Præsidenten (1919)


Præsidenten

Præsidenten (1919) Danish : Carl Theodor Dreyer ♥♥♥

ผลงานเรื่องแรกของปรมาจารย์ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer นำเสนอเรื่องราวคนสามรุ่น วุ่นเวียนวนประสบเหตุการณ์คล้ายคลึงเดิมซ้ำถึงสามครั้งครา นั่นแปลว่าบางสิ่งอย่างเคยยึดถือมั่นคงมา สมควรต้องเรียนรู้จักการปรับเปลี่ยนแปลงเสียบ้างแล้วหนา

The President อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นอะไร ยิ่งด้วยไดเรคชั่นเล่าเรื่องย้อนอดีต ทำให้ดูยากชิบหาย! ประกอบเนื้อหาสาระโคตรเข้มข้น ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าโดยง่าย ขอแนะนำเฉพาะผู้สนใจในผลงานผู้กำกับ Carl Thedor Dreyer หรือเคยอ่านนวนิยายของ Karl Emil Franzos … หารับชมได้ใน Youtube

ขออารัมบทถึงการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) สักหน่อยก่อนแล้วกัน จุดเริ่มต้นได้น่าจะแรงบันดาลใจจากวรรณกรรม/นวนิยาย ซึ่งมีการทดลองกันมาอย่างเนิ่นยาวนานตั้งแต่ มหาภารตะ, รามายณะ, ตำนานแคนเตอร์บรี, พันหนึ่งราตรี ฯ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องแรกนำเสนอเทคนิคนี้คือ Histoire d’un crime (1901) กำกับโดย Ferdinand Zecca

สำหรับ Hollywood การนำเสนอภาพย้อนอดีตที่ถือว่าทรงอิทธิพลอย่างมาก คือสองผลงานชิ้นเอกของ D. W. Griffith เรื่อง The Birth of a Nation (1915) และ Intolerance (1916) โดยบัญญัติคำเรียกว่า ‘Switchback’ แต่กลับไม่มีใครเปลี่ยนมาใช้คำนี้

ส่วนในทวีปยุโรปก็มีการทดลองกับ
– The President (1919) เล่าย้อนอดีตจากหลายมุมมองตัวละคร
– The Phantom Carriage (1921) มีลักษณะ Flashback ซ้อน Flashback สองชั้น!
ฯลฯ


Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark มารดาเป็นคนรับใช้ตั้งครรภ์กับเจ้านายคลอดเขาออกมา แต่แล้วเมื่อกำลังจะมีคนที่สองพยายามทำแท้งแต่เลือดตกในเสียชีวิต สองปีแรกอาศัยอยู่ยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า กระทั่งว่าได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่บุญธรรม กระนั้นพวกเขาก็ไม่ใคร่สนใจใยดี เสี้ยมสอนสั่งให้รู้จักสำเหนียกระลึกบุญคุณต่ออาหารและหลังคาคลุมกะลาหัว ด้วยเหตุนี้พออายุ 16 จึงหลบหนีออกจากบ้าน ด้วยความเฉลียวฉลาดเรียนเก่งเลยได้ทำงานเป็นนักข่าว ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงหนังเงียบ เป็นนักออกแบบ Title Card ตามด้วยพัฒนาบทในสังกัด Nordisk Film ตั้งแต่ปี 1912

หลังจากทำงานเขียนบทมาประมาณ 5 ปี วันหนึ่งเขียนจดหมายถึงโปรดิวเซอร์/เจ้าของสตูดิโอ Harald Frost

“when a man has been in one post for five years, one must either advance him or get rid of him”.

Dreyer ได้ซุ่มซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจากนวนิยาย Der Präsident (1884) แต่งโดย Karl Emil Franzos (1848 – 1904) นักเขียนสัญชาติ Austrian แล้วลงมือพัฒนาบทภาพยนตร์ด้วยตนเองไม่รีรอใคร ซึ่งพอสตูดิโอถามมีโปรเจคใดสนใจ ก็ยื่นบทนี้ให้โดยทันที

ดำเนินเรื่องราวจากมุมมองของ Karl Victor von Sendlingen ขุนนาง/ผู้ดี ชนชั้นสูงชาว Danish
– เริ่มต้นเมื่อตอนยังหนุ่มแน่น บิดา Franz Victor von Sendlingen ชักชวนออกมาเดินเที่ยวเล่นริมเศษซากปรักหักพังอดีตปราสาทของตระกูล เล่าเรื่องตนเองเมื่อครั้นอดีตแต่งงานกับภรรยาที่เป็นสามัญชน เสี้ยมสั่งสอนและให้ Karl ปฏิญาณตนว่าจะไม่กระทำการอันโง่เขลานั้นเป็นอันขาด
– สามสิบปีถัดมา Karl ได้กลายเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา (The President) หลังเดินทางกลับจากวันหยุดพักผ่อน พบเห็นหนึ่งในคดีความที่ยังค้างคา มีชื่อบุตรสาว Victorine Lippert ถูกกล่าวหาว่ากระทำการเข่นฆาตกรรมทารกน้อยในไส้ นั่นทำให้เขาหวนระลึกนึกถึงอดีตเมื่อตอนที่ตนตกหลุมรักหญิงสามัญชน Hermine Lippert ทำเธอตั้งครรภ์แต่เลือกไม่แต่งงานเพราะคำปฏิญาณที่มีไว้ต่อบิดา
– เมื่อ Victorine Lippert ขึ้นให้การบนชั้นศาล ทนายความ Georg Berger ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Karl ได้เล่าอดีตเบื้องหลัง สาเหตุผลการกระทำดังกล่าว เพราะเธอตกหลุมรักหนุ่มชนชั้นสูงคนหนึ่ง แต่ถูกเขาทอดทิ้งขว้างและขับไล่ออกจากบ้าน … แต่ถึงอย่างนั้นเธอยังได้ตัดสินโทษประหารชีวิต
– ความรู้สึกผิดของ Karl ที่พานพบเห็นเรื่องราวเวียนวนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือพาบุตรสาวหลบหนีออกนอกประเทศ
– สามปีถัดมา Victorine พานพบเจอรักครั้งใหม่กับ Weyden เจ้าของสวนพฤษศาสตร์จากอินโดนีเซีย กำลังจะเข้าพิธีสมรสในอีกไม่ช้านาน
– หลังจากส่งตัวบุตรสาวไปอยู่กับสามีใหม่ Karl ตัดสินใจหวนกลับสู่ Denmark ต้องการสารภาพความผิดทั้งหมดที่เคยก่อ แต่ถูกโน้มน้าวให้ล้มเลิกความตั้งใจ สุดท้ายเลยตัดสินใจฆ่าตัวตายยังซากปรักหักพัง ณ ปราสาทของตระกูล


เนื่องจากผมไม่สามารถหารายละเอียดนักแสดงได้เลย แต่ก็ไม่มีใครโดดเด่นเจิดจรัสพอให้พูดกล่าวถึงอีกด้วย นั่นเพราะยุคสมัยนั้นเน้นเพียงภาพ/รูปลักษณ์ และการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกตัวละครออกมาเท่านั้น มิได้มุ่งเน้นความสมจริงจังจับต้องได้แต่ประการใด

ถ่ายภาพโดย Hans Vaagø, แทบทั้งหมดของหนังที่เป็นการตั้งกล้องทิ้งไว้ กำหนดขอบเขตซ้ายขวา จัดวางตำแหน่ง/องค์ประกอบ นักแสดงเดินเข้าออก … คือข้อจำกัดของยุคสมัยทำได้เพียงเท่านี้

บางฉบับของหนังมีการปรับโทนสีสัน ซึ่งก็เพียง Amber (ฉากตอนกลางวัน/ในบ้านมีแสงสว่าง) และ Blue (ฉากตอนกลางคืน/มืดมิด)

การเลือกมุมกล้อง หลายครั้งแลดูน่าพิศวงสงสัย งดงามดั่งภาพวาดศิลปะ แฝงนัยยะความหมายซ่อนเร้นบางอย่าง อาทิ
– เด็กๆวิ่งเล่นท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง ณ ปราสาทของตระกูล สะท้อนถึงการล่มสลายของระบอบชนชั้น ขุนนาง แต่คนเกิดในตระกูลสูงยังคงเอ่อล้นด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตน อ้างอวดดี ว่าฉันมีคุณค่าศักดิ์ศรีเหนือกว่าสามัญชน
– ย้อนอดีตของบิดา ขณะกอดจูบสาวสามัญชนสังเกตว่าถ่ายมุมก้มจากฟากฟ้า ซึ่งจะแตกต่างตรงกันข้ามกับ Karl ขณะกำลังจุมพิตสาวพบเห็นเพียงเงาบนลำธาร … นี่ราวกับว่าคือภาพสะท้อน ย้อนวันวาน ไม่ว่าจากมุมมอง/ยุคสมัยไหนล้วนไม่แตกต่าง
– การเฉลิมฉลองด้วยไฟยามค่ำคืน เพื่อสะท้อนความโชติช่วงชัชวาลย์ของคุณธรรมความดีงาม (ของ Karl) แม้ในยามค่ำคืนยังส่องสว่างจร้า (แต่ทั้งหมดนั่นก็คือภาพลวงตาที่มองเห็นจากเปลือกนอกเท่านั้นเอง)
– ไก่ = สัญลักษณ์ของการปลุกตื่น กระจ่างแจ้งต่อข้อเท็จจริง, สุนัขสามตัว สักขีพยานการแต่งงาน แทนได้ด้วยสามผู้เสียชีวิต (บิดา-ภรรยา-หลานสาว) หรือจากสามเหตุการณ์ย้อนอดีตที่พานผ่านมา

ตัดต่อไม่มีเครดิต แต่น่าจะโดย Carl Theodor Dreyer, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Karl Victor von Sendlingen ซึ่งจะมีทั้ง Time Skip และ Flashback กระโดดสลับไปมาอย่างชวนมึน

Time Skip พบเห็นสองครั้ง
– Karl เมื่อครั้นยังหนุ่มแน่น กระโดดไปข้างหน้า 30 ปี เมื่อเติบโตใหญ่ กลายเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา ได้รับการยกย่องนับถือใต้หล้า
– หลังจากที่ Karl ให้ความช่วยเหลือบุตรสาว Victorine หลบหนีออกจากคุก กระโดดไปข้างหน้า 3 ปี ถึงวันที่เธอกำลังจะแต่งงาน

ส่วน Flashback จะพบเห็นสามครั้งครา
– ครั้งแรกรับฟังจากบิดา Franz Victor von Sendlingen
– ครั้งสอง Karl เล่าให้เพื่อนสนิท Georg Berger ถึงอดีตของตนเอง
– ครั้งสาม Georg Berger เล่าแทนเรื่องราวของ Victorine Lippert

สำหรับ Title Card มีการใช้อย่างประหยัด … เกินไปนิด! หลายครั้งที่ผู้ชมต้องสังเกตการกระทำของนักแสดงเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราว อาทิ
– บิดาขอบุตรชายให้ปฏิญาณตนว่าจะไม่แต่งงานกับสามัญชน เมื่อ Title Card เคลื่อนผ่านไป พอพบเห็น Karl ยกมือขึ้น -ซึ่งก็แปลว่าตอบตกลง กำลังจะปฏิณาณ- ยังไม่ทันไรพ่อก็ทรุดล้มลงถึงคราตายโดยทันที
– ผู้ช่วยผู้พิพากษา ซักถาม Karl ว่าจะขึ้นตัดสินคดีความแทนตนได้หรือไม่ หรือจากครุ่นคิดอยู่นานทำท่าส่ายหัว ไม่มีขึ้นคำอธิบายใดอื่น -ก็แปลว่าบอกปัดปฏิเสธ-
ฯลฯ


ความรักต่างชนชั้น และการลดตัวไปแต่งงานกับสามัญชน เป็นสิ่งที่ผู้ดีมีสกุลสมัยก่อนมองว่าไม่เหมาะสม สูญเสียเกียรติ ขายขี้หน้า! แต่ถึงอย่างนั้นตระกูล Victor von Sendlingen ตั้งแต่รุ่นพ่อ ลูก และหลาน ต่างมิอาจหักห้ามใจตกหลุมรักหญิงสาวชาวบ้าน แถมน้ำเชื้อแรงได้ทายาทกลับคืนมา

เฉกเช่นนั้นแล้วมันจะมีประโยชน์อันใดในคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยให้ไว้? เมื่อได้ยินมา พานพบเห็น และประสบเข้ากับตนเอง รับล่วงรู้ว่าทั้งหมดคือคำลวงหลอก กลับกลอก ไร้สาระ ทำไมคนต่างชนชั้นจะตกหลุมรัก แต่งงาน ครองคู่อยู่ร่วมกันไม่ได้!

ทัศนคติดังกล่าวของผู้กำกับ Carl Thedor Dreyer และเจ้าของนวนิยาย Karl Emil Franzos เห็นสอดพ้องไปในทิศทางเดียวกันถึงความเสื่อมในระบอบขุนนาง/ชนชั้น ไม่ใช่แค่ประเทศ Austria หรือ Denmark แต่ยังทั่วทั้งทวีปยุโรปที่ยุคสมัยนั้นยังปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดล่มสลายเต็มทน

The President คือคำกว้างๆที่หมายถึง หัวหน้า/ประธาน ตัวแทนบุคคล ผู้คอยควบคุมดูแล ปกครองคนอื่นใต้สังกัด, ในบริบทของหนัง ตัวละครไม่เพียงทำหน้าที่หัวหน้าผู้พิพากษาศาล แต่ยังรวมถึงผู้นำครอบครัว ซึ่งถือว่ามีนัยยะใจความสะท้อนกันและกัน

บิดา Franz คือตัวแทนบรรพบุรุษ คนรุ่นก่อน ที่พยายามปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน สร้างทัศนคติ กฎกรอบเกณฑ์ทางสังคม ให้ลูกหลาน/คนรุ่นหลัง ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกัน ซึ่งมักเป็นสิ่งที่พวกตนเองเคยกระทำผิดพลาด ออกนอกลู่นอกรอย ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

สำหรับ Karl แรกเริ่มพยายามยึดถือมั่นคำสอนสั่งของพ่อ แต่เมื่อจุดๆหนึ่งมิอาจหักห้ามความต้องการตนเอง พบเห็นต่อเนื่องไปถึงลูกหลาน ทำให้ค้นพบ/ตระหนักได้ว่าทัศนคติ กฎกรอบเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้องสากล อะไรๆจึงสมควรแก่เวลาต้องปรับเปลี่ยนแปลง

แต่ทั้งนั้นในระดับมหภาค การเผชิญหน้ายินยอมรับความจริง ไม่ใช่สิ่งสามารถเปิดเผยออกโดยง่าย เพราะเมื่อ Karl ต้องการสารภาพทุกอย่างออกไป กลับถูกปฏิเสธต่อต้าน แถมโดนข่มขู่ Blackmail เพราะสถาบันสังคมจำเป็นต้องมี ‘ภาพ’ ที่มั่นคง รอยด่างเพียงเล็กน้อยก็อาจสั่นคลอนรากฐานทั้งระบบ

แต่ท้ายที่สุดนั้นสำหรับ Karl เพราะเคยได้ให้คำสัตย์ไว้กับบิดา และการปรับเปลี่ยนแปลงภายใน ทำให้เกิดความขัดแย้งต่ออุดมการณ์แห่งชีวิต เขาจึงมิอาจอดรนทนฝืนอยู่ต่อได้ ต้องการรับผิดชอบการกระทำ แต่สังคมก็มิอาจยินยอมรับข้อเท็จจริง สุดท้ายเลยต้องกระทำอัตวินิบาต ตกตึกตายไปพร้อมปราสาทในสภาพปรักหักพัง

บิดาบุญธรรมของผู้กำกับ Carl Thedor Dreyer แม้จะไม่ชอบขี้หน้า แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตเขาเหลือหลาย พบเห็นบ่อยครั้งในผลงานภาพยนตร์ นิยมควบคุม ครอบงำ สร้างค่านิยมผิดๆ จริตเผด็จการ หลงผิดมาตั้งนาน คำสั่งสอนเหล่านี้เราควรฝึกฝนแบบ ‘ฟังหูไว้หู’ และเมื่อโตขึ้นก็ครุ่นคิดด้วยสติปัญญา ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องคล้องตามทุกสิ่งอย่าง


เมื่อตอนหนังเสร็จออกฉาย ผู้กำกับ Dreyer ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรอบปฐมทัศน์กับโปรดิวเซอร์ สร้างศัตรูให้กับตนเองด้วยเหตุผล

“My work is too dear to me, and too seriously meant for me to be bothered by listening to two different and unimportant opinions”.

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร ประทับใจในเนื้อเรื่องราวที่มีลักษณะเวียนวนเกิดขึ้นซ้ำๆ อันทำให้ตัวละครเกิดความเข้าใจในวิถีบางอย่างที่ขัดต่อความเชื่อ/หลักการของตนเอง น่าเสียดายที่ไดเรคชั่นผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer ทำเรื่องง่ายให้ดูซับซ้อนเกินไปเสียหน่อย ถือว่าเป็นการลองผิดลองถูกไปก็แล้วกัน

จัดเรต 13+ กับการกีดกัน ความเห็นแก่ตัวของชนชั้นสูง

คำโปรย | Præsidenten คือการลองผิดลองถูกครั้งแรกของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer โดยรวมถือว่าใช้ได้ แค่ซับซ้อนเกินไปนิด
คุณภาพ | พอใช้ได้
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Queen Kelly (1929)


Queen Kelly

Queen Kelly (1929) hollywood : Erich von Stroheim ♥♥♥♡

แม้เพียงหนึ่งในสามที่สร้างเสร็จก่อนผู้กำกับ Erich von Stroheim จะถูกขับไล่ออกจากกองถ่าย แต่ก็เพียงพอพบเห็นไดเรคชั่นระดับ Masterpiece และการแสดงโคตรตราตรึงของ Gloria Swanson ทำให้อีกสองทศวรรษถัดมาได้รับเลือกแสดง Sunset Boulevard (1950)

Orson Welles ยังมี Citizen Kane (1941) ที่สร้างสำเร็จเสร็จโดยไม่ถูกใครหน้าไหนเข้ามาจุ้นจ้านวุ่นวาย แต่สำหรับ Erich von Stroheim ตลอดระยะเวลา 14-15 ปี กำกับภาพยนตร์ 9 เรื่อง กลับไม่มีผลงานใดเลยสมบูรณ์พร้อมตามวิสัยทัศน์ตนเอง!

Queen Kelly คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในยุคหนังเงียบ (ของ von Stroheim) ที่ฉายแววมากๆจะยิ่งใหญ่ อลังการ สมบูรณ์แบบ ระดับ Masterpiece! แต่ปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจาก Erich von Stroheim เป็นผู้กำกับที่แสวงหาความ Perfectionist ระดับหมกมุ่น ทำงานเชื่องช้า เรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่ประณีประณอมอ่อนข้อใคร ทั้งยังชอบปล่อยงบบานปลาย แถมหลายครั้งใช้วิธีการคาดไม่ถึงเพื่อจาบจ้วงเอาผลลัพท์ต้องการออกมา

ก็น่าสงสัยว่า Gloria Swanson ไม่เคยได้ยินเสียงลือเล่าขานของ Stroheim ก่อนจะตกลงปลงใจเซ็นสัญญา จัดหาทุนพร้อมแสดงนำ หรืออย่างไร? ซึ่งสุดท้ายเป็นเธอเองนะแหละที่ยินยอมรับไม่ได้ ฟางเส้นสุดท้ายเมื่อถูกน้ำลายของนักแสดง Tully Marshall หยดโดนมือในฉากเข้าพิธีแต่งงาน อ้างว่านั่นคือคำสั่งผู้กำกับ โทรศัพท์หาโปรดิวเซอร์/แฟนหนุ่ม Joseph P. Kennedy เรียกร้องให้ขับไล่ ปิดกองถ่ายเช้าวันถัดมา

นี่ถ้าไม่เพราะลงทุนไปมากมายมหาศาล จำเป็นอย่างยิ่งต้องหาทางเข็นออกฉายเพื่อลดทอนหนี้สิน ฟีล์มภาพยนตร์เรื่องนี้คงได้ขึ้นราถูกทอดทิ้ง แถมด้วยสัญญาของ Stroheim ถือลิขสิทธิ์ไว้ห้ามนำออกฉายในสหรัฐอเมริกา ยุโรปเท่านั้นคือเป้าหมายสุดท้าย ระดมสมองนักเขียน ผู้กำกับ Richard Boleslawski และว่าจ้างตากล้อง Gregg Toland ถ่ายทำปัจฉิมบทปิดท้าย มีชื่อเรียกว่า ‘Swanson Ending’


Erich von Stroheim ชื่อจริง Erich Oswald Stroheim (1885 – 1957) ผู้กำกับ นักแสดง สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวชนชั้นกลาง บิดาอาชีพคนทำหมวก เชื้อสาย Jews ปี 1909 อพยพมาอยู่สหรัฐอเมริกา ป่าวประกาศว่าตนมีเชื้อสายผู้ดีชนชั้นสูง แต่ได้ทำงานเซลล์แมนจาก San Francisco มุ่งสู่ Hollywood เริ่มต้นเป็นสตั๊นแมน ตัวประกอบ ผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith เรื่อง Intolerance (1916) หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพัฒนาบท/กำกับเรื่องแรก Blind Husbands (1919), ผลงานเด่นๆ อาทิ Foolish Wives (1922), Merry-Go-Round (1923), Greed (1924), The Merry Widow (1925) ฯ

Stroheim เป็นผู้นำเสนอโปรเจค Queen Kelly ต่อ Gloria Swanson และ Joseph P. Kennedy หลังจากพบเห็นความสำเร็จของ Sadie Thomson (1928) ซึ่งทั้งคู่กำลังมีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะสานต่อภาพยนตร์ลักษณะหมิ่นเหม่ ล่อแหลม สะท้อนความตกต่ำของศีลธรรม และปลายทางนำเสนออุดมคติ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’

บทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ Stroheim ถ้าสร้างสำเร็จจะได้ความยาวประมาณ 4-5 ชั่วโมง แบ่งออกเป็นสามองก์
– Kronberg, เรื่องราวของ Prince Wolfram กำลังต้องเข้าพิธีอภิเสกสมรสกับ Queen Regina V of Kronberg ที่ได้รับฉายาว่า ‘Mad Queen’ แต่คืนก่อนหน้าดันพบเจอตกหลุมรักแม่ชีฝึกหัด Kitty Kelly
– German East Africa, เรื่องราวของ Kitty Kelly เดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมป้าที่กำลังป่วยหนัก ร้องขอให้เธอแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝากับ Jan Vryheid ตอบตกลงแม้ไม่เต็มใจรัก แล้วปฏิเสธครองคู่อยู่ร่วม กลายเป็นแม่เล้าโสเภณี ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย เลิศหรูหรา จนได้รับฉายา Queen Kelly
– Queen Regina เสียชีวิตอย่างปริศนา ทำให้ Wolfram ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ เร่งรีบออกเดินทางไปติดตามหา Kitty Kelly ขอเธอแต่งงานและยกฐานะขึ้นมาเป็น Queen Kelly อย่างแท้จริง!

คนที่รับชมหนังฉบับ Swanson Ending เรื่องราวจะจบสิ้นลงแค่องก์แรก, หลังจาก Queen Regina พบเห็นการคบชู้สาวของว่าที่สวามี ใช้แส้เคี่ยนขับไล่ Kitty Kelly ให้ออกนอกพระราชวัง ด้วยความหมดสิ้นหวังอาลัย เธอจึงตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย สุดท้ายเมื่อ Prince Wolfram ไปพบเจอร่างไร้วิญญาณยังวิหาร เลยกระทำการอัตวินิบาต

ส่วน Original Ending เท่าที่ถ่ายทำเสร็จ จะล้ำเข้าไปถึงองก์สอง, Kitty Kelly ถูกแม่ร้องขอให้แต่งงานกับชายขาพิการ หน้าตาอัปลักษณ์ Jan Vryheid ทั้งๆไม่ได้ตกหลุมรักเลยสักนิด (ถือว่าสะท้อนเรื่องราวองก์แรก Prince Qolfram ต้องอภิเสกสมรสกับ Queen Regina ที่ไม่ได้รักใคร่ชอบพอ)


Gloria May Josephine Swanson (1899 – 1983) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois บิดาเป็นทหารถูกส่งไปประจำการยังประเทศต่างๆ ทำให้ครอบครัวต้องติดตามไปด้วย เติบโตขึ้นยัง Puerto Rico พูดภาษาสเปนได้คล่องแคล่ว พออายุ 15 ย่าของเธอพาไปยัง Essanay Studios ได้รับคำชักชวนให้มาทำงานตัวประกอบ ก็มิได้ตั้งใจนักแต่โชคชะตาชีวิตนำทางไป ประกบคู่เล่นตลกกับ Bobby Vernon ย้ายมา Hollywood เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures กลายเป็นขาประจำ Cecil B. DeMille อาทิ Don’t Change Your Husband (1919), Why Change Your Wife? (1920), Something to Think About (1920), The Affairs of Anatol (1921) ฯ

รับบท Kitty Kelly แม่ชีฝึกหัดวัยเยาว์ เต็มไปด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ อ่อนวัยไร้เดียงสาต่อโลก เมื่อแรกพบเจอ Prince Wolfram กระทำบางสิ่งอย่างผิดพลาดพลั้ง อับอายขายขี้หน้าแทบแทรกแผ่นดินหนี แต่ก็สร้างความประทับใจต่อกัน อธิษฐานขอให้มีโอกาสพานพบกันอีก ก็ไม่รู้สวรรค์หรือนรกบันดาล แม้ได้เจอหน้าแต่ก็ทำให้รับทราบความจริง เจ้าชายกำลังจะเข้าพิธีอภิเสกสมรสพระราชีนีในเช้าวันรุ่งขึ้น

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Kitty Kelly คือการหวนกลับไปเยี่ยมป้าที่กำลังป่วยหนัก ถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงานกับชายขาพิการ หน้าตาอัปลักษณ์ Jan Vryheid ทั้งๆก็ยังหวนระลึกนึกถึง Prince Wolfram นั่นทำให้เธอกลายสภาพเป็นคนหยาบกระด้าง กร้านโลก ไม่แคร์ยี่หร่าต่ออะไรใครอีก

น่าเสียดายที่ผู้ชมมีโอกาสพบเห็นการแสดงของ Swanson เพียงแค่มุมร่าเริงสดใสไร้เดียงสา เพราะตัวตนธาตุแท้จริง(ของ Swanson)นั้นอยู่เนื้อหาครึ่งหลัง เมื่อตอนรับชม Sadie Thompson ผมเปรียบเทียบดั่ง Bette Davis อิสตรีผู้มีความกร้าน ด้าน หน้าไม่อาย หาได้แคร์สื่อ นั่นต่างหากเหมาะสมฉายา Queen Kelly ไม่ใช่ราชินีจากไหน แต่คือนางมารร้ายหัวสูง ผู้ทำทุกสิ่งอย่างสนองความต้องการเพียงตนเองเท่านั้น!

รอยร้ายของ Swanson ต่อ Stroheim เริ่มต้นจากซีนที่ German East Africa ในบทเขียนไว้ว่าคือ Dancing Hall แต่กลับกลายเป็นซ่องโสเภณี ติดตามมาด้วยความเรื่องมากไม่สนฟังคำทัดทานใคร กระทั่งจุดแตกหักอย่างที่บอกไปว่า รับไม่ได้กับน้ำลายของนักแสดง Tully Marshall ซึ่งปฏิกิริยาสีหน้าอารมณ์ของเธอได้ถูกบันทึกภาพไว้ด้วยละ แสดงออกมาด้วยความรังเกียจ ขยะแขยง คลื่นไส้ สมจริงสุดๆเท่าที่มนุษย์สามารถแสดงออกมาได้!

แซว: เดินยังไงกางเกงในหล่น? ในเชิงสัญลักษณ์หมายถึง ความร่านสวาทของตัวละคร โหยหาต้องการ แต่เพราะยังอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา เลยไม่รับรู้ตัวได้ว่าบังเกิดอะไรขึ้น

Walter Byron (1899 – 1972) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่เมือง Leicester ด้วยภาพลักษณ์เทพบุตรสุดหล่อ มาดผู้ดี เลยมักได้รับบทเพลย์บอย ตัวละครชนชั้นสูง อาทิ Queen Kelly (1929), Three Wise Girls (1932), Mary of Scotland (1936) ฯ

รับบท Prince Wolfram เจ้าชายหนุ่มเพลย์บอย ผู้มีความลุ่มหลงใหลในอิสตรี ชื่นชอบการออกเที่ยวเตร่ราตรี มิได้ตกหลุมรักใคร่ Queen Regina ก็แค่หมั้นหมายไปตามหน้าที่เท่านั้น การได้พานพบเจอ Kitty Kelly ก่อเกิดความประทับใจ รักแรกพบ มิอาจลบลืมเลือนให้จางหาย ครุ่นคิดกระทำสิ่งอันตราย เพียงเพื่อสนองตัณหาต้องการทางกาย ครอบครองเป็นเจ้าของเธอค่ำคืนนี้ ทั้งชีวีไม่ต้องการสิ่งอื่นใด

นอกจากรอยยิ้มหลอมละลาย ภาพลักษณ์เทพบุตร การแสดงของ Byron ถือว่าพอใช้ได้ เต็มไปด้วย Passion เร่าร้อนแรง แสดงความลุ่มหลงต้องการ กลั่นออกจากภายใน แถมยังใช้สติปัญญาสร้างปัญหาว้าวุ่นวาย ไม่สนความถูก-ผิด ดี-ชั่ว โคตรเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการตนเองเท่านั้น

แซว: การไว้ผมทรงนี้ของ Byron ทำให้ผมนึกถึงใบหน้าของ Erich von Stroheim ขึ้นมาเลยนะ ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นตัวตายตัวแทนผู้กำกับได้ด้วยละ

 

Seena Owen ชื่อเกิด Signe Auen (1894 – 1966) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Spokane, Washington ครอบครัวอพยพมาจาก Denmark โตขึ้นมุ่งสู่ Hollywood เริ่มได้งานเป็นตัวประกอบ เข้าตาผู้กำกับ Marshall Neilan ชักชวนมาเซ็นสัญญา Kalem Company ได้ค่าจ้าง $15 เหรียญต่อสัปดาห์, เล่นภาพยนตร์เรื่องแรก A Yankee From the West (1915), ติดตามด้วย Intolerance (1916), ได้รับการจดจำสูงสุดคือ Queen Kelly (1928), การมาถึงของยุคหนังพูด น้ำเสียงเธอไม่ชวนฟังนักเลยผันมาเป็นนักเขียนบทแทน

รับบท Queen Regina V of Kronberg (ตัวละครสมมติ ไม่ได้มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์) ได้รับฉายา ‘Mad Queen’ ด้วยความร่านราคะ เวลานอนไม่สวมใส่เสื้อผ้า โกรธเกลียดอะไรก็แสดงออกมาตรงๆ ชอบพูดจาส่อเสียง และใช้ความรุนแรงแบบไม่บันยะบันยัง

ผมว่ายุคสมัยนั้นต้องใช้ความกล้ามากๆเลยนะ ในการถ่ายซีนโป๊เปลือย ไม่ใส่เสื้อผ้า หรือแม้แต่ฉากอาบน้ำ เพราะถือว่ามีความหมิ่นเหม่ไม่เหมาะสม ใบหน้าใสๆแต่จิตใจเหี้ยมโหดร้าย เล่นหูเล่นตา เมื่อตอนลงแส้เฆี่ยนตีทำร้าย คลุ้มคลั่งเสียสติแตกได้ใจ!

แซว: Seena Owen ใน Intolerance (1916) รับบท The Princess Beloved ในตอน Babylonian, ขณะที่ Tully Marshall (ตัวละคร Jan Vryheid) รับบท High Priest of Bel-Marduk จากตอนเดียวกัน, นี่ก็แปลว่าศัตรูหัวใจของคู่พระนาง ต่างย้อนยุคมาจากอดีตชาตินี้เอง

ถ่ายภาพโดย Paul Ivano, William H. Daniels, Gordon Pollock

งบประมาณของหนังหมดไปกับการสร้างฉากขนาดใหญ่โตยัง RKO-Pathé Studios และ FBO Studios รายละเอียดถือว่าประณีตวิจิตร มีความไฮโซ เลิศหรูหรา และทั้งหมดล้วนเป็นของจริง! (Stroheim ไม่ชอบอะไรที่มันหลอกๆ เพราะทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือต่อทั้งนักแสดงและผู้ชม)

เฉกเช่นเดียวกับการจัดแสง ฉากภายใน/ยามค่ำคืน จักไม่พบเห็นจากแหล่งอื่นนอกจากเทียนไข สุมไฟเตาผิง (และจุดขึ้นมาจริงๆ) ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวถือว่าหมดสิ้นเปลืองมากๆ ฉากพระราชวังคืนหนึ่งใช้ไม่รู้กี่เล่มต่อกี่เล่ม … หนังเรื่องอื่นๆที่ผู้กำกับดื้อดื้อแบบเดียวกันนี้ อาทิ The Leopard (1963), Barry Lyndon (1975) ฯ

นำเอาซีนที่ Sunset Boulevard (1950) นำฟุตเทจจากหนังไปใช้ฉาย คือตอนที่ Kitty Kelly อธิษฐานขอพรพระเยซูคริสต์ ให้ได้มีโอกาสพบ Prince Wolfram อีกสักครึ่งหนึ่งในชีวิต (และก็เป็นครั้งเดียวจริงๆด้วย!)

การออกแบบพระราชวัง แลดูมีความโอ่โถง อลังการใหญ่โต วิจิตรด้วยรายละเอียด แต่บริเวณที่ส่วนใหญ่ว่างเปล่า และพื้นกระเบื้องหินอ่อนลวดลายสลับขาว-ดำ ทั้งหมดนี้เหมือนภาพหลอกลวงตา มิได้สะท้อนคุณค่าเจ้าของที่อาศัยอยู่ ราชินีหมกมุ่นอยู่ในกาม ว่าที่สวามีพยายามทำทุกอย่างเพื่อลักลอบนอกใจ แถมองค์รักษ์รับใช้หัวเราะให้กับการกระทำบ้าคลั่งเสียสติแตก!

แซว: ฉากเฆี่ยนตีระหว่าง Queen Regina ต่อ Kitty Kelly ใครช่างสังเกตจะเห็นว่าไม่มีถูกโดนตัวเลยนะครับ ใช้การตัดต่อสลับสับเปลี่ยนมุมมองไปมาล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิดได้อย่างสมจริง

แตกต่างตรงกันข้ามกับซ่องโสเภณี บ้านหลังเก่าของ Kitty Kelly มีญาติคนสุดท้ายทำงานเป็นแม่เล้า ร้องขอให้เธอแต่งงานกับชายผู้มีความอัปลักษณ์พิศดารทางกาย รายล้อมด้วยความมืดมิดสนิท ฝุ่งจับเกรอะกรัง หาความงดงามตายังสถานที่แห่งนี้ไม่ได้เลยสักนิด! … บาทหลวงผิวสีก็เฉกเช่นกันนะ

เฉพาะในส่วนเพิ่มเติมของ Swanson’s Ending ใช้บริการถ่ายภาพของ Gregg Toland ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคนิค Deep Focus เริ่มจาก The Long Voyage Home (1940), Citizen Kane (1941), The Best Years of Our Lives (1946) ฯ

การตัดต่อโดย Viola Lawrence (1894 – 1973) เธอได้รับการยกย่องเป็นนักตัดต่อหญิงคนแรกของ Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ Queen Kelly (1929), Only Angels Have Wings (1939), The Lady from Shanghai (1947), In a Lonely Place (1950), Pal Joey (1957), Pepe (1960) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่ความตั้งใจเหมือนว่าจะแบ่งตามองก์ กล่าวคือ
– Kronberg, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Prince Wolfram
– German East Africa, เล่าเรื่องในสายตาของ Kitty Kelly

ไฮไลท์ตัดต่อคือการร้อยเรียงภาพ Montage ที่มีความต่อเนื่องกันไป อาทิ
– Queen Regina เมื่อตื่นบรรทมขึ้นมา ดื่มไวน์หมดแก้ว สายตาจับจ้องมองรูปภาพ Prince Wolfram (ชายคนรัก), ติดตามด้วยคัมภีร์ไบเบิ้ล+ไม้กางเขน (กำลังจะแต่งงาน), ที่ทิ้งบุหรี่ (สะท้อนถึง Sex), ขวดแชมเปญ (การเฉลิมฉลอง) ฯ
– ระหว่างที่ Queen Regina (สวมชุดสีดำ) กำลังจะมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับ Prince Wolfram (สวมชุดสีขาว) ตัดสลับภาพสุนัขสีขาวกำลังเล่นกัดกับสุนัขสีดำ
– Kitty Kelly หลังจากถูกลักพาตัวเข้ามาในพระราชวัง ได้รับการเชื้อเชิญรับประทานมื้อเย็น ร้อยเรียงภาพอาหารต่างๆ นก กุ้ง ไข่ปู (อาหารหรูๆทั้งนั้น)
– Kitty Kelly จับจ้องมองเห็นคู่หมั้น Jan Vryheid เป็นครั้งแรก ร้อยเรียงภาพจากมุมมองสายตาของเธอ พบเห็นเข็มกลัดสัตว์เลื้อยคลาน (สัญลักษณ์ของการเกาะกิน/พึงพิงผู้อื่น) สายห้อยลูกเต๋า (ติดการพนัน) ซิการ์ ขวดเหล้า พกปืน ฯ

เทคนิค Cross-Cutting มีอีกไฮไลท์ช่วงขณะที่ Kitty Kelly กำลังต้องเลือกตอบตกลงแต่งงาน เห็นภาพบาทหลวงผิวสีค่อยเลือนลางกลายเป็นใบหน้าเจ้าชาย กลับไปกลับมาอยู่สองสามครั้งถึงค่อยตระหนักได้ ที่มองเห็นก็เพียงภาพลวงตา เฉกเช่นเดียวกับความรักก็แค่คำพูดพร่ำบอก


Queen Kelly น่าจะเป็นเรื่องราวของการเติบโต ตกหลุมรัก เผชิญหน้าโลกความจริง ไม่ใช่ทุกสิ่งจะสมหวังดังปรารถนา ภาพที่เห็นอาจเป็นแค่หลวงหลอกตา สุดท้ายแล้วก็มีแค่ตัวเราเองสามารถพึ่งพักพิง

ใจความดังกล่าวของหนังถือว่าสะท้อนเข้ากับทั้ง Erich von Stroheim และ Gloria Swanson ที่ต่างเลิกร้างราจากระบบสตูดิโอ Hollywood เพื่อต้องการเป็นเจ้านาย สร้างภาพยนตร์ในความสนใจของตนเอง จับพลัดจับพลูพบเจอเหมือนสองตัวละคร Prince Wolfram และ Kitty Kelly ตกหลุมรักและมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจาก

การออกแบบอีกสองตัวละครที่มีความอัปลักษณ์นอก-ใน ก็เพื่อสะท้อนธาตุแท้ของระบบสตูดิโอ Hollywood ยุคสมัยนั้น
– Queen Regina แม้รูปสวย แต่เต็มไปด้วยความหมกมุ่นในอำนาจ พูดจารุนแรง เย่อหยิ่งทะนงในชนชั้นตนเอง และยังมักมากในกามคุณ
– Jan Vryheid ร่างกายพิกลพิการ ใบหน้าอัปลักษณ์ อุปนิสัยก็ไม่แตกต่าง สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ น้ำลายไหลเพราะกำลังจะได้เป็นเจ้าของในสิ่งไม่ควรค่าแก่ตนเอง

ถึงชายชาติหมา(ป่า) กับเจ้าหญิงลูกแมวน้อย จะเคลิบเคลิ้มหลงใหล พบเจอหน้าก็เข้าขากันดี แต่สุดท้ายแล้วมีสถานะไม่ต่าง “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” พอไม่หลงเหลืออะไรให้สามารถครอบคู่อยู่ร่วม เลยกลายเป็นว่า Prince Wolfram กับ Kitty Kelly ไม่ว่าหนังฉบับออกฉายใดๆหลงเหลือถึงปัจจุบัน จำต้องพลัดพรากแยกจากกันชั่วนิรันดร์ มิได้เสพสุขสมหวังครองคู่อยู่ร่วมตามบทภาพยนตร์ดั้งเดิมเขียนมา

ถ้ายึดตามเนื้อเรื่องราวที่แบ่งออกเป็นสามองก์ คำว่า Queen Kelly จะได้รับการนำเสนอในสามบริบท
– องก์แรก, เจ้าชายตกหลุมรักหญิงชาว โปรยคำหวานเรียกชื่อเธอว่า Queen Kelly
– องก์สอง, เมื่อหญิงสาวเรียนรู้จักความเหี้ยมโหดร้ายของโลกความเป็นจริง ปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง แสดงออกด้วยความหยาบ กร้าน ไม่แคร์ยี่หร่าอะไรใคร จะได้รับฉายากล่าวขวัญ Queen Kelly
– องก์สาม, หลังจากราชินีพลันด่วนเสียชีวิต เจ้าชายได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ติดตามหา ขอเธอแต่งงาน เลื่อนวิทยะฐานะกลายเป็น (Her Majesty) Queen Kelly จริงๆ

จินตนาการ-เสียงลือเล่าขาน-กลายเป็นจริงๆ เทียบแล้วก็คือ มโนภาพ-วจีภาพ-กายภาพ วิวัฒนาการของมนุษย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน แต่ในทางดีขึ้นหรือแย่ลงนั้นล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราเอง จะมีมุมมองครุ่นคิดเห็นเช่นไร

ตอนจบดั้งเดิมของหนัง เมื่อเจ้าชาย-หญิงสาว ได้ครองคู่รักแต่งงาน ก็เท่ากับว่า “ความรักชนะทุกสิ่งอย่าง” สะท้อนถึงการที่ Erich von Stroheim และ Gloria Swanson สามารถสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เสร็จสำเร็จนั่นเองแหละ … แต่ทั้งหมดจบลงแค่องก์แรก ในมโนภาพเพ้อฝันจินตนาการเพียงเท่านั้น


ประมาณการว่าหนังใช้ทุนสร้างไปแล้ว $800,000 เหรียญ ดูจากแนวโน้มเพิ่งเสร็จไปหนึ่งในสาม งบสุดท้ายจริงๆถ้าถ่ายทำเสร็จคงไม่น้อยกว่า $2.4 ล้านเหรียญ สมัยนั้นถือว่าปริมาณมหาศาลระดับ Blockbuster เลยละ! … ไม่มีรายงานรายรับเพราะไม่ได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา

แม้เหมือนว่า Swanson จะไม่ถูกกับ Stroheim แต่ทั้งสองก็สามารถหวนกลับมาร่วมงาน Sunset Boulevard (1950) แบบไร้อคติต่อต้าน แถมยังอนุญาตให้นำฟุตเทจบางส่วนจากหนังเรื่องนี้ไปใช้งานได้ด้วย … นั่นทำให้ Queen Kelly ฉบับ Swanson’s Ending สามารถนำออกฉายแบบจำกัดโรงในสหรัฐอเมริกาได้สักที เกือบๆสองทศวรรษถัดมา!

เท่าที่สามารถรับชม ถึงผมจะหาสาระอะไรของหนังไม่ค่อยได้ แต่ก็ชื่นชอบอย่างล้นหลามในไดเรคชั่นผู้กำกับ Erich von Stroheim อยากเรียกว่า Masterpiece แต่ขอกล้ำกลืนเพราะยังไม่รู้สึกเพียงพอใจสักเท่าไหร่

ใครชื่นชอบ Sunset Boulevard (1950) แนะนำอย่างยิ่งให้หา Sadie Thompson (1928) และ Queen Kelly (1929) มารับชมต่อเนื่องเลยนะ แล้วจะพบเห็นการแสดงอันโคตรตราตรึงของ Gloria Swanson ยิ่งใหญ่เกือบๆที่สุดของยุคหนังเงียบ

จัดเรต 18+ กับความซาดิสต์ อัปลักษณ์พิศดาร สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ

คำโปรย | Queen Kelly แม้ไม่สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ แต่ไดเรคชั่นของ Erich von Stroheim และการแสดงของ Gloria Swanson ฉายแววระดับมาสเตอร์พีซ
คุณภาพ | ฉายแวว-มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Sadie Thompson (1928)


Sadie Thompson

Sadie Thompson (1928) hollywood : Raoul Walsh ♥♥♥♥

Gloria Swanson ในบทบาทน่าจะยอดเยี่ยมสุดในชีวิต ตัวละครมีลักษณะ Happy-go-Lucky ร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เบื้องลึกภายในจิตใจนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างปกปิดซ่อนเร้น กำลังค่อยๆถูกเปิดเผยออกมาโดย Lionel Barrymore ทำให้แปรสภาพกลายเป็นแทบจะคนละคน!

ก่อนหน้า Bette Davis ก็น่าจะ Gloria Swanson ขุ่นแม่ผู้มีความสุดเหวี่ยงทางการแสดง หยาบ กร้าน ด้าน ใครช่างสังเกตระหว่างรับชมหนังเงียบเรื่องนี้ หลายครั้งอ่านปากได้ว่า ‘son-of-a-bitch’ เพราะไม่ได้ยินเสียง เลยสามารถพูดใส่อารมณ์ได้อย่างสุดเหวี่ยง

ผมเองก็เกิดความอึ้งทึ่งในเฮอริเคนอารมณ์ของ Swanson คลุ้มคลั่งล้างผลาญเสียยิ่งกว่า Sunset Boulevard (1950) แต่เหตุที่ Sadie Thompson ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่ เพราะเคยสูญหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเพิ่งค้นพบเจอในคลังส่วนตัวของ Mary Pickford สภาพค่อนข้างย่ำแย่ แถมฟีล์มม้วนสุดท้ายเสื่อมสภาพไปแล้ว หลังจากได้รับการบูรณะ มีความพยายามปะติดปะต่อร้อยเรียงภาพ 8 นาทีสุดท้าย สมบูรณ์ที่สุดแล้วจะหารับชมได้ ซึ่งก็เพียงพอให้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา


Gloria May Josephine Swanson (1899 – 1983) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois บิดาเป็นทหารถูกส่งไปประจำการยังประเทศต่างๆ ทำให้ครอบครัวต้องติดตามไปด้วย เติบโตขึ้นยัง Puerto Rico พูดภาษาสเปนได้คล่องแคล่ว พออายุ 15 ย่าของเธอพาไปยัง Essanay Studios ได้รับคำชักชวนให้มาทำงานตัวประกอบ ก็มิได้ตั้งใจนักแต่โชคชะตาชีวิตนำทางไป ประกบคู่เล่นตลกกับ Bobby Vernon ย้ายมา Hollywood เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures กลายเป็นขาประจำ Cecil B. DeMille อาทิ Don’t Change Your Husband (1919), Why Change Your Wife? (1920), Something to Think About (1920), The Affairs of Anatol (1921) ฯ

แม้จะกลายเป็นนักแสดงระดับโลก ค่าตัวปีละเกือบๆ $1 ล้านดอลลาร์ แต่ Swanson ต้องการที่จะเป็นเจ้านายตนเอง ออกมาสร้างภาพยนตร์อินดี้เรื่อง The Love of Sunya (1927) แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มค้นพบทิศทางน่าสนใจ

“Wanted to make my Gold Rush”.

– Gloria Swanson พูดถึงความต้องการตนเอง อยากประสบความสำเร็จแบบ The Gold Rush (1925) ของ Charlie Chaplin

โปรเจคถัดมาของ Swanson ตัดสินใจเลือกผู้กำกับ Raoul Walsh นำเสนอโปรเจคจากบทละครเวที Rain (1923) ซึ่งทำการดัดแปลงเรื่องสั้น Miss Thompson (1921) มีประเด็นเนื้อหาค่อนข้างล่อแหลม หมิ่นเหม่หลักศีลธรรม สอดคล้องความสนใจของ Walsh พอดิบพอดี

Raoul A. Walsh (1887 – 1980) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, ครอบครัวอพยพจากประเทศอังกฤษ สนิทสนมกับตระกูล Barrymore (โดยเฉพาะ John Barrymore) หลังเรียนจบจาก Seton Hall College เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ติดตามมาด้วยผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith, รับบท John Wilkes Booth เรื่อง The Birth of a Nation (1915), ผันมาเบื้องหลังกำกับ The Thief of Bagdad (1924), What Price Glory? (1926), Sadie Thompson (1928), ก้าวสู่หนังพูดกับ The Big Trail (1930), The Roaring Twenties (1939), High Sierra (1941), White Heat (1949) ฯ

สำหรับเรื่องสั้น Miss Thompson (1921) แต่งโดยนักเขียนสัญชาติอังกฤษ William Somerset Maugham (1874 – 1965) ที่มีผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Painted Veil (1925), The Razor’s Edge (1944) ฯ

Maugham ได้แรงบันดาลใจเรื่องสั้นนี้ระหว่างการเดินทางบนเรือกลไฟ Sonoma เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 โดยมีจุดหมายปลายทางคือ Apia เมืองหลวงของประเทศ American Samoa แต่มีการหยุดแวะพักยังเมืองท่า Pago Pago สภาพอากาศที่นั่นฝนตกแทบตลอดเวลา ไปไหนมาไหนไม่ได้เลยมีโอกาสเรียนรู้จักผู้โดยสารทั้งหมด ประกอบด้วย Dr. Macphail (และภรรยา), Miss Thompson คาดกันว่าคือโสเภณี และมิชชันนารี Davidson (และภรรยา) ที่ได้เกิดความขัดแย้งบางอย่างกันขึ้น

Miss Thompson ได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสาร The Smart Set ฉบับเดือนเมษายน 1921 ผ่านตาสองนักเขียนบทละครสัญชาติอเมริกัน John Colton (1887 – 1946) และ Clemence Randolph ร่วมกันดัดแปลงเป็นละครเวทีสามองก์ตั้งชื่อใหม่ว่า Rain นำแสดงโดย Jeanne Eagels เปิดรอบปฐมทัศน์ 7 พฤศจิกายน 1922 ยัง Maxine Elliott’s Theatre ต่อเนื่องถึง 608 รอบการแสดง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!

เพราะความล่อแหลม สุ่มเสี่ยงของบทละครเวที Rain ทำให้ถูก Blacklist อย่างไม่เป็นทางการ โดยกองเซนเซอร์ Hays Code ที่แม้สมัยนั้นยังไม่มีบทบาทในวงการภาพยนตร์มากนัก แต่กำลังพัฒนาขึ้นสู่มาตรฐานสากล, Swanson ใช้มารยาเสน่ห์ของตนเอง ชักนำพา Will Hays มารับประทานอาหารกลางวัน แล้วเล่าพล็อตเรื่องราวหนังที่อยากสร้าง โดยไม่เอ่ยถึงบทละคร Rain หรือชื่อผู้สร้างใดๆ กลับได้รับการอนุมัติผ่านแบบไม่มีปัญหาคาใจ … ซะงั้น!

เกร็ด: เดิมนั้น Maugham ตั้งราคาลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์สูงถึง $100,000 เหรียญ แต่ Swanson ก็ใช้มารยาเสน่ห์ด้วยการให้บอกให้โปรดิวเซอร์ Joseph Schenck ต่อรองโดยไม่เอ่ยชื่อสตูดิโอใหญ่ ได้ลดราคาเหลือเพียง $60,000 เหรียญ

เกร็ด 2: เมื่อความแตกไปเข้าหู Maugham ขู่ฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ Swanson ก็ต่อรองโดยให้เขาเขียนภาคต่อ Sadie Thompson เดินทางถึง Australia เสร็จเมื่อไหร่ก็จะจ่ายเพิ่มให้อีก $100,000 เหรียญ … จริงอยู่พัฒนาบทเสร็จ แต่พอไม่มีสร้างหนังภาคต่อ เลยจะไปได้เงินที่ไหน!

Swanson กับ Walsh ร่วมกันซุ่มพัฒนาบทอย่างเงียบๆ เพื่อไม่ให้เกิดกระแสข่าวดัง แต่มีหรือหนังใหญ่ระดับนี้จะไม่หลุดไปเข้าหูนักข่าว เมื่อความแตกก็เกิดกระแสให้ล้มเลิกโปรเจคเพราะความละเอียดอ่อนไหวของเรื่องราว กระนั้น Swanson ก็ได้มีโอกาสพบเจอ กลายเป็นชู้รักกับ Joseph P. Kennedy อาสาจัดหาทุนสร้างเพิ่มให้ปริมาณไม่น้อยทีเดียว

เรื่องราวของ Sadie Thompson (รับบทโดย Gloria Swanson) หญิงสาวผู้มีลักษณะ Happy-go-Lucky ร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใส ชื่นชอบสูบบุหรี่ ฟังเพลงแจ๊ส เดินทางมาถึงเมืองท่า Pago Pago ดึงดูดความสนใจของทหารอเมริกันประจำการอยู่ที่นี่ แต่ขณะเดียวกันกลับถูก Mr. Davidson (รับบทโดย Lionel Barrymore) พักอาศัยอยู่โรงแรมเดียว แสดงความดูถูกหยามเหยียด เทศนาสั่งสอน และครุ่นคิดได้ว่าเธอต้องเป็นโสเภณี

Sadie ตกหลุมรักกับจ่าหนุ่ม Timothy O’Hara (รับบทโดย Raoul Walsh) แม้ล่วงรับรู้อดีตของเธอแต่ไม่ใคร่สนใจใยดี วาดฝังแต่งงานครองคู่อยู๋ร่วมอย่างสงบสันติสุขยัง Australia แต่ Mr. Davidson กลับระรานไม่ยอมเลิกรา เรียกร้องให้หญิงสาวหวนกลับสู่ San Francisco เพื่อเผชิญหน้าความจริง … สุดท้ายแล้ว Sadie จะครุ่นคิดตัดสินใจเช่นไร


Gloria Swanson ในบทบาท Sadie Thompson แรกเริ่มยิ้มร่า ถือว่ามีความเต็มที่ชีวิต ไม่สนผิดถูกศีลธรรม แค่สนองอารมณ์และตัณหา แต่เมื่อถูกระรานมากเข้า จิตใจเริ่มสับสนฟุ้งซ่าน ค่อยๆโดนล้างสมองจนกลายเป็นสงบนิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ต่างอะไรจากหุ่นกระบอกไร้จิตวิญญาณ สุดท้ายเมื่อ Mr. Davidson แสดงธาตุแท้ออกมา เหมือนว่าเธอจะหวนกลับกลายเป็นเช่นเดิม (กระมัง!)

ทุกท่วงท่าลีลาเคลื่อนไหว ทั้งยังการเล่นหูเล่นตา พูดจา(แม้ไม่ได้ยินเสียง)ของ Swanson ถือได้ว่าเป็นการสวมวิญญาณ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากภายใน ซึ่งมีความสมจริงที่ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้อง ปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง ไม่ต่างกับพายุเฮอริเคนพัดถาโถมเข้าใส่ ทุกฉากคือไฮไลท์ ผมเลือกไม่ได้ว่าซีนไหนโดดเด่นกว่ากัน (ชอบสุดคือต่อสถบด่า อ่านปากได้ว่า ‘psalm-singing son-of-a-bitch’)


Raoul Walsh ในบทบาทจ่าหนุ่ม Timothy O’Hara ที่รับล่วงรู้เบื้องหลังของ Sadie Thompson ยินยอมรับได้ในทุกๆการกระทำ อาสานำพาสู่ Australia ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง

ถือเป็นบทบาทการแสดงในรอบหลายปีของ Walsh และเห็นว่าคือเรื่องสุดท้าย (ต่อจากนี้จะเป็นเพียงผู้กำกับเท่านั้น) ความหล่อเหลายังคงกระชากใจ เคมีระหว่าง Swanson เข้ากันได้ (เคยปิ๊งกันระยะหนึ่ง แต่ไม่เคยสัมพันธ์เกินเลย) แต่ก็เท่านั้นเพราะบทบาทถือว่า Stereotype พระเอกผู้พร้อมยอมศิโรราบเพื่อครองรักนางเอก

เกร็ด: Douglas Fairbanks, Jr. มาทำการคัดเลือกนักแสดงบทบาทนี้ แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธจาก Swanson เพราะเห็นว่าเขายังเด็กเกินไป … ขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี เท่านั้นเอง!


Lionel Barrymore ชื่อเดิม Lionel Herbert Blythe (1878 – 1954) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน มีศักดิ์เป็นลุงทวดของ Drew Barrymore เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania พ่อ-แม่เป็นจิตรกร แต่ตัวเขาเติบโตขึ้นกับทวดที่เป็นนักแสดง เลยถูกบังคับให้เป็นเล่นละครเวทีตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ D. W. Griffith มีผลงานร่วมกันหลายเรื่อง (ส่วนใหญ่สูญหายไปแล้ว) ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดด้วยความเริ่มมีอายุสูงวัย เลยไม่ต้องดิ้นรนปรับตัวอะไรมาก คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง A Free Soul (1931), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Mysterious Island (1929), Grand Hotel (1932), Captains Courageous (1937), You Can’t Take It with You (1938), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ It’s a Wonderful Life (1946)

รับบท Mr. Alfred Davidson ดั้งเดิมในเรื่องสั้น/ละครเวที เป็นบาทหลวงผู้เคร่งครัดในศาสนา จึงทำการเทศน์สอนสั่ง Sadie Thompson เพื่อให้เห็นถึงการกระทำอันชั่วเลวร้ายของตนเอง และชี้ชักนำหนทางออกสู่โลกหน้า (ในหนังก็ดูเหมือนยังเป็นบาทหลวงอยู่ แต่จะไม่มีการกล่าวถึงชัดเจนนัก) ความสำเร็จที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงหญิงสาว ทำให้อยู่ดีๆลุ่มหลงผิด ครุ่นคิดการ … เป็นเหตุให้ตนเองจมน้ำเสียชีวิต

ว่าบทบาทใน It’s a Wonderful Life (1946) ร้ายแล้วนะ มาเห็นเรื่องนี้ต้องร้องโอ้โห ทำไปได้! สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความหมกมุ่นคลุ้มคลั่ง เชื่อถือมั่นในบางสิ่งจนไม่สามารถปลดปล่อยวางทิฐิลงได้ ถือว่าคือขั้วตรงข้ามเสรีชนของหญิงสาว เมื่อสามารถชี้ชักนำพาเธอมาถึงกึ่งกลาง เลยพยายามที่จะ…

เกร็ด: Barrymore คือตัวเลือกแรกของ Swanson แต่เหมือนเขาจะไม่ค่อยสบายตลอดการถ่ายทำ สติสตางค์เลยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เห็นว่าสวมชุดเดินตลอด 7 วันโดยไม่รู้ตัว ต้องฝากคนไปบอกว่าเอาไปซักบ้างถึงตระหนักขึ้นได้


ถ่ายภาพโดย … มีเครดิตทั้งหมด 3-4 คน
– แรกเริ่มคือ George Barnes (Rebecca, Spellbound, The Greatest Show on Earth) ขอหยิบยืมตัวจาก MGM แต่ในสัญญาระบุว่าจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เล่นเรียกตัวกลับตั้งแต่ถ่ายเสร็จเดือนแรก
– Mary Pickford แนะนำตากล้องคนโปรด Charles Rosher แต่ฝีมือห่างชั้นกับ Barnes อย่างมาก
– Robert Kurrle (The Four Feathers, Moby Dick)
– ท้ายที่สุดหยิบยืม Oliver T. Marsh (A Tale of Two Cities, The Great Ziegfeld, Bitter Sweet) พอเทียบเคียงกับ Barnes ร่วมงานจนถ่ายทำเสร็จสิ้น

การปรับเปลี่ยนตากล้อง ทำให้โปรดักชั่นหนังมีความล่าช้าพอสมควร เพียงครึ่งหนึ่งของการถ่ายทำงบประมาณหมดสูญสิ้น วิธีแก้ปัญหาของ Swanson ตัดสินใจขายบ้าน ขาย Penhouse นำเงินมาค้ำโปรเจคให้สำเร็จลงได้

สถานที่ถ่ายทำของหนังคือ Santa Catalina Island อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ Long Beach ต้องขึ้นเรือข้ามฟาก ระยะทาง 47 กิโลเมตร แต่ฉากภายในทั้งหมดถ่ายทำยัง United Artists Studios

ความท้าทายของโปรเจคนี้คือฝน ซึ่งตกลงมาแทบจะโดยตลอดเวลา ดังนั้นการจัดแสง-ความมืด เพื่อให้สอดคล้องรับกับฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จึงมีความละเอียดยิบย่อย โดยที่ผู้ชมส่วนใหญ่มักไม่ทันสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ (เพราะมันไม่มีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือฝนตก ต้องใช้การสังเกตจากแสงสว่าง+ความมืด บางครั้งก็แยกแยะไม่ออกเลยนะ!)

อารัมบทแรกของหนังถือว่าน่าสนใจมาก แนะนำตัวละครด้วยการให้พวกเขาเขียนบทกวีอะไรสักอย่าง ซึ่งเนื้อใจความจะสะท้อนถึงบุคคลิก ตัวตนของพวกเขา อาทิ
– Mr. Alfred Davidson: The knife of reform is the only hope of a sin-sick world.
– Mrs. Alfred Davidson: A righteous man will not hesitate to denounce evil.
– Dr. Angus McPhail: Tolerance is such a splendid virtue, it’s a pity so few of us have it.
– Sadie Thompson: Smile, Bogo, smile, for no matter how tough it is today it’s bound to be worse tomorrow.

ตรงทางเข้าโรงแรมที่พัก จะพบเห็นไม้หมุน สัญลักษณ์ของชีวิตที่เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา เริ่มต้น -> สิ้นสุด -> เริ่มต้น เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวที่ Mr. Alfred Davidson ต้องการให้ Sadie Thompson หวนกลับไปเผชิญหน้าความจริง แต่ท้ายที่สุดกลับ…

อดไม่ได้ต้องแถมช็อตนี้มา มีคำเรียกว่า ‘Cigarette Kiss’ ช่างมีความเซ็กซี่ โรแมนติก แฝงนัยยะการมี Sex ได้อย่างลุ่มร้อนร่าน

มีฉากหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เมื่อตัวละคร Sadie Thompon พร่ำคำหยาบกร้าน จาบจ้วง พ่นพิษใส่ Mr. Alfred Davidson หญิงๆคนอื่นๆเมื่อได้ยินต่างยกมือขึ้นปิดหูแล้วเดินหนีไปข้างนอกโรงแรม แต่สักพักเธอกลับติดตามออกไปเห่าหอนต่อข้างนอก … ประมาณว่าอุตส่าห์ตั้งใช้เสียงสายฝนกลบเกลื่อน กลับกลายเป็นว่ายังถูกติดตามมาหลอกหลอก

ตัดต่อโดย C. Gardner Sullivan ที่ปกติแล้วเป็นนักเขียนยอดฝีมือ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Italian (1915), Civilization (1916), Hell’s Hinges (1916), All Quiet on the Western Front (1930) ฯ

ร้อยเรียงเรื่องราวในมุมมองของ Sadie Thompson ขณะพักอาศัยอยู่เมืองท่า Pago Pago สถานที่กึ่งกลางเพื่อต้องเลือกว่าจะหวนกลับไปเผชิญหน้าอดีต San Francisco หรือมุ่งสู่อนาคต Australia

สำหรับ Title Card นอกจากแรกเริ่มอารัมบท ที่เหลือล้วนคือบทสนทนาระหว่างตัวละคร ซึ่งถือว่ามีความเพียงพอดี ในปริมาณไม่มาก-น้อยเกิน เฉพาะสาระสำคัญเท่านั้น


Sadie Thompson คือเรื่องราวของการตัดสินใจเลือก ไม่ได้ทิ้งคำตอบให้ว่าฝั่งไหนถูก-ผิด ระหว่างหวนกลับไปเผชิญหน้าความผิดพลาดในอดีต หรือก้าวเดินต่อสู่อนาคตเพื่อเริ่มต้นวันหน้าฟ้าใหม่

ใจความดังกล่าวสะท้อนได้ถึง Gloria Swanson หลังออกจากระบบสตูดิโอหันมาเป็นเจ้านายตนเอง สร้างภาพยนตร์อินดี้สนองใจอยาก แต่เมื่อเรื่องแรก The Love of Sunya (1927) ประสบความล้มเหลว Sadie Thompson (1928) จึงคือการตัดสินโชคชะตา ฉันจะก้าวต่อไปข้างหน้าหรือยินยอมถดถอยหลัง

เปรียบเทียบตัวละครแบบนี้ผมว่าตรงเผงมากเลยนะ!
– Mr. Alfred Davidson โน้มน้าวให้ Sadie หวนกลับไปเผชิญหน้าอดีต มองเป็นตัวแทนระบบสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ผู้คร่ำครึหัวโบราณ เคร่งครัดในขนบวิถี หรือจะมองเป็นนาย Will Hays แห่งกองเซนเซอร์ Hays Code ก็ไม่ผิดกระไร
– Sergeant Timothy O’Hara คือตัวแทนแห่งอิสรภาพ จ่าทหารแห่งสหรัฐอเมริกา ยินยอมรับได้ไม่ว่าอดีต-ปัจจุบัน จะก่อให้เกิดอะไรยังอนาคต

มันไม่มีคำตอบถูก-ผิด ในคำถามลักษณะนี้นะครับ ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองล้วนๆ
– บางคนเลือกที่จะจมปลักกับอดีต เพื่อชดใช้กรงกรรม/ความผิดพลาดเคยก่อให้หมดสิ้นเสียก่อน ถึงสามารถเริ่มต้นวันหน้าฟ้าใหม่ – แต่ค่านิยมของยุคสมัยนี้คือ ชีวิตไม่มีสิทธิ์หยุดนิ่ง! อดีตพานผ่านไปแล้วไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไข จึงจำต้องโอบรับทุกความผิดพลาด เรียนรู้ ปรับปรุงตัว เพื่อวันข้างหน้าจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกซ้ำสอง

สำหรับ Gloria Swanson หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอยังคงเลือกก้าวไปข้างหน้าอีกสักพัก กระทั่งการมาถึงของยุคสมัย Talkie หาใช่ว่าเธอปรับตัวไม่ได้ แต่ไม่ประทับใจในความยุ่งยากวุ่นวาย แถมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนเริ่มติดตามไม่ทัน ถึงจะกึ่งๆรีไทร์ออกจากวงการ แต่ก็พบเห็นหวนกลับมาอีกหลายครั้ง โด่งดังสุดคือ Sunset Boulevard (1950) ไม่ยินยอมรับว่านั่นคือตนเอง แต่ใครๆต่างรับรู้ว่าเป็นเธอกว่า 90%

จะว่าไปนัยยะใจความหนัง สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยภาพยนตร์ระหว่าง หนังเงียบ (อดีต) กับ หนังพูด (อนาคต) แต่คำตอบแน่ชัดอยู่แล้วว่าคืออะไรและมีเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง!


แม้หนังจะเกินเลยทุนตั้งต้นไปเยอะถึง $650,000 เหรียญ แต่เสียงตอบรับที่ดีล้นหลาม ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้ $1 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกอีก $7 ล้านเหรียญ กลายเป็นผลงานอินดี้ของ Swanson ที่ประสบความสำเร็จมากสุด

แม้ไม่ได้มีการประกาศต่อสาธารณะ แต่มีการค้นพบภายหลังจากใบรวมคะแนน Sadie Tompson ได้เข้าชิง Oscar ถึงสองสาขา
– Best Actress (Gloria Swanson)
– Best Cinematography

ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก ตราตรึงสุดๆกับการแสดงของ Gloria Swanson และไดเรคชั่นผู้กำกับ Raoul Walsh ชี้ชักนำพาอารมณ์ไปเกือบถึงจุดสูงสุด (มันไม่ถึงเพราะฟีล์มม้วนสุดท้ายที่สูญพันธุ์ไป!)

จัดเรต 15+ กับเฮอริเคนอารมณ์ของนักแสดง ความหมกมุ่น และเสียสติแตก

คำโปรย | Gloria Swanson ได้กลายเป็น Sadie Thompson โดยสมบูรณ์แบบ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

The Squaw Man (1914)


The Squaw Man

The Squaw Man (1914) hollywood : Oscar Apfel, Cecil B. DeMille ♥♥♡

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก (Feature Length) ถ่ายทำยัง Hollywood และเป็นผลงานแจ้งเกิดผู้กำกับ Cecil B. DeMille เปิดประตู Los Angeles สู่เมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์

แต่ The Squaw Man ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำยังเมือง Hollywood นะครับ! คือเรื่องอะไรโดยใครนั้น ก่อนอื่นขอเล่าถึงประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาสักหน่อยแล้วกัน

เริ่มต้นปี ค.ศ. 1886 เมื่อ Hobart Johnstone Whitley หรือ H.J. Whitley นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับภรรยา Margaret Virginia Whitley เดินทางมาฮันนีมูนยัง Los Angeles, California ขณะยืนอยู่บนเทือกเขาทิวทัศน์สวยงาม มองลงมาเห็นหมู่บ้านเล็กๆ ขณะนั้นมีชายชาวจีนกำลังลากเกวียนเดินผ่าน สอบถามว่าเขากำลังทำอะไร? ได้รับคำตอบ “I holly-wood” (เพี้ยนมาจาก hauling wood) เกิดความประทับใจในชื่อจึงตัดสินใจซื้อที่ดินกว่า 500 เอเคอร์ แล้วเรียกเมืองใหม่แห่งนี้ว่า Hollywood

เกร็ด: H.J. Whitley ต่อมาได้ฉายาเรียกว่า “Father of Hollywood”

Whitley ลงทุนสร้างโรงแรม Hollywood Hotel เปิดให้บริการปี ค.ศ. 1902 จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ (ปัจจุบันถูกทุบทำลายไปแล้ว) ดึงดูดนักลงทุนมากมายให้เข้ามาจับจอง ขยับขยาย ทำธุรกิจใหม่ๆ

สำหรับธุรกิจภาพยนตร์ ช่วงต้นศตวรรษ 1900s เริ่มต้นจากบริษัท Thomas Edison’s Motion Picture Patents Company (ของ Thomas Edison) ตั้งอยู่ที่ New Jersey แต่มักสร้างความไม่พึงพอใจให้บรรดานายทุน/ผู้สร้างสักเท่าไหร่ เพราะมีการเรียกเก็บภาษีจากทางการ และค่าลิขสิทธิ์ยังต้องจ่ายให้กับ Edison จนใครๆเกิดความเอือมละอา เริ่มที่จะมองค้นหาสถานที่อยู่แห่งใหม่

ประมาณปี ค.ศ. 1910 ปฐมครูผู้กำกับ D. W. Griffith ได้รับมอบหมายจาก Biograph Company พร้อมคณะทัวร์การแสดง Blanche Sweet, Lillian Gish, Mary Pickford, Lionel Barrymore ฯ ออกเดินทางสู่ West Coast ครั้งหนึ่งพักอาศัยยัง Georgia Street, Los Angeles พบเห็นทิวทัศน์ภาพสวยๆ ชาวเมืองอัชฌาสัยดี มีมิตรไมตรี เลยเริ่มต้นถ่ายทำ In Old California (1910) ความยาว 17 นาที กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกถ่ายทำที่ Hollywood

เกร็ด: D. W. Griffith ปักหลังอาศัยอยู่เมือง Hollywood เป็นเดือนๆ เลยไม่ได้สร้างแค่ In Old California ประเมินกันว่าคงไม่ต่ำกว่า 4-5 เรื่อง แต่หลงเหลือเพียงฟีล์มเรื่องนี้เท่านั้น เพิ่งได้รับการค้นพบเมื่อปี 2004 เห็นว่ากำลังได้รับการบูรณะ ไม่รู้เหมือนกันจะเสร็จเมื่อไหร่

เมือง Hollywood ในผลงานของ D. W. Griffith สร้างความสนใจให้ใครหลายๆคน มาก่อนเลยคือ Nestor Motion Picture Company เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 ตั้งสาขาอยู่ Sunset Boulevard (Nestor Company ภายหลังผนวกรวมเข้ากับ Universal Studios)

Nestor Studio

Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts มารดาเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ส่วนบิดาเป็นอดีตนักแสดง เสียชีวิตจากไปตอนเขาอายุ 12 ปี มุ่งมั่นเดินตามรอยเท้าพ่อก้าวสู่ Broadway แต่ไร้ความสามารถด้านการแสดงเลยผันตัวเบื้องหลัง กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จบ้าง-ล้มเหลวบ้าง จนกระทั่งมีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่อง Les Amours de la reine Élisabeth (1912) อยากที่จะทดลองสร้าง Motion Picture ขึ้นเองบ้าง

ร่วมกับพรรคเพื่อน Jesse Lasky และ Sam Goldfish ก่อตั้งสตูดิโอ Jesse L. lasky Feature Play Company (ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Famous Players-Lasky Corporation) ซื้อลิขสิทธิ์บทละครเวที The Squaw Man (1905) สร้างโดย Edwin Milton Royle (1862 – 1942) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เปิดการแสดงยัง Wallack’s Theatre, Broadway จำนวน 222 รอบการแสดง ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย

ความตั้งใจแรกของ DeMille ต้องการถ่ายทำยัง Flagstaff, Arizona แต่พอออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ ยังไม่เป็นที่พึงพอใจสักเท่าไหร่ ประกอบเสียงลือเล่าขานถึงเมือง Hollywood, Los Angeles กำลังได้รับความนิยมจากผู้สร้างภาพยนตร์ จึงยกทีมงานทั้งหมดมุ่งสู่ East Coast

เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน DeMille ได้รับความช่วยเหลือจาก Oscar C. Apfel (1878 – 1938) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน ผันจากละครเวทีสู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานหนังสั้นแนวทดลอง The Passer-By (1912) และอีกหลายๆเรื่องในสังกัด Edison Manufacturing Company (ของ Thomas Edison อีกเช่นกัน) ถือว่ามีประสบการณ์พอสมควรทีเดียว

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Beulah Marie Dix (1876 – 1970) นักเขียนบทละคร นวนิยาย และภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน, ความที่มีผู้จัดการ Beatrice DeMille แม่ของผู้กำกับ DeMille เลยรู้จักสนิทสนมกันดี ซึ่งก็ได้รับคำชักชวนมุ่งสู่ Hollywood ทำให้เธอค้นพบที่ทางของตนเอง กลายเป็นนักเขียนขาประจำในยุคแรกๆของ Famous Players-Lasky

James Wynnegate (รับบทโดย Dustin Farnum) และลูกพี่ลูกน้อง Henry (รับบทโดย Monroe Salisbury) คือผู้ดีอังกฤษ ทั้งยังเป็นคณะกรรมาธิการกองทุนสำหรับเด็กกำพร้า แต่วันหนึ่ง Henry เล่นพนันหมดตัว ลักลอกปลอมแปลงลายเซ็นต์ของ James เพื่อจ่ายหนี้ ทำให้เขาถูกทางการไล่ล่าติดตามตัว เลยอพยพหลบหนีข้ามน้ำข้ามทะเลสู่สหรัฐอเมริกา

Wyoming ยุคสมัยนั้นยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ความเจริญยังเข้าไม่ถึงสักเท่าไหร่ วันหนึ่ง James ได้ให้ความช่วยเหลือ Nat-U-Ritch (Lillian St. Cyr) บุตรสาวลูกหัวหน้าชนเผ่าอินเดียแดง Utes ที่ถูกอาชญากรนอกกฎหมาย Cash Hawkins (รับบทโดย William Elmer) ไล่ล่าติดตามตัว -สงสัยต้องการลักมาทำเมีย- ขณะกำลังจะถูกล้างแค้น Cash ก็ถูกยิงเข้าข้างหลังเสียชีวิต

โดยไม่รู้ตัว James ค่อยๆตกหลุมรัก แต่งงาน และมีบุตรชายร่วมกับ Nat-U-Ritch ขณะที่ทางฝั่งอังกฤษ Henry ประสบอุบัติเหตุระหว่างปีนเขา Alps ตกลงมาเสียชีวิต ซึ่งได้ทิ้งจดหมายรับสารภาพว่าตนเองคือผู้ปลอมแปลงลายเซ็นต์ ทำให้ James พ้นผิดและได้รับจดหมายร้องขอให้เดินทางกลับ … แต่สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นบ้านหลังที่สองของเขาไปเรียบร้อยแล้ว


Dustin Lancy Farnum (1874 – 1929) นักร้อง นักเต้น นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hampton Beach, New Hampshire ความสำเร็จในวงการละครเวที ทำให้ Farnum ตัดสินใจก้าวสู่วงการภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Soldiers of Fortune (1914) ติดตามมาด้วย The Squaw Man (1914) แจ้งเกิดโด่งดังกับแนว Western โดยทันที

รับบท Captain James Wynnegate หรือ Jim Carston ผู้ดีอังกฤษที่ถูกลูกพี่ลูกน้องทรยศหักหลัง ทำให้ต้องซมซานขึ้นเรือข้ามสมุทรสู่สหรัฐอเมริกา แต่ชีวิตก็เกือบซ้ำรอยเดิมถูก Cash Hawkins ลักลอบมาเข้าข้างหลัง ความช่วยเหลือของ Nat-U-Ritch ครั้งนั้นและต่อมา ก่อเกิดความสัมพันธ์ต่างเชื้อชาติพันธุ์ แม้ไม่ผิดกฎหมาย*** แต่สังคมอเมริกันกลับไม่ยินยอมรับสักเท่าไหร่

เกร็ด: ในสหรัฐอเมริกาแม้กฎหมาย Anti-miscegenation แต่บังคับใช้เฉพาะกับคนขาว-ผิวสี ขณะที่คนขาว-ชาวพื้นเมือง/อินเดียแดง ถึงไม่ถูกกีดกัน(ด้วยกฎหมาย)แต่บุตรหลานไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคมสักเท่าไหร่

การแสดงในหนังเงียบยุคแรกๆ เน้นเพียงภาพลักษณ์ที่เข้ากับตัวละคร แลดูน่าเชื่อถือ ซึ่งบทบาทคาวบอยจักต้องมีร่างกายบึกบึนกำยำ มาดแมน โคตรเท่ห์ประไร! ส่วนการแสดงแทบไม่มีอะไรให้น่าพูดถึง พยายามขยับเคลื่อนไหว ภาษากาย ให้สื่อความหมายทางอารมณ์ออกมาตรงๆ ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น


Lillian Margaret St. Cyr หรือ Red Wing (1873 – 1974) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกันในยุคหนังเงียบ เชื้อสายอินเดียแดง เกิดที่ Winnebago Reservation, Nebraska โตขึ้นเดินทางสู่ Washington D.C. ทำงานเป็นคนรับใช้ส.ว. Chester I. Long หลังจากแต่งงาน James Young Deer ทั้งสองได้กลายเป็นนักแสดงดูโอ้ เวียนวนอยู่แถว New York และ Philadelphia จนกระทั่งเข้าตา D. W. Griffith ชักชวนมาเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ และโด่งดังสูงสุดกับ The Squaw Man (1914), Ramona (1916) ฯ

รับบท Nat-U-Ritch หญิงสาวชาวอินเดียแดง ก็ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรกับ Cash Hawkins จึงถูกไล่ล่าติดตามตัว แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือจาก James Wynnegate ต้องการทดแทนบุญคุณเขา และมีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน

บทบาทนี้ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นนะครับ ที่อยากพูดถึงคือนักแสดงมากกว่า Red Wing ถือเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกในวงการภาพยนตร์ แม้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากนัก แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อินเดียแดง ไม่ใช่แค่คนบ้านป่าเมืองเถื่อน ใช้เพียงความรุนแรง มุมอ่อนไหว น่าสงสารเห็นใจก็พอมีบ้าง

ซึ่งบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตอนจบเป็นอะไรที่ค่อนข้างคาดไม่ถึง ถือว่าคือการเสียสละตนเองเพื่อลูกและคนรัก จักมิต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับการกระทำอันเห็นแก่ตัวเมื่อคราครั้งก่อน


ถ่ายภาพโดย Alfred Gandolfi,
ตัดต่อโดย Mamie Wagner

แม้อยู่ในช่วงระหว่างทดลองผิดลองถูก แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ DeMille ตระหนึกถึง ‘แสงสว่าง’ มีความสำคัญอย่างมากในการถ่ายทำ ว่ากันว่าเหตุผลหนึ่งที่เปลี่ยนสถานที่จาก Arizona สู่ Los Angeles ก็เพราะแสงสว่างยามกลางวันที่ขมุกขมัว สร้างบรรยากาศอันอึมครึม ไม่เหมาะต่อการทำงานสักเท่าไหร่ ผิดกับเมือง Hollywood มีความสว่างสดใส ฟ้าโปร่งตลอดทั้งปี แถมทั้งภูเขาและท้องทะเลอยู่ไม่ห่างไกลชุมชนสักเท่าไหร่

เพราะความที่กล้องถ่ายวีดีโอสมัยนั้นมีขนาดใหญ่ เทอะทะ ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวไปมาโดยง่าย งานภาพส่วนใหญ่จึงแช่ค้างไว้อยู่กับที่ นักแสดงเดินเข้าออกในรัศมี มีการจัดวางตำแหน่ง องค์ประกอบ และการแสดง เพื่อให้สื่อความเข้าใจโดยง่ายที่สุด

ปัญหาของหนังคือภาษาดำเนินเรื่อง ยังไร้ซึ่งจังหวะ นำเข้า-ออก อยู่ดีๆพอจบฉากนั้นก็ขึ้นข้อความ Title Card นำเสนอเรื่องราวถัดไปโดยทันที ผู้ชมปรับตัวตามแทบไม่ทัน เรียกได้ว่าไร้ช่องว่างสำหรับการหายใจ

ถึงไม่ได้จำเป็นว่าต้องขึ้น Title Card บอกทุกคำพูดสนทนา อริยาบทการกระทำ แต่หลายๆครั้งนั้นตัวละครก็แสดงออกโน่นนี่นั่นเรื่อยเปื่อยเกินความจำเป็น แลดูคล้ายๆไดเรคชั่นของ Georges Méliès อะไรจะเกิดขึ้นไม่รู้ละ แค่ทำให้องค์ประกอบภาพมีการขยับเคลื่อนไหวเข้าไว้เป็นพอ

 

Squaw แปลว่า หญิงชาวอินเดียนแดง, ประหลาดแท้ตั้งชื่อหนังว่า The Squaw Man อาจเพราะต้องการเปรียบเทียบถึง Nat-u-Ritch แม้เป็นลูกผู้หญิง แต่หยิ่งในศักดิ์ศรี แสดงออกด้วยเกียรติ ราวกับผู้ชายก็ไม่ปาน!

แต่ชื่อดังกล่าวก็ไม่เห็นค่อยเกี่ยวข้อง/สอดคล้องกับภาพรวมของหนังสักเท่าไหร่, เรื่องราวของชายหนุ่มที่ถูกตีตราหน้าจากสังคมหนึ่ง อพยพหลบลี้หนีภัยมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ตกหลุมรัก แต่งงาน มีบุตรชาย สุดท้ายเมื่อข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผย ต้องเลือกระหว่างจะปักหลักอยู่บ้านใหม่นี้ หรือหวนคืนกลับไป

ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว สะท้อนถึงผู้กำกับ Cecil B. DeMille (และทีมงานสร้างหนังได้ทั้งหมด) ถูกตีตราหน้าจากวงการละครเวที Broadway อพยพหลบหลี้หนีภัยมาตั้งถิ่นฐานใหม่กับวงการภาพยนตร์ Hollywood ตกหลุมรัก แต่งงาน คลอด The Squaw Man เรื่องนี้ออกมา ผลลัพท์เป็นอย่างไรตอนนั้นยังไม่รู้ แต่หลังจากเสร็จสรรพคงต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างจะปักหลักบ้านใหม่ หรือหวนคืนกลับไป

ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่กำไรสูงถึง $244,700 เหรียญ แม้เทียบไม่ได้กับความสำเร็จปีถัดมาของ The Birth of Nation (1915) แต่ถือเป็นภาพยนตร์จาก Hollywood เรื่องแรกทำกำไรมากมายขนาดนี้!

เกร็ด: The Squaw Man ได้รับการสร้างใหม่อีกสองครั้ง ล้วนโดยผู้กำกับ DeMille
– The Squaw Man (1918) ทุนสร้าง $40,000 เหรียญ ทำเงินได้ $350,000 เหรียญ แต่เห็นว่าฟีล์มสูญหายไปแล้ว
– เป็นความกระเหี้ยนกระหือรือที่ต้องการสร้างฉบับหนังพูด The Squaw Man (1931) ใช้ทุนสูงถึง $722,000 เหรียญ มีรายงานขาดทุนประมาณ $150,000 เหรียญ

ส่วนตัวแม้ไม่มีอะไรประทับใจในหนัง แต่พอครุ่นคิดได้ว่าเรื่องราวสะท้อนชีวิต/ความเป็นศิลปินของผู้กำกับ Cecil B. DeMille ก็แอบขนลุกอยู่เล็กๆ นั่นคือร่องรอย ก้าวแรก ของว่าที่ปรมาจารย์แห่ง Hollywood โดยแท้!

จัดเรต PG กับอาชญากรรม ฆ่าตัวตาย

คำโปรย | The Squaw Man จารึกประวัติศาสตร์ของ Hollywood และการมาถึงของผู้กำกับ Cecil B. DeMille
คุณภาพ | พอใช้ได้
ส่วนตัว | รับชมประวัติศาสตร์

The Cheat (1915)


The Cheat

The Cheat (1915) hollywood : Cecil B. DeMille ♥♥♥♡

ผลงานแจ้งเกิด Sessue Hayakawa นักแสดงระดับ Superstar, Sex Symbol, Matinée Idol คนแรกของเอเชีย (ใน Hollywood) แต่ในบทบาทที่ไม่มีใครอยากจดจำสักเท่าไหร่ คือชู้รักที่ต้องการครอบครองหญิงสาว เมื่อไม่ได้ด้วยเงินก็จู่โจมด้วยกำลัง

เมื่อปี ค.ศ. 1905 ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถสู้รบเอาชนะรัสเซียในสงคราม Russo-Japanese War (1904 – 1905) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ชนชาวเอเชียสามารถมีชัยเหนือกว่ามหาอำนาจยุโรป จุดประกายหัวข้อข่าว “How Japanese Crowd Out the White Race” ลงหน้าหนังสือพิมพ์วางขายทั่วสหรัฐอเมริกา สร้างค่านิยมให้ประชาชนเกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อคนผิวเหลือง “Yellow Peril”

จริงๆก็ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ที่สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Chinese Exclusion Act (1882) [ซึ่งเหมารวมคนผิวเหลืองทั้งหมด ไม่ใช่แค่ชาวจีน] จุดประสงค์เพื่อกีดกั้นขวางชาวเอเชียที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน พยายามแสวงหาผลประโยชน์ในผืนแผ่นดินอเมริกัน เริ่มตั้งแต่ยุคขุดทอง (Gold Rush), ต่อมาจัดระเบียบสังคมให้เกิดชุมชน Chinatown, จำกัดอาชีพ ปริมาณแรงงาน, ห้ามครอบครองเป็นเจ้าของพื้นที่ดินทำกิน, หรือแม้แต่ Anti-Miscegenation ห้ามแต่งงานครองคู่อยู่ร่วมกับบุคคลต่างเชื้อชาติพันธุ์ ฯ

แต่เฉพาะกับญี่ปุ่นที่พอได้รับชัยชนะจากสงครามดังกล่าว เกิดการเจรจาข้อตกลง Gentlemen’s Agreement of 1907 ร่วมกับ ปธน. Theodore Roosevelt จับมือสร้างพันธมิตร พัฒนาความสัมพันธ์ ลดความขัดแย้งระหว่างกันในมหาสมุทรแปซิฟิก อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นอพยพย้ายสู่ California เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยน ประกอบอาชีพการงาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Sessue Hayakawa ออกเดินทางมาเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันของตนเอง

เกร็ด: จุดสิ้นสุดของ Gentlemen’s Agreement of 1907 เกิดขึ้นเมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ Immigration Act of 1924 ซึ่งใช้คำเหมารวมถึงชาวเอเชีย นั่นทำให้ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิญี่ปุ่นขาดสะบั้น รอยร้าวแรกที่จะกลายเป็นบาดลึกช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

การได้รับโอกาสเข้ามาประกอบอาชีพทำกินของคนญี่ปุ่น ไม่ได้สร้างความพึงพอใช้ให้ชาวอเมริกันมากนัก เพราะอคติที่ถูกครอบงำ ปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอนมานาน มีหรือจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน หนึ่งในนั้นมีคำเรียกว่า ‘Sexual Fear’ มองความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติพันธุ์คือสิ่งผิดปกติ (เหมือนมนุษย์กับสัตว์) ขัดต่อหลักศีลธรรมมโนธรรมในสังคม และยิ่งเมื่อคลอดบุตรออกมา จะส่งผลต่อความบริสุทธิ์ ฉุดคร่าอารยธรรมมนุษย์ให้ตกต่ำลง


Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts แม่มีเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ส่วนพ่อเป็นอดีตนักแสดง เสียชีวิตจากไปตอนเขาอายุ 12 ปี คิดว่าตนเองคงมีพรสวรรค์เลยไปคัดเลือกนักแสดงละครเวที Broadway แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ร่วมกับพรรคเพื่อน Jesse Lasky, Sam Goldfish เดินทางสู่ Los Angeles (ติดตามรอย D. W. Griffith) บุกเบิก Hollywood ก่อตั้งสตูดิโอ Lasky Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914)

ความสนใจยุคแรกๆของ DeMille มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Sex สะท้อนเสียดสีสังคม มีลายเซ็นที่พบเจอบ่อยๆ อาทิ หญิงสาวอาบน้ำ, ฮาเร็ม, สิงโตกระโจนเข้าโจมตี ฯ

‘Sexual Fear’ คือสิ่งที่ Demille เริ่มให้ความสนใจกับกับการเข้ามาถึงของชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา มอบหมายให้สองนักเขียนขาประจำ Hector Turnbull และ Jeanie Macpherson** ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์

ขอกล่าวถึงนักเขียน Jeanie MacPherson (1886 – 1946) สักหน่อยก่อนแล้วกัน! เธอเกิดที่ Boston, Massachusetts ในครอบครัวฐานะร่ำรวย ชื่นชอบหลงใหลการร้อง-เล่น-เต้น และแสดงละคร ใครสักคนแนะนำให้เธอรู้จักกับภาพยนตร์ มุ่งสู่ New York City จนมีโอกาสพบเจอ D. W. Griffith พบเห็นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานเลยให้รับบทนำ Fatal Hour (1908) ระยะเวลาสิบปีเล่นหนัง 146 เรื่อง ครั้งหนึ่งมีโอกาสเขียนบท/กำกับ The Tarantula (1913) ทำให้ลุ่มหลงใหลในงานเบื้องหลัง เมื่อมีโอกาสพบเจอพูดคุย Cecil B. DeMille แนะนำว่า

“I am not interested in star MacPherson but I am in writer MacPherson”.

–  Cecil B. DeMille

เกร็ด: DeMille และ MacPherson ได้กลายเป็นขาประจำร่วมงาน ที่ทรงอิทธิพลแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เธอพัฒนาบทให้เขากำกับถึง 30 เรื่อง!

เรื่องราวของ Edith Hardy (รับบทโดย Fannie Ward) นักสังคมหัวสูง ชื่นชอบการสังสรรค์ จับจ่ายใช้สอยอย่างสุหรุ่ยสุหร่าย ครุ่นคิดว่าสามี Richard Hardy (รับบทโดย Jack Dean) สามารถตอบสนองได้ทุกสิ่งอย่าง แต่ขณะนั้นเพราะกำลังลงทุนในธุรกิจ เรียกร้องขอให้ใจเย็นๆ เธอกลับใจร้อนหูเบานำเงินการกุศลจาก Red Cross ไปใช้จ่ายแล้วถูกโกงหมดตัว! ความเข้าหูชู้รักที่กำลังคบหา Hishuru Tori/Haka Arakau (รับบทโดย Sessue Hayakawa) อาสาเซ็นเช็คให้การช่วยเหลือ แต่ด้วยข้อเรียกร้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว ต้องการบอกปัดแต่มิอาจตอบปฏิเสธ


Sessue Hayakawa ชื่อเกิด Kintaro Hayakawa (1886 – 1973) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Minamibōsō, Chiba ครอบครัวทำธุรกิจประมง ต้องการให้เขาเป็นทหารเรือสังกัด Imperial Japanese Navy แต่ระหว่างฝึกทหารดำน้ำลึกแก้วหูแตก รู้สึกอับอายขายขี้หน้าเลยต้องการกระทำ Seppuku หลังจากแทง 30 ครั้ง รอดตายมาได้เพราะหมาเห่าไม่หยุด พ่อออกมาเห็นช่วยไว้ทันพอดี

หลังจากยินยอมรับโชคชะตากรรมตนเองได้ อพยพย้ายไปเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง University of Chicago มุ่งหมายเป็นนายธนาคาร แต่ก่อนกลับบ้านแวะท่องเที่ยวยัง Los Angeles พบเห็นโรงละครเวที Japanese Theatre ณ Little Tokyo เกิดความลุ่มหลงใหลในการแสดง ขอสมัครและได้แสดงนำโปรดักชั่นชื่อ The Typhoon สร้างความประทับใจอย่างมาก หนึ่งในเพื่อนนักแสดงแนะนำให้รู้จักโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ Thomas H. Ince เล่นหนังเงียบเรื่องแรกก็จากละครเวทีเรื่องนั้น The Typhoon (1914) ได้รับความนิยมขึ้นมาทันที, ติดตามด้วย The Wrath of the Gods (1914), The Sacrifice (1914), สะสมชื่อเสียงจนกระทั่งได้เซ็นสัญญา Famous Players-Lasky (ปัจจุบันคือ Paramount Pictures) ซึ่งผลงานลำดับสอง The Cheat (1915) ส่งให้เขากลายเป็น Superstar

รับบท Hishuru Tori/Haka Arakau พ่อค้างาช้าง ประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทอง ชื่นชอบสะสมวัตถุโบราณมากมายเต็มบ้าน ตกหลุมรัก Edith Hardy แม้เธอจะแต่งงานมีสามีแล้ว พยายามใช้มารยาเสน่ห์ยั่วยวนหยอกเย้า รูปหล่อคารมไม่ได้ ก็ต่อรองจากหนี้สิน และท้ายสุดใช้กำลังเข้าข่มขืน ตีตราประทับให้เธอคือของๆฉัน

เกร็ด: ฉบับแรกที่ออกฉายตัวละครชื่อ Hishuru Tori เป็นชาวญี่ปุ่น แต่พอออกฉายถูกทางการ(ญี่ปุ่น)ต่อต้านรับไม่ได้ เรียกร้องขอให้ปรับเปลี่ยน แถมแบนห้ามฉาย ซึ่งช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรญี่ปุ่น ผู้กำกับ DeMille ปรับเปลี่ยนแปลงชื่อตัวละครและสัญชาติ กลายเป็น Haka Arakau ชาวพม่า (สาเหตุเพราะไม่ค่อยมีชาวพม่าในอเมริกา คงหาคนประท้วงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีก!)

เพียงความหล่อเหลาของ Hayakawa ก็กระชากใจสาวๆชาวอเมริกันไปเต็มๆ แม้มักได้รับบทตัวร้าย Type-cast โหดโฉดชั่วอันตรายสักเพียงไหน แต่เวลาฉายหนังรอบปฐมทัศน์ทีไร รถลีมูนซีนจะถูกรายล้อมด้วยอิสตรี พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สับผัส ศิโรราบ สยบแทบเท้า!

แต่ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นที่โดดเด่น Hayakawa ยังโอบรับวิถี Zen เข้ามาปรับประยุกต์ในการแสดง (คงเพราะเขาเคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย นี่คือสิ่งได้รับหลังจากการกระทำดังกล่าว) กล่าวคือ นักแสดงยุคหนังเงียบส่วนใหญ่นั้น มักมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย กวัดไหวแขนขา เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้ดูเว่อวังอลังการ (สไตล์ German Expressionism) การแสดงของ Hayakawa มีคำเรียกว่า ‘absence of doing’ คือจะไม่ทำอะไรตระการตาขนาดนั้น มุ่งเน้นนำเสนอสิ่งที่อยู่ภายในผ่านสีหน้า สายตา เลิศยักคิ้วเล็กน้อยก็สามารถรับรู้ได้ทุกอย่างแล้ว

นั่นเองทำให้ Hayakawa ได้รับการยกย่องว่าเป็น Superstar, Sex Symbol, Matinée Idol ไม่ใช่แค่คนแรกของเอเชีย แต่วงการภาพยนตร์เลยละ! (แต่ Hollywood ไม่ค่อยยินยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวนะครับ เพราะ Hayakawa ไม่ใช่ชาวอเมริกัน!)

ช็อตแรกของ Hayakawa เมื่อแนะนำตัวละคร ถ้าใครได้รับชมฉบับลงสี จะพบเห็นโทนแดงซึ่งแสดงถึงอันตราย ความชั่วร้าย ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ (และความมืดมิดที่ปกคลุมรอบด้าน เรียกได้ว่าปีศาจเลยละ!)

Fannie Ward หรือ Fanny Ward ชื่อจริง Fannie Buchanan (1872 – 1952) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Louis, Missouri ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง แสดงละครเวที Broadway ประสบความสำเร็จโด่งดัง ขนาดว่าเคยล่องเรือไป London เพื่อเปิดการแสดงยัง West End แต่หลังจากแต่งงานกับมหาเศรษฐีค้าเพชร รีไทร์ออกจากวงการไปชั่วขณะหนึ่ง ว่ากันว่าเหตุผลที่หวนกลับมา เพราะธุรกิจสามีล้มละลาย ไม่นานก็เลิกราหย่าร้าง

แม้ยังสวยไม่สร่าง แต่อายุที่ย่างเข้าเลขสี่ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จด้านการแสดงเฉกเช่นกาลก่อน กระทั่งถูกซี้เซ้าโดย Cecil B. DeMille ให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Cheat (1915) ค้นพบหนทางไปต่อโดยทันที

รับบท Edith Hardy สาวสังคมหัวสูง ชื่นชอบการสังสรรค์ จับจ่ายใช้สอยอย่างสุหรุ่ยสุหร่าย (นี่มันสะท้อนชีวิตจริงเธอเลยนะเนี่ย!) แม้กำลังคบชู้กับ Hishuru Tori/Haka Arakau แต่กลับไม่เคยเกินเลย คงยังรักสามีมาก (Jack Dean คือสามีตัวจริงคนที่สองของ Ward) แสดงออกทุกอย่างเพียงเพื่อร้องเรียกความสนใจ กระทั่งครั้งหนึ่งเผลอหูเบาใช้จ่ายเงินปริมาณมหาศาลของ Red Cross วิธีการเดียวจะเอาตัวรอดนั่นคือเสียสละเรือนร่างกายตนเอง

คงต้องถือว่า Ward แสดงบทบาทนี้จากประสบการณ์ตนเองล้วนๆ เลิศเชิดหยิ่ง หัวสูง ทะนงตน เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งนั่นคือความโง่เขลา ไร้เดียงสา (แต่ไม่ถือว่าอ่อนวัยเยาว์แล้วนะ!) ซึ่งผลจากพฤติกรรมดังกล่าวได้รับตอบสนองอย่างสาสม ตกอยู่ในอาการซึมเศร้า คลุ้มคลั่ง ท้ายสุดแทบเสียสติแตกรับไม่ได้ เพราะทั้งหมดล้วนเกิดจากความผิดของตนเองทั้งนั้น จะให้สามีมารับโทษแทนได้เช่นไร!

จริงอยู่ที่ Ward ได้แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การแสดงเธอที่รับอิทธิพลจากละครเวที ถูกกลบโดย Hayakawa ที่มีความสง่างาม ด้วยสไตล์ใหม่เอี่ยมกว่า (เรียกได้ว่า แตกต่างขั้วตรงข้าม) แม้หลังจากนี้จะมีผลงานติดตามมากว่า 20 เรื่อง แล้วถึงรีไทร์ ผลงานส่วนใหญ่กลับสูญพันธุ์ (Extant) ไปแทบหมดสิ้น


ถ่ายภาพโดย Alvin Wyckoff (1877 – 1957) ตากล้องขาประจำของในยุคหนังเงียบของ Demille ซึ่งยังร่วมกันพัฒนาเทคนิค Lasky-lighting จัดแสงเพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับเรื่องราว

ก็ตั้งแต่การแนะนำตัว Hishuru Tori/Haka Arakau ที่มีการใช้อย่างแสงสว่าง-ความมืดมิด เพื่อสร้างบรรยากาศอันตราย แลดูน่าหวาดสะพรึงกลัว ตัวละครซ่อนเร้นไปด้วยลับลมคมใน

ขณะที่ไฮไลท์ของหนังคือช็อตนี้ เงาของสองตัวละครฉายบนฉากสีขาว ลวดลายเหมือนบานประตูเลื่อนของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสะท้อนเหตุการณ์มองจากสองมุมมอง
– ทางฝั่ง Hishuru/Haka กับ Edith พบเห็นเงาของสองบุคคลที่มีความสำคัญต่อพวกเขา สะท้อนถึงสถานะพวกเขา หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง ไม่เปิดเผยออกไป
– ทางฝั่ง Richard จะมองไม่เห็นชู้รักคู่นี้ที่หลบซ่อนตัวอยู่ในความมืดมิด มิได้สนใจหรือให้ความสำคัญใดๆ (ในขณะนั้น)

ฉากในคุกก็เช่นกัน แสงไฟสาดส่องซี่กรงขังซ้อนทับใบหน้าตัวละคร และส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท … นี่กลิ่นอายหนังนัวร์เลยนะเนี่ย!

ตัดต่อโดย Cecil B. DeMille, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Edith Hardy เป็นหลัก เพราะเธอคือบุคคลพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความครุ่นคิด การแสดงออกที่สุดแล้ว

ผู้กำกับ DeMille พยายามลดการใช้ Title Card ให้น้อยที่สุด นอกจากบงบอกสถานที่ เหตุการณ์ และบทสนทนาสำคัญๆของตัวละคร อะไรที่มันไร้ความจำเป็นก็ปล่อยให้ภาษาภาพดำเนินไป ถือว่ามีความลงตัวเพียงพอดีอย่างยิ่ง


The Cheat มีความหมายทั้งการโกง หลอกลวง และยังลักลอบเป็นชู้ นอกใจคนรัก ซึ่งหนังเหมารวมแทบครบทุกนัยยะเลยละ
– Edith ลักลอบคบหา Hishuru/Haka ทำเป็นนอกใจสามีเพื่อเรียกร้องความสนใจ
– Edith นำ(โกง)เงิน Red Cross จำนวน $10,000 เหรียญ ไปลงทุนจากคำชักชวนของเพื่อน แต่ผลลัพท์ดูยังไงก็เหมือนถูกโกงเสียมากกว่า!
– Hishuru/Haka เมื่อต่อรองราคากับ Edith ถูกโกงเพราะพยายามชดใช้หนี้วิธีการอื่น นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้เขาอย่างมาก
– Richard หลอกลวงต่อศาลและลูกขุน อ้างว่าตนเองเป็นผู้ยิง Hishuru/Haka
ฯลฯ

ซึ่งการให้ตัวละคร Hishuru Tori/Haka Arakau ที่มีสัญชาติเอเชีย แท้จริงแล้วคือผู้ล่า ‘Sexual Predator’ นักข่มขืน ‘Raptist’ เป็นการสะท้องมุมมองโลกทัศนคติของชาวตะวันออก เห็นธาตุแท้ ตัวตน ชนผิวเหลือง เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน ไร้อารยะธรรม แทนสัญลักษณ์ของการครอบครองโลก ทำตัวสูงส่งเหนือกว่าคนขาว

เอาจริงๆผมไม่รู้หรอกนะว่า ชาวเอเชีย ญี่ปุ่น จีน ฯ ยุคสมัยนั้นมีความต้องการเป็นหมาอำนาจ ครองโลก จริงๆอย่างที่ภาพยนตร์ยุคสมัยนั้นเสี้ยมสอน ปลูกฝัง ชวนเชื่อ แต่มองในมุมกลับกันสามารถสะท้อนได้ถึง ‘ความหวาดสะพรึงกลัว’ เพราะการไม่เคยรับล่วงรู้จักตัวตนอีกฝ่าย ไม่รู้เขารู้เรา จะไปสามารถสู้รบต่อกรกันได้อย่างไร

แผนการพันธมิตรญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น ก็เพื่อที่จะเรียน ‘รู้จักเขาจักเรา’ เข้าใจวัฒนธรรม ธาตุแท้ ตัวตนของอีกฝั่งฝ่าย เมื่อใดเกิดความขัดแย้ง เห็นต่าง สงครามปะทุขึ้น จักสามารถต่อกร สู้รบ คว้าชัยชนะ ประเทศชาติจะไม่จบสูญสิ้น ถูกกลืนกืน หรือกลายเป็นเมืองขึ้นอาณานิคมใคร

เมื่อมองมุมเขา-มุมเรา ต่างก็มีเหตุผลความถูกต้องของตนเอง หวาดสะพรึงกลัวในสิ่งไม่เข้าใจ ทะนงว่าเชื้อชาติพันธุ์ฉันยิ่งใหญ่ ต้องการชัยชนะเมื่อขัดแย้ง … วิถีของมนุษย์ช่างวุ่นวายโดยแท้

สำหรับ Hayakawa ในมุมคนญี่ปุ่นส่วนน้อยที่ชื่นชม แต่ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมรับ โดยเฉพาะ The Cheat ต่างส่ายหัวรับไม่ได้ มีคำเรียกว่า ‘Kukojoku Eiga’ หมายถึงการดูหมิ่นเชื้อชาติ สร้างความอับอายให้ขายขี้หน้า … จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศ

Hayakawa ก็รับรู้ตนเองว่าไม่เป็นที่พึงพอใจต่อชาวญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในบทบาท Type-Cast ของตนเอง ก็ได้ระดมทุน หยิบยืมเงินพรรคพวกฝูง ก่อตั้งสตูดิโอ สร้างภาพยนตร์ที่สามารถควบคุมอะไรๆได้เอง … แต่ก็แน่นอนว่าไม่ได้รับความนิยมมากสักเท่าไหร่

การมาถึงของยุคหนังพูด ทำให้ชื่อเสียงของ Hayakawa ถดถอยหลังไปอย่างมาก แต่ก็ได้กลายเป็นตำนานครั้งหนึ่งกับบทสมทบ The Bridge on the River Kwai (1957) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor และหลังจากภรรยาเสียชีวิต หวนกลับญี่ปุ่น บวชพระนิกายเซ็น ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบ


รายงานทุนสร้างกับรายรับของหนัง มีสองแหล่งที่ตัวเลขไม่ตรงกัน
– ทุนสร้าง $17,311 เหรียญ, ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $96,389 เหรียญ, และทั่วโลกอีก $40,975 เหรียญ
– อีกแหล่งจากหนังสือ Empire of Dreams: The Epic Life of Cecil B. DeMille ทุนสร้าง $16,540 เหรียญ ทำเงินทั้งหมด $137,364 เหรียญ

อาจดูเป็นตัวเลขที่น้อย แต่เงินหมื่นยุคสมัยนั้นประมาณก็หลายสิบล้านในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ถึงขนาดทำให้ Hayakawa จากค่าตัว $500 เหรียญต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นเป็น $5,000 เหรียญต่อสัปดาห์ ได้ในช่วงพริบตา!

สองสิ่งที่ผมสนใจมากๆเกี่ยวกับหนัง และทำออกมาดีมากๆ
– การแสดงของ Sessue Hayakawa ที่ถือว่าประดิษฐ์สไตล์ของตนเองได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ หล่อ เท่ห์ สมตำนานลือเล่าขาน
– และไดเรคชั่นผู้กำกับ Cecil B. DeMille เต็มไปด้วยลูกเล่นลูกชน ถือว่าก้าวล้ำยุคสมัยนั้นมากๆ

แต่ใช่ว่าหนังไม่มีตำหนินะครับ ผมค่อนข้างผิดหวังกับตอนจบที่ถือว่าเป็น Hollywood-style แบบเข้าข้างตนเองสุดๆ ทำให้ประเด็น Racism โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจนเลย

จัดเรต 13+ กับความพยายามข่มขืน ใช้กำลังรุนแรง และตัวละครมีสภาพเสียสติ

คำโปรย | The Cheat กลโกงของผู้กำกับ Cecil B. DeMille กลับทำให้ Sessue Hayakawa กลายเป็นตำนาน!
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Piccadilly (1929)


Piccadilly

Piccadilly (1929) British : E. A. Dupont ♥♥♡

ชาวเอเชียในมุมมองชาติตะวันตกช่วงต้นศตวรรษ 20 คือชนต่ำต้อยด้อยค่า แต่เหมือนอสรพิษร้ายพร้อมแว้งฉกกัด ไร้ซึ่งสามัญสำนึกมโนธรรม ด้วยเหตุนี้จึงมีการปลูกฝังค่านิยม Yellow Peril/Yellow Terror กลายเป็น Stereotype นักแสดงผิวเหลืองปรากฎบนภาพยนตร์เมื่อไหร่ ต้องมาร้าย โหดโฉดชั่ว ตัวอันตราย

ประวัติศาสตร์ผ่านมานานแล้วก็จริง แต่ความเชื่อที่เคยถูกปลูกฝังหยั่งรากลึกในจิตใจคน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถลบเลือนลางจางหาย เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมเพราะยุคสมัยนี้ใครๆต่างสร้างภาพลวงหลอกตา จับมือกอดคอถ่ายรูป แต่ลับหลังด่าพ่อล่อแม่ สรรหาช่องโหว่เพื่อฉ้อฉลกอบโกย ตักตวงเพียงผลประโยชน์ใส่ตน

Piccadilly เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สุดอัปลักษณ์ ที่พยายามเสี้ยมสั่งสอน ปลูกฝังโลกทัศนคติ แถมยังสร้างค่านิยมผิดๆเกี่ยวกับชนผิวเหลือง ชาวเอเชีย ว่าแม้มีความสวยเซ็กซี่ มีความน่าลุ่มหลงใหล แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความโฉดชั่วร้าย ถ้ายังไม่อยากตายก่อนวัย สมควรต้องหลบลี้หนีให้ห่างไกล

Anna May Wong ถึงเธอจะคือ Superstar นักแสดงหญิงคนแรกของเอเชีย (สำหรับ Superstar นักแสดงชายคนแรกของเอเชีย คือ Sessue Hayakawa) ที่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ตะวันตก เงินทองไหลมาเทมา แต่ล้วนจากบทบาท Stereotype เล่นเป็นผู้ร้าย อาชญากร ชื่นชอบทรยศหักหลัง กระทำสิ่งผิดหลักศีลธรรมมากมาย! นี่ทำให้ชนชาวเอเชีย/จีนแท้ๆ ยินยอมรับไม่ค่อยได้ ถึงขนาดมีคำเรียกหยาบๆ ‘Banana’ ภายนอกแม้เปลือกสีเหลือง แต่ปอกออกมาข้างในกลับขาวโพน

แต่เราก็อย่ามอง Anna May Wong ในแง่มุมร้ายๆเพราะบทบาทการแสดงเพียงอย่างเดียวเลยนะ คือถ้าไม่มีเธอเป็นผู้เปิดประตูบานแรก ยินยอมก้มหัวคล้อยตามวิถีชาวตะวันตก โอกาสแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมในปัจจุบันอาจไม่เปิดกว้างได้ขนาดนี้


Ewald André Dupont (1891 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Zeitz, German Empire โตขึ้นเริ่มจากเป็นคอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ หันมาเขียนเรื่องสั้น บทหนัง กำกับภาพยนตร์ Variety (1925) ประสบความสำเร็จใช้ได้ มุ่งสู่สหรัฐอเมริกาเซ็นสัญญากับ Universal แต่เหมือนจะปรับตัวไม่ได้เลยย้ายกลับยุโรป ข้ามมาประเทศอังกฤษ สร้างสามผลงานได้รับจดจำสูงสุดคือ Moulin Rouge (1928), Piccadilly (1929) และหนังพูด Atlantic (1929)

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Moulin Rouge (1928) ซึ่งถือเป็นผลงาน Show-Off ของ Dupont จัดเต็มด้านโปรดักชั่นอลังการ เสื้อผ้าหน้าผมระยิบระยับ ตื่นตระการตา (สะท้อนเข้ากับยุคสมัย Prohibition แบบ The Great Gatsby ได้อย่างลงตัว) สตูดิโอ British National Pictures เลยเรียกร้องให้ภาพยนตร์เรื่องถัดไปมีลักษณะคล้ายคลึงติดตามมา

พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Enoch Arnold Bennett (1867 – 1931) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีผลงานทั้งนวนิยาย บทละครเวที บทโอเปร่า และภาพยนตร์

Piccadilly Circus คือชื่อร้านอาหารและไนท์คลับ เจ้าของกิจการคือ Valentine Wilmot (รับบทโดย Jameson Thomas) แม้ลูกค้าแน่นขนัดร้าน แต่เขากลับไม่ค่อยพึงพอใจชุดการแสดงเต้นของ Mabel Greenfield (รับบทโดย Gilda Gray) วันหนึ่งพานพบเห็นพนักงานล้างจานชาวจีน Shosho (รับบทโดย Anna May Wong) มีความลึกลับ ดึงดูด น่าลุ่มหลงใหล เลยยินยอมให้โอกาสเธอขึ้นเวที ปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีล้นหลามอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง

โดยไม่รู้ตัว Valentine Wilmot ค่อยๆเคลิบเคลิ้มตกหลุมรัก Shosho ที่พยายามใช้มารยาเสน่ห์ อ่อยเหยื่อสุดแรงเกิด เพื่อให้ตนเองได้ไต่เต้า ประสบความสำเร็จ สุขสบายสมหวัง จนสร้างความไม่พึงพอใจจากอดีตคนรัก Mabel Greenfield ถึงขนาดลักขโมยปืนเพื่อที่จะ…


Anna May Wong ชื่อจริง Wong Liu Tsong (1905 – 1961) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ทายาทรุ่นที่สองจากบรรพบุรุษเชื้อสายจีน เกิดยัง Los Angeles มีพี่น้องเจ็ดคน แถวบ้านไม่มีชาวจีนอยู่สักคน ทำให้ค่อยๆซึมซับรับอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาในชีวิต แต่ทุกวันเสาร์ก็ถูกส่งไปร่ำเรียนภาษาจีนเพื่อไม่ให้หลงลืมรากเหง้า,

เมื่อวงการภาพยนตร์เริ่มต้นเข้ามาปักหลักตั้งถิ่นฐานใน Los Angeles สร้างความลุ่มหลงใหลให้กับ Wong โดดเรียนเข้าโรงหนังจนสร้างความไม่พึงพอใจกับครอบครัว แต่เจ้าตัวมุ่งมั่นต้องการเข้าสู่วงการแสดง เริ่มตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไปอ้อนวอนร้องของผู้สร้าง จนได้ชื่อ C.C.C. (Curious Chinese Child) กระทั่งอายุ 11 ถึงได้ชื่อ Anna May Wong, รับบทนำครั้งแรก The Toll of the Sea (1922), โด่งดังกับบทสมทบ The Thief of Bagdad (1924), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Piccadilly (1929), Daughter of the Dragon (1931), Shanghai Express (1932) ฯ

รับบท Shosho พนักงานล้างจานชาวจีน มีลีลาในการโยกเต้นได้อย่างยั่วเย้าย้วน กลายเป็นที่สนใจต่อเจ้าของไนท์คลับ Valentine Wilmot ต่อรองร้องขอเพื่อให้สิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งเมื่อขึ้นเวทีแสดงความสามารถ สร้างความแปลกใหม่ตื่นตระการตาให้ผู้ชม แต่เธอยังไม่ยอมเพียงพอเท่านั้น เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ยังมีอีกหนึ่งที่ต้องลักขโมยมาให้จงได้

ความ Stereotype ของตัวละครนี้, Shosho เป็นสาวชนชั้นต่ำในสังคม พยายามตะเกียกตะกาย ไต่เต้าสู่ความสำเร็จ โดยไม่สนความถูกผิดศีลธรรม และยังพยายามแก่งแยกฉกชิงชายผิวขาวสุดหล่อ ให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ

ท่าเต้นของ Wong เป็นส่วนผสมที่คงไม่มีใครบอกได้ว่าอะไร แต่ลีลาอันยั่วเย้ายวน เรียนแขนยาวและผอมเพียว แลดูคล้ายอสรพิษพร้อมฉกกัด ซึ่งสิ่งน่าลึกลับสุดคงคือชฎา สวมลงบนศีรษะเพื่อให้สามารถครอบงำจิตใจทุกผู้ชม

แซว: ทรงผมบ๊อบ นำเทรนด์ Flapper และยังเป็น Sex Symbol เอาจริงๆเธอมาก่อน Louis Brooks เสียอีกนะ! แต่เพราะใบหน้าหมวยจีน เลยถูกมองข้ามไม่ค่อยมีใครพาดพิงถึงสักเท่าไหร่

ในบรรดาผลงานการแสดงทั้งหมดของ Wong เรื่องนี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของเธอ เพราะดูแล้วสะท้อนตัวตน รสนิยม และเหมือนเปะกับชีวิตจริงที่พยายามตะเกียกตะกาย ทำทุกสิ่งอย่างให้ประสบความสำเร็จดั่งใจหมาย … นี่คืออุดมคติของ American Dream แต่เพราะภาพลักษณ์หน้าตาหมวยจีน กลับไม่มีใครมองเห็นว่าเธอคืออเมริกัน!

Jameson Thomas ชื่อเดิม Thomas Roland Jameson (1888 – 1939) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St George Hanover Square, London โตขึ้นมุ่งสู่ละคร ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Chu-Chin-Chow (1923), โด่งดังกับ Piccadilly (1929) จนมีโอกาสมุ่งสู่ Hollywood, รับบทสมทบ It Happened One Night (1934) ฯ

รับบท Valentine Wilmot เจ้าของร้านอาหารและไนท์คลับ Piccadilly Circus มักมีใบหน้าขมึงตึงเครียด สนแค่เพียงชื่อเสียงความสำเร็จของตนเองเท่านั้น ครั้นพบเห็นลูกค้ารายหนึ่งสร้างความวุ่นวาย (รับเชิญโดย Charles Laughton) ครุ่นคิดว่าการแสดงของ Mabel Greenfield คงขาดเสน่ห์น่าสนใจ และเมื่อได้พานพบเห็นลีลาท่าเต้น Shosho เกิดความหมกมุ่นลุ่มหลงใหล ต้องการทำอะไรสักอย่างกับความรู้สึกนี้

หนวดอันทรงเสน่ห์ ใบหน้าหล่อเข้ม คือภาพลักษณ์ Martinee Idol ของ Thomas ชักชวนให้สาวๆลุ่มหลงตกหลุมรัก วางมาดตัวละครอย่างผู้ดี เย่อหยิ่งด้วยเกียรติศักดิ์ศรี ชื่อเสียงความสำเร็จ การได้พานพบเห็นสาวชาวจีน เก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิดถึง แต่ยังต้องแอบซ่อนเร้นความต้องการแท้จริงไว้ภายใน มิอาจเร่งรีบร้อนเปิดเผยออกมาได้จนกว่าจะถึงเวลาเหมาะสม

เอาจริงๆผมว่าตัวละคร Valentine Wilmot มีลักษณะ Stereotype ยิ่งกว่า Anna May Wong เสียอีกนะ! ชายผู้โหยหาความสำเร็จ ตกหลุมรักการแสดงของหญิงสาว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกายเธอด้วย ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป หมดความเยื่อใยหลงใหล สุดท้ายก็มักทอดทิ้งขว้างจากลา (แบบเดียวกับตัวละคร Mabel Greenfield ไม่ผิดเพี้ยน)


Gilda Gray ชื่อจริง Marianna Michalska (1901 – 1959) นักเต้น/นักแสดงหญิง เกิดที่ Kraków ขณะนั้นคือ Austria-Hungary วัยเด็กถูกพ่อแม่ทอดทิ้งขว้าง เลยถูกส่งไปครอบครัวบุญธรรมยังสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตเติบโตอยู่ที่ Milwaukee พออายุ 14-15 คลุมถุงแต่งงานกับนักไวโอลิน John Gorecki แม้ไม่นานก็อย่าร้าง แต่ทำให้เธอเกิดความสนใจในบทเพลง การเต้นรำ โด่งดังกับท่า The Shimmy ต่อมาเซ็นสัญญากับ Famous Players-Lasky แจ้งเกิดโด่งดัง Aloma of the South Seas (1926) ติดตามมาด้วย Cabaret (1927), The Devil Dancer (1927), Piccadilly (1929) ฯ

รับบท Mabel Greenfield นักเต้นสาว ลีลาความสามารถพอใช้ได้ แต่เพราะไม่มีอะไรใหม่ ใครๆจึงเกิดความเบื่อหน่าย ถึงพยายามครุ่นคิดทดลองหา แต่มิอาจเทียบความแปลกพิศดารของ Shosho พบเห็นถึงขนาดเป็นลมล้มพับ ค่อยๆแปรสภาพสู่ความอิจฉาริษยา ลักลอบขโมยปืนของ Valentine Wilmot เพื่อที่จะ…

ผมไม่รู้สึกว่า Gilda Gray เป็นผู้หญิงที่สวย ทรงเสน่ห์ เซ็กซี่นั้นอาจใช่ แต่ก็หาความโดดเด่น เอกลักษณ์ เร้าใจ เมื่อเทียบกับ Anna May Wong เรียกว่านางอิจฉาก็ยังได้ เมื่อมิอาจตอบโต้ต่อกร ก็จำต้องใช้ไม้ตาย แต่ที่ไหนได้ … ล้มปากอ่าว!


ถ่ายภาพโดย Werner Brandes สัญชาติ German ที่อพยพย้ายมาทำงานยังประเทศอังกฤษต่อด้วยสหรัฐอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ Moulin Rouge (1928), Piccadilly (1929), The Informer (1929) ฯ

หนังสร้างฉากขึ้นอย่างเลิศหรูหรา อลังการใหญ่โต ยังสตูโอ British International Pictures ตั้งอยู่ Borehamwood, ประเทศอังกฤษ แต่ไม่ใช่แค่ภายในร้าน Piccadilly Circus รวมถึงตรอกซอกซอย ถนนหนทาง รถรา รถโดยสารสามารถขับผ่าน พาคนขึ้นลง ดูแล้วตัวประกอบคงไม่น้อยกว่าหลักพัน

ฟีล์มบางฉบับจะมีการย้อมสี เพื่อเป็นการแบ่งแยกบางสิ่งอย่าง
– สีเหลือง/น้ำตาลอ่อน ฉากภายนอกตอนกลางวัน มอบสัมผัสอันอบอุ่นผ่อนคลาย
– สีน้ำเงิน ฉากภายนอกหรือตอนกลางคืน มอบสัมผัสหนาวเหน็บเย็นยะเยือก
– ฉากการเต้นของ Shosho เลือกใช้สีม่วง มอบสัมผัสอันพิศวง ชวนเพ้อฝัน (ถ้าสมัยนี้คือสีของ LGBT)
– และอีกครั้งหนึ่งขาว-ดำ (ไม่ได้ย้อมอะไร) เพื่อนำเสนอเรื่องเล่าย้อนอดีต เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับ Shosho

เพราะทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ จึงพบเห็นการขยับเคลื่อนกล้องอย่างมีชีวิตชีวา บางครั้งเคลื่อนติดตามตัวละคร หมุนวนโดยรอบ หรือแม้แต่ Whip-pan (เคลื่อนอย่างเร็วโดยมองไม่ทัน พบเห็นเพียงต้นทาง-ปลายทางเท่านั้น) ช่วยเพิ่มความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ แปลกหูแปลกตา ทำให้ฉากการเต้นนั้นดูมีสีสันขึ้นเป็นกองๆ

Opening Credit เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆ รถโดยสารแล่นมาหยุดตรงกึ่งกลางภาพ พบเห็นข้อความ ชื่อหนัง เครดิตนักแสดง ผู้สร้าง ติดอยู่ด้านข้างรถ และหลายวินาทีถัดมาก็ขยับเคลื่อนสู่คันต่อไป … นัยยะถึง ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง Opening Credit ก็เฉกเช่นกัน!

ผมแอบสงสัยเล็กๆว่า ผู้สร้างต้องการระบายโทนสีแดงในฉากนี้หรือเปล่า เพื่อมอบสัมผัสถึงภยันตราย ความชั่วร้าย แต่กาลเวลาทำให้ฟีล์มเสื่อมสภาพ ผลลัพท์ปัจจุบันเลยออกม่วงจืดๆ แต่ก็สื่อถึงความลึกลับพิศวง ชวนให้ลุ่มหลงใหล เพ้อใฝ่ฝัน โดยเฉพาะท่วงท่าทางอันสุดเซ็กซี่นั้น ไม่ใช่แค่ชายหญิงแต่ยังเก้งก้าง สามารถเพ้อคลั่งจินตนาการแสนไกล

จะว่าไปหนังมีกลิ่นอายนัวร์อยู่เล็กๆ โทนสีต่างๆเทียบแทนอารมณ์เรื่องราว เงามืดยามค่ำคืนสัมผัสได้ถึงภยันตรายคืบคลานเข้ามา โดยเฉพาะห้องพักของ Shosho พบเห็นเงาบานเกล็ดบนผนัง มีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า อะไรที่คุมขังเธออยู่ภายใน)

ขณะที่ Mabel Greenfield ลักลอบแอบติดตามแฟนหนุ่ม พบเห็นเพียงเงาลางๆท่ามกลางความมืดมิด, ฉากในอพาร์ทเม้นท์ของ Shosho ยืนตรงกระจกที่มีลวดลายเหมือนภูเขา ใบหน้าของเธออยู่ตำแหน่งยอดสูงสุด! … เรียกได้ว่าสาวชาวจีนผู้นี้ ได้ไต่เต้ามาถึงจุดสูงสุดแห่งชีวิตแล้วละ (ต่อจากนี้ก็จะเริ่มกลิ้งตกเขา)

อดไม่ได้ที่จะนำความยียวนกวนบาทาของผู้กำกับ ใส่เข้ามาในช็อตรองสุดท้ายของหนังกับป้าย “Life Goes On” จริงๆถ้าจะให้เก๋ากว่านี้ ใช้ภาพนี้แทน The End ไปเลยเสียยังดีกว่า!

ตัดต่อโดย J.W. McConaughty, ดำเนินเรื่องในมุมมองสายตาเจ้าของร้าน Valentine Wilmot นำเสนอสิ่งที่เขาพานพบเห็นกับตัวเท่านั้น ซึ่งช่วงท้ายมีการกระโดดข้ามไปที่ศาล ข้อเท็จจริงต่างๆได้รับการเปิดเผยจากเรื่องเล่าคนอื่น และภาพย้อนอดีตข้อเท็จจริงที่บังเกิดขึ้น!

ผมรู้สึกว่าหนังห้วนไปมากๆ พบเห็นฉากการเต้นเพียง 2 ครั้งใหญ่ๆ (ของ Gilda Gray และ Anna May Wong) ซึ่งยังไม่รู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่่ และความสัมพันธ์ระหว่าง Valentine Wilmot กับ Shosho ยังไม่ทันถึงจุดให้ฟิน จิกกัดหมอน ไคลน์แม็กซ์ก็รีบร้อนมาถึงเสียแล้ว

Sequence ฉากในศาลถือว่าอัปยศมากๆ ไม่ใช่แค่ขัดจังหวะการดำเนินเรื่องที่ผิดรูปแบบแผน แต่ยังชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตัดสินการกระทำของ Shosho สมควรหรือไม่จะได้รับสนองกรรมเช่นนี้ ซึ่งบทสรุปแห่งความอิจฉาริษยา เดี๋ยวคนชั่วมันก็เข่นฆ่ากันเองนะแหละ ไม่ต้องไปแปดเปื้อนเลือดด้วยน้ำมือตนเอง!

แถมท้ายกับ Title Card ซึ่งจะขึ้นแต่บทสนทนาระหว่างตัวละคร ออกแบบมามีลักษณะคล้าย Cubism ดูเลิศหรูหราไฮโซเหมือนเพชรเจียระไน สะท้อนเข้ากับความฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือยของหนังได้เป็นอย่างดี

Piccadilly ภาษาละตินแปลว่า Circle, วงกลม ซึ่งใช้เป็นชื่อถนนและวงเวียนหนึ่งใน West End, London บริเวณที่ถือว่ามีความพลุกพล่านที่สุดของประเทศอังกฤษ (นอกจากสนามฟุตบอล เวลามีการแข่งขันนัดสำคัญๆ)

สำหรับ Piccadilly Circus จริงๆแล้วก็คือชื่อวงเวียน ซึ่งแถวนั้นก็จะมีร้านอาหาร, ช็อปปิ้งมอลล์, โรงละคร, Music Hall, รถไฟใต้ดินก็มี ก็ไม่รู้สามารถเปรียบเทียบ สยามสแควร์ ได้เลยหรือเปล่า

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ Piccadilly ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อร้านซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ Moulin Rouge ของฝรั่งเศส สถานที่ดื่มกิน รับชมการแสดง พบปะผู้คน จุดเริ่มต้นแจ้งเกิดของผู้มีความใฝ่ฝันต้องการเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง

เรื่องราวของ Piccadilly นำเสนอหญิงสาวผู้มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน และมีความสามารถที่โดดเด่นเฉพาะตัว ต้องการสร้างชื่อเสียง ไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จ … ประเด็นคือถ้าเธอเป็นคนขาวชาวตะวันตก คงได้รับการยกย่องส่งเสริมสนับสนุน แถมยังลุ้นให้ฉกแย่งชิงครองรักพระเอกสำเร็จ แต่เมื่อผิวสีเหลืองใบหน้าหมวยเชื้อชาติจีน ทำให้ถูกตีตราหน้าว่าเป็นคนอันตราย ดั่งอสรพิษร้าย สามารถแว้งฉกกัด ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรมดีงามใดๆ

ยุคสมัยนั้นในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่เรียกว่า Anti-Miscegenation ห้ามแต่งงาน สมสู่ กับบุคคลต่างเชื้อชาติ สีผิว … ไม่แน่ใจว่าประเทศอังกฤษมีไหม (ผมหาข้อมูลไม่พบ เลยเข้าใจว่าอาจไม่มี) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าสะท้อนแนวคิดดังกล่าวออกมาตรงๆ เมื่อ Shosho เสพสมกับ Valentine Wilmot เธอจึงได้รับผลกรรมตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยพลัน

ผู้กำกับ Ewald André Dupont เป็นชาวเยอรมัน แม้ไม่มีรายละเอียดว่าสนับสนุนนาซีหรือเปล่า แต่เขาก็ออกตะลอนไปเรื่อยๆไม่หวนกลับประเทศบ้านเกิดอีก แต่ถึงอย่างนั้นประเด็นการเหยียดเชื้อชาติพันธุ์ ชัดเจนเลยว่าแฝงซ่อนลึกอยู่ในจิตวิญญาณ คล้อยตามความคิดเห็นของคนหมู่มาก ชาวเอเชียคือผู้ร้าย โหดโฉดชั่ว ตัวอันตราย

ขอพูดถึง Anna May Wong อีกสักนิด เธอรับรู้ตัวดีว่าทุกบทบาทได้รับ ล้วนคือมุมมองชาติตะวันตกต่อชาวเอเชีย ถูกตีตราหน้าว่าต้องเป็นผู้ชั่วร้าย แต่จะให้ทำยังไงได้!

ชาวเอเชียที่อพยพสู่ยุโรป/สหรัฐอเมริกา แม้ได้แต่งงานครองคู่คนผิวขาว บุตรหลานก็มักมีลักษณะลูกครึ่ง มองโกลอยด์ก็ไม่ใช่ คอเคซอยด์ก็ไม่เชิง ภาพลักษณ์ไม่ได้รับการยอมรับจากคนท้องถิ่น หรือหากจะหวนกลับสู่รากเหง้าก็ไม่มีใครล่วงรู้จัก

Wong เคยออกเดินทางไปแสวงโชค หางานทำยังประเทศจีนอยู่ปีหนึ่ง แต่ก็ซมซานกลับมา ให้สัมภาษณ์บอกว่า

“… for a year, I shall study the land of my fathers. Perhaps upon my arrival, I shall feel like an outsider. Perhaps instead, I shall find my past life assuming a dreamlike quality of unreality”.

– Anna May Wong

นี่คือปัญหาของบรรดาผู้อพยพ ที่พอให้กำเนิดบุตรหลานรุ่นสอง-สาม-สี่ ก่อเกิดสภาวะสุญญากาศในการปรับตัวใช้ชีวิต เพราะความแตกต่างด้านภาพลักษณ์ เชื้อชาติพันธุ์ ทำให้มนุษย์สร้างอคติขึ้นมาในใจโดยไม่รู้ตัว นั่นเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ที่เคยปลูกฝังแนวคิด Yellow Peril/Yellow Terror และยังความเย่อหยิ่งทะนง หลงตนเอง ไม่รู้จักความเพียงพอดี เสมอภาคเท่าเทียม โหยหาความสำเร็จ แต่ก็ครุ่นคิดถึงแค่ตนเอง สุดท้ายก็ … ปล่อยพวกเขาไปดีกว่า “Life Goes On”


ถึงการแสดงของ Anne May Wong จะมีความน่าลุ่มหลงใหล โปรดักชั่นอลังการงานสร้าง ไดเรคชั่นนำเข้าสู่เรื่องราวถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่กาลเวลาทำให้ชาวเอเชียอย่างเราๆเมื่อมองย้อนกลับไป พบเห็นความอัปลักษณ์ชั่วร้ายของหนังเกินกว่าจะยินยอมรับได้

แต่ก็แนะนำให้รับชมไว้เพื่อเป็นบทเรียน การศึกษา ทำความเข้าใจมุมมองชาติตะวันตกต่อชนชาวเอเชีย จักได้สำเนียกตัวเสียบ้างว่า อย่ามัวไปเทิดทูนฝรั่งมังค่าจนหน้ามืดตามัว ปัจจุบันก็ยังไม่ได้แตกต่างจากอดีตสักเท่าไหร่หรอกนะ มิเช่นนั้นสงครามการค้ามันจะปะทุขึ้นได้อย่างไร!

จัดเรต 15+ กับความเหยียดหยาม ‘Racism’ การเต้นสะบัดช่อ และอาชญากรรม

คำโปรย | Piccadilly สะท้อนความอัปลักษณ์ของชาวตะวันตก ด้วยการนำเสนอภาพอสรพิษที่กลายเป็นตำนานของ Anne May Wong
คุณภาพ | พอใช้
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Die weiße Hölle vom Piz Palü (1929)


The White Hell of Pitz Palu

Die weiße Hölle vom Piz Palü (1929) German : Arnold Fanck, G. W. Pabst ♥♥♥♡

สาธารณรัฐไวมาร์ช่วงทศวรรษ 20s – 30s มีภาพยนตร์แนวหนึ่งที่ได้รับความสนใจพอๆกับ German Expressionism ในลักษณะตรงกันข้าม ชื่อเรียกว่า Mountain Film เพราะถ่ายทำยังสถานที่จริง นักแสดงเสี่ยงตาย ปีนป่ายขึ้นเทือกเขาสูง ซึ่งเรื่องโด่งดังประสบความสำเร็จสูงสุดคือ The White Hell of Pitz Palu ขนาดว่าผู้กำกับ Quentin Tarantino สอดแทรกเข้ามาใน Inglorious Basterds (2009)

ทีแรกผมตั้งใจจะรับชม Fight for the Matterhorn (1928) ที่หอภาพยนตร์นำมาฉายในเทศกาลหนังเงียบประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ แต่เมื่อไม่มีเวลาเดินทางไปและหาดูออนไลน์ไม่ได้ เลยจำต้องมองเรื่องอื่นทดแทน ค้นข้อมูลจนพบเจอ The White Hell of Pitz Palu (1929) ซึ่งหนึ่งในผู้สร้างเรื่องนั้น Arnold Fanck ก็คือผู้กำกับเรื่องนี้! แถมตลอดทั้งชีวิตพี่แก ทำแต่ภาพยนตร์เกี่ยวกับ Mountain Film ทั้งหมดทั้งสิ้น!

จะบอกว่าคุณภาพของ The White Hell of Pitz Palu ถือว่าไม่ธรรมดาเลยละ! นอกจากงานภาพสวยๆของภูเขา Piz Palü, ยังโดดเด่นเทคนิคตัดต่อ Montage, การแสดงของว่าที่ผู้กำกับดัง Leni Riefenstahl และไดเรคชั่นผสมกันระหว่าง Arnold Fanck และ G. W. Pabst คลุกเคล้าได้อย่างกลมกล่อมลงตัว


Arnold Fanck (1889 – 1974) นักปีนเขา ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์แนว Mountain Film สัญชาติ German เกิดที่ Frankenthal, ขณะนั้นคือ Kingdom of Bavaria ภายใต้ German Empire บิดาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำตาล ฐานะค่อนข้างดี ตั้งแต่เด็กเลยมีโอกาสเล่นสกี ชื่นชอบหลงใหล้เป็นอย่างมาก โตขึ้นเข้าเรียนจนจบปริญญาเอก คณะธรณีวิทยา Friedrich Wilhelm University ซึ่งก็ใช้เวลาว่างปีนเขา บันทึกภาพเคลื่อนไหว ต่อมาเลยตัดสินใจรวบรวมสมัครพรรคเพื่อน ก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์ ผลงานสารคดีเรื่องแรก Das Wunder des Schneeschuhs (1920) ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม, ทดลองสร้าง Fiction Film เรื่อง Mountain of Destiny (1924) ทำให้มีโอกาสพบเจอ Leni Riefenstahl กลายเป็นนักแสดงขาประจำ (คนรักไหมไม่แน่ใจเหมือนกัน)

ถึงจะมีประสบการณ์ปีนเขา ถ่ายทำสารคดี แต่การนำเสนอเนื้อเรื่องราวให้กับภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่ Fanck ยังไร้ประสบการณ์ ทดลองสร้างหลายๆผลงานถัดมา The Holy Mountain (1926), The Great Leap (1927) ฯ เห็นว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง ด้วยเหตุนี้ The White Hell of Pitz Palu (1929) เลยขอความช่วยเหลือ Georg Wilhelm Pabst ดูแลในส่วนถ่ายทำฉากภายใน และไดเรคชั่นกำกับนักแสดง

เกร็ด: ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ Arnold Fanck ได้รับมอบหมายจาก International Olympic Committee ให้กำกับสารคดีโอลิมปิคฤดูหนาว The White Stadium (1928) จัดขึ้นที่ St. Moritz, Switzerland เมื่อปี 1928 ซึ่งถือเป็นการบันทึกภาพแข่งขันโอลิมปิคครั้งแรกในประวัติศาสตร์จริงๆ แต่ถูกกลบด้วยความสำเร็จล้นหลามของ Olympia (1938) กำกับโดย Leni Riefenstahl

Georg Wilhelm Pabst (1885 – 1967) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian เกิดที่ Bohemia, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) พ่อเป็นพนักงานรถไฟเลยวาดฝันโตขึ้นอยากเป็นวิศวกร แต่เลือกเข้าเรียนการแสดงยัง Vienna Academy of Decorative Arts จบออกมาทัวร์ยุโรปและอเมริกา ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัครเป็นทหารแต่ไม่ทันไรถูกจับเป็นนักโทษเชลยสงครามที่เมือง Brest (French Prison Camp) กลายเป็นผู้จัดการแสดง Theatre Group ของค่ายกักกันนั้น, หลังสิ้นสุดสงครามหวนคืนสู่ Vienna ได้งานผู้จัดการโรงละคร Neue Wiener Bühne เข้าตา Carl Froelich ชักชวนสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นผู้ช่วยและกำกับเองเรื่องแรก The Treasure (1923), โด่งดังกับ Joyless Street (1925) ทำให้ Greta Garbo กลายเป็นดาวดาราดวงใหม่ขึ้นมาทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929), Diary of a Lost Girl (1929), The White Hell of Pitz Palu (1929), Westfront 1918 (1930), Young Girls in Trouble Director (1939), The Comedians Director (1941) ฯ

สำหรับบทภาพยนตร์ Fanck ร่วมพัฒนากับ Ladislaus Vajda (1877 – 1933) นักเขียนสัญชาติ Hungarian ซึ่งคงเป็น Pabst แนะนำมาจากเคยร่วมงานหลายครั้ง อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929) ฯ

เรื่องราวของคู่รัก Maria Maioni (รับบทโดย Leni Riefenstahl) และแฟนหนุ่ม Hans Brandt (รับบทโดย Ernst Petersen) วางแผนฮันนีมูนด้วยการปีนขึ้นเขา Piz Palü ระหว่างพักแรมอยู่ในกระท่อมด้านล่าง พานพบเจอ Dr. Johannes Krafft (รับบทโดย Gustav Diessl) ผู้ซึ่งสูญเสียคู่หมั้นระหว่างหิมะถล่มเมื่อหลายปีก่อน ใบหน้าเศร้าๆดูน่าสงสารเห็นใจ Maria เลยเข้าไปพูดคุย ดูแลเอาใจใส่ ทำเอา Hans เกิดความอิจฉาริษยา วันถัดมาทั้งสามเลยตัดสินใจออกเดินทางร่วมกันสู่ขุมนรกสีขาวที่ไม่สามารถกลับออกมาได้ด้วยตนเอง

เกร็ด: ภูเขา Piz Palü มีทั้งหมดสามยอดบนเทือก Bernina ของทิวเขา Alps ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่าง Switzerland กับ Italy ระดับความสูงประมาณ 3,900 เมตร

Helene Bertha Amalie ‘Leni’ Riefenstahl (1902 – 2003) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire บิดาเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องทำความร้อน/ปรับอากาศ ต้องการให้ลูกๆดำเนินรอยตาม แต่ด้วยความชื่นชอบหลงใหลงานศิลปะตั้งแต่เด็ก แต่งบทกวีตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ทั้งยังเป็นนักกีฬา กรีฑา ว่ายน้ำ ยิมนาสติก โตขึ้นตัดสินใจเป็นนักเต้นในสไตล์ของตนเอง ออกท่องยุโรปร่วมกับ Max Reinhardt แต่เพราะความหักโหมมากเกินไปเลยได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง วันหนึ่งระหว่างรอคิวหาหมอ พบเห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Mountain of Destiny (1924) เกิดแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์ ใช้เส้นสายจนเข้าถึงผู้กำกับ Arnold Fanck พูดคุย ร่วมงาน กลายเป็นขาประจำตั้งแต่ The Holy Mountain (1926) ร่ำเรียนเทคนิคการแสดง ตัดต่อ กระทั่งตัดสินใจกำกับเองเรื่องแรก Das Blaue Licht (1932) ไปเข้าตาท่านผู้นำ Adolf Hitler จนมีโอกาสสร้างสองสารคดีที่เป็นตำนานก้องโลก Triumph des Willens (1935) และ Olympia (1938)

รับบท Maria Maioni นักปีนเขาสาวเต็มไปด้วยความขี้เล่น ซุกซน และจิตใจอ่อนไหวเมื่อพบเห็นชายแปลกหน้าทำสายตาบึ้งตึงใส่ ต้องการเรียนรู้เข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ แม้นั่นจะทำให้ตนเองต้องเสี่ยงชีวิต สูญเสียคนรัก ไม่รู้จะมีโอกาสหวนกลับสู่ผืนดินได้สำเร็จหรือเปล่า

ว่าไปผมก็เพิ่งเคยพบเห็นการแสดงของ Riefenstahl ก็ครานี้ ใบหน้าเธอแลดูคล้ายๆ Barbra Streisand ลับเหลี่ยมคมที่งามเหมือนรูปปั้นเทพเทพี แม้รูปร่างมิได้เซ็กซี่ แต่กำยำบึกบึน หนักแน่นมั่นคงในการครุ่นคิดตัดสินใจ ละเอียดอ่อนไหว แต่ก็ออกทอมบอยนิดๆ ทุกสิ่งอย่างที่ผู้ชายทำได้ ไฉนฉันถึงจะทำไม่ได้!

เรื่องการแสดงก็อีกนะแหละ ค่อนข้างคล้ายคลึง Streisand คือมีความมั่นใจในตัวเองสูงลิบลิ่ว ถ้าบทส่งก็เจิดจรัสจร้า เรื่องนี้ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ แต่ก็สร้างความประทับใจ ใครๆหลายคนอาจตกหลุมรักแรกพบเลยก็เป็นได้


Gustav Diessl ชื่อเกิด Gustav Karl Balthasar (1899 – 1948) ศิลปิน/นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna ด้วยความหลงใหลในการแสดง โตขึ้นทำงานเป็นตัวประกอบ จับใบแดงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ถูกคุมขังในค่ายกักกันอยู่กว่าปี ผ่านพ้นมาฝึกงานเป็นช่างออกแบบละครเวที แต่ก็มุ่งมั่นสานฝันนักแสดงมืออาชีพเท่านั้น ได้ออกทัวร์ แสดงบทสมทบ กระทั่งเข้าตาผู้กำกับ G. W. Pabst ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Im Banne der Kralle (1921) กลายเป็นขาประจำ อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929), The White Hell of Pitz Palu (1929), Westfront 1918 (1930), The Testament of Dr. Mabuse (1932), Kolberg (1945), The Trial (1948) ฯ

รับบท Dr. Johannes Krafft เมื่อหลายปีก่อนสูญเสียแฟนสาวจากการตกหล่มเขา ไม่สามารถลงไปช่วยเหลือได้ทันก่อนหิมะถล่ม กลายเป็นตราบาปฝังลึกภายในจิตใจ เลยปฏิเสธหวนกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ต้องการพิชิตยอดเขา Piz Palü ด้วยตัวคนเดียวให้สำเร็จ แต่จนแล้วจนรอดนั่นเป็นสิ่งไม่มีวันเป็นไปได้ กระทั่งพานพบเจอกับสองคู่รัก Maria Maioni และ Hans Brandt ค่อยๆช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ของเขาโดยสิ้นเชิง

ขณะที่นักแสดงคนอื่นๆเป็นนักปีนเขาอาชีพ (Riefenstahl ก็ปีนเขามาจนชำนาญ!) Gustav Diessl เป็นเพียงนักแสดงธรรมดาๆ ขาประจำผู้กำกับ P. W. Pabst เพราะสามารถแสดงบทบาทดราม่าเข้มข้น ก็เลยติดต่อรับบท ซึ่งก็ต้องชมการถ่ายทอดอารมณ์ออกทางสีหน้า วิวัฒนาการตัวละครที่ค่อยๆเปลี่ยนไป(ในทิศทางดีขึ้น กระมัง?)

ประสบการณ์คือสิ่งหล่อหลอม Dr. Krafft ให้ไม่หวาดกลัวเกรงต่ออุบัติเหตุร้ายแรงบังเกิดขึ้น (แทบจะคนละคนกับตอนพักอยู่กระท่อมเชิงเขา) สามารถควบคุมสติ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งยังเสียสละตนเองเพื่อเพื่อนแปลกหน้าทั้งสอง ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งที่เขาอยากกระทำมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เพิ่งมามีโอกาสแสดงออกก็กาลครั้งนี้


ถ่ายภาพโดย
– Sepp Allgeier ชาว German ขาประจำผู้กำกับ Fanck ตั้งแต่ Mountain of Destiny (1924) แต่ผลงานได้รับการจดจำสูงสุดคือ Triumph des Willens (1935)
– Hans Schneeberger ชาว Austrian ขาประจำผู้กำกับ Fanck ตั้งแต่ Mountain of Destiny (1924)
– Richard Angst ชาว Swiss จากช่างภาพนิ่ง กลายมาเป็นอีกหนึ่งขาประจำของผู้กำกับ Fanck หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Fritz Lang เรื่อง The Indian Tomb (1959) และ The Tiger of Eschnapur (1959)

ตากล้องทั้งสามถือว่ามีประสบการณ์ถ่ายทำหนังแนวภูเขาสูงมากๆ คือสามารถแบกกล้องติดตัว มีความรวดเร็วฉับไวเมื่อต้องการบันทึกภาพหิมะถล่ม หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่าง ได้ฟุตเทจปริมาณมหาศาล ค่อยว่ากันอีกทีกระบวนการตัดต่อ

ซึ่งภาพน่าทึ่งที่ไม่ย่อหย่อนกว่าหิมะถล่ม คือ Time Lapse ก้อนเมฆค่อยๆเคลื่อนพานผ่านภูเขา, เงามืดทอดลงบนผืนหิมะ, หยาดหยดลงจากน้ำแข็งย้อย ฯ เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำครึ่งปีเต็ม มกราคม ถึง มิถุนายน 1929

ตัดต่อโดย Arnold Fanck และ Hermann Haller,

หนังเริ่มต้นอารัมบทที่เรื่องราวหลายปีก่อนของ Dr. Johannes Krafft จากนั้นกระโดดนข้ามมาปัจจุบันนำเสนอคู่รัก Maria Maioni และ Hans Brandt ระหว่างพักอาศัยอยู่กระท่อมเชิงเขา ตระเตรียมตัวที่จะออกเดินทาง และเมื่อประสบอุบัติเหตุสามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ตัดสลับกับคณะกู้ภัยที่พยายามติดตามค้นหา เป็นเวลาถึงสามวันสามคืน

สิ่งที่ต้องชื่นชมเลยคือการร้อยเรียงภาพอย่างมีสไตล์ รับอิทธิพลมาเต็มๆจาก Soviet Montage มักสลับไปมาระหว่างภาพธรรมชาติ หยดน้ำ หิมะถล่ม ฯ กับการแสดงออก/กระทำของมนุษย์ ซึ่งบางครั้งแลดูมีความคล้ายคลึง, แฝงนัยยะอย่างหนึ่ง, หรือเพื่อสะท้อนภยันตรายกำลังย่างกรายเข้าหา อาทิ
– น้ำหยด = มือกระดิก, นัยยะถึง การปล่อยให้เวลาค่อยๆเคลื่อนผ่านไป ครุ่นคิดแก้ปัญหายังไงก็ไม่ตกผลึกสักที
– ลักษณะของก้อนเมฆเคลื่อนผ่านเทือกเขา เงาปกคลุมหิมะ ไม่เพียงแสดงสภาพอากาศขณะนั้น แต่ยังสะท้อนถึงภายในจิตใจตัวละคร เต็มไปด้วยความผ่องใส มืดหมองมัวประการใด
– การปีนเขาของสามตัวละครหลัก = คณะสำรวจที่มากันหลักสิบ, ประสบเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเปะๆ และมักตัดสลับกันไปมาราวกับกำลังแข่งขันว่าใครจะไปถึงก่อน
– ภาพของ Dr. Johannes Krafft ยืนโบกธงท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ นั่นสะท้อนเวลาชีวิตของพวกเขาที่ใกล้หมดลงเรื่อยๆ
ฯลฯ

การลำดับภาพก็ถือว่าครอบคลุมแทบทุกมุมมอง โดยเฉพาะฉากเครื่องบินติดตามค้นหาผู้ประสบภัยทั้งสาม เริ่มต้นจากช็อตระยะไกล ภายในเฮลิคอปเตอร์ และเมื่อพบเจอก็ผ่านสายตาตัวละคร ซึ่งจะมีเพียงช็อตหนึ่งเดียวที่อยู่ร่วมกันในเฟรม (ปกติคือจะตัดสลับมุมมองไปมา แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ตัวละคร+เครื่องบินโฉบลงมา อยู่ร่วมเฟรมกัน)


ภูเขา มักคือสัญลักษณ์ของเป้าหมาย ปลายทาง ความสำเร็จ ที่มนุษย์ผู้ยังมากด้วยกิเลส ทะเยอทะยาน เต็มไปด้วยจินตนาการ เพ้อใฝ่ฝัน พยายามทำทุกสิ่งอย่าง ตะเกียกตะกาย ‘เข็นครกขึ้นเขา’ เพื่อไปให้ถึงยอดสูงสุด ไคลน์แม็กซ์ สรวงสวรรค์

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จในการปีนป่าย เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน เกินกว่าครึ่งค่อนนั้นมักยอมพ่ายแพ้กลางทาง หรือไม่ประสบอุบัติเหตุบางอย่าง ได้รับบาดเจ็บสาหัสกาย-ใจ สูญสิ้นชีวิตไปเลยก็มี

The White Hell of Pitz Palu นำเสนอเรื่องราวของชายผู้จมปลักอยู่กับความพ่ายแพ้ ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านปมอดีตแห่งการสูญเสีย เลยต้องการไต่เต้าไปให้ถึงยอดด้วยตัวคนเดียว แต่จนแล้วจนรอดนั่นเป็นสิ่งไม่มีวันทำสำเร็จ! การได้พบเจอคู่รักหนุ่ม-สาว คงทำให้เขาหวนระลึกนึกย้อนถึงตนเองในอดีต และเมื่อทุกสิ่งอย่างกลับมาบังเกิดขึ้นซ้ำรอย วิธีการเดียวเท่านั้นคือยินยอมเสียสละ มอบโอกาสที่ไม่มีวันได้รับให้กับพวกเขาที่ยังหลงเหลือเวลา สามารถปลดปล่อยวางภาระหนักอึ้งที่แบกมาแสนกาลนานนี้ลงเสียที

ลักษณะของภูเขาสูง หิมะปกคลุม สภาพอากาศหนาวเหน็บ จะว่าเหมือนก็เหมือน ไม่เหมือนก็ไม่เหมือน German Expressionism
– มองจากลักษณะภายนอก ถ่ายทำยังสถานที่จริง-ออกแบบสร้างฉากในสตูดิโอ ภายนอก-ภายใน แสงสว่างจากธรรมชาติ-หลอดไฟนิยมใช้เงามืดมิดปกคลุม … เหล่านี่ดูยังไงก็ไม่เหมือน
– แต่ภาพแวดล้อมพื้นหลัง สะท้อน/แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในตัวละคร นั่นคือลักษณะที่เป็นจิตวิญญาณของ German Expressionism … ดูยังไงก็เหมือน

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาด รับรู้ว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ต่างกับขุมนรก ยังแสวงโหยหา ดิ้นรน ตะเกียกตะกาย พยายามจะปีนป่ายไปให้ถึงยอด เพื่อตอบสนองประสบการณ์ ความเพ้อฝันจินตนาการ เติมเต็มชีวิตและจิตวิญญาณ สำเร็จเสร็จแล้วยังไงต่อ … โลกทัศน์ที่เปิดกว้างถึงจุดสูงสุด เมื่อหวนกลับลงมา จะทำให้มุมมอง อะไรๆ ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

แม้ว่าผู้กำกับ G. W. Pabst จะเข้ามาช่วยเหลือแทบจะครึ่งต่อครึ่ง แต่ผมมองเห็นภาพยนตร์เรื่องนี้คือจิตวิญญาณของ Arnold Fanck ส่วนหนึ่งคงนำจากประสบการณ์ส่วนตัว น่าจะเคยติดอยู่ท่ามกลางหิมะถล่ม เฝ้ารอคอยวันเวลาคณะช่วยเหลือมาถึง แม้จะทุกข์ทรมานดั่งขุมนรกสีขาว (White Hell) แต่ก็ไม่ทำให้เขาย่นย่อท้อแท้ โหยกระหายหวนกลับมาแก้มือครั้งต่อไป สักวันหนึ่งต้องสามารถทำสำเร็จสมหวังดั่งใจ


ไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แต่เดือนแรกเข้าฉายในเยอรมัน ประเมินว่ามีผู้ชมกว่า 100,000+ คน เฉพาะโรงภาพยนตร์ UFA Palast แห่งเดียวเท่านั้น!

การมาถึงของยุคสมัยหนังพูด ทำให้มีการนำออกฉายซ้ำ Re-Release ปี 1930 ด้วยการเพิ่มเพลงประกอบโดย Giuseppe Becce และเมื่อ Nazi ขึ้นมาเถลิงอำนาจปี 1933 ฉบับฉายโรงภาพยนตร์ ถูกตัดฉากในไนท์คลับออกไป (เพราะนักแสดงเป็นชาวยิว ถูกจับกุมตัว และเสียชีวิตที่ค่าย Auschwitz)

หนังได้รับการสร้างใหม่ The White Hell of Pitz Palu (1950) โดยผู้กำกับ Rolf Hansen แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร้ที่เสียงตอบรับจะยอดเยี่ยมเท่าเทียมกัน

ต้นฉบับเนกาทีฟของ Die weiße Hölle vom Piz Palü เห็นว่าได้สูญหาย/เสื่อมสภาพตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลงเหลือเพียงฉบับออกฉายซ้ำ Re-Release ที่ได้รับการค้นพบเมื่อปี 1996 ทำการบูรณะโดย German Federal Film Archive เสร็จสิ้นออกฉายปี 1997 แต่ก็ไม่ใช่คุณภาพ HD/4K นะครับ วางขาย Home Video คุณภาพดีสุดถึงปัจจุบัน 2019 คือ DVD เท่านั้นเอง

ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก ประทับใจในความบ้าระห่ำของทั้งผู้กำกับ ตากล้อง และนักแสดง ได้งานภาพสวยๆระดับนี้ ต้องเสี่ยงตายกันขนาดไหน! (โคตรจะอยากดูฉบับ HD/4K แบบคมชัดกริบ!) และไฮไลท์คือไดเรคชั่น Arnold Fanck และ G. W. Pabst เพิ่มความมหัศจรรย์โคตรตราตรึง

แนะนำคอหนังแอ๊คชั่น ผจญภัย ชื่นชอบการปีนป่ายเขา ภาพถ่ายหิมะสวยๆ หนาวเหน็บเย็นยะเยือก, นักตัดต่อ สังเกต ศึกษาไดเรคชั่น, แฟนๆผู้กำกับ Arnold Fanck, G. W. Pabst และ Leni Riefenstahl ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความอันตราย เสี่ยงตาย ของการปีนป่ายเทือกเขาสูง

คำโปรย | Die weiße Hölle vom Piz Palü ช่างคือขุมนรกที่หนาบเหน็บสั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ
คุณภาพ | บ้าระห่ำ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Street Angel (1928)


Street Angel

Street Angel (1928) hollywood : Frank Borzage ♥♥♥♡

สานต่อจากทีมผู้สร้างชุดเดียวกันกับ 7th Heaven (1927) สลับสับเปลี่ยนเรื่องราวจากพระเอก Charles Farrell ต้องออกเดินทางไปสนามรบ เป็นนางเอก Janet Gaynor ติดคุกหัวโตเพราะเคยลักเล็กขโมยน้อย! แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถพลัดพรากคู่ขวัญได้ชั่วนิรันดร์

7th Heaven แม้เป็นภาพยนตร์ที่มีความตรงไปตรงมาในเชิงสัญลักษณ์ แต่ส่วนตัวบอกเลยว่าชื่นชอบประทับใจ Street Angel มากกว่า! โดดเด่นในแง่ของโปรดักชั่นงานสร้าง (จริงๆก็พอๆกันแหละนะ) ถ่ายภาพ Long Take จัดวางตำแหน่งสูง-ต่ำ แฝงจริยธรรม และมุขตลกขบขัน ถือว่าผู้กำกับ Frank Borzage มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นพอสมควรทีเดียว [ใน IMDB ยังมีอีกเรื่อง Lucky Star (1929) คะแนนสูงกว่าทั้ง 7th Heaven และ Street Angel แต่ผมยังไม่ได้รับชมเลยขอติดไว้ก่อน]

ส่วนหนึ่งอาจเพราะ 7th Heaven เป็นเรื่องสร้างขึ้นก่อนหน้า เปิดประเดิมคู่ขวัญพระ-นาง Charles Farrell และ Janet Gaynor แถมคว้ารางวัล Oscar ถึงสามสาขา เลยได้รับการจดจำมากสุดในผลงานของ Borzage-Farrell-Gaynor


Frank Borzage (1894 – 1962) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Salt Lake, Utha มีพี่น้อง 14 คน โตขึ้นเข้าร่วมกลุ่มเป็นนักแสดงละครเร่ มาจนถึงปักหลักที่ Hollywood ไต่เต้าจากผู้ช่วย กลายเป็นผู้กำกับเรื่องแรก The Pitch o’ Chance (1915) สรรค์สร้างผลงานประสบความสำเร็จทำเงินมากมาย แต่เริ่มได้รับการจดจำหลังการมาถึงของ F. W. Murnau ยังสตูดิโอ Fox รับอิทธิพล ลอกเลียนแบบ (German Expressionism) แล้วสร้างสไตล์ใหม่ของตนเอง เริ่มต้นจาก 7th Heaven (1927), Street Angel (1928), Lucky Star (1929), Bad Girl (1931), No Greater Glory (1934) ฯ

Romanticism คือคำเรียกสไตล์/ความสนใจของผู้กำกับ Borzage มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวความรักหนุ่ม-สาว ท้าพิสูจน์หัวใจด้วยการต้องพานพบเจอสิ่งทุกข์ยากลำบาก หรือมีเหตุให้พลัดพรากแยกจากชั่วคราว แปรสภาพจากความคิดถึง กลายเป็นเชื่อมั่นศรัทธา สุดท้ายจักไม่มีอะไรสามารถกีดกั้นขวางพวกเขาได้อีก

สำหรับ Street Angel ดัดแปลงจากบทละครเวทีตลกสี่องก์ The Lady Cristilinda (1922) สร้างขึ้นโดย Monckton Hoffe (1880 – 1951) นักเขียนสัญชาติ Irish ที่ต่อมาเป็นผู้พัฒนาบทหนังดั้งเดิม The Lady Eve (1941) ได้เข้าชิง Oscar: Best Writing, Original Story

เรื่องย่อคร่าวๆ, Lady Cristilinda เป็นนักแสดงชื่อเสียงโด่งดัง ตกหลุมรักจิตรกรหนุ่มไร้ชื่อเสียงเรียงนาม ขอวาดภาพเธอแล้วนำไปขาย ตอนแรกได้เงินมาน้อยนิด แต่ภายหลังได้รับการค้นพบว่าระดับยอดฝีมือ ขณะที่หญิงสาวพลัดตกจากหลังม้า ขาพิการ ไม่สามารถขึ้นเวทีได้อีก (ทั้งสองถือว่ามีชีวิตสวนทางกัน)

เกร็ด: The Lady Cristilinda เป็นการแสดงที่เหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เพียง 24 รอบการแสดง ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม ค.ศ. 1922-23 ยัง Broadhurst Theatre, Broadway

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Philip Klein และ Henry Roberts Symonds, แม้หลายๆพล็อตหลักจะยังคงเดิม แต่เนื้อหาสาระมีการปรับเปลี่ยนแปลงไป ให้มีความสอดคล้องสไตล์/เป้าหมาย/ความสนใจผู้กำกับ Borzage

เรื่องราวของ Angela (รับบทโดย Janet Gaynor) สาวตัวเล็กต้องคอยเลี้ยงดูแลมารดาป่วยหนัก ทีแรกตั้งใจขายตัวดันไม่มีใครเอา เห็นเงินทอนวางอยู่แอบเข้าไปลักขโมยเงินโดนจับได้ ถูกตัดสินจำขังคุกหนึ่งปีเต็ม เลยพยายามดิ้นรนหลบหนีแต่ก็สายเกิน แม่เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว กระนั้นก็ยังได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากคณะละครเร่ ซ่อนตัวในกลองดุริยางค์รอดพ้นตำรวจสายตรง,

วันหนึ่งมีโอกาสพานพบเจอจิตรกรหนุ่ม Gino (รับบทโดย Charles Farrell) ทีแรกก็มิได้ใคร่สนใจ แต่เพราะเขาทำให้เธอตกกระไดขาหัก พลอยโจรเลยอาสารับผิดชอบ นำวาดภาพเหมือนที่ทุ่มเทตั้งใจไปขาย แม้ได้ราคาน้อยนิดแต่ชีวิตก็ยังมีสุขได้ กระทั่งเมื่อภาพดังกล่าวได้รับยกย่องระดับยอดฝีมือ เงินทองจึงไหลมาเทมา ขณะเดียวกันตำรวจสายตรวจก็ติดตามพบเจอ Angela ต่อรองร้องขอใช้เวลาชั่วโมงสุดท้ายอยู่เคียงข้างคนรัก เชื่อว่าคงไม่มีอะไรสามารถสั่นคลอนจิตใจของเขาได้อีก


Janet Gaynor ชื่อเดิม Laura Augusta Gainor (1906 – 1984) นักแสดงสาวสวยร่างเล็ก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Germantown, Philadelphia พ่อทำงานเป็นช่างทาสีในโรงละครใกล้บ้าน ซึ่งก็ทำให้เธอมีความสนใจด้านการแสดงนับจากนั้น หลังเรียนจบจาก Polytechnic High School เริ่มต้นแสดงละครเวที ได้เป็นตัวประกอบในหนังเงียบหลายเรื่อง จนกระทั้งเซ็นสัญญากับ Fox Studio เมื่อปี 1926 ประสบความสำเร็จโด่งดัง กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงทำเงินสูงสุดแห่งทศวรรษ ซึ่งปี 1927 คือปีทองของเธอโดยแท้ มี 3 ผลงานดังคือ 7th Heaven (1927), Sunrise: A Song of Two Humans (1927), Street Angel (1928) ทำให้คว้า Oscar: Best Actress เป็นคนแรก, หลายปีถัดมามีโอกาสเข้าชิงอีกครั้งจาก A Star is Born (1937)

รับบท Angela สาวน้อยร่างเล็กที่แม้มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แต่มักถูกสังคมกดขี่ข่มเหงให้ตกต่ำไร้ราคา ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด กระทำสิ่งผิดต่อกฎหมาย ถึงกระนั้นเธอพยายามยืนหยัดอยู่สูง โบยบินบนฟากฟ้าไกลให้เหนือกว่าผู้อื่นใด … การได้พานพบเจอ Gino ทำให้เธอตกลงมาขาหัก ไม่สามารถเป็นนักแสดงได้อีกต่อไป แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือ เอ็นดูทะนุถนอม ค่อยๆแปรสภาพเป็นรักใคร่ แค่ว่าโชคชะตายังไม่พร้อมใจ ต้องผ่านการพิสูจน์ความเชื่อมั่นก่อนเท่านั้น ถึงได้ครองคู่อยู่ร่วม

ผมพอจะเข้าใจสาเหตุที่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Gaynor หลังจากแต่งงานก็ร่ำลาจากวงการภาพยนตร์ไปเลย เพราะบทบาทที่ได้รับของเธอก็มีแต่แบบนี้! หญิงสาวผู้มีความน่ารักสดใสซื่อ อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อโลกภายนอก โชคชะตานำพาให้กระทำสิ่งเลวร้ายโดยไม่ตั้งใจ พยายามหลบลี้หนีเอาตัวรอด เมื่อได้คนรักคอยสนับสนุนนำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจึงสามารถยินยอมรับ พร้อมเผชิญหน้าความผิดพลาดนั้นได้ เพื่ออนาคตวันข้างหน้าจะได้สว่างสดใส

ใครที่รับชม Seventh Heaven ก่อนหน้า Street Angel น่าจะยังคงได้เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงใหลไปกับการแสดงของ Gaynor โคลนมาแทบไร้ความแตกต่าง แต่ผมจะชี้ข้อสังเกตที่รู้สึกว่าเรื่องนี้โดดเด่นกว่า นั่นคือชั่วโมงสุดท้ายกับชายคนรัก จิตใจที่เต็มไปด้วยความพะวง ลุกรี้ลุกรน หวาดสะพรึงกลัว ถ่ายทอดออกมาทางสีหน้า การขยับเคลื่อนไหว สมจริงระดับจับต้องได้ ศิโรราบลงแทบเท้า แล้วค่อยๆแก้มัดเชือกถ่วงเวลา มันช่างบีบเค้นคั้น ทรมานใจเสียจริง


Charles Farrell (1900 – 1990) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Walpole, Massachusetts, ครอบครัวเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ทำให้เกิดความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียนไม่จบ Boston University เลือกมุ่งสู่ Hollywood เริ่มจากเป็นตัวประกอบสตูดิโอ Paramount เพราะความหล่อเหลาไปเข้าตา Fox Studios จับเซ็นสัญญาระยะยาว ประกบคู่ Janet Gaynor โด่งดังแจ้งเกิดกับ 7th Heaven (1927) แสดงหนังร่วมกันอีก 11 เรื่อง จนได้รับฉายา ‘America’s Favorite Lovebirds’ และเห็นว่า Farrell เคยสู่ขอ Gaynor แต่งงานจริงๆด้วยแต่…

“I think we loved each other more than we were ‘in love'”.

รับบท Gino จิตรกรหนุ่มร่างกายสูงใหญ่ ตั้งแต่แรกพบเจอ Angela หลงใหลในความ ‘ตัวเล็กพริกขี้หนู’ กล้าเถียงคำไม่ตกฟ้ากับคนตัวโตกว่าเช่นเขา เลยตัดสินใจออกเดินทางติดตามไปด้วย ร่ำร้องขอให้มาเป็นนางแบบ วาดภาพเหมือนที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณตัวตน จนเริ่มเกิดความรักใคร่ชอบพอ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ให้ต้องพลัดพรากจาก มิอาจแบกรับความเจ็บปวดรวดร้าว ทอดทิ้งการงานเคยได้รับมอบหมายไว้ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยเทเมา เอาแต่โหยหา จนหมดสิ้นหวังอาลัย

แม้ความโดดเด่นด้านการแสดงจะเทียบไม่ได้กับ Gaynor เช่นเคย! แต่เรื่องนี้ถือว่าลดความ Macho ลงพอสมควร คือไม่ทึ่มทือ ซื่อบื้อ ใช้กำลังร่างกายแสดงออกมาเท่านั้น รับบทจิตรกรหนุ่มผู้เต็มไปด้วย Passion ทั้งความลุ่มหลงใหล เคลิบเคลิบใจ ก่อนตกต่ำกลายมาหมดสิ้นหวังอาลัย … กล่าวคือ ตัวละครของ Farrell ดูจับต้องขึ้นได้มากกว่า Seventh Heaven อย่างเยอะๆเลย

ผมค่อนข้างชอบช่วงขณะร้ายๆของ Farrell คือมันเข้ากับขนาดร่างกาย ภาพลักษณ์ภายนอกพี่แกมากกว่าทำตัวใสซื่อไร้เดียงสา ศิโรราบต่อหญิงสาว (เสียชาติชายหมดกัน!) ถึงอย่างนั้นนี่คือบทบาทขายได้ ฝืนตนเองเล่นไป เงินไหลมาเข้ากระเป๋าสบายใจเฉิบ (คือผลงานเรื่องอื่นๆที่ไม่ได้ประกบ Gaynor ล้มเหลวไม่เป็นชิ้นดี เพราะผู้ชมดันจดจำภาพลักษณ์นี้ไปเรียบร้อยแล้ว!)


ไดเรคชั่นการกำกับของ Borzage พยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดกับนักแสดง แม้กล้องเริ่มถ่ายทำแล้วก็จะยังพูดบิ้วอารมณ์ต่อไปเรื่อยๆ เห็นว่าบางฉากที่ซาบซึ้งหรือเศร้าเสียใจมากๆ ผู้กำกับก็จะร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆก่อนนักแสดงเสียอีก

“I like to penetrate the hearts and souls of my actors and let them live their characters. Make the audience sentimental instead of the player. Make the audience act”.

ถ่ายภาพโดย Ernest Palmer (Blood and Sand, Four Devils, Street Angel, Cavalcade) และ Paul Ivano (The Four Horsemen of the Apocalypse, Queen Kelly, They Live by Night)

การมาถึงของ F. W. Murnau ยัง Hollywood ได้นำเอา German Expressionism เข้ามาแนะนำเผยแพร่ กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Borzage คัทลอกเลียนแบบตาม เลือกสร้างฉากขนาดใหญ่โตภายในสตูดิโอ ต่อด้วยเครนที่สามารถขยับเคลื่อนไหวกล้อง ทิศทางมุมกล้องก้ม-เงย การจัดแสง และสถาปัตยกรรมพื้นหลัง เรียกว่าทุ่มงบไม่อั้นเพื่อสร้างโลกสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในตัวละครออกมา

บอกเลยว่าผมมีความประทับใจ Long Take ในฉากแรกๆ เพื่อจัดเก็บภาพโดยรอบของเมือง Naples, Italy พบเห็นผู้คนมากหน้าหลากหลาย แต่สังเกตให้ดีจะพบเห็นการแบ่ง ‘ชนชั้น’ ซึ่งแยกได้ตามความสูง บน-ล่าง และเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย

มุมกล้องช็อตนี้มีความน่าทึ่งอย่างยิ่ง ถ่ายก้มลงมาจากด้านหลังผู้พิพากษา กำลังจะตัดสินโทษของ Angela ทำให้เธอผู้ตัวกระเปี๊ยกอยู่แล้ว ขนาดเล็กลีบลงไปอีก และเมื่อเดินเข้ามาตรงแท่นประธาน พบเห็นเพียงเศษเสี้ยวครึ่งใบหน้า ช่างไร้คุณค่าความสำคัญใดๆ (ในสายตาคนชั้นสูงเหล่านี้!)

การใช้เงาแทนตัวประกอบ/นักโทษคุมขัง เป็นความเหนือชั้นอย่างหนึ่งของผู้กำกับ Borzage เพื่อสะท้อนความไม่สำคัญ ไร้ตัวตน เหมารวมความโฉดชั่วร้าย สร้างสัมผัสอันน่าหวาดหวั่นสะพรึงกลัวให้ผู้ชมได้อีก (คือถ้าเห็นภาพนักโทษตรงๆอาจไม่มีใครรู้สึก แต่พอหลงเหลือเพียงเงา ราวกับบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นภายในใจ)

ทำไมต้องกลองดุริยางค์? อันนี้ผมก็ยังขบคิดเหตุผลไม่ออก น่าจะแค่แก๊กของผู้กำกับที่ตอนเริ่มต้นเล่นมุกกลองพัง และขนาดร่างกายตัวกระเปี๊ยกของ Janet Gaynor สามารถหลบซ่อนตัว พ้นสายตาตำรวจได้สบาย … ฉากนี้มันก็ขบขันจริงๆนะแหละ คล้ายๆการ ‘ซ่อนช้างในป่า ซ่อนปลาในกระชัง’

ท่านั่งของ Angela กลับหัวกลับหาง สะท้อนชีวิตของเธอที่กลับตารปัตร ก็ไม่รู้ก่อนหน้านี้เคยทำอะไร ขณะนี้กลายเป็นนักแสดง เคยตกต่ำ ปัจจุบันปีนป่ายขึ้นอยู่สูง

เช่นกันกับเรื่องความรัก ได้รับการพยากรณ์ว่าจะพบเจอคู่ของตนเอง แรกยินก็ปฏิเสธเสียงขันแข็ง แต่ก็ค่อยๆอ่อนแรงกลับตารปัตรเคยครุ่นคิดไว้

ความสูง-ต่ำ ของตัวละคร ถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อตัวละครอย่างมาก ซึ่งช็อตนี้สะท้อนได้ถึงชื่อเสียง ความสำเร็จของ Angela กับการแสดงที่ทำให้เธอสามารถปีนป่ายขึ้นสูง พบเห็นทิวทัศน์อ่าวฝรั่งเศสกว้างไกล แต่เมื่อพลาดพลั้งพลัดตกลงมา แน่นอนว่าขาพลิกแพลง บาดเจ็บสาหัส อาการหนักทีเดียว

สำหรับ Gino เพราะยังไม่พานพบเจอประสบความสำเร็จใดๆ ตัวเขาจึงยังอยู่ต่ำต้อยติดพื้นดิน

เมื่อภาพวาดของ Gino ได้รับการค้นพบ ชื่นชมในฝีมือ จึงได้รับการติดต่อ มอบหมายงาน จ่ายเงินล่วงหน้ามากพอดู ชีวิตกำลังไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่ทั้งนั้นสิ่งแท้จริงต้องการของเขา วินาทีนี้คืออุ้มยก Angela ขึ้นยนบนเก้าอี้ให้ตำแหน่งศีรษะอยู่สูงกว่า แล้วหยิบแหวนขึ้นมาขอแต่งงาน นี่ต่างหากความปรารถนาสูงสุดภายในจิตใจ

เมื่อรับโทษครบกำหนดได้รับการปลดปล่อยตัว บันไดหน้าสถานกักกันมีสองทิศทาง ขณะที่เพื่อนร่วมอพาร์ทเม้นท์กำลังจะเดินลง Angela ต้องการเดินขึ้นเพื่อไปพบเห็นภาพวาดของคนรัก ป่านนี้คงสำเร็จเสร็จสิ้น นี่เป็นการสะท้อนประกายความหวังของหญิงสาว ครุ่นคิดว่าชีวิตวันใหม่นี้จะเจิดจรัสจร้า เหนือกว่าอดีตที่เคยผ่านมา

การหวนกลับมาพบเจอระหว่าง Gino กับ Angela สถานที่คือริมทางเดินเลียบอ่าวยามค่ำคืน พบเห็นเสากระโดงเรือ ผืนน้ำปกคลุมด้วยหมอกควันและความมืดมิดสนิท ถึงขนาดต้องจุดไฟจากไม้ขีดถึงมองเห็นหน้า แค่เพียงชั่ววินาทีก็จดจำได้ว่านั่นคือภาพของอดีตคนเคยรักใคร่ เกิดปฏิกิริยาโกรธเกลียดเคียดแค้นต้องการเข่นฆ่าทำลาย ทำให้หญิงสาวต้องรีบวิ่งหลบหนี ชายหนุ่มไล่ล่าติดตาม

ถึงขนาดทิ้งกายลงกอดขาเขาไว้แบบนี้ เรียกว่าคือที่สุดของการยอมพ่ายแพ้ ศิโรราบ จะทำอะไรกับฉันก็ช่าง ขอโทษทุกสิ่งอย่างได้กระทำผิดใจไว้

เพราะภาพวาดนางฟ้าที่ Gino เคยระบายไว้ ทำให้หวนระลึกคืนสติขึ้นมาได้ โอบกอดเธอขึ้นมาแล้วคุกเข่าร่ำร้องขออภัย ทุกสิ่งอย่างฉันเข้าใจผิดไป นับจากนี้จะไม่มีอะไรมาสั่นคลอนความรัก ศรัทธาของตนได้อีก

ตัดต่อโดย Barney Wolf ขาประจำผู้กำกับ Borzage,

หนังดำเนินเรื่องจากมุมมองของ Angela ตั้งแต่ก่อนหน้าพบเจอ Gino เคยกระทำบางสิ่งอย่างเลวร้ายไว้ ยังไม่ได้รับการชดใช้คืน ซึ่งทำให้เมื่อทั้งสองตกลงปลงใจครองคู่แต่งงาน เป็นเหตุให้พลัดพรากแยกจาก (ช่วงนี้จะจัดสลับเรื่องราวคู่ขนานของทั้งคู่) ก่อนท้ายสุดถึงได้หวนกลับมาพานพบเจอ ปรับเข้าใจความครุ่นคิดเห็นผิด และครองรักตราบชั่วนิรันดร์

การลดปริมาณ Title Card ขึ้นในปริมาณน้อย ข้อความไม่ยาวมาก ในระดับเพียงพอดี นี่ก็รับอิทธิพลจาก F. W. Murnau เฉกเช่นกัน จุดประสงค์เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ให้ภาพยนตร์ ‘pure cinema’ ระดับตำนานเลยกับ The Last Laugh (1924)

บางฉบับของ Street Angel จะได้ยิน Sound Effect รวมไปถึงเสียงผิวปาก เพลงประกอบ ซึ่งคือความตั้งใจของผู้กำกับเพื่อนำออกฉาย Re-Release เมื่อการมาถึงของยุคสมัยหนังพูด, ซึ่ง Main Theme ของหนังชื่อ Angela Mia (My Angel) ทำนองโดย Erno Rapee, คำร้องโดย Lew Pollack, นำฉบับที่ใช้จริงของ Emil Velasco มาให้รับฟังกัน

เมือง Naples ในลักษณะ German Expressionism ช่างเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว มืดหมองหม่น ทำให้หญิงสาวผู้มีจิตใสบริสุทธิ์ขาวสะอาดต้องแปดเปื้อนมลทิน ตกเป็นเหยื่ออธรรม กระทำสิ่งผิดกฎหมาย และถูกพิพากษาปริมาณเกินเลยความจริง

แต่ถึงมีเบื้องหลังชีวิตที่หมดสิ้นหวัง ก็ใช่ว่ายังหมดโอกาสไร้หนทาง เมื่อถึงวันหนึ่งทุกสิ่งอย่างได้กลับตารปัตร พานพบเจอชายหนุ่มกลายเป็นว่าที่คนรัก อะไรๆเหมือนกำลังค่อยๆพัฒนาดีขึ้น แต่กรงกรรมเก่าหวนกลับเรียกร้องให้ชดใช้คืน

ความเชื่อมั่นศรัทธาในรัก ทำให้หญิงสาวพร้อมเผชิญหน้า ยินยอมรับกรงกรรมเก่าที่เคยกระทำผิดพลาดพลั้งไว้ เพราะครุ่นคิดว่าวันหน้าฟ้าใหม่ เมื่อหมดโทษได้รับการปล่อยตัวออกมา ทุกสิ่งอย่างคงเพรียบพร้อมสมบูรณ์ ความเพ้อใฝ่ฝันพลันสมหวังกลายเป็นจริงทุกสิ่งอย่าง!

ช่วงเวลาระหว่างการพลัดพรากแยกจากของหนุ่ม-สาว ทำให้พบเห็นธาตุแท้ของ ‘ความรัก’ สามารถแปรสภาพสู่สองทิศทางตรงกันข้าม
– Angela แม้พานผ่านอะไรร้ายๆมามาก แต่เมื่อพบเจอ ตกหลุมรัก ทำให้มองโลกในแง่ดีทุกสิ่งอย่าง แปรสภาพสู่ศรัทธาเชื่อมั่นแรงกล้า
– เพราะไม่เคยพานผ่านความผิดหวังมาก่อน ทำให้จิตใจ Gino เลยปกคลุมด้วยความทุกข์เศร้าโศก เจ็บปวดรวดร้าว มองโลกแง่ร้ายสุดๆ แปรสภาพสู่ความโกรธเกลียดเคียดแค้น เมื่อถึงจุดๆหนึ่งกำลังจะทำบางสิ่งอย่างขาดสติ!

ทิศทางความรักของสองตัวละครที่แตกต่างตรงกันข้าม สะท้อนถึงความไม่เข้าใจ ไร้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อกัน ทำให้ครุ่นคิด จินตนาการ มโนภาพการกระทำของอีกฝ่ายด้วยความทรงจำเปลือกนอก หาได้เรียนรู้จักธาตุแท้จริงภายในเลยสักนิด!

ที่ผมมองเช่นนั้น เพราะ
– จิตใจของ Angela เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์สดใสร่าเริง ภาพวาดของ Gino ก็สะท้อนตัวตนนั้นออกมา แต่เขากลับหมดสิ้นหวังอาลัยเมื่อต้องพลัดพรากจาก … นี่นะหรือเข้าใจกันอย่างถ่องแท้
– Gino แสดงความรักที่มาจากการกระทำต่อ Angela ทำให้เธอครุ่นคิดว่าจิตใจเขาคงเข้มแข็งพอ อยู่ดีๆหายตัวไม่บอกกล่าว คาดหวังว่าคงจะยังเฝ้ารอวันหวนกลับมาพบกัน … แสดงถึงเธอไม่เข้าใจตัวตนแท้จริงของคนรัก ยินยอมรับไม่ได้แน่เมื่อต้องพลัดพรากจาก

ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขด้วยการเผชิญหน้า มองเข้าไปในดวงตา ทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝ่าย เรียนรู้จัก ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และการยกโทษให้อภัย แค่นี้ไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้น ความเชื่อมั่นแปรสภาพกลายเป็นอะไร สุดท้ายเมื่อข้อเท็จจริงกระจ่าง ย่อมไม่มีอะไรกีดกั้นขวางความรักระหว่างคนสอง

สำหรับผู้กำกับ Borzage นอกจากเนื้อหาสาระสอนใจคนหนุ่มสาว เรื่องนี้ยังสอดแทรกเรื่องราวของคณะละครเร่ ซึ่งเจ้าตัวเคยใช้ชีวิต ออกเดินทาง ร่วมการแสดง ก่อนผันสู่วงการภาพยนตร์ Hollywood … ส่วนหนึ่งคงจะอัตชีวประวัติตนเองเลยก็ว่าได้


ในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งแรก เป็นผลพลอยได้ของ Janet Gaynor ถือว่าคว้าสาขา Best Actress ร่วมกับอีกสองผลงาน 7th Heaven และ Sunrise: A Song of Two Humans (ถ้าเทียบสามผลงานนี้ เล่นดีสุดแบบอมตะกินขนาดคือ Sunrise รองลงมาผมให้ Street Angel ชื่นชอบกว่า 7th Heaven)

ความพิลึกพิลั่นเกิดขึ้นปีถัดมา เพราะหนังออกฉายใหม่แบบที่เพิ่มเสียง Sound Effect และ Soundtrack ปรากฎว่าได้เข้าชิง Oscar เพิ่มอีกสองสาขา
– Best Cinematography
– Best Art Direction

(แม้ไม่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงอย่างเป็นทางการสู่สาธารณะ แต่ปรากฎในเอกสาร และใบรายการที่ใช้ลงคะแนนโหวตของคณะกรรมการปีนั้น)

ถ้าไม่นับภาพยนตร์ต่างประเทศที่บางเรื่องได้เข้าชิง 2 ปี (เพราะสาขา Best Foreign Language Film ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงในสหรัฐอเมริกาปีเดียวกัน ถ้าฉายอีกปีก็มีสิทธิ์ลุ้นเข้าชิงสาขาอื่นได้) ก็มีอีกเรื่องคือสารคดีสัญชาติอเมริกัน The Quiet One (1948) ทีแรกลุ้นรางวัล Best Documentary Feature ปีถัดมายังอีกสาขา Best Writing, Story and Screenplay

สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบ Street Angel มากกว่า Seventh Heaven เพราะทิศทางเรื่องราวที่มีขึ้น-ลง กลับตารปัตร สวนทาง นำเสนอธาตุแท้ ‘ความรัก’ สามารถแปรสภาพจากมโนทัศน์ ความไม่เข้าใจ … มันช่างเป็นสิ่งว้าวุ่นวาย น่าเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจ แต่มนุษย์กลับยังโหยหาใคร่ครวญ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

จัดเรต PG กับความพยายามขายตัว คอรัปชั่นทางการ ติดคุกหัวโต และอาการสิ้นหวังของพระเอก

คำโปรย | Street Angel ส่งให้ Janet Gaynor กลายเป็นนางฟ้า ขณะที่ผู้กำกับ Frank Borzage และคู่ขวัญพระเอก Charles Farrell ยังสูงอยู่แค่พื้นพสุธา
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

For Heaven’s Sake (1926)


For Heaven Sake

For Heaven’s Sake (1926) hollywood : Sam Taylor ♥♥♥♡

หนุ่มแว่นเป็นมหาเศรษฐี จับพลัดจับพลูตกหลุมรักหญิงสาวหน้าตาดี แต่เธอมีฐานะยากจนคนชั้นล่าง ต้องอาศัยพระเจ้าช่วยกล้วยทอด ถึงได้สำเร็จสมความปรารถนา! For Heaven’s Sake คือหนังเงียบทำเงินสูงสุดอันดับสองของ Harold Llyod เป็นรองเพียง The Freshman (1925)

For Heaven’s Sake เป็นภาพยนตร์ที่ Harold Lloyd ให้คำนิยามว่า ‘gag picture’ เน้นขายความบันเทิงเริงรมณ์เหนือเนื้อหาสาระประโยชน์ ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้หนุ่มแว่น อาจรู้สึกแปลกๆที่เห็นรับบทมหาเศรษฐี (เพราะหลักสูตร Stereotype ของตัวละคร คือโหยกระหายความสำเร็จ) ถึงกระนั้นแม้ไม่ได้ดิ้นรนไขว่คว้าอะไร แต่เพื่อให้ได้แต่งงานครองคู่หญิงสาว เขาจึงต้องเสียสละหลายสิ่งอย่าง (เรียกว่ากลับตารปัตรทุกสิ่งอย่างที่เคยสร้างมา)

หลังเสร็จจาก The Freshman (1925) บริษัทผู้สร้าง Harold Lloyd Film Corporation (ก่อตั้งโดย Harold Lloyd) หมดสัญญากับ Pathé Exchange เลยอพยพย้ายมาสังกัด Paramount Picture ที่พร้อมให้ทุน จ่ายค่าจ้างสูงกว่า ด้วยข้อแม้สร้างภาพยนตร์ปีละ 1-2 เรื่อง

สำหรับผลงานแรกในสังกัดใหม่ Paramount Picture ดึงเอาตัวผู้กำกับขาประจำ Sam Taylor (1895 – 1958) ผลงานเด่นๆ อาทิ Safety Last! (1923), Girl Shy (1924), The Freshman (1925) ฯ

เรื่องราวของมหาเศรษฐีสวมแว่น J. Harold Manners (รับบทโดย Harold Lloyd) จับพลัดจับพลูมาอยู่ในเขตเมืองชนชั้นล่าง (Lower Town) บังเอิญจุดไฟเผารถลากการกุศลของนักบุญ Paul (รับบทโดย Paul Weigel) เลยจ่ายเงินค่าทำขวัญ 1,000 เหรียญ แม้นั้นเพียงแค่เศษเงิน แต่มีปริมาณมหาศาลต่อคนยากคนจน กลายเป็นข่าวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์

เมื่อความทราบข่าวถึง J. Harold Manners ไม่พึงประสงค์สร้างชื่อเสียงให้ตนเองสักเท่าไหร่ เลยออกเดินทางกลับไปเพื่อเรียกร้อง … แต่กลับตกหลุมรัก Hope (รับบทโดย Jobyna Ralston) เลยยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครองรักแต่งงานกับเธอ

หนังประกอบด้วยสาม Sequence ใหญ่ๆ
– แนะนำตัว J. Harold Manners มหาเศรษฐีผู้ใช้เงินราวกับเศษกระดาษ เมื่อรถคันเก่าพัง เดินเข้าโชว์รูม เซ็นเช็คซื้อคันใหม่ แล้วขับพุ่งออกไป ขับโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียนไล่ล่าโจรผู้ร้าย จากนั้นน้ำมันหมดกลางทาง เดินลงไปกำลังจะเปิดดูเครื่องยนต์ รถไฟพุ่งเข้าชน ทอดถอนหายใจ แค่เสียดายเวลาไม่ใช่สิ่งของไร้ค่า
– เมื่อเศรษฐีแว่น จับพลัดจับพลูพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว พ่อตาขอให้เขารวบรวมบรรดานักเลงอันธพาล กวาดต้อนเข้าร่วมโบสถ์วันอาทิตย์, เริ่มต้นคือใช้กำลังหาเรื่องเพื่อเรียกร้องความสนใจ จากนั้นวิ่งหนีอุตลุต เตะตูดคนยืน ขว้างปาสิ่งข้าวของใส่ ฯลฯ สุดท้ายพาเข้ามาในโบสถ์ สงบเงียบเพราะตำรวจเดินเข้ามา โดยไม่รู้ตัวทุกคนประสานน้ำใจขับร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า
– ตัดข้ามมาวันแต่งงานของเศรษฐีแว่น แต่เขากลับถูกลักพาตัวโดยพรรคพวกชนชั้นสูง บรรดาลูกน้องพบเห็นเข้าเกิดความหงุดหงิดหัวเสีย ดื่มเหล้ามึนเมามาย ตรงรี่ไปถึงบ้านตั้งใจหาเรื่องวุ่นวาย ทำให้เขาต้องคิดค้นหาวิธีการพากลับ ขึ้นแท็กซี่ประตูซ้ายออกประตูหลัง ขึ้นรถเมล์เดินวนลงโดยพลัน เต็มไปด้วยความจ้าละหวั่นเหมือนลูกแกะแตกฝูง ต้องให้คนเลี้ยง(แกะ)กวาดต้อนพากลับบ้าน

เกร็ด: เห็นว่ายังมีอีกฉากหนึ่งที่เกี่ยวกับกลุ่มใต้ดิน (Underworld) ได้รับการกล่าวเอ่ยถึงแต่ถูกตัดออกไป เพราะทำให้หนังยาวเกินกว่า 1 ชั่วโมง (3-4 Reel) แต่ก็มีการนำไปแทรกใส่ใน Speedy (1928) ลองสังเกตหาดูเองนะครับว่าตอนไหน

แค่ปรากฎชื่อหนังยัง Opening Credit ก็มีความยียวนกวนประสาทแล้ว มองผิวเผินก็แค่ดาวตกชนดวงจันทร์ เทวดาจากฟากฟ้าลงมาจุติ แต่ไอ้การที่มีเส้นๆพุ่งๆชนหน้า มันตีความแบบเสื่อมๆด่าเxยได้เหมือนกัน

ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือตอนที่ Hope นำพาเศรษฐีแว่น เดินวนไปรอบๆเพื่อแนะนำโน่นนี่นั่น แต่สายตาของเขากลับจับจ้องมองแต่เธอไม่สนใจอะไรอื่น ซึ่งกล้องจะเคลื่อนเดิน แพนนิ่ง ติดตาม ตัดข้อความขึ้นคำรำพัน Title Card ว่า “Very pretty!” และตบมุกด้วยกลิ้งม้วนล้มพบเห็นภาพเธอ!

และมีอยู่ซีนหนึ่งที่โคตรจะ Breathtaking ใจหายวูบวาบ นั่นคือเมื่อรถบัสไม่มีคนขับวิ่งด้วยความเร็วสูง ข้างหน้าคือทางข้ามรถไฟที่กำลังวิ่งสวน จะทันแหล่ ไม่ทันแหล่ … ใครเคยรับชม Sherlock Jr. (1924) ของ Buster Keaton น่าจะคุ้นเคยกับความเสียวสันหลังวาปของฉากข้ามรถไฟ แท้จริงแล้วมันคือการถ่ายถอยหลัง (Backward) แล้วเวลาฉายค่อยให้ฟีล์มเล่นไปข้างหน้า

แซว: ผมไปอ่านเจอบทความหนึ่ง เขียนถึงการแข่งขันระหว่าง Buster Keaton และ Harold Llyod ที่มักชอบคัทลอกเลียนแบบมุกตลก (แต่ไม่ใช่ค่อยกับ Charlie Chaplin ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว) แต่ตราบใดที่มันขายได้ สร้างความบันเทิง เรียกเสียงหัวเราะ ผู้ชมก็พร้อมให้อภัย

reference: https://haroldlloyd.us/contributors-corner-2/lloyd-v-keaton/

ความร่ำรวยมหาเศรษฐีของหนุ่มแว่นใน For Heaven’s Sake (1926) ทำให้ตัวละครสามารถล่องลอยไปมา ครุ่นคิดกระทำอะไรก็ได้ดั่งใจ -เงินซื้อได้ทุกอย่าง- เปรียบเทียบราวกับพระเจ้าก็ไม่ปาน ซึ่งคำอธิษฐานของหญิงสาวชื่อ Hope ทำให้เขาเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ (คฤหาสถ์ชนชั้นสูง) โปรยเงินโปรยทาน พานพบเจอตกหลุมรัก ชี้ชักนำบรรดาลูกแกะน้อยทั้งหลาย กวาดต้องให้เข้ามารับฟังเทศน์ธรรมวันอาทิตย์ จนได้รับความนับหน้าถือตา เชื่อมั่นศรัทธา ว่าจะทรงอยู่เคียงข้างมนุษย์ตลอดไป

เมื่อเข้าฉายทำเงินได้ $2.59 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับสองของ Harold Lloyd ในยุคหนังเงียบ เป็นรองเพียง The Freshman (1925) ที่รายรับ $2.65 ล้านเหรียญ [จะเรียกว่าก้าวสู่ขาลงแล้วก็ได้]

reference: http://www.silentsaregolden.com/articles/lloydvschaplin.html

ผมพยายามค้นหาสำบัดสำนวน “พระเจ้าช่วยกล้วยทอด” จุดเริ่มต้นแปลมาไหน เท่าที่รู้คือจากภาษาอังกฤษ Oh my God! ดูยังไงก็ไม่เกี่ยวกับกล้วยทอดเลยสักนิด, ไปเจอบทความหนึ่งเกริ่นมาอย่างน่าสนใจ แต่ไปๆมาๆกลับสอนวิธีทำกล้วยทอดซะงั้น และตอนจบบอกว่า ฉันไม่รู้อยู่ดีว่าที่มาที่ไปคืออะไร … จบเห่! ช่างแม้ง

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังนะ มีหลายมุกที่ตกเก้าอี้ ฮากลิ้ง โดนใจอย่างมาก แต่ในส่วนเรื่องราวกลับรู้สึกค้างคา สั้นเกิ้น จบแล้วเหรอเนี่ย ยังไม่รู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่ แทบไร้สาระประโยชน์ เพียงความบันเทิงรมณ์เท่านั้นได้รับมา

จัดเรต PG กับการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และพฤติกรรมขี้เมาอาละวาด

คำโปรย | For Heaven’s Sake แทบจะถือได้ว่า พระเจ้าช่วย Harold Lloyd ทอดกล้วยจริงๆ
คุณภาพ | บันเทิงรมณ์
ส่วนตัว | ชอบพอ

The Great White Silence (1924)


The Great White Silence

The Great White Silence (1924) British : Herbert Ponting ♥♥♥

ภาพยนตร์สารคดีที่จะนำพาผู้ชมมุ่งสู่ขั้วโลกใต้ ครั้งแรกของการบันทึกภาพเคลื่อนไหว อึ้งทึ่ง ตราตรึง และเจ็บปวดรวดร้าวใจ เพราะการเดินทางครั้งนี้นั้น จบลงด้วยโศกนาฎกรรม

Heroic Age of Antarctic Exploration ชื่อเรียกยุคสมัยการสำรวจขั้วโลกใต้/ทวีปแอนตาร์กติกา เริ่มต้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงสิ้นสุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1918) เพราะการออกเดินทางในช่วงดังกล่าว ยังเต็มไปด้วยขีดจำกัดมากมาย เสี่ยงอันตราย นักบุกเบิกมีโอกาสครึ่งต่อครึ่งจะสูญเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ ขาดอาหาร หนาวตาย … ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการเรียกกว่าขาน ‘ยุคสมัยแห่งผู้กล้า’

มนุษย์ออกสำรวจขั้วโลกใต้ทำไม? เหตุผลเดียวกับการสำรวจอวกาศ หรือออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ เพื่อที่จะเป็นผู้บุกเบิก ค้นหาดินแดนใหม่ ท้าทายขีดจำกัดร่างกาย เทคโนโลยี และเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆให้มวลมนุษยชาติ

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการครอบครอง แสวงหาทรัพยากร หรือที่เรียกว่า ‘อาณานิคม’ เพราะยังไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผืนแผ่นดินว่างเปล่านั้น ด้วยเหตุนี้ถ้าเพียงสามารถนำ ‘ธงชาติ’ เข้าไปปักวาง ก็ถือว่าโลกใบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

การออกสำรวจขั้วโลกใต้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ Belgian Antarctic Expedition (1897-99) โดยกัปตัน Adrien de Gerlache (1866 – 1934) แห่ง Belgian Royal Navy ด้วยเรือชื่อ Belgica … จริงๆคือต้องการแค่แล่นสำรวจบริเวณโดยรอบ แต่เพราะติดกับดักธารน้ำแข็งไปไหนไม่รอด จำต้องขึ้นฝั่งพักอาศัยอยู่ยังขั้วโลกใต้ถึง 7 เดือน เพื่อรอให้ฤดูร้อนย่างเข้ามา ธารน้ำแข็งหลอมละลาย ถึงสามารถออกเดินทางกลับได้

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการสำรวจ British Antarctic Expedition 1910 (1910 – 13) หรือเรียกว่า Terra Nova Expedition นำโดยกัปตัน Robert Falcon Scott (1868 – 1912) ด้วยเรือ Terra Nova ได้รับมอบหมายจาก British Empire จุดประสงค์เพื่อปักธงชาติ (Union Jack) ตรงกึ่งกลางทวีปแอนตาร์กติกา

เกร็ด: Terra Nova Expedition คือความพยายามครั้งที่สองของกัปตัน Scott เพื่อออกเดินทางมุ่งสู่ขั้วโลกใต้ ถัดจาก Discovery Expedition (1901–04)

ซึ่งกับตัน Scott ก็ได้เลือกเอา Herbert Ponting ช่างภาพมืออาชีพออกเดินทางร่วมไปด้วย เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งไม่เพียงกล้องถ่ายภาพนิ่งเท่านั้น ยังกล้องฟีล์มบันทึกภาพเคลื่อนไหว

Herbert George Ponting (1870 – 1935) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Salisbury, Wiltshire บิดาเป็นนายธนาคาร ถูกบีบบังคับให้ต้องเดินตามรอยเท้าพ่อ แต่หลังจากทำงานธนาคารที่ Liverpool นานถึงสี่ปี ตัดสินใจลาออกเพื่อเติมเต็มความฝัน เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ทำงานเหมือง เก็บผลไม้ ได้แต่งงานสาว California วันว่างๆมีงานอดิเรกถ่ายภาพ ทวีความสนใจขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นอาชีพหลัก นักข่าวถ่ายทำ Russo-Japanese War (1904–05) เดินทางไปเก็บภาพทั่วเอเชีย เกาหลี, จีน, พม่า, อินเดีย ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ได้รับความนิยมล้นหลาม

คงเพราะจิตวิญญาณนักสำรวจ และชื่นชอบการเดินทาง ทำให้ Ponting ตกลงเซ็นสัญญาร่วมไปกับ Terra Nova Expedition ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในการจัดเก็บภาพจริงๆจากขั้วโลกใต้ ซึ่งก็ยังมีการล่าปลาวาฬ, เล่นกับเพนกวิ้น, แมวน้ำ, นกสกัว, Fauna ฯ

นับเป็นความโชคดี (หรือร้ายก็ไม่รู้นะ) ที่กัปตัน Scott ไม่ได้นำพา Ponting ร่วมออกเดินทางสู่ใจกลางแอนตาร์กติกา ทอดทิ้งเขาไว้เบื้องหลังเฝ้ารอคอยข่าวดี/ร้าย ซึ่งสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้สร้างความหดหู่ สิ้นหวัง เรือ Terra Nova ออกเดินทางกลับโดยไม่มีกัปตัน แม้จะได้รับการยกย่องว่าคือวีรบุรุษ แต่ก็ทำให้ผู้คนมากมายครุ่นคิดตั้งคำถาม สำรวจแบบนี้ทำไปเพื่ออะไร? ได้รับผลตอบแทนใดๆกลับคืนมาหรือเปล่า?

เมื่อ Ponting เดินทางกลับสู่ประเทศอังกฤษ พยายามที่จะตัดต่อร้อยเรียงเป็นภาพยนตร์ แต่ติดขัดไม่มีเงินทุน ประกอบการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครช่างภาพกลับถูกบอกปัดปฏิเสธ (เพราะอายุเริ่มเยอะแล้ว) จนกระทั่งเขาตัดสินใจรวมเล่มตีพิมพ์หนังสือภาพนิ่ง The Great White South (1921) ปรากฎว่าขายดีเทน้ำเทท่า จึงนำเงินเหลือมาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สำเร็จเสร็จสรรพ

หนังดำเนินเรื่องด้วยการตัดสลับภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายทำไว้ กับ Title Card ที่มีข้อความอธิบายยาวเหยียด! นั่นอาจไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่ แต่ควรต้องเข้าใจข้อจำกัดยุคสมัยนั้น นี่เป็นวิธีทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว

ฟุตเทจที่ใช้ยังมีภาพเบื้องหลัง เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นความยุ่งยากลำบากในการถ่ายทำ (ถ่ายขณะเรือกำลังแล่นตัดน้ำแข็ง น่าหวาดเสียวอันตรายมากๆ) และช่วงท้ายการเดินทางของกัปตัน Scott เพราะไม่มีฟุตเทจใดๆ เลยใช้ภาพกราฟฟิกแผนที่ ตัดสลับขึ้นข้อความอย่างเร่งรี่ อ่านแล้วชวนให้ใจหายวาบ แม้ไม่เห็นภาพแต่ก็จินตนาการได้ถึงโศกนาฎกรรม

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อออกฉาย ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ (ขึ้นข้อความ Title Card ยาวๆนี่ไม่เวิร์คเลยนะ) แถมมาทีหลัง Nanook of the North (1922) ที่สร้างหลังแต่ดันฉายก่อน แถมได้รับการยกย่อง ‘สารคดีเรื่องแรกของโลก’

การมาถึงของยุคหนังเงียบ ทำให้ Ponting ค้นพบโอกาสบางอย่าง เลยทำการตัดต่อใหม่ เพิ่มเติมฟุตเทจ ใส่เสียงบรรยายและเพลงประกอบ ตั้งชื่อว่า Ninety Degrees South (1933) คุณภาพน่าจะพอๆกัน แต่คงดูง่ายกว่ามาก! (เพราะไม่ต้องอ่านข้อความยาวๆ กลายเป็นเสียงบรรยายพร้อมเพลงประกอบลื่นหู)

สำหรับคนที่อยากรับชมหนังเงียบ The Great White Silence (1924) และหนังพูด Ninety Degrees South (1933) สามารถค้นหาได้บน Youtube ไม่ติดลิขสิทธิ์ใดๆ แต่ถ้าต้องการคุณภาพดีๆ บูรณะเสร็จสิ้นปี 2011 คงต้องหา DVD/Blu-Ray ของ British Film Institute พร้อมเพลงประกอบโดย Simon Fisher Turner

ส่วนตัวค่อนข้างชอบนะ เพราะผมไม่ได้ล่วงรับรู้สิ่งเกิดขึ้นตอนจบมาก่อน จิตใจเลยหล่นวูบ หายวาบ คาดคิดไม่ถึงว่าสุดท้ายจะลงเอยเช่นนั้น … ถ้ามีโอกาสอีกสักครั้งก็ว่าจะลองหาฉบับหนังพูดมารับชม น่าจะดูง่ายกว่าหนังเงียบพอสมควรเลยละ

จัดเรต PG กับการเดินทางเสี่ยงอันตราย สุดท้ายคือโศกนาฎกรรม

คำโปรย | The Great White Silence ถือเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ คุณภาพเป็นไปตามยุคสมัย
คุณภาพ | ใช้ได้
ส่วนตัว | พอไหว