหมยเยี่ยนฟาง) นางโลมค่าตัวแพงที่ใครต่อใครต่างหมายปอง แต่เธอกลับยินยอมศิโรราบความรักต่อคุณชายสิบสอง (รับบทโดย เลสลี่ จาง) ทายาทมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการร้านขายยาสมุนไพร แต่เขากลับฝืนคำสั่งครอบครัว ต้องการใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างเธอ แต่ความรักที่ไม่อาจต้านทานจารีตประเพณี ทำให้ทั้งสองคิดปลิดชีวิตลงพร้อมกัน

แต่ทว่าดวงวิญญาณของหยูฮวายังคงออกติดตามหาคุณชายสิบสอง ไม่รู้ว่าพลัดหลงกันตอนไหน ระหว่างกำลังล่องลอยเรื่อยเปื่อย ฮ่องกง ค.ศ. 1987 มีโอกาสพบเจอ/ได้รับความช่วยเหลือจาก อาหยวน (รับบทโดย ว่านจื่อเหลียง) และแฟนสาว (รับบทโดย จูเป่าอี้) ประกาศค้นหาคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ รอแล้วรอเล่า รอวันรอคืน กระทั่งท้ายที่สุดความลับของคุณชายสิบสองก็ได้รับการเปิดเผย


เหมยเยี่ยนฟาง, 梅艷芳 (1963-2003) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘ราชินีเพลง Cantopop’ และ ‘มาดอนน่าแห่งเอเชีย’ ครอบครัวมีพื้นเพจากกว่างโจว อพยพสู่เกาะฮ่องกงช่วงหลังสงครามกลางเมือง มีพี่น้องสี่คน (เป็นบุตรสาวคนเล็ก) บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องช่วยพี่ๆหาเงินตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จากการแสดงงิ้ว ร้องเพลงตามท้องถนน, จนกระทั่งพี่สาวผลักดันน้องไปประกวด New Talent Singing Awards ได้รับรางวัลชนะเลิศจนมีโอกาสออกอัลบัมแรก Debts of the Heart (1982), สำหรับภาพยนตร์มีผลงานเด่นๆ อาทิ Behind the Yellow Line (1984), Rouge (1987), The Legend of Drunken Master (1994) ฯ

รับบทหยูฮวา (Fleur, 如花) นางโลมอันดับหนึ่งของ Yi Hung Brothel, 已婚公 ในย่าน Shek Tong Tsui แค่จะจับมือ แตะเนื้อต้องตัว ต้องจ่ายค่าสินทอดทองหมั้น! เริ่มเป็นโสเภณีตั้งอายุ 16 เลยไม่คิดวาดฝันว่าจะมีโอกาสตกหลุมรักผู้ใด จนกระทั่งครั้งหนึ่งแต่งตัวเป็นบุรุษ ขับร้องเพลง หยอกล้อเล่นคุณชายสิบสอง โดยไม่รู้ตัวสร้างความประทับใจให้เขา พยายามเกี้ยวพาราสี แสดงออกความรักจากภายใน ไม่ใคร่สนแม้ขัดต่อความต้องการครอบครัว สังคมไม่ให้การยินยอมรับ เธอเลยยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง เข่นฆ่าตัวตายตามเพื่อจักได้ลงสู่ขุมนรกร่วมกัน

แต่หลังจากเสียชีวิตกลายเป็นวิญญาณล่องลอย หยูฮวากลับพลัดหลงจากคุณชายสิบสอง พยายามออกติดตามหามานานกว่าห้าสิบปี ครุ่นคิดประกาศค้นหาคนหายลงหน้าหนังสือพิมพ์ โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากอาหยวน แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ไร้คนติดต่อมา สร้างความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ก่อนท้ายที่สุดเมื่อได้พบเจอกัน เห็นสภาพเขาเช่นนั้น ก็ไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ

ผู้กำกับกวนจินเผิงมีภาพของเหมยเยี่ยนฟางมาตั้งแต่แรกเริ่มต้น แม้ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยรับบทนำ ส่วนใหญ่เล่นเป็นสาวแรกรุ่น น่ารักสดใส แต่ในวงการเพลงขึ้นแสดงคอนเสิร์ตเมื่อไหร่ ความจัดจ้านบนเวที ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ไม่เคยซ้ำแบบใคร (ได้รับการเปรียบเทียบถึงกิ้งก่าเปลี่ยนสี) รวมถึงความคลุมเคลือเรื่องรสนิยมทางเพศ ถือว่ามีความเหมาะสมตัวละครนี้มากๆ

You have many different looks … heavy makeup, light makeup, masculine makeup, no makeup . . . like a dreamy moon.

คุณชายสิบสอง

ถึงอย่างนั้นบทบาทหยูฮวา ไม่ได้มีภาพลักษณ์อะไรมากมาย เห็นเด่นๆก็แค่แต่งตัวเป็นชายตอนต้นเรื่อง ซึ่งเมื่อกลายเป็นวิญญาณหลงเหลือแค่ชุดเดิมตัวเดียวเท่านั้น! แต่ปริมาณเครื่องสำอางค์ ลิปสติกแดงทาปาก มีความอ่อน-เข้มแตกต่างกันไป (ใช้สื่อแทนสภาวะทางอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์)

และที่ต้องชมเลยก็คือท่วงท่าทาง ทุกลีลาเคลื่อนไหว นั่ง-นอน ยืน-เดิน ขยับมือ-เท้า โน้มตัวเข้าหา ช่างมีความชดช้อยนางรำ ผ่านกระบวนการฝึกฝน(ศาสตร์แห่งการเกี้ยวพาราสีบุรุษ)จนเพรียบพร้อมสมบูรณ์แบบ เห็นแล้วรู้สึกอึ่งทึ่ง น่าประทับใจอย่างสุดๆ … ซึ่งเมื่อตัวละครกลายเป็นวิญญาณล่องลอย ผู้ชมจะสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างคนปกติ/ยุคสมัยนี้ กับเธอที่มาจากอดีต การเคลื่อนไหวช่างดูเหนือธรรมชาติ (สะท้อนความแตกต่างของขนบประเพณีทางสังคมได้อย่างชัดเจน)

อีกสิ่งที่ต้องพูดถึงก็คือการเสียชีวิตของเหมยเยี่ยนฟาง (มะเร็งปากมดลูก) ปีเดียวกับเลสลี่ จาง (ฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้า) ทำให้ผู้ชม(ที่รับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว)รู้สึกเหมือนว่าหยูฮวาและคุณชายสิบสอง เกิดมาเพื่อครองคู่รัก กลายเป็นอมตะ ทั้งในโลกนี้และหลังความตาย สร้างความหลอกหลอนให้ตัวละครนี้อย่างสุดๆ

เกร็ด: เห็นมีภาพยนตร์อัตชีวประวัติเหมยเยี่ยนฟาง เรื่อง Anita (2021) นำแสดงโดย ดาเนียลลา หวัง, 王丹妮 น่าจะหารับชมออนไลน์ได้แล้วกระมัง


เลสลี่ จาง, 張國榮 ชื่อเกิด Cheung Fat-chung (1956 – 2003) นักร้องนักแสดงสัญชาติฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘บิดาผู้ก่อตั้ง Cantopop’ เกิดที่เกาลูน บิดาเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดังที่มีลูกค้าอย่าง William Holden, Marlon Brando, Cary Grant ตอนอายุ 12 ถูกส่งไปร่ำเรียนยังประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เลือกเชื่อเลสลี่เพราะชื่นชอบหนัง Gone With the Wind และตัวละคร Leslie Howard, โตขึ้นสอบเข้า University of Leed สาขาการจัดการ แต่แค่เพียงปีเดียวก็กลับบ้านเพราะพ่อล้มป่วย เซ็นสัญญาค่ายเพลง Polydor Records ออกอัลบัมแรก I Like Dreamin (1977) เป็นภาษาอังกฤษเลยดับสนิท แต่ก็ยังฝืนทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งอัลบัม Wind Blows (1982) บทเพลง Monica ติดชาร์ทอันดับ 1 กลายเป็น Superstar โดยทันที

สำหรับภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ A Better Tomorrow (1986) ของผู้กำกับ John Woo ทุบสถิติทำเงินสูงสุดใน Hong Kong ตามด้วย A Chinese Ghost Story (1987), Rouge (1987), ร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ครั้งแรก Days of Being Wild (1991), Ashes of Time (1994), Happy Together (1997) ฯลฯ

รับบทชานเฉินปัง (Chan Chen-Pang, 陈振邦) ทายาทเจ้าของกิจการร้านขายยาสมุนไพรชื่อดัง มีศักดิ์เป็นบุตรคนรอง แต่เมื่อนับรวมเครือญาติจะเรียกว่าคุณชายสิบสอง ชื่นชอบการเที่ยวเตร่ สะมะเลเสพฝิ่น ติดอยู่ในหอนางโลม พยายามเกี้ยวพาราสี ครอบครองรักหยูฮวา แต่ถูกบิดากีดขวางกั้น พอมีความสามารถด้านการร้องเพลงเล็กๆ เลยตัดสินใจเข้าฝึกฝนการแสดงงิ้ว แต่นั่นสร้างความอับอายให้ครอบครัว เครือญาติ ถูกตำหนิต่อว่าจนสูญเสียความเชื่อมั่นใจ เมื่อมิอาจอดรนทนเลยยินยอมดื่มกินยาพิษ แต่ไม่รู้สามารถรอดชีวิตมาได้อย่างไร

(ในส่วนนี้หนังไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็พอคาดเดาได้ว่า) หลังสูญเสียหยูฮวา คุณชายสิบสองตกอยู่สภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง กลายเป็นคนซึมเศร้า ขี้ขลาดเขลา ไร้ความหาญกล้าปลิดชีวิตตนเอง เลยจำต้องยินยอมหวนกลับบ้าน สืบทอดกิจการร้านขายยาสมุนไพร แต่งงานกับหญิงสาวไม่ได้รัก เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่จะถึงวันหมดสิ้นลมหายใจ

มีนักแสดงหลายคนที่โปรดิวเซอร์(เฉินหลง)ให้ความสนใจ อาทิ อู๋ฉีหัว (Lawrence Ng), เจิ้งอี้เจี้ยน (Ekin Cheng) ฯลฯ แต่กลับเป็นเหมยเยี่ยนฟาง ทำการล็อบบี้บทบาทนี้ให้เพื่อนสนิทเลสลี จาง แม้ขณะนั้นติดสัญญากับสตูดิโอ Cinema City แต่เธอถึงขนาดเอาตนเองแลกเปลี่ยน ‘hostage exchange’ ยินยอมตอบตกลงเล่นหนังให้หนึ่งเรื่อง!

บทของเลสลี่ ค่อนข้างจะจืดจางพอสมควร ราวกับเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ‘object of desire’ มีความหล่อเหลา โรแมนติก ซื่อสัตย์จริงใจ ถึงขนาดยินยอมทอดทิ้งครอบครัว กระทำสิ่งขัดแย้งขนบประเพณีทางสังคม เพื่อครอบครองรักกับเธอชั่วนิรันดร์ … ถือเป็นชายในอุดมคติของสาวๆ (และผู้กำกับ กวนจินเผิง)

ผมรู้สึกว่าเลสลี่ จาง ดูตุ้งติ้ง ท่าทางเหมือนผู้หญิง (มากกว่าคุณชายสิบสอง) แถมเสพฝิ่นจนตาลอยๆ จิตวิญญาณเลยไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว, ระหว่างพรอดรักกับเหมยเยี่ยนฟาง ก็ไม่ได้หวานปานกลืนกิน เหมือนบางสิ่งอย่างกั้นขวางความโรแมนติกของพวกเขาไว้ … ส่วนตัวคาดคิดว่าเหมยเยี่ยนฟาง กับเลสลี่ จาง คงเป็นเพื่อนสนิทกันมากๆ เลยไม่สามารถสร้างความรู้สึกโรแมนติกต่ออีกฝั่งฝ่าย

แซว: พบเห็นเลสลี่ จาง แต่งหน้าขึ้นทำการแสดงงิ้ว อดไม่ได้จะระลึกถึง Farewell My Concubine (1993) ไม่รู้เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เลยหรือเปล่าที่ทำให้ได้รับดังกล่าว


ถ่ายภาพโดย Billy Wong, 黃仲標 (เกิดปี 1946) เกิดที่ฮ่องกง แต่แสร้งว่าเป็นผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสามารถเข้าเรียนการถ่ายรูปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำงานในสตูดิโออยู่หลายปี จนกระทั่งได้เป็นฟรีแลนซ์สถานีโทรทัศน์ TVB จับพลัดจับพลูกลายเป็นตากล้อง ถ่ายทำซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Story of Woo Viet (1981), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Once Upon a Time in China (1991) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่นลีลามากมาย พบเห็นภาษาภาพยนตร์บ้างประปราย แต่จุดโดดเด่นคือความแตกต่างระหว่างช่วงทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 สามารถสังเกตเห็นโดยง่าย

  • ทศวรรษ 1930s, เต็มไปด้วยแสงสีสันสวยสดใส สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ลวดลายเสื้อผ้า-ฝาผนังมีความละลานตา ผู้คนมากมายรับรู้จักกัน สร้างความสนุกสนานครื้นเครง มึนเมากับการใช้ชีวิตไปวันๆ
  • ค.ศ. 1987, งานภาพจะดูมืดๆหม่นๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายตอนกลางคืน) บรรยากาศหนาวเหน็บ รายล้อมรอบด้วยตึกรามบ้านช่อง ทางด่วนเหนือศีรษะ มีเพียง 2-3 ตัวละครหลักๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของฮ่องกงสมัยใหม่

ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนทัศนคติผู้กำกับกวนจินเผิง ครุ่นคิดเห็นว่าอดีต (ทศวรรษ 30s) มีความสวยสดงดงามกว่าปัจจุบัน น่าจะโดยเฉพาะอุดมคติแห่งรัก มีความโรแมนติก หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ด้วยคำมั่นสัญญาจะครองคู่กันตราบจนแก่เฒ่า ตกตายไปพร้อมกัน ผิดกับปัจจุบันที่แทบไม่หลงเหลือแนวคิดแบบนั้นอีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ต้องชมก็คือการนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ดูแล้วคงเป็นการผสมผสานระหว่างสถานที่จริง และสร้าง Mock-Up ขึ้นในสตูดิโอ Golden Harvest (แต่เรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1930s ไม่ค่อยพบเห็นฉากภายนอกสักเท่าไหร่) ใครอยากพบเห็นอดีต-ขณะนั้น-เทียบปัจจุบันนี้ เข้าไปดูที่ลิ้งค์เลยนะครับ

LINK: https://i-discoverasia.com/rouge-hong-kong-movie-1987/


สิ่งหนึ่งที่ต้องออกปากชื่นชมก็คืองานออกแบบ (Art Director) โดย Piu Yeuk-Muk, 影視作品 ก่อนหน้านี้ทำงานช่างภาพนิ่ง รับรู้จักผู้กำกับกวนจินเผิง ในกองถ่าย Boat People (1982) ด้วยความที่เป็นคนหลงใหลประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งๆไม่ได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้อะไร แต่เมื่อได้รับข้อเสนอก็ลองรับความท้าทาย

เกร็ด: Piu Yeuk-Muk กลายเป็นนักออกแบบ Art Director ชื่อดังของฮ่องกง ขาประจำผู้กำกับกวนจินเผิง อาทิ Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Centre Stage (1992), และยังออกแบบเครื่องแต่งกาย Lust, Caution (2007)

Piu Yeuk-muk ได้ทำการขุดคุ้ยค้นหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เก่าๆ มองหาแรงบันดาลใจจากรูปถ่าย ภาพวาด ค้นพบกระดาษลิปสติก, ชุดกี่เพ้าโบราณ, ผนังกำแพง (Wallpaper) ประดับตกแต่งลวดลายดอกไม้ ฯลฯ แม้ส่วนใหญ่เป็นเพียงภาพขาว-ดำ แต่ก็สามารถนำไปแต่งแต้มลงสีสันได้ไม่ยาก

ปล. คำว่า Rouge มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Red, สีแดง แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะหมายถึง ผงสีแดงละเอียดหรือชาดสำหรับทาแก้ม ทาปาก เรียกสั้นๆว่าแต้มชาด

ช็อตแรกของนางโลมหยูฮวา (ที่ไม่ใช่ขณะกำลังเขียนคิ้ว แต้มลิปสติก) สวมชุดบัณฑิต ขับขานบทกวี The Sorrows of the Autumn Traveler และพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก … โดยปกติแล้วกระจกจะสะท้อนสิ่งอยู่ภายในจิตใจ แต่บริบทนี้คืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร สวมชุดบุรุษแต่แท้จริงเป็นอิสตรี นี่เป็นการสร้างความคลุมเคลือ/รสนิยมทางเพศ ซึ่งชี้ไปถึงตัวตนผู้กำกับกวนจินเผิง

คุณชายสิบสองตกหลุมรักแรกพบนางโลมหยูฮวา ขณะเธอแต่งตัวเป็นบุรุษ นี่เช่นกันแฝงรสนิยมรักร่วมเพศของตัวละคร ไม่ได้ชื่นชอบหญิงสาวพรหมจรรย์ แต่หลงใหลคลั่งไคล้บุคคลที่มีความบริสุทธิ์ภายใน

คุณชายสิบสองใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะเกี้ยวพาราสีหยูฮวาได้สำเร็จ ระหว่างกำลังร่วมรักหลับนอน ถอดกี่เพ้าลวดลายดอกไม้ พบเห็นภายในคือเสื้อสีขาว … แม้ฉันเป็นโสเภณี ขายเรือนร่าง ภายนอกเหมือนคนแรดร่าน ดอกไม้ข้างถนน แต่จิตใจยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง โหยหาใครสักคนซื่อสัตย์จริงใจ คาดหวังสักวันหนึ่งจักได้พบเจอรักแท้

ในตอนแรกขณะกำลังถอดเสื้อผ้า แม้ว่าคุณชายสิบสองจะอยู่ด้านบน หยูฮวาอยู่เบื้องล่าง แต่พอจะโอบกอดจูบกำลังจะร่วมรัก ทั้งสองต่างลุกขึ้นนั่ง หันหน้าเข้ากัน แสดงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง … แต่ผมสังเกตเพิ่มเติมว่าคุณชายสิบสองสวมชุดสีดำ ขณะที่หยูฮวาใส่สีขาว นี่สามารถมองหยิน-หยาง ชาย-หญิง ขั้วตรงกันข้าม แต่ขณะเดียวกันมันคือความชั่วร้าย-บริสุทธิ์ พยากรณ์เหตุการณ์บังเกิดขึ้นในอนาคตได้อยู่

อาหยวนซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้แฟนสาว จริงอยู่นี่เป็นของขวัญที่มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สัญลักษณ์ของการก้าวเดินไปด้วยกัน แต่มันหาความโรแมนติกไม่ได้เลยสักนิด! เมื่อเทียบกับจี้ห้อยคอที่คุณชายสิบสองซื้อหาให้หยูฮวา ภายในมีกระจกและกระดาษสีชาด นำไปใช้งานได้ด้วยนะ!

การปรากฎตัวของหยูฮวา หนังจงใจสร้างความลึกลับอันน่าพิศวง ทั้งๆประตูปิดอยู่แต่สามารถเดินเข้ามาอย่างรวดเร็ว ยืนๆอยู่ประเดี๋ยวหายตัว เมื่อตอนทำผ้าเช็ดหน้าหล่นก็จงใจสโลโมชั่นอย่างช้าๆ เพื่อสื่อถึงความผิดมนุษย์ของตัวละคร … แต่ก็เฉพาะช่วงแรกๆนี้เท่านั้น ภายหลังทุกอย่างก็เหมือนจะเข้าสู่สภาวะปกติ

ลวดลายชุดกี่เผ้า พื้นหลังสีดำ (สะท้อนความมืดมิดภายในจิตใจ) ลวดลายผีเสื้อ (วิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัณฐาน หรือจะมองว่าเธอคือวิญญาณที่สามารถโบกโบยบิน ล่องลอยไปไหนต่อไหน) มักถือผ้าเช็ดหน้าและกระเป๋าสตางค์ (สัญลักษณ์ของความเป็นกุลสตรี)

ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ที่ผมมาครุ่นคิดแล้วรู้สึกขนลุกขนพองที่สุด ก็คือ Tai Ping Theatre ในอดีตเคยเป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่สุดในฮ่องกง แต่มาวันนี้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น … เทียบกับจักรวาล Marvel ภาพยนตร์แทบไม่ต่างจากสวนสนุก ความบันเทิงกึ่งสำเร็จรูป ดั่งที่ Martin Scorsese เคยว่ากล่าวไว้

ปล. แม้ว่า Tai Ping Theatre จะปิดกิจการไปเมื่อปี ค.ศ. 1981 แต่สถานที่ดังกล่าวตอนหนังถ่ายทำยังเป็นตึกร้าง ไม่ได้มีเซเว่นอีเลฟเว่น แบบที่หนังนำเสนอนะครับ (แต่ปัจจุบันไม่รู้เหมือนกัน น่าจะถูกทุบทิ้งไปแล้วกระมัง)

ปฏิกิริยาของอาหยวน หลังรับรู้ว่าหยูฮวาคือวิญญาณผี คือตื่นตกอกตกใจ ผมรู้สึกเหมือนหนังต้องการทำให้เป็นคอมเมอดี้ แต่มันไม่ชวนให้ขบขันสักเท่าไหร่ แสดงท่าทางรังเกียจ ขยะแขยง ไม่สามารถยินยอมรับอีกฝั่งฝ่าย … นี่เป็นลักษณะหนึ่งของ Racism ซึ่งสามารถมองครอบจักรวาลถึง Anti-Homosexual (รับไม่ได้กับพวกรักร่วมเพศ) ก็ได้เช่นกัน

มันจะมีหลายๆช็อตพบเห็นเสา-ขอบ-กรอบ สำหรับแบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน วิญญาณ-มนุษย์ แต่หลังจากที่เขาครุ่นคิดทบทวน เมื่อพบเจอกันอีกครั้งตรงทางแยก ความขัดแย้งภายในจึงเริ่มทุเลา บังเกิดความสงสารเห็นใจ อาสาให้ความช่วยเหลือเพื่อเธอจักค้นพบเจอชายคนรัก และไปสู่สุขคติในอนาคตต่อไป

เมื่อตอนที่หยูฮวาเดินทางไปที่บ้านของคุณชายสิบสอง ภายนอกก็ดูต้อนรับขับสู้ แต่หลังจากพูดคุยสนทนากับมารดา สันดานธาตุแท้ก็เริ่มปรากฎ กล่าวคำอ้างโน่นนี่นั่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ชักแม่น้ำทั้งห้า มันจะช็อตหนึ่งที่กล้องถ่ายเงยขึ้นนิดๆให้เห็นข้อความอะไรก็ไม่รู้เขียนประดับอยู่บนฝาผนัง ราวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ สิ่งยึดถือปฏิบัติของวงศ์ตระกูล

สังเกตลวดลายชุดกี่เผ้าของหยูฮวา ก็มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงการถูกบางสิ่งอย่างห้อมล้อม ภายใต้กฎกรอบ ความเป็นโสเภณี ไม่ได้มีเกียรติศักดิ์ศรี หน้าตาใดๆในสังคม และก่อนจากลามารดาของคุณชายสิบสองต้องการมอบผ้าไหมสีฟ้า ลวดลายสี่เหลี่ยม แล้วนำมาสวมคลุมทับ (สื่อถึงความพยายามควบคุมครอบงำ) นัยยะไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่

กลับตารปัตรจากตอนที่คุณชายสิบสองถอดชุดกี่เผ้าของหยูฮวา (เมื่อต้องกำลังจะร่วมรักหลับนอน) มาคราวนี้ระหว่างเขาสวมชุดนอนสีขาว แล้วสาวคนรักพยายามใส่สูทสีเทาให้กับเขา สังเกตลวดลายสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงการถูกควบคุมครอบงำ ทั้งจากครอบครัว สถานภาพทางสังคมของพวกเขา โอกาสจะได้ครองคู่อยู่ร่วมแทบเป็นได้ยาก

นี่เป็นอีกฉากที่น่าสนใจ เพราะโดยปกติแล้ววิถีของคนจีน บุรุษจะต้องเป็นช้างเท้าหน้า! แต่ขณะนี้เหมือนว่าคุณชายสิบสองยืนอยู่ด้านหลัง (แต่ก็ยังในแนวระดับเดียวกัน) และถ้าสังเกตการพูดคุยสนทนา หยูฮวายังเป็นคนร้องขอให้เจ้าของคณะอุปรากรจีนรับชายคนรักเข้าทำงาน

รายละเอียดเล็กๆนี้สื่อให้เห็นถึงความเป็นบุรุษของของหยูฮวา มีความหาญกล้า พร้อมที่จะออกหน้าเพื่อชายคนรัก และในการแสดงอุปรากรงิ้ว คุณชายสิบสองต้องแต่งหน้าแต่งตัวกลายเป็นหญิง นี่สร้างความสับสนในเพศสภาพ ชาย-หญิง หญิง-ชาย (ล้อกับตอนต้นเรื่องที่หยูฮวาสวมชุดบัณฑิตขับร้องเพลง)

หลังจากคุณชายสิบสองกลายเป็นนักแสดงงิ้ว ครอบครัวมาพบเห็นพยายามออกคำสั่งให้กลับบ้าน! แต่เขาตอบปัดปฏิเสธ หลังจากมอบจี้ห้อยคอ (ที่ภายในมีกระจกและตลับสีชาด) โอบกอดหยูฮวาจากข้างหลัง นี่สื่อว่าชีวิตนี้หลงเหลือเพียงเธอเป็นที่พึ่งพักพิง (หญิงสาวกลายเป็นช้างเท้าหน้า)

แฟนสาวของอาหยวนทาลิปสติกให้หยูฮวา (ตัวแทนยุคสมัยใหม่ สื่อถึงการยินยอมรับ ปรับตัว) หลังจากนั้นก็นำกระดาษลิปสติกมาทดลองทาบปากตนเอง (สัญลักษณ์ของโลกยุคก่อน สื่อถึงการโหยหา ครุ่นคำนึงถึงอดีต) ลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากการสลับชุดสวมใส่ชาย-หญิง หญิง-ชาย (ของหยูฮวา-คุณชายสิบสอง) สองสิ่งสามารถกลับตารปัตรตรงกันข้าม!

ระหว่างเฝ้ารอคอยแล้วคอยเล่า หลายวันหลายคืน ก็ไม่เห็นมีใครติดต่อกลับมา จนกระทั่งภาพช็อตนี้ใบหน้าอาบฉาบแสงสีน้ำเงิน ตัดกับลิปสติกสีแดงแจ๊ด ทำให้ดูราวกับว่าหยูฮวากลายเป็นผี มีความหลอกหลอนขึ้นมาจริงๆ … จริงๆมันควรเป็นความรู้สึกผิดหวัง เศร้าซึม ระทมทุกข์ทรมาน (ที่ยังไม่ได้พบเจอชายคนรัก) แต่ผมว่าเสี้ยววินาทีนี้ ใครๆคงขนหัวลุกขนพองขึ้นมาทันที

ฉากร่วมรักระหว่างอาหยวนและแฟนสาว ถือว่าสะท้อนคุณชายสิบสองกับหยูฮวา เริ่มต้นด้วยการลุกขึ้นนั่งกอดจูบ แต่เมื่อกำลังสอดใส่กลับทิ้งตัวลงนอน Man-On-Top ให้ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมเกมเสียอย่างนั้น! (ภายในห้องนอนแห่งนี้ มันจะมีเงาของบานเกล็ด เพื่อสื่อว่าบางสิ่งอย่างควบคุมครอบงำโลกทัศนคติของตัวละครไว้) และเมื่อฝ่ายหญิงถามว่าจะยินยอมตายเพื่อความรักหรือเปล่า คำตอบของทั้งคู่คือไม่มีวันเด็ดขาด! … แต่ลึกๆเหมือนว่าเธอจะไม่ครุ่นคิดเช่นนั้น

นำสู่ฉากถัดมาเมื่อทั้งสองกำลังสำรวจหาร้านขายของเก่า จะมีขณะที่พวกเขาหันคนละทิศทาง แล้วฝ่ายหญิงเดินข้ามถนนไปอีกฟากฝั่ง แต่อาหยวนกลับไม่แม้แต่จะหันมาแลเหลียวหลัง ทำให้เธอจำใจต้องหวนย้อนกลับมาหาเขา … นี่สะท้อนโลกทัศน์ของคนสมัยใหม่ ต่างฝ่ายต่างมีทิศทางชีวิต/ความต้องการของตนเอง ‘ปัจเจกบุคคล’ แต่การจะอยู่เคียงข้างคู่รักกันได้นั้น มักมีฝั่งฝ่ายยินยอมติดตามหลัง (ในที่นี้ก็คือแฟนสาวของอาหยวน)

นอกจากสลับเครื่องแต่งกายชาย-หญิง อดีต-ปัจจุบัน ยังมีฉากผีจริง-ผีหลอก ในกองถ่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่ง (สถานที่ที่คุณชายสิบสองมักมารับงานแสดงตัวประกอบ) เพื่อเป็นการล้อกระแสหนังผียุคสมัยนั้น และนักแสดง(ที่เล่นเป็นผีปลอม)ถูกผู้กำกับสั่งให้เล่นเป็นทั้งผีและนักดาบ … เอิ่ม แล้วมันต้องแสดงออกมายังไงละ???

ความคลุมเคลือของสองสิ่งขั้วตรงข้ามอย่างในหนัง ล้วนสะท้อนรสนิยมทางเพศของผู้กำกับกวนจินเผิง กายเป็นชายแต่จิตใจเหมือนหญิง สรุปแล้วฉันคือใคร?

เกร็ด: นักแสดงที่รับบทผู้กำกับฉากนี้ก็คือ Lau Kar-wing, 刘家荣 สตั๊นแมน นักแสดงคิวบู๊ ผู้กำกับฉากแอ๊คชั่นในสังกัด Shaw Brothers มีผลงานเด่นๆ อาทิ Skinny Tiger, Fatty Dragon (1990), Once Upon a Time in China (1991) ฯ

วินาทีแห่งการเผชิญหน้าระหว่างคุณชายสิบสอง (ในสภาพผู้แก่ผู้เฒ่า) กับหยูฮัว (วิญญาณที่ยังสวยสาว) สังเกตว่ากล้องถ่ายผ่านเศษซากปรักหักพังของลวดลายรั้วไม้ ท่ามกลางความมืดมิดที่แทบมองไม่เห็นใบหน้าฝ่ายชาย แต่หญิงสาวยังคงส่องสว่างเปร่งประกาย

ปล. ผมไม่เห็นในเครดิตว่าใครรับบทคุณชายสิบสองวัยชรา เลยแอบคาดคิดว่าน่าจะเป็นเลสลี่ จาง ปลอมตัวมา!

เมื่อไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ หยูฮัวก็ก้าวเดินผ่านประตูที่มีสปอตไลท์สาดย้อนแสงเข้ามา แล้วร่างกายของเธอก็ค่อยๆเลือนลางหายตัวไป ราวกับว่านี่คือประตูแห่งความตาย นำพาเธอลงสู่ขุมนรก ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกหลายกัปกัลป์ … ผู้ชมส่วนใหญ่คงใจหายวาปไปพร้อมๆตัวละคร ผิดหวังที่ไม่สมหวัง รักแท้ชั่วนิรันดร์ไม่เคยมีอยู่จริง

ซึ่งหลังจากหยูฮวาหายลับ แทนที่คุณชายสิบสองจะติดตามเธอก้าวผ่านประตูไป แต่เขากลับหยุดแน่นิ่ง เหม่อมอง แล้วหันหลังกลับ แสดงถึงความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา แม้จะเคยพร่ำบอกว่ารักเธอสักเพียงไหน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยินยอมตกตายร่วมกัน

ตัดต่อโดย Peter Cheung, 張耀宗 ขาประจำผลงานของบรูซ ลี และเฉินหลง อาทิ Fist of Fury (1972), The Way of the Dragon (1972), Enter the Dragon (1973), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Project A (1983), Long Arm of the Law (1984), Mr. Vampire (1985), Police Story (1985), Rouge (1987), Center Stage (1991), The Legend (1993), The Legend of Drunken Master (1994), Crime Story (1994) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาตัวละครหยูฮวา ทั้งขณะยังมีชีวิตและตกตายกลายเป็นวิญญาณ สลับไปมาระหว่างอดีต (ทศวรรษ 1930s) กับปัจจุบันนั้น (ค.ศ. 1987) … หรือเราจะมอง ค.ศ. 1987 เป็นเหตุการณ์หลักในปัจจุบัน แล้ววิญญาณหยูฮวาหวนระลึกนึกย้อนอดีต (Flashback) เมื่อครั้งครองรักคุณชายสิบสองช่วงทศวรรษ 1930s ก็ได้เช่นกัน

  • (อดีต) รักหวานฉ่ำปานน้ำผึ้งเดือนห้า ระหว่างนางโลมหยูฮวา กับคุณชายสิบสอง
    • คุณชายสิบสอง พยายามเกี้ยวพาราสีนางโลมหยูฮวา จนในที่สุดเธอก็ยินยอมยอมเป็นของเขา
  • (ปัจจุบัน) ความจริงอันโหดร้าย วิญญาณของหยูฮวา ร้องขอความช่วยเหลือจากอาหยวน
    • หยูฮวาต้องการประกาศหาคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เพราะไม่มีเงินติดตัวเลยติดตามอาหยวน
    • เมื่ออาหยวนตระหนักว่าหยูฮวาเป็นผี ทีแรกก็หวาดกลัวตัวสั่น แต่ไม่นานก็สามารถยินยอมได้อย่างงงๆ
  • (อดีต) ความรันทดในรักของหยูฮวากับคุณชายสิบสอง
    • หยูฮวาถูกมารดาของคุณชายสิบสองต่อต้านการแต่งงาน
    • คุณชายสิบสองเลยตัดหางปล่อยวัด มองหางานเป็นนักแสดงงิ้ว
  • (ปัจจุบัน) อาหยวนพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครปรากฎตัว
    • แม้มีการประกาศหาคนหายบนหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่ใครไหนติดต่อมา วันแล้ววันเล่า
    • อาหยวนพบเจอหนังสือพิมพ์เก่าๆในร้านขายของเก่า พบเจอเงื่อนงำอะไรบางอย่าง
  • บทสรุปของชีวิต
    • (อดีต) หยูฮวาป้อนยาพิษคุณชายสิบสอง ตกตายจากกัน
    • (ปัจจุบัน) วิญญาณของหยูฮวา ได้พบเจอคุณชายสิบสองอีกครั้ง

โครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ สำหรับคนไม่รับรู้มาก่อนว่าคือหนังผี ย่อมเต็มไปด้วยความฉงนสงสัยเมื่อเข้าสู่องก์สอง ทำไมจู่ๆอะไรๆถึงเปลี่ยนแปลงไป? แล้ว(อาจ)เกิดอาการตกตะลึง คาดไม่ถึง เมื่อเปิดเผยว่าหยูฮวาตกตายกลายเป็นผี! … จากนั้นนำเข้าสู่ปริศนาต่อมา มันเกิดอะไรในความสัมพันธ์ของพวกเขา และคุณชายสิบสอง ไม่ได้ฆ่าตัวตายตาม? หรือวิญญาณหลงทางไปไหน?

ผมรู้สึกว่าผู้กำกับกวนจินเผิงทำได้ดีในส่วนโรแมนติก (Romance) และการสร้างบรรยากาศลึกลับ (Mystry) มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? (แต่คนที่มีประสบการณ์ภาพยนตร์อันโชกโชน น่าจะคาดเดาเรื่องราวไม่ยากเท่าไหร่) แต่ที่น่าผิดหวังสุดๆก็คือคอมเมอดี้ โดยเฉพาะเมื่ออาหยวนตระหนักว่าหยูฮวาเป็นผี หรือตอนแฟนสาวพยายามพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ … มันสร้างความกระอักกระอ่วน รวบรัดตัดตอน ขำไม่ออก มันน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้นะ


เพลงประกอบโดย Li Xiaotian, 黎小田 (1946-2019) บุตรชายของนักแต่งเพลงชื่อดัง Li Caotian, 黎草田 แม้ในตอนแรกจะสนใจเป็นนักแสดง แต่ลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น ฝึกฝนเล่นดนตรี อ่านหนังสือทฤษฎีเพลง พอโตขึ้นกลายเป็นผู้ช่วยบิดา แล้วออกมาตั้งบริษัทเอง ทำเพลงประกอบภาพยนตร์กว่า 30 เรื่อง อาทิ Duel to the Death (1983), Project A (1983), Police Story (1985), Rouge (1987) ฯลฯ

งานเพลงของหนังโดดเด่นมากๆในการสร้างบรรยากาศให้เข้ากับสองยุคสองสมัย ผสมผสานทั้ง diegetic (พบเห็นนักแสดงร้อง-เล่น-เต้น) และ non-diegetic (Soundtrack ประกอบพื้นหลัง) มีทั้งขับร้องอุปรากร การแสดงงิ้วจีน (Cantonese Opera) และฉากในปัจจุบันก็ได้ยินเพลงป็อป และดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย

ระหว่างรับชมแนะนำให้อ่านเนื้อคำร้องของบทเพลงตามไปด้วยนะครับ เพราะมันจะสื่อความถึงเรื่องราวบังเกิดขึ้นขณะนั้นๆ อย่างบทเพลงแรกเห็นว่านำจากบทกวีชื่อ The Sorrows of the Autumn Traveler, 客途秋恨 ประพันธ์โดย Ye Rui, 叶瑞 ศิลปิน จิตรกร จากยุคสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1636-1912) รำพันความรักระหว่างนักกวีหนุ่ม Mou Lien-Hsien, 缪莲仙 กำลังครุ่นคิดถึงสาวโสเภณี Mai Chiu-chuan, 麦秋娟 ซึ่งคาดกันว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจากตัวผู้แต่งเองนะแหละ … สอดคล้องจองกับเรื่องราวของหนังเปะๆเลยนะ ทำให้คุณชายสิบสองตกหลุมรักนางโลมหยูฮวา แทบจะโดยทันที

I am Mou Lien-Hsien
I miss sentimental courtesan Mai Chiu-chuan
Her voice and personality are admirable
And her talent and appearance, peerless
We are now far apart
So as I keep cool in a boat in the lonesome night

Looking at the setting sun against the pair of swallows
I lean against the window in silent thought
Hearing the autumn sounds of the falling elm leaves
Seeing the bridge with the withered willow in cold mist
Makes me feel more sad and anguished
As I miss her and stare sorrowfully …
Sorrowfully at the full moon

บทเพลงที่คุณชายสิบสองขับร้องตอนออดิชั่น ระหว่างแสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะอุปรากรจีน ชื่อว่า Coming Home น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดบทเพลงนี้ไม่ได้ แต่เนื้อคำร้องสอดคล้องเรื่องราวขณะนั้น ทำไมเขาต้องมาเหน็ดเหนื่อย ทนทุกข์ยากลำบากในการฝึกฝนงิ้ว กลับบ้านไปหาครอบครัวดีกว่าไหม นั่งกินนอนกิน นับเงินสบายใจเฉิบ

Why don’t you come home?
Cuckoos sing, sobbing under the peach-blossom
Too sad, too sad
cuckoos sing, lamenting the miserable world.

สำหรับบทเพลง Original Song ใช้ชื่อเดียวกับชื่อหนัง Yan Zhi Kou/Yānzhī kòu (胭脂扣) ขับร้องโดยเหมยเยี่ยนฟาง รำพันถึงความรักที่เจือจางเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน รู้สึกสูญเสียดายความรู้สึกทั้งหมดเคยมีให้แก่กัน

ฟังครั้งแรกๆก็รู้สึกว่าบทเพลงนี้พรรณาความรู้สึกผิดหวัง เศร้าโศกเสียใจได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง แต่พอมาตั้งใจอ่านเนื้อคำร้องผมกลับรู้สึกความมักมาก เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ หญิงสาวไม่พยายามทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝั่งฝ่าย ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง ยึดถือมั่นอุดมคติว่ารักแท้ต้องนิจนิรันดร์ ปฏิเสธมองโลกความจริงที่ทุกสิ่งอย่างล้วนผันแปรเปลี่ยน ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตราบชั่วกัลปาวสาน … กลายเป็นบทเพลงน้ำเน่าขึ้นมาโดยพลัน

Vows vanish like smoke
Wasted, is my whole-hearted devotion.
But how could passion that burns like fire, last a whold life time?
To continue isn’t easy.

Deceit is your middle name
Wasted all my passion on you
Love is disappearing like water flowing away
Faithful passion pouring out in vain
Wishing we never met that day.

Only hoped we could be beside each other, relying on one another
Facing all the sorrows of the world
Heading towards old age
Though faces would change, the fire of love wouldn’t be extinguished

Praying to meet again one day
So I can tell you how much you’ve been missed
Hoping you will not let me down again, those feelings of affection and care
I’m grieved by this love
(Hoping you will not let me down again, those feelings of affection and care)
Tell me, when shall we meet again?

Rouge นำเสนอเรื่องราวความรัก ต่อให้แสดงความซื่อสัตย์จริงใจ สัญญาว่าจะมั่นคงตลอดไป แต่สุดท้ายแล้วไม่มีใครสามารถธำรงรักษาไว้ตราบชั่วกัลปาวสาน นั่นเพราะทุกสิ่งอย่างล้วนมีการปรับเปลี่ยนแปลง สภาพสังคม วิถีชีวิตผู้คน ประเทศชาติพัฒนาก้าวหน้า จิตใจมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน

อุดมคติความรักของคนสมัยก่อน อิทธิพลจากวิถีชีวิต สภาพสังคม อดีตไม่ได้มีสิ่งเย้ายวน ล่อตาล่อใจ ชวนให้ไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางไปไหนไกล ส่วนใหญ่เลยมีความซื่อสัตย์มั่นคง จงรักภักดี อาศัยอยู่เคียงข้างตราบจนแก่เฒ่า แต่ค่านิยมปัจเจกบุคคลในสมัยปัจจุบัน สอนให้มนุษย์เรียนรู้จักเสรีภาพชีวิต ไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นยึดติดกับใครหนึ่งใด ถ้าพบเจอสิ่งสร้างความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง หรืออดรนทนอยู่ไม่ไหว ก็แค่เลิกราหย่าร้าง มองหาคนรักใหม่

วิญญาณของหยูฮวา ได้ทำลายโลกทัศน์/ปฏิวัติความคิดผู้ชม(ฮ่องกง)สมัยนั้น หนังผีต้องหลอกหลอน สั่นสยอง ขนหัวลุกพอง แต่ผิดอะไรที่ผีสาวยังสวย เจิดจรัส และเหตุผลการมีตัวตน คือบางสิ่งอย่างยังติดค้างคาใจ ต้องการติดตามหาชายคนรักที่ควรตกตายพร้อมกัน ไฉนถึงยังสูญหาย หลงทางอยู่แห่งหนไหน

เราสามารถมองตัวละครหยูฮวา ว่าคือ ‘จิตวิญญาณของฮ่องกง’ หลังจากพบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ลักษณะกายภาพ (ตึกรามบ้านช่อง, ท้องถนนหนทาง ฯ) แต่ยังวิถีชีวิต แนวความคิด สภาพสังคม (จิตภาพ) ทำให้ค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้คน และเมื่อความจริงทั้งหมดได้รับการเปิดเผย เผชิญหน้าคุณชายสิบสองครั้งสุดท้าย สิ่งหลงเหลือสำหรับเธอคือความมืดหม่น หมดสิ้นหวัง กลายเป็นจุดสิ้นสุดของอดีต ไม่มีอีกแล้วฮ่องกงในความทรงจำ

หนังพยายามนำเสนอภาพฮ่องกงในสองช่วงเวลา ทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 จากเกาะชาวประมงเล็กๆที่กำลังได้รับการบุกเบิกพัฒนา ด้วยสถานภาพเขตปกครองพิเศษของสหราชอาณาจักร แต่หลังจากสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45) และสงครามกลางเมืองจีน (1949-50) มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพหลบหนีรัฐบาลคอมมิวนิสต์มายังปักหลักอาศัยอยู่บนเกาะฮ่องกง ด้วยพื้นที่เพียง 1,104 ตารางกิโลเมตร ช่วงไม่กี่ปีกลับมีประชากรเพิ่มขึ้นหลักล้าน! สร้างความแออัด คับแคบ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ทางด่วน-ตึกสูงขึ้นจนมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า วิถีผู้คนปรับเปลี่ยนสู่ระบอบทุนนิยม

แม้ผู้กำกับกวนจินเผิงจะเป็นผู้ชาย กลับมักสร้างตัวละครหลักโดยใช้นักแสดงหญิง และหลายๆองค์ประกอบในผลงานมักมีลักษณะสองสิ่งขั้วตรงข้าม นี่เป็นการสะท้อนรสนิยมทางเพศที่เด่นชัดเจนมากๆ (คล้ายๆบรรดา ‘Woman’s Director’ อาทิ George Cukor, Vincente Minnelli, Max Ophüls, Rainer Werner Fassbinder, Pedro Almodóvar ฯลฯ) มองตนเองเหมือนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีความละเอียดอ่อนไหว หมกมุ่นมักมาก มองโลกในมุมที่แตกต่างออกไป … เอาจริงถ้าไม่เปิดเผยออกมา หลายคนก็น่าจะพอคาดเดาได้

เรื่องราวของ Rouge (1987) แม้นำเสนอความรักชาย-หญิง แต่ก็มีหลายๆครั้งที่พยายามทำให้ตัวละครมีความคลุมเคลือทางเพศสภาพ ตอนต้นเรื่องหยูฮวาสวมชุดบุรุษขับร้องบทเพลง The Sorrows of the Autumn Traveler หรือช่วงกลางเรื่องคุณชายสิบสองแต่งหน้างิ้วรับบทตัวละครเพศหญิง ฯลฯ จุดประสงค์เพื่อสื่อถึงความรัก ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ

และแม้ไม่ได้มีชีวิตพานผ่านทศวรรษ 1930s แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า ผู้กำกับกวนจินเผิงเป็นคนโหยหาอดีตมากกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ Rouge (1987) ยังรวมไปถึง Center Stage (1992), Everlasting Regret (2005) และอีกหลายๆผลงานแนวย้อนยุค (Period) เพื่อสำรวจค่านิยม/อุดมคติคนสมัยก่อน โดยเฉพาะเรื่องของความรัก โหยหาใครสักคนซื่อสัตย์มั่นคง อาศัยอยู่เคียงข้างกันตราบจนวันตาย … น่าเสียดายนั่นเป็นสิ่ง(แทบ)ไม่หลงเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน


หนังเข้าฉายในฮ่องกงปลายปี 1987 ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถทำเงิน HK$17.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยในยุคสมัยที่หนังกังฟูครองเมือง, ฉบับฉายในไทยจัดซื้อมาโดย นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ใช้ชื่อว่า ‘ล่ารัก 59 ปี’ เห็นว่าได้รับความนิยมอยู่พอสมควร

  • Hong Kong Film Awards
    • Best Picture **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เหมยเยี่ยนฟาง) **คว้ารางวัล
    • Best Actor (เลสลี จาง)
    • Best Screenplay
    • Best Cinematography
    • Best Film Editing **คว้ารางวัล
    • Best Art Direction
    • Best Original Film Score **คว้ารางวัล
    • Best Original Film Song บทเพลง Yānzhī kòu **คว้ารางวัล
  • Golden Horse Film Festival
    • Best Feature Film
    • Best Actress (เหมยเยี่ยนฟาง) **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography **คว้ารางวัล
    • Best Film Editing
    • Best Art Direction **คว้ารางวัล
    • Best Costume Design

จนถึงปัจจุบัน 2022 เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ผลงานของผู้กำกับกวนจินเผิง ได้รับการบูรณะแล้วสองเรื่องก็คือ Rouge (1987) และ Center Stage (1991) แสดงว่ามันต้องมีความพิเศษไม่น้อยทีเดียว! เรื่องแรกสามารถหารับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel, ส่วนเรื่องหลังเห็นใน iQiYi และ Amazon Prime (น่าจะมีแนวโน้มตกเป็นของ Criterion ในอนาคตกาล)

ส่วนตัวค่อนข้างก่ำกึ่ง ชอบครึ่งไม่ชอบครึ่ง ประทับใจหลายๆแนวคิด สร้างมิติน่าหลงใหล แต่ผู้กำกับกวนจินเผิง ยังขาดอะไรบางอย่างในการนำเสนอเรื่องราวให้กลมกล่อมกว่านี้ … ส่วนการแสดงของเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง น่าประทับใจทั้งคู่ แต่ผมรู้สึกว่าพวกเขาเหมือนเพื่อนสนิทมากกว่าคู่แท้โรแมนติก

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก (Romance) ผสมเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) บรรยากาศลึกลับ (Mystery) ชวนให้ขบไขปริศนา, หวนระลึกถึงฮ่องกงทศวรรษ 30s และ 80s, นักออกแบบฉาก เสื้อผ้า-แฟชั่นดีไซเนอร์ ชุดจีนย้อนยุคสวยๆ, แฟนคลับเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับซ่องโสเภณี วิญญาณล่องลอย บรรยากาศหลอนๆ และการฆ่าตัวตาย

คำโปรย | Rouge คำรำพันถึงอดีตของผู้กำกับ Stanley Kwan ที่หลงเหลือเพียงความทรงจำ
คุณภาพ | เลือดแห่งความทรงจำ
ส่วนตัว | พอใช้

Eat Drink Man Woman (1994)


Eat Drink Man Woman (1994) Taiwanese : Ang Lee ♥♥♥♥

เรื่องวุ่นๆของความหิวกระหาย ต่อการมีชีวิตของคนหนุ่มสาวชาวไต้หวัน ช่วงทศวรรษ 90s ตั้งแต่เด็กเล็ก-ผู้ใหญ่-สูงวัย ล้วนเต็มไปด้วยความเก็บกด ‘sexual repression’ เฝ้ารอคอยวันระบายออกมา, อย่ารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตอนท้องหิวเป็นอันขาดเชียวนะ!

Eat, drink, man, woman. Basic human desires. Can’t avoid them.

ขงจื้อ จากหนังสือแห่งพิธีกรรม, หลี่จี้ (礼记, Book of Rituals)

คำแปลใกล้เคียงที่สุด “desires for food and sex are human nature” อาหารและความต้องการทางเพศคือสันชาติญาณพื้นฐานของมนุษย์ แต่แนวคิดดังกล่าวของขงจื้อไม่ได้ถูกต้องสักเท่าไหร่นะครับ ปัจจัย 4 (อาหาร, ที่อยู่อาศัย, เครื่องนุ่งห่ม, ยารักษาโรค) ต่างหากละจำเป็นสูงสุด!

ในบริบทของ Eat Drink Man Woman (1994) ต้องการเปรียบเทียบ ‘Food=Sex’ ความหิวอาหาร ไม่ต่างจากอาการ(หื่น)กระหายทางเพศ! ซึ่งผู้กำกับอังลี่พยายามนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปในไต้หวันช่วงทศวรรษ 90s พานผ่านครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว ล้อมวงรับประทานอาหารเย็นร่วมกับบุตรสาวสามใบเถา แต่ทุกคนกลับต่างใคร่อยากก้าวออกไปใช้ชีวิต กระทำสิ่งสนองตัณหาพึงพอใจส่วนตน

ใครอยากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แนะนำให้ตระเตรียมตัวเตรียมใจ รับประทานอาหารให้อิ่มแต่อย่าหนำ เพราะเรื่องราวค่อนข้างมีความซับซ้อน ตัดสลับไปมาระหว่าง 3-4 ตัวละคร (บิดา และบุตรสาวสามใบเถา) ต้องค่อยๆแยกแยะทำความเข้าใจทีละเรื่องราว แล้วค่อยนำมาขมวดปมหาเหตุผลพฤติกรรม … เป็นภาพยนตร์ที่มีความท้าทายในการขบครุ่นคิดไม่น้อยเลยละ!

ผมแอบเสียดายเล็กๆที่หนังดูเฉิ่มเชยตกยุคไปมาก นั่นเพราะมีการอ้างอิงพื้นหลังทศวรรษ 90s ค่อนข้างเยอะ! แต่ถ้ามองในแง่การบันทึกประวัติศาสตร์ ‘Time Capsule’ ต้องถือว่าทรงคุณค่าต่อชาวไต้หวันไม่น้อยเลยละ


หลี่อัน, 李安 (เกิดปี 1954) หรือที่ใครๆรู้จักในชื่ออังลี่ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ชาว Taiwanese เกิดที่เมืองแต้จิ๋ว เขตผิงตง บนเกาะไต้หวัน ครอบครัวเป็นสมาชิกกองทัพสาธารณรัฐจีน อพยพหลบหนีพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งหลัง (1942-49), บิดาเป็นครูใหญ่โรงเรียน Provincial Tainan First Senior High School คาดหวังให้บุตรชายเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย แต่หลังสอบไม่ผ่านสองครั้งเลยถูกส่งไป National Taiwan University of Arts ค้นพบความหลงใหลด้านศิลปะและการแสดงจากภาพยนตร์ The Virgin Spring (1960)

เมื่อปี 1979, ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าเรียน University of Illinois at Urbana–Champaign (UIUC) ติดตามด้วย Tisch School of the Arts ณ New York University (NYU) รุ่นเดียวกับ Spike Lee ในตอนแรกสนใจด้านการแสดง ก่อนเปลี่ยนมาสาขาการกำกับ (เพราะพูดภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยชัด) โปรเจคจบ Fine Line (1984) สามารถคว้ารางวัล Wasserman Award: Outstanding Direction

หลังเรียนจบก็พยายามมองหาโอกาสในการทำงานภาพยนตร์ แต่ไม่มีใครไหนอยากว่าจ้างผู้กำกับชาวเอเชียสักเท่าไหร่ อังลี่เลยต้องว่างงานอยู่ถึงหกปี เป็นพ่อบ้านให้ภรรยา Jane Lin นักชีววิทยาโมเลกุล พบเจอแต่งงานระหว่างร่ำเรียน UIUC แต่เขาก็ไม่ได้ใช้เวลาว่างให้เสียเปล่า มองหาไอเดียน่าสนใจ ซุ่มพัฒนาบทหนังได้ถึงสองเรื่อง Pushing Hands และ The Wedding Banquet ส่งเข้าประกวดคว้ารางวัลที่หนึ่งและสองจากรัฐบาลไต้หวัน เลยมีโอกาสดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ Pushing Hands (1991) ติดตามด้วย The Wedding Banquet (1993)

จุดเริ่มต้นของ Eat Drink Man Woman (1994) เกิดจากความชื่นชอบหลงใหลการทำอาหารของผู้กำกับอังลี่ ตั้งแต่เดินทางมาร่ำเรียนภาพยนตร์ยังสหรัฐอเมริกา รู้สึกว่าฟาสฟู้ดที่นี่รสชาติไม่ถูกปากเอาเสียเลย นั่นคือสาเหตุให้เขาตัดสินใจเข้าครัว ยิ่งช่วงว่างงานเป็นพ่อบ้านหกปี หนึ่งในหน้าที่ประจำวันก็คือทำอาหารให้ศรีภรรยา

I couldn’t get used to the food here. I spent six years cooking at home when I was doing Hollywood development hell. I know the details of the cooking world.

อังลี่ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการเป็นพ่อครัวหัวป่า

แต่การจะสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับอาหารจีน หนทางง่ายสุดก็คือเดินทางกลับไต้หวัน (ครั้งแรกครั้งเดียวที่ผู้กำกับอังลี่ ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศบ้านเกิด) ร่วมพัฒนาบทกับ

  • หวัง ฮุย-ลิง (Crouching Tiger, Hidden Dragon, Lust, Caution) นักเขียนชาวไต้หวัน เพราะเรื่องราวนำเสนอผ่านบุตรสาวสามใบเถา มุมมองนักเขียนหญิงเลยมีความจำเป็นอย่างมากๆ
  • James Schamus (Sense and Sensibility, Hulk, Lust, Caution) โปรดิวเซอร์/นักเขียนชาวอเมริกา ช่วยขัดเกลาเรื่องราวผ่านมุมมองผู้ชมต่างชาติ

ความสนใจหลักๆของผู้กำกับอังลี่ ต้องการนำเสนอสภาพสังคมไต้หวันที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงทศวรรษ 90s อันมีต้นสาเหตุจากอิทธิพลชาติตะวันตก นำเอาความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (ทางวัตถุ) รวมถึงแนวความคิด (ทางจิตใจ) ที่ผิดแผกแตกต่างจากขนบประเพณี วิถีปฏิบัติของชนชาวจีน นั่นก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างคนแต่ละยุคแต่ละสมัย (Generation Gap)

In each of my films, I’ve tried to do an observation of the changing Chinese society and people’s struggles within it. It’s a society that was structured toward the family unit for thousands of years, but suddenly that is changing. The family is collapsing, social values are collapsing, politically things are collapsing, moving toward Western values–toward democracy, industry, toward personal free will and respect for each other’s freedom. People haven’t really adjusted. In one sense, you want to break away from the burdens of the old culture. On the other hand, you kind of miss the old values. There’s a lot of feeling aroused. You don’t know what to believe anymore.


ทุกวันอาทิตย์ เหลาจู (รับบทโดย หลานซง) จะทำอาหารมื้อใหญ่ให้บุตรสาวทั้งสาม เป็นประเพณีที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าในครอบครัว

  • เจียเจิ้น (รับบทโดย หยางกุ้ยเหมย) พี่สาวคนโต นับถือศาสนาคริสต์ ไม่เคยมีความสัมพันธ์(ทางเพศ)กับใคร ทำงานเป็นครูสอนเคมี จู่ๆได้รับจดหมายบอกรักครุ่นคิดว่าคือครูพละคนใหม่ แต่แท้จริงแล้วคือถูกเด็กนักเรียนกลั่นแกล้ง สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้เธออย่างมาก
  • เจียเชี่ยน (รับบทโดย อู๋เชี่ยนเหลียน) พี่สาวคนรอง ทำงานธุรกิจสายการบินแห่งหนึ่ง กำลังสะสมเงินทองซื้ออพาร์ทเม้นท์ เตรียมตัวจะย้ายออกจากบ้านหลังนี้ แต่กลับถูกเจ้าของโครงการเชิดเงินหลบหนี ส่วนแฟนหนุ่มเพิ่งมาตระหนักได้ว่าเขาเป็นพวกเพลย์บอย สนเพียงเรือนร่างกายของเธอเท่านั้น
  • เจียหนิง (รับบทโดย หวังหยูเหวิน) น้องสาวคนเล็กยังเรียนหนังสือ ทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหารฟาสท์ฟู้ดแห่งหนึ่ง ชื่นชอบชายหนุ่มซึ่งเป็นแฟนของเพื่อนสนิท เห็นว่าอีกฝั่งฝ่ายดูไม่จริงจิง เลยสวมเขาเข้าหา พาไปที่อพาร์ทเม้นท์สุดหรูของฝ่ายชาย แล้วก็ท้องก่อนแต่ง ต้องออกจากบ้านไปก่อนใครเพื่อน

หลางซง, 郞雄 (1930-2002) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ซู่เฉียน มณฑลเจียงซู, เข้าร่วมกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (ก๊กมินตั๋น) ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งหลัง (1945-49) แล้วอพยพหลบหนีภัยสู่เกาะไต้หวัน ได้เข้าร่วมคณะการแสดง มีผลงานละครเวที ซีรีย์ ภาพยนตร์มากมายจนกลายเป็นตำนาน กระทั่งได้รับการอัญเชิญโดยผู้กำกับอังลี่ แสดงภาพยนตร์ Pushing Hands (1991), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ส่งให้เป็นที่รู้จักโด่งดังระดับนานาชาติช่วงบั้นปลายชีวิต

รับบทเหลาจู ชายสูงวัย เกษียณตัวจากการเป็นเชฟภัตตาคารใหญ่ อาศัยอยู่กับบุตรสาวสามใบเถา ทุกวันอาทิตย์จะเข้าครัวแสดงฝีมือทำอาหารมื้อใหญ่ ต้ม-ผัด-แกง-ทอด กึ่งๆบังคับให้พวกเธอรับประทานพร้อมหน้า (ถือเป็นประเพณีของครอบครัว) สามารถใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยสนทนา แสดงความคิดเห็น เล่าความต้องการของตนเองออกมา

แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างสามสาวกลับยังโสด ไม่มีใครแต่งงาน ยินยอมออกจากบ้าน แถมเมื่ออยู่พร้อมหน้าก็ไม่สามารถสื่อสารสนทนา พูดบอกแสดงความต้องการออกมา (นั่นเพราะความแตกต่างของช่วงวัยวุฒิ Generation Gap) ทำให้บรรยากาศในครอบครัวเต็มไปด้วยความอึดอัด เก็บกดดัน ราวกับระเบิดเวลาที่ใกล้ปะทุระเบิดเต็มทน

หลานซงเป็นบุคคลที่ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า พลังในการแสดง Charisma สูงมากๆ (ชวนให้ผมนึกถึง ส.อาสนจินดา) ริ้วรอยบนใบหน้าชัดเจนว่าพานผ่านประสบการณ์อะไรๆมามาก แม้ลีลาขณะทำครัวจะมีการตัดสลับกับเชฟจริงๆ แต่ต้องชมเลยว่าตัดต่อได้อย่างแนบเนียน ย้ำคิดย้ำทำ จนรู้สึกว่าคุณปู่ลงมือปรุงอาหารเองจริงๆ

ในไตรภาคป๊ะป๋ารู้ดี ‘Father Knows Best’ นำแสดงโดยหลานซง ล้วนเกี่ยวกับบิดาสูงวัยที่ไม่สามารถทำเข้าใจคนหนุ่มๆสาวๆ อันเนื่องจากความแตกต่างทางวัยวุฒิ (Generation Gap)

  • บทบาทที่ผมชอบสุดก็คือ The Wedding Banquet (1993) เพราะป๊ะป๋าทำการซุกซ่อนอคติ ไม่ต้องการเปิดความในออกมา
  • น่าผิดหวังสุดๆก็คือ Eat Drink Man Woman (1994) เพราะจู่ๆเปิดเผยความต้องการนั้นออกมา กลายสภาพเป็นตาแก่ตัณหากลับ หมดสิ้นความศรัทธาน่าเชื่อถือโดยพลัน (หนังจงใจมากๆที่จะให้ผู้ชมรับรู้สึกเช่นนั้น)

แซว: เอาจริงๆเราไม่ควรไปตำหนิต่อว่า ตาแก่ตัณหากลับ (แอบนึกถึงฉลอง ภักดีวิจิตร) ผิดอะไรที่โคแก่กินหญ้าอ่อน มันก็เรื่องของเขา สิทธิ์ของเขา มีเงินมีเรี่ยวแรง แดกไวอาก้าก็ตามสบาย การไปพูดแบบนั้นคืออาการของคนอิจฉาริษยา เพราะไม่มีกฎหมาย หรือศีลข้อไหนระบุว่าชายสูงวัยห้ามแต่งงานกับหญิงสาวอายุน้อยกว่า


หยางกุ้ยเหมย, 楊貴媚 (เกิดปี 1959) นักแสดงจากไต้หวัน เกิดที่เขตว่านหัว กรุงไทเป, เข้าสู่วงการเมื่อปี 1979 เริ่มจากละครโทรทัศน์ ซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Everlasting Chivalry (1980), ผลงานเด่นๆ อาทิ Eat Drink Man Woman (1994), Vive L’Amour (1994), The Hole (1998), The Moon Also Rises (2004) ฯ

รับบทพี่สาวคนโต เจียเจิ้น สมัยวัยรุ่นเคยอกหักจากชายคนรัก เลยสร้างเรื่องโป้ปดเพื่อปกปิดบังความยังโสดซิง (น่าจะ)ไม่เคยร่วมรักหลับนอนกับใคร นานวันจึงเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ไม่รู้จะระบายสิ่งคลุ้มคลั่งภายในออกมาเช่นไร จึงหันไปพึ่งพาคริสต์ศาสนา ต้องการอุทิศความบริสุทธิ์ให้แก่พระเป็นเจ้า

เจียเจิ้นทำงานเป็นครูสอนวิชาเคมี เชี่ยวชาญการคำนวณสมการของสสารในตารางธาตุ แต่ไม่ใช่การทำปฏิกิริยาความรู้สึกเรื่องของความรัก เต็มไปด้วยความใคร่ฉงนสงสัยว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมาย(รัก)ส่งมาทุกวี่วัน ทีแรกนึกว่าครูสอนพละคนใหม่เพราะชอบส่งสายตาอันหยอกเย้า จนกระทั่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย (ว่าเป็นฝีมือเด็กๆในห้อง) ก็มิอาจปกปิดกั้นความรู้สึกใดๆได้อีกต่อไป

พี่สาวคนโตเต็มไปด้วยความเก็บกด อัดอั้น สีหน้านิ่วคิ้วขมวด ตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา สาเหตุจากช่วงเวลาที่เธอเติบโตขึ้นนั้น บรรยากาศการเมืองของไต้หวัน (ช่วงทศวรรษ 60s-70s) ยังเต็มไปด้วยความตึงเครียด สงครามเย็นกับพรรคคอมมิวนิสต์/จีนแผ่นดินใหญ่ เลยได้รับการปลูกฝังทัศนคติชาตินิยม ยึดมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมสืบต่อกันมา … ด้วยเหตุนี้เจียเจิ้นจึงไม่สามารถเปิดเผยความต้องการ ‘sexual repression’ เลยหันไปพึ่งพาศรัทธาศาสนา คาดหวังว่าจะช่วยผ่อนคลายตัณหา อ้างคุณธรรมสูงส่งในการอาศัยอยู่กับบิดา (แต่จริงๆแล้วเหลาจูต่างห่างที่ยังคอยดูแลบุตรสาว)

ในบรรดาพี่น้องสามใบเถา ตัวละครของหยางกุ้ยเหมยถือว่ามีความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ที่สุดแล้ว เพราะทำการปกปิดซุกซ่อนเร้น เก็บสะสมความอึดอัดอั้นไว้ภายใน คล้ายระเบิดเวลาที่รอวันปะทุทำลาย ซึ่งเมื่อเพลานั้นมาถึง อะไรๆก็ปัจจุบันทันด่วน เสื้อผ้าข้าวของยังไม่ทันเก็บยัดใส่กระเป๋าเลยด้วยซ้ำ! หนีเผ่นแนบออกจากบ้านไปโดยทันที


อู๋เชี่ยนเหลียน, 吳倩蓮 (เกิดปี 1968) นักร้อง/นักแสดงจากไต้หวัน เจ้าของฉายา ‘นางเอกมหัศจรรย์แห่งเอเชีย’ เกิดที่เทศมณฑลยฺหวินหลิน กรุงไทเป, วัยเด็กชื่นชอบการร้องเพลง เคยเข้าประกวดคว้ารางวัลอันดับสอง โตขึ้นเข้าศึกษายัง Taipei National University of Arts เพียงชั้นปีที่สองเข้าตาผู้กำกับตู้ฉีฟง แจ้งเกิดโด่งดังภาพยนตร์ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ A Moment of Romance (1990), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Eat Drink Man Woman (1994), From Beijing with Love (1994), Eighteen Springs (1997) ฯ

รับบทพี่สาวคนรอง เจียเชี่ยน เป็นคนเฉลียวฉลาด เปิดกว้าง รักในอิสรภาพ วัยเด็กชื่นชอบเข้าครัวทำอาหารร่วมกับบิดา(และคุณลุง) วาดฝันว่าโตขึ้นอยากทำงานเป็นเชฟ แต่กลับถูกบีบบังคับให้ร่ำเรียนหนังสือ ทำงานไต่เต้าจนกลายเป็นผู้บริหารสายการบินแห่งหนึ่ง แต่งหน้าทำผม สวมชุดสุดหรู เก็บสะสมเงินทองจนสามารถจับจองอพาร์ทเม้นท์ คาดหวังว่าเมื่อสร้างเสร็จสรรพ ก็จักย้ายออกไปพักอยู่อาศัย

พี่คนรองเติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ค่อยๆผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดลง อิทธิพลจากชาติตะวันตกเริ่มค่อยๆแผ่เข้ามา (ช่วงทศวรรษ 70s-80s) ทำให้เธอคือคนสองวัฒนธรรม ทั้งหัวก้าวหน้าและยึดติดกับบางขนบประเพณี ไม่ปิดกั้นโอกาสเหมือนพี่สาว หรือปล่อยตัวปล่อยใจอย่างไม่สนอะไรเหมือนน้องคนเล็ก แต่นั่นก็ทำให้เธอตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะทั้งพี่และน้องเมื่อหลบหนีออกจากบ้าน หลงเหลือเพียงเธอ(และบิดา) อิสรภาพที่มาโดยไม่ทันคาดคิด เลยยังไม่รู้จะปรับตัวเองเช่นไร

ตัวจริงของอู๋เชี่ยนเหลียน เป็นผู้หญิงที่ติดดินมากๆ ไม่ได้ชื่นชอบแต่งหน้าทำผม สวมใส่ชุดหรูหราแบบตัวละคร (ปัจจุบันเหมือนจะออกจากวงการไปใช้ชีวิตครอบครัวอย่างเรียบง่าย สุขสบาย) แต่รูปลักษณ์ของเธอช่วยขับเน้นความงามให้ดูเฉิดฉาย เปร่งประกาย สวยเซ็กซี่ มีความน่าหลงใหล (ผมเคยคิดว่าเธอไม่ได้สวยมากแค่ดูดี แต่กาลเวลาทำให้กลายเป็นความงามอมตะ) ส่วนการแสดงก็ดูลื่นไหล เป็นธรรมชาติ ไม่ได้เก็บกดเหมือนหยางกุ้ยเหมย เหมือนปล่อยตัวปล่อยใจเหมือนหวังหยูเหวิน กลางๆเหมือนตัวละคร แค่บทบาทตามที่แฟนๆคาดหวังเท่านั้นละ


หวังหยูเหวิน (เกิดปี 1971) นักแสดงจากไต้หวัน เข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1990 มีผลงานภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ อาทิ Rebels of the Neon God (1992), Eat Drink Man Woman (1994)

รับบทน้องสาวคนเล็ก เจียหนิง ระหว่างทำงานอยู่ร้านอาหารฟาสฟู๊ดแห่งหนึ่ง พบเจอแฟนหนุ่มของเพื่อนสาว ชอบเข้าไปหยอกล้อทักทาย ครุ่นคิดว่าอีกฝั่งฝ่ายไม่จริงจังก็เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ยินยอมให้เขาพาไปที่บ้าน ร่วมรักหลับนอน แล้วก็ตั้งครรภ์

ผมประเมินว่าน้องสาวคนเล็ก น่าจะอายุประมาณ 17-18 (แต่หวังหยูเหวินก็ 22-23 แล้วละ) ร่ำเรียนวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย ยังถือเป็นช่วงวัยรุ่น ไม่ค่อยรับรู้เดียงสา เติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่ไต้หวันไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆกับจีนแผ่นดินใหญ่ (ช่วงทศวรรษ 80s-90s) แต่อิทธิพลชาติตะวันตกแผ่ปกคลุมเข้ามาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้เด็กสาวจึงใช้ชีวิตอย่างไม่ครุ่นคิดหน้าหลัง ปล่อยตัวปล่อยใจ ท้องก็แต่ง อนาคตจะเป็นยังไงค่อยว่ากัน

แม้เป็นบทบาทเล็กๆที่ไม่ได้ใช้การแสดงอะไรมาก หน้าตาของหวังหยูเหวินก็ไม่ได้สวยเด่นเป็นสง่า แต่ความบ้านๆ ดวงตาใสซื่อไร้เดียงสา ก็ทำให้ตัวละครนี้สร้างเซอร์ไพรส์ให้ผู้ชมอย่างคาดไม่ถึง วัยรุ่นยุคใหม่(ขณะนั้น)มันเร็วแรงได้ขนาดนี้เชียวเลยหรือ … แต่ก็เทียบไม่ได้กับปัจจุบันนี้นะครับ มันแร๊งงงค์ยิ่งกว่ายุคนั้นอีก


ถ่ายภาพโดย หลินเหลียงจง, 林良忠 ตากล้องจากไต้หวัน เกิดที่นครไถจง หลังสำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส Tamkang University เดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเข้าเรียนสาขาถ่ายภาพ New York Film Academy จบออกมาได้เป็นตากล้อง Pushing Hand (1991), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ฯ

ผมมีความรู้สึกว่างานภาพของ Eat Drink Man Woman (1994) ค่อนข้างแตกต่างจากผลงานอื่นๆของอังลี่ ที่เน้นความงดงาม จัดวางองค์ประกอบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย, ภาพยนตร์เรื่องเหมือนพยายามบันทึกภาพความจริง เก็บบรรยากาศ วิถีชีวิต ผู้คน ไต้หวันทศวรรษ 90s โดยไม่บิดเบือนปรุงแต่งอะไรมากนัก

แต่ลีลาภาษาภาพยนตร์ ‘สไตล์อังลี่’ ก็ยังจัดเต็มอยู่นะครับ มีความประณีต เต็มไปด้วยรายละเอียด ชักชวนให้ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะอาหารแต่ละจานล้วนมีนัยยะซ่อนเร้นอยู่

Kitchens are an emotional place. The dining table is a metaphor–a ritual that brings people together and separates them as well. It symbolizes their fate.

อังลี่กล่าวถึงนัยยะของโต๊ะอาหาร

ภาพแรกของหนังถ่ายทำตรงสี่แยกไฟแดง เมื่อได้รับสัญญาณไฟเขียว มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ ต่างค่อยๆเคลื่อนตัวออกออกมา, ช็อตนี้นอกจากเป็นการบันทึกภาพไต้หวันทศวรรษ 90s ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ อิทธิพลตะวันตกที่แผ่ปกคลุม นำความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา การจราจรคับคั่ง

อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือเส้นการจราจรที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมๆ สัญลักษณ์พื้นที่ห้ามจอด แต่มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่าอาจแฝงนัยยะ Cubism (บาศกนิยม) ลัทธิการสร้างสรรค์ศิลปะที่ได้รับผลสะท้อนมาจากอิทธิพลด้านความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ปลุกเร้าการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ รวมทั้งลักษณะการของศิลปินสมัยใหม่ที่พยายามแสวงหาลักษณะเฉพาะตัวให้กับตนเอง

จากนิยามของ Cubism หลายคนก็น่าจะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องราวสะท้อนถึงอิทธิพลชาติตะวันตกที่แผ่ปกคลุมเข้ามาในไต้หวัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) แต่มันยังไม่หมดเพียงเท่านั้นนะครับ เพราะโครงสร้างการดำเนินเรื่องที่แบ่งออกเป็น 1+3 ตัวละคร (บิดา+บุตรสาวสามใบเถา) ตัดสลับเวียนวน ซ้ำไปซ้ำมา มันก็ไม่ต่างจากรูปลักษณะเรขาคณิต(ลูกบาศก์)สักเท่าไหร่!

ภาพถัดมาอาจทำให้ใครหลายๆคนตกตะลึง รับไม่ได้ขึ้นมาทันที นั่นเพราะเจ้าปลาที่อยู่ในโอ่งนี้จักถูกจับนำมาปรุงอาหาร ถ้าคุณชอบกินเนื้อกินปลา ก็อย่ามาอ้างจิตสำนึกมโนธรรมเลยนะครับ นี่คือธรรมชาติของชีวิต สะดีดสะดิ้งโลกสวยไปทำไม

จะว่าไปการจับปลา จับไก่ สับหมู หั่นผัก ต้ม-ผัด-แกง-ทอด ฯ ล้วนแฝงนัยยะในการกระทำ แต่ผมขอไม่ลงรายละเอียดในส่วนนี้ แค่เพลิดเพลินไปกับมันก็พอแล้วนะครับ (ผมไม่ค่อยอยากแคปรูปเพราะมันจะทำให้หิวกระหาย) เห็นว่าทั้ง Sequence นี้ใช้เวลาถ่ายเป็นสัปดาห์ๆ (อาจจะรวมมื้ออาหารฉากอื่นๆด้วยกระมัง) และบุคคลที่เป็นเชฟก็เหมือนจะผู้กำกับอังลี่เองนะแหละ

ระหว่างเหลาจูกำลังเข้าครัวทำอาหาร ก็จะมีการแทรกภาพบุตรสาวทั้งสาม ต่างกำลังทำกิจวัตรบางอย่าง

  • เจียเจิ้นอยู่บนรถโดยสารระหว่างเดินทางไปโบสถ์ กำลังฟังเพลงสรรเสริญพระเจ้าจากเทปพกพา แต่เหมือนถ่านใกล้หมดเลยติดๆดับๆ (เป็นการบอกใบ้อย่างชัดเจนว่า เป็นความศรัทธาอย่างมีเลศนัย)
  • เจียเชี่ยนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ พบเห็นแผนที่ของสายการบิน (มี Bangkok ด้วยนะครับ) ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ (สื่อถึงอิทธิพลตะวันตก และความเชื่อมโยงกับชาติอื่นๆ) นั่งอยู่บนตึกสูงระฟ้า ด้านหลังคือทิวทัศน์กลางกรุงไทเป (แสดงถึงตำแหน่งผู้บริหาร สะท้อนภาระหน้าที่การงาน)
  • เจียหนิงกำลังทอดเฟรนฟราย ทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหารฟาดฟู๊สแห่งหนึ่ง ตรงกันข้ามกับบิดาที่เป็นเชฟมืออาชีพ มีเทคนิคลีลาในการทำอาหารมากมาย แต่ทอดเฟรนฟรายแค่เอามันฝรั่งใส่ในน้ำมันเดือดๆ เรียบง่ายรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ฝีมือหรือประสบการณ์ใดๆ

เหล่านี้ล้วนสื่อถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปของสมาชิกครอบครัวเกา ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัวของตนเอง แต่ทั้งหมดล้วนภายใต้อิทธิพลของบิดา ทุกเย็นวันอาทิตย์จะต้องมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันพร้อมหน้า

Eat Drink Man Woman (1994) อาจไม่ได้ตั้งใจให้ตลกขบขันเทียบเท่า The Wedding Banquet (1993) แต่หลายๆฉากก็พยายามสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยไดเรคชั่นอันเฉียบคายของผู้กำกับอังลี่ สามารถเรียกเสียงหัวเราะหึๆอย่างยียวนกวนบท (สำหรับคนที่สามารถเข้าใจ) ยกตัวอย่างหลังฉากร่วมรักระหว่างเจียเชี่ยนกับแฟนหนุ่ม ตัดมาภาพเหลาจูกำลังเป่าลมเข้าท้องไก่ แล้วเอาน้ำมัดมาราดๆลำดัว ก่อนนำลงทอดในกระทะ … คงไม่ต้องอธิบายหรอกนะ

จริงอยู่ว่าคนจีนสมัยก่อน ครอบครัวใหญ่ๆ จึงนิยมรับประทานอาหาร ‘โต๊ะจีน’ เมื่ออยู่กันพร้อมหน้า แต่ประเพณีดังกล่าวในปัจจุบันค่อยๆเลือนหายไป แทบไม่มีใครถือปฏิบัติกันอีกแล้ว (เพราะที่จีนแผ่นดินใหญ่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ปรับเปลี่ยนค่านิยม, คนไต้หวันก็ค่อยๆซึมซับรับวัฒนธรรมตะวันตก)

วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนจีน (เอาจริงๆต้องถือว่าทั้งเอเชียเลยนะ คนไทยเราก็เช่นกัน) สมาชิกในครอบครัวมักอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า เวลาไปมาหาสู่ก็มักสอบถาม ‘ดื่มน้ำดื่มท่า ทานอะไรมาหรือยัง?’ ซึ่งไม่แค่คำทักทาย แต่หมายถึงถ้าตอบว่ายัง เจ้าบ้านก็มักกุรีกุจอหาอะไรมาให้รองท้องโดยทันที เรียกว่าเป็นการสานสัมพันธ์ แสดงมิตรไมตรี อัธยาศัยอันดีงาม

แต่เห็นปริมาณอาหารบนโต๊ะ หลายคนน่าจะรู้สึกถึงความสิ้นเปลือง ทั้งบ้านมีแค่ 1+3 คน (บิดา+บุตรสาวสามใบเถา) รับประทานหมดได้ยังไง (ยังมีที่ยังไม่ได้เสิร์ฟอีกนะ!) นี่เป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับอังลี่ ถึงความไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ของประเพณีนี้

สังเกตว่าสามสาวบนโต๊ะอาหาร ต่างมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป

  • เจียเจิ้น ก่อนเริ่มรับประทานอาหารจะต้องสวดอธิษฐานขอบคุณพระเป็นเจ้า
  • เจียเชี่ยน เป็นคนเดียวที่กล้าพูดแสดงความคิดเห็นในรสชาติอาหารต่อบิดา (เพราะเธอเป็นเชฟด้วยกระมัง)
  • เจียหนิง แม้จะเงียบงัน แต่ก็มีหน้าที่ปรุงหม้อไฟ เก็บจาน ล้างชาม ฯ

ระหว่างกำลังรับประทานอาหารพร้อมหน้าในครอบครัว เหลาจูได้รับโทรศัพท์ฉุกเฉิน จำต้องออกเดินทางไปช่วยเหลือภัตตาคารแห่งหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาหูฉลาม ‘ปลอม’ ถ้าใครอ่านภาษาภาพยนตร์ออก ก็น่าจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้ง Sequence ว่าอาหารมื้อใหญ่เย็นวันอาทิตย์ สมาชิกอยู่พร้อมหน้า มันก็แค่ภาพลวงหลอกตา สัมพันธภาพ(ในครอบครัว)จอมปลอม ที่ใกล้ถึงวันแตกหัก

หูฉลาม, ฮื่อฉี่ (魚翅羹) คืออาหารของชนชั้นสูง ถือเป็นยาอายุวัฒนะ เมื่อรับประทานแล้วจะอายุยืนยาว ในอดีตมักถูกปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่จักรพรรดิและชนชั้นสูง แต่เมื่อถูกนำมาหลอกขายกลายเป็นของปลอม เหลาจูเลยได้ปรับเปลี่ยนเมนูให้กลายเป็น Joy Luck Dragon Phoenix ซึ่งเป็นเมนูอะไรสักอย่างเกี่ยวกับกุ้งล็อบสเตอร์ (ที่ดูเหมือนมังกร) และไก่ (ที่ดูเหมือนฟินิกส์) ซึ่งต่างเป็นสัตว์มงคลในความเชื่อของจีน เมื่อมารวมกันก็กลายเป็นอาหารมงคลในงานแต่งงาน (เพราะมีสัตว์สัญลักษณ์ชาย-หญิง ราชา-ราชินี อยู่เคียงข้างกัน)

  • ล็อบสเตอร์นั้นถือเป็นราชาแห่งกุ้ง เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่รุ่งเรือง ส่งเสริมยศศักดิ์ ตำแหน่งการงานให้มีความก้าวหน้า
    • มังกร ราชาของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์หรืออำนาจ นอกจากนี้ยังถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี ความเหมาะสม ความสงบสุข และความมั่นคงของบ้านเมือง
  • ไก่ เป็นสัญลักษณ์ของความขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัย ส่งเสริมอาชีพการงาน-ค้าขาย รวมถึงความสัมพันธ์อันดีในครอบครับ
    • ฟินิกส์ เป็นสัตว์ในตำนานของชาวจีน ตัวแทนจักรพรรดินี อิสตรี สัญลักษณ์ความสงบสุข เจริญมั่นคงและทรงคุณธรรม

จากเมนูชนชั้นสูงของพระราชา กลายมาเป็นอาหารมงคลในงานแต่งงาน นี่ก็แฝงนัยยะถึงพัฒนาการเรื่องราวของหนัง จากพิธีกรรมบนโต๊ะอาหาร กลายมาเป็นเรื่องวุ่นๆของการมีชีวิตคู่ เพศสัมพันธ์ ชาย-หญิงครองรักกัน!

ผมรู้สึกเหมือนผู้กำกับอังลี่ พยายามเน้นย้ำว่าอาหารที่ทำขึ้นมากมาย ‘โต๊ะจีน’ มันเกินความจำเป็นในการบริโภคมากๆ ซึ่งสิ่งหลงเหลือ (ทั้งที่บ้านและภัตตาคาร) ต่างคือเกี้ยว/แป้งต้ม (Dumpling) กำลังจะถูกทิ้งลงถังขยะ นั่นควรเป็นประเพณีที่ควรเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นมองหาวิธีการใหม่ๆได้แล้ว!

เกร็ด: เกี๊ยว ภาษาจีนกลางอ่านว่า เจี่ยวจึ (饺子) ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า เจียว (交) หมายถึงการเปลี่ยนสิ่งเก่าให้เป็นสิ่งใหม่ การกินเกี๊ยวเลยสื่อถึงการทิ้งอะไรเก่าๆ แล้วมาเริ่มต้นสิ่งดีๆ (นิยมรับประทานในในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน)

หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1994 แสดงว่าโปรแกรม Paint ที่ใช้นี้น่าจะอยู่บนระบบปฏิบัติการ Windows 3.x เริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ปี 1990 ต้องคนรุ่น Gen X ถึงจะทันใช้กันนะครับ (ราคาคอมพิวเตอร์สมัยนั้นแพงมากๆเลยนะ 50,000+ บาท)

ตอนที่เหลาจูพูดอธิบายชื่อหนัง

Eat, drink, man, woman. Basic human desires. Can’t avoid them!

ระหว่างกำลังมึนเมา (หลังเสร็จงานเลี้ยงแต่งงาน) รำพันกับเพื่อนสนิทเหลาเหว่ย (หรือลุงเหว่ย) ถึงมุมมองชีวิตที่มีเพียงดื่ม-กิน ชาย-หญิง หิวกระหายในการบริโภค และทำสิ่งตอบสนองความต้องการต้องเพศ สถานที่ก็คือโถงทางเดินซึ่งมีความเวิ้งว่าง เปล่าเปลี่ยว (ไร้ผู้คนหรือสิ่งข้าวของใดๆขวางกัน) ปลายทางชีวิต(ประตูทางออก)ช่างอยู่ห่างไกลลิบๆ

แซว: ใครเคยรับชม The Wedding Banquet (1993) น่าจะมักคุ้นฉากคล้ายๆกันนี้หลังเสร็จพิธีแต่งงานที่ศาลากลางเมือง มอบสัมผัสอันเวิ้งว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีคุณค่า ไม่น่าจดจำ ไร้ซึ่งความหมายใดๆ 

จดหมายรักของเจียเจิ้น ห่อหุ้มด้วยซองที่ดูเหมือนดาวดารา วางอยู่ถัดจากของรูปภาพนางฟ้า สามารถสื่อถึงความเพ้อฝันของเธอ ที่อยากได้ใครสักคนมาครองคู่อยู่ร่วม ภายในมีความตื่นเต้น ระริกระรี้ แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยมันออกมา

อพาร์ทเม้นท์แฟนหนุ่มของเจียหนิง ดูเหมือนยังตกแต่งไม่เสร็จ (แต่จะมองว่าคือสไตล์การออกแบบให้ดูเหมือนยังตกแต่งไม่เสร็จก็ได้นะครับ) สามารถสื่อถึงการปล่อยปละละเลยของบิดา-มารดา ไม่ใคร่สนใจความเป็นอยู่ของบุตรชาย ซึ่งสะท้อนค่านิยมการเลี้ยงดูแลของคนสมัยใหม่ สนเพียงเงินทอง สิ่งข้าวของ ปัจจัยภายนอกเท่านั้น มอบอิสระในการดำรงชีวิต อยากครุ่นคิดทำอะไรก็ตามสบาย ไม่มีการเสี้ยมสอนจิตสำนึก มโนธรรม ทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอ้างว้าง จนต้องเร่งรีบโหยหาใครสักคนอยู่เคียงข้างกาย

ผมครุ่นคิดว่านี่คือภาพที่ผู้กำกับอังลี่ ต้องการแสดงให้เห็นสีหน้า ปฏิกิริยา เทียบแทนความรู้สึกของตนเองต่อสภาพของไต้หวัน ช่วงทศวรรษ 90s หรือคือสถานะตระกูลเกา บิดาและบุตรสาวสามใบเถา ยังทนกันอยู่ในสภาพแวดล้อมอึดอัด เก็บกดดัน ‘sexual repression’ กันได้อย่างไร!

ซึ่งหลังจากช็อตนี้หนังก็เจียหนิงและแฟนหนุ่ม ก็มิอาจอดรนทนต่อ ‘sexual repression’ ได้อีกต่อไป!

เจียเชี่ยนเก็บสะสมเงินทอง นำไปลงทุนซื้ออพาร์ทเม้นท์ เมื่อสร้างเสร็จสรรพก็จักได้ก้าวออกจากบ้าน แต่โดยไม่รู้ตัวโครงการกลับล้มละลาย ถูกเชิดเงินสูญหายไปไม่น้อย! ทำลายความเพ้อฝัน ตกลงมาจากสรวงสวรรค์

จะว่าไปทศวรรษ 80s-90s ถือเป็น ‘ยุคทอง’ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตึกระฟ้างอกเงยราวกับดอกเห็ด จนกระทั่งอุปทาน (Supply) มีมากกว่าอุปสงค์ (Deman) ผลลัพท์ก็เลยเริ่มไม่ขายออก ก่อเกิดตึงร้าง สร้างไม่เสร็จขึ้นมากมาย … การลงทุนสมัยนั้นมีความเสี่ยงสูงจริงๆ

ไม่ใช่แค่เงินลงทุนที่สูญเสียไป เจียเชี่ยนเมื่อเดินทางไปเยี่ยมเยือนลุงเหว่ย กลับค้นพบบิดาเดินทางมาพบหมอด้วยตัวคนเดียว ไม่มีญาติ ไม่มีพี่น้อง เธอเองก็ไม่เคยรับล่วงรู้มาก่อน นี่ครอบครัวของเรามีความเหินห่างไกลกันขนาดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตั้งแต่ที่เจียเชี่ยนพบเห็นบิดาแอบมาตรวจโรคที่โรงพยาบาลนี้ มีการปรับสีให้ออกโทนน้ำเงิน เพื่อมอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก อ้างว้างเดียวดาย และการแสดงออกของเจียเชี่ยน (เหมือนจะไม่บอกทั้งพี่และน้องด้วยนะ) ก็มีความห่วงหวง เป็นห่วงเป็นใย ตื่นเช้าโดยไม่ต้องปลุก (แต่เหมือนจะยังไม่ได้นอนมากกว่า)

การออกจากบ้านของเจียหนิงและเจียเจิ้น สังเกตว่ามีความแตกต่างตรงกัน! แต่ก็ละม้ายคล้ายคลึงคือโคตรปัจจุบันทันด่วน ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน (ผู้ชมเองก็ด้วยนะ) และพวกเธอพูดบอกระหว่างกำลังจะรับประทานอาหาร

  • น้องคนเล็กเจียหนิง หันกล้องไปทางหน้าต่าง (ฝั่งตรงข้ามเหลาจู) พูดบอกระหว่างกำลังรับประทานหม้อไฟ (น่าจะสื่อถึงความลุ่มร้อนระอุที่อยู่ภายในจิตใจของคนอื่นๆ) แต่ดูก้มหน้าก้มตา ไม่ค่อยกระตือรือล้นสักเท่าไหร่ และจากไปโดยรถแท็กซี่ พร้อมสัมภาระเสร็จสรรพ
  • พี่คนโตเจียเจิ้น หันกล้องมาภายในบ้าน (ฝั่งด้านหลังเหลาจู) พูดบอกระหว่างใช้ขวานทุบอาหาร (นี่ย่อมสื่อถึงอารมณ์อันเกรี้ยวกราด) แต่เธอกลับเต็มไปด้วยความระริกระรี้ รีบวิ่งพาสามีมาแนะนำตัว และจากไปโดยรถมอเตอร์ไซด์ โดยไม่เก็บสิ่งข้าวของใดๆ

การเสียชีวิต(แบบปัจจุบันทันด่วน)ของลุงเหว่ย ทำให้ความครุ่นคิด สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเหลาจูปรับเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม สอดคล้องกับภาพสี่แยกไฟแดง ล้อกับช็อตแรกของหนัง แต่สังเกตว่ารถจะเคลื่อนจากซ้ายไปขวา (กลับตารปัตรจากเดิมที่เคลื่อนจากบนลงล่าง) … นี่คือช็อตที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของหนังด้วยนะครับ

สำหรับเจียเจิ้น เริ่มจากมิอาจอดรนทนต่อบทเพลงรัก (ของบ้านตรงข้าม) ถึงขนาดยกลำโพงมาเปิดเพลง Handel: Sing Ye to the Lord จากออราทอริโอเรื่อง Israel in Egypt (1739) กระหึ่มไปสามบ้านแปดบ้าน!

จากนั้นปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองด้วยการทาลิปสติก แต่งหน้าทำผม เดินอย่างสง่าผ่าเผยไปโรงเรียน แต่พอพบเห็นว่าไม่มีจดหมายรักวางอยู่ตำแหน่งเดิม จึงก้าวขึ้นบนเวทีที่มีธงชาติไต้หวัน ป่าวประกาศค้นหาบุคคลผู้สร้างความปั่นป่วนคลุ้มคลั่งให้ตนเอง … นี่ราวกับเป็นการประกาศอิสรภาพ(ของไต้หวัน)จากเคยเก็บกด ‘sexual repression’ พยายามปกปิดตนเอง ราวกับระเบิดเวลาได้ปะทุระเบิดออกมา ไม่สนห่าเหวอะไรแม้งแล้ว ขอกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา ความต้องการ พึงพอใจส่วนตนสักที!

ขณะที่เจียเจิ้นได้ปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพทางเพศ เจียเชี่ยนเพิ่งมาตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ของแฟนหนุ่ม ที่สนเพียงเรือนร่างกายของเธอ แถมยังมีหน้าบอกว่ากำลังจะแต่งงานกับสาวอีกคน แล้วขอคงความสัมพันธ์ FWB (Friend with Benefit) แบบเดิมเอาไว้ นั่นสร้างความปั่นป่วนท้องไส้ แม้ไม่มีเสียงร่ำไห้แต่ผู้ชมจะได้ยินสายน้ำตกไหล และเธอก็อ๊วกพ่นอาหารในกระเพาะทั้งหมดออกมา

เอาจริงๆพฤติกรรมของแฟนหนุ่มมันคือ ‘อิสรภาพ’ ทางเพศอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อาการต่อต้านรับไม่ได้ของเจียเชี่ยน สามารถสื่อได้ว่าเธอยังมีบางส่วนในตนเองที่ยึดติดกับขนบประเพณี วิถีปฏิบัติดั้งเดิม ต้องการแต่งงานกับบุคคลผู้มีความจงรัก ซื่อสัตย์ ภักดี (ไม่ใช่เพลย์บอยหน้าด้านๆ มักมากแต่กามคุณ)

นี่เป็นฉากรับประทานอาหารเย็นที่กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับตอนต้นเรื่องโดยสิ้นเชิง! จากเคยมีสมาชิกแค่ 1+3 (บิดา+บุตรสาวสามใบเถา) เพิ่มมาเป็น 9 คน! สีหน้าอันเคร่งขรึม บรรยากาศตึงเครียด ไม่มีใครกล้าพูดปริปากอะไรออกมา กลายเป็นสนุกสนานร่าเริง รอยยิ้มเบิกบาน นี่สิสมควรเป็นมื้ออาหารที่ใครๆต่างเฝ้ารอคอย!

เมื่อบิดาลุกขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ กล้องจะถ่ายจากภายนอกห้องอาหาร เคลื่อนเลื่อนผ่านผนังกำแพง ประตูหน้าต่าง จากฟากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง (นัยยะเดียวกับการปรับเปลี่ยนทิศทางเดินรถ) เพื่ออารัมบทถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อนจะพูดบอกกล่าวจุดประสงค์แท้จริงของการนัดรวมรับประทานอาหารมื้อนี้!

ซึ่งเมื่อบิดาพูดเล่าความต้องการของตนเองออกมา นี่จึงกลายเป็นอาหารเย็นมื้อสุดท้ายของครอบครัวที่จะมารวมตัวพร้อมหน้า เพราะต่อจากนี้เขาได้ทำการละทอดทิ้งขนบประเพณี สิ่งเคยยึดถือมั่น เขวี้ยงขว้างอดีตทิ้งไป แล้วขอเริ่มต้นชีวิตใหม่ ประกาศแต่งงานแฟนสาวเหลียงจินหลง แอบคบหามานมนาน (ปกปิดไว้เพราะต้องการให้ปัญหาการหย่าร้างสามีเก่าสิ้นสุด) ต่อจากนี้ไม่มีอะไรต้องปกปิดซุกซ่อนเร้นอีกต่อไป!

ภายหลังจากที่ใครต่อใครต่างแยกย้ายออกจากบ้าน ไปมีครอบครัว โลกส่วนตัวของตนเอง หนังนำเสนอสามฉากของการเกิดใหม่ เริ่มต้นใหม่ และอนาคตใหม่

  • เจียหนิงคลอดบุตร กำลังหลับปุ๋ยฝันถึงอนาคต
  • สามีของเจียเจิ้น กำลังเข้าพิธีจุ่มศีล แบ๊บติสต์ สัญลักษณ์ของการชำระล้างบ้าง เพื่อเริ่มต้นใหม่ในการเป็นคริสตชน
  • และเหลียงจินหลงท้องแก่ใกล้คลอด (ป๊ะป๋ายังน้ำเชื้อแรง) สื่อตรงๆได้ถึงอนาคตกำลังใกล้เข้ามาถึง

สำหรับเจียเชี่ยน แม้ยังคงอยู่ในบ้านหลังเดิมนี้ แต่เธอก็ได้เริ่มต้นเข้าครัว ทำในสิ่งตนเองเคยเพ้อใฝ่ฝัน ปรุงอาหารให้บิดารับประทาน แม้รสชาติของขิงจะเผ็ดปาก แต่นั่นก็ทำให้เขาตระหนักว่า ตนเองสามารถรับรสชาติแห่งความสุข หวนกลับมามีชีวิตชีวา ไม่ต้องระทมอมทุกข์ทรมานอีกต่อไป

ช็อตสุดท้ายของหนังอาจไม่ตราตรึง ลุ่มลึกซึ้งเท่า The Wedding Banquet (1993) แต่ถือเป็นภาพแทนความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่น บิดา-บุตรสาว เมื่อทั้งสองฝั่งฝ่ายไม่ต้องเก็บกด ปกปิดบัง ซุกซ่อนเร้นความรู้สึกภายใน ก็จักสามารถเริ่มสานสัมพันธ์ … ชวนให้นึกถึงภาพวาด Michelangelo: The Creation of Adam (1512) การสัมผัสระหว่างมนุษย์-พระเจ้า เลยก็ว่าได้!

ตัดต่อโดย Timothy S. Squyres (เกิดปี 1959) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับอังลี่ตั้งแต่ The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994), Sense and Sensibility (1995), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Hulk (2003), Lust, Caution (2007), Life of Pi (2012) ฯ

หนังทำการร้อยเรียงเรื่องราวโดยมีสมาชิกตระกูลเกาคือจุดศูนย์กลาง ประกอบด้วย(บิดา) เหลาจู, (บุตรสาวสามใบเถา) เจียเจิ้น, เจียเชี่ยน และเจียหนิง จากเคยรับประทานอาหารพร้อมหน้า ก่อนค่อยๆแยกย้าย จนสุดท้ายหลงเหลือเพียงเจียเชี่ยน (ที่วางแผนออกจากบ้านเป็นคนแรกด้วยซ้ำ)

  • แนะนำตัวละคร ร้อยเรียงวิถีชีวิต ประจำวัน ก่อนที่วันอาทิตย์จะมารับประทานอาหารร่วมกัน
    • เหลาจูตระเตรียมอาหารมื้อเย็น
    • สาวๆถึงเวลาเลิกงาน ตระเตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน
    • พร้อมหน้ารับประทานอาหารเย็น แต่แล้วเหลาจูก็ถูกเรียกตัวไปช่วยงานภัตตาคาร
  • ก้าวย่างของการเปลี่ยนแปลง
    • เหลาจูรำพันกับลุงเหว่ยถึงชีวิตที่หลงเหลือ แล้วได้ค้นพบความสนใจใหม่คือทำอาหารกลางวันให้บุตรสาวเพื่อนบ้าน
    • เจียเจิ้นได้รับจดหมายรัก ครุ่นคิดว่าจากครูพละคนใหม่
    • เจียเชี่ยนกำลังจะได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นผู้บริหาร
    • เจียหนิงใช้มารยาหญิงค่อยๆเกี้ยวพาแฟนของเพื่อน
  • ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
    • เหลาจูถูกเกี้ยวพาโดยมาดามเหลียง แต่แอบสานความสัมพันธ์กับเหลียงจินหลง (มารดาของเด็กสาวข้างบ้าน)
    • เจียเจิ้นกำลังหมกมุ่นเพ้อคลั่งกับความรัก
    • อพาร์ทเม้นท์เจียเชี่ยนถูกนายทุนเชิดเงินหนี แถมถูกแฟนหนุ่มเปิดเผยว่ากำลังจะแต่งงานกับหญิงอื่น
    • เจียหนิงขึ้นอพาร์ทเม้นท์แฟนหนุ่ม
  • ถึงเวลาที่ต้องแยกจาก
    • การจากไปของเจียหนิง ประกาศว่าตั้งครรภ์
    • การจากไปของเจียเจิ้น จู่แต่งงานกับครูพละ
    • การจากไปของลุงเหว่ย สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่เจียเชี่ยน
    • การจากไปของเหลาจู ประกาศกลางโต๊ะอาหารว่าจะแต่งงานกับเหลียงจินหลง
  • สิ่งหลงเหลืออยู่ของเจียเชี่ยน
    • หลังจากทุกคนแยกย้าย พอถึงเย็นวันอาทิตย์อีกครั้ง เจียเจิ้นลงมือทำอาหารให้เหลาจู

การลำดับเรื่องราวของหนังถือว่ามีความท้าทายไม่น้อย (ทั้งกระบวนการตัดต่อและรับชม) เพราะต้องร้อยเรียง 4 เรื่องราวนำเสนอเคียงคู่ขนาน สลับกันไปมา ซึ่งก็ไม่ได้ไล่เรียงตามที่ผมแยกแยะมานะครับ (แค่อธิบายให้เห็นภาพรวมเฉยๆ) แต่มีการคลุกเคล้าเหมือนส่วนผสมอาหาร เปลี่ยนมุมมองไปมาโดยใช้เวลา เช้า-สาย-บ่าย-ค่ำ ตามอารมณ์ของผู้สร้าง

แต่ไฮไลท์ผมยกให้ตอนเหลาจูเข้าครัวทำอาหาร เพราะมีการตัดต่อสลับกับเชฟตัวจริง (คาดว่าน่าจะผู้กำกับอังลี่เองนะแหละ) ขณะทำการ Close-Up หั่นหมูหันผัก คลุกเคล้าส่วนผสม ต้ม-ผัด-แกง-ทอด ซึ่งต้องชมเลยว่ามีความแนบเนียน เป็นธรรมชาติสุดๆ รับชมแบบผ่านๆจะครุ่นคิดว่าคุณปู่หลานซงแสดงฝีมือด้วยตนเองจริงๆ


เพลงประกอบโดย Thierry Schollhammer (เกิดปี 1958) หรือชื่อในวงการ Mader เกิดที่ Saint-Paul-de-Vence ประเทศฝรั่งเศส, ค้นพบความชื่นชอบด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 5 ขวบ หลงใหลบทเพลงแนว Impressionist ของ Maurice Ravel, Nino Rota, Ennio Morricone, Henry Mancini, เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นผู้ช่วย Michel Magne, ผลงานเด่นๆ อาทิ In the Soup (1992), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ฯ

I really liked Mader’s music. It was very romantic, had a lot of Latin elements in it, and I just loved it. To this day I still listen to that sountrack a lot.

อังลี่ กล่าวถึงผลงานเพลงของ Mader

งานเพลงของ Eat Drink Man Woman (1994) มีหลายๆส่วนละม้ายคล้าย The Wedding Banquet (1993) ในการสร้างสีสัน เรียกเสียงหัวเราะขบขัน เต็มไปด้วยความขี้เล่นซุกซน ผสมผสานดนตรีสากลเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีนได้อย่างกลมกล่อมลงตัว แต่ในส่วนดราม่าของหนัง จะเน้นบรรยากาศเวิ้งว่างเปล่า โดดเดี่ยวเดียวดาย แม้ครอบครัวจะอาศัยอยู่พร้อมหน้า ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัวเอง ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร สนทนาทำความเข้าใจ ช่างมีความเหินห่างไกลกันยิ่งนัก

น่าเสียดายที่อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังไม่ได้รับการเผยแพร่ออนไลน์ เลยนำเอา Ending Credit มาให้ฟังเพลินๆไปก่อนนะครับ

แถมให้กับฉากเข้าครัวทำอาหาร เพลงประกอบฟังดูครื้นเครง ผ่อนคลาย ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน (ซอ, จีน, ขลุ่ย ฯ) มอบกลิ่นอายความเป็นอาหารจีน มักสอดแทรกดังขึ้นระหว่างเสียง Sound Effect (ของการต้ม-ผัด-แกง-ทอด สับหมู หั่นผัก ไล่จับไก่ ฯ) สร้างอรรถรสในการรับสัมผัส ซึ่งถ้าใครท้องว่าง อาจทำให้น้ำลายสลอโดยไม่รู้ตัว

การรับประทานอาหารมื้อเย็น ควรเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกสนาน เพราะสมาชิกทุกคนในบ้านจักได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า พูดคุยสนทนา สื่อสารแลกเปลี่ยน แต่สำหรับตระกูลเกา ‘พิธีกรรม’ ดังกล่าวกลับเต็มไปด้วยความอึดอัด เก็บกดดัน บรรยากาศตึงเครียด ไม่มีใครกล้าที่จะปริปาก เพราะรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องกระทำตาม ยึดถือมั่นในขนบประเพณีโบร่ำราณ ตราบยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้

เราสามารถอุปมาอุปไมยบ้านหลังนี้ ก็คือประเทศไต้หวัน ในช่วงทศวรรษ 90s ประกอบด้วยสมาชิกรุ่นราวคราวแตกต่างกันไป (นักวิจารณ์บางคนจะเรียกตามชื่อรุ่น Baby Boomer, Gen X, Gen Y แต่ผมรู้สึกว่าผู้กำกับอังลี่ใช้การเปรียบเทียบตามทศวรรษมากกว่า!)

  • บิดาเหลาจู (หลานซง เกิดปี 1930) คือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ อพยพมาปักหลักไต้หวันช่วงสงครามกลางเมืองจีนครึ่งหลัง (1945-49) ถือเป็นตัวแทนของคน(จีน)รุ่นเก่า ที่ยังยึดถือมั่นในขนบประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
  • เจียเจิ้น (หยางกุ้ยเหมย เกิดปี 1959) พี่สาวคนเติบโตขึ้นในช่วงสงครามเย็นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ vs. ไต้หวัน จึงยังคงถูกเสี้ยมสอน หล่อหลอม ได้รับอิทธิพลค่านิยมจีนดั้งเดิม เลยรักนวลสงวนตัว ปกปิดความรู้สึกไว้ภายใน จึงกลายเป็นคนเก็บกดดัน ต้องหันไปพึ่งพาพระผู้เป็นเจ้า
  • เจียเชี่ยน (อู๋เชี่ยนเหลียน เกิดปี 1968) พี่คนรองเติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งเริ่มทุเลาลง อิทธิพลตะวันตกเริ่มเผยแผ่เข้ามา จึงมีความครุ่นคิดหัวก้าวหน้า (เป็นผู้หญิงทำงาน ไม่ปกปิดความต้องการทางเพศ) แต่ก็ยังยึดติดกับขนบประเพณีอยู่บ้าง
  • เจียหนิง (หวังหยูเหวิน เกิดปี 1971) น้องคนเล็กยังร่ำเรียนหนังสือ เติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่อิทธิพลตะวันตกแผ่ปกคลุมทั้งทุกสารทิศ แทรกซึมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่ใคร่สนธรรมเนียมปฏิบัติอะไรทั้งนั้น ครุ่นคิดอยากจะทำอะไรก็ทำ สนเพียงตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น

สมาชิกในบ้านหลังนี้ ต่างไม่มีความสุขกับช่วงเวลารับประทานอาหารมื้อเย็น (ก็คือไม่พึงพอใจในวิถี/ประเพณีที่เป็นอยู่) จึงพยายามมองหาหนทาง ต้องการดิ้นรนหลบหนี ก้าวออกจากสถานที่แห่งนี้เพื่อไปมีชีวิตเป็นของตนเอง นั่นหมายถึงสภาพของไต้หวัน (ในความมุมมองผู้กำกับอังลี่) กำลังใกล้ถึงวันล่มสลาย ไม่ใช่แผ่นดินพังทลายนะครับแต่คือการสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นจีน ถูกอิทธิพลตะวันตกเข้าควบคุมครอบงำ กลืนกินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

แต่ทัศนะของผู้กำกับอังลี่ ไม่ได้คิดจะปฏิเสธต่อต้านอิทธิพลชาติตะวันตกเลยนะครับ ตรงกันข้ามแนะนำให้ยินยอมรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองสู่โลกยุคสมัยใหม่ (นั่นเพราะอังลี่ไปร่ำเรียนต่อสหรัฐอเมริกามาหลายปี จึงเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ชาวตะวันออกมิอาจต่อต้านทาน) ชักชวนให้ผู้ชมรู้สึกรำคาญต่อพฤติกรรมดื้อด้าน เอาแต่ใจ จะมัวเก็บกด ทนอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียวอยู่ทำไม ไม่ลองพูดเปิดเผย แสดงความต้องการภายในออกมา … เหลาจูแต่งงานกับเหลียงจินหลงที่อายุน้อยกว่าหลายสิบปี มันผิดอะไร?

ระเบิดเวลาที่สะสมมากว่า 5,000 ปี ก็ค่อยๆปะทุระเบิดออกโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้พิธีกรรมรับประทานอาหารเย็นมีอันสิ้นสุดลง สมาชิกแต่ละคนต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวใหม่ แต่นั่นกลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-บุตรสาวทั้งสามค่อยๆฟื้นฟูขึ้นตามลำดับ เหมือนต่อมรับรสชาติของเหลาชู เมื่อลิ้มลองน้ำซุปบุตรสาวคนรอง รอยยิ้ม คราบน้ำตา วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร

หนึ่งในการเปรียบเทียบที่ผมชื่นชอบมากๆ อาหารดื่มกิน (Eat Drink) คือสิ่งอยู่บนโต๊ะสำหรับรับประทาน ผิดกับเรื่องของชายๆหญิงๆ (Man Woman) ควรซุกซ่อนไว้ใต้โต๊ะ ไม่ควรนำมาเปิดเผยบนโต๊ะอาหาร … แต่เมื่อใครต่อใครต่างเอ่ยปากพูดเรื่องใต้โต๊ะออกมา(บนโต๊ะอาหาร) พิธีกรรมดังกล่าวจึงหมดความศักดิ์สิทธิ์ สิ้นสุดลง ไร้ความจำเป็นอีกต่อไป

ไตรภาคป๊ะป๋ารู้ดี ‘Father Knows Best’ นำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างคนสองรุ่น หนุ่มสาว-ผู้สูงวัย ความเป็นตะวันตก-ตะวันออก โหยหาอิสรภาพเสรี (Freedom) vs. ยึดถือมั่นในกฎกรอบประเพณี (Tradition) ต้องการเป็นตัวของตนเอง (Individual) vs. ต้องการการยินยอมรับจากผู้อื่น (Society) ฯลฯ ความขัดแย้งเหล่านี้มักสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้ทั้งสองฝั่งฝ่าย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาโดยการพูดคุยเผชิญหน้า ยินยอมรับฟังความจริง ปล่อยวางอคติของตนเอง และรู้จักให้อภัยกันและกัน

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกน่าผิดหวังอย่างรุนแรงในบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับอังลี่ มีนักข่าวสอบถามว่าเจียเชี่ยน(ลูกคนรอง)จะสามารถเปลี่ยนมาเติมเต็มความฝันในการเป็นเชฟหรือไม่? เขาตอบว่านั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้เลยสักนิด! (ตอบแบบอัตโนมัติเลยนะ)

That would be almost impossible. You see, usually chefs in China are not so educated. Usually, they come from poor families and are trained in disciple-master system. It’s a heavy-duty job.

อังลี่ แสดงความคิดเห็นถึงเหตุผลที่เจียเชี่ยน ไม่มีทางเปลี่ยนมาทำอาชีพเชฟ

แต่ผมรู้สึกว่าผู้กำกับอังลี่ เหมือนพยายามจะเปรียบเทียบเจียเชี่ยน คือภรรยาของเขาที่เป็นผู้หญิงทำงาน มีความขยันขันแข็ง ถึงหัวก้าวหน้าก็ยังยึดติดในขนบประเพณีหลายๆอย่าง ยกเว้นเพียงเรื่องทำอาหารเพราะมีความละเอียดอ่อนเกินไป (กลายเป็นอังลี่ที่เป็นพ่อครัวในบ้านหลังนี้แทน)

I’m a good cook, my brother is a good cook, a lot of my male friends are good cooks. But my wife doesn’t cook at all. A lot of Chinese women I know aren’t required to cook any more so they run away–as far as they can–from the kitchen.

อังลี่กล่าวถึงภรรยา ที่ไม่ชอบเข้าครัวสักเท่าไหร่

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes จากนั้นก็ออกไล่ล่ารางวัล จนได้รับเลือกเป็นตัวแทนไต้หวัน เข้าถึงรอบสุดท้าย Oscar: Best Foreign Language Film ก่อนพ่ายให้กับ Burnt by the Sun (1994) จากสหภาพโซเวียต

  • Academy Award: Best Foreign Language Film
  • Golden Globe Award: Best Foreign Language Film
  • BAFTA Awards: Best Film Not in the English Language
  • Golden Horse Film Awards
    • Best Feature Film
    • Best Supporting Actress (กุยย่าเหล่ย)
    • Best Original Screenplay

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง (คาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 1$ ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินได้ $24.2 ล้านเหรียญ! ถ้าเทียบอัตราส่วนกำไร รายรับ:รายจ่าย จะสูงอันดับสามของปีรองจาก Four Weddings and a Funeral (1994) และ The Lion King (1994)

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบหนังแนวนี้เลยนะ สร้างความปั่นป่วนท้องไส้ แค่สิบนาทีแรกก็น้ำลายไหลจนต้องไปหาอะไรมารองท้องรับประทาน แถมชื่อของมาสเตอร์เชฟอังลี่ การันตีว่าต้องมีรสชาติจัดจ้าน ครบเครื่อง อย่างคาดไม่ถึง … แต่เมื่อเทียบกับ The Wedding Banquet (1993) มันเหมือนมีบางสิ่งอย่างขาดๆหายๆ

Eat Drink Man Woman (1994) เป็นภาพยนตร์เต็มไปด้วยความหิวกระหายที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันทันด่วน ‘หักมุม’ จนแทบติดตามไม่ทัน! ซึ่งนั่นจะทำให้การหวนกลับมารับชมครั้งสอง-สาม มันอาจไม่ตราตรึงใจเท่า ‘First Impression’ (แต่ก็แลกมากับการได้พบเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ซุกซ่อนเร้นไว้มากมาย)

อีกปัญหาหนึ่งคือ Eat Drink Man Woman (1994) ขาดฉากที่มีความลุ่มลึกล้ำระดับเดียวกับ The Wedding Banquet (1993) ภาพจำส่วนใหญ่จะเป็นโต๊ะอาหาร สาวๆสวยๆ และคุณปู่ตัณหากลับ … เป็นหนังที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา

แนะนำบรรดานักกิน เชฟ-พ่อครัว ผู้ชื่นชอบหลงใหลในอาหารจีน, ศึกษาวิถีชีวิต สภาพสังคมไต้หวัน ช่วงทศวรรษ 90s, คอหนังรัก ชื่นชอบการหักมุม เรื่องราวที่คาดไม่ค่อยถึง, แฟนๆผู้กำกับอังลี่ และนักแสดงสาวๆ หยางกุ้ยเหมย, อู๋เชี่ยนเหลียน, หวังหยูเหวิน ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต 13+ กับความเก็บกดทางเพศของตัวละคร จนแสดงออกอย่างสุดโต่งคนละขั้ว

คำโปรย | Eat Drink Man Woman นำเสนอความหิวกระหายในการมีชีวิตของผู้กำกับอังลี่ จนกระทั่งได้ดื่มกินจนอิ่มหนำ
คุณภาพ | ร์เชฟ
ส่วนตัว | หิวกระหาย

The Wedding Banquet (1993)


The Wedding Banquet (1993) Taiwanese : Ang Lee ♥♥♥♥♡

บิดา-มารดาพยายามเรียกร้องขอให้บุตรชายหาคู่ครองแต่งงาน แต่เขาเป็นเกย์และมีคู่ขาคนรักอยู่แล้ว จึงครุ่นคิดแผนจัดงานแต่งหลอกๆกับหญิงสาวคนหนึ่ง ตั้งใจให้เป็นแค่ปาร์ตี้เล็กๆ กลับขยับขยายจนเรื่องราวบานปลายไปใหญ่, คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของ(ว่าที่)ปรมาจารย์ผู้กำกับอังลี่ ในไตรภาคป๊ะป๋ารู้ดี ‘Father Knows Best’ นำเสนอเรื่องราวผู้อพยพชาวจีนที่มาปักหลักอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา (ตัวของอังลี่เองเคยมาร่ำเรียนภาพยนตร์อยู่หลายปี ภายหลังก็ลงหลักปักฐาน แต่งงาน น่าจะได้สัญชาติอเมริกันด้วยแล้วกระมัง) มันเหมือนพวกเขาพยายามหลบหนีบางสิ่งอย่าง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องย้อนกลับไปเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริง เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านอคติเคยมีมา

ชื่อของผู้กำกับอังลี่ สร้างความคาดหวังให้ผมระดับหนึ่งว่าจะได้รับชมผลงานที่ประณีต ละเมียดไม ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวัง! แม้เพิ่งแค่ผลงานลำดับที่สอง รายละเอียดหลายๆอย่างดูเฉิ่มเชย ล้าหลังไปบ้าง (มีกลิ่นอายทศวรรษ 90s อยู่ไม่น้อยทีเดียว) แต่เรื่องราวมีความสลับซับซ้อน ซ่อนเร้นนัยยะ ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์

  • เกาเหว่ยถัง (高伟同) คือชาวไต้หวันอพยพสู่สหรัฐอเมริกา
  • แฟนหนุ่มไซมอน (Simon) คือชาวอเมริกัน
  • ภรรยาเหวยเหวย (顧葳葳) อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่

ลองไปครุ่นคิดดูก่อนนะครับว่าความสัมพันธ์ชาย-ชาย ระหว่างเกาเหว่ยถัง-ไซมอน สามารถสื่อถึงอะไร? งานแต่งกำมะลอระหว่างเกาเหว่ยถังกับเหวยเหวย แฝงนัยยะอย่างไร? และช่วงท้ายเมื่อทั้งสามกอดกันกลม จักมีความหมายเช่นไร?


หลี่อัน, 李安 (เกิดปี 1954) หรือที่ใครๆรู้จักในชื่ออังลี่ ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ชาว Taiwanese เกิดที่เมืองแต้จิ๋ว เขตผิงตง บนเกาะไต้หวัน ครอบครัวเป็นสมาชิกกองทัพสาธารณรัฐจีน อพยพหลบหนีพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งหลัง (1942-49), บิดาเป็นครูใหญ่โรงเรียน Provincial Tainan First Senior High School คาดหวังให้บุตรชายเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย แต่หลังสอบไม่ผ่านสองครั้งเลยถูกส่งไป National Taiwan University of Arts ค้นพบความหลงใหลด้านศิลปะและการแสดงจากภาพยนตร์ The Virgin Spring (1960)

เมื่อปี 1979, ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าเรียน University of Illinois at Urbana–Champaign (UIUC) ติดตามด้วย Tisch School of the Arts ณ New York University (NYU) รุ่นเดียวกับ Spike Lee ในตอนแรกสนใจด้านการแสดง ก่อนเปลี่ยนมาสาขาการกำกับ (เพราะพูดภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยชัด) โปรเจคจบ Fine Line (1984) สามารถคว้ารางวัล Wasserman Award: Outstanding Direction

หลังเรียนจบก็พยายามมองหาโอกาสในการทำงานภาพยนตร์ แต่ไม่มีใครไหนอยากว่าจ้างผู้กำกับชาวเอเชียสักเท่าไหร่ อังลี่เลยต้องว่างงานอยู่ถึงหกปี เป็นพ่อบ้านให้ภรรยา Jane Lin นักชีววิทยาโมเลกุล พบเจอแต่งงานระหว่างร่ำเรียน UIUC แต่เขาก็ไม่ได้ใช้เวลาว่างให้เสียเปล่า มองหาไอเดียน่าสนใจ ซุ่มพัฒนาบทหนังได้ถึงสองเรื่อง Pushing Hands และ The Wedding Banquet ส่งเข้าประกวดคว้ารางวัลที่หนึ่งและสองจากรัฐบาลไต้หวัน เลยมีโอกาสดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ Pushing Hands (1991) ติดตามด้วย The Wedding Banquet (1993)

สำหรับ The Wedding Banquet มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1986 เมื่อเพื่อนเก่า เฟิงกวงหยวน, 馮光遠 (เกิดปี 1953) เดินทางมาเยี่ยมเยียนอังลี่ เล่าให้ฟังถึงเพื่อนอีกคนหนึ่ง (ไม่ระบุนาม) เห็นว่าย้ายมาอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา เพื่อปกปิดรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) ความสัมพันธ์ชาย-ชาย กับคนรักหนุ่มอเมริกัน โดยไม่ต้องการเปิดเผยความจริงต่อครอบครัว

หลังจากทั้งสองค่อยๆพัฒนาบทร่วมกันสองปี อังลี่ก็ได้ชักชวน James Schamus (เกิดปี 1959) เพื่อนนักเขียนชาวอเมริกัน ให้มาร่วมขัดเกลาบทหนัง (ทั้ง Pushing Hands, The Wedding Banquet และอีกหลายๆเรื่องหลังจากนี้) เพื่อแทรกใส่มุมมองชาวอเมริกัน/ต่างชาติ เพิ่มเติมเข้าไปในเรื่องราว

first drafted in Chinese, then translated into English, re-written in English, translated back into Chinese, and eventually subtitled in Chinese and English and a dozen other languages.

James Schamus

เรื่องราวของเกาเหว่ยถัง (รับบทโดย เจ้าเหวินซวน) นักธุรกิจหนุ่มชาวไต้หวัน อพยพสู่ Manhattan, สหรัฐอเมริกา เพื่อปกปิดรสนิยมทางเพศ ครองรักอาศัยอยู่กับแฟนหนุ่มไซมอน (รับบทโดย Mitchell Lichtenstein) จนกระทั่งถูกครอบครัวพยายามเร่งเร้าให้แต่งงาน บิดาต้องการอุ้มหลานสืบทอดเชื้อสายวงศ์ตระกูล พวกเขาจึงครุ่นคิดแผนงานแต่งกำมะลอ เจ้าสาวคือเหวยเหวย (รับบทโดย ชินซูเหม่ย) นักเรียนศิลปะจากจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังมองหาโอกาสและใบอนุญาตทำงาน (Green Card)

แผนการของพวกเขาคือจัดงานแต่งเล็กๆ ทำพิธีที่ศาลากลางเมือง และรับประทานอาหารค่ำยังร้านอาหารจีนหรูๆ แต่จับพลัดจับพลูเจ้าของภัตตาคารแห่งนั้นคือลูกน้องเก่าของบิดา เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาในช่วงสงครามกลางเมืองจีน จึงอาสาจัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่โต เชิญแขกเหรื่อ เพื่อนสนิท คนรู้จักหลายร้อยคน พวกเขาทั้งสามจึงจำต้องอดรนทน เฝ้ารอคอยช่วงเวลาแห่งอิสรภาพที่คงอีกไม่นานเกินรอ


เจ้าเหวินซวน, 趙文瑄 (เกิดปี 1960) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ไต้หวัน สำเร็จการศึกษาสาขาเครื่องกล Ming Chi University of Technology แล้วมาทำงานที่ Northwest Airlines ก่อนกลายเป็นพนักงานต้อนรับ/แอร์โฮสเตสสายการบิน China Airlines หลังพบเห็นประกาศรับสมัครนักแสดงที่สามารถพูดภาษาจีนและอังกฤษ เลยทดลองยื่นใบสมัคร บินสู่สหรัฐอเมริกาพบเจอผู้กำกับอังลี่ แม้ไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่ก็ได้รับโอกาสแจ้งเกิดโด่งดังในวงการทันที

รับบทเกาเหว่ยถัง นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากไต้หวัน อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกาเพราะต้องการปกปิดสถานะเป็นเกย์ หวาดกลัวว่าครอบครัวจะยินยอมรับความจริงไม่ได้ แต่นั่นก็ทำให้เขาถูกคะยั้นคะยอ บีบบังคับให้หาคู่แต่งงาน เลยครุ่นคิดแผนจัดงานหลอกๆ จดทะเบียนยังศาลากลางเมือง และรับประทานอาหารค่ำยังร้านอาหารจีนหรูๆ

แต่โชคชะตาก็นำพาเรื่องวุ่นๆให้เขาบังเกิดความตึงเครียดยิ่งกว่าเก่า เมื่อเจ้าของภัตตาคารแห่งนั้นคือลูกน้องเก่าบิดา อาสาจัดงานเลี้ยงแต่งงาน เชิญแขกเหรื่อ พรรคพวกเพื่อน ต้องเล่นละคอนตบตาต่อหน้าคนหลายร้อยพัน แถมหลังจากนั้นแทบตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง เพราะค่ำคืนนั้นดันพลาดพลั้งทำเหวยเหวยตั้งครรภ์ ความสัมพันธ์กับไซมอนก็ใกล้ถึงจุดแตกหัก

ทีแรกอังลี่ครุ่นคิดจะเล่นบทบาทนี้ด้วยตนเอง เพราะคาดว่าคงหาคนรับบทเกย์ แล้วพูดสองภาษาจีน-อังกฤษไม่ได้! การพบเจอเจ้าเหวินซวน ราวกับเมล็ดพันธุ์ชั้นดี แม้ไม่เคยมีความสามารถทางการแสดง แต่หน้าที่ผู้กำกับก็คือสอนนักแสดงให้เป็นนักแสดง (Ang Lee believes that the director is to teach the actors to act.)

การแสดงของเจ้าเหวินซวน ชวนให้ผมนึกว่าเขาเป็นนักแสดงมืออาชีพ มีผลงานมาแล้วมากมาย (แต่นี่คือเรื่องแรกแจ้งเกิด!) แม้อาจดูเก้งก้างไปบ้างเมื่อตอนกอดจูบ ชิดใกล้กับทั้งเพื่อนนักแสดงชาย-หญิง แต่ลักษณะกระอักกระอ่วน โล้เล้ลังเลใจ ภายในเต็มไปด้วยความขัดแย้ง อึดอัดอั้น เก็บกดดัน สามารถถ่ายทอดผ่านสีหน้าท่าทางได้อย่างชัดเจนมากๆ


Mitchell Wilson Lichtenstein (เกิดปี 1956) นักแสดง/ผู้กำกับ เปิดเผยว่าเป็นเกย์ สัญชาติอเมริกัน ร่ำเรียนด้านวรรณกรรมและการแสดงยัง Bennington College ติดตามด้วย Yale School of Drama มีผลงานละครเวที ซีรีย์ ภาพยนตร์ อาทิ Streamers (1983), The Wedding Banquet (1993) ฯ

รับบทไซมอน (Simon) คู่ขาชาวอเมริกันของเกาเหว่ยถัง เป็นนักกายภาพบำบัด หลงใหลการถ่ายภาพ และวัฒนธรรมจีน เพราะความรักต่อเกาเหว่ยถัง อาศัยอยู่ด้วยกันมาหลายปี จึงครุ่นคิดแผนงานแต่งกำมะลอ คอยให้ความช่วยเหลืออยู่เคียงชิดใกล้ คาดหวังเมื่อพิธีแต่งงานสิ้นสุดลงไป พวกเขาจักได้ครองคู่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข … แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรดำเนินตามแผน บังเกิดความขัดแย้งรุนแรงเมื่อรับทราบว่าเหวยเหวยตั้งครรภ์ ถึงอย่างนั้นเมื่อมีโอกาสสนทนาสองต่อสองกับบิดา (ของเหว่ยถัง) จิตใจก็เริ่มอ่อน และสามารถยินยอมรับความสัมพันธ์แบบทรีซัม

ผมรู้สึกว่าผู้กำกับอังลี่ พยายามไม่ทำให้ตัวละครนี้ดูเป็น ‘stereotype’ คนอเมริกันในสายตาชาวเอเชีย แต่จนแล้วจนรอดผมก็มองไม่เห็นถึงความแตกต่างสักเท่าไหร่ ราวกับวัตถุทางเพศของพระเอกสำหรับระบายความใคร่ โดยเฉพาะตอนแสดงอาการไม่พึงพอใจ แล้วขึ้นเสียงพูดภาษาอังกฤษต่อหน้าบิดา-มารดา นั่นไม่ใช่ฉากที่แย่ แต่ดู cliché เกินไป (มันคือพฤติกรรมที่ชาวเอเชียมักมองอเมริกัน ว่าเป็นคนไม่ค่อยมีมารยาททางสังคม)

นอกจากภาพลักษณ์ที่เป็นเกย์ (พี่แกก็เปิดเผยตนเองว่าเป็นเกย์) มองผ่านๆก็ดูกลมกลืนเข้ากับครอบครัวชาวจีน ไม่ใช่อเมริกันจ๋า (ผมทอง ผิวขาว) ที่โดดเด่นชัดเกินไป (อาจด้วยการปรับแสง-สี ขณะถ่ายภาพร่วมด้วย) ส่วนการแสดงของ Lichtenstein ผมถือว่าแค่พอใช้ (ให้คะแนน B-) ดูสบายๆ ผ่อนคลาย ไม่ได้จริงจังกับบทบาทสักเท่าไหร่ เวลาหน้านิ่วคิ้วขมวด ก็แสดงอาการเกรี้ยวกราดอยู่ไม่นาน สามารถปล่อยปละละวางไม่เก็บมันมาหมกมุ่นครุ่นคิดมาก (นี่ก็ลักษณะ ‘stereotype’ ของชาวอเมริกันเช่นกันนะครับ)


ชินซูเหม่ย, 金素梅 (เกิดปี 1965) นักร้อง นักแสดงจากไต้หวัน เกิดที่เทศมณฑลไถจง บิดาเป็นชาวแมนจู อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ โตขึ้นเข้าสู่วงการจากเป็นนักร้อง Mandopop, ตามด้วยนักแสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ The Wedding Banquet (1993), กระทั่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับเลยออกจากวงการเมื่อปี 1999 พักรักษาตัวจนอาการดีขึ้น เลยผันตัวมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งไต้หวัน

รับบทเหวยเหวย นักเรียนศิลปะจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีความสามารถด้านการวาดรูปพอใช้ได้ เช่าห้องพักอาศัยอยู่ในโกดังเก็บของของเกาเหว่ยถัง กำลังพยายามหาหนทางแสวงโชคเอาตัวรอดในสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยนิสัยหัวร้อนเอาใจ จึงยังไม่สามารถหาเงินหางานทำได้สักที

เหวยเหวยเหมือนจะแอบชื่นชอบเกาเหว่ยถัง แม้รับรู้ว่าเขาเป็นเกย์แต่ก็ยังพยายามเกี้ยวพาราสี ถึงขนาดยินยอมจะจ่ายค่าเช่าห้องด้วยเรือนร่างกายตนเอง กระทั่งวันหนึ่งได้รับโอกาสสุดประหลาด แลกกับใบอนุญาตทำงาน (Green Card) ด้วยการแต่งงานปลอมๆกับเกาเหว่ยถัง ถึงอย่างนั้นเมื่อได้รับความเอ็นดูจากบิดา-มารดา (ของเกาเหว่ยถัง) ก็เริ่มรู้สึกผิดที่หลอกหลวงพวกเขา นั่นรวมถึงการพลั้งเผลอปล่อยให้ตนเองตั้งครรภ์ (ใช้กำลังข่มขืนเกาเหว่ยถังในค่ำคืนแต่งงาน) ตั้งใจจะทำแท้ง ก่อนที่จะ…

ตัวละครเหว่ยๆถือเป็นตัวแทน ‘ผู้อพยพ’ ที่ตัดสินใจมาแสวงโชค(หรือหลบหนีอะไรบางอย่าง)ยังสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชนชาวเอเชียจะได้รับการยินยอมรับ แม้มีทักษะฝีมือก็ใช่ว่าจักสามารถค้นหางานทำ (เป็นปกติของชาวอเมริกันที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมเหยียดหยาม ‘Racism’ ต่อคนผิวสี)

ขณะที่อุปนิสัยตัวละครก็ค่อนข้างผิดแผกแตกต่างจากชาวจีนแท้ๆ มีความแรดร่าน เอาแต่ใจ สนเพียงทำสิ่งตอบสนองตัณหา ความต้องการส่วนตน ดูแล้วสิ่งที่เธอโหยหาคือโอกาส ความสำเร็จ ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำโดยกฎกรอบ ได้รับอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ

การแสดงของชินซูเหม่ย อาจไม่ได้รับการจับจ้องเพราะเต็มไปด้วยจริตจัดจ้าน สังคม(สมัยนั้น)ยังไม่ค่อยให้การยินยอมรับหญิงสาวลักษณะนี้ แต่ตัวละครเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว พบเห็นร่ำร้องไห้บ่อยครั้ง นั่นแปลว่าภายนอกพยายามสร้างภาพให้เข้มแข็งแกร่ง แต่จิตใจนั้นอ่อนเรี่ยวแรง โหยหาบางสิ่งอย่าง ใครบางคนสำหรับพึ่งพักพิง ช่วยเหลือชี้แนะนำ จนกว่าจะปีกกล้าขาแข็ง โบกโบยบินด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง


หลางซง, 郞雄 (1930-2002) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ซู่เฉียน มณฑลเจียงซู, เข้าร่วมกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (ก๊กมินตั๋น) ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งหลัง (1945-49) แล้วอพยพหลบหนีภัยสู่เกาะไต้หวัน ได้เข้าร่วมคณะการแสดง มีผลงานละครเวที ซีรีย์ ภาพยนตร์มากมายจนกลายเป็นตำนาน กระทั่งได้รับการอัญเชิญโดยผู้กำกับอังลี่ แสดงภาพยนตร์ Pushing Hands (1991), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ส่งให้เป็นที่รู้จักโด่งดังระดับนานาชาติช่วงบั้นปลายชีวิต

รับบทบิดาของเกาเหว่ยถัง อดีตเคยเป็นนายพลกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งหลัง (1945-49) แล้วอพยพหลบหนีภัยสู่เกาะไต้หวัน รับทราบข่าวจากทางบ้านว่าครอบครัวถูกเข่นฆ่ากวาดล้างจนแทบไม่หลงเหลือใคร จึงกลายเป็นภาระหน้าที่ธำรงเชื้อสายวงศ์ตระกูล แถมภรรยาสามารถบุตรได้เพียงคนเดียว จึงคาดหวัง/บีบบังคับให้เกาเหว่ยถังต้องแต่งงาน และมีหลานสืบสกุลต่อไป

(ผมจงใจเขียนครึ่งย่อหน้าแรกให้เหมือนกันเพื่อจะถึงความสัมพันธ์ที่ละม้ายคล้ายระหว่างตัวละคร กับชีวิตจริงของหลางซง นี่เป็นความตั้งใจของผู้กำกับอังลี่อย่างแน่นอน เพราะสามารถทำให้คุณปู่เล่นเป็นตัวของตนเอง ไม่ต้องปรุงปั้นแต่งอะไรกับบทบาทมากนัก)

บิดาเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง มั่นคงในระเบียบวินัย ด้วยเหตุนี้จึงเลี้ยงดูบุตรชายอย่างเคร่งครัด นั่นคงคือเหตุผลที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด เก็บกดดัน จึงต้องการดิ้นหลบหนี โบยบินสู่อิสรภาพ(ยังสหรัฐอเมริกา) นั่นรวมไปถึงรสนิยมชาย-ชาย เพราะวิธีการดังกล่าวแม้ทำให้ภายนอกดูเข้มแข็งแกร่ง แต่ก็ขาดสัมผัสอันนุ่มนวล อ่อนโยน จึงโหยหาความรักจากบุรุษเพศเดียวกัน (ชอบความรุนแรง กระแทกกระทั้น)

พบเห็นการแสดงของหลานซง ทำให้ผมโคตรอยากรับชมให้ครบไตรภาค ‘Father Knows Best’ ผู้กำกับอังลี่สรรค์สร้างภาพยนตร์ทั้งสาม Pushing Hands (1992), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) เพื่อเคารพคารวะนักแสดงคนโปรดผู้นี้ ให้แจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติ (ก่อนหน้านี้หลานซงมีชื่อเสียงระดับตำนานแค่ในไต้หวัน รีไทร์ไปแล้วด้วยนะครับ จนกระทั่งอังลี่อัญเชิญกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้ง)

เป็นบุคคลที่มีพลังด้านการแสดง Charisma ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า แค่ท่ายืน-เดิน-วิ่ง มีความสง่าผ่าเผย เริดเชิดหน้าชูตา เต็มไปด้วยเย่อหยิ่ง ทะนงตน ภาคภูมิในตนเอง แม้ร่างกายอิดๆออดๆใกล้ถึงวันลงโลง แต่ก็ไม่แสดงความอ่อนแอให้บุตรชายพบเห็น นั่นรวมถึงความจริงที่สามารถสื่อสาร/รับฟังภาษาอังกฤษ ปกปิดซุกซ่อนเร้นมันไว้ข้างใน อย่างน้อยสุดถ้าภารกิจของตนเองสำเร็จลุล่วง อะไรอย่างอื่นก็ไม่สำคัญ นอนตายตาหลับ ไม่อับอายขายขี้หน้าบรรพบุรุษก็เพียงพอแล้ว!


กุยย่าเหล่ย, 歸亞蕾 (เกิดปี 1944) นักร้อง นักแสดงชาวจีน เกิดที่ฉางชา มณฑลหูหนาน อพยพติดตามครอบครัวสู่เกาะไต้หวัน ร่ำเรียนการแสดงยัง National Taiwan University of Arts แจ้งเกิดโด่งดังภาพยนตร์ The Rain of Sorrow (1965), ผลงานเด่นๆ อาทิ Home, Sweet Home (1966), You Can’t Tell Him (1971), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ฯลฯ

รับบทมารดาของเกาเหว่ยถัง แม้เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ พูดพร่ำไม่ยอมหยุด แต่มีความโอนอ่อนผ่อนปรน อัธยาศัยดีงาม รักเอ็นดูเหวยเหวยเหมือนลูกในไส้ เมื่อรับทราบความจริงเกี่ยวกับบุตรชาย (หลังเปิดเผยว่าเป็นเกย์) แม้จิตใจคงตกหล่นยังตาตุ่มก็ยังพออดรนทนไหว และพยายามอย่างยิ่งจะโน้มน้าวให้พวกเขาคิดหน้าคิดหลัง อย่าทำแท้งหลานในครรภ์ที่ยังไม่รู้เดียงสา

บทบาทของกุยย่าเหล่ย แม้ถูกกลบเกลื่อนโดย Charisma ของหลานซง แต่เธอก็มีถึงสองช่วงเวลาเจิดจรัส สร้างความสั่นสะท้านทรวงใน

  • เมื่อรับฟังบุตรชายเล่าบอกความจริง พูดเสียงสั่นเครืออย่าคุยเรื่องนี้กับบิดาเป็นอันขาด!
  • เจ็บจี๊ดสุดๆคือตอนรีบวิ่งไปหากระเป๋าสตางค์ เพราะกลัวว่าทั้งสองกำลังจะกระทำการคิดสั้น (ทำแท้งหลาน) แต่เมื่อชักช้าไปไม่ทันกาล ทั้งตัวละครและผู้ชมต่างตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยวหมดสิ้นหวัง

แม้หนังพยายามทำเหมือนว่ามารดาดูเป็นคนอ่อนนอกแข็งใน (เพราะสามารถยินยอมรับความจริงทั้งหลายบังเกิดขึ้น) แต่การที่เธอรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้น ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว ทนทุกข์ทรมาน การไม่แสดงออกภายนอก ไม่ได้แปลว่าไม่รับรู้สึกอะไร! ผิดกับบิดาที่จิตใจเข้มแข็งกว่ามาก เมื่อรับรู้ความจริงยังสามารถปกปิดซ่อนเร้นไว้ภายใน


ถ่ายภาพโดย หลินเหลียงจง, 林良忠 ตากล้องจากไต้หวัน เกิดที่นครไถจง หลังสำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส Tamkang University เดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเข้าเรียนสาขาถ่ายภาพ New York Film Academy จบออกมาได้เป็นตากล้อง Pushing Hand (1991), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ฯ

แม้งานภาพของหนังมีความฉูดฉาด ดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าผลงานยุคหลังๆของอังลี่ แต่ยังเต็มไปด้วยละเอียด ละเมียดไมในไดเรคชั่นการกำกับ โดยเฉพาะการจัดแสง-สีสัน-เงามืด สะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละคร ส่วนใหญ่พบเห็นโทนน้ำเงิน (มอบสัมผัสความหนาวเหน็บ เก็บกดความรู้สึกไว้ภายใน) ยกเว้นเจ้าสาวและงานแต่งงาน อร่ามด้วยสีแดงแรงฤทธิ์ (สีมงคล สัญลักษณ์ชนชาวจีน)

สิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผมมากๆ คือการทำให้ไซมอน ซึ่งเป็นคนขาวชาวอเมริกันมีความกลมกลืนจนบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกกับคนผิวเหลืองเอเชีย! (ถ้าเป็นหนังที่สร้างโดยผู้กำกับคนขาว มักจะมีการแบ่งแย่ง/สร้างความแตกต่างของสีผิวอย่างเด่นชัดเจน) ซึ่งสะท้อนทัศนคติผู้กำกับอังลี่อย่างชัดเจนมากๆ เพราะเราต่างก็เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องแบ่งแยก สร้างความแตกต่าง … นี่น่าจะใช้การจัดแสงเข้าช่วยด้วยนะครับ ให้ภาพออกมาเข้มๆ ผิวขาวผมทองที่โดดเด่นก็เลยถูกกลืนไปกับพื้นหลัง

พื้นหลังของหนังถ่ายทำยัง Manhattan, New York City ซึ่งเป็นย่านที่ผู้กำกับอังลี่คงเคยพักอยู่อาศัย จึงมีความรู้จักมักคุ้น สามารถนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองผู้อพยพชาวเอเชียได้อย่างน่าสนใจทีเดียว


Opening Credit ร้อยเรียงภาพการออกกำลังกายในฟิตเนสของเกาเหว่ยถัง มองผิวเผินเหมือนแค่ต้องการ(สร้างภาพ)ให้ร่างกายเข้มแข็งแกร่ง ชื่อชอบกำลัง/ความรุนแรง บอกใบ้ถึงความเป็นเกย์อยู่เล็กๆ แต่ผมสังเกตทุกอิริยาบทในสถานที่แห่งนี้ล้วนแฝงนัยยะความหมายอย่างลึกล้ำ

  • ใช้มือดึงลูกเหล็ก สามารถสื่อถึงความต้องการทำอะไรๆด้วย(สองมือของ)ตนเอง
  • แต่เขาต้องยกแบกภาระของครอบครัวไว้เบื้องหลัง หรือคือการต้องแต่งงาน มีทายาทสืบสกุล
  • นอนคว่ำในทิศทางตรงกันข้ามหญิงสาวแล้วยกเท้าขึ้นลงเกือบๆตรงบริเวณใบหน้าของเธอ (บอกใบ้ถึงการไม่ชื่นชอบเพศตรงกันข้าม)
  • ส่วนช็อตสุดท้ายของฉากนี้ เหมือนว่าเกาเหว่ยถังจะโยนดัมเบลทิ้งลงพื้น แสดงถึงอาการไม่พึงพอใจสิ่งที่มารดาพยายามบีบบังคับให้เขากระทำ

หลังเสร็จจากออกกำลัง ก็จะเป็นการแนะนำตัวละครไซมอน กำลังทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยรายหนึ่ง พร้อมพูดสำนวนจีน

Nature is eternality.

เหมือนต้องการสื่อถึงธรรมชาติชีวิต ก็คือการเป็นตัวของตนเอง! นี่ล้อกับฉากก่อนหน้านี้ที่มารดาพยายามพูดโน้มน้าว บีบบังคับให้บุตรชายหาคู่ครองแต่งงาน แต่นั่นหาใช่สิ่งที่จะมาเร่งรีบ ฝืนธรรมชาติ ขัดแย้งต่อความต้องการส่วนบุคคล

ซีนเล็กๆของการที่เกาเหว่ยถังจ่ายเงินให้นักดนตรีข้างถนนเพื่อหยุดเล่นแอคคอร์เดียน สะท้อนถึงชาวตะวันตกนิยมใช้เงินในการแก้ปัญหา แต่มันไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างจักสามารถซื้อ-ขาย แก้ไขได้ด้วยวิธีนี้ หนึ่งในนั้นคือปัญหาที่เขากำลังประสบอยู่ ถูกมารดาเร่งเร้าให้หาคู่แต่งงาน (เป็นการเปรียบเทียบ ความน่ารำคาญของนักดนตรีข้างถนน = ครอบครัวของเกาเหว่ยถัง ล้อด้วยป้ายด้านหลัง WE WANT YOU)

เพื่อนำเสนอความลุ่มร้อนอบอ้าวในโกดังเก็บของ/ห้องเช่าของเหวยเหวย จึงมีการจัดแสงให้ดูฟุ้งๆ ปรับโฟกัสเบลอหน่อยๆ พร้อมเหงื่อไคลไหลย้อยเปียกปอนเสื้อผ้า ผลงานของเธอเต็มไปด้วยภาพวาดนามธรรม (Abstraction) ดูแล้วน่าจะสะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละคร เต็มไปด้วยความอึดอัด เก็บกดดัน เลยกรีดกรายเส้นสาย ใช้สีเข้มๆสื่อถึงความหมองหม่น มืดมน ไร้หนทาง ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป

การตีความภาพวาดแอ็ปสแต็กต้องดูอารมณ์ที่สัมผัสได้เป็นหลักนะครับ เพราะหลายครั้งมักคาดเดาไม่ออกว่าศิลปินวาดรูปอะไร ขึ้นอยู่ที่จินตนาการของผู้ชมเองเลย … อย่างภาพนี้ผมรู้สึกว่าน่าจะเป็นนก (มันจะมีอีกภาพที่ดูเหมือนต้นไม้ กิ่งไม้) เหมือนมันได้รับบาดเจ็บ หรือมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง ทำให้ไม่สามารถโบกโบยบินสู่อิสรภาพ

ปล. สภาพอากาศอันลุ่มร้อน สามารถสื่อถึงความรู้สึกภายในจิตใจตัวละครได้เช่นกัน ทั้งของเหวยเหวย (ร้อนรนที่จะไม่สามารถเอาตัวรอดในสหรัฐอเมริกา) และเกาเหว่ยถัง (ร้อนรนที่ครอบครัวพยายามจ้ำจี้จ้ำไช)

ทำไมท้องฟ้ามันดูม่วงๆ นี่น่าจะเป็นการใส่ฟิลเลอร์เพื่อสร้างบรรยากาศหม่นๆ ระหว่างเกาเหว่ยถังกำลังทำสิ่งที่ตนเองไม่รู้สึกอภิรมณ์ใจนัก นั่นคือนัดเดท/รับประทานอาหารกับหญิงสาวที่มารดาจับคู่ให้ นักร้องอุปรากร เรียนจบด็อกเตอร์ สูง 5 ฟุต 8 นิ้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะสรรหาได้ด้วยนะ!

บทเพลงที่ขับร้องคือ Madame Butterfly (1904) อุปรากรสามองก์ ประพันธ์โดย Giacomo Puccini ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Madame Butterfly (1898) แต่งโดย John Luther Long เนื้อหากล่าวถึงโศกนาฏกรรมความรักระหว่างหญิงสาวชาวญี่ปุ่นกับนายทหารเรือชาวอเมริกัน เคยตกหลุมรักกันในช่วงสงคราม แต่งงาน มีบุตรชาย แต่ภายหลังเขากลับมาพร้อมภรรยาฝรั่ง เธอเลยคิดสั้นฆ่าตัวตาย, ในไทยได้มีการสร้างเป็นละครเวทีโจโจ้ซัง และดัดแปลงเป็นบทละครเรื่องสาวเครือฟ้า

การขับร้องบทเพลงนี้ ผมมองเป็นการกลั่นแกล้งของหญิงสาวต่อเกาเหว่ยถัง เปรียบตัวเองดั่ง Madame Butterfly เมื่อได้พบเจอ(ว่าที่)คนรักครั้งนี้ แต่เขากลับมีคู่ครองขาอยู่แล้ว สังเกตว่าเธอดูจะกระหยิ่มยิ้ม เชิดหน้าชูตา ส่วนเขาก้มหน้าก้มตาด้วยความละอายใจ

มันมีสถานที่/ช่วงเวลามากมาย ที่ไซมอนจะแนะนำงานแต่งกำมะลอกับเกาเหว่ยถัง แต่หนังเลือกที่จะใช้ห้องนอน ยามดึกดื่น ค่ำคืนมืดมิด พร้อมแสงสีน้ำเงินมอบสัมผัสหนาวเหน็บ เพื่อสื่อถึงแผนการดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม เพียงสนองความต้องการของพวกเขาทั้งสองแค่นั้น!

ระหว่างการจัดบ้านใหม่เพื่อรอต้อนรับบิดา-มารดา นอกจากกวาดเก็บสิ่งล่อแหลม สลับสับเปลี่ยนรูปเปลือยมาเป็นคัดอักษรจีน ภาพคู่ไซมอนมาเป็นเหวยเหวย ครั้งหนึ่งเธอหยิบกล้องโพลารอยด์ซึ่งสามารถสื่อถึงการ ‘สร้างภาพ’ กระทำสิ่งปัจจุบันทันด่วน เพื่อลวงหลอก ตบตา หาใช่ตัวตนแท้จริงของพวกเขาไม่

ฉากที่บิดาเล่าถึงอดีตความหลัง เหตุผลการเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีนก็เพื่อหลบหนีการแต่งงาน สังเกตว่าทั้งสองยืนอยู่ในสวน หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน (บิดายืนข้างหน้า, บุตรชายยืนด้านหลัง) ก็เพื่อสื่อถึงความละม้ายคล้ายคลึงในโชคชะตากรรมของพวกเขา

ซึ่งหลังจากเล่าจบตัดมาภาพมุมกว้าง สังเกตว่ามีการถ่ายให้ติดลำต้นไม่ใหญ่ ซึ่งสามารถสื่อถึงความมั่นคงของวงศ์ตระกูล หรือจะมองว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นก็ได้เช่นกัน (ตอนกำหมัดชกหน้าอก ก็เหมือนการส่งมอบภาระหน้าที่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง คล้ายๆสำนวน Pushing Hand)

ไดเรคชั่นของผู้กำกับอังลี่ในฉากนี้ถือว่ามีความละเมียดไมเป็นอย่างมาก สามารถแบ่งออกเป็นสามช่วงขณะ

  • มารดามอบสิ่งข้าวของขวัญมากมาย เครื่องประดับ อั่งเปา ชุดเจ้าสาวสีแดง ให้กับเหวยเหวย โดยทั้งสองนั่งอยู่เบื้องหน้า และมีบิดาอยู่เบื้องหลัง … นี่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชนชาวจีนแต่ไรมา
  • ไซมอนมอบของขวัญให้กับบิดา-มารดา ยาบำรุงร่างกายและเครื่องสำอางค์ โดยพวกเขาต่างยืนค้ำศีรษะบิดานั่งอยู่ระหว่างกลาง … สื่อถึงแนวคิดของคนรุ่นใหม่ กลับตารปัตรจากธรรมเนียมปฏิบัติของคนรุ่นเก่า สร้างความอ้ำๆอึ้งๆให้พวกเขา เพราะการรับ-มอบของขวัญ หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
  • และเมื่อเหวยเหวยแต่งตัวเดินออกมา บรรดาสมาชิกในครอบครัวต่างตรงรี่เข้าไปหา ทอดทิ้งให้ไซมอนยืนเกาะกำแพงอยู่อย่างโดดเดี่ยว … สะท้อนทัศนคติของพวกเขาที่ยังยึดติดกับขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ยังไม่สามารถยินยอมรับไซมอนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

ปล. ผมครุ่นคิดว่า Sequence นี้น่าจะถ่ายทำแบบ Long Take แต่ถูกตัดต่อเพื่อแทรกปฏิกิริยาของเหวยเหวยระหว่างเห็นเงินและเปลี่ยนเสื้อผ้า

ฉากพิธีแต่งงานในศาลากลางเมือง New York นอกจากจะเป็นการเสียดสีชาวอเมริกันที่ชอบออกสำเนียงผิดๆถูกๆ เหวยเหวยก็จงใจพูดไม่ครบประโยค (โดยเฉพาะ better and richer, no poorer และไม่ยอมเอ่ยประโยค till death do us part) สังเกตว่าบิดา-มารดาที่นั่งอยู่ด้านหลัง มุมกล้องพยายามถ่ายให้พวกเขาอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างหนุ่ม-สาว ได้แต่จับจ้องมองอย่างเศร้าสลด หดหู่ … แม้นี่คือการแต่งงานที่เรียบง่าย ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันไม่ได้มีคุณค่าความสำคัญใดๆทางจิตวิญญาณเลยสักนิด!

ระหว่างกำลังเดินออกจากศาลากลางเมือง พานผ่านโถงทางเดินที่ไร้ผู้คน (มอบสัมผัสอันเวิ้งว่างเปล่า) บิดาทำสีหน้านิ่วคิ้วขมวด ส่วนมารดาก็มิอาจอดรนทน ร่ำร้องไห้แล้วโอบอดเหวยเหวย รู้สึกผิดหวังในพิธีแต่งงานที่ควรเป็นช่วงเวลาสำคัญสุดในชีวิตของหนุ่ม-สาว กลับไม่มีอะไรเลย ไม่น่าจดจำ ไร้คุณค่าความหมายใดๆ แถมเหมือนเป็นการดูถูกฝ่ายหญิง แสดงถึงความไม่จริงจัง แนวคิดของคนรุ่นใหม่ช่างน่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง (ในความคิดเห็นคนรุ่นเก่า)

ทั้งๆที่งานเลี้ยงแต่งงานควรเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง แต่บรรยากาศภัตตาคารแห่งนี้กลับดูเหงาหงอยเศร้าซึม หนาวเหน็บเย็นยะเยือกใจ (เป็นร้านที่มีความโอ่งโถง แต่สาดแสงสีน้ำเงิน และบริเวณรอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด)

แต่ใครจะไปคาดคิดว่าเจ้าของภัตตาคารแห่งนี้ คือลูกน้องเก่า/อดีตคนขับรถของนายพล จู่ๆก็ตรงเข้ามาสั่งจานเพิ่ม ไม่ยินยอมรับค่าอาหารใดๆ แถมเมื่อพูดคุยสอบถามไปเรื่อยๆก็อาสาจัดงานเลี้ยงแต่งงานให้หนุ่ม-สาว ทำให้บิดาจากเคยหน้าคิ้วขมวดกลายเป็นยิ้มเริงร่า ตรงกันข้ามเกาเหว่ยถังก้มหน้าขมวดคิ้วโดยพลัน!

Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) เมื่อตอนเจ้ามังกรน้อย อวี้เจียวหลง (รับบทโดยจางจื่ออี๋) ออกท่องยุทธจักร แล้วประมือกับจอมยุทธ์จนโรงเตี๊ยมพังพินาศ นี่เป็นฉากที่ทำให้ผมครุ่นคิดเล่นๆว่าถ้าอังลี่กำกับหนังตลก คงสร้างความขบขันไม่น้อยทีเดียว

The Wedding Banquet (1993) เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนออารมณ์ขันของอังลี่ได้อย่างเหนือชั้นมากๆ (สร้างก่อนหน้า Crouching Tiger หลายปีด้วย!) ต้องชมในความช่างสังเกตรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แล้วนำมาปรับประยุกต์เข้ากับภาษาภาพยนตร์ได้อย่างกลมกล่อมมากๆ โดยเฉพาะฉากแต่งตัวเจ้าสาว มาจนถึงถ่ายภาพแต่งงาน เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา เพลงประกอบกวนบาทา ดวงตาอันกลับกลอก แอ่นแล้วแอ่นอีก น้ำตาหยดเดียวอาจทำลายการแต่งหน้าสามชั่วโมง … ไม่มีมุกไหนที่แป๊กเลยนะ น่าเหลือเชื่อมากๆ

สำหรับฉากงานเลี้ยงแต่งงาน มีการจัดโต๊ะจีน ตกแต่งสถานที่ด้วยโทนสีแดง ลวดลายมังกรทอง แต่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว กลับสวมสูท ชุดแต่งงานตะวันตก นี่เป็นความพยายามผสมผสานวัฒนธรรมจากสองซีกโลก รวมถึงขนบประเพณีดั้งเดิม-รูปแบบวิถีชีวิตใหม่

เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดของเกาเหว่ยถัง จงใจครุ่นคิดสร้างกิจกรรมมากมายเพื่อกลั่นแกล้งคู่เจ้าบ่าว-เจ้าสาว จดจำเหตุการณ์ในวันนี้ไม่รู้ลืม หนึ่งในนั้นก็คือแย่งกินหัวเป็ดทอดกรอบ (มั้งนะ) ด้วยการใช้ปากงับเหยื่อ … ผมยังครุ่นคิดไม่ออกว่ามันจะสื่อถึงอะไร?

นี่คือเกมที่ถ้าเป็นคู่รักกันจริงๆ ก็น่าจะจำลีลาการจุมพิตของอีกแฟนหนุ่ม/สามี (จริงๆเหรอ?) ซึ่งการที่เหวยเหวยตอบผิด นั่นเพราะไม่ได้สนิทสนมกับเกาเหว่ยถังขนาดนั้น เพื่อนๆเลยต้องตบมุกด้วยการให้เด็กน้อยขึ้นมาจูจุ๊บ ซึ่งคงมอบสัมผัสที่แตกต่างอย่างชัดเจน เลยกระมัง!

ทีแรกผมก็ไม่ได้สังเกตหรอกนะ แต่พอหนังตัดมาภาพช็อตนี้บ่อยครั้งและพอพูดประโยค

You’re witness the results of 5000 years of sexual repression.

เห้ย! นั่นหน้าคุ้นๆ ผู้กำกับอังลี่แอบหลบซ่อนตัวและแสดงความคิดเห็นที่น่าทึ่งไม่น้อยเลยนะ! ก็จริงอย่างที่ว่าไว้ หนุ่ม-สาวชาวจีนในอดีตต่างถูกควบคุมครอบงำ รักใครชอบใครก็ไม่ได้ ไร้สิทธิ์เสียงครุ่นคิดแสดงออก คู่ครองก็มักถูกจับคู่คลุมถุงชน ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเสียของบิดา-มารดา

งานเลี้ยงที่ควรเลิกรา แต่เพื่อนๆของเกาเหว่ยถังก็รักกันขนาดนั้น จึงไม่ยินยอมเลิกราโดยง่าย บุกเข้ามาในห้องหอจัดไปอีกสองเกมคลาสสิก

  • จริงๆมันควรเป็นเปลือยกายกินซูชิ แต่แค่สวมเสื้อผ้าปิดตากินลูกเชอรี่ก็พอแล้วมั้ง เพื่อเป็นการเล้าโลมอารมณ์
  • และเกมผีผ้าห่ม นอนคลุมโปงแล้วถอดเสื้อผ้า แล้วปล่อยให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวร่วมรักหลับนอนกันตามสบาย

เพราะความมึนเมาด้วยส่วนหนึ่งเหวยเหวยจึงสามารถ ‘ข่มขืน’ เกาเหว่ยถัง ผมใช้คำนี้เพราะฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ แม้ร่างกายมีปฏิกิริยาอารมณ์ แต่เขาก็ไร้เรี่ยวแรง ไม่สามารถโต้ตอบขัดขืนใดๆ … แต่ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ จะมองว่าเกาเหว่ยถึงสมยินยอมก็ได้เช่นกัน

หลังจากไซมอนรับรู้การตั้งครรภ์ของเหวยเหวย ก็แสดงอาการเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจเกาเหว่ยถังอย่างรุนแรง กล้องแพนติดตามขณะเดินไปเดินมา วนซ้ายวนขวา เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก (ภายนอก-ภายในบ้าน) ขึ้นเสียงโหวกเหวกโวยวายโดยไม่สนหัวบิดา-มารดา ครุ่นคิดว่าพวกเขาคงรับฟังไม่เข้าใจ … เป็นฉากที่มีไดเรคชั่นชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าเสียจริง!

คำพูดของบิดาน่าสนใจมากๆ คือบอกให้มารดาเงียบงัน ไม่ต้องออกปากแสดงความคิดเห็น ปล่อยให้พวกเด็กๆแก้ปัญหากันเอาเอง เรื่องบางเรื่องผู้สูงวัยอย่างเราๆไม่ควรเข้าไปจุ้นจ้าน … นั่นเพราะบิดารับรู้ปัญหาของพวกเขา (ฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง) จึงไม่ต้องการเอ่ยกล่าวสนทนาใดๆ พึงพอใจในสิ่งที่ได้รับก็เพียงพอแล้ว

You can’t put your foot in your mouth if you keep quiet.

บิดาล้มป่วยกระทันหันจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้อาการไม่หนักมากแต่ก็สร้างความหวาดหวั่นกลัวให้เกาเหว่ยถัง จึงตัดสินใจพูดบอกความจริงต่อมารดา นี่เป็นอีกซีนเล็กๆเต็มไปด้วยรายละเอียดซ่อนเร้น

  • ตอนแรกต่างนั่งสนทนาตรงเก้าอี้ เกาเหว่ยถังพยายามพูดบอกใบ้ว่าตนเองเป็นเกย์ แต่มารดากลับครุ่นคิดเป็นอย่างอื่น ไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อสารออกมา
  • เกาเหว่ยถังพลันลุกขึ้นหันหน้าชกกำแพง เพราะหมดปัญญาจะหาคำเบี่ยงเบน บอกใบ้ว่าตนเองเป็นเกย์กับมารดา
  • วินาทีพูดบอกว่าตนเองเป็นเกย์ เดินมายืนหยุดหันหลังริมภาพฝั่งซ้าย (ปฏิเสธการเผชิญหน้า) เงาของเขาบดบังแสงสว่างที่สาดส่องมารดา (สร้างความมืดมิดภายในจิตใจมารดา)
  • จากนั้นเกาเหว่ยถังเดินวนไปวนมาด้วยความกระวนกระวาย ส่วนมารดาก็สอบถามว่าไซมอนทำให้ลูกกลายเป็นแบบนี้หรือเปล่า
  • เกาเหว่ยถังหันหน้าชนกำแพงอีกครั้ง เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมด งานแต่งหลอกๆ ไม่ได้คาดคิดว่าเรื่องราวจะบานปลายถึงขนาดนี้
  • เมื่อมารดาพูดว่า ห้ามบอกเรื่องนี้กับบิดาเด็ดขาด! นั่นคือสิ่งที่ทั้งสองต่างเห็นด้วย เกาเหว่ยถังจึงหันหน้ากลับมาหลังพิงกำแพง แล้วกล้องค่อยเคลื่อนมาหาไซมอนกับเหวยเหวย แอบหลบอยู่ตรงหัวมุม รับรู้พบเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดบังเกิดขึ้น

ใครเคยรับชม Eat Drink Man Woman (1994) ผลงานลำดับถัดไปของผู้กำกับอังลี่ ก็อาจมักคุ้นเกี่ยวกับแนวคิดการทำอาหาร รวมถึงการล้างจานที่ล้วนแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง

เราสามารถเปรียบเทียบสามช่วงเวลา ปรุงอาหาร->รับประทาน->ล้างจาน ได้กับก่อนวันงาน->พิธีแต่งงาน->หลังงานแต่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้(ล้างจาน)สามารถสื่อถึง

  • บิดาล้างจาน แต่กลับทำตกแตก สามารถเทียบแทนสภาพจิตใจของเขา/คนรุ่นเก่า ต่อความผิดหวังในพฤติกรรมของลูกๆ (จริงๆยังมีอีกหลายฉากที่ใช้การนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ เทียบแทนความรู้สึกของบิดาที่แอบล่วงรับรู้ความจริง แต่ไม่เคยพูดบอกแสดงออกมา)
  • ไซมอนและเกาเหว่ยถัง หลังล้างจานเสร็จยืนหันหน้า-หลัง คุยกันว่าหลังจากบิดา-มารดาเดินทางกลับไต้หวัน พวกเขาก็คงถึงวันต้องแยกย้าย เลิกร้างราต่อกัน

ในห้องนอนของเกาเหว่ยถังและเหวยเหวย ค่ำคืนนี้มีความหนาวเหน็บ (ด้วยแสงสีน้ำเงิน) เย็นยะเยือกเป็นพิเศษ นั่นเพราะหญิงสาวตัดแล้วใจแล้วจะทำแท้ง จึงร้องขอให้เขาร่วมออกเดินทางไปหาหมอด้วยกัน ความมืดปกคลุมใบหน้าทั้งสองอย่างมิดชิด

หนึ่งในฉากที่ทำให้ผมน้ำลายฟูมปาก! ไซมอนพาบิดามาออกกำลังกายยามเช้า ระหว่างนั่งพักเหนื่อยอยู่ริมชายฝั่ง จู่ๆได้รับซองอั่งเปา ของขวัญวันเกิด (แต่สำหรับคนจีน นี่คือสัญลักษณ์การยินยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว) ไม่เพียงเท่านั้นบิดายังพูดภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อ สร้างความตกตะลึงให้ไซมอน ก่อนตระหนักว่าทุกสิ่งที่ตนเองเคยพูดสนทนา ล้วนเข้าหูผู้เฒ่าคนนี้ทั้งหมดสิ้น!

แต่วินาทีไฮไลท์คือตอนที่บิดาพูดภาษาจีน ไซมอนฟังไม่เข้าใจ แต่ผู้ชมสามารถอ่านซับไตเติ้ล (นี่คือวิธีการที่ผู้กำกับอังลี่ใช้สื่อสารกับผู้ชม ไม่ต่างจาก ‘Breaking the Fourth Wall’ แต่ด้วยการสนทนาผ่านคำพูดคุยคนละภาษา) รับรู้เหตุผลของการเสียสละ แม้จะต้องแลกมาด้วยคำโป้ปดหลอกลวง ‘สร้างภาพ’ ถ้าสุดท้ายแล้วสามารถบรรลุเป้าหมายความต้องการ อะไรอย่างอื่นก็ไม่สำคัญเท่าไหร่หรอก

For the family, If I didn’t let them lie, I’d never have got my grandchild.

เอาจริงๆถ้าหนังไม่มีคำแปลซับไตเติ้ล ผมก็คิดว่าผู้ชมน่าจะมีความเข้าใจที่ไม่แตกต่างกันนัก นี่เป็นอีกหนึ่งความน่าอัศจรรย์ของผู้กำกับอังลี่ ในการผสมผสานการสื่อสารผ่านภาษาจีน-อังกฤษ คลุกเคล้าเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกล่อมลงตัว (กล่าวคือถ้าเป็นคนจีนหรือพูดภาษาอังกฤษ รับชมแบบไม่มีซับไตเติ้ล ก็น่าจะสามารถดูหนังรู้เรื่อง!)

หนังไม่ได้อธิบายเหตุผลที่จู่ๆเหวยเหวยล้มเลิกแผนการทำแท้ง มีเพียงแค่อยากรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ อาหารฟาสฟู้ด (อาจสื่อถึงการตัดสินใจที่รวดเร็วทันด่วน) ขนมปังสองอันประกบเนื้อบดตรงกลาง (นั่นอาจคือคำตอบ ‘ทรีซัม’ ที่เธอครุ่นคิดก็เป็นได้)

ผมไม่ค่อยแน่ใจคำตอบนี้ในยุคสมัยนั้นนัก เพราะมันน่าจะยังเป็นประเด็นต้องห้าม คนทั่วๆไปไม่สามารถยินยอมรับลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว ปัจจุบันก็ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมที่อ้างหลักศีลธรรม มโนธรรม ทั้งๆที่พุทธศาสนาไม่ได้มีข้อข้ามเรื่องผัวเมียหลายคน (แค่ไม่ร่วมประเวณีกับบุคคลผู้มี ‘เจ้าของ’ ไม่ให้อนุญาต นั่นคือผิดศีลข้อสาม) ดูผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศสารขัณฑ์เป็นแบบอย่างก็ได้นะครับ

ก่อนที่บิดา-มารดา จะเดินทางกลับไต้หวัน จะมีการร้องเรียงอิริยาบทผ่อนคลายของตัวละครทั้งหลาย

  • มารดากำลังรดน้ำต้นไม้ บ่นพรำว่าเมื่อตนเองไม่อยู่มันคงจะแห้งเหี่ยวเฉา ขาดความสดชื่น
    • สามารถสื่อถึงความวุ่นวายในช่วงเวลาที่เธอมาอาศัยอยู่กับลูกๆ
  • บิดาและเกาเหว่ยถัง ต่างหลับปุ๋ยอย่างผ่อนคลาย (สวนนอกบ้าน-ภายในห้อง) ต่อจากนี้จะไม่มีเรื่องวุ่นๆให้พวกเขาเหน็ดเหนื่อยหน่ายหัวใจ
  • ไซมอนทำหน้าที่ดูแลเกาเหว่ยถัง (แทนมารดา) หยิบโทรศัพท์กลับวางลงบนเครื่อง
  • ขณะที่เหวยเหวย ทำการวาดรูปภาพใหม่เสร็จสิ้น แสดงอาการผ่อนคลาย หรือคือเหตุการณ์วุ่นๆนี้กำลังสิ้นสุดลง
    • น่าเสียดายไม่ถ่ายให้เห็นว่าเธอวาดภาพอะไร แต่มองคร่าวๆน่าจะเกี่ยวกับต้นไม้ เพื่อล้อกับการรดน้ำต้นไม้ของมารดา (รูปธรรม-นามธรรม)

นี่เป็นช็อตที่เล็กๆแต่มีความหมายลุ่มลึกมากๆ เกาเหว่ยถังเดินขึ้นบันได้เพื่อจะเข้าห้องน้ำ พอดิบพอดีบิดาเปิดประตูสวนออกมา พูดทักทาย แล้วเขาก็เดินเข้าไป … นี่สามารถสื่อถึงการสืบสาน รักษา ต่อยอด จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากบิดาสู่บุตรชาย พิธีกรรมปลดเปลื้องภาระในลำไส้ (มีทายาทสืบสกุลเกา) ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

ฉากในสนามบิน TWA Terminal, JFK International Airport มีความโอ่งโถง รโหฐาน แต่สาดด้วยแสงสีน้ำเงิน และบริเวณรอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด (แทบไม่ต่างจากบรรยากาศภัตตาคารแห่งนั้น) นี่เป็นการสร้างบรรยากาศสำหรับการร่ำรา ช่วงเวลาแห่งความสุขได้หมดสิ้นลง

และช็อตนี้ที่ทุกคนต่างห้อมล้อมรอบ เพื่อเชยชมอัลบัมงานแต่งงาน บิดา-มารดานั่งอยู่เบื้องหน้า (คนรุ่นเก่า) หนุ่มๆและหญิงสาวทั้งสามยืนอยู่เบื้องหลัง(คนรุ่นหลัง) โน้มตัวเข้าหาชิดใกล้ มุมกล้องนี้เหมือนทุกคนกำลังอยู่ในเฟรมภาพถ่าย ครอบครัวเดียวกัน เป็นอันหนึ่งเดียว!

ช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นอีกครั้งที่ทำให้ผมน้ำลายฟูมปาก แทบอยากจะคุกเข่าคารวะผู้กำกับอังลี่ ครุ่นคิดได้ยังไงว่ะ! บิดา-มารดาค่อยๆก้าวย่างอย่างช้าๆมาตรงศุลกากร ด่านตรวจคนขาออก ณ สนามบิน แล้วบิดาก็ยกมือสองทั้งข้างขึ้น(อย่างสโลโมชั่น)ให้เจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธในร่างกาย

หลังจากเรื่องราววุ่นๆที่เกิดขึ้นในหนัง บิดาได้พบเห็น ได้รับฟัง ได้เรียนรู้ความจริงทุกสิ่งอย่าง แต่เขาก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร ได้แค่ทำใจยินยอมรับสภาพ ยกมือทั้งสองข้างขึ้นแสดงถึงการ ‘ศิโรราบ’ ต่อโชคชะตากรรม!

นอกจากนี้ถ้าเราสังเกตการค่อยๆยกมือทั้งสองข้างขึ้นอย่างช้าๆ (สโลโมชั่น) มันเหมือนการสยายกางปีก ตระเตรียมขึ้นเครื่อง โบกโบยบินสู่อิสรภาพ เพราะต่อจากนี้บิดาไม่จำเป็นต้องเจ้ากี้เจ้าการ บีบบังคับให้บุตรชายทำอะไรโน่นนี่นั่นอีกต่อไป หมดสิ้นภาระหน้าที่ของตนเอง เฝ้ารอคอยวันเวลาแห่งความตาย จิตวิญญาณล่องลอยสู่สรวงสวรรค์

ตัดต่อโดย Timothy S. Squyres (เกิดปี 1959) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับอังลี่ตั้งแต่ The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994), Sense and Sensibility (1995), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Hulk (2003), Lust, Caution (2007), Life of Pi (2012) ฯ

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของเกาเหว่ยถัง ตั้งแต่ได้รับจดหมาย (อัดเสียงใส่เทปคาสเซ็ต) จากทางบ้างเร่งเร้าให้หาคู่แต่งงาน มีทายาทสืบสกุล โดยเรื่องราวสามารถแบ่งง่ายๆออกเป็นสามองค์

  • ก่อนการมาถึงของบิดา-มารดา
    • แนะนำตัวละครเกาเหว่ยถัง, คู่ขาไซมอน และหญิงสาวเหวยเหวย
    • บริษัทจัดหาคู่ เกาเหว่ยถังกับนักร้องอุปรากร จบด็อกเตอร์ สูง 5 ฟุต 8 นิ้ว
    • ครุ่นคิดวางแผนงานแต่งกำมะลอ ตระเตรียมการให้เหวยเหวยย้ายเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์
  • งานแต่งงานกำมะลอ
    • บิดา-มารดา เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา วันถัดมาก็พาไปยังศาลากลางเพื่อจัดงานแต่งงานเรียบๆง่ายๆ และตอนเย็นรับประทานอาหารยังภัตตาคารหรู จับพลัดจับพลูพบเจออดีตลูกน้อง อาสาจัดงานแต่งงานใหญ่โตให้สมศักดิ์ศรี
    • เรื่องวุ่นๆของระหว่างงานแต่งงาน
    • พอเข้าห้องหอก็ถูกระรานจากผองเพื่อน
  • ความวุ่นวายหลังงานแต่งงาน
    • บิดา-มารดา ยังคงอาศัยอยู่กับพวกเขาอีกสักพัก สร้างความเหนื่อยหน่าย ร้อนรน กระวนกระวาย
    • เมื่อเหวยเหวยตระหนักว่าตนเองตั้งครรภ์ ไซมอนก็ถึงจุดแตกหัก มิอาจอดรนทนอีกต่อไป
    • หลังจากบิดาล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล เกาเหว่ยถังพูดบอกความจริงกับมารดา
    • เหวยเหวยตั้งใจจะทำแท้ง
    • และการเดินทางกลับของบิดา-มารดา

ก่อนรับชมหนังผมครุ่นคิดว่างานแต่งงาน (The Wedding Banquet) น่าจะคือไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย แต่ที่ไหนได้แค่องก์สองเท่านั้นเอง! ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าความสนุกสนานจะลดน้อยลงนะครับ องก์สามกลับยิ่งพีคขึ้นเรื่อยๆเพราะหนุ่มๆสาวๆต่างเริ่มไม่สามารถอดกลั้นฝืนทน ปกปิดซุกซ่อนเร้นความจริงได้อีกต่อไป! เมื่อถึงจุดๆหนึ่งระเบิดเวลาก็เริ่มทำงาน ทำลายล้างผลาญ บดขยี้จี้แทงใจดำอย่างสาหัสสากรรจ์ แล้วสูงสุดก็หวนกลับสู่สามัญ


เพลงประกอบโดย Thierry Schollhammer (เกิดปี 1958) หรือชื่อในวงการ Mader เกิดที่ Saint-Paul-de-Vence ประเทศฝรั่งเศส, ค้นพบความชื่นชอบด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 5 ขวบ หลงใหลบทเพลงแนว Impressionist ของ Maurice Ravel, Nino Rota, Ennio Morricone, Henry Mancini, เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นผู้ช่วย Michel Magne, ผลงานเด่นๆ อาทิ In the Soup (1992), The Wedding Banquet (1993), Eat Drink Man Woman (1994) ฯ

งานเพลงของหนังถือว่ามีความโดดเด่น เซ็กซี่เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เน้นจังหวะสนุกสนาน รุมบ้า (Rhumba) สร้างบรรยากาศครื้นเครง อลเวง ยียวนกวนบาทา เรียกเสียงฮากลิ้ง หัวเราะดังลั่นกว่าเก่า, ขณะที่บทเพลงหวานๆมักมีความเหงาๆเศร้าซึม จากการผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีนเข้าไปสองสามชิ้น (พิณจีน, ขลุ่ยจีน ฯ) เพิ่มกลิ่นอายความเป็นตะวันออกที่อยู่ห่างไกล (เพราะดำเนินเรื่องยังสหรัฐอเมริกา ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนของบรรดาตัวละครทั้งหลาย)

ตัวเลือก Mader ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยละ เพราะได้ทำการผสมผสานแอคคอร์เดียน (เครื่องดนตรีประจำชาติฝรั่งเศส) ซึ่งมอบสัมผัส Impressionist ในสไตล์ฝรั่งเศส คลุกเคล้าเข้าไปในหลายๆบทเพลง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นสากลร่วมสมัยให้กับหนัง

ขอเริ่มจากเพลงนี้แล้วกัน Ma & Pa Arrive แม้ความยาวไม่ถึงนาทีแต่ก็สร้างความสนุกสนาน ครื้นเครง เรื่องอลเวงจากการมาถึงของ Ma & Pa ทำให้สามชีวิตตกอยู่ในความปั่นป่วนสุดๆ … สังเกตว่าบทเพลงนี้จะมีกลิ่นอายความเป็นจีนแทรกอยู่เล็กๆด้วยนะครับ

The Banquet บทเพลงในงานเลี้ยงแต่งงาน ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครื้นเครง อลเวงด้วยจังหวะรุมบ้า (Rhumba) อดไม่ได้จะขยับเท้า โยกศีรษะ พร้อมอมยิ้มไปความวุ่นๆวายๆที่บังเกิดขึ้น นี่ไม่ใช่งานเลี้ยงเพื่อเจ้าบ้าว-เจ้าสาวเลยนะ แต่คือบรรดาผองเพื่อน ญาติมิตรสหาย เพราะถือเป็นโอกาสได้กลั่นแกล้ง ก่อกวน สร้างความปั่นป่วน ต้องการให้กลายเป็นช่วงเวลาตราประทับฝังใจไม่รู้ลืม

The Maiden’s Prayer คือหนึ่งใน Variations ของ Main Theme โดยใช้การบรรเลงด้วยเปียโนเท่านั้น สังเกตว่าแทบทุกท่อนจะมีการไล่ระดับเสียงและเล่นรัวโน๊ตอยู่บ่อยครั้ง (จะรัวโน๊ตหลังจากไล่ระดับเสียงแล้ว) เพื่อสื่อถึงการเดินทาง ก้าวสู่จุดสูงสุด แล้วระเริงรื่นอยู่บนสรวงสวรรค์ (หรือจะมองว่าเป้าหมายคืออิสรภาพชีวิตก็ได้เช่นกัน)

นั่นแสดงว่าคำอธิษฐานของเหวยเหวย (จริงๆก็หนุ่มๆสาวๆนะแหละ) คือการปลดปล่อยตนเองจากพันธการ คำโกหกหลอกลวง ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เติมเต็มความต้องการของหัวใจอย่างแท้จริง!

Airport (เป็นการตั้งชื่อที่ตรงไปตรงมา แต่สื่อความหมายได้อย่างลุ่มลึกล้ำ) บทเพลงแห่งการร่ำจากลาที่อาจทำให้หลายคนหลั่งน้ำตา แม้ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา หนุ่มๆสาวๆต่างเฝ้ารอคอย ต้องการขับไล่บิดา-มารดา ให้เดินทางกลับบ้านไวๆ เพื่อพวกเขาจักได้มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตเสียที แต่เมื่อวินาทีนั้นมาถึงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด ภายนอกพยายามแสดงความเข้มแข็งแกร่ง จิตใจกลับอ่อนเรี่ยวแรง ห่วงหวงโหยหา ก้าวเดินอย่างเชื่องช้า ศิโรราบต่อโชคชะตากรรม

ความโดดเด่นของบทเพลงนี้ คือการผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันออก-ตะวันตก โดยใช้พิณจีนสลับกับแอคคอร์เดียน พร้อมการสั่นระริกรัวของแบนโจที่สะท้านทรวงใน บีบเค้นคั้นให้ธารน้ำตาหลั่งไหล ก่อนเสียงรัวกลองบองโกช่วงท้าย แทนก้าวย่างเดิน (สโลโมชั่นของบิดา-มารดา) และเสียงเต้นหัวใจที่ค่อยๆแผ่วเบาลง

The Wedding Banquet (1993) นำเสนอความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่างระหว่างคนสองรุ่น สร้างความอึดอัดร้อนรน จนทำให้ฝั่งฝ่ายหนึ่งต้องการดิ้นหลบหนี โบกโบยบินสู่อิสรภาพ (อพยพจากไต้หวันสู่สหรัฐอเมริกา) เพื่อจักไม่ถูกควบคุมครอบงำ อยู่ภายใต้กฎกรอบ ขนบประเพณี ค่านิยมทางสังคม กระทำสิ่งใดๆที่สามารถตอบสนองความต้องการของหัวใจ

แต่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สามารถทอดทิ้งรากเหง้า ต้นกำเนิด ค่านิยมทางสังคม วิถีชีวิตที่ได้รับการเสี้ยมสอนมา อิสรภาพของเกาเหว่ยถัง จึงแลกมากับการต้องปกปิดความจริงต่อบิดามารดา ไม่สามารถเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ ชื่นชอบผู้ชาย มีคู่ขาอาศัยอยู่ร่วมกันมาหลายปี

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย! เมื่อถึงจุดๆหนึ่งในชีวิต ไม่มีใครสามารถอดรนทนสร้างภาพ กระทำสิ่งโป้ปดหลอกลวงโดยไม่รู้สึก(สำนึก)ผิดภายใน คล้ายกับระเบิดเวลาที่สะสมความอึดอัดอั้น เมื่อถึงวันที่มิอาจกลั้นไหว ย่อมปะทุทำลายทุกสรรพสิ่งอย่าง มิอาจปกปิดซุกซ่อนเร้นความเป็นจริงได้อีกต่อไป

เรื่องราวของคนสองรุ่น บิดา-เกาเหว่ยถัง หลายสิ่งอย่างมีความละม้ายคลึง แทบจะเรียกประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมก็ว่าได้!

  • บิดาไม่สามารถอดกลั้นต่ออุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เลยเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน แล้วอพยพหลบหนีลี้ภัยสู่เกาะไต้หวัน
  • เกาเหว่ยถังได้รับการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดกวดขัน จนเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น พอเติบโตขึ้นเลยตัดสินใจออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ต่างคนต่างพยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูแข็งแกร่ง ปกปิดบังความจริงบางอย่างไว้ภายใน ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายล่วงรับรู้ประการใด

  • เกาเหว่ยถัง ปกปิดบังว่าตนเองเป็นเกย์ ใช้ชีวิตกับคู่ขา จัดงานแต่งงานเพียงเพื่อสนองความต้องการของครอบครัว
  • บิดามีร่างกายอิดๆออดๆ พยายามไม่แสดงอาการเจ็บป่วยออกมา รวมถึงเรื่องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ เข้าใจบทสนทนาระหว่างบุตรชายกับไซมอน รับล่วงรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าเกาเหว่ยถังเป็นเกย์

ในมุมชาวตะวันตกที่เชื่อในอิสรภาพ ไม่ชอบการปกปิดซุกซ่อนเร้น ครุ่นคิดเห็นอะไรก็พูดบอกแสดงออกมา เหตุการณ์แบบในหนังจึงสร้างความอึดอัดคับข้องใจ ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกที่ส่วนใหญ่นิยมสร้างภาพให้ดูดี ชอบเล่นละคอนตบตา พยายามกลบเกลื่อน ปฏิเสธเปิดเผยข้อเท็จจริง เพราะไม่ต้องการทำร้ายความรู้สึกของอีกฝั่งฝ่าย (แต่มันก็กลายเป็นความอึดอัดอั้นที่สะสมอยู่ภายในจิตใจ)

ผู้กำกับอังลี่พยายามนำเสนอว่า มุมมองจากทั้งสองฟากฝั่งโลกต่างมีเหตุ-มีผล ไม่มีถูก-ไม่มีผิด

  • มารดาได้รับการเปิดเผยจากบุตรชาย (ว่าเป็นเกย์) แรกเริ่มมีปฏิกิริยาอ้ำๆอึ้งๆ ไม่อยากยินยอมรับ แต่ก็ค่อยๆปรับตัวและทำใจได้
  • บิดาแม้ไม่ได้รับฟังคำพูดบอกจากปากบุตรชาย แต่ก็สามารถตระหนักรู้ พูดคุยกับไซมอน และมอบซองอั่งเปา (สัญลักษณ์ของการยินยอมรับเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว)

มันขึ้นอยู่กับทัศนคติส่วนบุคคลว่าจะเลือกใช้ชีวิตรูปแบบไหน กล้าแสดงออกอย่างอิสรภาพ หรือซุกซ่อนเร้นความต้องไว้ภายใน แค่ว่าอย่างน้อยที่สุดไม่ควรทำให้คนที่เรารักเศร้าโศกเสียใจ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ควรเผชิญหน้า/ยินยอมรับความจริง และเรียนรู้จักให้อภัยกันและกันในทุกๆสิ่งอย่าง

งานแต่งกำมะลอระหว่างเกาเหว่ยถังกับเหวยเหวย สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-จีนแผ่นดินใหญ่ ที่มองจากภายนอกต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการต่อสู้/ความขัดแย้งใดๆ แต่จิตใจยังคงเต็มไปด้วยอคติ การแบ่งแยก ทั้งๆก็มีสายเลือดจีนเหมือนกัน กลับไม่สามารถมองตากันติด รวมกันเป็นอันหนึ่ง … นั่นเพราะเกาเหว่ยถังฝักใฝ่ในไซมอน หรือคือประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกามากกว่า

ช็อตที่ไซมอน-เกาเหว่ยถัง-เหวยเหวยกอดกันกลม สะท้อนความเพ้อฝันของผู้กำกับอังลี่ ที่ต้องการสื่อถึงสันติภาพระหว่างสหรัฐอเมริกา-ไต้หวัน-จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้-ไกล เคยมีความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่างทางการเมือง แต่เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตร่วมโลกใบนี้ ก็ควรอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข

ขณะที่คนรุ่นเก่าก่อน เพราะโลกปัจจุบัน(นั้น)ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากๆ แตกต่างจากอดีตที่พวกเขาเคยเติบโตอยู่อาศัย เด็กรุ่นใหม่มีความเฉลียวฉลาด ครุ่นคิดอ่าน เป็นตัวของตนเองสูงมากๆ การจะบีบบังคับให้ต้องกระทำตามโน่นนี่นั่น รังแต่จะทำให้เกิดอคติ ความขัดแย้ง ไม่ยินยอมรับกันและกัน … สิ่งหลงเหลือที่พวกเขาจะทำได้ก็คือพูดเล่าความหลัง หวนระลึกความทรงจำ ให้คำแนะนำ แล้วปล่อยไปตามวิถีของโลก วัฏจักรชีวิต ศิโรราบต่อโชคชะตากรรม

ไตรภาคป๊ะป๋ารู้ดี ‘Father Knows Best’ นำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างคนสองรุ่น หนุ่มสาว-ผู้สูงวัย ความเป็นตะวันตก-ตะวันออก โหยหาอิสรภาพเสรี (Freedom) vs. ยึดถือมั่นในกฎกรอบประเพณี (Tradition) ต้องการเป็นตัวของตนเอง (Individual) vs. โหยหาการยินยอมรับจากสังคม (Society) ฯลฯ ความขัดแย้งเหล่านี้มักสร้างความอึดอัดคับข้องใจให้ทั้งสองฝั่งฝ่าย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาโดยการพูดคุยเผชิญหน้า ยินยอมรับฟังความจริง ปล่อยวางอคติของตนเอง และรู้จักให้อภัยกันและกัน


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถคว้ารางวัล Golden Bear ร่วมกับ Woman Sesame Oil Maker (1993) ของผู้กำกับเซียเฟย … ถือเป็นปีทองของหนังจีนโดยแท้! เพราะไม่กี่เดือนหลังจากนี้ Farewell My Concubine (1993) ก็สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ด้วยทุนสร้าง $750,000 เหรียญ (บางแหล่งข่าวปัดตัวเลขกลมๆ $1 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินทั่วโลก $23.6 ล้านเหรียญ ถ้าคิดเป็นสัดส่วนรายจ่าย:รายรับ ต้องถือว่าทำกำไรมากสุดแห่งปี (เมื่อเทียบกับ Jurassic Park (1993) ทุนสร้าง $60 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $914 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตราส่วน 13.8 เท่านั้นเอง!)

ช่วงปลายปีมีลุ้นรางวัลมากมาย แถมยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนไต้หวันลุ้นรางวัล Oscar สามารถเข้าถึง 5 เรื่องสุดท้าย แต่ไม่ใช่ตัวเต็งใดๆนะครับ

  • Oscar: Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ Belle Epoque (1992)
  • Golden Globe Award: Best Foreign Language Film พ่ายให้ Farewell my Concubine (1993)
  • Golden Horse Film Festival
    • Best Feature Film ** คว้ารางวัล
    • Best Director ** คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (หลางซง) ** คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actress (กุยย่าเหล่ย) ** คว้ารางวัล
    • Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
    • Best Film Editing

การได้มีโอกาสรับชมผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับอังลี่ ทำให้ผมตระหนักถึงวิสัยทัศน์ อัจฉริยภาพที่คนส่วนใหญ่มักข้าม (ผู้ชมฝั่งเอเชียมักมองว่าอังลี่สร้างหนังขายฝรั่ง, ส่วนชาวอเมริกันก็มักดูถูกเหยียดหยามคนผิวเหลือง) ส่วนผสมของโลกตะวันออก-ตะวันตก นำเสนอความขัดแย้งระหว่างสองสิ่งขั้วตรงข้าม (เพศสภาพ, เชื้อชาติพันธุ์, วิถีความเชื่อ, ขนบประเพณีวัฒนธรรม ฯลฯ) รวมไปถึงภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ เพื่อค้นมองหาอัตลักษณ์ตัวตน หนทางสายกลางในการแก้ปัญหาใดๆ

The Wedding Banquet (1993) เป็นภาพยนตร์ที่ผมเริ่มต้นด้วยความคาดหวังระดับหนึ่ง ครุ่นคิดว่างานแต่งงานคงเป็นไคลน์แม็กซ์ตอนจบ แต่กลับสิ้นสุดพิธีการในระยะเวลาเพียงแค่ชั่วโมงเดียวเอง! เรื่องราวหลังจากนั้นเป็นอะไรเกิดความคาดหมายมากๆ โดยเฉพาะสองฉากที่ทำเอาผมแทบน้ำลายฟูมปาก ขณะบิดาสนทนาภาษาอังกฤษกับไซมอน และช็อตสุดท้ายยกมือขึ้นเหนือศีรษะ ถ้าคุณสามารถครุ่นคิดเข้าใจ จักพบเห็นถึงอัจฉริยภาพสมควรค่าเรียกว่า ‘ปรมาจารย์’ อังลี่

แนะนำคอหนังโรแมนติก (Romantic) คอมเมอดี้ (Comedy) เกี่ยวกับผู้อพยพ (Immigrant) รสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual), สะท้อนปัญหาครอบครัว (Family) ความคิดเห็นต่างของคนสองวัย (Generation Gap)

จัดเรต 13+ จากการสร้างภาพ เก็บกดอึดอัดอั้น และความสัมพันธ์ทรีซัม

คำโปรย | ผู้กำกับอังลี่จัดงานเลี้ยง The Wedding Banquet ได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ละเมียดไมในทุกๆรายละเอียด
คุณภาพ | มี
ส่วนตัว | หลงใหลมากๆ

Curse of the Golden Flower (2006)


Curse of the Golden Flower (2006) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♡

ความอร่ามของพระราชวัง(ดอก)ทอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงคติรวมหมู่ (Collectivism) เมื่อผู้คนสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกระทำสิ่งต่างๆเพื่อเป้าหมายส่วนรวม จักสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้ประเทศชาติ, นี่คือภาพยนตร์ที่ทำให้รัฐบาลจีนเลือกจางอี้โหมว มาเป็นผู้กำกับพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing 2008

ถ้าไม่นับ Red Cliff (2008-09) ที่แยกฉายสองภาค Curse of the Golden Flower (2006) ถือเป็นภาพยนตร์จีนทุ่มทุนสร้างสูงสุดในทศวรรษ 2000s หมดสิ้นไปกับการก่อร่างสร้างพระราชวังทองขึ้นทั้งหลัง! ตัดเย็บชุดเกราะนับพัน (แค่ชุดของฮ่องเต้ก็หลักล้านหยวนแล้วนะ) ค่าแรงตัวประกอบประมาณหมื่นๆคน ขณะที่ CGI กลับถูกลดทอนให้เหลือปริมาณน้อยที่สุด … ผู้กำกับจางอี้โหมวบอกว่า ยังไม่ค่อยประทับใจคุณภาพของ VFX จากประสบการณ์ Hero (2002) และ House of Flying Daggers (2004) จึงต้องการถ่ายทำด้วยคนจริงๆ สถานที่จริงๆ ให้มากที่สุด

ประมาณทศวรรษที่ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างกงลี่ และจางอี้โหมว จากคนเคยรักน้ำต้มผักว่าหวาน กลายเป็นรังเกียจเดียดชังน้ำตาลยังว่าขม กาลเวลาก็ทำให้ทั้งคู่ผ่อนคลายอคตินั้นลง ถึงอย่างนั้นการให้กงลี่รับบทฮองเฮา(อี)ดอกทอง ที่เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม โฉดชั่วร้ายกาจ คิดก่อกบฎหักหลังพระสวามี นั่นยังคงคือ’ภาพจำ’ของจางอี้โหมวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ร่วมงานครั้งสุดท้าย Shanghai Triad (1995)

รวมถึงทัศนคติต่อรัฐบาลจีน พรรคคอมมิวนิสต์ ของผู้กำกับจางอี้โหม่ว จากเคยเต็มไปด้วยอคติอันเกรี้ยวกราดสังเกตจากผลงานยุคแรกๆ Red Sorghum (1988), Ju Dou (1990) ค่อยๆโอนอ่อน ประณีประณอม ยินยอมรับสภาพความเป็นจริง To Live (1994) กระทั่งเมื่อเริ่มพบเห็นการเปลี่ยนแปลง The Road Home (1999) สามารถเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต Hero (2000) และสำหรับ Curse of the Golden Flower (2006) ชัดเจนเลยว่าสนับสนุนแนวคิด คติรวมหมู่ (Collectivism) ประเทศชาติสำคัญกว่าตัวบุคคล ปัจเจกนิยม (Individualism) … สะท้อนค่านิยม ความเชื่อมั่นต่ออุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน!

เป็นความโคตรโชคดีของผมที่มีโอกาสเคยรับชม Curse of the Golden Flower (2006) บนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ แม้ตอนนั้นบอกเลยว่าดูไม่รู้เรื่อง … จริงๆหนังก็ไม่ได้มีเรื่องราวสลับซับซ้อนขนาดนั้น เพียงว่าความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง ชุดเกราะเหลืองทองอร่าม มันละลานตาจนกลบเกลื่อนเนื้อหาสาระในส่วนตัวบุคคล ปัจเจกนิยม (Individualism) จนแทบหมดสิ้น


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

หลังเสร็จากภาพยนตร์โปรโมทการท่องเที่ยวมณฑลยูนนาน Riding Alone for Thousands of Miles (2005) ผู้กำกับจางอี้โหมวมีความสนใจในการดัดแปลงบทละครอมตะ Thunderstorm (1933) แต่งโดยนักเขียนนามปากกา เฉาหยู (1910-96) แรกเริ่มตีพิมพ์ลงนิตยสาร Litery Quarterly (wenxue jikan) แล้วพัฒนากลายเป็นละครเวทีเมื่อปี 1935 เปิดการแสดงที่เมืองจี่หนาน, เมืองนานจิง, นครเซี่ยงไฮ้ และกรุงโตเกียว, ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามช่วงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง Second Sino-Japanese War (1937-45)

เฉาหยู, 曹禺 หนึ่งในนักเขียนบทละครคนสำคัญของประเทศจีน นามปากกาของ Wan Jiabao, 萬家寶 (1910-96) เกิดที่เฉินเจียง มณฑลหูเป่ย์ บิดาทำงาานเป็นเลขานุการประจำตัว ประธานาธิบดีหลี่หยวนหง (1864-28) เติบโตขึ้นที่เมืองเทียนจิน ทำให้มีโอกาสรับชมละครเวทีจากชาติตะวันตกมากมาย รวมไปถึงการแสดงอุปรากรจีนก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โตขึ้นเข้าศึกษาต่อคณะรัฐศาสตร์ Nankai University แต่แค่เพียงปีเดียวย้ายมาร่ำเรียนวรรณกรรมตะวันตก Tsinghua University หลงใหลผลงานของ Anton Chekhov, Maxim Gorky นำมาปรับปรุงพัฒนาบทละครเรื่องแรก Thunderstorm (1933)

Thunderstorm, 雷雨 (อ่านว่า Léiyǔ) บทละครเวทีที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘เสาหลักสำคัญ’ ของวรรณกรรมสัจนิยมจีน เรื่องราวของตระกูลพ่อค้าโจว ที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย ทันยุคทันสมัย หลงใหลในวัฒนธรรมตะวันตก ภายนอกสร้างภาพให้ดูดี แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หัวหน้าครอบครัววางแผนเข่นฆาตกรรมภรรยา ที่แอบลักลอบสมสู่ (Incest) กับบุตรชาย ซึ่งได้มีความสัมพันธ์สาวใช้ รับรู้ภายหลังว่าเธอคือบุตรนอกสมรสของบิดา … สมาชิกตระกูลนี้ช่างเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ไม่รู้จิตใจทำด้วยอะไร คิดคดทรยศหักหลังกันเอง ผลลัพท์สุดท้ายย่อมมุ่งหน้าสู่หุบเหวแห่งการล่มสลาย

ความนิยมในบทละครนี้ทำให้ได้รับการดัดแปลงสื่ออื่นมากมาย ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ถึงสองเรื่อง

  • The Thunderstorm (1957) ฉบับฮ่องกง (ภาษากวางตุ้ง) กำกับโดย Ng Wui, เป็นบทบาทแจ้งเกิด Bruce Lee (ในบทที่ไม่ใช่แนวต่อสู้)
  • Thunderstorm (1996) ฉบับจีนแผ่นดินใหญ่ (ภาษาแมนดาริน) กำกับโดย Ho Yi

แต่ผู้กำกับจางอี้โหมว ไม่ได้ต้องการนำบทละครดังกล่าวมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ตรงๆ ใช้เป็นโครงสร้างความขัดแย้งภายในราชสำนัก ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งฝ่าย สู้รบประหัดประหาร ต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ แก่งแย่งชิงอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน, พัฒนาบทร่วมกับ Zhihong Bian และ Nan Wu

เกร็ด: ฉบับฉายในประเทศจีนจะไม่มีการระบุช่วงเวลาพื้นหลังของหนัง แต่ฉบับฉายต่างประเทศขึ้นข้อความ ค.ศ. 928 ยุคสมัยราชวงศ์ถัง (จริงๆอยู่ช่วงระหว่าง ค.ศ. 618-907) ความผิดเพี้ยนดังกล่าวเหมือนจงใจจะบอกว่า ไม่ต้องไปสนใจหรอกว่าเรื่องราวอยู่ในยุคสมัยไหน!

สำหรับชื่อหนังเริ่มต้นจาก Autumn Memories แล้วเปลี่ยนมาเป็น Chongyang ตามด้วย Chrysanthemum Killing กระทั่งความสำเร็จล้นหลามของแฟนไชร์ Lord of the Ring ผู้กำกับจางอี้โหมวเลยพยายามมองหาชื่อที่ฟังแล้วดูยิ่งใหญ่ทรงพลัง

滿城盡帶黃金甲 (อ่านว่า Mǎnchéng jìndài huángjīnjiǎ) แปลตรงตัว The Whole City is Clothed in Golden Armor, ทั้งเมืองเต็มไปด้วยกราะสีทองเหลืองอร่าม นำจากบทกวีของ Huang Chao (835-884) ทหาร/พ่อค้า ผู้นำกลุ่มปฏิวัติในสมัยราชวงศ์ถัง ประพันธ์บทกวีชื่อว่า On the Chrysanthemum, after failing the Imperial Examination (เรียกย่อๆ Chrysanthemum)

待到秋來九月八 When autumn comes on Double Ninth Festival,
我花開後百花殺。my flower [the chrysanthemum] will bloom and all others perish.
沖天香陣透長安 When the sky-reaching fragrance [of the chrysanthemum] permeates Chang’an,
滿城盡帶黃金甲 the whole city will be clothed in golden armour.

บทกวี Chrysanthemum ประพันธ์โดย Huang Chao (835-884)

ชื่อภาษาอังกฤษ Curse of the Golden Flower ไม่รู้เหมือนกันมาจากไหน ส่วนชื่อภาษาไทยถือว่าใช้ได้ ศึกชิงบัลลังก์วังทอง ฟังดูดีกว่าถ้าแปลตรงๆ คำสาปของ(อี)ดอกทอง ซึ่งอาจสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้หลายๆคน


เรื่องราวกล่าวถึงเทศกาลฉงหยาง (วันที่ 9 เดือน 9) ก่อนที่ดอกเบญจมาศจะผลิบานทั่วพระราชวังทอง ฮองเฮา (รับบทโดย กงลี่) กับองค์รัชทายาทเหยียนเสียง (รับบทโดย หลิวเย่) แอบลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวมายาวนาน ตระหนักว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องนัก องค์รัชทายาทจึงครุ่นคิดหาหนทางหลบหนีออกจากพระราชวัง หวังไปอยู่กินกับนางกำนัลเสี่ยวฉาน (รับบทโดย หลีเหมิ่น) บุตรสาวของหมอหลวง ไม่ใคร่สนอยากจะเป็นฮ่องเต้สักเท่าไหร่

ฮ่องเต้ (รับบทโดย โจวเหวินฟะ) รับล่วงรู้สิ่งต่างๆบังเกิดขึ้นเป็นอย่างดี ตั้งใจว่าหลังเทศกาลฉงหยางจะแต่งตั้งองค์ชายรองเหยียนเจี๋ย (รับบทโดย เจย์โชว์) ขึ้นมาเป็นรัชทายาทแทน แต่ก่อนหน้านั้นมอบหมายให้บัญชาการราชองค์รักษ์ (ในค่ำคืนเทศกาลฉงหยาง) เพื่อพิสูจน์ความซื่อสัตย์จริงใจว่าไม่ได้เข้าข้างกลุ่มกบฎที่ต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังก็คือฮองเฮา เอาเวลาไปถักดอกเบญจมาศเพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ


โจวเหวินฟะ, Chow Yun-Fat (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติฮ่องกง เกิดที่เกาะลัมมา นอกชายฝั่งเกาะฮ่องกง บิดาทำงานบริษัทน้ำมัน Shell Oil Company เคยติดการพนันจนหมดตัว (ถึงเคยรับบทเซียนพนัน แต่เกลียดเข้ากระดูกดำ), อายุสิบขวบอพยพย้ายสู่สลัมเกาลูน เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 รับจ้างทั่วไป บุรุษไปรษณีย์ เซลล์แมน คนขับแท็กซี่ จนกระทั่งได้เห็นประกาศโฆษณาหนังสือพิมพ์ค้นหานักแสดงฝึกหัด เซ็นสัญญาสถานีโทรทัศน์ TVB โด่งดังกับซีรีย์ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980), ส่วนภาพยนตร์แจ้งเกิดเรื่อง A Better Tomorrow (1986), ติดตามด้วย The Killer (1989), God of Gamblers (1989), Hard Boiled (1992), Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

รับบทฮ่องเต้ ผู้สนเพียงสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่จิตใจมีความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย ครุ่นคิดแผนการลอบสังหารฮองเฮา (ด้วยการวางยาพิษให้สิ้นใจตายอย่างช้าๆ) พร้อมใช้ความรุนแรงกระทำร้ายบุตรชายที่ขัดขืนต่อต้าน จัดการกลุ่มกบฏที่ต้องการยึดครองราชบัลลังก์อย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน!

แต่ก่อนที่ชายคนนี้จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ เป็นเพียงแค่ผู้บัญชาการทหารระดับล่าง ใส่ร้ายป้ายสีภรรยา เข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูลของตนเอง เพื่อโอกาสแต่งงานเจ้าหญิงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังอาจเป็นผู้เข่นฆาตกรรมฮ่องเต้องค์ก่อน รวมถึงรัชทายาทคนอื่นๆ เพื่อเปิดทางให้ตนเองขึ้นนั่งบนราชบัลลังก์วังทอง

บทบาทนี้แทบจะคือ ‘ภาพจำ’ ของโจวเหวินฟะมาตั้งแต่เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (เคยเล่นรับบทกษัตริย์, ฮ่องเต้ อยู่บ่อยครั้งทีเดียว) เป็นบุคคลที่ Charisma ในการวางท่วงท่าทาง แสดงสีหน้าเย่อหยิ่งจองหอง ชอบใช้น้ำเสียงดุดัน (แดกดัน) ถือเป็นผู้นำที่น่ายำเกรงขาม และมีความดุดัน เข้มแข็งแกร่ง สวมเครื่องแบบฮ่องเต้หนักกว่า 40 กิโลกรัม! ก็เลยต้องนั่งแสดงวิทยายุทธอย่างไร้เทียมทาน


กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

รับบทฮองเฮา ผู้เต็มไปด้วยอคติต่อฮ่องเต้ที่พยายามวางยาพิษตนเอง จนครุ่นคิดแผนการก่อกบฎ รวบรวมบุคคลผู้ฝักใฝ่(ในฮ่องเต้องค์ก่อน)ตระเตรียมการโค่นล้มราชบังลังก์ แต่ปัญหาคือพระโอรสทั้งหลาย

  • ลักลอบสานสัมพันธ์สวาทกับองค์รัชทายาท (ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆทางสายเลือด) หวังจะควบคุมครอบงำ โน้มน้าวให้ร่วมก่อการกบฎโค่นล้มราชบัลลังก์
  • ส่วนพระโอรสคนรอง ติดพระมารดางอมแงม พูดจาโน้มน้าวเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เลือกข้างตนเอง นำทหารราชองค์รักษ์บุกเข้ามาในพระราชวังค่ำคืนเทศกาลฉงหยาง
  • สำหรับโอรสพระองค์เล็กนั้นถูกมองข้าม เพราะยังไม่รู้ประสีประสา ไร้ซึ่งพลังอำนาจ ความสามารถในการกระทำอันใด

เมื่อวันเวลานั้นมาถึง เหตุการณ์ไม่คาดคิดบังเกิดขึ้นมากมาย ทุกสิ่งอย่างที่ฮองเฮาอุตสาหะเตรียมการไว้ ก็ถูกฮ่องเต้จับได้ไล่ทัน พระโอรสทั้งสามก็ยังม้วยมรณา ชีวิตราวกับต้องคำสาป จะดำรงชีพอยู่ต่อไปเพื่ออะไร

ทศวรรษผ่านไปหลังการร่วมงานครั้งสุดท้ายระหว่างกงลี่ และจางอี้โหมว ถ่านไฟเก่าคงมอดดับไปหมดสิ้น อคติเคยมีมาก็เจือจางหาย หลงเหลือเพียงความสัมพันธ์ทางอาชีพนักแสดง-ผู้กำกับ พวกเขายังคงเข้าใจธาตุแท้กันและกัน เพราะบทบาทนี้คือ ‘ภาพจำ’ ที่จางอี้โหมวยังครุ่นคิดว่ากงลี่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากนี้

ที่ผมแอบประหลาดใจเล็กๆก็คือ กงลี่ย่อมรับรู้ตนเองถึงทัศนคติดังกล่าว แต่ยังชื่นชอบจะเล่นบทบาทร้ายๆ จริตแรงๆ ภายในเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แสดงอาการอึดอัดอั้น เกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่ง! … คงเพราะการร่วมงานจางอี้โหมวที่รู้ไส้รู้พุง ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ มันเลยไม่มีความจำเป็นต้องหยุดยับยั้งช่างอารมณ์ สามารถปลดปล่อยตัวเอง สวมบทบาทตัวละคร กลายเป็นอีกหนึ่งสุดยอดการแสดง บีบเค้นคั้นจิตวิญญาณผู้ชม

แซว: ผมชื่นชอบฉากที่ฮ่องเต้บีบบังคับให้ฮองเฮาดื่มยาพิษมากๆ มันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกงลี่ กับจางอี้โหมว และเหตุผลที่เธอยินยอมกลับมาร่วมงานอีกครั้ง ‘ฉันเคยดื่มยาพิษนี้มาหลายแก้ว จะบอกปัดตอนนี้ไม่สายเกินไปหรอกหรือ?’


หลิวเย่, Liu Ye (เกิดปี 1978) นักแสดงสัญชาติจีน เกิดที่เมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน โตขึ้นเข้าเรียนสาขาการแสดง Central Academy of Drama แจ้งเกิดตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก Postmen in the Mountains (1999), ติดตามด้วย Lan Yu (2000), Sky Lovers (2002), Purple Butterfly (2003), The Foliage (2003), The Promise (2005), Curse of the Golden Flower (2006), City of Life and Death (2009) ฯ

รับบทรัชทายาทเหยียนเสียง เป็นคนอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ไม่เคยคิดอยากเป็นฮ่องเต้ ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา เพียงต้องการหลบหนีจากฮองเฮา (ที่มีความสัมพันธ์ชู้สาว) เพื่อไปครองรักนางกำนัลเสี่ยวฉาน บุตรสาวของหมอหลวงที่แต่งงานกับอดีตภริยาคนเก่าของฮ่องเต้ (ครุ่นคิดว่าถูกกำจัดปิดปากไปนานแล้ว ถูกปกปิดมานานหลายสิบปี!) นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขากลายเป็นสิ่งต้องห้าม

ผมละอึ้งทึ่งในการแสดงของหลิวเย่อย่างมากๆ (ประทับใจพอๆกับกงลี่เลยละ) ตั้งแต่ภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนแอ ขลาดเขลา ไม่สามารถยืนหยัดด้วยตนเอง หรือโต้ตอบขัดขืนคำสั่งพระบิดา-พระมารดา โดยไฮไลท์มีสองช่วงขณะ ล้วนเป็นการไม่สามารถยินยอมรับความจริง

  • ครั้งแรกแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยของพระมารดา (ในการก่อกบฎ) เลยตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่ก็รอดชีวิตมาได้ … ผมรู้สึกว่า ตัวละครอาจแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจมากกว่า
  • และอีกครั้งเมื่อตระหนักถึงความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องกับนางกำนัล (Incest) ทำให้ตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว หมดอาลัยตายอยาก ไร้เรี่ยวแรงทำอะไรอีกต่อไป

แซว: ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าองค์รัชทายาทมีปม Electra Complex หรือเปล่านะ (ตรงกันข้ามกับ Oedipus Complex ที่รักแม่เกลียดพ่อ, Electra Complex คือรักพ่อเกลียดแม่) เพราะฮองเฮาไม่ใช่พระมารดาแท้ๆ ความสัมพันธ์ชู้สาวจึงไม่ได้เลวร้ายเหมือนประเด็นต้องห้าม ส่วนพระบิดาที่แม้ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่ ก็โหยหาความรัก/ต้องการการยินยอมรับอย่างมากๆเลยละ


เจย์โชว์ ชื่อจริง โจวเจี๋ยหลุน (เกิดปี 1979) นักร้อง นักแสดง ได้รับฉายา ‘King of Mandopop’ เกิดที่กรุงไทเป เกาะไต้หวัน, บิดาทำงานวิจัย มารดาเป็นครูสอนศิลปะ ค้นพบว่าบุตรชายหลงใหลในเสียงเพลง เลยส่งไปเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โปรดปรานโชแปง พอเข้าเรียนมัธยมก็เริ่มเขียนเพลง สนใจทฤษฏีดนตรี แต่ยังไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากทำงานอะไร เมื่อปี 1998 มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ Super New Talent King เล่นเปียโนให้เพื่อนขับร้อง แม้ไม่ได้รับรางวัลแต่ไปเข้าตาผู้จัดงาน ชักชวนมาแต่งเพลงในสังกัด Alfa Music เรียนรู้การบันทึกเสียง มิกซิ่ง งานเบื้องหลัง ออกอัลบัมแรก Jay (2000) ได้เสียงตอบรับดีเยี่ยม

การแสดงอาจไม่ใช่ด้านถนัดของเจย์โชว์ แต่เขาต้องการขยายฐานแฟนๆไปยังต่างประเทศ เริ่มต้นจาก Initial D (2005) สามารถคว้ารางวัล Best Newcomer Actor จากทั้ง Golden Horse Award และ Hong Kong Film Award, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Curse of the Golden Flower (2006), แสดง & กำกับ Secret (2007), The Green Hornet (2011) ฯ

รับบทองค์ชายรองเหยียนเจี๋ย ถูกฮ่องเต้ส่งไปปกครองแว่นแคว้นอื่นนานถึงสามปี คาดว่าคงต้องการให้เรียนรู้ทักษะการบริหารประเทศ เพื่อจักรับช่วงต่อแทนองค์รัชทายาท (ที่ไม่ได้มีศักยภาพสามารถใดๆ) แต่ความรักภักดีขององค์ชายรองกลับมีให้พระมารดามากกว่า เมื่อรับทราบว่าทรงถูกพระบิดาวางยาพิษ เลยใช้โอกาสที่ได้รับหมอบหมายพระบัญชาราชองค์รักษ์ บุกเข้ามาจะโค่นล้มราชบัลลังก์

หลายคนอาจครุ่นคิดว่าองค์ชายรองดูปกติสุดในราชวงศ์นี้ แต่ผมสังเกตความรักที่มีให้พระมารดา และการแสดงออกเต็มไปด้วยอคติต่อพระบิดา ช่างมีความละม้ายคล้ายปม Oedipus Complex (รักแม่ เกลียดพ่อ) ถึงขนาดครุ่นคิดจะโค่นล้ม เข่นฆ่าฮ่องเต้ด้วยพระองค์เอง … นี่ก็ไม่ปกติหรอกนะ!

ผมไม่รับรู้สึกถึงการแสดงใดๆของเจย์โชว์เลยนะ แค่ปรากฎตัว เห็นหน้าหล่อๆ ไว้หนวดเครา ไร้ปฏิกิริยาอารมณ์ร่วมใดๆ แต่สิ่งต้องชื่นชมคือฝีไม้ลายมือด้านการต่อสู้ เห็นว่า 99% เล่นเองเจ็บเองทั้งหมด ยอมรับในความทุ่มเทเพื่อคิวบู๊ที่ดูอลังการงานสร้างจริงๆ


ถ่ายภาพโดย จ้าวเสี่ยวติ้ง, Zhao Xiaoding (เกิดปี 1968) ตากล้องชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง โตขึ้นเข้าศึกษายัง Beijing Film Academy สำเร็จการศึกษาปี 1989 จากนั้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ผู้ช่วยตากล้อง (Camera Assissantant) จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวถ่ายทำคลิปโปรโมทการประมูลจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2000, เลยได้เป็นผู้ช่วย Christopher Doyle ถ่ายทำ Hero (2002), และได้รับเครดิตถ่ายภาพ House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006), The Flowers of War (2011), Shadow (2018) ฯ

แทบทุกช็อตฉากของ Curse of the Golden Flower (2006) มีความสวยงาม อร่ามตา ชวนให้อ้าปากค้างอยู่ตลอดเวลา ต้องปรบมือให้ผู้กำกับศิลป์ Tingxiao Huo ร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวตั้งแต่ Hero (2002), House of Flying Daggers (2004) แต่นั่นก็เป็นข้อด้อยด้วยเช่นกัน เพราะจักดึงดูดความสนใจผู้ชมไปจากเนื้อเรื่องราวหลัก และเมื่อพานผ่านไปสัก 30 นาที ก็จักเริ่มมักคุ้นชินสายตา ทำให้ความน่าหลงใหลของหนังค่อยๆลดน้อยลงตามกาลเวลา

นี่ทำให้ผมนึกถึงพวกหนังสัตว์ประหลาดที่ชอบยื้อๆยักๆ อารัมบทอะไรก็ไม่รู้ยืดยาวนาน จนกว่าจะถึงฉากสำคัญต่อสู้กันถึงค่อยเปิดเผยหน้าตาเอเลี่ยน คิงคอง ก็อตซิลล่า ฯ แต่นั่นคือเทคนิควิธีการสร้างความดึงดูด จูงจมูกผู้ชม ให้เรียนรู้จักคุณค่าของการรอคอย เพราะถ้าเร่งรีบร้อนเปิดเผยสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นตั้งแต่เริ่มต้น ความน่าสนใจของหนังก็จักค่อยๆลดน้อยลงไป … เหมือนพระราชวังทองแห่งนี้ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เริ่มรู้สึกเบื่อๆหน่ายๆ ราวกับได้พบเห็นทุกสิ่งอย่างหมดสิ้นแล้ว

ในบรรดาผลงานของผู้กำกับจางอี้โหมว ที่ผมรู้สึกว่ามีความละม้ายคล้ายคลึง Curse of the Golden Flower (2006) ไม่ใช่ Hero (2002) หรือ House of Flying Daggers (2004) แต่คือ Raise the Red Lantern (1992) เพราะส่วนใหญ่ดำเนินเรื่องในสถานที่ปิด (มองข้ามหลุมฟ้าสะพานมังกรไปก่อนนะครับ) ทุกช็อตฉากล้วนมีการจัดวางองค์ประกอบ ให้มีความสมมาตรซ้าย-ขวา บน-ล่าง เรื่องราวก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คิดคดทรยศหักหลัง แก่งแย่งชิงภายใน จุดแตกต่างก็คือ ความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) vs. คติรวมหมู่ (Collectivism)

ขณะที่ Raise the Red Lantern (1992) มีนักแสดงหลักสิบ ทีมงานรวมๆแล้วคงไม่ถึงร้อย แต่ Curse of the Golden Flower (2006) แค่ตัวประกอบสวมชุดเกราะก็นับพัน ขณะยืนแถวเรียงรายต้อนรับนั่นก็ 20,000+ คน (ไม่ได้ใช้ CGI) นี่ยังไม่รวมทีมงานก่อสร้างพระราชวัง ช่างแต่งหน้าทำผม ดีไซเนอร์ตัดเย็บเสื้อผ้า ไม่น้อยกว่า 1,000+ คน! นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคติรวมหมู่ ไม่มีทางบุคคลเดียวจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่านี้!

จะว่าไปภาพยนตร์ ไม่ว่าจะทุนสูง-ต่ำ ล้วนมีลักษณะของคติรวมหมู่ (Collectivism) คือต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น นักแสดง ตากล้อง ผู้กำกับ ฯ แม้ปัจจุบันคนๆเดียวสามารถทำทุกสิ่งอย่าง (แบบพวก Content Creator) แต่ก็จะมีข้อจำกัดทางความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมาย สื่อที่นำเสนอ ฯลฯ


หนังออกแบบพระราชวังทอง โดยอ้างอิงสถาปัตยกรรมจากพระราชวังของราชวงศ์ถัง (618–907) ก่อสร้างขึ้นที่สตูดิโอ Hengdian World Studios โรงถ่ายหนังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก! จนได้รับฉายา ‘Hollywood แดนตะวันออก’ ตั้งอยู่เมืองเหิงเติ้น มณฑลเจ้อเจียง เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1996 กินอาณาบริเวณเกือบๆ 500,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 30 ฉากภายนอก, 130 สตูดิโอภายใน, นอกจากนี้ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร เปิดสาธารณะให้เข้าเยี่ยมชม … ผมอ่านเจอว่าถ้าใครอยากไปท่องเที่ยว ควรวางโปรแกรมอย่างน้อย 3 วัน!

ส่วนอีกสถานที่ของหนัง หมอหลวงถูกส่งไปปกครองเมืองซูโจว ถ่ายทำยังหลุมฟ้าสะพานมังกร (Three Natural Bridges) ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติหลุมฟ้า เมืองอู่หลง นครฉงชิ่ง

จุดขายหนึ่งของหนังก็คืออกตูมๆของสาวๆ ชัดเจนว่าเป็นความจงใจรัดแน่นให้อวบอึ๋ม เพื่อสื่อถึงความหมกมุ่นในกามคุณของราชสำนักแห่งนี้ ที่ใครต่อใครสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน แต่ประเทศชาติจักสามารถธำรงอยู่ได้ก็เพราะมวลชน ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างแข็งขัน บุรุษคือทหารหาญสวมชุดเกราะสู้รบสงคราม (ภายนอก) อิสตรีดั่งช้างเท้าหลัง นางกำนัลจัดการงานบ้านงานเรือน ปรนเปรอปรนิบัติบุรุษ (ภายใน)

ยาพิษ สามารถสื่อถึงการใช้อำนาจเพื่อสนองความพึงพอใจ บีบบังคับให้ผู้อื่นต้องกระทำสิ่งๆนั้น ทั้งๆรู้ว่าไม่ใช่สิ่งถูกต้อง เป็นอันตราย อาจถึงแก่ความตาย ผู้ใต้สังกัดก็มิอาจขัดขืนต่อต้าน จำต้องศิโรราบแทบเท้า กล้ำกลืนยาพิษลงคอ ไม่สามารถหลบหลีกหนีโชคชะตากรรม

เราสามารถเปรียบเทียบ ‘ยาพิษ’ กับนโยบายแย่ๆของคอมมิวนิสต์สมัยก่อน อาทิ การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า (1958-62), ปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ฯ ภายนอกตามหลักการฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับทำให้ประเทศก้าวถอยหลังไปเป็นทศวรรษๆ

แซว: ลีลาการเสวยพระโอสถของฮองเฮา ไม่ใช่แค่ยกมาดื่ม แต่ต้องวางท่วงท่า ใช้พระหัตถ์บดบัง แล้วตามด้วยพระสุธารส (น้ำดื่ม) และผ้าเช็ดพระโอษฐ์ เรียกว่าเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ตามขนบประเพณียึดถือปฏิบัติมายาวนาน ไม่สามารถยืดหยุ่นผ่อนคลาย อดีตเป็นเช่นไร อนาคตจักต้องดำเนินไปเช่นนั้น

ชุดเกราะทองของฮ่องเต้ ทำจากแผ่นทองคำจริงๆ เฉพาะส่วนศีรษะน้ำหนักกว่า 45 กิโลกรัม ทั้งชุดก็น่าจะเกิน 100+ กิโลกรัม (ด้วยเหตุนี้จึงใช้การนั่งต่อสู้ ลุกเดินยังยากลำบาก แต่ก็สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของความมั่นคงดั่งภูผา ไม่โอนอ่อนผ่อนปรนต่อสิ่งต่างๆโดยง่าย) ออกแบบโดย Jessie Dai และ Chung-Man Yee ได้เข้าชิง Oscar: Best Costume Design

แต่แพงสุดของหนังคือชุดมังกรและฟีนิกซ์ (ของฮ่องเต้ & ฮองเฮา) ที่สวมใส่ในงานพิธีฉงหยาง เพราะใช้ทองคำ 18K มาทำเป็นเส้นด้ายสำหรับถักทอ ช่างตัดเย็บ 80 คน ใช้เวลานานกว่าสองเดือน น้ำหนัก 40 กิโลกรัม ประเมินมูลค่า 1.8 ล้านหยวน

บัลลังก์ซาวน่า (จริงๆแค่ชุดที่สวมใส่ก็ซาวน่าดีๆแล้วนะ) เพื่อสร้างความอบอุ่น ผ่อนคลาย จากบรรยากาศที่หนาวเหน็บในราชสำนัก ใครต่อใครต่างครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย โดยเฉพาะฮองเฮาที่ควร(มอบความอบอุ่น)เคียงข้างกาย กลับมีความเยือกเย็นชาอย่างที่สุด

Chrysanthemum (ดอกเบญจมาศ หรือดอกเก็กฮวย) มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘ดอกไม้ทองคำ’ ภาษาจีนคือ 菊花, จวี๋ฮวา เป็นดอกไม้มงคลที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตชนชาวจีนอย่างมาก ทั้งใช้เป็นไม้ประดับ ลำต้นรักษาโรคตับ บำรุงประสาท ใบและดอกมีสรรพคุณรักษาโรคนิ่ว ต่อมน้ำเหลือง ไปจนถึงวัณโรค ตามความเชื่อชาวจีนคือดอกไม้มงคล สัญลักษณ์ของสารทฤดู (ฤดูใบไม้ร่วง) ในช่วงเดือน 9 และมักใช้ตัวแทนของความงดงาม ยั่งยืนยาว

(ถ้าที่ญี่ปุ่นจะยกให้เบญมาศเป็นดอกไม้แห่งจักพรรดิ และสัญลักษณ์แห่งความรักมั่นคงยืนยาว)

ในหนังใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มกบฎ ต้องการโค่นล้มราชบัลลังก์ โดยคาดหวังว่าทหารราชองค์รักษ์สวมชุดเกราะทอง จะสามารถยึดครอบครองพระราชวังแห่ง นำพาประเทศก้าวสู่ใบไม้ผลิ … แต่สุดท้ายก็เป็นได้เพียงสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงหล่นลงพื้น พร้อมธารโลหิตไหลนองท่วมพระราชวัง

เกร็ด: ไม่มีใครนั่งนับหรอกนะครับว่าใช้ดอกเบญจมาศไปเท่าไหร่ มีรายละเอียดแค่อาณาบริเวณ 10,000 ตารางเมตร ก็น่าจะไม่น้อยกว่าแสนๆดอก

That Heaven is round.
The earth is square.
The law of the Heavens dictates the rule of earthly life under the circle, within the square, everyone has his proper placement.
This is called natural law.
Emperor, Courtier, Father, Son, loyalty, filial piety, ritual and righteousness all relationships obey this law.

ทีแรกผมครุ่นคิดว่าหนังแปลผิดนะ มันควรจะโลกกลม สวรรค์แบนไม่ใช่หรือ? แต่พอครุ่นคิดไปมามันอาจสื่อถึงการตารปัตรทางคิดของคนยุคสมัยก่อนก็เป็นได้ (ที่ยังเชื่อว่าโลกแบน) สวรรค์คือศูนย์กลางของจักรวาล ทุกสรรพชีวิตล้วนต้องดำเนิตามกฎธรรมชาติ ฮ่องเต้เปรียบได้กับสมมติเทพ มีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้า สามารถสั่งให้ใครกระทำอะไรก็ได้ทุกสิ่งอย่าง

หลายคนอาจจับจ้องอยู่แค่ตรงโต๊ะสี่เหลี่ยมแล้วมีวงกลมอยู่กึ่งกลาง แต่ให้มองไปที่พรมพื้นด้วยนะครับ รอบใหญ่สุดคือวงกลม (= สรวงสวรรค์) ขณะทั้งสมาชิกราชวงศ์นี้ต่างนั่งภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม (=โลก) ยังตำแหน่งที่สะท้อนถึงวิทยาฐานะ/ความสำคัญของบุคคล ฮ่องเต้นั่งอยู่เบื้องหน้า เคียงข้างซ้าย-ขวาคือฮองเฮากับรัชทายาท ส่วนพระโอรสที่เหลือนั่งอยู่ห่างไกลจากพระบิดา

แซว: ลำดับการนั่งแบบนี้ชวนให้ผมนึกถึงอัศวินโต๊ะกลม ที่ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่พอเป็นโต๊ะเหลี่ยมก็แสดงว่าต่างคนต่างมีขีดจำกัดการใช้อำนาจ และต้องอยู่ภายใต้บุคคลนั่งหัวโต๊ะ

เอาจริงๆผมไม่คิดว่าเหตุผลที่ฮ่องเต้ส่งหมอหลวง (และครอบครัว) ไปปกครองเมืองซูโจว เพราะต้องการจะลอบสังหารทั้งชั่วโคตรหรอกนะ ดูแล้วเหมือยยังคงรักอดีตภรรยา เลยอยากชดใช้ความผิดในอดีตให้ได้อยู่สุขสบายบั้นปลายชีวิต แต่เพราะการแสดงออกของฮองเฮา สอดรู้สอดเห็น พูดทำเป็นเหมือนรับล่วงรู้ลับลมคมใน ทำให้ฮ่องเต้จำต้องตัดสินใจสั่งนักฆ่าในสังกัด จัดการปิดปาก เข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูล!

ความพยายามกระทำอัตนิวิบาต เกิดจากไม่พึงพอใจต่อพฤติกรรมพระมารดาที่ต้องการก่อกบฎ โค่นล้มราชบัลลังก์ อันจะทำให้องค์รัชทายาทต้องขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ (นั่นไม่ใช่ความต้องการของเจ้าตัวแม้แต่น้อย!) และใครๆย่อมต้องครุ่นคิดว่าแผนการทั้งหมดเป็นของพระองค์เอง … เมื่อไม่สามารถครุ่นคิดหาหนวิธีทางออก เหลือบมองไปเหมือนกริชก็เลยหยิบมาทิ่มแทง พลาดหัวใจไปนิดเดียวเอง

ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฮองเฮาแต่งองค์ทรงเครื่องไม่เป็น กลายเป็นยัยเซิ้งปล่อยผม กะจิตกะใจไม่อยู่กับเนื้อกะตัว แถมเข้าร่วมร่วมงานพิธีฉงหยางช้ากว่าใคร แต่งหน้าทำผมไม่เสร็จสักที (สะท้อนสภาวะทางจิตใจที่เต็มไปด้วยความขลาดหวาดกลัว ขัดแย้งภายใน และร่างกายที่อ่อนแอลงเพราะยาพิษ)

นี่เป็นช็อตเล็กๆขณะฮ่องเต้เดินทางมาเยี่ยมเยือนองค์รัชทายาท จัดย้อนแสงสว่างอย่างนี้ราวกับสวรรค์โปรด พระเจ้าเดินลงมาจากฟากฟ้า แสดงถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ (ของฮ่องเต้) ไม่มีใครใต้หล้าสามารถเทียบเคียง

แม้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาท แต่พระโอรสองค์โตไม่ได้ใคร่สนในราชบัลลังก์ พยายามพูดบอกพระบิดาหลายครั้งแต่ขออะไรก็ไม่เคยได้รับ ถึงอย่างนั้นยังทรงรัก เป็นห่วงเป็นใย เดินทางมาเยี่ยมไข้ครั้งนี้ถือว่าพิสูจน์ความจริงใจ เลยยินยอมเปิดเผยแผนการของพระมารดา ไม่ต้องการให้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์

ผมขอไม่วิเคราะห์รายละเอียดการต่อสู้ใดๆ เพราะมันก็ไม่ได้มีเงื่อนงำหรืออะไรสลับซับซ้อน ชวนให้นึกสำนวน 十面埋伏, สือเมี่ยนหมายฟู่ (ที่แปลว่าถูกห้อมล้อมสิบทิศ, ศัตรูรอบด้าน) จากภาพยนตร์ House of Flying Daggers (2004) ไปเพลิดเพลินกับความงดงามอลังการ ตื่นตระการในหนังเอาเองดีกว่านะครับ

แซว: จะว่าไป The Warlord (2007) ก็นำเสนอฉากไคลน์แม็กซ์ในลักษณะคล้ายๆกันนี้

แต่ที่อดพูดถึงไม่ได้ก็เจย์โชว์ เล่นคิวบู๊เอง(แทบ)ทั้งหมด ใช้เวลาถ่ายทำทั้งซีเควนซ์ยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ แต่ฉากยากสุดคือเมื่อหลงเหลือตัวคนเดียว ‘หมาจนตรอก’ กวัดแกว่งอาวุธต่อสู้ทหารชุดดำอย่างคลุ้มบ้าพลัง ต้องใช้เวลาถึง 4-5 วัน (หั่นดาบไปกว่า 1,800+ เล่ม!) ตัวประกอบนับพัน กว่าจะได้ผลลัพท์ตามต้องการ

แม้หนังไม่นำเสนอโชคชะตากรรมของฮองเฮา ผู้ชมคงคาดเดาไม่ยากเท่าไหร่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่สิ่งสุดท้ายที่ทรงทำก็คือโยนยาพิษลงบนตราสัญลักษณ์ดอกเบญจมาศที่อยู่กึ่งกลางโต๊ะ หลอมละลายราวกับเหล็กถูกกรดกัดกร่อน แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังออกมา สื่อสัญลักษณ์ถึงการเสื่อมสลาย ต้องคำสาป! ถ้าตามบริบทของหนังจะหมายถึงความล้มเหลวของกลุ่มก่อการกบฎ กัดกร่อนบ่อนทำลายความสงบสุขของประเทศชาติ … แต่หลายคนอาจครุ่นคิดเห็นว่าคือการสัญลักษณ์การล่มสลายของราชวงศ์ ระบอบกษัตริย์ เผด็จการ มองแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ!

ตัดต่อโดย Long Cheng อดีตนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า University of Shanghai for Science and Technology แล้วไปเรียนต่อภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา Temple University เคยคว้ารางวัล Music Video ยอดเยี่ยมระดับมหาวิทยาลัย เดินทางกลับประเทศจีนกลายเป็นนักตัดต่อ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Time to Remember (1988), House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องพานผ่านมุมมองตัวละครหนึ่งใด แต่ใช้พระราชวังทองคือจุดหมุนเรื่องราวทั้งหมด ฮ่องเต้, ฮองเฮา, รัชทายาท และองค์ชายสอง ขณะที่องค์ชายเล็กจะไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่ (เหมือนเรื่องราวที่ก็ไม่ค่อยถูกให้ความสนใจ) แต่มักแอบซ่อนหลบฉากอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าทิศทางดำเนินเรื่องมีลักษณะเหมือนการ ‘ส่งไม้ผลัด’ จากเหตุการณ์หนึ่งสู่เหตุการณ์หนึ่ง จักต้องมีบางสิ่งอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

  • แนะนำตัวละคร
    • เริ่มจากองค์ชายเล็กมาเยี่ยมเยือนพระมารดา
    • พอฮองเฮาทราบข่าวว่าองค์รัชทายาทอยาก(หลบหนี)เดินทางไปต่างเมือง จึงเร่งรีบเพื่อไปหยุดยับยั้ง โน้มน้าวให้เปลี่ยนใจ
    • ฮ่องเต้เดินทางไปรับองค์ชายรอง ทดสอบฝีมือ แล้วเตรียมมอบหมายภาระใหม่
    • องค์ชายรองเยี่ยมเยียนพระมารดา แล้วไปสอบถามถึงอาการเจ็บปวดจากพี่ๆน้องๆ
  • ครอบครัวพร้อมหน้า
    • งานเลี้ยงต้อนรับองค์ชายรอง เสวยพระกระยาหารร่วมกันพร้อมหน้า
    • ฮ่องเต้บีบบังคับให้ฮองเฮาต้องรับประทานยา(พิษ)
    • องค๋รัชทายาทเข้าเฝ้าฮ่องเต้ เพื่อทูลขอโอกาสไปเปิดหูเปิดตานอกพระราชวัง
    • ความสัมพันธ์ระหว่างรัชทายาทกับนางกำนัล แต่ถูกพระมารดาจับได้ไล่ทัน
    • ฮองเฮาได้รับแจ้งถึงสมุนไพรพิษที่ใส่ในยา (จากอดีตคนรักฮ่องเต้)
    • ฮ่องเต้ได้พบเจออดีตคนรักอีกครั้ง เมื่อรับทราบสิ่งบังเกิดขึ้นจึงต้องการปูนบำเน็จส่งหมอหลวงไปปกครองเมืองซูโจว
  • จุดแตกหักความขัดแย้ง
    • วันถัดมาฮองเฮาเข้าพบประชันฮ่องเต้ พูดกล่าวถึงหญิงคนนั้น (น่าจะตระหนักว่าเธอคนนั้นคือใคร)
    • องค์ชายรองตัดสินใจก่อกบฎเพื่อพระมารดา
    • ฮองเฮาพยายามโน้มน้าวองค์รัชทายาทให้ร่วมก่อกบฎ แต่ทรงควบม้าติดตามนางสนมมาถึงเมืองซูโจว
    • ค่ำคืนนั้นนักฆ่า (ของฮ่องเต้) บุกเข้ามาลอบสังหารหมอหลวง แต่ยังพอมีผู้รอดชีวิต
    • รัชทายาทเดินทางกลับมาเผชิญหน้าฮองเฮา ร้องขอให้ล้มเลิกแผนการ พอไม่สำเร็จก็คิดสั้นฆ่าตัวตาย (พยายามเรียกร้องความสนใจ)
  • เทศกาลฉงหยาง
    • ฮ่องเต้เสด็จมาเยี่ยมเยือนองค์รัชทายาท รับฟังเรื่องราวทั้งหมด
    • เริ่มต้นพิธีการในเทศกาลฉงหยาง
    • ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ลอบสังหารมาเผชิญหน้ากับฮ่องเต้ เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับองค์รัชทายาท
    • องค์ชายเล็กเข่นฆาตกรรมรัชทายาท (พยายามเรียกร้องความสนใจเช่นกัน)
    • ทหารราชองค์รักษ์นำโดยองค์ชายรอง ยกทัพบุกเข้ามาในวัง
    • การต่อสู้ เข่นฆ่า หายนะ ความตาย
  • ปัจฉิมบท, ครอบครัว(ที่เหลือ)รวมตัวกันพร้อมหน้า ฮ่องเต้มอบทางเลือกแก่องค์ชายรอง เลือกที่จะ…

ช่วงเทศกาลฉงหยาง มีนำเสนอความขัดแย้งด้วยวิธีการเปรียบเทียบ จุลภาค vs. มหภาค ซึ่งสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของ Individualism vs. Collectivism ด้วยวิธีการตัดสลับไปมาระหว่าง

  • ความขัดแย้งภายในราชสำนัก ฮ่องเต้ vs. ฮองเฮา & พระโอรสทั้งสาม
  • การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังสำรองส่วนพระองค์ (reserve army of the Emperor) vs. กลุ่มก่อการกบฎ & ทหารราชองค์รักษ์ (Imperial Guards)

ถึงแม้ความขัดแย้ง ‘หักมุม’ ภายในราชสำนักจะเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด สั่นสะท้านทรวงใน แต่พอตัดไปภาพการต่อสู้เข่นฆ่าทหารนับร้อยพัน มันกลับทำให้ความรู้สึกดังกล่าวค่อยๆจืดเจือจางลง จนแทบไม่หลงเหลืออารมณ์ร่วมใดๆ (กับแค่การเสียชีวิตของโอรสไม่กี่พระองค์ เทียบได้อย่างไรกับความตายทหารนับร้อยพัน!) นั่นอาจทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่เข้าใจว่า หนังสูญเสียพลังในการดำเนินเรื่องจากความล้นหลาม ‘overwhelmed’ ของภาพมหาชน

แต่ถ้าเราครุ่นคิดถึงเหตุผลที่หนังนำเสนอด้วย ‘ภาษาภาพยนตร์’ ดังกล่าว ก็จักพบเห็นความสำคัญของส่วนรวม (Collectivism) ที่มากล้นกว่าตัวบุคคล (Individualism) เรื่องราวการทรยศหักหลักของสมาชิกในราชสำนัก แม้งโคตรไร้สาระเมื่อเทียบกับชีวิตเป็นอยู่ของประชาชน


เพลงประกอบโดย Shigeru Umebayashi (เกิดปี 1951) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kitakyushu, Fukuoka จากเคยเป็นหัวหน้าวงร็อค EX หลังจากยุบวงจึงหันมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Yumeji (1991), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Fearless (2006), Curse of the Golden Flower (2006), Hannibal Rising (2007), The Grandmaster (2013) ฯ

ด้วยสเกลงานสร้างอลังการขนาดนี้ แน่นอนว่าเพลงประกอบย่อมต้องพยายามทำให้ยิ่งใหม่ไม่แพ้กัน! ด้วยการจัดเต็มวงออร์เคสตร้า (ผสมผสานทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีน & สากลตะวันตก) และมุ่งเน้นประสานเสียงคอรัส เพื่อสร้างพลัง ความฮึกเหิม เทียบแทนมวลชน

ถ้ารับฟังแบบแยกเพลงในอัลบัม Soundtrack ก็อาจทำให้ขนลุกขนพอง สั่นสยิวกายอยู่บ่อยครั้ง แต่พอรับชมในหนังผมกลับไม่ได้รู้สึกตราประทับใจขนาดนั้น นั่นเพราะบทเพลงยังมีพลังไม่เพียงพอจะโดดเด่นไปกว่าความอลังการงานสร้าง! หลายครั้งถูกลดระดับเสียง โดนกลบเกลื่อนจาก ‘Sound Effect’ ด้วยกระมัง นอกจากท่วงทำนองสร้างบรรยากาศ ฉากการต่อสู้ไคลน์แม็กซ์ค่อนข้างน่าผิดหวัง

เมื่อเทียบกับ Lord of the Ring ที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองติดหูตั้งแต่ครั้งแรกได้ยิน พอมาถึงฉากสงครามเมื่อตัวละครนั้นๆทำการต่อสู้รบ บทเพลง Character’s Song จะถูกขับเน้นให้เด่นดังขึ้น ผู้ชมจึงเกิดความตราตรึงและทรงพลังมากๆ … ผิดกับ Curse of Golden Flower ไม่มีอะไรแบบนั้นให้น่าจดจำสักเท่าไหร่

บทเพลงไพเราะสุดของหนังก็คือ Curse of the Golden Flower ใช้เสียงขลุ่ยที่สามารถเทียบแทนความรู้สึกของการสูญเสีย จิตวิญญาณล่องลอยไป สงคราม ความขัดแย้ง ก่อการกบฎ ทุกสิ่งอย่างที่ฉันกระทำมานี้เพื่ออะไรกัน สุดท้ายกลับต้องสูญเสียเดิมพัน ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง … นี่คือคำสาปของผู้คิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น ทำอะไรไว้ย่อมได้ผลลัพท์นั้นกลับคืนสนอง

ถึงแม้ว่า Soundtrack จะมีความไพเราะแต่ก็ยังไม่โดดเด่นเพียงพอประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ผิดกับบทเพลง 菊花台 (อ่านว่า Júhuā tái) ชื่อภาษาอังกฤษ Chrysanthemum Terrace (ทุ่งดอกเบญจมาศ) ขับร้อง/แต่งโดยเจย์โชว์ ต้องชมเลยว่าตราตรึง (เนื้อร้อง)ลุ่มลึกซึ้ง สำบัดสำนวน งดงามดั่งบทกวี

Your tears glisten with pain in their fragility
The pale crescent hooks the past
The endless night has crystallised into frost
Who is it in the loft, destitute with cold hopelessness?

The rain slowly patters on the vermillon window
My life is a tattered page battered by the winds
Far-off dreams fading into mist
Your image has been dissipated by the wind

Wilted chrysanthemums are spread across the floor; even your smile has turned faintly yellow
The falling flowers induce sadness, and my thoughts languish
In the passing of the north wind and the dusk, your shadow lingers on
And standing by the lake, I only have my own reflection for company

Responding to the dusk, the flowers shed their brilliant shine
They wilter on life’s path, meeting a tragic fate
Don’t cross the river in melancholy
You may spend a lifetime drifting, never reaching the shore

Whose empire is it now? The sound of horse hoofs thunders in the distance.
My resplendent armour decays with the hounds of time
Your soft sigh heralds the first ray of dawn
The conclusion to another restless night

Wilted chrysanthemums are spread across the floor; even your smile has turned faintly yellow
The falling flowers induce sadness, and my thoughts languish
In the passing of the north wind and the dusk, your shadow lingers on
And standing by the lake, I only have my own reflection for company

วันที่ 9 เดือน 9 เทศกาลฉงหยาง คือช่วงเวลาที่ดอกเบญมาศผลิดอกออกบาน สีเหลืองอร่ามทั่วท้องทุ่ง ซึ่งหนังใช้เป็นสัญลักษณ์เดียวกับชุดเกราะทองอร่ามของราชองค์รักษ์ นำโดยฮองเฮา(อี)ดอกทองที่ต้องการก่อกบฎ โค่นล้มราชบัลลังก์ แต่สุดท้ายกลับประสบความล้มเหลว ทหารเลวทุกคนถูกประหารชีวิต เลือดไหลนองท่วมพระราชวัง ก่อนเช้าวันถัดมาทำเหมือนไม่มีอะไรเคยบังเกิดขึ้น

เรื่องราวในราชสำนักแห่งนี้ ช่างเต็มไปด้วยความวิปริต ผิดมนุษยมนา แบ่งฝักฝ่ายออกเป็น #ทีมฮ่องเต้ vs. #ทีมฮองเฮา ต่างใช้เล่ห์เพทุบาย ต้องการกำจัดศัตรูครุ่นคิดเห็นแตกต่าง เพราะฝั่งหนึ่งใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่ง บีบบังคับให้ทุกคนต้องยินยอมศิโรราบอยู่แทบเท้า อีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามต่อสู้ดิ้นรน ขัดขืนต่อต้าน แสวงหาพื้นที่แห่งอิสรภาพเพื่อสนองตัณหา พึงพอใจส่วนตน

ผู้ชมฝั่งประชาธิปไตย น่าจะรู้สึกว่าการกระทำของฮ่องเต้เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม โฉดชั่วร้าย เผด็จการ บ้าอำนาจ เช่นนั้นแล้วมันผิดอะไรที่ฮองเฮาจะต่อต้าน ต้องการดิ้นรน โหยหาอิสรภาพส่วนตน ให้การส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มกบฏ, แต่สำหรับชนชาวจีนส่วนใหญ่ (และประเทศฝั่งคอมมิวนิสต์) ต่างมองพฤติกรรมของฮองเฮามีความอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ยินยอมรับไม่ได้ (โดยเฉพาะการสมสู่กับเครือญาติ) การพยายามต่อสู้ขัดขืนโชคชะตา สุดท้ายแล้วก็มิสามารถโค่นล้มราชบังลังก์ ทหารตกตายนับพัน ที่ทำมาทั้งหมดมันช่างสูญเสียเปล่าโดยสิ้นเชิง!

ตั้งแต่ Hero (2002) ติดตามด้วย House of Flying Daggers (2004) ผมรู้สึกว่าผู้กำกับจางอี้โหมว พยายามแสดงทัศนคติต่อต้านการชุมนุมประท้วง ใช้กำลังความรุนแรง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา พึงพอใจส่วนตน โดยไม่เคยทำประโยชน์ใดๆให้ประเทศชาติ

Curse of the Golden Flower (2006) นำเสนอคำสาป/ผลกรรมของกลุ่มกบฎ ที่ต้องการทำการปฏิวัติ โค่นล้มราชบัลลังก์ แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถสู้รบปรบมือ ทหารหาญถูกเข่นฆ่าตกตาย ประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน แล้วทุกสิ่งกระทำมานี้มันจะมีประโยชน์อะไร? ต่อต้านขัดขืนไปทำไม? ถ้าไม่ประสบความสำเร็จย่อมหลงเหลือเพียงความขื่นขม ตรอมตรมจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

ผมเชื่อว่าหลายคนคงมีปฏิกิริยาต่อต้านเนื้อหาสาระดังกล่าว เพราะการกระทำสิ่งตอบสนองอุดมการณ์ ถึงพ่ายแพ้ตกตายก็ยังดีกว่ายินยอมก้มหัวให้ทรราชย์! แต่เราควรต้องทำความเข้าใจ ‘มุมมอง’ ของผู้สร้างว่านี่คือทัศนคติส่วนบุคคลที่แตกต่างกันไป มันเป็นสิทธิ์ของเขาจะมีความเชื่อมั่นแบบนั้น ไม่มีถูก-ไม่มีผิด เพราะโลกเราสามารถแบ่งออกสองฝั่งฝ่าย เหมือนเหรียญสองด้าน หยิน-หยาง ซ้าย-ขวา อนุรักษ์นิยม-หัวก้าวหน้า ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ฯลฯ ถกเถียงกับคนมีความคิดเห็นตรงข้าม ทำอย่างไรก็ไม่มีวันได้รับชัยชนะ (มีแต่คนโง่เท่านั้นละที่ยังคงดื้อรั้น)

อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนทัศนคติของผู้กำกับจางอี้โหมว คือการนำเสนอพลังของคติรวมหมู่ (Collectivism) ไม่มีทางที่ปัจเจกบุคคล (Individualism) จะสามารถต่อสู้เอาชนะ องค์ชายสองแม้วิทยายุทธเก่งกาจสักเพียงใด ก็ไม่สามารถบุกฝ่าวงห้อมล้อมได้ด้วยตัวคนเดียว! นี่สะท้อนหลักการ/อุดมคติ ‘ชวนเชื่อ’ ของพรรคคอมมิวนิสต์ เรียกร้องให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี พร้อมใจกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ ก้าวไปด้วยกันเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืนเป็นปึกแผ่น

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจเหตุผล ทำไมจางอี้โหมวได้รับมอบหมายกำกับพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing 2008? นั่นเพราะประสบการณ์ในการบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ที่สามารถผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้กลายเป็นสิ่งร่วมสมัยที่จับต้องได้

ใช้เวลาวางแผนตระเตรียมงานเกือบๆ 2 ปี ซักซ้อมนักแสดงกว่า 15,000+ คน (มาด้วยใจไม่ได้รับค่าจ้าง) ใช้งบประมาณมากกว่า $100 ล้านเหรียญ (พอๆหนัง Blockbuster เรื่องหนึ่งเลยนะ!) ผลลัพท์กลายเป็นพิธีเปิดมหกรรม(ไม่ว่าจะกีฬาหรืออะไรก็ตาม)ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สร้างมาตรฐานไว้สูงมากๆจนยากจะมีประเทศไหนสามารถทำออกมาได้ยอดเยี่ยมกว่า ถ้าใครเกิดไม่ทัน ยังไม่เคยรับชม ลองค้นหาใน Youtube ได้เลยนะครับ เป็นสี่ชั่วโมงกว่าๆที่คุ้มค่าการเสียเวลาอย่างแน่นอน!

เกร็ด: นอกจากโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing 2008 จางอี้โหมวยังได้รับอีกโอกาสอีกครั้งในการกำกับพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว Beijing 2022 Winter Olympics ก็ถือว่ายังคงยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน!


ด้วยทุนสร้าง $45 ล้านเหรียญ (แซงหน้า The Promise (2005) ที่ใช้งบประมาณ $35 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินถล่มทลายภายในประเทศ 295 ล้านหยวน (ทำลายสถิติหนังจีนทำเงินสูงสุดแทนที่ Hero (2002)) แต่รายรับต่างประเทศกลับค่อนข้างน่าผิดหวัง ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้เพียง $6.57 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $72 ล้านเหรียญ น่าจะยังไม่เพียงพอทำกำไรกลับคืนมา

หนังได้เป็นตัวแทนประเทศจีนส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นกลับเข้าชิงสาขา Oscar: Best Costume Design ต้องถือว่าสมควรไม่น้อย (จริงๆก็น่าจะเข้าชิง Best Art Direction ด้วยนะ!)

แม้ว่า Curse of the Golden Flower (2006) เป็นหนังที่ดูไม่ค่อยสนุก ผมเองก็เกือบฟุบหลับกลางเรื่อง แต่เราสามารถเพลิดเพลินไปกับความอลังการงานสร้าง ออกแบบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม นักแสดงเล่นดีทุกคน (โดยเฉพาะกงลี่) ฉากต่อสู้ก็พอใช้ได้ คือถ้าไม่คาดหวังอะไร ก็ย่อมไม่ผิดหวังอะไรเช่นกัน (แต่ถ้าได้ดูบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ก็ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลยละ)

แนะนำคอหนังมหากาพย์ (Epic) ต่อสู้กำลังภายใน (Wuxia) ดราม่าในราชสำนัก (Tragedy), โดยเฉพาะนักออกแบบ สถาปนิก แฟชั่นดีไซเนอร์ เสื้อผ้าหน้าผม, หลงใหลประวัติศาสตร์จีนย้อนยุค (Costume Period), แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว นักแสดงนำโจวเหวินฟะ กงลี่ และแฟนคลับเจย์โชว์ ห้ามพลาดเด็ดขาด!

ในปีเดียวกันนั้นมีภาพยนตร์อีกเรื่อง The Banquet (2006) ชื่อไทย ศึกสะท้านภพสยบบัลลังก์มังกร ดำเนินเรื่องในยุคสมัยห้าวงศ์สิบรัฐ เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในราชสำนัก พล็อตละม้ายคล้ายกับ Curse of the Golden Flower (2006) นำแสดงโดยจางจื่ออี๋, เกอโหย่ว, โจวซวิ่น, เพลงประกอบโดยถันตุ้น เผื่อใครสนใจลองหามาเปรียบเทียบดูนะครับ

จัดเรต 18+ กับความวุ่นวายในครอบครัว ทรยศหักหลัง เพศสัมพันธ์ เข่นฆาตกรรม เลือดอาบท่วมจอ

คำโปรย | ความอร่ามของ Curse of the Golden Flower กลบเกลื่อนวิสัยทัศน์ด้านอื่นๆของผู้กำกับจางอี้โหมว จนหมดสิ้น!
คุณภาพ | อร่าม
ส่วนตัว | แค่ชื่นชอบ

House of Flying Daggers (2004)


House of Flying Daggers (2004) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♡

ท่ามกลางแมกไม้นานาพันธุ์ เรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างหลิวเต๋อหัว และทาเคชิ คาเนชิโร่ ใครจะได้ครอบครองดอกไม้งาม ‘นางล่มเมือง’ จางจื่ออี๋ ต่างฝ่ายต่างเหมือนถูกคมมีดบินทิ่มแทงกลางใจ ถ้ามิได้ใช้ชีวิตกับหญิงคนรัก ฆ่ากันให้ตายเสียยังดีกว่า!

โดยปกติแล้วภาพยนตร์แนวกำลังภายใน (Wuxia) มักมีพล็อตเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับการพิสูจน์ตนเอง ต่อสู้ศัตรู ไม่ก็เข่นฆ่าล้างแค้น คิดคดทรยศหักหลังพวกพ้อง House of Flying Daggers (2004) ไม่ได้มีความแตกต่างจากสูตรสำเร็จสักเท่าไหร่ เพิ่มเติมคือมุ่งเน้นนำเสนอสัมพันธ์รักชาย-หญิง และเพื่อนสนิท (รักสามเส้าที่มีพล็อตเรื่องละม้ายคล้าย Notorious (1946)) จนกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่สร้างความชอกช้ำระกำใจ มองผิวเผินเหมือนไม่มีนัยยะอะไรซุกซ่อนเร้น แต่ความขัดแย้งระหว่างบ้านมีดบิน-ราชสำนึก (สมัยราชวงศ์ถัง) ยังชักชวนผู้ชมให้ตั้งคำถามถึงการเสียสละเพื่อส่วนร่วม vs. กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน … ในทิศทางตารปัตรตรงกันข้ามกับ Hero (2002)

อีกสิ่งที่หนังเรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์แนวกำลังภายในสมัยก่อน ก็คือไดเรคชั่นของผู้กำกับจางอี้โหม่ว ครึ่งแรกทำออกมาได้น่าติดตามมากๆ โดยเฉพาะตัวละครของทาเคชิ คาเนชิโร่ ดั่งสายลมพริ้วไหว อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนไป ค่อยๆบังเกิดความขัดแย้งภายใน ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างภารกิจ vs. หญิงสาวที่อยู่ตรงหน้า, แต่หลังจากความจริงหลายๆอย่างได้รับการเปิดเผย ‘หักมุม’ กลับทำให้ความรู้สึกผู้ชมต่อตัวละครเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือ-หลังมือ ฟ้ากับเหว ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถยินยอมรับ ปรับตัว อดรนทนไหว

นั่นเองทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่มักมองข้ามเนื้อหาสาระของหนัง เพราะเต็มไปด้วยความสับสนงุนงง หลายฉากไม่สมเหตุสมผล ดูไม่ค่อยจะรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่ต้องชื่นชมความงดงามของฉากต่อสู้ เริงระบำ แมกไม้นานาสายพันธุ์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพโดยจ้าวเสี่ยวติ้ง เป็นตากล้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่คนที่สามได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถัดจาก Gu Changwei เรื่อง Farewell My Concubine (1993) และ Lü Yue เรื่อง Shanghai Triad (1995)

ถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสปอยเลยนะครับ เพราะมันอาจทำให้สูญเสียอรรถรสในการรับชมอย่างแน่นอน!


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ช่วงระหว่างการถ่ายทำ Hero (2002) คาดว่าคงเกิดความสนใจในเรื่องราวความรักระหว่างกระบี่หัก กับหิมะเหิน ที่สามารถเปรียบเทียบแทนถึง การเสียสละเพื่อส่วนรวม vs. กระทำสิ่งตอบสนองความเห็นแก่ตัว จึงร่วมกับสองนักเขียนเฝิงลี่ และบินหวัง (ที่ช่วยกันพัฒนาบท Hero (2002)) แบ่งเวลาสองชั่วโมงในทุกๆวันมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนพัฒนากลายมาเป็น House of Flying Daggers (2004)

ชื่อหนังภาษาจีน 十面埋伏 อ่านว่า Shí Miàn Mái Fú แปลตรงตัวว่า Ambushed From Ten Directions, ถูกซุ่มโจมตีจากสิบทิศ หรือศัตรูรอบด้าน, ดั้งเดิมคือชื่อบทเพลงในอุปรากรฌ้อปาอ๋อง บรรเลงโดยผีผา (เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน) ฉากที่เซี่ยงอวี่ (ณ้อปาอ๋อง) ถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง) ใช้กองทัพทหารดักซุ่มห้อมล้อมจากทุกทิศทาง จนไร้หนทางหลบหนี ก่อนร่ำลานางสนมแล้วบุกฟันฝ่าหลบหนีออกไปได้สำเร็จ (แต่ก็ไม่รอดชีวิตอยู่ดี) ปัจจุบันกลายเป็นสำนวนจีน ใช้เปรียบเทียบสถานการณ์ตกที่นั่งลำบาก มีปัญหารอบด้าน คนรอบข้างจ้องกระทำร้ายเมื่อเราทำอะไรผิดพลาดพรั้ง ซึ่งเป็นการย่ำเตือนสติในการครุ่นคิดหน้าคิดหลัง มีความรอบคอบรัดกุม ใจเย็นๆให้มากกว่านี้

อีกแรงบันดาลใจหนึ่งของหนัง นำจากบทกวี ‘นางล่มเมือง’ ประพันธ์โดย Li Yannian, 李延年 (150-90 ก่อนคริสตกาล) มีชีวิตในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 9, ค.ศ. 25–220) ครั้งหนึ่งมีโอกาสขับร้องต่อหน้าพระพักตร์ จักรพรรดิฮั่นอู่ (ครองราชย์ 156-87 ก่อนคริสตกาล) ทรงตรัสไม่เชื่อว่าอิสตรีดังกล่าวมีอยู่จริง แต่พระขนิษฐาของพระองค์ทูลบอกว่า กวีบทนี้ได้แรงบันดาลใจจากน้องสาว Li Furen เมื่อเรียกตัวเข้าเฝ้า แต่งตั้งเป็นนางสนม (ภรรยาคนที่สอง) โดยทันที!

北方有佳人, From the north comes a ravishing maiden,
絕世而獨立. Whose beauty stands alone.
一顧傾人城, One look at her, cities fall,
再顧傾人國. On the second glance, empires collapse.
寧不知傾城與傾國. Care not whether cities fall or empires collapse,
佳人難再得. Such beauty never comes around twice.

佳人曲 อ่านว่า Jiarenqu แปลว่า The Beauty Song

ค.ศ. 859 สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) เป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรม ฮ่องเต้ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ขุนนางกังฉินฉ้อราษฎร์บังหลวง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า บ้านมีดบินคือสำนักของกลุ่มกบฏที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราชสำนัก ด้วยอุดมการณ์แรงกล้าที่จะโค่นล้มราชบัลลังก์

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเจ้าสำนักบ้านมีดบินคนก่อน ถูกทางการลอบสังหาร เจ้าบ้านคนใหม่ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นอย่างลับๆ ราชสำนักจึงมีคำสั่งให้สองมือปราบ หลิว (รับบทโดย หลิวเต๋อหัว) และจิน (รับบทโดย ทาเคชิ คาเนชิโร่) ออกติดตามหาเบาะแสเจ้าสำนักคนใหม่ และสถานที่ตั้งของสำนักบ้านมีดบิน

เจ้าหน้าที่หลิวมีความสงสัยเสี่ยวเม่ย (รับบทโดย จางจื่ออี๋) นางรำตาบอดแห่งศาลาดอกโบตั๋น อาจมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับบ้านมีดบิน จึงวางแผนให้จินแอบปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์นามว่าวายุ ใช้มารยาเสน่ห์เกี้ยวพาราสี พร้อมให้การช่วยเหลือเสี่ยวเม่ยออกมาจากที่คุมขัง คาดหวังว่าเธอจะนำพาไปยังที่ตั้งสำนักบ้านมีดบิน


จางจื่ออี๋, 章子怡 (เกิดปี 1979) หนึ่งในสี่ ‘Four Dan’ นักแสดงหญิงสัญชาติจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง ฝึกฝนการเต้นรำตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากนั้นเข้าโรงเรียน Beijing Dance Academy เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ National Youth Dance Championship จึงมีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ แสดงโฆษณา สามารถเข้าเรียนต่อ Central Academy of Drama และต้องตาแมวมองของผู้กำกับจางอี้โหมว แจ้งเกิดโด่งดังจากภาพยนตร์ The Road Home (1999) ติดตามด้วย Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Rush Hour 2 (2001), Hero (2002), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Memoirs of a Geisha (2005), Forever Enthralled (2009), The Grandmaster (2013) ฯลฯ

รับบทเสี่ยวเม่ย นางรำตาบอดแห่งศาลาดอกโบตั๋น ถูกคาดการณ์ว่าอาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับบ้านมีดมิน โดยเฉพาะลีลาการเต้นที่มีความชดช้อยเหมือนท่วงท่าวิทยายุทธ ซึ่งเมื่อเธอแสดงตัวต้องการเข่นฆ่ามือปราบหลิว เลยถูกจับกุมควบคุมขัง ได้รับความช่วยเหลือจากจอมยุทธ์นามวายุ ที่ดูเคลือบแคลง น่าสงสัย แถมพยายามใช้มารยาเสน่ห์ ยั่วเย้าให้ตกหลุมรัก กระทั่งเมื่อเขายินยอมเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับทหารติดตาม เธอจึงเริ่มมีความรู้สึกมอบให้

แท้จริงแล้วเสี่ยวเม่ยไม่ได้ตาบอด การกระทำของเธอคือแผนการของบ้านมีดบิน เพื่อล่อลวงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นายพลให้ออกติดตามไล่ล่า หลายปีก่อนเคยมอบความรักแก่หลิว (ที่ถูกส่งไปเป็นไส้ศึกในกองปราบ และต้องคอยพบเห็นเธอพรอดรักกับจิน) แต่เพียงระยะเวลาสามวันกับวายุ (หรือมือปราบจิน) ก็พร้อมละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่ออยู่เคียงข้างเขา

ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับจางอี้โหมวพัฒนาอีกบทบาท เพื่อให้เหมยเยี่ยนฟาง, Anita Mui Yim-fong (1963-2003) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง ที่เพิ่งตรวจพบโรคมะเร็งปากมดลูก ตั้งใจจะเล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย แต่ยังไม่ทันได้เริ่มถ่ายทำเธอกลับพลันด่วนเสียชีวิตไปก่อน ด้วยเหตุนี้เขาเลยปรับเปลี่ยนรายละเอียดตัวละครใหม่หมด อ้างว่าเป็นสัญลักษณ์การให้เกียรติแก่เธอ และช่วงท้ายยังคงขึ้นชื่อบนเครดิต

สำหรับบทบาทใหม่ก็เล็งมิเชล โหยว, หลินชิงเสีย ก่อนตัดสินใจเลือกนักแสดงขาประจำจางจื่ออี๋ เพื่อให้เธอมีโอกาสแสดงความสามารถด้านการเต้นรำ (ที่อุตส่าห์ร่ำเรียน) นอกจากนี้ยังเห็นว่าทุ่มเทโปรเจคนี้สุดๆ ด้วยการอาศัยอยู่กับหญิงสาวตาบอดนานถึง 2 เดือน ศึกษากิริยาท่าทาง การใช้ชีวิตของเธอ นำมาปรับใช้ในบทบาทได้อย่างสมจริง

I did everything with her so that I could make the way she led her life a part of my lifestyle as well. I studied the way she touched a person’s face to learn how to emulate it.

จางจื่ออี๋ กล่าวถึงการใช้ชีวิตอยู่กับสาวตาบอดเพื่อเตรียมตัวรับบท

ส่วนตัวชื่นชอบการแสดงของจางจื่ออี๋ขณะเป็นสาวตาบอดมากๆ ลีลาการเต้นชดช้อยนางรำ คำพูดนุ่มนวลอ่อนหวาน สามารถชักชวนให้บุรุษหนุ่มเคลิบเคลิ้มหลงใหล ขณะเดียวกันก็ดูน่าสงสารเห็นใจในความพิการ แต่หลังจากเปิดเผยตัวตนแท้จริง คนส่วนใหญ่มักเกิดอาการกระอักกระอ่วน รู้สึกเหมือนโดนลวงล่อหลอก หมดสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธา ไม่อยากยุ่งเกี่ยวอะไรกับเธออีกต่อไป นั่นทำให้ช่วงระหว่างการตัดสินใจเลือกชายคนรัก กลายเป็นไร้น้ำหนัก ไร้อารมณ์ร่วม อยากจะลงเอยกับใครก็ตามสบาย หรือตกตายได้เสียก็ดี!

ผมโคตรๆเสียดายการแสดงของจางจื่ออี๋ เธอเล่นบทบาทนี้ได้สมจริง ตราตรึง ครึ่งแรกยอดเยี่ยมมากๆ แต่เรื่องราวครึ่งหลังนำพาให้ตัวละครสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อผู้ชม เลยไม่มีใครใคร่อยากสนความกะล่อนปลิ้นปล้อน(ของตัวละครนี้)อีกต่อไป


หลิวเต๋อหัว, Andy Lau Tak-wah (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB เริ่มมีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1998), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทมือปราบหลิว ครุ่นคิดแผนการให้เพื่อนสนิทจิน ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์วายุ เข้าไปเที่ยวเล่นหอนางโลม ตีสนิทนางรำตาบอดเสี่ยวเม่ย ส่วนตนเองแสร้งว่าบุกเข้าไปจับกุม แล้วจัดกองกำลังออกไล่ล่า แอบให้ความช่วยเหลืออยู่ห่างๆ กระทั่งการมาถึงของนายพล ส่งทหารฝนสังกัดออกติดตามด้วยตนเอง ทำให้ทุกสิ่งอย่างบานปลายจนไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีก

ตัวตนแท้จริงของหลิวคือสายลับจากบ้านมีดบิน ปลอมตัวมารับราชการตำรวจเพื่อหาหนทางกวาดล้างขุนนางกังฉิน ก่อนหน้านี้เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเสี่ยวเม่ย แทบอดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นจินพรอดรักกับเธอ พยายามย้ำเตือนเพื่อนสนิทว่าอย่าจริงจัง แต่หลังจากทุกสิ่งอย่างเปิดเผย เขาก็มิอาจอดรนทนต่อชายโฉดหญิงชั่วได้อีกต่อไป

Because I was already familiar with the basics of the action sequences, I was able to devote most of my time to my acting. My character is very complex; he is a man that believes his love is true, but he believes in this so strongly that it eventually becomes his own downfall.

หลิวเต๋อหัว กล่าวถึงบทบาทหลิว

ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ชอบความไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยของมือปราบผู้นี้ จู่ๆก็มาเปิดเผยว่าคือ(อดีต)คนรักของเสี่ยวเหม่ย ทำให้เรื่องราวทุกสิ่งอย่างก่อนหน้านี้ล้วนเป็นการเล่นละคอนตบตา แต่เพราะความจืดจางในครึ่งแรก (ที่พบเห็นแค่ไม่กี่ฉาก) หลายคนเลยไม่ค่อยอคติต่อตัวละครสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับตอนเปิดเผยตัวตนของเสี่ยวเหม่ย)

ทางฝั่งนักวิจารณ์ประเทศจีน/ฮ่องกง ก็ไม่ค่อยประทับใจการแสดงของเฮียหลิวสักเท่าไหร่ มองว่าปฏิกิริยาแสดงออกทางใบหน้ามีความตื้นเขินเกินไป สัมผัสไม่ได้ถึงความขัดแย้งทางอารมณ์ที่อยู่ภายใน ท่าทางก็ดูแข็งทื่อ ไร้จิตวิญญาณ เป็นบทบาทก้าวถอยหลังลงคลองครั้งใหญ่

แต่บอกตามตรงผมกลับรู้สึกว่าเฮียหลิวเล่นบทเก็บกดได้เข้มข้นมากๆ ใบหน้าดูเคร่งขรึม ถมึงทึง ขมวดคิ้วแทบตลอดเวลา ที่มันไม่เอ่อล้นเพราะต้องปกปิดซ่อนเร้น เล่นละคอนตบตาจิน แต่ก็เพียงพอให้สัมผัสถึงอารมณ์อันซับซ้อนที่อยู่ภายใน สำหรับท่าทางแข็งกระด้างเหล่านั้น แสดงถึงความตึงเครียด เก็บกดดัน ร่างกายจะขยับเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติได้อย่างไร


ทาเคชิ คาเนชิโร่ ชื่อจีน จินเฉิงอู่ (เกิดปี 1973) นักแสดงลูกครึ่งไต้หวัน-ญี่ปุ่น เกิดที่กรุงไทเป บิดาเป็นชาวญี่ปุ่น ก้าวสู่วงการแสดงตั้งแต่อายุ 15 ปี ได้รับคัดเลือกให้เป็น Pop Idol ของไต้หวัน ออกอัลบัมชุดแรก Heartbreaking Night (1992), ด้วยความสามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา (จีนกลาง, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, ญี่ปุ่น และอังกฤษ) เลยมีโอกาสทางการแสดงที่หลากหลาย ผลงานเด่นๆ อาทิ Chungking Express (1994), Fallen Angels (1995), House of Flying Daggers (2004), Perhaps Love (2005), The Warlords (2007), Red Cliff (2008-09) ฯ

รับบทมือปราบจิน ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์เพลย์บอยวายุ พยายามเกี้ยวพาราสีนางรำตาบอดเสี่ยวเหม่ย ทั้งยังให้ความช่วยเหลือหลบหนีออกจากห้องคุมขัง เพราะครุ่นคิดว่าเธอจะนำพาเขาไปยังสำนักบ้านกระบี่บิน แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มบานปลาย นายพลส่งกองกำลังส่วนตัวออกไล่ล่าติดตาม ทำให้ต้องเข่นฆ่าพรรคพวกพ้องเดียวกัน โดยไม่รู้ตัวนั่นสร้างความประหลาดใจให้หญิงสาว ไม่ครุ่นคิดว่าชายหนุ่มจะยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อตนเอง

เมื่อความจริงของเสี่ยวเหม่ยได้รับการเปิดเผย สร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง แต่เขาก็ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง พยายามโน้มน้าวชักชวนเธอให้หลบหนีไปอาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน กระทั่งถูกขัดขวาง/เผชิญหน้ากับเพื่อนสนิทหลิว ก่อเกิดการต่อสู้ที่มีศักดิ์ศรีเรื่องความรักเป็นเดิมพัน!

ในบรรดาสามตัวละครหลัก บทบาทของทาเคชิ คาเนชิโร่ มีการแสดงออกทางอารมณ์เด่นชัดเจนที่สุดแล้ว ตั้งแต่เล่นเป็นเพลย์บอย (หล่อขนาดนี้ ดูยังไงก็โคตรสมจริง) ถูกยั่วยวนกลับ (บังเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจ ระหว่างภารกิจ vs. เสียงเรียกร้องของหัวใจ) ตกตะลึงเมื่อพบเห็นความจริง (จากอ้ำๆอึ้งๆ กลายเป็นพูดไม่ออกบอกไม่ถูก) และฉากที่ผมชื่นชอบมากๆคือพยายามปั้นหน้าด้วยรอยยิ้ม ชักชวนเธอหลบหนีไปด้วยกัน ก่อนจบลงด้วยความเงียบงัน (แล้วควบขี่ม้าจากไป)

แต่ผู้ชม/นักวิจารณ์ชาวจีน ส่วนใหญ่มองว่าบทบาทนี้ดูทึ่มทื่อ เถรตรง หลงตัวเอง บทพูดดูตลกขบขันมากกว่าเกิดความโรแมนติก น่าหลงใหล อีกทั้งเคมีกับจางจื้ออี๋ก็ไม่ได้เข้ากันสักเท่าไหร่ … ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต่างฝ่ายต่างพยายามเล่นละคอนตบตา ไม่ต้องการปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงติดกับ (ฝ่ายชายยังคงยึดมั่นในหน้าที่การงาน, หญิงสาวครุ่นคำนึงถึงชายคนรักเก่า)

I have no shame in saying I had the most difficult time. I had to spend a whole month just learning the difference between the weapons. I thought I would be simply taught step-by-step the action sequences, but I had to learn the basic disciplines first. Then, we would go on location and actually create each technique and shoot with the weather and time in check.

ทาเคชิ คาเนชิโร่ กล่าวถึงความท้าทายในการซักซ้อมฉากต่อสู้

เกร็ด: ทาเคชิ คาเนชิโร่ ครั้งหนึ่งได้รับบาดเจ็บตกจากหลังม้า รักษาตัวไม่ทันหายดีต้องรีบกลับมาถ่ายทำต่อ ด้วยเหตุนี้ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าหลายๆฉากตัวละครจะยืนแน่นิ่ง ไม่ค่อยก้าวเดิน ขยับเคลื่อนไหว (ถ้าจำเป็นต้องเดินไปไหนมาไหนหรือฉากควบขี่ม้า ก็จะใช้นักแสดงแทนโดยถ่ายไม่ให้เห็นใบหน้า)


ถ่ายภาพโดย จ้าวเสี่ยวติ้ง, Zhao Xiaoding (เกิดปี 1968) ตากล้องชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง โตขึ้นเข้าศึกษายัง Beijing Film Academy สำเร็จการศึกษาปี 1989 จากนั้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ผู้ช่วยตากล้อง (Camera Assissantant) จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวถ่ายทำคลิปโปรโมทการประมูลจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2000, เลยได้เป็นผู้ช่วย Christopher Doyle ถ่ายทำ Hero (2002), และได้รับเครดิตถ่ายภาพ House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006), The Flowers of War (2011), Shadow (2018) ฯ

งานภาพของหนังแม้ไม่มีความฉูดฉาดด้านสีสันเทียบเท่า Hero (2002) แต่ก็ผันแปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ (ฤดูกาล) และสถานที่ถ่ายทำที่เต็มไปด้วยต้นเบิร์ช (Birch) ต้นไผ่ (Bamboo) ทุ่งดอกไม้ ฯ เรียกว่าเต็มไปด้วยแมกไม้หลากหลายสายพันธ์ุ

สถานที่ถ่ายทำของหนัง ประกอบด้วย

  • ป่าเบิร์ช และทุ่งดอกไม้ เดินทางไปถ่ายทำยัง Hutsulshchyna National Park (บ้างเรียกว่า Kossiv National Park) เทือกเขาด้านหลังคือ Carpathian Mountains ตั้งอยู่ประเทศยูเครน
  • ป่าไผ่ถ่ายทำยัง Tea Mountain Bamboo Sea อยู่ที่จังหวัดหยงซวน นครฉงชิ่ง (หนึ่งในสี่นครที่อยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของรัฐบาลกลาง อีกสามแห่ง คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน)
  • ส่วนฉากภายในและศาลาดอกโบตั๋น ถ่ายทำยัง Beijing Film Studio

ศาลาดอกโบตั๋น (Peony Pavillion) ใช้เวลาก่อสร้างนาน 2 เดือน สูญเงินไปกว่า 2 ล้านหยวน ประกอบด้วย 50 โคมไฟ แกะสลักลวดลายไม้กว่า 400-500 ชิ้น ภายใต้พื้นเวทีและโดยรอบสถานที่แห่งนี้จะมีแสงไฟส่องสว่าง พานผ่านลวดลายพื้น-ผนัง(ดอกไม้และผีเสื้อ)ทำจาก fiberglass เพื่อให้สามารถเรืองแสง ไม่มีระบุขนาดของห้องโถง แต่ใหญ่พอให้วางเรียงรายกลองจำนวน 40 อัน

เกร็ด: ดอกไม้โบตั๋น (Peony) ในสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อปี ค.ศ. 1903 ได้มีการประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำชาติ มีความหมายถึงความเจริญมั่งคั่ง ร่ำรวย มียศศักดิ์ (แต่พอเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยประกาศดอกไม้ประจำชาติอย่างเป็นทางการ) นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่องสวยๆงามๆของผู้หญิง เกี่ยวกับความรัก ซื่อสัตย์มั่นคง ดึงดูดเพศตรงข้ามให้เกิดความลุ่มหลงใหล

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Emi Wada (1937-2021) แฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของผลงานอมตะ Ran (1985) ก่อนหน้านี้เพิ่งร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวเรื่อง Hero (2002) แต่ครานี้ต้องชมเลยว่า ออกแบบเสื้อผ้าตัวละครได้อย่างน่าตกตะลึงยิ่งนัก! โดยเฉพาะชุดระหว่างทำการแสดงของเสี่ยวเหม่ย (มีสองชุดนะครับ) มีความละเมียด ละเอียดอ่อน ละลานตาอย่างที่สุด

แซว: ผมไม่คิดว่าสถานที่แห่งนี้จะมีอยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆหรอกนะ เป็นการนำเสนอให้ดูสวยงามแบบเว่อวังอลังการ เพื่อขายศิลปะวัฒนธรรม (และจินตนาการผู้สร้าง) แต่ก็ชวนให้ระลึกถึงหนัง Bollywood ที่ชอบทำอะไรตื่นตระการตาลักษณะนี้

ภาพแรกของสองเพื่อนสนิทมือปราบ จิน vs. หลิว แม้ต่างนั่งอยู่แต่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม คนหนึ่งกำลังกินถั่ว ท่าทางผ่อนคลาย แสดงถึงนิสัยเจ้าสำราญ, อีกฝั่งฝ่ายกำลังเช็ดคมดาบ ดูเคร่งขรึม คิ้วขมวด ตระเตรียมตัวพร้อมต่อสู้ตลอดเวลา

มือปราบหลิวเล่าให้ฟังถึงภารกิจใหม่ มอบหมายให้จินปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์ชื่อวายุ แสร้งว่าเข้าไปท่องเที่ยวยังศาลาดอกโบตั๋น สังเกตการณ์พนักงานคนใหม่ อาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับบ้านมีดบิน

เกมชักเหย่อระหว่างจิน (ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์วายุ) กับสาวๆในศาลาดอกโบตั๋น สามารถสื่อความถึงความขัดแย้งในหลายๆระดับ เริ่มจากภายในจิตใจตัวละคร (จินต้องเลือกระหว่างภารกิจ vs. หญิงสาวต่อหน้า(เสี่ยวเหม่ย)) หรือระหว่างเพื่อนสนิท (จิน vs. หลิว) รวมไปถึงบ้านมีดบิน vs. ราชสำนัก … ซึ่งการที่หนังนำเสนอผู้แพ้-ชนะในเกมชักเย่อนี้ บอกใบ้ถึงการตัดสินใจของตัวละครในฉากต่อๆไป (เลือกกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจของตนเอง ไม่ยินยอมเสียสละเพื่อผู้อื่นอีกต่อไป)

The first idea that came to me was the dance scene. I employed a dance trainer for two months and had intended it to be a choreographed, traditional dance. But my initial vision was changed by the inspirations I got from action director Tony Chung Siu-Tung, and I decided to make the scene more of an action scene. I believe this is the first time that a historical Chinese dance was directed by an action director.

ผู้กำกับจางอี้โหมว กล่าวถึงท่วงท่าเต้นระบำ

ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับจางอี้โหมว ครุ่นคิดจะให้ฉากการเต้นรำก็แค่การเต้นระบำพื้นเมืองทั่วๆไป (ไม่ได้อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ยุคไหน) แต่ระหว่างพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักออกแบบคิวบู๊ (Action Director) เฉิงเสี่ยวตง เลยเกิดแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างท่วงท่า ให้มีลักษณะเหมือนลีลาการต่อสู้ (ท่ารำวิทยายุทธ)

เฉิงเสี่ยวตง, Ching Siu-tung (เกิดปี 1952) ผู้กำกับ/นักแสดง/ออกแบบการต่อสู้ เกิดที่มณฑลอานฮุย, บิดา Ching Kang คือหนึ่งในผู้กำกับ/นักเขียนบทสังกัด Shaw Brothers Studios ส่งบุตรชายไปร่ำเรียนงิ้วตั้งแต่เด็ก แต่กลับเลือกทำงานกำกับภาพยนตร์ Duel to the Death (1982), A Chinese Ghost Story (1987), The Swordsman (1990) ฯ และยังออกแบบฉากต่อสู้ Shaolin Soccer (2001), Hero (2002), House of Flying Daggers (2004), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

ด้วยเหตุนี้ท่วงท่าการรำของจางจื่ออี๋จึงมี 2 ชุดการแสดงที่แตกต่างตรงกัน

  • หลังถูกวายุที่กำลังมึนเมา ถอดเสื้อคลุมออก เหลือเพียงชุดชั้นในโทนสีน้ำเงิน (แต่ก็ยังสวมทับอีกหลายชั้น) ออกลีลาที่เชื่องช้า เนิบนาบ เน้นท่วงท่าชดช้อยนางรำ มีความนุ่มนวลละอ่อนหวาน บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีผีผา และขับร้องโดยจางจื้ออี๋
  • ถูกบีบบังคับให้ทำการแสดงโดยมือปราบหลิว เปลี่ยนมาสวมใส่ชุดโทนสีแดง (เอาว่ามีลักษณะตรงกันข้ามกับเพลงแรก) มีลีลาอันเร่งรีบเร้าร้อน ท่วงท่าเหมือนจอมยุทธ์ กระโดดโลดเต้นตามจังหวะเสียงรัวกลอง เคาะตามเม็ดถั่ว (Echo Game) ที่มือปราบหลิวเขวี้ยวขว้างออกไป

การรำทั้งสองครั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์/ความรู้สึกที่เสี่ยวเหม่ยมีให้ต่อชายคนรักทั้งสองด้วยนะครับ

  • วายุ/มือปราบจิน มีความนุ่มนวลละอ่อนหวาน เอ็นดูทะนุถนอม เอาอกเอาใจใส่ ริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ไม่ต้องการให้เธอได้รับบาดเจ็บใดๆ
  • ขณะที่หลิวออกไปทางเร่าร้อนรุนแรง เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ ‘passion’ มรสุมแห่งความคลุ้มคลั่ง พร้อมกระทำร้ายถ้าเธอคบชู้นอกใจ

บ่อน้ำ/แอ่งน้ำ คือสถานที่แห่งโชคชะตาของเสี่ยวเหม่ย ผมสังเกตพบสามครั้งในสามสถานการณ์สำคัญๆ

  • ครั้งแรกขณะถูกจับโดยมือปราบหลิว ด้วยการกดศีรษะให้จมอ่างอาบน้ำ
  • ครั้งสองระหว่างกำลังถูกไล่ล่า (โดยลูกน้องของมือปราบหลิว) วิ่งหลบหนีมาจนถึงแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง แล้วได้รับการช่วยเหลือจากวายุ แสดงความสามารถด้านการยิงธนูได้อย่างแม่นยำ
  • และครั้งสุดท้ายคืออาบน้ำชำระล้างร่างกาย ในบ่อที่ปกคลุมด้วยใบไม้

ผมครุ่นคิดว่าทั้งสามครั้งนี้น่าจะสื่อถึงการชะล้างทัศนคติบางอย่างของตัวละคร

  • ครั้งแรกสื่อถึงความเย่อหยิ่งความทะนงตนของเสี่ยวเหม่ย ครุ่นคิดว่าจะสามารถเอาชนะมือปราบหลิว แต่ก็มิอาจต่อกร พ่ายแพ้ด้วยการถูกจับกดน้ำ ให้ตื่นขึ้นจากอาการหลงตัวเอง
    • ความเป็นจริงแล้ว เสี่ยวเหม่ยอาจแค่ต้องการประลองฝีมือกับ(อดีต)คนรัก นี่แค่เป็นการหยอกล้อเล่นของพวกเขาเท่านั้นเอง
  • ครั้งสองเธอแสร้งว่าทำเหมือนไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ถูกห้อมล้อมต้อนจนมุมจากมือปราบทั้งสี่ เฝ้ารอคอยพระเอกมาช่วย ‘damsel in distress’ เมื่อรอดชีวิตก็เริ่มมีจิตใจที่อ่อนโยนต่อเขา
    • การไล่ล่าดังกล่าวเป็นเพียงการเล่นละคอนตบตา (แบบเดียวกับเสี่ยวเหม่ยที่แสร้งว่าตาบอด) หลอกลวงน้ำขุ่นๆ
  • ครั้งสุดท้ายเสี่ยวเหม่ยอาบน้ำชำระล้างร่างกาย แต่วายุที่แสร้งว่าอยู่ห่างออกไป แท้จริงแล้วแอบจับจ้องมองอยู่เคียงใกล้ ซึ่งเธอก็พูดอ่อยเหยื่อให้เขาตายใจ หลังแต่งตัวเข้ามาพรอดรัก กอดลูบไล้ แต่ก็ตัดสินใจยังไม่ถึงเวลาเชยชม (ต่างมีกำแพงความรู้สึกกีดกั้นขวางพวกเขาไว้)

หลังจากหลบหนีออกจากสรวงสวรรค์ (ในเมือง) หนังดำเนินเรื่องพานผ่านแมกไม้สามสายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ประกอบด้วย

  • ป่าเบิร์ชมีลำต้นที่แข็งแกร่งมั่นคง เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ เป็นสัญลักษณ์แทนการถือกำเนิด (rebirth) เริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือคือวายุ/จินให้การช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยออกจากห้องคุมขัง พานผ่านป่าแห่งนี้ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน
  • ทุ่งดอกไม้คือพืชล้มลุก (เรียกว่าวัชพืชน่าจะถูกต้องกว่า) เริ่มต้นคือดินแดนแห่งอิสรภาพ หนุ่มสาวพรอดรัก โรแมนติกหวานฉ่ำ จากนั้นไม่นานค่อยๆถูกห้อมล้อมโดยศัตรูรอบทิศทาง กลายเป็นสถานที่แห่งการตัดสินใจ ระหว่างเสียสละเพื่อส่วนรวม/ประเทศชาติ หรือกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของหัวใจ และไคลน์แม็กซ์ยังเป็นสถานที่แห่งการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี ลูกผู้ชาย
  • ป่าไผ่แม้ลำต้นสูงใหญ่แต่มีความโอนเอนเอียง ยืดหยุ่น สามารถโน้มลงจากด้านบน (ต้นไม้ของ Zen) ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ สถานที่แห่งความจริง เปิดเผยสิ่งซุกซ่อนเร้นไว้ หรือจะมองว่าตัวละครได้ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิตก็ได้เหมือนกัน

ลีลาการถ่ายภาพยังสามสถานที่แห่งนี้ต้องชมเลยว่าสวยสดงดงาม บ่อยครั้งจะพบเห็นกล้องเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครขณะวิ่งหลบหนีพานผ่านแมกไม้ ราวกับว่าพืชพันธุ์เหล่านี้สามารถเทียบแทนสภาวะจิตใจตัวละครขณะนั้นๆ หนักแน่นมั่นคง (ป่าเบิร์ช) -> สวยงามบอบบาง (ทุ่งดอกไม้) -> โอนอ่อนคล้อยตาม (ป่าไผ่)

ไคลน์แม็กซ์ของการหลบหนีทั้งสามแมกไม้นั้น วายุและเสี่ยวเหม่ยต่างต้องถูกห้อมรอบล้อม ตอนจนกรอบ ไร้หนทางออก และได้รับการช่วยเหลืออย่างหวุดหวิด ทันท่วงที เสี้ยววินาทีแห่งความเป็นตาย

  • ป่าเบิร์ช เสี่ยวเหม่ยถูกกองกำลังของมือปราบหลิวเข้าห้อมล้อม 4 ลุม 1 ได้รับการช่วยเหลือจากวายุ/มือปราบจิน ยิงธนูได้อย่างแม่นยำ เข้าตรงเป้าโดยไม่ได้เข่นฆ่าพวกเขาให้ตกตายไป
  • ทุ่งดอกไม้ จินและเสี่ยวเหม่ยถูกหน่วยไล่ล่าของนายพลเข้าห้อมล้อม 8 ลุม 2 ได้รับการช่วยเหลือจากขอนไม้บินลึกลับ (จริงๆแล้วเป็นของมือปราบหลิว แอบช่วยเหลืออยู่ห่างๆ)
  • ป่าไผ่ จินเข้ามาช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยพาหลบหนี แต่กองกำลังของนายพลมีมากมายนับไม่ถ้วน 10 ลุม 2 (ยังไม่รวมที่อยู่บนต้นไผ่) ได้รับความช่วยเหลือจากบ้านมีดบิน เขวี้ยงขว้างทำลายทุกสิ่งราบเรียบหน้ากลอง

ทั้งสามเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่สื่อถึงชื่อหนังภาษาจีน 十面埋伏 (ที่แปลว่าถูกห้อมล้อม, ศัตรูรอบด้าน) แต่มันคือความซ้ำซากจำเจของคนที่ไม่รู้จักครุ่นคิดแก้ปัญหา ปล่อยให้เหตุการณ์(หมา)จนตรอกเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เจ็บไม่จำ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม แถมต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนนอก ถึงสามารถดิ้นรนเอาชีพรอด

ดั้งเดิมนั้นทีมงานกวาดซื้อเมล็ดดอกทานตะวัน (รวมราคากว่า $2,000 เหรียญ) แล้วว่าจ้างให้ชาวบ้านแถวนั้น (ชาว hutsul) ทำการเพาะปลูกยังเนินเขาแห่งหนึ่ง แต่การแพร่ระบาดของโรค SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) ช่วงระหว่างพฤศจิกายน 2002 ถึงสิงหาคม 2003 ทำให้โปรเจคล่าช้า ไม่มีใครมาดูแล รดน้ำใส่ปุ๋ย เมื่อยกกองไปยังสถานที่ดังกล่าวก็พบว่าไม่สามารถใช้งานได้! แต่ห่างออกไปไม่ไกล พวกเขาก็ค้นพบทุ่งดอกไม้วัชพืชนี้ที่ใช้ในการถ่ายทำ

ดอกสีเหลืองที่เหน็บแซมผมของเสี่ยวเหม่ย ชื่อเรียกของมันคือ บัวตอง (Tree Marigold) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก อายุยืนยาวหลายปี สามารถสูงได้ถึง 5 เมตร ออกดอกช่อเดียว บริเวณปลายกิ่งมีสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวันแต่มีขนาดเล็กกว่า ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นบนยอดดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

เกร็ด: บัวตองเป็นพืชที่มักสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ แต่ต้องระดับความสูงเกินกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป เมืองไทยจึงพบในแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงราย

หรือนัยยะของฉากนี้จะไม่ได้ต้องสื่อว่า เสี่ยวเหม่ยมีความงดงาม เบิกบานดั่งดอกทานตะวัน (นี่น่าจะเป็นความตั้งใจแรกเริ่มของผู้สร้างเลยนะ) แต่คือวัชพืชตัวปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนในรักสามเส้า

เกร็ด: คนส่วนใหญ่มักครุ่นคิดว่าวัชพืชคือพืชไร้ค่า เจริญเติบโตขึ้นมาเพื่อแก่แย่งสารอาหารจากต้นไม้ใหญ่ สมควรกำจัดให้สิ้นซาก แต่ประโยชน์ของมันก็เยอะอยู่นะครับ สามารถใช้เป็นอาหาร ทำปุ๋ยอินทรี ยึดเกาะหน้าดิน ออกดอกสวยๆก็มีนำมาประดับตกแต่งสถานที่ … วัชพืช มิใช่พืชไร้ค่าอีกต่อไปแล้วนะครับ

น่าสนใจทีเดียวกับการนำเสนอมุมกล้องถ่ายภาพหญิงสาวลอดระหว่างขาบุรุษ สามารถสื่อถึงอิสตรีที่ถูกควบคุมครอบงำภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ใบบริบทของหนังสามารถสื่อถึงหลิว&จิน ที่ต่างต้องการได้เธอมาอยู่เคียงชิดใกล้ เช่นเดียวกับบ้านมีดบิน&ราชสำนัก กำหนดโชคตะกรรมของผู้อยู่ใต้สังกัด ออกคำสั่งกำจัดอีกฝั่งฝ่ายให้ตกตายไป … ไม่ว่าจะมองทิศทางไหน โชคชะตากรรมของหญิงสาวล้วนถูกห้อมล้อม ไร้หนทางออกสู่อิสรภาพ!

เครื่องแบบของบ้านมีดบิน ชวนให้นึกนัยยะสีเขียวของ Hero (2002) อยู่ไม่น้อยเลยละ! เกี่ยวกับการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ พยายามทำตัวให้กลมกลืนกับต้นไผ่ (สะท้อนลักษณะของนักฆ่า ที่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมรอบข้าง) เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต หรือคือเรื่องราวหลังจากนี้จะเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงของตัวละครหลักๆ

เอาจริงๆมันไม่มีความจำเป็นที่เจ้าสำนัก (ตัวปลอม) ต้องเล่นละคอนตบตา พูดจาโน้มน้าว คุกเข่าคำนับ ให้วายุ/จินยินยอมตอบตกลงแต่งงานกับเสี่ยวเหม่ย แต่ที่ทำไปทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่สร้างกับดักให้ตายใจ (จักได้จับกุมตัวง่ายๆ) ผู้ชมก็รู้สึกเหมือนถูกลวงล่อหลอกเช่นเดียวกัน!

ฉากนี้ถือเป็นจุดหมุนของหนังที่ยังสะท้อนการดำเนินเรื่องราวตั้งแต่ต้น! เริ่มจากสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ตัวละคร(และผู้ชม) เมื่อรู้สึกผ่อนคลายก็เปิดเผยข้อเท็จจริง หลังจากนี้สภาพจิตใจ(ของจินและผู้ชม)ย่อมหลงเหลือเพียงความหมดสิ้นหวัง

แซว: แต่จะว่าไป ผมครุ่นคิดว่าเจ้าสำนัก (ตัวปลอม) คงอยากคุกเข่าคำนับเพื่อเป็นการขอบคุณที่วายุ/จิน ให้ความช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยเอาตัวรอดมาจนถึงป่าไผ่แห่งนี้ โดยไม่หลุดคาแรคเตอร์สาวตาบอด (เป็นจินและผู้ชมเองต่างหาก ที่ตามืดบอด มองไม่ออกว่าเธอคนนี้เล่นละคอนตบตา)

หลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหลิวกับเสี่ยวเหม่ย จู่ๆก็ปรากฎขึ้น ดูเหมือนการยัดเยียดยังไงชอบกล แถมไม่อธิบายเรื่องราวความเป็นไป หรือใส่ฉากย้อนอดีต (Flashback) เล่าความหลังเลยสักนิด!

I don’t want audiences to wonder when and how the love began. The point is that there is this instantaneous love, and that love is oppressed because it is not just between two people; it has the third pair of eyes constantly watching them from afar.

ผู้กำกับจางอี้โหมวกล่าวถึงประเด็นรักสามเส้า

ล้อกับตอนต้นเรื่อง มือปราบหลิวเล่น Echo Game โยนเมล็ดถั่วไปถูกกลองไหน สาวตาบอดเสี่ยวเหม่ยจะเริงระบำสัมผัสกลองนั้น มาคราวนี้ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม เสี่ยวเหม่ยโยนก้อนหินถูกต้นไผ่ไหน สายลับหลิวที่ปิดตาอยู่ จะโยนมีดบินไปยังต้นไผ่นั้น

เช่นเดียวกับวายุหลังจากรับชมการเริงระบำของสาวตาบอดเสี่ยวเหม่ย พยายามฉุดกระฉากลวนลาม (แต่ไม่สำเร็จ) กลับตารปัตรเมื่อเสี่ยวเหม่ยได้รับคำสั่งให้จัดการมือปราบจิน ลากพาเขายังทุ่งดอกไม้ (ปิดตาไว้) แล้วตัดสินใจปลดปล่อย ยินยอมร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของกันและกัน … ครั้งแรกครั้งสุดท้าย

นี่ก็เป็นอีกสองช็อตที่ล้อกันและกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

  • เสี่ยวเหม่ย(ขณะตาบอด) ปฏิเสธร่วมรักกับวายุ (ท่ามกลางใบไม้แห้งเหี่ยว) เพราะจิตใจยังคงยึดมั่นคงต่อ(อดีต)คนรักหลิวแม้พานผ่านระยะเวลา 3 ปี
  • เสี่ยวเหม่ย(ขณะตาไม่บอด) ปฏิเสธร่วมรักกับหลิว (ท่ามกลางใบไผ่เขียวขจี) เพราะจิตใจยังคงครุ่นคิดถึงวายุ/จิน มิอาจละวางความรู้สึกแม้พบเจอเพียง 3 วัน

ชุดของเสี่ยวเหม่ยไม่ใช่แค่โทนสีเขียวเข้ม->เขียวแก่ แต่ยังมีลักษณะเหมือนเพศชาย->เพศหญิง, เต็มไปด้วยลวดลายเครื่องป้องกัน -> ผืนผ้าสีพื้นๆเบาบาง พริ้วไหวไปตามสายลม

ฉากร่วมรักระหว่างจินกับเสี่ยวเหม่ย ท่ามกลางท้องทุ่งที่ปกคลุมด้วยวัชพืชขาวโพลน (สื่อถึงความรักที่บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดๆแปดเปื้อน) ตัดกับทิวทัศน์เทือกเขาด้านหลัง ต้นไม้เต็มไปด้วยสีสันเขียว-เหลือง-ส้ม ของฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) สามารถเทียบแทนโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกต่าง การต่อสู้แก่งแย่งชิง คิดคดทรยศหักหลัง ประเทศชาติเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น ใกล้ประสบหายนะ วันโลกาวินาศ

เมื่อเริ่มถ่ายทำฉากไคลน์แม็กซ์ที่ประเทศยูเครน เดือนตุลาคมปีนั้นคาดไม่ถึงว่าฤดูหนาว/หิมะตกเร็วกว่าปกติ ผิดจากความตั้งใจดั้งเดิมมากๆ (ที่มีแค่ต่อสู้กันท่ามกลางทุ่งดอกไม้) แต่ผู้กำกับจางอี้โหมวก็ครุ่นคิดปรับเปลี่ยนแผนการ ให้เสมือนว่าสองตัวละครกำลังต่อสู้กันตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วง จนสิ้นสุดกลางฤดูหนาว และสามารถเพิ่มช็อตเลือดสาดกระเซ็นบนพื้นหิมะ แฝงนัยยะ ‘เลือดนองแผ่นดิน’

มันจะมีช็อตน่าทึ่งก็คือ สภาพภูมิทัศน์ด้านหลังที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนจากสีสันของฤดูใบไม้ร่วง มาเป็นขาวโพลนด้วยหิมะ แต่ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าหลายๆช็อตโคตรไม่แนบเนียน ตั้งแต่ Special Effect พายุหิมะที่ไม่ทั่วถึง และ Visual Effect บางมุมยังพบเห็นต้นไม้หลากลายสีสัน (คงเพราะหิมะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างตั้งแต่แรก เลยขาดทั้งอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ และทุนทำ VFX ด้วยกระมัง)

ทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ต่างส่ายหัวไม่เข้าใจ มีดทิ่มแทงหัวใจทำไมเสี่ยวเหม่ยยังรอดชีวิต ฟื้นคืนชีพขึ้นได้อย่างไร โคตรจะไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด! ถ้าเราสามารถมองข้ามอคติดังกล่าว ครุ่นคิดซะว่ามันคือแรงผลักดัน ลมปราณเฮือกสุดท้ายของหญิงสาว ต้องการเสียสละตนเองอีกสักครั้งเพื่อชายคนรัก ด้วยเหตุนี้มีดบินที่เขวี้ยงขว้างออกไป จึงมอบคำตอบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง!

สถานการณ์ขณะนี้ก็คือ หลิวหยิบมีดบินที่ปักค้างอยู่ข้างหลัง (จากเจ้าสำนักบ้านมีดบิน สื่อตรงๆถีงการทรยศหักหลัง) ตั้งใจจะเขวี้ยงขว้างใส่จิน -> เสี่ยวเหม่ยคว้าจับมีดที่ปักอก ต้องการปกป้องชายคนรัก แต่ถ้าชักมันออกมาตนเองก็จะสูญเสียเลือด ตกตายทันที! -> จินที่ไม่มีอาวุธใดๆในมือ ไม่ต้องการให้เสียวเหม่ยสละชีวิตเพื่อตนเอง ขอยินยอมตายจากคมมีดบินของหลิวดีกว่า

จากสถานการณ์ดังกล่าวบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกก็คือเสี่ยวเหม่ย ความเป็นไปได้ในกรณีนี้ก็คือ

  • เสี่ยวเหม่ยเขวี้ยงขว้างมีดบินใส่หลิว แต่ถ้าทำเช่นนั้นจินก็โดนมีดบิน (ของหลิว) กลายเป็นตายเรียบทั้งสามคน
  • เสี่ยวเหม่ยเขวี้ยงขว้างมีดบินกระทบมีดบินที่หลิวโยนใส่จิน นั่นจะทำให้เธอกลายเป็นผู้เสียสละเพียงคนเดียว
  • แต่เหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นกลับคือ หลิวทำท่าเขวี้ยงแต่กลับไม่ขว้างออกไป ขณะที่เสี่ยวเหม่ยชักมีดบินโยนออกไป ปกป้องเพียงหยดเลือดที่สาดกระเด็นกระดอนมาถึง แล้วเธอก็หมดสิ้นลมหายใจ … นั่นเป็นสิ่งคาดไม่ถึงอย่างมากๆทีเดียว เพราะเป็นการสื่อว่าเธอพยายามปกป้องจิน (ชายคนรัก) โดยไม่ต้องการเข่นฆ่าหลิว (อดีตคนรัก)

หนังจบลงด้วยภาพหิมะตกหนัก สภาพอากาศหนาวเหน็บ จินโอบกอดเสี่ยวเหม่ย ส่วนหลิวเดินจากไป แต่โชคชะตาของทั้งสามผู้กำกับจางอี้โหมวอธิบายใน Commentary บอกเลยว่า ทั้งหมดต่างตกตาย ไม่มีใครรอดชีวิต นั่นสามารถสื่อถึงการต่อสู้ที่ไร้หนทางออกนี้ ผลลัพท์จึงมีเพียงหายนะ โศกนาฎกรรม

แซว: จางอี้โหมวเคยคิดอยากใส่การหักมุมตอนจบอีกครั้ง ว่าจินคือสายลับบ้านมีดบิน ส่งมาเพื่อวัดใจทั้งหลิวและเสี่ยวเหม่ย แต่ตัดสินใจทอดทิ้งประเด็นดังกล่าวเพราะมันคงสลับซับซ้อนเกินเยียวยา

ตัดต่อโดย Long Cheng อดีตนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า University of Shanghai for Science and Technology แล้วไปเรียนต่อภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา Temple University เคยคว้ารางวัล Music Video ยอดเยี่ยมระดับมหาวิทยาลัย เดินทางกลับประเทศจีนกลายเป็นนักตัดต่อ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Time to Remember (1988), House of Flying Daggers (2004), Riding Alone for Thousands of Miles (2005), Curse of the Golden Flower (2006) ฯ

สองในสามของเรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองตัวละครจิน/วายุ ตั้งแต่ครุ่นคิดวางแผนร่วมกับเพื่อนมือปราบหลิว แรกพบเจอเสี่ยวเหม่ย ให้ความช่วยเหลือออกจากห้องคุมขัง ออกเดินทางหลบหนีการไล่ล่า พานผ่านป่าเบิร์ช ทุ่งดอกไม้ มาจนถึงป่าไผ่ ซึ่งหลังจากความจริงได้รับการเปิดเผย ก็จักสลับมุมมองมายังเสี่ยวเหม่ย เพื่ออธิบายเหตุผลทั้งหมด จนกระทั่งตัดสินใจเลือก

  • ศาลาดอกโบตั๋น
    • มือปราบหลิวเล่าแผนการเปิดโปงบ้านมีดบิน
    • จินปลอมตัวเป็นวายุ เข้าไปก่อกวนศาลาดอกโบตั๋น เพื่อให้เพื่อนสนิทฉกฉวยโอกาสจับกุมตัวเป้าหมาย
    • มือปราบหลิวเล่าแผนการต่อเนื่อง ให้วายุทำการช่วยเหลือเสี่ยวเหม่ยแล้วพาหลบหนี
  • แมกไม้นานาพันธุ์
    • ครั้งแรกคือแสร้งว่าถูกไล่ล่า คนของมือปราบหลิวเล่นละคอนตบตาเสี่ยวเหม่ย
    • เสี่ยวเหม่ยอาบน้ำชำระร่างกาย แล้วได้รับการยั่วเย้า พรอดรักจากวายุ
    • เมื่อมาถึงทุ่งดอกไม้ ครานี้ถูกไล่ล่าโดยกองกำลังของนายพล (ไม่ได้อยู่ในแผนการ) เป็นเหตุให้จินต้องเข่นฆ่าพวกเดียวกันเอง
    • ชายหนุ่มเต็มไปด้วยความสับสน จึงปฏิเสธพรอดรักกับเสี่ยวเหม่ย เธอเลยต้องการร่ำลาจากเขา
    • แต่หลังจากหญิงสาวถูกห้อมล้อมในป่าไผ่ วายุจึงเข้ามาปกป้อง ลากพาหลบหนี จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากบ้านมีดบิน
  • สำนักบ้านมีดบิน
    • ในตอนแรกจินได้รับการโน้มน้าวให้แต่งงานกับเสี่ยวเหม่ย แต่พอตอบตกลงก็ถูกจับมัด แล้วได้รับทราบข้อเท็จจริง
    • มือปราบหลิวถูกลากตัวไปฆ่า แต่กลับได้รับการปล่อยตัว แล้วความจริงบางอย่างก็ปรากฎ
    • หลิวพรอดรักกับเสี่ยวเหม่ย แต่เธอกลับปฏิเสธต่อต้าน แถมยังถูกขัดขวางโดยเจ้าสำนักมีดบิน
    • เสี่ยวเหม่ยได้รับมอบหมายให้จัดการจิน แต่เธอกลับต้องการปล่อยตัวเขาให้รอดชีวิต
  • การต่อสู้พานผ่านฤดูกาล
    • จินพยายามโน้มน้าวให้เสี่ยวเหม่ยหลบหนีไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอกลับไม่พูดตอบใดๆจนเขาควบม้าจากไป
    • หลังจากครุ่นคิดทบทวนได้สักพัก เสี่ยวเหม่ยตัดสินใจควบม้าติดตาม แต่ถูกขัดขวางโดยหลิว มีดบินทิ่มแทงหัวใจ
    • หลังจากครุ่นคิดทบทวนได้สักพัก จินตัดสินใจหันหลังกลับมาพบเจอร่างของเสี่ยวเหม่ย และค้นพบความจริงเกี่ยวกับเพื่อนสนิทหลิว จึงเกิดการต่อสู้ที่ไม่มีใครยอมใคร

ช่วงระหว่างที่ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของจิน/วายุ ผมรู้สึกว่าลีลาตัดต่อทำออกมาได้น่าติดตาม มีความต่อเนื่องลื่นไหล กระทั่งเมื่อถึงการหักมุมครั้งแรก ความจริงเกี่ยวกับเสี่ยวเหม่ยได้รับการเปิดเผย ผู้ชมเริ่มบังเกิดความสับสน คาดไม่ถึง รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง แถมมันยังไม่จบลงแค่นั้น ตัวตนแท้จริงของมือปราบหลิวก็ถูกเฉลยออกมาติดๆกัน มันเหมือนอาการช็อคสองชั้น แม้ครั้งหลังจะไม่เกรี้ยวกราดรุนแรงสักเท่าไหร่ ก็ทำให้ความน่าติดตามของหนังลดน้อยลงอย่างมากๆ

เอาจริงๆการหักมุมมันก็มีแบบนุ่มนวล แข็งกระด้าง วิธีการของผู้กำกับจางอี้โหมวคือเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เรียกว่าจี้แทงใจดำผู้ชมอย่างไม่ประณีประณอม ซึ่งเป็นการสร้างอคติให้ตัวละคร จากเคยตกหลุมรักก็พลันสูญสิ้นความเชื่อศรัทธา แถมยังต่อด้วยการเฉลยคนรักเก่า แล้วพวกเขาก็ถาโถมเข้าโอบกอดจูบ หมดกันเด็กเลี้ยงแกะ ใครไหนจะอยากเป็นกำลังใจให้อีกต่อไป

แต่มีครั้งหนึ่งที่ผมโคตรตกตะลึง แม้คนส่วนใหญ่อาจมึนตึง เข้าไม่ถึง ทำไมระหว่างการต่อสู้ของมือปราบหลิว vs. จิน จู่ๆแทรกภาพกองกำลังทหารเข้าโอบล้อมรอบสำนักบ้านมีดบิน แถมจบลงแค่นั้นด้วยนะ ไม่นำเสนอการปะทะ ต่อสู้ หรือผลลัพท์บังเกิดขึ้นแต่อย่างใด? คำอธิบายง่ายสุดก็คือแค่เป็นการเปรียบเทียบเหตุการณ์คู่ขนาน แต่เราสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อสู้ระหว่างสองฝั่งฝ่าย (หลิว=บ้านมีดบิน, จิน=ทหารรัฐถัง) ส่วนผลลัพท์ก็ตามที่วิเคราะห์ไปก่อนหน้า

เพลงประกอบโดย Shigeru Umebayashi (เกิดปี 1951) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kitakyushu, Fukuoka จากเคยเป็นหัวหน้าวงร็อค EX หลังจากยุบวงจึงหันมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Yumeji (1991), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Fearless (2006), Curse of the Golden Flower (2006), Hannibal Rising (2007), The Grandmaster (2013) ฯ

ขณะที่บทเพลงประกอบ Hero (2002) ของถันตุ้น มุ่งเน้นสร้างความยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อสื่อถึงการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ มีความสูงส่งทรงคุณค่ากว่าสิ่งอื่นใด! House of Flying Daggers (2004) จะทำการบีบเค้นคั้นอารมณ์ ราวกับคมมีดกรีดแทงหัวใจ เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ฉันจะเสียสละเพื่อผู้อื่นไปใย ถ้าไม่สามารถเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องภายในของตนเอง

ผมขอเลือกเพลงโปรดมาให้รับฟังกันก่อนเลยแล้วกัน ชื่อว่า Lovers เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกมักคุ้นเคย Main Theme จากภาพยนตร์ The Godfather (1972) แต่ก็แค่โน๊ตบางตัวเท่านั้นนะครับ ได้แรงบันดาลใจ ไม่ใช่คัทลอกเลียนแบบมา, ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความพริ้วไหว หัวใจสั่นสะท้าน ตั้งแต่พบเจอเธอฉันก็อ่อนเรี่ยวแรง อยากครอบครอง อยากอยู่เคียงคิดใกล้ ทั้งรู้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมควร เพราะเป็นการทรยศหักหลัง(อดีต)คนรัก รวมทั้งองค์กรในสังกัด แต่ใครกันจักสามารถควบคุมความต้องการของหัวใจ

เกร็ด: ฉบับเข้าฉายในญี่ปุ่น หนังไม่ได้ใช้ชื่อ House of Flying Daggers แต่เรียกสั้นๆแค่ว่า LOVERS (ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด) ตามชื่อบทเพลงนี้เลยนะครับ

น้ำเสียงนุ่มๆ เนิบนาบ อย่างอ่อนน้อม อาจไม่ได้ทรงเสน่ห์ยั่วเย้ายวน แต่ก็ไม่ได้ร้องผิดคีย์ ระริกระรี้ หรือเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง หลงตนเองเหมือนกงลี่ (จากเรื่อง Shanghai Triad (1995)) สร้างความประทับใจให้ผมอย่างมากๆกับบทเพลง Jiarenqu หรือ The Beauty Song นำคำร้องจากบทกวี ‘นางล่มเมือง’ มาเรียบเรียงท่วงทำนองขึ้นใหม่ โดยใช้ผีผาเป็นเครื่องดนตรีหลัก

แซว: ตอนได้ยินจางจื่ออี๋ขับร้องบทเพลงนี้ ไม่รู้ทำไมผมนึกถึง Andrey Hepburn ตอนขับร้อง Moon River อาจเพราะทั้งคู่ต่างเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ขับร้องเหมือนนกน้อยส่งเสียงจิบๆ เล็กแหลม แต่ไพเราะจับใจ

สำหรับ Echo Game ที่มีแต่เพียงเสียงรัวกลอง ถ้าหลับตาฟังอาจครุ่นคิดว่าเป็นฉากต่อสู้ รบทัพจับศึก ข้าศึกกำลังบุกเข้ามาโจมตี แต่ที่ไหนได้ฉากนี้กลับเป็นการเล่นเกม เริงระบำ หลับตาทายกลองสี่สิบใบ (ไม่แน่ใจลักษณนามนะครับ) เมล็ดถั่วถูกเขี้ยวขว้างโดนกลองใบไหนบ้าง

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ผู้กำกับจางอี้โหมววิวัฒนาการฉากเต้นระบำ ให้กลายเป็นการแสดงวิทยายุทธ ซึ่งล้อกับ Hero (2002) ที่ใช้การคัดอักษรจีน (Calligraphy) สามารถเทียบเท่าการร่ายรำเพลงกระบี่ เมื่อสามารถเข้าถึงจุดสูงสุด ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน

Battle in the Forest เมื่อเสียงรัวกลอง (สัญลักษณ์ของการย่ำเท้า ควบม้า ออกไล่ล่า) ดังขึ้นคลอประกอบพื้นหลัง (สื่อถึงการติดตามที่ไม่ยอมลดละ) เป็นการสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงให้ผู้ชมและเสี่ยวเหม่ย เมื่อตระหนักว่าศัตรูกำลังใกล้เข้ามา เสี่ยวเหมยเลยตัดสินใจออกวิ่ง หาหนทางหลบหนี ลุ้นระทึกว่าเมื่อไหร่วายุจะหวนกลับมา นาทีแห่งความเป็นตาย รอดหรือไม่รอด? ทันท่วงทีหรือไม่? ทำเอาหัวใจบีบเต้นแรงจนแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้!

ผมอดไม่ได้ที่นำบทเพลง Flower Garden ท่วงทำนองเดียวกับ Lovers แต่เปลี่ยนเครื่องดนตรีหลักเป็นซอเอ้อหู สามารถมอบสัมผัสแตกต่างออกไป ซึ่งสะท้อนพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างวายุ/จิน กับเสี่ยวเหม่ย โดยไม่รู้ตัวค่อยๆมีความสนิทสนม แนบชิดใกล้ขึ้นตามลำดับ

แซว: เพลงนี้ดังขึ้นระหว่างวายุ/จิน ทำการควบขี่ม้าโน้มตัวลงไปเด็ดดอกไม้ … เดินเก็บก็ได้เน้อ จะโชว์เว่อไปถึงไหน

No Way Out เป็นบทเพลงที่ล้อกับ Battle in the Forest ก่อนหน้านี้เพียงแค่แสร้งว่าไล่ล่า vs. แต่มาขณะนี้ต้องต่อสู้เข่นฆ่ากันจริงๆ เพราะการมาถึงของเจ้าหน้าที่ระดับสูง คาดไม่ถึงว่าสถานการณ์มันจะเลยเกินเลยเถิดได้ถึงขนาดนี้

เสียงกลองที่เคยตีรัวตามจังหวะรุกไล่ล่า กลับกลายมาเป็นเชื่องช้า แต่หนักแน่น มั่นคง แสดงถึงความเข้มแข็งแกร่ง ไม่ง่ายจะเผชิญหน้าต่อสู้ ทั้งยังความขัดแย้งภายในของวายุ/จิน สองจิตสองใจจะเข่นฆ่าพรรคพวกเดียวกันเองไหม แต่พอตัดสินใจอย่างแน่วแน่หลังหันไปมองเสี่ยวเหม่ย ท่วงทำนองออร์เคสตรา Jiarenqu (The Beauty Song) ดังขึ้นอย่างกึกก้องสั่นสะท้าน เพราะเธอผู้นี้คือ ‘นางล่มเมือง’ ทำให้เขายินยอมพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ … นั่นทำให้จินสูญเสียความเป็นตัวของตนเองไปสักพักใหญ่ๆเลยละ

ขณะที่บทเพลง Through The Bamboo Forest ของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) มีความเนิบนาบ ลุ่มลึก บรรเลงด้วยโทนเสียงทุ้มต่ำ เป็นการสื่อถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุด เข้าถึงสัจธรรมชีวิต

Bamboo Forest ของ House of Flying Daggers (2004) ใช้เสียงร้องคอรัสแทนความโหยหวน และ Sound Effect ก็ยิ่งช่วงสร้างบรรยากาศหมดสิ้นหวัง หลังจากเสี่ยวเหม่ยถูกศัตรูห้อมล้อมทุกทิศทาง สถานการณ์เรียกว่ามืดแปดด้าน แม้ได้รับความช่วยเหลือจากวายุ แต่ก็แค่ยื้อยักได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง … ถึงอย่างนั้นถ้าทั้งสองต้องตกตายจากไป พวกเขาก็คงไม่โดดเดี่ยวอ้างว้าง เพราะต่างมีเขา-เธออยู่เคียงข้างกาย

แม้เป็นบทเพลงบรรเลงในป่าไผ่เหมือนกัน แต่นัยยะความหมายคนละเรื่อง! หนึ่งมีความลุ่มลึกแฝงปรัชญาการใช้ชีวิต ไปให้ถึงจุดสูงสุด, สองสนเพียงห้วงอารมณ์ พยายามต่อสู้ดิ้นรน แม้มีเพียงความสิ้นหวังภายในจิตวิญญาณ

Ambushed From Ten Directions แปลไทยจะแค่มืดแปดด้าน แต่คงเหมือนผู้ชนะสิบทิศ ที่นอกจาก 8 ทิศหลัง ยังรวมบน-ล่าง สรวงสวรรค์-เทวโลกเข้าไปด้วย! ใช้เครื่องดนตรีผีผา ค่อยๆดีดรัวเร่งจังหวะ (เหมือนเสียงเคาะระฆังเพล) จากนั้นสร้างความรู้สึกเหมือนไม่ว่าจะหันมองไปทิศทางไหน ก็ไม่สามารถดิ้นรนหลบหนี หาหนทางเอาตัวรอดไปจากสถานที่แห่งนี้

บทเพลงนี้ดังขึ้นขณะความจริงเกี่ยวกับเสี่ยวเหม่ยได้รับการเปิดเผย เดินเข้ามาเสิร์ฟน้ำชา ซึ่งจังหวะดีดรัวผีผา จะมีความสอดคล้องกับปฏิกิริยาอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึงของวายุ/จิน นี่ฉันไม่ได้ฝาดไปใช่ไหม เธอมองเห็นทุกสิ่งอย่างหรือนี่ นั่นไม่ใช่แค่สร้างความมืดแปดด้านให้กับตัวละคร ผู้ชมเองก็เฉกเช่นเดียวกัน ใครจะไปคาดคิดถึง!

Charactor’s Song ของมือปราบหลิว เพราะเต็มไปด้วยเชื่อมั่นต่อเสี่ยวเหมย แม้ต้องเหินห่างยาวนานถึงสามปี ก็ยังคงความรู้สึกจงรัก ภักดี เพ้อใฝ่ฝันถึงวันเวลาที่จักได้ครองคู่อยู่เคียงข้างกัน … นี่เป็นบทเพลงนำเสนอความอดกลั้นที่สวยงามของหลิว ได้อย่างเนิบนาบ มั่นคง ไม่มีอะไรสามารถทำให้เขาผันแปรเปลี่ยนใจ

แต่สำหรับเสี่ยวเหม่ย เสียงเป่าขลุ่ยจีนของบทเพลงนี้มอบความรู้สึกโล้เล้ลัง ไม่แน่ใจในตนเอง นั่นเพราะการมาถึงของวายุ/จิน ทุกการกระทำของเขาล้วนทำให้หัวใจสั่นไหว จนเริ่มไม่สามารถควบคุมตนเอง มิอาจยืนหยัดมั่นคงต่อ(อดีต)คนรักหลิวได้อีกต่อไป

ไคลน์แม็กซ์ของหนังชื่อเพลง Until the End ประสานเสียงคอรัส มอบสัมผัสแห่งการต่อสู้ที่เยิ่นยาวนาน จากฤดูกาลหนึ่งผันแปรเปลี่ยนไปยังอีกฤดูกาลหนึ่ง เพียงเพื่ออิสตรีคนรัก สองบุรุษถึงกับละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่สนอะไรใครอื่น องค์กรในสังกัด หรือต่อให้ประเทศชาติล่มสลาย ขอแค่ได้กำจัดศัตรูหัวใจ แล้วครองคู่อยู่กับเธอตราบชั่วนิจนิรันดร์

ทิ้งท้ายกับบทเพลงคำร้อง Lovers ขับร้องโดย Kathleen Battle (เกิดปี 1948) นักร้องเสียงโซปราโน สัญชาติอเมริกัน (ขับร้องเป็นภาษาอังกฤษนะครับ) สร้างความสั่นสะท้านทรวงใน หัวใจเต้นระริกรัว โดยเฉพาะขณะไล่ระดับเสียงขึ้นสูง “Your voice still echoes in my heart” มีความกึกก้องกังวาล จิตวิญญาณล่องลอยถึงสรวงสวรรค์

There was a field in my old town
Where we always played hand in hand
The wind was gently touching the grass
We were so young, so fearless

Then I dreamt over and over
Of you holding me tightly under the stars
I made a promise to my dear lord
I will love you forever

Time has passed
So much has changed
But the fear remains in my heart
Oh, where are you?
I need to tell you I still love you
So I reach out for you
You fly around me like a butterfly

Your voice still echoes in my heart
You are my true love

There was a field in my old town
Where in Spring all flowers blossomed wide
We were chasing butterflies
Hand in hand ’till close of day
Your voice still echoes in my heart

แซว: ในบรรดาเพลงขับร้องประกอบภาพยนตร์ Wuxia ทั้งสามเรื่อง A Love Before Time และ Hero ล้วนเทียบไม่ติดกับ Lovers เพราะเสียงร้องของ Kathleen Battle นำพาอารมณ์ผู้ชมล่องลอยขึ้นถึงสรวงสวรรค์

พื้นหลังของ House of Flying Daggers (2004) นำเสนอเรื่องราวกลุ่มกบฏบ้านมีดบิน ที่ต้องการกำจัดขุนนางกังฉิน (แปลว่า คดโกง, ไม่ซื่อตรง, ไม่ซื่อสัตย์) ดูแล้วน่าจะวางแผนโค่นล้มราชบัลลังก์ด้วยเลยกระมัง แน่นอนว่าทางการย่อมไม่ยินยอมเพิกเฉย พยายามหาทางกำจัดศัตรูให้หมดสิ้นซาก กลายเป็นสงครามขัดแย้งภายในที่มีลักษณะ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ จนกว่าอีกฝั่งฝ่ายตกตายสูญสิ้น ก็จักไม่มีวันยุติเลิกรา

เปรียบเทียบเรื่องราวระหว่างมือปราบหลิว และมือปราบจิน ฝ่ายหนึ่งสามารถมองว่ามีพฤติกรรมกังฉัน (เพราะเป็นสายลับจากบ้านมีดบิน) คิดคดทรยศหักหลังพวกพ้อง แต่ทั้งสองต่างตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน ช่วงท้ายเลยเกิดการต่อสู้แก่งแย่งชิง ทอดทิ้งภาระหน้าที่ เลิกเสียสละเพื่อประเทศชาติ หลงเหลือเพียงความต้องการเข่นฆ่าอีกฝั่งฝ่าย เมื่อตกตายไปจักได้อยู่เคียงข้างเธอแต่เพียงผู้เดียว

  • มือปราบหลิว คือสายลับจากบ้านมีดบิน อดีตเคยครองรักกับเสี่ยวเหม่ย แต่หลังจากพลัดพรากเพราะภารกิจเสียสละเพื่อชาตินานหลายปี กลับพบว่าเธอมีใจให้ชายอื่น … ไม่ต้องการให้ชายโฉดหญิงชู้ไปครองคู่สุขเกษมสันต์ เลยเข่นฆ่าอดีตคนรักให้ตกตายด้วยเงื้อมมือตนเอง แล้วระบายความอัดอั้นต่อสู้กับเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด
    • ยินยอมเสียสละเพื่อชาติ แต่กลับถูกหญิงคนรักทรยศหักหลัง
  • มือปราบจิน คือเจ้าพนักงานของรัฐ ปลอมตัวเป็นจอมยุทธ์เพื่อปฏิบัติภารกิจลวงล่อหลอก เกี้ยวพาราสีเสี่ยวเหม่ย โดยไม่รู้ตัวมิอาจหักห้ามใจ จนในที่สุดตกหลุมรักใคร่ เลยถูกไล่ล่าโดยพรรคพวกเดียวกันเอง เลยตัดสินใจจะทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ … เมื่อตระหนักถึงตัวตน พบเห็นการกระทำของมือปราบหลิว มิอาจอดกลั้นความโกรธเกลียด ต้องการเข่นฆ่าล้างแค้นอีกฝั่งฝ่าย (ที่เข่นฆาตกรรมเสี่ยวเหม่ย)
    • ยินยอมเสียสละเพื่อหญิงคนรัก แต่กลับถูกประเทศชาติทรยศหักหลัง

แซว: ทั้งสามตัวละครหลักหลิว, จิน และเสี่ยวเหม่ย ต่างมีทั้งตัวจริงตัวปลอม เล่นละคอนตบตา แสร้งว่าเป็นบุคคลอื่น ลวงล่อหลอกผู้ชมได้อย่างสนิทใจ

ขณะที่ Hero (2002) กระทำการ ‘ชวนเชื่อ’ ว่าการเสียสละเพื่อผู้อื่น ส่วนรวม ประเทศชาติ มีความยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใดใต้หล้า, House of Flying Daggers (2004) กลับบอกว่านั่นอาจไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสียทีเดียว เพราะทั้งสองตัวละครหลักต่างกระทำการเสียสละตนเองเพื่อบางสิ่งอย่าง แต่ผลลัพท์กลับถูกคิดคดทรยศหักหลัง มันจึงไม่หลงเหลือคุณค่าใดๆให้ยึดถือมั่น พวกเขาจึงสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ พึงพอใจส่วนบุคคล ก็ไม่เห็นจะผิดอะไร

ผมมีความสองจิตสองใจ ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าผู้กำกับจางอี้โหมวต้องการเปรียบเทียบถึงการต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋น (จีนแผ่นดินใหญ่ vs. ไต้หวัน) หรือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล vs. ประชาชน (เราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ของเสี่ยวเหม่ย = ผืนแผ่นดินจีน) แต่นั่นก็ยังหาใช่เนื้อหาสาระสำคัญของหนังนะครับ

การต่อสู้ระหว่างหลิว vs. จิน ช่างเยิ่นยาวนานจนฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน ต่างฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บ คราบเลือดสาดกระเซ็นเต็มพื้นหิมะ ไม่มีใครยินยอมใคร จนท้ายที่สุดเมื่อทั้งสองฝ่ายพบเห็นการเสียสละของเสี่ยวเหม่ย จึงต่างเลิกราฆ่าฟัน ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ หลงเหลือเพียงหายนะ ความสิ้นหวัง โศกนาฎกรรม (และผู้กำกับจางอี้โหมวให้คำตอบว่า ทุกคนตายหมดเกลี้ยงหลังจากนั้น)

ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์ vs. พรรคก๊กมินตั๋น พานผ่านมาหลายทศวรรษจนคนรุ่นนั้นตกตายแทบหมดสิ้น แล้วมันยังมีประโยชน์อะไรที่จะดื้อรั้นขัดขืน ต่อต้านการรวมประเทศเป็นหนึ่ง จะปล่อยให้การต่อสู้ เลือดนองแผ่นดินไปอีกนานแค่ไหน (นี่ในมุมมองผู้กำกับจางอี้โหมว/ชาวจีนแผ่นใหญ่นะครับ เพราะถ้าจากมุมคนนอกอย่างเราๆ ส่วนใหญ่คงสนับสนุนพันธมิตรชาไข่มุก อ้างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย)

เช่นเดียวกับความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาล vs. ประชาชน เหตุการณ์ความรุนแรงอย่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน 1989 คือสิ่งไม่สมควรบังเกิดขึ้น เพราะมันมิได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อฝั่งฝ่ายไหน มีแต่การจะสูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต-ทรัพย์สิน ความขัดแย้งไม่รู้จักจบสิ้น (ผู้กำกับจางอี้โหมวเคยไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชน แต่กาลเวลาก็ทำให้เขาปรับเปลี่ยนมุมมอง มันไม่ควรมีการชุมนุมประท้วงมาตั้งแต่แรกแล้ว!)

สรุปแล้วความตั้งใจของผู้กำกับจางอี้โหมว ดูเป็นการมองหาสันติสุข ต่อต้านความรุนแรง (Anti-Violence) เมื่อบังเกิดความคิดเห็นแตกต่าง ทำไมถึงไม่ประณีประณอม ยินยอมรับฟังเหตุผลอีกฝั่งฝ่าย ถ้าเราสามารถเปิดใจ เผื่อแผ่ความรักให้กัน ปมขัดแย้ง ความรุนแรง การชุมนุมประท้วง สงครามก็คงไม่บังเกิดขึ้น!

“Andy Lau once asked me if his character is a good or an evil one. But in the end it does not matter if the character is evil or good. What’s expressed is the humanity of the character. The point of the film is that the characters are all human beings simply in love.

ผู้กำกับจางอี้โหมว กล่าวถึงตอนจบของหนัง

ชื่อหนังภาษาจีน 十面埋伏 ยังสามารถสื่อถึงสองบุรุษหนุ่มท่ามกลางสมรภูมิแห่งรัก บังเกิดความขัดแย้งที่ไร้ซึ่งหนทางออก ต้องตัดสินด้วยการเผชิญหน้าต่อสู้ จนกว่าจะมีใครผู้หนึ่งสูญสิ้นลมหายใจ (สำนวนนี้ไม่จำเป็นต้องถูกห้อมล้อมสิบทิศโดยบุคคลเท่านั้นนะครับ สามารถสื่อความเชิงนามธรรมถึงการไร้หนทางแก้ปัญหาก็ได้เช่นกัน) นั่นคือบทเรียนสำหรับเสี้ยมสอนผู้ชม ทำอย่างไรไม่ให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น?


หนังเข้าฉายนอกสายการประกวด (Out of Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือ (Standing Ovation) นานถึง 20 นาที น่าจะเป็นสถิติยาวที่สุดจนกระทั่ง Pan’s Labyrinth (2006) ทำได้ 22 นาที!

ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ (ลดลงจาก Hero (2002) กว่าเท่าตัว) รายรับในจีนแผ่นดินใหญ่ 153 ล้านหยวน (สูงอันดับสองของปีรองจาก Kung Fu Hustle (2004)), ส่วนสหรัฐอเมริกาทำเงิน $11 ล้านเหรียญ, รวมทั้งหมดทั่วโลก $92.8 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว

แม้หนังได้เป็นตัวแทนประเทศจีน ลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่กลับหลุดโผไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ (เป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังจะได้เข้าชิง แต่ไม่ใช่ตัวเต็งคว้ารางวัล) ถึงอย่างนั้นกลับสร้างความประหลาดใจ ด้วยการเข้าชิงสาขาถ่ายภาพ

  • เข้าชิง Academy Award: Best Cinematography พ่ายให้ The Aviator (2004)
  • เข้าชิง Golden Globe Award: Best Foreign Language Film พ่ายให้ The Sea Inside (2004)
  • เข้าชิง Critic’s Choice Award: Best Foreign Language Film พ่ายให้ The Sea Inside (2004)
  • BAFTA Award ได้เข้าชิงถึง 9 สาขา (ไม่ได้สักรางวัล)
    • Best Film not in the English Language
    • Best Actress (จางจื่ออี๋)
    • Best Cinematography
    • Best Editing
    • Best Production Design
    • Best Costume Design
    • Best Make Up/Hair
    • Best Sound
    • Best Special Visual Effects

ยอดขาย CD/DVD Blu-Ray ของหนังเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกา เห็นว่าได้รับความนิยมระดับถล่มทลาย! ไม่มีรายงานตัวเลขแต่ประเมินกันว่าอาจมากกว่ารายรับตอนฉายโรงภาพยนตร์ถึง 50% เช่นเดียวกับยอดผู้ชมทางโทรทัศน์ Channel 4 ของประเทศอังกฤษ มีรายงานตัวเลขเมื่อปี 2007 สูงถึง 1.7 ล้านคน! แบบนี้เรียกกระแสคัลท์ได้เลยกระมัง!

ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ (ท่าทางจะคิวยาว) เท่าที่ผมสังเกตจาก dvdbeaver.com พบเห็นปัญหาแบบเดียวกับ Hero (2002) คือแต่ละค่าย DVD/Blu-Ray มีการปรับโทนสี และคุณภาพการสแกนที่แตกต่างออกไป ตาดีได้ตาร้ายเสีย ‘เลือกหนังผิดแผ่นชีวิตเปลี่ยน’

ผมไม่ได้รับชม House of Flying Daggers มาเกินกว่าสิบปีแล้วกระมัง จดจำได้ว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แค่ภาพสวยเพลงเพราะ ตราตรึงฉากต่อสู้ในป่าไผ่ … มีโอกาสดูหนังครั้งนี้เหมือนจะชื่นชอบขึ้นพอสมควร เพราะสามารถทำความเข้าใจเรื่องราว (แต่ก็ตระหนักถึงความไม่สมเหตุสมผลหลายๆอย่าง) ซึมซับบรรยากาศ สังเกตเห็นความสวยสดงดงามของธรรมชาติ แมกไม้นานาพันธุ์ ต้องชมลีลาถ่ายภาพของจ้าวเสี่ยวติ้ง น่าประทับใจจริงๆ

จุดบกพร่องของหนังก็มีค่อนข้างเยอะ เรื่องราวที่ดูสะเปะสะปะ ขาดที่มาที่ไป หลายๆฉากไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ นำพาให้ผู้ชมบังเกิดอคติต่อตัวละคร (นักแสดงทั้งหมดเล่นได้สมบทบาทอยู่นะ) โดยเฉพาะเสี่ยวเหม่ย (ของจางจื่ออี๋) เมื่อเปิดเผยตัวตนแท้จริง อารมณ์ร่วมกับผู้ชมก็หมดสูญสิ้นไป บางคนคงขนาดสาปแช่งให้ตกตาย เช่นนั้นแล้วเธอจะเป็น ‘นางล่มเมือง’ ได้อย่างไร?

แนะนำคอหนังโรแมนติก รักสามเส้า โดยมีพื้นหลังคือการต่อสู้ กำลังภายใน (Wuxia), สนใจประวัติศาสตร์จีนโบราณ ศึกษาท่าเต้นพื้นบ้านยุคสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907), ตากล้อง ช่างภาพ หลงใหลในการถ่ายภาพ ทิวทัศน์สวยๆ แมกไม้นานาสายพันธุ์, แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว และนักแสดงนำหลิวเต๋อหัว, ทาเคชิ คาเนชิโร่ และจางจื่ออี๋ ลองหามาชมดูนะครับ!

จัดเรต 13+ จากการทรยศหักหลัง โศกนาฎกรรมความรัก

คำโปรย | House of Flying Daggers ของผู้กำกับจางอี้โหมว ได้เขวี้ยงขว้างมีดบินทิ่มแทงหัวใจผู้ชม สร้างความเจ็บปวด กรีดกรายถึงจิตวิญญาณ
คุณภาพ | ภาพสวยเพลงเพราะ-แต่เรื่องราวสะเปะสะปะ
ส่วนตัว | ทิ่มแทงทรวงใน