Taiyō no Ōji Horusu no Daibōken (1968)


The Great Adventure of Horus, Prince of the Sun (1968) Japanese : Isao Takahata ♥♥♥♡

ร่วมงานครั้งแรกระหว่าง Isao Takahata และ Hayao Miyazaki (Concept Artist, Scene Design และ Key Animation) แม้โปรดักชั่นล่าช้ากว่าสามปี บางฉากเหมือนยังไม่เสร็จดี ตัดต่อเร่งรีบรวบรัดเกินไป เข้าฉายไม่กี่วันก็เงียบหาย แต่กลับได้รับกระแสคัลท์ติดตามมา สร้างอิทธิพลให้วงการอนิเมชั่น จนกลายเป็นหนึ่งในอนิเมะยอดเยี่ยมตลอดกาล!

คำอาลัย (Eulogy) ในพิธีศพของ Isao Takahata โดย Hayao Miyazaki มีการพูดถึงแรกพบเจอ และความทรงจำระหว่างโปรดักชั่น Horus, Prince of the Sun (1968) ครั้งแรกที่พวกเขาร่วมงานกัน ผมนำมามาแค่บางส่วน ใครอยากอ่านเต็มๆคลิกที่ลิ้งค์ด้านล่าง

In 1963, we first met each other. Paku-san was 27 and I was 22, back then. I still remember the day when we exchanged words for the first time. I was waiting for the bus bound for Nerima at a bus stop in the twilight.​ A young man approached me walking down the street where some puddles remained right after it rained. “I heard you are meeting up with Segawa Takuo-san.” In front of me was the gentle and wise looking face of a young man. That was the moment when I first met Takahata-san, also known as Paku-san.​ I wonder, why do I still remember that this clearly, even though it was 55 years ago? I can even vividly remember the look on his face at that time.​

The production [of The Great Adventure of Horus, Prince of the Sun as Takahata worked as its screenwriter] did not proceed well. The staff were not familiar with [Takahata’s] new style. The progress was so slow that the project became a headache to the entire company. Paku-san was an incredible persistent guy. Even as the company’s top management tried to change his direction with, sometimes, threats and, sometimes, begging, he did not change. I worked by myself over weekends with no AC in the summer, drawing the sketches for the background pictures on big sheets of paper. The agreement with the labor’s union did not allow the work on weekends but I did not care. It was so simple. I just did not punch the time card for the weekend work.

After I watched the first version [of The Great Adventure of Horus] I could not move. It was not that I was moved, but I was totally taken by surprise. I was aware of the dispute over the scene of “Mayoi no Mori/The Enchanted forest” as to whether it should have been edited out or not. Paku-san negotiated with the company board patiently and he had no choice, but had to agree on the number of the animation frames and the number of work days to the deadline. Of course, he could not keep the agreement. More frame and more days cost. Every time he broke the agreement, he had to write an apologetic letter [to the company]. I wonder how many letters he had to write. I was also fully tied up with my own job and I could not help him in that tough fight.

I watched the scene with Hilda in the Enchanted forest at the first test screening. The overwhelming expression and the pictures! And so much love! I came to understand for the first time that this was what Paku-san wanted to create…

คำอาลัยของ Hayao Miyazaki กล่าวถึง Isao Takahata วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2018

LINK: https://www.cartoonbrew.com/rip/watch-hayao-miyazakis-eulogy-for-isao-takahata-158410.html


Horus, Prince of the Sun (1968) คือหนึ่งในภาพยนตร์อนิเมชั่นที่เต็มไปด้วยปัญหา ความล่าช้า ใช้งบบานปลายเกินกว่า ¥100 ล้านเยน (เป็นโปรดักชั่นอนิเมะใช้ทุนสร้างสูงสุดขณะนั้น ก่อนถูกโค่นล้มลงโดย Space Battleship Yamato (1977)) ส่วนหนึ่งเพราะความเรื่องมาก เอาแต่ใจ ‘Perfectionist’ ของผกก. Takahata จนสตูดิโอ Toei Animation ต้องเข้ามาจุ้นจ้านวุ่นวาย สั่งหยุดโปรดักชั่นหลายครั้งเพื่อปรับแก้ไข หลายสิ่งอย่างถูกรวบรัด ตัดถอน ให้อยู่ภายใต้ระยะเวลา 90 นาที! … กลายเป็นจุดแตกหักของ Takahata ปฏิเสธกำกับอนิเมะให้ Toei Animation อีกต่อไป!

วันก่อนผมเพิ่งรับชม Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963) แล้วพอต่อด้วย Horus, Prince of the Sun (1968) ช่วงแรกๆเกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ เพราะสังเกตเห็นหลายๆสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึงจนเกินไป??? แต่พอสักประมาณกลางเรื่อง การมาถึงของ Hilda (พากย์เสียงโดย Etsuko Ichihara) เด็กสาวน่าพิศวง ชวนลุ่มหลงใหล บังเกิดความคลั่งไคล้ อาจเป็นตัวละครอนิเมชั่นมีความสลับซับซ้อนที่สุด (ขณะนั้น) … ความรำคาญใจในช่วงแรกๆก็ค่อยๆเจือจางหาย

ผมแอบรู้สึกเสียดายที่ถ้ารับชม Horus, Prince of the Sun (1968) ห่างๆจาก Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963) อาจเกิดความชื่นชอบประทับใจมากนี้ แต่เพราะบังเอิญนั่งดูทั้งสองเรื่องในค่ำคืนเดียวกันอีกต่างหาก มันเลยเกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ แถมพบเห็นบางฉากเหมือนยังไม่เสร็จดี ตัดต่อเร่งรีบรวบรัดเกินไป แม้วิสัยทัศน์ของผกก. Takahata จะหัวก้าวหน้า ล้ำอนาคต และมีความเป็นส่วนตัวสักแค่ไหน ก็มิอาจลบเลือนอคติ ‘bad impression’ ที่บังเกิดขึ้นได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือเนื้อหาของอนิเมะ นี่ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก! มีฉากความรุนแรง การทรยศหักหลัง พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของเพื่อนมนุษย์, แรกเริ่มนั้นผกก. Takahata ต้องการดัดแปลงเรื่องราวชนพื้นเมือง Hokkaido ที่ถูกกดขี่ข่มเหง แต่สตูดิโอกลัวมีปัญหาเลยขอให้ปรับเปลี่ยนพื้นหลังเป็น Scandinavia ถึงอย่างนั้นใจความดั้งเดิมยังคงอยู่ และโดยไม่รู้ตัวสามารถสะท้อนถึงพฤติกรรมของ Toei Animation ไม่แตกต่างกัน!

เกร็ด: Horus: Prince of the Sun (1968) ติดอันดับ #11 ชาร์ท Laputa: Top 150 Japanese and World Animation (2003) ถือว่าสร้างอิทธิพลให้กับวงการอนิเมชั่นไม่น้อยทีเดียว!


Isao Takahata, 高畑 勲 (1935-2018) นักเขียน โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับอนิเมชั่น ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ujiyamada (ปัจจุบันคือ Ise), Mie น้องคนเล็กในครอบครัวเจ็ดคน บิดาเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยม เมื่อตอนเก้าขวบพบเห็นการโจมตีทางอากาศยัง Okayama City โชคดีเอาตัวรอดพานผ่านสงครามโลกได้อย่างหวุดหวิด

โตขึ้นเข้าศึกษาวรรณกรรมฝรั่งเศส University of Tokyo ระหว่างนั้นมีโอกาสรับชม The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) [ต้นฉบับของ The King and the Mockingbird (1980)] ของผู้กำกับ Paul Grimault ทำให้เกิดความสนใจในสื่ออนิเมชั่น สมัครเข้าทำงานยัง Toei Animation กลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963), กำกับบางตอนซีรีย์ Ken the Wolf Boy (1963-65) ฯ

หลังสะสมประสบการณ์กำกับอนิเมะซีรีย์มาหลายตอน เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1965 ผกก. Takahata ก็ได้รับมอบหมายโปรเจคภาพยนตร์อนิเมชั่น ดัดแปลงเทพนิยายพื้นบ้าน 龍の子太郎 (1960) อ่านว่า Tatsu no ko Tarō แปลว่า Taro the Dragon Boy รวบรวมโดย Miyoko Matsutani (1926-2015) แต่เริ่มต้นพัฒนาคอนเซ็ป/บทอนิเมะได้ไม่นาน กลับถูกสั่งยกเลิก เพราะแหล่งข่าวรายงานว่ามีซีรีย์หุ่นเชิด (Puppet Series) กำลังอยู่ในช่วงระหว่างโปรดักชั่น (ออกฉายปี ค.ศ. 1966) … พูดง่ายๆก็คือไม่ต้องการทำซ้ำ เพราะมีแนวโน้มจะออกฉายปีเดียวกัน

เกร็ด: ต้องรออีกกว่าทศวรรษที่ Toei Animation จะไฟเขียวภาพยนตร์อนิเมชั่น Taro the Dragon Boy (1979) กำกับโดย Kiriro Urayama เห็นว่านำเอาคอนเซ็ป/บทบางส่วนที่พัฒนาค้างไว้ของ Isao Takahata มาสานต่อให้เป็นรูปเป็นร่าง

พอโปรเจคเก่าถูกยกเลิกไป ผกก. Takahata จึงยื่นข้อเสนอใหม่ ดัดแปลงบทละครหุ่นเชิด チキサニの太陽 อ่านว่า Chikisani no Taiyō แปลว่า The Sun Above Chikisani พัฒนาโดยนักเขียน Kazuo Fukazawa, 深沢 一夫 ซึ่งทำการตีความเรื่องเล่าพื้นบ้าน (Oral Tradition) オキクルミと悪魔の子 อ่านว่า Okikurumi to akuma no ko ของชนพื้นเมือง Ainu (アィヌ) อาศัยอยู่บนเกาะ Hokkaido (และ Northeast Honshu) … น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดใดๆเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านดังกล่าว

สตูดิโอ Toei Animation ไม่ต้องการจะยุ่งเกี่ยวอะไรกับ Ainu People เพราะก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ A Whistle in My Heart (1959) ทั้งไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังสร้างปัญหาขัดแย้งกับชนพื้นเมือง จึงโน้มน้าวให้ปรับเปลี่ยนสถานที่พื้นหลังมาเป็นแถบ Scandinavia

บทอนิเมะได้รับการปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายครั้ง ไม่ใช่แค่จากนักเขียน Fukazawa, ผกก. Takahata แต่ยังรวมถึง Hayao Miyazaki (ไม่ได้มีการระบุว่าให้คำแนะนำอะไร เพียงบอกว่า ‘invaluable input’) กว่าจะได้รับความพึงพอใจก็บทร่างที่ห้า ล่วงเลยไปถึงกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 1966 ล่าช้ากว่ากำหนดสองเดือนเต็ม!

เกร็ด: เครดิตของ Hayao Miyazaki ประกอบด้วย Concept Artist, Scene Design และ Key Animation


พื้นหลังทางตอนเหนือของ Ancient Norway ในยุคสมัย Iron Age Scandinavia, เรื่องราวของเด็กชาย Horus (พากย์เสียงโดย Hisako Ōkata) กำลังต่อสู้กับฝูงหมาป่า โดยไม่รู้ตัวปลุกตื่นยักษ์หิน (Golem) ชื่อว่า Moug the Rock Giant ท้าทายให้ดึงดาบ Sword of the Sun ที่แม้ขึ้นสนิมเกรอะกรัง แต่ถ้าวันหนึ่งสามารถหลอมใหม่ จะได้รับการเรียกขาน Prince of the Sun

พอเด็กชาย Horus เดินทางกลับบ้าน พบเห็นบิดาในสภาพนอนติดเตียง เปิดเผยถึงต้นตระกูลมาจากหมู่บ้านติดทะเลทางตอนเหนือ ถูกทำลายล้างโดยปีศาจ Grunwald (พากย์เสียงโดย Mikijiro Hira) มอบหมายภารกิจให้บุตรชายออกเดินทาง และทำการล้างแค้น ทวงคืนความยุติธรรมให้กับทุกคน

ระหว่างการออกเดินทาง Horus ร่วมกับลูกหมี Koro บังเอิญเผชิญหน้ากับ Grunwald ปฏิเสธยินยอมก้มหัว เป็นขี้ข้ารับใช้ จึงถูกปล่อยให้ตกหน้าผา โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดชีวิต ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านใกล้เคียงที่กำลังถูกรุกรานโดยปลาใหญ่ และฝูงหมาป่า

Horus พยายามให้ความช่วยเหลือด้วยการต่อสู้กับปลาใหญ่และฝูงหมาป่า จนได้รับยกย่องวีรบุรุษประจำหมู่บ้าน แต่กลับถูก Drago มองด้วยสายตาอิจฉาริษยา พยายามพูดใส่ร้ายป้ายสี แถมยังโน้มน้าว Hilda (พากย์เสียงโดย Etsuko Ichihara) เด็กหญิงที่ Horus พากลับมายังหมู่บ้าน แท้จริงแล้วคือน้องสาวของ Grunwald เพื่อทำการขับไล่ ผลักไส จนทำให้เขาพลัดเข้าไปยัง The Enchanted Forest … สุดท้ายแล้ว Horus จะสามารถหาหนทางออก กลายเป็น Prince of the Sun ได้หรือไม่? และแผนการชั่วร้ายของ Grunwald จักลงเอยเช่นไร?


Horus เด็กชายวัย 14 ปี ผู้มีนิสัยซื่อตรง มั่นคง จริงใจ ยึดถือในสิ่งครุ่นคิดว่าถูกต้อง ปฏิเสธทรยศหักหลังพวกพ้อง ให้ความสำคัญกับผองเพื่อน ชอบช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่สนว่าตนเองจะต้องทนทุกข์ทรมานสักเพียงไหน อาจมีช่วงหนึ่งเกิดความโล้เลลังเลใจ แต่สุดท้ายก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม ไม่มีอะไรบั่นทอนอุดมการณ์เชื่อมั่น ท้ายที่สุดจึงได้รับยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษ Prince of the Sun

เกร็ด: Horus ตามตำนานเทพเจ้าแห่งไอยคุปต์ (Egyptian Mythology) คือเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ (Sun God) ลักษณะจะมีร่างกายเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นเหยี่ยว ดวงตาข้างซ้ายคือพระอาทิตย์ ดวงตาข้างขวาคือดวงจันทร์ ชาวอียิปต์โบราณยังมีความเชื่อว่าฟาโรห์คือเทพเจ้า Horus ที่มาจุติบนโลกมนุษย์

ออกแบบตัวละคร (Character Design) [และกำกับอนิเมชั่น (Animation Director)] โดย Yasuo Ōtsuka (1931-2021) แม้ว่า Horus อาจดูธรรมดาๆ ไม่ได้โดดเด่นเป็นสง่า หรือมีรายละเอียดน่าจดจำ แต่จุดประสงค์หลักๆเพื่อลดงานนักอนิเมอเตอร์ และให้เป็นตัวแทนบุคคลธรรมดาทั่วไป … ตัวละครลักษณะนี้ ในอนาคตอันใกล้จักกลายเป็นต้นแบบสไตล์ Ghibli

ให้เสียงพากย์โดย Hisako Ōkata, 大方 斐紗子 (เกิดปี 1936) นักร้อง/นักแสดงจาก Fukushima, น้ำเสียงของเธอมีห้าวๆ ฟังดูหนักแน่น เข้มแข็ง เอ่อล้นด้วยพลัง สอดคล้องเข้ากับอุดมการณ์มุ่งมั่น ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ผดุงความยุติธรรม พร้อมต่อสู้กับความชั่วร้าย ไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนาม

เกร็ด: ผมสอบถามจาก ChatGPT อนิเมะเรื่องแรก/เก่าแก่สุดที่นักพากย์หญิงให้เสียงตัวละครเด็กชาย ได้รับคำตอบคือ Astro Boy (1963)

แม้พระเอกจะไม่ค่อยมีอะไรน่าจดจำ แต่นางเอก Hilda เด็กสาวอายุ 15 ปี ถือเป็นไฮไลท์ที่ทำให้ผู้ชมเกิดความฉงนสงสัย แท้จริงแล้วคือใคร? ทำไมถึงเป็นบุคคลเดียวรอดชีวิตในอีกหมู่บ้าน? น้ำเสียงร้องเพลงของเธอ ไพเราะหรือสร้างความรำคาญ? สรุปแล้วมาดี-มาร้าย ต้องการจะทำอะไร? ใบหน้าสวยๆใช่ว่าจักต้องเป็นคนดีเสมอไป!

เกร็ด: Hilda มาจากภาษา Danish หมายถึง Secrecy, Hiding, ซึ่งถ้าอ้างอิงจากปรัมปรานอร์ส (Norse mythology) Hildr (ภาษา Old Norse แปลว่า Battle) คือหนึ่งใน Valkyries มีพลังในการชุบชีวิตคนตายในสนามรบ ทำให้การต่อสู้ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ออกแบบตัวละครโดย Yasuji Mori (1925-92) อีกหนึ่งโคตรนักอนิเมเตอร์รุ่นบุกเบิก บุคคลแรกรับหน้าที่กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) ให้กับภาพยนตร์ The Little Prince and the Eight-Headed Dragon (1963), สำหรับ Hilda สาวสวยหน้าใส แต่ภายในเต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเล ขัดแย้งภายใน ไม่สามารถเอาชนะมุมมืด ถูกควบคุมครอบงำโดยพี่ชายแท้ๆ รู้สึกผิดอย่างรุนแรงที่กระทำร้าย Horus … รูปลักษณะตัวละครนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบนางเอก Ghibli อีกเช่นเดียวกัน!

เกร็ด: จริงๆแล้วภาพร่างตัวละคร Hilda มีหลากหลายฉบับวาดโดย Reiko Okuyama, Yōichi Kotabe และ Hayao Miyazaki แต่ท้ายที่สุดผกก. Takahata ตัดสินใจเลือกของ Yusuji Mori ที่ดูนุ่มนวล อ่อนโยน มีความโค้งมน เพื่อให้ผู้ชมเกิดความฉงนสงสัย คนสวยๆไม่น่าจะกระทำสิ่งชั่วร้ายได้ลง

พากย์เสียงโดย Etsuko Ichihara, 市原 悦子 (1936-2019) นักแสดงจาก Chiba มีผลงานภาพยนตร์กว่าร้อยเรื่อง โด่งดังจากบทบาทสมทบ Black Rain (1989) คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actress, สำหรับการให้เสียง Hilda มีความละมุน นุ่มนวล เฉกเช่นเดียวกับการออกแบบตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดความขัดแย้งกับพฤติกรรมแสดงออก เวลาไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดมักแสดงท่าทางปฏิเสธ ก้าวร้าว ใช้ถ้อยคำเสียดสี ถากถาง … ทำไมคนงามถึงพูดจาอย่างนั้น มันมีลับลมคมในอะไรกันแน่

อีกตัวละครที่ต้องกล่าวถึงก็คือ Grunwald ราชาน้ำแข็งผู้มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ครุ่นคิดแต่แผนการทำลายล้าง เริ่มต้นด้วยการส่งหนอนบ่อนไส้ กัดกินแต่ละหมู่บ้านให้เกิดความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะจากภายใน แล้วส่งฝูงหมาป่าพร้อมสรรพสัตว์ใหญ่เข้าไปเข่นฆ่า กวาดล้าง จนทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง … ก็ไม่รู้ทำไปด้วยวัตถุประสงค์อันใด

ออกแบบตัวละครโดย Hayao Miyazaki ค่อนข้างชัดเจนมากๆว่าได้แรงบันดาลใจจากอนิเมชั่น The Snow Queen (1952) พยายามทำให้ใบหน้ามีเหลี่ยมมุม (ตรงกันข้ามกับ Horus และ Hilda ที่มีความโค้งมน) จะว่าไปพระราชวัง/ปราสาทคริสทัลของ Grunwald ก็มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงด้วยเช่นกัน

เกร็ด: Grunwald หรือ Grünwald เป็นคำจากภาษาเยอรมัน ‘Middle High German’ ดั้งเดิมคือ Grewen แปลว่า grow, develop, หรือถ้าสื่อถึงสถานที่จะหมายถึง meadow, grassland, และชื่อเทศบาลในเขตเมือง Munich, รัฐ Bavaria, ประเทศ Germany

ให้เสียงโดย Mikijirō Hira, 平 幹二朗 (1933-2016) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที เจ้าของฉายา “Japan’s best Shakespearean actor” ด้วยน้ำเสียงคมเข้ม พยายามกดให้ทุ้มต่ำ แสดงถึงความเจ้าเล่ห์ เต็มไปด้วยเหลี่ยมคม แค่เสียงหัวเราะก็อาจทำให้หลายคนเกิดอาการหลอกหลอน เวลาเกรี้ยวกราดมักใส่อารมณ์ จนคนรอบข้าง(รวมถึงผู้ชม)เกิดความหวาดสะพรึงกลัว ไม่กล้าโต้ตอบ หือรือ ยินยอมก้มหัวศิโรราบแต่โดยดี

แถมให้กับยักษ์หิน Moug the Rock Giant และแมมมอธน้ำแข็ง ทั้งสองตัวละครออกแบบโดย Hayao Miyazaki หนึ่งคือธาตุดิน อีกหนึ่งคือธาตุน้ำ(แข็ง) สองสิ่งขั้วตรงข้ามที่เมื่อเผชิญหน้า ย่อมก่อให้เกิดการทำลายล้าง

  • อุปนิสัยของ Horos = Moug the Rock Giant ธาตุดิน/หิน มีความหนักแน่น มั่นคง ซื่อตรง ไม่มีสิ่งใดสามารถสั่นคลอนความเชื่อ อุดมการณ์
  • Grunwald (และ Hilda) = แมมมอธน้ำแข็ง แม้ร่างกายใหญ่โต พลังทำลายล้างมหาศาล แต่เต็มไปด้วยจุดอ่อน เปราะบาง หลอมละลายโดยเปลวเพลิง และพ่ายแพ้การสู้กับ Moug the Rock Giant

แม้บทอนิเมะจะพัฒนาเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1966 แต่ความล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้เกิดช่วงเวลาเหลื่อมล้ำกับโปรเจคอื่น ผกก. Takahata ถูกย้ายไปช่วยงานกำกับซีรีย์อนิเมะ ก่อนจะหวนกลับมาทำ Storyboard จริงๆก็เดือนตุลาคม และโปรดักชั่นเริ่มต้นงานสร้างเมื่อมกราคม ค.ศ. 1967 เสร็จสิ้นประมาณมีนาคม ค.ศ. 1968 (รอบทดลองฉาย)

แบบเดียวกับ The Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963) อนิเมะเรื่องนี้ถ่ายทำโดย Toeiscope หรือก็คือระบบ CinemaScope อัตราส่วนภาพ Anamorphic Widescreen (2.39:1) แม้อาจเพิ่มภาระงานให้นักอนิเมเตอร์ แต่ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์อนิเมชั่น ก็ยิ่งใหญ่อลังการเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ (รวมถึง The Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963)) มุมมองการถ่ายภาพของอนิเมะ/อนิเมชั่น มักมีลักษณะตรงไปตรงไป จัดวางให้ตัวละครอยู่กึ่งกลางเฟรม หรือพยายามทำให้เกิดความสมมาตร แต่วิสัยทัศน์ของผกก. Takahata ได้รับอิทธิพลจากวงการภาพยนตร์ และอนิเมชั่นมาสเตอร์พีซ The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952) เต็มไปด้วยมุมกล้องแปลกๆพิศดาร ก้ม-เงย-เอียง ซูมมิ่ง (Zooming) แพนนิ่ง (Panning) ภาพนิ่ง (Freeze Frame) รวมถึงระยะภาพใกล้-กลาง-ไกล (Close-Up, Medium Shot, Long Shot และ Extreme-Long Shot ฯ) แพรวพราวด้วยสารพัดเทคนิคภาพยนตร์

ถ้าเป็นภาพยนตร์/อนิเมชั่นยุคก่อนหน้า เริ่มต้นอารัมบทมักมีการพูดเกริ่น คำบรรยายโน่นนี่นั่น กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เตรียมความพร้อมผู้ชมนำเข้าสู่เรื่องราว แต่สำหรับ Horus: Prince of the Sun (1968) มาถึงก็ฉากแอ๊คชั่น ต่อสู้ ฝูงหมาป่ากำลังไล่ล่า พยายามจะเข่นฆ่าเด็กชาย Horus มันช่างเป็นเหตุการณ์ขวัญผวา อันตราย เฉียดตาย สร้างความตกอกตกใจ ไม่ค่อยเหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่จิตใจอ่อนไหว … นี่คือวิสัยทัศน์ของผกก. Takahata ที่ถือว่าล้ำยุคสมัยนั้น กล้าทำสิ่งแปลกใหม่ สร้างความคาดหวังสูงลิบลิ่วให้กับผู้ชม

เพื่อสร้างสัมผัสความใหญ่โตมโหฬารของ Moug the Rock Giant ถ้าเป็นอนิเมะยุคก่อนอาจจะมีแค่ภาพ Extream-Long Shot แล้วก็ตัดสลับ Close-Up ใบหน้าตัวละครทั้งสอง

แต่วิสัยทัศน์ของผกก. Takahata ยังแทรกใส่มุมก้ม-เงย เด็กชายแหงนมองเห็นความสูงใหญ่ล้นเฟรมของยักษ์หิน และสายตาโกเลมก้มลงมาเห็นเด็กชายตัวเล็กกระจิดริด … จริงๆยังมีมุมกล้องอื่นๆอีก แต่อธิบายเพียงเท่านี้น่าจะเพียงพอให้เห็นภาพคร่าวๆของลูกเล่นการสร้างสัมผัสความใหญ่โตมโหฬาร นี่คือลักษณะของ “Modern Animation”

การเผชิญหน้าครั้งแรกระหว่าง Horus และ Grunwald นี่อาจเป็นซีเควนซ์ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ลีลาการกำกับของ Takahata สร้างความแตกต่างอย่างน่าตกตะลึง เต็มไปด้วยสารพัดมุมกล้องจากแทบทุกมุมมองเป็นไปได้! ระยะภาพไกล-กลาง-ใกล้ โคลสอัพใบหน้า มุมมองสายตา ร้อยเรียงแปะติดปะต่อจนมีความต่อเนื่องลื่นไหล … ภาษาภาพยนตร์มีคำเรียกว่า ‘Mise-en-scène’ น่าจะครั้งแรกในวงการอนิเมชั่นเลยกระมังนะ!

มุมกล้องที่สร้างความประหลาดใจให้ผมมากสุดของซีเควนซ์ คือมุมมองของ Horus จับจ้องมอง Grunwald เอาจริงๆเส้นเชือกจะทำให้คมชัดก็ยังได้ แต่กลับเลือกทำให้เบลอๆเพื่อสร้างสัมผัสตื้น-ลึก คล้ายการปรับระยะโฟกัสใกล้-ใกล้ (ถ้าปรับโฟกัสสำหรับถ่ายภาพระยะไกล จะทำให้เห็นภาพใกล้ๆไม่คมชัด หรือคือเชือกเส้นนี้ที่ดูเบลอๆหลุดโฟกัส)

ตอนที่ Horus สูญเสียคนในครอบครัว จึงตัดสินใจออกเดินทาง ล่องเรือผจญภัยไปกับสัตว์เลี้ยงคู่หู ผมยังไม่ตะขิดตะขวงใจสักเท่าไหร่ แต่พอต่อสู้กับเจ้าปลายักษ์เท่านั้นแหละ เริ่มรู้สึกไม่ค่อยพึงพอใจ มันละม้ายคล้าย The Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963) มากเกินไปไหม?? จะมาอ้างว่าเรื่องเล่าปรับปราเริ่มต้นแบบนี้ก็ไม่ถูก เพราะ Takahata เคยทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ #TLPatEHD ย่อมต้องรับรู้อย่างชัดเจนว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่

ผมนำปลาทั้งสองตัวมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ แม้มันไม่ใช่สปีชีย์เดียวกัน แต่ความละม้ายคล้ายคลึง รวมถึงเหตุผลการต่อสู้ ย่อมทำให้ผู้ชมที่รับชมอนิเมะทั้งสองเรื่องตระหนักถึงการ ‘rip off’ สร้างข้อครหาให้ผู้สร้างไม่น้อยทีเดียว

แต่อย่างน้อยความตายของปลายักษ์ใน Horus: Prince of the Sun (1968) ไม่ได้เกิดจากการเอาชนะด้วยพละกำลัง เจ้าปลาถูกทิ่มแทงดวงตา แสดงอาการคลุ้มคลั่ง (Berserk) แล้วพุ่งชนโขนหินจนดินถล่มลงมา แฝงนัยยะถึงพ่ายแพ้ภัยตนเอง หรือก็คือกรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมหวนกลับคืนสนอง

อย่างที่บอกไปแล้วว่าปราสาทคริสทัลของ Grunwald นำแรงบันดาลใจจาก The Snow Queen (1952) แต่สิ่งที่ผกก. Takahata และ Hayao Miyazaki ในฐานะ Scene Design) พยายามนำเสนอออกมานี้ รับอิทธิพลเต็มๆจาก The Shepherdess and the Chimney Sweep (1952)

แทนที่จะนำเสนอภาพหน้าตรง Grunwald นั่งสง่างามอยู่บนบัลลังก์ กลับเต็มไปด้วยมุมกล้องแปลกๆ ราวกับอาศัยอยู่ในถ้ำคริสทัล(น้ำแข็ง) เจ้าหมาป่าต้องแหงนหน้ามองพระราชาเบื้องบน ช่างเหินห่าง ไกลเกินเอื้อมไขว่คว้า รวมถึงบรรยากาศเวิ้งว่าง วังเวง ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด … คล้ายๆปราสาท Xanadu ของ Citizen Kane (1942)

หลังงานเลี้ยงปาร์ตี้ทั้งสองครั้ง (หลังการเก็บเกี่ยว และงานแต่งงาน) หมู่บ้านแห่งนี้ต่างถูกบุกรุกรานโดยฝูงหมาป่า และฝูงหนู เข้ามาทำลายสิ่งข้าวของ ได้รับความเสียหายทั้งร่างกายและทรัพย์สิน ซึ่งล้วนนำเสนอในลักษณะภาพนิ่ง ‘Freeze Frame’ บางคนอาจมองว่านี่ความติสต์แตกของผกก. Takahata แต่แท้จริงแล้วคืองานไม่เสร็จ ไม่มีงบประมาณ ไม่ต้องการตัดทิ้งซีเควนซ์ ก็เลยค้างๆคาๆเอาไว้แบบนี้แหละ

บางคนอาจยังมองว่าทั้งสองซีนต่างมีภาพการต่อสู้ที่ดูเหี้ยมโหดร้าย ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ใช้วิธีการนี้สามารถลดทอนความรุนแรง … แต่เดี๋ยวก่อนนะ แล้วตอนอารัมบท ฉากแรกของอนิเมะที่ Horus ถูกไล่ล่าโดยฝูงหมาป่า มันไม่ดูรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย ต่างอะไรกับสองซีเควนซ์นี้??

ผมรับชมซีเควนซ์นี้ด้วยอารมณ์หงุดหงิด หัวเสียยิ่งกว่าตอนสังเกตเห็นการ ‘rip off’ จาก The Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963) เพราะตระหนักถึงเหตุผลที่ผกก. Takahata ตัดสินใจทำเช่นนี้ เนื่องจากถูกเบื้องบนบีบบังคับ สั่งการลงมา ใครกันอยากจะให้ผลงานตนเองค้างๆคาๆ สร้างไม่เสร็จลักษณะนี้!

แรกพบเจอ Hilda ในสายตาของ Horus ทั้งน้ำเสียงและรูปร่างหน้าตา ราวกับนางฟ้ามาจุติ นั่งอยู่เบื้องบนเสาไม้ ถ่ายติดพื้นหลังท้องฟ้ากว้างใหญ่ จากนั้นเธอกระโดดลงมายังพื้นดิน แต่กล้องก็ยังถ่ายมุมเงยขึ้น จนกระทั่งเด็กชายเดินเข้าใกล้ เริ่มพูดคุยสนทนา ถึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาถ่ายมุมก้มติดผืนผิวน้ำ

เพราะยังไม่เคยรับรู้จัก เมื่อแรกพบเจอ ‘first impression’ จึงมองว่าเธอประดุจนางฟ้าบนสรวงสวรรค์ แต่พอเริ่มพูดคุยสนทนา มุมกล้องก็บอกใบ้ตัวตนแท้จริง สภาพจิตใจที่ตกต่ำ ดำมืด คนรับใช้ของปีศาจร้าย Grunwald

Enchanted Forest, ป่าหลงเสน่ห์ สถานที่(ยอดฮิต)ในนิทานพื้นบ้านและแฟนตาซี มักเป็นดินแดนที่ตัวละครไม่รับรู้จัก มีทั้งอันตราย ความท้าทาย เต็มไปด้วยสิ่งเหนือจินตนาการ สำหรับหลบซ่อนตัว ออกผจญภัย เผชิญหน้าความหวาดกลัว ไม่ก็ค้นหาตัวตนเอง

ในบริบทของอนิเมะทำเป็นหลุมขนาดใหญ่ Hilda ผลัก Horus ตกลงไป (สามารถสื่อถึงจุดตกต่ำของ Horus) ซึ่งสิ่งที่เด็กชายต้องเผชิญล้วนคือภาพลวงตา สร้างความหลอกหลอนจิตวิญญาณ

  • รายล้อมรอบด้วยกิ่งก้านระโยงระยาง รากไม้หลากหลายสีสัน ผมมองว่าคืออุปสรรคขวากหนาม สิ่งพยายามเกาะติด เหนี่ยวรั้ง กลบฝังไม่ให้ Horus สามารถดิ้นหลบหนี หาหนทางออก
  • พลัดตกลงมาในหนองน้ำ พบเห็นเรือไวกิ้งของบิดา เต็มไปด้วยปริศนา คำถามไร้ซึ่งคำตอบ
  • ภาพของ Hilda ล่องล่อยเข้าหา พร้อมกับ Grunwald คอยควบคุมครอบงำอยู่เบื้องหลัง
  • จากนั้น Hilda แบ่งแยกร่างออกเป็นหลายคน โยกไปโยกมา เหมือนมีใครชักใยอยู่เบื้องบน (ซึ่งก็คือพี่ชาย Grunwald)

หลายคนคงเกาหัวแครกๆ Sword of the Sun ที่เต็มไปด้วยสนิมเกรอะกรัง แล้วจู่ๆหลังจาก Horus ก้าวออกมาจาก The Enchanted Forest ถึงมีสภาพใหม่เอี่ยมอ่อง ใครกันเป็นคนหล่อหลอม? เอาไปทำอะไรยังไงตอนไหน?

คำตอบอยู่ที่ภาพช็อตนี้ระหว่าง Horus พบเจอหนทางออกจาก The Enchanted Forest พบเห็นภาพซ้อนขณะหลอม/ตีดาบ ซึ่งนี่ไม่ใช่ความหมายเชิงรูปธรรม แต่เป็นการ ‘หลอมจิตวิญญาณ’ สอดคล้องเหตุผลที่เด็กชายเอาตัวรอดออกจาก Enchanted Forest เพราะสามารถค้นพบอุดมการณ์มุ่งมั่น ความต้องการแท้จริง (เข้าใจว่า Hilda ถูกชักใยโดย Grunwald) นั่นคือการปกป้องหมู่บ้าน กำจัดภัยพาล เผชิญหน้า Grunwald เติมเต็มคำสั่งเสียสุดท้ายของบิดา

ชัยชนะของ Moug the Rock Giant ต่อแมมมอธน้ำแข็ง คือผลักตกจากหน้าผา แต่ความสูงแค่นั้นดูมันไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ เอาว่าแฝงนัยยะถึงความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง สักวันหนึ่งเมื่อถูกผลักลงมาจากเบื้องบน จนแหลกละเอียด ไม่เหลือเศษซากชิ้นดี

ขณะที่ชัยชนะต่อ Grunwald เกิดจากการรวมแรงรวมใจของชาวบ้าน สาดส่องแสงเข้ามาในถ้ำ ทำให้จากเคยปกคลุมด้วยความมืดมิด พลันเกิดความส่องสว่างไปทั่วทุกสารทิศ (ภาพมุมนี้ก้มลงมา ทำให้เห็นเบื้องล่างราวกับโลกกลมๆ) และเด็กชาย Horus โยนดาบ Sword of the Sun ทำให้สถานที่แห่งนี้จมลงสู่ก้นเบื้อง ธรณีสูบ … สรุปก็คือธรรมะชนะอธรรม แสงอาทิตย์ทำให้ความมืดมิดจางหายไป

หลังจากเอาชนะ Grunwald (ทางกายภาพ) สำหรับ Hilda ราวกับว่า Horus ได้ทำการปัดเป่าความมืดที่อยู่ภายในจิตใจ เมื่อเธอฟื้นตื่นขึ้นมา จะมีช็อตเดินผ่านธารน้ำ พบเห็นภาพสะท้อนตัวตนแท้จริง (สื่อว่า False ได้ถูกทำลายลงไป) จากนั้นหยุดยืนข้างต้นไม้ เหม่อมองหมู่บ้านสร้างใหม่ ทุกสิ่งอย่างได้รับการให้อภัย จากนั้นจับมือร่วมออกเดินทางสู่อนาคต ทุ่งหญ้า ฟ้าคราม เทือกเขาสูงใหญ่

ตัดต่อโดย Yutaka Chikura,

อนิเมะดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Horus หลังสูญเสียบิดา ออกเดินทางมาเผชิญหน้า Grunwald จากนั้นพยายามปกป้องหมู่บ้านที่ให้การช่วยเหลือตนเอง แม้จะถูกกีดกัน ผลักไส เกิดความเข้าใจผิดๆ แต่ก็ยังหวนกลับมาหลังค้นพบความมุ่งมั่นที่ไม่สั่นคลอน และสามารถหลอมดาบ Sword of the Sun ได้สำเร็จเสียที

  • อารัมบท
    • Horus ถูกไล่ล่าโดยฝูงหมาป่า
    • ได้รับความช่วยเหลือจาก Moug the Rock Giant เลยทำการดึงดาบออกจากบ่า
  • เริ่มต้นการผจญภัยของ Horus
    • Opening Credit, Horus เดินทางกลับบ้าน
    • บิดาในสภาพใกล้ตาย เล่าเหตุการณ์เกิดนขึ้นในอดีต และสั่งเสียครั้งสุดท้าย
    • Horus ออกเดินทางเพื่อทำภารกิจสั่งเสียของบิดา
    • ระหว่างปีนป่าย พลัดตกลงมา เผชิญหน้าศัตรูคู่อาฆาต Grunwald
  • วีรบุรุษ Horus
    • Horus ล่องลอยคอไปตามแม่น้ำมาถึงยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
    • หลังจากได้ยินข่าวปลายักษ์เข่นฆ่าคนในหมู่บ้าน Horus ต้องการตอบแทนบุญคุณ
    • ออกเดินทางไปต่อสู้ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย จนสามารถเข่นฆ่าเจ้าปลายักษ์
    • แม้ไม่มีใครอยากเชื่อว่า Horus ทำสำเร็จ แต่ในที่สุดฝูงปลาก็หวนกลับคืนมาในลำธาร
    • ค่ำคืนนี้จึงมีงานเลี้ยงฉลอง แต่ไม่ทันไรก็ถูกรุกรานโดยฝูงหมาป่า
  • แรกพบเจอ Hilda
    • Horus ไล่ล่าติดตามฝูงหมาป่ามาจนถึงหมู่บ้านร้างแห่งหนึ่ง
    • แรกพบเจอ Hilda ลุ่มหลงใหลในน้ำเสียงร้องเพลง จึงชักชวนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน
    • น้ำเสียงร้องของ Hilda ทำให้ชาวบ้านชาวช่องไม่เป็นอันทำงาน
    • หนึ่งในสมาชิกหมู่บ้าน Drago เลยครุ่นคิดวางแผนใช้ประโยชน์จาก Hilda เพื่อใส่ร้ายป้ายสี Horus
    • ระหว่างงานแต่งงานของคู่รักหนุ่มสาว หมู่บ้านแห่งนี้ถูกฝูงหนูบุกเข้าโจมตี
  • Hilda คือใคร?
    • ยามเช้าระหว่าง Hilda กำลังสนุกสนานกับเด็กๆ ได้รับการส่งสาสน์จากลูกสมุนของ Grunwald
    • Horus ถูกใส่ร้ายป้ายสี โดยที่ Hilda เป็นประจักษ์พยาน เลยถูกขับไล่ ผลักไส
    • Horus เผชิญหน้ากับ Hilda ก่อนถูกเธอผลักตกลงมายัง Enchanted forest
  • การต่อสู้ของ Horus
    • Horus เผชิญหน้ากับฝันร้ายใน Enchanted forest
    • ขณะเดียวกัน Grunwald ส่งกองกำลังบุกเข้าจู่โจม ทำลายล้างหมู่บ้าน
    • Horus หลังสามารถออกจาก Enchanted forest ทำการหลอมดาบสำเร็จ
    • การเผชิญหน้าระหว่าง Moug the Rock Giant vs. แมมมอธน้ำแข็ง
    • การเผชิญหน้าระหว่าง Horus vs. Grunwald
    • จบลงด้วยการให้อภัยของ Horus และ Hilda

ลีลาการตัดต่อ สลับสับเปลี่ยนมุมกล้อง ร้อยเรียงเรื่องราว ต้องชมว่าทำออกมาได้อย่างแพรวพราว น่าตื่นตาตื่นใจ เต็มไปด้วยลูกเล่น แนวคิดแปลกใหม่ แต่น่าเสียดายที่บางซีเควนซ์ชัดเจนว่ายังสร้างไม่เสร็จ และผมยังรู้สึกว่าการดำเนินเรื่องเร่งรีบ รวดเร็วเกินไป มันควรความยาวอย่างน้อยสองชั่วโมง ไม่ใช่แค่ 82 นาที นี่ไม่ใช่ความผิดของผกก. Takahata แต่ต้องโทษสตูดิโอ Toei Animation มองไม่เห็นวิสัยทัศน์ของอัจฉริยะ

เมื่อถูกบีบบังคับให้ลดระยะเวลาจากสองชั่วโมงเหลือแค่ 82 นาที แทนที่ผกก. Takahata จะเลือกตัดบางซีเควนซ์ออกไป กลับใช้วิธีการคล้ายๆ Jean-Luc Godard ระหว่างสรรค์สร้าง Breathless (1960) แต่ไม่ใช่แบบ ‘jump cut’ กระโดดไปกระโดดมา พยายามแทะเล็มรายละเอียดในแต่ละช็อตให้มีความกระชับ รวบรัด รายละเอียดยังครบถ้วนสมบูรณ์ แค่เพียงเรื่องราวดำเนินไปอย่างรวดเร็ว (ราวกับรับชมด้วยสปีด x1.5)


เพลงประกอบโดย Michio Mamiya, 間宮芳生 (เกิดปี 1929) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Asahikawa, Hokkaido ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในดนตรีพื้นบ้าน (Japanese Folk Music) ฝึกฝนการแต่งเพลง-เล่นเปียโนด้วยตนเอง (Self-Taught) จนกระทั่งได้เข้าศึกษา Tokyo College of Music (ปัจจุบันคือ Tokyo University of the Arts) สรรค์สร้างผลงานออร์เคสตรา, Sonata, Concerto, Opera, Choral Music, เพลงประกอบอนิเมชั่น Horus: Prince of the Sun (1968), Gauche the Cellist (1982), Grave of the Fireflies (1988) ฯ

แม้สถานที่พื้นหลังจะคือดินแดนแถบ Scandinavia แต่ผมกลับไม่ได้กลิ่นอายชนพื้นเมือง(ไวกิ้ง)สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องดนตรีตะวันตก บรรเลงออร์เคสตรา ท่วงทำนองคลาสสิก และเนื้อคำร้องภาษาญี่ปุ่น ฟังดูมีความสากล ไม่จำเพาะเจาะจงชาติพันธุ์

มันอาจเพราะการดำเนินเรื่องที่มีความรวดเร็ว เร่งรีบร้อนเกินไป ทำให้ผมไม่สามารถดื่มด่ำไปกับบทเพลงสักเท่าไหร่ แนวทางของ Mamiya เน้นปลุกกระตุ้นอารมณ์ ให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นโดยทันที (ลักษณะเหมือน Expressionism)

อย่างบทเพลงแรก ホルスと岩男モーグ อ่านว่า Horusu to Iwao mōgu แปลว่า Horus and Moug the Rock Giant เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองที่สร้างความตื่นตระหนักตกใจ เด็กชาย Horus กำลังต่อสู้เป็น-ตายกับฝูงหมาป่า แต่พอถึงกลางบทเพลงทุกสิ่งอย่างกลับพลิกกลับตารปัตร การฟื้นตื่นขึ้นของหินยักษ์ ขับไล่ฝูงหมาป่า เผชิญหน้าเด็กชาย กลายเป็นความน่าพิศวง ฉงนสงสัย ปีนป่ายขึ้นไปเบื้องบน ดึงดาบออกจากก้อนหิน … การแปรสภาพของบทเพลงในลักษณะขั้วตรงข้ามเช่นนี้ สามารถสะท้อนทุกสิ่งอย่างในอนิเมะที่สำรวจสองฟากฝั่ง ดี-ชั่ว รวมถึงบริเวณเลือนลางระหว่างกลาง

Opening Song จะถือว่าเป็น Main Theme ก็ได้กระมัง! คำร้องโดย Kazuo Fukazawa, ขับร้องโดย Chofu Boys and Girls Chorus, ท่วงทำนองมีความสนุกสนาน ร้อยเรียงภาพการผจญภัย ออกเดินทางด้วยความมุ่งมั่น ต้องการเติมเต็มความใฝ่ฝัน ด้วยการไปให้ถึงเป้าหมายปลายทาง

Go, go, Horus
Towards luminous days
By your side, we run until opening the ground

Go, go, Horus
Hold up the sword of hope
By your side, we run until splitting the wind

Call the sun
Call the sun

Go, go, Horus
For we are by your side

Go, go, Horus
Firmly, raise your arms
By your side, let us break the waves

Call the sun

Go, go, Horus
We are by your side

หลายคนอาจมองว่าท่วงทำนองเพลงเก็บเกี่ยว (Song of the Harvest) และงานแต่งงาน (Song of the Wedding) น่าจะมีกลิ่นอายของ Scandinavia แต่ไม่เลยนะครับ! ผมรู้สึกว่าออกไปทางยุโรปตะวันออก ฟากฝั่งรัสเซียเสียมากกว่า แต่ทั้งหมดบรรเลงโดยเครื่องดนตรีคลาสสิก มันจึงคือการผสมผสานให้ได้กลิ่นอายพื้นบ้าน ร้องรำทำเพลงด้วยความสนุกสนานครื้นเครง

สามบทเพลงขับร้องโดย Hilda ล้วนมีความไพเราะเพราะพริ้ง Hilda’s Song, Hilda’s Lullaby และ Hilda’s Song of Sorrow ทั้งหมดแต่งคำร้องโดย Kazuo Fukazawa, ขับร้องโดย Mutsumi Masuda และบรรเลง Lute โดย Mitsuhiko Hamada

สำหรับ ヒルダの唄 อ่านว่า Hiruda no uta แปลว่า Hilda’s Song ขับร้องขณะแรกพบเจอ Horus เต็มไปด้วยความเหงาหงอย เศร้าซึม โดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนเคียงข้าง ในอนิเมะมีการตัดแบ่งออกเป็นท่อนๆ (แบบเดียวกับ Jean-Luc Godard ภาพยนตร์ A Woman Is a Woman (1961)) เพื่อลดระยะเวลาการนำเสนอ ก็เลยอยากเอาบทเพลงเต็มๆแบบไม่มีตัดมาให้รับฟัง … แต่ก็น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถค้นหาเนื้อร้องและคำแปล แค่ฟังเพลินๆก็แล้วกันนะครับ

อีกบทเพลงไพเราะไม่แพ้กัน ヒルダの子守唄 อ่านว่า Hiruda no komori-uta แปลว่า Hilda’s Lullaby, น้ำเสียงของ Mutsumi Masuda (น่าจะระดับเสียง Soprano) ช่างมีความตราตรึง ดึงดูดความสนใจ ใครต่อใครบังเกิดความลุ่มหลง ถึงขนาดหยุดการหยุดงาน รับฟังแล้วเคลิบเคลิบหลับใหล

เฉกเช่นเดียวกับ Hilda’s Song บทเพลงที่ได้ยินในอนิเมะมีการตัดต่อ ขาดๆหายๆ บางครั้งคั่นด้วยบทสนทนา ถ้าอยากฟังเต็มๆต้องซื้อเพลงประกอบอัลบัม หาเนื้อร้องคำแปลอีกเช่นกัน

ชื่อบทเพลงสุดท้าย 太陽の剣 อ่านว่า Taiyō no ken แปลว่า Sword of the Sun แต่ปัจฉิมบทกลับไม่มีอะไรเกี่ยวกับดาบเล่มนี้! นั่นแปลว่าภาพพบเห็นมันอาจแฝงนัยยะบางอย่างที่สะท้อนถึงเรื่องราวบังเกิดขึ้น

ปัจฉิมบทเริ่มต้นด้วย Hilda ฟื้นตื่นขึ้นบนท้องทุ่งกว้าง เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังใจ ฉันเคยทำสิ่งเลวร้ายเอาไว้ ครุ่นคิดว่าใครต่อใครคงไม่ให้การยินยอมรับ แต่ระหว่างด้อมๆมองๆพบเห็นด้วย Horus เดินเข้าไปจูงมือ แสดงการให้อภัยทุกสิ่งอย่าง แล้วร่วมกันก้าวเดิน ออกวิ่งสู่เส้นชัย … นั่นแปลว่า Sword of the Sun อาจสื่อถึงจิตวิญญาณอันเจิดจรัสของ Horus ที่พร้อมชักนำพาให้ทุกคนก้าวสู่แสงสว่าง

การผจญภัยของ Horus ประกอบด้วยสองเป้าหมายที่มีการเกริ่นนำ อารัมบทไว้ตั้งแต่แรกเริ่มต้น

  • หลอมดาบ Sword of the Sun แล้วจักกลายเป็น Prince of the Sun
    • นี่ถือเป็นความเพ้อฝันของ Horus หลังจากดึงดาบออกจาก Moug the Rock Giant ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะหวนกลับมาพบเจอเมื่อเด็กชายสามารถหลอมดาบได้สำเร็จ
  • ทำตามคำสั่งเสียบิดา ล้างแค้นให้เผ่าพันธุ์ ชาติกำเนิด เผชิญหน้าศัตรูคู่อาฆาต Grunwald ที่ทำลายผืนแผ่นดินบ้านเกิด
    • นี่คือหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อเผ่าพันธุ์ ชาติกำเนิด ผืนแผ่นดินบ้านเกิด

สองเป้าหมายของ Horus สะท้อนปรัชญาชีวิตผกก. Takahata ที่มองว่าคนเราล้วนมีสองภาระรับผิดชอบ หนึ่งคือตัวตนเอง ค้นหาความฝัน อุดมการณ์ เป้าหมายชีวิต และสองทำประโยชน์สาธารณะ เพื่อผู้อื่น สังคม ตอบแทนบุญคุณของประเทศชาติ

หายนะเคยบังเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน/บรรพบุรุษของ Horus เมื่อ 14-15 ปีก่อน ถ้าเทียบระยะเวลากับตอนเริ่มต้นโปรดักชั่น มันบังเอิญจงใจให้ตรงเผงกับช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Hiroshima และ Nagasagi รวมถึงประสบการณ์ชีวิตผกก. Takahata ยังคงจดจำเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างหวุดหวิด

หลายคนพยายามเปรียบเทียบ Grunwald = ฝ่ายสัมพันธมิตร/สหรัฐอเมริกาที่ทิ้งระเบิดปรมาณูลง Hiroshima และ Nagasagi, แต่ทว่า Grunwald คือชื่อเมืองในประเทศ Germany มันควรจะสื่อถึง Adolf Hitler ไม่ใช่หรือ? ฤาถ้ามองตัวละครในฐานะปีศาจน้ำแข็ง พยายามปลุกปั่น ยัดหนอนบ่อนไส้ (ไม่ต่างจากสงครามเย็น) ก็อาจเป็นสหภาพโซเวียตได้ด้วยเช่นกัน! … สรุปแล้วผมแนะนำให้มองในลักษณะเหมารวม สิ่งชั่วร้าย บุคคลนำพาหายนะให้บังเกิดขึ้น

ความคลุมเคลือของตัวละคร Hilda สะท้อนบรรยากาศสงครามเย็นได้ตรงเผง! ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเธอมาดีหรือร้าย มุมหนึ่งคือหญิงสาวหน้าตาสวยสดใส น้ำเสียงร้องเพลงไพเราะเพราะพริ้ง เป็นที่รักของใครๆ แต่เพราะเธอเป็นน้องสาวของ Grunwald เลยถูกพี่ชายควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำสิ่งชั่วร้ายสารพัด ทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน ไม่รู้จะครุ่นคิดตัดสินใจอะไรยังไง

นั่นเลยเป็นหน้าที่ของ Prince of the Sun พระเอกในอุดมคติ วีรบุรุษผู้ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อพวกพ้อง เชื่อมั่นในจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ แม้อีกฝ่ายเคยกระทำสิ่งชั่วร้าย ก็พร้อมให้อภัยทุกสิ่งอย่าง … นี่คือต้นแบบตัวการ์ตูนอย่าง Son Goku & Vegeta, Naruto & Sasuke ฯ

Sword of the Sun ในบริบทของอนิเมะคือดาบเก่าๆ สนิมเกรอะกรัง ไม่สามารถหลอมใหม่ด้วยวิธีการทั่วไป ต้องรอคอยจนกว่า Horus จะสามารถหล่อหลอมจิตใจตนเอง ค้นพบอุดมการณ์ เป้าหมายชีวิตแท้จริง มันถึงกลายสภาพเป็นดาบเล่มใหม่ สามารถตีรันฟันแทง ทำลายสิ่งชั่วร้าย Grunwald ให้ตกตายไป … นั่นแปลว่านัยยะแท้จริงของ Sword of the Sun ไม่ใช่แค่วัตถุอันทรงพลัง (บทเพลง Sword of the Sun ก็แอบบอกใบ้ความหมายเอาไว้แล้ว) ยังคือจิตวิญญาณอันเจิดจรัสของ Horus สามารถปัดเป่าความมืดมิด ทำให้โลกใบนี้สว่างสดใส รวมถึงใครที่เคยมีจิตใจอันมืดมิด ได้รับการชำระล้างจนขาวสะอาดเอี่ยมอ่อง

ผมครุ่นคิดไปเรื่อยๆก็เกิดพบว่า Grunwald ยังสามารถเทียบแทนถึงพวกผู้บริหาร Toei Animation ที่พยายามบีบบังคับ ควบคุมครอบงำโปรเจคภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ จนต้องตัดทอนรายละเอียดโน่นนี่ สูญเสียอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงาน … นี่ไม่น่าจะใช่ความตั้งใจของผกก. Takahata แต่เป็นผลพลอยจากความล่าช้า วิสัยทัศน์ล้ำอนาคตไปสักหน่อย

แต่ถึงอย่างนั้น Horus = ผกก. Takahata ก็ยังสามารถอดรนทน ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม จนสามารถรังสรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้จนสำเร็จลุล่วง อาจไม่ตรงตามวิสัยทัศน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอให้พบเห็นร่องรอย ความน่าจะเป็นไปได้ น่าเสียด๊าย น่าเสียดาย ตอนจบชีวิตจริงไม่ได้ลงเอยอย่าง Happy Ending


จากทุนสร้างตั้งต้น ¥70 ล้านเยน โปรดักชั่นควรเสร็จสิ้นในระยะเวลา 8-10 เดือน แต่พฤติกรรมโหยหาความสมบูรณ์แบบของผกก. Takahata ทำให้หยุดๆสร้างๆ ใช้เวลาเกือบสามปีถึงสามารถนำออกฉาย ทำให้งบประมาณพุ่งสูงถึง ¥129-130 ล้านเยน (ประมาณ $300,000 เหรียญสหรัฐ) กลายเป็นสถิติสูงสุดของวงการอนิเมชั่นขณะนั้น

เกร็ด: สถิติดังกล่าวถูกโค่นล้มลงโดย Space Battleship Yamato: The Movie (1977) ใช้ทุนสร้างประมาณ ¥200 ล้านเยน

ความขัดแย้งดังกล่าวยังทำให้ Toei Animation ไม่มีความกระตือรือล้นโปรโมทอนิเมะเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แถมยังให้ฉายในโรงภาพยนตร์แค่เพียง 10 วัน แน่นอนว่าขาดทุนย่อยยับ! ถึงอย่างนั้นกลับได้กระแสคัลท์ (Cult Following) ติดตามมาแทบจะทันที โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา นักอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ ต่างยกย่องว่า “First Modern Anime”

แม้กาลเวลาจะทำให้ Horus: Prince of the Sun (1968) ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ติดอันดับภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมตลอดกาลจากหลากหลายสำนัก แต่ก็ไม่ได้สร้างความกระตือรือล้นให้ Toei Animation เมื่อปี ค.ศ. 2013 มีการจัดจำหน่าย Blu-Ray เพียงแค่สแกนใหม่ ขยับขยายขนาด (Upscaled) จนถึงปัจจุบันไร้ข่าวคราวการบูรณะ อาจจะดีที่สุดได้เพียงเท่านี้แหละ

มันเป็นความโชคร้ายหลายๆอย่างของอนิเมะเรื่องนี้ (แม้แต่ตัวผมเองที่ดันรับชมหลังจาก The Little Prince and the Eight Headed Dragon (1963)) ทำให้ไม่สามารถเพลิดเพลิน เต็มอิ่มกับวิสัยทัศน์ของผกก. Takahata แต่ก็ยังต้องถือว่าได้สร้างอิทธิพลอย่างล้นหลาม ทั้งการออกแบบตัวละคร ความซับซ้อนเรื่องราว เลือนลางระหว่างดี-ชั่ว มิตรภาพผองเพื่อน รวมถึงสารพัดลูกเล่นอนิเมชั่น … พวกอนิเมะแนวมิตรภาพ ต่อสู้กับด้านมืด ล้วนมีจุดเริ่มต้นจาก Horus: Prince of the Sun (1968) ด้วยกันทั้งนั้น

ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ถ้าผกก. Takahata ไม่ถูกกดดัน ควบคุมครอบงำ ได้รับอิสรภาพในการสรรค์สร้าง ผลลัพท์ออกมาน่าจะยอดเยี่ยมยิ่งๆกว่านี้ และอาจเทียบเคียงกับ Grave of the Fireflies (1988) และ/หรือ The Tale of the Princess Kaguya (2013)

จัดเรต 13+ มีฉากความรุนแรง การทรยศหักหลัง พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของเพื่อนมนุษย์

คำโปรย | Horus, Prince of the Sun คงจะเป็นอีกผลงานชิ้นเอกของ Isao Takahata ถ้าไม่ถูกสตูดิโอ Toei Animation บีบบังคับโน่นนี่นั่น แม้ยังคงความคัลท์คลาสสิก แต่หลายสิ่งอย่างน่าจะทำได้ดีกว่านี้
คุณภาพ | คัลท์คลาสสิก
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

ใส่ความเห็น