Chocolat (1988)


Chocolat (1988) French : Claire Denis ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Claire Denis เดินทางกลับบ้านเกิดยัง West Africa แม้จากมาหลายปี แต่หลายๆความทรงจำดีๆ ยังคงติดตราฝังใจ ทำออกมาในลักษณะบันทึกความทรงจำ (memoir) อาจดูเรื่อยๆเปื่อยๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนใช้ผิวสี ช่างมีความตึงเครียด(ทางเพศ)ยิ่งนัก!

แซว: ชื่อหนัง Chocolat หลายคนอาจเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเกี่ยวกับโกโก้ ช็อกโกแล็ต แต่นั่นมันอีกภาพยนตร์ Chocolat (2000) กำกับโดย Lasse Hallström, นำแสดงโดย Juliette Binoche, Judi Dench, Johnny Depp ฯ เรื่องนี้ก็น่าสนใจ ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

เมื่อตอนที่ผมเขียนถึง Beau Travail (1999) แม้พอสังเกตเห็น ‘female gaze’ ที่สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน แต่ยังเข้าไม่ถึงสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis กระทั่งครานี้เมื่อได้รับชม Chocolat (1988) ค่อยตระหนักความสนใจของเธอคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Sexual Tension’ ความตึงเครียดทางเพศ ไม่จำเพาะเจาะจงชาย-หญิง บางครั้งชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือระหว่างพี่-น้อง พ่อ-แม่-ลูก ฯ นี่เป็นสิ่งมองไม่เห็นด้วยตา เพียงสัมผัสได้ด้วยอารมณ์

ซึ่งความตึงเครียดทางเพศระหว่างหญิงชาวฝรั่งเศส กับคนรับใช้ผิวสี(ชาวแคเมอรูน) สามารถสะท้อนความสัมพันธ์กับประเทศอาณานิคม (French Cameroon) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ และที่ต้องเอ่ยปากชมคือการแสดงของ Isaach de Bankolé สง่างามไม่ด้อยไปกว่า Sidney Poitier

ระหว่างรับชม Chocolat (1988) ช่วงแรกๆผมนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Black Narcissus (1947), The River (1951), Out of Africa (1985) ฯ ที่เกี่ยวกับคนขาวเดินทางไปปักหลักอาศัยยังประเทศอาณานิคม และพอเริ่มสังเกตเห็น ‘Sexual Tension’ ก็ชวนให้นึกถึงอีกเรื่อง A Passage to India (1984) … เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้ลองหารับชมดูนะครับ


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ

ระหว่างทำงานเป็นผู้ช่วย Wim Wenders ทำให้ผกก. Denis เกิดความตระหนักว่าถึงเวลามองหาโปรเจคในความสนใจ ริเริ่มต้นสรรค์สร้างผลงานของตนเองเสียที! หลังจากครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ๆ ขึ้นเครื่องบินออกเดินทางสู่ Senegal (หนึ่งในประเทศที่เคยอยู่อาศัยวัยเด็ก) ค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แทบไม่มีอะไรหลงเหลือจากความทรงจำ

เมื่อเดินทางกลับฝรั่งเศส ร่วมงานเพื่อนนักเขียนขาประจำ Jean-Pol Fargeau นำแรงบันดาลใจจากทริปล่าสุดนี้ พัฒนาบทหนังออกมาในลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) หวนระลึกความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับอดีตคนรับใช้ผิวสี ระหว่างอาศัยอยู่ที่ Cameroon

เกร็ด: ชื่อหนัง Chocolat มาจากคำว่า Être Chocolat แปลว่า To be Cheated เป็นคำเรียกในเกมไพ่ เพื่อใช้ล่อหลอก ให้อีกฝ่ายหลงเชื่อ เลยตกเป็นเหยื่อกลโกง ขณะเดียวกันยังคือศัพท์สแลง คำหยาบคายที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกคนผิวสี/ทาสแอฟริกัน นั่นเพราะโกโก้ ช็อกโกแลต สมัยก่อนเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากแอฟริกาสู่ยุโรปผ่านระบบทาส (Slave System)


หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างออกเดินเรื่อยเปื่อยอยู่บนท้องถนน ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)ที่สามารถพูดฝรั่งเศส แท้จริงแล้วเป็นชาว African-American อพยพมาปักหลักอาศัยอยู่ Douala, Cameroon อาสาพาขับรถไปส่งยังเป้าหมาย

ระหว่างการเดินทาง France หวนระลึกนึกถึงอดีต ค.ศ. 1957 เมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง สนิทสนมกับคนรับใช้ผิวสี อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวที่ Mindif, French Cameroon

  • บิดา Marc Dalens (รับบทโดย François Cluzet) ทำงานเป็นผู้ดูแลอาณานิคม (Colonial Administrator) มักไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ต่างๆ
  • มารดา Aimée Dalens (รับบทโดย Giulia Boschi) เพราะสามีไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงเกิดความโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หวาดกลัวต่อความเงียบงันของทวีปแอฟริกา จึงโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย
  • คนรับใช้ผิวสี Protée (รับบทโดย Isaach de Bankolé) ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบวางตัวหัวสูงส่ง แม้ตั้งใจทำงานตามคำสั่งนายจ้าง แต่ภายในเหมือนจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พยายามเก็บกด อดกลั้น ขีดเส้นแบ่งความถูกต้องเหมาะสมระหว่างชาติพันธุ์

Isaach de Bankolé ชื่อจริง Zachari Bankolé (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติ Ivorian เกิดที่ Abidjan, Ivory Coast ในครอบครัวเชื้อสาย Yoruba อพยพมาจาก Benin และ Nigeria, โตขึ้นเดินทางสู่กรุง Paris สำเร็จการศึกษาปริญญาโทฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ University of Paris, ระหว่างเข้าโรงเรียนสอนการบิน มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Gérard Vergez แนะนำให้สมัครเข้าโรงเรียนการแสดง Cours Simon, แจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Black Mic Mac (1986), Chocolat (1988), A Soldier’s Daughter Never Cries (1998), Manderlay (2005), Casino Royale (2006), Black Panther (2018) ฯ

รับบทคนรับใช้ผิวสี Protée มองผิวเหมือนเหมือนเป็นคนจงรักภักดี ปฏิบัติตามคำสั่งนายจ้างโดยไม่เคยต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นปฏิกิริยาท่าทางมักมีความกล้ำกลืน พยายามอดกลั้นฝืนทน เพราะไม่เคยมองตนเองต่ำต้อยด้อยค่ากว่าใคร พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ แต่เมื่อถูกกระทำร้ายก็พร้อมโต้ตอบเอาคืน เขาเลยต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Protée หรือ Proteus ในปรัมปรากรีกคือชื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลรุ่นเก่า หนึ่งในสมาชิก Old Man of the Sea ฟังดูอาจไม่ได้มีความเกี่ยวกับข้องอะไรกับหนัง แต่ผมอ่านเจอว่าผกก. Denis เคยทำการเปรียบเทียบทวีปแอฟริกันดั่งมหาสมุทร

I always thought of Herman Melville (ผู้แต่งนิยาย Moby Dick) as a brother in the sense of sharing his feelings of sadness, nostalgia and disappointment, the sense of having lost something. For me Africa is like the seas Melville missed so much.

Claire Denis

เกร็ด2: ผมยังเจออีกบทความหนึ่งว่าผกก. Denis ไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า Protégé (ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ ได้รับการคุ้มครอง ในวงการบันเทิงหมายถึงลูกศิษย์ เด็กฝึกงาน) มองเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม เลยตั้งชื่อตัวละคร Protée (จริงๆมันก็ไม่ได้มีความละม้ายคล้าย Protégé สักเท่าไหร่) คำเรียกของคนขาวในเชิงดูแคลนชาวผิวสี

หน้าตาอาจไม่ละม้ายคล้าย แต่หลายๆสิ่งอย่างของ Bankolé ชวนให้ผมนึกถึงโคตรนักแสดง Sidney Poitier ทั้งบุคลิกภาพ วางมาดเหมือนผู้ดี มีการศึกษา ทำตัวสุภาพบุรุษ ขณะเดียวกันยังเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด เต็มไปด้วยความอัดอั้น ขัดแย้งภายใน ใกล้ถึงเวลาปะทุระเบิดออกมา

สายตาของ Protée เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่าย สมเพศเวทนา Aimée ไม่เข้าใจความอ่อนแอ หวาดกลัวโน่นนี่นั่น พึ่งพาตนเองไม่ค่อยจะได้ แม้ถูกเธออ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสี กลับไม่มีความรู้สึกอะไรใดๆ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ปฏิเสธทำตามคำสั่ง พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ ไม่ต้องการให้ใครก้าวเลยเถิด (ยกเว้นเพียงเด็กหญิงที่ยังไร้เดียงสา) แต่ถ้าใครล่วงมาก็พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน ปฏิเสธยินยอมศิโรราบต่อผู้อื่นใด


Giulia Boschi (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Rome เป็นบุตรของพิธีกรรายการโทรทัศน์ Aba Cercato, โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละคอนเวที เข้าสู่วงการจากภาพยนตร์ Pianoforte (1984), Secrets Secrets (1985), The Sicilian (1987), Chocolat (1988), ตั้งแต่ปี 2001 เกษียณตัวจากการแสดงเพื่อทำงานแพทย์แผนจีน เขียนตำรา กลายเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ฯ

รับบท Aimée Dalens ภรรยาผู้อ่อนแอ ขลาดเขลา ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่อยู่ใหม่ เพราะรักจึงยินยอมติดตามสามีมายังดินแดนทุรกันดารห่างไกล ถึงอย่างนั้นกลับถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง(กับบุตรสาว)บ่อยครั้ง โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว กลัวความตาย เลยพยายามโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย ใกล้ตัวสุดคือคนรับใช้ผิวสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับไม่เคยแสดงความสนใจ

ตัวละครของ Boschi คือตัวแทนประเทศอาณานิคม ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง ชอบชี้นิ้วออกคำสั่ง ไม่พึงพอใจอะไรก็ใส่อารมณ์เกรี้ยวกราด แต่ทุกการแสดงออกของเธอเป็นความพยายามปกปิดด้านอ่อนแอ ขลาดเขลา หวาดกลัวความตาย ทำไมฉันต้องมาทุกข์ทรมานอยู่ยังดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้?

ไฮไลท์การแสดงก็คือปฏิกิริยาสีหน้า ท่าทาง สำหรับอ่อยเหยื่อคนใช้ผิวสี Protée นี่อาจต้องจับจ้องกันสักหน่อย เพราะเธอพยายามทำให้ไม่ประเจิดประเจ้อ เด่นชัดเจนเกินไป แต่ภาษาภาพยนตร์จะช่วยให้ผู้ชมสังเกตเห็นรายละเอียดเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น (ถ้าอ่านออกนะ) … เป็นการซ่อนเร้นที่แนบเนียน ซับซ้อน และน่าค้นหา


ถ่ายภาพโดย Robert Alazraki (เกิดปี 1944) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Casablanca, French Morocco โตขึ้นเดินทางสู่ London เข้าเรียนการถ่ายภาพ Royal College of Art หลังสำเร็จการศึกษาเดินทางสู่ฝรั่งเศส เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตภาพยนตร์ Les petites fugues (1979), Chocolat (1988), And Then There Was Light (1989), My Father’s Glory (1990), My Mother’s Castle (1990) ฯ

ผกก. Denis ไม่ได้ใคร่สนใจในทฤษฎีภาพยนตร์นัก “Film theory is just a pain in the ass!” สไตล์ของเธอให้ความสำคัญกับภาพและเสียง สำหรับสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ “I want to share something that is a vision, or a feeling.” โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราด และเศร้าโทมนัส ทำออกมาในลักษณะกวีนิพนธ์ จดบันทึกความทรงจำ (Memoir)

Anger is part of my relation to the world I’m filled with anger, I’m filled with regret, I’m filled with great memories, also poetic memories.

Claire Denis

ด้วยเหตุนี้งานภาพของหนังจึงมักตั้งกล้องบันทึกภาพ นานๆครั้งถึงมีการขยับเคลื่อนไหว ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย (แลดูคล้ายๆการถ่ายภาพนิ่ง) ถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศโดยรอบของสถานที่นั้นๆ

การตั้งกล้องบันทึกภาพ มักเลือกใช้ระยะกลาง-ไกล (Middle/Long Shot) พบเห็นอากัปกิริยา ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ไม่เน้นถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดระหว่างตัวละคร เหมือนมีช่องว่าง กำแพงที่มองไม่เห็น แบ่งแยกพวกเขาออกจากกัน


ภาพแรกของหนังตั้งกล้องถ่ายทำริมชายหาด หันออกไปทางท้องทะเล พบเห็นพ่อ-ลูกผิวสีกำลังเล่นน้ำกันอย่างสุดสนาน หลังจากจบ Opening Credit กล้องทำการแพนนิ่ง หมุนประมาณครึ่งโลก 180 องศา พบเห็นหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศส กำลังนั่งเหม่อล่องลอยอยู่ริมหาดทราย

เนื่องจากผมขี้เกียจทำไฟล์เคลื่อนไหว (GIF) ก็เลยนำสองภาพเริ่มต้น-สิ้นสุด กล้องถ่ายท้องทะเล-หันหน้าเข้าฝั่ง พ่อลูกผิวสี-หญิงสาวผิวขาว ถือเป็นสองช็อตที่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม! แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างกลาง เพียงช่องว่าง ความเหินห่าง เพราะพวกเขาต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน

นอกจากเรื่องมิตรภาพ น้ำใจไมตรี ยังสามารถสื่อถึงชนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก แทบทุกประเทศได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิอาณานิคม พวกเขาสามารถขับเคลื่อน กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง โดยไม่มีใครควบคุมครอบงำ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป!

จะว่าไปเด็กชาย (ที่มากับบิดา) ยังถือเป็นภาพสะท้อนวัยเด็กของ France สำหรับคนช่างสังเกตน่าจะพบเห็นถ้อยคำพูด กิริยาท่าทาง หลายสิ่งอย่างมีความละม้ายคล้ายคลึง

Pic de Mindif หรือ Mindif Peak หรือ Mindif Tooth ภูเขาในย่าน Maya-Kani ทางตอนเหนือสุด (Far North) ของประเทศ Cameroon ความสูงประมาณ 769 เมตร มีความโดดเด่นเป็นสง่า แต่การจะปีนป่ายถึงยอดไม่เรื่อง่าย เพราะเป็นโขดหินและมีความลาดชัน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท้าทายของนักปีนเขาใน Central และ West Africa

ละม้ายคล้ายๆ Mount Fuji ของประเทศญี่ปุ่น ยอดเขา Mindif ถือเป็นจุดศูนย์กลาง/ที่พึ่งพักพิงทางจิตใจของผู้คนละแวกนี้ มีความสูงใหญ่ ตั้งตระหง่าน จึงพบเห็นแทรกแซมหลายๆช็อตฉาก สามารถสื่อถึงผืนแผ่นดินแอฟริกาที่แม้ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดินิยม แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน ที่มีความเข้มแข็งแกร่งประดุจภูผา

ขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ Cameroon สักหน่อยก็แล้วกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) กลายเป็น German Kamerun จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18) ความพ่ายแพ้ทำให้เยอรมันล่มสลาย จักรวรรดิฝรั่งเศส (French Empire) และสหราชอาณาจักร (British Empire) แบ่งเค้กออกเป็นสองก้อนฟากฝั่งตะวันออก (French Cameroons) และฟากฝั่งตะวันตก (British Cameroons)

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1946 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาติให้ Cameroon จัดตั้งรัฐบาลปกครองกันเอง แล้วได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1960 กลายมาเป็น Republic of Cameroon จากนั้นค่อยๆกลืนกินดินแดนในส่วนสหราชอาณาจักร จนสามารถรวมประเทศได้สำเร็จวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1961

เกร็ด: แม้ชาว Cameroonese ส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่น African แต่กลับเลือกใช้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาสื่อสารทางการ

การต้องมาอาศัยอยู่ต่างที่ต่างถิ่น ต่างวิถีชีวิต ต่างวัฒนธรรม มักทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘cultural shock’ ไม่สามารถปรับตัวยินยอมรับ แสดงอาการหวาดกังวล มารดา Aimée ยามค่ำคืนหวาดกลัวเสียงไฮยีน่า ถึงขนาดต้องเรียก Protée มาเฝ้ายามในห้องนอน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัวอะไร เพราะมันคือเหตุการณ์ปกติทั่วไป อยู่ไปอยู่มาเดี๋ยวก็มักคุ้นเคยชิน

เช่นเดียวกับความตายของสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพียงยินยอมรับแล้วดำเนินชีวิตต่อไป แต่พวกคนขาวกลับเรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามหนทางของตนเอง … นี่คือลักษณะของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

เรื่องอาหารการกินของมารดา นี่ก็ชัดเจนมากๆถึงการไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามความต้องการ ฉันคือชาวฝรั่งเศสก็ต้องกินอาหารฝรั่งเศส! พอประณีประณอมได้กับอาหารอังกฤษ แต่ไม่เคยกล่าวถึงอาหารของชาวแอฟริกัน นี่เป็นการแบ่งแยกสถานะของตนเองอย่างชัดเจน

จะว่าไปขนมปังมดที่ Protée ทำให้กับเด็กหญิง France นั่นแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กยังสามารถเรียนรู้ ปรับตัว เปิดใจให้กับสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักการสร้างเส้นแบ่ง/กำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น แต่ตรงกันข้ามกับ Protée ซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนมารดา Aimée จึงพบเห็นการปฏิเสธมื้ออาหาร ทานผลไม้ได้คำหนึ่งแล้วโยนทิ้ง

Aimée ออกคำสั่งให้ Protée รูดซิปชุดเดรสด้านหลัง มองผิวเผินก็แค่การกระทำทั่วๆไป แต่ลีลาการนำเสนอของผกก. Denis ใช้กล้องแทนกระจกเงา ทำให้ดูเหมือนตัวละครหันมาสบตา (Breaking the Fourth Wall) ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน ซึ่งสามารถเทียบแทนความรู้สึกระหว่างทั้งสองขณะนี้ นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่?

ปล. เห็นภาพช็อตนี้ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Persona (1966) บุคคลสองราวกับจะกลืนกินกันและกัน

การมาถึงของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan ในขณะที่สามีออกสำรวจ ไม่อยู่บ้าน นี่แสดงถึงนัยยะเคลือบแฝง ลับลมคมใน สังเกตจากถ้อยคำพูด “I have that same felling with you Aimée” ชัดเจนว่าต้องการเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน อาศัยอยู่ดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้ มันช่างโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว โหยหาใครสักคนมาเติมเต็มความต้องการหัวใจ

ซึ่งช็อตที่ Jonathan พูดกล่าวประโยคนี้ เดิมที Aimée เหมือนกำลังเล่นหูเล่นตากับ Protée จากนั้นเขาเดินเข้ามาบดบังมิดชิด เรียกร้องความสนใจ ทำไมไม่เอาพวกเดียวกัน?

สภาพอากาศร้อนระอุ คงสร้างความลุ่มร้อนรน กระวนกระวายให้กับ Aimée เพราะยุโรปอากาศเย็นสบาย เมื่อต้องมาพบเจอแดดร้อนๆ เหงื่อไคลไหลย้อย ร่างกายจึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแอฟริกา

Aimée เป็นคนที่มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตนในชาติพันธุ์ ซึ่งความรู้สึกบางอย่างที่มีต่อกับ Protée ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ไม่ต้องการยินยอมรับ ไม่ต้องการอีกฝ่ายอยู่เคียงชิดใกล้ (เลยสั่งไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามก้าวก่ายในห้องนอน) แต่หลายๆครั้งกลับเริ่มไม่สามารถหักห้ามใจตนเอง

การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม มักนำเอาสิ่งต่างๆที่สร้างความสะดวกสบาย อย่างการอาบน้ำด้วยฝักบัว พบเห็นโดย Protée จึงทำการลอกเลียนแบบ ประดิษฐ์คิดค้นด้วยวิธีการของตนเอง … นี่แสดงถึงอิทธิพลของจักรวรรดินิยม บางสิ่งอย่างอาจไม่ได้ต้องการเผยแพร่ สงวนไว้กับตน แต่ถ้ามันก่อให้เกิดประโยชน์ ย่อมเกิดการคัทลอกเลียนแบบ

ปฏิกิริยาสีหน้าของ Protée หลังได้ยินเสียง Aimée และ France เดินผ่านมาขณะกำลังอาบน้ำ นั่นดูไม่ใช่ความอับอาย แต่รู้สึกเหมือนเสียหน้า ราวกับว่าไม่ต้องการให้นายจ้างรับรู้ว่าตนเองทำการลอกเลียนแบบฝักบัวอาบน้ำ … คงเป็นศักดิ์ศรี ทะนงตนของชาวแอฟริกัน ไม่ต้องการยินยอมรับพวกจักรวรรดินิยม แต่กลับได้รับอิทธิพล แอบทำตามหลายๆสิ่งอย่าง

จะว่าไปผมไม่เคยได้ยินตัวละครชาวฝรั่งเศสพูดภาษาแอฟริกันในหนัง! (แต่ตัวละครชาวแอฟริกันได้ยินพูดฝรั่งเศส อังกฤษ และแอฟริกัน) นั่นก็แสดงถึงความไม่สนใจใยดีที่จะเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่น ผิดกับเด็กหญิง France เล่นเกมกับ Protée ชี้นิ้วทายคำเรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งยังล้อกับตอนต้นเรื่องที่เด็กชายผิวสีเล่นทายคำแบบเดียวกันนี้กับบิดาระหว่างขับรถไปส่งหญิงสาว France

สมาชิกเครื่องบินโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ จำต้องลงจอดฉุกเฉิน ณ Mindif ประกอบด้วย

  • กัปตัน Captain Védrine
  • ต้นหน Courbassol
  • สามี Machinard เจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาประจำการยัง M’Banga และภรรยา Mireille ออกเดินทางมาแอฟริกาครั้งแรก เลยพามาท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา
    • แต่ภายหลังภรรยามีอาการปวดท้องไส้ (คาดว่าน่าจะท้องร่วง) ต้องรอคอยตอนเช้าถึงสามารถพาไปส่งโรงพยาบาล
  • Joseph Delpich เจ้าของไร่กาแฟ มาพร้อมกับแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse
    • แท้จริงแล้วเธอคนนั้นคือชู้รัก (หรือภรรยาก็ไม่รู้) ภายนอกแสดงออกแบบนาย-บ่าว แต่พออยู่ในห้องนอนก็ปรนปรนิบัติเธออย่างดี

ท่าทางลับๆล่อๆ ลุกรี้ร้อนรนของ Joseph Delpich เต็มไปด้วยลับลมคมใน พยายามใช้เงินซื้อใจชาวแอฟริกัน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่มีใครสนใจ … เอาจริงๆถ้าพูดคุยอย่างสุภาพ ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม ก็อาจได้รับความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น แต่พฤติกรรมตัวละคร ครุ่นคิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง เลยถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

และสิ่งน่าตกใจที่สุดก็คือแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse ท่าทางลับๆล่อๆในห้องครัว และพอเข้ามาห้องพักก็ยังปิดไฟมิดชิด นี่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ต้องการปกปิด แต่ไม่ว่าจะในฐานะภรรยาหรือชู้รัก การแสดงออกของ Joseph ดูไม่ให้การเคารพ เหมือนทำการบีบบังคับ ใช้อำนาจ(ทางเพศ)ควบคุมครอบงำ จำต้องทำตามคำสั่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เมื่อตอนกลางวันถูกสั่งให้ทำสนามเปตอง พบว่ามีความสนุกสนาน แปลกใหม่ ยามค่ำคืนบรรดาคนใช้จึงโยนเล่นกันอย่างสนุกสนาน … นี่คือวิธีการของลัทธิอาณานิคม นำสิ่งต่างๆมาเผยแพร่ให้กับคนท้องถิ่น บางเรื่องอาจเป็นสิ่งดี บางเรื่องก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใด ทำให้เกิดการผสมผสาน กลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรม ค่อยๆถูกกลืนกินโดยไม่รับรู้ตัว

ทั้งๆแสดงความรังเกียจ พูดคำเหยียดหยาม แต่ทว่า Luc Segalen กลับเลือกใช้ชีวิตแบบเดียวกับชาวแอฟริกัน ตั้งแต่ขุดดินทำถนน อาบน้ำนอกบ้าน รับประทานอาหารร่วมกับคนใช้ ในสายตาของ Protée เหล่านี้คือพฤติกรรมดูถูกหมิ่นแคลน บังเกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด จนในที่สุดก็มีเรื่องทะเลาะวิวาท กระทำร้ายร่างกาย สู้ไม่ได้เลยต้องหลบหนีจากไป

พฤติกรรมขัดย้อนแย้งของ Segalen น่าจะต้องการสื่อถือคนขาวไม่มีทางกลายเป็นคนผิวสี ต่อให้พยายามลอกเลียนแบบ กระทำตามทุกสิ่งอย่าง แต่สิ่งแตกต่างคือความรู้สึกนึกคิด ถ้าจิตใจยังคงปิดกั้น ไม่เปิดใจยินยอมรับ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

ขณะเดียวกันเหมือนว่า Segalen จะมีความสนใจในตัว Aimée สังเกตเห็นแววตาของเธอที่มีต่อ Protée หลายต่อหลายครั้งจึงพยายามขโมยนซีน ทำตนเองให้โดดเด่น พูดง่ายๆก็คือเรียกร้องความสนใจ … กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์เพื่อแก่งแย่งชิงหญิงสาว

Aimée นั่งหลบมุมอยู่ข้างๆประตูระหว่าง Protée กำลังปิดผ้าม่าน ทำเหมือนกำลังเฝ้ารอคอย อ่อยเหยื่อ เสร็จเมื่อไหร่ช่วยพาฉันเข้าห้องนอน แต่เขากลับฉุดกระชากให้เธอลุกขึ้นอย่างรุนแรง ปลุกตื่นจากความฝัน แล้วเดินจากไปอย่างไร้เยื่อใย ยังคงหงุดหงิดไม่พึงพอใจ เหมารวมพวกฝรั่งเศสไม่แตกต่างจาก Segalen 

จากเหตุการณ์เมื่อค่ำคืน ทำให้ Aimée เกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อ Protée ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ(ทางเพศ) จึงขอให้สามีขับไล่ ผลักไส มุมกล้องถ่ายจากภายในบ้าน ประตูทางเข้าเปิดออกพบเห็นทิวเขา Mindif Peak (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) และ Protée กำลังปัดกวาดเช็ดถู รดน้ำต้นไม้อยู่เบื้องหลัง … นี่เป็นช็อตสไตล์ Citizen Kane บุคคลผู้อยู่ภายนอก เบื้องหลัง ระยะห่างไกลออกไป ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงในการตัดสินใจใดๆ (นั่นรวมถึงช็อต Close-Up ใบหน้าสามีที่บดบังทิวทัศน์ด้านหลังมิดชิด)

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ระหว่างมารดายืนกรานว่าจะขับไล่ Protée คงสร้างความไม่พึงพอใจให้กับเด็กหญิง France ลุกขึ้นจากตัก แล้วเดินออกทางประตูหน้าบ้าน … หนังจงใจทำให้รายละเอียดตรงนี้ไม่เด่นชัดนัก เพราะให้ผู้ชมค้นพบความรู้สึกของตัวละครด้วยตนเอง

การถูกไล่ออกจากงานของ Protée ฟังดูอาจเป็นสิ่งเลวร้าย แต่เราสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำ ทำตามคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป ซึ่งเขายังมานั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ รุ่งอรุณ เช้าวันใหม่ และบทเพลงชื่อ Earth Bird (จริงๆมันควรจะ Early Bird หรือเปล่า?)

รอมฎอน คือการถือศีลอดของชาวมุสลิม (เดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม หรือระหว่างมีนาคม-เมษายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งสามารถสื่อถึงช่วงเวลาที่ชาวแอฟริกันต้องอดทน อดกลั้น จากการถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกจักรวรรดินิยม จนกระทั่ง Protée ถูกไล่ออกจากงาน เช้าวันนี้เหมือนจะสิ้นสุดเดือนรอมฏอนพอดิบดี!

มันอาจเป็นการกระทำชั่วร้ายของ Protée ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดหลังถูกนายจ้างขับไล่ออกจากงาน ด้วยการล่อหลอกเด็กสาวผู้ไม่รู้ประสีประสา จับท่อน้ำร้อน เกิดรอยไหม้บนฝ่ายมือที่ไม่มีวันเลือนหาย แต่นัยยะของแผลเป็นนี้สื่อถึงตราบาปที่จะตราฝังชั่วนิรันดร์อยู่ในความทรงจำ จิตวิญญาณชาวฝรั่งเศส รวมถึงบรรดาประเทศอาณานิคม เข้ามายึดครอบครอง เรียกร้องเอาโน่นนี่นั่น จากนั้นก็สะบัดตูดหนีหาย ใครกันแน่ที่โฉดชั่วร้าย?

เครื่องบินขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ยังต้องการจะนำเปียโนหลังใหญ่ยัดเยียดกลับไปด้วย นี่ไม่ใช่แค่ไม่รู้จักพอ ไม่ประมาณตนเอง ยังแสดงถึงพฤติกรรมกอบโกยของจักรวรรดินิยม แสวงหาผลประโยชน์ต่อประเทศอาณานิคม และพอถึงเวลาจากไป (ภายหลังการประกาศอิสรภาพ) ยังไม่ยินยอมทอดทิ้งอะไรสักสิ่งอย่างไว้

“I’m nothing here. If I died now, I’d completely disappear.”

William J. Park รับบทโดย Emmet Judson Williamson

คำกล่าวนี้อาจฟังดูหดหู่ เศร้าสร้อย น่าผิดหวัง แต่นั่นคือทัศนคติพวกชาวยุโรป+อเมริกัน โหยหาการมีตัวตน ได้รับการยินยอมรับ ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจบารมี ยศศักดิ์ศรี ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ฝากรอยเท้าไว้ในประวัติศาสตร์ กลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา

แต่สำหรับชาวแอฟริกัน ทุกคนล้วนมีความเป็นพี่น้องหนึ่งเดียวกัน เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียง เงินทอง หรือพิสูจน์การมีตัวตนว่าฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร เพราะมนุษย์ล้วนเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วัฏจักรชีวิต พบเห็นได้โดยปกติทั่วไป

สำหรับคนช่างสังเกตจะพบว่าซับไตเติ้ลมักไม่ค่อยแปลภาษาแอฟริกัน นั่นทำให้ตอนชายผิวสีอ่านลายมือของ France เหมือนจะพูดบอกอะไรสักอย่าง (เป็นภาษาแอฟริกัน) แต่กลับไม่ปรากฎคำแปล เลยไม่รู้ให้คำแนะนำอะไร แถมหนังก็ยังตัดข้าม กระโดดไปตอนเตรียมขึ้นเครื่องบินกลับฝรั่งเศส สร้างความคลุมเคลือ แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิด สรุปแล้วหญิงสาวได้เดินทางไปแวะเวียนบ้านหลังเก่าที่ Mindif หรือไม่?? นอกจากนี้การไม่สามารถอ่านลายมือ ไม่รับรู้อนาคต (ไม่ใช่ไม่มีอนาคตนะครับ) สื่อถึงอะไรก็เกิดขึ้นได้ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น เพราะหนังถ่ายภาพระยะกลาง-ไกล และจงใจไม่ให้เห็นใบหน้านักแสดงอย่างชัดเจน นั่นคือ France เหมือนจะคลาดแคล้วกับ Protée ทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร ดูออกไหมเอ่ยว่าคือคนไหน? เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพื่อสื่อถึงการปลดแอก/แยกจากระหว่าง France (สื่อได้ทั้งหญิงสาวและประเทศฝรั่งเศส) และ Protée (ที่เป็นตัวแทนชาวแอฟริกัน) ไม่ได้เป็นของกันและกันอีกต่อไป

สามพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร เข้ามาหลบฝนใต้อาคาร พูดคุยสนทนากันอย่างออกรส แต่ผู้ชมจะได้ยินเพียงสายฝนและบทเพลง African Market นี่เป็นตอนจบที่อาจขัดใจใครหลายคน ทว่าสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตน ชนชาวแอฟริกัน พวกเขาโหยหาความเรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เมื่อได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากพวกอาณานิคม จึงหวนกลับหารากเหง้า ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย

ตัดต่อโดย Monica Coleman, Claudine Merlin, Sylvie Quester

หนังเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิด Cameroon (ไม่ได้ระบุปี แต่คาดเดาไม่ยากว่าคือปัจจุบันนั้น ค.ศ. 1987-88) เคยพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง ค.ศ. 1957 ยังคงจดจำความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี Protée ตั้งแต่แรกพบเจอ และร่ำลาจากกัน

เรื่องราวในความทรงจำของ France นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึก ‘Memoir’ เพียงร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบ พบเห็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมารดา Aimée และคนรับใช้ผิวสี Protée เหมือนมีอะไรบางอย่างที่เด็กหญิงยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่

  • อารัมบท, หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)อาสาขับรถพาไปส่งยังที่หมายปลายทาง
  • France, มารดา Aimée และ Protée
    • France นั่งหลังรถกับ Protée กำลังเดินทางไปยังบ้านที่ Mindif, French Cameroon
    • บิดาเตรียมออกสำรวจ หลงเหลือเพียง France, มารดา Aimée และบรรดาคนรับใช้ผิวสี
    • กิจวัตรประจำวันเรื่อยเปื่อยของ France, มารดา Aimée และ Protée
    • ยามค่ำคืนได้ยินเสียงไฮยีน่า มารดา Aimée จึงขอให้ Protée เฝ้ายามอยู่ในห้องนอน
  • การมาเยี่ยมเยียนของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan
    • หลังกลับจากเยี่ยมเยียนบาทหลวง Aimée ร้องขอพ่อครัวให้ทำอาหารฝรั่งเศส
    • แต่แล้วก็มีแขกมาเยือนโดยไม่ได้นัดหมาย Aimée จึงต้องร้องขอให้พ่อครัวทำอาหารอังกฤษ
    • ดินเนอร์ เต้นรำ ดื่มด่ำ พอหลับนอนก็ปิดเครื่องปั่นไฟ
    • หลังผู้ว่าการชาวอังกฤษเดินทางจากไป France, มารดา Aimée และ Protée ก็หวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เฝ้ารอคอยวันที่สามีกลับบ้าน
  • การมาถึงของเครื่องบินท่องเที่ยว ลงจอดฉุกเฉิน
    • ยามเย็นพบเห็นเครื่องบินลำหนึ่งผ่านบ้านไป
    • วันถัดมาบิดาต้อนรับสมาชิกเครื่องบินลำนั้น ลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากเครื่อยนต์ขัดข้อง
    • รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
  • เรื่องวุ่นๆของ Luc Segalen
    • วันถัดมาคนงานทำถนน ซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบิน
    • ภรรยาของผู้โดยสาร ล้มป่วยอะไรสักอย่าง แต่หมอไม่สามารถรักษา ต้องรอเช้าวันถัดมาถึงสามารถเดินทางเข้าเมือง
    • หนึ่งในผู้โดยสาร Luc Segalen มีความขัดแย้งกับ Protée จนมีเรื่องทะเลาะวิวาท จนกระทั่งชกต่อย
  • การจากไปของ Protée
    • Aimée พยายามเกี้ยวพาราสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับปฏิเสธ
    • Aimée จึงขอให้สามีขับไล่ Protée
    • เครื่องบินซ่อมเสร็จ ผู้สารขึ้นเครื่องออกเดินทางกลับ
  • ปัจฉิมบท, ตัดกลับมาปัจจุบัน France เดินทางมาถึงสนามบิน เตรียมขึ้นเครื่องกลับฝรั่งเศส

การดำเนินเรื่องของหนังถือว่ามีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า (ในมุมมองของผู้ชมสมัยใหม่) แต่จุดประสงค์ของผกก. Denis ชัดเจนว่าต้องการให้ซึมซับบรรยากาศ ความสวยงามของสถานที่ วิถีชีวิตชาวแอฟริกัน (ที่ไม่ได้มีความเร่งรีบร้อนเหมือนยุโรป+อเมริกัน) รวมถึงสัมผัสความตึงเครียดระหว่างตัวละคร สร้างความปั่นป่วนมวนท้องไส้โดยไม่รู้ตัว


เพลงประกอบโดย Abdullah Ibrahim ชื่อจริง Adolph Johannes Brand (เกิดปี 1934) นักเปียโน แต่งเพลงสัญชาติ South African เกิดที่ Cape Town, South Africa มารดาเป็นนักเปียโน ทำการแสดงในโบสถ์ระหว่างพิธีมิสซา บุตรชายเลยมีความชื่นชอบ ประทับใจ ฝึกฝนร่ำเรียนดนตรีตั้งแต่ 7 ขวบ กลายเป็นมืออาชีพตอนอายุ 15 ซึมซับรับสไตล์ดนตรี Marabi, Mbaqanga และ American Jazz, อพยพย้ายสู่ยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ออกอัลบัม ทำการแสดงทัวร์ เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Chocolat (1988), No Fear, No Die (1990) ฯ

แม้ว่าผกก. Denis จะนิยมชมชอบการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ในการสร้างบรรยากาศคลอประกอบพื้นหลัง (ทั้งกลางวัน-กลางคืน จะได้ยินเสียงจิ้งหรีดเรไรอยู่ตลอดเวลา) แต่ทว่าเพลงประกอบจะช่วยเสริมกลิ่นอายความเป็นแอฟริกัน บทเพลงของ Ibrahim มีส่วนผสมของท่วงทำนองพื้นบ้าน(แอฟริกัน) + American Jazz แม้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกแทบทั้งหมด แต่กลับยังมีความเฉพาะตัวในสไตล์ดนตรีแอฟริกัน

เกร็ด: Abdullah Ibrahim ไม่ได้แค่ประพันธ์เพลงประกอบ แต่ยังเล่นเปียโน เป่าฟลุต และส่งเสียงเอื้อยแจ้ว ร่วมกับวงดนตรี Dollar Brand

บทเพลงชื่อ Pule [แปลว่า มั่งคั่ง, อุดมสมบูรณ์, เจริญรุ่งเรือง] แต่ภาพทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างเด็กหญิง France และครอบครัวขับรถพานผ่าน กลับพบเห็นแต่ความเหือดแห้งแล้ง ทุรกันดาร ถนนลูกรัง ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ … แต่นั่นอาจเฉพาะมุมมองคนขาว ชาวยุโรป ผิดกับคนแอฟริกันผิวสี ผืนแผ่นดินแห่งนี้คือบ้านเกิดเมืองนอน ย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ กระมัง?

บทเพลงชื่อ Earth Bird แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าควรจะเป็น Early Bird ที่หมายถึงอรุณรุ่ง นกที่ตื่นเช้า หลังจาก Protée ถูกไล่ออกจากงาน นั่งเหม่อมองพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนขึ้นริมขอบฟ้า เสียงขลุ่ยอาจฟังดูเศร้าสร้อย เหงาหงอย ผิดหวัง เกรี้ยวกราด แต่ขณะเดียวกันมันคือประกายความหวังสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่

African Market ดังขึ้นช่วงท้ายของหนัง ตั้งแต่หญิงสาวผิวขาวชาวฝรั่งเศสเดินทางถึงสนามบิน ดังต่อเนื่องไปจนสิ้นสุด Closing Credit ผมถือว่าบทเพลงนี้คือตัวแทนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากประทศอาณานิคม พวกเขาไม่ได้มุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยะยุโรป/อเมริกัน แต่หวนกลับหารากเหง้า เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามวิถีบรรพบุรุษ

เกร็ด: เผื่อใครอยากหารับฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ Abdullah Ibrahim ออกอัลบัมชื่อว่า Mindif (1988) มีทั้งหมด 8 บทเพลง แต่นำมาใช้จริงน่าจะไม่ถึงครึ่ง

มองอย่างผิวเผิน Chocolat (1988) คือการหวนระลึกความหลัง เรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) ช่วงเวลาวัยเด็กของผกก. Denis ระหว่างพักอาศัยอยู่ French Cameroon นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึกความทรงจำ ‘Memoir’ ร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบพบเห็น ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนรับใช้ผิวสี

แต่ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Denis ต้องการสะท้อนความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension) ระหว่างมารดา (ตัวแทนฝรั่งเศส) และคนรับใช้ผิวสี (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) กับบรรยากาศขัดแย้งระหว่างประเทศอาณานิคม (Colonialism) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ … ร่วมรักหลับนอน

When you look at the hills, beyond the houses and beyond the trees, where the earth touches the sky, that’s the horizon. Tomorrow, in the daytime, I’ll show you something. The closer you get to that line, the farther it moves. If you walk towards it, it moves away. It flees from you. I must also explain this to you. You see the line. You see it, but it doesn’t exist.

Marc Dalens

คำกล่าวของบิดาเกี่ยวกับเส้นขอบฟ้าที่ไม่มีอยู่จริง เป็นความพยายามสื่อถึงความแตกต่างระหว่างสีผิวขาว-ดำ ชาติพันธุ์ยุโรป-แอฟริกัน แต่ความจริงแล้วทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องแบ่งแยก ขีดเส้นแบ่ง สร้างกำแพงที่ไม่มีอยู่จริง เพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครอง เป็นเจ้าของ (Colonialism) นำเอาทรัพยากรมาใช้ … สุดท้ายแล้วพวกประเทศหมาอำนาจเหล่านั้น สักวันย่อมต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป (ใจความ Anti-Colonialism)

ในบรรดาผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด ผมค่อนข้างรู้สึกว่า Chocolat (1988) มีความใกล้ตัว ใกล้หัวใจ และใกล้จิตวิญญาณผกก. Denis มากที่สุดแล้ว! ถ้าไม่นับรวม Beau Travail (1999) ก็อาจจะคือ Chocolat (1988) คือผลงานยอดเยี่ยมรองลงมา … เป็นเรื่องที่น่าติดอันดับ Sight & Sound มากกว่า Je tu il elle (1975) ของ Chantal Akerman เสียอีกนะ!


ผกก. Denis ต่อรองค่าจ้าง 200,000 ฟรังก์ (จากทุน 1.3 ล้านฟรังก์) โดยไม่เรียกร้องขอส่วนแบ่งใดๆ เพราะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องแรกมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำกำไร แต่ด้วยยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 793,738 ใบ ประมาณการรายรับ $2.3 ล้านเหรียญ เห็นว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน! … จนกระทั่ง Let the Sunshine In (2017) ทำเงินได้ $4.2 ล้านเหรียญ (แต่กำไรน่าจะน้อยกว่านะ)

เมื่อปี ค.ศ. 2022 หนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K โดย Éclair labs ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Claire Denis และตากล้อง Robert Alazraki สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง BFI Video (ผมพบเห็นใน Criterion Channel แต่เหมือนคุณภาพแค่ HD และยังไม่มีจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray)

ในตอนแรกมีความหวาดหวั่นต่อผลงานของผกก. Claire Denis เพราะความทรงจำต่อ Beau Travail (1999) เป็นหนังดูยากฉะมัด! แต่พอได้รับชม Chocolat (1988) ก็ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง พบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ ลูกเล่นความสนใจ ลุ่มลึก ท้าทาย เอร็ดอร่อย รสชาดถูกปากมากๆ

เอาจริงๆผมก็อยากหาผลงานอื่นๆของผกก. Denis มารับเชยชมอีก แต่น่าเสียดายค่อนข้างจะหาดูยากพอสมควร เลยเลือกเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจอีกแค่สองสามเรื่อง แล้วจะได้แวะเวียนสู่ African Film ที่หลายคนเรียกร้องเสียเหลือเกิน

จัดเรต pg กับบรรยากาศเหงาๆ วังเวง ความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension)

คำโปรย | Chocolat ของผู้กำกับ Claire Denis มีความงดงาม ตึงเครียด รสชาดเอร็ดอร่อยสำหรับผู้ที่สามารถลิ้มลองชิม
คุณภาพ | ช็
ส่วนตัว | เอร็ดอร่อย

ใส่ความเห็น