Caravaggio (1986)


Caravaggio (1986) British : Derek Jarman ♥♥♥♥

Michelangelo Caravaggio ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆกับ Michelangelo Buonarroti แต่ต่างเป็นจิตรกรชื่อดัง เคยสรรค์สร้างผลงานให้สำนัก Vatican, ส่วนภาพยนตร์โคตรๆเหนือจริงเรื่องนี้ คือตัวตายตัวแทนผู้กำกับ Derek Jarman เพราะความเป็นศิลปิน รสนิยมรักร่วมเพศ นอนซมซาน ทุกข์ทรมาน และจากไปอย่างบลู

แต่เดี๋ยวก่อนนะ ผกก. Jarman สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้”ก่อน”ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส HIV (โปรดักชั่นถ่ายทำปี ค.ศ. 1985, รับรู้ว่าเป็นโรค AIDS ปี ค.ศ. 1986) นั่นแปลว่าอาการป่วย นอนซมซาน ทุกข์ทรมานของ Michelangelo Caravaggio รวมถึงคำพรรณาความตายสีน้ำเงิน โดยไม่รู้ตัวคือคำพยากรณ์อนาคตตนเองได้อย่างแม่นยำ

Pasqualone yawns into the blue sky.

Michelangelo Caravaggio

ครั้งแรกเมื่อผมรับชม Caravaggio (1986) มีความสองจิตสองใจ ไม่ค่อยชื่นชอบกลิ่นอายเกย์ๆสักเท่าไหร่ ตั้งใจว่าจะไม่เขียนบทความนี้เสียด้วยซ้ำ แต่หลังจากน้ำตาไหลพรากๆเพราะ Blue (1993) ผลงานเรื่องสุดท้าย รำพันความตายสีน้ำเงินของผกก. Jarman ทำให้ทัศนคติต่อหนังเรื่องอื่นๆเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!

ผมตัดสินใจหวนกลับมารับชม Caravaggio (1986) อีกครั้งในรอบไม่กี่วัน แล้วค้นพบความโคตรๆมหัศจรรย์ระดับมาสเตอร์พีซ! ตระหนักว่าบรรดาสิ่งแปลกประหลาดเหนือจริง (Surrealist) ที่ดูขัดแย้งต่อความเป็น Historical Period สามารถเรียกว่า ‘Queer’ (ความหมายดั้งเดิมของ Queer คือแปลก, ประหลาด, พิลึก, พิศดาร) จุดประสงค์เพื่อสร้างความร่วมสมัย (Contemporary Art) ท้าทายขนบกฎกรอบ วิธีคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และสะท้อนความเป็นตัวตนเอง/รสนิยมทางเพศของผกก. Jarman

I don’t believe in period films. I believe in films about the present. I don’t want to make films about the past. I want to make films about the present, and I want to use the past as a way of talking about the present.

Derek Jarman

มีนักวิจารณ์จำนวนมากที่มองว่าการนำเอาหลอดไฟ มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคิดเลขดิจิตอล หรือให้ตัวละครสวมสูทผูกไทด์ ฯลฯ ในภาพยนตร์แนวย้อนยุค (Period) เป็นการไม่เคารพประวัติศาสตร์!! แต่ความเป็นศิลปะในสื่อภาพยนตร์ มันจำต้องปฏิบัติตามขนบกฎกรอบเหล่านั้นด้วยหรือ?


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Michelangelo Merisi da Caravaggio ชื่อเกิด Michele Angelo Merigi (1571-1610) จิตรกรแห่งยุคสมัย Baroque สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Milan ยุคสมัยนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง Spanish Empire, บิดาทำงานให้กับ Marchese of Caravaggio (เมือง Caravaggio ห่างออกไปทางตะวันออกของ Milan) โชคร้ายติดโรคระบาดเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1577 มารดาจึงต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรทั้งห้าอย่างยากเข็น, จนกระทั่งปี ค.ศ. 1584-88 มีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ฝึกงานจิตรกร Simone Peterzano จากนั้นย้ายมาปักหลักกรุง Rome สรรค์สร้างผลงานจนเข้าตา Cardinal Francesco Maria del Monte ว่าจ้างให้วาดภาพเกี่ยวกับศาสนา (Religious Themes)

การทำงานของ Caravaggio ไม่มีการร่างภาพ มักวาดจากแบบโดยตรง เพราะต้องการสำรวจบุคคลเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด ถ่ายทอดออกมาด้วยการใช้แสง-เงา ด้วยความจัดจ้าน หนักหน่วง ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว เพื่อขับเน้นรายละเอียดให้โดดเด่น รวมถึงรายละเอียดของภาพที่มักเกี่ยวกับศาสนา ดูรุนแรง หมิ่นเหม่ทางศีลธรรม จนสร้างความขัดแย้ง ไม่พึงพอใจต่อคน(นักบวช)บางกลุ่ม … มีคำเรียกภาษาอิตาเลี่ยน Chiaroscuro (แปลว่า แสง-เงา) ก่อนพัฒนากลายเป็นแนวศิลปะ Tenebrism

เกร็ด: Tenebrism เป็นงานศิลปะที่ทรงอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์อย่างมากๆ โดยเฉพาะหนังนัวร์ (Film Noir) และยุคสมัย German Expressionism ที่แม้มีเพียงภาพขาวดำ แต่จุดเด่นคือการตัดกันระหว่างแสงสว่างกับเงามืด มักมีความขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว

จากเคยเป็นจิตรกรอันดับหนึ่งในกรุงโรม ระหว่างค.ศ. 1600-06 แต่กลับเลือกชีวิตเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา หลงใหลการพนัน ชื่นชอบใช้ความรุนแรง ถูกตำรวจจับกุมหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่ง Caravaggio เข่นฆาตกรรมชายหนุ่มคนหนึ่ง Ranuccio Tommasoni เลยตัดสินใจหลบหนีออกนอกเมือง (มีสองคำเล่าลือว่าขัดแย้งจากการพนันขันต่อ ไม่ก็อิจฉาริษยาหญิงสาว/โสเภณี Fillide Melandroni) มุ่งหน้าสู่ Naples, Malta, Sisily

ก่อนมาเสียชีวิตยัง Porto Ercole, Kingdom of Naples วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1610, มีหลายทฤษฎีความตาย อาทิ ล้มป่วยโรคซิฟิลิส, ทนพิษบาดแผลไม่ไหว, แต่การตรวจสอบ DNA พบเจอสารปรอท (lead poisoning) ซึ่งยุคสมัยนั้นคือส่วนผสมหลักของสีวาดภาพ (แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจถูกวางยาพิษ เพราะเคยมีเรื่องขัดแย้งใครต่อใครมากมาย)

ผมลองสอบถาม ChatGPT ถึงผลงานมีชื่อเสียงที่สุดของ Caravaggio ให้คำตอบ The Calling of St. Matthew (1959-60) ได้รับยกย่องว่า “Masterpiece of Baroque” ภาพของพระเยซูชี้นิ้วมายัง St. Matthew ในทิศทางเดียวกับแสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา (ดูราวกับแสงจากสรวงสวรรค์) นี่เป็นภาพตัวอย่างการใช้แสง-เงาในสไตล์ Tenebrism ได้อย่างชัดเจนและทรงพลังที่สุด

เกร็ด: ปัจจุบันภาพวาด The Calling of St. Matthew จัดแสดงอยู่ที่วิหาร Contarelli Chapel ของโบสถ์ San Luigi dei Francesi ณ กรุง Rome

Michael Derek Elworthy Jarman (1942-94) ศิลปิน ผู้กำกับ นักเคลื่อนไหวสิทธิเกย์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Northwood, Middlesex ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการวาดภาพ โตขึ้นร่ำเรียนศิลปะยัง Slade School of Fine Art, University College London (UCL), เคยทำงานเป็นนักออกแบบฉาก The Devils (1971), กำกับหนังสั้น Music Video , ภาพยนตร์เรื่องแรก Sebastiane (1976), ผลงานเด่นๆ อาทิ Jubilee (1977), The Tempest (1979), Caravaggio (1986), The Last of England (1988), Edward II (1991) ฯ

ตั้งแต่สมัยร่ำเรียนยัง Slade School of Art ผกก. Jarman ค้นพบความชื่นชอบหลงใหลผลงานศิลปะของ Michelangelo Caravaggio โดยเฉพาะการใช้แสง-เงา องค์ประกอบที่มีความสุดโต่ง รุนแรง เต็มไปด้วยพลังและความอ่อนไหว (สามารถสะท้อนด้านสว่าง-มืด ภายในจิตใจ)

Caravaggio was a man of extremes. He was a genius, a criminal, a homosexual, a rebel. He was also a painter of extraordinary power and beauty. His paintings are full of violence, passion, and sensuality. They are also full of light and shadow, which reflect the darkness and light of Caravaggio’s own life.

Derek Jarman

ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 80s ผกก. Jarman ได้เริ่มต้นพัฒนาบทหนัง Caravaggio ร่วมกับ Nicholas Ward Jackson และ Suso Cecchi D’Amico (รายหลังเหมือนจะไม่ได้รับเครดิต) แต่ติดปัญหาที่ไม่มีสตูดิโอไหนให้ความสนใจ (เพราะมีประเด็นเรื่องรักร่วมเพศ) จนกระทั่งสามารถหาทุนสนับสนุนจาก Channel 4 มอบเงินจำนวน £450,000 ปอนด์

I wanted to make a film about Caravaggio that would capture the extremes of his life and work. I wanted to make a film that was visually stunning, but also emotionally powerful. I wanted to make a film that would challenge the audience, but also entertain them.

บทหนังของ Jarman ผมครุ่นคิดว่าเกินกว่า 70% คือเรื่องราวแต่งขึ้น (Fiction Story) เพราะผู้กำกับไม่ได้มีความสนใจจะสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติ เท่าที่ลองหาข้อมูลพบว่า Caravaggio อาจไม่ได้มีรสนิยมรักร่วมเพศเสียด้วยซ้ำ … นี่เป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะยุคสมัยนั้นเรื่องพรรค์นี้เป็นสิ่งไม่สามารถเปิดเผยสาธารณะ และรายละเอียดผลงานของ Caravaggio มีความเป็น Homoerotic อย่างชัดเจน (ทั้งชีวิตของ Caravaggio วาดภาพเปลือยผู้ชายมากมาย แต่ไม่เคยสักครั้งวาดภาพนู้ดผู้หญิง)

I wanted to be true to the spirit of Caravaggio, not to the facts. I’m not interested in making a biopic. I’m interested in making a film about the creative process. I wanted to make a film about a man who was obsessed with his own mortality, who was fascinated by violence and death, and who was also a great artist.

I think Caravaggio was a gay man, and I think he was a very lonely man. I think he was a man who was very aware of his own mortality, and I think he was a man who was very passionate about his work.


Caravaggio (รับบทโดย Nigel Terry) ในสภาพล้มป่วยใกล้ตาย นอนทุกข์ทรมานอยู่บนเตียง เคียงข้างคนรับใช้ใบ้ Jerusaleme กำลังหวนรำลึกความหลัง ก่อนถึงวันหมดสิ้นลมหายใจ

เรื่องราวย้อนอดีตของ Caravaggio เริ่มตั้งแต่ได้รับการค้นพบโดย Cardinal Francesco Maria del Monte เมื่อเริ่มมีฐานะก็ใช้ชีวิตอย่างเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา ตกหลุมรักแรกพบ Ranuccio (รับบทโดย Sean Bean) ชักชวนมาเป็นนายแบบวาดภาพ แล้วพยายามเกี้ยวพาราสีโดยไม่สนคนรักของเขา Lena (รับบทโดย Tilda Swinton) แถมวางแผนจับคู่ให้เธอกลายเป็นหนูตกถังข้าวสาร ถูกหมายปองโดย Scipione Borghese แต่ความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำ Ranuccio ทำให้เกิดเหตุโศกนาฎกรรมติดตามมา


Peter Nigel Terry (1945-2015) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bristol ก่อนครอบครัวอพยพสู่ Truro, Cornwall ชื่นชอบวาดรูปและการแสดง มีโอกาสเข้าร่วม National Youth Theatre ตามด้วย Central School of Speech and Drama จบมามีผลงานละครเวที โด่งดังกับภาพยนตร์ The Lion in The Winter (1968) และกลายเป็นขาประจำผกก. Derek Jarman ตั้งแต่ Caravaggio (1986), Edward II (1991), Blue (1993) ฯ

รับบท Michelangelo Merisi da Caravaggio จิตรกรชาวอิตาเลี่ยน มีความหัวขบถ นิสัยดื้อรั้น ชื่นชอบความรุนแรง ใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่าย สำมะเลเทเมา ต้องการครอบครองชายคนรัก Ranuccio พยายามทำบางสิ่งอย่างเพื่อผลักไส Lena แต่กลับเกิดความขัดแย้งภายในหลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ตายจากไปอย่างเจ็บปวดทรมาน

Excalibur is a beautiful film. It is visually stunning and the performances are excellent. I particularly enjoyed Nigel Terry’s performance as Arthur. He brought a great deal of depth and complexity to the role.

Derek Jarman กล่าวถึงความประทับใจ Nigel Terry จากภาพยนตร์ Excalibur (1981) คือเหตุผลเลือกมารับบท Caravaggio

การแสดงของ Terry ต้องชมเลยว่ามีความซับซ้อน และขัดแย้งภายใน ภาพลักษณ์คมเข้มดูไม่ค่อยเหมือนเกย์ รสนิยมทางเพศชาย-ชาย แต่การแสดงออกผมถือว่าภาษากายค่อนข้างชัดเจน โหยหาใครบางคนสามารถเป็น ‘blood brother’ แต่กลับถูกทรยศหักหลังกลายเป็นสาเหตุของโศกนาฎกรรม ระบายความอัดอั้นผ่านงานศิลปะ รุนแรง สุดขั้ว และทรงพลัง

แต่สิ่งที่ผมประทับใจสุดๆของ Terry คือน้ำเสียงพูดบรรยาย มีลีลา สำบัดสำนวน ไม่เชิงทำนองเสนาะ แต่เน้นถ้อยคำที่สอดคล้องจอง ด้วยสัมผัสนอก-ใน ท้าทายศักยภาพครุ่นคิด เปรียบเทียบนัยยะเชิงสัญลักษณ์ แทบไม่ต่างจากบทละครของ Shakespeare ซึ่งแสดงถึงความรอบรู้ เฉลียวฉลาด อัจฉริยภาพของทั้งตัวละคร นักแสดง และผู้กำกับ Jarman … นี่ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ สไตล์ลายเซนต์ผกก. Jarman เลยก็ว่าได้

Caravaggio was a very complex and contradictory character. He was a genius, but he was also a violent and troubled man. I was drawn to the challenge of playing such a complex character.

Nigel Terry กล่าวถึงบทบาท Caravaggio

ชีวิตจริงของ Caravaggio กับเรื่องราวในหนังมีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะสิ่งที่ผกก. Jarman ต้องการนำเสนอออกมานั้นไม่ใช่อัต-ชีวประวัติ แต่คือตัวละครที่สะท้อนความสนใจของเขาเอง รสนิยมรักร่วมเพศ พานผ่านความรุนแรงมามาก และผลงานศิลปะ=ภาพยนตร์

Terry มีความประทับใจการร่วมงานผกก. Jarman เป็นอย่างมากๆ กล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ ความเฉลียวฉลาด ผลงานมีความน่าตื่นตาตื่นใจ พวกเขาจึงได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง สูญเสียดายอย่างมากหลังการจากไป

Derek Jarman had a very clear vision for the film. He wanted to make a film that was both visually stunning and intellectually stimulating. I think he succeeded in doing that.


Sean Bean ชื่อจริง Shaun Mark Bean (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Sheffield, West Riding of Yorkshire บิดาเป็นเจ้าของบริษัทสิ่งทอ ฐานะค่อนข้างมั่งคั่ง วัยเด็กแม้มีความสนใจกีฬาฟุตบอล แต่ประสบอุบัติเหตุชนกระจกประตูแตก ทิ้งรอยแผลเป็นบนใบหน้า, โตขึ้นได้ทุนการศึกษา Royal Academy of Dramatic Art (RADA) จากนั้นผลงานละครเวที เริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ Caravaggio (1986), โด่งดังระดับนานาชาติจาก Patriot Games (1992), GoldenEye (1995), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (2001), National Treasure (2004), Troy (2004), Silent Hill (2006) ฯ

รับบท Ranuccio Tomassoni ชายหนุ่มหล่อ กำยำ ล่ำบึก ชนชั้นทำงาน พูดสำเนียงอังกฤษ ชื่นชอบการต่อสู้ ใช้ความรุนแรง (คาดว่า)เป็นแมงดาของ Lena จนกระทั่งเข้าตา Caravaggio ชักชวนมาเป็นนายแบบ หลงใหลในเงินๆทองๆ พร้อมกำจัดจุดอ่อนเพื่ออนาคตสุขสบายของตนเอง

นักแสดงที่เป็นตัวเลือกแรกของ Ranuccio นั้นคือ Daniel Day-Lewis แต่เห็นว่าคิวงานทับซ้อน ส้มหล่นใส่ Sean Bean แม้ในตอนแรกเต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ ก่อนได้รับคำโน้มน้าวจากผกก. Jarman จึงยินยอมตอบตกลง

Sean Bean is a revelation. He has a physical presence that is both beautiful and dangerous. He is also a very good actor, and he brings a great deal of depth and complexity to the role of Ranuccio Tomassoni.

Derek Jarman กล่าวถึง Sean Bean

การแสดงของ Bean มีความเคอะเขิน ขาดๆเกินๆ แต่เข้ากับบทบาทนี้เป็นอย่างดี เพราะทั้งเขาและตัวละครดูยังไงก็ไม่เหมือนชายรักร่วมเพศ (รูปหล่อ กล้ามล่ำ ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเกย์เสมอไปนะครับ) เลยเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน (เมื่อต้องเปลือยกายเป็นนายแบบ) เห็นเงินเห็นทองทำตามันวาว พร้อมทอดทิ้งแฟนสาวเพื่อความอิ่มท้อง สุขสบาย สนองพึงพอใจส่วนตน … นี่เรียกว่านักฉวยโอกาส (Opportunist)

ถึงผมไม่ค่อยรู้ว่าการแสดงของ Bean ดูน่าตื่นตาตื่นใจ (นอกจากความหล่อล่ำ ‘sex symbol’) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นบทบาทแจ้งเกิด กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และที่สำคัญก็คือการตายครั้งแรกในภาพยนตร์ … สำหรับคนเข้าใจมุกนี้นะครับ


Katherine Matilda Swinton (เกิดปี 1960) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาเป็นทหารบกยศพลตรี ตอนเด็กเรียนร่วมห้องกับว่าที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ Diana Frances Spencer, โตขึ้นเข้าศึกษาต่อยัง New Hall (ปัจจุบันคือ Murray Edwards College) ณ University of Cambridge สาขาสังคมและรัฐศาสตร์, หลังเรียนจบสมัครเข้าร่วม Royal Shakespeare Company กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยมินิซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Caravaggio (1986), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Edward II (1991) คว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Beach (2000), Vanilla Sky (2001), The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005), Michael Clayton (2007)**คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Burn After Reading (2008), Doctor Strange (2016) ฯ

รับบท Lena สาวคนรักของ Ranuccio คาดว่าเป็นโสเภณี คอยเลี้ยงดูแลอีกฝ่าย จนกระทั่งถูกแก่งแย่งโดย Caravaggio บังเกิดความอิจฉาริษยา จนกระทั่งเขา(แอบ)ช่วยเหลือให้เธอได้รับโอกาส จากยาจกกลายเป็นเศรษฐี (Rags to riches) ตั้งครรภ์กับ Cardinal Scipione Borghese แต่ขณะกำลังจะมีชีวิตสุขสบาย ถูกทรยศหักหลังจากอดีตชายคนรัก

เกร็ด: เท่าที่ผมอ่านจากรายละเอียดประวัติศาสตร์ Lena น่าจะคือหนึ่งในคนรัก โสเภณีคนโปรด ‘Michelangelo’s girl’ ต้นแบบภาพวาด Madonna di Loreto (1604–06) และเห็นว่า Caravaggio เคยมีเรื่องแก่งแย่งหญิงสาวคนนี้กับ Mariano Pasqualone di Accumoli (ไม่ใช่กับ Ranuccio Tomassoni)

แม้ในสภาพเลอะเทอะ เปลอะเปลื้อน แต่งชุดผ้าขี้ริ้ว แต่การแสดงของ Swinton เจิดจรัสตั้งแต่ฉากแรกพบเห็น ดูเป็นทอมบอย ระริกระรี้ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ก่อนส่งสายตาอิจฉาริษยา Caravaggio แต่พอเปลี่ยนมาแต่งชุดราตรี ราวกับคนละคน ไฮโซ เริดเชิด ยกเว้นสำเนียงอังกฤษที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงต้นกำเนิด/ชนชั้นล่าง

แซว: จริงๆการใช้ภาษาอังกฤษในหนังที่มีพื้นหลังกรุงโรม, อิตาลี มันก็ผิดแปลกประหลาดแล้วนะ แต่สำเนียงท้องถิ่นของ Ranuccio และ Lena นี่คือโคตรพิลึก! น่าด้วยจุดประสงค์การแบ่งแยกชนชั้นตัวละคร (ทั้งสองถือเป็นชนชั้นล่าง/กรรมกรแรงงาน)

บทบาทของ Swinton ถือเป็นสีสันอันเจิดจรัส เห็นแววเปร่งประกาย อาจแตกต่างจากสไตล์ปกติ แต่ก็พอพบเห็นเค้าโครงอยู่เล็กๆ ไม่กี่นาทีที่แสดงความเริดเชิดเย่อหยิ่งนั้น ติดตัวกลายเป็น ‘ภาพจำ’ นำไปต่อยอดกับ Edward II (1991) ได้อย่างทรงพลัง

I found the role of Lena to be challenging and demanding. I had to work hard to create a character that was both believable and sympathetic.

I’m very proud of my work in Caravaggio. It was a major turning point in my career, and it helped to launch me into the international spotlight.

ต้องถือว่าผกก. Jarman คือผู้พบเจอ Swinton เป็นทั้งอาจารย์ (Mentor) เพื่อนร่วมงาน (Collaborator) บุคคลที่เปลี่ยนชีวิต “one of the most important people in my life”. พวกเขาไปมาหาสู่ ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง และอยู่เคียงชิดใกล้จนวันตาย(ของ Jarman)

Derek was a great friend and mentor to me. He taught me so much about filmmaking and about life. He was a true original, and I will miss him terribly.

Tilda Swinton กล่าวถึง Derek Jarman

You are a very special person, Tilda. You are an extraordinary actor, and you have a rare gift for bringing out the best in people. I am so grateful for your friendship and your support. You have made my life richer and more meaningful.

Derek Jarman กล่าวถึง Tilda Swinton

ถ่ายภาพโดย Luis Gabriel Beristáin (เกิดปี 1945) ตากล้องชาว Mexican เกิดที่ Mexico City เป็นบุตรชายนักแสดง Luis Beristáin, โตขึ้นสอบเข้าคณะวิศวกรรม Instituto Politécnico Nacional ก่อนเปลี่ยนมาศึกษาภาพยนตร์ จากนั้นถ่ายทำสารคดี ก่อนเดินทางสู่อิตาลี แล้วได้รับคำแนะนำจาก Sergio Leone ย้ายมาปักหลังประเทศอังกฤษ สามารถสอบเข้า National Film and Television School รุ่นเดียวกับ Oswald Morris, Billy Williams, มีเครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก Bloody Flesh (1983), โด่งดังกับ Caravaggio (1986), จากนั้นมุ่งสู่ Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ Blade II (2002), The Ring Two (2005), Black Widow (2021) ฯ

งานภาพของหนังมีความงดงามวิจิตรศิลป์ แน่นอนว่าต้องอ้างอิงจากผลงานศิลปะของ Michelangelo Caravaggio ในสไตล์ Tenebrism โดดเด่นกับการจัดแสงสว่าง-ความมืดมิด รวมถึงเฉดสีสันที่มีความฉูดฉาด จัดจ้าน ขั้วตรงข้าม

I wanted the film to be visually striking, to capture the intensity and drama of Caravaggio’s paintings. I used a lot of high-contrast lighting, close-ups, and static shots. I wanted to create a world that was both real and unreal, at once beautiful and disturbing.

Derek Jarman

บางคนอาจมองว่าไฮไลท์ของหนัง คือการยัดเยียดวัตถุข้าวของที่มีความผิดแผกแตกต่าง หลอดไฟ มอเตอร์ไซด์ เครื่องพิมพ์ดีด ฯ เพื่อสร้างสัมผัสร่วมสมัย (Contemporary Art) แต่ผมกลับประทับใจการ ‘recreation’ นำรายละเอียดที่อยู่ในภาพวาดศิลปะ ออกมาทำเป็นต้นแบบ(สำหรับการวาด) ซึ่งไม่ใช่นำเสนอวิธีการทำงานของ Caravaggio แต่บางครั้งมันคือเลียนแบบภาพเหตุการณ์จริง (อย่างฉากความตายของ Caravaggio ก็จัดรายละเอียดให้เหมือนภาพที่เคยวาด)

เรื่องราวมีพื้นหลังกรุงโรม, อิตาลี แต่นักแสดง สำเนียงภาษา รวมถึงสถานที่ถ่ายทำ ล้วนปักหลักอยู่ยัง Limehouse Studios ณ กรุง London, ประเทศอังกฤษ … นี่ไม่ใช่เรื่องข้อจำกัดงบประมาณนะครับ แต่คือแนวทางการสรรค์สร้างของผกก. Jarman ไม่ได้ต้องการถ่ายทำภาพยนตร์แนว Historical Period แต่ใช้ประวัติศาสตร์เพื่อสะท้อนเรื่องราว/เหตุการณ์ในปัจจุบัน อังกฤษยุคสมัยนี้(ช่วงทศวรรษ 80s)ไม่ต่างอะไรจากอิตาลียุคสมัยนั้น(ศตวรรษที่ 16-17) เชื่อว่าสามารถนำเสนอจิตวิญญาณดั้งเดิมของ Caravaggio เต็มไปด้วยความรุนแรง อารมณ์คลั่งไคล้ หมกมุ่นเรื่องเพศ และความตาย

I wanted to make a film about Caravaggio, and I wanted to make it in England. I didn’t want to make a film about Italy, I wanted to make a film about Caravaggio. And I felt that the best way to do that was to shoot it in England, because I felt that England was a country that was very much in Caravaggio’s spirit. It’s a country that’s very much about violence, about passion, about sexuality, about death. And I felt that those were all things that were very much part of Caravaggio’s work.


เรื่องราวเริ่มต้นวันสุดท้ายในชีวิตของจิตรกรเอก Michelangelo Caravaggio วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1610 ณ Porto Ercole, Kingdom of Naples ขณะกำลังนอนซมซานอยู่ในห้องพัก อพยพหลบหนีจากคดีฆาตกรรม ได้ยินเสียงคลื่นซัดหาดทราย เคียงข้างกายคือคนรับใช้บ้าใบ้ Jerusaleme กำลังกรีดไม้ชิ้นเล็กๆ ซึ่งสามารถสื่อถึงเรื่องราว(ของ Caravaggio)ที่กำลังจะถูกนำเสนอด้วยวิธีแบ่งออกเป็นตอนๆ ชิ้นส่วนเล็กๆ ด้วยเทคนิคเล่าย้อนอดีต (Flashback) นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆที่สร้างอิทธิพลให้กับชีวิต

ผมไม่คิดว่าช่วงศตวรรษที่ 16-17 จะมีตุ๊กตากระต่ายลักษณะนี้อย่างแน่นอนนะครับ! มันคือสิ่งแปลกปลอม ผิดยุคผิดสมัย ขัดแย้งต่อพื้นหลังของหนัง บางคนอาจพยายามครุ่นคิดหานัยยะเชิงสัญลักษณ์ แต่เอาจริงๆมันไม่ได้มีความหมายอะไรลึกล้ำ เพียงต้องการสร้างสัมผัส ‘ร่วมสมัย’ อดีต-ปัจจุบัน คนยากคนจนไม่เห็นมันจะต่างอะไร

I like to use modern things in my films because they remind us that the past is not dead. The past is always with us, and it’s important to remember that.

Derek Jarman

Medusa สัตว์ประหลาดจากปรัมปรากรีก Gorgon Medusa ใบหน้ามนุษย์ มีงูพิษเป็นผม หากจับจ้องเธอโดยตรง จะถูกสาปให้กลายเป็นหิน (แถวบ้านเรามีคำเรียก งูเก็งกอง) ก่อนถูกตัดหัวโดยวีรบุรุษ Perseus จากนั้นนำไปถวายแด่เทพี Athena เพื่อติดบนโล่ของพระนาง

ภาพวาดสีน้ำมันบนโล่ไม้ Medusa (1597) ของ Caravaggio ได้รับการว่าจ้างจาก Francesco Maria del Monte เพื่อเป็นของขวัญแก่ Ferdinando I de’ Medici ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Uffizi Museum, Florence

เกร็ด: ภาพวาดศิลปะของ Caravaggio มีการวาดขึ้นใหม่สำหรับใช้ในหนังโดย Christopher Hobbs (เครดิต Production Design)

Basket of Fruit (1599) ภาพวาดตระกร้าใส่ผลไม้ที่ดูไม่ค่อยสดสักเท่าไหร่ ใบมีความแห้งเหี่ยวเฉา ผลแอปเปิ้ลก็มีร่องรอยแมลงกันกิน โทนสีเขียวซีด แต่ต้องชื่นชมในรายละเอียด สมจริงยิ่งกว่าภาพถ่ายเสียอีก! ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Biblioteca Ambrosiana, Milan

เกร็ด: ภาพวาดนี้เคยถูกนำมาพิมพ์ธนบัตร 100,000 Italian Lira เมื่อปี ค.ศ. 1990

ผมไม่ค่อยแน่ใจภาพวาดนี้นัก เพราะพบเห็นแค่เพียงบางส่วนและยังลงรายละเอียดไม่เสร็จสรรพ แต่คาดคิดว่าน่าจะเป็น Boy Peeling Fruit (1592-93) ผลงานชิ้นแรกๆ เก่าแก่สุดที่มีการพบเจอของ Caravaggio วาดขึ้นหลังจากเดินทางมาปักหลักอาศัยอยู่กรุงโรม, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Longhi Collection, Florence

Young Sick Bacchus (1593) คือภาพวาดตัวเอง Self-Portrait as Bacchus ของ Caravaggio ขณะนั้นอายุ 22-23 โดยใช้วิธีมองผ่านกระจก เห็นว่าขณะนั้นกำลังล้มป่วยมาลาเรีย ผิวหนังเลยดูซีดเซียว ออกสีเขียวอยู่เล็กๆ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Galleria Borghese, Rome

เกร็ด: Dionysus หรือ Bacchus คือเทพแห่งการเก็บเกี่ยว ความบริบูรณ์ และไวน์องุ่น (God of Fertility and Wines)

The Lute Player (1596) เห็นว่ามีทั้งหมดสามฉบับ ซึ่งแม้เป็นภาพชายหนุ่ม (นายแบบชื่อ Mario Minniti) เล่นเครื่องดนตรี Lute แต่รายละเอียดรอบข้างจะมีความแตกต่างออกไป

  • ฉบับแรกเก็บที่ Wildenstein Collection จะไม่มีดอกไม้ พบเห็นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆวางเรียงราย ไวโอลิน ฟลุต
  • ฉบับสองเก็บที่ Hermitage Museum, St. Petersburg จะมีดอกไม้วางด้านข้าง ผลไม้วางอยู่บนโต๊ะ และเครื่องดนตรีไวโอลิน
  • ฉบับสามเก็บที่ Badminton House, Gloucestershire จะมีรายละเอียดอกไม้และผลไม้ แตกต่างจากฉบับของ Hermitage Museum อยู่พอสมควร

เท่าที่ผมสังเกต ฉบับที่หนังนำมาใช้น่าจะเป็นของ Hermitage Museum ซึ่งมีรายละเอียดบทเพลง

Vous savez que je vous aime et vous adore … Je fus vôtre.
You know I love you and adore you … I was yours.

The Musicians หรือ Concert of Youths (1595) เชื่อกันว่าน่าจะผลงานแรกของ Caravaggio ภายใต้ร่มเงาของ Cardinal Francesco Maria del Monte ขณะนั้นกำลังมีความสนใจในดนตรี ประกอบด้วยบุรุษสี่คนนั่งห้อมล้อมนักเล่น Lute, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Metropolitan Museum of Art, New York

เกร็ด: มีนักประวัติศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่าบุคคลที่ถือ Lute อยู่กึ่งกลางภาพนั้น อาจจะคือบุคคลเดียวกับที่เป็นนายแบบภาพวาด The Lute Player (1596) ซึ่งก็คือ Mario Minniti ซึ่งทั้งสองภาพมักถูกมองว่าเป็นพี่น้อง ‘accompany painting’

คนที่รับชมหนังแบบผ่านๆย่อมไม่ทันเอะใจอะไร ก็แค่ฉากในผับบาร์ ดื่มสุรา เมาไวน์ แต่เดี๋ยวนะ Caravaggio (1986) มันคือภาพยนตร์ Historical Period ไม่ใช่เหรอ??? นี่คือสิ่งผู้ชมต้องฝึกฝน สังเกต และตระหนักให้ได้อยู่ตลอดเวลา ถึงจะพบเห็นความลึกล้ำ ทรงคุณค่า

มันไม่มีอะไรในซีนนี้ที่มีความเป็นศตวรรษ 16-17 อยู่เลยสักนิด! บุหรี่ เสื้อผ้า หนังสือพิมพ์ ขวด-แก้วไวน์ นี่ยังไม่รวมโต๊ะ-เก้าอี้ หลอดไฟนีออนหลากสี และสำหรับคนตั้งใจรับฟังเสียงพื้นหลัง ‘Sound Effect’ เหมือนโทรทัศน์/วิทยุดังเซ็งแซ่ พร้อมกับฝูงคนกำลังพูดคุย ซุบซิบนินทา

และอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้า ต่อให้พยายามครุ่นคิดจนหัวระเบิด ก็ไม่สามารถค้นพบนัยยะเชิงสัญลักษณ์ใดๆ นอกเสียจากเพื่อสร้างสัมผัส ‘ร่วมสมัย’ ผับบาร์ในอดีต-ปัจจุบัน มันแทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่านี่คือภาพวาดของ Caravaggio หรือไม่?? แต่ช่วงท้ายของซีนมีการใช้เกรียงกวาดเป็นวงกลม นั่นคือการทำลายภาพวาด ผลงานไม่เป็นที่พึงพอใจของศิลปิน ซึ่งสามารถสะท้อนถึงชีวิตขณะนั้นของ Caravaggio ตั้งแต่แรกพบเจอตกหลุมรัก Ranuccio ก็รู้เหมือนบางสิ่งอย่างขาดหาย ต้องการให้เขามาเติมเต็มความต้องการของหัวใจ

ต้องชมเลยว่านี่เป็นซีนที่น่าสนใจ เพราะมันไม่ใช่การ ‘recreate’ จากภาพวาดนับร้อยของ Caravaggio แต่เป็นการสร้างขึ้นใหม่โดยอ้างอิงจากสไตล์ลายเซ็นต์ ในเรื่องราวมันอาจคือผลงานที่ล้มเหลว แต่จะมีผู้ชมสักกี่คนสามารถตระหนักว่านี่ไม่ใช่ภาพวาดจริงๆของ Caravaggio

การเฉลิมฉลองขึ้นศตวรรษใหม่ 17th ของ Caravaggio ร่วมกับ Jerusaleme และเพื่อนอีกคนที่ก็ไม่รู้ชื่ออะไร มันช่างแอบน่าหวาดสะพรึงอยู่เล็กๆ สังเกตว่า…

  • Caravaggio ถือเคียวยมทูต โดยปกติแล้วคือสัญลักษณ์ของความตาย ในที่นี่น่าจะหมายถึงจุดสิ้นสุดศตวรรษที่ 16th
  • Jerusaleme ควบขี่ม้า เดินวนวงกลม กวัดแกว่งดาบไปรอบๆห้อง เหมือนจะไปเข่นฆ่าใครบางคน
  • ส่วนเพื่อนอีกคนสวมหน้ากากกระโหลกสีดำไว้ด้านหลัง เป่านกหวีดของ Jerusaleme และกวัดแกว่งธงสีแดง ราวกับกำลังประกาศชัยชนะต่ออะไรสักสิ่งอย่าง

ทุกเหรียญทองที่ได้รับ Ranuccio ทำการยัดใส่ปาก นั่นสร้างความสนเท่ห์ หลงในเสน่ห์ Caravaggio จึงทำการคาบเหรียญ แล้วให้อีกฝ่ายงับปากต่อปาก (เป็นการจีบกันที่โรแมนติกไม่น้อย) นั่นทำให้แฟนสาว Lena ตื่นขึ้นมาพร้อมเสียงไก่ขัน (เป็นการแทรกใส่ Sound Effect ที่เฉลียวฉลาดมากๆ)

นี่เป็นอีกภาพที่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าคือผลงานของ Caravaggio หรือเปล่า? แต่มันมีลักษณะคล้ายๆ David with the Head of Goliath (1610) ซึ่งสะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ Ranuccio สามารถต่อสู้เอาชนะศัตรู ถือดาบในท่วงท่าเดียวกัน

ซึ่งถ้าภาพนี้ไม่ใช่ผลงานของ Caravaggio แต่เป็นการลอกเลียนแบบสไตล์ ผมครุ่นคิดว่าผกก. Jarman ต้องการสะท้อนวิธีที่เขาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คือคงไว้ซึ่ง ‘จิตวิญญาณของ Caravaggio’ ส่วนรายละเอียดอื่นๆมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับแนวทางของตนเอง

ไม่เชิงว่าเหมือนเป๊ะ แต่รอยแผลเป็นจากการต่อสู้ของ Caravaggio เคยถูกนำเสนอออกมาบนภาพวาด The Incredulity of Saint Thomas มีอยู่สองเวอร์ชั่น Ecclesiastical Version (1601) และ Secular Version (1602) แตกต่างกันที่การใช้เฉดสีสัน

อ้างอิงจาก Gospel of John, อัครทูต Thomas ไม่ได้ประจักษ์การฟื้นคืนชีพของพระเยซู จึงเกิดความฉนงสงสัย (Doubting Thomas) เอ่ยกล่าวว่าต้องการพบเห็นร่องรอยรูตะปู เอานิ้วมือสัมผัส ถึงจะเชื่อว่าพระองค์ฟื้นคืนชีพจริง

Unless I see the nail marks in his hands and put my finger where the nails were, and put my hand into his side, I will not believe it.

Thomas the Apostle

สัปดาห์ถัดจากนั้น พระเยซูปรากฎตัวต่อหน้า Thomas แล้วอนุญาตให้สัมผัส จับต้อง เพื่อคลายความสงสัย แล้วตรัสว่า

Because you have seen me, you have believed; blessed are those who have not seen and yet have believed.

Jesus Christ

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าภาพฝาผนังด้านหลังคือผลงานศิลปินใด แต่ไม่ใช่ของ Caravaggio อย่างแน่นอนนะครับ (เพราะสไตล์ของ Caravaggio จะเน้นความสมจริง ดูเป็นธรรมชาติ และมีรายละเอียดแสง-สีที่ลุ่มลึกกว่านี้) ซึ่งถ้าสังเกตจากรูปภาพย่อมสื่อถึงมื้ออาหารขณะนี้ มีความโมเดิร์น หรูหรา เหมือนบริกรสวมใส่ทักซิโด้ สมเด็จพระคาร์ดินัลกำลังรับประทานสตรอเบอรี่ และพริกไทย (เป็นอาหารที่ไม่เข้ากันเลยสักนิด)

อีกสิ่งที่โคตรพิลึกพิลั่น นั่นคือเครื่องคิดเลขดิจิตอล พร้อมเสียงกดติ๊ดๆ มันช่างเป็นความผิดปกติ ขัดย้อนแย้งสามัญสำนึกอย่างรุนแรง แต่สามารถสื่อถึงการครุ่นคิดคำนวณ ผลประโยชน์ กำไร-ขาดทุน จากการพูดคุยต่อรองบนโต๊ะอาหารครั้งนี้!

Amor Victorious (1602) ภาษาละตินแปลว่า Love Conquers All, บุคคลในภาพวาดก็คือเทพเจ้าแห่งความรัก Cupid เปลือยกายแสดงถึงความใสซื่อบริสุทธิ์ ถือคันธนูเพื่อส่งมอบความรักให้กับมนุษย์ เหยียบย่ำลงบนชุดเกราะ เครื่องดนตรี สิ่งข้าวของต่างๆ หมายถึง(ความรัก)ชัยชนะต่อทุกสรรพสิ่งอย่าง, ปัจจุบันภาพวาดจัดแสดงอยู่ยัง Gemäldegalerie, Berlin

ความน่าสนใจของภาพนี้ก็คือการเปลือยกายเห็นอวัยวะเพศของ Cupid จริงอยู่มันสามารถสื่อถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียงของเด็กน้อย แต่ก็สามารถสื่อถึงความ Eroticism ได้เช่นกัน

แซว: ท่าทางเริงระบำ/กายกรรมของนักแสดง ประกอบบทเพลงของ Niño de Almadén: Serenata (1958) เป็นเพลงแนว Flamenco คาดว่าน่าจะดังจากวิทยุกระมัง ก็เพื่อสร้างสัมผัสแห่งอิสรภาพ แม้(มนุษย์)ไร้ซึ่งปีก แต่ก็สามารถโบกโบยบิน อยู่เหนือ(ลูก)โลกทั้งใบ

John the Baptist เป็นภาพที่ Caravaggio วาดออกมาหลากหลายฉบับมากๆ ที่ใช้ในหนังน่าจะคือ John the Baptist (1604) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Nelson-Atkins Museum of Art, Kansas City

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ John มักถือไม้ไผ่ และสวมใส่ผ้าคลุมสีแดง (Caravaggio ชมชอบการใช้สีแดง ซึ่งเป็นสีของความรุนแรง เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณ) สำหรับนายแบบในหนังมีอยู่สองคน ก่อนงานเลี้ยงคือ Ranuccio และหลังงานเลี้ยงคือ Jerusaleme … นี่เป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่พบเห็นการเปลี่ยนนายแบบ เพื่อสื่อถึงการ ‘เกิดใหม่’ ของ Lena ครั้งแรกคือได้สวมใส่ชุดหรูแล้วพบรัก Scipione Borghese ครั้งหลังคือจมน้ำ(จุ่มศีล)ไปเกิดใหม่จริงๆยังโลกหน้า

มันช่างเป็นงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่น่าหลอกหลอน ขนหัวลุก ชวนให้ผมระลึกถึง The Scarlet Empress (1934) ยิ่งนัก! เพราะสถานที่จัดงานราวกับสุสาน เต็มไปด้วยหยากใย้ โครงกระดูก โลกกระจก ราวกับขุมนรก เมืองแห่งคนบาป Sodom & Gomorrah

แซว: เพลงประกอบซีเควนซ์นี้ยังมีกลิ่นอาย Jazz ด้วยเสียงแซกโซโฟน เป่าแบบ ‘improvised’ ช่วยสร้างบรรยากาศงานเลี้ยงฮาโลวีน หลอกหลอน ล่องลอย ขัดแย้งความรู้สึกภายใน

ช่วงศตวรรษ 16-17 อาจจะมีอ่างอาบน้ำ กระเบื้องปูผนัง แต่ไม่ใช่เครื่องพิมพ์ดีดอย่างแน่นอน! ผมไม่ใจว่าชายคนนี้คือใคร แต่คาดเดาไม่ยากว่าต้องเป็นนักวิจารณ์งานศิลปะ กำลังตีพิมพ์ความคิดเห็นต่อผลงานของ Caravaggio ซึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำตำหนิต่อว่า … ล้อเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน นักวิจารณ์หนังก็ใช่ว่าจะสามารถยินยอมรับภาพยนตร์เรื่องนี้

Penitent Magdalene (1597) ภาพวาดที่เป็นตัวแทนของ Mary Magdalene มองยังไงก็ดูเหมือนเธอกำลังนอนหลับอยู่ แต่จริงๆแล้วสื่อถึงความเศร้าโศกเสียใจ หมดสิ้นหวังอาลัย ทอดทิ้งเครื่องประดับวางเรียงราย เอียงคอในทิศทางเดียวกับพระเยซูถูกตรีงไม้กางเขน, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Doria Pamphilj Gallery, Rome

Death of the Virgin (1606) ภาพวาดความตายของพระแม่มารี (แต่บุคคลที่เป็นแบบนั้นคือโสเภณี ไม่ได้มีความบริสุทธิ์ ‘Virgin’ เลยสักนิด) แถมหนังสร้างยังจงใจใช้ความตายของ Lena เพื่อเพิ่มความทรงพลังให้กับเรื่องราว อิทธิพลระหว่างชีวิต=ศิลปะ สำหรับศิลปินเป็นสิ่งไม่สามารถแยกแยะออกจากกัน, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Musée du Louvre, Paris

Saint Jerome Writing (1605) บุคคลที่อยู่ในภาพคือ Saint Jerome (342/47-420) ได้รับยกย่อง Hermit and Doctor of the Church แห่ง Roman Catholicism ขณะก้มอ่านหนังสือพร้อมๆกำลังจดบันทึก คาดว่าน่าจะเป็นการแปลหนังสือ Latin Vulgate, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ยัง Galleria Borghese, Rome

ในหนังไม่ได้มีการวาดภาพนี้ แต่นำเสนอเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เปลี่ยนจาก Saint Jerome มาเป็น Cardinal Francesco Maria del Monte กำลังยุ่งวุ่นวาย บันทึกรายละเอียดความตายของหญิงสาว Lena (มั้งนะ), ผมครุ่นคิดว่าจุดประสงค์คือ ต้องการแปรสภาพวาดให้กลายเป็นภาพเหตุการณ์จริง (ก่อนหน้านี้จะมีแค่ ‘recreate’ สิ่งที่อยู่ในภาพวาดให้กลายเป็นแบบ แต่หลังการเสียชีวิตของ Lena หลายสิ่งอย่างก็เริ่มกลับตารปัตร)

เท่าที่ผมค้นหาในคอลเลคชั่นของ Caravaggio พบเจอภาพวาด Portrait of Pope Paul V (1605) แต่หนังเลือกนักแสดงหน้าตาไม่ค่อยเหมือน Pope Paul V (ครองราชย์ 1605-21) สักเท่าไหร่!

หลังจาก Ranuccio ได้รับการปล่อยตัว มาพบเจอ Caravaggio ยังสถานที่แห่งหนึ่ง พวกเขาแต่งชุดสมัยใหม่ และยังมีรถยนต์ทันสมัย เหมือนตั้งใจจะออกเดินทางหลบหนีไปด้วยกัน แต่เมื่อความจริงเกี่ยวกับการตายของ Lena ได้รับการเปิดเผย มันจึงเกิดเหตุโศกนาฎกรรม … นั่นเพราะ Caravaggio ครุ่นคิดเข้าใจว่า Ranuccio ทรยศหักหลังตนเอง (คือถ้าสามารถฆาตกรรมอดีตแฟนสาว อนาคตไม่แน่ว่าเขาอาจโดนเข้ากับตัวเอง)

ผมครุ่นคิดว่าการสวมใส่เสื้อผ้าสมัยใหม่ พร้อมรถยนต์ทันสมัย(นั้น) เพราะผกก. Jarman ต้องการสื่อถึงเหตุการณ์(ร่วมสมัย)ในปัจจุบัน อาจเพราะเขาเคยถูกอดีตคนรักทรยศหักหลัง เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้กระมัง??

ก่อนจะหมดสิ้นลมหายใจเฮือกสุดท้าย Caravaggio หวนระลึกความทรงจำวัยเด็ก ระหว่างยืนเคียงข้าง Pasqualone (น่าจะเป็นตัวละครสมมติ สำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์สูญเสียความไร้เดียงสา ‘loss innocence’) พบเห็นภาพเหตุการณ์ก่อนและหลังตรึงกางเขน (นั่นอาจคือจุดเริ่มต้นความรุนแรงในชีวิตของ Caravaggio) สามารถเปรียบเทียบชีวิตของ Caravaggio ต้องอดรนทน เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่แตกต่างจากพระเยซู

The Entombment of Christ (1603) ภาพความตายพระเยซู (สื่อเชิงสัญลักษณ์ถึงความตายของ Caravaggio ครั้งแรกครั้งเดียวปรากฎอยู่ในองค์ประกอบของภาพวาด) บรรดาอัครทูต/สาวกกำลังโอบอุ้มเรือนร่างพระองค์ลงจากไม้กางเขน ตระเตรียมเคลื่อนพระศพไปยังสุสาน, ปัจจุบันภาพวาดจัดเก็บอยู่ยัง Vatican Pinacoteca

ปล. The Entombment of Christ ถือเป็นอีกผลงานชิ้นเอกของ Caravaggio มักได้รับการเปรียบคู่กับ Michelangelo: Pietà (1498-99) อาจเพราะท่วงท่าพระเยซูที่ละม้ายคล้ายกันกระมัง

ภาพสุดท้ายของหนัง ผมอุตส่าห์นึกว่าจะเป็นอีกผลงานของ Caravaggio แต่กลับค้นหาไม่พบเจอ เลยคาดว่าผกก. Jarman ต้องการสร้างภาพความตาย(ในสไตล์ Caravaggio)ด้วยวิธีการของตนเอง คือให้ตัวละครสวมสูทผูกไทด์ มอบสัมผัสร่วมสมัย (Contemporary Art) และคนรับใช้บ้าใบ้ Jerusaleme แหงนศีรษะขึ้นเบื้องบน พบเห็นแสงสว่างสาดส่องลงมาจากสรวงสวรรค์ (จริงๆถ้าทำให้ลำแสงชัดเจนกว่านี้สักหน่อย มันจะมีแนวคิดละม้ายคล้ายภาพวาด The Calling of St. Matthew)

ตัดต่อโดย George Akers (เกิดปี 1948) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Superman (1978), กลายเป็นขาประจำ ผกก. Derek Jarman ตั้งแต่ Caravaggio (1986), Edward II (1991) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Michelangelo Caravaggio ขณะนอนซมซาน ทนทุกข์ทรมาน ความตายใกล้เข้ามาเยี่ยมเยือน จากนั้นทำการเล่าย้อนอดีต (Flashback) หวนระลึกความทรงจำ เหตุการณ์สำคัญๆที่ยังตราฝังอยู่ภายใน ตั้งแต่เด็ก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรื่องราวความรัก และโศกนาฎกรรม

  • อารัมบท สภาพซมซานนอนอยู่บนเตียงของ Michelangelo Caravaggio
    • (ย้อนอดีต) Caravaggio จ่ายเงินซื้อเด็กชายใบ้ Jerusaleme สำหรับเป็นคนรับใช้ข้างกาย จนวันตาย
  • (ย้อนอดีต) วัยเด็กของ Caravaggio
    • สมัยวัยรุ่นเป็นนักเลงข้างถนน ขายภาพ พร้อมล่อหลอกลูกค้า
    • พบเจอโดย Cardinal Francesco Maria del Monte รับมาอุปถัมภ์ สอนวิชาความรู้ (รวมถึงล่วงละเมิดทางเพศ)
  • (ย้อนอดีต) รักแรกพบของ Caravaggio
    • ระหว่างนั่งดื่มในบาร์ Caravaggio ตกหลุมรักแรกพบ Ranuccio
    • พบเห็นชัยชนะการต่อสู้ของ Ranuccio จึงว่าจ้างให้มาเป็นนายแบบ
    • ระหว่างที่เป็นนายแบบ Caravaggio ก็ทำการเกี้ยวพาราสี Ranuccio
  • (ย้อนอดีต) ความรักที่กำลังงอกเงย
    • Ranuccio ชกต่อยกับ Caravaggio และได้ทอดทิ้งรอยบาดแผล ‘blood brother’ สร้างความอิจฉาริษยาให้กับ Lena
    • Caravaggio วางแผนให้ Lena เข้าร่วมงานเลี้ยงไฮโซ ทำให้เธอพบเจอกับ Cardinal Scipione Borghese
    • Lena ตั้งครรภ์กับ Cardinal Borghese สร้างความอิจฉาริษยาให้ Ranuccio
  • (ย้อนอดีต) โศกนาฎกรรมของ Lena & Ranuccio
    • ความตายของ Lena ทำให้ Ranuccio ตกเป็นผู้ต้องหา ถูกจับคุมขัง
    • Caravaggio ต่อรองกับพระสันตะปาปา อนุญาตให้ปล่อยตัว Ranuccio
    • แต่แล้ว Ranuccio ก็เปิดเผยความจริงต่อ Caravaggio ทำให้เขาตัดสินใจทำบางสิ่งอย่าง
  • ปัจฉิมบท, หวนกลับมาปัจจุบัน นำเสนอความตายของ Caravaggio

ผกก. Jarman เชื่อว่าวิธีการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) สามารถสร้างความลึกลับและคลุมเคลือ ผู้ชมสามารถพบเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวชีวิต ที่ส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อย่างสภาพสุดท้ายของ Caravaggio ให้อิสระในการครุ่นคิดตีความ มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร? ทำไมดูเหมือนทนทุกข์ทรมาน? ยังมีบางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ?

I wanted to use flashbacks to create a sense of mystery and ambiguity. I didn’t want to tell the story of Caravaggio in a linear fashion. I wanted the viewer to piece together the story for themselves, while also leaving some things open to interpretation.

Derek Jarman

เพลงประกอบโดย Simon Fisher Turner (เกิดปี 1954) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ โด่งดังจากสไตล์เพลงแอมเบี้ยน (Ambient) และแนวทดลอง (Experimental), ขาประจำผกก. Jarman อาทิ Caravaggio (1986), The Last of England (1988), The Garden (1990) ฯ

งานเพลงของหนังมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ได้ยินทั้งบทเพลงคลาสสิก (สไตล์ Baroque), Electronic, Minimalist, Ambient (ผสมเสียงจากธรรมชาติ), Jazz รวมถึง Experimental Music เพื่อสร้างบรรยากาศหวาดหวั่น ตึงเครียด รู้สึกอึดอัด ไม่สบายอารมณ์ สะท้อนความหมองหม่น และโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงในภาพวาดของ Caravaggio

The music for Caravaggio was written in a very intuitive way. I wanted to create a soundscape that would reflect the dark and violent world of Caravaggio’s paintings. I used a lot of dissonance and repetition, and I tried to create a sense of tension and suspense. I also wanted the music to be beautiful, and I think I achieved that.

Simon Fisher Turner

ผมให้ข้อสังเกตงานเพลงของหนังมักมีลักษณะขัดแย้ง แตกต่าง ตรงข้าม ซึ่งตรงกับแนวคิดของศิลปะ Tenebrism

  • บทเพลงสไตล์ Baroque มักมีอย่างน้อยสองเครื่องดนตรี (ไวโอลิน-เชลโล่) ที่จะบรรเลงในลักษณะขัดแย้ง แตกต่าง ตรงกันข้าม ฟังแล้วเกิดความสับสนวุ่นวาย
  • ขณะเดียวกันแนวเพลงร่วมสมัยใหม่อื่นๆ Electronic, Minimalist, Ambient, Jazz รวมถึง Experimental Music ล้วนมีความขัดแย้ง แตกต่าง ตรงกันข้ามกับพื้นหลังของหนังช่วงศตวรรษ 16-17

น่าเสียดายที่ใน Youtube ผมหาได้แต่ Sound Sketches อัลบัม Caravaggio 1610 ของ Fisher Turner ซึ่งรวบรวมบทเพลงเขียนร่างไว้ ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาใช้ในหนัง เลยไม่เห็นประโยชน์อะไรจะเขียนวิเคราะห์ถึง

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ‘Sound Effect’ ช่วยสร้างมิติให้กับหนัง ขยับขยายโสตประสาทการได้ยิน สำหรับคนช่างสังเกตจะตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างภาพและเสียง หลายต่อหลายครั้งมีความโมเดิร์น ยุคสมัยใหม่ รถรา วิทยุ ฝูงชน ขบวนรถไฟ ฯ ไม่เข้ากับพื้นหลังศตวรรษที่ 16-17 แต่ผู้ชมส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรับรู้ตัว เพราะความเคยชินสรรพเสียงเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตปัจจุบัน

การผสมผสานเสียงสมัยใหม่ ก็แนวคิดเดียวกับงานภาพและบทเพลง เพื่อสร้างความคลุมเคลือ สัมผัสร่วมสมัย มีความเหนือจริง รู้สึกเหมือนเพ้อฝันไป ซึ่งความตั้งใจของผกก. Jarman ไม่ได้ครุ่นคิดสร้างหนัง Historical Period แต่ต้องการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างอดีต-ปัจจุบัน (อิทธิพลจากอดีต สะสมประสบการณ์ชีวิต ให้กลายมาเป็นปัจจุบัน)

I wanted the sound effects to create a sense of unreality, a sense that the viewer was in a dreamlike state. I wanted them to be a reminder that Caravaggio’s world was a world of violence, passion, and death.

Derek Jarman

ศิลปะ คือสิ่งที่ศิลปินสรรค์สร้างออกมาเพื่อสะท้อนเรื่องราว ความทรงจำ ประสบการณ์ชีวิต (อาจรวมถึงอิทธิพลจากผู้คน สภาพสังคม สิ่งแวดล้อมรอบข้าง) สำหรับระบายอารมณ์ แสดงทัศนคติส่วนบุคคล ให้เป็นตัวตายตัวแทนของตนเอง

I wanted to make a film about Caravaggio that was both a celebration of his genius and an exploration of the dark side of his personality. I wanted to show how his art was shaped by his experiences of violence, sexuality, and religion. I also wanted to show how Caravaggio was a product of his time, and how his work reflected the social and political upheaval of the 17th century.

เรื่องราวกึ่งๆอัตชีวประวัติของ Michelangelo Caravaggio อาจไม่ได้มีเนื้อหาสาระในเชิงคุณธรรม-ศีลธรรม เพียงนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับศิลปะ ‘ความรุนแรงในภาพวาด เกิดจากประสบการณ์ของศิลปิน’ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแบ่งแยกแยะออกจากกัน

แน่นอนว่าเรื่องราวชีวิตของ Caravaggio ยังสามารถสะท้อนถึงผกก. Jarman ตั้งแต่รสนิยมรักร่วมเพศ (คนเป็นเกย์ แค่มองตาก็สามารถรับรู้กันและกัน) เป็นศิลปินที่ชอบท้าทายขนบกฎกรอบ พร้อมเผชิญหน้าด้านมืด-สว่าง มีชีวิตในยุคสมัยแห่งความรุนแรง

I felt a great affinity with Caravaggio. He was a gay man who lived in a time when it was dangerous to be gay. He was also an artist who was not afraid to challenge the status quo. I wanted to make a film about him that would be both a celebration of his genius and an exploration of the dark side of his personality.

แต่สิ่งที่ละม้ายคล้ายกันอย่างที่สุดโดยไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือความตายของ Caravaggio และผกก. Jarman บั้นปลายชีวิตของทั้งคู่ต่างล้มป่วยหนัก ทนทุกข์ทรมาน นอนซมซานอยู่บนเตียง แต่ขณะที่ Caravaggio อาจเต็มไปด้วยความรู้สึกขัดแย้งภายใน เศร้าโศกเสียใจ โหยหาใครสักคนอื่น(นอกจาก Jerusaleme)เคียงข้างกาย, ผกก. Jarman กลับเต็มไปด้วยพละพลัง ขวัญกำลังใจ ต่อสู้โรคภัยอย่างไม่ย่นย่อท้อ ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้ สรรค์สร้างภาพยนตร์ Blue (1993) เปรียบดั่งพินัยกรรมทอดทิ้งให้คนรุ่นหลัง หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่สดใส

หวนกลับมาที่ Caravaggio (1986) คนส่วนใหญ่อาจมองว่าชีวิตของ Caravaggio คือโศกนาฎกรรม แต่ผมเห็นเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง ถูกทรยศหักหลัง (แนวโน้มน่าจะสื่อถึงรักแรกของผกก. Jarman อาศัยอยู่กับแฟนหนุ่ม Philip Hoare ระหว่างปี 1976-80) โหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักเพียง อาศัยอยู่เคียงข้างกาย ตราบจนวันตาย


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin เสียงตอบรับค่อนข้างดี นักวิจารณ์ชื่นชมแนวคิดแปลกใหม่ วิธีการนำเสนอท้าทายขนบภาพยนตร์ย้อนยุค (เสียงตอบรับแย่ๆมักมาจากความ ‘queer’ รวมถึงลีลานำเสนอ ‘style over substance’) และโดยเฉพาะสีสันการถ่ายภาพ สอดคล้องผลงานจิตรกร Michelangelo Caravaggio จนสามารถคว้ารางวัลเทคนิค

  • Silver Berlin Bear: Special Jury Prize (For its visual shaping.)
  • C.I.D.A.L.C. Award (ผมก็ไม่รู้ว่ามันคือรางวัลอะไร)

ด้วยทุนสร้าง £450,000-£475,000 ปอนด์ มีรายงานรายรับ $1 ล้านเหรียญ ดูเหมือนไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ (แต่เห็นว่าเป็นผลงานทำเงินสูงสุดของผกก. Jarman) ช่วงปลายปีก็ไม่ได้เข้าชิง BAFTA Award สาขาใดๆ ถึงอย่างนั้นได้รับการโหวตติดอันดับ 93 ชาร์ท BFI Top 100 British films (1999) ถือว่าน่าประทับใจไม่น้อย!

ฉบับดีสุดเท่าที่ผมหาได้คือ Blu-Ray ของค่าย BFI เมื่อปี ค.ศ. 2018 ทำการสแกน ‘High Definition’ รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Jarman Vol.1 (1972-1986) พร้อมเบื้องหลัง บทสัมภาษณ์นักแสดง Commentary ฯลฯ

ผมรู้สึกประหลาดใจตัวเองพอสมควร จากเคยไม่ชอบหนัง กลายเป็นค้นพบความมหัศจรรย์ (จริงๆมันก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายๆกัน แต่ไม่ใช่เปลี่ยนความรู้สึกในระยะเวลาแค่วันสองวัน) นั่นต้องขอบพระคุณ Blue (1993) แม้เพียงภาพสีน้ำเงินกลับสามารถเปิดมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบของสื่อภาพยนตร์

สิ่งที่ผมชื่นชอบมากๆของ Caravaggio (1986) ไม่ใช่สีสันงานภาพที่คว้ารางวัล แต่คือ ‘Sound Effect’ แบบเดียวกับงานสร้าง (Production Design) ที่เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของร่วมสมัยมากมาย, สรรพเสียงได้ยินมักไม่ค่อยสอดคล้องภาพพบเห็น แต่กลับเสริมสร้างมิติการรับรู้ ขยับขยายโสตประสาทได้ยิน … น่าจะเป็นความต่อเนื่องมาจาก Blue (1993) ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมากๆในการใช้เสียง เมื่อกลับมารับชม Caravaggio (1986) ผมเลยสามารถสัมผัสความลุ่มลึกล้ำดังกล่าว

แนะนำหนังกับศิลปิน จิตรกร ช่างภาพ นักออกแบบฉาก ชื่นชอบผลงานของ Michelangelo Caravaggio และศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ท้าทายวิธีคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อภาพยนตร์

จัดเรต 18+ กับรสนิยมรักร่วมเพศ บรรยากาศเหนือจริง ความรุนแรง และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | Caravaggio ภาพยนตร์ที่มีความเป็น ‘queer’ ตัวตายตัวแทนผู้กำกับ Derek Jarman
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | น่ามหัศจรรย์

ใส่ความเห็น