Neon Genesis Evangelion (1995-96)


Evangelian

Neon Genesis Evangelion (1995-96) Japanese : Hideaki Anno ♠♠♠♠♠

ผู้กำกับ Hideaki Anno เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาได้นำเอาประสบการณ์ตรงมาเป็นแนวความของอนิเมชั่นมาสเตอร์พีซ Neon Genesis Evangelion ถ้าโลกทั้งใบไม่มีอะไรสมควรค่าธำรงอยู่ ก็ทำลายมันเสียให้สิ้นซากวอดวาย

แต่ถ้ายังมีหลงเหลือก็แบบตอนจบใน The End of Evangelion (1997) เมื่อ Shinji Ikari ตระหนักได้ถึงช่วงเวลาแห่งความสุขกับ Asuka Langley Soryu เปลี่ยนใจล้มเลิกแผนทำลายล้างโลก เพียงเราสองกลายเป็น Adam กับ Eve ทุกสิ่งอย่างจักสามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ผมค่อนข้างวิตกจริตทีเดียวว่าจะเขียนบทความ Neon Genesis Evangelion เช่นไรดี? ถ้าจะวิเคราะห์ทุกสิ่งอย่าง ก็ไม่รู้สัปดาห์นึงจะเสร็จหรือเปล่า เอาเป็นว่าเท่าไหนเท่านั้นก่อน สรุปประเด็นเนื้อหา และชี้ให้เห็นจุดที่ทำไมอนิเมชั่นเรื่องนี้ถึงได้รับการยกย่องระดับ Masterpiece

บทความนี้จะมีเนื้อหาคลอบคลุมเฉพาะ
– อนิเมชั่นซีรีย์ Neon Genesis Evangelion (1995-96) ความยาว 26 ตอน
– Death & Rebirth (1997)
– The End of Evangelion (1997)

ขณะที่จตุรภาคใหม่ Rebuild of Evangelion เพราะรอ 3.0+1.0 มาชาติกว่าๆ เลยติดไว้ยังไม่อยากรับชมให้คั่งค้างคาใจ หวังว่าปี 2020 จะได้ออกฉายสมปรารถนาเสียที


ก่อนอื่นขอพูดถึง Hideaki Anno (เกิดปี 1960) ผู้กำกับ อนิเมเตอร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ube, Yamaguchi วัยเด็กเป็นคนไม่ค่อยมีเพื่อนสักเท่าไหร่ แต่ลุ่มหลงใหลในมังงะ อนิเมะ ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ เรียกได้ว่าเป็น Otaku, เติบโตขึ้นได้เข้าเรียนต่อ Osaka University of Arts ระหว่างนั้นรับงานอนิเมเตอร์ The Super Dimension Fortress Macross (1982–83) แต่นั่นทำให้ชีวิตยุ่งมากจนถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย, แพ็กกระเป๋ามุ่งสู่ Tokyo สมัครเข้าทำงาน Studio Ghibli ผลงานประทับใจ Hayao Miyazaki กลายเป็นผู้วาด God Warrior เรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), ต่อมาร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Gainax ทำงานเป็น Animation Director เรื่อง Royal Space Force: The Wings of Honneamise (1987), ก้าวสู่ Anime Director อาทิ Gunbuster (1988), Nadia: The Secret of Blue Water (1990–1991)

ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Wings of Honneamise, ต้องการจะสร้างภาคต่อ Aoki Uru แต่สรรหาทุนไม่ได้, ประกอบกับไม่ได้อยากรับทำอนิเมะซีรีย์ Nadia สักเท่าไหร่, ช่วงชีวิตดังกล่าวของ Anno จึงเต็มไปด้วยความเครียด เก็บกดดัน จนตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า หดหู่ ต้องเข้าหาจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องถึง 4 ปีเต็ม หลังจากอาการทุเลาดีขึ้น ครุ่นคิดโปรเจค Alcion (ชื่อ Working Title แรกสุดของ Evangelion) ต้องการสะท้อนประสบการณ์ตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สาเหตุผลหนึ่งที่น่าจะทำให้ Anno สามารถเอาชนะอาการซึมเศร้า เพราะเขาได้ค้นพบความเชื่อทางจิตวิญญาณ แนวคิดของเทววิทยา ทุกอย่างในโลกล้วนมีสิ่งเหนือธรรมชาติซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งการพัฒนาโปรเจค Evangelion ก็ได้มีการอ้างอิงจากพระธรรมปฐมกาล (Book of Genesis) ในคัมภีร์ศาสนายิว/คริสต์มาเป็นแนวทางดำเนินเรื่อง

แนวคิดเริ่มแรกสุดของ Evangelion คือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครผู้ไม่ยินยอม ‘วิ่งหนี’ ต่ออุปสรรคปัญหา เห็นว่าจะใช้ผู้หญิงเป็นตัวเอกด้วยนะแต่ก็ล้มเลิกไป ปริมาณเทวทูต (Angel) ตั้งใจไว้ 28 ตัว ถูกตัดทอนลงหลงเหลือเพียง 17 ตัว และสองตอนสุดท้ายไม่ใช่สร้างไม่ทัน แต่เพราะ Anno ยังไม่สามารถค้นหาตอนจบน่าพึงพอใจ เวลาโปรดักชั่นเหลือน้อย เลยนำเอาฟุตเทจเก่าๆเข้ามาร้อยเรียง แล้วไปจบจริงๆกับภาพยนตร์อนิเมชั่นอีก 2 เรื่อง Death & Rebirth (1997) และ The End of Evangelion (1997)


ในขณะที่โลกพึ่งถือกำเนิดขึ้น เผ่าพันธุ์เทวทูต (หรือทูตสวรรค์) ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้ชี้นำอารยธรรมบนโลกใบนี้ โดยมี Adam ให้กำเนิดชีวิตทั้งมวล แต่การมาถึงของดวงจันทร์สีดำซึ่งภายในมี Lilith เมื่อสี่พันล้านปีก่อนถือเป็นภัยคุกคาม ด้วยกฎการหยั่งรากกำหนดไว้ว่า ไม่สามารถจะมีสิ่งมีชีวิตทั้งสองเผ่าพันธุ์อยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกันได้ เนื่องจากหาก Adam (ผู้มีผลไม้แห่งชีวิต) รวมกับ Lilith (ผู้มีผลไม้แห่งปัญญา) จะมีพลังเทียบเท่าพระเจ้า ดังนั้นจึงกำหนดกลไกที่เรียกว่า Lance of Longinus เพื่อยับยั้งการเจริญของเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่ง แต่ทว่าหอก Longinus ที่มากับ Lilith ได้สูญหายหรือถูกทำลายไประหว่างตกสู่โลก ดังนั้นหอกของอดัมจึงหยุดยั้งเขาไว้ หลับใหลอยู่ภายในขั้วโลกใต้ตั้งแต่นั้นมา ขณะที่ Lilith กลายเป็นผู้ให้กำเนิดมวลมนุษยชาติ เป็นอุกาบาตตกลงมายังโลก มีคำเรียกว่า ‘First Impact’

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีการค้นพบเอกสารโบราณที่บริเวณทะเลสาป Death Sea นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรลับนามว่า SEELE (ภาษาเยอรมันแปลว่า Soul) ขึ้นที่เยอรมนี ภายใต้การนำของ Keel Lorenz ได้เข้าไปสนับสนุนโครงการของประเทศอภิมหาอำนาจต่างๆ ตลอดจนสหประชาชาติ ในที่สุดปลายศตวรรษที่ 20 ก็กลายเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลมากสุดในโลก

ทศวรรษที่ 1990s คณะนักสำรวจในนามสหประชาชาติได้ค้นพบดวงจันทร์สีขาวที่มียักษ์หลับใหลพร้อมหอก Longinus อยู่ภายในบริเวณขั้วโลกใต้ พวกเขาได้ตั้งชื่อยักษ์ตนนี้ว่า Adam คณะนักสำรวจจึงได้ดึงหอกนี้ออกแล้วนำไปศึกษายังประเทศจอร์แดน จากนั้นทำการสำรวจร่างกายพบว่า มี DNA เหมือนมนุษย์ถึง 99% ซึ่งทำให้เกิดทฤษฎีว่า Adam คือมนุษย์คนแรก

สิงหาคม ปี ค.ศ. 2000 ได้มีการเริ่มการทดลองตัวอย่าง Adam ที่ขั้วโลกใต้ โดยมีผู้ให้ทุนสำรวจ (SEELE) เป็นผู้สังเกตการณ์, วันที่ 13 กันยายน 2000 เป็นการทดลองสร้างปฏิสัมพันธ์ (Contact Experiment) กับ Adam โดยติดตั้งแหล่งพลังงานอนันต์ S² Engine ซึ่งพอเดินเครื่องยนต์ทำให้ร่างนั้นปลดปล่อยสนามพลัง Anti A.T. (Absolute Terror) เป็นเหตุให้ Adam ตื่นขึ้นอย่างสมบูรณ์และพร้อมชำระล้างทำลายโลก คณะวิจัยที่เหลืออยู่ได้พยายามผนึกโดยการยิงหอกลอง Longinus แต่ไม่สามารถหยุดยับยั้งได้ ขณะที่ S² Engine จ่ายพลังงานมหาศาลจน Adam กลายร่างเป็นยักษ์แห่งแสงขนาดมหึมาและเกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง หลอมละลายน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ไปแทบทั้งหมด

สหประชาชาติออกแถลงการณ์ต่อชาวโลกว่า การระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอุกาบาตตกลงสู่ทวีปแอนตาร์กติกา และขนานนามเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ‘Second Impact’ ซึ่งการหลอมละลายน้ำแข็งขั้วโลกใต้ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างมาก เกิดภัยพิบัติต่างๆและสงครามมากมาย หนึ่งสัปดาห์หลังการระเบิด ในวันที่ 20 กันยายน 2000 กรุงโตเกียวเดิมถูกทิ้งระเบิดปรมาณูจนพินาศย่อยยับ ภัยพิบัติครานี้คร่าชีวิตคน 1/3 ของประชากรโลก รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการสร้าง Tokyo-2 ไว้ที่เมือง Matsumoto แล้วเสร็จปี 2003

องค์การ GEHIRN (ภาษาเยอรมัน แปลว่า Brain) ต่อมาคือ NERV (ภาษาเยอรมัน แปลว่า Nerve) ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาชีวจักรกล Evangelion  ซึ่งโคลนมาจาก Lilith และพัฒนาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ MAGI ตลอดจนสร้างเมือง GeoFront และ Neo Tokyo-3 เพื่อรับมือกับเทวทูต (Angel) ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ Dead Sea Scroll จนกระทั่งปี ค.ศ. 2015 เทวทูตตัวแรกก็ปรากฎขึ้นและเข้าโจมตี NERV สาขาญี่ปุ่น

Shinji Ikari เด็กชายวัย 14 ปี ได้ถูกเรียกตัวให้มายังเมือง Tokyo-3 ตามคำสั่งของพ่อ Gendo Ikari ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของ NERV พบเห็นการใช้อาวุธทำลายล้างของสหประชาชาติ ไม่สามารถต่อกรกับเทวทูต (Angel) ตัวเขาถูกบีบบังคับให้ต้องควบคุมหุ่นยักษ์ Evangelion Unit-01 แม้ไร้ซึ่งประสบการณ์ แต่ได้ความโชคช่วยทำให้สามารถเข้าต่อสู้ เอาชนะศัตรูแห่งมวลมนุษยชาติได้อยู่เรื่อยๆ


Shinji Ikari (พากย์เสียงโดย Megumi Ogata) นักบิน EVA-01 บุตรชายของ Gendo Ikari และนักวิทยาศาสตร์ Yui Ikari ภายหลังจากแม่เสียชีวิต พ่อได้ทอดทิ้งเขาให้ไปอาศัยอยู่กับคุณครู เกิดเป็นปมด้อยเพราะขาดความอบอุ่น ไร้ความมั่นใจในตนเอง แถมยังมีนิสัยหวาดระแวง ปิดกั้นความสัมพันธ์กับผู้อื่น การถูกเรียกตัวมายัง NERV ก็ไม่ยินยอมพร้อมใจสักเท่าไหร่ แต่กระทำไปเพราะไม่ต้องการสร้างปัญหายุ่งยากให้ติดตามมา

พัฒนาการของ Shinji มีลักษณะขึ้นๆลงๆ ค่อยๆเรียนรู้ที่จะเปิดตัวเอง ปรับตัวเข้าหาคนอื่น แต่เมื่อไหร่จิตใจฟื้นฟูในทางดีขึ้น กลับมีเหตุการณ์ปวดตับติดตามมา Toji ถูกทำร้ายจนพิการ, Asuka กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา, พานพบเจอเพื่อนชาย Kaoru ที่พร้อมเปิดใจรับ แต่เขากลับคือเทวทูต ต้องฆ่าให้ตายกับมือ และท้ายสุดภาพการเสียชีวิตของ Asuka มันจะหลงเหลืออะไรดีงามภายในจิตใจเด็กชายวัย 14 ปี

ผู้กำกับ Anno ให้คำนิยามตัวละครนี้ว่า

“[Shinji is kind of] shrinks from human contact, convinced himself that he is a completely unnecessary person, so much so that he cannot even commit suicide”.

ปมของ Shinji มีคำเรียกว่า Mother Complex โกรธเกลียดเคียดแค้นพ่อ โหยหาความรักจากแม่ ซึ่งเมื่ออยู่ใกล้ Rei Ayamami ที่มี DNA มารดาแท้ๆ จึงเกิดความอบอุ่น สนิทชิดเชื้อ สายสัมพันธ์ลึกซึ้งมิอาจตัดขาด

สังเกตว่าสิ่งต่างๆที่ Shinji พานพบเจอจะมีเรื่องราวคู่ขนานกันโดยตลอด มักเริ่มจากรอยยิ้ม สนุกสุขสำราญ แต่ถัดจากนั้นไม่นานความสูญเสีย หมดสิ้นหวังอาลัย ทวีรุนแรงปวดตับขึ้นเรื่อยๆ นั่นถือเป็นวิถีโลกที่มีสองด้าน สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว หยิน-หยาง สุดท้ายขึ้นอยู่กับมุมมองเราเอง จะเห็นด้านไหนสำคัญกับตัวค่ากว่า แล้วเลือกตัดสินใจดำเนินไปหนทางนั้น

เกร็ด: เหตุผลที่ผู้กำกับ Anno เลือกคนขับ Eva ต้องอายุ 14 ปี เพราะเป็นวัยคาบเกี่ยวระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนพลุกพร่านขึ้นๆลงๆ ต้องเริ่มต้นมองหาสิ่งที่คือเป้าหมายชีวิต

“The reason why the main character is fourteen years is that he is no longer a child but not yet an adult. He lives alone, but is attached to others. In past centuries, he would soon celebrate his coming of age. Back then, life expectancy was fifty years, so people had to grow up in fourteen years”.


Asuka Souryuu Langley (พากย์เสียงโดย Yuko Miyamura) เด็กสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น/เยอรมัน นักบิน EVA-02 เดินทางมาประจำกายัง NERV สาขาญี่ปุ่น เป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง แก่นแก้ว มีความเฉลียวฉลาด ทะเยอทะยาน เอาแต่ใจ จนได้รับฉายา ‘เจ้าหญิง’ แต่ลึกๆแล้วขาดความอบอุ่น (เหมือนกับ Shinji แต่แสดงออกตรงกันข้าม) ทำทุกสิ่งอย่างนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจ และพยายามหลงลืมอดีตที่พบเห็นแม่ผูกคอฆ่าตัวตาย (แต่จริงๆเธอเป็นเด็กหลอดแก้ว สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นนักบิน EVA โดยเฉพาะ)

เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าฉันต้องเป็นที่หนึ่ง แต่หลังจากพ่ายแพ้ต่อ Shinji บ่อยครั้งครา เริ่มสูญเสียความมั่นใจ ตัวตนที่เข้มแข็งค่อยๆแตกร้าว และการพ่ายแพ้ครั้งนั้นทำให้เธอกลายสภาพเป็นเจ้าหญิงนิทรา ตื่นขึ้นมาอีกทีสู้กับเทวทูต 9 ตัว ทั้งรู้ว่าไม่มีทางชนะ แต่ก็ยังคาดหวังว่าจะมีโอกาส

การให้ตัวละครนี้เป็นลูกครึ่งเยอรมันมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะประเทศนี้เคยพานผ่านช่วงเวลาร้ายๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำจอมเผด็จการ Adolf Hitler ถือว่ามากล้นด้วยความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการสู้รบเอาชนะ อันดับหนึ่งของโลกเท่านั้นที่ใฝ่ฝัน ซึ่งพอพ่ายแพ้ล้มเหลวไม่สำเร็จ ทุกสิ่งอย่างวอดวายหมดสูญสิ้นไม่หลงเหลืออะไร

ตัวละครนี้แรกเริ่มถูกออกแบบให้เป็นตัวเอกของเรื่อง แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น Shinji เลยถูกสร้างให้มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม ซึ่งสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ ถือว่าเป็นคู่จิ้นมาตั้งแต่แรก ไม่ใช่ Rei (ผมว่าแฟนๆจะจิ้นคู่นี้มากกว่า) เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง มีการเฉลยว่า DNA มาจากแม่แท้ๆของเขา เธอจึงไม่สามารถ Incest ครองคู่รักกับ Shinji ได้

เกร็ด: Asuka คือตัวละครที่นำเทรนด์สู่ Tsundere


Rei Ayamami (พากย์เสียงโดย Megumi Hayashibara) เด็กหญิงคนแรกที่ถูกเลือก นักบิน EVA-00 เป็นคนเงียบขรึม ไม่แสดงออกทางสีหน้า อารมณ์ การกระทำใดๆ ราวกับตุ๊กตาไร้จิตวิญญาณ มักคอยทำตามคำสั่งของ Gendo Ikari ร่างกายอิดๆออดๆ ไม่สมประกอบสักเท่าไหร่ ซึ่งตัวตนแท้จริงเป็นร่างโคลนของ Lilith เลยถูกสร้างขึ้นปริมาณมาก เพื่อใช้เป็นอะไหล่นักบิน EVA นั่นจึงกลายเป็นปมด้อย เพราะไม่เชื่อว่าตนเองมีคุณค่าสลักสำคัญใดๆ นอกจากปฏิบัติตามคำสั่งบิดาผู้สร้างเท่านั้น

การได้รู้จัก Shinji, Asuka และเพื่อนๆร่วมรุ่น ทำให้เธอมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น เปิดใจรับ ดูมีความอบอุ่นบางอย่าง (เพราะโคลนมาจาก DNA ของ Yui Ikari) แถมยังยินยอมเสียสละตนเองเพื่อพวกพ้อง ซึ่งในอนิเมะจะพบเห็น Rei ทั้งหมดสามตน
– คนแรกสมัยเด็กๆ ถูกแม่ของ Ritsuko Akagi เข่นฆ่าตาย
– คนสอง ระเบิดตัวเองตายพร้อมกับยมทูต เพื่อหยุดยับยั้งการเข้าสิงร่างของ Shinji
– คนสาม ก็ไม่รู้ว่ามีความทรงจำของคนสองอยู่หรือเปล่า แต่คือผู้ทำให้ Shinji หวนกลับมามีสติขณะกำลังพิพากษาโลก ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญก่อเกิดเหตุการณ์ ‘Third Impact’

ผู้กำกับ Anno ให้คำอธิบายตัวละครนี้แก่ Yoshiyuki Sadamoto ผู้ออกแบบ Character Design ว่า

“Whatever else, she needs to be painted in as a bitterly unhappy young girl with little sense of presence”.

ตัวละครนี้ว่ากันตามตรงไม่เห็นจะมีเสน่ห์ตรงไหน! แต่แปลกที่กลับสร้างความตราตรึง ประทับใจให้ผู้ชมอย่างล้นหลาม (กลายเป็นคาแรคเตอร์ Stereotype พบเห็นบ่อยครั้งในอนิเมะ) อาจเพราะสะท้อนตัวตนจริงๆของชาวญี่ปุ่น ดูเงียบๆ ขรึมๆ ไม่ชอบพูดคุยสนทนา แสดงออกทางอารมณ์ต่อใคร แต่อย่าให้สนิทสนมชิดเชื้อกันละ พร้อมยอมเสียสละให้ได้ทุกสิ่งอย่าง

เกร็ด: Rei คือตัวละครที่นำเทรนด์สู่ Moe


Misato Katsuragi (พากย์เสียงโดย Kotono Mitsuishi) บุตรสาวของนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำการทดลองโปรเจค Adam เมื่อ 15 ปี หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ ‘Second Impact’ ไต่เต้าจนได้ตำแหน่งสำคัญ หัวหน้าฝ่ายยุทธการของ NERV สาขาญี่ปุ่น มีหน้าที่ดูแล Shinji Ikari สงสารเห็นใจจึงรับมาอาศัยอยู่ด้วยกัน

ภายนอกดูเป็นคนง่ายๆสบายๆ ชอบดื่มเบียร์เมามาย ทำตัวเหมือนเด็กน้อยขี้เอาใจ แต่ในเรื่องหน้าที่การงานมีความเข้มงวดกวดขัน จริงจังและทุ่มเทกายใจอย่างสุดๆ บ่อยครั้งแสดงความเอ็นดู ห่วงใยต่อ Shinji เพราะตนเองก็เคยพานผ่านประสบการณ์ชีวิตคล้ายคลึงกันมา นี่ถ้าไม่ใช่พี่สาว อายุรุ่นราวคราวเดียวกันละก็ …

ตัวละครนี้ถือเป็นกระจกอีกด้านหนึ่งของ Shinji เพราะเคยพานผ่านอดีตคล้ายคลึง สูญเสียครอบครัวไปตั้งแต่ยังเด็ก แต่เธอก็สามารถเอาตัวรอดก้าวข้ามวัยสู่ผู้ใหญ่ ด้วยการใช้ชีวิตดื่มด่ำ สนุกสนาน สำเริงราญเต็มที่ (ราวกับรู้ตัวว่าวันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายของชีวิต) เลยต้องการให้เด็กชาย ได้มีโอกาสเจริญเติบโตสมวัย

เอาจริงๆผมอยากให้ Shinji ได้ขึ้นครูกับ Misato เพราะความสัมพันธ์ทั้งคู่ถูกยั่วแซะมาตั้งแต่ตอนแรกๆของอนิเมะ แต่บางสิ่งทางศีลธรรมค้ำคอเธอเอาไว้ พบเห็นเพียงร่วมรักอดีตแฟนหนุ่ม (เลิกราไปแล้วแต่ยังโหยหา) ซึ่งนั่นกลายเป็นอีกปมให้เด็กชาย อยากได้พี่สาวเป็นของตนเอง แต่เธอดันไปร่วมรักคนอื่นเสียอย่างนั้น (Siscon)


ทิ้งท้ายกับ Gendo Ikari ชื่อเกิด Gendo Rokubungi (พากย์เสียงโดย Fumihiko Tachiki) ผู้บัญชาการ NERV สาขาญี่ปุ่น พ่อแท้ๆของ Shinji ที่พอแต่งงานถึงเปลี่ยนมาใช้นามสกุลภรรยา เป็นคนดูสุขุม เยือกเย็นชา รอยยิ้มแฝงเลศนัย ทำตัวเหมือนไม่สนใจใยดีลูกชาย แต่แท้จริงคือไม่ต้องการสูญเสียเขาไป คาดหวังให้เป็นผู้กอบกู้โลก และตนเองได้ชุบชีวิต Yui Ikari กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

เป้าหมายจริงๆของ Gendo ต้องการเร่งให้ ‘Third Impact’ มาถึงโดยวัย ด้วยการสร้างหุ่น EVA สำหรับหยุดยับยั้งบรรดาเทวทูตและ SEELE ที่มีจุดประสงค์ต้องการทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง แต่ตัวเขาสร้าง Shinji เพื่อหวังให้กอบกู้โลก และตนเองจะได้มีโอกาสพานพบเจอภรรยา Yui Ikari แม้สุดท้ายเขาจะไม่สมปรารถนาในความตั้งใจหลัง แต่ก็ทำให้ Shinji ไม่ตัดสินใจทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง มวลมนุษยชาติมิได้สูญพันธุ์ไป เพราะยังหลงเหลือ Adam + Eve คือชาย-หญิงผู้ให้กำเนิดโลกใหม่

คนอย่าง Gendo เป็นประเภทพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสำเร็จ/ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนว่านั่นจะเป็นสิ่งถูก-ผิด ขัดแย้ง สังคมไม่ยินยอมรับ ซึ่งคำพูดประโยคสุดท้าย “Forgive me, Shinji” ถือว่าสะท้อนตัวตนแท้จริง ก็ไม่ได้อยากจะเหี้ยมโหดร้ายอย่างที่ใครเข้าใจ แต่จำเป็นต้องเลือกเสียสละแบบนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด

พ่อ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากๆสำหรับลูก เมื่อเขาเลือกทอดทิ้งขว้าง Shinji เด็กชายจึงเกิดปมด้อยเพราะไม่มีใครให้ความรักความอบอุ่น นั่นน่าลองครุ่นคิดดูเล่นๆว่า ถ้า Gendo เลือกที่จะไม่ทอดทิ้ง Shinji จะทำให้เรื่องราวงอนิเมะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร?


ผู้กำกับ Hideaki Anno ให้สัมภาษณ์ว่ารับอิทธิพลจากอนิเมะซีรีย์เรื่อง Space Runaway Ideon (1980) อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะไดเรคชั่นที่พยายามเล่าเรื่องคู่ขนานสองเหตุการณ์เคียงข้างกันไป ซึ่งพบเห็นได้ตั้งแต่ตอนแรก
– Misato ติดตามหา Shinji นำพาตัวไปยัง Neo Tokyo-3
– ตัดสลับกับการโจมตีครั้งแรกของ Angel ซึ่งมีสหประชาชาติและ NERV คอยจับตาดูอยู่ไม่ห่าง (ณ Neo Tokyo-3)

การตัดต่อน่าจะเป็นงานโปรดของ Anno เลยก็ว่าได้ มีความรวดเร็วฉับไวไร้ไขมันส่วนเกิน แต่บางทีก็ค้างๆคาๆไว้ให้ผู้ชมเกิดความฉงนสงสัย เช่นตอนสองขณะที่ EVA-01 กำลังต่อสู้อย่างเข้าด้ายเข้าเข็มกับเทวทูต อยู่ดีๆตัดไป Shinji ตื่นขึ้นมาตอนเช้า มันเกิดห่าเหวอะไรขึ้นระหว่างนั้น เป็นการยั่วเย้าอารมณ์ผู้ชมได้ยียวนกวนประสาทมากๆ … คือจะไปเฉลยในลักษณะย้อนอดีต (Flashback) ประมาณท้ายๆตอนนะครับ เพื่อให้กราฟอารมณ์ของผู้ชมมีความสมดุลตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะถ้าปล่อยให้ฉากแอ๊คชั่นสิ้นสุดตั้งแต่ครึ่งแรก Slice-of-Life ครึ่งหลังมันจะแผ่วเกินไป

ซีนแรกของ Shinji พบเห็นยืนกดตู้โทรศัพท์ ติดต่อใครไม่ได้ ซึ่งสะท้อนถึงตัวเขามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ไม่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้โดยง่าย ขณะที่ Misato ผู้ขับรถมารับ ก็คุยโทรศัพท์อยู่เช่นกัน ชีวิตเธอสามารถประติดต่อ และอาศัยอยู่กับการเดินทาง รวดเร็วฉับไว

สำหรับเทวทูต จะไม่ใช่แค่ศัตรูที่หุ่น EVA ทำการต่อสู้รบปรบมือเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีนัยยะสะท้อนเรื่องราว/ปัญหาตัวละครในช่วงระหว่างตอนๆนั้น สื่อความหมายอะไรบ้างต้องดูเป็นตนๆไป

Sachiel (Angel of Water) เทวทูตตัวแรกที่ปรากฎในอนิเมะ สะท้อนความหวาดสะพรึงกลัวที่จะเริ่มต้นของ Shinji แค่ก้าวเดินด้วย EVA-01 ยังไม่ทันทำอะไรก็หกล้มหัวขะเมน ถูกดึงแขนหลุดเจ็บปวดรวดร้าว ถึงอย่างนั้นก็สามารถเอาชนะมาได้เพราะอาการ ‘Berserk’ คลุ้มคลั่งจนไม่อาจควบคุมตนเองได้ ก้าวข้ามผ่าน/แหกผ่านบาเรีย A.T. Field ด้วยการปรับระดับคลื่นความถี่ให้ตรงกัน (สู้กับปีศาจ ก็ต้องทำตัวให้เป็นปีศาจ) ที่ไม่มีอาวุธยุโธปกรณ์อื่นใดสามารถต่อกร แล้วใช้มือดึงกระดูกซี่โครง ทุบลูกแก้วหัวใจ ทำให้ดิ้นพร่านและใช้การระเบิดตนเองทำลายล้าง … รอดตัวมาได้โดยไม่เจ็บปวดอะไรมาก

แซว: มองแบบผิวเผิน ซีนนี้ก็แลดูคล้าย God Warrior ที่ผู้กำกับ Anno เคยออกแบบเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) อยู่เล็กๆนะ

Geofront หรือ Neo Tokyo-3 เป็นเมืองที่มีลักษณะกลับหัวกลับหาง สร้างขึ้นใต้ดินโดยส่วนตึกสูงที่อยู่ด้านบนสามารถขยับเคลื่อนขึ้นลง สลับบนล่างในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งช็อตนี้แลดูราวกับสรวงสวรรค์-ผืนแผ่นดิน (ชั้นบนดินถือว่าเป็นที่อยู่ของเทวทูต Angel ด้วยนะ) แต่นัยยะจริงๆผมว่าเหมือนขุมนรกใต้บาดาลมากกว่า

บ่อยครั้งในอนิเมะ จะมีการประหยัดงบประมาณด้วยงานศิลป์ดาดๆแบบนี้ (มันอาร์ทติสต์มากๆเลยนะ) ใช้โทนสี แสง-เงา บ่งบอกอารมณ์ความสนใจตัวละคร (ส่วนใหญ่เป็นของ Shinji) แค่พอจะดูรู้เรื่องว่าตัวละครกำลังทำอะไร เลยไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดซะให้สมจริงเสียหมด (จะได้เอาไปทุ่มกับส่วนอื่น ออกแบบหุ่นยนต์/ตึกรามบ้านช่อง ฯ)

อยากฉากนี้ สีออกแดงอมชมพู จิตใจของ Shinji คงเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นสั่นระแรง นี่ฉันกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับพ่อในอีกไม่ช้านาน ไม่ได้มีความอยากเจอเลยสักนิด!

แท่งแสงไฟรูปไม้กางเขน ผู้กำกับ Anno ได้ทำการอ้างอิงถึงพระธรรมปฐมกาล (Book of Genesis) เลยไม่แปลกเท่าไหร่ที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย พิพากษา หรือขณะเทวทูตถูกทำลาย พุ่งตรงสู่ท้องฟ้า ราวกับกำลังหวนกลับสู่สรวงสวรรค์

Shamshel (Angel of the Morning) ปรากฎตัวขึ้นจากทะเล มีแส้/หนวดเป็นอาวุธ สะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ที่ Shinji ถูกกลั่นแกล้งชกต่อยโดยเพื่อนร่วมชั้น Toji Suzuhara ตนเองไม่มีทางสู้และไม่คิดจะสู้สวน แต่เมื่อสถานการณ์กลับตารปัตรขณะอยู่ในหุ่น EVA-01 พบเห็น Toji แสดงสีหน้าขลาดหวาดกลัวตัวสั่น มันจึงเป็นการย้อนแย้งเข้าหาตัวเขาเอง ชักมีดสั้นเข้าทิ่มแทงหัวใจนับถอยหลังจนเวลาสิ้นสุดถึงได้รับชัยชนะ

เกร็ด: การออกแบบ Shamshel ได้แรงบันดาลใจจากชุดนักบินอวกาศของ Dr. Frank Poole เรื่อง 2001: 2001: A Space Odyssey (1968)

สภาพอากาศก็บ่งบอกอารมณ์ของตัวละครได้เช่นกัน ฝนตกตอน 3-4 สะท้อนช่วงเวลาเหงาๆ เศร้าสร้อย ไม่ค่อยอยากครุ่นคิดทำอะไร ร่ำร้องไห้ออกมาจากภายใน

อยากจะโทร แต่สุดท้ายก็ไม่ได้โทร นี่สะท้อนความหวาดหวั่นกลัวของตัวละคร ไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้า ยินยอมรับความผิดพลาดที่ตนก่อ แม้ฝั่ง Shinji จะไม่ได้ใคร่รับรู้สนใจ แต่สำหรับ Toji คืออาการขลาดเขลา ยังไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่/ลูกผู้ชายตัวจริงสักที

แสง-สี Sound Effect กระหึ่มขึ้นพร้อมกันในช่วงขณะหนีออกจากบ้านของ Shinji ตอนที่สี่, เลเยอร์ด้านหลังซ้อนกันสามสี่ชั้นเคลื่อนสลับทิศทาง แสงสีแดงอมชมพูดสัมผัสของภยันตราย จิ้งหรีดไรเรกรีดกรายร้องลั่น นั่นสร้างความหลอกหลอนสั่นสะท้านให้เด็กชาย กลัวจนแทบจะขี่เยี่ยวเร็ดราด อยากจะหลบลี้หนีไปให้ไกล

ตอนที่สี่ เป็นช่วงเวลาที่ Shinji ต้องเผชิญหน้ากับความกลัวของตนเอง เขาต้องการหนีแต่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถไปไหนได้พ้น จนกระทั่งได้รับคำขอโทษจาก Toji และ Misato ยืนเฝ้ารออยู่ตรงสถานีรถไฟ ในที่สุดก็ค้นพบบ้านหลังแรกของตนเองสักที

ผมชอบซีนที่ Shinji ถูกจับกลับมายัง Nerv แล้วถูกคุมขังนี้อย่างมาก ภาพสามช็อตที่นำมานี้ใช้แสงสี กำหนดทิศทางอารมณ์ตัวละครได้อย่างตราตรึง
– ในห้องคุมขัง เมื่อ Misato เปิดประตู แสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามาในห้องมืดเป็นรูปสามเหลี่ยม นั่นสื่อถึงมุมแห่งความหวัง ความอบอุ่น ซึ่ง Shinji ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่ตำแหน่งตรงไหน ในความมืดมิดหรือแสงสว่าง
– โทนสี…อะไรก็ไม่รู้ละ… อาบตัว Shinji มอบสัมผัสอันสิ้นหวัง หดหู่ ไร้ซึ่งชีวิต/จิตวิญญาณ
– ขณะที่ Misato ยืนอยู่ตำแหน่งย้อนแสงเลยมองไม่เห็นใบหน้า พยายามเรียกร้องให้เขาตัดสินใจ เลือกออกมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความอบอุ่น แสงสว่างแห่งความหวัง

แว่นตาของ Gendo Ikari เปรียบเสมือนหน้ากากที่คอยปกปิดบังตัวตนแท้จริง หลบซ่อนเร้นไว้ภายใน ซึ่งเมื่อตอนที่ 5 พบเห็น Rei ได้รับอุบัติเหตุจากการเชื่อมต่อไม่สมบูรณ์ เร่งรีบไปให้ความช่วยเหลือ บิดเปิดทั้งๆอุณหภูมิร้อนสูง แว่นตากระเด็นแตก … ราวกับว่าเพื่อเธอ หน้ากากของเขาได้ถูกกระชากออกไป

สาเหตุที่ Gendo แสดงความรักเอ็นดูต่อ Rei เป็นพิเศษ นั่นเพราะเธอมี DNA ของอดีตภรรยา Yui เลยไม่แปลกเท่าไหร่ที่อยากเอ็นดูทะนุถนอม และเหตุการณ์นี้ทำให้เด็กหญิงเกิดความเชื่อมั่นศรัทธา เพราะเขาคือผู้แรกที่แสดงความอ่อนโยนต่อตนเอง หลังจากนี้ออกคำสั่งใดๆก็พร้อมพลีกายเสียสละชีพให้

ห้องของ Rei นี่แบบว่า … สะท้อนสภาพจิตใจ/ตัวตนของเธอ ไม่ใช่สกปรกโสมมนะครับ แต่คือเป็นคนไม่แคร์ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น ขยะไม่เก็บกวาด น้ำไฟไม่รู้มีใช้หรือเปล่า ขนาดโดน Shinji ล้มทับ กลับเฉยเฉื่อยชาไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น เลือกชีวิตแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้ใคร่สนใจอยู่แล้วว่าจะมีความสุข-ทุกข์อันใด

ช่วงต้นของตอน 5 การเชื่อมต่อระหว่าง Rei กับหุ่น EVA-00 ประสบความล้มเหลว แต่หลังจากรักษาตัวหาย ได้พานพบเจอบุคคลคอยเป็นห่วงใย สภาพจิตใจสมบูรณ์แข็งแรง เธอจึงสามารถก้าวข้ามผ่าน Border Line เชื่อมต่อหุ่น EVA ได้สำเร็จลุล่วงโดยง่าย

นี่ก็แปลว่าเจ้าหุ่น EVA คือสิ่งสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร
– เชื่อมต่อสำเร็จ คือกำลังมีความมั่นใจในตนเอง
– อาการคลุ้มคลั่ง ‘Berserk’ ก็คือเกรี้ยวกราดโกรธแค้น ควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้
ฯลฯ

Ramiel (God of Thunder) เทวทูตที่มีลักษณะทรงพีระมิดสองอันประกบทับ มีขนาดใหญ่ที่สุด พลังทำลายล้างลำดับ 2 และยังมีสว่านสำหรับขุดเจาะไปจนเกือบถึง Geofront ลักษณะดังกล่าวแลดูคล้ายรูปทรงของจิตใจ ซึ่งเมื่อ EVA-01 ปรากฎกายขึ้น มันพุ่งลำแสงตรงเข้าที่หัวใจของเขา

เทวทูตตนนี้สะท้อนความอิจฉาริษยาของ Shinji ที่มีต่อ Rei เพราะเห็นว่าเธอได้รับการเอ็นดูทะนุถนอมจากพ่อแท้ๆของตน (แต่พ่อกลับปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เหลียวแลสนใจ) ลำแสงแรกพุ่งตรงมาที่หัวใจแบบไม่ทันตั้งตัว ก็ชัดเลยว่าจี้แทงใจดำ รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดแท้

ความพยายามของเทวทูตตนนี้ยังคือ ใช้สว่านเจาะไปให้ถึง Geofront ซึ่งคือ ‘หัวใจ’ ของปฏิบัติการ NERV … เรียกได้ว่าเป็นศัตรูที่แสดงออกความต้องการอย่างตรงไปตรงมามากๆ

การจะเอาชนะ Ramiel ต้องใช้ปีนเลเซอร์ยิงจากระยะไกล ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากทั้งเกาะญี่ปุ่น ซึ่ง Shinji จะเป็นผู้ยิง และ Rei ทำหน้าที่เกราะกำบัง ปรากฎว่าต้องยิงสองครั้ง
– ครั้งแรก Ramiel ยิงตอบโต้ ทำให้ทิศทางของเลเซอร์แปรปรวนผันเปลี่ยนไป
– ครั้งที่สองเพราะมี Rei กำบังให้ Shinji จึงสามารถยิงโดนเข้ากึ่งกลาง Remiel

ถือว่าเป็นเทวทูตตนแรกที่ต้องใช้ EVA สองตัวเข้าต่อสู้ ชาย-หญิง ยิงปืน-เกราะกำบัง เติมเต็มกันและกัน ซึ่งการกระทำของ Shini ภายหลังได้รับชัยชนะ ให้ความช่วยเหลือ Rai แบบเดียวกับที่พ่อ Gendo เคยกระทำไว้ นั่นทำให้เด็กหญิงเกิดรอยยิ้มบางๆขึ้นครั้งแรก

ศัตรูตอน 7 ไม่ใช่เทวทูตตัวใหม่ แต่คือมนุษย์ด้วยกันเองที่พยายามแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แถมยังชอบยกตกข่มท่าน ดูถูกข่มเหงผู้อื่น เริ่มจากสถานที่จัดงานยังกรุงโตเกียวเก่า (โหยหาความยิ่งใหญ่ในอดีต) เปิดตัวหุ่นที่ทำได้เพียงเดินแต่โปรแกรม Error เต็มไปหมด เป็นเหตุให้ Shinji ต้องพยายามผลักดันให้หยุดยุติ และ Misato เข้าไปในห้องเครื่องเพื่อใส่รหัส ‘Hope’ แต่ปรากฎว่า…

อนิเมะไม่ได้เฉลยไว้ แต่มีฉากที่ค่อนข้างสื่อถึงว่า ผู้อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดดังกล่าว น่าจะเกิดจากการ Hack ของใครสักคนที่ NERV ซึ่งปาฏิหารย์ของ Misato ดูแล้วไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน!

ช็อตแรกของ Asuka ในตอนที่ 8 มุมเงยขึ้นสูงขนาดนี้ ชัดเจนเลยว่ามี Egoist สูงเสียดฟ้า

ฉากแย่งซีนสุดของตอน 8 คือตอนที่กิ๊กเก่าของ Misato ใช้เท้าเกี่ยวยั่วเย้ายวน ความสัมพันธ์ของทั้งสองแบบว่า สนองความพึงพอใจส่วนตนเองล้วนๆ … เด็กๆมองไม่เห็นการกระทำใต้โต๊ะ

Gaghiel (The Angel of the Fish) เทวทูตลักษณะเหมือนปลาฉลาม ความต้องการของมันเหมือนว่าจะคือร่าง Adam แต่ถูกขัดขวางโดย EVA-02 ซึ่งเป็นการควบคุมคู่กันระหว่าง Asuka และ Shinji (สวมใส่ชุดผู้หญิง) วิธีการเอาชนะก็พิลึกพิลั่น ใช้ให้ EVA เป็นเหยื่อตกปลา จากนั้นดึงสายเคเบิล อ้าปากให้กว้าง แล้วยัดเรือรบสองลำเข้าไปในปาก และระเบิดตนเอง

ที่ต้องทำให้พิลึกพิลั่นเช่นนี้ ก็เพื่อสะท้อนการประสานเข้าคู่/ร่วมงานระหว่าง Shinji กับ Asuka (รวมไปถึงกองทัพเรือ กับ NERV) พยากรณ์การเป็นของกันและกัน Adam + EVE ท้ายที่สุด

Israfel (Angels of Poetry, Music and Dance.) เทวทูตคู่แฝดที่มาจากทะเล เป็นเหตุให้ Shinji และ Asuka ต้องประสานการเคลื่อนไหว ทำทุกสิ่งอย่างให้สอดคล้องจองกันเปะๆ ถึงได้รับชัยชนะ แม้ไม่ยากเย็นเท่าไหร่ แต่ก็มีเรื่องให้น่าอับอายขายขี้หน้าอยู่ไม่น้อย

สำหรับเด็กๆทั้งสอง ความสัมพันธ์ของพวกเขายังไม่ได้รับการพัฒนาไปเท่าไหร่ แต่สำหรับ Misato และแฟนหนุ่ม จุมพิตอย่างดูดดื่มระหว่างอยู่บทลิฟท์ เป็นสื่อกลายๆของการเติมเต็มกันและกันระหว่างหญิง-ชาย

Asuka ตระเตรียมตัวซะอย่างดี ซื้อชุดว่ายน้ำเพื่อตั้งใจจะไปอาบน้ำแร่ แช่น้ำร้อน ดำน้ำพักผ่อนคลาย แต่เพราะการเป็นนักบิน EVA ทำให้เธอไม่ได้รับสิทธิ์นั้น จำต้องสแตนบายเพื่อรอคอยเหตุฉุกเฉิน ซึ่งตอนที่ 10 มีการค้นพบเทวทูต Sandalphon (The Angel of Embryos) ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ ครั้งแรกครั้งเดียวที่ NERV เปิดฉากโจมตีก่อน

ตอนนี้ Asuka ถือว่าถูกกลั่นแกล้งสุดๆ ต้องการไปเที่ยวออนเซนกลับได้ด่ำดิ่งลงหินหลอมเหลว/ลาวา แถมยังต้องปฏิบัติภารกิจนี้โดยสวมชุดบวมๆที่สามารถกันความร้อนได้ ทั้งตนเองและ EVA-02, ใครเคยรับชม Charlie and the Chocolate Factory (2005) จะมีเด็กหญิงอีโก้สูงคนหนึ่ง Violet Beauregarde ชื่นชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง แล้วอยู่ดีๆตัวก็บวบบวมขึ้น … ดูไม่ต่างกันสักเท่าไหร่

Asuka เป็นคนที่มีอีโก้สูงมาก แต่ต้องกล้ำกลืนและด่ำดิ่งลงสู่จุดตกต่ำ แถมชัยชนะล้วนไม่ได้มาจากตนเอง ใช้มีดของ EVA-01 และช่วงท้ายถูก Sandalphon ตัดสายเคเบิลขาด ได้รับความช่วยเหลือจาก Shinji กระโดดลงมาเสี่ยงชีวิตทั้งๆไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ

Matarael (The Angel of Rain) มีลักษณะเหมือนแมงมุม (แต่มีสี่ขา) บุกเข้ามาโจมตี Tokyo-3 ระหว่างที่ไฟดับ ทำให้ทุกอย่างต้องใช้ระบบมือ (Manual) ทั้งตัวละครและตอนอยู่ใน EVA ต่างต้องปีนป่าย มุดท่อ (คล้ายๆแมงมุม) ร่วมกันต่อสู้ยิงตาเทวทูตตนนี้จากภายใต้ทางขึ้นสู่ผิวโลก

เกร็ด: ชื่อตอน The Day Tokyo-3 Stood Still เป็นการเคารพคารวะภาพยนตร์ไซไฟ The Day the Earth Stood Still (1951)

“Man has always feared the darkness, carving away at it with fire”.

– Rei Ayamami

ช่วงต้นของตอน 12 มีการย้อนอดีตเล็กน้อยถึงเบื้องหลังแผลเป็นตรงหน้าอกของ Misato ซึ่งคือสาเหตุผลให้เธอมุ่งมั่นต้องการกำจัดเทตทูต แบบไม่สนวิธีการว่าจะคืออะไร มุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นการแก้แค้น แต่มองภาพใหญ่ๆคือแรงผลักดันจูงใจ ปกป้องมวลมนุษยชาติไม่ให้ต้องประสบความทุกข์ยากลำบากแบบตนเอง

ขณะที่ช่วงการย้อนอดีตของ Misato จะมีการปรับโทนสีส้มๆ มอบสัมผัสภยันตรายพร้อมเทวทูต Arael ที่มีพลังทำลายล้างมากสุด (แต่รายละเอียดไว้ตอนสู้กับ EVA แล้วจะพูดถึงอีกที) ซึ่งกลางๆเรื่องผู้บัญชาการ Gendo เดินทางมุ่งสู่ขั้วโลกใต้ ท้องฟ้าออโรร่า และผืนน้ำสีแดงฉาน (มันจะไปสะท้อนกับตอนจบ The End of Evangelion ที่ Shinji และ Asuka ตื่นขึ้นบนโลกที่มีพวกเขาเพียงสองคน)

Sahaquiel (Angel of the Sky) เป็นเทวทูตที่มาจากนอกโลก มีขนาดใหญ่โต ซึ่งการตอบโต้ EVA -ที่ยังไม่สามารถบินได้- ตั้งรับอยู่บนโลก

เรื่องราวตอนนี้เกี่ยวกับการคาดหวัง(จากเบื้องบน) หลังจากที่ Misato ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พัน (Major) พอดิบพอดีกับผู้การ Gendo (และท่านรอง)ออกเดินทางไปขั้วโลกใต้ เธอจึงต้องแบกรับภาระหน้าที่ผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว โดยให้ EVA ทั้งสามใช้ A.T. Field แบกรับเทวทูตตนนี้โจมตีจากเบื้องบน ร่วมกันผลักดันและทำลายล้างได้สำเร็จ

ตอนที่ 13 เพื่อทำการทดสอบเชื่อมต่อกับ EVA โดยร่างกายเปลือยเปล่า ต้องอาบน้ำถึง 17 ครั้ง (เท่ากับปริมาณเทวทูตทั้งหมดที่ต้องต่อสู่) สังเกตว่าความเหนียงอายแตกต่างกันอย่างชัดเจน
– Rei แม้ร่างกายเปลือยเปล่า ก็ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใดๆ
– Shinji ก้มหน้าละห้อย ยกมือปิดบังอย่างเนียงอาย
– Asuka สาวห้าว ยืนเท้าสะเอว ถ่างขา ไร้ความยางละอาย

Ireul (The Angel of Terror) มาในรูปแบบไวรัส/ปรสิต ขนาดเล็กกระจิดริด มากด้วยวิวัฒนาการก้าวกระโดด จนสามารถ Hack ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ MAGI ได้ถึงสามตัว แต่จุดจบเกิดจากการตอบโต้กลับของ Dr. Ritsuko Akagi เขียนโปรแกรมสำหรับฆ่าตัวตาย วินาทีสุดท้ายทำให้เทวทูตตนนี้สิ้นสูญพันธุ์โดยทันที

จะว่าไปเทวทูตตนนี้มีลักษณะเหมือนกาก เกลื้อน แพร่กระจายราวกับเชื้อโรคติดต่อ ค่อยๆแทรกซึมจากภายนอก เข้าไปยังส่วนลึกภายในใจ กัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ/ความหวังของมนุษยชาติ

Magi System ระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ สร้างขึ้นโดย Dr. Naoko Akagi (แม่ของ Ritsuko) ประกอบด้วยสาม Bio-Computer ซึ่งสามารถปลูกฝังบุคคลิกของผู้สร้างลงไป
– Melchior ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ (ที่ Ritsuko ให้ความเคารพนับถือ เพราะได้สรรค์สร้างสิ่งกอบกู้มวลมนุษยชาติ)
– Balthasar ตัวแทนความเป็นแม่ (ที่ Ritsuko ไม่เข้าใจ เพราะตนเองไม่เคยเป็นแม่)
– Casper ตัวแทนเพศหญิง (ที่ Ritsuko เกลียดชัง เพราะแม่เป็นชู้รักของ Gendo Ikari)

ไดเรคชั่นของตอนนี้ เพราะไม่ได้มี EVA ออกโรงสู้รบกับใคร จึงต้องใช้การตัดต่อสร้างจังหวะลุ้นระทึก (อารมณ์คล้ายๆภาพยนตร์เรื่อง Dr. Stangelove) ตัดสลับไปมาระหว่างภาพบนจอ ปฏิกิริยาสีหน้าตัวละคร และคำพูด-คำสั่ง โต้ตอบไปมา เท่านั้นเอง!

การหลงเหลือ Casper คือปราการด่านสุดท้าย สะท้อนความทั้งรักทั้งเกลียดแม่ตนเองของ Ritsuko ซึ่งตอนหลังๆเธอได้ย้อนรอยความผิดพลาด ด้วยการตกหลุมรักพลีกายให้ Gendo Ikari แบบเดียวกันเปะๆ

สาเหตุที่ต้องให้เด็กๆอาบน้ำ เปลือยเปล่า ทดสอบกับหุ่น EVA ก็เพื่อสะท้อนเข้ากับฉากนี้ที่ Ritsuko ต้องเปลือยเปล่าร่างอันแท้จริงของ Magi เชื่อมต่อไปยังส่วนของสมอง (ซึ่งเป็น Bio-Computer) เขียนโปรแกรมสุดท้าย เพื่อทำลายวิวัฒนาการของเทวทูต

ว่าไปเรื่องราวของตอนนี้ สามารถสะท้อนได้ถึงการตัดสินใข/ผลลัพท์ตอนจบของอนิเมะ เมื่อมนุษย์วิวัฒนาการมาถึงจุดสูงสุด ท้ายที่สุดย่อมเกิดการ ‘ทำลายล้าง’ ทุกสิ่งอย่าง

ครึ่งแรกของตอน 14 แม้จะเป็น Recap และตบท้ายด้วยการที่ Gendo ปิดข่าวเทวทูต Ireul ต่อที่ประชุม SEELE แต่ถือว่าสะท้อนเรื่องราวกับครึ่งหลัง ที่เป็นการทดลองสลับขับ EVA ของ Rei และ Shinji
– Rei ใน EVA-01 ดูไม่มีปัญหาอะไร
– แต่ Shinji ใน EVA-00 กลับเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ‘Berserk’ เพราะไม่สามารถยินยอมรับความทรงจำของ Rei ที่แทรกเข้ามาหาตนเองได้

กล่าวคือในความครุ่นคิดของ Gendo ประมาณว่า SEELE ไม่มีทางเข้าแทรกแซงกิจการภายในของ NERV = Shinji ไม่สามารถควบคุม EVA-00

ตอนที่ 15 นำเสนอช่วงเวลา Slice-of-Life วันว่างๆที่เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวายแห่งชีวิต เกิด-ตาย จีบ-แต่งงาน
– Misato, Ritsuko และ Kaji ไปร่วมงานแต่งงานเพื่อน
– ครบรอบวันตายแม่ ทำให้ Shinji มีโอกาสพบเจอพูดคุยกับพ่อ
– Asuka ถูกขอให้ไป Blind Date
– Rei ในแคปซูล แลดูเหมือนในช่องคลอด/ระหว่างตั้งครรภ์
– และท้ายสุด Kaji กับ Misato กำลังจะได้พบเห็นจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติ

ตอนที่ 16 ถือเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางของอนิเมะที่จะเริ่มผันเข้าด้านมืด จิตวิเคราะห์ตัวละคร ซึ่งจะค้างคาสิ่งที่ Kaji กับ Misato ได้พานพบเจอช่วงท้ายตอน 15 ไว้ก่อน แล้วนำเสนอเทวทูตเงา Leliel (The Angel of Night) ทำการกลืนกิน EVA-01 เข้าสู่ความมืดมิด/สิ้นหวัง เป็นเหตุให้ Shinji ตกอยู่ในสภาพท้อแท้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต

การออกแบบเทวทูตตนนี้ให้มีลักษณะทรงกลม สามารถแทนด้วยสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ ซึ่งเห็นว่าบทร่างแรกของอนิเมะ ตั้งใจจะให้ Leliel สามารถพูดคุยสื่อสารกับ Shinji แต่ก็ปรับเปลี่ยนกลายมาเป็นแค่กระจก’เงา’สะท้อนตัวตนของเขาเพียงเท่านั้นก่อน (สนทนากันจริงๆไว้ค่อยตอนของ Kaoru)

อาจจะด้วยเหตุผลงบหมดเลยใช้การเลี่ยงให้ใบหน้า Asuka อาบเงามืดแทนการทำอนิเมชั่น แต่ต้องถือว่าช่วงขณะนี้สามารถถ่ายทอดบรรยากาศนัวร์ อันตึงเครียด หมองหม่น สะท้อนอารมณ์ทุกๆคนหลังจาก Shinji ถูกดูดกลืนเข้าไปใน Leliel ได้อย่างงดงามทีเดียว

ช็อตนี้ละครับที่กลายเป็นว่า Shinji สนทนากับตัวตนเอง (ไม่ใช่สนทนากับเทวทูต) จากเคยมีความมั่นใจสูงสุดในการต่อสู้ เมื่อทำเพียงหนึ่งสิ่งผิดพลาดพลั้ง ทุกอย่างมุ่งมั่นสร้างสรรค์มา พังทลายลงย่อยยับเยินในพริบตา

มันจะมีเสียง Sound Effect ของขบวนรถไฟ ซึ่งสะท้อนถึงทางแยก หนทางเลือกของ Shinji หลังจากนี้จะครุ่นคิดตัดสินใจเช่นไร ปล่อยตัวกายใจให้หมดสิ้นหวัง หรือ …

ชัยชนะต่อเทวทูตตนนี้ เป็นการสะท้อนสันชาติญาณมนุษย์ (และของ Shinji) เมื่อตกอยู๋ในสภาวะหมดสิ้นหวังแบบสุดๆ ขณะกำลังใกล้หมดลมหายใจ ดิ้นรนเฮือกครั้งสุดท้าย (ไม่ได้อยากตายจริงๆ) แสดงออกด้วยความคลุ้มคลั่งเสียสติกแตก ‘Berserk’ ว่าไปไม่ต่างจากตอนสู้กับเทวทูตตนแรก มิอาจควบคุมตนเองได้เหมือนกัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

 

One More Final: I need you. เริ่มต้นด้วยเปลือกนอกที่หลงเหลือเพียงครึ่งค่อนตัว สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ไม่ได้มีแค่บุรุษ อีกครึ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คืออิสตรี แม้เพียงคู่เดียว Adam & Eve ก็พอให้มนุษยชาติคงอยู่รอดตลอดไป

การตื่นขึ้นของ Shinji พบเห็น Rei ที่ลาลับจากไปแล้ว ยืนเป็นวิญญาณบนมหาสมุทรเลือดสีแดงฉาน ขณะที่ข้างกายคือ Asuka หญิงสาวผู้แตกต่างตรงกันข้ามกับเขาทุกประการ พยายามบีบคอเหมือนต้องการเข่นฆ่าเธอ แต่หญิงสาวแค่เอื้อมมือขึ้นไปสัมผัสใบหน้า ธารน้ำตาก็เริ่มหลั่งไหลริน แสงระยิบระยับราวกับพระอาทิตย์กำลังจะขึ้นสุดปลายขอบฟ้า

ตีความในเชิงสัญลักษณ์, Rei คือจิตวิญญาณ/ความทรงจำที่ Shinji ยังคงครุ่นคิดถึงโหยหา (เธอคือคนทำให้เขาเปลี่ยนใจ ไม่ทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง) พยายามบีบเค้นคอฆ่า Asuka คงเพราะคิดว่าเธอไม่เป็นที่ต้องการในโลกใบนี้ ซึ่งการที่หญิงสาวเอื้อมมือขึ้นมาสัมผัสใบหน้าเบาๆ บอกความนัยว่าไม่เป็นไร ทุกสิ่งอย่างจบสิ้นลงแล้ว ธารน้ำตาแห่งความสิ้นสุด ปลื้มปีติยินดี หรือจะมองว่าเป็นการระบายความอึดอัดคับข้องแค้น ภายในทั้งหมดออกมาก็ได้

ผมมองว่าเป็นการกระทำโดยสันชาตญาณของ Shinji ยังครุ่นคิดติดอยู่ว่า การทำลายล้างทุกสิ่งอย่างคือหนทางออก แต่จิตใต้สำนึกของเขาไม่กี่วินาทีก่อนหน้านี้ ได้ตกลงปลงตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้วว่า ฉันอยากมีชีวิตอยู่ต่อ ธารน้ำตาของเขาที่หลั่งไหลรินออกมา น่าจะเป็นความดีใจที่ทุกสิ่งอย่างได้สิ้นสุดลงแล้ว หลงเหลือเพียงแค่สองเรา คงไม่ว้าวุ่นวายเท่ามนุษย์นับล้าน แค่มองตาก็มิอาจเข้าใจ

เพลงประกอบโดย Shirō Sagisu นักแต่งเพลงประกอบอนิเมะชื่อดัง ขาประจำของผู้กำกับ Anno ผลงานเด่นๆ อาทิ Nadia: The Secret of Blue Water (1990–1991), Neon Genesis Evangelion (1995–1996), Bleach (2004–2012), Magi: The Labyrinth of Magic (2012–2013), Attack on Titan (2015), ล่าสุดก็ Shin Godzilla (2016)

รสสัมผัสของงานเพลง รุกเร้าอารมณ์ด้วยท่วงทำนองที่หลากหลาย สร้างบรรยากาศให้กับเรื่องราว/ฉากนั้นๆ มีทั้งสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง แต่โดดเด่นเป็นพิเศษคือความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว บางสิ่งอย่างค่อยๆคืบคลาน ย่างกรายเข้ามา อสูรกาย สัตว์ประหลาดร้าย หลอกหลอนขนหัวลุกยังไงชอบกล (แนวสัตว์ประหลาดบุก น่าจะเป็นงานถนัดของ Sagisu เลยก็ว่าได้)

จะว่าไปหลายๆบทเพลงได้ทำการคัดลอกเลียน นำมาปรับเปลี่ยน เรียบเรียงใหม่ให้มีความเข้ากันกับอนิเมะ ยกตัวอย่าง Angel Attack ให้รู้สึกเหมือนบทเพลงจาก James Bond ยังไงชอบกล

ทุกตัวละครจะมี Character Song ที่ตราตรึงมากๆคือ Shinji’s Theme เสียงเปียโนท่วงทำนองคล้ายๆ The Godfather (1972) เต็มไปด้วยความเวิ้งว้างว่างเปล่า โหยหาต้องการบางสิ่ง แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงให้ได้มา … สุดท้ายตัวละครนี้กลายเป็นพ่อทุกสถาบันเสียด้วยนะ!

Opening Theme บทเพลง Zankoku na Tenshi no Têze (แปลว่า A Cruel Angel’s Thesis) แต่งโดย Hidetoshi Satô, คำร้องโดย Neko Oikawa, ขับร้องโดย Yôko Takahashi

เกร็ด: บทเพลงนี้ติดอันดับ 55 ชาร์ท ‘100 Unforgettable Anime Theme Songs’ จัดโดย TV Asahi

Ending Theme บทเพลง Fly Me to the Moon (1954) ต้นฉบับภาษาอังกฤษแต่งโดย Bart Howard โด่งดังสุดน่าจะขับร้องโดย Frank Sinatra, เรียบเรียงใหม่โดย Toshiyuki Ômori, ซึ่งในอนิเมะจะมีการเวียนท่วงทำนอง(ออเครสต้า/เครื่องสาย/เปียโน/คอรัส) และนักร้องไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็นักพากย์ที่มาให้เสียงนะแหละ อาทิ Claire, Yôko Takahashi, Yuko Miyamura, Megumi Hayashibara, Kotono Mitsuishi ว่ากันว่ามีทั้งหมด 56 เวอร์ชั่น! (แต่ละตอนจะไม่ซ้ำกันเลยนะ!)

ฉบับที่นำมาให้ฟังนี้อยู่ตอน 11 ประสานเสียงโดยสามนักพากย์ Asuka, Rei, Misato (Yuko Miyamura, Megumi Hayashibara, Kotono Mitsuishi)

นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้บทเพลงคลาสสิก เพื่อเติมเต็มความลุ่มลึกของเรื่องราว อาทิ
– Bethoven: Symphony No. 9
– Verdi: Requiem
– Hendel: Messiah
– J.S. Bach: Suite No.1 for Cello Solo
– J.S. Bach: Partita No. 3 for Violin Solo
– J.S. Bach: Orchestral Suite No.3
– J.S. Bach: Jesu, Joy of Man’s Desiring

ฉากที่ถือว่ามีการใช้บทเพลงคลาสสิกได้ไพเราะงดงามสุด Orchestral Suite No.3 in D Major, BWV. 1068 ท่อน Air ขณะที่ Asuka ตื่นขึ้นมาต่อสู้กับ 9 เทวทูตด้วยเวลาจำกัด ทั้งรู้ว่าคงไม่สามารถเอาชนะ แต่ด้วยศักดิ์ศรี ความเย่อหยิ่งทะนงตน ไม่ลองไม่รู้อาจทำสำเร็จก็เป็นได้ … สุดท้ายความครุ่นคิดดังกล่าวก็แค่สายลมพัด นับถอยหลังสู่ความตายอย่างเชื่องช้า

บุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะหดหู่ ซึมเศร้าหมอง มักเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย กล่าวคือเห็นอะไรไม่ดีงาม ก็เหมารวมไปหมดว่านั่นคือทุกสิ่งอย่าง หลงลืมช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ ที่ย่อมต้องมีอยู่บ้าง ได้รับการเบียดบดบังจนไร้พื้นที่ความทรงจำ

ผมว่านั่นคือสาสน์สาระที่ผู้กำกับ Hideaki Anno ต้องการนำเสนอในอนิเมชั่นเรื่องนี้เลยนะ เพราะตัวละคร Shinji Ikari ถือว่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ คือถ้าช่วงท้ายไม่ได้รับการตักเตือนสติ หวนระลึกนึกถึงช่วงเวลา/ความทรงจำดีๆเคยมีมา ย่อมต้องการทำลายล้างทุกสิ่งอย่างย่อยยับเยินแม้แต่ตัวตนเอง

โลกไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้น! เพราะในความทุกข์ล้วนมีสุข … vice versa … มีสุขย่อมมีทุกข์ ชีวิตดำเนินไปอย่างคู่ขนาน เติมเต็มกันและกัน ขึ้นอยู่กับ ‘มุมมอง’ ของเราเองครุ่นคิดเห็นเช่นไร มองโลกแง่ดีทุกอย่างย่อมประเสริฐศรี ทัศนคติร้ายๆคงไม่มีอะไรสวยงดงาม

ซึ่งอนิเมะนำเสนอ ‘มุมมอง’ ผ่านเรื่องราวของตัวละครทั้งหลาย อดีตเคยประสบพบเจอเหตุร้ายๆคล้ายคลึง แต่ละคนกลับมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองที่แตกต่าง
– Shinji Ikari สูญเสียแม่ตั้งแต่เด็ก ถูกทอดทิ้งขว้าง กลายเป็นคนหนีโลก เก็บกดปัญหา
– Asuka Langley Soryu พบเห็นแม่ผู้คอตายกับตา แม้จิตใจเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว แต่แสดงออกอย่างร่าเริงสดใส แสร้งยิ้มไว้เพื่อกลบเกลื่อนทุกสิ่งอย่าง
– Rei Ayanami สูญเสียร่างโคลนแรกไปตั้งแต่เด็ก จึงมองตนเองเพียงหุ่นเชิดไร้วิญญาณ ชีวิตไม่มีความสลักสำคัญใดๆ แค่ได้ทำตามหน้าที่คำสั่งก็เหลือเฟือเพียงพอ
– Misato Katsuragi สูญเสียครอบครัวไปตั้งแต่เด็ก แต่ก็ได้พิสูจน์ตนเองจนเป็นที่ยินยอมรับ และเลือกใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สุดเหวี่ยง ตายวันนี้จะได้ไม่รู้สึกสูญเสียดาย
– Gendo Ikari สูญเสียภรรยา จิตใจเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นกลัว เลยวางตัวแข็งกระด้าง เยือกเย็นชา พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายต้องการ

จะว่าไปตัวละครส่วนใหญ่ในอนิเมะ ไม่มีใครสามารถเติมเต็มความต้องการของตนเองได้สำเร็จเลยนะ
– Asuka ไม่เคยได้ที่หนึ่ง เพียงอันดับสองรองจาก Shinji
– Rei เสียสละตนเองเพื่อผู้อื่นแบบไม่ได้อะไรคืนตอบแทน
– Misato เรื่อยๆมาเรียงๆ ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรกับใครอยู่แล้ว
– Gendo ไม่ได้ภรรยาหวนคืนกลับมา

ความคาดหวังแล้วผิดหวัง คือสาเหตุหนึ่งของอาการซึมเศร้า เพราะตัวเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของจิตใจ พยายามเท่าไหร่ก็ล้มเหลว ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนร่างกายอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เมื่อมิอาจควบคุมตนเองได้ กำลังใจในการใช้ชีวิตก็จักสูญสิ้นไป

ผู้กำกับ Hideaki Anno เคยตกอยู่ในอาการซึมเศร้าก็เพราะความเครียด กดดัน คาดหวังบางสิ่งอย่างสูงเกินไป เมื่อผิดพลาดพลั้งเลยสูญกำลังใจ กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เห็นสิ่งดีงามก็แค่ภาพลวงหลอกตา

ความเข้าใจในการมีตัวตนของจิตวิญญาณ น่าจะทำให้ Anno รับรู้ว่าสัจธรรมชีวิตล้วนมีสองขั้วด้าน สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว หยิน-หยาง ถือบางสิ่งอย่างหนักเกิน-เรียนรู้จักปลดปล่อยวางก็จักเบาสบายตัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทัศนคติ ‘มุมมอง’ สังเกตเห็นอีกตัวตนสะท้อนกระจกเงา ก็สามารถเติมเต็มอีกด้านที่ขาดหาย

ต่อให้โลกถึงกาลล่มสลาย สุดท้ายถ้าเราสามารถมองเห็นด้านดีงามในชีวิต ซึ่งผู้กำกับ Anno เลือกนำเสนอแนวคิด ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ แม้หลงเหลือเพียง Adam+Eve มนุษยชาติก็สามารถธำรงอยู่ได้


เสียงตอบรับของ Evangelion แม้จะดีล้นหลามแทบทุกตอน (ยกเว้นสองตอนสุดท้าย) แต่ถึงอย่างนั้นเรตติ้งตอนออกฉายครั้งแรกกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ กลายเป็นกระแส Cult ตามมามากกว่าที่ฮิตถล่มทลาย ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นแต่ทั่วโลกให้การยกย่องสรรเสริญ จนกลายเป็น Landmark แห่งวงการอนิเมชั่น

อิทธิพลของ Evangelion ที่พบเห็นได้ในทศวรรษถัดๆมาก
– ปลุกกระแสอนิเมชั่นในญี่ปุ่นให้กลับมาพลิกฟื้น มุ่งสู่ยุคสมัยแห่งความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ นำเอาความเป็น ‘ศิลปิน’ ใส่ลงไปในผลงาน (ก่อนหน้านี้จะมีแต่ภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Miyazaki เท่านั้น นี่ถือเป็นครั้งแรกๆสำหรับอนิเมะซีรีย์)
– อนิเมชั่นแนว Mecha จะเริ่มมีความหลากหลาย นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ไม่ใช่แค่กองทัพทหารสู้กันแบบ Gundam, Macross ซึ่งสองซีรีย์นี้ก็ยังต้องปรับเปลี่ยนบางสิ่งอย่างตามค่านิยมยุคสมัยด้วย
– จริงๆทุกตัวละครในอนิเมะ ล้วนกลายเป็นตำนานหน้าใหม่แห่งวงการ แต่ที่โดดเด่นสุดเห็นจะเป็น Rei Ayanami กลายเป็นแม่แบบ ‘Stereotype’ ให้หญิงสาวตัวเล็กๆ หน้าตาจิ้มลิ้ม เงียบขรึม ไม่ค่อยชอบพูดคุยกับใคร แต่อย่าให้เกรี้ยวกราดโกรธนะ จะจองล้างจองผลาญ จองเวรจองกรรมไม่รู้ลืม
– และจุดกระแสวัฒนธรรม Otaku สู่ระดับโลก ทั้งการแต่งคอสเพลย์ ของที่ระลึก ฟิกเกอร์ แค่เพียงยอดขายเครื่องปาจิงโกะ ยังทำเงินกว่า ¥700 พันล้านเยน!

ครั้งแรกที่ผมรับชม Evangelion สารภาพว่าดูไม่รู้เรื่อง! แต่ก็ค่อยๆเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้จักอนิเมะแนวต่างๆมากมาย แค่ประมาณปีกว่าๆเองกระมังหวนกลับมารับชม คลุ้มคลั่งกับความบ้าระห่ำ เจ๋งเป้งเกินคาด ลึกล้ำเหนือความเข้าใจ … ย้อนดูรอบนี้สังเกตเห็นสิ่งที่เป็นความยิ่งใหญ่ ทั้งหมดต้องยกความดีความชอบให้ Hideaki Anno ระดับอัจฉริยะเลยละ!

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วงการอนิเมชั่น อย่างเพิ่งเร่งรีบร้อนหา Neon Genesis Evangelion มารับชมนะครับ เก็บเกี่ยวประสบการณ์อนิเมะแนว Mecha เรื่องอื่นๆไปก่อน อาทิ Gundam, Macross, RahXephon, Gurren Lagann, Code Geass ฯ ให้เพียงพอเข้าใจในวิถีคิด สไตล์ และเมื่อดูไม่เข้าใจก็อย่างเพิ่งรีบร้อนเหมาไปว่าห่วย ค่อยๆให้เวลา อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม สักวันย่อมตรัสรู้เห็นแจ้งสัจธรรม

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด สะท้อนจิตวิทยาตัวละครอย่างเข้มข้น เก็บกด เสียสติแตก

คำโปรย | Neon Genesis Evangelion คือการล้มกระดานของ Hideaki Anno แล้วสร้างจักรวาลแห่งใหม่ให้กับวงการอนิเมชั่นสากล
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รักมาก

Battle Angel Alita (1993)


GunNM

Battle Angel Alita (1993) Japanese : Hiroshi Fukutomi ♥♥♥♡

ท่ามกลางเศษซากกองขยะอันไร้ค่า ถูกทิ้งขว้างลงมาจากมหานครบนฟากฟ้า กลับพบเจอไซบอร์กสาว ผู้มีสติปัญญา สามารถ คิดอ่าน สมองเหมือนมนุษย์ ถือเป็นสิ่งงดงามเลิศล้ำ ‘เพชรในตม’ มูลค่ามากมายมหาศาล ยิ่งกว่าความเพ้อฝันทะเยอทะยานใดๆเสียอีก

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มักมากด้วยกิเลส ชื่นชอบการเพ้อฝัน ทะเยอทะยานใฝ่สูง อยากประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง คาดหวังความเป็นอยู่สุขสบาย ด้วยเหตุนี้จึงมักจับจ้องมองไปข้างหน้า หรือเงยขึ้นท้องฟากฟ้า ถ้ามีบางสิ่งอย่างคือเป้าหมาย ก็จักพยายามขวนขวายไขว่คว้า กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเจ้าของ ปีนป่ายไปถึงสรวงสวรรค์

เหล่านี้คือโลกทัศนคติของชาวตะวันตก ระบบทุนนิยม และสหรัฐอเมริกา หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง พยายามแพร่ขยายอิทธิพลแนวคิดสู่ชาติตะวันออก โดยประเทศแรกถูกครอบงำรับอิทธิพลมาเต็มๆ คือญี่ปุ่นผู้พ่ายสงคราม แค่ระยะเวลาเพียงทศวรรษกว่าๆก็ได้ปรับเปลี่ยนแปรจนแทบจดจำไม่ได้ ความเจริญทางวัตถุพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่จิตใจคนกลับเชื่องช้าตามไม่ทัน เป็นเหตุให้ค่อยๆตกต่ำทรามลงไป

ชาวญี่ปุ่นที่ถือกำเนิดเติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษ 50s-60s เมื่อพบเห็นความเจริญทางวัตถุที่ก้าวรุดหน้า แต่จิตใจผู้คนกลับสวนทางตกต่ำลงเรื่อยๆ เป็นเหตุให้พวกเขาจินตนาการถือโลกอนาคตล่มสลาย ‘Dystopia’ เมื่อเติบโตขึ้นกลายเป็นศิลปินในช่วงทศวรรษ 70s-80s มักถ่ายทอดผลงานออกมาในลักษณะ Post-Apocalyptic สะท้อนความหวาดกลัว หมดอาลัย สิ้นหวัง ใช้ชีวิตไปวันๆ แค่เอาตัวรอด ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นบุญโข

ด้วยเหตุนี้พระ-นางเอก จึงต้องเป็นตัวละครที่แบก ‘ความหวัง’ ประกายแสงสว่าง ต่อสู้เพื่อมวลมนุษย์ชาติ เอาชนะสิ่งชั่วร้ายด้วยคุณธรรมดีงาม ไม่ยอมพ่ายแพ้แม้หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง

Battle Angel Alita คือเรื่องราวการต่อสู้เพื่อค้นหาจุดกำเนิดเริ่มต้น ความทรงจำที่สูญหายไปของไซบอร์กสาว ฉันกลายมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร เพราะอะไร ทำไม? โดยมีมหานครลอยฟ้า Tiphares/Zalem เป้าหมายปลายทาง ที่คงสามารถไขปริศนาได้ทุกสิ่งอย่าง

เนื่องจากผมไม่เคยอ่านมังงะ มีโอกาสเพียงรับชม OVA (Original Video Animation) ซึ่งมีเพียงสองตอน สร้างความหิวโหยหา ไม่เต็มอิ่ม อยากดูอีก! ทั้งๆที่ถ้าได้รับการส่งเสริม อนิเมะเรื่องนี้น่าจะสามารถเป็นแฟนไชร์ระดับ Ghost in the Shell แต่กลับสิ้นสุดอยู่แค่ตรงนั้น ซึ่งคงต้องโบ้ยความผิดให้ผู้แต่ง Yukito Kishiro ในช่วงแรกๆค่อนข้างหึงหวงผลงานทีเดียว

Yukito Kishiro (เกิดปี 1967) เกิดที่ Tokyo เติบโตขึ้นที่ Chiba วัยเด็กชื่นชอบอนิเมะเกี่ยวกับหุ่นยนต์ อาทิ Votoms, Mobile Suit Gundam หลงใหลการออกแบบของ Yoshikazu Yasuhiko, และนักวาดการ์ตูนชื่อดัง Rumiko Takahashi (Ranma 1/2, Inuyasha) เมื่ออายุ 17 เขียน One-Shot เรื่อง KIKAI คว้ารางวัล Newcomer Manga Artists จึงมีโอกาสตีพิมพ์เรื่องยาวลงในนิตยสาร Weekly Shonen Sunday ผลงานแรกคือ Space Oddity (1984) [คงได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงชื่อเดียวกันนี้ของ David Bowie แน่ๆ]

สำหรับ Gunnm (แปลว่า Gun Dream) หรือ Battle Angel Alita เริ่มตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Business Jump เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1990 แม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างดี แต่ยอดขายสวนทาง เป็นเหตุให้ถูกเร่งตัดจบวันที่ 1 เมษายน 1995 รวมทั้งสิ้น 9 เล่ม

เรื่องราวของ Alita/Gally ไซบอร์กหญิง ได้รับการพบเจอโดย Daisuke Ido นัก Cyberphysician ระดับอัจฉริยะ เคยอาศัยอยู่ Tiphares/Zalem ปัจจุบันทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ย้ายมาอาศัยอยู่ท่ามกลางเศษซากกองขยะ Scrap Iron City กลางวันทำงานเป็นแพทย์อาสา/ซ่อมหุ่นยนต์ กลางคืนทำงาน Hunter-Warrior ไล่ล่าค่าหัวโรบ็อตนอกกฎหมาย, เมื่อทำการซ่อมแซม Alita/Gally เสร็จสิ้น พบว่าความทรงจำของเธอสูญหายไปส่วนใหญ่ ถึงกระนั้นร่างกายกลับมีปฏิกิริยาเคลื่อนไหวเหมือน Panzer Kunst นักต่อสู้ป้องกันตัว Martial Arts ระดับตำนานจากดาวอังคาร นั่นทำให้ไซบอร์กสาวตัดสินใจทำงานเป็น Hunter-Warrior ค่อยๆเรียนรู้จักวิถีชีวิต สิ่งต่างๆรอบข้างตนเอง เผื่อว่าสักวันหนึ่งจะได้ค้นพบเจออดีต ต้นกำเนิดของตนเอง

การที่ Gunnm ถูกสั่งตัดจบ นั่นสร้างความรวดร้าวฉานให้กับ Kishiro เป็นอย่างยิ่ง โชคยังดีที่ช่วงทศวรรษนั้นการมาถึงของอินเตอร์เน็ต ได้รับอีเมล์จากแฟนๆส่งมาให้กำลังใจ ทั้งยังสามารถขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ช่วยเหลือจุนเจือรายได้ ทำให้พลังการทำงานหวนกลับมาอีกครั้ง ตัดสินใจสร้างจักรวาลขึ้นมา
– ภาคแยก Ashen Victor (1995–1996)
– ภาคต่อ Battle Angel Alita: Last Order (2000 – 2014)
– ภาคก่อนหน้า Battle Angel Alita: Mars Chronicle (2014 – ปัจจุบัน)

ประมาณปี 1992, Kishiro ได้รับการติดต่อจากสตูดิโอ Madhouse ต้องการดัดแปลงสร้างอนิเมชั่น OVA ความยาวสองตอน แต่เพราะความยุ่งๆวุ่นวายกับการเขียนมังงะ ทำให้ตอบตกลงแบบส่งๆ ไม่ได้ใคร่สนใจอย่างจริงจัง

“It was based on the plan proposed by the animation production company. It might have been better to turn down the plan and wait for a better adaptation proposal to come up, but back then, I couldn’t afford to review the plan coolly. At that time, I was still serializing the work and was so busy that I wasn’t ambitious to make it into animation”.

– คำแปลบทสัมภาษณ์ของ Yukito Kishiro ต่อเหตุผลทำไม OVA ของ Gunnm ถึงมีเพียงสองตอน

ตอนนั้นมังงะเพิ่งตีพิมพ์ไปได้ไม่กี่ตอน อนิเมะจึงเลือกมาเพียงสองเล่มแรกมาสร้างเป็นสองตอน
– Rusty Angel, เรื่องราวของการพบเจอ Alita/Gally แนะนำอาชีพ Hunter-Warrior และต่อสู้ศึกแรกกับ Grewcica
– Tears Sign, เด็กชายหนุ่ม Yugo ผู้มีความเพ้อใฝ่ฝัน กำลังเก็บสะสมเงินเพื่อออกเดินทางสู่ Tiphares/Zalem ทำงานเป็นลูกน้องของ Vector เจ้าของโรบอตต่อสู้ Coliseum สนแต่เพียงเงินๆทองๆ ชื่นชอบการขายฝัน แต่แท้จริงแล้ว…

ผมคงไม่เขียนถึงรายละเอียดแตกต่างระหว่างมังงะกับอนิเมะ เพราะมีปริมาณค่อนข้างเยอะทีเดียว เลยจะขอกล่าวถึงเนื้อหาและข้อสรุปแค่ OVA สองตอนนี้เท่านั้น

ในแง่โปรดักชั่น อนิเมะเรื่องนี้ถือว่าดูเก่า ตกยุค ล้าสมัยไปพอสมควร แต่ลายเส้นก็ถือว่าละเอียดพอสมควร เมื่อเทียบกับยุคสมัยนั้นนะ คาดว่างบประมาณคงไม่เยอะเท่าไหร่ เอาไปทุ่มให้ฉากต่อสู้เสียส่วนใหญ่ ที่เหลือเลยใช้เทคนิคภาษาภาพยนตร์ Panning, Zooming และละเลงด้วยสีแทนอารมณ์

มีซีนเล็กๆตอน Tears Sign เมื่อ Alita/Gally พบเห็นข่าวลงประกาศค่าหัว Yugo ด้วยความตื่นตระหนกตกใจออกวิ่ง แล้วอยู่ดีๆกล้องหมุนเอียง กลายเป็น Dutch Angle, นี่คือภาษาภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงห้วงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร มีความบิดเบี้ยว ผิดแผกแปลกจากความคาดหวัง เพ้อฝัน ตั้งใจไว้

จริงๆยังมีอีกครั้งหนึ่งของ Dutch Angle เมื่อ Ido รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Chiren (คาดว่าน่าจะคืออดีตคนรัก/แฟน) สร้างความตื่นตระหนกตกใจหายวาบ สถานที่แห่งนี้ว่าขยะแล้วนะ แต่มนุษย์บางคนนี่เศษเดนจริงๆ

การเสียชีวิตของ…
– Rasha หัวขโมยที่ถูกเด็ดหัว หมดสิ้นความทะเยอทะยาน
– Grewcica เป็นหุ่นที่ไม่รู้ความเพียงพอดีในตนเอง หลังจากถูก Alita/Gally ตัดแขนไปข้างหนึ่ง ตกลงจากที่สูงรอดตาย กลับหวนมาแก้แค้นด้วยอาวุธใหม่ มือที่สามารถยืดยาวโอบล้อมรัด รอบนี้ไซบอร์กสาวเลยวางกับดักถือให้โอกาสสอง ถ้ายังคงดื้อรันไม่ยอมแพ้ก็จักระเบิดออก และร่างกายถูกผ่าออกเป็นสองซีก ไม่สามารถประติดประต่อซ่อมแซมได้อีกต่อไป
– Gime นักล่า Hunter-Warrior เป็นจอมฉกฉวย พบเห็นมักหลบซ่อนตัว จับจ้องมอง แสวงหาโอกาสเหมาะค่อยโผล่ออกมา ในจังหวะที่ Yugo มีค่าหัว และ Alita/Gally อยู่ตัวคนเดียว ใช้ดาบยาวเป็นอาวุธ แต่ถูกโต้ตอบด้วยท่าจับดาบสองมือ ช็อตกระแสไฟฟ้า และถูกสายฟ้าฟาดโดยไม่ทันรู้ตั้งตัว
– Vector เจ้าของโรบ็อตต่อสู้ Coliseum ถือเป็นคนเห็นแก่ตัว สนเพียงเงินๆทองๆ ผลกรรมคือโดนลูกหลงจากหุ่นที่ตนสร้าง ย้อนแย้งเข้าตนเอง ‘หมองูตายเพราะงู’
– Chiren เพ้อใฝ่ฝันอยากหวนกลับสู่สรวงสวรรค์ ยินยอมเสียสละทำทุกสิ่งอย่าง ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น เธอก็ย่อมได้หวนกลับคืน Tiphares/Zalem อย่างแน่แท้ (แต่ในสภาพแยกชิ้นเป็นส่วนๆ)
– Yugo หลังจากกลายเป็นหุ่นยนต์ พยายามปีนป่ายขึ้นสู่ Tiphares/Zalem ครั้งหนึ่งกระโดดไม่พ้นห่วงนิรภัย เป็นเหตุให้สูญเสียขาสองข้างจนไม่สามารถก้าวเดินต่อแต่ก็ยังตะเกียกตะกาย กระทั่งว่าห่วงถัดมาได้รับการช่วยเหลือจาก Alita/Gally แต่สุดท้ายก็ปลดปล่อยตนเองตกจากที่สูง หมดสิ้นความทะเยอทะยาน ไม่สามารถเอื้อมมือไขว่คว้า

เพลงประกอบโดย Kaoru Wada (Ninja Scroll, InuYasha, D.Gray-man) เลือกใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า/สังเคราะห์ เพื่อสร้างสัมผัสล้ำอนาคต Futuristic ถึงกระนั้นกลับเต็มไปด้วยความโหยหวน ล่องลอย และเสียงฟลุตสะท้อนความรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ เพราะมิอาจเติมเต็มความฝันหวานได้สำเร็จลุล่วง

บทเพลง Ending Credit มีความไพเราะมากๆ Cyborg Mermaid ขับร้องโดย Kaori Akima

เท่าที่ผมค้นพบข้อมูลสถานที่ตั้ง Scrap Iron City, Tiphares/Zalem คืออดีตสหรัฐอเมริกา บริเวณใกล้ๆ Kansas City, Missouri นี่คงเป็นการสะท้อนมุมมอง แสดงทัศนะของผู้แต่งมังงะ Yukito Kishiro จุดเริ่มต้น/ศูนย์กลางแห่งอารยธรรมล่มสลาย ย่อมต้องเกิดจากประเทศมหาอำนาจนี้ ที่คือผู้ตั้งต้นริเริ่มระบบทุนนิยม/วัตถุนิยม เมื่อไต่เต้าขึ้นถึงจุดสูงสุดก็ต้องเคลื่อนคล้อยลงตกต่ำ เวียนวนไม่ต่างอะไรจากวัฏจักรแห่งชีวิต

นอกจากนี้เราสามารถมองสถานะของญี่ปุ่นขณะนั้น (ในมุมมองของผู้แต่งมังงะ Yukito Kishiro) ด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ว่ากำลังจมปลักอยู่ใน Scrap Iron City ถูกประเทศมหาอำนาจ/สหรัฐอเมริกา อาศัยอยู่เบื้องบนสูงกว่า Tiphares/Zalem นำเศษซาก ‘ขยะ’ มาทอดโยนทิ้งไว้ กลายเป็นเมืองเต็มไปด้วยผู้ร้าย อาชญากร ไร้ซึ่งความปลอดภัย สุขสบาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนมากมายต่างเงยหน้าขึ้นมองฟากฟ้า เพ้อใฝ่ฝันต้องการออกเดินทางมุ่งสู่ คาดหวังชีวิตคงจะดีเยี่ยมกว่านี้ ถ้าได้ปักหลักอาศัยอยู่บนนั้น

ความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน เป็นสิ่งที่ต้องใช้บางสิ่งอย่างมูลค่าเท่าเทียมสำหรับการแลกเปลี่ยน บางคนต่อให้มุ่งมั่นตั้งใจทำงานทั้งชีวิต ก็มิอาจประสบพบความสำเร็จเติมเต็มเป้าหมาย บางคนโชคชะตาเข้าข้างไม่ต้องทำอะไรมากก็บรรลุสมประสงค์ และอีกเช่นกันคือขายฝัน ราวกับถูกหวย แต่แท้จริงแล้วอาจจะโคตรซวย นี่ล้วนเกิดจากความไม่รู้จักเพียงพอ สุขใจกับสิ่งที่มี

ไม่ว่าเราจะเกิดที่ไหน มีชีวิตเช่นไร ท่ามกลางเศษขยะ สกปรกโสมม มีชีวิตตกต่ำต้อยหาความเจริญหูเจริญตามิได้ แต่ถึงกระนั้นก็สามารถค้นพบเจอเพชรเม็ดงามล้ำค่า ‘ความสุขแท้จริงอยู่ภายในจิตใจเราเอง’ ไม่ต้องมองไกลสายตายยาวเพื่อค้นหา ครุ่นคิดด้วยสติปัญญา สักวันหนึ่งก็น่าจะเห็นเองได้ ใกล้ตัวจะตาย!

โศกนาฎกรรมมักเกิดขึ้นในขณะที่ ใครบางคนครุ่นคิดตระหนักขึ้นมาได้ ค้นพบแล้วว่าความสุขแท้จริงนั้นใกล้แค่เอื้อมไม่ต้องโหยหาไหนไกล แต่ทุกอย่างกลับสายเกินแก้ไข ไม่สามารถหวนย้อนเวลาคืนกลับไป การพลัดพรากแยกจากและความตาย จึงคือสิ่งน่าเศร้าสลดเสียใจ บทเรียนสอนให้ผู้ชมทบทวนใช้สติปัญญา อย่าให้ชีวิตจริงโชคร้ายเหมือนในละคร

ตั้งแต่ปี 1994 ที่ Kishiro เริ่มได้รับการติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ซึ่งก็มีหลายสตูดิโอยื่นแผนการข้อเสนอที่น่าสนใจ จนกระทั่งปี 1998 ผู้กำกับ James Cameron และ 20th Century Fox ถึงได้ตอบตกลง (เห็นว่าเพราะผู้เขียนเป็นแฟนตัวยงของ Terminator, Alien 2)

ว่าไปก็สองทศวรรษทีเดียวกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นรูปเป็นร่างสร้างสำเร็จ Alita: Battle Angel (2019) แต่ Cameron ก็ยุ่งมากจนเป็นได้เพียงโปรดิวเซอร์ ขณะที่ผู้กำกับคือ Robert Rodriguez น่าสนใจทีเดียวว่าผลลัพท์จะออกมาอย่างไร

จริงๆผมบอกไม่ได้เลยนะว่า เป้าหมายสุดท้ายของ GunNM จะไปสิ้นสุดจบลงที่ตรงไหน ก็ได้แค่วิพากย์วิจารณ์จากการรับชมเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของเรื่องราว และแนวโน้มเป็นไปได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า ‘น่าสนใจ’ อย่างมากยิ่งเลยทีเดียว

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง เลือด ตับไตไส้พุง

คำโปรย | “OVA สองตอนของ Battle Angel Alita ถึงไม่เพียงพอเต็มอิ่มหนำสำหรับแฟนๆผู้คลั่งไคล้ แต่ถือเป็นอารัมบทที่ยอดเยี่ยมก่อนอ่านมังงะ หรือรับชมฉบับภาพยนตร์”
คุณภาพ | น่าสนใจ
ส่วนตัว | ใช้ได้

Inuyashiki (2017)


Inuyashiki

Inuyashiki (2017) Japanese : Keiichi Sato & Shuhei Yabuta ♥♥♡

ชายแก่ vs. ชายหนุ่ม, คนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่, พระเอก vs. ตัวร้าย, ในโลกยุคเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) หนุ่มสาววัยรุ่นใหม่หัวไวไปเร็วแต่ขาดซึ่งสติยับยั้งดีชั่วถูกผิด ขณะที่คนแก่สูงวัยกว่าจะปรับตัวได้เชื่องช้าล้าหลังค่อยเป็นค่อยไป แต่ในทิศทางมั่นคงถูกต้องจนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถติดตามได้ทัน ซึ่งสุดท้ายแล้วโลกจำต้องฝากความหวังไว้กับพวกเขาทั้งสองร่วมมือกัน อนาคตถึงดำเนินต่อไปได้อย่างสงบสุข

Inuyashiki เป้นมังงะที่มีแนวคิดพล็อตเรื่องถือว่าดีเยี่ยม ฉบับภาพยนตร์ผมยังไม่มีโอกาสรับชมแต่ค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะดัดแปลงนำเสนอได้ดีกว่าอนิเมะซีรีย์ความยาว 11 ตอน โคตรอยากหาอะไรมาเขวี้ยงขว้างใส่ แรกเริ่มมาแจ่มหมามากๆ (Inuyashiki แปลว่า Dog House) แต่ไดเรคชั่นกลับห่วยแตกลงเรื่อยๆ สร้างความร้าวฉานอย่างรุนแรงโดยเฉพาะ 3 ตอนสุดท้าย และการต่อสู้ระหว่าง Akira vs. L  Inuyashiki vs. Shishigami จบลงได้น่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง

สำหรับบทความนี้จะขอมุ่งเน้นการวิเคราะห์เนื้อหาหลัก อ้างอิงจากอนิเมะซีรีย์เท่านั้นนะครับ เพราะส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบแนวคิดพล็อตเรื่องมากๆ เลยอยากนำมาวิเคราะห์แบ่งปัน ใครที่รับชมฉบับ Live-Action คงอาจมีบางส่วนที่เกินเลยเนื้อหา แต่คิดว่าคงสามารถเติมเต็มความเข้าใจอะไรหลายๆอย่างได้แน่

ต้นฉบับของ Inuyashiki คือมังงะแต่งโดย Hiroya Oku (เกิดปี 1967) นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง เจ้าของผลงาน Gantz (2000-13) ที่ขึ้นชื่อด้านความรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย ฆ่ากันตายเลือดสาด สะท้อนด้านมืดมิดของมนุษย์ สงสัยเพราะความสำเร็จอันล้นหลาม เลยตัดสินใจพัฒนามังงะเรื่องถัดไปในแนวทางเดียวกัน ตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Evening เริ่มต้นมกราคม 2014 แต่เพราะยอดขายเฉลี่ยเพียง 70,000 ต่อเล่ม (น้อยกว่าแบบเทียบไม่ติดกับยอดขายเฉลี่ยของ Gantz ที่ประมาณ 5 แสนต่อเล่ม) เลยตัดจบกรกฎาคม 2017 ทั้งหมด 10 เล่มรวม

แซว: จริงๆยอดขายเฉลี่ย 70,000 ต่อเล่มถือว่าสูงใช้ได้ สำหรับนักเขียนหน้าใหม่น่าจับตามองเลยละ แต่เพราะ Oku จัดเป็น Veteran ผู้เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ปริมาณเท่านี้จึงไม่เพียงพอถึงจุดคุ้มทุน (ผมเคยอ่านเจอ ต้องยอดขายเฉลี่ยรวมเล่มเกินแสนเล่มขึ้นไปถือว่าประสบความสำเร็จ)

เรื่องราวของ Ichiro Inuyashiki ชายสูงวัยใกล้เกษียณ ทำงานเป็น Salary Man พบว่าตัวเองป่วยหนักเป็นมะเร็งมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน ด้วยความท้อแท้หมดอาลัยตายอยาก พาน้องหมา Hanako ที่เพิ่งเก็บมาเลี้ยงไปวิ่งเล่นทอดกายลงหมดแรงบริเวณเนินเขาชานเมือง แล้วอยู่ดีๆยานอวกาศจากไหนไม่รู้ลงจอดฉุกเฉินฆ่าเขาตาย ด้วยความรู้สึกผิดของมนุษย์ต่างดาวเลยทำการประกอบร่างคืนชีพให้ใหม่ แล้วทุกสิ่งอย่างก็ดำเนินเป็นปกติต่อไป จนกระทั่งยามเช้าอาการเจ็บป่วยทรมานทุกอย่างหายเป็นปลิดทิ้ง ไปๆมาๆร่างสามารถแยกชิ้นส่วนออกเป็นหุ่นยนต์

Hiro Shishigami วัยรุ่นหนุ่มหล่อมาดเท่ห์ ชอบการอ่านการ์ตูน ได้รับความนิยมจากสาวๆ แต่ครอบครัวแตกแยกหย่าร้าง อาศัยอยู่กับแม่ในอพาร์เม้นต์โกโรโกโส วันหนึ่งพบเห็นคนฆ่าตัวตายเดินตัดหน้าตกรางรถไฟ หมดสิ้นอาลัยตายอยาก บังเอิญยืนเหม่อมองท้องฟ้าตำแหน่งเดียวกับ Ichiro Inuyashiki ถูกยานอวกาศลงจอดฉุกเฉินคร่าชีวิต ประกอบร่างคืนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ สำหรับเขาทุกสิ่งอย่างกำลังแปรเปลี่ยนไป นี่เป็นโอกาสจักได้พิสูจน์การมีตัวตนของตนเองให้โลกรับรู้

อนิเมะใช้ 2 ตอนแรกในการแนะนำ Inuyashiki กับ Shishigami (แยกกันคนละตอน) เพื่อสะท้อนให้เห็นความแตกต่างสุดขั้วตรงกันข้ามของพวกเขา
– ชายแก่ vs. ชายหนุ่ม, คนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่
– เต็มไปด้วยความร้อนรน หวาดกลัว เหงื่อแตกพลักๆ vs. สงบเยือกเย็นชา หล่อเท่ห์ ไม่แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า
– ภาระหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบต่อครอบครัว vs. เพื่อนน้อย ภาระไม่ค่อยมี พ่อแม่แตกแยกพึ่งพาอะไรไม่ได้
– ชีวิตผ่านประสบการณ์อะไรๆมากมาย ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต vs. หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันแฟนตาซี ติดการ์ตูน Jump ชื่นชอบ One Piece, Gantz ฯ

เมื่อทั้งสองได้ค้นพบพลังความสามารถพิเศษ กว่าที่ Inuyashiki จะเริ่มหัดทดลองใช้เป็น มีความค่อยเป็นค่อยๆไปทีละเล็กน้อย ตรงข้ามกับ Shishigami หัวไวไปเร็วสร้างสรรค์ แทบทำทุกอย่างเป็นโดยอัตโนมัติ/สันชาติญาณ/จินตนาการ

เกร็ด: สองตัวละครหลัก ผู้เขียน Oku บอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก Astro Boy ผลงานชิ้นเอกของ ‘พระเจ้าแห่งวงการมังงะ’ Osamu Tezuka ก็ด้วยเหตุนี้ตอน Inuyashiki ออกบินครั้งแรก ให้กำลังใจตัวเองด้วยการขับร้องบทเพลงสุดคลาสสิก

กระนั้นเพราะความรวดเร็วในการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้ Shishigami เชื่องช้าในการครุ่นคิดเข้าถึงจิตใจคน เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่สนใครนอกจากครอบครัวคนสนิท เข่นฆาตกรรมผู้อื่นได้อย่างเลือดเย็นเหี้ยมโหดจากความว่างเปล่า (ของปืนอากาศ) อ้างว่าทำให้เกิดสัมผัสทางอารมณ์ บางสิ่งอย่างสั่นสะเทือนเคลื่อนไหวอยู่ในหัวอก วินาทีนั้นรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว

สำหรับ Inuyashiki เวลาส่วนใหญ่ของเขาหมกมุ่นครุ่นเครียดอยู่แต่ นี่ฉันเป็นใคร? ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ไหม? เกิดมาเพื่ออะไร? พระเจ้าทำอย่างนี้กับฉันทำไม? จนกระทั่งได้กล้าเผชิญหน้ายืนหยัดช่วยเหลือชีวิตผู้คนอื่น เกิดความภาคภูมิพึงพอใจในตนเอง ตัดสินใจกลายเป็นฮีโร่กระป๋องกระแป๋ง เพราะนั่นคือวินาทีทำให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว

แซว: ช็อตนี้เคารพคารวะ Ikiru (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่มีเรื่องราวเกี่ยวชายสูงวัยป่วยเป็นมะเร็งใกล้ตาย ครุ่นคิดได้ว่าชีวิตยังไม่เคยทำอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่น ใช้ช่วงเวลาวาระสุดท้ายของตนเอง ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างให้โลกได้จารึกจดจำ

Shishigami มีเพื่อนสนิทหนึ่งเดียว Naoyuki Andō ด้วยความที่บ้านรวย (อาศัยอยู่บ้านข้างๆ Inuyashiki) พ่อเป็นนักเขียนการ์ตูนประสบความสำเร็จ แต่ชอบโดนกลั่นแกล้งประจำเลยขังตัวอยู่ในห้องเลิกไปโรงเรียน เพื่อนรักตามถึงบ้านพร้อมอวดอ้างโชว์ความสามารถพิเศษให้ประจักษ์เห็นเพื่อบอกว่า ‘ปัญหาเล็กๆของนายเทียบกับฉันไม่ได้หรอก’ นี่สร้างความอึ้งทึ่งตกตะลึง แต่ต่อมาก็เริ่มไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กลายเป็น ตัดสินใจเลิกคบหาเพราะมอง’จิตใจ’ของเขาไม่ได้มีความเป็นมนุษย์อีกต่อไปแล้ว

แซว: Andō คลั่งไคล้ Gantz มากๆ พบเห็นโปสเตอร์ติดอยู่เต็มห้อง นี่ไม่ได้อ้างอิงถึงตัวผู้แต่งมังงะเองเร้ยย!

ด้วยเหตุนี้ Andō จึงหันไปคบค้าสมาคมกับ Inuyashiki หลังจากครุ่นคิดได้ว่าคงไม่มีหุ่นแบบ Shishigami เพียงคนเดียวแน่ หลังพบเห็นการกระทำอันมีคุณธรรมของเขา พาลให้ต้องร้องไห้หลั่งน้ำตาทุกครั้งร่ำไป ยกย่องเป็นฮีโร่วีรบุรุษตัวจริงจากใจ และช่วยชี้แนะชักนำเป็น Sidekick ให้คุณลุงค่อยๆเรียนรู้พัฒนาตัวเองขึ้นก้าวทันความสามารถของอดีตเพื่อนรัก จักได้สามารถตอบโต้กลับเมื่อบางสิ่งอย่างชั่วร้ายบังเกิดขึ้น

บทเรียนนี้สะท้อนถึงปัญหาของผู้ใหญ่/คนรุ่นก่อน การจะตามโลกให้ทันด้วยความสามารถของตนเองเพียงอย่างเดียวเป็นไปได้อย่างเชื่องช้ากว่าเต่า จำต้องคอยมองหาแรงบันดาล สังเกตลอกเลียนแบบตาม (พบเห็น Shishigami บินได้ เลยลอกเลียนแบบตาม) ซึ่งถ้าจะให้ดีก็มีคนชี้แนะนำจะไปได้เร็วหน่อย (Andō บอกต่อทุกกลเม็ดที่พบเห็นจาก Shishigami)

ตรงกันข้ามกับ Shishigami แม้ไม่มีความจำเป็นต้องร่ำเรียนรู้เทคโนโลยีจากใคร (สอนตัวเองได้) แต่ในเรื่องของคุณธรรมความเป็นมนุษย์ วันหนึ่งได้รับการสั่งสอนจากแม่ที่สารภาพว่าป่วยเป็นมะเร็ง พวกเขาอยู่กันอย่างทุกข์ยากลำบากตรงข้ามกับพ่อที่มีครอบครัวใหม่สุขกระสันต์ไม่เคยคิดหันมาเหลียวแล ด้วยความสามารถพิเศษของตนสามารถรักษาแม่ให้หายขาด แถมยังสามารถกดเสกเงินในเอทีเอ็ม เพ้อฝันพาไปอาศัยอยู่คอนโดสูงหรูราคาแพง วินาทีนั้นคิดตัดสินใจจะเลิกเล่นเกมฆ่าคน แต่ทุกสิ่งอย่างพลันล่มสลายลงทันทีเมื่อตำรวจติดตามล่าไล่ทันถึง

ตอน 5 ของอนิเมะ มีไฮไลท์หนึ่งเจ๋งมากๆ วินาทีที่ Inuyashiki เรียนรู้จักการใช้พลังเพื่อต่อสู้ทำลายล้าง ตัดสลับกับ Shishigami เรียนรู้จักใช้พลังเพื่อรักษาช่วยเหลือแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง นี่เป็นการสะท้อนพัฒนาการด้านขาดหายไปของคนสองรุ่น
– คนรุ่นเก่า มากด้วยประสบการณ์ชีวิต ค่อยๆปรับตัวเข้าเรียนรู้โลกาภิวัฒน์
– คนหนุ่มสาว เฉลียวฉลาดล้ำในเทคโนโลยี กำลังค่อยๆปรับตัวเรียนรู้จักคุณธรรมนำชีวิต

แซว: มะเร็ง โรคยอดฮิตของหนังเรื่องนี้ คือเนื้อร้ายที่คุกคามชีวิตมนุษย์งอกเงยจากภายใน เปรียบได้กับความชั่วร้ายที่สามารถถูกกำจัดด้วยแสงสว่าง/ความดีงาม

ปัญหาหนึ่งของสังคมยุค Social Network คือตอนที่ผมว่าเจ๋งสุดแล้วในหนัง Nichan no hito tachi หรือ People of 2 Chan เว็บกระทู้ที่มีลักษณะคล้าย ‘พันทิป.คอม’ สถานที่วัยรุ่นรวมกลุ่มพูดคุยสนทนาในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเวลามีดราม่า เรื่องอะไรเลวร้ายเกิดขึ้น ก็มักมีโอตะคุ/นักสืบ(พันทิป) ทำการขุดคุ้ยโน่นนี่นั่นมาวิพากย์วิจารณ์อย่างเมามันคันปาก หรือภาษาที่หลายคนอาจรู้จัก ‘นักเลงคีย์บอร์ด’ นั่นคือมุมมืดของโลกออนไลน์ที่ไม่มีใครสามารถจัดการเก็บกวาดทำอะไรได้ ซึ่งอนิเมะใช้การตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ด้วย Shishigami ปรากฎตัวขึ้นหน้าจอ ยกมือขึ้นยิง Bang! ฆ่าให้ตายคาที่

Shion Watanabe เพื่อนร่วมห้องของ Shishigami (และ Andō) หลังจากพบเห็นการกระทำต่อสู้ยืนหยัดเพื่อเพื่อน ตกหลุมรักใคร่น่าจะแรกพบ พูดบอกชื่นชอบออกไปตรงๆ แถมยินยอมให้การช่วยเหลือแบบไม่กลัวเกรง รับรู้ว่าคือฆาตกรตัวจริงยังหัวปลักหัวปลำจนทำให้จิตใจของ Shishigami รู้สึกอ่อนไหวลงชั่วคราว แปรเปลี่ยนจากเข่นฆ่าผู้อื่นกลายมาเป็นช่วยเหลือรักษาชีวิต แต่อดีตที่เคยทำไว้ใช่ว่ามันจะสูญหายลบเลือน และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งกรรมมันก็ตามมาสนองทันควัน เรียนรู้เข้าใจโดยทันที ศัตรูของตนเองคือทุกคนในโลกใบนี้ ทำให้ชีวิตของ Watanabe จมปลักอยู่ในความทุกข์โศกทรมานแสนสาหัส

Mari Inuyashiki อีกหนึ่งเพื่อนร่วมห้องของ Shishigami (และ Andō) มีความอิจฉา Andō ที่ครอบครัวประสบความสำเร็จร่ำรวย ผิดกับบ้านของตนกระจอกงอกง่อยอยู่ภายใต้เงามืดของตึกใหญ่ กระนั้นวันหนึ่งได้แอบพบเห็นพ่อเดินกับ Andō กระทำบางสิ่งเหนือมนุษย์ อึ้งทึ่งช็อคคาดคิดไม่ถึง ขณะเดียวกันก็รู้สึกปลอดภัยไร้กังวล ภายหลังเกิดความภาคภูมิใจและตัดสินใจเดินตามความฝันตนเองจนประสบความสำเร็จ

สองตัวละครสมทบหญิง มีความสัมพันธ์ต่อ Shishigami และ Inuyashiki เป็นตัวแทนของผู้อยู่เบื้องหลัง คนรักภักดี พร้อมหนุนหลังให้การสนับสนุน และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำแสดงออกของพวกเขา ทั้งทางกายและใจ

ขณะเดียวกันเบื้องหลังเหล่านี้ก็เป็นผลกระทบส่งคืนให้ทั้ง Shishigami และ Inuyashiki แสดงออกในหนทางที่แตกต่าง
– Inuyashiki เมื่อได้รับกำลังใจล้นหลามจากครอบครัว ก็พร้อมลุกขึ้นกล้าเสียสละทำทุกสิ่งอย่าง หวาดกลัวแต่ไร้ซึ่งความเกรงอะไร
– Shishigami ถูกปฏิเสธจากครอบครัวคนรัก อดรนทนต่อไปไม่ได้ ต้องการทำลายทุกสิ่งอย่างขวางหน้า

แผนการของ Shishigami สำเร็จเพียง 2 เฟส ประกอบด้วย
1) วันแรกฆ่าร้อยคน ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทุกชนิด ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ, โทรทัศน์ Smart TV ฯ (นี่เป็นการสะท้อนว่า เทคโนโลโยยีสามารถฆ่าคนให้ตายได้ ถ้านำไปใช้ในทางผิดๆ)
2) วันที่สองดักจับคลื่นสัญญาณเครื่องบิน ควบคุมดั่งวงออเครสต้า จากที่เคยอยู่สูงเสียดฟ้า ให้ตกต่ำลงมาสู่พื้นทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง (มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ คือการทำลายความเพ้อฝันทะเยอทะยานของมนุษย์)

การต่อสู้ของ Shishigami และ Inuyashiki เกิดขึ้นขณะที่ Mari ติดอยู่บนตึกสูงไฟไหม้ ใกล้สำลักควันหมดอากาศหายใจ นี่เป็นการสะท้อนว่า
– สิ่งอยู่ในความสนใจของ Shishigami คือผลประโยชน์ส่วนตนเองเท่านั้น (พยายามขัดขวางไม่สนใจ ไม่รับฟัง ไม่ยินยอมให้ต่อรองรอไปก่อน)
– ขณะที่ Inuyashiki ร้องขอไม่อยากต่อสู้ ต้องการรีบเร่งไปช่วยเหลือผู้อื่นก่อน แต่เมื่อมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องสู้ไปบินหนีไป เค้นเอาศักยภาพ(ที่ไม่ค่อยมี)ออกมาเหมือนหมาจนตรอก

ระหว่างการต่อสู้จะขณะที่หมดสติเรี่ยวแรง ร่างกายจะเข้าสู่โหมดอัตโนมัติ (Unconscious System) ซึ่งระบบจะสนองตามความต้องการภายใต้จิตสำนึกของเจ้าของ เช่นว่า
– Inuyashiki ไม่ได้มีความต้องการฆ่าใครตาย ปืนเลเซอร์ที่ยิงออกมาจะไม่คร่าชีวิตใคร แค่ทำให้ยากูซ่าพิการทรมานสาหัสทั้งชีวิต
– Shishigami ความตายเท่านั้นคือประสงค์ ตำรวจทุกนายยกเว้นคนที่ไว้ชีวิต ยิงเข้าจุดตายแบบไม่ให้รู้ตั้งตัว

น้ำมันคือสิ่งให้พลังงานแก่เครื่องยนต์กลไก เฉกเช่นเดียวกับน้ำคือสายธารแห่งชีวิต นี่คงคือเหตุผลต้องให้ตัวละครดื่มน้ำเยอะๆ จะได้สดชื่นคืนชีพเคลื่อนไหวด้วยตนเองได้อีกครั้ง

การประทะขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่ ชัยชนะครานี้ถือว่าเกิดจากประสบการณ์ของผู้สูงวัยที่มีมากกว่า Inuyashiki ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมที่กำลังตกมา ทำลายกลายเป็นเศษอุกาบาตชิ้นเล็กๆน้อยๆ หลบซ่อนตัวแล้วกระโดดเข้าด้านหลัง ดึงส่วนของหนังศีรษะและแขนสองข้างออก มิให้สามารถครุ่นคิดหรือลงมือกระทำอะไรต่อไปได้ด้วยตนเอง/สันชาติญาณอีก

ผมคิดว่าชัยชนะของลุง Inuyashiki คงสะท้อนถึงตัวผู้เขียน Oku ขณะนั้นอายุเข้าใกล้ 50 ปี เรียนรู้จักประโยชน์ของการใช้ประสบการณ์เข้าแก้ปัญหาสิ่งต่างๆในชีวิตและครอบครัว เพราะคนหนุ่มมัวแต่มองไปข้างหน้าไม่ค่อยเหลียวหลัง ขณะที่คนสูงวัยเพราะเชื่องช้าเดินตามล้าหลังแต่มั่นคงถูกต้องเห็นภาพชัดเจนกว่า

กับผู้ชมทั่วไปคงแทบคลั่ง เพราะการต่อสู้สุดมันส์ของ Shishigami และ Inuyashiki มีเพียงครึ่งแรกของตอน 10 เท่านั้นหมดแล้ว ที่เหลือจากนี้ตอนกว่าๆเป็นส่วนของดราม่าและการกอบกู้โลก อันเนื่องจากดาวหางขนาดมหึมากำลังพุ่งเข้ามาใส่ อนาคตของทุกสิ่งมีชีวิตกำลังจะสิ้นดับสูญ (แต่ Donald Tramp กลับยังเห่าหอนแบบไม่แคร์อะไรใคร) วิธีทางเดียวเท่านั้นคือสองฮีโร่ร่วมใจพลีกาย กดตาทำลายอุกกาบาตนั้นให้แหลกละเอียด

อนาคตของมวลมนุษย์ชาติไม่ว่าจะยุคสมัยนั้น ล้วนต้องเกิดจากส่วนผสมของคนรุ่นเก่าและใหม่ คลุกเคล้าผสมผสานกันอยู่เสมอถึงดำเนินต่อไปได้
– โลกที่มีเพียงคนหนุ่มวัยรุ่น เทคโนโลยีไปไวแต่จิตใจต่ำช้าเลวทราม
– โลกเหลือแต่คนแก่ มีเพียงความสุขีทางใจแต่ล้าหลังเฉิ่มเฉย (เอะ! มันก็ไม่ได้แย่อะไรนะ)

ความสมดุลจะเกิดเมื่อคนทั้งสองวัยสามารถเรียนรู้อยู่ร่วมปรับความเข้าใจ ประสานมือกันในเชิงสร้างสรรค์ อุกกาบาตจะมาถล่มโลกงั้นหรือ มีพวกเขาทั้งคู่อยู่ก็สามารถหยุดได้ด้วยวิสัยทัศน์ (กดดวงตา) กาลไกล

ใจความของอนิเมะเรื่องนี้ที่หลายๆคนคงมองเห็นกันคือ การตั้งคำถาม’อะไรคือความเป็นมนุษย์?’ ภาพลักษณ์หน้าตาภายนอก หรือสิ่งคุณค่าของความมีมนุษยธรรมที่หลบซ่อนภายในจิตใจของคน เมื่อร่างกายกลายเป็นหุ่นยนต์แต่ความทรงจำยังอยู่ ระหว่าง Shishigami กับ Inuyashiki ใครคือบุคคลผู้ที่เราควรเคารพยกย่องเชิดชูเป็นแบบอย่าง

แต่สิ่งที่ผมเห็นคือมุมมองต่อโลกของผู้เขียน Oku สะท้อนความแตกต่างระหว่างยุคสมัย/ผู้คน การเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวล้ำเกินอนาคต เหล่านี้กลั่นออกมาจากประสบการณ์ชีวิตของเขาเองล้วนๆ เพื่อค้นหาจุดสมดุลปรับตัวพร้อมคำแนะนำ คนหนุ่มวัยรุ่นสาวควรทำอย่างไร และ Salary Man แก่หงำเหงือกคล้ายๆตนก็จักต้องปรับตัว

ผมเคยรับชมอนิเมะ Gantz (แต่ไม่เคยคิดอ่านมังงะหรือดูหนังนะ) ที่เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตและความตาย ลามมาถึง Inuyashiki ทั้งสองเรื่องสะท้อนตัวตนของผู้แต่ง Oku ว่าเป็นคนชอบครุ่นคิดถึงความสำคัญของการเกิดมามีชีวิต ไม่แปลกเลยถ้าเขามี Ikiru (1950) เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิดต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม แต่เขาคงผิดหวังมากๆที่มังงะเรื่องนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควร กระนั้นได้รับดัดแปลงเป็นอนิเมะ/ภาพยนตร์คนแสดง คงต้องถูกอกถูกใจสตูดิโอผู้สร้างอย่างมากเลยสินะ

สิ่งที่โดยส่วนตัวผิดหวังมากๆกับอนิเมะซีรีย์เรื่องนี้ คือการเผชิญหน้าระหว่าง Shishigami กับ Inuyashiki มีจำนวนนับครั้งได้ พวกเขาไม่ได้หักเหลี่ยมเฉือนคมกันแม้แต่น้อย แทบจะทางใครทางมันไม่เคยสวนทางกันจนกระทั่งฉากไคลน์แม็กซ์ (Shishigami ไม่สนรับรู้การมีตัวตนของหุ่นลุง ตรงกันข้ามกับ Inuyashiki ล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างการกระทำ) ประเด็นที่ผมหงุดหงิดคือทั้งคู่ขัดแย้งกันโดยไม่มีที่มาที่ไป หรือเคยแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็นใดๆกันทั้งนั้น มันจะดียิ่งกว่าไหมถ้าพวกเขามีโอกาสพบเจอพูดคุยแลกเปลี่ยนเพราะความเป็นหุ่นเหมือนกัน จากนั้นค่อยๆขัดแย้งเห็นต่างในหลักการ ลุกลามบานปลายจนเกิดการต่อสู้ขัดแย้ง และลงเอยด้วยร่วมมือปกป้องอุกกาบาตเพื่อคนที่ตนรัก

การนำเสนอเรื่องราวลักษณะแบบนี้ราวกับจะสื่อว่า คนสูงวัย vs. คนหนุ่มสาว ยุคสมัยนี้ไม่ค่อยที่จะพบเจอพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำความรู้จักเข้าใจกันสักเท่าไหร่ ต่างทางใครก็ทางมันฉันไม่แคร์ เช่นนั้นแล้วประเทศชาติก็รังแต่จะตกอยู่ในความวุ่นวายขัดแย้ง ถ้าอุกกาบาตมาถล่มโลกคงมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นกระมังที่จะรอดพ้น

ผมดูเครดิตของผู้กำกับอนิเมะ Keiichi Sato อาทิ Tiger & Bunny (2011), Black Butler (2014), Rage of Bahamut: Genesis (2014) ฯ ก็ถือว่าไม่เลวเลยนะ แต่เรื่องนี้สงสัยจะพลาดตั้งแต่แบ่งตอนวาง Storyboard ช่วงท้ายรีบเร่งลวกไข่เร็วไปสักหน่อย ตอนที่ 11 ถือได้ว่า Anti-Climax ไร้รสชาติใดๆ ดูมันให้จบๆเท่านั้น และตัวละครลูกชายของ Inuyashiki เพิ่งมานึกได้ว่ามีตัวตน ปากบอกอยากเป็นหุ่นยนต์แบบพ่อบ้าง ช้าไปแล้วไอ้หนุ่มเอ้ย!

นี่เลยทำให้ผมค่อนข้างเชื่อว่า จากหลายๆคำวิจารณ์ดีๆที่ออกมากับฉบับภาพยนตร์คนแสดง Inuyashiki (2018) ของผู้กำกับ Shinsuke Sato [ขาประจำดัดแปลงอนิเมะ ผลงานเด่นๆ อาทิ Gantz (2011), Library Wars (2013), I Am a Hero (2016) ฯ] น่าจะสามารถตัดเล็มเอาไขมันส่วนเกินของมังงะ/อนิเมะ ให้เหลือแต่ส่วนดีๆ คลุกเคล้าอย่างมีความกลมกล่อมน่าสนใจอย่างยิ่งได้

แต่ใช่ว่าอนิเมะซีรีย์เรื่องนี้ไม่มีอะไรดีนะครับ เพลงประกอบโดย Yoshihiro Ike ขาประจำของผู้กำกับ Sato ใครเคยขนลุกขนพองกับโคตรออเครสต้าจาก Rage of Bahamut: Genesis (2014) นำ Main Theme มาให้รับฟัง อย่าน้ำตาไหลพรากๆละ

ความล้ำของบทเพลงเทียบชั้น Ghost in the Shell ได้อย่างสบายๆ สัมผัส Electronic ความอลังการของโลกอนาคต หุ่นยนต์ แต่คุณภาพของอนิเมะน่าส่ายหัวไปเสียหน่อย

แนะนำคออนิเมะที่ชื่นชอบความดิบเถื่อน รุนแรง ซาดิสต์, นักคิด นักปรัชญา ตั้งคำถามคุณค่าความเป็นมนุษย์, คนสูงวัยทั้งหลาย อาจได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตขึ้นกระมัง, หลงใหลในมังงะของ Hiroya Oku ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ ความรุนแรง เลือด และทัศนคติของตัวละคร

TAGLINE | “Inuyashiki มีพล็อตเรื่องแนวคิดน่าสนใจ แต่ไดเรคชั่นของอนิเมะซีรีย์ ลวกไข่เร็วเกินไปหน่อย เชื่อว่าเจ้าหมา Hanako คงไม่ยอมแดกแน่”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Sword Art Online


Sword Art Online

Sword Art Online (2012-) Japanese : Tomohiko Itō ♥♥♥♥

ความเพ้อฝันของนักเล่นเกมออนไลน์ ประกอบด้วย วันๆไม่ต้องทำอะไรอื่น ใช้ชีวิตอยู่แต่ในนั้น เก่งสุดเป็นที่หนึ่ง และสาวๆติดตรึม, Sword Art Online คือเรื่องราวในอุดมคติของเด็กหนุ่ม ในโลกของเทคโนโลยีเสมือนล้ำยุค ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตในความเพ้อฝันนั้นได้

อนิเมะซีรีย์ Sword Art Online (SAO) เป็นเรื่องที่ผมติดตามมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ออกฉายปี 2012 แล้วก็ติดงอมแงมตามต่อด้วย SS2 เมื่อปี 2014 ฉบับภาพยนตร์ปี 2017 (และ SS3 ที่ประกาศแล้วแต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่) ถือว่าเป็นเรื่องในกระแสนิยมของทศวรรษนี้ที่ไม่ตกลงเลย

SAO เป็นอนิเมะที่ดูสนุก ฉากแอ็คชั่นโปรดักชั่นอลังตระการตา โดยเฉพาะเพลงประกอบของ Yuki Kajiura ระดับ Masterpiece แต่มีปัญหาหนึ่งน่ารำคาญมาก คือเป็นอนิเมะที่ดูไม่เต็มอิ่มเอาเสียเลย เรื่องราวแต่ละภาคมีความรวบรัด กระชับสั้นเกินไป มันทำให้เกิดความกระหาย อยากเห็นอีก ต้องการรับชมอีก แม้จะไม่มีภาคไหนสนุกสู้ภาคแรกได้อีกแล้ว แต่ถ้าเผลอตัวเผลอใจหลงใหลเข้าเมื่อไหร่ ก็แทบจะถอนตัวไม่ขึ้น

Reki Kawahara เกิดปี 1974 ในเขต Gunma Prefecture จังหวัด Kawahara, สมัยเรียน ม.ปลาย เป็นสมาชิกของชมรมเขียนการ์ตูน (Manga Studies Club) เคยตั้งใจว่าจบมาแล้วจะเป็นนักเขียนการ์ตูน ถอดใจเพราะรู้สึกว่ายากและเหนื่อยเกินไป, ปี 1998 เป็นยุคที่เกมออนไลน์เริ่มแพร่หลาย Kawahara กลายเป็นคนติดเกมโดยพลัน มีโอกาสได้สัมผัส Ultima Online, Ragnarok Online, World of Warcraft (เกมโปรดที่เล่นบ่อยสุด) และ Phantasy Star Online ปัจจุบันยังคงเล่นเกมอยู่ แต่ได้แบ่งเวลาทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย

เกร็ด: ทำอย่างอื่นที่ว่านี้ อาทิ ตื่นเช้าไปปั่นจักรยาน, ดูหนัง/ซีรีย์, เขียนหนังสือ ฯ ไม่ได้จดจ่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันอีกต่อไปแล้ว

เมื่อปี 2001, Kawahara ได้เริ่มต้นหัดเขียนนิยายเรื่องแรก Sword Art Online เพื่อส่งเข้าแข่งขัน Dengeki Game Novel Grand Prix แต่ถูกตัดสิทธิ์เพราะเขียนเกิน 120 หน้า จึงตัดสินใจโพสขึ้นเว็บไซต์ของตัวเอง มีคนติดตามอ่านจำนวนมาก ให้แรงเชียร์จนมีกำลังใจเขียนต่อไปเรื่อยๆ

ปี 2008, อีกครั้ง Kawahara ทดลองส่งนิยายเรื่องใหม่ Kyouzetsu Kasoku Burst Linker (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Accel World) เข้าแข่งขัน Dengeki Light Novel Award ผลลัพท์ครานี้ได้รางวัล Grand Prize อันดับ 1 มีโอกาสเซ็นสัญญากับ ASCII Media Works กลายเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัวเมื่อตอนอายุ 34 ปี

และภายหลัง Editor ของ Kawahara ได้มีโอกาสอ่านนิยาย SAO ที่อยู่บนเว็บ จึงให้ความสนใจนำมารวมเล่มตีพิมพ์เป็น Light Novel วางจำหน่ายครั้งแรกวันที่ 10 เมษายน 2009

Aincrad

Sword Art Online เป็นชื่อเกม Virtual Reality Massively Multiplayer Online Role (VR-MMORPG) สร้างขึ้นโดย Akihiko Kayaba เมื่อปี 2022 ด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อ NerveGear สวมใส่แล้วจะทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้รับประสบการณ์เสมือนจริง สามารถสัมผัส รับรู้ ควบคุมตัวละครได้ด้วยความคิดเพียงอย่างเดียว (ร่างกายไม่ต้องขยับเคลื่อนไหว)

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2022 เกม SAO ได้ฤกษ์เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก มีผู้เล่น 10,000 คน Login เข้าใช้ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครสามารถ Log Out ออกจากเกมได้, Akihiko Kayaba ปรากฎตัวขึ้นและอธิบายต่อผู้เล่นทุกคนว่า ต้องเอาชนะสัตว์ประหลาดใหญ่ (Boss) ของเกมนี้ให้ครบทั้งหมด 100 ชั่น ถึงจะสามารถออกจากเกมได้ แต่ระหว่างนั้นถ้ามีการตายเกิดขึ้นในเกมหรือคนภายนอกใช้กำลังถอด NerveGear ออก สมองจะถูกทำลายทำให้เสียชีวิตทันที

Kazuto ‘Kirito’ Kirigaya หนึ่งในผู้เล่น Beta-Test เมื่อต้องติดอยู่ในโลก SAO ราวกับฝันที่เป็นจริง เขามิได้เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง แต่กระหยิ่มยิ้มอยู่ในใจ เกมมันจะสนุกอะไรถ้าไม่มีความท้าทาย และการแลกมาด้วยชีวิตหมายความว่า นี่แหละคือโลกความจริงของพวกเขา, Kirito ชื่อชอบใส่ชุดสีดำและมีดาบสีดำในครอบครอง ทำให้ได้รับฉายา นักดาบสีดำ (The Black Swordsman)

Kirito เป็นตัวละครที่ Kawahara อธิบายว่าคืออุดมคติของเขาเอง เพ้อฝันอยากที่จะเป็น เก่ง หล่อ สาวติด เป็นที่พึ่งได้เสมอ, ส่วนตัวจริงของผู้เขียน กับคนที่เคยอ่านหรือดู Accel World ตัวละครที่เป็นตัวแทนตัวตนของเขาคือ Haruyuki (แต่ตัวจริงไม่ได้อ้วนป้อมแบบนั้นนะครับ นิสัย/ความคิด คล้ายๆกันมากกว่า)

เหตุที่ Kazuto กลายเป็นเด็กติดเกม และทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้ เพราะพ่อแม่เขาไม่อยู่แล้ว (ไม่แน่ใจว่าเสียชีวิตหรือยังไง) ปัจจุบันอาศัยอยู่กับป้า (ที่เป็นแม่ของ Suguha) เล่นเกมก็เพื่อหลีกหนีจากโลกความจริง ให้หลงลืมความทุกข์โศกเศร้า โดดเดี่ยวอ้างว้าง เบื่อหน่ายในชีวิต, ต้องถือว่าเกมคือสิ่งช่วยชีวิต Kazuto ไว้เลย เมื่อติดอยู่ใน SAO ตอนแรกเต็มไปด้วยความกล้าบ้าบิ่นท้าความตาย จิตใจของฉันจะต่อสู้กับมันได้แค่ไหน ต่อมาได้พบเจอเพื่อนใหม่ เรียนรู้เข้าใจคุณค่าของชีวิต/ความตาย ความคิดจึงค่อยๆเปลี่ยนไป หัวใจเริ่มเปิดกว้างออก, ความทุ่มเทสุดตัวทั้งกายและใจของ Kazuto ทำให้คนรอบข้างตระหนักได้ว่า ถ้าฉันไม่ช่วยหมอนี่ไว้ มันต้องพ่ายแพ้/ตายแน่ๆ นันทำให้ชีวิตเขาก็เต็มไปด้วยสหาย มิตรแท้ คนรัก ถือว่าโชคดีไปเลยที่สามารถหลุดจากวงจรของคนหนีโลกได้

ให้เสียงโดย Yoshitsugu Matsuoka ที่เพิ่งเข้าวงการเมื่อปี 2009-2010 เริ่มได้รับการจดจำในปี 2011 จนได้รางวัล Seiyu Awards: Best Rookie Actor เสียงพากย์ Kirito ถือว่าทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด, ผลงานอื่น อาทิ No Game No Life (2014) พากย์เสียง Sora, Is It Wrong to Try to Pick Up Girls in a Dungeon? (2015) พากย์เสียง Bell Cranel, Shokugeki no Soma พากย์เป็น Soma Yukihira

น้ำเสียงของ Matsuoka มีความนุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนเสียงผู้หญิง (คนพากย์เป็นผู้ชายนะครับ) เวลาพูดคำหวาน จีบสาว แทบทำให้หัวใจละลาย แต่เวลาเครียดจริงจัง มีความหนักแน่นมั่นคง เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเพื่อนที่พึ่งพาได้ทุกสถานการณ์

Asuna Yūki หญิงสาวที่ติดอยู่ในโลกของ SAO ช่วงแรกเป็นคนปิดตัวเอง แต่ด้วยความแหลมคมในฝัก และได้แรงบันดาลใจจาก Kirito ทำให้เติบโตขึ้นกลายเป็นหญิงแกร่ง เจ้าของฉายา ประกายแสง (The Flash) มีตำแหน่งรองหัวหน้ากิลกองทัพอัศวินโลหิต (Knights of the Blood Oath) และได้แต่งงาน(ในเกม) กลายเป็นคนรักของ Kirito

ตัวละครนี้ Kawahara อ้างว่าไม่ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรทั้งนั้น แต่ยากที่จะเชื่อ, ผมคิดว่า Asuna ย่อมต้องคือหญิงสาวในอุดมคติของของผู้เขียน (แบบเดียวกับ Kirito)

ให้เสียงโดย Haruka Tomatsu ที่มีผลงานดังอย่าง To Love-Ru (2008) พากย์เสียง Lala Satalin Deviluke, Magi: The Labyrinth of Magic (2012) พากย์เสียง Morgiana, Valvrave the Liberator (2013) พากย์เสียง Saki Rukino ฯ เธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงตัวละครนี้ว่า มีลักษณะเป็นบุคคลในอุดมคติของตนเอง

“rather than having something similar to her, I feel that to me, she is the ideal person that I would want to become. After all, she can cook, she’s smart… I think that she’s the type of woman I wanted to become and admired. Leaving aside if I can cook well, though, I really like to cook. I don’t really know if I can say if we are alike because of that, though.”

น้ำเสียงของ Tomatsu มีความแหลมเข้ม หนักแน่นจริงจัง ห้าวหาญดั่งหญิงแกร่ง เป็นตัวของตนเองสูง (ว่าไปโดดเด่นกว่า Matsuoka ที่พากย์ Kirito เสียอีก) แต่เพราะตัวจริงของ Asuna เป็นลูกคุณหนูดั่งนกในกรง ชีวิตแทบไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง นั่นทำให้ในโลก SAO พฤติกรรมของเธอมองได้คือ การแสดงความต้องการที่อยู่ในใจแท้จริงออกมา

ผลลัพท์ของการแต่งงานของ Kirito กับ Asuna ในเกม ก่อให้เกิด Yui ที่เป็น AI ปริศนา ได้รับการช่วยเหลือจากทั้งสอง จากนั้นก็ตามติดพวกเขาโดยตลอด เรียกว่า Papa, Mama เป็นดั่งลูกสาวตัวเล็กที่ให้การช่วยเหลือด้านเทคนิคของเกมนานัปประการ

ให้เสียงโดย Kanae Itō นักพากย์สาวเสียงเด็ก ที่มีผลงานดังอย่าง The World God Only Knows (2010) พากย์เสียง Elsie de Lute Ima, To Love-Ru (2008) พากย์เสียง Nana Astar Deviluke

ศัตรูตลอดกาลของผู้เล่น SAO คือผู้สร้างเกม Akihiko Kayaba วิศวกรอัจฉริยะ ความต้องการของเขา คือค้นหาความเป็นไปได้ของมนุษย์ ที่นอกเหนือสมการและการคำนวณ ในโลกที่แม้แต่ความคิด/ความรู้สึก สามารถแปรสภาพเป็นตัวเลขได้ ยังจะเหลืออะไรที่เขายังค้นไม่พบ

ให้เสียงโดย Kōichi Yamadera ที่มีผลงานดังอย่าง Ninja Scroll (1993) พากย์เสียง Jūbei Kibagami, Cowboy Bebop (1998) พากย์เสียง Spike Spiegel, Dragon Ball Super (2014) พากย์เสียง Beerus, Ghost in the Shell (1995) พากย์เสียง Togusa ฯ

คงเพราะผู้เขียน Matsuoka ไม่ได้คาดหวังว่านิยายของเขาจะประสบความสำเร็จมากมาย จึงเขียนเรื่องราวของ SAO ให้จบเพียงเล่มเดียว (คือตอนจบเล่มนั้น Kirito และพรรคพวกก็สามารถเอาชนะออกมาจากเกมได้) เล่มสองถือว่าเป็น Side Story เพิ่มเติมเรื่องราวใน Aincrad เข้าไปอีก 2-3 เรื่องก็น่าจะเต็มอิ่มสำหรับแฟนๆ แต่กลายเป็นว่ายังไม่พอ ทำให้ Matsuoka ต้องคิดอะไรขึ้นมาใหม่ จบลงที่

Fairy Dance

เขียนเล่ม 3 ด้วยการคิดเกมขึ้นใหม่เลย โดยให้เรื่องราวต่อเนื่องจากตอนจบของ SAO ที่เมื่อ Kirito กับ Asuna พบเจอกันในชีวิตจริง

ซึ่งพอเริ่มเกมใหม่ มันก็ควรมีอะไรใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาด้วย จึงเกิดตัวละครชุดใหม่ขึ้นด้วย อาทิ ตัวร้าย, เพื่อนใหม่, ผู้ช่วย (แน่นอนต้องเป็นหญิงสาว) แต่มันคงจะมากไปถ้าให้แฟนใหม่กับ Kirito เลย ในภาคนี้จึงใส่ตัวละครน้องสาวเข้ามา

Leafa หรือ Suguha Kirigaya น้องสาวที่มีปม ‘Big Brother Complex’ (ไม่ใช่น้องแท้ๆ แต่เป็นลูกของน้องสาวแม่) ไม่ได้ร่วมเล่น SAO แต่ตลอดระยะเวลาที่พี่อยู่ในโคม่า คงเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่จนค่อยๆตกหลุมรัก แต่ความอ้างว้างโดดเดี่ยวเรียนเคนโด้ก็แล้ว ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายได้ ต้องการทำความเข้าใจพี่ชาย จึงกลายเป็นเด็กติดเกม Alfheim Online (ALO) ขึ้นมาอีกคน

ความรักของ Leafa ต่อ Kirito เป็นไปในทางแอบๆ (ที่ก็แอบน่ารำคาญ) ชื่นชอบหลงใหลแต่ยึกยักปกปิดไว้ ยิ่งพอรู้ว่าตัวจริงคือพี่ของตน ก็มิอาจสมหวังในรักได้ แต่ชีวิตรู้สึกกระชุมกระชวย มีสุขขึ้นกว่าแต่ก่อน (แต่เชื่อว่าหลายคนยังแอบหวังอยู่)

ให้เสียงโดย Ayana Taketatsu มีผลงานดังอาทิ K-On! พากย์เสียง Azusa Nakano, Oreimo พากย์เสียง Kirino Kōsaka เธอคือนักพากย์เสียงน้องสาวโดยแท้

Matsuoka มีน้องสาวน่ารักสองคน (ปัจจุบันคงโตขึ้นเป็นสาวหมดแล้ว) คงไม่แปลกอะไรถ้าจะเขียนตัวละครลักษณะนี้ใส่เข้ามา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างชัด โอตาคุที่มีความแฟนตาซีชื่นชอบประเด็นความรักล่อแหลมระหว่างพี่ชายกับน้องสาว แถมใส่ประเด็นเรื่องข่มขืนเข้ามาด้วย สายโรคจิตคงคลั่งสมใจอยาก

ตัวร้ายของภาคนี้ Oberon the Fairy King ตัวจริงคือ Nobuyuki Sugō เป็นวิศวกรที่ฉวยโอกาส หาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่ติดอยู่ในโลก SAO ต่อยอดเพื่อการทดลองบางอย่าง, แท้จริงเป็นคนขี้ขลาดตาขาว มโนหลงคิดว่าตัวเองเป็นดั่งพระเจ้า ชื่นชอบการทรมานผู้อื่น (Sadist) แถมยังข่มขู่จะข่มขื่น Asuna ทั้งในเกมและชีวิตจริง

ให้เสียงโดย Takehito Koyasu เจ้าของเสียงพากย์ Shinsuke Takasugi จากเรื่อง Gintama, Aokiji จาก One Piece, Shigeru Aoba จาก Neon Genesis Evangelion, เสียงของ Takasugi มีความเท่ห์แบบกวนประสาท ถ้าพากย์ตัวละครบ้าๆ ถือว่าคลั่งจิตหลุดเลยละ

นี่เป็นตัวร้ายที่ทั้งน่ารังเกียจและน่าสมเพศ ความผิดปกตินี้น่าจะเป็นปมตั้งแต่วัยเด็กถูกพ่อ-แม่กดขี่ข่มเหง (คล้ายๆกับ Asuna ที่ถูกพ่อแม่บังคับโน่นนี่) แต่เพราะไม่ได้รับการปรับความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้โตขึ้นกลายเป็นคนเก็บกด และเลือกระบายลงกับผู้ที่เป็นศัตรู สร้างบาดแผลในใจของเขามากที่สุด

ส่วนตัวนี่เป็นภาคที่ผมชอบน้อยสุด เพราะประเด็นความรุนแรงของตัวร้าย มันเกินจะรับได้ไปเสียหน่อย แถม Asuna ก็กลายเป็นนกในกรงไปเลย ไม่ได้แสดงฝีมือ รอวันพระเอกมาช่วยสถานเดียว (พล็อตน้ำเน่าเกิ้น!)

Phantom Bullet

Kirito ได้รับมอบหมายจาก Seijirō Kikuoka (สมาชิกของ Ministry of Internal Affairs ที่เป็นผู้สืบสวนคดี SAO) เพื่อเข้าไปสืบสวนเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นกับ Gun Gale Online (GGO) ที่การตายของคนในเกมส่งผลให้ตัวจริงเสียชีวิตด้วย

ในภาคนี้ Kirito ปลอมตัวกลายเป็นผู้หญิง (Gender Swap) เข้าไปในเกมเพื่อสืบสวนตัวละครที่อาจเป็นสาเหตุ, ได้พบกับ Shino Asada/Sinon นักแม่นปืนสาวที่ภายนอกเข้มแข็ง แต่ในใจมีปมความหวาดกลัวต่ออาวุธปืนจริงๆ (แต่สามารถจับปืนในเกมได้)

อาการของ Sinon มีชื่อเรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PSTD) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ, เกม GGO ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้บำบัดรักษา ลดความตึงเครียดที่เกิดจากการจับสัมผัสอาวุธปืนจริงๆลงของเธอ นี่ฟังดูแปลกแต่ก็มีความเป็นไปได้สูงในอนาคต เพราะบนโลกเสมือน จิตใจมนุษย์ย่อมสามารถรับรู้ได้ว่า การจับปืนมันไม่มีอันตรายฆ่าคนตายไม่ได้ ความยากอยู่ที่จะแปรสภาพความเข้าใจจากตรงนั้นสู่โลกความเป็นจริง จับปืนแล้วไม่กลัวได้เช่นไร

ให้เสียงโดย Miyuki Sawashiro สาวห้าวเสียงใหญ่ เจ้าของน้ำเสียง Suruga Kanbaru จาก Monogatari Series,  Kurapika จาก Hunter × Hunter (2011), Celty Sturluson จาก Durarara!! Series, Shion Karanomori จาก Psycho-Pass Series ฯ

Sinon เป็นตัวละครที่ผมชอบสุดรองจาก Asuna ด้วยพัฒนาการและมิติของตัวละคร ถ้าไม่ติดเรื่องปมในอดีต ผมว่าเธอเข็มแข็งแกร่งกว่า Kirito เสียงอีก แต่ความห้าวที่เหมือนผู้ชายมากไปเสียนิด คนส่วนใหญ่คงหลงใหลในตัว Asuna มากกว่า

สำหรับตัวร้ายในภาคนี้ Sterben/Death Gun เป็นอดีตสมาชิกของกิลนักฆ่าผู้เล่น Laughing Coffin ขณะติดอยู่ในโลกของเกม SAO ชื่นชอบการฆ่าผู้อื่นจนถูกจับคุมขังไว้ในเกม เมื่อ SAO ได้รับการพิชิต คนกลุ่มนี้จึงกลับออกมาสู่โลกความเป็นจริง และได้เริ่มต้นสร้างปัญหาใหม่, พวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มคนมีปัญหาทางจิต (ไม่ต่างกับ Sinon) ฆ่าคนอื่นเพื่อเป็นการบำบัดความต้องการของตนเอง แต่ก็ไม่รู้ปมที่อยู่ในใจของพวกเขาคืออะไรนะครับ

Spiegel/Kyōji Shinkawa เพื่อนสนิทของ Shino เป็นคนแนะนำเธอให้รู้จักกับ GGO, มีพ่อเป็นเจ้าของโรงพยาบาล และกึ่งๆบังคับให้เป็นทายาทสานต่อกิจการ สร้างความเครียดกดดันให้กับเขาอย่างมาก กระนั้น Kyōji ก็มีแผนการอื่น เพื่อที่จะไม่ต้องทนทุกข์อยู่ในโลกอันโหดร้ายนี้

ให้เสียงโดย Natsuki Hanae มีผลงานดังอย่าง Kōsei Arima จาก Your Lie in April, Ken Kaneki จาก Tokyo Ghoul, Inaho Kaizuka จาก Aldnoah.Zero ฯ

นี่เป็นภาคที่ผมชอบรองจาก Aincard เพราะพัฒนาการของ Sinon มีความน่าสนใจมากๆ เสียงพากย์ของ Sawashiro ก็ติดหูเสียเหลือเกิน แม้เรื่องราวจะค่อนข้างสั้นไปหน่อย แต่มีความสมจริงจับต้องได้มากกว่าสองเกมก่อนหน้าที่เป็นแฟนตาซี

Mother’s Rosario

ประโยชน์หนึ่งของ VR เมื่อนำไปใช้ได้กับการแพทย์, เด็กหญิงคนหนึ่งป่วยหนัก มีชีวิตอยู่ได้แค่บนเตียงไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ หมอแนะนำให้เธอรู้จักกับเกมออนไลน์หนึ่ง ทำให้ได้พบเพื่อนใหม่มากมาย สามารถใช้ชีวิตอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืนได้ไม่เบื่อ แต่จะมีหรือความสุขนั้นจะอยู่ได้นาน เธอจึงอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อจารึกว่าครั้งหนึ่งฉันก็เคยมีตัวตนบนโลกใบนี้

Yuuki ให้เสียงโดย Aoi Yūki นักร้อง นักพากย์ Idol ที่มีผลงานดังคือ Madoka Kaname จาก Puella Magi Madoka Magica (2011), Victorique de Blois จาก Gosick (2011) ฯ เสียงของเธอมีความห้าวเป้งเหมือนผู้ชาย ขณะเดียวกันก็อมทุกข์ในความเจ็บปวดที่เก็บแอบซ่อนไว้ในส่วนลึก

Mother’s Rosario คือท่าไม้ตายของ Yuuki มอบให้กับ Asuna หลังจากได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ร่วมกันจนสำเร็จ

ต้องถือว่านี่เป็นภาคเรียกน้ำตาที่ทำออกมาได้ซาบซึ้งตรึงใจ เตรียมทิชชู่ไว้ให้พร้อมแล้วกัน เพราะมันจะทำให้คุณหลงรัก Asuna และ Yuuki เพิ่มขึ้นมากๆ แม้รายหลังจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว แต่จิตวิญญาณของเธอยังคงอยู่ทุกครั้งที่ Asuna ใช้ท่าไม้ตายนี้

อนิเมชั่น SAO ถูกประกาศสร้างครั้งแรกในงาน Dengeki Bunko Autumn Festival เมื่อปี 2011 พร้อมๆกับ Accel World (ที่ได้ฉายก่อน) โดยสตูดิโอ A-1 Pictures ผู้กำกับ Tomohiko Itō ที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ/เขียนบท/Storyboard อนิเมะซีรีย์เรื่อง Death Note (2006), Blue Exorcist (2011), Anohana: The Flower We Saw That Day (2011) ฯ สำหรับ SAO เป็นการขึ้นมารับหน้าที่กำกับเต็มตัวเป็นครั้งแรก

หลังเสร็จจากภาคแรก Itō แวบไปทำ Silver Spoon (2013) แล้วมีการฉายตอนพิเศษ Sword Art Online Extra Edition ในวันที่ 31 ธันวาคม 2013 โดยท้ายเครดิตมีการประกาศอนิเมะ SS2 ฉายปีถัดมา

SAO เป็นอนิเมชั่นที่เน้นการโชว์ของมากกว่าขายเทคนิคต่อสู้ ในฉากแอ็คชั่นผลแพ้ชนะอยู่ที่ลีลาและความสะใจ (ของผู้กำกับ) ตัวละครวิ่งเข้าไปประจันฟันฉับๆ, กระโดดหลบ, Tank, Switch ฯ มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว เต็มไปด้วย Special Effect ประกอบฉากตระการตา นานๆจะมีพูดถึงแผนการต่อสู้ขึ้นมาสักครั้ง ซึ่งอยู่ดีๆ Kirito ก็เก่งก้าวกระโดดขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผลยอมรับ นี่คือเหตุผลที่คนไทยมักเรียกเขาว่า เทพทรู

เกร็ด: ทรู คือชื่อบัตรเงินสด True Money เป็นคำวัยรุ่นที่ใช้เรียก คนเล่นเกมประเภทที่อยู่ดีๆก็เก่งขึ้นมา เพราะใช้การเติมเงินจากบัตรทรู ซื้อของเพิ่มความเก่งของตนเอง (แต่ไม่ได้แปลว่า เติมทรูแล้วฝีมือจะเก่งขึ้นนะครับ แค่มีของใช้ดีกว่าคนอื่นเท่านั้น)

‘หนังที่มีเพลงเพราะ มีชัยไปกว่าครึ่ง’ จำไม่ได้ว่าใครกล่าวไว้ ซึ่ง SAO เป็นอนิเมะที่จัดว่าเพลงประกอบมีความไพเราะโดดเด่นมากๆ, ประพันธ์โดย Yuki Kajiura ที่มีผลงานดังอย่าง .hack//Sign (2002), Puella Magi Madoka Magica (2011), Fate/Zero (2011-2012) ฯ แต่ต้องบอกว่า เพลงประกอบ SAO มีกลิ่นอายคล้ายคลึงกับ Fate/Zero อยู่พอสมควร (คงเพราะเขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆกัน จึงมีแรงบันดาลใจคล้ายๆกัน)

บทเพลง Swordland ฟังแล้วขนลุกทุกที มีความยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะท่อนเสียงร้องคลอรัส (ไม่ใช่ภาษาละตินนะครับ เป็นคำที่ Kajiura เรียบเรียงเขียนขึ้นเอง ไม่ได้มีความหมายอะไร)

ตรงข้ามกับความอลังการ แนะนำอีกเพลงหนึ่งที่มีความธรรมดาแสนเรียบง่าย มีเพียงกีตาร์ดีดเบาๆและเสียงเป่าฟลุตที่ล่องลอยตามสายลม นี่คือชีวิตประจำวันของชาว SAO ในบทเพลง Everyday Life ให้สัมผัสบรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลาย เรื่อยเปื่อย, ถึงสถานที่แห่งนี้จะเป็นโลกอันโหดร้าย แต่ใช่ว่าจะไม่มีช่วงเวลาสันติสุขเกิดขึ้นเลย

 

สำหรับบทเพลงที่มีความไพเราะที่สุดในอนิเมะ At Nightfall บรรเลงไวโอลินคู่กับเปียโน ในค่ำคืนที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดาวดารา ห่างไกลจากฝูงมอนสเตอร์ และความวุ่นวาย นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสันต์ สลัดทิ้งความเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด โศกเศร้าไว้ข้างหลัง

ขออีกเพลงกับ SS2 ก่อนเข้าสู่ Gun Gale Online (GGO) ทำนองของ Swordland แต่ปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆอย่าง อาทิ ใช้กลอง, กีตาร์ ทำเป็นแนว Rock, ผสมกับเสียงคาริเน็ต (เพลงนี้คล้ายๆ Naruto Shippuden พอสมควรนะ)

สำหรับเพลงเปิด/ปิด มีนักร้องรับเชิญหลายคนทีเดียว ทั้ง LiSA, Eir Aoi, Luna Haruna และ Haruka Tomatsu ผมขอเลือกมาแค่ 2 เพลงพอนะครับ

เพลงเปิดแรก Crossing Field ขับร้องโดย LiSA ประกอบ SS1 เคยขึ้นถึงอันดับ 10 ชาร์ท Billboard Japan Hot 100 มียอดขาย Oricon Singles Chart สัปดาห์แรกอันดับ 15

Shirushi ขับร้องโดย LiSA เป็น Ending ประกอบ SS2 ภาค Mother’s Rosario ที่อาจเรียกน้ำตาใครหลายๆคนได้

SAO เป็นเรื่องราวของการเอาชนะขีดจำกัดของตนเอง ในตอนแรกสิ่งที่ Kirito ทำนั้นล้วนเพื่อตนเองเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้จัก เข้าใจอะไรต่างๆมากมาย ทำให้เริ่มรู้จักคำว่าแบ่งปันและปกป้องผู้อื่น, ซึ่งคนที่เขาต้องการปกป้องที่สุดคือเหล่าบรรดา Harem ทั้งหลายที่ได้มา Asuna, Suguha, Shino รวมถึงเพื่อนคนอื่นๆทุกคนของเขาด้วย ไม่เคยสนว่าตัวเองต้องทุกข์ทรมานเจ็บปวดขนาดไหน ขอแค่ให้พวกเขาเป็นสุขปลอดภัย แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว

สิ่งที่ Akihiko Kayaba (หรือผู้แต่ง Reki Kawahara) ค้นหาเป็นเป้าหมายสูงสุด และได้ค้นพบคือ วินาทีแห่งการกระทำเพื่อเอาชนะของ Kirito ที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณของการไม่ยอมแพ้’ นี่เป็นสิ่งที่มีไม่มีอะไรในโลกสามารถคาดการณ์คำนวณได้ เหนือกว่าทุกสมการ คือความต้องการของจิตใจ

บรรดาอนิเมะซีรีย์เกี่ยวกับเกมออนไลน์ มีอีก 2 เรื่องที่ขอแนะนำ มีโอกาสเมื่อไหร่จะมาเขียนถึงแน่นอน
– .Hack (dot Hack) ในโลกเสมือนจริงของเกม แฝงปรัชญาการมีตัวตน การค้นหา(เป้าหมาย) และความหมายของชีวิต
– Log Horizon เป็นเรื่องราว Slice-Of-Life ชีวิตแมวๆของกลุ่มคนติดเกม ผสมผสานโลกความจริงกับโลกที่อยู่ในเกม และ(พยายาม)ค้นหาทางกลับบ้าน

ผมไม่ได้เชียร์เรื่องไหนเป็นพิเศษ แต่ต้องบอกว่า SAO เทียบชั้นกับสองเรื่องนี้ไม่ได้เลย เหตุที่กลับได้รับความนิยมสูงกว่า คิดว่าเพราะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายและกว้างกว่า โดยเฉพาะความเท่ห์น่ารักของ Kirito, Asuna และบรรยากาศรักโรแมนติกกุ๊กกิ๊ก ที่ใครๆก็อยากตามลุ้นตามเชียร์ อิ่มเอิบหัวใจสุขล้น ดูจบแล้วฟินกันถ้วนหน้า

สิ่งที่ผมชอบสุดใน SAO คือบรรยากาศ อันกอปรด้วย ความเรื่อยเปื่อยของตัวละคร บางช่วงมีเรื่องราวผ่อนคลาย งานภาพดูสบาย และบทเพลงขับกล่อมไพเราะ, กับตอนที่ผมชอบสุดทั้งซีรีย์ คือขณะไปตกปลา ถ้าชีวิตจริงในเกมสามารถผ่อนคลายเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี

ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มเขียนบล็อคนี้ ก็เคยเป็นเด็กติดเกมหนักๆมาก่อน แต่จะบอกว่าไม่เคยมีวินาทีไหนในทุกเกมที่เล่นมา จะมีความรู้สึกผ่อนคลายแบบนี้เลยนะครับ นี่ต่างจากชีวิตจริงมากที่ผมชอบปั่นจักรยานขึ้นเขา นั่งชมวิว หรือนอนเล่นริมชายหาด แบบนี้ให้ความรู้สึกผ่อนคลายกว่าเป็นไหนๆ, การเล่นเกมเหมือนว่ามันต้องมีเป้าหมายทำอะไรสักอย่าง นั่งชมวิวอยู่เฉยๆไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร มองไปรอบๆต่อให้ภาพจะสวยขนาด GTA, The Witcher, Skyrim ก็ไม่เกิดความรู้สึกผ่อนคลายแม้แต่น้อย ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

ส่วนข้อเสียก็อย่างที่บอกไปตอนต้น เรื่องราวแต่ละภาคสั้นเกินไปจนไม่เต็มอิ่ม มันมีเฉพาะภาคแรกเท่านั้นที่สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำได้ว่า Sword Art Online เรื่องราวจากนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก โดย Kirito จำต้องเข้าร่วมในฐานะ SAO Survival และมีอ้างอิงบางอย่างจากเกมเก่าเท่านั้น (จริงๆมันควรเปลี่ยนชื่อเรียก เป็นตามชื่อเกมของแต่ละภาค ยังจะดูดีกว่ามาก)

กระนั้นผมยังมีความหวังหนึ่งคือ Sword Art Online: Progressive ภาคแยกของ SAO ที่ผู้แต่ง Reki Kawahara เขียนขึ้นเพื่อขยายเรื่องราวของ Aincrad ทีละชั้นสองชั้น หวังว่าเมื่อซีรีย์หลักถึงทางตันเมื่อไหร่ จะกลับมา remake สร้างภาคแยกนี้ ค่อยๆเล่าเรื่องทีละชั้นของ Sword Art Online มันน่าจะเวิร์คและเกิดขึ้นแน่ๆ รอแค่เมื่อไหร่เท่านั้น

เชื่อว่าคงจะกลายเป็นความฝันของหลายๆคน หวังว่าเทคโนโลยีของโลกจะทันสร้าง NerveGear ได้สำเร็จ แต่มันมีความเป็นไปได้หรือเปล่า? ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ในศตวรรษนี้แน่ๆ เพราะสมองมนุษย์ลึกล้ำเกินกว่าที่จะหาอุปกรณ์ใดๆมารับส่งสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ ปัจจุบันแม้จะมี VR ที่สามารถโยกหัวเคลื่อนไหวตามได้ แต่มันยังห่างไกลการใช้สมองสั่งการเคลื่อนไหวอยู่มาก

แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นแน่คือ AR (Augmented Reality) เป็นเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (Real) เข้ากับโลกเสมือน (Virtual) แบบในฉบับภาพยนตร์ Sword Art Online The Movie: Ordinal Scale (2016) ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า มีความใกล้เคียงเป็นไปได้ที่สุดแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอได้เลย

แนะนำกับคออนิเมะญี่ปุ่น ภาพสวย แอ็คชั่นโปรดักชั่นอลังการ เพลงเพราะ, ผู้ชื่นชอบการเล่นเกม มีความเพ้อฝัน ชื่นชอบการผจญภัย, และคอไซไฟ สนใจเทคโนโลยีในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้

จัดเรต PG กับสถานการณ์ และความรุนแรงกระแทกกระทั้นจิตใจ

TAGLINE | “Sword Art Online อาจคือความเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่มันผิดอะไรที่จะฝัน เพราะโลกใบนั้นมันช่างงดงาม โรแมนติก และมีความน่าหลงใหลเหนือกว่าสิ่งอื่นใด”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Death Note (2006-2007)


Death Note

Death Note (2006-2007) Anime Series : Tetsurō Araki 

จากมังงะชื่อดัง กลายเป็นอนิเมชั่นซีรีย์ความยาว 37 ตอน และดัดเป็นภาพยนตร์/ซีรีย์คนแสดงนับครั้งไม่ถ้วน, ไลท์ ยางามิ นักเรียน ม.ปลาย ได้พบสมุดโน้ตกระชากวิญญาณ ที่เมื่อเขียนชื่อใครก็ตามลงไป เขาผู้นั้นจะเสียชีวิต, เรื่องราวตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรม คุณค่าของคน และการตัดสินผู้อื่น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมจะขอเขียนรีวิวเรื่องนี้ ในเชิงทดลอง วิเคราะห์แนวคิดทั้งหมดนะครับ เพราะนี่เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่สามารถหาอ่านบทวิจารณ์ได้เยอะแยะมากมาย เขียนไปรังแต่จะซ้ำรอยคนอื่น

Death Note สมุดมรณะ, สมุดแห่งความตาย จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นปริศนา รู้แค่ว่าเป็นหนังสือของยมทูตผู้เบื่อหน่าย วันๆไม่รู้ทำอะไรก็เลยแกล้งทำหนังสือตกบนโลกมนุษย์ แล้วให้คนที่ค้นพบได้กลายเป็นยมทูต มันคงน่าสนุกไม่น้อย

ใน Death Note มีกฎ/คำแนะนำที่เขียนไว้หลายข้อ (ที่จะค่อยๆถูกเปิดเผยออก) เพื่อเป็นการชี้ชักนำให้ผู้ใช้ ให้สามารถเข้าใจวิธีการใช้งานหนังสือเล่มนี้ได้ถูกต้อง, กฎที่มีใน Death Note มีเป็นร้อยๆข้อเลย ถ้าใครอยากรู้ทั้งหมดก็ตามไปอ่านในลิ้งค์นะครับ

กฎทั้งหมดของ Death Note: http://www.kartoon-discovery.com/focus/deathnote/focus10_page2.php

กฎหลักของ Death Note คือ 5 ข้อแรก
– คนที่ถูกเขียนชื่อลงในบันทึกนี้จะต้องตาย
– ถ้าจำหน้าของคนที่ถูกเขียนชื่อไม่ได้จะไม่มีผลใดๆ จึงไม่มีผลต่อคนที่ชื่อหรือนามสกุล เหมือนกัน
– หากเขียนสาเหตุการตายหลังชื่อภายใน 40 วินาที ตามเวลาโลกมนุษย์ ก็จะเป็นไปตามนั้น
– ถ้าไม่เขียนสาเหตุการตายจะกลายเป็นการตายเพราะหัวใจวายทั้งหมด
– หากเขียนสาเหตุการตาย จะมีเวลาให้อีก 6 นาที 40 วินาที เพื่อลงรายละเอียดสภาพการตาย

สำหรับกฎข้ออื่นๆ ผมขอจำแนก แยกเป็นหมวดหมู่ ดังนี้
– กฎทั่วไปที่อธิบายความสามารถของหนังสือ อาทิ
> ทันทีที่โน้ตสัมผัสกับโลกมนุษย์ บันทึกก็กลายเป็นวัตถุของโลกมนุษย์
> เดธโน้ตที่ถูกฉีกออกมา จะทั้งหน้า หรือ แค่ชิ้นส่วนเล็กๆก็มีคุณสมบัติใช้ได้เช่นกัน
> เดธโน้ตจะสามารถอยู่ในโลกมนุษย์ได้นานเป็นเวลาเดียวกันแค่ 6 เล่มเท่านั้น
ฯลฯ

– กฎของสิ่งที่เขียน วิธีการเขียน
> หากดูแล้วเป็นตัวหนังสือแล้วละก็ จะใช้อะไรเขียนลงในเดธโน้ตโดยตรงก็ได้ จะเป็นเครื่องสำอางค์ หรือ เลือด ก็ได้ไม่มีปัญหา
> ไม่ว่าจะเขียนชื่อลงไปมากเท่าไหร่ หน้ากระดาษในเดธโน้ตก็ไม่มีวันหมด
> ถึงจะใช้ยางลบหรือน้ำยาลบคำผิดลบชื่อ หรือตัวอักษรที่เขียนลงบนเดธโน้ตไป ก็ไม่มีความหมาย
ฯลฯ

– กฎที่พูดถึง การตาย/วิธีตาย
> สภาพการตายที่เขียนลงในเดธโน้ต ต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในทางกายภาพ กับมนุษย์ผู้นั้น หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ผู้นั้นแล้วไม่ผิดแปลกอะไร
> ขอบเขตของรายละเอียดสภาพการตายที่สามารถเป็นไปได้นั้นต้องตรวจสอบและพิสูจน์เอาเอง
> ในกรณีที่ระบุลงไปแค่ว่า “เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ” แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุการตาย หลังจากที่เขียนเสร็จ 6 นาที 40 วินาที เหยื่อจะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตภายในระยะเวลาอันสั้นสุด
> ในกรณีที่เขียนว่าตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หากระบุเพียงเวลาตายโดยไม่กำหนดโรค เหยื่อจะล้มป่วยจนถึงแก่ความตายในเวลาที่กำหนดด้วยโรคที่เหมาะสม ทว่า เวลาเสียชีวิตที่เดธโน้ตสามารถบังคับได้ มีกำหนดอยู่ที่ภายในเวลา 23 ในตามเวลาโลกมนุษย์
ฯลฯ

– กฎที่พูดถึงสิทธิ์ หน้าที่ของยมทูต เช่น
> ยมทูตผู้เคยเป็นเจ้าของเดธโน้ตไม่มีสิทธิ์ช่วยเหลือหรือขัดขวางความตายทีกำหนดไว้แล้วในบันทึกนี้
> ยมทูตไม่มีหน้าที่อธิบายวิธีใช้เดธโน้ตหรือกฎที่จะใช้กับผู้ครองเดธโน้ตนี้ใดๆทั้งสิ้น
> ยมทูตสามารถยืดอายุขัยให้ตัวเองได้ด้วยการเขียนชื่อมนุษย์ลงในเดธโน้ต แต่มนุษย์ทำเช่นนั้นไม่ได้
ฯลฯ

– กฎเกี่ยวกับเจ้าของหนังสือ
> ผู้ใช้บันทึกเล่มนี้ จะไม่ได้ไปทั้งสวรรค์และนรก
> ผู้ครอบครองบันทึกเล่มนี้ จะสามารถมองเห็นและได้ยินยมทูตผู้เคยเป็นเจ้าของเดธโน้ต
> ผู้ครอบครองเดธโน้ต จะถูกยมทูตผู้เคยเป็นเจ้าของเดธโน้ตติดตามไปจนกว่าจะตาย
ฯลฯ

– กฎเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในหนังสือ/การยืมคืน/เปลี่ยนแปลงเจ้าของ เช่น
> ในกรณีที่ทำเดธโน้ตหายหรือถูกขโมยไป หากนำกลับคืนมาไม่ได้ภายในเวลา 490 วัน ก็จะสูญเสียสิทธิความเป็นเจ้าของไป
> คุณสามารถให้คนอื่นยืมเดธโน้ตไปได้ โดยสิทธิในความเป็นเจ้าของยังคงอยู่ คนที่ยืมไปจะให้คนอื่นยืมต่อก็ได้
> ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของเดธโน้ตเสียชีวิตในขณะที่เดธโน้ตถูกยืมไป สิทธิในความเป็นเจ้าของจะถูกโอนไปยังผู้ที่ครอบครองมันอยู่ในเวลานั้น
ฯลฯ

บรรดากฎทั้งหลายที่ผมยกมา แยกมาให้เห็น แล้วจัดเป็นหมวดหมู่นี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นๆ ว่านี่มันก็คล้ายกับกฎหมาย ที่เป็นข้อกำหนดของบางสิ่งบางอย่าง นี่แสดงให้เห็นว่า การจะแค่เขียนชื่อแล้วทำให้ใครสักคนต้องตาย กลับมีวิธีการ ข้อจำกัดมากมาย ไม่ใช่แค่เขียนชื่อแล้วตาย นั่นเพราะชีวิตมีกฎเกณฑ์และวิถี ที่ต้องดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ตามกฎสากลของจักรวาล (ตามจินตนาการของผู้สร้าง)

เราสามารถมอง Death Note แทนได้ด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ในหนัง/อนิเมะ จะมีการพูดถึงพระเจ้า หรือ คิระ (Kira มาจากคำว่า Killer คือการฆ่า ในที่นี้เปรียบกับผู้พิพากษา ผู้ตัดสินชีวิต เป็น/ตาย), ผมเปรียบ Death Note กับพลังอำนาจ อาวุธ หรือเครื่องจักร ที่มีหน้าที่ สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นได้, ผู้ครอบครอง Death Note จักคือ ผู้มีอำนาจ สูงศักดิ์ในยศฐานะ ตำแหน่ง ชื่อเสียง หรือเป็นคนที่สามารถควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้, การใช้ Death Note จึงคือ การใช้พลัง ใช้อำนาจ เพื่อที่จะการควบคุม ครอบงำ สั่งการ ให้สิ่งที่ตนต้องการ บังเกิดขึ้นได้ (ไม่ว่าจะโดยวิธีใด)

ถึง Death Note จะมีกฎวิธีการใช้มากมาย แต่หาได้มีข้อห้ามในการใช้ อาทิ ห้ามเขียนชื่อญาติพี่น้อง, ผู้มีบุญคุณ ฯ นั่นเพราะกฎของ Death Note ไม่ได้ครอบคลุมถึงศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรมของผู้ใช้ และการตายไม่ใช่เรื่องของจิตสำนึก ถูกต้องไม่ถูกต้อง เหมาะสมไม่เหมาะสม แต่เป็นเรื่องของชีวิต มีเกิดก็ต้องมีตายเป็นสัจธรรม, ผมขอเปรียบ Death Note กับมีดดาบ ซึ่งมี 2 คมเสมอ หนึ่งคมคือใช้เพื่อฆ่าฟัน ทำลายล้าง อีกคมหนึ่งสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่าง ตัดต้นไม้ แล่เนื้อ ทำอาหาร ฯ หนึ่งคือเพื่อทำลาย สองคือเพื่อสร้าง ดังสำนวนที่ว่า ‘ดาบสองคม’

การมีอยู่ของ Death Note ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หรือสิ่งผิด เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ (จากกฎการสร้างของผู้เขียน) ในโลกที่มีหนังสือมรณะเล่มนี้ ก็เปรียบเสมือนนิยาย/ไดอารี่ ที่ถ้าผู้เขียนอยากให้ใคร ตัวละครไหนตาย ก็จักเขียนชื่อ คำอธิบาย ภาพจินตนาการ และวิธีการตายลงไป เท่านี้คนๆนั้น ตัวอักษรที่รวมกลายเป็นชื่อ ก็จักสิ้นสภาพการมีตัวตนลง, มันอยู่ที่ผู้เขียน เจ้าของ คนที่จดบันทึก จะมีความคิดอ่าน จิตสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี ความต้องการเช่นใด ก็เขียนบรรยายใส่ลงไป, ผมเปรียบการมีอยู่ของ Death Note เหมือนภัยธรรมชาติ อันเกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาให้เป็นการทำลายล้าง ซึ่งถ้ามีใครสักคนที่เป็นผู้ครอบครอง และมีอำนาจนี้ จักถือว่ามีสถานะเสมือน เทียบเท่าพระเจ้า ที่ผู้ควบคุมชีวิตของมนุษย์

มนุษย์เป็นผู้งมงายในเรื่องเหนือธรรมชาติ เมื่อเห็นอะไรที่ผิดแปลกจากปกติก็จักยกย่อง นับถือ เทิดทูน หลงใหล จากความเชื่อกลายเป็นลัทธิกลายเป็นศาสนา, นี่ทำให้ผมนึกหวนถึง ‘ศาสนา’ เกิดขึ้นมาได้ยังไง? … ตามตำนานเล่าว่า ศาสนาเกิดจาก ‘ความเชื่อ’ ที่ตกทอดยาวนานสืบต่อมา มนุษย์ยุคหิน ได้ยินเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า เกิดความกลัว ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงมโนคิดขึ้นว่า พระเจ้าผู้สร้างแสดงความเกรี้ยวกราดโกรธา เพื่อเป็นการขอขมา ให้พระเจ้ายกโทษ และยุติความน่าสะพึงกลัวนี้ จึงเกิดเป็นประเพณี วิถี (เช่น บูชายันต์, สวดมนต์อ้อนวอน) ทำสืบต่อกันเรื่อยมา กลายเป็นเรื่องเล่า กลายเป็นตำนาน จนสุดท้ายกลายเป็นศาสนา, ไม่รู้กี่หมื่นกี่พันปี กว่าที่มนุษย์จะเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ หาคำตอบให้กับความเชื่อหรือสิ่งที่ตนไม่เข้าใจ แต่มันยังอีกเยอะนักที่เรายังไม่รู้ มองไม่เห็น หาคำตอบไม่ได้, ‘ความกลัว’ จึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้มนุษย์เกิด ‘ความเชื่อ’

การมีตัวตนของ L คือเพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับเรื่องราว, ด้วยความที่ L สามารถมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปแบบ วิธีการ เป็นสูตร เป็นกราฟ เป็นสมการ (อัจฉริยะมากๆ) นี่ต้องเกิดจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ถ้าภัยธรรมชาติ จะไม่สามารถคำนวณ หรือพยากรณ์การเกิดขึ้นได้ชัดเจน)

มนุษย์มีเกิดและมีตายเป็นสัจธรรม มีคนดีก็ต้องมีคนชั่ว นี่เป็นสัจธรรมเช่นกัน แต่การที่คนๆหนึ่งไปเบียดเบียน ทำร้าย หรือฆ่าอีกคนหนึ่งให้ตาย นี่ไม่ใช่สัจธรรม เรียกว่า ‘การกระทำ’ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสามัญ ฆ่า/ข่มขืน/ชิงทรัพย์ หรือวิธีอสามัญ เช่น สมุดมรณะ, L เป็นคนที่มองว่า อะไรที่ผิดธรรมชาติ และมีมนุษย์อยู่เบื้องหลัง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม, เพราะมนุษย์มีทั้งที่ดีและไม่ดี จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินคนอื่น ด้วยบรรทัดฐานของตนเองได้ (แม้พระเจ้าก็อาจมีทั้งดีและไม่ดี แต่นั่นเป็นสิ่งที่คาดการณ์อะไรไม่ได้ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และอยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์) ฟังดูอาจขัดแย้ง เพราะ L เอง ก็ถือเป็นมนุษย์ แต่จะไปตัดสิน Kira ได้ยังไง, ผมคิดว่าเพราะ L รู้อยู่แล้วว่า Kira คือมนุษย์ กับมนุษย์ด้วยกัน ย่อมมีสิทธิ์ตัดสินในวิธีสามัญ ไม่ใช่วิธีอสามัญ

เมื่อ L ได้รู้การมีตัวตนของ Death Note เขาไม่ได้แสดงความรังเกียจหรือหวาดกลัว (แค่คิดไม่ถึงว่าจักรวาลจะมีสิ่งของลักษณะนี้อยู่) นี่แสดงถึว่า เขามองผู้ใช้ และการมีตัวตนของ Kira เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวิถีธรรมชาติของมนุษย์ เป็นภัยขั้นรุนแรงต่อมนุษย์ จักคือฆาตกรโรคจิตที่น่ากลัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกควบคุมตัว จองจำ ตัดสินโทษ หรือประหารชีวิต

สำหรับไลท์ ยางามิ นักเรียนกฎหมายที่มีความเฉลียวฉลาด (ระดับอัจฉริยะ) และมีความคับข้องใจในระบบของโลกที่เป็นอยู่, เมื่อเขาได้ครอบครอง Death Note มันคือการค้นพบวิธีจัดการกับความถูก-ผิด ความยุติธรรม ที่รวดเร็วทันใจ สนองความต้องการของตนเป็นที่สุด, ผมคิดว่าไลท์รู้ตัวเอง นับตั้งแต่ได้ครอบครองสมุดมรณะเล่มนี้ ว่าตนไม่มีทางได้ไปสวรรค์หรือนรก ไม่ใช่คนดี ต้องเห็นแก่ตัว แต่เพื่ออุดมการณ์ที่สูงสุด เขาเลยยอมแลก(เกือบ)ทุกสิ่งทุกอย่าง ในสิ่งที่จักทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น

การกระทำของไลท์เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า? นี่น่าคิดนะครับ เพราะไลท์ทำในสิ่งที่ตัวเขาเชื่อว่าถูก จุดประสงค์คือต้องการสร้างโลก Utopia ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนกลัวจะกระทำความผิด เพราะถ้าถูกจับ ติดคุกก็จะถูกคิระฆ่าตายทันที, ถ้าคุณศึกษาและเข้าใจนิยามของโลก Utopia อย่างลึกซึ้ง จะพบว่า มันไม่เป็นไปไม่ได้หรอกที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสันติ เพราะจิตใจมนุษย์ทุกคน มีส่วนที่เป็น ‘ด้านมืด’ อยู่ทุกคน ถ้าต้องอาศัยอยู่ในโลกที่ ‘เก็บกด’ ด้านมืดนั้นแล้ว เวลาที่มันระเบิดออกมา จาก Utopia จะกลายเป็น Distopia ไปโดยทันที

ผู้ชมทั่วไปคงรู้สึกคล้ายๆกันคือ ไลท์มันไม่ใช่คนดีหรอก ผมถือว่าไลท์ เป็นคนตรรกะเพี้ยน มองใน 3 ส่วน
– ศีลธรรม, การฆ่าคน ถือเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมอยู่แล้วไม่ว่าจะศาสนาไหน ความเชื่ออะไร, การฆ่าไม่ได้จำเป็นว่าต้องลงมือด้วยตนเอง จากการยืมมือ ไหว้วาน หรือโดยทางอ้อม อย่าง Death Note ถือว่าเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการฆ่าคน ดังนั้นไลท์ ผิดศีลธรรมเต็มๆ

– จริยธรรม, ไลท์ถือว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก แม้จิตใจจะมีความตั้งใจดี แต่แสดงพฤติกรรมต่อหน้าผู้คนอย่างหนึ่ง แล้วลับหลังกลับแสดงออกอย่างหนึ่ง

– มโนธรรม, ในจิตใจของไลท์ แม้จะมีความตั้งใจดี แต่ด้วยวิธีการฆ่าคน ถือเป็นสิ่งที่สังคมอารยะ จิตใจของคนยอมรับไม่ได้ ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง จากอุดมการณ์แปลสภาพกลายเป็นอะไรไม่รู้ (คนที่หมกมุ่นอยู่กับอะไรสักอย่าง วันหนึ่งก็จะลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงที่ตนทำสิ่งนั้น)

อุดมการณ์ก็เหมือนงานศิลปะ ถ้าจะให้มันยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ควรที่จะให้มีขอบเขตใดๆเกิดขึ้น, แต่ใช่ว่าทุกงานศิลปะจะเป็นที่ยอมรับกับบางสังคม ไม่ใช่ทุกประเทศในโลกที่ยอมรับศิลปะเปลือยแบบเปิดเผย เช่นกันกับอุดมการณ์ของไลท์ ฟังดูมันอาจยิ่งใหญ่ แต่เขาเลือกทำให้โลกหมุนรอบตามเขา และยกตัวเองเป็นพระเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ทะยานขึ้นสูงแล้วตกลงต่ำที่สุด ณ เวลาที่พ่ายแพ้ มันจึงไม่มีใครสามารถยอมรับในอุดมการณ์ ตัวตนของตัวเขาได้อีก

ตอนจบของมังงะและอนิเมะ กับฉากในตำนาน ท่าไลท์ว่ายน้ำ นี่เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆนะครับ, ผมมองว่าเป็นการตะเกียกตะกาย ของเปรตตนหนึ่งที่กำลังถูกขุมนรกดึงดูดลงไป พยายามดิ้นเอาตัวรอดขึ้นมา แต่กลับไม่มีใครสนใจที่ช่วยเหลือ หรือเห็นใจ (ส่วนใหญ่สมน้ำหน้า) ปล่อยให้ถูกธรณีสูบ ดับดิ้นไปเช่นนั้นแล เป็นกรรมสนองกรรมโดยแท้

ความตั้งใจของผู้สร้าง Tsugumi Ohba ต้องการจบ Death Note ที่ ไลท์ vs L (แล้ว L ชนะ) แต่เพราะกองบรรณาธิการของ Jump วิงวอน อ้อนขอให้ยืดเรื่องราวออกไป เพราะ Death Note กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง รีบจบไปรังแต่จะเสียโอกาส, Ohba ยอมยืดไปอีกกว่า 50 ตอน ใส่เมลโล่และเนียร์เข้ามาแทน แต่ก็ไม่สามารถสร้างเรื่องราวให้มีความน่าสนใจกับผู้อ่านได้เท่าไหร่ สุดท้ายจึงขอบรรณาธิการ จบเรื่องในที่สุด

ว่าไปผมก็ดู Death Note มาก็หลายฉบับเหมือนกัน ทั้งหมดที่เห็นสร้าง ณ ขณะนี้ ประกอบด้วย
– ฉบับอนิเมชั่นซีรีย์ ความยาว 37 ตอน ออกฉาย 3 ตุลาคม 2006 – 26 มิถุนายน 2007
– ฉบับภาพยนตร์คนแสดง
> Death Note (2006) กำกับโดย Shūsuke Kaneko ออกฉาย 17 มิถุนายน 2006
> Death Note 2: The Last Name (2006) ออกฉาย 28 ตุลาคม 2006
> L: Change the World (2008) ออกฉาย 9 กุมภาพันธ์ 2008
> Death Note: Light Up the New World (2016) ออกฉาย 29 ตุลาคม 2016
> Death Note (2017) ฉบับของอเมริกา ยังไม่มีกำหนดออกฉาย
– ฉบับฉายทางโทรทัศน์
> Death Note (2015) จำนวน 11 ตอน ออกฉาย 5 กรกฎาคม – 13 กันยายน 2015
> Death Note: New Generation (2016) เป็น mini-series ออกฉาย 16 กันยายน – 30 กันยายน 2016
> ฉบับละครเพลง
– Death Note: The Musical (2015) รอบปฐมทัศน์วันที่ 6 เมษายน 2015

ใครเป็นแฟนเดนตายของ Death Note คงดูไม่เบื่อเลย, แต่เท่าที่ดูมาหลายฉบับ สนุกที่สุดคงเป็นต้นฉบับมังงะ แต่งโดย Tsugumi Ohba วาดภาพโดย Takeshi Obata ตีพิมพ์ลงใน Weekly Shōnen Jump ระหว่าง 1 ธันวาคม 2003 – 15 พฤษภาคม 2006 รวมเล่มได้ทั้งหมด 12+1 เล่ม มียอดขาย (ถึงปี 2015) 30 ล้านเล่ม

ส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบเรื่องราวลักษณะนี้เท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านรุนแรงเหมือน Battle Royale (2000) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง, Death Note แฝงความคิดอันน่าทึ่ง เกี่ยวกับอำนาจและวิธีการใช้ ที่ทำให้ผู้ชมตระหนักไว้ในส่วนลึกของหัวใจ

ผมรู้สึกทึ่งและชื่นชมผู้แต่ง Tsugumi Ohba ที่สามารถสร้างเรื่องราว ผูกเรื่องให้ซับซ้อนขนาดนี้ แฝงแนวคิด ปรัชญา จิตวิทยา ได้อย่างน่าทึ่ง และสนุกสนาน, ผมทันตอนมังงะตีพิมพ์นะครับ แต่ตอนนั้นยังไม่เริ่มอ่านมังงะแบบจริงจัง เลยพลาดโอกาสได้พบความตื่นเต้นในแต่ละสัปดาห์ที่ตีพิมพ์ เรื่องราวที่สุดพลิกผัน ไม่มีทางคาดเดาได้ว่าตอนต่อไปจะเป็นยังไง นี่คือมังงะที่สนุกที่สุดเรื่องหนึ่งในศตวรรษนั้นเลย

ถ้าคุณเป็นคนชอบเรื่องราวแนวจิตวิทยา ปรัชญา นักสืบ เรื่องเหนือธรรมชาติ แฝงแนวคิดการใช้ชีวิต ความถูกต้องเหมาะสมถูกผิด และการตัดสินคน ลองหาฉบับไหนมาดูก็ได้ ตามความชื่นชอบส่วนตัวเลย

จัดเรต 15+ กับแนวคิด และความรุนแรงหลายๆอย่างๆ

TAGLINES | “Death Note เป็นเรื่องราวที่แฝงความคิดอันน่าทึ่ง เกี่ยวกับอำนาจและวิธีการใช้ ที่ทำให้ผู้ชมตระหนักไว้ในส่วนลึกของหัวใจ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Fate/Zero (2011-2012)


Fate Zero

Fate/Zero (2011-2012) Anime Series : Ei Aoki ♥♥♥♥♥

สงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ครั้งที่ 4 ของเหล่าจอมเวท กับการอัญเชิญวิญญาณวีรชนผู้กล้ามารับใช้ 7 คน อาทิ กษัตริย์อาเธอร์ (ลงในร่างหญิงสาว) กิลกาเมชแห่งบาบิโลเนีย และอเล็กซานเดอร์มหาราช มาสนทนาในหัวข้อ ‘กษัตริย์คืออะไร?’ ก่อนที่จะทำการรบราฆ่าฟัน มีเพียงหนึ่งเดียวจักได้ครอบครองจอกศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถอธิษฐานขอพรอะไรก็ได้ 1 อย่าง, คออนิเมะซีรีย์ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ซีรีย์ Fate มีชื่อเสียงเริ่มต้นมาจากเกม platform แนว Eroge แบบ Visual novel วางขายบน Windows, PS2 และ PS Vita เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2004 ในชื่อ Fate/stay night, ผู้ให้กำเนิดคือ Kinoko Nasu ที่เริ่มเขียนเรื่องราวนี้ตั้งแต่สมัยเรียน ด้วยความตั้งใจให้เป็นเกมมีชื่อแค่ Fate แต่ไปๆมาๆ คงเพราะเกิดแนวคิดหลายอย่างขึ้นพร้อมๆกัน จึงสร้าง route หรือเส้นทางของเกม ให้แบ่งออกเป็น 3 สาย แล้วตั้งชื่อสร้อยต่อท้ายชื่อ Fate/Stay Night, Unlimited Blade Works และ Heaven’s Feel (เส้นทาง 3 แบบนี้อยู่ในเกมเดียวกันนะครับ เพียงการเลือกกระทำบางอย่าง จะส่งผลให้โครงเรื่องและตอนจบของเกมเปลี่ยนไป)

ในฉบับร่างแรกๆ ตัวเอกของ Fate คือสาวแว่น อัญเชิญ Saber ที่เป็นผู้ชาย เห็นว่ามีการทำเป็น OVA (Original Video Animation) ชื่อ Fate/Prototype ออกมาด้วย ใครยังไม่เคยได้รับชม ลองค้นหาใน Youtube ดูนะครับ เห็นมีซับไทยอยู่ด้วย

หลังจากที่เกม Fate/Stay Night ประสบความสำเร็จ จึงได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมะซีรีย์ โดย Studio Deen กำกับโดย Yuji Yamaguchi เพลงประกอบโดย Kenji Kawai ออกฉาย 6 มกราคม 2006 – 16 มิถุนายน 2006 มีทั้งหมด 24 ตอน ใช้เรื่องราวเส้นทางหลักของ Fate/Stay Night, ตอนออกฉายได้ผลตอบรับดีล้นหลาย จนได้ไฟเขียวสร้างฉบับฉายโรงภาพยนตร์ โดยเปลี่ยนไปเส้นทางของ Unlimited Blade Works ออกฉายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2010

แต่ไม่รู้เกิดความขัดแย้งอะไรกันระหว่าง Studio Deen กับ Type-Moon (ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เกมและ Visual Novel ของ Fate Series) ทำให้ Type-Moon ไปจับมือกับผู้สร้างใหม่ Ufotable ในการสร้างอนิเมะ Fate เรื่องถัดไป

Fate/Zero เริ่มต้นจากเป็น Light Novel เขียนโดย Gen Urobuchi วาดรูปโดย Takashi Takeuchi เรื่องราวถือเป็น prequel เกิดขึ้นก่อนหน้า Fate/stay night 10 ปี วางขายเล่มแรก 29 สิงหาคม 2006 มีทั้งหมด 4 เล่ม ต่อมากลายเป็น Drama CDs และได้รับดัดแปลงเป็นอนิเมะซีรีย์ โดย Ufotable แบ่งฉายแยก 2 core รวมทั้งหมด 25 ตอน
ซีซัน 1 ฉาย 1 ตุลาคม – 24 ธันวาคม 2011
ซีซัน 2 ฉาย 7 เมษายน – 23 มิถุนายน 2012

เรื่องราวของ Fate คือโลกแฟนตาซี ที่จอมเวทย์อาศัยปะปนอยู่กับมนุษย์ เริ่มขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีก่อน เหล่าจอมเวทย์ชั้นสูง 3 ตระกูล Tohsaka, Matou และ Einzbern (รวมเรียกว่า Three Founding Families) ได้ค้นพบ Cup of Heaven หรือ Holy Grail จอกศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่าจะเป็นประตูสู่ Akasha (Spiral of Origin) มิติ/สถานที่/พลังงาน จุดเริ่มต้น/ศูนย์กลาง ของทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาล ทุกความเป็นไปได้, การได้ไปยังสถานที่แห่งนี้ เปรียบเสมือนการได้พบกับพระเจ้าผู้สร้าง ถือเป็นความฝันเป้าหมายสูงสุดของจอมเวทย์ทุกยุคทุกสมัย, แต่การจะเปิดประตูทางไปนี้ออกได้ จำต้องใช้พลังงานมหาศาล 3 ตระกูลผู้ก่อตั้ง จึงได้คิดค้นเกมสงคราม อันประกอบด้วย Master เจ้านาย 7 คน (ที่จอกจะเป็นผู้เลือก) และ Servant คนใช้ (เจ้านายจะเป็นผู้เลือก Summon มา) วิญญาณวีรชนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จัก มีความสามารถมาก เมื่อเสียชีวิตได้มีชื่อฝากไว้ในบัลลังก์เกียรติยศ (Throne of Heroes) กติกาก็แสนง่าย ฆ่ากันให้ตายจนเหลือคนสุดท้าย ก็จะเป็นผู้ครอบครองจอก โดยมีความเชื่อกันว่า ผู้ชนะจะสามารถขอ/ทำอะไรให้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง

สงครามจอกครั้งแรก ประสบความล้มเหลว เพราะเมื่อผู้ชนะเหลือเพียง master และ servant คู่เดียว กลับไม่สามารถทำให้จอกศักดิ์สิทธิ์ทำงานได้ เพราะจอกต้องใช้พลังงานของ servant ทั้ง 7 คน คือ master ที่เหลือคนสุดท้ายต้องฆ่า servant ของตนเอง จึงจะมีสิทธิ์ในจอกศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้เหมือนกัน เอาเป็นว่าล้มเหลว!

สงครามจอกครั้งที่สอง เมื่อ 120-140 ปีก่อน ก็ล้มเหลวเช่นกัน การต่อสู้มีความรุนแรง ขนาดว่า master/servant ตายหมด ไม่มีใครเหลือรอดชีวิต

สงครามจอกครั้งที่สาม เมื่อ 50-60 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่สมาคมเวทย์และโบสถ์ (Holy Church) เข้าร่วมเป็นคนกลาง, ผลลัพท์ครั้งนี้ก็ล้มเหลว เพราะร่างทรง (Container) ถูกทำลายลงก่อน ทำให้ขาดสิ่งที่รอบรับพลังงงานมหาศาลจากจอกศักดิ์สิทธิ์ ผลแพ้ชนะจึงไร้ประโยชน์ (ไม่รู้ด้วยว่าใครชนะ)

Fate/Zero เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ขณะสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์ครั้งที่ 4, การหักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่าง 3 ตระกูลผู้ก่อตั้ง ฉากแอ๊คชั่นการต่อสู้ที่สวยงามตระการตา และบรรดา Servant ทั้งหลายที่อัญเชิญมา ต่างก็มีชีวิตจิตใจ มีนิสัยความยิ่งใหญ่ที่ยอมกันไม่ได้ ใครกันจะเป็นผู้ชนะได้ครอบครองจอก และคำอธิษฐานของเขาจะคืออะไร

ดัดแปลงบทอนิเมะโดย Akira Hiyama และ Akihiro Yoshida, ตอนแรกความยาว 50 นาที เป็นการแนะนำ master ทั้งหลาย และจุดประสงค์ของสงครามจอก ก่อนที่ตอนจบตอนถึงเริ่มมีการอัญเชิญ servant เริ่มต้นเปิดฉากสงครามจอกศักดิ์สิทธิ์, ซีซันแรกเป็นการแนะนำตัวละคร ที่มาที่ไป นิสัยบุคคลิก ให้รู้จักคุ้นเคยกับ master และ servant ต่างๆ มีการต่อสู้เรียกน้ำย่อยกัน 3-4 ครั้ง ไฮไลท์คือการสนทนาระหว่างกษัตริย์ 3 พระองค์ที่ถูกอัญเชิญมา และตอนสุดท้ายของซีซัน กับหนึ่งใน servant ที่ออกอาละวาด แผลงฤทธิ์อำเภอใจ โดยไม่สนอะไร ทำให้บรรดา master/servant คนอื่นๆ จำต้องร่วมมือกำจัด servant เจ้าปัญหาคนนี้ออกนอกเกมการแข่งขันไป, ซีซัน 2 ไม่มีอะไรตัองยั้งอีกแล้ว จัดไป ค่อยๆตามไล่เก็บ master/servant ทีละคน โชว์ของปล่อยพลัง Noble Phantasm (พลังไม้ตายของ servant)

Emiya Kiritsugu (พากย์เสียงโดย Rikiya Koyama) ตัวละครเอกของเรื่อง เป็นตัวแทนของตระกูล Einzbern มาสเตอร์ของ Saber, Kiritsugu เป็นคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ต่อสู้โดยไม่สนใจวิธีการ ศักดิ์ศรี ให้ความสำคัญกับคนหมู่มาก มากกว่าคนกลุ่มน้อย, เขาเป็นจอมเวทย์ที่ไม่ได้มีพลัง (Mana) เยอะนัก จึงใช้เวทมนตร์ของตนผสมกับอาวุธปืน ระเบิด ยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ แม้จะเสียเปรียบเวลาสู้กับจอมเวทย์เก่งๆ แต่ไหวพริบ ปฏิภาณ เทคนิค ลีลา ชั้นเชิง ความสามารถเฉพาะตัวถือว่าโดดเด่น จนได้รับฉายาว่า ‘Magus Killer’ (นักฆ่าจอมเวทย์)

Kotomine Kirei (พากย์เสียงโดย Joji Nakata) ในตอนแรกเป็นมาสเตอร์ของ Assassin ร่วมมือกับ Tohsaka Tokiomi ภายหลังกลายเป็นมาสเตอร์ของ Archer, ตัวตนของ Kirei มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ภายนอกดูเป็นคนสงบนิ่งเยือกเย็น แต่ข้างในกระหายเลือด ชอบการต่อสู้ ความท้าทาย และที่ชอบสุดๆคือ การได้ ‘เห็น’ ทุกสิ่งอย่างล่มสลาย, Kirei ให้ความสนใจ Kiritsugu มาตั้งแต่ครั้งแรก เห็นรูปยังไม่เคยเจอตัวจริง ในใจตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทำไม แต่ภายหลังก็เข้าใจได้ ดั่งสำนวน ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

Tohsaka Tokiomi (พากย์เสียงโดย Shō Hayami) จอมเวทย์หนึ่งใน 3 ตระกูลผู้ก่อตั้ง เป็นมาสเตอร์ของ Archer มีลูกสาวสองคนคือ Tohsaka Rin และ Mato Sakura, Tokiomi เป็นคนหยิ่งยะโสโอหัง ปากว่าตาขยิบ ปากไม่ตรงกับใจ เหมือนจะเป็นคนดี แต่ข้างในใจก็ชั่วช้าต่ำทราม, ในมุมของ Kirei นั้น Tokiomi เป็นคนที่คาดเดาอะไรได้ง่ายเหลือเกิน ไร้ความน่าสนใจ เช่นเดียวกับ Archer ที่ก็เห็น Tokiomi เป็นเหมือนม้าพยศ ที่ตอนนี้ทำตัวอ่อนน้อม แต่พอถึงได้ทีเวลาก็คงไม่ไว้หน้าใคร

ว่าไป Tokiomi ก็คล้ายๆ Kiritsugu นะครับ คือยอมทำทุกอย่างโดยไม่สนวิธีการ แต่เพราะ Tokiomi มีลูกสาว Rin ทำให้เขามีจุดอ่อน ผิดกับ Kiritsugu ที่ไม่เหลือใครอีกแล้ว (ในอนิเมะเราจะได้เห็น Flashback เล่าความเป็นมาของ Kiritsugu ด้วย อยู่ครึ่งหลัง) นี่ทำให้ Kirei สนใจ Kiritsugu มากกว่า Tokiomi

ตัวละครหลักๆฝ่ายมนุษย์ก็มี 3 คนนี้ที่น่าสนใจนะครับ ขอข้ามไป Servant เลยดีกว่า, Servant คือข้ารับใช้ที่เกิดจากการเรียกตัว (Summon) ของจอมเวทย์ ต้องเป็นวิญญาณที่อยู่ในบัลลังก์เกียรติยศ (Throne of Heroes) และมีสิ่งยึดติด ปล่อยวางจากโลกยังไม่ได้, วิญญาณวีรชนเหล่านี้ อาจเป็นมหาบุรุษ นักรบ กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงในอดีต หรือบุคคลในตำนาน ไม่ได้มีอยู่จริง ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ก็สามารถก่อเกิดตัวตน วิญญาณในบัลลังก์เกียรติยศได้

Saber นักดาบ (พากย์โดย Ayako Kawasumi) อัญเชิญโดย Emiya Kiritsugu พื้นหลังเป็นกษัตริย์อาเธอร์ เพนแดรกอน (Arthur Pendragon) ปกครองหมู่เกาะประเทศอังกฤษ ได้รับฉายาว่า King of Knights, ในอนิเมะ Saber เป็นผู้หญิง -ก็ทำใจในความสมจริงนิดนึงนะครับ ตอนที่ Nasu สร้าง Fate ครั้งแรก Saber ที่เป็นกษัตริย์อาเธอร์ก็เป็นผู้ชาย แต่นั่นเพราะตัวเอกเป็นผู้หญิง ซึ่ง Nasu ต้องการให้ตัวละครคู่หลักใน Fate เป็น ชายหนุ่ม-หญิงสาว ซึ่งเมื่อเปลี่ยนให้ตัวละครนำเป็นผู้ชาย ก็เลยจำใจเปลี่ยนกษัตริย์อาเธอร์ให้กลายเป็นผู้หญิงแทน, เพราะความน่ารักน่าชังของในรูปลักษณ์ของ Saber ที่ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ยอมรับและฟินไปกับเธอได้ ถ้าคุณเพิ่งเริ่มดูอนิเมะเรื่องนี้ ก็ทนดูต่อไปอีกนิด คิดเสียว่าเป็นอวตารกษัตริย์อาเธอร์จากอีกจักรวาล ที่เป็นผู้หญิง ก็น่าจะพอรับได้นะ- Saber เป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ ศักดิ์ศรี และมีความเย่อหยิ่งทะนงตน, กษัตริย์ในความหมายของเธอ คือทำเพื่อประชาชน แม้สละชีพก็ไม่เสียดาย เหตุผลที่เข้าร่วมสงครามจอก ก็เพื่อต้องการแก้ไขอะไรบางสิ่งบางอย่างในอดีต จากความผิดพลาดที่ตนเคยก่อไว้ นี่ก็เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับของประเทศตน (แม้ว่าอาณาจักรที่ปกครองเมื่อครั้นกาลก่อนจะจบสิ้นลงไปนานแล้ว แต่ก็ยังวาดฝันความต้องการนั้นเอาไว้)

การจับเอา Saber มาคู่กับ Kiritsugu เจ้านายที่ไร้ศักดิ์ศรี อุดมการณ์ สนแต่เป้าหมาย ถือว่าเป็นคู่ที่หลายๆอย่างตรงข้ามกัน จะไม่ชอบหน้ากันก็ไม่แปลก แต่เพราะภรรยาของ Kiritsugu คือ Irisviel von Einzbern ที่มีความอ่อนโยน อ่อนไหว เข้าร่วมสงครามเพราะเป็นหน้าที่ของวงศ์ตระกูล, Saber เชื่อใน Irisviel และ Irisviel เชื่อใน Kiritsugu ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ Saber ต้องเชื่อใน Kiritsugu ก็สามารถทำงานร่วมกันได้, Noble Phantasm พลังที่สุดของ Saber คือ ดาบ Excalibur ที่รวมพลังจากดวงวิญญาณทุกสรรพสิ่งชีวิตในโลก มีพลังทำลายล้างขจัดความมืดให้สูญสิ้นไป

Archer นักธนู (พากย์โดย Tomokazu Seki) อัญเชิญโดย Tohsaka Tokiomi พื้นหลังคือ กิลกาเมช (Gilgamesh) กษัตริย์ในตำนานแห่งนครอุรุค (Uruk) อาณาจักรบาบิโลน (Babylon) เชื่อว่าเคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล, Gilgamesh ได้รับฉายาว่า King of Heroes เป็นกษัตริย์ที่เก่าแกที่สุดที่ประวัติศาสตร์โลกได้บันทึกไว้ และความที่ Babylon ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคก่อน Gilgamesh จึงถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างในโลก, นิสัยของพระองค์ เย่อเยิ่ง ทะนงตนเป็นที่สุด ไม่เคยก้มหัวให้ใคร ชอบพูดประมาณว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้เป็นของข้าทั้งหมด, นิยาม ‘กษัตริย์’ คือ ตนเองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เก่งกาจ เกรียงไกรที่สุด ไม่มีใครเสมอเท่า เหตุที่เข้าร่วมสงครามจอก ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แค่อยากเห็นอะไรแก้เบื่อ ค้นหาสิ่งต่างๆที่ควรค่าเก็บสะสมในคลังสมบัติของตน

Gilgamesh กับ Tokiomi เป็นเหมือน เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ มีความหวาดระแวง ต้องหาทางฆ่ากันให้ตายไปข้าง แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น Kirei ทั้งสองมีความสนใจซึ่งกันและกัน (ก็ไม่เชิง เสือตัวผู้ตัวเมียนะ), เพราะ Gilgamesh อยู่ว่างๆไม่ทำอะไร จึงชอบ ‘มอง’ ค้นหาอะไรที่น่าสนใจ ซึ่งสิ่งที่ Kirei แสดงออกมา เป็นอะไรที่ Gilgamesh ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเกิดความสนใจ อยากรู้ว่ามันจะมีอะไรที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นต่อไป,  Noble Phantasm ของ Gilgamesh คือ Enuma Elish ที่เป็นกุญแจไข Gate of Babylon มีพลังเทียบเท่าอาวุธทุกชิ้นที่มีอยู่ในท้องพระคลังรวมกัน ทุกชิ้นคือของจริงไม่มีของปลอม ทำจากทองแท้ มีความสวยงามเป็นเลิศ

อีกหนึ่งกษัตริย์ที่ต้องพูดถึงคือ Raider นักขับราชรถ (พากย์โดย Ohtsuka Akio) อัญเชิญโดย Waver Velvet เด็กหนุ่มนักเวทย์ฝึกหัดที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง ว่าสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ พื้นหลังของ Raider คือ อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great/Iskander) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวกรีก ได้รับฉายาว่า King of Conquerors, Raider เป็นคนใจกว้าง มากสหาย ไม่เย่อหยิ่งถือตัว เชื่อมั่นในชัยชนะ ชื่อเสียง เกียรติยศ, นิยาม ‘กษัตริย์’ คือ โลภและใจกว้าง เมื่อได้ทุกสิ่งทุกอย่างก็จักแบ่งปันทุกสิ่งทุกอย่าง เหตุผลที่เข้าร่วมสงครามจอก ก็เพื่อครอบครองทุกสิ่งอย่าง

Raider ออกแบบให้เป็นคนตัวสูงใหญ่ มีพละกำลังมาก (และบ้าพลัง) ตรงข้ามกับผู้อัญเชิญ Velvet ที่เป็นหนุ่มน้อยหน่อมแน้ม ดูแล้วไร้พิษสง, คู่นี้ถือเป็นไฮไลท์ที่ชื่นชอบของผู้ชมมากที่สุด เพราะพัฒนาการของ Velvet จากที่กล้าๆ กลัวๆ ขลาดเขลา ได้พบสหายรัก ต้นแบบ และกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ได้เปลี่ยนทัศนะของตนเอง และทำให้เติบโตขึ้นเป็นผู้กล้า กลายเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว, Noble Phantasm ของ Raider คือ Ionioi Hetairoi ที่ได้สร้างโลกมิติจำลองขึ้น ท่ามกลางทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาล พร้อมกับเหล่านักรบร่วมสาบานเรือนหมื่นแสนล้าน ผู้ยอมพลีชีพถวายกายให้กับกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของตน

กับ Raider มีขณะหนึ่งที่ผมชอบมาก คือตอนที่ซื้อแผนที่แล้วถาม Velvet ว่า ประเทศญี่ปุ่นอยู่ตรงไหน แล้วตอนสมัยของตนยึดครองโลกได้มากแค่ไหน… เมื่อพบว่ามันเล็กกระจิดริด ก็หัวเราะลั่น ทั่งชีวิตฉัน ทำได้แค่นั้นเองเหรอ!

Fate เป็นอนิเมะที่มีตัวละครเยอะมาก และเกลี่ยความสำคัญไปได้ทั่วทั้งหมดเลย คือผมก็อยากเขียนทั้งหมดนะครับ แต่คงจะใช้เวลาหลายวันแน่ ผมเลยขอเลือกแค่ 3 กษัตริย์ใหญ่ ที่ถือเป็น Great King และถือเป็นตัวละครสำคัญของ Fate มาเล่าแค่นี้พอนะครับ

สำหรับ Servant อื่นๆ ที่ต้องมี 7 คลาส Saber, Archer, Lancer, Rider, Assassin, Caster, Berserker เปรียบได้กับประเภทของนักรบในกระดานสงคราม จริงๆมีประเภทอื่นเยอะกว่านี้ แต่แค่นี้ในอนิเมะเรื่องหนึ่งก็เยอะเกินไปแล้ว

งานภาพ โทนสี บรรยากาศ ต้องบอกว่าทำออกมาได้ความรู้สึกจริงจัง เข้มข้น ขึงขัง เน้นสีเข้มเย็นโดยเฉพาะดำ/น้ำตาล (เรื่องราวส่วนใหญ่จะตอนกลางคืน) ตัดเส้นจะบางๆแต่มีความแหลมคมชัด แววตาสะท้อนตัวตน คิ้วที่จริงจัง นี่เป็นอนิเมะที่มีความหนักอึ้ง ดูแล้วเครียด อึดอัด ปวดหัว แต่สนุกพิลึก หยุดดูไม่ได้, ลายเส้นอนิเมะของ Ufotable นับตั้งแต่ Kara no Kyoukai ก็คงลักษณะจริงจังสไตล์นี้ไว้ไม่เปลี่ยนเลย ต้องถือว่านี่เป็นการยกระดับคุณภาพของอนิเมะขึ้นอย่างเยอะ จนเทียบขั้นได้กับ Blockbuster ของอนิเมะแล้วนะครับ

การออกแบบตัวละคร ทำออกมาได้สะท้อนบุคคลิก นิสัย จิตวิทยาได้เป็นอย่างดี, สำหรับ Saber ได้กลายเป็น mascot ตัวละครในตำนานของแฟนไชร์ Fate ไปแล้ว ใครไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นนี่เชยสุดๆ เพราะความน่ารักจิ้มลิ้ม และความจริงจังที่มักถูกแกล้งอยู่เสมอ ทำให้เธอได้รับการโหวตติดอันดับ TOP10 ตัวละครอนิเมชั่นหญิงของนิตยสาร New Type มาต่อเนื่องไม่รู้กี่ปีแล้ว ยังไม่ยอมตกบัลลังก์เสียที แถมตอนแฟนไชร์ Fate ภาคใหม่ๆ ฉายเมื่อไหร่ เธอก็มักจะไต่ขึ้นอันดับ 1 อยู่เรื่อยไป โอตาคุแทบจะทุกคนที่ญี่ปุ่น ต้องมีฟิกเกอร์ของ Saber อยู่ในครอบครอง

ทีมพากย์ชุดนี้ถือว่ามืออาชีพมากๆ หลายคนร่วมงานกันมาตั้งแต่เกมปี 2004 อาทิ นักพากย์ Saber/Archer/Kotomine Kirei สามคนนี้ปรากฎตัวใน Fate/Stay Night ด้วยนะครับ ถือว่าเป็นตัวละครหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อไคลน์แม็กซ์ของเรื่อง, ไฮไลท์การพากย์คือ Ohtsuka Akio ในบท Raider ลุงคนนี้มักได้พากย์ตัวละครเจ๋งๆทั้งนั้น อาทิ Blackbeard (One Piece), Batou (Ghost in the Shell), Wamuu (JoJo’s Bizarre Adventure) ฯ กับเสียงตอนตะโกน Ionioi Hetairoi ยิ่งใหญ่ได้ใจจริงๆ

เพลงประกอบโดย Yuki Kajiura (SAO, Madoka, .hack//Sign, Kara no Kyoukai) เธอคือหนึ่งในคอมโพเซอร์อนิเมะที่เก่งที่สุดในญี่ปุ่น, Fate เป็นอนิเมะที่มีความอลังการในเรื่องราวมากๆ เพลงประกอบจึงใช้ Orchestra เต็มวงชุดใหญ่แบบจัดเต็ม แถมด้วยเสียงร้อง Chorus ที่ทำให้คุณขนลุกในความยิ่งใหญ่ ลองไปฟัง Point Zero เพลง Main Theme ประกอบอนิเมะเรื่องนี้ นี่เป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิกสุดโปรดของผมเลยนะครับ

สำหรับเพลง op/ed บอกตามตรงเลือกไม่ถูกว่าจะหยิบเพลงไหนมาให้ฟัง ชอบ เพราะทุกเพลง, กับคออนิเมะญี่ปุ่น 5 เพลงของเรื่องนี้ ล้วนมาจากขาประจำนักร้องเพลง op/ed ที่ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ ย่อมต้องรู้จักทั้งหมดนะครับ
– OP1: Oath Sign ร้องโดย LiSA
– ED1: Memoria ร้องโดย Aoi Eir
– OP2: To the Beginning ร้องโดย Kalafina
– ED2: Up On the Sky, The Wind Sings ร้องโดย Luna Haruna
– ED3: (ตอน 18-19) Perfect Sky ร้องโดย Kalafina

ถ้าจำไม่ผิดนี่น่าจะเป็นอนิเมะซีรีย์เรื่องแรกที่ผมไม่เคยกระโดดข้าม op/ed สักตอน, ผมขอเลือก Memoria ของ Aoi Eir มาให้ชมแล้วกันนะครับ นี่เป็น Ending ของซีรีย์ Fate ที่ผมชอบมากที่สุดด้วย กับ servant ทั้ง 7 เปรียบดั่งตัวหมากรุก ที่ใช้สู้ในกระดานสงคราม และภาพอดีตของวีรชนทั้งหลาย (ชอบภาพ Alexander และ Gilgamesh เป็นการส่วนตัว)

ในแฟนไชร์ Fate ตอนที่ผมคิดจะดูอนิเมะเรื่องนี้ มาจากเสียงล่ำลือในกิตติศัพท์อันยิ่งใหญ่เมื่อตอน Fate/Zero เพิ่งฉายจบหมาดๆ ก็ลองค้นข้อมูลก่อนดู พบว่ามี Fate/Stay Night ฉบับปี 2006 และ Fate/Zero ที่เป็น prequel แทบไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมตัดสินใจหยิบ Fate/Zero ขึ้นมาดูก่อน เพราะต้องการเรียงลำดับเวลาของเนื้อเรื่อง ซึ่งก็อึ้งทึ่งไปเลย กลายเป็นอนิเมะซีรีย์เรื่องโปรดไปโดยทันที, หลังจากดู Fate/Zero จบก็ตามด้วย Fate/Stay Night ที่ทำเอากุมขมับ อะไรกัน มันคนละอารมณ์เลย เหมือน modern vs classic แต่ก็ทนดูไปเรื่อยๆเพราะอยากรู้ตอนจบ โดยรวม Fate ฉบับนั้นไม่ประทับใจเท่าไหร่ (ยกเว้นเพลงประกอบ)

ถ้าเทียบ Fate/Stay Night (2006) กับ Fate/stay night Unlimited Blade Works (2014) ก็แน่ละ คนที่เพิ่งเริ่มดู Fate Series ย่อมชอบภาคหลังมากกว่า เพราะคือภาคต่อที่สร้างโดย Ufotable สตูดิโอเดียวกัน ซึ่งมีบรรยากาศ ความต่อเนื่อง งานภาพ อะไรหลายๆอย่างเหมือนกัน เข้ากันได้ ลงตัว สมเหตุสมผลขึ้น, กระนั้นมันก็แล้วแต่รสนิยมของคุณนะครับ จริงอยู่โดยรวมผมชอบ UBW มากกว่า แต่เพลงประกอบฉบับ 2006 เพราะกว่ามาก (มีหลายเพลงของ Fate/Stay Night ฉบับ 2006ที่ผมยังฟังอยู่ แต่ UBW ลบทิ้งไปแล้ว)

ตอนที่ผมชอบที่สุดใน Fate/Zero คือขณะล้อมวงสนทนาชนเหล้าของ 3 กษัตริย์ ในหัวข้อ ‘กษัตริย์คือใคร?’ -นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมจัดอนิเมะเรื่องนี้ ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’ ด้วยนะครับ- กษัตริย์แต่ละพระองค์ก็จะมีนิยาม ความเชื่อ ในพื้นฐานอุดมการณ์ที่ต่างกันสิ้นเชิง, ขณะที่ผมดูตอนนี้ครั้งแรก นี่เป็นตอนที่ผมขนลุก และกลายเป็นอนิเมะเรื่องโปรดโดยทันที กับการสนทนาเชิงปรัชญา ที่ถ่ายทอดจิตวิทยาของผู้นำทั้งสามออกมา นี่ทำให้เห็นว่า ยุคสมัยของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ทัศนคติของคนในยุคต่างๆ 3 ยุค (Gilgamesh แทนยุคเก่า, Alexander แทนยุคกลาง, King Arthur แทนยุคใหม่) ตอนนี้ตอนเดียว อธิบายมุมมอง แนวคิดประวัติศาสตร์ของโลกได้ครบถ้วน สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว

ตอนจบเกิดอะไรขึ้นกับ Kiritsugu ผมละไม่อยากสปอยเลย เอาว่าถ้าคุณไม่อยากรู้ก็ข้ามไปเองนะครับ … ด้วยอุดมการณ์ในสันดานของ Kiritsugu มนุษย์แบ่งออกเป็นสองกลุ่มซ้ายขวา เหมือนเรือสองลำ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นพร้อมกัน ลำหนึ่งมีคน 300 อีกลำมีคน 400 คำตอบที่ Kiritsugu จะเลือกช่วย ถ้าได้แค่ลำเดียวคือที่บรรทุกคนมากกว่า นี่เป็นแนวคิดที่เขาจดจำฝังใจมาตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถเปลี่ยนได้, ขณะที่สงครามจอกใกล้จบสิ้น ประตูทางเข้า Akasha เปิดออก พระเจ้าผู้สร้าง/พลังงานมหาศาลที่อวตารลงมาในร่างของ Irisviel ได้นำเสนอสิ่งที่อยู่ในก้นเบื้องจิตใจของ Kiritsugu เปิดเผยออกมา มันทำให้เขาค้นพบตัวเองว่า นี่ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ถ้าต้องเลือกระหว่างคน 400 ไม่ใช่ 300 แบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ, เมื่ออุดมการณ์ขัดแย้งกับความต้องการของจิตใจ นั่นทำให้เขาสูญเสียทุกสิ่งอย่าง สิ้นหวัง หมดหวัง ไม่สามารถหาทางออกได้ การตัดสินใจทำลายจอก ก็เพื่อทำให้เกิดความหวัง แต่ผลลัพท์ของการกระทำนั้น ได้ก่อให้เกิดหายนะในวงกว้าง นี่ทำให้ Kiritsugu อยู่ในอาการช็อค เพราะทุกสิ่งอย่างที่เคยเชื่อมา ทำมา โน้มน้าวใจตัวเองมา มันเป็นสิ่งที่ผิดหมด, เขาออกเดิน ในร่างไร้วิญญาณ มองหา ‘ความหวัง’ ของตนเองอีกครั้ง และเมื่อนั้นได้พบกับ Emiya เด็กชายหนึ่งเดียวผู้รอดชีวิต ที่จักกลายเป็นตัวละครหลักต่อไปใน Fate/Stay Night เด็กคนนี้ช่วยชีวิตเขาไว้ เพราะถ้าหาใครไม่เจอ Kiritsugu คงจมอยู่ในนรกของจิตใจ ที่กักขังจองจำเขาไว้ ให้กลายเป็นบ้า หรือไม่ก็ตายแบบหมาข้างถนน

Fate แปลว่า โชคชะตา, ตัวละครในอนิเมะ ถือว่ามีความผูกพันธ์ เกี่ยวเนื่อง สัมผัสกันอย่างลึกซึ้ง master/servant มักจะมีลักษณะตรงกันข้ามหรือเติมเต็มซึ่งกันและกัน การต่อสู้เข้าร่วมสงครามจอกก็เพื่อความต้องการบางอย่าง ชดใช้บางสิ่ง, เปลี่ยนแปลงโชคชะตา, เติมเต็มเป้าหมายที่ล้มเหลวชีวิต ฯ บรรดา servant ทั้งหลายในซีรีย์ Fate ต่างเป็นวีรบุรุษที่มีกรรม ไม่สามารถตัดขาดจากโลกได้ (เพราะถ้าตัดขาดได้ ก้จะไปสู่สุขคติ ไม่กลายเป็นวีรชน ย้อนกลับมาให้อัญเชิญได้อีก) การได้เป็นผู้ชนะครอบครองจอกศักดิ์สิทธิ์ จักถือว่ามีสิทธิ์ทำให้โชคชะตาของตนเปลี่ยนไปได้

แต่โชคชะตามักเล่นตลกกับผู้แพ้เสมอ อะไรๆที่วีรชนบางคนเคยได้รับ เกิดขึ้นตอนยังมีชีวิตอยู่ อย่าง Lancer, Caster สิ่งเหล่านั้นกลับยังเกิดขึ้นอีกในการอัญเชิญครั้งนี้, น่าสงสารและน่าเศร้าใจ แต่มีผู้ชนะต้องมีผู้แพ้ พวกเขาคือวีรชนผู้แพ้ ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรโลกต่อไปอีกยาวนาน

สำหรับ Fate/Zero คำว่า Zero แปลว่า ศูนย์, ไม่มี หรือการเริ่มต้นใหม่ ในอนิเมะนี่มี 2 ความหมาย
1) เดิมนั้นซีรีย์ Fate เรื่องแรกที่สร้างขึ้นมาก่อนคือ Fate/Stay Night กับอนิเมะภาคก่อน (prequel) ใช้ชื่อว่า Zero จึงหมายถึงภาคที่เกิดก่อน
2) Zero คือการเริ่มต้นจากจุดจบ เหมือนดังที่ Kiritsugu ตัดสินใจทำตอนท้าย ทำลายเพื่อให้ทุกอย่างศูนย์สลาย กลับไปเริ่มต้นนับ 1 ใหม่

แนะนำกับคนรักอนิเมชั่น ถ้าคุณพลาดเรื่องนี้ไป จะเรียกตนเองว่าคออนิเมะได้ยังไง!, คนชื่นชอบเกม Fate Series, คออนิเมะแนว(ดาร์ก)แฟนตาซี, ทริลเลอร์, ฉากต่อสู้อลังการ, แฝงปรัชญา แนวคิด และจิตวิทยาตัวละคร, ผู้ชื่นชอบในสตูดิโอ Ufo และ Gen Urobuchi ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความรุนแรงและแนวคิด

TAGLINES | “Fate/Zero จัดเต็มทั้งงานภาพ อนิเมชั่น เสียงพากย์ เพลงประกอบ Action, Thriller, (Dark) Fantasy แฝงปรัชญา แนวคิด และจิตวิทยาตัวละคร ถือเป็น Fate Series ที่สมบูรณ์แบบ ลงตัวที่สุด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE

Astro Boy (1963)


Astro Boy

Astro Boy (1963) Japanese Anime Series : Osamu Tezuka ♥♥♥♡

(mini Review) เจ้าหนูปรมาณู เป็นอนิเมะซีรีย์ที่ใครๆมักคิดว่า สร้างฉายเป็นเรื่องแรกของญี่ปุ่น แท้จริงเป็นลำดับที่ 2 (อนิเมะซีรีย์เรื่องแรกของญี่ปุ่นคือ Instant History) แต่เป็นเรื่องแรกที่เป็นอนิเมชั่นทั้งเรื่องฉายทีวีญี่ปุ่น, สร้างโดย Osamu Tezuka ผู้ได้รับฉายา ‘พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น’ ความสุดยอดของอนิเมะไซไฟเรื่องนี้ ที่แม้ไม่ได้มีงานสวยงามสมจริงเทียบเท่าปัจจุบัน แต่มีความ cinematic ในระดับที่โคตรเหนือชั้นมากๆ ลองดูแค่ตอนสองตอนก็จะอึ้งจนพูดไม่ออกเลยละ

ผมจะขอเล่าให้ฟังแบบสรุปย่อๆนะครับ เพราะส่วนตัวผมก็ยังไม่สามารถดูซีรีย์นี้จนจบได้ Original ของซีรีย์นี้หาดูยากมาก ช่องทางปกติหาชมได้ไม่กี่ตอนเท่านั้น ซึ่งถ้าอยากดูทั้งหมด ผมเห็นใน Amazon/Hulu ที่ต้องเสียเงินซื้อ/เช่า ดูออนไลน์นะครับ ใครกระเป๋าเงินหนา ดูจาก Youtube สัก 2-3 ตอนแล้วชื่นชอบ สอยมาครอบครองเองได้เลย

Osamu Tezuka (1928-1989) เป็นศิลปิน นักเขียนการ์ตูน อนิเมชั่น โปรดิวเซอร์ เป็นหมอและนัก activist เกิดที่ Osaka เป็นผู้บุกเบิกเทคนิค สร้าง และให้คำนิยามประเภทอนิเมชั่นขึ้นใหม่ จนได้รับฉายาว่า ‘บิดาแห่งมังงะ’ บ้างเรียกว่า ‘พ่อทูนหัวของมังงะ’ และที่สุดคือ ‘พระเจ้าแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น’, ความยิ่งใหญ่ของ Tezuka ได้รับการยกย่องเปรียบเทียบเท่ากับนาย Walt Disney ของ Hollywood ที่เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ มีอิทธิพล และเป็นแรงบันดาลใจให้ Tezuka กลายเป็นนักวาดการ์ตูนผู้โด่งดัง

เริ่มต้นจากนักวาดการ์ตูน 鉄腕アトム (Tetsuwan Atomu?) หรือที่แปลว่า Mighty Atom เริ่มเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1952 จนถึงปี 1968 ตีพิมพ์ลงใน Shōnen Kobunsha รายสัปดาห์ รวมได้ 23 เล่ม เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ Android หุ่นยนต์เด็กที่ชื่อ Atom (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษจะใช้ชื่อ Astro) แต่ละตอนเป็นเรื่องราวการทดสอบพละกำลังและความกล้าหาญ เมื่อต้องพบกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดจากพฤติกรรมอันผิดมนุษย์มนา ของทั้งมนุษย์ หุ่นยนต์ สรรพสัตว์ เอเลี่ยนต่างดาว ฯ เป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างความดี ความชั่ว โดยมีคุณธรรมความถูกต้องเป็นเครื่องชี้นำตัดสิน

สำหรับอนิเมชั่น Astro Boy ได้รับการดัดแปลงและเริ่มต้นฉายในช่อง Fuji TV เมื่อวันปีใหม่ 1 มกราคมปี 1963 ถือได้ว่าเป็นอนิเมชั่นซีรีย์เรื่องแรกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น และเป็นเรื่องแรกที่ส่งฉายต่างประเทศทั่วโลก, ฉายต่อเนื่องยาวนานถึง 4 ปี ทั้งหมด 193 ตอน โดยตอนสุดท้ายฉายในวันสิ้นปี 31 ธันวาคมปี 1966 ได้เรตติ้งสูงถึง 40% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดของญี่ปุ่นที่มีโทรทัศน์ขณะนั้น

สไตล์ของ Tezuka ด้วยข้อจำกัดมากมายในการสร้างอนิเมชั่นสมัยนั้น ทั้งเงินทุนและระยะเวลาการสร้าง เขาจึงต้องลดปริมาณงานให้น้อยที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราว รายละเอียดที่ครบถ้วน วิธีที่เขาใช้ได้กลายเป็นสไตล์ ลายเซ็นต์ส่วนตัวที่มีอิทธิพลมากๆต่อคนทำอนิเมชั่นยุคถัดมา นั่นคือ ฉากการต่อสู้ แทนที่จะต้องวาดรายละเอียดทั้งหมด หรืออนิเมชั่นการเคลื่อนไหวที่สมจริง เขาใช้การวาดเฉพาะ Key Animation แล้วนำมาเรียงต่อๆกันโดยไม่ทำอนิเมชั่น, ใช่แล้วครับนี่เป็นวิธีที่บ้ามากๆ ผมคงไม่สามารถอธิบายอะไรให้เห็นภาพได้มากกว่านี้ แต่อยากให้ลองหาอนิเมะเรื่องนี้ (จาก Youtube) มาดู เอาแค่ตอนที่ 1 และ 2 ของซีรีย์ก็พอนะครับ แล้วคุณจะเข้าใจแบบหมดเปลือกทันทีเลยว่า ที่ผมพูดนี้หมายถึงอะไร

ตอนผมเห็นฉากต่อสู้ใน Astro Boy ครั้งแรกๆ แบบว่าอ้าปากค้างเลย เห้ย! เอากันแบบนี้เลยเหรอ! คิดวิเคราะห์หาเหตุผลก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมถึงทำแบบนี้ นี่ทำให้การสร้าง 193 ตอนฉายต่อเนื่อง กลายเป็นเรื่องชิวๆเลย เชื่อว่าบางคนที่ดูแล้วชอบมากคงจะคลั่งไปเลย มิน่าละ Tezuka ถึงถูกเทิดทูนเหนือหัว ยกย่องให้กลายเป็น ‘พระเจ้า’ แต่กระนั้นคงมีอีกเยอะที่ไม่เข้าใจว่าฉันกำลังดูอะไรอยู่ ถ้าคุณเป็นพวกหลัง ผมแนะนำให้ไปเก็บประสบการณ์ดูหนัง/อนิเมะเพิ่ม ให้เยอะๆเสียก่อนนะครับ เพราะวิธีเดียวที่คุณจะสามารถเข้าใจ ชื่นชม สัมผัสความสุดยอดของ Astro Boy ได้ นั่นคือการให้ภาพและเรื่องราวมันซึมซาบผ่านผิวหนังเข้ามา ใช้ตาดูอย่างเดียวไม่รู้เรื่องแน่ ใช้สมองคิดตามอาจประมวลผลไม่ทัน ต้องใช้จิตใจรับสัมผัสเข้ามาผ่านผิวหนังความรู้สึกเท่านั้น

กระนั้น Astro Boy ก็ไม่ใช่อนิเมะที่สมบูรณ์แบบนะครับ พอคุณดูไปเรื่อยๆสัก 10-20 ตอน จะเริ่มจับ pattern ของเรื่องราวได้ นั่นจะทำให้คุณรู้สึก ‘เบื่อ’ ขึ้นมาทันที ผมมาตกม้าตายเอาตอนประมาณ 20-30 เพราะ Astro Boy เป็นเด็กที่ดีเกินไป และตัวร้ายก็วนเวียนในลักษณะเดิมๆ ใจความของแต่ละตอนก็ไปไม่ไกลเกินกว่าที่จะมีอะไรตื่นเต้นให้เราลุ้นระทึกได้มาก, ถ้าคุณตั้งใจจะซื้อหรือเช่าซีรีย์นี้มาดู แนะนำให้สอยมาทีละ Seasons นะครับ ไม่ต้องโลภมากเหมาหมดมาตั้งแต่ครั้งแรก เพราะคุณอาจดูไม่ทันจบก็เบื่อเลิกกลางคันเสียก่อน

Astro Boy ได้รับการสร้างใหม่หลายครั้งมาก ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นอื่นมาก่อนเลยนะครับ และไม่คิดจะดูด้วย เพราะหลังจากได้เสพย์ Original มาก็รู้สึกว่า เวอร์ชั่นอื่นไม่ควรค่ากับการเสียเวลาแม้แต่น้อย แม้งานภาพหรืออนิเมชั่น อะไรๆจะดีขึ้น แต่รสสัมผัส เทคนิค การเล่าเรื่อง นี่เป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของ Tezuka ไม่มีทางที่ใครจะสามารถลอกเลียนแบบได้ (เหมือนคุณกินอาหารจากโรงแรม 5 ดาว โคตรอร่อย แล้วมื้อถัดไปกินร้านอาหารข้างทาง รสชาติสุดห่วย แบบนี้จะไปทนกินได้ยังไง)

แนะนำอย่างยิ่งกับคออนิเมะทุกคน ให้พบกับตำนานที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Anime Series โดยผู้กำกับระดับพระเจ้าสร้าง Osamu Tezuka

จัดเรตทั่วไป แต่ระดับความสามารถในการดูที่ Intermediate เด็กๆและคนติดอนิเมะซีรีย์สมัยนี้อาจดูไม่รู้เรื่อง

TAGLINE | “Astro Boy อนิเมะซีรีย์โดยพระเจ้าสร้าง Osamu Tezuka ที่มีความ cinematic ในระดับที่โคตรเหนือชั้นมากๆ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Shirobako


shirobako

Shirobako (2014-2015) Japanese Anime Series : Tsutomu Mizushima ♥♥♥♥

บางทีอนิเมะที่ดูธรรมดาๆ ไม่น่าจะมีอะไร กลับสามารถสร้างเรื่องราวที่สะท้อนชีวิต ก้าวเดินตามความฝัน ออกมาได้อย่างสวยสดงดงาม, ถ้าคุณเป็นคออนิเมะ อยากรู้ว่าที่ญี่ปุ่นงานสร้างเป็นยังไง ยุ่งยาก วุ่นวายแค่ไหน ต้องดูอนิเมะซีรีย์เรื่องนี้

ตอนที่อนิเมะเรื่องนี้ฉาย บอกตามตรงผมก็ไม่ได้รู้สึกสนใจอยากติดตามสักเท่าไหร่ หน้าหนังก็ดูไม่น่าสนใจ (ผมไม่ใช่พวกคลั่งไคล้งานของ P.A.Works มากขนาดต้องติดตามทุกเรื่อง) แต่เพราะกระแสที่ถือว่าแรงใช้ได้ใน pantip และช่วงปลายปี อนิเมะได้รางวัลอะไรสักอย่างเป็นข่าวดัง ทำให้ผมตัดสินลองหามาดู ก็พบว่า สร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างมาก นี่เป็นอนิเมะที่ดีเกินคาด แม้คุณภาพของงานจะอยู่ในระดับกลางๆทั่วๆไป แต่เรื่องราวและพื้นหลังของอนิเมะ เป็นอะไรที่ ถ้าคุณเป็นคนรักอนิเมชั่น พลาดดูซีรีย์เรื่องนี้ ก็เสียชาติเกิดแล้ว

P.A.Works ถือว่าเป็นสตูดิโอน้องใหม่ ก่อตั้งโดย Kenji Horikawa ที่เคยทำงานกับ Tatsunoko Production, Production I.G. และ Bee Train ก่อนมาเปิดสตูดิโอของตนเองเมื่อปี 2000 สำนักงานหลักตั้งอยู่ที่ Toyama แต่ทีมงานโปรดักชั่นและผู้กำกับมี Office อยู่ที่ Tokyo, อนิเมะเรื่องแรกของสตูดิโอคือ True Tears ออกฉายมกราคมปี 2008 นับจากนั้นทุกๆปีจะมีอนิเมะของค่ายนี้ออกมาสม่ำเสมอปีละ 1-2 เรื่อง, งานของค่ายนี้ต้องบอกว่า การันตีคุณภาพระดับหนึ่ง มีจุดเด่นที่เรื่องราวมีแนวคิดสร้างสรรค์ ไม่ซ้ำรูปแบบกับค่ายไหน บางเรื่องภาพสวย บางเรื่องเพลงเพราะ ผลงานเด่นๆดังๆ อาทิ Canaan (2009), Angel Beats! (2010), Hanasaku Iroha (2011), Another (2012) ฯ, ดูจากเครดิตอนิเมะของ P.A.Works ถึงจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่แฟนของค่ายนี้ แต่โดยไม่รู้ตัวเคยดูมาเกือบหมดทุกเรื่องแล้ว และส่วนใหญ่จะดูจบ (กับอนิเมะซีรีย์ ถ้าดูไปสักกลางๆเรื่องไม่ค่อยถูกจริตผมก็ Drop นะครับ ไม่ฝืนตัวเองทนดูให้จบ) คงเพราะยังมีอนิเมะจากค่ายนี้ไม่เยอะมากด้วย จึงทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษของคออนิเมะทุกๆปีเลย

สำหรับ Shirobako กำกับโดย Tsutomu Mizushima ที่มีผลงานอย่าง xxxHOLiC, Yondemasuyo Azazel-san, Another ดูจากเครดิตก็มีผลงานค่อนข้างดี สไตล์ก็หลากหลาย ดูแล้วจะเน้นแนวมืดหม่น (dark) เสียมาก, สำหรับ Shirobako ก็ถือว่ามีมุมมืดหม่นเหมือนกันนะครับ เล่นกับจิตใจของมนุษย์ที่มีหลากหลาย แต่นางเอกของเรื่องนี้สดใสมาก (เกินไปด้วยมั้ง) เลยกลบความมืดหม่นเสียหมด, ส่วนตัวคิดว่า Shirobako น่าจะเป็นผลงานที่เด่นที่สุดของผู้กำกับคนนี้ต่อไปในภายภาคหน้าแน่ๆ

นี่ถือเป็น Anime Original นะครับ ไม่ได้ดัดแปลงจากอะไร เขียนบทโดย Michiko Yokote ซึ่งก่อนหน้าอนิเมะฉาย 2 สัปดาห์ ก็มีการออกมังงะรายสัปดาห์ ร่วมโปรโมทอนิเมะ (มังงะเขียน 1 ปี รวมเล่มได้ 2 เล่ม), Yokote ถือเป็นนักเขียนบทอนิเมะ ยอดฝีมือคนหนึ่งของญี่ปุ่นนะครับ เคยเป็นหนึ่งในทีมงานดัดแปลงบทอนิเมะ Air Master, Princess Tutu, xxxHolic ฯ

กับคนที่ดูอนิเมะเรื่องนี้แล้ว แทบไม่ต้องคิดอะไรมาก ย่อมรู้ว่าเรื่องราวมีเค้าโครงส่วนใหญ่มาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสตูดิโอ P.A.Works แน่ๆ แต่เห็นว่าไม่ใช่มาจากแค่สตูดิโอนี้นะครับ เพราะเจ้าของสตูดิโอถือเป็น partner กับ Tatsunoko Production และ Production I.G. รวมๆแล้วก็ทั้งวงการอนิเมะ สตูดิโอขนาดใหญ่ๆมีไม่กี่แห่งหรอก พนักงานที่มีฝีมือ ส่วนใหญ่ก็กระโดดข้ามไปมาอยู่บ่อย (ก็แบบเรื่องราวในอนิเมะนะแหละ) ดูแล้วรู้สึกเหมือนได้ไปเป็นคนทำงานในวงการนี้จริงๆ

ทีมนักพากย์ มีเยอะม๊ากก ผมว่าอาจจะเกิน 100 คนด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่จะมารับเชิญเล็กๆ บทพูดไม่เยอะมาก นักพากย์ประจำอาจมีสัก 20-30 คน ส่วนตัวละครหลักประมาณ 10 คน (ที่น่าจะได้พากย์ทุกตอน) ส่วนใหญ่จะเป็นนักพากย์ที่ไม่ได้โด่งดังนัก เคยได้พากย์เป็นตัวประกอบ น้ำเสียงใช้ได้เข้ากับตัวละคร จึงได้รับโอกาสให้แจ้งเกิดจากอนิเมะเรื่องนี้ ผมขอยกมาแค่กลุ่มนางเอกพอนะครับ

Juri Kimura พากย์เสียง Aoi Miyamori หญิงสาวที่ได้ทำงานใน Musashino Animation ตำแหน่ง Production Manager (ผู้จัดการฝ่ายผลิต) หน้าที่ของฝ่ายนี้ คือวางแผนงาน นัดหมาย ประสานงาน รวบรวม-รับส่งงานจากฝ่ายหนึ่งไปอีกฝ่ายหนึ่ง คนที่จะทำงานสายนี้ได้ต้องมีอัธยาศัยดี เป็นมิตรกับเพื่อนร่วมงานทุกคนทุกแผนก มีหัวคิดการวางแผนการจัดการที่ดี ไม่ย่อท้อและสิ้นหวังง่ายๆ แต่สิ่งที่ไม่มีในคำอธิบายงาน คือ ต้องศึกษาเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อน(จิตวิทยา)ของผู้ร่วมงานแต่ละคน ทั้งในด้านการทำงาน สไตล์ มิตรศัตรู ฯ ว่ากันตามตรง งานนี้อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับศิลปะ หรือการสร้างสรรค์ผลงานเลย แต่คือคนที่วางแผนจัดการให้อนิเมะเกิดขึ้นสำเร็จได้

Haruka Yoshimura พากย์เสียง Ema Yasuhara เธอทำงานเป็น Key Animator ที่ Musashino Animation งานของเธอคือวาดท่าทางการเคลื่อนไหวตัวละครโดยอิงจาก Character Design เพื่อเป็นจุดอ้างอิงให้กับคนทำ Animator สามารถวาดภาพประกอบการเคลื่อนไหว, Key Animator จะวาดเฉพาะเฟรมเริ่มต้น สิ้นสุด และจุดเปลี่ยนของการเคลื่อนไหวเท่านั้น ไม่ได้วาดทุกเฟรม (หน้าที่วาดเฟรมที่เหลือเป็นของ Animator) นี่ถือเป็นอาชีพที่หนัก ต้องใช้ความสามารถในการวาดรูปสูง และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหว

ในกลุ่มของคนทำภาพเคลื่อนไหว (Animator) ประกอบด้วย 3 งานที่ผมเห็นจากในอนิเมะนะครับ
– Character Design ออกแบบตัวละคร สร้างจุดสังเกตให้กับตัวละคร ในทุกๆมุมมอง เพื่อเป็นหลักอ้างอิงสำหรับทีมงานส่วนอื่นๆ (ใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะที่สุด)
– Key Animator ออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหวของตัวละคร โดยวาดอ้างอิงจากคนทำ Character Design (ใช้ทักษะการวาดรูปเยอะที่สุด)
– Animator คนทำภาพเคลื่อนไหว โดยอ้างอิงจาก Key Animation (งานนี้เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ)

Haruka Chisuga พากย์เสียง Shizuka Sakaki เธอเป็นนักพากย์ (Seiyuu) ในสังกัต Akaoni Production นี่เป็นอาชีพที่ไม่มีความแน่นอนที่สุดของวงการนี้ แต่ใครๆก็ฝันอยากเป็นมากที่สุด กับอาชีพนักพากย์ คนที่เป็นมืออาชีพ เก่งๆ ดังๆ งานคงล้นมือ แต่กับเด็กหน้าใหม่ การจะได้พากย์อะไรสักเรื่องย่อมไม่ง่าย เริ่มต้นจากให้เสียงตัวประกอบร่วมกับคนอื่นๆ ถ้ามีความสามารถก็อาจได้พากย์ตัวประกอบเดี่ยวๆ ถ้าเสียงดีจริง โชคดี วาสนาถึงก็จะมีโอกาสได้พากย์ตัวเอก, Sakaki ทำงาน part-time เป็นเด็กเสริฟควบคู่ไปด้วย คนที่เป็น Seiyuu ส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นแบบนี้นะครับ มีน้อยจริงๆที่จะประสบความสำเร็จ

Asami Takano พากย์เสียง Misa Tōdō เป็นนักทำ CG (Computer Graphics) หรือ 3D Operator ช่วงแรกของหนัง เธอทำงานในสตูดิโอ Super Media Creations (วันๆเอาแต่ทำ cg ล้อรถ) แต่ภายหลังลาออกจากงาน มาทำงานที่ Studio Kanabun (เปลี่ยนไปทำเครื่องบินแทน), กับอนิเมชั่นสมัยนี้ CG 3D ได้เข้ามาช่วยลดระยะเวลาการสร้างได้มาก โดยเฉพาะฉากที่มีการใช้เครื่องยนต์กลไก, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ออกแบบสร้างเมือง ฯ ซึ่ง 3D จะช่วยลดเวลาการวาดภาพ (ไม่ต้องวาดพื้นหลังซ้ำไปซ้ำมาบ่อยครั้ง) และเพิ่มความตระการตาสมจริง (Special Effect) ให้กับงานภาพมากขึ้น, คนทำ 3D เก่งๆ ไม่จำเป็นต้องวาดภาพเก่งเป็นเลิศเหมือนคนทำสาย Animation นะครับ แต่ต้องมีหัวของการประยุกต์ สร้างสรรค์เทคนิคที่จะตีความการออกแบบ จากภาพ 2D กลายเป็น 3D (หัวสถาปนิก)

Hitomi Ōwada พากย์เสียง Midori Imai เธอเป็นคนฉลาด ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และมีความฝันเป็นนักเขียน, เธอเป็นคนมีความกระตือรือล้น ชอบค้นหาข้อมูล เรียนรู้อะไรใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่อมาเธอได้กลายเป็นเด็กฝึกงานช่วยเขียนบทอนิเมะให้กับ Musashino Animation, อาชีพนักเขียน นอกจากต้องมีความกระตือรือล้นอยู่ตลอดเวลาแล้ว ต้องเป็นคนรู้จักคิดนอกกรอบ มองโลกในมุมที่คนอื่นมองไม่เห็น นี่เป็นอาชีพที่เป็นง่ายที่สุด แต่จะประสบความสำเร็จยากที่สุด

สำหรับทีมนักพากย์ผมขอยุติแค่ 5 สาวตัวละครหลักพอนะครับ ที่ถือว่าเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความสำคัญต่อการผลิตอนิเมะมากที่สุดแล้ว ซึ่งมันอาจจะขาด โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับ, คนแต่งเพลงประกอบ ฯ ให้มองว่าเรื่องราวของอนิเมะมันเพิ่งจะเริ่มเองนะครับ ไม่แน่ถ้ามีเรื่องราวต่อๆมา Miyamori อาจผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์, Imai กลายเป็น ผู้กำกับ หรือ Sakaki ที่อาจจะไม่ได้แค่พากย์เสียง แต่ได้ร้องเพลง แต่งเพลงประกอบด้วย ฯ คือ 5 คนนี้ ถือว่าครบองค์ประกอบพื้นฐานของอาชีพสายอนิเมะในปัจจุบันแล้ว ต่อยอดไปยังไงก็แล้วแต่ผู้สร้างจะผลักดันพวกเธอไป ความฝันเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

ซึ่งสำหรับตัวละครอื่นๆในอนิเมะ ต้องถือว่า แต่ละคนก็จะมีสไตล์ นิสัย หน้าตา ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวชัดมากๆ อาทิ ผู้กำกับที่โคตรอ้วน โคตรขี้เกียจ, เพื่อนร่วมงานที่ทำตัวไม่รู้ร้อน, Character Design สุดโลลิ ฯ แทบทุกคาแรคเตอร์ ไม่น่าเชื่อว่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากคนที่มีอยู่จริงๆ นี่ทำให้ผมไม่แน่ใจว่า ตัวละครในอนิเมะได้แรงบันดาลใจมาจากนิสัยของคน หรือ คาแรคเตอร์ของคนได้อิทธิพลมาจากของตัวละครในอนิเมะ กันแน่?

เพลงประกอบอนิเมะโดย Shirō Hamaguchi คอมโพเซอร์คนนี้ถือว่าดังโคตรๆในญี่ปุ่นเลยนะครับ เป็นขาประจำให้ P.A.Works ไปแล้ว ก่อนหน้านี้เคยทำเพลงประกอบให้ One Piece ตั้งแต่ปีแรกๆ, Sakura Wars (2000), เกม Final Fantasy ตั้งแต่ภาค 7-11, Monster Hunter และ Monster Hunter Tri ฯ สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ ด้วยความที่งานภาพสุดสดใส มันเลยไม่มีองค์ประกอบของความมืดหม่น มีเพลงประกอบเพราะๆ (ที่รู้สึกเหมือน cover เพลงอื่นๆมา) ผมเลือก Yama Harinezumi Andes Chucky มาให้ฟังนะครับ เป็น Ending Special ของตอนที่ 19 ร้องโดย Miyuki Kunitake คือมันเป็นเพลงที่คลาสสิกโบราณมาก แต่มี impact กับนางเอกมากๆ ซึ่งก็โดนใจผมที่สุดด้วย (รู้สึกเพราะกว่า OP/ED ใดๆของอนิเมะเสียอีก)

ใน Seasons แรกนี้มี 2 core ละ 12 ตอน รวม 24 ตอน ฉาย 9 ตุลาคม 2014 ถึง 26 มีนาคม 2015 ซึ่งสามารถแบ่งเรื่องราวออกได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ (คอร์ละเรื่อง) ซึ่งจะมีอนิเมะซ้อนอนิเมะ 2 เรื่องเช่นกัน

ครึ่งแรกตอนที่ผมชอบที่สุด คือการ retake Key Frame ผมคุ้นๆว่าน่าจะตอนที่ 3 นะ ที่ผู้กำกับไม่พอใจการแสดงออกของตัวละครหนึ่ง ซึ่งทีมงานก็อลม่านเลย เพราะใกล้ถึงกำหนดส่งงานแล้ว แต่ถูกขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนจบ Key Frame เปลี่ยนไป ทำให้อารมณ์ของตัวละครที่แสดงออกมาในอนิเมะซ้อนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง, เหตุผลที่ชอบก็คือ นี่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ที่มีผลต่ออนิเมะมาก แค่เล่าเรื่องเป็น นำเสนอภาพธรรมดาๆ ยังไม่พอที่จะสร้างอารมณ์ให้กับตัวละครได้ มันมีอะไรบางอย่างที่อนิเมะต้องนำเสนอออกมา และให้ความรู้สึกที่แตกต่าง

ครึ่งหลัง เชื่อว่าใครๆก็คงรู้สึกคล้ายๆกัน ตอนที่ Sakaki ได้พากย์ตัวละครหนึ่งในอนิเมะซ้อน ชณะนั้นเธอเป็นคนเดียวในกลุ่มที่ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับอนิเมะที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นตอนเกือบท้ายๆเลยนะครับ ที่เธอได้รับบทรับเชิญ มาพากย์ในตอนสุดท้าย ผมแอบน้ำตาซึมตอน Yasuhara ขณะที่วาด Key Animator ตัวละครที่ Sakaki พากย์ (เอาหูฟัง ฟังเสียงของเธอไปวาดไปร้องไห้ไป) นี่เป็นฉากที่ถือเป็นความสำเร็จแรกของ 5 สาว กับความฝันและโดนัทของพวกเธอ

มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็น ใจความ ของอนิเมะเรื่องนี้ คือ ‘การสื่อสาร’ นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดระหว่างคนทำงาน ความเข้าใจผิดจะเกิดขึ้นได้ก็จากการสื่อสาร หลายๆตอนก็มักพูดถึงปัญหาของการสื่อสารในการทำงาน โดยเฉพาะครึ่งหลัง การดัดแปลงอนิเมะจากสื่ออื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมอนิเมะควรจะได้ สื่อสาร กับเจ้าของผลงานโดยละเอียด เพราะความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อน มันคงเป็นการง่ายที่จะได้คุยปรึกษากันต่อหน้า แทนที่จะผ่านคนกลาง ซึ่งอาจทำให้การสาสน์ที่ได้รับเปลี่ยนไป

ถ้าคุณเป็นคนวัยทำงาน หรือชอบอนิเมะเรื่อง Working! ดู Shirobako น่าจะไม่มีปัญหาแน่ เพราะสามารถเข้าใจเหตุผล ความวุ่นวาย จากปัญหาการทำงานได้ไม่ยาก แต่กับวัยรุ่นหรือคนวัยเรียน ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ โลกของคนทำงานมันต่างจากโลกสมัยเรียนมาก โดยเฉพาะการแข่งขันในสายงาน, เท่าที่ผมรู้มา คนทำงานสายอนิเมะ ส่วนใหญ่จะทำด้วยใจรักมากๆ เพราะเป็นงานที่หนัก และโอกาสความก้าวหน้า ประสบความสำเร็จมีน้อย ดูอย่างนักพากย์ Seiyuu ก็ได้ 100 คน จะมีคนประสบความสำเร็จไม่รู้ถึง 1 คนหรือเปล่า แต่ก็ไม่มีใครคิดจะหยุดฝันนะครับ

ชื่ออนิเมะ Shirobako (แปลว่า white box กล่องขาว) เป็นคำเรียกของกล่องเทป VHS ยุคก่อน ที่จะถูกปิดผนึกหลังสร้างอนิเมะเสร็จ ก่อนส่งไปยังผู้จัดฉาย คำนี้คงมีแต่คนในวงการอนิเมะสมัยก่อนที่เข้าใจนะครับ เพราะสมัยนี้ทุกอย่างกลายเป็น Digital หมดแล้ว ถ้าส่งไฟล์ออนไลน์ (Soft File) มีปัญหา ก็ไรท์ใส่แผ่น (Hard File) หรือบันทึกใส่ Flash Drive กันหมดแล้ว (คงไม่มีที่ไหนใช้ VHS อีกแล้วนะ)

อนิเมะเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัล
– Animation Kobe Television Award ปี 2015
– Animation of the Year ในงาน 2016 Tokyo Anime Awards
– Animation Department Committee Recommended Works Award ในงาน 19th Japan Media Arts Festival

จากความสำเร็จทั้งยอดขายและรางวัล ทำให้มีความเป็นไปได้ Seasons 2 สูงมากๆ แต่คงอาจต้องให้เวลาทีมงานผู้สร้างเสียหน่อย ในการค้นคว้าข้อมูล รวบรวมเรื่องราว คงใช้เวลาอีกสัก 3-4 ปีถึงจะสามารถมีภาคต่อออกมาได้

นี่ถือเป็นอนิเมะเรื่องบังคับของคนรักอนิเมะ ที่แม้เพิ่งสร้างเมื่อปี 2014 แต่ได้ใจผู้ชมไปเต็มๆ และสาระของมัน ก็เป็นการตีแผ่ชีวิตของคนทำงานสายอนิเมชั่น ที่ว่ากันตามตรง พลาดไปก็เสียชาติเกิดแล้ว

แนะนำกับคนที่อยากรู้ว่า อนิเมะสมัยนี้สร้างกันยังไง มีขั้นตอนอย่างไร จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากทำงานสายนี้ มองหาในความสนใจของตนเอง ว่าจะสามารถเข้าไปแทรกทำอะไรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งได้บ้าง

จัดเรต 13+ กับคำพูดในเชิงเสียดสีรุนแรง และนิสัยของบางตัวละครที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ

TAGLINE | “Shirobako เป็นอนิเมะซีรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อคนรักอนิเมชั่นโดยเฉพาะ เรียนรู้เบื้องหลัง ความยุ่งยาก วุ่นวายกว่าจะกลายมาเป็นอนิเมะเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Welcome to the N.H.K.


Welcome to NHK

Welcome to the N.H.K. (2006) Japanese Anime Series : Yūsuke Yamamoto ♥♥♥♥♡

นี่เป็นอนิเมะซีรีย์ที่ผมอยากแนะนำมากๆกับคนที่เป็น Hikikomori, Otaku, NEET, เด็กติดเกม, คนทำธุรกิจลูกโซ่ MLM, และคนที่ยังหาเป้าหมายของชีวิตไม่ได้, อนิเมะซีรีย์ 24 ตอนเรื่องนี้ เป็น Black Comedy ที่จะพาคุณดำดิ่งไปสู่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ และตีแผ่ความจริงของสังคม, สมาคมคนหนีโลก รวมพลคนโรคจิต ดูแล้วจะทำให้คุณฉุกคิด ว่าอะไรมันทำให้โลกวิปริตได้ขนาดนี้, แนะนำ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

โดยสตูดิโอ Gonzo ที่มีผลงานอย่าง Full Metal Panic!, Gantz, Desert Punk ฯ กับผลงานที่ให้คำนิยามปัญหาสังคมของญี่ปุ่น ในขณะนั้นได้อย่างเจ็บแสบ (เชื่อว่าปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่), ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ Tatsuhiko Takimoto จำนวน 192 หน้าเล่มเดียวจบ ตีพิมพ์เมื่อ 28 มกราคม ปี 2002, เห็นว่าเป็นประสบการณ์ตรงของผู้แต่งเลย ที่ครึ่งหนึ่งสมัยเรียนกลายเป็นฮิคกี้เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่คบค้าสมาคมกับใคร

ฮิคกี้ หรือ Hikikomori หมายถึง “ดึงออกห่าง หรือถูกกักกัน” กล่าวคือ “การถอนตัวจากสังคมอย่างปัจจุบัน” เป็นคำภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่บุคคลผู้รักษาสันโดษเลือกแยกตัวออกมาจากสังคม เพื่อแสวงหาความโดดเดี่ยวและกักตัวเองอย่างสุดโต่ง มีเหตุมีปัจจัยมาจากเรื่องราวส่วนบุคคลและเรื่องราวทางสังคมที่บุคคลนั้นๆ ประสบมา เช่น ความผิดปรกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง หรือความอับอายอย่างแรง, อาการกลัวการเข้าสังคม, อาการกลัวที่โล่งหรือที่ชุมชน, อาการกลัวความล้มเหลว เป็นต้น

Hikikomori เป็นปรากฎการณ์ (Phenomenon) ไม่ใช่โรค (Syndrome) อย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยเป็นคำอธิบายถึงพฤติกรรมของเด็กที่แยกตัวออกมาจากสังคม พยายามพบเจอผู้คนให้น้อยที่สุด, สาเหตุของของพฤติกรรมนี้ สำหรับในญี่ปุ่นเป็นผลกระทบมาจากความบอบช้ำจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาก้าวไกลทั้งโทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ  ทำให้พฤติกรรม Hikikomori จึงพบเห็นได้มาก เพราะเด็กสามารถอยู่ในห้อง มีอะไรให้ทำมากมายได้โดยไม่ต้องออกมาข้างนอก

reference : https://th.wikipedia.org/wiki/ฮิกิโกะโมะริ  ,http://health.kapook.com/view9621.html

ผมเคยอ่านเจอว่าในญี่ปุ่นมีคนที่เป็น Hikikomori ประมาณ 1% หรือกว่า 1 ล้านคน (ปี 2016 ญี่ปุ่นมีประชากร 126 ล้านคน) นี่ถือเป็นพฤติกรรมที่น่าวิตกนะครับ ถ้าเขาสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของคนอื่นก็ว่าไปอย่าง แต่คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาระของสังคม, ผมมองปัญหานี้เกิดจากผู้ปกครองเป็นตัวการสำคัญเลยละ การไม่ทำความเข้าใจปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น และแทนที่จะช่วยแก้ปัญหากลับตามใจจนเกินกว่าเหตุ นี่เป็นผลต่อเนื่องมาจากปริมาณประชากรที่เกิดในยุค Baby Boomer แล้วส่งผลมาถึงปัจจุบันนะครับ ยุคนั้นอยู่ดีๆจำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นมากจนน่าตกใจ ทำให้ ณ ปีปัจจุบันประชากรวัยทำงานยังคงมีมากเกินไป ส่งผลให้เด็กที่เกิดใน 2-3 รุ่นหลัง เมื่อเรียนจบไม่สามารถหางานทำหรือเลี้ยงดูตนเองได้ จึงยังคงต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ และมีคนจำนวนมากกลายเป็น Hikikomori เพราะสาเหตุนี้

Hikikomori ต่างจาก NEET (Not in Education, Employment or Training คือใช้ชีวิตไปวันๆไม่ได้ทำงาน ฝึกงานหรือเรียนหนังสือ) นะครับ เพราะ NEET บางคนก็สามารถออกจากห้องเข้าร่วมสังคมได้ แต่แค่ไม่มีงานทำ หางานทำไม่ได้ ซึ่ง Hikikomori จะออกจากห้องไม่ได้เลย, จะเรียกว่า Hikikomori คือพฤติกรรม แต่ NEET คือสถานะที่ใช้เรียกการว่างงาน

กลับมาที่ Welcome to the NHK, นี่เป็นอนิเมะที่ถือว่ารวมพลคนจิตผิดปกติเลยละ ไม่ใช่แค่พระเอกที่เป็น Hikikomori เท่านั้นแต่ยังรวมถึง Otaku (กลุ่มบุคคลผู้ซึ่งลุ่มหลงในโลกแห่งการ์ตูน และอนิเมชั่น), BPD (บุคคลที่มีบุคลิกภาพแปรปรวนขั้นรุนแรง) ฯ เรื่องราวถือว่า dark มากๆนะครับ แต่วิธีการเล่าเรื่องออกไปทาง Comedy แต่เชื่อว่าบางคน ขำไม่ออกแน่ เพราะมันตรงกับชีวิตของตัวเอง, ผมเป็นคนหนึ่งที่แรกๆขำ แต่หลังๆจุกอก เพราะครั้งหนึ่งก็เคยเกือบตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ทำให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าถ้าครั้งหนึ่งคุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์ หรือพบเจอเรื่องราวคล้ายๆกับอนิเมะละก็ เชื่อว่าคุณจะต้องหลงรักอนิเมะเรื่องนี้อย่างแน่นอน

กับคนที่อ่านมังงะ ผมเห็น SIC ออกแปลไทยมาทั้งหมด 8 เล่มจบแล้วนะครับ วาดโดย Kenji Oiwa ตีพิมพ์ลงใน Monthly Shōnen Ace นิตยสารรายเดือน ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2004 ถึง 6 มิถุนายน 2007 สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือการ์ตูนทั่วไป ข้อดี SIC คือการพิมพ์ภาพตามต้นฉบับ แต่เห็นว่าเล่ม 6 ของญี่ปุ่นจะแถมเกมโป๊มาด้วย (เกมที่สร้างในอนิเมะ) ซึ่งขายในไทยคงไม่ได้เลยต้องตัดออก

กำกับโดย Yūsuke Yamamoto ไม่ใช่คนที่เป็นนักแสดงนะครับ, Yamamoto เคยมีผลงานอย่าง Aquarion Evol, Keroro Gunsou ฯ ผู้กำกับคนนี้ขึ้นเรื่องเรื่องการทำอะไรที่บ้าบอคอแตก ได้รับมอบหมายให้กำกับ Welcome to the NHK ถือว่าเข้าทางเลย และต้องบอกว่าเขาทำออกมาได้เยี่ยมมากๆ, ดัดแปลงเป็นบทอนิเมะโดย Satoru Nishizono ที่เคยดัดแปลงบทให้อนิเมะ Naruto: Shippuuden (ตอน 1-54), Kero Kero Keropp เคยเป็น Series Composition ให้ Dr. Slump ด้วย เห็นว่านิยาย, มังงะ และอนิเมะ มีหลายจุดที่ต่างกันนะครับ ผมไม่เคยอ่านนิยายและมังงะนะครับ แต่มีคนชี้จุดไว้ให้แล้ว เอามาแบ่งปันให้ด้วย

ทีมนักพากย์ประกอบด้วย Yutaka Koizumi พากย์เสียง Tatsuhiro Satō พระเอกที่เป็น Hikikomori ศูนย์กลางของปัญหาสังคม, เขาจะเป็นคนที่ไม่ได้เรื่องเลย ไม่มีความมั่นคง, หลงเชื่อคนง่าย, คลั่งไคล้ความน่ารัก และชอบโทษคนอื่น ทุกครั้งจะพาตัวเอาเข้าผจญกับปัญหาต่างๆ แต่สุดท้ายก็สามารถหาทางออก แก้ไขปัญหาเอาตัวรอดได้อยู่เสมอๆ ช่วงหลังๆในมังงะจะมีช่วงที่ Sato ใช้ยาด้วยนะครับ แต่อนิเมะตัดออกเปลี่ยนเป็นเรื่อง MLM ที่มังงะไม่มีแทน

ปัญหาของ Sato คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แรกๆก็แค่ไม่ชอบการถูกแกล้งธรรมดา ไปๆมาๆกลายเป็นความหวาดกลัวที่จะต้องพบเจอคนอื่น รู้สึกราวกับคนรอบข้างรังเกียจเขาอยู่ตลอดเวลา จึงขังตัวอยู่ในห้องกลายเป็น Hikikomori, วิธีการแก้ปัญหาของคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ถ้าในระยะเริ่มต้นก็ไม่ยากเท่าไหร่ คือต้องตัดท่อน้ำเลี้ยง ไม่ให้เงินสนับสนุนและสอนให้เขาอยู่ด้วยตนเอง ซึ่งถ้าการอยู่แต่ในห้องทำให้เกิดความลำบากในการมีชีวิต เขาก็จะออกไปข้างนอกด้วยตัวเองได้, แต่ต้องระวังว่าถ้าอาการหนัก เขาอาจแสดงอาการต่อต้าน และทำบางสิ่งบางอย่างที่รุนแรง แบบนี้ต้องใช้การพูดคุย บำบัดที่จริงจังโดยจิตแพทย์แล้วนะครับ, สาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมนี้ลุกลาม ก็เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือญาติพี่น้องที่ตามใจผู้ป่วยมากเกินไปนะครับ ทนเห็นเขาทรมานไม่ได้จึงยอมตามใจ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งเสริมให้อาการยิ่งหนักขึ้น

ในเมืองไทย เด็กที่มีพฤติกรรม Hikikomori ก็มีอยู่นะครับ แม้จะไม่มากเท่ากับญี่ปุ่น ซึ่งเหตุจูงใจมักไม่ค่อยต่างกันนัก เพราะความที่มักถูกกลั่นแกล้ง เป็นแกะดำ เลยเกิดการต่อต้าน ความหวาดกลัว จนไม่ยอมเข้าสังคม สมัยก่อนอาจอยู่กันไม่ได้ แต่สมัยนี้สามารถอยู่รอดกันได้แล้วนะครับ เพราะอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ การสื่อสารที่ล้ำไปมาก ทำให้พวกเขาสามารถทำงานออนไลน์ และโทรสั่งอาหารมาส่งได้ถึงประตูบ้านได้, เราอาจจะคิดว่า Hikikomori ประเภทนี้ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม เพราะเขาดูแลตัวเองได้ และไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่นี่เป็นความคิดที่ผิดนะครับ เพราะมันเหมือนยิ่งไปส่งเสริมพฤติกรรมนี้ ให้สามารถมีจุดยืนในสังคมได้, ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ การดูแลตัวเอง เวลาเป็นอะไรขึ้นมาก็จะไม่มีคนรู้ ไม่มีที่จะคอยใครดูแล ช่วยเหลือยามลำบาก

นางเอก Yui Makino พากย์เสียง Misaki Nakahara, ตัวละครนี้มีปัญหากว่าพระเอกอีกนะครับ เธอไม่ใช่ Hikikomori ก็จริงอยู่ แต่เป็นเด็กที่ต้องการความสนใจอย่างมาก มีคนวิเคราะห์ไว้บอกว่าเธอเป็นกลุ่มอาการ Cluster B personality disorder เช่น Borderline Personality Disorder (BPD) หรือ Histrionic Personality Disorder (HPD) คนที่มีบุคลิกภาพแปรปรวนขั้นรุนแรง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย [อาการนี้ไม่ใช่ Bipolar นะครับ คือไม่ได้มีพฤติกรรม 2 ขั้วและระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ช้าเร็วต่างกัน] มักมีอาการซึมเศร้าได้ง่าย(อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว) ชอบทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ ฯ, สาเหตุเกิดจากการที่พ่อและแม่ของเธอเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก จึงต้องไปอยู่กับพ่อเลี้ยงที่ประพฤติไม่ดีกับเธอ พูดจาดูถูกถากถางและทำร้ายร่างกาย โตขึ้นมาก็ไม่แปลกเลยที่เธอจะมีปมเช่นนี้, แต่กว่าที่เราจะเริ่มเข้าใจพฤติกรรมของเธอ ต้องใช้การสังเกตอย่างมาก เพราะช่วงแรกจะรู้สึกว่าเธอปกติมากๆ จนไม่คิดว่าจะสามารถเข้าพวกกับคนมีปัญหาพวกนี้ได้ แต่เมื่ออนิเมะเริ่มคลายปมของเธอ ก็จะพบว่าปัญหาความต้องการของเธอ ถือว่าสุดโต่งที่สุดจริงๆ และเป้าหมายของเธอไม่ได้ต้องการความสุข แต่ต้องการทำลายความสุข, การจะช่วยเหลือคนประเภทนี้ คือต้องใช้การรักษาแบบจิตบำบัดอย่างลึก เฉพาะตัวหรือแบบกลุ่ม ถ้าผู้ป่วยไม่อยากไปหานักจิตวิทยา ก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจหาต้นเหตุของปัญหา และคอยดูแลไม่ให้เข้าใกล้แหล่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

Daisuke Sakaguchi พากย์เสียง Kaoru Yamazaki โอตาคุที่เป็นรุ่นน้องของ Sato มีความหลงใหลคลั่งไคล้ใน lolicon (ผู้หญิงที่ดูเด็กๆน่ะ หน้าบ้องแบ้วตัวเล็กๆ), เพราะความที่ Yamazaki มีความประทับใจในรุ่นพี่ (ที่เคยช่วยเหลือเขาไว้สมัยเรียน) จึงต้องการช่วยเหลือเขาด้วยการสัญญาร่วมกันสร้างเกมโป๊ ทีแรก Sato ก็ไม่ได้อยากร่วมหรอก แต่เขาไม่ต้องการเข้าโครงการของ Nakahara เลยตอบตกลง, ผมว่าหมอนี่แหละที่ดูปกติสุดแล้ว ด้วยพื้นหลังที่คล้ายๆกับ Sato แค่ความหลงใหลคลั้งใคล้ในโลก 2 มิติ ที่ทำให้เขาตัดขาดโลกภายนอก และใช้ชีวิตอยู่ในจินตนาการความชื่นชอบของตนเอง, คนที่เป็น Otaku ไม่เชิงว่าเป็นปัญหาของสังคมนะครับ เพราะนี่คือความชื่นชอบ รสนิยมส่วนตัว ไม่ใช่อาการทางจิตที่ต้องการการบำบัด แต่ถ้ามีอาการอื่นเข้าร่วมอย่างเช่น ตัดขาดจากโลกภายนอก หรือกลายเป็น Hikikomori นี่ถึงจะกลายเป็นปัญหานะครับ

Sanae Kobayashi พากย์เป็น Hitomi Kashiwa รุ่นพี่ที่ Sato แอบชอบสมัยเรียน ในนิยายเห็นว่า Kashiwa มี Sex วัยเรียนกับ Sato ด้วย (แน่นอนอนิเมะต้องตัดประเด็นนี้ทิ้ง) ปัญหาของเธอคือความรักที่ไม่สมหวังทำให้เธอหันไปพึ่งยาเสพติด และพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งก็ชวน Sato ติดยาและฆ่าตัวตายด้วยกัน (แน่นอน Sato ช่วยเธอไว้สำเร็จ), อนิเมะตัดเรื่องของเธอไปเยอะพอสมควร เพราะความไม่เหมาะสมในการทำเป็นอนิเมะ, พฤติกรรมของ Kashiwa เป็นอะไรที่พบเห็นทั่วไปในสังคมเลย หญิงสาวอกหัก ประชดแฟนหนุ่มกินยาฆ่าตัวตาย เราได้ยินข่าวแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ปัญหาที่ทำให้กลายเป็นคนแบบนี้ มักมาจากการเลี้ยงดูที่ตามใจลูกทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งพอไม่ได้อย่างที่ตนต้องการก็แสดงอาการทุรนทุรายเรียกร้องความสนใจ แต่แฟนไม่ใช่พ่อแม่ ถ้าต้องเลิกกัน เธอเรียกร้องความสนใจด้วยการฆ่าตัวตาย แต่มันมักจะไม่ได้ให้ผลลัพท์ที่ดีแน่นอน, คนที่พยายามฆ่าตัวตาย จำเป็นต้องได้รับการปรับทัศนคติอย่างมาก ถ้ารอดชีวิต ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะฆ่าตัวตายซ้ำสองมีสูงมากๆนะครับ บางคนพอกลับเข้ามาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ถูกสังคมซ้ำเติมอีก โอกาสที่จะมีชีวิตอย่างปกติสุขยิ่งยากขึ้นด้วย คิดให้ดีก่อนที่จะทำอะไรสิ้นคิดแบบนี้นะครับ

Risa Hayamizu พากย์เสียง Megumi Kobayashi เพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Sato และเป็นหัวหน้าห้อง เธอเป็นผู้หญิงที่กล้าพูดกล้าทำกล้าแสดงออก จริงๆ Kobayashi ก็ไม่ได้สนิทอะไรกับ Sato นะครับ แต่กลับจำกันได้เพราะน้องชายของ Kobayashi กลายเป็น Hikikomori (เหมือน Sato) ด้วยจิตใจที่เหนื่อล้า ท้อแท้และอ่อนแอ ทำให้เธอหลงเชื่อคนอื่นได้ง่าย (ถูกชักนำว่าชีวิตจะดีขึ้นเมื่อทำตาม) และถลำลึกลงไปจนแทบจะกลับคืนมาไม่ได้ ด้วยการหลงเข้าธุรกิจ MLM ที่เป็นแบบ pyramid scheme, ซึ่งเธอก็ได้หลอกล่อ Sato และผองเพื่อนให้ตกหลุมพราง, คนประเภทนี้นี่ช่วยลำบากนะครับ เพราะไม่ได้มีปัญหาทางจิตแม้แต่น้อย แต่แค่ไม่ยอมรับตัวเองว่าถูกหลอก (หลอกตัวเองว่าไม่ได้ถูกหลอก) จนกว่าที่จะมองเห็นและเข้าใจด้วยตนเอง ก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นออกมาจากธุรกิจลูกโซ่นี้ได้

เคยสงสัยไหมทำไมธุรกิจ MLM ถึงมีคนประเภทที่รวยล้นฟ้า กับคนที่กู่ไม่กลับ, มันอาจเป็นเรื่องศิลปะการพูด และการโน้มน้าวจิตใจ ธุรกิจประเภทนี้มักไม่เน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า (ใช้เลี่ยงข้อกฎหมายเท่านั้น), ราคาที่ซื้อจึงไม่ได้อยู่ที่มูลค่าแท้จริงของสินค้า แต่เป็นมูลค่าของการชักจูง โน้มน้าวใจ ถ้าทำให้ผู้ฟังสนใจ ซื้อได้ คุณก็จะได้กำไรจากผลต่าง มันก็ไม่ต่างอะไรกับ Sales นะครับที่ได้ Commission เหมือนกัน ต่างแค่ Sales มักจะไม่มีคนอื่นที่ได้ประโยชน์จากค่า Com นี้แต่ MLM หัวหน้ามักจะได้กำไรด้วย, ธุรกิจแบบนี้เหมาะกับคนที่มีทักษะการพูดเป็นเลิศ แต่ไม่เหมาะกับคนที่เชื่อคำพูดของคนอื่นได้ง่าย, ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนี้ ดันคือกลุ่มคนที่เชื่อคำพูดคนอื่นได้ง่ายเสียอย่างนั้น!

ปัญหามักเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆกับคนที่ชอบมีปัญหา นี่เป็นเหตุที่คนประเภทนี้ต้องเกาะกันไว้ Sato เป็นคนที่เอาคำว่า NHK ซึ่งจริงๆคือชื่อสถานีออกอากาศโทรทัศน์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น (Nippon Hōsō Kyōkai) เล่นแปลงคำให้กลายเป็นแพะ เรียกองค์กรชั่วร้ายที่ทำให้ชีวิตเขากลายเป็นแบบนี้ว่า Nihon Hikikomori Kyoukai (สมาคม Hikikomori แห่งประเทศญี่ปุ่น), มันคือการโยนความผิดให้สิ่งอื่นนะครับ เพราะ Sato ไม่ต้องการยอมรับว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะตัวเขาเอง ซึ่งการยอมรับเข้าคอร์สบำบัดของ Misaki ก็เท่ากับต้องยอมรับตัวเองว่าเป็นคนที่มีปัญหา

ตอนจบในนิยาย Misaki ให้นิยามคำว่า NHK เสียใหม่ เป็น Nihon Hostage-exchange Kyoukai (สมาคมแลกเปลี่ยนตัวประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งสมาชิกจะต้องผูกชีวิตไว้ด้วยกัน หากมีใครคนหนึ่งตาย คนอื่นจะต้องตายตกตามกันไปด้วย ถ้าอยากให้คนอื่นรอด ตัวเองก็ต้องพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไป สมาคมนี้มี Misaki เป็นประธาน และ Sato เป็นสมาชิกคนแรก หลังจากลงชื่อแล้ว นิยายจบด้วยคำว่า “Welcome to the N.H.K.”

reference : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=shiryu&month=02-2011&date=17&group=5&gblog=7

เพลงประกอบโดย Pearl Brothers มีสมาชิก 5 คน Kenzo Saeki (นักร้อง), Haruo Kubota (กีตาร์), Vagabond Suzuki (เบสและ Chorus) ฯ (อีก 2 คนหาข้อมูลไม่ได้) ก่อตั้งวงตั้งแต่ปี 1983 ปัจจุบันสมาชิกก็ถือว่าเป็นผู้มีอายุกันหมดแล้ว, สำหรับ Welcome to the NHK มีความหลากหลายทางดนตรีมากๆ ทั้งๆที่ใช้เครื่องดนตรีอย่าง กีตาร์ เบส กลอง บางครั้งก็ได้ยิน Saxophone, คีย์บอร์ด ฯ แต่กลับสร้างบรรยากาศได้ครบทุกรสชาติ สุข เศร้า เหงา ทุกข์ ท้อแท้ สิ้นหวัง มีความหวัง ฯ

อนิเมะฉายควบ 2 Seasons เริ่มวันที่ 9 กรกฎาคม 2006 ถึง 17 ธันวาคม 2006 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดยเฉพาะการออกแบบตัวละครแทบทุกตัวมีความน่าจดจำ ทั้งหน้าตาและนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์, บ้างยกให้เป็นอนิเมะยอดเยี่ยมแห่งปีเลย

แนะนำ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่เป็นอนิเมะที่เหมาะกับเด็ก ม.ปลาย, นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และคนจบใหม่ทั้งหลาย ด้วยความที่แฝงแนวคิดการใช้ชีวิต และตีแผ่ความจริงบางอย่างของสังคม ที่จะเป็นประโยชน์มากๆ, ตอนผมดูอนิเมะเรื่องนี้ ถึงตอนธุรกิจลูกโซ่ นี่สะอึกกึกเลยละครับ เกือบไปแล้วน่า… เชื่อว่าสมัยเรียนหลายคนคงถูกหลอกล่อ ชักชวนไปฟังอะไรพวกนี้อยู่บ่อยครั้ง แม้อาจจะแค่ 1 ใน 10 ของเพื่อนที่ไปจะหลงเชื่อและเข้าร่วมกับธุรกิจพวกนั้น แต่เขาไปแล้วก็คือไปลับเลยละ แทบไม่อาจกลับมาเป็นเพื่อนกันได้อีกเลย เหมือนหลงไปเข้ากับองค์กรล้างสมองอะไรสักอย่าง ที่ทำให้เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย

แนะนำกับนักจิตวิทยา หรือคนที่มีเพื่อนที่เข้าข่ายมีความผิดปกติทางจิต เช่น Hikikomori, Cluster B, ติดเกมส์ ฯ ศึกษาให้เข้าใจ จะได้หาแนวทางช่วยเหลือพวกเขาได้

หลายปีก่อน ผมได้เห็นข่าวมีคนที่เป็น Hikikomori หลังจากได้ดูอนิเมะเรื่องนี้ เขาก็ตัดสินใจเลิกเป็นและออกจากห้องกลับมาใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ปกติ มีรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นที่บันทึกภาพเรื่องราวของชายคนนี้ไว้ด้วย ผมหาคลิปให้ดูไม่ได้แล้ว แต่นี่น่าจะสะท้อนคุณค่าของอนิเมะเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในระดับที่สามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนได้เลย ผมว่าพลาดไปจะน่าเสียดายมากๆนะครับ

อนิเมะเรื่องนี้ไม่เหมาะกับเด็กเล็กนะครับ จัดเรต 15+ เพราะแนวคิดที่อาจปลูกฝังอะไรผิดๆได้

TAGLINE | “Welcome to the N.H.K. ยินดีต้อนรับสู่สมาคมที่จะพาคุณดำดิ่งไปสู่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ และตีแผ่ความจริงของสังคม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE 

Bakuman


Bakuman

Bakuman (2010-2013) : Anime Series – Kenichi Kasai, Noriaki Akitaya ♥♥♥♥

จากเด็กชาย Shōnen เดินตามความฝันสู่การเป็นนักเขียนการ์ตูน นี่อาจเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆคน แต่การจะเอาตัวรอดได้ในสายอาชีพนี้ เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันช่างเหน็ดเหนื่อย ยากลำบากแสนเข็น โอกาสประสบความสำเร็จมีแค่ 1 ในแสน เป็นคุณจะยังทุ่มเทกายใจ ต่อสู้เพื่อไปให้ถึงสุดปลายฝันหรือเปล่า

ที่รีวิววันนี้อิงจาก อนิเมะซีรีย์ความยาว 3 Seasons ละ 25 ตอน รวมทั้งสิ้น 75 ตอน แต่คิดว่าคนที่อ่านมังงะ หรือดู Live-Action ก็น่าจะสามารถเข้าใจได้เหมือนๆกัน ตอนผมเริ่มดูซีรีย์นี้ ตอนนั้นอนิเมะยังฉายไม่จบเลยอ่านมังงะตามจนจบ จึงเห็นว่ามีส่วนต่างระหว่างอนิเมะกับมังงะพอสมควร ส่วน Live Action ที่ฉายปี 2015 ผมยังไม่ได้ดู แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าอาจมีสปอยเนื้อเรื่องไปไกลจากหนังมากๆ เผื่อคนที่รอดูภาคต่อ (ที่ไม่รู้จะมีหรือเปล่า) จะได้ไม่หลงถูกสปอยนะครับ

จากมังงะที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weekly Shōnen Jump และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะจากชื่อผู้เขียนและวาดภาพ Death Note สู่เรื่องราวใหม่ที่อ้างอิงจากประสบการณ์ตรง Tsugumi Ohba (เขียน) และ Takeshi Obata (วาด) เขาก็คือคู่หูในมังงะ Moritaka Mashiro (วาด) และ Akito Takagi (เขียน) เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 จบลงเมื่อ 23 เมษายน 2012 จำนวน 176 ตอน รวม 20 เล่ม ถือว่ายาวกว่า Death Note นะครับที่มี 108 ตอน 12+1 เล่ม ยอดขายเล่มรวม ณ ปัจจุบัน (2016) Death Note ขายได้ 30 ล้านเล่ม ส่วน Bakuman 15 ล้านเล่ม

Bakuman มาจากคำว่า Bakuchi Manga ที่แปลว่า Gambling Manga ในตอนแรกของอนิเมะ ลุงของพระเอกจะบอกว่า การเขียนมังงะก็เหมือนการพนันกับความสำเร็จ โอกาสที่จะสร้างผลงานที่ได้รับความนิยมมีประมาณ 1 ในแสน คนที่จะประสบความสำเร็จได้ก็เหมือนการชนะพนันครั้งใหญ่

พูดถึงนักวาด Takeshi Obata สักหน่อย ถือว่าเขาอยู่รุ่นเดียวกับ Eiichiro Oda (One Piece) และ Kishimoto Masashi (Naruto) เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูนในยุคต้น 199x, ทั้ง Obata และ Oda ต่างเคยเป็นลูกมือให้ Nobuhiro Watsuki ขณะเขียน Rurouni Kenshin นะครับ, ได้เริ่ม debut One Shot และได้รับโอกาสเขียนมังงะเรื่องยาวในช่วงปลายยุค 199x, มังงะของ Obata แทบทุกเรื่องจะมีคนอื่นแต่งให้ เหมือนเขารู้ตัวเองว่าไม่ใช่นักเขียนที่ดี แต่ฝึมือและทักษะการวาดภาพถือว่ายอดเยี่ยม, ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาเรื่องแรกคือ Hikaru no Go แต่งเรื่องโดย Yumi Hotta เขียนลงใน Jump ระหว่าง 1998-2003

ดัดแปลงเป็นอนิเมะโดย J.C.Staff ประกาศเมื่อตุลาคม 2010 ถือว่าได้สตูดิโอที่เชื่อใจได้เลย และผู้กำกับ Kenichi Kasai ถือว่าไม่ธรรมดา ผมเคยพูดถึงเขาแล้วตอน Honey and Clover นี่ถือเป็นตัวเลือกที่ใช่เลย ดูจากผลงานที่ในอดีตที่ยอดเยี่ยม (เช่น Nodame Cantabile Seasons 1) นี่เป็นอนิเมะที่เขารับหน้าที่กำกับทั้งเรื่อง 3 Seasons (ปกติเห็นจะกำกับแค่ ss เดียวแล้วก็เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่น) ในเครดิตกำกับร่วม Noriaki Akitaya ทั้งสองคงช่วยๆกัน ทำคนเดียว 75 ตอนคงไม่ไหว, อนิเมะแยกฉาย 3 Seasons ปีละ 1 Seasons ควบ 2 Core (ตุลาคม-มีนาคม) ถือว่างานหนักมาก, ตอนมังงะจบเมื่อ เมษายน 2012 อนิเมะ Seasons 3 ก็ประกาศเป็น Seasons สุดท้ายเช่นกัน

ผมเริ่มดู Bakuman ช่วงประมาณต้นปี 2013 ขณะนั้นอนิเมะกำลังฉาย Seasons 3 พอดูทันตอนล่าสุดผมก็แทบคลั่ง พลาดอย่างแรง! ผมต้องไปหามังงะอ่าน (ตอนนั้นมังงะจบแล้ว) นับจากนั้นมาผมไม่ดูอนิเมะซีรีย์หรือซีรีย์ที่ยังฉายไม่จบซีซันอีกต่อไป เพราะอารมณ์ค้างคาสุดๆแบบนี้ไม่ชอบเลย ทนรอให้จบก่อน Core ละแค่ 3 เดือนไม่ได้นานมาก, การได้อ่านมังงะ ทำให้ผมรู้ว่าช่วง ss3 มีหลายส่วนที่ตัดออกไป เพื่อให้จบภายใน Seasons ผมว่าถ้าอนิเมะยึดตามมังงะเปะๆ Seasons สุดท้ายนี้น่าจะกินประมาณ 36 ตอน (3 Core) ได้สบายๆ แต่คงเพราะมันมีประเด็นเรื่องงบประมาณด้วย ทำให้ตัดเรื่องราวบางอย่างออกไปจะ ดีกว่ายืดความยาวอนิเมะออกไป เพราะมังงะจบแล้ว กระแสเริ่มเบาลง ดัดแปลงบทอนิเมะโดย Reiko Yoshida (Non Non Biyori, K-ON!, Yowamushi Pedal)

ทีมนักพากย์เริ่มจาก Mashiro Moritaka พากย์โดย Atsushi Abe ที่โด่งดังมาจาก Kamijou Touma (Index & Railgun Series) นี่เป็นเสียงของคนที่มีความแน่วแน่ ตั้งใจ มีความทะเยอทะยาน มุมานะ สามารถอดทนต่อสู้กับอุปสรรค ไม่ย่อท้อง่ายๆ, ในอนิเมะเรื่อง Another (2012) เขาพากย์เสียง Kōichi Sakakibara เป็นพระเอกที่เท่ห์ ใจหล่อมากๆ, ตัวละคร Moritaka เป็นพระเอก Shōnen ที่เห็นอยู่เกลื่อนกลาด มีปมหลังเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำ เมื่อตัดสินใจแล้วก็แน่วแน่ ไม่วอกแวกโลเล ทุ่มเทสุดความสามารถ และมีเป้าหมายความฝันที่ต้องทำให้สำเร็จ

Akito Takagi พากย์โดย Satoshi Hino (Naruto Shippuden พากย์เสียง Sai, Shakugan no Shana พากย์เสียง Yuuji Sakai เสียงวัยรุ่นเท่ห์ๆ หล่อแบบเจอสาวๆจะถูกกรี๊ดใส่, ตัวละคร Takagi มีนิสัยรักเพื่อน จริงใจ คิดเป็นเหตุเป็นผล เป็นมิตรกับทุกคน บางครั้งตัวละครนี้เท่ห์กว่าพระเอกอีก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นได้แค่พระรอง คือเป้าหมายชีวิตจะไม่ยิ่งใหญ่หรือเทียบเท่าพระเอก และสักกลางเรื่องหรือช่วงท้ายๆความฝันของเขามักจะทำสำเร็จ กลายเป็นจริง (หรือล้มเหลว) ก่อนเสมอ นี่คือพระรองสไตล์ Shōnen

มีอีกหลายตัวละครที่น่าพูดถึง แต่ผมขอเลือกมาแค่คนเดียวแล้วกัน Niizuma Eiji พากย์โดย Okamoto Nobuhiko (Accelerator – Index & Railgun Series, Rin Okumura – Ao no Exorcist) ตัวละครนี้ได้รับความนิยมสูงที่สุดในมังงะ เสียงพากย์สุดแนว นิสัยออกกวนโอ้ย ถือเป็นตัวละครที่มีสไตล์โดดเด่น มีเอกลักษณ์ของตนเอง, ในวงการมังงะ นักเขียนการ์ตูนประเภทนี้มีอยู่จริงนะครับ แบบว่าเขียนของตัวเองไม่พอ ยังมีเวลาเหลือไปรับจ็อบวาดเรื่องอื่นได้ด้วย นี่เพราะรายได้จากการเขียนมังงะลงนิตยสารที่ไม่ดังมาก จะไม่มากเท่าลงนิตยสารดังๆ ทำให้ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้พอเลี้ยงชีพ

ตัวละครใน Bakuman แทบทั้งนั้นล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากนักวาดการ์ตูน หรือ Editor ของ Jump (อย่างที่บอกว่าจากประสบการณ์จริงของผู้แต่ง) นอกจากสองตัวละครนำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผู้เขียนและนักวาดแล้ว …
– Niizuma Eiji ได้แรงบันดาลใจ (นิสัย) มาจาก Eiichiro Oda (One Piece) และ Tite Kubo (Bleach)
– Kazuya Hiramaru จาก Sorachi Hideaki (Gintama) และ Yoshihiro Togashi (Hunter X Hunter)
– Kazuya มีภรรยาเป็นนักเขียนการ์ตูน Aoki Hiramaru มาจาก Naoko Takeuchi (Sailor Moon) ที่เป็นภรรยาของ Togashi
– Aoki Yuriko มาจาก Kawashita Mizuki (Ichigo 100%)
– Aiko Iwase มาจาก Katsura Hoshino (D.Gray-man)
– Nobuhiro Mashiro ลุงของ Moritaka มาจาก Hiroshi Gamo นักเขียนการ์ตูนแก๊ก
ฯลฯ

การออกแบบตัวละคร ต้องถือว่า Obata ดึงเค้าโครง หน้าตาตัวละครมาจาก Death Note เสียเยอะ คงเพราะต้องการให้คนอ่านรู้สึกคุ้นเคยกับลายเส้นของตน (รู้ว่าเป็นคนเดียวกับที่วาด Death Note) ซึ่งลายเส้นนี้ต่างกับ Hikaru no Go มากๆ (ยังกะคนละคน) นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยในมังงะยาวๆนะครับ ที่ตอนตีพิมพ์แรกๆจะลายเส้นอย่างหนึ่ง หลายปีผ่านไปพัฒนาการ ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ลายเส้นมักจะเปลี่ยนไป ละเอียดขึ้น เร็วขึ้น (จะมีบ้างที่เลวลง), ตัวอย่างตัวละครที่ resembles ของเก่า
– Akito Takagi คล้ายกับ Light Yagami
– Niizuma Eiji คล้ายกับ L
– Fukuda Shinta คล้ายกับ Mello
– Shiratori Shun คล้ายกับ Near
– Akira Hattori คล้ายกับ Ryuk
– Aiko Iwase คล้ายกับ Takada  Kiyomi
ฯลฯ

Azuki Miho นางเอกของเรื่อง พากย์โดย Saori Hayami (Yotsugi Ononoki -Monogatari Series) เริ่มเรื่องเธออายุ 14 ตอนจบอายุ 24 ตัวละครนี้แน่นอนว่าต้องได้แรงบันดาลใจมาจากคนรักของ Obata เอง, ตัวละครนี้แสดงทัศนคติของสังคมที่น่าสนใจ ความรักและการแต่งงานระหว่างชายหญิง ในทำนองครรลองที่ถูกต้อง มองแบบนี้มันก็เชยๆนะครับ ผมเห็นอีกมุมหนึ่งคือ โลกของผู้ชายและโลกของผู้หญิง มันมีเหตุการณ์เพียงไม่กี่ฉากที่ Miho และ Moritaka จะได้อยู่ร่วมฉากเดียว นี่เหมือนต้องการแสดงถึงวิถีที่แตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง, อีกสิ่งที่น่าสังเกตคือ คนที่สร้างความฝันคือ Moritaka นะครับ เขาทำให้มังงะประสบความสำเร็จ ส่วน Miho เธอแย่งชิงเพื่อเอาชนะและได้ครอบครองสิ่งที่ต้องการ

Miyoshi Kaya นางรอง พากย์โดย Yahagi Sayuri, การที่เธอได้แต่งกับ Akito รู้สึกว่าส้มหล่นมากๆ มันดูไม่มี Spark อะไรระหว่างทั้งสองเลย ไม่รู้ไปชอบคอถูกคอกันตอนไหน คงเพราะอยู่ใกล้กันและเข้าใจกัน ก็เลยตกลงอยู่ร่วมกันเสียเลย แบบง่ายๆไม่ต้องคิดอะไรมาก, มันมีประเด็นระหว่าง Akito กับ Iwase ที่สะท้อนอีกแนวคิดของผู้แต่ง คือ ผู้ชายญี่ปุ่นไม่ชอบผู้หญิงที่ดูจะมากเกินไป เหมือนเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ คนรักที่ Akito ต้องการ ไม่ใช่ผู้หญิงที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่เป็นช้างเท้าหลังที่คอยสนับสนุนเขาได้เต็มที่ มันเลยมาลงเอยที่ Kaya ดูแล้วเธอน่าจะเป็นแม่ของลูกได้ดีกว่า Iwase, Kaya ไม่ใช่คนที่มีความฝัน แต่เมื่อได้สามีดี เธอจึงมองหาความฝันของตนเอง แต่ก็ไม่คิดว่าจะทำได้ดีนัก สุดท้ายเลยเป็นคนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ให้กำลังใจและเป็นภรรยาที่ดี (แบบนี้แหละที่เรียกว่าผู้หญิงอุดมคติของญี่ปุ่น)

เพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้เพราะๆหลายเพลงเลย ผมเลือก Season 3 Ending 2 เพลงชื่อ Yume Sketch (Dream Sketch) ร้องโดย Jam Project เหตุผลก็คือ มันทำให้รู้สึกถึงการเติบโตที่มาถึงจุดสูงสุด ความฝันที่กำลังจะสำเร็จ จุดหมายปลายทางใกล้เข้ามา ฟังแล้วอยากร้องไห้ เพราะการแยกจากกับอนิเมะที่หลงรักใกล้เข้ามาถึง แถม MV ยังแบบว่าเอาภาพเหตุการณ์ต่างๆมาทำ Slideshow ไม่เหมือนกันสักตอน เป็น 12 ตอนสุดท้ายที่ผมปิด Ending ไม่ได้เลยต้องดูให้จบ

หนัง/อนิเมะเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเหมือนสารคดีที่น่าสนใจ ต่อคนที่อยากโตขึ้นเป็นนักเขียนการ์ตูน (คนที่อยากทำงานสายอนิเมะ จะมีอีกเรื่องหนึ่งที่ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังวันหลังนะครับ) จะได้รู้ว่าเบื้องหลังการทำงานเป็นอย่างไร การต่อสู้ การแข่งขัน ตีแผ่ออกมาโต้งๆตรงๆ จากคนที่อยู่วงในของวงการ รู้จริง เรื่องจริง นี่แหละครับนิตยสารมังงะที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น (Jump), ดูหนัง/อนิเมะเรื่องนี้จบ บางคนอาจเกิดอาการท้อแท้ แล้วระดับอย่างฉันจะทำอย่างนั้นได้เหรอ, ไม่รู้สิครับ ผมไม่ใช่นักเขียนการ์ตูน วาดรูปไม่เป็นแต่คิดว่ามันคงต้องเหนื่อยมากๆ ถ้าคุณยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แบบ Moritaka ในช่วงแรก (ก่อนที่จะทำสัญญากับ Miho) มันจะมีค่าอะไร ไม่ลองหาเป้าหมายให้ได้แบบนั้นดูละ นี่เป็นอาจเป็นแรงจูงใจให้คุณประสบความสำเร็จกับอาชีพนักเขียนการ์ตูนก็ได้

อิทธิพลของมังงะในญี่ปุ่น ถือว่าสูงมากๆนะครับ มีตอนหนึ่งใน PCP (มังงะในอนิเมะที่พระเอกเขียน) มีคนเลียนแบบกระทำจริงในสังคม, อิทธิพลนี้ของจริงนะครับ มันก็เหมือนละครหลังข่าวบ้านเรานี่แหละ เพราะมันเป็นสื่อที่ใครๆก็เข้าถึงได้ และผู้อ่าน/ผู้ชม เมื่อได้เห็นแล้วก็จะมีมุมมอง ทัศนคติต่อเรื่องเหล่านั้นว่า นี่เป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำกัน ตัวละครใน PCP ยังทำได้ แล้วทำไมฉันถึงทำไม่ได้ (เพราะเหตุนี้แหละ ที่ทำให้บ้านเราได้ยินข่าวถึงมีการตบตีแย่งชิงผัวแบบในละครมากขึ้นทุกวัน), การแก้ปัญหาของ PCP เยี่ยมมากๆ ตอนดูผมก็คิดไม่ถึงนะครับ ชอบแนวคิดของ Akito ด้วย เขามองว่าการ “ห้าม” มันยิ่งเหมือนยั่วยุให้ทำ เวลามีใครมีสั่งห้ามไม่ให้เขาทำอะไร ใจก็มีแต่จะขัดขืน วิธีการที่ใช้คือ แนะนำสิ่งที่ถูกต้อง ทำได้แต่มันเกิดข้อเสียอะไร สะท้อนการถูกกระทำด้วยวิธีการเดียวกันกลับมา วิธีนี้จะทำให้คนที่เลียนแบบมองภาพกลับมาหาตัวเอง ถ้าฉันถูกทำแบบนั้นบ้างจะรู้สึกอย่างไร

มังงะเรื่อง Reversi ผมเห็นปุ๊ปก็รู้เลยว่า มันคือ Death Note นะแหละ เหมือนกันในมุมกลับ จากขาวเป็นดำ จากดีเป็นชั่ว มียมทูตเหมือนกันเสียด้วย รู้สึกว่าตอนจบ Reversi มีแค่ 50 กว่าตอนเท่านั้น Ashirogi Muto ได้ขอ บก. จบเองและไม่ยืดด้วยเหตุผลใดๆทั้งสิ้น นี่เป็นการสะท้อนเมื่อตอน Ohba และ Obata เขียน Death Note ผมได้ยินว่าพวกเขาต้องการจบที่ L ชนะ Light ไม่ใช่มี Mello หรือ Near ต่อ วางแผนจบเรื่องที่ประมาณ 50 กว่าตอน แต่ที่ยืดออกไปเพราะ บก. ขอไว้ มังงะขณะนั้นกำลังได้รับความนิยมสูงมากๆ จบไปคงทำให้แฟนๆผิดหวังแน่, มันเคยมีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นนะครับ กับคนที่ติดตามมังงะมาอย่างยาวนาน Slam Dunk เคยถูก บก. สั่งให้ Shohoku ชนะ Sannoh แต่ Takehiko Inoue ผู้แต่งต้องการให้ Shohoku แพ้ เถียงกันไปๆมาๆ Inoue ยอม บก. และพอ Shohoku ชนะก็ตัดจบเลย ไม่ง้อ ไม่แคร์ ไม่ยอมเขียนต่อ, เหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆกันแบบนี้ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆนะครับ ผมไม่ได้ตั้งใจจะสื่ออะไรเป็นพิเศษนะครับ แค่จะเล่าให้ฟัง นี่มันเป็นสิ่งที่เห็นบ่อย กับมังงะที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เขาก็ทำแบบนี้กันเพื่อรักษากระแสและกอบโกยให้ได้มากที่สุด อย่าง Naruto นี่กลายเป็นเรื่องต่อไปแล้ว แม้ Kishimoto Masashi จะไม่ได้เขียน Boruto ต่อ แต่มันเป็นการยื้อในสิ่งที่ควรจะจบ แต่ไม่ยอมให้จบ, มันคงไม่เกิดขึ้นกับ Ohba และ Obata แล้วนะครับ มังงะเรื่องถัดไปของพวกเขาคือ Platinum End เขียนลงใน Jump SQ ออกรายเดือน คงไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่

กรณีคุณเป็นนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ และมีโอกาสได้ตีพิมพ์ลงใน Jump จะมีเวลาพิสูจน์ตัวเองประมาณ 10 สัปดาห์ ถ้าได้รับความนิยมพอใช้ก็จะไม่ถูกตัดจบ ระยะเวลาแค่เพียง 2-3 เดือน ชี้เป็นชี้ตายว่าจะตกงานหรือเปล่านะครับ นี่ถือว่าโหดสุดๆ นิตยสารเล่มอื่นๆก็อาจใช้วิธีคล้ายกัน แต่อาจจะเบากว่านี้ เพราะนี่คือ Jump นิตยสารการ์ตูนที่ขายดีที่สุดในประเทศ (และน่าจะในโลกด้วย) ถ้าเรื่องนั้นไม่แน่จริง ไม่ดีจริง ไม่เจ๋งจริง ก็ไม่แปลกที่จะเอาใจคนอ่านไม่ได้, ปีๆหนึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ตามอ่านการ์ตูนมา จะมีแค่สัก 5-6 เรื่องเท่านั้นที่ไม่โดนตัดจบใน 10 สัปดาห์, 2-3 เรื่องใหม่เท่านั้นที่เขียนได้เกินปี, และ 2-3 ปีครั้งจะมีเรื่องที่ได้รับความนิยมมากพอจนได้ทำอนิเมะ, สิบปีจะมีฮิตติดลมปรากฏขึ้น

ที่ผมหลงรักอนิเมะเรื่องนี้ จะว่าเพราะ Miho เลยก็ว่าได้ แรกๆก็ไม่คิดว่าผู้หญิงหน้าซาลาเปาแบบนี้จะน่ารักอะไรนะครับ แต่ผู้หญิงทั้งเรื่องมีโครงหน้าแบบนี้ เมื่อเห็นจนชินตาจะรู้เลยว่าคนที่ดูดีที่สุดก็ Miho นี่แหละ เลยโดนขโมยหัวใจไปแล้ว นิสัยเธอก็แฟนสาวแบบอุดมคติมากๆ คงหาไม่ได้หรอกแต่ชอบแบบนี้, ที่ผมชอบจริงๆคือมังงะในมังงะ (อาทิ PCP, Zombie Gun, Natural+, Reversi ฯลฯ) เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของเรื่องราวอีกที มันคล้ายๆกับ ถ่ายหนังในหนัง เช่น Sunset Blvd. (1950), ที่ชอบเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นได้ มันต้องสื่อถึงอะไรบางอย่างของตัวละคร สะท้อนแนวคิดออกมา มันเป็นการสร้างอีกโลกหนึ่งขึ้นซ้อนโลกหลัก ทำอย่างไรให้เข้ากับบริบทเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้ง PCP และ Reversi เป็นการสะท้อนผู้แต่งทั้งสองได้ตรงมากๆ เรื่องนี้มันเลยออกมาเจ๋งนะครับ

แนะนำซีรีย์เรื่องนี้กับคนที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนทั้งหลาย โอตาคุและติ่งญี่ปุ่น สะดวกหรือชอบแนวไหน อ่านมังงะ ดูอนิเมะ หรือดู Live Action ก็ลองหาช่องทางดูนะครับ ถ้าคุณหลงรักเรื่องนี้จริงๆ เชื่อว่า เกมก็คงอาจหามาเล่น (มีเกม Bakuman ด้วยนะครับ ไม่รู้เป็นยังไงเหมือนกัน) จัดเรต G เหมาะกับทุกเพศทุกวัน

TAGLINE | “Bakuman ตีแผ่เบื้องหลังของวงการมังงะญี่ปุ่น ที่คุณจะได้พบความจริงที่โหดร้าย แต่ก็มีความสวยงามจากเป้าหมายที่เป็นความฝันของทุกๆคน”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE