The Blair Witch Project (1999)


The Blair Witch Project

The Blair Witch Project (1999) hollywood : Daniel Myrick, Eduardo Sánchez ♥♥♡

(mini Review) ถ้าหนังเรื่องไหนสามารถทำให้การไม่มีอะไร มีอะไรได้ แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจแน่ๆ, The Blair Witch Project ได้ท้าพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่า ‘มนุษย์มักมีความหวาดกลัว ต่อสิ่งมองไม่เห็น’

Cannibal Holocaust (1980) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของแนว Found Footage แต่ The Blair Witch Project เรียกได้ว่าคือ Milestone เสาหลักของ Sub-Genre นี้ ที่ทำให้ได้รับความนิยม กลายเป็นกระแสลูกคลื่นตามมานับไม่ถ้วน อาทิ Paranormal Activity (2007), Cloverfield (2008), Chronicle (2012) ฯ

ผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้มาเมื่อครั้นนานมาแล้ว ตามเสียงลือเล่าอ้างว่าเป็นหนัง Horror สร้างความอกสั่นขวัญผวา น่าสะพรึงกลัวที่สุดเรื่องหนึ่ง หลังดูจบจดจำได้ว่ากุมขมับบ่นเซ็ง มันน่ากลัวตรงไหนว่ะ! เฉกเช่นกันกับหนังเรื่อง Paranormal Activity (2007) ที่เอาจริงๆ แทบไม่มีอะไรเลยเช่นกัน แต่กลับกลายเป็นกระแสโด่งดัง ทำเงินถล่มทลาย ผู้ชมกรี๊ดลั่นสลบเป็นลม ได้รับการกล่าวขวัญแบบไม่มีใครคาดถึง

รับชมรอบนี้ต้องบอกว่าสภาพไม่ต่างจากครั้งก่อน มิได้เกิดความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัวแม้แต่น้อย แต่ก็ได้สังเกตพบและเข้าใจผลลัพท์จากเทคนิควิธีการนำเสนอ ที่ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจพอสมควร ไม่เช่นนั้นแค่เพียงเรื่องราวของวัยรุ่น 3 คน แบกกล้องเดินเข้าป่า ออกค้นหาลัทธิแม่มด (Blair Witch) แต่กลับหลงทางหาทางออกไม่ได้ มันจะมีความน่าสนใจอะไรที่ทำให้ด้วยทุนสร้างเพียง $60,000 เหรียญ กลับทำเงินทั่วโลกสูงถึง $248.6 ล้านเหรียญ

Daniel Myrick กับ Eduardo Sánchez ระหว่างที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่ University of Central Florida เมื่อปี 1993 ได้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากค้นพบเอกสารเกี่ยวปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ที่อ่านแล้วมีความหลอนสะพรึงมากกว่าหนัง Horror ทั่วๆไป หลังจากเรียนจบร่วมกับเพื่อนๆอีก 3 คน ก่อตั้งสตูดิโอชื่อว่า Haxan Film [เป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังเงียบเรื่อง Häxan: Witchcraft Through the Ages (1922)] พัฒนาบทภาพยนตร์ความยาวเพียง 35 หน้ากระดาษ คัดเลือกนักแสดงโดยใช้การประกาศรับสมัครทางนิตยสาร Backstage มีผู้มาสมัครกว่า 2,000 คน เลือกเหลือเพียง 3 คน เดินทางไปถ่ายทำยัง Black Hills ใกล้กับ Burkittsville, Maryland ใช้เวลา 8 วัน นักแสดงถือกล้องสองตัว CP-16 (ฟีล์ม 16mm) และ Hi8 (กล้อง Super-VHS ของ Sony) ได้ปริมาณฟุตเทจ 19 ชั่วโมง ใช้ตัดต่อถึง 8 เดือน ให้เหลือเพียง 82 นาที ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Sundance รอบเที่ยงคืนวันที่ 25 มกราคม 1999 พร้อมแคมเปญโปสเตอร์ Missing Person (นักแสดงนำทั้งสาม) แปะอยู่หน้าโรงภาพยนตร์, ผลลัพท์ทำให้ Artisan Entertainment ขอซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายในราคาสูงถึง $1.1 ล้านเหรียญ

“What makes us fearful is something that’s out of the ordinary, unexplained. [It’s] kept the audience off balance; it challenged our real world conventions and that’s what really made it scary.”

หนังเรื่องนี้มันไม่มีอะไรเลยนะครับ ทุกสิ่งอย่างถูกเก็บซ่อนในความมืด เสียงที่ได้ยินก็ไม่ได้มีความชัดเจน เหมือนจะมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น แต่สามารถมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หลอกให้เข้าใจผิดไปเอง, การที่ผู้ชมส่วนใหญ่เกิดความหวาดสะพรึงกลัว แทบทั้งนั้นเกิดจากการครุ่นคิดไปเอง จินตนาการถึงสิ่งไม่มีตัวตน เห็นตัวละครแสดงความตื่นตระหนกตกใจกลัว ก็หลง’เชื่อ’ไปตามพวกเขา ว่าได้พบเห็นรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นตามจริง

ความหวาดกลัวในหนังเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายกับข่าวลือ มีส่วนผสมของข้อเท็จจริงที่อาจเป็นส่วนกระจิดริดนิดเดียว และสิ่งปรุงปั้นแต่งเสริมเพื่อให้ดูน่าสนใจ แพร่กระจายสู่สาธารณะได้ง่าย การหลงเชื่อข่าวลือโดยไม่ครุ่นคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ก็เหมือนความหวาดกลัวในหนังเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เห็นเขาว่ามา เห็นตัวละครแสดงความตกใจ ก็หลงเชื่อ หวาดกลัวตามนั้น คนแบบนี้… ก็ไม่รู้สิครับ ครุ่นคิดตามเอาเองแล้วกัน

แต่ต้องถือว่าหนังเรื่องนี้สามารถทำให้ผู้ชมทั้งหลาย เกิดความหวาดกลัวต่อสิ่งที่มองไม่เห็นได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ก็อย่างที่บอกไป เพราะมนุษย์เราส่วนใหญ่ก็เป็นคนลักษณะนี้เอง กลัวความไม่รู้, กลัวความมืด, กลัวหลงทาง, กลัวอันตราย, กลัวการถูกทิ้ง, กลัวการอยู่คนเดียว สำคัญที่สุดคือ กลัวความตาย

และเพราะความหวาดกลัวนี้เอง ทำให้มนุษย์แสดงธาตุแท้ สันชาติญาณ สันดานดิบ ความเห็นแก่ตัวออกมา พยายามดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างให้รอดพ้นปลอดภัย มิได้สนใจใยดีครุ่นคิดเผื่อแทนผู้อื่น นี่เป็นสิ่งที่เห็นแล้วไม่ใช่ความน่าอภิรมณ์เริงใจเสียเท่าไหร่

เราสามารถมอง The Blair Witch Project คือเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ การพยายามค้นหาเป้าหมายและหนทางออก ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร?’ ‘เป้าหมายชีวิตคืออะไร?’ หนังเรื่องนี้ตีความได้ในเชิงปรัชญาตะวันตก คือ การค้นหาไม่พบเจอ ไม่ได้รับคำตอบ รอบข้างเต็มไปด้วยความมืดมิด ชีวิตหลงทาง เกิดความหวาดกลัวต่อทุกสิ่งอย่างรอบข้าง สุดท้าย… ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลงเหลือเพียงบทเรียนให้กับบุคคลอื่นรุ่นหลังที่มาพบเห็น รับชมหนังเรื่องนี้

ว่ากันตามตรง ไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ผมชื่นชอบเลยนะ ความน่าหวาดสะพรึงกลัวรึก็ไม่มี เทคนิคเหมือนจะน่าสนใจแต่รำคาญๆเสียด้วยซ้ำที่มองอะไรไม่ค่อยเห็น ตัวละครนิสัยเxยๆเห็นแก่ตัว ได้รับผลกรรมตามสนองก็สมควรอยู่

แนะนำกับคนขวัญอ่อน ชื่นชอบแนว Horror ท้าพิสูจน์ความกลัวของตนเอง, คอหนัง Indy ศึกษาทำความเข้าใจวิธีการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ

หนังมีภาคต่อนะครับ เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้
– Book of Shadows: Blair Witch 2 (2001)
– Blair Witch (2016)

จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมของตัวละคร กล้องสั่นๆ และความสมจริงของหนัง

TAGLINE | “The Blair Witch Project ท้าพิสูจน์ทฤษฎี ‘มนุษย์มักมีความหวาดกลัว ต่อสิ่งมองไม่เห็น’ ได้อย่างถูกต้องที่สุด”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | WASTE

Cannibal Holocaust (1980)


Cannibal Holocaust

Cannibal Holocaust (1980) Italian : Ruggero Deodato ♥♥

คิดว่าทนไม่ได้ก็อย่าฝืน แต่ถ้าไหวก็พยายามทำความเข้าใจเนื้อหาสาระด้วยนะครับ ใจความของหนังเรื่องนี้สะท้อนเสียดสีพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างเจ็บแสบ “กรรมใดใครก่อ กรรมนั่นย่อมคืนสนอง” ในระดับตาต่อตา ฟันต่อฟัน ตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่เป็น Cannibal?

เปรตเดินดินกินเนื้อคน ไม่ใช่เรื่องจริงหรือ Snuff Film นะครับ ทุกสิ่งอย่างมีการจัดฉาก สามารถอธิบายได้ด้วยเทคนิควิธีการทางภาพยนตร์ แต่ประสิทธิผลของหนังเรื่องนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่น Controversial ระดับรุนแรงมหากาพย์ให้กับวงการภาพยนตร์ ถูกแบนห้ามฉายในหลายประเทศ, ผู้กำกับถูกสั่งฟ้องต้องขึ้นโรงขึ้นศาลข้อหาฆาตกรรม แต่เมื่อเอาทุกหลักฐานมายืนยันก็ต้องถอนฟ้องปล่อยตัว กระนั้นผู้ชมทั่วไปจะสามารถแยกแยะทำความเข้าใจได้ระดับนั้นจริงหรือ

บอกตามตรงว่าผมอยากจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เสียด้วยซ้ำ แต่คิดว่ามันคง’มาก’เกินไปหน่อย เพราะคนส่วนใหญ่คงทนรับชมไม่ไหวแน่ๆ ภาพความรุนแรงมันระดับเสียสติเลยละ ยิ่งด้วยวิธีการที่ผู้สร้างใช้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก กลายเป็นต้นกำเนิดของหนังแนว Found Footage

Ruggero Deodato (เกิดปี 1939) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Potenza, Basilicata ตอนอายุ 7 ขวบไปเรียนดนตรีถึง Denmark แต่เพราะความเป็นคนดื้อด้านไม่สนใจคำครูสอน วันหนึ่งเลยเลิกเล่นแล้วหันไปเอาดีกับภาพยนตร์ เป็นลูกศิษย์ของ Roberto Rossellini กับ Sergio Corbucci

ก่อนหน้าที่จะสร้าง Cannibal Holocaust ผู้กำกับ Deodato มีผลงานเรื่อง Ultimo mondo cannibale (1977) หรือ Jungle Holocaust เป็นหนังเกี่ยวกับการสำรวจ/หนีเอาตัวรอดจากชนเผ่าพื้นเมือง มนุษย์เผ่ากินคนที่เกาะ Mindanao, ประเทศฟิลิปปินส์ แม้จะไม่ได้มีภาพกราฟฟิกโหดๆแบบหนังเรื่องนี้ แต่ก็มีหลายฉากที่โคตรรุนแรง อาทิ ตัดหัวงู ถลกหนังจระเข้ ฯ รวมถึงภาพเปลือยของนางเอกตลอดทั้งเรื่อง

เมื่อปี 1979 ผู้กำกับ Deodato ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ชาวเยอรมันคนหนึ่ง ต้องการให้สร้างหนังที่มีลักษณะคล้ายกับ Jungle Holocaust (1977) จึงตอบรับทันควัน รีบขึ้นเครื่องบินออกเดินทางหาสถานที่ถ่ายทำยังประเทศ Columbia ในป่า Amazon โดยทันที

สำหรับความตั้งใจของ Deodato ในการสร้างหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นระหว่าพูดคุยสนทนากับลูกชาย เกี่ยวกับกองพลน้อยแดงอิตาลี (Red Brigades) กลุ่มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแยกประเทศออกจากการเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตก ซึ่งรายงานข่าวในโทรทัศน์ที่ออกมาขณะนั้นเต็มไปด้วยความโหดร้ายรุนแรงของรัฐบาลที่ทำการตอบโต้ โดยไม่สนถึงผู้ชมทางบ้านที่มีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ จะทนรับภาพที่มีความละเอียดอ่อน (Sensational Footage) นี้ได้หรือเปล่า, ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างเรื่องราวของหนังให้เป็นการค้นพบฟุตเทจ (Found Footage) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงโหดร้ายป่าเถื่อนถึงขีดสุด แล้วตั้งคำถาม เราสมควรจะฉายมันออกสู่สาธารณะหรือไม่?

มอบหมายให้นักเขียนบทสัญชาติอิตาเลี่ยน Gianfranco Clerici ที่เคยร่วมงานกันจาก Jungle Holocaust (1977) และ The House on the Edge of the Park (1980) พัฒนาบทภาพยนตร์ ตั้งชื่อ Working Title ว่า Green Inferno, จากคำบอกเล่าของ Clerici มีฉากหนึ่งที่ถูกตัดออกไปจากหนัง กลุ่มชนเผ่า Ya̧nomamö ตัดขานักรบ Shamatari แล้วนำไปเป็นอาหารปลาปิรันย่าที่แม่น้ำ เหตุผลที่ตัดออกเพราะไม่สามารถถ่ายภาพใต้น้ำได้ (คงเพราะน้ำขุ่นมากๆ) และการที่ไม่สามารถควบคุมปลาปิรันย่าให้เข้าฉากได้ เลยจำใจต้องตัดฉากนี้ทิ้งไปเลย

สำหรับกลุ่มของนักแสดง ผู้กำกับต้องการมือสมัครเล่นหน้าใหม่ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ใดๆ และยังไม่เคยปรากฎตัวต่อสื่อ ติดต่อ Actors Studio ที่ New York เพื่อให้ช่วยคัดเลือกนักแสดงที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ (คาดหวังใช้เป็นจุดขายตลาดต่างประเทศ) เมื่อได้มาแล้วขณะเซ็นสัญญาได้มีการระบุลงไปว่า จะต้องหายหน้าหายตัว ไม่ปรากฎต่อหน้าสื่อเป็นระยะ 1 ปี ตั้งแต่หลังเสร็จสิ้นการถ่ายทำ

ถ่ายภาพโดย Sergio D’Offizi,
– ในช่วง Found Footage ใช้กล้อง Hand Held ขนาด 16mm ถ่ายทำเลียนแบบหนังสารคดี ที่ใช้การบันทึกภาพทุกสิ่งอย่างด้วยการสังเกตการณ์ (Observational) หรือเรียกว่ามุมมองบุคคลที่ 1 [สมัยนั้นยังไม่มีกล้อง Steadicam ใช้การแบกขึ้นบ่าตากล้อง แล้วเดินถ่ายไปเรื่อยๆ]
– ส่วนฉากในช่วงเวลาปัจจุบันของหนังและในเมือง New York City ใช้ฟีล์ม 35mm ถ่ายด้วยมุมมองบุคคลที่ 3

ผู้กำกับ Deodato กล่าวถึงอิทธิพลของการถ่ายภาพ รับจากบรรดาผู้กำกับหนังสารคดีชื่อดัง อาทิ Paolo Cavara, Gualtiero Jacopetti, Franco Prosperi ฯ โดยพุ่งเป้าไปที่การนำเสนอภาพที่มีความละเอียดอ่อนไหว (Sensationalistic) อันเต็มไปด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน ความตายที่สมจริง มีทั้งการจัดฉากและฆ่าสัตว์ให้ตายจริงๆ อันจะทำให้ผู้ชมแทบแยกไม่ออก สมองครุ่นคิดไปว่าทั้งหมดคือความจริง

การถ่ายภาพด้วยมุมมองบุคคลที่ 1 ทำให้ผู้ชมราวกับเป็นส่วนหนึ่งที่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ร่วมผจญภัยออกเดินทางท่องเที่ยว รับรู้สิ่งต่างๆไปพร้อมกับคนอื่นๆ ถือได้ว่ามีความ Realist สูงมากๆ ดังนั้นเมื่อพอภาพนำเสนอบางสิ่งอย่างที่น่าสะพรึงกลัว ขยะแขยง ความอันตราย เราก็จะได้รับอารมณ์ความรู้สึกเหมือนๆไปกับพวกเขาด้วย

กระนั้นก็มีหลายครั้งทีเดียว ที่หนังพยายามหลีกเลี่ยงจะถ่ายทำให้เห็นแบบตรงๆ ใช้การแอบหลบซ่อน กล้องสั่นๆ มีบางอย่างบดบัง เห็นแบบไม่ชัดเจนนัก ในช่วงที่มีความโหดร้ายรุนแรงมากๆช่วงท้าย, หรือบางครั้งเบนกล้องไปถ่ายสิ่งอื่นก่อน เช่นตอนตัดคอเต่า กล้องจะตามไปถ่ายหญิงสาวที่เดินหลบไปอ้วก (เธออ้วกจริงๆนะครับ) เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ชม ก่อนจะเห็นภาพการผ่าเต่าที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น

สำหรับฉากนี้ เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่าเป็นการใช้หุ่นมนุษย์ แต่ไม่ใช่นะครับนั่นเป็นคนจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ศพหรือมนุษย์จริงๆเสียบไม้ทะลุก้นปากแต่อย่างใด, ผู้กำกับ Deodato จำต้องอธิบายฉากนี้ในระหว่างขึ้นศาล ว่าได้ทำการปักเสากับดินแล้วทำเบาะจักรยานให้นักแสดงนั่งทับ ส่วนไม้ท่อนบนก็ให้งับเอาไว้ Effect ส่วนที่เหลือก็เป็นผลงานของ Make-Up Special Effect ให้ตายเถอะสมจริงมากๆ

การถ่ายทำค่อนข้างเต็มไปด้วยความยากลำบาก รวมไปถึงภยันตรายจากธรรมชาติ นักแสดงพูดถึงผู้กำกับ Deodato ว่าเป็นคน ‘remorseless and uncaring’ แทบทุกวันจะต้องมีเรื่องโต้เถียงกัน โดยเฉพาะฉากที่ต้องมีการฆ่าสัตว์จริงๆ อย่างนักแสดงที่ตามบทจำต้องเป็นคนยิงฆ่าหมู แต่กลับปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีวันทำ เลยต้องเป็นหน้าที่ของอีกคน ฯ

หญิงสาวในฉากที่ต้องมี Sex อันเร่าร้อนแรง เธอพยายามต่อรองไม่ขอเปลือยอกเล่นฉากนี้ ผู้กำกับเรียกเธอไปคุยอะไรก็ไม่รู้เป็นภาษาอิตาเลี่ยน กลับมาชักชวนให้ชายคนที่ต้องเข้าฉากด้วยมี Sex กับเธอจริงๆ แต่พอเขาตอบปฏิเสธ หลังจากตอนนั้นก็มองหน้ากันไม่ติดอีกเลย

ตัดต่อโดย Vincenzo Tomassi, หนังใช้การเล่าเรื่องผ่าน Professor Harold Monroe (รับบทโดย Robert Kerman) อาจารย์สอนมานุษยวิทยา ของ New York University ออกเดินทางสู่ป่า Amazon เพื่อค้นหากลุ่มของนักสร้างสารคดี 4 ที่หายตัวไป เราสามารถแบ่งหนังออกได้เป็น 2 องก์
– องก์แรก เป็นมุมมองของ Prof. Monroe ออกเดินทางย่ำรอยเดิมเพื่อค้นหากลุ่มนักสร้างสารคดี พบเจอแนะนำชนเผ่ากลุ่มต่างๆอย่างสันติ (จากไกด์ผู้มีความรู้ประสบการณ์ สามารถสื่อสาร นำพาให้สามารถเอาตัวรอดกลับออกไปได้)
– องก์สอง เป็นภาพจาก Found Footage การผจญภัยของนักสร้างสารคดีทั้ง 4 ที่บันทึกภาพไว้ได้ตลอดการเดินทาง อันเต็มไปด้วยความเxย เห็นแก่ตัวนานับประการ

ช่วงองก์สอง จะเป็นการตัดสลับภาพ Found Footage กับเรื่องราวของ Prof. Monroe ที่ได้พูดคุยสนทนา แสดงทัศนะต่อผู้สื่อข่าวของ Pan American Broadcasting System ซึ่งใช้ลักษณะคล้าย Montage ตัดภาพปฏิกิริยาของพวกเขา กับฟุตเทจแต่ละม้วนที่ถูกไล่เรียงฉาย

ผมค่อนข้างชอบวิธีการนำเสนอฟีล์ม 2 ม้วนสุดท้าย ที่เป็นไคลน์แม็กซ์ของหนัง, Prof. Monroe จะมีโอกาสได้รับชมก่อน (แบบ Off-Screen) แล้วหนังนำพาเราเข้าสู่ห้องประชุม เขาแสดงปฏิกิริยาความคิดเห็น บอกว่าไม่ควรนำฟีล์มชุดนี้ออกฉายแต่กลับไม่มีใครยินยอมฟังเขา จึงตัดสินใจร่วมกันพิจารณาดูฟีล์ม 2 ม้วนที่เหลือในห้องฉาย ผลลัพท์ก็คือ …

เพลงประกอบโดย Riz Ortolani สัญชาติอิตาเลี่ยน ตามคำขอของผู้กำกับที่ชื่นชอบผลงานเรื่อง Mondo cane (1962) โดยเฉพาะกับบทเพลง More ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song

ทั้งๆที่หนังเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ Main Theme, Opening/Ending Song กลับมีความนุ่มนวล อ่อนหวาน ใช้ดนตรี Pop แสนเรียบง่าย ให้สัมผัสของความหวัง (ที่ถึงในหนังจะหมดสิ้นไป แต่ผู้ชมน่าจะตระหนักรับรู้เข้าใจได้ทันที ว่านั่นคือสิ่งที่ฉันจะไม่มีวันปฏิบัติแสดงออกเป็นอันขาด)

เพลงแบบโหดๆก็มีนะครับ จะใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic) ต่อเข้ากับเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizers) สร้างเสียงสุดประหลาด (ปิ้ว ปิ้ว ปิ้ว) ผสมผสานกับออเครสต้าเต็มเพิ่มความอลังการ โดยเฉพาะเสียงเชลโล่บาดร้าวลึก ทำให้เกิดความหลอนสะพรึง หัวหนักอึ้ง ประกอบกับภาพที่เห็นการันตีได้เลยว่า ทุกอณูขนของคุณจะลุกขึ้นชูชัน อกสั่นขวัญสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ

Cannibal Holocaust ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับเปรตหรือเผ่าพันธุ์กินเนื้อมนุษย์ แต่เป็นเรื่องของการกระทำและผลที่ได้รับตอบแทน, หนังแบ่งออกเป็น 2 องก์ในลักษณะ ดี/ชั่ว ขั้วตรงข้าม องก์แรกในเชิงสันติธรรม องก์สองในเชิงกิเลสกรรม ผลลัพท์ก็เช่นกัน ‘ให้แม้นที่ทำมา’
ดังสำนวนไทย: ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
สำนวนภาษาอังกฤษ: As a man sows, so shall he reap. (หว่านพืชอะไร ย่อมได้ผลนั้น)

อาจมีคนคิดว่า หญิงสาวไม่ได้ไปข่มขืนใครสักหน่อย พยายามจะห้ามเหล่าชายหนุ่มไม่ให้ข่มขืนสาวชาวเผ่าด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าตอนกรรมคืนสนองนั้น เธอเป็นผู้โดนข่มขืนเสียเอง? นี่เป็นเรื่องของ ‘กรรมหมู่’ ความรับผิดชอบร่วมกันในการกระทำ ทั้งๆที่เราอาจไม่ใช่บุคคลผู้กระทำแต่เป็นหนึ่งในคนเห็นพ้อง ก็ย่อมได้รับผลกรรมคืนสนองในส่วนของตน เรียกว่าดวงซวยไปด้วยกันโดยพร้อมหน้า ส่วนชายคนที่ข่มขืนก็ได้รับผลกรรมโดนตัดตอนไปยังไงละครับ

ส่วนกรรมที่เกิดจากการไล่ชนเผ่าหนึ่งเข้าไปในกระท่อมแล้วพยายามเผาไหม้ ผลกรรมก็คือถูกอีกชนเผ่าหนึ่งรายล้อมทุกทิศทางในป่า หมดสิทธิ์หนีหาทางออกได้พ้น

การเปรียบเทียบที่ผมชื่นชอบสุด คือชนเผ่าทั้งสองกลุ่มเปรียบได้กับธรรมชาติ ป่าไม้และลำธาร การที่มนุษย์เข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา ก็คล้ายกับเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า กั้นเขื่อนลำธาร ทำลายแหล่งธรรมชาติทั้งหลาย อย่าคิดว่ามันคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะสักวันหนึ่งเมื่อพายุ แผ่นดินไหว สึนามิ ฯ ภัยพิบัติเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เข้าทำลายกวาดล้างมนุษย์ทุกสิ่งอย่าง ปรับกลับคืนให้โลกเข้าสู่สภาวะสมดุลตามธรรมชาติอีกครั้ง

มีอะไรอีกมากมายที่เราสามารถเปรียบเปรยได้กับเหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ ตั้งต้นโดยมนุษย์ และสุดท้ายกรรมสนองการกระทำ ผลลัพท์ล้วนมาจากเงื้อมมือของเราเอง … ทุกสิ่งอย่างในโลก ครุ่นคิดให้ดีก่อนที่จะทำอะไรลงไปนะครับ

ใครกันแน่ที่เป็น Cannibal? หนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบอะไรไว้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องครุ่นคิดเสียเวลาให้ได้คำตอบนะครับ เพราะต่อให้ได้ข้อสรุปแล้วยังไง มันไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรมากกับชีวิต ควรจะอยู่ที่ตัวคุณเองมากกว่า ‘ฉันเป็นพวก Cannibal หรือเปล่า?’ นี่ไม่ได้แค่การกินเนื้อมนุษย์อย่างเดียวนะ การเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงผู้อื่น ดูถูกดูแคลนทำร้าย ไม่ใช่แค่กับมนุษย์เท่านั้น รวมถึงสรรพสัตว์เพื่อนร่วมโลกทุกชนิด, คนที่เป็น Cannibal ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็น แต่ถ้าคุณระลึกได้ก็ให้รีบสำนึก แก้ไขปรับปรุงตัวเองเสียนะครับ กงเกวียนกำเกวียนนั้นมีจริง ชาตินี้คุณอาจสุขสบายรอดตัวไป แต่ชาติถัดๆไป … คิดเผื่ออนาคตไว้บ้างก็ได้นะ

หนังออกฉายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1980 ที่เมือง Milan เริ่มต้นได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี ผู้กำกับดัง Sergio Leone ส่งจดหมายถึง Deodato แปลได้ว่า

“Dear Ruggero, what a movie! The second part is a masterpiece of cinematographic realism, but everything seems so real that I think you will get in trouble with all the world.”

– Sergio Leone

เพียง 10 วันหลังหนังฉายในอิตาลี ผู้สร้างประกอบด้วยโปรดิวเซอร์, นักแสดง, นักเขียนบท และผู้กำกับ ได้ถูกจับเข้าคุกข้อหาเผยแพร่ Snuff Film และถูกกล่าวหาคดีฆาตกรรมนักแสดงอื่นที่อยู่ในหนัง ซึ่งพวกเขาก็แก้ต่างโดยการนำพานักแสดงทั้งหลายเหล่านั้นมาขึ้นศาล เรียกว่าทำให้ทุกคนเงิบหน้าหงายไปโดยปริยาย จำต้องถอนฟ้อง กระนั้นศาลยังคงห้ามฉายในข้อหากระทำร้ายทารุณสัตว์ ลงโทษด้วยภาคทัณฑ์ 4 เดือน และภายหลังผู้กำกับ Deodato ใช้เวลาอีก 3 ปี ต่อสู้เพื่อให้หนังถูกปลดแบนได้ฉายในอิตาลีสำเร็จ

เกร็ด: Snuff Film คือ แนวหนังใต้ดินประเภทหนึ่ง ที่นักแสดงเล่นจริง ทำจริง เจ็บจริง และตายจริง ถือว่าเป็นสื่อประเภทผิดกฎหมายนะครับ

ด้วยทุนสร้างเพียง $100,000 เหรียญ ประมาณรายรับทั่วโลกอยู่ที่ $200 ล้านเหรียญ นี่ฟังดูเว่อเกินจนไม่น่าเป็นไปได้ กระนั้นเพราะการถูกแบนในหลายๆประเทศ มีความเป็นไปได้อาจฉายใต้ดินแบบลับๆล่อๆ จนเป็นกระแส ‘underground hit’ ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงอยู่

ส่วนตัวบอกเลยว่าชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก คือมันเจ็บจี๊ด รวดร้าว โดนใจถึงขีดสุด กับกลุ่มคนเxยๆก็สมควรแล้วละได้รับการตอบโต้กลับที่รุนแรงพอๆกัน กรรมสนองกรรมโดยแท้, หนังได้ตอกย้ำฝังใจผมเลยว่า จะทำอะไรกับใครคิดหน้าคิดหลังให้ดี เพราะสิ่งใดเราปฏิบัติกับเขา สักวันหนึ่งอาจใครคนอื่นก็จะปฏิบัติแบบนี้ตอบกลับเรา ยิ่งศึกษาพุทธศาสนามาด้วย นี่คือสัจธรรมจริงแท้สากลของโลก อาจไม่ใช่ในชาตินี้ แต่ผลกรรมมันส่งต่อข้ามภพชาติไปได้เรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

แนะนำกับคอหนัง Horror มีความ S&M ซ่อนอยู่ในใจ, นักสำรวจโลก มานุษยวิทยา, นักท่องเที่ยวเดินทางผจญภัยทั้งหลาย เรียนรู้การเข้าหาบุคคลพื้นเมืองท้องถิ่นอย่างเหมาะสม, นักสร้างสารคดี และนัก Make-Up Special Effect

น่าจะมีคนลองนำหนังเรื่องนี้ไปเปิดให้คนคุก/ผู้กระทำความผิด ฆาตกร/โรคจิต รับชมดูนะครับ พวกเขาน่าจะชื่นชอบกันมากเลยละ แต่กับคนที่ไม่ผมว่าเขาจะจำฝังใจ ชาตินี้จะไม่ขอทำแบบนั้นอีกแล้วแน่

ด้วยความบ้าคลั่ง รุนแรงในระดับ Hyper-Realistic ทำให้ผมต้องจัดหนังเรื่องนี้อยู่เรต NC-17 กรุณาอย่าเปิดหนังเรื่องนี้ให้เด็กรับชมเป็นอันขาด

TAGLINE | “Cannibal Holocaust ของผู้กำกับ Ruggero Deodato ท้าให้คุณพบกับด้านมืดของมนุษย์และโลก ถ้าไม่ชื่นชอบก็เกลียดไปเลย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

The Changeling (1980)


The Changeling

The Changeling (1980) Canadian : Peter Medak 

กับคนขวัญอ่อนคงหลอนแบบเย็นยะเยือก เสียวสันหลังวาบ แต่ไม่สำหรับผมเลยสักนิด เห็นการแสดงของ George C. Scott ที่ไม่ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้นทำให้เข้าใจเลยว่า หนังแนว Horror ทำไมถึงไม่ค่อยมีชายสูงวัยวิ่งหนีผีเสียเท่าไหร่

Child Horror พบเห็นเยอะมากนับจาก The Exorcist (1973), ผู้หญิงกับหนัง Horror ถือเป็นของคู่กันตั้งแต่ไหนแต่ไร, ส่วนผู้ชายถ้าไม่เป็นพระเอกฮีโร่ ก็มักพบเป็นผีปีศาจสัตว์ประหลาดเสียเอง (Dracula, Frankenstein ฯ), แต่กับคนสูงวัย เพราะความเชื่องช้า เฉื่อยชา ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก ต่อให้เจอผีก็ใช่จะวิ่งหนีทัน หรือแสดงสีหน้าตื่นตระหนกตกใจ ตาลุกโพลงมันก็ใช่เรื่อง กล่าวคือหาได้มีความน่าสนใจใคร่รับชมแม้แต่น้อย นอกเสียจากนำไปผสมผสานกับเรื่องราวบางสิ่งอย่างถึงจะพอถูไถเอาตัวรอดได้

หนังเรื่องนี้ก็เอาตัวรอดด้วยลักษณะวิธีนั้น คือใช้องค์ประกอบของความ Horror เกี่ยวกับบ้านผีสิงเป็นที่ตั้ง เมื่อหลอนสะดุ้งตกใจกลัวจนหอมปากหอมคอแล้ว ก็จะเข้าสู่แนวสืบสวนสอบสวน ค้นหาสาเหตุต้นตอของการที่บ้านหลังนี้ทำไมถึงถูกผีสิง และเหตุผลสำคัญทำไมต้องเป็น George C. Scott ที่ออกตามหาความจริง

Peter Medak (เกิดปี 1937) ผู้กำกับสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest, Hungary เชื้อสาย Jews อพยพสู่ประเทศอังกฤษช่วง Hungarian Revolution ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ จากเด็กฝึกงานกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โทรทัศน์ จากนั้นได้เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Negatives (1968) ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ The Ruling Class (1972), The Changeling (1980), The Krays (1990), Let Him Have It (1991) ฯ

บทภาพยนตร์โดยนักเขียนบทละคร Russell Hunter ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงจากประสบการณ์ตรง ขณะอาศัยอยู่ที่แมนชั่น Henry Treat Rogers, Denver รัฐ Colorado ประเทศ Canada ในช่วงทศวรรษ 60s หลังจากได้พบเจอเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมากมายที่ไม่สามารถอธิบายได้ เขาได้เจอสมุดบันทึกในห้องลับใต้หลังคา เล่ารายละเอียดชีวิตของเด็กชายพิการที่ถูกทิ้งขว้างจากครอบครัว โดยครั้งหนึ่งวิญญาณนี้ได้นำพา Hunter ไปยังบ้านหลังหนึ่ง ขุดลงไปพบเจอร่างโครงกระดูก และจี้ห้อยคอที่สลักชื่อของเด็กชาย

เกร็ด: ไม่รู้เพราะหนังเรื่องนี้หรือเปล่า แมนชั่น Hanry Treat Rogers ได้ถูกทุบแทนที่ด้วยตึกแถว อพาร์ทเมนต์ไปเรียบร้อยแล้ว

George Campbell Scott (1927 – 1999) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Wise, Virginia ตั้งแต่มีความชื่นชอบนิยายของ F. Scott Fitzgerald ต้องการเป็นนักเขียนแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่, เข้าเรียน University of Missouri สาขา Journalism แต่กลับเริ่มสนใจการแสดง เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง Broadway โด่งดังกับซีรีย์โทรทัศน์หลายเรื่อง, ภาพยนตร์เรื่องเด่น อาทิ Anatomy of a Murder (1959), The Hustler (1961), Dr. Strangelove (1964) คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง Patton (1970) แต่ปฏิเสธไม่รับรางวัล เพราะมีความเชื่อว่า ‘ทุกการแสดงมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่สมควรนำมาเปรียบเทียบแข่งขันกันได้’

รับบท John Russell นักแต่งเพลงสูงวัย ที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ Seattle เพราะครอบครัวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ได้เช่าบ้าน/คฤหาสถ์หลังใหญ่ในสไตล์ Victorian-Era ห่างไกลและเงียบสงบเพื่อแต่งเพลงขึ้นใหม่ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ต่างๆนานา เรื่องเหนือธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย คงเพราะชีวิตไม่มีอะไรให้น่าตื่นตระหนกสะพรึงกลัวอีกต่อไป เขาจึงเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น และค้นพบว่าบ้านหลังนี้ต้องการนำพาให้เขาพบเจอ กระทำอะไรบางอย่างให้

ก็ว่ากันตามตรง หนัง Horror ตัวละครหลัก/พระเอก ก็ควรกลัวผีสิ! แต่ Scott ในวัย 52 กลับเล่นบทนี้โดยไม่หยี่หร่า ไม่สะทกสะท้าน หวาดสะพรึงกลัวต่ออะไรทั้งนั้น นี่เป็นผลลัพท์มาจากพื้นหลังตัวละคร การเห็นครอบครัวภรรยา-ลูก ถูกรถชนเสียงชีวิตไปต่อหน้าต่อตา นั่นทำให้ชีวิตเขาไม่มีอะไรน่าสะพรึงกลัวไปมากกว่านี้อีกแล้ว, การแสดงของ Scott ถือว่ายอดเยี่ยมสมจริง แต่มันดูน่าเบื่อ เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ไม่ได้ลุยๆบ้าๆ เหมือนสมัยหนุ่มๆอีกต่อไป จึงไร้ความน่าสนใจพอสมควร

Trish Van Devere (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติอเมริกา ภรรยาของ George C. Scott เกิดที่ Englewood Cliffs, New Jersey เคยได้เข้าชิง Golden Globe: Best Actress เรื่อง One Is a Lonely Number (1972)

รับบท Claire Norman หญิงสาวที่ทำงานใน Historical Preservation Society เป็นผู้ให้ John Russell เช่าบ้านหลังนี้ และคอยให้การช่วยเหลือ ร่วมสืบค้นหาเบื้องลึกความจริง ต้นตอความผิดปกติที่เกิดขึ้นในบ้านหลัง

อย่างน้อยหนังก็มีตัวละครนี้ ที่แสดงความหวาดกลัว ตื่นตระหนกตกใจจากการเห็นผี, Van Devere เล่นหนังเรื่องนี้กับสามีเป็นเรื่องที่ 8 เคมีเข้าขากันดีแต่เหมือนจะมากเกินไปหน่อย เพราะตัวละครไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน สายตาของเธอมันแบบว่า … นั่นผัวฉัน รักมาก *-*

ถ่ายภาพโดย John Coquillon ตากล้องสัญชาติ Dutch ที่ทำงานในประเทศอังกฤษ มีผลงานเด่นๆอาทิ Straw Dogs (1971), Pat Garrett and Billy the Kid (1973), Cross of Iron (1977), The Changeling (1980) ฯ ความเนิบนาบในการนำเสนอ กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปช้าๆ ชวนให้น่าหลับใหล แต่นี่เป็นการสร้างบรรยากาศ ความลุ้นระทึก น่าสะพรึงกลัว ขนลุกขนพอง เรียกความรู้สึกนี่ว่า Chilling

ตัดต่อโดย Lilla Pedersen, หนังใช้มุมมองของ John Russell เป็นหลักในการเล่าเรื่อง เริ่มจากแนะนำพื้นหลังตัวละคร นำพาสู่บ้าน/คฤหาสถ์หลัังนี้ ค่อยๆสร้างความพิศวงสงสัย จากนั้นเปิดเผยความลับสิ่งต่างๆออกมาทีนิด จนช่วงท้ายเมื่อเป้าหมายอยู่ในสายตา ผลลัพท์กรรมสนองกรรมจึงได้เกิดขึ้น

เพลงประกอบโดย Rick Wilkins นักแต่งเพลงสัญชาติ Canadian, เสียงเปียโนนุ่มๆ ประกอบเข้ากับ Orchestra ด้วยทำนองที่สามารถสร้างบรรยากาศความเย็นยะเยือก ขนลุกขนพอง และ Sound effect เสียงเคาะอะไรบางอย่าง (ผมว่ามันเหมือนเสียงกระแทกเปียโน กดทุกคีย์พร้อมๆกัน) ชวนให้พิศวงสงสัยมากกว่าสะดุ้งตกใจกลัว

ชื่อหนังคำว่า Changeling ในความหมายของเรื่องเล่าพื้นบ้าน European Folklore หมายถึงลูกของสัตว์ในเทพนิยาย อาทิ Fairy, Troll, Elf ฯ ที่แอบนำมาแลกเปลี่ยนกับทารกมนุษย์ (คือมาขโมยทารกมนุษย์ไปเลี้ยง แล้วเอาลูกตัวเองมาให้มนุษย์เลี้ยงแทน) หรือแปลว่า Swapped Child ก็ถือว่ามีความหมายเดียวกัน

ทำไมถึงต้องเป็นชายสูงวัยคนนี้ที่เป็นคนออกตามหา ไขปริศนาของบ้าน/คฤหาสถ์หลังนี้?, ตามความเข้าใจของผมคือ เพราะเขาสามารถผ่าน Phase 1 คือไม่สะทกสะท้าน หวาดกลัว หนีออกจากบ้านเมื่อได้รับการก่อกวน พบเจอสิ่งเหนือธรรมชาติ จากนั้น Phase 2 ได้รับการโน้มน้าวจิตใจ ให้เขียนบทเพลงที่มีทำนองเดียวกับกล่องเพลง อันทำให้ชายสูงวัยเกิดความต้องการอยากรู้ อยากค้นหาเหตุผล คำตอบ และ Phase สุดท้าย เหตุผลที่ต้องเป็นเขาคนนี้ ก็เพื่อลบล้างความรู้สึกผิด เศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นกับการตายของครอบครัว ซึ่งการได้ช่วยเหลือเด็กชายคนนี้ ก็เท่ากับเป็นการฟื้นฟูรักษาสภาพจิตใจของตนเอง

กระนั้นผมว่าหนังมันขาดความสมเหตุสมผลพอสมควร อาทิว่า พระเอกเป็นครูสอนดนตรี นักแต่งเพลง แล้วยังไง? มีความสำคัญอะไรกับเนื้อเรื่อง?, ฉากพากันไปขี่ม้าแล้วอยู่ดีๆหวนระลึกถึงลูกตัวเอง ตัดออกไปก็ได้มั้ง? ไม่ได้มีการพูดถึงอีก ฯ ถือเป็นตำหนิเล็กน้อยที่มีมากมายเต็มไปหมดจนน่าหงุดหงิด และยิ่งฉากไคลน์แม็กซ์ที่เร่งรีบเหลือเกิน ทั้งๆที่อุตส่าห์ปูเรื่องอย่างเนิบนาบมาอย่างดี แล้วตอนจบทำไมต้องเผาทำลายทุกสิ่งอย่างทิ้งเมื่อคนที่กลายเป็นตัวตายตัวแทนของตนเองรับรู้ความจริง??

มันราวกับว่าวิญญาณไอ้เด็กเปรตไม่ยอมไปเกิดคนนี้ เคียดแค้นพ่อมันมาก เกิดความอาฆาตร้าย ต้องการเอาคืนให้ถึงที่สุด แต่เพราะอาจมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถไปไหนได้ไกล จำต้องหาสื่อกลาง และโชคดีได้พบเจอชายสูงวัยคนนี้ เลยสามารถค้นหาพบเจอเป้าหมายของตนเอง ตอนจบจึงคือการไปสู่สุขคติ

สำหรับชายสูงวัย คงต้องถือว่าได้รับการฟื้นฟูรักษาสภาพจิตใจของตนเองสำเร็จ จากการได้ช่วยเหลือวิญญาณเร่ร่อนเด็กเปรตคนนี้ เหมือนการได้ทำบางสิ่งอย่างเพื่อครอบครัวคนรักที่ตายจากไป … เอิ่ม ฟังดูไร้สาระมากมาย

ด้วยทุนสร้าง $600,000 เหรียญ หนังทำเงินได้ทั่วโลก $5.3 ล้านเหรียญ ถือว่ากำไรพอสมควร, เข้าชิง 10 รางวัล Genie Award (เท่ากับ Oscar ของประเทศแคนาดา) ได้มา 8 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Film
– Best Foreign Actor (George C. Scott)
– Best Foreign Actress (Trish Van Devere)
– Best Supporting Actress (Helen Burns) ** พลาดรางวัล
– Best Supporting Actress (Frances Hyland) ** พลาดรางวัล
– Best Adapted Screenplay
– Best Art Design
– Best Cinematography
– Best Sound
– Best Sound Editing

เกร็ด: นี่เป็นปีแรกที่เปลี่ยนชื่อรางวัลจาก Canadian Film Awards เป็น Genie Award ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2012 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Canadian Screen Awards

ไม่ใช่ว่าความรู้สึกของผมตายด้านหรืออย่างไร ที่ไม่หลอนสักนิดกับหนังเรื่องนี้ เพราะการแสดงของ George C. Scott ดึงดูดความสนใจไปเสียหมด ความเชื่องช้า สิ้นหวัง เบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก เห็นรถเข็นเลื่อนเองได้ สีหน้าพี่แกกลับไม่สะทกสะท้านอะไร … คือถ้าตัวละครไม่มีปฏิกิริยาอารมณ์ร่วมไปด้วย แล้วผมจะไปได้รับความรู้สึกนั้นจากตรงไหน

แต่ก็ขอเตือนเอาไว้สำหรับคนขวัญอ่อน นี่เป็นหนังที่น่าจะหลอนโคตรๆ เพราะเท่าที่ผมตามอ่านจากบทวิจารณ์หนังทั้งหลาย ให้คะแนน 8-9-10 เต็ม 10 แทบทั้งนั้น คือ ขนลุกขนพอง เขย่าขวัญ สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ แม้แต่ผู้กำกับ Martin Scorsese ยังจัดให้ติดอันดับ 6 จาก 11 Scariest Horror Movies Of All Time

เกร็ด: The Changeling ยังเป็นหนังโปรดของผู้กำกับ Alejandro Amenábar

แนะนำกับคอหนัง Horror แนวบ้านผีสิง บรรยากาศหลอนๆ เรื่องราวเหนือธรรมชาติ, ชื่นชอบนักแสดง George C. Scott และภรรยา Trish Van Devere ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความหลอนเย็นยะเยือก

TAGLINE | “The Changeling ถ้าเปลี่ยน George C. Scott เป็นนักแสดงคนอื่น หนังน่าจะหลอนเย็นยะเยือกได้มากกว่านี้”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

The Innocents (1961)


The Innocents

The Innocents (1961) British : Jack Clayton ♥♥♥♥

ใครกันแน่ในหนังเรื่องนี้ที่ไร้เดียงสา เด็กชายหญิงในคฤหาสถ์ Gothic หลังใหญ่ หรือพี่เลี้ยงเด็กรับบทโดย Deborah Kerr เธอมองเห็นผีจริงๆหรือเป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้นมา, จะบอกว่างานภาพขาว-ดำ CinemaScope ถ่ายทำโดย Freddie Francis มีความสวยงาม คมชัด เจิดจรัสมากเลยละ

คอหนัง Horror ยุคสมัยนี้คาดว่าคงไม่ถูกโฉลกกับ The Innocents เป็นแน่ เพราะไม่ได้มีเลือด ความรุนแรง หรือน่าสยดสยอง แต่เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความลึกลับซับซ้อน พิศวงงงงวย หลอกหลอน เขย่าขวัญสั่นประสาท ครุ่นคิดค้นหาว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกันแน่ ซึ่งน้อยคนนักไม่มีใครคาดคิดถึง กับแค่เพียงความไร้เดียงสาของมนุษย์ มันจะสร้างความน่าสะพรึงกลัว ขนลุกขนพองให้ได้มากขนาดนี้

The Innocents เป็นภาพยนตร์ที่เปิดกว้างให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิด ตีความ เข้าใจเร่ื่องราวได้ในมุมมองของคุณเอง ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเปิดเผยทิ้งไว้ให้ เราสามารถมองว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับวิญญาณที่ยังคงวนเวียนว่าย มาเข้าสิงร่างของเด็กน้อยไร้เดียงสาทั้งสอง หรือเรื่องราวของพี่เลี้ยงเด็กที่มีความหวาดกลัวหวั่นวิตกกังวล (Sexual Repression) ทำให้เกิดภาพหลอนคิดเพ้อมโนไปเอง, ซึ่งการได้ทำความเข้าใจมุมมองทั้งสองด้านที่ต่างออกไป จะทำให้คุณมีความชื่นชอบคลั้งไคล้ หลงรักหนังเรื่องนี้มากๆขึ้นเลยละ

Jack Clayton (1921 – 1995) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Brighton ได้เป็นนักแสดงเด็กในหนังเรื่อง Dark Red Roses (1929) เลยตัดสินใจเอาดีทางด้านนี้ ตามติด Alexander Korda ขณะก่อตั้งสตูดิโอ Denham Film Studios เมื่อปี 1935 จากเด็กชงชากลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ นักตัดต่อ, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วม Royal Air Force ถ่ายหนังเองเรื่องแรกสารคดี Naples is a Battlefield (1944) วนๆเวียนๆอยู่เบื้องหลัง ทำหนังสั้นคว้ารางวัล Oscar: Best Short Subject (Two-Reel) เรื่อง The Bespoke Overcoat (1956) จนปี 1959 ได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ Feature-Length เรื่องแรก Room at the Top (1959) เข้าชิง Oscar 6 สาขาได้มา 2 รางวัล

หลังความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องแรก Clayton ได้รับข้อเสนอมากมายจากหลายสตูดิโอ แต่ทั้งหมดได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, นักตัดต่อขาประจำ Jim Clark บอกว่า ‘Clayton’s inability to make a decision was legendary.’ คงต้องเป็นเรื่องราวที่ตนเองมีความสนใจจริงๆเท่านั้น ถึงจะยอมเสียเวลาเป็นปีๆสร้างสรรค์มันขึ้นมา

สำหรับภาพยนตร์เรื่องถัดมานี้ The Innocents ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Turn of the Screw (1898) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกา Henry James (1843 – 1916) ซึ่ง Clayton มีโอกาสอ่านตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบ และโดยความบังเอิญที่ 20th Century Fox กับนักแสดงหญิง Deborah Kerr มีความสนใจดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จากนิยายเล่มนี้อยู่พอดี

เกร็ด: The Turn of the Screw ในปัจจุบันได้กลายเป็น ‘หนังสืออ่านนอกเวลา’ ของมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งในต่างประเทศ ใครกำลังเรียนวิชาวรรณคดีวิจารณ์ น่าจะลองหามาอ่านดูนะครับ

มอบหมายให้ William Archibald ที่เคยดัดแปลงนิยายเรื่องนี้สร้างเป็นละครเวที Broadway เรื่อง The Innocents (1950) กำกับโดย Peter Glenville เปิดการแสดงที่ Playhouse Theatre ทั้งหมด 141 รอบ คว้ารางวัล Tony Award: Best Scenic Design, แต่ผลลัพท์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้กำกับ เลยติดต่อให้ Truman Capote นักเขียนสัญชาติอเมริกา เข้ามาขัดเกลาบทพูดทั้งหมดของหนัง ว่ากันว่าเปลี่ยนไปกว่า 90% เลยทีเดียว

เรื่องราวมีพื้นหลังปี 1898, Miss Giddens (รับบทโดย Deborah Kerr) หญิงสาวสวยโสด ได้รับงานเป็นพี่เลี้ยง (Governess) ดูแลเด็กกำพร้าสองคน Miles กับ Flora ณ คฤหาสถ์หลังใหญ่ในชนบทประเทศอังกฤษ ผ่านไปไม่ถึงวันเธอเริ่มเห็นชาย-หญิง แปลกหน้าเข้ามาป้วนเปี้ยนแถวบ้าน สืบจนรู้ว่าคือผู้ดูแลคนก่อน Peter Quint กับ Miss Jessel ที่ต่างก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว ราวกับว่าวิญญาณของพวกเขายังคงวนเวียนว่ายอยู่แถวนั่น เป้าหมายเหมือนจะต้องการเข้าสิงสถิตร่างของเด็กชายหญิงทั้งสอง เธอจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางป้องกันเหตุร้ายมิให้เกิดขึ้น

Deborah Kerr (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติ Scottish เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้สักรางวัล จนรับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1994, ผลงานดัง อาทิ Black Narcissus (1947), Quo Vadis (1951), From Here to Eternity (1953), The King and I (1956), An Affair to Remember (1957) ฯ

Miss Giddens อาจเป็นผู้มีสัมผัสพิเศษที่ 6 สามารถมองเห็นวิญญาณ รับรู้สิ่งเหนือธรรมชาติ หลังจากได้รับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กๆ วัยกำลังเติบโตซุกซน ก็ได้พบบางสิ่งอย่างกำลังคืบคลานเข้ามา สืบรู้เป็นผู้ดูแลที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า วิเคราะห์ถึงจุดประสงค์การยังวนเวียนว่าย คงต้องมาร้ายแน่ๆ สงสัยเพื่อเข้าสิงร่างเด็กๆทั้งสอง ทวงคืนสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สมหวังขณะยังมีชีวิตอยู่

เพราะความสาวยังโสดของ Miss Giddens แต่กลับต้องมารับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กๆ วัยกำลังเติบโตซุกซน ย่อมทำให้เกิดความเครียด โรคประสาทเก็บกด อารมณ์ทางเพศ (Sexual Repression) ยิ่งเมื่อได้รับรู้เรื่องราวของผู้ดูแลสองคนก่อนที่เป็นคู่รัก ร่วมรักกันอย่างประเจิดประเจ้อ เกิดความอิจฉาริษยา แปรสภาพเป็นภาพหลอนติดตา คิดมโนไปไกลว่าจะเข้ามาสิงสถิตย์ร่างของเด็กๆทั้งสอง

นี่คือสองมุมมองที่บอกไปกับตัวละครนี้ ต่างกันสุดขั้วแต่สามารถผนวกรวมได้ในการแสดงเดียวของ Deborah Kerr มันอาจมีความ Over-Acting เหมือนการแสดงละครเวที Theatre-style มากเกินไปสักนิด ราวกับคนเสียสติ แต่พล็อตเรื่องก็นำทางตัวละครไปในลักษณะเช่นนั้นจริงๆ, ส่วนตัวผมมองว่านี่เป็นการแสดงที่โดดเด่นมากๆ ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบ Kerr ขึ้นมาเลยละ

เกร็ด: Deborah Kerr เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า นี่คือบทบาทการแสดงชื่นชอบ ตั้งใจ เล่นดีเยี่ยมที่สุดของตัวเอง

Martin Stephens (เกิดปี 1949) นักแสดงเด็กสัญชาติอังกฤษ เล่นหนังเรื่องแรกตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มีผลงานหลายเรื่อง แต่พอโตขึ้นเป็นหนุ่มก็ออกจากวงการภาพยนตร์หายตัวไปเลย

รับบทเด็กชาย Miles ความที่ไม่มีพ่อให้เป็นแบบอย่างทำให้มีนิสัยเก็บกด เรียนรู้อะไรๆจากผู้ดูแล Peter Quint เลียนแบบความก้าวร้าว หัวรุนแรง พยายามคิดเหมือนผู้ใหญ่โตเกินวัย และเหมือนว่าเด็กชายจะมีความสนใจ รักใคร่กับ Miss Giddens (แต่ผมไม่แน่ใจเรื่องความต้องการทางเพศเท่าไหร่ คือไม่รู้ว่าเด็กขนาดนี้จะสามารถมีอารมณ์ได้หรือยังนะ แต่จากการที่มีแบบอย่าง คงรับรู้เห็น Peter Quint ร่วมรักกับ Miss Jessel ตัวเองคงมีความต้องการอยากทำแบบนั้นบ้าง)

ผมค่อนข้างชอบการแสดงของ Stephens อย่างมาก ทั้งๆที่เจ้าตัวอาจยังไม่สามารถรับรู้เข้าใจเหตุผลของสิ่งที่ตนแสดงออกมา แต่มันสามารถมองตีความได้ดังที่ผมว่ามาจริงๆ, นี่ต้องชมผู้กำกับสามารถหาวิธีหลอกล่อชักจูง ทำให้เด็กชายพูดกระทำ มีปฏิกิริยาได้เหมือนจริงมากๆ

Pamela Franklin (เกิดปี 1950) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น มาเติบโตที่ Far East พ่อเป็น importer/exporter ทำให้ต้องออกเดินทางไปหลายๆประเทศ, ด้วยความสนใจด้านการแสดง The Innocents คือภาพยนตร์เรื่องแรกตอนอายุ 11 โตขึ้นยังรับงานละครโทรทัศน์ควบคู่ไปด้วย ผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดของเธอคือ The Prime of Miss Jean Brodie (1969) แต่พอได้แต่งงานก็ออกจากวงการ เปิดร้านขายหนังสือเล็กๆอยู่แถวๆ West Hollywood

เด็กหญิงสาว Flora มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้พิษภัย ขี้เล่นซุกซน เป็นมิตรเข้ากับคนอื่นได้ง่าย ชอบเรียกร้องความสนใจ มีความเห็นแก่ตัวเล็กๆ, สนิทสนมกับ Miss Jessel ที่สอนร้องเพลงเต้นรำ แม้อาจจะได้เคยเห็นพวกเขาร่วมรักกัน แต่น่าจะยังไม่เกิดความใคร่สนใจใดๆ ด้วยความที่ยังไม่ประสีประสารับรู้เรื่องนี้เสียเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เกิดความคอรัปชั่นเล็กๆในใจ เวลาพบเจออะไรไม่พอใจก็แหกปากส่งเสียงกรีดร้อง โวยวายสามบ้านแปดบ้าน

การแสดงของ Franklin มีความน่ารักน่าชัง เป็นธรรมชาติของเด็กๆ ไม่โดดเด่นเท่ากับ Stephens แต่ความเอาแต่ใจเป็นที่หนึ่ง อยากได้อะไรก็ต้องได้ ไม่ชอบอะไรก็ผลักไสถึงขีดสุด โวยวายแหกปากส่งเสียงร้องดังสามบ้านแปดบ้าน, คำพูดประโยคเด็ดที่ออกมาจากปากของเธอ เป็นความไร้เดียงสาที่น่ากลัวมากๆ

“Oh, look, it’s a lovely spider and it’s eating a butterfly.”

เกร็ด: เหมือนว่าเพื่อนเล่นของเด็กหญิงที่เป็นเต่า จะเป็นสัญลักษณ์แทน Miss Jessel ตอนแรกรักเอ็นดู ทะนุถนอมมาก แต่พอขุ่นเคืองผิดใจ ตอนออกจากบ้านก็ทิ้งไว้แบบไม่สนใจนำไปด้วย

ถ่ายภาพโดย Freddie Francis ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่ได้ร่วมงานกับ Clayton เรื่อง Room at the Top (1958), คว้า Oscar: Best Cinematographer สองครั้งจาก Sons and Lovers (1960), Glory (1989) ผลงานอื่นๆ อาทิ The Elephant Man (1980), Cape Fear (1991) ฯ

หนัง Horror กับภาพขาว-ดำ ยุคสมัยนั้นเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่กับความกว้างขนาด CinemaScope หรือ Anamorphic Widescreen (2.35 : 1) นี่เป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะสตูดิโอผู้ออกสร้างทุนคือ 20th Century Fox ที่เป็นผู้ออกแบบระบบภาพยนตร์นี้เลย, ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการที่พวกเขาใช้ก็คือสร้าง filters ที่มีลักษณะค่อยๆเฟดภาพจากขอบเข้าหากึ่งกลาง แต่มันจะไม่เด่นชัดในระดับแยกออกทุกช็อต กับฉากที่ใช้ความมืดเป็นองค์ประกอบหลักจะเห็นได้ค่อนข้างชัด

ลองสังเกตขอบซ้าย-ขวา ของช็อตนี้ดูนะครับ มันจะขอบสีดำๆที่เฟดเข้ามา, ที่ต้องทำให้มีลักษณะนี้ เพื่อว่าผู้ชมจะได้จดจ่ออยู่กับใจกลางของภาพ ไม่ต้องสนใจรายละเอียดส่วนเกินที่มีมากของ Anamorphic Widescreen

การใช้แสงก็มีความโดดเด่น เพราะสมัยนั้น (เหตุการณ์ในหนัง) เหมือนจะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แหล่งกำเนิดแสงจึงมีแค่เชิงเทียน เห็นเป็นรัศมีทรงกลม บริเวณที่เหลือว่างก็จะมืดมิด

แต่ไฮไลท์ของหนังเรื่องนี้คือเทคนิคที่เรียกว่า Deep Focus เห็นทุกรายละเอียดระดับความลึกของภาพมีความคมชัด, แต่ไม่ใช่ทุกช็อตของหนังจะเป็นแบบนี้นะครับ มักใช้กับภาพถ่ายธรรมชาติ และการสนทนาที่ตัวละครจะยืนหน้า-หลัง คนละระดับกัน

นัยยะของการถ่ายทำ Deep-Focus แทนด้วยมุมมองของผู้ชมต่อเรื่องราว, กล่าวคือ เราสามารถมองอะไรตรงไหนของภาพก็เห็นได้คมชัดลึก เช่นกันกับมุมมองของเรื่องราว Miss Giddens เห็นผีจริงๆ หรือเป็นเพียงภาพหลอน หรือมันอาจมีกรณี 3-4-5 ก็แล้วแต่ว่าเราจะคิดมองมุมไหน

เริ่มจากภาพธรรมชาติก่อนแล้วกัน ต้องชมเลยว่าเป็นหนังที่ถ่ายทำได้สวยงามมากๆ สถานที่ถ่ายทำคือ Gothic Mansion ตั้งอยู่ที่ Sheffield Park, East Sussex

Deep Focus สำหรับถ่ายตัวละคร จะเห็นว่านักแสดงทั้งสองฝั่งจะยืนคนละระดับกัน แต่เราจะเห็นภาพของพวกเขาคมชัดทั้งคู่ทุกรายละเอียด ก็แล้วแต่สายตาของคุณเองจะจับจ้องมองไปที่ไหน ตัวละครที่อยู่ข้างหน้า/ตัวละครที่อยู่ข้างหลัง

แต่จะมีบางครั้งที่ลึกมากกว่าแค่ 2 ระดับ แต่ยังเห็นพื้นหลังไกลๆก็ยังมีความคมอยู่ชัดเช่นกัน

มีซีนหนึ่งที่ผมโคตรจะชอบเลย, ในฉากยามค่ำคืนขณะที่ Miss Giddens เดินถือเชิงเทียนขึ้นไปหาเด็กๆที่ห้อง จะมีเสียงเอ็ฟเฟ็กของ Peter Quint กับ Miss Jessel ดังกึกก้องขึ้น ขณะเดินมาถึงที่กระจกบานหนึ่งมีผ้าม่าน และลมแรงได้พัดให้ลูกปัดที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย กระแทกเข้ากับกระจกตรงพอดีจุดกึ่งกลาง (เหมือนอวัยวะเพศหญิง) ซึ่งเสียงที่ได้ยินก็จะเป็นจังหวะซีดซาด โอ๊กอ๊าก เหมือนคนกำลังมี Sex

ตัดต่อโดย Jim Clark สัญชาติอังกฤษ เจ้าของผลงานดังอย่าง Charade (1963), Marathon Man (1976), The Killing Fields (1984), The Mission (1986), The World Is Not Enough (1999) ฯ

ก่อนที่ 2001: A Space Odyssey (1968) จะกลายเป็นตำนานกับ 3 นาทีแรกที่มืดมิดมองอะไรไม่เห็น (ไม่ได้ยินเสียงอะไรด้วยนะ) หนังเรื่องนี้กับ 45 วินาทีแรก จะได้ยินแต่เสียงแต่ไร้ภาพ ย่อมทำให้ใครๆร้องเห้ย! ภาพเสียรึเปล่าว่ะ! -บังเอิญผมกำลังชงโอวัลตินอยู่เลยไม่ได้สนใจเท่าไหร่ หันกลับมาก็ปรากฎโลโก้ Fox ขึ้นแล้ว- เป็นความจงใจแบบกวนๆของผู้สร้าง คิดว่าไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไรเลยนะ

หนังใช้มุมมองของ Miss Giddens เล่าเรื่องผ่านสายตาเธอทั้งหมด ที่สามารถเห็นวิญญาณหรือภาพหลอนของ Peter Quint กับ Miss Jessel, เรื่องราวมีลักษณะดำเนินไปข้างหน้า ไม่มีการแทรกใส่ Flashback ย้อนอดีต แต่มีการซ้อนภาพหรือ Dissolve เพื่อแทนภาพจินตนาการเพ้อฝัน

เกร็ด: หนังมี ASL (Average Shot Length) ที่ 9.2 วินาที ถือว่าค่อนข้างนานทีเดียว

ระหว่างเปลี่ยนฉาก/เปลี่ยนภาพ มีการใช้เทคนิค Dissolves ในลักษณะ mini montage [จะมองว่ามันคือการซ้อนภาพก็ยังได้] กล่าวคือ โดยปกติแล้วการ Dissolves มักจะประมาณไม่เกิน 1 วินาที แต่หนังเรื่องนี้หลายครั้งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วินาทีในการเป็นฉาก, การยืดความยาวลักษณะนี้ เพื่อให้ผู้ชมเกิดสัมผัสของความเหลื่อมล้ำระหว่างทั้ง 2 ภาพ และมีเวลาครุ่นคิดถึงนัยยะสำคัญที่แฝงอยู่ อาทิ

ขณะ Miss Giddens เหมือนกำลังนอนหลับเหมือนจะฝันร้าย แต่ภาพกลับค่อยๆ Dissolves สู่ทิวทัศน์อันสวยงามตอนเช้าวันใหม่, มีนัยยะถึงสิ่งที่เธอกำลังจะได้เจอต่อไป ฝันร้ายจากการมาอยู่สถานที่แห่งนี้

อีกครั้งขณะ Miss Giddens กำลังหลับฝัน ใช้การ Dissolves เห็นเป็นภาพซ้อนมากมาย สิ่งต่างๆที่ปรากฎขึ้นล้วนพบเจอเห็นมาก่อนแล้วทั้งนั้น อาทิ รูปภาพของ Peter Quint, การเต้นรำของ Flora กับ Miss Jessel, เด็กชายหญิงทั้งสองกระซิบกระซาบนินทา ฯ ทั้งหมดนี้เกิดจากการคิดมาก ครุ่นคิดไปเอง เห็นภาพหลอน วิตกจริง หรือเพราะ…

เพลงประกอบโดย Georges Auric นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของ Jean Cocteau และ Erik Satie มีผลงานดังๆอย่าง Dead of Night (1945), Beauty and the Beast (1946), Orpheus (1950), Moulin Rouge (1952), The Wages of Fear (1953), Roman Holiday (1953) ฯ

Auric เป็นนักแต่งเพลงที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างบรรยากาศหลอนๆ ทะมึนๆ ช่วงแรกๆที่ผู้ชมยังไม่รู้ว่าหนังเป็นเกี่ยวกับอะไร เพลงประกอบก็มานุ่มๆเนิบๆ แต่พอมีคำพูดว่า He had the devil‘s own eye… หลุดออกมาจากปากสาวคนใช้ อยู่ดีๆก็มีเสียงเพลงชวนให้ขนหัวลุกดังขึ้นแวบหนึ่ง โดยสันชาติญาณของมนุษย์ คนส่วนใหญ่น่าจะเกิดความพิศวงสงสัย มันต้องมีอะไรบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

บทเพลงมีการผสมเสียงนกกระจอก (นัยยะของความบริสุทธิ์, innocents), กล่องเพลง (นัยยะของความทรงจำ), นาฬิกา, เสียงฮัม O Willow Waly, เสียงหัวเราะ ฯ เพื่อสร้างสัมผัสธรรมชาติ ความกลมกลืนให้กับหนัง ซึ่งก็จะมีการแต่งทำนองให้สอดคล้องรับ Sound Effect นั้นๆด้วย

สำหรับเจ้าเสียงวิ้งๆ นั้นมาจากเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesized) สร้างโดย Daphne Oram นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ที่เป็นผู้บุกเบิกสไตล์เพลง musique concrete, ให้สัมผัสที่หลอกหลอน หมุนๆมึนๆ เหมือนคนเมายาใกล้เสียสติ ถือว่ามีความเข้ากันกับหนังได้อย่างลงตัวทีเดียว

O Willow Waly แต่งคำร้องโดย Paul Dehn ขับร้องโดย Isla Cameron, นำเอาฉบับที่บันทึกลงแผ่นเสียง ร่วมกับวง The Raymonde Singers มาให้ฟังกัน รู้สึกจะไม่หลอกหลอนเท่าในหนัง แต่ก็ดีกว่าเปิดฟังฉบับนั้นตอนดึกๆนั่งทำงาน ชวนให้ขนหัวลุกโดยแท้

Title ของหนัง จบจากบทเพลง O Willow Waly เสียงนกกระจาบจะดังขึ้น เมื่อเครดิตปรากฎด้านซ้ายจะเป็นมือนักแสดง Deborah Kerr ที่ทำท่าทางต่างๆ ในตอนแรกพนมมือยกขึ้นมา จากนั้นแบออกราวกับว่าให้นกกระจาบทั้งหลายบินเข้ามาในอุ้ง จากนั้นทำการกำแล้วบดขยี้อย่างรุนแรง (เสียงฉาบจะรัวดังขึ้น) ภาพค่อยๆเคลื่อนมาให้เห็นหน้าเธอจุมพิตที่มือ จากนั้นเงยหน้าขึ้นอธิษฐาน

โดยปกติแล้ว ความ Horror มักเกิดขึ้นจากภาพบางสิ่งอย่างที่จดจำฝังติดตราตรึงในใจของผู้คน อาทิ สงคราม, ความรุนแรง, เลือด, ฆ่า, ข่มขืน, การสูญเสีย ฯ แต่กับหนังเรื่องนี้ สิ่งที่คือความ Horror กลับคือความใสซื่อบริสุทธิ์ Innocents ของทั้้งเด็กชาย, เด็กหญิง และหญิงสาวบริสุทธิ์ (Virgin) นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามันจะหลอกหลอนได้ถึงขนาดนี้

Flora เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แบบไม่มีอะไรแอบแฝงในกอไผ่ เพราะเธอยังเด็กเกินไปที่จะสามารถรับรู้เรื่องราวอะไรได้ คือต่อให้เห็น Peter Quint กับ Miss Jessel มี Sex กันต่อหน้าก็ยังคงไม่รับรู้เข้าใจว่ามันคืออะไร ด้วยเหตุนี้คำพูดของเธอประโยคที่ว่า ‘Oh, look, it’s a lovely spider and it’s eating a butterfly.’ จึงมีความหลอนสะท้าน เพราะตัวเธอกลับไม่รู้ร้อนรู้หนาว รู้สึกถึงอะไรทั้งนั้น ซึ่งความทรงจำแรกที่จะฝังตราตรึงในจิตใจของเธอ คือขณะที่ Miss Giddens บีบบังคับให้เธอยินยอมรับว่าเห็นอะไรบางอย่าง ใบหน้าของความ Horror นั่นทำให้เธอกรีดร้องลั่นแสบแก้วหู ไม่ยินยอมรับกับสิ่งที่ตนได้พบเห็น

Miles เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา(เด็กๆ) แบบที่มีความต้องการอะไรบางอย่างฝังอยู่ในใจ, เด็กชายเริ่มรับรู้เรื่อง เข้าใจเรื่องลุงที่ไม่เห็นหัว พบเจอ Peter Quint ที่กลายเป็นพ่อตัวอย่าง เมื่อเห็นเขามีสัมพันธ์รักกับ Miss Jessel จึงเกิดความอยากได้ อยากลองเลียนแบบ ก็ไม่มีใครอื่นนอกจาก Miss Giddens กระทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ ช่วงท้ายเมื่ออยู่ด้วยกันสองต่อสองกลับถูกบีบบังคับให้ต้องยอมรับบางสิ่งอย่าง แต่พอเด็กชายจ้องหน้าเธอ ก็เกิดอาการช็อคราวกับเห็นผี หมดสิ้นชีวีลงไปในบัดดล (ราวกับวินาทีนั้น Miles ได้เข้าใจว่า Miss Giddens คือคนบ้าเสียสติ เกิดความ Horror ทำให้ช็อคตกใจจนหัวใจหยุดเต้น)

Miss Giddens เป็นตัวแทนของร่างกายที่ยังบริสุทธิ์ ส่วนจิตใจ… ก็แล้วแต่จะมองนะครับ ว่ายังบริสุทธิ์แท้อยู่ หรือปนเปื้อนด้วยความคิดต่างๆนานา ซึ่งหญิงสาวมีจุดประสงค์เดียวในการกระทำนี้ นั่นคือปกป้อง Flora และ Miles ให้พ้นภยันตรายที่อาจย่างกรายเข้ามา มีไม่มีรึเปล่าไม่รู้ แต่ฉันจะขอทำงานตามหน้าที่โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ความดื้อด้านในตัวของตนเองคือความ Horror ที่ผู้ชมเห็นแล้วเจ็บปวดรวดร้าวใจ

สำหรับคุณลุงผู้ว่าจ้าง Miss Giddens ผู้ชายกลายเป็นตัวแทนของความไม่บริสุทธิ์ ไม่สนใจ ปิดกั้น ปฏิเสธทุกสิ่งอย่าง นี่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ไม่ต้องการพบเจอกับความ Horror ทั้งหลายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเอง, เหตุผลที่เขาพยายามเลือกหญิงสาววัยเยาว์บริสุทธิ์เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก คงเพราะจะได้มอบความสดใสบริสุทธิ์ จริงใจ ไม่มีเคลือบแคลงต่อหลานๆทั้งสองของเขาได้ แต่สิ่งที่คุณลุงลืมไปก็คือ สาวบริสุทธิ์ก็เหมือนโคถึก** ถ้าไม่ปราบพยศเสียก่อนก็อาจจะสร้างความเสียหายมากกว่าคุณประโยชน์

เกร็ด: จริงๆวลีนี้มาจากท่อน ความรักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ บทเพลงบุพเพสันนิวาส – สุนทราภรณ์ (แม่ผมชอบเปิดฟังบ่อยๆเลยจดจำได้)

ผมเองก็คิดไม่ถึงเลยว่า ‘ความ Innocent’ มันจะน่ากลัวได้ขนาดนี้ กับเด็กๆมันยังไม่เท่าไหร่หรอก เพราะพวกเขามักยังถูกครอบงำด้วยอะไรบางอย่างได้ แต่กับผู้ใหญ่ที่ยังมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา นี่คือความผิดปกติบางอย่างแน่ๆ แต่จะมีใครเข้าใจเขาได้ไหม เห็นผีหรือภาพหลอน นี่เป็นประเด็นที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ แม้แต่เจ้าตัวเองก็เถอะ!

ด้วยทุนสร้าง £430,000 ปอนด์ หนังทำเงินได้เฉพาะในอเมริกาที่ $1.2 ล้านเหรียญ ไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก แต่ดูแล้วน่าจะทำกำไรได้พอสมควร, เข้าชิง BAFTA Award 2 สาขา ไม่ได้รางวัล
– Best British Film
– Best Film from any Source

นักวิจารณ์สมัยนั้นมองไม่เห็นความสวยงามยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้เลยนะครับ โดยเฉพาะงานภาพเป็นสิ่งที่แทบทุกคนมองข้าม จนกระทั่งได้มีการศึกษาวิธีการรายละเอียดอย่างจริงจัง จึงค่อยๆได้รับกระแส Cult เพิ่มเข้ามา มันมีความสวยเนียนลงตัวในระดับ Masterpiece ของแนว Horror เลยละ

เกร็ด: ผู้กำกับ François Truffaut ครั้งหนึ่งได้พบเห็นผู้กำกับ Jack Clayton นั่งอยู่ในร้านอาหาร เขียนกระดาษใส่โน๊ตฝากไปส่งให้มีข้อความว่า

“The Innocents is the best British film since Alfred Hitchcock had left for America.”

มีหนังภาค Prequel เรื่องราวของ Peter Quint กับ Miss Jessel ก่อนถึงจุดเริ่มต้นหนังเรื่องนี้ชื่อ The Nightcomers (1972) กำกับโดย Michael Winner นำแสดงโดย Marlon Brando, ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว ใครเป็นแฟนๆนิยายเรื่องนี้ไม่ควรพลาด

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ติดใจในการสร้างบรรยากาศหลอนๆน่าสะพรึงกลัว ด้วยภาพถ่ายที่สวยงาม ตราตรึง เจิดจรัส และการแสดงของ Deborah Kerr กับเด็กชายที่รับบท Miles ผมไม่รู้มีคำเรียกสถานการณ์ลักษณะนี้ว่าอะไร ‘โคแก่กินหญ้าอ่อน’ ก็ไม่น่าใช่นะ

แนะนำกับคอหนัง Gothic Horror ชื่นชอบเรื่องราวเหนือธรรมชาติ บรรยากาศหลอนๆ เห็นผี, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา มองหนังในเชิงจิตวิเคราะห์ ค้นหาปัญหาของตัวละคร, ช่างภาพ ตากล้อง นักถ่ายรูปทั้งหลาย สังเกตการใช้เลนส์/ฟิลเลอร์, รู้จักผู้กำกับ Jack Clayton, แฟนๆ Deborah Kerr ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความหลอนสะพรึง

TAGLINE | “The Innocents คือภาพยนตร์ที่สวยงามเจิดจรัส ด้วยความหลอกหลอนบริสุทธิ์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

The Haunting (1963)


The Haunting

The Haunting (1963) British : Robert Wise ♥♥♥♥

ผู้กำกับ Martin Scorsese ยกย่องหนังเรื่องนี้ Scariest Horror Movies Of All Time สูงถึงอันดับที่ 1, ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Robert Wise สร้างขึ้นระหว่าง West Side Story (1961) กับ The Sound of Music (1965) บรรยากาศและความสวยงามระดับวิจิตรของบ้านผีสิงหลังนี้ จะทำให้คุณหลอนจับใจ

วันก่อนผมไปค้นเจอ 11 หนังแนว Horror ที่มีความหลอกหลอนน่าสะพรึงกลัวที่สุด จัดอันดับโดยผู้กำกับชื่อดัง Martin Scorsese ประกอบด้วย
1. The Haunting (1963) กำกับโดย Robert Wise
2. Isle of the Dead (1945) นำแสดงโดย Boris Karloff
3. The Uninvited (1944) ถ่ายภาพโดย Charles Lang ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography, Black and White
4. The Entity (1981)
5. Dead Of Night (1945)
6. The Changeling (1980) นำแสดงโดย George C. Scott
7. The Shining (1980) กำกับโดย Stanley Kubrick นำแสดงโดย Jack Nicholson
8. The Exorcist (1973) กำกับโดย William Friedkin
9. Night Of The Demon (1957) กำกับโดย Jacques Tourneur
10. The Innocents (1961) นำแสดงโดย Deborah Kerr
11. Psycho (1960) กำกับโดย Alfred Hitchcock

reference: http://www.thedailybeast.com/martin-scorseses-scariest-movies-of-all-time

ถือเป็นลิสที่มีความน่าสนใจทีเดียว ดูแล้วไม่ใช่กลุ่มหนัง Horror ที่เน้นความสยดสยอง ขยะแขยง หรือสะดุ้งโหยง แต่มีการผสมผสานความงามทางศิลปะภาพยนตร์ลงไปอย่างแนบเนียน ผมคงจะไม่รีบร้อนเขียนทั้งหมดในคราเดียว แต่สักวันคงมีโอกาสได้ครบหมดแน่

The Haunting เป็นหนังที่มีความสวยงามระดับวิจิตร ตระการตา ภาพถ่ายขาว-ดำ Anamorphic Widescreen เปิดกว้างทัศนวิสัยการรับรู้ ทั้งๆที่ดำเนินเรื่องภายในบ้าน/ห้องคับแคบ แต่กลับรู้สึกยังไม่เพียงพอต่อโสตประสาทรับสัมผัส, ลวดลายพื้นหลัง รูปปั้น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเงินเครื่องทอง กระจก แสงไฟ ฯ ล้วนสร้างบรรยากาศชวนให้ขนหัวลุกพอง อกสั่นขวัญผวา และเทคนิคหนึ่งที่เหนือชั้นในการเล่าเรื่อง คือเราจะไม่เห็นวิญญาณ ภูติผีปีศาจ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ ความหวาดกลัวหลอนสะพรึงล้วนเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ชมเอง

Robert Earl Wise (1914 – 2005) ผู้กำกับ นักตัดต่อสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Winchester, Indiana งานอดิเรกตั้งแต่เด็กคือรับชมภาพยนตร์ โตขึ้นตั้งใจจะเป็นนักข่าว แต่เพราะครอบครัวฐานะยากจนทำให้ไม่สามารถส่งเสียเรียนจนจบได้ ตัดสินมุ่งสู่ Hollywood เริ่มต้นจากเป็นเด็กกวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งเอกสาร ต่อมาเป็น Sound/Music Editor ให้กับสตูดิโอ RKO เรื่อง The Gay Divorcee (1934), Top Hat (1935), The Informer (1935) ฯ กลายเป็นนักตัดต่อให้กับ The Hunchback of Notre Dame (1939), Citizen Kane (1941), The Magnificent Ambersons (1942) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Curse of the Cat People (1944) แทนที่ผู้กำกับคนเดิมคือ Gunther von Fritsch

Wise เป็นผู้กำกับที่เติบโตขึ้นในระบบสตูดิโอ ต้องถือว่าโชคดีมากๆด้วยเพราะได้เคยร่วมงานเป็นนักตัดต่อหนังของอัจฉริยะ Orson Welles ถึงสองเรื่อง นั่นทำให้เขาเรียนรู้พัฒนาตัวเองขึ้นกลายเป็นผู้กำกับยอดฝีมือ ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถคว้าทั้ง Oscar: Best Picture และ Best Director ได้ถึงสองครั้งคราจาก West Side Story (1961) และ The Sound of Music (1965) ผลงานอื่นๆที่ขึ้นหิ้งระดับคลาสสิก อาทิ The Day the Earth Stood Still (1951), I Want to Live! (1958), The Sand Pebbles (1966), The Andromeda Strain (1971), Star Trek: The Motion Picture (1979) ฯ

สไตล์ภาพยนตร์ของ Wise เน้นการสื่อสารต่อติดกับผู้ชม นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจ ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวมาอย่างดีครอบคลุมทุกรายละเอียด แฝงคุณธรรมศีลธรรม และไม่ยึดติดกับแนวหนัง ขึ้นอยู่กับความสนใจของตนเองในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งถ้าทำการแยกแยะจะพบว่ามีความหลากหลายแนว อาทิ Horror, Film Noir, Western, Wars, Sci-Fi, Musical และ Drama ซึ่งก็ล้วนประสบความสำเร็จแทบทั้งหมด

ช่วงขณะ Post-Production ของ West Side Story ผู้กำกับ Wise ได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่อง The Haunting of Hill House (1959) ของนักเขียนหญิงสัญชาติอเมริกา Shirley Jackson เกิดความหลอนสะพรึงที่ตราติดตรึงใจอย่างมาก จึงได้ส่งต่อให้กับนักเขียน Nelson Gidding ที่เคยร่วมงานกันเรื่อง I Want to Live! (1958) เป็นผู้ดัดแปลงบทภาพยนตร์

“I was reading one of the very scary passages — hackles were going up and down my neck — when Nelson Gidding… burst through the door to ask me a question. I literally jumped about three feet out of my chair. I said, ‘If it can do that to me sitting and reading, it ought to be something I want to make a picture out of’.”

– Robert Wise พูดถึงการได้พบเจอนิยาย The Haunting of Hill House

ซึ่งระหว่างที่พัฒนา Treatment อยู่นั้น Gidding ได้เกิดความเข้าใจต่อนิยายว่ามีลักษณะเป็น ความผิดปกติทางจิตของตัวละคร Eleanor Vance เมื่อนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับนักเขียน Jackson เธอก็เกิดความสนใจเห็นชอบด้วย แต่ยืนกรานว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในนิยายตามความตั้งใจเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติล้วนๆ, ด้วยเหตุนี้ Gidding จึงทำการผสมผสานทั้งสองแนวคิดเข้าด้วยกัน ไม่ให้ข้อสรุปที่แน่นอน ก็แล้วแต่ว่าผู้ชมจะมองเห็นเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติล้วนๆ/หรือจิตวิเคราะห์ผู้ป่วยโรคประสาท นี่ทำให้ชื่อนิยายไม่เหมาะสมจะกลายเป็นชื่อหนังเท่าไหร่ Jackson คือคนที่แนะนำ The Haunting คำความกว้างๆ ตีความได้ทั้งบ้านที่หลอนหลอน หรือจิตใจของหญิงสาวที่ครุ่นคิดมโน เพ้อไปเอง

เกร็ด: นิยายเรื่อง The Haunting of Hill House ได้รับการยกย่องว่า ‘Best Literary Ghost Stories of 20th Century’ (นิยายเรื่องเล่าผียอดเยี่ยมสุดในศตวรรษที่ 20), เช่นกันกับนักเขียนนิยาย Horror ชื่อดัง Stephen King ยกย่องว่า ‘finest horror novels of the late 20th century.’

ในช่วงพัฒนาบทภาพยนตร์ ผู้กำกับ Wise ให้อิสระกับ Gidding ในการดัดแปลงอย่างเต็มที่ แทบไม่เข้ามายุ่งจุ้นจ้านแก้ไขอะไร นอกเสียจากติดตามความคืบหน้าของงาน พูดคุย direction ที่ตนเองต้องการ ซึ่งพอบทหนังเขียนเสร็จ Wise ก็สิ้นงาน West Side Story พอดี นำไปเสนอ United Artists แต่เพราะความล่าช้าในข้อตกลงเป็นปีๆ ทำให้ Wise กำกับสร้าง Two for the Seesaw (1962) เสร็จอีกเรื่อง เลยตัดสินใจเปลี่ยนสตูดิโอเป็น MGM ได้ทุน $1 ล้านเหรียญ ซึ่งคงไม่เพียงพอแน่ถ้าจะถ่ายทำในอเมริกา เดินทางไปประเทศอังกฤษที่พร้อมอ้าแขนรับ ลดภาษีค่าใช้จ่ายให้พร้อมแลกกับการขึ้นเครดิตว่า สร้างขึ้นที่ British Film Industry (BFI)

เกร็ด: ช่วงทศวรรษ 60s อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษกำลังอยู่ในช่วงขาลงจาก Great Depression, สงครามเย็น ทำให้สภาพเศรษฐกิจถดถอย ค่ายหนังในประเทศทำหนังขาดทุนติดๆกันหลายเรื่องจนแทบล้มละลาย รัฐบาลจึงออกมาตรการเข้าช่วยเหลือ ด้วยการชักจูงผู้สร้างภาพยนตร์จากทั่วยุโรปและอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนสร้างหนังในประเทศอังกฤษ จะมีการลดภาษี ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่นๆแถมให้ไม่อั้น

Dr. John Markway (รับบทโดย Richard Johnson) นักมานุษยวิทยา (anthropology) ผู้มีความต้องการค้นหา ท้าพิสูจน์เรื่องราวเหนือธรรมชาติ วางแผนทดลองกับคฤหาสถ์เก่าแก่อายุ 90 ปี Hill House สร้างโดยมหาเศรษฐี Huge Crain เพื่ออาศัยอยู่กับภรรยาของตน แต่เธอกลับได้รับอุบัติเหตุรถขับชนต้นไม้เสียชีวิต จากการมองเห็นคฤหาสถ์หลังนี้ครั้งแรก จากนั้นก็เกิดเรื่องหลอนๆ ความตาย ขึ้นอีกหลายครั้ง, Markway รวบรวมหนุ่มสาวให้มาเป็นหนูทดลอง อาศัยอยู่รวมกันในคฤหาสถ์หลังนี้ ประกอบด้วย
– Eleanor ‘Nell’ Lance (รับบทโดย Julie Harris) หญิงสาวอายุ 32 ปี สถานะโสด ไม่มีบ้าน ไม่มีงานทำ สถานะเหมือนนกในกรง เพราะวันๆเคยเอาแต่ดูแลแม่ที่เจ็บป่วย พอไม่หลงเหลือใคร ก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกภายนอกได้ กลายเป็นคนเหม่อลอย ซุ่มซ่าม เพ้อฝัน ผู้ชมจะได้ยินเสียงเธอพูดกับตนเองตลอดเวลา
– Theodora ‘Theo’ (รับบทโดย Claire Bloom) หญิงสาวที่มีความสวยสง่า เยือกเย็น เป็นตัวของตัวเอง ความมั่นใจสูง แต่บางขณะก็แสดงความหวาดหวั่นกลัวเหมือนเด็ก เรียกความสัมพันธ์กับ Nell ว่าพี่น้อง ทั้งๆที่ตัวเองแต่งงานแล้วแต่ไม่เคยพูดออกมาว่ากับชายหรือหญิง ทำให้สามารถมองตัวละครนี้ได้ว่าเป็น เลสเบี้ยน
– Luke Sanderson (รับบทโดย Russ Tamblyn) ชายหนุ่มผู้เป็นหลาน/ทายาทเจ้าของคฤหาสถ์หลังนี้ ไม่ได้มีสัมผัสพิเศษใดๆ หรือความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ แค่มีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในอนาคตต่อไปตัวเขาจะเป็นผู้รับมรดกตกทอดมาถึง

พวกเขาทั้งสี่อาศัยอยู่ร่วมกันในคฤหาสถ์หลังนี้ พบเจอกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่หาคำอธิบายไม่ได้มากมาย แต่เหมือนว่ามันจะมีเป้าหมายอะไรบางอย่างแอบซ่อนแฝงอยู่ด้วย

Richard Keith Johnson (1927 – 2015) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Upminster, Essex โตขึ้นเข้าเรียนที่ Royal Academy of Dramatic Art จบมาเป็นนักแสดงละครเวที ช่วงหลังสงครามโลกสมัครเป็นทหารเรือ แสดงหนังเรื่องแรก Captain Horatio Hornblower (1951)

รับบท Dr. John Markway ชายผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ มีความคิดเป็นเอกเทศ ยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ ต้องการใช้ข้อพิสูจน์การมีตัวตนของเรื่องเหนือธรรมชาติ เพื่อแสดงการมีตัวตนของตนเอง (ให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัว) โดยเขามีความเชื่อ/ทฤษฎีหนึ่งที่ว่า ‘ถ้าวิญญาณทั้งหลายมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ มันจะทำให้พื้นฐานธรรมชาติ ความคิดเข้าใจของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก’

“You see, if ghosts, which are pure spirit, come from man … then perhaps it’s possible someday to have individuals whose spiritual caliber far surpasses anything humanity has yet known.

Human nature could certainly stand some improvements.”

การแสดงของ Johnson รับบทตัวละครนี้ได้อย่างเข็มแข็ง หนักแน่น คมคาย ไม่วอกแวก แสดงออกซึ่งความเป็นลูกผู้ชาย แมนๆ แต่เหมือนว่าในใจของเขามีความต้องการบางอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย, ระหว่างที่ตัวละครนี้อยู่ในคฤหาสถ์ ไม่เคยพูดบอกว่าแต่งงานแล้ว นี่เป็นการปกปิดสถานภาพของตนเอง ตอนที่ภรรยาปรากฎเซอร์ไพรส์ขึ้นกลางเรื่อง ปฏิกิริยาของเขาเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย เบื่อหน่ายรำคาญ ผิดกับเมื่ออยู่สองต่อสองกับนางเอก Eleanor มีการเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือ โน้มน้าวชักจูงพรอดคำหวาน ฯ ลึกๆแล้วคงแอบหวังต้องการเป็นชู้รักกับหญิงสาวอยู่แน่

Johnson เคยให้สัมภาษณ์พูดถึงผู้กำกับ Wise บอกว่าเป็นการร่วมงานที่สุดมหัศจรรย์ โดยเฉพาะคำแนะนำเรื่องการแสดง อาทิ อย่าให้สายตาวอกแวก, จังหวะนี้ห้ามกระพริบตา, ขยับแบบนี้ฝืนเกินไป ฯ ทำให้การแสดงของเขามีความสมจริง เป็นธรรมชาติมากขึ้น

Julia Ann ‘Julie’ Harris (1925 – 2013) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เจ้าของสถิติเข้าชิง 10 รางวัล Tony Award (คว้ามา 5 ครั้ง **เคยเป็นเจ้าของสถิติแต่ถูกทำลายไปแล้ว), 3 รางวัล Emmy และ Grammy แต่ไม่เคยคว้า Oscar สักครั้ง

เกิดที่ Grosse Pointe, Michigan โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Perry-Mansfield Performing Arts School & Camp ใน Colorado มีอาจารย์ Charlotte Perry ที่ต่อมาแนะนำให้เธอเข้าเรียน Yale School of Drama, เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก The Member of the Wedding (1952) ที่ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกและครั้งเดียว ตามมาด้วย East of Eden (1955) ประกบ James Dean

รับบท Eleanor ‘Nell’ Lance ความต้องการที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง มีเป็นของตัวเอง ไม่ต้องการพึ่งพาผู้อื่น ทำให้เธอตัดสินใจขโมยรถ(ของตัวเอง) ขับตรงดิ่งมาที่ Hill House ทั้งๆที่ก็ไม่รู้ว่ากำลังจะได้พบเจออะไร แต่คิดตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวนี่แหละบ้านใหม่ของฉัน ไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่ขอหวนกลับคืนออกไปจากคฤหาสถ์หลังนี้อย่างเด็ดขาด

แต่การจะอาศัยอยู่ในคฤหาสถ์หลังนี้นั้นไม่ง่าย ยามค่ำคืนมักจะมีบางสิ่งอย่างพยายามก่อกวนสร้างความไม่สงบ จิตใจหนึ่งของหญิงสาวพยายามจะบอกว่า กลับเถอะ เพ่นหนีไปซะ อย่างทนอยู่เลยสถานที่แห่งนี้ มันไม่ใช่ที่ของเธอ แต่อีกใจหนึ่งปฏิเสธเสียงขันแข็ง ไม่มีวัน ฉันจะต้องอยู่ให้ได้ กลับไปก็ไม่มีใคร, สองความคิดขัดแย้งในใจลุกลามถึงขั้นบานปลาย สองมือซ้ายขวาขยับพวงมาลัยคนละทิศทาง ดึงดันกันจน…

ผมคิดว่าตัวละครนี้เป็น Bi-Sexual/Multi-Sexual คือเอาได้หมดทั้งชายหญิง, กับ Dr. Markway ออกนอกหน้าค่อนข้างชัด แต่กับ Theo ต้องสังเกตเอาหน่อยก็จะพอมองออกพบเห็นได้, เช่นกันกับคฤหาสถ์หลังนี้ ก็ถือเป็นความรักอีกรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน

ในการรับบทตัวละครนี้ Harris พยายามที่จะปลีกตัว รักษาระยะห่างกับเพื่อนร่วมงานทุกคน ไม่ใช่ว่าเป็นคนหยิ่งยโสโอหังประการใด ซึ่งภายหลังได้อธิบายบอกกับ Claire Bloom มอบของขวัญขอโทษ แล้วพูดเล่าถึงวิธีการเข้าถึงตัวละครของตน ต้องการสร้างสถานการณ์ให้กับตนเองอย่างสมจริง … วิธีการสวมบทบาทตัวละครทั้งในและนอกจอมีนักแสดงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำได้ อาทิ Daniel Day-Lewis ฯ ก็ว่าอยู่ ชื่อของเธอไม่คุ้นหูผมเท่าไหร่ แต่ได้เข้าชิง 10 รางวัล Tony Award ต้องไม่ธรรมดาจริงๆ

Patricia Claire Blume (เกิดปี 1931) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Finchley, London, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Guildhall School ภายใต้ Eileen Thorndike ตามด้วย Central School of Speech and Drama เริ่มต้นจากมีผลงานละครเวที ได้รับการค้นพบโดย Charlie Chaplin เรื่อง Limelight (1952)

รับบท Theodora ‘Theo’ เลสเบี้ยนสาวที่มีความชื่นชอบ ตกหลุมรักแรกพบกับ Eleanor ภายนอกมีความเข้มแข็งแกร่งเยือกเย็น แต่ภายในกลับอ่อนแอ ขี้ตระหนกตกใจง่าย, คำพูดของเธอมีความสองแง่สองง่ามอยู่ตลอด อาทิ
– Eleanor: “We are going to be great friends Theo!”, Theo: “Like sisters?” (พี่น้องท้องติดกัน?)
– Eleanor: “I’d like to drink to just us… good companions.”, Theo: “Excellent! … To my new companion!” (แด่…คู่ขาคนใหม่)
– Theo: “If you feel in the least bit nervous, just run right into my room.”
– Theo: “Don’t get all hung up, Nell. We’ll have fun … like sisters!”

Bloom เป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่ายมากในกองถ่าย (ตรงข้ามกับตัวละครโดยสิ้นเชิง) และดูเหมือนเธอจะเข้าใจเบื้องลึกตัวละครนี้อย่างดี ทำให้มีการเล่นหูเล่นตา เล่นคำพูดหยอกล้อกับ Harris ได้เป็นอย่างดี เป็นเคมีที่แอบซ่อนเร้นอยู่ภายในทั้งสองอย่างลึกล้ำ

เกร็ด: Hays Code สมัยนั้น เข้มงวดต่อการนำเสนอเลสเบี้ยนมากๆ ถึงขนาดไม่อนุญาตให้ตัวละคร Theo สัมผัสแตะเนื้อต้องตัว Eleanor ก็ลองไปสังเกตดูกันเอาเองนะครับ ว่ามีฉากไหนหรือเปล่า

Russell Irving Tamblyn (เกิดปี 1934) นักแสดง นักเต้นสัญชาติอเมริกัน ที่เคยร่วมงานกับ Wise ก่อนหน้านี้ West Side Story รับบทเป็น Riff ผู้นำของ Jets Gang ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Seven Brides For Seven Brothers (1954), Peyton Place (1957) [เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor], The War of the Gargantuas (1966) ฯ

รับบท Luke Sanderson ชายหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาด้วยความสะดวกสบาย ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้สาระ ไม่เอาใจใส่อะไร เพราะความที่คงไม่เคยพบความยากลำบากในชีวิต เลยไม่เข้าใจความทุกข์ยาก เหน็ดเหนื่อยของผู้อื่น

เหมือนว่า Tamblyn มักได้รับบทตัวละครลักษณะคล้ายๆกันนี้ (ไม่รู้เป็น typecast) เลยหรือเปล่า วัยรุ่นผู้ไม่ประสีประสาหรือสนใจสาระของโลก ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยให้กลายเป็นภาระของสังคม แต่อย่างน้อยคำพูดประโยคสุดท้ายของตัวละครนี้ ก็ยังมีความตระหนักระลึกขึ้นมาได้

“It ought to be burned down and the ground sowed with salt.”

ถ่ายภาพโดย Davis Boulton ตากล้องสัญชาติอังกฤษ, เป็นความต้องการของผู้กำกับ Wise ถ่ายภาพด้วยฟีล์มขาว-ดำ (เพื่อเล่นกับความเข้ม แสง/เงาได้) ในระบบ Anamorphic Widescreen (2.35:1) ซึ่งมีขนาดยาวมากๆแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ ต้องการใช้เลนส์ Wide เพิ่มทัศนวิสัยเข้าไปอีก ซึ่งขณะนั้น Panavision กำลังอยู่ในช่วงการทดลองสร้างเลนส์ขนาด 30mm แต่ผลลัพท์ยังไม่น่าพึงพอใจเพราะความบิดเบี้ยวไม่สมจริง (distorted) พอ Wise ได้ยินเช่นนี้ถึงกับหัวเราะยิ้มร่า บอกเลยว่า นี่แหละที่ฉันกำลังต้องการ เข้ากับหนังเรื่องใหม่นี้เป็นที่สุด

ฉากภายนอกถ่ายทำที่ Ettington Park, Warwickshire คฤหาสถ์ของตระกูล Shirley, Derbyshire สร้างด้วยสถาปัตยกรรม Neo Gothic ช่วงประมาณ 1858-62, เห็นว่าปัจจุบันได้แปรสภาพ กลายเป็นโรงแรมไปแล้ว

ภาพแรก Opening Credit ของหนัง Hill House ใช้การถ่ายภาพตอนกลางคืนด้วย Infrared Film ทำให้เห็นเป็นเงาดำทะมึนของคฤหาสถ์หลังนี้ เป็นการบ่งบอกถึงอดีตอันมืดมิดของคฤหาสถ์หลังนี้ เต็มไปด้วยความชั่วร้าย

ขณะที่ Eleanor ขับรถเข้ามาใน Hill House ช็อต Close-Up ในดวงตาจะมีแสงไฟ 2 ดวง ราวกับคฤหาสถ์หลังนี้กำลังจ้องมองเธออยู่

สำหรับฉากภายใน ถ่ายทำที่สตูดิโอ MGM-British Studios เมือง Borehamwood, Hertfordshire ออกแบบฉากโดย Elliot Scott ตกแต่งให้มีลักษณะ Rococo Style เพดาน/ฝาผนังมีลวดลายวิจิตรตระการตา รูปปั้น ภาพวาด ผนังไปด้วยกระจก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเงิน โต๊ะเก้าอี้สะท้อนแสงได้ และประตูทำ Special Effect บางอย่างไว้ (แต่เห็นว่า ตอนประตูเปิดปิดเอว ใช้คนยืนผลักหลังฉากนะครับ ไม่ได้มีเทคนิคอะไร)

เกร็ด: Rococo หรือ Late Baroque เป็นสไตล์หนึ่งของการออกแบบ ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ของประเทศฝรั่งเศส สถานที่เด่นๆก็อย่าง Palace of Versailles

ฉากที่ Eleanor เดินเข้าไปในคฤหาสถ์ Hill House ครั้งแรก กล้องทำการแพนไปโดยรอบ นำมาเรียงต่อกันได้ภาพ Panorama สวยงามทีเดียว

มาถึงในห้องนอนของหญิงสาว กล้องจะเคลื่อนไหวมาถึงมุมนี้ พื้นหลังให้สัมผัสเหมือนกำลังจะดูดกลืนกินเธอเข้าไปให้เป็นส่วนหนึ่ง (ข้างหลังจริงๆ นั่นคือลายผ้าเหนือเตียงนอน)

ต้องชมเลยว่า งานภาพของหนังมีความหลากหลายค่อนข้างมาก พยายามทำให้กล้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา (หรือไม่ก็ตัวละครที่เคลื่อนไหว) มีการแพนกล้อง, Tracking Shot, ซ้อนภาพ, Split-Screen, มุมกล้องแปลกๆ ก้ม-เงย, Dutch Angle, แนวดิ่ง 180 องศา ฯ เหล่านี้เพื่อสร้างความรู้สึกให้เหมือนว่า ‘คฤหาสถ์หลังนี้มีชีวิต’

กระจกมีอยู่มากมายเต็มไปหมดในทุกๆห้อง แต่ช็อตที่เจ๋งๆคือการรวม 4-5 ตัวละครในภาพเดียว และบางคนเห็นเป็นภาพสะท้อนอยู่ในกระจก

บอกตามตรงผมไม่แน่ใจช็อตนี้เท่าไหร่ ว่าใช้การ Split-Screen หรือใช้เลนส์ Split-focus Diopter เพราะมันมีภาพเบลอๆตรงชายเสื้อของ Eleanor ซึ่งช็อตถัดจากนี้ก็มีความพิศวงมาก ว่าภาพฝั่งขวาที่เห็นมันอยู่ด้านหลังของหญิงสาวหรือเปล่า

มีคำเรียกช็อตนี้ว่า Morphing จากเด็ก->ผู้ใหญ่->คนแก่ เทคนิคที่ใช้คือการค่อยๆเฟดภาพเฉพาะตำแหน่ง แต่ผลลัพท์ที่ออกมาผมว่ามันหลอนๆยังไงชอบกลนะ

ประตูมันเคลื่อนไหวได้นะครับ ออกแบบลวดลายคล้ายกับใบหน้ามนุษย์ ด้านบนเห็นเหมือนลูกตานูนออกมา

หุ่น รูปปั้นทั้งหลายในหนังก็เหมือนว่าจะมีชีวิตเช่นกัน ในนิยายเห็นว่าจะออกมาเป็นฝูงปีศาจเลยละ แต่หนังจงใจที่จะไม่นำเสนอให้เราเห็นภาพเคลื่อนไหวใดๆทั้งนั้น เว้นแต่…

วิ่งมาสะดุ้งตกใจกับรูปปั้นที่เหมือนปีศาจ

Eleanor ไม่สามารถเปิดประตูได้ กล้องจะเอนเอียงมาที่รูปปั้นช็อตนี้ เหมือนว่ากำลังโน้มตัวยื่นหน้ามาที่เธอ

หรือขณะที่หญิงสาวถูกลมพัดปลิว หมุนม้วนกับผ้าม่านบางๆ นี่น่าจะฝีมือของเจ้ารูปปั้นปีศาจนกที่อยู่ด้านซ้ายมือแน่ๆ

เหล่านี้เป็นการสร้างความคลุมเคลือให้กับหนัง ระหว่างเรื่องราวเหนือธรรมชาติ กับความผิดปกติทางจิตของหญิงสาวที่มโนครุ่นคิดเพ้อไปเอง ก็แล้วแต่ว่าคุณจะคิดทำความเข้าใจหนังไปในรูปแบบไหน

“people were more afraid of the unknown than things they could see.”

เช่นกับกับความตายทั้งหลายที่เกิดขึ้น เราจะไม่เห็นเลือดสักหยด ขณะรถพุ่งชน สะดุดตกบันได หรือห้อยแขวนคอ ฯ หนังใช้มุมกล้อง สิ่งสัญลักษณ์สื่อความหมาย ที่ใครๆสามารถเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ตัดต่อโดย Ernest Walter ชาว Wales ที่มีผลงานดังอย่าง Operation Crossbow (1965), The Private Life of Sherlock Holmes (1970) and Nicholas and Alexandra (1971) ฯ

นอกจาก Prologue ที่เป็นเสียงบรรยายเล่าประวัติความเป็นมาของคฤหาสถ์ Hill House หลังนี้โดย Dr. John Markway ส่วนที่เหลือของหนังจะเป็นมุมมอง ในสายตา เสียงบรรยายความคิด/ความรู้สึกของหญิงสาว Eleanor Lance เรียกได้ว่าเข้าไปในหัวสมองของเธอเลยละ

กับคอหนังสมัยนี้อาจรู้สึกได้ว่าหนังดำเนินเรื่องช้า ยืดยาด เต็มไปด้วยบทสนทนามากมาย ขาดความกลมกล่อมในการดำเนินเรื่อง แต่ผมมองข้ามตำหนินี้เพราะความเข้าใจว่าเป็นการปูพื้นหลังของตัวละคร ให้สามารถสนับสนุนรับกับความหลอกหลอนที่เกิดขึ้นภายหลังได้อย่างสมเหตุสมผล

ไฮไลท์ของการตัดต่ออยู่ที่ตอน Eleanor เดินขึ้นบันไดวนในห้องสมุด และ Dr. Markway พยายามขึ้นไปช่วยเหลือ มีการตัดสลับไปมาแบบ Montage ได้อย่างลงตัว เป็นจังหวะภาษาภาพยนตร์คล้ายกับหนังของ Alfred Hitchcock อย่างยิ่ง, Sequence นี่คือไคลน์แม็กซ์ของหนังที่หลายคนอาจงุนงงสับสน มันสื่อความหมายนัยยะอะไร,
– ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือ องค์ความรู้ เปรียบได้กับ ‘สมอง’ ของมนุษย์ และยังเป็นห้องที่แม่ของ Eleanor อาศัยอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต เธอเกลียดกลิ่นนั้นเพราะมันทำให้หวนระลึกถึงอดีต แต่เมื่อวิ่งเข้าไปครั้งหลังกลับไม่ได้กลิ่นนั้นแล้ว มองได้ว่าเธอกลายเป็นส่วนหนึ่ง เคยชิน ยินยอมรับได้ว่านั่นคือสถานที่แห่งชีวิตของตนเอง
– ก่อนหน้าที่หญิงสาวจะขึ้นบันไดวน เธอเต้นรำหมุนตัววน เริงร่าราวกับได้พบบ้านของตนเอง
– บันไดวน สังเกตจากการเคลื่อนกล้องที่ไล่ขึ้นบนบันได ราวกับกุญแจที่ใช้ไขความลับของคฤหาสถ์หลังนี้
– ห้องด้านบน เหมือนจะมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่แต่กลับไม่เคยถูกเปิดออก กระนั้น Mrs. Sanderson อยู่ดีๆก็โผล่ปรากฎออกมา นี่ทำให้ Eleanor หลงคิดไปว่า เธอได้สูญเสียการครอบครอง เป็นเจ้าของคฤหาสถ์หลังนี้ไปเสียแล้ว

เพลงประกอบโดย Humphrey Searle คีตกวีสัญชาติอังกฤษที่ชื่นชอบการแต่ง Opera, Orchestra, Suites สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกเสียมากกว่า แต่ก็มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์บ้างประปราย

ความพิศวงน่าสะพรึงกลัว ค่อยๆย่างกรายคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ จากมุมมืดที่มองอะไรไม่เห็น ทั้งจากภายในและภายนอก, Searle เน้นใช้เครื่องเป่าเป็นหลัก อาทิ ฟลุต คาลิเน็ต ฯ เล่นโน๊ตเสียงแหลมสูง ให้เกิดสัมผัสความโหยหวนล่องลอย และเสียงเคาะไซโลโฟนนุ่มๆ ทำให้เกิดความน่าฉงนสงสัย

เวลาผีมา สิ่งที่เราได้ยินคือ Sound Effect ใช้การ pre-record/pre-scored บันทึกเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มการถ่ายทำ แล้วนำไปใช้เปิดในกองถ่ายจริงๆ เพื่อสร้างบรรยากาศอารมณ์ร่วมให้กับนักแสดง, เสียงที่ได้ยิน อาทิ เสียงกลอง(ใช้แทนเสียงฝีเท้า) เสียงบิดกระเป๋าหนัง(ขณะดัดประตูเข้ามา) ฯ ต้องบอกว่าสามารถหลอกผู้ชมได้อย่างแนบเนียนเสียจริง

น่าเสียดายที่สมัยนั้นยังไม่มีระบบ Stereo Surround ผู้ชมจึงไม่สามารถได้ยินเสียงดังมาจากข้างหลังหรือทิศทางต่างๆได้ กระนั้นวิธีการของหนังใช้การเคลื่อนกล้องไปตามเสียง นี่เป็นการทำความเข้าใจกับผู้ชม ภาษาภาพยนตร์บอกว่า ต้นกำเนินเสียงได้มีการเคลื่อนที่ไป เช่นกันกับสายตาทิศทางการหันหน้าของนักแสดง ก็บ่งบอกเช่นกันว่า เจ้าแหล่งกำเนินเสียงนั้นอยู่ตำแหน่งไหนแล้ว

Hill House คือบ้านที่มีชีวิต เราสามารถเปรียบเทียบห้องหับต่างๆได้กับ
– ห้องสมุด ที่ผมเกริ่นไปแล้ว เปรียบได้กับ ‘สมอง’ ของมนุษย์
– ห้อง Nursery Room เปรียบได้กับ ‘หัวใจ’ ของคฤหาสถ์หลังนี้
– ห้องรับประทานอาหาร แน่นอนว่าคือ ปาก/กระเพาะ/ลำไส้
– ห้องนอนของ Eleanor กับ Theo ถึงจะอยู่ติดกันแต่คั่นกลางด้วยห้องน้ำ ราวกับว่ามันมีนัยยะสื่อถึงส่วนของอวัยวะเพศ
– ขณะที่ประตูหน้าต่าง ถ้ามองจากข้างนอกหลายครั้งจะเห็นเหมือน ดวงตา ที่จ้องมอง
ฯลฯ

ความต้องการขั้นพื้นฐานของบ้าน … ถ้าสมมติว่าผมเกิดเป็นบ้านนะ คงอยากให้มีคนมาอาศัยอยู่ ปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดให้ดูดีอยู่ตลอดเวลา ชำรุดผุพังก็ซ่อมแซมทะนุถนอม ไม่ชอบที่จะถูกทิ้งร้างให้อยู่คนเดียว หรือทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา

ว่าไปก็มีส่วนคล้ายคลึงกับความต้องการของมนุษย์อยู่บ้าง โดยเฉพาะกับตัวละคร Eleanor เธอเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวที่แสนเปล่าเปลี่ยวหลังจากที่แม่เสียชีวิต (เปรียบได้กับคฤหาสถ์หลังนี้ที่ถูกทิ้งขว้างหลังจากเจ้าของเสียชีวิตไป) มีความต้องการที่จะสร้างสานสัมพันธ์กับใครสักคนหนึ่ง พบเจอตกหลุมรักกับ Theo, Dr. Markway เป็นเพื่อนกับ Luke อิจฉาริษยาต่อ Mrs. Sanderson (เหล่านี้เปรียบได้กับพฤติกรรมของบ้าน ที่มาสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในใจของตัวละคร) ซึ่งขณะที่ Eleanor กำลังจะต้องจากไป ราวกับกำลังถูกเหนี่ยวดึงรั้งไว้ สุดท้ายของความตายคือการแปรสภาพให้กลายเป็นสิ่งเดียวกัน (Eleanor = คฤหาสถ์ Hill House)

ความ Masterpiece ของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ว่า คุณจะสามารถวิเคราะห์ทำความเข้าใจ มองออกหรือเปล่าว่า ‘Eleanor คือ คฤหาสถ์ Hill House’ เหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นมันอยู่ข้างในจิตใจของเธอ หรือเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติ, ความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร สะท้อนสื่ออะไรถึงกับหญิงสาวและคฤหาสถ์หลังนี้ ฯ

การเสียชีวิตของ Eleanor ทำให้เกิดข้อถกเถียงของตัวละครที่เหลือรอดชีวิต
– Theo: “She did kill her. Seeing her is what made Eleanor lose control of the car.”
– Luke: “It wasn’t your fault. Eleanor did it to herself.”
– Dr. Markway: “There was something in the car with her, I’m sure of it.”

แต่ละคนมีทัศนะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างออกไป ไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนการตีความของหนังเรื่องนี้ที่จะคิดเห็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่มันจะสวยงามสมบูรณ์แบบที่สุด เมื่อคุณสามารถเข้าใจทุกมุมมองที่หนังนำเสนอออกมาได้

ด้วยทุนสร้าง $1.05 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในอเมริกา $1.02 ล้านเหรียญ ไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แถมนักวิจารณ์สมัยนั้นก็ค่อนข้างเสียงแตก ทั้งชมทั้งด่า ตำหนิส่วนใหญ่คือหนังขาดพล็อตและความตื่นเต้น, หนังได้เข้าชิง Golden Globe Award สาขา Best Director แต่ไม่ได้รางวัล (ก็ถือว่าสมควรนะครับ ไดเรคชั่นของหนังเรื่องนี้ถือว่าสมบูรณ์แบบเลยละ)

เกร็ด: Steven Spielberg เคยบอกกับผู้กำกับ Wise ว่า ‘The Haunting is the scariest film ever made!’

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ มันอาจไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่งานภาพสวยๆ เทคนิคตระการตา บรรยากาศน่าสะพรึง แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้วสำหรับหนัง Horror เจ๋งๆเรื่องหนึ่ง

หลังจากรับชมหนัง Horror มาหลายๆเรื่อง ผมก็เริ่มเข้าใจรสนิยมของตัวเอง ไม่ค่อยชอบหนังที่เต็มไปด้วยเลือด/ความตาย/ความน่าขยะแขยงเว่อๆไร้สาระ หรือทำให้ผู้ชมสะดุ้งโหยง ตกใจกลัวแบบไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ, ลักษณะชื่นชอบคือ หนังที่สามารถสร้างบรรยากาศความลึกลับสะพรึงกลัวน่าค้นหา แฝงความหมายนัยยะหรือสะท้อนบางสิ่งอย่างออกมา โดยใช้ความ Horror เป็น Expression ลักษณะหนึ่ง

หนัง Horror ที่ดีในมุมมองของผม คือสามารถทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อบางสิ่งอย่างในชีวิตหรือที่นำเสนอออกมา แล้วเกิดความตระหนักรับรู้ จดจำเป็นบทเรียนในความเลวร้ายผิดพลาดที่เกิดขึ้น

แนะนำกับคอหนัง Horror, Mystery, Suspense, ชื่นชอบความหลอนสะพรึงของบ้านผีสิง, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ลองมองหนังในมุมของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต, แฟนๆผู้กำกับ Robert Wise ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตากล้อง ศิลปิน ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย เรียนรู้ศึกษาทำความเข้าใจ direction ของหนังเรื่องนี้ จะบอกว่ามันน่าทึ่งจริงๆนะ

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความหลอนสะพรึง

TAGLINE | “The Haunting ผลงาน Masterpiece ของ Robert Wise ได้ทำให้บ้านผีสิงอันหลอนสะพรึงหลังนี้ ไม่มีวันถูกทุบทำลาย”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

The Wicker Man (1973)


The Wicker Man

The Wicker Man (1973) British : Robin Hardy ♥♥♥♥

นิตยสาร Cinefantastique ยกย่องหนังเรื่องนี้ว่า ‘The Citizen Kane of horror movies’ ทั้งๆที่ไม่ได้มีองค์ประกอบของความ Horror แม้แต่น้อย, นำพาทัวร์ Summerisle เมืองสมมติแถบหมู่เกาะ Hebridean, ประเทศ Scotland ที่มีความสวยงามเก่าแก่ ในวิถีชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี แต่คือนรกบนดินของชาว Christian, นำแสดงโดย Christopher Lee ทุ่มสุดตัวแบบไม่รับค่าจ้าง และเป็นหนังที่เจ้าตัวบอกว่าชื่นชอบโปรดปรานสุดในชีวิต

จะบอกว่าผมเคยรับชม The Wicker Man (2006) ฉบับ remake นำแสดงโดย Nicolas Cage ในโรงภาพยนตร์ (สมัยนั้นมีความชื่นชอบ Cage เป็นการส่วนตัว) ดูจบออกมาพึมพัมกับตัวเอง หนังเxยไรว่ะเนี่ย! น่าหงุดหงิดรำคาญใจอย่างมาก ไม่คิดหวนกลับไปหามาชมอีก, กับต้นฉบับ The Wicker Man (1973) เรื่องนี้ยังไม่เคยรับชมมาก่อน (เพราะทำใจไม่ได้กับฉบับของ Cage) แต่ก็ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความคลาสสิก เป็นหนึ่งในหนัง Horror สัญชาติอังกฤษเรื่องเยี่ยม ก็เลยลองเสี่ยงหามารับชมดูก็พบว่าไม่ผิดหวังเลยสักนิด หนังมีมนต์เสน่ห์ที่สวยงาม แฝงแนวคิดที่น่าสนใจ

แต่ผมมีความลังเลใจพอสมควร ที่จะเลือกหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หรือเปล่า? ถ้าเป็นชาวคริสต์แนะนำเลยว่าห้ามพลาด นี่เป็นหนังแนวพิสูจน์ศรัทธาความเชื่อที่ทรงพลังมากๆเรื่องหนึ่ง แต่กับคนไทยชาวพุทธ มันอาจมีความไม่ชัดเจนเสียเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องราวของ เดียรถีย์ vs คนนอกศาสนา เราเป็นเพียงคนนอกยืนมองผู้อื่นตบตีกัน ไม่ใช่เรื่องอย่าไปจุ้นเสือกเสียเท่าไหร่

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ มาจากความต้องการของ Christopher Lee หลังจากความสำเร็จอันล้นหลามจนน่าเบื่อหน่ายในการรับบท Count Dracula นับครั้งไม่ถ้วน คงถึงเวลาสักทีต้องสลัดภาพลักษณ์เดิม ย่างเท้าก้าวเดินต่อเสียที พบเจอกับนักเขียน Anthony Shaffer ผู้กำกับ Robin Hardy และโปรดิวเซอร์ Peter Snell ของสตูดิโอ British Lion ร่วมมือกันพัฒนาโปรเจคหนังเรื่องใหม่ให้กับ Lee โดยเฉพาะ มันคงเป็นความสนุกไม่น้อยที่จะนำความเชื่อเก่าๆ ‘old religion’ มีความเชยล้าหลัง มานำเสนอ สะท้อน ตีแผ่ ให้ผู้ชมยุคสมัยใหม่เกิดความหวาดหวั่นวิตก สั่นสะท้าน น่าสะพรึงกลัว

Shaffer พบเจอนิยายเรื่อง Ritual (1967) ของนักเขียนสัญชาติอังกฤษ David Pinner เรื่องราวของตำรวจหนุ่มคนหนึ่ง ผู้อุทิศตนให้กับศาสนาคริสต์ ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปยังหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่ง เพื่อสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ฆาตกรรม อันเกิดจากพิธีกรรมบูชายัญ, เดิมนั้น Pinner ตั้งใจเขียนเรื่องราวนี้เป็น Treatment ให้กับผู้กำกับ Michael Winner สำหรับสร้างภาพยนตร์ วางนักแสดงนำคือ John Hurt แต่ Winner กลับบอกปัดปฏิเสธ ทำให้เปลี่ยนความสนใจมาพัฒนาเขียนนิยายแทน,

Shaffer และ Lee จ่ายค่าลิขสิทธิ์ £15,000 ปอนด์ ให้กับ Pinner ตั้งใจว่าจะดัดแปลงทั้งหมดตรงต่อต้นฉบับ แต่ผลลัพท์ออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยนำเฉพาะพล็อตคร่าวๆ เค้าโครงสร้างจากนิยายเท่านั้น เปลี่ยนแปลงชื่อตัวละคร/พื้นหลังดำเนินเรื่อง และเลือก ‘old religion’ จาก Celtic Paganism นำมาปรับใช้

ลัทธินอกศาสนาเซลต์ (Celtic Paganism) เป็นความเชื่อและวิถีปฏิบัติของผู้คนในยุค Iron Age แถบ Western Europe (ชาว Celts) ช่วงระหว่าง 500 B.C.E. ถึง 500 C.E. รับอิทธิพลเต็มๆในยุคสมัย Roman Era นับถือพระเจ้าหลายองค์ เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณ และพิธีบูชายัญ

A Wicker Man (มนุษย์จักสานขนาดใหญ่ ทำจากไม้ willow) เป็นความเชื่อหนึ่งของ Celtic Paganism ที่รับอิทธิพลมาจากโรมันตั้งแต่ยุคสมัยของ Cicero, Julius Caesar, Suetonius, Lucan มีลักษณะเหมือน propaganda ชวนเชื่อให้เหล่าประเทศเมืองขึ้นเหล่านี้ ยึดถือปฏิบัติบูชาพระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่เคยมีหลักฐานในช่วงแรกๆว่ามีการนำมนุษย์บูชายัญใส่เข้าไปใน Wicker Man เลยนะครับ

ในหนังสือจดหมายเหตุ Commentarii de Bello Gallico (น่าจะช่วงประมาณ 58–49 B.C.E.) เขียนโดย Julius Caesar ขณะทำสงครามรุกรานฝรั่งเศส อ้างถึงชนเผ่าพื้นเมืองหนึ่ง เวลาประหารชีวิตนักโทษข้อหาหนักๆ จะจับใส่มนุษย์จักสารด้วยกิ่งไม้ขนาดยักษ์ แล้วเผาให้ตายทั้งเป็น … นี่ไม่เกี่ยวกับการบูชายัญเลยนะครับ

Robin St. Clair Rimington Hardy (1929 – 2016) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Surrey เดินทางไปศึกษางานศิลปะที่ Paris แล้วไปทำงานละครโทรทัศน์ที่อเมริกา กลับมาอังกฤษร่วมกับเพื่อนสนิท Anthony Shaffer ทำโฆษณาโทรทัศน์ หนังเรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก

Hardy เป็นผู้กำกับที่ไม่ได้มีความกระตือลือล้นมากในการสร้างภาพยนตร์มากนัก ทั้งชีวิตมีผลงานเพียง 3 เรื่อง ประกอบด้วย The Wicker Man (1973), The Fantasist (1986) และ The Wicker Tree (2011) [ภาคต่อ The Wicker Man] เคยมีความตั้งใจสร้าง The Wrath of the Gods เมื่อปี 2015 เพื่อปิดไตรภาค The Wicker Man ใช้การระดมทุนสร้าง (Crowdfunding) แต่ไม่ประสบความสำเร็จทำให้ต้องล้มเลิกความตั้งใจ และ Hardy เสียชีวิตในปีถัดมา

เรื่องราวของ Sergeant Howie (รับบทโดย Edward Woodward) นายตำรวจผู้เคร่งศาสนา เดินทางสู่ Summerisle หมู่เกาะ Hebridean ประเทศ Scotland เพื่อทำการสืบสวนค้นหาการหายตัวไปของเด็กหญิงสาว Rowan Morrison (รับบทโดย Gerry Cowper) แต่สิ่งที่เขาได้ค้นพบกลับคือ ความแปลกพิศดารในความเชื่อนอกรีตของชาวเมือง และประเพณีประจำปี พิธีบูชายัญสังเวยชีวิตต่อพระเจ้า มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า Rowan อาจกลายเป็นเครื่องสังเวย ให้กับความเชื่อนี้

Edward Albert Arthur Woodward (1930 – 2009) นักร้อง นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกับ Royal Academy of Dramatic เป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานเด่นๆมากมาย, ภาพยนตร์เรื่องแรก Where There’s a Will (1955) ได้รับการจดจำจาก The Wicker Man (1973) คว้า Golden Globe Award: Best Actor in a Television Series เรื่อง Drama The Equalizer (1985)

รับบท Sergeant Howie ผู้ยึดมั่นในศรัทธาคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัดแรงกล้า รักษาตัวให้บริสุทธิ์รอวันแต่งงานเท่านั้น อดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นความอนาจารทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้

สำหรับบทบาทนี้ ผู้กำกับ Hardy มีความต้องการ Michael York, นักเขียน Shaffer มีภาพ David Hemmings, Christopher Lee ติดต่อ Peter Cushing, ส่วนโปรดิวเซอร์ Snell กลับเลือก Woodward เพราะความชื่นชอบส่วนตัว,

การแสดงของ Woodward มีลักษณะของ Theatre Acting คล้ายการแสดงละครเวทีค่อนข้างมาก (ก็แน่ละ พี่แกถนัดฝั่งนั้นมากกว่า) ทุกถ้อยคำพูด ท่าทาง สีหน้า ปฏิกิริยา ล้วนมีความเข้มข้น สมจริงจัง วินาทีที่รับรู้โชคชะตากรรมของตนเอง ก็มิอาจทำใจยอมรับได้ ท่องคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิ้ลเพื่อกรุยทางสู่สรวงสวรรค์ (ที่ก็ไม่รู้มีจริงหรือเปล่า)

เกร็ด: เห็นว่า Woodward อยู่ใน Wicker Man จริงๆตอนกำลังเผาไหม้ และเพื่อถ่ายทำน้อยครั้งที่สุดป้องกันความผิดพลาด ผู้กำกับทำ Cue Card เขียนแปะไว้รอบด้าน เพราะในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นใครคงรีบร้อนรน อยากถ่ายทำให้เสร็จเร็วไว

Sir Christopher Frank Carandini Lee (1922 – 2015) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Belgravia, London เจ้าของบทบาท Count Dracula ให้กับ Hammer Film Productions (สตูดิโอฝั่งอังกฤษ), Francisco Scaramanga ตัวร้ายใน James Bond ภาค The Man with the Golden Gun (1974), พ่อมดขาว Saruman ในไตรภาค The Lord of the Rings กับ The Hobbit, และ Count Dooku ในภาค 2-3 Star Wars Prequel Trilogy

รับบท Lord Summerisle ผู้นำของชุมชนนอกรีตแห่งนี้ เป็นคนสุขุมเยือกเย็น ร้ายลึก รักพวกพ้อง และมีความเฉลียวฉลาดวางแผนการได้อย่างแยบยล สามารถลวงหลอกล่อ Sergeant Howie ให้มาติดกับได้อย่างแนบเนียน

การแสดงของ Lee ในภาพลักษณ์ที่แตกต่างจาก Count Dracula พอสมควร ความสงบนิ่งเยือกเย็น พูดจาภาษาวิปริตได้แบบไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ผิดกับตัวละคร Howie ที่พอได้ยินอะไรแสลงหูก็จะแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน, รอยยิ้มอันลุ่มลึก สงบนิ่ง คมคาย แต่แฝงความชั่วร้าย ราวกับ Wicked Man ก็ไม่ปาน

ก็ถือว่าทำสำเร็จนะครับ เพราะบทบาทนี้ทำให้ Lee ฉีกกระชากภาพลักษณ์ Count Dracula ของตัวเองออกได้ ทำให้ได้รับโอกาสทางการแสดงหลากหลายขึ้นต่อจากนี้

แซว: นักแสดงหนังเรื่องนี้ ไม่มีใครสัญชาติ Scottish เลยนะครับ

สำหรับคนที่เก่งภาษาอังกฤษ และมีความรู้เชี่ยวชาญด้านบทกวี ให้ลองสังเกตการพูดของตัวละครดูนะครับ หลายประโยคนำมาจากบทกวีชื่อดัง มีสัมผัสสอดคล้อง ไพเราะเพราะพริ้ง แฝงความหมายอันลึกซึ้ง อาทิ

“I think I could turn and live with animals, they are so placid and self-contain’d, I stand and look at them long and long.

They do not sweat and whine about their condition, They do not lie awake in the dark and weep for their sins, They do not make me sick discussing their duty to God, Not one is dissatisfied, not one is demented with the mania of owning things, Not one kneels to another, nor to his kind that lived thousands of years ago, Not one is respectable or unhappy over the whole earth.”

– Walt Whitman (1819 – 1892) จากหนังสือ Leaves of Grass: The Death-Bed Edition (1855)
(ส่วนที่ขีดกลาง คือที่ตัดออกไปในหนัง)

ถ่ายภาพโดย Harry Waxman ตากล้องมากฝีมือสัญชาติอังกฤษ, หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง ประเทศ Scotland อาทิ Gatehouse of Fleet, Newton Stewart, Kirkcudbright, Galloway, Creetown ที่ Dumfries, Plockton ที่ Ross-shire, Wookey Hole ใน Somerset, Burrow Head ฯ

Waxman ไม่ใช่ตัวเลือกของผู้กำกับ Hardy แต่เพราะโปรดิวเซอร์มีความวิตกกังวลในฉากสุดท้าย การเผาไหม้ Wicker Man จะไม่ได้ภาพเพียงพออย่างที่ต้องการ เลยต้องเลือกใช้บริการตากล้องประสบการณ์สูง ซึ่งในอังกฤษขณะนั้นเหลือเพียง Waxman สร้างความไม่พึงพอใจให้กับ Hardy อย่างมาก ทั้งสองมีเรื่องให้ขัดแย้งกันอยู่เรื่อยๆตลอดการถ่ายทำ

งานภาพมีความโดดเด่นเรื่องมุมกล้องก้ม-เงย ทิศทาง direction และองค์ประกอบที่เป็นพื้นหลัง สอดคล้องรับกับเรื่องราวและแฝงนัยยะสำคัญบางอย่าง, ไฮไลท์อยู่ช่วงท้าย การเผาไหม้ Wicker Man วินาทีที่ส่วนหัวพังทลายลงมา กล้องซูมเข้าไปที่พระอาทิตย์กำลังตกดินริมขอบฟ้าได้อย่างพอดิบพอดี แถมเครดิตที่ขึ้นมาจบตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้เปะๆเลยนะ เห็นแล้วชวนให้ขนลุกซู่ คำนวณประมาณการกันอย่างพอดิบพอดี

สำหรับ Wicker Man ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดชื่อ The Wicker Image ไม่รู้ใครวาด จัดแสดงในงาน Britannia Antiqua Illustrata (1676) รวบรวมโดย Aylett Sammes (มีชีวิตช่วงประมาณ 1636–1679) นักสะสมโบราณวัตถุ สัญชาติอังกฤษ

ตัดต่อโดย Eric Boyd-Perkins เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Sergeant Howie ผู้ชมจะคิดเห็นเข้าใจไปพร้อมๆกับตัวละคร และพอถึงช่วงท้ายเมื่อทุกสิ่งอย่างได้รับการเปิดเผย ก็จะทำให้คุณอึ้งทึ่งตกตะลึงช็อค หลอนระทึก คาดคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

ว่าไปการเล่าเรื่องลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับ Citizen Kane (1941) อยู่พอสมควร ที่จะค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวของ Charles Foster Kane ออกทีละเล็กน้อย แบบการส่งไม้ผลัดต่อ และช่วงท้ายปริศนา Rosebud กับหนังเรื่องนี้ก็คือ Wicker Man เกือบจะเป็น MacGuffin ได้แล้วเชียว (ปกติ MacGuffin จะไม่เฉลยนะครับว่าคืออะไร แต่เพราะ Wicker Man ได้รับการเฉลยออกมา มันเลยมีสถานะกึ่งๆไม่ใช่เสียทีเดียว)

ว่ากันว่าฉบับตัดต่อแรกสุดของหนังความยาว 102 นาที แต่ถูกตัดทอนเหลือเพียง 87 นาที เพื่อจะได้ฉายควบกับหนังอีกเรื่อง ซึ่งฟุตเทจส่วนที่ตัดออกได้สูญหายไปตามกาลเวลา ก่อนมีการค้นพบ Uncut Version ที่ 99 นาที และ Final Cut 95 นาที ถ้าคุณได้รับชมฉบับนี้จะแทบรู้ได้ทันทีว่าฉากไหน เพราะคุณภาพจะแตกต่างเด่นชัดกว่าปกติพอสมควรเลย

เพลงประกอบ แต่งโดย Paul Giovanni บรรเลงโดยวง Magnet (ก่อตั้งวงเพื่อทำเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้โดยเฉพาะเลยนะ) มีลักษณะเป็น pre-record บันทึกเสียงตั้งแต่ก่อนการถ่ายทำ ผสมผสานคำร้อง ดนตรีพื้นบ้าน folk-song ของ Scottish มีทั้งหมด 13 เพลง เราสามารถมองหนังเรื่องนี้ว่าเป็น Musical ก็ยังได้ เพราะแทบทุกฉากจะต้องมีร้องเล่นเต้นโยกไปมา แถมเนื้อร้องยังสะท้อนกับเรื่องราวขณะนั้นอีกด้วย เติมเต็มสัมผัส Paradise ของหนังได้อย่างลงตัว

มีหลายบทเพลงเพราะๆที่อยากนำมาฝากกัน แต่ขอเลือกแค่ 2-3 เพลงที่น่าสนใจ Gently Johnny นี่คือตอนที่ชายหนุ่ม Johnny ได้รับโอกาสให้ขึ้นห้องของ Willow (ลูกสาวเจ้าของบ้าน) นี่เป็นบทเพลงที่แสนหวาน ลุ้นให้กำลังใจเชียร์ ค่ำคืนนี้ขอให้สุขสมหวังในรัก

Willow’s Song หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ The Wicker Man Song ขับร้องโดย Rachel Verney นี่เป็นบทเพลงที่หญิงสาวห้องข้างๆ พยายามใช้เวทย์มนต์คาถา (เสียงร้องและการดิ้นไปดิ้นมา) ชักจูง Howie ที่อยู่ห้องข้างๆให้เกิดกิเลส แต่เขากลับสามารถฝืนทนเอาชนะได้อย่างทุกข์ทรมาน

สำหรับบทเพลงสุดท้ายที่แทบทุกคนในหนังขับร้องกัน (ยกเว้น Howie) ชื่อเพลง Sumer Is Icumen In (แปลว่า Summer Canon, Cuckoo Song, Summer Has Come In, Summer Has Arrived, ฤดูร้อนกำลังมาถึง) เป็นบทเพลงในยุค Medieval ช่วงศตวรรษที่ 13 เป็นภาษา Wessex ของ Middle English ชาวอังกฤษอาจฟังออกนะครับ เหมือนภาษาเหนือ/อีสาน/ใต้ บ้านเรา

พิธีกรรมบูชายัญ The Wicker Man มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลอง อธิษฐานขอพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยเรื่องผลผลิต การเก็บเกี่ยว มีความอุดมสมบูรณ์ (ว่าไปก็คล้าย พืชมงคล) สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้คน จัดสืบต่อมาเป็นระยะเวลานาน ก็ประสบความสำเร็จร่ำไป แต่ปีล่าสุดเพราะความแห้งแล้งย่างกรายเข้ามา จึงมีความเชื่อว่าอาจต้องใช้ ‘มนุษย์’ เป็นเครื่องสังเวยตามแบบโบราณกาล … ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะสัมฤทธิ์ผลหรือเปล่า

คำว่า Wicker แปลว่า เครื่องจักสาน, ส่วนคำว่า Wicked แปลว่า ความชั่วร้าย … เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสับสนอย่างแน่นอน เพราะชื่อหนังเรื่องนี้ The Wicker Man เป็นการพูดถึง มนุษย์จักสานขนาดใหญ่ ที่ปรากฎตัวออกมาช่วงท้าย ไม่ได้มีนัยยะถึงตัวละคร Lord Summerisle ของ Christopher Lee ว่ามีความชั่วร้ายกาจ แต่พฤติกรรมการแสดงออกของเขามีความ Wicked Man อยู่พอสมควร

ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ สร้างความหวาดสะพรึงกลัวให้กับผู้คน ก่อให้เกิดความคิดหลงเชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง เมื่อกระทำพิธีกรรมแบบนี้แล้วจะเป็นการตอบสนอง อยู่รอดปลอดภัยดี กินดีมีสุข พืชผลสุกง่อมสร้างรายได้ ได้ผลลัพท์ประสบความสำเร็จหลายครั้งกลายเป็นประเพณีสืบทอดปฏิบัติ ยึดถือมั่นในหลักการ ปิดกั้นไม่เปิดใจรับแนวคิดความเชื่อศรัทธาของผู้คนต่างถิ่น

ทุกศาสนา ทุกลัทธิบนโลก ต่างมีความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง ล้วนพูดว่าแนวคิดของฉันเป็นสิ่งถูกต้องที่สุด สัจธรรมจริงแท้ แต่มีเพียงหนึ่งศาสนาเดียวในโลกที่กล้าท้าให้คุณลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง, การรับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมมีทัศนะ มุมมองต่อการต่อสู้ของคนต่างศาสนามีความไร้สาระพอๆกัน ฝั่งหนึ่งคือชาวคริสต์ (ถือเป็นผู้นอกพุทธศาสนา) กับเดียรถีย์ (แปลว่า ผู้กระทำนอกเรื่องหรือนอกรีตนอกรอย ประพฤตินอกธรรมนอกพระวินัย) ความขัดแย้งของพวกเขาคือแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้า(องค์เดียว/หลายองค์), โลกหลังความตาย (ขึ้นสวรรค์เป็นส่วนหนึ่งกับพระเจ้าผู้สร้าง/เวียนว่ายตายเกิด), และพิธีกรรม (มิซซาต้นเรื่อง/Wicker Man ช่วงท้าย) ต่างไม่มีใครยอมใคร แต่ผู้ชนะในกรณีนี้คือเสียงข้างมาก คริสเตียนคนเดียวมีหรือจะดิ้นรนหนีพ้นทั้งหมู่บ้านที่นับถือ Celtic Paganism

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการนำเสนอความแตกต่างของคนมีศาสนาเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความหวาดเกรงกลัวต่อการกระทำบาป กับพวกเดียรถีย์ ใช้ชีวิตตามสันชาติญาณ ความต้องการ ไร้ความละอาย ไม่เกรงกลัวการกระทำผิด หรือบาปกรรม

“…การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้ตัว…”

– พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ รร.นายร้อยตำรวจฯ วันจันทร์ ๑๐ มี.ค. พ.ศ.๒๕๒๙

ในมุมของชาวคริสเตียน ผมเชื่อว่าพวกเขาคงลุ้นเชียร์ เป็นกำลังใจ Howie สามารถเอาตัวรอดกลับออกไปได้ปลอดภัย ยิ่งกับคนเคร่งมากๆ จะมองเห็นดินแดนแห่งนี้คือนรกบนดินชัดๆ เกิดความหลอนสะพรึง (Horror) ในช่วงท้ายของหนัง กับความพ่ายแพ้ของพระเอก, แต่กับคนต่างศาสนา ส่วนใหญ่น่าจะเป็นกำลังใจเชียร์ฝั่ง Celtic Paganism รู้สึกชื่นชอบ พิศวง หลงใหล กับโลกที่มัน … โอ้ พาราไดซ์

ไม่ขอปิดบังเหตุผลที่ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เพราะมันดินแดน Paradise สรวงสวรรค์ชัดๆ เห็นแล้วอยากไปอยู่มากๆ, คิดว่าเมืองนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องการข่มขืน หรือท้องก่อนวัยไม่มีพ่อ เช่นกันอาชญากรรมอื่นๆ ปล้นชิง ฉุดคร่า ฆ่าฟัน ฯ เพราะทุกคนต่างเอ่อล้นด้วยความสุขสำราญ พึงพอใจ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องหักห้ามใจ กระทำเรื่องร้ายต่างๆนานา

กระนั้นนี่เป็นดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ภาพลวงตา ความสำราญที่เราเห็นอาจเป็นเพียงสิ่งฉาบหน้า หนังไม่ได้นำเสนอเบื้องหลัง มุมมืดมิดของสังคมเมืองนี้ที่ก็คงมีไม่ต่างจากที่อื่น, ใครชื่นชอบการครุ่นคิด ลองไปวิเคราะห์หามุมมืดของหนังเรื่องนี้เอาเองดูเลย (ที่ไม่ใช่เรื่องราวของ Howie) แท้จริงมีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้!

ด้วยทุนสร้างประมาณ £500,00 ปอนด์ ไม่มีรายงานรายรับ แต่คิดว่าคงจะทำเงินได้พอสมควรไม่ถึงขาดทุน ไม่เช่นนั้นจะมีนิยาย, ภาคต่อ, remake, ละครเวที ตามมาได้เช่นไร

รับชมหนังเรื่องนี้ ใช้วิจารณญาณครุ่นคิดตามให้มากๆ และอย่ามองหนังแค่ด้านเดียว รับชมครั้งแรกอาจติดตามเรื่องราวในมุมมองของหนัง ครั้งถัดไปค่อยเปลี่ยนไปในสายตาชาวเมืองแห่งนี้ และครั้งที่สามมองในมุมคนนอก/ต่างศาสนา แล้วทัศนคติต่อหนังเรื่องนี้ของคุณจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เหตุผลจริงๆที่ผมชื่นชอบหนังเรื่องนี้คือ กลิ่นอาย สัมผัส บรรยากาศของหนัง ภาพสวยเพลงเพราะ มีความเป็น Scottish ที่จับต้องได้ คล้ายกับ The Quite Man (1952) ของผู้กำกับ John Ford ที่สามารถถ่ายทอดบรรยากาศของชาว Irish ออกมาได้อย่างสวยงามหมดจรด

แนะนำกับคอหนัง Horror, Mystery, Suspense แฝงนัยยะการใช้ชีวิต พิสูจน์ศรัทธากับศาสนา(คริสต์), นักกวี จิตรกร นักดนตรี ผู้ชื่นชอบกลิ่นอายของดินแดน Scottish, แฟนๆนักแสดง Christopher Lee ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการโกหกหลอกลวง ทำทองไม่รู้ร้อน ภาพโป๊เปลือย และการบูชายัญ

TAGLINE | “The Wicker Man คือดินแดนสรวงสวรรค์ Paradise ของ Christopher Lee แต่คือนรกบนดินของชาวคริสเตียน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Carrie (1976)


Carrie

Carrie (1976) hollywood : Brian De Palma ♥♥♥♥

ดัดแปลงจากนิยายเรื่องแรกของ Stephen King ที่ได้สะท้อนความหวาดสะพรึงกลัวของอิสตรีเพศออกมา, เรื่องราวของเด็กหญิงสาวแรกรุ่น Carrie ถูกเพื่อนหัวเราะเยาะเย้ยจากการมีประจำเดือนครั้งแรก กลั่นแกล้งหลอกให้ตายใจสารพัด แต่เลวร้ายที่สุดคือทำให้อับอายขายหน้าในค่ำคืน Prom Night เธอจึงได้แสดงบางสิ่งอย่างออกมาที่จะทำให้คุณหัวเราะไม่ออก

ผมไม่เคยรับชม Carrie (2013) ที่นำแสดงโดย Chloë Grace Moretz เลยบอกไม่ได้ว่าเทียบกับต้นฉบับนี้ได้มากน้อยเพียงใด แต่จากคำของเหล่านักวิจารณ์ที่ออกมา น่าจะเป็นตอบได้อย่างดีว่าอย่าไปเสียเวลาหามารับชมดูเลยนะครับ ชะตากรรมที่คาดเดาได้ของหนัง remake แต่เห็นว่าหนังทำกำไรได้พอสมควร หรือใครเป็นแฟนๆของน้อง Moretz ก็ลองเสี่ยงดูเองแล้วกัน

สิ่งน่าทึ่งของต้นฉบับ Carrie (1976) สามารถชักจูง หลอกล่อ นำทางให้ผู้ชมรู้สึกอิ่มเอิบ หัวใจพองโต ไปถึงจุดปลอดภัย Safe Zone แล้วทำการฉุดกระชาก แวงกัด ถูกธรณีสูบลงขุมนรก แค่เพียง 20 นาทีสุดท้ายของหนังกับความ Horror ที่ประดาทังเข้ามา สามารถบดขยี้หัวใจของคุณให้แหลกสลายเป็นผุยผง อาจถึงขั้นนอนไม่หลับ จดจำภาพติดตาขึ้นมาได้ทันที

Brian Russell De Palma (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Newark, New Jersey ครอบครัวมีเชื้อสาย Italian ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์ เคยคว้ารางวัล Science-Fair จากโปรเจค ‘An Analog Computer to Solve Differential Equations’ เข้าเรียน Columbia University สาขาฟิสิกส์ แต่พอได้รับชม Citizen Kane (1941) และ Vertigo (1959) เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ เข้าเรียน Sarah Lawrence College โรงเรียนหญิงล้วนที่เพิ่งเปิด Coed ปีแรกๆ De Palma เป็นหนึ่งในผู้ชายไม่กี่คน รายล้อมด้วยหญิงสาววัยรุ่นมากมาย

เริ่มมีผลงานหนังทุนสร้างต่ำ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 60s แต่กว่าจะได้ออกฉาย Murder a la Mod (1968), Greetings (1968) เริ่มสร้างหนัง Hollywood จาก Get to Know Your Rabbit (1972) ได้รับคำวิจารณล้นหลามเรื่อง Sisters (1973) ถือเป็นทศวรรษแห่ง American New Wave รุ่นเดียวกับ Francis Ford Coppola, Martin Scorsese, John Carpenter, Paul Schrader, Steven Spielberg ฯ

ประมาณปี 1975, De Palma ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งให้อ่านนิยายเรื่อง Carrie (1974) เขียนโดย Stephen King ที่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงใดๆ เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก พยายามค้นหาว่ามีใครซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงหรือยัง ใช้เวลากว่า 6 เดือนถึงได้พบตัวโปรดิวเซอร์ Paul Monash รีบเข้าไปพูดคุยแสดงความสนใจ ก็พบว่าโปรเจคอยู่ในขั้นตอนการเขียนบทแล้ว ใช้เส้นสายเล็กน้อยกับ United Artists ทำให้ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้

เกร็ด: Carrie เป็นนิยายเรื่องแรกของ King ที่ได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์

Carrie เป็นนิยายเรื่องที่ 4 ของนักเขียนสัญชาติอเมริกา Stephen King แต่เป็นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์ Doubleday วางขายวันที่ 5 เมษายน 1974, แรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้ เป็นคำท้าทายจากผู้หญิง (ไม่แน่ใจว่าภรรยาของเขาหรือเปล่า)

“You write all those macho things, but you can’t write about women.”

King รับคำท้าทาย พัฒนาเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีพลังจิต(เคลื่อนย้ายสิ่งของได้) ขณะพบว่าตัวเองมีประจำเดือนครั้งแรก เพื่อนๆกลับหัวเราะเยาะเย้ย โยนผ้าขนหนูใส่, หลังจากเขียนฉากอาบน้ำได้ 3-4 หน้า ก็ตัดสินใจขยำโยนทิ้งถังขยะ, ภรรยาของ King คงได้หยิบอ่านขณะกำลังนำขยะไปทิ้ง มีความชื่นชอบสนใจ เลยให้กำลังใจเขาเขียนต่อ ช่วยเหลือแนะนำเรื่องราวในมุมมองของหญิงสาว

“I persisted because I was dry and had no better ideas… my considered opinion was that I had written the world’s all-time loser.”

ขณะที่ King เขียนนิยายเล่มนี้ ยังทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ Hampden Academy และรับงาน part-time เฝ้าถังซักผ้า มีชีวิตดิ้นรนลำบากยากแค้น แต่ทันทีที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ปีแรกมียอดขายกว่า 1 ล้านฉบับ ก็ตัดสินใจลาออกมาทุ่มเวลาให้กับการเขียนทันที

ปีถัดมา King ได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยได้รับเงินเพียง $2,500 เหรียญ น้อยมากเมื่อเทียบกับความสำเร็จของหนัง กระนั้นเขาก็ไม่มีความเสียใจหรือเรียกร้องอะไรเพิ่ม

“I was fortunate to have that happen to my first book,”

เพราะหนังเรื่องนี้ได้ทำให้ชื่อของ Stephen King เป็นที่รู้จักไปทั่วอเมริกา(และทั่วโลก) นิยายขายดีติดอันดับ หลายๆเรื่องได้รับความสนใจ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงต่างๆมากมาย

Carietta ‘Carrie’ White (รับบทโดย Sissy Spacek) หญิงสาวอายุ 16 ปี อาศัยอยู่ Chamberlain, Maine ร่วมกับแม่ Margaret (รับบทโดย Piper Laurie) ผู้คลั่งไคล้ศาสนาอย่างขีดสุด พยายามเสี้ยมสอน ปลูกฝังความหวาดกลัวเกี่ยวกับเลือดและผู้ชาย แต่ Carrie กลับคิดรู้สึกตรงกันข้าม กระนั้นก็ทำให้เธอไม่ค่อยมีเพื่อนที่โรงเรียน เป็นศัตรูกับ Chris Hargensen (รับบทโดย Nancy Allen) ที่จองล้างจองผลาญทุกอย่าง ขณะเดียวกัน Sue Snell (รับบทโดย Amy Irving) เป็นหญิงสาวเพียงคนเดียวที่ต้องการผูกสนิทเป็นเพื่อนกับเธอ

Mary Elizabeth ‘Sissy’ Spacek (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Quitman, Texas ตอนอายุ 6 ขวบได้ขึ้นแสดงละครเวทีโรงเรียนครั้งแรก มีความชื่นชอบหลงใหลจึงตัดสินใจเป็นนักแสดง ตอนเรียนมัธยมที่ Quitman High School งาน Prom Night ได้รับเลือกเป็น Homecoming Queen เข้าเรียนการแสดงที่ Actors Studio กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของโรงงาน Andy Warhol มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Badlands (1973) ผลงาน debut ของผู้กำกับ Terrence Malick, คว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง Coal Miner’s Daughter (1980) ผลงานเด่น อาทิ 3 Women (1977), Raggedy Man (1981), Missing (1982), The River (1984), Crimes of the Heart (1986), JFK (1991), In the Bedroom (2001), The Help (2011) ฯ

รับบท Carrie White เด็กหญิงสาวแรกรุ่นผู้โคตรโชคร้าย เกิดเติบโตในครอบครัวที่แม่มีอคติกับเพศชาย ไปโรงเรียนก็ถูกกลั่นแกล้ง ไร้เพื่อน รอบตัวเต็มไปด้วยศัตรู แต่เมื่อค้นพบความแตกต่างของตัวเอง มีพลังจิตสามารถควบคุมสิ่งของต่างๆ ทัศนคติหลายๆของเธอก็กำลังค่อยๆเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น แต่แล้ว…

ถึงตอนถ่ายทำ Spacek จะอายุ 25 ปีแล้ว แต่ยังมีเรือนร่าง ใบหน้าเหมือนเด็กหญิงสาววัยรุ่นอายุ 16 ปี สายตาของเธอครึ่งแรกเต็มไปด้วยความสดใส อ่อนโยน ซื่อบริสุทธิ์ จากใจจริงแท้ รอยยิ้มที่ทำให้หนุ่มๆทั้งหลายหัวใจแทบละลาย ไม่เคยคิดว่าผู้หญิงเนิร์ดๆอย่างเธอจะมีมุมเจ้าหญิงแบบนี้ด้วย แต่กับ 20 นาทีสุดท้าย ความหวาดหวั่นกลัว อับอายขายขี้หน้า แปรสภาพกลายเป็น Trauma ดวงตาพองโตแทบไม่กระพริบ ร่างกายสั่นเทิ้ม ความหวาดกลัวแผ่ซ่านออกมาได้น่าขนหัวลุกพอง แค่นี้ก็เพียงพอให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress เป็นครั้งแรก

เกร็ด: ช็อตช่วงท้าย ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมือของ Spacek แต่เธอยืนกรานจะขอเล่นเอง ถูกกลบฝังอยู่ใต้ก้อนหินพร้อมกับหลอดหายใจ เมื่อถึงจังหวะนั้นก็…

Piper Laurie ชื่อเดิม Rosetta Jacobs (เกิดปี 1932) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Detroit, Michigan ในครอบครัวชาว Jews โตขึ้นย้ายมา Los Angeles เข้าเรียนโรงเรียน Hebrew School เพื่อแปรสภาพความขี้อายของเธอให้กลายเป็นกล้าแสดงออก พ่อแม่จับให้เข้าเรียนการแสดงจนเริ่มมีความสนใจ เซ็นสัญญากับ Universal Trudios รุ่นเดียวกับ Julie Adams และ Rock Hudson เริ่มมีชื่อเสียงจาก Louisa (1950) ทำให้ได้ออกเดทกับว่าที่ ปธน. Ronald Reagan (แต่ Reagan เลือกแต่งงานครั้งที่ 2 กับ Nancy Davis) หลังจากได้เข้าชิง Oscar: Best Actress จากเรื่อง The Hustler (1961) ไม่มีงานหนังติดต่อเข้ามา ผันตัวเป็นนักละครเวที Broadway จนกระทั่งหนังเรื่องนี้ที่ได้หวนกลับคืนสู่จอเงินอีกครั้ง

รับบท Margaret White แม่ของ Carrie ที่หวนแหน รักคลั่งลูกสาวคนนี้มาก พยายามบังคับขู่เข็นให้มีความเชื่อเข้าใจเหมือนตนเอง เพราะความที่ถูกสามีทอดทิ้งไปมีหญิงอื่น ทอดทิ้งเธอและลูกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวยากลำบาก ความผิดหวังในรักแปรสภาพกลายเป็นเกลียดชัง Trauma อันทำให้เกิดความหวาดกลัว รังเกียจ ต่อต้านผู้ชาย แต่ Carrie กลับเป็นลูกไม้หล่นไกลต้น ต้องการเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ ครุ่นคิดแสดงออกเป็นตัวของตนเอง นี่ทำให้แม่รู้สึกผิดหวังในตัวเธออย่างมาก

การแสดงของ Laurie ระดับ Oscar เลยนะครับ (อย่างน้อยก็ได้เข้าชิง) เหมือนว่า Stephen King จะเชี่ยวชำนาญการเขียนตัวละครประเภท คลั่งศาสนาเป็นอย่างมาก (The Mist ก็อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเห็น) และนักแสดงที่รับบท สามารถทำให้คนคลื่นไส้ รังเกลียดต่อต้านได้ ย่อมต้องไม่ธรรมดาเช่นกัน, สายตาเงยมองด้านบน ปากพ่นพึมพัมคำสอน นี่มันการล้างสมองชัดๆ

Amy Davis Irving (เกิดปี 1953) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ภรรยาคนแรกของผู้กำกับ Steven Spielberg เห็นว่าพบรักกันในกองถ่ายหนังเรื่องนี้ เกิดที่ Palo Alto, California ทั้งพ่อและแม่เป็นนักแสดง ทำให้ Irving เริ่มต้นการแสดงตั้งแต่อายุ 9 เดือน โตขึ้นเข้าเรียนที่ American Conservatory Theater ตามด้วย London Academy of Music and Dramatic Art มีผลงาน Off-Broadway ตอนอายุ 17, สำหรับภาพยนตร์ไป Audition ได้บท Princess Leia ใน Star Wars (1976) แต่ผู้กำกับ De Palma ขอแลกเธอกับผู้กำกับ George Lucas เพราะ Carrie Fisher ที่ได้บทในหนังเรื่องนี้ กลับไม่ยอมเล่นฉากเปลือย (ถือเป็นส้มหล่นของ Fisher ไปนะครับ)

รับบท Sue Snell แม้ตอนแรกจะเป็นหนึ่งในผู้กลั่นแกล้ง Carrie แต่ก็สำนึกกลับตัวได้ ต้องการเป็นเพื่อนเธอจากใจจริง ร้องขอให้แฟนหนุ่ม Tommy Ross ชักชวนเธอให้เป็นคู่เดท Prom Night คงเพราะมโนธรรมข้อนี้กระมังที่ทำให้เธอกลายเป็น …

De Palma เป็นเพื่อนสนิทรุ่นเดียวกับ Steven Spielberg เอ่ยปากชักชวนให้มาเยี่ยมกองถ่ายบ่อยๆ เพราะมีสาวๆอยู่เต็มไปหมด Spielberg มาแล้วก็เอ่ยปากชักชวนหญิงสาวทุกคนออกเดท แต่มีเพียง Irving คนเดียวเท่านั้นที่ยินยอมไปด้วย ทั้งคู่แต่งงานกันปี 1985 หย่าขาดปี 1989

Nancy Allen (เกิดปี 1950) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ภรรยาคนแรกของผู้กำกับ Brian De Palma เกิดที่ The Bronx, New York City พ่อเป็นผู้หมวดที่ Yonkers ด้วยความขี้อายตั้งแต่เด็ก แม่จับเธอเข้าโรงเรียนสอนการเต้นตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พัฒนาขึ้นเป็นความสนใจ เข้าเรียน High School of Performing Arts ตามด้วย Jose Quintano’s School for Young Professionals แต่จบออกมากลายเป็นนักแสดง มีผลงานตัวประกอบเล็กๆเรื่องแรก The Last Detail (1973) มีชื่อเสียงโด่งดังก็จากหนังเรื่องนี้

รับบท Chris Hargensen ศัตรูคู่อาฆาตของ Carrie คงเพราะความเป็นเด็กหญิงสาวหลงตัวเอง เอาแต่ใจ ถูกครอบครัวตามจนเสียคน แม้กับแฟนหนุ่มยังเล่นเร้าลีลา ยื้อยักไม่ยอมเสียตัวให้ พอจงเกลียดใครก็จงชังแบบต้องให้ตายไปข้าง

Allen เป็นนักแสดงคนสุดท้ายที่ De Palma เลือกเองกับมือ คงตกหลุมรักในอีกด้านของความใสซื่อบริสุทธิ์ ทั้งคู่แต่งงานกันปี 1979 หย่าขาดปี 1984

นี่ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ John Travolta ที่ได้รับบทสำคัญไม่ใช่แค่ตัวประกอบพื้นหลัง ในตอนแรกได้พิจารณารับบท Tommy Ross แต่ผู้กำกับเห็นมุมขบถเล็กๆในภาพลักษณ์เลยเปลี่ยนให้มารับบท Billy Nolan แฟนหนุ่มของ Chris Hargensen คงด้วยเหตุนี้ Travolta เลยติดภาพวัยรุ่น Bad Boy หล่อเท่ห์นิสัยเลวๆมาด้วย

Isidore Mankofsky เป็นตากล้องคนแรกของหนัง แต่เกิดความขัดแย้งทางความคิดสร้างสรรค์กับผู้กำกับ เลยเปลี่ยนเป็น Mario Tosi ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน มีผลงานเด่นอาทิ The Killing Kind (1973), Report to the Commissioner (1975), Carrie (1976), Sybil (1976) ฯ

หลายฉากของหนังมีความสว่างเบลอ High Key สโลโมชั่นราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์ ความฝัน Paradise อาทิ ในห้องอาบน้ำต้นเรื่อง, งาน Prom Night ให้สัมผัสที่อิ่มเอิบสดใส ฯ แต่เมื่อความชั่วร้ายบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น งานภาพจะกลับตารปัตรตรงกันข้าม ความมืดเข้าครอบงำ รวดเร็วคมเข้มชัด Low Key บรรยากาศชวนให้ขนลุกขนพองสยอง

การเคลื่อนกล้องและสโลโมชั่นถือเป็นไฮไลท์ของหนัง มีหลายฉากเจ๋งๆ อาทิ
– ฉากอาบน้ำต้นเรื่อง กล้องจะค่อยๆเคลื่อนผ่าน แทรกตัวเข้าไปในห้องอาบน้ำ เห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของสาวๆแบบสโลโมชั่นไม่มีปกปิดบังอะไร มาจนถึง Carrie ที่กำลังถูสบู่อาบน้ำ มีการยกมือขึ้นปกปิดเต้าปทุมถัน ของรักของสงวน เลื่อนกล้องจากขาขึ้นมาหยุดตรง… แล้วอยู่ดีๆเลือดประจำเดือนสีแดงก็ไหลออกมาอย่างน่าตกใจ
– การเคลื่อนกล้องด้านข้าง จะมีฉากขณะสาวๆถูกทำโทษออกกำลังกาย, Billy Nolan และเพื่อนๆ ขณะกำลังเดินไปฆ่าหมู ฯ
– การหมุนกลองมุมเงย 360 องศา ฉากที่ Tommy Ross เต้นรำกับ Carrie
– ไฮไลท์สุดสะพรึงของหนัง เมื่อสายตาของ Sue Snell พบเห็นเชือกพิศวงที่ผู้ติดกับอะไรบางอย่าง กล้องจะค่อยๆเคลื่อนตามเชือก/สายตา ของหญิงสาวไปจนพบเห็นความจริง
ฯลฯ

มีอยู่ 2-3 ช็อตที่ใช้เลนส์ชื่อว่า Split-Focus Diopter ภาพจะคมชั้นทั้ง 2 ฝั่งในระยะใกล้ไกล, อย่างช็อตในห้องเรียนนี้ สังเกตว่าผมของ Tommy จะเบลอๆ เพราะตกในช่วงเลนส์ระยะไกล เป็นการนำเสนอปฏิกิริยาของทั้งสองตัวละครไปพร้อมๆกัน มีความแตกต่างราวฟ้ากับเหว (Tommy มีความอับอายขายหน้าที่ได้ยินคำชมนี้ ส่วน Carrie คำพูดชมของเธอออกมาจากใจจริง)

นอกจากนี้ยังมีช็อตที่เป็น Iconic ของหนัง แต่ผมขอไม่นำภาพมาใส่นะครับ เพราะเป็นการสปอยรุนแรง มีทั้งหมด 3 ฉากที่ใครๆเห็นคงหลอนสะพรึงไม่แพ้กัน
– ฉากที่ Carrie เปื้อนเลือดบนเวที ดวงตาลุกโพลง โกรธแค้นเคือนทุกคนที่หัวเราะเยาะเย้ยเธอ
– การตายของแม่ที่เหมือนกับรูปปั้นของ Saint Sebastian (เปลี่ยนจากธนูปักเป็นมีดเครื่องครัว)
– และฉากเอื้อมขว้าแขนจากขุมนรก

ตัดต่อโดย Paul Hirsch ขาประจำของ De Palma และมีผลงานอย่าง Star Wars (1976), The Empire Strikes Back (1980), Footloose (1984), Mission: Impossible (1996), Ray (2004) ฯ หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่เน้นกับ Carrie ที่เป็นชื่อหนัง เล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่ 3

การเล่าเรื่องดำเนินไปของหนัง ได้ชักนำพาอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม/ตัวละคร ให้คล้อยตามไปกับเรื่อยราว เป็นสุข อิ่มเอิบ อบอุ่นใจ ก่อนถูกทรยศหักหลัง พลิกกลับตารปัตรในช่วงท้าย, ต้องชมเลยว่านี่เป็นการลำดับเรื่องราวได้เต็มเปี่ยมทรงพลัง ผลลัพท์ประสิทธิภาพสูงสุด

ช่วงการตัดต่อที่เป็นไฮไลท์คือ Split-Screen เดิมนั้น Hirsch ตัดให้ทั้ง Sequence ของ Prom Night เป็นการแบ่งหน้าจอทั้งหมด แต่ผู้กำกับ De Palma รู้สึกไม่โอเคเท่าไหร่ จึงลดทอนให้เหลือเพียงแค่ช่วงเวลาสำคัญๆ ขณะที่ Carrie ตัดสินใจล้างแค้นเอาคืนทุกสิ่งอย่างเท่านั้น

เพลงประกอบโดย Pino Donaggio นักแต่งเพลงสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่เพิ่งมีผลงานกับหนัง Don’t Look Now (1973) ตามมาด้วย Piranha (1978), Body Double (1984), Death Proof (2007) ฯ

เดิมนั้น De Palma ได้ติดต่อ Bernard Herrmann ที่เคยร่วมงานกันตอน Obsession (1976) แต่ขาประจำของ Hitchcock พลันด่วนเสียชีวิตไปก่อน ซึ่งผู้กำกับก็ขอให้ Donaggio นำเอาโน๊ตไวโอลิน 4 ตัว Theme ของ Psycho (1960) แทรกใส่ได้ยินในหนังอยู่เรื่อยๆ

บทเพลงส่วนใหญ่ของหนังแทบไม่มีกลิ่นอายของความ Horror ชวนให้ขนลุกขนพองอยู่เลย อย่าง Theme from Carrie ด้วยสัมผัสที่นุ่มนวล ล่องลอย ฟูฟ่อง (ได้ยินในฉากอาบน้ำ) เสียงฟลุตแทนด้วยความอิ่มเอิบ เป็นสุขล้น ราวกับความฝันที่ได้สมหวังกลายเป็นจริง

แต่แล้วความชั่วร้ายก็ค่อยๆคืบคลานเข้ามา Bucket of Blood เป็นบทเพลงไฮไลท์ที่ผมชื่นชอบมากๆ ขณะที่กล้องกำลังไล่ไปตามเส้นเชือก มันมีความหวั่นวิตก น่าสะพรึงกลัว หวาดเสียว หัวใจสั่นระริกรัว บางสิ่งอย่างมันกำลังจะเกิดขึ้นแน่ๆ โอ้! ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

บทเพลงคำร้องในงาน Prom Night ตอนที่ Carrie เต้นรำกับ Tommy แต่งคำร้องโดย Merrit Malloy ขับร้องโดย Katie Irving ชื่อเพลง I Never Dreamed Someone Like You (Could Love Someone Like Me)

 

Prom Night ค่ำคืนสุดท้าย งานเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองเลิกลาความเป็น ‘เด็ก’ ของเหล่านักเรียนจบชั้นมัธยม หลายคนฝังใจเชื่อว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะนับจากนี้พวกเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แยกย้ายออกเดินในเส้นทางสายความฝันของตนเอง ไม่มีทางหวนกลับคืนสู่อดีตวันวานอันหวานหอมนี้ได้อีก

ซึ่งการที่ Prom Night กลายเป็นค่ำคืนแห่งความอับยศ น่าอับอายขายขี้หน้าที่สุด มีนัยยะถึงการจบสิ้นสูญความเป็นผู้ใหญ่ ไม่มีทางที่ใครจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความฝันอนาคตที่สวยสดใส ให้หวนกลับคืนมาได้ วิธีการเดียวเท่านั้นคือทำลายทุกสิ่งอย่างให้สิ้นสูญลงไปพร้อมเพียงกัน พอกันทีอนาคต

Carrie เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความหวาดกลัวของเพศหญิงออกมาในเชิงรูปธรรม กลัวเลือด/ประจำเดือน กลัวการถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับการยอมรับ อกหักจากผู้ชาย อับอายขายขี้หน้า ฯ ความอึดอัดอั้นที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ได้รับการปลดปล่อยออกมาโดยพลังจิตของหญิงสาว เมื่อฉันอดรนทนต่อความทุกข์ทรมานนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เธอจึงระเบิดมันออกมา หน้ามืดตามัว ไม่สนถูกผิด จัดการทุกคนทุกสิ่งที่ขวางหน้า แม้แต่คนที่เคยให้การช่วยเหลือสนับสนุนดูแล และแม่ผู้เป็นรักยิ่งแต่กลับอาฆาตมาดร้าย เปลี่ยนไปเป็นคนละคน

เหตุการณ์ธรณีสูบ ผมไม่ค่อยแน่ใจนัยยะของศาสนาคริสต์เท่าไหร่ แต่สำหรับพุทธศาสนา มี 5 ครั้งในสมัยพุทธกาลที่เกิดธรณีสูบขึ้น อันประกอบด้วย
1. พระเทวทัต ที่จองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้ามาช้านาน พยายามลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้งแต่มิเคยสำเร็จ ครั้งหนึ่งปล่อยหินหล่นทับพระพุทธเจ้า แต่หินกลับกระเด็นหนีอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทว่าสะเก็ดหินกลับไปถูกข้อพระบาทจนห้อเลือด ความชั่วร้ายต่างๆ ที่สะสมมาหลายชาติ ก็ได้บันดาลให้แผ่นดินลงโทษ เพราะไม่อาจจะแบกความชั่วไว้ได้ต่อไป แยกตัวออกสูบพระเทวทัตตกลงขุมนรกอเวจี
2. พระเจ้าสุปปพุทธะ พระบิดาของเจ้าชายเทวทัต ที่มีจิตอาฆาตแค้นพระพุทธองค์หลังจากโอรสของตนถูกธรณีสูบ จึงตั้งใจกลั่นแกล้งไม่ให้ไปบิณฑบาต ด้วยการเกณฑ์อำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งเสพเมรัยขวางทางพระพุทธองค์ เมื่อเสด็จดำเนินผ่านไม่ได้ก็ทรงอดพระกระยาหาร 1 วัน พระอานนท์จึงทูลถามทราบโทษของพระเจ้าสุปปพุทธะ ‘ดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปนับได้ 7 วัน พระเจ้าสุปปพุทธะจะลงอเวจีตามพระเทวทัตไป’
3. นันทมานพ ผู้ความต้องการกามราคะฝังแน่นในใจมาช้านานต่อพระอุบลวรรณาเถรีที่ได้ออกบวชบรรลุอรหัตผล วันหนึ่งทราบข่าวว่าจำพรรษาอยู่ในกระท่อมกลางป่า แอบซ่อนตัวรออยู่จนถึงเช้าอยู่ใต้เตียงนอนในกระท่อม เมื่อพระอุบลวรรณาเถรีกลับจากบิณฑบาต นั่งพักสงบอยู่บนเตียง นันทมาณพได้ออกมาจากที่ซ่อนเข้าปลุกปล้ำ หลังจากเสพสมจนสำเร็จความใคร่ดังใจปรารถนา พอก้าวลงจากแคร่ก็ถูกแผ่นดินสูบตกลงสู่มหานรกอเวจี
4. นางจิญจมาณวิกา เป็นผู้รับอาสาจากปริพาชกที่อิจฉาพระพุทธองค์ โดยเริ่มแรกหลบเข้าไปในวัดเชตวันฯ และทำทีว่าเดินออกมาจากวัด เมื่อคนถามก็บอกว่า ไปอยู่กุฏิของพระสมณโคดม จนผู้คนระแวงสงสัย ทำอย่างนี้อยู่ 9 เดือน ขณะที่ท้องของนางก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเอาไม้กลึงนูนไปผูกรัดเอาไว้ จนเมื่อสบโอกาส ขณะที่พระพุทธองค์เทศนา นางก็ร้องตะโกนว่า พระองค์ทำนางท้อง ซึ่งก็ไม่ทรงแก้ตัวอะไร เพียงแต่ตรัสว่า เรื่องนี้มีแค่ 2 คนคือ พระองค์กับนางจิญจมาณวิกาเท่านั้นที่รู้ ก็ยิ่งสร้างความสงสัยใหญ่หนักเข้าไปใหญ่ เมื่อท้าวสักกเทวราชเห็นดังนั้น จึงสั่งให้เทพบุตรประจำตัวแปลงร่างเป็นหนูไปกัดเชือกที่หน้าท้องปลอมหลุดออกมา แล้วนางตกใจวิ่งหนีไปแต่ไปได้ไม่ไกลธรณีก็สูบเอาลงนรกอเวจีไป
5. นันทยักษ์ ผู้มีฤทธิ์เดชเหาะมาบนอากาศ เมื่อเหาะมาถึงตรงที่พระสารีบุตรกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่ในอากาศธาตุ ในบริเวณนั้นว่างเปล่าจากอากาศธาตุนันทยักษ์มิสามารถเหาะผ่านไม่ได้ จึงเกิดบันดาลโทสะ มีจิตคิดกระทำปาณาติบาตต่อพระสารีบุตรด้วยความพาลในสันดาน เหาะขึ้นบนอากาศ ใช้กระบองซึ่งเป็นอาวุธแห่งตนฟาดลงบนศีรษะของพระสารีบุตร ความแรงแห่งการฟาดนั้น สามารถพังภูเขาในคราวเดียวกันได้ถึง 100 ลูก แต่พระสารีบุตรซึ่งอยู่ในนิโรธสมาบัตินั้น หาได้รับอันตรายจากการประทุษร้ายของนันทยักษ์ไม่ เมื่อเห็นดังนั้นพลันบังเกิดเพลิงเร่าร้อนขึ้นในอก ตกโกนเสียงดังลั่น ‘เร่าร้อน … เร่าร้อน’ แล้วตกลงมาจากอากาศ แผ่นดินเปิดช่องดึงร่างหายลับตาไปในบัดดล จมดิ่งลงสู่มหานรกอเวจี อันลึกสุด

จะเห็นว่าผู้ถูกธรณีสูบจริงๆในสมัยพุทธกาล ต่างล้วนทำกรรมหนักที่ไม่สามารถให้อภัยได้ สะสมมาจากหลายชาติปางก่อน ซึ่งทั้งนั้นถ้าไม่กับพระพุทธเจ้าก็พระอริยสงฆ์สาวก ไม่มีกรณีอื่นที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นได้

มองเป็นบทสรุป การเปรียบเทียบเชิงรูปธรรมของหนังแล้วกัน กับเหตุการณ์ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของ Carrie มันเลวร้ายเสียจนผืนแผ่นพระธรณีไม่สามารถให้ที่เหยียบย่ำยืนอีกต่อไปได้ จำต้องถูกสูบดูดกลืนลงสู่ใต้ดินขุมนรก แต่เอาจริงๆ Carrie เลวร้ายถึงขั้นถูกธรณีสูบเลยจริงๆนะหรือ!

ผมคิดว่าไม่เลยนะครับ Carrie คือเด็กหญิงสาวที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ผุดผ่อง สดใสร่าเริง มันไม่ใช่ความผิดของเธอที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์วิปโยคครั้งนี้ แต่จะโทษแม่ Margaret หรือศัตรูคู่อาฆาต Chris ก็ยังไม่ใช่อีก ใครกันละที่เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหานี้?

ข้อสรุปของผมเอง เหตุผลที่ทำให้เด็กหญิงสาว แสดงพฤติกรรมอันก้าวร้าว การกระทำที่บ้าคลั่ง เสียสติแตก เห็นแก่ตัว ล้วนเป็นผลพวงมาจากสังคม สถาบัน สิ่งแวดล้อมรอบข้อง อาทิ สถาบันครอบครัว พ่อ-แม่, สถาบันการศึกษา ครู-อาจารย์, เพื่อน คนรัก ฯ กับบุคคลที่มีความคิดเห็น แสดงออก กระทำแตกต่างจากผู้อื่น (แกะดำ) มักไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงตกเป็นศูนย์กลางของการถูกกลั่นแกล้ง (Bully) กีดกัน ปฏิเสธต่อต้าน ฯ

นี่จึงถือเป็นเรื่องราวของบุญกรรม บารมี และโชคชะตา ซึ่งความโชคร้าย อัปมงคลทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้กับ Carrie มองได้เป็น โศกนาฎกรรม โดยแท้

ทั้งๆที่เรื่องราวของหนังเกี่ยวกับ เด็กหญิงสาวแรกรุ่น แต่ผู้กำกับ/เจ้าของนิยาย กลับเป็นผู้ชาย นี่ทำให้ผมมอง Brian De Palma และ Stephen King ต่างมีปัญหาในการทำความเข้าใจอิสตรีเพศ มองพวกเธอมีความน่าสะพรึงกลัว เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ บางครั้งเป็นสิ่งมีชีวิตสวยงามที่สุด แต่หลายครั้งกลับชั่วร้ายยิ่งกว่าปีศาจ จุดเริ่มต้นของความสุดขั้วนี้ก็คือ การมีประจำเดือนครั้งแรก นี่คือสัญลักษณ์ของการมีชีวิต (birth and dead)

ด้วยทุนสร้าง $1.8 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในปีแรก $14.5 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน $33.8 ล้านเหรียญ เรียกว่ากำไรมหาศาล เข้าชิง Oscar 2 สาขา
– Best Actress (Sissy Spacek)
– Best Supporting Actress (Piper Laurie)

เมื่อปี 2010 นักเขียน Stephen King ให้ความเห็นย้อนหลังเกี่ยวกับ Carrie ต้นฉบับนี้ว่า ‘good movie’ และคอมเมนต์ถึงภาคใหม่ที่กำลังสร้างตอนนั้น ‘The real question is why, when the original was so good?’

เกร็ด: นี่เป็นหนังโปรดลำดับที่ 8 ของ Quentin Tarantino

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้เลยละ ประทับใจใน direction ของผู้กำกับ Brian De Palma ที่ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นประจำตัว พบเห็นได้ในหนังหลายๆเรื่อง ช่วงท้ายและตอนจบเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงจริงๆ ทำเอาผมสะดุ้งแบบไม่ทันตั้งตัว (ทั้งๆที่ก็คาดคิดไว้แล้วว่าอาจมีอะไรแบบนั้น แต่มันก็ตกใจจริงๆ)

หนังเรื่องนี้ให้ข้อคิดบทเรียนสอนใจอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คิดทำอะไรกับผู้อื่น หวนกลับมานึกย้อนถึงตัวเองถ้าได้รับการปฏิบัติตอบแทนอย่างนั้นบ้าง จะมีความรู้สึกกับเขาเช่นไร

แนะนำกับคอหนัง Horror, พลังเหนือธรรมชาติ, Coming-of-Age สะท้อนจิตวิทยาวัยรุ่นหญิงสาว, นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิเคราะห์ ศึกษาทำความเข้าใจปัญหา ลองหาทางออกให้กับ Carrie ดูนะครับ, แฟนๆนิยายของ Stephen King ผู้กำกับ Biran De Palma ชื่นชอบนักแสดง Sissy Spacek, John Travolta ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของมนุษย์ และความบ้าคลั่งช่วงท้าย

TAGLINE | “Carrie ของผู้กำกับ Brian De Palma จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ชะล่าใจ ก่อนฮุคปล่อยหมัดเด็ดที่ทำให้บ้าคลั่ง เสียสติแตก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

28 Weeks Later (2007)


28 Weeks Later

28 Weeks Later (2007) British : Juan Carlos Fresnadillo ♥

เมื่อไม่หลงเหลือมนุษย์ให้แพร่ระบาด ฝูงซอมบี้จาก ‘rage virus’ ก็ค่อยๆหมดสิ้นเรี่ยวแรงตายจาก 28 สัปดาห์ผ่านไป สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองกำลังทหารเข้ามา ‘ควบคุม’ ‘แทรกแซง’ ฟื้นฟูเกาะอังกฤษนี้เสียใหม่ แต่ไวรัสมันสูญพันธุ์ไปแล้วจริงๆนะหรือ?, หลังจากที่ภาคแรกเป็นแนว Horror แฝงปรัชญา มาภาคนี้โดยผู้กำกับคนใหม่ เพิ่มการเสียดสีการเมืองได้อย่างเจ็บแสบ

เท่าที่สังเกตเห็น นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะชื่นชอบประทับใจ 28 Days Later (2002) มากกว่า 28 Weeks Later (2007) เหตุผลประมาณว่า
– เพราะภาคแรกได้ทำการเปิดประตูสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ตีความซอมบี้ในรูปแบบเชื้อโรคไวรัสแพร่ระบาด และแฝงแนวคิดเชิงปรัชญา ค้นหาคำตอบเป้าหมายชีวิตในโลกยุค Post-Apocalyptic
– ขณะที่ภาคนี้ ซอมบี้เหมือนจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ได้วิวัฒนาการกลายเป็นพาหะ (Carrier) และใส่ประเด็นครอบครัว สะท้อนเสียดสีกับการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเด็นเสียดสีการเมืองฤาจะไปเทียบกับปรัชญาชีวิตที่ยิ่งใหญ่ แต่จะบอกว่าส่วนตัวผมกลับชื่นชอบ 28 Weeks Later มากกว่าในส่วนของนัยยะแฝง ขณะที่คะแนนฝั่ง Quality จะให้เท่ากัน

หลังจากความสำเร็จแบบ ‘sleeper hit’ ของ 28 Days Later ในอเมริกาเมื่อปี 2003 ได้เปิดทางการสร้างภาคต่อของหนังขึ้นทันที ผู้กำกับ Danny Boyle และนักเขียน Alex Garland จึงได้เริ่มครุ่นคิดเตรียมการวางแผนสร้างภาคต่อ

“We were quite taken aback by the phenomenal success of the first film, particularly in America. We saw an opportunity to make a second film that already had a built in audience. We thought it would be a great idea to try and satisfy that audience again.”

— Danny Boyle

โดยแผนแรกสุดตั้งชื่อหนังว่า 29 Days Later ตั้งใจนำตัวละครในภาคแรกกลับมา แต่เพราะพวกเขาชอบเลข 28 กันมาก เลยตัดสินใจเปลี่ยนสร้อยจาก Days เป็น Weeks แทน, สำหรับพล็อตเรื่อง วางแผนให้อเมริกาส่ง SAS (Special Air Service) เข้ามาช่วยเหลือนายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชินี ที่ติดอยู่ในกรุง London

แต่หลังจาก Boyle เสร็จงานสร้างหนังเรื่อง Millions (2004) ก็ตัดใจหนีไปกำกับ Sunshine (2007) ร่วมกับ Garland ที่เป็นผู้เขียนบท ประกาศว่าจะไม่กำกับภาคต่อนี้แต่จะขออยู่ในตำแหน่ง Executive Producer และมอบหมายให้ Juan Carlos Fresnadillo (เกิดปี 1967) ผู้กำกับสัญชาติสเปน ที่เพิ่งมีผลงานหนัง debut เรื่อง Intacto (2001) ให้เข้ามาคุมบังเหียรแทน

Fresnadillo เป็นผู้กำกับตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวขณะนั้น เพราะเคยได้เข้าชิง Oscar: Best Live-Action Short Film จากผลงานหนังสั้น Esposados (1996) ตามด้วยหนังยาวเรื่องแรก Intacto (2001) นำแสดงโดย Max von Sydow เป็นชื่นชอบของ Boyle อย่างมาก เห็นพ้องกับเหล่าโปรดิวเซอร์ จึงชักชวนให้มาสร้างหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรก

เรื่องราวของ Don (รับบทโดย Robert Carlyle) เพราะความหวาดกลัวจะติดเชื้อไวรัส วิ่งหนีสุดชีวิตทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง รวมถึงภรรยา Alice (รับบทโดย Catherine McCormack) เพราะคิดเข้าใจว่าเธอคงเสียชีวิตไปแล้ว, หลายสัปดาห์ผ่านไป เมื่อฝูงซอมบี้สูญพันธุ์เพราะขาดแหล่งอาหาร NATO และสหรัฐอเมริกาส่งหน่วยทหารเข้ามาช่วยฟื้นฟูกรุง London ที่ Isle of Dogs ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า District One ลูกสาว Tammy และลูกชาย Andy เดินทางกลับมาหาพ่อ Don ที่ได้ทำงานเป็นช่างเทคนิค แต่พวกเขากลับลอบแอบหนีออกจาก Safe Zone ไปยังบ้านหลังเก่าชานเมือง พบเจอแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เหมือนบางสิ่งอย่างได้เกิดขึ้นกับเธอ

สำหรับนักแสดง เนื่องจาก Cillian Murphy และ Naomie Harris ต่างประสบความสำเร็จก้าวหน้า มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติแล้ว ไม่สามารถที่จะหาคิวมาร่วมงานหนังภาคต่อได้ จึงตัดสินใจเดินหน้ากับนักแสดงชุดใหม่ ประกอบด้วย

Robert Carlyle (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติ Scottish เกิดที่ Maryhill, Glasgow, อาศัยอยู่กับพ่อที่ทำงานเป็นนักวาดภาพ/ตกแต่งบ้าน โตขึ้นหลังจากได้อ่านนิยาย The Crucible ของ Arthur Miller ตัดสินใจสมัครเรียนการแสดงที่ Glasgow Arts Centre ร่วมกับเพื่อนๆเปิดบริษัท Raindog theatre company ได้รับการชักชวนจาก Boyle หนึ่งในชุดนักแสดง Trainspotting (1996) ทำให้กลายเป็นที่รู้จัก ผลงานอื่นๆอาทิ The World Is Not Enough (1999), The Beach (2000), Eragon (2006) ฯ

รับบท Don พ่อที่มีความอ่อนแอ ขลาดเขลา หวาดกลัวตาย พยายามดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้รอดชีวิต สร้างภาพปั้นเรื่องขึ้นหลอกตัวเองและลูกๆ แต่เมื่อพอพบว่าภรรยายังมีชีวิตอยู่ ก็รีบตรงไปขอโทษขอโพย ไม่ได้คาดหวังจะได้รับคำให้อภัย แค่ต้องการเผชิญหน้ายอมรับด้านมืดของตัวเอง

ภาพลักษณ์ของ Carlyle เหมาะสมกับตัวละครนี้มาก สีหน้าแห่งความหวาดกลัวขี้เยี่ยวเร็ดราด ขณะร้องไห้พูดขอโทษแสดงความเจ็บปวดรวดร้าวออกมาภายใน พอกลายเป็นซอมบี้หลอกมาก มีเป้าหมายหนึ่งเดียวที่ต้องทำให้ได้ ติดตามหาลูกๆของตนให้พบ แต่ก็ไม่รู้พบแล้วจะยังไงต่อ สันชาตญาณเลยนำทางสั่งให้เขาวิ่งเข้าไปฆ่าล้างผลาญ ถือเป็นการสะท้อนตัวตน ความบ้าคลั่งที่เก็บซ่อนไว้ส่วนลึกในจิตใจออกมา

Catherine McCormack (เกิดปี 1972) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Epsom, Surrey มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนที่ Oxford School of Drama เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง Braveheart (1995), Spy Game (2001) ระหว่างเล่นหนังเรื่องนี้งานยุ่งมาก รับเล่นละครเวทีเรื่อง The 39 Steps พร้อมกันไปด้วยที่ Tricycle Theatre, London

รับบท Alice ภรรยาที่ถูกสามีทอดทิ้ง แต่เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันบางอย่าง สามารถสกัดกั้นเชื้อไวรัส รอดชีวิตจากการถูกซอมบี้กัด คงด้วยสันชาติญาณหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านหลังเก่า เฝ้ารอคอยวันเวลาและโอกาสที่จะได้พบเจอหน้าลูกและคนรักอีกครั้ง

McCormack สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาทางสีหน้า สายตา ร่างกายที่สั่นเทิ้มขณะถูกจับตรวจเช็คร่างกาย หลายคนคงคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเธอคือพาหะ (Carrier) ถึงไม่แสดงอาการแต่สามารถติดต่อผู้อื่นได้ และวินาทีที่สามีโน้มตัวลงมาจุมพิต OMG!

 

Jeremy Lee Renner (เกิดปี 1971) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Modesto, California มีพี่น้องถึง 7 คน โตขึ้นเข้าเรียน Modesto Junior College สนใจวิทยาการคอมพิวเตอร์ และอาชญากรรม ภายหลังเปลี่ยนไปสนใจการแสดง เริ่มต้นมีผลงานเป็นตัวประกอบในหนัง Indy อาทิ Dahmer (2002), Neo Ned (2005) ก่อนกลายเป็นตำรวจ/นักแม่นปืนใน S.W.A.T. (2003) and 28 Weeks Later (2007) เข้าชิง Oscar: Best Actor จาก The Hurt Locker (2008) ทำให้ได้รับบท Hawkeye ในจักรวาล Marvel ผลงานอื่นๆ อาทิ Mission: Impossible ภาค 4-5, The Bourne Legacy (2012), American Hustle (2013), Arrival (2016) ฯ

รับบท Doyle นักแม่นปืน ตอนแรกมีหน้าที่ปฏิบัติตามตามอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อได้รับคำสั่ง Red Code ให้สังหารทุกคนที่ขวางหน้า ด้วยมโนธรรมส่วนตัวทำให้เขาตัดสินใจละทิ้งหน้าที่ นำทางผู้รอดชีวิตกลุ่มเล็กๆให้สามารถหนีเอาตัวรอดก่อนถูกระเบิดปูพรม District One

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Doyle เป็นส่วนผสมของชื่อผู้กำกับ Danny Boyle

Rose Byrne (เกิดปี 1979) นักแสดงสัญชาติ Australian เกิดที่ Balmain, Sydney, ตอนอายุ 15 ได้เล่นหนังเรื่องแรก Dallas Doll (1994), คว้า Volpi Cup for Best Actress จาก The Goddess of 1967 (2000), รับบท Dormé ใน Star Wars: Episode II – Attack of the Clones (2002), Troy (2004), Insidious (2010), Bridesmaids (2011), X-Men: First Class (2011) ฯ

รับบท Major Scarlet มีหน้าที่ตรวจร่างกายของคนเข้าเมือง ได้พบเจอความหวังของมวลมนุษย์ชาติในการตรวจเลือดของ Alice แต่กลับถูก General Stone (รับบทโดย Idris Elba) มองข้ามไม่สนใจ จึงพยายามให้การช่วยเหลือ Andy และ Tammy คาดหวังว่ายีนพันธุกรรมของพวกเขา อาจมีโอกาสพบเจอทางออกในการรักษาผู้ติดเชื้อนี้

ใน Storyboard เหมือนว่า Major Scarlet จะเสียชีวิตก่อนถูกไฟครอกตาย ส่วน Doyle ถูกกัดเสียชีวิตในอุโมงค์ใต้ดิน แต่ผู้กำกับตัดสินใจสลับกัน เพราะการให้ผู้ชายเสียสละตายก่อน เป็นการแสดงความสุภาพบุรุษที่เหมาะสมกับเรื่องราวมากกว่า

ถ่ายภาพโดย Enrique Chediak ตากล้องสัญชาติ Ecuadorian ที่ได้มีโอกาสรู้จักกับ Anthony Dod Mantle ตากล้องขาประจำของ Boyle ชักชวนให้มาถ่ายทำหนังเรื่องนี้ มีผลงานอย่าง 127 Hours (2010), The Maze Runner (2014) ฯ

ผ่านไปเพียง 5 ปีจากภาคแรก เทคโนโลยีกล้อง Digital ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถเก็บรายละเอียดได้คมชัด สวยงามกว่าเดิม (น่าจะถึงจุดที่ความละเอียดสูงกว่ากล้องฟีล์มแล้ว) มีความสวยสด ไม่เบลอๆ ภาพแตกๆ หรือเขย่าแล้วดูไม่รู้เรื่อง เหมือนกับภาคแรก นี่ทำให้สัมผัสของหนังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ดูดีมีระดับมากขึ้น และเทคโนโลยี Computer Graphic ที่ก็พัฒนาไปมากเช่นกัน ฉากกรุง London จากเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทำวันเวลาปกติ ไล่ลบรถราการเคลื่อนไหวตอนกลางวัน แสงสว่างยามค่ำคืนได้อย่างแนบเนียน และใส่ Visual Effect ระเบิดปูพรม ตึกถล่ม มีความสมจริงสวยงาม

เกร็ด: สนามฟุตบอลที่เห็นในฉากจบนั้นคือ Wembley Stadium ถ่ายทำตอนยังสร้างไม่เสร็จ จึงใช้ CG ช่วยเติมเต็มส่วนขาดหาย,

ผมค่อนข้างชอบงานภาพฉาก Night Vision ในอุโมงค์ใต้ดิน (ถ่ายทำที่ Millennium Stadium เมือง Cardiff ประเทศ Wales) พอถ่ายทำในความมืดด้วยกล้อง Digital มีความคมชัด สมจริง เห็นแสงอินฟราเรดสีเขียว สะท้อนดวงตาสีขาว เด็กๆหน้าเหมือนซอมบี้อย่างมาก, คือถ้าเป็นกล้องฟีล์มจะทำได้เพียงใส่ฟิลเลอร์ Day for Night ไม่แน่ใจมีกล้องที่สามารถถ่าย Night Vision ได้คมชัดขนาดนี้หรือเปล่านะ

ตัดต่อโดย Chris Gill ขาประจำของผู้กำกับ Danny Boyle ที่เข้ามาช่วยสานงานภาคต่อ, นอกจาก Prologue หนังจะใช้มุมมองของสองพี่น้อง Andy กับ Tammy ในการเล่าเรื่อง ผจญภัยสู่ District One ออกค้นหาแม่ และหาทางหนีเอาตัวรอดออกนอกเกาะอังกฤษ

เฉพาะ Prologue กำกับโดย Danny Boyle ที่เข้ามาช่วยงาน Second Unit เป็นฉากเล็กๆที่มีความบ้าคลั่ง ด้วยงานภาพ ตัดต่อและเพลงประกอบ ประสานประกอบกันได้ทรงพลังถึงขีดสุด

สำหรับฉากจบเดิมของหนังจะมีเพียง บรรดาผู้รอดชีวิตเดินทางมาถึงสนามฟุตบอลและได้ขึ้นเครื่องบินจากไป แต่ผู้กำกับตัดสินใจเพิ่ม Coda ตบท้ายอีกนิด เดินทางไป Paris เห็นหอไอเฟล ใช้กล้อง DV (Digital Video) ถ่ายทำแบบ Guerrilla Style เมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายออกมานอกเกาะอังกฤษ นี่ทิ้งประเด็นเปิดกว้างสร้างภาคต่อได้มหาศาล, คือเราสามารถครุ่นคิดเหตุผลของการแพร่กระจายได้มากมายหลากหลาย เพราะตอนนี้ Andy ได้กลายเป็นพาหะเต็มตัวแล้ว เขาอาจดื่มน้ำส่งให้พี่สาว คนขับเฮลิคอปเตอร์ แล้วก็ติดโรคไป ฯ หนังปล่อยอิสระให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิดจินตนาการ เพ้อไปเองได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น

เพลงประกอบโดย John Murphy และได้ Hans Zimmer มาร่วมด้วยช่วยขัดเกลา, อารมณ์ของบทเพลงจะไม่กระจัดกระจายหลากหลายแบบภาคแรก เน้นสร้างบรรยากาศของความหวังและสิ้นหวัง ไปพร้อมๆกัน

หลายๆบทเพลงของหนัง ได้นำเอาทำนองของเพลงฮิตจากภาคแรก In The House – In A Heartbeat แทรกใส่เข้าไปด้วย นอกจากเพื่อให้เกิดความคุ้นเลยแล้ว จะสะท้อนสะท้านทรงพลัง ยิ่งใหญ่เหมือนเคย แค่ได้ยินก็จะรับรู้ได้ทันทีว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่บ้าคลั่งเกิดขึ้นแน่

บทเพลง London Deserted เริ่มจากตัวโน๊ตเสียงทุ้มต่ำ ค่อยๆไต่ไล่ระดับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด จากความว่างเปล่าไม่มี สู่ยุคสมัยอารยธรรมมนุษย์ ที่พอถึงจุดสูงสุดกลับคืนสู่ความว่างเปล่าอีกครั้ง, นี่เป็นบทเพลงที่เรียบง่ายแต่มีความทรงพลังยิ่ง ในฉากที่ Andy กับ Tammy ลักลอบหนีออกจาก District One สิ่งที่พวกเขาพบเห็นคือกรุง London ที่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ตึกรามบ้านช่องยังคงเหมือนเดิม แต่ไร้ซึ่งผู้คนและสิ่งมีชีวิต หลอกหลอนราวกับเมืองผีสิง

กับซีนไฮไลท์ของหนัง Kiss of Death เมื่อ Don แอบลักลอบเข้าไปพบภรรยาที่ถูกมัดอยู่บนเตียง (แบบไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่) เขาเอ่ยปากขอโทษ ร้องไห้ออกจากใจ แล้วประทับรอยจุมพิตอันนุ่มนวล แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้น มันทำให้ความบ้าคลั่งบางอย่าง ได้รับการถ่ายทอดส่งต่อ จุดสิ้นสุดของมวลมนุษย์ชาติเริ่มจากตรงนี้เอง

พ่อ Don เป็นคนขลาดเขลา อ่อนแอ แต่สร้างภาพให้กับตัวเองดูดี ใช้ความรักเป็นข้ออ้าง แต่พอติดเชื้อโรคระบาดจากแม่ กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ ฆ่าเมีย ต้องการฆ่าลูกในไส้แท้ๆของตนเอง, เปรียบเทียบกับภาพใหญ่ขึ้นของหนัง กองทัพทหารอเมริกาแท้จริงแล้วไม่ได้มีความเข้มแข็งแกร่งอะไร แต่สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี ใช้ข้ออ้างสันติภาพ แต่พอควบคุมแทรกแซงต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ใช้ปฏิบัติการ Code Red ทำลายทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า

ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจนัยยะการเมืองของหนังเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ครุ่นคิดหาว่ามันเกี่ยวอะไรกับโรคระบาดทั่ว เชื้อไวรัสอีโบล่าที่เป็นนัยยะ ‘rage virus’ ของภาคแรก การหยุดแพร่กระจายของมันไม่ได้แปลว่าสูญพันธุ์ แต่คือกำลังค่อยๆพักฟื้น กลายพันธุ์ รอวันหวนคืนกลับมาระบาดซ้ำใหม่ เป็นวัฏจักรไม่รู้จบสิ้น, คือเราสามารถมองหนังด้วยนัยยะเดิมนี้ก็ได้เหมือนกันนะครับ แต่ใจความการเมืองมันจะเด่นชัดน่าสนใจกว่ามาก

NATO นำกำลังทหารอเมริกันเข้ามาฟื้นฟูสภาพเกาะอังกฤษให้น่าอยู่อาศัย มีนัยยะถึงการเข้าไปแทรกแซง ควบคุม ชาติตะวันออกกลาง อาทิ อิรัก, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน ฯ ของอเมริกาในยุคหลัง 9/11 (เพื่อผลประโยชน์น้ำมัน และตามล่าผู้ก่อการร้าย) แต่เมื่อใดที่ซอมบี้กลับมาแพร่ระบาด หรือประชาชน/ผู้ก่อการร้าย ลุกฮือขึ้นต่อต้าน วิธีการที่ชาติอเมริกันใช้ตอบโต้คือ ระเบิดปูพรม อาวุธชีวภาพ กวาดฆ่าล้างทำลายทุกสิ่งอย่างไม่ให้เหลือซาก, นี่เป็นการเสียดสี ประชดประชัน กับชาติผู้นำโลกสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องบอกคงน่าจะรับรู้กันได้ ว่าเหล่านี้คือความจริงที่เกิดขึ้นมาก็ไม่รู้กี่ทศวรรษแล้ว

สำหรับซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ สามารถเปรียบได้กับผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย อัลกออิดะฮ์, ตาลีบัน, อาบูไซยาฟ ฯ ปัจจุบันก็คง ISIS ที่แพร่ระบาดไปทั่วอย่างรวดเร็วราวกับเชื้อโรคติดต่อ เป็นภัยคุกคาม/ภัยพิบัติ ที่ในความเชื่อของชาวอเมริกันจำเป็นต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก ไม่ให้หลงเหลือเป็นภัยต่อไปในอนาคต, แต่การแก้ปัญหาแบบในหนัง หลายคนน่าจะตระหนักรับรู้ได้ ว่ามันไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ขาดการคิดคำนึงผลกระทบรอบด้าน ไร้ความมีมนุษยธรรม เรียกว่าตัดตอนปัญหายุ่งยากวุ่นวาย สะท้อนถึงความขลาดเขลา อ่อนแอ หวาดกลัวเกรง ที่หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจ จึงจำเป็นต้องแสดงความก้าวร้าว เด็ดขาด เผด็จการเบ็ดเสร็จ

ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในอเมริกา $28.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $64.2 ล้านเหรียญ ไม่ฮิตเท่าภาคแรกแต่ยังได้กำไรพอสมควรอยู่

เหตุผลที่ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เพราะตัวละคร Don แสดงสันชาติญาณความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ออกมาได้โดนใจมากๆ มันไม่ใช่ความผิดของเขาที่เป็นคนขลาดเขลา ทิ้งคนรักที่เป็นภาระชักช้าไว้เบื้องหลัง โกหกกับลูกๆว่าแม่เสียชีวิตไปแล้ว ร้องขออภัยกับภรรยาให้เธอยกโทษให้ ฯ นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังเรื่อง Force Majeure (2014) ตั้งคำถามในลักษณะคล้ายๆกัน ในสถานการณ์เป็นตายลักษณะนี้ เป็นคุณจะยังสามารถสนใจเรื่องคุณธรรม มโนธรรม เสียสละเพื่อผู้อื่น/ครอบครัว/มวลมนุษยชาติได้หรือเปล่า

แนะนำกับคอหนัง Horror, Sci-Fi, Zombie (ก็ไม่เชิงเป็นซอมบี้เท่าไหร่นะ เรียกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกัน), คอหนังการเมือง ชื่นชอบการเสียดสีสะท้อนชาติอเมริกัน, นักแสดงนำอย่าง Robert Carlyle, Jeremy Renner, Rose Byrne ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับการกระทำของทหาร ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

TAGLINE | “เพราะความโง่เง่า ขลาดเขลาของมนุษย์ 28 Weeks Later ได้ทำให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

28 Days Later … (2002)


28 Days Later

28 Days Later … (2002) British : Danny Boyle ♥♥♥

ผมเข้าใจผิดมาตลอด คิดว่า ‘rage virus’ ของหนังเรื่องคือสัญลักษณ์แทนโรคเอดส์ (AIDS) เพราะฉากแรกของหนัง การเริ่มแพร่เชื้อมีต้นกำเนิดจากลิง แต่ผู้กำกับ Danny Boyle ให้สัมภาษณ์บอกว่า นำแรงบันดาลใจจากโรคไวรัสอีโบลา (Ebola) ที่มีพื้นหลังจุดเริ่มต้นถิ่นกำเนิดเดียวกัน แต่ความรุนแรงอันตรายกว่ามาก โชคดีที่เมืองไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้

“You can’t help thinking of that. Obviously, it’s not based on AIDS; it’s more like Ebola. And the manifestation of the disease in the film, the sickness, is all based on Ebola with a bit of rabies, so there is a bit of medical background there. But you can’t help thinking about it—ever since AIDS appeared, people have had this sensitivity about the smallest drop of blood.”

– Danny Boyle ให้สัมภาษณ์ที่ Sundance Film Festival ปี 2003

โรคระบาดทั่ว (Pandemic) หมายถึง การระบาดของโรคติดเชื้อที่แพร่กระจายในประชากรมนุษย์ในบริเวณกว้าง หลายประเทศ ทวีปหรือทั่วโลก ในประวัติศาสตร์มีการเกิดขึ้นของโรคระบาดทั่วนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ โรคห่า/อหิวาตกโรค (Cholera), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), ไข้รากสาด (Typhus), ฝีดาษ/ไข้ทรพิษ (Smallpox), โรคหัด (Measles), วัณโรค (Tuberculosis), โรคเรื้อน (Leprosy), มาลาเรีย (Malaria), อีโบลา (Ebola), ไข้เหลือง (Yellow fever), ไวรัสซิกา (Zika), ไข้หวัดนก (Avian influenza) ฯ ถือเป็นภัยพิบัติประเภทหนึ่งของมวลมนุษย์ชาติ เฉกเช่นเดียวกับน้ำท่วม สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯ แต่โรคระบาดเป็นภัยที่คร่าชีวิตผู้คนจากภายในร่างกายของเราเอง

โรคไวรัสอีโบลา (Ebola Virus Disease) หรือไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola Hemorrhagic Fever) เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา แพร่ระบาดมาจากสัตว์ที่ติดเชื้อ อาทิ ลิงชิมแปนซี, ค้างคาวผลไม้ ฯ จากการกินดิบ สัมผัสเลือด/อุจจาระ ฯ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1976 (พ.ศ. ๒๕๑๙) ที่บริเวณแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศซูดาน, หลังติดเชื้อประมาณ 2-3 วันจะเริ่มแสดงอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะกล้ามเนื้อ ข้อกระดูก เจ็บคอ อ่อนเพลีย ท้องร่วง เมื่ออาการหนักจะตาแดงกล่ำ ถ่ายเป็นเลือด เจ็บแน่นหน้าอก เลือดออกในกระเพาะอาหาร จมูก ปาก ทวาร หู ตา บวมอวัยวะเพศ ฯ ไม่มีการรักษาไวรัสอย่างจำเพาะ ความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยมีการบำบัดคืนน้ำ (Rehydration Therapy) ทางปากหรือหลอดเลือดดำ อัตราตายสูงระหว่าง 50% ถึง 90%

การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 (พ.ศ. ๒๕๕๗) ไม่นานมานี้เองแถบแอฟริกาตะวันตก ประเทศกินี เซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย ใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ มีรายงานผู้ป่วย 28,638 คน เสียชีวิต 11,315 คน,

มีนักวิทยาศาสตร์ความพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สำเร็จลุล่วงไปได้

Danny Boyle (เกิดปี 1956) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Oscar จาก Slumdog Millionaire (2008) เกิดที่ Radcliffe, Lancashire ในครอบครัว Irish Catholic ที่เคร่งครัด เคยเป็นเด็ก altar boy ครอบครัวคาดหวังให้โตขึ้นกลายเป็นบาทหลวง แต่พออายุ 14 หลวงพ่อแนะนำว่าอย่างเป็นพระเลย

“Whether he was saving me from the priesthood or the priesthood from me, I don’t know. But quite soon after, I started doing drama. And there’s a real connection, I think. All these directors – Martin Scorsese, John Woo, M. Night Shyamalan – they were all meant to be priests. There’s something very theatrical about it. It’s basically the same job – poncing around, telling people what to think.”

เข้าเรียน Thornleigh Salesian College ที่ Bolton ตามด้วย Bangor University สาขาภาษาอังกฤษและการแสดง จบมาเริ่มต้นจากทำงานละครเวที Joint Stock Theatre Company ก่อนย้ายไป Royal Court Theatre จากนั้นเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ เริ่มมีความสนใจภาพยนตร์จากการรับชม Apocalypse Now (1979) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Shallow Grave (1955) ประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดแห่งปีในเกาะอังกฤษ ตามด้วย Trainspotting (1996) และ The Beach (2000) นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio

จากการดัดแปลงนิยาย The Beach ทำให้ได้รู้จักกับ Alexander ‘Alex’ Medawar Garland (เกิดปี 1970) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีความสนใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ นำแนวคิดเกี่ยวกับ Horror/Zombie Project มาเสนอกับ Boyle ได้อย่างน่าสนใจ จึงได้ร่วมกันพัฒนา 28 Days Later ขึ้นมา

เกร็ด: Alex Garland จากนักเขียนบท ต่อมาได้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Ex Machina (2015)

สี่สัปดาห์หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลึกลับทั่วเกาะอังกฤษ ชายหนุ่มคนหนึ่ง Jim (รับบทโดย Cillian Murphy) ตื่นขึ้นในโรงพยาบาล St Thomas’ Hospital หลังจากอาการโคม่า ราวกับความฝัน พบว่าทุกสิ่งอย่างรอบตัวไร้ซึ่งผู้คน กลายเป็นเมืองร้าง เดินไปเรื่อยๆจนได้พบกับซอมบี้กลุ่มหนึ่ง อยู่ดีๆวิ่งจู่โจมเข้าหาอย่างบ้าคลั่ง ได้รับการช่วยเหลือจาก Selena (รับบทโดย Naomie Harris) และ Mark (Noah Huntley) ถึงได้รู้ว่ามีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นในระหว่างที่เขาหลับอยู่

Cillian Murphy (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Douglas, County Cork ทั้งพ่อแม่เป็นครูสอนหนังสือ แต่ตัวเขากลับเรียนไม่เก่งเท่าไหร่ ชื่นชอบการแสดงและเล่นดนตรี เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที แสดงในภาพยนตร์อินดี้หลายเรื่อง อาทิ Sunburn (1999), The Trench (1999), On the Edge (2001), หลังจากได้รับชม Disco Pigs (2001) ผู้กำกับ Danny Boyle จึงเลือกให้มารับบทนำในหนังเรื่องนี้

รับบท Jim ชายหนุ่มผู้ฟื้นคืนชีพ ตื่นขึ้นจากการหลับใหล ตื่นตะหนกกับโลกที่เปลี่ยนไป คิดไม่ออกบอกไม่ถูกจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร, ด้วยความที่มีจิตใจดีงามเป็นพื้นฐาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวสู่โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย แต่ก็ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัย คงเพราะได้เพื่อนร่วมทางที่แสนดี สามารถช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันได้

ฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่เหตุผลที่ Murphy ได้รับบทนี้ เพราะ Boyle ชื่นชอบในหุ่นเปลือยของเขา (Boyle นี่รสนิยมเกย์มากเลยนะ ตั้งแต่ Trainspotting แล้ว นักแสดงแต่ละคนขี้ก้างทั้งนั้น) ช่วงท้ายของหนังจะเห็นว่าตัวละครนี้ไม่ใส่เสื้อ และหนังมีฉากที่ต้องเปลือยทั้งตัวอยู่ด้วย *-*

การแสดงของ Murphy เรื่องนี้ ถือว่าได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวเลยละ โดยเฉพาะสายตาที่มีความใสซื่อบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็ราวกับถูกหลอนหลอนด้วยอดีตอะไรบางอย่าง ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่ชื่นชอบของ Christopher Nolan มักนำพาให้มาแสดงในหนังของตนร่ำไป

Naomie Melanie Harris (เกิดปี 1976) นักแสดงหญิงผิวสีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London พ่อเป็นชาว Trinidad ส่วนแม่สัญชาติ Jamaica ที่ทำงานเป็นนักเขียนบทละครที่ EastEnders ทำให้ Naomie ได้เป็นนักแสดงเด็กในละครซีรีย์เรื่อง Simon and the Witch (1987) หลังจบจาก Pembroke College, Cambridge สาขา Social and Political Sciences เรียนต่อการแสดงที่ Bristol Old Vic Theatre School ทำงานเป็นนักแสดงเวที รับบทนำในภาพยนตร์ครั้งแรกจาก 28 Days Later มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกับบทบาท Tia Dalma เรื่อง Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest (2006), Miami Vice (2006), Eve Moneypenny ใน Skyfall (2012), Spectre (2016) ล่าสุดเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง Moonlight (2016)

รับบท Selena หญิงแกร่งที่สามารถเอาตัวรอดผ่านวันสิ้นโลกมาได้ ด้วยความเห็นแก่ตัว สนแต่ตัวเอง ฆ่าพ่อแม่พี่น้องที่กลายเป็นซอมบี้เพื่อตัวเองยังชีวิตอยู่ได้, ก็ไม่รู้จักพบเจอกับ Mark ได้อย่างไร แต่พอเพื่อนคนนี้ถูกกัดติดเชื้อ ก็ไม่ลังเลที่จะฆ่าสังหาร แต่หลังจากได้พบกับ Jim จิตใจของเธอค่อยๆอ่อนนุ่มนวลลง ตกหลุมรักเพราะความสุภาพมองโลกในแง่ดี นี่เป็นสิ่งที่หญิงสาวไม่คาดคิดมาก่อนจะพบผู้ชายแบบนี้ในวันสิ้นโลก

นี่เป็นการแสดงแจ้งเกิดของ Harris เช่นกัน แม้ผมจะรู้สึกเคมีและบทโรแมนติกของเธอจะไม่ค่อนเข้ากับ Murphy เสียเท่าไหร่ แต่ความกร้าวกระด้าง หยาบคาย แข็งนอกอ่อนใน นี่ถือเป็นจุดเด่นของ Harris เลยละ

ถ่ายภาพโดย Anthony Dod Mantle ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่หลังจากหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นขาประจำของ Boyle และคว้า Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Slumdog Millionaire (2008)

นี่เป็นหนัง Mainstream เรื่องแรกที่ใช้กล้อง Digital Photography (DP) รุ่น Canon XL1 ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง คุณภาพไม่ถึงขั้นดีเลิศ แต่ให้สัมผัสดิบเถื่อน สมจริง เป็นธรรมชาติที่สับสนวุ่นวาย (อารมณ์ประมาณ Cloverfield) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการถ่ายทำฉากกรุง London ที่ว่างเปล่า มีความสะดวกรวดเร็ว เพราะต้องถ่ายทำอย่างเร่งรีบในช่วงเช้าตรู่ก่อนรถเริ่มติด

ความอิสระของกล้อง DP ทำให้หนังมีมุมกล้องแปลกๆ เขย่าสั่นๆ กวัดแกว่งไปมา (Whip) ได้รวดเร็วกว่าปกติ และความที่ภาพไม่ค่อยคมชัดมากนัก เมื่อใส่การกระพริบของแสงสี สายฝน มันจะยิ่งดูสับสนอลม่านบ้าคลั่ง และโทนสีของภาพให้สัมผัสราวกับโลกอีกใบ (เหมือนโลกในยุค Post-Apocalyptic)

แต่ข้อเสียที่ Boyle ค้นพบกับกล้อง DP คือการถ่ายวิวทิวทัศน์ระยะไกล (wide shots) มันจะความเบลอแตก ไม่คมชัด รายละเอียดไม่แนบเนียนเหมือนกับถ่ายด้วยฟีล์ม แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าเทคโนโลยีกล้องดิจิตอลสมัยนั้นอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ซึ่งกล้องดิจิตอลสมัยใหม่นี้ต้องบอกเลยว่าคมชัดละเอียดเกินไปด้วยซ้ำ!

จริงอยู่ที่ผลลัพท์ของหนังกับงานภาพลักษณะนี้ ให้สัมผัสที่สมจริงจับต้องได้ ราวกับโลก Post-Apocalyptic แต่ก็ทำให้คุณภาพโดยรวมของหนังลดลงมาก เทียบก็คล้ายหนังเกรด B ในยุคสมัยหนึ่ง ขาดความหรูรามีระดับ แบบนี้ยากนักจะคลาสสิกเหนือกาลเวลา คงได้เพียงกระแส Cult ตามมา

ตัดต่อโดย Chris Gill ขาประจำของ Boyle แต่กลับไม่ได้ร่วมงาน Slumdog Millionaire (2008) เสียอย่างนั้น, นอกจาก Prologue กับ Epilogue หนังใช้มุมมองของ Jim ตั้งแต่ฟื้นขึ้นจากโรงพยาบาล ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ มีครั้งหนึ่งที่เป็นภาพจากความฝัน และช่วงท้ายตัดสลับไปมากับสิ่งที่สองสาวได้พบเจอ

ถึงการดำเนินเรื่องจะเป็นไปอย่างเอื่อยๆไร้จุดหมาย แต่เมื่อใดที่พบเจอฝูงซอมบี้หรือผู้ติดเชื้อ ความสับสนวุ่นวายอลม่านจะเกิดขึ้นทันที นี่เป็นผลลัพท์จากงานภาพที่เขย่าๆไปมา และการตัดต่อเปลี่ยนมุมกล้องอย่างฉับไว ดูไปไม่ค่อยรู้เรื่องนี้แหละ สร้างความระทึก สะพรึง หวาดหวั่นใจ และเชื่อว่าหลายคนมักนับถอยหลัง 20 วินาทีไปด้วยในใจ

เพลงประกอบโดย John Murphy นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ได้รับการจดจำจากการร่วมงานกับ Guy Ritchie เรื่อง Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) กับ Snatch (2000) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Miami Vice (2006), Sunshine (2007), Kick-Ass (2010) ฯ

สำหรับ Soundtrack ของหนังมีหลากหลายทางอารมณ์เพลงมาก(เกินไปสักนิด) ตั้งแต่ Horror สยองขวัญสั่นประสาท, สนุกสนานผจญภัย (ใน Supermarket), แอ๊คชั่นตื่นเต้น, ช่วงท้าย Happy Ending เต็มไปด้วยความหวัง ฯ ซึ่งมีบทเพลงหนึ่งได้กลายเป็นไฮไลท์และตำนานไปแล้วคือ In The House – In A Heartbeat ในหนังจะได้ยินช่วงท้ายที่ Jim หวนกลับมาอาละวาด แก้แค้นเอาคืนกลุ่มทหารในบ้านหลังหนึ่ง เสียงหัวใจของเขามันค่อยๆทวีความรุนแรง บ้าคลั่ง พร้อมจะทำมันได้ทุกสิ่งอย่าง ไม่สนอีกแล้วความถูกผิด เพื่อทวงสิ่งที่เป็นของตนคืนมา

หลายครั้งจะมีการนำบทเพลงมีชื่อ ซิงเกิ้ลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงประกอบเข้าไป อาทิ East Hastings (1997) ของวงดนตรี Rock สัญชาติแคนาเดียน Godspeed You! Black Emperor ความยาวจริงๆของเพลงนี้เกือบ 18 นาที ซึ่ง Murphy ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เหลือเพียง 4 นาทีกว่าๆเท่านั้น ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ ผมชอบ Short Version นี้กว่ามาก

ในฉากที่ Jim ค้นพบว่าตัวเองตื่นขึ้นบนโลกที่ไม่มีใคร ไม่หลงเหลืออะไร เสียงดนตรีค่อยๆดังกระหึ่ม จังหวะเร่งรัดกระชับ เร้าอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความฉงนสงสัย ตื่นตระหนก หวาดสะพรึง ทวีความเร้าร้อนหวาดกลัว เสียงกรีดร้องที่อยู่ภายใน มันเกิดบ้าอะไรขึ้นเนี่ย! นี่ถ้าเขาไม่พบเจอกับใครสักคน อาจได้กลายเป็นบ้าเสียสติแน่

บทเพลง Ava Maria ขณะที่ Jim, Selena ออกเดินทางร่วมกับ Frank กับ Hannah สู่สถานที่แห่งความหวังที่เมือง Manchester, ขับร้องโดย Perri Alleyne น้ำเสียงของเธอช่างมีความทรงพลัง ให้สัมผัสที่หลอนๆ แต่สั่นสะท้าน เต็มเปี่ยมด้วยความหวังขับออกมาจากภายใน

บทเพลงช่วงท้าย/Ending Credit ชื่อว่า Season Song ของวงดนตรีสัญชาติอังกฤษ Blue States แต่งโดย Andy Dragazis กับ Tahita Bulmer เป็นเพลงที่เปลี่ยนอารมณ์หนังโดยสิ้นเชิง จากที่ค่อนข้างเครียดหดหู่ มาเป็นผ่อนคลาย ฟังสบาย ฤดูกาลเคลื่อนผ่าน

ซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คนตายฟื้นคืนชีพ แต่คือผู้ที่กลายสภาพจากการติดเชื้อในเวลา 20 วินาที ดวงตาแดงกล่ำ มีความกระหายเลือด เมื่อพบเห็นมนุษย์/สิ่งมีชีวิต ก็จะรีบวิ่งแจ้นตรงไปหา ถ้าเผลอสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำลาย ก็จะมีโอกาสติดเชื้อกลายร่างในทันที, กระนั้นซอมบี้ในหนังเรื่องนี้สามารถถูกยิง บาดเจ็บ เสียชีวิตได้ เพราะยังมีสถานะเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนมนุษย์อยู่ (มีโอกาสที่จะรักษาหายได้) ไม่ได้มีข้อแม้ว่าต้องยิงหัวแบบหนังของ George A. Romero เท่านั้น

เปรียบซอมบี้ได้กับโรคระบาด ที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น นัยยะแฝงถึงเชื้ออีโบล่า (ผสมโรคพิษสุนัขบ้า) นี่เป็นการสะท้อนความน่ากลัวของโรคระบาด ที่สามารถนำพามนุษยชาติไปสู่จุดจบวันโลกาวินาศ ถ้าไม่ได้รับการควบคุมรักษา แต่อย่างน้อยเชื้อโรคพวกนี้ มันก็ไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดขนาดสามารถว่ายน้ำหรือออกจากเกาะอังกฤษได้ นี่จึงเป็นสถานที่กักกันโรคชั้นดี แต่ความสูญเสียคงประเมินค่ามิได้

โรคระบาดทั่ว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กัดกร่อนกิน ทำลายล้างมนุษย์จากภายในร่างกาย แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของวิวัฒนาการ ก็มักมีนักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นพบวัคซีน ยารักษา แต่ก็เช่นกันกับเชื้อโรคที่พัฒนากลายพันธุ์ผ่าเหล่า เฉลียวฉลาดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น, กระนั้นยังมีสิ่งที่ร้ายแรงและน่ากลัวกว่าโรคระบาดทั่ว นั่นคือความเห็นแก่ตัวและความชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ด้วยกันเอง

ใจความของหนัง ได้ตั้งคำถามเชิงปรัชญาที่น่าสนใจ ‘โลกยุคหลังโลกาวินาศ Post-Apocalypse เมื่อทุกสิ่งอย่างแทบสิ้นสูญสลาย มนุษย์เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร?’ องก์ 3 ของหนังได้ให้คำตอบจากกลุ่มทหารชายล้วน ที่สะท้อนถึงสันดานดิบ สันชาติญาณ ความต้องการพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่ปัจจัย 4 แต่คือการธำรงรักษาเผ่าพันธุ์ให้สืบทอดคงอยู่,

Selena ผู้หญิงคนเดียวของหนัง (จริงๆควรจะทำให้เธอเป็นจุดศูนย์กลางเสียด้วยซ้ำ) ได้พบเจอกับผู้ชาย 3-4 รูปแบบ
– Mark เพื่อนคนแรกที่สนแต่เอาชีวิตรอด (ดูแล้วคงไม่มีอะไรเกินเลย)
– Jim ชายผู้เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม จิตใจดีงาม แม้จะไม่ได้เข้มแข็งแกร่ง แต่ก็สามารถแสดงความเป็นลูกผู้ชาย สุภาพบุรุษออกมาได้
– Frank ชายวัยกลางคนที่มีภาพลักษณ์ของพ่อ อบอุ่น เหมือนจะพึ่งพาได้
– Major Henry West และกลุ่มนายทหารช่วงท้าย คือสัตว์ที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ ดำรงชีพด้วยสันชาติญาณ ไร้ซึ่งพื้นฐานทางมโนธรรม

มันก็ชัดเจนนะครับว่า Selena จะเลือกใคร หนังไม่ได้มีตัวเลือกมากมาย ซึ่งคำตอบของเธอเป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ ต่อความเป็น’มนุษย์’ และเป้าหมายของชีวิต ที่ต่อให้ในยุคสมัยโลกาวินาศ ไม่มีอะไรหลงเหลือแล้วก็ตามเถอะ แต่ศีลธรรม มโนธรรม ยังคือสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ธำรงอยู่ได้ ไม่ใช่แค่การสืบสายเลือดเผ่าพันธุ์และ Sex

หนังมี Alternate Ending ใส่ไว้ในฉบับ DVD Extra ขึ้นข้อความว่า “What if…” หลังจากที่ Jim ถูกยิง Selena และ Hannah พาเขาไปถึงโรงพยาบาลร้างแห่งหนึ่ง พยายามช่วยเหลือแต่ก็ไม่เป็นช้าไปเสียแล้ว ด้วยความสิ้นหวังหมดอาลัย ทั้งสองตัดสินใจไปต่อ หยิบปืนแล้วเดินออกจากโรงพยาบาล, นี่เป็นฉากจบที่ถ่ายทำไว้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อนำไปฉายรอบ Preview ปรากฎว่าผู้ชมเหมือนจะสิ้นหวังตามไปด้วย เพราะเข้าใจว่าคือความสิ้นหวัง จุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ ผู้กำกับ Boyld จึงตัดสินใจเปลี่ยนใหม่ให้กลายเป็น อย่างน้อยที่สุดคือมีความหวัง แต่เขาก็เรียกตอนจบนี้ของหนังว่า ‘true ending’s, “what if…”

ยังมีตอนจบอื่นอีกที่ Boyle บอกว่ามีในต้นฉบับบทภาพยนตร์ ใช้ชื่อว่า Hospital Dream เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝันของ Jim ที่ไม่เคยตื่นขึ้นมาหลังจากถูกรถชน และเขาเสียชีวิตในขณะรับการผ่าตัด (รู้สึกว่าจะเป็นตอนจบที่ไร้สาระไปเสียหน่อย)

ตอนจบอีกแบบหนึ่งชื่อว่า Radical Alternative Ending มีการคิดวาดภาพร่าง Storyboard เอาไว้คร่าวๆ ปรากฎอยู่ใน DVD Extra เช่นกัน, หลังจากที่ Frank กลายร่างเป็นซอมบี้ โชคดีที่สามารถหาอะไรบางอย่างจับมัดตัวไว้ได้ ไม่มีหน่วยทหารเxยๆปรากฎตัวออกมา แต่ Jim ได้เดินเข้าไปสำรวจต่อในเมือง Manchester พบเจอหลุมหลบภัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ยังเหลือชีวิตจากเหตุการณ์ต้นเรื่อง ในตอนแรกไม่ยินยอมให้เข้าภายใน แต่ก็โน้มน้าวจนสำเร็จ เพราะต้องการค้นหาวิธีการรักษา Frank ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่า มีวิธีการเดียวเท่านั้นคือเปลี่ยนถ่ายเลือดทั้งตัว ปรากฎว่าเพียง Jim เท่านั้นที่กรุ๊ปเลือดตรง เขาจึงตัดสินใจเสียสละชีวิตของตัวเอง, เหตุที่ Boyle ไม่เลือกเรื่องราวนี้ เพราะเขามองว่า ‘It didn’t make much sense.’

เพราะความที่อเมริกาเพิ่งเกิด 9/11 เมื่อปี 2001 ทำให้ Boyld ไม่รีบเร่งเข็นหนังออกมา ในอังกฤษออกฉายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2002 ส่วนอเมริกาต้องรอกว่าครึ่งปี วันที่ 27 มิถุนายน 2003

ด้วยทุนสร้าง £5 ล้านปอนด์ (ประมาณ $8 ล้านเหรียญ) ทำเงินในอังกฤษ £6.1 ล้านปอนด์ แต่กลับ ‘sleeper hit’ ในอเมริกา ทำเงินสูงถึง $45 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $84.7 ล้านเหรียญ กำไรหายห่วง นี่ส่งผลให้เกิดการต่อยอดตามมามากมาย อาทิ เกม, หนังสือการ์ตูน, นิยาย และภาคต่อ 28 Weeks Later (2007) กำกับโดย Juan Carlos Fresnadillo ดูแล้วอาจมีแนวโน้มภาค 3-4 (28 Months Later, 28 Years Later) ต่อไปได้แน่

เกร็ด: Stephen King เป็นแฟนตัวยงของหนังเรื่องนี้เลยละ

จำได้ว่าตอนรับชมในโรงภาพยนตร์ ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนะ จดจำเหตุผลไม่ได้ว่าทำไม แต่กลับมาดูครั้งนี้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นช่วงท้าย คือถ้าต้องการเล่นกับไฟ อนาคตของมวลมนุษยชาติ มันควรจะขยี้ความรู้สึกให้สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากไปเลย Ending แบบอื่นผมชอบหมดนะ ยกเว้นที่เลือกใส่มานี่แหละ ทั้งๆเป็นหนังจากประเทศอังกฤษแท้ๆ แต่ผู้กำกับ Boyle ดันเลือกสูตรสำเร็จ Happy Ending แบบ Hollywood ไปเสียอย่างนั้น

แนะนำกับคอหนัง Horror, Suspense, Zombie (ก็ไม่เชิงเป็นซอมบี้เท่าไหร่นะ เรียกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกัน), นักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดปริศนาปัญหาโลกแตก ในยุคหลังโลกาวินาศ Post-Apocalyptic, แฟนๆผู้กำกับ Danny Boyle นักแสดง Cillian Murphy และ Naomie Harris

จัดเรต 18+ เลือด ผู้ติดเชื้อ และความต้องการ Sex

TAGLINE | “28 Days Later หลังวันสิ้นโลก Danny Boyle ได้ทำให้ความรักเบ่งบานขึ้นอีกครั้งในสถานที่ไม่สมควรแม้แต่น้อย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Army of Darkness (1992)


Army of Darkness

Army of Darkness (1992) hollywood : Sam Raimi ♥♥

ทั้งๆที่มันควรจะยิ่งใหญ่ แต่ผู้กำกับ Sam Raimi กลับทำให้อภินิหารกองพันซี่โครง หนังปิดไตรภาค Evil Dead กลายเป็นหนังเกรด B ทุนสูง ต่อสู้รบระหว่างตัวละคร Bruce Campbell มนุษย์ฝั่งดี vs ปีศาจฝั่งชั่ว ที่ต้องย้อนเวลาไปดำเนินเรื่องยุคสมัย Medieval Age ไม่ได้มีความน่าสนใจแม้แต่น้อย

ความสำเร็จระดับนานาชาติของ Evil Dead 2 (1987) ทำให้โปรดิวเซอร์สัญชาติอิตาเลี่ยน Dino De Laurentiis พร้อมสนับสนุนเงินทุนสร้างภาคต่ออีกครั้ง แต่เพราะ Sam Raimi ต้องการให้หนังมีความยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิม จึงตัดสินใจหาทุนเพิ่ม นำโปรเจคดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูน Darkman ไปเสนอ Universal Pictures ยินยอมทำตามเงื่อนไขเป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหากันเล็กน้อยช่วงการตัดต่อ แต่ผลลัพท์จากการตลาดที่ชาญฉลาด โฆษณาชักชวนผู้ชมอย่างได้ประสิทธิผล ทำกำไรให้หนังอย่างมหาศาล สตูดิโอจึงยอมเจียดเงินส่วนแบ่งมาให้สร้างหนังปิดไตรภาค Evil Dead เรื่องนี้ด้วย

ในตอนแรก Raimi ชักชวน Scott Spiegel ที่ร่วมเขียน Evil Dead 2 ให้มาร่วมพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ แต่เจ้าตัวติดงาน The Rookie (1990) ของผู้กำกับ Clint Eastwood จึงบอกปัดปฏิเสธ คราวนี้เลยร่วมงานกับพี่ชาย Ivan Raimi นำแรงบันดาลใจจาก
– A Connecticut Yankee in King Arthur’s Court
– Gulliver’s Travels
– The Seventh Voyage of Sinbad
– Jason and the Argonauts
– The Three Stooges
– Conan The Barbarian
ฯลฯ

ถ้าคุณเคยอ่าน/รับชมภาพยนตร์เรื่องที่กล่าวๆมานี้ ก็คงพบเห็นเข้าใจได้ไม่อยากกับ sub-plot ของหนัง ที่เป็นการคัทลอกมาอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับชื่อหนัง ตอนแรก Raimi วางแผนไว้คือ The Medieval Dead ก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็น Bruce Campbell vs. Army of Darkness ตามคำแนะนำของ Irvin Shapiro เป็นเทรนด์ของหนังเกรด B สมัยก่อนที่จะนำชื่อนักแสดงนำขึ้นหน้า ตามด้วย versus พบกับต่อสู้กับอะไร, แต่เพราะฉบับฉายอเมริกามันจะยาวไปหน่อย Universal เลยตัดให้เหลือเพียง Evil Dead III: Army of Darkness หรือสั้นๆว่า Army of Darkness

Ash (รับบทโดย Bruce Campbell) ได้ถูกส่งตัวย้อนเวลาพร้อมกับรถคันโปรดสู่ยุค Medieval Age ประมาณปี ค.ศ. 1,300 ถูกจับตัวโดย Lord Arthur (รับบทโดย Marcus Gilbert) ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับ Duke Henry the Red (รับบทโดย Richard Grove) แต่การปรากฎตัวของชายคนนี้ ได้ทำให้ The Wiseman (รับบทโดย Ian Abercrombie) คาดการณ์ว่าเขาอาจเป็น The Chosen One ผู้ที่จะสามารถนำหนังสือ Necronomicon กลับคืนสู่มือของมนุษย์ได้

Bruce Campbell เพื่อนรักนักแสดงขาประจำของ Raimi ที่แทบไม่เคยเห็นไปไหนไกลห่าง, หวนกลับมารับบท Ash ครั้งที่ 3 ครานี้สู่โหมด Comedy เต็มตัว สนอย่างเดียวคือทำอย่างไรให้ได้กลับบ้าน มองชาว Medieval ทั้งหลายว่า Primitive (นี่เป็นความ racist ที่รุนแรงมากๆ) เต็มไปด้วยคำหยาบคาย ภาษาแบบว่า ‘Hello Mr. Fancy Pants!’ แน่นอนต้องได้แอ้มสาว Sheila (รับบทโดย Embeth Davidtz) วัตถุทางเพศที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ช่วงกลางเรื่องจะมีแยกร่าง Good Ash กับ Evil Ash (Campbell เล่นเองทั้งสองบท) นัยยะตรงตัวเลยละ เป็นการต่อสู้ระหว่าง ความดี vs ความชั่ว

จาก Comedy ที่เพียงพอดีกับ Horror ใน Evil Dead II มาภาคนี้ตัดความหลอกหลอนสั่นประสาททิ้งไป ช่วงเวลาที่ Campbell เล่นตลกอยู่ตัวคนเดียว มันมีความล้นมากเกิน หลายครั้งไม่ขำสักนิด ฝืนๆยังไงชอบกล คงเพราะสโคปหนังที่ใหญ่มากๆ ทำให้รายละเอียดเล็กๆพวกนี้ถูกมองข้ามไปอย่างมาก กลับกลายเป็นตัวละครลักษณะ Stereotype คาดเดาง่ายเกินไปเสียอย่างนั้น

แต่ต้องยอมรับว่าฉากการต่อสู้กับตนเอง เป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะนักแสดงต้องจดจำทุกท่วงท่าอิริยาบท ตำแหน่งการเคลื่อนไหวของตนเอง เพื่อให้ขณะแสดงอีกรอบตัวละครฝั่งตรงข้าม ต้องสามารถตั้งรับตอบโต้ได้อย่างพอดิบพอดี

“Bruce was cussing and swearing some of the time because you had to work on the number system. Sam would tell us to make it as complicated and hard for Bruce as possible. ‘Make him go through torture!’ So we’d come up with these shots that were really, really difficult, and sometimes they would take thirty-seven takes”.

เกร็ด: Bridget Fonda มารับเชิญในหนังด้วยนะครับ รับบทเป็น Linda แฟนสาว Ash ใน Flashback

เกร็ด2: คาถา Klaatu Verata Nikto นำมาจากหนังไซไฟเรื่อง The Day the Earth Stood Still (1951) เป็นคำสั่งใช้หยุดหุ่นยนต์ Gort ที่จะมาทำลายล้างโลก

ถ่ายภาพโดย Bill Pope ขาประจำคนใหม่ของ Raimi พบเจอกันตอน Darkman และยังร่วมงานกันอีกใน Spider-Man Trilogy นอกจากนี้ยังมี The Matrix Trilogy, Men in Black 3 (2012), The Jungle Book (2016), Baby Driver (2017) ฯ

ไม่แน่ใจตั้งแต่ Darkman หรือเปล่าที่ Raimi เริ่มใช้การวาด Storyboard ทุกช็อตที่ต้องการนำเสนอออกมา นี่ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานได้เยอะ และช่วยให้งานถ่ายภาพของตากล้องดูง่ายขึ้นมาก แต่ยังถือว่ามีความท้าทายอยู่อีกหลายระดับ โดยเฉพาะสถานที่ถ่ายทำคราวนี้ไปยัง Bronson Canyon, Vasquez Rocks Natural Area Park ใกล้ๆกับทะเลทราย Mojave Desert กลางวันร้อนมาก กลางคืนหนาวสุดๆ ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่ Introvision ใน Hollywood

เทคนิคการถ่ายภาพจะไม่หวือหวาเท่ากับ Evil Dead เรื่องก่อนหน้า แต่ยังมีการเคารพคารวะภาคเก่า อาทิ POV สวมวิญญาณปีศาจ (Evil Force), Stop Motion, Dutch Angle ฯ

ความโดดเด่นของภาคนี้จะมี การต่อสู้กับมนุษย์จิ๋วทั้งหลายที่ออกมาจากกระจก และการเคลื่อนไหวของกองทัพโครงกระดูกช่วงท้าย ซึ่งจะมีการใช้เทคนิค Rear Projection เข้าช่วย สังเกตจากภาพพื้นหลังจะเบลอๆ มักเป็นตอนที่ Campbell ต่อสู้กับตนเอง ช็อตที่ต้องเห็นใบหน้าทั้งสองตัวละครพร้อมกัน

ตัดต่อโดย Bob Murawski ขาประจำของ Raimi พบเจอกันตอน Darkman และยังร่วมงานกันอีกใน Spider-Man Trilogy, Oz the Great and Powerful (2013) ฯ คว้า Oscar: Best Edited จาก The Hurt Locker (2009)

ประมาณ 5 นาทีแรกของหนัง กับการ recap สองภาคแรก เป็นอีกครั้งกับการถ่ายใหม่ แถมมีเปลี่ยนแปลงตอนจบภาคสองนิดนึงด้วยนะ เพื่อให้สามารถดำเนินเรื่องต่อภาคใหม่นี้ได้ … คงมีแต่ผู้กำกับ Sam Raimi เท่านั้นกระมังที่กล้าเปลี่ยนแปลงตอนจบของหนังภาคก่อน

หนังใช้มุมมองของ Ash ทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการเล่าให้เพื่อนฟังจากความฝัน/จินตนาการ มากกว่าเกิดขึ้นจริง (เพราะ Prologue กับ Epilogue เหมือนว่า Ash จะทำงานเป็นพนักงานติดป้ายราคาในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วกำลังเล่าเรื่องราวนี้ให้เพื่อนคนหนึ่งฟัง)

ช่วงสงครามหลังจากแบ่งฝั่ง Good Ash กับ Evil Ash มีการตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสอง นี่ก็ยังถือว่าเป็นมุมมองของ Ash อยู่นะครับ นักแสดงคนเดียวกันเหมาสอง

เกร็ด: ในเครดิตการตัดต่อจะมีชื่ออีกคนหนึ่ง R.O.C. Sandstorm นี่คือหนึ่งในนามปากกาของ Sam Raimi นะครับ

ข้อเสียหนึ่งของการได้งบประมาณจากสตูดิโอใหญ่ หลังถ่ายทำเสร็จในช่วงการตัดต่อ Post-Production ค่ายหนังมักจะเข้ามาฉุดดึงกระชากโปรเจคไปจากมือของผู้กำกับ ในกรณีที่ไม่พอใจผลลัพท์การตัดต่อ ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกัน Universal ได้ทำการเปลี่ยนแปลงตอนจบ เพิ่มฉากที่ Ash ทำงานใน S-Mart เข้ามาแล้วเกิด…, Raimi แสดงความเห็นต่อตอนจบทั้งสองแบบนี้ว่า ชอบแหะ

“Actually, I kind of like the fact that there are two endings, that in one alternate universe Bruce is screwed, and in another universe he’s some cheesy hero.”

เห็นว่า DVD ฉบับ Director’s Cut จะมีการนำ Alternate Ending ดั้งเดิมมาใส่แทนตอนจบที่ S-Mart ผมพบเจอใน Youtube คลิกรับชมดูได้เลย, เพราะความที่ The Wiseman บอกให้ดื่ม 6 หยด แต่พี่แกซัดไป 7 นอนหลับนานไป 100 ปี ตื่นขึ้นมาพบเจอกรุง London ในยุค Post-Apocalypse เอาจริงๆนี่สร้างต่อได้อีกภาคเลยนะเนี่ย!

เพลงประกอบโดย Joseph LoDuca นักแต่งเพลง Jazz สัญชาติอเมริกา หวนกลับมาทำเพลงให้อีกครั้งเพื่อปิดไตรภาค Evil Dead

คราวนี้กลิ่นอายของบทเพลง ออกแนวผจญภัย ต่อสู้ Action เว่ออลังการ มีสัมผัสของยุคสมัย Medieval อยู่นิดๆ ไร้ซึ่งความหลอนหลอกสยองขวัญ ขนลุกขนพองอีกต่อไป

แต่บทเพลงไฮไลท์ของหนัง March Of The Dead ไม่ใช่ผลงานของ LoDuca แต่คือ Danny Elfman ที่ได้ร่วมงานกับ Raimi ตอนสร้าง Darkman ก่อนตามด้วย Spider-Man Trilogy, ไม่แน่ใจเหตุผลเท่าไหร่ที่ทำไม Elfman ถึงแต่งเพลงนี้ แต่ทำให้ LoDuca ต้องเขียนเพลงประกอบอื่นๆ มีสัมผัสกลิ่นอายที่สอดคล้องรับกับเพลงนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

การกรีธาทัพของความตาย จัดเต็มด้วยออเครสต้าเต็มวง เสียงกลองทิมปานี ตุบ ตุบ ตุบ อย่างเป็นจังหวะต่อเนื่อง เหมือนเสียงฝีเท้ากำลังย่ำเหยียบลงพื้น ไฮไลท์อยู่ที่เสียงเป่าคาริเน็ต ในหนังจะมีโครงกระดูกตัวหนึ่ง หยิบกระดูกขึ้นมาเป่าได้จังหวะพอดิบพอดีเลย!, บางสิ่งอย่างที่ยิ่งใหญ่กำลังคืบคลาน ย่างกรายเข้ามา จงเตรียมพร้อมรับหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น

(ผมพยายามเงี่ยหูฟังเสียงคาริเน็ตในเพลงนี้ มันพอที่จะได้ยินนะครับแต่จะไม่ดังเด่นชัดแบบในหนัง คงมีการเน้นเสียงเครื่องดนตรีขึ้นมาในกระบวนการ Sound Edited/Mixing เลยได้ยินในหนังค่อนข้างดังทีเดียว)

ความสำเร็จของ Evil Dead 2 และ Darkman ทำให้ผู้กำกับ Sam Raimi เต็มไปด้วยความหยิ่งผยอง ในจิตใจของเขาราวกับว่า ฝ่ายธรรมะสามารถต่อสู้เอาชนะฝ่ายอธรรมที่เข้าครอบงำในช่วงการพ่ายแพ้ Crimewave (1986) ได้สำเร็จแล้ว นี่ทำให้ความหลอกหลอน Horror ได้ลดทอนลงไป ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาสนุกกับมัน เต็มที่กับชีวิต

ที่ต้องย้อนหวนไปถึงยุค Medieval Age เพราะนี่เป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ สงครามอันเกิดจากความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา (อาทิ สงครามครูเสด, สงครามร้อยปี ฯ) มนุษย์ยังเต็มไปด้วยความคิดหลงผิด เชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ แม่มด สัตว์ประหลาด ฯ เอาจริงๆผมว่าหนังไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไรเกี่ยวกับยุคสมัยแม้แต่น้อย แค่ใช้ประดับเป็นพื้นหลัง สามารถนำกำลังยกทัพทหารของฝั่งมนุษย์ ต่อสู้ปะทะกับฝูงภูติผีปีศาจ โครงกระดูก ผีดิบคืนชีพ ได้ก็เท่านั้น

อาจเป็นอิทธิพลมาจาก Kagemusha (1980) และ Ran (1985) สองผลงาน Masterpiece ยุคหลังของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa เมื่ออารมณ์ความรู้สึกต่อบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในจิตใจ จำเป็นต้องใช้ “ปริมาณ” เข้ามาช่วยนำเสนอ อธิบาย เปรียบเทียบ, กองทัพของมนุษย์ฝ่ายดี vs ฝูงผีปีศาจ โครงกระดูก นี่คือการต่อสู้ที่ทุ่มเอาทั้งชีวิตการงาน(ของผู้กำกับ Raimi)เป็นเดิมพัน ถ้าหนังออกฉายประสบความสำเร็จก็เท่ากับมนุษย์เป็นฝ่ายชนะ ตรงกันข้ามเจ๋งสนิทนักวิจารณ์ส่ายหน้า ก็คงหมดสิ้นซึ่งอนาคตในวงการ

ประเด็นเรื่องการเหยียด ทำไม Ash ถึงต้องแสดงความต่อต้านคนยุคสมัยนั้นอย่างออกนอกหน้าขนาดนี้!, จริงๆผมไม่ได้ Sensitive กับประเด็นนี้เท่าไหร่ แค่รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมาะสมควรนัก แม้จะเป็นหนังแนวตลกเสียดสีล้อเลียนก็เถอะ ซึ่งนัยยะของผู้กำกับอาจต้องการสะท้อนถึงส่วนธรรมะที่อยู่ในจิตใจตนเอง มันช่างมีน้อยและใสซื่อบริสุทธิ์เหลือเกิน แบบนี้จะสามารถไปต่อสู้เอาชนะอธรรมฝ่ายมารที่น่าเกลียดสุดอัปลักษณ์ได้อย่างไร พูดจาประชดเสียดสีก็เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ตัวสำนึก … แต่นี่เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเลยนะ

ด้วยทุนสร้าง $11 ล้านเหรียญ เปิดตัวในอเมริกาที่ $4.4 ล้านเหรียญ รวมตลอดโปรแกรมทำเงินได้ $11.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $21.5 ล้านเหรียญ ไม่ทำกำไรแต่ก็ไม่ถึงขั้นเลวร้าย

สิ่งที่ทำให้ผมเสียความรู้สึกในการรับชมหนังเรื่องนี้ ประกอบด้วย
– การแปรสภาพจากแนว Horror Comedy กลายเป็น Medieval Action Comedy แล้วไม่ได้มีกลิ่นอายสัมผัสของแฟนไชร์ Evil Dead ภาคก่อนๆอยู่สักเท่าไหร่
– การต่อสู้ระหว่าง ธรรมะ vs อธรรม, มนุษย์ vs ผีปีศาจ ที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ไม่ได้มีสาเหตุอะไรให้น่าพึงพอใจแม้แต่น้อย
– และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมอันบ้าบอคอแตกของพระเอก ได้พัฒนามาถึงจุดที่ฉันไม่สนใจแคร์อะไรแล้วทั้งนั้น ดูถูกล้อเลียน เสียดสีประชดประชันมันเสียทุกสิ่งอย่าง หยาบคายปากหมาไร้สมอง กลายสภาพเป็น Anti-Hero ที่ไม่น่าลุ้นเชียร์ให้กลับบ้านได้สำเร็จแม้แต่น้อย

ตอนผมเห็น Alternate Ending เป็นฉากจบที่สะใจมากๆ ผลลัพท์ของไอ้เxย Ash มันควรน่าสมน้ำหน้าแบบนี้แหละ ทำตัวเองล้วนๆ อวดฉลาด ปากดี หยิ่งผยองลำพอง ตื่นขึ้นมาครั้งนี้ไร้สิ้นความหวัง อนาคตดับวูบลงโดยสิ้นเชิง

บทเรียนที่ผมจะจดจำอย่างยิ่งหลังจากรับชมหนังเรื่องนี้ ‘ความเย่อหยิ่งจองหองเป็นสิ่งน่าอัปลักษณ์พอๆกับผีปีศาจ’ สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน, โลกจะมีความสงบสุขขึ้นมากถ้ามนุษย์รู้จักการไม่ยึดมั่นถือทิฐิ หลงผิดคิดว่าฉันสำคัญยิ่งใหญ่รู้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรมั่นคงจีรังถาวะ เมื่อใดถูกตอกหน้าย้อนศรโต้กลับ ใครที่ไหนจะอยากสงเคราะห์ช่วยเหลือ

ตอนหนังออกฉายได้เรต R แต่สมัยนี้ดูแล้วเรต 13+ ก็น่าจะเพียง ไม่ได้มีฉากน่ารังเกียจขยะแขยง แหวะๆมากเท่าภาคก่อนๆ จะมีก็แต่พฤติกรรมของ Ash ที่เลวร้ายเกินทน

TAGLINE | “Army of Darkness กองทัพแห่งความมืดของ Sam Raimi เหมือนจะได้รับชัยชนะเหนือมนุษย์ในศึกครานี้”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | WASTE