เทพธิดาโรงแรม (1974)


เทพธิดาโรงแรม

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) หนังไทย : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ♥♥♥♡

มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก เป็นประโยคที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ วิยะดา อุมารินทร์ ต่างหากคือกะหรี่ของท่านมุ้ยที่สวยที่สุดในโลก! เอ็นดูทะนุถนอมในกองถ่ายจนตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้ต้องหย่าร้างชายาองค์ก่อน แม้มีบุตรร่วมกันมาถึงสองคน

ขณะที่สรพงศ์ ชาตรี คือตัวตายตัวแทนของท่านมุ้ย, คู่ขวัญ-คู่รัก ผู้กำกับ-นางเอกขาประจำนั้นคือ วิยะดา อุมารินทร์ (หม่อมอูม) ทั้งปลุกทั้งปล้ำ ร่วมงานกันหลายครั้ง อาทิ เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗), เทวดาเดินดิน (พ.ศ. ๒๕๑๙), รักคุณเข้าแล้ว (พ.ศ. ๒๕๒๐), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (พ.ศ. ๒๕๒๐), กาม (พ.ศ. ๒๕๒๑), น้องเมีย (พ.ศ. ๒๕๒๑) [เรื่องสุดท้ายเสด็จพ่อกำกับ ท่านมุ้ยถ่ายภาพ]

แม้โดยส่วนตัวไม่คิดว่า เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) มีความเชื่อมโยงชีวิตจริงของท่านมุ้ยมากนัก แต่ก็อาจสะท้อนมุมมอง/ทัศนคติบางอย่าง ซึ่งถ้าเราตีความเชิงสัญลักษณ์แบบที่ Jean-Luc Godard ทำกับ Vivre Sa Vie (1962) โสเภณีเป็นอาชีพไม่ต่างจากขี้ข้าทาสของเผด็จการ! สำหรับรองรับตัณหา อารมณ์ ความต้องการของลูกค้า เพราะได้รับผลตอบแทนบางอย่าง จึงยินยอมก้มหัว ศิโรราบ ไม่สามารถต่อต้านขัดขืนประการใด … กล่าวคือนัยยะของโสเภณี ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ กดขี่ข่มเหงอิสตรีเพศ แต่สามารถเหมารวมถึงระบบครอบครัว ระบอบทุนนิยม รวมถึง(เผด็จการ)การเมืองด้วยนะครับ

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความกลมกล่อมนัก ดูขาดๆเกินๆเหมือนมีเนื้อหาบางส่วนสูญหาย แต่ก็จัดเต็มด้วยลูกเล่น ลวดลีลา นำเสนอเทคนิคอันแพรวพราวระยิบระยับ รับอิทธิพลเต็มๆจากยุคสมัย French New Wave พัฒนามาเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเอง และน่าประทับใจสุดๆก็คือสองนักแสดงนำ การพลิกบทบาทครั้งสำคัญของสรพงศ์ ชาตรี การันตีความเป็นพระเอกที่ไม่หล่อแต่เล่นได้ทุกบทบาท และวิยะดา อุมารินทร์ กระหรี่ของท่านมุ้ยที่สวยที่สุดในโลกจริงๆ


หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๔๘๕) เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา (สุฤทธิ์), ในพระอัยกา ทรงประสูติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นยังยึดครองกรุงเทพฯ

พอเกิดมาก็เห็นพ่อ เห็นแม่ เห็นลุงสร้างหนัง ผมได้เห็นฟีล์ม เห็นกล้อง ได้จับกล้อง เล่นกล้อง คุ้นเคยกับหนังมาตั้งแต่เด็กแล้ว

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

แม้จะเติบโตขึ้นในครอบครัวนักสร้างภาพยนตร์ แต่ความสนพระทัยวัยเด็กของท่านมุ้ยคือการดำน้ำ หลงใหลในโลกสีคราม ถึงขนาดเคยประดิษฐ์พยายามอุปกรณ์ดำน้ำด้วยตนเองแต่ไม่สำเร็จ พอโตขึ้นไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา University of California, Los Angeles (UCLA) ก็เลือกสาขาธรณีวิทยา วิชาที่เรียนรู้ถึงโลกที่อาศัยอยู่ ตลอดไปจนถึงจักรวาล

ระหว่างอยู่ปีสองได้พบเจอ ตกหลุมรัก เสกสมรสกับหม่อมศริยา ยุคล ณ อยุธยา (บุษปวณิช) แล้วมีโอรส-ธิดาทันทีถึงสองพระองค์ นั่นทำให้เกิดภาระในการเลี้ยงดู จึงจำต้องเริ่มหางานทำ ความที่พระอัยกา (พระองค์ชายใหญ่) เคยร่วมงานกับ Merian C. Cooper เมื่อครั้นมาเมืองไทย ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องช้าง (พ.ศ. ๒๔๗๐) จึงเข้าไปสมัครงาน ได้เป็นผู้ช่วยตากล้อง, ช่างกล้องกองสอง, เลยตัดสินใจลงเรียนเสริมวิชาโท สาขาภาพยนตร์ รู้จักเพื่อนร่วมห้อง Francis Ford Coppola และ Roman Polanski

เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยแทนที่จะทำงานด้านธรณีวิทยา กลับเบนเข็มมาทำงานภาพยนตร์ โดยเริ่มจากช่วยงานเสด็จพ่อ เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), แม่นาคพระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๓), ระหว่างนั้นร่วมกับพระสหายก่อตั้งบริษัท พร้อมมิตรภาพยนตร์ เริ่มต้นทำหนังโทรทัศน์ ผลงานเรื่องแรก หญิงก็มีหัวใจ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ใช้พระนามแฝง ช. อัศวภักดิ์, ภาพยนตร์เรื่องแรก มันมาจากความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) สาเหตุที่อยากสร้างเรื่องนี้เพราะว่ามีทั้งฉากดำน้ำ เข้าถ้ำ ออกเดินทางไปถ่ายทำต่างจังหวัด ผลลัพท์แม้ได้รับคำชมว่าแปลกใหม่ ใจกล้าดีแท้ แต่ขาดทุนย่อยยับ ค่อยมาประสบความสำเร็จกับเขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ทั้งกำไรและคว้ารางวัลพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม

เสร็จสรรพจาก เขาชื่อกานต์ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเหมือนสายตัวแทบขาด เข็ดหลาบแล้วเรื่องการทำหนัง … แต่เอ๊ะ! เห็นใครเขาลือกันว่า คุณณรงค์ จันทร์เรือง แกเขียนเรื่องเด็ดสะระตี๋ อยู่ในหนังสือฟ้าเมืองไทย ประสพ โว้ย! โทรศัพท์ติดต่อคุณณรงค์ให้ฉันที

คำปรารถของท่านมุ้ย ในหนังสือสูจิบัตร เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ส่วนเรื่องเด็ดสะระตี๋ที่ว่านั้นก็คือ เทพธิดาโรงแรม

ท่านมุ้ยกล่าวกับ ณรงค์ จันทร์เรือง ถึงเหตุผลที่เลือก เทพธิดาโรงแรม มาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็เพราะว่าท่านชอบอ่านเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบสามารถมองเห็นว่ามันจะปรากฎออกมาทางจอหนังยังไง และที่สำคัญคือท่านชอบทำในเรื่องที่ไม่มีใครจะทำ อย่างเช่นเรื่องโสเภณี

ท่านเป็นคนที่ชอบท้าทาย ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ คือในช่วงนั้น นางเอกที่เป็นกะหรี่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็จะให้นางเอกเป็นกะหรี่ ให้เป็นกะหรี่ทั้งเรื่องเลย จะลองดูว่าเป็นยังไง

สมถวิล สุวรรณกูฏ ผู้ช่วยคนสนิทของท่านมุ้ย

ณรงค์ จันทร์เรือง (พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๕๗) นักเขียนชาวไทย นิยมใช้นามปากกาใบหนาด เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตสระบุรี เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ส่งบทกลอนลงหนังสือศรีสัปดาห์ ส่งนิทานลงดรุณสาร ตีพิมพ์เรื่องสั้นแรก วิวาห์ในอากาศ ลงนิตยสารแสนสุขและแม่ศรีเรียน พอเริ่มเขียนเรื่องยาวก็เลิกโรงเรียนไม่ทันจบชั้น ม.๘ และเข้าทำงานตำแหน่งพิสูจน์อักษรที่นิตยสารแสนสุข

สำหรับเทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๖) ถือเป็นหนึ่งในผลงานเลื่องชื่อดังที่สุด (เคียงคู่กับ วิมานสลัม) ณรงค์เคยให้สัมภาษณ์เล่าว่าได้รับคำชักชวนจากอาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้ไปเขียนลงนิตยสารฟ้าเมืองไทย

พี่อาจินต์ (ปัญจพรรค์) เขามาชวนไปเขียนให้ฟ้าเมืองไทย ทีแรกเราคุยกันว่าขนาดพ็อกเกตบุ๊กนะเอาสัก 12 ตอนก็พอ แต่พอลงได้ 3-4 ตอน อู้ฮู แฟนๆแม่งเกรียวกราวเลย ด่ามาเช็ดเลยก็มี หาว่าเรื่องลามกอนาจาร เรื่องกะหรี่อีตัว แต่ที่เขียนมาชมก็มี พอผู้อ่านชักกล่าวขวัญกันหนักขึ้น เราก็วางโครงการขยายเรื่องไปเรื่อยๆจนถึง 31 บท

ณรงค์ จันทร์เรือง

คำนิยมของอาจินต์ ปัญจพรรค์ อธิบายที่มาที่ไปของเทพธิดาโรงแรมไว้อย่างน่าสนใจ

ณรงค์: “บางคน เขาว่าผมเขียนโป๊ ผมอยากเขียนเรื่องไม่ให้โป๊ดูบ้าง”
อาจินต์: “เอาไหมล่ะ เขียนเรื่องของโลกแห่งความโป๊ แต่เราเขียนไม่ให้โป๊ดูบ้าง เช่นเราเขียนชีวิตของผู้หญิงหากิน ชอคกะรี ดูบ้าง”
ณรงค์: “ใครเขาจะเอาครับ”
อาจินต์: “ก็หนังสือที่ผมทำอยู่น่ะสิ ฟ้าเมืองไทย”

ในบทสัมภาษณ์ที่ผมอ่านเจอณรงค์แกไม่ปิดบังรสนิยมของตนเองเลยนะ ชื่นชอบการเที่ยวซ่อง ตีกะหรี่ เรียกว่าเต็มไปด้วยด้วยประสบกามารมณ์ รับรู้จักสาวๆโสเภณีมากมาย ซึ่งก็คงเลือกเอาต้นแบบจากใครคนหนึ่งที่เคยใช้บริการ (เห็นว่าอาจินต์ก็รับรู้จักเธอคนนั้นเสียด้วยนะ)

ข้าพเจ้ายังรู้ต้นตอการกำเนิดของนวนิยายเรื่องนี้ ข้าพเจ้ารู้เทือกเถาเหล่ากอของมาลี สาวเหนือ ตั้งแต่หล่อนหั่นกล้วยเลี้ยงหมู จนกระทั่งมาเป็นดาราประตูดี ในบทบาทของนางเอกเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในการอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง หากจะได้อ่านความเป็นมาของเรื่องนั้น จุดกำเนิด การเดินทางของตัวอักษร ก็จะไม่เสียหลายอะไรเลย กลับจะทำให้เกิดรสชาติในการอ่านเพิ่มขึ้น คล้ายๆ เรามองภาพสีน้ำมันอันสวยงามภาพหนึ่ง

ส่วนหนึ่งจากคำนิยมของอาจินต์ ปัญจพรรค์

ชั้นเชิงการเขียนของณรงค์ ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการพรรณาเรื่องรักๆใคร่ๆ ไม่ได้มีความโจ๋งครึ่ม โป๊เปลือยอย่างที่ใครครุ่นคิดกัน ถูกนำเสนอในเชิงศิลปะที่มีความไพเราะงดงาม

บางคนเป็นนักศึกษา หอบตำรามาเป็นฟ่อน บางคนเมามายแทบไม่ได้สติ บางคนอ่อนหวานนุ่มนวลอย่างไม่น่าเชื่อ ทำราวกับมาลีเป็นยอดหญิงในดวงใจของเขา บางคนกระโชกโฮกฮาก บางคนเยือกเย็นเชื่องช้าจนน่ารำคาญ บางคนก็รวดเร็วจนน่าใจหาย บางคนพร่ำบ่นชื่อของผู้หญิงคนอื่นขณะกำลังขึ้นสวรรค์บนทรวงอกของมาลี

แซว: หลายๆผลงานของณรงค์ ก็มักมีคำว่าเทพธิดาประดับอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์ อาทิ เทพธิดาราตรี, เทพธิดาวารี, เทพธิดาสลัม, (เทพ)ธิดาคาเฟ่, รวมถึงเทพธิดาโรงแรม ภาคสอง, แต่ก็ไม่มีเทพธิดาไหนประสบความสำเร็จเท่า เทพธิดาโรงแรม (ภาคหนึ่ง) ซึ่งกลายเป็น เทพธิดาแห่งโชคลาภ โดยไม่นึกไม่ฝัน


มาลี (รับบทโดย วิยะดา อุมารินทร์) หญิงสาวจากเมืองเหนือ ถูกแฟนหนุ่มลวงล่อหลอกมาขายตัวในกรุงเทพฯ ตอนแรกเธอพยายามปฏิเสธขัดขืน แต่หลังจากถูกตบเลือดอาบ ก็เรียนรู้ว่าควรสมยินยอม โทน (รับบทโดย สรพงศ์ ชาตรี) จำใจรับสภาพการเป็น “เทพธิดาโรงแรม” อดรนทน เก็บหอมรอมริด เพื่อส่งเงินไปให้พ่อสร้างบ้านหลังใหม่

แต่แล้วโชคชะตาของมาลีก็พลิกพัน เมื่อโทนถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ต้องระเห็จระเหินออกจากโรงแรมแห่งเก่า จนกระทั่งมาพบเจอโกเล็ก (ที่เคยเป็นลูกน้องโทน แต่สามารถหลบหนีเอาตัวรอด) แม้ยังคงเลือกทำงานโสเภณี ก็หาโอกาสเรียนรู้อาชีพเสริมตัดเย็บเสื้อผ้า ขณะเดียวกันมีชายหนุ่มชื่อไพศาล แสดงออกว่าตกหลุมรัก ต้องการสู่ขอแต่งงาน แต่พอเขารับรู้ว่าเธอเป็นกะหรี่ ทุกสิ่งที่ฝันหวานเลยแหลกสลายลงในพริบตา


วิยะดา อุมารินทร์ หรือหม่อมวิยะดา ยุคล ณ อยุธยา ชื่อจริงวิยะดา ตรียะกุล เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษามัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ใฝ่ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส เลยไปเรียนต่อกิจการบินพาณิชย์ โรงเรียนธุรกิจการบิน กระทั่งวันหนึ่งพี่สาวแท้ๆวิภาวดี ตรียะกุล ชักชวนไปดูการฉายภาพยนตร์ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๔) ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มีโอกาสพบเห็นวิยะดา “นี่ไง…มาลี!” เลยกวักมือเรียกวิภาวดีให้ชักชวนน้องเข้าสู่วงการภาพยนตร์

รับบทมาลี แม้ไม่ได้อยากเป็นกะหรี่ แต่เรียนรู้ที่จะก้มหัว ดีกว่าเจ็บตัว ยินยอมศิโรราบต่อโทน แล้วหันมามองโลกในแง่ดี แม้โสเภณีจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือสามัญสำนึกผู้คน ก็ยังสามารถเก็บหอมรอมริด ส่งเงินไปให้พ่อสร้างบ้านใหม่ ขณะเดียวกันวันว่างๆยังใช้เป็นโอกาสศึกษาหาความรู้ เมื่อหวนกลับไปจักมีอาชีพกิจการงานของตนเอง

แซว: ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ว่า ฉากจูบทั้งหมดในเรื่องมีการใช้แสตนอิน ซึ่งก็คือท่านมุ้ยนะแหละ (จูบเองทุกฉาก)

ก็ในตอนที่อูมเล่นหนังน่ะซิคะ ได้ใกล้ชิดกันอยู่แทบตลอดเวลา ท่านคอยแนะนำสั่งสอนอูมเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่จะให้ดียิ่งขึ้น หรือกระทั่งเรื่องส่วนตัวค่ะ

วิยะดา อุมารินทร์

แม้ผมจะเกิดไม่ทันสมัยนั้น ก็ต้องยอมรับว่าวิยะดาสวยจริงๆ ออกแนวน่ารักสดใส ภายนอกดูบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ช่วงแรกๆดูหวาดสะพรึงกลัวอยู่บ้าง แต่เมื่อสามารถยินยอมรับปรับตัว ก็แสดงความระริกระรี้ เหมือนจะชื่นชอบอาชีพนี้ มองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลา … อาจเพราะยังหน้าใหม่ในวงการ จึงมีความใจกล้าบ้าบิ่น ว่าที่สามีให้เล่นอะไรก็เล่น ไม่เกรงกลัวเรื่องเสียๆหายๆ แม้ภายหลังกลายเมื่อตั้งครรภ์เป็นข่าวใหญ่ เธอก็หาได้ใคร่สนเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่

หนังทั้งเรื่องผมแทบไม่รับรู้สึกเลยว่ามาลีคือโสเภณี! เหมือนเธอทำอาชีพการงานทั่วๆไป ฉากร่วมรักก็ไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ (แต่ผู้ชมสมัยนั้นคงจุ๊กกรู๊ เลยกระมั้ง) ไฮไลท์ยกให้ตอนเดินเตร็ดเตร่ เร่ร่อนไปทั่วกรุงเทพฯ ดูเหน็ดเหนื่อยท้อแท้สิ้นหวัง กลายเป็นหัวขโมย หัวซุกหัวซุน จนกระทั่งพบเจอโกเล็ก ทำให้เกิดความแช่มชื่น กำลังใจ สามารถลุกขึ้นมาสู้ชีวิตใหม่ พร้อมเป้าหมายที่ชัดเจน!

เอาจริงๆแทบทุกอาชีพในโลกก็ไม่ต่างจากโสเภณีนะครับ นักแสดง เด็กเสิร์ฟ คนใช้ หรือแม้แต่พนักงานบริษัท ล้วนต้องรับคำสั่งจากเจ้านาย กระทำตามหน้าที่ได้รับมอบหมาย เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนบางสิ่งอย่าง, เพียงเพราะการมีเพศสัมพันธ์กับใครอื่นนอกจากสามี-ภรรยา คือความขัดแย้งต่อจิตสามัญสำนึก/ค่านิยมทางสังคม และกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่ใช่อาชีพที่ดี นั่นคือโลกทัศน์ที่ผิดถนัด! พุทธศาสนาก็ไม่ได้เสี้ยมสอนว่าโสเภณีคืออาชีพต้องห้ามแต่อย่างใด (แค่อย่าไปผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน ตามศีลข้อ ๓)


สรพงศ์ ชาตรี ชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต นามเดิมพิทยา เทียมเศวต (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๖๕) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เกิดที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จบการศึกษาชั้น ป.๔ แล้วบวชเรียนที่วัดเทพสุวรรณ ลาสิขาบทเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี สุรพงศ์ โปร่งมณี พาไปฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของ ช่างไฟฟ้า เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ รับบทพระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) และแจ้งเกิดโด่งดัง เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

รับบทโทน แมงดาหนุ่มหล่อ แต่ชอบขึ้นเสียง ด่าทอ ใช้ความรุนแรงกับสาวๆในสังกัด ช่วงแรกๆกับมาลีก็ไม่แตกต่าง แต่หลังจากเธอกลายเป็นเทพธิดานำโชค เขาเลยยกภาระหนี้ ทำดีตอบแทน และมอบวิทยุพร้อมบันทึกเสียงเป็นของขวัญตอบแทน

มาลีเป็นเทพธิดาโรงแรม โทนรักเธอมากกว่าใครๆ เพราะว่า มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก

บทแมงดานี้ค่อนข้างจะเล่นยาก ในตอนแรกท่านมุ้ยติดต่อ กรุง ศรีวิไล แต่อุปสรรคบางประการทำให้เปลี่ยนมาเป็น ดามพ์ ดัสกร เห็นว่าถ่ายทำไปฉากหนึ่งเกิดความเข้าผิดบางอย่าง สุดท้ายเลยส้มหล่นใส่ สรพงษ์ ชาตรี

ผมสร้างเอก (สรพงษ์) ด้วยมือ ผมคงจะไม่ลบด้วยเท้าอย่างแน่นอน พระเอกควรจะเล่นได้ทุกบทที่เป็นบทเด่น ไม่จำเป็นไม่ใช่หรือที่พระเอกจะมาเล่นผู้ร้ายไม่ได้ ตามความรู้สึกของผม บทหวาดกลัวเป็นบทที่เล่นได้ยากที่สุด แต่เอกก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาเป็นดาราอย่างแท้จริง

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ผมรู้สึกว่าเทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) น่าจะเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญที่สุดของสรพงศ์ ชาตรี ครั้งแรกๆกล้าแหกแหวกขนบประเพณี ผิดกับหมอกานต์ที่ยังเป็นสุภาพบุรุษ (แม้มีฉากข่มขืนแต่ก็กับภรรยาไม่ใช่หญิงอื่น) แต่แมงดาโทนมาถึงฉากแรกก็พร้อมกระทำชำเราหญิงสาว จากนั้นพูดคำด่าทอ ใช้กำลังตบตี ไม่หลงเหลือคราบพระเอก แต่ก็เป็นจิ๊กโก๋ที่หล่อเท่ห์ไม่เบา … ทีแรกผมก็แอบหวั่นๆเพราะภาพลักษณ์ของสรพงศ์ เป็นคนสุภาพ ธรรมะธรรมโม ไม่น่าจะเล่นบทแรงๆระดับนี้ได้ แต่ความกล้าได้กล้าเสี่ยง ต้องยอมรับเลยว่าทุ่มสุดตัว ทำออกมาได้ดีจริงๆ

ตัวละครนี้อาจไม่ได้สะท้อนตัวตนของท่านมุ้ยออกมามากนัก แต่ก็มีบางส่วนโดยเฉพาะความเจ้าชู้ประตูดิน และการตกหลุมรักมาลี พร้อมคำกล่าว “มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก” คือคำพรอดรักของท่านมุ้ยต่อวิยะดาอย่างแน่นอน!


กำกับภาพโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม ๓๕ มม. โดยท่านมุ้ยยังคงพยายามใช้การบันทึกเสียง Sound-on-Film ให้เหตุผลเพื่อความสมจริง และเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ยังไม่สามารถถ่ายทำในสถานที่เต็มไปด้วยเสียงรบกวนอย่างท้องถนนกรุงเทพฯ จึงยังต้อง ๕๐-๕๐ กับการพากย์ทับในห้องอัด

หนังเปิดกล้องที่งานสงกรานต์เชียงใหม่ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ จากนั้นตะลุยไปตามจังหวัดต่างๆ ขึ้นเหนือล่องใต้ ก่อนหวนกลับกรุงเทพฯ ใช้เวลาอยู่หลายเดือนในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับซ่องโสเภณี แม้ในหนังมีโรงแรมเพียง ๓ แห่ง แต่ต้องถ่ายทำถึง ๑๐ สถานที่ และยังต้องสร้างภายในโรงถ่ายอีก ๓ ฉาก

และช่วงระหว่างการถ่ายทำนั้นเอง เกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา ท่านมุ้ยเลยตัดสินใจแบกกล้องออกไปบันทึกภาพชุมนุมประท้วงนักศึกษา และแทรกใส่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์/ภาพยนตร์


ช็อตแรกของหนังแลดูคล้ายกับภาพ X-Ray ภายในเรือนร่างกาย จากนั้นปรากฎภาพเปลือยของมาลี/วิยะดา อุมารินทร์นอนอยู่บนเตียง มีเพียงเส้นผมปกปิดบังหน้าอก เพื่อสื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้อหนังมังสา สิ่งที่อยู่ภายใน ‘จิตวิญญาณ’ ของตัวละคร ค้นหาว่าทำไมเธอถึงทำงานอาชีพโสเภณี? มีจุดประสงค์เป้าหมายอันใดหรือเปล่า?

ท่านมุ้ยทำการร้อยเรียงภาพสงกรานต์ เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่นำเสนอด้วยเทคนิคตัดต่อ ‘jump cut’ ยังไม่ทันที่ผู้ชมจะรับสัมผัสบรรยากาศ รู้สึกตื่นเต้นสนุกสนาน (อย่างที่ใครๆครุ่นคิดว่า ‘jump cut’ ควรเป็น) แท้จริงแล้วคือความพยายามรวบรัดตัดตอน เพราะเป้าหมายมาลีไม่ได้ต้องการละเล่นสาดน้ำ แต่เข้าโรงแรมละเล่นน้ำกามกับแฟนหนุ่มเสียมากกว่า

แซว: นี่คือการ Cameo ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล กำกับเอง ถ่ายทำเอง เล่นเอง จูบเอง นักเลงพอ! ตัดต่อคู่ขนานกับกิจกรรมสาดน้ำวันสงกรานต์ (มาลี=นางสงกรานต์)

มาลีตื่นเช้าขึ้นมา กลับพบว่าแฟนหนุ่มสูญหายตัวไป! สังเกตว่าภายในห้องพักรายล้อมด้วยกระจกเงา พบเห็นภาพสะท้อนชวนให้สับสน งุนงง นี่มันแห่งหนไหน ฉันมาทำอะไรอยู่ยังสถานที่แห่งนี้?

การขายตัวครั้งแรกของมาลี นอกจากอาบฉาบด้วยแสงสีแดง (สแตนอินโดยท่านมุ้ยอีกเช่นเคย) ยังมีการแทรกภาพเมฆหมอก และหยดน้ำกระเพื่อม (ทำให้เห็นสีรุ้ง) นั่นน่าจะคือสัญลักษณ์ของหยดน้ำกามหยดบนสรวงสวรรค์ ซึ่งพอจบซีเควนซ์นี้ฉากถัดไปจักย้อนกลับสู่ขุนเขา บ้านชนบท ราวกับต้องการสื่อว่านั่นคือจุดสูงสุดที่แท้จริงของหญิงสาว

พานผ่านมาสองเดือน มาลีได้กลายเป็น “เทพธิดาโรงแรม” สามารถเรียกลูกค้า บริการแสนประทับใจ ทำเงินให้กับโทนมากมาย เขาเลยยินยอมปลดหนี้พร้อมมอบเงินก้อนใหญ่ สังเกตว่าด้านหลังจะมีสองภาพวาด Abstract ราวกับนั่นคือ’สรวงสวรรค์’ของหญิงสาว (ล้อกับหยดน้ำสีรุ้งได้เป็นอย่างดี) แม้ยังเป็นเพียงเส้นสี ขีดๆเขียนๆ ขมุกขมัว (เงินเท่านี้ยังไม่เพียงพอจุนเจือครอบครัวที่ต่างจังหวัด) แต่ก็พอมองเห็น จินตนาการเป็นรูปร่างขึ้นมานิสนึง

หนึ่งในประโยคอมตะแห่งวงการภาพยนตร์ไทย

มาลีเป็นเทพธิดาโรงแรม โทนรักเธอมากกว่าใครๆ เพราะว่า มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก

โทน, สรพงศ์ ชาตรี

แต่นัยยะฉากนี้ก็คือคำพรอดรักของท่านมุ้ยต่อวิยะดา ซึ่งเรายังสามารถเปรียบเทียบวิทยุ=ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อีกด้วยนะ! นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอนำติดตัว (หลังจากที่โทนถูกยิงเสียชีวิต) ไม่สามารถพลัดพรากจากไปไหน และช่วงท้ายคำพูดประโยคนี้จะกลับมาหลอกหลอน ติดตามตัวเธอตราบจนวันตาย

แซว: ถ้าด้วยวิธีการจีบหญิงลักษณะนี้ ผมแอบรู้สึกคล้ายๆ Jean-Luc Godard กับ Anna Karina

เมื่อตอนเขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๔) เพราะเป็นฉากกลางคืน แถมยังฝนตกพรำ เอ็ฟเฟ็กยิงเลือดสาดมันเลยยังไม่ดูรุนแรงสักเท่าไหร่ แต่มาคราวนี้ภายในโถงทางเดิน แสงสว่างจร้า ซูมเข้าหาปืน ซูมเข้าหาใบหน้าสรพงศ์ แล้วมาช็อตนี้เหนี่ยวไก ปัง! เห็นควันออกจากกระบอกกระสุน พร้อมกับเอ็ฟเฟ็กเลือดพุ่งออกด้านหลังศีรษะ ให้ตายเถอะ! แนบเนียน โคตรสมจริง เสียงกรี๊ดมาลีดังลั่น

เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ท่านมุ้ยบันทึกภาพกรุงเทพฯ เก็บไว้ใน ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังๆมีโอกาสพบเห็น ถ้าใครยังเกิดทันคงครุ่นคิดถึงสถานที่ต่างๆ ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือ เพียงอยู่ในความทรงจำ ซึ่งสอดคล้องกับการนำเสนอฉากนี้ มาลีออกเดินอย่างเตร็ดเตร่ ไร้จุดมุ่งหมาย ครุ่นคิดถึงบ้าน ทบทวนตนเองว่าฉันมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร แล้วจะทำอะไรยังไงต่อไป

ผมเพิ่งมาสังเกตว่าซีเควนซ์นี้ นำเสนอมุมมืดของกรุงเทพฯ อาทิ สลัม กองขยะ ชุมชนแออัด น้ำในลำคลองก็ดูสกปรกโสมม ฯลฯ และเมื่อตอนโกเล็กมาพบเจอมาลี (ถ่ายย้อนแสงอาทิตย์ เปรียบดั่งแสงสว่างแห่งความหวัง) ก็ยังบริเวณอาคารที่หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง

ซีเควนซ์ที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง คือการขับร้องอู้กำเมือง ถึงจะฟังไม่ออกแต่ก็สัมผัสถึงกลิ่นอายชาวเหนือ พร้อมร้อยเรียงภาพการก่อสร้างบ้านหลังใหม่ (พยายามจะทำแบบ ‘time-lapse’ แต่กลายเป็นเพียง ‘jump cut’) เคียงคู่ขนานกับมาลีขายบริการ เพื่อหาเงินมาส่งเสียค่าสร้างบ้าน

ขึ้นโครงบ้าน → มาลีขายบริการ → สร้างบ้าน 4-5 ช็อต → มาลีขายบริการ → สร้างบ้าน 4-5 ช็อต → มาลีขายบริการ → บ้านเสร็จแล้ว → มาลีขายบริการ → ครอบครัวย้ายเข้าไปอยู่อาศัย

ส่วนช็อตที่ผมชอบสุด หัวเลาะลั่น ขณะมาลีกำลังจะปลดกระดุมเสื้อใน (สมัยก่อนมันอยู่ด้านหน้า) แล้วตัดไปบิดากำลังเปิดหน้าต่างออกมาต้อนรับแขกเหรื่อ แสดงถึงความภาคภูมิใจของครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนบ้านเข้ามาพูดคุย เล่าถึงบุตรสาวของตนเองที่เสียชีวิตเพราะติดโรคจากการขายตัว นี่เป็นการย้ำเตือนถึงความไม่จีรังและการไม่ยินยอมรับอาชีพโสเภณี

การได้พบเจอไพศาล ได้ทำให้ชีวิตของมาลีมีความกระชุ่มกระชวย แต่ผมแอบผิดหวังเล็กๆที่หนังไม่ได้ซูมใบหน้าหญิงสาวแล้วตัดไปภาพดอกมะลิ (เพราะมาลีกับมะลิ เป็นคำที่คล้องจองกันดี) กลับเป็นอีดอกบัวตองที่เป็นวัชพืชอันตราย แต่เชื่อว่าท่านมุ้ยคงไม่รู้จัก ครุ่นคิดเพียงว่ามันมีลักษณะเหมือนดอกทานตะวันขนาดเล็กๆ เบ่งบานสะพรั่ง

และอีกไฮไลท์ของช็อตนี้คือการซูมออกจากดอกบัวตอง พบเห็นบ้านหลังใหญ่ ซูมเข้าไปเห็นคุณนายแต่งชุดไทยหรูๆ เหล่านี้คือภาพในจินตนาการของมาลี ครุ่นคิดว่าครอบครัวของไพศาลคงร่ำรวยสมชื่อ แต่แท้จริงแล้วกลับตารปัตรตรงกันข้าม

ขณะพบเจอมารดาของไพศาล สังเกตว่าเธอกำลังรดน้ำต้นไม้ พร้อมพูดคำสอนสั่งเกี่ยวกับเรื่องของความรัก การแต่งงาน ชีวิตคู่ที่ดีต้องคอยเอาใจใส่ดูแล (เหมือนการรดน้ำต้นไม้) ขอแค่อีกฝ่ายเป็น ‘คนดี’ เน้นย้ำคำนี้ ก็เพียงพอแล้วละ!

มาลีเริ่มมีอาการผิดปกติ คลื่นไส้วิงเวียน อาเจียน เหมือนกำลังตั้งครรภ์ แต่ใครกันเป็นพ่อของเด็ก? พอพบเห็นลูกของเพื่อนร่วมงานเป็นเด็กผิวดำ ผมหยิก นั่นทำให้เธอจินตนาการถึงบ่อน้ำพุร้อน ไอน้ำโพยพุ่ง … ผมยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าจะสื่อถึงอะไร? ประตูสู่ขุมนรก? อารมณ์อันคุกรุ่น? ถูกทอดทิ้งตามลำพัง? แต่นั่นทำให้มาลีทอดทิ้งยาแท้งลูกโดยพลัน (เหมือนกลัวตกนรกมอดไหม้หรือเปล่านะ?)

ไพศาลจู่ๆเอ่ยปากอยากได้เงินสักก้อนมาทำทุน อยากตั้งตัวได้ก่อนแต่งงาน แต่แท้จริงแล้วเขาแอบรับรู้ตัวตนแท้จริงของมาลีตั้งแต่ฉากก่อนหน้านี้ (ที่ขึ้นรถเมล์ติดตามมาถึงหน้าโรงแรม) นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ระหว่างเดินข้ามสะพาน

  • สำหรับมาลี คือการตัดสินใจอุทิศตนเองให้กับไพศาล มอบเงินลงทุน และยินยอมทำแท้ง เพื่อคงข้ออ้างความเป็นสาวบริสุทธิ์ (ก้าวจากกะหรี่กลับสู่หญิงสาวบริสุทธิ์)
  • ส่วนไพศาล การขอยืมเงินครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อนำไปลงทุน แต่ปรนเปรอสนองความต้องการของตนเอง (ก้าวจากพ่อคนดีสู่การเป็นแมงดา)

ฉากในสวนสัตว์นี้น่าสนใจเดียวทีเดียว เพราะมีเพียงรั้วลวดหนามคือเส้นแบ่งบางๆระหว่างความเป็นมนุษย์/สัตว์ประเสริฐ vs. เดรัจฉาน ถ้าเรามัวแต่กระทำสิ่งตอบสนองตัณหา สันชาติญาณ ความพึงพอใจส่วนบุคคล มันคงไม่หลงเหลืออะไรแตกต่างกัน

จากรั้วกั้นกวาง มาเป็นเหล็กกั้นขวาง มาลี(ย้ายไปอยู่ฝั่งของเจ้ากวาง=เดรัจฉาน)พูดคุยกับโกเล็กว่าต้องการทำแท้ง เหมือนท่านมุ้ยต้องการจะสื่อว่านี่คือสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถทำได้ลง … คงกำลังหมายถึงตนเอง พลาดพลั้งทำวิยะดาตั้งครรภ์ แต่ด้วยจิตสามัญสำนึก ยังคงความเป็นมนุษย์ จึงไม่สามารถทำตัวเหมือนไปอยู่อีกฟากฝั่งเดรัจฉาน

เป็นสองช็อตคู่ขนานมุมกล้องเดียวกันที่น่าสนใจเดียว

  • ภาพแรกเมื่อตอนมาลีตัดสินใจโยนทิ้งยาทำแท้ง พบเห็นพัดลมเพดานไม่ได้หมุน … คือถ้าทานยาตั้งแต่ตอนนั้น คงสามารถตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำลายตัวอ่อนที่ยังไม่ถือว่ามีชีวิต ไม่เป็นอันตรายต่อมารดา
  • ภาพหลังน่าจะอายุครรภ์ 3-4 เดือน ซึ่งถือว่าทารกพัฒนาการจนเป็นรูปเป็นร่าง พัดลมหมุนติ้วๆสามารถสื่อถึงชีวิต จิตวิญญาณ ต้องใช้คนมากมายคอยจับตัวมาลี เพราะการทำแท้งกับหมอเถื่อนด้วยวิธีการนี้ เสี่ยงอันตรายมากๆ

ปล. พุทธศาสนาถือว่าตั้งแต่อสุจิปฏิสนธิรังไข่ คือการให้กำเนิดชีวิตใหม่แล้วนะครับ! แต่กฎหมายบางประเทศนับที่อายุครรภ์ 2-3-4 เดือนขึ้นไป (แล้วแต่ประเทศ) ถ้าทำแท้งหลังจากนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย ข้อหาฆ่าคนตาย!

ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของมาลีระหว่างการทำแท้ง ถูกนำเสนอในลักษณะ Abstraction เริ่มจากเงาเลือนลาง (ดิ้นทุรนทุราย) กลายเป็นภาพเฉดสีแดง (เลือดจากครรภ์/ความตายของทารก) จากนั้นพบเห็นดวงไฟ (ราวกับจิตวิญญาณของเด็กน้อย) เคียงข้างมารดากำลังกรีดร้องลั่น จากนั้นตัดไปภาพสัญญาณฉุกเฉินรถพยาบาล คาดว่าคงสูญเสียเลือดมาก อาการสาหัสสากรรจ์

คำแก้ว จากเคยเป็นโสเภณีรองมือรองตีนโทน มาตอนนี้เติบโตกลายเป็นแม่เล้าเสียเอง (ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง) ภาพช็อตนี้ยืนอยู่ตำแหน่งสูงกว่ามาลี (ที่ยังเป็นโสเภณี) และมีลวดเหล็กเบลอๆกั้นแบ่งแยก(ชนชั้น)ระหว่างพวกเธอทั้งสอง

และทางฝั่งมาลี สังเกตว่าจะมีภาพสะท้อนในกระจก เหมือนต้องการสื่อถึงอีกตัวตน ปัจจุบันที่แตกต่างจากอดีต ฉันไม่ได้เป็นอย่างที่คำแก้วเคยรับรู้จักแค่เพียงเปลือกภายนอกอีกต่อไป

หลายคนคงผิดหวังโคตรๆ (ผมก็คนหนึ่ง) เพราะเกร็ดหนังคุยโว้ไว้อย่างอลังการ ว่าท่านมุ้ยแบกกล้องออกไปถ่ายทำบรรยากาศเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา อุตส่าห์คาดหวังว่าคงบันทึกภาพประวัติศาสตร์ไว้มากมาย แต่ที่ไหนได้!!!

ท่านมุ้ยนำมาแทรกใส่ในหนังเพียงไม่กี่ช็อต เพื่อเปรียบเทียบถึงความหัวขบถของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกบีบบังคับให้ขายตัว แต่เธอปฏิเสธหัวชนฝา ให้ตายฉันก็ไม่ยินยอม พยายามต่อสู้ขัดขืน แบบเดียวกับนักศึกษา ๑๔ ตุลา ต้องเอาจอมพลถนอมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้จงได้!

สำหรับหญิงสาวคนนี้ แม้ได้รับการเกลี้ยกล่อมจากมาลี กลับยังปฏิเสธการประณีประณอม สะท้อนอุดมการณ์อันแรงกล้าของปัญญาชนยุคสมัยนั้น ฆ่าได้หยามไม่ได้! กระโดดตึกตัวตายยังดีกว่ายินยอมขายตัวเป็นโสเภณี

มาลีได้ประจักษ์กับทุกเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับหญิงสาวคนนี้ แม้ไม่ได้ทำให้เธอหมดสิ้นหวัง (เหมือนประชาชนได้พบเห็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา) แต่ก็รู้สึกเหน็ดละเหนื่อย อ่อนเปลี้ยเพลียใจ

เพียงเพราะไม่มีใครซื้อบริการมาลี นั่นทำให้เธอเกิดความตระหนัก รับรู้ถึงขีดจำกัด อาชีพนี้ไม่ได้จีรังยั่งยืน เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ผิวพรรณแห้งเหี่ยว ใครไหนจะไปอยากใช้บริการ! เมื่อกลับเข้าห้องพักนั่งอยู่ท่ามกลางความมืดมิด จากนั้นทิ้งตัวลงนอน ภาพถ่ายจากภายนอกห้องเห็นลวดเหล็กที่เหมือนกรงขัง รู้สึกเหมือนถูกจองจำ ยังไม่สามารถดิ้นรนหลบหนีวัฏจักรดังกล่าวได้พ้น

ฉากที่มาลีบอกกับโกเล็กว่าจะเลิกเป็นโสเภณี เต็มไปด้วย Mise-en-scène ที่น่าสนใจไม่น้อย

  • เริ่มจากโกเล็กเดินเข้ามาในห้องบอกว่ามีลูกค้า พบเห็นมาลีกำลังนอนอยู่บนเตียงนอน (ครุ่นคิดจินตนาการถึงอิสรภาพ)
  • เมื่อมาลีบอกว่าต้องการเลิกขายตัว เธอเดินไปตรงหน้าต่าง เหม่อมองออกไปภายนอก ซึ่งคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ
  • โกเล็กพยายามเดินติดตามด้านหลัง พูดคำโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงใจ
  • จนกระทั่งมาลีพูดถึงเรื่องการแต่งงาน อยากมีครอบครัว เธอเดินมาพูดความต้องการต่อหน้ากล้อง (เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง) นั่นเองทำให้เขายินยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วอำนวยอวยพรขอให้ประสบโชคดี

พิธีสำเร็จการศึกษา(เย็บปักถักร้อย)ของมาลี พอดิบพอดีกับการละเลิกอาชีพโสเภณี ต่อจากนี้จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ถือกำเนิดใหม่ ครองรักกับไพศาลตามที่วาดฝันไว้

แต่ยังไม่ทันไรเมื่อมาลีเดินทางมาที่บ้านของไพศาล กลับได้ยินเขากำลังซุบซิบนินทาว่าร้าย พร้อมพบเห็นกำลังร่วมรักหญิงสาวอีกคน (ผมละขำกลิ้งกับการเอาพัดลมปกปิดบริเวณอวัยวะเพศ) นั่นทำให้เธอออกวิ่งหลบหนี ถ่ายมุมกล้องเอียงๆ (Dutch Angle) ทุกสิ่งอย่างล้วนบิดเบี้ยว จินตนาการเพ้อฝันได้พังทลาย

ระหว่างกำลังวิ่งหลบหนี บังเอิญถูกรถชนแล้วพบเจอชายแปลกหน้า อาสาพาไปส่ง จากนั้นพูดพร่ำคำหวานแบบเดียวกับไพศาลและโทน, หนังนำเสนอฉากนี้ได้น่าสนใจมากๆ ใช้การตัดต่อสลับนักแสดงที่กำลังขับรถ ไม่เพียงสร้างความสับสน ยังทำให้มาลีตระหนักว่าพวกผู้ชายก็เหมือนกันทั้งนั้น! ปากอ้างว่ารัก แต่สนเพียงต้องการครอบครองเรือนร่างกายของตนเอง

ด้วยความรังเกียจขยะแขยง ไม่เอาอีกแล้วบุรุษสายพันธุ์นี้ เธอจึงเปิดประตูลงจากรถระหว่างไฟเขียว (ทำให้ชายคนนั้นไม่สามารถหยุดรถลงมา) จากนั้นแวะเข้าร้านขายเสื้อผ้า ถอดชุดกระโปรงสวมใส่เสื้อเชิ้ตกางเกงยีนส์ นั่นดูเหมือนชุดของผู้ชาย … ราวกับว่ามาลีตัดสินใจละทอดทิ้งความเป็นเพศหญิง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำในสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ โหยหาเสรีภาพ อิสรภาพในการดำรงชีวิต และมีสิทธิ์เสียงความเป็นใหญ่ของตนเองบ้าง!

หลายคนมองว่าตอนจบลักษณะนี้เป็นปลายเปิด(แบบค้างๆคาๆ) มอบอิสระผู้ชมจินตนาการว่าอนาคตของมาลีจะดำเนินต่อไปเช่นไร แต่ก็มีข่าวลือหนาหูว่าหนังมี Alternate Ending เดินทางกลับบ้านที่ภาคเหนือ ส่วนตัวมองว่าจบแบบนั้นน่าจะลงตัวกว่าเยอะ เพราะมันคือเริ่มต้น-สิ้นสุด สูงสุดกลับสู่สามัญ

ตัดต่อโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของมาลี ตั้งแต่ถูกหลอกมาขายตัวยังกรุงเทพฯ พานผ่านแมงดาโทนที่เต็มไปด้วยความเข้มงวดกวดขัน แทบไม่เคยก้าวออกจากโรงแรมไปไหน ก่อนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์มาเป็นโกเล็ก ไม่ได้ติดหนี้สินใครอีกต่อไป เลยใช้เวลาว่างร่ำเรียนการตัดเย็บเสื้อผ้า จนมีโอกาสพบเจอชายคนรัก เข้าใจถึงวังวงอาชีพโสเภณี

  • มาลีถูกหลอกมาขายตัว
    • มาลีถูกแฟนหนุ่มลวงล่อหลอก พามากรุงเทพฯ แล้วขายตัวให้โทน
  • มาลีกับโทน
    • ถูกโทนบีบบังคับให้ขายตัว ครั้งแรกไม่ยินยอมเลยถูกกระทำร้ายร่างกาย
    • มาลีตัดสินใจยินยอมศิโรราบต่อโทน เพลินกับอาชีพขายตัว จนได้รับฉายา “เทพธิดาโรงแรม”
    • กลายเป็นที่รักของโทน ถึงขนาดพาออกไปซื้อของขวัญ
    • แต่ความสุขก็เป็นเพียงช่วงเวลาแสนสั้น
  • มาลีกับโกเล็ก
    • มาลีออกเตร็ดเตร่ไปทั่วกรุงเทพ จนกระทั่งมาพบเจอกับโกเล็ก
    • แม้ชีวิตได้รับอิสรภาพแต่มาลีก็ยังตัดสินใจเป็นโสเภณี ไปพร้อมๆกับร่ำเรียนเย็บปักถักร้อย และส่งเงินไปให้ครอบครัวสร้างบ้านหลังใหม่
  • มาลีกับไพศาล
    • ไพศาลเข้ามาแสดงความรัก เกี้ยวพาราสี พาไปที่บ้าน หมั้นหมายอยากแต่งงาน
    • มาลีปล่อยตนเองตั้งครรภ์ ทีแรกไม่อยากทำแท้ง แต่หลังจากไพศาลสู่ขอแต่งงาน เลยต้องเอาลูกออกอย่างทรมาน
    • แต่แล้วจู่ๆไพศาลก็เปลี่ยนไป ใช้จ่ายสุรุยสุร่าย เล่นการพนัน สำมะเลเทเมา แต่งงานแล้วยังเอาผู้หญิงอื่นเข้ามา ก่อนพบว่าเขารับรู้ว่ามาลีคือโสเภณี
  • ตอนจบของมาลี
    • ชายแปลกหน้ารับมาลีขึ้นรถ พยายามพูดเกี้ยวพาราสี แต่เธอไม่เอาคนแบบนี้อีกแล้ว
    • (Alternate Ending) มาลีเดินทางกลับบ้านที่ภาคเหนือ

ผมแอบเซอร์ไพรส์เล็กๆกับลีลา ‘jump cut’ ฉากสงกรานต์ที่เชียงใหม่ สามารถสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากผลงานของ Jean-Luc Godard อย่างแน่นอน! นั่นรวมถึงการแทรกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลา อารมณ์เดียวกับตอน Godard ถ่ายทำ Breathless (1960) แล้วปธน. Dwight D. Eisenhower เดินทางมาเยือนฝรั่งเศสพอดิบดี!

เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๔) มักแทรกภาพจินตนาการเพ้อฝัน ขัดแย้งกับสภาพความจริง, ส่วนใหญ่ของมาลี มักครุ่นคิดถึงบ้านที่ภาคเหนือ (แต่ก็มีภาพจินตนาการเพ้อฝันอยู่บางครั้ง) แทรกให้เห็นครอบครัวเฝ้ารอคอย บิดาอ่านจดหมาย ก่อสร้างบ้านหลังใหม่ … น่าเสียดายตอนจบ เห็นว่ามี Alternate Ending มาลีเดินทางกลับบ้าน

ผมพยายามมองหา Alternate Ending ที่เล่าลือกันว่าเป็นตอบจบแท้จริงของหนัง จนแล้วจนรอดก็ไม่พบเจอบนโลกอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด เลยได้แค่แอบคาดหวังถ้าได้รับการบูรณะเมื่อไหร่ ขอฉบับ Director’s Cut แบบไม่มีตัดทอนอะไร … แต่ก็ไม่รู้จะมีโอกาสรับชมเมื่อไหร่


ดนตรีประกอบ เรียบเรียงประสานเสียงโดย อาดิง ดีล่า นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่มาปักหลักอาศัย โด่งดังอยู่ในเมืองไทยยุคสมัยนั้น ยกทั้งวงดนตรีมาบันทึกเสียงในห้องอัด

งานเพลงของหนังมีสองบรรยากาศอย่างชัดเจน เมื่อไหร่ที่นำเสนอภาพชนบท หมู่บ้านทางภาคเหนือ จักใช้ดนตรีพื้นบ้านไทย ได้ยินเสียงขลุ่ย ปี่ กลอง (ผมได้ยินไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองจากทางเหนือ) ขณะที่เมื่ออยู่ในเมืองกรุงฯ ส่วนใหญ่เป็นดนตรี Jazz เสียงเป่าแซกโซโฟน ทรัมเป็ต ทรัมโบน ฯ เล่นลีลาอันยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ เหมาะสำหรับซ่องโสเภณี กะหรี่ ผับบาร์สมัยก่อนโดยแท้!

วงดนตรีของอาดิง ดีล่า ยังสามารถบรรเลงท่วงทำนองอื่นๆได้ด้วยนะครับ ไม่ได้จำกัดว่าต้องดนตรี Jazz ลีลาเย้ายวนเพียงอย่างเดียว ฉากต่อสู้ก็เน้นความตื่นเต้นรุกเร้าใจ (ช่วงนี้จะเน้นเสียงรัวกลอง) หรือเมื่อต้องการบรรยากาศโรแมนติกก็เปลี่ยนมาสีไวโอลินหวานๆ, เมื่อสำเร็จการศึกษา (ตัดเย็บเสื้อผ้า) จะได้เสียงเปียโนแห่งความหวังใหม่ และช่วงท้ายเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าชาย บทเพลงมอบสัมผัสของชีวิต ได้รับอิสรภาพจากทุกสิ่งอย่าง!

  • เทพธิดาโรงแรม ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย กมล ทัพคัลไลย, ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ
    • เป็นบทเพลงตอน Opening Credit ที่สปอยทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ! แต่ผมเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ก็น่าจะคาดเดาเรื่องราวทั้งหมดได้อยู่แล้วกระมัง (ถ้าไม่อยากโดยสปอยในหนังก็อุดหูไปนะครับ แต่น้ำเสียงของธานินทร์ ไพเราะเพราะพริ้งมากๆ)
  • Carry On (1969) แต่งโดย Stephen Stills, ขับร้องโดย Crosby, Stills, Nash & Young, รวมอยู่ในอัลบัม Déjà Vu (1970) เป็นแนว Folk Rock, Psychedelic Rock
    • คลอประกอบพื้นหลังเมื่อตอนมาลีถูกบังคับให้ขายบริการครั้งแรก
    • Where are you going now my love?
      Where will you be tomorrow?
      Will you bring me happiness?
      Will you bring me sorrow?
      Oh, the questions of a thousand dreams
      What you do and what you see Lover can you talk to me?
  • นครลวง ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ดนตรีโดย พีระ ตรีบุบผา, ขับร้องโดย เรียม ดาราน้อย
    • หลังการเสียชีวิตของโทน ทำให้มาลีต้องออกเตร็ดเตร่ เดินเร่ร่อนไปทั่วกรุงเทพฯ คร่ำครวญคิดถึงบ้าน แต่เพราะขณะนี้แทบไม่หลงเหลืออะไรติดตัวสักสิ่งอย่าง (นอกจากวิทยุของขวัญของโทน) เลยยังไม่ต้องการกลับไปอย่างสูญเปล่า ทำให้เธอเริ่มครุ่นคิด และค้นพบเป้าหมายชีวิต
    • บางกอก คนหน้าบางหัวใจกลับกลอก
      เมืองหลวง นครลวงหลอกหลายใจ
      กลางคืนแต้มสี แต่งแสงไฟ
      กลางวันไปไหน เหม็นกลิ่นไอรถอยู่ทุกวัน
  • บาร์หัวใจ ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย สนิท มโนรัตน์, ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ
    • ลูกค้าเข้ามาในซ่อง เลือกหญิงสาวคนอื่นหมดสิ้น หลงเหลือเพียงมาลี ไม่มีใครเหลียวแลแล้วหรือไร? นั่นทำให้เธอตระหนักถึงว่าโสเภณีเป็นอาชีพไม่จีรัง เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังแห้งเหี่ยว ไม่สวยสาว ย่อมไม่สามารถขายตัว สู้เด็กสาวเอ๊าะๆได้อีกต่อไป ต้องเตรียมตัวเตรียมใจถึงวัยปลดเกษียณ
  • ไฟอารมณ์ ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย เขมิกา กุญจร ณ อยุธยา
    • เพลงนี้ปรากฎบนเครดิต แต่คุ้นๆเหมือนว่าไม่มีในหนัง (แนวโน้มน่าจะถูกตัดออกไป) กลายเป็นเพลงภาษาเหนือเข้ามาแทนกระมัง

น่าเสียดายที่ผมหาเทพธิดาโรงแรม ฉบับขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ มาให้รับฟังไม่ได้ แต่ใน Youtube มีฉบับของ ชรัมภ์ เทพชัย เอาไปฟังเล่นๆก็แล้วกัน (แต่รู้สึกว่ายังสู้ที่ได้ยินในหนังไม่ค่อยได้)

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) มองมุมหนึ่งคือการสะท้อนปัญหาโสเภณี หญิงสาวต่างจังหวัดถูกลวงล่อหลอกมาขายตัวยังเมืองกรุงฯ ถ้าไม่สมยินยอมก็มักถูกกระทำร้ายร่างกาย มัวยึดถืออุดมการณ์มากเกินก็อาจตกตาย เป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ไม่รู้ใครคือบิดา รวมถึงการที่สังคม/ครอบครัวไม่ยินยอมรับเมื่อความจริงเปิดเผยออกมา

แต่ความที่ณรงค์ จันทร์เรือง เป็นบุคคลผู้โชกโชนในวงการโสเภณีเมืองไทย จึงไม่ได้ต้องการแค่สะท้อนปัญหา อยากแสดงให้เห็นว่ากะหรี่ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มีความครุ่นคิดอ่าน จินตนาการเพ้อฝัน เป้าหมายชีวิตเหมือนบุคคลทั่วๆไป เพียงเพราะโชคชะตา เหตุและกรรมบางอย่างทำให้พวกเขาและเธอเข้ามาอยู่ในวังวนดังกล่าว ไม่ใช่ทุกคนอยากจะเป็นโสเภณี ไม่ใช่ทุกคนจะมีอุดมการณ์อันแรงกล้า (ที่จะต่อต้านขัดขืน)

การนำเสนอเรื่องราวของมาลี กะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก! น่าจะทำให้ผู้อ่าน/ผู้ชมภาพยนตร์ บังเกิดความตระหนักรู้ว่าโสเภณีก็คืออาชีพหนึ่ง ถ้าสามารถยินยอมรับ ปรับตัว มองโลกอีกแง่มุมหนึ่ง ย่อมใช้เป็นโอกาส ช่องทางหาเงิน เติมเต็มเป้าหมายชีวิต กระทำสิ่งตอบสนองจินตนาการเพ้อฝัน เมื่อได้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ถึงเวลาหยุดเลิกรา … ไม่มีใครสามารถขายตัวจนตัวตาย แต่สมัยนี้ก็ไม่แน่นะครับ

โสเภณีไม่ใช่ปัญหา แต่คนที่ครุ่นคิดว่าโสเภณีคือปัญหานั่นคือตัวปัญหา! พวกเขาเหล่านั้นพยายามสร้างค่านิยม สรรหาข้ออ้างศีลธรรม-มโนธรรม ไม่ยินยอมรับสภาพความเป็นจริง ออกกฎหมายจับปรับ ติดคุกติดตาราง แต่กลับเต็มไปด้วยช่องโหว่ ช่องทางหากินของผู้อำนาจ (คล้ายๆบ่อนการพนัน ที่อยู่ได้ก็เพราะจ่ายเงินใต้โต๊ะ ถ้าทำให้ถูกกฎหมายเมื่อไหร่ ช่องทางหากินเหล่านี้ก็จักหมดสูญสิ้นไป)

นั่นเองทำให้โสเภณี กลายเป็นอาชีพชายขอบ ที่นอกจากไม่ได้รับการยินยอมรับ ยังมักถูกกดขี่ข่มเหง โดนกระทำด้วยความรุนแรง ราวกับวัตถุทางเพศสำหรับตอบสนองตัณหา กามารมณ์ ของบุคคลผู้เจ้าของ พ่อเล้า/แม่เล้า แมงดา หรือบุคคลทรงอิทธิพล นั่นเป็นสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการขายตัวเสียอีกนะ! (ลูกค้าส่วนใหญ่มักเอ็นดูกะหรี่ ผิดกับพ่อเล้า/แมงดาเห็นเป็นเพียงสิ่งของสำหรับสร้างรายได้)

เรื่องราวของหนังสะท้อนสถานภาพการเมืองไทยยุคสมัยนั้นได้ด้วยเช่นกัน จอมพลถนอมปฏิบัติต่อประชาชนไม่ต่างจากกะหรี่ โสเภณี ต้องก้มหัว ศิโรราบ ยินยอมทำตามคำสั่งรัฐบาล ใครต่อต้านขัดขืนจักถูกกวาดล้าง (เหมือนการล้อมจับโสเภณี) นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อบรรดาปัญญาชน นิสิตนักศึกษา รวมกลุ่มประท้วง ลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน มุ่งมั่นจะโค่นล้มอำนาจเผด็จการ ต่อให้ตัวตายก็ไม่ขอสูญเสียอุดมการณ์

เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) สร้างขึ้นในช่วงคาบเกี่ยววันมหาวิปโยค ๑๖ ตุลา แม้ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโค่นล้มอำนาจเผด็จการโดยตรง แถมยังนำเสนอภาพประวัติศาสตร์แค่เพียงน้อยนิด แต่ก็สามารถสะท้อนอุดมการณ์ของปัญญาชน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมนุษย์ย่อมไม่สามารถอดรนทน ฆ่าได้หยามไม่ได้ กลายเป็นอิทธิพลให้คนที่เคยก้มหัว ศิโรราบต่อเผด็จการ (อย่างมาลี) ท้ายที่สุดสามารถลุกขึ้นยืน ก้าวออกมา (จากโรงแรม/วังวนโสเภณี) ได้รับเสรีภาพ ปลดแอกจากสังคมชายเป็นใหญ่ สู่อนาคตแห่งความเป็นไปได้ ชาย-หญิง กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งเดียว


ถ้าผมจำไม่ผิด Le petit soldat (1963) ของ Jean-Luc Godard เคยกล่าวถึงนักแสดง คืออาชีพที่ขายภาพลักษณ์ เรือนร่าง ต้องยินยอมทำทุกสิ่งอย่างตามคำสั่งของผู้กำกับ ว่าไปแทบไม่มีความแตกต่างจากโสเภณี (ได้เงินปริมาณมากเช่นเดียวกัน) ฤานั่นคือสิ่งที่ท่านมุ้ยพยายามเปรียบเทียบถึง ชีวิตจริง=ภาพยนตร์, นักแสดง=โสเภณี

ยุคสมัยก่อนนักแสดงเป็นอาชีพหนึ่งที่สังคมไม่ค่อยให้การยินยอมรับ เพราะเต็มไปด้วยการสร้างภาพ เต้นกินรำกิน มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ เสียๆหายๆไม่เว้นวัน แต่เพราะมันทำรายได้สูง ใครต่อใครจึงเพ้อใฝ่ฝัน มีโอกาสเล่นหนังเล่นละคร ออกโทรทัศน์ เป็นที่รู้จักโด่งดัง ถึงอย่างนั้นดาวดาราเมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่น ย่อมค่อยๆร่วงโรยรา เด็กรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ … วัฏจักรของนักแสดง ก็แทบไม่แตกต่างจากโสเภณี

ในบรรดาตัวละครทั้งหมด ใกล้เคียงกับท่านมุ้ยที่สุดน่าจะเป็นโทน (สรพงศ์ ชาตรี) ที่ค้นพบเจอวิยะดา/มาลี ปลุกปล้ำจนกลายเป็นดาวดารา/เทพธิดาโรงแรม แต่เมื่อหนังสร้างเสร็จพวกเขาคงต้องเลิกรา (ท่านมุ้ยคงไม่ได้คาดหวังความสัมพันธ์ เพราะตนเองก็มีภรรยามีบุตรอยู่แล้ว) = โทนถูกเข่นฆ่าเสียชีวิต (มันคงเป็นความรู้สึกเจ็บปวดปางตายเมื่อต้องปลดปล่อยวิยะดาไป) ชีวิตของเธอหลังจากนั้นคงได้เรียนรู้อะไรอีกมากมาย พบเจอผู้ชายมากหน้าหลายตา ทั้งรักทั้งลวง แต่ถ้ายังมีเป้าหมาย อุดมการณ์ เพ้อใฝ่ฝัน นั่นจักคือสิ่งยึดเหนี่ยวให้สามารถก้าวดำเนินต่อไป ไม่ว่าจักพานผ่านช่วงเวลาเลวร้ายสักเพียงไหน

การตั้งครรภ์ของวิยะดา คงเป็นสิ่งผิดคาดหมายท่านมุ้ยอย่างมากๆ ไม่เหมือนมาลียินยอมทำแท้งเพื่อคนรัก ชีวิตจริงใครจะไปกล้าทำอย่างนั้น! การไม่ปรากฎตัวตอนฉายหนังรอบปฐมทัศน์สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้ใครต่อใคร (ตอนนั้นท้องโตแล้ว) พวกปาปารัสซีก็ไปสืบข่าวจนรับรู้ว่าแอบไปคลอดบุตร หนังสือพิมพ์สมัยนั้นนำเสนอข่าวอย่างเกรียวกราว

ตอนนั้นไม่กดดันอะไรนะ เราก็ไม่สนใจข่าวอยู่แล้ว เราไม่คิดว่าเราจะมาเป็นดาราที่โด่งดัง แต่พอคลอดลูกได้ไม่กี่เดือนก็มีหนังมา ทะเลฤาอิ่ม ป่าทรายทอง แล้วก็มีติดต่อให้เป็นนางเอกอีกเยอะเลย เล่นอีกหลายเรื่อง จนลูกโตเกือบๆ ๑๐ ปีได้ แม่ก็เล่นหนัง เล่นละครไปเรื่อยๆ ไม่มีเวลาให้เขา เขาก็งอนไปมีคนอื่น มือที่สาม มือที่สี่ เราก็เลยเลิก ไม่เสียใจค่ะ มีความรู้สึกว่าเขามีคนอื่นแล้วมีคนดูแล้วเราก็โอเค เพราะเราไม่มีเวลาดูแลเขาจริงๆ รับละคร ๓ เรื่อง หนังอีก ๕ เรื่อง ไม่ได้กลับบ้านเลย เสื้อผ้าเครื่องแต่งหน้าก็อยู่หลังรถ ไม่มีเวลาให้สามีเขาก็เลยมีคนอื่น ลูกก็อยู่กับแม่เนี่ยแหละ แม่นี่ไม่ธรรมดานะ เลิกกับสามีปุ๊ปหนีไปอยู่กับผู้หญิงเลยค่ะ

วิยะดา อุมารินทร์

แซว: ตอนจบของหนัง (ที่ไม่ได้กลับภาคเหนือ) มาลีโยนชุดสวยๆลงถังขยะ แวะเข้าร้านเสื้อผ้าสวมใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงยีนส์ขายาว แต่งตัวเหมือนผู้ชาย … เอิ่ม!!


ท่านมุ้ยฉลาดในการเลือกบทประพันธ์มาเป็นหนัง ซึ่งทำให้หนังมีส่วนรับใช้สังคมอย่างถูกต้องตามฐานะความเป็นสื่อสารมวลชน นานมาแล้วที่ผู้สร้างหนังตั้งใจจะให้หนังเป็นเครื่องปรนเปรอความสนุกสนานบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของชีวิตในสังคม พยายามยัดความเป็นไปไม่ได้ให้ผู้ชมหลงใหล เพื่อฝันไปกับเรื่องราวที่เป็นความบังเอิญตลอดมา

แผน อัญชลี

ด้วยทุนสร้างประมาณ ๘ แสนบาท ตอนแรกเข้าฉายเพียงโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่ด้วยกระแสตอบรับดีล้นหลามจนต้องขยายกิจการมายังสามย่านสแควร์ รายรับเฉพาะกรุงเทพฯสูงถึง ๔-๕ ล้านบาท! น่าเสียดายที่ปีนั้นสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงงดจัดการประกวดใดๆ เลยไม่มีรางวัลการันตีคุณภาพ

ประดาแฟนๆ แห่แหนไปดูเทพธิดาโรงแรมยังกะดูฟรี ยิ่งฉายคนยิ่งแน่น ปากต่อปากพูดกันต่อๆไป ได้ผลยิ่งกว่าโฆษณาเป็นไหนๆ

ณรงค์ จันทร์เรือง กล่าวในคำนำหนังสือฉบับตีพิมพ์ใหม่

ปัจจุบันหนังยังไม่ได้รับการบูรณะนะครับ น่าจะคงอีกสักพักใหญ่ๆเพราะมีผลงานเรื่องอื่นๆของท่านมุ้ยที่สำคัญกว่ารอคิวอยู่ แต่หลายๆฉบับที่พบเห็นบน Youtube คุณภาพถือว่าพอใช้ได้เลยละ (ดีกว่าเขาชื่อกานต์ที่ผมเขียนไปวันก่อนหลายเท่าตัว!)

ส่วนตัวแม้รู้สึกแพรวพราวกับหลากหลายเทคนิค ลวดลีลา รวมถึงสองนักแสดงนำสรพงศ์และวิยะดา เล่นหนังเรื่องนี้ถือว่าดีเลยละ แต่หลายๆองค์ประกอบยังคลุกเคล้าไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ เรื่องราวขาดๆหายๆเหมือนถูกตัดทอนหลายๆฉากออกไป … แอบคาดหวังให้มีฉบับ Director’s Cut รวมถึง Alternate Ending ไม่รู้ฟุตเทจนั้นยังหาได้อยู่หรือเปล่า

แนะนำคอหนังดราม่าชีวิต สะท้อนปัญหาสังคม เกี่ยวกับโสเภณี (ผู้หญิงต้องสู้, Feminist), บันทึกภาพกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๗ เก็บฝังไว้ใน Time Capsule, หนึ่งในบทบาทมีสีสันที่สุดของสรพงศ์ ชาตรี และแจ้งเกิดวิยะดา อุมารินทร์

จัดเรต ๑๕+ กับโสเภณี ความรุนแรง เข่นฆ่ากันตาย

คำโปรย | เทพธิดาโรงแรมของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราว ส่งดาวดาราดวงใหม่วิยะดา อุมารินทร์ ให้เจิดจรัสบนฟากฟ้า
คุณภาพ | แพรวพราว
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

เขาชื่อกานต์ (1973)


เขาชื่อกานต์

เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) หนังไทย : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ♥♥♥♡

เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ของท่านมุ้ย แจ้งเกิดทั้งสรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์, ภิญโญ ทองเจือ แต่กาลเวลาทำให้คุณค่าหลงเหลือเพียงอุดมคติ และความเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย

เขาชื่อกานต์ มีปัญหากับเซนเซอร์ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างขึ้นมาพูดถึงระบบคอร์รัปชั่นโดยตรง ซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง ผมเอาไปฉายให้จอมพลถนอมดูแล้วถามตรงๆว่านี่เรื่องจริงหรือเปล่า ท่านบอกว่า เออ มันเป็นเรื่องจริง แล้วก็ผ่านเซนเซอร์

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หลังจากรับชมผลงานของท่านมุ้ยมาหลายต่อหลายเรื่อง ผมก็เคยครุ่นคิดว่าด้วยสไตล์ลายเซ็นต์รับอิทธิพลจาก François Truffaut และ Jean-Luc Godard แห่งยุคสมัย French New Wave อีกทั้งเนื้อหาสาระที่มักสะท้อนปัญหาสังคม ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯ ซึ่งจัดเป็นประเด็นต้องห้ามในยุคสมัยนั้น ต้องถือว่าคือบุคคลหัวขบถ ท้าทายขนบกฎกรอบ สมควรจัดเข้าพวก ‘คลื่นลูกใหม่’ … แต่ก็พบว่ามีนักวิจารณ์ไทยสมัยนั้นยกให้ท่านมุ้ยเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนะครับ

ผมไม่เคยอ่านนวนิยาย เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๓) ของสุวรรณี สุคนธา หรือรับชมฉบับฉายโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ของรุจน์ รณภพ แต่รับรู้สึกว่าท่านมุ้ยน่าจะตัดทอดรายละเอียดเกี่ยวกับความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐออกไปไม่น้อย เพราะยุคสมัยนั้นยังไม่รู้ว่ากองเซนเซอร์/เผด็จการทหารของจอมพลถนอม (ออกฉายก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา) จะยินยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน แล้วผันแปรเรื่องราวในส่วนนั้นมาเป็นความรัก’น้ำเน่า’สามเส้าระหว่างหมอกานต์ หฤทัย และโตมร

ในช่วงแรกๆผมก็มีความสนใจหนังมากๆอยู่นะ เพราะคาดเดาว่าคงต้องการเปรียบเทียบเรื่องราวคู่ขนานระหว่าง การคบชู้นอกใจของภรรยา = ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ นายอำเภอ ตำรวจ รวมถึงนายแพทย์ใหญ่ แต่หลังจากที่หฤทัยประสบอุบัติเหตุ สูญเสียความจำ เรื่องราวหลังจากนั้นก็เริ่มออกทะเลไปไกล กลายเป็น’ความส่วนตัว’ไปซะงั้น! แต่นั่นก็เปิดโลกทัศน์ใหม่ในการรับชมหนังท่านมุ้ยขึ้นมาทันที


หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ประสูติ พ.ศ. ๒๔๘๕) เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา (สุฤทธิ์), ในพระอัยกา ทรงประสูติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นยังยึดครองกรุงเทพฯ

พอเกิดมาก็เห็นพ่อ เห็นแม่ เห็นลุงสร้างหนัง ผมได้เห็นฟีล์ม เห็นกล้อง ได้จับกล้อง เล่นกล้อง คุ้นเคยกับหนังมาตั้งแต่เด็กแล้ว

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

แม้จะเติบโตขึ้นในครอบครัวนักสร้างภาพยนตร์ แต่ความสนพระทัยวัยเด็กของท่านมุ้ยคือการดำน้ำ หลงใหลในโลกสีคราม ถึงขนาดเคยประดิษฐ์พยายามอุปกรณ์ดำน้ำด้วยตนเองแต่ไม่สำเร็จ พอโตขึ้นไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา University of California, Los Angeles (UCLA) ก็เลือกสาขาธรณีวิทยา วิชาที่เรียนรู้ถึงโลกที่อาศัยอยู่ ตลอดไปจนถึงจักรวาล

ระหว่างอยู่ปีสองได้พบเจอ ตกหลุมรัก เสกสมรสกับหม่อมศริยา ยุคล ณ อยุธยา (บุษปวณิช) แล้วมีโอรส-ธิดาทันทีถึงสองพระองค์ นั่นทำให้เกิดภาระในการเลี้ยงดู จึงจำต้องเริ่มหางานทำ ความที่พระอัยกา (พระองค์ชายใหญ่) เคยร่วมงานกับ Merian C. Cooper เมื่อครั้นมาเมืองไทย ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องช้าง (พ.ศ. ๒๔๗๐) จึงเข้าไปสมัครงาน ได้เป็นผู้ช่วยตากล้อง, ช่างกล้องกองสอง, เลยตัดสินใจลงเรียนเสริมวิชาโท สาขาภาพยนตร์ รู้จักเพื่อนร่วมห้อง Francis Ford Coppola และ Roman Polanski

เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยแทนที่จะทำงานด้านธรณีวิทยา กลับเบนเข็มมาทำงานภาพยนตร์ โดยเริ่มจากช่วยงานเสด็จพ่อ เกาะสวาทหาดสวรรค์ (พ.ศ. ๒๕๑๒), แม่นาคพระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๓), ระหว่างนั้นร่วมกับพระสหายก่อตั้งบริษัท พร้อมมิตรภาพยนตร์ เริ่มต้นทำหนังโทรทัศน์ ผลงานเรื่องแรก หญิงก็มีหัวใจ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ใช้พระนามแฝง ช. อัศวภักดิ์, ภาพยนตร์เรื่องแรก มันมาจากความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) สาเหตุที่อยากสร้างเรื่องนี้เพราะว่ามีทั้งฉากดำน้ำ เข้าถ้ำ ออกเดินทางไปถ่ายทำต่างจังหวัด ผลลัพท์แม้ได้รับคำชมว่าแปลกใหม่ ใจกล้าดีแท้ แต่ขาดทุนย่อยยับ

ความล้มเหลวของ มันมาจากความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) ทำให้ท่านมุ้ยถูกหม่อมแม่ด่าซะเละ โดยเฉพาะการเลือกนักแสดงตัวดำๆ ช่างไฟจากไหนก็ไม่รู้ (เห็นว่าทำเอาสรพงศ์ ชาตรี ร้องไห้น้ำตาซึม) ผลงานถัดมาจึงทรงเลือกดัดแปลงบทประพันธ์ชื่อดัง คว้ารางวัล อย่างน้อยน่าจะการันตีผู้ชมได้ระดับหนึ่ง


สุวรรณี สุคนธา นามปากกาของ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๒๗) นักเขียนชาวไทย เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก โตขึ้นเข้ามาเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง ตามด้วยปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ วิชาเอกจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, จากนั้นทำงานครูศิลปะ โรงเรียนศิลปศึกษา แล้วไปเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

ระหว่างนั้นได้เริ่มเขียนเรื่องสั้น จดหมายถึงปุก (พ.ศ. ๒๕๐๘) ใช้นามปากกาสุวรรณี ตีพิมพ์ในสตรีสาร ก่อนเปลี่ยนมาเป็นสุวรรณี สุคนธา เมื่อได้นำเรื่องสั้นต่อๆมาตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, สำหรับนวนิยายเรื่องแรก สายบ่หยุดเสน่ห์หาย (พ.ศ. ๒๕๑๒), เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงจึงลาออกจากราชการ และได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารลลนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สุวรรณี สุคนธา มีชื่อเสียงในการทำให้ตัวละครมีอารมณ์ประณีต และพาให้ผู้อ่านมีอารมณ์ประณีตตามไปได้มากพอสมควร ความเด่นของนักประพันธ์ผู้นี้อยู่ที่การใช้สำนวนภาษา การเลือกเฟ้นถ้อยคำสมเป็นศิลปิน

ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ

ผลงานการเขียนของสุวรรณีมีจุดเด่นตรงการเน้นตัวละครที่สมจริง ตัวเอกของเรื่องมิใช่คนสวยวิเศษแสนดีตามแบบฉบับที่นิยมกันในสมัยนั้น มักเน้นหนักไปทางบรรยายอารมณ์ละเอียดอ่อนไหวของผู้หญิง และกิเลสของมนุษย์ที่พัวพันอยู่กับเรื่องความรักและความหลง ลึกลงไปคือความจริงของชีวิตและสังคม (สุวรรณี เป็นคนไม่มีโชคในการสมรสครั้งแรก เธอตัดสินใจแยกทางสามี และเลียงดูลูกทั้งหมดด้วยตนเอง) นำเสนอด้านมืดของมนุษย์ เสียดสีสังคม วิพากย์วิจารณ์หน่วยงานรัฐอย่างตรงไปตรงมา เหล่านี้ทำให้งานเขียนของสุวรรณีเต็มไปด้วยสีสัน ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องของน้ำพุ, เขาชื่อกานต์, สวนสัตว์, คนเริงเมือง, ความรักครั้งสุดท้าย, พระจันทร์สีน้ำเงิน, สร้อยแสงแดง ฯลฯ

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ ระหว่างสุวรรณีกำลังไปจ่ายตลาด ถูกวัยรุ่นพยายามชิงรถยนต์ เข้าทำร้ายด้วยอาวุธเพื่อที่จะไปซื้อยาเสพติด แต่กลับทำให้เธอเสียชีวิต สิริอายุ ๕๑ ปี


สำหรับนวนิยาย เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๓) เป็นผลงานได้รับรางวัลวรรณกรรมชนะเลิศจาก สปอ. (องค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๓ อีกทั้งยังขายดีเทน้ำเทท่า (Best-Selling), ปัจจุบันได้รับคัดเลือก “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทนวนิยาย” และ “๔๕ วรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัย ร.๙ ตามศาสตร์พระราชา”

ผมนำเอาคำวิจารณ์นวนิยายบางส่วนในยุคสมัยนั้น มาให้อ่านผ่านๆนะครับ

สุวรรณี สุคนธา ควรนับได้ว่าเป็นผู้หนึ่งซึ่งช่วยยกระดับนวนิยายจากแบบเพ้อฝัน (Romantic) ให้มาเป็นแบบชีวิตจริง (Realistic) ผู้แต่งเรื่องนี้ดำเนินเรื่องไปตามหลักเกณฑ์ ความเรียบร้อยของชีวิตผัวเมีย ตัวละครสำคัญของเรื่องค่อยๆยุ่งเหยิงขึ้น ทั้งด้านชีวิตสมรส ด้านการงานและด้านสังคม … แต่การดำเนินเรื่องบางตอนดูไม่สมจริงนัก เช่น พระเอกกับนางเอกมีการศึกษาดีทั้งสองฝ่ายแต่ตัดสินใจแต่งงานกันรวดเร็วเหลือเกิน ราวกับตนไม่เคยได้ใคร่ครวญเรื่องนี้มาก่อนตามวิสัยผู้ได้รับการศึกษาสูง

มโหทร

สุวรรณี สุคนธา เป็นนักเขียนที่มีบุคลิกพิเศาในการใช้ถ้อยคำบรรยายสิ่งต่างๆ ออกมาง่ายๆ แต่เข้าถึงใจผู้อ่าน และแนวการเขียนที่สะท้อนปัญหาสังคมปัจจุบันอย่างเปิดเผย แต่อย่างไรก็ตามนิยายของสุวรรณีแทบทั้งหมดเป็นการตีแผ่สภาพความจริง แต่ไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาและทางออกให้ผู้อ่าน ดังนั้นจึงมักเกิดความสับสนขึ้นในวงการวิจารณ์ … เขาชื่อกานต์ ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า หมอกานต์ต้องการอะไร และแนวทางการต่อสู้ยืนหยัดของตัวเอกค่อนข้างจะเพ้อฝันอย่างซื่อๆ ทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่สงสารมากกว่าจะชื่นชมในอุดมคตินั้น

จิระนันท์ พิตรปรีชา

สาเหตุที่ท่านมุ้ยเลือกดัดแปลง เขาชื่อกานต์ ส่วนหนึ่งเพราะความชอบผลงานเขียนของสุวรรณี ที่มีความคิดใกล้เคียงกัน นำจากความรู้สึกจริงๆ ชีวิตจริง สะท้อนปัญหาสังคมไทย โดยเฉพาะการกระทบกระเทียบระบบราชการ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสิ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน

หมอกานต์ (รับบทโดย สรพงศ์ ชาตรี) นายแพทย์ผู้ยึดมั่นในอุดมคติ เข้าฝึกงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีโอกาสพบเจอตกหลุมรัก หฤทัย (รับบทโดย นัยนา ชีวานันท์) แต่เธอมีแฟนอยู่แล้วชื่อ โตมร (รับบทโดย ภิญโญ ทองเจือ)

ระหว่างที่โตมรเดินทางไปดูงานต่างประเทศ หฤทัยล้มป่วยไส้ติ่งอักเสบกะทันหัน ได้รับการรักษาจากหมอกานต์ ทำให้เกิดความรักความเอ็นดู แม้เขาไม่ใช่คนร่ำรวย หลังจากนี้จักอาสาเป็นหมอชนบท แต่เธอก็ยินยอมหมั้นหมาย ตอบตกลงแต่งงาน และไปประจำอยู่จังหวัดพิษณุโลก, เมื่อโตมรรับทราบข่าวก็โกรธจริงจัง พูดกับหฤทัยหากหมอกานต์ไม่รัก บอกเขาแล้วจะไปรับทันที!

หมอกานต์ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือมั่นต่ออุดมการณ์ ไม่ยินยอมคิดอ่อนข้อ จนทำให้ขัดแย้งต่อข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยเฉพาะนายอำเภอจอมสร้างภาพ (แต่งตัวเจ้าระเบียบ) เบื้องหลังคือเจ้าพ่อ/เจ้าของบ่อนการพนัน ใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็พร้อมส่งลูกน้องไปสอนสั่ง เพียงเพราะหมอกานต์ปฏิเสธมอบสำลียัดเบาะรองเก้าอี้ รวมถึงไม่ยินยอมทำการรักษาลูกน้องคนสนิท จึงครุ่นคิดจัดเก็บอีกฝั่งฝ่าย

หมอกานต์กับหฤทัยก็มีปัญหาขัดแย้งภายใน เธออยากมีบ้าน อยากมีลูก อยากกลับกรุงเทพฯ อยากใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวปกติทั่วๆไป แต่เขากลับดื้อดึงดันจะสานต่ออุดมการณ์ หมอทิ้งคนไข้ไปไม่ได้ สร้างความน้อยใจจนหญิงสาวหนีกลับกรุงเทพฯ เมื่อโตมรรับทราบข่าวจึงพยายามโน้มน้าว กล่อมเกลา เกี้ยวพาราสี คาดหวังว่าจะใช้โอกาสนี้แก่งแย่งฉกชิงเธอมาครอบครอง แต่ระหว่างขับรถขากลับจากพัทยา เสียหลักรถคว่ำ ทำเอาหฤทัยหมดสติและสูญเสียความทรงจำ

เมื่อหลงเหลือเพียงตัวคนเดียว สร้างความเปล่าเปลี่ยวให้หมอกานต์ บังเกิดความโล้เล้ลังเลใจ กระทั่งทราบข่าวหฤทัยประสบอุบัติเหตุเลยรีบเร่งกลับกรุงเทพฯ แม้ในตอนแรกเธอสูญเสียความทรงจำ แต่ไม่นานก็สามารถฟื้นฟูและจดจำเขาได้ ด้วยเหตุนี้เลยตัดสินใจยินยอมรับทุนเรียนต่อต่างประเทศ (ที่โตมรอุตส่าห์วางแผนจะใช้โอกาสนี้ แก่งแย่งชิงหฤทัยมาจากหมอกานต์) ไม่เอาอีกแล้วหมอชนบท ถึงอย่างนั้นระหว่างเดินทางกลับพิษณุโลก ถูกลูกน้องนายอำเภอ จ่อยิงจนเสียชีวิต


สรพงศ์ ชาตรี ชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต นามเดิมพิทยา เทียมเศวต (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๖๕) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เกิดที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จบการศึกษาชั้น ป.๔ แล้วบวชเรียนที่วัดเทพสุวรรณ ลาสิขาบทเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี สุรพงศ์ โปร่งมณี พาไปฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของ ช่างไฟฟ้า เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ รับบทพระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔)

ท่านมุ้ยมีปัญหากับหม่อมแม่มาก หม่อมแม่ด่าฉิบหายเลย [มันมากับความมืด]จะเข้าเฉลิมเขตร์ เฉลิมเขตร์ของฉันจะเจ๊ง เอาช่างไฟมาเป็นพระเอก จมูกก็โต ผิวก็ดำ สรพงษ์นั่งร้องไห้ ท่านมุ้ยไปตบบ่าบอกว่า มึงจำวันนี้ไว้นะไอ้เอก กูจะทำให้มึงได้ตุ๊กตาทองเท่ากับไอ้ไชยา ซึ่งในระยะต่อมาก็สามารถทำได้สำเร็จ

สมถวิล สุวรรณกูฏ ผู้ช่วยท่านมุ้ย

การคัดเลือกนักแสดงของท่านมุ้ยนั้น จะคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก แม้สรพงค์จะจมูกโต ผิวดำ หน้าตาบ้านๆ แต่ถือว่าเหมาะสำหรับบทบาทหมอกานต์ ซึ่งต้นฉบับนวนิยายก็มีบรรยายถึงรูปร่างหน้าตา ไม่มีอะไรสะดุดตาพอที่จะมีผู้ชมหรือกล่าวถึง บุคลิกก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรเป็นพิเศษ

หมอกานต์ไม่มีลักษณะของความเป็นพระเอกตามรูปแบบนวนิยายไทยโดยทั่วไป เขาไม่ใช่หนุ่มนักเรียนนอก และก็ไม่ใช่เด็กบ้านนอกที่เข้ามาได้ดีในกรุง รูปร่างหน้าตาของเขาไม่มีอะไรสะดุดตาพอที่จะมีผู้ชมหรือกล่าวถึง บุคลิกของเขาไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ

วันเพ็ญ จันทรวิโรจน์ และนิตยา มาศะวิสุทธิ์

หลังจากแม่ตาย พ่อก็ขายที่นาให้เรียนต่อแล้วก็ไปบวช หมอกานต์จึงต้องการทำงานแพทย์อาสา/หมอชนบท เพื่อช่วยเหลือคนต่างจังหวัด อาจเพราะชีวิตขาดความรักความอบอุ่น จึงโหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง เมื่อมีโอกาสตกหลุมรักแรกพบหฤทัย อารมณ์มันพาไป เลยตัดสินใจรีบเร่งสู่ขอแต่งงาน ด้วยเหตุนี้ช่วงระหว่างพลัดพรากจากลา (เมื่อตอนหฤทัยหนีกลับมาอยูกรุงเทพฯ) จึงรู้สึกโหยหา เหงาหงอยเศร้าซึม ภายในบังเกิดความขัดย้อนแย้งระหว่างอุดมการณ์ และความต้องการของจิตใจ

เกร็ด: กานต์ (วิเศษ) หมายถึง เป็นที่รัก, โดยมากใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น จันทรกานต์ เป็นที่รักของพระจันทร์, สุรยกานต์ เป็นที่รักของพระอาทิตย์ … แปลกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ หมอกานต์ไม่ได้เป็นที่รักของใครสักคน!

ส่วนหมอกานต์ เราอ่านแล้วบทมันบีบ เรื่องมันกดดันมาก ไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหา แล้วไอ้วิธีที่เราต้องเล่น จะแสดงยังไงให้ออกมาดูบีบ ดูกดดันแบบนั้น ผมก็จะดูหนังแบบประเภทผู้แพ้เยอะ หนังของคนตัวเล็กอย่าง ดัสติน ฮอฟแมน คาแร็กเตอร์มันเป็นแบบนั้น เมื่อเราดูหนังพวกนี้แล้ว เราก็ไปดูบทของเราที่มันต้องผิดหวัง บทมันก็ช่วยส่งเราอีก เราไม่มีพวกผู้ช่วยด้านการแสดง เราก็ต้องเอาบทของเรื่องมาช่วย เราก็อินไปกับบทเอง และเราก็แสดงออกมา

สรพงศ์ ชาตรี

แม้ว่าสรพงศ์ไม่ได้มีความหล่อเหล่าเท่า มิตร (ชัยบัญชา) ไชยา (สุริยัน) หรือสมบัติ (เมทะนี) แต่น่าจะถือเป็นนักแสดงคนแรกๆของเมืองไทย กล้ารับบทบาทที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่กลัวเสียภาพลักษณ์ (ก็ไม่ได้หล่อ ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว) มุ่งเน้นขายฝีมือด้านการแสดง อย่างหมอกานต์ ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าเป็นมิตร ไชยา หรือสมบัติ เพราะพวกเขาต่างมีภาพจำพระเอก ต้องได้รับการเอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ตายตอนจบไม่ได้เป็นอันขาด!

ออร่าพระเอกของสรพงศ์ เปร่งประกายทีเดียวในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือสีหน้าแห่งความตึงเครียด เก็บกดดัน ฉันจะเอายังไงดีระหว่างอุดมการณ์ vs. ตัณหาความต้องการ แม้ฉากข่มขืนผมว่าพี่เอกดูเก้งๆกังๆ (คือตัวจริงนิสัยดีมากๆ เล่นฉากลักษณะนี้เลยค่อนข้างขาดความน่าเชื่อถือพอสมควร) แต่ภาพรวมถือว่าดูดี ด้วยเหตุนี้เลยได้รับฉายา ‘เขาชื่อกานต์’ เพราะคือบทบาทแจ้งเกิดโด่งดัง


นัยนา ชีวานันท์ ชื่อจริง มะลิ ชีวานันท์ (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๐) นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จบการศึกษาโรงเรียนวัดเทพสถาพร เข้าสู่วงการจากการประกวดนางงามในจังหวัด ได้รับตำแหน่ง ‘ขวัญใจ ชาวไร่-ชาวนา’ ต่อมาประวิทย์ ลีลาไว ส่งเธอเข้าประกวดนางงามยาสระผมแฟซ่าที่จังหวัดนครสวรรค์ พอได้ตำแหน่งนางงามประจำจังหวัด เปลี่ยนชื่อจาก มะลิ เป็น นัยนา แล้วส่งมาประกวดต่อยังเวทีใหญ่กรุงเทพฯ คว้ารางวัลรองนางงามและขวัญใจช่างภาพ จนมีโอกาสขึ้นแบบถ่ายปกนิตยสารต่างๆ สกุลไทย, กุลสตรี เป็นต้น

หม่อมอุบลยุคลที่เคยเป็นกรรมการตัดสินนางงามแฟซ่า ติดต่อไปยังนัยนาให้มาฝึกการแสดงในวังละโว้จนเป็นที่พอใจ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔), เพชรตาแมว (พ.ศ. ๒๕๑๕), ไอ้แกละเพื่อนรัก (พ.ศ. ๒๕๑๕), เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖), แหวนทองเหลือง (พ.ศ. ๒๕๑๖), กลายเป็นนางเอกชั้นแนวหน้าช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๒ โดยมักจะรับบทผู้หญิงเรียบร้อยแบบเศร้าๆ ทั้งชีวิตมีผลงานกว่า ๘๐ เรื่อง ก่อนออกจากวงการเพื่อไปมีครอบครัว เวียนกลับมาจอแก้ว จอเงินบ้างประปราย

รับบทหฤทัย ดาวเด่นมหาวิทยาลัยที่ใครๆต่างหมายปอง ด้วยความที่เติบโตในกรุงเทพฯ มารดาเป็นคนหิวเงิน จึงพยายามปลูกฝังเสี้ยมสอนบุตรสาวให้ยึดติดวัตถุนิยม เมื่อแต่งงานเลยคาดหวังชีวิตร่ำรวย สุขสบาย แต่เมื่อเดินทางไปถึงพิษณุโลกความฝันกลับพังทลาย สถานที่แห่งนี้ไม่มีอะไรเป็นของตนเองสักสิ่งอย่าง นานวันเข้าจึงเกิดความเบื่อหน่าย เรียกร้องอยากหวนกลับกรุงเทพฯ สองจิตสองใจว่าจะเลิกราหย่าร้างหมอกานต์ดีไหม?

เกร็ด: หฤทัย (คำนาม) แปลว่าหทัย, หัวใจ, จิตใจ, แก่นของสิ่งทั้งปวง สามารถสื่อถึงบุคคลที่เป็น ‘หัวใจ’ ของหมอกานต์

แม้หฤทัยจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตนเอง อยากมีชีวิตสุขสบาย vs. ความรักต่อหมอกานต์ แต่หลังจากสูญเสียความทรงจำ สิ่งแสดงออกมานั่นคือจิตใต้สำนึกที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน แม้จะมีเรื่องวุ่นวายชวนให้สับสนอยู่บ้าง พอถูกสามีข่มขืน ความต้องการแท้จริงจึงปรากฎออกมา … บอกตามตรงผมไม่ค่อยชอบเนื้อหาส่วนนี้เลยนะ เพราะมันแสดงถึงเหตุผลของอาการสับสนในตนเองทั้งหมด(ของทั้งหมอกานต์และหฤทัย)ล้วนเกิดจากความหมกมุ่น มักมาก แรงผลักดันทางเพศล้วนๆ

ภาพลักษณ์ของนัยนา เหมือนลูกคุณหนู ดูอ่อนแอ เปราะบาง ตามประสาสาวชาวกรุงฯ แต่ผมว่าเธอใสซื่อบริสุทธิ์เกินไปนิดกับบทบาทที่มีความระริกรี้ซ่อนเร้นอยู่ภายใน แค่เพียงแสดงอาการสับสน สีหน้าไม่เข้าใจตนเอง (ตัวของนัยนาเองก็ไม่เคยมีข่าวเสียๆหายๆในวงการ ผู้ชมจึงไม่คิดว่าบทบาทการแสดงจะมีอะไรซุกซ่อนเร้นภายใน) ท่านมุ้ยเหมือนจะทราบปัญหาตรงนี้เลยพยายามใช้ภาษาภาพยนตร์ (แทรกภาพจินตนาการ/ความเพ้อฝัน) เพื่อสร้างความซับซ้อนทางอารมณ์ให้กับตัวละคร


ภิญโญ ทองเจือ (เกิด พ.ศ. ๒๔๘๘) นักแสดงชาวไทย เมื่อตอนอายุ ๑๒ ขวบ มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ เหมันต์จำพราก สร้างโดยกรรณสูตรภาพยนตร์ของเฑียรร์ กรรณสูต แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่ได้ออกฉาย, ภายหลังกลับจากเรียนต่อปริญญาตรีที่วิทยาลัยการพาณิชย์ ลองบีช แคลิฟอร์เนีย ได้รับการชักชวนจากเทิ่ง สติเฟื่อง โฆษกและนักจัดรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ให้มาแสดงละครโทรทัศน์ สังกัดคณะศรีไทยการละคร มีผลงานออกมาหลายเรื่อง, ขณะเดียวกันเพราะเคยรับรู้จักท่านมุ้ยตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกา เลยติดต่อให้มาร่วมแสดงภาพยนตร์ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

รับบทโตมร พยายามเกี้ยวพาราสีหฤทัยมาแสนนาน กลับถูกหมอกานต์ฉกแย่งชิง (หมาคาบไปแดก) สร้างความโกรธแค้นเคืองโกรธ ตามประสาหนุ่มหล่อพ่อรวย มีลุงเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ใจจริงคงอยากฉุดคร่าหญิงสาวคนรัก แต่ยุคสมัยนั้นค่านิยมทางศีลธรรมยังค้ำคอ จึงเพียงพรอดคำหวาน ใช้ความหรูหราสะดวกสบายเป็นตัวล่อ แต่แค่เพียงอารมณ์ชั่ววูบ ก็เกือบทำให้ทุกสิ่งอย่างพังทลาย

เกร็ด: โตมร (คำนาม) แปลว่า หอก, อาวุธที่ใช้ซัด หรือพุ่งไป, สามง่ามที่มีปลอกรูปใบโพ สามารถสื่อถึงบุคคลที่เป็น ‘หอกข้างแคร่’ พยายามขัดขวางความรักระหว่างหมอกานต์กับหฤทัย

ด้วยรูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาคมคาย ฝีไม้การแสดงของภิญโญบอกเลยว่าน่าประทับใจ ไม่ธรรมดา! เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม มารยา ปากว่าตาขยิบ พยายามสร้างภาพให้ตนเองดีเด่นกว่าใคร แสดงออกเหมือนสุภาพบุรุษ แต่จิตใจกลับสนเพียงจะครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาว

เอาจริงๆตัวละครประเภทนี้มันไม่มีศีลธรรมค้ำคอหรอกนะ แต่ที่ต้องยื้อๆยักๆ ชักแม่น้ำทั้งห้า ใช้วาจาหว่านล้อมให้หญิงสาวยินยอมใจอ่อน เพราะบทประพันธ์สมัยก่อนทำให้นางเอกถูกกระทำชำเราไม่ได้! นี่เป็นข้อจำกัดที่ผู้ชมสมัยใหม่ต้องเข้าใจบริบททางสังคมนั้นด้วยนะครับ … อาจเป็นตัวร้ายที่ร้ายไม่สุด แต่ก็สร้างสีสันให้หนังได้พอสมควร

ตัวจริงของภิญโญ ตรงกันข้ามกับบทบาทเลยนะ! เป็นคนสุภาพอ่อนหวาน ให้เกียรติผู้อื่น นอบน้อมถ่อมตน (สัมภาษณ์บอกว่าไม่เคยเล่นหนังคิวบู๊เลยสักครั้ง) คงมีแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กระมังที่รับบทตัวร้าย แต่ก็ยังพยายามสร้างภาพว่าเป็นสุภาพบุรุษ (ถึงสามารถล่อหลอกหฤทัยได้สนิทใจเลยกระมัง)


ถ่ายภาพโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ในยุคสมัยที่หนังไทยส่วนใหญ่มักตั้งกล้องไว้นิ่งๆ ให้นักแสดงเดินเข้า-ออกตามเส้นกรอบกำหนดไว้ นานๆครั้งถึงมีการขยับเคลื่อนไหว วัยสะรุ่นอย่างท่านมุ้ยรับอิทธิพลจาก French New Wave พยายามทำให้ทุกช็อตฉากไม่เคยหยุดนิ่ง ต้องมีการขยับเลื่อน แพนนิ่ง หรือซูมมิ่งอยู่ตลอดเวลา … ถ้าใครช่างสังเกตจะพบเห็นการแพนนิ่ง+ซูมมิ่ง (พร้อมๆกัน) ซึ่งเป็นลีลามีจุดเริ่มต้นจาก François Truffaut (เรียกว่า ‘สไตล์ Truffaut’) เพิ่มเติมคือท่านมุ้ยชอบที่จะซูมไปให้ถึงระยะ Close-Ups ใบหน้า/ดวงตานักแสดง ราวกับต้องการพุ่งเข้าไปในความครุ่นคิด แล้วเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณ

หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม ๓๕ มม. ตั้งใจจะให้เป็น Sound-On-Film บันทึกเสียงนักแสดงสดๆ แต่ข้อจำกัดยุคสมัยนั้นทำได้แค่เพียงบางฉากที่เงียบๆ ภายในสตูดิโอ บ้านพัก ต่างจังหวัด เพราะเมื่อออกมายังท้องถนนเมืองกรุงฯ คาคลั่งด้วยผู้คน รถราบนท้องถนน หนวกหูจนจับใจความไม่ได้ เลยยังต้องใช้การพากย์ทับเอาภายหลัง

การถ่ายทำบนท้องถนนของกรุงเทพฯ คงมอบสัมผัส ‘nostalgia’ ให้บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ ได้หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้น พ.ศ. ๒๕๑๕-๑๖ ถือเป็นภาพ ‘Time Capsule’ ให้กับผู้ชมสมัยใหม่ ได้พบเห็นอดีตที่แทบไม่อะไรหลงเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน ทั้งถนนหนทาง สนามม้า ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

แซว: ผมลองค้นหาอำเภอบางบาดาล จังหวัดพิษณุโลก ปรากฎว่ามันไม่มีอยู่จริงนะครับ มีแต่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี หรือถ้าในพิดโลกก็มีอําเภอบางกระทุ่ม, บางระกํา เป็นการตั้งชื่อสมมติที่แนบเนียนมากๆ (หรือสมัยก่อนมันมีชื่อบางบาดาล รึเปล่า?)

หนังบู๊ไทยสมัยก่อนมักเรต PG คือไม่มีพบเห็นร่อยลอยคราบเลือด ใครโดนยิงก็ต้องบิดม้วนตัวไปมา พร่ำพูดลมหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนล้มลงสิ้นใจตาย “Dance of Death” เห็นว่าท่านมุ้ยคือบุคคลแรกๆ (สงสัยจะไปเรียนรู้เทคนิคมาจากอเมริกา) ทำการสร้าง Special Effect เมื่อตัวละครถูกยิง จะมีเลือดพุ่งสาดกระเซ็น เพื่อสร้างความสมจริง สามารถให้เรตติ้ง PG-13

ใครมีโอกาสรับหนังฉบับบูรณะ น่าจะได้เห็นฉากเลือดพุ่งแบบเต็มตาเต็มใจ ครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทย!

เจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าติดตามบุคคลผู้ลอบสังหารหมอกานต์มาจนมุม แต่แทนที่จะถ่ายให้เห็นขณะยกปืนขึ้นจ่อยิง กลับตัดไปยังภาพฟ้าแลบ พร้องกับเสียงฟ้าร้องดังกึกก้องกังวาล นี่เป็นเทคนิครับอิทธิพลจากผกก. Jean-Luc Godrad (ใครเคยรับชม Pierrot le Fou (1965) มันจะมีฉากที่ตัวละครหยิบเค้ก กำลังปาใส่หน้าใครบางคน แล้วจู่ๆตัดไปภาพพลุปะทุระเบิดบนท้องฟ้า)

ความลึกล้ำของฉากนี้ที่อาจมีเฉพาะคนไทยสามารถครุ่นคิดเข้าใจ นั่นคือความตายของหมอกานต์เกิดขึ้นขณะฝนตกฟ้าร้อง ราวกับฟ้ากำลังพิโรธ เทพยดาโกรธเคืองที่คนดีถูกเข่นฆ่าให้ตกตาย! … จะว่าไป ท่านมุ้ยก็เคยใช้วิถีความเชื่อคนไทย นำเสนอเคียงข้างเหตุการณ์เหนือธรรมชาติหลายต่อหลายครั้งเลยนะครับ!

ตอนแรกผมเอะใจเล็กๆ ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงวิสามัญคนร้าย? เอาจริงๆถ้าไม่ขัดขืน ยิงต่อสู้ ก็หาใช่สิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าใครสังเกตจะพบว่าหนังเว้นระยะเวลาหนึ่งเหมือนให้ตัวละครครุ่นคิดตัดสินใจ คนชั่วแบบนี้สมควรถูกจับหรือเข่นฆ่า? แม้สะท้อนความป่าเถื่อน คอรัปชั่น ทำตัวเหมือนศาลเตี้ย แต่ถือเป็นความยุติธรรมหนึ่งเดียวที่เขาสามารถชดใช้ให้กับหมอกานต์ … นั่นเพราะถ้าเพียงติดคุก ยังไงก็มีนายอำเภอใช้เส้นสายกลับออกมาได้

เริ่มต้นจากการซูมเข้าไปยังใบหน้าหมอกานต์ จากนั้นราวกับวิญญาณเคลื่อนไหลไปตามสายน้ำ (คล้ายๆตอนจบของ มือปืน ๒ สาละวิน (พ.ศ. ๒๕๓๖)) จากนั้น Cross-Cutting มาเป็น Opening Credit พื้นหลังมีความระยิบระยับเจ็ดสีสายรุ้ง ราวกับจะสื่อว่าชายคนนี้ตายแล้วขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ก่อนพัดพาย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น ณ วันงานแต่งงาน

ท่านมุ้ยชอบที่ใช้สายน้ำ ลำธาร มหาสมุทร คือสัญลักษณ์ของชีวิตที่พัดพาไป สามารถเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง ดำดิ่งสู่ก้นเบื้องจิตวิญญาณ … ก็แน่ละ ตั้งแต่เด็กทรงชื่นชอบการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ

งานแต่งงานระหว่างหฤทัยกับหมอกานต์ มีความใหญ่โตอลังการ แขกเหรื่อหลายร้อย จัดแบบตะวันตก ว่าจ้างวงดนตรีกรรณเกษม (วงเดียวกับที่ทำเพลงประกอบให้หนังนะแหละ) มันดูผิดปกติ เร่งรีบร้อน เกินความจำเป็นไปหรือเปล่า?

ผมรู้สึกว่าผู้แต่งสุวรรณี อาจต้องการสะท้อนค่านิยมการแต่งงานของคนสมัยนั้น (จากประสบการณ์ตนเอง) จัดให้ใหญ่ แขกให้เยอะ ล้วนเป็นการอวดอ้าง สร้างภาพ เหมือนหมอกานต์ต้องการแสดงให้ใครต่อใคร (โดยเฉพาะโตมร) รับรู้ว่าหฤทัยคือภรรยาของตนเอง! ส่วนเรื่องของความรัก ความมั่นคง ไม่มีอะไรเกี่ยวกับงานแต่งงานการันตีธาตุแท้ของคน

ช็อตสุดท้ายของซีเควนซ์นี้ กล้องเคลื่อนเลื่อนมาังรูปปั้นกามเทพ (Cupid) เหมือนท่านมุ้ยต้องการสื่อถึงโชคชะตาคือสิ่งที่ทำให้คนสองคนได้มาพบเจอ ตกหลุมรัก และแต่งงานกัน

ถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ไม่ใช่แค่สะท้อนภาพความทุรกันดารของชนบทเท่านั้นนะครับ ยังสามารถสื่อถึงวิถีชีวิตของหฤทัยและหมอกานต์ ที่จักเต็มไปด้วยความขุรขระ ทุกข์ยากลำบาก ต้องพานผ่านอุปสรรคมากมาย ก่อนจักดำเนินไปถึงเป้าหมาย (ที่ไม่ได้แปลว่าจักได้อาศัยอยู่เคียงข้างกันตลอดไป)

เมื่อแรกพบเห็นบ้านที่จักกลายเป็นเรือนหอ กล้องซูมเข้าหาใบหน้าหฤทัย → ตัดไปภาพจินตนาการเพ้อฝัน เธอและหมอกานต์วิ่งเข้าหากัน โอบกอดหมุนรอบ → จากนั้นซ้อนทับกับภาพของบ้าน → ตัดกลับมาใบหน้าหญิงสาวและซูมถอยหลัง หุบยิ้มโดยพลัน

นี่เป็นเทคนิควิธีการ/ภาษาภาพยนตร์ที่ท่านมุ้ยใช้อธิบายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร แทนปฏิกิริยาสีหน้า หรือคำพูดเอ่ยกล่าวออกมา แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิดตีความ ว่าเธอกำลังเบิกบาน หรือรู้สึกผิดหวังกับบ้านพบเห็น

ตุ๊กตาไม้ คือตัวแทนของแทนหฤทัย เมื่อตอนเธอกลับกรุงเทพฯ หมอกานต์จับจ้องมองด้วยความครุ่นคิดถึง ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์บางอย่าง (คนชู้กับโตมร) จู่ๆมันก็ร่วงหล่นลงพื้น … นี่มันตุ๊กตาคุณไสยหรืออย่างไร??

นี่เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่ผมไม่ค่อยชอบเลยนะ เพราะตามหลักสากลจะต้องอ้างอิงถึง A Doll’s House ซึ่งมักเปรียบเทียบหญิงสาวกับตุ๊กตาที่มีเพียงร่างกายแต่ไร้จิตวิญญาณ ถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำตามคำสั่ง ไร้ซึ่งเสรีภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ … หฤทัยเป็นบุคลเช่นนั้นหรือเปล่า? จะว่าไปก็ใช่อยู่ ถูกมารดา(และโตมร)พยายามจะควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนสั่ง บอกให้ทำอย่างโน้น ชักนำพาให้ทำอย่างนี้ จนก่อเกิดความลุ่มหลงใหลในวัตถุนิยม โหยหาความสุขสบายในชีวิต พอแต่งงานกับหมอกานต์ ก็เลยไม่ค่อยชื่นชอบวิถีชนบทแบบนี้ ต้องการหวนกลับเมืองกรุงฯ เพราะเงินตัวเดียวแท้ๆ

พระอาทิตย์กำลังใกล้ลาลับของฟ้า ภาพช็อตนี้อาบฉาบแสงสีแดง (ผมครุ่นคิดว่าน่าจะถ่ายทำช่วงเวลา Golden Hour) สะท้อนถึงสภาวะทางอารมณ์ของหฤทัย เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวิถีชนบท วันๆว่างๆ นี่ฉันมาทำอะไรยังสถานที่แห่งนี้?

กล้องซูมเข้าหาพระอาทิตย์ → ตัดไปยังโคมไฟยามค่ำคืน สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ชีวิตคู่ หมดช่วงเวลาฮันนีมูน ต่อจากนี้จักเผชิญหน้าตัวตนธาตุแท้จริงของกันและกัน, หฤทัยพยายามพูดขอหมอกานต์ ฉันอยากจะทำงานอะไรสักสิ่งอย่าง แต่เขาพูดตอบกลับด้วยถ้อยคำ … ที่นี่ไม่มีโรงแรม จะไปทำงานประชาสัมพันธ์ที่ไหนกัน? นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อหญิงสาวอย่างรุนแรง!

หฤทัยไม่ได้แสดงออกด้วยคำพูดหรือปฏิกิริยาสีหน้า แต่ด้วยภาษาภาพยนตร์(พร้อมเพลงประกอบ)ด้วยการไปเดินเล่นยังน้ำตกแห่งหนึ่ง ตะโกนอะไรสักอย่างไม่มีใครได้ยิน (สามารถสื่อถึงความต้องการที่ไปไม่ถึงผู้รับ/หมอกานต์ไม่ยินยอมรับฟังข้อเรียกร้องของหฤทัย) แล้วเปลี่ยนใจมาโยนก้อนหินลงน้ำ (แสดงออกถึงความหงุดหงิด รู้สึกผิดหวัง) และฉากถัดมาพบเห็นเรือรั่วในคลอง เหมือนกำลังจะจมลง สามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดความรักได้ตรงๆ

ช็อตนี้ใช้การปรับโฟกัสใกล้-ไกล เบลอ-ชัด ต่างคนต่างทำเหมือนไม่สนใจ แทบไม่เคยเปิดอกพูดคุย รับฟังความต้องการของอีกฝั่งฝ่าย หมอกานต์เอาแต่หมกมุ่นยุ่งอยู่แต่งาน จนละเลยเรื่องบนเตียง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตคู่ นั่นเองทำให้หฤทัยทรุดนั่งลงกับพื้น แสดงถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า สภาพจิตใจตกต่ำลง บังเกิดความต้องการหลบหนีไปจากสถานที่แห่งนี้

“หมอใจดำ” คำกล่าวของหฤทัย มาพร้อมภาพกระพริบ ตัดสลับระหว่างใบหน้าหญิงสาวกับภาพเมืองกรุงฯ ภายหลังเธอบอกกับเขาว่าจะเดินทางกลับบ้าน นี่ก็เป็นอีกลีลาของผกก. Jean-Luc Godard แต่ก็ต้องชมว่าท่านมุ้ยนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับหนังของตนเองได้น่าสนใจ

สิ่งแรกเมื่อหฤทัยกลับมายังกรุงเทพฯ คือเดินช็อปปิ้ง มองหาเสื้อผ้าสวยๆ เครื่องประดับงามๆ เดินเข้าไปวนในห้างสรรพสินค้าแล้วกลับออกมา (นี่ก็ Godardian อีกเช่นกัน) เข้ากับสำนวน ‘ไก่งามเพราะขน คนขามเพราะแต่ง’ สนเพียงแต่ภาพลักษณ์ภายนอกของตนเอง

ชาวบ้านแถวนี้ไม่นิยมปลูกผัก (ภาพมันเบลอจัด ผมเลยดูไม่ออกว่าผักอะไร) เพราะเมื่อฝนตกน้ำท่วม ที่อุตส่าห์ทำมาก็จักเสียหาย แต่ผมมองนัยยะเจ้าสิ่งนี้คือ ‘ต้นแห่งความรัก’ ของหฤทัย ต้องการปลูกไว้ร่วมรับประทาน/แทนความสัมพันธ์กับหมอกานต์ แต่ยังไม่ทันออกดอกออกผลจนสามารถเก็บกิน เธอก็ตัดสินใจหวนกลับกรุงเทพฯเสียก่อน และไม่เคยย้อนคืนพิษณุโลกอีกเลย (หรือคือหมอกานต์สูญเสียความรักจากหฤทัย)

นายอำเภอบอกให้หมอกานต์สั่งสำลีมาเยอะๆ จะนำไปใช้ยัดเบาะรองที่นั่งรถยนต์ (เป็นฉากแสดงความคอรัปชั่นของนายอำเภอ) แม้เขาจะไม่พูดแสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ภาษาภาพยนตร์คือถ่ายใบหน้าที่มีความบึ้งตึง ถมึงทึง จากนั้นซูมมิ่งเข้าไปตรงดวงตา เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงอารมณ์เกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เป็นการตอบปัดปฏิเสธโดยไม่ต้องเอ่ยกล่าววาจา

ผมแอบรู้สึกว่าเทพยดาในหนังของท่านมุ้ยมีความอ่อนไหวมากๆเลยนะ เพียงแค่หฤทัยพบเจอโตมร ก็ทำให้ฟ้าฝ่าลงมาตรงต้นไม้ เกิดเพลิงลุกไหม้ แถมตุ๊กตา(ของหฤทัย)กลิ้งตกลงพื้น ล้วนแสดงถึงลางบอกเหตุร้าย ฟ้าดินรับไม่ได้! … ความรุนแรงระดับนี้ มันชวนให้ครุ่นคิดเตลิดเปิดเปิงไปไกลว่าทั้งสองถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ แต่ยุคสมัยนั้นแค่ครุ่นคิดจะคบชู้ มันคงเท่ากับการนอกใจแล้วกระมัง

นาฬิกาที่เป็นของขวัญแต่งงานจากโตมร ราวกับคำสาปแช่ง สามารถสื่อถึงระยะเวลาความสัมพันธ์ระหว่างหฤทัยและหมอกานต์ สักวันเมื่อถ่านหมดก็คงถึงกาลเลิกรา, ซึ่งช็อตนี้ปรากฎในค่ำคืนฝนฟ้าคะนอง หลังจากหฤทัยเดินทางไปหาโตมร ราวกับเวลาแห่งความรักได้หมดสิ้นลงจริงๆ

ผิดกับตอนที่ภรรยาคบชู้ หรือถูกยิงตาย วินาทีที่หฤทัยรถพลิกคว่ำ กลับไม่สัญญาณเหนือธรรมชาติใดๆ เพียงความสงบ เงียบงัน หมอกานต์นั่งสูบบุหรี่อยู่ตรงบันได ก่อนเพื่อนตำรวจจะมาชักชวนไปดื่มเหล้าสังสรร รับรู้พบเห็นบ่อนการพนัน คลาดโทรเลขไปเพียงเสี้ยววินาที

แม้ไม่มีสัญญาณเหนือธรรมชาติใดๆ แต่ฉากก่อนหน้านี้ก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุ หนังนำเสนอด้วยความเร่งรีบ บีบเค้นคั้นอารมณ์ (ด้วยเทคนิค fast-cutting) ดนตรีสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ พอชีวิตพลิกคว่ำ ทุกสิ่งอย่างเลยกลับตารปัตร ตัดกลับมาบ้านนอกจึงหลงเหลือเพียงความสงบ นิ่งเงียบงัน

มุมกล้องเงยขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้ แสดงถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ขี้โม้เก่ง ตามหน้าที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจบาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็แค่สวมหัวโขน/สวมเขา ไม่สามารถเผชิญหน้าผู้ทรงอิทธิพล โดยเฉพาะนายอำเภอประจำหมู่บ้าน ‘รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง’ รวมถึงจิตใจของเขาเองก็เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น แอบสานสัมพันธ์เด็กรับใช้หมอกานต์จนตั้งครรภ์ ถึงอย่างนั้นสามัญสำนึกความ’ยุติธรรม’ก็ยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง

ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดพลาดของการสแกนฟีล์ม หรือระหว่างถ่ายทำ แต่เป็นความจงใจที่จะอาบฉาบแสงคนละสี/คนละระดับความเข้ม ลงบนใบหน้าหมอกานต์

  • ภาพแรกคือขณะที่หมอกานต์พยายามอธิบายว่าตนเองไม่มีทางรักษาคนไข้อาการหนัก ให้ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลประจำจังหวัดดีกว่า
  • ส่วนภาพสองคือหลังจากถูกดุด่าว่ากล่าว หมอไร้คุณธรรม สนแต่เงิน ไม่ยินยอมรักษาผู้ป่วย สังเกตว่าสีหน้าของตัวละครก็มีความบึ้งตึง ถมึงทึง ไม่พึงพอใจ แต่ไม่สามารถโต้ตอบออกไป

แสงสี/ความสว่างของภาพสอง น่าจะสะท้อนความอึดอัดอั้นที่อยู่ภายในจิตใจหมอกานต์ เต็มไปด้วยความลุ่มร้อนทรมาน แต่ทำได้เพียงเก็บกดอารมณ์ ไม่สามารถเปิดเผยแสดงมันออกมา

เมื่อหมอกานต์ได้อ่านโทรเลขแจ้งข่าวหฤทัยรถคว่ำ นอกจากการซูมใบหน้า ซูมจดหมาย (Fast-Zooming) ยังมีการย้อมเฉดสีแดง(เลือด) เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเลวร้าย รุนแรง ถึงขั้นเป็น-ตาย หมอกานต์จึงต้องเร่งรีบออกเดินทางเข้ากรุงฯโดยทันที

Ending Credit ของหนังก็อาบฉาบด้วยพื้นหลังแดง ตัวอักษรดำ เพื่อสื่อถึงเลือก ความตาย โศกนาฎกรรมที่ไม่ควรบังเกิดขึ้น สร้างความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ทำไมประเทศไทยเราถึงเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นเช่นนี้

เมื่อกลับมากรุงเทพฯ เห็นสภาพของหฤทัย หมอกานต์ก็ก้าวออกเดินบนท้องถนน (อารมณ์แบบ Elevator to the Gallows (1958)) มีการย้อมเฉดสีน้ำเงิน แสดงถึงอารมณ์บลู เต็มไปด้วยความหดหู่ หมองหม่น เศร้าโศกเสียใจ … แต่ผมสองจิตสองใจกับเฉดสีน้ำเงินฉากนี้พอสมควร เพราะเคยเห็นบางฉบับบูรณะเมื่อมีการปรับแก้ ‘Color Correction’ มันจะกลายเป็นภาพโทนสีปกติ น้ำเงินสูญหายไปเลยก็มี!

นี่น่าจะเป็นฉากที่ผมชอบสุดในหนัง กรุงเทพฯออกใหญ่โต แต่หมอกานต์กลับพบเจอพรรคเพื่อนฝูง ชักชวนไปดื่มเหล้าสังสรรค์ พบเห็นนักร้องสาวบนเวที เต้นบทเพลงชื่อ เงินตัวเดียว ออกอารมณ์ได้คลุ้มบ้าคลั่งชิบหาย! … ถ้าดูแค่ชุดชวนให้นึกถึง Cabaret (1972) ระหว่างที่ Liza Minnelli ขับร้อง-เล่น-เต้นบทเพลง Money Money แฝงนัยยะคล้ายๆกัน

ผมแอบประหลาดใจกับตอนจบซีเควนซ์นี้อยู่ไม่น้อย เมื่อหมอกานต์ตัดสินใจดื่มด่ำสุรา จากนั้นมีการสโลโมชั่นแล้ว Freeze Frame เหมือนต้องการหยุดเวลาช่วงนี้ไว้ ต้องการให้หลงลืมมันทุกสิ่งอย่าง

หลังจากดื่มเหล้าหนัก กลับโรงแรม ขับไล่โสเภณีออกไปภายนอก (เหมือนเป็นฉากบอกใบ้ผลงานถัดไปของท่านมุ้ย เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗)) พอหมอกานต์เข้ามาในห้องพัก เปิดหน้าต่างพบเห็นป้ายโฆษณาบริษัทยา BAYER พร้อมได้ยินเสียงเพื่อนฝูงที่ก่อนหน้านี้เคยชักชวนให้เขากระทำสิ่งขัดแย้งต่ออุดมการณ์

แต่ไฮไลท์ช็อตนี้คือเงามืดและแสงสีแดงที่สลับกันอาบฉาบใบหน้า ไม่ว่าจะทิศทางไหน หมอกานต์ล้วนไร้ซึ่งหนทางออกปัญหา อุดมการณ์ของเขาไม่สามารถเอาตัวรอดในยุคสมัยที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยเส้นสาย ความคอรัปชั่น เกิดความสับสน มึนเงา และกำลังเมามายไร้สติ

หมอกานต์อยากเหลือเกินจะต่อยหน้าโตมรสักเปรี้ยง แต่กลับมีเพียงภาพสโลโมชั่นในจินตนาการเพ้อฝัน ชีวิตจริงสามารถมองว่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว หรือมีสติมากพอจะหยุดยับยั้งชั่งใจตนเอง มากสุดเพียงแค่จับปกเสื้ออีกฝั่งฝ่าย ไม่โต้เถียง ไม่โอ้อวด ไม่ใช้ความรุนแรง นี่ต่างหากเรียกว่าสุภาพบุรุษตัวจริง!

ล้อกับตอนที่หมอกานต์คลาดโทรเลขของหฤทัย เมื่อตอนประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ, ครั้งนี้หฤทัยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลก็แคล้วคลาดหมอกานต์กำลังลงจากแท็กซี่ ซึ่งทั้งสองครั้งนี้ต่างต่างมีต้นสาเหตุจากโตมรพาเธอขับรถเล่น ครั้งแรกท่องเที่ยวยังทะเลพัทยา ส่วนครั้งหลังพามาที่บ้านพัก/คฤหาสถ์ติดแม่น้ำ

โตมรพยายามพูดจาโน้มน้าว เกี้ยวพาราสีหฤทัย แต่ฝ่ายหญิงกลับบอกปัดปฏิเสธ เมื่อตอนยังเป็นปกติทำให้เกิดความอยากหวนกลับหาหมอกานต์ ครั้งหลังแม้จดจำเขาไม่ได้แต่ก็ยังตระหนักว่านี่หาใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ

และที่พิศดารสุดๆก็คือ โตมรด้วยความมึนเมาขับรถซิ่งจนพลิกคว่ำทำให้หฤทัยสูญเสียความทรงจำ, ครั้งหลังหมอกานต์ที่ไม่เคยพูดจาว่าร้าย ใช้กำลังรุนแรงกับใคร กลับข่มขื่นหฤทัยจนเธอสามารถหวนระลึกทุกสิ่งอย่าง

ฉากข่มขืนระหว่างหมอกานต์กับหฤทัย มันเป็นความสองแง่สองง่ามด้านจริยธรรมทางสังคม ฝั่งฝ่ายหนึ่งบอกว่าพวกเขาเป็นผัว-เมีย เรื่องในครอบครัว มันผิดอะไร? ขณะที่อีกฝั่งฝ่ายจะมองถึงความรุนแรง การใช้กำลังเข้าข่มขืน อีกฝั่งฝ่ายไม่สมยินยอม นั่นหาใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม? ก็แล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคลนะครับ

ท่านมุ้ยนำเสนอวินาทีแห่งการข่มขืนได้น่าสนใจ ด้วยการตัดสลับใบหน้าหฤทัย เหมือนกำลังหวนระลึกถึงความทรงจำ ช่วงเวลาเคยใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมรักกับหมอกานต์ พานผ่านความสุข-ทุกข์ เฉดสีน้ำเงิน-แดง และภาพสุดท้ายผมครุ่นคิดว่าน่าจะคือพระอาทิตย์ยามเช้า กำลังเคลื่อนขึ้น สามารถสื่อถึงการฟื้นตื่น หวนกลับคืนความทรงจำ

หลังการข่มขืนครั้งนั้น ทั้งร่างกายและจิตใจ(ภาพสะท้อนในกระจก)ของหมอกานต์ ต่างไม่สนอะไรอื่นนอกจากหฤทัย จับจ้องมองเพียงเธอ พร้อมละทอดทิ้งอุดมการณ์ทั้งหมด แม้ขณะนี้ยังสองจิตสองใจไม่อยากไปต่างประเทศ (เพราะกลัวจะหวนกลับไปคบชู้กับโตมร) แต่เมื่อเธอพร้อมจะติดตามเขาไปด้วย จึงหลงเหลือเพียงตระเตรียมความพร้อม และหวนกลับไปสะสางงานที่พิษณุโลก

การร่ำลา ณ สถานีรถไฟ คือครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองจักได้พบเจอกัน คงด้วยสันชาตญาณคนรักกระมัง หฤทัยถึงเต็มไปด้วยความลุกรี้ลุกรน กระวนกระวาย ไม่อยากพลัดพรากจากลา ช็อตสุดท้ายของเธอยังหัวลำโพง พื้นหลังเบลอๆ ปกคลุมด้วยความมืดมิด แสงไฟสลัวๆ อนาคตช่างหมองหม่น อับจน ไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป

ขอทิ้งท้ายด้วยภาพนี้ก็แล้วกัน หลังจากหมอกานต์ร่ำลาหฤทัย ต้องการหวนกลับพิษณุโลกครั้งสุดท้ายเพื่อเก็บข้าวของ ตระเตรียมตัวออกเดินทางไปต่างประเทศ มุมกล้องช็อตนี้สวยมากๆ เมื่อรถไฟเคลื่อนพานผ่าน พบเห็นพระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า เพราะนี่คือการเดินทางมุ่งสู่การจากลาชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล,

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของหมอกานต์และหฤทัย เริ่มตั้งแต่งานแต่งงาน ออกเดินทางสู่พิษณุโลก แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันสักพัก ฝ่ายหญิงก็ตัดสินใจกลับกรุงเทพ ระยะทาง ความเหิ่นห่าง ทำให้ต่างฝ่ายต่างโหยหากันและกัน หมอกานต์จึงเดินทางไปๆกลับๆ ตัดสลับมุมมองระหว่างทั้งสองตัวละครหลัก

  • อารัมบท, โศกนาฎกรรมของหมอกานต์
  • องก์หนึ่ง หมอกานต์และหฤทัย
    • งานแต่งงานระหว่างหมอกานต์และหฤทัย
    • ออกเดินทางสู่พิษณุโลก มาถึงเรือนหอ
    • ชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อหน่ายที่พิษณุโลก ทำให้หฤทัยโหยหาที่จะกลับกรุงเทพ
  • องก์สอง หฤทัยและโตมร
    • หฤทัยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ถูกเกี้ยวพาราสีโดยโตมร
    • ระหว่างทางกลับจากไปรับประทานอาหารที่พัทยา ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ
  • องก์สาม หมอกานต์ผู้โดดเดี่ยว
    • หมอกานต์ล่องเรือไปกินเหล้าบ้านของตำรวจ พบเห็นบ่อยการพนันของนายอำเภอ ปฏิเสธให้การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ
    • เมื่อได้รับโทรเลขจึงรีบเร่งเดินทางกลับกรุงเทพฯ
    • เพื่อนๆของหมอกานต์พาไปเลี้ยงเหล้า ย่ำราตรี
    • เช้าวันถัดมาเผชิญหน้ากับโตมร ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ
  • องก์สี่ หฤทัยสูญเสียความทรงจำ
    • แต่พฤติกรรมของโตมรหลังจากนั้น พยายามลวงล่อหลอกหฤทัยที่สูญเสียความทรงจำ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ โน้มน้าวให้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน
    • หมอกานต์ตัดสินใจหวนกลับพิษณุโลก แต่แล้วได้รับโทรเลขให้ต้องหวนกลับกรุงเทพฯ เพื่อรับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ
    • เมื่อหมอกานต์พบเจอหฤทัย ใช้กำลังข่มขืนจนอีกฝ่ายสามารถหวนระลึกความทรงจำ พูดคุยปรับความเข้าใจ
    • แต่ระหว่างหมอกานต์เดินทางกลับไปสะสางงานที่พิษณุโลก กลับถูกลอบฆ่าระหว่างกำลังขึ้นเรือข้ามฟาก

เป็นอีกหนึ่งความท้าทายขนบหนังไทยสมัยก่อน เพราะเรื่องราวของ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ลงเอยตอนจบด้วยโศกนาฎกรรม แต่แทนที่ท่านมุ้ยจะมอบความตกตะลึง คาดไม่ถึง ผู้ชมออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความหมดสิ้นหวัง จึงทำการแทรกใส่ฉากหมอกานต์ถูกเข่นฆาตกรรมตั้งแต่อารัมบทต้นเรื่อง เพื่อตระเตรียมพร้อมรับมือความสูญเสีย และชักชวนขบครุ่นคิดถึงปัญหา เพราะเหตุใด? ทำไม? ตัวละครถึงประสบโชคชะตากรรมเช่นนั้น?

หลายครั้งทีเดียวที่หนังมีการแทรกภาพจินตนาการเพ้อฝัน ในช่วงแรกๆมักเป็นหฤทัยใคร่อยากได้โน่นนี่นั่น ครุ่นคิดถึงชีวิตเมืองกรุงฯ (เมื่อตอนอ่านจดหมายมารดา ก็ตัดสลับไปมาระหว่างภาพชนบท-กรุงเทพฯ) ส่วนครึ่งหลังมักเป็นภาพความทรงจำเสียมากกว่า เริ่มจากหมอกานต์ครุ่นคิดถึงภรรยา และช่วงท้ายหลังการข่มขืน มันคือการหวนระลึง/จดจำได้ทุกสิ่งอย่าง … สาเหตุที่ท่านมุ้ยใช้วิธีดำเนินเรื่องลักษณะนี้บ่อยครั้ง เพราะไม่ต้องการพึ่งพาความสามารถนักแสดงมากเกินไป (คือถ้านักแสดงเล่นไม่ดี เทคนิค/ภาษาภาพยนตร์เหล่านี้จะช่วยขับเน้นอารมณ์ อธิบายเหตุการณ์ สร้างความกลมกล่อมได้มากๆ)


สำหรับดนตรีประกอบในเครดิตเขียนว่า จำนง ดุริยะนันท์ วงดนตรีกรรณเกษม แต่เท่าที่ผมค้นหาข้อมูลผู้ก่อตั้งวงนี้คือ จำนรรจ์ กุลฑลจันดา เลยไม่แน่ใจว่าเขียนผิดหรือคนละคนกัน? ไม่มีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตหลงเหลืออยู่เลยนะครับ

งานเพลงของหนังมีความเป็นสากล ใช้ดนตรีตะวันตกแทบทั้งหมด (เป็นความพยายามฉีกแหวกแนวยุคสมัยก่อนที่ยังยึดติดว่าหนังไทยต้องคู่กับเพลงพื้นบ้านไทย) จุดประสงค์เพื่อขับเน้นปฏิกิริยาอารมณ์ตัวละคร เมื่อเผชิญหน้าเหตุการณ์ขณะนั้นๆ โดยเฉพาะจินตนาการเพ้อฝันของหฤทัย มักมีความสวยหรู ระยิบระยับ ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น แต่เมื่อเผชิญหน้าสภาพความจริงของพิษณุโลก จักเริ่มได้ยินท่วงทำนองโหยหวน(ถึงเมืองกรุงฯ) จิตใจอมทุกข์ทรมาน

อย่างที่ผมอธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า ท่านมุ้ยไม่ได้ต้องการพึ่งพานักแสดงเพียงอย่างในการแสดงออกทางอารมณ์ เพลงประกอบถือเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง(ของภาษาภาพยนตร์)ที่สามารถช่วยขับเน้น ให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครขณะนั้นๆอย่างชัดเจนขึ้น

สำหรับบทเพลงขับร้องมักดังขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องการเน้นย้ำ อธิบายห้วงความรู้สึกภายในตัวละครออกมาเป็นคำพูด น่าเสียดายที่ผมหาคลิปให้ฟังไม่ได้เลยนะครับ ทั้งห้าบทเพลงประกอบด้วย

  1. เพลงสุขเศร้า เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา
    • บทเพลงสะท้อนความรู้สึกของหฤทัย หลังมาอาศัยอยู่พิษณุโลกได้ระยะหนึ่ง ชีวิตมีทั้งสุขและเศร้า แม้ได้อยู่เคียงข้างชายคนรัก แต่ก็ยังโหยความสุขสบายในเมืองกรุงฯ
  2. เพลง โอ้ความรัก เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก,ขับร้องโดย เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา
    • บทเพลงรำพันถึงความรัก เมื่อหฤทัยตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ แต่ก็ยังโหยหา ครุ่นคิดถึงสามี เหมือนไม่ได้ใคร่อยากจากไปจริงๆ
  3. เพลง เงินตัวเดียว เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก
    • ดังขึ้นที่บาร์แห่งหนึ่งเมื่อหมอกานต์กลับกรุงเทพฯ พบเห็นสภาพของภรรยาจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ตระหนักว่าที่เธอเป็นแบบนี้เพราะเงินตัวเดียว โหยหาแต่ความร่ำรวย สุขสบาย ยินยอมทอดทิ้งตนเองเพื่อไปคบชู้โตมร มันช่างน่าละอายยิ่งนัก
    • ผมชื่นชอบบทเพลงนี้มากๆ แต่ไม่รู้ใครขับร้อง ยิ่งท่วงท่าการร้อง-เต้นบนเวที ใส่อารมณ์แบบสุดๆ เพราะเงินตัวเดียวทำให้มนุษย์คลุ้มบ้าคลั่งได้ถึงขนาดนี้
  4. เพลง รักข้างเดียว เนื้อร้อง/ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย ขบวน มุกดา
    • หลังจากหฤทัยสูญเสียความทรงจำ โตมรพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เธอหวนระลึกถึงตนเอง/สร้างความทรงจำใหม่ๆ แต่จนแล้วจนรอดกลับเพียงรักเธอข้างเดียว
    • นี่เป็นเพลงผู้ชายร้อง จึงสามารถเทียบแทนตัวละครโตมรได้ตรงๆเลยนะครับ
  5. เพลง เขาชื่อกานต์, ทำนองโดย ศุภชัย เชาวนวิรัตน์, คำร้อง : สุรพล โทณะวณิก, ขับร้องโดย เขมิกา กุญชร ณ อยุธยา
    • เสียงโหยหวนของหญิงสาว รำพันถึงเขาชื่อกานต์ จักจดจำอยู่ในความทรงจำ ตราบชั่วกัลปาวสาน

ผมพยายามมองหาบทเพลงบรรเลงเปียโน Opening Credit ด้วยเสียงระยิบระยับสะท้อนกับพื้นผิวน้ำ ตอนแรกครุ่นคิดว่าอาจเป็นผลงานของ Claude Debussy พอฟังไปฟังมารู้สึกละม้ายคล้าย Franz Liszt: Liebesträume (แปลว่า Dreams of Love) แต่เทียบแล้วก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียว เลยคาดคิดว่าอาจเป็นการเรียบเรียงดนตรีขึ้นใหม่ของวงดนตรีกรรณเกษม


เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ใครต่อใครมักบอกแค่ว่านำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นายอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ฯ แต่แท้จริงแล้วคือจิตใจมนุษย์ที่ผันแปรเปลี่ยน ไร้ความมั่นคง เพียงเพราะอำนาจทุนนิยม และข้ออ้างเรื่องของความรัก จึงยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสุขสบาย อยู่รอดปลอดภัย และให้ได้เธอมาครอบครอง

ทุกตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างมีด้านมืด-ด้านดี อยู่ด้วยกันทั้งนั้น

  • หมอกานต์ แม้เป็นสุภาพบุรุษ ยึดถือมั่นในอุดมการณ์ ไม่เคยพูดจาว่าร้าย หรือใช้กำลังความรุนแรงกับใคร แต่ก็มีความเห็นแก่ตัว ภายในเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา พยายามโอ้อวดภรรยา (ด้วยการจัดงานแต่งใหญ่โต) เธอนั้นเป็นของฉัน (ข่มขืนเมื่อเธอสูญเสียความทรงจำ)
  • หฤทัย เป็นหญิงสาวที่ได้รับการเสี้ยมสอน ปลูกฝังจากมารดา (และสังคม) ให้มีความสวยหยิ่ง ลูกคุณหนู แต่งงานกับหมอกานต์ด้วยความเพ้อฝันเทพนิยาย พอไม่ได้ดั่งใจก็หนีกลับกรุงเทพฯ คบชู้กับโตมร แถมตอนฟื้นความทรงจำก็ขณะถูกข่มขืน ราวกับคนชื่นชอบถูกกระทำ/ความรุนแรง
  • โตมร ดูยังไงก็เพลย์บอย มองหฤทัยเพียงของเล่นที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เธอมา แต่อย่างน้อยเขาก็มีความรับผิดชอบ ยังเป็นสุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ยืดอกรับความผิดพลาด
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้รับสินบน ปล่อยปละละเลยภาระหน้าที่ แถมยังทำสาวใช้หมอกานต์ตั้งครรภ์ แต่เป็นคนรักพวกพ้อง และมีสามัญสำนึกถึงความยุติธรรมอยู่บ้าง
  • นายอำเภอ แม้พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่งกายเต็มยศ ต้องเซ็นชื่อบนที่ว่าการ แท้จริงแล้วจิตใจนั้นคิดคด ชอบใช้เงินรัฐกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ ก่อตั้งบ่อนการพนัน แต่มีอุปสงค์ก็มีอุปทาน ล้วนเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน

อุดมการณ์ของหมอกานต์ ถือเป็นอุดมคติที่ฟังดูดี ต้องการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น สังคม พัฒนาท้องถิ่นชนบท กระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค แต่มันก็ชวนให้ผมระลึกถึง Viridiana (1961) การทำดีกับคนพาล ไม่ต่างจากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นอกจากไม่ได้ดียังอาจถูกทำให้ป่นปี้!

ผมแอบรู้สึกว่าสุวรรณี สุคนธา พยายามจิกกัดแนวคิดของปัญญาชนสมัยนั้น (ตนเองก็เฉกเช่นเดียวกัน) เต็มไปด้วยอุดมการณ์ อยากให้มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม เลยส่งออกบุคคลผู้มีวิชาความรู้ไปอาศัยอยู่ยังชนบทต่างจังหวัด เพื่อพัฒนาและยกระดับสังคมให้เทียบเท่าเมืองหลวง แต่นั่นคือการกระทำที่ไม่ดูตนเอง ไม่สนบริบทรอบข้าง เพราะยุคสมัยนั้นในทางปฏิบัติมันแทบจะเป็นไปไม่ได้! (เพราะประชาชนยังขาดการศึกษา อุปกรณ์ บุคลากร ความพร้อมหลายๆด้าน ชาวบ้านจึงกล่าวโทษหมอกานต์ว่าไม่ยินยอมรักษาคนไข้ ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำไม่ได้)

เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) จึงคือเรื่องราวของการตระหนักรู้ เมื่ออุดมการณ์ไม่สามารถตอบสนองอะไร (นอกจากตัณหาของตนเอง) ต่อให้ทุ่มเทพยายามสักเพียงไหน ชุมชนบทก็มิอาจปรับเปลี่ยนแปลงไป แถมยังทำให้ต้องสูญเสียอะไรหลายๆอย่าง เราควรจะต้องยินยอมรับสภาพความจริง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต(ที่สุวรรณีค้นพบ)ก็คือครอบครัว หญิงสาวคนรัก เมื่อบังเกิดความเข้าใจเช่นนั้น อย่างอื่นก็ไม่สลักสำคัญอีกต่อไป!

การสูญเสียอุดมการณ์ของสุวรรณี ผมคาดคิดว่าน่าจะมีจุดเริ่มต้นตอนเลิกราสามี หลงเหลือเพียงลูกๆให้ต้องเลี้ยงดูแล นั่นทำให้ตระหนักว่าครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต! งานแต่งงานใหญ่โตคือการสร้างภาพอันไร้สาระ และภายหลังตัดสินใจลาออกจากราชการ หันมาเขียนนวนิยายเพราะทำเงินได้มากกว่า (จักทำให้ลูกๆเติบโตขึ้นอย่างสุขสบาย เพียงพอภาระค่าใช้จ่าย)

สำหรับท่านมุ้ย สมัยหนุ่มๆเคยมุ่งมั่นอยากเป็นนักประดาน้ำ อุตส่าห์ไปร่ำเรียนธรณีวิทยาไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่เพราะแต่งงานเร็วตั้งแต่ยังร่ำเรียนไม่จบ แล้วมีบุตรถึงสองคน! (ในชีวิตทรงเสกสมรสถึง ๔ ครั้ง แสดงถึงความเจ้าชู้ประตูดินพอตัวเลยละ!) พอกลับบ้านมาจึงต้องเลือกอาชีพผู้กำกับ (ตามรอยพระบิดา) เลยถือว่าเป็นการสูญเสียอุดมการณ์ และตระหนักว่าครอบครัวคือสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต!

ขณะเดียวกันความล้มเหลวในผลงานเรื่องแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔) สร้างแรงกดดัน รู้สึกอึดอัดอั้น (จากคำพร่ำบทหม่อมแม่) แล้วนี่ฉันจะสามารถเอาตัวรอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ สรรค์สร้างผลงานตอบสนองความหัวขบถของตนเองได้อีกกี่ครั้ง สักวันหนึ่งอาจต้องสูญเสียอุดมการณ์ เป้าหมาย แล้วกลายเป็นอย่างหมอกานต์ … โชคดีที่วันนั้นไม่เคยมาถึง

เขาชื่อ ‘กานต์’ น่าจะมาจากคำว่า อุดม’การณ์’ แต่สูญเสียคำว่าอุดม เลยหลงเหลือเพียง การณ์ พ้องเสียงกับ กานต์ แปลว่าเป็นที่รัก หรือคือตัวละครหมอกานต์ หลังจากสูญเสียอุดมคติของชีวิต เลยได้เรียนรู้จักกาลครั้งหนึ่งแห่งรัก (อุดมการณ์ชีวิต <> ความรักครอบครัว เหมือนเป็นสิ่งที่อยู่คนละฝากฝั่งขั้วตรงข้าม)

แต่ถ้ามองอีกแง่มุมหนึ่ง การสูญเสียอุดมการณ์ของหมอกานต์ (=สูญเสียจิตวิญญาณ) ทำให้เขาต้องประสบเหตุโศกนาฎกรรม (=สูญเสียร่างกาย) … หรือคือถ้ามนุษย์สูญเสียอุดมการณ์/เป้าหมายชีวิต เช่นนั้นแล้วตกตายไปเสียยังดีกว่า!

จะว่าไปทั้งนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นก่อนวันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ นำเสนอความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ (สะท้อนถึงยุคสมัยเผด็จการจอมพลถนอม ได้เป็นอย่างดี) การสูญเสียอุดมการณ์คือสิ่งที่ปัญญาชนสมัยนั้นยินยอมรับไม่ได้ (เป็นยุคแห่งอุดมคติชนโดยแท้!) และความตายของหมอกานต์คงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองเล็กๆ เราต้องอดรนทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการไปอีกนานเท่าไหร่ … นี่ผมพูดถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ ด้วยนะครับ!


หนังเข้าฉายวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ณ โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ปรากฎว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ว่ากันว่ารายได้หลักหลายล้าน แจ้งเกิดสรพงศ์ ชาตรี (จนมีคำเรียก ‘เขาชื่อสรพงศ์’) และสามารถคว้ารางวัลพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) สาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม (ท่านมุ้ยอายุเพียง ๓๑ ปี ถือว่าน้อยที่สุดขณะนั้น)

เกร็ด: เห็นว่าสรพงศ์ ชาตรี ได้เข้าชิงผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม แต่พ่ายให้นาท ภูวนัย จากเรื่อง ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ (พ.ศ. ๒๕๑๖), ขณะที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ ชู้ (พ.ศ. ๒๕๑๖) กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์

ปัจจุบันหนังได้รับการสแกนภาพใหม่ในความคมชัดระดับ 4K เข้าฉายครั้งแรก ณ หอภาพยนตร์ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ … ส่วนฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๑ ของไฟว์สตาร์ เหมือนว่าจะบูรณะแล้วเสร็จสิ้นมาสักพักใหญ่ๆ

รับชมเขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ทำให้ผมรู้สึกว่าหนังของท่านมุ้ยอาจมีความเป็นส่วนตัว ‘ศิลปิน’ ซุกซ่อนเร้นในผลงานอื่นๆเช่นเดียวกัน ภาพยนตร์ที่คนส่วนใหญ่มองแค่ว่าสะท้อนปัญหาสังคม ความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ นั่นอาจเหมารวมถึงตัวตนของท่านเอง มีบางสิ่งอย่างที่ขัดแย้งต่อแนวคิด อุดมการณ์ อาชีพการงาน และครอบครัว ถ้าเราสามารถครุ่นคิดตีความไปถึงระดับนั้น ก็จะตระหนักว่าหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล คือมรดกแห่งชาติเลยละ! และภาพยนตร์เรื่องนี้สมควรเรียกว่า ‘เขาชื่อชาตรีเฉลิม’ น่าจะตรงกว่าไหม?

แนะนำคอหนังไทย เรื่องราวรักสามเส้า สะท้อนปัญหาสังคม ภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่นำเสนอความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ(ไทย), ต้องการหวนระลึกถึงกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๖ รวมถึงวิถีชนบทยุคสมัยนั้น, ชื่นชอบวรรณกรรมของสุวรรณี สุคนธา, รำลึกถึงสรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์, ภิญโญ ทองเจือ และท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ระดับตำนานแห่งสยามประเทศทั้งนั้นๆ

จัดเรต ๑๓+ กับความคอรัปชั่น รักสามเส้า และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์ของท่านมุ้ย แต่กาลเวลาทำให้คุณค่าหลงเหลือเพียงอุดมคติ
คุณภาพ | เพียงอุดมคติ
ส่วนตัว | เพียงชื่นชอบ

นางนาก (1999)


นางนาก

นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) หนังไทย : นนทรีย์ นิมิบุตร ♥♥♥♡

ในยุคที่หนังไทยราวกับได้ตายท้องกลม แต่ความรักของผู้สร้างยังคงอยู่นิรันดร์ พยายามรังสรรค์นำเสนอมุมมองสิ่งแปลกใหม่ คาดหวังแค่ปลุกแม่นากให้ฟื้นตื่น แต่ความสำเร็จกว่า ๑๕๐ ล้านบาท สามารถคืนชีพวงการภาพยนตร์ไทย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงไม่ใช่หนังไทยยอดเยี่ยมที่สุด แต่ต้องถือว่า นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างปรากฎการณ์/ปาฏิหาริย์ไม่รู้ลืมให้ประเทศไทย ทั้งยังปฏิวัติ/ปรับเปลี่ยนแนวคิดวิธีสร้างภาพยนตร์ จนมีคำเรียกยุคสมัย Renaissance หรือ Thaland New Wave [แต่เรื่องแรกจริงๆที่เปิดประตูสู่คลื่นลูกใหม่ คือ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐)]

อะไรที่ทำให้นางนาก กลายเป็นตำนานวงการภาพยนตร์ไทย? คงมีคนวิเคราะห์มาเยอะแล้วละ ในมุมของผมบ้างแล้วกันนะ
– เพราะผู้ชมเบื่อหน่ายต่อความซ้ำซากจำเจเต็มแก่! เพราะหนังไทยยุคสมัยนั้นมีแต่แนววัยรุ่น ตลก ผีเชยๆ ก็ขนาดว่าแม่นาก/แม่นาคพระโขนง ก่อนหน้านี้ได้รับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ ละคร มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ครั้ง ล้วนเกี่ยวกับอภินิหาร ผีร้าย ต้องล้างแค้น เข่นฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง
– ความทุ่มเทใส่ใจในทุกๆรายละเอียดของผู้สร้าง อาทิ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ใช้เวลาศึกษาหาข้อมูล ๒ ปี พัฒนาบทอีกครึ่งปี, ระหว่างนั้นอีกขวบปีกว่าจะแคสติ้งได้นักแสดงนำ อินทิรา เจริญปุระ, เวิร์คชอปที่อยุธยาสามเดือน อาบแดด เกี่ยวข้าว เจียนหมาก อาบน้ำคลอง พายเรือ ถอดรองเท้าเดิน ให้คุ้นเคยกับการย้อนยุคสมัย, ถ่ายทำยังสถานที่จริง ป่าช้า มัดตราสัง ลงคาถา ทุกเปลาะ ทุกห่วงของจริงหมด ฯลฯ เหล่านี้เป็นไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่ถึงขั้นประณีตละเอียดอ่อนขนาดนี้ในวงการภาพยนตร์ไทย
– ความสดใหม่ในการนำเสนอ จัดเต็มโปรดักชั่นย้อนยุค เสื้อผ้าหน้าผม ทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง-สี ตัดต่อคู่ขนาน เน้นความกระชับรัดกุม เพลงประกอบผสมทั้งไทย-เทศ เสียงร้องอันหลอกหลอน ดังกึกก้องไปถึงขั้วหัวใจ
– สำคัญสุดคงคือความตั้งใจของผู้สร้าง ไม่ได้ต้องการนำตำนานมาลบหลู่ หากินกับความเชื่อคนไทย แต่ทำออกมาให้ดีที่สุดความสามารถ และมอบความยุติธรรมให้กับแม่นาก (ถึงเป็นผีก็ไม่ใช่ว่าต้องมาร้ายเสมอไป)

ความสำเร็จของนางนาก ยังสะท้อนคนไทยยุคสมัยนั้นออกมา เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในสภาวะถดถอย ฟองสบู่แตก วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. ๒๕๔๐ เจ้าของธุรกิจล้มละลาย ผู้คนตกงาน ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ภาพยนตร์เท่านั้นจักสามารถทำให้หลบหลีกหนี ‘Escapist’ ออกจากโลกความจริงได้ชั่วขณะหนึ่ง


นนทรีย์ นิมิบุตร ชื่อเล่น อุ๋ย (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เกิดที่จังหวัดนนทบุรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม เข้าเรียนต่อคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบออกมาได้เริ่มทำงานด้วยการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ตามด้วยผลิตสารคดี ละคร โฆษณา, ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อประสบการณ์ความสามารถเต็มเปี่ยม เกิดโปรเจคภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อ ‘๒๐๒๙ เครื่องครัวล้างโลก’ ตั้งใจให้เป็นแนวตลาดแต่ก็ล่มไม่เป็นท่า เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณทุนสร้าง พักทำใจอยู่สองปีเต็มมองหาสิ่งอื่นที่อยู่ในสนใจ อาทิ ดัดแปลงวรรณกรรม ขุนช้างขุนแผน ฯ ก่อนมาลงเอยที่หนังสือเส้นทางมาเฟีย กลายมาเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐)

ความสำเร็จอันล้นหลามคาดไม่ถึงของ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ทำให้พี่อุ้ยได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากนายทุนเพิ่มมากขึ้น มองหาโปรเจคถัดไป

“เราได้ดูนางนากทั้งหมดที่เขาเคยทำมาแล้วประมาณ ๒๐ เวอร์ชัน ทั้งละคร ทั้งภาพยนตร์ แต่ทุกครั้งที่นั่งดูเราก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรบางอย่างตลอดเวลา เรื่องที่เป็นตำนานยาวนานขนาดนี้มันเป็นแค่เรื่องผีร้ายอย่างนี้จริงๆเหรอ ยิ่งดูยิ่งมีความรู้สึกว่าอยากเล่าเรื่องนี้ใหม่ ทำไมเรารู้สึกว่าสงสารคนที่นางนากจังเลย รู้สึกว่าเขาเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรบางอย่าง แล้วอีกอย่างก็คือความเชื่อในเรื่องวิญญาณเรื่องผีของเราอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นเขา ก็เลยมีมุมที่เราอยากเล่าในแบบตัวเองดีกว่า”

– นนทรีย์ นิมิบุตร

มอบหมายให้รุ่นน้อง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่เพิ่งร่วมงาน ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ใช้เวลาเต็มที่ในการศึกษาค้นหาข้อมูล พัฒนาบทภาพยนตร์ (ซึ่งระหว่างนั้น วิศิษฏ์ ก็น่าจะซุ่มพัฒนาบท ฟ้าทะลายโจร ที่จะกลายเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของตนเองด้วย)

เกร็ด: ระหว่างดูเครดิตหนัง พบเห็นชื่อ คมกฤษ ตรีวิมล (แฟนฉัน, เพื่อนสนิท) เป็นหนึ่งในผู้ช่วยผู้กำกับด้วยนะ!

เริ่มต้น ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สมัยรัชกาลที่ ๔ เกิดสุริยุปราคาขึ้นที่หว้ากอ ผู้คนแตกตื่นราวกับเป็นลางบอกเหตุร้ายบางอย่าง ไอ้มาก (วินัย ไกรบุตร) ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรบที่ชายแดน ปล่อยให้เมียสาวกำลังท้องแก่ นาก (อินทิรา เจริญปุระ) อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง จำต้องตรากตรำทำงานหนักทั้งๆท้องแก่ใกล้คลอด แต่แล้วเมื่อเจ็บครรภ์มีลางร้ายนอกแสกบินผ่านหลังคาบ้าน ทำให้เสียชีวิตขณะคลอด ตายท้องกลม ซึ่งวิญญาณของนางยังคงไม่ยอมไปผุดไปเกิด เวียนวนอยู่บริเวณชายน้ำใกล้บ้าน เฝ้ารอคอยการกลับมาของผัวสุดที่รัก


อินทิรา เจริญปุระ ชื่อเล่น ทราย (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๓) นักร้อง นักแสดงชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร บิดาคือ รุจน์ รณภพ และเป็นน้องสาวต่างมารดา ใหม่ เจริญปุระ, เข้าสู่วงการโดยคำชักชวนของ สุพล วิเชียรฉาย แสดงละครตอนอายุ 13 เรื่อง ล่า (พ.ศ. ๒๕๓๗), ส่วนภาพยนตร์โด่งดังจาก นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในบท เล่อขิ่น, นาคปรก (พ.ศ. ๒๕๕๓), ดาวคะนอง (พ.ศ. ๒๕๕๙) ฯ

รับบท นางนาก ผู้มีความจงรัก เป็นห่วงเป็นใยต่อ นายมาก แม้ตัวตายท้องกลม แต่จิตวิญญาณก็ไม่ยินยอมทอดทิ้งจากลา เฝ้ารอคอยอยู่ท่าน้ำทุกคืนวัน เมื่อเขากลับมาจากเกณฑ์ทหาร คอยปรนิบัติรับใช้ พยายามยื้อย่างเพลา เข่นฆ่าทุกผู้มาร้าย เพื่อให้ความสุขแสนสั้นนี้ยืดยาวนานออกไปชั่วนิรันดร์

หลังจากคัดเลือกนักแสดงมากว่าขวบปี พี่อุ๋ยก็เริ่มหมดความอดทน พูดขอกับย่านาก ’ย่าอยากได้แบบไหนก็บอกมาสิครับ’ ปรากฏคืนนั้นฝันว่ามีผู้หญิง นุ่งโจงเขียว ห่มสีกลีบบัว แต่ไม่มีหัวมาหา ตื่นเช้าขึ้นมาเลยตั้งสติใหม่ ยึดหุ่นในฝันเป็นแบบอย่าง (แตกต่างจากภาพลักษณ์แม่นาก ก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง) โดยทรายถูกเรียกไปแคสติ้งช่วงวันท้ายๆ พอถึงตาตนเองทดสอบหน้ากล้องเกิดฝนตกฟ้าร้อง ลมพัด หมาหอนขึ้นมาพอดี ขณะที่คนอื่นกล้องแฮนดี้แคมบันทึกเพียงภาพไม่ได้ยินเสียงอะไรอื่น แต่ของทรายกลับติดหมดทุกอย่าง นั่นเองทำให้ทุกคนรับรู้ได้โดยทันที ย่านากต้องการเธอคนนี้!

หลายอย่างอาจดูฝืนธรรมชาติไปบ้าง การแสดงก็ไม่เน้นขายความสามารถสักเท่าไหร่ (มันเพราะไดเรคชั่นของพี่อุ๋ยด้วยนะ) ทั้งหมดล้วนคือภาพลักษณ์ซึ่งเป็นจุดเด่นของทราย ผู้หญิงตัวเล็กๆแต่มีความหยาบกร้าน ภาพลักษณ์สาวแกร่ง ภายนอกดูเข้มแข็ง ถึงอย่างนั้นจิตใจกลับเต็มไปด้วยอ่อนไหว สนเพียงคนรักข้างกายก็สุขสบายใจ อย่างอื่นนั้นไซร้ไม่ใช่เรื่องของมึงจะเสือกทำไม

ผมว่าทรายเล่นดีในฉากที่ต้องแสดงความรัก แต่ลึกๆกลับปกปิดบังความจริงบางอย่างไว้ (ว่าตนเองเป็นผี) พยายามบิดหนี เล่นตัว ตะขิดตะขวงใจ แม้ปรนิบัติสามีให้ได้รับความสุข ตนเองจมปลักอยู่ในความทุกข์โศก เพราะรับรู้ว่าคงเหลือเวลาบนโลกอีกไม่นานวัน

แซว: เพื่อไม่ให้นักแสดงรู้สึกเก้งกังกับทรงผมทรงดอกกระทุ่ม ทีมงานทั้งหมดก็เลยตัดทรงเดียวกัน ไถเกรียนด้วยปัตตาเลี่ยน เบอร์ ๓


วินัย ไกรบุตร ชื่อเล่น เมฆ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๐) นักแสดงชาวไทย เกิดที่กระบี่ ครอบครัวมีฐานะยากจน จบการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนายแบบ ถ่ายโฆษณา Music Video จนมีโอกาสแสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง จนกระทั่งถูกเรียกตัวมาแทนนักแสดงเดิม นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) กลายเป็น ‘พระเอกร้อยล้าน’ คนแรกของประเทศไทย มีอีกผลงานเด่น บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓) แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆเลือนลางจางหายไป

รับบท นายมาก ผู้มีความรักมหาศาลต่อ นางนาก แต่โชคชะตาชีวิตลิขิตให้ถูกเกณฑ์ทหารไปสู้รบสงคราม เจ็บป่วยปางตายโชคดีได้สมเด็จโตช่วยเหลือให้พ้นเคราะห์ ขอกลับมาบ้านก่อนบวชทดแทนพระคุณ ค่อยๆสังเกตเห็นความผิดปกติทีละเล็กละน้อยของภรรยา พอรับทราบความจริงก็แสดงอาการหวาดกลัวขวัญหนีดีฝ่อ แต่สักพักพอเริ่มครุ่นคิดตระหนักได้ พยายามอย่างยิ่งจะปกป้อง แต่เมื่อทุกสิ่งอย่างมิอาจหวนย้อนกลับคืน เลยได้แค่ทำใจ ปลดปล่อยวาง บวชอุทิศทุกสิ่งอย่างให้ผลกรรมเบาบางลง

บทบาทของเมฆ มีความซื่อตรงไปตรงมา แทบจะเรียกไร้เดียงสาก็ว่าได้ สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น รักมาก จนกลายเป็นมืดบอดต่อความจริง (กรรมบังตา) กระทั่งเมื่อพบเห็นแสงสว่างร่ำไร ตระหนักทุกสิ่งอย่างสูญเสียไป ขีวิตก็แทบไม่หลงเหลืออะไรให้ยึดถือไว้อีก

เห็นกล้ามเป็นมัดๆก็อิจฉา เอาจริงๆผมว่าคนไทยสมัยก่อนไม่ได้ซิกแพคกันหมดแบบนี้หรอก แต่เพื่อให้ออกมาดูดีในภาพยนตร์ ก็นะ ใครจะไปให้นายมาก พุงพุ้ย เหยาะแยะ แบบนั้นก็ขายไม่ออกกันพอดี (แต่ก็น่าจะมีคนลองทำดูบ้างนะ)


ถ่ายภาพโดย ณัฐวุฒิ กิตติคุณ หรือน้ากล้วย ตากล้องยอดฝีมือชาวไทย ที่ได้แจ้งเกิดกับ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานเด่นๆติดตามมา ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔), องค์บาก (พ.ศ. ๒๕๔๖), ชัมบาลา (พ.ศ. ๒๕๕๕) ฯ

คนที่มีโอกาสรับชมฉบับ Remaster คุณภาพ 4K คงได้พบเห็นความสดสว่าง สีสันคมเข้มที่งดงามกว่าฉบับ HD/DVD เป็นไหนๆ ซึ่งส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำตอนกลางคืน ยังสถานที่ค่อนข้างห่างไกลต่างจังหวัด การจัดแสงจึงมีนัยยะสำคัญค่อนข้างมาก และความโดดเด่นคือมุมกล้องแปลกๆพิศดารมากมาย แต่บางครั้งก็รู้สึกเก้งกัง เลือกได้ไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่

หนังเริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงภาพเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ตัดสลับกับความพลุกพร่านของฝูงชน กำลังเร่งรีบร้อนรน สวดมนต์ไหว้พระ ถือเป็นสะท้อนความเชื่อของชนชาวไทยต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติสามัญมากๆ

เพราะตำนานแม่นาคพระโขนง อยู่เคียงคู่ชนชาวไทยมาแสนนาน เริ่มต้นเรื่องราวด้วยการร่ำลาจากระหว่างนายมากกับนางนาก ไม่จำเป็นต้องมีการแนะนำอะไร ผู้ชมก็สามารถรับรู้เข้าใจได้โดยทันที (พี่อุ๋ยเปรียบเทียบกับ Titanic เพราะผู้ชมรู้อยู่แล้วว่าเรือต้องล่ม จะไปยื้อยักรอชักช้าอยู่ทำไม!)

มุมกล้องที่พบเห็นอยู่หลายครั้งคือ Bird Eye View แต่ผมขอเรียกว่า Gecko Eye View สายตาตุ๊กแกที่อยู่บนเพดาน จับจ้องมองตัวละครอยู่เบื้องล่าง ซึ่งซีนนี้ นายมากในสภาพเป็น-ตาย มุมกล้องสามารถสื่อถึง มันเป็นเรื่องโชคชะตาฟ้ากำหนด … แต่ผู้ชมมักล่วงรับรู้อยู่แล้วว่ายังไงต้องรอด

และไดเรคชั่นขณะนี้คือการตัดสลับเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่าง นายมาก กับ นางนาก หนึ่งกำลังลุ่มร้อนเพราะพิษไข้ สองดิ้นรนอย่างทรมานเพราะคลอดครรภ์

เพื่อความกระชับรวบรัดกุมของเรื่องราว วิธีของหนังในการบอกว่า เวลาได้เคลื่อนดำเนินผ่าน คือการ Cross-Cutting ร้อยเรียงภาพธรรมชาติ สรรพสัตว์ ผู้คน ฯ … แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วงขณะนี้ค่อนข้างเร่งรีบร้อนเกินไปสักนิด มันน่าจะได้อรรถรสยิ่งกว่าถ้าชีวิตค่อยๆดำเนินไป

ช็อตนี้ปรากฎขึ้นหลังจากสมเด็จโตรักษานายมากเสร็จสิ้น และกาลเวลาค่อยๆเคลื่อนคล้อยผ่าน สังเกตว่าสรรพสัตว์จะหลงเหลือเพียงตัวเดียว (ผิดกับช่วงก่อนหน้าที่จะมาเป็นคู่ๆ) นี่แอบสะท้อน/พยากรณ์ถึงความตายของนางนาก (แต่หนังจะยังไม่เฉลยออกมา เป็นการสร้างความฉงนให้คนยังไม่เคยรับชมมาก่อนหน้า)

มันจะมีอยู่ช็อตหนึ่งขณะที่นายมากพายเรือกลับมาหานางนาก สังเกตว่าตรงผืนผิวน้ำด้นหลังจะมีหมอกควันล่องลอยหวิวๆ นั่นคือสัญลักษณ์ของความลึกลับ พิศวง ภยันตราย ราวกับเขากำลังมุ่งสู่โลกมายา แห่งจินตนาการ หลังความตาย เป็นอีกหนึ่งการบอกใบ้โชคชะตาของนางนาก ชวนให้สยิวกายอยู่เล็กๆสำหรับผู้สัมผัสได้

รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักขึ้นว่า คนไทยสมัยก่อนเขาไม่นิยมจูบแลกลิ้นกันนะ สาเหตุเพราะการเคี้ยวหมาก คงขัดขวางอารมณ์โรแมนติกอยู่ไม่น้อย ในหนังเลยเห็นแต่ลูบไล้ กอดสัมผัส คลอเคลีย แค่นี้ก็อารมณ์เตลิดไปไกลแล้วกระมัง

ความเชื่อคนสมัยก่อน ฟันขาวคือฟันหมา (หรือฟันผี) จึงต้องเคี้ยวหมากให้มีสีแดงกล่ำ ซึ่งวิธีการที่ทีมงานใช้คือให้หมอพิมพ์ฟันหล่อพลาสติกบางๆครอบเข้าไป แต่ปัญหาของฟันปลอมนี้คือบอบบาง แตกง่าย กินอะไรแทบไม่ได้ แถมถ้าใส่ไปนานๆจะดูดติดกับเหงือก ต้องบีบให้แตกแล้วคายออกมา คนหนึ่งเลยต้องใช้กันหลายอันอยู่ทีเดียว

สำหรับหมากที่ใช้ก็ไม่ใช่หมากจริงๆ เพราะเห็นว่าเมฆเคยลองกินแล้ว ฤทธิ์มันรุนแรงเกินทนไหว ลองไปเรื่อยๆจนได้ดอกคำฝอยแห้ง สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ทำให้ทีมงานต้องคอยเสิร์ฟน้ำแดงให้นักแสดงอยู่ประจำ ไม่งั้นอาจเป็นลมล้มพับ (เพราะน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำ)

สำหรับคนไม่เคยล่วงรับรู้ตำนานแม่นาคพระโขนงมาก่อน เชื่อว่าคงได้ตื่นตระหนก คลุ้มคลั่ง เพราะหนังเปิดเผยความจริงว่า นางนากเสียชีวิตตายท้องกลม ขณะกำลังร่วมรักหลับนอนกับนายมาก ตัดสลับไปมาคู่ขนาน วินาทีเสพสมไคลน์แม็กซ์ เธอก็หมดสิ้นลมหายใจ

แล้วนี่ก็ Gecko Eye View มุมแห่งโชคชะตาฟ้ากำหนด ตุ๊กแกร้อง ให้นางนากต้องนอนตายท้องกลม!

เหี้ย ที่นำมาประกอบฉาก ทรายเล่าว่าพวกมันเป็นมังสวิรัต แต่ทีมงานต้องฝืนใจป้อนเนื้อวัวให้ดูสมจริง ปรากฎว่าตายไปหลายตัว นี่รวมถึงฉากนายมากอาบน้ำแล้วมีหนูลอยผ่าน คือต้องฆาตกรรมหนูจริงๆแล้วยัดโฟมใส่เพื่อให้ลอยน้ำได้

แซว: จบการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ พี่อุ๋ยและทีมงาน ต่างพากันออกบวชอุทิศส่วนบุญกุศลให้กรรมทั้งหมดที่ก่อไว้

ความมืดของช็อตนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว แม้ตอนกลางวันแต่อาบปกคลุมใบหน้าของทั้ง นายมากและนางนาก
– สำหรับ นางนาก เพราะเธอกำลังพูดโป้ปดหลอกลวง จิตใจเลยเต็มไปด้วยความมืดหม่นร้าวราน
– ขณะที่ นายมาก หลงเชื่อในคำลวงของภรรยาอย่างหน้ามืดตามัว จนมองไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า

เกร็ด: จริงๆแล้วลูกของนางนากคือผู้หญิงนะครับ คำเรียกที่ถูกต้องเป็นอีแดง ไม่ใช่ไอ้แดง แต่หนังเลือกเรียก ไอ้แดง เพราะมันฟังดูไพเราะกว่า แม้จะทำให้ผู้ชมก็เข้าใจผิดๆกันก็ตามที

ผมชื่นชอบฉากนี้มากๆเลยนะ ขณะที่นายมากถูกมายาของนางนาก ทำให้มืดบอดมองไม่เห็นความจริง แต่มุมมองของหนังในสายตาสมภาร ชัดเจนเลยว่าสถานที่แห่งนี้สกปรกรกร้าง หาใช่สถานที่ที่คนมีชีวิตจะอาศัยอยู่ พยายามพูดเกลี้ยกล่อมเกลาให้เกิดสติ แต่กลับถูกตำหนิต่อว่า ขับไล่ผลักไสส่งให้กลับวัดไป

ตบมุกฉากนี้ฮาลั่น เมื่อนายมากชักชวนให้รอคอยนางนาก อีกไม่นานคงหวนกลับมา สีหน้าสายตาสมภารเต็มไปด้วยความรุกรี้ร้อนรน “ไม่เป็นไรดอก ไปเว้ยพวกเรา เผ่นเถอะ!”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือสมเด็จโต (พ.ศ. ๒๓๓๑ – ๒๔๑๕) พระมหาเถระรูปสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ นอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล ‘พระสมเด็จ’ ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล ๑ ใน ๕ ของประเทศไทย (มีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท)

นางนากฉบับนี้น่าจะเป็นครั้งแรก ที่อัญเชิญสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปราบแม่นาค ในประวัติศาสตร์ก็เหมือนเคยบันทึกไว้ แต่ไม่เพราะเคยมีใครศึกษาจริงจังก่อนหน้า ซึ่งผลลัพท์ของการแทรกเรื่องราวส่วนนี้เข้ามา ช่วยเพิ่มความขลัง จริงจัง ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่ ซึ่งคนไทย/ชาวพุทธในปัจจุบัน น้อยคนนักจะไม่รู้จักสมเด็จโต และพระคาถาชินบัญชร

ฉากเก็บมะนาวตกในตำนานของแม่นาคพระโขนง เกือบแล้วที่พี่อุ๋ยจะตัดทิ้งไม่ใส่เข้ามา

“ตอนนั้นสองจิตสองใจมากกับฉากนี้ คือคุยกันหลายรอบมาก ว่าจะเอาหรือไม่เอาดี คือดเราเปลี่ยนทุกอย่างหมดแล้ว และเราไม่จำเป็นต้องคงอะไรไว้ก็ได้ แต่ว่ามันก็ แหม่…คลาสสิกมากนะฉากนี้ เวอร์ชั่นไหนก็ต้องมี เพราะฉะนั้นเราคงความเป็นแม่นาคพระโขนงเอาไว้หน่อยก็ได้”

ซึ่งการเลือกแทรกใส่ฉากในตำนานนี้ที่ถือว่าเจ๋งสุด คือขณะนายมากรับรู้ความจริงพอดิบพอดี เลยทำให้วิ่งหนีเผ่นแนบ ป่าราบไปเลย

“ตอนแรกที่เราถ่าย เราคิดว่าจะไม่ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์อะไร ก็คือใช้เลนส์มุมกว้าง แล้วจับที่มือทรายยื่นลงไป มันก็เหมือนมือยาวอยู่แล้วล่ะ แต่ทีนี้มันมีภาพจำของหนังว่า ถ้าจะมีฉากนี้ต้องเห็นว่ามือยาวยื่นลงมาใต้ถุนเรือนแล้วหดกลับเข้าไป มันก็เลยต้องยอมทำอันนั้นหนึ่งอัน”

แต่ผมว่าฉากนี้เร่งรีบร้อนเร็วนำเสนอสั้นไปสักหน่อย คือไม่ทอดทิ้งเวลาให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกสั้นสะท้าน ปรากฎขึ้นแค่เพียงเสี้ยววินาที เต็มที่คือสะดุ้งโหยงตกใจเท่านั้นเอง

บ้านของนายมากและนางนาก ออกแบบงานสร้างโดย เอก เอี่ยมชื่น ซึ่งก็ได้ทำการก่อสร้างขึ้นมาทั้งหลัง เพื่อว่าวันสุดท้ายจักเผาทำลายจริงๆ แต่ปัญหาซีนนี้คือการควบคุมไฟ ครั้งแรกถ่ายออกมาไม่สวยเท่าไหร่ แต่ยังมีโอกาสอีกครั้งเพราะยังไม่มอดไหม้ทั้งหลัง ถึงอย่างนั้นผมว่าก็ยังไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร ดูหลอกๆตา หาความสมจริงไม่ได้เท่าไหร่ และเห็นว่าทรายถูกไฟลวกด้านหลัง ทำสีหน้าทรมานไม่ได้เพราะแสดงเป็นผีอยู่ เล่นจนจบฉากค่อยเอาเจลเย็นมาประกบ วันถัดมาหนีไปเล่นน้ำสงกรานต์ ระบมชิบหายวายป่วน

ฉากที่ผมคิดว่าคือลายเซ็นต์ของหนังจริงๆคือช็อตนี้ นางนากห้อยหัวลงจากเพดาน เพราะไม่สามารถเข้าในวงสายสิญจน์ของพระได้ … ทีมงานไม่รู้จะถ่ายฉากนี้ออกมายังไง ก็เลยให้ทรายห้อยหัวลงมาจริงๆ แต่แค่ไม่กี่นาทีเลือดไหลตาแดง แทบแย่ ช่วยลงมาเกือบไม่ทัน

“ซีนห้อยหัวคือบ้าคลั่งมาก เรารู้ว่ามีฉากต้องห้อยหัว แต่คิดว่าวิธีมันยังไง พอถึงวันจริงก็นัดกองมา แล้วก็ ..วันนี้ถ่ายห้อยหัวกันนะ ผูกตรงไหนดี สุดท้ายผูกข้อเท้า แล้วก็ชักรอกขึ้นไปเหมือนชักธงชาติ ระหว่างนั้นทุกคนก็สั่งเราแบบธรรมดามาก ทรายซ้ายหน่อย ซ้ายไหนพี่ หนูไม่รู้ว่าซ้ายไหนค่ะ ถ่ายไปสักพักก็บอกว่า ไม่ได้แล้ว ปวดตา เลือดมันลง พี่อุ๋ยก็ถามว่าไหวไหม สุดท้ายไม่ไหว เพราะตามันแดง ดูแล้วไม่เป็นผี ดูเป็นคน จนต้องเลิกกองตอนตีสาม แล้วมาถ่ายใหม่วันหลัง “

– ทราย เจริญปุระ

ช็อตนี้มันก็คือ Gecko Eye View นะแหละครับ มองลงจากเพดาน พบเห็นโชคชะตาที่มิอาจครองคู่อยู่ร่วมกันได้ของ นายมากและนางนาก

อีกหนึ่งฉากที่ตราตรึงไม่แพ้กัน เป็นส่วนผสมของ CGI หลังจากที่นางนากถูกสยบโดยสมเด็จโต ค่อยๆทิ้งตัวลงหลุมแล้วกลายกลับเป็นโครงกระดูก แต่สิ่งน่ารำคาญสุดของซีนนี้คือต้นไม้เล็กๆที่อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางภาพ ถึงจะเป็นความจงใจเพื่อแบ่งแยกชีวิต-ความตาย แต่มันอยู่ผิดที่ผิดทาง ขวางหูขวางตาเสียจริงๆ

ปั้นเหน่ง เครื่องรางของขลังประเภทหนึ่ง ทำจากกระดูกส่วนหน้าผากของศพมนุษย์ หรือส่วนกลางกะโหลกศีรษะ โดยปั้นเหน่งมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือการย่อหัวกะโหลกทั้งหัวรวมไว้เพียงชิ้นเดียว เพื่อหวังผลนำมาใช้ทางไสยศาสตร์ สะดวกแก่การพกพาติดตัว โดยการนำมาปลุกเสก สะกดวิญญาณนั้นไว้ ตามตำราต้องหากะโหลกหน้าผากจากศพอายุยังไม่มาก แต่ที่ขลังจริงๆต้องเป็นศพผีตายโหง หรือศพตายทั้งกลม ถือว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ติดวิญญาณ

จากตำนานแม่นาคพระโขนง สมเด็จโตได้ทำการสะกดวิญญาณ โดยเจาะกะโหลกผีแม่นาคเอามาขัดเป็นมันลงอักขระอาคม และคาถาเฉพาะบท ทำเป็นปั้นเหน่ง หัวเข็มขัดโบราณคาดเอวไว้เป็นเครื่องราง ก่อนจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม สะกดวิญญาณไว้เพื่อไม่เป็นการให้โทษแก่ผู้ถือครอง ก่อนที่ต่อมาปั้นเหน่งแม่นาคจะถูกเปลี่ยนมือไปอีกหลายทอด ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าของศักดิ์สิทธิ์จากตำนานรักแม่นาคตกทอดไปอยู่ในมือของผู้ใด

ตามความเชื่อ ปั้นเหน่ง เป็นขลังชนิดที่มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ แคล้วคลาด ใช้ป้องกันเหตุเภทภัยหรือคุณไสย และคงกระพันชาตรี ขอโชคลาภ หรือจะเป็นพรายกระซิบช่วยระวังป้องกันภัยเตือนภัย หากใครมีไว้ครอบครองเชื่อกันว่าจะต้องเซ่นเลี้ยงด้วย ข้าวปลาอาหาร เหล้าขาว สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการหมั่นทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าของกะโหลก เทพยดา ตลอดจนดวงวิญญาณของครูบาอาจารย์ผู้สร้าง ถ้าทำได้ตามนี้ก็เชื่อได้ว่าจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

reference: https://www.sanook.com/horoscope/161957/

ตัดต่อโดย สุนิตย์ อัศวินิกุล ทายาทของ ปง อัศวินิกุล ผู้บุกเบิกการบันทึกเสียงลงฟีล์มสำหรับภาพยนตร์ไทย (ก่อตั้งห้องบันทึกเสียงรามอินทรา) ผลงานเด่นๆ อาทิ รัก-ออกแบบไม่ได้ (พ.ศ. ๒๕๔๑), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔), หอแต๋วแตก (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฯ

หนังดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่าง นายมาก และนางนาก เริ่มต้นก็พลัดพรากจากกันเสียแล้ว แม้มีช่วงเวลาหวนกลับมาอาศัยอยู่ร่วม แต่ก็แค่ความสุขชั่วครั้งคราวดั่งภาพมายา สิ้นสุดทั้งสองถึงได้ร่ำจากลากันชั่วนิรันดร์

คนไทยส่วนใหญ่คงตระหนักรับรู้ถึงสิ่งเกิดขึ้นกับนางนากดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ชมครั้งแรก หนังจงใจปกปิดเหตุการณ์สำคัญบางอย่างไว้ ไม่รีบเร่งร้อนที่จะเปิดเผย รอคอยช่วยเวลาที่สองตัวละครกำลังร่วมรักหลับนอน ค่อยเฉลยออกมาว่าเธอเสียชีวิตท้องกลมจากไปแล้ว มันคงเป็นความคลุ้มบ้าคลั่ง นี่มัน Necrophilia หรืออย่างไร? (ร่วมรักกับศพ)

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นายมาก สามารถปลดปล่อยวางและตัดสินใจบวชพระ ก็ลองคิดดูว่าเมื่อเขานึกถึงเหตุการณ์ค่ำคืนนั้น (ร่วมรักกับศพ) ผมว่ามันทำให้คนปกติคลุ้มบ้าคลั่งเสียสติแตกได้เลยเมื่อรับรู้ความจริง การปล่อยวางลงเท่านั้นถึงสามารถสงบสุขขึ้นได้

เพลงประกอบโดยภควัฒน์ ไววิทยะ และชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ (นางนาก, บางระจัน, จันดารา, มนต์รักทรานซิสเตอร์) แทบจะถือได้ว่าปฏิวัติวงการเพลงประกอบของไทยสมัยนั้น เพราะได้ทำการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทย-เทศ แต่งเสร็จตั้งแต่ก่อนเริ่มการถ่ายทำ เลยทำให้ผู้กำกับมีวิสัยทัศน์ทางอารมณ์ระหว่างโปรดักชั่นได้อย่างกลมกล่อม

Main Theme เริ่มต้นด้วยความตะลึงงัน ก่อนหลอกหลอนไปกับเสียงร้อง/ฮัมทำนองกล่อมเด็ก สอดคล้องรับเสียงขลุ่ย รัวกลอง เพิ่มสัมผัสอันวาบหวิบ สั่นสะท้านใจ จิตวิญญาณราวกับหลุดล่องลอยออกจากร่าง ยิ่งพอครุ่นคิดถึงตำนานแม่นาคพระโขนงตามไปด้วย มันจะเกิดความขนลุกขนพองขึ้นมาทันที

เกร็ด: เสียงเอื้อนที่ได้ยินเป็นของ มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร อดีตนักร้องนำวง Kidnapper (ก่อตั้งโดย ภควัฒน์ ไววิทยะ)

ไพเราะสุดของหนังยกให้เพลงนี้เลยนะ ท่าน้ำ เสียงซออู้ที่แสนโหยหวน ทำให้จิตใจสั่นไหว สะท้านถึงทรวงใน ฉิ่งฉับขึ้นทีไรน้ำตามันจะไหลพรากๆออกมา รู้สึกสงสารนางนาก เฝ้ารอคอยนายมาก ไม่รู้เมื่อไหร่จะหวนกลับคืนมา

ท่วงทำนองนี้จะได้ยินอีกครั้งช่วงท้าย เมื่อพวกเขาคราวนี้ต้องพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์จริงๆ มันจะมีความเจ็บปวดรวดร้าวเพิ่มเข้ามา และธารน้ำตาไหลหลั่งรินโดยไม่รู้ตัว

ฉากแห่งความสุข หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับวิถีไทย พุทธศาสนา มักจะใช้ดนตรีไทยบรรเลงถ่ายทอดอารมณ์ออกมา เพื่อมอบสัมผัสย้อนยุค พื้นบ้านดั้งเดิมของชาวเรา

แต่เมื่อไหร่ต้องการความตื่นเต้น รุกเร้าใจ จักใช้เสียงกลองและเครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสานคลุกเคล้า

จริงๆแล้วความหลอกหลอนของนางนาก ไม่ใช่ว่าผีน่ากลัว ภาพขยะแขยง หรือการกระทำอันเหี้ยมโหดร้าย แต่คือบรรยากาศแห่งความซึมเศร้าโศก สงสารเห็นใจ รักแท้ที่แม้ได้ครองคู่กลับแค่ช่วงเวลาสั้นๆ พยายามปฏิเสธโชคชะตาฟ้าลิขิต ถึงร่างกายหมดสิ้นลมหายใจ ก็ยังยืนกรานจักหวนกลับมาในรูปวิญญาณ มอบช่วงเวลาแห่งความสุขสุดท้ายให้คนรัก ทั้งรู้ว่าคงอีกไม่กี่เศษเสี้ยววินาที ทุกสิ่งอย่างของชีวิตคงถึงกาลดับสูญสิ้นไป

ปรัมปราแม่นาคพระโขนง ที่ถูกต้องสมควรจัดเข้ากลุ่ม ‘โศกนาฎกรรม’ แต่หนังไทยก่อนหน้านี้ทั้งนั้น สร้างเป็นหนังผีบ้าง ตลกบ้าง แฟนตาซีบ้าง ไม่มีเรื่องไหนจับประเด็นสาระถูกต้องสักที จนกระทั่งการมาถึงของ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) ต้องชมเชย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง สามารถมองเห็นถึงแก่นแท้ของตำนาน และผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร ถ่ายทอดออกมาด้วยไดเรคชั่นทำให้ใครๆน้ำตาเล็ดไหลริน

เพราะเป็นเรื่องราวคนไทยส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้น ผู้ชมรุ่นเก่าๆหน่อยมักมองเห็นสัมผัสหวนระลึก ‘Nostalgia’ โหยหาอดีต ประกอบกับยุคสมัยนั้นวิกฤตต่างๆทำให้ชีวิตตกทุกข์ยากลำบาก ก่อเกิดอคติต่อปัจจุบัน เลยต้องการเพ้อฝันถึงความทรงจำสุดแสนหวานเมื่อครั้นวันวาน

มีการพูดถึงอยู่เหมือนกันว่า นางนาก แฝงไว้ด้วยประเด็น Feminist เพราะเธอคือผู้เสียสละตนเอง แบกรับความทุกข์ยากลำบาก แถมยังพยายามฝืนขืนลิขิตฟ้า เพื่อให้ได้สิ่งต้องการมาครอบครอง

นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) กับ พี่มาก..พระโขนง (พ.ศ. ๒๕๕๖) เป็นสองภาพยนตร์เกี่ยวกับตำนานแม่นาคพระโขนง ที่ต่อจากนี้คงได้รับการเปรียบเทียบด้วยกันเสมอ ซึ่งต่างมีดีในมุมของตนเอง
– นางนาก มีการนำพุทธศาสนาผสมผสานคลุกเคล้าลงไป ทำให้ได้คติธรรมสอนใจที่เป็นประโยชน์ เผชิญหน้าความจริง และปลดปล่อยวางจากความยึดติด
– พี่มาก…พระโขนง โดดเด่นในการนำอีกมุมมองตรงกันข้าม สอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ถ้าไม่สร้างกำแพงขึ้นมาครอบงำกีดกั้น แม้แต่การตกหลุมรักกับผีใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคน

แต่ส่วนตัวบอกเลยว่าชื่นชอบ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒) มากๆกว่า ทั้งความบันเทิง และข้อคิดสอนใจของหนัง ชีวิตเมื่อหมดสิ้นอายุขัยก็สมควรที่จะปลดปล่อยวาง คลายความยึดติด ไม่ใช่จมปลักระเริงรื่นอยู่กับภาพมายา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ พี่มาก..พระโขนง (พ.ศ. ๒๕๕๖) แม้ประสบความสำเร็จยิ่งกว่า แต่สะท้อนมุมมองสังคมปัจจุบัน ใครๆต่างมีชีวิตอยู่บนความเพ้อฝัน


ด้วยทุนสร้างประมาณ ๑๒ ล้านบาท ทำเงินได้ในประเทศ ๑๔๙.๖๐ ล้านบาท บ้างว่าสามารถทุบสถิติเหนือ Titanic (1997) แต่ถ้าตามตัวเลขแปลงค่าเงินของเว็บ Boxofficemojo รายรับของ Titanic ในประเทศไทยคือ ๑๙๐+ ล้านบาท ก็ไม่น่าจะทำลายสถิติภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย … แค่ก็ถือว่าคือหนังไทยเรื่องแรกทำเงินเกิน ๑๐๐ ล้านบาท ทุบสถิติเดิมของ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่ ๗๐-๗๕ ล้านบาท แบบไม่เห็นฝุ่น!

คว้า ๗ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๒ (ปีนั้นประกาศแต่ผู้ชนะ ไม่มีรายชื่อผู้เข้าชิง)
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
– ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
– ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
– เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
– แต่งหน้ายอดเยี่ยม

ความอมตะของนางนาก น่าจะมีเฉพาะคนไทย ชาวพุทธเท่านั้นกระมังถึงสามารถตระหนักเข้าถึง จึง”ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ผมเองยังรู้สึกซาบซึ้งกินใจในฉากไคลน์แม็กซ์ ไม่ใช่การต่อสู้ธรรมะปะทะอธรรม ใช้ปาฎิหาริย์มนตรา หรือ Visual/Special Effect ตื่นตระการตา แต่ลงเอยสิ้นสุดด้วยการนั่งลงสวดมนต์ พูดคุยสนทนา เผชิญหน้ายินยอมรับความจริง และที่สุดคือปลดปล่อยวางจากความยึดติด แค่นี้ก็แทบจะน้ำตาไหลพรากๆแล้ว

จัดเรต ๑๓+ กับความหลอกหลอน ภาพความตาย

คำโปรย | การฟื้นคืนชีพของ นางนาก ฉบับผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร เพื่อกลายเป็นตำนานแห่งวงการภาพยนตร์ไทย
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

ทองปาน (1976)


ทองปาน

ทองปาน (พ.ศ. ๒๕๑๙) หนังไทย : ไพจง ไหลสกุล, สุรชัย จันทิมาธร, ยุทธนา มุกดาสนิท, รัศมี เผ่าเหลืองทอง ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ ‘ประหลาด’ ของไทย หาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายพัฒนาชนบทของรัฐบาล ต่อการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งพอหนังเสร็จประจวบกับการมาถึงของ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงถูกแบนห้ามฉาย ต้องอ้อมโลกไปโด่งดังไกล กว่าจะได้หวนกลับมาสู่สายตาคนไทย

ไม่ใช่แค่เรื่องราวชีวิตของทองปานที่น่าเศร้าสลด แต่ยังโชคชะตากรรมผู้สร้างและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มิได้แตกต่างกัน ถูกรัฐบาลสมัยนั้นมองข้าม กีดกัน สนเพียงแสวงหาอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนก็ช่างหัวมัน!

สิ่งน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าคือยุคสมัยปัจจุบันนี้แทบไม่มีความแตกต่าง! ทั้งๆโลกก้าวสู่ยุคของเทคโนโลยีสื่อสาร ความคอรัปชั่นคดโกงกินของหน่วยงานรัฐบาลได้รับการเปิดโปง เผยแพร่ กระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว แต่กลับกลายเป็นดังสำนวน ‘หน้าด้านอายอด’ ผสมกับ ‘ปลาไหล’ เรื่องอะไรฉันต้องสนใจเสียง ‘หมาเห่าใบตองแห้ง’

“ประชาธิปไตยที่ว่าของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชนนั้น ใช้ได้แต่เฉพาะประชาชนที่มีธรรมเท่านั้น แต่ถ้าประชาชนไม่มีธรรม มันย่อมต้องกลายเป็นประชาธิป…ตาย เท่านั้นเอง…”

– พุทธทาสภิกขุ


“เกือบจะพูดได้ว่า หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เพราะเดิมทีเดียว เพื่อนๆที่คิดจะทำหนังสือเกี่ยวกับชีวิตชนบทของประเทศไทย ได้ตั้งใจจะสร้างจากเรื่องสั้นของผมเรื่องหนึ่ง แต่หลังจากที่เราได้พบกับทองปาน เราก็คิดว่า เรื่องราวชีวิตของเขาดูจะมีชีวิตชีวามากกว่า”

– คำสิงห์ ศรีนอก, หนึ่งในผู้เขียนบท

สำหรับคนสนใจเบื้องหลังที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยละเอียด ผมแนบลิ้งค์หนังสือออนไลน์อ่านฟรีไว้ให้ด้วย บทความนี้จะดึงมาแค่ส่วนน่าสนใจเท่านั้นนะครับ
LINK: http://www.mbookstore.com/book-details/2729/

ทองปาน สร้างขึ้นจากเรื่องจริงเมื่อครั้น คำสิงห์ ศรีนอก ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ ‘เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร’ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ จัดขึ้นที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีการเชื้อเชิญนักวิชาการ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือนายทองปาน ซึ่งพักอาศัยในโรงแรมห้องเดียวกัน จึงมีโอกาสพูดคุยสนทนาอะไรหลายๆอย่าง


ภาพผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งมี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และ เสน่ห์ จามริก อธิการบดีและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในนั้นด้วย

วันหนึ่งเช้าตรู่ ทองปานตื่นขึ้นอย่างรุกรี้รุกรน พบว่ากระเป๋าสตางค์พร้อมเงิน ๒๐ บาทสูญหาย ต้องการนำเงินนั้นไปซื้อยารักษาวัณโรคให้ภรรยา ด้วยเหตุนี้วันสุดท้ายของการสัมมนาจึงเร่งรีบร้อนกลับบ้านไปก่อน และเมื่อการสัมมนาเสร็จส้น คำสิงห์แวะไปเยี่ยมเยียนหาที่บ้าน พบเห็นเขาสภาพเมามาย ลูกๆและภรรยาข้างกายที่กลายเป็นศพไปเรียบร้อยแล้ว

คำสิงห์ นำเรื่องเล่าชีวิตทองปาน ไปพูดคุยกับเพื่อนๆที่เข้าร่วมสัมมนา แล้วมีนักข่าวคนหนึ่ง Mike Morrow แสดงความตั้งใจอยากที่จะดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์เชิงสารคดี เลขขอให้เขาช่วยเหลือพัฒนาบทหนังขึ้นมา

แม้ว่า Morrow จะเป็นผู้ออกทุน ช่วยเหลือเรื่องตากล้อง อุปกรณ์ถ่ายทำต่างๆ แต่สมัยนั้นยังจำต้องใช้คนไทยติดต่อประสานงาน ซึ่งขณะนั้นกำลังเกี้ยวพาราสี ไพจง ไหลสกุล (ต่อมาได้แต่งงานเป็นสามี-ภรรยา แล้วก็หย่าร้าง) เลยชักชวนเธอให้มาเป็นโปรดิวเซอร์หนัง

ไพจง เป็นผู้ประสานงานนักเขียน คำสิงห์ ศรีนอก, วิทยากร เชียงกูล, ติดต่อคัดเลือกผู้กำกับ สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน), รัศมี เผ่าเหลืองทอง, ยุทธนา มุกดาสนิท และคอยช่วยเหลืองานกำกับด้านอื่นๆ

ถึงน้าหงาจะไม่เคยกำกับหนังมาก่อน แต่ที่ได้รับการชักชวนเพราะเป็นคนรู้เรื่องวัฒนธรรมอีสาน จึงสามารถสื่อสารกับชาวบ้านตัวประกอบได้เป็นอย่างดี

รัศมี เผ่าเหลืองทอง เหมือนจะเข้ามาช่วยขัดเกลาบท ตระเตรียมนักแสดง

และยุทธนา มุกดาสนิท ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยท่านมุ้ยทำเรื่อง เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗) ประสบการณ์ถือว่าพอสมควร โดดเด่นเรื่องความเร็ว เข้ามาถ่ายทำหลักๆคือฉากการสัมมนา และประสานงานตากล้องถึงมุมมอง ทิศทาง สิ่งที่อยากให้พบเห็นเคลื่อนไหว

การที่หนังขึ้นเครดิตกำกับถึง 4 คน ถือเป็นการร่วมงาน/ระดมสมองเสียมากกว่า ต่างคนต่างมีในส่วนที่ถนัด-ไม่ถนัด เติมเต็มส่วนขายหาของกันและกัน


นักศึกษาคนหนึ่ง (รับบทโดย เรืองยศ จันทรคีรี) เดินทางมาถึงอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ติดชายแดนไทย-ลาว ซึ่งกำลังจะมีการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ระหว่างกำลังจะไปอำเภอปากชม เพื่อติดตามหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน มีโอกาสพบเจอคนถีบสามล้อรับจ้าง ทองปาน โพนทอง (รับบทโดย องอาจ มณีวรรณ) เลยชักชวนให้มาเข้าร่วมงานสัมมนา

สำหรับนักแสดง ทั้งหมดคือมือสมัครเล่นไม่ก็ชาวบ้านแถมนั้น ไร้ประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน
– องอาจ มณีวรรณ ผู้รับบทเป็น ทองปาน โพนทอง ชีวิตจริงเป็นนักมวย (หนังเลยเพิ่มฉากต่อยมวยเพื่อหาเงินมารักษาภรรยา) ต่อมาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน (พ.ศ. ๒๕๒๕)
– สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ร่วมสัมมนา ฝ่ายต่อต้านการสร้างเขื่อน, คือนักเขียนนามปากกา ส. ศิวรักษ์ และเป็นนักวิชาการอิสระ ปัญญาชนสยาม มีชื่อเสียงอย่างมากในการวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง ไม่เกรงอำนาจ จิตใจใคร
– ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ราษฎรอาวุโส นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน, รับบทเป็น หนึ่งในวิทยากรสัมมนา
– คำสิงห์ ศรีนอก มาร่วมรับเชิญเป็นหนึ่งในนักวิชาการ
ฯลฯ

เนื่องเพราะนักแสดงส่วนใหญ่คือมือสมัครเล่น จึงมักไม่มีการเขียนบทพูดให้ท่องจำ เพียงคำแนะนำแล้วปล่อยอิสระ ‘Improvised’  ได้ทีของอาจารย์สุลักษณ์ เห็นว่าลุกขึ้นพูดเสียดสีต่อต้านรัฐบาลนานมาก นำใส่ทั้งหมดในหนังคงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องเลือกตัดต่อเฉพาะส่วนสาระสำคัญเท่านั้นเอง

Mike Morrow ชักชวนเพื่อนนักข่าวที่เป็นช่างภาพ Frank Green เพิ่งเรียนจบจาก UCLA ทำงานอยู่เมืองไทยพอดี เห็นว่ามีกล้อง 16mm ติดตัวมาด้วย หลังจากส่งบทให้มีเวลาว่างเลยมาเป็นตากล้องถ่ายทำให้กับหนัง แถมไม่รับค่าตัวสักแดงเดียว

คุณภาพหนังที่กลายเป็น VCD/DVD คงต้องทนรับสภาพสักนิดนึงว่ามิได้งดงามดูดีอะไร ถ่ายกลางวันแท้ๆกลับเต็มไปด้วยความมืดดำปกคลุม ดูแล้วคงเป็นความเสื่อมสภาพของฟีล์ม 16mm โชคยังดีแปลงเป็นดิจิตอลทันเวลา! ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่างานภาพกลายมาแบบนี้ช่างทรงพลังระดับล้างผลาญ สร้างความดิบเถื่อน เก่าเขรอะ สัมผัสได้ถึงความสมจริงอันโหดร้ายในสังคมไทยสมัยก่อน และชวนให้หวนระลึกถึงสไตล์ Neorealist

หนังไม่ได้สักแต่จะบันทึกภาพนะครับ สังเกตดีๆจะพบเห็นไดเรคชั่นหลายๆอย่างซ่อนเร้นนัยยะความหมาย ซึ่งทั้งหมดมาจากการชี้แนะนำตามวิสัยทัศน์ของ ยุทธนา มุกดาสนิท ตอนนั้นยังเป็นคนหนุ่มไฟแรง นี่ถือเป็นโอกาสซักซ้อมฝีมือตนเอง ลับมีดได้อย่างคมกริบ!

เริ่มต้นด้วยภาพเมียทองปานและลูกชาย กำลังตักน้ำในคูแล้วเดินกลับบ้านผ่านท้องทุ่งนา ขณะเดียวกันพบเห็นเสาไฟฟ้าด้านหลัง สัญลักษณ์ของเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้า แต่บรรดาชาวชนบทเช่นพวกเขากลับมีสถานะเพียงฐานตั้งเสาไฟ สมัยนั้นยังไร้โอกาสได้ใช้งานจริง ค่ำคืนคงปกคลุมด้วยความมืดมิด มีเพียงคนเมืองเท่านั้นแลได้สว่างไสวแม้ยามรัตติกาล

หนังปักหลังถ่ายทำที่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เลยไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าภาพนี้เขื่อนอะไร แต่ต้องชมเลยว่าเลือกมุมกล้องได้งดงามมากๆ ถ่ายย้อนแสงกระมังจึงพบเห็นทุกอย่างมืดมิดสนิท ซึ่งสะท้อนได้ถึงชีวิตหลังเขื่อนของชาวชนบท ไม่ได้รับความใคร่สนใจใยดี ไหนละน้ำที่ทางการบอกว่าจะแบ่งปันมา แห้งเหือดจนทำไรทำนาหาปลาแทบไม่ได้

ฉากการสัมมนา ถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น่าจะท่าพระจันทร์) ช็อตแรกเริ่มต้นด้วยการ Close-Up ใบหน้าพิธีกร (เสน่ห์ จามริก) กล่าวเปิดการสัมมนาแล้วค่อยๆถอย ซูมออก เคลื่อนไปรอบๆห้องเพื่อให้พบเห็นสถานที่และว่ามีใครนั่งฟังอยู่บ้าง แต่จะไม่มีการแนะนำตัวหรือเรียกชื่อเสียงเรียงนาม (ยกเว้นเพียง ทองปาน) ทุกคนต่างถือเป็นตัวแทนหน่วยงาน องค์กร ไม่ใช่ตัวบุคคล

เป็นช็อตที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่นำเสนอสองเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนาน
– เบื้องหน้าคือ ทองปาน ภรรยา และลูกๆ กำลังพยายามจับปลา จับกบ จับปู หาอาหารประทังชีพ
– เบื้องหลังคือกลุ่มคนกำลังอพยพออกเดินทาง เพราะการมาถึงของเขื่อนทำให้ชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องแสวงหาหนทางที่ดินทำกินใหม่

กล่าวคือช็อตนี้นำเสนอวิถีชีวิตของชาวชนบท ซึ่งมีเพียงสองทางออกเท่านั้นคือ ต่อสู้ดิ้นรน และยินยอมจำนนในสิ่งเกิดขึ้นโดยมิอาจแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงของการสัมมนา มักมีการสะท้อนหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ทองปานประสบพบเจอในชีวิตจริง ผมคงไม่ไล่ทั้งหมด แต่จะยกแค่บางตัวอย่าง อาทิ
– การสัมมนา พูดถึงข้อเสียของเขื่อน ทำให้ปลาบึกอาจสูญพันธ์
– ทองปาน วางกัปดันแหหาปลา ปรากฎว่าจับไม่ได้สักตัว!

ถ้าเขื่อนสร้างได้ประเทศไทยร่ำรวยแน่ๆ หนึ่งในคำพูดของนักวิชาการ แต่ฉากถัดมาทองปานไม่สามารถขอหยิบยืมเงินเพื่อมารักษาภรรยาป่วยเป็นวัณโรค ด้วยเหตุนี้ทำให้ดื่มเหล้าเมามาย แล้วใช้กำลังทำร้ายไก่

ผมเห็นฉากนี้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Los olvidados (1950) ของผู้กำกับ Luis Buñuel ขึ้นมาทันที, การกระทำสะท้อนถึงจิตใต้สำนึกที่ถูกเก็บกดคลุ้มคลั่ง ต้องการระบายบางสิ่งอย่างออกมา กับมนุษย์หรือสัตว์ใหญ่กว่าคงไม่ได้ แต่ไก่ตัวกระเปี๊ยกย่อมไม่สามารถต่อสู้โต้ตอบอะไรเราได้

คนนี้น่าจะคือ คำสิงห์ ศรีนอก อภิปรายประกอบการฉายสไตล์ซึ่งต้องปิดไฟ และเงามืดอาบใบหน้าของเขาครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องที่อภิปรายก็พยายามชี้ชักนำว่า การสร้างเขื่อนย่อมมีผลประโยชน์และข้อเสียหาย ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไร้ปัญหา

ภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนอย่างสุดโต่ง รูปร่างอ้วนท้วนพุงใหญ่ กอบโกยกินอะไรๆมามากสินะ! ถ่ายมุมเงยลักษณะนี้ชวนให้ระลึกถึงหนังเงียบเรื่อง Zvenigora (1928) ของผู้กำกับ Alexander Dovzhenko

ขณะที่ลักษณะของภาพเอียง ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าคือความจงใจถ่ายทำ หรือเกิดจากกระบวนการแปลงฟีล์มเป็นดิจิตอลที่มีความผิดพลาด เพราะหลายครั้งพบเห็นความเหลื่อมล้ำบนไม่เท่ากับล่าง ช็อตเอียงๆลักษณะนี้ก็ดูผิดปกติสักเล็กน้อย

แต่ถ้าเป็นความจงใจ Dutch Angle ก็ต้องชมถึงนัยยะความหมาย ห้องแห่งการสัมมนาแห่งนี้ช่างมีความผิดรูป บิดเบี้ยว ไม่ได้มีสาระที่ก่อให้เกิดประโยชน์แท้จริงต่อประชาชนสักเท่าไหร่

ถึงจะโบ๊ะแป้งอย่างหนา ถ่ายช็อต Close-Up ระยะใกล้ขนาดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ใครอื่น สุรชัย จันทิมาธร หรือน้าหงา คาราวาน นั่นเองแหละ แต่ที่น่าสนใจสุดๆก็คือนกเกาะอยู่ตรงบ่า สะท้อนถึงวิถีพื้นบ้านชาวอีสาน ขับร้องรำทำเพลง ส่งเสียงเจื้อยแจ้วไม่ต่างอะไรกับนกพวกนี้

ฉากการชกมวยของทองปาน ไม่ได้มีนัยยะแค่หาเงินไปซื้อยาให้ภรรยา แต่สะท้อนการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายสนับสนุน vs. คัดค้าน การสร้างเขื่อน ซึ่งขณะนั้นในช่วงของการสัมมนาถือว่ากำลังโต้ตอบออกรสชาดอย่างเมามัน

หลังจากฟังคนโน้นนี่นั่น นักวิชาการ วิศวกร พิธีกร พูดโน่นนี่นั่น โต้เถียงกันอย่างเมามัน ในที่สุดพวกเขาก็ครุ่นคิดได้ว่าควรสอบถามความเป็นของประชาชนในท้องที่ ซึ่งทำเอาทุกคนวงแตก มันไม่ใช่เรื่องของการอยากได้-ไม่อยากได้ แต่ทั้งหมดนี้คือแก้ปัญหาไม่ถูกจุด นั่นหาใช่สิ่งที่พวกเขาใคร่รู้ใคร่สนใจหรือแสดงความต้องการแม้แต่น้อย!

ในแง่มุมนี้มีบทความหนึ่งของประชาไท เขียนไว้อย่างน่าสนใจ

“ภาพยนตร์เรื่องทองปานแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคระหว่างปัญญาชนกับประชาชน ประชาชนระดับปัจเจกไม่มีความหมายในตัวเองจนกว่าปัญญาชนให้ความหมายว่าเขาหรือเธอเป็นตัวแทนของ ‘ประชาชน’ กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเสียก่อน เสียงของประชาชนจึงเป็น noise ซึ่งจะเป็น voice ได้เฉพาะรายที่ปัญญาชนรับรองให้มีสถานะพิเศษแล้วเสมอ ปัญญาชนในย่อหน้าที่แล้วจึงเป็นตัวละครที่น่าประทับใจที่สุดและอยู่ในมุมมืดที่สุดในขณะเดียวกัน”

reference: https://prachatai.com/journal/2013/11/49740

การหายตัวไปจากห้องสัมมนาของทองปาน สะท้อนสิ่งสำคัญสุดในชีวิตของเขาไม่ใช่การถกเถียง สร้างเขื่อน แต่คือครอบครัว และการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ

และช็อตที่ทรงพลังสุดของหนัง เมื่อทองปานกลับบ้าน รับรู้สิ่งเกิดขึ้นกับภรรยา เป็นช็อต Close-Up ที่ใบหน้านิ่วคิ้วขมวด มุมแหงนเงยขึ้นท้องฟ้า นี่ฉันจะทำอย่างไรดีต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่หนังก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรใครได้

ตัดต่อโดย ไพจง ไหลสกุล, นำเสนอเรื่องราวในมุมมองนักศึกษาหนุ่ม (รับบทโดย เรืองยศ จันทรคีรี) ออกเดินทางสู่อำเภอเชียงคาน พบเจอทองปาน พูดคุยสนทนาเรียนรู้จักชีวิตเบื้องหลัง และชักชวนเข้าร่วมสัมมนา ‘เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร’

เรื่องราวจะลำดับตัดสลับไปมาระหว่าง ชีวิตของทองปาน (Flashback) และช่วงการสัมมนา ซึ่งมีลักษณะสอดคคล้อง ย้อนแย้ง เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย

เพลงประกอบก็ไม่ใช่ใครอื่น สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) นอกจากเพลงคนกับควาย ที่ถูกแบนหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา (ปัจจุบันไม่รู้ว่ายกเลิกแบนแล้วหรือยัง แต่ก็ไม่ใช่เพลงต้องห้ามแล้วนะครับ) ก็มีหมายเหตุจากหมู่บ้าน และที่เหลือคือการร้องรำทำเพลง เป่าแคน ท่วงทำนองดนตรีพื้นบ้านอีสาน

มองในมุมเผด็จการ หรือผู้นำที่บริหารประเทศด้วยความคอรัปชั่นเห็นแก่ตัว ไม่แปลกเท่าไหร่จะพบเห็นหนังเรื่องนี้ ช่างมีความริหาญกล้า ท้าสู้รบปรบมือ ชักชวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านชนชั้นปกครอง

แต่ว่าไปภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายแนวคิดคอมมิวนิสต์อยู่ไม่น้อยทีเดียวนะ (มีลักษณะคล้ายๆหนังเงียบชวนเชื่อของสหภาพโซเวียต ช่วงปลายทศวรรษ 20s – ต้น 30s) หลักๆคือนำเสนอความทุกข์ยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพ อันเกิดจากความไม่ใคร่สนใจใยดีของบรรดาผู้นำประเทศ ที่ต่างสนเพียงกอบโกยหาผลประโยชน์ส่วนตน

ด้วยเหตุนี้เลยไม่แปลกเท่าไหร่ ที่พอเกิดเหตุรัฐประหาร ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หลายๆคนต้องอพยพหลบหนีเข้าป่า ขณะที่ ไพจง ไหลสกุล ตัดสินใจหอบฟีล์มไปทำ Post-Production ยังเกาะฮ่องกง สำเร็จเสร็จสิ้นสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ทีแรกคิดจะไปขายให้สำนักข่าว BBC ของประเทศอังกฤษ แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธเพราะไม่ใช่หนังภาษาอังกฤษ โชคดีขายได้ Swedish TV และมีโอกาสออกฉาย London Film Festival คว้ารางวัล Outstanding Film of Southeast Asia

หนังเข้าฉายประเทศไทยครั้งแรกช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่สถาบันเกอเธ่ บ้านพระอาทิตย์ คนแน่นมากจนต้องฉาย ๒ รอบ ตามต่อด้วยสยามสมาคมอีก ๒ รอบเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นครูอาจารย์ คนอ่านหนังสือพิมพ์ ต่างกังวลว่าประเทศไทยจะไปทิศทางไหนต่อ

ผมครุ่นคิดว่าถ้าสมัยนั้นหนังถูกนำไปฉายให้กับชาวบ้านต่างจังหวัด พวกหนังกลางแปลง ขายยา ฯลฯ อาจปลุกกระแสลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐในวงกว้างได้อย่างแน่นอน … แต่เมื่อหนังถูกแบนและได้แค่ฉายจำกัดโรง ก็ไม่รู้จะชื่นชมวิสัยทัศน์เผด็จการของรัฐบาล หรือมองเป็นความโชคร้ายของชนชาวไทยดี!

เหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆภาพยนตร์เรื่องนี้ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็ยังพอพบเห็นมีอยู่แต่ถือว่าน้อยลงมาก เพราะเทคโนโลยีสื่อ/ข่าวสาร แพร่กระจายสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง และทุกๆโครงการใหญ่ๆของรัฐบาลเหมือนว่าต้องทำประชามติ รับฟังเสียงเรียงร้อง/ข้างมากจากประชาชนท้องถิ่น ไม่ใช่หลับหูหลับตาก็สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อน

เกร็ด: ปัจจุบันโครงการสร้างเขื่อนผามองยังคงมีอยู่ โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เขื่อนปากชม ตั้งอยู่บ้านห้วยขอบ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ซึ่งถ้าสร้างเสร็จจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย หนองคาย หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จมอยู่ใต้บาดาล

แซว: แต่การสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงปัจจุบันแทบจะเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะถูกประเทศจีนตัดหน้าสร้างเขื่อนดักน้ำตั้งแต่ต้นสายตอนจบ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนริมสองฝั่งโขงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้อย่างสุดกู่ทีเดียว

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ไม่เพียงพูดแรง แทงตรงใจดำ ยังรวมถึงภาษาภาพยนตร์ ตัดต่อ มุมกล้องถ่ายทำ ชัดเจนว่ามาจากไดเรคชั่นของ ยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ทำให้ผิดหวังประการใด!

แนะนำคอหนังการเมือง Social Drama, นักเคลื่อนไหว ชื่นชอบการวิพากย์วิจารณ์สังคม, กลิ่นอาย Neorealist, แฟนๆผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๘+ กับความทุกข์ยากลำบากของประชาชน วิพากย์วิจารณ์สังคม คอรัปชั่นนักการเมือง

คำโปรย | ทองปาน นำเสนอด้านมืดของสังคมไทย ที่แม้ปัจจุบันก็ยังคงมิดสนิทไม่เปลี่ยนแปลง
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

ผู้แทนนอกสภา (1983)


ผู้แทนนอกสภา

ผู้แทนนอกสภา (พ.ศ. ๒๕๒๖) หนังไทย : สุรสีห์ ผาธรรม ♥♥♡

อุดมคติแห่งประชาธิปไทย แม้ว่าผู้สร้างต้องการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไฉนกลับให้ตอนจบลงเอยอย่างนั้นเสียละ! นี่มันสะท้อนความหมดสิ้นหวังทางการเมือง คนดีไม่มีที่ยืนในสังคมไทย

คงไม่มีคำพูดประโยคไหนทรงพลังไปมากกว่า ค่ำคืน ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เลขาธิการธิการพระราชวังอัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒

“ขอให้ทราบถึงสิ่งสำคัญในการปกครองไว้ว่า ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ความตั้งใจดีของผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นน่ายกย่องสรรเสริญ เทคนิคนำเสนอก็ถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่การจบแบบสิ้นหวังโศกนาฎกรรม … จริงอยู่มันอาจชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตระหนักถึง ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงทัศนคติของตนเอง ขณะเดียวกันก็สะท้อนสัจธรรมความจริงของสังคมไทย ไม่ว่ายุคสมัยนั้นล้วนเต็มไปด้วยคนชั่วครองเมือง

ผู้แทนนอกสภา มองมุมหนึ่งสามารถเรียกได้ว่า ‘ภาพยนตร์ชวนเชื่อประชาธิปไตย’ พยายามปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน สร้างค่านิยม ทัศนคติใหม่ๆให้กับสังคมไทย คนชั่วหาเสียงเอาของโน่นนี่นั่นมาแจก เมาแค่วันเดียวแล้วทุกข์ทรมานไปอีก ๔ ปี ทำไมไม่ครุ่นคิดว่าวันนี้ยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้มีความสุขสบายหายห่วง

ขณะเดียวกันถ้าามองในมุมคอมมิวนิสต์/เผด็จการ นี่เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอความเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ เกือบทั้งหมดของผู้สมัครพยายามซื้อเสียง ก่อกวน ใส่ร้ายป้ายสี มีการเล่นสกปรกสารพัดรูปแบบ เพื่อแลกมากับชัยชนะ ขณะที่คนดีหนึ่งเดียวกลับถูกกลั่นแกล้งสารพัดเพจนท้ายที่สุด…


สุรสีห์ ผาธรรม (เกิดพ.ศ. ๒๔๙๑) ผู้กำกับชาวไทย เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี สมัยเด็กด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์ จึงละทิ้งการเรียนไปเป็นนักพากย์ ทำให้รู้จักคุณกมล กุลตังวัฒนา ได้รับคำแนะนำช่วยเหลือสิ่งต่างๆมากมาย ต่อมาได้เปิดบริษัทจัดซื้อหนังอินเดียเข้ามาฉายในไทย ประสบความสำเร็จหลายเรื่องทีเดียวเลยเกิดความสนใจสร้างภาพยนตร์ขึ้นเองบ้าง เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล (พ.ศ. ๒๕๒๐), ฉายเดี่ยวแจ้งเกิดกับ ครูบ้านนอก (พ.ศ.๒๕๒๑), ผลงานเด่นๆ อาทิ หนองหมาว้อ (พ.ศ. ๒๕๒๒), ครูวิบาก (พ.ศ. ๒๕๒๔), สวรรค์บ้านนา (พ.ศ. ๒๕๒๖), ผู้แทนนอกสภา (พ.ศ. ๒๕๒๖), ราชินีดอกหญ้า (พ.ศ. ๒๕๒๙)ฯ

สำหรับ ผู้แทนนอกสภา จุดเริ่มต้นเกิดจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ และนายบุญชู โรจนเสถียร สองผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม มีความต้องการสร้างภาพยนตร์เพื่อโฆษณาพรรค

“คุณบุญชู (โรจนสเถียร) บอกผมว่า อยากให้ทำหนังโฆษณาสั้นๆ ไม่เกินสิบนาที ทางคณะกรรมการพรรคตัดสินใจจะทำหนังโฆษณาพรรค และกำลังคัดเลือกผู้กำกับ ซึ่งผู้กำกับที่เก่งๆ ก็มีหลายคน แต่คนที่จะสามารถทำให้เข้ากับนโยบายพรรคที่ว่า ‘เงินผัน ประกันราคาพืชผล คนจนรักษาฟรี’ ซึ่งเป็นชนบทๆ หน่อย ต้องเป็นคุณสุรสีห์

โอ้ รู้สึกเป็นเกียรตินะ จริงๆ ตอนนั้นก็ไม่อยากทำ เพราะความคิดของเราในตอนนั้นปฏิเสธแนวทางกับรัฐสภา เพราะคิดว่ารัฐสภาแก้ปัญหาของชาติไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นเกียรติยศของคนทำหนังที่ได้ทำงานกับพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็นหัวหน้าพรรค

ท่านก็เอานโยบายมาให้อ่าน เราก็อ่าน ก็ศึกษา พอวันนึงคิดตกก็เลยไปหาท่าน บอกว่าท่านครับ ไหนๆ จะทำทั้งที ผมว่าถ้าทำเป็นหนังโฆษณาสั้นๆ มันก็ได้แค่นั้น จะให้มันซึมซับถึงหัวจิตหัวใจคนดูคงไม่ได้ แต่ถ้าหนังยาวนะท่าน ถ้า ‘ถึง’ มันก็เปลี่ยนทัศนคติคนได้ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์อะไรหรอก แต่ก็เชื่อว่าหนังเปลี่ยนทัศนคติคนได้ นวนิยายเปลี่ยนทัศนคติคนได้”

– สุรสีห์ ผาธรรม, สัมภาษณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เกร็ด: ก่อนหน้าการนี้นี้มีภาพยนตร์เรื่อง ผู้แทนมาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๒๑) กำกับโดย ศรีไพร ใจพร, นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ลลนา สุลาวัลย์ ฯ มีลักษณะเสียดสีการเลือกผู้แทนของไทย ยุคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถแจกข้าวของ จัดให้มีการแสดงมหรสพต่างๆ ฉายภาพยนตร์ ลิเก ดนตรี หมอลำประกอบการหาเสียงของตนได้โดยไม่ผิดต่อกฎหมาย! ทั้งยังมีทำลายคะแนนเสียงฝ่ายตรงข้าม แอบอ้างหลอกลวง แสร้งว่าเป็นผู้สมัครอีกเบอร์มาซื้อเสียง ฯ ว่าไปในส่วนของเนื้อเรื่องราวแทบไม่แตกต่างจาก ผู้แทนนอกสภา (พ.ศ. ๒๕๒๖) สักเท่าไหร่

เรื่องราวของ บุญไชย คงมั่น (รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี) นักการเมืองหน้าใหม่ ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเราทำได้ อำเภอสนธยาธานี จังหวัดติดชายแดนภาคอีสาน ทั้งไม่มีเงินทุนรอนใดๆ ใช้การเดินหาเสียงปราศัยเข้าถึงประชาชน จนได้รับอนุเคราะห์รถกระบะเก่าๆออกเดินทาง อธิบายนโยบายพรรคซื้อใจชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญหน้าความท้าทายจากผู้สมัครรายอื่น ถูกใส่ร้ายป้ายสี ก่อกวนสารพัดเพ ท้ายที่สุดจะได้รับชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ผลการเลือกตั้งเท่านั้นคือสิ่งตัดสิน


สรพงศ์ ชาตรี หรือชื่อจริงกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือพิทยา เทียมเศวต (เกิดปี พ.ศ. ๒๔๙๓) นักแสดงชาย ศิลปินแห่งชาติ เกิดที่พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุ ๑๙ ได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ชักชวนให้มาอาศัยอยู่วังละโว้ เริ่มจากเด็กยกของในกองถ่าย เลื่อนขั้นเป็นตัวประกอบ พระเอกครั้งแรก มันมากับความมืด (พ.ศ. ๒๕๑๔), โด่งดังกับ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. ๒๕๑๖), แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐), ก่อนหน้านี้ได้ร่วมงานกับ สุรสีห์ ผาธรรม เรื่อง ครูดอย (พ.ศ. ๒๕๒๕)

รับบท บุญไชย คงมั่น จากเด็กชายลูกชาวนาจนๆ ได้รับการอุปถัมภ์จากหลวงพ่อ พาไปร่ำเรียนศึกษาต่อจนจบคณะนิติศาสตร์ ทำงานเป็นทนายความ ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำเภอสนธยาธานี สังกัดพรรคเราทำได้ เงินทองไม่มีสักแดงแต่ใช้การเดินหาเสียงเข้าถึงประชาชน ไม่เคยพูดว่าด่ากราดผู้สมัครอื่น นำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้อง ใช้ความเฉลียวฉลาดมุมานะ ไม่ย่นย่อท้อแท้ต่ออุปสรรค์อันใด จนได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน

ภาพลักษณ์ของพี่เอก คือชายหนุ่มตัวดำๆ บ้านนอกคอกนา สายตาใสซื่อสัตย์บริสุทธิ์จริงใจ ซึ่งตัวละครนี้ถือว่าดีแท้ระดับอุดมคติ ไร้ที่ติใดๆสามารถสั่นคลอน แถมยังเอาตัวรอดจากหายนะความตายได้หลายครั้งครา และขึ้นพูดจาปราศัยด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท (แม้น้ำเสียงพากย์จะเป็นของ รอง เค้ามูลคดี ก็ตามเถอะ!) แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างหลักแหลมเฉลียวฉลาด

บทบาทนี้เน้นขายภาพลักษณ์อมตะของ สรพงศ์ ชาตรี (หนุ่มตัวดำๆ บ้านนอกคอกหน้า สายตาใสซื่อบริสุทธิ์) มากกว่าทักษะความสามารถด้านการแสดง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีอะไรโดดเด่น เพราะการขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงต่อหน้าผู้คนมากมาย เป็นอะไรที่ต้องซักซ้อม ตระเตรียมตัวกาย-ใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆใครก็สามารถขึ้นพูดได้เรื่อยเปื่อย ซึ่งพี่เอกทำได้ค่อนข้างน่าเชื่อถือ ประกอบเสียงพากย์อันสละสลวยของอารอง ทำให้มีความตราตรึงทรงพลังไม่น้อยทีเดียว


ถ่ายภาพโดย ศราวุฒิ วุฒิชัย, เต็มไปด้วยเทคนิคร่วมสมัย(นั้น) โดดเด่นกับการจัดวางองค์ประกอบภาพ เลือกใช้มุมกล้อง และเทคนิคซูมเข้า-ออก ทำให้ไม่ค่อยพบเห็นการขยับเคลื่อนกล้องบ่อยครั้งสักเท่าไหร่

ฉากแรกของหนังถ่ายททำยังบ้านซอยสวนพลู ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งก็ได้เชิญ นายบุญชู โรจนเสถียร พร้อมสมาชิกพรรคกิจสังคมจริงๆในสมัยนั้นอีกหลายคนเข้าร่วมฉาก, คำปราศัยของหัวหน้าพรรคล้วนเปี่ยมด้วยหลักการ เป้าหมายระดับอุดมคติ ฟังดูยุคสมัยนี้ดูเป็นการชวนเชื่อ เว่อเกินจริงเสียมากกว่า

ผมสังเกตเห็นสุนัขยืนอยู่ข้างๆ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นี่สามารถตีความได้สองแง่สองง่าม
– การเมืองมันเรื่องหมาๆ คำปราศัยเหล่านี้ก็แค่ภาพมายาสวยหรู จุดประสงค์แค่ขายฝันให้ได้รับชัยชนะเลือกตั้งเป็นพอ (ประชาชน = หมา)
– หรือจะมองในมุมกลับกันว่า นักการเมืองเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้วถือว่าคือผู้รับใช้ประชาชน (นักการเมือง=หมา)

ผมมีความสัปดนกับช็อตถัดๆมาอยู่นิดหน่อย สังเกตตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างสมาชิกพรรคทั้งสองคน มีแท่งหินหน้าตาเหมือนศิวลึงค์ตั้งโด่เด่เกินหน้าเกินตา! คือมันสามารถตีความแบบเสื่อมๆได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ อิทธิพล อวัยวะเพศใครใหญ่กว่าถึงได้รับชัยชนะ … งั้นหรือ???

ฉบับที่ผมรับชมมีปัญหาคลาสสิกของหนังไทย คือขอบด้านซ้าย-ขวาถูกตัดออกไป ทำให้มองไม่เห็นนักแสดงที่อยู่ริมขอบฝั่งทั้งสองด้าน นี่คงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้นอกจากรับชมในโรงภาพยนตร์ หรือเฝ้ารอคอยวันบูรณะ มีฉบับคุณภาพดีกว่านี้นำออกฉาย

ว่าไปช็อตนี้มีภาษาภาพยนตร์ที่ใช้ได้เลยนะ ผู้สมัครส.ส.รายหนึ่ง ฟาดเงินลงบนโต๊ะ กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกจากธนบัตร พบเห็นชายสองคนสอง (ผู้ซื้อเสียง – ขายเสียง) แต่อย่างที่บอกไป พอภาพ VCD/DVD ถูกตัดออกซ้าย-ขวา มันอะไรว่ะ! ได้ยินแต่เสียงสนทนา

การนำภาพถ่ายประจำตำแหน่ง สวมเครื่องแบบราชการเต็มยศ ตั้งไว้ด้านหลังประดับบารมีของผู้สมัครรายนี้ เพื่อสะท้อนวิทยฐานะ ภาคภูมิในตัวตน ขณะเดียวกันแสดงถึงความเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนง อวดอ้างถือดี, ช็อตลักษณะนี้รับอิทธิพลจาก Citizen Kane (1942) อย่างแน่นอน!

ฉากโรแมนติกกุ๊กกิ๊กที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร (ริมแม่น้ำโขงหรือเปล่าเนี่ย?) ทีแรกนึกว่ากล้องกำลังค่อยๆเดินถอยห่าง แต่ปรากฎว่าน่าจะเป็นการใช้เรือพาย! ดูแล้วเหมือนจงใจล้ออะไรบางอย่างกับไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย

ฉากที่คงได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญมากสุด คือการหาเสียงระหว่างฉายหนังกลางแปลง น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลให้ไม่ได้ว่าเรื่องอะไร (เห็นลางๆน่าจะนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา) แต่สังเกตจากเสียงพากย์

“แต่ท่านเกลียดดิฉันค่ะ เกลียดความเป็นบ้านนอก ที่ไม่คู่ควรกับตระกูลของท่าน”

– บุญเรือน

ก็ชัดเจนเลยว่ามีเนื้อหาสอดคล้อง ล้อกับเรื่องราวของหนังอย่างตรงไปตรงมา

ความโดดเด่นของฉากนี้คือการซ้อนทับสองเสียง ระหว่างการปราศัยชักชวนให้มาฟังคำหาเสียงของ บุญไชย คงมั่น สลับแทรกกับเสียงพากย์หนังกลางแปลง ซึ่งจะมีความดัง-ค่อยไม่เท่ากันด้วย (คือถ้าภาพปรากฎใบหน้าของ บุญไชย เสียงของเขาจะดังกล่าว, กรณีปรากฎภาพยนตร์ เสียงพากย์หนังจะดังกว่า) สร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญ ต้องเลือกระหว่างอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกันมิได้

อีกหนึ่งไฮไลท์ของหนังคือการปราศัยครั้งสุดท้ายบนเวทีใหญ่กลางเมือง -ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ไหน- ปริมาณตัวประกาศน่าจะเกือบๆพันคนเลยกระมัง นั่นมิใช่เรื่องง่ายจะควบคุมสั่งการอะไร ด้วยเหตุนี้เลยเพียงเก็บภาพมุมกว้างๆ แล้วเบี่ยงเบนไปนำเสนอเรื่องราวของฆาตกร กำลังตระเตรียมการเพื่อดักซุ่มยิงระยะไกล และเสียงระหว่างการปราศัยดังขึ้นลอยๆประดับพื้นหลัง

โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นจากขับมอเตอร์ไซด์ไถลตกคลอง, เปรียบได้กับสายน้ำแห่งชีวิต ทุกสิ่งอย่างเคลื่อนไหลต่อเนื่องไม่มีปลายทางสิ้นสุด เรื่องราวของ บุญไชย คงมั่น แม้จบลงเพียงเท่านี้ แต่ต่อจากนี้ก็อยู่ที่ว่าใครๆจะครุ่นคิด ตระหนักถึง ตัดสินใจกระทำอะไรต่อไปด้วยตนเอง

ตัดต่อโดย…, แม้เรื่องราวหลักๆจะเป็นของ บุญไชย คงมั่น แต่ระหว่างทางนั้นมีการร้อยเรียงภาพการหาเสียง/ซื้อเสียงของผู้สมัครรายอื่นๆ เพื่อสร้างสีสัน สนุกสนานขบขันให้กับเรื่องราว มิให้ตึงเครียดเข้มข้นจนเกินไป

เท่าที่สังเกต นอกจากเบอร์ ๘ บุญไชย คงมั่น พบเห็นบ่อยๆกับอีกสองผู้สมัคร ที่คอยกัดกันอยู่เรื่อยๆคือ
– เบอร์ ๖ มหาจำรูญ เรืองศาสตร์ (รับบทโดย ดี๋ ดอกมะดัน) สังกัดพรรคประชาธิปไตยเจริญ
– เบอร์ ๙ ทนายฟูเฟื่อง ตระกูลชัย (รับบทโดย ดู๋ ดอกกระโดน)

ไดเรคชั่นการตัดต่อ พบเห็นหลายครั้งทีเดียวสลับไปมาระหว่างสองฉาก/สองเหตุการณ์/สองช่วงเวลา
– ต้นเรื่องระหว่าง บุญไชย คงมั่น กำลังเดินทางขึ้นรถไฟกลับสนธยาธานี ใบหน้าของเขาตัดสลับภาพความทรงจำจากอดีต (Flashback)
– การหาเสียงใหญ่ครั้งสุดท้ายของ บุญไชย คงมั่น, ตัดสลับระหว่างการปราศัยบนเวที กับฆาตกรตระเตรียมการซุ่มยิงจากระยะไกล
– ช่วงท้าย, ตัดสลับระหว่างประชาชนได้รับทราบข่าว เดินทางไปเลือกตั้ง และเหตุการลอบสังหาร งมมอเตอร์ไซด์ขึ้นจากคลอง

และหลายครั้งทีเดียวมีการตัดต่อลักษณะ ภาพประกอบเพลง (หรือเพลงประกอบภาพ) ร้อยเรียงสิ่งที่มีความคล้ายคลึง อาทิ ป้ายหาเสียง, ระหว่างการเดินทางไปปราศัย ฯ


เพลงประกอบโดย … ร่วมกับวงดนตรีคณะเพื่อน ซึ่งไม่เพียงมารับเชิญเล่นเป็นนักข่าว แต่ยังได้ขึ้นเล่นเปิดการแสดงบนเวทีก่อนเริ่มการปราศัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของ บุญไชย คงมั่น

บทเพลงมีกลิ่นอายอีสานบ้านเฮา ผสมกีตาร์กลองดนตรี Rock ให้มีความป๊อปร่วมสมัย ประกอบถ้อยคำร้องที่มีเนื้อหาเสียดสี ล้อเลียน สะท้อนเหตุการณ์ขณะนั้นของหนังอย่างตรงไปตรงมา อาทิ
– ผู้แทนนอกสภา ขับร้องโดย ชวลิต ผ่องแผ้ว
– ด้วยรักแห่งอุดมการ
– สู้ไม่ถอย ขับร้องโดย วิทยา กีฬา
– พลังประชาชน ขับร้องโดย สุชาติ แสงธรรม
– น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว ขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธรรม

น่าเสียดายหารับฟังบน Youtube ไม่ได้สักเพลง T_T


ประชาธิปไตยในประเทศไทย ไม่ใช่ระบบการปกครองที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตหรือจิตวิญญาณของฝูงชน ชัยชนะการปฏิวัติของคณะราษฎร์ ก็มีเพียงชาวเมืองผู้มีการศึกษาตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญ ขณะที่ประชาชนรากหญ้า บ้านนอกต่างจังหวัด ต่างพูดเป็นเสียงเดียว แล้วยังไง? มันเกี่ยวข้องอะไรกับฉัน? ไม่ได้เกิดจากการลุกฮือล้มล้างระบอบแบบยุโรป ฝรั่งเศส รัสเซีย ฯ ที่ประชาชนครึ่งค่อนประเทศมีส่วนร่วมประท้วง ฉุดคร่ากษัตริย์ลงจากบัลลังก์สูงสุด

ด้วยเหตุนี้ชนชาวไทย เลยไม่ใคร่กระตือรือล้นต่อระบอบประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ นอกเสียจากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียงของผู้สมัคร นำสิ่งของโน่นนี่นั่นมาแจกจ่าย สุรามึนเมามาย ถ้ามีรถบริการรับส่งให้ด้วย ไม่เลือกกากบาทตอบแทนก็ถือว่าไร้สามัญสำนึกความเป็นคนเกินไปหน่อย

นี่ยังไม่รวมถึงความคอรัปชั่น การปฏิวัติ รัฐประหาร แก่งแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นมากมายบ่อยครั้งนับไม่ถ้วน จนประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาในระบบ ไร้เสถียรภาพมั่นคง และเบื่อหน่ายการเลือกตั้งซ้ำๆ (ไม่รู้จะเลือกไปทำไม เดี๋ยวแม้งก็ปฏิวัติล้มรัฐบาลกันอีก!)

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอสิ่งที่คือ อุดมคติแห่งประชาธิปไทย วีรบุรุษท่ามกลางสมรภูมิรบดิสโทเปียน รายล้อมด้วยปีศาจชั่วร้ายจากขุมนรก แม้ได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมผลักดันจากผู้คนมากมาย แต่สุดท้ายก็ไร้โอกาสแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไร หมดสูญสิ้นโอกาสและความหวังใหม่

ปฏิกิริยาผู้ชมต่อตอนจบ แบ่งฝั่งฝ่ายออกเป็นสองพวกอย่างชัดเจน
– ตระหนักและพยายามครุ่นคิดถึงตัวเอง จะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์โศกนาฎกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในชีวิตจริง
– นี่แหละสัจธรรมแห่งสังคมไทย ไม่มีอะไรสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงได้ ช่างน่าเศร้าสลดแต่ก็ต้องยินยอมรับมัน

ก็คิดดูว่ากลุ่มนักข่าวในหนังเรื่องนี้ ยังถูกทำให้ไม่สามารถเป็นกลาง ต้องการเลือกข้างฝักใฝ่คนดี แถมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนนานับประการ … นี่ถือว่าเป็นการทำลายจริยธรรมสื่อ ปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่

ประชาธิปไทยในปัจจุบัน เลวร้ายยิ่งกว่าสิ่งเกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้หลายสิบร้อยเท่าเลยนะครับ นอกจากคนดีที่แทบไม่มีหลงเหลือ ความคอรัปชั่นยังได้วิวัฒนาการแทรกซึมไปทุกระดับชนชั้น จนไม่มีใครสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ต้องปล่อยไหลตามกระแสน้ำไปเรื่อยๆ เฉกเช่นนั้นแล้วแสงสว่างแห่งความหวังยังมีอยู่ไหม? ผมก็ตอบไม่ได้หรอกนะ ถามใจคุณเองดีกว่า


ผู้แทนนอกสภา เข้าฉายที่โรงหนังเพรสซิเดนส์ สเตลลา วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ดูเป็นความจงใจก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ และผลของการเลือกตั้งก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะพรรคชาติไทยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่หนึ่ง ๑๑๐ ที่นั่ง รองลงไปคือพรรคกิจสังคม ๙๙ ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ ๕๖ ที่นั่ง ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาจากทั้งหมด ๓๒๔ ที่นั่ง ซึ่งกลับกลายเป็นว่าพรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชากรไทย ตกลงจับมือกันสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ขณะที่พรรคชาติไทย รวมกับพรรคการเมืองอื่นๆที่เหลือ กลายเป็นฝ่ายค้าน

ช่วงเทศกาลรางวัลปลายปี ผู้แทนนอกสภา แม้ไม่ใช่ตัวเต็งอะไรแต่กลับพลิกโผ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ชิงตัดหน้า เชิด ทรงศรี จากเรื่อง เพื่อน-แพง (พ.ศ. ๒๕๒๖)

ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆกับหนัง มีทั้งส่วนที่ใช้ได้-ใช้ไม่ได้ การแสดงของพี่เอกก็ทั่วไป แถมกาลเวลาทำให้คุณภาพถดถอยลงอย่างมาก กลายเป็นเพียงภาพยนตร์บันทึกประวัติศาสตร์ สัจธรรมความจริงของการเมืองไทย

แนะนำคอหนังการเมือง เลือกตั้ง สนใจประวัติศาสตร์ไทย, แฟนๆผู้กำกับ สุรสีห์ ผาธรรม และนักแสดงนำ สรพงศ์ ชาตรี ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๓+ กับความคอรัปชั่นของนักการเมือง

คำโปรย | ผู้แทนนอกสภา แม้เอ่อล้นด้วยความตั้งใจดี แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นเพียงบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย
คุณภาพ | พอใช้แบบไทยๆ
ส่วนตัว | เฉยๆ

เปนชู้กับผี (2006)


เปนชู้กับผี

เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) หนังไทย : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ♥♥♥♥

หนึ่งในหนังผีไทย ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญว่ามีความน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุด แต่แน่ใจแล้วหรือว่านี่คือหนังผี? การไม่ยินยอมรับตนเอง สูญเสียสิ้นศรัทธา เปนเหตุให้ทุกสิ่งอย่างเวียนวนหวนกลับคืนสู่จุดเริ่มต้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก! รัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็เช่นกัน

ทั้งๆภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้มีการกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์เมือง แถมพื้นหลังดำเนินเรื่อง พ.ศ. ๒๔๗๗ ย้อนยุคไปไกล แต่เพราะไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น สดๆร้อนๆกับรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ เราจึงสามารถเปรียบเทียบอะไรหลายๆอย่าง ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึง บ้านหลังนี้=ประเทศไทย ช่างดูโบร่ำโบราณเสียจริง!

ตอนที่ผมรับชม เปนชู้กับผี ในโรงภาพยนตร์ ไม่ได้ครุ่นคิดอะไรพรรค์นี้หรอกนะ เพิ่งจะมาสะดุดความเห็นหนึ่งจากผลงานล่าสุดของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เรื่อง สิงสู่ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ที่เหมือนจะแทรกสอดแนวคิด ทัศนคติ มุมมองทางการเมือง หลบซ่อนเร้นอยู่ในผลงาน พอไล่ย้อนไปก็พอพบเห็นได้ตั้งแต่ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗) คงไม่แปลกถ้า เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) จะมีบางสิ่งอย่างเก็บใส่หีบ ล็อกกุญแจ ฝั่งลึกอยู่ … ปรากฎว่าไม่ผิดคาดเลยจริงๆ

เปนชู้กับผี จึงกลายเปนภาพยนตร์ที่สะท้อนห้วงอารมณ์ ความรู้สึกของปวงชนชาวไทย (ในมุมมองผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) ต่อเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ การไม่ยินยอมรับอดีตของตนเอง คอรัปชั่นฝั่งรากหยั่งลึก มันหวนย้อนกลับมาหลอกหลอน เขย่าขวัญ สั่นประสาท นี่เราต้องพบเจออะไรๆแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปจนชั่วกัปกัลป์เลยหรือ!

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียน ภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เริ่มทำงานโฆษณากับ บริษัท ลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), ก้าวขึ้นมากำกับ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗)

“จุดเริ่มต้นคือคุณเชน ไฟว์สตาร์อยากให้ทำหนังผีซักเรื่อง เราก็สนใจ หลังจากรับปากแล้วเราก็กลับไปค้นคว้าเรื่องผีของไทยโบราณ ก็ไปนึกถึงนิยายผีของครูเหม เวชกร ซึ่งเราอ่านตั้งแต่เด็กๆ และเปนภาพที่ฝังใจเรามาตลอด”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

เมื่อพูดถึงผีไทยในอดีต มักมีลักษณะ ‘ผีอาละวาด’ ว่ากันว่าน่าจะเปนประเทศเดียวในโลกที่แหกอก ควักไส้ ตาหลุด ลิ้นยาว หน้าเละๆ เอกลักษณ์ประจำชาติเลยก็มั้งนะ แต่การมาถึงของ New Asian Horror ผีญี่ปุ่นเริ่มจาก The Ring (1998), Ju-on: The Grudge (2002) หน้าขาวๆ ผมยาวๆ ดำๆ พอเห็นมันประสบความสำเร็จ สร้างความหลอกหลอน ตราตรึง ผู้สร้างหนังไทยก็เลยคัทลอกเลียนแบบตาม ทอดทิ้งวิถีทางเดิมๆไทยแท้แทบหมดสิ้น

“ผมชอบหนังผี เรื่องผีของครูเหม เวชกร นี่ชอบมาก อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นร่ำลือกันว่าเรื่องผีของแกสยองขวัญมาก มาอ่านสมัยนี้อาจจะเฉยๆแล้ว … รูปประกอบของครูเหมก็น่ากลัว เขาไม่ได้เขียนแค่ภาพประกอบง่ายๆ แต่เขาเขียนเปนแสงเงา เหมือนกับจัดแสงให้เราเสร็จเลย”

เหม เวชกร ชื่อจริง หม่อมหลวงเหมเวชกร ทินกร (พ.ศ. ๒๔๔๖ – ๒๕๑๒) ศิลปินจิตรกรชาวไทย เกิดที่ตำบลพระราชวัง อำเภอและจังหวัดพระนคร บุตรของหม่อมราชวงศ์หุ่น ทินกร กับหม่อมหลวงสำริด พึ่งบุญ ครั้นพ่อแม่แยกทางเลยไปอยู่กับหม่อมราชวงศ์แดง ทินกร ทำให้มีโอกาสพบและเปนผู้ช่วย Carlo Rigoli จิตรกรชาวอิตาเลียน ที่เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม สอนให้หัดวาดเส้น ลวดลายต่างๆ รู้สึกชอบพอในอัธยาศัยและฝีมือของเหมมาก แต่โชคชะตาพลันแปรให้ร่อนเร่พเนจร (พ่อแม่ ต่างปลัดกันแย่งยื้อตัวเขาไว้ แต่กลับไม่มีใครเลี้ยงดูแลอย่างจริงจัง) เคยทำงานนายท้ายเรือโยงขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ช่างเครื่องจักรไอน้ำ สร้างเขื่อนพระรามหก กลับเข้ากรุงเทพฯ เปนช่างเขียนในกรมตำราทหารบก นักดนตรีฉายหนังเงียบ เขียนปกนวนิยาย กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๘ ร่วมกับเพื่อนเปิดสำนักพิมพ์ เพลินจิตต์ ขายนิยายราคาถูก ปกภาพเขียนฝีมือของเหม สอดสีสวยงาม ราคา ๑๐ สตางค์

เหม เวชรกร ได้รับฉายา ‘จิตรกรเทวดา’ มีผลงานวาดภาพประกอบกว่า ๔๐,๐๐๐ ชิ้น หลายภาพพบในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทย จิตรกรรมพุทธประวัติ ประกอบชาดก วรรณคดี นวนิยายอีกนับไม่ถ้วน แต่ที่โดดเด่นดังคือผลงานเขียนเรื่องผีกว่าร้อยเรื่อง จนได้รับอีกฉายา ‘บิดาแห่งผีไทย’ ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างบรรยากาศเฉพาะตัว ลักษณะนิ่งเงียบ เย็นยะเยือก มีความโบราณเล่นกับวิถีความเชื่อ ความกลัวของคนไทย อาทิ เสียงบันไดเอี๊ยดอ๊าด นกแสกร้อง น้ำหยด ลมหายใจรดต้นคอ ฯ ปัจจุบันที่หลงเหลืออยู่เพียง ๕ เล่ม คือ วิญญาณที่เร่ร่อน, ปีศาจของไทย, ผู้มาจากเมืองมืด, ผู้ไม่มีร่างกาย และใครอยู่ในอากาศ เห็นว่าช่อง ITV เคยเอามาทำเปนละครชุด ผี!!…วิญญาณและความผูกพัน (พ.ศ. ๒๕๔๖) จำนวน ๑๘ ตอน

ตัวอย่างภาพวาดผีของ เหม เวชรกร: https://pantip.com/topic/37321202

สำหรับการพัฒนาบทภาพยนตร์ เปนครั้งแรกที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เลือกใช้บริการนักเขียนอื่น สนใจคนเขียนบท/ผู้กำกับ ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ไม่ได้รู้จักกันหรอก แต่ประทับใจตัวหนังเขียนบทได้ดี มีเหตุและผลรองรับ

“บังเอิญเรามีพล็อตอันนึงเปนหนังผีที่คิดไว้นานแล้ว แต่เปนพล็อตที่คิดไว้หลวมๆ เริ่มเขียนบทตอนต้นปี ช่วงนั้นทำโฆษณาด้วย เขียนไปสักครึ่งเรื่องก็ติดไปต่อไม่ได้ เลยเรียกใช้บริการของคุณโขม (ก้องเกียรติ) คุยกับเขาปล่อยให้เขาเขียนต่อ แล้วเขาก็เปลี่ยนเรื่องเราไป แล้วมันดีกว่าเรื่องเดิมของเรา มันมีความลึก เรื่องของกรรม เรื่องของการยึดติด ประเด็นของเรื่องก็แข็งแรงขึ้น”

ก้องเกียรติ โขมศิริ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๘) ผู้กำกับ/นักเขียนชาวไทย เกิดที่ สำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าสู่วงการจากเขียนบทหนัง บางระจัน (พ.ศ. ๒๕๔๓), ๗ ประจัญบาน (พ.ศ. ๒๕๔๔), องค์บาก (พ.ศ. ๒๕๔๖), คนเล่นของ (พ.ศ. ๒๕๔๗), สร้างชื่อกับการเปนทีมกำกับ/เขียนบท ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘), และฉายเดี่ยวเรื่องแรก ไชยา (พ.ศ. ๒๕๕๐)

“คือเดิมตั้งใจว่าเสร็จเรื่องลองของ ก็จะไม่เขียนบทหนังประเภทนี้แล้ว แต่พอได้มานั่งคุยกับพี่วิศิษฎ์ ได้ฟังไอเดีย เราว่ามันโอเค.มากเรียกว่าสุดยอดเลยนะ เปนไอเดียที่เกิดขึ้นมาจากภาพวาดของครูเหม เวชกร คือเรื่องผีของครูเหม ส่วนมากเปนเรื่องความผูกพันธ์ระหว่างคนกับผี การพบการจาก เราว่ามันเปนเสน่ห์ของหนังผีนะ และมุมที่เราตีความหลังจากที่ได้คุยกับพี่วิศิษฎ์ คือ บทของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปนหนังผี ที่มีเรื่องของความรัก น่ากลัวด้วยบรรยากาศ คืออยู่เฉยๆ ก็ขนลุกขึ้นมา รู้สึกวาบขึ้นมาได้ทั้งๆที่เราไม่ต้องเห็นผีเปนตัวเปนตน แต่ว่ามันทำให้ชวนขนลุกอยู่ตลอดเวลา”

– ก้องเกียรติ โขมศิริ

สยามประเทศ พ.ศ. ๒๔๗๗, นวลจัน (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) สาวตั้งครรภ์ท้องแก่ ออกเดินทางติดตามหาสามีที่หายตัวไป มาถึงพระนครขอเข้าพักอาศัยในคฤหาสน์ของคุณหญิงรัญจวน (สุพรทิพย์ ช่วงรังษี) โดยมีแม่บ้านใหญ่ สมจิต (ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) และสาวใช้ ช้อย (วิสาข์ คงคา) คอยให้ความช่วยเหลือ แต่ในไม่ช้านาน นวลจันก็ได้ค้นพบลับลมคนใน เรื่องราวไม่ชอบมาพากลของคฤหาสน์หลังนี้ เต็มไปด้วยความน่าหวาดสะพรึงกลัวซุกซ่อนเร้นอยู่

ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๕) ชื่อเล่น นุ่น นักแสดงหญิงชาวไทย เกิดที่จังหวัดลำปาง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หลังจากได้เปนดัชชี่เกิร์ล พ.ศ. ๒๕๔๗ แจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ เพื่อนสนิท (พ.ศ. ๒๕๔๘)

“พูดตรงๆว่าพอบอกชื่อนุ่นขึ้นมา เรารู้สึกว่าไม่น่าใช่ เพราะบทที่ผ่านมาของเขาจะใสๆ ง้องแง้งๆ แต่บทของเราจะจริงจัง เปนคนที่เข้มแข็งพอจะเข้าไปค้นอะไรบางอย่าง… แต่พอเขามาแคสติ้งแล้วปรากฎว่าทำได้ดี มีความตั้งใจ พอคุยกันปรากฎว่าเขาเปนคนที่อยากเปลี่ยนแปลงตนเอง”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

รับบทนวลจัน สาวบ้านนอกตัวดำ แต่มีความแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว กล้าเข้าหาผู้ชาย อ่อยเหยื่อให้เขาตกหลุม ร่วมรัก ตั้งครรภ์ แล้วเมื่อพลัดพรากแยกจากเปนเวลานาน ออกเดินทางติดตามค้นหา จับพลัดพลูมาถึงคฤหาสน์หลังนี้ แรกๆยินยอมก้มหัวให้แม่บ้านใหญ่ แต่ความสอดรู้อยากเห็น จึงพบเจอข้อเท็จจริงทุกสิ่งอย่าง

ต้องชมเลยว่า นุ่น สามารถสลัดภาพ ดากานดา จากวัยรุ่นสาวหน้าตาจิ้มลิ้มบ้องแบ้ว กลายเปนหญิงสาวที่มีความแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ด้วยสายตาแห่งความใคร่รู้ใคร่สงสัย ‘เสือก’ นั่นคงเกิดจากแรงผลักดันของสันชาติญาณ ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงเริ่มเปิดเผย ภายในจิตใจเกิดความขัดแย้ง เจ็บปวดรวดร้าวราน ทุกข์ทรมาน จึงพยายามหลบหนีเอาตัวรอดออกมา แล้วเก็บกดดันความรู้สึก/ทรงจำซ่อนไว้ใต้ส่วนลึก ทำให้ตื่นขึ้นเช้าวันใหม่เลยสามารถหลงลืมได้ทุกสิ่ง เรียกรถลากออกเดินทางมุ่งสู่คฤหาสน์หลังนี้อีกครั้ง

คือถ้ากับมนุษย์ ผมยังพอได้ยินเหตุการณ์แบบ Memento (2000), 50 First Dates (2004), Still Alice (2014) ฯ ตื่นเช้าขึ้นมาสูญเสียความทรงจำของวันวาน แต่กับผี/วิญญาณ มันเปนไปได้หรือว่าจะเกิดอาการคล้ายๆกันนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเรือนร่างกาย สมองสำหรับจดจำ?

ความทรงจำ เก็บซ่อนเร้นอยู่ตรงไหน? ทางพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์ประกอบด้วยขันธ์ ๕ (รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ) ความทรงจำถูกเก็บในสิ่งเรียกว่า ‘สัญญา’ นามธรรมจับต้องไม่ได้ มองด้วยสายตาไม่เห็น และมีปริมาณไม่สิ้นสุด, การที่ทุกครั้งเมื่อเกิดใหม่เปนมนุษย์ จะไม่สามารถจำเหตุการณ์ในอดีตชาติ เพราะอำนาจสติมีกำลังน้อยไม่เพียงพอ แต่ถ้าเติบโตขึ้น ฝึกฝนทำสมาธิ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถระลึกได้ว่ามีจริง

เช่นนั้นแล้วสมอง-ความทรงจำ สัมพันธ์อะไรกัน? ในความเข้าใจของชาวตะวันตก/นักวิทยาศาสตร์ มักเปรียบเทียบคือ Hard Disk ส่วนเก็บบันทึกความทรงจำถาวร แต่ในทางพุทธศาสนา สมองเปนเพียง RAM อุปกรณ์บันทึกความทรงจำชั่วคราว ก่อนส่งต่อให้ ‘สัญญา’ ที่คือ Hard Disk อย่างแท้จริง

ดังนั้นคำถามที่ว่า ผีสูญเสียความทรงจำได้หรือเปล่า? คำตอบคือ ได้ ไม่แตกต่างอะไรจากมนุษย์ ในสภาวะที่มีบางสิ่งอย่างกระทบกระทั่งจิตอย่างรุนแรง ‘วิบากกรรม’ คือสิ่งบดบังไม่ให้สามารถหวนระลึกถึงสัญญาอดีต

อีกหนึ่งนักแสดงที่ถือเปนไฮไลท์คือ สุพรทิพย์ ช่วงรังษี (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๗) ชื่อเล่นทิปปี้ นักธุรกิจสาวไฮโซ เจ้าแม่พีอาร์เมืองไทย คร่ำหวอดในวงการนี้มากว่า ๑๐ ปี เชี่ยวชาญด้านงานประชาสัมพันธ์และการตลาด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนด์เด็ด ดิ เอเจนซี่ จำกัด, ผู้บริหารของ บริษัท เวิร์คกิ้ง ไดมอนด์ จำกัด, ผู้บริหารของแบรนด์เครื่องประดับสุดเก๋ Tippy & Matthew, และเจ้าของบริษัท ๑๒๔ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, ก็ไม่ได้มีความสนใจในวงการบันเทิง แต่เมื่อได้รับการติดต่อก็เลยอยากทดลองดู มาแคสหน้ากล้องปรากฎว่าใช่เลย ภาพลักษณ์ จริตแบบนี้แหละที่ต้องการ

“ตอนแรกสุดเขาเปนตุ๊กตาที่เราตั้งไว้ว่า เราอยากได้บุคลิกแบบนี้ สง่า มีอำนาจ สวย เซ็กซี่ แต่เราไม่กล้าเรียกเขา เพราะเขาเปนนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จมาก เปนคนดังของสังคม แต่สุดท้ายทางแคสติ้งไดเรคเตอร์บอกว่า ลองดูไหมพี่ ไม่มีอะไรเสียหาย”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

รับบท รัญจวน เจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่ ลูกเจ้าคุณมหาเศรษฐี ตั้งแต่เด็กมีนิสัยอิจฉาริษยา โตขึ้นแต่งงานกับคุณชอบ (ศรุต วิจิตรานนท์) เลี้ยงดูแล ประคบประหงบ ให้ปรนเปรอ กักขังไว้อย่างนกในกรง ครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญไปเล่นดนตรีต่างจังหวัด หวนกลับมาบอกว่าพบเจอคนรักใหม่ต้องการขอหย่า เรื่องอะไรจะยินยอมพร้อมใจ เธอต้องเปนของฉันแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

มาดสาวมั่น ผู้ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ ช่างตรงกับภาพลักษณ์ของไฮโซทิปปี้ คำพูดจา ท่วงท่าทางลีลา จริตอันจัดจ้าน เร่าร้อนแรง เซ็กซี่วับๆแวมๆ ภายในอัดแน่นด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว แต่สามารถแปรสภาพให้กลายเปนพลัง โลกมายาเพ้อฝัน จินตนาการช่วงเวลาแห่งความสุข สนองตัณหาราคะชั่วนิจนิรันดร์

สำหรับนักแสดงสมทบ
– สมจิต (ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา) แม่บ้านใหญ่ผู้คอยดูแลคฤหาสถ์หลังนี้ ทั้งๆเปนแค่ขี้ข้าคนรับใช้ กลับทะนงตน เย่อหยิ่งจองหอง ชอบพูดจาถากถาง ใช้ถ้อยคำตำหนิต่อว่ารุนแรง [ว่าไปคล้ายตัวละครแม่บ้าน Mrs. Danvers จากเรื่อง Rebecca (1941)] เมื่อพบเห็นบางสิ่งอย่างชั่วร้ายเกิดขึ้นในบ้าน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เลยเดินตกกระไดคอหักตาย ถูกซ่อนศพไว้ในห้องเก็บล็อกกลอนแน่นหนา มีเพียงหนูนาแทะกระดูกเปนเพื่อนสร้างความรำคาญใจ
– ช้อย (วิสาข์ คงคา) คนใช้ไร้ที่ทางอยู่อาศัย ได้รับอนุเคราะห์จากคุณนายให้พักในคฤหาสถ์หลังนี้ ว่าไปไม่ต่างจากผีไร้ญาติ เอาตัวรอดไปวันๆอย่างไร้แก่นสาน ชอบทำตัวจุ้นจ้าน วุ่นวายเรื่องชาวบ้าน แถมทำคลอดได้อีก ปาฏิหารย์จริงๆ
– ยายเอิบ (เรียมคำ แสนอินทร์) หลังจากสูญเสียลูกสาวหายตัวไปไม่พบเจอ เกิดอาการคลุ้มคลั่งเสียสติแตกกลายเปนคนบ้า คือหนึ่งในสองสมาชิกคฤหาสถ์หลังนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ใครๆกลับครุ่นคิดว่าเธอคือผีปอป เพราะภาพลักษณ์เหมือนมากๆ
– คุณชอบ (ศรุต วิจิตรานนท์) เริ่มแรกเปน Mac-Guffin ที่ไม่พบเห็นหน้าตา แต่สักกลางเรื่องเมื่อเปิดเผยใบหน้า ตัวตนแท้จริง ถึงค่อยรับทราบว่าตกหลุมรัก แต่งงาน เปนชู้กับใคร?

กำกับภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (เรื่องตลก 69, มนต์รักทรานซิสเตอร์, มหา’ลัยเหมืองแร่), นฤพล โชคคณาพิทักษ์ (คิดถึงวิทยา, พี่มาก…พระโขนง)

“ผมตั้งใจให้บรรยากาศมันคลุมๆ ไม่กลัวแบบตกใจ แต่ต้องกลัวตลอดเวลา”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

งานภาพของหนังไม่มี Visual Effect มุมกล้องประหลาดๆ หรือสีสันฉูดฉาดแปลกตาเหมือนสองผลงานก่อนหน้า ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) และ หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗) เรื่องนี้เลือกโทนน้ำตาลเพื่อความโบราณย้อนยุค และการเคลื่อนกล้องแบกถือ Steadicam เดินติดตามตัวละคร ได้ภาพสั่นๆไหวๆ ดั่งจิตใจคนเมื่อพบเจอบางสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัว

เนื่องจากพื้นหลังของหนังมีลักษณะ Period ย้อนยุคไปในอดีตประมาณ ๗๐ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๗๐ – ๒๕๘๐ เมืองไทยยังแบ่งออกเปนคน ๒ ประเภท
– กลุ่มคนสังคมชั้นสูง พวกนี้จะได้รับอิทธิพลจากยุโรปอย่างมาก โดยเฉพาะ Art Nouveau ของฝรั่งเศส ลักษณะบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ การแต่งกาย คำพูดจามีนัยยะความหมาย สำบัดสำนวนคมคาย สะท้อนถึงผู้มีการศึกษาสูง
– อีกด้านหนึ่งคือคนต่างจังหวัดชนชั้นล่าง ยังคงความเปนไทย บ้านไม้มุงจาก พายเรือ ชอบนั่งเล่นใต้ถุนสูง จุดตะเกียง นอนมุ้ง คำพูดจาก็จะหยาบกระด้าง ตรงไปตรงมา คิดอะไรก็แสดงออกเช่นนั้น ไม่ค่อยมีความรู้ มารยาทสังคม ยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีโบราณดั้งเดิม

สำหรับสถานที่ถ่ายทำ จงใจเลือกเช่าบ้านหลังเดียวกับที่เคยใช้ถ่ายทำ จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔) ตั้งอยู่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรับปรุงตกแต่งให้เรือนสองหลัง มีความแตกต่างกันตามระดับชนชั้นของตัวละคร

ความโดดเด่นของงานภาพ คือการสร้างบรรยากาศหลอนๆ เขย่าขวัญ สั่นสะพรึง หลายครั้งบางสิ่งอย่าง(ผี)มักมีการขยับเคลื่อนไหว แทนด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไม่ก็ปรากฎตัวอยู่ด้านหลังขณะที่ตัวละครมองไม่เห็น/หันไปอีกทาง แต่ผู้ชมจะทันหางตา หรือภาพเบลอๆ ก่อเกิดอาการสะดุ้ง ตกใจกลัว (พร้อมเพลงประกอบ ร่วมด้วยช่วยบิ้วอารมณ์)

มีหนังหลายเรื่องที่ใช้เทคนิคสร้างบรรยากาศลักษณะคล้ายคลึงกันนี้อยู่มากมายให้เปรียบเทียบ อาทิ The Evil Dead (1981), The Sixth Sense (1999), The Others (2001) ฯ  ซึ่งลักษณะบ้านหรูๆ แบ่งแยกชนชั้นสูง-ต่ำ นี่มัน บ้านทรายทอง ฉบับเจอผี!

มี Long Take ฉากหนึ่งที่ถือว่าใช้ได้เลย เปนการเคลื่อนหมุนรอบรูปปั้น จากฝากฝั่งอดีต (พบเห็นคุณหญิงรัญจวน ยืนอยู่กลางสวน) สู่ปัจจุบันช็อตนี้ (นวลจัน กำลังฟังเรื่องเล่าจากสมจิต)

ปกติแล้วคนยังมีชีวิตอยู่ในความเชื่อไทยโบราณ ไม่นิยมสร้างหุ่น/รูปปั้นของตนเอง เพราะถือเปนการสาปแช่งให้ตายไวๆ แต่ในกรณีรูปปั้นคุณหญิงรัญจวนนี้ เธอคงอยากหมดสิ้นลมหายใจไวๆ และวิเคราะห์ได้คือสิ่งสะท้อนสภาพจิตใจในปัจจุบัน หยาบแข็งกระด้าง เยือกเย็นเหมือนหินแกะสลัก ความอบอุ่นสุขสำราญ ได้ร่ำจากลาไปแล้วชั่วนิรันดร์

สิ่งหนึ่งที่นัยยะความหมายได้ แต่ผมรู้สึกว่าผลลัพท์ออกมาไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ คือการพยายามปกปิดซ่อนเร้นใบหน้าของนายชอบในช่วงแรกๆ โดยทำเปน Mac-Guffin แล้วค่อยไปเปิดเผยช่วงกลางๆเรื่องว่าคือใคร

เทคนิคนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความลึกลับ พิศวงให้กับตัวละคร รูปร่างหน้าตา คือใครกันแน่? แต่เพราะผู้ชมจะสามารถคาดเดาได้ทันทีตั้งแต่แรกๆเลยว่า หมอนี่ต้องเปนคนรักของสองหญิงอย่างแน่นอน (เพราะมันก็ไม่มีตัวละครผู้ชายอื่นในหนัง สักคนเดียว!) กลับเกิดอีกคำถามหนึ่งมากกว่า ผู้หญิงคนไหนที่ถือเปนชู้!

ตัดต่อโดยหม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล พระธิดาคนโตของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำกับ เปนเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ

เรื่องราวแทบทั้งหมดของหนังเล่าในมุมมองของ นวลจัน ดำเนินไปข้างหน้าสลับกับหวนระลึกถึงอดีต แต่จะมีช่วงท้ายที่เปนการเฉลยปริศนาทั้งหมด เปลี่ยนมาใช้มุมมองของ คุณหญิงรัญจวน และสมจิต รำพึงพัน ‘หล่อนคงจะกลับมาอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับความจริง’

ว่าไปโครงสร้างเรื่องราวของหนัง ถือว่ามีความสมมาตร แบ่งครึ่งกึ่งกลาง ครึ่งแรกจะสะท้อนตรงกันข้ามกับครึ่งหลัง ทั้งหมดทั้งสิ้น (มองเปนวัฏจักรชีวิต ก็ได้เช่นกัน)
– อารัมบท & ปัจฉิมบท, นวลจัน กำลังออกเดินไปเรื่อยๆ เวียนวนอยู่นั่น ไปไม่ถึงเป้าหมายสักที
– เริ่มต้นมาถึงคฤหาสน์ นวลจัน บอกให้คนลากรถรอคอย, ช่วงท้ายไม่ออกมาสักที เลยเปิดประตูเข้าไปเรียก
– นวลจัน ถูกผลักไสไม่ยินยอมรับจากแม่บ้านใหญ่ สมจิต, หลังจากคลอดลูก ได้รับอนุญาตจากคุณหญิงรัญจวน ให้พักอาศัยอยู่นานๆหน่อย
– ครึ่งแรก นวลจันออกค้นหาสามี คลอดลูกยังคฤหาสถ์หลังนี้, ครึ่งหลัง พบเจอคนรัก สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
– เริ่มจากความพิศวงสงสัย แววตาสอดรู้สอดเห็น, เมื่อความจริงเปิดเผย คลุ้มคลั่งเสียสติแตก พยายามหลบหนี ยินยอมรับความจริงไม่ได้
ฯลฯ

เพลงประกอบ เลือกใช้บริการสตูดิโอ Wild At Heart ในเครดิตขึ้นชื่อ วิโรจน์ ทาอาสา, สุนทร ยอดศรีทอง และ บรรชิต ณ พัทลุง

แม้พื้นหลังเรื่องราวจะมีลักษณะย้อนยุคโบราณ แต่หนังกลับเลือกใช้ดนตรีคลาสสิก เปียโน ไวโอลิน ออเครสต้า ประกอบเข้ากับ Sound Effect แทนความร่วมสมัย เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ ชี้ชักนำอารมณ์ผู้ชม เวลาผีออกก็จงสะดุ้งตกใจกลัว! มีความตรงไปตรงมาโดยแท้

สิ้นรักสิ้นสุข (พ.ศ. ๒๔๘๒) บทเพลงของวงสุนทราภรณ์ ประพันธ์ทำนองโดย หลวงสุขุมนัยประดิษฐ, คำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล, ขับร้องครั้งแรก เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก ขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล, ฉบับที่ใช้ในหนังน้ำเสียงของ นรีกระจ่าง คันธมาส … แต่ก็ไพเราะคลาสสิกสู้ต้นฉบับไม่ได้นะครับ

Sound Effect ก็ถือว่าเปน Soundtrack ประกอบหนังได้เหมือนกันนะ จิ้งหรีดเรไร สายลมพัด หรือแม้แต่เสียงเปิด/เคาะประตู เดินขึ้น/ลงบันได เหยียบพื้นไม้ ฯ สัมผัสอันเปนธรรมชาติสมจริงนี้ ล้วนเพื่อแต่งเติมเสริมบรรยากาศ สร้างความหลากหลอน สั่นสะพรึง จับต้องความกลัวได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม

“หล่อนรู้มั้ย ในชีวิตคนเรามีอะไรเจ็บปวดยิ่งกว่าการสูญเสียคนที่เรารัก การสูญสิ้นศรัทธาในความรักยังไงล่ะ”

– คุณนายรัญจวน

ศรัทธา เปนคำที่กว้างมากเลยนะ ในบริบทหนังคือจุลภาคเรื่องความรัก ซื่อสัตย์ จงรักภักดีของชาย-หญิง คู่สามี-ภรรยา เมื่อใดมีบุคคลที่สามแทรกตัวเข้ามา ก็จักสูญเสียความเชื่อมั่น ทุกสิ่งอย่างต่ออีกฝั่งฝ่าย, แต่เราสามารถขยายมุมมอง ‘ศรัทธา’ ให้กว้างมากขึ้นได้อีก เชื่อในเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ เจ้านาย ผู้นำสังคม การเมือง ประเทศชาติ วิทยาศาสตร์ และที่สุดคือศาสนา

ด้วยความตั้งใจของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ค่อนข้างเชื่อได้ว่าสิ่งที่แอบแฝงซ่อนเร้น ต้องการสะท้อนเสียดสีถึงระบอบการเมืองของประเทศไทยอย่างแน่นอน ที่พวกคนรุ่นเก่า ทหาร ตำรวจ ผู้มีอำนาจ พลานุภาพ ต้องการสำแดงพลังทางชนชั้น กดขี่ข่มเหงคนรุ่นใหม่ให้สยบด้วยความกลัว, นี่ถือว่าเปนการสูญสิ้นศรัทธาในระบอบการปกครอง ประชาธิปไทย!

เปรียบคฤหาสน์หลังนี้คือสยาม
– รัญจวน เศรษฐินีหม้าย เจ้าของคฤหาสถ์หลังนี้ ตัวแทนของผู้นำ/บริหารประเทศ พฤติกรรมอิจฉาริษยา มักมากในกาม สะท้อนความ’คอรัปชั่น’ภายในจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เธอปกครองอยู่ขณะนั้น คือภูติผีปีศาจ ไร้อำนาจขัดขืนต่อต้าน และสภาพบ้านแท้จริงแล้วชำรุดทรุดโทรม แต่กลับยังมโนเพ้อพบความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่
– สมจิต แม่บ้านใหญ่/นายกเงา บุคคลผู้ควบคุมดูแลกิจการงานภายในคฤหาสถ์ รองมือรองเท้าให้กับคุณหญิงรัญจวน สนองทุกตัณหา เมื่อพบเห็นการกระทำอันชั่วร้ายเลวทราม เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เลียแข้งเลียขาเจ้านาย ฉันไม่มีวันทรยศกลับกลายเปนอื่น
– นวลจัน ตัวแทนประชาชนตาดำๆ ผู้เต็มไปด้วยความใคร่รู้สงสัย สืบเสาะค้นหาจนพานพบเบื้องลึกข้อเท็จจริง ยินยอมรับไม่ได้กับทุกสิ่งที่บังเกิดขึ้น พยายามขัดขืนย้อนแย้ง แต่สุดท้ายก็มิอาจต้านทาน จึงต้องหลบหนีหวนกลับไปจุดตั้งต้น แล้วเริ่มใหม่ด้วยการหลงลืมทุกสิ่งอย่าง
– ช้อย คนร่อนเร่ ผีไร้บ้าน ให้อะไรก็แดกหมดไม่เลือกเรื่องมาก ว่าไปตัวละครนี้ถือว่าสะท้อนกับยายเอิบ คนเปน-วิญญาณ อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้ได้ เพราะไม่สนอะไรนอกจากความพึงพอใจของตนเอง
– ผีเด็ก ถูกจับขังไว้ในหีบ โตขึ้นยังเปนวิญญาณวิ่งเล่นซ่อนหา ดวงตามืดบอดมองอะไรไม่เห็น สะท้อนอนาคตของชาติอันดับสูญสิ้น

สำหรับคุณชอบ นี่อาจเปนการเล่นของสูงสักหน่อย ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ผมครุ่นคิดได้ คือตัวแทนพระมหากษัตริย์ แรกเริ่มเดิมทีคบหาสนับสนุนพวกคนมียศศักดิ์สูงบริหารปกครองประเทศชาติ ต่อมาหันไปเข้าข้างช่วยเหลือประชาชน เลยถูกพวกนักการเมืองหัวหมอบางตัว พยายามฉุดคร่าล้มล้างทำลายระบอบ … ไปจินตนาการต่อเองแล้วกันนะครับ ว่าหมายถึงอะไรได้บ้าง

และตอนจบคฤหาสถ์หลังนี้ หลงเหลือสองคนเท่านั้นที่ยังคือมนุษย์ มีชีวิตลมหายใจ นี่เปนการสะท้อนถึง ‘คนบ้าเท่านั้นถึงสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับ ผู้นำคอรัปชั่นได้อย่างสงบสุขสันติ’

ทำไมชื่อหนังคำว่า “เปน” ถึงไม่ใส่ไม้ไต่คู้ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ให้คำตอบว่า

“คำว่า เปน เปนคำไทยโบราณที่มีใช้กันมานานแล้ว ซึ่งถ้าศึกษาจากหนังสือในสมัยก่อน เช่น หนังสือราชกิจจานุเบกษา จะเขียนแบบนี้ การใช้ชื่อเรื่องหนังในสมัยก่อนมักจะเปนวลี เปนคำๆ เปนประโยคบอกเล่า ที่จริงใจ และชัดเจน หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ด้วยกลิ่นของความเปนอดีต และ ด้วยความรู้สึกของหนังผี จึงออกมาเปนชื่อนี้ เปนชู้กับผี… “

แล้วใครกันแน่ที่ เปนชู้กับผี? ผมว่าก็เปนด้วยกันทั้งหมดนะครับ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคุณเอง
– นวลจัน แต่งงานกับคุณชอบทีหลัง ถือว่าเปนชู้ และเมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้วก็เลยกลายเปนผี
– รัญจวน แม้คือสามีคุณชอบ แต่ถูกเขาขอหย่า ไม่ยินยอมพร้อมใจเลยเข่นฆ่าให้ตายกลายเป็นผี แล้วยังจินตนาการให้หวนกลับมาปรนเปรอปรนิบัติ ไม่ต่างอะไรจากชู้รัก
– คุณชอบ คือชายผู้ลักลอบมีชู้นอกใจภรรยาไปมีเมียน้อย ถูกเข่นฆ่าตายกลายตนเองกลายเปนผี ใครตกหลุมร่วมรักกับเขาก็ถือได้ว่า เปนชู้กับผี

อีกนัยยะหนึ่งของชื่อหนัง เปนชู้กับผี สะท้อนพฤติกรรมผู้นำประเทศสารขัณฑ์ ต้องการครอบครอง(เปนชู้)ประเทศที่เต็มไปด้วยวิญญาณผีล่องลอย เพราะสามารถบริหารจัดการทุกสิ่งอย่างได้อย่างสงบรื่นร่มเย็นเปนสุขสบาย มิต้องการปกครองมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อลมหายใจ เพราะคนพวกนี้มักชอบเรียกร้องสิทธิ อะไรไม่พึงพอใจก็รวมพลประท้วงขับไล่ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สูญเสียผลประโยชน์มากมายนับไม่ถ้วน

เมื่อไหร่กันที่ความขัดแย้ง รัฐประหาร เผด็จการ จะหมดสูญสิ้นไปจากโลก? คำตอบคือไม่มีวัน ตราบใดที่มนุษย์ยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ราคะ-โทสะ-โมหะ รัก-โลภ-โกรธ-หลง ความต้องการก็เหมือนความทรงจำไร้จุดสิ้นสุด ตราบจนกว่าจะเรียนรู้จักศีล-สมาธิ-ปัญญา พรหมวิหาร ๔ ความพอเพียง เกิดความเบื่อหน่ายต่อวัฎฎะสังสาร สร้างสะสมบารมี จนสักวันหนึ่งถึงสามารถบรรลุหลุดพ้น ออกจากวงจรวัฏจักรแห่งชีวิต

เปนชู้กับผี กลายเปนภาพยนตร์ทำรายได้ในประเทศไทยดีที่สุดของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (ขณะนั้น) ประมาณ ๒๐ ล้านบาท แต่เห็นว่าก็ยังไม่คืนทุนอยู่ดี กระนั้นค่าลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายฉายต่างประเทศน่าจะมากพอถึงกำไรเลยละ

หนังถือเปนหนึ่งในตัวเต็งกวาดรางวัลมากมายปลายปี แต่เนื่องจากความขัดแย้งปีก่อนระหว่าง บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น กับสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้จัดงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ที่มะหมี่ นภคปภา นาคประสิทธิ์ นักแสดงจากเรื่อง ลองของ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ส่งเข้าชิงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่กลับปรากฎชื่อสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสในมตรฐาน การบริหารจัดการ ทำให้ปีถัดมาขอไม่ส่งหนังสองเรื่องเข้าร่วมชิงชัย กลายเปนความโชคร้ายน่าเสียดายของทั้ง เปนชู้กับผี และ Invisible Waves คำพิพากษาของมหาสมุทร

หลายๆคนอาจรู้สึกว่าหนังยังทำได้ไม่สุด บางอย่างก็ดูยัดเยียด มากคลั่ง รุนแรงเกินไป แต่ถ้าคุณสามารถนำเหตุการณ์ต่างๆมาครุ่นคิดวิเคราะห์ต่อยอด เปรียบเทียบกับที่ผมนำเสนอไป ก็น่าจักพบเห็นความกลมกล่อมลงตัว งดงามอย่างไทยแท้ หลอกหลอนสั่นสะท้านถึงทรวง … หนังผีไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก (แต่ก็อาจเฉพาะคนไทย ที่ดูแล้วเข้าใจ)

แนะนำคอหนัง Horror แนวย้อนยุค บรรยากาศหลอนๆ เขย่าขวัญสั่นประสาท, ชื่นชอบผลงานผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และการแสดงของ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๘+ กับความหลอกหลอน เขย่าขวัญ สั่นประสาท

คำโปรย | “เปนชู้กับผี ของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้หนังผีไทย ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก”
คุณภาพ | ณีวิจิ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

หมานคร (2004)


หมานคร

หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗) หนังไทย : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ♥♥♥♥

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เกิด เติบโตขึ้นในกรุงเทพหมานคร พบเห็นความวุ่นวาย เร่งรีบร้อน เห็นแก่ตัวของชาวเมืองหลวง ตั้งใจถ่ายทอดวิถีชีวิต โลกทัศนคติผู้คน ด้วยมุมมองส่วนตน ‘Magical Realism’ เว่อวังอลังการสุดโต่ง สรวงสวรรค์หรือขุมนรกก็แล้วแต่ใครจะมองเห็น

ถึงงานภาพของหนังเรื่องนี้ จะมีความสวยงดงาม ฟ้าสดใสสักเพียงไหน แต่สิ่งที่ผมมองเห็นกลับคือ ‘ขุมนรก’ ดินแดนเต็มไปด้วยบุคคลมักมาก เห็นแก่ตัว กอบโกย ชิงดีชิงเด่น ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง พยายามหาทางดิ้นรนเพื่อให้ตนเองมีหาง (สำนวน ยกหางตัวเอง) สัญลักษณ์ของความเย่อหยิ่งจองหอง ทะนงตน ยกตนว่าดีว่าเก่ง ทั้งๆแท้จริงไม่ได้มีอะไรน่ายกย่องสรรเสริญแม้แต่น้อย

ผมเคยอาศัยอยู่ในกรุงเทพหมานคร ช่วงสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และทำงานสองสามปีแรกๆ ไม่เคยพบเห็นมุมไหนของสถานที่แห่งนี้คือสรวงสวรรค์ เดินสวนกันทุกวันกลับไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามพูดคุย ผู้คนเร่งรีบเบียดเสียดขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า แย่งกันโบกแท็กซี่ ไหนละมารยาทการแบ่งปัน แต่แปลกเรื่องพรรค์นี้คนส่วนใหญ่กลับเพิกเฉย ลอยชาย เห็นผิดเป็นชอบ ‘กงจักรคือดอกบัว’ พยายามอย่างยิ่งจะปรับตัว พึงพอใจกับความเหนื่อยยากแสนสาหัสนั้น คาดหวังสักวันหนึ่งฉันต้องประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง สามารถโอ้อวดต่อญาติพี่น้อง ผองเพื่อนสนิทมิตรสหาย อิจฉาเราสิ ทำได้แบบนี้หรือเปล่า … เพื่ออะไร?

ค่านิยมของโลกยุคสมัยนี้ พยายามเสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำพา ให้มนุษย์มีความ ‘เพ้อฝัน’ ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง รู้จักขยันขันแข็ง อดทนทำงาน (ในสิ่งที่มักไม่เป็นประโยชน์สักเท่าไหร่) เพื่อให้สำเร็จลุล่วงดั่งประสงค์เป้าหมาย ชีวิตต่อไปจะได้สุขสบายไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยดิ้นรน

แต่ชีวิตคนเราจำเป็นต้องดิ้นรนขนาดนั้นด้วยหรือ? ต้องให้ประสบความสำเร็จ? ต้องให้ร่ำรวยเงินทอง? ต้องให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก? และสำหรับผู้ที่สามารถไต่เต้าไปจนถึงจุดๆนั้น มันคุ้มค่าแล้วหรือ? อะไรคือเป้าหมายต่อไป? เมื่อไหร่จะรู้จักหยุดเพียงพอ?

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียน ภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เริ่มทำงานโฆษณากับ บริษัท ลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), กำกับเรื่องแรก ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในประเทศ แต่สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ

ผลงานถัดมา หมานคร แรกสุดคือหนึ่งในร้อยแปดพล็อตที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ครุ่นคิดจดบันทึกค้างไว้ แล้วโยนทิ้ง เป็นเรื่องประชดกรุงเทพฯ เอาสนุก ต่อมุขไปเรื่อยๆ กระทั่งว่าศรีภรรยา ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ (นามปากกา คอยนุช) มาเห็นแล้วชื่นชอบ ขอนำไปพัฒนาแต่งต่อ ก็ไม่ได้ว่าอะไรจนกระทั่งเสร็จสรรพนำมาให้อ่าน

“หู! ดีกว่าเดิมเยอะเลย ไปไกลมากเลย มีเรื่องความรักเข้ามา ทำให้ทุกอย่างแข็งแรง ไอ้มุขประชดทั้งหลายก็เป็นแค่ระหวางทาง แค่ชูรสที่จะพาเรื่องไป แต่ความรักทำให้เรื่องแรงขึ้นมา อ่านเสร็จเราก็รู้สึกว่าชอบมากเลย”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

สิ่งโดดเด่นของนวนิยาย (ตามคำบอกเล่าของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) คือรูปแบบดำเนินเรื่องที่ไม่มีบทพูดสนทนา ทุกอย่างคือบทบรรยาย แล้วใช้ลักษณะวนซ้ำไปซ้ำมาเหมือนเด็กเขียน อาทิ “ในวินาทีนั้น เธอรู้สึกว่าเธอมีความสุขเหมือนตอนเธอที่เขย่าขา แต่เธอไม่ต้องเขย่าขา” หรือ “เหมือนที่เธอถูพื้น แต่เธอไม่ต้องถูพื้น”

สำหรับการดัดแปลงบทภาพยนตร์ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ได้ร่วมกับศรีภรรยา ถือเครดิตแต่เพียงผู้เดียว (แบบเดียวกับตอน ฟ้าทะลายโจร)

“ตอนเขาเขียนนิยายเราก็ไม่ได้ไปยุ่ง … ตอนเราเขียนบทเขาก็ไม่ได้มายุ่งกับเรา พอเราเขียนเสร็จเราก็เอาให้เขาอ่าน เขาก็จะคอมเมนต์เหมือนคนดู ตรงนี้ไม่สนุก อะไรอย่างนี้”

เรื่องราวของ ป๊อด (มหาสมุทร บุณยรักษ์) หนุ่มบ้านนอกเข้ากรุงฯ พร้อมคำทักของยายว่า ‘เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ระวังจะมีหางงอกออกมาจากก้น’ เริ่มต้นได้ทำงานเป็นพนักงานโรงงานปลากระป๋อง แต่ลาออกเพราะไม่อยากตัดนิ้วตัวเองใส่กระป๋อง จากนั้นสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย พบเจอตกหลงรัก จิน (แสงทอง เกตุอู่ทอง) พนักงานทำความสะอาดซึ่งหมกมุ่นกับการทำความสะอาดและจัดระเบียบสิ่งของ เธอเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองอ่านหนังสือปกขาวเล่มหนึ่งที่ตกลงมาจากฟ้านั้นออก

ความตั้งใจแรกสุดของผู้กำกับ อยากได้พี่ป๊อด ธนชัย อุชชิน (นักร้องนำวง Modern Dog) และ จินตหรา พูนลาภ รับบทคู่พระ-นาง แต่รายแรกไม่เคยแสดงอะไรมาก่อนเลยขาดความมั่นในตนเอง แถมประชดด้วยการเรียกค่าตัวสูงสุดโต่ง! ใครจะไปเอา ส่วนรายหลังเหมือนจะยุ่งๆติดงานอื่นอยู่, สุดท้ายเลยตัดสินใจโอบรับไดเรคชั่นของ Aki Kaurismäki คัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ไร้ชื่อ ให้เล่นหน้าตายแข็งกระด้างทึ่มทื่อ เหมือนหุ่นยนต์ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ (นี่ก็สะท้อนลักษณะชาวกรุงฯ ไม่น้อยทีเดียว)

เกร็ด: Working Title ในตอนแรก เห็นว่าตั้งใจใช้ชื่อ Modern Dog แต่พอไม่ได้พี่ป๊อดมาเล่น ก็เลยเปลี่ยนเป็น Citizen Dog, หมานคร เล่นคำกับ กรุงเทพมหานคร

มหาสมุทร บุณยรักษ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๓) ชื่อเล่น จีน บุตรของ พิจิตรา บุณยรัตน์พันธ์ ดีไซเนอร์ เจ้าของห้องเสื้อชื่อดัง พิจิตรา, เรียนจบนอก จากประเทศอังกฤษ หวนกลับมาถ่ายแบบ โฆษณา แสดง Music Video ตั้งวง Saliva Bastards, สำหรับภาพยนตร์ได้รับการติดต่อจาก วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง พอตอบตกลงก็ไปเรียนการแสดงกับครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน แต่แค่ไม่กี่วันเพราะผู้กำกับอยากให้แสดงความเป็นธรรมชาติของตนเองออกมามากกว่า, รับบท ป๊อด ชายหนุ่มผู้ไร้ซึ่งความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาย หรือเป้าหมายชีวิต เสียบปลั๊กยังผิดอุปกรณ์ไฟฟ้า เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ อะไรเข้ามากระทบกระทั่งก็เคลิบเคลิ้มคล้อยตาม ตกหลุมรักหญิงสาว มองไปทางไหนก็เห็นแต่หน้าเธอ พอถูกขอให้แยกกันอยู่ก็ได้ยินแต่คำพูดประโยคนั้น ถึงกระนั้นก็ปลักหลักรักมั่นคงไม่เสื่อมคลาย

“ทุกสิ่งที่จินทำ เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์’ เสมอสำหรับป๊อด”

แสงทอง เกตุอู่ทอง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๕) นักแสดง-นางแบบชาวไทย เข้าสู่วงการจากโครงการ STICK & STAR ของบริษัทกันตนา คว้ารางวัลชนะเลิศ กลายเป็นนางแบบเสื้อผ้าแฟชั่น ชุดว่ายน้ำ เดินแบบแคทวอล์ค ได้รับการติดต่อจาก วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก หมานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), รับบท จิน(ตนาการ) หญิงสาวบ้านนอกผู้ได้รับของขวัญจากฟากฟ้า (เลยชอบใส่ชุดสีฟ้า) คือหนังสือปกขาวที่ไม่มีใครไหนสามารถอ่านออก เลยเกิดอาการครั่นคัน หมกมุ่น ตั้งมั่น ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อค้นหาใครสักคนบอกได้ว่าเนื้อหาข้างในคืออะไร เริ่มจากทำงานพนักงานทำความสะอาด เข้าใจผิดฝรั่งคนหนึ่งชื่อปีเตอร์ เกิดแรงบันดาลใจกลายเป็นนักประท้วง NGO เดินขบวนเรียกร้องให้คนเลิกใช้พลาสติก เก็บสะสมทำความสะอาดขวดเปล่าจนกองพะเนินสูงเท่าภูเขา แต่เมื่อมีโอกาสพบเจอปีเตอร์อีกครั้ง รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือปกขาวเล่มนี้ ชีวิตก็หมดสิ้นอาลัยตายอยาก ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายย่อยยับเยิน

“วันไหนที่จินอ่านหนังสือเล่มนี้ออกนะ จินก็อาจจะกลายเป็นคนพิเศษ หรืออาจจะมีหางงอกออกจากก้นเหมือนคนพวกนั้นบ้างก็ได้”

สำหรับตัวละครอื่นๆ ขอกล่าวถึงเพียงนัยยะความหมายที่สอดไส้ซ่อนเร้นไว้ก็แล้วกันนะ

ยอด (สวัสดิ์วงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เพื่อนสนิทที่โรงงานปลากระป๋อง มีปรัชญาชีวิต ‘อะไรที่เรายิ่งตามหา เราก็หาไม่เจอ แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆมันจะมาหาเราเอง’ รู้จักกับป๊อด โดยบังเอิญเพราะนิ้วชี้สลับกัน คือต่างเป็นคนไร้เป้าหมายทิศทางชีวิต ต่อมาแนะนำให้รู้จักกับ หมวย (พาชื่น มาไลยพันธ์) ธิดาจักรพรรดิ์ ผู้มีความเริด เชิด หยิ่ง ทำตัวไฮโซเจ้าหญิง แต่ความจริงก็แค่หลงตัวเองทำงานสาวเสิร์ฟต่ำต้อย ต้องการเพียงถูกลวนลามร่วมรักบนรถประจำทางแออัด

ยาย (เรือนคำ แสนอินทร์) ตัวแทนจิตสำนึกของป๊อด เวียนว่ายตายเกิดไปไหนก็ยังวนอยู่ในความทรงจำ ทำให้เขาไม่กล้าทำอะไรนอกลู่นอกรอย (ไม่อยากฆ่าตัวตายแล้วไปเจอกับยาย) ช่วงท้ายมาเข้าฝัน กำลังอยู่เติบโตอยู่ในครรภ์ของจิน

คง (ณัฎฐา วัฒนะไพบูลย์) มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ตายไปแล้วเป็นซอมบี้ สะท้อนตรงๆถึงคนทำงานอาชีพนี้ ไม่เคยเห็นหลับนอน โทรเรียกตีสามยังมารับ แถมหมวกกันน็อคไม่เคยสวมใส่ (เลยถูกฝนตกเป็นหมวกกันน็อค น็อคกระแทกศีรษะ สิ้นชีวิตตายคาที่)

ติ๊ก (ภคภัทร บุญสมธรรม) ชายผู้ความจำเสื่อม แต่แสดงความรักต่อคนรอบข้างด้วยการเลียแข้งเลียขา ดูจากเครื่องแต่งกายไม่ต่างกับพนักงานบริษัท คนชนชั้นกลาง วันๆทำงานตามคำสั่งเจ้านาย เลียแข้งเลียขา ว่าไปไม่ต่างจากหมาวัด ขี้ข้าคนมีเงิน ตำแหน่ง ชนชั้นสูง คาดหวังตัวเองจะได้เติบโตก้าวหน้า สักวันหนึ่งมีหมาเป็นลูกน้องตนเองได้บ้าง

น้องแหม่ม (ภัทรียา สนิทธิเวทย์) สาวอายุ ๒๒ แต่สิงสู่อยู่ในร่างเด็กวัย ๘ ขวบ [นี่นึกถึงหนัง Palme d’Or เรื่อง The Tin Drum (1979) เด็กชายหยุดอายุตัวเองไว้ที่สามขวบ] สะท้อนการเลี้ยงดูของพ่อ-แม่ ในสังคมเมือง ที่มักให้อิสระ ปล่อยทิ้งขว้าง ไม่ค่อยแยแสสนใจเลี้ยงดูแล ลูกๆหลานๆจึงเติบโตขึ้นใน Taxi มีความก้าวร้าว หยาบคาย หัวรุนแรง โลกส่วนตัวสูง ด้วยเหตุนี้เธอเลยมีเพื่อนคือ ธงชัย ตุ๊กตาหมี (Ted?) ที่เป็นเพื่อนคุยในจินตนาการ ติดนิสัยพูดมาก สูบบุหรี่ และภายหลังเมื่อโทรศัพท์เข้ามาแทนที่ ก็โฟนยาวหลับในสาย

ปีเตอร์ (Stephens Chuck) ภายนอกคือฝรั่งสไตล์โบฮีเมียนที่คอยแจกใบปลิวให้ผู้คนเดินผ่านไปมา ครอบครองหนังสือปกขาว พบเห็นตำรวจก็วิ่งหนี แสดงว่ามีลับลมคมใน มาเฉลยภายหลังถึงรับรู้ว่า หมอนี่มีภายในตรงกันข้ามกับสิ่งที่ใครๆพบเห็นรู้จัก

คุณชายใหญ่ (ทัศนัย ชัยทรัพย์) & พลับพลึง (สุธีเทพ ศักดิ์พันธ์พนม) ทั้งสองต่างสะท้อนโลกเพ้อฝันจินตนาการของจิน เห็นอยากให้ทั้งคู่อยู่ร่วมสมหวัง แต่ภายหลังพอจบเจอความสนใจอะไรใหม่ๆ ก็หลงลืมช่างหัว ทอดทิ้งขว้าง ไม่สลักสำคัญอีกต่อไป

ถ่ายภาพโดย เรวัตร ปรีเลิศ ขาประจำถ่ายงานโฆษณาเกือบทุกเรื่องของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งตอน ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ประจำตากล้องกองสอง

ตรงกันข้ามกับ ฟ้าทะลายโจร ที่เป็นการย้อนกลับไปหาอดีตจึงสามารถใส่ความฉูดฉาดจัดจ้าน, หมานคร คือภาพยนตร์ที่มุ่งหน้าสู่ความ Modern โลกอนาคตของกรุงเทพฯ งานภาพจึงต้องการโทนสีที่อ่อนลง (ขาว-ฟ้า) และมีลักษณะสะท้อนวิสัยทัศน์กว้างไกล เลนส์ Wide จึงคือคำตอบของการเลือกใช้ ผลลัพท์มีความบิดเบี้ยวแบบแปลกๆ มอบสัมผัสอันเหนือจริง (Surrealist)

ขณะที่ไดเรคชั่น ให้สัมผัสคล้ายๆผลงานของ Wes Anderson มักถ่ายหน้าตรงไปตรงมา จัดองค์ประกอบ วางนักแสดง ให้อยู่กึ่งกลางเฟรม เคลื่อนไหลกล้องด้วยทิศทางระนาบเส้นตรง และฉูดฉาดกับการจัดสี (แต่เทคนิคนี้ทำในกระบวนการ Post-Production)

ความที่หนังมีการใช้ Visual Effect ค่อนข้างเยอะ ทำให้ผู้กำกับต้องพูดคุยกับแผนก Visual Effect ตระเตรียมภาพร่าง วาด Storyboard ไว้พร้อมสรรพ ถึงสามารถถ่ายทอดผลลัพท์ในงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างพอดิบพอดี

โรงงานปลากระป๋อง กลิ่น Modern Time (1936) ลอยมาหึ่งๆ ได้ยินว่ากลิ่นคาวปลารุนแรงมาก
– โรงงานปลากระป๋อง ไม่เพียงล้อเลียนลักษณะการแออัดยัดเยียดเบียดเสียดของผู้โดยสารรถเมล์ แต่ยังสะท้อนถึงความสำเร็จรูปของชีวิตคนเมือง อะไรๆต้องเรียบง่าย เปิดปุ๊ปกินได้ปั๊ป รวดเร็วทันใจ คุณภาพขึ้นอยู่กับนิ้วชี้ของพนักงาน
– นิ้วชี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าชี้ มักใช้สำหรับกำหนดทิศทาง ชี้นกชี้ไม้ หรือคือเป้าหมายชีวิต, ต้องขยับเขยื้อนอยู่กับที่ไม่ได้ หมายถึง ชีวิตที่ไม่อาจหยุดอยู่นิ่งสงบกับที่, นิ้วชี้สูญหาย ก็คือการไร้ซึ่งเป้าหมาย, พบเจอสลับกับยอดชาย เป็นการรับอิทธิพล แรงบันดาลใจ เป้าหมายจากคำแนะนำของคนรอบข้าง (คือตนเองไม่มีเป้าหมายชีวิตอะไร เลยต้องมองหาจากผู้คนรอบข้าง)

สมุดปกขาว สีแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตกลงจากฟากฟ้าประทาน ให้จิน(ตนาการ)เคลิบเคลิ้มหลงใหล ทั้งๆก็ไม่รู้หรอกว่าเนื้อในใจความว่ากระไร จึงพยายามเพ้อฝันหวาน ครุ่นคิดหาหนทาง เผื่อว่าสักวันอาจได้เข้าถึงสิ่งโชคชะตาลิขิต เติมเต็มวัตถุประสงค์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้

แรกเริ่มถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง เพ้อฝัน ที่แสนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีอะไรตรงหน้าปกก็ราวกับชีวิตลิขิตเขียนเอง แต่เมื่อหญิงสาวรับทราบข้อเท็จจริง นี่แปลว่าเนื้อภายในกลับมืดมิดดำสนิท ลำแสงสว่างนี้จึงดับมอดสูญสิ้น เจ้าสมุดเลยโบยบินเป็นอิสระดั่งนก สู่ท้องฟากฟ้าอันไร้ขอบเขตกรงขัง

ถ้าผมดูไม่ผิดเนื้อหาภายในเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ดินแดนแห่ง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”

Sequence ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในหนัง คือสโลโมชั่นเมื่อป๊อดหวนกลับบ้านนอกคอกนา นี่เป็นการสะท้อนเวลา/นาฬิกาชีวิตของคนเมือง-ชนบท มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
– คนเมืองกรุงฯ ทำอะไรเร่งรีบร้อน ต้องรวดเร็วทันใจ
– คนบ้านนอก ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่มีอะไรต้องเร่งรีบ Slow-Life

ทำไมอยู่ดีๆ การที่ป๊อดไม่มีหาง ถึงกลายเป็นข่าวใหญ่คึกโคมออกโทรทัศน์ โด่งดังไปทั่วกรุงเทพหมานคร? ถ้าเป็นแต่ก่อนคนชั่วหายาก เวลาใครทำผิดร้ายแรงจึงตกเป็นข่าวใหญ่ ยิ่งถ้าโดนโทษประหารด้วยแล้ว ต้องขึ้นหน้าหนึ่งเพื่อเป็นบทเรียนเสี้ยมสอนใจ แต่ยุคสมัยนี้นั้นกลับตารปัตร คนชั่วมีหางพบเห็นเกลื่อนเมือง บังเอิญหาเจอใครสักคนไร้หางแต่กำเนิด รู้เข้าเลยต้องยกยอปอปั้นสรรเสริญ กลายเป็นของ RARE หายาก แทบไม่มีอีกแล้วบนโลกนี้

สำหรับซีน Icon ของหนัง กองขวดขยะทับถมสูงเป็นภูเขาเลากา ของเคยมีประโยชน์แต่เมื่อใช้สอยแล้วทิ้งเลยกลายเป็นสิ่งไร้ค่า และเมื่อหนุ่ม-สาว ปีนป่ายมาถึงยอด พวกเขาจึงเสมือนอยู่ตำแหน่งสูงสุดของความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ถึงฉากนี้จะดูเว่อวังมากๆ แต่ความเป็นจริงผมว่าปริมาณขยะพลาสติกของทั้งโลก ‘ต่อวัน’ ก็น่าจะปริมาณเท่านี้แหละนะ ไม่เว่อไปเท่าไหร่หรอก

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นผู้กำกับที่มีลายเซ็นต์ แทรกใส่มุมมองสะท้อนสังคมไว้ในผลงานภาพยนตร์ของตนเอง สำหรับหมานครคือเรื่องขยะพลาสติก, ครั้งหนึ่งจากหนังเรื่อง The Graduate (1967) เคยยกย่องเจ้าสิ่งนี้ว่าคือ ‘อนาคต’ ของมนุษยชาติ แต่แค่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้นใครๆจึงได้ล่วงรับรู้พิษสง อันตราย ปริมาณอันมากมายมหาศาลย่อยสลายไม่ได้ ก่อให้เกิดมลภาวะต่อคนรุ่นถัดๆไป จนแล้วจนรอดถึงปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยมีหน่วยงานองค์กรไหนจริงจัง (นอกจากพวก NGO ที่รณรงค์กันอย่างคลุ้มคลั่ง) ในการแก้ปัญหานี้เสียที เอาแต่เสี้ยมสอนให้เกิดความตระหนัก กลับไม่มีใครรู้จักสำนึกตน พวกบริษัทขายน้ำนี่ตัวดีเxยๆเลย

ตัดต่อโดย ดุษณีย์ ผุยหนองโพธิ์ ผลงานเด่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มหานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), วัยอลวล ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ

หนังเล่าเรื่องผ่านเสียงบรรยายของพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง ผู้มีความชื่นชอบนิยายเล่มนี้อย่างมาก เคยให้คำนิยามว่า ‘เซอร์ เซอร์ แตก’ ด้วยน้ำเสียงอันมีลีลาเย้ายียวน กวนประสาท น่าถีบ ถือว่าสอดคล้องเหมาะเจาะกับเรื่องราวหมาๆที่เล่าออกจากปากเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าแทนบทพูดสนทนา ความคิดอ่านของตัวละครแทบทั้งหมด (แต่ตัวละครก็มีบทพูดนะ เฉพาะกิจธุระสำคัญและมีความคมคายจริงๆเท่านั้น)

เสียงพี่ต้อมอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ ต้องมีชื่อตอนกวนๆปรากฎขึ้นคั่นเพื่อแนะนำตัวละคร/เรื่องราว แทรกขึ้นมาอีก อาทิ
– คงเดช มอเตอร์ไซค์ผี
– ยอด เพื่อนร่วมนิ้ว
– หมวย ธิดาจักรพรรดิ์
– น้องแหม่ม เด็กหญิงหรือหญิงสาว
– ธงชัย ตุ๊กตาหมีที่ต้องพบกับเรื่องเศร้า
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ

สำหรับเรื่องนี้ นำบทเพลง …ก่อน (พ.ศ. ๒๕๓๗) ซิงเกิลจากอัลบัมชุดแรกของ Modern Dog แต่งโดย ปฐมพร ปฐมพร (เพลงเดียวของวงที่ผู้แต่งไม่ได้เป็นสมาชิกวง) มาเป็น Main Theme แล้วทำการเรียบเรียงหลากหลาย Variation เพื่อให้สะท้อนเรื่องราวอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนไป อาทิ อะแคปเปลลา (A cappella), เปียโน, ไวโอลิน, กีตาร์, อิเล็กโทน/คีย์บอร์ด และฉบับขับร้องโดย  มหาสมุทร บุณยรักษ์

หลายครั้งของหนังก็ใช้บทเพลง ทำเป็น Music Video แทนการเล่าเรื่อง อาทิ
– Opening Credit บทเพลง …ก่อน ขับร้องประสานเสียง อะแคปเปลลา (A cappella)
– แม่สาวเสื้อฟ้า คำร้อง-ทำนองโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, ขับร้องโดย วันชนะ เกิดดี
– เพลงแรพการเดินทางของยาย คำร้อง-ทำนองโดย ก้องเกียรติ เรือนน้อย, ขับร้องโดย ดิเรก อมาตยกุล
– ขณะกำลังเดินประท้วง บทเพลงเพื่อมวลชน ขับร้อง/แต่งโดย จิ้น กรรมาชน
– คู่พระนางหวนกลับมาพบเจอกัน บนยอดภูเขากองขยะ บทเพลง ทุกคืนวัน ขับร้อง/แต่งโดย มหาสมุทร บุณยรักษ์

“ผมเกิดกรุงเทพนะ แล้วก็เข้าใจเมืองนี้ ส่วนใหญ่ก็จะรวมๆ ทุกอย่างลงไป มีแต่ความวุ่นวาย รถติด เราต้องทำใจให้อยู่ในเมืองนี้ให้ได้ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอะไรได้ อย่างที่บอกเราเป็นหมาในเมือง ต้องทำใจแล้วมีความสุขกับมัน”

– วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

ฉากจบ Ending Credit กับวงดนตรีคนตาบอด เป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ มีหลายสิ่งอย่างมากมายในกรุงเทพหมานคร ที่ผู้อยู่อาศัยจำเป็นต้อง ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ ตามืดบอดไม่ใคร่มองสนใจ ถึงสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในมหานครแห่งนี้

คำถามคือ เราจำเป็นต้องอดรนทนฝืน ต่อความว้าวุ่นวายของกรุงเทพฯด้วยหรือ? สำหรับคนที่มีความเพ้อใฝ่ฝัน จมปลักในจินตนาการ ตกหลุมรักระบบทุนนิยม คลั่งไคล้วัตถุนิยม นั่นคือมหานครที่สามารถสนองความต้องการของมวลชนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจักสามารถไปถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จ เพราะเมื่อมีผู้ชนะย่อมพ่ายแพ้ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาสามารถ และโชคชะตาบารมี (ผลกรรมสะสมทบมา)

ประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ช่องว่างความเหลื่อมล้นระหว่างคนรวย-จน ไต่ขึ้นสูงสุดอันดับ ๑ ของโลก (เมื่อปีก่อนยังเป็นรอง รัสเซียกับอินเดีย) กล่าวคือมหาเศรษฐี ๑% ถือครองทรัพย์สิน ๖๖.๙% ของมูลค่ารวมทั้งหมด และมีคนไทย ๑๐% ที่ไม่มีทรัพย์สินเลยแม้แต่น้อย

คนที่เกิด เติบโต ในกรุงเทพฯ มีความโชคร้ายอย่างหนึ่ง ขาดแผนสำรองสำหรับการหลบหนี กล่าวคือถ้าเกิดความเบื่อหน่ายในวิถีชีวิตเมืองหลวง ก็มักไม่สามารถโยกย้ายถิ่นฐาน เดินทางไปไหนได้ด้วยตนเอง ออกต่างจังหวัดหรือก็ไม่เคย ให้ไปปลูกข้าว ทำนา จับปลา ไร้ซึ่งความสามารถในการต่อสู้เอาตัวรอดกับผืนธรรมชาติ

ผิดกับชาวชนบทที่เดินทางเข้ากรุงฯ เมื่อถึงจุดแตกหัก รวดร้าวราน อดรนทนไม่ได้อีกแล้ว ก็สามารถเดินทางกลับบ้านนอก หวนไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เชื่องช้า เป็นอิสระเสรี ปลดปล่อยวางภาระอันหนักอึ้งโยนทิ้งลงคูคลอง สูดอากาศบริสุทธิ์ลึกๆเข้าเต็มปอด หายใจออก โล่งโปร่งทั่วท้องกว่ากันเยอะ

เอาจริงๆผมเพิ่งมาสังเกตพบ หมานคร ว่าเป็นการสร้างภาพสังคมเมืองให้ดูดี (ในความไม่มีอะไรดี) น่าอยู่อาศัยมากขึ้น เพราะปกติมักเห็นแต่เรื่องที่ชักชวนให้สำนึกรักบ้านเกิด ชี้นำวิถีชีวิตชนบท ต่างจังหวัด รายล้อมด้วยความสุขสำราญ รื่นเริงรมย์กว่ากันเยอะ, อันนี้คงถือว่าขึ้นกับรสนิยมผู้สร้าง/บริโภค สำหรับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กรุงเทพหมานคร คงคือบ้านหลังเดียว ที่ถึงไม่ใช่สรวงสวรรค์ก็ยังพออาศัยอยู่ได้

ว่าไปโลกทัศนคตินี้ของผู้กำกับ สะท้อนค่านิยมการเมือง ที่ถึงตนเองไม่พึงพอใจต่อรัฐประหาร เผด็จการ ผู้นำทหาร ก็ทำได้แค่นำเสนอสอดไส้ ถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะ แล้วก็อดรนทนใช้ชีวิตตามวิถีปกติต่อไป เพราะผืนแผ่นดินนี้คือบ้านเกิดเมืองนอนของฉัน ยึดติดรักมากๆ ไม่มีวันจะย้ายหนีไปไหนแน่นอน

ไม่รู้เพราะความสำเร็จต่างประเทศของ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๗) หรือเปล่า ทำให้ ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น อนุมัติทุนสร้างโปรเจคนี้กว่า ๖๐ ล้านบาท หมดไปกับค่า CG เสียเยอะ แน่นอนว่าออกฉายในไทยไม่ประสบความสำเร็จ ทำเงินได้เพียง ๖ ล้านบาท แต่กลับได้รับเสียตอบรับดีล้นหลามจากต่างประเทศ จนน่าจะสามารถคืนทุนได้ไม่ยากนัก

เกร็ด: นิตยสาร TIME Magazine โดยนักวิจารณ์ Richard Corliss จัดให้ หมานคร ติดอันดับ ๖ (จาก ๑๐) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘

หนังเข้าชิง ๗ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๔ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
– เพลงนำยอดเยี่ยม (ทุกคืนวัน)
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
– การสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล

เนื่องจากปีนั้นไม่ได้มีการประกาศรายชื่อเข้าชิง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มีเพียงผู้ชนะ โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗) แต่เชื่อว่า หมานคร น่าจะติดหนึ่งในห้าแน่ๆ

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจในหลายๆแนวคิด โดยเฉพาะตอนหวนกลับบ้านนอกแล้วทุกอย่างสโลโมชั่น มันช่างจริง!เสียจริง, ภาพถ่ายเลนส์ไวด์สวยๆ เพลงประกอบ ก่อน หลากหลาย Variation และไดเรคชั่นของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่เป็นสองรองใคร

แนะนำคอหนัง Surrealist ชื่นชอบ Black Comedy, เรื่องราวรักโรแมนติกแบบเพี้ยนๆ น่ารักสุดโต่ง, ชาวเมืองกรุงเทพฯหมานคร, ภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ และแฟนคลับผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความหมาๆ สุดโต่ง สะท้อนเสียดสีสังคม

คำโปรย | “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง คือสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ใน หมานคร”
คุณภาพ | ดิร์-ไทย
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

ฟ้าทะลายโจร (2000)


ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) หนังไทย : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ♥♥♥♥

‘หนังไทย คือความบันเทิงราคาถูก’ คำกล่าวนี้ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ทั้งจริงและเจ็บปวด! รวบรวมความชื่นชอบวัยเด็ก นำเสนอด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่ ให้เหมือนบันทึกประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย สร้างเอกลักษณ์ให้โลกประจักษ์ชื่นชม พร้อมอับอายขายขี้หน้าไปพร้อมๆกัน

ฟ้าทะลายโจร คือภาพยนตร์ทรงคุณค่าที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทย (ผมมองว่ายิ่งใหญ่สำคัญกว่า สุริโยทัย/ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องแรก เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Un Certain Regard (หนังที่น่าจับตามอง) แต่คือการประมวลผลทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ‘ความเป็นไทย’ จากสมัยยุคทอง (พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๑๕) กลายมาเป็นผลงาน Post-Modern ผสมผสานทั้ง Post-Impressionist และ Surrealist อย่างกลมกล่อม

แต่ถึงจะบอกว่า ฟ้าทะลายโจร สร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะ ‘retro’ หวนระลึกย้อนยุคทองภาพยนตร์ไทยในอดีต แต่ชาวสยามส่วนใหญ่กลับไม่ชื่นชอบประทับใจ อาจเพราะหน้าหนังสื่อสารออกมาตรงๆเลยว่าคือ ‘ความบันเทิงราคาถูก’ นี่มันเหมือนการดูถูก หยามเหยียด คุณภาพมันจะออกมาดีได้อย่างไร แถมนำไปฉายให้ต่างชาติยกย่องอีก! … นี่หาใช่สิ่งแปลกอะไรเลยนะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นพวก’ไม่ยินยอมรับความจริง’กันอยู่แล้ว

ผมว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจ ความบันเทิงราคาถูก (ในเชิงนามธรรม) กับภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะ ความบันเทิงราคาถูก (ในเชิงรูปธรรม), ฟ้าทะลายโจร จัดเข้าพวกหลัง เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง นำเสนอให้มีความ ‘ราคาถูก’ แต่เอ่อล้นด้วยคุณภาพ ความตั้งใจ รักหนังไทยที่สุดเลย

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๐๗) ผู้กำกับ/นักเขียน ภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, เริ่มทำงานโฆษณากับ บริษัท ลินตาส (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งครีเอทีฟ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๒), กำกับเรื่องแรก ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) ร่วมทุนสร้างระหว่าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ ฟิล์มบางกอก

ดัดแปลงจากบทประพันธ์ แสนรัก แต่งโดย ศ.จินดาวงศ์ ตีพิมพ์ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร ลงตอนแรกฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ภายหลังมีการรวมรวบเป็นหนังสือ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓)

ศ.จินดาวงศ์ น่าจะคือนามปากาของ ศิริพรรณ เตชจินดาวงษ์ (ว่าที่)ภรรยาผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งเหตุผลของการเลือกชื่อนี้ อาจเพื่อหวนระลึกถึงนักเขียน/บุคคลชื่อดังในอดีต ที่นิยมใช้ตัวย่อนำหน้า อาทิ ป. อินทรปาลิต, ม. ชูพินิจ, พ. เนตรรังษี, ส. ธรรมยศ ฯ

เรื่องราวความรักระหว่าง รำเพย (สเตลล่า มาลูกี้) ลูกสาวพระยาประสิทธิ์ ราชเสนา (ไพโรจน์ ใจสิงห์) ผู้ว่าเมืองสุพรรณบุรี และ ดำ (ชาติชาย งามสรรพ์) ลูกชายกำนันเดื่อ (ครรชิต ขวัญประชา) รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งสองพลัดพรากแยกจากช่วงระหว่างสงคราม หวนกลับมาพบเจออีกครั้งเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สัญญามั่นหมายว่าจะครองคู่เป็นของกัน แต่หญิงสาวถูกพ่อบีบบังคับให้ต้องแต่งงานกับ ร้อยตำรวจเอกกำจร (เอราวัต เรืองวุฒิ) และชายหนุ่มจับพลัดไปเข้าพวกกับเสือฝ้าย (สมบัติ เมทะนี) สนิทสนมกับเสือมเหศวร (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) กลายเป็นอาชญากร สุดท้ายแล้วโชคชะตาจะเข้าข้างพวกเขา หรือมีเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรม

นำแสดงโดย ชาติชาย งามสรรพ์ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๖) ชื่อเล่นเก่ง เข้าสู่วงการจากเป็นนายแบบโฆษณา, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) รับบท ดำ เอสโซ่ หวนกลับชาติมาเกิดใหม่ใน ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) รับบท เสือดำ จอมโจรจำเป็นเพราะพ่อถูกฆ่าเลยต้องการล้างแค้นเอาคืน จับพลัดให้ได้รู้จักเสือฝ้าย จับพลูสนิทสนมเสือมเหศวร ทั้งๆก็ไม่ได้อยากเข้าพวกแต่ถูกโชคชะตาชักนำพา นั่นทำให้ตนเองรักคุดกับ รำเพย มิอาจสมหวังปรารถนา

แซว: เป่าขลุ่ย … นี่ระลึกถึงไอ้ขวัญ แผลเก่า (พ.ศ. ๒๕๒๐) หรือเปล่านะ

สเตลล่า มาลูกี้ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๒๐) อดีตนักแสดงลูกครึ่งอิตาลี-โคลัมเบีย เกิดเติบโตในประเทศไทย ครอบครัวมีกิจการบริษัทนำเข้าเครื่องหนัง เข้าวงการจากถ่ายแบบ แสดงโฆษณา Music Video สะดุดตาผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ‘ทำให้นึกถึงภาพของ Elizabeth Tayler’ แต่เพราะไม่ได้ชื่นชอบงานแสดงนัก ภายหลังจึงออกจากวงการบันเทิง ทำธุรกิจส่วนตัว แต่งงาน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ป่วยเป็นโรคประหลาด แคลเซียมในปอดสูง เป็นเหตุให้ต้องตัดขาขวาทิ้ง แต่ก็สู้ชีวิตแบบไม่กลัวเกรงอะไร, รับบท รำเพย เพราะเกิดในครอบครัวสูงศักดิ์กว่า จึงวางอำนาจบาดใหญ่กลั่นแกล้งเล่นกับดำ พบเห็นเขาถูกลงโทษเลยฝังลึกกลายเป็นตราบาป พอโตขึ้นก็ดันเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยคล้ายเดิมอีก เลยตั้งมั่นสัตย์สัญญาไว้ในใจ ชาตินี้จะไม่ขอตกหลุมรักใครอีก

คำถาม? รำเพย ได้เสียตัวให้กับ กำจร ในค่ำคืนวันแต่งงานแล้วหรือไม่?

ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (เกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๕) ชื่อเล่น ต๊อก หลังเรียนจบเริ่มจากเป็นนักเต้นให้ เจตริน วรรธนะสิน ถ่ายโฆษณา Music Video แจ้งเกิดกับ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐) รับบท ปุ๊ ระเบิดขวด กลับชาติมาเกิดใหม่เช่นกันใน ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) รับบท เสือมเหศวร สมุนมือขวาคนโปรดของเสือฝ้าย การมาถึงของเสือดำทำให้ชื่อเสียงตนเริ่มแปดเปื้อน เลยครุ่นคิดมาดร้ายต้องการพิสูจน์ฝีมือ แต่กลับกลายเป็นได้เพื่อนร่วมสัตย์สาบาน กระนั้นภายหลังก็ตระบัตย์สัตย์เสียเอง โบ้ยความผิดว่า เสือดำนะแหละที่คิดคดทรยศต่อเสือฝ้ายก่อน

รูบนเพดาน รูบนหมวก สะท้อนความคาดคิดไม่ถึง/มองไม่เห็น หรือโชคชะตาได้ถูกกำหนดโดยเบื้องบน (คนเขียนบท)

พศิน เรืองวุฒิ ชื่อเดิม เอราวัต เรืองวุฒิ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๗) เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ สองเรา (พ.ศ. ๒๕๒๒) แต่พออายุ ๑๒ พักงานไปเรียนต่อ สำเร็จการศึกษาแล้วหวนกลับมาเป็นนักแสดงอีกรอบ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), รับบท ร้อยตำรวจเอกกำจร คู่หมั้นหมายของ รำเพย ได้รับมอบภารกิจล้อมจับกุมเสือฝ้าย แต่ดันถูกจับได้พ่ายแพ้ โชคยังดีหนีเอาตัวรอดเพราะพบเจอเสือดำ ภายหลังเมื่อรับรู้ว่าคู่หมั้นตกหลุมรักกับจอมโจร แสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดก้าวร้าว วางอำนาจบาดใหญ่ พูดจาเสียดแทงใจดำ หมอนี่มันตัวร้ายอำหิตชัดๆ

ปืนกล คืออาวุธที่สามารถยิงรัวๆได้หลายนัด แฝงนัยยะเล็กๆถึงความเจ้าชู้ประตูดิน ยิงได้หมดไม่เลือกหน้า

คงมีหลายคนที่เกิดอคติกับการแสดง มันช่างดู Overacting มากล้นเกิ้น แถมประโยคพูดก็หวานเลี่ยนน้ำตาลขึ้นมด ไม่ลองครุ่นคิดทำความเข้าใจว่านี่คือความตั้งใจของผู้กำกับ เพื่อให้หนังออกมาในเชิงล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน ดูราคาถูก หาความสมจริงไม่ได้ เน้นขายความมาดเท่ห์ เว่อวังอลังการ … นี่แหละหนังไทยยุคทอง มิตร สมบัติ ไชยา ฯ ไม่มีใครแสดงอย่างสมบทบาทหรอก ต่างเล่นเป็นตัวตนเองก็เท่านั้น

ถ่ายภาพโดย ณัฐวุฒิ กิตติคุณ หรือน้ากล้วย ตากล้องยอดฝีมือชาวไทย ที่เพิ่งแจ้งเกิดจาก นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานเด่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), จัน ดารา (พ.ศ. ๒๕๔๔), องค์บาก (พ.ศ. ๒๕๔๖), ชัมบาลา (พ.ศ. ๒๕๕๕) ฯ

ความฉูดฉาดจัดจ้านของการใช้แสง-สี น่าจะเกิดจากกระบวนการ Post-Production ปรับแต่งย้อมสีในคอมพิวเตอร์/หลังการถ่ายทำ ที่ควรสีแดงออกมาม่วง/ชมพู, เขียวกลายเป็นน้ำเงินอมเขียว ฯ เหล่านี้น่าจะไม่มีนัยยะแฝงซ่อนเร้นอะไรเป็นพิเศษ แค่ทำให้มันออกมาดูเว่อวังอลัง ตื่นตระการตาก็เท่านั้น

ซึ่งตลอดทั้งเรื่องมีซีนหนึ่งที่ทำการจำลองสร้างฉาก วาดภาพพื้นหลัง ต้นไม้ รวงหญ้า ผู้กำกับคงต้องการสัมผัส เหมือนจริง-เสมือนฝัน นี่คือโลกในจินตนาการของเสือดำ ถูกรุนรานโดยเสือมเหศวร เลยจำต้องท้าดวลปืนกันสักหน่อย ยิงงูที่ห้อยต่องแต่ง พิสูจน์ตนเองว่าฉันพร้อมทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

มุมกล้องก็ถือว่าจัดจ้าน เซ็กซี่เป็นบ้า พบเจออย่างเยอะกับมุมเงย เชิดหน้า เห็นเพดาน/ท้องฟ้า แต่ช็อตหนึ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ระหว่างดวลปืนลอดใต้หว่างขา พิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย กระบอกปืนก็คือสัญลักษณ์ของลึงค์ อวัยวะเพศชาย ใครจะสามารถยิงได้เร็ว แม่น เข้าเป้าก่อนกัน

หนึ่งในค่านิยมเพี้ยนๆของคนไทย กรีดเลือดสาบานต่อหน้าพระพุทธรูป (นี่ก็ แผลเก่า-ian) จากนั้นเฮฮารำวง โลกหมุนรอบตนเอง ซ้อนภาพเศียรพระ ถึงท่านแสดงอารมณ์ออกมาไม่ได้ แต่คงละเอือมอาทอดถอนหายใจ เพราะไม่มีทางที่สองคนนี้จะรักษาสัจจะมั่นไว้อย่างแน่นอน

ภาพสุดท้ายของซีนนี้ สองเสือนอนหมดแรงแผ่พังพาบ กล้องหมุน ๓๖๐ องศา ค่อยๆยกสูงถอยห่างออกไปเรื่อยๆ … ช็อตนี้ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Requiem for a Dream (2000) แถมนัยยะความหมายยังใกล้เคียง แต่ออกฉายปีเดียวกัน อาจแค่ความบังเอิญเหมือนก็ได้นะ

ส่วนผสมของ CG อาทิ เมฆหมอกท้องฟ้า, พื้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน, โยนเหรียญมีรู, กระสุนปืนสวนกัน ฯ เหล่านี้ก็ร่วมด้วยช่วยเสริมความเว่อวังอลังการ ‘Surrealist’ ของหนัง เพื่อให้หาความสมจริงดูเป็นธรรมชาติแทบไม่ได้

ตัดต่อโดย ดุษณีย์ ผุยหนองโพธิ์ ผลงานเด่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มหานคร (พ.ศ. ๒๕๔๗), วัยอลวล ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ

ลำดับเรื่องราว ค่อนข้างท้าทายผู้ชมสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย สลับไปมาระหว่างปัจจุบัน (ดำเนินไปข้างหน้า) กับย้อนอดีต (Flashback)
– อารัมภบทเริ่มต้นที่ รำเพย ราชเสนา ตัดสลับกับ เสือดำ ขณะออกปล้น
– (หวนระลึกอดีต) เมื่อครั้น ดำ-รำเพย ยังเป็นเด็กชาย-สาว
– ตำรวจ(ฟ้า)ทะลายรังโจร
– (หวนระลึกอดีต) ดำ-รำเพย พบเจอกันอีกครั้งสมัยวัยรุ่น ต่อเนื่องไปจนการกลายเป็นเสือ
– ทรยศหักหลัง งานแต่งงาน และไคลน์แม็กซ์

ลีลาการตัดต่อถือว่ามีความจัดจ้าน ยั่วยวน แอบกวนประสาทอยู่เล็กน้อย โดยเฉพาะ ‘ท่าชมทันหรือไม่?’ แต่แทนที่จะเป็นสโลโมชั่น กลับความเร็วเท่าเดิมแค่ร้อยเรียงทิศทางเคลื่อนที่ของกระสุน (แต่ก็มองไม่เห็นกระสุนอยู่ดี จะรีเพลย์เพื่อ!)

เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖), บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๖), มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) ฯ

ใครที่เป็นคอหนัง Cowboy Western แฟนๆ Ennio Morricone น่าจะมักคุ้นเคยกับ Soundtrack เป็นอย่างดี ก็ไม่รู้ไปขอลิขสิทธิ์มาบ้างหรือเปล่า แต่ได้ทำการเรียบเรียงใหม่ด้วยคีย์บอร์ด/อิเล็กโทน ว่าไปคล้ายๆเสียง MIDI ประกอบเกม RPG สองมิติสมัยก่อน ราคาถูกๆ พอไปวัด ขับร้องคาระโอเกะตามได้

นอกจากนี้ยังมีการรวมอัลบัมเพลงไทยสมัยเก่าย้อนยุค อาทิ ฝนสั่งฟ้า (Opening Credit), ใครจะเมตตา, งามชายหาด, ฟ้างามยามค่ำ ฯ โดดเด่นติดหูกับ พรหมลิขิต ได้ยินถึงสองครั้งครา เริ่มต้นย้อนอดีตกับงานแต่งงาน … นำต้นฉบับสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย วินัย จุลละบุษปะ มาให้รับฟังเลยแล้วกัน
คำร้อง แก้ว อัจฉริยกุล
ทำนอง เวส สุนทรจามร
เรียบเรียง ก้องเกียรติ เรือนน้อย

บทเพลงตอนจบ กำศรวลจันทร์ ได้แรงบันดาลใจจาก The Last Rose of Summer บทกวีแต่งโดย Thomas Moore เมื่อปี 1805 ได้รับการเรียบเรียงเปียโน John Andrew Stevenson เมื่อปี 1813
คำร้อง ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ กับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
เรียบเรียง สุนทร ยอดศรีทอง
บรรเลง The Groves of Blarney
ขับร้อง เยาวเรศ เมธาคุณวุฒิ

ฟ้าทะลายโจร (ชื่อวิทยาศาสตร์ A. paniculata) เป็นพืชล้มลุก ความสูงประมาณ ๓๐-๗๐ เซนติเมตร ใบเดี่ยวรูปร่างเรียวยาวสีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร นิยมนำมาทำเป็นสมุนไพร สรรพคุณแก้ไข้หวัด ระงับอาการอักเสบ ไอ เจ็บคอ ต่อมทอมซิล ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง ฝี ท้องเสีย บิด กระเพราะอักเสบ ฯ

ด้วยความหมายของ ฟ้าทะลายโจร ดูแล้วไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย แต่ถ้าครุ่นคิดกันให้ดีๆจะพบว่า
– ฟ้าทะลายโจร คือสมุนไพรในตำรายาโบราณของไทย ซึ่งก็สามารถสะท้อนอารมณ์ย้อนยุค หวนระลึกถึงอดีต
– สรรพคุณ รักษาไข้ อาการเจ็บป่วยทางกาย … แต่คู่รักหนุ่ม-สาว ป่วยทางใจ คงไม่มียาสมุนไพรไหนรักษาหายอย่างแน่นอน

ส่วนความหมายแบบเด็กแนว ฟ้า-ทะลาย-โจร
– ฟ้า แทนด้วยบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงส่ง ค้ำฟ้า
– ทะลาย คือการบุกเข้าไปล้อมต่อสู้ จับกุม ช่วยเหลือตัวประกัน เข่นฆ่าทำร้ายอีกฝ่ายให้สูญเสียชีวิต
– โจร คือ ผู้ร้าย อาชญากร

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะมอง ฟ้า=ตำรวจ, โจร=เสือ แต่มันก็มิได้จำต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปนะครับ เราสามารถเทียบแทน ฟ้า = พระเอก, โจร = ศัตรูหัวใจ นี่น่าจะตรงความตั้งใจของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มากกว่าเป็นไหนๆ

นัยยะการตายของ
– เสือฝ้าย เป็นคนทะนงเย่อหยิ่งไม่กลัวตาย พร้อมเข่นฆ่าทำลายบุคคลทรยศหักหลังตนเอง ผลกรรมเลยโดยแทงเข้าข้างหลังไม่รู้ตัว และโดนยิงปืนเข้าข้างหน้าตรงหัวใจอีกนัด คราวนี้ลงไปนอนกองกับพื้น ไม่ฟื้นกลับมาเข่นฆ่าล้างแค้นใครได้อีก
– เสือมเหศวร จอมโจรผู้เคยกล่าวคำสัตย์สาบาน ว่าจะซื่อสัตย์ต่อพวกพ้อง เพราะความที่ตระบัดสัตย์ เลยโดนยิงเข้าที่ปาก ย้อนรอยคำพูดของตนเองไม่ผิดเพี้ยน
– เสือดำ ถูกยิงวินาทีที่มือกำลังล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อ ทั้งๆไม่มีลับลมคมใน แต่เพราะอาชีพเป็นโจรเลยโดนตำรวจต้องสงสัยไว้ก่อน

ยุคสมัยนี้นั้น ตำรวจ-โจร เอาจริงๆแยกกันไม่ออกนอกจากเครื่องแบบ (แต่เครื่องแบบสมัยนี้ มันก็ปลอมแปลงลอกเลียนแบบกันได้อีก) เพราะพฤติกรรมแสดงออก อ้างกฎหมายแต่กลับขูดรีด เอารัดเอาเปรียบประชาชน กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน น้อยมากๆที่จะเป็นคนดีจากใจ (แต่คนดีก็ไม่มีที่อยู่อีกนะ) ขณะที่มหาโจร กลับมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน โปรยทาน แม้จะเป็นการสร้างภาพก็เถอะ ยังสร้างประโยชน์เล็กๆน้อยๆให้สังคมมากกว่า

เมื่อใดๆในโลกล้วนกลับตารปัตร อนิจจาเช่นนี้ แล้วยังมีสิ่งใดกันเล่าที่มั่นคงไม่แปรเปลี่ยน? คำตอบก็คือ ความตาย สัจธรรมความจริง ไม่มีมนุษย์หน้าไหนหลบหลีกหนีเอาตัวรอดพ้นไปได้

ผลงานถัดๆมาของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มักมีความเกี่ยวเนื่องกับ ‘การเมือง’ อยู่มากทีเดียว หากมองย้อนกลับไปหา ฟ้าทะลายโจร ผมว่ายังไม่ค่อยเด่นชัดเจนสักเท่าไหร่ (คือประมาณว่าผู้กำกับยังวัยรุ่นไฟแรง เลยสร้างภาพยนตร์สนองความต้องการตนเองมากกว่าไปครุ่นคิดถึงอย่างอื่นรอบตัว) แต่ก็พอพบเห็นสอดแทรกไว้ อาทิ
– ตำรวจ ทั้งๆที่ควรเป็นคนดี กลับแสดงความเลวบัดซบ เผด็จการ อหังการ อ้างความถูกต้องจากตัวตนเองเท่านั้น
– สัญญา สาบาน ที่ถูกลืมเลือน … เคยหาเสียง พูดกล่าวอาสาอะไรไว้ สุดท้ายไขว้นิ้วอ้างจดจำไม่ได้ โกหก ปลิ้นปล้อน กะล่อน หลอกลวงประชาชี มีดีตักตวงผลประโยชน์เข้าตนเองเท่านั้น
– ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ว่าราชการจังหวัด ต่างเป็นนักเลงเก่าทั้งนั้น แสวงหาอำนาจด้วยการใช้กำลัง เข่นฆ่าแกง … คงมีแต่พวกผู้มีอิทธิพลระดับนี้เท่านั้น ถึงสามารถเป็นผู้นำประเทศไทยได้

ความ ‘ราคาถูก’ ที่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง นำเสนอออกมานี้ นอกจากภาพเบื้องหน้าที่พบเห็นแล้ว ยังสะท้อนถึงจิตใจคน ต่างก็มีมูลค่าแสนถูก
– สัญญารักหนุ่ม-สาว เข้าใจผิดโดยง่ายดาย
– คำสาบานต่อหน้าพระ ตระบัดสัตย์คืนคำ แค่เพียงสายลมปาก
– โอกาสสอง ทุกคนที่ได้รับต่างใช้มันอย่างไม่เห็นคุณค่า
– และที่สุดก็คือชีวิตคน แค่ปืนนัดเดียวก็ตัดสินความเป็นความตาย

การที่หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับอย่างดี จนถูกขอซื้อไปจัดจำหน่ายฉายในสหรัฐอเมริกา โดย Harvey Weinstein แห่งสตูดิโอ Miramax แต่ต่อมากลับเรียกร้องให้เปลี่ยนฉากจบแบบ Happy Ending ซึ่งพอผู้กำกับไม่ยินยอม ก็เลยถูกดองในถังหมักไว้หลายปี กระทั่งเมื่อ Weinstein ขายสตูดิโอให้กับ Disney เปลี่ยนมือมาเป็น Magnolia Picture จึงได้ออกฉายเมื่อ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ทำเงินไม่น้อยทีเดียว (มากกว่ารายรับในไทยหลายเท่าตัว!)

นอกจากเรื่องความฉาวโฉ่ทางเพศของ Harvey Weinstein นี่ก็เช่นกันที่ลือเล่าขานกล่าวขวัญ เพราะสมัยก่อนนั้นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ โอกาสน้อยมากจะได้จัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ต้องสตูดิโอมีชื่อเจ้าของอเมริกันนำเข้าไปฉายเท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมของ Weinstein เจ้าของ Miramax (ขณะนั้น) ชอบกวาดซื้อลิขสิทธิ์ในราคาถูกๆตามเทศกาลหนัง ไปเก็บดองถือครองความได้เปรียบ บางเรื่องน่าสนใจแต่ยาวเกิน หรือจบไม่พึงพอใจ ก็เรียกร้องให้มีการตัดต่อใหม่ … นี่ถือเป็นด้านมืดของ Hollywood โดยแท้

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร ในความเฉิ่มเชย หวานเลี่ยน ดูไปอมยิ้ม หัวเราะร่า ประทับใจสุดคือวิสัยทัศน์ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มองย้อนหลังเพื่อก้าวต่อข้างหน้า แค่ผลงานแรกก็สรรค์สร้างสิ่งคุณค่าให้กับวงการภาพยนตร์ไทย คลาสสิก Cult เหนือกาลเวลา

แนะนำคอหนังไทยคลาสสิก บู๊-แอ๊คชั่น โรแมนติก หักเหลี่ยมเฉือนคม, ชื่นชอบบรรยากาศย้อนยุค งานภาพสีสันฉูดฉาด, โปรดักชั่นคอสตูมจัดเต็ม แฟนๆนักแสดง และผู้กำกับ  วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไม่ควรพลาด

จัดเรต ๑๓+ กับความฉูดฉาด เลือดสาด ตายกราด

คำโปรย | “ฟ้าทะลายโจร ผลงานแรกของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แจ้งเกิดกลายเป็นตำนานเสือไทย”
คุณภาพ | บูรณ์-ไทย
ส่วนตัว | ค่อนข้างชื่นชอบ

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2001)


มนต์รักทรานซิสเตอร์

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔) หนังไทย : เป็นเอก รัตนเรือง ♥♥♥♥

ต่อให้ร่ำรวยเงินทองแค่ไหนก็แดกไม่ได้ เวลาขี้ออกมามันทรมาน! ภาพยนตร์ลำดับสามของ เป็นเอก รัตนเรือง ในช่วงวัยกำลังจัดจ้าน อหังการ ดัดแปลงจากหนังสือที่ตนเองไม่ได้ชื่นชอบสักเท่าไหร่ (แต่แฟนสาวขณะนั้นชอบ) แต่มองเป็นความท้าทายผสมอารมณ์ลูกทุ่ง เสียดสีสังคมได้อย่างแสบกระสันต์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในบรรดาผลงานของพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง โดยส่วนตัวครุ่นคิดว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือภาพยนตร์เข้าถึงผู้ชมชาวไทยวงกว้างมากสุดแล้วกระมัง ส่วนหนึ่งเพราะบทเพลงลูกทุ่งอมตะคุ้นหู โดยเฉพาะของครูสุรพล สมบัติเจริญ (และนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอื่นๆ) กลายเป็นอัลบัมรวมเพลงฮิตแห่งศวรรษ น่าจะทำยอดขาย Soundtrack ถล่มทลาย

สำหรับคอหนังที่สามารถอ่านภาษาภาพยนตร์ออก จะพบเห็นจังหวะ ลีลา ความจัดจ้าน กล้า บ้า (คาราโอเกะ) ตัวตนลายเซ็นต์ของพี่ต้อมได้อย่างเด่นชัดเจน แบบไม่หวาดกลัวพระแสงธนูศรใดๆ, ชื่นชอบสุดของผมคือทุกขณะที่มีหมาเดินผ่าน ตรงไปตรงมาโดยแท้!

เป็นเอก รัตนเรือง (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้กำกับ/เขียนบทภาพยนตร์ชาวไทย เกิดที่กรุงเทพฯ โตขึ้นไปเรียนต่อ Pratt Institute เมืองนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา ทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระ และนักออกแบบให้กับ Designframe, หวนกลับมาเมืองไทยเข้าทำงาน ฟิล์มแฟ็กตอรี่ กำกับโฆษณาหลายชิ้นหนึ่งในนั้นคว้าเหรียญทองแดงจาก Cannes Lion Awards เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒)

“คือแฟนเก่าเขาเรียนอยู่เมืองนอก เราก็มีหน้าที่ซื้อหนังสือไทยให้เขา ซื้อทีเป็นตั้งๆ แล้วส่งไป แต่เขาส่งเล่มนี้กลับมา บอกว่าต้อมลองอ่านเรื่องนี้ดิ เขาชอบ คือเขาชอบหรือคิดว่าพอจะทำเป็นหนังได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ”

– เป็นเอก รัตนเรือง

หลังจากมีโอกาสอ่านนวนิยาย มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๒๔) แต่งโดย วัฒน์ วรรลยางกูร ก็ไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ แต่ครุ่นคิดว่าถ้านำมาทำหนังคงสนุกดีเหมือนกัน เพราะความเป็นหนุ่มชาวกรุงฯ ไปเรียนต่อเมืองนอก เรื่องบ้านๆของคนต่างจังหวัดไม่เคยสัมผัสพบเจอ คงเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆได้มาก

เกร็ด: พี่ต้อมเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชอบอีกผลงานหนึ่งของ วัฒน์ วรรลยางกูร เรื่อง คือรักและหวัง (พ.ศ. ๒๕๒๕) อยากสร้างแต่ไม่กลับได้สร้าง [ถ้าพี่ยังมีไฟอยู่ ทำไมไม่ลองสร้างดูละ]

ถึงกระนั้นเจ้าตัวคงรู้สึกผิดหวังมากๆ ในสภาพวิถีสังคมชนบทต่างจังหวัดบ้านเรา เพราะเมื่อตอนไปรีเสิร์ชดูงานวัด

“ตอนแรกไปทำรีเสิร์ชที่งานวัด ซึ่งงานวัดในหัวเรามันเป็นแบบหนึ่ง แต่พอไปงานวัดจริงๆ มันดูโคตรเหี้ยเลย งานวัดจริงๆ แม่งเอาเสื้อผ้าออฟฟิศชิคๆ มาขายกัน เหมือนซอยละลายทรัพย์ แล้วก็เอารองเท้า (อาดิ) แดตปลอม ไนกี้ปลอมมาขาย ทุกอย่างเป็นพลาสติกหมดเลย เราก็เลยเลิกรีเสิร์ช เพราะแม่งเศร้า คิดอย่างเดียวว่า ถ้าเราทำให้คนดูตามตัวละครได้ ทำให้มันสงสาร อินไปกับตัวละครได้ โลกไหนเขาก็ไม่แคร์ว่ะ จะเกิดที่เคนย่าก็ได้ เกิดที่ไนจีเรียก็ได้”

สำหรับบทภาพยนตร์ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องคัทลอกเลียนแบบตามต้นฉบับหนังสือ ระยำโน่นนี่นั่นใส่เข้าไปตามความสนใจ แล้วให้เวลาคัดเลือกสรรค์บทเพลงลูกทุ่งเก่าๆ เพื่อให้มีความสอดคล้องเข้ากับเรื่องราว บางคำร้องถือว่าแทนบทพูด ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาตรงๆเลย

แผน (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) หนุ่มบ้านนอกเสียงดี ชื่นชอบการร้องเพลงตามงานวัด ตกหลุมรัก สะเดา (สิริยากร พุกกะเวส) แม้มีอุปสรรคขัดขวางบ้างจากพ่อตา แต่ไม่นานทั้งคู่ก็ได้ครองรักโดยมีวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กๆเป็นของขวัญวันแต่งงาน โชคชะตานำพาให้แผน จับได้ใบแดงกลายเป็นทหารเกณฑ์ ทนฝึกอยู่ได้ไม่กี่เดือนหนีไปประกวดร้องเพลงรายการปั้นดินให้เป็นดาว ได้รองอันดับหนึ่ง เลยมีโอกาสเข้าร่วมวงเพลิน แพรสุวรรณ ของคุณสุวัตร เตียงทอง (สมเล็ก ศักดิกุล) แรกเริ่มคอยเป็นเบ๊ซื้อบุหรี่ เสิร์ฟน้ำ ปัดกวาดเช็ดถู จนผ่านไป ๒ ปีไม่ยอมกลับบ้าน สะเดาเริ่มทนไม่ไหวเลยชวนพ่อเข้ากรุงเทพฯ ทำให้ได้ค้นพบความจริงบางอย่างถึงขนาดต้องด่า’เหี้ย’ออกมา

ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๕) ชื่อเล่นต๊อก เกิดที่จังหวัดอุทัยธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เริ่มงานเป็นนักเต้นให้กับ เจตริน วรรธนะสิน ถ่ายโฆษณา มิวสิกวิดีโอ ขับร้องเพลง และแสดงภาพยนตร์ ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (พ.ศ. ๒๕๔๐), เสือ โจรพันธุ์เสือ (พ.ศ. ๒๕๔๑), ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), ขุนกระบี่ ผีระบาด (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฯ

รับบทแผน หนุ่มบ้านนอกนิสัยดี มีมากด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน อยากประสบความสำเร็จร่ำรวย ภรรยาลูกหลานจักได้สุขสบาย แม้น้ำเสียงจะพอไปวัดไปวา แต่โชคชะตาจับพลัดพลูให้พบเจอแต่อุปสรรคขวากหนาม ตกต่ำต้อยลงเรื่อยๆจนได้รับบทเรียนตรึงฝังใจ รับรู้ว่าไม่มีอะไรจักสุขกายสบายใจได้เท่ากับความพอเพียง

ผมรู้สึกว่าพี่ต๊อกดูเป็น ‘John Travolta เมืองไทย’ น้ำเสียง มาดลีลา ท่าทางบิดก้น ได้ใจวัยรุ่นจิ๊กโก๋ไปเต็มๆ (จริงๆก็ตั้งแต่ ๒๔๙๙ รับบท ปุ๊ ระเบิดขวด แล้วละ) แต่หลังจากผ่านองก์แรก ความมาดแมนก็ค่อยๆแปรสภาพเป็นมาดหมา ตกต่ำต้อยสาละวันเตี้ยลงไปเรื่อยๆ วิ่งหนีตำรวจจนขาเป๋ แค่เดินยังไม่ตรงแล้วทำอะไรมันจะมั่นคง หวนกลับบ้านนอกเลิกเป็นขุนแผน/พี่มาก เมียจ๋าพี่ขอโทษ

แซว: ก็ว่าเสียงดี เลยไม่แปลกที่พี่ต๊อกหลังจากนี้ ออกอัลบัมเพลงแร็พลูกทุ่ง บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากครูสุรพล สมบัติเจริญ ไม่รู้ผลลัพท์เป็นอย่างไร

สิริยากร พุกกะเวส (เกิด พ.ศ. ๒๕๑๗) ชื่อเล่นอุ้ม เกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ เรียนจบเอกโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ ๒ เข้าสู่วงการบันเทิงโดยการชักนำของคุณมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ผลงานชิ้นแรกคือโฆษณาแชมพูรีจอยส์ ตามด้วยละครโทรทัศน์ สามใบเถา (พ.ศ. ๒๕๓๘), รับงานภาพยนตร์ประปราย โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), คืนไร้เงา (พ.ศ. ๒๕๔๖) ฯ

รับบทสะเดา สาวผู้เคราะห์ร้ายที่มักถูกนำไปจิ้มน้ำพริกกินกับแกงหลากหลาย เคยรักเดียวใจเดียวต่อพี่แผนจนได้แต่งงานมีลูก แต่เมื่อถูกทิ้งขว้างเลยหาผัวใหม่ได้นักพากย์หนังขายยา หมอนี่ก็ปากหวานละลายแม่น้ำ ทำท้องแล้วทิ้งหนีไปอีกเช่นกัน โกรธเกลียดผู้ชายเข้ากระดูกดำ แต่ถ้ามาขอคืนดีก็พร้อมยินยอมให้อภัย (เล่นตัวนิดหน่อยพอเป็นพิธี)

เวลาหญิงสาวสวยพูดเหี้ย มันจะมีความน่ารักน่าชัง จากคำหยาบจักแปรสภาพเป็นคำหวาน ซะงั้น! ภาพลักษณ์ของพี่อุ้ม มีความอวบๆ หน้ากลมๆบ้านๆ นี่เรียกว่าจิ้มลิ้มน่าหยิกแก้ม ที่รักเอ็นดูของใครๆ … น่าเสียดายปัจจุบันนี้ผอมไปหน่อยหรือเปล่า

ส่วนตัวชื่นชอบช่วงท้ายๆมากกว่า ขณะบีบเค้นคั้นน้ำตาอารมณ์ เวลาสาวน่ารักร้องออกมาทีไร มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจ อยากเข้าไปซับน้ำตาให้เสียจริง

ถ่ายภาพโดยพี่แดง ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ แห่งบริษัท The Film Factory ขาประจำของ เป็นเอก รัตนเรือง ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), โอเคเบตง (พ.ศ. ๒๕๔๖), ฝนตกขึ้นฟ้า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ

แม้เสื้อผ้าหน้าผมตัวละครจะดูย้อนยุคสักหน่อย แต่พื้นหลังหนังไม่ได้เจาะจงยุคสมัยไหนเป็นพิเศษ หนำซ้ำพบเห็นรถไฟฟ้า กรุงเทพฯมีความโมเดิร๋นเสียเหลือเกิน นี่เรียกว่าเป็นการสร้างโลกคู่ขนานขึ้นมาในจักรวาลภาพยนตร์ของพี่ต้อม

สิ่งโดดเด่นของงานภาพคือการจัดวางองค์ประกอบภาพ ตัวละคร และรายละเอียดประกอบฉาก พบเห็นสัตว์/สิ่งของเชิงสัญลักษณ์แฝงนัยยะความหมายซ้อนเร้นอยู่มากมาย

ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นด้วยขวดยาถ่าย พื้นหลังเบลอๆได้ยินเพียงเสียงตำรวจบีีบบังคับให้นักโทษแผน เบ่ง ‘สร้อยทอง’ ออกมาทางก้อนอุจจาระ, นัยยะสะท้อนเสียดสีทิศทางของสังคมยุคสมัยนี้เต็มๆเลยว่า ผู้คนเต็มไปด้วยความละโมบโลภมาก ลุ่มหลงใหลในทรัพย์สินเงินทองล้นฟ้า แต่อย่าลืมว่าไอ้ของแบบมันมันเอายัดปากรับประทานเป็นอาหารได้เสียที่ไหน

ฉากเต้นรำเกี้ยวพาราสีระหว่าง แผน-สะเดา (พี่ต้อม Cameo เป็นตัวประกอบเต้นผ่านหน้ากล้องไปด้วยนะ) เห็นจากเบื้องหลังถ่ายด้วยเครน ซึ่งช็อตนี้มุมเงยขึ้นพบเห็นพื้นหลังชิงช้าสวรรค์ (สัญลักษณ์ของวัฏจักรชีวิตหมุนเป็นวงกลม) ซึ่งไอ้แผนมันก็พยายามเต้นวนรอบสะเดา เธอคือศูนย์กลางจักรวาลของฉัน

เทคนิคจำกัดกรอบภาพ/การกระทำของตัวละคร มักสะท้อนถึงสิ่งไม่ค่อยอยากจดจำ เลยบีบจำกัดมันไว้ขนาดเล็กๆ กาลเวลาก็จักหลงเหลือแค่ว่าเคยมีเรื่องพรรค์นี้เกิดขึ้นด้วยแค่นั้นเอง

แม่ไก่แจ้ (ใครแฟนหนังไทยคลาสสิก น่าจะคุ้นๆชื่อพวก พ่อไก่แจ้ แม่ปลาไหล แนวๆสรรพสัตว์) สัญลักษณ์สื่อถึงการพยายามเล่นแง่งอน แต่ก็ละอ่อนใจให้นานแหละ และชอบชูขน(สวมใส่เสื้อสีน้ำเงิน) อวดความสง่างามของตนเอง

เหมือนว่าสะเดาจะชอบสีน้ำเงินนะ ชุดส่วนใหญ่ของเธอก็มักสีนี้ นัยยะถึงความใจกว้าง รักอิสระ เหมือนดั่งท้องฟ้า มหาสมุทร

สมัยก่อนผมเคยได้ยินสำนวน ‘ขี้แล้วกลบคือแมว ขี้แล้วแจวคือหมา’ ซึ่งการใส่น้องหมาเข้ามาในช็อตนี้ก็แปลว่า ไอ้แผน=หมาขี้ คือมันปี้เสร็จท้องแล้วก็หนี ซึ่งช่วงท้ายเมื่อทั้งสองหวนกลับมาพบเจอกัน

“สะเดา..เอ็งไปเอาลูกใครมาเลี้ยง..”
“..ลูกหมา..หมาเหมือนกันทั้งคู่..ทำท้องมันก็ทิ้ง แม่งหมาเหมือนกันหมด..”

ว่าไปการขุดบ่อน้ำฉากนี้ เหมือนการขุดหลุมฝังศพตนเองของแผน ทำในสิ่งที่เหมือนจะเป็นประโยชน์แต่สุดท้ายกลับไม่มีคุณค่าสาระใดๆ (ก็ไม่รู้จะขุดไปทำไม)

ทำไมต้องแสงสีเขียว? นี่คือสีแห่งความชั่วร้าย ปีศาจ ซึ่งการที่แผนดำน้ำไปหาสะเดา ก็เพื่อเป้าหมายจะลวงล่อ ท้องเมื่อไหร่จะได้แต่งงาน

หนึ่งในวลีที่กลายเป็นอมตะของหนัง

“ทายซิ..ใครเอ่ย…..สายัณห์ สัญญา..”

ผมว่าคนสมัยนี้อาจไม่ค่อยรู้กันแล้วว่า คนท้องชอบกินอะไรเปรี้ยวๆ สมัยก่อนมันไม่มีพวกขนมถุงก็เม็ดมะยมนี่แหละ ช็อตเล็กๆแบบนี้สื่อถึงวิถีไทยแท้ได้คลาสสิกไม่น้อย

วินาทีแห่งการร่ำลาแยกจาก ผมแอบได้กลิ่น พี่มาก-นางนาก อยู่ปริ่มๆ (ไอ้แผนไปเป็นทหาร สะเดาตั้งครรภ์) ใช้การถ่ายภาพย้อนแสงยามเย็น มองเห็นเพียงเงามืดของทั้งสอง (หมดเวลาสนุกแล้วสิ หลังจากนี้คือการมุ่งสู่ด้านมืดของชีวิต)

เคยได้ยินสำนวน ‘สวมเขา’ ไหมเอ่ย การจัดวางองค์ประกอบช็อตนี้ ไอ้แผนอยู่ในตำแหน่งตรงกับเขากวาง? (เขาอะไรก็ไม่รู้นะ) มีภาพน้ำตกอยู่ด้วย, นัยยะความหมายคือการต้มตุ๋น หลอกลวง ยกแม่น้ำทั้งห้าเพื่อมาโน้มน้ามชักจูงให้หลงคารมเชื่อฟัง อดทนเข้าไปแล้วจะมีอนาคต

“นักร้องดังๆ ที่ชั้นปั้นนะ.. ถ้าดีได้..จะได้ดี.. จำเอาไว้นะ”

เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปจะเฉลยว่า ป๋า คนนี้แม้งคือเก้งก้างกวาง เสือลายพราง (อะไรสักอย่างที่แปลว่า ชายชอบชาย) ซึ่งหลังจากสวมเขาเสร็จก็จักไปครอบหัวต่อที่บ้าน บีบบังคับให้เหลือกางเกงในสีแดงตัวเดียวถ่ายแบบเล้าโลมราชสีห์ จากนั้นเปิดคลิบปลุกอารมณ์ จากนั้นเข้าปล้ำทำเมีย หล่อๆแบบนี้ ก้นงามงอน ฟิตจัด!

ฉากการตายลักษณะนี้ ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังเรื่อง Boogie Nights (1997) จะมีตัวละครของ Alfred Molina สวมเพียงกางเกงในและเสื้อคลุม เดินล่อนจ้อนโทงเทงทั่วบ้าน แต่ถ้าเข้าปลุกปล้ำข่มขืนนี่น่าจะ Midnight Cowboy (1969) ที่เป็นตัวต้นฉบับ

อยู่ดีๆสะเดาก็ทำหน้าบูด พูดคำว่า เหี้ย เหี้ย เหี้ยเต็มปาก, นี่เป็นช่วงเวลาที่สถานะของไอ้แผน แปลงร่างจาก หมา -> เหี้ย ตกต่ำเลวทรามต่ำช้าเดรัจฉาน ซึ่งการกระทำของเขาก็จะสาละวันเตี้ยลงไปเรื่อยๆ

การผิดนัดของไอ้แผน ทำให้สะเดาที่ตั้งใจนำขวดน้ำตักตวงมาเพื่อหล่อเลี้ยงต้นรัก โยนทิ้งแถวๆป้ายรถเมล์ ซึ่งมีวัยรุ่นชายคนหนึ่งเหมือนจะถูกทิ้งไว้เช่นกัน กำลังนอนดมกาวเมามายหลับสบาย … แต่อีกช็อตตัดกลับมา ตัวประกอบนี้ก็หายตัวไปแล้ว คืนสติเร็วจังนะ??

McDonald สัญลักษณ์ของ Fast Food หรือ Junk Food ย่อมเทียบไม่ได้กับอาหาร/น้ำจากธรรมชาติที่สะเดาตั้งใจนำมาให้พี่แผน สุดท้ายก็… เหี้ย

แผนจับพลัดจับพลูหนีเอาตัวรอดสู่อาชีพรับตัดไร่อ้อย … นัยยะของไร้อ้อยแม้งโคตรเสื่อมเลยนะ จินตนาการกันเองออกหรือเปล่าเอ่ย แท่งยาวๆเมื่อนำมาบีบกัดดูดแล้วมีน้ำหวานเยิ้มๆไหลออกมา การหลบซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางไร้อ้อย ก็จึงหมายถึง…

แผน-หยอด สามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากหัวหน้าคนงานไร่อ้อย ด้วยการเอากะลาครอบหัว, ทีแรกผมสงสัยมากว่ามันมีสำนวน ‘กะลาครอบหัว’ ด้วยหรือ? คำตอบคือไม่มีนะครับ ที่ถูกคือ กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้ประสบการณ์น้อย เพราะไม่เคยเผชิญโลกกว้าง แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก … ผมว่ามันก็คือๆกันละมั้ง และการเลือกถ่ายฉากนี้ด้วยโทนสีน้ำเงิน (คงจะด้วยฟิลเลอร์ Day-for-Night) ให้สัมผัสราวกับโลกอีกใบ (โลกในกะลา)

ผมค่อนข้างชอบช็อตเปิดตัวนี้ของเกียรติศักดิ์ มากทีเดียวนะ ถ่ายด้านข้างแบบ Sideline บทบาทหมอนี่ก็มีแค่นี้แหละ ตัวประกอบข้างๆคูๆ ไม่ต่างอะไรจากหมาตัวหนึ่ง กินขี้ปี้แล้วหนีหายตัวไป

ใครเคยรับชม ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓) น่าจะจับใจความของฉากนี้ได้ ซึ่งพี่ต๊อกก็แสดงนำเรื่องนั้นด้วยนะ และการปรากฎภาพบนฉากฉายกลางแปลงช็อตนี้ พากย์เสียงโดยเกียรติศักดิ์ … นี่มันตัวตายตัวแทนกันเลยนะ เลยเอามาทำผัวคั่วเวลา

ฟ้าทะลายโจร เป็นหนัง Sound-on-Film นะครับ แต่การเอาฉายกลางแปลงแบบนี้ พากย์สดมักได้รับความนิยมกว่า ได้อรรถรส Nostalgia ไปอีกแบบ

แสบกระสันต์เสียดสีสังคมรุนแรงสุดของหนัง คือฉากงานการกุศุลที่ให้คนรวยแต่งตัวซ่อมซ่อแฟนซีเลียนแบบคนจน นัยยะคือการดูถูก หยามเหยียด ปากอ้างว่าทำเพื่อคนชนชั้นล่าง แต่ก็เป็นเพียงเรื่องขบขัน สนุกสนาน ‘สร้างภาพ’ ให้ดูดีเท่านั้นเอง … ซึ่งหลังจาก แผน-หยอด ถูกจับได้ว่าเป็นคนจรจริงๆ ก็ถูกถีบขับไล่ตกกระได(พลอยโจร)

ช็อตแรกของ Sequence ถ่ายจากโคมไฟราคาแพงบนเพดาน Tilt Down ลงมาเห็นหมาหัวเน่าสองตนนี้เงยหน้าขึ้นมอง(เครื่องบิน) เพ้อใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง แต่ก็ห่างไกลเกินอาจเอื้อมมือ

ม้า อรนภา กฤษฎี มารับเชิญในบทพิธีกรงานแฟนซีคนจน ซึ่งความเป็นกระเทยของตัวละครนี้สื่อถึง พวกคนกลับกลอก ปอกลอก หน้าอย่าลับหลังอีกอย่าง

เป็นการวิ่งที่เหนื่อยและยาวไกลมากๆ เริ่มจากสโลโมชั่นตรงบันไดรถไฟฟ้าอนุเสาวรีย์ชัย จากนั้นมีการ ‘Leap of Faith’ ตัวละครกระโดดข้ามกล้องที่วางบนพื้น โผล่มาอีกด้านตัดมาริมคลองแสนแสบ พบเห็นตึกไบหยก ประตูน้ำอยู่ลิบๆ

อะไรหลบอยู่หลังแอร์? ผมคิดว่าคำตอบคือ จิ้งจก ตุ๊กแก สัตว์เลื้อยคลาน … ตัวเหี้ย

คือไอ้แผน มันเป็นคนไร้แผนการชีวิตโดยสิ้นเชิง พอไอ้หยอดมันฉกชิงสร้อยคอมาหยอดใส่มือ ตำรวจไม่รู้หรอกว่าหมอนี่คือโจร แต่ดันสบตาแล้ววิ่งหนีนะสิ ต้องสงสัยสุดๆว่าทำอะไรมา คนดีที่ไหนเห็นชุดสีกากีแล้ววิ่งหนี!

ไอ้แผนมันไม่รู้จักความเห็นแก่ตัวของคนขับรถเมืองกรุงฯ ข้ามถนนไม่มองซ้ายขวาก็เลยโดนชนกระแทกเข้าให้ อีท่าไหนก็ไม่รู้เลือดทะลักออกจากปาก กับช็อตนี้ถ่ายจากภายในรถ แพนกล้องช้าๆ พบเห็นด้านนอกคั้งค้างคาสงบนิ่งไว้ ‘สะกดทุกสายตา’ ราวกับสัตว์เลื้อยคลานเวลานอนแอ้งแม้งตายห่าไม่รู้ตัว

แซว: เมื่อก่อนพบเห็นบ่อยนะ ตะกวดข้ามถนนในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ต้องต่างจังหวัดเท่านั้นแหละ (รถในกรุงเทพมันขับเร็วเกิ้น)

ท่วงท่าของการตักขี้ในบ่อ ต้องอาศัยทักษะทรงตัว เพราะความลื่นริมขอบบ่อ ทำให้พลักตกขุมนรกได้โดยง่าย ซึ่งก็แน่นอนว่าน้องใหม่จำเป็นต้องเปิดซิง, นัยยะของฉากนี้ คือจุดตกต่ำสุดของชีวิต … ถึงกระนั้น ขี้มันก็ยังมีประโยชน์ ใช้เป็นปุ๋ยรดต้นไม้เติบโต เป็นอาหารของคนคุกต่อไป

ชีวิตอันตกต่ำต้อยของแผน ออกมาจากคุก มีมอไซด์และหมาตัวหนึ่งเดินผ่าน (หมายถึง ชีวิตหมาๆที่ดำเนินไป) และมันจะมีช็อตสุดท้ายภายหลังการสนทนาระหว่างแผน-หยอด (พยายามโน้มน้าวให้เพื่อนเก่ามาร่วมงาน ขายยาบ้ากับตน) จะมีตัดมาเห็นภาพช็อตนี้อีกครั้ง พบเห็นหมา(น่าจะตัวเดิม)เดินผ่านหน้ากล้องไป (ค้ายา=การกระทำหมาๆ)

สถานะของไอ้แผนขณะนี้ ถือว่าเลิกเป็นเหี้ยแล้วนะครับ กลับสู่ความเป็นหมา (คือสำนึกได้ รู้ตัวว่าผิด)

ชีวิตข้างนอกคุกของไอ้หยอดมันช่างสุดสบาย หัวใจ ‘สปอร์ต’ เลยสวมใส่ชุด Sport!

สังเกตคำพูดชักจูงโน้มน้ามของไอ้หยอด มันแทบย้อนรอยอดีตที่แผนเคยได้ยินฟังมาจากป๋าสุวัตร สองปีกับเบ๊นักร้อง ไม่แตกต่างอะไรกับสองปีในคุก (ในเชิงรูปธรรมและนามธรรม) ด้วยเหตุนี้กระมังเลยทำให้เขาครุ่นคิดได้เสียที ชีวิตมันก็วัฏจักรเวียนวนอยู่แบบนี้ไม่มีอะไรแตกต่าง

เสื้อสีน้ำเงิน, วิทยุทรานซิสเตอร์ ของเก่าจากอดีตที่เคยมีความสำคัญ ปัจจุบันเสื่อมโทรม หมดสิ้นสภาพ พังทลายไปตามกาลเวลาถ้าเราไม่รู้จักทะนุถนอมดูแล เฉกเช่นเดียวกับจิตใจคน ที่ต้องคอยหล่อเลี้ยงป้อนข้าวป้อนน้ำ ไม่ให้ต้นรักแห้งเหี่ยวเฉาจนเหลือเพียงกิ่งก้านแล้วตายจากไป

ตัดต่อโดยหม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล พระธิดาคนโตของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ร่วมงานขาประจำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ตั้งแต่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ (พ.ศ. ๒๕๔๐), ผลงานอื่นๆ สุริโยไท (พ.ศ. ๒๕๔๔), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), เปนชู้กับผี (พ.ศ. ๒๕๔๙) ฯ

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองผู้คุมไร้นาม (ฉัตรชัย คำนวณศักดิ์) เคยเป็นเพื่อนสนิท อดีตนักร้องร่วมวงกระเดือกทองคำ ซึ่งก็ได้บรรยายสรรพคุณชีวิตของไอ้แผน ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น ตกหลุมรัก ขอสาวแต่งงาน ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันจับพลัดพลูมาเจอกันในคุก และดำเนินต่อไปอีกนิดหลังจากได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ

นอกจากนี้หลายครั้งคราจะมีขึ้นข้อความ ที่ดูเหมือนเป็นคำใบ้บางอย่างให้ผู้ชมใคร่สงสัย ซึ่งสามารถมองเป็นการแบ่งองก์ ชื่อตอนของหนังก็ยังได้ อาทิ
– เกสรตีน
– ตูน…นม…เดือย
– สุรแผน เพชรน้ำไหล
– นักพากย์ปากหวาน
ฯลฯ

แต่ผมแบ่งองก์ของหนังแบบนี้ เข้าใจง่ายกว่าเยอะ
– อารัมบท, ขี้เอาสร้อยทองออกมา
– องก์หนึ่ง ช่วงเวลาแห่งความสุขสันต์, แผน-สะเดา เกี้ยวพาราสี แต่งงาน ตั้งครรภ์
– องก์สอง พลัดพราก, จับได้ใบดำไปเกณฑ์ทหาร ต่อมาหนีไปเป็นนักร้อง
– องก์สาม แยกจาก, แผนหนีเอาตัวรอดกลายเป็นคนตัดอ้อย สะเดาถูกเกี้ยวพาราสีโดยเกียรติศักดิ์
– องก์สี่ ตกต่ำ, ขโมยของ วิ่งหนีตำรวจ ติดคุกหัวโต
– องก์ห้า คืนดี, ออกจากคุก หวนกลับมาพบเจอกัน

เพลงประกอบโดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ แจ้งเกิดกับ นางนาก (พ.ศ. ๒๕๔๓), เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), โหมโรง (พ.ศ. ๒๕๔๗), ดังไกลไปถึง The Warlord (2007), Wǔ xiá (2011) ฯ

หนังไม่ได้มีแค่บทเพลงลูกทุ่งนะครับ ตั้งใจฟังดีๆก็จะได้ยิน Soundtrack ประกอบตลอดเรื่อง มักดังขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อเหตุการณ์ เพื่อขับเน้นสร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้กับผู้ชม อาทิ
– เสียงแซกโซโฟนสุดเซ็กซี่ตอนชื่อหนังขึ้น
– ทำนองยิ้มแย้มแป้นหวานเมื่อตอน ลำเนา ได้เสื้อสีน้ำเงินเป็นขวัญ แล้วแผนมาโชว์แมนหยอกล้อเล่นเกี้ยวพาราสี
– ส่งจดหมายแล้วแผนดำน้ำมา เสียงกลองนุ่มๆ กึกก้องกังวาล ราวกับผีทะเล
– ตอนแผนกำลังจะมีชู้ ทำนองเหมือนลางยา มอบสัมผัสอันตราย การกระทำอันชั่วร้ายผิดศีลธรรมจรรยา ขณะที่อีกฝั่งทางบ้านสะเดา ท่วงทำนองอันโหยหวนรวดร้าว ต้องต่อสู้ดิ้นรนทนทุกข์ยากลำบาก
– เมื่อสะเดารับรู้ความจริง ไวโอลินนำทำนองอันโหยหวนรวดร้าวบาดลึกภายในใจ (ช่วงท้ายตอนกลับมาคืนดี จะได้ยินท่วงทำนองนี้อีกครั้งหนึ่ง)
– แอ๊กชั่นมันส์ๆลุ้นระทึก ตอนหลบหนีกระสุนจากเจ้านายสวนไร่อ้อย
– หลังออกจากคุก เสียงขลุ่ยทุ้มๆให้สัมผัสอันว่างเปล่า ล่องลอย ชีวิตไร้กันแสน

สำหรับบทเพลงลูกทุ่งชื่อดังทั้งหลาย ส่วนใหญ่ครูสุรพล สมบัติเจริญ จะขับร้องไว้ ซึ่งหนังมีการเรียบเรียงทำนองใหม่ให้มีความทันสมัยขึ้น และส่วนใหญ่ขับร้องโดย ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (บางเพลงผมว่าขับร้องไพเราะกว่าต้นฉบับอีกนะ)
– บทเพลงในงานวัด อาทิ น้ำค้างเดือนหก (แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน), มอง (แต่งโดย สุรพล สมบัติเจริญ), เป็นโสดทำไม (แต่งโดย พยงค์ มุกดา)
– ตอนไปเป็นทหาร ลืมไม่ลง (แต่งโดย สุรพล สมบัติเจริญ)
– เพลงที่แผนขับร้องตอนประกวดชื่อ ทหารเกณฑ์คนเศร้า (แต่งโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง)
– ขึ้นร้องคอนเสิร์ต น้ำตาผัว (แต่งโดย ไพบูลย์ ไก่แก้ว)
– คิดถึงคร่ำครวญหาขณะอยู่ในคุก ลืมไม่ลง (แต่งโดย สำเนียง ม่วงทอง)
– Ending Credit, คิดถึงพี่ไหม (แต่งโดย พยงค์ มุกดา), ใช่แล้วสิ (แต่งโดย แผน พันธ์สาลี)

นำ Original Song หนึ่งเดียวของหนังมาให้รับฟังกัน ทหารเกณฑ์คนเศร้า น่าเสียดายที่ไม่มีการใส่ทำนองเพิ่มเติมเบ้ขาไป ถึงกระนั้นแค่เพียงเสียงขับร้องของต๊อก ก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก รวดร้าวทุกข์ทรมานจากความโหยหาครุ่นคิดถึงคนรักได้อย่างทรงพลัง น้ำตาเกือบๆหลั่งไหลริน

ทรานซิสเตอร์ (Transistor) คืออุปกรณ์สารกึ่งตัวนำที่มีคุณสมบัติขยายหรือสลับสัญญาณไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้า … เอาเป็นว่าคือคำเรียกแทนวิทยุ ก็แล้วกันนะครับ ไม่ได้เรียนสายวิทย์จะได้ไม่ต้องทำความเข้าใจให้ยุ่งยากวุ่นวาย

มนต์รักทรานซิสเตอร์ อาจตีความได้ถึงอาการลุ่มหลงใหลในเทคโนโลยี โลกยุคสมัยใหม่ ซึ่งเหมารวมถึงทัศนคติทุนนิยม โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง เมื่อได้ครอบครองสิ่งเหล่านี้ จักทำให้ชีวิตมีความมั่นคง ยืนอยู่ยง สุขสบายกายใจ

นี่คงคือความเพ้อใฝ่ฝันของพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง ด้วยสินะ! ใครกันจะไม่อยากมีชีวิตมั่นคง สุขสบาย ถ้าฉันมีเงินมากพอไม่ต้องแบกรับภาระดิ้นรนเอาตัวรอด จ่ายค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่านมลูก การสร้างผลงานศิลปะ-ภาพยนตร์ จักสามารถเต็มที่กับชีวิตได้มากกว่านี้สิบร้อยพันช้างเท่า

แต่เพราะชีวิตมันไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งใจใครใฝ่ฝัน มีผู้ประสบความสำเร็จย่อมพบอีกฝั่งล้มล่มจมเหลว โชคดี-โชคร้าย รวย-จน ล้วนเป็นผลของวงจรวัฏจักร สัจธรรมแห่งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับความทะเยอทะยานของคน ต่อให้มากล้นฟ้าขนาดไหน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องตระหนักครุ่นคิดขึ้นได้ มองหาอะไรกันคือความสุขแท้จริงบนโลกใบหนี้?

มุมมองคนส่วนใหญ่อาจเรียกจุดแห่งการย้อนกลับนั้นว่าคือ ‘ความพ่ายแพ้’ แต่นั่นคือโลกทัศนคติแย่ๆที่ถูกปลูกฝังโดยแนวคิดทุนนิยม คือมันไม่มีหรอกนะครับ ชนะ-แพ้ ในสงครามชีวิต เกิด-ตาย ต่างหากคือสัจธรรมความจริง ไม่มีใครหนีพ้น ทุกคนเท่าเทียมเสมอภาคกัน

การเปรียบเทียบของพี่ต้อม ถึงบุคคลผู้ยึดถือมั่นในโลกทัศนคติทุนนิยม แม้งชาติสัตว์หมาชัดๆ กินขี้ปี้แล้วทิ้ง ปลดปล่อยให้กระหรี่เบื้องหลังต้องรับภาระเช็ดขี้เยี่ยว กลบฝังหลุมอาจมที่ก็ไม่รู้จะขุดมาดอมดมหาทรัพย์สมบัติมีค่าอะไร … สักวันขอให้พวกแม้งประสบพบเจอเข้ากับตนเอง ‘กรรมสนองกรรม’ แล้วจะได้ซึ้งถึงบางสิ่งอย่าง ‘กินไม่ได้ ขี้ไม่ออก บอกไม่ถูก’ หรือตกลงในถังอุจจาระ อาจมมิดดิ่งสาปสูญหายไปเลยก็ดี

นี่แหละครับ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับหัวกบฎแห่งเมืองไทย ตัวจริงพี่ต้อมก็จะเหี้ยๆแรงๆ ปากหมา ตรงไปตรงมาแบบนี้แหละ ถือได้ว่าเป็น ‘ตัวเหี้ยแห่งวงการภาพยนตร์ไทย’ (นี่คำชมนะ) อุปนิสัยคล้ายๆ Jean-Luc Godard (แต่อย่าไปเทียบผลงาน/ความเป็นตำนาน) กาลเวลาอาจทำให้เปลวเพลิงภายในมอดไหม้ลงไป แต่ตอนยังลุกโชติช่วงชัชวาลย์ ส่องสว่างเจิดจรัสจ้าไปทั่วทุกถิ่นแดนไทย

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ได้ยินว่าทำเงินเกินกว่า ๒๐ ล้านบาท, คว้ามา ๓ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๔๔
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ)
– นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สิริยากร พุกกะเวส) ** คว้ารางวัล
– นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (อำพล รัตนวงศ์)
– นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (พรทิพย์ ปาปะนัย)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล

หลังจากนี้ก็ได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 2002 สาย Directors Fortnight ที่ได้รับคำนิยามว่า ‘มีทุนสร้างเพียงน้อยนิด แต่มีพลังทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่’

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนังคือ จังหวะการนำเสนอ โดยเฉพาะการเลือกบทเพลงมีความเหมาะสม สื่อความหมาย ตรงต่อสถานการณ์นั้นอย่างเปะๆ นี่ทำให้เวลามีภาษาภาพยนตร์ปรากฎขึ้นมาแล้วถ้าสามารถอ่านออก จะรู้สึกว่าพี่ต้องแม้งเจ๋งว่ะ! อยู่ในช่วงกำลังเร่าร้อนแรง ‘Hot’ สุดๆเลย

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นอกจากหวนระลึกถึงความลูกทุ่งไทย หนังยังแฝงข้อคิดที่เกี่ยวกับการไขว่คว้าโหยหาบางสิ่งอย่าง ต่อให้ออกเดินทางไปแสนไกลแค่ไหน สุขแท้จริงมักอยู่ข้างกายใกล้ตัว แค่เอื้อมมือเท่านั้นเอง

จัดเรต 13+ กับโชคชะตากรรมของตัวละคร

คำโปรย | “มนต์รักทรานซิสเตอร์ คืออัลบัมรวมเพลงลูกทุ่งของ เป็นเอก รัตนเรือง จัดจ้าน โดนใจ ฮิตอมตะแห่งศตวรรษ”
คุณภาพ | บูณ์-ไทย
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

มหา’ลัย เหมืองแร่ (2005)


มหา'ลัย เหมืองแร่

มหา’ลัย เหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘) หนังไทย : จิระ มะลิกุล ♥♥♥♡

ณ จุดตกต่ำสุดในชีวิตของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ สอบตกโดนรีไทร์ เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา เลยถูกพ่อส่งไปทำงานกรรมกรเหมืองแร่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เรียนรู้จักความยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด กลายเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า มากยิ่งกว่าการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

มหา’ลัย เหมืองแร่ คือหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่มี’เรื่องราว’อันทรงคุณค่า แฝงข้อคิดคติสอนใจมากมาย แต่ในแง่การนำเสนอ ไดเรคชั่นของพี่เก้ง จิระ มะลิกุล เลือกเล่าแบบผ่านๆ รวบเร่งรัดตัดตอน ทำให้จับต้องอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ อาจเพราะต้นฉบับหนังสือมีความเยิ่นยาวมากๆ เลยคัดสรรแค่บางตอนดีๆมาเล่าสู่กันฟัง

ผมเองมีโอกาสรับชม มหา’ลัย เหมืองแร่ ในโรงภาพยนตร์ แต่จดจำได้ว่าตอนแรกเดินทางไปยัง SF MBK เกาหัวแครกๆ หนังเข้าโรงแล้วจริงๆนะหรือ? กลับมาห้องอย่างฉุนเฉียวตามข่าวถึงค่อยรับรู้ว่า GTH เกิดความขัดแย้งเครือ SF ต่อประเด็นการเลือกปฏิบัติ ออกแคมเปญให้ใช้บัตรนักเรียน นิสิต นักศึกษา ส่วนลด ๒๐ บาท กับหนังตลอดทั้งโปรแกรม ขณะที่หนังฝรั่งเข้าฉายในเวลาเดียวกัน กลับไม่เคยมีการใช้โปรโมชั่นลักษณะนี้มาก่อน

“โดยปกติเครือ SF จะเป็นเครือที่แฟร์กับหนังไทยมาก ผมชอบวิธีการและมาตรฐานในการบริหารของเขามาก ทีมเขาก็ดีทุกคน ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าจู่ๆทำไมถึงมาเจาะจงเลือกมหาลัยเหมืองแร่เป็นเรื่องที่ลดราคาแต่เพียงเรื่องเดียว ในขณะที่เรื่องอื่นราคาปกติ เราพยายามบอกเขาว่า ถ้าคุณใช้แคมเปญนี้กับหนังทุกเรื่อง เราไม่ว่า ทำไมคุณไม่ทำกับ SIN CITY หรือ STAR WARS บ้าง แต่นี่คุณเจาะจงหนังเรื่องนี้เรื่องเดียวเลย เราถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด”

– วิสูตร พูลวรลักษณ์

แคมเปญแบบนี้จริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรหรอกนะ แต่ประเด็นคือ SF ออกแผนการตลาดดังกล่าวโดยไม่ปรึกษา GTH ล่วงหน้าก่อน พอมารับล่วงรู้ทีหลังจึงกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของผู้สร้างภาพยนตร์ ยินยอมรับไม่ได้! ซึ่งนี่ย่อมคือหนึ่งในสาเหตุผลทำให้หนังขาดทุนย่อยยับเยิน เพราะคนตั้งใจมาดูยังโรง SF พอไม่เห็นโปรแกรมก็ถอดใจ หาเรื่องอื่นรับชมแทนดีกว่า

หวนกลับมารับชมรอบนี้ผมครุ่นคิดตั้งคำถาม หนังจะยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้บ้างหรือเปล่า? ลึกๆโดยสันชาตญาณรู้สึกว่าไม่อีกต่อไปแล้วนะ พ่อ-แม่สมัยนี้เลี้ยงลูกแบบ ‘ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม’ เอ็นดูทะนุถนอมจนเสียผู้เสียคน เติบโตขึ้นด้วยความหลงใหลคลั่งไคล้วัตถุนิยม เด็กๆชาวเมืองกรุงฯไม่มีวันไปตากแดด ลุยโคลน คลุกขี้เลน ทำงานเหน็ดเหนื่อยยากลำบากได้แน่ และยุคสมัยนี้มีร้อยพันแปดวิธีเอาตัวรอดอื่นๆ บทเรียนความทุ่มเทพยายามของ มหา’ลัย เหมืองแร่ จึงแทบด้อยคุณค่า หมดสิ้นความหมายไปตามกาลเวลา

ถึงกระนั้นก็ยังขอแนะนำ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว กำลังมีลูกหลานเติบโตก้าวย่างเข้าสู่วัยรุ่น การจะสั่งสอนพวกเขาให้รับรู้เห็นถึงคุณค่าความหมายชีวิต สมควรนำพาให้ไปพบเจอทุกข์ยากลำบากเข้ากับตนเอง -ไม่จำว่าเป็นต้องส่งไปเป็นกรรมกรใช้แรงงานนะครับ- ซึ่งหลังจากผ่านประสบการณ์ดัวกล่าว บทเรียนไม่ว่าคืออะไร เชื่อว่าจักจดจำฝังใจตราบจนวันตาย

ต้นฉบับของ มหา’ลัย เหมืองแร่ คือเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ จำนวน ๑๔๒ ตอน ผลงานประพันธ์ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๕๖๑) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

อาจินต์ เกิดที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรชายของขุนปัญจพรรค์พิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) อดีตนายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เคยเป็นข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และข้าหลวงจังหวัดนครปฐม, โตขึ้นสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๒ เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ต้องหยุดเรียนหลายเดือน เมื่อหวนกลับมาเปิดเทอมใหม่ ความรวดร้าวทุกข์ระทมยังไม่หมดสิ้นไป ทำให้อาจินต์หมดอาลัยไม่อยากศึกษา เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมากลายเป็นเด็กเสเพล จนสอบตกถูกรีไทร์ บิดาจึงส่งไปดัดสันดาน ทำงานหนักยังเหมืองแร่เรือขุดธาตุดีบุก ‘กัมมุนติง’ (Kammunting Tin Dredging) อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เริ่มต้นตำแหน่งฝึกงานช่างตีเหล็ก ค่าจ้างวันละ ๖ บาท ต่อมาย้ายสู่เหมืองกระโสม (Krasom Tin Dredging) งานเขียนแบบเงินเดือน ๕๐๐ บาท และช่างทำแผนที่ ๘๐๐ บาท

ด้วยความรักในการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก สนใจข่าวสารจากสื่อต่างๆ รวมถึงวรรณกรรม นวนิยาย ตอนเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ เขียนเรียงความเรื่องโรงโขนหลวง ส่งไปลงหนังสือสุวัณณภูมิ, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เขียนบทความ/เรื่องสั้น ลงในหนังสือฉุยฉาย (รายสัปดาห์), ชวนชื่น (รายสัปดาห์), ซึ่งระหว่างไปทำงานเหมืองก็ยังไม่ว่างเว้น ส่งเรื่องสั้นสีชมพูยังไม่จาง ฝากให้น้องสาวนำลงหนังสือมหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์)

เมื่อเหมืองแร่เลิกกิจการ พ.ศ. ๒๔๙๖ เดินทางกลับกรุงเทพฯ มุ้งมั่นเลือกเส้นทางเป็นนักเขียนเต็มตัว จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๘ สร้างตำนานให้กับวงการหนังสือ ด้วยการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองชื่อ โอเลี้ยงห้าแก้ว เขียนเอง-พิมพ์เอง-ขายเอง เริ่มจากรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ภาคตะลุยเหมืองแร่ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ได้รับการจัดอันดับ “๑ ใน ๑๐๐ หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน” จากการคัดเลือกของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้คำชมถึงความเป็นเพชรเม็ดใหญ่ในวงวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็จะพบวาวแววของความล้ำลึกทางความคิด ความประณีตของภาษาในความเรียบง่ายของถ้อยคำ ดังตัวอย่างการบรรยายฉากให้ได้บรรยากาศสมกับเนื้อเรื่องด้วยมุมมองที่ต่างกันไป ในร้านกาแฟ/ร้านเหล้า อาจินต์เขียนว่า

“เราเป็นพวกซุนยัดเซ็น คือหัวซุนกันมา มาแล้วก็ยัดๆๆๆ ยัดแล้วก็เซ็นเอาไว้ สมุดบัญชีคือข้างฝา ตัวเลขเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ออกลูกออกหลานแพร่พันธุ์ได้เร็ว มันเต็มฝากระดานแล้วลามขึ้นไปตามเสา ยิ่งสูงเราก็ยิ่งแหงนดูมันด้วยความท้อแท้ ”

– จากเหมือนแร่ ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๐๓

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้สร้างภาพยนตร์หลายรายติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ แต่อาจินต์ไม่ยินยอมขาย มิต้องการให้ใครนำมาสร้างเป็นหนังแอ็คชั่น! จนกระทั้ง จิระ มะลิกุล ติดต่อไป

“เหมืองแร่ เป็นหนังสืออีโมชัน มันเกิดจากมันสมอง และความโฮมซิกของผม ไม่มีแอ็กชันทางการแสดง แต่นายเก้งเขาบอกว่ามี ผมถามเขาว่าแอ็กชันคืออะไร เขาบอกผมว่า ฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืน แอ็กชันของมันคือถนนขาด สะพานพังต้องทำใหม่ และเรือขุดจมนั่นคือสุดยอดแอ็กชัน ทันทีที่ผมได้ฟังก็รู้สึกว่าเขาเล็งลึก ไอ้ผมมันเล็งแต่ตัวหนังสือ เขาเล็งการกระทำ เขามองอย่างนัยน์ตานักสร้างหนัง”

– อาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้สัมภาษณ์กับ The Standard

ด้วยความประทับใจดังกล่าว จึงเกิดความเชื่อมั่นยินยอมมอบลิขสิทธิ์ดัดแปลงให้ ซึ่งระหว่างนั้นก็ยังได้ให้คำปรึกษาชี้แนะ โดยเฉพาะรูปร่างหน้าตาของเรือขุด ทั้งยังเดินทางไปให้กำลังใจทีมงานยังกองถ่าย (พบเห็นภาพใน Ending Credit ทำให้มีโอกาสพบเจอลูกน้องเก่า นายไข่)

จิระ มะลิกุล (เกิด พ.ศ. ๒๕๐๔) ชื่อเล่นเก้ง ผู้กำกับ ถ่ายภาพ โปรดิวเซอร์ชาวไทย จบการศึกษาโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานในวงการจากกำกับ Music Video หลังจากได้รับการยอมรับหันไปทำงานโฆษณา เปิดบริษัท หับ โห้ หิ้น บางกอก จากนั้นเริ่มสร้างภาพยนตร์ เขียนบท/ถ่ายภาพ สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), กำกับเองเรื่องแรก ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕) และ มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘)

“เป็นหนังสือเล่มเเรกๆที่ได้อ่าน เเล้วเกิดความประทับใจจนกระทั่งผมเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมเริ่มเข้าใจคำว่าพิสูจน์ศักดิ์ศรี หรือคำว่าอดทนกับการทำงาน ผมเริ่มเข้าใจคำว่าภาคภูมิใจ ผมเริ่มเข้าใจมันหมายถึงอะไร จนเเอบอุทานกับตัวเองว่า เฮ้ย…นี่มันชีวิตกูเเท้ๆ เลยนี่หว่าเเปลกที่มันเป็นความรู้สึกที่ผมสัมผัสได้ ทั้งๆ ที่ในหนังสือเรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

– จิระ มะลิกุล

เนื่องจากลักษณะของ ‘เหมืองแร่’ คือเรื่องสั้นจบสมบูรณ์ในตอน เนื้อหาไม่ได้มีลำดับต่อเนื่อง แถมตัวละครยังมากมายหลายหลักสิบ ซึ่งนั่นไม่เหมาะสมเท่าไหร่กับการนำมาสร้างภาพยนตร์ ด้วยเหตุนี้พี่เก้งจึงนำเอาระยะเวลา ๓ ปี ๑๑ เดือน ที่อาจินต์ทำงานกรรมกรเหมืองเป็นที่ตั้ง เลือกนำเฉพาะตอนสำคัญๆ ตัวละครเด่นๆ แฝงซ่อนเร้นสาระ ร้อยเรียงเข้ามาให้สามารถดำเนินเรื่องราวไปข้างหน้าได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย

เรื่องราวเริ่มต้น พ.ศ. ๒๔๙๒, อาจินต์ ปัญจพรรค์ (พิชญะ วัชจิตพันธ์) วัย ๒๒ ปี นิสิตชั้นปีที่สองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย บิดาส่งเขามุ่งสู่ภาคใต้ไปทำงานที่เหมืองกระโสม ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา หลังจากได้พบ สัมภาษณ์งานกับนายฝรั่ง (Anthony Howard Gould) เริ่มทำงานกรรมกรแรงงาน

ปีแรก, เรียนรู้การปรับตัวจากเด็กกรุงเทพฯ สู่ชีวิตกรรมกร ต้องหัดหุงข้าวทำอาหารด้วยตัวเอง ลดทิฐิ อัตตา อคติ เพื่อเข้าสังคมการทำงาน หลังจากได้เริ่มไปช่วยงานยังเรือขุด ค้นพบสิ่งที่ร่ำเรียนจากในตำราแตกต่างจากการทำงานจริงอย่างมาก และสุดท้ายเจอบททดสอบจิตใจจากนายฝรั่ง เมื่อขอให้จับคนร้ายขโมยหินแร่กลับพบว่าคือฝีมือพวกพี่ๆในเหมือง ระหว่างความซื่อสัตย์สุจริตกับขายชาติผืนแผ่นดิน ยื่นใบลาออกแต่ได้รับแจ้งว่าสอบผ่าน “กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว ยากช่างหัว ตายปลด”

ปีสอง, ได้ลูกน้องคนสนิทชื่อไอ้ไข่ (สนธยา ชิตมณี) ผู้สร้างรอยยิ้มและคอยช่วยเหลืองานในเวลาเดียวกัน ได้งานใหม่เป็นช่างทำแผนที่ หลังจากได้จนหมายจากแฟนเก่าคือการ์ดแต่งงาน กินเหล้าเมาซึม เขียนข้อความบนกำแพง “อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอด อนาคตต้องตาย” ซึ่งตาแดง (จรัล เพ็ชรเจริญ) ได้ปรับเปลี่ยนข้อความตอนท้ายให้ใหม่ “อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอดทน อนาคตต้องตาย”

ปีสาม, อาจินต์ ใช้ชีวิตการทำงานอย่างเต็มที่ เริ่มหลงใหลไปกับการดื่มเหล้าเมามายคลายเหงา ติดหนี้หัวบานแทบไม่หลงเหลืออะไร ขณะเดียวกันก็ได้พบรักใหม่กับหญิงสาวชาวบ้านแถวนั้น ช่วงท้ายเมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลาก กระแสน้ำเชี่ยวกรากข้ามมาเกือบเอาตัวไม่รอด เป็นเหตุให้ไม้วัดติดขัดเอาไม่ออก กลัวว่าจะโดนนายฝรั่งตำหนิต่อว่า แต่การโอบกอดด้วยรอยยิ้มกำลังใจ “ดีแล้วที่เอาชีวิตรอดมาได้” ซื้อใจเขาได้เป็นอย่างดี

ปีสี่, เกิดปัญหาในเหมืองเมื่อเรือขุดหาแร่ไม่พบ อาจินต์ค้นพบว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากการบันทึกตัวเลขในแผนที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบใหญ่โตขนาดว่านายเรือคนเก่าลาออกไปได้คนใหม่มา ทีแรกไม่ยินยอมรับแต่ภายหลังก็จำต้องนับถือน้ำใจ แม้การทำงานจะราบรื่นไปเรื่อยๆแต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องจบสิ้นลง เมื่อเรือขุดพังสายพานพังจนไม่คุ้มต่อการซ่อมแซม เป็นเหตุให้เหมืองต้องปิดตัวลง ร่ำลาจากพรรคพวกเพื่อนร่วมงาน นายฝรั่ง ไอ้ไข่ เก็บความทรงจำทั้งหลายไว้เป็นบทเรียน

เนื่องเพราะหนังต้องเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่ค่อนข้างห่างไกล อาจใช้ระยะเวลานาน แถมยังต้องคลุกขี้โคลนเลน กินอยู่ยากลำบาก ถ้าเลือกนักแสดงมีชื่อราคาแพง คาดว่าคงได้ยุ่งวุ่นวาย แถมภาพลักษณ์เชื่อถือได้ยากอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับเลยคัดเลือกสรรค์นักแสดงสมัครเล่น/หน้าใหม่ ไม่เน้นฝีมือ หลายคนเล่นเรื่องเดียวออกจากวงการไปเลย

พิชญะ วัชจิตพันธ์ ชื่อเล่น บี ตอนแสดงหนังเรื่องนี้กำลังศึกษาปีที่สาม คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา University of California Santi Cruz (นี่ไม่ใช่นักเรียนกรุงฯ แต่คือนักเรียนนอก) ไปๆกลับๆเมืองไทย งานอดิเรกเรียนการแสดงกับครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ แนะนำให้มาแคสติ้งจนได้รับเลือก หลังจากนี้กลับไปเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาปริญญาโท กลายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และแบ่งเวลาว่างมาดูแลเรือนเพาะชำต้นกระบองเพชรขาย

รับบทอาจินต์ ปัญจพรรค์ หนุ่มหน้าซื่อๆหัวใจบริสุทธิ์ ภาพลักษณ์ไม่ค่อยเหมือนคนสำมะเลเทเมาเท่าไหร่ แต่มีความตั้งมั่นจะทุ่มเทตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็ง พลิกฟื้นตัวเองขึ้นจากจุดตกต่ำสุดของชีวิต ให้สามารถก้าวยืนด้วยลำแข็งสองขาของตนเอง

อย่างที่บอกไปว่าการแสดงไม่ได้เน้นลีลาฝีมือ หรือความเหมือนอาจินต์ตัวจริง แต่คือเลือกจากภาพลักษณ์ของพิชญะ คล้ายคลึงนักเรียนกรุงฯ (นักเรียนนอก) หน้าตาสดใสซื่อ ดวงตาไร้ความประสีประสา แม้ทำอะไรผิดพลาดมากมายแต่ด้วยความอ่อนน้อมจึงได้รับความรักเอ็นดูช่วยเหลือจากทุกคน และยกย่องชื่นชมในความซื่อสัตย์จากใจจริง คนแบบนี้หายากแท้ในปัจจุบัน

สนธยา ชิตมณี (เกิด พ.ศ. ๒๕๒๑) ชื่อเล่น สน เกิดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นที่รู้จักแรกเริ่มในนาม ‘สน The Star’ ชนะเลิศการแข่งขันเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปี ๑ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ออกอัลบั้ม สนคนคว้าดาว, สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), กลายเป็นขาประจำของ ก้องเกียรติ โขมศิริ อาทิ ไชยา (พ.ศ. ๒๕๕๐), เฉือน (พ.ศ. ๒๕๕๒), อันธพาล (พ.ศ. ๒๕๕๕), ขุนพันธ์ (พ.ศ. ๒๕๕๙) ฯ

รับบทไอ้ไข่ ลูกน้องและเพื่อนสนิทของอาจินต์ เป็นคนที่ชีวิตเต็มไปด้วยรอยยิ้มแย้ม ไม่ค่อยทุ่มเทตั้งใจทำงานสักเท่าไหร่ แต่มีความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา แล้วไม่รู้ไปทำอีท่าไหนแก่งแย่งชิงสาวสวยมาครอบครอง

ด้วยรูปร่าง ท่าทาง ลีลา รอยยิ้ม ชอบหยอกล้อเล่น ว่าไปดูเหมือนเงาะป่า (แต่สีผิวไม่เข้มเท่า) สนธยาถือว่าออกมาแย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ ‘รุ่นน้องผู้น่ารัก’ แต่ก็แค่นั้นละครับ ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านี้

ถ่ายภาพโดยพี่แดง ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ แห่งบริษัท The Film Factory ขาประจำของ เป็นเอก รัตนเรือง ผลงานเด่นๆ อาทิ เรื่องตลก 69 (พ.ศ. ๒๕๔๒), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), โอเคเบตง (พ.ศ. ๒๕๔๖), ฝนตกขึ้นฟ้า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ฯ

หนังถ่ายทำ ณ จังหวัดพังงา แต่ไม่ใช่อำเภอตะกั่วทุ่งตามพื้นหลังของเรื่องราว ไปค้นพบสถานที่เหมาะสมกว่ายังอำเภอคุระบุรี การเดินทางสมัยนั้นยังค่อนข้างลำบากทีเดียว และกว่าจะสร้างเรือขุดเสร็จก็ทำให้โปรเจคล่าช้าไปหลายเดือนทีเดียว

การสร้างเรือขุดเหมืองถือเป็นสิ่งท้าทายทีมงานออกแบบมากๆโดย เอก เอี่ยมชื่น (๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง, นางนาก, ฟ้าทะลายโจร, ปืนใหญ่จอมสลัด) เนื่องเพราะไม่สามารถค้นพบต้นแบบแปลนของเรือ พบเห็นเพียงจากภาพถ่ายเก่าๆ จึงต้องประติดประต่อจินตนาการขึ้นเองทั้งหมด เริ่มจากวาดภาพร่าง สร้างโมเดลจำลอง ซึ่งก็ได้ขอคำปรึกษาจาก อาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้ความช่วยเหลือเต็มที่จนผลลัพท์มีความใกล้เคียงของจริงอย่างมาก

อีกอย่างหนึ่งของความท้าทายในฉากไคลน์แม็กซ์ สายพานขุดแร่จะต้องถล่มพังทลาย แม้นี่เป็นสิ่งครุ่นคิดเตรียมการไว้ก่อนแล้ว แต่สถานการณ์จริงไม่มีใครคาดคิดถึงเรื่องน้ำหนัก หรืออันตรายถ้าเกิดความผิดพลาด ดูจากคลิปเบื้องหลังเห็นทุกคนกระโดดน้ำหนีตายกันอย่างพร้อมเพรียง

แซว: ที่ผมได้ยินในเบื้องหลัง บอกว่าเรือขุดลำนี้สร้างขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า ๗ ล้านบาท แต่เชื่อว่ารวมๆแล้วอาจไต่ไปถึง ๑๐ ล้านบาท ดั่งที่ตัวละครโม้ไว้จริงๆก็ได้

ไดเรคชั่นของการถ่ายภาพ มุ่งเน้นการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อย ยิบย่อยเต็มไปหมด แต่ละช็อตความยาวไม่มาก นักแสดงแค่เคลื่อนไหวทำโน่นนี่นั่นประกอบฉาก มิได้ต้องแสดงเค้นอารมณ์อย่างสมจริงจัง

ขณะที่ระยะภาพนั้นมีความหลากหลาย แต่สังเกตได้ว่าจะมีวิวัฒนาการกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยถ้าเป็นปีแรกๆจะเน้น Medium Shot เป็นส่วนใหญ่ พอสักปีสามกอดคอเมาเรียงแถวยาว ๔-๕ คน ขับร้องเพลง You are my sunshine. ยัดเยียดทุกคนร่วมหัวจมท้ายในเฟรมเดียว

เมื่อไหร่ที่ Establish Shot ปรากฎขึ้น มักเป็นภาพมุมกว้าง วิวทิวทัศนียภาพสวยๆ ธรรมชาติป่าเขา ปกคลุมด้วยหมอกหนา หรือเรือขุดแร่ทั้งลำ พบเห็นตั้งแต่เช้า-กลางวัน-เย็น-กลางคืน และย้อนแสงช็อตนี้งดงามไร้ที่ติ

ตัดต่อโดย ปาน บุษบรรณ เห็นร่วมงานกับพี่เก้งสองครั้ง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๕) กับ มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ. ๒๕๔๘), ล่าสุดคือหนึ่งในผู้ถือหุ้น GDH 559

หนังเล่าเรื่องด้วยมุมมองของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ด้วยเสียงบรรยายจากความครุ่นคิด/ทรงจำ/จดบันทึก หลายครั้งพูดออกมาในเชิงเปรียบเทียบ การทำงาน-ความรู้ในมหาวิทยาลัย และขึ้นข้อความ ปี ๑ – ปี ๔ บ่งบอกถึงกาลเวลาดำเนินเคลื่อนไป

สำหรับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ทำให้สามารถแบ่งออกเป็นตอนๆที่แฝงข้อคิดซ่อนเร้นอยู่มากมาย แต่ผมจะขอแยกแยะตามตัวละครดีกว่า จักได้พบเห็นมุมมองแตกต่าง
– นายฝรั่ง, เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ น้ำจิตน้ำใจงาม ชอบให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผลักดันผู้อื่น เมื่อสนิทสนมชิดเชื้อก็คุยง่าย ร่วมวงเมาปลิ้นด้วยกันบ่อย สามารถซื้อใจได้ทุกคน
– พี่จอน (นิรันต์ ชัตตาร์), หัวหน้านายเรือที่แม้เป็นคนไม่มีอนาคตเท่าไหร่ แต่ชอบวางมาดเท่ห์ทุกสถานการณ์ จักได้สามารถทีเล่นทีจริงกับลูกน้อง และทุ่มเทในการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
– ไอ้ไข่, ชีวิตแม้จะเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากขนาดไหน ยิ้มไว้แล้วจะมีความสุข
– โกต้อง (จุมพล ทองตัน), พ่อค้าหัวใสบ้าเลือดที่วันๆสนแต่เงินทอง ผลประโยชน์ส่วนตนเอง กระนั้นลึกๆแล้วก็ไม่อยากให้ใครต้องมาเดือดร้อนถึงขั้นเป็นตายเพราะตนเอง (ก็ยังมีความเป็นคนหลงเหลืออยู่บ้าง)
– ตาแดง, แก่แล้วไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความพึงพอเพียงในชีวิต ให้คำแนะนำดีๆ ช่วยเหลือลูกหลานบ้างบางครั้งครา
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย อมรพงศ์ เมธาคุณวุฒิ นักแต่งเพลงยอดฝีมือชาวไทย กรรมการผู้จัดการ/Music Direction บริษัท ไวด์แอทฮาร์ท จำกัด, ผลงานเด่น อาทิ ฟ้าทะลายโจร (พ.ศ. ๒๕๔๓), สตรีเหล็ก (พ.ศ. ๒๕๔๓), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. ๒๕๔๔), แฟนฉัน (พ.ศ. ๒๕๔๖) ฯ

เรื่องนี้เหมือนจะไม่ได้แต่งเพลงขึ้นใหม่ อย่าง Main Theme เรียบเรียงจาก Short Trip Home บทเพลง Classical Chamber Music แต่งโดย Edgar Meyer บรรเลงโดย Joshua Bell (ไวโอลิน), Edgar Meyer (เบส), Sam Bush (ไวโอลิน), Mike Marshall (กีตาร์)

แซว: หนังสูญเงินไปเยอะกับค่าลิขสิทธิ์เพลง โดยเฉพาะ You are my sunshine น่าจะหลักล้านเลยกระมัง! (ค่าลิขสิทธิ์เพลงต่างประเทศ แพงกว่าของไทยมากๆนะครับ)

ลองเทียบความแตกต่างกับ Main Theme ที่ใช้ Orchestra เต็มวง เริ่มต้นด้วยเครื่องสายสร้างสัมผัสชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก จมปลักอยู่กับความมืดมิด ตามด้วยเปียโนจุดประกายแห่งความหวัง กระหึ่มขึ้นพร้อมกันนั่นคือแสงสว่างแห่งโลกใบใหม่ ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสกว่าวันวาน

ผมรู้จักบทเพลง You are my sunshine (1939) แต่งโดย Jimmie Davis และ Charles Mitchell จากครูสอนภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนมัธยม ‘จานแกชอบร้องเพลงนี้มาก แถมพกกีตาร์ติดตัวมาด้วยในห้องเรียน สิ้นปีนั้นโรงเรียนจัดทริปไปขึ้นเขาค้างขึ้น กิจกรรมรอบกองไฟแน่นอนว่าไม่พลาด ถึงจะจดจำชื่อท่านไม่ได้แล้ว แต่ก็ตราฝังลึกบทเพลงนี้อยู่ในใจมิรู้ลืมเลือน

นำฉบับขับร้องโดย Jimmie Davis มาให้รับฟังกัน

มหา’ลัย เหมืองแร่ นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘มุมมอง’ ของการใช้ชีวิต ประสบการณ์เท่านั้นเป็นสิ่งขัดเกลา เสี้ยมสั่งสอนคนให้กลายเป็นคน เติบโตจากเด็กน้อยไร้เดียงสา สู่ผู้ใหญ่ที่มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ต่อตนเอง-ผู้อื่น และได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน สังคม ประเทศชาติ

การร่ำเรียนจากตำราทำให้เรามีความรู้พื้นฐาน สำเร็จการศึกษา ปริญญาคือใบเบิกทางแรกสำหรับชีวิตทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแทบทุกสถาน/บริษัทจะบอกให้ ‘โยนทุกสิ่งอย่างที่ติดตัวมาทิ้งไป’ เพราะโลกความจริงมันมักแตกต่างจากในหนังสือหนังหาโดยสิ้นเชิง

เฉกเช่นนั้นแล้วเราจะเรียนหนังสือไปทำไม ไม่เริ่มต้นที่การทำงานเลยละ? การศึกษาเป็นสิ่งบ่งชี้วัดสติปัญญาเบื้องต้นของมนุษย์ สามารถใช้แบ่งแยกคนฉลาด-ปานกลาง-ทึมทื่อ ค้นหาความชื่นชอบสนใจจักได้มุ่งไปทางนั้น ทั้งยังฝึกทักษะแก้ปัญหาทั่วไปเฉพาะหน้า กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุผลรองรับ

โลกยุคสมัยนี้บุคคลที่ขาดความรู้พื้นฐาน ถือว่าเป็นผู้เสียเปรียบคนอื่น จริงอยู่การศึกษาอาจไม่ได้สอนอะไรมากในสายงานเฉพาะทาง แต่ก็ทำให้พวกเขาไม่ได้ต้องเริ่มต้นจากศูนย์นับหนึ่งถึงร้อย การเริ่มต้นที่สิบยี่ยิบ ดั่งสำนวน ‘เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’ แทนความหมายนี้ได้เลย

ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญสุดของการทำงาน ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะความรู้หรือประสบการณ์ที่เรามี แต่ยังคือการเข้าสังคม และทัศนคติในการใช้ชีวิต
– แทบทุกอาชีพการงานในโลกต้องติดต่อพูดคุยสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นการเข้าสังคมถือว่ามีความจำเป็นมากๆ แม้ในบริบทของหนังเรื่องนี้ อาชีพกรรมกรมักเวียนวนอยู่กับอบายมุข สุรา นารี การพนันขันต่อ ก็ถือเป็นโลกที่ถ้าเราอาศัยอยู่ก็จำต้องล่องตามน้ำ ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ แต่แค่ระดับยินยอมรับได้ก็เพียงพอ สามารถตื่นเข้าลุกขึ้นไปทำงานต่อ รับผิดชอบภาระหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง
– สำหรับทัศนคติการใช้ชีวิต คือสิ่งที่เราอยากแสดงออกต่อผู้อื่น อาทิ นายฝรั่งชื่นชอบแจกเงินให้ชาวบ้าน เด็กๆเอาไปซื้อเสื้อผ้า สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ไร้การงาน, ไอ้ไข่ ไม่ว่าจะสุขทุกข์ก็ยังยิ้มแย้มอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดีเป็นบ้า, พี่จอน ข้าขอเท่ห์ระเบิดเถิดเทิงไว้ก่อน เกียรติ ศักดิ์ศรี ลูกผู้ชาย ฆ่าได้หยามไม่ได้ ฯ สิ่งเหล่านี้เราสามารถค่อยๆซึมซับ เรียนรู้เลียนจากตัวแบบอย่าง ไอดอลพบเห็นแล้วชื่นชอบประทับใจ หาจุดเหมาะสมปรับประยุกต์เข้ากับตัวเราเอง

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ คือมุมมองของคนชนชั้นกลาง-สูง ต่อการต้องลดตัวลงไปใช้แรงงานกรรมกร ซึ่งถือเป็นอาชีพของชนชั้นล่าง ต่ำต้อยสุดในสังคม นี่ไม่ได้จะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม หรือชี้นำการแบ่งแยก แต่จะบอกว่าถ้าเรามองหนังในมุมกลับตารปัตร จะพบเห็นหลายๆอย่างคาดคิดไม่ถึงทีเดียว

ไอ้เด็กหนุ่มเมืองกรุง สำออย สำอาง หน่อมแน้ม ทำอะไรไม่ค่อยเป็น เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี ข้าวปลาหุงหาช่วยตนเองไม่ได้ มาเหน็ดเหนื่อยตรากตำ จะทนได้กี่ข้าวน้ำปลา, สังเกตว่า เริ่มต้นมาด้วยความดูถูกหมิ่นแคลนไม่แตกต่างกัน

เออไอ้นี่มันก็พอทำงานได้ อึดอดทน ไม่ย่นย่อท้อแท้ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็พร้อมสู้ เหลือแค่ลองวัดใจมันดู ลูกผู้ชายตัวจริงหรือเปล่า, ช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ใจคน ก่อนยินยอมรับนับถือเข้าพวกเดียวกัน

ลูกผู้ชายมันต้องแบบนี้ ทำอะไรต้องให้ถึงที่สุด ด้วยความตั้งมั่นใจ แน่วแน่เด็ดเดี่ยว ไม่หวาดกลัวเกรง และเมื่อเกิดอุปสรรค์ปัญหา สามารถเสียสละตายแทนกันได้, นี่คือมิตรภาพที่แสดงออกมาด้วยความจริงใจ ดั่งพี่น้องร่วมสายเลือด ครอบครัวเดียวกัน

นี่ถือได้ว่า มหา’ลัย เหมืองแร่ มีเรื่องราวที่สะท้อน เข้าถึงวิถีชีวิตคนชนชั้นล่างได้ถึงแก่นสาระ กับคนที่ปัจจุบันคงเป็นกรรมกร หรือก้าวข้ามผ่านพ้นชนชั้นไปแล้ว นี่คือสัมผัสของความหวนระลึกถึง ‘Nostalgia’ โหยหาแต่เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากหวนกลับไป ให้มันเป็นบทเรียนวันนี้ สู่พรุ่งนี้ที่สดใสกว่าวันวานก็เพียงพอแล้ว

ศักดิ์ศรี ความอดทน และภาคภูมิใจ คงคือสามสิ่งที่พี่เก้ง จิระ มะลิกุล ถ่ายทอดลงมาใส่ภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความจำเป็นของชีวิต ควรต้องมีสามอย่างครบนี้ถือว่าคือ ลูกผู้ชายจริง!

แต่ว่าไปก็เฉพาะผู้ชายเท่านั้นจริงๆนะ หนังทั้งเรื่องพบเห็นผู้หญิงเพียง ๑ – ๒ คนครึ่ง ในมุมของสาวๆคาดเดาว่าคงได้รับบทเรียนความทุ่มเทพยายาม มุมานะ ไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนาม แรงบันดาลใจในการต่อสู้ใช้ชีวิต และอาจจดจำเป็นบทเรียน ไม่คบหาบุรุษผู้สำมะเลเทเมา หรือส่งเสริมให้ลูกหลายร่ำเรียนวิศวะ (เพราะสังคมนี้มันแบบว่า …)

ข้อคิดสุดท้ายของหนัง อย่าปล่อยให้ชีวิตตกต่ำต้อยจนกลายเป็นแบบ อาจินต์ ปัญจพรรค์ สำหรับวัยรุ่นอย่างน้อยตั้งใจร่ำเรียนหนังสือให้จบเพื่อว่าจะได้มีโอกาส แต่ถ้าไม่ชอบด้านนี้แล้วมองเห็นช่องทางอื่นเอาตัวรอด ก็ขออย่าให้ต้องเป็นภาระต่อผู้อื่นก็พอ สามารถพึ่งพาตนเองได้ อายุ ๓๐ ถ้ายังแบมือขอตังพ่อ-แม่ ก็รีบๆตระหนักรู้ให้จงได้ ไม่เช่นนั้นแก่ตัวไปหางานทั่วไปทำไม่ได้แล้ว สุดท้ายคงต้องเลือกระหว่างกรรมกรแบกหาม ขอทาน หรือบวชพระละทางโลก

ด้วยทุนสร้างสูงถึง ๗๐ ล้านเหรียญ เข้าฉายเพียง ๑๐ วัน ทำเงินได้เพียง ๑๙ ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน กระนั้นก็ได้เข้าชิง ๑๒ สาขา คว้ามา ๖ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๕๔๙
– ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (พิชญะ วัชจิตพันธ์)
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (สนธยา ชิตมณี) ** คว้ารางวัล
– ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Anthony Howard Gould)
– บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– กำกับภาพยอดเยี่ยม
– ลำดับภาพยอดเยี่ยม
– บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ** คว้ารางวัล
– ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบในส่วนของเนื้อเรื่องราว แฝงข้อคิดอันทรงคุณค่า ภาพถ่ายสวยๆ และบทเพลงประกอบเพราะๆ และ You are my sunshine. น้ำตาไหลทุกครั้งที่ได้ยิน

ด้วยความยาวของหนังสือ มหา’ลัย เหมืองแร่ ผมคิดว่าดัดแปลงสร้างเป็นซีรีย์ น่าจะมีคุณประโยชน์มหาศาล เพราะจักสามารถเก็บตกรายละเอียดเนื้อหา ผู้ชมเกิดความสัมพันธ์ต่อเรื่องราว/ตัวละครได้แนบแน่นแฟ้นกว่า

จัดเรต ๑๘+ กับความสำมะเลเทเมา ดื่มเหล้าดั่งน้ำ เมาการพนัน ใช้กำลังชกต่อยตีแก้ปัญหา

คำโปรย | “มหา’ลัย เหมืองแร่ มีเรื่องราวอันทรงคุณค่า แต่ไดเรคชั่นของ จิระ มะลิกุล ไม่ได้ทำให้ผู้ซึ้งซาบซ่านกับใจความหนังสักเท่าไหร่”
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | แค่ชื่นชอบ