Kárhozat (1988)


Damnation (1988) Hungarian : Béla Tarr ♥♥♥♥

เมื่อไหร่ที่มีใครเห่าหอนแข่งกับสุนัข นั่นคือการละทอดทิ้งความเป็นคน (humanity) ถือเป็นจุดตกต่ำสุดแห่งมวลมนุษยชาติ โลกยุคสมัยนี้-นั้น ยุโรปตะวันออก สภาพของประเทศฮังการี ราวกับถูกสาปแช่งให้ตกนรกทั้งเป็น ภายหลังวันสิ้นโลกาวินาศ

ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าเรามีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างวันสิ้นโลก โลกาวินาศ (หรือนึกถึงเรือ Titanik ที่กำลังอัปปาง แล้วไม่หลงเหลือหนทางรอดชีวิต) คงไม่มีใครอยากกระตือรือล้น เพราะต่อให้ดิ้นรนก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด เพียงนั่งทอดถอนลมหายใจ เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ปล่อยทิ้งขว้างวันเวลา เต็มไปด้วยความหมดสิ้นหวัง เพศสัมพันธ์ยังรู้สึกน่าเบื่อหน่าย ไม่รู้เมื่อไหร่จะตกตายให้จบๆสิ้นเสียที

นั่นคือความรู้สึกของผู้กำกับ Béla Tarr ต่อสภาพประเทศฮังการียุคสมัยนั้น แม้จะเป็นช่วงปีท้ายๆภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่มันก็แทบหมดสูญสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง!

I have a hope, if you watch this film and you understand something about our life, about what is happening in middle Europe, how we are living there, in a kind of edge of the world.

Béla Tarr

ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจความรู้สึกดังกล่าว ก็น่าจะพออดรนทนต่อบรรยากาศ/วิธีนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนอย่างเชื่องช้า ไม่ก็แช่ภาพค้างไว้นานๆ Long Take ระยะ Long Shot ตัวละครมักเหม่อล่องลอย (การถ่ายภาพก็เช่นกัน เคลื่อนเลื่อนไปไหนก็ไม่รู้) น้อยครั้งจะเอ่ยปากพูดคุยสนทนา (ถ้าเป็นเรื่องสำคัญๆจักใช้ระยะ Close-Up จับจ้องใบหน้า) แล้วทุกสิ่งอย่างมักเวียนวน 360 องศา เพื่อสื่อว่า ณ จุดสูงสุดต้องหวนกลับสู่สามัญ

Damnation (1988) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผู้กำกับ Tarr พัฒนาลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ จนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (บางคนอาจนับตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) ที่ก็เต็มไปด้วย ‘สไตล์ Tarr’ เพียงแค่ถ่ายทำภายในอพาร์ทเม้นท์ เลยไม่ได้พบเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติภายนอก) ขอเตือนไว้ก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนจักสามารถอดรนทน ผมเองก็เต็มไปด้วยข้อคำถามระหว่างรับชม ทำไมต้องปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน? ตัวละครเดินผ่านไปแล้วยังแช่ภาพทิ้งไว้ทำไม? เคลื่อนเลื่อนกล้องแบบนี้ต้องการสื่ออะไร? แต่ปริศนาทั้งหมดถูกไขข้อกระจ่างจากคำกล่าวของตัวละครหนึ่งในหนัง … ราวกับคำพูดออกจากปากผู้กำกับ Tarr ตรงๆเลยละ!

I like the rain. I like to watch the water run down the window. It always calms me down. I don’t think about anything. I just watch the rain. I’m not attached to anything anymore.

นักร้องไร้นาม

Béla Tarr (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Pécs แล้วมาเติบโตยัง Budapest, บิดาเป็นนักออกแบบฉากพื้นหลัง มารดาทำงานนักบอกบท (Prompter) ในโรงละครเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่เด็กมีโอกาสวิ่งเล่น รับรู้จักโปรดักชั่นละครเวที ตอนอายุ 10 ขวบ ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ ก่อนค้นพบว่าตนเองไม่มีความชื่นชอบ(ด้านการแสดง)สักเท่าไหร่ ตั้งใจอยากเป็นนักปรัชญา แต่เมื่ออายุ 16 หลังจากสรรค์สร้างสารคดีสั้น 8mm ไปเข้าตาสตูดิโอ Béla Balázs Studios ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฮังการี สั่งห้ามเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อบีบบังคับให้เขาเลือกสายอาชีพผู้กำกับ (ตอนนั้นก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เพราะภาพยนตร์คือสิ่งที่ตนเองชื่นชอบหลงใหลอยู่แล้ว)

ผลงานช่วงแรกๆของผู้กำกับ Tarr ยึดถือตามแบบอย่าง ‘Budapest School’ ประกอบด้วย Family Nest (1979), The Outsider (1981), The Prefab People (1982) มีลักษณะ Social Realism แฝงการวิพากย์วิจารณ์การเมือง นำเสนอสภาพความจริงของประเทศฮังการียุคสมัยนั้น นักวิจารณ์ทำการเปรียบเทียบ John Cassavetes แต่เจ้าตัวบอกไม่รับรู้จักใครคนนี้ด้วยซ้ำ

ความสิ้นหวังต่อสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Hungarian People’s Republic ทำให้ผู้กำกับ Tarr ตัดสินใจละทอดทิ้งแนวทาง ‘social realism’ หันมาสรรค์สร้างผลงานที่เป็นการสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา เพื่อนำเสนอความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไม่ต่างไปจากวันสิ้นโลกาวินาศ เริ่มตั้งแต่ Almanac of Fall (1984), แล้วพัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ Damnation (1988), กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซ Sátántangó (1994), Werckmeister Harmonies (2000), The Man from London (2007) และ The Turin Horse (2011)

เมื่อปี 1985, ผู้กำกับ Tarr มีโอกาสรับรู้จัก László Krasznahorkai (เกิดปี 1954) นักเขียนนวนิยายชาว Hungarian เจ้าของผลงานขายดี Sátántangó (1985) ทีแรกตั้งใจจะดัดแปลงเรื่องนี้แต่ถูกโปรดิวเซอร์ทัดทานไว้ก่อน (เพราะสถานการณ์การเมืองในประเทศขณะนั้นมีความตึงเครียดอย่างรุนแรง) ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็พูดคุยกันถูกคอ มองโลก/ฮังการีด้วยแง่มุมคล้ายๆกัน เลยร่วมพัฒนาบท Damnation (1988) ไปจนถึงผลงานเรื่องสุดท้าย

แซว: นวนิยาย Sátántangó (1985) เลื่องลือชาในการใช้คำบรรยายที่เยิ่นยาววว กว่าจะพบเจอจุด full stop (.) บางทีผ่านไปหลายสิบหน้ากระดาษ จบบทก็ยังไม่จบสิ้น (จนมีนักวิจารณ์วรรณกรรมเขียนแซวว่า “The world goes on, so the sentence”) … ไม่แปลกใจเลยที่ผู้กำกับ Tarr จะเข้ากันได้ดีกับ Krasznahorkai

We wanted to make Sátántangó in 1985 but at that time the Communist Party in Budapest stopped a lot of things. It just wasn’t possible.

Béla Tarr

ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ มักแช่ค้างภาพไว้นานๆ Long Take ระยะ Long Shot (แต่เวลาตัวละครสนทนาอย่างออกรสจะใช้ระยะภาพ Close-Up) มีการขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องชักช้า ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ สลับสับเปลี่ยนมุมมอง บางครั้งก็หมุนเวียนวงกลม 360 องศา ซึ่งพอเหตุการณ์ในซีนนั้นๆจบลงจะปล่อยทิ้งภาพสักระยะ (สร้างความรู้สึกเหมือนจะมีอะไรต่อ แต่ก็ไม่เคยเห็นมีอะไร)

โดยเนื้อหาสาระมักเกี่ยวกับการสูญเสีย ท้อแท้สิ้นหวัง ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้ (หรือคือประเทศฮังการี) แต่กลับมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง สร้างบรรยากาศสังคมเสื่อมโทรม ราวกับวันสิ้นโลกาวินาศ ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรต่อจากนี้ (ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ทุกสิ่งอย่างจักเวียนมาบรรจบเหมือนไม่มีเคยสิ่งใดๆบังเกิดขึ้น)

I despise stories, as they mislead people into believing that something has happened. In fact, nothing really happens as we flee from one condition to another … All that remains is time. This is probably the only thing that’s still genuine — time itself; the years, days, hours, minutes and seconds.

Béla Tarr

ณ ชุมชนเหมืองแร่แห่งหนึ่ง นำเสนอเรื่องราวของชายวัยกลางคน Karrer (รับบทโดย Miklós B. Székely) ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย ท่องเที่ยวไปตามผับบาร์ห้าแห่งในหนึ่งค่ำคืน เพราะตกหลุมรักนักร้องสาว (รับบทโดย Vali Kerekes) ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครองคู่อยู่ร่วม แต่เธอกลับแต่งงานอาศัยอยู่กินกับชายอื่น Sebestyén (รับบทโดย György Cserhalmi) แถมมีบุตรร่วมกันถึงสองคน

วันหนึ่ง Karrer ได้รับข้อเสนอจากเจ้าของบาร์ Willarsky (รับบทโดย Gyula Pauer) ชักชวนให้ลักลอบขนสิ่งของผิดกฎหมาย แม้เขาตอบปัดปฏิเสธแต่ก็ครุ่นคิดแผนการ โน้มน้าวชักชวน Sebestyén ให้ตอบรับงานดังกล่าว เพื่อว่าตนเองจะได้ใช้เวลาที่เขาไม่อยู่ แอบสานสัมพันธ์ชู้สาวกับเธอ

แต่ก็เพียงไม่กี่วันที่ Karrer มีโอกาสร่วมรักหลับนอนกับหญิงสาว เพราะเมื่อสามีเธอเดินทางกลับมา ทุกสิ่งอย่างก็หวนกลับเป็นเหมือนดังเดิม นั่นสร้างความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก แถมถูกทรยศหักหลังจากพวกพ้อง เลยโต้ตอบกลับ แล้วเห่าแข่งกับสุนัขข้างถนน สูญเสียสภาพความเป็นคน ไม่ต่างจากเศษขยะเกลื่อนกลาดข้างถนน


Miklós B. Székely (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest มีผลงานทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ ได้รับการจดจำจากการเป็นหนึ่งในขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ตั้งแต่ Almanac of Fall (1984), Damnation (1987), Sátántangó (1994) ฯลฯ

รับบท Karrer ชายวัยกลางคนผู้มีสีหน้าเหน็ดเหนื่อยหน่าย ดำเนินชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย ความต้องการขณะนี้สนเพียงครอบครองรักนักร้องสาวประจำบาร์ Titanik ถึงขนาดครุ่นคิดแผนการให้สามีของเธอ Sebestyén รับงานลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย แต่ช่วงเวลาที่ร่วมรักหลับนอนกับหญิงสาวนั้นช่างจืดชืด เฉื่อยชา เหมือนไม่ได้มีอารมณ์ร่วมใดๆ แถมยังถูกทรยศหักหลัง สุดท้ายเลยรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง หมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์สืบไป

จากเคยเป็นแมงดา/นักวางแผนใน Almanac of Fall (1984) มาเรื่องนี้ก็ได้รับบทบาทคล้ายๆเดิม ยังคงชอบสอดแนมแอบถ้ำมอง (Stalker) นั่นเพราะรูปลักษณ์ของ Székely เป็นคนมีความลึกลับลมคมใน ใบหน้านิ่งๆ เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น แต่สังเกตจากปฏิกิริยาสีหน้าก็พอรับรู้สึกว่ามีความเบื่อหน่ายต่อชีวิต โหยหาบางสิ่งอย่าง ต้องการใครสักคน/หญิงสาวคนรักสำหรับพึ่งพักพิง

โดยปกติผลงานของศิลปินภาพยนตร์ ‘autuer’ ตัวละครหลักมักคืออวตารของผู้กำกับ แต่ดูไปดูมารู้สึกไม่น่าจะใช่ (เพราะมีตัวละครอื่นที่เหมือนพูดออกมาจากปากผู้กำกับ Tarr เสียมากกว่า!) ผมครุ่นคิดว่า Karrer น่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนชาวฮังกาเรียน ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ได้รับการปฏิบัติราวกับสรรพสัตว์ แทบจะสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ ชีวิตดำเนินไปอย่างล่องลอยไร้จุดมุ่งหมาย


Valéria Kerekes (เกิดปี 1953) เกิดที่ Vojlovica, Yugoslavia (ปัจจุบันคือ Serbia) สำเร็จการศึกษาจาก Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) แล้วไปแจ้งเกิดโด่งดังจากวงการละครเวที มีผลงานภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น Damnation (1988)

ในเครดิตขึ้นว่านักร้องสาว (ไม่ระบุชื่อ) เป็นคนมีความทะเยอทะยาน ต้องการชื่อเสียง เงินทอง พร้อมตะเกียกตะกายสู่ความสำเร็จ แม้แต่งงานมีบุตรถึงสองคนก็ยังแอบคบชู้ ร่วมรักหลับนอนกับ Karrer ขอแค่มีโอกาสเมื่อไหร่ก็พร้อมละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง (รวมถึงชายคนรัก) เพื่อเติมเต็มตัณหาราคะ สนองความเพ้อใฝ่ฝัน สักวันฉันจะะออกไปจากสถานที่โกโรโกโสแห่งนี้

That woman is… a leech. She’s a bottomless swamp … who sucks you in and swallows you up. That’s the sad end of it all, son.

ผู้หญิงห้องรับฝากของ

ถึงสารขัณฑ์จะเลวร้ายสักเพียงใด ผมก็ไม่ถึงขั้นด่าทอชาติบ้านเกิดตนเองเหมือนผู้กำกับ Tarr ผ่านคำพูดประโยคนี้ ไม่ใช่แค่อธิบายธาตุแท้ตัวตนของนักร้องสาว แต่เพราะเธอสามารถเทียบแทนดินแดนมาตุภูมิ ประเทศฮังการีภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (คนละความหมายกับตัวละคร Karrer ที่คือตัวแทน’ประชาชน’ชาวฮังกาเรียน) … สภาพเหมือนหนองน้ำไร้ก้นเบื้อง คอยดึงดูดซึมจนไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง หรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์

การแสดงของ Kerekes มีความเบื่อหน่ายแบบสิ้นโลก ตาลอยๆ ชอบทำคอเอียงๆ (คงขี้เกียจตั้งให้ตรง) ไร้ความกระตือรือล้น อารมณ์ร่วมต่อสิ่งใด (โดยเฉพาะเพศสัมพันธ์) เพียงต้องการให้วันเวลาผ่านไป คาดหวังจะพบเจอใครสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน … แต่บุคคลนั้นไม่ใช่ Karrer อย่างแน่นอน จึงแค่ตอบสนองตัณหา เสร็จกามกิจก็ขับไล่ผลักไส ไร้เยื่อใยความสัมพันธ์ใดๆทั้งนั้น!


Hédi Temessy ชื่อจริง Hedvig Temesi (1925 – 2001) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest มารดาเป็นชาวเยอรมัน ส่วนบิดาเป็นชาวฝรั่งเศส (เธอเลยสื่อสารได้ทั้งสองภาษา), ตอนแรกตั้งใจจะเป็นครู แต่หลังสำเร็จการศึกษาเข้าเรียนต่อด้านการแสดงยัง Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) จากนั้นกลายเป็นสมาชิก Youth Theater ตามด้วย Petőfi Theater พร้อมๆรับงานภาพยนตร์เรื่องแรก Strange Marriage (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ A pénzcsináló (1964), A Strange Role (1976), The Vulture (1982), The Revolt of Job (1983), Almanac of Fall (1984), Damnation (1988), Film… (2000) ฯลฯ

ในเครดิตขึ้นว่ารับบทผู้หญิงห้องรับฝากของ (Cloakroom woman) แต่ตัวตนของเธอราวกับอวตารพระเป็นเจ้า เมื่อพบเจอมักพูดให้สาระข้อคิดบางอย่างแก่ Karrer เกี่ยวกับสันดานธาตุแท้นักร้องสาว คำพิพากษาวันสิ้นโลก (เหมือนต้องการหยุดยับยั้งไม่ให้เขากระทำสิ่งผิดต่อหลักศีลธรรม) และนัยยะของการเต้นรำ ปลดปล่อยจิตวิญญาณสู่เสรีภาพ

ทีแรกผมไม่ได้เอะใจหรอกนะว่าตัวละครนี้มีความพิเศษเหนือธรรมชาติอะไร (จะมองว่าเป็นหญิงสาวสูงวัยพานผ่านโลกมามาก) จนกระทั่งสังเกตเห็นการก้าวเดินออกมาจากหมอกควัน (ใน Sátántangó (1994) จะมีฉากที่เมื่อหมอกควันพัดผ่านไป ราวกับพบเห็นสรวงสวรรค์ของพระเป็นเจ้า) แถมขณะนั้นเธอยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพิพากษาวันสิ้นโลก และจบลงประโยคด้วย “Then they shall know… that I am the Lord”. มันช่างน่าสงสัยทีเดียว

เอาจริงๆผมก็อดไม่ได้จะนึกถึง Almanac of Fall (1984) เพราะตัวละครของ Temessy มักพูดคุยสนทนา รับฟังคำปรึกษาจากตัวละครของ Székely มาเรื่องนี้ราวกับอีกชาติภพใหม่ เหมือนเธอยังคงความรู้สึกดีๆ จึงพยายามโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา อยากให้เขาเลือกดำเนินชีวิตในทิศทางถูกต้องเหมาะสม … จะว่าไปถ้า Karrer ยินยอมทำตามคำแนะนำทั้งหมด ตอนจบคงไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ เห่าแข่งกับสุนัขหรอกนะ


ถ่ายภาพโดย Gábor Medvigy (เกิดปี 1957) สัญชาติ Hungarian สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) แจ้งเกิดทันทีเมื่อร่วมงานผู้กำกับ Béla Tarr ถึงสามเรื่อง Damnation (1988), Sátántangó (1994) และ Werckmeister Harmonies (2000)

การเปรียบเทียบที่ทำให้ผมเข้าใจลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ คือความพยายามทำให้การดำเนินเรื่องละม้ายคล้ายนวนิยาย! ลองนึกถึงเวลาอ่านหนังสือ ก่อนนำเข้า-สิ้นสุดเนื้อเรื่องราวหลักๆ มักเต็มไปด้วยถ้อยคำพรรณา บรรยายรายละเอียดหลายย่อหน้า แต่ภาพยนตร์สามารถใช้ภาพๆเดียวอธิบายทุกสิ่งอย่าง วิธีการของผู้กำกับ Tarr จึงเริ่มต้นด้วยช็อตเกริ่นนำ (คล้ายๆแนวคิด Establishing Shot) จากนั้นค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้าหาเหตุการณ์อย่างเชื่องชักช้า หรือตัวละครย่างก้าวเดินเข้าสู่ฉากอย่างใจเย็น ซึ่งเมื่อรายละเอียดในซีนนั้นจบสิ้นลงก็หยุดนิ่งแช่ภาพค้างไว้ หรือดำเนินต่อไปยังสิ่งสุดท้ายที่ต้องการให้พบเห็น (สามารถครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์) แล้วค่อยตัดสู่ซีเคว้นซ์ถัดไป

ถ้าทำความเข้าใจด้วยเหตุด้วยผล การขยับเคลื่อนเลื่อนกล้องอย่างช้าๆ หรือแช่ภาพค้างไว้นานๆ ก็เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมสัมผัสถึงวิถีชีวิตดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อย น่าเบื่อหน่าย เหมือนจะไร้จุดหมาย (แต่นั่นคือความตั้งใจของผู้กำกับ!) สามารถเทียบแทนมุมมองสายตาที่มักเหม่อล่อยลอย แล้วค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละน้อยๆ บางครั้งค่อยไปเฉลยเอาภายหลังเมื่อนำเสนออีกมุมมองที่มีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม

เกร็ด: หนังมีความยาวเฉลี่ยต่อช็อต Average Shot Length (ASL) 116.7 วินาที มากกว่าเกือบๆสองเท่าของ Alamanac of Fall (1985) ที่เพียง 57.2 วินาที แต่ก็น้อยกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับสามผลงานสุดท้ายที่ล้วนยาวเกินกว่า 210+ วินาที

ผมพยายามมองหาว่าหนังถ่ายทำยังสถานที่แห่งหนไหน ก็ไม่พบเจอรายละเอียดใดๆ แต่มีนักวิจารณ์สมัยนั้นแสดความคิดเห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่สภาพของฮังการี แต่สามารถเหมารวมกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก (Eastern Bloc) ที่ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์/พันธมิตรสหภาพโซเวียต ล้วนเต็มไปด้วยบรรยากาศอันสิ้นหวัง ราวกับวันสิ้นโลกแบบนี้แหละ!

In all our movies, the location has a face. It looks like an actor… In the beginning, we were just talking about social conflicts, and then we were opening, opening, opening. Now we had to show the landscape and the time…

When we did location scouting [for Damnation] we kept seeing the cable cars. It was awful weather, we were very poor and just trying to do something, but one thing was sure—the cable cars kept going. The most important part of these movies is mostly the location—you have to go and find the visual elements, something which is real.

Béla Tarr

กระเช้าขนส่งบรรทุกอะไรก็ไม่รู้ (ก้อนแร่, ถ่านหิน ฯ) กำลังขับเคลื่อนดำเนินไป เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา เหมือนดั่งชีวิตที่ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง แต่เมื่อกล้องค่อยๆขยับเลื่อนถอยหลัง มาจนศีรษะของ Karrer บดบังหน้าต่างฝั่งกระเช้าขนส่ง หลงเหลือเพียงด้านเนินเขา(น่าจะคือสถานที่ขุดเหมืองแร่) สามารถสื่อถึงความไร้ชีวิตของตัวละคร ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด อีกไม่นานจักสูญสิ้นความเป็นมนุษย์

บ่อยครั้งที่หนังจะเริ่มต้น-สิ้นสุด ด้วยภาพผนังกำแพงที่มีลวดลาย (Texture) แทนเปลือกภายนอกของมนุษย์ สังคม ประเทศฮังการี (และโลกใบนี้) ซึ่งพอกล้องเคลื่อนเลื่อนมาพบเห็น Karrer กำลังโกนหนวดเครา แต่ปลายมีดโกนกลับพยายามบดบัง บิดเบือน (แสร้งว่ามองไม่เห็นปัญหา) และถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามีดอันนี้ไม่ได้มีความแหลมคมเลยสักนิด! พยายามถูกๆถากๆ แต่ก็ไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น … แล้วจะโกนทำพรือ!

การโกนหนวดก็เพื่อจะสะท้อนปัญหา’ภายนอก’ในสังคม ประเทศฮังการี เป็นสิ่งที่หมดสิ้นหวัง ไร้หนทางออก ทำอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด ทุกสิ่งอย่างล้วนเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น (คือไม่สามารถแก้ปัญหา ไม่อาจปรับเปลี่ยนแปลงอะไร ตราบใดที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังคงปกครองประเทศ) แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป … ใครเคยรับชม Almanac of Fall (1984) ก็น่าจะเข้าใจนัยยะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

มาถึงจุดนี้ผู้ชมน่าจะพอตระหนักได้แล้วว่า ภาพแรกของแต่ละซีเควนซ์มักมีลักษณะเป็นการเกริ่นนำก่อนเข้าเคลื่อนเลื่อนสู่เนื้อหาหลักๆ ลักษณะคล้าย Establishing Shot เพื่อสร้างบรรยากาศ แนะนำสถานที่ หรืออาจแฝงนัยยะอะไรบางอย่าง ช็อตนี้คือแก้วน้ำวางซ้อนเรียงราย เริ่มต้นย่อมสงสัยว่าจะสื่อถึงอะไร แต่พอได้ยินเสียงตัวละครพูดว่า

You visit five lousy bars a day.

นั่นคือความหมายของแก้วน้ำที่วางเรียงราย แทนบาร์ห้าแห่งที่ตัวละครเข้าใช้บริการในหนึ่งวัน! จากนั้นกล้องเคลื่อนเลื่อนมาทางซ้าย (ในยุโรปจะถือว่าคือทิศทางย้อนศร สวนทางกับวิถีชีวิตโดยปกติ) พบเห็นไอน้ำโพยพุ่งออกมาบดบัง Karrer สามารถสื่อถึงความลุ่มร้อนทรวงใน จิตใจโหยหาใครสักคน/หญิงสาวที่สามารถเป็นที่พักพิงกายใจ

ระหว่างที่ Willarsky ยื่นข้อเสนองานพิเศษกับ Karrer จะมีการตัดมาภาพมุมกว้างที่สามารถพบเห็นคนเล่นหีบเพลง (Accordion) และโต๊ะสนุกเกอร์/บิลเลียต อย่างหลังน่าจะเป็นการเปรียบเทียบถึงลักษณะของงาน เพราะต้องแทงลูกขาวให้ถูกลูกสีลงหลุม หรือคือเจ้าของบาร์ต้องการผู้ช่วยลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย

แม้ว่า Karrer จะตอบปัดปฏิเสธไม่รับงานดังกล่าว แต่เขาก็บังเกิดความครุ่นคิด แผนการบางอย่าง ซึ่งกล้องจะค่อยๆเคลื่อนเลื่อนอย่างช้าๆ เพื่อถ่ายให้ติดประตูทางออกด้านหลังอย่างแนบเนียน (สัญลักษณ์ทางออกของงานดังกล่าว)

ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ ประกอบด้วยภาพขาว-ดำ บรรยากาศทะมึนๆ บ่อยครั้งฝนตกพรำ พื้นเปียกแฉะ เต็มไปด้วยโคลนเลน หมอกควัน และสรรพสัตว์ไม่ต่างจากมวลมนุษย์ (สำหรับ Damnation (1988) จะเน้นกับฝูงสุนัข = มนุษย์)

ผมมีความอึ้งทึ่งต่อฝูงสุนัขในหนังมากๆ ชอบเข้ามาด้อมๆมองๆ วิ่งผ่านหน้ากล้อง เหมือนทีมงานโปรยเศษอาหารทิ้งไว้ เพื่อให้พวกมันสามารถดำเนินเดินตามทิศทางที่ต้องการ … มันทำได้ขนาดนั้นเชียวเหรอ!

titanki bar แค่ชื่อผมก็รู้สึกว่าสิ้นหวังแล้วนะ (แทบทุกคนน่าจะระลึกถึงภาพยนตร์ Titanic (1997)) แน่นอนว่าต้องการล้อถึงเรือ RMS Titanic ที่อัปปางลงเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ถือเป็นเหตุการณ์โศกนาฎกรรมทางน้ำครั้งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษย์ชาติ! สามารถสื่อถึงใครก็ตามเข้ามาในบาร์แห่งนี้/ประเทศฮังการี จักทำให้ชีวิตราวกับจมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร ไม่สามารถตะเกียกตะกายหวนกลับขึ้นมา

ซีเควนซ์ภายใน Titanik Bar ถือว่ามีความน่ามหัศจรรย์มากๆ เพราะเป็นการถ่ายทำแบบ Long Take เดียว! ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเก็บบรรยากาศโดยรอบ ซึ่งจะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด (จัดแสง Low Key) และเมื่อดำเนินมาถึง Karrer กล้องจะหมุนไปด้านหลังแล้วพบเห็นนักร้องสาว (ที่ชื่นชอบ) ดูราวกับเธอคือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง (สำหรับทำลายความมืดมิดที่อยู่ภายในจิตใจ)

การถ่ายทำ Long Take ของซีเควนซ์นี้ก็เพื่อสร้างความรู้สึกล่องลอย(อย่างต่อเนื่อง)ไปกับบทเพลง Kész az egész ซึ่งสร้างบรรยากาศหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ตัวประกอบส่วนใหญ่ยืนนั่งอยู่นิ่งๆ แทบจะไม่ขยับเคลื่อนไหวติง (แอบระลึกถึงผลงานของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder อยู่เล็กๆ) เหมือนกำลังจมอยู่ใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร Titanik สมชื่อบาร์จริงๆ

เห็นหญิงสาวเปลือยหน้าอก แสดงว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะคือห้องแต่งตัวหลังเวที ที่ซึ่ง Karrer พยายามโน้มน้าว Sebestyén ให้ตอบรับงานลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย (นัยยะเหมือนว่า Karrer พยายามแต่งตัว/กำหนดแผนการชีวิตให้อีกฝ่าย)

และสังเกตว่านักร้องสาวยืนอยู่ระหว่าง Karrer กับ Sebestyén ไม่ใช่ว่าเธอคือคนกลาง (ที่หมายถึงบุคคลติดต่อประสานงาน) แต่สะท้อนความสัมพันธ์รักสามเส้า (Love Triangle) ได้หมดถ้าสดชื่น!

ระหว่างที่ Sebestyén ไปพูดคุยงานกับเจ้าของบาร์ Willarsky ทำให้ Karrer มีโอกาสพูดคุยรับฟังคำสนทนาของหญิงสาวที่เขาตกหลุมรัก แต่ไม่รู้ทำไมสิ่งที่ผมได้ยินราวกับคำพูดออกมาจากปากผู้กำกับ Tarr

I like the rain. I like to watch the water run down the window. It always calms me down. I don’t think about anything. I just watch the rain. I’m not attached to anything anymore. I don’t depend on anyone.

ตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) ต่อด้วย Damnation (1988) รวมถึง Sátántangó (1994) ล้วนเต็มไปด้วยคำพร่ำบ่นของตัวละคร/ผู้กำกับ Tarr แสดงความต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้/ประเทศฮังการี เพื่อชื่อเสียง ความสำเร็จ ผลงานได้รับการยินยอมรับในระดับนานาชาติ

I’m going to leave. Because nothing is stable here. I can’t trust anyone. I know that I’m alone. I know it well. But I can’t give up… and I won’t give up. Big city audiences will applaud me. I’ll be a winner. I don’t let other people drag me down. One must return to beauty. Rediscover life again. The joy of great things. The taste of victory and success.

แต่เหมือนมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้งเอาไว้ ทำให้ยังไม่สามารถดิ้นหลบหนีออกไปจากสถานที่แห่งนี้

And that’s where you’ve failed. Because you’ve given up. You’ve killed the love and decency in yourself. Things will end badly for you. Because one cannot live without love … and decency.

ผู้กำกับ Tarr ถือว่ามีความนิยมรูปแบบ (Formalism) ที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการนำเสนอ (Form) ที่สอดคล้องแนวคิดผู้สร้าง มากกว่าเนื้อหาสาระ (Content) สังเกตว่าการดำเนินเรื่องจะมีลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้น-สิ้นสุดเวียนวน 360 องศา หลายๆฉากก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ทางภาษาภาพยนตร์ อย่างสองช็อตนี้ที่อยู่คนละเวลา แต่มีทิศทางกลับตารปัตร แอบจับจ้อง(ถ้ำ)มองคนละฟากฝั่ง Karrer รอคอยเวลาที่ Sebestyén ขับรถจากไป เพื่อแอบขึ้นอพาร์ทเมนท์นักร้องสาว

ผมอยากให้สังเกตการดำเนินเข้ามาของผู้หญิงห้องรับฝากของ (Cloakroom woman) ก้าวจากบริเวณที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกควันหนาทึบ (และมาพร้อมกับฝูงสุนัข/บริพารรับใช้) คือมันมีความผิดปกติ เหนือธรรมชาติยิ่งนัก! แถมพอเธอมาถึงก็ใช้ร่มพยายามบดบัง Karrer ไม่ให้พบเห็นความเป็นไปเบื้องหลัง เอ่ยถ้อยคำจากคัมภีร์ไบเบิ้ล (Old Testament) ถึงการพิพากษาวันสิ้นโลก เหมือนต้องการย้ำเตือนสติไม่ให้เขาหลงระเริงไปกับโอกาสในครั้งนี้ … แต่ทั้งตัวละครและมุมกล้องที่ค่อยๆเคลื่อนไปด้านหลัง ล้วนแสดงถึงความไม่สนใจอยากรับฟังสักเท่าไหร่

ในห้องของนักร้องสาวก็มีหน้าต่างที่สามารถมองเห็นกระเช้าขนส่ง แต่ทิศทางนั้นอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับตอนต้นเรื่อง/ห้องของ Karrer ที่พบเห็นเหมือง ครานี้คือโรงงานถลุงแร่ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายปลายทางของการขนส่ง (สามารถแทนถึงความปรารถนาสูงสุดของ Karrer ในการร่วมรักหลับนอนกับนักร้องสาว)

ถึงอย่างนั้นตัวละครกลับทำได้เพียงมองลอดผ่านช่องบานเกล็ด (มีการปรับโฟกัสเมื่อกล้องเคลื่อนถอยออกมา) เมื่อพบเห็นตัวละครภาพด้านนอกจึงเบลอๆ มีสภาพไม่ต่างจากกรงขัง สามารถสื่อถึงเป้าหมาย/ความเพ้อฝัน ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ทำให้สูญเสียอิสรภาพแห่งชีวิต … นั่นทำให้หลังจาก Karrer เดินกลับอพาร์ทเม้นท์ของตนเอง เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม การครอบครองนักร้องสาวใช่ความต้องการสูงสุดของตนเองหรือไม?

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดการแข่งขันฟุตบอลนัดนี้ แต่พอคาดเดาได้ว่าอาจเป็นคู่ชิงชนะเลิศ 1986 FIFA World Cup ระหว่าง Argentina vs. West Germany เพราะคือจุดกำเนิดฉายาหัตถ์พระเจ้า (Hand of God) ประตูแห่งชัยชนะของ Diego Maradona … ซึ่งล้อกับประเด็นของหนังได้ระดับหนึ่ง (หัตถ์)พระจำทำให้เกิดความหมดสิ้นหวังต่อผู้พ่ายแพ้

เสียงเด็กร้องไห้ ดังขึ้นอย่างหนวกหูระหว่าง Karrer ทะเลาะขึ้นเสียง/ถูกนักร้องสาวขับไล่หลังได้รับความพึงพอใจทางเพศ ไม่ต้องการให้เขามาเกาะแก่งตนเอง(เหมือนแมงดา)ไปมากกว่านี้ … นั่นเพราะ Karrer ไม่ได้มีการมีงาน มีเงินมีทอง พึงพาอะไรก็ไม่ได้สักสิ่งอย่าง เพียงถ้อยคำหวานที่พรอดจากปาก ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามบอกปัดปฏิเสธ แค่นี้ฉันก็แทบเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ต้องเลี้ยงดูแลบุตรสาวและทารกน้อย แค่น้ำนมยังไม่มีให้ (เลยต้องว่าจ้างแม่นม)

Karrer พยายามติดตามตื้อ ขอคืนดีกับนักร้องสาว ถึงขนาดมาเฝ้ารอคอยยังสถานที่ทำงาน เมื่อพวกเขาเดินลาลับขอบถนนไป กล้องเคลื่อนเลื่อนต่อมายังบริเวณรั้วลวดหนาม (สื่อถึงสภาพจิตใจของ Karrer ที่ถูกควบคุมขัง/จมปลักอยู่ในความรักต่อนักร้องสาว ยังไม่สามารถดิ้นหลบหนีออกมา)

นี่เป็นฉาก (unstimulated) Sex Scene มีความน่าเบื่อหน่ายที่สุดในโลกแล้วกระมัง! ทั้งสองโอบกอดท่วงท่าลิงอุ้มแตง (การหันหน้าเข้าหากัน แสดงถึงความเสมอภาคเท่าเทียม) แต่พวกเขากลับขยับนิด โยกหน่อย ราวกับไร้อารมณ์ร่วมใดๆ ขนาดว่ากล้องยังค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเหมือนอาการเบือนหน้าหนี แล้วดำเนินหมุนไปรอบๆห้อง (แอบชวนให้นึกถึง Elephant (2003) ที่ Gus Van Sant บอกได้แรงบันดาลใจจากผลงานผู้กำกับ Tarr) ก่อนสิ้นสุดลงตรงเรือนเปียโนที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด (นี่น่าจะหมุนประมาณ 180 องศา คือฝั่งตรงกันข้ามกับตอนเริ่มต้น)

กล้องค่อยๆเคลื่อนจากกำแพงที่มีสายน้ำค่อยๆไหลลงมา พานผ่านผู้คนยืนแน่นิ่ง สีหน้านิ่วคิ้วขมวด เฝ้ารอคอยฝนหยุดตก (หนึ่งในนั้นคือการ Cameo ของผู้กำกับ Béla Tarr) ดำเนินต่อมายังกำแพงสภาพปรักหักพัก หน้าต่างกรงเหล็กขวางกั้น ก่อนสิ้นสุด ณ กำแพงที่มีสายน้ำค่อยๆไหลลงมาอีกครั้ง (เหมือนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น)

พื้นผิว (Texture) ของผนังกำแพง สามารถแทนด้วยสภาพ’ภายนอก’ของฮังการี ที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงแรกๆก็ดูแข็งแรงมั่นคงดี เพียงไม่นานกลับเริ่มพบเห็นสภาพปรักหักพัก ก่อนถูกควบคุมขัง (ภายใต้การปกครองของรัฐบางคอมมิวนิสต์) ประชาชนทำได้แค่ยืนสงบ นิ่งเงียบงัน ไม่สามารถกระทำอะไร แต่ท้ายที่สุดเชื่อหวังว่าทุกสิ่งอย่างจักหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง!

แทนที่หนังจะนำเข้าบาร์โดยตรงๆ กลับเริ่มถ่ายจากภายนอก ยามค่ำคืนฝนพรำ ใครคนหนึ่งกำลังโยกเต้น Dancin’ in the Rain (ล้อกับภาพยนตร์ Singin’ in the Rain (1952)) จากนั้นค่อยๆเคลื่อนเข้ามาในบาร์ที่มีผู้คาคาคับคลั่ง และน่าจะวงดนตรีใต้ดิน Balaton (ของนักแต่งเพลง Mihály Víg)

แซว: เมื่อตอนต้นเรื่องมีการเกริ่นว่า Karrer แวะเวียน 5 บาร์ในหนึ่งค่ำคืน แต่หนังนำเสนอแค่ 3 แห่งเท่านั้นนะครับ Titanki Bar, บาร์ของ Willarsky, และบาร์แห่งนี้

ระหว่างดื่มเลี้ยงเฉลิมฉลองหลังเสร็จงาน Karrer และ Willarsky เข้ามาพูดคุยกันในห้องน้ำ กล้องถ่ายมุมเงยพบเห็นภาพสะท้อนบนเพดาน (สื่อถึงการกำลังจะพูดบอกสิ่งอัดอั้นภายใน) ก่อนค่อยๆเคลื่อนลงมาเห็นทั้งสองกำลังยืนปัสสาวะ (จากสูงสุดกลับสู่สามัญ) พร้อมเล่าให้ฟังถึงสิ่งของ(ผิดกฎหมาย)ที่ได้รับ มีบางส่วนสูญหายไป นี่ก็ชัดเจนว่า Sebestyén แอบยักยอกไว้ส่วนหนึ่ง จึงครุ่นคิดแผนโต้ตอบกลับ (ด้วยการหาโอกาสร่วมรักหลับนอนกับนักร้องสาว)

ระหว่างที่ Willarsky เกี้ยวพาราสีนักร้องสาว แล้วพาเธอขึ้นรถ โน้มศีรษะให้กระทำการ ‘blowjob’ คนคุ้นเคยผู้หญิงห้องรับฝากของ ก็ปรากฎตัวเข้ามานั่งขวางทาง Karrer พร่ำสอนเกี่ยวกับนัยยะของการกินดื่มเริงระบำ คือความหลงระเริงของมนุษย์ที่ครุ่นคิดว่าการพิพากษาในวันสิ้นโลกไม่มีอยู่จริง!

ถึงอย่างนั้นผู้หญิงห้องรับฝากของ พยายามโน้มน้าวให้เขาออกไปพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ เผื่อจักได้หยุดยับยั้งเหตุการณ์ชั่วร้ายติดตามมา แต่เขากลับไม่ยินยอมลุกไปไหน จิตใจมีความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า คงรับรู้อยู่แล้วว่าตนเองถูกทรยศหักหลัง ค่ำคืนนี้จึงไม่หลงเหลือความกระตืนรือล้นอีกต่อไป

Sátántangó มาจากคำว่า Satan (ซาตาน) และ Tango (ท่าเต้นแทงโก้) แปลตรงตัวก็คือการเริงระบำของปีศาจ! ตามความเชื่อทางคริสตศาสนามองว่าพฤติกรรมกินดื่มเต้นรำ คือการถูกลวงล่อหลอกโดยปีศาจ/ซาตาน ให้เกิดความหลงระเริง จนปล่อยปละละเลยศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงวันสิ้นโลกาวินาศ บุคคลเหล่านี้จักถูกพิพากษาตัดสิน สาปแช่งให้ต้องอาศัยอยู่ในขุมนรกชั่วกัปชั่วกัลปาวสาน

ถ้าเราไม่พาดพิงอิงศาสนา การเต้นเริงระบำคือสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย ราวกับจิตวิญญาณล่องลอยไปตามเสียงเพลง นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงภาพยนตร์หลายเรื่องทีเดียวตั้งแต่ The Rules of the Game (1939), 8½ (1963), The Damned (1969), Fanny and Alexander (1982) ฯลฯ (จริงๆก็อยากจะรวม The Leopard (1963) แต่คุ้นๆว่าเรื่องนี้ไม่มีการเต้นระบำที่เป็นวงกลม) และด้วยลักษณะเวียนวงกลม นั่นคือวังวน วัฎจักรชีวิต … หรือคือใจความของหนังที่เริ่มต้น-สิ้นสุด เมื่อบรรจบกันราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น

ภายหลังการกินดื่มเริงระบำ นี่คือบาร์ยามเช้าที่เต็มไปด้วยเศษขยะ ขวดแก้วน้ำ โต๊ะเก้าอี้กระจัดกระจายเรียงราย ไม่มีใครเก็บกวาดทำความสะอาด สามารถเปรียบเทียบถึงประเทศฮังการี ภายหลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เฉลิมฉลองความคอรัปชั่น กอบโกยกินอย่างอิ่มหนำสำเริงราญ นี่คือสภาพหลงเหลือให้กับประชาชน ไม่แตกต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ

และแม้ยามเช้าหลังจากทุกคนหวนกลับบ้าน ยังมีใครคนหนึ่งยังคงโยกเต้นเริงระบำ น่าจะคนเดียวกันตอนนำเข้าบาร์แห่งนี้ แต่เปลี่ยนจากเคลื่อนกล้องแนวนอน(เข้าสู่บาร์) เป็นเลื่อนแนวดิ่งจากรองเท้าขึ้นสู่ใบหน้า เพื่อเป็นการเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น มนุษย์ไม่ทางหยุดเต้นจนกว่าจะหมดสิ้นลมหายใจ

หลายฉากก่อนหน้านี้สร้างความฉงนสงสัยให้ผู้ชมว่า Karrer มาหยุดยืนทำไม? สถานที่แห่งนี้คืออะไร? ก่อนมาเปิดเผยช่วงท้ายว่าคือสถานีตำรวจ และเขามาเพื่อแจ้งความเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย

  • ในตอนแรก Karrer ต้องการแจ้งจับ Sebestyén เพื่อตนเองจะได้ครองคู่อยู่กับหญิงสาวคนรัก (ในช่วงเวลาที่อีกฝ่ายถูกควบคุมขังคุก)
  • แต่รอบหลังค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการแจ้งจับเจ้าของบาร์ Willarsky ที่แอบสานสัมพันธ์กับนักร้องสาว ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ยี่หร่าอะไรใครอีกแล้ว

การเคลื่อนเลื่อนกล้องของซีเควนซ์นี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยลูกเล่น ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก ซึ่งสามารถสะท้อนถึงสภาวะทางอารมณ์/ความครุ่นคิดของ Karrer ที่เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเล ไม่ค่อยแน่ใจในตนเองว่าอยากกระทำสิ่งนี้/คิดคดทรยศหักหลังพรรคพวกพ้อง

ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวสอนไว้ว่า “หมาเห่า อย่าเห่าตอบ เพราะจะทำให้มีหมาเพิ่มอีกหนึ่งตัว” นั่นคือสิ่งบังเกิดขึ้นกับฉากนี้ เมื่อจู่ๆ Karrer เห่าแข่งกับสุนัข พร้อมคลานหมุนรอบ 360 องศา (ดีที่มันไม่กัด!) นี่คือการแสดงออกของบุคคลที่ตัดสินใจละทอดทิ้งความเป็นมนุษย์ (humanity) ไม่หลงเหลือความเชื่อมั่นศรัทธาต่อผู้คน สังคม ประเทศ(ฮังการี) และพระเป็นเจ้า สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองสันชาติญาณ ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ เห่ามาเห่าตอบ ชีวิตดำเนินไปท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง

Damnation

ตัดต่อโดย Ágnes Hranitzky (เกิดปี 1945) ภรรยาของผู้กำกับ Béla Tarr ซึ่งไม่ใช่แค่ทำงานตัดต่อ หลายๆครั้งยังดูแลบทหนัง ออกแบบงานสร้าง (Production Design) ช่วยกำกับกองสอง เหมือนจะรับรู้จักกันมาตั้งแต่ The Outsider (1981) จนผลงานสุดท้าย

หนังดำเนินไปด้วยการติดตามเรื่องราวของตัวละคร Karrer วันๆใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย แล้วจู่ๆได้รับการชักชวนจากเจ้าของบาร์ Willarsky ให้ออกเดินทางไปต่างเมือง ลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย แต่เขากลับครุ่นคิดวางแผนส่งต่อให้ Sebestyén ที่แอบตกหลุมรัก เพื่อใช้ระยะเวลา(ที่สามีไม่อยู่)อาศัยครองรักร่วมกัน

  • ชีวิตเรื่อยเปื่อยของ Karrer
    • นั่งเหม่อมองกระเช้ากำลังเคลื่อนเลื่อนไปกลับ
    • แอบถ้ำมอง แสดงความต้องการครองรักนักร้องสาว
    • แวะบาร์ห้าแห่งในค่ำคืนเดียว
  • แผนการอันชั่วร้ายของ Karrer
    • โน้มน้าว Sebestyén ให้รับงานขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย
    • เมื่อสามีของเธอจากไป Karrer ก็ได้ร่วมรักหลับนอน เต็มเต็มความต้องการของตนเอง
    • หลังเสร็จกามกิจในวันแรก เธอก็ยื้อยักเล่นตัว แต่เขาก็ติดตามตื้อจนได้ครองรักค่ำคืนที่สอง
  • ความเป็นจริงอันโหดร้าย
    • Karrer เริ่มตระหนักว่าตนเองไม่อาจรับผิดชอบต่อชีวิตของนักร้องสาว
    • งานเลี้ยงฉลองเมื่อ Sebestyén เดินทางกลับมา เล่น-เต้น มึนเมา
    • นักร้องสาวแอบไปร่วมรักหลับนอนกับนายจ้าง
  • สิ้นสุดความเป็นมนุษย์ของ Karren
    • นำเรื่องราวทั้งหมดไปแจ้งความตำรวจ
    • จากนั้นก้าวออกเดินไปไหนไม่รู้ละ

เรื่องราวของหนังไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร แต่สาเหตุที่ดูยากโคตรๆเพราะลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา ค่อยๆดำเนินไปอย่างเชื่องชักช้า ทำให้ผู้ชมวอกแวก ง่วงหงาวหาวนอน สูญเสียสมาธิโดยง่าย แต่ถ้าสามารถอดรนทนดูให้จบรอบแรก ทำความเข้าใจวิธีการนำเสนอ เมื่อมีโอกาสรับชมรอบสองจักพบเห็นความพอดิบดีของระยะเวลาอย่างน่าเหลือเชื่อ!


เพลงประกอบโดย Mihály Víg (เกิดปี 1957) นักแต่งเพลงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ในครอบครัวนักดนตรี ถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พอโตขึ้นร่วมก่อตั้งวงใต้ดิน Trabant (1980–1986) ตามด้วย Balaton (1979-ปัจจุบัน) กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ร่วมงานกันตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) จนถึงผลงานเรื่องสุดท้าย

งานเพลงของ Víg มีท่วงทำนองเรียบง่าย ไม่ค่อยสลับซับซ้อน ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น กลิ่นอายสไตล์เพลงใต้ดิน (น่าจะเรียกว่า Minimalist ได้เลยกระมัง) มีความเบาๆ วาบหวิว รู้สึกหลอกหลอน สร้างความเหน็ดเหนื่อย เนื่อยๆ บรรยากาศวันสิ้นโลกาวินาศ

สำหรับ Damnation (1988) ส่วนใหญ่จะเป็น ‘diegetic music’ ได้ยินจากวงดนตรีขับร้อง-บรรเลงในผับบาร์ เห็นว่าทุกบทเพลงแต่งเสร็จก่อนเริ่มโปรดักชั่น แล้วผู้กำกับ Tarr ค่อยนำไปเปิดสร้างบรรยากาศระหว่างการถ่ายทำ … นี่แสดงว่างานเพลงของ Víg แต่งขึ้นจากคอนเซ็ป/คำอธิบายแนวคิด ไม่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งพบเห็นในภาพยนตร์

เริ่มต้นที่บทเพลงไฮไลท์ของหนัง Kész az egész แปลภาษาอังกฤษ It’s all done! หรือ Over and Done คือบทเพลงรำพันความท้อแท้หมดสิ้นหวังของนักร้องสาว Valéria Kerekes ด้วยท่วงท่าและน้ำเสียงเหมือนคนไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้วทั้งนั้น

ทั้งซีเคว้นซ์นี้คือโคตร Long Take กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนอย่างเชื่องช้า เก็บบรรยากาศรอบๆผับ Titanik พอมาถึงนักร้องสาวก็จักร่นระยะจนถึงโคลสอัพใบหน้า และท่อนจบดำเนินต่อไปหานักแซ็กโซโฟน (ผมเห็นไม่ค่อยชัดนัก แต่คาดว่าอาจคือ Mihály Víg) ราวกับกำลังพ่นลมหายใจเฮือกสุดท้ายออกมา

นี่คือบทเพลงที่ถือเป็นจิตวิญญาณของภาพยนตร์เรื่องนี้ รำพันถึงความเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่หลงเหลืออาลัยตายอยากทั้งนั้น หรือคือสภาพของฮังการี ยุโรปตะวันออก ทุกสิ่งอย่างได้จบสูญสิ้นไป … เป็นบทเพลงในคอลเลคชั่นวันสิ้นโลกของผู้กำกับ Tarr ร่วมกับ Que sera, sera ได้อย่างดีเลยละ!

Eső แปลว่า Rain หยาดฝนร่วงหล่นลงมาจากฟากฟ้า ด้วยจังหวะแทงโก้ (Tango) เต็มไปด้วยความสนุกสนานครึกครื้นเครง ชวนให้ลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำ แต่กล้องถ่ายภาพเคลื่อนเลื่อนผ่านผนังกำแพง ผู้คนยืนเรียงราย สงบแน่นิ่ง คาดว่าคงติดฝน ไม่สามารถกลับบ้าน เลยแสดงสีหน้านิ่วคิ้วขมวดอย่างเซ็งๆ

ความขัดแย้งระหว่างภาพและบทเพลง สะท้อนความรู้สึกนึกคิดขณะนั้นของ Karren ต้องการครอบครองรักนักร้องสาว อยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ แต่ถ้าต้องรับผิดชอบบุตรสาว ภาระหนี้สิน ทำมาหากิน แค่คิดก็เหน็ดเหนื่อยหน่ายเต็มทน มันเลยเกิดเป็นความหมดสิ้นหวังของชีวิต

ตอนรับฟังบทเพลงนี้ครั้งแรก Lassú tánc แปลว่า Slow dance ก็แค่ท่วงทำนองผ่านๆหูไปเท่านั้น แต่ถ้าคุณเคยเอาตัวรอดพานผ่าน Sátántangó (1994) มันจะเกิดความรู้สึกชิปหายวายป่วนท้องไส้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว … ไม่ใช่บทเพลงเดียวกันนะครับ แต่เสียงแอคคอร์เดียนจักสร้างความหลอกหลอน สั่นสะท้านทรวงใน

นั่นเพราะบทเพลงและการเต้นระบำ มันปลุกความรู้สึกหายนะขึ้นมา! เพราะหนังทั้งสองเรื่อง (Damnation และ Sátántangó) ต่างเต็มไปด้วยบรรยากาศวันสิ้นโลกาวินาศ มันจะมีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครงได้อย่างไร? ย่อมต้องแฝงลับลมคมใน หายนะกำลังใกล้เข้ามา

นี่เป็นอีกบทเพลงที่บรรเลงต่อจาก Lassú tánc ชื่อว่า Körtánc (แปลว่า Round Dance) สามารถสื่อถึงชีวิตที่เวียนวงกลม ดำเนินเดินไปไม่รู้จบสิ้นสูญ เริ่มต้น-สิ้นสุดหวนกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง

ไม่รู้ทำไมการจับมือเต้นเป็นวงกลม ทำให้ผมนึกถึงบทเพลงแห่งการร่ำลา Auld Lang Syne แถมท่วงทำนอง Körtánc ก็มอบความรู้สึกเคว้งคว้าง ล่อยลอย ราวกับกำลังดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งเรายังสามารถมองฉากนี้คือช่วงเวลาที่ Karren ยังคงความเป็นมนุษย์ เพราะหลังจากค่ำคืนนี้พานผ่านไป เขาจักกลายสภาพสู่ … เดรัจฉาน

Damnation คือการสาปแช่ง คำสถบ ด่าทอ, ในทางคริสต์ศาสนา คือผลของการตัดสินในวันสิ้นโลก (Judgement Day) ว่าบุคคลผู้นั้นจักสามารถมีชีวิตนิรันดร์บนสรวงสวรรค์ หรือถูกพระเจ้าสาปแช่ง (damned human) ส่งลงสู่ขุมนรกโลกันต์ตราบชั่วกัลปาวสาน

แต่ไม่รู้ทำไมผมเห็นชื่อหนัง Damnation (1988) น่าจะมาจากคำว่า Damn + Nation แปลตรงๆว่าชาติชั่ว! ซึ่งสามารถสื่อถึงประเทศฮังการีที่ผู้กำกับ Tarr นำเสนอผ่านมุมมองส่วนบุคคล พบเห็นสภาพสังคมอันเสื่อมโทรมทราม แห้งแล้งทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ผู้คนดำเนินชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ไร้อนาคตเป้าหมาย ไม่ต่างจากขุมนรก ดินแดนแห่งความตาย หลังการตัดสินวันสิ้นโลกาวินาศ … ล้วนเพราะการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น!

ผู้กำกับ Tarr เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าตนเองเป็นอเทวนิยม (atheist) ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง! แต่แปลกที่หลายๆผลงานมักนำเสนอเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนใครบางคน(พระเป็นเจ้า)พยายามชี้แนะนำแนวทางถูกต้องเหมาะสม เอ่ยพร่ำคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิล อย่างใน Damnation (1988) ก็มีกล่าวถึงการพิพากษาตัดสินในวันสิ้นโลก

When terror comes, they shall seek peace, but there shall be none.
They shall seek in vain a vision from the prophet, they will receive no teaching from the priests, and no counsel from the elders.
The hands of the people of the land shall tremble.
I shall deal with them according to their conduct… and by their own standards I shall judge them.
Then they shall know… that I am the Lord.

Ezekiel 7

แต่สังเกตว่าสิ่งที่อวตารพระเป็นเจ้าพยายามพร่ำสอนสั่ง ตัวละคร Karren กลับหูทวนลม ฉันไม่สน ไม่เคยน้อมนำทำตามสักสิ่งอย่าง! นั่นคือลักษณะของการปฏิเสธต่อต้าน ผู้กำกับ Tarr เหมือนพยายามตั้งข้อคำถามว่า ชาวฮังกาเรียนทำผิดอะไร? ทำไมถึงราวกับได้รับการตัดสินพิพากษา (ในวันสิ้นโลกาวินาศ) ถูกสาปแช่งให้ตกนรกทั้งเป็น ต้องอดรนทนทุกข์ทรมานในดินแดนเสื่อมโทรมทราม(ฮังการี)แห่งนี้?

กลายเป็นว่า Damnation (1988) ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Tarr ต้องการสาปแช่งด่าทอรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้ฮังการีเสื่อมโทรมทราม ตกต่ำลงขนาดนี้ แต่ยังอันธพาลไปถึงพระเป็นเจ้า (Anti-Christ) ทำไมถึงพิพากษาชาวเราให้ตกนรกทั้งเป็น!

อาการท้อแท้สิ้นหวังในการอาศัยอยู่ดินแดนแห่งนี้ ทำให้ผู้กำกับ Tarr เล็งเห็นว่ามันใกล้ถึงจุดที่พวกเราจะหมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ (humanity) วิวัฒนาการถดถอยหลังกลับสู่วิถีของสัตว์เดรัจฉาน (animality) สังเกตจากพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว คุณธรรม-มโนธรรม เพียงเพื่อตอบสนองสันชาตญาณพื้นฐาน (กิน-ขี้-ปี้-นอน) ปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ คิดคดทรยศหักหลังพวกพ้อง หลบหนีตีจากสังคม ดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดมุ่งหมาย แค่ธำรงชีพรอดไปวันๆ

เกร็ด: หลังเสร็จสิ้น Damnation (1988) ผู้กำกับ Béla Tarr และภรรยา Ágnes Hranitzky ตัดสินใจอพยพออกจาก Hungary มาปักหลักอาศัยอยู่ West German แต่เพียงไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พวกเขาเลยตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน

สิ่งสุดท้ายที่ผู้กำกับ Tarr นำเสนอไม่ใช่ภาพมนุษย์เห่าแข่งกับสุนัข แต่คือกองเนินดิน เศษขยะทับถม สามารถสื่อถึงชีวิตที่ไร้ค่า หมดสูญสิ้นราคา หรือจะมองว่าสูงสุดกลับคืนสู่สามัญ เพราะทุกชีวิตเมื่อตกตาย ย่อมกลายเป็นเถ้าถ่านทุลีดิน หวนกลับสู่อ้อมอกมาตุภูมิ

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin แต่เหมือนจะเป็นโปรแกรมนอกรอบพิเศษ (ไม่มีรายละเอียดในสายการประกวด) จากนั้นตระเวรไปตามเทศกาลหนัง Toronto, Göteborg ฯลฯ ด้วยเสียงตอบรับดีเยี่ยม เลยมีโอกาสเข้าชิง European Film Award: Best Young Film สำหรับผลงานผู้กำกับหน้าใหม่ในยุโรป แต่พ่ายให้ Women on the Verge of a Nervous Breakdown (1988) ของ Pedro Almodóvar

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย Hungarian National Film Institute – Film Archive แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2020 คุณภาพ 4K ผ่านการอนุมัติโดยผู้กำกับ Béla Tarr สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel แต่ยังไม่ได้ออก Blu-ray คาดว่าคงกำลังรอคิวอยู่กระมัง

นี่เป็นภาพยนตร์ ‘สไตล์ Tarr’ แท้ๆเรื่องแรกที่ผมมีโอกาสรับชม (ไม่นับรวม Almanac of Fall (1984) เพราะถือว่ายังไม่ใช่ ‘สไตล์ Tarr’ อย่างแท้จริง) ทีแรกก็มีความหวาดหวั่นอยู่เล็กๆ กลัวจะฟุบหลับกลางทาง แต่ปรากฎว่าเกิดความชื่นชอบประทับใจ อาจเพราะ Almanac of Fall (1984) ทำให้สังเกตเห็นตัวตน รับรู้ความสนใจของผู้กำกับ Tarr โดยเฉพาะมุมมองต่อมาตุภูมิฮังการี ที่หลงเหลือเพียงความท้อแท้สิ้นหวัง

ถึงผมไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่าฮังการี มีสภาพเสื่อมโทรมทรามขนาดนี้? แต่เมื่อเทียบกับโลกยุคสมัยปัจจุบันที่ถูกควบคุมครอบงำด้วยแนวคิดระบอบทุนนิยม มันอาจแตกต่างตรงลักษณะกายภาพ ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มองภายนอกคือความเจริญก้าวหน้า(ทางวัตถุ) แต่ถ้าจับจ้องลึกลงไปภายในจิตใจ จักพบเห็นความคอรัปชั่นของมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันเลยสักนิด!

‘สไตล์ Tarr’ มันอาจดูยากในครั้งแรกๆ เพราะต้องใช้สมาธิ ความอดรนทนอย่างสูง (ที่คนเจน ‘tick tock’ อาจไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่) แต่ถ้าคุณสามารถพานผ่านไปได้สัก 1-2 เรื่อง ก็น่าจะสังเกตเห็นอะไรๆหลายๆอย่าง เริ่มเกิดเข้าใจแนวคิด หลักการ เพราะเหตุใดทำไมผู้กำกับถึงสรรค์สร้างภาพยนตร์ลักษณะนี้ออกมา

แนะนำคอหนังดราม่า โรแมนติก บรรยากาศวันสิ้นโลก, ช่างภาพ ศิลปิน นักออกแบบสร้างฉาก หลงใหลในดินแดน dystopian สถานที่ที่แลดูเสื่อมโทรมทราม, นักปรัชญา นักเขียนนวนิยาย เพลิดเพลินไปกับลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ ที่มีสัญญะให้ขบครุ่นคิดมากมาย

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศท้อแท้สิ้นหวัง การคบชู้นอกใจ เพศสัมพันธ์ที่น่าเบื่อหน่าย

คำโปรย | Damnation คือสภาพประเทศฮังการี และสภาวะทางจิตใจของ Béla Tarr ไม่ต่างจากนรกบนดิน สถานที่แห่งนี้หลงเหลือเพียงความสิ้นหวัง
คุณภาพ | ดิ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆๆ

Öszi almanach (1984)


Almanac of Fall (1984) Hungarian : Béla Tarr ♥♥♥♡

ดำเนินเรื่องเพียงในอพาร์ทเม้นท์ที่มีสภาพเสื่อมโทรมทราม ไร้ผู้ดูแลทำความสะอาด สมาชิกทั้งห้าต่างมีความเห็นแก่ตัว เอาแต่ผลประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง การสนทนาเลยมักแค่สองต่อสอง แทบไม่เคยอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า และกระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น

แม้มันน่าหงุดหงิดกับคุณภาพ DVD (ยังไม่มีค่ายไหนทำ Blu-Ray) ที่ทั้งเบลอๆ เต็มไปด้วยริ้วรอย และอาจมีเฉดสีผิดเพี้ยน แต่ก็ต้องยอมรับว่าตำหนิเหล่านั้นช่วยเสริมสร้างบรรยากาศเสื่อมโทรมในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ ทำให้ผู้ชมรู้สึกหมดสิ้นหวังในการรับชม … นั่นคือจิตวิญญาณหนังของ Béla Tarr เลยนะ!

Öszi almanach (1984) หรือ Autumn Almanac หรือ Almanac of Fall เป็นผลงานที่แฟนๆหนัง Béla Tarr อาจไม่ค่อยรับรู้จักกันมากนัก เพราะครุ่นคิดว่ายังไม่ใช่ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ ที่มักถ่ายทำแบบ Long Take เคลื่อนเลื่อนกล้องช้าๆ ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องแทนการพูดคุยสนทนา (หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการสนทนาน้ำไหลไฟดับ) แต่ก่อนที่ผกก. Tarr จะครุ่นค้นพบวิธีการนำเสนอดังกล่าว ก็เคยสรรค์สร้างภาพยนตร์แบบทั่วๆไป

ภาพยนตร์สามเรื่องแรก Family Nest (1979), The Outsider (1981), The Prefab People (1982) มีลักษณะ Social Realism แฝงการวิพากย์วิจารณ์การเมือง นำเสนอสภาพความจริงของประเทศฮังการียุคสมัยนั้น จนกระทั่งมาถึง Almanac of Fall (1984) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อผู้กำกับ Tarr บอกช่างแม้งแล้ว! ทำอะไรไปก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ หันมาสรรค์สร้างผลงานที่สะท้อนความรู้สึกหมดสิ้นหวัง บนสังคมเสื่อมโทรมทราม ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ

เมื่อตอนผมเขียนถึง The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ที่มีลักษณะ Chamber Drama ดำเนินเรื่องเพียงในอพาร์ทเม้นท์หลังหนึ่ง พร้อมนักแสดง 4-5 คน ทำให้มีโอกาสรู้จักอีกหลายๆผลงานที่ใช้สถานที่แห่งเดียว และพบเจอ Almanac of Fall (1984) กลายเป็นอีกเรื่องที่ตั้งใจจะหามารับชมให้จงได้! … ผมได้ยินว่าผู้กำกับ Tarr เคยเอ่ยปากชื่นชม Fassbinder อย่างออกนอกหน้า! ใครช่างสังเกตก็น่าจะพบเห็นอิทธิพลแทรกอยู่ในหลายๆผลงาน ค่อนข้างชัดเจนเลยละ

คุณภาพของ Almanac of Fall (1984) เต็มไปด้วยแนวคิด ทดลองผิดลองถูก ร่องรอยพัฒนาการสู่สไตล์ลายเซ็นต์อันเป็นเอกลักษณ์, สิ่งที่ต้องชมคือการถ่ายภาพ แสงสีสันจัดจ้านมากๆ (เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวของผกก. Tarr ที่ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี) เลือกมุมกล้องประหลาดๆ (แฝงนัยยะถึงทิศทางของสังคม ที่ไม่รู้จะดำเนินต่อไปยังไง) ก่อนทุกสิ่งอย่างเวียนวงกลม หวนกลับมาบรรจบ เหมือนไม่เคยมีอะไร/บังเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ


Béla Tarr (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Pécs แล้วมาเติบโตยัง Budapest, บิดาเป็นนักออกแบบฉากพื้นหลัง มารดาทำงานนักบอกบท (Prompter) ในโรงละครเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่เด็กมีโอกาสวิ่งเล่น รับรู้จักโปรดักชั่นละครเวที ตอนอายุ 10 ขวบ ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ ก่อนค้นพบว่าตนเองไม่มีความชื่นชอบ(ด้านการแสดง)สักเท่าไหร่ ตั้งใจอยากเป็นนักปรัชญา แต่เมื่ออายุ 16 หลังจากสรรค์สร้างสารคดีสั้น 8mm ไปเข้าตาสตูดิโอ Béla Balázs Studios ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฮังการี สั่งห้ามเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อบีบบังคับให้เขาเลือกสายอาชีพผู้กำกับ (ตอนนั้นก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เพราะภาพยนตร์คือสิ่งที่ตนเองชื่นชอบหลงใหลอยู่แล้ว)

ผลงานช่วงแรกๆของผู้กำกับ Tarr ยึดถือตามแบบอย่าง ‘Budapest School’ มักเป็นแนวสารคดี บันทึกสภาพความจริง วิถีชีวิตคนงาน สภาพเสื่อมโทรมย่านชานเมือง นำเสนอในลักษณะ ‘social realism’ นักวิจารณ์ทำการเปรียบเทียบ John Cassavetes แต่เจ้าตัวบอกไม่รับรู้จักใครคนนี้ด้วยซ้ำ

ความสิ้นหวังต่อสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Hungarian People’s Republic ทำให้ผู้กำกับ Tarr ตัดสินใจละทอดทิ้งแนวทาง ‘social realism’ หันมาสรรค์สร้างผลงานที่เป็นการสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา เพื่อนำเสนอความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไม่ต่างไปจากวันสิ้นโลกาวินาศ เริ่มตั้งแต่ Almanac of Fall (1984), แล้วพัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ Damnation (1988), กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซ Sátántangó (1994), Werckmeister Harmonies (2000), The Man from London (2007) และ The Turin Horse (2011)

ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ มักแช่ค้างภาพไว้นานๆ Long Take ระยะ Long Shot (แต่เวลาตัวละครสนทนาอย่างออกรสจะใช้ระยะภาพ Close-Up) มีการขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องชักช้า ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ สลับสับเปลี่ยนมุมมอง บางครั้งก็หมุนเวียนวงกลม 360 องศา ซึ่งพอเหตุการณ์ในซีนนั้นๆจบลงจะปล่อยทิ้งภาพสักระยะ (สร้างความรู้สึกเหมือนจะมีอะไรต่อ แต่ก็ไม่เคยเห็นมีอะไร) โดยเนื้อหาสาระมักเกี่ยวกับการสูญเสีย ท้อแท้สิ้นหวัง ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้ (หรือคือประเทศฮังการี) แต่กลับมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง สร้างบรรยากาศสังคมเสื่อมโทรมทราม ราวกับวันสิ้นโลกาวินาศ ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรต่อจากนี้ (ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ทุกสิ่งอย่างจักเวียนมาบรรจบเหมือนไม่มีเคยสิ่งใดๆบังเกิดขึ้น)


เรื่องราวทั้งหมดของ Almanac of Fall เกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์ของเศรษฐีนีสูงวัย Hédi (รับบทโดย Hédi Temessy) แรกเริ่มอาศัยอยู่กับบุตรชาย János (รับบทโดย János Derzsi) วันๆไม่เห็นทำอะไรนอกจากแบมือขอเงินไปเที่ยวเล่น สนเพียงกองมรดก จักได้ครอบครองทุกสิ่งอย่างหลังมารดาตกตายจากไป

Hédi ล้มป่วยโรคอะไรก็ไม่รู้ ทำให้ต้องว่าจ้างนางพยาบาล Anna (รับบทโดย Erika Bodnár) ซึ่งนำพาชายคนรัก Miklos (รับบทโดย Miklós B. Székely) มาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน และยังมีครูสอนดนตรี Tibor (รับบทโดย Pál Hetényi) ที่แสดงออกว่าชื่นชอบ Hédi แต่ดันไปมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับ Anna สร้างความไม่พึงพอใจแก่ Miklos โน้มน้าวชักจูง János ให้ใช้กำลังข่มขืนเธอข้างตู้เย็น

เหตุการณ์ยิ่งทวีความวุ่นวายเมื่อ Tibor แอบลักขโมยเครื่องเพชรของ Hédi เพื่อนำเงินไปชดใช้หนี้สิน กลับถูกพบเห็นโดย János เลยใช้กำลังข่มขู่ แบล็กเมล์ จนสามารถทวงคืนใบจำนำ ครุ่นคิดแผนการหลบหนีไปกับ Anna แต่ความไปเข้าหู Miklos ให้คำแนะนำ Hédi โทรศัพท์แจ้งตำรวจจับ Tibor ผลลัพท์ทำให้ไม่มีใครอื่น (นอกจาก Tibor ที่ถูกตำรวจจับกุม) สามารถออกไปจากอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้

โดยฉากสุดท้ายพิธีหมั้นหมาย/แต่งงานระหว่าง János กับ Anna แต่เขากับมารดากลับมีสีหน้านิ่วคิ้วขมวด ร่ำร้องไห้ออกมา ผิดกับ(ว่าที่)ภรรยาและจอมวางแผน Miklos กำลังโอบกอดเต้นระบำอย่างสุขเกษมกระสันต์ ราวกับพวกเขาได้เป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ไปเสียแล้ว!


Hédi Temessy ชื่อจริง Hedvig Temesi (1925 – 2001) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest มารดาเป็นชาวเยอรมัน ส่วนบิดาเป็นชาวฝรั่งเศส (เธอเลยสื่อสารได้ทั้งสองภาษา), ตอนแรกตั้งใจจะเป็นครู แต่หลังสำเร็จการศึกษาเข้าเรียนต่อด้านการแสดงยัง Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) จากนั้นกลายเป็นสมาชิก Youth Theater ตามด้วย Petőfi Theater พร้อมๆรับงานภาพยนตร์เรื่องแรก Strange Marriage (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ A pénzcsináló (1964), A Strange Role (1976), The Vulture (1982), The Revolt of Job (1983), Almanac of Fall (1984), Damnation (1988), Film… (2000) ฯลฯ

รับบท Hédi มารดาผู้มีความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจบุตรชายที่วันๆเอาแต่แบมือของเงิน เคยขนาดท้าทายให้เข่นฆ่าตนเองเพื่อกองมรดก แต่เขาก็มิอาจกระทำได้ลง! ผิดกับใครอื่นที่เธอแสดงอัธยาศัยดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ทุกคนล้วนหน้าไหว้หลังหลอก สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ หวังแก่งแย่งชิง/ครอบครองอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ไม่ต่างกัน

ในบรรดาทีมนักแสดงชุดนี้ Temessy มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่หลากหลาย เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวอ่อนโยน-เดี๋ยวเกรี้ยวกราด ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอยแสดงถึงความดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เย่อหยิ่งทะนงตน แต่กลับไม่รู้ทันคน ไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นโดยง่าย ทำให้ถูกลวงล่อหลอก มารู้ตัวอีกทีก็แทบสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างไป

ถ้าเราเปรียบอพาร์ทเม้นท์หลังนี้คือฮังการี ตัวละครมารดา(เจ้าของอพาร์ทเม้นท์)ก็คือชนชั้นผู้นำ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ถือว่าเป็นของประเทศ(ขณะนั้น) ชอบใช้อำนาจในการออกกฎหมาย ควบคุมครอบงำ กดขี่ข่มเหงประชาชน กระทำสิ่งต่างเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง แต่โดยไม่รู้ตัวภายในเต็มไปด้วยหนอนบ่อนไส้ ที่พร้อมกัดกร่อน บ่อนทำลาย จนสุดท้ายมาตุภูมิแห่งนี้ (Motherland) แห่งนี้คงแทบไม่หลงเหลืออะไร


Erika Bodnár (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ผลงานเด่นๆ อาทิ Voyage with Jacob (1972), Harminckét nevem volt (1972), Almanac of Fall (1984), Love, Mother (1987), Before the Bat’s Flight Is Done (1989) ฯลฯ

รับบทนางพยาบาล Anna ที่ได้รับคำชักชวนจาก Hédi ให้มาพักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แรกๆก็แสดงอัธยาศัยดีงาม เพียงขอให้ชายคนรัก Miklos มาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ไม่นานวันก็หลงคารม/ร่วมรักกับ Tibor เลยถูก János ข่มขืนกระทำชำเรา (เป็นการเอาคืนของ Miklos ด้วยการโน้มน้าวล่อหลอก János) ถึงปากจะว่าร้าย สุดท้ายกลับยินยอมแต่งงานกับเขา โดยจุดประสงค์แท้จริงคือต้องการครอบครองเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

ตัวละครของ Bodnár ถือว่าเต็มไปด้วยเสน่ห์ เล่ห์กล มารยาหญิง ระริกระรี้แรดร่าน เอาได้หมดถ้าสดชื่น (แม้แต่ Hédi ก็อาจไม่ยกเว้น) ใครก็ตามสามารถตอบสนองตัณหา/ความต้องการของร่างกาย-จิตใจ ค้นพบสถานที่สำหรับพักอยู่อาศัย ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง

ตอนจบของหนังแม้ว่า Anna จักหมั้นหมาย/แต่งงาน János แต่เธอกลับโอบกอด/ระบำอย่างดื่มด่ำกับ Miklos นั่นแสดงถึงธาตุแท้ตัวตน เอาจริงๆไม่ได้ใคร่สนใจ Hédi และบุตรชายไปมากกว่าการได้ครอบครองเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (การแต่งงานทำให้เธอได้รับสิทธิ์นั้นโดยปริยาย) และอาศัยอยู่กับชายคนรักที่แท้จริง (สามารถเปิดเผยโดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้)


Miklós B. Székely (เกิดปี 1948) สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest มีผลงานทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ตั้งแต่ Almanac of the Fall (1984), Damnation (1987), Sátántangó (1994) ฯลฯ

รับบท Miklós ชายคนรักของ Anna เป็นคนนิ่งๆ เงียบๆ ชอบแอบฟังคำสนทนา สอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่น เรียกว่ารับรู้แทบทุกสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ นั่นรวมถึงตอนเธอร่วมรักหลับนอนกับ Tibor สร้างความหงุดหงิดไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง! เลยวางแผนโน้มน้าวให้ János ข่มขืนกระทำชำเรา

Miklós มีความสนิทสนมกับ Hédi มักนำข่าวคาวมาซุบซิบ จนสร้างความเชื่อมั่น กลายเป็นที่ปรึกษายามมีปัญหาค้างคาใจ ไม่นานเลยสามารถโน้มน้าว ชักจูงจมูก ให้กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการแท้จริงของตนเอง

ทั้งภาพลักษณ์และการแสดงของ Székely เต็มไปด้วยความลึกลับลมคมใน ใบหน้านิ่งๆ คำพูดเหมือนจะจริงใจ ทำให้หลายคนมักมอกว่าเขาคือผู้มีประสบการณ์ พานผ่านอะไรๆมามาก ดูมีความน่าเชื่ออย่างยิ่ง! แต่พฤติกรรมหลายๆอย่างล้วนสร้างข้อกังขา บ่อยครั้งมักเป็นบุคคลที่สามหลบซ่อนอยู่หลังประตู-กำแพง แอบรับฟังคำสนทนา รับรู้เห็นพฤติกรรมของผู้อื่น (สังเกตจากวิธีการถ่ายภาพก็ยังได้ เมื่อไหร่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังแอบถ้ำมอง นั่นน่าจะเพราะอยู่ในสายตาของ Miklós ก็เป็นได้!)

ไม่ผิดอะไรจะเรียกตัวละครนี้ว่าปลิง/แมงดา (นี่คือคำเรียกของ Anna นำพาเขามาจากข้างถนน) คอยเกาะแก่งผู้อื่นเพื่อเอาชีพรอด ในตอนแรกคือ Anna แต่เมื่อถูกเธอสลัดทิ้งจึงต้องใช้ทางเลือกสำรองนั่นคือ Hédi พูดโน้มน้าวจนสามารถล้วงความลับสถานะทางการเงิน กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ จึงมิอาจถูกขับไล่ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้


János Derzsi (เกิดปี 1954) สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Nyírábrány หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ตั้งแต่ Almanac of the Fall (1984), Sátántangó (1994), Werckmeister Harmonies (2000), The Man from London (2007) และ The Turin Horse (2011) ฯลฯ

รับบท János บุตรชายที่พึ่งพาไม่ค่อยได้ของ Hédi ชอบใช้ชีวิตอย่างเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา เมื่อไม่พึงพอใจอะไรใครก็พร้อมใช้กำลัง ความรุนแรง เคยทั้งข่มขืน ข่มขู่ แบล็กเมล์ผู้อื่น เพื่อให้ได้ในสิ่งตอบสนองความต้องการ แต่ถึงแม้เต็มไปด้วยความขัดแย้งต่อมารดา กลับไม่เคยหาญกล้ากระทำอะไรร้ายแรงต่อบุพการี

ตัวละครของ Derzsi คือตัวแทนคนรุ่นใหม่(ของประเทศฮังการี) เติบโตขึ้นในสังคมที่ถูกควบคุมครอบงำ มารดามักออกคำสั่งห้ามโน่นนี่นั่น ทำให้เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น สะสมอารมณ์โกรธเกรี้ยวกราดไว้ภายใน เลยกลายเป็นคนโหยหาอิสรภาพ อยากกระทำสิ่งต่างๆตามใจ เลยมักใช้กำลังความรุนแรง โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อตอบสนองตัณหาราคะ เติมเต็มความต้องการของหัวใจ

การร่ำร้องไห้ช่วงท้ายของ János คงเพราะตระหนักถึงความโง่เขลาของตนเอง กับมารดาที่เคยโต้เถียง มีเรื่องขัดแย้งมากมาย แต่ก็ไม่เคยตัดแม่ตัดลูก อนาคตหลังเธอจากไปก็ยังคงได้รับมรดกก้อนใหญ่ แต่การตัดสินใจแต่งงานกับ Anna เพราะถูกลวงล่อหลอกโดย Miklós นั่นคือหายนะครั้งใหญ่ เพราะค้นพบว่านอกจากเธอไม่ได้มีความรัก ยังเหมือนสูญเสียทุกสิ่งอย่างในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ไป


Pál Hetényi (1935-94) นักพากย์/นักแสดง สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ได้รับการฝึกฝนด้านการแสดงจาก NFI Stúdió เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยแสดงซีรีย์/ภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Time Stands Still (1982), Almanac of the Fall (1984) ฯลฯ

รับบทครูสอนดนตรีหนวดดก Tibor ดูเป็นคนทึ่มๆทื่อๆ แสดงความซื่อสัตย์จริงใจ พยายามเสี้ยมสอนสิ่งถูกต้องต่อ János พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าชื่นชอบตกหลุมรัก Hédi แต่กลับไปมีเพศสัมพันธ์กับ Anna นั่นเพราะจุดประสงค์แท้จริงสนเพียงเงินๆทองๆ ต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อชดใช้หนี้สิน เมื่อทำไม่สำเร็จเลยลักขโมยเครื่องประดับ พอถูกจับได้เลยต้องชดใช้ผลกรรม

ภาพลักษณ์ของ Hetényi เหมาะสำหรับเป็นนักแสดงตลกอย่างยิ่ง! แม้มีความสามารถด้านการเล่นดนตรี (ความบันเทิงของชนชั้นสูง) แต่อะไรอย่างอื่นล้วนดูต่ำต้อยด้อยค่า พยายามสร้างภาพว่าเป็นคนซื่อสัตย์จริงใจ แต่กลับปากว่าตาขยิบ ขมิบคำพูดออกมาไม่เคยตรงกับภายใน เมื่อถูกจับได้ก็ยังคงแก้ต่าง หาข้ออ้างฟังไม่ขึ้น ด้วยเหตุนี้ช่วงท้ายเลยกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ ทั้งๆอาจถือว่ามีความผิดน้อยสุดในบรรดาสมาชิกอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

นั่นเพราะตัวละครอื่นๆสามารถสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา ปกปิดซุกซ่อนเร้นสันดานธาตุแท้จริงไว้ภายใน มีเพียง Tibor ที่ดูต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ราคาจากการถูกจับได้คาหนังคาเขา เลยกลายเป็นแพะที่ต้องโดนกำจัดจุดอ่อน เพื่อนำพาความสงบสันติสุขบังเกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้


ถ่ายภาพโดย Buda Gulyás, Sándor Kardos, Ferenc Pap

แม้ว่าหนังจะถ่ายทำเพียงในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งที่มีสภาพรกๆ ดูเสื่อมโทรม ไร้คนทำความสะอาด แต่ผู้ชมกลับไม่สามารถจินตนาการพิมพ์เขียวของสถานที่แห่งนี้ (แค่พอแยกแยะได้ว่ามีห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ฯ) เพราะมุมกล้องนั้นถือว่ามีความแปลกประหลาดระดับพิศดาร ชอบที่จะเคลื่อนเลื่อนเวียนวนไปวนมา ซูมเข้าซูมออก หลายครั้งถ่ายแบบแอบๆซ่อนๆจากอีกห้องหับ (ให้ความรู้สึกเหมือนมีใครกำลังแอบถ้ำมอง) แล้วจู่ๆถ่ายลงมาจากบนเพดาน และอีกครั้งถ่ายจากพื้นเงยขึ้นไป ยังไงหว่า?? … ความหลากหลายของมุมกล้อง สามารถสื่อถึงความไม่แน่นอน ไร้ทิศทางดำเนินไปของใครต่อใครในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ มีเพียงจุดศูนย์กลางคือ Hédi เมื่อไหร่ยัยแก่นี่จะตกตาย ฉันจะได้ครอบครองมรดกทุกสิ่งอย่าง!

วิธีการดำเนินเรื่องของหนัง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักแสดงเพียงสองคนกำลังพูดคุยสนทนา หรือกระทำอะไรบางอย่างระหว่างกัน (ชกต่อย ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ) นานๆครั้งถึงพบเห็นบุคคลที่สาม-สี่ แต่มักในลักษณะถ้ำมอง แอบจับจ้อง ดั่งสำนวน ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสนทนาใดๆ และเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่สมาชิกทั้งห้าอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน (แต่เป็นช็อตที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในความเพ้อฝันเสียมากกว่า!)

ส่วนการจัดแสงนั้นเต็มไปด้วยสีสัน บ่อยครั้งสาดเฉดตรงกันข้าม (น้ำเงิน-ส้ม) อาบฉาบตัวละคร เพื่อแสดงถึงความขัดแย้ง/ครุ่นคิดเห็นแตกต่างระหว่างทั้งสอง เมื่อสามารถพูดคุยปรับความเข้าใจถึงค่อยเคลื่อนเลื่อนกล้องให้เห็นอีกฝากฝั่งอาบแสงขาว (หรือตัวละครขยับเคลื่อนเลื่อนตำแหน่ง ให้ใบหน้าอาบฉาบเฉดสีเดียวกัน) แต่ถ้าปกคลุมด้วยความมืดมิด หรือพบเห็นพื้นหลังแสงสีเขียว นั่นคือสัญลักษณ์ของความโฉดชั่วร้าย ลับลมคมใน มีบางสิ่งอย่างไม่ถูกต้องบังเกิดขึ้น

สำหรับคนที่ช่างสังเกตน่าจะพบเห็นว่า ไดเรคชั่นการถ่ายภาพของ Almanac of the Fall (1984) ล้วนเต็มไปด้วยลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ แต่เพียงเพราะสถานที่ดำเนินเรื่องมีเพียงภายในอพาร์ทเม้นท์แห่งเดียว มันจึงถูกห้อมล้อมด้วยผนังกำแพง (ไม่เห็นหน้าต่างสักบาน) เท่านั้นเองนะครับ!


Even if you lead me,
this land is unknown.
The devil is probably leading,
going round and round in circles.

Alexander Pushkin

เริ่มต้นด้วยบทกวีของ Alexander Pushkin (1799-1837) นักเขียนนวนิยาย/คีตกวีได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของชาวรัสเซีย! ซึ่งใจความเป็นการบอกใบ้ทิศทางของหนัง และถือเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ ที่เริ่มต้น-สิ้นสุด รวมถึงหลายๆครั้งกล้องมักเคลื่อนหมุนวน 360 องศา … เอาไว้ผมอธิบายที่ฉากสุดท้ายทีเดียวแล้วกันว่า เรื่องราวของหนังมันมีทิศทางเวียนวน เริ่มต้น-สิ้นสุด หวนกลับมาบรรจบกันได้อย่างไร

ผมคงไม่ลงรายละเอียดทุกครั้งเมื่อพบเห็นระหว่างการพูดคุยสนทนา มีแสงคนละเฉดสีอาบฉาบตัวละคร (ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำเงิน-ส้ม) เพราะนัยยะชัดเจนอยู่แล้วว่าคือความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมีการกระทบกระทั่ง ปะทะคารมอะไรกันนะครับ แค่เพียงมุมมองในเรื่องที่พวกเขากำลังสนทนา เข้าใจไม่ตรงกันก็เท่านั้น

มันเป็นความบ้าระห่ำอย่างแท้จริงของผู้กำกับ Tarr การจัดแสงลักษณะนี้มันไม่ง่ายเลยนะ! (ก็ว่าใช้ตากล้องตั้งสามคน) ช็อตนี้มันยังง่ายๆเพราะแสงคนละสีอาบฉาบตัวละคร ความท้าทายจะเกิดขึ้นเมื่อมีการซ้อนทับ หรืออีกด้านหนึ่งสาดแสงขาว และยังมีพื้นหลังสีเขียว … ขนาดว่านักวิจารณ์ต่างประเทศเปรียบเทียบการใช้สีสันของหนังเหมือนกล้องสลับลาย (Kaleidoscope)

หนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ คือระหว่างการสนทนาที่กำลังออกรสชาติเข้มข้น กล้องจะค่อยๆซูมเข้าหาใบหน้าตัวละครจนถึงระยะ Close-Up นี่เป็นวิธีการที่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้ตัว ไม่ทันสังเกตเห็น แต่เทคนิคดึงดูดความสนใจ เหมือนต้องการเน้นย้ำว่านี่คือเนื้อหาสาระสำคัญบางอย่าง

ช่วงระหว่างที่มารดา Hédi ทะเลาะขึ้นกับเสียงกับบุตรชาย János มุมกล้องมีลักษณะเหมือนการแอบถ่ายจากอีกห้องหนึ่ง เคลื่อนเลื่อนเวียนวนไปมา และปรับเปลี่ยนระยะใกล้-ไกล Medium Shot vs. Long Shot (ขณะกล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านผนังกำแพงที่มีความมืดมิด จะมีการตัดต่อสลับสับเปลี่ยนระยะภาพใกล้-ไกล)

แม้เราจะไม่พบเห็นบุคคลที่สามในฉากนี้ แต่ลักษณะการถ่ายทำเหมือนมีใครบางคนแอบจับจ้อง ถ้ำมองดู สอดรู้สอดเห็น ให้ความรู้สึกเหมือนสำนวน ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ พบเห็นอยู่บ่อยครั้งทีเดียว พอคาดเดากันได้ไหมเอ่ยว่าน่าจะเป็นใคร?

หนึ่งในฉากที่ผมรู้สึกว่าเป็นการบอกใบ้พอสมควรก็คือ Miklós นั่งอ่านหนังสืออยู่ภายนอก กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้าไปในห้องอาบน้ำ พบเห็น Hédi กำลังพูดคุยอยู่กับ Anna และเตรียมที่จะฉีดยา! นี่อาจไม่ใช่การแอบฟัง เพราะหญิงสาวทั้งสองน่าจะรับรู้ว่าเขานั่งอยู่นอกห้อง หัวข้อสนทนาก็ไม่ใช่ความลับอะไร แต่กลับให้ความรู้สึกที่ไม่เป็นส่วนตัวสักเท่าไหร่

ระหว่างที่ Hédi กำลังสนทนากับ Tibor ผมรู้สึกโคตรรำคาญเมื่อมีอะไรก็ไม่รู้เบลอๆวางอยู่เบื้องหน้าตัวละคร แถมกล้องก็เคลื่อนไปเคลื่อนมา ดึงดูดสายตาให้มิอาจปล่อยละวาง ซึ่งพอถ่ายภาพมุมกว้างถึงสังเกตเห็นว่ามันคือขวดเหล้า/ขวดไวน์ เป็นการแสดงให้เห็นอิทธิพล ความมึนเมา พูดเล่าระบายความอัดอัดอั้นภายใน … แต่เขาคือคนแปลกหน้าไม่ใช่หรือ (เพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ได้ไม่นาน) แต่เธอกลับทำตัวไม่สนสำนวน ‘ไฟในอย่านำออกไฟนอกอย่านำเข้า’

ระหว่างที่ Anna กำลังตัดแต่งทรงผมให้ Miklós เธอก็พยายามโน้มน้าวให้เขาเข้าไปตีสนิท Tibor เรียกว่าเป็นการจัดแจง (เหมือนการตัดแต่งทรงผม) ต้องการให้ชายคนรักทำในสิ่งที่ตนเองคาดหวัง แต่เขากลับพูดในทำนองว่าฉันคือคนตัดสินใจด้วยตนเองที่จะเข้าไปพูดคุยกับสมาชิกคนใหม่ (คือไม่ต้องการถูกเธอควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วสั่งให้ทำโน่นนี่นั่น)

ถือเป็นฉากชัดเจนที่สุดในหนังถึงพฤติกรรมของ Miklós กำลังแอบรับฟังโทรศัพท์ของ Tibor ทำให้พอคาดเดาได้ว่าชายคนนี้มีลับลมคมในอะไร แต่สิ่งน่าประทับใจโคตรๆของฉากนี้คือลีลาการถ่ายภาพ

  • เริ่มจากจับจ้องใบหน้าของ Tibor กำลังพูดคุยโทรศัพท์
  • เมื่อเสียงเพลงดังขึ้น กล้องจะเคลื่อนเลื่อนมาจับภาพ Miklós ที่แอบหลบซ่อนตัวอยู่อีกห้อง
  • จากนั้นกล้องดำเนินมายังอีกห้องของ Miklós นี่ถือเป็นการสลับสับเปลี่ยนมุมมองมองตัวละคร
  • จากนั้นถ่ายภาพ Tibor ลอดผ่านมุมมองของ Miklós
  • และจบที่กล้องถ่ายภาพใบหน้าของ Miklós

ผมขออธิบายสองช็อตนี้ในคราเดียวกัน เพราะมันเป็นมุมกล้องที่แปลกประหลาดพิศดาร แต่มีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม คือถ่ายจากเบื้องบนเพดานลงมา และเงยขึ้นจากพื้น (กระจกขนาดใหญ่)

การถ่ายมุมก้มจากเบื้องบนให้ความรู้สึกเหมือน Miklós กำลังกุมชะตาชีวิตของ Tibor (เพราะแอบรับรู้ความลับของอีกฝ่าย) เช่นกันกับการถือมีดโกนหนวดโกนเครา (ที่สามารถเชือดคออีกฝั่งได้โดยง่าย) และเฉดสีแดงที่สามารถสื่อถึงความรุนแรง

สำหรับมุมเงยขึ้นจากพื้น เกิดขึ้นหลังจาก Miklós ไม่พึงพอใจพฤติกรรมของ Tibor (ที่ร่วมรักหลับนอนกับแฟนสาว Anna) จึงกระทำการเหยียบย่ำยี ใช้ความรุนแรงกระทำร้ายร่างกาย เหมือนต้องการให้อีกฝ่ายถูกธรณีสูบจมสู่ก้นผืนปฐพี แต่หญิงสาวทั้งสองก็ตรงรี่เข้ามาหักห้ามปรามได้ทัน

การแอบเข้ามาในห้องนอนของ Hédi นี่ก็เป็นอีกลับลมคมในของ Miklós แถมใบหน้าเริ่มจากอาบฉาบแสงสีแดง แล้วพอยืนขึ้นก็ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท หมอนี่ครุ่นคิดชั่วร้ายอะไรกัน?

ผมครุ่นคิดว่าหัวขโมยเครื่องประทับ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ Tibor แต่คือฉากนี้แหละที่ Miklós แอบเข้ามาในห้องนอนของ Hédi แล้วกระทำการโจรกรรมกำไลข้อมือ จากนั้นนำไปส่งมอบหรือทำอะไรบางอย่างล่อตาล่อใจ เพื่อให้อีกฝ่ายหยิบไปจำนำชดใช้หนี้สิน กลายเป็นแพะรับบาปโดยไม่ทันรู้ตัว … ถือเป็นจอมวางแผนโดยแท้!

มุมกล้องเอียงๆ แสงสว่างสีเขียว ในห้องรกๆ เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของกระจัดกระจาย ล้วนสื่อถึงความเสื่อมโทรมของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (=ประเทศฮังการี) ไม่มีใครดูแลรักษา เก็บกวาด ทำความสะอาด จัดข้าวของเข้าที่เข้าทาง แม้มีสมาชิกอยู่ถึงห้าคน แต่พวกเขาต่างบ่ายเบี่ยง ปฏิเสธความรับผิดชอบ หาใช่ภาระหน้าที่ของตนเองในการทำสถานที่แห่งนี้ให้น่าอยู่อาศัย … แสดงถึงความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ใคร่สนผู้อื่นแต่อย่างใด

เปียโน ในบริบทนี้ถือเป็นตัวแทนอารยะธรรมของมนุษย์ แม้ยังสามารถบรรเลงเล่นเพลง แต่อยู่ท่ามกลางเศษกระดาษ ขยะเต็มพื้นเกลื่อนกลาด สถานที่ที่มีความเสื่อมโทรมทราม ช่างเป็นสิ่งขัดย้อนแย้งกันสิ้นดี!

กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากอ่างล้างจานพานผ่านประตูห้องไปจนถึงเตาอบ (มั้งนะ) ให้ความรู้สึกเหมือนใครบางคนกำลังเดินผ่าน (จะมีใครเสียอีกละ!) แล้วแอบพบเห็น Anna ก้มศีรษะกำลังทำ ‘blowjob’ ให้กับ Tibor แน่นอนว่าพวกเขาคงต้องต่อด้วยการมีเพศสัมพันธ์

เหตุผลที่ Anna ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับ Tibor น่าจะเพราะความสงสารเห็นใจล้วนๆ ฝ่ายชายเหมือนถ้วยชาม/แก้วน้ำที่ถูกทอดทิ้งไว้ในอ่าง (ไม่มีใครเหลียวแล รับผิดชอบล้างจาน) เช่นเดียวกับเก้าอี้ที่ว่างเปล่า และเตาอบที่ไม่มีอะไรอยู่ข้างใน … จริงๆเตาอบยังสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงอารมณ์(ทางเพศ)อันลุ่มร้อนของ Anna ก็ได้กระมัง (เพื่อล้อกับตอนถูกข่มขืนข้างตู้เย็น)

หลังจาก Anna มีเพศสัมพันธ์กับ Tibor นำความมาอ้างอวดกับ Hédi เห็นตอนแรกก็ยังดูยิ้มแย้ม บอกว่ายินยอมรับได้ นั่นไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่เมื่อเธอพร่ำเพ้อไม่ยอมหยุดสักที ปฏิกิริยาสีหน้าของ Hédi ก็เริ่มแสดงอาการหงุดหงิด ไม่พึงพอใจ อิจฉาริษยาร่วมด้วยกระมัง

คือถ้า Anna ไปมีความสัมพันธ์กับใครอื่น Hédi ก็คงยังแสดงปฏิกิริยาอย่างนี้ ไม่ยี่หร่า ไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่เมื่อเธอสานสัมพันธ์(ถูกข่มขืน)บุตรชาย János นั่นเป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด! แบบนี้เรียกมนุษย์ป้าก็ได้กระมัง

โดยปกติแล้ว Miklós จะเป็นที่ปรึกษา รับฟังปัญหาของ Hédi แต่หลังจากถูก Anna ทรยศหักหลัง มีเพศสัมพันธ์กับ Tibor อะไรๆก็เริ่มพลิกกลับตารปัตร!

ปฏิกิริยาท่าทางของ Miklós เต็มไปด้วยความรุกรี้รุกรน ชัดเจนว่าไม่พึงพอใจต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (ก่อนฉากถัดๆไปจะเข้าไปชกต่อย Tibor จนลงไปนอนกองกับพื้น) พูดคุยในเชิงขอคำแนะนำ Hédi ระหว่างกำลังเล่นไพ่ (สื่อถึงการเล่นเกมอะไรบางอย่าง) นั่นทำให้เธอรู้สึกเหมือนเป็นบุคคลสำคัญให้เขาพึ่งพักพิง (สังเกตว่าเธอนั่งบนโซฟา ส่วนเขานั่งลงกับพื้น) นี่น่าจะคือเหตุผลหนึ่งกระมังที่ทำให้ Hédi บังเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อ Miklós

Miklós วางแผนแก้ล้างแค้นด้วยการพูดคุยโน้มน้าว János ให้พยายามเข้าหา Anna แม้ไม่เชิงชี้ชักนำเรื่องการข่มขืน แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการเอาคืนอีกฝั่งฝ่าย! ถ่ายช็อตนี้พบเห็นภาพสะท้อนในกระจกเงา ซึ่งจะไปล้อกับตอนที่ Hédi โทรศัพท์หาตำรวจแจ้งจับ Tibor ล้วนสะท้อนถึงสภาวะทางจิตใจของตัวละคร มีความเคียดแค้นภายใน กำลังกระทำสิ่งชั่วร้ายคืนตอบสนอง (กระจกสะท้อน กรรมสนองกรรม)

ทั้งๆเมื่อแรกพบเคยพูดคุยสนทนาน้ำไหลไฟดับ แสดงความสนิทสนมชิดเชื้อ เหมือนจะอ่อยเหยื่ออีกฝั่งฝ่าย แต่หลังจากรับรู้ว่า Tibor มีเพศสัมพันธ์กับ Anna ปฏิกิริยาของ Hédi แสดงสีหน้ารังเกียจขยะแขยง ไม่สามารถยินยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว เพียงขณะนี้ยังมองว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เลยแค่ตำหนิต่อว่าอย่าให้เกิดขึ้นซ้ำสองเด็ดขาด!

ทั้งฉากนี้ถ่ายจากอีกห้องหับ (ให้ความรู้สึกเหมือนการแอบถ่าย/ใครบางคนถ้ำมอง) สังเกตว่ามุมกล้องพยายามทำให้บางสิ่งอย่างกีดกั้นขวางตรงกลางระหว่างทั้งสอง และเมื่อ Hédi เดินออกจากห้องนี้ไป ทางฝั่ง Tibor ถูกห้อมล้อมด้วยกรอบแลดูคล้ายกรงขัง นั่งลงแล้วกำลังสวมใส่รองเท้า (คือการกระทำที่สื่อถึงสภาพจิตใจตกต่ำ)

นี่เป็นช็อตเดียวของหนังที่ทั้งห้าตัวละครอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน แต่สังเกตว่าทั้งหมดแทบไม่ขยับเคลื่อนไหวติง (ยกเว้น Anna ที่นั่งลงฉีดยาให้ Hédi) อยู่ท่ามกลางความมืดมิด และทิศทางของพวกเขาไม่มีใครหันหน้าเข้าหากัน

  • Hédi นั่งอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางแสดงถึงความเป็นจุดสนใจของทุกคน (เพราะใครๆต่างต้องการกองมรดก/อพาร์ทเม้นท์หลังนี้)
  • Anna ทำตามหน้าที่รับผิดชอบ คือฉีดยาให้กับ Hédi
  • บุตรชาย János แม้ลำตัวหันเข้าหามารดา แต่ใบหน้ากลับเบือนหนี (ร่างกายยังคงอยู่ในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แต่จิตใจต้องการออกไปให้ไกล)
  • Miklós และ Tibor ต่างหันข้างให้ Hédi และใบหน้าสายตาเหม่อมองทิศทางอื่น สามารถสื่อถึงการมีลับลมคม
    • แต่ Tibor ยืนอยู่เบื้องหน้า คือบุคคลที่ต้องเผชิญหน้ารับเคราะห์กรรม
    • Miklós หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง คือบุคคลผู้คอยชักใยสิ่งต่างๆแบบไม่เปิดเผยตัวตนเอง

เอาจริงๆมันไม่มีเหตุผลที่ต้องให้ทั้งห้ามาโพสท่า อยู่ร่วมฉากเดียวกันนี้ เลยทำให้ผมรู้สึกเหมือนภาพในความเพ้อฝัน เพื่อเป็นจุดหมุน การเปลี่ยนแปลงที่จะกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับครึ่งแรก (ช็อตนี้ถือว่าอยู่เกือบๆกึ่งกลางหนังพอดิบดี)

แซว: ช็อตนี้ทำให้ผมระลึกถึง Veronika Voss (1982) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ที่จะมีการยืนโพสท่ารายล้อมรอบตัวละคร ลักษณะคล้ายๆกัน

ระหว่างที่ János สนทนากับ Tibor ให้ช่วยโน้มน้าวขอเงินมารดา Hédi แต่เขากลับพยายามสั่งสอนวิธีการเป็นบุตรที่ดี ควรต้องทำอย่างโน้น ควรต้องทำอย่างนี้ ขณะพร่ำเพ้อไปก็รับประทานอาหารเข้าปากไป เหมือนเป็นการกล้ำกลืนในสิ่งที่กำลังพูดถึง … ตรงกับสำนวน ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’

เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง János ก็มิอาจอดรนทนฟังอีกต่อไป ฉุดกระชาก Tibor ขึ้นมาขู่กรรโชก แล้วทุบขวดแก้วมาจี้คออีกฝ่าย (ตรงกับคำภาษาอังกฤษ ‘bottom line’ แปลว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ สิ่งที่ไม่ควรก้าวข้าม หรือคือคำพูดของ Tibor สะกิดต่อมลูกหมากของ János)

หลังจากที่ผมขบครุ่นคิดอยู่นานมากๆ ว่าทำไม János ถึงข่มขืน Anna บนหลังตู้เย็น? ก็พบว่ามันคือสัญลักษณ์แทนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจตัวละคร มีความหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา หญิงสาวไม่บังเกิดอารมณ์ร่วมกับชายหนุ่ม ตรงกันข้ามกับตอนที่เธอมีเพศสัมพันธ์กับ Tibor แล้วกล้องเคลื่อนมายังเตาอบ ซึ่งสื่อถึงความลุ่มร้อน ร่านราคะ เกิดความต้องการ(มีเพศสัมพันธ์)อย่างแท้จริง!

แต่ให้ตายเถอะพระเจ้าจอร์จ! น่าจะเรียกได้ว่ามาโซคิสม์ได้กระมัง แม้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา พูดคำด่าท่ออีกฝั่งฝ่าย แต่หลังจากถูกขับไล่จาก Miklós เธอก็หวนกลับมาเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน János ยินยอมศิโรราบกับเขา ซะงั้น!

János นำตั๋วจำนำที่ได้จาก Tibor มาอวดอ้างกับ Anna เพื่อโน้มน้าวชักชวนเธอให้หลบหนีออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายจากใต้เรือนเปียโน เพื่อสื่อถึงพฤติกรรม(คอรัปชั่น)ใต้โต๊ะ การกระทำลับๆล่อๆ ผิดกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งถูกต้อง (เหมือนพวกทหาร/ตำรวจรับสินบนใต้โต๊ะ)

นี่เป็นอีกช็อตน่าทึ่งของหนัง เพราะเมื่อถ่ายใบหน้าตัวละครซีกหนึ่ง พบเห็นอาบฉาบด้วยแสงสีตรงกันข้าม (น้ำเงิน-ส้ม) แต่เมื่อกล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านด้านหลังศีรษะ Hédi อีกฟากฝั่งของพวกเขากลับอาบฉาบด้วยแสงขาวเหมือนกัน ทำได้ยังไง??

นัยยะฉากนี้นอกจากการสลับสับเปลี่ยนมุมมอง (Miklós จากเคยเป็นที่ปรึกษา Hédi ครานี้เขากลับขอคำแนะนำจากเธอ) สีสันที่เคยแตกต่าง (แสดงถึงความขัดแย้ง/ไม่เข้าใจกัน) เมื่อต่างอาบด้วยแสงขาว สามารถสื่อถึงการยินยอมรับ เข้าใจกันและกัน … นี่คือฉากที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละคร มาถึงจุดที่ Hédi มีความไว้เนื้อเชื่อใจ Miklós จนภายหลังสามารถพูดบอกทุกสิ่งอย่างออกไป

ครั้งหนึ่ง Miklós (อาบแสงสีแดง) เคยพยายามขับไล่ Anna ให้ออกไปจากห้องแห่งนี้ (เพราะรับไม่ได้กับความสำส่อน เอากับผู้ชายไม่เลือกหน้า) แต่หลังจากหญิงสาวได้ครอบครองรักจาก János ทำให้สามารถรักษาพื้นที่มั่นของตนเอง ทุกสิ่งอย่างจึงพลิกกลับตารปัตร เธอใช้คำพูดด่าทอ และขับไล่อดีตแมงดาให้ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ … ทิศทางมุมกล้องก็เฉกเช่นเดียวกัน!

เฟอร์นิเจอร์ของฉากนี้ก็น่าสนใจทีเดียว

  • เตียงนอนในตอนแรกมีผ้าคลุมสีขาวก่อนถูกดึงออกมา เพื่อเปิดเผยลวดลายที่แท้จริง
  • ด้านหลังของ Anna พบเห็นอีกห้องที่มีโต๊ะวางกับพื้น และเก้าอี้ลอยกลับหัวกลับหาง (น่าจะสื่อถึงความกลับตารปัตรของโลกใบนี้)
  • รูปปั้นอยู่ข้างๆ Miklós ถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติก คือต้องปกปิดคำพูด ซุกซ่อนปฏิกิริยาความรู้สึกไว้ภายใน

ความขัดแย้งที่มาถึงจุดแตกหักระหว่าง Hédi กับ Anna ก็นำเสนอในลักษณะเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

  • เริ่มจากระยะภาพ Long Shot เมื่อเริ่มใช้ความรุนแรง Anna สามารถผลักดัน Hédi ให้ลงนอนบนเตียง
  • ระหว่างพักรบ พูดคุยสนทนา ระยะภาพจะประชิดใกล้ตัวละคร (Close-Up)
  • เมื่อการต่อสู้กลับมาอีกครั้ง Hédi สามารถผลักดัน Anna ล้มลงบนเตียง ระยะภาพ Long Shot

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ Hédi ต้องขอคำปรึกษาหาทางออกจาก Miklós แต่นี่กลายเป็นโอกาสของเขาที่จะล้วงเอาความลับ เลยพยายามโน้มน้าวให้เธอพูดบอกที่มาที่ไป เบื้องหน้าเบื้องหลัง สถานะการเงิน เพื่อตนเองจักกลายเป็นบุคคลสำคัญของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ และไม่มีใครสามารถขับไล่ออกไปไหนได้อีก

ซึ่งระหว่างที่ Miklós กำลังพูดโน้มน้าวให้เปิดเผยสิ่งต่างๆ พอดิบพอดีกำลังเคี้ยวรับประทานอาหาร นี่ก็ล้อกับตอน Tibor พยายามเสี้ยมสอนสั่ง János กล้ำกลืนกินในสิ่งที่พูดเอ่ยถึง แตกต่างที่คราวนี้ Hédi ไม่สามารถรู้เท่าทันโจร ดูแล้วคงยินยอมเปิดเผยทุกสิ่งอย่าง (แซว: ผมแอบนึกถึงแก๊งค์ Call Center ขึ้นมาทันใด)

ก่อนหน้าที่ Tibor จะถูกตำรวจควบคุมตัว János เต้นระบำกับมารดา Hédi ส่วนเจ้าสาว Anna นั่งสูบบุหรี่อย่างเซ็งๆ แล้วเริ้มเกี้ยวพาราสี Miklós … สามารถสื่อถึงเมื่อตอนเริ่มต้นมีเพียงแม่-ลูก คือเจ้าของ-ทายาทอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ ใครอื่นล้วนแค่บุคคลภายนอก

แต่หลังจาก Tibor ถูกตำรวจจับกุมตัวไป กล้องเคลื่อนจากภายนอกเข้ามาในห้องนี้ (นัยยะถึงการถูกบุกรุกราน) พบเห็น Hédi กำลังปลอบประโลม János นั่งร่ำร้องไห้ ขณะที่ Miklós เต้นเริงระบำกับ Anna … สามารถสื่อถึงสถานการณ์ตอนจบ แม้สองแม่-ลูกยังคงคือเจ้าของตัวจริง แต่คนนอกทั้งสองได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่ง รับรู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในอพาร์ทเมนท์เช่นเดียวกัน!

  • Anna คือว่าที่เจ้าสาว/ภรรยาของ János
  • Miklós กลายเป็นผู้ล่วงรับรู้สถานะทางการเงิน ลับลมคมในทุกสิ่งอย่างของ Hédi

ถึงอย่างนั้นไม่ว่าก่อนหรือหลัง สถานการณ์ในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ล้วนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในทิศทางที่ดีขึ้น ดูเหมือนจะสร้างปัญหามากกว่าเก่าด้วยซ้ำ! ซึ่งล้อกับบทกวีตอนต้นเรื่อง ปีศาจ(Miklós กับ Anna)ชักนำทางให้มนุษย์เดินเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น … การเคลื่อนเลื่อนกล้องก็เช่นเดียวกันนะ เดินเข้ามาวนรอบแล้วก็หวนกลับออกไป

เกร็ด: โทนสีของฉากนี้ออกขาวๆซีดๆ (ดูยากมากๆว่าควรเป็นโทนสีอะไร) ให้ความรู้สึกมวลรวมแห่งความชั้วร้าย (แสงขาวเกิดจากการผสมของทุกแสงสี)

ตัดต่อโดย Ágnes Hranitzky (เกิดปี 1945) ภรรยาของผู้กำกับ Béla Tarr ซึ่งไม่ใช่แค่ทำงานตัดต่อ หลายๆครั้งยังดูแลบทหนัง ออกแบบงานสร้าง (Production Design) ช่วยกำกับกองสอง เหมือนจะรับรู้จักกันมาตั้งแต่ The Outsider (1981) จนถึงปัจจุบัน

หนังใช้อพาร์ทเม้นท์หลังหนึ่ง (ไม่ได้ระบุว่าตั้งอยู่แห่งหนไหน) คือจุดหมุน/ศูนย์กลางของหนัง โดยทิศทางของเรื่องราวต้องสังเกตจากเหตุการณ์บังเกิดขึ้น หรือหัวข้อที่ตัวละครพูดคุยสนทนา จะมีบางสิ่งอย่างสามารถเชื่อมโยงจากฉากหนึ่งไปสู่อีกฉากหนึ่ง (ไม่จำเป็นว่าต้องมีใครคนหนึ่งกลายเป็นคู่สนทนาของฉากถัดไป) และทั้งๆไม่เคยพบเห็นบุคคลที่สาม แต่สถานที่แห่งนี้ราวกับว่า ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ ไม่มีอะไรเป็นความลับสักสิ่งอย่าง!

การจะแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ ผมรู้สึกว่าทำได้ยากมากๆ เพราะเมื่อฉากเปลี่ยน คู่สนทนาเปลี่ยน มันก็แทบกลายเป็นอีกคนละเรื่องราว ไม่สามารถจัดเข้ารวมกลุ่มเดียวกัน แต่ถ้าเรามองคร่าวๆถึงเหตุการณ์หลังๆที่เกิดขึ้นกับ Tibor น่าจะพอแยกออกได้เป็น

  • แนะนำตัวละคร ความวุ่นวายในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
    • นำเสนอความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง Hédi, Anna และ Miklós
    • János ทะเลาะเบาะแว้งกับมารดา Hédi
  • การมาถึงของครูสอนดนตรี Tibor
    • Tibor พยายามสานสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ
    • ระหว่างกำลังมึนเมา János ใช้กำลังรุนแรงกับ Tibor
    • Anna รู้สึกสงสารเห็นใจ Tibor เลยยินยอมร่วมรักหลับนอน นำความไปอวดอ้างกับ Hédi
  • ความขัดแย้ง/การเอาคืนของ Miklós
    • Miklós ไม่พึงพอใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เลยใช้ความรุนแรงกับ Tibor แล้วโน้มน้าว János ให้ข่มขืน Anna
    • János พยายามข่มขู่ แบล็กเมล์ Tibor จนต้องยินยอมจำนนต่อหลักฐาน
    • János ข่มขืนกระทำชำเรา Anna ในตอนแรกเธอแสดงอาการรังเกียจต่อต้าน แต่ไปๆมาๆกลับมองเห็นเป็นโอกาส
    • Anna วางอำนาจบาดใหญ่ต่อ Miklós และใช้ความรุนแรงกับ Hédi (เพราะเหมือนว่าได้ János หนุนหลัง)
  • การตัดสินใจของ Hédi ต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
    • Miklós พูดบอกเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Hédi พร้อมให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหา
    • หลังจาก Tibor ถูกตำรวจจับกุมตัว สมาชิกที่เหลือทั้งสี่ต่างอยู่กันพร้อมหน้า กำลังเลี้ยงฉลองงานหมั้นหมาย/แต่งงานระหว่าง János กับ Anna

แนวทางของผู้กำกับ Tarr มีคำเรียกว่ารูปแบบนิยม (Formalism) ให้ความสำคัญกับรูปแบบในการนำเสนอ (Form) ที่สอดคล้องแนวคิดผู้สร้าง มากกว่าเนื้อหาสาระ (Content) สังเกตว่าการดำเนินเรื่องจะมีลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้น-สิ้นสุดเวียนวน 360 องศา หลายๆฉากก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ทางภาษาภาพยนตร์ อาทิ เมื่อมีถ่ายลงมาจากเพดาน ก็ต้องมีภาพเงยขึ้นจากภาคพื้น, มุมกล้องเคลื่อนจากซีกซ้ายใบหน้าไปยังอีกฟากฝั่งขวา, แสงสีน้ำเงิน-ส้ม คือขั้วตรงข้ามของแม่สี ฯลฯ


เพลงประกอบโดย Mihály Víg (เกิดปี 1957) นักแต่งเพลงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ในครอบครัวนักดนตรี ถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พอโตขึ้นร่วมก่อตั้งวงใต้ดิน Trabant (1980–1986) ตามด้วย Balaton (1979-ปัจจุบัน) กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ร่วมงานกันตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) จนถึงผลงานสุดท้าย

งานเพลงของ Víg ต้องชมเลยว่ามีความหลอกหลอน วาบหวิวทรวงใน สร้างบรรยากาศเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง โดยมักใช้การบรรเลงเปียโน กีตาร์ไฟฟ้า หรือเครื่องสังเคราะห์เสียง ด้วยท่วงทำนองง่ายๆแต่สามารถถ่ายทอดความครุ่นคิดอันสลับซับซ้อน ดังขึ้นในช่วงเวลาที่กล้องกำลังเคลื่อนเลื่อนไหล จิตวิญญาณล่องลอยไป ทำไมโลกใบนี้มันช่างเหี้ยมโหดร้ายเหลือเกิน

ขอเริ่มที่ Főcím (แปลว่า Main Title) ได้ยินเสียงบรรเลงเปียโนเกรด 1-2 (คนที่เพิ่งหัดเล่นไม่นานก็น่าจะพอเล่นได้) ท่วงทำนองเนิบๆช้าๆ ฟังแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เหมือนว่าชีวิตพานผ่านอะไรๆมามาก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสมหวังดั่งใจ เลยเกิดอาการท้อแท้หมดไฟ จากนี้คงทำได้เพียงเฝ้ารอคอยความตาย

Lukin คือเพลงโปรดของผมในอัลบัมเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่แค่การเหยียบ Damper Pedal ขณะบรรเลงเปียโน แต่ยังปรับแต่งเสียงให้มีความบิดเบี้ยว ฟังแล้วรู้สึกหลอกหลอก สั่นสยิวกาย ซึ่งสามารถสื่อถึงความอัปลักษณ์ทางจิตใจของมนุษย์ พร้อมคิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น สนเพียงกระทำสิ่งต่างๆตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น

หลายคนน่ารับรู้จักบทเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) แต่งโดย Jay Livingston และ Ray Evans โด่งดังจากการขับร้องของ Doris Day ประกอบภาพยนตร์ The Man Who Knew Too Much (1956) เคยไต่ถึงอันดับสอง Billboard Hot 100

แต่ฉบับที่ใช้ในหนังถูกแปลเป็นภาษาฮังกาเรียนโดย G. Dénes György ชื่อว่า Ahogy lesz, ugy lesz ขับร้องโดย Hollós Ilona (1920-93) … คลิปที่นำมาคุณภาพยอดเยี่ยมสุดเท่าที่หาได้แล้วนะครับ

การเลือกใช้บทเพลงนี้ช่วงท้ายของหนัง ไม่ใช่แค่สื่อถึงอาการท้อแท้สิ้นหวังของตัวละครเท่านั้น ยังคือคำรำพันผู้กำกับ Tarr เกิดความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย ต่อทุกสรรพสิ่งอย่างในชีวิต (และสถานการณ์การเมืองในฮังการี) อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ฉันไม่สนห่าเหวมันอีกต่อไปแล้ว!

Almanac of Fall ทำการจำลองประเทศฮังการีให้เหลือเพียงระดับจุลภาค ในอพาร์ทเม้นท์ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ได้รับการเหลียวดูแล เจ้าของคือ Hédi ตัวแทนชนชั้นผู้นำ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ชื่นชอบใช้อำนาจเผด็จการควบคุมครอบงำ ขณะที่ประชาชน/คนรุ่นใหม่/บุตรชาย János กลับพยายามต่อต้านขัดขืน ไม่ยินยอมก้มหัวปฏิบัติตามคำสั่ง โหยหาอิสรภาพ ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้, ส่วนตัวละครอื่นๆสามารถมองได้ทั้งบุคคลภายนอก หรือชาวฮังกาเรียนเองก็ยังได้ ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากดินแดนมาตุภูมิแห่งนี้

ที่ผมอธิบายมานี้ สังเกตว่าเป็นเพียงภาพรวมแบบคร่าวๆที่สามารถจับใจความจากหนัง โดยไม่ได้อ้างอิงถึงประเด็นการเมือง หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของฮังการีโดยตรง นั่นเพราะผู้กำกับ Tarr หมดสูญสิ้นความสนใจต่อสถานการณ์ภายในประเทศขณะนั้นๆ สิ่งต้องการนำเสนอก็คือสภาพเสื่อมโทรมที่สามารถพบเห็นจากภายนอก/รูปธรรม (อพาร์ทเม้นท์ที่ไม่ได้รับการเหลียวดูแล) และสภาวะทางจิตใจผู้อาศัย/นามธรรม (สมาชิกทั้งหลายต่างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว)

อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำว่าคือดินแดน ‘dystopian’ ไม่ใช่แค่สถานที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมทราม แต่ยังสมาชิกผู้อยู่อาศัยล้วนเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเพียงตนเอง ไม่ใคร่คำนึงถึงผู้อื่นใด พร้อมคิดคดทรยศหักหลัง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อผลประโยชน์ ตอบสนองตัณหาราคะ บรรลุเป้าหมายความต้องการส่วนบุคคลเท่านั้น!

นั่นคือมุมมองของผู้กำกับ Tarr ต่อวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม ประเทศฮังการียุคสมัยนั้น (ที่อยู่ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์) แต่โดยไม่รู้ตัวเรายังสามารถเปรียบเทียบระดับมหภาค ถึงโลกยุคสมัยปัจจุบันนี้-นั้น ที่ถูกควบคุมครอบงำด้วยแนวคิดระบอบทุนนิยม มันอาจแตกต่างตรงลักษณะกายภาพ ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มองผิวเผินมันคือความเจริญก้าวหน้า(ทางวัตถุ) แต่ถ้าจับจ้องลึกลงไปภายในจิตใจ จักพบเห็นความคอรัปชั่นของมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันเลยสักนิด!

นับตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) เนื้อหาสาระในผลงานของผู้กำกับ Tarr มักนำเสนอสภาพเสื่อมโทรมของสังคม จิตใจผู้คนเต็มไปด้วยความอัปลักษณ์พิศดาร ตัวละคร(หรือคือผู้กำกับ Tarr)เหมือนต้องการหลบหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ ชุมชนบท หรือก็คือประเทศฮังการี แต่ส่วนใหญ่มักทำไม่สำเร็จ หรือมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้งให้ต้องหวนกลับมา … เพราะไม่มีใครสามารถหลบหนีตัวตนเอง ชาติกำเนิด หรือดินแดนมาตุภูมิได้สำเร็จ


ภาพยนตร์ยุคแรกๆของผู้กำกับ Tarr ต้องบอกเลยว่าหายากมากๆ (ผมยังหาสามผลงานแรกไม่ได้เลยนะครับ!) คงเพราะผู้ชมส่วนใหญ่มักให้ความสนใจแต่ผลงานยุคหลังๆ ที่โดดเด่นในสไตล์ลายเซ็นต์ มีความท้าทายในการรับชม เอาจริงๆ Almanac of Fall (1984) ก็เป็นเรื่องที่ดูค่อนข้างยาก ต้องใช้ความอดรนทนค่อนข้างสูง แล้วยังต้องขบครุ่นคิดวิเคราะห์ กว่าจะสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ

อย่างที่บอกไปว่าจนปัจจุบัน Almanac of Fall (1984) ยังมีจัดจำหน่ายแค่ DVD คุณภาพตามมีตามเกิด แต่ก็เชื่อว่าสักวันน่าจะมีสักค่ายหนัง นำผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Tarr มาปรับปรุงบูรณะ เป็นคอลเลคชั่นที่น่าสะสมทีเดียว!

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง ทั้งลูกเล่นลีลา (มันอาจยังไม่ใช่ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ แต่จักพบเห็นร่องรอยพัฒนาการเยอะทีเดียว) หัวข้อการสนทนาที่เต็มไปด้วยลับลมคมใน แฝงมีอะไรๆให้ขบครุ่นคิดมากมาย เมื่อไหร่หนังได้รับการบูรณะ ผมจะเป็นคนแรกๆที่รีบหวนกลับมาหารับชมดูแน่ๆ

แนะนำคอหนังดราม่า บรรยากาศวันสิ้นโลก, นักเขียน/นวนิยาย ผู้กำกับ/นักแสดงฝั่งละครเวที ชื่นชอบการนำเสนอแบบ Chamber Drama (ใช้เพียงสถานที่แห่งเดียว), ตากล้อง ช่างภาพ โดยเฉพาะแผนกจัดแสงสีสัน ลองสังเกตศึกษาความน่าอัศจรรย์ และแฟนๆผู้กำกับ Béla Tarr ไม่ควรพลาดผลงานยุคแรกๆนะครับ

จัดเรต 18+ กับความเสื่อมโทรมภายในอพาร์ทเม้นท์ และสภาพจิตใจของผู้คนที่ต่างสนเพียงตนเอง

คำโปรย | Almanac of Fall คือมุมมองผู้กำกับ Béla Tarr ต่อความร่วงโรยของสังคม ประเทศฮังการี และมวลมนุษยชาติ
คุณภาพ | สีสันแห่งขุมนรก
ส่วนตัว | ออ’ทัมน์

Das Boot (1981)


Das Boot (1981) West German : Wolfgang Petersen ♥♥♥♥

อภิมหากาพย์การสู้รบด้วยเรือดำน้ำ U-boats ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) ที่แม้นำเสนอผ่านมุมมองทหารเรือ Nazi Germany แต่ไม่ว่าผู้ชมฝั่งฝ่ายไหนล้วนสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ตึงเครียด สั่นสะท้านทรวงใน ใครกันจะอยากถูกเข่นฆ่า ใจความต่อต้านสงคราม (Anti-Wars)

Das Boot (1981) คือหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมัน ด้วยทุนสร้างสูงสุดตลอดกาล (ขณะนั้น) ทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ขณะนั้น) เป็นหนังต่างประเทศเข้าชิง Oscar มากสาขาที่สุด (ขณะนั้น) และสามารถใช้เป็นบทเรียน ‘ตำราภาพยนตร์’ สำหรับศึกษาวิธีการนำเสนอเพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ก็ไม่รู้ศัตรูอยู่ไหน แต่สามารถทำให้ผู้ชมเสียวสันหลัง สั่นสะท้านทรวงในอยู่ตลอดเวลา

ใครที่ต้องการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มีหลากหลายทางเลือกพอสมควร

  • ฉบับปี 1981 “Original Theatrical Cut” ความยาว 149 นาที
  • BBC Miniseries” ความยาว 300 นาที เพราะงบประมาณส่วนหนึ่งได้จากสถานีโทรทัศน์ จึงมีการตัดต่อแบ่งออกเป็นตอนๆ ซึ่งมีอยู่สองแบบ
    • ฉบับปี 1984 ฉายช่อง BBC2 ของประเทศอังกฤษ มีทั้งหมด 6 ตอนละ 50 นาที
    • ฉบับปี 1985 ฉายในประเทศเยอรมัน มีทั้งหมด 3 ตอนละ 100 นาที
  • ฉบับปี 1997 “Director’s Cut” นำบางส่วนจาก Miniseries มาแต่งเติมเพิ่มเข้าไปใน Original Theatrical Cut จนได้ความยาว 209 นาที ถือว่ายังพอไหวสำหรับฉายโรงภาพยนตร์
  • ฉบับปี 2004 “The Original Uncut Version” คือการนำเอาฉบับ Miniseries มามัดรวมโดยตัดทิ้ง Intro-Outro หลงเหลือความยาว 293 นาที

ผมตัดสินใจรับชม BBC Miniseries เพราะสามารถแบ่งดูได้หลายวัน (ขอเตือนไว้ก่อนว่า แต่ละตอนแม้งก็จบแบบอารมณ์ค้างๆคาๆ Cliffhanger เหลือเกินนะ!) ก็แล้วแต่เลยว่าใครสะดวกแบบไหน ใจจริงอยากแนะนำให้หลีกเลี่ยง Original Theatrical Cut เพราะมีรายละเอียดถูกตัดต่อออกไปเยอะมากๆ (หายไปครึ่งหนึ่งของฉบับเต็ม!) แต่คิดดูว่าฉบับนั้นยังได้เข้าชิง Oscar ถึง 6 สาขา! แสดงว่าคุณภาพต้องดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว มั้งนะ

หลังจากรับชม Das Boot (1981) บอกเลยว่าทำให้ผมไม่คิดหาดูหนังเกี่ยวกับเรือดำน้ำใดๆอีกต่อไป เพราะเรื่องนี้ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์แบบ นำเสนอแทบทุกสิ่งอย่างในยุทธนาวี(ใต้น้ำ)จนเต็มอิ่ม ไม่หลงเหลือความน่าสนใจอื่นใด The Hunt for Red October (1990), Crimson Tide (1995), U-571 (2000) ก็แค่หนัง Blockbuster สไตล์ Hollywood สนุกแบบความบันเทิงทั่วๆไป … แล้วแต่รสนิยมส่วนบุคคลนะครับ แค่ผมคงไม่เขียนถึงหนังเรือดำน้ำเรื่องอื่นอีกแล้วละ


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Lothar-Günther Buchheim (1918-2007) ศิลปิน นักเขียน นักสะสม ค้าขายผลงานศิลปะ, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม (War correspondent) เมื่อปี 1941 ได้รับมอบหมายถ่ายภาพภารกิจเรือดำน้ำ (U-boats) ในปฏิบัติการครั้งที่ 7 ของเรือ U-96 ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก (Battle of the Atlantic)

ภายหลังสงครามสิ้นสุด Buchheim ก็นำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมาเขียนนวนิยายอัตชีวประวัติ Das Boot (1973) แปลว่า The Boat โดยปรับเปลี่ยนชื่อตัวละครทั้งหมด กลายเป็น Leutnant Werner ปรากฎว่าขายดีเทน้ำเทท่า (Best-Selling) จนทำให้ต้องเขียนต่อกลายเป็นไตรภาค และยังเผยแพร่ภาพถ่ายระหว่างสงครามอีกกว่า 5,000 ภาพ

  • Das Boot (1973) แปลว่า The Boat
  • U-Boot-Fahrer (1985) แปลว่า U-Boat Sailors
  • Zu Tode Gesiegt (1988) แปลว่า Victory in the Face of Death

ความที่เป็นนวนิยายขายดีจึงมีโปรดิวเซอร์ทั้งจากอเมริกัน/เยอรมัน ติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ ก่อนตกเป็นของ Günter Rohrbach จาก Bavaria Film เมื่อปี 1976 ในตอนแรกใคร่สนใจผู้กำกับทางฝั่ง Hollywood เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์คุมงานสร้างขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นที่มีข่าวออกมาคือ John Sturges (The Magnificent Seven, The Great Escape) เล็งนักแสดงนำ Robert Redford ไม่ก็ Paul Newman แต่สุดท้ายบอกปัดเพราะไม่พึงพอใจบทดัดแปลงสักเท่าไหร่


Wolfgang Petersen (1941-2022) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Emden บิดาเป็นทหารเรือ เติบโตขึ้นภายใต้สภาพปรักหักพัก ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของ Nazi Germany ตั้งแต่เด็กเมื่อได้รับของขวัญกล้อง 8mm ก็มีความสนใจด้านนี้เป็นอย่างมาก โตขึ้นมีโอกาสกำกับละครเวทียัง Ernst Deutsch Theater และร่ำเรียนภาพยนตร์ Film and Television Academy ณ Berlin จากนั้นทำงานวงการโทรทัศน์ เริ่มมีชื่อเสียงจากซีรีย์ Tatort (1971–77), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก One or the Other of Us (1974), ติดตามด้วยผลงานชิ้นเอก Das Boot (1981), จากนั้นตัดสินใจมุ่งสู่ Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ In the Line of Fire (1993), Air Force One (1997), The Perfect Storm (2000), Troy (2004), Poseidon (2006) ฯลฯ

เหตุผลที่ผู้กำกับ Petersen ได้รับเลือกให้กำกับ Das Boot (1981) เพราะโปรดิวเซอร์มีความประทับใจในผลงาน One or the Other of Us (1974) ซึ่งเป็นแนว Psychological Thriller เชื่อว่าน่าจะสามารถสร้างบรรยากาศลุ้นระทึก ตึงเครียด เข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของทหารเรือได้เป็นอย่างดี

Petersen ทำการดัดแปลงนวนิยายด้วยตนเอง นั่นสร้างความบาดหมางให้ผู้แต่งนวนิยาย Buchheim แม้ยังคงเป็นที่ปรึกษาหนังร่วมกับกัปตันเรือ U-96 ตัวจริงๆ Heinrich Lehmann-Willenbrock และต้นหน Hans-Joachim Krug แต่เห็นบอกว่าไม่ค่อยชอบผลลัพท์ของหนังสักเท่าไหร่

เกร็ด: เหตุการณ์จริงในเรือดำน้ำ U-96 สมาชิกส่วนใหญ่สามารถเอาตัวรอดชีวิตจนสิ้นสุดสงคราม แต่สถานะของเรือลำนี้หลังปฏิบัติการที่ 11 ได้ถูกปลดประจำการเมื่อปี 1943 และโดนโจมตีโดยเครื่องบินรบอเมริกา (US Air Force) ขณะเทียบท่า Wilhelmshaven จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทรเมื่อปี 1945


พื้นหลังปี ค.ศ. 1941, เรื่องราวของ Leutnant Werner (รับบทโดย Herbert Grönemeyer) ได้รับมอบหมายให้ทำรายงาน/บันทึกภาพภารกิจปฏิบัติการเรือดำน้ำ U-96 ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) โดยมีกัปปิตัน …ไม่มีชื่อ… (รับบทโดย Jürgen Prochnow)

เริ่มออกเดินทางจากท่าเรือ La Rochelle ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ล่องลอยคออยู่ในมหาสมุทรแอตเลนติก พานผ่านประสบการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย พบเจอพายุมรสุม โจมตีเรือขนส่ง หลบหนีเรือพิฆาต จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร และสามารถเอาตัวรอดจากช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) ตลอดระยะเวลาสามเดือน ตั้งแต่ตุลาคมกลับขึ้นฝั่งอีกครั้งวันคริสต์มาสอีฟ

เกร็ด: จะมีเพียงเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officer) ที่ใช้คำเรียกตำแหน่งแทนชื่อตัวละคร กัปปิตัน, รองกัปปิตัน, ต้นหน, หัวหน้าห้องเครื่อง ส่วนลูกเรือทั้งหมดจะมีคำเรียกชื่อตามปกติ


Jürgen Prochnow (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Berlin แล้วไปเติบโตยัง Düsseldorf, บิดาเป็นวิศวกร ต้องการให้บุตรชายโตขึ้นทำงานธนาคาร แต่เขากลับสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นได้เป็นตัวประกอบ/ช่างไฟสตูดิโอ Düsseldorfer Schauspielhaus แล้วไปร่ำเรียนต่อด้านการแสดงยัง Folkwang University แล้วเริ่มมีผลงานละครเวที เข้าสู่วงการโทรทัศน์ช่วงทศวรรษ 70s ร่วมงานผู้กำกับ Petersen ครั้งแรกซีรีย์ Tatort ตอน Jagdrevier (1973), ตามด้วยภาพยนตร์ One or the Other of Us (1974), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Lost Honour of Katharina Blum (1975), Das Boot (1981), จากนั้นโกอินเตอร์เรื่อง Dune (1984), Beverly Hills Cop II (1987), The English Patient (1996), Air Force One (1997), The Da Vinci Code (2006) ฯลฯ

รับบทกัปปิตันเรือดำน้ำ U-96 ชายวัยกลางคนผู้มากประสบการณ์ พานผ่านสมรภูมิรบมาหลายครั้ง เต็มไปด้วยไหวพริบปฏิภาณ เอ่อล้นด้วยบุคลิกภาพผู้นำ เมื่อพบเห็นลูกเรือหน้าละอ่อนก็บ่นพึมพำ แสดงทัศนคติต่อต้านนาซี (Anti-Nazi) ออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็ยังปฏิบัติตามคำสั่งเบื้องบนอย่างเคร่งครัด แม้รับรู้ว่าคือหายนะ จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร ก็ยังสามารถนำพาทุกคนหวนกลับถึงฝั่ง

เกร็ด: Rutger Hauer เป็นนักแสดงอีกคนที่ผู้กำกับ Petersen ติดต่อไป แต่บอกปัดปฏิเสธเพราะกำลังจะเล่นหนัง Blade Runner (1982)

ภาพลักษณ์ของ Prochnow เหมาะกับบทบาทที่ต้องใช้บุคลิกภาพผู้นำ เพราะดูเป็นคนพานผ่านร้อนผ่านหนาว พานผ่านอะไรๆมามาก เต็มไปด้วยริ้วรอยประสบการณ์ แต่ที่โดดเด่นสุดๆคือการเก็บซ่อนเร้นความรู้สึกภายใน แม้ขัดแย้ง/ครุ่นคิดเห็นต่างต่อภาระหน้าที่ ไม่ได้ใคร่อยากเสียสละเพื่อชาติ แต่ก็มิอาจต่อต้านขัดขืนคำสั่งเบื้องคน ถึงอย่างนั้นกลับไร้เฉดแห่งความหวาดสะพรึงกลัว เชื่อมั่นในตนเองและศักยภาพลูกเรือทุกคน ต่อให้จมลงใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร ก็ยังสามารถตะเกียกตะกาย เอาตัวรอดหวนกลับถึงฝั่ง


Herbert Arthur Wiglev Clamor Grönemeyer (เกิดปี 1956) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติ German เกิดที่ Göttingen แล้วไปเติบโตยัง Bochum ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ร่ำเรียนเปียโนและแต่งเพลงจากโรงละครใกล้บ้าน Schauspielhaus Bochum มีโอกาสขึ้นแสดงคอนเสิร์ต ออกอัลบัม แสดงภาพยนตร์บ้างประปราย อาทิ Das Boot (1981), Spring Symphony (1983) ฯลฯ

รับบท Leutnant Werner นายทหารหนุ่มได้รับมอบหมายบันทึกภาพ รายงานประสบการณ์จากปฏิบัติการยุทธนาวี ด้วยความยังละอ่อนวัยไร้เดียงสา ช่วงแรกๆก็เต็มไปด้วยกระตือรือร้น สนใจโน่นนี่นั่น นานวันก็เริ่มเบื่อหน่ายเพราะไม่มีอะไรทำ กระทั่งเมื่อเผชิญหน้าศัตรู หลบหนีเอาตัวรอดหางจุกตูด พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย พานผ่านประสบการณ์เฉียดตายหลายครั้ง ก็ตระหนักว่าสมรภูมิรบคือการกระทำของคนเสียสติ รอดชีวิตมาได้โคตรโชคดีเหลือหลาย!

เกร็ด: ความที่หนังใช้เวลาถ่ายทำเกือบปี! ผู้กำกับ Petersen สั่งให้ทุกคนห้ามออกไปไหนตอนกลางวัน (ทหารที่อยู่ในเรือดำน้ำ แทบไม่มีโอกาสสัมผัสแสงอาทิตย์) ปล่อยหนวดไว้เครา นั่นคือสิ่งที่ผู้ชมพบเห็นพัฒนาการทางกายภาพของนักแสดงจริงๆ

ในบรรดาคณะนักแสดงชุดนี้ ตัวละคร Werner ถือว่ามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดแล้ว ทั้งภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ จากใบหน้าเกลี้ยงเกลา หล่อเหล่า(มั้งนะ) ใสซื่อไร้เดียงสา เลยมักถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้ง กลายมาเป็นหนวดครึ้ม หน้านิ่วคิ้วขมวด เต็มไปด้วยความตึงเครียดจริงจัง (Grönemeyer ดูแก่ลงไปหลายปี) โดยเฉพาะตอนจมอยู่ก้นเบื้องมหาสมุทร พยายามช่วยเหลือทุกสิ่งอย่างเท่าที่สามารถทำได้ พอฟื้นตื่นหวนกลับขึ้นมาก็หัวเราะอย่างบ้าคลั่ง นั่นคือประสบการณ์อันโชกโชนที่จักทำให้เขาเติบโต เข้มแข็งแกร่ง บังเกิดสายสัมพันธ์เดียวกับลูกเรือทุกคน


ถ่ายภาพโดย Jost Vacano (เกิดปี 1934) ตากล้องสัญชาติเยอรมัน เริ่มต้นทำงานวงการโทรทัศน์ ตั้งแต่ทศวรรษ 60s จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ The Lost Honor of Katharina Blum (1975), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Das Boot (1981) ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography, ต่อมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Paul Verhoever อาทิ RoboCop (1987), Total Recall (1990), Showgirls (1995), Starship Troopers (1997) ฯ

ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้น งานสร้างของหนังเต็มไปด้วยความท้าทาย ใช้เวลาเตรียมงานถึงสองปี ถ่ายทำอีกหนึ่งปี ต้องสร้างเรือน้ำขนาดเท่าของจริงขึ้นมาสองลำ สำหรับถ่ายภายนอก สามารถแล่นได้จริงในท้องทะเล (จอดอยู่ที่ท่าเรือ La Rochelle) และภายในเรือดำน้ำที่ต้องตั้งอยู่บนเครื่องไฮโดรลิก (สร้างขึ้นในสตูดิโอ Bavaria Studios, Munich) สามารถโครงเคลงไปมาได้ 45 องศาอย่างสมจริง … หมดเงินไปกับค่าก่อสร้างเรือดำน้ำทั้งหมด $15 ล้านเหรียญ

แซว: เรือดำน้ำลำดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยไม้ สามารถใช้งาน/ถ่ายทำได้ดีบริเวณน้ำนิ่งสงบ แต่ก่อนถ่ายทำฉากสุดท้ายของหนังเกิดเหตุพายุมรสุมอย่างรุนแรง ทำให้เรืออัปปางลง ทีมงานต้องเก็บกู้ ปรับปรุงซ่อมแซม สูญงบประมาณไปอีกไม่น้อย (แต่ก็ยังดีกว่าสร้างใหม่)

ส่วนโมเดลจำลองก็มีสร้างขึ้นหลากหลายขนาด อัตราส่วน 1/6 (ยาว 11.2 เมตร), 1/12 (ยาว 5.6 เมตร), 1/24 (ท่าเรือ Vigo) ซึ่งก็ต้องติดตั้งเครื่องยนต์ให้สามารถขับเคลื่อน/ดำน้ำได้จริง เพื่อสำหรับถ่ายทำในสถานการณ์ต่างๆ กลางมหาสมุทร และภายใต้พื้นผิวน้ำ

นอกจากนี้มันจะมีฉากที่ต้องเผชิญหน้าพายุมรสุม นั่นถ่ายทำในแท้งค์น้ำขนาดใหญ่ แล้วสร้าง Special Effect ให้เกิดคลื่นลม พายุฝน ไม่มีใครเสี่ยงเอาโมเดลจำลองมาเผชิญหน้าพายุจริงๆ

LINK: http://www.modelshipsinthecinema.com/2011/07/das-boot-1981.html

หนึ่งในความท้าทายของหนัง คือการถ่ายทำภายในเรือดำน้ำ เพราะเป็นสถานที่คับแคบ แค่เดินสวนกันยังยากลำบาก แถมยุคสมัยนั้นกล้อง Hand Held มีขนาดค่อนข้างใหญ่ สายไฟระโยงระยาง ขยับเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยความยุ่งยาก (ยังไม่มีการประดิษฐ์ Camera Rig ขึ้นมาด้วยนะ) เลยมีการประดิษฐ์ Gyroscopes สำหรับควบคุมการสั่นไหวของกล้อง (ใช้ขณะเคลื่อนเลื่อนกล้อง ติดตามนักแสดง ทำให้ภาพไม่สั่นไหวเกินไป) และต้องทำการซักซ้อมนักแสดงให้สามารถขยับเคลื่อนไหวอยางคล่องแคล่ว หลบหลีกกล้องไปในตัวด้วยเช่นกัน

และด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังมากๆ ทำให้ไม่สามารถบันทึกเสียง ‘sound-on-film’ ช่วงหลังการถ่ายทำนักแสดงจึงต้องไปพากย์เสียงใหม่ เห็นว่ามีสองฉบับภาษาอังกฤษและเยอรมัน (นักแสดงทุกคนล้วนพูดได้ทั้งสองภาษา)

เกร็ด: สตูดิโอ Bavaria Studios ยังคงเก็บรักษาฉาก/โมเดลจำลองเรือดำน้ำนี้ไว้ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์สามารถเข้าไปเยี่ยมชม ดูตัวอย่างจากในลิ้งค์ https://www.argunners.com/visit-das-boot-1981-set-bavaria-film-studios/

ระเบิดใต้น้ำถือเป็นอีกความท้าทายของหนัง เพราะต้องคำนวณขนาดและปริมาณระเบิดใช้ให้เพียงพอดี ไม่ให้อานุภาพและแรงระเบิดทำลายโมเดลจำลองที่สร้างขึ้น ถ่ายทำในแท้งค์น้ำขนาดลึก 5 เมตร ด้วยกล้องที่สามารถบันทึกภาพ 1,500 fps (frames per second) เมื่อนำมาฉายด้วยความเร็วปกติ (25 -29 fps) จักทำให้เห็นพบเห็นการระเบิดแบบสโลโมชั้น (ในความเป็นจริงคือเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายเลยก็ว่าได้ ตูมปุ๊ปก็ตายปั๊ป)

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังใช้ฟิลเลอร์หรือไปใช้สารเคมีย้อมสีตอนหลังถ่ายทำ เพื่อให้ภาพถ่ายใต้ท้องทะเลมีโทนสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย มอบสัมผัสถึงอันตราย ทุกวินาทีที่เรือดำน้ำจมอยู่ใต้มหาสมุทร มันจะมีแรงกดดันที่พร้อมคร่าชีวิตพวกเขาได้ตลอดเวลา

ด้วยระยะเวลาโปรดักชั่น 1 ปีเต็มๆ การถ่ายทำเลยใช้วิธีเรียงตามลำดับเหตุการณ์ (Chronological order) เพื่อนำเสนอพัฒนาการ(ทางกายภาพ)ของลูกเรือเคียงคู่กันไปด้วย โดยผู้กำกับ Petersen สั่งให้นักแสดงทุกคนห้ามโดนแสงแดดตอนกลางวัน (เพราะลูกเรือจะอยู่แต่ภายในเรือดำน้ำ ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับแสงสว่างสักเท่าไหร่) ทำให้ผิวพรรณดูซีดเซียว รวมถึงปล่อยหนวดไว้เครา (เพราะทรัพยากรน้ำจืดมีจำกัด เลยไม่มีใครนิยมโกนกัน ซึ่งนั่นทำให้ตัวละครดูมีวัยวุฒิเพิ่มขึ้นด้วย)

แซว: ความที่หนังถ่ายทำแบบเรียงลำดับเหตุการณ์ (Chronological order) ทำให้เรือดำน้ำขนาดเท่าของจริงที่จอดเทียบท่าเรือ La Rochelle ต้องถูกทิ้งขว้างไว้หลายเดือน จู่ๆวันหนึ่งมันได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องลอย ก่อนค้นพบว่าถูกหยิบยืมไปใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ Raiders of the Lost Ark (1981) ของผู้กำกับ Steven Spielberg

เรือดำน้ำจาก Raiders of the Lost Ark (1981)

เอาจริงๆหนังไม่มีรายละเอียดใดๆให้ต้องครุ่นคิดวิเคราะห์เลยนะ ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินไปกับการนำเสนอที่เน้นสร้างบรรยากาศ ความตึงเครียด เก็บกดดัน แต่มันก็พอมีอยู่ 4-5 ฉาก ที่ชวนให้น่าพูดถึงอยู่บ้าง

เมื่อพบเห็นเรือขนส่งของศัตรูกำลังมอดไหม้ ยังมีคนมากมายอยู่บนเรือ หน้าที่ตามคำสั่งคือต้องจัดการทำลาย แล้วผู้ยังรอดชีวิตล่องลอยคออยู่ละ? ก็ต้องปล่อยไว้แบบนั้น จะให้พาขึ้นเรือดำน้ำงั้นเหรอ เสบียง อากาศ ขนาดอันคับแคบ นั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว … การตัดสินใจของกัปปิตัน ตั้งคำถามความถูกต้องเหมาะสมได้อย่างน่าสนใจทีเดียว สงครามไม่ใช่สถานที่ที่เราจักสามารถมีมนุษยธรรม!

การต้อนรับที่ท่าเรือ Vigo เต็มไปด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือย สร้างภาพให้ดูดี สนเพียงยกย่องบุคคลผู้รอดชีวิตเยี่ยงวีรบุรุษ (มีเพียงต้นหนที่แต่งกายเต็มยศเลยถูกทักผิด) ไม่ว่าผมดูยังไงก็เหมือนงานเลี้ยงส่ง(ไปตาย) เพราะภารกิจที่ได้รับหลังจากนี้ มีเพียงคนสิ้นคิดเท่านั้นจะไม่รู้ว่าคือหายนะ ด้วยเหตุนี้กัปปิตันจึงต้องการส่ง Leutnant Werner และ Johann กลับขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

กัปปิตันรับรู้ตัวดีว่าการเผชิญหน้าศัตรูผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) เพื่อเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ ด้วยความกว้างเพียง 13 กิโลเมตร คือป้อมปราการทางธรรมชาติชั้นดี ส่วนความลึกมีตั้งแต่ 300-900 เมตร (ถ้าช่วงขณะกระแสน้ำลง ก็อาจตื้นเขินลงได้อีกกระมัง) นี่จึงคือภารกิจไปตาย! แต่เพราะไม่อาจขัดขืนคำสั่งเบื้องบน จึงพยายามเสแสร้งบอกกับลูกเรือว่าง่ายๆ สบายๆ ล่อหลอกให้พวกเขาตายใจ ยินยอมมุ่งหน้าเข้าสู่สนามรบ ช่างเป็นผู้นำที่ … น่ายกย่องในการเสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่มืดบอดต่อสามัญสำนึกความเป็นมนุษย์

สำหรับคนที่ไม่รับรู้จักช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) อยู่ตำแหน่งพินสีแดง คือระยะห่างแคบที่สุดระหว่างทวีปยุโรปกับแอฟริกา สเปน-โมร็อกโค และเป็นหนึ่งในช่องแคบที่มีการจราจรทางเรือคับคั่งที่สุดในปัจจุบัน

ไคลน์แม็กซ์ของหนังคือการจมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร สามารถอุปมาอุปไมยถึงสงครามคือจุดตกต่ำสุดของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าฝั่งฝ่ายไหนล้วนประสบความพ่ายแพ้ สูญเสียชีวิต หมดสิ้นทรัพย์สิน ทั้งร่างกาย-จิตใจ แต่ถ้าพวกเรายังมีสติ ค่อยๆซ่อมแซมแก้ไข ไม่ย่นย่อท้อแท้ ทุ่มเทพยายาม ย่อมสามารถทำให้เรือดำน้ำฟื้นคืนชีพ หวนกลับมาใช้งาน และล่อยลอยขึ้นสู่พื้นผิวน้ำได้สำเร็จ

ถ้าเราตัดทิ้งประเด็นสงครามของหนัง นี่คือฉากที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (และประเทศชาติ) ก่อนหน้านี้แม้เคยขัดแย้ง(ภายใน)อะไรกันมา แต่เมื่อทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เมื่อสามารถร่วมแรงรวมใจ ไม่ทอดทิ้งกัน ย่อมสามารถเอาตัวรอดพานผ่านอุปสรรคขวากหนามได้อย่างแน่นอน!

ในต้นฉบับนวนิยายและบทหนัง เมื่อเรือดำน้ำจมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส แต่เพราะระหว่างถ่ายทำหนึ่งในนักแสดง Jan Fedder พลัดตกลงมาตรงบันได กระดูกซี่โครงหัก นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Petersen แทรกใส่ฉากนี้เพื่อให้เขายังมีส่วนร่วมกับหนัง … แต่ก็ต้องแลกกับการเดินทางไปกลับกองถ่าย-โรงพยาบาล แทบจะทุกวี่วัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนี้ สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์/คู่ขนานกับเรือดำน้ำที่กำลังจมสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร ต่างได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นเดียวกัน!

แม้ลูกเรือ U-96 จักสามารถเอาตัวรอดชีวิตจากการจมสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร แต่ใครต่อใครกลับต้องตกตายเพราะถูกโจมตีจากเครื่องบินรบ และยังทำให้เรือดำน้ำต้องอัปปางลง เหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายๆสำนวนไทย ‘หนีเสือปะจระเข้’ เอาตัวรอดจากหายนะหนึ่งมาพบเจออีกหายนะหนึ่ง นี่แสดงให้เห็นถึงวังวนของสงคราม เราไปเข่นฆ่าเขา เขาย่อมต้องการล้างแค้นเอาคืน โต้ตอบกลับ หรือคือกฎแห่งกรรม

ตัดต่อโดย Johannes Maria Bernhard ‘Hannes’ Nikel (1931-2001) สัญชาติเยอรมัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Das Boot (1981) [ทุกฉบับเลยนะครับ], Stalingrad (1993) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Leutnant Werner (หรือก็คือผู้แต่งนวนิยาย Lothar-Günther Buchheim) เมื่อโดยสารเรือดำน้ำ U-96 พบผ่านประสบการณ์ต่างๆ เฉียดเป็นเฉียดตาย ในยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก ทำให้ตัวละครบังเกิดพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ

เนื่องจากผมรับชมฉบับ BBC Miniseries จำนวน 6 ตอนละ 50 นาที เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าเนื้อหามีความแตกต่างจาก Original Theatrical Cut และ Director’s Cut มากน้อยเพียงไหน ก็เลยขอแบ่งเรื่องราวโดยอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแล้วกันนะครับ

  • ตอนที่ 1
    • การมาถึงของ Leutnant Werner พบเห็นปาร์ตี้สุดเหวี่ยง ค่ำคืนสุดท้ายก่อนออกปฏิบัติภารกิจ
    • แนะนำเรือดำน้ำ U-96 ออกเดินทางจากท่า La Rochelle และการซักซ้อมเตือนภัย
  • ตอนที่ 2
    • ช่วงเวลาแห่งความเคว้งคว้าง น่าเบื่อหน่าย ล่อยลอยคออยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแอตแลนติก
    • พบเจอเรือพิฆาต หลบลี้หนีเอาตัวรอด
  • ตอนที่ 3
    • หลังหลบหนีจากเรือพิฆาต จำต้องเผชิญหน้าลมพายุรุนแรง
    • โจมตีเรือขนส่งของศัตรู จากนั้นเอาตัวรอดจากเรือพิฆาต
  • ตอนที่ 4
    • พบเจอเรือขนส่งของศัตรูที่ลุกไหม้ แต่ยังไม่จมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร จำต้องทำลายทิ้ง ไม่มีมนุษยธรรมในการสงคราม
    • ได้รับคำสั่งให้ไปเติมเชื้อเพลิง เสบียง เทียบยังท่าเรือ Vigo
  • ตอนที่ 5
    • การต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษที่ Vigo
    • หาหนทางบุกฝ่าผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar)
  • ตอนที่ 6
    • หาหนทางเอาตัวรอดจากการจมลงใต้มหาสมุทร
    • เมื่อสามารถหวนกลับขึ้นมา เข้าเทียบท่า La Rochelle นึกว่ารอดแล้วแต่กลับประสบโศกนาฎกรรม

เทคนิคตัดต่อที่หนังใช้บ่อยมากๆสำหรับนำเสนอบรรยากาศตึงเครียด สร้างความกดดันให้บังเกิดขึ้น โดยเฉพาะขณะหลบซ่อนตัวจากเรือพิฆาต นอกจากความเงียบสงัด เสียงโซนาร์อันขนลุกขนพอง คือการร้อยเรียงปฏิกิริยาใบหน้าของบรรดาลูกเรือ มักไล่เรียงจากกัปปิตัน, ต้นหน, Leutnant Werner (คนนี้ขาดไม่ได้) และสมาชิกคนอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องให้ครบทั้งหมด แต่แค่เพียง 4-5 คน ก็กินเวลาไปหลายวินาทีแล้ว

หลังพานผ่านสถานการณ์ตึงเครียด เฉียดเป็นเฉียดตาย ก็จะเข้าสู่โหมดผ่อนคลาย พูดคุยเล่น รับประทานอาหาร ฯลฯ นี่เป็นวิธีพักฟื้นสภาพจิตใจทั้งบรรดาลูกเรือและผู้ชมได้เป็นอย่างดี เพื่อตระเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ต่อไปที่จักทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

หลังจากรับชมฉบับ BBC Miniseries ผมรู้สึกว่า Das Boot เหมาะสำหรับฉายรูปแบบโทรทัศน์มากๆ เพราะสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ ด้วยลำดับเหตุการณ์ที่ค่อยๆทวีความตื่นเต้น รุกเร้าใจ (แถมการจบตอนแบบค้างๆคาๆ Cliffhanger ทำให้โคตรอยากติดตามตอนต่อไป) อีกทั้งระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ชมบังเกิดความสัมพันธ์/สนิทสนมกับตัวละคร อยากติดตาม ให้กำลังใจ จนสามารถเอาชีพรอดจากปฏิบัติการครั้งนี้ได้สำเร็จ … คือถ้าเป็นภาพยนตร์ 300 นาที มันมีจังหวะอารมณ์ขึ้นๆลงๆบ่อยครั้งเกินไป ยาวนานเกินไป จักทำให้ผู้ชมรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ง่วงหงาวหาวนอน มีอะไรๆสามารถตัดออกได้เยอะทีเดียว

สิ่งที่ผมมองว่าฉบับ BBC Miniseries (น่าจะ)ทำออกมาได้ดีกว่าภาพยนตร์ คือการใช้เวลาเพื่อสร้างตื่นเต้น ลุ้นระทึก (ภาพยนตร์มักถูกจำกัด/ควบคุมเวลาไม่ให้เยิ่นยาวนานเกินไป) ยกตัวอย่างเช่น

  • ช่วงการล่องลอยคออย่างไร้จุดหมายกลางมหาสมุทร เยิ่นยาวนานจนผู้ชมเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย (ไม่ต่างจากตัวละคร)
  • เมื่อถูกเรือพิฆาตเล่นเกมจิตวิทยา ความเงียบสงัดใต้ผืนน้ำ ยิ่งเนิ่นนานยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียด (ผู้ชมก็รู้สึกกดดัน)
  • ไฮไลท์คือตอนอยู่ใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร ซึ่งเป็นการแข่งขันกับเวลา เพราะไม่รู้ว่าเรือลำนี้จะอดรนทนต่อแรงกดดันใต้ผิวน้ำได้นานเท่าไหร่ มีอากาศหลงเหลือเพียงพอไหม (สภาพแต่ละคนเหมือนซอมบี้มากๆ)

เพลงประกอบโดย Klaus Doldinger (เกิดปี 1936) นักแซกโซโฟน/ทำเพลงภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Berlin เข้าเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 11 ขวบที่ Düsseldorf conservatory ในตอนแรกมีความสนใจเปียโน คาริเน็ต ก่อนค้นพบความสนใจ American Jazz เลยหันมาเอาจริงจังกับแซกโซโฟน ก่อตั้งวง Passport ออกอัลบัม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Baal (1970), Das Boot (1981), The Neverending Story (1984) ฯลฯ

ผมแอบประหลาดใจอย่างมากๆ เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลแนวถนัดของ Doldinger คือ Jazz และ Classic แต่บทเพลงที่ได้ยินจนมักคุ้นหูใน Das Boot (1981) กลับมีกลิ่นอายสไตล์ Techno เต็มไปด้วยเสียงเครื่องสังเคราะห์ ประสานออร์เคสตรา (พร้อมโซนาร์) มอบสัมผัสอันหลอกหลอน ภายใต้ผืนผิวน้ำที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน ภยันตรายล้อมรอบทุกทิศทาง

ในอัลบัมมีอยู่ประมาณ 30 บทเพลง แต่ผมขอเลือกมาแค่ 4-5 เพลงดังขึ้นบ่อยครั้งจนติดหู ดูแค่ตอนตอนสองตอนก็จดจำท่วงทำนองได้แล้ว! เริ่มต้นที่ Anfang แปลว่า Beginning ซึ่งก็คือ Main Theme ได้ยินแทบทุกครั้งเมื่อเรือกำลังทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือขณะเคลื่อนแล่นไป(บนผิวน้ำ)

บทเพลง Titel แปลว่า Title เริ่มต้นด้วยเสียงโซนาร์ดังกึงก้อง สร้างความสั่นสยอง ขนหัวลุกพอง เพราะมันคือเสียงที่มอบสัมผัสอันตราย ความตายใกล้เข้ามาเยือน กัปปิตันจักสามารถเล่นเกมจิตวิทยากับเรือพิฆาต เอาตัวรอด หลบหนีพ้นได้สำเร็จหรือไม่

ในฉบับภาพยนตร์คงได้ยินบทเพลงนี้เพียงครั้งเดียวตอน Opening Credit แต่ฉบับ Miniseries ถ้าไม่กระโดดข้ามไปเสียก่อนก็คงฟังจนมักคุ้นหูเช่นกัน เป็นการสร้างบรรยากาศนำเข้าสู่เรื่องราวแต่ละตอนได้อย่างหลอกหลอน ตราตรึง น่าประทับใจมากๆ และเป็นการรวบรวมเอาท่วงทำนองหลักๆ มายัดเยียดใส่จนแทบหมดสิ้น

เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างที่น่าเต้นตื่น ทำให้เรือดำน้ำต้องเร่งความเร็ว (ขณะยังอยู่บนพื้นผิวน้ำ) บทเพลง U-96 มีลักษณะเหมือนการเตรียมประจัญบาน เต็มไปด้วยความฮึกเหิม ท่วงทำนองรุกเร้าใจ ฉันกำลังจะได้เผชิญหน้าศัตรู ต่อสู้นำชัยชนะสู่ประเทศชาติ

Erinnerung แปลว่า Memory ใช้เสียงกีตาร์แทนความรู้สึกของบรรดาลูกเรือ เมื่อออกเดินทางมาระยะเวลาหนึ่ง ย่อมเกิดอาการครุ่นคิดถึงบ้าน คร่ำครวญถึง(หญิงสาว)ที่ตกหลุมรัก จินตนาการเพ้อใฝ่ เฝ้ารอคอยวันเวลาจักได้อยู่เคียงข้างอีกสักครั้ง … นี่น่าจะเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะ ซาบซึ้ง ตราตรึง กินใจที่สุดในอัลบัมนี้นะครับ

อีกบทเพลงแถมท้าย It’s a Long way To Tipperary (1912) ต้นฉบับแต่งโดย Jack Judge และ Harry Williams คือบทเพลง Marching หรือ Patriotic Song ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (และสองด้วยมั้ง) ซึ่งเนื้อคำร้องเป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับชาวอังกฤษเดินทางสู่ Tipperary, Ireland (ซึ่งไกลโคตรๆ) แต่ในหนังขับร้องประสานเสียงโดยทหารเรือเยอรมัน (ขับร้องเป็นภาษาอังกฤษ) ถือเป็นการล้อกับการเดินทางที่แสนยาวไกล และภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

It’s a long way to Tipperary,
It’s a long way to go.
It’s a long way to Tipperary,
To the sweetest girl I know!
Goodbye, Piccadilly,
Farewell, Leicester Square!
It’s a long long way to Tipperary,
But my heart’s right there.

Francois Truffaut said it is impossible to make an anti-war film, because films tend to make war look exciting. In general, Truffaut was right. But his theory doesn’t extend to “Das Boot.”

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4

Das Boot (1981) แม้นำเสนอเหตุการณ์สู้รบสงคราม ยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก สามารถยิงตอร์ปิโดทำลายเรือขนส่งศัตรู มีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่นั่นไม่ทำให้กัปปิตัน ลูกเรือ หรือแม้แต่ผู้ชมรับรู้สึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เพราะทุกครั้งเมื่อเผชิญหน้าเรือพิฆาต ต้องหนทางหลบหนีหางจุกตูด ดำดิ่งสู่ก้นเบื้องลึกมหาสมุทร อธิษฐานภาวนาให้(กัปปิตัน)สามารถชิงไหวชิงพริบ เอาตัวรอดพ้นจากศัตรูผู้ล่าดังกล่าว

เมื่อกัปปิตัน ลูกเรือ และผู้ชม ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย สภาพจิตใจมีความตึงเครียด เก็บกดดัน จะเริ่มตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของชีวิต นี่ฉันมาทำบ้าบอคอแตกอะไรอยู่ในสถานที่แห่งนี้? ชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ไม่ได้มีความหมายห่าเหวใดๆ เมื่อเราเข่นฆ่าผู้อื่น ผู้อื่นย่อมสามารถเอาคืน เข่นฆ่าเราได้เช่นเดียวกัน

เช่นนั้นแล้วมนุษยชาติทำสงครามไปเพื่ออะไร? นั่นคือใจความของหนังที่ต้องการต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ต่อต้านการทหาร (Anti-Military) ต่อต้านนาซี (Anti-Nazi) ทำไมเราต้องนำพาตนเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย จมอยู่ใต้ก้นเบื้องมหาสมุทร มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเร้าใจเลยสักนิด เสียสละเพื่อประเทศชาติ เพื่อผู้นำ***มันคุ้มกันแล้วหรือ?

แต่คนที่อยู่ฝั่งซ้าย/อนุรักษ์นิยม ก็คลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนกันนะ เพราะเป็นการจำลองสถานการณ์จริง สิ่งที่ทหารเรือ/เรือดำน้ำจักต้องประสบพบเจอ ทำให้สามารถเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมพร้อมรับมือ จัดการสภาวะทางอารมณ์ของตนเอง อีกทั้งยังเสี้ยมสอนยุทธวิธีรบ (แม้ปัจจุบันจักแตกต่างไปมากก็ตามที) สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทหารหาญ ถ้านั่นคือสิ่งที่คุณชื่นชอบก็ตามสบาย

มองโลกในปัจจุบัน สงครามกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ สำหรับข่มขู่ อวดอ้าง ท้าทายศัตรูขั้วตรงข้าม โดยไม่สนหลักมนุษยธรรม เพียงความชอบทำของตนเอง โชคยังดีที่สารขัณฑ์เป็นประเทศโลกที่สาม ไม่จำต้องเลือกเข้าข้างฝั่งฝ่ายใด ปล่อยให้หมาอำนาจกัดกันเอง … แต่เราก็ต้องเอาตัวเองให้รอดเสียก่อนสินะ!

แซว: ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกว่าเรือดำน้ำของ Nazi Germany เหมือนไม่ได้มีศักยภาพในการรบสักเท่าไหร่ ทำได้เพียงลอบโจมตี ซ่อนตัว และหลบหนีหัวซุกหัวซุน (แต่เรือดำน้ำยุคสมัยนี้ก้าวล้ำไปไกลมากๆแล้วนะครับ มีอุปกรณ์พรางตัว หลบซ่อนเรดาร์/โซนาร์ บรรทุกจรวดพิสัยไกล หรือแม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ต้องหวาดเกรงกลัวเรือพิฆาตอีกต่อไป) นั่นคงเพราะข้อจำกัดยุคสมัยนั้น งบประมาณ เทคโนโลยี และความดื้อรั้น/หลงตนเองของชนชั้นผู้นำ ครุ่นคิดว่าเชื้อชาติพันธุ์ของฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร แต่แท้จริงแล้วยังห่างจากนานาอารยะอยู่ไกลลิบลิ่ว

Wolfgang Petersen แม้ไม่ได้เป็นผู้กำกับที่มีความเป็นศิลปิน (auteur) แต่ก็มีความรู้ในศาสตร์ภาพยนตร์อย่างลึกซึ้ง เข้าใจถึงสภาพจิตวิทยา วิธีนำเสนอสภาวะทางอารมณ์ตัวละคร ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาภาพยนตร์ที่ไม่ได้สลับซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลาอันเหนือชั้น ผู้ชมสามารถสัมผัสความรู้สึกนึกคิด ราวกับตนเองตกอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ถือเป็นความบันเทิงที่สมดุลกับคุณค่าทางศิลปะ

ผลงานเด่นๆดังๆของผู้กำกับ Petersen ล้วนละเล่นจิตวิทยาตัวละคร สร้างสถานการณ์ ภัยพิบัติ/ธรรมชาติ แล้วหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอด Outbreak (1995), Air Force One (1997), The Perfect Storm (2000), Poseidon (2006) ล้วนเป็นผลงานเน้นความบันเทิง ตื่นเต้นเร้าใจ ด้วยสเกลงานสร้างระดับ Blockbuster … ตอนสมัยวัยรุ่นผมชอบแทบทุกผลงานเลยนะ แต่ตอนนี้คงไม่มีเวลาเขียนถึงนะครับ


ด้วยทุนสร้าง DM 32 ล้านมาร์คเยอรมัน (=$18.5 ล้านเหรียญ) เป็นภาพยนตร์ทุกสร้างสูงสุดในประเทศเยอรมันขณะนั้น ซึ่งกว่าจะถูกโค่นสถิติก็เมื่อ Perfume: The Story of a Murderer (2006) ด้วยการใช้งบประมาณ $63.7 ล้านเหรียญ

สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $11.48 ล้านเหรียญ ถือเป็นสถิติหนังต่างประเทศทำเงินสูงสุดขณะนั้น! ก่อนถูกแซงโดย Life Is Beautiful (1997), รวมรายรับทั่วโลก $84.9 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2020 =$220 ล้านเหรียญ) ซึ่งก็น่าจะเป็นภาพยนตร์สัญชาติเยอรมันสูงสุดตลอดกาลเช่นกัน (อันหลังนี้ไม่คอมเฟิร์มนะครับ)

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar ถึง 6 สาขา (ถูก SNUB สาขา Best Film แถมไม่ได้เป็นตัวแทน West German ลุ้นรางวัล Best Foreign Language Film) แม้ไม่ได้สักรางวัล แต่ก็เป็นอีกสถิติหนังภาษาต่างประเทศที่มีลุ้นรางวัลมากสุดขณะนั้น ก่อนถูกแซงโดย Life Is Beautiful (1997)

  • Academy Award
    • Best Director
    • Best Screenplay – Based on Material from Another Medium
    • Best Cinematography
    • Best Film Editing
    • Best Sound
    • Best Sound Effects Editing
  • BAFTA Award: Best Film Not in the English Language
  • Golden Globe Awards: Best Foreign Film

แต่รางวัลที่ถือว่าเซอร์ไพรส์สุดๆน่าจะเป็นคือ International Emmy Award: Outstanding Drama มอบให้ฉบับ BBC Miniseries ที่ฉายทางโทรทัศน์เมื่อปี 1984-85 เรียกว่าประสบความสำเร็จทั้งจอเงิน(ภาพยนตร์)และจอแก้ว(โทรทัศน์)

เมื่อตอนที่ผู้กำกับ Peterson ตัดต่อฉบับ Director’s Cut และ The Original Uncut Version ก็ได้มีการฟื้นฟูบูรณะฟีล์มหนัง และบันทึกเสียงใหม่ (นักแสดงทั้งหมดกลับมาให้เสียงพากย์เยอรมันและอังกฤษ) จัดจำหน่าย Blu-Ray ครั้งแรกเมื่อปี 2010 และล่าสุดพบเห็น Das Boot Complete Edition วางขายปี 2018 (ไม่มีเขียนว่า ‘digital restoration’ น่าจะแค่สแกนใหม่เฉยๆนะครับ)


เอาจริงๆผมไม่มีแผนที่จะรับชม/เขียนถึง Das Boot (1981) แต่ต้องถือว่าเป็นโชคชะตาล้วนๆ เพราะการเสียชีวิตของผู้กำกับ Wolfgang Petersen ทำให้ลองค้นหาข้อมูลและพบเจอภาพยนตร์เรื่องนี้ความยาว 300 นาที! เลยตั้งใจทำการทดลองแบ่งดูเป็นวันๆ (แบบ Miniseries) เตรียมตัวเองก่อนเริ่มรับชม Sátántangó (1994)

ผมใช้เวลารับชม Das Boot (1981) ทั้งหมด 4 วัน (วันแรกดูตอนเดียวแต่โคตรหงุดหงิดเพราะจบแบบค้างๆคาๆ วันถัดๆมาเลยดูตอนครึ่ง เพื่อตัดปัญหา Cliffhanger ทิ้งไปเลย!) แม้ภาพรวมจะรู้สึกขาดความต่อเนื่องไปบ้าง แต่หนังยาวๆแบบนี้ดูรวดเดียวไม่จบก็ไม่เป็นไรหรอกนะครับ

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ก็คือวิธีการสร้างบรรยากาศลุ้นระทึก ตึงเครียด ชวนให้ระลึกนึกถึงเทคนิคของ Dr. Stangelove (1964) สร้างความสั่นสะท้านทรวงใน เสียวสันหลังวูบวาป ทั้งๆนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองทหาร Nazi Germany แต่ทำให้ผู้ชมตระหนักว่าพวกเขาก็มนุษย์เหมือนกัน ไม่มีใครอยากรับคำสั่งฆ่าตัวตาย ต้องการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีพรอดทั้งนั้น … ถือเป็นหนึ่งในหนังต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

แนะนำคอหนังสงคราม (Wars Film) ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars), อาชีพทหารเรือ ใฝ่ฝันอยากประจำการในเรือดำน้ำ, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังเกตสภาวะทางอารมณ์ทหารหาญ, ช่างภาพ ตากล้อง ศึกษาการถ่ายภาพในสถานที่คับแคบ, โดยเฉพาะคนทำงานสายภาพยนตร์ เรียนรู้วิธีสร้างความตื่นเต้น ตัดต่อลุ้นระทึก และการใช้เสียงเพื่อบรรยากาศตึงเครียด

จัดเรต 18+ กับการสงคราม ลุ้นระทึก ตึงเครียด สั่นสะท้านทรวงใน

คำโปรย | Das Boot อภิมหากาพย์การสู้รบด้วยเรือดำน้ำ ลุ้นระทึก ตึงเครียด สั่นสะท้านทรวงใน ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Wolfgang Petersen
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Sous le soleil de Satan (1987)


Under the Sun of Satan (1987) French : Maurice Pialat ♥♥

เมื่อประธานกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนั้น Yves Montand ประกาศรางวัล Palme d’Or อย่างเป็นเอกฉันท์! ทำให้เกิดทั้งเสียงปรบมือและโห่ขับไล่ ผู้กำกับ Maurice Pialat ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บอกว่า ‘ถ้าคุณไม่ชอบผลงานผม ผมก็ไม่ชอบขี้หน้าพวกคุณเหมือนกัน’

I shall not fail to uphold my reputation. I am particularly pleased by all the protests and whistles directed at me this evening, and if you do not like me, I can say that I do not like you either.

Maurice Pialat กล่าวตอนขึ้นรับรางวัล Palme d’Or

ถือเป็นปีที่มีความดราม่าอันดับต้นๆของเทศกาลหนังเมือง Cannes เพราะชัยชนะของ Under the Sun of Satan (1987) เกิดจากเสียงโหวตอันเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการ แต่ผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะตัวเต็งอย่าง Repentance (1984) และ Wings of Desire (1987) โดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด และต่างเหนือกาลเวลาด้วยกันทั้งสองเรื่องเลยนะ!

ถ้าผมเข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนั้น เชื่อว่าก็คงเป็นหนึ่งในคนที่ส่งเสียงโห่ไล่ แต่เหตุผลน่าจะแตกต่างจากผู้ชมชาวยุโรป (ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียน) คล้ายๆโคตรผลงาน Ordet (1955) ของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer เป็นภาพยนตร์แห่งศรัทธาของคริสตชน แต่ถ้าคุณนับถือศาสนาอื่น ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า ก็จักเต็มไปด้วยอคติ ครุ่นคิดเห็นต่าง สนทนาอะไรก็ไม่รู้ เสียเวลารับชมชะมัด!

ขอเหมารวมอีกสองผลงาน Diary of a Country Priest (1951) และ Mouchette (1967) ของผู้กำกับ Robert Bresson ที่ก็ดัดแปลงจากนวนิยายของ Georges Bernanos (1888-1948) นักเขียนชาวฝรั่งเศส เคยเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เลยได้พบเห็นหายนะจากสงคราม ส่งอิทธิพลต่อผลงานประพันธ์ มักสร้างโลกเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย แต่ท่ามกลางความท้อแท้สิ้นหวังนั้น อาจยังมีประกายแห่งแสงสว่างนำทางสู่สรวงสวรรค์ … เป็นอีกสองผลงานระดับวิจิตรศิลป์ แต่อิงศรัทธาศาสนามากเกินพอดี

เนื้อหาสาระของ Under the Sun of Satan (1987) คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธา(คริสต์)ศาสนา ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย ภายใต้รัศมีของซาตาน -ผู้บริสุทธิ์ถูกใส่ร้าย คนชั่วลอยนวล- เรายังสามารถพบเห็นแสงสว่างแห่งความหวัง พระเป็นเจ้านำทางสู่สรวงสวรรค์ได้หรือไม่?

เอาจริงๆเหตุผลที่ผมไม่ค่อยชอบหนังเพราะปัญหาอื่นๆมากกว่า การดำเนินเรื่องที่เชื่องช้าน่าหลับ (ระยะเวลา 93 นาที แต่รู้สึกเหมือนสามชั่วโมง), ไดเรคชั่นผู้กำกับ Pialat โดยปกติมักทำการดั้นสด ‘improvised’ มอบอิสระในการพูดคุยสนทนา แต่เรื่องราวดัดแปลงจากนวนิยายไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ นักแสดงต้องท่องจำบท ศัพท์เฉพาะทาง(ศาสนา)เยอะมากๆ ทำให้การแสดงดูแข็งๆ ภาพรวมไม่กลมกลอมสักเท่าไหร่ (เป็นครั้งแรกครั้งเดียวที่ผู้กำกับ Pialat ดัดแปลงนวนิยาย กลายมาเป็นภาพยนตร์!)


Maurice Pialat (1925-2003) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cunlhat, Puy-de-Dôme ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน (Working Class) บิดาเป็นช่างไม้ ขายไวน์ ขุดถ่านหิน แต่หลังจากมารดาเสียชีวิต เลยถูกส่งไปอาศัยอยู่กับย่าที่ Villeneuve-Saint-Georges, วัยเด็กมีความเพ้อฝันอยากเป็นจิตรกร เข้าศึกษายัง École Nationale Supérieure des Arts Décoratifs แต่ช่วงขณะนั้นคาบเกี่ยวสงครามโลกครั้งที่สอง เลยไม่สามารถหาหนทางประสบความสำเร็จ จึงล้มเลิกความตั้งใจ มองหางานรับจ้างทั่วๆไปที่จับต้องได้ อาทิ เซลล์แมนขายเครื่องพิมพ์ดีด, นักแสดงละครเวที, เก็บหอมรอมริดจนสามารถซื้อกล้องถ่ายทำหนังสั้น กระทั่งเข้าตาโปรดิวเซอร์ Pierre Braunberger ได้รับงบประมาณสรรค์สร้าง L’amour existe (1960) ส่งเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Prix Lumière (ของหนังสั้น)

หนังสั้น L’amour existe (1960) สร้างความประทับใจผู้กำกับ François Truffaut อาสาจัดหาทุนภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Naked Childhood (1968) จากนั้นโอกาสก็ไหลมาเทมา ติดตามด้วย We Won’t Grow Old Together (1972), The Mouth Agape (1974), Graduate First (1978), Loulou (1980), Under the Sun of Satan (1987) ** คว้ารางวัล Palme d’Or, Van Gogh (1991) ฯลฯ

ระหว่างการสรรค์สร้าง The Mouth Agape (1974) ภาพยนตร์อัตชีวประวัติผู้กำกับ Pialat นำเสนอวาระสุดท้ายของมารดา ล้มป่วยนอนซมซาน ทนทุกข์ทรมานอยู่บนเตียงจนเสียชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าวย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว คือจุดเริ่มต้นทำให้เขาตระหนักถึงความเหี้ยมโหดร้ายของโลกใบนี้! ซึ่งคงค้นพบความสนใจนวนิยาย Sous le soleil de Satan (1926) ผลงานชิ้นเอกของ Georges Bernanos ครุ่นคิดอยากดัดแปลงมานาน แต่ยังหาโอกาส งบประมาณ นักแสดงที่เหมาะสมไม่ได้

หลังเสร็จจาก À Nos Amours (1983) ในที่สุดผู้กำกับ Pialat ก็ตระหนักว่าถึงเวลา ค้นพบทุกสิ่งอย่างพยายามติดตามหา, Gérard Depardieu เพื่อนสนิท/นักแสดงขาประจำ สามารถเล่นเป็นอวตารของตนเอง, ส่วนเด็กสาวหน้าใส Sandrine Bonnaire เหมาะสมอย่างยิ่งกับตัวละคร Mouchette

It has stuck with me for ten years, Father Donissan, one has the impression that it was written for Depardieu . He could be surprising in there. As for Sandrine Bonnaire, although she doesn’t have that ‘skinny cat’ side, she would surely make an interesting Mouchette.

Maurice Pialat

ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์โดย Sylvie Danton (เกิดปี 1960) สัญชาติฝรั่งเศส วัยเด็กเพ้อฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลยหันมาเอาดีด้านภาพยนตร์ เริ่มจากทำงานในกองถ่าย Le Destin de Juliette (1982), ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสร้างฉาก À nos amours (1982) ถูกเกี้ยวพาราสีโดยผู้กำกับ Maurice Pialat ตอบตกลงอาศัยครองคู่ มีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน และช่วยเหลืองานสามีอยู่บ่อยครั้ง

เกร็ด: ก่อนหน้านี้นวนิยาย Sous le soleil de Satan เคยได้รับการดัดแปลงเป็น Téléfilm เมื่อปี 1971, กำกับโดย Pierre Cardinal, นำแสดงโดย Maurice Garrel และ Catherine Salviat


บาทหลวงคาทอลิก Donissan (รับบทโดย Gérard Depardieu) ถูกส่งตัวมาฝึกงานยังชนบทห่างไกล ภายใต้การควบคุมดูแลของ Menou-Segrais (รับบทโดย Maurice Pialat) แต่หลังจากพานพบเห็นสิ่งต่างๆ รับฟังคำสารภาพบาปนับครั้งไม่ถ้วน เริ่มเกิดความโล้เล้ลังเลในอาชีพนักบวช ละเหี่ยใจกับความชั่วร้ายของโลกปัจจุบันนี้ ที่มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆโดยไร้ซึ่งจิตสำนึก ถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี

อีกเรื่องราวที่นำเสนอเคียงคู่กันไปคือเด็กสาววัยสิบหก Mouchette (รับบทโดย Sandrine Bonnaire) บุตรของพ่อค้าเบียร์ ค่ำคืนดึกดื่นเคาะประตูหาชายคนรัก Cadignan พยายามโน้มน้าวให้เขาหนีตามไปอยู่ด้วยกัน แต่เขาตอบปฏิเสธเพราะกำลังประสบปัญหาการเงิน เช้าวันถัดมาเธอจึงแสร้งทำเป็นเล่นปืนลูกซอง แล้วจ่อยิงเข่นฆาตกรรมระยะประชิดใกล้, วันถัดมาเดินทางไปหาอีกชายคนรัก Gallet หมอหนุ่มมีภรรยาอยู่แล้ว เธอพยายามโน้มน้าวชักจูงด้วยคำกลับกลอกปอกลอก แต่ขณะกำลังสารภาพว่าตนเองเข่นฆ่า Cadignan เขากลับโต้ตอบนั่นเป็นไปไม่ได้ (เพราะตนเองเป็นผู้ชันสูตรศพ และตัดสินว่าคือการฆ่าตัวตาย)

ครั้งหนึ่ง Donissan ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปยังอีกหมู่บ้านห่างไกล ต้องเดินทางระยะทางหลายกิโลเมตร แปลกที่ค่ำคืนดึกดื่นไม่ยอมถึงปลายทางสักที นั่นเพราะซาตานพยายามลวงล่อหลอกให้เขาหลงติดกับ พอไม่สำเร็จก็สาปแช่งด่าทอ หมายหัวให้ต้องประสบเรื่องร้ายๆ เช้าวันถัดมาระหว่างเดินทางต่อพบเจอกับ Mouchette สัมผัสถึงความผิดปกติ เลยพยายามโน้มน้าวให้กลับตัวกลับใจ ยินยอมสารภาพความผิด

แต่สิ่งที่ Mouchette กระทำเมื่อหวนกลับบ้านคือกรีดคอฆ่าตัวตาย ความทราบถึง Donissan ต้องการช่วยเหลือวิญญาณของเธอให้รอดพ้นจากเงื้อมมือซาตาน จึงอุ้มพามาวางยังแท่นบูชาในโบสถ์ แต่นั่นสร้างความไม่พอใจให้ใครต่อใคร (เพราะถือว่าคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) เลยถูกสั่งย้ายไปยังอีกสถานที่ห่างไกล


Gérard Xavier Marcel Depardieu (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Châteauroux, Indre บิดาเป็นช่างตีเหล็ก ฐานะยากจน มีพี่น้องห้าคน ตัดสินใจออกจากโรงเรียนตอนอายุ 13 ปี ทำงานเป็นช่างพิมพ์ ฝีกหัดต่อยมวย ค้าขายของโจร เคยถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจหลายครั้ง พออายุ 20 เห็นเพื่อนสนิทเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เลยตัดสินใจละทอดทิ้งการเป็นอันธพาลข้างถนน เดินทางมุ่งสู่กรุง Paris เริ่มทำงานตัวตลกยัง Café de la Gare, จากนั้นแสดงละคร โทรทัศน์ สมทบภาพยนตร์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Les Valseuses (1974), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Maurice Pialat ประกอบด้วย Loulou (1980), Police (1985), Sous le soleil de Satan (1987), Le Garçu (1995), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ 1900 (1976), The Last Metro (1980), Cyrano de Bergerac (1990), Green Card (1991), 1492: Conquest of Paradise (1992), Hamlet (1996), Life of Pi (2012) ฯลฯ

รับบทบาทหลวง Donissan อยู่ในช่วงจิตใจสับสน ไม่แน่ใจตนเองว่าเหมาะสมต่อการเป็นนักบวชหรือเปล่า กำลังจะถูกท้าทายจากพระเป็นเจ้าให้เผชิญหน้าซาตาน หลังสามารถเอาตัวรอดโดยยังคงความเชื่อมั่นศรัทธา พยายามช่วยเหลือ Mouchette ให้รอดพ้นเงื้อมมือซาตาน และช่วยท้ายฟื้นคืพเด็กชายจากความตาย … ถึงอย่างนั้นตัวเขาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน ท้ายที่สุดก็มิอาจธำรงชีพอยู่ ตกตายในห้องรับฟังการสารภาพบาป

เกร็ด: ผู้แต่งนวนิยาย Georges Bernanos สรรค์สร้างตัวละคร Donissan โดยได้แรงบันดาลใจจากนักบุญ John Vianney (1786-1859) หรือที่รู้จักในชื่อ Curé d’Ars ผู้อุทิศตัวให้ภารกิจบาทหลวงที่เมือง Ars, France แต่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการให้คำปรึกษาผู้มาสารภาพบาป บางคนถึงขนาดสามารถปรับเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง เฉพาะปี 1855 มีประชาชนเดินทางมาขอสารภาพบาปกว่า 20,000+ คน! (เฉลี่ยวันละ 55+ คน)

ไม่ผิดอะไรจะบอกว่า Depardieu คือตัวตายตัวแทน/อวตารของผู้กำกับ Pialat ตั้งแต่รับรู้จักก็กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม ซึ่งเราสามารถมองตัวละครนี้ Donissan = Depardieu = ผู้กำกับ Pialat เต็มไปด้วยความสับสนในศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า

สีหน้าสายตาของ Depardieu เต็มไปด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก พยายามอดอาหาร ทรมานตนเอง เดินไม่กี่ก้าวก็เหมือนจะล้มครืน ช่างดูอ่อนแอเปราะบาง ผิดกับหุ่นที่เริ่มอวบๆ (เหมือนอัดแน่นด้วยความหมกมุ่นยึดติด) เหล่านี้เพื่อสะท้อนความสับสน ว้าวุ่นวายใจ ไม่รู้จะครุ่นคิดดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไร แม้การเผชิญหน้าซาตานจะทำให้เขามีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเป็นเจ้ามากขึ้น แต่ปฏิกิริยาโต้ตอบกลับของคริสตจักรและประชาชน กลับยิ่งทำให้อับจนหนทาง

“ถ้าชีวิตฉันยังมีคุณค่าหลงเหลือ ก็ขอพระเป็นเจ้าช่วยให้รอดชีวิต” แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวละครนี้กลับนอนตายอยู่ในห้องสารภาพบาป มองมุมหนึ่งเหมือนขยะที่ใช้แล้วทิ้ง ถูกซาตานฉุดคร่าลงขุมนรก ขณะเดียวกันสามารถมองว่าพระเจ้านำพาเขาสู่สรวงสวรรค์ ให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งชั่วร้ายในโลกใบนี้นี้อีกต่อไป


Sandrine Bonnaire (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gannat, Allier ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) มีพี่น้อง 11 คน, เมื่ออายุ 16 ปี เข้าตาผู้กำกับ Maurice Pialat ได้รับเลือกแสดงนำ À nos amours (1983) แจ้งเกิดคว้ารางวัล César Award: Most Promising Actress, สองปีถัดมาโด่งดังระดับนานาชาติกับ Sans toit ni loi (1985), ตามด้วย Under the Sun of Satan (1987), Monsieur Hire (1989), La Cérémonie (1995), East/West (1999), The Final Lesson (2015) ฯ

รับบท Mouchette เด็กสาววัยสิบหก ชอบพูดโกหกพกลม นิสัยกลับกลอกปอกลอก สานสัมพันธ์บุรุษไม่เว้นหน้า แอบอ้างว่าตนเองตั้งครรภ์ แต่สนเพียงเติมเต็มตัณหาราคะ ความต้องการส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งเมื่อใครทำอะไรไม่พึงพอใจ ก็พร้อมโต้ตอบเอาคืนอย่างสาสมควร

ปล. ผมเองเมื่อได้ยินชื่อตัวละคร Mouchette ก็ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Mouchette (1967) ของผู้กำกับ Robert Bresson ที่ก็ดัดแปลงจากนวนิยายของ Georges Bernanos แต่พวกเธอไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไร อุปนิสัยก็แตกต่างตรงกันข้าม ยกเว้นตอนจบต่างลงเอยด้วยการกระทำอัตวินิบาต

หลังร่วมงาน À nos amours (1983) ผู้กำกับ Pialat มีความประทับใจในความบริสุทธิ์-แรดร่านของ Bonnaire ใกล้เคียงที่สุดสำหรับตัวละคร Mouchette … สมัยก่อนถือเป็นอีกบทบาทต้องห้าม เพราะกระทำสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรม(ศาสนา)ทั้งๆอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่หลังจากการปฏิวัติทางสังคม Mai ’68 แนวคิดของคนรุ่นใหม่ก็เปิดกว้าง เสรีทางเพศมากขึ้น

Sous le soleil de Satan was the most unique as we weren’t allowed to improvise, at least with regard to the text.

Sandrine Bonnaire

แม้ส่วนตัวจะยังประทับใจ Bonnaire จากเรื่อง À nos amours (1983) แต่ก็ต้องยอมรับว่าบทบาท Mouchette ทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงระดับยอดฝีมือ ด้วยลีลาคำพูด-อารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา กลับกลอกปลอกลอกแทบจะทุกประโยคสนทนา ชวนให้ผมนึกถึง Jeanne Moreau ตอนยังสาวๆสวยๆเล่นหนัง Jules et Jim (1962) ก็กวัดแกว่งเดี๋ยว Jules เดี๋ยว Jim ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่

ฉากที่ทำให้ผมช็อคสุดๆไม่ใช่ตอนกรีดคอฆ่าตัวตาย แต่ขณะกรีดร้องลั่นหลังจากชู้รักคนที่สอง Gallet หมอหนุ่มไม่ยินยอมเชื่อว่าเธอเข่นฆาตกรรม Cadignan (เพราะตนเองเป็นชันศพ และให้ข้อสรุปว่าคือการฆ่าตัวตาย) เป็นเพียงการละเมอ เพ้อฝัน สับสนในตนเอง พยายามสร้างความสับสนให้ผู้ชมด้วยว่าหนังมีการทำอะไรกับฉากนั้นหรือเปล่า? … แต่เชื่อเถอะว่าฉากนี้ต้องการสะท้อนความกลับตารปัตรของโลก เหมือนคำทำนายของพระพุทธเจ้าเมื่อถึงกึ่งพุทธกาล อีแร้งกาที่ควรต่ำต้อยด้อยค่า ได้(กลับ)กลายเป็นผู้สูงส่งให้ราชสีมาต้องก้มศีรษะ


ถ่ายภาพโดย Willy Kurant (1934-2021) เกิดที่ Liège, Belgium บิดา-มารดาเป็นผู้อพยพชาว Polish เชื้อสาย Jewish, วัยเด็กชื่นชอบอ่านนิตยสาร Cinematographer เริ่มจากทำงานเป็นช่างภาพนิ่ง จากนั้นได้ถ่ายทำสารคดี มีโอกาสฝึกงานที่ Pinewood Studios แล้วมาแจ้งเกิดภาพยนตร์ Masculin Feminin (1966), The Creatures (1966), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Immortal Story (1968), Under the Sun of Satan (1987) ฯ

แซว: เดิมนั้น Kurant เป็นตากล้อง À Nos Amours (1983) แต่ถูกไล่ออกหลังถ่ายทำได้สองสัปดาห์ ไม่รู้ทำไมผู้กำกับ Pialat ถึงหวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง??

อาจเพราะความถนัดของ Kurant คือการถ่ายภาพขาว-ดำ (เรียกสองผลงานแจ้งเกิด Masculin Feminin และ The Creatures ว่าคือ ‘signature’ ของตนเอง) จึงไม่ค่อยเหมาะ À Nos Amours (1983) ที่เต็มไปด้วยความสว่างสดใส ผิดกับ Under the Sun of Satan (1987) ที่มักปกคลุมด้วยความมืดมิด ภายใต้รัศมีของซาตาน

เกร็ด: โดยปกติแล้วซาตานคือสัญลักษณ์ของความมืดมิด การใช้ชื่อ Under the Sun of Satan เพื่อสื่อถึงวิถีกลับตารปัตรตรงกันข้ามจากที่ควรเป็น แต่หนังก็ถ่ายทำฉากสำคัญๆตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังคือ Montreuil-sur-mer และ Fressin ต่างอยู่ในจังหวัด Pas-de-Calais ทางตอนเหนือสุดของฝรั่งเศส ติดกับช่องแคบโดเวอร์ (Strait of Dover) ในช่องแคบอังกฤษ (English Channel)


ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ในช่วงยุคกลาง (Middle Ages) เมื่อบุคคลหนึ่งตัดสินใจเข้าสู่สมณเพศและถือพรหมจรรย์ จะถูกโกนผมตรงกลางกระหม่อมออกหย่อมหนึ่ง เรียกว่าการปลงผม จุดประสงค์เพื่อสำหรับสวมใส่หมวก Zucchetto ซึ่งเป็นแบบแนบพอดีศีรษะ ใช้สำหรับแบ่งแยกสมณศักดิ์ผู้สวมใส่ ซึ่งจักสามารถปกคลุมบริเวณที่ถูกโกนออกไปพอดิบดี … เห็นกว่าการปลงผมดังกล่าวถูกยกเลิกไปภายหลังการประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง (ค.ศ. 1962-65)

ขณะที่พุทธศาสนาใช้การโกนศีรษะสำหรับบวช (พระ เณร ชี) คือสัญลักษณ์ของการปล่อยละวางความยึดติดในสังขาร ส่วนคริสเตียนโกนเพียงหย่อมเดียวเพื่อสำแดงสมณศักดิ์ แบ่งแยกระดับชนชั้นบาทหลวงผู้สวมใส่หมวก Zucchetto

การสนทนาระหว่าง Donissan และ Menou-Segrais จะมีรูปแบบแผน ‘formalism’ ในการนำเสนออย่างชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็นสองช่วงขณะ เมื่อต่างคนต่างมีความคิดเห็น(ส่วนบุคคล)ที่ไม่ตรงกัน พวกเขามักอยู่ภายในเฟรมของตนเอง

  • Menou-Segrais ยืนอยู่บริเวณหน้าต่าง ข้างๆมีโคมไฟ กระจก นาฬิกา และรูปปั้นพระแม่มารีย์ ล้วนสื่อถึงความเชื่อศรัทธาที่มั่นคงต่อพระเป็นเจ้า
  • Donissan ยืนอยู่ตรงประตู มีเพียงรูปปั้นหญิงสาวชาวบ้าน แทนถึงสามัญชน คนธรรมดาๆทั่วไป ที่ยังต้องการคำชี้แนะนำในเรื่องความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า

เมื่อไหร่ที่ตัวละครอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน โดยปกติมักแสดงถึงความสนิทชิดเชื้อ ย่นย่อระยะห่างความสัมพันธ์ ซึ่งถ้ามองสถานะระหว่างพวกเขา อาจารย์/ผู้ดูแล-ลูกศิษย์ สามารถสื่อถึงการเสี้ยมสอน ให้คำแนะนำ

  • คนหนึ่งยืน-อีกคนนั่ง มีระดับสูง-ต่ำ คือการเสี้ยมสั่งสอน ในสถานะอาจารย์/ผู้ดูแล ให้คำแนะนำกับลูกศิษย์
  • เมื่อนั่งลงระดับศีรษะเดียวกัน แสดงถึงความเสมอเท่าเทียม คือคำแนะนำในสถานะเพื่อนมนุษย์ คนรู้จักกัน

ถึงได้รับคำแนะนำจาก Menou-Segrais ก็ไม่ได้ทำให้ Donissan คลายความสับสนในตนเอง เพียงเก็บคัมภีร์ไบเบิลที่เคยโยนทิ้งลงพื้น (สัญลักษณ์ของการทอดทิ้งพระเป็นเจ้า) แล้วลงทัณฑ์ตนเองให้ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน

เกร็ด: จุดประสงค์หลักๆของทุกรกิริยา ถูกมองเป็นวิธีการทางวินัยและการสักการะบูชา รูปแบบของการปลงอาบัติ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมีส่วนร่วมในความทุกข์ทรมานของพระเยซู โดยที่นิยมกันจะมีสวมเสื้อคลุมผม/ขนสัตว์ (Hairshirt) อดอาหาร และลงแส้แมวเก้าหาง

การลงแส้ของ Donissan สังเกตกล้องถ่ายมุมเงย ทุกครั้งที่เฆี่ยนตียังต้องแหงนศีรษะขึ้นฟ้า แสดงอาการเจ็บปวดและเป็นสุข (ที่ได้รับรู้ความทุกข์ทรมานของพระเยซู) และขณะกำลังแต่งตัวหลังเสร็จจากทุกรกิริยา เดินผ่านกระจกเงา พบเห็นการจัดแสง-เงาที่น่าทึ่งไม่น้อย

  • มองที่ตัวละคร จะเห็นใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด
  • แต่ถ้ามองในกระจก กลับเห็นแสงสว่างสาดส่องบนใบหน้า

นัยยะของช็อตนี้สามารถสื่อถึง(โลก)ภายนอกอันมืดมิด แต่จิตใจ(ภาพสะท้อนในกระจก)กลับสดใสสว่าง หลังการบำเพ็ญทุกรกิริยา … ถึงอย่างนั้นอาการสับสนของ Donissan ต่อวิถีโลกใบนี้ก็ยังไม่ได้จางหายไปนะครับ

เรื่องราวทางฝั่ง Mouchette ก็จักมีรูปแบบแผนในการนำเสนอที่ตารปัตรตรงกันข้ามกับ Donissan ในช่วงแรกๆระหว่างเธอกับหนุ่มๆทั้งสอง สังเกตว่าแทบจะตัวติดกัน มักอยู่ร่วมเฟรมโดยตลอด แต่เป็นฝั่งหญิงสาวพยายามเกี้ยวพาราสี ชักชวนให้ร่วมรักหลับนอน เติมเต็มตอบสนองตัณหา ความต้องการของหัวใจ

สำหรับหนุ่มๆทั้งสองก็มีความแตกต่างตรงกันข้าม

  • Cadignan คือทายาทของขุนนาง (marquis) ตระกูลพ่อค้า แต่กำลังประสบปัญหาขาดทุน ในอพาร์ทเม้นท์จึงเต็มไปด้วยสิ่งข้าวของที่เตรียมจะขายทิ้ง ยศฐาบรรดาศักดิ์เคยมีมากำลังสูญสิ้น
    • ความตายของ Cadignan ยังแฝงนัยยะถึงการล่มสลายของระบอบขุนนาง ราชาธิปไตย
  • Gallet คือหมอผู้มีความรู้ เชี่ยวชำนาญ ฐานะมั่นคง มั่งคั่ง แม้แต่งงานมีภรรยา แต่ก็ยังลุ่มหลงในมารยาของ Mouchette สนเพียงข้อเท็จจริง สิ่งพิสูจน์ด้วยตาเห็น ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์-นรก การมีตัวตนของพระเป็นเจ้า
    • ตัวละครนี้สะท้อนถึงวิถีของโลกที่มนุษย์จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ สิ่งสามารถพิสูจน์จับต้องได้ ซึ่งจะทำให้ความเชื่อศรัทธาศาสนาค่อยๆลดค่าความสำคัญลงไป

เช้าวันถัดมาหลังเสร็จกามกิจ Mouchette วางผลแอปเปิ้ลที่กัดแทะ (จากสวนอีเดน) แล้วหยิบปืนลูกซองขึ้นมาพิจารณา กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนไปหา Cadignan กำลังแต่งตัวอยู่อีกห้องหับ พูดบอกให้เธอวางอาวุธลง แต่ขณะเดินตรงเข้าหาได้ยินเสียงดัง ปัง!

การที่ผู้ชมไม่ได้พบเห็นเหตุการณ์เพราะถูกประตูบดบัง เลยมักคาดเดาว่าอาจเป็นฝืมือของ Mouchette เข่นฆาตกรรมชายคนรัก แต่หนังก็สร้างความเป็นไปได้ว่าอาจพลั้งพลาด ปืนลั่น! เพราะท่าจับที่เปลี่ยนแปลงไป และหญิงสาวร่ำร้องไห้ออกมาอย่างเสียสติ … มอบอิสระให้ผู้ชมครุ่นคิดทำความเข้าใจใน’มุมมอง’ของตนเอง

ช่วงท้ายระหว่าง Mouchette กับ Gallet จากเคยตัวติดกันตั้งแต่แรกพบเจอ ก็ถึงเวลา ‘น้ำแตกแยกทาง’ ต่างย้ายไปนั่งอยู่ในเฟรมของตนเองแล้วตัดสลับไปมา (กลับตารปัตรจาก Donissan กับ Menou-Segrais ที่เริ่มด้วยทั้งสองต่างแยกกันอยู่ แล้วค่อยมาอยู่ร่วมเฟรมกันช่างท้าย)

Gallet รับฟังเรื่องเล่าของ Mouchette มีลักษณะคล้ายแพทย์-ผู้ป่วย ซึ่งเขาก็ทำการวินิจฉัยเรื่องราวดังกล่าว แสดงความคิดเห็น และมอบข้อสรุปที่ทำให้หญิงสาวกรีดร้องลั่น! ตกลงแล้วมันจริงหรือไม่จริง ก็ขึ้นอยู่กับ’มุมมอง’ของผู้ชมอีกเช่นกัน!

Donissan ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปทำกิจของบาทหลวงยังชนบทห่างไกล แต่ต้องเดินทางพานผ่านท้องทุ่งเขียวขจี ไร้ซึ่งบ้านเรือน ผู้คน ถนนหนทางยังไม่มี เพียงความเวิ้งว่างเปล่า ราวกับสถานที่แห่งนี้ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง กำลังก้าวสู่ขุมนรก อาณาจักรอันไพศาลของซาตาน

พอค่ำคืนย่างกรายมาถึง เฉดภาพก็เปลี่ยนเป็นโทนสีน้ำเงิน (ดูแล้วน่าจะถ่ายตอนกลางวัน แล้วใช้ฟิลเลอร์ ไม่ก็ ‘Day for Night’) แล้วใครก็ไม่รู้เดินติดตาม ปรากฎด้านหลัง Donissan เข้ามาพูดคุย แนะนำ ให้ความช่วยเหลือนำทาง หยุดพักผ่อน ก่อนเปิดเผยความจริงว่าฉันคือใคร?

เมื่อร่างกายของ Donissan มีความอ่อนแอที่สุด ทิ้งตัวลงนอนกับพื้น รอบข้างล้วนปกคลุมด้วยความมืดมิด ซาตานพูดคำหยอกเย้ายวน แถมยังจุมพิต (sexual harassment) พยายามโน้มน้าวให้เขาละทอดทิ้งความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ เลยถูกหมายหัวให้ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้ายๆ(ที่จักบังเกิดขึ้นต่อไป)

ภายหลังปฏิเสธซาตาน Donissan ฟื้นตื่นขึ้นยามเช้า แต่สังเกตว่าภาพยังคงมีโทนสีน้ำเงิน (เหมือนมันคือสัญลักษณ์ของเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ) และชายแปลกหน้าคนนี้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ อาสานำทางไปจนเกือบถึงจุดหมาย โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ชวนให้ผมครุ่นคิดว่าเขาอาจคืออวตารของพระเป็นเจ้า!

ผมมองว่าตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ เราสามารถตีความในเชิงนามธรรมถึงบททดสอบความเชื่อมั่นศรัทธา นั่นเพราะพระเป็นเจ้าอยู่ทุกแห่งหน เมื่อ Donissan ทำลายความหวังของซาตาน พระองค์จึงลงมานำทางให้หวนกลับสู่วิถีของโลกมนุษย์

Donissan พบเจอกับ Mouchette ท่ามกลางเศษซากปรักพัก (สามารถสื่อถึงอาณาจักรของพระเป็นเจ้าที่ล่มสลาย) สังเกตว่าทั้งสองมีความแตกต่างขั้วตรงข้าม เหมือนการเผชิญหน้าระหว่างตัวแทนของพระเจ้า vs. ซาตาน

  • หญิงสาวสวมชุดสีสว่าง กำลังพ่นคำโป้ปด ล่อลวง โดยไม่สนว่าอีกฝ่ายคือบาทหลวง (ที่เคยให้ศีลมหาสนิทเมื่อตอนต้นเรื่อง) ตัวเธอสูญเสียแฟนหนุ่มทั้งสอง ภายในหลงเหลือเพียงความว่างเปล่า
  • บาทหลวงสวมชุดสีเข้ม บอกว่ายังพบเห็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในหญิงสาว ต้องการให้ความช่วยเหลือเธอกลับสู่วิถีความรอด แต่จิตใจของเขากลับเต็มไปด้วยสับสน เรรวนปรวนแปร ใกล้สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า

ต่างฝ่ายต่างพยายามพูดโน้มน้าวกันและกัน ก้าวเดินจากสถานที่ปรักหักพังออกมายังท้องทุ่งกว้าง คาดหวังว่าอีกฝั่งฝ่ายจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลง เปิดเผยธาตุแท้จริงของตนเองออกมา

ทำไม Mouchette ถึงกระทำอัตวินิบาต? เพราะได้รับคำชี้นำจาก Donissan รู้สึกสาสำนึกผิด รับไม่ได้กับพฤติกรรมของตนเอง? หรือเพราะถูกซาตานเข้าสิง ต้องการทำลายชื่อเสียงของ Donissan เลยกระทำสิ่งที่พระเป็นเจ้าไม่สามารถยินยอมให้อภัย?

ในศาสนาคริสต์ เท่าที่ผมหาข้อมูลค้นพบว่า การกระทำอัตวินิบาตไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าคนๆนั้นจะได้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก ถ้าเชื่อในพระคริสต์อย่างแท้จริงก็จักอยู่รอดปลอดภัยชั่วนิรันดร์ แต่หากมีความโล้เล้ลังเลใจ ยังไม่ได้รับความรอด การฆ่าตัวตายคือการเร่งให้ไปสู่บึงไฟนรกเร็วขึ้น

reference: https://www.gotquestions.org/Thai/Thai-suicide-Bible.html

ฉากการฟื้นคืนชีพของเด็กชาย แวบแรกผมครุ่นคิดถึงโคตรภาพยนตร์ Ordet (1955) ของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer แต่พออ่านความคิดเห็นของนักวิจารณ์หลายๆสำนัก ถึงค้นพบการโต้ถกเถียงเหตุการณ์นี้เป็นอิทธิฤทธิ์ของใคร พระเจ้าหรือซาตาน? นี่เป็นการสร้างความคลุมเครือที่ทรงพลังมากๆ ท้าทายความเชื่อศรัทธาของผู้ชมชาวคริสเตียนอย่างชัดเจน

  • ถ้าคุณเชื่อว่าคืออิทธิฤทธิ์ของพระเป็นเจ้า นี่จักคือแสงสว่างแห่งศรัทธาของ Donissan
  • แต่ถ้ามองว่าคืออิทธิฤทธิ์ของซาตาน ก็เพื่อทำให้ Donissan ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง สูญสิ้นศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า

ปฏิกิริยาของ Donissan หลังเด็กชายฟื้นคืนชีพ คือเต็มไปด้วยความสับสน ขัดแย้งภายในตนเอง (เพราะไม่รู้ว่าพระเจ้าหรือซาตานที่ฟื้นคืนชีพเด็กชายคนนี้) เดินถอยหลังพิงผนังกำแพง ร่างกายปกคลุมด้วยความมืดมิด เพียงใบหน้าที่ยังอาบฉาบแสงสว่าง สามารถตีความได้ทั้งแสงสว่างจากพระเป็นเจ้า หรือศรัทธาอันน้อยนิดที่ยังหลงเหลืออยู่

การเสียชีวิตในห้องสารภาพบาปของบาทหลวง Donissan แม้รอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่กลับมีแสงสว่างสาดส่องลงบนใบหน้า คนส่วนใหญ่มักตีความว่าเขาถูก(พระเจ้า)ทอดทิ้งให้ตกตาย แต่ขณะเดียวกันเรายังสามารถมองว่าพระเป็นเจ้าทรงนำพาวิญญาณ(ของ Donissan)ออกไปจากขุมนรกแห่งนี้ได้เช่นกัน … แต่ก็สร้างความหลอกหลอน ขนลุกขนพอง ราวกับรัศมีของซาตานสาดส่องลงมามากกว่า

ตัดต่อโดย Yann Dedet (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Bride Wore Black (1968), แล้วกลายเป็นขาประจำ François Truffaut ตั้งแต่ Two English Girls (1971), ส่วนผู้กำกับ Maurice Pialat เริ่มที่ผลงาน Loulou (1980) จนถึง Van Gogh (1991)

เกร็ด: Dedet ยังมาร่วมรับเชิญ (Cameo) แสดงเป็น Gallet หมอหนุ่ม/คนรักที่สองของ Mouchette

หนังดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างบาทหลวง Donissan ตั้งแต่เริ่มเกิดอาการสับสนในความเชื่อศรัทธา จากนั้นตัดสลับไปหา Mouchette เด็กสาวแสดงพฤติกรรมโฉดชั่วร้ายต่างๆนานา จนเมื่อทั้งสองได้พบเจอหน้าก็ราวกับ พระเจ้า vs. ซาตาน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ความช่วยเหลือพากลับขึ้นมา แต่อีกฝั่งต้องการฉุดคร่าให้ตกลงสู่ขุมนรก

  • ความสับสนในศรัทธาของ Donissan
    • Donissan สารภาพต่อบาทหลวงผู้แล Menou-Segrais ถึงความสันสนในศรัทธาของตนเอง
  • พฤติกรรมโฉดชั่วร้ายของ Mouchette
    • Mouchette กับชายคนแรก Cadignan
    • Mouchette กับชู้รักคนที่สอง Gallet
  • การเผชิญหน้าระหว่าง Donissan vs. Mouchett (และซาตาน)
    • Donissan ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปชนบทห่างไกล แต่ค่ำคืนดึกดื่นก็ไม่ถึงเป้าหมายสักที นั่นเพราะถูกลวงล่อหลอกโดยซาตาน
    • เช้าวันถัดมา Donissan พบพานเจอ Mouchett ตระหนักถึงสิ่งชั่วร้ายที่เธอกระทำ เลยพยายามโน้มน้าวให้กลับใจ
    • แต่ Mouchett กลับตัดสินใจปาดคอฆ่าตัวตาย ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของ Donissan
  • ฉันเกิดมาเพื่ออะไร?
    • Donissan ถูกส่งไปยังอีกชนบทห่างไกล กลายเป็นบาทหลวงที่ใครๆให้ความเคารพนับถือ สามารถฟื้นคืนชีพเด็กชายจากความตาย
    • Donissan ในสภาพหมดสิ้นหวัง อธิษฐานขอพรพระเป็นเจ้า แต่กลับพบเจอเสียชีวิตในห้องสารภาพบาป

ด้วยความยาว 93 นาที แต่ผมกลับรู้สึกเหมือนกำลังรับชมหนังสามชั่วโมง (The Mother and the Whore (1973) ดูสั้นลงทันตาเห็น!) ตัวละครพูดคุยสนทนาอะไรกันก็ไม่รู้ (ที่ผมฟังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะมีศัพท์ศาสนาค่อนข้างเยอะ) กว่าจะมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างเกิดขึ้น สัปหงกแล้วสัปหงกอีก … ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Pialat เหมือนพยายามทำให้ผู้ชมต้องอดรนทนดำเนินทางผ่านขุมนรก ถึงมีแนวโน้มพบเจอแสงสว่าง/สรวงสวรรค์ที่ปลายอุโมงค์เสมอๆ


เพลงประกอบหนึ่งเดียวที่ดังขึ้นซ้ำๆอยู่ 3-4 ครั้ง คือ Symphony No. 1 (1951) ประพันธ์โดย Henri Dutilleux (1916-2013) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส มีทั้งหมด 4 Movement แต่จะได้ยินในหนังเฉพาะ 3. Intermezzo ซึ่งมีความลุ่มลึกล้ำที่สุด(ในทั้งสี่ท่อน)

ผมนำทั้ง Symphony เพราะอยากให้เห็นถึงความลุ่มลึกล้ำของบทเพลงนี้ เต็มไปด้วยบรรยากาศทะมึน อึมครึม แม้สองท่อนแรก Passacaille (0:00) และ Scherzo molto vivace (07:07) จะพอมีเครื่องดนตรีที่มอบท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครงอยู่บ้าง แต่เหมือนบางสิ่งอย่างถูกปกปิด ซุกซ่อนเร้นไว้ ก่อนได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อถึงท่อน Intermezzo (13:11) ค่อยๆไล่ระดับความเป็นจริงอันเหี้ยมโหดร้ายของโลกใบนี้ และท่อนสุดท้าย Finale con variazioni (19:07) คือการเผชิญหน้าต่อสู้ เต็มไปด้วยคลุ้มบ้าคลั่ง แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ ไม่สามารถต่อกรสิ่งชั่วร้ายใดๆทั้งปวง

นั่นน่าจะคือเหตุผลที่ผู้กำกับ Pilat จงใจเลือกบทเพลงนี้ ไม่ใช่แค่ท่วงทำนองของ Intermezzo ที่สร้างบรรยากาศหมองหม่น (สามารถเทียบแทนสภาวะอารมณ์ตัวละคร Donissan) แต่นัยยะทั้ง Symphony สะท้อนวิถีของโลกที่ตกอยู่ภายใต้รัศมีซาตาน เต็มไปด้วยความจอมปลอม หลอกลวง ไม่มีทางที่มนุษย์จักต่อสู้เอาชนะสิ่งชั่วร้ายนี้ไปได้

เรื่องราวของ Under the Sun of Satan นำเสนอ ‘มุมมอง’ วิถีแห่งโลก (ต้องนับตั้งแต่ Georges Bernanos เขียนนวนิยายเล่มนี้เมื่อปี ค.ศ. 1926) พบเห็นสิ่งต่างๆกำลังพลิกกลับตารปัตร จิตสามัญสำนึกมนุษย์ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริสุทธิ์ถูกใส่ร้ายป้ายสี ขณะที่คนทำชั่วได้ดิบได้ดี โลกใบนี้ถูกซาตานเข้ายึดครอบครองแทนพระเป็นเจ้าแล้วหรือไร?

คนที่จะมองโลกแง่ร้ายขนาดนั้น ล้วนต้องพานผ่านเหตุการณ์สั่นสะเทือนหัวใจ ในกรณีผู้แต่งนวนิยาย Bernanos คือเคยเป็นทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกาย และอาการ ‘Shell Shock’ ทางจิตใจ จึงมักสรรค์สร้างผลงานที่มีคำเรียกว่า Defeatism, ส่วนผู้กำกับ Pialat ตั้งแต่เด็กเมื่อครั้นสูญเสียมารดา แล้วถูกบิดาทอดทิ้งไม่เหลือเยื่อใย พอเติบใหญ่ก็พานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง คือสิ่งหล่อหลอมให้เขาพยายามสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวสมจริง (Realist) ว่าไปก็ตั้งแต่ทำหนังสั้น/สารคดี L’amour existe (1960) บันทึกวิถีชีวิต สภาพสังคม ชุมชนเมือง ‘City Symphony’ พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศส (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ดูไม่น่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่

น่าเสียดายที่ผมยังไม่สามารถหารับชม The Mouth Agape (1974) ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของผู้กำกับ Pialat นำเสนอวาระสุดท้ายของมารดา ล้มป่วยนอนซมซาน ทนทุกข์ทรมานอยู่บนเตียงจนเสียชีวิต ขณะที่ครอบครัวญาติมิตร กลับแสดงพฤติกรรม … นั่นน่าจะคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามองเห็นสันดานธาตุแท้ผู้คน เข้าใจวิถีทางสังคม และกฎการเอาตัวรอดบนโลกใบนี้ ที่มีความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย

At Cannes, I said I was an atheist, which makes no sense. The word ‘atheist’ means nothing to me. You can’t be against something you don’t believe in. No, although I’d been into religion up to 14, and had dabbled in and out of it afterwards. For young people, the patronages had two attractions: first, that’s where you went to have fun; second, you could put on amateur theatre. So I stayed close to all that till I was 19. So I mean… If you believe what psychoanalysis has to say, that these are the years that leave the biggest impression on you… Later on, there was rebellion. There’s no-one better than those in the know, for figuring out where you went wrong. I basked in the aforementioned spirituality, but it didn’t mean anything.

Maurice Pialat

ผู้กำกับ Pialat เคย(แสร้งว่า)มีความเชื่อในศาสนาตอนอายุ 14 แต่จุดประสงค์แท้จริงเพื่อเข้าร่วมชมรมการแสดง สนุกสนานกับเพื่อนๆเท่านั้น ซึ่งพอถึงอายุ 19 ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฝืนทำอีกต่อไป ถึงอย่างนั้นช่วงเวลาดังกล่าวก็มีโอกาสเรียนรู้จักอะไรๆเกี่ยวกับพระเจ้า-ซาตาน … แต่ก็ไม่เกิดศรัทธาขึ้นประการใด

ในมุมกลับตารปัตร ผู้กำกับ Pialat มองว่าโลกยุคสมัยนั้น การมีอยู่ของซาตานยังฟังดูน่าเชื่อถือมากกว่า(พระเป็นเจ้า) ดำเนินเดินเคียงข้างมนุษย์ คอยหยอกล้อเล่น แถมยัง sexual harassment เสียด้วยนะ! แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราถูกควบคุมครอบงำ (จากทั้งพระเจ้าหรือซาตาน) ทุกสิ่งอย่างล้วนยังขึ้นอยู่กับตัวเราเองครุ่นคิด-กระทำ

แต่เพราะมนุษย์มักตัดสินใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เอาตัวรอดปลอดภัย ตอบสนองความพึงพอใจ สร้างความสุขให้กับตนเอง ซึ่งมักได้รับอิทธิพลจากเพื่อนฝูง ครอบครัว สังคมรอบข้าง วิถีทางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยไม่ใคร่สนใจสิ่งถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม มโนธรรม ศาสนาราวกับเชือกที่ผูกมัดรัดตัว ทำไมต้องอดทน ทำไมต้องฝืนกลั้น อนาคต/หลังความตายเป็นยังไงช่างหัวมัน ปัจจุบันขอแค่ฉันได้กระทำตามใจสมหวัง ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้วละ

ไม่มีทางที่มนุษย์จะต่อต้านทานวิถีทางโลกที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป! นั่นคือมุมมองของผู้กำกับ Pialat ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของศาสนา(คริสต์) เอาแต่เสี้ยมสอนให้มีความเชื่อมั่นต่อพระเป็นเจ้า แต่ถ้าเราสูญเสียศรัทธานั้นไป เผชิญหน้ากับซาตาน อาศัยอยู่บนโลกที่ราวกับขุมนรก ปัจจุบันยังแทบเอาตัวไม่รอด ทำอย่างไรถึงมีโอกาสกลับสู่สรวงสวรรค์?

อีกสิ่งหนึ่งที่หนังชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถามคือการสารภาพบาป กลายเป็นค่านิยมของชาวคริสเตียน เชื่อว่าจักทำให้สิ่งเลวร้ายเคยกระทำมาจบสูญสิ้นไป จริงๆนะเหรอ? ว่าไปก็คล้ายๆทัศนคติชาวพุทธ เข้าวัดบริจาคทาน สร้างภาพตนเองเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่พอกลับบ้านทำผิดศีลไม่เว้นวัน ไม่เคยศึกษาพระธรรม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องใส สรุปแล้วบุญที่ทำมาได้อะไร?

แม้ว่าโลกที่ปกครองด้วยระบอบซาตานจะเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย แต่ชีวิตก็ยังต้องดำเนินไป บางคนเรียนรู้ที่จะปรับตัว ยินยอมรับสภาพความเป็นจริง แต่เราควรค้นหาสามัญสำนึกของตนเอง ต่อให้ไม่หลงเหลือศรัทธาศาสนาใดๆ จิตใจที่บริสุทธิ์และเมตตาธรรม จักสร้างสรวงสวรรค์ขึ้นภายในจิตใจ


เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ถูกมองข้ามจากองค์กรศาสนา SIGNIS (World Catholic Association for Communication) มอบรางวัล Prize of the Ecumenical Jury ให้ภาพยนตร์เรื่อง Repentance (1984) แต่คณะกรรมการปีนั้นนำโดยนักร้อง/นักแสดง Yves Montand ประกาศรางวัล Palme d’Or อย่างเป็นเอกฉันท์ให้แก่ Under the Sun of Satan (1987)

Palme d’Or had been given unanimously, because we considered that the work had succeeded Pialat was a work which put the cinema on another level, on another floor. One can inevitably — myself, I am like that — be sensitive to films that are perhaps a little more affordable, easier, but fortunately there are Pialats, Godards, Resnais, to bring cinema to another height.

Yves Montand กล่าวถึงการมอบรางวัล Palme d’Or ให้กับ Under the Sun of Satan (1987)

เกร็ด: ชัยชนะรางวัล Palme d’Or ของ Under the Sun of Satan (1987) ถือเป็นภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่องแรกในรอบ 21 ปี โดยครั้งล่าสุดคือ A Man and a Woman (1966) ของผู้กำกับ Claude Lelouch ฟังดูก็ไม่น่าเชื่อที่ประเทศเจ้าภาพจะห่างหายการเป็นผู้ชนะรางวัลใหญ่เทศกาลหนังเมือง Cannes เยิ่นยาวนานขนาดนั้น!

François Mitterrand ประธานาธิบดีฝรั่งเศสขณะนั้น ยังอดไม่ได้ต้องเขียนชื่นชมชัยชนะของภาพยนตร์เรื่องนี้

This Palme d’or of the fortieth Cannes Film Festival has symbolic force. It rewards the work of a filmmaker who was able to draw inspiration from one of our great writers. He designates cinema as a land of writing and beauty. He shows the vitality that French cinema can and must experience.

François Mitterrand

แม้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์/ผู้ชมทั่วไปจะไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ แต่ก็มียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสสูงถึง 815,748 ใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และยังเข้าชิง César Awards ถึง 7 สาขา (แต่ไม่ได้สักรางวัล) พ่ายให้ Au Revoir les Enfants (1987) ของผู้กำกับ Louis Malle

  • Best Film
  • Best Director
  • Best Actor (Gérard Depardieu)
  • Best Actress (Sandrine Bonnaire)
  • Best Cinematography
  • Best Editing
  • Best Poster

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 2K มีความสวยสด คมชัดกริบ แล้วเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2015 สามารถหาซื้อแผ่น Blu-Ray ได้ทั้งของ Gaumont (ฝรั่งเศส/ยุโรป) และ Cohen Media Group (สหรัฐอเมริกา)

โดยส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธา พระเจ้า-ซาตาน ซึ่งผู้กำกับ Pialat ก็ไม่ได้พยายามเลือกเข้าข้างฝั่งฝ่ายใด แต่ปัญหาใหญ่ๆคือการดำเนินเรื่องที่เชื่องชักช้า น่าเบื่อหน่าย ราวกับตกลงสู่ขุมนรก จนตอนจบผมก็มองไม่เห็นแสงสว่าง/สรวงสวรรค์รำไร พอกลับขึ้นมาไม่ได้ก็ตายหยังเขียด

แทนที่จะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมแนะนำให้มองหา Ordet (1955), The Seventh Seal (1957), Nazarín (1959), Léon Morin, Priest (1961), Bergman’s Trilogy (Through a Glass Darkly (1961), Winter Light (1963), The Silence (1963)) หรือแม้แต่ Silence (2016) ล้วนเกี่ยวกับการพิสูจน์ศรัทธาศาสนา มีความงดงามทรงคุณค่า คุ้มกับการเสียเวลามากกว่านะครับ

จัดเรต 18+ กับอาการสับสนในศรัทธาศาสนา พฤติกรรมสำส่อน ฆาตกรรม โกหกหลอกลวง และกระทำอัตวินิบาต

คำโปรย | Under the Sun of Satan ต้องลงสู่ขุมนรกเพื่อทำความเข้าใจโลกของผู้กำกับ Maurice Pialat
คุณภาพ | โลกของซาตาน
ส่วนตัว | ลงนรก

À Nos Amours (1983)


To Our Loves (1983) French : Maurice Pialat ♥♥♥♥

เหตุการณ์ Mai ’68 ส่งอิทธิพลต่อการตื่นรู้เรื่องทางเพศ ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาววัยสิบห้า Sandrine Bonnaire ทำให้ค้นพบเสรีภาพความรัก เพศสัมพันธ์ที่หลากหลาย แต่ต้องแลกมากับความขัดแย้งครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ยังยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้สักเท่าไหร่

ด้วยวิธีการนำเสนอที่เน้นความสมจริง (realist) ใช้นักแสดงหน้าใหม่ ได้รับเพียงคำแนะนำคร่าวๆ ต้องครุ่นคิดคำพูดสนทนาด้วยตนเอง (เพิ่มเติมผู้กำกับ Maurice Pialat ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย!) ถ่ายทำด้วยกล้อง Hand-Held ส่วนใหญ่เป็น Long-Take ระยะ Long Shot การตัดต่อก็ดำเนินไปเรื่อยๆไม่รู้วัน-เวลา และไร้ซึ่งเพลงประกอบใดๆนอกเสียจาก ‘diegetic music’

จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมสามารถสังเกตจับจ้อง ครุ่นคิดพิจารณา ทำความเข้าใจเรื่องราวด้วย’มุมมอง’ของตัวคุณเอง ไร้ซึ่งคำอธิบายจุดเริ่มต้น สาเหตุผล เพราะอะไร ทำไมครอบครัวของหญิงสาวถึงกลายมาเป็นเช่นนี้? อิทธิพลจากภายใน-ภายนอก วิถีชีวิต สภาพสังคม ผู้คนรอบข้าง ประเทศชาติ โลกใบนี้ หรืออะไรกันแน่?

À Nos Amours (1983) คือหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับ Pialat ด้วยการผสมผสานระหว่างการแสดง-ดั้นสด (Acting-Improvised) เรื่องราวพัฒนาการไปพร้อมๆนักแสดง Sandrine Bonnaire ซึ่งก็ตกหลุมรัก/เสียความบริสุทธิ์ครั้งแรกระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ (แต่ไม่ใช่แบบ Au Hasard Balthazar (1966) ที่ Anne Wiazemsky ยินยอมถูกข่มขืนในกองถ่าย เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ดังกล่าว) นำเอาความรู้สึก/ประสบการณ์มาปรับใช้ เพื่อสร้างความสมจริง (realist) ได้อย่างน่าประทับใจ

โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ของหนังที่ผู้กำกับ Pialat ไม่ได้บอกกล่าวอะไรใครล่วงหน้า จู่ๆตัวละครของเขาก็ปรากฎตัว เดินเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้นักแสดงเข้าฉากอยู่ … เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อบันทึกปฏิกิริยาแสดงออกอย่างคาดไม่ถึง!

ในบรรดาหนังโป๊ หนังอีโรติก ที่เน้นขายเรือนร่างความเซ็กซี่ ไม่มีเรื่องไหนทำให้ผมเกิดอารมณ์(ทางเพศ)ไปมากกว่า À Nos Amours (1983) นั่นเพราะวิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Pialat เต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวนรัญจวนใจ แม้ไม่ได้มีฉากเพศสัมพันธ์โจ๋งครึ่ม (เพราะ Sandrine Bonnaire ก็เพิ่งอายุ 15 ปี) แต่เมื่อพบเห็นพัฒนาการตื่นรู้ของหญิงสาว (ที่มีความค่อยเป็นค่อยไป) อดไม่ได้จะเอ็นดู ตกหลุมรักใคร่ (ได้ทั้งชาย-หญิง) พอเข้าใจเหตุผลว่าทำไมตัวละคร ถึงกลายเป็นคนสำส่อนแบบนี้ … ภาษาอังกฤษใช้คำ promiscuous แปลว่า สำส่อน หลากหลาย ไม่เลือกหน้า ยุ่งเหยิง

แซว: นึกถึงเพลงของเสก โลโซ แต่หนังเรื่องนี้ใช้คำพูดว่า ‘ฉันจะทำให้เธอรู้สึกเหมือนตอนอายุ 15!’

ไดเรคชั่นผู้กำกับ Pialat ถือว่ามีความน่าหลงใหลเอามากๆ À Nos Amours (1983) คือหนังโปรดของ Damien Chazelle, Sean Baker, Paweł Pawlikowski ฯลฯ ทำเอาผมต้องขวนขวายหวนกลับไปรับชม L’enfance nue (1968) เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิด สังเกตลีลาการนำเสนอ พบเห็นเลยว่าทุกช็อตฉากล้วนมีสไตล์ลายเซ็นต์เฉพาะตัว (ไม่ใช่ลักษณะของ mise-en-scène แต่คือรูปแบบแผน ‘formalism’ สำหรับรองรับวิธีการถ่ายทำดังกล่าว)


Maurice Pialat (1925-2003) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cunlhat, Puy-de-Dôme ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน (Working Class) บิดาเป็นช่างไม้ ขายไวน์ ขุดถ่านหิน แต่หลังจากมารดาเสียชีวิต เลยถูกส่งไปอาศัยอยู่กับย่าที่ Villeneuve-Saint-Georges, วัยเด็กมีความเพ้อฝันอยากเป็นจิตรกร เข้าศึกษายัง École Nationale Supérieure des Arts Décoratifs แต่ช่วงขณะนั้นคาบเกี่ยวสงครามโลกครั้งที่สอง เลยไม่สามารถหาหนทางประสบความสำเร็จ จึงล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าว มองหางานรับจ้างทั่วๆไปที่จับต้องได้ อาทิ เซลล์แมนขายเครื่องพิมพ์ดีด, นักแสดงละครเวที, เก็บเงินซื้อกล้องถ่ายทำหนังสั้น จนกระทั่งเข้าตาโปรดิวเซอร์ Pierre Braunberger ได้รับงบประมาณสรรค์สร้าง L’amour existe (1960) ส่งเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Prix Lumière (ของหนังสั้น)

หนังสั้น L’amour existe (1960) สร้างความประทับใจผู้กำกับ François Truffaut อาสาจัดหาทุนภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Naked Childhood (1968) จากนั้นโอกาสก็ไหลมาเทมา ติดตามด้วย We Won’t Grow Old Together (1972), The Mouth Agape (1974), Graduate First (1978), Loulou (1980), Under the Sun of Satan (1987) ** คว้ารางวัล Palme d’Or, Van Gogh (1991) ฯลฯ

สไตล์ของ Pialat มีคำเรียกว่า ‘realist film’ มักจำลองสร้างสถานการณ์ขึ้นมา แล้วมอบเสรีภาพให้นักแสดงทำการดั้นสด (Improvised) บันทึกปฏิกิริยาแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งหลายครั้งมักเต็มไปด้วยความรุนแรง ปะทุระเบิดทางอารมณ์ (คล้ายๆผลงานของ John Cassavetes), ส่วนความสนใจล้วนนำจากประสบการณ์ชีวิตส่วนบุคคล (Personal Film) ปฏิเสธนัยยะซ่อนเร้นทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

สำหรับ À Nos Amours มีต้นกำเนิดมาจากบทหนัง Les filles du faubourg (แปลว่า The girls of the suburb) โดยนักเขียน Arlette Langmann อดีตคนรัก/ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Pialat ตั้งแต่ Naked Childhood (1968) เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 70s เคยนำไปยื่นเสนอต่อ National Center of Cinematography และ Gaumont Film Company แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจใดๆ

หลังจากผู้กำกับ Pialat นำเอาบทดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไข ตัดทิ้งประเด็นการเมือง องค์ประกอบอื่นๆที่เขาไม่สนใจ จากความยาวหลายร้อยหน้ากระดาษ หลงเหลือเพียงหลักสิบ (ประมาณว่าถ้าดัดแปลงจากบทดั้งเดิม หนังคงยาวประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่หนังเรื่องนี้แค่ 95 นาทีเท่านั้น!) โปรดิวเซอร์เห็นแล้วคงกระชุ่มกระชวยหัวใจ คงใช้งบประมาณไม่มาก เลยสรรหาทุนสร้างไม่ยากเท่าไหร่


เรื่องราวของ Suzanne เด็กสาวชาวปารีสอายุ 15 ปี จู่ๆรู้สึกเบื่อหน่ายแฟนหนุ่ม เลยทดลองมีความสัมพันธ์แบบข้ามคืน (One Night Stand) กับทหารชาวอเมริกัน แต่นั่นกลับเป็นประสบการณ์ที่น่าผิดหวังอย่างรุนแรง และเมื่อครุ่นคิดว่าการกระทำดังกล่าวเหมือนทรยศหักหลัง(แฟนหนุ่ม) เลยตัดสินใจบอกเลิกรา สรรหาข้ออ้างฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อุปนิสัยของ Suzanne เริ่มเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นคนติดเพื่อน ชอบออกเที่ยวกลางคืน คบหาชายหนุ่มไม่ซ้ำหน้า ทำให้บิดาที่สังเกตเห็นมิอาจอดรนทนไหว พูดบอกกับเธอว่าตัดสินใจละทอดทิ้งครอบครัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เมื่อวันเวลานั้นมาถึงทำให้มารดาเกิดอาการคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง (Hysteria) ส่วนพี่ชายเมื่อกลายเป็นใหญ่(หัวหน้าครอบครัว) ก็แสดงสันดานธาตุแท้ โอบกอดมารดา (ปม Oedipus Complex) ใช้กำลังความรุนแรงกับน้องสาวบ่อยครั้ง

Suzanne เมื่อสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รัก เลยต้องมองหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง ตัดสินใจแต่งงานตั้งแต่อายุ 16-17 เพราะไม่ต้องการอาศัยอยู่บ้านหลังนี้อีกต่อไป แต่ปรากฎว่าวันเดินทางไปฮันนีมูนยังสหรัฐอเมริกา กลับเป็นชายอีกคนที่ขึ้นเครื่องบินด้วยกัน ซะงั้น!


Sandrine Bonnaire (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gannat, Allier ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) มีพี่น้อง 11 คน, เมื่ออายุ 16 ปี เข้าตาผู้กำกับ Maurice Pialat ได้รับเลือกแสดงนำ À nos amours (1983) แจ้งเกิดคว้ารางวัล César Award: Most Promising Actress, สองปีถัดมาโด่งดังระดับนานาชาติกับ Sans toit ni loi (1985), ตามด้วย Under the Sun of Satan (1987), Monsieur Hire (1989), La Cérémonie (1995), East/West (1999), The Final Lesson (2015) ฯ

รับบท Suzanne หญิงสาวแรกรุ่นวัย 15 ปี เพิ่งตื่นรู้เรื่องทางเพศ ‘Sexual Awakening’ เลยต้องการเรียนรู้ ทดลองมองหาสิ่งต่างๆ เพื่อสนองตัณหา/ความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเอง แต่นั่นทำให้ใครอื่น(โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว)มองว่าสำส่อน มักมาก ขัดแย้งต่อขนบจารีตประเพณี ไม่สามารถยินยอมรับเสรีภาพ(ทางเพศ)ดังกล่าว ซึ่งเมื่อถูกตำหนิต่อว่า ใช้กำลังความรุนแรง ทำให้หญิงสาวเกิดอาการต่อต้านขัดขืน ไม่ต้องการฝืนตนเองอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้อีกต่อไป!

ก่อนหน้านี้ Bonnaire เพิ่งมีโอกาสแสดงเป็นตัวประกอบ La Boum (1980) ยื่นใบสมัครภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะคิดว่าคงยังได้รับบทสมทบ แต่ผู้กำกับ Pialat กลับมอบบทนำให้เธอ แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าฝรั่งเศสมีกฎหมายเรื่องภาพเปลือยเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างไร? ตอนที่ Bonnaire แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่งอายุ 15-16 ปี (น่าจะยังถือว่าไม่บรรลุนิติภาวะมั้งนะ) แต่เต็มไปด้วยฉากล่อแหลม เปลือยกายท่อนบน กอดจูบลูบไล้ ท่อนล่างก็วับๆแวมๆ (แต่ไม่มีฉากเพศสัมพันธ์ที่โจ๋งครึ่ม) เหล่านี้แม้สร้างความกระชุ่มกระชวยให้ผู้ชม แต่ผมก็รู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วนอยู่ไม่น้อย (คล้ายๆตัวละครบิดา ไม่ค่อยอยากยินยอมรับพฤติกรรมบุตรสาวสักเท่าไหร่)

แต่ในเรื่องการแสดงต้องชมเลยว่า Bonnaire มีความน่ารักสดใส บริสุทธิ์จากภายใน ไม่ได้รู้สึกว่าเธอสำส่อนขนาดนั้น เพียงอยากรู้อยากลอง อยากมองหาสิ่งสามารถตอบสนองความต้องการ ตามประสาวัยสะรุ่น เพียงแต่ไม่มีใครในครอบครัวยินยอมรับ พยายามทำความเข้าใจ เอาแต่ควบคุมครอบงำ พอชี้นิ้วสั่งไม่สำเร็จก็ใช้กำลังความรุนแรง เผด็จการเบ็ดเสร็จ สร้างความเจ็บปวดรวดร้ายทั้งร่างกาย-จิตใจ ผู้ชมส่วนใหญ่ก็น่าจะรับรู้สึกเช่นเดียวกัน

ถ้าคุณเป็นคนฝั่งอนุรักษ์นิยม ย่อมมองเห็นแต่พฤติกรรมสำส่อนของตัวละคร ทำไมไม่รู้จักควบคุมสติอารมณ์ หักห้ามใจตนเอง การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังเด็ก เปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า มันทำให้มูลค่าของตนเองลดน้อยลง สายตาคนทั่วไปย่อมไม่สามารถยินยอมรับ ถูกตีตราโสเภณี คงไม่มีโอกาสเข้าใจความรัก หรือค้นพบใครสักคนที่จะอยู่เคียงข้างตราบจนวันตาย

ขณะที่ฝั่งเสรีชนแท้ๆ เพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกปิดกั้น จำเป็นเสียด้วยซ้ำที่ต้องเรียนรู้ พบปะผู้คนหลากหลาย เพื่อนำประสบการณ์มาปรับใช้ ค้นหาบุคคลที่สามารถตอบสนองความต้องการ/พึงพอใจ โสเภณีก็ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย ถ้าไม่บรรลุหลุดพ้นหรือกามตายด้าน ใครไหนไม่มีอารมณ์ทางเพศบางละ?

เราไม่จำเป็นต้องไปถกเถียง หรือตัดสินใจเลือกข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งนะครับ เพราะหนังมอบเสรีภาพให้ผู้ชมขบครุ่นคิดตีความ อยากเข้าใจอะไรแบบไหนก็ขึ้นกับ ‘มุมมอง’ ของตนเอง ไม่มีถูก ไม่มีผิด เพียงนำเสนอเรื่องราว จำลองเหตุการณ์ เพื่อเราจะได้มีโอกาสศึกษา เรียนรู้ สังเกตการณ์


ผู้กำกับ Maurice Pialat รับบทบิดา (Le Père) ตกหลุมรักแต่งงานกับมารดา (La Mère) ตั้งแต่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น อาศัยอยู่ประเทศ Poland แล้วอพยพย้ายมาฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (เพราะครอบครัวเชื้อสาย Jewish) เปิดกิจการร้านตัดเย็บเสื้อผ้า แต่นานวันก็เริ่มเบื่อหน่ายภรรยาจู้จี้จุกจิก ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ค่อยอยู่ และเมื่อพบเห็นบุตรสาวเติบใหญ่ เบ่งบานสะพรั่ง ก็มิอาจอดรนทนไหว จึงตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายออกจากบ้าน

ให้ตายเถอะ! สันชาติญาณของผมบอกว่าเหตุผลแท้จริงที่บิดาทอดทิ้งครอบครัว ไม่ใช่ว่าเขาแอบมีชู้รักคนใหม่ แต่เพราะตกหลุมรักบุตรสาวตนเอง Suzanne โตเป็นสาวสวยสะพรั่ง มิอาจอดรนทนพบเห็นเธอไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ยิ่งทำให้จินตนาการฟุ้งซ่าน เลยตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านเสียดีกว่า

เหตุผลที่ผมครุ่นคิดถึงสาเหตุผลดังกล่าว เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับพี่ชาย Robert สามารถตีความได้อย่างชัดเจนในเชิง Oedipus Complex (รักแม่เกลียดพ่อ) ซึ่งทางฝั่งบิดา-บุตรสาว เลยน่าจะสะท้อนถึง Electra complex … ถือเป็นครอบครัวแห่ง Incestuous

ถ้ามองที่การตีความประเด็น Incest (เพศสัมพันธ์ทางสายเลือด/ในครอบครัว) ผมว่าผู้กำกับ Pialat อาจไม่สามารถสรรหานักแสดงรุ่นใหญ่ที่หาญกล้าตอบตกลง เลยต้องตัดสินใจเล่นบทบาทนี้ด้วยตนเอง ถึงอย่างนั้นมันก็มีจุดน่าสนใจอีกอย่าง คือการที่เขาสามารถ ‘Improvised’ ด้วยการเข้าไปในฉากนั้นๆด้วยตนเอง … นี่ทำให้ผมนึกถึง The Wild Child (1970) ซึ่งผู้กำกับ François Truffaut รับบทนำด้วยตนเอง และใช้ตัวละคร(ที่รับบท)กำกับนักแสดงเด็กที่อยู่ในฉาก

the impression not of having acted a role, but simply of having directed the film in front of the camera and not, as usual, from behind it.

François Truffaut

ผู้กำกับ Pialat มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวก็เพราะได้รับการช่วยเหลือจาก Truffaut มันก็แน่นอนว่าแนวคิดการกำกับนักแสดงเบื้องหน้ากล้อง ย่อมต้องเคยพูดคุยแลกเปลี่ยน นำมาปรับปรุงพัฒนา ผลลัพท์ออกมาต้องถือว่าก้าวหน้าไปอีกขั้น … ไว้ผมอธิบายอีกทีตอนเขียนถึงไคลน์แม็กซ์ของหนังนะครับ

ตอนรับชมผมไม่รับรู้หรอกนะว่าบทบาทนี้คือผู้กำกับ Pialat เต็มไปด้วยลับลมคมใน พฤติกรรมล่อๆแหลมๆ พยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นความรู้สึก(ทางเพศ)ต่อบุตรสาว (หลายๆคำพูด/การแสดงออกค่อนข้างชัดอยู่) แต่ก็ต้องชมว่าสามารถหักห้ามใจ ไม่ปล่อยตัวให้เกินเลยเถิดไป การหลบหนีอาจเป็นหนทางออกดีที่สุด

แต่คนส่วนใหญ่มักมองแค่การกระทำอันไร้จิตสามัญสำนึกของบิดา ทอดทิ้งภรรยาและบุตร ครอบครัวสูญเสียที่พึ่งพักพิง นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ ทุกคนแสดงออกอย่างคนคลุ้มบ้าคลั่ง … นั่นแปลว่าสถานการณ์ครอบครัวนี้เต็มไปด้วยร่องรอยร้าว การจากไปของบิดาเพียงทำให้ทุกสิ่งอย่างปะทุระเบิดออกมา (ขืนอยู่ต่อก็คงได้ผลลัพท์ไม่แตกต่างกัน)


Évelyne Ker ชื่อเต็ม Évelyne Rozenkiern (1936-2005) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เข้าสู่วงการแสดงตั้งแต่ทศวรรษ 50s มีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Classe tous risques (1959), Les Uns et les Autres (1981), À Nos Amours (1983) ฯลฯ

รับบทมารดา (La Mère) หลังถูกสามีทอดทิ้ง เริ่มไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง (Hysteria) แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง พยายามควบคุมครอบงำบุตรสาว Suzanne แต่กลับยิ่งสร้างความรวดร้าวฉาน เกิดการโต้เถียง ใช้กำลังตบตี ทำร้ายร่างกาย หลงเหลือเพียงบุตรชาย Robert เป็นที่พึ่งพักพิง

บทบาทนี้แทบไร้ตัวตนในครึ่งแรกของหนัง แต่หลังจากถูกสามีทอดทิ้ง การแสดงจิตหลุดๆของ Ker ถือว่าเต็มไปด้วยสีสัน แสดงถึงสภาพครอบครัวที่แตกแยก มารดาไม่สามารถพึ่งพักพิง แถมยังพยายามเรียกร้องโน่นนี่นั่น สนเพียงตัวตนเอง พอไม่ได้ดั่งใจก็แสดงออกมาอย่างเกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก

หลายคนอาจสงสัยว่ามารดาคนนี้กระทำสิ่งเลวร้ายอันใด ถึงทำให้สามีตัดสินใจทอดทิ้งขว้าง? ผมครุ่นคิดว่าส่วนหนึ่งคือความสัมพันธ์อันเยิ่นยาวนาน (คบหาแต่งงานตั้งแต่สมัยวัยรุ่น) ทำให้ชีวิตขาดความกระตืนรือร้น หมดสิ้นอารมณ์ทางเพศ นำไปสู่การเพิกเฉย เฉื่อยชา ไม่ยินยอมรับฟังความคิดเห็น ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง รวมถึงนิสัยจู้จี้จุกจิก เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ หลังจากถูกสามีทอดทิ้งไป สันดานธาตุแท้/พฤติกรรมเหล่านี้ก็ปรากฎออกมาอย่างชัดเจน

ผมมองไม่เห็นทางออกของตัวละครนี้เลยละ เพราะมันจะเป็นไปในทิศทางของ Robert มารดาก็คือมารดา คนเป็นบุตรไม่ควรกระทำสิ่งที่พวกท่านต้องทุกข์ยากลำบากใจ แต่การตามใจแม่ผู้เสียสติแตก ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ นั่นหาใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมสักเท่าไหร่ (แยกกันอยู่น่าจะเป็นทางออกดีที่สุดมั้งนะ) การไม่ใช้กำลังโต้ตอบกลับของ Suzanne นั่นคือสิ่งน่ายกย่องสรรเสริญด้วยซ้ำไป!


Dominique Besnehard (เกิดปี 1954) นักคัดเลือกนักแสดง (Casting Director) ผู้ดูแลนักแสดง (Artistic Agent) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bois-Colombes ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการร้านชำเล็กๆ (ก่อนพัฒนามาเป็นซุปเปอร์มาเก็ต) ตอนอายุได้ 5-6 ขวบ พบเห็นกองถ่ายภาพยนตร์ L’Affaire d’une nuit (1960) ซึ่งบิดาได้รับเลือกเป็นตัวประกอบ นั่นสร้างความสนใจด้านการแสดง มีโอกาสขึ้นเวทีตั้งแต่สมัยเรียน ได้รับบทตัวประกอบภาพยนตร์บ่อยครั้ง จนกระทั่งได้เข้าร่วมเอเจนซี่ Artmedia กลายเป็นผู้ดูแลนักแสดง (Artistic Agent) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากๆคนหนึ่งในฝรั่งเศส

รับบท Robert พี่ชายของ Suzanne แม้ดูทึ่มทื่อ เหมือนคนซื่อบื้อ พึงพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ก็พอมีความสามารถด้านการเขียน ทำเป็นงานอดิเรกหลังช่วยเหลือกิจการงานออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า จนกระทั่งการจากไปของบิดา ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เลยไม่มีเวลาหลงเหลือทำอะไรอื่น แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความรักต่อมารดา มักใช้กำลังรุนแรงจัดการกับน้องสาว (ที่มักทำให้มารดาต้องเศร้าโศกเสียใจ)

ดั้งเดิมนั้น Besnehard ทำงานในส่วน Casting Director เสนอแนะนักแสดง Robin Renucci แต่ผู้กำกับ Pialat บอกให้เขารับเล่นบทบาทนี้ด้วยตนเอง เห็นว่ามันท้าทายดีเลยยินยอมตอบตกลง

แค่รูปร่างหน้าตาของ Besnehard ก็ทำให้ผู้ชมรับรู้สึกว่าเขาเหมือนลูกแหง่ เด็กติดแม่ เต็มไปด้วยความเก็บกด (เพราะปม Oedipus Complex จึงมีอคติต่อบิดา) แต่หลังจากบิดาเก็บข้าวของออกจากบ้าน ตนเองกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว จึงเกิดความหลงระเริง บ้าอำนาจ ไม่รู้ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กับมารดาหรือเปล่า (แนวโน้มสูงมากๆ) และใช้น้องสาวเป็นที่ระบายความโกรธเกลียด อึดอัดอั้น (ที่มีต่อบิดา)

ผมแอบรู้สึกว่า Robert น่าจะได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจจากมารดา ตรงกันข้ามกับบิดาแสดงออกอย่างเยือกเย็นชา นั่นทำให้เขาดูอ่อนแอ โหยหาการยินยอมรับ (จากบิดา) แต่กลับถูกทอดทิ้ง จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ต้องการพิสูจน์ตนเองว่าสามารถควบคุมจัดการทุกสิ่งอย่าง

ไคลน์แม็กซ์ของหนังสร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างมากๆ เพราะ Robert ได้แต่งงานกับหญิงสาว(ที่มารดาจัดหาให้) ฟังดูขัดย้อนแย้งกับการตีความทั้งหมดที่อธิบายมา แต่ถึงอย่างนั้นพฤติกรรมพยายามควบคุมครอบงำ ยังพบเห็นได้อย่างชัดเจน และเมื่อบิดาจู่ๆหวนกลับบ้านมา ตัวละครก็นิ่งเงียบสงัด หวนกลับลงรู ไม่สามารถอวดอ้าง สร้างภาพ ลวงหลอกตนเองได้อีกต่อไป


ถ่ายภาพโดย Jacques Loiseleux (1933-2014) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส เข้าสู่วงการช่วงทศวรรษ 60s เริ่มจากทำงานโทรทัศน์ ควบคุมกล้อง (Camera Operator) เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1971 กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Yves Boisset และ Maurice Pialat ตั้งแต่ Loulou (1980) จนถึง Van Gogh (1991)

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย เพื่อสร้างความรู้สึกสมจริง ดูเป็นธรรมชาติ (Realist) ไม่ได้เน้นรายละเอียด mise-en-scène แต่มีวิธีการนำเสนอที่เป็นรูปแบบแผน ‘formalism’ เลือกทิศทางมุมกล้องที่สามารถสังเกตสถานการณ์นั้นๆอย่างคลอบคลุม พร้อมปรับเปลี่ยนตามการดำเนินไปของเรื่องราว ไม่ใช่แค่ตัวละครพูดคุยสนทนาแล้วจบสิ้นเท่านั้น

หลายคนอาจนึกถึงไดเรคชั่นของผู้กำกับ Terrence Malick ที่ก็มีลักษณะสร้างสถานการณ์ มอบอิสระให้นักแสดงอยากทำอะไรก็ทำ พูดอะไรก็พูด แล้วกล้องบันทึกภาพไปเรื่อยๆ แต่นั่นทำให้ได้ฟุตเทจมากมายมหาศาล เกินกว่า 90% ไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน! นั่นคือข้อจำกัดของผู้กำกับ Pialat เพราะค่าฟีล์มสมัยนั้นมีมูลค่ามากอยู่ การถ่ายทำจึงต้องมีทิศทางที่ชัดเจนกว่า (หนังของ Malick เดี๋ยวนี้ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิทอล ไม่ต้องแคร์อีกแล้วว่าจะถ่ายฟุตเทจสักล้านชั่วโมง)

สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ของหนังอยู่ยังกรุง Paris แต่ตอนต้นเรื่องมีการล่องเรือไปยังเกาะอนุรักษ์ Île de Porquerolles ตั้งอยู่ Hyères, Var ทางตอนใต้ฝรั่งเศส คาบเกี่ยวระหว่างทะเลลิกูเรียน (Ligurian Sea) กับทะเลแบเลียริก (Balearic Islands)

การยืนอยู่บนหัวเรือของ Suzanne ตลอดการเดินทาง/Opening Credit สามารถสื่อถึงความมุ่งมั่น เฝ้ารอคอยที่จะไปให้ถึงเกาะ Île de Porquerolles (จะมองว่าคือดินแดนสรวงสวรรค์ ไคลน์แม็กซ์ของการมีเพศสัมพันธ์ก็ได้เช่นกัน) แล้วได้ค้นพบตนเอง เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ เรียนรู้จักเสรีภาพในความรัก (และเพศสัมพันธ์)

Suzanne ระหว่างเข้าร่วมค่ายฤดูร้อน (Summer Camp) ต้องซักซ้อม/ทำการแสดงละครเวที On ne badine pas avec l’amour (1834) แปลว่า No Trifling with Love หนึ่งในผลงานของ Alfred de Musset (1810-57) นักเขียน นักกวีชื่อดัง สัญชาติฝรั่งเศส

Don’t you think one can die of love?

Camille

ละครเวทีเรื่องนี้นำเสนอความรักของคนยุคสมัยก่อน เชื่อว่าคือสิ่งบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์มั่นคง นิจนิรันดร์ ฝั่งฝ่ายหนึ่งสามารถเสียสละชีพ ยินยอมตายเพื่ออีกฝั่งฝ่ายหนึ่ง นั่นถือเป็นอุดมคติสูงสุด (ของความรัก) หรือจะมองเพียงความโรแมนติกของบทละคร วรรณกรรมอมตะก็ได้เช่นกัน

อีกความน่าสนใจของการแสดงชุดนี้ แม้บทบาทจะคือบุรุษตกหลุมรักสตรี …Perdican บอกรัก Camille… แต่นักแสดงกลับเป็นเพศหญิงทั้งคู่! นี่ถือเป็น’เสรีภาพ’ความรักรูปแบบหนึ่ง … ไม่ใช่แค่รักร่วมเพศ (Homosexual) ยังสามารถเหมารวมถึงรักไร้เพศ (Non-Binary)

แวบแรกที่ผมเห็นมุมกล้องสูงระดับกระโปรง แพนนิ่งติดตาม Suzanne ขณะเดินตรงมาหาแฟนหนุ่ม Luc ก็ครุ่นคิดว่าคงต้องการสื่อถึงความระริกระรี้ กำลังจะมีเพศสัมพันธ์ (หลายคนอาจมองเป็น ‘male gaze’ ด้วยซ้ำไป) แต่ตำแหน่งของชายหนุ่มนั้น พอดิบพอดีกับระดับความสูงของกล้อง นั่นแปลว่ามีการตระเตรียมรูปแบบแผน ‘formalism’ สำหรับการถ่ายทำไว้แล้วเสร็จสรรพ

นี่ถือเป็นตัวอย่าง ‘สไตล์ Pialat’ ที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง คือในช็อต/ฉากสำคัญๆ จะมีร่องรอยของการตระเตรียมการ พบเห็นรูปแบบแผนของการถ่ายทำ ไม่ใช่จู่ๆตัวละครตรงเข้ามาพูดคุยสนทนา กระทำสิ่งโน่นนี่นั่น แต่ต้องมีอะไรบางอย่างนำเข้าเรื่องราว ผมเรียกว่าอารัมบทของแต่ละช็อต/ฉาก (แนวคิดคล้ายๆ Establish Shot แต่ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพมุมกว้างเสมอไป)

ช็อตเล็กๆระหว่าง Suzanne และ Luc นี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน! แทนที่ทั้งสองเมื่อร่ำลาจะแยกย้ายทางใครทางมัน ต้องรอให้ถึงมุมกล้องนี้ เมื่อพวกเขาเดินเข้ามาจากทางฝั่งซ้าย พอมาถึงกึ่งกลางเฟรม Suzanne ถึงค่อยหันหลังแล้วเดินจากไป … คือต้องมีอารัมบท(เดินเข้าเฟรม)สักเล็กน้อย ก่อนค่อยแยกย้ายจากกัน

Suzanne แต่งตัวยั่วซะขนาดนั้น มันก็ชัดเจนว่ากำลังมองหาใครสักคนสำหรับชั่วข้ามคืน ‘One Night Stand’ แต่การเปิดประสบการณ์นั้นกับทหารอเมริกัน ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพแสงสว่าง-เงามืด อาบฉาบคนละครึ่งใบหน้า ตกอยู่ในความสงบนิ่งเงียบอยู่สักพักใหญ่ๆ ก่อนพูดขึ้นว่า

You’re welcome.
It’s free.

Suzanne

การปีนป่ายข้ามกำแพงรั้วขณะนี้ แฝงนัยยะถึงการที่เธอได้ก้าวข้ามขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับความรัก (ของคนสมัยก่อน) ครั้งแรกของการนอกใจ มีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า (One Night Stand) หลังจากนี้จักไม่มีสิ่งใดๆคอยกีดกั้นขวาง หรือคือได้รับเสรีภาพทางเพศ … แต่คนฝั่งซ้าย/อนุรักษ์นิยม จะเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า สำส่อน โสเภณี

ภาพเปลือยคือศิลปะ! แต่สำหรับวัยรุ่นหนุ่ม Luc ย่อมยังไม่สามารถเข้าใจถึงภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ ทำได้เพียงวาดสิ่งที่พบเห็นเพียงเปลือกภายนอก เข้าไม่ถึงตัวตน รับรู้จักธาตุแท้จริง จิตวิญญาณของหญิงสาว Suzanne ซึ่งช็อตถัดมาไม่มีการพูดเอ่ยคำเลิกรา (แต่ค้างคาบรรยากาศมาคุไว้สักพักใหญ่ๆ) สังเกตระดับศีรษะของทั้งสองมีการจัดวางไม่ให้ซ้อนทับ ซึ่งคือทัศนคติ/ความครุ่นคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน

Suzanne พยายาใพูดโน้มน้าวร้องขอบิดา ต้องการออกไปดูหนังกับเพื่อน แต่เขาตอบปัดปฏิเสธ เพราะรับรู้จุดประสงค์แท้จริงนั้นคืออะไร! มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายให้เห็นอีกห้องนั่งเล่นด้านหลัง มารดากำลังตระเตรียมโต๊ะอาหาร มองผิวเผินเหมือนการดำเนินเรื่องคู่ขนาน แต่แท้จริงแล้วคือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพราะเมื่อบิดาตบหน้าบุตรสาว มารดาที่อยู่ด้านหลังจะตรงรี่เข้ามาหยุดยับยั้ง ไม่ยินยอมให้เหตุการณ์/ความรุนแรงเกินเลยเถิดไปกว่านี้

เอาจริงๆมารดาจะหลบอยู่ตรงไหนในห้องก่อนก็ได้ แต่การให้ตัวละครมาประดับพื้นหลังเคียงคู่ขนานกันไป ทำให้ผู้ชมรับรู้เหมือนลางสังหรณ์ กำลังจะมีบางสิ่งอย่าง(เลวร้าย)บังเกิดขึ้น เพื่อเธอจักสามารถตรงรี่เข้ามาหยุดยับยั้งได้ทันท่วงที

และอย่าลืมว่าทั้งหมดนี้คือการดั้นสด ‘improvised’ โดยเฉพาะการตบหน้าของผู้กำกับ Pialat ซึ่งกล้องก็สามารถบันทึกปฏิกิริยาของทั้ง Bonnaire และ Ker ที่แสดงอาการคาดไม่ถึง แถมยังอยู่ในบทบาท (in-charactor) ไม่เสีย long-take ที่อุตส่าห์ถ่ายทำมา

Suzanne จงใจกลับถึงบ้านหลังเคอร์ฟิว (บิดาสั่งไว้เที่ยงคืน แต่เธอกลับมาถึงตอนตีหนึ่ง) จากเหตุการณ์บังเกิดขึ้นก่อนหน้า ผู้ชมเลยมักคาดหวังว่าคงมีการโต้เถียง ขึ้นเสียง แสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจ แถมเห็นแวบๆว่าบิดาลุกขึ้นมาปิดโทรทัศน์ แล้วเดินมายังตำแหน่งเดิมที่เคยระเบิดอารมณ์ แต่ที่ไหนได้ …

กลับกลายเป็นหนังนำเข้าสู่การสนทนาเปิดอกระหว่างบิดากับ Suzanne รับประทานขนมสบายใจเฉิม! สังเกตระยะภาพจะมีความประชิดใกล้ตามลำดับ/หัวข้อสนทนา (นี่ก็คือลักษณะหนึ่งของ ‘formalism’) และเมื่อตัดสลับ Close-Up ระหว่างใบหน้า ทำให้บุตรสาวมองเห็นดวงตาสีเหลือง(ของบิดา) จริงๆแล้วผู้กำกับ Pialat ดั้งเดิมตั้งใจใส่ไว้เป็น ‘death flag’ สัญลักษณ์ของความตาย เพราะตัวละครนี้จักสูญหายตัวไปตลอดกาล (ไม่ได้หวนกลับมาเซอร์ไพรส์ทั้งผู้ชม/ทีมงาน/นักแสดง ตอนไคลน์แม็กซ์ของหนัง!)

หลังจากบิดาสูญหายตัวออกจากบ้าน สมาชิกที่หลงเหลือ (มารดาและพี่ชาย) ก็เริ่มแสดงสันดานธาตุแท้ออกมา กลายเป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ พยายามจัดแจงทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินไปตามครรลอง/โลกทัศนคติของตนเอง หนึ่งในนั้นก็คือ Suzanne นอนเปลือยกายบนเตียง มันผิดอะไร?

จากนี้หนังเริ่มเปิดประเด็นคำถามให้คนสองฝั่งฝ่าย (อนุรักษ์นิยม vs. เสรีชน) ได้โต้ถกเถียง แต่จนวันตายก็ไม่มีใครไหนสามารถหาข้อสรุปถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับมุมมองโลกทัศนคติส่วนบุคคล หนทางออกที่ผมครุ่นคิดว่าเหมาะสมก็คือการประณีประณอม ต้องมีฝั่งหนึ่งอ่อนข้อ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างดื้อรั้นหัวชนฝา ก็คงต้องแยกย้ายกันออกมา อย่าฝืนเผชิญหน้าเพราะทำให้ใครคนหนึ่งคลุ้มคลั่งกลายเป็นบ้า!

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง Suzanne กับบิดา มุมกล้องจะมีระยะประชิดใกล้ขึ้นเรื่อยๆ (Medium Shot –> Close-Up), แต่กับสมาชิกครอบครัวที่หลงเหลือ (มารดาและพี่ชาย Robert) มุมกล้องจะมีระยะห่างที่ไกลตัวออกไป ค่อยๆทวีความรุนแรง ขัดแย้งขึ้นเสียง ใช้กำลังตบตี (Long Shot)

แฟนเก่า Luc พยายามจะโน้มน้าว ขอกลับมาคืนดีกับ Suzanne แต่เธอกลับปฏิเสธเสียงขันแข็ง (เหตุผลหนึ่งเพราะเขากำลังคบหากับลูกพี่ลูกน้อง Solange) ถึงอย่างนั้นหนังนำเสนอภาพกำลังนั่งรอรถ ยามฝนตกพรำ พร้อมบทเพลง The Cold Song ค่อยไล่ระดับเสียงดังขึ้นทีละคำ มอบสัมผัสแห่งความเศร้าโศกภายใน หนาวเหน็บถึงขั้วหัวใจ

สถานการณ์ในครอบครัวของ Suzanne ก็กำลังจมดิ่งใกล้ถึงจุดต่ำสุด มารดามิอาจควบคุมอารมณ์ตนเอง พี่ชายเจอหน้าก็พร้อมใช้ความรุนแรง ข้างกายไม่หลงเหลือผู้ใด จำเป็นต้องเร่งรีบหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิงทั้งร่างกาย-จิตใจ

ระหว่างงานเลี้ยงหลังแต่งงาน มีการสนทนาถึงหลายๆจิตรกรชื่อดัง ซึ่งความคิดเห็นของตัวละคร เหมือนว่าน่าจะได้รับคำบอกใบ้จากผู้กำกับ Pialat เพื่อสะท้อนรสนิยมส่วนตัวเขาด้วยนะ

  • บอกว่า Pable Picasso มีความ ‘overrated’ นั่นเพราะผู้กำกับ Pialat อยู่ฝั่ง Realism ซึ่งตรงกันข้าม/เป็นศัตรูกับพวก Surrealism
  • ทั้งยังไม่ชอบ Guillaume Apollinaire ผู้สนับสนุนลัทธิ Cubism และ Surrealism
  • Henri Rousseau จิตรกร Post-Impressionist ที่ค่อนไปทาง Naïve หรือ Primitive ยังมีความน่าประทับใจกว่า Apollinaire
  • Suzanne บอกว่าชื่นชอบผลงานของ Pierre Bonnard สมาชิก Post-Impressionist ผู้มีความเย้ายวน (Sensual) กระตุ้นต่อมอารมณ์ทางเพศ

แซว: ภาพวาดของ Pierre Bonnard (1867-1947) มีความเย้ายวน รัญจวนใจ ไม่ต่างจากตัวละคร Suzanne (และไม่ได้มีแค่ภาพเปลือยนะครับ) ผมเลือกมาสามภาพที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ Siesta (1900), The Sun (1908), Young Women in the Garden (1924)

แม้นี่จะเป็นงานเลี้ยงหลังแต่งงานของ Suzanne แต่เหมือนเธอจะไม่ยี่หร่าสถานภาพตนเองสักเท่าไหร่ ยังคงแสดงความยั่วเย้ายวน ปล่อยตัวปล่อยใจ จดทะเบียนสมรสกับอีกคน กำลังอ่อยเหยื่อชายอีกคน แถมปล่อยให้พี่ชายลวนลาม … เรียกว่าเอาหมดถ้าสดชื่น (รวมถึงส่งสายตารัญจวนให้บิดาหลังจากนี้ด้วยนะ)

หลายคนคงรู้สึกว่าพฤติกรรมของ Suzanne ก้าวมาถึงจุดที่เกินเลยเถิดไปไกลแล้ว! เสรีภาพทางเพศมันควรจะมีขีดจำกัด สามัญสำนึกบ้างสิ แบบนี้สมควรตีตราสำส่อน โสเภณี … แต่นั่นคือร่างกายของฉัน ความต้องการของฉัน มันหนักหัวกระบาลใครกัน?

นี่คือปฏิกิริยาจริงๆของนักแสดง เมื่อจู่ๆตัวละครบิดา/ผู้กำกับ Pialat เดินเข้าฉากมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (Wedding Crashers) ไม่มีอยู่ในบทหนัง ไม่มีใครล่วงรับรู้มาก่อน เพียงตากล้องที่บันทึกภาพวินาทีนี้ไว้ได้ทัน จากนั้นทุกคนก็ทำการดั้นสด (Improvised) ปล่อยเอาตัวรอดตามสถานการณ์พาไป

ในบทดั้งเดิมนั้น บิดาหลังจากทอดทิ้งครอบครัวก็ลาแล้วลาลับ ล้มป่วยตายจากไป แต่การที่ผู้กำกับ Pialat สร้างเซอร์ไพรส์ฉากนี้ คงเพราะต้องการให้ตัวละครเผชิญหน้าอดีต ยินยอมรับความจริง ซึ่งตัวเขาเองคงไม่ใช่คนหนีปัญหา แค่หลบไปตั้งหลักก่อนแล้วค่อยหวนกลับมา พูดบอกข้อเท็จจริงหลายๆอย่างแก่ทุกคน

หลังจากเหตุการณ์ทั้งหมด Suzanne กำลังขึ้นเครื่องบินไปฮันนีมูนยังสหรัฐอเมริกา สามารถมองว่าคือสัญลักษณ์ของการโบกโบยบิน เสรีภาพทางเพศ ระริกระรี้สู่สรวงสวรรค์ ผิดกับบิดานั่งรถเมล์ขากลับ กำลังเคลื่อนเข้าอุโมงค์แห่งความมืดมิด สะท้อนสภาพจิตใจที่ตกต่ำดำสนิท ราวกับเดินทางสู่ขุมนรก

ตัดต่อโดย Yann Dedet (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Bride Wore Black (1968), แล้วกลายเป็นขาประจำ François Truffaut ตั้งแต่ Two English Girls (1971), ส่วนผู้กำกับ Maurice Pialat เริ่มที่ผลงาน Loulou (1980) จนถึง Van Gogh (1991)

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Suzanne ตั้งแต่สวมบทบาทการแสดง No Trifling with Love (1834) ทำให้ตระหนักถึงความรู้สึกที่มีต่อแฟนหนุ่ม Luc หลังพานผ่าน One Night Stand กับนายทหารอเมริกัน เลยตัดสินใจบอกเลิกราแล้วคบหาชายคนใหม่ไม่ซ้ำหน้า

ขณะเดียวกันครอบครัวของ Suzanne เกิดการแตกแยกหลังจากบิดาทอดทิ้งพวกเขาไป ต้องอาศัยอยู่กับแม่ที่ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ ส่วนพี่ชายก็เลือกข้างมารดา เมื่อไม่หลงเหลือใครให้พึ่งพักพิง เธอจึงมองหาวิถีทางไปจากบ้านหลังนี้

  • การตื่นรู้ทางเพศของ Suzanne
    • เรียนรู้จักความสัมพันธ์ One Night Stand
    • บอกเลิกรารักครั้งแรกกับ Luc
    • มองหาความสัมพันธ์ที่สามารถเติมเต็มความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเอง
  • การจากไปของบิดา ทำให้ครอบครัวแตกร้าว
    • บิดาไม่อาจอดรนทนต่อครอบครัวได้อีกต่อไป ค่ำคืนนั้นเลยบอกร่ำลา Suzanne
    • หลังบิดาทอดทิ้งครอบครัวไป มารดากลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ทำให้มีเรื่องขัดแย้ง Suzanne อยู่บ่อยครั้ง
    • เมื่อทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พี่ชาย Robert ก็ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ Suzanne
  • แผนการออกจากบ้านของ Suzanne
    • เมื่อมิอาจอดรนทนไหว Suzanne จึงต้องการย้ายออกจากบ้าน ตอนแรกครุ่นคิดไปโรงเรียนประจำ แต่ต่อมาตัดสินใจหมั้นหมายกับ Jean-Pierre
    • บิดาหวนกลับมาร่วมงานเลี้ยงแต่งงานของ Suzanne สร้างความตกตะลึงคาดไม่ถึงให้กับทุกคนๆ และได้เปิดเผยความจริงหลายๆสิ่งอย่าง
    • ฮันนีมูนของ Suzanne ร่ำลาบิดาเพื่อบินไปสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่กับสามีที่เพิ่งแต่งงานด้วย

หนังของผู้กำกับ Pialat ถือว่าไม่มีบทเพลงประกอบ นอกเสียจาก ‘diegetic music’ เพื่อสร้างความสมจริง (Realist) ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ถึงอย่างนั้น À Nos Amours (1983) จะมีท่วงทำนองหนึ่งที่มีความตราตรึงมากๆ

The Cold Song นำจากกึ่งอุปรากร (Semi-Opera) ความยาวห้าองก์เรื่อง King Arthur, or The British Worthy (Z. 628) ประพันธ์โดยคีตกวีชาวอังกฤษ Henry Purcell (1659-95) ทำการแสดงครั้งแรกที่ Queen’s Theatre, London เมื่อปี ค.ศ. 1691

นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ King Arthur ระหว่างออกเดินทางติดตามหาคู่หมั้น Cornish Princess Emmeline ถูกลักพาตัวโดย Saxon King Oswald of Kent, โดยสาเหตุที่เรียกว่ากึ่งอุปรากร (Semi-Opera) เพราะตัวละครจะพูดสนทนาด้วยน้ำเสียงทั่วๆไป ยกเว้นเมื่อขณะพบเจอเรื่องเหนือธรรมชาติถึงใช้การขับร้องโซปราโน เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงบรรยากาศที่แตกต่าง

สำหรับ The Cold Song คือชื่อบทเพลงที่ศิลปินชาวเยอรมัน Klaus Nomi (1944-83) นำมาบันทึกเสียงประกอบอัลบัมแรก Klaus Nomi (1981) โดยนำทำนอง/เนื้อคำร้องจาก Act 3, Scene 2: A deep wood ชื่อเพลง (Aria) What power art thou who from below มาเรียบเรียงให้เป็นสไตล์ของตนเอง

ความน่าสนใจโคตรๆของบทเพลงนี้ก็คือลีลาการร้อง ออกเสียงเป็นคำๆโดยไล่ระดับเสียงทีละขั้น เพื่อเป็นการสะสมพลัง ความอึดอัดอั้นทางอารมณ์ ซึ่งมีทั้งขาขึ้น-ขาลง จุดสูงสุด-ต่ำสุด ราวกับวังวนวัฏจักรชีวิต

What power art thou?
Who from below
Hast made me rise?
Unwillingly and slow
From beds of everlasting snow!

See’st thou not how stiff
And wondrous old?
Far unfit to bear the bitter cold…

I can scarcely move
Or draw my breath
I can scarcely move
Or draw my breath

Let me, let me
Let me, let me
Freeze again…
Let me, let me
Freeze again to death!

เกร็ด: คลิปที่ผมนำมานี้คือการแสดงครั้งสุดท้ายของ Klaus Nomi ก่อนการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ (AIDS) เมื่อปี 1983 และการแต่งเป็นตัวตลก (แอบนึกถึง It ของ Stephen King) ยิ่งสร้างความหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง โคตรศิลปินโดยแท้!

À Nos Amours แปลว่า To Our Love นำเสนอเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบ รักครั้งแรก (First Love), รักข้ามคืน (One Night Stand), รักผลประโยชน์ (Friend with Benefit), เพศเดียวกัน (Homosexual), สลับเปลี่ยนคู่ขา (Swinging), ความรักระหว่างพี่-น้อง ภายในครอบครัว (Incestuous), การแต่งงาน (Marriage), คบชู้นอกใจ (Adultery), เลิกรา หย่าร้าง (Divorce) ฯลฯ

เหตุการณ์พฤษภาคม 1968 (Mai ’68) แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มประธานาธิบดี Charles de Gaulle แต่ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางสังคม (Social Revolution) ปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของชาวฝรั่งเศสในแง่มุมวิถีชีวิต จารีตประเพณี ค่านิยมทางสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพทางเพศ ซึ่งไม่แตกต่างจาก ‘Sexual Awakening’ การตื่นรู้เรื่องทางเพศของเด็กสาวอายุ 15 ใคร่รู้ใคร่สงสัยเกี่ยวกับความรัก เรียนรู้ประสบการณ์จากความสัมพันธ์/เพศสัมพันธ์ที่หลากหลาย

การปฏิวัติทางสังคมดังกล่าว ในแง่มุมคนฝั่งซ้าย/อนุรักษ์นิยม (Conservative) ย่อมไม่สามารถยินยอมรับ ‘เสรีภาพทางเพศ’ ที่เด็กสาว Suzanne แสดงออกมา (สังเกตว่า Mai ’68 มาจนถึงปีที่หนังฉาย 1983 ระยะเวลา 15 ปี พอดิบดี!) นำสู่ความขัดแย้งบังเกิดขึ้นภายในครอบครัวอย่างรุนแรง เกรี้ยวกราด ถึงระดับคลุ้มบ้าคลั่ง

สิ่งที่ต้องแลกมากกับเสรีภาพทางเพศ คือการสูญเสียความเข้าใจในรัก มองไม่เห็นคุณค่าความสำคัญ(ของแนวคิดรักเดียวใจเดียว แต่งงาน-ครองคู่-อยู่ร่วมตราบจนวันตาย) กลายสภาพเหมือนเกมการละเล่น เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวเลิก ไร้ความซื่อสัตย์มั่นคง เมื่อเกิดเรื่องขัดแย้งก็เลิกราหย่าร้าง แล้วมองหาใครคนใหม่ แสดงความเห็นแก่ตัวเอาใจ โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยปัจเจกบุคคล สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัณหา พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น!

แม้หนังจะไม่พยายามตัดสินพฤติกรรมของทั้ง Suzanne และการโต้ตอบกลับสมาชิกทั้งหลายในครอบครัว (บิดาทอดทิ้งขว้าง-มโนกรรม, มารดาขึ้นเสียงด่าทอ-วจีกรรม, พี่ชายใช้กำลังทำร้ายร่างกาย-กายกรรม) เพื่อให้ผู้ชมขบครุ่นคิด บังเกิดความเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวในมุมมองของตนเอง แต่การที่ผู้กำกับ Pialat รับบทตัวละครบิดา (Le Père) ค่อนข้างชัดเจนถึงทัศนคติส่วนบุคคล

ผู้กำกับ Pialat ขณะนั้นอายุ 57-58 ปี เริ่มมีผมหงอกขึ้นบนศีรษะ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวต่อการปฏิวัติทางสังคม (Mai ’68) ซึ่งเขาก็แสดงทัศนะผ่านตัวละครได้อย่างชัดเจน มิอาจอดรนทน จินตนาการบุตรสาวร่วมรักแฟนหนุ่มไม่ซ้ำหน้า ทางออกของเขาคือหลบหนีไปไกล ไม่อยากกลายเป็นแบบมารดาที่แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา

แต่การหวนกลับมาแบบไม่มีใครคาดคิดถึง ผมมองว่านั่นคือความต้องการเผชิญหน้าปัญหา เพราะเขาคงรับรู้ตัวว่าไม่มีทางหลบหนีไปจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าว แค่ว่าคนรุ่นเก่าต้องใช้เวลาในการยินยอมรับ ปรับตัว คลายความหมกมุ่นต่อทัศนคติที่เคยยึดติด และตนเองสามารถเลือกใช้ชีวิตตามวิถีคนรุ่นใหม่ เรียนรู้จักเสรีภาพทางเพศได้เช่นเดียวกัน!

แซว: ไม่ได้พูดเล่นไป! ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ Pialat เกี้ยวพาราสีทีมงานคนหนึ่ง Sylvie Danton เธออายุเพียง 22-23 ปี (ห่างกัน 35+ ปี!) ปรากฎว่าจีบติด เลยได้ครองคู่อยู่ร่วมจนวันตาย มีบุตรชายเป็นสักขีพยานรัก


หนังมียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 952,082 ใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ก็ดีเลิศ ได้รับผลโหวตอันดับหนึ่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจากนิตยสาร Cahiers du Cinéma (เคียงคู่กับ L’Argent (1983)) และคว้ามาสองรางวัล César Awards

  • Best Film **คว้ารางวัลเคียงคู่กับ Le Bal (1983)
  • Best Director
  • Most Promising Actress (Sandrine Bonnaire) **คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ Hi-Def สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel แต่ถ้าใครชอบเบื้องหลัง Blu-Ray ของ Master of Cinema เหมือนจะมี Special Feature ที่น่าสนใจมากกว่า

การรับชม À Nos Amours (1983) ทำให้มุมมองของผมต่อหนังโป๊ หนังอีโรติก เปลี่ยนแปลงไปมากๆ ตระหนักว่าไม่ใช่เนื้อหนังมังสา ท่วงท่าทางรักร่วมเพศที่ก่อให้เกิดอารมณ์ แต่คือการเล้าโลม/ลีลานำเสนอเรือนร่างของ Sandrine Bonnaire ค่อยๆเปิดเผย วับๆแวมๆ ช่างเต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ และการรับรู้เหตุผล ที่มาที่ไป ยิ่งทำให้เราเอ็นดู ตกหลุมรักใคร่ตัวละครมากๆขึ้นอีก … เป็นหนังแห่งการตื่นรู้ในแง่มุมความรัก ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยรับชมมา

เอาจริงๆหนังควรจัดเรต 18+ ด้วยซ้ำนะ แต่ผมขอลดอายุเหลือเพียง 15+ เพราะอยากแนะนำวัยรุ่นที่กำลังตื่นรู้เรื่องเพศ ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเปิดโลกทัศน์ที่สะท้อนค่านิยมโลกยุคสมัยใหม่ ส่วนผู้ใหญ่ควรเรียนรู้จะปรับตัว ยินยอมรับสภาพความจริง การปิดกั้น/ความรุนแรงไม่ช่วยอะไร ควรที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มอบคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และสวมถุงอนามัยป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

จัดเรต 15+ กับภาพโป๊เปลือย กระทำร้ายร่างกาย แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง รวมถึงแนวโน้ม Incest

คำโปรย | À Nos Amours คือการตื่นรู้ในแง่มุมความรักของ Sandrine Bonnaire และผู้กำกับ Maurice Pialat ร่านราคะที่สุดเท่าที่เคยรับชมมา
คุณภาพ | ตื่รู้
ส่วนตัว | ระริกระรี้

Irma Vep (1996)


Irma Vep (1996) French : Olivier Assayas ♥♥♥♥

จางม่านอวี้เล่นเป็นจางม่านอวี้ เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์สร้างใหม่ (Remake) จากเรื่อง Les Vampires (1915–1916) แต่ผลงานมาสเตอร์พีซอยู่แล้วจะรีเมคทำไม? แล้วไฉนต้องเป็นนักแสดงชาวจีน? พอผู้กำกับ (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) ตระหนักว่าเละแน่ๆ ก็เลยตัดต่อฟุตเทจให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde แม้งเสียเลย!

ผมลองค้นหา “Worst Remakes Of All Time” เรื่องที่ค้นพบก็มี Psycho, Ben-Hur, The Mummy, The Wicker Man ฯลฯ นี่ยังไม่รวมหนัง Superhero ที่นิยมชมชอบสร้างใหม่ (Remake) อย่างเช่น Batman, Superman, Spiderman ลุงเบนตายแล้วตายอีก, พ่อ-แม่ของบรูซ เวย์น ถูกยิงซ้ำแล้วซ้ำอีก ฯลฯ … ค่านิยมของวงการภาพยนตร์ยุคสมัยนี้ อะไรที่ทำเงินก็ต้องเข็นออกมาทุกๆ 2-3 ปี ปัดฝุ่นเปลี่ยนแปลงนิดๆหน่อยๆ ประเดี๋ยวมันก็กอบโกยทำกำไร

โดยเฉพาะชุดยาง Latex ได้แรงบันดาลใจจาก Catwoman (สวมใส่โดย Michelle Pfeiffer) ภาพยนตร์เรื่อง Batman Returns (1992) แต่ทีมงานดันไปหาซื้อยังร้าน Sex Shop มันคืออุปกรณ์รัดรูป ขับเน้นความเซ็กซี่(และอวัยวะเพศ) เห็นแล้วบังเกิดอารมณ์ … ปัจจุบันมันได้กลายเป็นเครื่องแบบ/สัญลักษณ์ของ Superhero เห็นแล้วตอบสนองตัณหาราคะของผู้ชม

ผมเลือกรับชม Irma Vep (1996) เพราะกระแสดีเหนือคาดของซีรีย์ Irma Vep (2022) นำแสดงโดย Alicia Vikander ควบคุมงานสร้างโดยผู้กำกับคนเดียวกัน Olivier Assayas นั่นแปลว่าต้นฉบับเรื่องนี้ต้องมีดีอะไรบางอย่าง เลยเสี่ยงค้นหามาดู ปรากฎว่าโคตรชอบเลยว่ะ! นี่เป็นหนังที่ชวนให้ขบครุ่นคิด ‘intelligent film’ ตั้งคำถามถึงทิศทางของวงการภาพยนตร์ ด้วยลักษณะเสียดสีล้อเลียน (Comedy Satire) ในกองถ่ายที่เต็มไปด้วยมลพิษ (Toxic) แต่จางม่านอวี้กลับเซ็กซี่ เจิดจรัสสุดๆ เมื่อต้องเข้าฉากกับ Jean-Pierre Léaud เหมือนการเผชิญหน้าระหว่างมหาตำนานจากสองฟากฝั่งโลก และตอนจบกลายเป็นหนัง Avant-Garde ทำเอาผมน้ำลายฟูมปาก แม้งคิดได้ไง!

ขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะวิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Assayas ต้องใช้การขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ‘intelligent film’ เว็บมะเขือเน่าให้ 93% แต่คะแนน IMDB ได้เพียง 7.0 (ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับหนัง 90% เรื่องอื่นๆ) กลุ่มคนที่ดูหนังเพียงความบันเทิงจะมีคำเรียก ‘elite film’ เหมาะสำหรับพวกปัญญาชน/ชั้นสูง ส่วนในมุมของผู้สร้างภาพยนตร์เรียกว่า Nombrilistic (หรือ Personal Film) สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนบุคคล

เกร็ด: Nombrilistic แปลตรงตัวว่า Navel-gazing (จับจ้องสะดือ) แต่ผู้กำกับ Assayas ให้ความหมายว่า self-referential, self-engrossed, inward-looking, and bounded by its own past tradition.


Olivier Assayas (เกิดปี 1955) นักเขียน/นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของผู้กำกับ Jacques Rémy อพยพจากตุรกี เชื้อสาย Jewish, ตั้งแต่เด็กชอบช่วยเหลืองานบิดาในกองถ่ายภาพยนตร์ พบเห็นช่วงเวลา Mai ’68 ทำให้ได้รับอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากๆ, โตขึ้นเข้าศึกษายัง Beaux-Arts de Paris ตามด้วยสาขาวรรณกรรมสมัยใหม่ Université Sorbonne-Nouvelle จบมาทำงานออกแบบกราฟฟิก (Graphic Designer) ตามด้วยนักเขียน/นักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma ค้นพบความหลงใหลในวงการภาพยนตร์เอเชีย, กำกับหนังสั้น Paris Awakens (1991) คว้ารางวัล Prix Jean Vigo, สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Cold Water (1994), Irma Vep (1996), Clean (2004), Summer Hours (2008), Personal Shopper (2016) ฯลฯ

ช่วงที่นำผลงาน Cold Water (1994) ฉายยังเทศกาลหนังเมือง Cannes (Un Certain Regard) ได้มีโอกาสพบเจอพูดคุยเพื่อนผู้กำกับ Claire Denis และ Atom Egoyan วางแผนร่วมกันจะสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวทดลอง เกี่ยวกับชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในกรุง Paris แต่โปรเจคดังกล่าวก็ไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ถึงอย่างนั้น Assayas ก็ครุ่นคิดต่อยอดจากโปรเจคดังกล่าว ทบทวนประสบการณ์ที่เคยออกเดินทางไปฮ่องกงและไต้หวัน (ช่วงที่เป็นนักวิจารณ์มีโอกาสเดินทางไปพบปะผู้กำกับ/นักแสดงชาวเอเชีย ตามเทศกาลหนังหลายครั้ง) ครุ่นคิดย้อนกลับตารปัตร ถ้าให้นักแสดงชาวจีนเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ยังฝรั่งเศส

และความสนใจเพิ่มเติมคือมุมมองต่อวงการภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ เชื่อว่านักแสดงจากเอเชียจักสามารถมาเล่นหนังยุโรป/Hollywood … vice versa … แต่ทิศทางของสตูดิโอกลับจะคับแคบลง สนเพียงผลงานที่สามารถสร้างกำไร ภาคต่อ (Sequel) สร้างใหม่ (Remake) เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น

เกร็ด: มีสองแหล่งข่าวบอกว่า Olivier Assayas พัฒนาบทหนังเพียง 9 วัน อีกแห่งอ้างว่านานถึง 10 สัปดาห์! แต่ผมว่าตัวเลขหลังน่าจะเป็นโปรดักชั่นทั้งหมดเสียมากกว่า (รวมทั้ง pre-production-post) เพราะช่วงการถ่ายทำยังแค่เดือนเดียวเอง!


จริงๆผมเคยเขียนถึงหนังเงียบรายเดือน (Serial Film) เรื่อง Les vampires (1915-16) โคตรผลงาน ‘magnum opus’ ของผู้กำกับ Louis Feuillade แต่ไม่ได้วิเคราะห์ลงรายละเอียด เลยจะขออธิบายเพิ่มเติมสักหน่อยก่อนแล้วกัน

LINK: https://raremeat.blog/les-vampires-1915-16/

Les vampires ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผีดิบ/ค้างคาว/แวมไพร์ แต่คือชื่อองค์กรอาชญากรชั่วร้ายโดยมี Irma Vep (รับบทโดย Musidora) คนรักของผู้นำกลุ่ม First Grand Vampire ก่อกระทำการปล้น/ฆ่า กำลังถูกไล่ล่าติดตามโดยยอดนักข่าว Philippe Guérande (เป็นประชดประชันการทำงานของตำรวจยุคสมัยนั้น) ความตั้งใจจริงๆเพียงแค่ต้องการนำมาเขียนข่าว แต่หลายครั้งเกือบๆเอาชีวิตไม่รอด ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็มีเหตุให้สามารถดิ้นรนหลบหนีได้สำเร็จ

แม้โปรดักชั่นหรือวิธีการนำเสนอของหนังจะไม่ได้มีความน่าตื่นตาตื่นใจ (ตามยุคสมัย) ตอนผมรับชมก็สัปหงกอยู่หลายรอบ (ขนาดเร่งความเร็วยังรู้สึกว่าหนังยาวนานมากๆ) แต่เรื่องราวมีการหักมุมที่คาดไม่ถึงอยู่หลายครั้ง แถมค่อยๆทวีความสนุกสนาน ลุ้นระทึก สลับซับซ้อนขึ้นตามลำดับ และที่กลายเป็น ‘Iconic’ คือภาพลักษณ์การแสดงของ Musidora ในบทบาท Irma Vep (สามารถสลับตัวอักษร ‘anagram’ ให้กลายเป็นคำว่า Vampire)

Musidora ชื่อจริง Jeanne Roques (1889-1957) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง Jacques Roques กับจิตรกร Adèle Clémence Porchez ริบอิทธิพลจากครอบครัว ชื่นชอบงานศิลปะ เขียนนวนิยาย กลายเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 15 ปี กระทั่งการมาถึงของวงการภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Les miseres de l’aiguille (1914) แล้วโด่งดังกลายเป็นตำนานจากการร่วมงานผู้กำกับ Louis Feuillade เรื่อง Les Vampires (1915-16) และ Judex (1916)

เกร็ด: Musidora มาจากภาษากรีก แปลว่า gift of the muses

ตัวละคร Irma Vep นอกจากรูปลักษณ์การแต่งกายที่กลายเป็น ‘Iconic’ ยังคือภาพจำของสาวสวยสังหาร ‘Femme Fatale’ หรือเรียกว่า Vamp ก็มาจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอาชญากร Les Vampires พร้อมก่ออาชญากร กระทำสิ่งชั่วร้าย คิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น โดยไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี สนเพียงตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล … นั่นไม่ใช่วิถีปฏิบัติของหญิงสาวยุคสมัยนั้น แต่โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นอิทธิพลต่อแนวคิด ‘เสรีภาพ’ ซึ่งสอดคล้องคำขวัญประเทศฝรั่งเศส (Liberté, Égalité, Fraternité) แสดงพฤติกรรมแบบนี้มันผิดตรงไหน?

René Vidal (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) ได้รับมอบหมายจากสตูดิโอให้กำกับภาพยนตร์สร้างใหม่จากเรื่อง Les Vampires (1915-16) ถึงไม่อยากตอบตกลงเพราะรู้ว่าล้มเหลวแน่ๆ แต่ก็ตั้งข้อแม้นักแสดงรับบทนำ Irma Vep ต้องคือจางม่านอวี้ (รับบทโดย จางม่านอวี้) นักแสดงสาวชาวจีน แต่เพราะอะไรกัน??

จางม่านอวี้เดินทางมาถึงฝรั่งเศสล่าช้าไปหลายวัน เพราะติดคิวถ่ายหนังที่ฮ่องกง แต่ก็พบเห็นความวุ่นๆวายๆ เต็มไปด้วยมลพิษ (Toxic) อาทิ คนดูแลเครื่องแต่งกาย Zoé (รับบทโดย Nathalie Richard) มักมีเรื่องโต้เถียงผู้จัดการกองถ่ายเป็นประจำ, ผู้กำกับ Vidal ก็มีความเรื่องมากเอาแต่ใจ พอพบเห็นฟุตเทจที่น่าผิดหวังก็แสดงอาการเกรี้ยวกราด หนีหายตัวจากกองถ่าย ฯลฯ

เมื่อสตูดิโอมอบหมายโปรเจคนี้ให้ผู้กำกับคนใหม่ José Mirano (รับบทโดย Lou Castel) ตั้งใจจะเปลี่ยนนักแสดงนำมาเป็น Laure (รับบทโดย Nathalie Boutefeu) นั่นทำให้จางม่านอวี้เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา (ทอดทิ้งกองถ่ายไปเช่นกัน) และเมื่อกำลังจะรับชมฟุตเทจที่ถ่ายทำ กลับพบว่าผู้กำกับ Vidal แอบตัดต่อใหม่ให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde ไม่รู้อนาคตโปรดักชั่นเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปเช่นไร


จางม่านอวี้, 張曼玉 (เกิดปี 1964) นักแสดงหญิงชาวจีน เกิดที่ฮ่องกง บิดา-มารดาเป็นคนเซี่ยงไฮ้ (คงอพยพมาตอนสงครามกลางเมืองจีน) ตอนเธออายุ 8 ขวบ ติดตามครอบครัวย้ายไป Bromley, London ประเทศอังกฤษ ก่อนหวนกลับมาฮ่องกงตอนอายุ 18 ตั้งใจแค่มาท่องเที่ยววันหยุด กลับเข้าตาแมวมอง ได้ทำงานโมเดลลิ่ง ตัดสินใจเข้าประกวด Miss Hong Kong คว้ารางวัลที่สองและขวัญใจช่างภาพ ติดตามด้วย Miss World สามารถผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ, เซ็นสัญญาสถานี TVB เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, แจ้งเกิดภาพยนตร์ Police Story (1985), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับหว่องกาไว As Tears Go By (1988), Days of Being Wild (1990), Ashes of Time (1994), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Full Moon in New York (1989), Center Stage (1991), New Dragon Gate Inn (1992), Irma Vep (1996), Comrades: Almost a Love Story (1996), Hero (2002), Clean (2004) ฯลฯ

แม้ผู้กำกับ Olivier Assayas จะครุ่นคิดพัฒนาบทโดยมีจางม่านอวี้มาเป็นนักแสดงนำ (จากความประทับใจ Ashes of Time (1994)) แต่ผมเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งบอกว่าพวกเขาไม่เคยพบเจอพูดคุยกันมาก่อน เพิ่งรับรู้จักกันจริงๆก็ตอนเริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำ (อีกบทสัมภาษณ์บอกว่าเคยดินเนอร์ร่วมกันครั้งหนึ่งผ่านการติดต่อของ Christopher Doyle) โดยไม่รู้ตัวสานสัมพันธ์กลายเป็นความรัก แต่งงานครองคู่อยู่ร่วมกันสามปีแล้วหย่าร้าง

จางม่านอวี้รับบทเป็นจางม่านอวี้ นักแสดงชาวจีนเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อร่วมงานถ่ายทำภาพยนตร์สร้างใหม่ Les Vampires แต่ผมมองว่าบทบาทนี้คือจางม่านอวี้ในมุมผู้กำกับ Assayas ซึ่งอาจได้แรงบันดาลใจจาก Center Stage (1991) ที่พบเห็นเบื้องหลัง บทสัมภาษณ์ ตัวตนแท้จริงที่ไม่ได้ปรุงปั้นแต่งประการใด มีความบริสุทธิ์ จริงใจ ร่าเริงสดใส มองโลกในแง่ดี และโดยไม่รู้ตัวสามารถสวมบทบาททั้งขณะเล่นเป็นตัวละคร และตัวละครของตัวละคร

แซว: หลายคนอาจงงๆกับที่ผมพยายามอธิบายว่า จางม่านอวี้เล่นเป็นจางม่านอวี้ ไม่ใช่จางม่านอวี้เล่นเป็นตัวตนเอง ถ้าเปรียบเทียบใกล้เคียงที่สุดก็ Nicolas Cage ในภาพยนตร์ The Unbearable Weight of Massive Talent (2022) แม้เขาเล่นเป็นตัวเอง แต่คือบทบาท ‘ความเป็น Nic Cage’ หาใช่ตัวตนแท้จริงของเขา

สำหรับบทบาท Irma Vep จากคำกล่าวอ้างของผู้กำกับ René Vidal (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) เหตุผลที่เลือกจางม่านอวี้เพราะความประทับใจจากภาพยนตร์ The Heroic Trio (1993) โดยเฉพาะทักษะต่อสู้ ลีลากังฟู ที่ดูเหมือนการเต้นลีลาศ เต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวนใจ … แต่เธอก็บอกว่านั่นคือการแสดงของสตั๊นแมน

แม้จางม่านอวี้จะถูกรายล้อมด้วยนักแสดงฝรั่งเศส พูดคุยสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง โดนจิกกัดด้วยโลกทัศน์ที่แตกต่าง แต่เธอยังคงมีความโดดเด่นเหมือนดั่งดอกฟ้าในมือมาร หรือเพชรที่อยู่ในโคลนตมก็ยังคงเปร่งประกายเจิดจรัส ไม่มีใครสามารถทำให้อับแสงลงได้

ส่วนไฮไลท์ต้องยกให้ขณะเธอสวมวิญญาณกลายเป็น Irma Vep ก็ไม่รู้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จู่ๆก้าวออกมาจากห้อง ทำการย่องเบา แอบเข้าห้องใครก็ไม่รู้ ลักขโมยเครื่องประดับแล้วกลับออกมา ตากฝนหัวเราะร่าอย่างบ้าคลั่ง … ล้อกับฉากที่เพิ่งถ่ายทำภาพยนตร์ Les Vampires ได้ละม้ายคล้ายยังกะแกะ!


Jean-Pierre Léaud (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บุตรของนักแสดง Jacqueline Pierreux ที่ไม่มีเวลาให้ลูกเท่าไหร่ เลยส่งไปโรงเรียนประจำยัง Pontigny ขณะนั้นอายุ 14 ขวบ พอได้ยินข่าวมีการคัดเลือกนักแสดงเด็ก ขึ้นรถไฟหนีมาทดสอบหน้ากล้อง โดดเด่นเข้าตา François Truffaut จนได้รับเลือกให้แสดงนำ The 400 Blows (1959) แล้วตัดสินใจเอาดีด้านนี้ ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ Masculin, féminin (1966), Last Tango in Paris (1972), Day of Night (1973), The Mother and the Whore (1973) ฯ

รับบท René Vidal ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ในอดีตเคยได้รับยกย่องว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ (New Wave) แต่ปัจจุบันสนเพียงสร้างหนังที่ตอบสนองความใคร่ส่วนบุคคล (Personal Film หรือที่ผกก. Assayas เรียกว่า Nombrilistic) คงกำลังอยู่ในช่วงอับจน เพราะไม่มีสตูดิโอไหนอยากให้ทุนสร้างภาพยนตร์ เลยตอบตกลงโปรเจคสร้างใหม่ Les Vampires ทั้งรู้ว่าคงออกมาเละเทะแน่ แต่ก็ยังแอบเผื่อใจไว้ … ผลลัพท์ทำให้เขาคลุ้มคลั่ง แทบควบคุมตนเองไม่อยู่ หลบหนีหายตัวออกจากกองถ่าย แล้วโต้ตอบสตูดิโอด้วยการแอบตัดต่อฟีล์มให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde

เพราะว่า Léaud เคยแสดงภาพยนตร์ Day of Night (1973) ของผู้กำกับ François Truffaut ที่มีเรื่องราววุ่นๆวายๆในกองถ่ายหนัง ละม้ายคล้าย Irma Vep (1996) จึงได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Assayas และถือเป็นบุคคลเชื่อมโยงถึงยุคสมัย French New Wave ได้อีกต่างหาก

ผมแอบรู้สึกว่า Léaud นำเอาประสบการณ์จากเคยร่วมงานบรรดาผู้กำกับ ‘autuer’ แห่งยุคสมัย French New Wave ผสมผสานคลุกเคล้าได้อย่างกลมกล่อมมากๆ โดยเฉพาะ Truffaut, Godard ที่ร่วมงานนับครั้งไม่ถ้วน เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนง ทำตัวหัวสูงส่ง พูดพร่ำถึงวิสัยทัศน์ที่คนส่วนใหญ่อาจฟังไม่ค่อยเข้าใจ (แต่จางม่านอวี้กลับรับรู้เรื่อง!) พอไม่ได้ดั่งใจก็แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา


ถ่ายภาพโดย Éric Gautier (เกิดปี 1961) สัญชาติฝรั่งเศส วัยเด็กมีความสนใจด้านดนตรี เล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 11 ปี ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นจึงเปลี่ยนมาเอาดีด้านภาพยนตร์ สำเร็จการศึกษาจาก École nationale supérieure Louis-Lumière (ENS Louis-Lumière) ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Alain Resnais เรื่อง Life Is a Bed of Roses (1982), ผลงานเด่นๆ อาทิ Irma Vep (1996), Those Who Love Me Can Take the Train (1998), Clean (2004), The Motorcycle Diaries (2004), Into the Wild (2007), Summer Hours (2008), Ash Is Purest White (2018), The Truth (2019), Stars at Noon (2022) ฯ

เพื่อนำเสนอความวุ่นๆวายๆในกองถ่ายภาพยนตร์ วิธีการก็คือใช้กล้อง Super 16 ที่มีขนาดเล็ก ราคา(ฟีล์ม)ถูกๆ สามารถเดินติดตามนักแสดงไปทุกหนแห่ง นั่นทำให้ได้ผลลัพท์คุณภาพต่ำ ภาพออกมาสั่นๆ บรรยากาศสมจริง แต่บางครั้งก็ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้า (เพราะกล้องมันสั่นเกิ้น), ยกเว้นเพียงฟุตเทจของหนังในหนัง ‘film within film’ ที่จะถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ 35mm เพื่อทำการเคารพคารวะต้นฉบับ Les Vampires (1915-16) … แนะนำให้หาฉบับบูรณะมารับชมนะครับ ได้รับการปรับปรุงคุณภาพจนเพียงพอรับได้

หลายครั้งมีลักษณะเป็น Long Take ทำเหมือนการบันทึกบทสัมภาษณ์/สารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่ในความจริงนั้นทีมนักแสดงต้องมีการซักซ้อม ตระเตรียมการ รวมถึงกำหนดทิศทางมุมกล้องที่เคลื่อนดำเนินไปอย่างแม่นเปะ! เพื่อให้สามารถถ่ายทำน้อยครั้งที่สุด … แต่ผมได้ยินว่าหนังไม่มีการถ่ายเทคสอง เป็นไปได้หรือนี่? คือถ้าเป็นจริงมันแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ‘professional’ ของกองถ่ายนี้มากๆ ตารปัตรตรงกันข้ามกับเรื่องราวในหนังโดยสิ้นเชิง!


ฉากแรกของหนังฟังจากคำสนทนาผ่านโทรศัพท์ ก็พอคาดเดาว่าโปรดิวเซอร์กำลังเรียกร้องส่วนแบ่ง เกี่ยวกับเงินๆทองๆ ต่อรองงบประมาณกับนายทุน แต่เห้ย! ต้องถือปืนข่มขู่กันเลยเหรอ แม้คาดเดาไม่ยากว่าต้องเป็นของปลอม อุปกรณ์ประกอบฉาก (prop) แต่การพูดว่า ‘no worry’ หรือ ‘no problem’ แล้วมือถือปืน มันสร้างความรู้สึกหายนะ หนังเรื่องนี้แม้งต้องชิบหายวายป่วนแน่ๆ

เสื้อผ้าถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนัง (ไม่ใช่แค่ชุดยางรัดรูป Latex เท่านั้น) ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตก็น่าจะพบเห็นรายละเอียด การอ้างอิง (ไข่อีสเตอร์) หรือแฝงนัยยะบางสิ่งอย่าง … แต่ผมจะไม่ลงรายละเอียดส่วนนี้มากนะครับ

เมื่อตอนจางม่านอวี้เดินทางมาถึงฝรั่งเศส เธอสวมชุดที่มีลวดลายธงชาติ นานาประเทศ เพื่อสื่อถึงความเป็นสากลของ Irma Vep ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าต้องคือชาวฝรั่งเศส เชื้อชาติพันธุ์ไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะตัวละครนี้แท้จริงคือสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’

เกร็ด: The Heroic Trio (1993) กำกับโดยตู้ฉีฟง เป็นการเผชิญหน้าระหว่างสามนักแสดงหญิงชื่อดัง(ที่จักกลายเป็นตำนาน)ของเอเชีย จางม่านอวี้, มิเชล โหยว และเหมยเยี่ยนฟาง

แค่ท่านั่งของ Jean-Pierre Léaud แม้งก็กินขาดแล้วนะ! ยกฝ่าเท้าขึ้นมาระดับเดียวกับใบหน้า สูงกว่าจางม่านอวี้ที่นั่งอยู่กับพื้นด้วยนะ แสดงถึงความไม่พึงพอใจต่อสิ่งที่ตนเองกระทำอยู่ตอนนั้น ทำไมสตูดิโอต้องให้เขาสร้างใหม่ (Remake) ภาพยนตร์ระดับมาสเตอร์พีซเรื่อง Les Vampires (1915-16) มันช่างไร้สาระ ไม่มีความจำเป็นเลยสักนิด!

แซว: ฉากนี้เหมือนจะล้อเหตุการณ์จริงที่ผู้กำกับ Assayas พบเจอจางม่านอวี้ครั้งแรกก็ในกองถ่ายเลยละ (แม้เขียนบทนี้โดยมีเธออยู่ในใจ แต่กลับไม่เคยพบเจอกันมาก่อน)

Les Vampires (1915-16) สามารถหารับชมได้ทาง Youtube คุณภาพ HD ได้รับการบูรณะแล้วด้วยนะ! ซึ่งตอนที่หนังนำบรรยายให้ผู้ชมขณะนี้คือ Episode 6: Hypnotic Eyes ระหว่างที่ Irma Vep ถูกลักพาตัวโดย Juan-José Moréno (อาชญากรคู่ปรับ Les Vampires) แล้วทำการสะกดจิต (ล้างสมอง) ให้เข่นฆาตกรรม First Grand Vampire ทรยศหักหลังชายคนรักของตนเอง

ชุดยาง Latex หาซื้อจากร้าน Sex Shop คือนัยยะที่หนังพยายามสื่อถึงจุดประสงค์แท้จริงของมัน! อุปกรณ์รัดชุด ขับเน้นเรือนร่าง ความเซ็กซี่(และอวัยวะเพศ) พบเห็นแล้วบังเกิดอารมณ์ ตอบสนองตัณหาราคะ ล้อเลียนบรรดาชุดของ Superhero ได้อย่างแสบกระสันต์

นักวิจารณ์สมัยนั้นมองชุดยาง Latex สื่อถึงความผิดแผกแตกต่าง ‘foreignness’ หรือคือจางม่านอวี้ที่เป็นชาวจีนรายล้อมรอบด้วยทีมงานฝรั่งเศส หลายครั้งได้รับการปฏิบัติราวกับไม่มีตัวตน สุญญากาศ มองด้วยสายตาอคติ ดูถูกเหยียดหยาม ยัยนี่เป็นใคร ทำไมถึงแสดงบทบาทที่ควรเป็นสัญลักษณ์ของชาวฝรั่งเศส

แซว: การที่ชุดยาง Latex มีร่องรอยฉีดขาดอยู่บ่อยครั้ง (ทำให้ Zoé มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งผู้จัดการกองถ่ายอยู่เป็นประจำ) ก็เพื่อสื่อถึงความรั่วๆในกองถ่าย เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านับครั้งไม่ถ้วน

ระหว่างกำลังถ่ายทำ ผู้กำกับ Vidal ยกขวดโค้กขึ้นดื่มด่ำ นี่เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ Masculin Féminin (1966) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard นำแสดงโดย Jean-Pierre Léaud ซึ่งมีกล่าวถึงวัยรุ่นยุคสมัยนั้น (Baby Boomer) มีคำเรียกว่า Children of Marx and Coca-Cola ฟังดูเหมือนการประชดประชัน เพราะ Marx คือแนวคิดการปกครอง, Coca-Cola คือสัญลักษณ์ระบอบทุนนิยม

Classe de lutte (1969) หนังสั้น กำกับโดย Chris Marker นำเสนอเรื่องราวของ Suzanne คนงานโรงงานนาฬิกา Yema Watch Factory ย่าน Besançon (ที่เต็มไปด้วยปัญหา) และเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงาน (ที่ผู้นำขาดความกระตือรือล้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น) … จะว่าไปหนังสั้นเรื่องนี้ ล้อกับสภาพการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี!

หลังเหตุการณ์วุ่นๆในค่ำคืนนี้ จางม่านอวี้แทนที่จะออกทางประตู เธอกลับปีนป่ายออกตรงหน้าต่าง เห็นสวมกางเกงรัดรูป มันช่างละม้ายคล้ายชุดยาง Latex บอกใบ้ถึงความผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นฉากต่อไป

เมื่อกลับมาที่โรงแรมกล้องเคลื่อนเลื่อนอย่างฉวัดเฉวียนรอบห้องพัก แสดงถึงอารมณ์กวัดแกว่ง กระวนกระวายของจางม่านอวี้ ไม่รู้ว่าเธอนอนละเมอ เสพยา หรือถูกวิญญาณของ Irma Vep เข้าสิงร่าง สวมใส่ชุดยาง Latex และขณะหนึ่งถือโปสเตอร์ Sonic Youth วงดนตรีที่กำลังบรรเลงบทเพลง Tunic (Song for Karen) ดังกระหึ่มขึ้นมา

เกร็ด: Tunic (Song for Karen) เป็นบทเพลงอุทิศให้กับ Karen Carpenter (1950-83) หนึ่งในสุดยอดนักร้องหญิงแห่งยุค 70s แต่เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเนื่องมาจากโรคคลั่งผอม/เบื่ออาหาร (Anorexia Nervosa)

เธอคือใครก็ไม่รู้ในสภาพเปลือยกาย กำลังคุยโทรศัพท์กับชายชู้รัก เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่เขาจักเดินทางมาหา แต่กลับเป็นว่าจางม่านอวี้ (อวตารของ Irma Vep) แอบย่องเบาเข้ามาในห้องพัก หลบซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความมืดมิด (โทนสีน้ำเงิน) เหลือบไปเห็นเครื่องประดับหรู มิอาจหักห้ามตนเอง ลักขโมยติดไม้ติดมือกลับไป

หญิงชาวอเมริกันผู้นี้ (รับบทโดย Arsinée Khanjian) ไม่เคยปรากฎตัวมาก่อนในหนัง และหลังจากนี้ก็สูญหายตัวไปไม่เคยพบเห็นอีกเลย (เรียกว่าเป็นคนนอก/แปลกหน้าอย่างแท้จริง!) แต่มีแนวโน้มว่าอาจขึ้นเครื่องบินกลับอเมริกาลำเดียวกับจางม่านอวี้ … ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ

แล้วทำไมต้องร่างกายเปลือยเปล่า? ก็เพื่อเป็นภาพสะท้อนตัวละครจางม่านอวี้ ขณะนี้กำลังสวมจิตวิญญาณ Irma Vep หรือคือร่างกาย<>จิตใจ, แสงสว่าง<>มืดมิด, สูญเสียชายคนรัก<>เครื่องประดับล้ำค่า

ระหว่างกำลังหลบหนี จางม่านอวี้ในคราบ Irma Vep เดินขึ้นมาบนชั้นดาดฟ้า (ล้อกับฉากที่กำลังจะถ่ายทำวันถัดไป ให้สตั๊นแมนเดินวนรอบหลังคาตึก) นอกจากฝนตกหนัก ให้สังเกตใบหน้าที่เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง ราวกับบังเกิดความครุ่นคิดขึ้นแย้งขึ้นภายใน

จางม่านอวี้ทิ้งเครื่องประดับไปทำไม?? นั่นเพราะหลังจากนี้เธอจักสูญเสียจิตวิญญาณของ Irma Vep ไม่ได้แสดงเป็นตัวละครนี้อีกต่อไป! เพราะวันถัดมาผู้กำกับ Vidal หายตัวไปจากกอง ทำให้ต้องยกเลิกแผนถ่ายทำทั้งหมด แล้วอีกวันถัดมาก็มีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับ และเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวนักแสดงนำอีกเช่นกัน

ฉากการให้สัมภาษณ์บนดาดฟ้าตึกแห่งหนึ่ง ขณะที่จางม่านอวี้พยายามมองโลกในแง่ดี ปั้นแต่งสร้างภาพ พูดจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพื่อให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงาน (ส่วนใหญ่จะนำเสนอผ่านฟุตเทจที่ถ่ายทำ เพื่อสื่อถึงการเล่นละคอนตบตา) ตรงกันข้ามกับพวกนักข่าวที่ไม่ต่างจากอีแร้งกา พยายามยัดเยียด แสดงความคิดเห็นโน่นนี่นั่น (ใครสัมภาษณ์ใครกันเนี่ย?) นี่น่าจะเป็นการเสียดสีล้อเลียนวงการสื่อในฝรั่งเศส เลื่องลือชาในการจิกกัด ใช้คำพูดรุนแรง เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่สนหัวใครทั้งนั้น!

แม้ท่อนบนสวมชุดยาง Latex แต่ครึ่งล่างใส่กางเกงยีนส์ นั่นทำให้ขณะนี้จางม่านอวี้ยังคงเป็นจางม่านอวี้ แม้ซักซ้อมการแสดงเพื่อเตรียมตัวถ่ายทำ แต่เธอไม่ได้สวมวิญญาณเป็น Irma Vep อีกต่อไป … นี่คือครั้งสุดท้ายที่เห็นเธอสวมใส่ชุดยาง Latex ด้วยนะครับ

การแสดงที่จางม่านอวี้กำลังซักซ้อม คือแสดงสีหน้าหวาดหวั่นสั่นกลัวต่อ Moréno หลังจากถูกสะกดจิต … นี่สามารถสะท้อนความรู้สึกของตัวละครหลังจากการสัมภาษณ์ หรือจะมองว่าหลังเหตุการณ์เมื่อคืนที่ราวกับถูกสะกดจิตก็ได้เช่นกัน

สำหรับคนที่จะมาทำงานแทนที่ผู้กำกับ Vidal ก็คือ José Mirano รับบทโดย Lou Castel นักแสดงสัญชาติ Swedish ที่มาโด่งดังในอิตาลี ได้รับเชิญจากผู้กำกับ Assayas เพราะเคยเล่นบทบาทคล้ายๆกันนี้จาก Beware of a Holy Whore (1971) กำกับโดย Rainer Werner Fassbinder (ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความป่วนๆในกองถ่ายภาพยนตร์)

หลังจากผู้กำกับ Mirano เกลี้ยกล่อม Laure ให้รับบทนำ Irma Vep แทนจางม่านอวี้ เขาก็กลับห้องไปรับชม Les Vampires (1915-16) ถ้าผมจะไม่ผิดน่าจะอยู่ใน Episode 3: The Red Codebook มีฉากที่เห็นตัวอักษร Irma Vep ขยับเคลื่อนไหวกลายเป็น Vampire

Zoé ผู้ดูแลเสื้อผ้าให้นักแสดง มีรสนิยมรักร่วมเพศ แอบชื่นชอบจางม่านอวี้ตั้งแต่แรกพบเจอ เพื่อแสดงถึงความเป็น Queer ของตัวละคร Irma Vep (จะว่าไปจางม่านอวี้ ก็เป็นที่ชื่นชอบของทั้งบุรุษและสตรี) พยายามชักชวนเธอให้มาร่วมเล่นยา พามางานเลี้ยงปาร์ตี้ แม้ได้รับการตอบปัดปฏิเสธ แต่เธอก็ปลดปล่อยตัวกายใจ ให้ล่องลอยไปกับแสงสี ความคลุ้มบ้าคลั่งของโลกใบนี้ … จะมองว่าเป็นการนำเข้าสู่วิถี Avant-Garde ในชีวิตจริง (ล้อกับหนัง Avant-Garde ที่กำลังจะขึ้นฉากถัดไป)

เมื่อปี 1951, ผู้กำกับชาวโรมาเนีย Isidore Isou ได้นำโคตรผลงาน Traité de Bave et d’Éternité ชื่อภาษาอังกฤษ Venom and Eternity (1951) แนว Avant-Garde เดินทางสู่เทศกาลหนังเมือง Cannes โดยไม่ได้รับเชิญ พยายามล็อบบี้ผู้จัดงานจนสามารถเข้าฉาย Vox Theater แม้ได้รับเสียงโห่โล่ ดูไม่เข้าใจ ฟีล์มหนังเต็มไปด้วยเส้นสาย รอยขีดข่วน เหลี่ยมๆกลมๆ ภาพนามธรรม (Abstract) และเสียงอะไรก็ไม่รู้บาดแก้วหู แต่ผู้กำกับ Jean Cocteau กลับมอบรางวัล Prix de spectateurs d’avant-garde

LINK: https://www.youtube.com/watch?v=Vq1xjYASQBQ

ลิงค์ที่ผมนำมาแม้เพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ Venom and Eternity (1951) ก็พอให้ดูออกว่าคือแรงดาลใจผู้กำกับ Assayas สรรค์สร้างหนัง Avant-Garde ช่วงท้ายของ Irma Vep (1996) ด้วยการใส่เส้นๆสายๆ ลวดลายนามธรรม พร้อมผสมเสียง Sound Effect ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามักทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับดวงตาและปาก แลดูเหมือนการเซนเซอร์ พยายามปกปิดกั้น ไม่ยินยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้น

แง่มุมหนึ่งเราอาจมองว่านี่คือความเห็นแก่ตัว/การโต้ตอบของผู้กำกับ Vidal ไม่ยินยอมรับใบสั่งของสตูดิโอ เลยทำลายฟีล์มต้นฉบับให้เสียหายย่อยยับเยิน, ขณะเดียวกันเราสามารถมองถึงการพยายามใส่จิตวิญญาณให้ภาพยนตร์ หรือคือการสร้างนัยยะความหมาย(เชิงนามธรรม)ให้ฟุตเทจเหล่านี้ ราวกับทำให้พวกมันมีชีวิตชีวาขึ้นมา

ตัดต่อโดย Luc Barnier (1954-2012) ขาประจำผู้กำกับ Olivier Assayas ตั้งแต่หนังสั้น Laissé inachevé à Tokyo (1982) จนกระทั่งผลงานสุดท้าย Something in the Air (2012)

การดำเนินเรื่องของหนังถือว่ามีจางม่านอวี้คือจุดศูนย์กลาง เริ่มตั้งเดินทางมาถึงสตูดิโอ (ล่าช้ากว่ากำหนดประมาณสัปดาห์) จากนั้นตรงไปลองชุด (ที่ Sex Shop) พบเจอผู้กำกับ René Vidal วันถัดมาก็เริ่มเข้าฉากถ่ายทำ ค่ำคืนนั้นเลี้ยงฉลอง(ความล้มเหลว) นำสู่ช่วงเวลาแห่งความบ้าคลั่ง อีกวันถัดมากองล่ม สตูดิโอสั่งเปลี่ยนผู้กำกับ ผู้กำกับสั่งเปลี่ยนนักแสดง แล้วจางม่านอวี้ก็เดินทางจากไป … เรื่องราวดำเนินผ่านไปประมาณ 3-4 วันเองกระมัง!

ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอแบ่งเรื่องราวออกเป็นวันๆ ตามระยะเวลาที่จางม่านอวี้อาศัย/ถ่ายทำภาพยนตร์ยังฝรั่งเศส

  • วันแรก, เดินทางมาถึง
    • จางม่านอวี้เดินทางมาถึงสตูดิโอภาพยนตร์
    • พบเจอผู้กำกับ René Vidal ให้คำอธิบายเหตุผลที่เลือกเธอมารับบท Irma Vep
    • จากนั้นเดินทางไปลองชุดยาง Latex ยัง Sex Shop แห่งหนึ่ง
  • วันที่สอง, เริ่มต้นถ่ายทำภาพยนตร์
    • ถ่ายทำซีนเดินซ้ำๆหลายสิบเทค จนทำให้แผนการงานล่าช้า
    • ยามค่ำรับชมฟุตเทจที่ถ่ายทำ ผู้กำกับ Vidal เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง
    • จางม่านอวี้ไม่มีใครพาไปส่งโรงแรม เลยไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ของ Zoé
    • ยังไม่ทันเข้านอน จางม่านอวี้ถูกเรียกตัวไปพบผู้กำกับ Vidal ที่เพิ่งจะสงบสติอารมณ์จากความเกรี้ยวกราด
    • และเมื่อกลับมายังโรงแรม สวมวิญญาณกลายเป็น Irma Vep ย่องเบาเข้าไปลักขโมยเครื่องประดับ
  • วันที่สาม, จุดจบของกองถ่าย
    • จางม่านอวี้ตื่นสายเพราะหลับลึก (อ้างว่าทานยานอนหลับ แต่อาจจะเหน็ดเหนื่อยกับเรื่องเมื่อคืน)
    • กองสองกำลังถ่ายทำสตั๊นแมนปีนป่ายหลังคา แต่ผู้กำกับ Vidal สูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
    • จางม่านอวี้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวชาวฝรั่งเศส
    • ระหว่างกำลังซักซ้อมเข้าฉากกับเพื่อนนักแสดง ผู้จัดการกองสั่งล้มเลิกแผนงาน (เพราะไม่สามารถติดตามหาตัวผู้กำกับ Vidal)
    • José Mirano ได้รับมอบหมายให้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้แทน และพยายามล็อบบี้เปลี่ยนตัวนักแสดง
    • ค่ำคืนนั้น Zoé ชักชวนจางม่านอวี้ไปเที่ยวผับแห่งหนึ่ง แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
  • วันที่สี่, เดินทางจากไป
    • วันถัดมาจางม่านอวี้ได้เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ทิ้งกองถ่ายไปเรียบร้อยแล้ว
    • ผู้กำกับคนใหม่เดินทางมายังสตูดิโอ รับชมฟุตเทจที่ถ่ายทำ กลับพบเห็นว่าผู้กำกับ Vidal แอบมาตัดต่อให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde ไปเรียบร้อยแล้ว

หนังถือว่าไม่มีเพลงประกอบ (Soundtrack) แต่จะได้ยินในลักษณะ ‘diegetic music’ ผ่านแหล่งกำเนิดเสียง โทรทัศน์ เครื่องเล่นสเตอริโอ ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ และผับบาร์ตอนท้ายเรื่อง

Tunic (Song for Karen) บทเพลงสไตล์ post-punk ของวงดนตรี Sonic Youth ประกอบอัลบัม Goo (1990), ดังขึ้นหลังจากจางม่านอวี้กลับถึงโรงแรม แล้วเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ จู่ๆใส่ชุดยาง Latex สวมจิตวิญญาณกลายเป็น Irma Vep จากนั้นก้าวออกจากห้อง ย่องเบาเข้าไปโจรกรรมเครื่องประดับ

บางคนมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือ ‘on the whim’, ถูกวิญญาณ Irma Vep เข้าสิง, บ้างว่างนอนละเมอ, บ้างว่าพลั้งเผลอเสพยา ฯลฯ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะขบครุ่นคิดจินตนาการ แต่ท่วงทำนองบทเพลงนี้มีหน้าที่เสริมสร้างความคลุ้มบ้าคลั่ง การแสดง-ความเพ้อฝัน-ซ้อนทับชีวิตจริง (ในภาพยนตร์)

Dreaming, dreaming of a girl like me
Hey what are you waiting for, feeding, feeding me
I feel like I’m disappearing, getting smaller every day
But I look in the mirror, I’m bigger in every way

She said,
You aren’t never going anywhere
You aren’t never going anywhere
I ain’t never going anywhere
I ain’t never going anywhere

ผมพยายามค้นหาบทเพลงหลังจากจางม่านอวี้บอกร่ำลา Zoé เมื่อมาถึงผับแห่งหนึ่ง น่าเสียดายไม่พบเจอ แต่เหมือนว่าจะเป็นการมิกซ์เสียง (Sound Mixed) ด้วยการผสมอะไรๆหลายๆอย่าง คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เพื่อมอบสัมผัสแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง แบบเดียวกับหนัง Avant-Garde (ที่ก็มีเสียง Sound Effect ทำให้เข้ากับ Special Effect บนแผ่นฟีล์ม) ซึ่งในเครดิตขึ้นว่าเป็นผลงานของ Philippe Richard ปกติจะดูแลงานฝ่าย Sound Engineer

สำหรับบทเพลงตอนจบชื่อว่า Bonnie and Clyde แต่งโดย Serge Gainsbourg ตั้งแต่ปี 1968 เหมือนเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967) ฉบับที่นำเข้าฉายในฝรั่งเศส ขับร้องโดย Gainsbourg คู่กับ Brigitte Bardot

ส่วนฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Luna ร่วมกับ Lætitia Sadier of Stereolab ประกอบอัลบัม Penthouse (1995) ซึ่งจะมีสองเวอร์ชั่นช้า-เร็ว Bonnie Parker version (ช้า) และ Clyde Barrow version (เร็ว)

ผมขี้เกียจหาคำร้อง/คำแปล แต่สำหรับคนเคยรับชมภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967) ก็น่าจะคาดเดาไม่ยากหรอกว่าเนื้อหาจะเกี่ยวกับอะไร ซึ่งเรื่องราวการผจญภัยของ Bonnie and Clyde ก็สอดคล้องกับ 3-4 วันอันบ้าคลั่ง ที่จางม่านอวี้ได้เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ยังฝรั่งเศส

เมื่อครั้งผู้กำกับ Assayas ยังทำงานอยู่ Cahiers du cinéma ช่วงทศวรรษ 80s เห็นว่าเป็นบุคคลแรกๆที่ทำการบุกเบิก เขียนบทความเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์จีน ค้นพบผู้กำกับดังๆอย่างหว่องกาไว, ฉีเคอะ, ตู้ฉีฟง และกวนจินผิง จนได้รับโอกาสออกเดินทางไปร่วมเทศกาลหนังฮ่องกง, ไต้หวัน จุดกระแสชาวตะวันตกให้เริ่มสนใจผลงานฟากฝั่งเอเชียตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามองว่าในอีกอนาคตอันใกล้ (นับจากช่วงทศวรรษ 90s) โลกใบนี้จะคับแคบลง มีการผสมผสานแลกเปลี่ยนผู้กำกับ นักแสดง ทีมงานภาพยนตร์ ก่อเกิดโปรดักชั่นร่วมทุนระดับทวีป หรือชาวเอเชียได้รับโอกาสเล่นหนังยุโรป/Hollywood … vice versa …

จางม่านอวี้ เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่(เป็นชาวจีนคนแรก)คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress ภาพยนตร์เรื่อง Center Stage (1991) นั่นทำให้ผู้ชมชาวตะวันตกเริ่มขวนขวายหาผลงานอื่นๆของเธอมารับชม แต่ยุคสมัยนั้นยังมีแค่ VHS, LaserDisc ถือเป็นของหายากมากๆ เลยไม่น่าแปลกใจที่โลกทัศน์คนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์ ล้วนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการรับบทบาท Irma Vep

Irma Vep ในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ René Vidal (และผกก. Assayas) ไม่ได้จำกัดแค่เพียงสัญลักษณ์ประเทศฝรั่งเศส แต่คือแนวคิด ‘เสรีภาพ’ ใครไหนก็สามารถรับบทบาท Musidora, จางม่านอวี้, Alicia Vikander ฯลฯ จะชาวยุโรป เอเชีย อเมริกัน, คนขาว-คนดำ, อนาคตอาจจะไม่มีแบ่งแยกชาย-หญิง ไร้พรมแดนใดๆกีดขวางกั้น

แต่สิ่งที่จะแลกมากซึ่ง ‘เสรีภาพ’ ดังกล่าวนั้น คือโลกทัศน์ที่คับแคบลงของบรรดาสตูดิโอผู้สร้าง คำพยากรณ์ที่ตรงเผงของผู้กำกับ Assayas คือโลกอนาคตภาพยนตร์จะเต็มไปด้วยภาคต่อ (Sequel) สร้างใหม่ (Remake) อะไรที่มันซ้ำๆซากๆ เวียนวนสูตรสำเร็จเดิมๆ แต่สามารถทำกำไรกลับคืนมามหาศาล

โดยเฉพาะชุดยาง Latex ทั้งๆเคยเป็นเพียงของเล่นในร้าน Sex Shop เพื่อสร้างความยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ ขายเรือนร่างอันเซ็กซี่ของผู้สวมใส่ แต่ยุคสมัยนี้มันกลายเป็นเครื่องแบบสากล สัญลักษณ์ภาพยนตร์แนวเหนือมนุษย์ (Superhero) เติมเต็มตัณหาราคะฝูงชนที่ได้รับชมจักรวาลสวนสนุกเหล่านั้น

ส่วนบรรดาผู้กำกับที่ยังมองว่าภาพยนตร์คืองานศิลปะ มีความเป็นส่วนตัว คงก้าวเข้าสู่ยุคสมัย Avant-Garde ทำสิ่งที่มันสุดโต่ง บ้าบอคอแตก ผิดแผกแปลกประหลาด นามธรรมจับต้องไม่ได้ เรียกว่าต้องปฏิวัติวงการไปเลย! … หลายคนอาจครุ่นคิดว่าโลกปัจจุบันไม่ได้ก้าวไปทิศทางนั้น แต่ในฝรั่งเศสมีกลุ่มการเคลื่อนไหวชื่อว่า New French Extremity สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่มันสุดโต่งจริงๆ ผู้กำกับ Assayas ก็เคยทำเรื่อง Demonlover (2002)

แซว: เผื่อใครจินตนาการไม่ออกว่า New French Extremity สุดโต่งขนาดไหน! ลองไปหาหนัง Palme d’Or เรื่อง Titane (2021) ก็น่าจะจัดเข้าพวกนี้ได้เหมือนกัน

สรุปแล้ว Irma Vep (1996) คือภาพยนตร์ที่ทำการล้อเลียนเสียดสีอนาคตวงการภาพยนตร์ พยากรณ์หลายๆสิ่งอย่าง แต่คาดไม่ถึงว่าแทบทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจริง เป็นความตลกร้ายที่ขำไม่ออกสักเท่าไหร่ … แสดงถึงอัจฉริยภาพของผู้กำกับ Assayas หลายคนอาจไม่ชอบ เข้าไม่ถึง แต่ต้องบอกเลยว่ามีความลุ่มลึกซึ้ง ทำเอาผมอยากหาซีรีย์ Irma Vep (2022) มารับชมจริงๆนะ


หนังเข้าฉายสายการประกวดรอง Un Certain Regard เทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม แม้ไม่ได้รับรางวัลอะไร แต่ก็กลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้ผู้กำกับ Olivier Assayas รู้จักในระดับนานาชาติ

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ 2K ระบบเสียง 5.1ch DTS-HD ตรวจสอบอนุมัติโดยผู้กำกับ Assayas ปัจจุบันสามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel พร้อมบทสัมภาษณ์ เบื้องหลังถ่ายทำ (รวมถึงต้นฉบับซีรีย์หนังเงียบ Les Vampires ด้วยนะครับ)

Irma Vep (1996) คือตัวอย่างของนักวิจารณ์ที่ถ้าได้รับโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์ ก็มักนำสิ่งค้างๆคาๆใจ(ระหว่างเขียนบทความวิจารณ์) ชักชวนให้ขบครุ่นคิด พยากรณ์ทิศทางอนาคต(ของวงการภาพยนตร์) แน่นอนว่าผู้ชมสมัยนั้นย่อมมองไม่เห็นภาพสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันนี้แม้งโคตรชัดเจนโดยเฉพาะ Superhero สวมชุดยาง Latex เกลื่อนเมือง! เรียกว่าหนังเรื่องนี้เหนือกาลเวลาไปเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดๆสำหรับ Irma Vep (1996) ก็คือความเจิดจรัสของจางม่านอวี้ แม้ในกองถ่ายเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มลพิษร้ายสักเพียงไหน ยังสามารถมองโลกในแง่ดี ไม่ปิดกั้นตนเอง ให้โอกาสกับทุกสิ่งอย่างในชีวิต และเมื่อสวมชุดยางก็กลายร่างเป็น Irma Vep ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ฉกชิงหัวใจผู้ชมไปครอบครองโดยทันที

แนะนำคอหนังตลกเสียดสี (Comedy Satire) แนว Avant-Garde ในลักษณะหนังซ้อนหนัง (film within film), เด็กถาปัตย์ ทำงานเบื้องหลัง/กองถ่ายภาพยนตร์, ชื่นชอบการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ (intelligent film), แฟนคลับจางม่านอวี้ และ Jean-Pierre Léaud ไม่ควรพลาดเลยนะ!

ใครชื่นชอบหนังแนว ‘film within film’ ในกองถ่ายป่วนๆ แนะนำเพิ่มเติมกับ Beware of a Holy Whore (1971), Day for Night (1973), Noises Off… (1992), Living in Oblivion (1995), Boogie Nights (1997), One Cut of the Dead (2017) ฯ

จัดเรต 13+ กับความวุ่นวายในกองถ่ายภาพยนตร์ เต็มไปด้วยมลพิษ (Toxic) ไม่ใช่ทุกคนจะอดรนทนไหว

คำโปรย | Irma Vep ฉบับของ Olivier Assayas ตั้งคำถามถึงอนาคตวงการภาพยนตร์(ฝรั่งเศส)ยุคสมัยนิยมสร้างใหม่ได้อย่างถึงพริกถึงขิง
คุณภาพ | ถึริถึขิ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

A Simple Life (2011)


A Simple Life (2011) Hong Kong : Ann Hui ♥♥♥♥

ชีวิตมันไม่ง่ายนะครับ! น่าจะเพราะพานผ่านอะไรๆมามาก ผู้สูงวัยจึงเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ มองโลกในแง่ร้าย หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับหลายๆสิ่งอย่าง หรือคือฉันยังไม่อยากตาย แต่ถ้าเราสามารถปล่อยละวาง ยินยอมรับสภาพความจริง ใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างคุ้มค่า เมื่อนั่นบั้นปลายชีวิตถึงพบความเรียบง่าย พร้อมจากโลกนี้ไปสู่สุขคติ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผู้กำกับสวีอันฮัว ตั้งใจจะสรรค์สร้าง A Simple Life (2011) เป็นผลงานเรื่องสุดท้ายแล้วรีไทร์จากวงการภาพยนตร์ (ขณะนั้นเธออายุ 63-64 ปี) แต่เพราะความสำเร็จระดับนานาชาติ บ้างยกย่องว่าคืออีกผลงานมาสเตอร์พีซ จึงยังสามารถใช้ชีวิตบั้นปลาย ทำในสิ่งที่หัวใจยังคงเรียกร้องหา (คือได้รับโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์อีกหลายๆเรื่องต่อจากนี้)

แต่เรายังต้องถือว่า A Simple Life (2011) คือพินัยกรรมของผู้กำกับสวีอันฮัว (เพราะเธอตั้งใจไว้เช่นนั้น) นำเสนอช่วงเวลาบั้นปลายของตนเอง/สาวใช้สูงวัย เมื่อล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก แค่ก้าวเดินยังยุ่งยากลำบาก พอไม่สามารถทำหลายๆสิ่งอย่างที่เคยทำก็เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งเรื่องราวของหนังก็เต็มไปด้วยสิ่งค้างๆคาๆมากมาย (หลายคนอาจรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แต่นั่นคือไดเรคชั่นของหนัง เพื่อให้รับรู้ถึงการเป็นผู้สูงวัยก็ได้แค่นี้แหละ) ถึงเวลาต้องเรียนรู้จักการปล่อยละวาง ยินยอมรับสภาพความจริง คลายความหมกมุ่นยึดติด ใช้ชีวิตที่หลงเหลืออย่างคุ้มค่า ตายไปเมื่อไหรจักไม่ให้สูญเสียใจเอาภายหลัง

ผมไม่รู้สึกว่าหนังพยายามบีบเค้นคั้นอารมณ์ บังคับน้ำตาผู้ชมไหลหลั่ง (Tearjearker) แต่มันก็อาจแล้วแต่บุคคลนะครับ ใครเซนซิทีฟก็น่าจะซึมๆอยู่บ้าง นั่นเพราะผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้ต้องการสร้างความฟูมฟาย จะเป็นจะตาย แม้ฉากที่ตัวละครแสดงอาการเจ็บปวดยังแทบไม่ปรากฎให้เห็น พยายามสร้างภาพสุดท้าย(ของตนเอง)ให้เข็มแข็งแกร่ง เมื่อฉันจากไปก็ไม่ต้องเศร้าโศกใจ เพราะนั่นคือสัจธรรมแห่งชีวิต


สวีอันฮัว, 許鞍華 (เกิดปี 1947) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่อันชาน มณฑลเหลียวหนิง, บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น เมื่ออายุ 5 ขวบ ครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่มาเก๊า ค้นพบความชื่นชอบด้านวรรณกรรม บทกวี สมัยเรียนเข้าร่วมชมรมการแสดง สำเร็จการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณกรรม University of Hong Kong, จากนั้นไปเรียนต่อสาขาภาพยนตร์ London Film School

เมื่อเดินทางกลับฮ่องกง มีโอกาสทำงานผู้ช่วยผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) จากนั้นเข้าร่วม Television Broadcasts Limited (TVB) กลายเป็นนักเขียนบท กำกับสารคดีฉายโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Secret (1979), โด่งดังระดับนานาชาติจาก Boat People (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Song of the Exile (1990), Summer Snow (1995), The Way We Are (2008), A Simple Life (2012) … ทั้งสี่เรื่องนี้ล้วนเกี่ยวกับผู้สูงวัย

สำหรับ A Simple Life (2012) เริ่มต้นจากโปรดิวเซอร์ Roger Lee, 李恩霖 นำเรื่องราวจริงๆของตนเองกับหญิงรับใช้ จงชุนเตา, 鍾春桃 พื้นเพเป็นคนไถชาน มณฑลกวางตุ้ง ได้รับการอุปถัมถ์จากคุณยาย (ของโปรดิวเซอร์ Roger Lee) กลายเป็นคนรับใช้ตั้งแต่อายุ 13 ปี ติดตามมาอาศัยอยู่ด้วยกันที่ฮ่องกง รวมระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี! จนกระทั่งล้มป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2003 และเสียชีวิตเมื่อปี 2007

Because I am also getting old, 64 years old, single, I began to worry about loneliness, and I was afraid that I would be too old.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ด้วยความชื่นชอบเรื่องราวดังกล่าวมากๆ ผู้กำกับสวีอันฮัวจึงโน้มน้าวให้โปรดิวเซอร์ Roger Lee พัฒนาโครงเรื่องราวคร่าวๆ (ภายหลังนำมาเรียบเรียงทำเป็นหนังสือชีวประวัติ 桃姐與我 (2012) แปลว่า Sister Tao and Me) แล้วส่งต่อให้นักเขียน Susan Chan, 陳淑賢 (ที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้นนานมาแล้ว The Romance of Book and Sword (1987)) ดัดแปลงสู่บทภาพยนตร์

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 桃姐 อ่านว่าเตาเจี่ย โดยคำว่า 桃 แปลว่าลูกท้อ (Peach), 姐 คือพี่สาว สามารถแปลตรงๆว่า Sister Peach คำเรียกของ จงชุนเตา, 鍾春桃

แม้โปรเจคนี้ได้รับการพัฒนามาสักพักใหญ่ๆ แต่กลับไม่ใครไหนยินยอมออกทุนสร้าง จนสร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจให้ผู้กำกับสวีอันฮัว (คงคือเหตุผลหนึ่งเลยกระมัง ตั้งใจจะรีไทร์หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้) กระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับหลิวเต๋อหัว สอบถามตรงๆเลยว่าช่วยเหลือเรื่องการเงินได้หรือเปล่า ผลลัพท์ยินยอมควักกระเป๋าจ่ายล่วงหน้า ¥30 ล้านหยวน (แต่ภายหลังก็ได้ Bona Film Group เข้ามาร่วมสมทบทุน)

I feel so sad. Sometimes when you make a movie, they say, aren’t you afraid to lose money? It’s not the best-selling, it’s not the most famous, but sometimes you’re moved, maybe it’s the action, maybe it’s the script, and the many little drops add together to make me do it. I work hard to make money every day, so I won’t be stupid.

หลิวเต๋อหัว อธิบายเหตุผลที่ยอมควักเนื้อเพื่อโอกาสในการสรรค์สร้าง A Simple Life (2011)

เรื่องราวของ อาเตา (รับบทโดย เยี่ยเต๋อเสียน) หญิงรับใช้ที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่ในบ้านตระกูลเหลียง แต่หนึ่งเดียวที่เธอผูกพันมากที่สุดคือ โรเจอร์ (รับบทโดย หลิวเต๋อหัว) แม้คนอื่นๆจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ แต่เขายังเลือกอยู่อาศัย-ทำงานในฮ่องกง แต่เมื่อเธอจำต้องเกษียณตัวเอง ล้มป่วยกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก เพราะไม่ต้องการเป็นภาระใครอื่น จึงมุ่งมั่นจะอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว โดยหลานชายบุญธรรม(โรเจอร์)คอยแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน ให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถเอื้ออำนวย จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต


เยี่ยเต๋อเสียน, 葉德嫻 (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง บิดาเป็นผู้จัดการโรงแรม เติบโตในอพาร์ทเม้นท์ย่านจิมซาจุ่ย หลังเรียนจบทำงานช่างแต่งหน้า พนักงานต้อนรับสายการบิน เคยครุ่นคิดสมัครแอร์โฮสเตสแต่ว่ายน้ำไม่เป็น ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนนักดนตรีกลายเป็นนักร้องประจำวง มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ จับพลัดจับพลูทำอัลบัม แสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ อาทิ Cream Soda and Milk (1981), Dances with Dragon (1991) ฯลฯ ร่วมงานบ่อยครั้งกับหลิวเต๋อหัว ตั้งแต่ The Unwritten Law (1985) ล่าสุดก็เมื่อตอน Prince Charming (1999) แล้วรีไทร์จากวงการภาพยนตร์ไป 12 ปี ก่อนหวนกลับมาแสดงผลงานชิ้นเอก A Simple Life (2011) [นับรวมทั้งหมดก็ 10 ครั้ง!]

รับบทอาเตา หรือจงชุนเตา, 鍾春桃 แม่บ้านตระกูลเหลียง ทำงานรับใช้ครอบครัวมานานกว่า 60 ปี เป็นคนเจ้าระเบียบ พิถีพิถัน และมีเสน่ห์ปลายจวัก คาดว่าเคยแอบตกหลุมรักบิดาของโรเจอร์ พอไม่สมหวังก็เลยครองตัวเป็นโสด (เพื่อจักอยู่เคียงข้างเขา) ด้วยเหตุนี้จึงเอ็นดูโรเจอร์เหมือนบุตรชายแท้ๆ จนกระทั่งพอแก่ตัว ล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ยืนกรานจะเข้าพักอาศัยยังบ้านพักคนชรา

ช่วงที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่บ้านพักคนชราใหม่ๆ ไม่สิ่งใดๆอะไรๆถูกใจอาเตา (เพราะเคยเป็นคนเจ้าระเบียบ เจ้ากี้เจ้าการ อาหารการกินก็ไม่ค่อยถูกปาก) เคยครุ่นคิดอยากหลบหนีไปให้ไกล แต่ก็ไม่อยากสร้างปัญหาใดๆกับโรเจอร์ จึงยินยอมอดรนทน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถปรับตัว ปล่อยละวางหลายๆสิ่งอย่าง ใช้ชีวิตที่หลงเหลืออยู่โดยไม่มีอะไรติดค้างคาใจอีกต่อไป

ผู้กำกับสวีอันฮัว ยืนกรานว่าบทบาทอาเตาต้องเป็นของเยี่ยเต๋อเสียน เพราะความสัมพันธ์บนจอเงินกับหลิวเต๋อหัว ช่วงหลังๆมักรับบทแม่-ลูก คือภาพจำที่ผู้ชมรุ่นเก่ายังคงตราฝังใจไม่รู้ลืมเลือน

ไม่รู้ทำไมผมเห็นการแสดงของเยี่ยเต๋อเสียน ชวนหวนระลึกถึง Kirin Kiki (ในหลายๆผลงานผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda) ทั้งสองต่างเป็นหญิงแกร่ง มักอดกลั้นฝืนทนต่อความเจ็บปวด ไม่ต้องการแสดงด้านอ่อนแอให้ใครพบเห็น โดยเฉพาะลูกๆหลานๆ ปฏิเสธทำตัวเป็นภาระผู้อื่น จนบางครั้งดูดื้อด้าน เห็นแก่ตัว แต่ก็ค่อยๆสามารถปรับตัว ยินยอมรับตามสภาพของตนเอง นั่นจักสร้างความประทับใจให้ผู้ชมอย่างล้นหลาม

ฉากที่ต้องซูฮกเยี่ยเต๋อเสียนก็คือตอนป่วยอัมพาตครึ่งซีก นั่นเป็นการแสดงทางร่างกายที่ต้องใช้พลังอย่างมากๆ ใครเคยมีญาติล้มป่วย น่าจะพบเห็นความแนบเนียน สมจริงจนแยกไม่ออก ทำเอาผมรู้สึกใจหายวูบวาบ เต้นสั่นระริกรัว หวาดกลัวแทนตัวละคร มันช่างเป็นโรคที่มีความเสี่ยง ล้มมาทีเดินไม่ได้ ก็แทบตกตายทั้งเป็น

แต่ไฮไลท์ผมยกให้ช่วงท้ายก่อนเสียชีวิต เหมือนว่าตัวละครจะไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว พูดคุยสนทนาได้อีกต่อไป! เห็นนั่งอยู่บนรถเข็น ให้โรเจอร์ลากเที่ยวเล่นสวนสาธารณะ แต่สีหน้าดวงตาที่ยังขยับเคลื่อนไหว สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมา ราวกับต้องการพูดบอกออกมาว่า ‘ฉันไม่อยากเป็นภาระ แต่ก็ขอบคุณทุกสิ่งอย่าง’

แซว: เยี่ยเต๋อเสียน ให้สัมภาษณ์บอกว่าตนเองไม่ได้อยากเกษียณตัวเองเมื่อสิบกว่าปีก่อนหรอก แต่เหมือนถูกล็อบบี้จากใครบางคนเลยไม่ได้รับการติดต่อว่าจ้าง ซึ่งหลังจากความสำเร็จล้นหลามของ A Simple Life (2011) งานการก็เริ่มไหลมาเทมาอีกครั้ง แต่เลือกรับเฉพาะกับคนรู้จัก เท่าที่ร่างกายยังสู้ไหว

I was viewed by some in the business as a disobedient actress who loves to play the role of a director on set. I am also not great at networking. I guess these are the reasons why I haven’t been offered a lot of work.

เยี่ยเต๋อเสียนกล่าวถึงเหตุผลที่ห่างหายจากวงการบันเทิงไปกว่าสิบปี!

หลิวเต๋อหัว, 劉德華 (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB มีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1988), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, House of Flying Daggers (2004), The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทโรเจอร์ เหลียง, Roger Leung (梁羅傑 อ่านทับศัพท์ว่า เหลียงโรเจอร์) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง ทั้งๆครอบครัวอพยพย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา แต่ตนเองยังคงปักหลักทำงานอยู่ฮ่องกง ส่วนหนึ่งเพราะพะวงกับอาเตา สาวใช้ที่เลี้ยงดูแลเขามาตั้งแต่เด็ก มีความสนิทสนมเหมือนพี่สาว จนกระทั่งวันหนึ่งทรุดล้มลง ตรวจพบป่วยอัมพาตครึ่งซีก ใจจริงต้องการพากลับมาอยู่บ้าน แต่เธอยืนกรานขออาศัยอยู่บ้านพักคนชรา เลยจัดหาสถานที่อยู่ใกล้ๆ แล้วแวะเวียนกลับมาทุกครั้งที่มีโอกาส

นานๆๆครั้งจะได้เห็นหลิวเต๋อหัวรับบทคนธรรมดาๆ ไม่ต้องใช้พลังในการแสดงมากมาย แต่ถึงเล่นน้อยกลับมีความเข้มข้น เพราะตัวละครต้องซุกซ่อนอารมณ์ความรู้สึกไว้ภายใน เป็นห่วงเป็นใยอาเตา แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแต่ก็รู้สำนึกบุญคุณ อยากให้ความช่วยเหลือ ตอบแทนมากกว่านี้ แต่เธอก็ยืนกรานว่าเพียงพอแล้วละ

หนักสุดของอาหลิวคงเป็นขณะตัดสินใจ บอกหมอไม่ขอยื้อชีวิตเธอไว้ นั่นไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวนะครับ แต่คือไม่อยากให้อาเตาต้องทนทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้ การปั๊มหัวใจถ้าฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช่ว่าทุกอย่างจะหวนกลับเป็นปกติ บางคนต้องนอน ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ รับประทานทางหลอดอาหาร ไม่สามารถพูดคุย ขยับเคลื่อนไหว นั่นไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น! … ปล่อยให้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนนั้นยังดีเสียกว่า!

ผมแอบรู้สึกว่าบทบาทนี้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่อาหลิวยินยอมควักเนื้อ ออกทุนสร้างให้ผู้กำกับสวีอันฮัว ก็ด้วยความรู้สำนึกบุญคุณ เพราะเธอคือบุคคลแรกที่ช่วยเหลือ ผลักดัน ความสำเร็จของ Boat People (1982) ถือว่าให้กำเนิดหลิวเต๋อหัวมาจนถึงทุกวันนี้!


ถ่ายภาพโดย Yu Lik-wai, 余力为 (เกิดปี 1996) ช่างภาพ/ผู้กำกับชาวฮ่องกง ไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังประเทศ Belguim จบจากสถาบัน INSAS (Institut National Superieur des Arts de Spectacle) กลับมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับเจี่ยจางเคอ ตั้งแต่ Pickpocket (1997), Still Life (2006), A Touch of Sin (2013) ฯลฯ นอกจากนี้ยังร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮุยอยู่หลายครั้ง Ordinary Heroes (1997), A Simple Life (2011), Our Time Will Come (2017)

งานภาพในช่วงแรกๆชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) มีการจัดให้เป็นระเบียบแบบแผน ราวกับกฎกรอบที่ห้อมล้อม บีบรัดจนสร้างความอึดอัด ทุกสิ่งอย่างต้องแม่นเปะ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร แต่หลังจากอาเตาทรุดล้มลง ป่วยโรคอัมพาตครึ่งซีก อะไรๆก็เริ่มผันแปรเปลี่ยนไป

ตั้งแต่นั้นมางานภาพของหนังเหมือนได้รับอิสระ คล้ายๆแนวคิดของ ‘Unchained Camera’ ใช้การถือกล้อง Hand-Held ขยับเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละคร หลายครั้งแทนมุมมองสายตา เมื่อตอนเข้าอาศัยในบ้านพักคนชรา แรกๆยังดูใคร่รู้ใคร่สงสัย กระวนกระวายใจ บรรยากาศน่าหวาดสะพรึงกลัวอยู่เล็กๆ จากนั้นค่อยๆปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับสภาพเป็นจริง ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติด ตระหนักว่าชีวิตไม่สามารถหวนกลับเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

หนังเริ่มถ่ายทำในช่วงวันตรุษจีนใช้เวลาเพียงสองเดือน โดยสถานที่หลักๆบ้านพักคนชราตั้งอยู่บริเวณ Mei Foo Sun Chuen ย่านอสังหาริมทรัพย์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาลูน (ตอนนั้นไม่หลงเหลือสลัมแล้วนะครับ) ส่วนอพาร์ทเม้นท์ของโรเจอร์ คืออพาร์ทเม้นท์จริงๆของโปรดิวเซอร์ Roger Lee หยิบยืมเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของ พยายามตกแต่งให้เหมือนที่เขาเคยอยู่อาศัยเมื่อหลายปีก่อน

[Mei Foo Sun Chuen] is an unfamiliar Hong Kong. I think the residents and businesses in this place are full of warmth and humanity. Some people will think that the pace here is lazy, but I prefer it. There are more than 700 elderly homes in Hong Kong, 80% of which are privately run, with three types of large, medium and small scales. Staff and volunteers provide 24-hour care.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ฉากแรกของหนังถ่ายทำยังสถานีรถไฟ สัญลักษณ์ของการเดินทาง เหตุการณ์ในหนังคือตัวละครโรเจอร์ (หลิวเต๋อหัว) เหมือนกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน/อพาร์ทเม้นท์ ขณะที่ภาพวาดด้านหลังคือวิถีเซน ขุนเขาสูงตระหง่านคือธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะ (หรือคือวัฎจักรชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) ถ้าสามารถเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าว จักทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติดอะไรหลายๆอย่าง

โดยปกติแล้วสถานีรถไฟควรจะมีผู้คนพลุกพล่าน แต่ช็อตนี้กลับมีเพียงโรเจอร์นั่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ใครคนอื่นๆ สมาชิกในครอบครัวล้วนอพยพหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา (นี่แอบล้อกับ Boat People (1982) เพราะอีกไม่กี่ปีฮ่องกงจะหวนกลับสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ เมื่อเวลานั้นมาถึงดินแดนแห่งนี้คงจะ …) ถึงอย่างนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ ทำให้เขายังมิอาจปล่อยละวางจากสถานที่แห่งนี้

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าฮ่องกงมีทะเลทรายด้วยเหรอ? แต่จากภาพที่หนังร้อยเรียงเข้ามานี้สะท้อนความแห้งแล้ว ฤดูใบไม้ร่วง หรือคือความตาย ไม่ใช่แค่สื่อถึงสภาวะทางอารมณ์ หรือเรื่องราวของตัวละครที่กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่ยังฮ่องกงแห่งนี้ในช่วงเวลาที่กำลังนับถอยหลัง อีกไม่กี่ปีจักหวนกลับสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2049

อาเตาทำอาหารให้โรเจอร์ = ให้อาหารเจ้าเหมียว เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา แม้เธอไม่สามารถลูบหัวเขาเหมือนเจ้าแมว แต่ก็สื่อถึงความรัก ความเอ็นดู เป็นห่วงเป็นใย

ไดเรคชั่นของทั้ง Sequence สังเกตว่าตัวละครแทบจะไม่พูดคุยสนทนา ทุกสิ่งอย่างมีความเป็นระเบียบแบบแผน พิถีพิถัน รักษาความสะอาด หรือแม้แต่การจัดวางจานยังให้ต้องสมมาตร (เมื่อมีจานที่สามก็ต้องจัดระเบียบใหม่) รวมถึงทิศทาง-มุมกล้องที่ชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975)

การที่หนังใช้งบประมาณสูงถึง ¥30 ล้านหยวน (หมดไปกับค่าโปรดับชั่นเพียง ¥12 ล้านหยวน) ไม่ใช่ว่าหมดไปกับนักแสดงรับเชิญระดับบิ๊กๆๆเหล่านี้รึเปล่า ฉีเคอะ, หงจินเป่า, หวงชิวเชิง, ตู้เหวินเจ๋อ, กวนจินผิง, โปรดิวเซอร์ Raymond Chow หรือแม้แต่ Angelababy ฯลฯ แต่ลึกๆผมแอบดีใจนะที่(ตอนนั้น)หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายแข็งแรง ส่วนใหญ่ก็เข้าวัยเกษียณ ให้ความรู้สึกเหมือนหนังรวมญาติๆของผู้กำกับสวีอันฮัว ในงานเลี้ยงแห่งการร่ำลา

เฮียหลิวก็ไม่ธรรมดานะ ตอนนั้นอายุย่างเข้า 50 ปี ก็ยังคงหล่ออมตะ

ลิ้นวัว เป็นส่วนที่หลายคนเข้าใจผิดว่าไขมันสูง คอเลสตอรอลสูง จริงๆแล้วกลับตารปัตรตรงกันข้าม เพราะส่วนประกอบหลักของลิ้นคือกล้ามเนื้อ จึงมีโปรตีนสูงกว่าไขมัน สามารถช่วยรักษาโรคกระเพาะ, โลหิตจาง, วิตามินสูง (เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์และคนหลังผ่าตัด) ทั้งยังช่วยผลิตอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

แต่การรับประทานก็ควรเพียงพอดีนะครับ เพราะจะส่งผลต่อตับไต ไทรอยด์ หอบหืด เกิดปัญหาการเผยผลาญในการลดน้ำหนัก และทำให้ภูมิคุ้นกันของผู้สูงวัยย่ำแย่ลง

ถ้าเป็นหนังที่ขายดราม่า ต้องการให้ผู้ชมบีบเค้นคั้นน้ำตา (Tearjerker) ก็มักมีฉากที่ตัวละครทรุดล้มลง แสดงอาการเจ็บปวด ดิ้นรนทนทุกข์ทรมาน แต่ไม่ใช่กับ A Simple Life (2011) ใช้เพียงภาษาภาพยนตร์ ตัดข้ามไปเลย หรือแค่เสียงบรรยายกล่าวถึงเท่านั้น ปฏิเสธนำเสนอให้เห็นด้านอ่อนแอของอาเตา … นี่สะท้อนถึงตัวผู้กำกับสวีอันฮัวได้ชัดเจนมากๆ

อย่างฉากนี้ตอนอาเตาทรุดล้มลงครั้งแรก (กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก) จะพบเห็นแค่เพียงเศษฝุ่นเข้าตา ขยี้หลายครั้งจนเริ่มผิดสังเกต แล้วก็ตัดไปตอนโรเจอร์กำลังลากกระเป๋ากลับอพาร์ทเม้นท์ วันนี้ดันหลงลืมกุญแจ เคาะประตูก็ไม่เสียงตอบ ผู้ชมสัมผัสถึงลางสังหรณ์อันเลวร้าย

อารมณ์ขันของผู้กำกับสวีอันฮัว มักมาในลักษณะตลกร้าย (Black Comedy) ตัวละครทำหน้าเคร่งเครียดจริงจัง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเรื่องไร้สาระ ผมละขำกลิ้งตอนอาหลิวอ่านคู่มือใช้เตาแก๊ส เครื่องซักผ้า (พออาเตาเข้าโรงพยาบาล เลยเริ่มตระหนักถึงความยุ่งยากลำบากในชีวิต) และตอนถูกทักผิดว่าเป็นพนักงานล้างแอร์ เพราะดันใส่เสื้อแจ็คเก็ตลายคล้ายๆเดียวกัน (ต่อให้ร่ำรวย ชื่อเสียงโด่งดัง อำนาจล้นฟ้า ก็ไม่แตกต่างจากคนธรรมดาสามัญ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่สามารถหลบหนีวัฎจักรชีวิต)

ทีแรกผมโคตรสงสัย ทำไมตอนโรเจอร์มาเยี่ยมไข้อาเตาถึงนั่งอยู่ซะไกล? นั่นเพราะหนังต้องการนำเสนอความแตกต่างระหว่างเจ้านาย-คนรับใช้ แม้พวกเขาสนิทสนมเรียกพี่สาว-หลานชาย แต่มันก็มีช่องว่าง ระยะห่าง เส้นแบ่งบางๆที่มองไม่เห็นกีดขวางกั้น … โรเจอร์อยากเข้าไปนั่งใกล้ๆแต่อาเตากวักมือขับไล่ ไม่อยากให้เขาต้องมาเสียเวลามาดูแลคนรับใช้อย่างตนเอง

หวงชิวเชิง (Anthony Wong) รับเชิญในบทเจ้าของธุรกิจบ้านพักคนชรา วางมาดเท่ห์ด้วยการสวมผ้าปิดตาข้างหนึ่ง (เหมือนจะล้อกับการล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีกของอาเตา) ซึ่งระหว่างกำลังพูดคุยสนทนากับเพื่อนเก่าโรเจอร์ กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจนเห็นภาพเงาสะท้อนบนผนังกำแพง

ผมรู้สึกว่าทั้งการปิดตาและภาพสะท้อนนี้ เหมือนต้องการสื่อถึงธุรกิจบ้านพักคนชรา จริงอยู่ว่านี่คือวิธีแก้ปัญหาผู้สูงวัย แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนวิถีโลกยุคสมัยใหม่ ความเห็นแก่ตัวของลูกๆหลานๆ … ไม่เชิงว่าเป็นธุรกิจสีเทา แต่มันคาบเกี่ยวสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์

ความประทับใจแรก ‘First Impression’ ต่อบ้านพักคนชรา ผู้สูงวัยส่วนมากเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เอาแต่ใจ บางคนก็เริ่มป่ำๆเป๋อๆ ทำอะไรเซ่อๆซ่าๆ บางคนก็เก็บข้าวของอยากกลับบ้าน (หนังจงใจตัดต่อให้เหมือนอาเตากำลังเก็บเสื้อผ้า แต่แท้จริงแล้วคือใครคนอื่น) แต่ประตูที่ล็อกกุญแจ ทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างจากเรือนจำ … นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงสภาพของประเทศเวียดนามใน Boat People (1982) ซึ่งเรายังสามารถเหมารวมถึงฮ่องกง(ขณะนั้น)ได้ด้วยเช่นกัน

ภายในบ้านพักคนชรา จะมีการปรับโทนสีให้ดูเหือดแห้งแล้ง คล้ายๆภาพทะเลทรายที่พบเห็นตอนต้นเรื่อง ให้เข้ากับสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ วัยใกล้โรยรา ไร้ซึ่งความสดชื่น/ชีวิตชีวา

เมื่อครั้นโรเจอร์เดินทางมาเยี่ยมเยียน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ คำตอบของอาเตากลับชื่นชมบ้านพักคนชราดีอย่างโน้น ดีอย่างนั้น สรรเสริญเยินยอปอปั้น แต่มันตรงกันข้ามจากความจริงโดยสิ้นเชิง!

ให้สังเกตภาพจากกระจกเงา โดยปกติควรจะเห็นเต็มตัว/เต็มหน้าตาเพื่อสะท้อนร่างกาย-จิตใจ ภายนอก-ใน แต่มุมกล้องนี้กลับพบเห็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่ง นั่นหมายถึงทั้งหมดที่พูดบอกไม่ตรงกับความรู้สึกภายใน เพียงการสร้างภาพ แสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็งแกร่ง (ปฏิเสธแสดงด้านอ่อนแอของตนเองออกมา) … จริงๆสังเกตภาษากาย จะเห็นมือข้างที่ขยับได้ถูๆหน้าขาอยู่นั่น แสดงถึงความกังวล หวาดหวั่นวิตก ไม่อยากจะพูดความจริงออกมา

นี่ถือเป็นอีกตลกร้ายของหนัง แต่ก็ชักชวนทำให้ผู้ชมขบครุ่นคิดในแง่มุมกลับตารปัตร เพราะโดยปกติแล้วบ้านพักคนชรา ก็ตามชื่อคือที่อยู่อาศัยของคนชรา แต่มันยังรวมถึงบุคคลไม่สามารถพึ่งพาตนเอง มารดาสูงวัยไม่อาจดูแลบุตรสาวเลยส่งตัวมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะมีพยาบาล/ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้สูงวัยที่ร่วมแสดงในหนัง ส่วนหนึ่งก็มาจากบ้านพักคนชราจริงๆ อีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มนักแสดงผู้สูงอายุ เลือกมา 8 คนที่มีบทบาทเล็กๆ ไม่เคอะเขินหน้ากล้อง … เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลก็พบว่า ฮ่องกงมีคณะละครเวทีสำหรับผู้สูงวัยอยู่จริงๆ แต่จุดประสงค์หลักๆไม่ได้เน้นเงินๆทองๆ ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ค้นพบศักยภาพตนเอง ‘อายุก็แค่ตัวเลข’

เมื่ออาเตาอาศัยอยู่บ้านพักคนชรามาระยะหนึ่ง ก็สามารถปรับตัวเอง ยินยอมรับสภาพความจริง ร่างกายที่เคยล้มป่วยอัมพาตครึ่งซีก ก็ทำกายภาพบำบัดจนอาการดีขึ้นมากๆ จนสามารถเย็บกระดุมเสื้อให้เพื่อนสูงวัย (=ซ่อมแซมร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ) เต็มเปี่ยมด้วยพลังใจอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมีโอกาสหวนกลับมายังอพาร์ทเม้นท์ อาเตาก็ตรงไปรื้อค้นสิ่งข้าวของ ทบทวนหวนระลึกความหลัง อาทิ จักรเย็บผ้า (ยี่ห้อคนโสด Singer) เงินค่าจ้างครั้งแรก ผ้าคลุมผืนเก่า รูปถ่ายสมัยยังสาว ฯลฯ เหล่านี้แสดงถึงความหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับอดีต หลายสิ่งอย่างคือความทรงจำฝังใจ ยังไม่สามารถปล่อยละวางได้โดยง่าย

มันแทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะมองจากมุมกล้องทิศทางไหน ในการค้นหาคนรับใช้ที่พร้อมมุ่งมั่นทุ่มเททุกสิ่งอย่างเหมือนอาเตา แต่ละคนต่างก็มีข้อเรียกร้อง ความต้องการของตนเอง ซึ่งสะท้อนค่านิยม’ปัจเจกบุคคล’ของยุคสมัยปัจจุบัน … การสัมภาษณ์งานในร้านอาหารแห่งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน (ก่อนหน้านี้ตอนโรเจอร์และอาเตามารับประทานอาหาร เด็กเสิร์ฟก็ดูไม่ยี่หร่าอะไรลูกค้าสักเท่าไหร่)

เมื่อพบเห็นคู่แต่งงานใหม่มาถ่ายรูปในสวนสาธารณะ โรเจอร์กับอาเตาก็เลยเปิดประเด็นสนทนา ทำไมอีกฝั่งไม่ยินยอมแต่งงาน? ซึ่งถ้าสังเกตบุคคลที่อยู่ในความสนใจของแต่ละฝ่าย ล้วนสะท้อนชนชั้น วิทยฐานะ มีความเหมาะสมเข้ากันดี

  • อาเตา ประกอบด้วยคนขายผัก (greengrocer), พ่อค้าปลา (fish-stall owner), ช่างตัดเย็นเสื้อผ้า (haberdasher) … ล้วนคือชนชั้นทำงาน (Working Class)
  • โรเจอร์ คือหญิงสาวจบด็อกเตอร์ตอนอายุ 24 ย่อมถือเป็นชนชั้นกลาง (Medium Class)

สำหรับเหตุผลการไม่แต่งงานของอาเตา ก็ชัดเจนจากปฏิกิริยาที่เธอแสดงออกมา ว่าแอบชื่นชอบบิดาของโรเจอร์ แต่เพราะความแตกต่างทางชนชั้น วิทยฐานะ ยุคสมัยนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงไม่มีทางเป็นได้อย่างแน่นอน!

เป็นความจงใจโคตรๆที่เพื่อนชายผู้สูงวัยมาขอยืมเงินอาเตา (หลังจากฉากที่โรเจอร์กับอาเตาสนทนาเรื่องการแต่งงาน) ในครั้งแรกกล้องถ่ายแบบแอบๆ ปรับโฟกัสให้รอบข้างเบลอๆ (สื่อถึงยังไม่เข้าใจว่าจะหยิบยืมเงินเอาไปทำอะไร) แต่ครั้งที่สองเมื่อเปลี่ยนมาขอยืมเงินจากโรเจอร์ แอบติดตามไปพบเห็นว่ากำลังซื้อบริการโสเภณี

ครั้งที่สามระหว่างเทศกาลกลางปี ชายคนนี้มาขอยืมเงินครั้งที่สามด้วยการยืนอยู่กึ่งกลางระหว่าง ขณะที่โรเจอร์แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ ไม่อยากให้หยิบยืมเงิน แต่อาเตากลับบอกว่าให้ๆไปเถอะ สงเคราะห์คนชรา ตอนนี้ยังทำอะไรได้ก็ทำไป พอตกตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีโอกาสทำสิ่งนั้นๆได้อีก … ซึ่งหลังจากการจากไปของอาเตา ชายคนนี้ยังคงพยายามหาผู้ใจบุญคนใหม่ แต่ก็ไม่มีใครช่วยสงเคราะห์เขาอีกต่อไป

เมื่อมารดาของโรเจอร์มาเยี่ยมเยียนอาเตา ก็นำเอาของฝากหลายๆอย่างมอบให้ นอกจากของกินยังมีอีกสองสิ่งน่าสนใจ

  • ถุงเท้า คือสัญลักษณ์ที่แสดงชนชั้นฐานะของอาเตา ในฐานะคนรับใช้ตระกูลเหลียง
  • แต่ต่อมากลับมอบผ้าพันคอของตนเอง ผมมองถึงการยินยอมรับอีกฝั่งฝ่ายว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความเสมอภาคเท่าเทียม

ขณะที่ผู้สูงวัยคนอื่นๆเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดปีใหม่ (น่าจะคือตรุษจีนนะครับ ไม่ใช่วันขึ้นปีใหม่สากล) แต่สำหรับอาเตาไม่มีบ้านให้กลับ โรเจอร์ก็อยู่กับสมาชิกครอบครัวอื่นๆ เธอจึงมาเดินเที่ยวเล่นงานเทศกาล ทีแรกตั้งใจจะซื้อกังหันที่แขวนอยู่ด้านบนแต่ราคาสูงเกิน เลยสอบถามราคาอีกอันที่วางอยู่ข้างล่าง นี่เช่นกันแอบสะท้อนวิทยฐานะ อาชีพคนรับใช้ได้แค่นี้ก็เพียงพอแล้วละ … การนั่งอยู่คนเดียวภายนอกรั้วกั้นก็เช่นกัน เป็นการแบ่งแยกตนเองจากผู้อื่น โลกภายนอก ตึกระฟ้าสูงใหญ่

ฟันแท้ คือสิ่งที่ถ้าสูญเสียไปแล้วไม่มีทางงอกเงยขึ้นใหม่ นอกเสียจากจะทำฟันปลอม แต่ถึงอาเตาไม่ยินยอม โรเจอร์กลับบีบบังคับให้ต้องทำ … ผมมองนัยยะของการทำฟันปลอม คือความพยายามยื้อชีวิต ต่อลมหายใจ ต้องการให้เธอยังอยู่ต่อไปอีกสักพัก อย่างน้อยหลังฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ โปรดดูให้จนจบ Ending Credit

เช่นเดียวกับตอนที่มารดาของโรเจอร์ พาอาเตาขึ้นไปยังอพาร์ทเมนท์ (ที่ขับไล่คนไร้บ้านออกไป) มอบให้เป็นสถานที่อยู่อาศัย (คงเผื่อว่าเมื่ออาการดีขึ้น ออกจากบ้านพักคนชราก็จักมาอาศัยอยู่ห้องหับนี้) และดื่มน้ำสร้างความกระชุ่มกระชวย (สามารถสื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ได้เช่นกัน) … แต่เหมือนหนังจะรวบรัดตัดประเด็นนี้ทิ้งไปเลยนะ ไม่รู้อาเตายังคงอยู่บ้านพักคนชรา หรือตกลงย้ายมาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

ฉันอยากกินห่านย่าง ล้อกับตอนต้นเรื่องที่โรเจอร์เรียกร้องให้อาเตาทำลิ้นวัว! แต่สภาพของเธอตอนนี้หลังทรุดล้มลงครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ทำให้ร่างกายกลายเป็นอัมพาตทั้งตัว ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว สื่อสารด้วยคำพูดแทบจะไม่ได้อีกต่อไป … หลงเหลือเพียงสีหน้า สายตา และเขย่าร่างกายให้สั่นๆ พยายามบอกกับเขาไม่ต้องเป็นห่วงฉัน แต่สภาพนี้ใครกันจะไม่รู้สึกเศร้าสลดเห็นใจ

หลังจากนี้มันจะมีช็อตที่โรเจอร์เดินเอาทิชชู่ไปทิ้งถังขยะ นั่นคือมุมมองของอาเตาต่อสภาพตนเองขณะนี้ ไม่ต่างจากเศษขยะที่กำลังจะถูกทิ้ง กลายเป็นภาระให้ผู้อื่น … แต่นั่นไม่ใช่สิ่งโรเจอร์ครุ่นคิดเลยนะครับ ระหว่างเดินกลับจากถังขยะ สังเกตดีๆจะพบว่ามือข้างหนึ่งถือธนบัตร น่าจะกำลังไปซื้อห่านย่างมาให้รับประทานอย่างแน่นอน

หลังจากที่อาเตาเข้าโรงพยาบาล อาการถือว่าหนัก แม้โรเจอร์เหมือนไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียด อึดอัดอั้น กล้ำกลืนรับประทานบะหมี่สำเร็จรูปตั้งแต่กลางวันจนยามค่ำคืนก็ยังเห็นถ้วยโฟมวางอยู่ ก่อนคุยโทรศัพท์และบอกกับหมอถึงการตัดสินใจของตนเอง

สังเกตมุมกล้องตั้งแต่ที่โรเจอร์ได้ครุ่นคิดตัดสินใจ มีการถ่ายให้อะไรบางอย่างถูกบดบัง ปรับโฟกัสเบลอๆ มืดดำ แทนถึงสภาพจิตใจตัวละครที่กำลังสูญเสียบางอย่างไป

นี่น่าจะเป็นถุงเท้าคู่ที่มารดา(ของโรเจอร์)มอบให้อาเตา แม้จะถือว่าเป็นสิ่งของต่ำ สัญลักษณ์ของคนรับใช้ แต่สำหรับเขามันคือความภาคภูมิใจที่ได้รู้จัก สนิทสนม มีเธอคอยอยู่เคียงชิดใกล้ตั้งแต่เกิด สิ่งที่สามารถกระทำได้ขณะนี้ก็มีเพียงปัดผมให้ดูดี สวมถุงเท้าให้เรียบร้อย ครั้งสุดท้ายก่อนร่ำลากจากกัน

Reunions and partings are equally hard
The listless east wind, the withered blooms
The silkworm spits out silk until its death
The candle weeps tears until it gutters out
The mirror in the morning reflects wispy hairs
The chill evening moonlight, declaiming poems
No road to the magic mountain…
The eager bluebird quests in search

หลี่ชางหยิน, 李商隱 (ค.ศ. 813-858) นักกวีสมัยราชวงถัง

หลี่ชางหยินตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ไม่สามารถพูดบอก เปิดเผยความสัมพันธ์สู่สาธารณะ จึงทำได้เพียงพรรณาความรู้สึกออกมาเป็นบทกวี ตั้งชื่อว่า 无题 (แปลว่า Untitle) 相见时难别亦难 (ท่อนแรกของบทกวี ยากที่จะพบเจอ ยากที่จะพลัดพรากจาก)

ระหว่างที่ชายสูงวัยคนหนึ่งรำพันบทกวีนี้ออกมา ก็ปรากฎภาพเถาวัลย์เลื้อยเกาะแก่งบนกำแพงปูน พวกมันพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างสุดๆ เพื่อเสาะแสวงหาผืนแผ่นดินสำหรับดำรงชีพรอด แต่ทุกสรรพชีวิตเมื่อถึงจุดๆหนึ่งย่อมต้องตกตาย พลัดพรากจากกันไป คือสัจธรรมที่ไม่มีใครหลบลี้หนีพ้น

ปัจฉิมบทของหนังหลังจากพิธีศพ โรเจอร์กำลังเดินกลับอพาร์ทเม้นท์ อาเตาที่ควรตกตายไปแล้วกลับปรากฎมาให้เห็นอีกครั้ง? ได้ยังไงกัน? ผมมองว่าเธอคือวิญญาณที่ยังคงล่องลอย ห่วงหวงหา เลยหวนกลับมาอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (เป็นผีเฝ้าบ้าน) อาจคือสถานที่สุขคติ(ของอาเตา)ก็เป็นได้กระมัง

ผมไม่ค่อยอยากตีความประเด็นการเมืองของหนังสักเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้จงใจแทรกใส่เข้าไปตรงๆ เพียงสิ่งที่ผู้ชมสามารถครุ่นคิด มองในแง่มุมสภาพของฮ่องกง หลงเหลือเวลาอีกไม่มากก่อนหวนกลับสู่จีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2046 ใครร่ำรวยมั่งมี ก็สามารถอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศอื่นที่มีความมั่นคง (อย่างสหรัฐอเมริกา) แต่สำหรับหลายๆคนก็คงต้องสู้ชีวิตต่อไป พึงพอใจในสิ่งที่มี อะไรจะเกิดมันก็เกิด อีกไม่นานก็ตกตาย หวังว่าฉันคงไม่มีลมหายใจอยู่ถึงตอนนั้น … แต่ก็ไม่แน่หรอกนะ

ตัดต่อโดย Wei Shufen, 韦淑芬 และ Kwong Chi-leung, 鄺志良 รายหลังมีผลงานเด่นๆอย่าง Painted Faces (1988), King of Beggars (1992), Chungking Express (1994), Ashes of Time (1994), Comrades, Almost a Love Story (1996), Perhaps Love (2005), Cold War (2012) ฯลฯ และร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัวอยู่หลายครั้ง Ordinary Heroes (1999), July Rhapsody (2001), A Simple Life (2011) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของโรเจอร์และอาเตา เคียงคู่ขนานกันไป ซึ่งเราสามารถมองทั้งสองเรื่องราวให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันก็ยังได้

  • เรื่องราวของโรเจอร์ กำลังตระเตรียมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ต่อรองผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ จนแล้วเสร็จสิ้น ฉายรอบปฐมทัศน์
  • อาเตาทรุดล้มลง ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ทำให้ต้องเกษียณตัวจากการเป็นแม่บ้าน(ของโรเจอร์) เข้าพักยังสถานคนชรา ปล่อยละวางกับช่วงสุดท้ายของชีวิต

ผมของแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 องก์ โดยใช้ชื่อตามโปรดักชั่นภาพยนตร์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเรื่องราว

  • ตระเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ (Pre-Production)
    • แนะนำโรเจอร์กับอาเตา วิถีของเจ้านาย-สาวรับใช้
    • โรเจอร์ประชุมเตรียมงานสร้างกับผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์
    • อาเตาทรุดล้มลง ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ตัดสินใจเกษียณจากการทำงาน ขอไปอยู่ยังบ้านพักคนชรา
    • โรเจอร์ออกแสวงหาบ้านพักคนชราให้อาเตา (=Scounting Location ออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์)
  • ช่วงเวลาถ่ายทำ (Production)
    • อาเตาย้ายเข้ามายังบ้านพักคนชรา ช่วงแรกๆยังมีความหวาดหวั่นกลัว เต็มไปด้วยอคติ ไม่มีอะไรได้ดั่งใจ เคยครุ่นคิดจะหลบหนีไปให้ไกล แต่ก็ค่อยๆสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับสภาพความจริง สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น
    • โรเจอร์ (และมารดาของโรเจอร์) เดินทางมาเยี่ยมเยียนอาเตาบ่อยครั้ง พาไปรับประทานอาหาร แวะเวียนกลับอพาร์ทเม้นท์ พร้อมให้การช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกทุกสิ่งอย่าง
  • การฉายรอบปฐมทัศน์ และหลังจากนั้น (Premiere & Release)
    • โรเจอร์พาอาเตามารับชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ พบปะดาราดังมากมาย
    • นำเสนอบั้นปลายชีวิตของอาเตา จนกระทั่งทรุดล้มลงอีกครั้ง คราวนี้ไม่สามารถพูดคุย ขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้อีก เฝ้ารอคอยวันตาย และพิธีศพหลังจากนั้น

จริงๆมันควรจะมีหลังการถ่ายทำ (Post-Production) แต่ผมไม่รู้จะแทรกใส่ตรงไหน เพราะรอบฉายปฐมทัศน์ (Premiere) มาเร็วเกินไปมากๆ ช่วงองก์สามเลยเยิ่นเย้อยืนยาวพอสมควร … นี่ทำให้ผมแอบครุ่นคิดว่าหนังอาจมี Director’s Cut เพราะเหมือนตัดต่ออะไรๆหายไปค่อนข้างเยอะ (แต่แค่นี้หนังก็สมบูรณ์อยู่นะครับ ความยาว 118 นาทีถือว่ากำลังดีด้วย)


เพลงประกอบโดย Law Wing-Fai, 羅永暉 คีตกวีชาวฮ่องกง สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีสังเคราะห์จาก University of California ชื่นชอบมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านจีน-คลาสสิกตะวันตก ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Hong Kong Academy for Performing Arts มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Opera, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์, ร่วมงานบ่อยครั้งกับผู้กำกับสวีอันฮัว อาทิ Boat People (1982), A Simple Life (2011) ฯ

งานเพลงของ Law Wing-Fai จะไม่มีความหวือหวาเท่า Boat People (1982) แต่เน้นความเรียบง่าย (แบบชื่อหนัง) ด้วยการบรรเลงเปียโนนุ่มๆ บางครั้งคลอประกอบเครื่องสาย และเครื่องเป่า (เน้นใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น) เพื่อมอบบรรยากาศเศร้าๆ เหงาๆ รู้สึกโหวงเหวงวังเวง เหมือนกำลังจะสูญเสียบางสิ่งอย่าง ขณะเดียวกันก็มีความซาบซึ้ง อิ่มเอิบหัวใจ ฟังแล้วผ่อนคลาย ขอบคุณที่ได้รับรู้จักกัน

ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าองก์แรกของหนัง (ไม่นับอารัมบท & Opening Credit) แทบไม่มีการใช้บทเพลงประกอบใดๆ เพราะความเงียบงันสามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัด นั่นคือความตั้งใจสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างโรเจอร์กับอาเตา วิถีชีวิตพวกเขาไม่ต้องสื่อสารก็สามารถรู้ใจกันและกัน

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ เพราะการบรรเลงเปียโนช่วงต้นเรื่อง และเสียงโอโบช่วงท้าย (เหมือนจะบทเพลงเดียวกันนะ) ให้ความรู้สึกเหมือนจิตวิญญาณ(ของอาเตา)ยังคงล่องลอยอยู่เคียงชิดใกล้โรเจอร์ ไม่ได้เหินห่างไกลไปไหน ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย รักและปรารถนาดี โปรดอย่าเศร้าโศกเสียใจกับการจากไป อีกไม่นานเราคงได้พบเจอกันอีก


คนรับใช้ (Maid) คืออาชีพที่สังคมไหนๆ ประเทศใดๆ คนส่วนใหญ่มองว่าต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ความเสมอภาคเท่าเทียมกับเจ้านาย/สมาชิกอื่นๆในครอบครัว เพียงคนนอกที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยร่วมชายคาเดียวกัน คอยปรนปรนิบัติรับใช้ ดูแลกิจการงานบ้านให้มีความเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ

แต่การจะเป็นคนรับใช้ที่ดีได้นั้น ต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละอุทิศตนเอง เรียนรู้สะสมประสบการณ์ทำงาน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งถึงได้รับการให้เกียรติ เสมอภาคเท่าเทียม แบบเดียวกับ A Simple Life (2011) อาเตาทำงานโดยไม่ขาดตกบกพร่องมานานกว่า 60 ปี มีความสนิทสนมชิดใกล้กับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะโรเจอร์ถึงขนาดได้รับคำเรียกพี่สาว-หลานชาย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีช่องว่าง ระยะห่าง การแบ่งแยก(ชนชั้น)ระหว่างเจ้านาย-บ่าวรับใช้ โลกทัศนคติบางอย่างไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไป

ทางฝั่งโรเจอร์ แม้ต้องการให้ความช่วยเหลือ พร้อมว่าจ้างพยาบาล คนรับใช้ ให้อยู่อพาร์ทเม้นท์หลังใหม่ แต่อาเตากลับปฏิเสธดื้อดึงดัน ไม่ต้องการทำตัวเป็นภาระ เขาจึงไม่สามารถทำอะไรนอกจากส่งเธอไปบ้านพักคนชรา แล้วแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหาบ่อยๆครั้ง … เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เขาจึงมิอาจบีบบังคับ ทุ่มเทตนเองให้กับเธออย่างเต็มร้อย แต่ก็มากสุดเท่าที่จะให้ได้

สำหรับอาเตา แม้อ้างว่าไม่ต้องการเป็นภาระกับโรเจอร์ แต่จริงๆมองตนเองคือคนรับใช้ต้อยต่ำด้อยค่า ไม่สมควรได้รับสิทธิ์ดูแลเอาใจใส่จาก(อดีต)เจ้านาย ให้ความช่วยเหลือเท่านี้ก็มากเกินเพียงพอ ไม่ต้องแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหาบ่อยครั้งก็ได้ … แต่ถึงพูดบอกออกมาเช่นนั้น อาเตาก็เฝ้ารอคอยวันที่โรเจอร์จะหวนกลับมาเยี่ยมเยียนหา กลายเป็นช่วงเวลาเล็กๆแห่งความอิ่มสุข ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้

บ้านพักคนชรา คือวิธีการแก้ปัญหาหนึ่งของโลกยุคสมัยนี้ เมื่อลูกหลานไม่มีเวลา ไม่สามารถดูแลบิดา-มารดา ญาติพี่น้อง ผู้สูงวัย หรือบุคคลผู้พึ่งพาตนเองไม่ได้ (รวมถึงเด็กเล็กก็ด้วยนะ) เลยต้องไปฝากขังไว้ยังสถานรับเลี้ยง จ่ายเงินให้ผู้คุมช่วยดูแล ไม่ต้องห่วงหาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง

โลกทัศน์ของคนยุคสมัยนี้ การส่งผู้สูงวัยสู่สถานคนชรา (หรือเด็กเล็กสู่สถานรับเลี้ยง) ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายประการใด นั่นคือสิ่งที่ใครๆต่างกระทำกัน เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ ความสะดวกสบาย อาจปลอดภัยกว่าอาศัยอยู่บ้านเสียด้วยซ้ำ (เพราะมีผู้เชี่ยวชาญ/คนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง) แต่มันก็ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์ บุพการีของเราเองแท้ๆ ทำไมต้องว่าจ้างคนอื่นให้เลี้ยงดูแล ไม่รู้จักความกตัญญูรู้คุณเลยหรืออย่างไร?

นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่แนวความคิดของสองฟากฝั่ง โต้ถกเถียงกันอย่างเมามันส์ ไม่มีถูก<>ไม่มีผิด แต่ผมแนะนำให้ถามใจตนเองดูนะครับว่า เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คุณยังอยากที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านพักคนชราหรือเปล่า? ผมคนหนึ่งละที่ขอไปบวชเสียดีกว่า

มันไม่จำเป็นว่าหลังเลิกสร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับสวีอันฮัวตั้งใจจะเกษียณตนเองแล้วมาอยู่อาศัยยังบ้านพักคนชรานะครับ เธอสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนแนวความคิด ค่านิยมคนสมัยใหม่ รวมถึงนำเสนอความเป็นไปได้ของบั้นปลายชีวิต เรียนรู้จักสถานที่ชื่อว่าบ้านพักคนชรา (เรียกเล่นๆภาพยนตร์โปรโมท/แนะนำสถานคนชรา) แก่แล้วไม่รู้ลูกหลาน ญาติพี่น้องให้พึ่งพา ก็เดินทางมายัง The Ballad of Narayama (1958/83) กันดีกว่า!

ผมอดไม่ได้จริงๆกับภาพยนตร์มาสเตอร์พีซ The Ballad of Narayama มีอยู่สอบฉบับ Keisuke Kinoshita (1958) และ Shōhei Imamura (1983) บ้านพักคนชราดูไม่แตกต่างจากเทือกเขา Narayama สถานที่เฝ้ารอความตายของผู้สูงวัย บางคนอาจบอกไม่เห็นเหมือนกันตรงไหน แต่ถ้าคุณเกิดความตระหนักรู้แจ้งเมื่อรับชม จิตสามัญสำนึกก็จักถือกำเนิดขึ้นโดยทันที!

ฉากสุดท้ายชีวิตในความคาดหวังของผู้กำกับสวีอันฮัว ก็คือสิ่งที่นำเสนอผ่านตัวละครอาเตา หลังเกษียณคงต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ จากนั้นค่อยๆปล่อยละวางทีละอย่าง สองสามอย่าง อะไรทำได้ก็ทำ ได้แค่ไหนแค่นั่น ใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดกังวล อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด สักวันหนึ่งทุกคนต้องตกตาย ขอแค่อย่าเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และไปสู่สุขคติก็เพียงพอแล้วละ


ด้วยทุนสร้าง ¥30 ล้านหยวน (=$5.4 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินในจีนแผ่นใหญ่ ¥69.33 ล้านเยน รายทั่วโลกถือเป็นกำไร กลายเป็นผลงานทำเงินสูงสุดของผู้กำกับสวีอันฮัวโดยปริยาย

  • ฮ่องกงทำเงินได้ HK$27.8 ล้าน (= $3.59 ล้านเหรียญ)
  • ไต้หวันทำเงินเกินว่า NT$60 ล้าน (= $1.9 ล้านเหรียญ)
  • ประเทศไทยใช้ชื่อ “แค่เธอยิ้ม หัวใจก็อิ่มรัก” รายได้ประมาณ 300,000 กว่าบาท

เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice แม้พ่ายรางวัล Golden Lion ให้กับ Faust (2011) แต่ยังสามารถคว้ารางวัลอื่นๆมากที่สุดของเทศกาลปีนั้น

  • Volpi Cup for Actress (เยี่ยเต๋อเสียน)
  • Equal Opportunities Award
  • Signis Award – Honorable Mention
  • La Navicella Award

หนังยังได้ตัวแทนฮ่องกงส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ ถึงอย่างนั้นช่วงปลายปีก็กวาดรางวัลมากมายจากหลายๆสถาบันทางฝั่งเอเชีย

  • Asian Film Awards
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว)
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • People’s Choice for Favorite Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • People’s Choice for Favorite Actress (เยี่ยเต๋อเสียน)
    • Lifetime Achievement Award มอบให้ผู้กำกับสวีอันฮัว
  • Hong Kong Film Awards
    • Best Film **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (ฉินเพ่ย)
    • Best Supporting Actress (ฉินไห่ลู่)
    • Best Screenplay **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography
  • Golden Horse Awards
    • Best Film
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (หลิวเต๋อหัว) **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เยี่ยเต๋อเสียน) **คว้ารางวัล
    • Best Screenplay
    • Best Film Editing

เกร็ด: ช่วงระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ หลิวเต๋อหัวเขียนไดอารีส่วนตัว บันทึกประสบการณ์ทำงาน สิ่งต่างๆที่สังเกตเห็น รวมถึงภาพถ่ายเบื้องหลัง ตอนแรกตั้งใจจะโพสขึ้นบล็อกเพื่อแชร์บนเว็บไซต์แฟนคลับ แต่ไปๆมาๆตัดสินใจรวมเล่ม My 30 Work Days: Diary of Shooting A Simple Life ตีพิมพ์ปี 2012

ผมค่อนข้างชอบหนังนะ แต่ไม่ชอบหลายๆสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในหนัง มันสะท้อนค่านิยม/จิตสำนึกแย่ๆของคนยุคสมัยนี้ ทำเหมือนผู้สูงวัยคือปัญหา ภาระบุตรหลาน เมื่อมีเงินแต่ไม่มีเวลา ก็ส่งไปบ้านพักคนชรา ปล่อยให้เฝ้ารอคอยวันตายอย่างเยือกเย็นชา … เป็นสถานที่ที่ไม่ต่างจาก The Ballad of Narayama (1958/83) ของโลกปัจจุบัน!

ปัญหาของโลกยุคสมัยนี้คือ ‘จิตสำนึก’ ที่สูญหาย เพราะฉันต้องไปทำงาน ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ไม่มีเวลาว่างดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว จึงผลักภาระไปให้บ้านพักคนชรา ใช้เงินในการแก้ปัญหา … นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับคนหนุ่ม-สาว น่าจะสร้างสามัญสำนึกต่อพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ผู้สูงวัยในครอบครัว เรียนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ ตอบแทนท่านในสิ่งที่เหมาะสมควร และขอให้เป็นทางออกสุดท้ายจริงๆ ถ้าคิดจะส่งพวกท่านไปบ้านพักคนชรา (ไม่ได้จะบอกว่าสถานที่นี้ไม่ดี แต่มันคือ’จิตสำนึก’ของลูกหลานควรจะดูแลบุพการี ไม่ใช่ปล่อยทิ้งขวางให้เป็นภาระผู้อื่น)

แซว: ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนหนังเรื่องนี้ให้ตีพิมพ์วันแม่นะครับ เป็นความบังเอิญอย่างพอดิบพอดี ซึ่งแม้อาเตาไม่ใช่มารดาแท้ๆของโรเจอร์ แต่สัมพันธภาพพวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่หรอก

จัดเรต 13+ กับความเครียด ดื้อด้าน เอาแต่ใจของผู้สูงอายุ

คำโปรย | A Simple Life ชีวิตไม่ง่ายของผู้กำกับสวีอันฮัว แต่เมื่อถึงเวลาก็ควรปล่อยละวางจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติด
คุณภาพ | ล่
ส่วนตัว | แค่ชอบ

Boat People (1982)


Boat People (1982) Hong Kong : Ann Hui ♥♥♥♥

ภายหลังไซ่ง่อนแตก ค.ศ. 1975 ชาวเวียดนามใต้ต้องเลือกระหว่างศิโรราบต่อพรรคคอมมิวนิสต์ หรือหาหนทางขึ้นเรือหลบหนีออกนอกประเทศ จะว่าไปไม่แตกต่างจากหลังสงครามกลางเมืองจีน (1945-49) สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋นอพยพสู่เกาะไต้หวัน รวมถึงปัจจุบันที่ชาวฮ่องกงกำลังเตรียมตัวลี้ภัย ไปให้ไกลก่อนดินแดนแห่งนี้กลับคืนเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่โดยสมบูรณ์ ค.ศ. 2047

Boat People (1982) เป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในความสนใจของผมมานานมากๆ เตะตาเตะใจตั้งแต่เห็นติด Top10 ในลิส “Best Hong Kong Movie of All-Time” และเมื่อตอนหาข้อมูลนักแสดงหลิวเต๋อหัว พบว่าเจ้าตัวได้รับการผลักดันจากโจวเหวินฟะ แนะนำผู้กำกับสวีอันฮัวให้เลือกเด็กหนุ่มหน้าใสคนนี้ แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที!

ระหว่างรับชม Boat People (1982) ทำให้ผมระลึกถึง Apocalypse Now (1979) และ The Killing Fields (1984) ที่แม้ไม่ใช่หนังสงคราม (ถือเป็น Post-Wars film) แต่เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย ภาพความตายบาดตาบาดใจ (เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนรับชมนะครับ!) เผยให้เห็นถึงสันดานธาตุแท้เผด็จการ สนเพียงสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่คนในชาติกลับปฏิบัติเหมือนเชือดหมูเชือดไก่ ไม่ใคร่สนหลักศีลธรรม มโนธรรม และมนุษยธรรม พบเห็นความคอรัปชั่นแทรกซึมอยู่ทุกๆระดับ

แต่สิ่งน่าตกอกตกใจที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ออกทุนสร้าง! สาเหตุเพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน เพิ่งเกิดสงครามจีน-เวียดนาม (Sino-Vietnamese War) หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สาม เป็นการสู้รบชายแดนระยะเวลาสั้นๆ ช่วงระหว่าง 17 กุมภาพันธ์ถึง 16 มีนาคม ค.ศ. 1979 เพื่อตอบโต้การบุกยึดครองกัมพูชาของเวียดนามเมื่อต้นปี 1978 (เป็นการทำลายอิทธิพลเขมรแดงที่จีนให้การหนุนหลัง) … ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอนุมัติสร้างภาพยนตร์ที่มีลักษณะต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam)

ซึ่งการได้รับทุนสร้างจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนนั้น ทำให้หนังถูกตีตราจากพวกฝั่งขวา/เสรีนิยม (Leftist) ว่าเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) เมื่อได้รับเลือกเข้าร่วมสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes กลับถูกรัฐบาลฝรั่งเศสล็อบบี้ห้ามฉาย เพราะกลัวจะทำลายความสัมพันธ์อันดีกับอดีตประเทศอาณานิคม (เวียดนามเคยตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส)

นอกจากนี้หนังยังถูกแบนในไต้หวัน (ช่วงนั้นมีนโยบายห้ามนำเข้าหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่) ขณะที่กองเซนเซอร์จีนก็สั่งห้ามฉายเพราะดูไม่ค่อยเหมือนหนังต่อต้านเวียดนาม ส่วนฮ่องกงหลังจากกลับคืนสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่ ค.ศ. 1997 จะไปรอดพ้นการโดนแบนได้อย่างไร

โชคชะตากรรมของ Boat People (1982) ก็เลยล่องลอยคออยู่กลางมหาสมุทร … ผู้ชมที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าจะรู้สึกเคว้งคว้าง หมดสิ้นหวังอาลัยเช่นกัน!


สวีอันฮัว, 許鞍華 (เกิดปี 1947) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่อันชาน มณฑลเหลียวหนิง, บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น เมื่ออายุ 5 ขวบ ครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่มาเก๊า ค้นพบความชื่นชอบด้านวรรณกรรม บทกวี สมัยเรียนเข้าร่วมชมรมการแสดง สำเร็จการศึกษาภาษาอังกฤษและวรรณกรรม University of Hong Kong, จากนั้นไปเรียนต่อสาขาภาพยนตร์ London Film School

เมื่อเดินทางกลับฮ่องกง มีโอกาสทำงานผู้ช่วยผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) จากนั้นเข้าร่วม Television Broadcasts Limited (TVB) กลายเป็นนักเขียนบท กำกับสารคดีฉายโทรทัศน์ Below the Lion Rock หนึ่งในนั้นคือตอน Boy from Vietnam (1978) บันทึกภาพผู้อพยพ เด็กชายชาวเวียดนามแอบเข้าฮ่องกงอย่างผิดกฎหมาย เพื่อติดตามหาพี่ชาย … กลายเป็นจุดเริ่มต้น Vietnam Trilogy

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก The Secret (1979) คว้ารางวัล Golden Horse Award: Best Feature Film, ติดตามด้วย The Spooky Bunch (1980), The Story of Woo Viet (1981) ถือเป็นเรื่องที่สองของ Vietnam Trilogy ชายหนุ่มหูเยว่, 胡越 (รับบทโดยโจวเหวินฟะ) กำลังหาทางหลบหนีออกจากฮ่องกง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งมายังฟิลิปปินส์ เอาตัวรอดด้วยการเป็นมือปืนรับจ้าง

ภายหลังสิ้นสุดสงครามจีน-เวียดนาม, Sino-Vietnamese War เมื่อปี 1979 รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์นำเสนอโปรเจคที่มีลักษณะชวนเชื่อ ต่อต้านเวียดนาม (Anti-Vietnam) แม้นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของผู้กำกับสวีอันฮัว แต่โปรดิวเซอร์มองว่านั่นคือโอกาสหายากยิ่ง (ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อน ผู้กำกับจากฮ่องกงหรือไต้หวันที่แสวงหาทุนสร้างจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่) และสามารถเลือกสถานที่ถ่ายทำยังเกาะไหหลำ (เพราะคงไม่มีทางเข้าไปถ่ายทำยังดานัง ซึ่งในประเทศจีนก็เพียงมณฑลแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมและอยู่ใกล้เวียดนามมากที่สุด)

สำหรับ 投奔怒海 (แปลตรงตัวว่า Into the Raging Sea) ชื่อภาษาอังกฤษ Boat People (1982) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในไตรภาค Vietnam Trilogy ร่วมงานกับนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 (ตั้งแต่ The Story of Woo Viet (1981)) ได้แรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์ที่ผู้กำกับสวีอันฮัว เมื่อตอนถ่ายทำสารคดี Boy from Vietnam (1978) มีโอกาสพูดคุยกับผู้อพยพชาวเวียดนามนับร้อย ส่วนใหญ่คือพวกเข้าเมืองผิดกฎหมาย เล่าถึงประสบการณ์อันน่าหวาดสะพรึงระหว่างอยู่บนเรือ รอดไม่รอด ถึงไม่ถึงฝั่ง

ฉบับร่างแรกพัฒนาตัวละครโตมินห์ (รับบทโดยหลิวเต๋อหัว) นักโทษหลบหนีออกจาก New Economic Zone (N.E.Z) เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางข้ามมหาสมุทร (ตามชื่อหนัง Boat People) แต่ความยุ่งยากในการถ่ายทำ รวมถึงงบประมาณที่จำกัด ก็เลยต้องมองหาเรื่องราวอื่นเสริมเพิ่มเติมเข้าไป

In the original script he gets away and most of the film is set at sea. And in the real story the boat was sunk. What happened was that the Viet­namese had two patrol boats which fired into the hull of the refugee boat and then went around and around it, until they created a great whirlpool, so that the whole boat was sunk. It was in all the newspapers in Hong Kong at the time. But we couldn’t shoot the whirlpool, be­cause technically it was impossible for us.

ผู้กำกับสวีอันฮัว

ผู้กำกับสวีอันฮัวได้แรงบันดาลใจตัวละครช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa (รับบทโดย หลินจื่อเสียง) จากการค้นพบหนังสือ Letter to Uncle Wah (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเขียนโดยใคร ตีพิมพ์ปีไหน) นำเสนอในลักษณะไดอารี่ของเด็กหญิงชาวเวียดนาม (เขียนถึง Uncle Wah) บรรยายความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต แม้พื้นหลัง ค.ศ. 1974 แต่ก็แทบไม่แตกต่างจากหลังไซ่ง่อนแตก ค.ศ. 1979

During our research, we came across a book written by a Japanese reporter called Letter to Uncle Wah. It’s set in Vietnam in 1974 and written in the form of a diary for a little girl. And we found, when comparing this account with conditions in Vietnam after the Liberation, that the living stan­dards of the very poor had not basically changed. If anything, they were worse. So the details of the diary could be trans­posed to 1978.

แซว: Chiu Kang-Chien เล่าว่าในการพัฒนาบท Boat People (1982) ทำให้เขาต้องนั่งฟัง Mozart: Requiem ไม่ต่ำกว่าร้อยๆรอบ เพื่อซึมซับบรรยากาศอันหดหู่ หมดสิ้นหวัง จักได้เข้าใจความรู้สึกชาวเวียดนามสมัยนั้น


เรื่องราวเริ่มต้นปี ค.ศ. 1975 หลังจากไซ่ง่อนแตก ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa (รับบทโดย หลินจื่อเสียง) มีโอกาสบันทึกภาพชัยชนะของของเวียดนามเหนือ ขณะเดียวกันก็หันไปพบเห็นเด็กชายขาขาดคนหนึ่ง กลายเป็นภาพจำติดตา ทำให้เขาอยากหวนกลับมาเวียดนามอีกครั้ง

สามีปีให้หลัง Akutagawa ก็มีโอกาสเดินทางกลับมาเวียดนามอีกครั้ง ด้วยคำเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาล เพื่อบันทึกภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเมืองดานัง พบเห็นเด็กๆเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ไม่นานก็รู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจัดฉาก สร้างภาพภายนอกให้ดูดี แท้จริงแล้ว…

หลังจาก Akutagawa ได้รับอนุญาตให้สามารถออกเตร็ดเตร่ เดินทางไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆด้วยตนเอง (โดยไม่มีใครติดตาม) ทำให้พบเห็นสภาพเสื่อมโทรมของประเทศเวียดนาม ทหาร/ตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ประชาชนอดๆอยากๆไม่มีอันจะกิน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยเงินๆทองๆ โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ไร้สามัญสำนึก มโนธรรม ศีลธรรม สนเพียงทำอย่างไรให้อิ่มท้อง เอาตัวรอดไปวันๆ


หลินจื่อเสียง, 林子祥 (เกิดปี 1947) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ฮ่องกง บิดาเป็นหมอสูติศาสตร์ ส่งบุตรชายเข้าโรงเรียนนานาชาติ ทำให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ตั้งแต่เด็ก, คุณปู่ซึ่งก็เป็นหมอเหมือนกัน ชอบพาหลานชายไปชมภาพยนตร์ แต่เจ้าตัวมีความชื่นชอบด้านการร้องเพลง ร้อง-เล่นเปียโน ดีดกีตาร์, โตขึ้นเดินทางไปศึกษาต่อประเทศอังกฤษ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาฮ่องกงตัดสินใจเป็นนักร้อง ออกอัลบัมแรก Lam (1976) มีบทเพลงทั้งภาษาอังกฤษ/กวางตุ้งดังๆติดชาร์ทอันดับหนึ่งนับไม่ถ้วน, นอกจากนี้ยังรับงานแสดง ซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Luckies Trio (1978), The Secret (1979), Boat People (1982), King of Beggars (1992) ฯ

รับบทช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa เคยถ่ายภาพชัยชนะของกองทัพเวียดนามเหนือหลังไซ่ง่อนแตก แล้วถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก สร้างความประทับใจให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ จึงชักชวนเขากลับมาบันทึกภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเมืองดานัง เพื่อนำเสนอพัฒนาการหลังสิ้นสุดสงคราม ประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกอีกครั้ง! แต่ไม่นานก็ตระหนักว่าสิ่งเหล่านั้นคือการจัดฉาก สร้างภาพลวงหลอกตา เพราะเมื่อพบเห็นเด็กสาวก๋ามเนือง แอบติดตามไปที่บ้าน รับรู้ถึงวิถีชีวิต สภาพครอบครัว เต็มไปด้วยความยากจนข้นแค้น พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแลกมาด้วยเงินๆทองๆ เอาตัวอยู่รอดไปวันๆ

ใครที่รับรู้จักหลินจื่อเสียง คงจดจำหนวดงามๆ หล่อมั้งนะ! ต้องชมในความทุ่มเทพยายาม เพราะช่างภาพเป็นอาชีพที่ต้องกระตือรือล้น เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น สังเกตว่าตัวละครเลือกจะบุกป่าฝ่าดง ออกเดินทางผจญภัย หลายๆครั้งถึงขนาดเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เพื่อให้ได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริง แม้ไม่มีกล้องบันทึกภาพ แต่นั่นคือสิ่งจักถูกเปิดเผยแก่ผู้ชมภาพยนตร์!

ซึ่งเมื่อตัวละครพบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายของสังคม หลายๆครั้งก็มิอาจอดกลั้นฝืนทน แสดงออกปฏิกิริยาอารมณ์อย่างเกรี้ยวกราด ครุ่นคิดว่าตนเองต้องกระทำบางสิ่งอย่าง แม้ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แต่สำหรับคนที่เขามีโอกาสรับรู้จัก แม้เสี่ยงชีวิตเข้าแลกก็ยินยอมเสียสละ เพื่ออนาคตน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่

การที่ตัวละครนี้แสดงปฏิกิริยาอารมณ์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ถือเป็นการชี้ชักนำทางผู้ชม (Manipulate) ให้รับรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันนั้น คนที่สามารถสังเกตได้จะรู้สึกอึดอัดรำคาญใจ เพราะนี่คือลักษณะหนึ่งของการ ‘ชวนเชื่อ’ ซึ่งผมรู้สึกว่าผู้กำกับสวีอันฮัวจะไม่รับรู้ตนเองด้วยซ้ำนะ


หลิวเต๋อหัว, 劉德華 (เกิดปี 1961) นักแสดงชาวจีน หนึ่งในสี่จตุรเทพแห่งวงการเพลงป๊อป (กวางตุ้ง) เกิดที่เขตไทโป เกาะฮ่องกง, สมัยเด็กมีฐานะยากจน หลังเรียนจบเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงฝึกหัดสถานีโทรทัศน์ TVB มีชื่อเสียงจากบทเอี้ยก้วย ซีรีย์มังกรหยก (1983), ส่วนภาพยนตร์เริ่มจาก Boat People (1982), As Tears Go By (1988), A Moment of Romance/ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ (1990), Internal Affairs ภาคหนึ่งกับสาม, House of Flying Daggers (2004), The Warlords (2007), A Simple Life (2011) ฯลฯ

รับบทโตมินห์ (To Minh) เพราะเคยเป็นคนแปลภาษาให้ทหารอเมริกัน หลังสงครามเลยถูกส่งตัวไปใช้แรงงานยังค่าย New Economic Zone แต่ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีอาการบาดเจ็บที่ต้นขา ตระเตรียมวางแผนขึ้นเรือหลบหนีสู่สหรัฐอเมริกา พยายามลักขโมยกล้องถ่ายรูปของ Shiomi Akutagawa จึงถูกจับกุมตัวแล้วส่งกลับไปค่ายอีกครั้ง ครานี้โดนสั่งทำงานปลดเหมืองระเบิด เหลือเวลาอีกเพียง 4 วันจะออกเดินทางไปจากนรกขุมแห่งนี้

เกร็ด: ชื่อที่คนเวียดนามนิยมใช้คือ ตงมินห์, Thông Minh ไม่ใช่ To Minh (อาจแปลมาผิดเพราะออกเสียงคล้ายๆกัน) ซึ่งคำว่า Minh แปลว่าเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด มีความยอดเยี่ยม

แรกเริ่มนั้นผู้กำกับสวีอันฮัวต้องการโจวเหวินฟะให้มารับบทโตมินห์ แต่พอเจ้าตัวรับรู้ว่าหนังได้ทุนสร้างจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ กลัวจะสูญเสียแฟนๆจากไต้หวัน (และโดน Blacklist) เลยบอกปัดปฏิเสธ พร้อมแนะนำนักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งเคยร่วมงานแต่ยังจดจำชื่อไม่ได้ ทีแรกก็ไม่ใครรับรู้ว่าคือใคร แต่มันคือโชคชะตาของหลิวเต๋อหัวให้ได้รับบทบาทภาพยนตร์เรื่องแรกนี้

ทีแรกผมดูไม่ออกเลยนะว่าตัวละครนี้คือหลิวเต๋อหัว เพราะใบหน้ายังดูละอ่อน แถมมีการย้อมสีผิวให้คมเข้ม (เหมือนชาวเวียดนาม) กลมกลืนไปกับตัวประกอบจนแยกไม่ออก แต่การแสดงถือว่าเจิดจรัสมากๆ (กว่าหลินจื่อเสียงด้วยซ้ำไป!) โดยเฉพาะตอนปลดระเบิด สีหน้าอันตึงเครียด สมาธิอันแน่แน่ว สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ทำเอาผมแทบไม่กล้าผ่อนลมหายใจ

ยุคสมัยนั้นกับการแสดงที่โคตรสมจริงขนาดนี้ ถือว่าอนาคตในวงการของอาหลิวได้เปิดกว้างอย่างมากๆ จนสามารถประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับมีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่หวนกลับมาร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัว หนึ่งในนั้น A Simple Life (2011) เรียกว่าสูงสุดกลับคืนสามัญคงไม่ผิดอะไร ซึ่งถือเป็นอีกผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของทั้งคู่ด้วยนะครับ


หม่าซือเฉิน, 馬斯晨 นักแสดง/ผู้ช่วยผู้กำกับ ด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์ จึงมักรวมกลุ่มเพื่อนๆ พูดคุยพบปะสังสรรค์ยัง Patio Cafe ในโรงแรม Renaissance Kowloon Hotel ย่านจิมซาจุ่ย (เหมือนจะปิดบริการไปแล้ว) วันหนึ่งไปเข้าตาแมวมอง ผู้กำกับสวีอันฮัวชักชวนมาเป็นแสดงภาพยนตร์ Boat People (1982), แต่อาจเพราะหน้าตาธรรมดาๆ เลยพยายามทำงานเบื้องหลัง ก่อนค่อยๆเลือนหายตัวออกไปจากวงการ

รับบทก๋ามเนือง (Cam Nướng) เด็กสาวชาวเวียดนาม สูญเสียบิดาจากสงคราม มารดาล้มป่วยอิดๆออดๆแต่ก็แอบรับงานโสเภณี กลายเป็นพี่คนโตในครอบครัวดูแลน้องๆอีกสองคน กลางวันเปิดแผงลอยขายชานอ้อย กลางคืนรับจ้างล้างจานใกล้ๆย่านผู้หญิงขายบริการ ครั้งหนึ่งระหว่างกำลังจ่ายตลาด ชูนิ้วกลางใส่ Shiomi Akutagawa สร้างความฉงนสงสัยจนทำให้เขาติดตามมาจนถึงบ้าน ขอให้เธอเป็นไกด์พาไปยังสถานที่ต่างๆ

เกร็ด: Cam แปลว่าส้ม, ส่วน Nướng มาจากแหนมเนือง หรือแหนมย่าง (แปลว่า ย่าง) นำมารวมกันอาจงงๆ ส้มย่าง??

ทีแรกผมนึกว่าทีมงานคัดเลือกนักแสดงเวียดนาม เพราะความกลมกลืน ดูไม่ฝืนธรรมชาติเลยสักนิด! แต่แท้จริงหม่าซือเฉินเป็นชาวฮ่องกงแท้ๆ นั่นสร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างมากๆ นั่นแสดงว่าเธอมีความสามารถที่โดดเด่น แม้อายุยังน้อยแต่พร้อมทุ่มเทให้กับการแสดง … โดยเฉพาะฉากตั้งใจจะเสียความบริสุทธิ์ พบเห็นภาษากายที่หลายๆคนน่าจะอ่านออกอย่างชัดเจน (คือเข้าใจเรื่องพรรค์นี้ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ!)

น่าเสียดายที่แม้ฝีไม้ลายมือโดดเด่น เห็นว่าคว้ารางวัล Best New Performer ตัดหน้าหลิวเต๋อหัวด้วยซ้ำนะ! แต่เพราะรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ธรรมดาเกินไป เลยไม่มีใครไหนมอบโอกาสทางการแสดงให้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Wong Chung-kei, 黃宗基 ร่วมงานผู้กำกับสวีอันฮัวตั้งแต่ The Secret (1979), Boat People (1982), An Autumn’s Tale (1987), Painted Faces (1988), God of Gamblers (1989), Once Upon a Time in China (1991), King of Beggars (1992) ฯ

งานภาพของหนังมีลักษณะคล้ายๆการถ่ายทำสารคดี (documentary-like) เน้นความเป็นธรรมชาติ ดูสมจริง ดิบ เถื่อน กลิ่นอายเหมือน Neorealist แต่ไม่ใช่ Neorealist (เพราะทุกสิ่งอย่างเป็นการจัดฉากขึ้นจึงไม่ใช่คำที่ถูกต้องสักเท่าไหร่) เลือกถ่ายทำยังเกาะ/มณฑลไหหลำ เพราะมีสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ใกล้เคียงประเทศเวียดนามมากที่สุด

ถึงหนังได้รับการบูรณะแล้ว แต่ผมยังรู้สึกว่างานภาพมีความเก่าๆ ดูซีดๆ แทบจะไม่มีสีสันอะไร แต่นั่นถือว่าเข้ากับบรรยากาศอันหมองหม่น แสดงถึงความเสื่อมโทรมของเวียดนามยุคสมัยนั้น และไฮไลท์คือสีแดงของเลือด เมื่อปรากฎขึ้นจะมีความโดดเด่นชัดเจนมากๆ … แอบให้ความรู้สึกเหมือน Schindler’s List (1993) แต่แทนที่จะเป็นฟีล์มขาว-ดำ กลับปรับโทนสีอื่นๆให้ดูจืดจาง ซีดลง แล้วเมื่อไหร่สีแดง/เลือดปรากฎขึ้น ผู้ชมย่อมสัมผัสได้ถึงหายนะ ความตาย

แม้งานภาพจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา บดขยี้หัวใจผู้ชมให้แตกสลาย แต่ผู้กำกับสวีอันฮัวไม่ได้พึงพอใจในไดเรคชั่นสักเท่าไหร่ แสดงความเห็นว่าประเด็นของหนังมันทรงพลังเกินกว่าจะหาวิธีนำเสนอ ‘visual style’ ให้มีความโดดเด่นไปกว่า

In Boat People the style does not make a statement. It’s just a plain narrative. But I still can’t think of better ways to shoot it.

I’m not very satisfied with the style of the film. I didn’t find a way of shooting it that was wholly appro­priate. Perhaps it was because the sub­ject matter is so strong, the script and dialogue so carefully written, that I couldn’t use an obtrusive visual style. 

ผู้กำกับสวีอันฮัว

30 เมษายน ค.ศ. 1975 วันแห่งการเสียกรุงไซ่ง่อน (เรียกโดยผู้สนับสนุนเวียดนามใต้) หรือการปลดปล่อยไซ่ง่อน (เรียกโดยผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือ) คนไทยเรียกเหมารวมว่าว่า ไซ่ง่อนแตก หลังจากสหรัฐอเมริกาอพยพทหารออกไป กองทัพเวียดนามเหนือก็กรีฑาเข้ามาในเวียดนามใต้

แต่ท่ามกลางการปรบมือ ขบวนพาเรดทหาร/รถถังเข้ายึดเมืองไซ่ง่อน ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Akutagawa กลับพบเห็นเด็กชายขาพิการคนหนึ่ง อดรนทนไม่ได้ต้องติดตามไปบันทึกภาพ มันเป็นความขัดย้อนแย้งต่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ใครต่อใครพยายามถูกปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ นั่นคือฝั่งผู้พ่ายแพ้ย่อมต้องก้มหัว ศิโรราบ ยินยอมรับโชคชะตากรรมหลังจากนี้

ไดเรคชั่นของหนังทั้งเรื่องก็จะเป็นไปในทิศทางนี้นะครับ เริ่มต้นด้วยสิ่งสวยหรู ดูดี แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างภาพ ลวงหลอกตา เพราะเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ ทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรตรงกันข้าม อะไรที่หลงเหลือล้วนคือหายนะ ความวิโยค โศกนาฎกรรม

Last night I dreamed of Chairman Ho
He has a long, long beard and silvery hair
I long to hold him, to snower kisses on him
May Chairman Ho live 10000 years!
May Chairman Ho live 10000 years!

ระหว่างที่เด็กๆกำลังขับร้องเพลงสรรเสริญลุงโฮจิมินห์ (ไม่ได้มีความแตกต่างจากประธานเหมาเจ๋อตุงเลยนะ!) ช่างภาพชาวญี่ปุ่น Akutagawa ก็พูดประโยคแรกของหนัง “Don’t look at the camera”. นี่ไม่ใช่แค่คำบอกกล่าวเด็กๆ อย่าหันมาสบตาหน้ากล้อง เดี๋ยวภาพถ่ายออกมาไม่สวย แต่ยังคือคำสนทนา/ท้าทายผู้ชม เพราะการสั่งห้ามมักทำให้มนุษย์เกิดความอยากรู้อยากเห็น ต้องการจับจ้องมอง (เสือกเรื่องราวบ้าน) รับรู้ให้ได้ว่าภาพยนตร์นี้กำลังจะนำเสนออะไร

โดยปกติแล้วรองเท้ามีไว้สวมใส่ แต่ชายคนนี้กลับนำมาห้อยคออย่างภาคภูมิใจ ทำราวกับเป็นของสูงส่งล้ำค่า แต่ผมรู้สึกเหมือนเป็นการอวดอ้างตนเองเสียมากกว่า (ก็ไม่รู้ว่าเข่นฆ่าจริงๆหรือลักขโมยมา) เพื่อเขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ใน New Economic Zone โดยไม่ต้องหวาดกลัวจะถูกจับกุมข้อหาต่อต้านรัฐบาล … รองเท้าคู่นี้คือเป็นหลักประกันถึงความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิส์

โชคชะตากรรมของลุงคนนี้ ก็ไม่รู้เสียชีวิตอย่างไร แต่แทนที่จะได้สวมใส่รองเท้าคู่นี้ก้าวเดินสู่ยมโลก กลับตกเป็นของชายคนที่นั่งอยู่ทางซ้าย ราวกับต้องการจะสื่อว่าบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ไม่ได้ใคร่สนความต้องการของประชาชนสักเท่าไหร่

ระหว่างทางกลับจาก New Economic Zone มีการหยุดมุงดูเหตุการณ์ไฟไหม้ ตำรวจกำลังไล่ล่าจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ ด้วยสันชาตญาณนักข่าวของ Akutagawa จึงรีบเร่งตรงเข้าไปบันทึกภาพโดยพลัน

เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารหลังนี้ สามารถเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงสงคราม การต่อสู้ ทำให้ประเทศชาติมอดไหม้วอดวาย ตำรวจ vs. ผู้ก่อการร้าย ก็คือตัวแทนเวียดนามเหนือ vs. ใต้ ผลลัพท์คือต่างฝ่ายต่างตกลงมา นอนแอ้งแม้ง ไม่ว่าฝั่งฝ่ายไหนล้วนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะที่บุคคลนอก Akutagawa ทั้งๆไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นแค่เพียงบันทึกภาพ กลับถูกถีบส่ง โดนกระทำร้ายร่างกาย อย่ามาเสือกเรื่องชาวบ้าน!

ต่อให้พยายามสร้างภาพ New Economic Zone ให้ดูดีสักเพียงไหน แต่ไม่มีใครสามารถควบคุมเด็กๆตัวเล็กๆ บีบบังคับให้พวกเขาทำโน่นนี่นั่น เพราะสันชาตญาณมนุษย์ต้องการความรัก ความอบอุ่น ใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง สังเกตได้จากการขอให้อุ้ม เพื่อเติมเต็มความเวิ้งว่างเปล่าภายในจิตใจ

ฉากนี้ยังสะท้อนการจัดการของเบื้องบน/คอมมิวนิสต์ ที่สนเพียงภาพลักษณ์ โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัด ขีดความสามารถบุคคล คนๆเดียวจะจัดการทุกสิ่งอย่างได้อย่างไร? แต่เมื่อผลลัพท์ออกมาไม่น่าพึงพอใจ ก็สั่งย้าย ไล่ออก กำจัดภัยพาล ไร้ซึ่งจิตสามัญสำนึก มนุษยธรรม มโนธรรมประการใด!

Akutagawa หลังพบเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายๆอย่างใน New Economic Zone เลยตัดสินใจร้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เงวียน (Comrade Nguyễn) ให้ออกเตร็ดเตร่ไปด้วยตนเองโดยไม่มีใครคอยติดตาม

สถานที่ที่พวกเขาเดิน-คุย คือบริเวณริมชายหาด พบเห็นต้นมะพร้าว และพระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า ซึ่งสามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดของมายา ภาพลวงหลอกตา (เวียดนามที่แสร้งว่าเจิดจรัสดั่งพระอาทิตย์) หลังจากนี้เรื่องราวจะดำเนินสู่ยามค่ำคืนอันมืดมิด พบเห็นวิถีชีวิต/สภาพแท้จริงของสาธารณรัฐเวียดนาม

เมื่อได้รับโอกาสออกเตร็ดเตร่ไปตามดานัง Akutagawa กลับพบเจอเห็นแต่ผู้คนที่ไม่เป็นมิตร แสดงสีหน้าเคร่งเครียด ปฏิเสธพูดคุยสนทนา นั่นเพราะพวกเขายังเต็มไปด้วยอคติต่อชาวต่างชาติ กลัวจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วโดนตัวส่งตัวเข้า New Economic Zone ในมุมมองพวกเขาไม่ต่างจากคุก สถานกักกัน มีแต่นักโทษ อาชญากร รับโทษทัณฑ์

จนกระทั่งมาถึงร้านขายอาหารข้างทางแห่งหนึ่ง มีคนทำชามใส่เส้นหล่นลงพื้น แล้วมีเด็กๆกรูเข้ามาหยิบรับประทาน หนึ่งในนั้นคือเด็กสาวก๋ามเนือง หันมาชูนิ้วกลางใส่ Akutagawa สร้างความประทับใจ ฉงนสงสัย ทำไมเธอถึงปฏิบัติต่อเขาเช่นนั้น เลยแอบติดตามไป

Akutagawa แอบติดตามก๋ามเนืองมาจนถึงเรือ? เธอมาทำอะไรยังสถานที่แห่งนี้กัน? พอวางกระชอนก็เห็นถกกางเกงลง … อ๋อ … ปลดทุกข์ ซึ่งจะว่าไปเรื่องราวต่อจากนี้ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ในครอบครัวของเด็กสาว หรือคือสภาพที่แท้จริงของประเทศเวียดนาม

ถ่ายทุกข์บนเรือ นี่มันอะไรกันเนี่ย?? ระบบสาธารณสุขของเวียดนามสมัยนั้นย่ำแย่ขนาดนั้นเชียวหรือ?? ขณะเดียวกันทำไมต้องบนเรือ หรือจะล้อถึง Boat People กลุ่มบุคคลที่ถูกมองเป็นสิ่งปฏิกูล/ของเสีย ต้องขับออกจากประเทศเวียดนาม??

แซว: จะมีฉากที่เฉลยว่าสถานที่แห่งนี้ตอนกลางเรื่องด้วยนะครับ ก๋ามเนืองยังพูดบอกว่าการถ่ายทุกข์ลงทะเล เป็นความรู้สึกที่ผ่อนคลายจริงๆ

นี่เป็นช็อตเล็กๆที่นำเสนอสภาพครอบครัวของก๋ามเนือง (สามารถเทียบแทนระดับจุลภาคของประเทศเวียดนาม) สังเกตว่าภายในบ้านปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่ภายนอกกลับสว่างไสว และพวกเขาทั้งสี่ต่าง(ไล่ระดับความสูงกันเลยนะ) ยืนคนละฟากฝั่งกับ Akutagawa แสดงถึงการไม่ยินยอมรับเข้าพวกเดียวกัน

น้องชายคนรองวันหญาก (Văn Nhạc) สวมหมวกทหารเวียดนาม (น่าจะของบิดา) ประดับสองดั้ง เป็นคนพูดคุยต่อรองกับ Akutagawa รับรู้ทางหนีทีไล่ เข้าใจผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทำตัวเหมือนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในครอบครัวนี้ (เทียบแทนด้วยสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และอำนาจการปกครองอยู่ในเงื้อมมือเผด็จการทหาร)

ฟาร์มไก่ เป็นชื่อที่หลอกลวงผู้ชมเอามากๆ เพราะใครๆคงนึกว่าคงเป็นฟาร์มหรือไก่ตัวเป็นๆ แต่ที่ไหนได้ … นี่คือไดเรคชั่นของหนังที่ผมอธิบายไป เริ่มต้นด้วยการสร้างภาพลวงหลอกผู้ชม จากนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ

สถานที่แห่งนี้ทำให้ Akutagawa ได้พบเจอกับโตมินห์ (กล้องถ่ายมุมเงยให้สัมผัสเหมือนคือสวรรค์บันดาล โชคชะตาที่ได้พบเจอ) เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจาก New Economic Zone มารักษาแผลที่ขาหน้า และวันหญากยืนเหยียบศพผู้เสียชีวิต ทำราวกับว่าตนเองคือวีรบุรุษ ภาคภูมิใจในสิ่งที่กระทำ (กล้องถ่ายจากเบื้องบนค่อยๆซูมเข้าหา ราวกับสวรรค์จับจ้องมอง/จดบันทึกความตายของคนเหล่านั้นไว้)

ตัดกลับมาทางฝั่งเจ้าหน้าที่เงวียน นำพา Akutagawa มายังบาร์แห่งหนึ่ง หนังไม่ได้ระบุชื่อคุณนาย (รับบทโดย เหมียวเฉียนเหริน) เพียงแค่คำอธิบายว่าพื้นเพเป็นชาวจีน เมื่อญี่ปุ่นยึดครองไซ่ง่อน (ค.ศ. 1940) เสียตัวครั้งแรกให้นายพลขณะอายุ 14 ตามด้วยฝรั่งเศส อเมริกัน (ที่ผลัดกันเข้ายึดครองไซ่ง่อน) พานผ่านประสบการณ์มาจากโชกโชน และขณะนี้ก็ตกมาเป็นของเขา ปัจจุบันอายุย่างเข้า 50 ยังคงสวยไม่สร่าง

ผมชอบการเลือกบทเพลง La Vie en Rose ของ Édith Piaf เปิดแผ่นเสียงคลอประกอบบรรยากาศร้าน (ขณะรับฟังคำบรรยายของเจ้าหน้าที่เงวียน) เพื่อสะท้อนตัวตนของคุณนาย แม้พลีกายให้ผู้ชายมากมาย แต่บุคคลที่เธอรักมากสุดกลับเป็นชายหนุ่มโตมินห์ พร้อมปรนเปรอ มอบเงินทอง หวังว่าเขาจะสามารถเอาตัวรอด หลบหนีออกไปจากประเทศแห่งนี้

เพียงเห็นเลือดจากการหั่นสเต็ก Medium-Rare ก็ทำให้ Akutagawa เกิดอาการปั่นป่วนท้องไส้ หวนระลึกเหตุการณ์ที่ฟาร์มไก่ ซึ่งเราสามารถตีความถึง(เลือด)มนุษย์และ(เลือด)สัตว์ ประชาชนชาวเวียดนามมีสภาพไม่แตกต่างจากหมูหมากาไก่สักเท่าไหร่!

สำหรับประชาชนทั่วๆไป ข้าวปลาไม่มีอันจะกิน เด็กชายวันหญากต้องขุดคุ้ยกองขยะ เผื่อค้นพบสิ่งของมีค่านำไปค้าขายได้ราคา แต่โชคร้ายอะไรปานนั้น หยิบระเบิดมือขึ้นมา ตูม! แล้วพบเห็นใครบางคนวิ่งเอาธงชาติเวียดนามมาปกคลุม มองมุมหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้ชมทนเห็นภาพบาดตาบาดใจ ซึ่งลักษณะนี้คล้ายๆพิธีศพของทหาร คือการให้เกียรติ/สตุดีความเสียสละ ตายอย่างลูกผู้ชาย เพื่อคนอื่นจักรอดชีวิตอีกมากมาย

สิ่งหลงเหลือที่ก๋ามเนืองนำกลับบ้าน คือรองเท้าของวันหญาก คงต้องการเก็บไว้ให้น้องสวมใส่ ล้อกับคุณลุงตอนต้นเรื่องที่ห้อยรองเท้าทหารอเมริกัน แต่เรื่องราวขณะนี้มันไม่มีความน่าภาคภูมิใจอะไรเลยสักนิด!

บาร์ของคุณนาย ชั้นบนคือห้องนอนสำหรับรองรับแขกเหรื่อ บุคคลมีอำนาจ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ชนชั้นสูงที่ครอบครองเวียดนามขณะนั้นๆ (ผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา) แต่เธอดูไม่ได้กะตือรือล้น หลังเสร็จกามกิจก็สวมใส่เสื้อผ้า ยกมือข้างหนึ่งพาดไว้เหนือศีรษะ (เป็นท่วงท่าที่เหมือนคนไม่ยี่หร่าอะไรใคร)

ส่วนชั้นล่างด้านหลัง คุณนายกลับซุกซ่อนชู้รักโตมินห์ ชายหนุ่มคนธรรมดาๆ หน้า(ไม่)บ้านๆ ไร้ซึ่งการงาน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพักพิง สถานภาพถือว่าชนชั้นต่ำ แต่เธอกลับเต็มไปด้วยอารมณ์พิศวาส ร่านราคะ โอบรัดกัดกินมือของอีกฝ่าย (สัญลักษณ์ของเพศสัมพันธ์)

แซว: หมอน คือสิ่งสำหรับหนุนศีรษะเวลาหลับนอน ถ้าเป็นหนังอาชญากรมักซุกซ่อนปืนไว้ใต้หมอน แสดงถึงสิ่งสำคัญ ของรักของหวง ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้คุณนายเก็บเงินส่วนตัวเอาไว้ เพื่อนำมามอบให้ชู้รัก (จริงๆเรียกโตมินห์ว่าแมงดา น่าจะชัดเจนกว่านะ)

กล้องถ่ายรูปของ Akutagawa ถือเป็นจิตวิญญาณ ของรักของหวง เลยไม่ยินยอมให้โตมินห์ลักขโมยเอาไป พยายามเหนี่ยวรั้ง ทำทุกสิ่งอย่าง กดบาดแผลที่หน้าขาจนเขาล้มลง แสดงอาการเจ็บปวด ไม่สามารถวิ่งหลบหนีตำรวจ ซวยแล้วกรู! และโดยที่ไม่มีใครล่วงรับรู้ บาดแผลดังกล่าวซุกซ่อนแผ่นทองคำ ตั้งใจไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับขึ้นเรือออกเดินทาง คาดหวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสหรัฐอเมริกา … มันช่างล้อกันได้เจ็บปวดยิ่งนัก!

ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสังเกตไม่ยากว่า การแสดงออกที่ผิดปกติของก๋ามเนือง แท้จริงแล้วต้องการจะทำอะไร (ก็หนังพยายามชี้นำซะขนาดนั้น) รวมถึงคำตอบของ Akutagawa ร้อยทั้งร้อยไม่มีทางทำสิ่งเหล่านั้นโดยเด็ดขาด! นี่เป็นฉากที่ผมมองว่าสะท้อนความสิ้นหวัง เด็กสาวยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง (แม้กระทั่งขายตัว) เพื่อให้ตนเองและครอบครัวสามารถเอาชีวิตรอดไปวันๆ

แต่สิ่งที่ผมสนใจคือปฏิกิริยาแสดงออกของ Akutagawa จริงๆคงตระหนักมาสักพักแล้วละ จนกระทั่งเห็นขึ้นไปบนเตียง พร่ำบ่นเรื่องเท้าไม่สะอาด เลยเข้าไปยกอุ้มขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อบอกว่าเธอยังเป็นเด็กน้อย อายุฉันก็มากเท่ารุ่นพ่อ จะไปมีอารมณ์/ความต้องการทางเพศได้อย่างไร

แซว: เรื่องราวของก๋ามเนือง สามารถเชื่อมต่อกับคุณนาย (ที่เคยเสียตัวให้นายพลญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 14) ถ้าฉากนี้เธอขายตัวได้สำเร็จ โชคชะตาชีวิตคงดำเนินไปไม่แตกต่างกัน

ปฏิกิริยาของ Akutagawa หลังส่งก๋ามเนืองกลับบ้าน ตรงไปยังบาร์ของคุณนาย ดื่มเหล้าหมดแก้วแล้วแก้วเล่า แล้วเขวี้ยงขว้างลงบนพื้น ท่ามกลางแสงสีแดงอาบฉาบ แสดงถึงความรู้สึกภายในอันเกรี้ยวกราด … ไม่ได้โกรธพฤติกรรมของก๋ามเนืองนะครับ แต่คือสภาพแวดล้อม(แสงสีแดง)ที่หล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นแบบนั้นต่างหาก!

เหมืองระเบิด คือบริเวณที่เคยใช้สู้รบระหว่างสงคราม จึงมีการฝังระเบิดไว้ใต้ดินสำหรับลอบทำลายศัตรู แต่ก็มีบางลูกที่ยังไม่เคยใช้งาน พอจบสงครามก็ไม่มีใครไหนหวนกลับมาขุดกลบ จึงกลายเป็นหน้าที่พลเมืองชั้นเลว สมาชิก New Economic Zone รับหน้าที่เสี่ยงตายไม่เว้นวัน ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย/รั้วลวดหนาม (แต่ถึงยังรอดตัว บางคนก็หัวใจแตกสลาย)

การนำเสนอฉากปลดระเบิดแม้ไม่ได้มีเทคนิคหวือหวา แต่ต้องชมเลยว่าเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ลุ้นระทึก แทบมิอาจผ่อนลมหายใจ เพราะตัวละครต้องกระทำสิ่งอย่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามลำดับขั้นตอน ผิดพลาดพลั้งก็อาจดับดิ้นแค่เพียงเสี้ยววินาที … สะท้อนถึงการมีชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ทำอะไรผิดหูผิดตา/ไม่เป็นที่พึงพอใจเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ก็อาจระเบิดลง ถูกเก็บเข้ากรุ ตกตายทั้งร่างกาย-จิตใจ

เอาจริงๆมันก็มีโอกาสมากมายหลายครั้งเลยนะที่ Akutagawa จะถ่ายรูปคู่กับก๋ามเนือง แต่หนังกลับเลือกขณะฝนตกพรำ หลังจากพูดบอกผู้ติดตามว่าจะไม่ยื่นขอต่อวีซ่า (สายฝน=หยาดน้ำตาแห่งการร่ำลา) อีกไม่นานก็จักเดินทางกลับญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนี้เขายังพาเธอไปเลี้ยงอาหารหรู (คงตั้งใจให้เป็นงานเลี้ยงอำลา)

Hồ chủ-tịch vĩ-đại sống mãi trong sự nghiệp của chúng
แปลว่า Great President Ho living in our live forever.

ภายหลังการเสียชีวิตของโตมินห์ หนังตัดมาจากภาพวาด(ชวนเชื่อ)ในร้านอาหารหรูๆแห่งหนึ่ง ข้อความภาษาเวียดนามแปลว่า ‘ลุงโฮจิมินห์จะอยู่ภายในจิตใจพวกเราตลอดไป’ ซึ่งสามารถสื่อถึงโตมินห์จะอยู่ในใจผู้ชมตลอดไปก็ได้เช่นกัน (แต่หลายคนอาจตีความในทิศทางตรงกันข้าม ว่าโศกนาฎกรรมของโตมินห์เกิดจากความคอรัปชั่นในการบริหารจัดการรัฐบาลคอมมิวนิสต์/ลุงโฮจิมินห์)

มารดาของก๋ามเนือง โดนทางการควบคุมตัวข้อหาค้าประเวณี กระทำสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม ระหว่างกำลังถูกประจานต่อหน้าผู้คน เธอตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ด้วยการใช้ตะขอทิ่มแทงเข้าที่บริเวณลำคอ เหมือนปลาที่ถูกเบ็ดเกี่ยว ไม่สามารถแหวกว่ายดิ้นรน หลุดรอดพ้นจากโชคชะตากรรม

ผมเห็นตะขอฉากนี้ทำให้นึกถึงปลาตัวใหญ่ที่ก๋ามเนือง(และ Akutagawa)ต่อรองซื้อขาย ตั้งใจจะนำมาทำเป็นอาหารเย็น แต่น้องชายวันหญากดันโดนลูกระเบิดเสียชีวิต มันก็เลยถูกทิ้งขว้างไว้ข้างกองขยะ … ประสบโชคชะตาไม่แตกต่างกัน

อย่างที่บอกไปว่ากล้องถ่ายรูปคือจิตวิญญาณของ Akutagawa ไม่ยินยอมให้ถูกลักขโมยโดยโตมิญ แต่หลังจากพบเห็นการกระทำอัตวินิบาต(มารดาของก๋ามเนือง) ทำให้บางสิ่งอย่างภายในของเขาได้หมดสูญสิ้น ตกตายไป ซึ่งระหว่างกำลังเก็บกล้องใส่กล่อง จะมีการตัดต่อเคียงคู่ขนานกับการตอกปิดฝาโลงศพ!

ไม่ใช่ว่า Akutagawa หมดความสนใจในการเป็นช่างถ่ายภาพนะครับ แต่คือสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศแห่งนี้ เลยต้องการให้ความช่วยเหลือก๋ามเนือง ยินยอมขายกล้องที่เป็นของรักของหวง/จิตวิญญาณของตนเอง เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายขึ้นเรือออกเดินทาง ไปให้ไกลจากขุมนรกแห่งนี้

รอยแผลเป็น สำหรับชายชาติทหารมักคือสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ได้ผ่านการต่อสู้เสี่ยงเป็นเสียงตาย! สำหรับเจ้าหน้าที่เงวียน อาจมีความอับอายอยู่เล็กๆเลยบอกปัดปฏิเสธ Akutagawa ไม่ยินยอมให้ถ่ายรูปจนกว่าจะถึงวันตายของตนเอง นี่ก็ล้อกับรองเท้าทหารอเมริกันของลุง (ตอนต้นเรื่อง) บอกว่าต้องการสวมใส่ในวันที่ตนเองเสียชีวิต แต่สุดท้ายแล้วโชคชะตาทั้งสองเหมือนกันเปะ เมื่อวันนั้นมาถึง (แม้เจ้าหน้าที่เงวียนยังมีชีวิตอยู่ แต่การถูกย้ายไปดูแล New Economic Zone ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น) ต่างไม่มีใครได้รับในสิ่งคาดหวัง

ในกรณีของเจ้าหน้าที่เงวียน เหตุผลที่ไม่ได้ถ่ายรูปแผลเป็นเพราะ Akutagawa เพิ่งขายกล้องให้คุณนาย จริงๆถ้าเขาต้องการก็สามารถหยิบยืมมาก่อนก็ได้ แต่ในบริบทนี้จะสื่อว่าเขาสูญเสียความเชื่อมั่นต่อเวียดนามไปหมดสิ้น ภาพถ่ายรอยแผลเป็น (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ชัยชนะจากสงคราม) จึงไม่อยู่ในสายตาอีกต่อไป

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า เจ้าหน้าที่เงวียนทำอะไรผิดพลาดถึงถูกส่งเข้ากรุ ไม่รู้ความรับผิดชอบต่อ Akutagawa หรือเปล่า? แต่หลักการทำงานของคอมมิวนิสต์ก็เช่นนี้แหละ ใครทำอะไรไม่ถูกใจเจ้านาย ก็มักโดนเช่งหัว ขับไล่ สูญเสียทุกสิ่งอย่างสร้างมาทันใด

ภายหลังการเสียชีวิตของมารดา ก๋ามเนืองและน้องชายกำลังจะถูกส่งไป New Economic Zone ค่ำคืนสุดท้ายขณะกำลังเตรียมเก็บข้าวของ ร้อยเรียงภาพในบ้านที่ดูโหวงเหวง วังเวง ปกคลุมด้วยความมืดมิด เทียบแทนถึงเวียดนามขณะนั้น ช่างมีความน่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก!

การมาถึงของ Akutagawa แบกถังน้ำมันเข้ามา (ทีแรกผมนึกว่าจะนำมาเผาบ้าน ล้อกับตอนต้นเรื่องที่เขาพบเจอกลุ่มผู้ต่อต้าน) จากนั้นช่วยขับกล่อมร้องเพลง แล้วกล้องค่อยเคลื่อนเลื่อนจากชั้นล่างขึ้นไปบนหลังคา น่าจะแทนด้วยความคาดหวังว่าสักวันประชาชน(ชั้นล่าง)จะมีสิทธิ์เสียง เทียบเท่าเทียมบรรดาเบื้องบน(ชนชั้นสูง)ที่อาศัยอยู่อย่างเลิศหรูสุขสบาย

แวบแรกผมนึกถึงการเริงระบำแห่งความตายจากภาพยนตร์ The Seventh Seal (1957) ขณะที่ฉากนี้คือการเสียสละของ Akutagawa แม้ร่างกายมอดไหม้ แต่ก็สามารถกลายเป็นเปลวไฟ/แสงสว่างแห่งความหวัง (เริงระบำ=)อำนวยอวยพรให้ก๋ามเนืองสามารถหลบหนีจากสถานที่แห่งนี้ อยู่รอดปลอดภัย และมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อพูดถึงการเผาไหม้ตัวตาย นี่ย่อมเป็นการอ้างอิงพระสงฆ์ทิก กว๋าง ดึ๊ก (Thích Quảng Đức) ภิกษุมหายานชาวเวียดนามที่จุดไฟเผาตัวเองจนมรณภาพ ณ ถนนสี่แยกกรุงไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1963 เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกที่ข่มเหงชาวพุทธในประเทศเวียดนามใต้ มีการบันทึกภาพถ่ายโดย Malcolm Browne ได้รับเผยแพร่ไปทั่วโลกจนคว้ารางวัล Pulitzer Prize

No news picture in history has generated so much emotion around the world as that one.

John F. Kennedy ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาขณะนั้น

ผู้กำกับสวีอันฮัวคงคาดหวังว่าผู้ชมจะบังเกิดความรู้สึกบางอย่างกับฉากนี้! สำหรับผมเต็มไปด้วยความโกรธ เกรี้ยวกราด เหมือนเปลวไฟกำลังลุกมอดไหม้อยู่ภายใน แต่เพราะได้แค่จับจ้องมอง เพียงรับชมภายนตร์ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไร เวลาผ่านไปสักพักเลยกลายเป็นขี้เถ้าถ่าน ท้อแท้หมดสิ้นหวังอาลัย

ช็อตสุดท้ายของหนัง ก๋ามเนืองเหม่อมองออกไปท่ามกลางมหาสมุทรอันไกลโพ้น ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร เธอจักสามารถไปถึงฝั่งฝันไหม หรืออาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างกลางท้องทะเล เพียงแช่ภาพค้างไว้แล้วปล่อยให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมีความหวัง กำลังใจ แต่ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับโชคชะตากรรม

ตัดต่อโดย Kin Kin, 健健 ในเครดิตมีเพียงสองผลงาน Boat People (1982) และ Homecoming (1984)

หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครช่างภาพชาวญี่ปุ่น Shiomi Akutagawa ซึ่งสามารถเปรียบได้กับมุมมองของผู้ชมผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ (ตัวละครมองเหตุการณ์ผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป = ผู้ชมพบเห็นตัวละครผ่านจอภาพยนตร์) ซึ่งปฏิกิริยาทั้งหลายที่(ตัวละคร)แสดงออกมา(เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ) ล้วนคือความรู้สึกนึกคิดของผู้สร้าง ต้องการชี้นำอารมณ์ผู้ชมให้เป็นไปในทางทิศเดียวกัน … นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าการครอบงำ ‘manipulate’

เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์

  • อารัมบท, วันไซ่ง่อนแตก
  • ภาพลวงตาของ New Economic Zone
    • Shiomi Akutagawa ได้รับเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้ถ่ายภาพ New Economic Zone พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ประชาชนอาศัยกันอย่างสงบสันติสุข
    • แต่หลังจากพบเห็นเหตุการณ์ตำรวจไล่จับกลุ่มผู้ต่อต้าน ทำร้ายอีกฝั่งฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส/เสียชีวิต ก็ตระหนักถึงความผิดปกติที่ถูกซุกซ่อนเร้นไว้
  • สภาพความเป็นจริงของชาวเวียดนาม
    • Akutagawa ได้รับอนุญาตให้ออกไปเตร็ดเตร่ยังสถานที่ต่างๆโดยไม่มีผู้ติดตาม
    • บังเอิญถูกชะตาก๋ามเนือง เลยแอบติดตามไปจนถึงบ้าน พบเห็นวิถีชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ท้องอิ่ม ปล้นสิ่งของผู้เสียชีวิต (ฟาร์มไก่) ขุดคุ้ยเศษซากกองขยะ มารดากลายเป็นโสเภณี ฯลฯ
    • ตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีชีวิตอย่างหรูหรา สุขสบาย ดื่มกินเสพสำราญ สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ต้องสนอะไรใครนอกจากเลียแข้งเลียขาเจ้านาย
  • เรื่องราวของโตมินห์
    • โตมินห์ต้องการขึ้นเรือหลบหนีมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา เลยพยายามลักขโมยกล้องถ่ายรูปของ Akutagawa แต่โดนจับได้เลยถูกส่งกลับไปยัง New Economic Zone
    • Akutagawa ได้รับใบผ่านจาก ติดตามโตมินห์ไปพบเห็นสภาพที่แท้จริงของนักโทษใน New Economic Zone
    • โตมินห์ถูกมอบหมายให้ทำงานเหมืองระเบิด ระหว่างเฝ้ารอคอยการขึ้นเรือหลบหนี แต่พอวันนั้นมาถึง ก็มิอาจดิ้นหลุดพ้นโชคชะตากรรม
  • การตัดสินใจของ Shiomi Akutagawa
    • Akutagawa ตัดสินใจไม่ต่อวีซ่า แต่ต้องการช่วยเหลือโตมินห์ให้ออกไปจากนรกขุมนี้

สิ่งหนึ่งที่ต้องชมคือการลำดับเรื่องราวที่มีความค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก เช่นเดียวกับภาพโหดๆที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้ผู้ชมปรับตัว บังเกิดภูมิต้านทาน สามารถอดรนทนดูหนังจนจบ … และสำหรับคนที่อินกับเรื่องราวมากๆ มันจะเกิดความโกรธเกลียดเกรี้ยวกราด สะสมอันแน่นจนแทบปะทุระเบิดออกมา


เพลงประกอบโดย Law Wing-Fai, 羅永暉 คีตกวีชาวฮ่องกง สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีสังเคราะห์จาก University of California ชื่นชอบมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านจีน-คลาสสิกตะวันตก ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Hong Kong Academy for Performing Arts มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Opera, ละครเวที, ซีรีย์โทรทัศน์, ร่วมงานบ่อยครั้งกับผู้กำกับสวีอันฮัว อาทิ Boat People (1982), A Simple Life (2011) ฯ

ถึงผมไม่เคยรับรู้ว่าบทเพลงกลิ่นอาย Vietnamese นั้นเป็นเช่นไร แต่เหมือนหนังจะไม่ได้สนใจสักเท่าไหร่ (นอกจากที่เด็กๆขับร้องบทเพลงภาษาเวียดนาม) พยายามทำให้เป็นสากล/เข้าถึงผู้ชมด้วยดนตรีคลาสสิก สำหรับเสริมเติมแต่งอารมณ์ และผสมเสียงจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์เมื่อต้องการเน้นย้ำเหตุการณ์อันเลวร้าย ภาพความตาย สร้างความปั่นป่วนท้องไส้ รำคาญแก้วหูเสียจริง

ไม่ใช่ว่าทุกบทเพลงจะขับเน้นแต่อารมณ์หดหู่ หมดสิ้นหวัง ยกตัวฉากฉากที่ก๋ามเนืองนำพา Akutagawa แนะนำให้รู้จักฟาร์มไก่ เริ่มต้นขณะออกวิ่งด้วยท่วงทำนองครึกครื้นเครง อลเวง เสียงเครื่องเป่าล้อละเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่นั่นกลับเป็นการลวงล่อหลอกผู้ชม แบบเดียวกับการดำเนินเรื่องของหนัง เริ่มต้นสร้างภาพให้ดูดี ก่อนค่อยเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้คือ…

น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมเพลงประกอบ เพราะผมพยายามหาคำแปลบทเพลงภาษาญี่ปุ่นของ Akutagawa (ครั้งแรกขับร้องให้เด็กๆฟัง และช่วงท้ายกับสองพี่น้องก่อนพาหลบหนี) แต่ก็ไม่มีเจ้าไหนแปลซับไตเติ้ลให้เลย (แต่เพลงที่เด็กๆขับร้องสรรเสริญลุงโฮกลับมีคำแปล ซะงั้น!) นี่แสดงว่าผู้กำกับสวีอันฮัวจงใจใช้บทเพลงนี้ สำหรับผู้ชมที่ไม่รับรู้เนื้อคำร้อง ยังสามารถทำความเข้าใจท่วงทำนอง ห้วงอารมณ์ที่ตัวละครขับขานออกมา … เท่าที่ผมพอจับใจความได้บางคำ เกี่ยวกับการเดินทางไกล แม้ต้องทนทุกข์ยากลำบากขนาดไหน แต่ถ้าเราสามารถอดรนทน สักวันหนึ่งย่อมพบเจอหนทางออก ท้องฟ้าสว่างสดใส


ผู้กำกับสวีอันฮัว สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงช่วงปลายทศวรรษ 70s คาคลั่งไปด้วยคลื่นผู้อพยพมากหน้าหลายตา ไม่ใช่แค่จากเวียดนาม ยังรวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ (หลบหนีการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)) ทำให้ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สถานที่อยู่อาศัยเริ่มคับแคบแออัด ท้องถนนเต็มไปด้วยคนยากไร้ ขอทาน อาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง คุณภาพชีวิตสวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยความฉงนสงสัยว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? ผู้กำกับสวีอันฮัวจึงเริ่มครุ่นคิด ศึกษาค้นคว้า แล้วค้นพบต้นตอของปัญหา จากนั้นก็สรรค์สร้างสารคดี Boy from Vietnam (1978), ติดตามด้วยภาพยนตร์ The Story of Woo Viet (1981) และ Boat People (1982) ด้วยจุดประสงค์แทนคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้น ให้ชาวฮ่องกงได้รับรู้โดยทั่วกัน

Boat People เป็นคำเรียกที่มีความจำเพาะเจาะจงถึงผู้อพยพชาวเวียดนาม พยายามหลบหนีออกนอกประเทศทางเรือ ตั้งแต่หลังสงคราม Vietnam War (1955-75) ช่วงระหว่างปี 1975-95 คาดการณ์ตัวเลขมากกว่า 800,000+ คน โดยปลายทางอันดับหนึ่งคือฮ่องกง (น่าจะใกล้สุดกระมัง) แต่ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถเอาตัวรอดชีวิต เพราะต้องเผชิญหน้าโจรสลัด พายุลมฝน หรือถูกล้อมสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เพราะคนเหล่านี้มักพกพาเงินทอง สิ่งข้าวของราคาแพงๆติดตัวไปเริ่มต้นชีวิตยังประเทศใหม่) ประมาณผู้เสียชีวิตในทะเลกว่า 200,000-400,000 คน!

I don’t know what Political Truth is. All I know is that I stand by the statements I make in Boat People, the things I say and present in it. I have been under a lot of attack in Hong Kong, as well as here, for the movie and its politics. I’ve been bandied about by one party and another as anti-Communist – which I firmly state that I am not. The film has been shamelessly used by political parties as a weapon for attacking other parties. But Boat People is a survival story set in a tragic moment in history. It’s not a propaganda state­ment against Communism.

ผู้กำกับสวีอันฮัว กล่าวในรอบสื่อ (Press Conference) ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes

ผู้กำกับสวีอันฮัว พยายามให้คำอธิบายถึง Boat People (1982) คือเรื่องราวแนวต่อสู้เอาชีวิตรอด (Survival) โดยมีพื้นหลังในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศ ปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้พ่ายแพ้ (เวียดนามใต้) แม้คนส่วนใหญ่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบต่อพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยเลือกต่อสู้ เผชิญหน้า หรือหาหนทางหลบหนีขึ้นเรือออกนอกประเทศ ขอไปเสี่ยงโชคชะตาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ดีกว่า (ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบากภายใต้ระบอบเผด็จการ)

ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับสวีอันฮัว ก็น่าจะตระหนักถึงคำพูดดังกล่าวเป็นความจริง! เธอไม่น่าจะรับรู้ตนเองด้วยซ้ำว่ากำลังสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สามารถตีความประเด็นการเมือง แสดงออกว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนขนาดนี้ ผมครุ่นคิดว่าอาจเพราะการเติบโตในครอบครัวสองสัญชาติ (บิดาเป็นคนจีน มารดาชาวญี่ปุ่น) ได้สร้างอิทธิพลต่อความคิด โลกทัศนคติ เข้าใจความแตกต่าง หลากหลาย พอสังเกตเห็นอะไรไม่ชอบมาพากล ย่อมเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากขบครุ่นคิดค้นหาคำตอบ แล้วเอามาตรฐานตนเองเป็นที่ตั้ง แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งนั้นอย่างตรงไปตรงมา (ที่ให้ตัวละคร Akutagawa เป็นชาวญี่ปุ่น เพราะต้องการนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลนอก(ไม่ใช่คนจีนหรือเวียดนาม))

ความสนใจจริงๆของผู้กำกับสวีอันฮัว มักเกี่ยวกับเรื่องของชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน โดยเฉพาะหญิงสาวที่ต้องปรับเอาตัวรอดในสถานการณ์แตกต่างออกไป ซึ่งสำหรับ Boat People (1982) สังเกตว่าตัวละครเพศหญิงล้วนมีมิติกว่าเพศชายเสียอีก

  • เด็กหญิงก๋ามเนืองมีวัยวุฒิมากสุดในครอบครัว จึงต้องพยายามดูแลน้องๆ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่อสนิทสนมกับ Akutagawa ต้องการขายความบริสุทธิ์ เพื่อแลกกับอนาคตของครอบครัว
  • คุณนาย (เหมียวเฉียนเหริน) ยินยอมขายตัวให้ชาวฝรั่งเศส อเมริกัน จีน ญี่ปุ่น ใครก็ตามที่มีลาภยศ ตำแหน่งสูงศักดิ์ ทำให้รู้จักผู้คนมากมาย มีเส้นสายเต็มไปหมด จึงสามารถเปิดบาร์ ขายเหล้าหรู เอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์

สำหรับโตมินห์ที่ถือว่าเป็นตัวละครหลักในบทร่างฉบับแรกๆ ก็เต็มไปด้วยความพยายามในการต่อสู้ดิ้นรน มีความเพ้อฝันอยากออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา แต่โชคชะตาล้วนนำพาให้ประสบเรื่องร้ายๆ จนท้ายที่สุดก็ไม่สามารถไปไกลเกินกว่าผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

เอาจริงๆการมองหนังประเด็นการเมือง (Political) ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะปัจจัยแวดล้อม/สภาพสังคม ล้วนเป็นผลกระทบต่อความไร้ศักยภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล/หน่วยงานรัฐ แต่การจะโทษว่ากล่าวตรงๆถึงพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว! อย่าลืมว่าพื้นหลังของหนังเพิ่งสิ้นสุดสงครามเวียดนามไปไม่นาน ประเทศยังอยู่ในช่วงการบูรณะฟื้นฟู ใครเคยศึกษายุโรป/สหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกทั้งสองครั้งจะมีคำเรียก ‘Great Depression’ รวมไปถึงการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง พวกมหาอำนาจประชาธิปไตยนี่ตัวดีเลยนะ ใช้อำนาจศาลกำจัดคนเหล่านั้นให้พ้นภัยพาล … มันไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมในแง่มุมการเมืองหรอกนะครับ

ความพิลึกพิลั่น อาจจะถือว่าคือโชคชะตากรรม! ผู้ชม/นักวิจารณ์มักมองหนังเรื่องนี้ด้วยความสุดโต่งจากทั้งสองฝั่ง หนึ่งคือเห็นนัยยะใจต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Communist) หรือต่อต้านเผด็จการ (Anti-Totalitarianism) ขณะที่พวกขวาจัด (Leftist) พอได้ยินว่าสรรหาทุนจากรัฐบาลจีน จึงต้องเป็นหนังชวนเชื่อ (Propaganda) สนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิต์ … มันเป็นไปได้อย่างไรที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง Boat People (1982) จะถูกลอยคอพร้อมกันจากโลกทั้งสองฝั่ง

นั่นถือเป็นสิ่งโคตรๆ Ironic สำหรับ Boat People (1982) เพราะนำเสนอเรื่องราวของคนที่ต้องการหลบหนี (ออกจากกะลาครอบ) ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ในสถานการณ์ที่ถูกรายล้อมด้วยความเหี้ยมโหดร้าย (ไม่ว่าผู้ชม/นักวิจารณ์ฝั่งฝ่ายไหน ล้วนจ้องจิกภาพยนตร์เรื่องนี้ดั่งอีแร้งกา) ท้ายที่สุดก็ได้แต่ล่องลอยคอ เคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ไม่รู้อนาคตจักดำเนินไปถึงเป้าหมายปลายทางหรือเปล่า

แซว: ถ้าค้นหนังใน Google จะปรากฎชื่อไทยว่า “ใส่ความบ้าท้านรก” ผมรู้สึกว่ามันไม่เข้าเค้าเสียเลยนะ! แต่ระหว่างกำลังมองหาโปสเตอร์หนังกลับพบอีกชื่อไทย “สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน” ฟังดูเหมาะสมกว่ามากๆ (ไม่แน่ใจว่าใครป้อนข้อมูลผิดๆหรือเปล่า แต่ชื่อจากโปสเตอร์นี้น่าจะถูกต้องนะครับ)

หนังเข้าฉายในฮ่องกงเดือนตุลาคม 1982 สามารถทำเงิน HK$15.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม สูงเป็นอันดับ 5 แห่งปี! นอกจากนี้ยังคว้ามาอีก 5 รางวัล Hong Kong Film Awards และเป็นตัวแทนฮ่องกงส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ

  • Best Film **คว้ารางวัล
  • Best Director **คว้ารางวัล
  • Best Actor (George Lam)
  • Best Actress (Cora Miao)
  • Best Actress (Season Ma)
  • Best New Performer (Andy Lau)
  • Best New Performer (Season Ma) **คว้ารางวัล
  • Best Screenplay **คว้ารางวัล
  • Best Cinematography
  • Best Editing
  • Best Art Direction **คว้ารางวัล
  • Best Original Score

ดั้งเดิมหนังได้รับเลือกเข้าสายการประกวด (in-competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes แต่หลังถูกล็อบบี้จากรัฐบาลฝรั่งเศส ก็ยังมีการแอบลักลอบนำเข้าฉายนอกสายการประกวด (out-competition) ถึงอย่างนั้นเสียงตอบรับกลับแตกละเอียด แม้ได้รับคำชมถึงลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอน่าประทับใจ อย่างที่บอกไปว่าผู้ชม/นักวิจารณ์ฝั่งเสรีนิยม (Leftist) ต่างมองว่าเป็นหนังชวนเชื่อคอมมิวนิสต์ (Propaganda) แม้แต่ผู้กำกับสวีอันฮัวยังโดนโจมตีในการสัมภาษณ์สื่อ (Press Conference)

At some point, we were asked to negotiate with the [authorities] in Paris, and were told that we couldn’t be included in the [main] competition anymore. We were still given the status of ‘official selection’, [but were instead] presented there as the ‘film surprise’. And they told me that the preceding ‘film surprise’, which was also prevented by the government [from competing], was Andrei Tarkovsky’s Stalker. At that point, I was so smitten I just said yes.

ผู้กำกับสวีอันฮัว กล่าวถึงการโดนระงับฉายในสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Cannes

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ 4K ได้รับการอนุมัติโดยผู้กำกับสวีอันฮัว สามารถหารับชมออนไลน์และเบื้องหลังได้ทาง Criterion Channel

แม้โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบหนังที่มีความรุนแรงสุดโต่ง แต่อาจเพราะภูมิต้านทานจาก Apocalypse Now (1979) และ The Killing Fields (1984) ทำให้ไม่ค่อยเกิดอคติต่อ Boat People (1982) นี่ต้องปรบมือให้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับสวีอันฮัว ค่อยๆเปิดเผยเรื่องราว รายละเอียด พบเห็นความเหี้ยมโหดร้ายอย่างมีลำดับขั้น ผู้ชมจึงสามารถค่อยๆปรับตัว เข้าถึงข้อเท็จจริงอันหมดสิ้นหวัง

สำหรับผู้ชมต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก ย่อมไม่สามารถเข้าใจว่า Boat People (1982) เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ระดับ ‘Best Movie of All-Time’ ได้อย่างไร (เมื่อเทียบกับ Apocalypse Now (1979) หรือ The Killing Fields (1984) ก็ยังห่างไกลโข) แต่สำหรับชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม เกาหลีเหนือ และสารขัณฑ์ นี่เป็นหนังที่นำเสนอข้อเท็จจริง เปิดโปงความเหี้ยมโหดร้ายของเผด็จการ มันจะบังเกิดความเกรี้ยวกราดอย่างรุนแรงขึ้นมาด้วยระหว่างรับชม

ความเหนือกาลเวลาของ Boat People (1982) ทำให้ผู้ชมโดยเฉพาะชาวฮ่องกง(และไต้หวัน) ตระหนักถึงอนาคตที่มีแนวโน้มสูงมากๆ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงพยายามจะเข้ายึดครอง หวนกลับมาเป็นเจ้าของ แล้วปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินไปในทิศทางเดียว ‘จีนหนึ่ง’ ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง (ฮ่องกงได้ถูกขีดเส้นตายไว้แล้วคือ ค.ศ. 2047) เหตุการณ์แบบภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีโอกาสหวนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้น!

แนะนำคอหนังสงคราม (Post-Wars) การเมือง (Political) แนวเอาตัวรอด (Survival), สนใจประวัติศาสตร์เวียดนาม สภาพสังคมหลังเหตุการณ์ไซ่ง่อนแตก, โดยเฉพาะช่างภาพ นักข่าว น่าจะสร้างแรงบันดาลใจได้มาก

จัดเรต 18+ กับการสังหารโหด ความคอรัปชั่นของเผด็จการ ก่อนรับชมเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนละ!

คำโปรย | Boat People ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับสวีอันฮัว จักทำให้จิตวิญญาณผู้ชมล่องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | เคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร

Center Stage (1991)


Center Stage (1991) Hong Kong : Stanley Kwan ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ชีวประวัติกึ่งสารคดีนักแสดงหนังเงียบที่กลายเป็นตำนาน หยวนหลิงอวี้ (Ruan Lingyu) รับบทโดยจางม่านอวี้ (คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Berlin) ไม่เพียงพยายามสร้างฉากจากภาพยนตร์ที่สูญหาย (Lost Film) ยังชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับเธอเพราะอะไร?

อีกหนึ่ง Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์จีน! นำเสนอด้วยวิธีการที่โคตรแปลกประหลาด ทำการผสมผสานสิ่งต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกัน

  1. สัมภาษณ์บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้น รวมถึงพูดคุยกับทีมงาน นักแสดง ผู้กำกับ และเบื้องหลังการถ่ายทำ
  2. เรื่องราวในภาพยนตร์ จางม่านอวี้แสดงเป็นหยวนหลิงอวี้
  3. ภาพนิ่งและฟุตเทจหนังเงียบที่ยังหลงเหลือของหยวนหลิงอวี้

มองผิวเผินมีลักษณะชีวประวัติกึ่งสารคดี (Biography & Semi-Documentary) แต่ไคลน์แม็กซ์ของหนังมันเล่นช็อตต่อช็อต ฉากต่อฉาก จางม่านอวี้สวมบทบาทหยวนหลิงอวี้นอนเป็นศพ → ผู้กำกับสั่งคัทเธอก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา → ภาพการเสียชีวิตของหยวนหลิงอวี้จากหน้าหนังสือพิมพ์, ต้องบอกเลยว่าแปลกประหลาด แต่โคตรสร้างสรรค์ ช่วงแรกๆอาจไม่มักคุ้นชิน แต่เมื่อเริ่มปรับตัว เข้าใจเหตุผลการนำเสนอ ก็น่าจะตระหนักได้ว่านี่คือผลงาน Masterpiece

ผมมีความประทับใจการแสดงของหยวนหลิงอวี้ ตั้งแต่เคยรับชม The Goddess (1934) จริงๆก็รู้จัก Center Stage (1991) มาตั้งแต่ครั้งนั้น จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งเขียนถึงภาพยนตร์ Rouge (1987) ของผู้กำกับกวนจินเผิง แล้วเพิ่งค้นพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จสิ้น! เลยอดใจไม่ไหวต้องรีบสรรหามารับชม

แม้ว่า Rouge (1987) ยังขาดความกลมกล่อม หลายๆฉากรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องชมวิสัยทัศน์ผู้กำกับกวนจินเผิง คาคลั่งไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์! ซึ่งผลงานลำดับต่อมา Center Stage (1991) ใครๆต่างถือว่าคือจุดสูงสุดในอาชีพการงาน มีความละเมียด ละเอียด ละมุ่นไม และเต็มไปด้วยรายละเอียด mise-en-scène ประณีตบรรจง งดงามระดับวิจิตรศิลป์


ก่อนอื่นต้องกล่าวถึง หยวนหลิงอวี้, 阮玲玉 ชื่อเดิม หยวนเฟิ่งเกิน, 阮鳳根 (1910-35) นักแสดงชาวจีน เกิดที่เซี่ยงไฮ้ ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก มารดาทำงานเป็นสาวใช้ เมื่ออายุ 16 ปี เข้าตาแมวมองจับเซ็นสัญญา Mingxing Film Company แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก A Married Couple in Name Only (1926) [สูญหายไปแล้ว]

ต่อมาย้ายสู่ Da Zhonghua Baihe Company เริ่มมีชื่อเสียงจาก Spring Dream of an Old Capital (1930) [สูญหายไปแล้ว] แล้วเซ็นสัญญา Lianhua Film Company เมื่อปี 1930 มีผลงานอาทิ Love and Duty (1931), A Spray of Plum Blossoms (1931), จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดจากการร่วมงานผู้กำกับฝั่งขวา (Leftist) ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า Three Modern Women (1932), Little Toys (1933), The Goddess (1934), New Women (1935), National Customs (1935) ฯลฯ

เมื่อตอนอายุ 16 หยวนหลิงอวี้รับรู้จักกับจางต๋าหมิน, 张达民 บุตรชายของครอบครัวที่มารดาเคยทำงานเป็นแม่บ้าน แม้ไม่ได้แต่งงาน แต่ก็ยังรับเลี้ยงบุตรสาวบุญธรรม หนานหนาน, 囡囡 อาจเพราะความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ สร้างปมด้อยให้เขา (ยุคสมัยนั้นคนจีนยังมีแนวคิด บุรุษคือช้างเท้าหน้า) เลยหันไปพึ่งพาสุรา นารี ติดการพนัน เลยถูกบอกเลิกราเมื่อปี 1933

ต่อมาคบหากับถังจี้ชาน, 唐季珊 นักธุรกิจค้าชา แต่เพราะเขาแต่งงานมีภรรยาอยู่แล้ว เลยถูกจางต๋าหมินฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หยวนหลิงอวี้จึงตกเป็นเป้าหมายโจมตีของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ความเครียดจากการถูกฟ้องร้อง คุกคามจากสื่อ และปัญหาส่วนตัว ทำให้เธอตัดสินใจรับประทานยานอนหลับเกินขนาด (Barbiturates) เสียชีวิตเวลาประมาณเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1935 สิริอายุเพียง 24 ปี มีผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด 29เรื่อง … หนังสือพิมพ์ New York Times กล่าวว่าพิธีศพของหยวนหลิงอวี้เป็น “the most spectacular funeral of the century” ประมาณผู้เข้าร่วมกว่า 100,000+ คน

หยวนหลิงอวี้ เขียนจดหมายลาตายสองฉบับ ส่งให้สื่อและถังจี้ชาน อธิบายเหตุผลของการกระทำอัตวินิบาต ทั้งสองฉบับได้รับการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ (ในหนังจะมีเสียงอ่านตอนช่วงท้าย) สามารถหาฉบับเต็มๆได้ที่ Wikipedia

แม้เรื่องราวชีวิตของหยวนหลิงอวี้จะจบสิ้นลงไป ณ จุดสูงสุดกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า แต่จางต๋าหมินยังคงหากินกับความตายอดีตคนรัก เซ็นสัญญารับบทเป็นตัวเองในภาพยนตร์ Tears of Love (1935) แม้ถูกสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง ก็แค่เปลี่ยนชื่อมาเป็น Who’s to Blame? (1937) ตามต่อด้วย Wife of a Friend (1938) ทั้งสองเรื่องล้วนไม่ประสบความสำเร็จ ฟีล์มได้สูญหายไปแล้ว ก่อนที่เขาจะล้มป่วยเสียชีวิตเมื่อปี 1938 ไม่มีเงินติดตัวสักแดง!

เกร็ด: ทั้งฟีล์มหนังและหลุมฝังศพของหยวนหลิงอวี้ ได้ถูกทุบทำลายจนแทบหมดสิ้นในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ที่ยังหลงเหลือ/ค้นพบเจอในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากฉบับนำออกฉายต่างประเทศแทบทั้งนั้น

เรื่องราวชีวิตของหยวนหลิงอวี้ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์/ซีรีย์ จนถึงปัจจุบันประกอบด้วย

  • ฉบับซีรีย์ Ruan Lingyu/The Stardust Memories (1985) ความยาว 20 ตอน นำแสดงโดยหวงซิ่งซิ่ว (เจ้าของฉายาหนึ่งในเจ็ดนางฟ้าของสถานีโทรทัศน์ TVB)
  • ฉบับภาพยนตร์ Center Stage (1991) กำกับโดยกวนจินเผิง, นำแสดงโดยจางม่านอวี้
  • ฉบับซีรีย์ Ruan Lingyu (2005) ความยาว 30 ตอน นำแสดงโดยอู๋เชี่ยนเหลียน

กวนจินเผิง, 关锦鹏 (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวฮ่องกง, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านวรรณกรรม งานศิลปะ และการแสดงละครเวที สำเร็จการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน Hong Kong Baptist College, แล้วเข้าทำงานยังสถานีโทรทัศน์ TVB เริ่มจากนักเขียน แล้วมีโอกาสเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหยูหยานไท่ (Ronny Yu), สวีอันฮัว (Ann Hui) อาทิ The Savior (1980), The Story of Woo Viet (1981), Boat People (1982) ฯ แล้วกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Women (1985), ผลงานส่วนใหญ่มักเป็นหนังโรแมนติก เกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องความรัก อาทิ Rouge (1987), Center Stage (1992), Hold You Tight (1998), Lan Yu (2001) ฯ

เกร็ด: กวนจินเผิง คือผู้กำกับชาวเอเชียไม่กี่คนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ผ่านสารคดีเรื่อง Yang ± Yin: Gender in Chinese Cinema (1996) และสรรค์สร้างผลงาน Lan Yu (2001) นำเสนอเรื่องราวชายรักชาย

หลังเสร็จจาก Rouge (1987) ผู้กำกับกวนจินเผิง มีความตั้งใจจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ชีวประวัติหยวนหลิงอวี้ พูดคุยกับนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Love Unto Waste (1986) ใช้เวลาศึกษาหาข้อมูล เตรียมงานสร้างกว่าสองปี … ระหว่างนั้นกวนจินเผิงก็แวบไปกำกับ Full Moon in New York (1990)

ในตอนแรกครุ่นคิดจะนำเสนอในเชิงกึ่งๆสารคดี ออกเดินทางไปสัมภาษณ์หลายๆบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ ผู้กำกับซุนหยู, นักแสดงหลี่ลี่ลี่, เฉินหยานหยาน ฯลฯ

แต่หลังจากสะสมข้อมูลได้มากพอสมควร ผู้กำกับกวนจินเผิงก็เริ่มหวนกลับมาครุ่นคิด มันมีประโยชน์อะไรจะสรรค์สร้างเรื่องราวชีวิตหยวนหลิงอวี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก? (ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีซีรีย์ฉายโทรทัศน์ The Stardust Memories (1985)) ทบทวนถึงช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา รายละเอียดเล็กๆน้อยที่ค้นคว้ามาได้มีลักษณะคล้ายจิ๊กซอว์ ทำไมไม่นำเสนอภาพยนตร์ที่ชักชวนให้ผู้ชมร่วมปะติดปะต่อ มองหาสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? หยวนหลิงอวี้ถึงตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต?

After collecting data, I told the screenwriter that I was not going to make a biography. What’s the point of filming Ruan Lingyu’s life again? I would like to think whether it can be like a jigsaw puzzle, and whether there is an opportunity for me to see the contributions they made to Chinese films in the 1930s, whether on stage or behind the scenes. I’m going to slowly put together a good puzzle piece by piece.

กวนจินเผิง

ในตอนแรกนั้นผู้กำกับกวนจินเผิง หมั้นหมายเหมยเยี่ยนฟางที่ร่วมงาน Rouge (1987) ตั้งใจเป็นโปรเจคส่งให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า แต่หลังเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 เธอออกมาแสดงคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน จึงถูกแบนห้ามเข้าประเทศ เลยไม่สามารถเดินทางถ่ายทำยังเซี่ยงไฮ้ จำต้องขอถอนตัวออกไป

แล้วพอติดต่อจางม่านอวี้ที่ไม่เคยรู้จัก/รับชมผลงานของหยวนหลิงอวี้ พอโน้มน้าวจนยินยอมตอบตกลง ก็เริ่มถ่ายทำตั้งแต่เธอเริ่มศึกษาภาพยนตร์ที่ทีมงานหามาให้ชม พูดคุยสนทนาโต๊ะกลม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค่อยๆรับรู้จักเธอไปพร้อมๆการถ่ายทำ … และมีเรื่องเล่าหลอนๆว่าใครบางคนพบเห็นวิญญาณของหยวนหลิงอวี้ในกองถ่ายด้วยนะ!

Is it alright to let Anita Mui and Ruan Lingyu talk in the movie? I called the screenwriter Chiu Kang-Chien right away, he said yes, it’s something to think about, but it’s past 3 o’clock, please let me sleep.

Later, because of personal reasons, Anita Mui did not go to Shanghai to film, so we replaced Maggie Cheung. With this format, I don’t think Anita Mui is important anymore. At that time, it was very clear that an actress and a group of film workers in the early 1990s went to Shanghai to trace the golden age of Chinese cinema in the 1930s.

เกร็ด: ชื่อหนังภาษาจีน 阮玲玉 เรียกตรงๆถึงหยวนหลิงอวี้ (Ruan Lingyu) แต่ฉบับนำออกฉายต่างประเทศเปลี่ยนเป็น Center Stage บ้างก็ใช้ The Actress (ผมชอบ The Actress มากกว่านะ สื่อตรงๆถึงความเป็นนักแสดง! ส่วน Center Stage มันคืออะไรกัน??)


จางม่านอวี้, 張曼玉 (เกิดปี 1964) นักแสดงหญิงชาวจีน เกิดที่ฮ่องกง บิดา-มารดาเป็นคนเซี่ยงไฮ้ (คงอพยพมาตอนสงครามกลางเมืองจีน) ตอนเธออายุ 8 ขวบ ติดตามครอบครัวย้ายไป Bromley, London ประเทศอังกฤษ ก่อนหวนกลับมาฮ่องกงตอนอายุ 18 ตั้งใจแค่มาท่องเที่ยววันหยุด กลับเข้าตาแมวมอง ได้ทำงานโมเดลลิ่ง ตัดสินใจเข้าประกวด Miss Hong Kong คว้ารางวัลที่สองและขวัญใจช่างภาพ ติดตามด้วย Miss World สามารถผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ, เซ็นสัญญาสถานี TVB เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, แจ้งเกิดภาพยนตร์ Police Story (1985), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับหว่องกาไว As Tears Go By (1988), Days of Being Wild (1990), Ashes of Time (1994), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Full Moon in New York (1989), Center Stage (1991), New Dragon Gate Inn (1992), Irma Vep (1996), Comrades: Almost a Love Story (1996), Hero (2002), Clean (2004) ฯลฯ

รับบทหยวนหลิงอวี้ นักแสดงสาวพราวเสน่ห์ แม้ภายนอกดูสวยเริด เชิดหยิ่ง ทำตัวหัวสูงส่ง แต่ก็พร้อมทุ่มเทให้ทุกการแสดง ยินยอมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ขอเล่นทุกบทบาทที่สะท้อนเข้ากับชีวิตตนเอง ทั้งยังเป็นราชินีบนฟลอร์ (Dancing Queen) ใช้ชีวิตตอบสนองความต้องการหัวใจ เลิกราแฟนหนุ่ม กลายเป็นชู้รักชายอื่น สิ่งที่ฉันทำมันไม่ได้หนักหัวใคร แต่ทำไมสังคมกลับติฉินนินทา ตำหนิต่อว่าร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนรอบข้าง หลงเหลือวิธีเดียวสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจิตใจ

ตัวตนจริงๆของจางม่านอวี้ เป็นคนสนุกสนานร่าเริง เต็มที่สุดเหวี่ยงกับชีวิต ว่าไปไม่ค่อยแตกต่างจากหยวนหลิงอวี้ (ก็อย่างที่พบเห็นในเบื้องหลัง ทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ช่างดูบริสุทธิ์จากภายใน) แม้ภาพลักษณ์เหมือนบ้างไม่เหมือนบางมุม แต่เรื่องการแสดงไม่เป็นสองรองใคร แค่หนังเงียบเรื่องแรก(ที่จางม่านอวี้แสดง ‘film within film’) ก็สร้างความตะลึงงัน อ้าปากค้าง ดึงดูดผู้ชมจนไม่สามารถเบี่ยงเบนไปไหน

เกร็ด: คนที่ฟังภาษาจีนออก น่าจะสังเกตได้ว่าจางม่านอวี้พูดกวางตุ้ง (Cantonese), แมนดาริน (Mandarin), และสำเนียง Shanghainese อย่างคล่องแคล่วชัดเจน (เธอยังสามารถพูดอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ด้วยนะครับ)

ไฮไลท์ของจางม่านอวี้นั้นมีนับครั้งไม่ถ้วน หลายคนน่าจะชื่นชอบงานเลี้ยงปาร์ตี้ส่งท้าย (น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Veronika Voss (1982)) ภายนอก’เล่นละคร’ทำตัวเหมือนปกติ แต่จิตใจกำลังครุ่นคิดวางแผนฆ่าตัวตาย แต่ผมคลั่งไคล้ฉากการแสดงในโรงพยาบาล “I want to live!” ผู้กำกับต้องสั่งคัทสามครั้ง พอถ่ายทำเสร็จเธอถึงกับร้องไห้คลุมโปง แทบไม่สามารถแบ่งแยกแยะระหว่างการแสดง-ชีวิตจริง (ผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากับลีลาการนำเสนอของหนังได้อย่างสมบูรณ์แบบ!)

เห็นว่าจริงๆแล้วจางม่านอวี้ไม่ได้ชื่นชอบการแสดงสักเท่าไหร่ (รีไทร์หลังภาพยนตร์ Clean (2004)) แต่เพราะโชคชะตานำพา และ Center Stage (1991) คือผลงานที่ทำให้เธอกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า โด่งดังระดับนานาชาติ จากการคว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress


ถ่ายภาพโดย Poon Hang-Sang, 潘恆生 ผู้กำกับ/ตากล้อง ร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Hong Kong Baptist University จบออกมาเข้าร่วม Radio & Television Hong Kong ทำงานเป็นคนจัดแสง ช่างภาพ ภาพยนตร์เรื่องแรก Home Coming (1984), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Island (1985), Peking Opera Blues (1986), A Chinese Ghost Story (1987), Center Stage (1991), Kung Fu Hustle (2004), Fearless (2006), Ip Man 2 (2010) ฯลฯ

ผมได้รับชมฉบับบูรณะของหนัง ต้องบอกเลยว่าคุณภาพยอดเยี่ยมไร้ตำหนิ การถ่ายภาพเต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา อาจมีความเชื่องช้าน่าหลับสำหรับคอหนังรุ่นใหม่ แต่ทุกช็อตฉากล้วนมีนัยยะซุกซ่อนเร้น เต็มไปด้วยรายละเอียด mise-en-scène สัมผัสถึงความละเมียด ละมุ่นไม ประณีตบรรจง งดงามระดับวิจิตรศิลป์

สิ่งที่ผู้ชมสามารถสังเกตเห็น แบ่งแยกแยะได้อย่างชัดเจนก็คือสีสันของหนัง

  • ส่วนของภาพยนตร์ (จางม่านอวี้แสดงเป็นหยวนหลิงอวี้) จะเต็มไปด้วยแสงสีสัน ลวดลาย แต่มักปกคลุมด้วยความมืดมิด (โทนของภาพจะออกเข้มๆ ‘Low Key’ เพื่อสะท้อนเรื่องราวอันมืดหม่น นำไปสู่โศกนาฎกรรม)
  • บทสัมภาษณ์ การพูดคุยสนทนา หรือแม้แต่ฟุตเทจจากฟีล์มหนังเงียบ จะถูกทำให้ออกโทนน้ำตาล (ซีเปีย) เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเก่าแก่ โบร่ำราณ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องราว
  • แต่จะมีช่วงต้น-ช่วงท้าย บทสัมภาษณ์จางม่านอวี้และเบื้องหลังฉากงานศพหยวนหลิงอวี้ กลับเป็นภาพสีทั้งหมด (ไม่มีการแบ่งแยกด้วยสีซีเปีย) เพื่อทำการซ้อนทับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ชีวิตจริง-การแสดงภาพยนตร์ สำหรับพวกเธอทั้งสองล้วนคือสิ่งหนึ่งเดียวกัน

สิ่งน่าอัศจรรย์สุดของ Center Stage (1991) คือความพยายามสร้าง (re-create) ฟุตเทจภาพยนตร์ที่สูญหาย (Lost Film) จากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ยังหลงเหลืออยู่ (บางเรื่องมีแค่ภาพนิ่ง/บทหนัง ก็นำมาตีความ ขยับขยายต่อ และต้องนำเสนอให้สอดคล้องเรื่องราวหลักของหนังด้วยนะ) และจะมีข้อความขึ้นปรากฎ ให้ผู้ชมลุ้นระลึกว่าเรายังสามารถหารับชมผลงานเรื่องนั้นๆได้หรือไม่ … ทุกครั้งที่ขึ้นว่า Lost Film ผมจะรู้สึกเศร้าโศก เสียดายตำนานที่สูญหาย

เอาจริงๆหนังจะสร้างฉากขึ้นใหม่ ถ่ายทำอยู่ฮ่องกงเลยก็ยังได้ แต่กลับเลือกใช้สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งสตูดิโอ Lianhua Film Company, เซี่ยงไฮ้ (ช่วงท้ายของหนังจะมีนำเสนอภาพปรับหักพังของสตูดิโอ) ก่อนนำมาบูรณะซ่อมแซมจนมีสภาพเหมือนใหม่ … ด้วยเหตุนี้กระมังเลยมีคนพบเห็นวิญญาณของหยวนหลิงอวี้ ปรากฎตัวในกองถ่ายอยู่บ่อยครั้ง

ในส่วนของงานออกแบบ (Art Director) และเครื่องแต่งกาย (Costume Design) กลับมาใช้บริการ Piu Yeuk-Muk, 影視作品 รู้จักกันมาตั้งแต่ในกองถ่าย Boat People (1982) มีผลงานร่วมกันตั้งแต่ Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Centre Stage (1992), และยังออกแบบเครื่องแต่งกาย Lust, Caution (2007)

Piu Yeuk-Muk เป็นคนที่มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ เก่งในเรื่องค้นคว้าหาข้อมูล ติดตามหาเอกสารเก่าๆที่สูญหาย ค้นพบความนิยมของยุคสมัยนั้น 30s ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสไตล์ Art Nouveau (1883–1914) ผสมๆกับ Art Deco (1910-49) … เซี่ยงไฮ้ยุคสมัยนั้นคือเมืองท่าของประเทศจีน สำหรับติดต่อสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตก เลยไม่แปลกที่จะได้รับอิทธิพลในหลายๆด้าน

รายละเอียดที่สังเกตได้ง่ายๆก็คือลวดลายฝาผนัง (Wallpaper) และชุดกี่เพ้า (Cheongsam) มีลักษณะเรขาคณิต รูปดอกไม้ หรือลวดลายอะไรบางอย่างที่นำมาเรียงต่อกันซ้ำๆจนกลายเป็นแบบแผน (Pattern) ดูละลายลายตา

อารัมบทเริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงภาพนิ่ง หลายๆผลงานการแสดงของหยวนหลิงอวี้ ทั้งที่ยังพอมีฟีล์มหลงเหลือและสูญหายไปแล้ว (Lost Film) ผมเพิ่งมาสังเกตตอนหวนกลับมาวนๆดูอีกรอบ แทบทั้งหมดล้วนถูกนำไปอ้างอิงถึงในเรื่องราว หรือทำการสร้างฉากนั้นๆขึ้นมาใหม่ (re-create) ให้ภาพนิ่งเหล่านี้ราวกับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ผมคงไม่จำเป็นต้องอธิบายความหมายของภาพนี้ แต่ให้ข้อสังเกตว่าปรากฎขึ้นพอดิบพอดีขณะที่ผู้กำกับกวนจินเผิงกำลังกล่าวถึงการกระทำอัตวินิบาตของหยวนหลิงอวี้ นี่สะท้อนถึงมุมมองคิดเห็น(ของผกก.กวนจินเผิง)ต่อการเสียชีวิต(ของหยวนหลิงอวี้) มีอะไรบางสิ่งอย่างกักเธอไว้ภายในกรงขัง สูญเสียอิสรภาพในการครุ่นคิด ไร้หนทางออกในการดำเนินชีวิตต่อไป

ผู้กำกับกวนจินเผิงสอบถามจางม่านอวี้ ถึงสิ่งที่อยากให้ผู้ชมจดจำตนเองในทศวรรษถัดไป? เอาจริงๆผมแอบขนลุกเลยนะ เพราะปัจจุบันมันก็ผ่านมาหลายทศวรรษ ความครุ่นคิดเห็นเมื่อตอนได้กลายเป็นจริงทั้งหมดแล้ว ผู้ชมจดจำเธอในมุมที่เจิดจรัส เปร่งประกาย นักแสดงชาวจีนที่ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก และเมื่อถึงจุดสูงสุดนั้นก็รีไทร์ออกจากวงการ กลายเป็นตำนานจบบริบูรณ์ ละม้ายคล้ายหยวนหลิงอวี้ ในทิศทางแตกต่างตรงกันข้าม!

มันเหมือนเป็นสันชาติญาณของผู้กำกับที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ จะต้องมีฉากขายเซอร์ (นี่ก็ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา) เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้บรรดาเก้งกวางน้ำลายไหลเยิ้ม กับฉากหนุ่มๆในห้องอาบน้ำ/ซาวน่า ถอดเสื้อผ้า เปลือยหน้าอก

การสนทนาของคนหนุ่มๆแก่ๆ สมาชิกสตูดิโอ Lianhua Film Company ถือว่าล้อกับไดเรคชั่นของหนังที่จะมีการพูดคุยล้อมวงระหว่างผู้กำกับ/ทีมงาน แสดงความคิดเห็นถึงสิ่งต่างๆเกี่ยวกับหยวนหลิงอวี้ … ฉากลักษณะนี้พบเห็นบ่อยครั้งทั้งในอดีต-ปัจจุบัน

ผู้กำกับกวนจินเผิงพยายามผสมผสานสองแนวคิดที่มีความคู่ขนานเข้าด้วยกัน

  • (ยุคสมัยปัจจุบัน, โลกความจริง) กองถ่ายหนังเดินทางสู่เซี่ยงไฮ้ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ชีวประวัติหยวนหลิงอวี้
  • (ยุคสมัยอดีต, เรื่องราวในภาพยนตร์) สตูดิโอ Lianhua Film Company ถ่ายทำภาพยนตร์โดยมีนักแสดงนำหยวนหลิงอวี้

Dream of the Ancient Capital (1930) [สูญหายไปแล้ว] แม้ไม่รับรู้เรื่องราว แต่แค่ชื่อหนังก็บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง นอกจากความเพ้อฝันของหยวนหลิงอวี้ในการเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง! ยังสามารถสื่อถึงผู้กำกับกวนจินเผิง กำลังเพ้อฝันถึงอดีต เมืองหลวงแห่งภาพยนตร์ของประเทศจีน (สมัยก่อนก็คือนครเซี่ยงไฮ้นี้แหละ) และเธอคนนี้ที่คือตำนานเหนือกาลเวลา

ภาพสะท้อนกระจก ก็คือหยวนหลิงอวี้ในบทบาทการเป็นนักแสดง ที่ต้องปรับเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราว ภาพยนตร์เรื่องต่างๆไม่ซ้ำแบบใคร, ส่วนลวดลายฝาผนัง (Wallpaper) ที่ละลานตา ดูราวกับว่านี่คือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สะกดจิตวิญญาณผู้ชมให้ลุ่มหลงใหลในโลกมายา

หยวนหลิงอวี้ไม่เคยมีประสบการณ์แต่งงาน คลอดบุตร (เลยรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมหนานหนาน เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว) เมื่อต้องรับบทมารดาในภาพยนตร์ จึงต้องพูดคุยสอบถามเพื่อนนักแสดง แล้วทำการซักซ้อม จินตนาการว่ากำลังโอบอุ้มทารก ลงไปกลิ้งเกลือกบนพื้นหิมะในภาพยนตร์ Wild Flowers by the Road (1930) [สูญหายไปแล้ว] … นี่เป็นฉากที่นำเสนอกระบวนการ วิธีการที่หยวนหลิงอวี้สวมบทบาทเป็นตัวละคร เทียบกับยุคสมัยปัจจุบันเรียกว่า Method Acting ก็ถือว่าใกล้เคียง

ซีนเล็กๆเมื่อตอนหยวนหลิงอวี้เดินทางกลับบ้าน แทนที่จะเร่งรีบเข้าไปภายใน กลับแอบจับจ้องมองมารดาและบุตรสาวบุญธรรมหนานหนาน หลบอยู่ภายนอกหน้าต่าง แฝงนัยยะถึงชีวิตครอบครัวที่เธอไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่ง แม้เคยแสดงบทบาทมารดา แต่ชีวิตจริงกลับไม่เคยพานผ่านประสบการณ์เหล่านั้นสักครั้ง!

นี่อาจคือสาเหตุผลหนึ่งที่หยวนหลิงอวี้สามารถกระทำอัตวินิบาต โดยไร้ซึ่งความรู้สึก สามัญสำนึก ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีประการใด เพราะไม่เคยพานผ่านประสบการณ์เป็นมารดา คลอดบุตร ทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บครรภ์ มีเพียงแต่เคยแสดงภาพยนตร์ เล่นละครตบตา เลยไม่สามารถตระหนักรับรู้ถึงคุณค่าของชีวิต

หลอดไฟขาดระหว่างกำลังรับประทานอาหาร สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างหยวนหลิงอวี้ กับจางต๋าหมิน ที่ใกล้ถึงจุดจบเต็มทน แม้แต่มารดา(ของหยวนหลิงอวี้)ก็เริ่มแสดงอาการไม่พึงพอใจต่อพฤติกรรมอีกฝั่งฝ่าย แทบไม่เคยกลับบ้านมาดูแลตนเองและบุตรสาว เอาแต่เที่ยวเตร่สำเมเทเมา เกี้ยวพาราสีหญิงอื่น พึ่งพาไม่ได้เลยสักอย่าง!

แต่ทันทีที่มารดาทำการเปลี่ยนหลอดไฟ จางต๋าหมินก็กลับบ้านพอดิบดี! ซึ่งหนังก็พยายามบอกใบ้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ผ่านภาษาภาพยนตร์ต่อไปนี้

ภาพแรกตรงบันไดหยวนหลิงอวี้เดินลงมาจากเบี้ยงบน หยุดยืนตำแหน่งสูงกว่า (แสดงถึงอิทธิพลของเธอที่มีต่อเขา) จากนั้นเป็นคนมอบของขวัญคือแหวน (สัญลักษณ์ของการแต่งงาน แต่โดยปกติควรจะเป็นฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงไม่ใช่เหรอ?) สวมใส่ไม่เข้าสักนิ้ว (สื่อถึงบุคคลที่ไม่เหมาะกับการแต่งงาน)

ส่วนอีกภาพทั้งสองพากันขึ้นมายังห้องนอน พบเห็นภาพสะท้อนในกระจกที่มีเส้นบางๆเหมือนกรงขัง และจางต๋าหมินโอบกอดจากด้านหลัง จะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ช้างเท้าหลัง หรือบุคคลผู้สนเพียงผลประโยชน์ พร้อมทรยศ/แทงข้างหลังแฟนสาวได้ทุกเมื่อ

วินาทีที่ถ่ายภาพช็อตนี้ พอดิบดีกับใครบางคนชูตลูกบาสเกตบอลลงห่วง! ซึ่งสามารถสื่อถึงเกมการแข่งขันแก่งแย่งชิงความเป็นหนึ่ง (ในวงการภาพยนตร์) แต่พวกเขาก็ถูกขัดจังหวะจากใครสักคน นำข่าวสารการรุกรานจากญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้าน เรียกร้องให้มีการแบนสินค้าจากต่างประเทศ (แต่ยังคงอีกสักพักกว่าการมาถึงของ Second Sino-Japanese War (1937–1945))

ภาพวาดตึกระฟ้า เมืองแห่งอนาคตบนผนังกำแพง สามารถสื่อถึงอิทธิพลจากสังคม/โลกภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ (เพราะหนังไม่ได้มีทุนมากมาย เลยใช้ภาพวาดนี้แทน CGI ถ่ายทำเพียงใน Lianhua Film Company แทบจะไม่มีฉากทิวทัศน์ภายนอกสักเท่าไหร่

การออกแบบผับบาร์แห่งนี้ มีความเป็น Art Deco ดูหรูหรา สง่างาม ด้วยลักษณะที่เรียบง่าย เทียบกับหญิงสาวก็คือลูกคุณหนู ไฮโซ บทเพลงที่บรรเลงก็เป็นสไตล์ Western เหมาะสำหรับ ‘dancing queen’ อย่างหยวนหลิงอวี้ พบเห็นฉากนี้ทีไรต้องลุกขึ้นมาโยกเต้น โอ้ลัลล้า ปลดปล่อยตนเอง ไม่ยี่หร่าอะไรครั้งนั้น

ครั้งแรกมากับเพื่อนร่วมงาน (Lianhua Film Company) จับพลัดจับพลูพบเจอจางต๋าหมิน (มากับหญิงสาวที่กำลังขายขนมจีบ) ปรากฎว่าไฟดับถึงสองครั้งครา (ครั้งแรกไฟตก ครั้งหลังญี่ปุ่นบุก) สะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ถึงจุดจบกับชายคนรัก … ราวกับจะบอกว่านี่คือสัญญาณเตือนครั้งที่สองแล้วนะ!

ครั้งสองมากับถังจี้ชาน อีกฝั่งฝ่ายพยายามเกี้ยวพาราสี แต่หยวนหลิงอวี้ยังไม่ได้บอกเลิกรากับจางต๋าหมิน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เลยยังต้องปกปิด ไม่มีการโยกเต้นบนเวทีประการใด

และครั้งสุดท้ายหลังงานเลี้ยงอำลา (ก่อนค่ำคืนแห่งการฆ่าตัวตาย) หยวนหลิงอวี้ทำการปลดปล่อยตนเองด้วยท่าทางโยกเต้นอย่างเต็มที่สุดเหวี่ยง ปล่อยให้ถังจี้ซานทรุดล้มลงลุกขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ยี่หร่าอะไรใครอีกต่อไป

ระหว่างที่หยวนหลิงอวี้หลบหนีญี่ปุ่นมายังยังเกาะฮ่องกง อาศัยอยู่ห้องพักเดียวกับจางต๋าหมิน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองมาถึงจุดแตกหัก ต่างฝ่ายต่างไม่ใคร่สนใจอะไรกันและกัน มุมกล้องปรับโฟกัสเบลอ-ชัด หรือสภาพแวดล้อมภายในห้องนี้แสงไฟก็กระพริบติดๆดับๆ (จากใบพัดลมที่บดบังแสงไฟจากบนเพดาน)

กระทั่งตอนหยวนหลิงอวี้ปฏิเสธจุมพิตจางต๋าหมิน เขาเดินมายังหน้ากระจกเงา พ่นไอร้อนออกจากปากทำให้เห็นภาพ(ในกระจก)เบลอๆบริเวณริมฝีปาก สื่อถึงความสัมพันธ์อันเลือนลาง ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร แสดงความรักต่อกันได้อีกต่อไป

ตั้งแต่ที่จางม่านอวี้ให้ข้อสังเกตลีลาการแสดง เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหยวนหลิงอวี้ ชอบที่จะแหงนหน้าเหม่อมองท้องฟ้า หนังก็พยายามแทรกใส่หลายๆฉากที่ตัวละครแสดงออกลักษณะดังกล่าว อย่างช็อตนี้หลังกลับจากฮ่องกง สภาพจิตใจคงรู้สึกหมดสิ้นหวังกับจางต๋าหมิน ในค่ำคืนที่มืดมิด แสงสีน้ำเงินหนาวเหน็บ ทำให้เธอแหงนเงยหน้ามองฟากฟ้ายามค่ำคืน ครุ่นคิดทบทวนฉันควรทำอะไรต่อไปดี?

สิ่งที่หยวนหลิงอวี้กระทำฉากต่อมาก็คือ ต่อรองร้องขอผู้กำกับผู่หยวนชาง ให้เลือกตนเองเป็นหนึ่งในสามนักแสดงนำ Three Modern Women (1933) รับบทบาทหญิงสาวรุ่นใหม่ นักปฏิวัติ ชนชั้นแรงงาน! ตอนแรกก็ได้รับการบอกปัดเพราะเธอมีภาพจำที่แตกต่างตรงกันข้าม (มุมกล้องถ่ายจากด้านนอกเข้ามาตรงระเบียงสำนักงาน ยืนตำแหน่งประตู-หน้าต่าง) แต่หญิงสาวจู่ๆถอดเสื้อคลุม ลบรอยลิปสติก ปัดๆทรงผม (มุมกล้องถ่ายออกจากระเบียง พบเห็นทิวทัศน์/ภาพวาดตึกระฟ้าด้านหลัง) เรียกว่ายินยอมปฏิวัติ/ปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง พร้อมทุ่มเทให้ทุกบทบาทภาพยนตร์ … นี่ถือเป็นครั้งแรกที่หยวนหลิงอวี้ร่วมงานผู้กำกับฝั่งขวา (Leftist Director) อันจะการันตีความเป็นอมตะ เจิดจรัสค้างฟ้า!

การถ่ายทำ Three Modern Women (1933) ในฉากที่หยวนหลิงอวี้และนักแสดงชายก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ขณะที่กล้องถ่ายจากด้านข้าง ราวกับกำลังจับจ้องมองชีวิตของพวกเขา ดำเนินพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ … สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างหยวนหลิงอวี้กับจางต๋าหมิน ขณะที่เธอได้รับคำชมจากผู้กำกับ เขากลับถูกตำหนิให้ปรับปรุงแก้ไข (ตัวละครนี้เป็นเพลย์บอย เหมือนพยายามเกี้ยวพาราสีหญิงสาว แต่ก็ไม่สามารถยินยอมรับสภาพความเป็นจริงที่พบเห็นขณะนี้)

ขณะเดียวกันชู้รักคนใหม่ถังจี้ชาน ก็เดินทางมาเยี่ยมเยียน มอบกำลังใจ อยู่ฟากฝั่งข้างหลังกล้อง เคลื่อนดำเนินติดตามไป(พร้อมๆการจุดบุหรี่ = รู้สึกพึงพอใจที่ได้พบเห็น) สื่อถึงความสัมพันธ์คู่ขนาน พบรักในชีวิตจริงของหยวนหลิงอวี้

แซว: ทีแรกผมนึกว่าไปถ่ายทำยังท่าเรือจริงๆ แต่พอเห็นความแตกต่างของภาพพื้นหลัง ก็ต้องชมโคตรแนบเนียนสุดๆ

ความสำเร็จของ Three Modern Women (1933) แทนที่จะเป็นแรงผลักดันให้หยวนหลิงอวี้ แต่กลับทำให้เธอเกิดความสับสนในตนเอง สังเกตจากฉากนี้หลังการถ่ายรูปหมู่ เธอยืนอยู่ตรงกึ่งกลางบันได

  • ด้านล่างคือชู้รักคนใหม่ถังจี้ชาน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ไขข้อเรียกร้องเห็นแก่ตัวของจางต๋าหมิน
  • ขณะที่เพื่อนนักแสดง ผู้กำกับ ต่างเดินแซงหน้าขึ้นชั้นบน นำเสนอผลงานเรื่องใหม่ ชักชวนให้เธอติดตามขึ้นไป

จนจบฉากนี้ หยวนหลิงอวี้ก็ไม่สามารถตัดสินใจเลือกเดินขึ้นชั้นบนหรือลงมาชั้นล่าง (ขึ้นบันได=กลายเป็นนักแสดงเจิดจรัส, ลงชั้นล่างคือเลือกชีวิตสุขสบาย เคียงข้างชายคนรักใหม่) มากสุดก็เพียงถอยหลัง 1-2 ก้าว แล้วเดินกลับขึ้นมา 1-2 ขั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปความต้องการของตนเอง อยากจะทุ่มเทให้ความรัก? หรือกับการแสดงภาพยนตร์?

Night in the City (1933) [สูญหายไปแล้ว] จะมีฉากที่หยวนหลิงอวี้ต้องแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียบิดา นั่นคือสิ่งที่ในชีวิตจริงของเธอ (สูญเสียบิดาตั้งแต่ยังเด็ก) เก็บซ่อนไว้เบื้องลึก ไม่ต้องการเปิดเผยออกมา แต่อาชีพนักแสดงย่อมมีโอกาสพบเจอฉากลักษณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดความรู้สึกดังกล่าวออกมา (ชีวิตจริงซ้อนทับการแสดง) … ซึ่งความรู้สึกสูญเสียบิดาครั้งนี้ สามารถสะท้อนถึงการเลิกราจาก(สูญเสียชายคนรัก)จางต๋าหมินได้เช่นเดียวกัน

Little Toys (1933) ก็จะมีฉากคล้ายๆกัน สลับเป็นมารดา (หยวนหลิงอวี้) กำลังจะสูญเสียบุตรสาว (หลี่ลี่ลี่) แต่ผู้กำกับ (ซุนหยู) ยังรู้สึกว่าการแสดงของหลี่ลี่ลี่ยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ (สังเกตว่าใบหน้าของเขาขณะเดินเข้ามาให้แนะนำ ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด) ขอเวลาไปขบครุ่นคิด แต่เป็นหยวนหลิงอวี้ให้คำแนะนำอะไรบางอย่าง ฉากนี้จึงสามารถผ่านไปได้ด้วยดี … ด้วยการให้หลี่ลี่ลี่ไม่แสดงปฏิกิริยาใกล้ตายออกมาอย่างเว่อวังอลังการ ‘Over-Acting’ แนะนำให้พยายามทำตัวเข้มแข็งแกร่ง ปกปิดซ่อนเร้นความเจ็บปวด ซึ่งนั่นคือสิ่งที่หยวนหลิงอวี้แสดงออกมาขณะเตรียมการฆ่าตัวตาย ไม่เคยเปิดเผยความอ่อนแอให้ใครเห็น เก็บกดดันความรู้สึกทั้งหมดไว้ภายใน

ผมละแอบงงๆกับสมัยนั้นจริงๆนะ หยวนหลิงอวี้ไม่ได้แต่งงานกับจางต๋าหมินไม่ใช่เหรอ? ทำไมตอนเลิกราถึงต้องให้ทนายมาเป็นพยาน แถมยังมีการจ่ายค่าเสียหาย/ค่าเลี้ยงดูอีกต่างหาก??? หลังจากเซ็นชื่อเสร็จสิ้น หนังตัดมาภาพช็อตนี้ที่ฝ่ายชาย(จางต๋าหมิน)กำลังเดินเรื่อยเปื่อยยามพลบค่ำ อยู่บริเวณรางรถไฟ บริเวณจุดเชื่อมต่อ สื่อนัยยะตรงๆถึงทางแยกจาก

หลังเลิกรากับจางต๋าหมิน หยวนหลิงอวี้ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังเก่า ทำลาย/ขายทิ้งทุกสิ่งอย่างที่เขาเคยเป็น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ แต่บ้านหลังนี้ที่อยู่ใจกลางเมือง ไม่รู้ทำไมผมรู้สึกเหมือนกรงนก บานประตู/หน้าต่างแลดูเหมือนกรงขัง ลวดลายฝาผนังก็มีความเป็นนามธรรม (Abstract) ดอกไม้ ใบหญ้า ดูเหมือนสวนป่า (ที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์) แถมเพื่อนบ้านตรงข้ามก็ชอบทำท่าทางซุบซิบ ส่งเสียงจิบๆ สอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่นไปทั่ว

ผมเพิ่งมารับรู้จากฉากนี้ว่านักแสดงจีนคนแรกที่กระทำอัตวินิบาต แต่คืออ้ายเฉีย, 艾霞 (1912-34) นักแสดง/นักเขียนจากสตูดิโอคู่แข่ง Mingxing Film Company เพราะถูกสื่อโจมตีในเรื่องส่วนตัว รักๆใคร่ๆ ไม่ใช่ต้นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม (ว่าไปก็แทบไม่แตกต่างจากหยวนหลิงอวี้) เลยตัดสินใจเสพฝิ่นเกินขนาด เสียชีวิตตอนอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น!

อ้ายเฉียมีความสนิทสนมกับไช่ฉู่เชิง(เมื่อตอนยังอยู่ Mingxing Film Company) บ้างว่าทั้งสองเคยมีสัมพันธ์โรแมนติก ซึ่งหลังจากทราบข่าวคราวดังกล่าวเลยพัฒนาบทหนัง New Woman (1935) เพื่ออุทิศให้กับเธอ นำแสดงโดยหยวนหลิงอวี้ … ใครจะไปคาดคิดว่าทั้งสองเลือกโชคชะตาเดียวกัน!

ไดเรคชั่นฉากนี้ที่ไช่ฉู่เชิง (เหลียงเจียฮุย) เล่าถึงความตายของอ้ายเฉีย มีลำดับการนำเสนอน่าสนใจทีเดียว

  • เริ่มต้นถ่ายจากภายนอกห้อง พบเห็นไช่ฉู่เชิงเดินผ่านหน้าต่างที่มีกรงเหล็ก(=กรงขัง) มายังประตูทางออกตรงระเบียง
    • นี่เป็นช่วงที่ไช่ฉู่เชิงระบายความเกรี้ยวกราด อ้ายเฉียไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่เป็นบรรดาสื่อ/หนังสือพิมพ์ที่เข่นฆ่าเธอให้ตกตาย
  • จากนั้นถ่ายออกมาจากภายในห้อง พบเห็นทิวทัศน์ ภาพวาดตึกระฟ้า สะพานสูงใหญ่ แล้วไช่ฉู่เชิงก้าวเดินออกมา
    • ไช่ฉู่เชิงหวนระลึกถึงความทรงจำต่ออ้ายเฉีย เป็นนักแสดง/นักเขียน หัวก้าวหน้า (Leftist)
  • และติดตามด้วยหยวนหลิงอวี้ ถามคำถามจี้แทงใจดำไช่ฉู่เชิง (ว่าอ้ายเฉียเคยตกต่ำจนกลายเป็นโสเภณีจริงหรือเปล่า?) นั่นทำให้เขาต้องทรุดนั่งยองๆลงกับพื้น

การนั่งยองๆของไช่ฉู่เชิง คือสัญลักษณ์แทนความรู้สึกอ่อนแอ ท้อแท้ สภาพจิตใจกำลังตกต่ำ (มันจะพอดิบพอดีกับที่เขาพูดว่า มนุษย์เราย่อมมีด้านอ่อนแอในชีวิต) ซึ่งฉากต่อมาหยวนหลิงอวี้ ขอนั่งยองๆอยู่เคียงข้าง เพื่อต้องการสื่อว่าฉันก็ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่ใครต่อใครพบเห็น ซึ่งภาพสะพานที่อยู่ด้านหน้าพวกเขา กลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ผมไม่ค่อยแน่ในความสัมพันธ์ระหว่างไช่ฉู่เชิงกับหยวนหลิงอวี้ ว่ามีข่าวลือหรือหนังประดิษฐ์ครุ่นคิดขึ้น แต่เพื่อจุดประสงค์ล้อกับความสัมพันธ์ระหว่างไช่ฉู่เชิงกับอ้ายเฉีย ใครคบหาชายคนนี้ย่อมประสบโศกนาฎกรรม (หมอนี่มันตัวซวยนี่หว่า!)

หลังจากเสียเวลาค้นหาอยู่สักพัก เพราะผมคุ้นว่านี่น่าจะคือภาพวาดของ Van Gogh ก็ค้นพบเจอ Oleanders (1888) ด้วยความเข้าใจว่าดอกยี่โถ คือสัญลักษณ์ของชีวิต (life-affirming) ความสนุกสนานร่าเริง (Joyous) เพราะมันเบิกบานตลอดทั้งปี แต่ในความเป็นจริงกลับมีพิษร้ายแรง เผลอรับประทานเข้าไปอาจถึงตาย (แต่ถ้าในปริมาณเหมาะสมก็สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้หลายอย่าง)

เกร็ด: Van Gogh คือจิตรกรที่ตัดสินใจปลิดชีพตนเอง ล้อกับเรื่องราวของหนังได้เป็นอย่างดี

ภาพวาดนี้พบเห็นในห้องนอนของหยวนหลิงอวี้ ระหว่างที่จางต๋าหมินบุกเข้ามาเยี่ยมเยียน อ้างว่าต้องการเที่ยวชมบ้าน แต่จุดประสงค์แท้จริงกลับต้องการขอเงิน (อ้างว่าไปทำธุรกิจ แต่เชื่อเถอะว่าคงไปเล่นการพนันหมดตัว) สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับภาพวาดนี้เป็นอย่างดี ภายนอกดูสวยงาม แต่แท้จริงเต็มไปด้วยพิษภัยร้ายแรง และอาจถึงแก่ความตาย!

นี่คือปฏิกิริยาของหยวนหลิงอวี้ หลังจากถูกจางต๋าหมิน จองเวรจองกรรมไม่ยอมเลิกรา อยากจะบวชเป็นแม่ชี แล้วปล่อยละวางจากทุกสิ่งอย่าง แต่เธอกลับร่ำร้องไห้ออกมา ไม่สามารถหยุดยั้งหักห้ามตนเองแม้หลังจากผู้กำกับสั่งคัท! … ภาพยนตร์เรื่อง A Sea of Fragrant Snow (1934) [สูญหายไปแล้ว]

ผมเคยรับชมผลงานของหยวนหลิงอวี้อยู่สองสามเรื่อง เลยมีความรู้สึกเฝ้ารอคอย อยากพบเห็นโดยเฉพาะ The Goddess (1934) ซึ่งหนังไม่ใช่แค่ทำการสร้างฉากนี้ขึ้นใหม่ (re-create) แล้วเปรียบเทียบฟุตเทจจากแผ่นฟีล์ม แต่ก่อนหน้านี้ยังอารัมบทในห้องนอนระหว่างหยวนหลิงอวี้ กับถังจี้ชาน แถมมีโคมไฟเหนือศีรษะ ท่านั่งบนโต๊ะ ไขว้แขน พ่นควันบุหรี่ และตั้งคำถามถ้าฉันและภรรยาของคุณเป็นโสเภณีจะเลือกใคร? (เรื่องราวของฉากนี้คือหญิงสาวขายตัวเพื่อนำมาเงินมาเลี้ยงดูแลบุตร)

พอพบเห็นฉากนี้ซ้ำๆ 3-4 ครั้ง (ถ้านับตอนเทคสองด้วยนะ) ทำให้ผมเกิดความพึงพอใจอย่างยิ่งยวด! เพราะถือเป็นฉากสำคัญสุดๆของหนัง ถ้าทำออกมาไม่ดีก็จบเห่ แต่ต้องชมเลยว่าเกินความคาดหมายมากๆ แถมปรากฎขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพจิตใจของหยวนหลิงอวี้เริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ (ล้อกับคำถามจี้แทงใจดำไช่ฉู่เชิง ว่าอ้ายเฉียเคยตกต่ำจนกลายเป็นโสเภณีจริง? เพราะบทบาทใน The Goddess (1934) หยวนหลิงอวี้กำลังเล่นเป็นโสเภณี!)

ขณะที่ฉากทรงพลังสุดของหนัง มาจากระหว่างทำการแสดง New Women (1935) ฉากในโรงพยาบาลคือความต้องการมีชีวิต “I want to live!” เริ่มตั้งแต่อ้ายเฉีย ที่ผู้กำกับไช่ฉู่เชิงสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่ออุทิศให้กับเธอ และหยวนหลิงอวี้ สะท้อนความรู้สึกเก็บกดอัดอั้น ชีวิตที่ไม่เคยสมหวังในเรื่องใดๆ ทุกสิ่งอย่างเลยพลั่งพลูออกมาในครานี้

และความซับซ้อนของฉากนี้แตกต่างจาก The Goddess (1934) แทนที่จะเปรียบเทียบเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของหยวนหลิงอวี้ กลับเปลี่ยนมาเป็นเบื้องหลังถ่ายทำของจางม่านอวี้ พบเห็นเธอกำลังคลุมโปงร่ำร้องไห้อยู่ใต้ผ้าห่ม ทำเป็นว่ากำลังอินกับบทบาท … จริงไม่จริงก็ถามใจผู้ชมเองว่าอยากจะเชื่อแบบไหน

ถ้าไม่ใช่บทบาทการแสดง หยวนหลิงอวี้แทบไม่เคยแสดงความอ่อนแอใดๆออกมา แต่หลังจากอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ถูกจางต๋าหมินยื่นฟ้องร้อง ข้อหาคบชู้ อาศัยอยู่กับถังจี้ชาน นั่นคงสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวลึก ถึงขนาดมิอาจควบคุมตนเอง ร่ำร้องไห้ออกมาลั่นบ้าน ถือว่าสภาพจิตใจตกต่ำถึงขีดสุด!

หยวนหลิงอวี้พยายามจะต่อรองกับจางต๋าหมิน แต่ฝ่ายชายกลับเต็มไปด้วยความมักมาก เห็นแก่ตัว ปากอ้างว่ายังรัก แต่จิตใจกลับสนเพียงเงินๆทองๆ โหยหาความสุขสบาย ไม่ต้องการอาศัยอยู่ห้องเช่าโกโรโกโสแบบนี้ (ที่เปิดประตูก็เจอห้องน้ำ)

ผมมองการทุบกระจกแตกของจางต๋าหมิน ไม่ได้ต้องสื่อถึงจิตใจอันแตกสลาย แต่คือความต้องการทำลายทุกสิ่งอย่างของหยวนหลิงอวี้ เพื่อให้ได้เธอกลับมาครอบครอง เป็นเจ้าของ เรียกว่าสนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองตัวตนเองเท่านั้นแหละ!

หยวนหลิงอวี้เลือกที่จะเดินออกประตูหน้า ฝ่าฝูงชน พร้อมอดรนทนต่อส่งเสียงซุบซิบนินทา แต่เมื่อใครคนหนึ่งด่าพ่อล่อแม่ หันหลังกลับไปเผชิญหน้า ก็ทำหน้าจ๋อยเหมือน ‘หมาเห่าใบตองแห้ง’ มันแน่ไม่จริงนี่หว่า

ซึ่งระหว่างการเดินฝ่าฝูงชน จะมีขณะหนึ่งที่ใบหน้าของหยวนหลิงอวี้จะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด นั่นก็สะท้อนสภาพจิตใจของเธอ มิอาจอดรนทนต่อเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่ เก็บเอามาครุ่นคิดมาก พยายามเผชิญหน้าแล้วก็มิอาจต่อต้านทาน ไม่รู้จะหาหนทางแก้ปัญหาอะไรอีกต่อไป

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว หยวนหลิงอวี้นัดพบเจอไช่ฉู่เชิงยังร้านอาหารแห่งหนึ่ง ยื่นข้อเสนอให้หลบหนีจากสถานที่แห่งนี้ไปด้วยกัน ระหว่างนั้นเธอหยิบยาสูบจากมวนบุหรี่นำมาเคี้ยวใส่ปาก (เหมือนสมัยนั้นผู้หญิงที่สูบบุหรี่มักถูกมองว่าเป็นคนนิสัยไม่ดี กร้านโลก และอาจทำลายภาพลักษณ์ของหยวนหลิงอวี้ด้วยกระมัง)

โดยปกติแล้วการสูบบุหรี่คือสัญลักษณ์ของ Sex ได้รับความพึงพอใจ ระบายความอึดอัดอั้น สนองความพึงพอใจส่วนบุคคล, ในบริบทของหนังนี้เริ่มต้นคือการอ่อยเหยื่อของหยวนหลิงอวี้ พยายามชักชวนไช่ฉู่เชิงให้หลบหนีไปด้วยกัน แต่ถ้ามองสภาพจิตใจของหญิงสาวขณะนั้น ยาสูบอาจเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในสถานการณ์ขณะนั้น

หยวนหลิงอวี้ได้รับชักชวนเข้าร่วมงานเลี้ยงขอบคุณโปรดิวเซอร์ชาวต่างชาติ ที่นำเข้าเครื่องบันทึกเสียงสำหรับหนังพูด (Talkie) แต่สำหรับเธอตั้งใจให้เป็นคืองานเลี้ยงอำลา (น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Veronika Voss (1991)) พอเริ่มมึนเมาก็เดินไปรอบห้อง จุมพิตแก้มซ้าย-ขวาบุรุษทุกคน และสตรีบางคน เพื่อเป็นการขอบคุณต่อทุกสิ่งอย่าง

ซึ่งระหว่างการจุมพิต 3-4 บุคคลสำคัญๆในชีวิตของหยวนหลิงอวี้ จะมีการแทรกภาพระหว่างงานศพ ที่คนเหล่านั้นจักกล่าวคำร่ำลา หรือแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของเธอผู้เป็นที่รักยิ่ง … การตัดต่อในช่วงนี้ถือว่าเป็นการลำดับ หยวนหลิงอวี้ขณะยังมีชีวิต=สิ้นลมหายใจ (ถือว่าตกตายไปตั้งแต่ตอนนี้แล้วละ)

หยวนหลิงอวี้ไม่เพียงจุมพิตไช่ฉู่เชิงยาวนานที่สุด แต่ยังพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก (ฝั่งซ้ายมือของภาพ) เพื่อสื่อถึงความรู้สึกภายในที่มีให้มากกว่าคนอื่น … หลายๆฉากก็แอบบอกใบ้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งคู่อยู่แล้วนะครับ แต่มันจะเกินเลยเถิดถึงเพศสัมพันธ์ไหม ไม่มีใครตอบได้นอกจากพวกเขาเอง

ซึ่งในงานศพไช่ฉู่เชิงกลับแค่แอบอยู่ด้านหลังผู้คน ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแบบบุคคลสำคัญอื่นๆที่กล่าวสุนทรพจน์เคียงข้างเรือนร่างของหยวนหลิงอวี้ ซึ่งเขาก็จะก้มศีรษะ ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด ก่อนเป็นลมล้มพับหมดสติ มิอาจทำใจจากการสูญเสียครั้งที่สอง (อ้ายเฉีย+หยวนหลิงอวี้)

ค่ำคืนแห่งความตายของหยวนหลิงอวี้ จะเต็มไปด้วยกระจกที่บางครั้งเห็นแล้วโคตรหลอน เพราะมันสะท้อนร่างกาย-จิตวิญญาณ เดินเวียนวนไปวนมารอบบ้าน ร่ำลาครอบครัวครั้งสุดท้าย และช็อตที่เธอกำลังรับประทานยานอนหลับ จะพบเห็นดอกไม้ใส่แจกัน (ผมไม่แน่ใจว่าดอกอะไร แต่มันควรจะล้อกับภาพวาด Van Gogh: Oleanders ดอกยี่โถที่ผมเคยอธิบายไป)

ชุดของหยวนหลิงอวี้มองไกลๆเหมือนช่อดอกไม้ม้วนๆ แต่เมื่อมองใกล้ๆจะเห็นเป็นวงกลมหมุนๆ สื่อถึงวังวน ความสับสนในชีวิต เต็มไปด้วยความหมกมุ่นยึดติด จนไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นจากโชคชะตากรรม

หนังไม่ได้พยายามสร้างใหม่ให้เหมือนเปะๆ ใครชอบจับผิดก็น่าจะสังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับกวนจินเผิง เมื่อถ่ายทำทางฝั่งจางม่านอวี้เสร็จสิ้น จะพบเห็นเธอลืมตาหายใจ คนส่วนใหญ่อาจตีความแค่การนำเสนอเบื้องหลัง vs. ภาพยนตร์ vs. ภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์ แต่ผมมองไกลไปถึงความเป็นอมตะของหยวนหลิงอวี้ (และจางม่านอวี้) แม้ชีวิตจริงลาจากโลกนี้ไป แต่พวกเธอก็ราวกับยังมีชีวิต/ลมหายใจ โลดแล่นบนแผ่นฟีล์ม … ชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย Peter Cheung, 張耀宗 ขาประจำผลงานของบรูซ ลี และเฉินหลง อาทิ Fist of Fury (1972), The Way of the Dragon (1972), Enter the Dragon (1973), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Project A (1983), Long Arm of the Law (1984), Mr. Vampire (1985), Police Story (1985), Rouge (1987), Center Stage (1991), The Legend (1993), The Legend of Drunken Master (1994), Crime Story (1994) ฯลฯ

ฉบับตัดต่อแรกสุดของหนังความยาว 118 นาที (ผมไม่เคยดูฉบับนี้นะ แต่คาดว่าคงไม่มีพวกบทสัมภาษณ์ และเบื้องหลังถ่ายทำ) ต่อมามีการทำ Director’s Cut ความยาว 147 นาที (น่าจะมีแค่บทสัมภาษณ์ของจางม่านอวี้ และเบื้องหลังการถ่ายทำ) และระหว่างการบูรณะ มีการค้นพบฟุตเทจเพิ่มเติม Extended Version นำมาผสมรวมจนกลายเป็น 154 นาที (คงเพิ่มเติมในส่วนบทสัมภาษณ์นักแสดง/ทีมงานคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่จางม่านอวี้แต่เพียงผู้เดียว)

  • Original Cut ความยาว 118 นาที (1 ชั่วโมง 58 นาที)
  • Director’s Cut ความยาว 147 นาที (2 ชั่วโมง 27 นาที)
  • Extended Version (4K Restoration) ความยาว 154 นาที (2 ชั่วโมง 27 นาที)

ผมขอยึดตามฉบับที่ได้รับชม Extended Version, หนังดำเนินเรื่องผ่านกองถ่ายภาพยนตร์จากฮ่องกง เดินทางสู่นครเซี่ยงไฮ้เพื่อเตรียมงานสร้าง ถ่ายทำหนังชีวประวัติหยวนหลิงอวี้ ซึ่งจะมีการตัดสลับไปมาระหว่าง

  • พูดคุยกับทีมงาน ผู้กำกับกวนจินเผิง นักแสดง (จางม่านอวี้, หลิวเจียหลิง, เหลียงเจียฮุย ฯ) สัมภาษณ์บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้น (ผู้กำกับซุนหยู, นักแสดงหลี่ลี่ลี่, เฉินหยานหยาน ฯ) รวมถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ
  • เรื่องราวในภาพยนตร์ จางม่านอวี้แสดงเป็นหยวนหลิงอวี้ ระหว่างเซ็นสัญญาอยู่กับสตูดิโอ Lianhua Film Company (1930-35)
  • ภาพนิ่งและฟุตเทจหนังเงียบที่ยังหลงเหลือของหยวนหลิงอวี้
    • Dream of the Ancient Capital, 故都春夢 (1930) กำกับโดยซุนหยู ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • Wild Flowers by the Road, 野草閒花 (1930) กำกับโดยซุนหยู ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • The Peach Girl หรือ Peach Blossom Weeps Tears of Blood, 桃花泣血記 (1931) กำกับโดยผู่หยวนชาง
    • Three Modern Women, 三个摩登女性 (1933) กำกับโดยผู่หยวนชาง ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • Night in the City, 城市之夜 (1933) กำกับโดยเฟยมู่ ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • Little Toys (1933) กำกับโดยซุนหยู
    • The Goddess, 神女 (1934) กำกับโดยอู๋หย่งกัง
    • A Sea of Fragrant Snow, 香雪海 (1934) กำกับโดยเฟยมู่ ฟีล์มสูญหายไปแล้ว
    • New Women, 新女性 (1935) กำกับโดยไช่ฉู่เชิง

เรื่องราวของหนังสามารถแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา

  • แนะนำนักแสดง/ตัวละคร ยุคแรกๆของหยวนหลิงอวี้กับ Lianhua Film Company
    • บทสัมภาษณ์จางม่านอวี้, ผู้กำกับกวนจินเผิง
    • หยวนหลิงอวี้ กับผลงานในยุคแรกๆที่ Lianhua Film Company (1930-31)
    • ความสัมพันธ์ระหว่างหยวนหลิงอวี้กับครอบครัว และจางต๋าหมิน
  • ยุคที่สองร่วมงานผู้กำกับฝั่งขวา (Leftist Director)
    • บทสัมภาษณ์ผู้กำกับซุนหยู
    • หยวนหลิงอวี้เลิกรากับจางต๋าหมิน คบชู้กับถังจี้ชาน ย้ายครอบครัวไปอยู่บ้านใหม่
    • หยวนหลิงอวี้ต้องการลบล้างภาพลักษณ์เดิมของตนเอง เริ่มต้นใหม่กับผลงาน Three Modern Women (1933)
  • ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง
    • การถกเถียงสาเหตุผลของโศกนาฎกรรม
    • จางต๋าหมิน พยายามเรียกร้องโน่นนี่นั่น ต้องการคืนดีกับอดีตคนรัก พอไม่สมหวังก็ตัดสินใจฟ้องร้องค่าเสียหาย
    • กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวลงข่าวหนังสือพิมพ์ สร้างปัญหาให้ทุกคนรอบข้าง
    • หยวนหลินอวี้กว่าจะแสดงฉากในโรงพยาบาล “I want to live” ทำให้เธอไม่สามารถแยะแยะชีวิตจริง-การแสดงได้อีกต่อไป
  • การตัดสินใจของหยวนหลิงอวี้
    • งานเลี้ยงต้อนรับโปรดิวเซอร์จากต่างประเทศ แต่กลับเป็นการกล่าวคำร่ำลาของหยวนหลิงอวี้
    • ค่ำคืนสุดท้ายของหยวนหลิงอวี้ พร้อมเสียงอ่านจดหมายลาตาย
    • พิธีศพจากการแสดง vs. เบื้องหลังถ่ายทำ vs. ภาพถ่ายจากหน้าหนังสือพิมพ์

วิธีการดำเนินเรื่องแบบ ‘non-narrative’ ด้วยการตัดสลับไปมาระหว่าง บทสัมภาษณ์/เบื้องหลัง vs. การแสดงภาพยนตร์ vs. ภาพนิ่ง/ฟุตเทจจริงๆ ก็เพื่อให้ทุกสิ่งอย่างผสมผสานกลายเป็นอันหนึ่ง … ใครเคยรับชม Rouge (1987) ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับกวนจินเผิง น่าจะตระหนักถึงสไตล์ลายเซ็นต์ แนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากอัตลักษณ์ทางเพศ แม้ร่างกายเป็นชาย-จิตใจเป็นหญิง (ผกก.กวนจินเผิง เปิดเผยว่าตนเองเป็นคนรักร่วมเพศ!) ขยับขยายสู่แนวคิดหยิน-หยาง หลายๆสิ่งอย่างสามารถรวมเป็นอันหนึ่ง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ชีวิตจริง-การแสดง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้กระมังเลยตั้งชื่อหนังภาษาอังกฤษ Center Stage เวทีที่อยู่กึ่งกลางของทุกสรรพสิ่งอย่าง


เพลงประกอบโดย Johnny Chen หรือ Chen Huan-Chang, 陳煥昌 (เกิดปี 1958) นักร้อง/นักแต่งเพลง ศิลปิน Mandopop ชื่อเสียงโด่งดังจากไต้หวัน ได้รับชักชวนจากผู้กำกับกวนจินเผิง ร่วมงานทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Center Stage (1991) และ Red Rose White Rose (1994)

แม้ว่า Chen Huan-Chang ไม่เคยมีประสบการณ์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์มากก่อน อีกทั้งเขาเป็นชาวไต้หวัน ไม่เคยรับรู้จักสไตล์เพลง Shanghainese แถมแนวย้อนยุค 30s อีกต่างหาก! แต่ก็ต้องชมว่ารังสร้างผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ เสริมสร้างบรรยากาศนำเข้าสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรมได้อย่างมืดหมองหม่น ด้วยท่วงทำนองพื้นบ้านจีน บางครั้งก็ดนตรีคลาสสิก (Tradition Eastern vs. Modern Western) ในรูปแบบ diegetic (พบเห็นนักแสดงร้อง-เล่น-เต้น) และ non-diegetic (Soundtrack ประกอบพื้นหลัง) 

ขอเริ่มที่บทเพลง Wild Grass and Flowers in Spring, 野草閒花蓬春生 ขับร้องโดย Tracy Huang หรือ หวงอิงอิง, 黃鶯鶯 ศิลปินชาวไต้หวัน, คำร้องเดียวกับ Burial of Heart แต่ในสไตล์ดนตรีพื้นบ้านจีน แล้วนำไปเปิดบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Gramophone) บันทึกเสียงอีกรอบเพื่อให้ได้สัมผัสความเก่าๆ โบร่ำราณ ดังขึ้นพร้อมภาพถ่ายของหยวนหลิงอวี้ สิ่งที่ยังหลงเหลือของนักแสดงสาวผู้เป็นตำนาน

Soundtrack ส่วนใหญ่ของหนังจะเน้นสร้างบรรยากาศอึมครึม หมองหม่น บางครั้งเพียงเปียโน บางครั้งใช้เสียงสังเคราะห์ บางครั้งยกมาทั้งออร์เคสตร้า เพื่อนำทางความรู้สึกผู้ชมไปสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม แต่มันจะไม่ใช่มืดจนมิด หมองจนดำสนิท เพราะสภาพจิตใจของหยวนหลิงอวี้ ไม่เคยแสดงความหมดสิ้นหวังอาลัย แค่วิธีการของเธอในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ มันสุดโต่งแบบไม่ยี่หร่าอะไรทั้งนั้น

我好快樂 แปลว่า I’m so happy. เป็นบทเพลงที่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์หยวนหลิงอวี้ ในค่ำคืนสุดท้ายของชีวิต ระหว่างกำลังเตรียมการกระทำอัตวินิบาต แม้มีบรรยากาศหวิวๆ หลอนๆ เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนทุ้มต่ำ แต่ไม่ได้มอบความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เหมือนเพียงชีวิตดำเนินไป พร้อมแล้วจะเผชิญหน้าความตาย อะไรจะเกิดขึ้นฉันก็ยินยอมรับได้ ไม่รู้สึกสูญเสียใจใดๆทั้งนั้น

Buried My Heart, 葬心 ทำนองโดย Chen Huan-Chang, คำร้องโดย Yao Ruolong, ขับร้องโดย หวงอิงอิง ซึ่งก็คือบทเพลงเดียวกับ Wild Grass and Flowers in Spring แต่ในสไตล์ Modern Music ด้วยไวโอลิน และเครื่องดนตรีไฟฟ้า ดังขึ้นตอน Closing Credit

Chen Huan-Chang เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์เหนือธรรมชาติ ในค่ำคืนระหว่างแต่งบทเพลงนี้ เหมือนได้ยินเสียงแว่ว ใครสักคนกำลังฮัมท่วงทำนอง โดยไม่รู้ตัวมือเขียนโน๊ตตาม แล้วเสร็จภายในสามชั่วโมง โทรศัพท์ติดต่อหาหวงอิงอิง ทักถามเหมือนได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้อยู่ปลายสาย … ก็ไม่น่าจะเป็นใครอื่น!

Butterfly fly away, heart is not there
Who will wipe away the tears in the long night
It’s a little bit of greed, a little bit of dependence, a little bit of love
The old fate should be difficult to replace with sorrow
How can you stand this one guessing over there?
People’s words merge into sorrow
The hardships given by God are not to blame
Never should never be afraid of loneliness
Lin Hua thanked and buried her heart
Where will he be when Chunyan returns?
The hardships given by God are not to blame
Never should never be afraid of loneliness
Butterfly fly away, heart is not there
Who will wipe away the tears in the long night
Lin Hua thanked and buried her heart
Where will he be when Chunyan returns?

เกร็ด: คำแปลบทเพลงนี้จงใจค้างคำ Lin Hua และ Chunyan ซึ่งจะสื่อถึงบุคคลก็ได้ แต่ความหมายจริงๆ 林花 แปลว่าดอกไม้ป่า, 春燕 หมายถึงฤดูใบไม้ผลิ

When filming ‘Center Stage’, what I was most interested in was not reshaping Ruan Lingyu’s life, I just wanted to use the medium of film to explore the essence of film, its true and false. I never believed that film could be 100% presenting reality, it can only restore a reality, a smell of movie life.

ผู้กำกับกวนจินเผิง

ระหว่างรับชม Center Stage (1991) ทำให้ผมระลึกนึกถึง All That Jazz (1979), Veronika Voss (1982), I’m Not There (2007) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นภาพยนตร์ Biopic ที่มีความผิดแผก แปลกประหลาด ด้วยวิธีการสุดพิศดาร ไม่ได้นำเสนอตามอย่างสูตรสำเร็จ ‘Narrative Film’ แบบทั่วๆไป ท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นคิดตั้งคำถาม ว่าผู้กำกับต้องการนำเสนออะไรออกมา?

การผสมผสานระหว่าง บทสัมภาษณ์/เบื้องหลัง vs. การแสดงภาพยนตร์ vs. ภาพนิ่ง/ฟุตเทจจริงๆ อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่ามีจุดเริ่มต้นจากอัตลักษณ์ทางเพศของผู้กำกับกวนจินเผิง แม้ร่างกายคือชาย-จิตใจกลับเป็นหญิง ขยับขยายสู่แนวคิดหยิน-หยาง ต้องการผสมผสานหลายสิ่งอย่างรวมเป็นอันหนึ่ง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ชีวิตจริง-การแสดง ฯลฯ เพื่อชักชวนผู้ชมให้ขบครุ่นคิด ค้นหาเหตุผล ทำไมหยวนหลิงอวี้ ถึงกระทำการอัตวินิบาต?

แม้การฆ่าตัวตายของหยวนหลิงอวี้จะมีคำอธิบาย เขียนจดหมายถึงสองฉบับ จู่โจมตีพฤติกรรมของสื่อที่ทำให้เธอไม่รู้จักแก้ปัญหาอย่างไร แต่มันก็ยังแปลกพิศดาร ทุกสิ่งอย่างตระเตรียมการมาอย่างดี ไม่มีสิ่งใดๆหลงเหลือติดค้างคาใจ แถมหนังยังนำเสนอฉากงานเลี้ยงร่ำลาอีกต่างหาก มันช่างดูเหมือน Anti-Psychology ใช้เหตุผลทางจิตวิทยามาอธิบายอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง!

ถ้าเรามองโศกนาฎกรรมดังกล่าวแบบเพียงผิวเผิน ก็อาจโทษว่ากล่าวโชคชะตา ตำหนิพฤติกรรมเห็นแก่ตัว/สนเพียงเงินของจางต๋าหมิน และความไร้จริยธรรมของสื่อยุคสมัยก่อน (ปัจจุบันก็ดูไม่ได้พัฒนาขึ้นสักเท่าไหร่!) แต่ปัญหาแท้จริงล้วนมาจากตัวของหยวนหลิงอวี้ ที่ไม่สามารถหักห้ามใจตนเอง กระทำสิ่งขัดต่อศีลธรรมจรรยา และเมื่อสังคมถูกตั้งข้อครหาก็ปฏิเสธการเผชิญหน้า ฆ่าตัวตายเหมือนเพื่อหลบหนีปัญหา

แต่การกระทำอัตวินิบาตของหยวนหลิงอวี้ ในความครุ่นคิดเห็นของผู้กำกับกวนจินเผิง ยังพยายามชี้นำถึงอิทธิพลจาก ‘ความเป็นนักแสดง’ ปะติดปะต่อหลายๆฉากในผลงานหนังเงียบ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวชีวิต ทำให้เกิดความสับสนระหว่างโลกความจริง-มายาการแสดง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธออาจไม่สามารถแยกแยะความแตกต่าง (ระหว่างชีวิตกับละคร โดยเฉพาะฉากในโรงพยาบาล “I want to live”) หาคำตอบไม่ได้ว่าฉันควรแสดงออกต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นนี้เช่นไร เลยเลือกแก้ปัญหาแบบนางเอก ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องความสนใจ

If I was famous…
If I was a legend…
Then I had to die when I was most beautiful.

เหลียงเจียฮุย

ในภาพยนตร์ Rouge (1987) ผู้กำกับกวนจินเผิงตั้งคำถามถึงอุดมคติแห่งรัก ชาย-หญิงในอดีตยินยอมพร้อมยอมตกตายตามกันเพื่อพิสูจน์รักแท้ แต่หนุ่ม-สาวสมัยใหม่ให้ตายยังไงก็ไม่ยินยอมพร้อมใจ! สำหรับ Center Stage (1991) ก็มีการตั้งคำถามคล้ายๆกันนี้กับจางม่านอวี้ แม้เธอมีหลายๆสิ่งอย่างเหมือนหยวนหลิงอวี้ แต่ไม่ว่าอะไรยังไง ฉันจะไม่ยินยอมฆ่าตัวตายเพื่อกลายเป็นตำนาน … แต่เธอก็ออกจากวงการในช่วงเวลาที่ยังสวยสาว (ตอนอายุ 40 ปี) คงความกระพัน กลายเป็นอีกตำนานค้างฟ้าไม่ต่างกัน!

ชื่อหนังภาษาไทย สตรีที่โลกแกล้งให้แพงน้ำตา (นำเข้าโดยสหมงคลฟีล์ม) ช่างมีความสลับซับซ้อนยิ่งนัก! สตรีย่อมหมายถึงหยวนหลิงอวี้, โลกแกล้งคือการถูกสังคมตำหนิต่อว่า อดีตคนรักทรยศหักหลัง, แพงน้ำตา น่าจะสื่อถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เธอคิดสั้นฆ่าตัวตาย สร้างความเศร้าเสียใจให้ผู้คนมากมายจนมิอาจประเมินมูลค่าได้ (หรือจะมองว่าเป็นความเจ็บปวดของหยวนหลิงอวี้ที่มีราคามหาศาล)

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ชมส่วนใหญ่อาจไม่เอะใจ แต่เพราะผมเพิ่งรับชม Rouge (1987) เลยตะหนักถึงความ ‘queer’ ของ Center Stage (1991) สะท้อนรสนิยม(ทางเพศ)ของผู้กำกับกวนจินเผิง พบเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆที่บรรดาหนุ่มๆเปลือยกายท่อนบนเข้าห้องอาบน้ำ/อบซาวน่า มาจนถึงช่วยท้ายๆในงานเลี้ยงร่ำลาที่หยวนหลิงอวี้ โอบกอดจุมพิตแก้มซ้าย-แก้มขวา ไม่เว้นแม้เพศชาย-หญิง ก็ไม่รู้เหล่านั้นคือเหตุการณ์จริงหรือผู้กำกับเพิ่มเติมเข้ามา แต่ก็สะท้อนแนวคิดสองฟากฝั่งขั้วตรงข้าม ผสมผสานรวมตัวกลายเป็นอันหนึ่ง กึ่งกลาง Center Stage!


เมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี และจางม่านอวี้คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress ถือเป็นนักแสดงจีนคนแรก (รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน) ที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังใดๆในยุโรป (โดยเฉพาะ Big 3) เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกความสำเร็จให้กับวงการภาพยนตร์จีนเลยก็ว่าได้!

แม้หนังได้รับเสียงชื่นชมระดับนานาชาติ แต่ทั้งฮ่องกงและไต้หวัน กลับไม่สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่สาขานักแสดงนำหญิง ไม่มีใครสามารถแก่งแย่งชิงไปจากขุ่นแม่

  • Hong Kong Film Awards
    • Best Picture พ่ายให้กับ Cageman (1992)
    • Best Director
    • Best Actress (จางม่านอวี้) ** คว้ารางวัล
    • Best Original Screenplay
    • Best Cinematography ** คว้ารางวัล
    • Best Art Direction ** คว้ารางวัล
    • Best Makeup & Costume Design
    • Best Original Score ** คว้ารางวัล
    • Best Original Song บทเพลง Burning Heart, 葬心 ** คว้ารางวัล
  • Golden Horse Film Festival
    • Best Feature Film พ่ายให้กับ A Brighter Summer Day (1991)
    • Best Director
    • Best Actress (จางม่านอวี้) ** คว้ารางวัล
    • Best Original Screenplay
    • Best Cinematography ** คว้ารางวัล
    • Best Film Editing
    • Best Art Direction
    • Best Makeup & Costume Design
    • Best Original Score
    • Best Original Song บทเพลง Burning Heart, 葬心
    • Best Sound Recording

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2021 ผมเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสสูงเข้าฉายในไทย แต่สำหรับคนไม่อยากรอสามารถหาชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channal, Amazon Prime, iQiYi หรือจะซื้อ Blu-Ray ของค่าย Film Movement คุณภาพค่อนข้างดีทีเดียว และหน้าปกสวยมากๆ (Criterion ยังไม่มี Blu-Ray เรื่องนี้นะครับ แต่เชื่อว่าไม่น่าพลาดละ!)

หลังจากรับชม Rouge (1987) ไปเมื่อหลายวันก่อน มันเลยสร้างความคาดหวังให้ผมมากๆในการรับชม Center Stage (1991) … ก็ถึงขนาดลัดคิวแผนอื่นที่เตรียมไว้ … ผลลัพท์ก็ไม่ผิด แม้ไม่ถึงขั้นหลงใหลคลั่งไคล้ แต่ก็ชื่นชอบประทับใจในลูกเล่นลีลา วิธีการนำเสนอที่แปลก และชักชวนให้ผู้ขบครุ่นคิดถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ดาวดาราที่เจิดจรัสถึงมีจุดจบเช่นนั้น

ก่อนจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมอยากแนะนำให้ศึกษาชีวประวัติ และหาผลงานของหยวนหลิงอวี้ อาทิ Little Toys (1933), The Goddess (1934), New Women (1935) ฯลฯ หลายๆเรื่องสามารถรับชมได้ทาง Youtube มาเตรียมความพร้อม จะทำให้สามารถเข้าใจอะไรๆได้เพิ่มมากขึ้น

แนะนำคอหนังย้อนยุค ดราม่า-โรแมนติก ประเทศจีนทศวรรษ 30s, บรรดานักข่าว นักหนังสือพิมพ์, สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์, คนทำงานสายการแสดง นักออกแบบ สถาปนิก แฟชั่นดีไซเนอร์, ศิลปินที่หลงใหลศิลปะสไตล์ Art Deco, แฟนคลับจางม่านอวี้ และโดยเฉพาะใครที่รับรู้จักหยวนหลิงอวี้ เรื่องนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับการเดินทางสู่โศกนาฎกรรม

คำโปรย | Center Stage ภาพยนตร์ชีวประวัติกึ่งสารคดีหยวนหลิงอวี้ ที่มีจางม่านอวี้และผู้กำกับกวนจินเผิง ชักชวนให้ขบครุ่นคิดถึงสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ดาวดาราที่เจิดจรัสถึงมีจุดจบเช่นนั้น
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Rouge (1987)


Rouge (1987) Hong Kong : Stanley Kwan ♥♥♥♡

โศกนาฎกรรมในชีวิตจริงของเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะยิ่งขนหัวลุกพอง เพราะทั้งสองรับบทคู่รักจากอดีต เกาะฮ่องกงเมื่อทศวรรษ 1930s แต่ครอบครัวไม่ยินยอมรับเลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย กลายมาเป็นวิญญาณล่องลอย ติดตามหากันจนมาถึง ค.ศ. 1987

ผมเพิ่งมีโอกาสรับรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน จากคอลเลคชั่นออกใหม่ของ Criterion (วางจำหน่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2022) ผลงานที่ได้รับความสนใจจากค่ายนี้มันต้องบางสิ่งอย่างน่าสนใจ! แล้วพอ Facebook ขึ้นโฆษณา(จนน่ารำคาญ)เทศกาลภาพยนตร์ Making Waves – Navigators of Hong Kong Cinema ระหว่าง 22-24 กรกฎาคม 2022 ที่ SFW เห็นรอบฉายฉบับบูรณะยิ่งสร้างความฉงนสงสัย เลยตั้งใจจะลองหามารับชมให้จงได้

ฉบับบูรณะที่รับชมจาก Criterion ผมยังรู้สึกว่าคุณภาพของหนังดูถดถอยไปพอสมควร ทั้งสีสันที่ขับเน้นไม่ขึ้นเอาเสียเลย (น่าจะเป็นความเสื่อมตามกาลเวลาของฟีล์มสี) รวมถึงหลายๆแนวคิดแม้มีความน่าสนใจ แต่ยังนำเสนออกมาไม่กลมกล่อมสักเท่าไหร่ ทำลายความสมเหตุสมผลในความไม่สมเหตุสมผล บางส่วนพอมองข้ามได้ แต่พอบ่อยเกินไปก็รู้สึกกระอักกระอ่วนหัวใจ

หลายคนอาจมองเห็น Rouge (1987) คือภาพยนตร์แนวรักโรแมนติก ต่อให้ความตายก็มิอาจขวางกั้น แต่ความสนใจแท้จริงของผู้กำกับกวนจินเผิง (สแตนลีย์ กวน) ต้องการเปรียบเทียบวิถีชีวิต สภาพสังคม การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ-จิตภาพ ของเกาะฮ่องกงระหว่างทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 โดยเฉพาะมุมมองความรักที่เคยเต็มไปด้วยสีสัน หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ปัจจุบัน(นั้น)ใครต่อใครสนเพียงความพึงพอใจของตนเอง ให้ตกตายตามกันไปไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วละ!


กวนจินเผิง, 关锦鹏 (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวฮ่องกง, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านวรรณกรรม งานศิลปะ และการแสดงละครเวที สำเร็จการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน Hong Kong Baptist College, แล้วเข้าทำงานยังสถานีโทรทัศน์ TVB เป็นผู้ช่วยผู้กำกับหยูหยานไท่ (Ronny Yu), สวีอันฮัว (Ann Hui) อาทิ The Savior (1980), The Story of Woo Viet (1981), Boat People (1982) ฯ ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Women (1985), ผลงานส่วนใหญ่มักเป็นหนังโรแมนติก เกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องความรัก อาทิ Rouge (1987), Center Stage (1992), Hold You Tight (1998), Lan Yu (2001) ฯ

เกร็ด: กวนจินเผิง คือผู้กำกับชาวเอเชียไม่กี่คนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ผ่านสารคดีเรื่อง Yang ± Yin: Gender in Chinese Cinema (1996) และสรรค์สร้างผลงาน Lan Yu (2001) นำเสนอเรื่องราวชายรักชาย

สำหรับ Rouge, 胭脂扣 (อ่านว่า Yānzhī kòu, แปลว่า ตลับสีชาด) เป็นโปรเจคของโปรดิวเซอร์เฉินหลง (Jackie Chan) ขณะนั้นเซ็นสัญญาอยู่กับสตูดิโอ Golden Harvest ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ประพันธ์โดยลิเลียน ลี นามปากกาของลีบัค, Lee Bak (เกิดปี 1959) นักเขียนชาวจีน เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Farewell My Concubine, Green Snake ฯลฯ

ดั้งเดิมนั้นโปรเจคนี้อยู่ในการดูแลของผู้กำกับ Terry Tong, 唐基明 แต่ใช้เวลาพัฒนาบทนานเกินเลยขอถอนตัวออกไป เมื่อกวนจินเผิงได้รับการติดต่อ ก็มอบหมายนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 ที่เพิ่งเคยร่วมงาน Love Unto Waste (1986) ก่อนติดตามด้วย Center Stage (1992), ทำการปรับเปลี่ยนวิญญาณหญิงสาวที่ล่องลอยจับต้องไม่ได้ (เหมือนหนังผีทั่วๆไป) ให้มีรูปร่างตัวตน ใบหน้าคมๆ มองผิวเผินไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป


ฮ่องกง ค.ศ. 1934, เรื่องราวของหยูฮวา (รับบทโดย เหมยเยี่ยนฟาง) นางโลมค่าตัวแพงที่ใครต่อใครต่างหมายปอง แต่เธอกลับยินยอมศิโรราบความรักต่อคุณชายสิบสอง (รับบทโดย เลสลี่ จาง) ทายาทมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการร้านขายยาสมุนไพร แต่เขากลับฝืนคำสั่งครอบครัว ต้องการใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างเธอ แต่ความรักที่ไม่อาจต้านทานจารีตประเพณี ทำให้ทั้งสองคิดปลิดชีวิตลงพร้อมกัน

แต่ทว่าดวงวิญญาณของหยูฮวายังคงออกติดตามหาคุณชายสิบสอง ไม่รู้ว่าพลัดหลงกันตอนไหน ระหว่างกำลังล่องลอยเรื่อยเปื่อย ฮ่องกง ค.ศ. 1987 มีโอกาสพบเจอ/ได้รับความช่วยเหลือจาก อาหยวน (รับบทโดย ว่านจื่อเหลียง) และแฟนสาว (รับบทโดย จูเป่าอี้) ประกาศค้นหาคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ รอแล้วรอเล่า รอวันรอคืน กระทั่งท้ายที่สุดความลับของคุณชายสิบสองก็ได้รับการเปิดเผย


เหมยเยี่ยนฟาง, 梅艷芳 (1963-2003) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘ราชินีเพลง Cantopop’ และ ‘มาดอนน่าแห่งเอเชีย’ ครอบครัวมีพื้นเพจากกว่างโจว อพยพสู่เกาะฮ่องกงช่วงหลังสงครามกลางเมือง มีพี่น้องสี่คน (เป็นบุตรสาวคนเล็ก) บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องช่วยพี่ๆหาเงินตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จากการแสดงงิ้ว ร้องเพลงตามท้องถนน, จนกระทั่งพี่สาวผลักดันน้องไปประกวด New Talent Singing Awards ได้รับรางวัลชนะเลิศจนมีโอกาสออกอัลบัมแรก Debts of the Heart (1982), สำหรับภาพยนตร์มีผลงานเด่นๆ อาทิ Behind the Yellow Line (1984), Rouge (1987), The Legend of Drunken Master (1994) ฯ

รับบทหยูฮวา (Fleur, 如花) นางโลมอันดับหนึ่งของ Yi Hung Brothel, 已婚公 ในย่าน Shek Tong Tsui แค่จะจับมือ แตะเนื้อต้องตัว ต้องจ่ายค่าสินทอดทองหมั้น! เริ่มเป็นโสเภณีตั้งอายุ 16 เลยไม่คิดวาดฝันว่าจะมีโอกาสตกหลุมรักผู้ใด จนกระทั่งครั้งหนึ่งแต่งตัวเป็นบุรุษ ขับร้องเพลง หยอกล้อเล่นคุณชายสิบสอง โดยไม่รู้ตัวสร้างความประทับใจให้เขา พยายามเกี้ยวพาราสี แสดงออกความรักจากภายใน ไม่ใคร่สนแม้ขัดต่อความต้องการครอบครัว สังคมไม่ให้การยินยอมรับ เธอเลยยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง เข่นฆ่าตัวตายตามเพื่อจักได้ลงสู่ขุมนรกร่วมกัน

แต่หลังจากเสียชีวิตกลายเป็นวิญญาณล่องลอย หยูฮวากลับพลัดหลงจากคุณชายสิบสอง พยายามออกติดตามหามานานกว่าห้าสิบปี ครุ่นคิดประกาศค้นหาคนหายลงหน้าหนังสือพิมพ์ โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากอาหยวน แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ไร้คนติดต่อมา สร้างความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ก่อนท้ายที่สุดเมื่อได้พบเจอกัน เห็นสภาพเขาเช่นนั้น ก็ไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ

ผู้กำกับกวนจินเผิงมีภาพของเหมยเยี่ยนฟางมาตั้งแต่แรกเริ่มต้น แม้ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยรับบทนำ ส่วนใหญ่เล่นเป็นสาวแรกรุ่น น่ารักสดใส แต่ในวงการเพลงขึ้นแสดงคอนเสิร์ตเมื่อไหร่ ความจัดจ้านบนเวที ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ไม่เคยซ้ำแบบใคร (ได้รับการเปรียบเทียบถึงกิ้งก่าเปลี่ยนสี) รวมถึงความคลุมเคลือเรื่องรสนิยมทางเพศ ถือว่ามีความเหมาะสมตัวละครนี้มากๆ

You have many different looks … heavy makeup, light makeup, masculine makeup, no makeup . . . like a dreamy moon.

คุณชายสิบสอง

ถึงอย่างนั้นบทบาทหยูฮวา ไม่ได้มีภาพลักษณ์อะไรมากมาย เห็นเด่นๆก็แค่แต่งตัวเป็นชายตอนต้นเรื่อง ซึ่งเมื่อกลายเป็นวิญญาณหลงเหลือแค่ชุดเดิมตัวเดียวเท่านั้น! แต่ปริมาณเครื่องสำอางค์ ลิปสติกแดงทาปาก มีความอ่อน-เข้มแตกต่างกันไป (ใช้สื่อแทนสภาวะทางอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์)

และที่ต้องชมเลยก็คือท่วงท่าทาง ทุกลีลาเคลื่อนไหว นั่ง-นอน ยืน-เดิน ขยับมือ-เท้า โน้มตัวเข้าหา ช่างมีความชดช้อยนางรำ ผ่านกระบวนการฝึกฝน(ศาสตร์แห่งการเกี้ยวพาราสีบุรุษ)จนเพรียบพร้อมสมบูรณ์แบบ เห็นแล้วรู้สึกอึ่งทึ่ง น่าประทับใจอย่างสุดๆ … ซึ่งเมื่อตัวละครกลายเป็นวิญญาณล่องลอย ผู้ชมจะสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างคนปกติ/ยุคสมัยนี้ กับเธอที่มาจากอดีต การเคลื่อนไหวช่างดูเหนือธรรมชาติ (สะท้อนความแตกต่างของขนบประเพณีทางสังคมได้อย่างชัดเจน)

อีกสิ่งที่ต้องพูดถึงก็คือการเสียชีวิตของเหมยเยี่ยนฟาง (มะเร็งปากมดลูก) ปีเดียวกับเลสลี่ จาง (ฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้า) ทำให้ผู้ชม(ที่รับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว)รู้สึกเหมือนว่าหยูฮวาและคุณชายสิบสอง เกิดมาเพื่อครองคู่รัก กลายเป็นอมตะ ทั้งในโลกนี้และหลังความตาย สร้างความหลอกหลอนให้ตัวละครนี้อย่างสุดๆ

เกร็ด: เห็นมีภาพยนตร์อัตชีวประวัติเหมยเยี่ยนฟาง เรื่อง Anita (2021) นำแสดงโดย ดาเนียลลา หวัง, 王丹妮 น่าจะหารับชมออนไลน์ได้แล้วกระมัง


เลสลี่ จาง, 張國榮 ชื่อเกิด Cheung Fat-chung (1956 – 2003) นักร้องนักแสดงสัญชาติฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘บิดาผู้ก่อตั้ง Cantopop’ เกิดที่เกาลูน บิดาเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดังที่มีลูกค้าอย่าง William Holden, Marlon Brando, Cary Grant ตอนอายุ 12 ถูกส่งไปร่ำเรียนยังประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เลือกเชื่อเลสลี่เพราะชื่นชอบหนัง Gone With the Wind และตัวละคร Leslie Howard, โตขึ้นสอบเข้า University of Leed สาขาการจัดการ แต่แค่เพียงปีเดียวก็กลับบ้านเพราะพ่อล้มป่วย เซ็นสัญญาค่ายเพลง Polydor Records ออกอัลบัมแรก I Like Dreamin (1977) เป็นภาษาอังกฤษเลยดับสนิท แต่ก็ยังฝืนทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งอัลบัม Wind Blows (1982) บทเพลง Monica ติดชาร์ทอันดับ 1 กลายเป็น Superstar โดยทันที

สำหรับภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ A Better Tomorrow (1986) ของผู้กำกับ John Woo ทุบสถิติทำเงินสูงสุดใน Hong Kong ตามด้วย A Chinese Ghost Story (1987), Rouge (1987), ร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ครั้งแรก Days of Being Wild (1991), Ashes of Time (1994), Happy Together (1997) ฯลฯ

รับบทชานเฉินปัง (Chan Chen-Pang, 陈振邦) ทายาทเจ้าของกิจการร้านขายยาสมุนไพรชื่อดัง มีศักดิ์เป็นบุตรคนรอง แต่เมื่อนับรวมเครือญาติจะเรียกว่าคุณชายสิบสอง ชื่นชอบการเที่ยวเตร่ สะมะเลเสพฝิ่น ติดอยู่ในหอนางโลม พยายามเกี้ยวพาราสี ครอบครองรักหยูฮวา แต่ถูกบิดากีดขวางกั้น พอมีความสามารถด้านการร้องเพลงเล็กๆ เลยตัดสินใจเข้าฝึกฝนการแสดงงิ้ว แต่นั่นสร้างความอับอายให้ครอบครัว เครือญาติ ถูกตำหนิต่อว่าจนสูญเสียความเชื่อมั่นใจ เมื่อมิอาจอดรนทนเลยยินยอมดื่มกินยาพิษ แต่ไม่รู้สามารถรอดชีวิตมาได้อย่างไร

(ในส่วนนี้หนังไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็พอคาดเดาได้ว่า) หลังสูญเสียหยูฮวา คุณชายสิบสองตกอยู่สภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง กลายเป็นคนซึมเศร้า ขี้ขลาดเขลา ไร้ความหาญกล้าปลิดชีวิตตนเอง เลยจำต้องยินยอมหวนกลับบ้าน สืบทอดกิจการร้านขายยาสมุนไพร แต่งงานกับหญิงสาวไม่ได้รัก เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่จะถึงวันหมดสิ้นลมหายใจ

มีนักแสดงหลายคนที่โปรดิวเซอร์(เฉินหลง)ให้ความสนใจ อาทิ อู๋ฉีหัว (Lawrence Ng), เจิ้งอี้เจี้ยน (Ekin Cheng) ฯลฯ แต่กลับเป็นเหมยเยี่ยนฟาง ทำการล็อบบี้บทบาทนี้ให้เพื่อนสนิทเลสลี จาง แม้ขณะนั้นติดสัญญากับสตูดิโอ Cinema City แต่เธอถึงขนาดเอาตนเองแลกเปลี่ยน ‘hostage exchange’ ยินยอมตอบตกลงเล่นหนังให้หนึ่งเรื่อง!

บทของเลสลี่ ค่อนข้างจะจืดจางพอสมควร ราวกับเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ‘object of desire’ มีความหล่อเหลา โรแมนติก ซื่อสัตย์จริงใจ ถึงขนาดยินยอมทอดทิ้งครอบครัว กระทำสิ่งขัดแย้งขนบประเพณีทางสังคม เพื่อครอบครองรักกับเธอชั่วนิรันดร์ … ถือเป็นชายในอุดมคติของสาวๆ (และผู้กำกับ กวนจินเผิง)

ผมรู้สึกว่าเลสลี่ จาง ดูตุ้งติ้ง ท่าทางเหมือนผู้หญิง (มากกว่าคุณชายสิบสอง) แถมเสพฝิ่นจนตาลอยๆ จิตวิญญาณเลยไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว, ระหว่างพรอดรักกับเหมยเยี่ยนฟาง ก็ไม่ได้หวานปานกลืนกิน เหมือนบางสิ่งอย่างกั้นขวางความโรแมนติกของพวกเขาไว้ … ส่วนตัวคาดคิดว่าเหมยเยี่ยนฟาง กับเลสลี่ จาง คงเป็นเพื่อนสนิทกันมากๆ เลยไม่สามารถสร้างความรู้สึกโรแมนติกต่ออีกฝั่งฝ่าย

แซว: พบเห็นเลสลี่ จาง แต่งหน้าขึ้นทำการแสดงงิ้ว อดไม่ได้จะระลึกถึง Farewell My Concubine (1993) ไม่รู้เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เลยหรือเปล่าที่ทำให้ได้รับดังกล่าว


ถ่ายภาพโดย Billy Wong, 黃仲標 (เกิดปี 1946) เกิดที่ฮ่องกง แต่แสร้งว่าเป็นผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสามารถเข้าเรียนการถ่ายรูปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำงานในสตูดิโออยู่หลายปี จนกระทั่งได้เป็นฟรีแลนซ์สถานีโทรทัศน์ TVB จับพลัดจับพลูกลายเป็นตากล้อง ถ่ายทำซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Story of Woo Viet (1981), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Once Upon a Time in China (1991) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่นลีลามากมาย พบเห็นภาษาภาพยนตร์บ้างประปราย แต่จุดโดดเด่นคือความแตกต่างระหว่างช่วงทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 สามารถสังเกตเห็นโดยง่าย

  • ทศวรรษ 1930s, เต็มไปด้วยแสงสีสันสวยสดใส สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ลวดลายเสื้อผ้า-ฝาผนังมีความละลานตา ผู้คนมากมายรับรู้จักกัน สร้างความสนุกสนานครื้นเครง มึนเมากับการใช้ชีวิตไปวันๆ
  • ค.ศ. 1987, งานภาพจะดูมืดๆหม่นๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายตอนกลางคืน) บรรยากาศหนาวเหน็บ รายล้อมรอบด้วยตึกรามบ้านช่อง ทางด่วนเหนือศีรษะ มีเพียง 2-3 ตัวละครหลักๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของฮ่องกงสมัยใหม่

ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนทัศนคติผู้กำกับกวนจินเผิง ครุ่นคิดเห็นว่าอดีต (ทศวรรษ 30s) มีความสวยสดงดงามกว่าปัจจุบัน น่าจะโดยเฉพาะอุดมคติแห่งรัก มีความโรแมนติก หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ด้วยคำมั่นสัญญาจะครองคู่กันตราบจนแก่เฒ่า ตกตายไปพร้อมกัน ผิดกับปัจจุบันที่แทบไม่หลงเหลือแนวคิดแบบนั้นอีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ต้องชมก็คือการนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ดูแล้วคงเป็นการผสมผสานระหว่างสถานที่จริง และสร้าง Mock-Up ขึ้นในสตูดิโอ Golden Harvest (แต่เรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1930s ไม่ค่อยพบเห็นฉากภายนอกสักเท่าไหร่) ใครอยากพบเห็นอดีต-ขณะนั้น-เทียบปัจจุบันนี้ เข้าไปดูที่ลิ้งค์เลยนะครับ

LINK: https://i-discoverasia.com/rouge-hong-kong-movie-1987/


สิ่งหนึ่งที่ต้องออกปากชื่นชมก็คืองานออกแบบ (Art Director) โดย Piu Yeuk-Muk, 影視作品 ก่อนหน้านี้ทำงานช่างภาพนิ่ง รับรู้จักผู้กำกับกวนจินเผิง ในกองถ่าย Boat People (1982) ด้วยความที่เป็นคนหลงใหลประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งๆไม่ได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้อะไร แต่เมื่อได้รับข้อเสนอก็ลองรับความท้าทาย

เกร็ด: Piu Yeuk-Muk กลายเป็นนักออกแบบ Art Director ชื่อดังของฮ่องกง ขาประจำผู้กำกับกวนจินเผิง อาทิ Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Centre Stage (1992), และยังออกแบบเครื่องแต่งกาย Lust, Caution (2007)

Piu Yeuk-muk ได้ทำการขุดคุ้ยค้นหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เก่าๆ มองหาแรงบันดาลใจจากรูปถ่าย ภาพวาด ค้นพบกระดาษลิปสติก, ชุดกี่เพ้าโบราณ, ผนังกำแพง (Wallpaper) ประดับตกแต่งลวดลายดอกไม้ ฯลฯ แม้ส่วนใหญ่เป็นเพียงภาพขาว-ดำ แต่ก็สามารถนำไปแต่งแต้มลงสีสันได้ไม่ยาก

ปล. คำว่า Rouge มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Red, สีแดง แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะหมายถึง ผงสีแดงละเอียดหรือชาดสำหรับทาแก้ม ทาปาก เรียกสั้นๆว่าแต้มชาด

ช็อตแรกของนางโลมหยูฮวา (ที่ไม่ใช่ขณะกำลังเขียนคิ้ว แต้มลิปสติก) สวมชุดบัณฑิต ขับขานบทกวี The Sorrows of the Autumn Traveler และพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก … โดยปกติแล้วกระจกจะสะท้อนสิ่งอยู่ภายในจิตใจ แต่บริบทนี้คืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร สวมชุดบุรุษแต่แท้จริงเป็นอิสตรี นี่เป็นการสร้างความคลุมเคลือ/รสนิยมทางเพศ ซึ่งชี้ไปถึงตัวตนผู้กำกับกวนจินเผิง

คุณชายสิบสองตกหลุมรักแรกพบนางโลมหยูฮวา ขณะเธอแต่งตัวเป็นบุรุษ นี่เช่นกันแฝงรสนิยมรักร่วมเพศของตัวละคร ไม่ได้ชื่นชอบหญิงสาวพรหมจรรย์ แต่หลงใหลคลั่งไคล้บุคคลที่มีความบริสุทธิ์ภายใน

คุณชายสิบสองใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะเกี้ยวพาราสีหยูฮวาได้สำเร็จ ระหว่างกำลังร่วมรักหลับนอน ถอดกี่เพ้าลวดลายดอกไม้ พบเห็นภายในคือเสื้อสีขาว … แม้ฉันเป็นโสเภณี ขายเรือนร่าง ภายนอกเหมือนคนแรดร่าน ดอกไม้ข้างถนน แต่จิตใจยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง โหยหาใครสักคนซื่อสัตย์จริงใจ คาดหวังสักวันหนึ่งจักได้พบเจอรักแท้

ในตอนแรกขณะกำลังถอดเสื้อผ้า แม้ว่าคุณชายสิบสองจะอยู่ด้านบน หยูฮวาอยู่เบื้องล่าง แต่พอจะโอบกอดจูบกำลังจะร่วมรัก ทั้งสองต่างลุกขึ้นนั่ง หันหน้าเข้ากัน แสดงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง … แต่ผมสังเกตเพิ่มเติมว่าคุณชายสิบสองสวมชุดสีดำ ขณะที่หยูฮวาใส่สีขาว นี่สามารถมองหยิน-หยาง ชาย-หญิง ขั้วตรงกันข้าม แต่ขณะเดียวกันมันคือความชั่วร้าย-บริสุทธิ์ พยากรณ์เหตุการณ์บังเกิดขึ้นในอนาคตได้อยู่

อาหยวนซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้แฟนสาว จริงอยู่นี่เป็นของขวัญที่มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สัญลักษณ์ของการก้าวเดินไปด้วยกัน แต่มันหาความโรแมนติกไม่ได้เลยสักนิด! เมื่อเทียบกับจี้ห้อยคอที่คุณชายสิบสองซื้อหาให้หยูฮวา ภายในมีกระจกและกระดาษสีชาด นำไปใช้งานได้ด้วยนะ!

การปรากฎตัวของหยูฮวา หนังจงใจสร้างความลึกลับอันน่าพิศวง ทั้งๆประตูปิดอยู่แต่สามารถเดินเข้ามาอย่างรวดเร็ว ยืนๆอยู่ประเดี๋ยวหายตัว เมื่อตอนทำผ้าเช็ดหน้าหล่นก็จงใจสโลโมชั่นอย่างช้าๆ เพื่อสื่อถึงความผิดมนุษย์ของตัวละคร … แต่ก็เฉพาะช่วงแรกๆนี้เท่านั้น ภายหลังทุกอย่างก็เหมือนจะเข้าสู่สภาวะปกติ

ลวดลายชุดกี่เผ้า พื้นหลังสีดำ (สะท้อนความมืดมิดภายในจิตใจ) ลวดลายผีเสื้อ (วิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัณฐาน หรือจะมองว่าเธอคือวิญญาณที่สามารถโบกโบยบิน ล่องลอยไปไหนต่อไหน) มักถือผ้าเช็ดหน้าและกระเป๋าสตางค์ (สัญลักษณ์ของความเป็นกุลสตรี)

ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ที่ผมมาครุ่นคิดแล้วรู้สึกขนลุกขนพองที่สุด ก็คือ Tai Ping Theatre ในอดีตเคยเป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่สุดในฮ่องกง แต่มาวันนี้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น … เทียบกับจักรวาล Marvel ภาพยนตร์แทบไม่ต่างจากสวนสนุก ความบันเทิงกึ่งสำเร็จรูป ดั่งที่ Martin Scorsese เคยว่ากล่าวไว้

ปล. แม้ว่า Tai Ping Theatre จะปิดกิจการไปเมื่อปี ค.ศ. 1981 แต่สถานที่ดังกล่าวตอนหนังถ่ายทำยังเป็นตึกร้าง ไม่ได้มีเซเว่นอีเลฟเว่น แบบที่หนังนำเสนอนะครับ (แต่ปัจจุบันไม่รู้เหมือนกัน น่าจะถูกทุบทิ้งไปแล้วกระมัง)

ปฏิกิริยาของอาหยวน หลังรับรู้ว่าหยูฮวาคือวิญญาณผี คือตื่นตกอกตกใจ ผมรู้สึกเหมือนหนังต้องการทำให้เป็นคอมเมอดี้ แต่มันไม่ชวนให้ขบขันสักเท่าไหร่ แสดงท่าทางรังเกียจ ขยะแขยง ไม่สามารถยินยอมรับอีกฝั่งฝ่าย … นี่เป็นลักษณะหนึ่งของ Racism ซึ่งสามารถมองครอบจักรวาลถึง Anti-Homosexual (รับไม่ได้กับพวกรักร่วมเพศ) ก็ได้เช่นกัน

มันจะมีหลายๆช็อตพบเห็นเสา-ขอบ-กรอบ สำหรับแบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน วิญญาณ-มนุษย์ แต่หลังจากที่เขาครุ่นคิดทบทวน เมื่อพบเจอกันอีกครั้งตรงทางแยก ความขัดแย้งภายในจึงเริ่มทุเลา บังเกิดความสงสารเห็นใจ อาสาให้ความช่วยเหลือเพื่อเธอจักค้นพบเจอชายคนรัก และไปสู่สุขคติในอนาคตต่อไป

เมื่อตอนที่หยูฮวาเดินทางไปที่บ้านของคุณชายสิบสอง ภายนอกก็ดูต้อนรับขับสู้ แต่หลังจากพูดคุยสนทนากับมารดา สันดานธาตุแท้ก็เริ่มปรากฎ กล่าวคำอ้างโน่นนี่นั่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ชักแม่น้ำทั้งห้า มันจะช็อตหนึ่งที่กล้องถ่ายเงยขึ้นนิดๆให้เห็นข้อความอะไรก็ไม่รู้เขียนประดับอยู่บนฝาผนัง ราวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ สิ่งยึดถือปฏิบัติของวงศ์ตระกูล

สังเกตลวดลายชุดกี่เผ้าของหยูฮวา ก็มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงการถูกบางสิ่งอย่างห้อมล้อม ภายใต้กฎกรอบ ความเป็นโสเภณี ไม่ได้มีเกียรติศักดิ์ศรี หน้าตาใดๆในสังคม และก่อนจากลามารดาของคุณชายสิบสองต้องการมอบผ้าไหมสีฟ้า ลวดลายสี่เหลี่ยม แล้วนำมาสวมคลุมทับ (สื่อถึงความพยายามควบคุมครอบงำ) นัยยะไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่

กลับตารปัตรจากตอนที่คุณชายสิบสองถอดชุดกี่เผ้าของหยูฮวา (เมื่อต้องกำลังจะร่วมรักหลับนอน) มาคราวนี้ระหว่างเขาสวมชุดนอนสีขาว แล้วสาวคนรักพยายามใส่สูทสีเทาให้กับเขา สังเกตลวดลายสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงการถูกควบคุมครอบงำ ทั้งจากครอบครัว สถานภาพทางสังคมของพวกเขา โอกาสจะได้ครองคู่อยู่ร่วมแทบเป็นได้ยาก

นี่เป็นอีกฉากที่น่าสนใจ เพราะโดยปกติแล้ววิถีของคนจีน บุรุษจะต้องเป็นช้างเท้าหน้า! แต่ขณะนี้เหมือนว่าคุณชายสิบสองยืนอยู่ด้านหลัง (แต่ก็ยังในแนวระดับเดียวกัน) และถ้าสังเกตการพูดคุยสนทนา หยูฮวายังเป็นคนร้องขอให้เจ้าของคณะอุปรากรจีนรับชายคนรักเข้าทำงาน

รายละเอียดเล็กๆนี้สื่อให้เห็นถึงความเป็นบุรุษของของหยูฮวา มีความหาญกล้า พร้อมที่จะออกหน้าเพื่อชายคนรัก และในการแสดงอุปรากรงิ้ว คุณชายสิบสองต้องแต่งหน้าแต่งตัวกลายเป็นหญิง นี่สร้างความสับสนในเพศสภาพ ชาย-หญิง หญิง-ชาย (ล้อกับตอนต้นเรื่องที่หยูฮวาสวมชุดบัณฑิตขับร้องเพลง)

หลังจากคุณชายสิบสองกลายเป็นนักแสดงงิ้ว ครอบครัวมาพบเห็นพยายามออกคำสั่งให้กลับบ้าน! แต่เขาตอบปัดปฏิเสธ หลังจากมอบจี้ห้อยคอ (ที่ภายในมีกระจกและตลับสีชาด) โอบกอดหยูฮวาจากข้างหลัง นี่สื่อว่าชีวิตนี้หลงเหลือเพียงเธอเป็นที่พึ่งพักพิง (หญิงสาวกลายเป็นช้างเท้าหน้า)

แฟนสาวของอาหยวนทาลิปสติกให้หยูฮวา (ตัวแทนยุคสมัยใหม่ สื่อถึงการยินยอมรับ ปรับตัว) หลังจากนั้นก็นำกระดาษลิปสติกมาทดลองทาบปากตนเอง (สัญลักษณ์ของโลกยุคก่อน สื่อถึงการโหยหา ครุ่นคำนึงถึงอดีต) ลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากการสลับชุดสวมใส่ชาย-หญิง หญิง-ชาย (ของหยูฮวา-คุณชายสิบสอง) สองสิ่งสามารถกลับตารปัตรตรงกันข้าม!

ระหว่างเฝ้ารอคอยแล้วคอยเล่า หลายวันหลายคืน ก็ไม่เห็นมีใครติดต่อกลับมา จนกระทั่งภาพช็อตนี้ใบหน้าอาบฉาบแสงสีน้ำเงิน ตัดกับลิปสติกสีแดงแจ๊ด ทำให้ดูราวกับว่าหยูฮวากลายเป็นผี มีความหลอกหลอนขึ้นมาจริงๆ … จริงๆมันควรเป็นความรู้สึกผิดหวัง เศร้าซึม ระทมทุกข์ทรมาน (ที่ยังไม่ได้พบเจอชายคนรัก) แต่ผมว่าเสี้ยววินาทีนี้ ใครๆคงขนหัวลุกขนพองขึ้นมาทันที

ฉากร่วมรักระหว่างอาหยวนและแฟนสาว ถือว่าสะท้อนคุณชายสิบสองกับหยูฮวา เริ่มต้นด้วยการลุกขึ้นนั่งกอดจูบ แต่เมื่อกำลังสอดใส่กลับทิ้งตัวลงนอน Man-On-Top ให้ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมเกมเสียอย่างนั้น! (ภายในห้องนอนแห่งนี้ มันจะมีเงาของบานเกล็ด เพื่อสื่อว่าบางสิ่งอย่างควบคุมครอบงำโลกทัศนคติของตัวละครไว้) และเมื่อฝ่ายหญิงถามว่าจะยินยอมตายเพื่อความรักหรือเปล่า คำตอบของทั้งคู่คือไม่มีวันเด็ดขาด! … แต่ลึกๆเหมือนว่าเธอจะไม่ครุ่นคิดเช่นนั้น

นำสู่ฉากถัดมาเมื่อทั้งสองกำลังสำรวจหาร้านขายของเก่า จะมีขณะที่พวกเขาหันคนละทิศทาง แล้วฝ่ายหญิงเดินข้ามถนนไปอีกฟากฝั่ง แต่อาหยวนกลับไม่แม้แต่จะหันมาแลเหลียวหลัง ทำให้เธอจำใจต้องหวนย้อนกลับมาหาเขา … นี่สะท้อนโลกทัศน์ของคนสมัยใหม่ ต่างฝ่ายต่างมีทิศทางชีวิต/ความต้องการของตนเอง ‘ปัจเจกบุคคล’ แต่การจะอยู่เคียงข้างคู่รักกันได้นั้น มักมีฝั่งฝ่ายยินยอมติดตามหลัง (ในที่นี้ก็คือแฟนสาวของอาหยวน)

นอกจากสลับเครื่องแต่งกายชาย-หญิง อดีต-ปัจจุบัน ยังมีฉากผีจริง-ผีหลอก ในกองถ่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่ง (สถานที่ที่คุณชายสิบสองมักมารับงานแสดงตัวประกอบ) เพื่อเป็นการล้อกระแสหนังผียุคสมัยนั้น และนักแสดง(ที่เล่นเป็นผีปลอม)ถูกผู้กำกับสั่งให้เล่นเป็นทั้งผีและนักดาบ … เอิ่ม แล้วมันต้องแสดงออกมายังไงละ???

ความคลุมเคลือของสองสิ่งขั้วตรงข้ามอย่างในหนัง ล้วนสะท้อนรสนิยมทางเพศของผู้กำกับกวนจินเผิง กายเป็นชายแต่จิตใจเหมือนหญิง สรุปแล้วฉันคือใคร?

เกร็ด: นักแสดงที่รับบทผู้กำกับฉากนี้ก็คือ Lau Kar-wing, 刘家荣 สตั๊นแมน นักแสดงคิวบู๊ ผู้กำกับฉากแอ๊คชั่นในสังกัด Shaw Brothers มีผลงานเด่นๆ อาทิ Skinny Tiger, Fatty Dragon (1990), Once Upon a Time in China (1991) ฯ

วินาทีแห่งการเผชิญหน้าระหว่างคุณชายสิบสอง (ในสภาพผู้แก่ผู้เฒ่า) กับหยูฮัว (วิญญาณที่ยังสวยสาว) สังเกตว่ากล้องถ่ายผ่านเศษซากปรักหักพังของลวดลายรั้วไม้ ท่ามกลางความมืดมิดที่แทบมองไม่เห็นใบหน้าฝ่ายชาย แต่หญิงสาวยังคงส่องสว่างเปร่งประกาย

ปล. ผมไม่เห็นในเครดิตว่าใครรับบทคุณชายสิบสองวัยชรา เลยแอบคาดคิดว่าน่าจะเป็นเลสลี่ จาง ปลอมตัวมา!

เมื่อไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ หยูฮัวก็ก้าวเดินผ่านประตูที่มีสปอตไลท์สาดย้อนแสงเข้ามา แล้วร่างกายของเธอก็ค่อยๆเลือนลางหายตัวไป ราวกับว่านี่คือประตูแห่งความตาย นำพาเธอลงสู่ขุมนรก ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกหลายกัปกัลป์ … ผู้ชมส่วนใหญ่คงใจหายวาปไปพร้อมๆตัวละคร ผิดหวังที่ไม่สมหวัง รักแท้ชั่วนิรันดร์ไม่เคยมีอยู่จริง

ซึ่งหลังจากหยูฮวาหายลับ แทนที่คุณชายสิบสองจะติดตามเธอก้าวผ่านประตูไป แต่เขากลับหยุดแน่นิ่ง เหม่อมอง แล้วหันหลังกลับ แสดงถึงความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา แม้จะเคยพร่ำบอกว่ารักเธอสักเพียงไหน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยินยอมตกตายร่วมกัน

ตัดต่อโดย Peter Cheung, 張耀宗 ขาประจำผลงานของบรูซ ลี และเฉินหลง อาทิ Fist of Fury (1972), The Way of the Dragon (1972), Enter the Dragon (1973), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Project A (1983), Long Arm of the Law (1984), Mr. Vampire (1985), Police Story (1985), Rouge (1987), Center Stage (1991), The Legend (1993), The Legend of Drunken Master (1994), Crime Story (1994) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาตัวละครหยูฮวา ทั้งขณะยังมีชีวิตและตกตายกลายเป็นวิญญาณ สลับไปมาระหว่างอดีต (ทศวรรษ 1930s) กับปัจจุบันนั้น (ค.ศ. 1987) … หรือเราจะมอง ค.ศ. 1987 เป็นเหตุการณ์หลักในปัจจุบัน แล้ววิญญาณหยูฮวาหวนระลึกนึกย้อนอดีต (Flashback) เมื่อครั้งครองรักคุณชายสิบสองช่วงทศวรรษ 1930s ก็ได้เช่นกัน

  • (อดีต) รักหวานฉ่ำปานน้ำผึ้งเดือนห้า ระหว่างนางโลมหยูฮวา กับคุณชายสิบสอง
    • คุณชายสิบสอง พยายามเกี้ยวพาราสีนางโลมหยูฮวา จนในที่สุดเธอก็ยินยอมยอมเป็นของเขา
  • (ปัจจุบัน) ความจริงอันโหดร้าย วิญญาณของหยูฮวา ร้องขอความช่วยเหลือจากอาหยวน
    • หยูฮวาต้องการประกาศหาคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เพราะไม่มีเงินติดตัวเลยติดตามอาหยวน
    • เมื่ออาหยวนตระหนักว่าหยูฮวาเป็นผี ทีแรกก็หวาดกลัวตัวสั่น แต่ไม่นานก็สามารถยินยอมได้อย่างงงๆ
  • (อดีต) ความรันทดในรักของหยูฮวากับคุณชายสิบสอง
    • หยูฮวาถูกมารดาของคุณชายสิบสองต่อต้านการแต่งงาน
    • คุณชายสิบสองเลยตัดหางปล่อยวัด มองหางานเป็นนักแสดงงิ้ว
  • (ปัจจุบัน) อาหยวนพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครปรากฎตัว
    • แม้มีการประกาศหาคนหายบนหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่ใครไหนติดต่อมา วันแล้ววันเล่า
    • อาหยวนพบเจอหนังสือพิมพ์เก่าๆในร้านขายของเก่า พบเจอเงื่อนงำอะไรบางอย่าง
  • บทสรุปของชีวิต
    • (อดีต) หยูฮวาป้อนยาพิษคุณชายสิบสอง ตกตายจากกัน
    • (ปัจจุบัน) วิญญาณของหยูฮวา ได้พบเจอคุณชายสิบสองอีกครั้ง

โครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ สำหรับคนไม่รับรู้มาก่อนว่าคือหนังผี ย่อมเต็มไปด้วยความฉงนสงสัยเมื่อเข้าสู่องก์สอง ทำไมจู่ๆอะไรๆถึงเปลี่ยนแปลงไป? แล้ว(อาจ)เกิดอาการตกตะลึง คาดไม่ถึง เมื่อเปิดเผยว่าหยูฮวาตกตายกลายเป็นผี! … จากนั้นนำเข้าสู่ปริศนาต่อมา มันเกิดอะไรในความสัมพันธ์ของพวกเขา และคุณชายสิบสอง ไม่ได้ฆ่าตัวตายตาม? หรือวิญญาณหลงทางไปไหน?

ผมรู้สึกว่าผู้กำกับกวนจินเผิงทำได้ดีในส่วนโรแมนติก (Romance) และการสร้างบรรยากาศลึกลับ (Mystry) มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? (แต่คนที่มีประสบการณ์ภาพยนตร์อันโชกโชน น่าจะคาดเดาเรื่องราวไม่ยากเท่าไหร่) แต่ที่น่าผิดหวังสุดๆก็คือคอมเมอดี้ โดยเฉพาะเมื่ออาหยวนตระหนักว่าหยูฮวาเป็นผี หรือตอนแฟนสาวพยายามพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ … มันสร้างความกระอักกระอ่วน รวบรัดตัดตอน ขำไม่ออก มันน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้นะ


เพลงประกอบโดย Li Xiaotian, 黎小田 (1946-2019) บุตรชายของนักแต่งเพลงชื่อดัง Li Caotian, 黎草田 แม้ในตอนแรกจะสนใจเป็นนักแสดง แต่ลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น ฝึกฝนเล่นดนตรี อ่านหนังสือทฤษฎีเพลง พอโตขึ้นกลายเป็นผู้ช่วยบิดา แล้วออกมาตั้งบริษัทเอง ทำเพลงประกอบภาพยนตร์กว่า 30 เรื่อง อาทิ Duel to the Death (1983), Project A (1983), Police Story (1985), Rouge (1987) ฯลฯ

งานเพลงของหนังโดดเด่นมากๆในการสร้างบรรยากาศให้เข้ากับสองยุคสองสมัย ผสมผสานทั้ง diegetic (พบเห็นนักแสดงร้อง-เล่น-เต้น) และ non-diegetic (Soundtrack ประกอบพื้นหลัง) มีทั้งขับร้องอุปรากร การแสดงงิ้วจีน (Cantonese Opera) และฉากในปัจจุบันก็ได้ยินเพลงป็อป และดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย

ระหว่างรับชมแนะนำให้อ่านเนื้อคำร้องของบทเพลงตามไปด้วยนะครับ เพราะมันจะสื่อความถึงเรื่องราวบังเกิดขึ้นขณะนั้นๆ อย่างบทเพลงแรกเห็นว่านำจากบทกวีชื่อ The Sorrows of the Autumn Traveler, 客途秋恨 ประพันธ์โดย Ye Rui, 叶瑞 ศิลปิน จิตรกร จากยุคสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1636-1912) รำพันความรักระหว่างนักกวีหนุ่ม Mou Lien-Hsien, 缪莲仙 กำลังครุ่นคิดถึงสาวโสเภณี Mai Chiu-chuan, 麦秋娟 ซึ่งคาดกันว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจากตัวผู้แต่งเองนะแหละ … สอดคล้องจองกับเรื่องราวของหนังเปะๆเลยนะ ทำให้คุณชายสิบสองตกหลุมรักนางโลมหยูฮวา แทบจะโดยทันที

I am Mou Lien-Hsien
I miss sentimental courtesan Mai Chiu-chuan
Her voice and personality are admirable
And her talent and appearance, peerless
We are now far apart
So as I keep cool in a boat in the lonesome night

Looking at the setting sun against the pair of swallows
I lean against the window in silent thought
Hearing the autumn sounds of the falling elm leaves
Seeing the bridge with the withered willow in cold mist
Makes me feel more sad and anguished
As I miss her and stare sorrowfully …
Sorrowfully at the full moon

บทเพลงที่คุณชายสิบสองขับร้องตอนออดิชั่น ระหว่างแสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะอุปรากรจีน ชื่อว่า Coming Home น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดบทเพลงนี้ไม่ได้ แต่เนื้อคำร้องสอดคล้องเรื่องราวขณะนั้น ทำไมเขาต้องมาเหน็ดเหนื่อย ทนทุกข์ยากลำบากในการฝึกฝนงิ้ว กลับบ้านไปหาครอบครัวดีกว่าไหม นั่งกินนอนกิน นับเงินสบายใจเฉิบ

Why don’t you come home?
Cuckoos sing, sobbing under the peach-blossom
Too sad, too sad
cuckoos sing, lamenting the miserable world.

สำหรับบทเพลง Original Song ใช้ชื่อเดียวกับชื่อหนัง Yan Zhi Kou/Yānzhī kòu (胭脂扣) ขับร้องโดยเหมยเยี่ยนฟาง รำพันถึงความรักที่เจือจางเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน รู้สึกสูญเสียดายความรู้สึกทั้งหมดเคยมีให้แก่กัน

ฟังครั้งแรกๆก็รู้สึกว่าบทเพลงนี้พรรณาความรู้สึกผิดหวัง เศร้าโศกเสียใจได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง แต่พอมาตั้งใจอ่านเนื้อคำร้องผมกลับรู้สึกความมักมาก เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ หญิงสาวไม่พยายามทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝั่งฝ่าย ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง ยึดถือมั่นอุดมคติว่ารักแท้ต้องนิจนิรันดร์ ปฏิเสธมองโลกความจริงที่ทุกสิ่งอย่างล้วนผันแปรเปลี่ยน ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตราบชั่วกัลปาวสาน … กลายเป็นบทเพลงน้ำเน่าขึ้นมาโดยพลัน

Vows vanish like smoke
Wasted, is my whole-hearted devotion.
But how could passion that burns like fire, last a whold life time?
To continue isn’t easy.

Deceit is your middle name
Wasted all my passion on you
Love is disappearing like water flowing away
Faithful passion pouring out in vain
Wishing we never met that day.

Only hoped we could be beside each other, relying on one another
Facing all the sorrows of the world
Heading towards old age
Though faces would change, the fire of love wouldn’t be extinguished

Praying to meet again one day
So I can tell you how much you’ve been missed
Hoping you will not let me down again, those feelings of affection and care
I’m grieved by this love
(Hoping you will not let me down again, those feelings of affection and care)
Tell me, when shall we meet again?

Rouge นำเสนอเรื่องราวความรัก ต่อให้แสดงความซื่อสัตย์จริงใจ สัญญาว่าจะมั่นคงตลอดไป แต่สุดท้ายแล้วไม่มีใครสามารถธำรงรักษาไว้ตราบชั่วกัลปาวสาน นั่นเพราะทุกสิ่งอย่างล้วนมีการปรับเปลี่ยนแปลง สภาพสังคม วิถีชีวิตผู้คน ประเทศชาติพัฒนาก้าวหน้า จิตใจมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน

อุดมคติความรักของคนสมัยก่อน อิทธิพลจากวิถีชีวิต สภาพสังคม อดีตไม่ได้มีสิ่งเย้ายวน ล่อตาล่อใจ ชวนให้ไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางไปไหนไกล ส่วนใหญ่เลยมีความซื่อสัตย์มั่นคง จงรักภักดี อาศัยอยู่เคียงข้างตราบจนแก่เฒ่า แต่ค่านิยมปัจเจกบุคคลในสมัยปัจจุบัน สอนให้มนุษย์เรียนรู้จักเสรีภาพชีวิต ไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นยึดติดกับใครหนึ่งใด ถ้าพบเจอสิ่งสร้างความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง หรืออดรนทนอยู่ไม่ไหว ก็แค่เลิกราหย่าร้าง มองหาคนรักใหม่

วิญญาณของหยูฮวา ได้ทำลายโลกทัศน์/ปฏิวัติความคิดผู้ชม(ฮ่องกง)สมัยนั้น หนังผีต้องหลอกหลอน สั่นสยอง ขนหัวลุกพอง แต่ผิดอะไรที่ผีสาวยังสวย เจิดจรัส และเหตุผลการมีตัวตน คือบางสิ่งอย่างยังติดค้างคาใจ ต้องการติดตามหาชายคนรักที่ควรตกตายพร้อมกัน ไฉนถึงยังสูญหาย หลงทางอยู่แห่งหนไหน

เราสามารถมองตัวละครหยูฮวา ว่าคือ ‘จิตวิญญาณของฮ่องกง’ หลังจากพบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ลักษณะกายภาพ (ตึกรามบ้านช่อง, ท้องถนนหนทาง ฯ) แต่ยังวิถีชีวิต แนวความคิด สภาพสังคม (จิตภาพ) ทำให้ค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้คน และเมื่อความจริงทั้งหมดได้รับการเปิดเผย เผชิญหน้าคุณชายสิบสองครั้งสุดท้าย สิ่งหลงเหลือสำหรับเธอคือความมืดหม่น หมดสิ้นหวัง กลายเป็นจุดสิ้นสุดของอดีต ไม่มีอีกแล้วฮ่องกงในความทรงจำ

หนังพยายามนำเสนอภาพฮ่องกงในสองช่วงเวลา ทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 จากเกาะชาวประมงเล็กๆที่กำลังได้รับการบุกเบิกพัฒนา ด้วยสถานภาพเขตปกครองพิเศษของสหราชอาณาจักร แต่หลังจากสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45) และสงครามกลางเมืองจีน (1949-50) มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพหลบหนีรัฐบาลคอมมิวนิสต์มายังปักหลักอาศัยอยู่บนเกาะฮ่องกง ด้วยพื้นที่เพียง 1,104 ตารางกิโลเมตร ช่วงไม่กี่ปีกลับมีประชากรเพิ่มขึ้นหลักล้าน! สร้างความแออัด คับแคบ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ทางด่วน-ตึกสูงขึ้นจนมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า วิถีผู้คนปรับเปลี่ยนสู่ระบอบทุนนิยม

แม้ผู้กำกับกวนจินเผิงจะเป็นผู้ชาย กลับมักสร้างตัวละครหลักโดยใช้นักแสดงหญิง และหลายๆองค์ประกอบในผลงานมักมีลักษณะสองสิ่งขั้วตรงข้าม นี่เป็นการสะท้อนรสนิยมทางเพศที่เด่นชัดเจนมากๆ (คล้ายๆบรรดา ‘Woman’s Director’ อาทิ George Cukor, Vincente Minnelli, Max Ophüls, Rainer Werner Fassbinder, Pedro Almodóvar ฯลฯ) มองตนเองเหมือนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีความละเอียดอ่อนไหว หมกมุ่นมักมาก มองโลกในมุมที่แตกต่างออกไป … เอาจริงถ้าไม่เปิดเผยออกมา หลายคนก็น่าจะพอคาดเดาได้

เรื่องราวของ Rouge (1987) แม้นำเสนอความรักชาย-หญิง แต่ก็มีหลายๆครั้งที่พยายามทำให้ตัวละครมีความคลุมเคลือทางเพศสภาพ ตอนต้นเรื่องหยูฮวาสวมชุดบุรุษขับร้องบทเพลง The Sorrows of the Autumn Traveler หรือช่วงกลางเรื่องคุณชายสิบสองแต่งหน้างิ้วรับบทตัวละครเพศหญิง ฯลฯ จุดประสงค์เพื่อสื่อถึงความรัก ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ

และแม้ไม่ได้มีชีวิตพานผ่านทศวรรษ 1930s แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า ผู้กำกับกวนจินเผิงเป็นคนโหยหาอดีตมากกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ Rouge (1987) ยังรวมไปถึง Center Stage (1992), Everlasting Regret (2005) และอีกหลายๆผลงานแนวย้อนยุค (Period) เพื่อสำรวจค่านิยม/อุดมคติคนสมัยก่อน โดยเฉพาะเรื่องของความรัก โหยหาใครสักคนซื่อสัตย์มั่นคง อาศัยอยู่เคียงข้างกันตราบจนวันตาย … น่าเสียดายนั่นเป็นสิ่ง(แทบ)ไม่หลงเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน


หนังเข้าฉายในฮ่องกงปลายปี 1987 ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถทำเงิน HK$17.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยในยุคสมัยที่หนังกังฟูครองเมือง, ฉบับฉายในไทยจัดซื้อมาโดย นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ใช้ชื่อว่า ‘ล่ารัก 59 ปี’ เห็นว่าได้รับความนิยมอยู่พอสมควร

  • Hong Kong Film Awards
    • Best Picture **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actress (เหมยเยี่ยนฟาง) **คว้ารางวัล
    • Best Actor (เลสลี จาง)
    • Best Screenplay
    • Best Cinematography
    • Best Film Editing **คว้ารางวัล
    • Best Art Direction
    • Best Original Film Score **คว้ารางวัล
    • Best Original Film Song บทเพลง Yānzhī kòu **คว้ารางวัล
  • Golden Horse Film Festival
    • Best Feature Film
    • Best Actress (เหมยเยี่ยนฟาง) **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography **คว้ารางวัล
    • Best Film Editing
    • Best Art Direction **คว้ารางวัล
    • Best Costume Design

จนถึงปัจจุบัน 2022 เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ผลงานของผู้กำกับกวนจินเผิง ได้รับการบูรณะแล้วสองเรื่องก็คือ Rouge (1987) และ Center Stage (1991) แสดงว่ามันต้องมีความพิเศษไม่น้อยทีเดียว! เรื่องแรกสามารถหารับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel, ส่วนเรื่องหลังเห็นใน iQiYi และ Amazon Prime (น่าจะมีแนวโน้มตกเป็นของ Criterion ในอนาคตกาล)

ส่วนตัวค่อนข้างก่ำกึ่ง ชอบครึ่งไม่ชอบครึ่ง ประทับใจหลายๆแนวคิด สร้างมิติน่าหลงใหล แต่ผู้กำกับกวนจินเผิง ยังขาดอะไรบางอย่างในการนำเสนอเรื่องราวให้กลมกล่อมกว่านี้ … ส่วนการแสดงของเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง น่าประทับใจทั้งคู่ แต่ผมรู้สึกว่าพวกเขาเหมือนเพื่อนสนิทมากกว่าคู่แท้โรแมนติก

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก (Romance) ผสมเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) บรรยากาศลึกลับ (Mystery) ชวนให้ขบไขปริศนา, หวนระลึกถึงฮ่องกงทศวรรษ 30s และ 80s, นักออกแบบฉาก เสื้อผ้า-แฟชั่นดีไซเนอร์ ชุดจีนย้อนยุคสวยๆ, แฟนคลับเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับซ่องโสเภณี วิญญาณล่องลอย บรรยากาศหลอนๆ และการฆ่าตัวตาย

คำโปรย | Rouge คำรำพันถึงอดีตของผู้กำกับ Stanley Kwan ที่หลงเหลือเพียงความทรงจำ
คุณภาพ | เลือดแห่งความทรงจำ
ส่วนตัว | พอใช้