Varieté (1925)


Varieté

Varieté (1925) German : E. A. Dupont ♥♥♥♡

Emil Jannings ทอดทิ้งภรรยาและบุตร เพื่อแสดงกายกรรมผาดโผนร่วมกับคนรักใหม่ Lya de Putti แต่การมาถึงของหนุ่มหล่อมือที่สาม Warwick Ward น่าจะพอคาดเดากันได้ว่าจักบังเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ผมค่อนข้างเชื่อว่าเมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงฉากนั้น ผู้ชมส่วนใหญ่จะครุ่นคิดคล้ายๆกันว่าตัวละครของ Emil Jannings ต้องแสร้งปล่อยมือกลางอากาศ ให้ชายชู้หรือคนรักใหม่พลัดตกจากที่สูงลงไป … นั่นไม่ใช่ความรู้สึกน่าอภิรมณ์เลยสักนิด!

ฉากดังกล่าวทำให้หนังมีลักษณะคล้ายกายกรรมผาดโผด ผู้ชมบังเกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสียวสันหลังวาบ เสมือนนั่งชมการแสดงนั้นอยู่จริงๆ โดยไม่รู้ตัวถูกชี้ชักชักนำทาง ลวงล่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบังเกิดขึ้นจริง … ซึ่งผมจะพยายามไม่สปอยแต่หนังก็แอบบอกใบ้สิ่งอาจจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ฉากแรกแล้วละ

Varieté หรือ Variety (1925) เป็นภาพยนตร์ที่มีความตึงเครียดทางอารมณ์สูงมากๆ สามารถจัดเข้าพวก German Expressionism โดยเฉพาะการแสดงอันทรงพลังของ Emil Jannings (แต่หลายคนอาจรู้สึกว่า Overacting มากเกิ้น) และงานภาพนำเสนอมุมมองแปลกๆ (การขยับเคลื่อนไหวกล้อง พยายามเลียนแบบกายกรรมผาดโผน) น่าเสียดายที่เนื้อเรื่องราวกลับไม่ค่อยมีสาระน่าสนใจสักเท่าไหร่


Ewald André Dupont (1891 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Zeitz, German Empire โตขึ้นเริ่มจากเป็นคอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ หันมาเขียนเรื่องสั้น บทหนัง กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Europe, General Delivery (1918) พอมีชื่อเสียงระดับหนึ่งในเยอรมัน จนกระทั่ง Variety (1925) ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนได้รับโอกาสมุ่งสู่ Hollywood แต่เหมือนจะปรับตัวไม่ได้เลยย้ายกลับมาประเทศอังกฤษ สรรค์สร้างอีกสามผลงเานเด่น Moulin Rouge (1928), Piccadilly (1929) และหนังพูด Atlantic (1929)

ลักษณะผลงานของ Dupont (เท่าที่ผมเคยรับชม) มักมีความผาดโผด หวาดเสียวไส้ ต้องมีฉากเต้นด้วยลีลายั่วเย้ายวน สนองกามารมณ์ ตัณหาราคะ สนองความพึงพอใจส่วนตน และเนื้อเรื่องราวท้าทายศีลธรรม/มโนธรรม ประเด็นอ่อนไหวเรื่องเพศเป็นสำคัญ

สำหรับ Varieté ดัดแปลงจากนวนิยายขายดี Der Eid des Stephan Huller/The Oath of Stephan Huller (1912) แต่งโดย Felix Hollaender (1867 – 1931) นักเขียน/ผู้กำกับละครเวที สัญชาติ German

เกร็ด: นวนิยายเล่มนี้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ถึง 5+1 ครั้ง

  • The Oath of Stephan Huller (1912) กำกับโดย Viggo Larsen
  • The Oath of Stephan Huller (1921) กำกับโดย Reinhard Bruck
  • Variety (1925) กำกับโดย E. A. Dupont
  • Variety (1935) กำกับโดย Nicholas Farkas
  • Variétés (1935) กำกับโดย Nicholas Farkas **สร้างขึ้นพร้อมกันแต่เปลี่ยนนักแสดงเป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมด
  • Drei vom Varieté (1954) Kurt Neumann

Dupont พัฒนาบทภาพยนตร์ร่วมกับ Leo Birinski (1884 – 1951) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ German ผลงานเด่นๆ อาทิ Waxworks (1924), Variety (1925), Mata Hari (1931) ฯ

เรื่องราวของ Boss Huller (รับบทโดย Emil Jannings) อดีตนักกายกรรมกลางอากาศ ครั้งหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง ปัจจุบันเปิดคณะการแสดงเล็กๆร่วมกับภรรยา (รับบทโดย Maly Delschaft) วันหนึ่งเพื่อนนักเดินเรือนำพานักเต้นสาวชาวอาหรับ Bertha-Marie (รับบทโดย Lya De Putti) มาขอความช่วยเหลือ ไม่นานเกิดความลุ่มหลงใหลตกหลุมรัก ตัดสินใจลักลอบเป็นชู้แล้วหนีไปอยู่ด้วยกัน

Boss Huller เลยถือโอกาสนั้นหวนกลับไปแสดงกายกรรมกลางอากาศร่วมกับ Bertha-Marie ประสบความสำเร็จจนไปเข้าตานักกายกรรมโลดโผนชื่อดัง Artinelli (รับบทโดย Warwick Ward) ซึ่งก็ได้ลักลอบเป็นชู้กับเธอ เมื่อเรื่องราวล่วงรู้ไปถึง Boss Huller จึงวางแผนกระทำบางสิ่งอย่างที่ชั่วร้าย


Emil Jannings ชื่อเดิม Theodor Friedrich Emil Janenz (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Rorschach, Switzerland ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Leipzig, German Empire สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีไปเที่ยวเล่นจนแม่ยอมให้เป็นนักแสดงในโรงละครประจำเมือง ครั้งหนึ่งออกทัวร์ทั่วประเทศจนเข้าตา Max Reinhardt เข้าร่วม Deutsches Theater, Berlin รู้จักสนิทสนมกับ Karl Vollmöller, Ernst Lubitsch (ขณะนั้นยังเป็นนักแสดง), Frieda Riess ฯ ต่อมาได้แสดงหนังสั้นที่กำกับโดยเพื่อนสนิท Lubitsch อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Madame DuBarry (1919), โด่งดังทั่วโลกจากร่วมงานกับ F. W. Murnau เรื่อง Der letzte Mann (1924), Herr Tartüff (1925), Faust (1926) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Way of All Flesh (1927) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Last Command (1928)

รับบท Boss Huller หลังจากประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง จิตใจยังคงโหยหาต้องการกลับไปแสดงกายกรรมกลางอากาศอีกสักครั้ง แต่ถูกภรรยาโน้มน้าวชักจูงจมูก ปัจจุบันจึงแค่เปิดคณะการแสดงเล็กๆ ชีวิตไร้ความตื่นเต้นท้าทายใดๆ จนกระทั่งการมาถึงของ Bertha-Marie จุดไฟราคะให้ลุกโชติช่วง ตัดสินใจละทอดทิ้งภรรยา(และลูก) ออกเดินทางครั้งใหม่ร่วมกับเธอเพื่อหวนกลับไปหาจุดสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง

รอยยิ้ม ความเบิกบานค่อยๆหวนกลับมาของ Boss Huller หลังจากได้ทำงานที่ตนรักอีกครั้ง แต่การมาถึงของชายหนุ่มหล่อ Artinelli ค่อยๆสร้างความสงสัย หวาดระแวง จนกระทั่งรับล่วงรู้การลักลอกคบชู้ นั่นทำให้จิตใจแตกสลาย แสดงสีหน้าโกรธเกลียดเคียดแค้น พร้อมประทุระเบิด ทำลายล้างทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้วอดวาย

โดยปกติแล้ว Jannings เป็นนักแสดงเลื่องลือชาในการเล่นใหญ่ บทบาทผู้นำ ประมุขของประเทศ หรือบุคคลสำคัญๆในประวัติศาสตร์ ที่ต้องใช้ภาพลักษณ์ Charisma และพลังในการแสดงสูงมากๆ

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะรับบทตัวละครสามัญชน คนธรรมดา นักแสดงกายกรรมกลางอากาศ แต่การเล่นใหญ่ของพี่แกคือการแสดงออกทางอารมณ์ อิจฉาริษยา เคลิบเคลิ้มหลงใหล โกรธเกลียดเคียดแค้น หมดสิ้นหวังอาลัย ถ่ายทอดผ่านสีหน้า ท่วงท่าทาง การขยับเคลื่อนไหว ซึ่งมีความตรงไปตรงไป ผู้ชมสามารถรับสัมผัสความรู้สึกนั้นได้อย่างชัดเจน

ผมเชื่อว่าความคิดเห็นผู้ชมต่อการแสดงของ Jannings น่าจะแตกออกเป็นสองฝั่งฝ่าย ยอดเยี่ยมมากๆ กับโคตร Over-Acting แต่เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคสมัย German Expressionism ซึ่งการแสดงเว่อๆเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก สามารถมองเป็นศิลปะเฉพาะ(ของเยอรมัน) จึงไม่ใช่ความผิดปกติประการใด

ประเด็นคือ ผมมองการแสดงของ Jannings มันยิ่งใหญ่ทรงพลังมากๆ จนกลบเกลื่อนตัวละครอื่นแทบหมดสิ้น ไม่มีใครสามารถท้าทาย ต่อกร หรือแม้แต่สบตา ต้องหัวหดตดหาย กลับเข้าไปอยู่ในกระดองแทบจะโดยทันทีเมื่อเผชิญหน้า นั่นสร้างความไม่สมดุลให้หนัง โดดเด่นอยู่ตัวคนเดียว แบกเรื่องราวที่น้ำหนักน้อยเกินมาตรฐานตนเอง ดูแล้วเหมือนจะไม่คุ้มค่าการเสียเวลาสักเท่าไหร่


Lya de Putti ชื่อจริง Amália Putti (1897 – 1931) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Vécse, Austria-Hungary (ปัจจุบันประเทศ Slovakia) บิดาเป็นทหารม้า มีพี่น้องสี่คน ด้วยความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าร่วมคณะละครเร่ กระทั่งเดินทางมาถึงกรุง Berlin กลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Die Herrin der Welt (1919), Phantom (1922), Varieté (1925), The Informer (1929) ฯ

รับบท Bertha-Marie นักเต้นสาวชาวอาหรับ ออกเดินทางมาแสวงโชคร่วมกับมารดาผู้ล่วงลับระหว่างทาง ได้งานเป็นนักเต้นในสังกัด Boss Huller ด้วยท่วงท่าลีลาอันยั่วเย้ายวน สามารถเกี้ยวพาราสี แก่งแย่งเขามาครอบครองได้สำเร็จ และกลายมาเป็นนักแสดงกายกรรมกลางอากาศ

เหมือนว่าแท้จริงแล้ว Bertha-Marie ไม่ได้มีความชื่นชอบ/รักใคร่ Boss Huller และการแสดงกายกรรมกลางอากาศสักเท่าไหร่ เมื่อมีโอกาสพบเจอ Artinelli แม้สังเกตได้ว่าเขาพยายามลวงล่อหลอกแต่กลับสมยินยอมให้ ตัดสินใจทรยศหักหลัง ลักลอบเป็นชู้นอกใจสามี สุดท้ายผลกรรมก็ติดตามทัน ตกบันไดคอหักตาย หมดสิ้นความเพ้อฝันทะเยอทะยาน

Putti เป็นนักแสดงได้รับการจดจำในบทบาท ‘Vamp’ หญิงสาวสวยรวยเสน่ห์ ชอบใช้มารยาหญิงลวงล่อหลอกบุรุษ ขูดรีดเอาทุกสิ่งอย่างหมดเกลี้ยงแล้วก็จากไปอย่างไร้เยื่อใย

สำหรับบทบาทนี้ของ Putti ก็ถือว่าตรงตาม ‘Vamp’ ลวงล่อหลอก Boss Huller และกำลังเตรียมการวางแผนทอดทิ้งไปคบหาคนรักใหม่ Artinelli แต่ผมกลับรู้สึกว่ามารยาหญิงของเธอมีไม่ค่อยมากสักเท่าไหร่ หรือไม่รู้เพราะฉากเหล่านั้นสูญหายไปกับการตัดต่อของกองเซนเซอร์รึป่าวนะ (มีแนวโน้มสูงมากๆที่จะเป็นเช่นนี้)

แต่เพราะความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ Putti ได้รับโอกาสเซ็นสัญญา เดินทางมุ่งสู่ Hollywood น่าเสียดายที่เธอไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ และพลันด่วนจากไปก่อนวัยอันควร


Warwick Ward (1891 – 1967) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St. Ives, Cornwall เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ประสบความสำเร็จในยุคหนังเงียบ ก่อนผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์เมื่อการมาถึงของยุคหนังพูด ผลงานเด่นๆ อาทิ Wuthering Heights (1920), Bulldog Drummond (1922), Varieté (1925), The Informer (1929) ฯ

รับบทนักกายกรรมหนุ่มหล่อ Artinelli ก่อนหน้านี้มีชื่อเสียงโด่งดังร่วมกับพี่น้อง แต่พวกเขาประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากที่สูงทำให้ขณะนี้กำลังว่างงาน เมื่อพบเห็นการแสดงของ Bertha-Marie เกิดความชื่นชอบประทับใจ ใช้ข้ออ้างเซ็นสัญญาแสดงร่วมกัน แล้ววางแผนชักจูงเธอมาเข้าห้อง ใช้กำลังขมขืน ซึ่งเธอกลับสมยอมโดยดี ถึงอย่างนั้นเมื่อความรู้ถึง Boss Huller พวกเขาจึงมิอาจหลบพ้นโชคชะกรรม

ใบหน้าของ Ward แม้หล่อเหลา(มั้งนะ)แต่มีความโฉดอยู่เล็กๆ ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มว่ามีความสนใจใน Bertha-Marie ซึ่งวิธีการของเขาก็ถือชั่วร้าย ไร้ยางอาย ขณะเผชิญหน้า Boss Huller พยายามเพิกเฉย เล่นละครตบตา และเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ก่อนตายแสดงธาตุแท้ตัวตนออกมา

บทบาทของ Ward ผมรู้สึกว่ายังมีความน่าสนใจกว่า Putti เสียอีกนะ! โดยเฉพาะฉากไคลน์แม็กซ์ขณะมึนเมา พยายามเสแสร้ง เล่นละครตบตา แต่เมื่อรับรู้ว่ามิอาจหลบหนีพ้นโชคชะตา ก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นหมาวัด แสดงความขี้ขลาดเขลาออกมา เห็นแล้วช่างน่าสมเพศเวทนา


ถ่ายภาพโดย Carl Hoffmann (1885 – 1947) และ Karl W. Freund (1890 – 1969) ทั้งสองต่างเป็นตากล้องระดับตำนาน สัญชาติ German โดยเฉพาะ Freund คือผู้คิดค้นเทคนิค ‘unchained camera’ ค้นหาทุกความเป็นไปได้ของการถ่ายภาพ

แนวคิดการถ่ายภาพของ Varieté (1925) ต้องชมเลยว่ามีความโลดโผน พิศดาร พยายามอย่างยิ่งให้ผู้ชมรู้สึกตื่นตาใจ พบเห็นมุมมองแปลกๆ คล้ายการแสดงกายกรรม โหนตัวกลางอากาศ

หน้งก่อสร้างฉากถ่ายทำยัง Templehof Studios, Berlin (Art Direction โดย Alfred Junge และ Oscar Friedrich Werndorff) เว้นเพียงการแสดงกายกรรมกลางอากาศ ใช้สถานที่ Berlin Wintergarten theatre

ฉากนักโทษเดินวนเป็นวงกลม ทำให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ A Clockwork Orange (1971) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ซึ่งได้แรงบันดาลใจฉากคล้ายๆกันนี้จากภาพวาดสีน้ำมัน Prisoners Exercising (after Gustave Doré) ผลงานของ Vincent van Gogh เมื่อปี ค.ศ. 1890

การออกแบบฉากคุก ทั้งกำแพงสูงใหญ่ และโถงทางเดินห่างไกล เพื่อให้ผู้ชมรับรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เมื่อใครคนหนึ่งพลัดหลงทางเข้าไปแล้ว ยากจะสามารถหวนกลับออกมาสู่โลกปกติ

ขณะเดียวกันยังสามารถสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร Boss Huller แม้เหตุการณ์ที่เขาเคยกระทำจะพานผ่านมากว่า 10 ปี แต่ยังคงจมปลัก ปิดกั้นตัวเอง ปฏิเสธที่จะหาหนทางออกจากความรู้สึกผิดดังกล่าว

หนังไม่เร่งรีบร้อนเปิดเผยใบหน้าตาอาชญากรรายนี้ นี่เป็นเทคนิคการนำเสนอเพื่อสร้างความฉงนสงสัย ผู้ชมรู้สึกใคร่อยากรับรู้เห็น หมอนี่เป็นใครกัน? … แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะบอกได้ เพราะเรือนร่างของ Emil Jannings ช่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

จะว่าไปการเริ่มต้นด้วยภาพถ่ายด้านหลังตัวละคร ก็เพื่อจะสะท้อนถึงวิธีการดำเนินเรื่องของหนัง หลังจากจากนี้จะทำการย้อนอดีต (Flashback) ตั้งแต่เริ่มต้นถึงจนจบเลยละ!

และวิธีการที่หนังใช้เริ่มต้นเล่าย้อนอดีต นักแสดงจะเดินเข้ามาบดบังผู้คุม จากนั้นใช้เทคนิค Iris Zoom-In ลักษณะเหมือนดวงตาซูมเข้าหาหมายเลข 28 (ตัวเลขอยู่หลังเสื้อนักโทษ)

จริงๆเราสามารถมองเห็น Emil Jannings ได้ตั้งแต่ภาพช็อตแรกที่มีการย้อนอดีต แต่พี่แกยืนห่างไกลไปสักนิด คือพิธีกรบนเวทีกำลังตีระฆังอยู่ (สังเกตเห็นกันไหมเอ่ย)

ระยะภาพที่พบบ่อยคือ Medium Shot เพราะสามารถมองเห็นการแสดงออกทางสีหน้า และการขยับเคลื่อนไหวร่างกายท่อนบนของตัวละคร ซึ่งใช้ถ่ายทอด ‘Expression’ อารมณ์ความรู้สึกจากภายในออกมาได้ชัดเจนที่สุด

การลักลอบได้เสียระหว่าง Artinelli และ Bertha-Marie ใช้ประตูและหน้าต่างเป็นสัญลักษณ์เข้าๆออกๆ ที่ผู้ชมน่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าจักบังเกิดอะไรขึ้นในห้อง

วิธีการของชายหนุ่มคือเปิดประตูและหน้าต่าง เมื่อหญิงสาวเข้ามาถูกขอให้ปิดประตู (เพราะลมมันพัดเข้ามาทางหน้าต่าง) สายตาของเธอดูเหมือนจะสามารถเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยินยอมปิดโดยดี จากนั้นเขาทะยานเข้ามาขวางทางเข้า ดึงกุญแจออก โอบกอดจุมพิต และเดินไปปิดม่านหน้าต่าง … นี่แหละมารยาบุรุษ ลวงล่อหญิงสาวมาข่มขืน แต่บริบทนี้คงต้องเรียกว่าสมยินยอมจะตรงกว่า

Emil Janning (รวมไปถึง Lya De Putti และ Warwick Ward) ไม่น่าจะมีความสามารถด้านกายกรรมโลดโผน เลยไม่แปลกที่ภาพขณะแสดงพบเห็นจากระยะไกลและไม่เห็นใบหน้า (เพราะใช้นักแสดงแทน) แต่ก็บางช็อตที่ต้องใช้การ Close-Up น่าจะไม่ยากเกินไปที่ Jannings (และนักแสดงอื่นๆ) จะปีนป่ายขึ้นไปเกาะราวเพื่อถ่ายทำ

นี่ต้องชื่นชมเทคนิคการตัดต่อที่มีความแนบเนียน ลื่นไหล สลับไปมาระหว่างภาพการแสดงกายกรรมโลดโผน และปฏิกิริยาคนดูเบื้องล่าง ทำให้ผู้ชมหนังไม่ทันสังเกตลูกเล่นที่ซ่อนเร้นอยู่ของผู้สร้าง

มีการใช้ภาพ Abstact (ดูแล้วได้แรงบันดาลใจจาก Dadism ทางฝั่งประเทศฝรั่งเศส) เพื่อแทนอาการวิงเวียน สับสนของตัวละคร เป็นขณะที่ตัวละคร Boss Huller กำลังสองจิตสองใจ ครุ่นคิดว่าจะเข่นฆาตกรรมชายโฉดหญิงชั่วคู่นี้หรือไม่

ไคลน์แม็กซ์ของหนังเริ่มต้นแบบเดียวกับตอน Prologue คือตัวละครของ Emil Jannings หันหลังเข้ากล้อง ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท ส่วนบุคคลที่หันหน้าคือศัตรูหัวใจหมายเลขหนึ่ง มันจะเกิดไรขึ้นต่อไป…

ใบหน้านิ่วคิ้วขมวดของ Emil Jannings ช่างตรงไปตรงมาถึงความโกรธเกลียดเคียดแค้น วันนี้จักต้องมีใครสักคนตกตายอย่างแน่นอน เขาค่อยๆเดินตรงเข้ามาหากล้องแล้วโยนมีสองเล่ม เลือกเอาว่าจะต่อสู้วิธีไหน!

ความเป็นศิลปะชั้นสูงในการต่อสู้ระหว่างสองตัวละคร น่าจะสร้างอิทธิพลมากยิ่งให้ผู้กำกับ Alfred Hitchcock เพราะผู้ชมจะไม่พบเห็นเลือด หรือขณะมีดทิ่มแทงร่างกาย พวกเขาต่อสู้กันนอกจอ อาจมีบางส่วนของร่างกายโผล่เข้ามา และสิ้นสุดด้วยการแสดงให้เห็นผลลัพท์ ใครเป็น ใครตาย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

สำหรับการเสียชีวิตตกบันได (น่าจะคอหักตาย) ของ Bertha-Marie ถือว่าบังเกิดขึ้นจากการกระทำตนเอง สะท้อนเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เริ่มต้นทำให้ Boss Huller นอกใจภรรยา แล้วตนเองต่อมาก็ลักลอบคบชู้สู่ชาย สามารถเรียกว่าผลกรรมติดตามตัน

ไม่นานมานี้ผมเพิ่งรับชม The Housemaid (1960) พบเห็นความตายของสาวใช้ ในท่วงท่าแบบเดียวกันเปี๊ยบ แถมเนื้อเรื่องราวรักสามเส้า คบชู้สู่ชาย ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึงกันเหลือเกิน ดูแล้วน่าจะได้แรงบันดาลใจมาไม่น้อยทีเดียว

เมื่อหนังตัดกลับมาปัจจุบัน ถ่ายให้เป็นใบหน้านิ่วคิ้วขมวดของ Boss Huller แสดงถึงอาการที่ยังจมปลักอยู่กับความทุกข์ในอดีต แต่มาวันนี้เมื่อสามารถพูดเล่าความจริงทั้งหมดออกไป ช็อตสุดท้ายประตูคุกได้เปิดออก สื่อว่าจิตใจของเขาได้รับการปลดปล่อยออกสู่อิสรภาพเสียที

ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต, หนังดำเนินเรื่องผ่านความทรงจำ ย้อนอดีต (Flashback) ในมุมมองของ Boss Huller ต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ที่เขาได้เข่นฆาตกรรมคนตาย ติดคุกเพื่อชดใช้ความผิด และกำลังจะได้รับการปลดปล่อยตัวให้ชีวิตได้รับอิสรภาพ

  • อารัมบท, Boss Huller เริ่มเล่าเรื่องย้อนอดีต 10 ปีก่อนหน้า
  • องก์แรก, การมาถึงของ Bertha-Marie ทำให้ Boss Huller ตัดสินใจทอดทิ้งภรรยาและบุตร ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่
  • องก์สอง, ความสุขที่แสนสั้นระหว่าง Boss Huller กับ Bertha-Marie จนกระทั่งการมาถึงของ Artinelli ค่อยๆบ่อนทำลายความสัมพันธ์พวกเขาจากภายใน
  • องก์สาม, เมื่อ Boss Huller รับล่วงรู้ความจริงทั้งหมด จึงตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่เลวร้าย
  • ปัจฉิมบท, หวนกลับมาปัจจุบัน Boss Huller ได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ

เราสามารถพบเห็นเทคนิคการลำดับภาพ Montage อยู่บ่อยครั้งในหนัง อาทิ

  • ผ่านสายตาของ Boss Huller เปรียบเทียบทรวงทรงองค์เอวระหว่างภรรยากับ Bertha-Marie
  • เริ่มต้นองก์สอง มีการร้อยเรียงชุดการแสดงกายกรรม อาทิ หมุนชาม, ทรงตัว, โยนลูกบอล, ระบำงู, ปั่นจักรยานล้อเดียว, เต้นรำ Can-Can, แสดงมายากล ฯลฯ
  • ระหว่างการแสดงกายกรรมกลางอากาศ ตัดสลับระหว่างภาพการแสดงโลดโผน และปฏิกิริยาตื่นเต้นหวาดเสียวของผู้ชมเงยหน้าขึ้นมอง

สิ่งน่าทึ่งสุดของการลำดับเรื่องราว คือความพยายามชี้ชักนำทางผู้ชม ส่วนใหญ่เป็นการลวงล่อหลอกให้หลงเข้าใจผิดๆ เกิดความครุ่นคิดจินตนาการเพ้อไปไกล โดยไฮไลท์คือหลังจาก Boss Huller รับล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับชายโฉดหญิงชั่ว ลักลอบเป็นชู้นอกใจ จู่ๆหนังแทรกภาพอุบัติเหตุระหว่างการแสดงกายกรรมกลางอากาศ นั่นทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดระแวง อกสั่นขวัญแขวนว่าเหตุการณ์นั้นอาจบังเกิดขึ้นจริง (เกิดขึ้นหรือไม่ ให้ไปรับชมเอาเองดีกว่า!)

มันไม่ใช่แค่ Sequence นั้นอย่างเดียวนะครับ ตลอดทั้งเรื่องล้วนมีเหตุการณ์ล่อๆลวงๆ เกิดขึ้นทั้งกับผู้ชมและตัวละคร อาทิ

  • Boss Huller ถูกลวงล่อหลอกให้ตกหลุมรัก Bertha-Marie ถึงขนาดัดสินใจทอดทิ้งภรรยาและลูก ก็ครุ่นคิดว่าชีวิตหลังจากนี้คงจักพบเจอความสุข แต่กลับถูกทรยศหักหลังในช่วงท้าย
  • Bertha-Marie ถูกลวงล่อหลอกเข้าห้องของ Artinelli จากข่มขืนกลายเป็นสมยอม ลักลอบคบชู้นอกใจ
  • Boss Huller จงใจบอกว่าจะกลับดึก ล่อหลอกให้ Artinelli ไปดื่มกินกับ Bertha-Marie จนมึนเมามาย แต่แท้จริงแอบหลบซ่อนเฝ้ารอคอยอยู่ในห้อง
  • Artinelli พยายามเสแสร้งเล่นละครตบตาขณะมึนเมา เพราะไม่คิดว่า Boss Huller จะเอาจริงเรื่องการต่อสู้ แต่เมื่อพบว่าเขาไม่ได้พูดเล่นเลยต้องแสดงธาตุแท้จริงออก
    ฯลฯ

Variety แปลตรงตัวหมายถึงความหลากหลาย, แตกต่างกัน (ไม่เจาะจงว่าเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือะไร) แต่ในบริบทของหนังน่าจะสื่อถึงกิจกรรมการแสดง อาทิ กายกรรมโลดโผน ละครเวที คณะละครสัตว์ ฯ

เรื่องราวของ Variety นำเสนอความหลากหลายทางอารมณ์ ที่ตัวละครได้ประสบพบในช่วงเวลาแห่งรัก สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก หลงใหล-โกรธเกลียด ความรู้สึกผิด และการยกโทษให้อภัย สิ่งใดๆเคยเก็บซ่อนเร้นอยู่ภายใน(จิตใจ) เมื่อสามารถพูดบอกสารภาพออกมา ท้ายสุดจักได้รับโอกาสโบยบินสู่อิสรภาพเสรี

Boss Huller เป็นบุคคลผู้ใช้ชีวิตอยู่กับอารมณ์ ขึ้นๆลงๆ เมื่อมีสิ่งใดๆมากระทบก็มิอาจนิ่งสงบ หักห้ามใจ ควบคุมตนเองได้สักเท่าไหร่ ก็เหมือนการละเล่นกายกรรมกลางอากาศ ที่ต้องกระโดดโลดโผนไปมา ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจพลัดตกลงมาชะตาขาดได้

ความผิดพลาดของ Boss Huller คือการมิอาจควบคุมตนเอง เมื่ออารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นเข้าครอบงำจึงขาดสติหยุดยับยั้งคิด จึงกระทำสิ่งชั่วร้ายแสดงออกด้วยสันชาติญาณ เมื่อเหตุการณ์สงบลงถึงค่อยตระหนึกขึ้นมาได้ ตัดสินใจมอบตัวรับสารภาพผิด ยินยอมควบคุมขังตนเองด้วยระยะเวลาสิบปีเพื่อเป็นการชดใช้กรรม

‘ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์’ เพราะมนุษย์มักยึดติดอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก เมื่อได้ครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งใดจักบังเกิดความหึงหวงแหน ไม่ต้องการให้ใครมาแก่งแย่งชิงสิ่งนั้นของตน แต่น้อยคนจะครุ่นคิดว่า อะไรๆที่เราเคยไขว่คว้ามา สักวันหนึ่งย่อมต้องสูญเสียไป นี่ต่างหากคือสัจธรรมแห่งชีวิต ถ้าสามารถครุ่นคิดจนเข้าใจได้ ย่อมไม่มีอะไรในสากลจักรวาลให้หมกมุ่นครุ่นยึดติดอีกต่อไป

ผู้กำกับ E. A. Dupont ดูเหมือนต้องการเปรียบเทียบเรื่องราวหนังกับสิ่งบังเกิดขึ้นกับชนชาวเยอรมันเมื่อเกือบๆ 10 ปีก่อน (ค.ศ. 1915) จักรวรรดิเยอรมันถือว่าก้าวมาถึงจุดสูงสุดแห่งความยิ่งใหญ่ แต่เพราะความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ริเริ่มต้นสงครามโลกครั้งหนึ่ง สุดท้ายกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แปรสภาพสู่สาธารณรัฐไวมาร์ ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีถัดมา ราวกับคนคุก ไร้ซึ่งแสงสว่างแห่งความหวัง จากนี้มีเพียงถ้าเรายินยอมรับความจริงเท่านั้น ประตูสู่อนาคตถึงจักเปิดออกให้สามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

แม้เนื้อเรื่องราวรักๆใคร่ๆ คบชู้สู่ชาย อิจฉาริษยา เข่นฆ่ากันตาย จะไม่ได้มีสาระประโยชน์สักเท่าไหร่ แต่ผมค่อนข้างพึงพอใจแนวความคิดตอนจบ การเผชิญหน้าตนเอง ยินยอมรับความจริง เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้สามารถก้าวข้ามผ่านอดีตอันเลวร้าย


Varieté (1925) เป็นผลงานสร้างชื่อให้ผู้กำกับ E. A. Dupont ประสบความสำเร็จล้นหลามระดับนานาชาติ กลายเป็นใบเบิกทาง เซ็นสัญญาโปรดิวเซอร์ Carl Laemmle แห่ง Universal Pictures เดินทางมุ่งสู่ Hollywood โดยทันที!

แต่ถึงอย่างนั้นชะตากรรมของหนังถือว่าโคตรบัดซบ เพราะเนื้อหามีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยง (โดยเฉพาะ Lya de Putti อาจดูยั่วสวาท ร่านราคะเกินไป) ทำให้หลายๆประเทศมีการตัดฉากโน่นนี่นั่นออกไป โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เห็นว่าฟีล์มม้วนแรกถูกโยนทิ้งลงถังขยะโดยไม่เสียเวลา (Boss Huller ทอดทิ้งภรรยาและบุตร เพื่อครองรักใหม่กับ Bertha-Marie)

หนังมีความพยายามที่จะบูรณะ รวบรวมฟุตเทจที่สูญหาย ถูกตัดต่อออกไปเมื่อตอนนำออกฉายยังประเทศต่างๆ ประมาณ 90% แล้วเสร็จเมื่อปี 2015 โดย Friedrich Wilhelm Murnau Foundation ร่วมกับ Filmarchiv Austria in Vienna คุณภาพ 2K มีวางขายทั้ง Kino Classic และ Masters of Cinema

แม้หนังจะเต็มไปด้วยตำหนิเล็กๆน้อยๆมากมาย แต่ส่วนตัวมีความประทับใจไดเรคชั่นผู้กำกับ E. A. Dupont สามารถลวงล่อหลอกผู้ชม สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก (น่าจะเป็นอิทธิพลให้ Alfred Hitchcock ไม่น้อยทีเดียว) นอกจากนี้ก็การแสดงเว่อๆของ Emil Jannings และงานภาพมุมกล้องแปลกๆที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

เกร็ด: หนังเงียบเรื่องนี้เคยเข้าฉายเมืองไทย ช่วงเทศกาลภาพยนตร์เงียบ ครั้งที่ 3 ณ โรงภาพยนตร์สกาลา จำนวน 2 รอบ วันที่ 20 และ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559

จัดเรต 15+ กับความอิจฉาริษยา ลักลอบเป็นชู้ และการเข่นฆาตกรรม

คำโปรย | Varieté กายกรรมผาดโผนของผู้กำกับ E. A. Dupont ที่ได้ทั้งเสียงปรบมือและโห่ใส่
คุณภาพ | ผาดโผน
ส่วนตัว | ประทับใจ

Die freudlose Gasse (1925)


Die freudlose Gasse (1925) German : G. W. Pabst ♥♥♥♡

ผู้กำกับ G. W. Pabst ต้องการตีตนออกห่าง German Expressionism เลยสรรค์สร้างผลงานเรื่องที่สาม The Joyless Street (1925) ริเริ่มต้นยุคสมัย New Objectivity และยังช่วยขัดเกลา Greta Garbo ก่อนออกเดินทางมุ่งสู่ Hollywood

เมื่อพูดถึง Golden Age of German Cinema หลายคนคงครุ่นคิดถึงแต่ German Expressionism จริงๆแล้วยังมีอีกยุคสมัยหนึ่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ ด้วยลักษณะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง มีคำเรียกว่า Neue Sachlichkeit หรือ New Objectivity

New Objectivity บางทีก็เรียกว่า New Sobriety หรือ New matter-of-factness คือกลุ่มการเคลื่อนไหวทางศิลปะช่วงทศวรรษ 1920s ถือกำเนิดขึ้นเพื่อโต้ตอบกลับ Expressionism โดยมีลักษณะมุ่งเน้นความสมจริง งานศิลป์จับต้องได้ (ไม่จำเป็นต้องถ่ายทำยังสถานที่จริงอย่าง Realist/Neorealist) งานภาพ/ตัดต่อนำเสนอย่างความตรงไปตรงมา การแสดงไม่ขยับเคลื่อนไหวเว่อวังอลังการ ขณะที่เนื้อเรื่องราวมักเกี่ยวกับปัญหาสังคม ความยากจนข้นแค้น สะท้อนผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

Die freudlose Gasse หรือ The Street of Sorrow หรือ The Joyless Street (1925) ไม่เพียงเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่จัดเข้ากลุ่ม New Objectivity แต่ยังคือผลงานแจ้งเกิดโด่งดัง สร้างชื่อให้ผู้กำกับ G. W. Pabst สามารถเทียบชั้นระดับตำนาน

แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า “Joyless” นี่เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ง่ายในการรับชมเลยนะครับ แถมความยาวฉบับบูรณะ 2 ชั่วโมงครึ่ง ย่อมสร้างความเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้ากาย-ใจอย่างแน่นอน

ซึ่งความยากในการรับชมเกิดจากความสลับซับซ้อนของเนื้อเรื่องราว ตัดสลับพล็อตรองเยอะมากๆ ขณะที่ไฮไลท์คือการแสดงของทั้ง Greta Garbo และ Asta Nielsen ต่างเจิดจรัสในทิศทางที่สวนทางกัน (ทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง)


Georg Wilhelm Pabst (1885 – 1967) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian เกิดที่ Bohemia, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) บิดาเป็นพนักงานรถไฟ ทำให้วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นวิศวกร แต่โตขึ้นกลับเลือกเข้าเรียนการแสดงยัง Vienna Academy of Decorative Arts จบออกมาทัวร์ยุโรปและอเมริกา ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครทหารแต่ไม่ทันไรถูกจับเป็นนักโทษเชลยสงครามที่เมือง Brest (French Prison Camp) กลายเป็นผู้จัดการแสดง Theatre Group ของค่ายกักกันนั้น, หลังสิ้นสุดสงครามหวนคืนสู่ Vienna ได้งานผู้จัดการโรงละคร Neue Wiener Bühne เข้าตา Carl Froelich ชักชวนสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นผู้ช่วยและกำกับเองเรื่องแรก The Treasure (1923), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Joyless Street (1925), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929), Diary of a Lost Girl (1929), The White Hell of Pitz Palu (1929), Westfront 1918 (1930) ฯ

ความสนใจของ Pabst ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก The Treasure (1923) ทำการผสมผสานการออกแบบฉากสไตล์ Expressionist เข้ากับการแสดงที่เป็นธรรมชาติ Naturalist แน่นอนว่ามันยังคลุกเคล้าไม่ค่อยเข้ากันสักเท่าไหร่ แต่ก็ค่อยๆทดลองปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งผลงานลำดับที่สาม The Joyless Street (1925)

ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายชื่อเดียวกัน Die freudlose Gasse ตีพิมพ์เมื่อปี 1924 แต่งโดย Hugo Bettauer ชื่อจริง Maximilian Hugo Bettauer (1872 – 1925) นักเขียน/นักข่าว สัญชาติ Austrian เชื้อสาย Jews ซึ่งขณะนั้นเจ้าตัวพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่ม Anti-Semitism ทำให้ถูกลอบสังหารโดยสมาชิกหัวรุนแรงพรรคนาซี ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างเสร็จสิ้น

มอบหมายหน้าที่ดัดแปลงบทให้ Willy Haas (1891 – 1973) นักเขียน/นักวิจารณ์ สัญชาติ German, ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Pabst ต้องการให้ซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยายมากที่สุด

เรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ยัง Melchior Street, กรุง Vienna, ประเทศ Austria, เมื่อปี ค.ศ. 1921 ประกอบด้วย

  • Maria/Marie Lechner (รับบทโดย Asta Nielsen) ด้วยความหวาดกลัวเกรงว่าบิดาจะใช้กำลังความรุนแรง เลยตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน ยินยอมทำงานโสเภณีขายเรือนร่างกาย เก็บสะสมเงินทองวาดฝันหลบหนีร่วมกับแฟนหนุ่ม แต่วันหนึ่งพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ชายคนรักกำลังเกี้ยวพาหญิงสาวอื่น เลยกระทำการเข่นฆาตกรรมเธอผู้นั้นด้วยความอิจฉาริษยา และป้ายสีความผิดให้เขา
  • Greta Rumfort (รับบทโดย Greta Garbo) บุตรสาวในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่กับน้องสาวคนเล็กและบิดา Councilor Rumfort (รับบทโดย Jaro Fürth) เป็นข้าราชการกำลังจะถูกให้ออก เลยตัดสินใจกู้เงินแล้วไปลงทุนซื้อหุ้น ปรากฎว่าขาดทุนย่อยยับเยิน เธอเลยถูกโน้มน้าวโดยช่างตัดเสื้อแต่เบื้องหลังคือแม่เล้า Frau Greife (รับบทโดย Valeska Gert) กำลังสองจิตสองใจว่าจะขายตัวใช้หนี้คืนสินหรือไม่
  • Else (รับบทโดย Hertha von Walther) ได้รับความสงเคราะห์ให้อาศัยอยู่ห้องเก็บของโรงแรม Merkl Hotel ร่วมกับสามีและทารกน้อย ตัดสินใจขายเรือนร่างกายให้คนขายเนื้อ Josef Geiringer (รับบทโดย Werner Krauss) เพื่อแลกเศษอาหารเล็กๆน้อยๆ แต่ผ่านมาอีกหลายวันอะไรๆก็ไม่ดีขึ้นกว่าเดิม หวนกลับไปชายคนนั้นอีกครั้งแต่กลับได้รับการปฏิเสธ ด้วยความสิ้นหวังสุดๆเธอเลยตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่สุดแสนชั่วร้าย
  • Don Alfonso Canez de Valparaiso (รับบทโดย Robert Garrison) ชายสูงวัยเดินทางสู่กรุง Vienna เพื่อหวังทำธุรกิจบางอย่างให้ได้เงินมหาศาลกลับไป ใช้วิธีปล่อยข่าวหลอกๆเพื่อให้หุ้นของบริษัทหนึ่งตกต่ำแล้วกวาดซื้อในราคาถูก เมื่อข้อเท็จจริงเปิดเผยค่อยขายคืนเมื่อกำไรเพิ่มขึ้นสองเท่า
  • Egon Stirner (รับบทโดย Henry Stuart) ชายหนุ่มทำงานธนาคาร อดีตเคยตกหลุมรัก Maria แต่ปัจจุบันเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง พยายามเกี้ยวพาราสี Lia Leid (รับบทโดย Agnes Esterhazy) แต่เธอแนะนำให้เขากลายเป็นเศรษฐีก่อนถึงยินยอมรับรัก จู่ๆการเสียชีวิตของเธอทำให้เขาตกเป็นแพะรับบาป ค่อยมารับรู้ทีหลังว่าเป็นฝีมือของ Maria ที่ยินยอมรับสารภาพว่าทำไปด้วยความอิจฉาริษยา

Asta Sofie Amalie Nielsen (1881 – 1972) นักแสดงสัญชาติ Danish ถือว่าเป็น ‘First International Movie Stars’ เกิดที่ Vesterbro, Denmark โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Royal Danish Theatre จบออกมาทำงานโรงละคร Dagmar Theatre จากนั้นออกทัวร์สแกนดิเนเวีย แล้วเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1909 มีชื่อเสียงโด่งดังกับสไตล์การแสดง Minimalist สาวน้อยหน้าใสถูกลวงล่อหลอกเข้าสู่ด้านมืด/โศกนาฎกรรม และลีลาท่าเต้นอันยั่วเย้ายวน ‘Gaucho Dance’ นั่นทำให้ค่าตัวของเธอเมื่อปี 1914 พุ่งทะยานถึง $85,000 เหรียญต่อปี สูงที่สุดในโลกขณะนั้น

รับบท Maria/ Marie Lechner หญิงสาวผู้เต็มไปด้วยความหวาดระแวง กลัวเกรงบิดาจะใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย พบเห็นการขายตัวแลกเศษอาหารของ Else ทีแรกพยายามหยุดยับยั้งหักห้ามใจ แต่สุดท้ายก็ยินยอมมอบเรือนร่างกายให้ Don Alfonso Canez

เช่นกันกับชายหนุ่มคนรัก Egon Stirner ทีแรกต้องการหลบหนีไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน แต่หลังจากพบเห็นเขากำลังเกี้ยวพาราสีหญิงอื่น เกิดความอิจฉาริษยาเลยกระทำการเข่นฆาตกรรมเธอคนนั้น ใส่ร้ายป้ายสีให้ชายหนุ่ม แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งครุ่นคิดสำนึกได้ ตัดสินใจมอบตัวกับทางการ โทษประหารคงอีกไม่นานเกินรอ

ผู้ชมสมัยนี้น่าจะไม่ค่อยมีใครรับรู้จัก Asta Nielsen ทั้งๆเคยเป็นดาวดาราค้างฟ้า Super Star ระดับนานาชาติคนแรกของโลก! แต่กาลเวลาแทบไม่หลงเหลือผลงานใดๆให้จดจำ ซึ่งขณะสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ชื่อเสียงของเธออยู่ในจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว อีกไม่นานเมื่อหมดสิ้นยุคสมัยหนังเงียบก็จักรีไทร์ออกจากวงการ (สวนทางกับ Greta Garbo ที่เพิ่งกำลังจะโด่งดังค้างฟ้าในอีกไม่กี่ปีถัดไป)

ผมเกิดอาการตกตะลึง อึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง! กับการแสดงของ Nielsen ที่โคตรสมจริงทางอารมณ์อย่างมาก แม้เพียงขยับเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะฉากสนทนากับ Don Alfonso Canez ใส่ร้ายป้ายสีว่าบุคคลฆาตกรรม Lia Leid คือ Egon Stirner วินาทีที่เธอเอ่ยชื่อเขาไปนั้น บรรยากาศความตึงเครียดจู่ๆได้ผ่อนคลาย ทำให้หายใจโล่งโปร่งขึ้นมาพอดิบดี มันเป็นไปได้ยังไงกัน!


Gerda Carola Cecilia Lundequist (1871 – 1959) นักแสดงสัญชาติ Swedish เจ้าขอองฉายา “The Swedish Sarah Bernhardt” เกิดที่ Stockholm ได้รับการเลี้ยงดูโดยแม่บุญธรรม มีโอกาสร่ำเรียนการแสดงจาก Signe Hebbe จนปี 1889 มีโอกาสขี้นละเวที Svenska Teatern ค่อยๆสะสมสร้างชื่อเสียงจนโด่งดังไปทั่ว Scandinavian ขณะที่ผลงานภาพยนตร์นั้นมีประปราย แต่กลายเป็นอมตะจาก Gösta Berlings saga (1924), ซึ่งระหว่างเดินทางประชาสัมพันธ์หนังทั่วยุโรป เข้าตาผู้กำกับ G. W. Pasbt ชักชวนมารับบทนำเรื่องที่สอง The Joyless Street (1925) สร้างชื่อเสียงโด่งดังยิ่งกว่าเดิมอีก

เกร็ด: Greta Garbo ติดอันดับ 5 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends

รับบท Greta Rumfort พี่คนโตอาศัยอยู่กับบิดาและน้องสาว ตัวเธอแม้ไม่ได้ทำงานอะไร(หรือหางานไม่ได้กระมัง) ยังพยายามหาหนทางแบ่งเบาภาระครอบครัว เริ่มจากเปิดห้องเช่า มีทหารหนุ่มหล่ออเมริกามาช่วยแบ่งเบา แต่ก็ยังไม่เพียงพอคืนหนี้สินที่พ่อกู้ยืมไปลงทุนแล้วล้มเหลว ครุ่นคิดอย่างหนักว่าจะขายตัวดีไหมสุดท้าย…

แม้ว่า Mauritz Stiller จะคือผู้ค้นพบ Greta Garbo แต่ต้องถือว่า G. W. Pasbt เป็นบุคคลที่ได้ให้คำแนะนำ ขัดเกลาด้านการแสดง และค้นพบมุมกล้อง วิธีจัดแสงอาบฉาบใบหน้า จนมีความเจิดจรัสจร้าท่ามกลางสิ่งรอบข้างที่มืดมิดสนิท

ผมสังเกตเห็น Garbo มีพัฒนาการแสดงที่โด่นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆในหนัง แรกเริ่มต้นดูเก้งๆกังๆ ยังขาดความมั่นใจในตนเอง (ทั้งกองถ่ายพูดเยอรมัน มีแต่เธอที่พูดสวีดิช) แต่จากนั้นแม้ตัวละครจะแสดงออกด้วยความสับสน ขัดย้อนแย้งภายในจิตใจ แต่เธอกลับสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจากทรวงในได้อย่างตราตรึง ทรงพลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แม้บทบาทนี้จะยังห่างไกลการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Greta Garbo แต่ถ้าใครเป็นแฟนๆพันธุ์แท้ของเธอ ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยนะ เพราะคุณจะได้เห็นวิวัฒนาการแสดงที่เพิ่มมากขึ้นจาก Gösta Berlings saga (1924) และครั้งแรกกับมุมกล้อง การจัดแสง ที่ช่วยขับเน้นความงามบนใบหน้า ให้มีความเจิดจรัสจร้า เกิดความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักยิ่งๆขึ้นไป


ถ่ายภาพโดย Curt Oertel, Robert Lach และ Guido Seeber (1879 – 1940) ตากล้องรุ่นบุกเบิกสัญชาติ German รายหลังสุดเป็นผู้ริเริ่มต้นแนวคิดการถ่ายภาพ กล้องไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่ ทดลองใช้กับภาพยนตร์เรื่อง Sylvester (1923) ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Karl W. Freund ต่อยอดสู่ ‘unchained camera’ ภาพยนตร์เรื่อง The Last Laugh (1924)

ผู้กำกับ Pabst คงมีความชื่นชอบประทับใจในเทคนิค ‘unchained camera’ เป็นอย่างมาก จึงติดต่อขอร่วมงานกับ Guido Seeber ซึ่ง The Joyless Street สามารถพบเห็นการขยับเคลื่อนกล้องได้บ่อยครั้ง (แค่อาจไม่ตื่นตระการตาเท่า The Last Laugh เท่านั้นเอง)

ลักษณะของ New Objectivity จะแตกต่างจาก Realist (หรือ Neorealist) ตรงที่ไม่ได้จำเป็นว่าต้องถ่ายทำจากสถานที่จริงเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการก่อสร้างฉากในสตูดิโอ (Art Direction โดย Otto Erdmann และ Hans Sohnle) แค่ว่าไม่ได้มีลวดลายเส้นอันบิดเบี้ยวเหมือน German Expressionism

เราสามารถทำการวิเคราะห์/เปรียบเทียบ Melchior Street คือจุลภาคของประเทศ Austria (หรือ Weimar Republic) ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ บรรยากาศในสังคม(ขณะนั้น) ความแตกต่างระหว่างชนชั้น และความคอรัปชั่นที่ค่อยๆกลืนกินจิตใจคนทุกระดับ อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

แซว: แต่ผมก็ยังรับรู้สึกว่า บรรยากาศของท้องถนน Melchior Street ยังดูเป็น Expressionism เพราะมีความอึมครึม หมองหม่น สะท้อนความเป็น ‘๋Joyless Street’ ได้อย่างชัดเจน

การสนทนาของตัวละคร สังเกตว่าหนังชอบใช้ระยะภาพ Close-Up (เพื่อให้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกจากภายในออกมา) โดยเฉพาะใบหน้าของ Greta Garbo จะมีความเจิดจรัสจร้ากว่าปกติ นั่นเพราะมีการสาดแสงไฟจากทั้งด้านหน้า-หลัง ซ้าย-ขวา บน-ล่าง จนแทบไม่พบเห็นเงาปรากฎบนใบหน้า

คนขายเนื้อ และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ต่างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ความคอรัปชั่นของชนชั้นล่าง เพราะเป็นอาชีพที่สามารถฉกฉวย สร้างผลประโยชน์บางอย่างให้กับตนเอง

  • เพราะอาหารคือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ดังนั้นคนขายเนื้อ Josef Geiringer (รับบทโดย Werner Krauss) จึงถือเป็นผู้กุมชะตากรรมของมนุษย์ไว้ในกำมือ ทั้งๆมีเสบียงกักตุนมากมายแต่สามารถแสร้งอ้างพูดบอกว่าไม่มี ปล่อยให้ผู้คนเข้าแถวยืนรอค้างคืนโดยไม่ใคร่สนอะไร และสามารถเรียกร้องขอในสิ่งต้องการแลกเปลี่ยน นี่คือความเห็นแก่ตัว/คอรัปชั่น ด้วยเหตุนี้เมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย จึงถูกสังคมรุมประชาทัณฑ์ ผู้ถูกกลั่นแกล้งทำร้ายจิตใจย่อมโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง
  • เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แม้คือสิ่งของฟุ่มเฟือยแต่ก็มีความจำเป็นสำหรับปกปิดร่างกาย และบรรเทาความหนาวเหน็บ (ในช่วงฤดูหนาว) ซึ่งสำหรับ Frau Greife (รับบทโดย Valeska Gert) ยังใช้ประโยชน์ในการปกปิดฉากหลัง ให้สาวๆสวมชุดสวยๆแล้วส่งไปบริการคนรวย ถือว่าเป็นธุรกิจขายเนื้อหนังมังสา(มนุษย์)ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย ไม่เพียงสูญเสียกลุ่มลูกค้า ทุกสิ่งอย่างสร้างมาพลันมอดไหม้พังทลายในพริบตา

ทหารอเมริกันในนามองค์กรกาชาด (American Red Cross) คือตัวแทนความช่วยเหลือจากต่างชาติ แม้ไม่รู้ว่ามีเบื้องหลังลับลมคมในอะไรหรือเปล่า แต่ปฏิกิริยาของชาว Melchior Street กลับพยายามปฏิเสธต่อต้าน ไม่ยินยอมรับอาหารกระป๋อง ใช้ข้ออ้างเกียรติศักดิ์ศรีค้ำคอ แม้ต้องทนหิวโหยทุกข์ทรมานก็ตามที

สื่อนัยยะถึงชาวเยอรมันยุคสมัยนั้น แม้พ่ายแพ้สงครามแต่ยังคงเต็มไปด้วยความดื้อรั้น เย่อหยิ่ง ทะนงตน พยายามปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติ ครุ่นคิดว่าจักสามารถอดรนทน เอาตัวรอดเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร … มองมุมหนึ่งช่างโง่เขลาเบาปัญญา แต่สำหรับชาวอนุรักษ์นิยม นี่คงเป็นสิ่งน่ายกย่องชื่นชมเหนือสิ่งอื่นใด

หนึ่งในฉากทรงพลังมากๆของหนัง โดยเฉพาะการแสดงของ Asta Nielsen เล่นน้อยแต่ได้มาก สร้างความกดดันจนแทบหายใจไม่ออก จนกว่าชื่อของบุคคลนั้นจะพูดเอ่ยออกมา ผู้ชมถึงสามารถรู้สึกพักผ่อนคลายลงได้

แม้พื้นหลังจริงๆของฉากนี้จะถ่ายทำในห้องพักโรงแรม แต่สังเกตช็อตนี้ด้านหลังกลับปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท ใช้เพียงแสงไฟสาดส่องทุกทิศทางไปยังตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมจับจ้องและรับรู้สึกทางอารมณ์ที่นักแสดงถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริงจัง

ฉากนี้สำหรับ Greta Garbo ถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องพร้อมให้บริการชายคนหนึ่ง แต่วินาทีที่เขาเดินเข้ามา ภาพสะท้อนจากสามกระจกสร้างความอกสั่นขวัญผวา ตระหนักได้ว่าฉันมิอาจกระทำสิ่งนี้ พยายามดิ้นรนหลบหนี เกียรติศักดิ์ศรีของฉันสำคัญกว่าเงินๆทองๆ

ผมครุ่นคิดว่าการตัดสินใจของตัวละครนี้ ได้รับอิทธิพลจากบิดา(ของเธอ)เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธอาหารกระป๋องของทหารอเมริกัน ครอบครัวฉันไม่ยากจนขนาดนั้น แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้พวกเขาท้องหิวโหย ลูกสาวคนเล็กกลายเป็นหัวขโมย แต่เสือไม่สิ้นลาย ยอมตายดีกว่าเสียศักดิ์ศรี

เมื่อชาว Melchior Street เมื่อมิอาจอดรนทนต่อความหิวโหย วิถีชีวิตอันเต็มไปด้วยทุกข์ยากลำบาก กระทั่งล่วงรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความโฉดชั่วร้าย/คนโกงกินของทั้งคนขายเนื้อและช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งหมดจึงรวมตัวกันประท้วง ขว้างปาทำลายสิ่งข้าวของ และจุดไฟเผาไหม้สถานที่แห่งนี้ให้วอดวาย

นัยยะของทั้ง Sequence สะท้อนถึงการลุกฮือขึ้นมาของประชาชนเพื่อประท้วงต่อต้านความคอรัปชั่นของรัฐบาล/ผู้นำประเทศ ซึ่งอาจบานปลายไปถึงทำให้ประเทศชาติมอดไหม้ล่มจม ผู้คนล้มตายอีกมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขายังหลงเหลือทารกน้อย สัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ฝากความหวังให้อนาคตคนรุ่นถัดไป เมื่อพานผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าว ประเทศชาติจักสามารถหวนกลับไปเจริญรุ่งโรจน์เหมือนอย่างเก่าก่อน

ตัดต่อโดย Mark Sorkin (1902–1986) สัญชาติ Russian ขาประจำผู้กำกับ G. W. Pabst, ดำเนินเรื่องโดยมี Melchior Street เป็นจุดศูนย์กลาง นำเสนอผ่านสองตัวละครหลักๆ Maria/Marie Lechner และ Greta Rumfort

เรื่องราวแบ่งออกเป็น 9 องก์ ตามข้อจำกัดความยาวฟีล์มยุคสมัยนั้น

  1. แนะนำ Melchior Street และตัวละครที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
    1. ขณะที่ชนชั้นล่างผู้หิวโหย ต่างเฝ้ารอคอยโอกาสและความหวัง
    2. กลุ่มชนชั้นกลางต่างเสวยสุขสำราญ ครุ่นคิดวางแผนการกอบโกยอันโฉดชั่วร้าย
  2. นำเสนอความแตกต่างระหว่างชนชั้น และวิธีการที่คนจนจะสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด (Else ขายตัวให้คนขายเนื้อ)
  3. ความคาดหวัง/เพ้อฝันของชนชั้นกลางระดับล่าง, บิดาของ Greta กู้ยืมเงินมาลงทุนซื้อหุ้น เชื่อมั่นว่าต่อจากนี้ชีวิตจะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก
  4. แต่เงินทอง/ความสุขสบาย มักต้องเสียสละ/แลกมาด้วยบางสิ่งอย่าง, ค่าเสื้อโค้ทของ Greta, Maria ตัดสินใจขายตัวให้ Don Alfonso Canez และความตายของ Lia Leid
  5. ความล้มเหลวและการปรักปรำ, เงินที่พ่อของ Greta ลงทุนซื้อหุ้นละลายไปกับสายน้ำ และ Maria ใส่ร้ายป้ายสี Egon ว่าเป็นคนเข่นฆาตกรรม Lia
  6. ความเย่อหยิ่งทะนงตน ได้ทำลายโอกาสและความหวัง, Lieutenant Davy เช่าห้องพักของ Greta พยายามแบ่งปันอาหารกระป๋องแต่กลับถูกบิดาของเธอพูดบอกปัดปฏิเสธ, เช่นกันกับการที่เธอถูกโน้มน้าวให้ขายตัว เมื่อพบเห็นว่าอีกฝ่ายคือคนขายเนื้อเลยพยายามขัดขืนปฏิเสธโดยทันที
  7. โชคชะตาที่มิอาจหลีกเลี่ยง, Egon ถูกตำรวจจับกุมตัว, น้องสาวของ Greta ลักขโมยอาหารกระป๋องของ Lieutenant Davy ทำให้เขาตัดสินใจเก็บข้าวของออกจากห้องเช่า
  8. ความทุกข์ทรมานที่มิอาจแบกรับของ Maria เพราะตนเองได้ก่ออาชญากรรมที่ไม่สามารถให้อภัย หวนกลับไปหาครอบครัวครั้งสุดท้าย แล้วตรงไปสถานีตำรวจเพื่อสารภาพความจริง
  9. สุดท้ายความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และเมื่อความชั่วร้ายได้รับการเปิดโปงจึงต้องถูกทำลายให้สิ้นซาก, Greta ตัดสินใจจะขายตัวแต่วินาทีสุดท้ายก็มิอาจฝืนใจตนเอง บังเอิญพบเห็นโดย Lieutenant Davy แรกเริ่มเกิดความเข้าใจผิดแต่ไม่นานก็รับรู้ข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันชาวบ้านเริ่มขว้างปาทำลายสิ่งข้าวของในไนท์คลับ Else ตัดสินใจเข่นฆาตกรรมคนขายเนื้อ และทุกสิ่งอย่างกำลังมอดไหม้วอดวาย

ความที่เนื้อหาของหนังมีพล็อตรอง (Sub Plot) มากมายเต็มไปหมด วิธีที่ผู้กำกับ Pabst ใช้แบ่งแยกออกเป็นตอนๆ คือเทคนิค Fade-to-Black ซึ่งแต่ละองก์ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องมีเรื่องย่อยๆมากน้อยเท่าไหร่ แต่เนื้อหาในแต่ละองก์มักมีความสัมผัสสอดคล้องจองแนวความคิดบางอย่างเสมอๆ

สำหรับไฮไลท์การตัดต่อมีสองช่วงขณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่าง(ทางชนชั้น)อย่างชัดเจน พบเห็นตอนต้นองก์สองและองก์เก้า ตัดสลับระหว่าง

  • งานเลี้ยงปาร์ตี้ของกลุ่มชนชั้นกลาง/คนมีเงิน กำลังสนุกสนานไปกับการละเล่น ดื่มกิน ด้วยความหรูหร่า ฟุ่มเฟือย
  • และภาพกลุ่มชนชั้นล่าง/คนยากจน กำลังต่อแถวค้างคืนรอซื้ออาหารอย่างหิวโหย ภายหลังบังเกิดความเกรี้ยวกราดถึงความอยุติธรรมในสังคม

The Joyless Street เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอสภาพวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม บรรยากาศการดำรงชีพของคนเยอรมันยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่าง(โดยสิ้นเชิง)ตามชนชั้นฐานะ

คนชนชั้นล่างในสังคม มีสภาพชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องต่อสู้ดิ้นรน อดมื้อกินมื้อ ถูกคดโกงกิน โดนไล่ออกจากงาน ทำให้หญิงสาวสวยหลายคนใช้เรือนร่างกายขายตัวเข้าแลก บางคนก่ออาชญากรรม กระทำสิ่งชั่วร้าย

ตรงกันข้ามกับชนชั้นกลาง-สูง ร่ำรวยเงินทอง ใช้ชีวิตเสพสุขสำราญ ดื่มกินเมามาย สนองความพึงพอใจทางกาย ครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น คดโกงกิน ไม่สนถูกผิดดีชั่ว หรือความทุกข์ยากลำบากของผู้อื่น

แน่นอนว่าชื่อหนัง The Joyless Street ย่อมต้องสื่อถึงความรู้สึกของกลุ่มคนชนชั้นล่าง ต่อความไม่เสมอภาคเท่าเทียมในสังคม ทำไมฉันต้องทนทุกข์ทรมาน ในขณะที่พวกชนชั้นกลาง-สูงกลับกินอยู่สุขสบาย ซึ่งเมื่ออารมณ์คับข้องเคียดแค้นสะสมภายในปริมาณมากล้นเอ่อ ก็จักปะทุระเบิดออกมาทำลายล้างทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้วอดวาย

ผู้กำกับ G. W. Pasbt สร้างสองทางเลือกให้กับผู้ชม ผ่านเรื่องราวของสองตัวละคร

  • Maria/Marie Lechner ตัดสินใจศิโรราบให้กับอารมณ์/ความต้องการของตนเอง ยินยอมขายตัวให้ Don Alfonso Canez และเมื่อพบเห็นแฟนหนุ่มนอกใจ เลยเข่นฆาตกรรมหญิงสาวคนนั้นแล้วใส่ร้ายป้ายสีอดีตคนรัก
  • Greta Rumfort เกือบจะพ่ายแพ้ใจตนเองอยู่หลายครั้ง แต่ที่สุดก็มิอาจยินยอมเสียเกียรติ ศักดิ์ศรี กระทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกเสียใจภายหลัง

ซึ่งผู้กำกับ Pasbt พยายามชี้ชักนำอย่างชัดเจนว่า การเลือกหนทางของ Maria/Marie จะนำพาซึ่งหายนะมากกว่าพบเจอความสุข ซึ่งหลังการกระทำดังกล่าว เธอได้จมปลักอยู่กับความรู้สึกผิด จิตใจทุกข์ทรมาน มิสามารถปล่อยวางการกระทำ จนท้ายสุดต้องยินยอมรับสารภาพความจริง ชีวิตถึงยังมีโอกาสไขว่คว้าความหวัง

สำหรับการกระทำของ Greta ค่านิยมในยุคสมัยนั้นถือว่าสมควรได้รับการยกย่อง เชิดชู เพราะสามารถธำรงไว้ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี มีศีลธรรม/มโนธรรม หยุดยับยั้งหักห้ามใจตนเองไม่ให้ถูกชักจูงไปสู่หนทางชั่วร้าย แต่สำหรับผู้ชมยุคสมัยปัจจุบันอาจครุ่นคิดเห็นแตกต่าง อาจมองว่าเป็นความซื้อบื้อ โง่งม ไร้เดียงสา เพราะไม่มีหนทางรอดอื่นแล้วมิใช่หรือ การขายตัวเพื่อให้ครอบครัวสามารถธำรงรอด เป็นสิ่งสมควรยกย่องมากกว่ารังเกียจเดียจฉันท์เสียอีกนะ!


ความที่หนังนำเสนอภาพเหตุการณ์สะท้อนปัญหาสังคมออกมาจริงๆ ทำให้มีคนบางกลุ่มไม่สามารถยินยอมรับได้ กองเซนเซอร์แต่ละประเทศต่างพยายามหั่นฉากโน่นนี่นั่นออกไป

“When completed, it was ten thousand feet in length … France accepted the film, deleting two thousand feet and every shot of ‘the street’ itself. Vienna extracted all sequences in which Werner Krauss appeared as the butcher. Russia turned the American Lieutenant into a doctor and made the butcher the murderer instead of the girl.”

นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Paul Rotha

แต่แม้เป็นฉบับที่ถูกหั่นฉากโน่นนี่นั่นออกไป กลับยังสามารถประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม ทำให้ชื่อผู้กำกับ G. W. Pasbt ได้รับการยกย่องเทียบชั้นระดับตำนาน

ความที่ฟีล์มหนังถูกตัดต่อบ่อยครั้ง ทำให้ต้นฉบับแท้ๆสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ถึงอย่างนั้นการบูรณะครั้งล่าสุดโดย Filmmuseum München เมื่อปี 2012 พยายามรวบรวมฟุตเทจจากคลังเก็บประเทศต่างๆ ประติดประต่อจนน่าจะมีความใกล้เคียงต้นฉบับที่สุดแล้วกระมัง

แม้การรับชมหนังเรื่องนี้จะมีความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แต่ส่วนตัวก็ยังชื่นชอบในการสร้างบรรยากาศ ความสลับซับซ้อนของเนื้อเรื่องราว โดยเฉพาะความเจิดจรัสของ Greta Barbo และ Asta Nielsen ทั้งคู่ทำให้ผมตกหลุมรักหลงใหลไม่รู้ลืม

แนะนำสำหรับคนที่อยากรับรู้เข้าใจหัวอกชาวเยอรมัน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดบรรยากาศ สภาพความเป็นจริง ชีวิตที่สิ้นหวังจากความพ่ายแพ้และถูกทอดทิ้ง

“No film or novel has so truthfully recorded the despair of defeat, and the false values after war, as The Joyless Street.”

นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Paul Rotha

จัดเรต 18+ กับการฉ้อฉล หลอกลวง หญิงสาวขายตัว และการเข่นฆาตกรรม

คำโปรย | Die Freudlose Gasse ของผู้กำกับ G. W. Pabst แม้เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน แต่ผู้ชมสามารถเบิกบานไปกับความเจิดจรัสของ Greta Garbo และ Asta Nielsen
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ
-อย่างทรมาน

Madame DuBarry (1919)


Madame DuBarry (1919) German : Ernst Lubitsch ♥♥♥

จากสาวขายหมวก ไต่เต้าสู่สนมเอก King Louis XV (ครองราชย์ 1715 – 1774) แต่การมาถึงของการปฏิวัติฝรั่งเศส (1788 – 99) ถูกตัดสินโทษประหารตัดคอด้วย Guillotine, นี่คือภาพยนตร์สัญชาติเยอรมันเรื่องแรกได้เข้าฉายสหรัฐอเมริกา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สร้างชื่อให้ผู้กำกับ Ernst Lubitsch การันตีตั๋วเดินทางสู่ Hollywood ไม่กี่ปีถัดมา

น่าแปลก! เพราะผลงานแรกที่ทำให้ Ernst Lubitsch เป็นที่รู้จัก โด่งดังในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แนวถนัด Rom-Com หรือ Sex Comedy แต่กลับคือภาพยนตร์ Costume Drama อ้างอิงประวัติศาสตร์ (Historical) นั่นทำให้โดยไม่รู้ตัว Lubitsch ได้รับฉายา ‘Europe’s D.W. Griffith’ ไปเสียอย่างนั้น

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไม่แปลกที่ผู้ชนะอย่างสหรัฐอเมริกา จะมีทัศนคติต่อต้านศัตรูคู่แค้นอย่างสาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่อใหม่ของจักรวรรดิเยอรมัน) วงการภาพยนตร์ก็เช่นกัน ชะงักงันนำเข้าหนังที่สร้างโดยชาวเยอรมันอยู่หลายปี แต่ความสำเร็จอันล้นหลามในยุโรปของ Madame DuBarry (1919) เรื่องเงินๆทองๆมีหรือจะอดรนทนไหว ซึ่งเมื่อนำไปออกฉายปรากฎว่าประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม ประตูเคยปิดอยู่เลยเปิดออกกว้าง ปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติชาวอเมริกันไปโดยสิ้นเชิง

น่าเสียดายที่ผมค่อนข้างรู้สึกผิดหวังต่อหนัง นั่นเพราะสัมผัสของ ‘Lubitsch’s Touch’ ช่างเลือนลาง เบาบาง (จริงๆพบเห็นอยู่เรื่อยๆแต่จะไม่เด่นชัดเท่าที่ควร) น่าจะเพราะถูกงานสร้างขนาดใหญ่ และพื้นหลังอ้างอิงประวัติศาสตร์ กำหนดกฎกรอบทิศทางภาพยนตร์ จนแทบไม่หลงเหลือพื้นที่ว่างใส่ความเป็นตัวตนลงไป

แต่ในส่วนเนื้อเรื่องราวของ Jeanne Vaubernier ใช้มารยาร่านสวาท รักๆใคร่ๆ ไต่เต้าจนกลายเป็นสนมเอก Madame DuBarry ยังถือเป็นรสนิยม/ความสนใจของผู้กำกับ Lubitsch ไม่แตกต่างจากผลงานอื่นสักเท่าไหร่


Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish บิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ได้รับการคาดหวังให้สืบสานต่อกิจการ แต่กลับเลือกทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการแสดง เล่นเป็นตลกในสังกัด Max Reinhardt ณ Deutsches Theater ไม่นานผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เขียนบท กำกับ และเข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Ideal Wife (1913)

อาจจะเรียก ค.ศ. 1919 ว่าเป็นปีทองของผู้กำกับ Lubitsch เพราะสรรค์สร้างภาพยนตร์มากถึง 11 เรื่อง แต่ออกฉายในปีนี้เพียง 7 เรื่อง ซึ่งเรื่องเด่นๆประกอบด้วยทรีโอ้ Die Puppe (1919), Die Austernprinzessin (1919) และ Madame DuBarry (1919)

ความสำเร็จจากหลายๆผลงานก่อนหน้าทั้งในเยอรมันและยุโรป ทำให้สตูดิโอ UFA GmbH เชื่อมั่นฝีมือของ Lubitsch เลยได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ที่มีงานสร้างขนาดใหญ่ คาดหวังให้ทำเงินเยอะ(ในตลาดยุโรป) ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความพ่านแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

สำหรับ Madame DuBarry พัฒนาบทกับนักเขียนขาประจำ Hanns Kräly (1884 – 1950) และ Norbert Falk หรือ Fred Orbing (1872 – 1932) นักข่าว/นักเขียนสัญชาติ Austrian ซึ่งให้ความช่วยเหลือค้นหาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์

เรื่องราวของสาวขายหมวก Jeanne Vaubernier (รับบทโดย Pola Negri) แรกเริ่มต้นมีความรักต่อชายหนุ่มหล่อ Armand de Foix (รับบทโดย Harry Liedtke) แต่ความงามของเธอไปเตะตา Don Diego (รับบทโดย Magnus Stifter) พยายามเกี้ยวพาราสีแต่ถูกเข่นฆ่าโดย Armand ด้วยความอิจฉา โดยไม่รู้ตัว Jeanne ถูกลากพามาเป็นชู้รักของ Count Jean DuBarry (รับบทโดย Eduard von Winterstein) แล้ววันหนึ่งถูกพบเห็นโดย King Louis XV (รับบทโดย Emil Jannings) กลายเป็นสนมเอก Madame DuBarry โดยทันที!

การเป็นสนมเอกของ Madame DuBarry สร้างความอิจฉาริษยาไปทั่วแผ่นดินฝรั่งเศส ประกอบกับการบริหารประเทศแบบไม่สนหัวประชาชนของ King Louis XV หลังจากสวรรคตด้วยโรคฝีดาษ กษัตริย์องค์ถัดมา King Louis XVI ทรงขับไล่ Madame DuBarry และอีกไม่ปีถัดจากนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชะตากรรมของเธอหลังถูกจับกุมคือโทษประหารตัดศีรษะด้วย Guillotine


Pola Negri ชื่อจริง Apolonia Chalupec (1897 – 1987) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Lipno, Kingdom of Poland บิดาถูกส่งไปใช้แรงงานยัง Siberia อาศัยอยู่กับแม่ทำงานในครัว วัยเด็กได้รับเลือกเรียนบัลเล่ต์ Imperial Ballet Academy แต่อาการป่วยวัณโรคทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นนักแสดง เข้าเรียนยัง Warsaw Imperial Academy of Dramatic Arts แล้วกลายเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Niewolnica zmysłów (1914) ย้ายมากรุง Berlin ปี 1917 มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Ernst Lubitsch มีผลงานเด่นๆร่วมกันหลายเรื่อง อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Carmen (1918), Madame DuBarry (1919), Sumurun (1920), Die Bergkatze (1921) ฯ

รับบท Jeanne Vaubernier สาวขายหมวกร่านรัก เพราะความขี้เล่น ซุกซน ทำให้คนพบเห็นตกหลุมรักหลงใหล โดยเฉพาะวิธียั่วเย้ายวน รันจวนใจ ทำให้ไม่ว่าใครไหนต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอ โชคชะตาชักนำพาให้ชีวิต ไต่เต้าจากสามัญชนจนกลายเป็นสนมเอก สร้างความอิจฉาริษยาให้ชาวประชาทั่วผืนดินแดน ซึ่งเมื่อบารมีหมดก็ถูกถีบหัวผลักไสส่ง และพบจุดจบอย่างน่าสงสารเห็นใจ

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า Madame DuBarry คือสตรีผู้ทำลายประเทศชาติ ‘The woman who will ruin France’ แต่ความจริงเป็นเช่นไรไม่มีใครรู้ ซึ่งผู้กำกับ Lubitsch พยายามนำเสนอเรื่องราวในมุมของเธอ ให้คำแนะนำว่าอาจเกิดจากโชคชะตา จับพลัดจับพลู หรือมีสาเหตุผลบางอย่าง เบื้องหน้า-หลัง ที่มาที่ไป นั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ ใครกันจะอยากมีชีวิตทุกข์ยากลำบาก

การแสดงของ Negri ต้องชมเลยว่าทำให้ตัวละครมีความยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ ลุ่มหลงในรอยยิ้ม ถูกสะกดจิตด้วยสายตา ซึ่งเรื่องราวทำให้เธอพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมายหลากหลายอารมณ์ ทั้งสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก สมหวัง-ผิดหวัง จนผู้ชมบังเกิดความเข้าใจในเบื้องหลัง สาเหตุผล สำหรับคนไม่รับรู้ตอนจบล่วงหน้า คงเกิดความตกตะลึง สงสารเห็นใจ โชคชะตาคนเรามันช่างผันแปรเปลี่ยนได้ขนาดนี้เชียวหรือ

Jesse Lasky หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Paramount Pictures เมื่อมีโอกาสรับชม Madame DuBarry (1919) เกิดความลุ่มหลงใหลคลั่งไคล้ในการแสดงของ Pola Negri จรดปากกาเซ็นสัญญาค่าตัว $3,000 เหรียญต่อสัปดาห์ มุ่งหน้าสู่ Hollywood โดยทันที! (ก่อนหน้า Lubitsch เสียอีกนะ) … ซึ่งการมายัง Hollywood ของ Negri ทำให้เธอกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า ประสบความสำเร็จล้นหลามในยุคหนังเงียบ แล้วเดินทางกลับเยอรมันปี 1928 หมดสิ้นสุดยุคสมัยพอดิบดี

“Pola was arrogant and dominating. But Pola is the greatest actress who came to the cinema. She came to America ahead of time. If Garbo had come when Pola did she might not have had her great success”.

Ernst Lubitsch

Emil Jannings ชื่อเดิม Theodor Friedrich Emil Janenz (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Rorschach, Switzerland ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Leipzig, German Empire สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีไปเที่ยวเล่นจนแม่ยอมให้เป็นนักแสดงในโรงละครประจำเมือง ครั้งหนึ่งออกทัวร์ทั่วประเทศจนเข้าตา Max Reinhardt เข้าร่วม Deutsches Theater, Berlin รู้จักสนิทสนมกับ Karl Vollmöller, Ernst Lubitsch (ขณะนั้นยังเป็นนักแสดง), Frieda Riess ฯ ต่อมาได้แสดงหนังสั้นที่กำกับโดยเพื่อนสนิท Lubitsch อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Madame DuBarry (1919), โด่งดังทั่วโลกจากร่วมงานกับ F. W. Murnau เรื่อง Der letzte Mann (1924), Herr Tartüff (1925), Faust (1926) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Way of All Flesh (1927) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Last Command (1928)

รับบท King Louis XV ผู้มีความลุ่มหลงใหลในความงามของ Jeanne Vaubernier และเมื่อแรกพบเจอก็หัวปลักหัวปลำในรัก ศิโรราบ ยินยอมทำทุกทิ่งอย่างเพื่อปรนเปรอปรนิบัติ ไม่สนหัวประชาชนจะยากจนข้นแค้นก็ช่างมัน สุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษ ถูกกีดกันมิอาจพบเจอหน้าเธอครั้งสุดท้าย

ทีแรกผมแอบคาดหวังในการแสดงของ Jannings อยู่เล็กๆแต่กลับพบความผิดหวังโดยสิ้นเชิง เพราะเรื่องนี้คือผลงานการแสดงเรื่องแรกๆ จริงอยู่พี่แกมี Charisma ภาพลักษณ์กษัตริย์ แต่ลีลาการแสดงที่ผ่านการปรุงปั้นเกินไป ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ ซึ่งเจ้าตัวก็เหมือนจะรับรู้ตนเองดี เคยให้สัมภาษณ์เชิงประชดประชันว่า

“I am an actor, and if I don’t play this part, I’m through with films! If I can’t play parts that I don’t look like, then I shouldn’t even be on the stage – I chose the wrong profession!”

Emil Jannings

อาจเพราะเหตุผลนี้เองกระมังที่ทำให้ Lubitsch มีความชื่นชอบประทับใจ Jannings เป็นอย่างมาก ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันหลายครั้ง (ส่วนใหญ่ Jannings มักรับบทกษัตริย์/ผู้นำ/บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์) แต่ทักษะการแสดงที่กำลังฝีกฝน ขัดเกลา ต้องรออีกหลายปีจนกระทั่ง F. W. Murnau ปลุกปั้นให้กลายเป็นตำนานและมุ่งสู่ Hollywood ได้อย่างยิ่งใหญ่


ถ่ายภาพโดย Theodor Sparkuhl (1894 – 1946) สัญชาติ German ขาประจำช่วงแรกๆของผู้กำกับ Ernst Lubitsch จากนั้นไปแจ้งเกิดโด่งดังที่ฝรั่งเศส และเซ็นสัญญา Paramount Pictures มุ่งสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1931 ผลงานเด่นๆ อาทิ La Chienne (1931), Beau Geste (1939), The Glass Key (1942) ฯ

ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ทำให้งานภาพส่วนใหญ่ของหนังเพียงตั้งกล้องทิ้งไว้ กำหนดระยะ ทิศทาง มุมกล้อง แล้วให้เหตุการณ์ดำเนินไปในขอบเขตที่กำหนด ออกแบบฉากโดย Kurt Richter ก่อสร้างที่ Tempelhof Studios, Berlin

อาชีพทำหมวก Jeanne Vaubernier สื่อถึงความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูงของหญิงสาว ซึ่งก่อนออกจากร้านเพื่อไปส่งของ จำต้องส่องกระจก แต่งหน้าตาให้ดูดี เผื่อว่าจะสามารถเตะตาเศรษฐี ขุนนาง หรือกษัตริย์ก็เป็นได้

การกลั่นแกล้งของ Armand de Foix แอบหลบอยู่ใต้เก้าอี้ สะท้อนตัวตนของเขาที่เป็นได้เพียงคนรักหลบซ่อน มิอาจเปิดเผยตัวตนออกมา นั่นเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงของหญิงสาว ทำให้การพบเจอหลังจากนี้ มักเปลี่ยนหน้าผู้ชาย ไต่เต้าสูงขึ้นเรื่อยๆจนมิอาจไขว่คว้า

ก็น่าครุ่นคิดว่า Jeanne Vaubernier มีความรักแท้จริงต่อ Armand de Foix บ้างหรือเปล่า? เพราะทุกครั้งเธอพยายามแอบให้ความช่วยเหลือ โปรยคำพูดแสนหวาน แต่การแสดงออกกลับตรงข้าม ใครกันจะไปอ่านใจหญิงได้ถูกต้อง

เมื่อต้องเลือกระหว่าง Don Diego กับ Armand de Foix หลายคนอาจเคยใช้วิธีเด็ดดอกไม้ แต่สำหรับ Jeanne Vaubernier ใช้วิธีการนับกระดุมจากบนลงล่าง ซึ่งมันส่อมากๆเพราะตำแหน่งจากหน้าอกถึงอวัยวะเพศหญิง นั่นสะท้อนสิ่งที่เธอต้องการจากการพบเจอครั้งนี้แน่

และการที่ครั้งแรกนับได้ Armand แล้วตัดสินใจนับใหม่อีกรอบให้กลายเป็น Don Diego นั่นชัดเจนเลยว่าเธอมีความตั้งใจอย่างแน่นอนอยู่แล้วว่าจะไปหาใคร นับไปเพื่อสร้างภาพ หลอกผู้ชม (และตนเอง) ก็เท่านั้น

ผมให้ข้อสังเกตอีกนิด ตำแหน่งไม้กางเขนบนผนังอยู่ต่ำกว่าภาพวาดชุดเดรส นั่นสะท้อนถึงสิ่งที่หญิงสาวเพ้อใฝ่ฝัน สนองความพึงพอใจส่วนตัวเท่านั้น

Count Jean DuBarry คือแขกไม่ได้รับเชิญของ Don Diego มาถึงขณะที่เขากำลังเกี้ยวพาราสี Jeanne Vaubernier ทำให้เธอต้องแอบหลบอยู่หลังฉาก แต่จะอยู่เฉยๆคงเกิดความเบื่อหน่าย เลยหาหนทางร้องเรียกความสนใจด้วยการทำโน่นนี่นั่น ซุกซนเหมือนเด็กน้อย นี่ถ้าไม่เพราะความน่ารักน่าชัง ขุนนางเหล่านี้คงขับไล่ผลักไสส่ง ไม่ใช่ต่างเกิดอาการลุ่มหลงใหล ต้องการครอบครองเป็นเจ้าจนโงหัวไม่ขึ้น!

การต่อสู้ระหว่าง Don Diego กับ Armand de Foix โดยไม่รู้ตัวมี Count Jean DuBarry แอบให้การช่วยเหลือชายหนุ่มอยู่ข้างๆ Jeanne Vaubernier มันชัดเจนเลยว่าหมอนี่วางแผนชั่วร้ายอะไรบางอย่าง ซึ่งเขาโอบกอดหญิงสาวแนบเนื้อ ไม่ยินยอมให้ห่างกายก่อนนำพาไปถึงที่บ้าน

แม้เพียงไม่กี่เสี้ยววินาที แต่ภาพพื้นหลังขณะ Don Diego กำลังจะชักดาบต่อสู้นี้ ชัดเจนถึงสาเหตุผลการต่อสู้ครั้งนี้!

ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นผู้แพ้-ชนะในการดวลดาบ แต่บุคคลที่สามารถฉกฉวยโอกาส ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ Jeanne Vaubernier กลับคือ Count Jean DuBarry ใช้วิธีการลักพาตัวในวินาทีที่เธอกำลังตื่นตกใจ ทีแรกสีหน้าซึมเศร้าหมอง แต่พอมองเห็นสายสร้อยคอ ไม่ยินยอมลดละสายตา รอยยิ้มเริ่มเบิกบาน ใครจะเป็นตายช่างมันฉันไม่แคร์อีกต่อไป

สร้อยที่สวมใส่บนคอของ Jeanne Vaubernier ราวกับโซ่ตรวน ปอกคอสุนัข ที่ทำการผูกมัดเธอเอาไว้ยังสถานที่แห่งนี้ และช่วงท้ายเพื่อที่เธอจะได้รับอิสรภาพ มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือศีรษะขาดจากบ่า (ขึ้นหลังเสือแล้วไม่สามารถลงมาได้อีก)

หลังจาก Count Jean DuBarry เสพสมจนพึงพอใจ ก็ค่อยๆเปิดเผยธาตุแท้ด้วยตัวเลขหนี้สินมหาศาล วางแผนให้ Jeanne Vaubernier ใช้มารยาหญิงเข้าแลกเปลี่ยนชำระหนี้ ซึ่งสถานที่ที่เขาพูดบอกเธอคือในห้องนอนบนเตียง ก็ชัดเจนถึงลับลมคมในที่ต้องการสื่อออกมา

การได้พบเจอ King Louis XV แรกเริ่มทั้งสองต่างยืนทำความรู้จัก จากนั้น Jeanne Vaubernier โถมเข้าไปแอบจุมพิต ขโมยจิตใจพระราชา ทำให้ทรงทรุดนั่งลง ศิโรราบ ยินยอมรับความต้องการของเธอทุกสิ่งอย่าง

ผมชื่นชอบปฏิกิริยาของฉากนี้มากๆ เพราะหลังจากถูกขโมยจูบ พระราชาแสดงอาการตื่นตะลึง คาดไม่ถึง ตกอยู่ในภวังค์ มนต์เสน่ห์ของหญิงสาวโดยทันที! ซึ่งการแสดงออกในซีนถัดไปๆ เอาเอกสารเซ็นแล้วยัดใส่ทรวงอก จุมพิตที่แขน-ขา มันก็ชัดเจนถึงความต้องการตัวละคร

ผมประทับใจมุมกล้องช็อตนี้มากๆ ถ่ายด้านข้างในห้องโถงรับรองของ King Louis XV พบเห็น Madame DuBarry เดินเข้ามาจากทางไกล ได้รับการต้องรับที่ไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่จากบรรดาขุนนาง ข้าราชบริพาร

โดยปกติฉากลักษณะนี้ พระราชาต้องหันหน้าเข้าหาขุนนาง/ข้าราชบริพาร แต่วิธีการนำเสนอของช็อตนี้คงต้องการสะท้อนถึงความสนใจเหล่านั้นที่เป็นเพียงด้านข้าง วันๆเอาแต่หมกตัวอยู่กับสนม เพียงเธอเท่านั้นที่ทำให้เขายินยอมลุกขึ้นจากเก้าอี้ไปรับได้

การกำกับนักแสดงตัวประกอบประมาณ 2,000 คน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด ซึ่งผู้กำกับ Lubitsch ได้พยายามให้คำแนะนำพวกเขาในการแสดงออกด้วยอารมณ์ความรู้สึก ครุ่นคิดอ่านตามสถานการณ์ด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพท์ออกมาถึงว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่าง

“He succeeds by making them act like individuals rather than a mindless mob… each one desperate for food, justice and crude revenge!”

Herman G Weinberg ในหนังสือ The Lubitsch Touch: a critical study (1977)

มันอาจดูรุนแรงไปเสียนิดในการนำเสนอขณะตัดศีรษะ และมีการโยนหัวของ Madame DuBarry ให้กับฝูงชน แต่จุดประสงค์ก็เพื่อย้ำเตือนสติผู้ชม ไม่ให้หลงระเริงไปกับความสุขสบาย พึงพอใจทางกาย มากคลั่งระดับเดียวกับตัวละคร เพราะโชคชะตาอาจพลิกกลับแล้วคุณอาจประสบหายนะคืนสนองโดยไม่รับรู้ตัว

ตัดต่อโดย … ไม่มีเครดิต, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Jeanne Vaubernier หรือ Madame DuBarry ทำให้ผู้ชมเข้าถึงเบื้องหน้า-หลัง สาเหตุผลของการกระทำ เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจตัวละคร

กับคนที่เคยรับชมภาพยนตร์เกี่ยวกับปฏิวัติฝรั่งเศส คงตระหนักได้ว่าหนังมีการกระโดดข้ามเหตุการณ์สำคัญๆมากมาย และเรื่องราวดำเนินไปอย่างเร็วโคตรๆ คาดว่าผู้กำกับ Lubitsch คงกลัวว่าหนังอาจยาวและน่าเบื่อเกินไป จึงพยายามทำให้มีความกระชับ เร่งรัดกุม และโฟกัสเรื่องราวเฉพาะตัวละคร Madame DuBarry อย่างอื่นไม่ใคร่สนใจสักเท่าไหร่


เรื่องราวของ Madame DuBarry สะท้อนถึงการที่สังคมไม่สามารถยินยอมรับความเห็นแก่ตัวของผู้นำ/พระราชา รวมไปถึงพฤติกรรมร่านราคะของภรรยา/สนมเอก ที่ไม่สมควรค่าแก่การเคารพ ยกย่อง เทิดทูนบูชา ตราตั้งให้เป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชน! ซึ่งความอึดอัดอั้นคับข้องใจดังกล่าว มันจะค่อยๆเก็บสะสมแล้วปะทุระเบิดออกมาลูกใหญ่ๆ เป็นการตอบโต้สิ่งชั่วร้ายด้วยการทำลายทุกสิ่งอย่าง

ผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Ernst Lubitsch สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะต้องการเปรียบเทียบชาวเยอรมัน(ยุคสมัยนั้น) แทบจะไม่แตกต่างจากตัวละคร Madame DuBarry เริ่มตั้งแต่

  • Jeanne Vaubernier จากสาวขายหมวก ไต่เต้าจนกลายเป็นสนมเอก มีอำนาจสูงสุดอยู่ในมือ = จักรวรรดิเยอรมัน ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค่อยๆสะสมกำลัง ศักยภาพในการรบ จนถือว่าเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ระดับโลก
  • ความตายของ King Louis XV = การพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  • Madame DuBarry ถูกขับไล่ ตัดสินโทษประหาร = สาธารณรัฐไวมาร์ เพราะเป็นชนชาติพ่ายแพ้การสงคราม จึงถูกนานาอารยะกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ใช้อำนาจสยบการขยายตัว/พัฒนาประเทศ

มันช่างเป็นความตลกขบขันเสียเหลือเกิน เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อนำออกฉายยุโรปและสหรัฐอเมริกา กลับประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม ทั้งๆเป็นความพยายามเสียดสีประชดประชันการกระทำของนานาชาติที่มีต่อสาธารณรัฐไวมาร์ แต่เหมือนว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงไม่สามารถครุ่นคิดตระหนักถึงประเด็นนี้ เพียงมองเป็นเรื่องราวของหญิงสาวผู้บ่อนทำลายชาติฝรั่งเศสและก่อเกิดการปฏิวัติเท่านั้นเอง!

ทำไมผู้กำกับ Lubitsch ถึงมีความสนใจในตัว Madame DuBarry? มันย่อมไม่ใชพฤติกรรมร่านราคะ มารยายั่วสวาทที่สามารถไต่เต้าจาก Rags-to-Rich แล้วสุดท้ายได้รับผลกรรมตอบคืนสนอง แต่น่าจะคือมุมมองตัวละคร เพราะอะไร ทำไม เบื้องหน้า-หลัง สาเหตุผล ทุกสิ่งอย่างล้วนต้องมีที่มาที่ไป ถ้าเราสามารถครุ่นคิด แยกแยะ ทำความเข้าใจสิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในนั้น อคติต่อบุคคลย่อมสูญสลาย โลกทัศน์ใบใหม่ย่อมก่อบังเกิด … ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นกัน สามารถทำให้อคติต่างชาติต่อสาธารณรัฐไวมาร์ และวงการภาพยนตร์เยอรมัน เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ทันรับรู้ตัว!


ความสำเร็จล้นหลามของ Madame DuBerry (1919) บนทวีปยุโรป ทำให้หลายๆผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาต่างให้ความสนใจ แต่เพราะยังรั้งๆรีรอทำให้สตูดิโอ First National Pictures ชิงตัดหน้าขอซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า $40,000 เหรียญ สูงมากๆจนไม่มีใครอื่นกล้าแข่งขัน เปลี่ยนชื่อหนังเป็น Passion ซึ่งเมื่อนำออกฉายยัง Capitol Theatre, New York รอบปฐมทัศน์วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1920 สามารถยืนโรงเป็นปีๆ คืนกำไรอย่างล้นหลาม

เมื่อสตูดิโออื่นๆพบเห็นความสำเร็จของ Madame DuBerry (1919) ต่างพยายามแก่งแย่งซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายผลงานเก่าๆของผู้กำกับ Lubitsch รวมไปถึงหนังสัญชาติเยอรมันเรื่องอื่นๆ แต่ก็มีทั้งประสบความสำเร็จ/ล้มเหลวคละเคล้ากันไป

Mary Pickford มีความประทับใจใน Madame DuBerry (1919) เป็นอย่างมาก ติดต่อผู้กำกับ Ernst Lubitsch ซึ่งกว่าจะตอบรับก็หลังเสร็จจาก Das Weib des Pharao (1922)** ถึงได้ขึ้นเรือออกเดินทางมุ่งสู่ Hollywood และสรรค์สร้างภาพยนตร์ร่วมกันเรื่อง Rosita (1922)

เกร็ด: Das Weib des Pharao หรือ The Loves of Pharaoh (1922) เป็นภาพยนตร์ Historical Epic นำแสดงโดย Emil Jannings (รับบทเป็น Pharaoh Amenes) ซึ่งผู้กำกับ Ernst Lubitsch สร้างขึ้นเพื่อต้องการพิสูจน์ตนเองต่อ Hollywood ว่าฉันสามารถทำหนังระดับมหากาพย์ได้เช่นกัน แต่ผลลัพท์กลับไม่น่าประทับใจเท่าไหร่

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะแล้วหรือยังนะ แต่ฉบับ Blu-Ray ของ Masters of Cinema เมื่อปี 2014 คุณภาพยอดเยี่ยมเลยละ (สามารถหารับชมเถื่อนๆได้บน Youtube)

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าส่วนตัวไม่ประทับใจหนังสักเท่าไหร่ ภาพยนตร์ของ Ernst Lubitsch ที่ไม่ค่อยมี Lubitsch’s Touch มันเหมือนของปลอมยังชอบกล เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบแนว Costume Drama อ้างอิงประวัติศาสตร์ (Historical) แต่ขอแนะนำ Orphans of the Storm (1921) ของผู้กำกับ D. W. Griffith ที่มีพื้นหลังช่วงขณะปฏิวัติฝรั่งเศสเช่นกัน แต่คุณภาพยอดเยี่ยมกว่าพอสมควร

จัดเรต PG กับความยั่วสวาท ร่านราคะของ Madame DuBerry

คำโปรย | Madame DuBerry แม้งานสร้างอลังการจัดเต็ม แต่สไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Ernst Lubitsch กลับเลือนลางเจือจางหาย
คุณภาพ | อลังการงานสร้าง
ส่วนตัว | จืดๆชืดๆ

Die Austernprinzessin (1919)


The Oyster Princess

Die Austernprinzessin (1919) German : Ernst Lubitsch ♥♥♥♡

หญิงสาวทายาทเจ้าของธุรกิจขายหอย (The Oyster Princess) เกิดความระริกระรี้ อยากเข้าพิธีแต่งงาน ร้องร่านให้บิดาสรรหาเจ้าชายในฝัน เรื่องราววุ่นๆพร้อมสัมผัสแห่ง ‘Lubitsch’s Touch’ ทำให้ Sex Comedy เรื่องนี้ยอดเยี่ยมเหนือความคาดหมาย

ในบรรดาผลงานยุคแรกๆ(ที่เยอรมัน)ของผู้กำกับ Ernst Lubitsch ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญสูงสุดก็คือ Die Austernprinzessin หรือ The Oyster Princess (1919) น่าจะเพราะพัฒนาการของ ‘Lubitsch’s Touch’ มาถึงจุดที่ผู้ชมสามารถรับสัมผัส เข้าถึงตัวตน ความสนใจ และจิตวิญญาณผู้สร้างได้อย่างแท้จริง

แม้ว่าผลงานของ Lubitsch จะไม่ได้มีข้อคิดสาระประโยชน์อันใด เพียงความบันเทิงระดับสูงที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถรับรู้เข้าใจ แต่สำหรับผู้ชมที่สามารถไต่บันได ผลงานของพี่แกสามารถใช้ลับคมศักยภาพในการครุ่นคิด วิเคราะห์ หานัยยะซ่อนเร้น ความหมายสองแง่สองง่าม เนื้อเรื่องราวเสียดสีล้อเลียน ประชดประชันหลายๆสิ่งอย่าง

“Whether an idea is strong or weak does not matter in a Lubitsch comedy. Here it is the ‘how’ not the ‘what. It will fill the seats of many cinemas for many weeks”.

นักวิจารณ์จาก Film-Kurier

Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish บิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ได้รับการคาดหวังให้สืบสานต่อกิจการ แต่กลับเลือกทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการแสดง เล่นเป็นตลกในสังกัด Max Reinhardt ณ Deutsches Theater ไม่นานผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เขียนบท กำกับ และเข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Ideal Wife (1913)

อาจจะเรียก ค.ศ. 1919 ว่าเป็นปีทองของผู้กำกับ Lubitsch เพราะสรรค์สร้างภาพยนตร์มากถึง 11 เรื่อง แต่ออกฉายในปีนี้เพียง 7 เรื่อง ซึ่งเรื่องเด่นๆนอกจาก Die Austernprinzessin (1919) ยังมี Die Puppe (1919) และ Madame DuBarry (1919) ได้รับคำชื่นชมไม่แพ้กัน

สำหรับ Die Austernprinzessin ร่วมพัฒนาบทกับนักเขียนขาประจำ Hanns Kräly (1884 – 1950) ดัดแปลงจากอุปรากร Die Dollarprinzessin (1907) ประพันธ์โดย Leo Fall (1873 – 1925) คีตกวีสัญชาติ Austrian เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 ณ Theater an der Wien, กรุง Vienna

เกร็ด: โอเปร่า Die Dollarprinzessin (1907) ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเพลง 3 องก์ The Dollar Princess (1909) โดย A. M. Willner (1859 – 1929) และ Fritz Grünbaum (1880 – 1941) ประสบความสำเร็จทั้งที่ London และ Broadway

เรื่องราวของ Ossi (รับบทโดย Ossi Oswalda) บุตรสาวของ Mr. Quaker (รับบทโดย Victor Janson) เจ้าของกิจการขายอาหารทะเล ฉายา ‘Oyster King’ หลังจากพบเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ‘บุตรสาวร้านทำรองเท้าแต่งงานกับเจ้าชายหนุ่มรูปงาม’ บังเกิดความอิจฉาริษยา ตาร้อนผ่าว ร้องเรียกให้บิดาสรรหาคู่ครองมาแต่งงานกับตน

Mr. Quaker ทำการติดต่อพ่อสื่อ Seligson (รับบทโดย Max Kronert) ซึ่งก็ได้ตัดสินใจเลือก Prince Nucki (รับบทโดย Harry Liedtke) เจ้าชายจนๆ หนี้สินท้วมท้น แต่ยังคงวางตนเองดั่งพระราชา ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวกลับมองเป็นเรื่องตลกขบขัน มอบหมายให้เพื่อนสนิท/คนรับใช้ Josef (รับบทโดย Julius Falkenstein) ปลอมเป็นตนเองเข้าพิธีแต่งงานกับ Ossi


Viktors Artūrs Eduards Jansons (1884 – 1960) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ German เกิดที่ Riga, Russian Empire (ปัจจุบันประเทศ Latvia) เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที มุ่งสู่กรุง Berlin ในสังกัด Max Reinhardt กลายเป็นเพื่อนสนิทร่วมงาน ขาประจำผู้กำกับ Ernst Lubitsch อาทิ Carmen (1918), My Wife, the Movie Star (1919), The Oyster Princess (1919), The Wild Cat (1921) ฯ

รับบท Mr. Quaker ฉายา ‘Oyster King’ ประสบความสำเร็จในธุรกิจจนสามารถสร้างคฤหาสถ์หลังใหญ่โต มีคนรับใช้นับร้อยพัน วันๆแทบไม่ต้องทำอะไรแค่เพียงชี้นิ้วสั่ง ทำให้ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ชีวิตหลงเหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือความสุขของลูกสาว เลี้ยงดูอย่างตามใจแค่คอยพึมพัมลับหลัง “I’m not Impressed”.

ความเว่อวังอลังการของตัวละครนี้ เป็นการเสียดสี/ล้อเลียนโลกทุนนิยม (ของสหรัฐอเมริกา) ความสำเร็จทางธุรกิจ ร่ำรวยเงินทอง ทำให้มนุษย์สามารถทำตัวดั่งพระราชา ดูดดื่มไปกับซิการ์ม้วนใหญ่ (บุหรี่/ซิการ์ เป็นสัญลักษณ์ของความพึงพอใจส่วนตน/สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์) มีชีวิตสุขสบาย วันๆไม่ต้องทำอะไร รายล้อมด้วยข้าทาส (เสียดสีชาวอเมริกันที่ชอบเหยียดหยามคนผิวสี) แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตของเขากลับพึมพัมว่า ‘ไม่ประทับใจ’ นั่นเพราะมีบางสิ่งอย่างขาดหาย ไม่ได้รับการเติมเต็มจากภายใน

ผมประทับใจการวางมาดของ Jansons เป็นอย่างยิ่ง! ผู้ชมสามารถรับสัมผัส เข้าใจได้เลยว่าตัวละครต้องเป็นบุคคลผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ไม่สนสิ่งอื่นใดนอกจากความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น และสังเกตว่าแทบทั้งเรื่องไม่ปรากฎรอยยิ้ม ใบหน้าบึ้งตึง ไม่รู้หงุดหงิดอะไรตลอดเวลา ยกเว้นเพียงตอนจบพูดขึ้นว่า ‘I’m impressed!’ แล้วหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งสะท้อนความสุขจากภายในอย่างแท้จริงออกมา

Ossi Oswalda ชื่อจริง Oswalda Amalie Anna Stäglich (1897 – 1947) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เจ้าของฉายา ‘German Mary Pickford’ เกิดที่ Niederschönhausen, German Empire ตั้งแต่เด็กฝึกหัดเป็นนักบัลเล่ต์ แล้วกลายเป็นนักเต้นละครเพลง ภาพยนตร์เรื่องแรก Nächte des Grauens (1916) เข้าตานักเขียน Hanns Kräly แนะนำเธอให้ผู้กำกับ Ernst Lubitsch กลายเป็นขาประจำในช่วงแรกๆ อาทิ Ich möchte kein Mann sein (1918), Die Puppe (1919), Die Austernprinzessin (1919) ฯ

รับบท Ossi เจ้าของฉายา ‘The Oyster Princess’ เพราะได้รับการเลี้ยงเอ็นดูอย่างทะนุถนอม ราวกับไข่ในหิน จึงมีนิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องได้ เมื่อไม่ได้ก็โวยวายพร้อมทำลายสิ่งข้าวของ (เรียกร้องความสนใจ) แต่หลังจากพบเจอ Josef (เข้าใจผิดคิดว่าคือ Prince Nucki) ไม่ได้เกิดความชื่นชอบพอใจนัก แต่งงานไปตามพิธีแล้วผลักไสให้ออกห่าง กระทั่งพานพบเจอ Prince Nucki เกิดอาการตกหลุมรัก พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

ถึงตัวละครจะทำตัวเหมือนเด็กน้อย แต่กลับเต็มไปด้วย ‘Sex Drive’ แรงขับทางเพศเพื่อให้ผู้อื่นตอบสนองความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่ลักษณะของ Mary Pickford แม้แต่น้อย (ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับฉายานี้ของ Oswalda สักเท่าไหร่เลยนะ)

ถึงอย่างนั้นการแสดงของ Oswalda แสดงความระริกระรี้ ร่านราคะ เมื่อได้พบเจ้าชายในฝัน ก็พร้อมต่อสู้ ชกต่อย กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้รับชัยชนะ ครอบครองเป็นเจ้าของเขาแต่เพียงผู้เดียว ไม่สนถูกผิดดีชั่ว ศีลธรรมมโนธรรมประการใด

แซว: ภาพช็อตนี้ Ossi Oswalda ทำตัวเหมือน ‘It Girl’ เลยนะ!

Harry Liedtke (1882 – 1945) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Königsberg, German Empire มีพี่น้อง 12 คน ความที่บิดาพลันด่วนจากไปทำให้ต้องเติบโตขึ้นยังสถานรับเลี้ยงดู ทำงานธุรกิจค้าขาย กระทั่งได้พานพบเจอ Hans Oberländer เลยผันตัวสู่วงการแสดง เล่นหนังเงียบเรื่องแรก Zu spät (1912) และกลายเป็นหนึ่งในขาประจำผู้กำกับ Ernst Lubitsch อาทิ Carmen (1918), The Eyes of the Mummy Ma (1918), The Oyster Princess (1919), Madame DuBarry (1919), Sumurun (1920) ฯ

รับบท Prince Nucki เจ้าชายจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่อาศัยอยู่คอนโดสูงชั้น 47 มีหนี้สินท่วมหัว (อยู่สูงขนาดนั้นยังมีหนี้สินที่สูงกว่าอีกนะ!) แม้อดๆอยากๆกลับยังเอ่อล้นด้วยศักดิ์ศรี วางมาดดั่งพระราชา แต่สติปัญญากลับไม่เข้าที มอบหมายให้เพื่อนสนิท/คนรับใช้ Josef ปลอมตัวไปแต่งงานกับ Ossi ส่วนตัวเองไปสังสรรค์กับพรรคเพื่อนฝูง เช้ามาถูกจับพลัดจับพลู พบเจอหญิงสาว ตกหลุมรัก และได้ครองคู่อยู่ร่วม … อย่างงงๆ

เกินกว่าครึ่งของตัวละครนี้ตกอยู่ในสภาพมึนเมา ตาปลือๆ เซไปเซมา สติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่เมื่อไหร่สามารถฟื้นคืนสติ พยายามวางมาดผู้ดี ไฮโซ ทำตัวราวกับเป็นเจ้าชายจริงๆ (หนังจงใจสร้างความคลุมเคลือ ไม่ให้คำตอบว่าตัวละครนี้เป็นเจ้าชายจริงๆหรือไม่) สวมใส่แว่นตาข้างเดียว คงเทียบเท่าสติปัญญาครึ่งๆกลางๆ เดี๋ยวฉลาดเดี๋ยวโง่ สุดท้ายได้ดีเพราะโชคชะตาล้วนๆเลยทีเดียว

เพียงเพราะคำนำหน้า ‘เจ้าชาย’ ทำให้ตัวละครนี้เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงในยศศักดิ์ ชาติกำเนิดตนเอง (ให้สมมติว่าเขาคือเจ้าชายจริงๆนะครับ) มองในมุมนี้เราสามารถเปรียบเทียบได้กับระบอบกษัตริย์ที่ตกต่ำลง (เพราะการมาถึงของโลกเสรี และระบอบทุนนิยม) ผู้ไม่สามารถปรับตัวได้ย่อมกลายเป็นตัวตลกของสังคม!

Julius Falkenstein (1879 – 1933) นักแสดงสัญชาติ German เชื้อสาย Jewish เกิดที่ Berlin ผลงานเด่นๆ อาทิ The Oyster Princess (1919), The Haunted Castle (1921), Dr. Mabuse the Gambler (1922) ฯ

รับบท Josef เพื่อนสนิท/คนรับใช้ Prince Nucki ได้รับมอบหมายให้ปลอมตัวไปแต่งงานกับ Ossi หลังจากมีโอกาสดื่มกินกับอาหารเลิศหรู ไวน์ชั้นเยี่ยม ปล่อยตัวปล่อยใจโดยไม่สนอะไรอื่น มึนเมามายถูกผลักไสให้เข้าห้องนอนส่วนตัว มิได้มีโอกาสร่วมรักหลับนอนกับเจ้าสาวปลอมๆของตนเอง

ผมเกิดความสงสารตัวละครนี้จับใจเลยเดียว ไม่เพียงถูกหลอกใช้โดย Prince Nucki แต่ยังความโง่งม สติปัญญาต่ำต้อย ไม่สามารถควบคุมตนเอง สนเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า มิอาจคว้าโอกาสยิ่งใหญ่กว่า และทำตัวให้เหมาะสมวิริยะฐานะได้มา

ด้วยเหตุนี้ตัวละคร Josef สามารถเปรียบได้กับ ‘บ้านนอกเข้ากรุง’ หรือชนชั้นล่างของสังคมที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมไฮโซ ชนชั้นสูง และการเปลี่ยนแปลงไปของวิถีโลก ด้วยเหตุนี้แม้สวมใส่เสื้อผ้าเลิศหรู ปลอมตัวเป็นเจ้าชาย แต่ไม่นานสันดาน/ธาตุแท้ ความกระวนกระวาย จักปรากฎออกมาโดยง่ายดาย

ถ่ายภาพโดย Theodor Sparkuhl (1894 – 1946) สัญชาติ German ขาประจำช่วงแรกๆของผู้กำกับ Ernst Lubitsch จากนั้นไปแจ้งเกิดโด่งดังที่ฝรั่งเศส และเซ็นสัญญา Paramount Pictures มุ่งสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1931 ผลงานเด่นๆ อาทิ La Chienne (1931), Beau Geste (1939), The Glass Key (1942) ฯ

ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ทำให้งานภาพส่วนใหญ่ของหนังเพียงตั้งกล้องทิ้งไว้ กำหนดระยะ ทิศทาง มุมกล้อง แล้วให้เหตุการณ์ดำเนินไปในขอบเขตที่กำหนด ออกแบบฉากโดย Kurt Richter ก่อสร้างที่ Tempelhof Studios, Berlin

Lubitsch’s Touch ในยุคหนังเงียบจะมีลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากหนังพูด นั่นคือความพร้อมเพรียงของกลุ่มนักแสดงตัวประกอบ ซึ่งหนังเรื่องนี้จะพบเห็นได้บ่อยครั้งทีเดียว เริ่มต้นตั้งแต่ฉากแรกๆบรรดาเลขานุการสาว เมื่อเจ้านาย (Mr. Quake) พูดบอกออกคำสั่งอะไร พวกเธอจะก้ม-เงยหน้า พิมพ์ดีด-ขีดเขียน ได้อย่างพร้อมเพรียงกัน, นัยยะคงต้องการสื่อถึงความร่ำรวยในโลกทุนนิยม สามารถทำอะไรที่มันเว่อวังอลังการ ไร้สาระความจำเป็น (เลขานุการคนเดียวก็เพียงพอแล้ว ทำไมต้องจ้างคนมากมายขนาดนี้?)

พื้นหลังฉากนี้ค่อนข้างสวยทีเดียว ภาพวาดใต้ท้องทะเล พบเห็นปลาแหวกว่าย แมงกระพุน ม้าน้ำ สาหร่าย แฝงนัยยะไม่เพียงสะท้อนธุรกิจอาหารทะเลของ Mr. Quake แต่ยังเป็นการล้อเลียนบุคคลเหล่านี้ต่างกำลังใช้ชีวิตจมอยู่ก้นเบื้องมหาสมุทรที่ไร้ซึ่งแสงสว่างส่องถึง

ห้องของพ่อสื่อ Seligson สังเกตว่าบนผนังเต็มไปด้วยภาพถ่ายคนโสดมากมาย นี่ราวกับจะสะท้อนว่าโลกยุคสมัยใหม่ที่ผู้คนให้ความสนใจเรื่องการแต่งงานลดลง ถือเป็นสภาวะถดถอยอันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมืองตกต่ำลง สืบเนื่องจากผลกระทบหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เห็นตุ๊กตาตัวนี้ทำให้นึกถึงผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Lubitsch เรื่อง Die Puppe (1919) ซึ่งฉากนี้แม้เป็นการซักซ้อมเลี้ยงลูกของ Ossi แต่ยังสามารถล้อเลียนวิธีเลี้ยงดูแลบุตรของคนยุคสมัยใหม่ ไร้ซึ่งความอดรนทน มองพวกเขาเหมือนตุ๊กตา พยายามควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสอนสั่ง ให้เติบโตขึ้นกลายเป็นดั่งที่ตนเองวาดฝันไว้ (เรียกว่าทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม)

Lubitsch’s Touch มักนำเสนอภาพตรงกันข้าม/กลับตารปัตร กับสิ่งควรเกิดขึ้นจริงเสมอ ยกตัวอย่าง Prince Nucki ทั้งๆมีคำนำหน้า ‘เจ้าชาย’ กลับอาศัยอยู่ในห้องแคบๆ สภาพโทรมๆ แต่ถึงอย่างนั้นกลับยังพยายามทำตัวหัวสูงส่ง เวลามีคนมาหานั่งบนเก้าอี้ราวกับพระราชา และถูกล้อเลียนด้วยการให้ผู้มาเข้าฝั่งนั่งเก้าอี้แล้วหกคะเมนตีลังกา

Sequence นี้ถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง เพราะมีการตัดสลับไปมาระหว่าง

  • Mr. Quake กำลังพักผ่อนหลับนอนกลางวัน
  • Ossi กำลังอาบน้ำ นวดตัว แต่งหน้าทำสวย
  • ตรงกันข้ามกับ Josef เต็มไปด้วยความลุ่มร้อนรน มิอาจนั่งนิ่งสงบลงได้

การที่ Josef ไม่สามารถอยู่สงบนิ่งกับที่ ต้องเดินเวียนวนไปวนมา กระโดดโลดเต้น เป็นการสะท้อนสภาพจิตใจลุ่มร้อนรน อาจผสมความอิจฉาริษยา (เพราะสถานที่แห่งนี้ช่างตรงกันข้ามกับห้องหับของตนเอง) ต้องการให้ช่วงเวลาพบเจอบังเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งวิธีตัดสลับดังกล่าวเป็นการประชดประชัน ล้อเลียนบุคคลทั้งสองชนชั้น

  • วิถีของคนรวย/ชนชั้นสูง ไม่มีอะไรต้องเร่งรีบร้อนรน
  • ขณะที่ชนชั้นกลาง/ล่าง เพราะท้องยังหิว ติดหนี้สินมหาศาล จึงต้องเร่งรีบร้อน มิอาจปล่อยวาง

อคติต่อคริสตจักรของ Lubitsch ยังคงพบเห็นได้เล็กๆในฉากนี บาทหลวงแทบไม่ได้ทำอะไรที่สมฐานะตนเอง แค่เปิดหน้าต่าง สวมหมวก เปิดหนังสือ พูดสองสามประโยค และได้รับเงิน นี่นะหรือการแต่งงาน ก็แค่ความเชื่อ ประเพณี และผลประโยชน์ของผู้ทำพิธีเท่านั้นเอง!

ซึ่งหนังยังทำให้การแต่งงานครั้งนี้เป็นเกมเล่นสนุก ผิดตัว สามีจริงๆของ Ossi หาใช่ Josef ที่ปลอมแปลงเป็น Prince Nucki เช่นนี้แล้วพิธีการมันจะมีความน่าเชื่อถือเช่นไร

เมื่อตอนก่อนแต่งงาน Josef นั่งตำแหน่งเคียงข้าง Ossi แต่เมื่อทำพิธีเสร็จสิ้นก็ถูกผลักไสไล่ส่งให้ไปนั่งข้างหลังแบบไม่สนหัว นี่สะท้อนความเห็นแก่ตัวของเธอ เรียกร้องอยากแต่งงานไม่ใช่เพื่อหาคนรัก แต่สนองกิเลสตัณหา อารมณ์อยากมีอยากได้ อยากเด่นอยากดัง เห็นคนอื่นมีก็อยากมีบ้าง เป็นหญิงสาวโคตรเอาแก่ใจโดยแท้ (น่าสงสาร Josef เสียจริง!)

มันจำเป็นต้องมีคนรับใช้เยอะขนาดนั้นด้วยหรือ? คำตอบก็เพื่อให้เพียงพอต่อฉากนี้ จะได้เข้ามาเสิร์ฟอาหารแขกได้อย่างตัวต่อตัว ทันท่วงที แต่ผู้ชมเห็นแล้วกุมขมับ มันเป็นการอวดอ้างบารมี (ของเจ้าของบ้าน) ซึ่งหนังทำการประชดประชันบุคคลเหล่านี้ได้อย่างแสบๆคันๆ

ต้องปรบมือดังๆให้ Sequence โรคระบาดเต้นรำ ‘Foxtrot Epidemic’ มีความบ้าระห่ำโดยพร้อมเพรียง ซึ่งเราสามารถตีความในลักษณะ Orgy หรือ Group Sex เพราะท่วงท่านี้มันเต้นสองคน ชาย-หญิง ใส่กันไม่ยั้งท่ามกลางฝูงชน

Sequence การยืมเงินของ Prince Nucki นำเสนอความคอรัปชั่นของการกินกันเป็นทอดๆ เพื่อนคนขวาสุดมอบเงินเป็นปึก ส่งให้คนถัดมายักยอกหนึ่งใบ คนถัดไปอีกหนึ่ง พอถึงคนสุดท้าย Prince Nucki กลับเหลือเงินเพียงธนบัตรใบเดียวเท่านั้น

เช่นกันกับฉากนี้ยามเช้าหลังโต้รุ่ง ทุกคนต่างกอดคอเดินปลิ้นไปมา เก้าอี้แต่ละตัวแทนด้วยหนึ่งคนทรุดลงไป สุดท้ายหลงเหลือเพียง Prince Nucki ผู้โดดเดี่ยวเดียวดาย ไร้ซึ่งเพื่อนตายในยามมีปัญหา (เพื่อนกินเหล่านี้ต่างทอดทิ้งเขาเมื่อตนเองเสพสมอารมณ์หมาย)

ถ้าเป็นโลกยุคก่อน บุรุษจะเป็นฝ่ายเลือกภรรยา แต่ค่านิยมของโลกยุคสมัยใหม่นั้นถือว่ากำลังกลับตารปัตร ซึ่ง Sequence นี้สาวๆต่างกำลังต่อสู้ ชกมวย ผู้ชนะจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ Prince Nucki แต่เพียงผู้เดียว … มันช่างน่าเหลือเชื่อเสียจริง!

และเมื่อได้ผู้ชนะคือ Ossi พฤติกรรมที่ Prince Nucki แสดงออกมาคือออดอ้อน ศิโรราบ สู่อ้อมอก แม้เราอาจมองว่าเขากำลังมึนเมามาย แต่ขณะเดียวกันแสดงถึงความอ่อนแอ ชีวิตไร้เป้าหมายแก่นสาน สร้างความระริกรี้ ยิ้มแป้นให้หญิงสาว ราวกับได้ครอบครองตุ๊กตาหมีตัวใหม่ จุมพิตลงไปด้วยอารมณ์ร่านราคะ

ผมรู้สึกว่านี่เป็นฉากที่กระอักกระอ่วนอย่างรุนแรง เพราะการหัวเราะอย่างเสียสติแตกของ Josef เมื่อพูดบอกความจริงกับทั้งสอง ปฏิกิริยาที่พวกเขาแสดงออกมาคือลิงโลด แล้วถาโถมเข้าใส่ ไม่เห็นใจชายหัวโล้นที่อยู่ข้างๆบ้างเลยหรือ???

แม้บนโต๊ะอาหาร Mr. Quake จะนั่งขวางกึ่งกลางระหว่างคู่รักชายหญิง แต่สิ่งเกิดขึ้นใต้โต๊ะ เท้า (สัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย) พยายามรุกเข้าไปหยอกเหย้า เคล้าคลอเคลีย พ่อเผลอแล้วเจอกัน จากนั้นก็อยู่ที่จินตนาการผู้ชมว่าจะครุ่นคิดเห็นเช่นไร

“Now I’m impressed!”

ความประทับใจหนึ่งเดียวของ Mr. Quake คือการได้เห็นบุตรสาวมีความสุข และตนเองได้แอบดูทั้งสองพรอดรักอย่างหวานฉ่ำ นี่แสดงถึงสิ่งที่มหาเศรษฐีอย่างเขาขาดหายไป ความรักและใครสักคนที่คอยเคียงข้าง(เตียงนอน)

The Oyster Princess นำเสนอวิถีชีวิต รูปแบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งหลายๆอย่างมีลักษณะกลับตารปัตรตรงข้ามเดิม อาทิ

  • ยุคก่อน บุรุษเป็นฝ่ายเลือกหญิงงามครองคู่แต่งงาน, ยุคใหม่ สตรีสามารถเลือกคนรักหนุ่มหล่อได้เช่นกัน
  • ยุคก่อน อำนาจอยู่ในมือกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง อาศัยอยู่พระราชวังรโหฐาน มีข้าราชบริพารมากมาย, ยุคใหม่ ขอแค่เพียงมีเงินทอง ก็สามารถซื้อคฤหาสถ์หรู คนรับใช้ร้อยพัน ชีวิตเลิศหรูหราไม่ต่างจากพระราชา
  • ศาสนาเคยเป็นที่พึ่งพักพิงทางจิตใจ กลับกลายถูกใช้เป็นข้ออ้างความเชื่อศรัทธา แล้วกอบโกยผลประโยชน์เงินทอง

เพราะอำนาจไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับชนชั้นสูงในสังคมอีกต่อไป ชื่อเสียง ความสำเร็จ และเงินทอง สามารถโน้มน้าวชักจูง ทำให้จิตใจคนเกิดความเปลี่ยนแปลงไป ความสุขที่สามารถในเชิงรูปธรรมย่อมถูกยินยอมรับมากกว่า

แต่การมี ‘เงิน’ ในยุคสมัยใหม่จะสร้างความแตกต่างทางสังคมให้กว้างมากขึ้น เพราะเจ้าสิ่งนี้ได้กลายเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ ร่ำรวย หน้าตาในสังคม นั่นทำให้คนจนกลายเป็นชนชั้นล่าง คนมีเงินมากย่อมได้รับอภิสิทธิ์ชน … นั่นแปลว่าโลกทุนนิยมไม่มีทางที่การเรียกร้องสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมจะบังเกิดขึ้นจริง!

ผู้กำกับ Ernst Lubitsch มองค่านิยมของโลกยุคสมัยใหม่ ล้วนขึ้นอยู่กับ ‘Sex Drive’ แรงผลัก/ความต้องการส่วนตน เพราะ’เงิน’แทบจะสามารถซื้อ-ขายได้ทุกสิ่งอย่าง นั่นคือโอกาสที่มนุษย์จะได้รับความสุขสบาย พึงพอใจทางกาย สนองตัณหาราคะ เสพสมอารมณ์หมาย

แต่นั่นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า? ผู้กำกับ Lubitsch ไม่ได้บอกกล่าวไว้ สิ่งที่เขานำเสนอล้วนเป็นการเสียดสี ล้อเลียน ประชดประชัน แล้วให้อิสระผู้ชมได้ครุ่นคิดทำความเข้าใจ มันก็เรื่องของคุณแล้วจะเห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว ถูก-ผิดล้วนเป็นความเชื่อส่วนบุคคล


ได้ยินว่าหนังประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในเยอรมันและทวีปยุโรป ถึงขนาดมีการลักลอบแอบพิมพ์ฟีล์ม เพื่อนำออกฉายโดยไม่ต้องหักส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ (โรงหนังจักได้กำไรเน้นๆ)

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะหรือยังนะ แต่ฉบับของ Masters of Cinema รวมอยู่ใน Boxset ของ Lubitsch in Berlin: Fairy-Tales, Melodramas, and Sex Comedies จัดจำหน่ายเมื่อปี 2010 คุณภาพค่อนข้างดียอดเยี่ยมทีเดียว

ส่วนตัวมีความประทับใจฉากการเต้น ‘Foxtrot Epidemic’ ที่มีความพร้อมเพรียง บ้าระห่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลีลาของวาทยากร สร้างเสียงหัวเราะจนท้องแข็ง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วให้มองข้ามความไร้สาระของเนื้อเรื่องราว

จัดเรต PG กับพฤติกรรมร่านราคะของตัวละคร

คำโปรย | Die Austernprinzessin นำเสนอธุรกิจอันหมกมุ่นของผู้กำกับ Ernst Lubitsch ด้วยสัมผัสที่นุ่มนวลถึงทรวงใน
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Die Puppe (1919)


Die Puppe (1919) German : Ernst Lubitsch ♥♥♥♡

เรื่องราวโรแมนติก แฟนตาซี ชวนหัว ที่มีกลิ่นอาย ‘Lubitsch’s Touch’ อยู่เล็กๆ, ชายหนุ่มทายาทมหาเศรษฐีพยายามหลบหนีการแต่งงาน ถูกเสี้ยมสอนจากคณะบาทหลวงให้สมรสกับหุ่น (Die Puppe) สร้างโดยนักประดิษฐ์ชื่อดังที่ผลงานมีความสมจริงอย่างมาก แต่ด้วยความจับพลัดจับพลูบางอย่าง หุ่นสาวตนนั้นกลับดันมีชีวิตขึ้นมา!

เมื่อพูดถึงยุคทองแห่งวงการภาพยนตร์เยอรมัน ‘Golden Age of German Cinema’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึง ‘German Expressionism’ ในช่วงยุคสมัยหนังเงียบ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่น กลายเป็นอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ไปทั่วทุกมุมโลก กลบเกลื่อนผลงานเรื่องอื่นๆ(ของเยอรมัน)ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้นแทบหมดสิ้น

หนึ่งในนั้นคือผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Ernst Lubitsch (ก่อนอพยพย้ายสู่ Hollywood เมื่อปี 1922) ที่กำลังได้รับการพัฒนาขึ้นจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรียกว่า ‘Lubitsch’s Touch’ อาทิ Die Puppe (1919), Die Austernprinzessin (1919), Madame DuBarry (1919), Die Bergkatze (1921), Das Weib des Pharao (1921) ฯ

‘Lubitsch’s Touch’ ในยุคหนังเงียบจะมีความแตกต่างจากหนังพูดพอสมควร เพราะตัวละครไม่สามารถเอ่ยกล่าวคำพูดอันเฉียบคมคายออกมา (แต่ข้อความปรากฎบน Title Card ก็พอพบเห็นความสองแง่สองง่ามอยู่บ้าง) การขยับเคลื่อนกล้องยังมีข้อจำกัดอยู่มาก (ในยุคหนังพูด งานภาพในหนังของ Lubitsch จะมีความพริ้วมากๆ) แต่จิตวิญญาณในส่วนความล่อแหลม เรื่องต้องห้าม จิกกัดขนบวิถีสังคม นั่นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แล้วตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้

เอาจริงๆผลงานของ Lubitsch ไม่ได้มีสาระข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตแม้แต่น้อย (เรียกได้ว่าเนื้อเรื่องราวโคตรไร้สาระ!) แต่จัดเป็นความบันเทิงระดับสูง ที่สะท้อนความสนใจ(ของผู้กำกับ) ล้อเลียน เสียดสีสังคม หมกหมุ่นด้วยมุกเสื่อมๆ สองแง่สองง่าม มุ้งเน้นให้ผู้ชมรู้สึกพักผ่อนคลาย ระบายความอึดอัดอั้นที่อยู่ภายใน หัวเราะร่าออกมาโดยไม่ต้องอายใคร


Ernst Lubitsch (1892 – 1947) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Berlin, German Empire เชื้อสาย Ashkenazi Jewish บิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ได้รับการคาดหวังให้สืบสานต่อกิจการ แต่กลับเลือกทอดทิ้งครอบครัวแล้วเข้าสู่วงการแสดง เล่นเป็นตลกในสังกัด Max Reinhardt ณ Deutsches Theater ไม่นานผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เขียนบท กำกับ และเข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Ideal Wife (1913)

สำหรับ Die Puppe หรือ The Doll ร่วมพัฒนาบทกับนักเขียนขาประจำ Hanns Kräly (1884 – 1950) ดัดแปลงจาก La poupée (1896) อุปรากรตลก (Opéra Comique) จำนวน 3 องก์ ประพันธ์โดย Edmond Audran (1840 – 1901) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส ร่วมกับ Maurice Ordonneau (1854 – 1916) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Der Sandmann (1816) แต่งโดย E.T.A. Hoffmann (1776 – 1822) นักเขียนชื่อดังสัญชาติเยอรมัน [ผู้ประพันธ์ The Nutcracker and the Mouse King]

เกร็ด: Hanns Kräly เดินทางมา Hollywood ร่วมกับ Ernst Lubitsch และเคยคว้ารางวัล Oscar: Best Writing เรื่อง The Patriot (1928)

ในบรรดาผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Lubitsch มีความชื่นชอบโปรดปราน Die Puppe (1919) เป็นอย่างมาก ให้คำนิยามหนังว่า

“pure fantasy; most of the backdrops were only made of cardboard, some even made of paper. To this day I consider this film to be one of the most imaginative that I have ever made”.

Ernst Lubitsch

เรื่องราวของ Lancelot (รับบทโดย Hermann Thimig) ถูกลุง Baron of Chanterelle (รับบทโดย Max Kronert) บีบบังคับให้แต่งงานเพื่อมีทายาทสืบวงศ์สกุล แต่เจ้าตัวตอบปฏิเสธเสียงขันแข็ง หลบหนีไปพึ่งใบบุญบาทหลวงในโบสถ์แห่งหนึ่ง วันหนึ่งหลวงพ่อพบเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์เรียกร้องขอให้ชายหนุ่มกลับบ้านไปแต่งงานแล้วจะมอบค่าตอบแทน $300,000 เหรียญ จึงครุ่นคิดวางแผนเพื่อฮุบสมบัติดังกล่าว โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลาให้เข้าพิธีสมรสกับหุ่นสาวซึ่งสร้างโดยนักประดิษฐ์ชื่อดัง Hilarius (รับบทโดย Victor Janson) ซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก โดยมีบุตรสาว Ossi (รับบทโดย Ossi Oswalda) เป็นตัวแบบอย่างให้หุ่นตัวดังกล่าว สามารถขยับเคลื่อนไหวไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป


Hermann Thimig (1890 – 1982) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna ในครอบครัวนักแสดง ได้รับการฝึกหัดเล่นละครเวทีตั้งแต่เด็ก กระทั่งแจ้งเกิดกับ Meiningen Court Theatre เมื่อปี 1910 เข้าตา Mex Reinhardt จึงมีโอกาสแสดงยัง Deutsches Theater, ภาพยนตร์เรื่องแรก Die Gräfin Heyers (1916) ผลงานเด่นๆ อาทิ Die Puppe (1919), Die Bergkatze (1921), L’Opéra de quat’sous (1931) ฯ

รับบท Lancelot ทายาทมหาเศรษฐีแต่กลับมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับชื่อ ขี้ขลาดตาขาว ปฏิเสธการเผชิญหน้า พยายามหลบหนีการแต่งงาน หลงเชื่อคารมคนง่าย ไม่ค่อยเฉลียวฉลาดสักเท่าไหร่ แต่โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้ได้ตกหลุมรักหุ่นสาว และฝันเป็นจริงเมื่อเธอกลายมาเป็นผู้หญิงมีชีวิตและจิตวิญญาณ

ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงออกทางสีหน้า ‘Expression’ อย่างตรงไปตรงมาของตัวละครนี้มากๆทีเดียว แรกเริ่มตั้งแต่ถูกบีบบังคับให้แต่งงาน ทำหน้าเหยเกจะร้องไห้ (ไม่ได้มีความเป็นลูกผู้ชายสมชื่ออัศวิน Lancelot เลยสักนิด!) ขณะที่ไฮไลท์คือตอนทำหน้าเอ๋อเหรอ ป้ำๆเป๋อๆ หุ่นสาวตนนี้ทำไมชอบแสดงออกเหนือความคาดหมายตนเองนัก ก็ไม่รู้จะสมเพศหรือเห็นใจ หมอนี่ช่างโง่งมเสียประไร เมื่อไหร่จะครุ่นคิดตระหนักได้ เสียดายของเป็นอย่างยิ่ง!


Ossi Oswalda ชื่อจริง Oswalda Amalie Anna Stäglich (1897 – 1947) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เจ้าของฉายา ‘German Mary Pickford’ เกิดที่ Niederschönhausen, German Empire ตั้งแต่เด็กฝึกหัดเป็นนักบัลเล่ต์ แล้วกลายเป็นนักเต้นละครเพลง ภาพยนตร์เรื่องแรก Nächte des Grauens (1916) เข้าตานักเขียน Hanns Kräly แนะนำเธอให้ผู้กำกับ Ernst Lubitsch กลายเป็นขาประจำในช่วงแรกๆ อาทิ Ich möchte kein Mann sein (1918), Die Puppe (1919), Die Austernprinzessin (1919) ฯ

รับบท Ossi (และ Die Puppe/The Doll) บุตรสาวของนักประดิษฐ์ชื่อดัง Hilarius เป็นนางแบบให้ผลงานชิ้นเอกของบิดา แต่เหตุการณ์วุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อหุ่นตนนั้นตกพื้นแตกกระจาย เธอเลยปลอมตัวกลายเป็นหุ่นแทน และถูกจับพลัดจับพลูให้แต่งงานกับ Lancelot แรกๆแม้ไม่ยินยอม แต่สุดท้ายก็ปล่อยตัวปล่อยใจ

ด้วยเรือนร่างเล็ก ไว้ผมม้วนหยักศก นิสัยขี้เล่นซุกซน ร่าเริงเหมือนเด็กน้อย นั่นคือสิ่งทำให้ Oscalda แลดูเหมือน Mary Pickford อยู่เล็กๆ ซึ่งเหมือนเป็นความจงใจของผู้กำกับ Lubitsch เพื่อให้ผู้ชมตกหลุมรักตัวละคร เกิดความเห็นอกเห็นใจ เป็นกำลังใจ และลุ้นระทึก รอคอยให้เธอทำอะไรบางอย่างเพื่อลวงหลอก ตบตา จบเรื่องราวจับพลัดจับพลูแบบ Happy Ending

Oswalda เคยให้สัมภาษณ์ว่าตนเองมีความรู้สึกบางอย่างกับผู้กำกับ Lubitsch แต่เขากลับไม่เคยคิดจริงจัง เลยมิอาจสานความสัมพันธ์ใดๆให้มากเกินไปกว่าเพื่อนร่วมงาน


ถ่ายภาพโดย Theodor Sparkuhl (1894 – 1946) สัญชาติ German ขาประจำช่วงแรกๆของผู้กำกับ Ernst Lubitsch จากนั้นไปแจ้งเกิดโด่งดังที่ฝรั่งเศส และเซ็นสัญญา Paramount Pictures มุ่งสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1931 ผลงานเด่นๆ อาทิ La Chienne (1931), Beau Geste (1939), The Glass Key (1942) ฯ

ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น ทำให้งานภาพของหนังเพียงตั้งกล้องทิ้งไว้ กำหนดระยะ ทิศทาง มุมกล้อง แล้วให้เหตุการณ์ดำเนินไปในขอบเขตที่กำหนด แต่เนื่องด้วยเรื่องราวเป็นแนวแฟนตาซี ผู้กำกับ Lubitsch จึงได้ร่วมงานกับนักออกแบบ Kurt Richter เพื่อสรรค์สร้างฉาก พื้นหลัง พอมีกลิ่นอายของ German Expressionism อยู่เล็กๆ (แต่หนังเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็น Expressionism นะครับ)

แรกเริ่มต้น ผู้กำกับ Lubitsch (ตัวจริงๆเลยนะครับ) ทำการก่อสร้างบ้านตุ๊กตา สามารถเทียบแทนได้ถึงการสรรค์สร้างภาพยนตร์(เรื่องนี้) ทำสิ่งไม่มีชีวิตให้กลายมามีจิตวิญญาณ ขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง

ฉากเจ้าสาวไล่ล่าเจ้าบ่าว ชวนให้ผมระลึกนึกถึง Seven Chances (1925) ของ Buster Keaton แต่ความตื่นเต้นลุ้นระทึกกลับเทียบกันไม่ได้สักนิด นั่นเพราะการที่กล้องตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ปล่อยให้ตัวละครวิ่งสลับฟันปลาไปมา มันเป็นข้อจำกัดการถ่ายภาพยุคสมัยนั้น แต่ให้มองว่าลักษณะของหนังเหมือนสมุดภาพเคลื่อนไหว เพลิดเพลินไปกับ Comedy ที่ผู้ชมสมัยนั้นคงต่างฮาตกเก้าอี้เป็นทิวแถว

หนังมีการเสียดสีล้อเลียนคริสตจักรได้อย่างโฉดชั่วร้ายมากๆ สังเกตว่าบาทหลวงทุกคนมีรูปลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ ปากอ้างว่างไม่ค่อยมีเงินกลับรับประทานอาหารปริมาณมากเกินพอดี (แถมแบ่งปันให้ Lancelot เพียงน้อยนิด) และตอนที่พบเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ แสดงออกด้วยความละโมบโลภมากขึ้นมาโดยทันที ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสะท้อนนิสัยบริโภคนิยม บุคคลเหล่านี้เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน สนเพียงผลประโยชน์อิ่มหนำส่วนบุคคลเท่านั้น

แซว: ลองสังเกตประตูทางเข้าโบสถ์ มีรูปทรงเรียวแหลมสูง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของ German Expressionism แสดงถึงความคอรัปชั่น โฉดชั่วร้าย ของบุคคลผู้อาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้

Lubitsch’s Touch ในยุคหนังเงียบจะมีลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากหนังพูด นั่นคือความพร้อมเพรียงของกลุ่มนักแสดงตัวประกอบ โดยเฉพาะในฉากตุ๊กตาเต้นรำ แม้มิได้งดงามถึงขั้นกล้องสลับลาย (kaleidoscope) แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจ ตลกขบขันให้ผู้ชมเล็กๆ

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกต ม้าสองตัวที่ลากจูงดูยังไงก็ไม่เหมือนม้า น่าจะเป็นตัวประกอบสวมผ้าคลุม คาดว่าคงจะล้อเลียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับแรงงานมนุษย์

หลังจากพานพบเจอเรื่องเหนือความคาดหมายมากมาย ทำให้ Lancelot เพ้อใฝ่ฝันอยากให้หุ่นตนนี้นั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ซึ่งการซ้อนภาพหญิงสาวนั่งอยู่ตรงหน้าต่าง และ Ossi ตัวเป็นๆกำลังย่องเข้ามาหาด้านข้างซ้าย อาจเรียกช่วงเวลาขณะนี้ว่า ความจริงและความฝันได้ซ้อนทับกัน!

ลูกโป่งลอยฟ้า หลายคนอาจนึกถึงอนิเมชั่น Up (2010) แต่ผมนึกถึง Le Ballon Rouge (1956) ที่ผู้กำกับ Albert Lamorisse สามารถล่องลอยขึ้นฟ้าด้วยลูกโป่งจริงๆ (ห้อยจากเฮลิคอปเตอร์ก็ตามเถอะ)

เมื่อครุ่นคิดถึงข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น จะพบว่าฉากนี้ไม่ได้ใช้เทคนิคน่าตื่นตาตื่นใจอะไรเลยนะครับ แค่ให้นักแสดงห้อยต่องแต่งบนเชือก(และลูกโป่ง) แล้วท้องฟ้าพื้นหลังใช้การวาดภาพบนกระดาษผืนแผ่นใหญ่ที่สามารถม้วนหมุนขณะถ่ายทำ เพียงเท่านี้ก็มอบสัมผัสตัวละครกำลังลอยละล่องขึ้นท้องฟ้า

ผมมองนัยยะของฉากนี้คือ จินตนาการอันล่องลอยของ Hilarius นี่รวมไปถึงการนอนละเมอเพ้อฝันยามค่ำคืน (เป็นตัวละครที่ครุ่นคิดมากจนผมหงอก เก็บเอาไปฝัน จินตนาการไปไกล) ซึ่งวินาทีที่ลูกโป่งแตกหมด ตกลงพื้น ทำให้ลงมาเผชิญหน้าโลกความจริง มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอลูกสาว ซึ่งได้แต่งงานกับชายผู้มาซื้อตุ๊กตาคนนั้น

Der Puppe, หุ่น คือสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นตามความครุ่นคิดจินตนาการ ไม่ว่าจะรูปลักษณะหน้าตา อากัปกิริยาขยับเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ความครุ่นคิดแสดงออก ล้วนเป็นไปตามคำสั่งที่ผู้สร้างกำหนดไว้

มนุษย์ แตกต่างจากหุ่นไม่ใช่เพราะความสามารถในการเรียนรู้ ครุ่นคิด หรือสติปัญญา (ก็ดูอย่าง Alpha Go สามารถเอาชนะผู้เล่นโกะมืออาชีพได้สบายๆ) แต่คือ ‘จิตวิญญาณ’ สามัญสำนึกทางมโนธรรม ศีลธรรม ทำให้การตัดสินใจเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผิดกับหุ่นซึ่งทุกการกระทำล้วนเป็นไปตามโปรแกรม วัตถุประสงค์ของผู้สร้าง

ยุคสมัยนี้ใครๆย่อมสามารถครุ่นคิดได้ว่า มนุษย์แตกต่างจากหุ่น แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆนะหรือ?

  • Baron of Chanterelle พยายามบีบบังคับให้ Lancelot ทำตามคำร้องขอ แต่งงาน มีทายาทสืบวงศ์สกุล
  • บาทหลวงสนเพียงเงินทอง สุขสบายอิ่มท้อง พยายามเสี้ยมสั่งสอน ชี้แนะนำให้ Lancelot ยินยอมแต่งงาน
  • Hilarius สรรค์สร้างหุ่นที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ตามคำสั่ง เหมือนมนุษย์ตัวเป็นๆ

ขณะที่หญิงสาว Ossi ปลอมตัวเป็นหุ่น (รูปธรรม) ขยับเคลื่อนไหวร่างกายตามคำสั่ง, Lancelot ราวกับหุ่นที่ถูกเชิดชักใยโดยลุง/บาทหลวง (นามธรรม) พยายามควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสอนสั่ง ให้กระทำในสิ่งสนองผลประโยชน์ตนเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นดั่งหุ่นที่ผู้กำกับ Ernst Lubitsch สรรค์สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความครุ่นคิด จินตนาการ ต้องการส่วนตน ให้ผู้ชมเกิดความบันเทิงรมณ์ หัวเราะขบขัน เสียดสีข้อเท็จจริงหลายๆอย่างในชีวิตประจำวัน

ลองถามตัวคุณเองดูว่า ฉันกำลังเป็นหุ่นของใครอยู่หรือเปล่า? ไม่ใช่ในเชิงรูปธรรมนะครับ ผมตั้งคำถามถึงในเชิงนามธรรม เคยถูกพ่อ-แม่ พี่-น้อง ครูอาจารย์ หัวหน้า หรือใครสักคนควบคุมครอบงำความคิด/การกระทำของเราเองบ้างหรือเปล่า?

ผมไม่เชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยนะครับ! แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า คุณจะสมยินยอมรับที่จะกระทำสิ่งนั้นอย่างเต็มใจ หรือเต็มไปด้วยขัดย้อนแย้งความต้องการหรือเปล่า? ถ้าเป็นแบบหลังนั่นคือการกดขี่ บีบบังคับ ใช้กำลังด้วยยิ่งแล้วใหญ่ นั่นไม่เพียงผิดกฎหมาย แต่ยังสามัญสำนึกความเป็นคน มีเพียงหนทางออกเดียวเท่านั้นคือลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้อง อารยะขัดขืน และที่สุดคือการปฏิวัติ


แน่นอนว่าหนังถูกต่อต้านจากคริสตจักรอย่างรุนแรง ถึงขนาดตีตรา ‘disgrace’ และบอกว่าคือจุดตกต่ำของวงการภาพยนตร์

“The plot of this work, which proves the low point of our contemporary cinema with a sad example, is nothing more than an outrageous mockery of the Catholic religious life”.

แม้หนังจะยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบในสไตล์ ‘Lubitsch’s Touch’ แต่ถือเป็นความบันเทิงระดับสูงที่โคตรล่อแหลม ส่อเสียด ลับคมศักยภาพในการครุ่นคิดสองแง่สองงาม ซึ่งสิ่งทำให้ผมหัวเราะตกเก้าอี้ของหนังคือ

“Familiarize yourself with the mechanism. Always dust her well don’t forget to oil her every two weeks”.

ลองสลับสับเปลี่ยนจากหุ่นยนต์กลไกเป็นมนุษย์ดูสิครับ เผื่อจะเข้าใจคำว่า ‘หยอดน้ำมัน’ คือการที่ชาย-หญิงกระทำอะไรกัน?

จัดเรต PG กับมุกเสื่อมๆ ล่อแหลม ส่อเสียด เด็กๆอาจครุ่นคิดไม่เข้าใจ แต่มันสามารถปลูกฝังอะไรบางอย่างโดยไม่รู้ตัว

คำโปรย | Die Puppe คือจินตนาการอันบรรเจิดของผู้กำกับ Ernst Lubitsch สรรค์สร้างภาพยนตร์ให้ราวกับกำลังมีชีวิตชีวา
คุณภาพ | บันเทิงรมณ์
ส่วนตัว | ยิ้มแป้น