Regen (1929)


Rain (1929) Dutch : Mannus Franken, Joris Ivens ♥♥♥♥

ร้อยเรียงภาพความงดงามของหยาดฝน พรำลงบน Amsterdam, Netherlands สร้างความเปียกปอน ชุ่มฉ่ำ เบิกบานหฤทัย (Cinéma Pur) ได้รับการยกย่อง “Masterpiece of Dutch Avant-Garde Cinema”

บางคนอาจเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นผมเขียนถึง ‘city symphony’ หลายเรื่องติดๆกัน แต่ถ้าคุณสามารถเข้าถึงกวีภาพยนตร์ สัมผัสความงดงามของหนังแนวนี้ อาจรู้สึกเคลิบเคลิ้มหลงใหล บังเกิดสุนทรียะทางใจ ไม่สามารถหยุดยับยั้งโดยง่ายดาย

Regen (1929) ภาษาดัตช์แปลว่า Rain เป็นอีกโคตรหนังสั้นแนวทดลอง ที่สร้างความประทับจับจิตจับใจ ให้สัมผัสคล้ายๆ In Spring (1929) ของ Mikhail Kaufman แต่เปลี่ยนจากหิมะละลาย (Spring) มาเป็นหยาดสายฝนในช่วงพายุฤดูร้อน (Summer) เริ่มตั้งแต่กระแสลมพัดแรง ชาวเมืองรีบเร่งเก็บข้าวของ จากนั้นก็เสก โลโซ … วันนี้ฝนตก ไหลลงที่หน้าต่าง

แซว: น่าจะมีใครลองนำเอาทำนองเพลงของเฮียเสก มาทำ Soundtrack ประกอบพื้นหลังภาพยนตร์เรื่องนี้บ้าง คงเข้ากันได้แน่ๆ


ก่อนจะกล่าวถึง Regen (1929) ผมขอพูดถึงภาพยนตร์อีกเรื่องออกฉายปีเดียวกัน ใช้ชื่อว่า H2O (1929) หนังสั้นความยาว 13 นาที กำกับ/ถ่ายภาพโดย Ralph Steiner (1899-1968) สัญชาติอเมริกัน

เหตุผลที่ผมอยากกล่าวถึงหนังสั้นเรื่องนี้ ก็เพราะ(ขี้เกียจเขียนบทความยาวๆ)มีการนำเสนอภาพสายน้ำ (H2O คือสูตรเคมีที่เป็นโมเลกุลของน้ำ ประกอบด้วยสองอะตอมไฮโดรเจน และหนึ่งอะตอมออกซิเจน) นำมาร้อยเรียงในลักษณะ ‘CinePoem’ ไฮไลท์คือครึ่งหลังถ่ายภาพสะท้อนบนพื้นผิวน้ำ ซึ่งมีการสั่นพริ้วไหวจนกลายเป็นภาพนามธรรม (Abstract)

ความนามธรรมของภาพสะท้อนพื้นผิวน้ำ คือสิ่งที่ทำให้ H2O (1929) ได้รับการกล่าวขวัญถึงในวงการ ‘Avant-Garde Cinema’ ไม่เพียงแค่ภาพติดตา แต่ยังสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ (แนวคิดคล้ายๆภาพสะท้อนกระจก มักสื่อถึงอีกตัวตนของบุคคลที่ถูกปกปิดซ่อนเร้น ไม่ค่อยเปิดเผยธา่ตุแท้ภายในออกมา)

Georg Henri Anton ‘Joris’ Ivens (1898-1989) ผู้กำกับภาพยนตร์/สารคดี สัญชาติ Dutch เกิดที่ Nijmegen, Netherlands ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย วัยเด็กเคยช่วยงานร้านถ่ายภาพของบิดา เลยเกิดความชื่นชอบหลงใหล ได้รับการสนับสนุนจนสามารถกำกับหนังสั้นเรื่องแรก The Flaming Arrow (1912) เมื่อตอนอายุแค่ 13-14 ปี

เมื่อปี ค.ศ. 1927 เข้าร่วมกลุ่ม Amsterdam Filmliga ก่อตั้งโดย Henrik Scholte ทำให้ได้รับชมหนัง ‘avant-garde’ จากหลากหลายประเทศ รวมถึงมีโอกาสออกเดินทางท่องยุโรป ดูงานประเทศเยอรมัน แต่ไม่ชอบแนว German Expressionism แต่ค้นพบความประทับใจผลงาน Alberto Cavalcanti (Rien que les heures (1926)) และ Walter Ruttmann (Berlin: Symphony of a Metropolis (1927)) กลับมาทดลองผิดลองถูกกับการถ่ายทำสารคดี จนกระทั่งมีชื่อเสียงจาก De brug (1926) บันทึกภาพสะพานรถไฟเพิ่งสร้างเสร็จ Koningshaven Bridge ณ Rotterdam สามารถยกขึ้นลงเพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่าน

เกร็ด: De brug (1926) นักวิจารณ์บางสำนักยกย่องให้เป็น ‘First Masterpiece of Dutch Cinema’

ในหนังสือชีวประวัติของผกก. Ivens กล่าวอ้างว่าตนเองเป็นผู้ริเริ่มต้นโปรเจค Regen (1929) ครุ่นคิดขึ้นระหว่างกำลังถ่ายทำหนังสั้น Breakers (1929) แล้วสอบถามความคิดเห็นจาก Mannus Franken (1899-1953) เพื่อนนักเขียน/นักกวี สัญชาติ Dutch ถึงแนวคิด/คอนเซ็ปหนัง

I wanted to make a film about the rain that would be more than just a record of a natural phenomenon. I wanted to create a film that would capture the beauty and power of the rain, and that would also explore the relationship between humans and nature.

Joris Ivens

แต่หลักฐานที่เป็นจดหมายแลกเปลี่ยนระหว่างทั้งสอง Franken ต่างหากคือบุคคลริเริ่มต้นกล่าวถึงโปรเจคภาพยนตร์เกี่ยวกับฝน

I have been thinking about a film on rain. It would be a film about the beauty and power of rain, and about the relationship between humans and nature. I think it could be a very beautiful and moving film.

Mannus Franken เขียนในจดหมายวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1927

ปล. อ่านข้อความจากจดหมาย ผมรู้สึกคลุมเคลืออยู่เล็กๆ เพราะมันเป็นไปได้ว่าผกก. Ivens อาจเคยพูดคุยโปรเจคดังกล่าว ปากเปล่านอกรอบ แล้ว Franken ใช้เวลาครุ่นคิดถึงค่อยตอบกลับทางจดหมาย

ในเครดิตเป็นการร่วมกำกับและร่วมเขียนบทระหว่าง Mannus Franken & Joris Ivens แต่จริงๆแล้วผกก. Ivens คือบุคคลทำทุกสิ่งอย่าง ถ่ายภาพ ตัดต่อ หางบประมาณ แค่ต้องการให้เกียรติเพื่อนสนิท Franken ในฐานะร่วมสร้างแรงบันดาลใจเสียมากกว่า


อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) มาจากคำว่า Amstelredamme หมายถึง เมืองที่ตั้งอยู่ริมเขื่อนของแม่น้ำ Amstel (The Dam on the River Amstel) ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศ Netherlands ได้รับชื่อเล่น “Venice of the North” เต็มไปด้วยคูคลอง ช่องทางระบายน้ำ ดั้งเดิมเมื่อปลายศตวรรษที่ 12th ยังเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงหาปลาเล็กๆ ค่อยๆได้รับการพัฒนาจนศตวรรษที่ 17th กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญ เศรษฐกิจ การค้าขาย และวงการศิลปะ (มีคำเรียกยุคสมัย Dutch Golden Age)

ด้วยความที่ Amsterdam เป็นเมืองติดทะเล จึงทำให้มีสภาพอากาศอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร ฤดูหนาวอากาศเย็น ฤดูร้อนอากาศอบอุ่น อุณหภูมิแปรเปลี่ยนตลอดทั้งปี บ่อยครั้งฝนตกน้ำท่วม แต่เพราะมีการวางแผนผังเมืองอย่างชาญฉลาด จึงสามารถระบายน้ำลงคูคลอง ไหลลงท้องทะเลได้อย่างรวดเร็ว

เหตุผลในการเลือก Amsterdam เป็นสถานที่ถ่ายทำ นอกจากเรื่องความสวยงามทางภูมิทัศน์ ยังคือดินแดนแห่งการเปลี่ยนแปลง(สภาพอากาศ) ผกก. Ivens ชื่อว่าพายุฝนฟ้าคะนอง จักสามารถเปิดเผยความลี้ลับ สิ่งซุกซ่อนเร้น ความงดงามแท้จริงของเมืองแห่งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์

Amsterdam is a city that is constantly changing, and I wanted to capture that sense of change in my film. The rain is a powerful force that can transform the city, and I wanted to show how the rain can both reveal and conceal the city’s beauty.

Joris Ivens

งานภาพของหนังไม่ได้มีลูกเล่น เทคนิคอะไรหวือหวา ถ่ายทำมุมก้ม-เงย, Panning, Tilting, ภาพสะท้อนพื้นผิวน้ำ ฯ ด้วยวิธีการสุดเรียบง่าย แต่ใช้พลังของธรรมชาติ พายุฤดูร้อนที่โหมกระหน่ำ สามารถสร้างความตื่นตาตรึงใจ พบเห็นความงดงามและจิตวิญญาณของเมือง Amsterdam

ผมสังเกตว่าหนังเต็มไปด้วยช็อตมุมก้ม (จะถ่ายมุมเงยเฉพาะตอนท้องฟ้ามืดครื้ม เมฆฝนเคลื่อนเข้ามาแล้วก็ผ่านไป) เพื่อให้พบเห็นเม็ดฝนตกลงบนพื้นผิว ท้องถนน แอ่งน้ำ ลำธาร และโดยเฉพาะกระจกหน้าต่าง ซึ่งสามารถสร้างสุนทรียะให้ผู้ชม รู้สึกเปียกปอนชุ่มฉ่ำ สั่นสยิวผิวกาย ระลึกถึงประสบการณ์ที่ใครๆล้วนเคยพานผ่านช่วงเวลาฝนตกแบบเดียวกัน

สิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง คือการนำเสนอออกมาในลักษณะ ‘Cinéma Pur’ ไม่ปรากฎข้อความบรรยาย (Title Card/Intertitles) ทำให้ภาพเหตุการณ์มีความต่อเนื่องลื่นไหล ผู้ชมสามารถสังเกตลำดับความเป็นไป เริ่มจากร้อยเรียงทิวทัศน์เมือง Amsterdam แล้วจู่ๆท้องฟ้ามืดครึ้ม ลมพัดรุนแรง ผู้คนรีบเร่งเก็บข้าวของ ปิดประตูหน้าต่าง จากนั้นหยาดฝนก็พรำลงมา สร้างความเปียกปอนชุ่มฉ่ำ พบเห็นการปรับตัวของชาวดัตช์ กางร่ม สวมชุดกันฝน ยังคงต่อสู้ดิ้นรนตามสภาพดินฟ้าอากาศ และเมื่อพายุพัดผ่าน เมฆฝนเคลื่อนหาย ทุกสรรพสิ่งก็หวนกลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง


ถ้าไม่นับ Manhatta (1921) ที่ริเริ่มต้นทำการทดลอง ‘city symphony’ หนังแนวนี้เรื่องอื่นๆล้วนเต็มไปด้วยลูกเล่น เทคนิคแพรวพราว ภาษาภาพยนตร์ลึกล้ำ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่อลังการ ผู้ชมพบเห็นมุมมองแปลกใหม่ เปิดโลกทัศน์ต่อสถานที่ถ่ายทำให้กว้างออกไป

ตรงกันข้ามกับผลงานของผกก. Ivens ทั้งสองเรื่อง De brug (1928) กับ Regen (1929) ต่างโอบรับแนวคิด ‘Cinéma Pur’ ไม่มีข้อความบรรยายขึ้นคั่น แถมยังใช้แค่เทคนิคพื้นฐานถ่ายภาพ ด้วยวิธีการสุดแสนเรียบง่ายแต่กลับสามารถสร้างความตื่นตา ตะลึงใจ ผลลัพท์ออกมาโคตรๆน่าหลงใหล

Rain is a reminder that even the most ordinary things can be transformed into something extraordinary through the power of cinema.

นักวิจารณ์ … ใครสักคน

พายุฝน เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติทั่วๆไป ใครต่อใครล้วนเคยพบเห็น เปียกปอน ชุ่มฉ่ำ แต่เมื่อทำการบันทึกภาพ นำเสนอในเชิงศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์ แม้ด้วยวิธีการสุดแสนเรียบง่าย กลับสามารถสร้างประสบการณ์น่าอึ่งทึ่ง ตื่นตา ตะลึงใจ รู้สึกเบิกบานหฤทัย และได้รับสุนทรียะทางใจ

ความตั้งใจของผกก. Ivens ไม่ใช่แค่บันทึกภาพปรากฎการณ์ธรรมชาติ การมาถึงของพายุฤดูร้อนเท่านั้น แต่ยังต้องการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (Human vs. Nature) ซึ่งวิธีการที่สรรพชีวิตหาหนทางปรับตัว เผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลง สามารถสะท้อนความครุ่นคิด สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ หรือก็คือตัวตนของบุคคล รวมถึงแก่นแท้ (essence) ของเมือง Amsterdam

เมื่อสามารถทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าว ก็จะค้นพบแก่นแท้ของ Amsterdam คือเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง ดินแดนแห่งนี้แทบไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง ราวกับกิ้งก่าเปลี่ยนสี สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกยุคทุกสมัย อาจไม่ใช่ดินแดนยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง แต่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งหยาดฝน … ผมยกให้เป็น “First Masterpiece of Dutch Cinema” เพราะเข้าถึงจิตวิญญาณชาวดัตช์ได้ชัดเจนกว่า De brug (1926)


หนังฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1929 ณ โรงภาพยนตร์ De Uitkijk (ที่เพิ่งเปิดใหม่ได้สองเดือนกว่าๆ) ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Amsterdam เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ถือว่าดีล้นหลาม ใช้เทคนิคที่ไม่ซับซ้อน แต่สามารถบันทึกความงดงามของพายุฝนฤดูร้อนได้อย่างน่าประทับใจ

Rain is a remarkable film that uses the most basic of cinematic techniques to create a powerful and moving experience. Ivens’s use of camera movement, editing, and sound is masterful, and the film’s depiction of a summer storm is both beautiful and terrifying.

นักวิจารณ์ J. Hoberman กล่าวถึงในบทความ Joris Ivens: The Complete Cameraman (2009)

Joris Ivens’s Rain is a remarkable film, a silent documentary of a summer storm in Amsterdam which uses the simplest of means to create a powerful and unforgettable experience. The opening shot, of a canal in Amsterdam with a single house reflected in the water, is a perfect example of Ivens’s ability to create a sense of place with a minimum of fuss. The camera moves slowly down the canal, past the house, and out into the open water. As the storm gathers, the camera becomes more agitated, reflecting the growing chaos of the storm. The film culminates in a stunning sequence of shots of the storm raging over Amsterdam.

นักวิจารณ์ David Robinson กล่าวถึงในหนังสือ A Night at the Movies: Fifty Years of the London Film Festival (1956-2006)

ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ (แต่เชื่อว่าต้องอยู่ในลำดับของ Eye Filmmuseum อย่างแน่ๆ) สามารถหารับชมช่องทางออนไลน์ หรือใครสนใจซื้อแผ่น DVD Boxset ของค่าย Kino Video ชื่อว่า Avant-Garde: Experimental Cinema of the 1920s and ’30s (1921-1947) มีทั้งหมด 25 เรื่อง

(ในบรรดาคอลเลคชั่น Avant-Garde ของค่าย Kino ผมรู้สึกว่า Boxset น่าซื้อเก็บที่สุด เพราะมีหนังทดลองระดับตำนานรวบรวมอยู่หลายเรื่อง อาทิ Manhatta (1921), Ballet mécanique (1924), Ménilmontant (1926), La Coquille et le clergyman (1926) ฯ)

ส่วนตัวมีความชื่นชอบ Regen (1929) อย่างมากๆ อาจเพราะระหว่างรับชม ระลึกนึกถึงบทเพลงฝนตกที่หน้าต่างอยู่แทบตลอดเวลา (เพราะมันมีช็อตหยาดฝนตกลงบนหน้าต่างเยอะมากๆ) แต่น่าเสียดายเพราะมีอีกภาพยนตร์ In Spring (1929) ให้เกิดการเปรียบเทียบ แล้วเรื่องนั้นสามารถสร้างสุนทรียะทางใจได้ตราตรึงกว่า

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์อีกสองเรื่อง ที่ผมอดระลึกนึกถึงไม่ได้เช่นกัน ประกอบด้วย

  • Singin’ in the Rain (1952) เรื่องนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใดๆเลยนะ แค่นึกถึงบรรยากาศระหว่างฝนพรำเท่านั้นเอง
  • แต่อีกเรื่อง The Umbrellas of Cherbourg (1964) ในฉาก Opening Credit จะมีช็อตมุมก้ม พบเห็นผู้คนกางร่ม ไม่รู้เหมือนกันว่า Jacques Demy ได้รับอิทธิพลหรือเปล่า?

และระหว่าง De brug (1928) กับ Regen (1929) สำหรับผมชัดเจนมากๆว่าผลงานเรื่องหลังของผกก. Ivens มีความติดตาตรึงใจกว่ามาก แต่ทั้งเรื่องถือเป็นจุดเริ่มต้นวงการภาพยนตร์ Netherlands ได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Rain (1929) ร้อยเรียงภาพความงดงามของหยาดฝน พรำลงบน Amsterdam, Netherlands สร้างความเปียกปอน ชุ่มฉ่ำ เบิกบานหฤทัย
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ฝนพรำ

ใส่ความเห็น