Sanatorium pod klepsydrą (1973)


The Hourglass Sanatorium (1973) Polish : Wojciech Has ♥♥♥♥

ในสถานพยาบาลแห่งนี้ เวลามีการผันแปรเปลี่ยนเหมือนนาฬิกาทราย อดีต-ปัจจุบัน โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน พลิกกลับไปกลับมาอย่างน่าฉงนสงสัย แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนดูเสื่อมโทรม ปรักหักพัง สะท้อนเข้ากับสภาพประเทศโปแลนด์ยุคสมัยนั้น, คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

The Hourglass Sanatorium (1973) เรียกย่อๆว่า The Sandglass นาฬิกาทรายที่สามารถพลิกเวลากลับไปกลับมา เดี๋ยวย้อนอดีต เดี๋ยวกลับมาปัจจุบัน โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน เป็นภาพยนตร์โคตรท้าทายศักยภาพในการครุ่นคิด โปรดักชั่นงานสร้างสุดยิ่งใหญ่ จะว่าไปมีความเหนือจริงกว่า 8½ (1963) ดูจบสามสี่รอบก็อาจยังไม่ประสีประสา

โชคดีว่าผมรับชมผลงานของผกก. Has มาแล้วสามสี่เรื่อง เลยพอครุ่นคิดคาดเดาอะไรๆหลายเกี่ยวกับโครงสร้าง วิธีการนำเสนอ ราวกับวังวน เวียนวงกลม เขาวงกต ไร้หนทางออก ไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ‘บ่วงรัดคอ’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์

แต่เรื่องนี้ผมรู้สึกว่ามันสุดเหวี่ยง เหนือจริงยิ่งกว่าผลงานใดๆก่อนหน้า เพราะความเสื่อมโทรม ปรักหักพัง มันชัดเจนมากๆว่าต้องการสื่อถึงสภาพโปแลนด์ยุคสมัยนั้น ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง และโดยเฉพาะเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุฆาตชาวยิว (Holocaust) ล้วนทำให้ปัจจุบันนั้นไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ

บทความนี้บอกไว้ก่อนว่าผมเองก็ไม่เข้าใจนัยยะเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด -ให้ความยากในการรับชมระดับ 5 ดาว (Veteran)- อาจมีรายละเอียดบางส่วนวิเคราะห์อย่างงงๆ ใครคิดเห็นต่างยังไงก็บอกเล่าได้ แต่ภาพรวมของหนังเชื่อว่าก็น่าจะใกล้เคียงที่สรุปเอาไว้นี้แหละ


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Bruno Schulz (1892-1942) จิตรกร นักเขียนนวนิยายชาว Polish เชื้อสาย Jewish เกิดที่ Drohobych, Austrian Galicia (ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Poland แต่ปัจจุบันแยกออกมาเป็น Ukraine) ตั้งแต่เด็กมีความสนใจวาดรูป เลือกเรียนสถาปนิก Lviv Polytechnic แล้วทำงานเป็นครูสอนศิลปะ, การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน Drohobycz Ghetto แต่สามารถเอาตัวรอดชีวิตเพราะผู้ดูแล Felix Landau ชื่นชอบผลงานภาพวาด ถึงอย่างนั้นกลับถูกยิงตายจาก Gestapo อีกคน เพราะความขัดแย้งที่มีต่อ Landau

Schulz เริ่มเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่ปี 1925 สะสมรวบรวมจนมีโอกาสตีพิมพ์ The Street of Crocodiles (1934), ติดตามด้วย Sanatorium Under the Sign of the Hourglass (1937), น่าเสียดายที่ผลงานส่วนใหญ่ ถูกทำลาย สูญหายในช่วงการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

สำหรับนวนิยาย Sanatorium Pod Klepsydrą มีลักษณะรวมเรื่องเล่า ราวกับความเพ้อฝัน (dream-like) นำเสนออัตชีวประวัติของผู้แต่ง Schulz โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเสียชีวิตของบิดา แล้วใช้สัญลักษณ์ ‘นาฬิกาทราย’ ย้อนกลับหาช่วงเวลาวัยเด็ก ระหว่างพำนักอาศัยอยู่ Drohobycz ไล่ย้อนทบทวนตนเองจนกลับมาถึงปัจจุบัน … จะมองว่าเป็นวรรณกรรมค้นหารากเหง้า คงไม่ผิดอะไร

เกร็ด: นาฬิกาทราย ในบริบทของนวนิยายสื่อถึงเวลานับถอยหลังความตายของบิดา รวมถึงการล่มสลายของ Kingdom of Galicia and Lodomeria (ค.ศ. 1772-1918)

Wojciech Jerzy Has (1925-2000) ผู้กำกับสัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków ค้นพบความชื่นชอบด้านการวาดรูปตั้งแต่เด็ก ช่วงระหว่าง Nazi Germany ยึดครอง Poland ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าศึกษายัง Szkoła Handlowa w Krakowie แล้วต่อด้วยสาขาภาพยนตร์ Academia de Arte Frumoase Jan Matejko ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Two Hours (1946), แล้วเข้าร่วม Warsaw Documentary Film Studio กำกับสารคดี/หนังสั้น Harmonia (1948), และเมื่อกลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Polish Film School สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Noose (1958)

If Wojciech Has had become a painter, he would surely have been a Surrealist. He would have redrawn antique objects with all their real accoutrements and juxtaposed them in unexpected ways.

นักวิจารณ์ Aleksander Jackiewicz ให้คำนิยามผู้กำกับ Wojciech Has

ผลงานของ Has อาจดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง มุ่งเน้นสร้างโลกส่วนตัว บรรยากาศเหนือจริง สะท้อนจิตวิทยา แต่ลึกๆแล้วตัวเขามีความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ในวัตถุ สิ่งข้าวของเชิงสัญลักษณ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในระบอบการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์

I reject matters, ideas, themes only significant to the present day. Art film dies in an atmosphere of fascination with the present.

Wojciech Has

ผกก. Has มีโอกาสพบเจอ Sanatorium Under the Sign of the Hourglass (1937) ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เกิดความลุ่มหลงใหล ใคร่สนใจ จนกลายมาเป็นโปรเจคในฝัน ที่แม้ใครต่อใครตีตราว่าไม่มีทางนำมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่เขาตั้งใจว่าสักวันต้องมองหาโอกาสนั้นให้จงได้!

ประสบการณ์จากการสรรค์สร้าง The Saragossa Manuscript (1965) ซึ่งดัดแปลงหลากหลายเรื่องสั้น ผสมผสานคลุกเคล้าจนกลายเป็นภาพยนตร์หนึ่งเดียวกัน ได้สร้างความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อผกก. Has ทำให้ระหว่างสรรค์สร้างภาพยนตร์ The Doll (1968) นำโปรเจคนี้ไปพูดคุยกับ Jerzy Bossak ผู้จัดการของ Zespół Realizatorów Filmowych „Kamera” (Camera Film Studio) แม้ได้รับคำตอบตกลง แต่ยังไม่ทันเริ่มงานสตูดิโอแห่งนี้ก็ล้มละลายลงเสียก่อน

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1972 ผกก. Has จึงรวบรวมทีมงานขึ้นใหม่ นำไปพูดคุยกับโปรดิวเซอร์ Kazimierz Kutz ที่เพิ่งก่อตั้งสตูดิโอ Zespół Filmowy „Silesia” (Silesia Film Studio) ได้รับคำตอบตกลง พร้อมสรรหาทุนสร้างได้มากยิ่งกว่า The Saragossa Manuscript (1965)

บทหนังของ The Hourglass Sanatorium (1973) ไม่ได้มาจากแค่นวนิยาย Sanatorium Under the Sign of the Hourglass แต่ผกก. Has ยังทำการรวบรวมหลากหลายเรื่องสั้น และอัตชีวประวัติผู้เขียน มาผสมผสานคลุกเคล้าให้กลายเป็นภาพยนตร์หนึ่งเดียว

Schulz’s poetic prose was the reading of my early youth. It influenced my films. That is why the realization of The Hourglass Sanatorium was a must for me. My aim was not to make a literal adaption of the work, but rather to do justice to what we call the work’s poetics: its unique, isolated world, its atmospherics, colours and shapes.

Wojciech Has

เรื่องราวของ Józef (รับบทโดย Jan Nowicki) เดินทางโดยสารรถไฟเพื่อมาเยี่ยมเยียนบิดา ยังสถานพยาบาล ‘Sanatorium’ แห่งหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงกลับพบเห็นสภาพอันเสื่อมโทรม ปรักหักพัง แทบไร้บุคคลดูแล แถมยังพูดคุยงงๆกับหมอ อธิบายว่าสถานที่แห่งนี้จะมีการดำเนินไปของเวลาอย่างผิดปกติ!

ยังไม่ทันไร Józef ก็พบเห็นสิ่งต่างๆที่ดูเหมือนฝัน (dream-like) ภาพเหตุการณ์เมื่อสมัยวัยเด็ก (แต่ตัวเขายังคงเป็นผู้ใหญ่) สนิทสนมเพื่อนชายที่ชื่นชอบสะสมสแตมป์ บิดาไม่รู้หมกมุ่นอะไรกับนก พิธีกรรมแปลกๆของชาวยิว โสเภณีสาวแอบตกหลุมรัก สวมหมวกทหารออกเดินทางไปรบกับคนผิวสี เข้ามายังสถานที่เต็มไปด้วยหุ่นขี้ผึ้ง ฯลฯ


Jan Nowicki (1939-2022) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Kowal, Germany (ปัจจุบันคือ Kuyavian-Pomeranian Voivodeship, Poland) สมัยเด็กเป็นคนไม่ชอบเรียนหนังสือสักเท่าไหร่ แต่มีความสนใจด้านการแสดง สามารถสอบเข้า National Film School กลายเป็นลูกศิษย์ของ Henryk Modrzewski เลยได้รับคำแนะนำจนมีโอกาสแสดงละครเวที ภาพยนตร์ อาทิ Family Life (1971), The Third Part of the Night (1971), The HourGlass Sanatorium (1973), Spiral (1978), The Heiresses (1980), Diary for My Children (1984) ฯลฯ

รับบท Józef แรกเริ่มเมื่อเดินทางมาเยี่ยมเยือนบิดา เต็มไปด้วยสีหน้าสับสน ฉงนสงสัย สถานพยาบาลแห่งนี้ทำไมถึงมีสภาพผิดแผก แต่ยังไม่ทันไรเขาก็เริ่มพบเห็นภาพแปลกประหลาด พบเจอเพื่อนเคยรับรู้จัก หญิงสาว/โสเภณีเคยตกหลุมรัก บิดาไม่รู้หมกมุ่นอะไรกับนก ฯลฯ บางครั้งก็ทำตัวเหมือนเด็ก บางครั้งก็ทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

การแสดงของ Nowicki มีความเหนือจริงมากๆ นี่ไม่ใช่ลักษณะของ ‘Over-Acting’ แต่เป็นความจงใจให้ตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ หลายๆครั้งทำตัวเหมือนเด็กน้อยละอ่อนเยาว์วัย ยังไม่สามารถควบคุมสติ-อารมณ์ แสดงออกทางสีหน้า ท่าทางอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ขณะนั้นๆคือช่วงเวลาในอดีต (เมื่อครั้น Józef ยังเป็นเด็กน้อยและวัยรุ่น)

คงมีทั้งคนที่หลงใหลคลั่งไคล้ และไม่ประทับใจการแสดงเว่อๆของ Nowicki แต่เราต้องตระหนักว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Surrealist ทุกสิ่งอย่างถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนต้องพบเห็นเหตุการณ์รุนแรง เหี้ยมโหดร้าย เติบโตขึ้นมาในสภาพอันเสื่อมโทรม ปรักหักพัก เหล่านี้คือปกติของชีวิตประจำวัน


ถ่ายภาพโดย Witold Sobociński (1929-2018) สัญชาติ Polish ช่วงระหว่างเข้าศึกษาการถ่ายภาพ Łódź Film School ยังชื่นชอบการตีกลอง ร่วมก่อตั้งวงดนตรี Jazz ชื่อว่า Melomani, หลังเรียนจบทำงานให้ Polish Television ตามด้วย Film Studios Czolowka ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Family Life (1971), The Third Part of the Night (1971), The Wedding (1972), The Hourglass Sanatorium (1973), The Promised Land (1975), Frantic (1986) ฯลฯ

แม้ว่าตอน The Doll (1968) จะถ่ายภาพฟีล์มสีด้วย Franscope (2.35:1) แต่สำหรับ The Hourglass Sanatorium (1973) กลับมีอัตราส่วน Widescreen (1.85:1) กระบวนการสี Eastmancolor สาเหตุเพราะการเลือกใช้เลนส์ไวด์ (wide-angle) ทำให้ขอบข้างมีความบิดเบี้ยวมากเกินไป (นี่เป็นปัญหาของหนังที่ใช้เลนส์ไวด์กับ Anamorphic อยู่แล้วนะครับ) ด้วยเหตุนี้ผกก. Has จึงตัดสินใจหั่นความยาวด้านข้างออกไป

ซึ่งการเลือกใช้อัตราส่วน Widescreen ที่แม้มีความคับแคบกว่า แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกรอบรูป/เฟรมผ้าใบ แล้วใส่รายละเอียด ระบายองค์ประกอบศิลป์ โดดเด่นกับการใช้แสงสีสัน แทบทุกช็อตจะถ่ายมุมเงยขึ้นเห็นเพดาน ท้องฟ้าเบื้องบน เพื่อสร้างบรรยากาศเหมือนฝัน (dream-like) หรือจะเรียกภาพวาดเหนือจริง (Surrealist) ก็ได้เช่นกัน

ขณะที่รายละเอียดทุกสิ่งอย่างในหนังนั้น เป็นการออกแบบ ก่อสร้างทั้งเมือง ทั้งคฤหาสถ์ ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดยังสตูดิโอ Wytwórnia Filmów Fabularnych ตั้งอยู่ Łódź (เพราะเมือง Drohobych ย่อยยับไปตั้งแต่ตอนสงครามโลกครั้งที่สอง) พยายามทำออกมาให้มีลักษณะ ‘grotesque’ ไม่เน้นความสมจริง แต่ดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง มีความเสื่อมโทรม ปรักหักพัง หยากไย่ขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งสามารถสะท้อนสภาวะจิตวิทยาตัวละคร และสภาพโปแลนด์ยุคสมัยนั้น (ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์)

แค่ภาพแรกของหนังก็สร้างบรรยากาศหลอนๆ เต็มไปด้วยความสับสน มึนงง ด้วยโทนสีหม่นๆ มุมเงยเห็นท้องฟากฟ้า ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ ส่วนเจ้านกมันก็บินแปลกๆ กระพือปีกแต่กลับแทบไม่ขยับไปข้างหน้า ราวกับว่าเวลาไม่ได้ดำเนินไปตามวิถีปกติของมัน

จากนั้นกล้องค่อยๆแพนนิ่ง เคลื่อนถอยหลังอย่างช้าๆ ก่อนเปิดเผยว่าทิวทัศน์ที่พบเห็นนี้ถ่ายจากภายในขบวนรถไฟ (คาดว่าคงเป็น Rear Projection) พวกเขาคือใคร? กำลังเดินทางไปไหน? ทำไมถึงดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า สภาพท้อแท้สิ้นหวังเพียงนี้? สำหรับคนที่รับชมครั้งแรกอาจยังขบครุ่นคิดไม่ออก แต่คำตอบคือขบวนรถไฟชาวยิว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กำลังมุ่งสู่ค่ายกักกันนาซี เพื่อที่จะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ … แค่คิดก็ขนหัวลุกแล้วละ

Józef ได้รับการปลุกตื่นจากเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วรถไฟ (ที่มีลักษณะเหมือนสัญลักษณ์ความตาย ‘Death’) เพื่อให้ลงกลางทางก่อนจะถึงเป้าหมาย นี่สามารถสื่อถึงตัวผู้แต่งนวนิยาย Bruno Schulz แม้เป็นชาวยิว กำลังถูกส่งไปค่ายกักกัน แต่ยังสามารถรอดชีวิตเพราะได้รับความช่วยเหลือจาก Gestapo ที่ชื่นชอบผลงานศิลปะของตน

ซีเควนซ์บนขบวนรถไฟ คาดเดาไม่ยากว่าเป็นส่วนที่ผกก. Has แต่งเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่ออ้างอิงชีวประวัติของ Schulz และใช้ช่วงเวลาหลังจากนี้ (ระหว่างเป็นขี้ข้าทาสให้ Gestapo) ทบทวนหวนย้อนอดีต เล่าเรื่องราวความทรงจำที่ไม่ต่างจากจินตนาการเพ้อฝัน

สภาพสถานพยาบาล ‘sanatorium’ มีความเสื่อมโทรม ปรักหักพัง เต็มไปด้วยหยากไย่ สิ่งข้าวของวางเรียงราย กระจัดกระจาย ไม่มีใครทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถู นี่ไม่ได้ภาพโรงพยาบาลยุคสมัยนั้นนะครับ แต่สามารถสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร สภาวะจิตวิทยา(ของผู้แต่ง Schulz/ผกก. Has) และยังเหมารวมถึงประเทศโปแลนด์ยุคสมัยนั้น (ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์)

แซว: เหตุผลกองเซนเซอร์สั่งห้ามนำหนังออกฉายนอกโปแลนด์ เพราะสภาพโรงพยาบาลที่ดูเสื่อมโทรมทรามนี้ กลัวจะทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ –“

แทบทุกช็อตฉากของหนังจะถ่ายทำด้วยมุมเงย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการตกอยู่ภายใต้บางสิ่งอย่าง

  • ในกรณี Two-Shot (ภาพที่มีสองตัวละครอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน) บุคคลที่อยู่ตำแน่งสูงกว่ามักจะมีอำนาจ อิทธิพล คอยควบคุมครอบงำอีกฝั่งฝ่ายระดับต่ำกว่า
  • แต่ถ้ามีเพียงตัวละครเดียว ก็มักพบเห็นเพดาน (กฎกรอบที่มนุษย์สร้างขึ้น) หรือท้องฟ้า (สิ่งเหนือธรรมชาติที่มิอาจควบคุม)

บิดาของ Józef นอนหลับอยู่บนเตียง (ในห้องโทนน้ำเงิน มอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก) แต่อยู่ในสภาพไม่เป็น-ไม่ตาย ครึ่งหลับ-ครึ่งตื่น เดี๋ยวอ่อนแอ-เดี๋ยวเข้มแข็ง เดี๋ยวผมขาวโลนทั้งศีรษะ เดี๋ยวผิวหนังเต่งตึงเหมือนวัยรุ่น หรือแท้จริงแล้วนี่อาจเป็นสิ่งที่ชายหนุ่มนอนหลับเพ้อฝันจินตนาการ ก็แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิดตีความ

Here, your father’s death hasn’t occurred yet. But he met with his death in your country.

ปล. แม้ครอบครัวของ Schulz จะอุตส่าห์หลบหนีสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสู่กรุง Vienna แต่ Austro-Hungarian Empire (ค.ศ. 1867-1918) กลับถูกโจมตีอย่างหนักจนใกล้ล่มสลาย เลยตัดสินใจหวนกลับมาตายรัง Drohobych แล้วบิดาก็พลันล้มป่วยเสียชีวิต ค.ศ. 1915

ประตูทางเข้าที่เคยปิดอยู่เมื่อตอน Józef เดินทางมาถึงสถานพยาบาลในตอนแรก แต่หลังจากได้รับฟังคำอธิบายสถานที่แห่งนี้ เมื่อเขาเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง กลับพบเห็นอีกตัวตนเองกำลังวิ่งเล่นกับเพื่อนสมัยเด็ก แล้วจู่ๆประตูบานนั้นก็สามารถเปิด นี่มันห่าเหวอะไรกัน???

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องราวหลังจาก Józef พบเจอบิดานอนอยู่บนเตียง จะมีลักษณะเหมือนฝัน (dream-like) ตัวละครกำลังดำดิ่งสู่โลกแห่งจินตนาการ ประตูบานนี้เลยถือเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้น หวนระลึกความทรงจำ ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเด็ก-วัยรุ่น-เติบใหญ่ โดยใช้ร่างกายในปัจจุบันที่เป็นผู้ใหญ่ผจญภัยในห้วงมิติที่กาลเวลาผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

สถานที่แรกหลังจาก Józef เดินเข้าประตูใหญ่ คือบ้านหลังเก่าที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม พบเจอมารดา สอบถามว่าบิดาสูญหายตัวไปไหน? แต่ซีเควนซ์นี้จะเริ่มต้นสร้างความฉงนสงสัยให้ผู้ชมเมื่อเธอตั้งคำถามกับบุตรชาย ทำไมยังไม่ไปโรงเรียน? ผมเรียนจบมานานแล้ว จริงหรือ? เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่กัน?

อย่างที่บอกไปว่าหนังใช้นักแสดงคนเดียว Jan Nowicki รับบททุกช่วงวัยของตัวละคร Józef มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแบ่งแยกแยะช่วงเวลาของหนัง (เอาจริงๆมันก็ไม่จำเป็นต้องไปครุ่นคิดหาว่าฉากนี้อยู่ในช่วงวัยไหน) แต่เราสามารถสังเกตจากพฤติกรรม ทำตัวเหมือนเด็ก แสดงออกเหมือนผู้ใหญ่ (จริงๆมันจะมีการใช้ภาษา ถ้อยคำพูดที่สามารถแบ่งแยกแยะ แต่เฉพาะสำหรับคนฟังภาษาโปแลนด์ออกเท่านั้นนะครับ)

ในบ้านหลังเก่าของ Józef จะมีบันไดสำหรับขึ้น-ลง ซึ่งราวกับประตูมิติไปโผล่ยังอีกสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วมันยังสามารถเวียนวงกลม หวนกลับมาบรรจบ เข้า-ออกสู่บ้านหลังนี้ได้อย่างงงๆ

  • ห้องชั้นบน/ดาดฟ้า คือสถานที่อยู่อาศัยของบิดา เต็มไปด้วยกรงนก สรรพสัตว์ปีก และยังเชื่อมต่อกับห้องผู้ป่วยในสถานพยาบาล ‘sanatorium’
  • ห้องชั้นล่าง/ใต้ดิน โผล่ยังร้านรวงของบิดา ในย่านชุมชนชาวยิว เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ผู้คนมากมาย มาถึงทีไรก็มีแต่ความวุ่นวาย ร้อง-เล่น-เต้น จัดเทศกาลโน่นนี่นั่น

Józef พยายามออกติดตามหาบิดา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘follow the footsteps’ สามารถสื่อถึงการดำเนินตามรอยเท้า คล้ายๆสำนวนไทยลูกไม้หล่นไม่ไกล ซึ่งเรื่องราวของหนังยังตีความได้ถึงการค้นหารากเหง้าของตัวละคร/ผู้แต่งนวนิยาย Schulz (และผกก. Has)

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมบ้านหลังนี้ถึงต้องทำออกมาให้ดูเสื่อมโทรม ปรักหักพัง รกรุงรัง? เพราะต้องการสื่อถึงความทรงจำอันเลือนลาง สะท้อนสภาพจิตวิญญาณของ Józef เต็มไปด้วยอาการเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง แถมปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ก็ราบเรียบไปแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อตอน The Saragossa Manuscript (1965) มีเรื่องเล่าวีรกรรมปีนบันได แอบขึ้นห้อง เพื่อลับลอบคบชู้ สานสัมพันธ์กับหญิงสาว, The Hourglass Sanatorium (1973) ก็แทบไม่แตกต่างกัน ปีนบันไดขึ้นสู่สรวงสวรรค์ Józef แอบเข้าห้องพักของโสเภณี Adela ที่เคยชื่นชอบ แอบถ้ำมอง ก็ไม่รู้ว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กันไหม (เพราะเธอคนนั้นปฏิบัติกับเขาราวกับเด็กน้อย ‘our little Józef’)

แทบทุกช็อตในห้องพักของ Adela จะต้องพบเห็นอะไรสักอย่างที่เป็นสีเขียว (ต้นไม้, แสงสีเขียว ฯลฯ) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย กล่าวคือโสเภณีเป็นอาชีพผิดต่อหลักศีลธรรมศาสนาชาวยิว (กระมัง)

ปล. ผู้แต่งนวนิยาย Schulz เติบโตในชุมชนชาวยิวที่มีความเคร่งศาสนามากๆ แม้บรรยากาศดังกล่าวจะสร้างอิทธิพลให้กับชีวิต แต่เขาก็ไม่ได้มีความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้าสักเท่าไหร่

แม้ว่าผู้แต่ง Schulz จะไม่เคยอาสาสมัครทหาร เข้าร่วมสู้รบสงคราม แต่หมวกใบนี้คือสัญลักษณ์การผจญภัย เมื่อสวมใส่ก็ทำให้แลดูเหมือนเป็นผู้ใหญ่ (แต่ยังแสดงพฤติกรรมแบบเด็กๆ) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครอบครัวอพยพหลบหนีสู่กรุง Vienna (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Austro-Hungarian Empire) แต่ไม่ทันไรก็ต้องหวนกลับมา Drohobych (เพราะจักรวรรดิ Austro-Hungarian โดนโจมตีอย่างหนักจนใกล้ล่มสลาย) คงจะเคยพานผ่านประสบการณ์หลบซ่อนใต้เตียงอยู่บ่อยครั้ง (ระหว่างได้ยินสัญญาณเตือนภัยโจมตีทางอากาศ)

รายละเอียดเล็กๆอย่างการรับประทานยา เพื่อสื่อถึงอาการป่วยของเด็กชาย Schulz ทำให้ต้องหยุดโรงเรียนเป็นปีๆ อาศัยอยู่แต่ในห้อง อ่าน-เขียนหนังสือ และเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง

Jakub Schulz (บิดาของผู้แต่งนวนิยาย Bruno Schulz) เป็นพ่อค้าสิ่งทอ (Textile Merchant) เคยออกเดินทางไปทำการค้าขายยังสถานที่ต่างๆ Honduras, Nicaragua ฯลฯ และมีความชื่นชอบเก็บสะสมสิ่งของที่ระลึก วัตถุโบราณ แต่ผมไม่รู้ว่ารวมถึงพวกฟอสซิล ไข่นก สรรพสัตว์ปีกทั้งหลายแบบในหนังด้วยกระมัง

นั่นทำให้เทศกาลนกกลางจัตุรัส รวมถึงห้องพักของบิดาที่เต็มไปด้วยสรรพสัตว์ปีก สามารถสื่อถึงอิสรภาพ การผจญภัย จินตนาการไม่รู้จักจบสิ้น ขณะที่ Józef ยังเปรียบได้แค่ไข่ ลูกไก่ กำลังค่อยๆเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่

Have you noticed that in some books flocks of swallows are flying between the verses? Stanzas of swallows. You should learn to read from the flight of these birds.

Jakub Schulz

ผีเสื้อตัวนี้ทำให้ผมครุ่นคิดถึง ‘buttlefly effect’ ทฤษฎีที่พยายามอธิบายเหตุผลความยุ่งเหยิง การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเล็กๆ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งใหญ่ๆอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง ยกตัวอย่างคำอธิบายของผู้ครุ่นคิดทฤษฎี Edward Lorenz กล่าวว่า หากผีเสื้อขยับปีกหนึ่งครั้งแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศ สุดท้ายอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ให้เกิดพายุทอร์นาโดก็เป็นได้!

จะว่าไปผีเสื้อมันก็คือสัตว์ปีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องนัยยะที่ผมอธิบายไปแล้ว แต่เพราะตัวมันขนาดกระจิดริด (เมื่อเทียบกับสัตว์ปีกของบิดา) และเหมือนจะถูกช้างเหยียบตาย จึงดูราวกับความฝันที่สูญสลาย Józef ไม่สามารถดำเนินตามรอยเท้าบิดาได้อีกต่อไป … กล่าวคือ ต่อจากเขาจะต้องมองหาวิถีทางดำเนินชีวิตที่เป็นของตัวตนเอง

Bianka หญิงสาวสวยอาศัยอยู่กับมารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว นั่นน่าจะสื่อว่าเธอยังจมปลักอยู่กับความสูญเสีย ไม่ก็ถูกควบคุมขังดั่งนกในกรง … การผจญภัยของ Józef เริ่มต้นจากการ(ถ้ำ)มองลอด ตกหลุมรักเธอที่อยู่ด้านหลัง จากนั้นปีนป่ายข้ามกำแพง เข้ามาในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง หลบหนีจากการถูกไล่ล่า และมาจนถึงห้องนอน

นี่เป็นซีเควนซ์ที่ต้องทำความใจภาพรวมให้ได้ก่อนว่า มีทิศทางดำเนินเรื่องเช่นไร ถึงค่อยสามารถลงรายละเอียดว่าแต่ละฉากแฝงนัยยะอะไร … ภายหลังพบเจอบิดา ตระหนักว่ามิอาจดำเนินตามรอยเท้า Józef จึงต้องมองหาเป้าหมายชีวิตใหม่ สิ่งแรกที่เขาค้นพบก็คือแฟนสาว Bianka

การปีนป่ายข้ามกำแพง สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมนอกรีตนอกรอย ไม่สนกฎระเบียบ แหกข้อบังคับ กระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ ในบริบทนี้อาจมองถึงการก้าวผ่านช่วงวัยเด็กสู่วัยรุ่น รวมถึงออกเดินทางค้นหาเป้าหมาย(ในจินตนาการ)ของตนเอง

หุ่นขี้ผึ้งเหล่านี้ ส่วนใหญ่คือนักแสดงคนจริงๆ คงจะป้ายขี้ผึ้งให้ดูแวววับ ออกสีเหลืองๆ สะท้อนแสง แต่ก็มีบางตัวที่ทำการสร้างโมเดลหุ่นขึ้นมา สำหรับล่อหลอกผู้ชมว่าสิ่งพบเห็นนั้นมีชีวิต หรือแค่จินตนาการเพ้อฝัน … นั่นน่าจะคือนัยยะของสถานที่แห่งนี้เลยนะ เก็บสะสมบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้ในความทรงจำ ดินแดนโลกหลังความตาย (มีเพียงเปลือกภายนอก แต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ/เนื้อหนังภายใน)

ผมตีความพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมีลักษณะคล้าย ‘Aryan quarter’ ที่พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี นิยมเก็บสะสมสิ่งข้าวของ งานศิลปะเลิศหรูที่ยึดครอบครอง (หลังจากเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) และยังรวมถึงชาวยิวส่วนตัว ‘personal jew’ อย่างเช่นผู้แต่งนวนิยาย Schulz

การหลบซ่อนตัวขณะถูกไล่ล่าจากทหารฝรั่งเศสผิวสีพร้อมสัตว์สต๊าฟ ทีแรกผมก็เกาหัวว่าหนังจะย้อนเวลาไปถึงจุดไหน (นี่คงเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Austria-Hungary ถูกรุกรานโดยฝรั่งเศส) แต่พอครุ่นคิดไปมาเปรียบเทียบกับตอนที่ผู้แต่งนวนิยาย Schulz หลบหนีหัวซุกหัวซุนจาก Nazi Germany ก็ได้เช่นกัน!

สำหรับการใช้สัตว์สต๊าฟแทนสุนัขตัวเป็นๆ แต่ยังได้ยินเสียงเห่าหอน นี่ก็แค่การสร้างบรรยากาศ Surrealist (ที่ชวนขบขัน) ไม่ได้มีนัยยะอะไรไปมากกว่าสิ่งที่มันควรเป็น และอาจถือว่าล้อกับมนุษย์หุ่นขี้ผึ้งด้วยก็พอไหว

เมื่อสามารถหลบหนีจากการถูกไล่ล่า สถานที่ที่ Józef เดินทางมาถึงก็คือห้องนอนของ Bianka แม้ไม่มีฉากกอดจูบ เพศสัมพันธ์ แต่เรือนร่างอันเปลือยเปล่าของเธอนั้น ไม่จำเป็นต้องครุ่นคิดจินตนาการอะไร แน่นอนอยู่แล้วว่าชีวิตจริงพวกเขาต้องมีอะไรกัน … นำเสนอออกมาให้มันมีความเป็นศิลปะเท่านั้น!

แซว: บางคน(ผมเองแหละ)ตีความการมุดลอดใต้เตียงคือนัยยะของการมีเพศสัมพันธ์ แล้วพอตัวละครตะเกียกตะกายออกอีกฟากฝัง นั่นคือจุดสูงสุด ไคลน์แม็กซ์ ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ หรือคือสถานที่ในจินตนาการแห่งถัดไป

การมาถึงของพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร (ในห้องนอนของ Bianka) นัยยะถึงจุดเปลี่ยน จุดหมุนของหนัง ครึ่งแรกคือการที่ Józef เดินติดตามรอยเท้าบิดา เพื่อค้นหาเป้าหมายชีวิตของตนเอง ครึ่งหลังคือการพังทลาย ทุกสิ่งอย่างล่มสลาย นำไปสู่จุดจบความตาย

แซว: ผมละชอบความเย้ายียวน ใคร่รู้ใคร่สงสัยของ Bianka พยายามแทรกตัวเข้ามาระหว่าง Józef กับพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจ … เพราะเรื่องราวกำลังดำเนินสู่ตอนต่อไป

Józef มุดลอดใต้เตียงมาถึงห้องใต้หลังคาของบิดา พยายามอธิบายถึงความสับสน งุนงง ไม่สามารถแบ่งแยกแยะอดีต-ปัจจุบัน โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน คำตอบที่ได้รับก็คือ

You can do it by grammatical analysis of sentences and tenses.

หลายคนอาจรู้สึกไร้สาระชิบหาย ไม่เห็นจะช่วยอะไร แต่สำหรับชาวโปแลนด์อาจเกิดความเข้าใจเพราะสามารถแยกแยะไวยากรณ์ (gramma) รวมถึงรูปเวลา (tense) จากประโยคคำพูดที่จะมีความแตกต่างออกไป เอาจริงๆก็ยังเหมารวมถึงภาษาภาพยนตร์สำหรับคนที่อ่านออก นั่นคือสังเกตบริบทรอบข้าง พฤติกรรมของตัวละคร การแสดงออกภาษากาย ฯลฯ

ผมลองค้นข้อมูลเล่นๆก็พบว่ามีอยู่จริง นกปักษาสวรรค์ใหญ่ (Greater Bird-of-paradise) เป็นนกในสกุล Paradisaea ตั้งชื่อว่า Paradisaea apoda ซึ่งแปลว่า ‘นกปักษาสวรรค์ไร้ขา’ เนื่องจากการส่งซากนกไปทวีปยุโรปเมื่อกาลก่อน แต่มันกลับไม่มีขาเนื่องจากการเตรียมซากของชาวพื้นเมือง นำไปสู่ความเข้าใจผิดคิดว่านกชนิดนี้มาจากสวรรค์ และไม่เคยสัมผัสพื้นดินจนกระทั่งตัวตาย พบเจอในป่าต่ำและป่าบนภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ New Guinea และหมู่เกาะ Aru Islands ในประเทศอินโดนีเซีย รับประทานผลไม้ เมล็ดพืช และแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร

นัยยะของเจ้านกตัวนี้ เปรียบตรงๆได้กับ Józef ล่องลอยไปตามกาลเวลา ในโลกแห่งจินตนาการ สิ่งต่างๆมีความเหนือจริง ราวกับอาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ ไม่มีคราไหนที่ผู้ชมจะพบเห็นเขาบนโลกความจริง (หรือก็คือขาแตะพื้น)

ตรงกันข้ามกับตอนครึ่งแรกที่ Józef พยายามออกค้นหา ติดตามรอยเท้าบิดาด้วยความต้องการของตนเอง, ครานี้มารดาเป็นผู้ร้องขอ ออกคำสั่งให้นำอาหารและเครื่องดื่มไปส่งมอบยังห้องใต้หลังคา ถึงอย่างนั้นเขากลับแสดงอาการแข็งข้อต่อต้าน ด้วยการเดินลงบันไดชั้นล่าง แล้วบังเอิญพบเจอบิดากำลังครึกครื้นกับความวุ่นวายหน้าร้านขายผ้า

โสเภณีสาว Adela ที่เคยต้องปีนบันไดขึ้นชั้นบน มาคราวนี้กลับลงมารอคอยอยู่ชั้นล่าง ล้อเล่นสนุกสนานกับเด็กชาย Józef แถมแก่งแย่งผลแอปเปิ้ลไปรับประทาน (แอปเปิ้ลคือผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน) นี่ก็แอบบอกใบ้ความสัมพันธ์ลับๆระหว่างพวกเขาทั้งสอง

ส่วนศีรษะปลอมของ Adela ผมคิดว่าน่าจะคือศีรษะของเธอเองนะแหละ แม้บอกว่าเอาไว้ใช้กลั่นแกล้งเล่น แต่ก็แอบบอกใบ้โชคชะตากรรมของเธอที่จะถูกตัดหัว ฆาตกรรม (จากทหารนาซี กระมัง)

Havdalah (ภาษาฮิบรูแปลว่า separation) พิธีกรรมทางศาสนา Jewish เกี่ยวกับไวน์ แสงเทียน และเครื่องเทศที่ใช้ในการทำเครื่องหมายจุดสิ้นสุดของวันสะบาโต (Shabbat) หรือคือวันพักผ่อนของชาวยิว ซึ่งก็คือวันเสาร์ (พระเจ้าสร้างโลกในหกวัน และหยุดพักวันที่เจ็ด)

กระบวนการสำหรับพิธี Havdalah

  • จุดเทียน Havdalah
  • ท่องบทสวดวรรคแรก และให้พรเหนือไวน์หรือน้ำองุ่น
  • ส่งต่อถ้วยไวน์หรือน้ำองุ่นไปให้กับคนอื่นๆ และสวดพระพรเหนือเครื่องเทศ
  • ส่งต่อเครื่องเทศไปให้กับคนอื่นๆเพื่อให้ได้รับกลิ่น
  • กลับถ้วยไปยังบุคคลแรก และสวดพรเหนือเทียน
  • พับนิ้วเข้าหาตัวคุณและหันไปทางแสง
  • ท่องบทสวดย่อหน้าสุดท้าย
  • ดื่มไวน์ที่เหลือ และดับเทียน Havdalah

วัตถุประสงค์ของพิธีกรรมนี้เพื่อเป็นการรำลึก(พระเป็นเจ้า) ร่ำลา(วันหยุด) และเริ่มต้น(สัปดาห์)ใหม่ นี่ไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุดความฝันของ Józef แต่คือการอารัมบทหายนะ วันสิ้นโลกาวินาศของชาวยิว ต่อจากนี้จะนำเข้าสู่สงคราม และการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หลังจากพิธีกรรม Havdalah ก็คือช่วงเวลาแห่งการปลดแอก Józef มุดใต้โต๊ะมาโผล่ยังพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง จากนั้นเรียกรวมพลให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ ต่อกรข้าศึก (นัยยะก็คือการทำสงครามนะแหละ) จนประสบชัยชนะ ได้รับอิสรภาพ บีบบังคับให้อีกฝ่ายสละราชบัลลังก์ (ลงจากอำนาจ)

ผมตีความฉากนี้คือการปลดแอกทางความคิด ปลดปล่อยเสรีภาพของจินตนาการ ในความเพ้อฝันอะไรก็บังเกิดขึ้นได้ หุ่นขี้ผึ้งต่อสู้กับทหารผิวสี แต่ชัยชนะกลับเป็นของ Józef แต่เพียงผู้เดียว (ทหารฝรั่งเศสก็แค่ถอยร่น ส่วนหุ่นขี้ผึ้งเหล่านี้ก็ไม่ได้มีจิตวิญญาณตั้งแรกแล้ว)

ชัยชนะของเสรีภาพ แลกมากับจุดจบสิ้นของบางสิ่งอย่าง Józef ถูกควบคุมตัวกลับมาถึงบ้าน รับรู้ว่าบิดาสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ ขึ้นบนห้องใต้หลังคาพบเห็นบรรดาสัตว์ปีก นกเหล่านี้กำลังจะขาดใจตาย … ดูเหมือนนกฟีนิกซ์ ความตายคือสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ และมันจะขณะที่ Fade-To-White อาจแทนการปลุกตื่นขึ้นจากความเพ้อฝัน

การตื่นขึ้นครานี้จะมองว่าคือสภาพปัจจุบัน/โลกความจริง(ที่มีความเหนือจริง)ก็ได้เช่นกัน! เมื่อลุกขึ้นจากสถานพยาบาล Józef พยายามออกติดตามหาบิดาอีกครั้ง แต่คราวนี้พบเจอป้ายสุสาน บ้านหลังเก่าอยู่ในสภาพปรักหักพัก ร้านขายผ้าของบิดากลายเป็นขี้ริ้ว นี่คือหายนะจากสงคราม เมือง Drohobych แทบไม่หลงเหลือเศษซากชิ้นดี ปกคลุมด้วยหมอกควัน ความมืดมิด และแสงสีเขียว (สัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย และความตาย)

จะมีก็เพียงบาร์แห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยแสงสีสัน อาหารเลิศรส สาวๆเปลือยอก เปรียบดั่งโอเอซิสท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง สถานที่แห่งความสุขครั้งสุดท้ายของบิดา เพราะหลังจากนี้จักถึงกาลเวลาร่ำจากลา หวนกลับสู่สถานพยาบาล ก่อนหมดสูญสิ้นลมหายใจ ดิ้นรนตกตายอย่างเจ็บปวดทรมาน

การจากไปของบิดา (รวมถึงสภาพปรักหักพังของบ้านเกิด Drohobych) ทำให้ Józef ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัย สูญเสียทุกสิ่งอย่าง ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น กึ่งมีชีวิต ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ เลยถูกหมอในสถานพยาบาล แต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็นพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร

หลายคนอาจโคตรสงสัยว่าพนักงานตรวจตั๋วที่พบเห็นตั้งแต่ฉากแรกๆนั้นคือ Józef หรือเปล่า? ในเครดิตขึ้นว่าเป็นนักแสดงคนละคน แต่ผมมองว่าจะมองเป็นบุคคลเดียวก็ได้เช่นกัน ต่างคือสัญลักษณ์ของยมทูต ความตาย สูญเสียกายเนื้อ (จากความตายของบิดา) หลงเหลือเพียงจิตวิญญาณล่องลอยไป (ตรงกันข้ามกับหุ่นขี้ผึ้งที่มีเพียงร่างกายแต่ไร้จิตวิญญาณ)

ฉากสุดท้ายของหนังคือการที่ Józef ในชุดพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร กำลังตะเกียกตะกาย ปีนป่ายขึ้นจากหลุมฝังศพ ล้อกับตอนต้นเรื่องที่เขาเคยไต่บันไดขึ้นสู่สรวงสวรรค์ (ห้องพักของโสเภณีสาว Adele) แต่ครานี้ไม่มีบันได ใช้ป้ายสุสานเป็นพื้นรองเหยียบ เพื่อก้าวขึ้นสู่นรกบนดิน!

ผมมองลักษณะดังกล่าวสะท้อนมุมมองผกก. Has ถึงโปแลนด์ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ มีสภาพไม่ต่างจากนรกบนดิน เพราะอดีตอันเลวร้ายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ที่โปแลนด์ถูกยึดครองโดยนาซี) และปัจจุบันนั้นภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ (ของสหภาพโซเวียต) ดินแดนแห่งนี้มันช่างหมดสิ้นหวัง ไม่ต่างจากวันโลกาวินาศ

ตัดต่อโดย Janina Niedźwiecka (1922-2004) ผลงานเด่นๆ อาทิ Samson (1961), The Hourglass Sanatorium (1973) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Józef ตั้งแต่โดยสารรถไฟมาจนถึงสถานพยาบาล ‘Sanatorium’ เพื่อพบเจอบิดากำลังอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายชีวิต แต่เรื่องราวต่อจากนั้นเปรียบดั่งนาฬิกาทราย เดี๋ยวย้อนอดีต เดี๋ยวหวนกลับปัจจุบัน แทบมิอาจครุ่นคิดคาดเดาว่ากำลังอยู่ในช่วงเวลาไหน

  • อารัมบท: เดินทางมาถึงสถานพยาบาล เปิดประตูหวนระลึกถึงอดีต
  • เริ่มต้นออกติดตามรอยเท้าบิดา
    • กลับมาบ้านหลังเก่า พูดคุยกับมารดา
    • เดินทางไปยังร้านของบิดา พบเจอเพียงลูกจ้าง
    • พบเห็นวิถีของชาวยิว
    • ปีนป่ายบันไดขึ้นหาโสเภณีแอบชื่นชอบ Adela
    • มุดใต้เตียงไปโผล่กลางจัตุรัส และได้พบเจอบิดา
  • มองหาเป้าหมายใหม่ให้กับตนเอง
    • มองลอดเข้าไป ตกหลุมรักแรกพบ Bianka
    • ปีนป่ายกำแพง เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง
    • หลบหนีเอาตัวรอดจากทหารผิวสี
    • มาจนถึงห้องนอนของ Bianka
  • พิธีกรรมแห่งการแยกจาก
    • มุดใต้เตียงกลับมายังห้องใต้หลังคาของบิดา พูดคุยสนทนา
    • กลับลงมาพูดคุยกับมารดา ถูกสั่งให้นำอาหารและเครื่องดื่มไปส่งให้บิดา
    • ที่ร้านค้าเต็มไปด้วยผู้คน สับสนวุ่นวาย เพราะวันนั้นกำลังจะมีพิธีกรรม Havdalah
    • จากนั้นมุดใต้โต๊ะมาโผล่ยังพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง บัญชาการให้ต่อสู้รบทหารฝรั่งเศสผิวสี
  • อิสรภาพและความตาย
    • หวนกลับมาบ้าน บิดาหายตัวไป นกทั้งหลายกำลังหมดสิ้นลมหายใจ
    • ตื่นขึ้นยังสถานพยาบาล พูดคุยกับบิดา
    • จากนั้นเดินออกมาภายนอก พบเห็นหลุมฝังศพ สภาพปรักหักพัง
    • กลับมายังสถานพยาบาลอีกครั้ง เพื่อพบเห็นความตายของบิดา
    • และหมอแต่งองค์ทรงเครื่องให้ Józef กลายเป็นพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร จากนั้นปีนป่ายขึ้นจากหลุมฝังศพ

ระหว่างรับชมผมไม่สนเลยว่าตัวละครกำลังอยู่ในช่วงเวลา/วัยไหน เด็ก-วัยรุ่น-ผู้ใหญ่? เพราะมันหาได้มีความสลักสำคัญใดๆ เอาเวลาไปขบครุ่นคิดว่าเรื่องราวในแต่ละไทม์ไลน์ ต้องการแฝงนัยยะ สื่อความหมายอะไรยังไง และมีความข้องเกี่ยวกับโปแลนด์ยุคสมัยนั้นเช่นไร?

ใครเคยรับชมผลงานของผกก. Has มาหลายๆเรื่อง น่าจะตระหนักถึงการละเล่นกับโครงสร้างดำเนินเรื่อง ซึ่งสำหรับ The Hourglass Sanatorium (1973) คือช่วงเวลาที่กระโดดไปมา เดี๋ยวอดีต-เดี๋ยวปัจจุบัน โลกความจริง จินตนาการเพ้อฝัน ฟังดูแนวคิดคล้ายๆ 8½ (1963) แต่จุดประสงค์แท้จริงเพื่อสื่อถึงการเวียนวงกลม เหมือนเขาวงกต ไร้หนทางออก ไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ‘บ่วงรัดคอ’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ … นี่ก็ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก The Noose (1957)


เพลงประกอบโดย Jerzy Maksymiuk (1936-) คีตกวีสัญชาติ Polish เกิดที่ Grodno, Second Polish Republic (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศ Belarus) ร่ำเรียนเปียโน ไวโอลิน แต่งเพลง และวาทยากรจาก Warsaw Conservatory, เคยคว้ารางวัลอันดับหนึ่ง Paderewski Piano Competition, จากนั้นมีผลงานออร์เคสตรา, โอเปร่า, เพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Hourglass Sanatorium (1973)

งานเพลงของหนังเต็มไปด้วยเสียงที่แสบแก้วหู สร้างบรรยากาศหลอกหลอน ชวนให้ขนหัวลุกพอง (เหมือนหนังสยองขวัญ) มีลักษณะของการทดลอง (Experimental) ด้วยเครื่องสังเคราะห์ และอุปกรณ์สร้างเสียง Theremin, Waterphone ฯลฯ มอบสัมผัสเหนือจริง จับต้องไม่ได้ ไม่มีความเป็นธรรมชาติเลยสักนิด!

หลายๆบทเพลงจะมีการใส่ Effect อาทิ เอ็คโค่ (Echo) สร้างความกึกก้อง, หวีดหอน (Feedback), เสียงสั่นๆ (Vibrato) หรือทำบางอย่างให้ฟังดูบิดๆเบี้ยวๆ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนเข้ากับโครงสร้าง เรื่องราวของหนัง และยกระดับบรรยากาศหลอกหลอนขึ้นอีกขั้น

The Hourglass Sanatorium นำเสนอเรื่องราวอัตชีวประวัติ Bruno Schulz นักเขียนนวนิยายชาว Polish โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเสียชีวิตของบิดา Jakub Schulz ค.ศ. 1915 ที่ถือว่าสร้างอิทธิพล ส่งผลกระทบต่อตัวเขามากมายมหาศาล รู้สึกเหมือนทุกสิ่งอย่างพังทลาย เมืองอาศัยอยู่ล่มสลาย (จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) การเขียนนวนิยายเล่มนี้ (ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1937) จึงมีลักษณะค้นหารากเหง้า หวนระลึกนึกย้อน ทบทวนความทรงจำ เรียกได้ว่าเป็นจดหมายแห่งการร่ำจากลา

ความตายของบิดา สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการสูญเสียหลักแหล่ง บุคคล/สถานที่สำหรับพึ่งพักพิง เปรียบได้กับการล่มสลายของ Kingdom of Galicia and Lodomeria (ค.ศ. 1772-1918) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยังเหมารวม Second Polish Republic (1918-39) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง … สองประเทศนี้ก็คือโปแลนด์นะครับ

เพราะนาฬิกาทรายสามารถพลิกกลับจากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง เวลาจึงเป็นสิ่งมิอาจครุ่นคิดคาดเดา แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลังช่วงก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เราสามารถเหมารวมถึงสงครามโลกครั้งที่สอง (และหลังจากนั้น) นั่นคือลูกเล่นลีลาของผกก. Has ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเหนือจริง เหนือกาลเวลา

ผมมองความตั้งใจของผกก. Has ต้องการนำเสนอสภาพโปแลนด์ยุคสมัยปัจจุบันนั้น (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์) แต่เพราะมิอาจทำออกมาโจ่งแจ้งชัดเจนจนเกินไป เลยความพยายามเบี่ยงเบนมาเล่าเรื่องจากวรรณกรรมชื่อดัง แล้วแทรกแซมเหตุการณ์ต่างๆที่มีความสอดคล้องจอง ทำนองเดียวกัน เพื่อให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างมันเวียนวน วงกลม หวนกลับมาบังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย บุตรชายดำเนินตามรอยเท้าบิดา มุ่งสู่หายนะ

ขบวนรถไฟ โดยเฉพาะสำหรับชนชาวยิว ถือเป็นปม ‘trauma’ ที่สร้างความหลอกหลอน หวาดหวั่นสั่นสะพรึง เพราะเป้าหมายปลายทางเมื่อโดนทหารนาซีจับกุมตัว นั่นคือถูกส่งค่ายกักกัน ไม่เพียงถูกทัณฑ์ทรมาน แต่ยังเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (holocaust) … ฤาว่าประเทศโปแลนด์ ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ กำลังจะมุ่งหน้าสู่ทิศทางนั้นอีกครั้ง??

สักวันหนึ่งในอนาคต ถ้าสถานการณ์การเมืองของประเทศโปแลนด์ยังคงเลวร้าย พรรคคอมมิวนิสต์แสดงอำนาจบาดใหญ่ ดินแดนแห่งนี้คงใกล้ถึงจุดจบ สิ่งชั่วร้ายจะผุดขึ้นมาจากหลุมฝังศพ สภาพไม่ต่างจากนรกบนดิน วันสิ้นโลกาวินาศ


เมื่อกองเซนเซอร์โปแลนด์รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แสดงความไม่ชื่นชอบสักเท่าไหร่ ครุ่นคิดว่าจะสร้างภาพเสียๆหายๆให้ประเทศชาติ จึงพยายามกีดกัน สั่งห้ามนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่ถึงอย่างนั้น ผกก. Has ก็หาหนทางลักลอบฉายได้สำเร็จ แม้จะได้รับเสียงโห่เป็นส่วนใหญ่ ประธานกรรมการปีนั้น Ingrid Bergman กลับมอบรางวัล Jury Prize เคียงข้าง The Invitation (1973)

การคว้ารางวัลดังกล่าวทำให้หนังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หนึ่งในผลงานทำเงินสูงสุดของผกก. Has (เคียงข้าง The Saragossa Manuscript (1965)) แต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็สั่งห้ามยุ่งเกี่ยววงการภาพยนตร์นานถึง 8 ปี! … แต่กว่าจะมีผลงานเรื่องใหม่ รวมระยะเวลาแล้วก็สิบปี An Uneventful Story (1983)

หนังได้รับยกย่องโดยผกก. Martin Scorsese รวบรวมให้เป็นหนึ่งใน 21 Martin Scorsese Presents: Masterpieces of Polish Cinema ซึ่งมีการบูรณะ ‘digital restoration’ ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2010 โดย Kino Polska, และครั้งล่าสุด ค.ศ. 2020 คุณภาพ 4K (ไม่แน่ใจว่ามีจัดจำหน่าย Blu-Ray หรือยังนะครับ)

แซว: สกรีนบนแผ่น Blu-Ray ฉบับของ Mr. Bongo Films ที่จัดจำหน่ายเมื่อปี 2015 เหมือนจะมีการพิมพ์ชื่อหนังสลับกันเป็น The Saragossa Manuscript (ขณะที่แผ่นของ The Saragossa Manuscript (1965) ก็ขึ้นชื่อ The Hourglass Santorum)

ส่วนตัวมีความชื่นชอบโปรดักชั่นงานสร้าง ความสลับซับซ้อนเหนือจริง บรรยากาศหลอนๆ ดูน่าขยะแขยง มีอะไรให้ขบครุ่นคิดมากมาย แต่ภาพรวมกลับรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยพบเห็นเนื้อหาสาระอะไรสักเท่าไหร่ เพียงความเพลิดเพลินบันเทิงรมณ์ของงานศิลปะชั้นสูง แห่งความหมดสิ้นหวัง ไม่ต่างจากวันโลกาวินาศ

แนะนำคอหนังแนวเหนือจริง (Surrealist), ชื่นชอบบรรยากาศหลอนๆ ดูน่าขยะแขยง (Grotesque), จิตรกร ช่างภาพ ทีมออกแบบโปรดักชั่น ศึกษางานสร้างอันน่าตื่นตาตื่นใจ, นักปรัชญา นักจิตวิทยา ขบครุ่นคิดค้นหาว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร

จัดเรต 18+ บรรยากาศหลอนๆของลัทธิเหนือจริง

คำโปรย | นาฬิกาทรายของ The Hourglass Sanatorium คือความหมดสิ้นหวัง วันโลกาวินาศของผู้กำกับ Wojciech Has
คุณภาพ | นืริ
ส่วนตัว | หลอกหลอน

Rękopis znaleziony w Saragossie (1965)


The Saragossa Manuscript (1965) Polish : Wojciech Has ♥♥♥♥

จากเรื่องเล่าหนึ่ง สู่เรื่องเล่าของอีกเรื่องเล่าหนึ่ง สู่เรื่องเล่าของอีกเรื่องเล่าของอีกเรื่องเล่าหนึ่ง ซ้อนซับซ้อนสู่ความไม่รู้จบของเรื่องราว เพื่อสื่อถึงวังวนไร้หนทางออก ไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ‘บ่วงรัดคอ’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์

The Grand Budapest Hotel (2014) อาจต้องชิดซ้ายเมื่อเทียบความซ้อนซับซ้อนของ The Saragossa Manuscript (1965) แถมแต่ละเรื่องราวก็มีเรื่องราวซ้อนเรื่องราวของตนเอง -ไม่ใช่ลูกเล่น (gimmick) ส่งไม้ผลัดแบบที่ Wes Anderson นิยมใช้ในหลายๆผลงาน- จุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้สึกไม่รู้จักจบจักสิ้น ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด โครงสร้างดังกล่าวแฝงนัยยะซ่อนเร้นอะไร? และเรื่องราวทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันเช่นไร?

แซว: Luis Buñuel โดยปกติแล้วเป็นคนไม่ชอบดูหนังเกินกว่าหนึ่งรอบ แต่ถึงขนาดเขียนบอกในหนังสืออัตชีวประวัติ พยายามขวนขวายหาฟีล์ม The Saragossa Manuscript (1965) มารับชมไม่น้อยกว่าสามรอบ!

ว่าแล้วว่าถ้าผมไม่ไล่เรียงรับชมตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆของผู้กำกับ Wojciech Has ก็อาจไม่เข้าใจเหตุผลการสรรค์สร้าง The Saragossa Manuscript (1965) ที่แทบไม่มีพาดพิงถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ แต่เพราะโครงสร้างของ ‘Story within a Story’ ซ้อนซับซ้อนกันหลายต่อหลายชั้น สามารถสื่อถึงวังเวียนวนไม่รู้จบสิ้น คล้ายๆเขาวงกต หรือบ่วงรัดคอของ The Noose (1957) เป็นยังไงให้ย้อนกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ดูนะครับ

แม้ว่าโครงสร้างการดำเนินเรื่องจะมีความโคตรซับซ้อน แต่เรื่องเล่าทั้งหมดก็ไม่ได้ซ่อนเงื่อนอะไร ถ้าเราค่อยๆทำความเข้าใจไปทีละเรื่องราว คอยสังเกตหาจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์ เวียนวนเป็นวงกลม ย่อมสามารถทำความเข้าใจภาพรวมของหนังได้ไม่ได้ยาก ใช้ประโยชน์จาก Dyaliscope (อัตราส่วน 2.35:1) อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ 182 นาทีที่โคตรมหากาพย์ ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้นิทานพันหนึ่งราตรี


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Manuscrit trouvé à Saragosse แปลตรงตัวว่า The Manuscript Found in Saragossa ต้นฉบับคือนวนิยาย ‘frame-tale’ ภาษาฝรั่งเศส แต่ประพันธ์โดย Count Jan Potocki (1761–1815) ผู้ดีชาว Polish แห่ง House of Potocki เกิดที่ Pików, Podolia ขณะนั้นคือประเทศ Polish–Lithuanian Commonwealth ถูกส่งไปร่ำเรียนหนังสือยังกรุง Genève ค้นพบความชื่นชอบเรื่องราวลึกลับ สิ่งเหนือธรรมชาติ อีกทั้งหลงใหลการออกเดินทางผจญภัย ทัวร์ยุโรป-เอเชีย-แอฟริกาเหนือ และเคยเข้าร่วมสงคราม War of the Bavarian Succession (1778-79)

เกร็ด: frame-tale หรือ frame story หรือ frame narrative คือเทคนิคการนำเสนอเรื่องราวที่มีลักษณะซ้อนเรื่องราว ‘story within a story’ อาทิ สิบราตรี (Decameron), พันหนึ่งราตรี (Arabian Nights), ตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) ฯลฯ

The Saragossa Manuscript คือชื่อหนังสือภาษาสเปน ค้นพบโดยทหารนิรนามชาวฝรั่งเศสยังเมือง Zaragoza (ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปนในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 1809 ช่วงระหว่าง Napoleonic Wars (1803–1815) ด้วยความลุ่มหลงใหลในรูปภาพวาด ทำให้ทหารชาวสเปนผู้เป็นเจ้าของหนังสือดังกล่าว เมื่อมาพบเจอเข้าจึงอาสาช่วยแปลภาษาฝรั่งเศส

เรื่องราวในหนังสือ The Saragossa Manuscript จดบันทึกโดย Alphonse van Worden สมาชิกของ Walloon Guard เมื่อปี ค.ศ. 1739 ขณะกำลังออกเดินทางสู่กรุง Madrid เพื่อจะเข้าร่วมกองทัพ Spanish Army ระหว่างทางพานผ่านบริเวณเทือกเขา Sierra Morena ในระยะเวลา 66 วัน พบเจอกลุ่มคนมากมาย เจ้าหญิงมุสลิม, ชาวยิปซี, บุคคลนอกกฎหมาย รวมถึงสมาชิกลัทธิ Kabbalah ฯลฯ ต่างเล่าเรื่องราวการผจญภัยที่มีความสนุกสนาน ชวนหัว รักโรแมนติก ลึกลับเหนือธรรมชาติ หลอกหลอนขนหัวลุก ฯลฯ

แน่นอนว่าเรื่องราว สถานที่ และอาจรวมถึงบุคคลปรากฎอยู่ในนวนิยาย The Saragossa Manuscript คือสิ่งที่ผู้แต่ง Count Jan Potocki เคยประสบพบเจอระหว่างออกเดินทางท่องโลกไปตามสถานที่ต่างๆ เริ่มรวบรวมรายละเอียดตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1790s จนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่าง(รวมเรื่องราว 45 วัน)ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1805 และหลังจากผู้แต่งเสียชีวิต ค.ศ. 1815 รวมเรื่องราวทั้งหมด 61 วัน

เกร็ด: Count Jan Potocki กระทำอัตวินิบาตด้วยกระสุนเงินเมื่อปี ค.ศ. 1815 เพราะครุ่นคิดว่าตนเองเป็นมนุษย์หมาป่า (Werewolf)

Potocki เขียนนวนิยายเล่มนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส ได้รับการแปลเป็นภาษาโปแลนด์โดย Edmund Chojecki เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 1847 (มีการนำบทร่างที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และส่วนหนึ่งอาจแต่งเพิ่มเพื่อให้ได้ครบ 66 วัน) แต่ต้นฉบับที่เป็นฝรั่งเศสแท้ๆกลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ปัจจุบันได้รับการเรียบเรียงใหม่ภาษาฝรั่งเศส (ด้วยการแปลจากฉบับภาษาโปแลนด์กลับมาอีกที) โดย René Radrizzani ตีพิมพ์ปี 1989


Wojciech Jerzy Has (1925-2000) ผู้กำกับสัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków ค้นพบความชื่นชอบด้านการวาดรูปตั้งแต่เด็ก ช่วงระหว่าง Nazi Germany ยึดครอง Poland ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าศึกษายัง Szkoła Handlowa w Krakowie แล้วต่อด้วยสาขาภาพยนตร์ Academia de Arte Frumoase Jan Matejko ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Two Hours (1946), แล้วเข้าร่วม Warsaw Documentary Film Studio กำกับสารคดี/หนังสั้น Harmonia (1948), และเมื่อกลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Polish Film School สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Noose (1958)

If Wojciech Has had become a painter, he would surely have been a Surrealist. He would have redrawn antique objects with all their real accoutrements and juxtaposed them in unexpected ways.

นักวิจารณ์ Aleksander Jackiewicz ให้คำนิยามผู้กำกับ Wojciech Has

ผลงานของ Has อาจดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง มุ่งเน้นสร้างโลกส่วนตัว บรรยากาศเหนือจริง สะท้อนจิตวิทยา แต่ลึกๆแล้วตัวเขามีความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ในวัตถุ สิ่งข้าวของเชิงสัญลักษณ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในระบอบการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์

I reject matters, ideas, themes only significant to the present day. Art film dies in an atmosphere of fascination with the present.

Wojciech Has

ผกก. Has ได้รับการแนะนำให้รู้จัก The Manuscript Found in Saragossa จากนักเขียน Tadeusz Kwiatkowski (1920-2007) อ่านแล้วเกิดความชื่นชอบในรายละเอียด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโดยเฉพาะวิธีการดำเนินเรื่องที่สามารถนำมาทำการทดลองกับสื่อภาพยนตร์ จึงมอบหมายให้ Kwiatkowski เป็นผู้พัฒนาบทหนังตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 60s

ช่วงต้นปี 1963, คณะกรรมการกลางของสหพรรคแรงงานโปแลนด์ (Central Committee of the Polish United Workers’ Party) มีการเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับภาพยนตร์ (State Committee for Cinematography) มองหาโปรเจคดัดแปลงจากวรรณกรรมเลื่องชื่อ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และนำเสนอประวัติศาสตร์ 1,000 ปี ของประเทศโปแลนด์

subjects expressing progressive ideas and the liberating aspirations of the nation and the working people in the 1000-year history of Poland, using in this respect outstanding works of Polish literature.

นั่นเองกลายเป็นโอกาสให้ ผกก. Has นำเสนอโปรเจคดัดแปลง The Manuscript Found in Saragossa ได้รับการตอบอนุมัติด้วยทุนสร้างแทบจะไม่อั้น

แน่นอนว่าหนังย่อมไม่สามารถดัดแปลงเรื่องราวทั้ง 66 วัน เลือกมาเฉพาะตอนที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับ Alfonse Van Worden (ประมาณสิบกว่าตอน) และพัฒนาตอนจบขึ้นใหม่ ให้ตัวละครครุ่นคิดเขียน The Saragossa Manuscript ยังสถานที่ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหนัง (เริ่มต้น-สิ้นสุด ครบรอบเวียนวงกลม)


ครึ่งแรก: เรื่องราวเริ่มต้นระหว่าง Napoleonic Wars (1803-15) ณ การสงครามที่เมือง Saragossa (Zaragoza) ทหารฝรั่งเศสนายหนึ่งพบเจอหนังสือเล่มใหญ่ มีรูปภาพวาดน่าตื่นตาตื่นใจ แม้ถูกห้อมล้อมจับกุมแต่กลับไม่ใคร่อะไร จนทหารสเปนอีกนายจดจำได้ว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือปู่ของตนเอง จึงช่วยแปลภาษาให้อีกฝ่ายสามารถทำความเข้าใจ

เรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ เล่าถึงกัปตัน Alfonse van Worden (รับบทโดย Zbigniew Cybulski) กำลังหาหนทางผ่านเทือกเขา Sierra Morena Mountains เพื่อเข้าร่วมกองทัพ Spanish Army แต่ได้รับคำเตือนจากสองคนรับใช้ ว่าสถานที่แห่งนี้เลืองลือชาถึงความหลอกหลอน พอมาถึงโรงแรมในภูเขา Venta Quemada ได้รับคำเชื้อเชิญรับประทานอาหารเย็นร่วมกับสองเจ้าหญิงชาว Moorish (เป็นชื่อที่ชาวคริสต์ในยุโรปใช้เรียกมุสลิมใน Maghreb, คาบสมุทร Iberian Peninsula, Sicily และ Malta ในยุคสมัยกลาง Middle Ages) ชื่อว่า Emina และ Zibelda แถมยังชักชวนให้เขาแต่งงานครองรักกับพวกเธอ ด้วยข้อแม้เปลี่ยนมานับถืออิสลาม แต่หลังดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง นั่นคือฝันดีหรือร้ายกันแน่?

ออกเดินทางต่อมาถึงโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง พบเจอบาทหลวงที่อ้างว่าพยายามรักษาบุคคลผู้ถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง แต่ก่อนรับฟังเรื่องราวของ Pacheco จะมีการเล่าเรื่องราวบิดาของ Alfonse (คงรับฟังจากบิดามาอีกที) ผู้ดีชาวสเปนถูกรถม้าพุ่งชน จึงเดินทางสู่ Madrid ไปท้าดวลดาบแต่กลับถูกแทงสภาพปางตาย ระหว่างเดินทางกลับกล่าวคำสัตย์พร้อมทำสัญญากับปีศาจเพื่อน้ำดื่มอึกเดียว ปรากฎว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งนำน้ำมามอบให้ แล้วต่อมากลายเป็นภรรยา และมารดาของ Alfonse

สำหรับเรื่องราวของ Pacheco (ให้ความรู้สึกเหมือนเล่าต่อจาก Alfonse) หลังบิดาแต่งงานใหม่กับ Camilla de Tormez ได้นำพาน้องสาวสุดสวย Inezilia มาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เธอนั้นทำให้เขาตกหลุมรักหัวปักหัวปำ ร้องขอให้บิดาจัดงานแต่งงานให้แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับจดหมายจากสองสาว นัดพบเจอยังโรงแรมในภูเขา Venta Quemada หลังร่วมรักหลับนอนฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง หวนกลับไปอีกครั้งถึงตระหนักว่าตนเองพบเห็นภาพหลอน ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง

เช้าวันถัดมา Alfonse ระหว่างออกเดินทางจากโบสถ์คริสต์ ถูกล้อมจับโดยกลุ่มศาลศาสนา (Spanish Inquisition) กล่าวหาว่าเขาเป็นคนนอกรีต ทำสัญญากับปีศาจ ระหว่างถูกทัณฑ์ทรมาน ได้รับการช่วยเหลือโดยสองเจ้าหญิง Emina และ Zibelda พากลับมายังโรงแรมในภูเขา Venta Quemada แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราวกับ Déjà vu หลังดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง แต่คราวนี้พบเจอสมาชิกลัทธิ Kabbalah และนักคณิตศาสตร์ Don Pedro Velasquez ซึ่งสามารถเอาตัวรอดจากกลุ่มศาลศาสนา พากันมุ่งสู่ปราสาท The Kabbalist’s Castle

ครึ่งหลัง: เมื่อ Alfonse เดินทางมาถึงปราสาท The Kabbalist’s Castle ก็ได้มีการพูดคุยถกเถียง ไสยศาสตร์ vs. คณิตศาสตร์ ค้นพบเงื่อนงำบางอย่างที่อาจสามารถอธิบายปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติที่บังเกิดขึ้น จนกระทั่งการมาถึงของกลุ่มยิปซีนำโดย Don Avadoro เริ่มต้นเล่าเรื่องราว การผจญภัย ความหาญกล้าของตนเองเมื่อครั้นอาศัยอยู่กรุง Madrid

เริ่มต้นจาก Don Avadoro ได้รับการว่าจ้างให้สอดแนมหญิงสาวคนหนึ่ง Donna Frasquetta Salero (หรือก็คือ Augusta Fernandez) แต่เขากลับตลบหลังนายจ้าง Frasquetta Solero ยินยอมช่วยเหลือเธอคนนั้นนำถุงมือไปมอบให้กับ Senor Toledo เมื่อพบเจอก็รับฟังเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นเมื่อคืน เพื่อนสนิท Aquillar, Knight of Malta หลังดวลดาบกับพี่ชายตนเอง ตกตายไปแล้วหวนกลับมาพูดเตือนสติว่านรก-สวรรค์มีจริง สร้างความหวาดสะพรึงกลัวตัวสั่น เพราะในอดีตเคยกระทำสิ่งชั่วร้ายไว้มาก ตั้งสัตย์ปฏิญาณจะขอสำนึกตัวเป็นคนใหม่

หลังจากนั้น Don Avadoro เดินทางไปเยี่ยมเยียนชายหนุ่มน้อย Lopez Soarez นอนเข้าเฝือกอยู่บนเตียง รับฟังเล่าเรื่องเล่าชีวประวัติ ตั้งแต่บิดา Don Gaspar Soarez มีความขัดแย้งกับนายธนาคาร Moro จากนั้นส่งบุตรชายมาฝึกฝนการค้าขายยังกรุง Madrid แต่ดันตกหลุมรักหญิงสาว Donna Inez โดยไม่รู้ตัวคือบุตรของนายธนาคาร Moro

Lopez Soarez สนิทสนมกับ Don Roque Busqueroz เป็นบุคคลเข้ามายุ่งย่ามก้าวก่ายตั้งแต่แรกพบ ต้องการเกาะติดเพราะเขาคือบุตรชายพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย พยายามทำตัวพ่อสื่อชี้ชักนำให้เขาตกหลุมรัก Donna Inez พร้อมเล่าเรื่องราวที่ตนเองเคยแอบปีนบันไดขึ้นไปสานสัมพันธ์กับ Donna Frasquetta Salero ด้วยเหตุนี้จึงพา Lopez Soarez ต้องการให้ทำแบบเดียวกับหญิงสาว Donna Inez แต่ดันขึ้นบ้านผิดหลังเลยพลัดตกบันได ส่งเสียงครวญครางบอกว่าสวรรค์-นรกมีจริง

หลังจากตระหนักถึงเหตุการณ์ทั้งหมด Don Avadoro ก็ทำการช่วยเหลือเพื่อนๆทั้งสามให้ได้ค้นพบข้อเท็จจริง

  • บอกกับ Senor Toledo ว่าเสียงที่ได้ยินไม่ใช่ของ Aquillar, Knight of Malta ซึ่งยังมีชีวิตอยู่
  • Don Gaspar Soarez ยืนยอมคืนดีกับนายธนาคาร Moro ทำให้บุตรของพวกเขา Lopez Soarez ได้แต่งงานกับ Donna Inez
  • ขณะที่ Don Roque Busqueroz และ Senor Toldedo ต่างรับรู้ว่าชู้รักของพวกเขาคือหญิงสาวคนเดียวกัน Donna Frasquetta Salero = Donna Augusta Fernandez จึงต้องพากันหลบหนีหัวซุกหัวซุน

และระหว่างทั้งสาม (Don Avadoro, Don Roque Busqueroz และ Senor Toldedo) กำลังหาหนทางหลบหนีออกจากกรุง Madrid ก็ได้พบเจอบิดาของ Alfonse กำลังท้าดวลดาบ เอาชนะใครต่อใคร

เมื่อเรื่องเล่าทั้งหมดจบสิ้น เช้าวันใหม่ Alfonse ออกเดินทางจาก The Kabbalist’s Castle กลับมาโรงแรมในภูเขา Venta Quemada พบเจอกับสองเจ้าหญิงอีกครั้ง หลังดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง คราวนี้สองคนรับใช้ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาพากันมุ่งสู่เมือง Saragossa (Zaragoza) แล้วเริ่มต้นจดบันทึกเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอมาลงในหนังสือเล่มใหญ่


Zbigniew Hubert Cybulski (1927-62) โคตรนักแสดงสัญชาติ Polish เจ้าของฉายา “the Polish James Dean” เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ Kniaże, ใกล้เมือง Śniatyń (ปัจจุบันคือ Kolomyia Raion, Ukraine) หลังสงครามโลกครั้งที่สองเข้าเรียนการแสดงยัง Akademia Sztuk Teatralnych im. Stanisława Wyspiańskiego จบออกมาเข้าสู่วงการละครเวที Teatr Wybrzeże ตามด้วย Teatr Ateneum, ภาพยนตร์เรื่องแรก A Generation (1955), โด่งดังกับ Ashes and Diamonds (1958), The Eighth Day of the Week (1958), Night Train (1959), How to Be Loved (1962), The Saragossa Manuscript (1964), To Love (1964) ฯลฯ

รับบท Alfonse Van Worden กัปตันหนุ่มแห่ง Walloon Guard ระหว่างกำลังเดินทางผ่าน Sierra Morena Mountains ประสบพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ รับฟังเรื่องเล่าจากบุคคลมากมาย ทีแรกไม่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ท้ายสุดเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต แทบกลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง แล้วเริ่มต้นจดบันทึกทุกสิ่งอย่างลงในหนังสือเล่มใหญ่ The Saragossa Manuscript

บุคคลแรกที่ได้รับการติดต่อคือ Zbigniew Wójcik ชายหนุ่มหน้าใสจากโรงละคร Stary Teatr im. Heleny Modrzejewskiej เพิ่งเริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ The Eighth Day of the Week (1958) แต่หลังจากเจ้าตัวมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งแฟนสาว ตัดสินใจรมแก๊สฆ่าตัวตายคู่, นักแสดงคนถัดมาคือ André Claire ชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อสาย Polish แต่พอถึงวันถ่ายทำจริงกลับเป็นการสวมรอยของ Andrzej Trześniewski ซึ่งไม่ศักยภาพเพียงพอในการแสดงบทบาทดังกล่าว

ผกก. Has เลยต้องติดต่อนักแสดงขาประจำ Zbigniew Cybulski แม้งานแทบล้นมือก็ไม่เคยคิดบอกปัดปฏิเสธ เพียงแสดงความคิดเห็นว่าตนเองอาจดูแก่เกินชายหนุ่มอายุ 18 ปี ไปไม่น้อย

If I couldn’t play young, with great physical conditions, let van Worden be a little too old, a little too fat and a little too blind.

Zbigniew Cybulski

โดยปกติแล้วภาพจำของ Cybulski จะต้องสวมเสื้อหนัง แว่นตาดำเท่ห์ๆ แต่เมื่อเล่นหนัง Period ย่อมมิอาจแต่งองค์ทรงเครื่อง รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดูแก่เกินแกง ถึงอย่างนั้นเรื่องการแสดงต้องยอมรับว่าไม่เป็นสองรองใคร เป็นบุคคลที่มี Charisma สูงมากๆ (เอาจริงๆผมว่ามากๆเกินกว่าบทบาทนี้อีกนะ) สามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า อากัปกิริยาท่าทาง เดี๋ยวกลัว-เดี๋ยวเกรง ชอบทำอวดเก่ง ลับหลังขี้ขลาดตาขาว แต่อย่าปล่อยให้อยู่สองต่อสามตามลำพังกับสาวๆ แสดงอาการระริกระรี้ สนแต่จะปรี้ อะไรอย่างอื่นช่างหัวมัน ฟื้นตื่นขึ้นมาทีไรไม่รู้จักเข็ดหลากจำ รับฟังเรื่องเล่าก็ปฏิเสธเชื่อคำเขา สามครั้งให้หลังถึงเริ่มสาสมแก่ใจ เพิ่งตระหนักได้เมื่อก็แทบกลายเป็นคนบ้าคลั่ง … แต่ก็ยังไม่เข็ดหลากจำอยู่ดี

ผมไม่รู้จะยินดีหรือยินร้าย แม้ว่า Cybulski สร้างตัวละครให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เขาก็ยิ่งใหญ่กว่าบทบาทนี้ไปมากๆ (ที่ควรเป็นชายหนุ่มหน้าใส ใจบริสุทธิ์ เพิ่งเริ่มเรียนรู้จักความรัก และอายุ 18 ปี!) สร้างมาตรฐานสูงส่งจนยากจะหาใครมาเทียบเคียง … แอบนึกถึง War and Peace (1966-67) ที่ก็ใช้นักแสดงแก่เกินแกงไปมาก แต่ก็ไม่ทำให้อถรรสในการรับชมเสียไปสักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Mieczysław Jahoda (1924-2009) ตากล้องสัญชาติ Polish ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าเรียนคอร์สภาพยนตร์ Warsztatu Filmowego Młodych แล้วมาย้ายมาศึกษาต่อยัง Instytut Filmowy w Krakowie ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ถ่ายทำสารคดีให้สตูดิโอ Wytwórnia Filmów Oświatowych จากนั้นเปลี่ยนมาเรียนการถ่ายภาพ ณ Łódź Film School กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง, เครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก Zimowy zmierzch (1957), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958)

เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ระดับมหากาพย์ให้กับหนัง จึงเลือกถ่ายทำด้วยระบบ Dyaliscope อัตราส่วน 2.35: 1 (มันก็คือ CinemaScope แต่เป็นคำเรียกบริษัทผลิตฟีล์มของฝรั่งเศส) ใช้ประโยชน์จากความกว้างงง บันทึกภาพทิวทัศน์ Sierra Morena Mountains (สถานที่ถ่ายทำจริงๆคือ Kraków-Częstochowa Upland หรือ Polish Jurassic Highland เรียกย่อๆ Polish Jura ทางตอนใต้ของโปแลนด์) และเก็บรายละเอียดเมือง Madrid ได้อย่างเต็มสองตา (ก่อสร้างทั้งเมืองขึ้นที่ Morskie Oko, Wrocław)

แต่เอาจริงๆสเกลงานสร้างของหนัง ก็ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับฝั่ง Hollywood ใช้เวลาโปรดักชั่นขวบปีเต็ม ประกอบด้วยนักแสดงรวมตัวประกอบ 187 คน ออกแบบเครื่องแต่งกาย 232 ชุด ฉากใหญ่ๆก็มีแค่เมือง Madrid นอกนั้นเป็นฉากภายใน อาทิ โรงแรมในภูเขา Venta Quemada, ปราสาท The Kabbalist’s Castle, คฤหาสถ์ Van Worden ฯลฯ


Title Sequence ร้อยเรียงภาพวาด Abstract ที่มีลักษณะสองสิ่งขั้วตรงข้าม แต่สามารถเติมเต็มกันและกันดั่งหยิน-หยาง (เหตุผลที่หนังเลือกถ่ายภาพฟีล์มขาว-ดำ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้) นี่ทำให้ผมระลึกขึ้นได้ว่า Pablo Picasso และ Salvador Dalí ต่างก็เป็นชาว Spanish และพื้นหลังของหนังเมือง Madrid, Saragossa อยู่ในอาณาเขตประเทศสเปน

  • ภาพแรกของหนังให้ความรู้สึกเหมือนกัปตัน Alfonse Van Worden เผชิญหน้ากับอำนาจมืด สิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา (หรือกำลังควบม้าหลบหนีอยู่ก็ไม่รู้นะ)
  • ภาพสองมีสัญลักษณ์ชาย-หญิง พระอาทิตย์-ดวงจันทร์ ดวงตา(สัญลักษณ์ของชีวิต)-โครงกระดูก(สัญลักษณ์ของความตาย) ท้องฟ้าและเทือกเขา Sierra Morena Mountains ทั้งหมดล้วนคือสองสิ่งตรงกันข้าม
  • ภาพสามให้ความรู้สึกเหมือนทฤษฎีสมคบคิด อิสรภาพของเพศหญิง ดวงตาบุรุษที่แอบถ้ำมอง เปลือกภายนอก-ตัวตนแท้จริงจากภายใน
  • ภาพสีเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย ภยันตราย การต่อสู้ที่อาจถึงตาย ริมฝีปากมิอาจพูดบอกกล่าวความจริง และหนังสือเล่มใหญ่ The Saragossa Manuscript ถูกคมดาบทิ่มแทง
  • หญิงสาวสร้างความบันเทิงเริงรมณ์ให้กับชีวิต ตรงกันข้ามยมทูตแห่งความตาย โดดเดี่ยวอ้างว้าง หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง

นี่ถือเป็นการอารัมบท สร้างบรรยากาศเหนือจริง (มีกลิ่นอายของ Dalí มากกว่า Piccaso นะครับ) ก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวของหนัง แถมยังบอกใบ้อะไรๆหลายสิ่งอย่าง ขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะสามารถขบครุ่นคิด สังเกตเห็นอะไรๆได้มากน้อยเพียงไหน

เกร็ด: ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ภาพวาดจากหนังสือ The Saragossa Manuscript แต่คือภาพสเก็ตโดยผกก. Has เพื่อส่งให้ทีมออกแบบงานสร้าง (Production Design) จึงพบเห็นหลายสิ่งอย่างแทรกแซมอยู่ตามฉากต่างๆในหนัง

ทำไมต้อง Zaragoza? หรือ Saragossa? เมืองหลวงของแคว้น Aragon (ในอดีตก็เคยเป็นเมืองหลวงของ Kingdom of Aragon (ค.ศ.1035–1707)) อาจเพราะเป็นดินแดนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน พานผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ อาทิ

  • เป็นสถานที่ตั้ง Cathedral-Basilica of Our Lady of the Pillar มหาวิหารคาทอลิกแห่งแรกของโลกที่อุทิศให้พระแม่มารีย์ เมื่อครั้นมาประจักษ์ในสเปน ดั้งเดิมเป็นเพียงเสาศักดิ์สิทธิ์ (Basilica of Our Lady of the Pillar) เมื่อตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 แล้วก่อสร้างโบสถ์ขึ้นรอบล้อม ค.ศ. 1681-1961
  • งานแต่งงานระหว่าง King Ferdinand II of Aragon และ Queen Isabella I of Castile เมื่อปี ค.ศ. 1479 เป็นการรวมอาณาจักร Aragon เข้ากับ Castile
  • เมืองแห่งนี้ยังจุดกำเนิดของศาลศาสนา (Spanish Inquisition)
  • เคยเกิดกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic plague) เมื่อปี ค.ศ. 1564 มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน (จากจำนวนประชากร 25-30,000 คน)
  • Peninsular War (1807-14) เมื่อกองทัพ Napoleon กรีธาทัพมาถึง Saragossa มีการต่อสู้รบรา กว่าจะยินยอมยกธงข่าวก็เมื่อมีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 นาย (ถือเป็นยุทธการต่อสู้ยิ่งใหญ่สุดในสงครามครั้งนั้นเลยกระมัง)

ไม่เชิงว่าเหตุการณ์เหล่านี้ถูกอ้างอิงถึงในหนังสือ/ภาพยนตร์ แต่ต้องถือว่า Saragossa คือเมืองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศ สามารถสร้างอิทธิพลให้ตัวละคร เคยมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ หลายๆสิ่งอย่างก็มีความละม้ายคล้ายคลึง เคยพานผ่านอะไรๆมามากมาย … กระมัง

เกร็ด: ภาพวาดที่นำมานี้คือ View of Zaragoza (ค.ศ. 1647) โดยจิตรกร Juan Bautista Martínez del Mazo

ฉากแรกของหนังมีการนำเสนอ ‘mise-en-scène’ อันน่าทึ่ง! บรรดาทหารหาญเดิน-วิ่ง ควบขี่ม้า ไปข้างหน้า-สวนทางกลับมา จากนั้นได้ยินเสียงระเบิด กระสุนปืน คละคลุ้งด้วยฝุ่นควัน เรียกว่าเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน ซึ่งแฝงนัยยะถึงโครงสร้างดำเนินเรื่องของหนัง ที่มีความซ้อนซับซ้อน แต่ละเรื่องเล่าฟังดูคนละทิศคนละทาง ถึงอย่างนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างที่เป็นจุดร่วม เวียนวงกลม และหวนกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง

แซว: ทหารชาวฝรั่งเศสนายนี้ เริ่มต้นจากเดินเอื่อยๆเฉื่อยๆ (แบบครึ่งแรกของหนัง) แต่พอตกอยู่ในสถานการณ์ชุลมุนวุ่นวาย จู่ๆกลับพยายามเรียกรวมพล “Forward! After me!” ถึงอย่างนั้นกลับไม่ใครสนใจกระทำตามคำสั่ง จนต้องถอยร่นหลบหนีหัวซุกหัวซุน (แบบครึ่งหลังของหนัง)

เรื่องราวแรกของหนังมันอาจดูไม่ได้มีห่าเหวอะไร แต่ถ้าครุ่นคิดให้ดีๆจะพบว่าความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศส vs. สเปน (สวมเครื่องแบบดำ vs. ขาว) จู่ๆก็จบสิ้นลงเพียงเพราะความสนใจในหนังสือเล่มใหญ่ The Saragossa Manuscript ทั้งสองฝั่งฝ่ายต่างใคร่อยากรู้ อยากค้นหาคำตอบ มันมีเรื่องราวอะไรอยู่ในนั้น ถึงขนาดล้มเลิกราฆ่าฟัน ยินยอมแปลภาษาให้สามารถทำความเข้าใจ

เมื่อรับชมหนังต่อไปเรื่อยๆก็จะพบว่า มีหลายๆเรื่องเล่านำเสนอความขัดแย้งระหว่างบุคคลสองฝั่งฝ่าย บิดา vs. บุตรชาย, พ่อค้า vs. นายธนาคาร, ศาสนาคริสต์ vs. อิสลาม, ทำไมหนึ่งชายถึงจะครอบครองหญิงสาวสองคนร่วมกันไม่ได้? สุดท้ายเมื่อสามารถขบไขปริศนา ต่อสู้เอาชนะ หรือคลายความขัดแย้ง พวกเขาก็จักคบหากลายเป็นเพื่อนสนิท อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองของประเทศโปแลนด์ แม้ผกก. Has จะเต็มไปด้วยอคติต่อพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เขารู้จักการประณีประณอม ยินยอมอ่อนข้อ สมานฉันท์ … ถึงอย่างนั้นฝั่งการเมืองซ้าย-ขวา กลับไม่หนทางอยู่ร่วมงานกันอย่างสงบสันติสุข!

Sierra Morena เทือกเขาความยาว 450 กิโลเมตร จากทิศตะวันออกถึงตะวันตกของ Iberian Peninsula ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เป็นสถานที่ที่ในอดีตเต็มไปด้วยจอมโจร (เหมาะแก่การหลบซ่อนตัว) เลื่องชื่อเรื่องงูใหญ่ และเด็กชายได้รับการเลี้ยงดูแลจากหมาป่า

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1767 รัชสมัยของ Charles III of Spain (1716-88, ครองราชย์ 1759-88) ได้ทำการถอนรากถอนโคน กำจัดพวกจอมโจรให้หมดสิ้นไปจากเทือกเขาแห่งนี้ ต่อมาเลยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการเดินทาง มีชาวนาจาก German, Swiss, Flemish มาตั้งรกรากถิ่นฐานมากมาย

เกร็ด: ในวรรณกรรม Don Quixote (ค.ศ. 1605-15) คือสถานที่ที่ Sancho Panza แนะนำทาส/ผู้อพยพ ที่ได้รับการปลดแปกจาก Don Quixote มาหลบลี้ภัยจาก Holy Brotherhood

เอาจริงๆหนังมีงบประมาณมากพอจะเดินทางไปยังประเทศสเปน แต่ผู้กำกับ Has ต้องการใช้ทิวทัศน์ของโปแลนด์เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยตัดสินใจเลือก Kraków-Częstochowa Upland หรือ Polish Jurassic Highland หรือ Polish Jura (หมายถึงดินแดนที่มีความแก่เก่าตั้งแต่ยุค Jurassic อายุประมาณ 200 ล้านปี) เทือกเขาทางตอนใต้ของ Poland คาบเกี่ยวระหว่างเมือง Kraków, Częstochowa และ Wieluń

ต้นฉบับนวนิยายของ The Saragossa Manuscript เห็นว่ามีการเล่าย้อนไปถึงยุคโบราณ จุดกำเนิดศาสนาคริสต์-อิสลาม ลัทธิ Kabbalah แต่หนังจำต้องตัดทิ้งประเด็นดังกล่าว เพราะมันไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อเนื้อหาหลักสักเท่าไหร่ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ Kraków-Częstochowa Upland ยังสามารถสร้างบรรยากาศเก่าแก่ เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ และความลึกลับได้เป็นอย่างดี

ผมคงไม่ลงรายละเอียดว่าสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆสื่อความหมายถึงอะไร แต่อยากจะให้สังเกตแทบทุกช็อตฉากที่ถ่ายทำยัง Kraków-Częstochowa Upland มักมีลักษณะมุมเงย เพื่อให้เห็นทั้งผืนแผ่นดินและท้องฟากฟ้า แถมหลายๆช็อตแลดูคล้ายรูปภาพวาดตอน Title Sequence เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) สถานที่ราวกับจินตนาการเพ้อฝัน เพลงประกอบยังเสริมบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง เต็มไปด้วยความลึกลับ สลับซับซ้อน

แม้จะมีแผนที่ แต่ผู้ชม(และตัวละคร)กลับไม่สามารถบอกตำแหน่ง ทิศทาง วกกลับไปวนมา ราวกับเขาวงกต ไร้หนทางออก … จะว่าไป Alfonse Van Worden ก็เดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทางกรุง Madrid

โรงแรมในภูเขา Venta Quemada คือสถานที่แห่งความลึกลับ มีการเจาะเข้าไปในเทือกเขา (คาดว่าคงเคยเป็นเหมืองเก่า) ซึ่งสามารถสื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในเรือนร่างกาย หรือคือจิตวิญญาณ/จินตนาการของ Alfonse Van Worden มีห้องโอ่โถง รโหฐาน พบเจอสองเจ้าหญิง Moorish พยายามเกี้ยวพาราสี เพื่อจะได้แต่งงานครองคู่รัก … สื่อถึงความต้องการแท้จริงของหัวใจเลยก็ว่าได้ (เลยพบเห็นพวกเธอซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จักเข็ดหลากจำ)

ถ้าตามหลักศาสนาคริสต์ บุรุษต้องมีความรักเดียวใจเดียว แต่งงานกับผู้หญิงเพียงคนเดียว (ยิ่งคาทอลิกแท้ๆ จะไม่ยินยอมรับการหย่าร้าง) ผิดกับชาวมุสลิม ศาสนาอิสลามยินยอมให้แต่งงานมีภรรยาได้ถึงสี่คน สรุปแล้วฝั่งฝ่ายไหนถูก-ใครผิด? มันก็เป็นเรื่องความเชื่อศรัทธา แต่สำหรับ Alfonse Van Worden เหตุการณ์เหล่านี้ก็แค่ความเพ้อฝันหวาน ตื่นขึ้นมาทีไรก็ไปโผล่กลางทุ่งกว้าง

เรื่องเล่าบิดาของ Alfonse จะมีขณะที่เขากล่าวคำสัตย์ ยินยอมทำสัญญากับปีศาจเพื่อแลกน้ำดื่มดับกระหายสักอึก แล้วจู่ๆหญิงสาวชุดดำคนนี้ก็เดินตรงเข้ามา สร้างบรรยากาศราวกับเธอคือปีศาจร้าย … แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับนึกถึงตอนพระเยซูคริสต์ขณะกำลังแบกไม้กางเขน แล้วได้รับน้ำดื่มจากหญิงสาวคนหนึ่ง

จะว่าไปการดื่มน้ำฉากนี้ ล้อกับตลอดทั้งเรื่องที่ Alfonse เมื่อดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ทำให้ชีวิตของเขาผันแปรเปลี่ยนไป ตื่นจากฝันดีสู่โลกความจริงที่โหดร้าย (ตรงกันข้ามกับบิดาเมื่อดื่มน้ำจากไห/ทำสัญญาปีศาจ ฟื้นตื่นจากฝันร้ายสู่ชีวิตอันสุขเกษมกระสันต์)

หนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Has มักให้นักแสดงหันหน้า สนทนาหน้ากล้อง (แต่ไม่ได้สบตาหน้ากล้องเพื่อ “Breaking the Fourth Wall”) หลายๆฉากมีการใช้มุมกล้องเพียงด้านเดียว ถ่ายทำแบบ Long Take และใช้ระยะใกล้-ไกลเพื่อสร้างสัมผัสบางอย่าง

ผมเลือกฉากเรื่องเล่าของ Pacheco ตลอดเวลาที่อาศัยอยู่คฤหาสถ์ของบิดา จะพบเห็นเพียงมุมกล้องเดียวในห้องอาหาร เริ่มจากพบเห็นอยู่กันพร้อมหน้าสี่คน สองคน (ระยะภาพแสดงถึงความสัมพันธ์ชิดใกล้) และเมื่อหลงเหลือตัวคนเดียว กล้องกลับค่อยๆเคลื่อนถอยห่างออกไป (แม้มีคนรับใช้อยู่เคียงข้าง แต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง)

ดวงตามองลอดผ่านรูบนผ้ากระสอบ ผมไม่รู้เป็นความเชื่อของคนแถบนั้นหรือเปล่า ทำให้ได้พบเห็นสิ่งชั่วร้าย (ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์) ตระหนักถึงข้อเท็จจริง เปิดโปงภาพมายา จึงทำให้เขามิอาจยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เลยกลายสภาพเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง และสูญเสียดวงตาข้างนั้น (ที่มองเห็นสิ่งชั่วร้าย)

แซว: เวลาพบเห็นการใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับดวงตา มักชวนให้นึกถึงดวงตาสัพพัญญู (Eye of Providence หรือ all-seeing eye of God) บนธนบัตร 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีทฤษฎีสมคบคิดว่าเกี่ยวกับ Illuminati (สมาคมรู้แจ้ง พบเห็นความจริง)

ศาลศาสนาในประเทศสเปน (Spanish Inquisition) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1478 โดยพระสันตะปาปา Pope Sixtus IV ได้อนุญาตให้ King Ferdinand II of Aragon และ Queen Isabella I of Castile ตั้งศาลศาสนาเพื่อลงโทษคนนอกรีต Judaism และอิสลามที่เปลี่ยนมานับถือคาทอลิก ด้วยการขับไล่ไม่ก็ประหารชีวิต

ศาลศาสนาสิ้นสุดบทบาทลงเมื่อปี ค.ศ. 1834 ในรัชสมัยของ Isabella II of Spain (1830-1904, ครองราชย์ 1833-68) มีการประเมินตัวเลขบุคคลถูกพิพากษา 150,000 คน และผู้ถูกประหารชีวิตกว่า 3,000-5,000 คน

ลักษณะของศาลศาสนาที่นำเสนอในหนัง ชวนให้ผมนึกถึงลัทธิล่าแม่มด ซึ่งมักถูกใช้เปรียบเทียบวิธีการของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ในการกำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง ด้วยการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาทำทัณฑ์ทรมาน แทบตกตายทั้งเป็น เลยจำต้องเปิดเผย/ชี้ตัว ยินยอมรัสารภาพความผิดที่ไม่ได้ก่อ

เกร็ด: หนึ่งในอุปกรณ์ทัณฑ์ทรมานมีชื่อว่า Mask of Infamy ถือเป็นการลงโทษสถานเบา โดยหน้ากากมักมีการออกแบบให้ดูแปลก ประหลาด สะดุดตา มุ่งเน้นให้เกิดความอับอาย ไม่กล้าออกไปพบผู้คน ส่วนใหญ่จะเป็นสามีลงโทษภรรยากระทำตัวไม่เหมาะสม

การที่ Alfonse ได้รับความช่วยเหลือจากสองเจ้าหญิง แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดก็ราวกับเพ้อฝันไป ทำให้ทั้งซีเควนซ์ถูกทัณฑ์ทรมานราวกับคำพยากรณ์ นิมิตหมาย ทำให้เขาสามารถเอาตัวรอดพ้นพวกศาลศาสนา (Spanish Inquisition) แต่ก็เปลี่ยนมาพบเจอฝากฝั่งตรงข้าม สมาชิกลัทธิ Kabbalah อาสาให้ความช่วยเหลือ พาออกเดินทางไปยังปราสาท The Kabbalist’s Castle

เกร็ด: Kabbalah คือลัทธิเวทย์มนต์ของชาวยิว (Jewish mysticism) เชื่อในเรื่องลึกลับ พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ เพราะเชื่อว่านั่นจักทำให้พวกเขาสามารถเข้าใกล้ชิดพระเจ้าผู้สร้าง

Kabbalists also believe that true knowledge and understanding of that inner, mysterious process is obtainable, and through that knowledge, the greatest intimacy with God can be attained.

ไม่ใช่แค่พวกศาลศาสนาที่มีความเชื่อแตกต่างจาก Kabbalah หนังยังนำเสนอนักคณิตศาสตร์ Don Pedro Velasquez คือบุคคลขั้วตรงกันข้ามที่ไม่มีความเชื่อเรื่องใดๆ สนเพียงการค้นหาข้อเท็จจริง สามารถพิสูจน์ด้วยหลักฐาน สมการตัวเลข สิ่งประจักษ์แจ้งแก่สายตา โต้ถกเถียงกันไปมาอย่างมัวเมามัน … นี่ก็ล้อกับบรรดาความขัดแย้งทั้งหลายของหนังได้เป็นอย่างดี

หนังไม่ถ่ายให้เห็นภายนอกปราสาท The Kabbalist’s Castle แต่ภายในเต็มไปด้วยสิ่งข้าวของ รูปภาพวาดเชิงสัญลักษณ์ แม้แต่ชุดคลุมของ Alfonse ยังเต็มไปด้วยลวดลายตัวอักษรภาษา Yiddish (ภาษาของชาว Jewish) นี่เท่ากับว่าเขากลายเป็นชายสามโบสถ์ คริสต์ อิสลาม และยิว

เกร็ด: ชายสามโบสถ์ คือสำนวนไทยที่กล่าวถึง ชายเปลี่ยนศาสนา 3 หน หรือการบวชๆสึกๆมาแล้ว 3 ครั้ง ถือเป็นบุคคลไม่น่าคบหา ขาดความน่าเชื่อถือ

ผมละขำก๊ากกับตำแหน่งที่นั่งของ Don Avadoro เมื่อเริ่มต้นเรื่องเล่าวีรกรรมสมัยอาศัยอยู่กรุง Madrid ผมไม่อยากเรียกว่าพยัคฆ์ เอาว่ามันคือสุนัขติดสัด เวลาผสมพันธุ์กันเสร็จแล้วก็จะตัวติดกันแบบนี้ นี่คือกลไกธรรมชาติเพื่อให้อสุจิของตัวผู้มีเวลาปฏิสนธิรังไข่ตัวเมีย อย่าไปพยายามจับพวกมักแยกเป็นอันขาดนะครับ เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส (เพราะมันยัดอัณฑะเข้าไปในช่องคลอด ถ้าถูกกระชากให้หลุดออกมา ก็ลองจินตนาการความเจ็บปวดดูนะครับ)

นี่เป็นการบอกใบ้เนื้อหาครึ่งหลังของหนัง ว่าจะเต็มไปด้วยเรื่องรักๆใคร่ๆ คบชู้สู่ชาย-สาว ช่วงเวลาติดสัตว์ไม่ต่างจากเดรัจฉานสักเท่าไหร่

ถัดจากดื่มน้ำจากไห ดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก มาคราวนี้แก้วใสของทั้ง Senor Toledo (และ Don Avadoro) ต่างมีลักษณะอันแปลกประหลาด เหมือนต้องการสะท้อนวิทยฐานะของพวกเขา

  • Senor Toledo ดูเหมือนแก้วแชมเปญทรงสูง สื่อถึงความเป็นผู้ดีมีสกุล
  • Don Avadoro เป็นแก้วทรงกระบอกทั่วๆไป สื่อถึงความเป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่ชอบพิธีรีตรองอะไรใดๆ

เรื่องเล่าของ Lopez Soarez ระหว่างนอนเข้าเฝือกอยู่บนเตียง สามารถแบ่งแยกออกเป็นครึ่งแรก-หลัง ซึ่งสะท้อนเข้ากับโครงสร้างดำเนินเรื่องของหนังด้วยนะ

  • ครึ่งแรก เล่าถึงความขัดแย้งของบิดา การเดินทางสู่ Madrid และพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว Donna Inez Moro
    • ล้อกับครึ่งแรกของหนังที่ Alfonse ก็เคยเล่าเรื่องราวของบิดา ออกเดินทางสู่ Madrid ตกหลุมรักสองเจ้าหญิง Moorish
  • ครึ่งหลัง จะมีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของ Don Roque Busqueros และ Donna Frasquetta Salero
    • ล้อกับครึ่งหลังของหนังที่ Alfonse รับฟังเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของ Don Avadoro

เหล่านี้เป็นการบอกใบ้ความสัมพันธ์ระหว่าง Alfonse กับ Lopez Soarez จะมองว่าคือตัวตายตัวแทน ความน่าจะเป็น โลกคู่ขนาน ฯลฯ ก็แล้วแต่จะครุ่นคิดตีความ

สถานที่ตกหลุมรักแรกพบระหว่าง Lopez Soarez และ Donna Inez Moro คือสวนสาธารณะ Park Szczytnicki สถานที่สุดโรแมนติก ตั้งอยู่ชานเมือง Wroclaw เมื่อช่วงศตวรรษที่ 16th ยังเป็นหมู่บ้านเล็กๆชื่อว่า Szczytniki ศตวรรษถัดมาค่อยๆถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ก่อนได้รับการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1868 กินอาณาบริเวณประมาณ 100 เฮกตาร์ (625 ไร่)

เรื่องเล่าของ Don Roque Busqueros พูดกรอกหู Lopez Soarez ระหว่างอยู่ยังสวนสาธารณะ Park Szczytnicki กล่าวถึงประสบการณ์อันโชกโชน เจ้าชู้ประตูดินของตนเอง ครั้งหนึ่งเคยปีนป่ายขึ้นบันไดหาสาว Donna Frasquetta Salero ก้าวขึ้นไปเสพสมบนสรวงสวรรค์

ในภาพยนตร์ของผกก. Has ใช้บันไดคือสัญลักษณ์การปีนป่ายขึ้นไปคบชู้ ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ นอกจาก The Saragossa Manuscript (1965) ยังพบเห็นเรื่อง The Hourglass Sanatorium (1973) ด้วยนัยยะเดียวกัน

เหตุผลที่ Donna Frasquetta Salero เต็มไปด้วยชู้รักมากมาย ไม่ใช่แค่ Don Roque Busqueros ยังรวมถึง Senor Toledo (และ Count Pena Flor) สาเหตุเพราะความหึงหวงของ Don Diego Salero รักเอ็นดูเธอดั่งนกในกรง ปฏิเสธมอบอิสรภาพเสรี แถมยังขี้อิจฉาริษยา แอบพบเห็น Count Pena Flor ยักคิ้วหลิ่วตา เลยว่าจ้างนักฆ่าไปจัดการปิดปาก!

แต่แล้วกรรมตามสนอง Don Diego Salero เมื่อถูกทรยศหักหลังโดยนักฆ่าที่จ้างวาน ทิ่มแทงดาบเข้าไปกลางหัวใจ (ล้อกับตอนที่บิดาของ Alfonse ดวลดาบแล้วถูกทิ่มแทง) นั่นทำให้ Donna Frasquetta Salero (หรือก็คือ Augusta Fernandez) กลายเป็นสาวโสด ก็ถึงเวลาระริกระรี้เข้าหาบรรดาชู้รัก เป็นเหตุให้สามสหาย Don Avadoro, Senor Toledo และ Don Roque Busqueros ต้องปีนป่ายออกทางหน้าต่าง หลบหนีหัวซุกหัวซุน ไม่สามารถอาศัยอยู่เมือง Madrid ได้อีกต่อไป

สำหรับความขัดแย้งระหว่าง Don Gaspar Soarez กับนายธนาคาร Moro ที่เคยถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาล กลับสามารถสิ้นสุดลงเพราะบุตรชาย-สาวของพวกเขา ตกหลุมรัก ยินยอมตอบตกลงแต่งงานกัน … ข้อคิดของเรื่องเล่านี้ก็คือ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ สามารถยุติสงคราม ความขัดแย้ง ทำให้สองฝั่งฝ่ายประณีประณอม ปรองดอง เราก็ต่างมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกัน นี่คืออุดมคติชาวคริสต์โดยแท้!

เมื่อเรื่องเล่าของ Don Avadoro จบสิ้นลง Alfonse ก็ถูกบีบบังคับให้ออกเดินทางจากปราสาท The Kabbalist’s Castle แต่แทนที่เขาจะตรงไปยังกรุง Madrid ทำตามเป้าหมายดั้งเดิมคือเข้าร่วมกองทัพ Spanish Army แต่กลับตรงสู่โรงแรมในภูเขา Venta Quemada เพื่อพบเจอสองเจ้าหญิง Moorish เรียกว่าไม่สนห่าเหวอะไรอีกแล้วนอกจากเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ

แต่เมื่อดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ทุกสิ่งอย่างก็หวนกลับมา Déjà vu ไม่รู้รอบที่เท่าไหร่! ถึงอย่างนั้นครานี้ก่อนจะฟื้นตื่นขึ้นกลางทุ่ง เหมือนว่าร่างกาย-จิตวิญญาณของเขาจะเกิดการแบ่งแยก ขัดแย้ง พบเห็นราวกับภาพสะท้อนในกระจก … ฝั่งร่างกายยังมีลมหายใจ ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ (จดบันทึกลงหนังสือ The Saragossa Manuscript) แต่จิตวิญญาณต้องการครอบครองรักสองเจ้าหญิง Moorish ที่อยู่อีกฟากฝั่ง/ดินแดนแห่งความตาย

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อ Alfonse เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง จึงมีสภาพเหมือนคนสูญเสียจิตวิญญาณ แต่คนสมัยนั้นมักมองว่าถูกปีศาจร้ายเข้าสิง (แบบเดียวกับ Pacheco) แสดงท่าทางรุกรี้รุกรน กระวนกระวาย เร่งรีบกระทำตามหน้าที่ จดบันทึกทุกสิ่งอย่างลงบนหนังสือ The Saragossa Manuscript (แอบนึกถึง Naked Launch อยู่เล็กๆ) ยังบ้านพัก(ที่ Saragossa)เต็มไปด้วยสิงสาราสรรพสัตว์ และกรงขังที่เขามิอาจดิ้นหลบหนีพ้น

นี่เป็นตอนจบที่ผกก. Has สร้างขึ้นใหม่ (ไม่ได้อยู่ในหนังสือ The Manuscript found in Zaragoza) ให้สอดคล้องเหตุการณ์ตอนต้นเรื่อง เพื่อนำเสนอแนวคิดของการเวียนวงกลม เริ่มต้น-สิ้นสุด หวนกลับมาบรรจบ แบบเดียวกับภาพยนตร์ The Noose (1957)

จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ Alfonse เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นสองเจ้าหญิง Mooish พร้อมกับกระจกลอยได้ กำลังเฝ้ารอคอยให้เขาหวนกลับไป (น่าจะเสร็จสิ้นภาระหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดลงหนังสือ The Saragossa Manuscript) ถึงเวลาที่ร่างกายและจิตวิญญาณจะหวนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ควบขี่ม้ามุ่งสู่โรงแรมในภูเขา Venta Quemada แต่ปลายทางลิบลิ่วกลับคือสองศพถูกแขวนอยู่บนเนินเขา … บอกใบ้ว่าคือการเดินทางสู่จุดจบ โลกหลังความตาย

ตัดต่อโดย Krystyna Komosińska สัญชาติ Polish ผลงานเด่นๆ อาทิ The Saragossa Manuscript (1965), Wodzirej (1978) ฯลฯ

ด้วยวิธีการดำเนินเรื่อง ‘story within a story’ ถือว่าเป็นภาพยนตร์มีความซ้อนซับซ้อนที่สุดเท่าที่ผมเคยรับชมมา การจะอธิบายโครงสร้างให้เข้าใจโดยง่าย คงต้องใช้แผนภาพประกอบ

ทำไม The Saragossa Manuscript ต้องนำเสนอออกมาให้มีโครงสร้างซ้อนซับซ้อนขนาดนี้? ผมไม่แน่ใจเหตุผลของนวนิยาย แต่สำหรับผู้กำกับ Has ทุกเรื่องราวที่นำเสนอออกมาล้วนมีความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงใย สัมพันธ์กับเนื้อหาหลักของหนัง (Main Story) ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความรู้สึกเวียนวนมาวนไป ไม่รู้จักจบจักสิ้น สะท้อนเข้ากับวิถีชีวิตชาวโปแลนด์ยุคสมัยนั้น มิอาจดิ้นหลุดพ้นเขาวงกต/บ่วงรัดคอของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

เกร็ด: ฉบับฉายโปแลนด์จะไม่มีการตัดทอน 182 นาที แต่ฉบับฉายต่างประเทศจะมีการตัดบางเรื่องราว 152/147 นาที และที่สหรัฐอเมริกาหลงเหลือเพียง 125 นาที (ฉบับบูรณะของหนัง ฟื้นฟูต้นฉบับความยาวเต็มไม่มีตัด)


เพลงประกอบโดย Krzysztof Eugeniusz Penderecki (1933-2020) คีตกวีสัญชาติ Polish ช่วงสงครามยังไม่รู้ประสีประสาอะไรนัก แต่ค้นพบความชื่นชอบไวโอลิน เข้าศึกษาต่อยัง Jagiellonian University ติดตามด้วยสาขาแต่งเพลง Akademia Muzyczna im. Krzysztofa Pendereckiego จากนั้นกลายมาเป็นอาจารย์สอนดนตรี ขณะเดียวกันก็เริ่มเขียนประพันธ์บทเพลงซิมโฟนี, ออร์เคสตรา, โอเปร่า, Concerto, Chamber Music ฯลฯ โด่งดังจากงานเพลงแนวทดลอง Avant-Garde นำเอาสรรพสิ่งที่สามารถให้กำเนิดเสียงมาผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากับบทเพลง

All I’m interested in is liberating sound beyond all tradition.

Krzysztof Penderecki

แม้ว่า Penderecki จะทำเพลงภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่อง แต่หลายๆผลงานมีการอ้างอิงถึง กลายเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ก็นำเอาไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของ The Exorcist (1973), The Shining (1980), Wild at Heart (1990), Inland Empire (2006), Children of Men (2006), Shutter Island (2010) ฯลฯ

งานเพลงของ Penderecki ต้องชมเลยว่ามีความแปลกประหลาด พึลึกพิลั่น เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งการผสมผสานท่วงทำนองบทเพลงคลาสสิกคุ้นหู (มีทั้ง Vivaldi, Beethoven, Haydn, Mozart ฯลฯ), บางครั้งบรรเลงกีตาร์อะคูสติก แนวดนตรีฟลาเมงโก, แต่ไฮไลท์คือการทดลองใช้สรรพเสียงแปลกๆ ผสมเข้ากับเครื่องสังเคราะห์ (synthesizers) และเทปแม่เหล็ก (magnetic tape) มักได้ยินในฉากที่สร้างความหลอนๆ มอบสัมผัสเหนือจริง กำลังพบเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติ

การผสมผสานหลากหลายแนวดนตรี ถือว่าสอดคล้องเข้ากับความหลากหลายของเรื่องเล่า ที่มีทั้งแนวรักโรแมนติก ตลกขบขัน การต่อสู้ผจญภัย ลึกลับหลอนหลอน ขนหัวลุกพอง ฯลฯ แต่ละสไตล์เพลงก็เพื่อความสอดคล้องบรรยากาศเรื่องเล่าขณะนั้นๆ

ครึ่งแรกของหนัง มักเต็มไปด้วยบรรยากาศอันหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง ด้วยการทดลองแนวเพลง Avant-Garde (เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ที่ตัวละครพบเจอ มีแต่เรื่องเหนือธรรมชาติแทบทั้งนั้น) ครึ่งหลังจะมีความผ่อนคลายมากขึ้น เรื่องเล่าของ Don Avadoro จะมีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ได้ยินทั้งดนตรีฟลาเมงโก และท่วงทำนองเพลงคลาสสิกที่หลายคนน่าจะมักคุ้นหู โดยเฉพาะท่อนสุดท้ายของ Beethoven: Symphony No.9 มีชื่อเล่นว่า Ode to Joy (ได้ยินตอน Main Theme) น่าสร้างความบันเทิงเริงรมย์ให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

น่าเสียดายที่ผมหาคลิปแยก Main Theme มาให้ฟังไม่ได้ (บทเพลงนาทีที่ 7 ของคลิปด้านบน) แต่ยังดีพบเจอ Closing Music ที่ Penderecki แยกบทเพลงตั้งชื่อว่า 3 Pieces in Baroque Style ประกอบด้วย

  1. I. Aria
  2. II. Minuet No.1
  3. III. Minuet No.2 ** นี่คือบทเพลงที่นำมาใช้เป็น Closing Music ของ The Saragossa Manuscript (1965)

มองผิวเผินแต่ละเรื่องเล่าของ The Saragossa Manuscript (1965) เหมือนจะมีความเป็นเอกเทศ ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใย แต่แท้จริงแล้วเราสามารถมองเนื้อหาทั้งหมดไปในทิศทางกัน ด้วยการให้ตัวละครหลักของทุกๆเรื่องราวเหล่านั้น เทียบแทนด้วย Alfonse Van Worden (หรือจะมองว่าคือโลกคู่ขนาน/ความเป็นไปได้ที่ Alfonse อาจประสบพบเจอเข้ากับตนเอง)

  • เรื่องเล่าของ Alfonse เกี่ยวกับบิดา บอกใบ้(ในเชิงสัญลักษณ์)ถึงสิ่งต่างๆที่เขาจะประสบพบเจอด้วยตนเอง
    • ถูกรถม้าชนล้มระหว่างทางสู่ Madrid = Alfonse เดินทางไปไม่ถึง Madrid สักที
    • ต่อสู้พ่ายแพ้ศัตรู = Alfonse ไม่สามารถต่อกรกับสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นกับตัวเขา
    • เสมือนว่าทำสัญญากับปีศาจ แล้วได้ครองรัก แต่งงาน = Alfonse พบเจอสองเจ้าหญิง ที่ก็ไม่รู้มีตัวตนจริงๆ หรือแค่เพ้อฝันไป
  • เรื่องเล่าของ Pacheco มีความคู่ขนานกับ Alfonse แต่เปลี่ยนจากสองเจ้าหญิง เป็นน้องสาวเมียใหม่บิดา (แอบแฝงปม Oedipus Complex)
    • และเมื่อ Pacheco ตระหนักถึงความจริงบางอย่าง สภาพปัจจุบันเหมือนถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง = นั่นคือตอนจบของ Alfonse
  • เรื่องเล่าของ Senor Toledo (และ Donna Frasquetta Salero) สะท้อนความเจ้าชู้ประตูดิน รวมถึงหวาดสะพรึงกลัวต่อเรื่องเหนือธรรมชาติของ Alfonse (และบิดา)
  • เรื่องเล่าของ Lopez Soarez (และ Don Roque Busqueros) คือในกรณีที่ Alfonse เดินทางมาถึงกรุง Madrid คงจะได้พบเจอหญิงสาว ตกหลุมรัก แต่งงาน

กล่าวคือเรื่องเล่าทั้งหมดของ The Saragossa Manuscript (1965) ล้วนเกี่ยวกับความรักๆใคร่ๆ ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ไม่สามารถครองคู่แต่งงาน เลยต้องทำการพิสูจน์ตนเอง ออกเดินทางสู่ Madrid แล้วขบไขปริศนา ต่อสู้เอาชนะ หรือคลายความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งฝ่าย

ทั้งๆที่เรื่องเล่าต่างๆ มีความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น (Timeline ของ Lopez Soarez คืออุดมคติแห่งรักที่สมบูรณ์แบบ) แต่ตอนจบของเรื่องราวหลัก Alfonse Van Worden กลับมิอาจสำเร็จสมหวัง ทุกสิ่งอย่างราวกับความเพ้อฝัน เดินทางไม่ถึง Madrid จมปลักอยู่ Saragossa หมกมุ่นเขียนหนังสือเล่มใหญ่ มีสภาพเหมือนถูกคนสูญเสียวิญญาณ/ปีศาจร้ายเข้าสิง และท้ายสุดเมื่อพบเห็นสองเจ้าหญิงอีกครั้ง ก็ช่างหัวแม้งทุกสิ่งอย่าง เลือกกระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจเท่านั้น

ตอนจบของหนังที่ไม่เพียงเวียนวนกลับมาหาจุดเริ่มต้น แต่อาการคลุ้มบ้าคลั่งของ Alfonse แทบจะไม่แตกต่างจากตอนจบของ The Noose (1957) ซึ่งคือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผกก. Has นี่เป็นการสะท้อนมุมมองชีวิต ทัศนคติต่อโปแลนด์ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ มันช่างท้อแท้สิ้นหวัง ไร้หนทางออกจากเขาวงกต มิอาจดิ้นหลุดพ้นบ่วงรัดคอ เพียงความตายเท่านั้นคือจุดจบ

ด้วยเหตุนี้ผกก. Has เลยต้องทำการจดบันทึกทุกสิ่งอย่างลงบนสื่อภาพยนตร์(ด้วยอาการคลุ้มบ้าคลั่ง) แล้วโยนมันทิ้งไว้ เผื่ออนาคตจักมีคนหยิบขึ้นมา เปิดรับชม แล้วบังเกิดความใคร่สนใจ


หนังใช้ทุนสร้าง 18 ล้านซวอตือ (Polish złoty) ซึ่งถือเป็นปริมาณมหาศาลของโปแลนด์ยุคสมัยนั้น (ไม่มีรายงานว่าเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดขณะนั้นหรือเปล่า แต่ก็น่าจะใกล้เคียง) ไม่มีรายงานรายรับ แต่เห็นว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หนึ่งในสองผลงานทำเงินสูงสุดของผกก. Has (อีกเรื่องก็คือ The Hourglass Sanatorium (1973))

หนังได้รับความเอ็นดูมากๆจาก Martin Scorsese จ่ายเงิน $36,000 เหรียญ เพื่อค้นหาฟีล์มเนกาทีฟต้นฉบับมาทำการฟื้นฟูบูรณะ ออกฉายใหม่ (Re-Release) ครั้งแรกเมื่อปี 2001, ตามด้วย ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K โดย Kino Polska เมื่อปี 2011, ปัจจุบันรวบรวมเป็นหนึ่งใน 21 Martin Scorsese Presents: Masterpieces of Polish Cinema

แซว: สกรีนบนแผ่น Blu-Ray ฉบับของ Mr. Bongo Films ที่จัดจำหน่ายเมื่อปี 2015 เหมือนจะมีการพิมพ์ชื่อหนังผิดเรื่องเป็น The Hourglass Santorum (ชื่อเรื่องพิมพ์ก็ผิดนะครับ ที่ถูกต้องเป็น The Hourglass Sanatorium) จัดเป็นของสะสมหายากเลยละ

แม้ไม่มีเรื่องราวไหนใน The Saragossa Manuscript (1965) ที่ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบสักเท่าไหร่ แต่โครงสร้างซ้อนซับซ้อนสู่ความไม่รู้จับ นั่นเป็นสิ่งสร้างความโคตรประทับใจ เอางี้เลยเหรอ พอคิดจะเปรียบเทียบ The Grand Budapest Hotel (2014) ก็ตระหนักว่า Wes Anderson กลายเป็นเด็กน้อยในสายตาผกก. Wojciech Has

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าคอยแย่งซีนความโดดเด่นอยู่เรื่อยๆก็คือนักแสดงนำ Zbigniew Cybulski ชวนให้ระลึกถึง Marcello Mastroianni อยู่ไม่น้อยเลยละ!

แนะนำคอหนังมหากาพย์ (Epic) ผสมผสานเรื่องราวรักๆใคร่ๆ (Romantic & Erotic) เหนือธรรมชาติ (Supernatural) อิงศาสนา ท้าทายความเชื่อศรัทธา, นักคิด นักปรัชญา ลองทำความเข้าใจทฤษฎีสมคบคิด, นักออกแบบ สถาปนิก หลงใหลสถาปัตยกรรมตะวันออก (Oriental), นักเขียน นักตัดต่อ ทำงานวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะคนชื่นชอบนิทานชาดก สิบราตรี (Decameron) พันหนึ่งราตรี (Arabian Nights) ลองหาหนังสือมาอ่าน รวมถึงภาพยนตร์มารับชมดูนะครับ

จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมลวงล่อหลอกของปีศาจ คบชู้สู่ชาย โสเภณี เข่นฆาตกรรม รวมถึงภาพความตาย

คำโปรย | The Saragossa Manuscript ซ้อนซับซ้อนสู่ความไม่รู้จบของเรื่องราว ทำให้ผู้กำกับ Wojciech Has ก้าวสู่ความเป็นอมตะ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ซ้อนซับซ้อน

Pożegnania (1958)


Farewells (1958) Polish : Wojciech Has ♥♥♥♡

พร่ำเพ้อรำพันถึงเธอ โปแลนด์ในอดีต (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) เพราะปัจจุบันนั้นไม่มีวันที่เราสองจักหวนกลับมาครอบครองคู่รักกันอีกครั้ง, กลิ่นอาย Casablanca (1942) แต่มีความเหนือจริงอยู่เล็กๆ

Farewells (1958) หรือ Lydia Ate the Apple ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สองของผู้กำกับ Wojciech Has มองผิวเผินคือเรื่องราวโรแมนติกระหว่างหนุ่ม-สาว ช่วงก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (pre-Wars vs. post-Wars) แต่เราสามารถครุ่นคิดตีความเชิงสัญลักษณ์ เธอคือประเทศโปแลนด์ในอดีต-ปัจจุบัน เคยตกหลุมรักคลั่งไคล้ เดี๋ยวนี้กลับต้องตีตนออกให้ห่างไกล

การซุกซ่อนนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของผู้กำกับ Has ทำได้อย่างแนบเนียนจนผู้ชม/นักวิจารณ์สมัยนั้น ตีตรากันว่าเป็นบุคคลเห็นแก่ตัว ไม่สนใจสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ มัวแต่สรรค์สร้างภาพยนตร์รักๆใคร่ๆ ไร้สาระ เพียงกาลเวลาถึงพิสูจน์คุณค่า Farewells (1958) คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่สุดของชนชาวโปแลนด์

หลังจากรับชม The Noose (1957) ผมค่อนข้างมีความคาดหวังต่อผลงานเรื่องถัดๆมาค่อนข้างมาก แม้ว่า Farewells (1958) จะมีโปรดักชั่นงานสร้างดูเหนือจริง มีอะไรให้ขบครุ่นคิดตามมากมาย แต่หลายสิ่งอย่างมากล้นจนเกินไป ทำให้ภาพรวมขาดความกลมกล่อมลงตัว … แต่ถ้าคุณเป็นชาว Polish นี่คือภาพยนตร์ที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เลยนะ!


Wojciech Jerzy Has (1925-2000) ผู้กำกับสัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków ค้นพบความชื่นชอบด้านการวาดรูปตั้งแต่เด็ก ช่วงระหว่าง Nazi Germany ยึดครอง Poland ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าศึกษายัง Szkoła Handlowa w Krakowie แล้วต่อด้วยสาขาภาพยนตร์ Academia de Arte Frumoase Jan Matejko ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Two Hours (1946), แล้วเข้าร่วม Warsaw Documentary Film Studio กำกับสารคดี/หนังสั้น Harmonia (1948), และเมื่อกลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Polish Film School จึงสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Noose (1958)

If Wojciech Has had become a painter, he would surely have been a Surrealist. He would have redrawn antique objects with all their real accoutrements and juxtaposed them in unexpected ways.

นักวิจารณ์ Aleksander Jackiewicz ให้คำนิยามผู้กำกับ Wojciech Has

ผลงานของ Has อาจดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง มุ่งเน้นสร้างโลกส่วนตัว บรรยากาศเหนือจริง สะท้อนจิตวิทยา แต่ลึกๆแล้วตัวเขามีความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ในวัตถุ สิ่งข้าวของเชิงสัญลักษณ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในระบอบการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์

I reject matters, ideas, themes only significant to the present day. Art film dies in an atmosphere of fascination with the present.

Wojciech Has

สำหรับภาพยนตร์เรื่องที่สอง Farewells (1958) ดัดแปลงจากนวนิยายของ Stanisław Dygat (1914-78) นักเขียนชาว Polish นำประสบการณ์ก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาพัฒนาเป็นผลงานเรื่องแรก Jezioro Bodeńskie (1946) [แปลว่า Lake Constance] และติดตามด้วย Pożegnania (1948)

แต่แม้ว่าผกก. Has ยังคงรายละเอียดจากต้นฉบับไว้เกือบทั้งหมด แต่ก็ปรับเปลี่ยนจากนวนิยายเบาสมอง บรรยากาศผ่อนคลาย กลายมาเป็น Melodrama ที่มีความเข้มข้น เต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว Sentimentalism

ช่วงปลายปี 1957 สมาคมนักเขียนของโปแลนด์ (Komisji Ocen Scenariuszy) ได้มีการประชุม พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อบทหนังที่นำมาเสนอของบประมาณ แทบทั้งนั้นวิพากย์วิจารณ์ Pożegnania ว่ามีความเป็นวรรณกรรมมากเกินไป “too much dialogue” “too literary” แม้แต่ผกก. Jerzy Kawalerowicz ยังแสดงความคิดเห็นว่า “this is not a script”

แต่มีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นคือ ผกก. Jerzy Zarzychi แสดงความคิดเห็นสนับสนุนโปรเจคนี้ “to me it seems very cinematic” จึงพยายามโน้มน้าวสมาชิกคนอื่นๆ จนยินยอมตอบตกลงอนุญาตให้มีการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยงบประมาณของรัฐ


ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1939 ณ กรุง Warsaw, เรื่องราวของ Paweł (รับบทโดย Tadeusz Janczar) ชายหนุ่มจากครอบครัวมีฐานะ แวะเวียนเข้าไปยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง พบเจอนักเต้นสาว Lidka (รับบทโดย Maria Wachowiak) เกี้ยวพาราสี ชักชวนหลบหนี ออกเดินทางสู่เมือง Podkowa Leśna เช่าห้องพักยัง Quo Vadis แม้สุดท้ายพวกเขาต้องพลัดพรากจาก แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ต่างเก็บไว้ในความทรงจำ

กระโดดไปมกราคม ค.ศ. 1945, โชคชะตานำพาให้ Paweł รอดชีวิตจากค่ายกักกัน Auschwitz เมื่อกลับมาถึง Podkowa Leśna มีโอกาสพบเจอ Lidka ที่แต่งงานอยู่กินกับ Count Mirek (รับบทโดย Gustaw Holoubek) แม้ทั้งสองยังคงมีเยื่อใยความสัมพันธ์ แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะครองคู่อยู่เคียงข้างกันอีกต่อไป


Tadeusz Janczar (1926-97) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Warsaw, บิดาเป็นทหาร ทำให้เขาเติบขึ้นในค่ายทหารที่เมือง Rembertów การมาถึงของสงครามโลก เพราะอายุยังไม่ถึงเกณฑ์เลยเข้าร่วมกลุ่มใต้ดิน ไต่เต้าจนเป็นสมาชิก Home Army ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเป็นนักแสดงละครเวที หลังสงครามได้เข้าเรียน Janusz Strachocki Drama School ตามด้วย National Film School ภาพยนตร์เรื่องแรก Załoga (1951), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Five from Barska Street (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ A Generation (1955), Kanal (1956), Pożegnania (1958), Bad Luck (1960) ฯลฯ

รับบท Paweł ชายหนุ่มจากตระกูลชนชั้นสูง มักถูกบิดาบีบบังคับขู่เข็น เลยพยายามต่อต้านขัดขืน ไม่ยินยอมจ่ายค่าร่ำเรียนดนตรี นำเงินไปเที่ยวไนท์คลับ พบเจอตกหลุมรักนักเต้นสาว Lidka ชักชวนกันหลบหนีไปอยู่ชนบท แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็คงอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมเลือน

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ไม่ได้อาสาสมัครทหารรับใช้ชาติ แต่ถูกจับกุม ส่งตัวเข้าค่ายกักกัน Auschwitz หลังจากเอาตัวรอดออกมา กลายเป็นคนเตร็ดเตร่ เร่ร่อน ไม่มีกระจิตกระใจทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ระหว่างแวะเวียนกลับมาญาติ Countess Róża บังเอิญพบเจอ Lidka แม้ยังคงรัก ห่วงโหยหา แต่ก็ไม่สามารถพูดบอก แสดงออกมา เก็บกดความรู้สึกไว้ภายใน และพยายามผลักไสเธอออกห่างไกล

การแสดงของ Janczar จะไม่มุ่งเน้นแสดงออกทางอารมณ์อย่างโจ่งแจ้ง (ตรงกันข้ามกับ Wachowiak) แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้จากปฏิกิริยาสีหน้า ถ้อยคำพูดจา (มีคารมคมคายยิ่งนัก) รักษาความเป็นผู้ดีมีสกุล ครึ่งแรกพยายามสำแดงพฤติกรรมหัวขบถ กระทำสิ่งขัดย้อนแย้งคำสั่งบิดา ผิดกับครึ่งหลังเก็บกดทุกความรู้สึก ไม่ต้องการเปิดเผยอะไรใดๆออกมา เพราะไม่ต้องการให้ใครพบเห็นว่า ตนเองยังคงรักมั่นคงต่ออดีตแฟนสาวไม่เสื่อมคลาย

ตัวละครนี้ไม่เพียงเป็นตัวตายตัวแทน ผกก. Has แต่ยังสามารถเหมารวมถึงชาวโปแลนด์ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของ German-occupied Poland (และเหมารวมหลังจากนั้น โปแลนด์ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์) น่าจะเริ่มเกิดความตระหนักว่านี่ไม่ใช่วิถีทางถูกต้องเหมาะสม คร่ำครวญโหยหา รำพึงพันถึงอดีต โปแลนด์ยุคก่อนหน้าสงครามโลกครั้งหนึ่งสอง อยากให้ช่วงเวลาดังกล่าว ความทรงจำดีๆหวนกลับคืนมาอีกสักครั้ง!


Maria Wachowiak-Holoubek (1938-2019) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Warsaw สำเร็จการศึกษาจาก Aleksandra Zelwerowicza w Warszawie แล้วเริ่มเป็นนักแสดงละครเวทียัง Powszechny Theater, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Real End of the Great War (1957), Farewells (1958) ฯลฯ

รับบท Lidka นักเต้นสาวกำลังเบื่อหน่ายในอาชีพการงาน ไม่ต้องการถูกตีตราผู้หญิงขายตัว จนกระทั่งพบเจอชายหนุ่มหล่อ Paweł พยายามเล่นบทพ่อแง่แม่งอน เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย แล้วจู่ๆตัดสินใจร่วมออกเดินทางมุ่งสู่ Podkowa Leśna แสร้งว่าเป็นสามี-ภรรยา ร่วมหลับนอนในห้องเช่า Quo Vadis แม้ลึกๆบังเกิดความรักความเอ็นดู แต่ระหว่างสงครามตัดสินใจแต่งงาน Count Mirek เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในชีวิต ไม่นานก็ตระหนักได้ว่าครุ่นคิดผิด แล้วพอจับพลัดจับพลูหวนกลับมาพบเจอ Paweł พยายามแสดงออกว่ายังคงห่วงโหยหา โดยไม่สนใจอะไรสามี อยากมีโอกาสครองคู่รักกันอีกครั้ง

ตรงกันข้ามกับ Janczar การแสดงของ Wachowiak จะมีความซื่อตรงไปตรงมา ครุ่นคิดอะไรก็พูดบอก แสดงออกปฏิกิริยาสีหน้า เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวง้อ-เดี๋ยวงอน ชอบกระทำสิ่งเรียกร้องความสนใจ ไม่ได้ดั่งใจอะไรก็ระบายความเกรี้ยวกราด … หลายคนอาจรู้สึกน่าเบื่อหน่ายกับหญิงสาวลักษณะนี้ แต่คนส่วนใหญ่กลับบังเกิดความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักคลั่งไคล้ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

แม้โดยส่วนตัวจะชื่นชอบการแสดงอันลุ่มลึกของ Janczar แต่ก็อดไม่ได้จะชื่นชมเสน่ห์ มารยาหญิงของ Wachowiak เต็มไปด้วยความน่ารัก เอ็นดู ชวนให้ลุ่มหลงใหล โดยเฉพาะครึ่งหลังเมื่อหวนกลับมาพบเจอเขาอีกครั้ง พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อโอกาสเคียงข้าง ครอบครองรัก แสดงพฤติกรรมเกรี้ยวกราดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ แม้ท้ายสุดจักสำเร็จสมหวัง แต่คงไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตต่อไป

ผมมองตัวละครนี้คือตัวแทนของโปแลนด์ในอดีต ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แม้เธอมีนิสัยดื้อดึง เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ แต่ก็เป็นที่รักมักเอ็นดูของใครต่อใคร, ช่วงสงครามกลายเป็นสามีของ Count Mirek (ตัวแทนของ Nazi Germany ในช่วง German-occupied Poland) ไร้ซึ่งอิสรภาพเสรี แต่ยังมีความระริกระรี้ คร่ำครวญโหยหา ต้องการหวนกลับมาครอบครองรักกับเขาอีกครั้ง


ถ่ายภาพโดย Mieczysław Jahoda (1924-2009) ตากล้องสัญชาติ Polish ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าเรียนคอร์สภาพยนตร์ Warsztatu Filmowego Młodych แล้วมาย้ายมาศึกษาต่อยัง Instytut Filmowy w Krakowie ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ถ่ายทำสารคดีให้สตูดิโอ Wytwórnia Filmów Oświatowych จากนั้นเปลี่ยนมาเรียนการถ่ายภาพ ณ Łódź Film School กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง, เครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก Zimowy zmierzch (1957), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958)

สไตล์ของผู้กำกับ Has จัดเต็มด้วยลูกเล่นภาษาภาพยนตร์ ‘mise-en-scène’ มักตั้งกล้องให้ตัวละครเดินเข้า-ออก ลุก-นั่ง ขยับตำแหน่งใกล้-ไกล โดดเด่นด้านการจัดแสง-เงามืด รายละเอียดประกอบฉากเต็มไปด้วยวัตถุสิ่งข้าวของ สามารถบ่งบอกวิทยฐานะ และสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครขณะนั้นๆออกมา

ผมรู้สึกว่างานภาพของหนัง รับอิทธิพลจากโทรทัศน์/ละครเวทีค่อนข้างมาก มักให้นักแสดงหันหน้าเข้าหากล้อง ระยะ Medium Shot แม้สายตาเหม่อล่องลอยไปทางอื่น (เพื่อไม่ให้มีลักษณะ “Breaking the Fourth Wall”) แต่ก็เหมือนกำลังพูดคุยสนทนากับผู้ชม วิธีดังกล่าวมอบสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) อยู่ไม่น้อยเลยละ!

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงเป็นส่วนใหญ่ Warsaw และ Podkowa Leśna แต่ก็มีหลายๆฉากภายในอย่างไนท์คลับ, ห้องเช่า Quo Vadis, คฤหาสถ์ของ Countess Róza ฯลฯ ล้วนเป็นการสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Zespół Filmowy Syrena


ช็อตแรกของหนังมาคล้ายๆ The Noose (1957) เริ่มต้นด้วยพื้นหลังเบลอๆหลุดโฟกัส ขณะปรากฎขึ้นข้อความ Opening Credit เมื่อเสร็จสิ้นก็ทำการปรับความคมชัด พบเห็นคู่รักกางร่ม กอดจูบ ยืนอยู่ข้างๆเสาไฟ ทำให้ Paweł บังเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล ใคร่อยากมีใครสักคนเคียงข้างตนเองแบบนั้นบ้าง

แซว: ช็อตนี้แลดูละม้ายคล้ายๆภาพจากภาพยนตร์ Singin’ in the Rain (1952)

ลีลาการนำเสนอของผู้กำกับ Has เน้นความเรียบง่ายแต่โคตรซับซ้อน อย่างซีนนี้แทบจะค้างมุมกล้องเอาไว้ โดยให้ชายหนุ่ม Paweł ยืนตำแหน่งชิดใกล้เบื้องหน้า บิดาเปิดประตู พูดโน่นนี่นั่น ปรับโฟกัส เดินเข้าหา พอเสร็จสรรพก็กลับออกไป แต่ความเรียบง่ายดังกล่าวก็แฝงนัยยะอย่างลึกล้ำถึงความสนใจของเขาต่อบิดา ไม่ใคร่สนใจใยดี แสดงสีหน้าเบื่อหน่าย รำคาญชิบหาย

กล้องเริ่มขยับก็เมื่อ Paweł ทำการเคลื่อนไหว เดินไปยังโต๊ะทำงาน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความสนใจของหนัง นำเสนอผ่านมุมมอง บอกให้ผู้ชมจับจ้องเรื่องราวของตัวละครนี้

น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าภาพวาด Impressionist นี้เป็นผลงานศิลปินใด แต่รายละเอียดภาพถือว่าบอกใบ้เรื่องราวของหนังอยู่เล็กๆ หนุ่ม-สาวออกเดินทางโดยรถม้า ออกเดินทางผ่านผืนป่า มุ่งหน้าสู่ชนบท ราวกับกำลังจะไปฮันนีมูนหลังแต่งงาน (มีเทพเทวดาอำนวยอวยพร บรรเลงบทเพลงสร้างความครึกครื้นเครงตลอดการเดินทาง)

โดยไม่รู้ตัว ภาพวาดนี้อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Paweł ตัดสินใจชักชวน Lidka ร่วมหลบหนี ออกเดินทางมุ่งสู่ชนบท Podkowa Leśna สถานที่ที่พวกเขาจะใช้เวลาฮันนีมูนร่วมกัน

เมื่อหลบหนีออกจากบ้าน Paweł นั่งเหม่อลอยอยู่บริเวณบ่อน้ำพุ (สถานที่สำหรับปลดปล่อยน้ำ…กาม) แล้วมีสองสาวสวมชุดลายจุด ดูยังไงก็เหมือนโสเภณี (ลายจุด สามารถสื่อถึงความด่างพร้อย รอยตำหนิ) พยายามชักชวนให้เขาจุดบุหรี่ แล้วมีช่วงเวลาสุขกระสันต์ร่วมกัน แต่ชายหนุ่มกลับบอกปัดปฏิเสธ นี่ไม่ใช่รสนิยม(ทางเพศ)สำหรับตนเอง … กล่าวคือไม่ชอบผู้หญิงหากินที่มีตำหนิ หมกหมุ่นแต่เรื่องทางเพศ

Lidka เป็นผู้หญิงที่ราวกับสวรรค์ส่งมา (สังเกตรูปภาพนางฟ้าด้านหลัง) มีความบริสุทธิ์แต่ไม่ไร้เดียงสา ทำตัวเหมือนคนมากประสบการณ์แต่กลับไม่เคยพานผ่านอะไรทั้งนั้น เพียงอารมณ์ผันแปรเปลี่ยน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย นิสัยเอาแต่ใจ โดยไม่รู้ตัวสร้างความหวั่นไหวให้ Paweł หลงในมารยาเสน่ห์ เธอชักชวนทำอะไรก็ยินยอมพร้อมใจ ลุกออกไปเต้น และร่วมเดินทางมุ่งสู่ชนบท Podkowa Leśna

นี่เป็นซีนเล็กๆที่ผมชื่นชอบมากๆ Paweł กำลังรับชมชุดการแสดงอันยั่วเย้ายวน รันจวนใจที่สุดของไนท์คลับแห่งนี้ ผู้ชมเองก็แทบมิอาจละสายตาย แต่การมาถึงของ Lidka ทำให้ชายหนุ่มเลิกสนใจ แล้วออกเดินทางร่วมไปกับเธอ … สร้างความโคตรฉงนสงสัยให้บริกร ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงยินยอมทอดทิ้งโอกาสดังกล่าว?

ใครเคยรับชม The Saragossa Manuscript (1965) อาจมักคุ้นกับซีนลักษณะคล้ายๆกันนี้ ถูกท้าทายจากปีศาจ/ซาตาน ให้ต้องเลือกระหว่างความถูกต้อง กับสิ่งสร้างความยั่วเย้ายวนรันจวนใจ คนส่วนใหญ่มักเลือกแบบหลัง มิอาจหักห้ามตัวตนเอง ปล่อยตัวปล่อยให้หลงระเริงไปกับตัณหาราคะ

ใครเคยรับชมภาพยนตร์อย่าง Partie de campagne (1946), Le Plaisir (1952), A Sunday in the Country (1984), Van Gogh (1991) ฯลฯ ก็น่าจะมักคุ้นการเดินทางสู่ชนบท นั่งนอนเล่นบนกองฟาง พรอดรักบนเรือ/ริมแม่น้ำ ล้วนเป็นการสร้างบรรยากาศที่มอบสัมผัส Impressionist ซึ่งจุดประสงค์ของทั้งซีเควนซ์นี้ก็เพื่อสร้างความประทับใจในรัก เก็บฝังความทรงจำ ช่วงเวลาไม่รู้ลืมเลือน

ไก่บนเปียโน? มองผิวเผินเหมือนว่าทั้งสองมาถึงยังร้านอาหารเช้าเกินไป เลยยังไม่อะไรให้บริการสักสิ่งอย่าง ขณะเดียวกันก็สื่อว่าสถานที่แห่งนี้กำลังอยู่ในสภาพรกร้าง ถูกทอดทิ้งขว้าง เพราะสงครามกำลังใกล้เข้ามาถึง ผู้คนจึงเริ่มอพยพหลบหนี สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงเข้ามาแทนที่

B & B (Bed and Breakfast) ห้องเช่า (Boarding House) ชื่อว่า Quo Vadis (ภาษาละตินแปลว่า Where are you going?) แต่เชื่อว่าหลายคนต้องมักคุ้นโคตรภาพยนตร์ Quo Vadis (1951) มีสองชื่อไทย โรมพินาศ และ ศึกรัก ศึกแผ่นดิน … แค่นี้ก็บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง

แม้หนังจะไม่นำเสนอภาพภายนอกของสถานที่แห่งนี้ แต่บรรยากาศภายในมีความทะมึน อึมครึม พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยความมืดมิด แสงภายนอกสาดส่องเข้ามาพบเห็นเหมือนเรือนจำ ห้องคุมขัง (เพื่อสื่อถึงสถานที่ที่ต้องถูกปกปิด ซ่อนเร้น เก็บไว้ภายในความทรงจำ)

ขณะเดียวกันเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของต่างๆมีความเก่าแก่ หรูหรา ในห้องพักนอกจากภาพวาดใครก็ไม่รู้ วอลเปเปอร์ยังประดับด้วยด้วยคิวปิดตัวน้อย ก้อนเมฆล่องลอย ราวกับดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ (สื่อถึงสถานที่แห่งความสุข สมควรค่าแก่การจดจำ)

เครื่องเล่นแผ่นเสียง (Gramophone) คืออุปกรณ์ที่นำเอาสิ่งเคยบันทึกไว้ในแผ่นครั่ง (ความทรงจำเมื่อครั้นอดีต) นำมาเปิดรับฟัง หวนรำลึกความหลัง ให้บังเกิดความครุ่นคิดถึง คำนึง โหยหา

Lydia Ate the Apple

สถานีรถไฟ สถานที่โคตรคลาสสิกแห่งการพบเจอ-ร่ำลาจาก Lidka ตัดสินใจปฏิเสธร่วมเดินทาง มีเพียงลูกสุนัขราวกับตัวตายตัวแทนของ Paweł จักคอยเลี้ยงเอ็นดู ทะนุถนอม เฝ้ารอคอยความรักที่จักค่อยๆเติบใหญ่ คาดหวังว่าสักวันเราอาจมีโอกาสพบเจอกัน เมื่อถึงครานี้ฉันจะทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้เธอจากไป

คฤหาสถ์ของคุณป้า Countess Róża เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์หรู รูปภาพวาดที่สื่อถึงบรรพบุรุษ ชาติตระกูล มีความโอ่โถ่ง รโหฐาน ถูกใช้เป็นสถานที่หลบลี้ภัยสำหรับคนเคยรู้จัก แต่สังเกตว่า Paweł กลับหันหลังให้กล้องแทบจะตลอดทั้งซีเควนซ์ แม้แต่ตอนหวนกลับมาพบเจอ Lidka ก็จงใจไม่ให้พบเห็นปฏิกิริยาสีหน้า (เพื่อสื่อถึงความพยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ภายใน) ผิดกับฝ่ายหญิงที่พอผู้ชมพบเห็นใบหน้า ก็จักเกิดความตระหนักรับรู้ว่าเธอยังคงรัก มีเยื่อใย เลิกสนใจกระทั่งสามีของตนเอง

สิ่งของจำเป็นที่ต้องพบเห็นในภาพยนตร์ของผู้กำกับ Has ก็คือนาฬิกา (ใครเคยรับชม The Noose (1957) ย่อมตระหนักถึงความสำคัญของมันได้แน่) แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เวลาที่เคลื่อนหมุน (แบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัก) ยังรวมถึงขาตั้งซึ่งพังไปข้างหนึ่ง สามารถสื่อถึงครึ่งชีวิตที่ขาดหายของ Paweł หรือก็คือ Lidka ขณะนั้นแต่งงานอยู่กันกับชายอื่น

มื้ออาหารเย็นที่เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย นำเสนอผ่านมุมมองสายตา Paweł เดี๋ยวหันซ้าย เดี๋ยวหันขวา พบเห็นบางคนซุบซิบนินทา บางคนตั้งข้อครหา การมาถึงของสมาชิกใหม่ทำให้ใครต่อใครดูไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียผลประโยชน์ในส่วนแบ่ง(มื้ออาหาร) สิทธิ์เสียงที่ลดน้อยลงไป ข้ออ้างคุณธรรมมโนธรรม ไม่สามารถทำให้ท้องอิ่มกาย … นี่เป็นซีเควนซ์อาหารเย็น ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเย็นเลยสักนิด!

แซว: ซีเควนซ์นี้ล้อกับครึ่งแรกในฉากมื้อเช้าที่ไม่มีอะไรเสิร์ฟสักสิ่งอย่าง ส่วนเจ้าไก่ขันก็เปลี่ยนมาตีฆ้องร้องป่าวอาหารเย็น

Maryna หญิงวัยกลางคนที่ดูหยาบกระด้าง กร้านโลก พานผ่านอะไรมามากจริงๆ ตรงกันข้ามกับ Lidka (ที่ตอนต้นเรื่องทำตัวเหมือนคนมากประสบการณ์ แต่ชีวิตจริงไม่เคยพานผ่านอะไรมาทั้งนั้น) แถมฉากนี้นั่งดื่มในร้านอาหาร มุมกล้องถือว่าล้อกับตอน Paweł แรกพบเจอ Lidka รวมถึงบริกรเสิร์ฟจากด้านหน้า-หลัง

เรื่องราวของ Butler Feliks แม้ดูเป็นส่วนเกินของหนัง แต่ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จากเคยเป็นพ่อบ้านรับใช้ Countess Róża สามารถเก็บสะสมเงินทองจนสามารถก่อร่างสร้างตัว เปิดธุรกิจการร้านอาหาร เลื่อนจากคนทำงาน (Working Class) มาเป็นชนชั้นกลาง (Middle Class) แถมยังว่าจ้าง Paweł (ที่ถือเป็น Upper-Middle Class) ให้มาเป็นลูกน้องตนเองอีกต่างหาก

ศตวรรษ 20th และสงครามโลกทั้งสองครั้ง คือช่วงเวลาที่ทำให้ระบบขุนนาง ชนชั้นสูง กำลังค่อยๆสูญเสียอำนาจหน้าที่ ยศศักดิ์ศรี โดยมีบรรดาพ่อค้า ชนชั้นกลาง สะสมความมั่งคั่ง ไต่เต้าจนสามารถยืนอยู่เคียงข้าง ไม่ต้องเป็นขี้ข้าใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาทอีกต่อไป

Countess Róża ถือเป็นตัวตายตัวแทนบิดาของ Paweł ในช่วงครึ่งหลัง (บิดาจริงๆเห็นว่าอพยพหลบหนีสงครามไปอยู่อังกฤษ) ขณะที่เขาแสดงพฤติกรรมต่อต้านบิดาแท้ๆ แต่กลับยินยอมทำตามคำร้องขอของคุณป้า เลยได้รับความรัก ความเอ็นดูมากเป็นพิเศษ รวมถึงตอนเดินทางมาหาขณะล้มป่วยนอนติดเตียง เหมือนตั้งใจจะมอบทุกสิ่งอย่างถ้าตนเองตกตายไป

นอกจากนี้ทั้งบิดาและ Countess Róża ยังเป็นตัวแทนระบบขุนนาง/ชนชั้นสูง การปกครองแบบเก่า กำลังสูญเสียอำนาจ สิทธิ์อันชอบธรรมในประเทศโปแลนด์

ผมเห็นประติมากรรมแจกันอันใหญ่นี้ มีรูปลักษณะคล้ายๆบ่อน้ำพุตอนต้นเรื่อง (ที่ Paweł ถูกเกี้ยวพาโดยสองสาวโสเภณี) แต่คราวนี้นอกจากไม่มีน้ำโพยพุ่ง ต้นไม้ที่งอกเงยก็เพียงกิ่งก้าน ไร้ความชุ่มชื่นชีวิตชีวา สะท้อนความสัมพันธ์กับ Lidka เธอพยายามเรียกร้องให้เขามองมา แต่กลับถูกปฏิเสธ ไม่สนใจใยดี แถมยังผลักไส ตีตนให้ห่างไกล

การแสดงพฤติกรรมไม่ใยดีของ Paweł สร้างความเกี้ยวกราดโกรธาต่อ Lidka จนบ้างครั้งเกิดอารมณ์อิจฉาริษยา มองหาสิ่งระบายอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมตัวตนเอง … มีแต่ผู้ชมที่สามารถเข้าใจเธอนะครับ ตัวละครอื่นๆดูจะไม่ยี่หร่า ขณะที่ Butler Feliks กลับมีสีหน้าพึงพอใจ เพลิดเพลินกับการพบเห็นสันดานธาตุแท้ของพวกชนชั้นสูง ยินยอมปล่อยให้เธอระบายความคลุ้มบ้าคลั่งออกมา

ทั้งซีเควนซ์นี้ให้ความรู้สึกล้อกับตอนที่ Paweł ไม่ยี่หร่าต่อบิดา แต่ครานี้เปลี่ยนมาเป็น Lidka ที่ไม่สนห่าเหวอะไรอีกต่อไป เมื่อสบโอกาสก็ตัดสินใจทรยศหักหลังสามี Count Mirek เดินทางมายัง Quo Vadis เพื่อโอกาสในการร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความความเพ้อใฝ่ฝันเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งก็มีแต่ตัวเธอเองที่บังเกิดความพึงพอใจสูงสุด ส่วนเขาดูมีสีหน้าเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย แต่มุมกล้องก็ทำให้ผู้ชมไม่ค่อยพบเห็นปฏิกิริยาแสดงออกสักเท่าไหร่

เมื่อเสร็จจากกามกิจ สังเกตว่า Paweł ลุกขึ้นไปยืนตรงหน้าต่าง สร้างระยะห่าง ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้ (แต่ไปไหนไม่ได้เพราะถูกเงาที่แลดูเหมือนกรงขัง อาบฉาบเรือนร่างกาย) ปล่อยให้ Lidka นอนเคลิบเคลิ้มอยู่โดยลำพัง นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้รู้สึกพึงพอใจต่อเพศสัมพันธ์ครั้งนี้นัก นอกจากเป็นเรื่องผิดศีลธรรม-มโนธรรม สันดานธาตุแท้ของเธอคนนี้ก็เปลี่ยนแปลงจนแทบจดจำไม่ได้อีกต่อไป … กล่าวคือโปแลนด์หลังถูกยึดครองโดย Nazi Germany มีการเปลี่ยนแปลงจนแทบไม่หลงเหลือสภาพเดิมอีกต่อไป

บางประเทศใช้ชื่อหนัง Lydia Ate the Apple หรือก็คือ Lidka กัดแทะแอปเปิ้ลตอนท้ายเรื่อง ระหว่างที่ทหารของสหภาพโซเวียตกำลังกรีธาทัพเข้ามาขับไล่ Nazi Germany ออกไปจากประเทศโปแลนด์ พอดิบพอดีกับสามี Count Mirek ตัดสินใจอพยพหลบหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้

แอปเปิ้ล ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงผลไม้ต้องห้าม (ตามคัมภีร์ไบเบิล พันธสัญญาเก่า) สะท้อนความสัมพันธ์ที่ขัดต่อหลักศีลธรรม-มโนธรรม ระหว่างตนเองแต่งงานมีสามี แต่กลับยินดีครอบครองรักกับ Paweł โดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น หรือก็คือโปแลนด์ยุคสมัยใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจนไม่หลงเหลืออะไรให้จดจำ

ตัดต่อโดย Zofia Dwornik ขาประจำผู้กำกับ Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958),

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Paweł ผ่านพานสองช่วงเวลา ก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจะมีความแตกต่างตรงกันข้ามในทุกๆองค์ประกอบ

  • ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1939
    • Paweł ไม่พึงพอใจที่ถูกบิดาบีบบังคับโน่นนี่นั่น
    • เดินทางไปยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง พรอดรักกับ Lidka
    • ร่วมกันออกเดินทางมุ่งสู่ Podkowa Leśna
    • เช่าห้องพักอยู่ยัง Quo Vadis
    • บิดาเดินทางมาลากพาตัว Paweł กลับสู่กรุง Warsaw เป็นเหตุให้ต้องร่ำลาจาก Lidka
  • มกราคม ค.ศ. 1945
    • Paweł ในสภาพซอมซ่อ รอมร่อ เดินทางมาเยี่ยมเยือน Countess Róza ที่ Podkowa Leśna เลยได้หวนกลับมาพบเจอ Lidka
    • Paweł กลับมาเช่าห้องพักที่ Quo Vadis
    • Paweł แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน Lidka อยู่บ่อยครั้ง
    • การจากไปของนาซีและสามีของ Lidka หลงเหลือเพียงเธอและเขา ครองรักกันในห้องพักที่ Quo Vadis

หลายคนน่าจะรู้สึกเพลิดเพลินกับการสังเกตค้นหาว่า สิ่งต่างๆที่เคยบังเกิดขึ้นเมื่อตอนครึ่งแรกของหนัง จะมาปรากฎให้เห็นด้วยรูปแบบลักษณะไหนในครึ่งหลัง ละม้ายคล้ายคลึง หรือแตกต่างตรงกันข้ามเช่นไร แต่สำหรับคนพานผ่านภาพยนตร์มาเยอะ(อย่างผม) อาจไม่ค่อยรู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจ … ใครที่เกิดความตระหนักถึงทิศทางของหนัง ครึ่งแรกตรงกันข้ามกับครึ่งหลัง ย่อมสามารถคาดเดาตอนจบได้เลยละ!


เพลงประกอบโดย Lucjan Kaszycki (1932-2021) คีตกวีสัญชาติ Polish สำเร็จการศึกษาด้านการประพันธ์เพลง จากสถาบันดนตรี Krzysztofa Pendereckiego w Krakowie เป็นลูกศิษย์ของ Stanisław Wiechowicz จากนั้นได้งานผู้อำนวยการเพลงยัง Groteska Theatre จากนั้นก็เริ่มประพันธ์ Symphony, Orchestra สอนวิชาดนตรี ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Farewell (1958), Gangsters and Philanthropists (1962), How to Be Loved (1962) ฯลฯ

งานเพลงของหนังมีลักษณะ diegetic music มักพบเห็นบรรเลงเปียโน การแสดงในไนท์คลับ หรือได้ยินจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ล้วนมีท่วงทำนองอ่อนไหว ซาบซึ้งกินใจ (Sentimental) คร่ำครวญโหยหา ใคร่อยากได้เธอมา ครอบครองคู่รักกันอีกสักครั้ง

ผมไม่ค่อยแน่ใจบทเพลงบรรเลง Opening Credit (ได้ยินทุกครั้งเมื่อมีการเล่นเปียโน) แต่รู้สึกว่ามีความละม้ายคล้ายผลงานของ Frédéric Chopin ร่วมสร้างบรรยากาศอ่อนไหว ซาบซึ้งกินใจ จนอาจทำให้ใครหลายๆคนมิอาจอดกลั้นธารน้ำตา ไม่ให้หลั่งไหลรินออกมา

สำหรับบทเพลงได้ยินที่ไนท์คลับ Pamietasz, byla jesien แปลว่า Remember, It was autumn แต่งโดย Andrzej Czekalski & Ryszard Pluciński, ขับร้องโดย Sława Przybylska, แต่นักแสดงพบเห็นในหนังคือ Anna Łubieńska, ใครตั้งใจอ่านซับไตเติ้ลตาม ก็จะพบว่าถูกสปอยเนื้อหาหนังทั้งเรื่อง!

Room number 8
an aged doorman
gave me the key with a smile.

Impatient, in the stairs,
you secretly kissed my hair

Did golden leaves outnumber
your caresses, today I’m no longer sure.

You left so suddenly,
the door ajar, a wind-blown leaf
fell at my feet.

And then I understood:
it was the end, now it was time
to bid farewell.

Remember, it was autumn,
room number 8,
and darkness in the hall.

I will never forget
the little Rose Hotel,
although it has been a year.

Darling, come back to me,
I miss you
and may farewells,
my darling
keep us no longer apart.

Stop all the trains,
may the mailman
never deliver bad news
to the little Rose Hotel.

เมื่อแรกพบเจอเธอ แม้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกต่างทางชนชั้นฐานะ แต่หญิงสาวคนนี้ก็มากล้นด้วยเสน่ห์อันน่าหลงใหล ชวนให้ตกหลุมรักคลั่งไคล้ จดจำช่วงเวลาดีๆฝังลึกทรวงใน ใคร่อยากย้อนเวลากลับมาอยู่เคียงข้าง เหมือนดั่งภาพยนตร์ Quo Vadis (1951) ที่เคยโปรดปราน

แต่กาลเวลาเป็นสิ่งแบ่งแยกเธอกับฉัน สงครามทำให้เราพลัดพรากจากกัน ฝ่ายหญิงจำต้องตัดสินใจแต่งงานกับบุคคลไม่ได้ตกหลุมรัก เพียงเพราะต้องการความอยู่รอดปลอดภัย จนกระทั่งเมื่อเขาหวนกลับคืนมา พยายามแสดงออกให้เห็นถึงความห่วงโหยหา เรียกร้องความสนใจ เพื่อโอกาสอาศัยอยู่เคียงข้าง หวนระลึกความทรงจำ ครอบครองรักกันอีกสักครั้งหนึ่ง

บรรยากาศของภาพยนตร์เรื่องนี้ ช่างมีความละม้ายคล้าย Casablanca (1942) ยิ่งนัก! เรื่องราวของชายที่เคยตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง สงครามทำให้พวกเขาพลัดพรากจากกัน เมื่อมีโอกาสพบเจอเธออีกครั้ง ‘As Time Goes By’ ปรากฎว่าแต่งงานกับชายอีกคน สร้างความระทมขมขื่น ถึงยังรักอีกฝ่ายอยู่มาก แต่ก็มิอาจฝืนกระทำสิ่งขัดต่อศีลธรรมจรรยา

แม้ครึ่งหลังตามความตั้งใจของผู้แต่งนวนิยาย Dygat ต้องการอ้างอิงถึง German-occupied Poland ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (Lidka แต่งงานกับ Count Mirek) จนกระทั่งกองทัพ Nazi Germany จำต้องถอยร่นจากการมาถึงของสหภาพโซเวียต (Count Mirek หลบหนีออกนอกประเทศ) ทำให้ Paweł มีโอกาสครอบครองรักกับ Lidka จบลงอย่าง Happy Ending

แต่เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราวครึ่งหลัง กับสภาพของประเทศโปแลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (post-Wars) ไม่แตกต่างจากตกเป็นเมืองขึ้นของสหภาพโซเวียต ด้วยการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (Polish People’s Republic) เช่นนี้แล้วไม่มีทางที่ตอนจบจะสร้างความรู้สึก Happy Ending ให้ผู้ชม(ชาวโปแลนด์)สมัยนั้นเลยสักนิด!

ผลงานของผู้กำกับ Has อาจดูเหมือนไม่ค่อยมีองค์ประกอบที่เป็นอัตชีวประวัติ ความเป็นส่วนบุคคล แต่ทุกเรื่องราวล้วนสะท้อนมุมมอง ทัศนคติ ความรู้สึกส่วนตัวต่อประเทศบ้านเกิดโปแลนด์ (ที่เป็นปัจจุบันมากๆ) แต่เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ จึงจำต้องเบี่ยงเบนอะไรหลายๆอย่าง จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดูเหนือจริง Surrealist ผู้ชมสมัยนั้นไม่สามารถจับต้อง ถูกนักวิจารณ์ตีตราถึงความเห็นแก่ตัว … กาลเวลาเท่านั้นถึงสามารถพิสูจน์ความเป็นนิรันดร์ของศิลปิน


เมื่อตอนออกฉาย หนังถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิงจากนักวิจารณ์ (เลยไม่ได้ถูกส่งออกฉายต่างประเทศ) บอกว่าดัดแปลงซื่อตรงจากต้นฉบับเกินไป ตัวละครพูดมาก ไม่มีฉากวีรบุรุษห้าวหาญ เพียงเรื่องราวรักๆใคร่ๆ ไร้สาระจะคุย แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าคือหนึ่งในภาพยนตร์ทรงคุณค่าของชาวโปแลนด์ ปัจจุบันได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K

เกร็ด: มีภาพยนตร์ 4 เรื่องของผกก. Wojciech Has ที่ได้รับการบูรณะเสร็จสิ้นพร้อมๆกัน Farewells (1958), How to Be Loved (1963), The Saragossa Manuscript (1965) และ The Hourglass Sanatorium (1973)

ถึงโดยส่วนตัวจะชื่นชอบโปรดักชั่นงานสร้าง ความสลับซับซ้อน นัยยะซ่อนเร้นของหนัง มีอะไรให้ขบครุ่นคิดมากมาย แต่ผมกลับรู้สึกว่าหลายๆอย่างดูเยอะเกินไป ตัวละครพูดมากจนน่ารำคาญ สูญสิ้นความโรแมนติก ภาพรวมออกมายังไม่กลมกล่อมสักเท่าไหร่

แนะนำคอหนังโรแมนติก พ่อแง่-แม่งอน คร่ำครวญหวนคิดถึง (Nostalgia) บรรยากาศก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และคนชื่นชอบขบครุ่นคิดนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ลองหามารับชมดูนะครับ

จัดเรต 13+ บรรยากาศก่อน-หลังสงคราม

คำโปรย | Farewells คำร่ำลาโปแลนด์ในอดีต (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ที่ผู้กำกับ Wojciech Has ทำได้เพียงพร่ำเพ้อถึงเธอ
คุณภาพ | พร่ำเพ้อ
ส่วนตัว | เยอะไปนิด

Pętla (1958)


The Noose (1958) Polish : Wojciech Has ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Wojciech Has นำเสนอ 24 ชั่วโมงของคนอยากเลิกเหล้า แต่กาลเวลากลับเคลื่อนพานผ่านไปอย่างเชื่องชักช้า จนเกิดความตระหนักว่าไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ‘บ่วงรัดคอ’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์

เกร็ด: Noose แปลว่า บ่วง ห่วง บาศ เส้นเชือกทำเป็นวงสำหรับคล้อง จับมัด ดักสัตว์ หรือผูกรัดคอ (สำหรับแขวนคอ)

มีคนเรียกร้องอยากให้ผมเขียนถึงผลงานของผกก. Has มาสักพักใหญ่ๆ แต่ก็มีเหตุเป็นไปจนแคล้วคลาดมานาน กว่าจะหาเวลาได้สักที ถึงอย่างนั้นถ้าเริ่มต้นที่สองผลงานชิ้นเอกก็กลัวจะขาดตกบกพร่องอะไรไป เลยเลือกมาสองสามผลงานก่อนหน้า เพื่อเรียนรู้จัก สร้างความมักคุ้น สไตล์ลายเซ็นต์ ความสนใจ ไม่แน่ว่าอาจจะเจอเพชรเม็ดงาม

และก็โดยทันที The Noose (1958) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจให้ผมอย่างมากๆ ชื่นชอบไม่น้อยไปกว่า The Lost Weekend (1945) หนังขี้เมาของผู้กำกับ Billy Wilder แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า Has ทำได้ลุ่มลึกล้ำ น่าสนใจ เพราะแฝงนัยยะที่ชาวโปแลนด์รับชมแล้วอาจเกิดความเจ็บปวด รวดรันทด ระทมทุกข์ทรมาน

นั่นเพราะแทนที่ขี้เมาจะเลิกเหล้าได้สำเร็จ เขากลับมิอาจอดรนฝืนทน ครึ่งหลังของหนังคือเรื่องราวการจมปลัก รับรู้ว่าชีวิตไม่มีหนทางดิ้นหลบหนีจาก Alcoholic/รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ก็เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ดื่มด่ำมึนเมามาย ไม่สนห่าเหวอะไรอีกต่อไป ก่อนจบลงด้วย … The Noose


Wojciech Jerzy Has (1925-2000) ผู้กำกับสัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków ค้นพบความชื่นชอบด้านการวาดรูปตั้งแต่เด็ก ช่วงระหว่าง Nazi Germany ยึดครอง Poland ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าศึกษายัง Szkoła Handlowa w Krakowie แล้วต่อด้วยสาขาภาพยนตร์ Academia de Arte Frumoase Jan Matejko ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Two Hours (1946), แล้วเข้าร่วม Warsaw Documentary Film Studio กำกับสารคดี/หนังสั้น Harmonia (1948), และเมื่อกลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Polish Film School สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Noose (1958)

If Wojciech Has had become a painter, he would surely have been a Surrealist. He would have redrawn antique objects with all their real accoutrements and juxtaposed them in unexpected ways.

นักวิจารณ์ Aleksander Jackiewicz ให้คำนิยามผู้กำกับ Wojciech Has

ผลงานของ Has อาจดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง มุ่งเน้นสร้างโลกส่วนตัว บรรยากาศเหนือจริง สะท้อนจิตวิทยา แต่ลึกๆแล้วตัวเขามีความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ในวัตถุ สิ่งข้าวของเชิงสัญลักษณ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในระบอบการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์

I reject matters, ideas, themes only significant to the present day. Art film dies in an atmosphere of fascination with the present.

Wojciech Has

สำหรับ Pętla ต้นฉบับคือเรื่องสั้นแต่งโดย Marek Hłasko (1934-69) นักเขียนชาว Polish รวบรวมอยู่ในหนังสือ Pierwszy krok w chmurach (1956) แปลว่า A First Step into the Clouds ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากทั้งผู้อ่านและนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกขายหมดเกลี้ยงแผงโดยทันที ถึงขนาดทำให้ Hłasko ได้รับรางวัล(อะไรสักอย่าง)จากสมาคมนักเขียน Polskie Towarzystwo Wydawców Książek

แรงบันดาลใจเรื่องสั้น Pętla ของ Hłasko มาจากเพื่อนนักเขียน นักกวีขี้เมา Władysław Broniewski (1897-1962) วันหนึ่งประกาศกร้าวว่าจะเลิกดื่มเหล้า เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการเขียนกวีบทใหม่ เพิ่งเริ่มต้นไม่ทันไรก็มีโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบ พอได้ยิน Broniewski กล่าวว่าต้องการจะเลิกดื่ม วางสายไม่ถึงสิบห้านาทีก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เพื่อนอีกคนกล่าวแสดงความยินดีที่อีกฝ่ายมีความมุ่งมั่นตั้งใจ อีกสิบนาทีต่อมา ห้านาทีต่อมา พอถึงสายที่แปดก็หมดสูญสิ้นอารมณ์ “Idź po wódkę!” แปลว่า “I’m going to get a vodka!”

Has ใช้เรื่องสั้นของ Pętla เป็นเพียงจุดตั้งต้น แล้วต่อยอดเรื่องราวให้มีลักษณะเวียนวงกลม เหมือนบ่วงคล้องคอ เริ่มต้นจากเหตุการณ์วุ่นๆในห้องพัก จากนั้นออกเดินไปรอบๆกรุง Wrocław, Dolnośląskie แล้วหวนกลับมาตายรัง (กลับมายังอพาร์ทเมนท์) รวมระยะเวลา 24 ชั่วโมง


Kuba Kowalski (รับบทโดย Gustaw Holoubek) คือชายขี้เมาที่วันนี้ตัดสินใจลางาน เฝ้ารอคอยเวลา 8 โมงตรง การมาถึงของแฟนสาว Krystyna (รับบทโดย Aleksandra Śląska) ตกลงนัดหมายกันว่า 5-6 โมงเย็น จะพาไปพบหมอเพื่อรับประทานยาเลิกเหล้า Antabus® สำหรับลดแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด

แต่ยังไม่ทันไรเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นไม่หยุดหย่อนของผองเพื่อน พูดคุยแสดงความยินดียินร้าย สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ เลยออกจากห้องพักร่อนเร่ไปตามท้องถนนกรุง Wrocław, Dolnośląskie ที่ยังมีสภาพปรักหักพัง พบเจอเพื่อนฝูง อดีตแฟนสาว มีเรื่องชกต่อย ถูกควบคุมตัวมาถึงโรงพัก ก่อนจบลงยังบาร์แห่งหนึ่ง มิอาจอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป


Gustaw Teofil Holoubek (1923-2008) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków โตขึ้นเข้าร่วมสงครามโลกในแคมเปญ September Campaign แล้วถูกจับเป็นเชลยสงครามยัง Altengrabow หลังถูกปล่อยตัวเข้าร่วมกลุ่มนักแสดงใต้ดิน ต่อมาสามารถสอบเข้าศึกษา The Juliusz Słowacki Theatre มีผลงานละครเวที สำหรับภาพยนตร์โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Law and the Fist (1964), Jezioro Bodeńskie (1986) ฯลฯ

รับบท Kuba Kowalski (ชื่อภาษาอังกฤษมักใช้ว่า Jacob Kowalski) ชายหนุ่มล้มป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) แม้มีความตั้งใจจะเลิกดื่มวอดก้า แต่หลังจากถูกกดดันจากผองเพื่อน สภาพแวดล้อมรอบข้าง แถมวันเวลาก็เคลื่อนพานผ่านไปอย่างเชื่องช้า ท้ายสุดก็มิอาจอดรนฝืนทน แวะเข้าบาร์ ดื่มสุราเมามาย พร้อมได้เพื่อนใหม่ พูดคุยกันอย่างถูกคอจนกระทั่งดึกดื่น พอกลับถึงห้องพักพบแฟนสาวมาเฝ้ารอคอย เช้าตื่นขึ้นมารู้สึกสาสำนึกผิด ตระหนักว่าตนเองคงไม่มีวันหวนกลับมาเป็นปกติ

[Holoubek] belongs to that species of actor who always plays only himself, yet one can never get enough of him.

การแสดงของ Holoubek ช่วงแรกๆมักมีสายตาล่องลอย เหม่อมองอะไรก็ไม่รู้ ดูวอกแวก รุกรี้รุกรน เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย แต่หลังจากเหล้าเข้าปาก ทุกสิ่งอย่างก็ค่อยๆลื่นไหล วิวัฒนา(อา)การมึนเมาได้อย่างโคตรๆแนบเนียน โดยที่ผู้ชมอาจไม่ทันรับรู้ตัว … มารู้ตัวอีกทีก็เห็นในสภาพขี้เมา ตาลอยๆ คอยหาเรื่องชาวบ้าน พูดอย่างเชื่องชา เดินตุปัดตุเป๋ ล้มลงนอนขวางทางกลางถนน

อดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบ Gustaw Holoubek กับ Ray Milland จากภาพยนตร์ The Lost Weekend (1945) แต่ผมก็ไม่สามารถเลือกว่าใครโดดเด่นกว่าใคร เพราะต่างคนต่างสไตล์

  • Milland คุ้นๆว่ามีความหงุดหงิดเกรี้ยวกราด ทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ระบายความรู้สึกดังกล่าวออกมาเป็นนวนิยาย
  • ขณะที่ Holoubek ดูโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า จนไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไร สุดท้ายหมดสิ้นหวังอาลัย เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต

ผมพยายามหาข้อมูลว่า Kuba ทำอาชีพอะไร? แต่ก็ไม่พบเจอรายละเอียดใดๆ (ต้นฉบับเรื่องสั้นคืออาชีพนักเขียน แบบเดียวกับ Władysław Broniewski ที่เป็นแรงบันดาลใจ) ถ้าใครช่างสังเกตในหนังอาจคาดเดาว่าเป็นศิลปิน สรรค์สร้างผลงานศิลปะเหนือจริง (Surrealist) ถึงอย่างนั้นการไม่ระบุอาชีพตัวละคร สามารถเหมารวมถึงใครก็ได้ ทำงานอะไรก็ได้ และน่าจะเปรียบเทียบชาวโปแลนด์ มีสภาพ(ทางจิตวิทยา)ไม่แตกต่างจากชายคนนี้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Mieczysław Jahoda (1924-2009) ตากล้องสัญชาติ Polish ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าเรียนคอร์สภาพยนตร์ Warsztatu Filmowego Młodych แล้วมาย้ายมาศึกษาต่อยัง Instytut Filmowy w Krakowie ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ถ่ายทำสารคดีให้สตูดิโอ Wytwórnia Filmów Oświatowych จากนั้นเปลี่ยนมาเรียนการถ่ายภาพ ณ Łódź Film School กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง, เครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก Zimowy zmierzch (1957), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958)

สไตล์ของผู้กำกับ Has จัดเต็มด้วยลูกเล่นภาษาภาพยนตร์ ‘mise-en-scène’ ตั้งแต่ทิศทางมุมกล้อง ตำแหน่งตัวละคร การขยับเคลื่อนไหว รายละเอียดที่สร้างความน่าฉงนสงสัย ชักชวนให้ขบครุ่นคิดว่ามีนัยยะแฝงอะไร (เรียกว่ามีความเป็น Surrealist ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกนี้เลยนะ) และโดยเฉพาะการอาบฉาบใบหน้าตัวละครด้วยแสง-เงา เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละครขณะนั้นๆออกมา

ผมรู้สึกว่างานภาพของหนัง รับอิทธิพลจากโทรทัศน์/ละครเวทีค่อนข้างมาก มักให้นักแสดงหันหน้าเข้าหากล้อง ระยะ Medium Shot แม้สายตาเหม่อล่องลอยไปทางอื่น (เพื่อไม่ให้มีลักษณะ “Breaking the Fourth Wall”) แต่ก็เหมือนกำลังพูดคุยสนทนากับผู้ชม วิธีดังกล่าวมอบสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) อยู่ไม่น้อยเลยละ!

แม้ช่วงปีที่สร้างจะพานผ่านสงครามโลกมานับทศวรรษ แต่กรุง Wrocław, Dolnośląskie กลับยังไม่ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นผกก. Has ไม่ได้ต้องการใช้ประโยชน์จาก Neorealist สภาพปรักหักพังที่พบเห็น เพียงสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครเท่านั้นเอง


ผลงานยุคแรกๆของผกก. Has ช่วงระหว่าง Title Sequence จะทำการเบลอภาพพื้นหลัง นำเสนอสิ่งที่เป็นไฮไลท์ วัตถุแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ จนกว่าจะสิ้นสุดเครดิตถึงค่อยปรับโฟกัสให้กลับมาคมชัด

ซึ่งสำหรับ The Noose (1957) ก็คือ(สาย)โทรศัพท์ อุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ซึ่งตอนจบจะถูกใช้แทนเส้นเชือกผูกมัดรัดคอ เวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

ผมมีความเพลิดเพลินในการอ่าน ‘mise-en-scène’ ระหว่างตัวละครพูดคุยสนทนา เดินไปเดินมา ตำแหน่ง ทิศทาง มุมกล้อง ระยะภาพ แสง-เงา แต่ความแปลกประหลาดที่สุดในห้องพ้กของ Kuba ก็คือเฟอร์นิเจอร์ประกอบฉาก ชวนให้ครุ่นคิดว่าอาชีพของชายคนนี้ก็คือศิลปิน จิตรกร ออกแบบโมเดลสามมิติ

  • ช่วงต้นเรื่องจะพบเห็นภาพเหมือนใครบางคน (ตัวแทนของบรรพบุรุษกระมัง) เพื่อสื่อถึงการยังเป็นบุคคลมีตัวตน
  • แต่ภายหลังหลงเหลือกรอบรูปว่างเปล่า สื่อถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรอีกต่อไป
  • โมเดลสามมิติ มีลักษณะเค้าโครงร่างสิ่งมีชีวิต หรือก็คือตัวละครที่แทบไม่หลงเหลืออะไรติดตัว

มุมกล้องเงยขึ้นเห็นเพดาน ชวนให้ครุ่นคิดว่าการสนทนาทางโทรศัพท์ ราวกับคำพูดจากเบื้องบน สรวงสวรรค์ แม้เป็นการแสดงความยินดี(ที่กำลังจะเลิกเหล้า)แต่กลับสร้างความรู้สึกกดดัน บีบบังคับ และพอคุยไปคุยมาสักพัก ใบหน้าของ Kuba ก็ถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นครั้งต่อไป ก็มิอาจอดรนทนไหว เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจอย่างรุนแรง

กรอบรูปภาพที่แตกร้าว สามารถเปรียบเทียบถึงสภาพจิตใจของตัวละคร ตอนต้นเรื่องทำการปัดกวาด ทำความสะอาด แล้วเปลี่ยนกระจกบานใหม่ แต่ช่วงท้ายของหนังระหว่างมึนเมา ก็มีเหตุให้เขาย่ำเหยียบ แตกละเอียด แทนความหมดสิ้นหวังอาลัย ไม่มีกระจิตกระใจทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไป

ผมพยายามสังเกตรูปภาพหลังการเช็ดถู พอมองออกคร่าวๆว่าคือหญิงสาวสองคนกำลังนั่งรอคอยอะไรบางอย่าง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึง Kuba ที่ก็กำลังรอคอยช่วงเวลานัดหมายกับแฟนสาว

อุตส่าห์หลบฝนให้เด็กขัดรองเท้า (อาชีพที่สื่อถึงจุดต่ำสุดของชีวิต) หนึ่งในเพื่อนสนิทของ Kuba หลังจากเดินข้ามร่องถนนแห่งความเป็น-ตาย รอดชีวิตจากการถูกรถเฉี่ยวชน ก็ตรงเข้ามาจับมือ พูดคุยโน่นนี่นั่น พร่ำอะไรก็ไม่รู้ซ้ำๆซากๆ แล้วจู่ๆกล้องเคลื่อนตามสายตามาพบเห็นโลงศพ(ไม่หลั่งน้ำตา) บอกใบ้ถึง ‘Death Flag’ ของหมอนั่น (และรวมถึงอนาคตของ Kuba เองด้วย)

จะว่าไปการพร่ำพูดของบรรดาเพื่อนฝูง (ทั้งที่โทรศัพท์มาสนทนา และพบเจอหน้าครานี้) ต่างมีลักษณะเหมือนการโฆษณาชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ พยายามเกลี้ยกล่อม ล้างสมอง ให้ประชาชนกระทำตามที่บอกกล่าว บรรยายสรรพคุณลดละเลิกสุรา แล้วทุกสิ่งอย่างย่อมดำเนินในทิศทางดีขึ้น … จริงๆนะเหรอ?

อุบัติเหตุ ความตายไม่ทันตั้งตัวของเพื่อนคนนั้น ทำให้ Kuba ก้าวเดินสวนทางกับทุกสรรพสิ่งอย่าง ด้วยความโดดเดี่ยวลำพัง บนทิวทัศน์ท้องถนนแห่งความเวิ้งว่างเปล่า (นี่ถือเป็นช็อต Abstract ที่สะท้อนเข้ากับสภาพจิตวิทยาตัวละคร และบังกล่าวถึงอนาคต ผกก. Has สรรค์สร้างภาพยนตร์โดยไม่ดำเนินตามครรลอง ‘Polish Film School’ ยุคสมัยนั้น)

แม้หนังจะอธิบายอุบัติเหตุเกิดจากความมึนเมาของคนขับ เพื่อล้อกับเหตุผลการเลิกเหล้าของ Kuba แต่แท้จริงแล้วแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลผู้มึนเมาในอำนาจหน้าที่ (รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์) ย่อมนำพาผู้โดยสารมุ่งสู่หายนะ (คล้ายๆ รปภ. ในประเทศสารขัณฑ์)

การพบเจอ หวนรำลึกความหลังกับอดีตแฟนสาว นัยยะสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่เด่นชัดนัก แต่ผลงานลำดับถัดไปของผกก. Has เรื่อง Pożegnania (1958) ทำการเปรียบเทียบแฟนเก่า = อดีตประเทศโปแลนด์ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) คือบุคคลที่พระเอกยังคงครุ่นคิดถึง คำนึง โหยหา แต่ก็มิอาจหวนกลับคืนมาครอบครองรัก … น่าจะสื่อนัยยะเดียวกันนะครับ

Kuba มีเรื่องชกต่อยกับชายคนหนึ่ง แม้เพียงผิดใจกันเล็กๆ แต่ก็ถูกควบคุมตัวมาโรงพัก ทำให้ได้พบกับสารวัตร และขี้เมาขาประจำ ก่อเรื่องอาละวาดเพื่อตนเองจักได้เข้าไปซุกหัวนอกในห้องขัง แล้วจู่ๆก็ส่งเสียงกรีดกราย เจ็บปวดทุกข์ทรมาน สร้างความหลอกหลอนสั่นสะท้าน ใครกันจะอยากเข้าไปสุงสิง

แม้ฉากนี้ไม่พบเห็นการใช้ความรุนแรงใดๆ แต่ในความเป็นจริงยุคสมัยนั้น ตำรวจคือของแสลงของประชาชน(ชาวโปแลนด์) เพราะมักทำการล่าแม่มด จับกุมบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง นำมาทัณฑ์ทรมาน ความเจ็บปวดทำให้ส่งเสียงกรีดร้องลั่น แล้วเข่นฆาตกรรมปิดปาก … สำหรับภาพยนตร์ที่ออกทุนสร้างโดยรัฐบาล ย่อมไม่อาจนำเสนอภาพความรุนแรงเหล่านั้น แต่เราสามารถมองทั้งซีเควนซ์นี้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมอธิบายไปได้อย่างชัดเจนมากๆ

นอกจากกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านอย่างเชื่องชักช้า Kuba ยังพบเห็นสิ่งต่างๆที่ทำให้สภาพจิตใจมีความบอบชอกช้ำ มิอาจอดรนทนต่อวิถีชีวิต สภาพสังคม ผู้คนรอบข้าง จนตัดสินใจเดินตรงเข้าบาร์ยามสามโมงกว่าๆ ดื่มด่ำร่ำวอดก้า ล้มเลิกความตั้งใจเลิกเหล้าในที่สุด

  • ถูกกดดันจากผองเพื่อนทั้งหลาย แม้พวกเขาพูดแสดงความยินดี แต่มีลักษณะเหมือนการชวนเชื่อล้างสมองของคอมมิวนิสต์
  • พบเห็นอุบัติเหตุ ความตายของเพื่อนคนหนึ่ง สะท้อนความมึนเมาในอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
  • พบเจอแฟนเก่า หวนรำลึกความหลัง แต่มันก็คืออดีต(ของโปแลนด์)ที่ไม่ทางหวนกลับคืนมา
  • มีเรื่องชกต่อยเพียงเล็กน้อย ถึงขนาดถูกพาตัวขึ้นโรงพัก ได้ยินเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด สะท้อนถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบของตำรวจ/หน่วยงานรัฐ

ระหว่างกำลังดื่มด่ำร่ำสุรา Kuba ได้พบเจอกับชายแปลกหน้า เพียงมองตาก็รู้ใจ เหมือนคนเคยพานผ่านอะไรๆมาด้วยกันมา แต่หลังจากเริ่มมึนมา พวกเขาก็เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เนื่องเพราะ Kuba ไม่สามารถยินยอมรับสภาพความจริง เกิดอาการหวาดกลัวต่อเรื่องเล่าสถานบำบัดคนติดเหล้า

Then… houses without doorknobs, white room … which you can’t leave. 4 walls and you. Your memories, your hangovers. You can cry, swear, pray, hit your head against the wall, but you’ll never be given a doorknob.

เดี๋ยวนะ นั่นมันสถานบำบัดคนติดเหล้าหรือคุกกันแน่? คำบอกกล่าวของเพื่อนขี้เมาคนนี้ สื่อนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงการถูกปิดตาย ไม่มีทางที่ชาวโปแลนด์จะสามารถดิ้นหลบหนีจากเงื้อมมือเผด็จการคอมมิวนิสต์

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเคอร์ฟิวของโปแลนด์สมัยนั้น กำหนดไว้ตอนกี่โมงยาม แต่น่าจะประมาณ 3-4 ทุ่ม (ถึง 6 โมงเช้า) สังเกตจากเริ่มพบเห็นทหารหาญเดินสวนสนามผ่านไป นี่คือช่วงเวลาที่ทั้งประเทศเงียบสงัด บนท้องถนนไร้ผู้คน สร้างความเงียบเหงา วังเวง Kuba เดินตุปัดตุเป๋ ล้มกลิ้งลงนอนกลางถนน (ล้อกับช่วงวันเวลานัดหมายที่ตัวละครไม่สามารถเฝ้ารอคอย ดื่มสุราตั้งแต่ประมาณบ่ายสาม) โชคยังดีมีคนรู้จักพากลับห้องพักได้ทันท่วงที

Krystyna เฝ้ารอคอย Kuba คงตั้งแต่เวลานัดหมาย (5-6 โมงเย็น) แต่เขาเพิ่งกลับมาถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม ในสภาพมึนเมา พบเห็นเงาสลัวๆอาบฉาบใบหน้าทั้งสองขณะกำลังเปิดประตูเข้าห้องพัก แสดงถึงความขุ่นมัวที่อยู่ภายในจิตใจของพวกเขา

  • สำหรับ Krystyna คือความผิดหวังที่มีต่อ Kuba
  • แต่สำหรับ Kuba มันคือความผิดหวังต่อตัวตนเอง ที่ผิดคำมั่นสัญญาเคยให้ไว้กับ Krystyna

ค่ำคืนดึกดื่นไม่รู้เวลา (ผมคาดว่าช่วงประมาณตี 3-4 เพื่อล้อกับตอนประมาณบ่าย 3-4 ที่ Kuba เริ่มดื่มด่ำร่ำสุรา) Kuba ฟื้นตื่นขึ้นมา เดินวนไปวนมารอบห้อง (ไม่สามารถออกไปไหนเพราะอยู่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว) ตระหนักถึงชีวิตอันเวิ้งว่างเปล่า โดดเดี่ยวลำพัง ไร้เป้าหมาย เพียงว่ายเวียนวน จนกระทั่งโทรศัพท์ดัง แต่เขาก็วางลงแล้วพูดพร่ำกับตนเอง

Drunkards can’t be trusted!

ความหมายแท้จริงของประโยคนี้ก็คือ บุคคลผู้มึนเมาในอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ เป็นพวกไม่มีความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง!

ช็อตสุดท้ายของหนัง กล้องถ่ายภาพออกไปนอกหน้าต่างที่ยังปิดอยู่ โดยปกติแล้วคือสัญลักษณ์ของการโหยหาเสรีภาพ (จะมองว่าหญิงสาว=สัญลักษณ์ของ(เทพี)เสรีภาพ ก็ได้เช่นกัน) แต่เมื่อหน้าต่างยังปิดอยู่ สามารถสื่อถึงตัวละคร/ชาวโปแลนด์ขณะนั้น ยังไม่มีโอกาสได้รับ(เสรีภาพ)

ส่วนภาพวาดหญิงสาว ช่างมีความละม้ายคล้ายแฟนเก่าของ Kuba สามารถสื่อถึงความโหยหาโปแลนด์ในอดีต (ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง), แต่สำหรับคนไม่ทันสังเกตเห็น จะตีความว่าเธอเป็นตัวแทนโปแลนด์ในอุดมคติก็ได้เช่นกัน (ที่ไม่ใช่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์)

ตัดต่อโดย Zofia Dwornik ขาประจำผู้กำกับ Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958),

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาตัวละคร Kuba Kowalski ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่แปดโมงเช้าเปะๆ เฝ้ารอคอยการนัดหมายแฟนสาว 5-6 โมงเย็น แม้เวลาจะมีการก้าวกระโดด ‘Time Jump’ อยู่เรื่อยๆ แต่ตัวละครกลับมิอาจอดรนทน จนต้องออกมาเตร็ดเตร่นอกห้องพัก พอประมาณสัก 3 โมงก็ตรงเข้าบาร์ สั่งวอดก้า จอกแล้วจอกเล่า รับรู้ตัวอีกทีก็ตอนตื่นขึ้นเช้าวันใหม่ ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังในตนเอง

โครงสร้างของหนังมีลักษณะแบ่งเป็นตอนๆละโดยเฉลี่ยชั่วโมง (ซึ่งจะมีการดูนาฬิกา สอบถามเวลาอยู่บ่อยๆครั้ง) โดยผมจะขมวดหมวดหมู่แค่ก่อน-หลัง Kuba ยกซดวอดก้า

  • ครึ่งแรก: ช่วงเวลาแห่งความหวัง พยายามจะเลิกเหล้า
    • 8 โมงเช้า อยู่ในอพาร์ทเม้นท์ เฝ้ารอคอยการมาถึงของแฟนสาว Krystyna
    • 9 โมงเช้า ได้ยินเสียงโทรศัพท์ไม่หยุดหย่อน
    • 10 โมงเช้า ตัดสินใจลงมาจากห้องพัก หยุดทักทายร้านขายของชั้นล่าง
    • 11 โมงเช้า อุตส่าห์หลบให้เด็กขัดรองเท้า แต่เพื่อนคนนั้นก็ยังตรงเข้ามาพูดคุย
    • เที่ยงตรง แวะดื่มกาแฟ พบเจอแฟนเก่า
    • บ่ายสองครึ่ง ถูกควบคุมตัวมาโรงพัก พบเจอกับขี้เมาขาประจำในคุก
    • 15:25 ออกเดินทางไปบาร์
  • ครึ่งหลัง: ช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง หวนกลับมาดื่มด่ำร่ำสุรา
    • มาถึงตอน 15:30 เลยสั่งวอดก้ามาดื่ม ผ่านไปสองสามแก้วพบเจอชายแปลกหน้า
    • เบียร์มาส่งตอน 5 โมงเย็น แต่ Kuba ก็ไม่สนใจอะไรแล้ว ดื่มด่ำพูดคุยสนุกสนานกับชายแปลกหน้า
    • จากนั้นประมาณสักสองทุ่ม มีเรื่องชกต่อยจึงถูกลากพาตัวออกไปนอกร้าน
    • ช่วงเวลาเคอร์ฟิว (น่าจะ 3-4 ทุ่มกระมัง) ระหว่างกำลังเตร็ดเตร่หาทางกลับห้องพัก Kuba ก็ทิ้งตัวลงนอนกลางถนน พบเจอเพื่อนอีกคนอาสาขับรถพาไปส่ง
    • มาถึงหน้าห้องพัก พบเจอกับ Krystyna น่าจะตอนประมาณ 4-5 ทุ่ม
    • ตื่นขึ้นมากลางดึก คงประมาณตี 3-4 เดินวนไปวนมาหาขวดเหล้ามาดื่ม
    • จากนั้นตอนกำลังจะ 8 โมงเช้าของอีกวัน ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต

ผมประทับใจการนำเสนอ ‘Time Jump’ อย่างมากๆ มีความลื่นไหลอย่างแนบเนียน ช่วงแรกๆผู้ชมอาจครุ่นคิดว่าประเดี๋ยวมันก็คงผ่านไป แต่การรับรู้เวลาซ้ำๆซากๆบ่อยครั้ง 9 โมง, 10 โมง, 11 โมง, เที่ยง, บ่ายหนึ่ง, บ่ายสอง ฯลฯ สักพักก็จักเริ่มเกิดความรำคาญ และโดยไม่รู้ตัวรู้สึกว่ามันเชื่องช้าชิบหาย! เมื่อไหร่ 5-6 โมงเย็นจะมาถึงสักที

และพอหลังจากเริ่มดื่มวอดก้า เวลามันก็หมดสูญสิ้น ไร้ความสลักสำคัญอีกต่อไป ครึ่งหลังของหนังจึงแทบไม่พบเห็นนาฬิกาบอกเวลา แต่เราก็สามารถคาดเดาได้ไม่ยากนะครับ (อย่างที่ผมประมาณไว้)


เพลงประกอบโดย Tadeusz Baird (1928-81) คีตกวีสัญชาติ Polish ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกจับมาใช้แรงงานหนัก อาศัยอยู่ในค่ายกักกัน หลังจากนั้นค้นพบความสนใจดนตรี โดยเฉพาะการแต่งเพลง ก่อตั้งกลุ่ม Group 49 เพื่อทำเพลงสะท้อนแนวคิด Socialist Realism แต่หลังการเสียชีวิตของ Joseph Stalin ก็เปลี่ยนมาเป็นแนว Serialism มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Concerto, Chamber Music, ประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Noose (1958), Night Train (1961), Samson (1961), The Passenger (1963) ฯลฯ

งานเพลงของ The Noose (1958) ต้องชมเลยว่ามีวิธีการนำเสนออันน่าทึ่ง ด้วยความคิดสร้างสรรค์โคตรบรรเจิด ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกเป็น …

  • ช่วงแรกๆที่ยังอยู่ในห้องพักของ Kuba จะได้ยินเสียงไวโอลินล่องลอยมาจากภายนอก ก่อนพบเห็นใครบางคนกำลังซักซ้อมอยู่อีกห้องหับ
  • Sound Effect ระหว่างฝนตกพรำ พอรถชนก็ได้ยินเสียงอื้ออึงของผู้คน และเสียงหวอรถพยาบาล
  • ในร้านอาหารกลางวัน เริ่มจากเสียงซักซ้อมเปียโน พออดีตแฟนสาวมาถึงก็เพิ่มเติมคำร้อง ท่วงทำนองโรแมนติก
  • ที่โรงพัก จะได้ยินเสียงร้องเพลงของชายขี้เมาในห้องขัง
  • มาถึงบาร์ ช่วงแรกๆจะยังเงียบสงัด พอเริ่มมึนเมาจักได้ยินวงดนตรีบรรเลง เต็มไปด้วยความครึกครื้นเครง
  • ช่วงเวลาใกล้เคอร์ฟิว ได้ยินเสียงขับร้องประสานเสียงของกลุ่มทหารหาญ
  • Soundtrack บรรเลงระหว่างกำลังตุปัดตุเป๋ เดินทางกลับห้องพัก
  • ตื่นขึ้นมายามดึกดื่น ได้ยิน Soundtrack เสียงเครื่องเป่าที่สร้างความหลอกหลอน ราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ลักษณะของเพลงประกอบ จะมีการผันแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและสถานที่ มีทั้ง diegetic และ non-digestic music ไม่ได้มุ่งเน้นความไพเราะหรือน่าจดจำ แต่สามารถสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครขณะนั้นๆ คลอประกอบพื้นหลัง ให้ความรู้สึกเหนือจริง (Surrealist) มากกว่าสร้างบรรยากาศสมจริง (Realist)

ในส่วนของ non-digestic ที่เป็น Soundtrack ดังระหว่างเดินทางกลับห้องพัก และตื่นขึ้นมายามค่ำคืนดึกดื่น เอาจริงๆสามารถมองว่าเป็น diegetic music ก็ยังได้! เพราะคือช่วงเวลาที่ตัวละครกำลังมึนเมา ขาดสติ อาจหูแว่ว ครุ่นคิดจินตนาการไปเอง หรือเสียงจากวิทยุ เครื่องส่งสัญญาณกระจายเสียง ฯลฯ


มองอย่างผิวเผิน The Noose (1957) นำเสนอความตั้งใจที่ล้มเหลวของชายขี้เมา ต้องการเลิกเหล้าเข้าพรรษา แต่มิอาจสามารถอดรนทนต่อผู้คน สภาพแวดล้อมรอบข้าง ค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่น ในที่สุดก็เลยยินยอมรับความพ่ายแพ้ ดื่มด่ำร่ำสุราจนมึนเมามาย พอตื่นเช้าฟื้นคืนสติเลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต มิอาจยินยอมรับสภาพตนเองได้อีกต่อไป

การดื่มของ Kuba ไม่ใช่เพราะต้องการหลงลืม หรือสร้างความสนุกสนานครึกครื้นเข้าสังคม แต่เหตุผลก็คือ ‘ฆ่าเวลา’ ที่ดำเนินไปอย่างเชื่องชักช้า เต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย ช่วงเวลานัดหมายมันช่างเยิ่นยาวนาน ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ พอถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจอดรนทน และเลิกสนว่าเวลานั้นจะมาถึงหรือไม่

There’s no such bad luck, no loneliness, no woman, for whom it’s worth to drink. But only those who lost all to drinking know it. Those who have to drink. Those who start drinking have no idea. Vodka is a truth one always understands when it’s too late.

Kuba Kowalski

โดยปกติแล้วภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับที่เป็นศิลปิน ‘auteur’ มักต้องมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ กึ่งๆอัตชีวประวัติ แต่ผู้กำกับ Has ไม่ใช่ทั้งขี้เมาหัวราน้ำ เคยติดยา หรือจังซี่มันต้องถอนอะไรสักสิ่งอย่าง

นัยยะจริงๆของ The Noose (1957) สะท้อนความรู้สึกของผกก. Has ต่อสภาพแวดล้อมรอบข้าง สถานการณ์การเมืองประเทศโปแลนด์ ภายใต้การปกครองพรรคคอมมิวนิสต์ เปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ไม่แตกต่างจากการถูกผูดมัดรัดคอ ลูกไก่ในกำมือ บีบก็ตาย คลายก็รอด ไม่สามารถดิ้นหลบหนี เอาตัวหลุดรอดพ้น จมปลักอยู่ในวังวน อนาคตไม่เคยมี ความสุขีบังเกิดขึ้นแต่ในแก้วสุรา

สำหรับชาวโปแลนด์ (และผู้กำกับ Has) ปัจจุบันเป็นสิ่งเยิ่นยาวนาน กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไปอย่างเชื่องช้า แถมยังถูกสภาพแวดล้อม/ใครต่อใครกดดันรอบด้าน (ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์) สร้างความอึดอัดทุกข์ทรมาน แถมไม่สามารถลุกขึ้นมาทำอะไร เดินไปทางไหนก็พบเจอแต่สภาพปรักหักพัง หนทางตัน ได้เพียงแต่เฝ้ารอคอยอนาคต (อิสรภาพของโปแลนด์) ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่? หรือเวลานั้นจะมาถึงไหม?

แต่คนส่วนใหญ่ย่อมมิอาจเฝ้ารอคอยชาติหน้าตอนบ่ายๆ (กว่าโปแลนด์จะสามารถปลดแอกจากคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต ก็ย่างเข้าทศวรรษ 90s โน่นเลยนะครับ) เลยจำต้องปล่อยตัวปล่อยกาย ดื่มสุราย้อมใจ ไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรนอกจากแสวงหาความสุขใส่ตน อดรนทนไม่ไหวก็ปลิดชีพตัวเอง … นั่นคือเหตุผลที่ผกก. Has ละทอดทิ้งโลกความจริง (Realist) และหันหน้าสู่ความเหนือจริง (Surrealist)

แซว: อัตราการบริโภคสุราในประเทศโปแลนด์ มีรายงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 (4 ลิตรต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อถึง ค.ศ. 1980 (8 ลิตรต่อคนต่อปี)

ผมครุ่นคิดว่านัยยะเชิงสัญลักษณ์ของโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) น่าจะสื่อถึงอาการมึนเมาในอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ บริหารประเทศอย่างขาดสติ ไร้เหตุไร้ผล ใครจะเป็นจะตายไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น เพียงกระดกเหล้าเข้าปาก กระทำสิ่งตอบสนองใจอยาก ให้ได้รับความพึงพอใจส่วนตน


ความที่หนังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับขี้เมาและจบลงด้วยความหมดสิ้นหวัง แม้ไม่โดนแบนในประเทศโปแลนด์ แต่กลับก็ถูกสั่งห้ามนำออกฉายนอกประเทศ เพื่ออะไรกัน?

ซึ่งกว่าที่หนังจะเริ่มแพร่หลายในระดับนานาชาติ ก็เมื่อครั้นจัดทำเป็น DVD คุณภาพถือว่าพอใช้ได้ สามารถหารับชมบนเว็บไซด์ archive.org มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ

ผมมีความเพลิดเพลินในการอ่านภาษาภาพยนตร์ เต็มไปด้วย ‘mise-en-scène’ ที่น่าหลงใหล สิ่งต่างๆให้ขบครุ่นคิดตามมากมาย หรือจะปล่อยตัวปล่อยใจ สัมผัสบรรยากาศความโดดเดี่ยวอ้างว้าง วันเวลาเคลื่อนพานผ่านอย่างเชื่องชักช้า และเมื่อตัวละครตัดสินใจเข้าบาร์ ใครต่อใครย่อมค้นพบว่านี่ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการเลิกเหล้า แต่คือความพยายามเล่าให้ฟังว่ามันเกิดห่าเหวอะไรขึ้นในประเทศโปแลนด์

โดยปกติแล้วหนังเกี่ยวขี้เมา มักพยายามสอดแทรกข้อคิด สอนให้รู้จักพิษภัย และวิธีการเลิกเหล้า! แต่สำหรับ The Noose (1958) นำพาตัวละครจมลงสู่ก้นแก้ว ดื่มมันเข้าไปจอกต่อจอก เอาจนผู้ชมรู้สึกว่าท้องไส้ปั่นป่วน ผมว่านั่นสร้างจิตสำนึกให้คนชอบดื่มได้มากกว่า The Lost Weekend (1945) หรื Days of Wine and Roses (1962) เสียอีกนะ!

จัดเรต 18+ จากความมึนเมา จนหมดสิ้นหวัง

คำโปรย | The Noose คือบ่วงรัดคอ Wojciech Has และชาวโปแลนด์ ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นจากวังวนของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
คุณภาพ | บ่รั
ส่วนตัว | มึนเมา

Possession (1981)


Possession (1981) Polish : Andrzej Żuławski ♥♥♥

ผู้กำกับ Andrzej Żuławski ตกอยู่ในอาการคลุ้มบ้าคลั่งเมื่อถูกภรรยาเลิกราหย่าร้าง สรรค์สร้าง Possession (1981) ด้วยการทำให้ฝ่ายหญิงดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ขยะแขยงที่สุด ไม่ต่างจากถูกปีศาจร้ายเข้าสิง แต่ใครกันแน่ที่สูญสิ้นความเป็นมนุษย์

เวลาที่ผมรับชมภาพยนตร์ จะมองความตั้งใจของผู้สร้างเป็นหลัก

  • ถ้าต้องการสะท้อนปัญหาการเมืองของประเทศ Poland ยุคสมัยนั้นภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ต่างจากถูก ‘possession’ ควบคุมครอบงำจากสหภาพโซเวียต แล้วทำการเปรียบเทียบหญิงสาว/ภรรยา แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมาเพราะถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง … จากมหภาคสู่จุลภาค มีความน่าสนใจดี
  • แต่ในทิศทางกลับตารปัตร ฉันยินยอมรับการเลิกราหย่าร้าภรรยาไม่ได้ จึงสรรค์สร้างงานศิลปะที่ทำให้เธอดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ขยะแขยง แล้วทำการเปรียบเทียบการเมืองระดับมหภาค … แบบนี้เรียกว่าเก๋าเจ้ง ชาติหมา ไม่ใช่ลูกผู้ชายนี่หว่า แสดงสันดานว่าเป็นพวก Misogyny (เกลียดชังผู้หญิง)

ผมอยากจะชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะ แพรวพราวด้วยเทคนิค ลูกเล่นลีลา อารมณ์บีบเค้นคั้น ทำเอาผู้ชมนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ แต่เพราะความตั้งใจของผู้กำกับ Żuławski ก้าวล้ำขอบเขตสามัญสำนึกไปไกล งานศิลปะต่อให้เลิศเลอค่าสักเพียงไหน แต่ถ้าไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ มันก็แค่เศษขยะชิ้นหนึ่ง

ครึ่งแรกของ Possession (1981) ชวนให้ผมนึกถึงหลายๆผลงานของ John Cassavetes ขายดราม่าสองนักแสดงนำ Sam Neill และ Isabelle Adjani ใส่อารมณ์กันอย่างไม่ยั้ง สั่นเทือนระดับคลุ้มบ้าคลั่ง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งหนังเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็น (Body) Horror อย่าง(ตอนจบของ) Repulsion (1965), Eraserhead (1977), The Brood (1979) ที่น่าขยะแขยง สะอิดสะเอียด โดยผู้ออกแบบเอเลี่ยน E.T. the Extra-Terrestrial (1982)

Made with an international cast in still-divided Berlin, the movie starts as an unusually violent breakup film, takes an extremely yucky turn toward Repulsion-style psychological breakdown, escalates into the avant-garde splatterific body horror of the ’70s (Eraserhead or The Brood), and ends in the realm of pulp metaphysics as in I Married a Monster from Outer Space.

นักวิจารณ์ J. Hoberman

ปล. ทีแรกผมครุ่นคิดว่าโปสเตอร์หนังคือภาพเมดูซ่า (Medusa) มีงูพิษเป็นผม หากจ้องมองโดยตรงจะถูกสาปให้เป็นหิน (นิทานพื้นบ้านของเขมรมีคำเรียก งูเก็งกอง) แต่แท้จริงแล้วมันคือภาพหญิงสาวกำลังมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด (ตัวเดียวกับในหนังนะแหละ) หนวดสีแดงแลดูเหมือนลิ้น (กำลังเลียหัวนม) พบเห็นแล้วบังเกิดอารมณ์(เหี่ยวหดเสียมากกว่า)


Andrzej Żuławski (1940-2016) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ Polish เกิดที่ Lviv ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตยึดครอง Poland (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Ukraine), หลังสงคราม บิดาได้รับแต่งตั้งเป็นทูตที่ฝรั่งเศส (ทำให้พูดฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว) ก่อนย้ายมาอยู่กับย่าที่ Czechoslovakia แนะนำให้รู้จักภาพยนตร์ เกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเติบโตขึ้นเลยเดินทาง(กลับฝรั่งเศส)มาร่ำเรียน Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) สนิทสนม Roman Polański เขียนจดหมายแนะนำ Andrzej Wajda จนมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วย Samsom (1961), Love at Twenty (1962), The Ashes (1965) ระหว่างนั้นก็มีโอกาสเขียนบท/ทำหนังสั้นฉายโทรทัศน์ และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Third Part of the Night (1971)

ระหว่างสรรค์สร้าง The Third Part of the Night (1971) ผู้กำกับ Żuławski เกี้ยวพาราสีนักแสดงนำ Małgorzata Braunek จนตอบตกลงแต่งงาน มีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน แต่เพราะความเหิ่นห่าง ต่างคนต่างแยกย้ายกันทำงาน เมื่อไม่ค่อยมีโอกาสชิดใกล้ ทำให้เธอขอหย่าร้างเมื่อปี 1976 จบความสัมพันธ์สั้นๆ ระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Żuławski ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง (deep depression) กอปรกับโปรเจคที่กำลังสรรค์สร้างอยู่ขณะนั้น On the Silver Globe ถูกทางการบีบบังคับให้ยุติการถ่ายทำ แถมยังถูกตีตราขับไล่ ผลักไสออกจากประเทศ Poland ระหว่างกำลังลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศสเคยคิดสั้น พยายามกระทำอัตวินิบาต แต่นั่นเองทำให้เขาบังเกิดความครุ่นคิดภาพยนตร์เรื่องใหม่

Żuławski recalled how he once returned home late in the evening and found his five-year-old son Xavier alone in the apartment, smeared with jam, after his wife left him alone for several hours – this scene was directly reflected in Possession.

Renata Kim ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติ Żuławski Ostatnie Słowo (2011) แปลว่า Żuławski’s Last Word

Żuławski ติดต่อหาเพื่อนผู้กำกับ Danièle Thompson เพื่อขอให้ช่วยพัฒนาบทร่างของ Possession ตามคำร้องขอ (คาดว่าคงไม่กล้าจรดปากกา เขียนบทหนังขึ้นด้วยตนเอง) พอได้ความยาว 20 หน้ากระดาษ เดินทางไป New York (ตามคำแนะนำของ Thompson) เพื่อพบเจอนักเขียนชาวอเมริกัน Frederic Tuten ร่วมกันพัฒนาบทจนแล้วเสร็จ

สำหรับงบประมาณของหนัง เป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมันตะวันตก โดยมีสตูดิโอ Gaumont (ฝรั่งเศส) เป็นหัวเรี่ยวแรง เลือกสถานที่ถ่ายทำยังกรุง Berlin (ตรงบริเวณกำแพง Berlin ที่กั้นแบ่งระหว่าง East & West German) และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร (ภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของผกก. Żuławski ถ่ายทำเป็นภาษาอังกฤษ)


เรื่องราวของ Mark (รับบทโดย Sam Neill) สายลับเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจ เดินทางกลับบ้านที่ West Berlin แต่หลังพบเจอภรรยา Anna (รับบทโดย Isabelle Adjani) เธอกลับแสดงความต้องการเลิกราหย่าร้าง โดยไม่ให้เหตุผลคำอธิบายใดๆ นั่นสร้างความสับสน มึนงง เกิดปฏิกิริยาเกรี้ยวกราด ถึงขั้นเสพยาเกินขนาด ครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย โชคดีได้บุตรชายทำให้หวนคืนสติ จึงพยายามสืบเสาะค้นหาว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น

ในตอนแรก Mark ได้พบเจอชู้รัก Heinrich (รับบทโดย Heinz Bennent) เป็นบุคคลท่าทางตุ้งติ้ง รสนิยม(ทางเพศ)แปลกประหลาด แต่ก็ค้นพบว่า Anna ยังมีความลึกลับยิ่งไปกว่านั้น จึงว่าจ้างนักสืบเอกชนให้ออกติดตามหา และสิ่งที่ค้นพบคือสัตว์ประหลาดหน้าตาอัปลักษณ์ มันกำลังร่วมรัก มีเพศสัมพันธ์กับเธอ


Isabelle Yasmina Adjani (เกิดปี 1955) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส บิดามีเชื้อสาย Algerian ส่วนมารดาอพยพจาก German พบเจอกันช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เลยตัดสินใจลงหลักปักถิ่นฐานอยู่กรุงปารีส (ทั้งๆต่างก็พูดฝรั่งเศสไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่บุตรสาวพูดได้ทั้งฝรั่งเศส-เยอรมัน) วัยเด็กค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อยัง University of Vincennes, มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Le Petit Bougnat (1970), เริ่มมีชื่อเสียงระหว่างเข้าร่วมคณะการแสดงละครเวที Comédie-Française, แล้วมาแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Story of Adèle H. (1975), ผลงานเด่นๆ อาทิ Nosferatu the Vampyre (1979), Possession (1981), Camille Claudel (1988), La journée de la jupe (2009) ฯลฯ

รับบทสองตัวละคร Anna/Helen ที่แม้มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบ (doppelgänger) แต่อุปนิสัยใจคอ พฤติกรรมแสดงออก กลับมีความแตกต่างตรงกันข้าม

  • Anna คือภรรยาของ Mark เพราะความเหินห่างทำให้แอบคบชู้ Heinrich แม้แสดงความต้องการเลิกราสามี แต่ก็ยังห่วงโหยหาบุตรชาย จึงหวนกลับมาเยี่ยมเยือนบ่อยครั้ง และเมื่อพบเจอเขาก็ไม่สามารถควบคุมสติ อารมณ์ ‘hysteria’ แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมาบ่อยครั้ง แต่สาเหตุผลแท้จริงนั้นเกิดจากการเสพติดเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด มอบความสุขกระสันต์เหนือกว่ามนุษย์ผู้อื่นใด
  • Helen ครูสอนหนังสือผู้มีความสุภาพอ่อนน้อม แสดงเป็นห่วงเป็นใย Mark และบุตรชาย คอยให้การช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาระยะห่างความสัมพันธ์ จนกระทั่ง…

ใครที่เคยรับชมผลงานการแสดงของ Adjani น่าจะมักคุ้นกับบทหญิงสาวหน้าตาสวยใส อ่อนวัยไร้เดียงสา แต่ภายในซุกซ่อนเร้นตัณหาราคะ ระริกระรี้แรดร่าน สวยสังหาร! แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีครั้งไหนแสดงอาการกรีดกราย คลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณไปมากยิ่งกว่า Possession (1981) ทั้งๆไม่ได้ถูกปีศาจร้ายตนใดเข้าสิง กลับสามารถสร้างความหลอกหลอน สั่นสะท้านทรวงใน ไปจนถึงจุดที่หมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์

a dervish of unrestrained emotion and pure sexual terror.

นักวิจารณ์ Tom Huddleston จาก TIMEOUT

นักวิจารณ์ตั้งชื่อฉากเริงระบำ(ในสถานีรถไฟ)ได้ไพเราะมากๆว่า “aria of hysteria” [Aria คือบทร้องเดี่ยว สำหรับให้ตัวละครเพียงหนึ่งเดียวร้องในการแสดงอุปรากร] เพื่อแสดงถึงการฉายเดี่ยว แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งเพียงตัวคนเดียว ได้อย่างโคตรๆๆเซอร์เรียล (Surreal) เหนือล้ำจินตนาการ … ว่ากันว่าฉากนี้สูบวิญญาณของ Adjani ถึงขนาดทำให้เธอคิดสั้นจะฆ่าตัวตายหลังถ่ายทำหนังเสร็จ (ได้รับการยืนยันจากผู้กำกับ Żuławski ว่าเป็นเรื่องจริง!)

There were two takes. This scene was filmed at five in the morning, when the subway was closed. I knew it was worth a lot of effort for [Adjani], both emotionally and physically, because it was cold there. It was unthinkable to repeat this scene endlessly. Most of what’s left on the screen is the first take. The second take was made as a safety net, as is customary when shooting difficult scenes, for example, in case the laboratory spoils the material.

Andrzej Żuławski

บทสัมภาษณ์ของ Adjani หลายปีให้หลัง บอกเล่าว่าไม่รับรู้ตนเองเหมือนกัน ตอนนั้นยินยอมตกลงแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างไร! มันเป็นประสบการณ์ยากจะลืมเลือน ติดค้างคาอยู่ในจิตวิญญาณอยู่นานหลายปี ปฏิเสธรับบทบาทลักษณะเดียวกันนี้อย่างเข็ดหลากจำ

‘Possession’ is only the type of film you can do when you are young. He [Żuławski] is a director that makes you sink into his world of darkness and his demons. It is okay when you are young, because you are excited to go there. His movies are very special, but they totally focus on women, as if they are lilies. It was quite an amazing film to do, but I got bruised, inside out. It was exciting to do. It was no bones broken, but it was like, ‘How or why did I do that?’ I don’t think any other actress ever did two films with him.

Isabelle Adjani

Nigel John Dermot Neill หรือ Sam Neill (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติ New Zealand เกิดที่ Omagh, Northern Ireland พออายุได้ 7 ขวบ ย้ายตามครอบครัวสู่ New Zealand โตขึ้นเข้าเรียนวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ University of Canterbury จบโทที่ Victoria University, ต่อมาเกิดความสนใจในภาพยนตร์ ได้รับบทนำเรื่องแรก Sleeping Dogs (1977), กลายเป็นลูกศิษย์ของ James Mason มีผลงานระดับนานาชาติเรื่องแรก Omen III: The Final Conflict (1981), Possession (1981), Evil Angels (1988), Death in Brunswick (1990), The Hunt for Red October (1990), Jurassic Park (1993), The Piano (1993) ฯ

รับบท Mark สายลับทำภารกิจเสียสละเพื่อชาติมาหลายปี ถึงเวลาที่จะหวนกลับหาความสุขใส่ตัว ใช้เวลาเคียงคู่กับภรรยา แต่เธอกลับพยายามพูดบอกเลิกร้างรา นั่งสร้างความสับสน ว้าวุ่นวายใจ บังเกิดอาการเกรี้ยวกราดขึ้นภายใน ถึงขนาดเคยครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่เพราะบุตรชายจึงสามารถเอาตัวรอดชีวิตมาได้ หลังจากนั้นจึงพยายามสืบเสาะหาความจริง ค่อยๆเรียนรู้จักสิ่งต่างๆรอบข้าง และเมื่อกำลังจะยินยอมโอบกอดรัดความสัมพันธ์ระหว่าง Anna กับปีศาจร้าย กลับกลายเป็นว่า …

ภาพจำของ Neill เป็นคนติ๋มๆ ดูอบอุ่น สุภาพอ่อนน้อม พร้อมยินยอมเสียสละตนเองเพื่อครอบครัว แต่เมื่อไหร่ถูกทรยศหักหลัง ก็สามารถแสดงบทบาทอันเกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่ง พร้อมจะใช้กำลัง ความรุนแรง ปะทุระเบิดสิ่งชั่วร้ายภายในออกมา … มาครุ่นคิดดูตอน The Piano (1993) ก็เคยแสดงบทบาทคล้ายๆเดียวกันนี้ แต่เทียบไม่ติดกับ Possession (1981) อย่างแน่นอน!

I call it the most extreme film I’ve ever made, in every possible respect, and he asked of us things I wouldn’t and couldn’t go to now. And I think I only just escaped that film with my sanity barely intact.

Sam Neill ยกให้ Possession (1981) คือภาพยนตร์เรื่องโปรดที่มีโอกาสแสดงนำ

ตัวละครนี้ถือเป็นตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Żuławski ทุกสิ่งอย่างที่ประสบพบเจอ ล้วนสะท้อนเหตุการณ์จริง ประสบการณ์ตรง ทั้งเรื่องความรุนแรง เสพเล่นยา คิดสั้นฆ่าตัวตาย ฯลฯ ชีวิตช่างโชกโชน โชกเลือด กว่าจะสามารถยินยอมรับสภาพความจริง ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้น ก็แทบสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปแล้ว


ถ่ายภาพโดย Bruno Nuytten (เกิดปี 1945) ตากล้อง/ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เข้าสู่วงการจากการเป็นผู้ช่วยตากล้อง Ghislain Cloquet, หนังสั้น, ภาพยนตร์ อาทิ India Song (1975), Possession (1981), Jean de Florette (1986) ฯลฯ

สไตล์ของ Żuławski จะมีงานภาพที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลาด้วยกล้อง Steadicam ติดตามตัวละคร บางครั้งก็หมุนวนรอบ ซูมเข้า-ซูมออก ก้มๆเงยๆ บิดๆเบี้ยวๆ เน้นระยะ Medium Shot เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงอารมณ์/ความรู้สึก(ของตัวละคร)ที่ผันแปรเปลี่ยนไป … รับชมหนังของ Żuławski สร้างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเรี่ยวแรง เหตุผลหนึ่งก็เพราะลีลาการเคลื่อนกล้องที่แทบจะไม่เคยหยุดอยู่นิ่งนี่แหละ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา

นอกจากความโดดเด่นด้านเทคนิคลีลา หนังยังถูกปรับให้มีโทนสีน้ำเงิน บางครั้งก็เขียวแก่ๆ ออกซีดๆ ดูหมองหม่น เพื่อมอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เหือดแห้งแล้ง แทนความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังของตัวละคร ไร้ความสดชื่น ไร้สีสัน ไร้ชีวิตชีวา

การถ่ายทำหนังยัง West Germany ในอพาร์ทเม้นท์ที่อยู่ติดกับกำแพง Berlin สร้างบรรยากาศ/ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเลยสักนิด! บางครั้งยังมีการแอบถ่ายทหารที่อยู่อีกฟากฝั่ง เพื่อบอกว่าอย่าริอาจทำอะไรแผลงๆ อย่างเช่นก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งแยกพรมแดน … แต่เอาจริงๆผู้กำกับ Żuławski สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก้าวข้ามสามัญสำนึกไปไกลโข

  • 87 Sebastianstraße, Kreuzberg อพาร์ทเม้นท์ของสัตว์ประหลาด เห็นว่าปัจจุบันตึกหลังนั้นก็ยังคงตั้งตระหง่าน
  • สถานีรถไฟใต้ดิน Platz der Luftbrücke ปัจจุบันก็ยังคงเปิดให้บริการ มีสภาพแทบไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่

Opening Credit เริ่มต้นร้อยเรียงภาพการเดินทางเลียบกำแพง Berlin มาจนถึงหน้าอพาร์ทเม้นท์ แต่สถานที่แห่งนี้มีลักษณะสองตึกตั้งฉาก แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง ล้วนสื่อถึงการแบ่งแยก แตกต่าง ความสัมพันธ์ที่เหินห่างระหว่าง Mark และ Anna แม้แต่บนเตียงภายหลังเพศสัมพันธ์ เหมือนมีบางสิ่งอย่าง(มองไม่เห็น)กีดกั้นขวางพวกเขาไว้ (กล้องเคลื่อนไหลจากฝั่งซ้ายของเตียง ไปฝั่งขวาของเตียง Anna → Mark)

ไม่ ใช่แค่ลีลาภาษาภาพยนตร์เท่านั้นนะครับ บทเพลงประกอบก็ร่วมด้วยช่วยสร้างบรรยากาศลึกลับ เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นไว้ บอกใบ้ถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้พังทลาย จู่ๆทุกสิ่งอย่างก็ล่มสลายโดยไม่ทันรับรู้ตัว

ลีลาการถ่ายภาพของหนังคือให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่มากๆ อย่างฉากนี้ที่แม้มีเพียง Mark สนทนากับหัวหน้าสายลับอยู่ในมุมเล็กๆ แต่กล้องกลับเคลื่อนไหลไปรอบๆห้อง ราวกับพวกเขาคือศูนย์กลางจักรวาล สนเพียงจะครอบครองความยิ่งใหญ่ เหนือใคร ใต้หล้า

แต่ไม่รู้ทำไมฉากนี้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Mother Joan of the Angels (1961) จะมีฉากที่แม่อธิการ Mother Joan เมื่อ(แสร้งว่า)ถูกปีศาจร้ายเข้าสิง เธอเดินย่องย่าง ค่อยๆคืบคลาน ลัดเลาะเลียบผนังอารามชี ก่อนตรงรี่เข้ามาเผชิญหน้าบาทหลวง Józef Suryn ซึ่งสาเหตุที่ต้องอ้อมค้อมก็เพื่อสร้างบรรยากาศอันหลอกหลอน สิ่งชั่วร้ายมักอาศัยอยู่ปลายขอบ(ทางศีลธรรมของมนุษย์)

การอ้างอิงหนังสือแบบนี้นี่มันสไตล์ Godardian ชัดเจนมากๆๆ นอกจาก Holy Bible เล่มอื่นๆที่ตัวละหยิบขึ้นมา ล้วนเกี่ยวกับศาสนา การฝึกจิตใจให้สงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องราวในหนังที่เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง … คงเป็นการแนะนำหนังสือสำหรับให้ปล่อยวางจากความหมกมุ่นยึดติด กระมัง

  • Die Kultur Des Zen (1977) แปลว่า The Culture of Zen เขียนโดย Thomas
  • Religious life of the Japanese people (1961) เขียนโดย Masaharu Die
  • Welt des Tantra in Bild und Deutung แปลว่า The world of tantra in image and interpretation เขียนโดย Mookerjee Ajit และ Madhu Khanna

Taj Mahal อนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาล สร้างขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan) อุทิศให้จักรพรรดินีผู้ล่วงลับ มุมตาซ มหัล (Mumtaz Mahal) … นี่เป็นการบอกใบ้ถึงความตาย คงเป็นบางสิ่งอย่างภายใน(ความรัก)ที่สูญสิ้นไป

I’ve seen half of God’s face here. The other half is you.

Heinrich

ทีแรกผมครุ่นคิดว่า Anna เขียนจดหมายนี้ส่งมาให้ Mark แต่กลับเป็นชู้รัก Heinrich พร่ำบอกรัก เธอคือนางฟ้าของฉัน … ในความเป็นจริงนั้นเหมือนจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามเสียมากกว่า เพราะเมื่อหญิงสาวมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด นั่นน่าจะคือปีศาจ/ซาตาน (ไม่ใช่พระเจ้า)

อีกสิ่งน่าสนใจคือครึ่งใบหน้าด้านหลัง มันไม่ได้แบ่งซ้ายขวาอย่างที่ใครหลายคนคาดคิดกัน แต่กลับเป็นส่วนบน-ล่าง หน้าผากของ Mark น่าจะคือส่วนของพระเจ้ากระมัง

ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่น การแบ่งแยกสองตัวละครออกจากกันมักต้องมีอะไรมาคั่นแบ่ง หรือใช้สองสิ่งแสง-สี การจัดองค์ประกอบภาพที่แตกต่างตรงกันข้าม แต่วิธีการของผู้กำกับ Żuławski ใช้แนวคิดของ ‘Isometric’ ในลักษณะของสามมิติ (ใครเรียนวิศวะหรือเคยเขียนแบบ น่าจะรับรู้จักเทคนิคดังกล่าวเป็นอย่างดี) หลายช็อตๆจึงมีลักษณะเอียงๆ 30-45 องศา สร้างความรู้สึกบิดๆเบี้ยวๆ แต่แท้จริงแล้วคืออัตราส่วนสมมาตรที่สุด

เกร็ด: คำว่า ISO มาจากภาษากรีกแปลว่า เท่ากันหรือเหมือนกัน, Metric หมายถึง หน่วยการวัด, เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น Isometric จึงหมายถึง ภาพสามมิติ ที่มีด้านเท่ากันทุกด้าน และมีขนาดเท่ากับของจริง

อย่างการเผชิญหน้าระหว่าง Mark และ Anna ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จริงๆเรียกเผชิญหน้าคงไม่ถูกเพราะต่างฝ่ายต่างนั่งคนโต๊ะ หันคนละทิศทาง ปฏิเสธมองหน้าสบตา ต้องการแยกย้ายจากไป แต่เพราะยังมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้งเอาไว้ จึงยังคงนั่งเก้าอี้/โซฟาเดียวกัน

วินาทีแห่งการเมายา/คิดสั้นฆ่าตัวตายของ Mark กลิ้งไปกลิ้งมาบนเตียง ตัวสั่นๆ ชักกะตุก ดิ้นแด่วๆ น่าจะทำให้ใครหลายคนตระหนักถึงชื่อหนัง Possession ในบริบทนี้ไม่จำเป็นว่าต้องสื่อถึงการถูกผีเข้า หรือปีศาจร้ายตนใดเข้าสิงสถิตย์ แต่คืออาการของบุคคลไม่สามารถควบคุมตนเอง ปล่อยอารมณ์/ความรู้สึกเข้าควบคุมครอบงำจนสูญเสียสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ กระทำสิ่งต่างๆโดยไร้สามัญสำนึกความเป็นมนุษย์ สภาพไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน

แซว: มันจะมีท่าชักกะตุกหนึ่งที่ทำเอาผมขำกลิ้งจนตกเตียง เพราะท่วงท่ากำหมัดแล้วชักขึ้นชักลง มันท่วงท่าช่วยตนเอง (Masterbates) ซึ่งเหตุผลที่ Mark แสดงอาการเช่นนี้เพราะยังโหยหารสรักจากภรรยา กระมัง

สิ่งที่ทำให้ Mark (และผู้กำกับ Żuławski) สามารถหวนกลับคืนสติจากอาการผีเข้า นั่นคือการพบเห็นบุตรชาย ใบหน้าเปลอะเปลื้อนคราบสีแดง แวบแรกใครต่อใครคงหัวใจหล่นสู่ตาตุ่ม ครุ่นคิดว่านั่นคือเลือด ใครเป็นอะไรหรือเปล่า แต่แท้จริงแล้วก็แค่แยมสตรอเบอร์รี่ (และช็อกโกแล็ต) รับประทานอย่างมูมมามตามประสาเด็กยังเล็ก

แม้เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิด (สตรอเบอร์รี่ผู้โชคร้าย) แต่มันก็ทำให้ตัวละคร/ผู้กำกับ และผู้ชมหลายคนตระหนักถึงภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเองต่อบุตรหลาน ถ้าฉันเป็นอะไรไปแล้วใครจะเลี้ยงดูแล หลงลืมไปชั่วครู่ ก็ยังดีกว่าละทอดทิ้งให้กลายเป็นปัญหาสังคม

แม้ Mark จะล้มเลิกแผนการครุ่นคิดฆ่าตัวตาย (เพราะบุตรชายทำให้ตระหนักได้) แต่คราใดเมื่อต้องพบเจอ Anna เขายังโกรธเกลียดเคียดแค้น เต็มไปด้วยความว้าวุ่น กระวนกระวาย ผมชอบมากๆกับฉากนี้ที่เขานั่งโยกเก้าอี้ไปมาอย่างสุดแรง (แทนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร) ตรงกันข้ามกับภรรยายืนอยู่นิ่งๆ

แซว: ช่วงกลางเรื่องเมื่อ Mark ติดต่อว่าจ้างนักสืบเอกชน เก้าอี้ที่นั่งสามารถหมุนซ้าย-หมุนขวา ก็สามารถแทนความว้าวุ่น กระวนกระวายได้เช่นเดียวกัน

ต่อมาเมื่อ Anna พยายามจะดิ้นหลบหนี Mark ก็ลุกขึ้นเดินวนไปวนมารอบตัวเธอ พยายามพูดคำโน้มน้าว ปากบอกตนเองยกโทษให้อภัย แต่กลับพยายามชี้นิ้วออกคำสั่ง บีบบังคับให้อีกฝ่ายกระทำตาม เห็นเธอเป็นเพียงเงามืด สิ่งมีชีวิตที่เพียงรอคอยการถูกควบคุมโดยใครอื่น

ครูโรงเรียนอนุบาล Helen แทบจะถอดแบบพิมพ์เดียวมาจาก Anna พวกเธอเป็นพี่น้องกันหรือเปล่า? ทำไมหน้าตาเหมือนเปะกันขนาดนี้? (จริงๆแตกต่างตรงสีผม และสีของดวงตา) ลักษณะดังกล่าวนี้มีคำเรียกว่า doppelgänger ใครเคยรับชม The Third Part of the Night (1971) ผู้กำกับ Żuławski จักกล่าวว่านั่นคือ ‘ปาฏิหารย์’

แรกพบเจอ Helen สังเกตว่าเธอนั่งยองๆพูดคุยกับเด็กๆ นั่นถึงอุปนิสัยสุภาพอ่อนน้อม บริสุทธิ์ผุดผ่อง (เหมือนเด็กๆไร้เดียงสาเหล่านี้) ขณะเดียวกันเมื่อเทียบตำแหน่งของ Mark มันจะพอดิบพอดีตรงเป้ากางเกง เรียกว่ายินยอมศิโรราบ พร้อมทำตามทุกอย่าง จนมีนักวิจารณ์ให้คำเรียกตัวละครนี้ ‘Ideal Housewife’ อุดมคติจนเขาไม่กล้าสัมผัสแตะต้อง

Heinrich (รับบทโดย Heinz Bennent) เป็นตัวละครที่ต้องถือว่าแปลกประหลาด ตั้งแต่ถ้อยคำพูดมีความลึกล้ำสลับซับซ้อน (จนฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง) ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ใช้มือพยายามสัมผัส/ลวนลามคู่สนทนา จนอาจสร้างความสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศ หมอนี่ชายหรือหญิง หรือได้ทั้งชายและหญิง

ตัวละครนี้คือชู้รักของ Anna ที่ยังมีรูปร่างหน้าตาเป็นมนุษย์ แต่คารม ลีลา และบางครั้งก็เล่นยาเพื่อมอบประการณ์ทางเพศสูงสุดให้กับหญิงสาว … คงต้องถือว่า Heinrich เป็นชายสมบูรณ์แบบ ‘perfect male’ พระเอกของเราไม่มีทางต่อกรใดๆ

แซว: หลังจากผมขบครุ่นคิดมาสักพักก็ตระหนักว่า ลีลาการใช้มือของ Heinrich มีลักษณะคล้ายๆหนวดของสัตว์ประหลาด สัมผัส โอบกอด ลูบไล้ กล่าวคือพยายามควบคุมครอบงำ รุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล หรือใช้คำว่า ‘ลวนลาม’ คงไม่ผิดอะไร

การโต้ถกเถียงระหว่าง Mark กับ Anna ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจากในอพาร์ทเมนท์ ก้าวออกมาบนท้องถนน (ยังบริเวณที่กำลังปิดปรับปรุงซ่อมแซม=รอยร้าวความสัมพันธ์) แต่ขณะที่เธอพยายามเดินหลบหนี เฉี่ยวชนรถบรรทุกจนรถเศษเหล็กที่อยู่ด้านหลังตกหล่นลงมา (รถเศษเหล็ก สะท้อนสภาพป่นปี้ภายในจิตใจของทั้งสองตัวละคร)

วินาทีเฉียดตายนั้นเองทำให้ Anna ถอดแว่นตาดำ หยุดอาการคลุ้มบ้าคลั่ง แล้วเดินกำหมัดไปทางด้านหลัง ดูราวกับการสยายปีก โบยบินจากไป (เหมือนตนเองได้รับอิสรภาพอะไรสักอย่าง) ตรงกันข้ามกับ Mark กำหมัดไว้เบื้องหน้า แสดงอาการอึดอัดอั้น แล้วหันกลับเข้าอพาร์ทเมนท์ พร้อมเสียงเด็กๆเฮลั่นหลังเลิกโรงเรียน (เหมือนประกาศชัยชนะอะไรสักอย่าง)

เพื่อล้อกับชายสมบูรณ์แบบ Heinrich/ชู้รักของ Anna หญิงสาวที่ Mark แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วยนั้นคือ Sara เธอประสบอุบัติอะไรสักอย่างจึงต้องเข้าเฝือกขา ท่าเดินกระโผกกระเผก ตรงเข้าโอบกอด ยั่วเย้า จะถอดเสื้อผ้าเขาตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าตึก … ถือเป็นหญิงสาวที่ไม่สนอะไรไปมากกว่าเติมเต็มตัณหาราคะ ความต้องการทางเพศของตนเองและ Mark

หลายคนอาจเริ่มสับสนแล้วว่า Helen ควรเป็นขั้วตรงข้ามของ Heinrich ไม่ใช่หรือ?? แต่การแบ่งแยกแยะที่หนังพยายามนำเสนอน่าจะประมาณนี้นะครับ

  • Mark แต่งงานกับ Anna
    • (รูปธรรม) คบชู้กับ Sara หญิงขาพิการ แต่มีความต้องการทางเพศสูง ยั่วเย้ายวนเขาทุกครั้งเมื่อพบเจอกัน
    • (นามธรรม) แอบชื่นชอบ Helen ใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับ Anna (doppelgänger) ถือเป็นหญิงสาวในอุดมคติ ‘ideal housewife’ จึงพยายามรักษาระยะห่างความสัมพันธ์ ให้ความเคารพรัก และไม่เคยเกินเลยเถิดจนมีเพศสัมพันธ์
  • Anna แต่งงานกับ Mark
    • (รูปธรรม) คบชู้กับ Heinrich ชายสมบูรณ์แบบ ที่สามารถเติมเต็มตัณหาราคะด้วยลีลาอันเล่าร้อนรุนแรง
    • (นามธรรม) มีเพศสัมพันธ์อย่างเร่าร้อนรุนแรงกับสัตว์ประหลาด ‘sex machine’ โดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น แต่ถ้าใครเข้ามาบุกรุกราน ก็พร้อมเข่นฆาตกรรมให้ตกตาย และเจ้าสัตว์ประหลาดนี้เหมือนจะวิวัฒนาการกลายเป็น doppelgänger ของ Mark (ท้ายสุดอาจได้ครอบครองรักกับ Helen)

การทะเลาะเบาะแว้งในห้องครัว สร้างบรรยากาศที่อันตรายโคตรๆ เพราะเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ถึงเลือดถึงเนื้อ ทั้งคมมีด เครื่องบด เครื่องปั่น เตาแก๊สก็ไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ ฯลฯ แถมตัวละครทั้งสองยังโยกไปโยกมา เถียงกันอย่างขาดสติสัมปชัญญะ เสียวสันหลังว่าใครบางคนอาจนำเครื่องครัวมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายกัน

สำหรับเครื่องบดเนื้อที่กำลังไหลย้อยออกมานี้ สามารถสื่อถึงความขัดแย้งของทั้งสองที่ทำให้ภายใน/สภาพจิตใจเหมือนถูกบดขยี้ แหลกละเอียด ไม่เป็นชิ้นดี (ก็เหมือนรถเศษเหล็กที่ตกหล่นจากรถบรรทุกในฉากก่อนหน้า) และเมื่อเอามีดกรีดแขนไม่ช่วยอะไร (เพลงอกหัก, Bodyslam) เรียกว่าสูญเสียความรู้สึกใดๆที่เคยมีต่อกัน

ขณะที่อพาร์ทเม้นท์ของ Mark มีความเลิศหรู อยู่สบาย สไตล์ทันสมัย (Modern) เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ (= West Germany) ตรงกันข้ามกับห้องพักของ Anna มีสภาพราวกับโบราณสถาน เก่าแก่ ชำรุดทรุดโทรม ภายในเพียงห้องโล่งๆ ไม่มีอะไรนอกจากเตียงรกๆ ฝุ่นตลบอบอวล (= East Germany)

สภาพภายในอพาร์ทเม้นท์ สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจตัวละครขณะนั้นๆ รวมถึงสมาชิกอยู่ร่วมอาศัย, สำหรับ Anna ที่แทบไม่อะไร เพียงเตียงนอน หมอน ผ้าห่ม และสัตว์ประหลาด (ไม่สนอะไรอื่นนอกจากประกอบกามกิจ) เมื่อใครพยายามบุกรุกเข้าไป ก็จักถูกเข่นฆาตกรรม จับแช่ตู้เย็น สำหรับบริโภคเป็นอาหาร

สถานภาพทางเพศของนักสืบทั้งสอง มีการพูดออกอย่างอ้อมๆว่าคือชายรักชาย (Homosexual) ผลลัพท์ทำให้เมื่อพวกเขารุกรานเข้ามายังอพาร์ทเม้นท์ของ Anna ต่างถูกเข่นฆาตกรรมให้ตกตาย

นี่แทบไม่ต้องครุ่นคิดตีความอะไร คือการแสดงทัศนะอย่างชัดเจนของผู้กำกับ Żuławski ว่ารังเกียจเดียดชังกลุ่มคนรักร่วมเพศ (Anti-Homosexual) และมันจะมีช็อตที่นักสืบและ Anna เดินเข้าประตูห้องสัตว์ประหลาดมาพร้อมกัน แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเหล่านี้นั้นอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง หมกมุ่นมักมากในกามคุณ ไม่แตกต่างจากปีศาจร้ายเข้าสิง

Mark ได้รับม้วนฟีล์มจาก Heinrich พอนำมาเปิดชม เริ่มต้นพบเห็นการบันทึกภาพตนเอง (=ภาพยนตร์เรื่องนี้คือกึ่งๆอัตชีวประวัติผู้กำกับ Żuławski) จากนั้นถ่ายทำ Anna กำลังทำการสอนสาวๆ ฝึกซ้อมเต้น ยืดแข้งยืดขา ซึ่งจะมีเด็กหญิงคนหนึ่งที่เธอพยายามพูดกดดัน บีบบังคับ เค้นคั้นให้แสดงศักยภาพออกมา แต่ผลลัพท์กลับทำให้เธอเจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ มิอาจอดรนทน จนวิ่งหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้

เราสามารถเปรียบเทียบการกระทำของ Anna ไม่แตกต่างจากผู้กำกับ Żuławski พยายามบีบเค้นคั้นนักแสดงให้นำเอาศักยภาพ ความสามารถ (ด้านการแสดง) กลั่นออกมาจนถึงขีดสุด ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ!

ฉากถือเป็นไฮไลท์ ขีดที่สุดการแสดงของ Isabelle Adjani ย่อมหนีไม่พ้น “Aria of Hysteria” เริ่มต้นจาก Anna จับจ้องมองพระเยซูคริสต์ ไม่รู้กำลังครุ่นคิดอธิษฐานอะไร (หรือบังเกิดอารมณ์ทางเพศก็ไม่รู้นะ) แต่ระหว่างทางกลับอพาร์ทเม้นท์ ยังสถานีรถไฟใต้ดิน ราวกับถูกวิญญาณเข้าสิง ‘possession’ แต่ก็ไม่รู้ปีศาจหรือพระเป็นเจ้าที่พยายามขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากครรภ์ของเธอ (ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์)

I told Adjani to fuck the air.

Andrzej Żuławski

นี่เป็นฉากที่สูบทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของ Adjani เพราะต้องถ่ายทำถึงสองเทค (เผื่อเอาไว้ถ้าเทคแรกมีปัญหา จะได้ใช้เทคสอง) ใส่อารมณ์ กรีดกราย เริงระบำอย่างสุดเหวี่ยง (ล้อกับที่ว่าตัวละครเป็นครูสอนเต้นบัลเล่ต์) เพื่อนำไปสู่ไคลน์แม็กซ์ของฉากนี้คือน้ำสีขาวๆไหลนองออกมาจากช่องคลอด … บางคนมองว่าคือการแท้งลูก (ที่มีกับสัตว์ประหลาด) แต่ส่วนใหญ่ครุ่นคิดว่าน้ำกามไหลหลั่ง

ภายในอพาร์ทเม้นท์ของ Mark จากเคยสะอาดเอี่ยมอ่อง จัดข้าวของเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เมื่อภรรยาเลิกราหย่าร้าง สิ่งข้าวของก็เริ่มกระจัดกระจาย เรียงรายเกลื่อนกราด ไร้บุคคลคอยจัดเก็บ ทำความสะอาด ก็แทนที่จะว่าจ้างแม่บ้าน … นั่นเพราะผู้กำกับต้องการแสดงให้ถึงสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจของตัวละคร (=สภาพภายในอพาร์ทเม้นท์) รวมถึงอาการผิดๆแผกๆของ Anna เอามือบิดๆถูๆ แสดงท่าทางรังเกียจขยะแขยง ไม่ยินยอมให้เขาสัมผัสจับต้องอีกต่อไป

แซว: ขณะที่โทนสีในอพาร์ทเม้นท์คือน้ำเงิน อันแห้งแล้ง หนาวเหน็บ แต่เจ้าโทรศัพท์กลับเป็นสีแดงโดดเด่นขึ้นมา ถ้าใครช่างสังเกตก็จะพบว่ามันเป็นเครื่องมือสื่อสารโลกภายนอก ที่มักนำพาเรื่องร้ายๆ ข่าวสารไม่ค่อยอยากรับฟัง ค่อยๆทำให้ห้องพักมีสภาพอย่างที่พบเห็น

ความตายของสองชู้ (ชายสมบูรณ์แบบ vs. หญิงไม่สมประกอบ) ต่างมีลักษณะน่าสมเพศเหลือทน

  • Heinrich ถูก Mark จับกดศีรษะลงในโถส้วมห้องน้ำ สถานที่สำหรับถ่ายสิ่งปฏิกูล ของเสีย แสดงถึงความต่ำตม สกปรกโสมม ตกตายโดยปราศจากลมหายใจ
  • Sara ดูจากร่อยรองแผล น่าจะเกิดจากถูก Anna กรีดคอจนเลือดอาบ ยังลิฟท์ที่เคลื่อนลงมายังชั้นล่าง ไม่ต่างจากนางฟ้าตกจากสรวงสวรรค์ สูญเสียความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง

หลังจาก Mark เข่นฆ่าชายชู้ Heinrich, Anna เชือดคอหญิงชู้ Sara, ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นปีศาจร้าย สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ จึงสามารถมองตารู้ใจ หวนกลับมาคืนดี ยินยอมให้สัมผัสลูบไล้ และมีเพศสัมพันธ์ร่วมกันได้อีกครั้ง! สังเกตว่าเริ่มจากขณะยืน พอสำเร็จกามกิจก็นอนราบกับพื้น (ในห้องครัว สถานที่ปรุงรสความสัมพันธ์)

แต่แม้การร่วมรักครั้งนี้จะสร้างความพึงพอใจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ Anna ละเลิกจากการมี Sex กับสัตว์ประหลาด (ที่มอบประสบการณ์ทางเพศได้เหนือกว่า) นั่นสร้างความหมดสิ้นหวังโดยสิ้นเชิงให้กับ Mark

Carlo Rambaldi (1925-2012) นักออกแบบ Special Effects สัญชาติอิตาเลี่ยน เริ่มมาโด่งดังระดับนานาชาติจาก King Kong (1976), Alien (1979), E.T. the Extra-Terrestrial (1982), Dune (1984) ฯลฯ

แรงบันดาลใจของสัตว์ประหลาดตัวนี้ ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนศิวลึงค์ (Phallic Monster) เต็มไปด้วยหนวดที่สามารถสอดใส่ กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เพื่อเติมเต็มความต้องการทางเพศของหญิงสาว

Carlo Rambaldi: The producer told me it was a sort of sexual symbol.
Andrzej Żuławski: That’s not a symbol, it’s a penis.

นั่นแปลว่าเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ไม่ได้มีนัยยะเชิงสัญลักษณ์อะไรเลย เพียงแค่สิ่งนามธรรมเหนือธรรมชาติที่สามารถควบคุม ครอบงำ เข้าสิง ‘possession’ (ใช้หนวด)บงการมนุษย์กระทำสิ่งชั่วร้าย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ผู้ชม/ผู้กำกับ Żuławski พบเห็นแล้วรู้สึกน่ารังเกียจขยะแขยง … นั่นก็คือพฤติกรรมของอดีตภรรยา Braunek คบชู้นอกใจตนเอง

แซว: โดยปกติแล้วการเตรียมงานของ Carlo Rambaldi ต้องใช้เวลาหลายวัน บางช็อตก็เป็นเดือนๆ แต่สำหรับ Possession (1981) ด้วยทุนสร้างน้อยนิดจึงมีแค่ 7 วันสร้างสัตว์ประหลาด และ 2 วันถ่ายทำ เท่านั้นเอง!

วินาทีที่มารดาของ Heinrich ลาจากโลกนี้ไป จู่ๆลมพัดแรง ทำให้หน้าต่างเปิดออกมา เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้สึกขนลุกขนพองขึ้นโดยทันที หนังจงใจสร้างสัมผัสเหนือธรรมชาตินี้ เพื่อล้อกับการมีตัวตนของสัตว์ประหลาด คือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุและผล (แต่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนความต้องการของผู้สร้างภาพยนตร์)

การเสียชีวิตของตัวละครนี้ ดูเหมือนไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ แต่ผมครุ่นคิดว่าต้องการสื่อถึงบางสิ่งอย่างภายในจิตใจของ Mark ได้ตกตายจากไป หลังจากพบเห็น Anna ยังคงมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด ทั้งๆเพิ่งหวนกลับมาคืนดีก่อนหน้านี้! … สิ่งที่สูญหายไปของ Mark น่าจะคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ เพราะมารดาของ Heinrich ดูปกติสุด(เป็นมนุษย์ที่สุด)ในหนังแล้วกระมัง

ใครเคยรับชมผลงานเรื่องแรก The Third Part of the Night (1971) ของผกก. Żuławski ย่อมรู้สึกมักคุ้นเคยกับหลายๆองค์ประกอบ โดยเฉพาะความตายยังบันไดวน แล้วจู่ๆบุคคลหน้าเหมือน ‘doppelgänger’ ก็ปรากฎตัวขึ้นมา ทำให้ทุกสิ่งอย่างเหมือนเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

นัยยะเชิงสัญลักษณ์ของ doppelgänger ก็คือบุคคลเดียวกันนะแหละ (หลายคนตีความว่าตัวปลอมนี้คือวิวัฒนาการของสัตว์ประหลาด กลายร่างมาเป็น Mark) แต่อาจมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม หรือในบริบทนี้ต้องการสื่อถึงการถือกำเนิดใหม่ ตัวตนเก่ากำลังตกตายไป หรือบางสิ่งอย่างภายในจิตวิญญาณได้สูญสลาย

แซว: หลังจากถูกกราดยิง Anna ทรุดล้มลงนอนทับ Mark ตรงเป้ากางเกงพอดิบดี นั่นรวมถึงช็อตยิงตัวตายคู่(โดย Anna) มันต้องทำท่าพิศดารๆ ยิงจากข้างหลัง เพื่อให้ตำแหน่งพอดิบพอดีระหว่างมดลูกกับอวัยวะเพศชาย … ผมคงไม่ต้องอธิบายกระมังว่าหนังต้องการสื่อถึงอะไร

ไม่ใช่ว่า Mark สิ้นลมหายใจแล้วรึ? เหตุไฉนถึงสามารถผลักดันตนเองให้ตกลงมาเบื้องล่าง? แต่ผมมองฉากนี้ในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบกับ doppelgänger ของ Mark ใช้หญิงสาวคนหนึ่งเป็นฐานปีนป่ายหลบหนีขึ้นบนหลังคา … กล่าวคือ การมีตัวตนของ Mark ตัวปลอม (กำลังปีนป่ายขึ้นจุดสูงสุด) ได้ทำให้ตัวจริงตกต่ำลงสู่ภาคพื้นดิน

ตัวประกอบสาวคนนี้ก็มีความน่าฉงนอย่างมากๆ แทนที่จะหวาดสะพรึงกลัวต่อคนตายหน้าห้อง กลับแสดงความลุ่มหลงใหลในกระบอกปืน (สัญลักษณ์ของลึงค์) ดูมีสีหน้าหื่นกระหาย ยินยอมศิโรราบต่อ doppelgänger ของ Mark ให้เขาเหยียบย่ำ ปีนป่าย (ใบหน้าของเธอตรงตำแหน่งเป้ากางเกงพอดิบดีอีกเช่นกัน) … ผมรู้สึกว่าฉากนี้เป็นการเหมารวมของผู้กำกับ Żuławski ไม่ใช่แค่อดีตภรรยา แต่ยังลามปามเหมารวมถึงสตรีคนอื่นๆ กล่าวหาว่ามีความหมกมุ่นมักมาก สนเพียงกามคุณ ทำตัวราวกับถูกปีศาจร้ายเข้าสิ่ง เพื่อตอบสนองตัณหาทางเพศไม่แตกต่างกัน

หนึ่งในหัวหน้าองค์กรสายลับ หลังกำจัดคนทรยศ Mark สิ่งที่เขาทำระหว่างเดินขึ้นบันได คือถอดรองเท้านำมาตรวจสภาพพื้น (ว่าไม่ได้เปลอะเปลื้อนเลือดของ Mark) เพื่อสื่อการไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคน พยายามทำตัวขาวสะอาด แต่ภายในกลับสกปรกโสมม ขณะที่ถุงเท้าสีชมพู หลายคนอาจมองว่าชายคนนี้คือสัตว์ประหลาด รสนิยมรักร่วมเพศ (แบบเดียวกับสองทนาย) แต่ผมยังครุ่นคิดว่ามันคือสีฟอกแดง (เลือด) คราบเลือดที่พยายามทำความสะอาดให้ขาวบริสุทธิ์ แต่ก็เจือจางได้แค่นี้แหละ

เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัย ไม่ใช่ว่าต้องหลบซ่อนใต้โต๊ะหรอกหรือ? แต่เด็กชาย Bob กลับวิ่งขึ้นบันไดวน แล้วลงไปดำผุดดำว่ายในอ่างอาบน้ำ นี่ทำให้ผมครุ่นคิดถึงทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง หลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้จิตสำนึก ไม่ต้องการลุกขึ้นมาเผชิญหน้าโลกความจริง ปฏิเสธยินยอมรับพฤติกรรมของทั้งบิดา-มารดา

บางคนอาจมองแค่ว่าเด็กชายเหมือนมีจิตสัมผัสบางอย่าง รับรู้ว่าบุคคลที่อยู่ภายนอกห้องไม่ใช่บิดา จึงส่งเสียงเตือน Helen ไม่ให้เปิดประตูรับสิ่งชั่วร้ายเข้ามา แต่เพราะเธอปฏิเสธรับฟัง เขาจึงเริ่มทำการปิดกั้นตัวเอง

แสงไฟวูบๆวาบๆ แม้หนังให้คำอธิบายว่าคือสัญญาณเตือนภัย สถานที่แห่งนี้ราวกับกำลังจะถูก (East German) โจมตีทางอากาศ แต่อาจเหมารวมถึง doppelgänger ของ Mark เห็นเพียงเงาลางๆยืนอยู่หน้าประตูห้อง เหมือนต้องการบุกเข้ามากระทำสิ่งชั่วร้ายอะไรสักอย่าง

แต่ถึงอย่างนั้นกล้องที่ค่อยๆเคลื่อนเข้าหาใบหน้าของ Helen หันมาสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ดูอันตราย โฉดชั่วร้าย เต็มไปด้วยเลศนัยบางอย่าง … แสงวูบๆวาบๆ เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง ผมมองในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ใครกันจะไปคาดคิดจินตนาการ หญิงสาวสวยคนนี้อาจมีสิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน

แซว: ดวงตาของ Helen จู่ๆทำให้ผมครุ่นคิดว่าเธออาจไม่ใช่มนุษย์ แบบเดียวกับ doppelgänger ของ Mark คือสัตว์ประหลาดที่วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ ก็ได้เช่นกัน!

หนังจงใจค้างคาตอนจบว่า Helen เปิดหรือไม่เปิดประตู? แต่เอาจริงๆมันคาดเดาไม่ยากเลยนะครับ สังเกตจากจากปฏิกิริยาสีหน้าตัวละคร ดูแล้วต้องเปิดออกอย่างแน่นอน … ซึ่งสามารถสะท้อนความ ‘Misogyny’ ที่เต็มไปด้วยอคติต่อภรรยาของผู้กำกับ Żuławski ได้อย่างชัดเจน!

ตัดต่อโดย Marie-Sophi Dubus และ Suzanne Lang-Willar,

เริ่มต้นหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Mark ตั้งแต่เสร็จสิ้นภารกิจเพื่อชาติ แต่แทนที่จะได้รับความสงบสุข กลับต้องเผชิญหน้าช่วงเวลาแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง ถูกภรรยาขอเลิกราหย่าร้าง จับได้ว่าคบชู้ชายอื่น, ส่วนครึ่งหลังมุมมองของหนังจะสลับสับเปลี่ยนแปลงไป โดยมีจุดหมุนคือ Anna และ Helen (Doppelgänger ของกันและกัน)

  • ครึ่งแรก นำเสนอผ่านมุมมองของ Mark
    • Mark เดินทางกลับมาบ้าน สังเกตสภาพผิดปกติของภรรยา Anna
    • Anna พยายามเลิกราหย่าร้าง Mark แต่เขาแสดงความเกรี้ยวกราด ใช้ความรุนแรง ตกอยู่ในสภาพคลุ้มบ้าคลั่ง เสพยา และครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย
    • เมื่อฟื้นคืนสติก็เริ่มออกค้นหาสาเหตุผล ทำไมภรรยาถึงเปลี่ยนแปลงไป
  • ครึ่งหลัง
    • ผู้ช่วยนักสืบ ออกติดตาม Anna ไปจนถึงอพาร์ทเมนท์หลังหนึ่ง
    • Mark เริ่มต้นสานสัมพันธ์กับ Helen
    • นักสืบเอกชน ประสบโชคชะตาเดียวกับชายคนรัก (ผู้ช่วยนักสืบ)
    • อาการคลุ้มบ้าคลั่งของ Anna จนน้ำกามไหลหลั่ง
    • Heinrich ติดตามไปพบเจอ Anna ค่อยตระหนักถึงความคลุ้มบ้าคลั่ง ก่อนถูกฆ่าปิดปากโดย Mark
    • Mark พยายามจะคืนดีกับ Anna แต่สิ่งเกิดขึ้นกลับคือ Helen ครองรักกับอีกตัวปลอมของตนเอง

ครึ่งแรก-ครึ่งหลังของหนัง แทบจะเป็นหนังคนละม้วน มีความแตกต่างตรงกันข้าม หรือจะว่าคือวิวัฒนาการของชีวิตก็ได้เช่นกัน

  • ครึ่งแรกนำเสนอดราม่าเข้มข้น เรื่องราวจับต้องได้ในเชิงรูปธรรม ด้วยสไตล์ John Cassavetes ขายฝีไม้ลายมือด้านการแสดงของ Sam Neill และ Isabelle Adjani ใส่อารมณ์กันอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ตบกันเลือดอาบ สภาพปางตาย
  • ครึ่งหลังแปรสภาพสู่หนังแนว Body Horror ผสมกับ Sci-Fi ตั้งคำถามอภิปรัชญาถึงพระเจ้า-ซาตาน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับปีศาจร้าย มีความเซอร์เรียล เหนือจริง อิ่มหนำด้วยภาษาภาพยนตร์ จนต้องขบครุ่นคิดในเชิงนามธรรม

แซว: ไม่รู้ทำไมรับชม Possession (1981) แล้วทำให้ผมนึกถึง From Dusk Till Dawn (1996) กำกับโดย Robert Rodriguez, เขียนบทโดย Quentin Tarantino แม้งก็อารมณ์คล้ายๆกันนี้เลยนะ ครึ่งแรกแนวโจรกรรมหลบหนี ส่วนครึ่งหลังกลายสภาพเป็นล่าแวมไพร์ซะงั้น!


เพลงประกอบโดย Andrzej Korzyński (1940-2022) นักแต่งเพลงชาว Polish สำเร็จการศึกษาจาก Fryderyk Chopin University of Music แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda และ Andrzej Żuławski มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Birch Wood (1970), The Third Part of the Night (1971), Man of Marble (1977), Man of Iron (1981), Possession (1981) ฯลฯ

งานเพลงของ Korzyński มอบสัมผัสหลอกหลอน มีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการทดลองทางดนตรีที่หลากหลาย แต่หลักๆสามารถเหมารวมสไตล์ Psychedelic Rock เพื่อสร้างความสับสน กระวนกระวาย กรีดกรายทรวงใน สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละคร สอดคล้องไดเรคชั่นผู้กำกับ Żuławski อย่างน่าอัศจรรย์ใจ … Żuławski และ Korzyński ถือเป็นอีกคู่ขวัญ ผู้กำกับ-นักทำเพลง ไม่สามารถแยกทั้งสองออกจากกัน

แค่เพียงเสียงแรกของบทเพลง The Night The Screaming Stops ก็สร้างความเสียวสันหลัง สั่นสะท้านทรวงใน สร้างบรรยากาศแห่งความลึกลับ สลับซับซ้อน มันต้องบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น ภยันตรายอยู่รอบข้างกาย ใครกันจะถูกปีศาจร้ายเข้าสิง … เป็นบทเพลงที่สามารถสร้างความแรกประทับใจ ‘first impression’ ได้โดยทันที ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Dario Argento และนักทำเพลงคู่ขวัญ Goblin ขึ้นมาโดยพลัน!

ลองมาฟังท่วงทำนอง Main Theme ในแบบฉบับ Orchestra Theme ที่ต้องถือว่ามีความนุ่มนวล ลุ่มลึก สร้างความรู้สึกสั่นสะท้านทรวงใน แตกต่างจากสไตล์ Psychedelic Rock มุ่งเน้น(เสียงกลอง)ให้หัวใจโลดเต้นเป็นจังหวะ มอบสัมผัสภายนอก ขนลุกขนพอง ความเย็นสยองค่อยแทรกซึมซับเข้าสู่ภายใน

และอีกฉบับ Main Theme ที่หลงเหลือเพียงเสียงไวโอลินเป็นหลัก (บางครั้งบรรเลงเปียโน, เป่าขลุ่ย ฯลฯ) นี่ก็มอบสัมผัสที่แตกต่างจากทั้งสองฉบับ โดยจะมุ่งเน้นตัวบุคคล กำลังออกค้นหา พานพบเจอ หรือได้ทำบางสิ่งอย่างที่ชวนให้ผู้ชมบังเกิดความฉงนสงสัย กำลังจะมีอะไรบังเกิดขึ้นหรือเปล่า?

Possession (1981) นำเสนอเรื่องราวการเลิกราหย่าร้างของสามี-ภรรยา (หรือก็คือผู้กำกับ Andrzej Żuławski และภรรยา Małgorzata Braunek) ปฏิกิริยาแรกของฝ่ายชายคือสับสน งุนงง ฉันทำผิดอะไร? มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? เมื่อพบเจอฝ่ายหญิงก็แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาอย่างรุนแรง จากนั้นทำร้ายตนเองด้วยการใช้สารเสพติด ครุ่นคิดจะทำอัตวินิบาต แต่เพราะบุตรชายจึงทำให้สามารถฟื้นคืนสติ และครุ่นคิดเริ่มต้นสืบสวนสอบสวน ค้นหาข้อเท็จจริง เพราะเหตุใด? ทำไมเธอถึงตัดสินใจทอดทิ้งจากไป?

ครึ่งหลังของหนังนำเสนอการปรับตัวของ Mark/ผู้กำกับ Żuławski ในทางกายภาพคือให้สามารถดำรงชีวิต ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย เริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ขณะเดียวกันทางจิตภาพกลับเต็มไปด้วยอคติต่ออดีตภรรยา Anna กลายเป็นบุคคลไม่สามารถควบคุมสติ อารมณ์ ความต้องการของตนเอง ไม่ใช่แค่คบหาชายชู้ แต่ยังเกินเลยเถิดไปถึงมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด ไม่ต่างจากถูกปีศาจร้ายเข้าสิง จนต้องถือว่าหมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์

ไม่ว่าผมจะมองจากทิศทางไหน Possession (1981) คือภาพยนตร์ที่แสดงความ Misogyny (เกลียดชังผู้หญิง) นำเสนออคติของผู้กำกับ Żuławski ต่ออดีตภรรยา Braunek ด้วยการระบายความอึดอัดอั้น คลุ้มบ้าคลั่ง ไม่ยินยอมรับสิ่งที่บังเกิดขึ้น นำมันประจานออกสู่สาธารณะ (revenge film) เรียกร้องหาความเห็นใจจากผู้อื่น ฉันทำผิดอะไรถึงต้องทนทุกข์ทรมานเพียงนี้?

ผู้ชมส่วนใหญ่คงรู้สึกสงสารเห็นใจ ผกก. Żuławski แต่ผมอยากให้สังเกตว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แม้งโคตรๆ ‘manipulate’ ให้รู้สึกว่าฉันถูก ฉันไม่เคยทำสิ่งเลวร้าย ยัยนั่นต่างหากที่คบชู้นอกใจ ไม่อธิบายเหตุผลใดๆที่จับต้องได้ เพียงนำเสนอผ่านมุมมองของตนเอง แล้วใส่อารมณ์ ความเกรี้ยวกราด ชี้นำว่าทั้งหมดทั้งมวลคือความผิดของเธอที่ทำให้ฉันคลุ้มบ้าคลั่ง จึงสาปแช่ง(ด้วยภาษาภาพยนตร์)จงกลายเป็นปีศาจร้าย และได้มีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด

หรืออย่างสัตว์ประหลาดที่หญิงสาวมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้น ผมอธิบายไปแล้วว่าไม่ได้มีนัยยะเชิงสัญลักษณ์อะไรเลย เพียงแค่สิ่งเหนือธรรมชาติที่สามารถควบคุม ครอบงำ เข้าสิง ‘possession’ (ใช้หนวด)บงการมนุษย์กระทำสิ่งชั่วร้าย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ผู้ชม/ผู้กำกับ Żuławski พบเห็นแล้วรู้สึกน่ารังเกียจขยะแขยง … นั่นก็คือพฤติกรรมของอดีตภรรยา Braunek คบชู้นอกใจตนเอง

ใครกันแน่สมควรถูกเรียกว่าไร้ความเป็นมนุษย์? ระหว่าง…

  • ภรรยาตัดสินใจเลิกราหย่าร้างสามี ไม่ให้เหตุผล คำอธิบายใดๆ เพียงตีตนจากไป
  • สามีผู้ตกอยู่ในสภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง เคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย แล้วนำเอาประสบการณ์ครั้งนั้นมาทำเป็นภาพยนตร์ สรรค์สร้างอวตารอดีตภรรยา ให้มีความอัปลักษณ์ พฤติกรรมน่ารังเกียจ และมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด

เพื่อสำแดงความรังเกียจภรรยา ให้เป็นงานศิลปะชั้นสูง ผกก. Żuławski จึงนำเสนอพื้นหลังยังประเทศ Germany ที่ขณะนั้นถูกแบ่งแยกออกเป็น West Germany และ East Germany ถ่ายทำยังกำแพงตั้งตระหง่านกลางกรุง Berlin นั่นไม่แตกต่างจากสามี-ภรรยา ตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง สร้างกำแพงที่มองไม่เห็นขึ้นมาขวางกั้นระหว่างกัน … เอาจริงๆนัยยะนี้เฉิ่มมากนะครับ เพราะผกก. Żuławski หน้ามืดตามัวอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ถึงอนาคต ครุ่นคิดความเป็นไปได้ว่าสักวันหนึ่งกำแพง Berlin จักพังทลายลง

นอกจากนี้เรื่องราวของหนัง ยังสามารถสะท้อนถึงการที่ผกก. Żuławski ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นบัญชีดำ ขับไล่ผลักไสออกนอกประเทศบ้านเกิด Poland ระหว่างสรรค์สร้างภาพยนตร์ On the Silver Globe (เริ่มโปรดักชั่นปี 1976 แต่กว่าจะถ่ายทำเสร็จ ได้นำออกฉายปี 1988) ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่ากระทำความผิดอะไร? นี่ก็ไม่ต่างจากสามี-ภรรยา ตัดสินใจเลิกราหย่าร้างเช่นเดียวกัน!

ยังมีนักวิจารณ์บางคงมองหนังกว้างไปกว่านั้น สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Eastern Bloc กับสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 80s ที่กำลังเริ่มเหินห่าง บังเกิดรอยร้าวขัดแย้ง ใกล้ถึงจุดแตกแยก/ล่มสลาย เพราะประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านั้นต่างเริ่มลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย

รับชม Possession (1981) ทำให้ผมตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ของผกก. Żuławski ไม่แตกต่างจาก Jean-Luc Godard คือจอมเผด็จการในครอบครัวที่ชอบบงการ ชี้นิ้วโน่นนี่นั่น หุบปากแล้วทำตามคำสั่ง เหมือนตัวละคร Helen ที่ถือเป็น ‘ideal housewife’ … จะว่าไปหญิงสาวรสนิยม’ชายเป็นใหญ่’ก็มีอยู่เยอะนะครับ แต่ในยุคสมัย Feminist ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็น Blacklist ที่โคตรอันตรายจริงๆ


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่การแสดงของ Isabelle Adjani เป็นที่ถูกอกถูกใจคณะกรรมการ เลยสามารถคว้ารางวัล Best Actress และยังส่งต่อให้ปลายปีเป็นผู้ชนะ César Awards: Best Actress (หนังไม่ได้เข้าชิง César Award รางวัลอื่นเลยนะครับ)

ด้วยทุนสร้าง $2.4 ล้านเหรียญ มียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียง 541,120 ใบ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “Heaven’s Gate (1980) แห่งทวีปยุโรป” เพราะส่วนใหญ่ถูกแบนห้ามฉาย (ประเทศอังกฤษมีคำเรียกว่า ‘video nasties’) ไม่ก็ถูกหั่นฉากโน่นนี่นั่นออกจากต้นฉบับ 124 นาที หลงเหลือความยาวตั้งแต่ 80-97-119 นาที (เปลี่ยนแปลงไปตามกองเซนเซอร์ประเทศต่างๆ)

กาลเวลาทำให้ได้รับกระแสคัลท์ (Cult Following) จากยอดจำหน่าย VHS, CD/DVD, Blu-Ray และโรงฉายหนังรอบดึก (Midnight Screen) และนักวิจารณ์ได้ประเมินความคิดเห็นต่อหนังใหม่

one of the most enigmatic and uncompromising horror movies in the history of cinema.

นักวิชาการภาพยนตร์ Bartłomiej Paszylk

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะมาแล้วสองครั้ง ซึ่งได้ทำการฟื้นฟูจากฟีล์มต้นฉบับแท้ๆ (ไม่ใช่ฉบับที่ถูกหั่นออกเมื่อเข้าฉายหลายประเทศ) ครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2021 คุณภาพ 4K (ในโอกาสครบรอบ 40 ปี) เมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา นักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆก็ยังคงยกย่องสรรเสริญ ทรงพลัง เหี้ยมโหดร้าย เหนือกาลเวลา

remains one of the most grueling, powerful, and overwhelmingly intense cinematic experiences that you are likely to have in your lifetime.

นักวิจารณ์ Peter Sobczynski

รับชม Possession (1981) เป็นประสบการณ์ยากยิ่งจะลืมลง หลอกหลอน สั่นสะท้านทรวงใน ทำเอาค่ำคืนนั้นผมนอนไม่หลับไปหลายชั่วโมง คุณภาพระดับมาสเตอร์พีซ แต่ส่วนตัวคงไม่มีวันหวนกลับมาดูซ้ำอย่างแน่นอน เพราะจริตของผู้กำกับ Żuławski น่าขยะแขยงยิ่งกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอีก!

Possession (1981) เหมาะสำหรับคนที่ชอบหนังหลอนๆ (Horror) เชิงจิตวิทยา (Psychology) มีความอัปลักษณ์พิศดาร สัตว์ประหลาดน่าขยะแขยง, ทำงานด้านการแสดง รับชม Masterclass ของ Sam Neill และ Isabelle Adjani,

จัดเรต NC-17 กับความระห่ำ บ้าเลือด โป๊เปลือย ใช้ความรุนแรง ฆาตกรโรคจิต

คำโปรย | Possession คือความเสียสติแตกของผู้กำกับ Andrzej Żuławski จนหมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | เดรัจฉาน

Trzecia część nocy (1971)


The Third Part of the Night (1971) Polish : Andrzej Żuławski ♥♥♥♡

บิดาของผู้กำกับ Andrzej Żuławski ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยินยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อครอบครัว เข้าร่วมวิจัยโรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus) ด้วยการให้เห็บ/หมัด ดื่มเลือดเป็นอาหาร (lice-feeding) … แค่คิดแม้งก็สยองแล้ว

ภาพยนตร์นรกแตกเรื่องแรกของ Andrzej Żuławski ที่จะทำให้ผู้ชมคันคะเยอ เกาหัวจนถลอกปอกเปิก พร้อมสร้างความแสบไส้ สั่นสะท้านทรวงใน ลองจินตนาการถึง 8½ (1963) แต่ออกแนว (Body) Horror ไปทาง John Carpenter (แต่เรื่องนี้ยังไม่มีกลิ่นอาย John Cassavetes แบบ Possession (1981)) ต้องถือว่า Żuławski เป็นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สรรค์สร้างผลงานโคตรๆเซอร์เรียล (Surrealist) สลับซับซ้อนชิปหาย ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอดรนทนไหว

เบื้องต้นลองขบครุ่นคิดกันดูก่อนว่า การบริจาคเลือดให้เห็บ/หมัด เคลือบแฝงนัยยะอะไร?? ทำไมถึงใช้วิธีตัดต่อสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน ภาพเหตุการณ์ซ้อนทับกัน ตัวละคร doppelganger สิ่งใดจริง? สิ่งใดเท็จ? ถ้าคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจ 8½ (1963) ก็อย่าเพิ่งเสียเวลาหาผลงานของ Żuławski มารับชมเลยนะครับ

The Third Part of the Night (1971) คงเพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผกก. Żuławski เลยยังมีรายละเอียดขาดๆเกินๆ บ้าเลือดรุนแรงชิบหาย แต่ก็ท้าทายให้รับชมรอบสองสาม เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ให้ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ เตรียมความพร้อมก่อนสยดสยองกับ Possession (1981)


Andrzej Żuławski (1940-2016) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ Polish เกิดที่ Lviv ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตยึดครอง Poland (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Ukraine) ซึ่งหลังจากถูก Nazy Germany ทิ้งระเบิดเมื่อปี 1941 ทำให้มารดา/พี่สาวเสียชีวิต ส่วน Andrzej สูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง, หลังสิ้นสุดสงคราม บิดาได้รับแต่งตั้งเป็นทูตที่ฝรั่งเศส (ทำให้พูดฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว) ก่อนย้ายมาอยู่กับย่าที่ Czechoslovakia แนะนำให้รู้จักกับภาพยนตร์ เกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเติบโตขึ้นเลยเดินทาง(กลับฝรั่งเศส)มาร่ำเรียน Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) แล้วมีโอกาสรับรู้จัก Roman Polański เขียนจดหมายแนะนำ Andrzej Wajda จนมีโอกาสเป็นผู้ช่วย Samsom (1961), Love at Twenty (1962), The Ashes (1965) ระหว่างนั้นก็มีโอกาสเขียนบท/ทำหนังสั้นฉายโทรทัศน์ และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Third Part of the Night (1971)

Trzecia część nocy ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของบิดา Mirosław Żuławski (1913-95) นักเขียน/นักข่าว นักการทูต เกิดที่ Nisko ร่ำเรียนกฎหมายจาก Lviv University แต่จบออกมาทำงานเขียนบทกวีลงนิตยสาร Sygnały, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองกำลังใต้ดิน Związek Walki Zbrojnej ต่อด้วย Armia Krajowa ซึ่งพอมีบุตรชายก็ตัดสินใจเข้าร่วมสถาบันวิจัย Weigel Institute ของ Prof. Rudolf Weigl ค้นพบวิธีสร้างวัคซีนไข้รากสาดใหญ่ด้วยการเพาะพันธุ์เห็บ/หมัด

เกร็ด: หลังสงครามสิ้นสุด Mirosław Żuławski ได้รับแต่งตั้งผู้แทนถาวรองค์การ UNESCO ประจำอยู่กรุง Paris ต่อมากลายเป็นเอกอัครราชทูตยังประเทศ Senegal และ Mali

Żuławski บอกว่าแทบไม่ได้ปรับเปลี่ยนเรื่องราวใดๆ เพียงแต่ใช้วิธีการนำเสนอผ่านมุมมองความคิดเห็นของตนเองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบิดาขณะนั้นที่เริ่มห่างไกล … กล่าวคือหนังยังซ้อนทับปัจจุบันนั้น (ค.ศ. 1970) ของผกก Żuławski ลงไปอย่างแนบเนียนโคตรๆ

My father fed lice, the commander of Armia Krajowa was blind, and I was born in similar circumstances as the child of the film’s protagonist. Everything the movie is based on is real.

Andrzej Żuławski (แปลจาก Google Translation)

พื้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง Nazi Germany เข้ายึดครอง Poland, เรื่องราว Michał (รับบทโดย Leszek Teleszyński) พบเห็นมารดา ภรรยา และบุตรชายถูกเข่นฆาตกรรม เขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน Armia Krajowa (Polish Resistance) แต่ยังไม่ทันไรก็ถูกไล่ล่าโดย Gestapo หลบหนีมาจนถึงอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง พบเจอหญิงสาวท้องแก่ใกล้คลอดที่มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับภรรยา

เหตุผลที่ Michał สามารถเอาหลบหนีจาก Gestapo เพราะมีชายคนหนึ่ง (ที่ก็ใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับเขา) ถูกจับกุมตัวแทน ซึ่งชายคนนั้นก็บังเอิญเป็นสามีของหญิงสาวท้องแก่ Helen (รับบทโดย Małgorzata Braunek) ด้วยความรู้สึกผิดที่เป็นต้นสาเหตุดังกล่าว เลยตัดสินใจเข้าร่วมสถาบัน Weigel Institute กลายเป็นผู้บริจาคเลือดแก่เห็บ/หมัด แล้วนำอาหาร สิ่งข้าวของ มาแบ่งปันให้เธอและทารกน้อย

เรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้นเมื่อ Michał ได้รับมอบหมายจาก Armia Krajowa ให้เข่นฆาตกรรมชายคนนั้น (สามีของ Helen) หลังถูกปล่อยตัวจาก Gestapo (เพราะเชื่อว่าคงถูกทรมานจนเปิดโปงทุกสิ่งอย่าง ถือเป็นผู้ทรยศหักหลังองค์กร) แต่เมื่อเขาเผชิญหน้าถึงตระหนักว่าอีกฝั่งฝ่ายก็คือตัวตนเองนะแหละ … doppelganger


Leszek Teleszyński (1947-) นักแสดงสัญขาติ Polish เกิดที่ Kraków โตขึ้นเข้าศึกษายัง Stanisława Wyspiańskiego w Krakowie จบออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวที เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ Andrzej Żuławski เริ่มต้นจาก The Third Part of the Night (1971), The Devil (1972), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Deluge (1974), The Leper (1976) ฯลฯ

รับบท Michał หลังจากสูญเสียครอบครัวต่อหน้าต่อตา เกิดความครุ่นคิดต้องการกระทำบางสิ่งอย่าง จึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน Armia Krajowa แต่โชคชะตานำพาให้พบเจอปาฏิหารย์ หญิงสาวคนนั้นมีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับภรรยา อดีต-ปัจจุบันเลยเริ่มเกิดการซ้อนทับ หรือเป็นผลข้างเคียงจากการติดโรคไข้รากสาดใหญ่ บริจาคเลือดให้เห็บ/หมัดจนเกิดภาพหลอน ไม่สามารถหลบหนีจาก Gestapo ได้ตั้งแต่แรกแล้ว

เกร็ด: ชื่อปลอม Grizzly หลายคนมักครุ่นคิดถึง Grizzly Bear, แต่ถ้าเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) หมายถึง สีเทา, เทาบางส่วน, ผมหงอก ซึ่งสามารถสื่อถึงความท้อแท้ แห้งเหี่ยว หมดสิ้นหวังอาลัย หลังจากต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

Grizzly or Blind. Deaf or Lame. Whatever!

คิ้วของ Teleszyński ช่างมีความน่าสนเท่ห์ยิ่งนัก (สามารถแฝงนัยยะของการเชื่อมต่อระหว่างหลายๆสิ่งอย่าง) กอปรกับยังดูละอ่อนวัย เมื่อพบเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง ผู้ชมสัมผัสถึงความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน รับรู้สึกสงสารเห็นใจ ทำไมโลกใบนี้ช่างแสนเหี้ยมโหดร้าย

บทบาท Michał ถือว่ามีความหลากหลายทีเดียว เริ่มต้นด้วยอาการสันสน ว้าวุ่นวาย ชีวิตสูญเสียเป้าหมาย เมื่อได้พบเจอปาฏิหารย์ก็ทำให้ตัวละครปรับเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นคนมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น และสุดท้ายเมื่อถูกตั้งคำถาม ถึงค้นพบความเป็นจริงแห่งโศกนาฎกรรม

ตัวละครนี้นอกจากเป็นตัวตายตัวแทนของ(บิดา) Mirosław Żuławski ในบางขณะยังสามารถสื่อถึงผู้กำกับ Andrzej Żuławski (โดยเฉพาะตอนกำลังสนทนากับบิดาในหนัง) นั่นเพราะพ่อ-ลูก ต่างก็มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน เป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้หนัง ท้าทายว่าผู้ชมว่ามีความสามารถเพียงพอในการแยกแยะออกหรือไม่!


Małgorzata Braunek (1947-2014) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Szamotuły ร่ำเรียนการแสดงยัง Akademia Teatralna im. Aleksandra Zelwerowicza w Warszawie แต่ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษาก็มีโอกาสรับงานภาพยนตร์ Hunting Flies (1969), Landscape After the Battle (1970), หลังจากร่วมงานผู้กำกับ Andrzej Żuławski เรื่อง The Third Part of the Night (1971) ก็ได้ครองรัก แต่งงาน มีบุตรชายร่วมกัน แต่แค่เพียงไม่กี่ปีก็เลิกราหย่าร้าง (กลายเป็นแรงบันดาลใจ Possession (1981))

รับบท Marta ภรรยาผู้ล่วงลับของ Michał ถูกเข่นฆาตกรรมโดยทหาร Nazi Germany แต่ถึงหมดสิ้นลมหายใจ กลับยังหวนกลับมาในรูปแบบความทรงจำ เมื่อเขาหวนระลึกความหลัง บางครั้งมาเป็นวิญญาณล่องลอย อำนวยอวยพรให้เขาพบเจอรักครั้งใหม่

และ Helen หญิงสาวที่บังเอิญมีใบหน้าพิมพ์เดียวกับ Martha แม้ซาบซึ้งที่ Michał ช่วยทำคลอดให้ แต่เมื่อตระหนักว่าเขาคือต้นสาเหตุให้สามีถูก Gestapo จับกุมตัวไป เลยพยายามขับไล่ ผลักไส ไม่ต้องการพบเจอหน้ากันอีก, ถึงอย่างนั้นเขากลับยินยอมเสียสละตนเอง นำอาหาร ข้าวของเครื่องใช้มาให้ จนเธอยินยอมใจอ่อน แต่ท้ายสุดเมื่อ Gestapo ปลดปล่อยสามีของเธอ มันจึงหลงเหลือหนทางเดียวเท่านั้น

Braunek เป็นคนที่มีพลัง Charisma ด้านการแสดงสูงมากๆ สามารถเล่นสองบทบาท ‘doppelganger’ ได้อย่างโดดเด่น แตกต่างตรงกันข้าม! … น้องสาวที่เป็นแม่ชีของ Michał สามารถแยกแยะออกได้ทันที แต่เขากลับสนเพียงเปลือกภายนอก รูปร่างหน้าตาที่เหมือนกันเท่านั้น

  • Marta เป็นคนเข้มแข็ง มีความแน่วแน่ มั่นคง รักข้างเดียวกับ Michał แม้มีบุตรชายร่วมกัน เขากลับแสดงความเพิกเฉยเฉื่อยชา ครุ่นคิดอยากจะทอดทิ้งเธอไป
  • Helen ดูเป็นคนอ่อนแอ จิตใจเรรวนปรวนแปร เพราะยังคงรักอดีตสามี แรกๆเต็มไปด้วยอคติต่อ Michał แต่ก็ค่อยๆผันแปรเปลี่ยน จนต่างฝ่ายต่างมีใจให้กัน ทำให้เขาไม่ใคร่อยากลาจากเธอไป

เอาจริงๆผมว่า Marta และ Helen ก็คือบุคคลเดียวกันนะแหละ! ความแตกต่างเกิดจากสองช่วงเวลาก่อน-หลัง เมื่อหญิงสาวเรียนรู้จักความรัก ถึงจักแสดงความมั่นคงออกมา (หรือคือ Helen แปรสภาพเป็น Marta) ใครที่แต่งงาน/มีบุตร ก็น่าจะรับรู้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างดี!

ตัวละครนี้นอกจากเป็นตัวแทนของมารดาผู้กำกับ Andrzej Żuławski ความบังเอิ้ญคือสามารถเกี้ยวพาราสีนักแสดง Małgorzata Braunek จนยินยอมตอบตกลงแต่งงานภายหลังเสร็จสิ้นภาพยนตร์เรื่องนี้ … นี่มันทำหนังเพื่อจีบสาว หรือจีบสาวแล้วมาทำหนังกันแน่?


ถ่ายภาพโดย Witold Sobociński (1929-2018) สัญชาติ Polish ช่วงระหว่างเข้าศึกษาการถ่ายภาพ Łódź Film School ยังชื่นชอบการตีกลอง ร่วมก่อตั้งวงดนตรี Jazz ชื่อว่า Melomani, หลังเรียนจบทำงานให้ Polish Television ตามด้วย Film Studios Czolowka ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Family Life (1971), The Third Part of the Night (1971), The Wedding (1972), The Hourglass Sanatorium (1973), The Promised Land (1975), Frantic (1986) ฯลฯ

สไตล์ของ Żuławski จะมีงานภาพที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลา ติดตามตัวละคร บางครั้งก็หมุนวนรอบ ซูมเข้า-ซูมออก เน้นระยะ Medium Shot เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงอารมณ์/ความรู้สึก(ของตัวละคร)อยู่ตลอดเวลา … ใครที่รับชมหนังของ Żuławski แล้วเหน็ดเหนื่อย อ่อนเรี่ยวแรง เหตุผลหนึ่งก็เพราะลีลาการเคลื่อนกล้องที่แทบจะไม่เคยหยุดอยู่นิ่งนี่แหละ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา

อีกจุดเด่นในหนังของ Żuławski มักปรากฎเหตุการณ์รุนแรง หรือเกิดการปะทะทางอารมณ์ขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสำหรับ The Third Part of the Night (1971) ส่วนใหญ่เป็นการลอบสังหาร เข่นฆาตกรรม แทบจะทุกสิบนาทีครั้ง! นั่นสร้างปั่นป่วน ว้าวุ่นวายใจ ผู้ชมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึงกลัว ‘Horror’ ของช่วงเวลา Nazi-occupied Poland ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม

พื้นหลังของหนังคือเมือง Lviv (สถานที่เกิดผู้กำกับ Żuławski) แต่เพราะปีที่ถ่ายทำพานผ่านสงครามโลกมากว่าสองทศวรรษ เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างมากมาย แถมกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ Ukrain ไปแล้ว จึงต้องเปลี่ยนสถานที่มายัง Kraków และบ้านพักชนบทถ่ายทำยัง Lipków


Opening Credit ระหว่างเสียงอ่านคัมภีร์ไบเบิล Revelation 8 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวันสิ้นโลกาวินาศ หนังทำการร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ (น่าจะช่วงฤดูหนาว) พบเห็นต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ ดูแห้งแล้ง ห่อเหี่ยวเฉา รกรุงรังเหมือนหยากไย่ ทำให้บ้านพักหลังใหม่นี้ดูราวกับอารยธรรมแห่งสุดท้ายของมนุษยชาติ

หนังทั้งเรื่องสังเกตว่าจะถูกปรับให้มีโทนสีน้ำเงิน ออกซีดๆ หม่นๆ เพื่อมอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เหือดแห้งแล้ง ไร้ความสดชื่นชีวิตชีวา แทนสภาพหมดสิ้นหวังอาลัยของตัวละคร ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศสักเท่าไหร่

ทั้งระหว่างการสนทนากับบิดา และพบเห็นภาพโศกนาฎกรรมต่อหน้าต่อตาของ Michał สังเกตว่าพื้นด้านหลังจะรายล้อมรอบด้วยกิ่งก้านไม้ ระโยงระยางราวกับหยากไย่ เพื่อสื่อถึงความสับสนวุ่นวาย ชีวิตที่ไร้เป้าหมาย ขาดสีสัน ชีวิตชีวา บางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง ยึดเหนี่ยวพันธนาการ ไม่ให้สามารถดิ้นหลุดพ้นออกไปจากสถานที่แห่งนี้/ประเทศ Poland

สิ่งที่ Michał สนทนากับบิดา คือความสับสนไม่เข้าใจภรรยา ทำไมถึงยินยอมทอดทิ้งสามีคนเก่าอย่างไร้เยื่อใย แถมยังปกปิดอะไรหลายๆอย่าง แม้จะมีบุตรชายร่วมกันแต่ความเชื่อมั่นศรัทธากลับลดน้อยจนแทบไม่หลงเหลือเยื่อใย ถึงอย่างนั้นหลังจากพบเห็นโศกนาฎกรรมบาดตาบาดใจ ก็สร้างความตระหนักให้รับรู้ว่าตนเองรักยัง Marta มากเพียงไหน ตกอยู่ในสภาพท้อแท้ หมดสิ้นหวังอาลัย ทำอะไรต่อไม่ถูกไปสักพักใหญ่ๆ

ผู้กำกับ Żuławski ชื่นชอบการเลือกสถานที่ที่สามารถสื่อนัยยะความหมายบางอย่าง อย่างบันไดทางขึ้นอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ มีลักษณะเวียนวน (เหมือนบันไดวน) สร้างความสับสน มึนงง ระหว่าง Michał กำลังหลบหนีจาก Gestapo ดูยังไงก็ไม่น่าเอาตัวรอดแน่ๆ แต่โชคชะตานำพาให้มีใครสักคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนเปี๊ยบ กลายเป็นแพะ จับผิดตัว

บันไดวนแห่งนี้ยังหวนกลับมาอีกครั้งตอนไคลน์แม็กซ์ ราวกับมันเป็นรูหนอนของจักรวาล เพราะรอบหลังกลับกลายเป็น Michał ที่ถูกยิงกลิ้งตกบันได (หลังจากเผชิญหน้ากับศพของตนเอง แล้วจู่ๆตัดมาฉากนี้ทันที) นั่นก็สร้างความสับสน มึนงงให้ผู้ชม ตกลงมันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้นกันแน่?

ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ สถานที่แห่งนี้ก็คือจุดหมุนของหนัง เชื่อมต่อระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ครั้งแรกที่ Michał ได้พบเจอ Marta และ Helen, แต่ถ้าเราวิเคราะห์ว่าหญิงสาวทั้งสองคือบุคคลเดียวกัน มันจะคือการซ้อนทับความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน และสองช็อตนี้ที่ถ่ายเงยขึ้นด้านบน-ก้มลงเบื้องล่าง

การช่วยเหลือหญิงสาวระหว่างคลอดบุตร ทำให้ Michał ราวกับได้พบเห็นปาฏิหารย์ (ที่ไม่ใช่แค่ Helen หน้าตาเหมือนเปี๊ยบกับ Marta) ขณะเดียวกันเมื่อเขาหันหลังกลับ พบเห็นบุตรชายที่ถูกเข่นฆาตกรรม ติดตามมาหลอกหลอน ย้ำเตือนสติ สะท้อนความสัมพันธ์ที่เหมือนว่าบิดาจะไม่เคยสนใจเด็กน้อยสักเท่าไหร่ (นั่นน่าจะคือเหตุผลที่ทำให้เด็กชายวิ่งกลับหามารดา เลยถูกทหารนาซีเข่นฆาตกรรม)

การปรากฎตัวของเด็กชาย หลายคนอาจครุ่นคิดว่าคือจินตนาการ หรือวิญญาณติดตามมาหลอกหลอน แต่ฉากนี้เรายังสามารถตีความถึงการย้อนอดีต/หวนระลึกความทรงจำของ Michał เพราะหนังพยายามทำให้อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน ซ้อนทับในระนาบเดียวกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะค้นพบคำตอบของตนเองเช่นไร

ฉากนี้ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบิดา Mirosław Żuławski กับบุตรชาย/ผกก. Andrzej Żuławski ที่คงเหินห่างไกล ไม่ค่อยให้ความสนใจ ทำราวกับไม่เคยมีตัวตน (แต่เหตุผลจริงๆอาจเพราะบิดายังไม่สามารถทำใจกับการสูญเสีย พบเจอบุตรชายทีไรก็หวนระลึกถึงโศกนาฎกรรมทุกครั้งไป)

การเปลือยกายพร้อมท่าเกาคันนี้ ชวนให้นึกถึงรูปปั้นเทพเจ้ากรีกโรมัน ซึ่งอาจจะแฝงนัยยะถึงชายคนนี้(อดีตสามีของ Marta/Helen)คือจอมเผด็จการ ผู้มีอำนาจสูงสุดในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (ฉากก่อนหน้านี้หญิงสาวจึงต้องนั่งลงแทบเท้าแล้วเกาขาให้) ชอบออกคำสั่ง บีบบังคับโน่นนี่นั่น อาจคือสาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอต้องการทอดทิ้ง เลิกราหย่าจากเขา เพื่อมาครอบครองรักครั้งใหม่กับ Michał

ขณะเดียวกันชายคนนี้ยังสามารถเป็นตัวแทนของนาซี และรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่ง Poland ปกครองประชาชนด้วยอำนาจเผด็จการ ชอบออกคำสั่ง บีบบังคับโน่นนี่นั่น กีดกันประชาชนไม่ยินยอมให้หลบลี้หนีหายไปไหน

และอีกแง่มุมหนึ่ง ชายคนนี้ยังคือ Michał ในสภาพหลังล้มป่วยจากโรคไข้รากสาดใหญ่ แสดงอาการคันคะเยอ เพ้อคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง เป็นเหตุให้บิดาพาทุกคนออกเดินทางไปอาศัยอยู่บ้านพักต่างจังหวัด ก่อนประสบเหตุโศกนาฎกรรม

นี่เป็นฉากที่น่าจะล้อกับสภาพปัจจุบันของ Mirosław Żuławski หลังจากสิ้นสุดสงคราม ได้รับการแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำองค์การ UNESCO ตามด้วยกลายเป็นเอกอัครราชทูต ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งทรงเกียรติ สูงส่ง เหมือนการละเล่นไวโอลิน ที่คนส่วนใหญ่มักครุ่นคิดว่าคือดนตรีของชนชั้นสูง มองพฤติกรรมของบุตรชายด้วยสายตาดูถูก เหินห่างไกล กั้นขวางด้วยกำแพง ไม่สามารถมองหน้ากันติด

หลายคนอาจสับสนว่า Michał คือตัวแทนของ Mirosław Żuławski ไม่ใช่หรือ? แต่อย่างลืมว่าหนังเรื่องนี้ อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน มันซ้อนทับกันบ่อยครั้ง ฉากนี้ที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-บุตร ขณะเดียวกันก็คือบิดาและผกก. Andrzej Żuławski ก็ได้เช่นเดียวกัน!

ตอนระหว่างรับชมผมก็โคตรสับสนพ่อๆ ลูกๆ อะไรของมันว่ะ? จนกระทั่งพบเห็นอีกช็อตที่ถ่ายตัวละครบิดา และด้านหลังภาพวาดบุตรชาย Michał แถมเขายังพูดว่า “Father and Son” ก็เลยเกิดความตระหนักถึงสำนวน ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อกับลูกต่างก็สืบทอดทางเชื้อสายเลือด ในบางครั้งย่อมสามารถมองว่าคือบุคคลเดียวกัน!

Father and son, it’s supposed to be bone of one’s bone, blood of one’s blood, and yet there’s … a wall, a wall, a wall.

หัวหน้าของ Michał ที่เป็นชายตาบอด คือบุคคลจริงๆตามคำบอกเล่าของ Mirosław Żuławski แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงครุ่นคิดในเชิงสัญลักษณ์ถึงองค์กรใต้ดิน Armia Krajowa (Polish Resistance) ที่แม้มีจุดประสงค์ต่อต้าน Nazi Germany แต่ภายหลังกลับเกิดความขัดแย้งภายในกับสหภาพโซเวียต เลยจบไม่สวยสักเท่าไหร่

กล่าวคือเป็นองค์กรที่ขาดวิสัยทัศน์อันชอบธรรม สนเพียงการโต้ตอบ ความรุนแรง ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ไร้ซึ่งเป้าหมายอนาคต เลยพบจุดจบอันมืดมิดสนิท (หรือจะตีความว่าคืออนาคตประเทศ Poland ที่ยังคงมืดมิดสนิท ไร้หนทางออก)

จู่ๆมีชายสวมผ้าคลุมดำเข้ามาปลุกตื่น Michał พูดคุยเกี่ยวกับคำพยากรณ์อะไรสักสิ่งอย่าง แล้วบอกว่าตนเอง(กับมารดา)กำลังจะออกเดินทางลี้ภัยสู่ Genève, Switzerland แต่ยังไม่ทันจะข้ามชายแดน แค่เดินออกทางกำแพงก็ถูกควบคุมตัวโดย Gestapo แล้ว…

คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันโคตรจะสุ่ม แบบเดียวกับวัยรุ่นอีกคนที่ถูกยิงตายกลางท้องถนน (การสวมผ้าคลุมสีดำสื่อถึงบุคคลนิรนาม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งนั้น) ซึ่งหนังพยายามแทรกความรุนแรงลักษณะนี้ปรากฎอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสจับต้องถึงบรรยากาศ Nazi-occupied Poland ว่ามีความน่าหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัวขนาดไหน

เห็บ/หมัด สัตว์ปรสิตดูดกินเลือดเป็นอาหาร (สัญลักษณ์ของการเสียสละเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่) แต่ขณะเดียวกันมันยังเป็นแหล่งเชื้อโรคไข้รากสาดใหญ่ ใครไม่ได้รับวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกัน ก็อาจถึงขั้นเสียสติ คลุ้มบ้าคลั่ง และตกตายจากไป (ผลที่ได้รับจากการเสียสละ ที่อาจนำพาหายนะหวนกลับหาตนเอง)

Michał is disposed to sacrifice himself for the greater cause, but what happens in reality has nothing to do with the beauty of heroic, romantic gestures. The task of feeding lice is symbolic. Blood donated by the protagonists helps create vaccines, but at the same time it infects one. The soul is sicker than the body: people doing this profession become cold and listless. Michał desperately tries to remain human in a world of chaos. And the apocalypse is coming.

เรื่องราวของอดีตสามีของ Marta สะท้อนถึงอิทธิพลของการเป็นคนให้เลือดแก่เห็น/หมัด มันค่อยๆกัดกินจิตวิญญาณจนหลงเหลือเพียงความเห็นแก่ตัว เยือกเย็นชา เลิกราอดีตภรรยาโดยไม่มีท่าทียี่หร่าอะไร แม้ตอนบังเอิญรับภารกิจเดียวกับ Michał ก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไร บอกว่าตนเองสามารถเอาตัวรอดจากตำรวจ กำลังเตรียมพร้อมจะออกเดินทางไปเริ่มชีวิตใหม่ … นี่ฟังดูคุ้นๆ Déjà vu กับชายที่สวมใส่ผ้าคลุมสีดำ Death Flag ชัดๆ

แต่การถูกฆาตกรรมของชายคนนี้ผมค่อนข้างเชื่อว่าไม่ใช่ฝีมือของ Gestapo แนวโน้มสูงมากๆว่าจะถูกเก็บจากพรรคพวกเดียวกัน Armia Krajowa ปฏิเสธพวกพ้องไม่ยินยอมให้หลบหนี ในวินาทีที่เขากำลังพบเจอรักครั้งใหม่ (กับหญิงสาวคนข้างหลัง)

หนังใช้ฉากเพศสัมพันธ์ที่เหมือนจะเป็นครั้งแรกระหว่าง Michał กับ Helen ผสมผสานการมาถึงของ Marta (เมียเก่ามาดูอดีตผัวร่วมกับเมียใหม่ มันช่างอลวนดีแท้!) ซึ่งสามารถสื่อถึงการเผชิญหน้ากับอดีต ยินยอมรับความผิดพลาดเคยกระทำไว้ต่อภรรยา (Marta) เพื่อชีวิตจักได้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ (กับ Helen) … บางคนอาจตีความว่า Helen=ร่างกาย, Marta=จิตวิญญาณ สื่อถึงการยินยอมรับ ผสมผสานกลายเป็นบุคคลหนึ่ง ก็ได้เช่นกันนะครับ

หลังการร่ำลาของ(วิญญาณ) Marta กล้องเคลื่อนจากเตียงนอนมายังพื้นกระจกที่แตกร้าว กล้องค่อยๆซูมให้เห็นถึงหญิงชราเสียชีวิตอยู่เบื้องล่าง … ซีนนี้ไม่ได้มีนัยยะอะไรซับซ้อนนะครับ เพียงต้องการนำเสนอนามธรรมสู่รูปธรรม การจากไปของ Marta ล้อกับการเสียชีวิตของหญิงชรา แค่นั้นละ!

อดีตที่แตกร้าว (ความตายของมารดา ภรรยา และบุตรชาย) ไม่มีวันลบเลือนหายไปจากความทรงจำ แต่สักวันหนึ่งมนุษย์เราย่อมสามารถทำใจยินยอมรับ ปรับตัว และเริ่มต้นชีวิตใหม่

อาการผิดปกติ ‘hysteria’ ที่รุนแรงเกินปกติของทั้ง Helen (สะอื้นไห้ หอบหายใจรุนแรง) และบิดา (จุดไฟเผาโน๊ตเพลง แล้วหัวเราะอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง) ล้วนมีสาเหตุจาก Michał แม้ไม่ได้พูดบอกว่าตนเองกำลังจะทำอะไร แต่เหมือนสันชาตญาณของทั้งคู่สามารถตระหนักรับรู้ว่าต้องเป็นภารกิจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อาจไม่รอดชีวิตหวนกลับคืนมา จึงพยายามพูดโน้มน้าว ฉุดเหนี่ยวรั้ง

ภารกิจของ Michał ฟังดูเป็นเกียรติ ศักดิ์ศรี เสียสละเพื่อประเทศชาติ/เพื่อองค์กร Armia Krajowa แต่แท้จริงแล้วมันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด! สงคราม ความขัดแย้ง ผลลัพท์เพียงแค่โศกนาฎกรรม เราฆ่าเขา-เขาฆ่าเรา …vice versa… ทำให้บุคคลที่อยู่ภายหลังต้องอดรนทนกับความเจ็บปวด เศร้าเสียใจ กว่าจะพานผ่านวันร้ายๆไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายจักมีชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย

Michał ได้รับมอบหมายภารกิจจากชายตาบอด ให้เข่นฆาตกรรมสามีของ Helen (เป็นสมาชิกของ Armia Krajowa) เลยถูกปล่อยตัวจาก Gestapo แต่บุคคลที่เขาพบเจอในห้องหมายเลข 14 กลับคือเพื่อนสนิทที่เคยติดต่องานให้ ก่อนหน้านี้พูดระบายความอัดอั้นว่าถ้าฉันโดนจับกุม ก็จักสารภาพทุกสิ่งอย่างจนหมดเปลือก … นี่น่าจะคือเหตุผลที่ชายตาบอดถูก Gestapo ควบคุมตัวก่อนหน้านี้

แต่เพราะเขาคนนี้ไม่ใช่บุคคลที่ Michał กำลังติดตามหา เลยออกวิ่งไปตามทางใต้ดิน ก่อนมาถึงห้องเก็บศพและพบเห็นใบหน้าของตนเอง … ถ้าไม่อยากครุ่นคิดอะไรมาก เห็นเป็นแค่ doppelganger ก็ได้เช่นกัน แต่สำหรับคนชื่นชอบการขบคิดวิเคราะห์ นี่คือการเผชิญหน้ากับตัวตนเอง

Michał เป็นบุคคลหลบหนีปัญหา ปฏิเสธภาระรับผิดชอบต่อภรรยาและบุตรชายมาโดยตลอด จนกระทั่งจู่ๆพบเจอความสูญเสีย (ภรรยาและบุตรถูกเข่นฆาตกรรมโดยทหารนาซี) ช่วงแรกๆก็มิอาจยินยอมรับ ต่อมาจึงค่อยเริ่มตระหนักถึงความผิดพลาด ต้องการทุ่มเทเสียสละ (บริจาคเลือดให้เห็บ/หมัด เพื่อนำเสบียงกรังมามอบ Helen และบุตรชาย) จนท้ายที่สุดก็ถึงเวลาคือเผชิญหน้ากับตัวตนเองที่ตกตายไป เพื่อให้สามารถยินยอมรับสภาพความจริง

ปกติแล้วถ้าโดนยิงที่คอก็ต้องม่องเท่งเลยนะครับ แต่ Michał กลับยังสามารถม้วนกลิ้งเกลือก ตกลงบันได เปิดประตูพานผ่านห้องทัณฑ์ทรมาน (ของ Gestapo) ก่อนสามารถเดินทางไปถึงบ้านพักชนบทต่างจังหวัด (พบเห็นภรรยาผู้ล่วงลับ Marta กำลังจะถูกสังหารโดยทหาร Nazi Germany) เรียกว่าพอหนังจบก็ไม่รู้ว่าตกตายหรือยัง โคตรปาฏิหารย์! นั่นชวนครุ่นคิดว่านี่อาจไม่ใช่การถูกยิงเสียชีวิตจริงๆ (สังเกตว่ามีเพียงน้ำแดงพุ่งใส่ลำคอนักแสดง) เพียงละเมอเพ้อฝันหลังเผชิญหน้าตัวตนเอง

ผมมองฉากนี้ไม่ใช่การตายครั้งที่สองของ Michał แต่สามารถเปรียบเทียบถึงผู้กำกับ Andrzej Żuławski ได้รับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่างที่บิดา Mirosław Żuławski เคยพานผ่านโศกนาฎกรรมครั้งนั้นมา เพราะปัจจุบันตนเองก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน หรือคือประวัติศาสตร์หวนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง

หลายคนอาจมองว่าฉากสุดท้ายของหนังที่เป็นการเวียนวงกลม หวนกลับสู่จุดเริ่มต้นนี้! ดูราวกับจินตนาการเพ้อฝัน หรือภาพหลอนจากอาการป่วยไข้รากสาดใหญ่ หรือเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ Michał ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เป็นหลายๆแง่มุมที่ผู้กำกับ Żuławski มอบอิสรภาพให้ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิดตีความ

แต่ช็อตสุดท้ายก่อนตัดเข้า Closing Credit ปรากฎภาพอันเลือนลางๆของทหาร Nazi Germany ที่กำลังตรงเข้ามาเข่นฆาตกรรม Marta มักได้รับการเปรียบเทียบคนขี่ม้าสี่คน ‘Four Horsemen of the Apocalypse’ ถูกกล่าวถึงในหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) เล่มสุดท้ายของพันธสัญญาใหม่ ในฐานะผู้ลงทัณฑ์จากพระเจ้า

เราสามารถเปรียบเทียบอย่างตรงๆว่า Nazi-occupied Poland (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) หรือ Soviet-occupied Poland/Eastern Bloc (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Poland ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์) มีสภาพไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ

ตัดต่อโดย Halina Prugar-Ketling (1929-) ชาว Polish ผลงานเด่นๆ อาทิ The Eighth Day of the Week (1958), Knife in the Water (1962), The Third Part of the Night (1971), ก่อนกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda อาทิ The Promised Land (1975), Man of Marble (1977), Man of Iron (1981) ฯ

ดำเนินเรื่องพานผ่านมุมมอง/สายตาของตัวละคร Michał โดยจุดเริ่มต้นของหนังคือพบเห็นทหาร Nazi Germany เข่นฆาตกรรมมารดา ภรรยา และบุตรชาย หลังจากนั้นคือความหมดสิ้นหวังอาลัยในชีวิต ก่อนมีโอกาสพบเจอปาฏิหารย์รักครั้งใหม่ เลยพยายามรักษาช่วงเวลานั้นให้ยาวนานที่สุด

  • อารัมบท, Michał พบเห็นทหารเยอรมันเข่นฆาตกรรมมารดา ภรรยา และบุตรชาย
  • ช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง
    • Michał เดินทางกลับ Lviv ต้องการเข้าร่วม Armia Krajowa
    • ระหว่างกระเสือกกระสน ดิ้นรนหลบหนีจาก Gestapo บังเอิญพบเจอหญิงสาวหน้าตาเหมือนภรรยา
    • ช่วยเหลือเธอทำคลอด และหวนรำลึกความหลัง
  • ช่วงเวลาแห่งการเสียสละ
    • Michał ตัดสินใจเข้าร่วมสถาบัน Weigel Institute กลายเป็นผู้บริจาคเลือดแก่เห็บ/หมัด แลกกับการได้รับเสบียงกรัง นำมาให้กับ Helen และบุตรชาย
  • ช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าตัวตนเอง
    • พบเจออดีตสามีของ Marta ที่แม้สามารถเอาตัวรอดจาก Gestapo แต่ถูกเข่นฆาตกรรมขณะเตรียมตัวเดินทางออกนอกประเทศ
    • ได้รับมอบหมายภารกิจจาก Armia Krajowa ให้เข่นฆาตกรรมอดีตสามีของ Helen จึงทำให้ได้ค้นพบว่านั่นคือตัวตนเอง

แต่การจะทำความเข้าใจ ‘Timeline’ ของหนังนั้น ต้องมองหาอีกจุดเริ่มต้นที่แท้จริงให้พบเจอเสียก่อน ซึ่งผมครุ่นคิดว่าคือขณะเซลล์แมน Michał พยายามขายประกันให้ Marta/Helen ที่ยังอาศัยอยู่กับสามีคนก่อน จากนั้นเขาสามารถฉกแย่งชิงเธอมา แต่งงานครองคู่ มีบุตรชายร่วมกัน ก่อนล้มป่วยเพราะอาการจากโรคไข้รากสาดใหญ่ และสมาชิกในครอบครัวถูกเข่นฆาตกรรมโดยทหาร Nazi Germany … นี่น่าจะคือลำดับเหตุการณ์จริงของบิดา Mirosław Żuławski

แล้วทำไมผู้กำกับ Żuławski ถึงเลือกวิธีการดำเนินเรื่องให้มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดนั้น? คงเพราะเขาไม่ได้ต้องการนำเสนอเพียงภาพยนตร์ชีวประวัติของบิดา แต่ต้องการผสมผสานตัวตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ทารกน้อย หรือ(วิญญาณของ)เด็กชาย ในบางขณะสามารถเทียบแทนด้วย Michał เองเลย (ช่วงระหว่างพบเจอ/สนทนากับบิดา)

และการเริ่มต้นหนังที่โศกนาฎกรรม (ซึ่งเป็นตอนจบของเหตุการณ์จริง) ก็เพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดแทนความรู้สึกอันสิ้นหวัง (ของทั้งพ่อ-ลูก Żuławski) แล้วค่อยๆทบทวน หวนระลึก ตระหนักถึงช่วงเวลาอันทรงคุณค่าที่ครอบครัวได้เคยอยู่ร่วมกันมา


เพลงประกอบโดย Andrzej Korzyński (1940-2022) นักแต่งเพลงชาว Polish สำเร็จการศึกษาจาก Fryderyk Chopin University of Music แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda และ Andrzej Żuławski มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Birch Wood (1970), The Third Part of the Night (1971), Man of Marble (1977), Man of Iron (1981), Possession (1981) ฯลฯ

งานเพลงของ Korzyński มอบสัมผัสที่หลอกหลอน มีความสลับซับซ้อน เน้นสร้างบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึง ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยสัมผัสอันคลุ้มบ้าคลั่ง สไตล์เพลงออกไปทาง Psychedelic Rock ที่มีความหลากหลาย บางครั้งผสมผสานออร์เคสตรา ดนตรีสไตล์แจ๊ส จังหวะแทงโก้ก็ยังมี ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อนิเมชั่น Belladonna of Sadness (1973) พิศดาร แปลกประหลาด แต่ก็โคตรตราตรึง

หนังมีอัลบัมเพลงประกอบนะครับ แต่ผมค้นหาจาก Youtube ได้แค่สองสามเพลง ถึงอย่างนั้นก็เพียงพอให้คนที่ยังไม่ได้รับชม สามารถจินตนาการความแปลกพิศดารของบทเพลง W instytucie (แปลว่า At the institute) เหมือนอาการมึนเมาจากการเสพกัญชา มีการผันแปรเปลี่ยนสไตล์เพลงแทบจะทุกๆ 5-10 วินาที ทำออกมาได้คลุ้มบ้าคลั่งสุดๆ

Czołowica (แปลว่า Headstock) เป็นบทเพลงแนว Psychedelic Rock โดดเด่นมากๆกับลีลาการลีดกีตาร์ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกภายในอันเกรี้ยวกราดของทั้งตัวละคร ผู้บรรเลง สร้างอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่งให้กับผู้ชม/รับฟัง มิอาจสงบนิ่งเฉย อยากจะกรีดกราย สภาพจะเป็นจะตาย

สงครามคือช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก Michał/Mirosław Żuławski ยินยอมเสียสละตนเอง สูญเสียเลือดเนื้อ-จิตวิญญาณ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัว บุตรชายเพิ่งถือกำเนิด และสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ (บริจาคเลือดเพื่อการวิจัยวัคซีนไข้รากสาดใหญ่) แต่ทุกสิ่งอย่างก็พังทลายเมื่อทหารเยอรมันเข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูล, Poland ถูกยึดครอบครองโดย Nazi, นี่มันคือวันสิ้นโลกาวินาศหรืออย่างไร???

แซว: แม้ว่าบุตรชายของ Michał หรือก็คือผู้กำกับ Andrzej Żuławski จะไม่ได้สูญเสียชีวิตขณะถูกทหารเยอรมันทิ้งระเบิดใส่ แต่เขาก็สูญเสียความสามารถในการมองเห็นไปข้างหนึ่ง ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็นสักเท่าไหร่

การสูญเสียบุคคลที่เรารัก พ่อ-แม่ พี่-น้อง สามี-ภรรยา หรือบุตร-หลาน ถ้าจากไปโดยธรรมชาติ ตามกาลเวลา ย่อมไม่ยากเกินที่เราจะทำใจยินยอมรับ แต่ถ้ามันเป็นโศกนาฎกรรม ประสบอุบัติเหตุ ถูกเข่นฆาตกรรม นั่นจักทำให้คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก … ผู้กำกับ Andrzej Żuławski พยายามนำเสนอว่ามีเพียง ‘ปาฏิหารย์’ จักทำให้เราฟื้นตื่น หวนกลับคืนมาค้นพบเป้าหมายชีวิตอีกครั้ง

‘ปาฏิหารย์’ ในที่นี้ไม่จำเป็นว่าต้องพบเจอบุคคลหน้าเหมือน หรือตกหลุมรักใครคนใหม่นะครับ ทุกสิ่งอย่างที่หนังนำเสนอล้วนคือนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของการเผชิญหน้าตัวตน ปัจจุบันซ้อนทับอดีต ให้ตัวละครหวนระลึกความทรงจำอันงดงาม ตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต (พบเห็นการคลอดบุตรที่แสนเจ็บปวดแต่ราวกับปาฏิหารย์) ยินยอมรับสภาพความจริง เหล่านี้จักทำให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย และพร้อมเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

เรื่องราวของหนังที่มีลักษณะเวียนวงกลม Déjà vu อะไรเคยเกิดขึ้นล้วนหวนกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือจะเรียกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพื่อเป็นการสะท้อนเหตุการณ์ของบิดา Mirosław Żuławski (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 1939-45) หลายสิ่งอย่างหวนกลับหาบุตรชาย Andrzej Żuławski ณ ปัจจุบันนั้น (ทศวรรษ 60s-70s)

ยกตัวอย่างหนึ่งในใจความสำคัญของหนัง แสดงทัศนะต่อต้าน Nazi Germany (Nazi-occupied Poland) เมื่อเปรียบเทียบปัจจุบันยุคสมัยนั้นที่ประเทศ Poland ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ รับอิทธิพล/อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต (ไม่ต่างจาก Soviet-occupied Poland/Eastern Bloc) ต่างเป็นเผด็จการ บ้าอำนาจ กดขี่ข่มเหงประชาชน สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน กำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง นี่มันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง!

ผมมองความตั้งใจของผู้กำกับ Andrzej Żuławski ต้องการที่จะ ‘reconcile’ ใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อปรับทัศนคติต่อบิดา ทำความเข้าใจถึงประสบการณ์อันเลวร้าย เรียนรู้จักคุณค่าของความรัก เกิดความตระหนักว่าตนเองก็ได้พานผ่านปัจจุบันที่แทบไม่แตกต่างกัน เหมือนต้องการพูดบอกว่า ‘ผมก็เข้าใจพ่อแล้วละ’

(เอาจริงๆในมุมของผู้กำกับ Andrzej Żuławski ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้พบเจอตกหลุมรัก Małgorzata Braunek แต่เขาจักตระหนักถึงความสูญเสียอย่างแท้จริงเมื่อตอนเลิกราหย่าร้าง และระหว่างสรรค์สร้างผลงาน Possession (1981))

เกร็ด: ชื่อหนัง The Third Part of the Night มาจากคำพยากรณ์วันสิ้นโลก The Apocalypse of St. John the Apostle รวบรวมอยู่ใน Revelation 8:1-13 นำจากบรรทัดที่ 12 แต่ถ้าต้องการทำความเข้าใจวลีนี้ต้องเริ่มอ่านตั้งแต่บรรทัดแรก ซึ่งจะมีการกล่าวถึงเกี่ยวกับตัวเลขสาม/ลำดับสาม/ส่วนที่สาม ราวกับเป็นเลขอัปมงคล นำพาหายนะ ภัยพิบัติ และวันสิ้นโลกกำลังมาถึง

8:7 The first angel sounded his trumpet, and there came hail and fire mixed with blood, and it was hurled down on the earth. A third of the earth was burned up, a third of the trees were burned up, and all the green grass was burned up.

8:8 The second angel sounded his trumpet, and something like a huge mountain, all ablaze, was thrown into the sea. A third of the sea turned into blood,

8:9 a third of the living creatures in the sea died, and a third of the ships were destroyed.

8:10 The third angel sounded his trumpet, and a great star, blazing like a torch, fell from the sky on a third of the rivers and on the springs of water

8:11 the name of the star is Wormwood. A third of the waters turned bitter, and many people died from the waters that had become bitter.

8:12 The fourth angel sounded his trumpet, and a third of the sun was struck, a third of the moon, and a third of the stars, so that a third of them turned dark. A third of the day was without light, and also a third of the night.

Revelation 8 จากฉบับ New International Version (NIV)

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Venice แม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างดี (ประสบความสำเร็จพอสมควรในฝรั่งเศส) แต่กลับถูกเพิกเฉยในประเทศโปแลนด์ แม้แต่ Andrzej Wajda ที่คอยช่วยเหลือผลักดันโปรเจคนี้มาโดยตลอด ก็แสดงความไม่พึงพอใจจนเกิดการโต้เถียงขัดแย้งกับผกก. Żuławski … เรียกว่าศิษย์ล้างครูโดยแท้!

the film is full of contradictions and has something of a labyrinth in it: corridors that lead nowhere, mirrors reflecting past images and blind or illusory windows.

นักวิจารณ์ Aleksander Ledóchowski

แต่กาลเวลาก็ทำให้ผู้ชมรุ่นหลังๆ สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจหนังได้อย่างถ่องแท้ ได้รับคำชมล้นหลามถึงความเป็นส่วนตัว และการสรรค์สร้างงานศิลปะขั้นสูง “the author’s artistic manifesto”

A sustained nightmare about societal and personal breakdown, it presents one man’s descent into madness during the Nazi occupation of Poland, though the story is hard to follow (perhaps by design). Żuławski divulges important information about the characters in short, unexpected bursts, and the plot moves sinuously between the hero’s present, past, and dream life. Moreover, the camera is almost always moving hurriedly around the characters, as though the director were having trouble keeping up with his own subjects. These devices can make a viewer feel lost, much as the hero feels in his own experience.

นักวิจารณ์ Ben Sachs จาก Chicago Reader

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K พร้อมๆกับ The Devil (1972) และ On the Silver Globe (1988) แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2016 เห็นว่าจะวางแผง Blu-Ray ช่วงต้นปี 2023 (ฉบับที่ผมรับชมเป็น DVD ของ Second Run)

ผมค่อนข้างชื่นชอบความเฉพาะตัวของผู้กำกับ Andrzej Żuławski เป็นบุคคลบ้าระห่ำ สลับซับซ้อน ขณะเดียวกันก็โคตรเห็นแก่ตัว บางครั้งนิสัยเสียเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ ถือเป็นคลื่นลูกที่สาม “The Third Wave of Polish cinema” ได้อย่างสบายๆ

แซว: The Third Wave of Polish cinema ล้อเล่นๆอย่างจริงจังกับชื่อหนัง The Third Part of the Night เป็นความพยายามของผู้กำกับ Żuławski จะจำแนกผลงานของตนเองออกจาก Andrzej Wajda, Krzysztof Zanussi ฯลฯ ซึ่งมักเป็นครู/นักเรียนสถาบัน Łódź Film School แต่กลับไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักวิจารณ์/นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ … ส่วนใหญ่ทำการเหมารวมผกก. Żuławski เข้าร่วมแก๊งค์ Polish New Wave

แนะนำคอหนัง Avant-Garde แนว Horror บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่สอง (เมื่อครั้น Poland ถูกยึดครองโดย Nazi) ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ, แพทย์ นักวิจัย สนใจประวัติศาสตร์โรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus), โดยเฉพาะนักตัดต่อ นักเรียนภาพยนตร์ มองหาความท้าทายในการรับชม

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง เลือดสาด โปแลนด์ภายใต้การปกครองของนาซี

คำโปรย | The Third Part of the Night ค่ำคืนวันสิ้นโลกาวินาศของผู้กำกับ Andrzej Żuławski สยดสยอง หมดสิ้นหวัง มันเกิดห่าเหวอะไรขึ้น!
คุณภาพ | สยดสยอง สิ้นหวัง
ส่วนตัว | ปั่นป่วนทรวงใน

Matka Joanna od Aniołów (1961)


Mother Joan of the Angels (1961) Polish : Jerzy Kawalerowicz ♥♥♥♥

ไม่ว่าแม่อธิการ Joan of the Angels จะถูกซาตานเข้าสิงหรือไม่? ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามท้าทายความเชื่อศรัทธาชาวคริสต์ เมื่อต้องเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้ายบุกรุกรานเข้ามาในจิตใจ เราควรโอบกอดยินยอมรับ หรือขับไล่ผลักไสออกห่างไกล

ภาคต่อที่สร้างก่อนหน้า The Devils (1971) ของผู้กำกับ Ken Russell นำเสนอเหตุการณ์ 4 ปีให้หลังจากบาทหลวง Urbain Grandier ถูกตัดสินโทษด้วยการแผดเผามอดไหม้ ตกตายทั้งเป็นในกองไฟ สาเหตุเพราะแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges (หรือก็คือ Mother Joan of the Angels) ทั้งๆไม่เคยพบเจอหน้า กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี แสร้งว่าโดนมนต์ดำ ปีศาจเข้าสิง ให้แสดงพฤติกรรมเต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง

เรื่องราวของ Mother Joan of the Angels (1961) ยังคงเป็นช่วงเวลาที่แม่อธิการ Mother Joan ประเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ แต่ผมรู้สึกว่าหนังพยายามทำเหมือนเธอถูกปีศาจเข้าสิงจริงๆ เพื่อให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความ บาทหลวงคนใหม่จะเผชิญหน้ากับซาตานที่เข้ามารุกรานตนเองเช่นไร?

รับชมหนังทั้งสองเรื่องติดต่อกันทำเอาผมเกือบจะคลุ้มคลั่ง! ปรับอารมณ์แทบไม่ทัน เพราะดันดู The Devils ก่อน Mother Joan of the Angels (เห็นว่ามีลักษณะเป็นภาคต่อก็เลยทำเช่นนั้น) แม้เหตุการณ์ดำเนินต่อกัน แต่มันก็ไม่มีความจำเป็นเช่นนั้นเลยสักนิด เพราะทั้งสองเรื่องมีไดเรคชั่นของผู้กำกับที่แตกต่างขั้วตรงกันข้าม

  • The Devils (1971) คือโคตรผลงานเหนือจริง เว่อวังอลังการงานสร้าง เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง นัยยะเชิงสัญลักษณ์จักทำให้ผู้ชมแทบสูญเสียสติแตก
    • ผู้กำกับ Ken Russell เป็นบุคคลผู้มีความเชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้า ไม่ได้แฝงนัยยะต่อต้านศาสนาเลยสักนิด! (แต่คนมักเข้าใจผิดๆจากการมองเนื้อหน้าหนัง)
  • Mother Joan of the Angels (1961) มีความเรียบง่าย สงบงาม ใช้ทุนต่ำ นำเสนอในลักษณะ Minimalist สร้างความสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน
    • ผู้กำกับ Jerzy Kawalerowicz เต็มไปด้วยอคติต่อคริสตจักรในประเทศ Poland จึงตั้งคำถามถึงการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา โดยเฉพาะเรื่องของความรัก ระหว่างบาทหลวงกับแม่ชีทำไมถึงถูกตีตราว่าสิ่งต้องห้าม?

ผมอยากแนะนำให้หารับชม Mother Joan of the Angels (1961) แล้วค่อยติดตามด้วย The Devils (1971) น่าจะทำให้คุณสามารถปรับอารมณ์ จากสงบงามสู่คลุ้มบ้าคลั่ง! และอาจทำให้ตระหนักถึงศักยภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องอย่างเท่าเทียมกัน


Jerzy Franciszek Kawalerowicz (1922-2007) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Polish เกิดที่ Gwoździec, Poland (ปัจจุบันคือ Hvizdets, Ukraine) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านเกิดถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต จึงอพยพมาอยู่ยัง Kraków จากนั้นได้เข้าเรียนวิชาภาพยนตร์ Jana Matejki w Krakowie กลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Zakazane piosenki (1947), ฉายเดี่ยวเรื่องแรก The Village Mill (1952), ผลงานเด่นๆ อาทิ Shadow (1956), Night Train (1959), Mother Joan of the Angels (1961), Pharoah (1966), Death of a President (1977) ฯ

ผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Kawalerowicz จะมุ่งเน้นความเรียบง่าย สไตล์ ‘minimalist’ ใช้เวลาและพื้นที่ว่างสร้างความรู้สึกเวิ้งว่างเปล่า ตัวละครมักเก็บกดดันความรู้สึก ไม่สามารถระบายความอึดอัดคับข้องทรวงใน (สะท้อนกับสถานการณ์การเมืองของประเทศ Poland ยุคสมัยนั้น) ส่วนภาพยนตร์ยุคหลังๆจะมีการแสดงออกทัศนคติทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ

สำหรับ Matka Joanna od Aniołów ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Jarosław Iwaszkiewicz (1894-1980) นักเขียนชาว Polish ผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ถึงสี่ครั้ง! โดยมีเรื่องราวอ้างอิงถึงเหตุการณ์ ‘Loudun possessions’ ในช่วงศตวรรษที่ 17th แต่เปลี่ยนพื้นหลังจากเมือง Loudun ของฝรั่งเศส มาเป็นเมือง Ludyń (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ Ukrane)

เกร็ด: Jarosław Iwaszkiewicz เขียนเรื่องสั้น Matka Joanna od Aniołów แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 1942 แต่ไม่สามารถตีพิมพ์เพราะอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกนำมารวมกับเรื่องสั้นอื่นๆกลายเป็นหนังสือ Nowa miłość i inne opowiadania (แปลว่า New Love and Other Stories) วางขายปี 1946

สังเกตจากช่วงเวลาที่ Iwaszkiewicz เขียนเรื่องสั้น Matka Joanna od Aniołów ทำให้ผมตระหนักว่าผลงานเรื่องนี้อาจต้องการสะท้อนความรู้สึกเก็บกดดัน อึดอัดอั้น ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเราสามารถเปรียบเทียบแม่อธิการ Mother Joan ก็คือพวกผู้นำประเทศบ้าสงครามเหล่านั้น ไม่รู้ถูกปีศาจร้ายเข้าสิงหรือไร

ผู้กำกับ Kawalerowicz ดัดแปลงบทร่วมกับ Tadeusz Konwicki (1926-2015) นักเขียนนวนิยาย ที่ต่อมาผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ดังๆอย่าง The Last Day of Summer (1958), All Souls’ Day (1961), Salto (1965) ฯลฯ ทั้งสองมีโอกาสร่วมงานทั้งหมดสามครั้ง Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1966) และ Austeria (1982)

บทภาพยนตร์ค่อนข้างจะซื่อตรงจากเรื่องสั้น แต่เพราะเนื้อหา(ของเรื่องสั้น)มีน้อยนิด จึงต้องเพิ่มเติมรายละเอียดเข้ามาพอสมควร อาทิ

  • เรื่องราวของ Sister Malgorzata แอบตกหลุมรัก Chrząszczewski ถึงขนาดตัดสินใจทอดทิ้งอารามชี
    • เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวง Józef Suryn กับแม่อธิการ Mother Joan
  • การเผชิญหน้าระหว่างบาทหลวง Józef Suryn กับ Rabbi (ผู้นำศาสนาของชาวยิว)
    • เหมือนกระจก อีกตัวตนขั้วตรงข้าม (รับบทโดยนักแสดงคนเดียวกัน)

เห็นว่าบทหนังพัฒนาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 1955-56 ผู้กำกับ Kawalerowicz ตั้งใจให้เป็นโปรเจคต่อจาก Shadow (1956) แต่กลับถูกห้ามปรามโดยพรรคคอมมิวนิสต์ Poland เพราะกลัวสร้างขัดแย้งให้กับคริสตจักร เลยจำต้องขึ้นหิ้งเอาไว้ก่อนจนกระทั่งปี 1960 ถึงได้รับการตอบอนุมัติ ด้วยคำแนะนำ(เชิงบังคับ)ให้ปรับเปลี่ยนแม่อธิการ Mother Joan จากเคยพิการหลังค่อม กลายมาเป็นบุคคลปกติ … แม้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ผู้กำกับ Kawalerowicz ก็จำต้องยินยอมปรับแก้ไขบทหนังในส่วนนั้น เพื่อให้ได้รับโอกาสในการสรรค์สร้างภาพยนตร์


เรื่องราวของบาทหลวง Józef Suryn (รับบทโดย Mieczyslaw Voit) ได้รับมอบหมายให้เดินทางมาสืบสวนเหตุการณ์ ‘ปีศาจเข้าสิง’ อารามชีของ Mother Joan (Lucyna Winnicka) ที่ถึงขนาดทำให้บาทหลวงคนเก่า Father Garniec (หรือก็คือบาทหลวง Urbain Grandier จาก The Devils (1971)) ต้องถูกแผดเผาไหม้ตกตายทั้งเป็น (ข้อหาพยายามใช้กำลังลวนลาม/ข่มขืนแม่อธิการในอารามชี)

หลังจากบาทหลวง Józef Suryn ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงติดต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการไล่ผี มาช่วยขับไล่ปีศาจร้ายทั้ง 8 ตน แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ เพราะ Mother Joan ยังคงเล่นหูเล่นตา แสดงความยั่วเย้ายวน เกี้ยวพาราสี โน้มน้าวให้เขากระทำตามสิ่งที่ตนร้องขอ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บาทหลวง Józef Suryn เกิดความสับสน จิตใจเรรวนปรวนแปร เกิดความลุ่มร้อนทรวงใน ครุ่นคิดไปว่าตนเองกำลังถูกปีศาจร้ายเข้าสิง แต่แท้จริงคือเขาตกหลุมรัก Mother Joan เลยต้องตัดสินใจเลือกระหว่างยินยอมรับความรู้สึกดังกล่าว หรือหาหนทางขับไล่ ผลักไสส่ง ตีตนออกให้ห่างไกล


Kazimierz Fabisiak (1903-71) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที เกิดที่ Warsaw ร่ำเรียนการแสดงยัง Państwową Szkołę Dramatyczną จากนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักแสดง/ผู้กำกับละครเวที ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โด่งดังกับ Mother Joan of the Angels (1960) แล้วการเป็น ‘typecast’ บทบาทหลวง ไล่ผี ไม่ก็ปีศาจจากขุมนรก

รับบท Józef Suryn บาทหลวงวัยกลางคนที่ไม่เคยพานผ่านประสบการณ์ทางโลก ได้รับมอบหมายให้เดินทางมาสืบสวนเหตุการณ์ ‘ปีศาจเข้าสิง’ อารามชีของ Mother Joan แต่เพียงแรกพบเจอก็ทำหัวใจสั่นสะท้าน บังเกิดความสับสนทำไมถึงเกิดอาการลุ่มร้อนทรวงใน ไม่เข้าใจว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตนเอง ครุ่นคิดว่ากำลังถูกท้าทายโดยซาตาน และท้ายสุดก็ได้กระทำการบางสิ่งอย่าง โดยครุ่นคิดว่าจะทำให้แม่อธิการสามารถหลุดรอดพ้นจากปีศาจร้าย

นอกจากนี้ยังรับบท Rabbi ผู้นำศาสนาชาวยิว แม้ปรากฎตัวไม่กี่นาที แต่ถือเป็นภาพสะท้อน บุคคลขั้วตรงข้ามบาทหลวง Józef Suryn เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีแห่งชีวิต เรียนรู้จักการเผชิญหน้าอีกฟากฝั่งของตัวตนเอง

การแสดงของ Fabisiak ถือว่าเรียบง่ายแต่โคตรๆตราตรึง ภายนอกวางมาดขรึมๆ สงบเสงียมเจียมตน สร้างภาพบาทหลวงผู้อุทิศตนให้ศาสนาได้อย่างมีความน่าเชื่อถือ (กว่า Oliver Reed เป็นไหนๆ) ในช่วงแรกๆสัมผัสได้ถึงความวิตกกังวล นี่ฉันกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร? เมื่อพบเจอ Mother Joan จิตใจก็เต็มไปด้วยอาการขลาดหวาดกลัว สับสนว้าวุ่นวาย จักต้องทำอย่างไรถึงสามารถเอาชนะปีศาจร้าย

ผมชอบการแสดงที่เล่นน้อยแต่ได้มาก พูดคำสั้นๆ น้ำเสียงสั่นๆ ทำสีหน้าสยองขวัญ แค่นั่นแหละก็ทำให้จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล สัมผัสได้ถึงความรู้สึกตัวละคร และผู้ชมเกิดอาการสั่นสะท้านทรวงใน

แซว: อาจเพราะ Fabisiak แสดงบทบาทนี้ได้อย่างถึงใจ สั่นสะท้านทรวงใน เลยกลายเป็นภาพจำ ‘typecast’ ที่หลังจากนี้เลยได้เล่นแต่บทซ้ำๆ เลยหวนกลับไปเอาดีกับละครเวทีดีกว่า


Lucyna Winnicka (1928-2013) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Warsaw เรียนจบกฎหมายจาก Uniwersytetu Warszawskiego จากนั้นเปลี่ยนไปร่ำเรียนการแสดงยัง Akademia Teatralna im. Aleksandra Zelwerowicza แล้วรับเลือกเป็นนักแสดง/แต่งงานผู้กำกับ Jerzy Kawalerowicz ร่วมงานขาประจำกันตั้งแต่ Under the Phrygian Star (1954), Shadow (1956), Night Train (1959), Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1966) ฯลฯ

รับบทแม่อธิการ Mother Joan of the Angels/Sister Jeanne des Anges อ้างว่าตนเองถูกปีศาจร้าย 8 ตนเข้าสิง ทำให้เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ แม้ทำพิธีขับไล่วิญญาณเหล่านั้นก็ไม่ยินยอมหนีออกไปไหน จนต้องถูกกักขังในอารามชี แล้วยังพยายามเกี้ยวพาราสีบาทหลวง Józef Suryn ท้ายสุดก็ไม่รู้ว่าตกลงแล้วทั้งหมดคือเรื่องจริงหรือเล่นละคอนตบตา และปีศาจร้ายทั้งแปดถูกขับสำเร็จหรือไม่

ดวงตากลมโตของ Winnicka ช่างเต็มไปด้วยความพิศวง น่าหลงใหล เมื่อเธอจับจ้องมองหน้ากล้องแบบไม่กระพริบตา (Breaking the Fourth Wall) น่าจะทำให้หลายๆคนเกิดความสั่นสะท้านทรวงใน หัวใจเต้นแรง รู้สึกขนลุกขนพอง เหมือนปีศาจร้ายในหนังสยองขวัญ … แค่ภาษากายของเธอแม้งก็โคตรหลอกหลอนชิบหาย (สำหรับคนที่สามารถสัมผัสได้)

นอกจากดวงตา ยังมีท่วงท่าเมื่อขณะ(อ้างว่า)ถูกปีศาจร้ายเข้าสิง มีความบิดพริ้ว อ่อนช้อย จนดูน่าหวาดสะพรึงอยู่ไม่น้อย ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั่งท่าสะพานโค้ง เล่นเองหรือใช้นักแสดงแทน ผมเห็นแล้วยังรู้สึกหวาดเสียวแทน ซึ่งวิญญาณร้ายทั้ง 8 ก็ล้วนแสดงอากัปกิริยาที่แตกต่างกันไป ก็ต้องชมในความคิดสร้างสรรค์ตัวละครด้วยเช่นเดียวกัน


Anna Ciepielewska (1936-2006) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Ostróg ร่ำเรียนการแสดงยัง Akademia Teatralna im. Aleksandra Zelwerowicza จากนั้นมีผลงานละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก The Hours of Hope (1955), โด่งดังกับ Mother Joan of the Angels (1960), ผลงานอื่นๆ อาทิ Passenger (1963), Three Steps on Earth (1965) ฯลฯ

รับบทแม่ชี Sister Malgorzata รับหน้าที่เปิด-ปิดประตูอารามชี และติดต่อทำธุระกับผู้คนในหมู่บ้าน กระทั่งวันหนึ่งพบเจอตกหลุมรักพ่อค้าหนุ่ม Chrząszczewski เดินทางมาค้าขายยังต่างถิ่น ถึงขนาดตัดสินใจละทิ้งอารามชี เปลี่ยนชื่อเป็น Margareth คาดหวังจะพากันหลบหนี เดินทางไปอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่…

ขณะที่บาทหลวง & แม่อธิการ ต่างมีความเคร่งขรึม และคลุ้มคลั่ง อย่างน้อยหนังก็ยังมีตัวละครนี้ที่สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ขับร้องเพลง เต้นเริงระบำ ไม่สนภาพลักษณ์แม่ชี ต้องการมีชีวิตอิสรภาพ ใครสักคนนำพาฉันออกไปจากสถานที่น่าเบื่อหน่ายแห่งนี้

Ciepielewska น่าจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ในวงการ จึงยังมีความสนใสร่าเริง บริสุทธิ์ไร้เดียงสา (ทั้งร่างกายและจิตใจ) ทำให้ผู้ชมตกหลุมรัก อำนวยอวยพรให้มีโอกาสครองคู่ชายในฝัน และเมื่อเธอถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน ทำไมถึงทำกับฉันได้!

แม้เป็นตัวละครที่เหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับบาทหลวง & แม่อธิการ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอสามารถสะท้อนความสัมพันธ์ อธิบายสาเหตุผลว่ามันบังเกิดอะไรขึ้นระหว่างพวกเขาทั้งสอง หรือคือการที่ตัวละครได้ตกหลุมรัก (แรกพบ) และสูญเสียมันไป (อธิบายตรงๆก็คือบาทหลวง Józef Suryn ตกหลุมรักแม่อธิการ Mother Joan และยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้สูญเสียความรู้สึกนั้นไป)


ถ่ายภาพโดย Jerzy Wójcik (1930-2019) สัญชาติ Polish สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก National Film School in Łódź เริ่มทำงานเป็นตากล้องกองสองภาพยนตร์ Kanał (1957), โด่งดังจากผลงาน Ashes and Diamonds (1958), Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1966), Westerplatte (1967), The Deluge (1974) ฯลฯ

ทั้งงานสร้างและการถ่ายภาพของหนัง จะเน้นความเรียบง่าย ‘minimalist’ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว นานๆครั้งถึงแพนนิ่ง แทร็กกิ้ง แต่ก็อย่างเชื่องช้าน่าหลับ (ผมฟุบไปสองรอบ) เว้นที่พื้นที่ว่าง ระยะห่าง บ่อยครั้งมักเป็นการสนทนาระหว่างสองบุคคล ยืน-นั่ง-เดิน เวียนวนไปวนมา แถมบางครั้งให้นักแสดงหันมาพูดคุยสบตาหน้ากล้อง ไม่เชิงว่าเป็น Breaking the Fourth Wall (แต่จะมองเช่นนั้นก็ได้) เพื่อสร้างสัมผัสของสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ (เหมือนปีศาจกำลังจับจ้องมองหาผู้ชม) เกิดความสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน

ส่วนตัวมองไฮไลท์ของงานภาพคือ ความตัดกันระหว่างสีขาว-ดำ ไม่ใช่แค่ชุดของบาทหลวงและแม่ชีอธิการ แต่การจัดแสง-เงามืดที่อาบฉาบทั้งสองตัวละคร มีความเข้มข้น จนบางครั้งกลมกลืนพื้นหลังจนแยกไม่ออก ต้องซูฮกเลยว่าใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาว-ดำได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก!

สถานที่ถ่ายทำของหนังคือเมือง Józefów ในจังหวัด Masovian ห่างจากกรุง Warsaw ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร, โดยทำการก่อสร้างโรงแรมและอารามชีขึ้นใหม่หมด ออกแบบโดย Roman Mann แต่ระหว่างเตรียมงานสร้างประสบอุบัติเหตุ(ทางรถ)จนเสียชีวิต Tadeusz Wybult เลยเข้ามาสานงานต่อจนแล้วเสร็จ


Opening Credit ไร้ซึ่งบทเพลงประกอบใดๆ เพียงเสียงสวดมนต์ อธิษฐานถึงพระเป็นเจ้าของบาทหลวง Józef Suryn ด้วยการทิ้งตัวลงนอนราบบนพื้น กางแขนสองข้างเหมือนท่าไม้กางเขน แสดงถึงการยินยอมศิโรราบต่อทุกสิ่งอย่าง น้อมรับองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าทรงเป็นเจ้าชีวิต มอบตนเองให้เป็นทาสของพระองค์ (ผมไม่แน่ใจว่ามีชื่อเรียกท่านี้การภาวนานี้ไหมนะครับ)

ปล. ท่วงท่านี้ทำให้ผมนึกถึงการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ของชาวทิเบต หรือผู้นับถือพุทธศาสนาลัทธิตันตรยานหรือวัชรยาน ถือเพื่อเป็นการเคารพกราบไว้ขั้นสูงสูงที่มนุษย์สามารถกระทำได้

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้สังเกตก็คือสีพื้นกับชุดของบาทหลวง มันช่างมีความกลมกลืนจนแทบกลายเป็นอันหนึ่งเดียว บางคนอาจแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำ นี่คือการใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาว-ดำ สามารถพบเห็นอยู่บ่อยครั้งทีเดียวๆ

นอกจากความกลมกลืนของสี หนังยังมีจุดเด่นในการใช้พื้นที่ว่าง สร้างระยะห่าง ด้วยองค์ประกอบที่มีความเรียบง่าย น้อยนิดเดียว ‘minimalist’ อย่างเมื่อตอนบาทหลวง Józef Suryn เปิดประตูเข้ามาในห้องโถงโรงแรม สถานที่แห่งนี้ช่างเวิ้งว่างเปล่า บรรยากาศทะมึน อึมครึม นอกจากเสียงบรรเลงแมนโดลิน ก็แทบไร้ชีวิตชีวาอันใด

ภาพช็อตนี้แค่ตำแหน่ง/ทิศทางการนั่งระหว่างสองตัวละคร ตั้งฉาก 90 องศา ก็แสดงให้ถึงความแตกต่างตรงกันข้าม

  • บาทหลวง Józef Suryn นั่งอยู่ด้านข้าง (แสดงถึงผู้ทำตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ) ท่าทางสงบเสงี่ยมเจียมตน รับประทานอาหารแต่น้อยนิด เพียงพอดี (จะว่าไปก็สอดคล้องสไตล์ ‘minimalist’ ของหนังด้วยนะ)
  • ผิดกับชายที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ (ทำตัวเหมือนเจ้านาย(ตนเอง) ชอบวางอำนาจบาดใหญ่) ซดน้ำซุบอย่างมูมมาม ตะกละตะกลาม ไม่สนมารยาท ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับกิเลสตัณหาราคะ

แซว: ภาพช็อตนี้ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Turin Horse (2011) ของผู้กำกับ Béla Tarr ระหว่างตัวละครพ่อ-ลูกกำลังนั่งรับประทานอาหาร ด้วยท่าทางเหน็ดเหนื่อ เบื่อหน่าย หมดสิ้นหวังอาลัย

ระหว่างกำลังก้าวเดินจากโรงแรมสู่อารามชี แม้ระยะทางไม่ไกลแต่ใช้เวลาเยิ่นยาวนานพอสมควร (ให้ความรู้สึกเหมือนการเดินทางจากโลกมนุษย์ → สู่สรวงสวรรค์ (หรือขุมนรก)) บาทหลวง Józef Suryn ได้พานผ่านแท่นไม้ที่มีสภาพขี้เถ้าถ่าน (บริเวณกึ่งกลางระหว่างโลกมนุษย์ <> สรวงสวรรค์) คือบริเวณที่บาทหลวงคนเก่า Father Garniec ได้ถูกแผดเผาไหม้ เพราะไม่สามารถควบคุมตนเองหลังจากพบเห็นพฤติกรรมยั่วเย้ายวนของบรรดาแม่ชี (กล่าวคือบวชเป็นบาทหลวง แต่ไม่สามารถตัดขาดทางโลก เลยถูกแผดเผาไหม้ยังบริเวณกึ่งกลางระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์)

และเมื่อใกล้จะถึงอารามชี ระหว่างคุกเข่าอธิษฐานขอพรพระเป็นเจ้า จะมีเด็กหญิงตัวกระเปี๊ยกวิ่งวนรอบตัวเขา เพื่อสื่อถึงสภาพจิตใจที่ยังมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (แม้อายุมากจนศีรษะล้านแล้วก็เถอะ) เจ้าตัวเองก็เคยบอกว่ามีความอ่อนเยาว์ต่อวิถีทางโลก ต่อจากนี้กำลังต้องเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้าย เลยเต็มไปด้วยอาการขลาดหวาดกลัว ไม่รู้จะสามารถเอาตัวรอดกลับมาได้รึเปล่า

ครั้งแรกพบเจอระหว่างบาทหลวง Józef Suryn และแม่อธิการ Mother Joan ผมขอแบ่งออกเป็นสองช่วงขณะ

  • แม่อธิการ Mother Joan ขณะยังมีความเป็นมนุษย์
    • การสนทนาจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ด้วยถ้อยคำสุภาพ ห่วงใย เกรงใจกัน
    • ท่าทางมีความสงบงาม อ่อนหวาน เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้
    • กล้องแทบไม่การขยับเคลื่อนไหว ใช้การตัดต่อสลับสับเปลี่ยนระยะภาพ ซึ่งจะมีความใกล้ชิดขึ้นทีละระดับจนอทั้งสองยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน
  • หลังจากแม่อธิการ Mother Joan (แสร้งว่า)ถูกปีศาจร้ายเข้าสิง
    • จู่ๆพ่นถ่อยคำหยาบคาย ดัดเสียงให้มีความวิปริต ผิดปกติจากที่มนุษย์สนทนากัน
    • แสดงสีหน้าอันเกรี้ยวกราด ท่าทางกวัดแกว่ง กรีดกราย ตะเกียกตะกายฝาผนัง คืบคลานเข้ามาหาหลวงพ่อ Józef Suryn
    • กล้องมีการเคลื่อนเลื่อนไหล โฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เพื่อสร้างความคลุ้มบ้าคลั่ง
      • เมื่อถ่ายใบหน้าแม่อธิการ สังเกตว่ามุมกล้องก้มลง (จริงๆคือเธอย่อตัวลง) เพื่อให้เห็นถึงความตกต่ำทางจิตใจ ปีศาจร้ายมาจากขุมนรก จนถูกถีบส่ง ผลักไส ตีตนออกให้ห่างไกล

รอยฝ่ามือมาจากไหน? จู่ๆก็ปรากฎขึ้น ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามันมีขนาดใหญ่กว่ามือของ Mother Joan เสียอีกนะ! เหมือนต้องการล่อหลอกผู้ชมถึงการมีตัวตนของสิ่งเหนือธรรมชาติ อาจจะเป็นปีศาจร้ายที่เข้าสิงแม่อธิการ … แต่ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความ

ฉากการไล่ผีหมู่? เริ่มต้นด้วยการเดินเรียงแถวของแม่ชี (โดยจะมี Sister Malgorzata เดินหมุนๆ ทำตัวผิดแผกแตกต่างจากคนอื่น) เข้ามายังสถานที่ทำพิธีมิสซา ตามด้วยบรรดาบาทหลวง (และ Józef Suryn) จากนั้นแม่อธิการ Mother Joan จะแสดงอาการผีเข้าด้วยการทำท่าสะพานโค้ง (สื่อถึงโลกทัศน์ที่พลิกกลับตารปัตร) แล้วถูกจับมัด เอาไม้กางเขนมารุมล้อม … แต่ไม่เห็นจะทำอะไรได้สักอย่าง

ก่อนจบลงด้วยภาพที่ถือเป็น ‘iconic’ ของหนัง บรรดาแม่ชีทั้งหมดต่างทิ้งตัวลงนอนบนพื้น กางแขนเหมือนไม้กางเขน ท่าทางเดียวกับบาทหลวง Józef Suryn เมื่อตอน Opening Credit แสดงถึงการยินยอมศิโรราบทุกสิ่งอย่างต่อ … พระเจ้าหรือซาตานกันแน่??

ทั้งบาทหลวง Józef Suryn และแม่ชี Mother Joan ต่างใช้แส้ฟาดหลัง กระทำทัณฑ์ทรมานตนเอง เพื่อไม่ให้จิตใจบังเกิดความเรรวนปรวนแปรต่อเหตุการณ์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น แต่โดยไม่รู้ตัวพวกเขาบังเอิ้ญอยู่ในสถานที่เดียวกัน ถ้าเป็นหนังโรแมนติกคงต้องถือว่าเป็นโชคชะตาฟ้าลิขิต การเผชิญหน้าครั้งนี้จึงสร้างความกระอักกระอ่วน สันสนว้าวุ่นวาย และทำให้ทั้งสองต่างรู้สึกลุ่มร้อนทรวงในยิ่งๆขึ้นอีก

ระหว่างยังคงรักษาภาพลักษณ์ ทั้งสองก้าวเดินมาจนถึงโถงทางเดิน Mother Joan จึงมิอาจอดรนทน ถึงขนาดยินยอมพูดบอกความใน นั่นทำให้บาทหลวง Józef Suryn ติดสินใจวิ่งหลบหนี ทอดทิ้งให้เธอนอนกองอยู่บนพื้น ต้องการเอาตัวรอดโดยไม่สนอะไรอื่น … นั่นทำให้โถงทางเดินที่จะปรากฎขึ้นครั้งถัดๆมา จักปกคลุมอยู่ในความมืดมิด เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจของเขาที่ถูกสิ่งชั่วร้ายคืบคลานเข้ามา

ด้วยความสับสน ไม่เข้าใจตนเอง ทำไมภายในถึงรู้สึกลุ่มร้อนดั่งเปลวไฟ เลยมายืนร่ำไห้บนเสาไม้ที่เคยถูกใช้แผดเผาบาทหลวงคนก่อน (กายภาพ→จิตภาพ) โดยไม่รู้ตัวคราบขี้เถ้าสีดำติดมายังฝ่ามือ นั่นแสดงถึงความแปดเปื้อนของบาทหลวง Józef Suryn สูญเสียจิตใจอันบริสุทธิ์ ราวกับกำลังถูกปีศาจร้ายเข้ามาควบคุมครอบงำ (แท้จริงการความรู้สึกตกหลุมรักแม่อธิการ)

เรื่องราวของ Sister Malgorzata เพราะความละอ่อนเยาว์วัย เหมือนจะเพิ่งเป็นแม่ชีได้ไม่กี่ปี จึงยังไม่มีบางสิ่งค้ำคออย่างแม่อธิการ Mother Joan (คงเพราะอยู่มาหลายปีจนสามารถไต่เต้า กลายเป็นผู้ปกครองอารามชี) เลยพร้อมที่จะแสดงออกความต้องการอย่างไม่กลัวเกรงอะไร โอบกอดพรอดรักพ่อค้าหนุ่ม Chrzaszczewski ไฟราคะคุกรุ่นในความมืดมิด และเสียงแมนโดลินของเจ้าของโรงแรมเสริมเติมบรรยากาศโรแมนติก

นี่คือสิ่งควรบังเกิดขึ้นระหว่าง Jozef Suryn และ Mother Joan ถ้าทั้งสองไร้ซึ่งคำนำหน้าบาทหลวงและแม่อธิการ ย่อมไม่ต้องอดรนทน เก็บกดดันความรู้สึกภายใน เมื่อพบเจอตกหลุมรัก ก็ถาโถมเข้าใส่ เติมเต็มความต้องการของหัวใจ มันผิดอะไรที่คนสองจะแสดงออก ‘ความรัก’

จู่ๆก็ถูกพาเข้ามาในบ้านพักหลังหนึ่ง ไร้ซึ่งหน้าต่าง ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด แต่บุคคลที่บาทหลวง Józef Suryn พบเจอนั้นคือ Rabbi ผู้นำศาสนายิว ไว้หนวดเครายาวครึ้ม แต่ทั้งสองคือนักแสดงคนเดียวกัน (สังเกตว่าตัวละครไม่เคยอยู่ร่วมเฟรมสักครั้ง!) … สถานที่แห่งนี้สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ ภายในจิตใจของบาทหลวง Józef Suryn

หลังจากรับฟังการพูดคุยสนทนา น่าจะทำให้ใครๆตระหนักได้ว่า Rabbi คนนี้มีความแตกต่างตรงกันข้ามกับบาทหลวง Józef Suryn นั่นแสดงถึงการเป็นกระจกสะท้อนตัวตน คนหนึ่งยืนแน่นิ่ง อีกคนนั่งโยกเก้าอี้ พยายามโต้ถกเถียง แสดงคิดเห็นผ่านมุมมองส่วนตน จนต่างคนต่างไม่สามารถยินยอมรับฟัง แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสองกลับสามารถเติมเต็มกันและกัน กลายเป็นอันหนึ่งเดียว ไม่มีทางพลัดพรากแยกจาก … เพราะพวกเขาต่างก็คือบาทหลวง Józef Suryn

ถ้าไม่มีกรงขังห้อมล้อม เชื่อเลยว่าบาทหลวง Józef Suryn ต้องถาโถมเข้าไปฉุดกระชาก ข่มขืนกระทำชำเราแม่อธิการ Mother Joan แต่เพราะมันมีสิ่งกีดกั้นขวาง แถมหน้าต่างมีหูประตูมีช่อง (มีใครบางคนแอบจับจ้องมองมา) เขาเลยทำได้เพียงสัมผัสมือ ร่ำร้องขอคำอวยพร ก่อนได้รับการจุมพิต (มั้งนะ) จนแสดงอาการคลุ้มคลั่งออกมา

กรงอันนี้ที่มีจุดประสงค์กักขังแม่อธิการ Mother Joan ไม่ให้ก้าวออกมากระทำร้ายใคร กลับกลายเป็นว่าถูกใช้ปกป้องตนเองจากบาทหลวง Józef Suryn เมื่อมิอาจอยู่เคียงชิดใกล้ จึงไม่สามารถควบคุมตนเอง และกลายเป็นคนสูญเสียสติแตกในที่สุด

เพียงการแพนนิ่งจากขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา ภาพช็อตนี้ก็ราวกับสองตัวเลือกของบาทหลวง Józef Suryn ว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อไป

  • หนทางแรก ขับไล่ผลักไสสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากจิตใจของตนเอง … ภาพแรกจะมีเด็กชายวิ่งออกทางช่องว่างด้านหลัง
  • หนทางสอง ยินยอมโอบรับซาตานเข้ามาในหัวใจ … หลวงพ่อด้านหลังตักน้ำขึ้นมาดื่มกินเข้ามาในร่างกาย

มันผิดอะไรที่มนุษย์จะมีความครึ้นครื้นเครง บรรเลงเพลง โยกเต้นรำ? เมื่อเทียบกับยุคสมัยนี้ผับบาร์ คาราโอเกะ ที่มีความสวิงกิ้งสุดเหวี่ยง ฉากนี้แทบจะไม่มีอะไรให้กล่าวถึง (โคตรจะ ‘minimalist’) แต่ทั้งพุทธและคริสต์ ต่างกล่าวถึงการปล่อยจิตใจให้ลุ่มหลงระเริงไปกับความบันเทิงเริงรมณ์ สิ่งต่างๆรอบข้างกาย นั่นคือพฤติกรรมนำสู่ความประมาท ขาดสำรวม สูญเสียสติที่ใช้ควบคุมตนเอง ใครถือศีล ๑๐ ก็น่าจะรับรู้จักข้อ ๗

นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์)

พุทธศาสนาไม่ได้ห้ามการร้องรำทำเพลงนะครับ เพราะทศศีล คือการรักษาระเบียบทางกาย-วาจา ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดให้ยิ่งๆขึ้นไป สำหรับการเจริญสติ ฝึกฝนสมาธิ … จะว่าไปภาพยนตร์ก็ถือเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน

แซว: ฉากนี้แม้ทำเหมือนชาวบ้านเป็นฝ่ายผิด ที่ทำการร้อง-เล่น-เต้น ไม่สนหลักคำสอนศาสนา แต่กลับเป็นบาทหลวง Józef Suryn ที่สภาพภายในใกล้จะคลุ้มบ้าคลั่ง ควบคุมสติตนเองแทบไม่อยู่ จนครุ่นคิดกระทำสิ่งอันชั่วร้าย

สองชายเลี้ยงม้า คนหนึ่งเอ่อล้นด้วยความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า อีกคนหนึ่งไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่แต่มักถูกโน้มน้าวให้รู้จักการให้อภัย แม้ถูกบิดาใช้ความรุนแรง กระทำร้ายร่างกาย ยังสวดอธิษฐานก่อนนอน ขอพระเป็นเจ้ายกโทษให้อภัยเขา … นี่ก็แอบบอกใบ้ ‘Death Flag’ โดยไม่ทันรับรู้ตัว

ชายหนุ่มทั้งสองเป็นตัวแทนของประชาชน คนบริสุทธิ์ตาดำๆ ที่ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายอันใด แถมเอ่อล้นด้วยความเชื่อศรัทธา แต่กลับตกเป็นเหยื่อผู้โชคร้ายของบุคคลอ้างศีลธรรมศาสนา โศกนาฎกรรมตกตายไปอย่างไร้สาระ … ราวกับลูกแกะน้อยถูกเชือดกลายเป็นสิ่งของบูชายันต์แก่พระเป็นเจ้า

ภาพแรกมีการทำให้กล้องสั่นๆ แล้วเงามืดค่อยๆเคลื่อนเข้าปกคลุมใบหน้าบาทหลวง Józef Suryn เพื่อสื่อถึงสภาพจิตใจที่กำลังถูกกลืนกินโดยสิ่งชั่วร้าย พยายามต่อสู้ขัดขืน ขับไล่ผลักไส แต่สุดท้ายตัดสินใจยินยอมรับความพ่ายแพ้ เดินเข้าไปในโรงนา หยิบคว้าขวาน แล้วกระทำการ … ที่สร้างความแตกตื่นให้ม้าทั้งสองตัว

ขวานผ่าฝืน คือสัญลักษณ์ของการทำให้สิ่งหนึ่งแบ่งแยกออกจากกัน ในบริบทนี้นอกจากใช้เป็นอุปกรณ์เข่นฆาตกรรม ยังสื่อถึงการตัดขาด/ทำลายจิตใจอันบริสุทธิ์ของตนเอง เพื่อก้าวสู่ด้านมืดมิด โอบรับสิ่งชั่วร้าย ศิโรราบต่อซาตาน

ผมชอบช็อตแตกตื่นของเจ้าม้ามากๆ คาดว่าทีมงานคงแอบตั้งกล้องไว้สำหรับถ่ายทำตอนกลางคืน แล้วจู่ๆก็เปิดไฟ ฉายสป็อตไลท์ นั่นย่อมสร้างความตระหนักตกใจ ดวงตาเต็มไปด้วยอาการหวาดสะพรึงกลัว นี่มันเกิดห่าเหวอะไรขึ้น

นี่เป็นอีกช็อตที่ใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาวดำได้ทรงพลังมากๆ เพราะบาทหลวง Józef Suryn สวมชุดสีดำ มันเลยมีความกลมกลืนกับเงามืดที่อยู่ด้านหลัง จนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสิ่งๆเดียวกัน สื่อถึงการเข้าสู่ด้านมืด ยินยอมศิโรราบกับซาตาน โอบรับปีศาจร้ายเข้ามาในตนเอง และหันหลังให้มวลมนุษยชาติ

อีกสิ่งน่าสนใจของช็อตนี้ก็คือลวดลายผนังกำแพง (น่าจะในโรงนากระมัง) คงเป็นความจงใจไม่ทำให้ดำขลับ (จนกลมกลืนไปกับเสื้อผ้าและเงามืด) เพื่อให้เห็นลักษณะของการถูกสีเข้มๆทาทับ หรือคือจิตใจที่เคยบริสุทธิ์ของบาทหลวง Józef Suryn ขณะนี้ได้ถูกแปดเปื้อนจากสิ่งชั่วร้าย

ภาพสุดท้ายของหนังถ่ายมุมเงยขึ้นบนท้องฟ้า พบเห็นดวงอาทิตย์สาดแสงสลัวๆ (ข้อจำกัดของฟีล์มขาว-ดำ ทำให้ดวงอาทิตย์กลมกลืนไปกับท้องฟ้า) สลับกับความมืดมิดที่อยู่ภายใต้การโยกสั่นระฆัง ก่อนเฟดเข้า Closing Credit พื้นหลังปกคลุมด้วยสีดำสนิท

ช่วงต้นเรื่องมีการกล่าวถึงเสียงระฆัง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหมู่บ้านแห่งนี้ เพื่อให้นักเดินทางที่พลัดหลงในป่าใหญ่ (แถวนี้มันมีป่าด้วยเหรอ?) สามารถติดตามเสียงที่ได้ยินกลับออกมา

นักเดินทาง: The bells. Why are they ringing?
ชาวบ้าน: It’s a local custom. For lost travelers. Bishop’s orders. For those lost in the forest. The forest is dangerous.

ตอนจบขอหนังนี้คงต้องการสื่อถึงทั้งบาทหลวง Józef Suryn และแม่อธิการ Mother Joan ที่ต่างกำลัง(ลุ่ม)หลงทางในความเชื่อศรัทธาของตนเอง จนไม่สามารถหาหนทางกลับสู่โลกความจริง! ส่วนการสลับจากขาวเป็นดำ จากดำเป็นขาว หรือแสงสว่าง <> มืดมิด สะท้อนวิถีของมนุษย์ยุคสมัยนั้น (รวมถึงบาทหลวงและแม่อธิการ) เห็นผิดเป็นชอบ กลับกลอกปอกลอก โดยเฉพาะการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา ใช้ข้ออ้างศีลธรรมเพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน จักนำพาให้โลกก้าวสู่ความมืดมิด

ตัดต่อโดย Wiesława Otocka,

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาบาทหลวง Józef Suryn ตั้งแต่เดินทางมาถึงเมือง Ludyń หลังจากเข้าพักในโรงแรม เดินทางไปเยียมเยียนแม่อธิการ Mother Joan หลังจากพูดคุยสนทนา ตัดสินใจเชิญบาทหลวงที่มีความสามารถในการขับไล่ปีศาจร้าย ถึงอย่างนั้นพวกมันกลับไม่ยินยอมสูญหายตัวไปไหน ทำให้เขาตัดสินใจยินยอมเสียสละตนเอง

  • การมาถึงของบาทหลวง Józef Suryn
    • เรื่องวุ่นๆในโรงแรม รับฟังข่าวลือเล่าขานเกี่ยวกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นก่อนหน้า
    • ระหว่างเดินทางไปอารามชี พานผ่านเสาไม้ที่ทำการแผดเผาไหม้บาทหลวงคนก่อนหน้า
    • บาทหลวง Józef Suryn พูดคุยสนทนากับแม่อธิการ Mother Joan พบเห็นปีศาจร้ายที่เข้าสิงร่างกายเธอ
  • พิธีกรรมไล่ผี/ปีศาจร้าย
    • ระหว่างแม่ชี Sister Malgorzata แวะเวียนมาทำธุระยังโรงแรม พบเจอตกหลุมรักแรกพบ Chrząszczewski แอบแสดงความปรารถนาของหัวใจ
    • พิธีกรรมไล่ผี/ปีศาจร้าย
    • หลังพิธีกรรมดังกล่าว บาทหลวง Józef Suryn ก็พบว่าวิญญาณร้ายในร่างของ Mother Joan ยังคงอาศัยอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
  • การเผชิญหน้าปีศาจร้าย/ตัวตนเองของบาทหลวง Józef Suryn
    • บาทหลวง Józef Suryn เต็มไปด้วยความสับสนในตนเอง ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงบังเกิดความลุ่มร้อนทรวงใน
    • ถูกเชิญเข้าพบเจอ Rabbi ผู้นำศาสนาชาวยิว แม้ปฏิเสธรับฟังคำเตือน แต่ก็ทำให้เรียนรู้จักการเผชิญหน้าตัวตนเอง
    • บาทหลวง Józef Suryn เผชิญหน้ากับแม่อธิการ Mother Joan รับปากที่จะให้ความช่วยเหลือ ขับไล่วิญญาณร้ายออกจากร่างเธอ
  • การเสียสละของบาทหลวง Józef Suryn
    • Chrząszczewski หวนกลับมาหา Margareth ช่วงชิงความบริสุทธิ์แล้วจากไป
    • ค่ำคืนนั้นบาทหลวง Józef Suryn ตัดสินใจกระทำการเข่นฆาตกรรม โอบรับซาตานเข้ามาในจิตใจ
    • เพื่อปลดปล่อยแม่อธิการ Mother Joan ให้ได้รับอิสรภาพจากปีศาจร้าย

การตัดต่อของหนังแม้ไม่ได้มีความหวือหวา น่าตื่นตาตื่นใจอะไร แต่เต็มไปด้วยช่องว่างสำหรับให้ผู้ชมเติมเต็มความครุ่นคิดจินตนาการ อย่างไคลน์แม็กซ์ถ่ายให้เห็นเพียงบาทหลวง Józef Suryn หยิบขวาน เดินเข้าโรงนา ตามด้วยเจ้าม้ามีสีหน้าตื่นตกอกตกใจ แล้วตัดสู่เช้าวันใหม่ถึงค่อยมีการพูดเล่าว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไร


หนังถือว่าไม่มีบทเพลงประกอบ (Soundtrack) ส่วนใหญ่เป็นความเงียบงันซึ่งสามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดัน ถึงอย่างนั้นก็พอยังมี ‘diegetic music’ พบเห็นบรรเลง Mandolin (รวมถึงเครื่องดนตรีอื่นๆ) และขับร้อง/ประสานเสียงแม่ชี (พิธีมิสซา/ไล่ผี ก็เช่นเดียวกัน) ทั้งหมดล้วนประพันธ์โดยคีตกวี Adam Walaciński

Adam Walaciński (1928-2015) คีตกวีสัญชาติ Polish ร่ำเรียนดนตรีจาก Akademia Muzyczna im. Krzysztofa Pendereckiego w Krakowie เริ่มจากสนใจด้านไวโอลิน ก่อนเปลี่ยนสาขาประพันธ์เพลง หลังเรียนจบเป็นนักดนตรี(ไวโอลิน)ประจำ Krakowskiej Orkiestrze Polskiego Radia ระหว่างนั้นก็เริ่มประพันธ์เพลงคลาสสิก บัลเล่ต์ อุปรากร รวมถึงภาพยนตร์ อาทิ Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1965) ฯลฯ

บทเพลงที่ขับร้องโดย Sister Malgorzata (รับบทโดย Anna Ciepielewska) ถือเป็นสีสันของหนัง สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง เนื้อคำร้องเป็นการหยอกล้อเล่น ถึงชายที่เธอเพิ่งพบเจอ แล้ว(แอบ)ตกหลุมรักแรกพบ ชวนให้ผู้ชมอมยิ้มขึ้นมาทันที!

My dear mother, I’d rather be a nun
than to have a brute for a husband.
He would beat me with his stick.
He would beat me black and blue
so I’d rather be a nun.

I’d rather sing in a nunnery choir
than take a beating he thinks I require.
I’d rather sing matins for hours and hours
and be saved from his stick.

ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการไล่ผี เผาแม่มด มักสะท้อนแนวคิดต่อต้านระบอบอำนาจนิยม (Totalitarian) ในสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ก็การบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา เพื่อให้สอดคล้องความต้องการ สนองผลประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวกพ้อง

Mother Joan of the Angels (1961) กล่าวถึงเรื่องต้องห้ามของความรัก ทั้งๆศาสนาคริสต์สอนให้คนมีความรักต่อกัน แต่กลับกีดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงและแม่ชี ถึงขนาดตีตราว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เรียกความรู้สึกนั้นว่าบาป ถูกปีศาจเข้าสิง ต้องแผดเผาให้มอดไหม้วอดวาย ตกตายทั้งเป็น

Matka Joanna od aniołów is a film against dogma. That is the universal message of the film. It is a love story about a man and a woman who wear church clothes, and whose religion does not allow them to love each other. They often talk about and teach about love—how to love God, how to love each other—and yet they cannot have the love of a man and a woman because of their religion.

Jerzy Kawalerowicz

ความตั้งใจของผู้กำกับ Kawalerowicz ค่อนข้างชัดเจนถึงใจความต่อต้านศาสนา (Anti-Clerical) ต้องการชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัด ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ ทำไมสังคมถึงตีตราความรักระหว่างบาทหลวง-แม่ชี ว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย หักห้าม กีดกัน และถึงขั้นทำให้ตกตายเชียวหรือ?

The devils that possess these characters are the external manifestations of their repressed love. The devils are like sins, opposite to their human nature. It is like the devils give the man and woman an excuse for their human love. Because of that excuse, they are able to love.

คนส่วนใหญ่มักมองปัญหาการใช้อำนาจ วิธีการตัดสินพิพากษา ถูกทัณฑ์ทรมาน แผดเผาให้ตกตาย ใช้ความรุนแรง/อคติต่อต้านมากเกินไปหรือเปล่า?

ความไม่เข้าใจตนเองของทั้งบาทหลวงและแม่ชีต่างหาก คือสิ่งที่น่าฉงนสงสัยว่าศาสนาสอนอะไรพวกเขา ถึงเต็มไปด้วยความเครียด เก็บกดดัน “Sexual Repression” เมื่อไม่ใครสามารถให้คำตอบเลยต้องทรมานตัวเองให้ได้รับความเจ็บปวด แล้วมันจะแก้ปัญหาทางใจได้อย่างไร? … พระพุทธเจ้าเคยบำเพ็ญทุกรกิริยานานถึง 6 ปี ก่อนทรงตระหนักรู้ด้วยตนเองว่านั่นไม่ใช่หนทางแห่งการบรรลุหลุดพ้น

เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็เหมือนพระภิกษุตกหลุมรักหญิงสาวชาวบ้าน มันคือเรื่องทางโลกที่สามารถเกิดขึ้นได้สำหรับปุถุชน แต่การกระทำที่ขัดแย้งต่อศีล คำสัตย์สาบานเคยให้ไว้ต่างหาก รู้ว่าผิดแต่ยังฝืนทำ นั่นคือปาราชิก สิ่งชั่วร้าย มาบวชทำพรือ? คนแสดงหาผลประโยชน์กับศาสนา พอถึงวันตายเดี๋ยวก็รู้เองว่าจะได้รับผลกรรมเช่นไร

อคติต่อศาสนาของผู้กำกับ Kawalerowicz น่าจะมาจากการไม่เคยทำอะไรของคริสตจักรที่เป็นประโยชน์ต่อชาว Polish หนำซ้ำยังให้การสนับสนุนใครก็ตามที่ขึ้นมาปกครองบริหารประเทศ โดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสม พฤติกรรมอันโฉดชั่วร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต เอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ไหนละหลักศีลธรรมที่เคยกล่าวอ้างให้ยึดถือเชื่อมั่น

(ผกก. Kawalerowicz เป็นสมาชิกสหพรรคแรงงาน Polish United Workers’ Party เลยไม่แปลกที่จะทำหนังต่อต้านรัฐบาล ศาสนา ฝั่งฝ่ายขั้วตรงกันข้ามกับประชาชน)

อาการผีเข้าของแม่อธิการ Mother Joan แม้หนังจะให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ แต่ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะพอมองออกว่าเป็นการเล่นละครตบตา แสร้งว่าบ้า เช่นเดียวกับบาทหลวง Józef Suryn ครุ่นคิดว่าอาการลุ่มร้อนทรวงในคืออิทธิพลจากปีศาจร้าย … แท้จริงแล้วคือการไม่เข้าใจความรู้สึกของตนเอง ทั้งสองฝ่ายแอบตกหลุมรักกันและกัน แต่เพราะมิอาจเปิดเผยสิ่งนั้นออกมา จึงใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างบิดเบือนทุกสิ่งอย่าง

การโอบรับซาตานของบาทหลวง Józef Suryn ด้วยการเข่นฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ ครุ่นคิดเข้าใจว่านั่นคือวิธีการจะช่วยเหลือแม่อธิการ Mother Joan มันจึงคือความบิดเบือน ไร้สาระทั้งเพ ศาสนาแม้งไม่ช่วยอะไร หนำซ้ำยังสนับสนุนให้เข่นฆ่ากันตายเพราะความรัก

โลกยุคสมัยก่อนจะมีการแบ่งขาว-ดำ ออกจากกันอย่างชัดเจน มันจึงมีความเห็นต่างอย่างสุดโต่ง ไม่ใช่มิตรต้องคือศัตรู ถ้าทำไม่ถูกก็ถือว่าผิด แต่มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งดี-ชั่วในตนเอง การจะรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม จึงยังเป็นแนวคิดค่อนข้างใหม่ในยุคสมัยนั้น

การโอบรับซาตาน/สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในตนเอง สามารถตีความถึงการเปิดมุมมองโลกทัศน์ ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม เรียนรู้จักมุมมอง(เหรียญ)ทั้งสองด้าน ถูก-ผิด ดี-ชั่ว และสามารถเลือกกำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง จะซ้ายหรือขวา ค่อนไปทางไหน หรือกึ่งกลาง หรือไม่เอาสักสิ่งอย่าง

และการที่เราจะสามารถเดินทางสายกลางในพุทธศาสนา มันมีความจำเป็นต้องเรียนรู้จักถูก-ผิด ดี-ชั่ว เข้าใจมุมมองโลกทั้งสองด้าน (แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปเข่นฆ่าใครก่อนถึงจะรู้สึกสาสำนึกแก่ใจนะครับ) แล้วเลือกแสดงออกตามวิถี “กฎแห่งกรรม” กระทำสิ่งใดไว้ย่อมได้รับผลนั้นคืนสนอง


ไม่น่าแปลกที่เมื่อตอนออกฉาย หนังจะถูกโจมตีจากคริสตจักรด้วยเหตุผล Anti-Clerical ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถหยุดยับยั้งการเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ถือว่าดียอดเยี่ยม จนสามารถคว้ารางวัล Prix du Jury (Jury Prize) โดยปีนั้น Palme d’Or ตกเป็นของ Viridiana (1961) และ The Long Absence (1961)

ปัจจุบัน Mother Joan of the Angels (1961) ได้รับการบูรณะโดย KinoRP ได้รับทุนสนับสนุนจาก Ministra Kultury i Dziedzictwa Narodowego (Ministry of Culture and National Heritage) ของประเทศ Poland แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2010 เลยยังได้คุณภาพเพียง 2K

เกร็ด: Mother Joan of the Angels (1961) คือหนึ่งใน 21 ลิสหนังของ Martin Scorsese Presents: Masterpieces of Polish Cinema

ใครที่ติดตามอ่าน raremeat.blog คงคาดเดาได้ว่าผมต้องชื่นชอบ Mother Joan of the Angels (1961) >>> The Devils (1971) เพราะการนำเสนอที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรมากมาย แต่สามารถสร้างความตราตรึง สั่นสะท้านทรวงใน และแฝงสาระข้อคิดเกี่ยวกับการเผชิญหน้าขั้วตรงข้ามของตนเอง เอาจริงๆอยากจะจัด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่เพราะหนังต่อต้านคริสตจักรโจ่งแจ้งเกินไป เลยขอละเอาไว้ก็แล้วกัน

แนะนำคอหนัง Horror ที่เน้นความสยิวกาย สไตล์ Minimalist สั่นสะท้านทรวงใน (ไม่ใช่ผีตุ้งแช่ให้ตกใจ), หนังอิงศาสนาที่ไม่เน้นว่าต้องเป็นชาวคริสต์, และใครเคยรับชม The Devils (1971) ห้ามพลาดภาคต่อขั้วตรงข้าม ในช่วงวันปล่อยผี Halloween อย่างเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับฉากไล่ผีที่น่าหวาดสะพรึง และความรักต้องห้ามระหว่างบาทหลวงและแม่อธิการ

คำโปรย | Mother Joan of the Angels นางฟ้าในหมู่มาร ที่ท้าทายความเชื่อศรัทธาชาวคริสต์ได้อย่างเรียบง่าย ตราตรึง
คุณภาพ | รีง่
ส่วนตัว | สงบงาม

Three Colours: Red (1994)


Three Colours: Red (1994) PolishFrench : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥♥♡

แม้คนเราชอบแสดงออกอย่างเป็นมิตรกับคนที่ไม่รู้จัก แต่จิตใจมักเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ครุ่นคิดว่าเขาจะมาร้าย จนกว่าจะได้พูดคุย สานสัมพันธ์ ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ภารดรภาพที่แท้จริงถึงบังเกิดขึ้น

แม้ผมไม่ค่อยชอบตอบจนของ Blue (1993), อคติเกือบทั้งเรื่อง(ยกเว้นตอนจบ)ต่อ White (1994), แต่สำหรับ Red (1994) บอกเลยว่าเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหล เพราะผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ได้ทำการเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างใน Three Colours Trilogy ตั้งคำถามถึงเหตุผลที่เราควรช่วยเหลือกันและกัน ต่อให้เป็นคนแปลกหน้า หญิงชราหลังค่อม พบเห็นสิ่งไม่ถูกต้องก็ควรตักเตือน พูดห้ามปราม ถึงไม่สามารถหยุดยับยั้งโศกนาฎกรรม แต่บุญบารมีที่สะสมอาจทำให้อยู่รอดปลอดภัย

ในบรรดาไตรภาคสามสี Three Colours, Trois couleurs (French), Trzy kolory (Polish) เรื่องราวของ Red, Rouge, Czerwony มองผิวเผินเหมือนแทบไม่มีอะไร ตัวละครพบเจอ พูดคุย ถกเถียงคำถามอภิปรัชญา แต่ในแง่การครุ่นคิดวิเคราะห์ นัยยะซุกซ่อนเร้น สาสน์สาระที่แท้จริงของหนังนั้น ผมรู้สึกว่ามีความสลับซับซ้อน ปวดกระบาลศีรษะมากที่สุด!

เมื่อตอนออกฉายผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็ดูหนังไม่เข้าใจ รวมถึง Clint Eastwood ประธานกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes ยังไม่มอบรางวัลอะไรให้สักอย่าง! เว้นแต่ผู้กำกับ Quentin Tarantino กล่าวยกย่องสรรเสริญ Red (1994) ว่ามีความลุ่มลึกล้ำเหนือชั้นกว่าผลงานของตนเอง Pulp Fiction (1994) ที่ตัดหน้าคว้า Palme d’Or เสียอีก!

เช่นนั้นแล้วอะไรคือความยอดเยี่ยมของ Red (1994)? หนังพยายามนำเสนอในสิ่งที่เรียกว่า ‘สายสัมพันธ์’ แม้ตัวละครไม่เคยพบเจอรับรู้จัก แต่กลับมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงใยถึงกัน ยกตัวอย่างเรื่องราวของทนายหนุ่ม แฟนสาวแอบคบชู้นอกใจ จับได้คาหนังคาเขา โดยไม่รู้ตัวคือนั่นสิ่งเคยบังเกิดขึ้นกับทนายวัยเกษียณ (ไม่ได้รับรู้จักกันแต่อย่างใด) แถมยังพูดเล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้น (ที่ไม่ได้นำเสนอในส่วนของทนายหนุ่ม) … ตลอดทั้งเรื่องจะหลายสิ่งอย่างที่แสดงถึงความเชื่อมโยงจากคน-สัตว์-สิ่งของ ไปยังอีกสิ่งของ-สัตว์-คน (เหมือนสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อการสื่อสาร) กล้องเคลื่อนจากอพาร์ทเมนท์หลังหนึ่งไปยังอีกห้องฟากฝั่งตรงข้ามถนน (ต่างไม่เคยรับรู้จักกัน) และที่ทำให้ผมสั่นสะท้านหัวใจมากสุดก็คือสองภาพนี้ โปสเตอร์ตอนถ่ายแบบและช็อตสุดท้ายของหนัง เห็นความละม้ายคล้ายกันไหมเอ่ย?

Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach

เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง

Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ

International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)


ทนายความ/นักเขียน Krzysztof Piesiewicz (รับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski มาตั้งแต่ผลงาน No End (1985)) ระหว่างกำลังสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991) เป็นผู้เสนอแนะแนวคิดเกี่ยวสรรค์สร้างภาพยนตร์ไตรภาค โดยอ้างอิงจากคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส Liberté (Liberty), Égalité (Equality), Fraternité (Fraternity) เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ

The words [liberté, egalité, fraternité] are French because the money [to fund the films] is French. If the money had been of a different nationality we would have titled the films differently, or they might have had a different cultural connotation. But the films would probably have been the same.

Krzysztof Kieślowski

โดยความตั้งใจแรกเริ่มต้องการทำออกมาให้คล้ายๆ Dekalog (1988) ที่อ้างอิงพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments) สรรค์สร้างสิบเรื่องราวที่มีสาสน์สาระอ้างอิงพระบัญญัติทั้งสิบข้อ แต่หลังจากเริ่มต้นพัฒนาบท Blue พวกเขาก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรเกี่ยวกับแนวคิดเสรีภาพ Liberté (Liberty) เลยสักนิด!

ผู้กำกับ Kieślowski เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Red (1994) มีความยุ่งยากท้าทาย แนวคิดสลับซับซ้อนที่สุด เพราะต้องนำทุกสรรพสิ่งอย่างในชีวิต(ไม่ใช่แค่ Blue กับ White)มาผสมผสานคลุกเคล้า ค้นหาวิธีขมวดปมปริศนา เพื่อทำให้ผู้ชมตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของภารดรภาพ Fraternité (Fraternity)

สิ่งที่ผู้กำกับ Kieślowski ครุ่นคิดได้ก็คือการตั้งคำถามปรัชญา ทำไมคนเราถึงชอบช่วยเหลือผู้อื่น? เพื่อตอบสนองบางสิ่งอย่างภายใน? ต้องการเรียกร้องความสนใจ? เชื่อว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม? นั่นทำให้เกิดประเด็นต่อมา ถ้าเราทำในสิ่งที่เขาไม่อยากได้รับความช่วยเหลือ ก็เท่ากับการไปสอดรู้สอดเห็น เสือกเรื่องชาวบ้าน บางครั้งปล่อยปละละไว้ อาจไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา … เมื่อการถกเถียงระหว่างหญิงสาวผู้มีจิตใจเมตตา ชอบให้การช่วยเหลือผู้อื่นใด vs. ชายสูงวัยนิสัยเห็นแก่ตัวโคตรๆ วันๆเอาแต่สอดแนมเรื่องของชาวบ้าน โดยไม่รู้ตัวจิตสำนึกทางภารดรภาพจึงได้บังเกิดขึ้น!

There’s something beautiful in the fact that we can give something of ourselves. But if it turns out that, while giving of ourselves, we are doing so in order to have a better opinion of ourselves, then immediately there’s a blemish on this beauty. Is this beauty pure? Or is it always a little marred? That’s the question the film asks. We don’t know the answer, nor do we want to know it. We’re simply reflecting on the question once again.


ภราดรภาพ ภราตรภาพ ภราตฤภาพ (คำนาม) หมายถึง ความเป็นฉันพี่น้องกัน, ผมไปพบเจอในเว็บไซด์สถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้คำอธิบายเป็นภาษาไทยไว้อย่างน่าสนใจ

…มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดั่งกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์คนอื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้น เพียงแต่มนุษย์มีความอิสระและมีความเสมอภาค จึงยังไม่เพียงพอ คือจำต้องมีการช่วยเหลือกันฉันท์พี่น้องด้วย…

ความคิดเรื่องภราดรภาพนี้มิใช่ปรัชญา หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นเพียงวาทกรรม หากหลักการนี้เชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์เราอย่างแท้จริง จากการศึกษาจิตวิทยาด้านวิวัฒนาการในระยะหลังได้ค้นพบว่ามนุษย์เรามีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและผูกพันกับคนอื่น ในทางชีววิทยาเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนอื่น ออกซิโทซินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขจะหลั่งออกมา ส่งผลให้เราวิตกกังวลน้อยลงและมีสมาธิดีขึ้น การพูดคุยกับคนอื่นส่งผลดีต่อร่างกายโดยตรงด้วยผลของฮอร์โมนนั้น

reference: https://pridi.or.th/th/content/2020/04/43


Valentine Dussaut (รับบทโดย Irène Jacob) นักศึกษา University of Geneva ชื่นชอบเต้นบัลเล่ต์ รับงานพาร์ทไทม์เป็นนางแบบ โมเดลลิ่ง บ่อยครั้งมักคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่มอาศัยอยู่ที่ London แต่เขามักพยายามควบคุมครอบงำ ไม่ต้องการให้เธอทำโน่นนี่นั่น รวมถึงถ่ายแบบหมากฝรั่งยี่ห้อหนึ่ง, อพาร์ทเม้นท์ฝั่งตรงข้ามเป็นที่พักอาศัยของนักศึกษากฎหมาย Auguste (รับบทโดย Jean-Pierre Lorit) กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบนิติกร ครองรักกับแฟนสาว Karin (รับบทโดย Frederique Feder) ที่ชอบทำตัวลับๆล่อๆอย่างไม่ทราบสาเหตุ

วันหนึ่งระหว่างทางกลับอพาร์ทเม้นท์ Auguste ทำกองหนังสือตกหล่นกลางถนน ระหว่างก้มลงเก็บพบเห็นหน้าที่เปิดค้างอยู่ ท่องจดจำขึ้นใจ ปรากฎว่าออกเป็นข้อสอบ ตอบถูกต้อง เลยกำลังจะได้เป็นผู้พิพากษาสมใจ, ขณะที่ Valentine ขับรถพุ่งชนสุนัขชื่อ Rita ออกติดตามหาเจ้าของจนพบเจอผู้พิพากษาวัยเกษียณ Joseph Kern (รับบทโดย Jean-Louis Trintignant) ที่ดูไม่ยี่หร่ากับมันสักเท่าไหร่ เธอเลยตัดสินพาไปหาสัตวแพทย์ รับรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ต้องการจะรับเลี้ยงดู แต่สุดท้ายมันวิ่งกลับไปเจ้าของที่แท้จริงอยู่ดี

การหวนกลับมาเยี่ยมเยี่ยน Joseph ทำให้รับรู้ถึงงานอดิเรกที่ชอบสอดแนม ดักฟังโทรศัพท์เพื่อนข้างบ้าง ทั้งรู้ว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ Valentine ก็ไม่สามารถนำเรื่องราวดังกล่าวไปพูดบอกความจริง เพราะตระหนักว่ามันอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวนั้น แต่สุดท้ายเขากลับเขียนจดหมายรับสารภาพผิด เดินทางไปขึ้นศาลโดยมี Auguste เป็นผู้พิจารณาคดี ซึ่งหลังจากเสร็จงานวันนั้นพยายามโทรศัพท์หาแฟนสาว Karin แต่ไม่ยินยอมรับสาย เลยติดตามไปที่ห้องพักด้วยความเคลือบแคลงสงสัย แอบปีนป่ายขึ้นระเบียงหน้าตา และพบภาพบาดตาบาดใจ

หลังงานเดินแบบแฟชั่นโชว์ Valentine มีโอกาสพบเจอ Joseph ที่เหมือนจะกลับตัวกลับใจ เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวชีวิตในอดีต เคยตกหลุมรักแฟนสาวคนหนึ่งแล้วจับได้ว่าคบชู้คาหนังคาเขา, สอบผ่านผู้พิพากษาเพราะจดจำหน้าหนังสือที่ตกอยู่บนพื้นถนน ฯลฯ แทบทั้งหมดล้วนไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่ Auguste พานผ่านมา (แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับรู้จักกันนะครับ) นอกจากนี้ยังเล่าถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้น บลา บลา บลา ก่อนอำนวยอวยพรให้เดินทางโดยเรือสำราญไปหาแฟนหนุ่มได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย


Irène Marie Jacob (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติ French-Swiss เกิดที่ Suresnes, Hauts-de-Seine ชานเมืองฝั่งตะวันตกของกรุง Paris บิดาเป็นนักฟิสิกส์ มารดาทำงานด้านจิตวิทยา, เมื่ออายุสามขวบติดตามครอบครัวอพยพย้ายมาปักหลักอยู่ Geneva, Switzerland (จนได้สัญชาติ Swiss) ค้นพบความชื่นชอบด้านดนตรี ศิลปะ และการแสดงจากภาพยนตร์ของ Charlie Chaplin

Charlie Chaplin took my heart. They made me laugh and cry, and that was exactly what I was waiting for in a film: to awaken me to my feelings.

Irène Jacob

ด้วยความที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน และอิตาลี) หลังจากร่ำเรียนดนตรียัง Geneva Conservatory of Music มุ่งสู่การแสดง Drama Studio, London ก่อนย้ายมา Rue Blanche, Paris จนได้รับโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Au revoir les enfants (1987) ของผู้กำกับ Louis Malle แม้เพียงบทครูสอนเปียโนเล็กๆ แต่ไปเข้าตาผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เลือกมารับบทนำ The Double Life of Veronique (1991) ติดตามด้วย Three Colours: Red (1994)

รับบท Valentine Dussaut นักศึกษาสาว อาศัยอยู่เพียงลำพังใน Geneva, Switzerland แม้โทรศัพท์หาแฟนหนุ่มทุกวี่วัน แต่ยังคงรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนอยู่เคียงข้าง เลยทุ่มเทกายใจไปกับการซ้อมเต้นบัลเล่ต์ ทำงานพาร์ทไทม์ ถ่ายแบบ โมเดลลิ่ง จนกระทั่งวันหนึ่งขับรถชนสุนัขชื่อ Rita ออกติดตามหาเจ้าของจนพบเจออดีตผู้พิพากษา Joseph Kern ที่มีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้ามกับตนเองโดยสิ้นเชิง!

เกร็ด: ผู้กำกับ Kieślowski สอบถาม Jacob เมื่อวัยเด็กเคยอยากมีชื่อเรียกอื่นหรือเปล่า เธอตอบว่า Valentine ก็เลยกลายมาเป็นชื่อตัวละคร แต่ผู้ชมส่วนใหญ่มักตีความถึง Saint Valentine ซึ่งสอดคล้องกับ(กุหลาบ)สีแดง สัญลักษณ์ของความรัก

แม้ว่าบทบาท Valentine จะไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรถึง Weronika หรือ Véronique จากเรื่อง The Double Life of Veronique (1991) แต่ผมก็ไม่อาจลบเลือกภาพจำดังกล่าวทิ้งไปได้ ยังคงเห็นความระริกระรี้ ร่าเริงสนุกสนาน ‘free spirit’ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ทำให้โลกสวยสดใส เพิ่มเติมคือจิตใจเมตตาปราณี ชื่นชอบช่วยเหลือผู้อื่น … นั่นอาจคือเหตุผลหนึ่งกระมัง ทำให้สามารถรอดชีวิตจากโศกนาฎกรรม

ตัวละครที่ดีดี้ดีเกินไปมันก็น่าเบื่อหน่าย จนกระทั่ง Valentine ได้พบเจอ Joseph ซึ่งถือเป็นคู่ปรับขั้วตรงข้าม (แนวคิดคล้ายๆกับ White (1994) การได้ถูกแก้ล้างแค้นในสิ่งเคยกระทำผู้อื่นไว้ ย่อมทำให้เรียนรู้ถึงความเสมอภาคเท่าเทียม) พูดคุยถกเถียง ตั้งคำถามปรัชญา คนเราช่วยเหลือผู้อื่นไปทำไม? นั่นสร้างความสับสน โล้เล้ลังใจ บังเกิดความขัดแย้งภายใน (นี่เป็นส่วนที่ Jacob แสดงออกมาได้น่าประทับใจมากๆ) ทั้งหมดที่เคยทำไปเป็นสิ่งถูกต้องหรือเปล่า? และท้ายสุดเธอก็สามารถค้นพบคำตอบของตนเอง (นั่นคือวินาทีที่เข้าไปช่วยเหลือหญิงชราหลังค่อม ยัดขวดแก้วใส่ถังขยะได้สำเร็จ!)

แม้ว่าบทบาท Valentine จะมีความลุ่มลึก สลับซับซ้อน ขัดย้อนแย้งภายใน แต่โดยส่วนตัวยังคงรักคลั่งไคล้ Weronika และ Véronique เพราะความบริสุทธิ์สดใส ใบหน้าละอ่อนเยาว์วัย ถือเป็นความประทับใจแรกพบ (First Impression) ที่ไม่สามารถลบภาพจำของผมไปได้ … มันอาจเพราะมุมกล้องถ่าย Close-Up ใบหน้าของ Jacob ใน The Double Life of Veronique (1991) บ่อยครั้งกว่า มันเลยตราฝังใจไม่รู้ลืมเลือน


Jean-Louis Xavier Trintignant (1930-2022) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Piolenc, Vaucluse บิดาเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง คาดหวังบุตรชายโตขึ้นกลายเป็นนักกฎหมาย แต่ภายหลังค้นพบความสนใจด้านการแสดง อพยพย้ายสู่ Paris เริ่มต้นมีผลงานละครเวที โด่งดังทันทีจากภาพยนตร์ And God Created Woman (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Il Sorpasso (1962), A Man and a Woman (1966), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Great Silence (1966), The Man Who Lies (1968), Z (1969), My Night at Maud’s (1969), The Conformist (1970), Confidentially Yours (1983), Three Colors: Red (1994), Amour (2012) ฯลฯ

รับบทอดีตผู้พิพากษา Joseph Kern หลังเกษียณ(ล่วงหน้า)อาศัยอยู่แต่ในบ้านพัก สภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ชอบพบปะผู้คน เต็มไปด้วยความหวาดระแวง แต่ชื่นชอบดักฟังโทรศัพท์ผู้อื่น ล่วงรู้ความลับทุกสิ่งอย่าง (แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร) เลี้ยงสุนัขชื่อ Rita แบบไม่ได้ยี่หร่ากับมันสักเท่าไหร่

การได้พบเจอ Valentine ผ่านเจ้าสุนัข Rita แรกเริ่มเต็มไปด้วยความมาดร้าย ไม่พึงพอใจ อย่ามายุ่งวุ่นวาย/เสือกอะไรกับเรื่องของฉัน แต่หลังจากมีโอกาสพูดคุย โต้เถียงถึงงานอดิเรก (ดักฟังโทรศัพท์เพื่อนข้างบ้าน) เธอแสดงความรู้สึกสมเพศเวทนา นั่นทำให้เขาเริ่มครุ่นคิดทบทวนสิ่งต่างๆ บังเกิดความกล้ายินยอมรับความผิด และค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวจากอดีต ทำไมตนเองถึงกลายมามีสภาพเช่นนี้

ด้วยอายุก้าวผ่านหลัก 60+ ทำให้ Trintignant ค่อนข้างจะเลือกรับงานแสดงพอสมควร โดยพิจารณาจากบทหนังและผู้กำกับเป็นหลัก ซึ่งหลังอ่านบทก็เกิดความประทับใจอย่างมากๆ

I’m very impressive with the script. And then I met Kieślowski personally and gained enthusiasm.

Jean-Louis Trintignant

ผมมีภาพจดจำ Trintignant ในบทชายสูงวัย นิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ใคร่ยี่หร่าอะไรใคร มากกว่าตอนสมัยหนุ่มๆหล่อเหลาเสียอีกนะ! มันอาจเพราะประสบการณ์ชีวิต พานผ่านอะไรๆมามาก จึงทำให้เขา(และตัวละคร)มีความเข้าใจสิ่งต่างๆในมุมของตนเอง ซึ่งบางครั้งมันอาจไม่ถูกต้อง แต่ใครละจะกล้าสอนสั่ง ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง … คนสูงวัยก็แบบนี้นะครับ มีความดื้อดึงดัน เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูก จนแทบไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไร แถมต่อว่าเด็กรุ่นใหม่มันจะไปรู้อะไร ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนตั้งหลายปี!

แต่แม้แต่คนแก่ก็สามารถครุ่นคิด ปรับเปลี่ยนตนเองในทิศทางถูกต้องเหมาะสม นี่ต้องชม Trintignant นำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่กลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง! จากเคยหน้านิ่วคิ้วขมวดมาเป็นสีหน้าผ่อนคลาย ท่าทางกระโผกระเผกมาเป็นกระฉับกระเฉง ก้าวเดินคล่องแคล่ว ดูมีชีวิตชีวา ทำให้ผู้ชมหลายคนครุ่นคิดจินตนาการว่า ถ้าผู้เฒ่าคนนี้ยังหนุ่มแน่น หล่อเหลา น่าจะเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Irène Jacob อย่างแน่นอน!

ถึงผมไม่อยากจินตนาการ Old Man & Young Woman แต่ทิศทางดำเนินไปของเรื่องราวมันช่างโรแมนติก ดูมีชีวิตชีวา ต่างคนต่างสามารถเป็นพลังใจ เติมเต็มสิ่งขาดหายของกันและกัน ถ้านั่นไม่เรียกว่าความรัก ก็คงต้องจบด้วยการมีเพศสัมพันธ์ … ผู้ชมหลายคนอาจรู้สึกต่อต้านความสัมพันธ์/โรแมนติกระหว่างสองตัวละคร มีคำเรียกหนังลักษณะนี้ว่า Anti-Romance (ไม่อยากให้โรแมนติก แต่ก็สามารถดูออกว่าเป็นหนังรัก)


ถ่ายภาพโดย Piotr Sobociński (1958-2001) สัญชาติ Polish เป็นบุตรของ Witold Sobociński ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เข้าเรียนด้านการถ่ายภาพยัง National Film School, Łódź มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski สองครั้ง Dekalog (1988) และ Three Colours: Red (1994), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Seventh Room (1995), Marvin’s Room (1996), Ransom (1996) ฯ

ผู้กำกับ Kieślowski จงใจเปลี่ยนตากล้องไม่ซ้ำหน้าใน Three Colours Trilogy เพื่อต้องการสัมผัสงานภาพที่แตกต่างออกไป แต่ผลลัพท์ก็ชัดเจนถึงศักยภาพ/ความถนัดของแต่ละบุคคล, งานภาพของ Red (1994) แม้ไม่ได้มีสีสันจัดจ้านเทียบเท่า Blue (1993) หรือดูมืด-สว่างแบบ White (1994), แต่เต็มไปด้วยลวดลีลา โดยเฉพาะการขยับเคลื่อนกล้อง (Camera Work) จากอพาร์ทเม้นท์หนึ่งไปยังอีกห้องหับหนึ่งที่อยู่คนละฝากฝั่งถนน, ตกจากชั้นบนลงสู่พื้นดิน, หรือแม้แต่ขณะการโต้ถกเถียงระหว่างตัวละคร ใครช่างสังเกตจะพบเห็นตำแหน่งสูง-ต่ำระหว่างคู่สนทนา จัดวางตำแหน่ง องค์ประกอบฉาก และการขาดหายไปของสีน้ำเงิน ล้วนซุกซ่อนเร้นนัยยะบางสิ่งอย่าง

ลีลาการขยับเคลื่อนกล้องไม่ได้แทนด้วยมุมมองตัวละครหนึ่งใด ให้ความรู้สึกเหมือนสิ่งลี้ลับ/เหนือธรรมชาติ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่ราวกับมีตัวตน ล่องลอยอยู่รอบตัวเรา คอยเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากตัวละครหนึ่งไปสู่ใครอีกคนหนึ่ง ทั้งๆไม่เคยรับรู้จัก กลับมักอยู่เคียงข้าง สวนทางกันบ่อยครั้ง

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำที่ Canton de Genève ย่านที่อยู่อาศัยของชาวฝรั่งเศสในประเทศ Switzerland (เหตุผลหนึ่งเพราะได้รับงบประมาณก้อนใหญ่จากนายทุนชาว Swiss ก็เลยต้องถ่ายทำในประเทศ Switzerland)

  • อพาร์ทเม้นท์ของ Valentine และ Auguste ตั้งอยู่ที่ Rue des Sources ไม่ห่างไกลจาก University of Geneva
  • สามแยกที่ติดป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ อยู่บริเวณ Place des Casemates
  • ภายนอกของสถานที่จัดแฟชั่นโชว์คือ Grand Théâtre de Genève, เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1876
  • แต่ภายในแฟชั่นโชว์จัดยัง Opéra de Lausanne ตั้งอยู่ที่เมือง Lausanne, เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1871

เผื่อใครสนใจไปตามรอยหนัง สถานที่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิม ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
LINK: http://movie-tourist.blogspot.com/2016/08/three-colors-red-1994.html
LINK: http://www.romangerodimos.com/on-location/revisiting-trois-couleurs-rouge/


แม้พื้นหลังของหนังจะคือประเทศ Switzerland แต่สถานที่ถ่ายทำ Canton de Genève คือย่านที่ชาวฝรั่งเศสนิยมพำนักกอาศัย (มีประชากรชาวฝรั่งเศสกว่า 40% ที่อยู่ในเมืองนี้) นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ใช่ผืนแผ่นดินแดนบ้านเกิด แต่เพราะถือกำเนิดสัญชาติ French สื่อสารภาษาเดียวกัน เลยมีความเป็นฉันท์พี่ฉันท์น้อง พวกพ้อง ภารดรภาพ

ปล. ลองสังเกตแผนที่จะเห็นว่า Genève, Geneva คือเมืองที่เป็นเหมือนแหลมยื่นเข้าไปในดินแดนฝรั่งเศส เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมีชาวฝรั่งเศสอยู่เยอะ พร้อมทิวทัศน์สวยๆ จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตากอากาศ

หนังเริ่มต้นด้วยเครื่องโทรศัพท์ จากนั้นกล้องเคลื่อนเลื่อนไปตามสายไฟ เร่งความเร็ว (Fast Motion) ทำตัวราวกับคลื่นสัญญาณ ทะลุผ่านผนังกำแพง (มีคำเรียกว่า Celluloid Fire) ข้ามช่องแคบอังกฤษ ไปถึงยังโทรศัพท์อีกเครื่องที่ไม่มีใครรับสาย ก่อนปรากฎชื่อหนัง TROIS COULEURS ROUGE พร้อมไฟด้านหลังกระพริบติดๆดับๆ (เป็นการบอกไบ้ถึงการขาดความสัมพันธ์ฉันท์ภารดรภาพ)

โทรศัพท์คืออุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสาร สัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์ การเชื่อมโยงใย ทำให้มนุษย์ที่แม้อยู่ห่างไกลเพียงไหน ก็สามารถติดต่อสื่อสาร พูดคุยสนทนา ราวกับว่าอยู่เคียงชิดใกล้! ซึ่งวิธีการมันช่างมีความวุ่นวายจะคุย ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ ราวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่มนุษย์กลับสามารถสรรค์สร้างขึ้นมา

ในอพาร์ทเม้นท์ของ Auguste จะมีรูปภาพหญิงสาวเต้นบัลเล่ต์ โดยไม่รู้ตัวนั่นคืองานอดิเรกของ Valentine ซึ่งเราสามารถเชื่อมโยงใย เปรียบเทียบถึงหญิงสาว/แฟนสาวที่เขากำลังโทรศัพท์หา Karin พูดรายงานสภาพอากาศ เพียงได้ยินเสียงก็วางหูลงทันที (รับรู้ว่าเธอยังอยู่ที่ทำงานก็เพียงพอแล้วละ)

สำหรับคนที่ยังสับสน เบื้องต้นให้ทำความเข้าใจคร่าวๆไปก่อนเลยว่า

  • Valentine = Karin = แฟนสาวผู้ล่วงลับของ Joseph (สาวๆทั้งหมด)
  • แฟนหนุ่มที่อังกฤษของ Valentine = Auguste = Joseph (บุรุษทั้งหลาย)

แล้วหลังจากนี้ค่อยลองไปสังเกตหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวละครนี้ดูนะครับ มันจะมีหลายสิ่งอย่างที่เชื่อมใยโยงถีงกัน จนสามารถมองทั้งหมดคือสรรพสิ่งเดียวกัน!

แซว: ทำไมใครๆถึงชอบสนใจรายงานสภาพอากาศเหลือเกิน? เพราะมันคือสิ่งที่สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละครในแต่ละวันๆได้ยังไงละครับ

ทุกครั้งหลังออกจากบ้าน (แต่ก็เห็นแค่สองครั้งนะครับ) Valentine จะแวะเวียนมายัง Café Cher Joseph (เป็นชื่อที่ล้อกับตัวละคร Joseph) เพื่อเล่น Slot Machine วันไหนพ่ายแพ้แสดงว่าชีวิตจะดำเนินไปอย่างปกติสุข แต่ถ้าเกิดฟลุ๊คชนะ นั่นแปลว่าอาจมีเรื่องร้ายๆบังเกิดขึ้น ซะงั้น! … มุมมองคนทั่วไปชัยชนะ Slot Machine จะถือว่าเป็นความโชคดี! แต่ตัวละครกลับคิดเห็นตารปัตร เหมือนว่าโชคดังกล่าวได้ถูกใช้ไปแล้ว หลังจากนี้อาจประสบเหตุร้ายๆขึ้นมา

ทำไมต้องทำท่าเป่าหมากฝรั่ง? บนฉากผ้าใบที่พริวไหว? ถ้าตามคำอธิบายของหนังคือแทนคอนเซ็ป ‘breath of life’ แต่เราสามารถตีความไปได้ไกลกว่านั้น

  • ทั้งหมากฝรั่งและผ้าใบ สื่อถึงสัญลักษณ์ของชีวิต ‘breath of life’ ดูเหมือนการเติบโต (เป่าให้พอง) และตกตายไป (ระเบิดแตก) ขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะใช้(ชีวิต)ให้คุ้มค่าแบบไหน
  • หมากฝรั่งคือสิ่งที่มีความยืดหยุ่น (สามารถเป่าให้โป่งพอง) ผ้าใบมีความพริ้วไหว สื่อถึงเรื่องของความสัมพันธ์ เราควรต้องยินยอมรับทั้งด้านดี-ชั่วของผู้อื่น เรียนรู้จักการช่วยเหลือ ไม่ใช่เห็นแก่ตัวเพียงอย่างเดียว
  • เวลาเป่ามีลักษณะกลมๆสีชมพู แลดูคล้ายลูกเชอรี่ = รับประทานโยเกิร์ตรสเชอรี่ = พบเห็นบน Slot Machine (สัญลักษณ์ของโชคชะตา)
  • หมากฝรั่งยังมีกล่าวถึงอีกครั้งเมื่อตอนติดในรูกุญแจ ทำให้ Valentine ไม่สามารถเข้าไปในห้อง ต้องขอความช่วยเหลือจากห้องข้างๆ (สัญลักษณ์ของความยึดติด ปกปิด ขณะเดียวกันทำให้เกิดการปะติดปะต่อ จำเป็นต้องสื่อสาร/สานสัมพันธ์กับผู้อื่น)

การซักซ้อมบัลเล่ต์ของ Valentine ไม่ได้จำเป็นว่าเธอใฝ่ฝันกลายเป็นนักบัลเล่ต์ แต่ดูจากความทุ่มเทพยายาม มันคือการขยับเคลื่อนไหวให้ร่างกายมีความยืดหยุ่น (เหมือนเป่าหมากฝรั่ง) ใช้เรี่ยวแรงจนสุดพละกำลังสามารถ จากนั้นฉากถัดมายกขวดน้ำขึ้นดื่ม สร้างความสดชื่น ดับกระหาย ราวกับการได้มีชีวิต

นี่สะท้อนทัศนะคติของผู้กำกับ Kieślowski หลังจากตรวจปัญหาโรคหัวใจ ตระหนักว่าตนเองอาจมีเวลาอยู่อีกไม่มาก ก็ควรใช้ชีวิตที่หลงเหลือให้คุ้มค่า อยากทำอะไรก็ทำ เติมเต็มความต้องการ ตอบสนองร่างกาย-จิตใจ เพื่อไม่ให้รู้สึกสูญเสียดายเมื่อตายจากไป

ผมรู้สึกเหมือนผู้กำกับ Kieślowski ต้องการเปรียบเทียบงานแฟชั่นโชว์ ไม่แตกต่างจากสื่อภาพยนตร์ มีเบื้องหน้า-เบื้องหลัง นางแบบ/นักแสดงเดินออกมานำเสนอบางสิ่งอย่างแก่ผู้ชม ในสถานที่โรงละคร อุปรากร หรือโรงหนังก็ได้เหมือนกัน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงใยระหว่างสรรพสิ่ง (คล้ายๆภาพยนตร์ = ละครเวที แต่มันอาจจะเห็นภาพชัดเกินไปหน่อย)

แต่ถึงแม้ Valentine จะเลือกใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สุดเหวี่ยง คุ้มค่าสักขนาดไหน แต่ระหว่างขับรถกลับอพาร์ทเม้นท์ เธอแสดงปฏิกิริยาสีหน้าอันเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย เหมือนบางสิ่งอย่างขาดหาย ทุกสิ่งกระทำมานี้แทบไม่ได้เติมเต็มความต้องการของจิตใจ

สังเกตภาพสะท้อนบนกระจกหน้ารถ มีวงกลมกับแท่งแหลมสามเหลี่ยม ให้ความรู้สึกเหมือนมันควรจะทิ่มแทงให้ตรงรู แต่ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวสามารถสื่อถึงชีวิตที่ดำเนินไปไม่ตรงตามเป้าหมาย ยังไม่ใช่อย่างที่ตนเองต้องการ

ก่อนที่ Valentine จะขับรถชนเจ้าสุนัข Rita พอดิบพอดีเกิดคลื่นแทรกซ้อนในวิทยุ แสงสีแดงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา และรถคันหลังกำลังแซงหน้า (ไฟหน้าของคันหลังแลดูเหมือนดวงตา) ราวกับมีบางสิ่งอย่างลี้ลับ/เหนือธรรมชาติ ชักนำให้บังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติของผู้กำกับ Kłosiński เหมือนได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ Blind Chance (1981) ที่เกี่ยวกับโชคชะตา หนทางเลือก ก่อนจะเริ่มชัดเจนตอน No End (1985) ปรากฎภาพวิญญาณล่องลอย แอบให้ความช่วยเหลือภรรยาที่ยังมีชีวิต และเมื่อสรรค์สร้าง Dekalog (1988) อ้างอิงจากพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandment) แสดงถึงถึงความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า สัมผัสถึงพลังลึกลับที่แม้มองไม่เห็นแต่รับรู้ว่ามีอยู่จริง

ทางไปบ้านของ Joseph Kern สังเกตว่าต้องขับรถเลี้ยวขึ้นเนิน ราวกับอาศัยอยู่เบื้องบน ชนชั้นสูง ซึ่งหลายๆการตีความจะมอง(อดีต)ผู้พิพากษานี้เหมือนพระเจ้า (Old Testament God) สามารถพยากรณ์ รับล่วงรู้อนาคต ตัดสินโชคชะตากรรมหลายๆตัวละคร (คล้ายๆพิจารณาคดีบนชั้นศาล) แถมชื่นชอบสอดแนมเพื่อนบ้าน (พระเจ้าอยู่รอบตัวเรา ล่วงรับรู้ทุกสิ่งอย่าง) แต่ก็ไม่เคยทำอะไรสักสิ่งอย่าง

นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบ Joseph กับตัวละคร Prospero จากบทละคร The Tempest (1610-11) ของ William Shakespeare เพราะเป็นบุคคลที่ราวกับมีเวทมนต์ สามารถดลบันดาลฟ้าฝน พายุลูกใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของหัวใจ … เนื่องจากผมขี้เกียจอธิบายพายุพิโรธ ลองไปหาเปรียบเทียบเอาเองนะครับ

สภาพบ้านของ Joseph มีสภาพปรักหักพัก ตามมีตามเกิด ไม่ได้รับการเหลียวดูแล สามารถสื่อถึงความเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าของคนยุคสมัยนั้น (หรือจะมองว่าศรัทธาต่อ Old Testament ก็ได้เช่นกัน) แต่ถึงใครต่อใครเลิกเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติกันหมดแล้ว แต่ความจริงก็ความจริง ยังมีอีกหลายสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจ

ปฏิกิริยาของ Joseph ดูไม่ได้ยี่หร่าอะไรต่อความเป็นความตายของเจ้าสุนัข Rita สังเกตช็อตนี้ถ่ายจากด้านข้าง (หันใบหน้าคนละทิศทางกับตอน Valentine เป่าหมากฝรั่ง ‘Breath of Life’) ฝั่งซ้ายคือโคมไฟสว่างไสว ฝั่งขวามือคือนอกหน้าต่างอันมืดมิด ราวกับว่าตัวละครนี้อยู่กึ่งกลางระหว่าง ชีวิต vs. ความตาย หรือในฐานะ(อดีต)ผู้พิพากษาตัดสินว่าใครสมควรอยู่หรือไป

ในมุมผู้กำกับ Kieślowski คงมองว่าพระเจ้าไม่ต่างจากชายแก่ผู้เห็นแก่ตัว รับรู้ความเป็นไปของทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือใดๆ ถึงอย่างนั้นเฉพาะกับบุคคลที่เข้าใจวิถีพระองค์ ก็จักบอกกล่าวคำพยากรณ์ ชี้แนะนำให้รู้จักสิ่งถูกต้อง ดำเนินชีวิตสู่ทิศทางอันเหมาะสม ไปตามผลแห่งโชคชะตากรรม

สัญญาณกันขโมยรถยนต์ของ Valentine ดังขึ้นระหว่างคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่ม ตามด้วยป้าย STOP หลังรถจิ๊ปสีแดง (ของ Auguste) ขณะที่ Karin กำลังตรงมายังอพาร์ทเม้นท์ของ Auguste ล้วนเป็นการบอกใบ้ สัญญาณอันตราย ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาต้องไม่ดีแน่ มีบางสิ่งอย่างแอบซุกซ่อนเร้นไว้ สักวันความจริงทั้งหมดย่อมได้รับการเปิดเผยออกมา

เมื่อตอน Valentine ปล่อยเจ้า Rita ให้สามารถวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ แต่มันกลับตรงดิ่งไปยัง Eglise St-Antoine de Padoue ตั้งอยู่ Rue Schaub 17, Genève นี่ก็เป็นการบอกใบ้ว่าเจ้าสุนัขตัวนี้มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับศาสนา (สัตว์เลี้ยงของพระเจ้า?) ซึ่งวินาทีที่หญิงสาวกำลังก้าวเข้าไปในโบสถ์ จะพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก นั่นคือร่างกายและจิตวิญญาณเดินทางไปพบพระเป็นเจ้า (พบเจอทั้งบาทหลวง แล้วไปต่อยังบ้านของ Joseph ที่ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์)

ปฏิกิริยาของ Valentine เมื่อรับรู้ว่า Joseph มีนิสัยชอบสอดแนม ดักฟังโทรศัพท์เพื่อนบ้าน คือปฏิเสธต่อต้าน ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือการสอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่น … แล้วพระเป็นเจ้าละ? ล่องลอยอยู่ทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ รับล่วงรู้ทุกสรรพสิ่งอย่าง กลับไม่มีใครหาญกล้าตำหนิต่อว่า เสือกเรื่องของผู้อื่นทำไมกัน?

แซว: ตรงพื้นโต๊ะมีลูกแอปเปิ้ลวางอยู่ ผลไม้จากสวนอีเดน ใครได้รับประทานจักสูญเสียจิตใจอันบริสุทธิ์ กระทำสิ่งขัดต่อประสงค์ของพระเป็นเจ้า

นี่น่าจะคือ Alexander Hamilton (1755/57-1804) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของประเทศ (มือขวาของ George Washington) ครุ่นคิดสร้างระบบธนาคารกลาง จัดเก็บภาษีเข้าสู่รัฐ … ใบหน้าของ Hamilton ปรากฎอยู่บนธนบัตร 10 ดอลลาร์ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่นำโลกก้าวเข้าสู่ระบอบทุนนิยม

Valentine ต้องการเปิดโปงพฤติกรรมของ Joseph ให้กับเพื่อนบ้านที่ถูกแอบดักฟังโทรศัพท์ แต่เธอก็ตระหนักว่านั่นอาจเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ โล้เล้ลังเลใจ พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เลยหวนกลับมาหา Joseph เปลี่ยนมาโน้มน้าวให้เขาเลิกการกระทำนี้แทน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ!

Joseph แสดงออกด้วยการเทน้ำออกจากกา (น่าจะตรงกับสำนวนไทย ‘น้ำเต็มแก้ว’ สื่อถึงการไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ) จากนั้นดึงเล่นสายรัดเสื้อ บอกว่าทำแล้วรู้สึกสนุก ชักชวนให้เธอมาลองแต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ (ล้อกับพฤติกรรมสอดแนม/ดักฟังโทรศัพท์ ทำไมฉันต้องสนุกสนานไปพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว)

สังเกตขณะนี้ Valentine นั่งลงกับพื้น (ผิดกับ Jeseph นั่งบนเก้าอี้) ราวกับผู้ต่ำต้อยกำลังน้อมรับฟังคำเทศนาสั่งสอน เคียงข้างรูปปั้นสุนัขรับใช้ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น โต้ถกเถียงตอบกลับแต่ประการใด

วินาทีนี้ราวกับ Joseph กำลังสำแดงปาฏิหารย์ รอคอยแสงสว่าง (รับล่วงรู้จากพยากรณ์อากาศ ได้ยินเสียงโทรศัพท์ของ Karin) พระอาทิตย์กำลังสาดส่องลงมาจากมุมหลังคา ทำให้อาณาบริเวณที่เคยปกคลุมด้วยความมืดมิด ได้รับความส่องสว่าง อาบฉาบลงบนใบหน้าตัวละครพอดิบดี!

หลายคนที่หัวชนฝาว่าการดักฟังโทรศัพท์เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เช่นนั้นแล้วสำหรับพวกพ่อค้ายาเสพติดละ? คนพวกนั้นพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้ตนเองถูกจับกุม บรรดาตำรวจจึงต้องสรรหาวิธีการสอดแนม ค้นหาหลักฐานสำหรับจับกุมคนชั่ว นั่นคือสิ่งถูกต้องหรือเปล่า? หนังเปิดประเด็นนี้ไว้เพื่อให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตั้งคำถามถึงการสอดแนม สรุปแล้วมันถูกหรือผิด? กรณีไหนทำได้? ทำไม่ได้? สมควรทำเมื่อไหร่?

โบว์ลิ่ง เป็นเกมกีฬาที่ต้องใช้ความแม่นยำ โยนลูกบอลให้โดนพินล้มทั้งหมดถึงเรียกว่า Strike! แต่ในบริบทนี้เหมือนว่า Valentine (รวมถีง Auguste และ Joseph) ต่างเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย โล้เล้ลังเลใจ นอกจากทำให้พินล้มไม่หมด และเมื่อกล้องเคลื่อนเลื่อนมาอีกตำแหน่ง (น่าจะเป็นที่นั่งของ Auguste) พบเห็นแก้วแตก (=จิตใจอันแตกร้าว) บังเกิดความรู้สึกบางอย่างติดค้างคาใจ

โปสเตอร์ขนาดใหญ่ของ Valentine ตั้งตระหง่านอยู่ตรงสามแยก (ด้านหลังคือ Place des Casemates) สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงทางเลือกของชีวิต ใครพานผ่านย่อมบังเกิดความชื่นชอบหลงใหล ใคร่สงสัยว่าเธอพบเห็นอะไรถึงแสดงปฏิกิริยาใบหน้าเช่นนั้นออกมา ซี่งคำตอบของแต่ละคนก็จักแตกต่างออกไป (เหมือนทางแยกที่ต่างคนต่างมีทิศทางของตนเอง)

ผมมองไม่ออกว่ารูปปั้นที่อยู่ด้านหลัง Joseph คือใคร? แต่คาดว่าน่าจะคือบุคคลสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หรืออาจเป็นผู้พิพากษาที่เคยได้ตัดสินคดีความสำคัญๆ (ไม่แน่ว่าอาจเป็น Joseph เองเลยก็ได้) ซึ่งการทำให้พื้นหลังเบลอๆราวกับต้องการสื่อถึงอดีตอันเลือนลาง เมื่อก่อนตอนเป็นผู้พิพากษาคงมีคนนับหน้าถือตาอยู่บ้าง (ก็ยังเห็นคนรู้จักเข้ามาคำนับทักทาย)

แต่ขณะนี้ Joseph เดินทางมาขึ้นศาลในฐานะผู้ต้องหากระทำความผิด หลังตัดสินใจเขียนจดหมายสารภาพว่าแอบดักฟังโทรศัพท์เพื่อนบ้าน นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่เขากล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้าความจริง พร้อมปรับปรุงตนเอง เปลี่ยนแปลงมุมมองโลกทัศน์ … นี่ไม่ใช่ว่าพระเจ้ารู้สำนึกผิดนะครับ แต่คือการยินยอมรับความเท่าเทียมกับมนุษย์

Valentine เมื่อทราบข่าวลงหนังสือพิมพ์ จึงรีบออกเดินทางมาหา ในช่วงเวลาบ่ายๆ พระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบภูเขา เพื่อบอกว่าตนเองไม่ได้เปิดปากโป้งกับใคร แต่เป็น Joseph เล่าว่าตนเองคือผู้เขียนจดหมายสารภาพความผิด เพียงเพราะไม่ต้องการให้เธอรู้สึกสมเพศเวทนาตนเอง

จะว่าไปพระอาทิตย์ก็ถือว่าเป็นสีแดง (อย่างดินแดนอาทิตย์อุทัย ธงญี่ปุ่นก็ใช้สีแดง) กำลังลาลับขอบฟ้า สามารถสื่อถึงอีโก้/ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน เห็นแก่ตัวของ Joseph ที่ลดน้อยลง กำลังจะหมดสูญสิ้นไป

ผมขี้เกียจอธิบายรายละเอียด Mise-en-scène ระหว่างการสนทนาระหว่าง Joseph กับ Valentine เพียงให้ข้อสังเกตศีรษะของทั้งสองจะมีความสูง-ต่ำ ระดับไม่เท่ากันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถสื่อถึงทัศนคติ/ความคิดเห็นของทั้งคู่ที่ยังแตกต่าง หลายเรื่องไม่เห็นพ้องต้องกัน

การสนทนาดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงพลบค่ำ ทั้งสองต่างปกคลุมอยู่ในความมืดมิด (เหมือนดั่งหัวข้อสนทนาของพวกเขา) แต่แล้วขณะที่ Joseph กำลังเปิดโคมไฟบนโต๊ะ ปรากฎว่าหลอดขาด! เลยต้องนำหลอดอีกอันจากโคมไฟแขวนผนังมาใช้แทน และเมื่อเปิดติดจะพบเห็นลักษณะของแสงที่แตกต่างกัน

แสงจากหลอดไฟตรงๆ (แลดูคล้ายแสงอาทิตย์) มีความสว่างเจิดจร้าเกินกว่าจ้องมองด้วยตาเปล่าๆ จึงต้องมีโคมครอบหรือกฎกรอบข้อบังคับทางสังคม เป็นสิ่งชี้แนะนำให้มนุษย์/สรรพชีวิต ดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม มองเห็นหนทางก้าวเดินอย่างชัดเจนแม้ในยามค่ำคืนมืดมิด

Auguste พยายามโทรศัพท์หาแฟนสาว Karin แต่เธอไม่ยอมรับสาย เริ่มรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย โล้เล้ลังเลใจ เหมือนโคมไฟที่ติดดวง ไม่ติดอีกดวง และโคมที่ส่องสว่างมีบางส่วนถูกบดบังด้วยขอบหน้าต่าง

ผมละทึ่งในความทุ่มเทพยายามค้นหาความจริงของ Auguste ถึงขนาดปีนป่ายขี้นไปยังห้องชั้นสองของ Karin และวินาทีที่มาถึงค่อยๆหันหน้าออกสู่แสงสว่าง จนเมื่อมิอาจอดรนทนเห็นภาพบาดตาบาดใจ ก็หันควับกลับสู่ความมืด ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวังอย่างเร็วไว

ผ่านไปหนึ่งค่ำคืน Auguste ก็ยังมิอาจปล่อยละวางที่ถูกแฟนสาวทรยศหักหลัง แสร้งทำเป็นพบเห็นขณะ Karin นั่งรับประทานอาหารกับชู้รัก แล้วเขาก็หลบหนีสูญหายตัวอย่างลึกลับ แต่แท้จริงซ่อนอยู่เบื้องล่าง/ทางต่างระดับ (สูง-ต่ำ) ไม่สามารถเผชิญหน้ากับเธอด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมอีกต่อไป

นี่เป็นฉากสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวใจอย่างที่สุด Auguste ตัดสินใจทอดทิ้งสุนัขตัวโปรด (=แฟนสาว Karin) ผูกทิ้งไว้ริมทะเลสาป Geneva ปล่อยให้โชคชะตานำพา หวังว่าจะมีใครสักคนมารับเลี้ยงมันต่อไป

เห็นการจับมือระหว่างสองตัวละครทีไร มักทำให้ผมครุ่นคิดถึงภาพวาด Michelangelo: The Creation of Adam แถมการตีความ Joseph เทียบแทนพระเป็นเจ้า สัมผัสมือหญิงสาวชาวโลก Valentine ยิ่งทำให้มีความสอดคล้องยิ่งๆขึ้นอีก

แม้โดยปกติพระเจ้าต้องอยู่เบื้องบน แต่เราสามารถมองคุณธรรมอันสูงส่งของ Valentine ได้สอนบทเรียนชีวิตแก่ Joseph จนเขาสามารถยินยอมรับผิด ปรับเปลี่ยนตนเองเสียใหม่ การอยู่สูงกว่าและขอจับมือจึงคือสัญลักษณ์ของการให้เกียรติ ยินยอมรับ เสมอภาคเท่าเทียม เพื่อที่ต่อจากนี้จะเริ่มเปิดเผยเรื่องราวในอดีต เล่าความจริงหลายๆสิ่งอย่างให้เธอได้รับรู้

ลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องที่ถือว่ามีความน่าอัศจรรย์สุดของหนัง! แทนด้วยมุมมองหนังสือ(กฎหมาย)ร่วงหล่นจากที่นั่งชั้นบนลงสู่พื้นชั้นล่าง กล้องจับจ้องตัวละครทั้งสอจากมุมสูงก้มลงมา กลายเป็นมุมต่ำเงยขึ้นฟ้า … นี่เป็นช็อตที่เปิดกว้างในการตีความอย่างมากๆ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความสูง (ในเชิงรูปธรรม-นามธรรม) ความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง ฯลฯ แล้วถูกฉุดกระชาก หรือพลัดตกลงมาสู่เบื้องล่าง กลับตารปัตรจากวิถีดั้งเดิมที่เคยเป็นมา

มองใกล้ๆฉากนี้ที่สุดก็คือ Joseph Kern ตอนเริ่มต้นแสดงท่าทางเย่อหยิ่ง มาดร้าย ไม่ต้องการคบค้าสมาคมกับใคร แต่หลังจากได้พบเจอ รู้จักตัวตนของ Valentine ก็เกิดความเคารพ ให้การยินยอมรับ และปฏิบัติต่อเธอด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม

นี่ไงครับมุมกล้องถ่ายระดับสายตา Joseph กับ Valentine ความสูงเท่ากัน สื่อถึงการให้เกียรติ ยินยอมรับ และแสดงออกด้วยความเสมอภาค … แนวคิดเดียวกับ White (1994) เมื่อตัวละครได้รับเรียนรู้สิ่งตรงกันข้าม “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” ผลกรรมย้อนคืนสนองตนเอง เมื่อนั้นจึงสามารถตระหนักถึงความเท่าเทียม

การร่ำลาระหว่าง Valentine และ Joseph เธอวางมือบนกระจกแล้วเขาก็ยกมือขึ้นวางทาบตำแหน่งเดียวกัน แม้ไม่ได้สัมผัสแตะเนื้อต้องตัว ถูกกระจกบางๆขวางกั้น แต่ความรู้สึก/จิตวิญญา วินาทีนี้ถือว่าสามารถเชื่อมโยงใยถึงกัน แล้วรถก็แล่นออกไป ไม่ได้อยากร่ำลาจาก แต่เพราะนี่คือโชคชะตากรรมของพวกเขา

หลายคนมองฉากนี้ถึงไปไกลถึงความสัมพันธ์ฉันท์ชาย-หญิง Valentine เหมือนมีความรู้สึกบางอย่างให้กับ Joseph แต่กระจกที่กั้นขวางมันคือวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ และปัญญาวุฒิ (วุฒิทั้ง ๔)

หลังผ่านการพูดคุย โต้ถกเถียง รับล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับ Joseph ในที่สุดก็มาถึงข้อสรุปของ Valentine ซึ่งยังเชื่อมโยงใย Three Colours Trilogy ทั้งสามภาคเข้าด้วยกัน! อย่าไปคิดมากว่าคุณยายหลังค่อมเดินทางจาก Paris มาอยู่ Geneva, Switzerland ได้อย่างไร? แต่การที่หญิงสาวเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ยัดขวดลงสู่ถังขยะ นี่คือคำตอบของทุกสรรพสิ่งอย่าง สิ่งที่เพื่อนมนุษย์สมควรกระทำ และถือเป็นความหมายแท้จริงของ ‘ภารดรภาพ’

ผมรู้สึกอัศจรรย์ในการนำเสนอ Auguste และ Valentine เดินสวนกันไปสวนกันมาในช็อตเดียวกัน (ขณะนี้คือระหว่างขึ้นเรือสำราญ กำลังมองหาชั้นที่นั่ง) แต่กลับไม่เคยเผชิญหน้า พูดคุยสนทนา ดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันก็คงมีโอกาสเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้ากำหนดจริงๆ … นี่ถือเป็นความรู้สึกของคู่แท้ (Soulmate) เลยนะ!

ฉากนี้ถ้าผู้ชมสัมผัสไม่ได้ถึง ‘Death Flag’ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วนะ! ระหว่างเรือสำราญกำลังเคลื่อนออกจากท่าเทียบ ประตูเทียบท่าก็กำลังเคลื่อนขึ้นมาบดบังทัศนียภาพ จนหลงเหลือเพียงช่องเล็กๆบางๆ สื่อตรงๆถึงหายนะกำลังจะบังเกิดขึ้นกับเรือลำนี้ในอีกไม่ช้านาน โอกาสรอดชีวิตมีเพียงน้อยนิด (เท่ากับช่องว่างลีบๆที่มองลอดผ่าน)

นอกจากนี้ยังมีลางบอกเหตุจากท้องฟ้ามืดครื้ม เหมือนพายุจะเข้า ลมพัดแรงจนแก้วน้ำวางอยู่กระเด็นกระดอน และภาพโปสเตอร์กลางสี่แยกของ Valentine กำลังถูกปลดลง ล้วนสื่อถึงหายนะ ภัยพิบัติ อาจถึงจุดจบ ความตาย

มีลูกสุนัขตัวหนึ่ง(จากทั้งหมด 7 ตัว)พยายามปีนป่ายออกมาจากคอก แสดงถึงความเฉลียวฉลาด โหยหาอิสรภาพ ซึ่งมันเป็นตัวเดียวที่(หนังนำเสนอ)พบเห็น Joseph อุ้มขึ้นมาโอบกอด มอบความรัก และสวมใส่ปลอกคอ ตีตราว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง (จะมองว่าเจ้าตัวนี้คืออวตารของ Valentine ก็ได้เช่นกัน)

นัยยะของฉากนี้คือการเติบโตจนปีกกล้าขาแข็ง สามารถครุ่นคิดกระทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง ซึ่งล้อกับการที่ Valentine ตัดสินใจออกเดินทางโดยสารเรือสำราญ เพื่อติดตามหาชายคนรักที่เธอครุ่นคิดว่าใช่ หรือจะมองว่าสุนัขทั้งเจ็ดคือตัวแทนผู้รอดชีวิตทั้งเจ็ดก็ได้เหมือนกัน

ฟุตเทจดังกล่าวนำจากภาพเหตุการณ์จริง! เรือสำราญสัญชาติอังกฤษ MS Herald of Free Enterprise บรรทุกผู้โดยสาร 459 คน พร้อมลูกเรืออีก 80 คน ออกเดินทางจากท่าเรือ Zeebrugge, Belgium เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำเนื่องจากน้ำไหลเข้าภายในเรือ ค่ำคืนวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1987 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 193 คน! … ถือเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุทางนํ้าครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากการล่มของเรือ Titanic

อ่านรายละเอียดเหตุการณ์นี้เพิ่มเติมเป็นภาษาไทยได้ที่ …
LINK: https://pantip.com/topic/31940969

ในรายงานข่าวมีผู้รอดชีวิตทั้งหมด 7 คน (เลข 7 เป็นสัญลักษณ์สำคัญในศาสนาคริสต์ ที่น่าจะคุ้นเคยสุดก็คือพระเจ้าสร้างโลกใน 6 วัน และวันที่ 7 สร้างมนุษย์ขึ้นมา!) แต่ถ้าไล่เรียงกันดีๆจะพบว่า

  • Blue (1993): Julie Vignon, Olivier Benoit
  • White (1994): Karol Karol, Dominique Vidal
  • Red (1994): Auguste Bruner, Valentine Dussaut

มันจะหลงเหลือบุคคลปริศนา Steven Killian (ไม่ถ่ายให้เห็นหน้าด้วยนะ!) พนักงานบาร์ สัญชาติอังกฤษ หมอนี่ใครกัน?? ไม่เคยมีการพูดกล่าวถึงมาก่อนเลยสักครั้ง?? ผมมองว่าเป็นตัวแทนของผู้บริสุทธิ์ (Innocence) ไม่เคยกระทำสิ่งเลวร้ายอะไร เลยประสบโชคดี เอาชีวิตรอดจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้

ขณะที่ทั้งหกตัวละครที่เหลือต่างคือตัวแทนของ ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ’ อุดมคติที่ผู้กำกับ Kieślowski เชื่อมโยงใยจาก Three Colours Trilogy เชื่อว่าบุคคลมีคำขวัญประจำใจดังกล่าว จักสามารถอยู่รอดปลอดภัยในอนาคต แม้ต้องประสบหายนะ ภัยพิบัติ หรือวันสิ้นโลก ย่อมได้รับคำพิพากษาให้เอาตัวรอดพ้น!

ภาพช็อตสุดท้าย/รองสุดท้ายของไตรภาค Three Colours Trilogy มักจับจ้องใบหน้าของนักแสดงหลัก

  • Blue (1993), ใบหน้าของ Juliette Binoche แม้อยู่ท่ามกลางความมืดมิดพร้อมริ้วรอยด่างพร้อย แต่เธอก็สามารถอบยิ้มเล็กๆ ค้นพบความสุขท่ามกลางชีวิตอันขมขื่น
  • White (1994), ใบหน้าของ Zbigniew Zamachowski เต็มไปด้วยคราบน้ำตาแห่งความสุข วาดฝันถึงอนาคตจักได้ครองรักอยู่เคียงข้าง Julie Delpy หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
  • Red (1994) ใบหน้าของ Jean-Louis Trintignant แม้จะดูแน่นิ่งเฉย เหมือนไม่ยี่หร่าอะไรใคร แต่ก็พบเห็นรอยยิ้มมุมปากเล็กๆ เหม่อมองผ่านเศษซากกระจก ต่อให้โลกล่มสลาย แต่เชื่อเถอะว่ามนุษย์ชาติจักยังธำรงอยู่สืบไป

ความเหมือนกันระหว่างช็อตสุดท้ายของหนัง และภาพโปสเตอร์ที่เคยถ่ายแบบไว้ ก็เพื่อสื่อถึงแนวคิด ‘Breath of Life’ เมื่อคนเราพานผ่านช่วงเวลาเฉียดเป็น ได้รับประสบการณ์เฉียดตาย ย่อมทำให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการยังมีชีวิตและลมหายใจ

และด้วยการตัดต่อกลับไปกลับมากับใบหน้า Joseph บางคนอาจมองว่าเขา(คือพระเป็นเจ้า)มีพลังอำนาจในการควบคุมสภาพอากาศ/ลมฟ้าฝน (แบบเดียวกับตัวละคร Prospero จากบทละคร The Tempest) กำหนดโชคชะตาให้ Valentine พบเจอกับชายหนุ่มที่อาจกลายเป็นรักแท้ Auguste … ทั้งๆอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ตรงข้าม สวนทางกันบ่อยครั้ง แต่กลับไม่เคยพูดคุย ทำความรู้จัก จนกระทั่งเหตุการณ์ครั้งนี้!

ตัดต่อโดย Jacques Witta (เกิดปี 1934) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Claude Berri, Jean Becker แต่โด่งดังจากการร่วมงาน Krzysztof Kieślowski ตั้งแต่ The Double Life of Véronique (1991), Three Colors: Blue (1994) และ Three Colors: Red (1994)

แม้เรื่องราวหลักๆจะเวียนวนอยู่กับ Valentine Dussaut แต่ก็พยายามดำเนินเคียงคู่ขนาน Auguste Bruner ที่แม้ไม่เคยรับรู้จัก กลับเหมือนมีความสัมพันธ์บางอย่างเชื่อมโยงถึงกัน (การตีความส่วนใหญ่จะมองว่า Auguste Bruner = Joseph Kern (เมื่อครั้นยังหนุ่ม) = แฟนหนุ่มที่อังกฤษของ Valentine)

ถ้าผมจำไม่ผิดมีทั้งหมดเพียง 4 ครั้งที่ Valentine ได้พูดคุยสนทนากับ Joseph ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาจะมีบางสิ่งอย่างของทั้งสองที่แตกต่างกันไป (ก็แยกหนังออกเป็น 4 องก์ ในช่วงเวลาที่ทั้งสองพบเจอกัน)

  • โชคชะตานำพาให้รู้จักกัน, Valentine หญิงสาวผู้มีเมตตา vs. Joseph ชายชราผู้เห็นแก่ตัว
    • แนะนำตัวละคร Valentine และ Auguste ที่แม้ไม่เคยรับรู้จัก แต่เหมือนมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงถึงกัน
    • Valentine ขับรถชนเจ้าสุนัข Rita พามันกลับไปหาเจ้าของ Joseph แต่เขากลับแสดงออกอย่างไม่สนใจใยดี
    • เธอจึงพาเจ้า Rita ไปรักษากับสัตวแพทย์ รับรู้ว่ามันกำลังตั้งครรภ์ ตั้งใจจะรับเลี้ยงดูแลหลังจากนั้น
  • พฤติกรรมสอดแนมของ Joseph vs. ความพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องของ Valentine
    • Joseph แอบส่งเงินค่ารักษาแก่ Valentine เธอจึงหวนกลับไปหาเขาที่บ้าน และได้รับล่วงรู้งานอดิเรกที่ชอบดักฟังโทรศัพท์ผู้อื่น
    • พยายามนำความดังกล่าวไปพูดบอกกับเพื่อนบ้าน แต่เธอก็ทำมันไม่สำเร็จ บังเกิดความสับสนขึ้นภายใน
    • หวนกลับมาหา Joseph พยายามโน้มน้าวให้เขาเลิกรางานอดิเรกดังกล่าว ก่อนแสดงความรู้สึกสมเพศเวทนา
  • ความสำนึกผิดของ Joseph vs. การให้อภัยของ Valentine
    • Auguste สอบผ่านนิติกร กำลังจะพิพากษาคดีความแรกระหว่าง Joseph กับเพื่อนบ้าน
    • Valentine เดินทางกลับมาหา Joseph เพื่อบอกกับว่าตนเองไม่ได้ปากโป้ง แต่เขาอธิบายว่าฉันเองนี่แหละเป็นคนเขียนจดหมายสารภาพความผิด นั่นทำให้เธอสามารถยินให้อภัยเขา
  • ความหลังของ Joseph เหตุผลที่กลายมาเป็นคนแบบนี้ vs. อนาคตของ Valentine ชีวิตจะดำเนินต่อไปเช่นไร
    • Auguste ติดตามหาแฟนสาวจนพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ
    • หลังงานแสดงแฟชั่นโชว์ ระหว่างรอพายุฝนสงบ Joseph เล่าให้ฟังถึงความหลัง เหตุใดตนเองถึงกลายมาเป็นคนแบบนี้ (ล้อกับเหตุการณ์ที่เพิ่งบังเกิดขึ้นกับ Auguste)
    • เช้าวันถัดมา Valentine ออกเดินทางโดยเรือสำราญเพื่อไปหาแฟนหนุ่ม แล้วบังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม

สังเกตว่าหนังปล่อยเวลาไปกับการพูดคุยสนทนา โต้ถกเถียงระหว่าง Valentine กับ Joseph ให้มีความเยิ่นเย้อยืดยาว หญิงสาวไม่รีบร้อนกลับบ้านสักที! ผิดกับช่วงเวลาชีวิตอื่นๆ ซ้อมบัลเล่ต์ ถ่ายแบบ แฟชั่นโชว์ คุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่ม ฯ มักมีการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างเร่งรีบ รวบรัดตัดตอน (การนำเสนอเรื่องราวทางฝั่งของ Auguste ก็เฉกเช่นเดียวกัน) … นี่ทำให้ผมครุ่นคิดว่าหนังต้องการสร้างช่วงเวลาพิเศษ/แห่งความทรงจำให้ Valentine เพราะเธออาศัยอยู่ Genève อย่างโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ จะมีก็แค่ Joseph ที่แม้เริ่มต้นด้วยความมาดร้าย ไม่ได้ชอบพอกันสักเท่าไหร่ แต่โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นเพื่อนคุย สนิทสนมคุ้นเคย สามารถให้อภัยพฤติกรรมของกันและกัน (ถ้า Joseph อายุน้อยกว่านั้นสัก 20-30 ปี ก็อาจได้สานสัมพันธ์โรแมนติก ร่วมรักหลับนอน …)


เพลงประกอบโดย Zbigniew Preisner (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bielsko-Biała วัยเด็กชื่นชอบกีตาร์กับเปียโน หัดเล่น-เขียนบทเพลงด้วยตนเอง (ไม่เคยเข้าศึกษาที่ไหน) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญา Jagiellonian University, Krakow จบออกมาทำงานยังโรงละคร Stary Theater, ระหว่างทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Prognoza pogody (1981) มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ No End (1995) จนถึงเรื่องสุดท้าย Three Colours (Blue, White, Red)

ขณะที่ Blue (1993) เน้นความฮึกเหิม อลังการงานสร้าง, White (1994) ชวนสร้างอารมณ์ขบขัน, Red (1994) มอบสัมผัสอันเวิ้งว่างเปล่า โหยหาใครสักคนสามารถเติมเต็มความต้องการของหัวใจ อาศัยอยู่เคียงชิดใกล้ มีกลิ่นอายโรแมนติกอยู่นิดๆ แต่ส่วนใหญ่ในฉากที่ตัวละครพูดคุยสนทนา โต้ถกเถียงคำถามปรัชญา เสียงเพลงจักคอยสร้างบรรยากาศ ทำลายความเงียบสงัด เหมือนบางสิ่งอย่างล่อยลอยอยู่รอบตัวเรา มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เพียงได้ยินอยู่เบาๆ (เบาโคตรๆเลยละ)

เกร็ด: ผมเพิ่งพบเจอยอดขายอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งสามภาค

  • Blue (1993) ระดับ Platinum (ใน Poland คือยอดเกินกว่า 30,000 ก็อปปี้)
  • White (1994) ระดับ Gold (ยอดเกินกว่า 15,000 ก็อปปี้)
  • Red (1994) ระดับ Gold (ยอดเกินกว่า 15,000 ก็อปปี้)

นำบทเพลงที่ได้ยินซ้ำๆ ช่วงระหว่าง Valentine ประกอบกิจวัตรประจำวัน ซักซ้อมลีลาศ ถ่ายแบบ เดินแฟชั่นโชว์ ฯลฯ ซึ่งจะมีการนำเสนออย่างกระชับฉับไว ท่วงทำนองเพลงก็สื่อแทนเหตุการณ์เหล่านี้ เหมือนแค่ชีวิตดำเนินผ่านไป ไม่ได้มีความสลักสำคัญ/น่าจดจำประการใด

ลองเปิดลำโพงให้ดังๆเลยนะครับ แล้วตั้งใจเงี่ยหูฟัง Conversation at the Theatre ผมเลือกมาเพื่อเป็นตัวอย่างบทเพลงระหว่างการพูดคุยสนทนาระหว่าง Valentine กับ Joseph มันช่างมีความเบาโคตรๆ แต่ไม่ใช่เงียบสงัด มอบสัมผัสบางสิ่งอย่างหึ่งๆในแก้วหู เพียงบางท่อนเท่านั้นถึงดังขึ้นมา … จุดประสงค์ของบทเพลงลักษณะนี้คือทำลายความเงียบสงัด และมอบสัมผัสที่เหมือนมีบางสิ่งอย่างล่องลอย จับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ว่ามีตัวตน

เป็นอีกครั้งที่หนังมีการกล่าวอ้างถึงคีตกวีสมมติ Van den Budenmayer ซึ่งบทเพลงที่ตัวละครได้ยินระหว่างสวมหูฟังชื่อว่า Do Not Take Another Man’s Wife (ในอัลบัมจะมี I & II) ขับร้องโซปราโนโดย Elżbieta Towarnicka ที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน The Double Life of Veronique (1991) แทนเสียงร้องของ Irène Jacob

น่าเสียดายที่ผมหาเนื้อคำเพลงโซปราโนไม่ได้ แต่ด้วยสัมผัสบทเพลงและเสียงร้อง มอบความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว ชอกช้ำทรวงใน ภรรยาถูกแก่งแย่งชิงไป โปรดเถอะอย่าทำแบบนี้ ชีวิตฉันไม่หลงเหลืออะไร หมดสูญสิ้นหวังอาลัย จิตใจมีเพียงความเวิ้งว้างเปล่า

ความหมายสากลของ Red คือสีของเลือด ชีวิต จิตวิญญาณ พบเห็นแล้วเกิดความชะงักงัน หวาดระแวด รู้สึกอันตราย รวมถึงความตาย, แต่ละประเทศทั่วโลกก็จะมีวิถีความเชื่อ(ต่อสีแดง)ที่แตกต่างออกไป

  • ชาวตะวันตกมักมองเป็นสัญลักษณ์ของความรัก (Love) ความบริสุทธิ์ (Virgin) ความต้องการ(ทางเพศ) (Passion)
  • ชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีมงคล สัญลักษณ์แทนธาตุไฟ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ให้บังเกิดความโชคดี มีความสุข อายุยืนยาว สามารถใช้ได้ในทุกเทศกาลมงคล งานแต่งงาน รวมถึงซองอั่งเปาสำหรับมอบเป็นของขวัญ
  • ธงชาติไทย สีแดงแทนด้วยชาติ ความเป็นชนชาวไทย ผืนแผ่นดินไทย หรือคือเลือดที่สามารถยอมพลี เพื่อรักษาเอกราชของความเป็นไท
  • ธงชาติฝรั่งเศส คือสัญลักษณ์ของภารดรภาพ Fraternité (Fraternity) ความเป็นฉันพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน

มองอย่างผิวเผิน แนวคิดภารดรภาพใน Red (1994) ต้องการสื่อถึง ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ แม้อาศัยอยู่ต่างประเทศ Genève, Switzerland ตราบยังคงมีสัญชาติ French สื่อสารภาษาเดียวกัน ก็จักค้นพบความฉันท์พี่ฉันท์น้อง พรรคพวกพ้อง บังเกิดสานสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน

คุณเคยไปเที่ยวต่างประเทศไหมเอ่ย? เวลาไปเมืองนอกแล้วเจอคนไทย พูดคุยภาษาไทย ทั้งๆไม่เคยรู้จักอีกฝั่งฝ่าย แต่กลับบังเกิดความผูกพันธ์ ฉันท์มิตร พร้อมช่วยเหลือให้คำแนะนำ มีความไว้เนื้อเชื่อใจมากเป็นพิเศษ นั่นสามารถเรียกว่า ‘ภารดรภาพ’ เพราะเห็นอีกฝั่งฝ่ายคือพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ภารดรภาพ’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเป็นเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น แต่ยังสามารถเหมารวมถึงเพื่อนมนุษย์ สรรพชีวิต ทุกสิ่งอย่างในจักรวาลล้วนมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงใยถึงกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่เราล่วงรับรู้หรือไม่ก็ตาม นั่นคือสิ่งลี้ลับ เหนือธรรมชาติ คงมีแต่พระเจ้าผู้สร้างถึงเข้าใจ

กลับมาที่ภารดรภาพซึ่งเป็นคำขวัญประเทศฝรั่งเศส แต่ให้ตายเถอะ! เฉกเช่นเดียวกับเสรีภาพ และเสมอภาค ในมุมมองผู้กำกับ Kieślowski ไม่เห็นว่าชาวฝรั่งเศสจะเข้าใจความหมายของคำขวัญนี้สักเท่าไหร่

  • Blue (1993) ให้ตัวละครเผชิญหน้าการสูญเสีย (ได้รับเสรีภาพชีวิต) จึงสามารถเข้าใจ(อุดมคติแห่งรัก)เหตุผลที่มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบทางสังคม
  • White (1994) ถูกภรรยาฟ้องหย่าร้าง หลังจากสามีแก้แค้นเอาคืนได้สำเร็จ เธอถึงสามารถเข้าใจความเสมอภาคเท่าเทียม

สำหรับ Red (1994) ใช้การเผชิญหน้าระหว่าง Valentine หญิงสาวผู้มีเมตตา vs. Joseph ชายชราผู้เห็นแก่ตัว โต้ถกเถียงถึงเหตุผลที่คนเราชอบให้การช่วยเหลือผู้อื่น? เพื่อตอบสนองบางสิ่งอย่างภายใน? ต้องการเรียกร้องความสนใจ? เชื่อว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม? เพื่อให้ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิด ไขปริศนา ค้นพบคำตอบด้วยตนเองว่า ฉันควรแสดงออก(ต่อผู้อื่น)เช่นไร? ภารดรภาพหมายถึงอะไร?

ไม่ผิดอะไรที่เราจะมีเมตตา ไม่ผิดอะไรที่เราจะเห็นแก่ตัว แต่ทุกการกระทำมันจักส่งผลย้อนกลับมาหาตัวเราในอนาคต ได้รับโชคลาภวาสนา หรือประสบเหตุร้าย ได้รับอันตราย ถึงแก่ความตาย หนังใช้คำอธิบายว่าคือโชคชะตา (Destiny) พระเจ้าดลบันดาล แต่เราชาวพุทธมีคำเรียก “กฎแห่งกรรม” ใครเคยกระทำอะไรไว้ ย่อมได้รับผลนั้นคืนตอบสนอง

การที่ตัวละครจากไตรภาคทั้งสามสี Three Colours Trilogy จับพลัดจับพลูอยู่บนเรือลำเดียวกัน แล้วสามารถเอาตัวรอดชีวิตจากโศกนาฎกรรม นั่นเพราะพวกเขาเหล่านั้นบังเกิดความรู้แจ้งในสามคำขวัญ เสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ คือสิ่งที่ผู้กำกับ Kieślowski มองว่าจักเป็นตัวแทนอนาคต อุดมคติที่ทำให้มนุษย์รอดพ้นจากวันโลกาวินาศ

ด้วยความตั้งใจให้เป็นผลงานเรื่องสุดท้าย สิ่งสูงสุดที่ผู้กำกับ Kieślowski ต้องการนำเสนอออกมาจากแนวคิดภารดรภาพ ก็คือความเป็นฉันท์พี่ฉันท์น้อง ไม่ใช่แค่โปแลนด์, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ยุโรปตะวันออก-ตะวันตก หรือสหภาพโซเวียต แต่คือทั่วทั้งโลกสามารถเป็นอันหนึ่งเดียว คน-สัตว์-สิ่งของ และภาพยนตร์เรื่องนี้จักกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบสันติสุข

All I want is peace. A life of peace and quiet.

Valentine Dussaut

จะว่าไปอาชีพผู้กำกับ (ไม่ต่างพระเจ้า) ต้องเป็นบุคคลที่สามารถติดต่อประสานงาน นำทุกองค์ประกอบมาผสมเข้าด้วยกัน พัฒนาบท มองหานายทุน คัดเลือกนักแสดง ออกแบบฉาก/ค้นหาโลเกชั่น เปิดกองถ่ายทำ ตัดต่อ มิกซ์เสียง ใส่เพลงประกอบ ฯลฯ หรือคือภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Krzysztof Kieślowski พยายามเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน


หลังนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ผู้กำกับ Kieślowski ประกาศว่า Three Colours: Red (1994) จักคือผลงานเรื่องสุดท้าย ต่อจากนี้จะเกษียณตัวออกจากวงการ นั่นสร้างความฮือฮา กลายเป็นข่าวใหญ่ ไม่มีใครรับรู้ว่าเพราะอะไร (บอกแค่ว่ารู้สึกเหน็ดเหนื่อย) จนกระทั่งสองปีให้หลัง เสียชีวิตระหว่างผ่าตัดโรคหัวใจ สิริอายุ 54 ปี!

แม้ป่าวประกาศไปแล้วว่าจะรีไทร์ นักเขียน/ทนายความ Krzysztof Piesiewicz ก็เล่าว่ายังได้ร่วมพัฒนาอีกไตรภาค Heaven, Hell และ Purgatory แล้วเสร็จบทหนัง Heaven ตั้งใจว่าหลังผ่าตัดจะมาเตรียมงานต่อ แต่เหมือนสวรรค์-นรกจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นโปรเจคนี้ก็ยังได้รับการสานต่อ

  • Heaven (2002) กำกับโดย Tom Tykwer, นำแสดงโดย Cate Blanchett และ Giovanni Ribisi
  • Piesiewicz พัฒนาต่อบท Hell จนกลายเป็นภาพยนตร์ L’enfer (2005) กำกับโดย Danis Tanovic, นำแสดงโดย Emmanuelle Béart

นอกจากนี้นักแต่งเพลง Zbigniew Preisner ยังประพันธ์บทเพลง Requiem for My Friend (1998) อุทิศให้กับเพื่อนรัก Krzysztof Kieślowski ประกอบด้วยสองส่วน Requiem และ Life (Beginning, Destiny, Apocalypse และ Postscriptum) ตั้งใจให้เป็นเพื่อนร่วมการเดินทางครั้งสุดท้าย

the Requiem had accompanied Krzysztof in his last journey.

Zbigniew Preisner

เกร็ด: บทเพลง Lacrimosa จาก Part II: Life (Apocalypse) ได้ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ The Tree of Life (2011) กำกับโดย Terrence Malick

เมื่อตอนเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่เสียงตอบรับค่อนข้างจะแตกแยก โดยเฉพาะนักวิจารณ์จากฝรั่งเศส (ก็แน่ละ Three Colours Trilogy โจมตีคำขวัญฝรั่งเศสอย่างตรงไปตรงมา) ผลลัพท์เลยไม่ได้รางวัลอะไรสักอย่าง จนทำให้โปรดิวเซอร์ Marin Karmitz ปฏิเสธเข้าร่วมงานเลี้ยงปิดเทศกาล

แซว: ทีแรกผมคิดว่าน่าจะได้อย่างน้อย Palm Dog แต่พบว่าเพิ่งมีรางวัลนี้เมื่อปี 2001

ช่วงปลายปีหนังเป็นตัวแทน Switzerland (เพราะถือว่าถ่ายทำในประเทศ) ส่งลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ถูกคณะกรรมการบอกปัดปฏิเสธ อ้างว่าหนังมีการร่วมทุน France-Poland ด้วยเหตุนี้นำทีมโดย Quentin Tarantino โน้มน้าวให้ Harvey Weinstein ช่วยล่ารายชื่อ 56 คนดัง ยื่นประท้วงต่อสถาบัน Academy แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ ถึงอย่างนั้นหนังก็ได้รับโอกาสเข้าชิง Oscar สามสาขาอื่น (แต่ก็กลับบ้านมือเปล่า)

  • Best Director
  • Best Original Screenplay
  • Best Cinematography

นอกจากนี้หนังยังได้เข้าชิง Golden Globe Award, BAFTA Award และ César Awards อีกหลายสาขา ประกอบด้วย

  • Golden Globe Award
    • Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ Farinelli (1994) จากประเทศ Belgium
  • BAFTA Award
    • Best Film not in the English Language
    • David Lean Award for Direction
    • Best Actress (Irène Jacob)
    • Best Screenplay
  • César Awards
    • Best Film
    • Best Actor (Jean-Louis Trintignant)
    • Best Actress (Irène Jacob)
    • Best Director
    • Best Screenplay
    • Best Music ** คว้ารางวัล
    • Best Sound

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ High-Definition คุณภาพเสียง 2.0 DTS-HD โดยรวมถือว่ายอดเยี่ยม สามารถหารับชมช่องทางออนไลน์ได้แทบจะทุกค่ายใหญ่ๆ แต่ถ้าต้องการซื้อแผ่น Blu-Ray เลือกได้ทั้งฉบับของ MK2 และ Criterion (สแกนได้ดีทั้งคู่แต่ Criterion จะมี Special Feature มากกว่าพอสมควร)

ส่วนฉบับบูรณะ 4K เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2022 เมืองไทยนำเข้าฉายกรกฎา-สิงหา-กันยา ไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาเลยนะครับ ถ้าใครพลาดโอกาสนี้คงต้องรออีกพักใหญ่ๆก่อนสามารถหารับชมช่องทางอื่น

ในไตรภาคสามสี Three Colours Trilogy ไล่ลำดับความชื่นชอบส่วนตัว Red (1994) > Blue (1993) > White (1994) แต่ถ้าต้องเทียบกับ The Double Life of Veronique (1991) บอกเลยว่าเลือกไม่ถูก ประทับใจมากๆทั้งคู่ แต่ผมรักคลั่ง Irène Jacob จากบท Weronika และ Véronique มากยิ่งกว่า Valentine … จะว่าไปชื่อตัวละครก็คล้ายๆกันอยู่นะ

Three Colours: Red (1994) คือบทสรุปของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ทำการเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างในชีวิต ประติดประต่อจิ๊กซอว์/โมเสกเข้าหากัน และคือความคาดหวังว่าจะมีโอกาสรอดชีวิตหลังการผ่าตัดหัวใจ น่าเสียดาย … แต่ก็กลายเป็นตำนาน

แนะนำกับคนที่เชื่อในโชคชะตา รักแท้ แม้ไม่ใช่หนังโรแมนติกแต่ก็ให้ความรู้สึกโคตรโรแมนติก (Anti-Romance), ช่างภาพ ตากล้อง ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพ มีอะไรๆให้สังเกตเรียนรู้มากมาย, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียน นวนิยาย ศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเรื่องราว (สามารถเป็นแรงบันดาลใจ นำไปปรับใช้ได้เลยนะ), นางแบบ/นางแบบ แฟนคลับนักแสดง Irène Jacob และผู้เฒ่า Jean-Louis Trintignant ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศเครียดๆ พฤติกรรมสอดรู้สอดเห็น คบชู้นอกใจ

คำโปรย | Three Colours: Red สวอนซองของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ได้ทำการเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ภารดรภาพ

Three Colours: White (1994)


Three Colours: White (1994) PolishFrench : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥

ความเสมอภาคในโลกทัศน์ของ Krzysztof Kieślowski ถ้าเคยถูกใครกระทำอะไรมา ก็ต้องล้างแค้นเอาคืนอย่างสาสม ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน แต่โดยไม่สนวิธีการถูก-ผิด ดี-ชั่ว พร้อมจะกลับกลอก หลอกลวง คิดคดทรยศหักหลังแม้กระทั่งหญิงสาวคนรัก!

ในบรรดาไตรภาคสามสี Three Colours, Trois couleurs (French), Trzy kolory (Polish) ผลงานได้รับการพูดกล่าวถึงน้อยที่สุดก็คือสีขาว White, Blanc, Biały ด้วยลักษณะ Anti-Comedy ไม่ได้ต้องการให้ตลกแต่เต็มไปด้วยความขบขัน รวมถึงตรรกะเพี้ยนๆของผู้กำกับ Kieślowski ต่อวิธีการให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ไต่เต้าถึงจุดสูงสุดชีวิต ที่ดูยังไงก็ขำไม่ออก!

ผมไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับการใช้คำกล่าวอ้าง ‘เสมอภาค’ แล้วโต้ตอบกลับสิ่งที่อีกฝั่งฝ่ายกระทำมา ต่อให้เคยถูกใช้ความรุนแรง โดนฟ้องหย่า ประจานว่านกเขาไม่ขัน ฯลฯ พฤติกรรมแก้ล้างแค้น (Revenge) มันคือโลกทัศน์อันคับแคบของผู้ขาดสติ ไร้จิตสามัญสำนึก ไม่สามารถครุ่นคิดหน้า-คิดหลัง โดยเฉพาะการใช้ข้ออ้างความรักต่อภรรยา เพื่อให้ฉันและเธอบังเกิดอารมณ์ทางเพศร่วมกัน O-o

อาจเพราะความตั้งใจของผู้กำกับ Kieślowski ต้องการเปรียบเทียบสถานะภาพ Poland ในมุมมองยุโรปตะวันตก (อาจโดยเฉพาะฝรั่งเศส) ที่ยุคสมัยนั้นใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product, GDP) เป็นดัชนีชี้วัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ความเจริญมั่งคั่งของประชาชน (ตามแนวคิดระบอบทุนนิยม) ซึ่งประเทศฝั่งยุโรปตะวันออกที่เพิ่งปลดแอกคอมมิวนิสต์/แยกตัวจากสหภาพโซเวียต จะไปเรียนรู้กระบวนการธุรกิจดังกล่าวจากแห่งหนไหน? เลยถูกพวกหมาอำนาจประชาธิปไตยส่งสายตาดูถูกเหยียดหยาม (Racism)

what about equality? Is it because I don’t speak French that the court won’t hear my case?

Karol Karol

นี่เป็นประโยคที่ผู้ชมได้ยินมาตั้งแต่ Blue (1993) ติดตามมายัง White (1994) ไหนละความเสมอภาคตามคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส Liberté (Liberty), Égalité (Equality), Fraternité (Fraternity) มันช่างจอมปลอม หลอกหลวง โลกใบนี้ไม่ได้มีความเท่าเทียมอยู่เลยสักนิด!

ถ้าสักวันหนึ่งประเทศ Poland มีการเจริญเติบโตจนกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ก็คงอยากเอาคืน โต้ตอบกลับ แก้ล้างแค้นพวกหมาอำนาจประชาธิปไตย ด้วยสิ่งที่เคยได้รับการดูถูกเหยียดหยาม จนกว่าอีกฝั่งฝ่ายจะรู้สึกสาสำนึกแก่ใจ … แม้ตอนจบผู้กำกับ Kieślowski จะทำให้เหมือนว่าตัวละครได้รับบทเรียนจากการถูก ‘social humiliation’ จึงสามารถเข้าใจแนวคิดความเสมอภาคที่แท้จริง แต่วิธีการดำเนินไปจนถึงจุดนั้นมันขำไม่ออกจริงๆนะ


Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach

เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง

Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ

International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)


ทนายความ/นักเขียน Krzysztof Piesiewicz (รับรู้จักผู้กำกับ Kieślowski มาตั้งแต่ผลงาน No End (1985)) ระหว่างกำลังสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991) เป็นผู้เสนอแนะแนวคิดเกี่ยวสรรค์สร้างภาพยนตร์ไตรภาค โดยอ้างอิงจากคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส Liberté (Liberty), Égalité (Equality), Fraternité (Fraternity) เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ

The words [liberté, egalité, fraternité] are French because the money [to fund the films] is French. If the money had been of a different nationality we would have titled the films differently, or they might have had a different cultural connotation. But the films would probably have been the same.

Krzysztof Kieślowski

โดยความตั้งใจแรกเริ่มต้องการทำออกมาให้คล้ายๆ Dekalog (1988) ที่อ้างอิงพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments) สรรค์สร้างสิบเรื่องราวที่มีสาสน์สาระอ้างอิงพระบัญญัติทั้งสิบข้อ แต่หลังจากเริ่มต้นพัฒนาบท Blue พวกเขาก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรเกี่ยวกับแนวคิดเสรีภาพ Liberté (Liberty) เลยสักนิด!

สำหรับ White กับแนวคิดเสมอภาค Égalité (Equality) สร้างขึ้นจากความรู้สึกของผู้กำกับ Kieślowski หลังจากประเทศ Poland ได้รับการปลดแอก/กลายเป็นไทจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (เมื่อปี 1989) ด้วยความเชื่อว่าอะไรๆคงจะดีขึ้นโดยทันที แต่ในความเป็นจริงกลับมีอะไรๆให้ต้องเรียนรู้ปรับตัวอีกมากๆๆๆ แต่ปัญหาใหญ่สุดคือไม่ได้รับการยอมรับประเทศหมาอำนาจ (น่าจะโดยเฉพาะฝรั่งเศส) … อดีตเคยเป็นศัตรูสู้รบกันมานมนาน จะให้เปลี่ยนทัศนคติโดยทันทีย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว!

สิ่งที่ยุโรปตะวันออก (Eastern Bloc) และอดีตสหภาพโซเวียตไม่เคยเข้าใจมาก่อน (เพราะพวกเขาอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์มาหลายทศวรรษ) นั่นคือประชาธิปไตย=ระบอบทุนนิยม โลกตะวันตกได้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี จนก้าวรุดหน้าถึงไหนต่อไหน ถ้าให้เปรียบเทียบ Poland ก็ไม่ต่างจาก(ประเทศ)ชนบทหลังเขา ธุรกันดารห่างไกล แรกพบเห็นความแตกต่างย่อมบังเกิดอาการ ‘Cultural Shock’ เลยเป็นธรรมดาที่จะถูกคนเมืองผู้มั่งคั่งร่ำรวย (เชื่อว่าตนเอง)มีชีวิตสุขสบายกว่า มองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม (Racism)

วิถีของยุโรปตะวันตก คงสร้างความเกรี้ยวกราดอย่างรุนแรงให้ผู้กำกับ Kieślowski ตระหนักถึงความเสมอภาคที่เป็นหนึ่งในคำขวัญประเทศฝรั่งเศสนั้นไม่มีอยู่จริง! แต่ก็ครุ่นคิดต่อว่าทำอย่างไรถึงให้ได้มาซึ่งอุดมคตินั้น คำตอบที่ค้นพบคือแนวคิด “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” บุคคลจะสามารถเข้าใจความเท่าเทียม Égalité (Equality) จำต้องเคยได้รับประสบการณ์ลักษณะเดียวกันนั้นมาก่อน!

This is a narrative about equality understood as negation. The notion of equality suggests that we are all the same. I don’t think this is true. Nobody truly wishes to be equal. Everybody wants to be more equal than others.


เรื่องราวเริ่มต้นที่กรุง Paris, เมื่อนักตัดผมหนุ่ม Karol Karol (รับบทโดย Zbigniew Zamachowski) ผู้อพยพชาว Polish ถูกภรรยาสาวสวย Dominique (รับบทโดย Julie Delpy) สัญชาติ French ยื่นฟ้องศาลเพื่อทำการหย่าร้าง ด้วยคำกล่าวอ้างหลังแต่งงานไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน

หลังจากศาลตัดสินให้ทั้งสองเลิกรา สิ่งหลงเหลือสำหรับ Karol มีเพียงกระเป๋าเสื้อผ้าหนึ่งใบ จำใจกลายเป็นขอทานยังสถานีรถไฟ บังเอิญได้พบเจอ Mikołaj (รับบทโดย Janusz Gajos) ให้ความช่วยเหลือพากลับ Poland ด้วยการแอบซ่อนอยู่ในกระเป๋าเดินทาง … เอาตัวรอดชีวิตใต้ท้องเครื่องบินได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน

เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน Karol พยายามมองหาอาชีพใหม่ที่สามารถสร้างโอกาส ความก้าวหน้า กวาดซื้อที่ดินถูกๆแล้วขายต่อราคาสูงลิบลิ่วจนร่ำรวยเงินทอง แล้วนำไปลงทุนทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ประสบความสำเร็จกลายเป็นมหาเศรษฐี แต่เพราะยังครุ่นคิดถึงอดีตภรรยา จึงแสร้งว่าประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้เธอเดินทางมายัง Poland แล้วถูกตำรวจควบคุมตัว (เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเข่นฆาตกรรมสามีเพื่อเงินมรดก) ชดใช้กรรมใดๆที่เคยกระทำเอาไว้


Zbigniew Zamachowski (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Brzeziny , ร่ำเรียนการแสดงจาก National Film School, Łódź เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1981 มีชื่อเสียงในบทบาท Comedy ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ตอนที่สิบ Dekalog (1988) และ Three Colours: White (1994)

รับบท Karol Karol ช่างตัดผมชาว Polish เคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากทุกๆการประกวด จนมาถึงฝรั่งเศสมีโอกาสพบเจอตกหลุมรัก Dominique Vidal แต่พอแต่งงานกลับไม่สามารถปรนเปรอปรนิบัติ นกเขาไม่ขัน เลยถูกเธอขับไล่ ฟ้องศาลขอเลิกรา หลงเหลือเพียงกระเป๋าเสื้อผ้า นั่นสร้างความเจ็บแค้นเคืองโกรธ กระเสือกกระสนจนสามารถเดินทางกลับ Poland แล้วครุ่นคิดแผนการล้างแค้นเอาคืน โดยไม่สนว่าสิ่งที่ทำนั้นถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขอแค่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง และเมื่อตนเอง(แสร้งว่า)ตายจากไป ผลกรรมทั้งหมดจะตกเป็นของเธอเพียงผู้เดียว!

คนที่ไม่เคยรับรู้จัก Zamachowski น่าจะตระหนักได้ทันทีว่าคือนักแสดงตลกสายเจ็บตัว (Slapstick Comedy) ชอบตีหน้าเซ่อ ทำตัวเอ๋อเหรอ รุกรี้รุกรน ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่สามารถเรียกเสียงหัวเราะ สร้างความขบขันอย่างไร้เดียงสา แค่ท่วงท่าเดินก็ดูประหลาดๆเหมือน Chaplinesque (ชื่อตัวละคร Karol ภาษา West Slavic ตรงกับคำอังกฤษ Charles หรือ Carl)

เพราะเป็นหนังตลก (Anti-Comedy) การแสดงของ Zamachowski จึงไม่เน้นความสมจริง พยายามให้ดูเว่อๆเข้าไว้ (Over-Acting) ทั้งตอนดีใจ-เสียใจ ตกหลุมรัก โกรธเกลียดเคียดแค้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มีมากล้นจนผู้ชมเริ่มจับต้องไม่ได้ จักแปรสภาพสู่นามธรรม (Abstact) ลัทธิเหนือจริง (Surrealist) นั่นน่าจะคือเป้าหมายของผู้กำกับ Kieślowski ในการสรรค์สร้างตัวละครนี้


Julie Delpy (เกิดปี 1969) นักแสดงสัญชาติ French-American เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแสดง Albert Delpy และ Marie Pillet, เมื่ออายุเพียง 14 ปี พบเจอโดย Jean-Luc Godard เล่นบทสมทบ Détective (1985), แจ้งเกิดกับ La Passion Béatrice (1987), โด่งดังระดับนานาชาติจาก Europa Europa (1990), ผลงานเด่นๆ อาทิ Voyager (1991), Three Colours: White (1994), Before Trilogy, An American Werewolf in Paris (1997) ฯลฯ

รับบท Dominique Vidal ช่างตัดผมชาว French พบเจอตกหลุมรัก Karol ยังงานประกวดการตัดผมรายการหนึ่ง แต่หลังจากแต่งงานเขาไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของตนเอง จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลขอหย่าร้าง แล้วขับไล่เขาออกจากห้องพัก ค่ำคืนนั้นก็ร่วมรักกับชายแปลกหน้าโดยทันที … หลายวัน-เดือน-ปีถัดมา รับทราบข่าวคราวของอดีตสามี ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจึงเดินทางสู่ Poland แต่หลังงานศพกลับถึงโรงแรม พบเห็นเขายังมีชีวิตอยู่ บังเกิดอารมณ์อย่างรุนแรงจนสามารถร่วมรักกับเขา แต่เช้าวันถัดมากลับถูกตำรวจควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัยเข่นฆาตกรรมสามีเพื่อเงินมรดก พยายามอธิบายแต่ก็ตระหนักว่านี่คือการแก้แค้นเอาคืนของเขา

Delpy เคยมาทดสอบหน้ากล้อง The Double Life of Veronique (1991) แต่พลาดบทบาทดังกล่าวให้ Irène Jacob แต่เธอก็ยังอยู่ในใจผู้กำกับ Kieślowski จนมีโอกาสร่วมงาน Three Colours: White (1994) แม้เพียงบทบาทสมทบ ปรากฎตัวไม่นานเท่าไหร่ (ช่วงกลางเรื่องหายตัวไปเลยนะ) แต่ด้วยความเจิดจรัส เปร่งประกาย โดยเฉพาะเมื่อสาดแสงสีขาวดูราวกับเทพธิดา และเมื่อถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดกลายเป็นซาตาน ต่างไม่มีใครสามารถอาจเอื้อมมือไขว่คว้า

แซว: Julie Delpy เล่าถึงความแม่นเปะของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ในฉาก Sex Scene มีการบอกระยะเวลาว่าต้องครวญครางกี่วินาที ซึ่งเธอต้องค่อยๆไล่ระดับเสียงไปถึงจุดสูงสุดตรงตามนั้น

ผมรู้สึกเสียดายบทบาทของ Delpy มีน้อยยังไม่เท่าไหร่ แต่ไร้ความตื้นลึกหนาบาง คำอธิบายที่มาที่ไป แม้แต่บรรดานักวิจาณ์ยังมองว่าไม่แตกต่างจากวัตถุทางเพศ (Object of Desire) สนเพียงเรื่องรักๆใคร่ๆ ตอบสนองความต้องการหัวใจ และเพศสัมพันธ์! แค่นั้นเองนะเหรอ??

แต่ผมต้องกล่าวชมปัจฉิมบทของหนัง (ถ่ายเพิ่มเติมหลังปิดกองไปแล้ว) เมื่อตัวละครของ Delpy สื่อสารด้วยภาษามือ สามารถถ่ายทอดความสาสำนึก ตระหนักถึงแก่ใจ กลั่นออกมาจากความรู้สึกภายในได้อย่างทรงพลังมากๆ

You and I will leave together when I’ll get out of jail, right? Or we’ll stay here, together, and we’ll get married again.

คำแปลภาษามือของ Dominique Vidal

Janusz Gajos (เกิดปี 1939) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Dąbrowa Górnicza, โตขึ้นพยายามสมัครเรียน National Film School, Łódź เคยถูกปฏิเสธถึงสามครั้ง แต่สำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียนสูงสุด, จากนั้นมีผลงานละครเวที ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Man of Iron (1981), Interrogation (1982), Dekalog (1989), Escape from the ‘Liberty’ Cinema (1990), Three Colors: White (1994) ฯลฯ

รับบท Mikołaj ชายวัยกลางคน แต่งงานมีครอบครัว ไม่รู้ทำงานอะไรแต่ไร้ปัญหาเรื่องการเงิน ถึงอย่างนั้นกลับมีชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย พยายามมองหาใครสักคนว่าจ้างให้มาเข่นฆาตกรรมตนเอง (พร้อมจ่ายค่าตอบแทนให้มหาศาล) จนกระทั่งพานพบเจอ Karol ยังสถานีรถไฟใต้ดิน Paris Métro หลังให้ความช่วยเหลือพากลับบ้านที่ Poland ได้รับการตอบแทนด้วยการยินยอมเป็นเพชรฆาต … วินาทีที่เสียงปืนลั่น คาดคิดว่าทุกอย่างคงจบสิ้น แต่ Karol กลับไม่ได้ใส่กระสุน นั่นทำให้ Mikołaj ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่ ต่อจากนี้จะใช้เวลาที่หลงเหลืออย่างเต็มที่สุดเหวี่ยง ไม่ยี่หร่าอะไรใครอีกต่อไป

ผมอดไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงตัวละครนี้ หนังไม่ได้อธิบายว่าเพราะอะไร ทำไม Mikołaj ถึงต้องการกระทำอัตวินิบาต (ถึงให้ผู้อื่นลงมือสังหาร แต่ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตายนะครับ) แต่หลังจากกระสุนเปล่า เสียงปืนลั่น วินาทีนั้นทำให้เขาตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว!

เราสามารถเปรียบเทียบตัวละครนี้ถึงผู้กำกับ Kieślowski หลังรับรู้ว่าตนเองมีปัญหาโรคหัวใจ คงตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง หรืออาจเคยอยากจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเริ่มบังเกิดสติ ครุ่นคิดทบทวน ตระหนักได้ว่าฉันควรใช้เวลาที่หลงเหลือให้คุ้มค่า ค้นพบเป้าหมายชีวิตของตนเอง ต่อจากนี้ไม่มีอะไรต้องหวาดสะพรึงกลัวอีกต่อไป!

แต่ผมงงๆกับหลังการเกิดใหม่ของ Mikołaj เหมือนหนังพยายามทำให้เขากลายเป็นลูกน้องของ Karol (ทั้งๆที่ควรคือหุ้นส่วน/เพื่อนร่วมงาน) เพราะมันดูดีในแง่การวิเคราะห์ถึงเรื่องราวที่กลับตารปัตร ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง หน้ามือ-หลังมือ แต่เมื่อนำเสนอเช่นนั้นทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มเหินห่าง ไกลออกไป กลายเป็นตัวประกอบ ไม่หลงเหลือสิ่งน่าสนใจ


ถ่ายภาพโดย Edward Kłosiński (1943-2008) สัญชาติ Polish ร่ำเรียนการถ่ายภาพจาก National Film School, Lodz จบออกมาเป็นช่างภาพนิ่ง, Camera Operator, กระทั่งมีโอกาสร่วมงาน/กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda ตั้งแต่ The Promised Land (1975), Man of Marbel (1977), Man of Iron (1981), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Illumination (1973), Camouflage (1977), Dekalog (1988), Europa Europa (1991), Three Colour: White (1994), Three Colour: Red (1994), Gloomy Sunday (1999) ฯลฯ

สำหรับ Kłosiński ถือเป็นอีกโคตรตากล้องชาว Polish ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ! อาจไม่ได้จัดจ้านด้วยเทคนิคลีลาเหมือน Sławomir Idziak หรือพานผ่านงานด้านสารคดีแบบ Jacek Petrycki (ทั้งสองคือขาประจำคนก่อนของ Kieślowski) แต่ประสบการณ์จากการร่วมงานหลากหลาย ทำให้สามารถปรับตัว ตอบสนองวิสัยทัศน์ของผู้กำกับได้อย่างครบเครื่อง

การใช้ชื่อไตรภาค Three Colours Trilogy ใครต่อใครมักคาดคิดว่าต้องมีการละเลงสีสันที่จัดจ้าน ละลานตา แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่อง White (1994) สีขาวเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ มันจึงไร้เฉดที่ฉูดฉาด ซึ่งสร้างความจืดชืด เจือจาง ทำให้หนังแทบไม่มีความโดดเด่นด้านสีสันประการใด … แต่ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าทุกช็อตฉากของหนัง ต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นสีขาวซุกซ่อนเร้นอยู่!

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต งานภาพส่วนใหญ่ของหนังมีการจัดแสงที่หยาบกระด้าง (Hard Light) เพื่อสะท้อนช่วงเวลาฤดูหนาว/หิมะตก และสภาพจิตใจตัวละครที่มีความหนาวเหน็บ ทนทุกข์ทรมาน (จากการถูกภรรยาทอดทิ้ง/ทรยศหักหลัง) ผู้ชมก็(อาจ)สัมผัสได้ถึงความยะเยือกเย็นชา

หนังถ่ายทำต่อเนื่องจาก Blue (1993) โดยเริ่มจาก Paris, France ประกอบด้วยที่ทำการศาล Palais de Justice, สถานีรถไฟ Paris Métro, ก่อนย้ายมา Warsaw, Poland ที่สถานีรถไฟ Warszawa Centralna, สุสาน Powązki Cemetery, โรงแรม Hotel Bristol ฯลฯ


ช็อตแรกของไตรภาค Three Colours Trilogy จะเริ่มต้นด้วยภาพการเดินทาง

  • Blue (1993) พบเห็นล้อรถกำลังขับเคลื่อนบนท้องถนน
  • White (1994) กระเป๋าเดินทาง (ที่ภายในมีใครบางคนหลบซ่อนตัวอยู่) และช็อตถัดมา Karol กำลังกึ่งเดินกึ่งวิ่งตรงไปยังที่ทำการศาล
  • Red (1994) การเดินทางของคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ จากต้นสายสู่ปลายสาย

การเดินทางด้วยกระเป๋าเดินทางของ White (1994) จริงๆแล้วจะเกิดขึ้นเมื่อเรื่องราวดำเนินผ่านไปประมาณหนึ่งในสาม ซึ่งถ้าเรามองว่านั่นคือจุดเริ่มต้น (เพราะเป็นช็อตแรกของหนัง) เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกรุง Paris จะราวกับการย้อนอดีต (Flashback) แต่ผมแนะนำว่าให้มองข้ามเจ้ากระเป๋าเดินทางนี้ไปก่อนเลยก็ได้นะครับ

กระเป๋าเดินทาง มองในเชิงสัญลักษณ์คือสัมภาระ/สิ่งข้าวของที่มีความจำเป็นจริงๆต่อการดำรงชีวิต แต่ละคนย่อมมีขนาดไม่เท่ากันขึ้นกับความหมกมุ่นยึดติด ลุ่มหลงใหลในมายาคติ … ภาพยนตร์ที่อธิบายแนวคิดกระเป๋าเดินทางได้เจ๋งสุดๆก็คือ Up in the Air (2009) ลองไปหาชมดูนะครับ

ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของผู้กำกับ Kłosiński น่าจะสัมผัสได้ถึงสิ่งลี้ลับ เหนือธรรมชาติ แม้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็มักเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครสามารถให้คำอธิบาย อย่างนกขี้หล่นใส่ Karol คือลางสังหรณ์แห่งความโชคร้าย (ที่ใครๆก็ต่างรู้กัน) เป็นการบอกใบ้ ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดคาดเดา อะไร(ร้ายๆ)จะบังเกิดขึ้นกับตัวละครต่อจากนี้

ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติของผู้กำกับ Kłosiński เหมือนได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ Blind Chance (1981) ที่เกี่ยวกับโชคชะตา หนทางเลือก ก่อนจะเริ่มชัดเจนตอน No End (1985) ปรากฎภาพวิญญาณล่องลอย แอบให้ความช่วยเหลือภรรยาที่ยังมีชีวิต และเมื่อสรรค์สร้าง Dekalog (1988) อ้างอิงจากพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandment) แสดงถึงถึงความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า สัมผัสถึงพลังลึกลับที่แม้มองไม่เห็นแต่รับรู้ว่ามีอยู่จริง

ขณะที่โคมไฟสีขาว (สัญลักษณ์ของความเสมอภาค) ห้อยบนระย้าอยู่เบื้องบนชั้นศาล (ยกไว้เป็นคำขวัญเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม) แต่บนโต๊ะทำงานของผู้พิพากษากลับเป็นโคมคว่ำสีเขียว สัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย ความคอรัปชั่นภายในจิตใจ บ้างก็เปรียบว่าคือสีของธนบัตร สื่อให้มูลค่าความสำคัญกับบุคคลที่มีพื้นฐาน/สัญชาติเดียวกัน ถึงเรียกว่าเสมอภาคเท่าเทียม

หลายคนอาจมองว่าการเลิกราเพราะอีกฝ่ายนกเขาไม่ขัน มันช่างเป็นเรื่องน่าขบขัน🤣 แต่ถ้าครุ่นคิดให้ดีๆจะพบว่ามันไม่น่าหัวร่อตรงไหน😠 ที่ทั้งสองแต่งงานกันเพราะความรัก แล้วปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์มันเกี่ยวเนื่องอะไร? นี่แปลว่าทัศนคติของชาวตะวันตก Love=Sex แค่นั้นเองใช่ไหม???

คำตัดสินของศาลให้หย่าร้างด้วยข้ออ้างดังกล่าวเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่? เอาจริงๆมันบอกไม่ได้นะครับ รายละเอียดที่นำเสนอมาถือว่าน้อยเกินไป แต่เราไม่จำเป็นต้องไปรับรู้อะไรมากมายอย่างจริงๆจังๆ เพราะผู้กำกับ Kieślowski ต้องการทำให้หนังออกมาดูเว่อวัง เหนือจริง จับต้องไม่ได้ (Surreal) ด้วยเหตุผลเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า

ใครที่เคยรับชม Blue (1993) ย่อมคาดหวังการปรากฎตัวของ Juliette Binoche คือหนึ่งในจุดเชื่อมโยงระหว่าง Three Colours Trilogy พอดิบพอดีกับที่ Karol กำลังพูดแสดงความไม่พึงพอใจต่อการตัดสินของศาล

what about equality? Is it because I don’t speak French that the court won’t hear my case?

Karol Karol

ในบริบทนี้เป็นการแสดงทัศนคติต่อความดูถูกเหยียดยาม (Racism) ที่ไม่ใช่แค่ชาวฝรั่งเศส (French) มีต่อคนโปแลนด์ (Polish) แต่ยังสามารถเหมารวมถึงกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก (Western European) vs. ยุโรปตะวันออก (Eastern Europena) แบ่งแยกกันด้วยกำแพงเบอร์ลิน ระหว่างประชาธิปไตย vs. คอมมิวนิวต์/อดีตพันธมิตรสหภาพโซเวียต

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าฉากนี้ถ่ายทำยังไง? คาดคิดว่าน่าจะใช้ฟิลเลอร์ที่มีสีขาวๆขุ่นๆ (ไม่รู้มีรึเปล่านะ หรืออาจจะทำขึ้นมาใหม่) และเปิดรูรับแสงให้กว้างๆ เพิ่มความฟุ้งๆ ขณะแสงจร้าๆ เพื่อทำให้ Julie Delpy งดงามราวกับเทพธิดา นางฟ้าลงมาจากสรวงสวรรค์ (แสงสีขาวยังทำให้ผมบลอนด์ของเธอดูเปร่งประกายยิ่งๆขึ้นอีก)

นี่เป็นภาพปรากฎขึ้นบ่อยครั้งขณะ Karol ครุ่นคิดถึงหญิงสาวคนรัก สามารถเปรียบเทียบกลับตารปัตรกับ Blue (1993) ทุกครั้งที่ Julie หวนระลึกถึงสามีผู้ล่วงลับจะมีการ Fade-to-Black เหมือนลมหายใจขาดห้วงไปชั่วขณะ … ทั้งเรื่องสื่อนัยยะเดียวกันถึงความยังหมกมุ่นครุ่นยึดติด ไม่สามารถปล่อยละวางจากความสูญเสีย/เลิกร้างรา

ในกรณีที่บัญชีโดนแช่แข็งหรือถูกปิด น่าจะเป็นปกติอยู่แล้วที่เจ้าหน้าที่พนักงานจะต้องทำลายบัตรเอทีเอ็ม/เครดิต ซึ่งวิธีการที่หนังใช้คือกรรไกรตัดฉับ สัญลักษณ์ของการแบ่งแยก ฝรั่งเศส vs. โปแลนด์ หรือดินแดนยุโรปตะวันตก vs. ตะวันออก จากกันด้วยมูลค่าการเงิน สถานะทางเศรษฐกิจ

นี่เป็นอีกฉากที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ใน Three Colours Trilogy ต่างพบเห็นคุณยายหลังค่อมกำลังพยายามยัดขวดลงถังขยะที่อยู่เหนือศีรษะ ซึ่งขณะนี้ Karol แม้ว่านั่งอยู่ใกล้มากๆ แต่กลับเพียงจับจ้องมอง หัวเราะหึๆ แทนที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ … เหตุผลที่เขาทำได้แค่มอง เพราะหนังต้องการสื่อว่าตัวเขาเองขณะนี้ยังเอาตัวไม่รอด จะไปมีน้ำใจช่วยเหลืออะไรใคร (แต่ถ้ามองในแง่มนุษยธรรม เรื่องแค่นี้มันก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัวโคตรๆแล้วนะ!)

เพียงเพราะไม่สามารถเต็มเต็ม/ตอบสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน Dominique จึงตัดสินใจเผาผ้าม่านสีขาว (ผ้าม่าน=สิ่งที่ใช้ปกปิดไม่ให้คนนอกมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน, การเผาผ้าม่าน=การเปิดเผยธาตุแท้ตัวตนออกมา ทำลายสัญลักษณ์ของความเสมอภาค) เพื่อขับไล่ Karol ออกไปจากร้านตัดผม/ประเทศฝรั่งเศสแห่งนี้

Karol นำเงินที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดไปซื้อรูปปั้นดินเผา หน้าตาดูละม้าย(อดีต)ภรรยา Dominique ผิวพรรณซีดขาว ดูราวกับเทพธิดา แต่ไม่รู้ทำไมแวบแรกผมกลับเห็นเป็น Marianne บุคลาธิษฐานประจำชาติฝรั่งเศส (National Personification) สตรีเพศผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพ … ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบ Dominique = Marianne แทนด้วยสัญลักษณ์ประเทศฝรั่งเศส หลังจากเลิกราสามีก็เท่ากับได้รับเสรีภาพ (คล้ายๆกับ Blue (1993) ที่หลังการสูญเสียครอบครัว Julie ก็ถือว่าได้รับเสรีภาพ)

ปล. ชื่อตัวละคร Dominique มาจากภาษาละตินแปลว่า belonging to a lord หรือ of the Lord, เป็นของพระเจ้า หรือคือพระเจ้า (นางฟ้าจากสรวงสวรรค์ก็ได้กระมัง)

ซึ่งหลังจาก Karol เดินทางกลังถึง Poland รูปปั้นอันนี้ก็ถูกทำให้แตกละเอียด (โดยพวกหัวขโมย) แต่เขาก็ยังไม่ปล่อยละวาง (แบบเดียวกับ Julie เรื่อง Blue (1993)) พยายามปะติดปะต่อขึ้นใหม่ นอกจากไว้ดูต่างหน้า ยังคือเป้าหมายสำหรับไขว่คว้า ต้องการฉุดคร่าเธอลงมาจากสรวงสวรรค์ ให้เป็นของฉันแต่เพียงผู้เดียว!

หวีที่ควรเป็นอุปกรณ์สำหรับทำผม แต่ถูกนำมาห่อกระดาษแล้วใช้เป็นเครื่องดนตรีเป่าลม สามารถสื่อถึงชีวิตที่กลับตารปัตร จากเคยอยู่จุดสูงสุดจากเป็นผู้ชนะการประกวดตัดแต่งทรงผม ตอนนี้ต้องมานั่งขอทานในสถานีรถไฟใต้ดิน Paris Métro รอดหรือไม่รอดก็อยู่ที่โชคและชะตากรรม จะมีโอกาสหวนกลับบ้านที่ Poland เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งให้กับชีวิตหรือไม่?

ช่างตัดผม คืออาชีพที่สามารถปรับเปลี่ยน สร้างภาพลักษณ์ จากอัปลักษณ์ให้ดูสวยหล่อ ขอทานกลายเป็นมหาเศรษฐี แต่ก็แค่เปลือกภายนอกเท่านั้นนะครับ! ในเชิงสัญลักษณ์สามารถสื่อถึงการสร้างภาพมายา สิ่งลวงหลอกตา หรือจะมองว่าคือการปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง ต้องการทอดทิ้งอดีต เพื่อเริ่มต้น/ถือกำเนิดชีวิตใหม่ (ผมชอบนึกถึง เพื่อนสนิท (พ.ศ. ๒๕๔๘) ไอ้ไข่ย้อยตัดผมเพื่อลืมเธอ/เริ่มต้นชีวิตใหม่)

ขณะนี้ที่ Karol ตัดผมให้ Mikołaj แม้เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ (ภายนอก) แต่มันจะไปล้อครึ่งหลังที่ Karol ได้ทำบางสิ่งอย่างให้ Mikołaj ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ(ภายใน) ราวกับชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่

  • ครึ่งแรก Mikołaj ให้ความช่วยเหลือ Karol จนสามารถหวนกลับ Poland และได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
  • ครึ่งหลัง Karol ทำบางสิ่งอย่างกับ Mikołaj จากเคยต้องการฆ่าตัวตาย ก็ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่เช่นกัน!

Le Mépris (1963) หนึ่งในผลงานเรื่องสำคัญของผู้กำกับ Jean-Luc Godard นำแสดงโดย Brigitte Bardot ใครเคยรับชมน่าจะจดจำฉากนอนเปลือยบนเตียง ที่กลายเป็น Iconic แห่งยุคสมัย!

เท่าที่ผมหวนระลึกถึงเรื่องราวของ Le Mépris (1963) เหมือนไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับ White (1994) คาดว่าต้องการอ้างอิงถึง Brigitte Bardot บุคคลที่เป็น ‘Sex Symbol’ สัญลักษณ์ทางเพศของฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 50s-60s ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แตกต่างจาก Marianne บุคลาธิษฐานประจำชาติฝรั่งเศส (National Personification) และต่างเป็นสตรีเพศผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพ … หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าเหมือนกันยังไง? แต่อย่าลืมว่าหนังมีลักษณะ ‘Anti-Comedy’ นี่คือการเสียดสีล้อเลียน คำด่าทอของผู้กำกับ Kieślowski โดยใช้สัญลักษณ์ประเทศฝรั่งเศส Marianne ต่างอะไรจาก ‘Sex Symbol’ ของ Brigitte Bardot

และการที่กล้องเคลื่อนเลื่อนจากโปสเตอร์นี้มายังห้องพักของ Dominique ก็เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาถึง (Julie Delpy อาจไม่เซ็กซี่เท่า Brigitte Bardot แต่ก็ผิวขาว ผมบลอนด์ งดงามราวกับนางฟ้า)

แซว: ผมรู้สึกว่าโปสเตอร์ขนาดมหึมานี้ ถือเป็นอีกจุดเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับ Red (1994) ที่ก็มีโปสเตอร์ถ่ายแบบผืนใหญ่ของนางเอก Irène Jacob ตั้งตระหง่านกลางสี่แยก (เชื่อมโยงกันด้วยภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่)

ระหว่างที่ Karol โทรศัพท์หา Dominique รับฟังเสียงการร่วมรัก ส่งเสียงครวญคราง นางฟ้ากำลังเสพสุขสำราญอยู่บนสรวงสวรรค์ นั่นสร้างความอับอายขายขี้หน้า (humiliation) โกรธเกลียดเคียดแค้นจนเกิดปณิธานอันแน่วแน่ จากนี้พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหวนกลับประเทศ Poland เริ่มต้นนับหนึ่งแล้วไปให้ถึงจุดสูงสุด เพื่อว่าสักวันจักหวนกลับมาแก้แค้นเอาคืนเธอให้สาสมแก่ใจ!

ภาพสะท้อนหลอดไฟยาวสีขาว สังเกตว่ามีทิศทางคนละระนาบ คาดว่าน่าจะสื่อถึงความเสมอภาค(สีขาว)ที่ไม่เท่าเทียม หรือคือคำขวัญประเทศฝรั่งเศสที่ว่า Égalité (Equality) ไม่เคยเป็นจริง! เหมือนเสรีภาพปลอมๆของ Blue (1993) และภารดรภาพแค่พวกพ้องของ Red (1994)

ปล. แม้นี่ไม่ใช่การแอบดักฟังโทรศัพท์ แต่เราสามารถมองเป็นอีกจุดเชื่อมโยงกับ Red (1994) ที่ตัวละครได้ยินสิ่งที่ควรไม่ได้ยินผ่านอุปกรณ์สื่อสาร

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าสถานที่นี้คือแห่งหนไหน คาดว่าน่าจะชานเมืองกรุง Warsaw เชื่อว่าปัจจุบันคงเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง กลายเป็นป่าคอนกรีตเรียบร้อยแล้วละ!

สถานที่แห่งนี้แม้ดูรกๆ สกปรก ปกคลุมด้วยหิมะ เต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ ห่างไกลความเจริญ แต่แค่เพียงแวบแรก Karol ก็ระลึกได้ทันทีว่ากลับถึงบ้าน “Home at last!” … หนังใช้การเปรียบเทียบสถานที่แห่งนี้คือมุมมองที่พวกยุโรปตะวันตก (Western European) รวมถึงชาวฝรั่งเศส ครุ่นคิดเห็นต่อประเทศ Poland และฝั่งยุโรปตะวันออก (Eastern European) ว่าเป็นดินแดนทุรกันดาร ไร้อารยธรรม ไม่ต่างจากชนบทหลังเขา (นี่คือลักษณะของการดูถูกเหยียดหยาม, Racism แต่ก็สะท้อนสภาพความเป็นจริงยุคสมัยนั้นเช่นกัน!)

มีอีกช็อตของสถานที่แห่งนี้ ถ่ายให้เห็นฝูงนกมากมาย แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับนึกถึงพวกอีแร้งกา สัตว์ปีกที่คอยหาอาหารจากเศษซากกองขยะ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบถึงสถานภาพประเทศ Poland/ยุโรปตะวันออกสมัยนั้น แม้สามารถดิ้นหลุดพ้นร่มเงาสหภาพโซเวียต แต่ก็ยังไม่สามารถปรับเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจใหม่/ระบอบทุนนิยม เลยต้องกัดก้อนเกลือกินจากสิ่งที่หลงเหลือ (คล้ายๆเศษซากกองขยะเหล่านี้)

“This is Europe now.” คำอธิบายของพี่ชายต่อการทำป้ายร้านตัดผมด้วยหลอดไฟนีออนสีแดง (สัญลักษณ์ของภารดรภาพ ความเป็นพี่เป็นน้อง) เพื่อสื่อถึงประเทศ Poland ภายหลังปลดแอกจากคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทวีปยุโรป (ไม่ใช่แบ่งแยกตะวันออก vs. ตะวันออก) แต่นั่นก็เฉพาะโลกทัศน์/ความเข้าใจชาว Polish เท่านั้นนะครับ มุมมองทางฝั่งประเทศยุโรปตะวันตกสมัยนั้นยังคงเห็น ‘ตะวันออกคือตะวันออก’ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงจากเดิมสักเท่าไหร่

นัยยะของร้านตัดผม ก็แบบเดียวกับช่างตัดผมที่อธิบายไป แค่เปลี่ยนเป็น’สถานที่’สำหรับการละทอดทิ้งอดีต เริ่มต้นสร้างภาพลักษณ์ มายาคติ ชีวิตใหม่ของ Karol เพื่อให้ตนเองและประเทศ Poland ได้รับการยินยอมรับจากหมาอำนาจยุโรปตะวันตก

แม้จะมีทักษะความสามารถด้านการตัดแต่งทำผมชนะเลิศ แต่ Karol กลับเลือกทอดทิ้ง (รับงานเพียงบางครั้งครา) เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เข้าทำงานยังบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง เป็นบอดี้การ์ดถือปืนอัดลม (ไม่ได้ใส่กระสุนจริง) หยิบขึ้นมาส่องตนเองด้วยความฉงนสงสัย ไม่หวาดเกรงกลัวอันตราย พร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนความเสี่ยง (ผมตีความช็อตนี้คือการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน) เพื่อโอกาสร่ำรวยทางลัด

Blue (1993), ด้วยความที่สามีของ Julie สิ้นชีวิตจากไปไม่มีวันหวนกลับ เธอจึงจำต้องเก็บกดความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวไว้ภายใน ไม่สามารถเปิดเผยแสดงออกมา (จนตอนจบชายคนรักก็ยังคงอยู่ในนั้นไม่หายไปไหน)

White (1994), Dominique เพียงเลิกราหย่าร้าง แค่ไม่ยินยอมอยู่เคียงชิดใกล้ นั่นทำให้ Karol ยังมีโอกาส ความหวังที่จะเริ่มต้นใหม่ สามารถแสดงออกในเชิงรูปธรรมด้วยการจุมพิตรูปปั้น (ที่ซื้อมาจากฝรั่งเศส) แสดงถึงความหมกมุ่นครุ่นคิดถึง ต้องการแก้ล้างแค้นเอาคืนให้สาสม

แผนการร่ำรวยของ Karol คือกวาดซื้อที่ดินราคาถูกๆจากชาวบ้าน (ทำตัวราวกับพระแม่มารีย์ & พระเยซูคริสต์ ช่วยเหลือคนยากคนจน) รวบรวมพิกัดสำคัญๆทาด้วยมาร์คเกอร์สีแดง (ให้ความรู้สึกเหมือนการรวบหัวเมือง/ประเทศฝั่งยุโรปตะวันออกเข้าด้วย เพื่อใช้เป็นอำนาจต่อรองนายทุน) จากนั้นขายต่อด้วยราคาสูงกว่าเดิมสิบเท่า!

โดยปกติแล้วแผนการเกร็งกำไรแบบนี้ Karol ย่อมต้องพวกนายทุนเป่าหัว เก็บเข้ากรุอย่างแน่นอน แต่เพราะเขาได้เตรียมแผนสำรวจ เขียนพินัยกรรมถ้าเสียชีวิตจักบริจาคที่ดินทั้งหมดให้การกุศล … วนกลับมาทำตัวเหมือนภาพวาดพระแม่มารีย์ & พระเยซูคริสต์นี้อีกครั้ง

แม้หนังจะบอกใบ้อยู่แล้วว่ Karol ได้ครอบครองปืนอัดลม แต่เชื่อว่าหลายคนคงตื่นตกอกตกใจเมื่อลั่นไกใส่ Mikołaj (จริงๆตอนเปิดเผยว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย ก็คาดไม่ถึง ตกตะลึงไม่แพ้กัน) โดยเฉพาะภาพสโลโมชั่นแล้วเขาค่อยๆทิ้งตัวลงกับพื้น แน่นิ่งแล้วลืมตาตื่นค่อยตระหนักว่าไม่มีกระสุนนี่หว่า … แต่วินาทีนั้นให้ความรู้สึกเหมือนว่าบางสิ่งอย่างได้ตกตายไปแล้วจริงๆ

มีหนังหลายเรื่องเลยนะที่ลอกเลียนแนวคิด/เสี้ยววินาทีนี้ ผมเพิ่งรับชมล่าสุดก็ All About Lily Chou-Chou (2001) ระหว่างทริป Okinawa หลังจาก Shūsuke Hoshino พานผ่านประสบการณ์เฉียดตายถึงสองครั้งติดๆ หมอนี่เลยมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม!

จากภายใต้สถานีรถไฟ Warszawa Centralna หนุ่มๆทั้งสองก็ก้าวออกมาโลดแล่น เริงระบำ ไถลไปบนพื้นน้ำแข็ง ปรับตัวเปลี่ยนแปลงมุมมองโลกทัศน์ ราวกับชีวิตได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ ต่อจากนี้ไม่อีกแล้วคิดสั้นฆ่าตัวตาย ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทุกลมหายใจ

เมื่อบรรดานายทุนจับได้ว่า Karol แอบกว้านซื้อที่ดินสำหรับเกร็งกำไร ก็รีบตรงรี่ไปหาตั้งแต่เช้าตรู (ยังสวมเสื้อกล้ามอยู่เลย) ถูกกระทำร้ายร่างกาย ลากศีรษะมาวางไว้ตรงอ่างล้างหน้า ราวกับจะเชือดคอ ตัดสินประหารชีวิต

แต่หลังจากพูดคุยต่อรอง ยื่นข้อเรียกร้องขายที่ดินในราคาสิบเท่า ถึงสามารถเดินกลับขึ้นห้องมาสวมเสื้อผ้า (=ชีวิตที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป) หยิบเอกสารที่ดินซุกซ่อนไว้ข้างหลังภาพทิวทัศน์ (พบเห็นท้องฟ้า ทุ่งหญ้า ฝูงสรรพสัตว์ ดูราวกับสรวงสวรรค์/ดินแดนในอุดมคติที่เพ้อใฝ่ฝัน) และตรงหน้าต่างมีรูปปั้น Marianne ทั้งหมดที่ทำไปนี้เพื่อเธอเท่านั้น!

หลังจากได้เงินมาทั้งหมดก็พร้อมนำไปลงทุนตั้งบริษัท ภาพลักษณ์ของ Karol ก็ปรับเปลี่ยนแปลงกลายเป็นนักธุรกิจ หวีผมซะเรียบเนียน สวมสูทอย่างหล่อเหลา แล้วเข้าไปชักชวน Mikołaj ให้มาร่วมบริหารจัดการ … ภาพลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงอิทธิพลของเงินๆทองๆ ระบอบทุนนิยม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ (แต่หนังยังพยายามทำให้ Karol รักเดียวใจเดียว Dominique อย่างไม่เสื่อมคลาย)

เหมือนเป็นธรรมเนียมของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีสำนักงานยังอาคารสูงๆ ตึกระฟ้า ห้องหัวหน้าอยู่ชั้นบนๆ ทำตัวเหมือนพระเจ้า/พระราชา เมื่อเหม่อมองลงมาเห็นทุกสรรพสิ่งอย่างราวกับอยู่ในเงื้อมมือ ใต้ฝ่าเท้าของตนเอง … แต่สำหรับ Karol แม้มาถึงจุดนี้เขายังคงหยิบหวีและกระดาษ ขึ้นมาเป่าบทเพลงที่ชวนให้ระลึกถึงความหลัง (สื่อถึงการไม่หลงลืมรากเหง้าของตนเอง)

เมื่อ Karol อยู่บนจุดสูงสุดของชีวิต ก็มีเงินสำหรับปรับปรุงบ้านหลังใหม่ (สามารถมองเป็นสัญลักษณ์ประเทศ Poland ได้ตรงๆเลยละ) ทำการเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นมากมาย ทุบทำลายกำแพงเดิม (ของพรรคคอมมิวนิสต์) แล้วสร้างขึ้นใหม่ตามความตั้งใจตนเอง (สื่อถึงกำแพงที่สร้างด้วยมือของประชาชน ไม่ใช่จากกลุ่มคนหนึ่งใด)

แม้บนจุดสูงสุดของชีวิต Karol ยังคงครุ่นคิดถึงอดีตภรรยา Dominique โทรศัพท์หาแต่อีกฝ่ายปิดปากเงียบสนิท ในห้องทำงานที่บานเกร็ดสาดส่องแสงเหมือนซี่กรงเหล็ก (=กักขังความรู้สึกไว้ภายใน) รูปปั้น Marianne ยังดูซึมเศร้าโศกเสียใจ และภาพวาดขวดเหล้าที่แสนเดียวดาย (มึนเมาในรัก กระมัง)

ล้อกับตอนที่ Karol ถูกกรรไกรตัดบัตรเอทีเอ็ม/เครดิต แต่ครานี้เป็นการทำลาย Passport ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบุคคล การมีตัวตน เพื่อตระเตรียมแผนการแสร้งว่าเสียชีวิต

  • ขณะที่ Mikołaj ต้องการฆ่าตัวตายจริงๆ แต่สิ่งที่สูญเสียคือบางสิ่งในจิตวิญญาณ จึงราวกับสามารถถือกำเนิดใหม่
  • Karol แสร้งว่าประสบอุบัติเหตุ มีศพเสียชีวิตจริงๆ แล้วเหมือน(พระเยซูคริสต์)สามารถฟืนคืนชีพขึ้นใหม่

แผนการที่ Karol ครุ่นคิดลวงล่อหลอก Dominique คือแสร้งว่าประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เพื่อว่าเธอจักต้องเดินทางมาร่วมพิธีศพ จากนั้นมอบเงินมอบทอง สิ่งข้าวของ มรดกทุกสิ่งอย่าง (เพื่อบ่งบอกว่าฉันยังคงรักเธอไม่เสื่อมคลาย) ซึ่งเจ้าตัวก็แอบจับจ้องมอง สังเกตปฏิกิริยาอดีตคนรักที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจ นั่นน่าจะเป็นความรู้สึกจริงๆ ไม่ได้ผ่านการปรุงปั้นแต่ง ไร้เหตุผลให้ต้องปกปิด บิดเบือน จะทำไปเพื่อลวงหลอกใครละ? … วินาทีที่ตระหนักได้นี้ทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจหนีไปฮ่องกง แต่แอบซ่อนตัวในห้องโรงแรมรอสร้างความประหลาดใจ

เกร็ด: สุสาน Powązki Cemetery ยังคือสถานที่ฝังศพร่างของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski

พอเข้ามาในห้องแล้วเปิดไฟตรงหัวเตียง Dominique ก็เดินถอยหลังก้าวใหญ่ๆ ตกตะลึง คาดไม่ถึง นี่ฉันฝันไปหรือไร? หรือจะมองว่า Karol ฟื้นคืนชีพขึ้นมา (เหมือนพระเยซูคริสต์/พระบุตรของพระเจ้า) จากนั้นก็ยื่นมือจับสัมผัส นี่คือ Michelangelo: The Creation of Adam วินาทีที่หญิงสาวผู้มีความงดงามดั้งเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ ยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมกับมนุษย์โลกคนนี้ (พระบุตรของพระเจ้า) … แต่ดูจากลักษณะการกำมือ Karol ราวกับกำลังฉุดคร่านางฟ้า Dominique ลงจากสรวงสวรรค์เสียมากกว่า

If I say I love you, you don’t understand. And if I say I hate you, you still don’t understand.

Karol Karol

ท่วงท่าการร่วมรักระหว่าง Karol กับ Dominique จะกลับตารปัตรจากตอนต้นเรื่อง ท่านั่งเก้าอี้ vs. นอนบนเตียง, ฝ่ายหญิงอยู่ด้านบน vs. ฝั่งชาย On-the-Top, กลางวัน vs. กลางคืน, พื้นหลังผ้าม่านสีขาว vs. ผ้าปูเตียงสีแดง (สัญลักษณ์ของภารดรภาพ) ฯลฯ

ลักษณะกลับตารปัตรตรงกันข้าม ล่มปากอ่าว vs. สำเร็จสมหวัง ล้วนสะท้อนแนวคิดความเสมอภาค เพื่อเขาและเธอผ่านช่วงเวลาทั้งสุข-ทุกข์ ย่อมบังเกิดความรัก เข้าใจความหมายเท่าเทียม กันและกัน

ไฮไลท์ของ Sex Scene คือเสียงร้องครวญครางของ Dominique ที่ค่อยๆทวีความเร่าร้อนรุนแรง และไล่ระดับเสียงขึ้นทีละสเต็บ ซึ่งพอถึงจุดสูงสุดไคลน์แม็กซ์จะมีการ Fade-To-White นั่นคือสรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด (กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับ Blue (1993) ที่เป็นการ Fade-To-Black ทำให้ตัวละครราวกับตกนรกชั่วขณะ)

หลังจากที่ Karol สามารถเติมเต็มรสรักให้กับ Dominique ทั้งสองก็สามารถนอนแผ่ราบ ด้วยลักษณะของความเสมอภาค เท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง, สามี-ภรรยา, ประเทศ Poland-France และยุโรปตะวันออก-ตะวันตก

ที่แท้หวีของ Karol สามารถใช้เป็นมาตรวัดความเสมอภาค (จริงๆสองด้านของหวีมันไม่เท่ากันนะ) ด้วยการยกขึ้นมองผ่านดวงตาฝั่งขวา(ของภาพ) แล้วเลื่อนแนวราบมาจนถึงด้านซ้าย นี่คือขณะที่ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร Dominique ถูกตำรวจจับกุม ควบคุมขัง เคยกระทำอะไรไว้ วินาทีนี้เลยได้รับผลกรรมคืนกลับสนอง “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน”

ดั้งเดิมนั้นหนังจบลงที่การขยับเคลื่อนหวีฉากนี้ (และภาพย้อนอดีตตอนจุมพิตวันแต่งงาน) เพราะถือว่าครบรอบแนวคิดเสมอภาคเท่าเทียม “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” แต่ผู้กำกับ Kieślowski รู้สึกว่าเป็นตอนจบที่เลวร้ายรุนแรงเกินไปมั้ง เดือนกว่าๆให้หลังเลยเรียกตัวนักแสดงกลับมาถ่ายทำปัจฉิมบทเพิ่มเติม

สังเกตว่าทรงผม/การแต่งตัวของ Karol กลับมาเป็นเหมือนเดิม (ไม่หวีเนี๊ยบหรือใส่สูทอีกต่อไป) นั่นสื่อถึงภายหลังการแก้แค้นเอาคืน เขาก็สามารถปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด อคติที่เคยมีมา เฉกเช่นเดียวกับ Dominique หลังได้รับผลกรรมคืนตอบสนอง ก็เรียนรู้เข้าใจความหมายเสมอภาคเท่าเทียม ใช้ภาษามือสื่อสาร หลังพ้นโทษออกมาเมื่อไหร่ พวกเราจะใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกันตลอดไป

ภาษามือนี้อ่านไม่ยากเลยนะ ผมพอคาดเดาจากท่วงท่าชี้นิ้วออกไปด้านนอก และขณะสวมแหวนนิ้วนาง รวมถึงรอยยิ้มของ Dominique และคราบน้ำตาของ Karol แม้ตอนนี้เราไม่สามารถอยู่เคียงข้างกัน แต่อนาคตคงไม่ห่างไกลเกินรอ

You and I will leave together when I’ll get out of jail, right? Or we’ll stay here, together, and we’ll get married again.

Dominique Vidal

ความที่ Jacques Witta นักตัดต่อขาประจำผู้กำกับ Kieślowski กำลังง่วนอยู่กับ Three Colors: Red (1994) เลยมอบหมายให้ผู้ช่วยคนสนิท Urszula Lesiak ทำงานแทนในส่วนของ Three Colors: White (1994)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Karol ตั้งแต่วันที่ถูกภรรยาฟ้องหย่า ทำให้สูญเสียแทบทุกสิ่งอย่าง เลยต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนจาก Paris, France หวนกลับสู่บ้านเกิด Warsaw, Poland แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ค่อยๆก่อร่างสร้างตัว ไต่เต้าจนประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง ถึงจุดสูงสุดในอาชีพการงาน จากนั้นวางแผนการแก้ล้างแค้น ลวงล่อหลอก Dominique ให้มาชดใช้ผลกรรมเคยกระทำไว้กับตนเอง

  • เรื่องราวที่ Paris, France
    • Karol เดินทางไปยังที่ทำการศาล Palais de Justice ถูกคำตัดสินให้หย่าร้างภรรยา Dominique
    • ถูกภรรยาขับไล่ออกจากบ้าน หลงเหลือเพียงกระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ
    • พบเจอ Mikołaj ยังสถานีรถไฟ Paris Métro ให้ความช่วยเหลือโหลดสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน นำพากลับบ้าน
  • เรื่องราวที่ Warsaw, Poland
    • กระเป๋าเดินทางของ Karol ถูกลักขโมยโดยหัวขโมยชาวรัสเซีย เลยโดนกระทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส
    • เริ่มต้นทำงานบอดี้การ์ดสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่ง
    • กว้านซื้อที่ดิน (จากการแอบรับฟัง) นำมาเกร็งกำไรจนเริ่มมีเงินเก็บ
    • พบเจอ Mikołaj ยังสถานีรถไฟ Warszawa Centralna ให้ความช่วยเหลือตายแล้วเกิดใหม่
    • Karol นำเงินทั้งหมดที่ได้มาลงทุนทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก จนประสบความสำเร็จ ร่ำรวยมั่งคั่ง
  • การแก้ล้างแค้นของ Karol
    • ครุ่นคิดแผนการแก้ล้างแค้น แสร้งว่าตนเองเสียชีวิต Dominique จึงเดินทางมาร่วมงานศพ
    • แต่เมื่อกลับถึงโรงแรมกลับพบว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของกันและกัน
    • เช้าวันถัดมาหลังจาก Karol สูญหายตัวไป Dominique ถูกตำรวจควบคุมตัว กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเข่นฆาตกรรมอดีตสามีเพื่อเงินมรดก
  • ปัจฉิมบท, Karol ส่องกล้องมอง Dominique วาดฝันถึงอนาคตร่วมกันอย่างเสมอภาค

เมื่อเทียบกับ Blue (1993) การดำเนินเรื่องของ White (1994) แทบไม่มีลูกเล่น ความน่าตื่นเต้น ชวนให้ติดตามสักเท่าไหร่ มากสุดก็หวนระลึกภาพวันแต่งงาน Julie Delpy งดงามราวกับเทพธิดา นางฟ้าลงจากสรวงสวรรค์ ส่วนที่เหลือคือโชคชะตาพาซวยของ Karol ที่เต็มไปด้วยความเหนือจริง (Surreal) จับต้องแทบไม่ได้ แต่นั่นคือความจงใจนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ชวนให้ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ตามเท่านั้นเอง


เพลงประกอบโดย Zbigniew Preisner (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bielsko-Biała วัยเด็กชื่นชอบกีตาร์กับเปียโน หัดเล่น-เขียนบทเพลงด้วยตนเอง (ไม่เคยเข้าศึกษาที่ไหน) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญา Jagiellonian University, Krakow จบออกมาทำงานยังโรงละคร Stary Theater, ระหว่างทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Prognoza pogody (1981) มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ No End (1995) จนถึงเรื่องสุดท้าย Three Colours (Blue, White, Red)

งานเพลงของ White (1994) ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการขนาด Blue (1993) แต่ถือว่าเต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน หยอกล้อเล่นกับผู้ชม เพราะตัวละครต้องผจญเรื่องวุ่นๆวายๆ เหนือเกินจริง จับต้องไม่ค่อยได้ (Surreal) บทเพลงเลยต้องคอยสร้างความฉูดฉาด (แทนสีสันที่มองไม่ค่อยเห็นของหนัง)

หลังจากรับฟังทั้งอัลบัม ผมรู้สึกว่าสามารถแบ่งเพลงออกเป็น Paris vs. Warsaw ในช่วงแรกๆ(ที่ France) จะมีความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง เพราะตัวละครถูกกระทำร้ายจนชอกช้ำทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ, แต่หลังจากเดินทางกลับบ้าน(ที่ Poland) ทุกสิ่งอย่างจะพลิกกลับตารปัตร ดนตรีเริ่มเต็มไปด้วยสีสัน จังหวะสนุกสนาน ด้วยสไตล์เพลง Tango (ที่ได้รับความนิยมในการเต้นลีลาศ)

เริ่มจากบทเพลงฝั่ง Paris จะได้ยินเสียงเป่าเครื่องลมที่มีความทุ้มต่ำ มอบสัมผัสอันเวิ้งว้างว่างเปล่า หมดสิ้นหวังอาลัย สื่อถึงชีวิตตัวละครที่ได้สูญเสียทุกสิ่งอย่าง ไร้แม้กระทั่งหนทางจะกลับบ้าน เต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น นี่ฉันทำผิดอะไรถึงต้องมาทนทุกข์ทรมานขนาดนี้

Home at last เป็นบทเพลงที่ได้ยินแล้วทำให้จิตใจรู้สึกชุ่มชื้น กระชุ่มกระชวย เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนที่แสดงออกถึงความดีใจอย่างสุดซึ้ง ต่อจากนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถเอาตัวรอด พานผ่านเรื่อยร้ายๆได้ด้วยดี และครึ่งหลังบทเพลงนี้คืออารัมบทของชีวิตที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป ลุกขึ้นมาโยกเต้นจังหวะ Tango โดยไม่ยี่หร่าอะไรใคร

ผมเลือกบทเพลงที่มีความยาวสุดในครึ่งหลังอัลบัม Morning at the Hotel จากท่วงทำนอง Tango ได้ยินซ้ำๆจนมักคุ้นชิน แสดงถึงสีสันของชีวิต เต็มไปด้วยความหยอกเย้า หรรษาเริงร่า ยียวนกวนบาทา เหมือนการหักเหลี่ยมเฉือนคม ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน เธอทำกับฉัน ฉันทำกับเธอ แล้วสักวันหนึ่งเราจะครองคู่รักกัน

มนุษย์จะบังเกิดความเข้าใจคุณค่าชีวิต ถือกำเนิดมาเพื่ออะไร? ก็ต่อเมื่ออยู่ในจุดตกต่ำสุด หรือพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย! ผู้กำกับ Kieślowski หลังรับรู้ว่าตนเองมีปัญหาโรคหัวใจ คงตกอยู่ในสภาวะมืดหม่น หมดสิ้นหวัง น่าจะเคยครุ่นคิดกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่หลังจากสติหวนกลับคืนมา สามารถครุ่นคิดทบทบวน ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรๆมากมาย ค้นพบเป้าหมายชีวิต ต้องการสรรค์สร้างบางสิ่งอย่างอันทรงคุณค่าในช่วงเวลาที่(อาจ)หลงเหลืออยู่

ด้วยเวลาชีวิตที่เหลือน้อยลงทุกวินาที Kieślowski จึงไม่ใคร่สนอะไรที่มันอ้อมค้อม ประณีประณอม ยื้อยักชักช้า ลีลาเล่นตัว ก็เหมือนความรู้สึกที่เขาได้รับจากการถูกหมาอำนาจทางเศรษฐกิจ/ยุโรปตะวันตก มองด้วยสายตาดูถูกเหยียดยามต่อประเทศ Poland รับรู้ทันทีว่านั่นเป็นการแสดงออกที่ไม่ถูกต้อง ขัดย้อนแย้งต่อคำขวัญเสมอภาค Égalité (Equality) ด้วยเหตุนี้จึงนำเสนอวิธีแก้ปัญหาแบบ “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” ใครทำอะไรฉันไว้เมื่อได้รับสิ่งนั้นคืนตอบสนอง ย่อมบังเกิดความสาแก่ใจ รู้สำนึกผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี และสามารถปรับเปลี่ยนตนเองสู่อุดมคติแห่งความเท่าเทียมที่แท้จริง

เอาจริงๆผมโคตรชอบแนวคิดนี้นะ เพราะมันสะท้อนหลักพุทธศาสนา “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง” แต่เราต้องทำถึงขนาดนั้นเชียวหรือ? ยินยอมละทอดทิ้งสามัญสำนึก? กลับกลอก หลอกลวง คิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น ไต่เต้าสู่จุดสูงสุดของชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียม และการยินยอมรับจากผู้อื่น … นี่ฟังดูเหมือนการเรียกร้องความสนใจมากกว่านะ!

วิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Kieślowski แม้ในลักษณะล้อเลียนเสียดสีระบอบทุนนิยม (ใช้กลวิธีอันเลวร้ายเพื่อให้ได้เงินๆทองๆ สำหรับกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ) จนมีความเหนือจริงจับต้องไม่ได้ (Surreal) แต่สุดท้ายมันกลับเป็นการสร้างแนวคิดที่ว่า ถ้าเราต้องการความเสมอภาค ก็ต้องทำตัวให้เท่าเทียมกับผู้อื่น … นี่ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเสียทีเดียว

จริงอยู่ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ พวกหมาอำนาจจ้าวโลกล้วนสนเพียงประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการ มีสิ่งพึงประสงค์อยากได้ ถึงมีสิทธิ์ในการแลกเปลี่ยน เผชิญหน้าอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่ถ้าคุณไร้ซึ่งทรัพยากร สินค้าต่อรองใดๆ ก็ย่อมไม่มีใครไหนหันแลเหลียว (เหมือนการที่สิบประเทศ ASEAN ต้องรวมตัวกันเพื่ออำนาจต่อรองการค้ากับประเทศอื่นๆ)

แต่ในแง่ความเสมอภาคของมนุษย์นั้น เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร หรือกระทำสิ่งใดแสดงออกว่าฉันมีความเท่าเทียมกับผู้อื่น เพราะนั่นคือสัจธรรมจริงแท้ ไม่ต้องต่อรอง ไม่ต้องร้องขอ คนที่แสดงพฤติกรรมดูถูกหยามเหยียด ก็ให้เข้าใจไปเลยว่าบุคคลนั่นไม่ใช่มนุษย์ เดรัจฉานตัวหนึ่งเท่านั้น!

สำหรับความเสมอภาคระหว่างสามี-ภรรยา ค่อนข้างละม้ายคล้ายการค้าระหว่างประเทศ เพราะต้องใช้ข้อตกลง มีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน จริงๆมันมีรายละเอียดอีกมากมาย แต่ผู้กำกับ Kieślowski สนเพียงแก่นแท้/ความต้องการสูงสุดของมนุษย์ทั้งสองนั่นคือเพศสัมพันธ์ เมื่อไหร่ต่างฝ่ายสามารถเติมเต็มรสรัก กามสูตร ถึงจุดสูงสุด ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ เมื่อนั้นความเท่าเทียมถึงจักบังเกิด … เป็นความจริงที่ขำไม่ออก!

จะว่าไปวิธีการที่ผู้กำกับ Kieślowski สรรค์สร้าง White (1994) เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียมนั้น เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าเขาแค่อยากระบายความอึดอัดอั้น โต้ตอบกลับ “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” คงเพิ่งตระหนักว่าโลกภายนอกกำแพงอิฐ (หลังการล่มสลายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ Poland) มันช่างเหี้ยมโหด เลวร้าย โลกทุนนิยมอาจอันตรายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์เสียอีก! แต่นั่นคือสิ่งที่ต้องอดรนทน ยินยอมรับ สักวันหนึ่งประเทศของเราจะไปถึงจุดๆนั้น

แซว: แต่จนถึงปัจจุบัน Poland (รวมถึงยุโรปตะวันออก) ก็ไม่มีประเทศไหนที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ GDP สูงไปกว่าประเทศหมาอำนาจเก่าเลยนะครับ


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin แต่เสียงตอบรับไม่หวือหวาเท่า Blue (1993) เมื่อตอนออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice เลยพลาดรางวัล Golden Bear ให้ภาพยนตร์ In the Name of the Father (1994) ถึงอย่างนั้นก็อีกคว้ารางวัลปลอบใจ Silver Bear: Best Director

และที่น่าแปลกใจโคตรๆคือไม่ใช่ Blue (1993) หรือ Red (1994) แต่กลับเป็น White (1994) ได้เป็นตัวแทนประเทศ Poland ลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film ผลลัพท์ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ [ถ้าเป็น Blue หรือ Red ก็น่าจะยังมีโอกาสลุ้นอยู่บ้างนะ!]

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ High-Definition คุณภาพเสียง 2.0 DTS-HD โดยรวมถือว่ายอดเยี่ยม สามารถหารับชมช่องทางออนไลน์ได้แทบจะทุกค่ายใหญ่ๆ แต่ถ้าต้องการซื้อแผ่น Blu-Ray เลือกได้ทั้งฉบับของ MK2 และ Criterion (สแกนได้ดีทั้งคู่แต่ Criterion จะมี Special Feature มากกว่าพอสมควร)

ส่วนฉบับบูรณะ 4K เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2022 เมืองไทยนำเข้าฉายกรกฎา-สิงหา-กันยา ไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาเลยนะครับ ถ้าใครพลาดโอกาสนี้คงต้องรออีกพักใหญ่ๆก่อนสามารถหารับชมช่องทางอื่น

สิ่งที่โดยส่วนตัวรู้สึกผิดหวังสุดๆๆต่อ White (1994) ก็คือโลกทัศน์ของผู้กำกับ Kieślowski ใช้แนวคิดความเสมอภาค ด้วยการโต้ตอบกลับพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้วยการกระทำที่ไม่เหมาะสม ถึงสอดคล้องสำนวนตาต่อตา-ฟันต่อฟัน คาดหวังเป็นบทเรียนให้รู้จักความเท่าเทียมที่แท้จริง แต่การจะไปถึงจุดนั้นที่ต้องแลกมาด้วยความกลับกลอก หลอกลวง ทรยศหักหลังผู้อื่น มันผิดตั้งแต่คิดจะแก้แค้นแล้วนะ!

แนะนำคอหนังตลก-ดราม่า (Anti-Comedy) แนวแก้ล้างแค้น (Revenge), นักประวัติศาสตร์ ยุโรปตะวันออก นำเสนอวิถีชีวิต สภาพสังคมประเทศ Poland ช่วงทศวรรษ 90s, และโดยเฉพาะแฟนๆนักแสดง Julie Delpy เรื่องนี้เป็นทั้งนางฟ้าและซาตาน!

จัดเรต 13+ กับความกลับกลอก หลอกลวง เต็มไปด้วยพฤติกรรมคอรัปชั่น คิดคดทรยศหักหลังแม้กระทั่ง(อดีต)ภรรยา

คำโปรย | ความเสมอภาคของ Three Colours: White ในโลกทัศน์ของ Krzysztof Kieślowski เต็มไปด้วยความกลับกลอก หลอกลวง ไม่ตลกเลยสักนิด!
คุณภาพ | ขาวซีดเผือก
ส่วนตัว | จืดชืด

Three Colours: Blue (1993)


Three Colours: Blue (1993) Polish, French : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥♥

หลังโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับครอบครัว Juliette Binoche พยายามละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘เสรีภาพ’ แต่หลังจากใช้ชีวิตเพียงลำพังอยู่สักพักก็ตระหนักว่า ไม่มีทางที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ต้องแสวงหาใครสักคนแม้ต้องอดรนทนต่อความขื่นขม เพื่อแลกกับอุดมคติชาวตะวันตกที่เรียกว่าความรัก

มันคือความเข้าใจของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski แม้มนุษย์มีเสรีภาพในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก แต่ไม่มีทางจะดิ้นหลุดพ้นจากการว่ายเวียนวน เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ในวัฎฎะสังสารแห่งนี้! สิ่งสูงสุดสามารถบรรลุถึงก็คืออุดมคติความรัก แม้บางครั้งมันอาจสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว ถูกคิดคดทรยศหักหลัง แต่ก็แลกมากับความสุขทางร่างกาย-จิตใจ เพศสัมพันธ์ทำให้มนุษย์(ราวกับ)ขึ้นสู่สรวงสวรรค์

Blue, Bleu (French), Niebieski (Polish) เรื่องแรกในไตรภาคสามสี Three Colours, Trois couleurs, Trzy kolory ได้รับคำชมล้นหลามถึงความจัดจ้านด้านลูกเล่นลีลา เทคนิคภาษาภาพยนตร์ ทั้งยังนำเสนอจิตวิเคราะห์สภาวะทางอารมณ์ ‘Anti-Tragedy’ เพื่อขบไขปริศนาคำถามอภิปรัชญา มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร? ซึ่งผู้กำกับ Kieślowski ทำการประมวลผลประสบการณ์(สร้างภาพยนตร์)ทั้งชีวิต ผสมผสานคลุกเคล้าทุกสิ่งอย่างไว้ในผลงานสามเรื่องสุดท้ายนี้ จนกลายเป็นยืนหนึ่งใน Best Movie of All-Time! … แต่ก็เพียงในโลกทัศน์ชาวตะวันตก นับถือศาสนาคริสต์ (เชื่อในพระเจ้า) ยึดมั่นในเสรีภาพและอุดมคติความรักคือทุกสิ่งอย่าง

โลกทัศน์ของผู้กำกับ Kieślowski แม้มีความกว้างไกลขึ้นเมื่อสามารถก้าวออกจากกำแพงอิฐ ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ประเทศ Poland (ล่มสลายเมื่อปี 1989) แต่สุดขอบที่เขาสามารถไปถึงกลับแค่เพียงทวีปยุโรป/ชาติตะวันตก ยังห่างไกลความเป็นสากล ‘Universal Acclaim’ โดยเฉพาะฟากฝั่งตะวันออก และผมก็คนหนึ่งที่ส่ายหัวกับการยัดเยียดแนวความคิด “ความรักชนะทุกสิ่ง”

แต่ก็ต้องยอมรับ Three Colours: Blue (1993) เป็นภาพยนตร์ถ่ายทอดอารมณ์บลูออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด! (feeling blue แปลว่าโศกเศร้า หมองหม่น) ทุกครั้งเมื่อ Juliette Binoche ครุ่นคิดถึงความสูญเสีย แสงสีฟ้า ท่วงทำนองออร์เคสตรา บางครั้งก็เฟดดำมืด (Fade-To-Black) สามารถแทนด้วยช่องว่าง/สุญญากาศทางอารมณ์ ลมหายใจขาดห้วง อยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง คิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำได้ การมีชีวิตอยู่มันช่างสุดแสนระทมทุกข์ทรมาน


Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach

เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง

Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ

International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)


ทนายความ/นักเขียน Krzysztof Piesiewicz (รับรู้จักผู้กำกับ Kieślowski มาตั้งแต่ผลงาน No End (1985)) ระหว่างกำลังสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991) เป็นผู้เสนอแนะแนวคิดเกี่ยวสรรค์สร้างภาพยนตร์ไตรภาค โดยอ้างอิงจากคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส Liberté (Liberty), Égalité (Equality), Fraternité (Fraternity) เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ

The words [liberté, egalité, fraternité] are French because the money [to fund the films] is French. If the money had been of a different nationality we would have titled the films differently, or they might have had a different cultural connotation. But the films would probably have been the same.

Krzysztof Kieślowski

โดยความตั้งใจแรกเริ่มต้องการทำออกมาให้คล้ายๆ Dekalog (1988) ที่อ้างอิงพระบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments) สรรค์สร้างสิบเรื่องราวที่มีสาสน์สาระอ้างอิงพระบัญญัติทั้งสิบข้อ แต่หลังจากเริ่มต้นพัฒนาบท Blue พวกเขาก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรเกี่ยวกับแนวคิดเสรีภาพ Liberté (Liberty) เลยสักนิด!

บทหนัง Blue ที่พัฒนาขึ้นในตอนแรก มีเรื่องราวเกี่ยวกับนักข่าวสาว (รับบทโดย Hélène Vincent) พยายามสืบค้นหาว่าใครกันคือผู้ประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวของสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต/การเสียชีวิตของคีตกวีชื่อดัง Patrice de Courcy แต่ยังหลงเหลือภรรยา Julie (รับบทโดย Juliette Binoche) ซึ่งคาดกันว่าเธออาจเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงนี้ที่แท้จริง!

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเนื้อหามาเป็น Blue ที่รับชมกันนี้ ตากล้อง Slawomir Idziak (เพิ่งมาเปิดเผยเมื่อปี 2018 นี้เองนะครับ) เกิดขึ้นในกระบวนการตัดต่อ ภายหลังถ่ายทำ (Post-Production) โดยปรับโครงสร้างทั้งหมด (re-structured) มานำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Julie หลังสูญเสียสามีและบุตรสาวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

ใครเคยรับชม No End (1985) ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Kieślowski น่าจะมักคุ้นเคยเนื้อเรื่องราวที่แทบจะโคลนนิ่งมาเกินกว่าครึ่ง แต่บทสรุปนั้นมีความแตกต่างตามมุมมองโลกทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป

  • No End (1985) สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ประเทศ Poland ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง ไร้หนทางออก สูญเสียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
    • ความตายของสามี คือการสูญสิ้นสัญลักษณ์แห่งความหวังของชาว Polish
    • เรื่องราวของหนังนำเสนอความพยายามปรับตัวต่อการสูญเสียอิสรภาพนั้น
  • Three Colours: Blue (1993) สร้างขึ้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทั่วทั้งทวีปกำลังจะรวมตัวเป็นหนึ่งเรียกว่าสหภาพยุโรป
    • ความตายของสามีและบุตรสาว สามารถเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
    • เรื่องราวของหนังคือความต้องการเสรีภาพโดยไม่พึ่งพาใคร (สื่อถึงบรรดาประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต) แต่การจะอยู่รอดในทวีปยุโรป จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย’รวมกันเราอยู่’เป็นสหภาพยุโรป (เพิ่งปลดแอกจากคอมมิวนิสต์ก็ถูกบีบให้เลือกข้างประชาธิปไตย!)

หนังได้รับการสนับสนุน/รวบรวมทุนสร้างโดย Marin Karmitz (เกิดปี 1938) โปรดิวเซอร์ชาว Romanian-French ผู้ก่อตั้งบริษัท MK2 (สัญชาติฝรั่งเศส) เสนอตัวเข้ามาด้วยความกระตือร้นอยากร่วมงานผู้กำกับ Kieślowski ถึงขนาดเคยกล่าวว่า

Kristoff is the most beautiful adventure of my life.

โปรดิวเซอร์ Marin Karmitz

เรื่องราวของ Julie de Courcy (รับบทโดย Juliette Binoche) ภายหลังสูญเสียสามีและบุตรสาวจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เคยครุ่นคิดสั้นกินยาฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ จากนั้นพยายามทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ประกาศขายบ้าน ขายเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงทำลายบทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) ที่(สามี)เคยประพันธ์ไว้ แล้วหลบหนีไปปักหลักอาศัยอยู่ยัง Rue Mouffetard ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังโดยไม่สนอะไรใครอีกต่อไป

แต่แล้วเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit (รับบทโดย Benoît Régent) เคยชื่นชอบตกหลุมรัก Julie ก็ติดตามมาจนพบเจอ รวมทั้งได้รับโน๊ตเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปที่ยังแต่งไม่เสร็จ (มีคนคัทลอกเก็บไว้ แล้วแอบส่งไปให้ Olivier) นั่นทำให้อดีตที่เธอต้องการละทอดทิ้ง รวมถึงสิ่งต่างๆที่สามีเคยถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ หวนย้อนกลับมาสร้างความว้าวุ่นวายใจ จนในที่สุดก็มิอาจดิ้นหลบหนีได้อีกต่อไป


Juliette Binoche (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรสาวนักแสดง/ผู้กำกับ Jean-Marie Binoche และ Monique Yvette Stalens หย่าร้างกันเมื่อตอนเธออายุเพียง 4 ขวบ เลยถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แทบไม่เคยพบเจอบิดา-มารดาหลังจากนั้น, ค้นพบความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เข้าศึกษาต่อยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique (CNSAD) แต่เพราะไม่ชอบวิชาเรียนเลยลาออกมา แล้วเข้าร่วมคณะการแสดงออกทัวร์ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ (ใช้ชื่อว่า Juliette Adrienne) จากนั้นเป็นตัวประกอบซีรีย์ สมทบภาพยนตร์ แจ้งเกิดจากผลงาน Hail Mary (1983), Family Life (195), Adieu Blaireau (1985), Rendez-vous (1985), The Unbearable Lightness of Being (1988), ก่อนหน้านี้เคยมาทดสอบหน้ากล้อง The Double Life of Véronique (1991) แต่เพราะติดพันโปรเจค Les Amants du Pont-Neuf (1991) เลยจำต้องถอนตัวออกไป ถึงอย่างนั้นก็ยังคงได้ความสนใจจากผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เลือกมาแสดงนำ Three Colours: Blue (1993)

ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The English Patient (1996)**คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Acress, Chocolat (2000), Certified Copy (2010) ฯลฯ

รับบท Julie de Courcy ภรรยาของคีตกวีชื่อดัง Patrice de Courcy บุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ (ถึงขนาดพิธีศพยังมีถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์) เพราะเป็นบุคคลเดียวรอดตายจากอุบัติเหตุ จึงไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อสักเท่าไหร่ พยายามคิดสั้นฆ่าตัวตายแต่ก็ทำไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงพยายามหลบหนีไปให้ไกล ใช้ชีวิตตามลำพังโดยไม่พึงพาผู้อื่นใด ถึงอย่างนั้นความรู้สึกสูญเสียก็ยังคงฝังลึกทรวงใน มิอาจปล่อยละวางจากชายคนรัก และท่วงทำนองบทเพลงนั้นดังขึ้นทุกครั้งเมื่อมีใครพูดกล่าวถึงสามี

หลังจากอาศัยอยู่ตามลำพังมาสักพัก Julie ก็เริ่มรับเรียนรู้ เข้าใจหลายสิ่งต่างๆ ค้นพบความลับสามี เผชิญหน้าหญิงชู้ที่กำลังตั้งครรภ์ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอยินยอมหวนกลับหาเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit ต้องการประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จสรรพ และตอบรับความรักของเขา แม้จิตใจจะเต็มไปด้วยความขืนขม รวดร้าวระทม แต่นั่นทำให้ชีวิตสามารถก้าวดำเนินต่อไป

เกร็ด: ดั้งเดิมนั้นบทบาทนี้ตกเป็นของ Isabelle Huppert แต่เสียตอบรับที่ย่ำแย่จากผลงาน Malina (1991) ทำให้ผู้กำกับ Kieślowski เปลี่ยนมาเลือก Juliette Binoche

ผู้กำกับ Kieślowski เริ่มให้ความสนใจในใบหน้านักแสดงมาตั้งแต่ The Double Life of Veronique (1991) (รับอิทธิพลจาก Ingmar Bergman เคยกล่าวไว้ว่า “human face is the great subject of the cinema”) ขณะที่ Irène Jacob เต็มไปด้วยความระริกระรี้ สดใสซื่อบริสุทธิ์, Juliette Binoche ดูเก็บกด เกรี้ยวกราด พยายามซ่อนเร้นความเจ็บปวดรวดร้าวไว้ภายใน

เพราะตัวละครมักไม่พูดบอก แสดงสิ่งซุกซ่อนเร้นออกมาตรงๆ ผู้ชมจึงต้องสังเกตอากัปกิริยา ปฏิกิริยาสีหน้า และลูกเล่นภาษา(กาย)ภาพยนตร์ ซึ่งก็ต้องชื่นชม Binoche ถ่ายทอดความสลับซับซ้อน ‘เสรีภาพทางอารมณ์’ ได้อย่างลุ่มลึกล้ำ เริ่มต้นสัมผัสถึงความอึดอัดอั้น คับข้องแค้น เกรี้ยวกราดที่ตนเองไม่ได้ตกตายพร้อมสามี ชีวิตอยู่ในสภาพสิ้นหวังสักพักใหญ่ๆ พอกาลเวลาเคลื่อนผ่าน เรื่องราวดำเนินต่อไป เธอจึงค่อยๆสามารถปรับเปลี่ยนตนเอง ปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด แม้จิตใจยังเจ็บปวดรวดร้าว แต่มุมปากปรากฎรอยยิ้มบางๆสำหรับนับหนึ่งใหม่

นี่คือบทบาทการันตีความเจิดจรัสค้างฟ้าของ Binoche ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม สามารถคว้ารางวัล Volpi Cup for Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, César Award: Best Actress (ครั้งแรก), อีกทั้งยังได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best Actress น่าเสียดายถูกมองข้ามจากสถาบัน Academy Award


ถ่ายภาพโดย Sławomir Idziak (เกิดปี 1945) สัญชาติ Poland, สำเร็จการศึกษาจาก National Film School, Łódź ขาประจำร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Zanussi และ Krzysztof Kieślowski อาทิ The Scar (1976), The Constant Factor (1980), A Year of the Quiet Sun (1984), A Short Film About Killing (1988), The Double Life of Véronique (1991), Three Colors: Blue (1994) ผลงานเด่นอื่นๆ Gattaca (1997), Black Hawk Down (2001), King Arthur (2004), Harry Potter and the Order of the Phoenix (2007) ฯ

ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Kieślowski งานภาพของ Blue (1994) ได้รับคำชื่นชมว่ามีความจัดจ้าน เต็มไปด้วยเทคนิค ลูกเล่นลีลา แถมประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ โดดเด่นมากๆกับการใช้แสง-สี ความสว่าง-มืดมิด โดยเฉพาะเฉดน้ำเงิน นอกจากสีของสถานที่/วัตถุ (มักใช้เป็นสีสัญลักษณ์แทนสามีผู้ล่วงลับ) หลายครั้งถ่ายผ่านฟิลเลอร์ หรือมาเป็นแสงสว่างวูบๆวาบๆ มักปรากฎตอนตัวละครกำลังครุ่นคิดถึงชายคนรัก เพื่อสะท้อนสภาวะอารมณ์หมองหม่น เศร้าโศกเสียใจ ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย

ด้วยความที่เรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองชีวิตตัวละคร Julie กล้องเลยมักเคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครไปไหนมาไหน บ่อยครั้งถ่ายช็อต Close-Up เพื่อจับจ้องปฏิกิริยาแสดงออกทางใบหน้า แต่ผมสังเกตว่ามุมกล้องจะเอนเอียงเล็กๆเพื่อไม่ให้เธอสบตาหน้ากล้อง ยกเว้นเพียงช็อตสุดท้ายของหนังที่ทำการ Breaking the Fourth Wall (หลายคนอาจเห็นไม่ชัดนักเพราะครึ่งหนึ่งของภาพปกคลุมด้วยความมืดมิด) ซึ่งกลับตารปัตรตรงกันข้ามภาพยนตร์ No End (1985) ที่จะมีการสบตาหน้ากล้องตั้งแต่ซีนแรกๆของหนัง

ดั้งเดิมนั้นหลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรม Julie จะอพยพหลบหนีจากกรุง Paris ไปอาศัยอยู่ยังชนบท ต่างจังหวัด สถานที่ห่างไกลผู้คน แต่สุดท้ายผู้กำกับ Kieślowski เปลี่ยนมาเป็น Rue Mouffetard เพื่อสะท้อนแนวคิด ‘die in the crowd’ ไร้ตัวตนท่ามกลางฝูงชน (สรุปคือหนังทั้งเรื่องถ่ายทำในกรุง Paris นะครับ)


ช็อตแรกของหนังพบเห็นล้อรถกำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน จริงๆถ้าจะนำเสนอสัญลักษณ์ของการเดินทาง ถ่ายตำแหน่งไหนบนรถก็ได้ทั้งนั้น แต่การเลือกล้อรถสามารถตีความในเชิงคำถามอภิปรัชญา มนุษย์เกิดมาทำไม? มีเป้าหมายอะไร? กำลังดำเนินชีวิตไปไหน? ตอนจบของอารัมบทนี้ก็คือมุ่งสู่ความตาย

กระดาษฟรอยห่อลูกอมที่มีสองด้าน สองสี ผมมองนัยยะถึงมนุษย์ที่มีภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ การแสดงออก-ปกปิดซุกซ่อนเร้น ฯลฯ การนำมันขึ้นมาเล่นลมคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครสามารถต้านทานวิถีธรรมชาติ ต้องปล่อยให้ปลิดปลิวล่องลอยไป … มนุษย์มีความมุ่งมั่นที่เอาชนะ อยากได้โน่นนี่นั่น ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ก็เหมือนการเผชิญหน้าแรงลม ฝืนต่อต้านธรรมชาติชีวิต แต่สักวันหนึ่งเมื่อหมดสิ้นเรี่ยวแรง ทุกสิ่งอย่างก็จักปลิดปลิวไปตามครรลองของกฎแห่งกรรม

หลายคนอาจรู้จัก Kendama ของเล่นเด็กญี่ปุ่นที่ต้องโยนลูกบอลให้ตั้งอยู่บนค้อนไม้ แต่จุดเริ่มต้นมาจาก Bilboquet ปรากฎขึ้นครั้งแรกในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1534 ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในรัชสมัย King Henri II (ครองราชย์ 1573-89) ทรงมีความชื่นชอบละเล่นมากๆจนกลายเป็นแฟชั่นยุคสมัยนั้น

Bilboquet ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนโชคชะตาชีวิต อะไรก็สามารถบังเกิดขึ้นได้! ชายหนุ่มคนหนึ่งพยายามโยนเล่นถึงสามครั้งแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะหยุดพัก กล้องมีการปรับโฟกัสให้เห็นรถคันหนึ่งกำลังวิ่งผ่านหมอกควันเข้ามา เขาจึงยกมือขึ้นโบก (Hitchhiker) แต่ไม่หยุดจอด เลยตัดสินใจกลับมาโยนเล่น Bilboquet ปรากฎว่าครั้งนี้ลงล็อกพอดิบพอดีกับรถคันนั้นพุ่งชนต้นไม้

นี่คือลูกเล่นลีลา ชั้นเชิงในการนำเสนอของผู้กำกับ Kieślowski ให้ดูน่าตื่นเต้นประทับใจ มีลูกล่อลูกชน ไม่ใช่แค่ขับรถพุ่งตรงต้นไม้ เกิดเหตุโศกนาฎกรรมแล้วจบไป ซึ่งชายหนุ่มคนนี้ยังมีอีกบทบาทเล็กๆกลางเรื่อง คล้ายๆเส้นเชือกที่ผูกรัดระหว่างแท่นไม้กับลูกบอลของ Bilboquet เมื่อเกิดความสัมพันธ์ย่อมไม่อาจแคล้วคลาดจากกัน

แม้หนังไม่ได้ถ่ายให้เห็นวินาทีรถพุ่งชนต้นไม้ (ที่ก็ดันมีอยู่แค่ต้นเดียวบริเวณนั้นด้วยนะ) มันจะมีกวางน้อยวิ่งผ่านหน้าอย่างเร็วโคตรๆ นั่นน่าจะคือเหตุผลให้คนขับพยายามเบรค แต่เบรคแตก (จากมุมกล้องใต้ท้องรถที่มีน้ำหยดติ๋งๆ) หักเลี้ยวหลบไม่ทันก็เลย …

แต่ที่น่าขำกลิ้งไปกว่านั้นก็คือชายหนุ่มคนนี้ ถือสเก็ตบอร์ดไปด้วยทำไม? แล้วพอวิ่งไปได้สักพักคงตระหนักได้ว่าหนัก/ไม่จำเป็น ก็เลยเขวี้ยงขว้างมันทิ้ง! … จะว่าไปสามารถสื่อถึง Julie หลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรมนี้ยังไม่อาจปล่อยละวางความสูญเสีย แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ค่อยๆปรับตัว ยินยอมรับความจริง คลายความหมกมุ่นยึดติดลงได้

Julie ผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียวจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ระหว่างได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของสามีและบุตรสาว

  • พบเห็นขนอะไรก็ไม่รู้ติดอยู่ที่เสื้อ สามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’ หรือคือชีวิตของเธอที่หมดสูญสิ้น ไม่หลงเหลือใคร สิ่งอื่นใด (ไม่มีอะไรเป็นพันธนาการเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป)
  • ดวงตาของตัวละครนอกจากเห็นภาพหมอที่มาแจ้งข่าว ยังสะท้อนความมืดมิดภายในจิตใจ ตกอยู่สภาพหมองหม่น หมดสิ้นหวังอาลัย

กล้องทำตัวเหมือนกระจกระหว่างที่ Julie พยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการกลืนกินยาเกินขนาด แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ ซึ่งพอเธอลืมตาขึ้นก็พบเห็นพยาบาลยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม จับจ้องมองอย่างเงียบงัน รับฟังคำสารภาพผิด และพร้อมยกโทษให้อภัยทุกสิ่งอย่างที่บังเกิดขึ้น

ผมแอบแปลกใจเล็กๆที่ Julie สามารถสารภาพความผิดต่อนางพยาบาลได้โดยทันที เพราะหลังจากนี้เธอกลับพยายามหลบหลีกหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ไม่สามารถยินยอมรับความจริงได้ซะงั้น! (เหมือนทำไปแค่เรียกร้องความสนใจ) แต่ท้ายสุดก็เรื่องราวก็วนกลับสู่จุดเริ่มต้น หลังพานผ่านเหตุการณ์บางอย่าง ตัวละครถึงมีพร้อมเผชิญหน้าทุกสรรพสิ่ง … หรือจะมองว่าเป็นฉากเกริ่นนำทิศทางของหนังก็ว่าได้

หลังอาการบาดเจ็บเริ่มทุเลา แพทย์จึงให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่ระหว่างกำลังนอนหลับฝันหวาน พลันปรากฎแสงสว่างสีน้ำเงิน พร้อมออร์เคสตราที่ได้ยินในงานศพ Van den Budenmayer: Funeral Music (แต่ถ้าใครหาฟังในอัลบัม ขณะนี้จะใช้ชื่อเพลง Julie – Glimpses of Burial) นี่คือครั้งแรกที่ Julie หวนระลึกครุ่นคิดถึงสามี ราวกับอดีตติดตามมาหลอกหลอน ให้ไม่สามารถปล่อยละวางจากความสูญเสีย

แสงสีน้ำเงินยังมาในหลายหลายรูปแบบวิธี ตั้งแต่ฟิลเลอร์ (เห็นสีน้ำเงินทั้งภาพ) เงาสะท้อนผืนสระน้ำ เอาไฟฉาย/เลเซอร์ส่องเข้าที่ใบหน้า ฯลฯ และยังมีขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก น่าจะสื่อถึงระดับความครุ่นคิดถึงมาก-กลาง-น้อย แล้วแต่ช่วงเวลา สถานการณ์ … ลองไปสังเกตเอาเองนะครับ จะได้ไม่ต้องอธิบายซ้ำหลายรอบ

การใช้เฉดสีน้ำเงินก็อย่างที่อธิบายไป เพื่อสื่อถึงอารมณ์บลู (feeling blue แปลว่าโศกเศร้า หมองหม่น) แต่การแสดงออกของ Julie เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่ต้องการพบเจอใคร ไม่ต้องการยินยอมรับความจริง ต้องการหลบหลีกหนี ทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง

โมบายคริสตัล (แซฟไฟร์) ผมครุ่นคิดว่าคือสิ่งที่ Julie ใช้เป็นของระลึกต่างหน้าสามี (น่าจะเป็นของขวัญที่เขาเคยมอบให้) เพราะขณะที่อะไรอย่างอื่นพร้อมขายทิ้งทั้งหมด เจ้าสิ่งนี้กลับคืออันหนึ่งเดียวที่เธอนำติดตัวไปด้วย ยังไม่สามารถปล่อยละวางจากความสูญเสีย

เมื่อตอนที่ Lucille บุกเข้ามาในห้อง จับจ้องมองโมบายอันนี้ เล่าให้ฟังถึงความเพ้อฝันเมื่อครั้งเป็นเด็ก ตัวยังเล็ก เลยไม่อาจเอื้อมมือสัมผัส พยายามกระโดดไขว่คว้าแต่ไม่เคยสำเร็จสักครา … นี่เป็นอีกเทคนิคการเล่าเรื่องที่แม้พูดบอกจากอีกตัวละคร แต่สามารถตีความว่าคือสิ่งเดียวที่เคยบังเกิดขึ้นกับ Julie และจะมีอีกฉาก (ตอนเพิ่งย้ายเข้าอพาร์ทเม้นท์หลังใหม่) ที่เธอเอื้อมมือไปหยิบจับ สัมผัส กำเจ้าคริสตัลโมบายอันนี้อย่างที่ Lucille พูดเล่าอย่างเปะๆ

หาได้ยากที่ภาพยนตร์จะนำเสนอโน๊ตเพลง หรือการบรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆ (ที่มีถ่ายทำการแสดง) ให้ตรงกับเสียงที่ได้ยิน เพราะมันค่อนข้างยุ่งยาก และต้องใช้ความแม่นยำค่อนข้างมาก แต่ผู้กำกับ Kieślowski เป็นคนใส่ใจในรายละเอียดเปะๆระดับวินาทีตั้งแต่พัฒนาบทหนัง (คือเขียนอธิบายไว้เลยว่าฉากนี้ค้างภาพตรงไหน บทเพลงดังขึ้นนานเท่าไหร่ กี่วินาที)

ผมมองการนำเสนอลักษณะนี้คล้ายๆเทคนิค(ตัดต่อ) Montage แต่เปลี่ยนความเชื่อมโยงระหว่างภาพตัวโน๊ตและเสียงเพลงที่ได้ยิน สำหรับนักดนตรีหรือใครที่อ่าน(โน๊ตเพลง)ออก ก็น่าจะรู้สึกประทับใจหนังขึ้นอีกเล็กๆ … หรือจะมองว่า เสียงที่ได้ยินก็คือจินตนาการของตัวละคร (นักดนตรีเก่งๆสามารถเพียงอ่านโน๊ตแล้วจินตนาการเสียงได้เลยนะครับ)

เกร็ด: ผู้กำกับ Kieślowski มีหนังสั้นเรื่องโปรด Muzykanci (1960) หรือ The Musicians สรรค์สร้างโดยอาจารย์ Kazimierz Karabasz (1930-2018) ครูสอนภาพยนตร์(ของ Kieślowski) ขณะศึกษาอยู่ยัง Łódź Film School น่าจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลให้ความเปะๆ Perfectionist

Julie เดินทางมาหาเพื่อนร่วมงานที่เป็น Copyist (คนคัทลอกบทเพลงสำหรับเก็บรักษาในคลัง) จะมีช็อตถ่ายผ่านม้วนกระดาษขณะกำลังค้นหาโน๊ตเพลง Song for the Unification of Europe เหมือนการมองลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของตัวละคร เห็นเป็นรูรั่ว รวงผึ้ง เพราะหลังจากค้นพบเจอเธอก็นำไปโยนทิ้ง ถูกทำลายในรถขนขยะ (พร้อมเสียงเพลงที่ราวกับเทปยาน) ไม่ต้องการเก็บบันทึกบทเพลงนี้ไว้ให้รู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน

มันเป็นความ Ironic ของหนังด้วยเพราะชื่อบทเพลง Song for the Unification of Europe แต่กลับทำให้ครอบครัวผู้แต่งต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่สามารถ ‘Unification’ อาศัยอยู่ร่วมกันได้อีก!

นี่เป็นช็อตที่ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความเกรี้ยวกราดของ Julie ผ่านการอากัปกิริยาแสดงออกและภาษาภาพยนตร์

  • ลูกอมคือขนมหวาน ไม่ต่างจากรสรักหวานฉ่ำ (สัญลักษณ์ของความต้องการมี Sex) แต่เธอกลับกัดเคี้ยวอย่างรวดเร็ว ไม่ดื่มด่ำรับรู้สึก(ความรักต่อสามี)อีกต่อไป
  • กองเพลิงในเตาผิง โดยปกติทั่วไปมักสื่อถึงไฟราคะ เร่าร้อน แรดร่าน แต่สถานการณ์ขณะนี้น่าจะคือสภาพจิตใจของหญิงสาวที่กำลังมอดไหม้ วอดวาย เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ต้องการกระทำบางสิ่งอย่าง
  • โทรศัพท์ติดต่อหา Olivier เรียกตัวมาร่วมรักหลับนอน แต่ไม่ใช่ด้วยตัณหาหรือความรัก เพียงเพื่อระบายความลุ่มร้อนที่สุมแน่นอก ทำในสิ่งที่เป็นการทรยศหักหลังสามี (แต่มันกลับยิ่งทำให้จดจำ แถมยังรู้สึกผิดต่อเขาอีกต่างหาก)
    • ในภาพยนตร์ No End (1985) การร่วมรักชายอื่นเหมือนจะคนละเหตุผล เพราะขณะนั้นหญิงสาวรับล่วงรู้แล้วว่าเขาเคยคบหาหญิงอื่น แสดงออกแบบนี้เพื่อเป็นประชดประชัน ต้องการเรียกร้องความสนใจ (จากสามีที่ตายไปแล้วเนี่ยนะ?)

ใครเคยรับชมผลงานอื่นๆของผู้กำกับ Kieślowski น่าจะรับรู้ว่า Sex Scene เป็นฉากที่ขาดไม่ได้! เพราะมันมีนัยยะในท่วงท่าการร่วมรักเคลือบแอบแฝงอยู่ แต่เรื่องนี้กลับตัดทิ้งไปเลย พบเห็นเพียงการจุมพิตช็อตนี้ แต่ก็มีหลายๆรายละเอียดที่น่าสนใจ

  • ฝ่ายหญิงปกคลุมด้วยความเงามืด และอาบฉาบด้วยแสงสีเขียวแกมน้ำเงิน (Teal) สะท้อนสภาวะทางจิตใจที่มีความหมองหม่น จมปลักอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก ราวกับไม่ได้ตัวตน/จิตวิญญาณอยู่ในช่วงเวลานี้
  • ฝ่ายชายอยู่ในสภาพเปียกปอน ชุ่มฉ่ำ ใบหน้าอาบฉาบแสงสว่าง เต็มไปด้วยความระริกรี้ เร่งรีบร้อน เพราะกำลังจะได้ทำในสิ่งที่เฝ้ารอคอย เพ้อใฝ่ฝันมาแสนนาน

ซึ่งการไม่ปรากฎฉาก Sex Scene น่าจะสื่อถึง Julie ไม่ได้อยากจดจำ ไม่มีเหตุผลใดๆให้ต้องตราประทับช่วงเวลานี้ไว้ ไร้ซึ่งอารมณ์ร่วม/ความรู้สึกใดๆต่อ Olivier (มันคงเป็นการร่วมรักที่มีเพียงฝ่ายชายสำเร็จสมหวัง) ก็เลยตัดข้ามไปยามเช้า นำกาแฟอุ่นๆมาเสิร์ฟ (สื่อความลุ่มร้อนภายในที่ได้บรรเทาลงไป) แล้วถึงร่ำลาจากไป

เดิมนั้นทีมงานเตรียมถุงมือปลอมเอาไว้ให้ Binoche สวมใส่ขณะกำหมัดลากไปตามกำแพงหิน แต่พอถ่ายทำออกมาดูไม่ค่อยสมจริง เธอเลยถอดออกแล้วใช้มือเปล่าๆลากไถไปตามกำแพง เลยได้รับค่อนข้างสาหัส ถ่ายทำจนเสร็จก็ยังรักษาไม่หาย หลายๆฉากจึงพบเห็นสวมถุงมือปกปิดบาดแผลเอาไว้ … กลายเป็นของที่ระลึกติดตัวจนวันตาย

การกำหมัดลากไปตามกำแพง สามารถมองเป็นการลงโทษ/ทำร้ายตนเอง แสดงความรู้สึกผิดต่อสามีผู้ล่วงรับ ฉันไม่ควรร่วมรักหลับนอนกับ Olivier กระทำสิ่งโง่ขลาดเขลาแบบนั้น!

วันๆของ Julie หมดไปกับการดื่มกาแฟ นั่งฟังเสียงขลุ่ยของนักดนตรีข้างถนน แต่ช็อตนี้ไม่ใช่ Time-Lapse นะครับ แค่เล่นกับทิศทางการฉายแสง ขยับเลื่อนให้ดูเหมือนกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไป

ว่ายน้ำ ได้กลายเป็นกิจกรรมยามว่างของ Julie แต่ดูยังไงก็ไม่เหมือนการออกกำลังกาย เพราะเธอพยายามใส่พลังให้สุดแรงเกิด เพื่อระบายความอึดอัด ตึงเครียด เผื่อว่าจักสามารถหลงลืม คลายความหมกมุ่นยึดติดต่อสามี แต่เพราะสถานที่แห่งนี้ใช้แสงสีน้ำเงิน (น่าจะด้วยฟิลเลอร์กระมัง) ผมเลยมองว่าคือการว่ายเวียนวนอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก หรือวัฎฎะสังสาร ไม่ยินยอมปล่อยละวางจากความสูญเสีย

บางคนเปรียบเทียบสถานที่แห่งนี้สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ หรือจิตใต้สำนึกของตัวละคร ซึ่งจะดังขึ้นพร้อมเสียงเพลงของสามี พบเห็นทั้งหมด 4 ครั้ง

  • ยามค่ำคืนพอมีแสงสว่างโดยรอบ ได้ยินเสียงขลุ่ยบรรเลง ยังพออดรนทนกับหนทางชีวิตที่เลือกเดิน
  • โดยรอบปกคลุมด้วยความมืดมิด ชีวิตอับจนหนทาง ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวัง และพอได้ยินออร์เคสตรา ทิ้งตัวลงไปกลั้นหายใจใต้น้ำ เริ่มมิอาจอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป (อาการค่อนข้างหนักทีเดียว)
  • ยามกลางวันหลังพานผ่านช่วงเวลาอันมืดมิด ได้รับความช่วยเหลือจาก Lucille (ตรวจสอบหนูในห้องพักว่าถูกกำจัดแล้วหรือยัง) จากนั้นพบเห็นเด็กๆวิ่งกรูกระโดดลงสระ สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ส่งเสียงตะโกนโหวกเหวก แต่กลับสร้างพลังใจให้ชีวิต
  • ครั้งสุดท้ายหลังพบเจอชู้รัก ท่ามกลางความมืดมิด (แบบรอบที่สอง) เธอดำดิ่งและสูญหายไปใต้ผิวน้ำ ราวกับทุกสิ่งอย่างได้พังทลายสูญสิ้น

เหมือนมีเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ลางบอกเหตุบางอย่าง หลังจาก Julie ตัดสินใจไม่เปิดประตูห้องให้ความช่วยเหลือใครบางคนถูกนักเลงรุมกระทำร้ายบนท้องถนน เป็นเหตุให้เธอโดนปิดประตูห้องพัก ไม่สามารถกลับเข้าห้อง จำต้องนั่งรออยู่ตรงบันได แล้วพบเห็นอีกเหตุการณ์ของเพื่อนสาวร่วมอพาร์ทเม้นท์ ทำเป็นไม่สนใจ … และขณะหลับตานอน สังเกตดีๆจะเห็นแสงสีน้ำเงินสองจุด แม้งโคตรหลอน!

ใครเคยรับชม No End (1985) อาจบังเกิดความครุ่นคิดที่ว่า สามี(และบุตรสาว)ของ Julie ยังคงเป็นวิญญาณล่องลอยอยู่เคียงชิดใกล้ ไม่เหินห่างไปไหน และฉากนี้เหมือนแอบให้ความช่วยเหลือ ลางสังหรณ์บอกเหตุอะไรสักอย่างไร … ซึ่งโชคชะตานำพาให้เธอพบเห็นพฤติกรรมของ Lucille แล้วมีโอกาสรับรู้จัก พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกัน (Lucille คือบุคคลสำคัญที่ช่วยให้ Julie สามารถปล่อยละวางจากอดีต)

เมื่อมีลูกบ้านคนหนึ่งกำลังรวบรวมลายเซ็นต์สำหรับขับไล่ผู้หญิงสำส่อน Lucille ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แต่ Julie กลับบอกปัดปฏิเสธ ไม่ต้องการส่วนร่วมรับรู้เห็นเรื่องส่วนบุคคลผู้อื่น นี่สะท้อนแนวคิด ‘เสรีภาพ’ มันผิดอะไรที่หญิงสาวจะทำงานโสเภณี ร่วมรักหลับนอนกับคนแปลกหน้า ขณะเดียวกันฉากนี้ยังชวนให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ Blind Chance (1991) ตัวละครในไทม์ไลน์สามก็พูดประโยคเดียวกันนี้เปะๆ

ขณะที่ Julie พูดบอกปัดปฏิเสธ สังเกตว่าเธอกำลังจัดกระถาง ต้องการปลูกต้นไม้สีเขียว (ตอนได้ยินเสียงกริ่งดังก็พลั้งเผลอทำกระถางหล่นลงพื้น = จิตใจตกไปอยู่ตรงตาตุ่ม) น่าจะคือสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูจิตใจ พยายามสร้างรากฐานชีวิตขึ้นใหม่

คุณยายหลังค่อม เดินอย่างเชื่องช้า เพียงเพื่อนำเอาขวดน้ำใส่ลงในถังรีไซเคิลที่อยู่สูงกว่าตนเอง พยายามออกแรงผลักดัน จนแล้วจนรอดก็ยัดไม่เข้า … นี่คือจุดเชื่อมโยงระหว่าง Three Colours Trilogy พบเห็นคุณยายคนเดียวกันนี้ทั้งสามภาค โดยตัวละครหลักจะมีปฏิกิริยาบังเกิดขึ้นแตกต่างกัน

ในกรณีของ Julie เหมือนว่าเธอกำลังนั่งหลับตา ฟุ้งอยู่ในจินตนาการ/เพ้อฝัน เลยไม่ทันพบเห็นว่าคุณยายกำลังทำอะไร (มีแต่ผู้ชมที่พบเห็น) ซึ่งเราสามารถมองนัยยะถึง ‘เสรีภาพ’ คือการพึ่งพาตนเอง ไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวายเรื่องของผู้อื่น ให้ความเคารพสิทธิในการพูดบอก-แสดงออก อยากทำอะไรก็ทำไป แบบเดียวกับที่เธอปฏิเสธให้ความช่วยเหลือชายหนุ่มที่ถูกนักเลงทำร้าย หรือลงชื่อขับไล่ Lucille

แซว: The Double Life of Veronique (1991) จะว่าไปก็มีคุณยายหลังค่อมปรากฎตัวถึงสองฉาก (แต่ไม่ได้ยัดขวดน้ำใส่ถังขยะนะครับ) ไม่รู้ว่าคนๆเดียวกันหรือเปล่านะ?

เมื่อตอนต้นเรื่องระหว่างชายหนุ่มกำลังโยนเล่น Bilboquet แล้วมีการปรับโฟกัสให้เห็นรถยนต์กำลังขับเคลื่อนเข้าผ่านเข้ามา = กลางเรื่องขณะนี้ชายหนุ่มคนเดียวกันถือจี้ไม้กางเขน (จะว่าไปรูปลักษณะของ Bilboquet ก็มีความละม้ายคล้ายไม้กางเขน!) แล้วมีการปรับโฟกัสให้เห็น Julie กำลังนั่งรอพูดคุยสนทนา

ไม้กางเขน คือสัญลักษณ์ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า แต่สำหรับ Julie ผมมองว่าคือตัวแทนของความรักต่อสามี (เหมือนหนังจะพยายามสร้างแนวคิด พระเจ้า=สามี)

  • เมื่อครั้น Julie ทำมันตกหล่นหาย ก็คือการสูญเสียสามี/ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า
  • แม้ได้รับกลับคืนมา แต่เธอก็มอบต่อให้กับชายหนุ่ม เรียกว่ายังไม่อาจยินยอมรับ/ทำใจกับการสูญเสีย หรือยังไม่ได้ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้ากลับคืนมา
  • จนกระทั่งมีโอกาสพบเห็นอีกครั้ง จี้อีกอันห้อยคอชู้รัก Sandrine โดยไม่รู้ตัวนั่นคือจุดเปลี่ยน ทำให้ Julie สามารถปรับตัว ยินยอมรับความจริง หรือคือความเชื่อศรัทธา(ต่อความรัก/พระเป็นเจ้า)หวนกลับคืนมาอีกครั้ง!

ภาพสะท้อนในช้อน (ห้อยต่อยแต่งอยู่ในขวดน้ำ) ก็คือภาพสะท้อนสภาพจิตใจขณะนี้ของ Julie ที่มีความบิดเบี้ยว บูดบึ้ง ไร้ซึ่งรูปลักษณ์ของตนเอง หลังจากใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังมาสักพักใหญ่ๆ แม้สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีประจำวัน แต่มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรใดๆ ภายในยังความเศร้าโศก มิอาจปล่อยละวางจากความสูญเสีย

ภาพช็อตนี้มี 3-4 องค์ประกอบที่ทำให้ Julie ต้องหวนระลึกนึกถึงอดีตที่ไม่ค่อยอยากจดจำ

  • การติดตามมาถึงของ Olivier สร้างความหงุดหงิด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เพราะเธอต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
  • ช็อตนี้สังเกตว่า Olivier หันศีรษะไปมองด้านหลัง … หันมองย้อนอดีต
  • นักดนตรีข้างถนนกำลังเป่าขลุ่ย ท่วงทำนองเดียวกับบทเพลง Song for the Unification of Europe ซึ่งถือเป็นทั้งความบังเอิญ ขณะเดียวกันก็เหมือนอดีตติดตามมาหลอกหลอน
  • ฝั่งขวามือของภาพมีชายคนหนึ่งกำลังเดินลากกระเป๋า สามารถสื่อถึงการจากไปของสามีผู้ล่วงลับได้เช่นกัน

ผู้กำกับ Kieślowski มีความต้องการให้ก้อนน้ำตาลค่อยๆซึมน้ำ/กาแฟในเวลา 3-4 วินาทีอย่างเปะๆ (คงเพื่อให้ผู้ชมได้มีเวลาพบเห็น ทันสังเกต หนึ่งลมหายใจ) ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงทำต้องการทดลองหลายสิบยี่ห้อ (ไม่รู้เหมือนกันว่าได้ยี่ห้อไหน) จนกว่าจะได้ผลลัพท์ออกมาตามต้องการ

ก้อนน้ำตาลสีขาวสามารถแทนถึงความใสสะอาด จิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง (คล้ายๆผ้าขาวที่ใช้ในการบวช/รักษาศีล) แต่เมื่อจุ่มน้ำ/กาแฟมันจะค่อยๆดูดซึมซับ จนทั้งก้อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สัญลักษณ์ของความสกปรก แปดเปื้อน จิตใจที่ด่างพร้อย หมองหม่น

ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงสภาพจิตใจของ Julie ที่หลังจากได้รับความสงบสุขมาพักใหญ่ๆ (แม้ยังไม่สามารถปล่อยละวางแต่คงพอทำใจได้ระดับหนึ่ง) การติดตามมาถึงของ Olivier สร้างความหงุดหงิด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เหมือนทำให้ทุกสิ่งอย่าง(ที่อุตส่าห์หลบหนีมา)พังทลายลงตรงหน้า ก้อนน้ำตาลขาวได้ถูกทำให้แปดเปื้อนมลทิน

ทั้งๆเจ้าหนูน้อยสีชมพู ยังดูอ่อนแอไร้เดียงสา พึ่งพาตนเองยังไม่ได้ด้วยซ้ำ! แต่มันกลับเป็นสัญลักษณ์ของความโฉดชั่วร้าย ศัตรูที่ต้องกำจัดภัยพาล บาดแผลทางใจ ‘Trauma’ ที่ตราตรึง Julie ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเด็ก แม้หลงลืมเลือนจดจำอะไรไม่ได้แล้ว แต่มันกลับฝังรากลึกอยู่ภายในจิตวิญญาณ สร้างความหวาดหวั่นกลัว ตัวสั่นสะท้าน สื่อถึงอดีตที่หวนกลับมาหลอกหลอน = Olivier ติดตามค้นหามาจนพบเจอ Julie

Julie ตัดสินใจเดินทางไปหามารดาป่วยโรคความจำเสื่อม Alzheimer จดจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเธอคือใคร ครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าเป็นน้องสาว แต่ดันไม่หลงลืมเลือนว่าบุตรของตนเองเคยมีรอยบาดแผลในใจต่อเจ้าหนูน้อย โกรธ เกลียด หวาดกลัวตัวสั่น … ผมรู้สึกว่ามารดา เปรียบเหมือนกระจกที่มีความแตกต่างตรงกันข้ามกับ Julie หลงลืมในสิ่งที่ควรจดจำ และดันจดจำในสิ่งที่ควรลืมเลือน

และขณะเดินทางมาเยี่ยมเยือนครั้งนั้น รายการในโทรทัศน์กำลังฉายกิจกรรมบันจีจัมป์ (Bungy Jump) กระโดดจากจุดสูงสุด ทิ้งตัวลงสู่ภาคพื้นดิน ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพจิตใจขณะนั้นของ Julie กำลังตกต่ำ ดำดิ่ง ลงสู่ก้นเบื้องขุมนรก (เพราะมีความรังเกียจต่อต้านเจ้าหนูน้อยตัวนั้นอย่างสุดๆ)

หลังจาก Lucille กำจัดหนูให้กับ Julie ค่ำคืนดึกดื่นโทรศัพท์หา ร่ำร้องขอความช่วยเหลือให้เดินทางมายังไนท์คลับ/บาร์เปลือยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าพบเห็นบิดาแท้ๆเข้ามาในร้านแห่งนี้ นั่นคือสิ่งที่เธอยินยอมรับไม่ได้ (คงไม่อยากให้บิดารับรู้ว่าตนเองทำงานแบบนี้) แต่ให้สังเกตวินาทีที่หญิงสาวพูดเล่า พร้อมลูบไล้อวัยวะเพศของนักแสดงชาย … ผมไม่อยากจะครุ่นคิดเลยว่ามันสื่อถึงอะไร

แต่จะมีช็อตที่ Lucille ยื่นใบหน้าเข้ามาใกล้ Julie ลองสังเกตแสงสีที่อาบฉาบใบหน้าของพวกเธอ

  • Lucille เป็นแสงอบอุ่น ดูสดชื่น มีชีวิตชีวา คงสื่อถึงความบันเทิงเริงกาย-ใจ ที่ได้ทำงานยังสถานที่ตอบสนองตัณหาความใคร่แห่งนี้
  • Julie เป็นแสงที่ทำให้ใบหน้าดูซีดเซียว แห้งแล้ง หยาบกระด้าง เหมือนซอมบี้ไร้จิตวิญญาณ (ก็ถูกปลุกตื่นขึ้นยามดึกนี่นะ) ยังไม่สามารถตื่นขึ้นจากความฝันร้าย

เมื่อหันไปพบเห็นรายการโทรทัศน์ที่กำลังฉายเกี่ยวกับสามี(และตนเอง) แม้ว่า Julie จะไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา แต่เฉดโทนสีพื้นหลัง (ตอนนั้นยังอยู่ในบาร์เปลือย) คือสีแดงฉานของเลือด (จะมองว่าเป็นการอ้างอิงถึง Red (1994) ก็ได้เช่นกัน) แฝงนัยยะถึงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง

เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราว/สภาวะทางอารมณ์ของ Lucille เมื่อบิดาเข้ามาในบาร์แห่งนี้ = การพบเห็นชู้รัก ภาพบาดตาบาดใจในโทรทัศน์ของ Julie ต่างเป็นสิ่งที่พวกเธอทั้งสองมิอาจอดรนทน ยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น!

ผมนึกอยู่ตั้งนานว่าสถานที่แห่งนี้เคยพบเห็นตอนไหน? ลองค้นหาข้อมูลก็พบเจอ Rue de l’Alboni หนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ Inception (2010) (และยัง Last Tango in Paris (1972)) มันคือบันไดยืดได้ในฉากสถาปนิกแห่งความฝัน (ระหว่างที่ Leo เดินเล่นกับ Ellen Page ใช้ชื่อตอนยังเล่นหนังเรื่องนั้นอยู่นะครับ)

นี่คือฉากที่ Julie ออกวิ่งติดตามรถของ Olivier ขณะกำลังเคลื่อนแล่นออกไป ตะโกนร้องเรียกให้หยุดรถ และพูดโน้มน้าวให้หยุดแต่งต่อบทเพลง Song for the Unification of Europe แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถหยุดได้!

Olivier ชักชวน Julie ให้มาช่วยแต่งต่อบทเพลง Song for the Unification of Europe เพราะเธออาจคือผู้ประพันธ์ตัวจริง หรือไม่ก็ร่วมเขียนขึ้นกับสามีผู้ล่วงลับ เลยน่าจะเข้าใจความครุ่นคิด ที่มาที่ไป แม้หญิงสาวยังคงตอบปัดปฏิเสธ แต่ก็ได้ให้คำแนะนำบางอย่าง

การเดินเข้ามาด้านหลังของ Olivier ให้ความรู้สึกน่าหวาดสะพรึงทีเดียว (ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นฝ่ายหญิงคงโดนปล้ำ ข่มขืนแล้วละ!) แต่ในบริบทนี้สื่อถึงเขาเป็นได้เพียงผู้ติดตาม ถูกร่มเงาของเธอบดบังอยู่ด้านหลัง เพราะเรื่องการแต่งเพลงไม่ได้มีความสามารถระดับเดียว Julie หรือสามีผู้ล่วง Patrice

หนังพยายามสร้างความคลุมเคลือว่า Julie เป็นคน(ร่วม)ประพันธ์บทเพลงนี้หรือไม่? แต่นี่สะท้อนค่านิยมของคีตกวียุคสมัยก่อน ลองระลึกนึกดูนะครับว่ามีนักแต่งเพลงหญิงชื่อดังก้องโลกบ้างไหม? คำตอบคือไม่มีสักคนเดียว! โลกของการแต่งเพลงอิสตรีคือช้างเท้าหลัง ต้องคอยอยู่ภายใต้ร่มเงาบุรุษ แต่หลังจากเธอสูญเสียสามี/ชายคนรัก นี่คือ ‘เสรีภาพ’ ในการเลือกตัดสินใจว่าจะก้าวออกจากร่มเงา หรือยินยอมให้เงาก้าวขึ้นมาอยู่ในแสงสว่าง

ใครที่เคยรับชม Three Colours: White (1993) ก็น่าจะมักคุ้นเคยกับฉากนี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง พบเห็นสองนักแสดงนำ Zbigniew Zamachowski และ Julie Delpy เป็นการสลับกัน Cameo เพื่อเชื่อมโยงถึงไตรภาคเดียวกัน (Binoche ก็มารับเชิญในฉากนี้)

what about equality? Is it because I don’t speak French that the court won’t hear my case?

Karol Karol

คำพูดประโยคนี้ถือเป็นใจความหลักของภาพยนตร์เรื่อง White (1993) แต่เมื่อ Jule แอบได้ยินใน Blue (1993) ระหว่างกำลังสอดแนมชู้รักของสามี สามารถตีความในลักษณะ ภรรยา=หญิงชู้ ทำไมมนุษย์ถึงมีหลายผัวหลายเมียไม่ได้?

การเป็นภาคต่อของ White (1993) สามารถมองเป็นอีกไทม์ไลน์ของ Blue (1993) ในกรณีที่ Julie จับได้ว่าสามีแอบคบชู้นอกใจ (เหตุผลจริงๆของ White จะกลับตารปัตรตรงกันข้าม คือสามีนกเขาไม่ขัน ตั้งแต่แต่งงานยังไม่เคยร่วมรักภรรยา) นี่น่าจะคือเหตุการณ์บนชั้นศาล ฟ้องหย่าร้าง ไม่ต้องการอาศัยอยู่ร่วมชายคา บังเกิดความโกรธเกลียด ต้องการแก้แค้นเอาคืนให้สาสม!

การเผชิญหน้าระหว่าง Julie กับชู้รักสามี Sandrine สถานที่คือในห้องน้ำสำหรับขับถ่าย ระบายของเสียออกจากร่างกาย หรือปลดเปลื้องความรู้สึกที่ภายในจิตใจออกมา

  • ทางฝั่งของ Julie ด้านหลังปกคลุมด้วยความมืดมิด ความมืดอาบฉาบครึ่งหนึ่งของใบหน้า สะท้อนสภาวะทางจิตใจอันมืดหมองหม่น ไร้หนทางออก
  • ฝั่งของ Sandrine จะมีแสงสว่าง อ่างล้างหน้า และประตูทางออก ลึกๆเธอคงเสียใจในสิ่งที่ทำลงไป ไม่ตั้งใจจะปล่อยตัวตั้งครรภ์ แต่หลังจากเขาประสบโศกนาฎกรรม นี่คือสิ่งทำให้ตนเองบังเกิดความหวังในการมีชีวิตต่อไป

หลังการเผชิญหน้ากับ Sandrine ต้องถือว่า Julie อยู่ในจุดตกต่ำที่สุด มืดมิดที่สุดของชีวิต ขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ (ครั้งที่สี่/ครั้งสุดท้าย) ก็ดำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องลึก แวบแรกเหมือนตั้งใจจะฆ่าตัวตาย

แต่หลังจากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนหมุนรอบตัวละคร 180 องศา พบเห็นพื้นหลังจากที่เคยมืดมิด ค่อยๆพบเห็นแสงสว่างจากอีกฟากฝั่งหนึ่ง และวินาทีนั้นเธอก็ลอยตัวกลับขึ้นมา โผล่ศีรษะขึ้นน้ำ ราวกับว่าต่อจากนี้ทุกสิ่งอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลง กลับตารปัตรขั้วตรงข้าม!

นี่ถือเป็นวินาทีจุดเปลี่ยนทัศนคติของ Julie จากเคยเก็บกด อัดอั้น ต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง (แต่ยังไม่สามารถปล่อยละวางความสูญเสีย) หลังจากได้เผชิญหน้า Sandrine ที่ถือเป็นจุดตกต่ำ/มืดมิดที่สุดของชีวิต ก็คงไม่มีอะไรย่ำแย่ไปกว่านี้ เลยถึงเวลาปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเอง สำหรับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

หลังจากครุ่นคิดได้เช่นนั้น Julie ตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียนมารดา แต่แค่เพียงจับจ้องมองอยู่ภายนอก (ไม่ได้เข้าไปหา) พบเห็นโทรทัศน์ฉายการแสดงเดินบนเส้นลวด (Man on Wire) เป็นกายกรรมที่ต้องใช้ความสมดุลถึงสามารถก้าวข้ามผ่านจากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง

สะท้อนเข้ากับ Julie ที่ขณะนั้นได้ค้นพบสมดุลของตนเอง รับรู้แล้วว่าฉันไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียว ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพราะสิ่งเคยสูญเสียมันยังคงตราฝังอยู่ในใจ แต่เรายังคงต้องก้าวดำเนินต่อไป เผชิญหน้าความจริง เรียนรู้จักการปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น

Julie เดินทางมาหา Olivier ครานี้ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ต้องการร่วมแต่งบทเพลง Song for the Unification of Europe ให้แล้วเสร็จสรรพ ไม่มีอะไรฉุดเหนี่ยวรั้ง หยุดยับยั้งได้อีก! ซึ่งระหว่างการทำงาน ลองผิดลองถูก ท่วงทำนองปรับเปลี่ยนตามคำพูด กล้องจะถูกตั้งทิ้งไว้เฉยๆ จากนั้นค่อยๆปรับให้เบลอหลุดโฟกัส แต่ชีวิต(และการทำงาน)ยังคงดำเนินต่อไป

ผมมองนัยยะการเบลอหลุดโฟกัส คล้ายๆกับตอน Fade-to-Black แต่ในบริบทนี้ช่วงเวลาของ Julie ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เป็น ‘lost in thought’ มัวแต่ครุ่นคิด/ทำงาน จนหลงลืมเวลา เคลื่อนพานผ่านไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ก่อนที่ Julie จะเขียนบทเพลงท่อนสุดท้าย เธอหวนกลับมาที่คฤหาสถ์หลังเก่าเพื่อเปลี่ยนประตู/เปลี่ยนเจ้าของ ต้องการมอบบ้านหลังนี้ให้ Sandrine อาศัยอยู่ร่วมกับบุตรชาย แต่วินาทีนั้นเองเธอกลับได้รับเสียงหัวเราะ … นี่ล้อกับตอนกลางเรื่องที่ Julie หัวเราะเมื่อระลึกนึกถึงเรื่องเล่าของสามี ชอบพูดตบมุกตลกแบบเน้นๆย้ำๆ ซ้ำๆอยู่บ่อยครั้งจนหาความน่าเชื่อถือไม่ค่อยได้

Sandrine บังเกิดรอยยิ้มขึ้นมา ก็เพราะการที่ Patrice ชอบพูดย้ำๆซ้ำๆเกี่ยวกับ Julie ว่าดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ สามารถให้อภัยได้ทุกสิ่งอย่าง บ่อยครั้งจนไม่อยากจะเชื่อฟัง จนกระทั่งเมื่อพบเจอเผชิญหน้าถึงตระหนักรับรู้ว่าทั้งหมดเป็นความจริง!

Julie มุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากในการเขียนท่อนสุดท้ายของบทเพลง Song for the Unification of Europe เมื่อแล้วเสร็จสรรพก็โทรศัพท์ติดต่อหา Olivier แต่เขากลับพูดบอกว่าอยากจะแต่งตอนจบด้วยตนเอง (พบเห็นภาพสะท้อนใบหน้าบนเปียโน) แม้มันอาจไม่ไพเราะเพราะพริ้งเท่า แต่ก็สามารถใช้ชื่อตนเองเป็นผู้ประพันธ์โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ นั่นสร้างความผิดหวังต่อหญิงสาวอย่างรุนแรงถึงขนาดหันหลังให้กล้อง ถึงอย่างนั้นเธอยังสามารถอดรนทน ยินยอมรับ เผชิญหน้ากับความจริง ตระหนักว่าเสรีภาพที่เคยได้รับ ตอนนี้กลับสูญเสียมันไปอีกครั้ง!

นี่คือสิ่งที่ Julie ต้องแลกมากับความรัก ทำให้สูญเสีย’เสรีภาพ’ในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก ถูกควบคุมครอบงำ ไร้สิทธิ์เป็นเจ้าของบทประพันธ์ แต่สิ่งได้รับกลับมาคือการไม่ต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทนทุกข์ทรมานอยู่ตัวคนเดียว และการมีเพศสัมพันธ์ทำให้ล่องลอยสู่สรวงสวรรค์

Julie กับ Olivier เหมือนจะร่วมรักกันตรงกระจกใส ทำให้เห็นใบหน้า/เรือนร่างกายแนบติดกำแพงที่มองไม่เห็น นั่นสื่อถึงการสูญเสีย ‘เสรีภาพ’ ความรักทำให้มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบความสัมพันธ์ เชื่อมยึดติดพวกเขาไว้ด้วยกัน แต่นั่นคือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์สามารถล่องลอยโบยบินไปถึงจุดสูงสุดบนสรวงสวรรค์ ค่อยๆพบเห็นดวงดาวระยิบระยับ (แต่แลดูเหมือนแสงไฟจากตึกรามบ้านช่องเสียมากกว่า)

อีกสิ่งที่สร้างความฉงนให้ผมมากๆก็คือรากหญ้า/ฟาง ดูเหมือนรังนก นั่นควรจะอยู่ด้านล่างไม่ใช่หรือ? แต่ภาพช็อตนี้กลับพลิกตารปัตร ซึ่งสามารถสื่อถึงโลกทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนแปลงของตัวละคร สะท้อนถึง’เสรีภาพ’ที่สูญเสียไป เลยไม่สามารถโบกโบยบินสู่ท้องฟ้าไกล และกล้องเคลื่อนขึ้นสู่ความมืดมิด ดำสนิท หรือภายใต้จิตวิญญาณของมวลมนุษย์

ท่าทางการร่วมรัก Julie นอนแนบติดกับกระจก ส่วน Olivier เข้ามาจากด้านหลัง (แบบเดียวกับช็อตที่เขายืนด้านหลัง ภายใต้ร่มเงาของหญิงสาว) มีคำเรียกว่าท่าช้อน ‘spooning’ โดยที่ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมเกมจากด้านหลัง (แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเข้าทางประตูหลังนะครับ)

กล้องค่อยๆแพนนิ่งพานผ่านตัวละครทั้งหลายที่ Julie ประสบพบเจอ มีปฏิสัมพันธ์ เชื่อมโยงใยถึงกัน ซึ่งแทบทั้งนั้นต่างกำลังจับต้อง/พบเห็นภาพสะท้อนบางสิ่งอย่าง

  • ชายหนุ่มที่เคยให้ความช่วยเหลือ Julie และได้รับมอบจี้ไม้กางเขนตอบแทน ตื่นขึ้นยามดึกเหมือนสัมผัสได้ถึงความหนาวเหน็บ เลยเอื้อมมือจับต้องสร้อยคออันนั้น สามารถมอบความเชื่อมั่นศรัทธา ทำให้จิตใจเข้มแข็งแกร่ง ไม่หวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใด
  • มารดากำลังนั่งหลับระหว่างรับชมโทรทัศน์ พบเห็นภาพสะท้อนอีกตัวตนที่บิดเบี้ยว หรือคือความทรงจำอันเลือนลาง (จากการล้มป่วย Alzheimer) แต่แสงสว่างที่อาบฉาบใบหน้าของเธอช่างมีความอบอุ่น ไม่มีอะไรให้รู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา
  • Lucille ในบาร์เปลือยแห่งหนึ่ง พบเห็นเงามืดอาบฉาบครึ่งหนึ่งบนใบหน้า แสดงว่าความระริกระรี้ที่แสดงออกมา คนละอย่างกับธาตุแท้ตัวตน ฉันอยากเป็นคนดี ไม่ได้ต้องการทำอาชีพนี้ ขอแค่ใครสักคนให้การยินยอมรับ และแสงไฟ/ดาวดาราระยิบระยับ คือสัญลักษณ์ความหวังและศรัทธา สักวันหนึ่งฉันจักสามารถก้าวออกไปจากสถานที่แห่งนี้
  • Sandrine กำลังทำการอัลตราซาวด์ จับจ้องมองจอมอนิเตอร์พบเห็นทารกน้อยในครรภ์ นั่นคือสัญลักษณ์ของความหวัง การถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่
  • และภาพสุดท้าย(น่าจะ)ในดวงตาของ Julie พบเห็นตัวตนเองในสภาพเปลือยเปล่า นั่งหันหลังกอดเข่า ท่ามกลางความมืดมิด นั่นคือภาพสะท้อนอดีตอันสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ปัจจุบันมันก็ยังคงอยู่อย่างนั้น แต่หญิงสาวสามารถยินยอมรับ(ว่ามันคงไม่มีทางสูญหายไป) สามารถปรับตัว และเริ่มต้นชีวิตใหม่

แซว: ภาพสะท้อนในดวงตาที่พบเห็นตนเองในสภาพเปลือยเปล่า ชวนให้นึกถึงตอนจบภาพยนตร์ Camera Buff (1985) ที่ก็มีลักษณะตัวละครหันหน้ากล้องเข้าหาตนเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการครุ่นคิดทบทวนทุกสิ่งอย่าง ว่ามีความถูกต้องเหมาะสม ควรหรือไม่ควร (คือวินาทีที่ผู้กำกับกลายเป็นศิลปินภาพยนตร์)

นี่เป็นภาพที่ละม้ายคล้ายๆช็อตจบของ The Double Life of Veronique (1991) (ฉบับฉายยุโรป) ตัวละครนั่งอยู่ในรถ พบเห็นภาพสะท้อนบนกระจก(หน้ารถ) สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจ สภาวะทางอารมณ์ของหญิงสาว สังเกตว่าช่วงๆแรกยังปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่จักค่อยๆได้รับแสงสว่าง(สีน้ำเงิน)อันเลือนลาง เคลื่อนเลื่อนเข้ามาบดบังใบหน้าทีละนิด

Binoche จงใจแอบยิ้มมุมปากเล็กๆ (เหมือนจะไม่มีในบทหนัง) เพื่อสื่อว่าแม้ตัวละครยังคงต้องอดรนทนทุกข์ทรมานกับสิ่งต่างๆที่อยู่ภายในจิตใจ แต่หลังจากนี้เมื่อได้พบเจอความรัก/ศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า ชีวิตก็จักเอ่อล้นด้วยหนทางหวัง

ตัดต่อโดย Jacques Witta (เกิดปี 1934) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Claude Berri, Jean Becker แต่โด่งดังจากการร่วมงาน Krzysztof Kieślowski ตั้งแต่ The Double Life of Véronique (1991), Three Colors: Blue (1994) และ Three Colors: Red (1994)

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Julie de Courcy ตั้งแต่หลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีสภาพบอบช้ำทั้งร่างกาย-จิตใจ → เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านอาการบาดเจ็บเริ่มทุเลา แต่สภาพจิตใจยังเต็มไปด้วยความโศกเศร้า มิอาจปล่อยละวางความสูญเสีย จึงตัดสินใจละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง หลบหนีไปอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ → ถึงอย่างนั้นอดีตยังคงระราวี โดยเฉพาะหลังจากเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit ติดตามมาพบเจอ ทำให้ความลับของสามีค่อยๆได้รับการเปิดเผย → เลยจำใจต้องเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริง จากนั้นทุกสิ่งอย่างก็เริ่มปรับเปลี่ยนแปลงไป

  • อารัมบท, อุบัติเหตุทางรถยนต์
  • องก์หนึ่ง, ปฏิกิริยาหลังการสูญเสีย
    • Julie ต้องการคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่ไม่สามารถกล้ำกลืนได้ลง
    • ช่วงการพักรักษาตัว รับชมถ่ายทอดสดพิธีศพ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์นักข่าว
  • องก์สอง, ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง หลบหนีไปให้ไกล ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่
    • ประกาศขายบ้าน ขายทุกสิ่งอย่าง รวมถึงพยายามทำลายผลงานชิ้นสุดท้ายของสามี
    • ร่วมรักกับเพื่อนร่วมงาน Olivier Benôit (ที่แอบชื่นชอบมานาน) แต่กลับทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงกว่าเดิม
    • หลบหนีมาอาศัยอยู่ยัง Rue Mouffetard
  • องก์สาม, อดีตยังคงระราวี ความลับค่อยๆได้รับการเปิดเผย
    • พบเจอชายหนุ่มที่ช่วยเหลือ Julie ให้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ต้องการมอบคืนจี้ไม้กางเขน แต่มันทำให้เธอหวนระลึกถึงอดีตเลยปฏิเสธยอมรับ
    • พบเจอครอบครัวหนูในห้องเช่า กลับไปหามารดาป่วยโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) ค้นพบว่านั่นคือบาดแผลทางใจวัยเด็ก (Traumatic Childhood) เลยตัดสินใจขอยืมแมวของเพื่อนข้างห้องใช้กำจัดพวกมัน
    • Olivier ติดตามมาพบเจอ Julie โน้มน้าวให้ร่วมทำเพลงสุดท้ายของสามีเธอให้เสร็จสรรพ
    • ระหว่างกำลังปลอบใจ Lucille ยังไนท์คลับแห่งหนึ่ง Julie ค้นพบการมีตัวตนชู้รักของสามีจากสารคดีฉายทางโทรทัศน์ (รวมถึงฉบับคัทลอกบทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปของสามี ตกอยู่ในมือของ Olivier)
  • องก์สี่, เรียนรู้จักการเผชิญหน้า ยินยอมรับความจริง
    • Julie เดินทางไปเผชิญหน้ากับชู้รัก แต่พอเห็นเธอตั้งครรภ์จึงมอบคฤหาสถ์ที่เคยตั้งใจประกาศขายให้
    • หวนกลับไปหา Olivier ร่วมทำเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรปจนแล้วเสร็จ และยินยอมรับความรักของเขา
  • ปัจฉิมบท, ทบทวนสิ่งต่างๆบังเกิดขึ้น แม้จิตใจยังเจ็บปวดรวดร้าว แต่มุมปากปรากฎรอยยิ้มบางๆ

เทคนิคที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของหนัง! เมื่อใครบางคนทำให้ Julie หวนระลึกถึงสามีผู้ล่วงลับ จะมีการ Fade-To-Black พร้อมเสียงเพลงท่อนแรกออร์เคสตรา(ที่ยังแต่งไม่เสร็จ) ผ่านไปประมาณ 3-4 วินาที ถึงค่อยเฟดกลับมาตำแหน่งเดิม นี่คือภาษาภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Kieślowski ครุ่นคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยบอกว่าเป็นการหยุดเวลาชีวิต(ของ Julie) สื่อถึงอดีตที่ยังคงติดตามมาหลอกหลอน (ทั้งภาพและเสียง)

at a certain moment, time really does pass for Julie while at the same time, it stands still. Not only does her music come back to haunt her at a certain point, but time stands still for a moment.

Krzysztof Kieślowski

ผมครุ่นคิดว่าโครงสร้างเดิมของหนังที่นำเสนอผ่านมุมมองนักข่าว (ตัวละครที่เคยมาติดต่อขอสัมภาษณ์ Julie แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธ) แนวโน้มสูงมากๆจะมีลักษณะคล้าย Citizen Kane (1941) คือไปสัมภาษณ์ตัวละครอื่นๆเพื่อรวบรวมข้อมูลมาทำรายการข่าว (ที่ออกฉายผ่านโทรทัศน์) ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดของ Julie น่าจะมีลักษณะย้อนอดีต (จากเรื่องเล่าระหว่างการสัมภาษณ์) … โครงสร้างของหนังลักษณะนี้ น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อแทนมุมมองบุคคลนอก หรือคือผู้กำกับ Kieślowski ต่อสถานการณ์ทวีปยุโรป(หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย)เฉกเช่นไร?

การเปลี่ยนโครงสร้างดำเนินเรื่องจากนักข่าวสาวมาเป็น Julie หรือคือจากมุมมองบุคคลที่สาม (Third-Person) มาเป็นบุคคลที่หนึ่ง (First-Person) นี่ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆในระยะประชิดใกล้ สามารถทำความเข้าใจปฏิกิริยาความรู้สึกของตัวละคร (ไม่ใช่แค่พบเห็นเรื่องราวผ่านๆแบบการนำเสนอมุมมองบุคคลที่สาม) ซึ่งยังสื่อถึงผู้กำกับ Kieślowski แสดงความคิดเห็นต่อ Poland (หรือประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต) ในการเข้าร่วมสหภาพยุโรป


เพลงประกอบโดย Zbigniew Preisner (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงสัญชาติ Polish เกิดที่ Bielsko-Biała วัยเด็กชื่นชอบกีตาร์กับเปียโน หัดเล่น-เขียนบทเพลงด้วยตนเอง (ไม่เคยเข้าศึกษาที่ไหน) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์และปรัชญา Jagiellonian University, Krakow จบออกมาทำงานยังโรงละคร Stary Theater, ระหว่างทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Prognoza pogody (1981) มีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski เริ่มร่วมงานกันตั้งแต่ No End (1995) จนถึงเรื่องสุดท้าย Three Colours (Blue, White, Red)

ความที่หนังมีเรื่องราวเกี่ยวกับคีตกวี รวมถึงกระบวนการแต่งเพลง ถือเป็นความท้าทายของ Preisner ที่ต้องร่วมงานผู้กำกับ Kieślowski อย่างใกล้ชิดในทุกๆรายละเอียด และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำเพลงให้เสร็จสรรพก่อนเริ่มต้นการถ่ายทำ (เพราะเพลงประกอบคือสิ่งกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของหนัง)

He said immediately what he needed. I wrote the music right away, and when he started shooting, he had everything, the theme, the songs, the concert … While making the film, he knew exactly what we were going to do and what emotions the music would create.

Zbigniew Preisner

ขอเริ่มต้นจาก Song for the Unification of Europe ผลงานชิ้นเอก Masterpiece ยอดเยี่ยมที่สุดของ Zbigniew Preisner! หลายคนคงเข้าใจว่าน่าจะมีทั้งสองฉบับของ Julie และ Olivier แต่ในอัลบัมเพลงประกอบกลับเป็นสองฉบับของ Julie และ Patrice (แล้วฉบับที่ควรเป็นของ Olivier หายไปไหนละเนี่ย??) เริ่มต้นเหมือนกันด้วยการประสานเสียงร้อง(คอรัส) เพื่อสื่อถึงการรวมตัวเป็นหนึ่ง จากนั้นความแตกต่างที่สังเกตได้ชัดคือฉบับของ Patrice เปลี่ยนมาขับร้องโดยศิลปินเดี่ยว และท่อนจบฉบับของ Julie จะมีอีกท่วงทำนองต่อท้าย

Patrice’s Version ขับร้องโดยศิลปิน …(ไม่มีระบุนาม)… มอบสัมผัสที่ฟังแล้วเหมือนจับต้องได้ อนาคตอันใกล้ เชื่อว่าอีกไม่นานมนุษย์ชาติจักสามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น (ประเทศในทวีปยุโรปกลายเป็นสหภาพยุโรป) ด้วยอุดมการณ์ที่เรียกว่าความรัก(ชนะทุกสิ่ง)

เนื้อคำร้องภาษากรีกโบราณ (อ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิ้ล 1 Corinthians 13:1-13 น่าจะเป็นภาษาแก่ที่สุดที่มนุษย์สามารถพูดคุยสื่อสาร) กล่าวถึงคำพยากรณ์อนาคต ต่อให้โลกล่มสลาย ขุนเขาพังทลาย แต่ศรัทธาในความรักไม่มีวันพ่ายแพ้ ยังคงเปร่งประกายความหวัง ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือสิ่งที่จะทำให้มนุษยชาติสามารถรวมตัวเป็นหนึ่ง

If I speak in the tongues of men and of angels,
but have not love, I am only a ringing gong or a clanging cymbal
– 1 Corinthians 13:1

If I have the gift of prophecy and can fathom all mysteries and all knowledge,
and if I have absolute faith so as to move mountains,
but have not love, I am nothing.…
– 1 Corinthians 13:2

Love is patient, love is kind.
It does not envy, it does not boast, it is not proud.
– 1 Corinthians 13:4

It bears all things, believes all things,
hopes all things, endures all things.
– 1 Corinthians 13:7

Love never fails. But where there are prophecies, they will cease;
where there are tongues, they will be restrained;
where there is knowledge, it will be dismissed.
– 1 Corinthians 13:8

And now these three remain: faith, hope, and love;
but the greatest of these is love.
– 1 Corinthians 13:13

โดยส่วนตัวมีความชื่นชอบหลงใหล Julie’s Version >>> Patrice’s Version เพราะเสียงขับร้องโซปราโนของ Elżbieta Towarnicka มอบสัมผัสเหนือจริง ทำให้จิตวิญญาณล่องลอยไป เหมือนสิ่งนามธรรมจับต้องไม่ได้ ซึ่งสะท้อนทัศนคติของผมเองต่อเนื้อคำร้อง ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ มันไม่มีทางเป็นจริง เพียงอุดมคติลมๆแล้งๆของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น!

นี่เป็นบทเพลงที่สะท้อนจิตวิญญาณของ Julie ที่เริ่มต้นไม่ได้เชื่อเรื่องความรัก แต่หลังจากพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ จุดตกต่ำสุดของชีวิต จึงสามารถฟื้นคืนชีพ เริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยเหตุนี้ช่วงท้ายจึงมีปัจฉิมบทต่ออีกท่อน ประสานเสียงร้อง(คอรัส) แทนด้วยถึงการค้นพบศรัทธาแห่งรัก แม้ต้องแลกมาด้วยความรวดร้าวระทม ขื่นขม ยังคงเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน ก็ยังดีกว่าการอดรนทน อาศัยใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง

หนังเต็มไปด้วย Variation ของบทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) บางครั้งมาเป็นท่อนเล็กๆระหว่างอ่านตัวโน๊ต ขณะประพันธ์เพลง แต่น่าสนใจสุดก็คือเสียงขลุ่ยจากนักดนตรีข้างถนน ทั้งๆไม่เคยพบเจอ รับรู้จัก ไร้ความสัมพันธ์ใดๆ เพลงนั้นก็ยังแต่งไม่เสร็จ หมอนี่จะไปได้ยินจากไหน? ซึ่งเหตุผลดังกล่าวใครเคยรับชม The Double Life of Veronique (1991) น่าจะขนลุกขนพอง เข้าใจได้เองโดยอัตโนมัติ!

เรื่องราวของ The Double Life of Veronique (1991) คือหญิงสาวสองคนหน้าตาเหมือนเปี๊ยบ แค่เคยสวนทางกันครั้งเดียว แต่พอเธอคนหนึ่งพลันด่วนเสียชีวิต ทุกสิ่งอย่างได้ถูกส่งต่อ/ราวกับจิตสัมผัสไปให้หญิงสาวอีกคนหนึ่ง กลายเป็นบทเรียนฝังใจไม่ให้กระทำสิ่งใดๆผิดพลาดซ้ำสอง/ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม! … ผมอาจอธิบายเหตุผลได้ไม่ละเอียดนัก ถ้าอยากเข้าใจจริงๆแนะนำให้ไปหา The Double Life of Veronique (1991) มารับชมดูเองนะครับ

ใครเคยรับชม No End (1985) ครั้งที่แรกผู้กำกับ Kieślowski ร่วมงานนักแต่งเพลง Preisner น่าจะรู้สึกมักคุ้นเคย มีความละม้ายคล้าย Funeral Music ซึ่งแทบจะเป็น Main Theme ของภาพยนตร์เรื่องนั้น! ถือเป็นอีกจุดที่เชื่อมโยงถึงกัน มอบสัมผัสท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัย ไร้หนทางออก

ผมเพิ่งมาเห็นว่า Preisner สร้างอีกจุดเชื่อมโยง(ในจักรวาลภาพยนตร์ ‘Kieślowski Universe’) ด้วยการให้ผู้ประพันธ์บทเพลงงานศพนี้คือ Van den Budenmayer คีตกวีสมมติ (ไม่มีตัวตนอยู่จริง) เคยถูกกล่าวถึงครั้งแรกจากผลงาน The Double Life of Veronique (1991) และมีการพูดถึงอีกครั้งตอน Red (1994)

ซึ่งท่อนแรกของ Feneral Music กลายเป็นบทเพลงที่ Julie พอได้ยินแล้วจดจำตราฝังใจ (กลายเป็น Trauma เลยก็ว่าได้) ทุกครั้งเมื่อใครทำให้เธอหวนระลึกถึงสามี ท่วงทำนองนี้ก็จะดังขึ้นมาพร้อมการ Fade-to-Black จอดำไป 3-4 วินาทีแล้วค่อย Fade-In กลับเข้ามาใหม่ (ในอัลบัมใช้ชื่อ Julie – Glimpses of Burial, Ellipsis 1, Ellipsis 2, Ellipsis 3 และบทเพลง Funeral Music จะมีฉบับเครื่องลม Winds, ออร์แกน Organ และออร์เคสตราเต็มวง Full Orchestra)

สำหรับคนที่มองหา Song for the Unification of Europe ฉบับของ Olivier ผมครุ่นคิดว่า Preisner ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเป็น Olivier’s Theme ในอัลบัมพบเห็นอยู่สามบทเพลง Piano, Trial Composition และ Finale ดังขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเพิ่งค้นพบ ร่วมประพันธ์/แก้ไขกับ Julie และตอนจบครุ่นคิดขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งมีความแตกต่างจากฉบับของ Julie และ Patrice โดยสิ้นเชิงเลยละ!

ผมเลือกนำเอา Trial Composition ที่บันทึกเสียงสนทนาของ Julie และ Olivier ระหว่างกำลังทำการปรับเปลี่ยนแก้ไข พร้อมทำนองออร์เคสตราที่เปลี่ยนแปลงไปโดยทันที ไม่รู้เหมือนกันว่าทำการบันทึกสดๆ (Live Record) หรืออัดเสียงล่วงหน้า (Pre Record) หรือไปผสมเสียงเอาภายหลัง (Sound Mixing) แต่ก็ต้องชมว่าเป็นการผสมผสานได้อย่างลงตัว พอดิบดี (ในบทหนังคงเขียนรายละเอียดส่วนนี้ไว้อย่างเปะๆทีเดียว!)

Song for the Unification of Europe ฉบับของ Olivier เป็นบทเพลงที่มีเพียงโครงสร้าง หยาบกระด้าง (ดังคำที่เจ้าตัวอธิบายไว้ “a little heavy and awkward”) ไร้ซึ่งจิตวิญญาณเมื่อเทียบกับ Julie หรือ Patrice นี่น่าจะคือเหตุผลที่ Preisner ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น Olivier’s Theme เพราะสะท้อนตัวตนของตัวละครออกมาได้ตรงกว่า

Blue (1993) นำเสนออารมณ์บลู ความเศร้าโศกจากการสูญเสีย เพราะยังมิอาจปล่อยปละละวาง เลยทำการหลบลี้หนีหน้า ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง แล้วอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ปฏิเสธพึ่งพักพิงผู้อื่นใด แต่อดีตกลับติดตามมาระราวี ความลับต่างๆค่อยๆได้รับการเปิดเผย เลยจำต้องยินยอมรับ เผชิญหน้ากับความจริง แม้จิตใจยังเจ็บปวดรวดร้าว แต่มุมปากปรากฎรอยยิ้มบางๆสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่

การหลบหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง ใครๆก็น่าจะบอกได้ว่านั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง! แต่เราสามารถมองคือการถอยหลัง กลับไปตั้งหลักให้มั่นคง (ไม่ใช่ทุกคนจะมีความเข็มแข็งทั้งร่างกาย&จิตใจ) พร้อมเมื่อไหร่ค่อยหวนกลับมาเผชิญหน้า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” ยินยอมรับสิ่งผิดพลาดทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น นั่นถึงจะทำให้ชีวิตสามารถก้าวดำเนินต่อไป

ตั้งแต่สหภาพแรงงาน Solidarity ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 1989 นำไปสู่จุดจบรัฐบาลคอมมิวนิสต์ใน Poland แล้วกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการล่มสลายของกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) และสหภาพโซเวียต (1989-91) มันช่างพอดิบพอดีในช่วงเวลาที่ผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ก้าวออกมาจากกำแพงอิฐ (ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศ Poland) เริ่มสรรค์สร้างภาพยนตร์ร่วมทุนนานาชาติ The Double Life of Veronique (1991) คือสัญลักษณ์ของการถือกำเนิดใหม่ อาจไม่ใช่ร่างกาย-จิตวิญญาณดั้งเดิม แต่บางสิ่งอย่างได้ถูกส่งต่อจาก Weronika มาเป็น Véronique

สำหรับ Blue (1993) เริ่มต้นที่การสูญเสียครอบครัว สามารถเปรียบเทียบถึงการล่มสลายของกลุ่มตะวันออกและสหภาพโซเวียต (ครอบครัวคอมมิวนิสต์) แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้เมื่อได้รับ ‘เสรีภาพ’ ย่อมต้องมีการพักฟื้น ก้าวถอยหลังไปตั้งหลักให้มั่นคง เสริมสร้างพละกำลังให้ปีกกล้าขาแข็งก่อนกลับมาสู่ประชาคมโลก

ปล. Poland คือสมาชิกประเทศกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) สามารถแยกตัวจากสหภาพโซเวียตตั้งแต่ Polish October 1956 แค่ยังบริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ (โดยมีสหภาพโซเวียตชักใยอยู่เบื้องหลัง) จนถึงปี 1989

บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) ที่หนังพยายามเน้นย้ำนักย้ำหนา สามารถสื่อตรงๆถึงสหภาพยุโรป (European Union, EU) ขอเล่าที่มาที่ไปสักหน่อยก่อนก็แล้วกัน ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1952 ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิก ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก เริ่มจากการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community – ECSC), แล้วต่อมาปี 1957 สมาชิก ECSE ก็มีการลงนามสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community – EEC), จากนั้นหลายๆประเทศในยุโรปก็เริ่มตอบตกลงเข้าร่วม

  • ค.ศ. 1973: สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และไอร์แลนด์
  • ค.ศ. 1981: กรีซ
  • ค.ศ. 1986: สเปน และโปรตุเกส

และเมื่อปี ค.ศ. 1992 มีการลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป (Treaty of the European Union หรือ Maastricht Treaty) ทำให้มีคำเรียกใหม่ สหภาพยุโรป (European Union, EU) ด้วยสามจุดประสงค์หลัก

  1. เพื่อเป็นประชาคมของประเทศในทวีปยุโรป
  2. เสริมสร้างนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง(ในทวีปยุโรป)
  3. และความร่วมมือด้านกิจการยุติธรรม และกิจการภายใน

ผู้กำกับ Kieślowski น่าจะเล็งเห็นถึงอนาคต ความสำคัญของสหภาพยุโรป (EU) ที่จักเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้ทุกประเทศ(ในยุโรป)บังเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกลายเป็นพันธมิตรสำหรับต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย (ที่อาจกลับมาเรืองอำนาจอีกในอนาคต) … ซึ่งหลังจากที่ Julie ยินยอมเผชิญหน้าชู้รักสามี รวมถึงร่วมประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองการรวมตัวสหภาพยุโรป (Song for the Unification of Europe) จนสำเร็จเสร็จสรรพ สามารถสื่อคำพยากรณ์อนาคตที่ยุโรปจักสามารถรวมตัวกลายเป็นปึกแผ่น!

แซว: ผู้กำกับ Kieślowski เป็นชาว Polish ย่อมคาดหวังว่าประเทศ Poland จะสามารถเข้าร่วมสหภาพยุโรป แต่กว่าจะถึงตอนนั้นก็ต้องรอคอยเมื่อปี ค.ศ. 2004 น่าเสียดายไม่ทันมีชีวิตอยู่เห็น

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้กำกับ Kieślowski รับรู้ว่ามีปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่เมื่อไหร่ (คาดว่าตั้งแต่ก่อนสรรค์สร้าง The Double Life of Veronique (1991)) น่าจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า หลังเสร็จจาก Three Colours Trilogy จะประกาศรีไทร์เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการรักษา (แต่โชคร้ายเสียชีวิตระหว่างกำลังผ่าตัดเปิดหัวใจ) ด้วยเหตุนี้เราสามารถมองเรื่องราวของ Blue (1993) คือปฏิกิริยาหลังรับรู้ว่าตนเองล้มป่วยโรคหัวใจ มีความเสี่ยงสูงในการเข้าผ่าตัด

ปฏิกิริยาของ Kieślowski อาจไม่สาหัสสากันเหมือนตัวละคร (แต่ก็ไม่แน่หรอกนะครับ เพราะผลงานของ ‘auteur’ มักมีความใกล้เคียงผู้สร้างมากๆๆ) คงทำให้เขาเริ่มครุ่นคิดทบทวนตนเอง ตั้งคำถามอภิปรัชญา ฉันเกิดมาเพื่ออะไร? จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่อยากกระทำ เผื่อถ้าพลันด่วนเสียชีวิตก็จักไม่รู้สึกสูญเสียใจเอาภายหลัง

ซึ่งสิ่งสำคัญสูงสุดที่ผู้กำกับ Kieślowski ได้ทำการค้นพบนั้นคือความรัก “the greatest of these is love” อ้างอิงจากคัมภีร์ไบเบิล 1 Corinthians 13:13 แม้เราอาจต้องเจ็บปวดรวดร้าว ทนทุกข์ทรมาน แต่ตราบเท่าที่ยังมีรัก ย่อมสามารถยินยอมรับ ยกโทษให้อภัย ก่อให้เกิดความสันติสุขทั่วทุกแห่งหน

และเป้าหมายชีวิตของเขาต่อจากนั้นก็คือ การเผยแพร่แนวคิด/หลักคำสอนดังกล่าว กลายมาเป็นภาพยนตร์ Blue (1993) ยัดเยียดให้หญิงสาวสามารถค้นพบเจออุดมคติแห่งความรัก คือสิ่งทำให้เธอเปี่ยมด้วยความหวัง กำลังใจ ก้าวข้ามผ่านการสูญเสีย ชีวิตสามารถดำเนินต่อไป … และสหภาพยุโรปรวมตัวกลายเป็นปึกแผ่น (สะท้อนความเพ้อฝัน อนาคตที่อยากให้บังเกิดขึ้น)

เมื่อตอนรับชม Three Colours: White (1993) ผมขำกลิ้งต่อความกลับกลอกปอกลอกของผู้กำกับ Kieślowski นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการแก้แค้น (Revenge Film) เอาคืนอดีตภรรยาอย่างสาสม! แล้วเรียกสิ่งนั้นว่าความเสมอภาคเท่าเทียม Égalité (Equality) มันช่างเป็นอุดมคติแห่งรักที่วิปริต บิดเบี้ยว คอรัปชั่น! แทนที่จะยกโทษให้อภัยไม่ว่าอีกฝั่งฝ่ายกระทำผิดเช่นไร หมดรักเมื่อไหร่ก็แสดงสันดานธาตุแท้ของมนุษย์ออกมา เช่นนั้นหรือ??


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ารางวัล Golden Lion เคียงคู่ Short Cuts (1993) ของผู้กำกับ Robert Altman นอกจากนี้ยังได้รางวัลอื่นอีกเยอะแยะไปหมด

  • Golden Lion
  • Volpi Cup for Best Actress (Juliette Binoche)
  • Pasinetti Award: Best Actress (Juliette Binoche)
  • Golden Osella: Best Cinematography
  • Golden Ciak
  • Little Golden Lion
  • OCIC Award รางวัลของศาสนคาทอลิก

หนังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในฝรั่งเศส เพียงสัปดาห์แรกจำนวนผู้ชม 155,941 และมีรายงานตัวเลขยอดจำหน่ายตั๋วทั่วโลกเกินกว่า 5+ ล้านใบ (ไม่มีระบุประเทศไหนคนดูเท่าไหร่) ช่วงปลายปีเลยได้เข้าชิง/คว้ารางวัล César Award อยู่หลายสาขา

  • César Award
    • Best Film
    • Best Director
    • Best Actress (Juliette Binoche) ** คว้ารางวัล
    • Most Promising Actress (Florence Pernel)
    • Best Screenplay
    • Best Cinematography
    • Best Editing ** คว้ารางวัล
    • Best Sound ** คว้ารางวัล
    • Best Music

น่าเสียดายที่หนังไม่ได้เป็นตัวแทนฝรั่งเศสหรือโปแลนด์ลุ้นรางวัล Oscar (เพราะฝรั่งเศสมองว่าผู้กำกับ Kieślowski เป็นชาว Polish, ขณะที่โปแลนด์บอกว่าเป็นหนัง ‘too French’) แต่ยังได้เข้าชิง Golden Globe Award ถึงสามสาขา

  • Golden Globe Award
    • Best Foreign Language Film
    • Best Actress – Drama (Juliette Binoche)
    • Best Original Score

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ High-Definition คุณภาพเสียง 2.0 DTS-HD โดยรวมถือว่ายอดเยี่ยม สามารถหารับชมช่องทางออนไลน์ได้แทบจะทุกค่ายใหญ่ๆ แต่ถ้าต้องการซื้อแผ่น Blu-Ray เลือกได้ทั้งฉบับของ MK2 และ Criterion (สแกนได้ดีทั้งคู่แต่ Criterion จะมี Special Feature มากกว่าพอสมควร)

ส่วนฉบับบูรณะ 4K เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2022 เมืองไทยนำเข้าฉายกรกฎา-สิงหา-กันยา ไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาเลยนะครับ ถ้าใครพลาดโอกาสนี้คงต้องรออีกพักใหญ่ๆก่อนสามารถหารับชมช่องทางอื่น

ระหว่างรับชมบอกเลยว่าผมชื่นชอบหนังอย่างมากๆ ประทับใจในลูกเล่นลีลา พัฒนาเทคนิคภาษาขึ้นใหม่ มีอะไรๆชวนให้ขบครุ่นคิดมากมาย แต่ทุกสิ่งอย่างก็พังทลายในห้านาทีสุดท้าย เมื่อเหตุผลของการหวนกลับไปของตัวละครเพื่อตอบสนองอุดมคติแห่งความรัก ยินยอมอดรนทนทุกข์ทรมานแม้ถูกทรยศหักหลัง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการมีเพศสัมพันธ์ ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ นั่นสร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญใจอย่างโคตรๆๆๆรุนแรง!

คือมันก็ไม่ผิดอะไรที่ความรักจะสามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นเสรีภาพที่ผู้กำกับ Kieślowski ต้องการนำเสนอออกมา แต่นั่นคือโลกทัศนคติชาติตะวันตกที่ขัดย้อนแย้งกับแนวคิดชาวตะวันออก ไม่เข้าใจแนวคิดที่แท้จริงของการปล่อยละวาง สนเพียงสิ่งสามารถตอบสนองความต้องการ เติมเต็มตัณหาราคะ แม้ต้องตกนรกทั้งเป็นก็อดรนทนไหว เชื่อว่าสรวงสวรรค์คือสิ่งสำคัญสูงสุด

แนะนำหนังกับคนที่กำลังมีอาการซึมเศร้า เพิ่งประสบเหตุการณ์สูญเสีย, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาสภาวะทางจิตใจตัวละคร, นักแต่งเพลง วาทยากร ชื่อชอบบทเพลงคลาสสิก, ตากล้อง ช่างไฟ ทำงานเกี่ยวกับเฉดสีสัน, คนทำงานสายการแสดง และแฟนๆ Juliette Binoche ห้ามพลาดเชียวนะ!

จัดเรต 18+ กับโศกนาฎกรรม อารมณ์เก็บกด เกรี้ยวกราด

คำโปรย | Three Colours: Blue คือเสรีภาพทางอารมณ์ของ Juliette Binoche ภายใต้โลกทัศน์ผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski
คุณภาพ | ณ์บลู
ส่วนตัว | เพียงชื่นชม