Tom Jones (1963)


Tom Jones (1963) British : Tony Richardson ♥♥♡

ชายหนุ่มนาม Tom Jones (รับบทโดย Albert Finney) เลื่องชื่อเรื่องความเจ้าชู้ประตูดิน เพศสัมพันธ์กับหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า นั่นคือสิ่งที่สังคมผู้ดีอังกฤษช่วงศตวรรษ 18 ยังไม่ให้การยินยอมรับ แต่การกำลังมาถึงของยุคสมัย Swinging London กลับสามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Picture และทำเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำ

แม้ว่า Tom Jones (1963) จะเป็นภาพยนตร์แนวพีเรียต (Period) ดัดแปลงจากนวนิยายเขียนขึ้นตั้งแต่ศตวรรษ 18th แต่ก็ไม่มีใคร (หรือแม้แต่ผกก. Richardson) คาดคิดว่า Sex Comedy ที่น่าจะเจ๊งเรื่องนี้ กลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! ซึ่งเหตุผลที่บรรดานักวิจารณ์/นักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นตรงกัน เพราะอิทธิพลจากการกำลังมาถึงของยุคสมัย Swinging London

Swinging Sixties หรือ Swinging London ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี และแฟชั่น เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงกลางทศวรรษ 60s ถือเป็นวิวัฒนาการต่อยอด (บ้างใช้คำว่า ‘metamorphosis’ การเปลี่ยนสัณฐาน) คนรุ่นใหม่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (post-Wars) พบเห็นครอบครัวพานผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก (Great Depression) พวกเขาจึงพยายามมองหาสิ่งที่มีความสดใส แสงสีสว่าง บทเพลงจังหวะมันส์ๆ สำหรับปลดปล่อยตนเอง เป็นอิสระจากบริบทกฎกรอบทางสังคม การเมือง และเสรีภาพทางเพศ

By the mid-60s, all eyes were on London – the swinging capital of the world – where radical changes to social and sexual politics were fanned by a modern youth. Britain was undergoing a cultural revolution – symbolised by its pop and fashion exports, like Beatlemania and the miniskirt; the iconic status of popular shopping areas, the King’s Road, Kensington and Carnaby Street; the political activism of anti-nuclear campaigns; and sexual liberation.

คำนิยาม Swinging London ของนิตยสาร British Film Institute (BFI)

ผมมีความกระอักกระอ่วนอย่างมากๆๆในการรับชม Tom Jones (1963) แม้หลงใหลในลวดลีลา ความยียวนกวนบาทา ไว้สักวันหนึ่งจะหวนกลับมาเคารพคารวะผลงานอื่นๆของผกก. Richardson แต่เพราะเนื้อหา(ไร้)สาระเต็มไปด้วยความสัปดล Tom Jones เหมือนคนป่วยจิต กามวิปริต ไม่สามารถควบคุมตัณหา อารมณ์ทางเพศของตนเอง แล้วหนังจบลงอย่าง Happy Ending แม้งโคตรเหนือจริง (Surreal) ไม่น่าเป็นไปได้เลยสักนิด!

แม้แต่ผู้กำกับ Richardson ก็ไม่ได้มีความชื่นชอบผลลัพท์ของภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ (ถึงขนาดปฏิเสธเข้าร่วมงานประกาศรางวัล Oscar) เขียนอธิบายไว้ในหนังสือชีวประวัติ

I felt the movie to be incomplete and botched in much of its execution. I am not knocking that kind of success – everyone should have it – but whenever someone gushes to me about Tom Jones, I always cringe a little inside.

Tony Richardson

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง The History of Tom Jones, a Foundling หรือเรียกสั้นๆว่า Tom Jones (1749) นวนิยายแต่งโดย Henry Fielding (1707-54) นักเขียนชาวอังกฤษ เรียนจบด้านกฎหมาย แต่ทำงานเขียนบทละครเวที เลื่องชื่อในผลงานแนวตลกขบขัน เสียดสีล้อเลียนสังคม/การเมือง บันเทิงคดีแนวผู้ร้ายผู้ดี (Picaresque)

สำหรับ Tom Jones นำจากประสบกามณ์ส่วนตัวของ Fielding เลื่องชื่อเรื่องความเจ้าชู้ประตูดิน ตั้งแต่อายุ 17 เคยพยายามลักพาตัวลูกพี่ลูกน้องที่แอบชื่นชอบหลงใหล Sarah Andrews แต่กลับหลบหนีไปได้ไม่ถึงไหน, เริ่มต้นเขียนนวนิยายเล่มนี้ภายหลังภรรยาคนแรกเสียชีวิต Charlotte Craddock (มีบุตรร่วมกัน 5 คน) แล้วสามปีถัดมาไม่สนคำทัดทานผู้ใด แต่งงานใหม่กับสาวรับใช้ Mary Daniel (มีบุตรร่วมกันอีก 5 คน), แต่ผลงานเล่มนี้อุทิศให้เพื่อนสนิทตั้งแต่เด็ก George Lyttelton, 1st Baron Lyttelton หรือ The Lord Lyttelton (1709-73) ที่คอยให้การช่วยเหลือ สนับสนุนผลงาน/การเงิน ‘patron of the arts’

สำหรับพื้นหลังของ Tom Jones คาบเกี่ยวช่วงเวลา Jacobite rising of 1745 หรือ Forty-Five Rebellion (ระหว่าง 19 สิงหาคม ค.ศ. 1745 ถึง 20 เมษายน ค.ศ. 1746) ระหว่างที่กองทัพอังกฤษกำลังแผ่ขยายอิทธิพลยังทวีปยุโรปในช่วง War of the Austrian Succession (1740-48), อดีตเจ้าชาย Charles Edward Stuart จึงฉวยโอกาสรวบรวมอดีตสมาชิกราชวงศ์ ก่อตั้งกลุ่มกบฎ Jacobites ต้องการทวงคืนสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษ แต่สุดท้ายก็ประสบความพ่ายแพ้ … จะว่าไปเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนหลายๆเรื่องราวรวมถึงพื้นหลังตัวละคร Tom Jones ได้เช่นกัน!

เกร็ด: รูปแบบการเขียน/ตีพิมพ์ของ Tom Jones (1749) ด้วยความยาวประมาณ 900+ หน้ากระดาษสมัยนี้ ถือได้ว่าเป็นนวนิยายมาสเตอร์พีซเล่มแรกๆของประเทศอังกฤษ


Cecil Antonio ‘Tony’ Richardson (1928-91) ผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวที เกิดที่ Shipley, West Yorkshire โตขึ้นสอบเข้า Wadham College, University of Oxford เป็นประธานชมรม Oxford University Dramatic Society และ the Experimental Theatre Club (the ETC), จบออกมามีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ เข้าร่วมกลุ่ม Free Cinema แล้วกลายเป็นผู้บุกเบิก British New Wave กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Look Back in Anger (1959), โด่งดังกับแนว Kitchen Sink Realism อาทิ The Entertainer (1960), A Taste of Honey (1961), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962), คว้ารางวัล Oscar: Best Director จากผลงาน Tom Jones (1963)

ความสนใจของ Richardson ต่อนวนิยาย Tom Jones (1749) ไม่ใช่เรื่องราวสัปดลทางเพศ หรือวิพากย์วิจารณ์บริบททางสังคม แต่มองการเฉลิมฉลองชีวิต วิถีความเป็นมนุษย์ สะท้อนวัฒนธรรม และความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ (สมัยนั้น)

We were out to make a film about what we liked in life, as opposed to what we didn’t like. It was a kind of celebration of bawdiness and joyfulness, rather than an attack on anybody.

Richardson ได้ลิขสิทธิ์นวนิยายของ Fielding ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 แล้วมอบหมายให้ John Osborne ทำการดัดแปลงบท โดยพยายามคงเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กับ Sophie Western (นวนิยายกว่า 900+ หน้า เหลือเพียงสองชั่วโมงนิดๆ ถือว่าตัดทิ้งเนื้อหาไปเยอะมากๆ) แล้วมองหาวิธีนำเสนอให้มีความทันสมัย สอดคล้องเทคนิคภาพยนตร์รูปแบบใหม่

I think it is the funniest film I have ever seen. The sort of film that we want to make is one that, within the context of telling a story, will include everything – black comedy, broad comedy, farce, slapstick, and a sort of robust, irreverent quality.

John Osborne

Tom Jones (รับบทโดย Albert Finney) คือบุตรนอกสมรสของสาวรับใช้ แต่ได้รับการเลี้ยงดูแลเหมือนบุตรจาก Squire Allworthy พยายามเสี้ยมสอนความเป็นผู้ดีมีสกุล ถึงอย่างนั้นเขากลับรักอิสระ ชอบก่อความวุ่นวาย รวมถึงมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวไม่เลือกหน้า จนถูกตีตราเหมือนสัตว์ร้าย ไม่มีใครให้การยินยอม

วันหนึ่งระหว่าง Tom Jones ร่วมล่าสัตว์กับ Squire Western (รับบทโดย Huge Griffith) บังเอิญให้ความช่วยเหลือเพื่อนสาวรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก Sophie Western (รับบทโดย Susannah York) โดยไม่รู้ตัวต่างชื่นชอบ ตกหลุมรัก

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากลับไม่ได้รับการยินยอมรับ ขณะที่ Tom Jones ถูกใส่ร้ายป้ายสีจนโดนขับไล่ออกจากบ้าน, Sophie ถูกบิดาและน้า Miss Western (รับบทโดย Edith Evans) พยายามจับคู่แต่งงาน Mr. Blifil (รับบทโดย David Warner) เธอเลยตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน, ระหว่างทางกำลังมุ่งหน้าสู่ London ทั้งสองก็พบเจอเรื่องวุ่นๆ สัปดล ชวนหัว รักครั้งนี้จะสมหวังหรือไม่?


Albert Finney (1936-2019) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Salford, Lancashire ร่ำเรียนการแสดง Royal Academy of Dramatic Art (RADA) จากนั้นมีโอกาสแสดงละครเวที สมทบซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Entertainer (1960), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Saturday Night and Sunday Morning (1960), เคยได้รับเลือกแสดงนำ Lawrence of Arabia (1962) แต่หลังจากเซ็นสัญญาโปรดิวเซอร์ Sam Spiegel ตัดสินใจบอกปัดโปรเจคดังกล่าว, ถึงอย่างนั้นก็ยังโด่งดังระดับนานาชาติกับ Tom Jones (1963), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Two for the Road (1967), Murder on the Orient Express (1974), Under the Volcano (1984), Erin Brockovich (2000) ฯลฯ

รับบท Tom Jones ชายหนุ่มรักอิสระ แม้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างผู้ดีมีสกุล กลับเลือกใช้ชีวิตเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความสนใจ ใครแสดงความยั่วเย้ายวนก็ร่วมเพศสัมพันธ์ ไม่รู้จักควบคุมความต้องการของตนเอง นั่นรวมถึงหญิงสาวที่ตกหลุมรัก Sophie Western ไม่เคยซื่อสัตย์ จงรักภักดี พิสูจน์ตนเองว่าสมควรค่าแก่เธอเลยสักครั้ง!

โปรดิวเซอร์แสดงความสนใจ Laurence Harvey และ Anthony Newley แต่หลังจากผู้กำกับ Richardson พบเห็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ Albert Finney จากละครเวที Billy Liar เลยเกิดความเชื่อมั่นว่าเหมาะสมกับบทบาทนี้

สำหรับ Finney ในตอนแรกอยากบอกปัดปฏิเสธ เพราะมองว่า Tom Jones มีความเป็น ‘passive’ ไม่ได้เน้นขายศักยภาพด้านการแสดง แต่ก็ต่อรองโปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ เพื่อให้ตนเองมีอิสระในการสร้างสรรค์ตัวละคร รวมถึงบวก 10% จากกำไรหนัง … ผลลัพท์เห็นว่าได้ค่าตัวรวมโบนัสประมาณ $1 ล้านเหรียญ

ใบหน้าของ Finney อาจไม่ได้หล่อกระชากใจ แต่รอยยิ้มและสายตาอันเย้ายวน นั่นคือภาพลักษณ์เทพบุตร เพลย์บอย เสน่ห์ที่ทำให้สาวๆลุ่มหลงใหล ยินยอมพร้อมพลีกายถวาย แม้หนังทั้งเรื่องพยายามนำเสนอให้ Tom Jones ดูบริสุทธิ์ เป็นผู้ถูกเก็บแต้ม แต่การไม่รู้จักควบคุมตนเอง หักห้ามหัวใจ ไร้ความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ผู้ชายพรรค์นี้ไม่ได้มีมูลค่าราคา สมควรค่าครองรักแฟนสาว Happy Ending เลยสักนิด! … คิดหรือว่าหลังแต่งงาน หมอนี่มันจะปรับเปลี่ยนสันดานธาตุแท้ของตนเอง?

ผมรู้สึกว่าบทบาท Tom Jones นอกจากบุคลิก อุปนิสัย สีหน้าหื่นกระหาย การแสดงของ Finney ไม่ได้มีพัฒนาการอะไร ตั้งแต่ต้นจนจบก็ยังคงไร้สามัญสำนึก ทำตัวเอ้อละเหยลอยชายไปวันๆ … แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่กลับมองว่านี่คือบทบาทแจ้งเกิด ‘breakthrough’ ที่เต็มไปด้วยพลังของคนหนุ่ม ถ่ายทอดอารมณ์ที่หลากหลาย (เป็นได้ทั้งพระเอกโรแมนติก, ดราม่า และคอมเมอดี้) ขณะเดียวกันสามารถใช้ร่างกายแสดงความขบขัน (Physical Comedy หรือ Slapstick) ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

Finney gives one of the most exuberant and joyous performances in the history of cinema.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

Susannah Yolande Fletcher (1939-2011) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chelsea, London ในตระกูลนักธุรกิจ ตัวเธอไม่ชอบเรียนหนังสือแต่หลงใหลด้านการแสดง เข้าศึกษายัง Royal Academy of Dramatic Art (RADA) ร่วมรุ่นเดียวกับ Peter O’Toole, Albert Finney, Tom Courtenay, จากนั้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่อง Tunes of Glory (1960), รับบทนำ The Greengage Summer (1961), แจ้งเกิดโด่งดัง Tom Jones (1963), ผลงานเด่นๆ อาทิ A Man for All Seasons (1966), They Shoot Horses, Don’t They? (1969), Images (1972), Superman (1978)

รับบท Sophie Western เพื่อนสาวตั้งแต่เด็กของ Tom Jones เดินทางไปร่ำเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส เพิ่งมีโอกาสหวนกลับมาบ้านชนบท ระหว่างร่วมออกไล่ล่าสัตว์ ม้าที่ควบขี่เกิดอาการฟืดฟาด ได้รับความช่วยเหลือ เลยเกิดความชื่นชอบ ตกหลุมรัก พบเห็นจิตใจอันบริสุทธิ์ของอีกฝ่าย แต่ไม่วายเต็มไปด้วยเรื่องสัปดล ข่าวคาวเสียๆหายๆ และเมื่อถูกบิดาบังคับให้แต่งงาน ตัดสินใจหลบหนีกลับกรุง London พักอาศัยอยู่กับ Lady Bellaston (ที่ก็เป็นอีกชู้รักของ Tom Jones)

York เป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ Richardson เกิดความประทับใจจากการร่วมงาน The Greengage Summer (1961) เลยชักชวนมารับบทสำคัญในภาพยนตร์เรื่องใหม่

หน้าตาของ York เป็นหญิงสาวที่มีความร่าเริงสดใส เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ไม่ถึงกับบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ก็น่าเอ็นดูทะนุถนอม ชายใดพบเห็นย่อมต้องเกิดความลุ่มหลงใหล แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเธอพบเห็นอะไรในตัว Tom Jones ยินยอมให้อภัยอีกฝั่งฝ่ายแม้หลักฐานตำตา ราวกับว่า ‘ความรักทำให้ตาบอด’ เพียงงอนตุ๊บป่อง ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่เคยครุ่นคิดหน้าหลัง แต่งงานไปแล้วจะสามารถสยบความเจ้าชู้อีกฝ่ายได้อย่างไร


Hugh Emrys Griffith (1912-80) นักแสดงสัญชาติ Welsh เกิดที่ Marian-glas, Anglesey หลังสอบไม่ผ่านมหาวิทยาลัย ทำงานเป็นเสมียนธนาคาร ก่อนเดินทางสู่ London ร่ำเรียนการแสดงยัง Royal Academy of Dramatic Arts, อาสาสมัครทหาร เดินทางสู่พม่าและอินเดียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, เมื่อเดินทางกลับมามีโอกาสแสดงละครเวที สำหรับภาพยนตร์โด่งดังกับ Ben-Hur (1959) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆ อาทิ Kind Hearts and Coronets (1949), Mutiny on the Bounty (1962), Tom Jones (1963), Oliver! (1968) ฯลฯ

รับบท Squire Western บิดาขี้เมาของ Sophie นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ชื่นชอบการล่าสัตว์ ใช้ชีวิตอยู่ฟาร์มปศุสัตว์ พยายามวางอำนาจบาดใหญ่ แต่ไม่เคยโต้ถกเถียงเอาชนะความสำบัดสำนวนของพี่สาว Miss Western ต้องการจับคู่บุตรสาวให้แต่งงาน Mr. Blifil กลับเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ ไม่มีอะไรเป็นดั่งใจสักสิ่งอย่าง

เกร็ด: Squire ไม่ใช่ชื่อตัวละครนะครับ แต่เป็นยศฐาบรรดาศักดิ์ หมายถึงสามัญชนมีที่ดินเป็นเอกสิทธิ์ ถือเป็นผู้มีอิทธิพลในชุมชน สถานะสูงกว่าคนปกติทั่วไป

Griffith ถือเป็นตัวขโมยซีน สร้างสีสันด้วยความขี้เมา อารมณ์เกรี้ยวกราด ถ้อยคำด่ากราด ทำตัวไม่เห็นเหมือนผู้ดีมีสกุล ชอบอวดอ้าง เบ่งบารมี แต่พฤติกรรมของตนเองก็แทบไม่แตกต่างจาก Tom Jones (Griffith ถือว่าเข้าขากันดีกับ Finney แม้ตัวจริงของทั้งคู่แทบจะแตกต่างตรงกันข้ามก็ตามที)

Griffith is a perfect foil to Finney’s exuberance.

นักวิจารณ์จากนิตยสาร Variety

แซว: เห็นว่าตลอดแทบทั้งการถ่ายทำ Griffith มักดื่มสุราจนมึนเมา เดินตุปัดตุเป๋ ล้มกลิ้ง รวมถึงสูญหายตัวจากกองถ่าย(ไปกินเหล้า)จนต้องมีบุคคลสำหรับคอยประกบ แอบติดตาม หลายครั้งพบเจอนอนหลับอยู่ตามผับบาร์


Dame Edith Mary Evans (1888-1976) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Pimlico, London ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งเด็ก มีโอกาสขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 15 โด่งดังเป็นที่รู้จักจากโปรดักชั่น The Way of the World (1924), สำหรับภาพยนตร์เคยมีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่หันมาเอาจริงเอาจังช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาทิ The Nun’s Story (1959), Tom Jones (1963), The Chalk Garden (1964), The Whisperers (1967),

รับบท Miss Western พี่สาวของ Squire Western เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ยึดถือมั่นในชาติผู้ดีมีสกุลนา พยายามวางตัวหัวสูงส่ง ด้วยวาทะศิลป์เฉียบคมคาย ดั้งเดิมอาศัยอยู่กรุง London แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหลานสาวยังชนบท เพื่อช่วยจัดแจงหาคู่ครองให้สมวิทยฐานะ

จริตของ Miss Wester มีความจัดจ้าน เริดเชิดเย่อหยิ่ง วางตัวหัวสูงส่ง ถือเป็น ‘stock character’ ชนชั้นสูงสไตล์ผู้ดีอังกฤษ แต่ก็ต้องยอมรับว่า Dame Evans สร้างความแตกต่างด้วยลีลาวาทะศิลป์ เมื่อต้องต่อล้อต่อเถียงกับใคร ก็สามารถแสดงความเฉียบคม เหนือชั้นกว่า เรียกเสียงเฮฮา ขบขำกลิ้งได้ตลอดเวลา

ผมไม่เคยรับชมผลงานอื่นๆของ Dame Evans แต่สามารถคาดเดาไม่ยาก ว่ายิ่งแก่ยิ่งเก๋า เหมือนสำนวนไวน์ในโถหมักจริตของตัวละครสะท้อนประสบการณ์ พานผ่านอะไรๆมาอย่างโชคโชน จึงสามารถสร้างความโดดเด่นได้อย่างมีชั้นเชิง เฉียบคม สไตล์ผู้ดีอังกฤษ


ถ่ายภาพโดย Walter Lassally (1926-2017) สัญชาติ German เชื้อสาย Jews เกิดที่ Berlin อพยพสู่อังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1939 บิดาเป็นผู้กำกับสารคดี ทำให้บุตรชายมีความชื่นชอบด้านการถ่ายภาพ เริ่มต้นเข้าสู่วงการจากเป็นเด็กตอกสเลท Riverside Studios ไต่เต้าจนกลายเป็นช่างภาพขาประจำ British New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ A Taste of Honey (1961), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962), Tom Jones (1963), Zorba the Greek (1964) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography (Black-and-White), Visions of Eight (1973), Heat and Dust (1983) ฯลฯ

หลังจากถ่ายทำหนังดราม่าเครียดๆ ‘Kitchen Sink Realism’ ติดต่อกันมาหลายเรื่อง ผกก. Richardson เลยวางแผนให้ Tom Jones เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ท่องเที่ยวพักผ่อน “This is our holiday film”. แต่การถ่ายทำยังสถานที่จริง ท่ามกลางสภาพอากาศคาดเดาไม่ได้ พร้อมด้วยฟีล์มสี (Eastmancolor) ล้วนคือสาเหตุทำให้งบประมาณเบิกบานปลายไปเรื่อยๆ ถึงขนาดต้องหยุดพักกลางทางเพราะเงินหมด แถมไม่มีสตูดิโอไหนในอังกฤษอยากช่วยเหลือเพราะฟุตเทจมีความเละเทะ เลอะเทอะ ‘too much cut corner’ … โชคดีได้รับการอุ้มชูจากสตูดิโอ United Artists ก็ไม่รู้เล็งเห็นโอกาสอะไร แต่ก็ทำให้โปรดักชั่นรอดพ้นหายนะ

งานภาพของหนัง เต็มไปด้วยเทคนิค ลวดลีลา ผกก. Richardson พยายามมองหาวิธีแปลกใหม่ในการนำเสนอ -ตามสไตล์ British New Wave- ตั้งแต่อารัมบทสไตล์หนังเงียบ, ถ่ายทำจากเฮลิคอปเตอร์, ด้วยกล้องมือถือ (Hand-Held Camera), เสียงบรรยาย/ขึ้นข้อความ พร้อมภาพหยุดนิ่ง (Freeze Frame), สบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall), Jump Cut, Fast Motion, Whip Pan ฯลฯ

จุดประสงค์ของการใช้เทคนิคเหล่านี้ เพื่อสร้างความแปลกแยก ประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ชม ก็เหมือนตัวละคร Tom Jones ที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นพวกนอกคอก นอกรีตนอกรอย กระทำสิ่งต่างๆผิดแผกแตกต่างจากวิถีทางปกติ … นี่คือลักษณะของ New Wave ที่ชัดเจนอย่างมากๆ

หนังใช้เวลาโปรดักชั่น 4-5 เดือน ระหว่างมิถุนายน – ตุลาคม ค.ศ. 1962 โดยสถานที่ถ่ายทำ ประกอบด้วย

  • Castle Street อยู่ย่าน Bridgewater, Somerset
  • Abbey Street อยู่ย่าน Cerne Abbas, Dorset
  • Wilton House ณ Wiltshire
  • Old Wadour Castle ณ Tisbury
  • และฉากภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Woodfall Films ณ Curzon Street, London

การอารัมบทด้วยสไตล์หนังเงียบ (Silent Film) คือจะไม่ได้ยินเสียงพูดคุยสนทนา พบเห็นเพียงท่วงท่า อากัปกิริยา ตัดสลับกับข้อความตัวอักษรปรากฎขึ้นมา จุดประสงค์เพื่อเป็นการเปรียบเทียบคู่ขนานถึงยุคสมัยภาพยนตร์ ว่ามีความแบเบาะ ไม่ต่างจากเด็กทารกน้อย Tom Jones

ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจดั้งเดิมของผกก. Richardson ต้องการนำเสนอวิวัฒนาการ เทคนิคภาพยนตร์ ควบคู่ไปกับการดำเนินเรื่องราวของหนัง แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับมีแค่ตอนอารัมบทหนังเงียบ และแทรกแซมเทคนิคอื่นๆประปราย ผลลัพท์น่าจะยังไม่ได้ครุ่นคิดคาดหวังไว้สักเท่าไหร่

หลังจาก Opening Credit หนังใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยเสียงบรรยาย (แทนข้อความปรากฎขึ้น) นำเสนอกิจกรรมไล่ล่าสัตว์ Tom Jones ไม่ต่างจากสุนัขล่าเนื้อ (Molly เรียกเขาว่า You Wicked Dog.) เมื่อพบเจอหญิงสาว แสดงท่าทางเชื้อเชิญ ส่งสัญญาณยั่วเย้ายวน ต้องการร่วมเพศสัมพันธ์ ใครกันจะไปอดรนทนไหว

แต่พอถาโถมเข้าใส่ โอบกอดจุมพิต ท่ามกลางผืนป่า แมกไม้ ใบหญ้าสีเขียว (สื่อถึงการกำลังจะร่วมเพศสัมพันธ์นี้ มันคือวิถีธรรมชาติชีวิต) กลับถูกแช่ภาพค้างไว้ ‘Freeze Frame’ สังคมสั่งให้หยุดยับยั้ง ด้วยคำอธิบาย …

It shall be our custom to leave such scenes where taste, decorum, and the censor dictate.

ภาพแรกของ Sophie Western ถ่ายติดหงส์กำลังเล่นน้ำอยู่เบื้องหลัง เป็นการสื่อให้เห็นถึงความงดงาม สูงส่ง เลิศเลอค่า แต่ของขวัญที่ Tom Jones มอบให้เธอนั้นคือนกที่อยู่ในกรง นี่น่าจะสื่อถึงความไร้อิสรภาพในชีวิตของหญิงสาว ถูกควบคุมครอบงำโดยบิดา ขนบกฎกรอบ และชนชั้นทางสังคม (บางคนอาจจะตีความ Tom ต้องการให้ Sophie มาเป็นนกในกรง/ภรรยาของตนเอง ก็ได้กระมัง)

แล้วซีนหลังจากนี้ Mr. Blifil ลูกพี่ลูกน้อง/ศัตรูของ Tom กลับแสร้งว่าเปิดกรง ปลดปล่อยนกสู่อิสรภาพ นั่นสื่อถึงการไม่ยินยอมรับ ไม่เชื่อว่าเดรัจฉาน(อย่าง Tom)จะสามารถอยู่ภายในขนบกฎกรอบ(กรงขัง) รวมถึงไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่บังเกิดขึ้น … มันคืออาการอิจฉาริษยานั่นเองนะครับ

การให้ความช่วยเหลือหญิงสาวที่โดนกลั่นแกล้ง ถูกกระทำร้ายร่างกาย ในบริบททางสังคมปัจจุบันสมควรเรียกว่า ‘สุภาพบุรุษ’ แต่ยุคสมัยก่อนถ้าฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมสำส่อน โสเภณี ฝ่ายชาย(ที่ให้การช่วยเหลือ)ก็มักเหมารวมว่าเป็นพวกต่ำตม ชนชั้นเดียวกัน สังคมไม่ให้การยินยอมรับ … นี่แสดงให้เห็นถึงโลกทัศนคติของคนสมัยก่อน ยึดถือมั่นอยู่ในขนบกฎกรอบ ผิดแผกแตกต่างจากค่านิยมทางสังคมที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

ฉากนี้ถ่ายทำยังสุสานข้างโบสถ์ (หลังพิธีมิสซาวันอาทิตย์) สื่อถึงการรุมกระทำร้ายโดยคาดหวังให้อีกฝ่ายตกตายยังหลุมฝัง ขณะเดียวกันยังสะท้อนพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านั้น ราวกับปีศาจ สัตว์ร้าย ผุดขึ้นมาจากสุสาน

ในต้นฉบับนวนิยาย เห็นว่ามีการกล่าวถึงฉากไล่ล่าสัตว์แค่ไม่กี่บรรทัด แต่หนังกลับถ่ายทำซีเควนซ์นี้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ประกอบด้วยฝูงสุนัข ตัวประกอบควบขี่ม้า (อาจจะถึงหลักร้อย) และยังเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทำจากเบื้องบน ‘bird’s-eye view’ ร้อยเรียงปะติดปะต่อยาวนานหลายนาที จุดประสงค์เพื่อต้องการเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ ‘sex predator’ มนุษย์=หมาล่าเนื้อ เหยื่อก็คือหญิงสาว เป้าหมายแท้จริงต้องการครอบครอง เป็นเจ้าของ ร่วมเพศสัมพันธ์!

แซว: หลังจากพบเห็นฝูงชน ฝูงสุนัข กำลังไล่ล่าเจ้ากวางน้อย (ระดับมหภาค) ซีนถัดมาม้าของ Sophie จู่ๆควบคุมไม่อยู่ Tom เลยควบไล่ล่าติดตามไปช่วยเหลือ (ระดับจุลภาค) … กวางในอ้อมอก Squire Western = Sophie ในอ้อมอก Tom

Tom แขนหักจากการช่วยเหลือ Sophie เมื่ออาการดีขึ้นพวกเขาจึงออกเดินเล่นในแล้ว ได้ยินเสียงเปียโนนุ่มๆ ท่วงทำนองโรแมนติก แล้วจะมีการซ้อนภาพดอกไม้สีขาว (เราไม่จำเป็นต้องรับรู้จักชื่อดอกไม้นะครับ เอาแค่สีขาวสามารถแทนสัญลักษณ์ความรักอันบริสุทธิ์) รู้สึกเหมือนกำลังล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน จากนั้นระหว่างล่องเรือ จู่ๆภาพหยุดแน่นิ่ง ‘Freeze Frame’ หลายคนอาจตีความว่าหญิงสาวต้องการจดจำช่วงเวลานี้ไว้ แต่ตอนต้นเรื่องเคยมีคำอธิบายธรรมเนียมปฏิบัติ ทุกครั้งที่หยุดแช่ภาพย่อมหมายถึงกำลังจะมีการร่วมเพศสัมพันธ์! รอยยิ้มพร้อมหันมาสบตาหน้ากล้อง ‘Breaking the Fourth Wall’ ช่างเต็มไปด้วยเลศนัยยิ่งนัก!

สำหรับคนที่ไม่ได้สังเกต ระหว่างการเปลี่ยนภาพ (Film transition) ป้ายสุสาน Bridget Allworthy (พี่สาวและชู้รักของ Squire Allworthy) จะมีลวดลีลาแยกภาพออกเป็นสี่ส่วน ดูลักษณะเหมือนไม้กางเขน

ขณะที่หลังงานศพจะมีการใช้ Iris Shot จับจ้องใบหน้าทนายความ หลังมอบจดหมายของ Bridget Allworthy ให้กับ Mr. Blifil โดยปกติแล้วการทำเช่นนี้มักต้องการสร้างจุดสนใจให้กับตัวละคร แต่ในขณะนี้กลับมอบความรู้สึกฉงนสงสัย บางสิ่งอย่างลับลมคมใน

บ้านฟาร์มของ Squire Western เต็มไปด้วยสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ซึ่งหนังก็ได้ทำการแทรกภาพสรรพสัตว์เหล่านี้ เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้ดีในชนบท หน้าที่คือปกครองพวกมันเหล่านี้ ไม่ต่างจากมนุษย์สักเท่าไหร่ (แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับนึกถึง Animal Farm ขึ้นมา)

แซว: มันจะมีช็อตที่ Miss Wester เดินเข้ามาพูดคุยกับ Squire Western เรื่องการหมั้นหมายแต่งงานหลานสาว Sophie สังเกตว่ามันจะมีไก่(และหมู)หลายตัวอยู่ในเฟรม ซึ่งสัตว์ชนิดนี้ชอบส่งเสียงขับขาน ไม่ต่างจากวาทะศิลป์ของตัวละคร

ช่วงระหว่างที่ Three Scrooges นำโดยญาติห่างๆ Mr. Blifil พยายามหาวิธีกดดัน Squire Allworthy เพื่อขับไล่ Tom Jones ออกไปจากมรดก/คฤหาสถ์หลังนี้ ภาพของตัวตลกทั้งสามจะถ่ายมุมเงยขึ้นด้านบน ส่วน Squire Allworthy ก็จะพบเห็นมุมก้ม แสดงถึงความกดดันจากผู้คนรอบข้าง จนทำให้เขาต้องตัดสินใจขับไล่บุตรชาย(ครุ่นคิดว่า)บุญธรรมออกจากบ้าน

และช็อตที่ Squire Allworthy พูดขับไล่ Tom Jones สังเกตว่ามุมกล้องก็ถ่ายจากเบื้องบนลงมา ราวกับว่านั่นคือสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้คนรอบข้าง … นี่ไม่เชิงว่าเชื่อคนง่าย แต่เขาไม่สามารถวางตัวอยู่เหนือกว่าบริบทกฎกรอบทางสังคม

ระหว่างการออกเดินทางของ Tom Jones พบเจอทหารอังกฤษที่กำลังเดินทางขึ้นเหนือ เพื่อไปสู้รบกับกบฎ Jacobite กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ House of Stuart ให้กลับคืนสู่ราชบัลลังก์อังกฤษ (แต่สุดท้ายก็ประสบความพ่ายแพ้) นี่เป็นการใช้เหตุการณ์อิงประวัติศาสตร์ Jacobite rising of 1745 เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของ Tom Jones ที่ไม่ต่างจากคนหัวขบถ กระทำสิ่งนอกรีตนอกรอย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ เลยถูกขับไล่ออกจากบ้าน

ด้วยความสัมพันธ์ในเชิงสัญลักษณ์นั้นเอง ทำให้ฉากถัดมา Tom Jones จึงมีเรื่องขัดแย้งกับสมาชิกของกองทัพ จนเกิดการต่อสู้ เฉียดเป็นเฉียดตาย ทำให้อีกฝ่ายเคียดแค้นฝังหุ่น

แซว: ความขัดแย้งระหว่าง Tom Jones กับสมาชิกกองทัพคือเรื่องหญิงสาว Sophie Western ซึ่งถ้าเปรียบเทียบย้อนกลับ Jacobite rising of 1745 สามารถสื่อถึงราชบัลลังก์อังกฤษได้เลยนะ!

นายทหารที่ก่อนหน้านี้เพิ่งมีความขัดแย้งกับ Tom Jones (เลยตัดสินใจหลบหนีทหาร) ยังไม่ทันไรก็หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง คราวนี้กำลังพยายามข่มขืน Mrs. Waters แต่ได้รับการช่วยเหลือไว้ได้ทัน

ผมครุ่นคิดว่าฉากนี้ ต้องการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างข่มขืน vs. ความเจ้าชู้ประตูดินของ Tom Jones เพราะคนสมัยก่อนมักมองว่าคาสโนว่า เพลย์บอย เสือผู้หญิง มักทำการล่อลวง ขืนใจ ไม่ได้เกิดจากความยินยอมของอีกฝั่งฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่!

  • การข่มขืน จะมีลักษณะบีบบังคับ ใช้กำลัง ความรุนแรง โดยที่ฝั่งฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใช้
  • สาวๆที่พลีกายให้กับ Tom Jones ล้วนส่งสายตาหยอกเย้า ท่าทางยั่วยวน ชักชวนอีกฝ่ายให้ร่วมเพศสัมพันธ์

ระหว่างเดินนำ Mrs. Waters ที่อยู่ในสภาพครึ่งเปลือย มันราวกับว่า Tom Jones สังเกตเห็นการมีตัวตนของกล้อง ไม่เพียงหันมาสบตา (Breaking the Fourth Wall) ยังหยิบหมวกขึ้นมาวางบดบัง … ฉากนี้เหมือนต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชม เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ และ(นำเอาหมวกมา)ปกปิดความครึ่งเปลือยของนักแสดงหญิงที่อยู่ด้านหลัง (ผมมองว่าเป็นวิธีล่อหลอกกองเซนเซอร์ได้อย่างน่าสนใจ)

ฉากดินเนอร์ระหว่าง Tom Jones และ Mrs. Waters ทั้งสองต่างแสดงท่าทางหยอกเย้า ยั่วยวน เต็มไปด้วยความรัญจวน ร่านราคะ นี่สามารถเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ ทานอาหาร = เพศสัมพันธ์ นั่นคือสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์/สิ่งมีชีวิต ขาดไม่ได้เหมือนกัน!

แซว: ฉากนี้เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำนานถึงสามชั่วโมงกว่านักแสดงจะรู้สึกพึงพอใจ แต่ปรากฎว่าก็ทำให้ทั้งคู่ขึ้นอืด ขยาดอาหาร กินอะไรไม่ลงเป็นวันๆ

หลังจากที่ Tom Jones ตระหนักว่า Sophie พานผ่านมายังโรงแรมแห่งนี้ เขาตระหนักถึงความผิดพลาด รู้สึกละอาย หวาดกลัว หลากหลายอารมณ์ถาโถมเข้าใส่ จึงตัดสินใจ Fast-Motion กระทำทุกสิ่งอย่างเร่งรีบร้อนรน และพยายามหลบหนีจาก Squire Western (และ Miss Western) วิ่งหางจุกตูด … แต่ผมรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยเร็วพอที่จะสร้างความขบขันสักเท่าไหร่ น่าจะต้อง x3 หรือมากกว่านั้น!

ในงานเต้นรำหน้ากาก Squire Western และ Miss Western ต่างสวมใส่หน้ากากช้าง ซึ่งจะมีงวงยืดยาวออกมา หลายคนน่าจะคาดเดาได้ว่ามันสัญลักษณ์ของ ‘ลึงค์’ แสดงถึงความมีอำนาจ จ้าวโลก (ไม่จำเป็นว่าต้องสื่อถึงอวัยวะเพศชายเท่านั้น) ต้องการควบคุม ครอบงำ ทำทุกสิ่งอย่างให้ดำเนินไปตามความต้องการของตนเอง (นัยยะดังกล่าวสามารถสอดคล้องกับ Miss Western แม้เป็นเพศหญิงก็เถอะ)

หลังจาก ‘freeze frame’ กับ Lady Bellaston วันถัดมา Tom Jones ถูกจับแต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็นผู้ดีชาวเมือง สวมชุดหรู วิกปลอม แต่กลับจามฟุดฟิดเมื่อดมน้ำหอม นั่นแสดงถึงสันดานธาตุแท้ กลิ่นตัวตนแท้จริง (ภาพสะท้อนในกระจก) ไม่ใช่สิ่งสามารถปกปิด สร้างภาพ หรือปัจจัยภายนอกเหล่านี้

ปล. หญิงสาวทั้งหมดที่ Tom Jones ได้กระทำการร่วมเพศสัมพันธ์ ต่างเป็นตัวแทนของ

  • Molly Seagrim ตัวแทนหญิงสาวชนชั้นล่าง ถือว่ามีความต่ำตม เพศสัมพันธ์กับชายไม่เลือกหน้า
  • Mrs. Waters ตัวแทนชนชั้นกลาง(มั้งนะ) แต่งงานแล้ว ไม่ยินยอมถูกข่มขืน แต่พร้อมมีเพศสัมพันธ์กับชายที่ตนสนใจ
  • Lady Bellaston ตัวแทนชนชั้นสูง เป็นคนช่างเลือก รสนิยมไฮโซ (ไม่ได้เอากับใครก็ได้)

การต่อสู้ดวลดาบระหว่าง Tom Jones กับ Mr. Fitzpatrick (จะรวมถึงตอนดวลดาบ-ไม้ กับนายทหารคู่อริ ก็ได้ด้วย) ครุ่นคิดไปมาผมรู้สึกว่า ดาบสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทน ‘ลึงค์’ แท่งกลมๆยาวๆ สำหรับทิ่มแทง แต่สำหรับชาย-ชาย มันคือการแข่งขัน แก่งแย่งชิง ซึ่งในทั้งสองฉาก(ที่มีการดวลดาบ) ล้วนมีต้นสาเหตุความขัดแย้งจากเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งนั้น! … กล่าวคือเหตุผลการต่อสู้ของบุรุษ ล้วนเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของสตรี!

อีกหนึ่งการเปลี่ยนภาพ (Film transition) ที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจไม่น้อย หลังจาก Squire Allworthy รับรู้ว่า Tom Jones กำลังติดคุกติดตาราง ระหว่างเปลี่ยนซีนทำเหมือนบานเกล็ดแนวดิ่ง ซึ่งมีความละม้ายซี่กรงเรือนจำ … จะมองว่านี่ล้อกับนกในกรงขังตอนต้นเรื่อง ก็ได้กระมัง

ผมรู้สึกว่าการร้อยเรียงภาพนิ่งระหว่าง Mr. Partridge และ Mrs. Millar กำลังแอบฟังอยู่ตรงประตู ดูไม่ค่อยเข้าท่าสักเท่าไหร่ เพราะมันไปซ้อนทับกับธรรมเนียม ‘Freeze Frame’ หลายคนอาจครุ่นคิดว่าบุคคลที่อยู่ในห้องกำลังร่วมเพศสัมพันธ์ แต่มันไม่ใช่เลยสักนิด!

วิธีการที่หนังเฉลยปริศนาชาติกำเนิดของ Tom Jones คือให้ Mrs. Waters หันมาพูดคุยอธิบายกับผู้ชมต่อหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ความจริงก็คือ Tom เป็นบุตรของ Squire Allworthy กับพี่สาว Bridget Allworthy ซึ่งทั้งสองแอบเป็นชู้รัก ร่วมเพศสัมพันธ์ (Incest) แต่ฝ่ายหญิงไม่กล้าพูดบอกความจริงเพราะกลัวว่าเขาจะยินยอมรับไม่ได้ (ว่าบุตรชายเกิดจากเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน) จึงมอบหมายให้ Mrs. Waters นำทารกน้อยไปวางไว้บนเตียง แล้วเรื่องวุ่นๆก็บังเกิดขึ้นหลังจากนั้น!

นี่แสดงว่าพฤติกรรมหัวขบถ กระทำสิ่งนอกรีตนอกรอย สำส่อนทางเพศของ Tom Jones ไม่ได้มาจากชาติกำเนิด หรือชนชั้นทางสังคม เพราะทีแรกใครๆมองว่าเขาเป็นบุตรนอกสมรส (Bastard Son) ถือกำเนิดจากหญิงสาวชนชั้นต่ำ แต่พอเฉลยว่ามีเลือดเนื้อเชื้อไขของ Squire Allworth แสดงว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกัน! … กล่าวคือ อุปนิสัยของคนไม่ได้เกี่ยวกับชาติกำเนิด หรือชนชั้นทางสังคม

มันช่างเป็นความน่าฉงนสงสัย ว่าเหตุไฉนนายทหารคู่เวรคู่กรรมของ Tom Jones ทำอะไรยังไงถึงได้เลื่อนขั้นกลายมาเป็นผู้ควบคุมการประหารชีวิต ควบขี่ม้านำขบวน พร้อมอำนวยอวยพร “Better luck in the next world”

ช็อตสุดท้ายของหนัง จบลงด้วยการแช่ภาพ ‘Freeze Frame’ หลังจาก Tom Jones โถมเข้ามากอดจูบ Sophia Western คงไม่ต้องอธิบายหลังฉากแล้วกระมัง นี่มันครั้งที่เท่าไหร่แล้วละเนี่ย

Happy the man, and happy he alone,
He who can call today his own:
He who, secure within, can say,
Tomorrow do thy worst, for I have lived today.

John Dryden (1631-1700) แปลจากบทกวีภาษาละติน Odes: Book 3.1, Odi profanum vulgus et arceo ประพันธ์โดย Horace (65-8 BCE)

ตัดต่อโดย Antony Gibbs (1925-2016) สัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการในช่วงกลางทศวรรษ 50s จากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Ralph Kemplen และ Alan Osbiston จากนั้นร่วมงานขาประจำผู้กำกับรุ่น British New Wave ผลงานเด่นๆ อาทิ A Taste of Honey (1961), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962), Tom Jones (1963), The Knack …and How to Get It (1965), Performance (1970), Walkabout (1971), Fiddler on the Roof (1971), Jesus Christ Superstar (1973), A Bridge Too Far (1977), Dune (1984) ฯลฯ

ตามชื่อหนัง Tom Jones คือจุดศูนย์กลางของเรื่องราว! แรกพบเจอตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นทารกน้อย พอเติบใหญ่ก็ใช้เสียงบรรยายของ Micheál Mac Liammóir คอยเล่าเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ความสัมพันธ์กับหญิงสาวหลากหลาย ตกหลุมรัก Sophie Western และหลังถูกขับไล่จากคฤหาสถ์ Allworthy ออกเดินทางผจญภัยมุ่งสู่กรุง London

  • อารัมบทสไตล์หนังเงียบ ทารกน้อย Tom Jones
  • พฤติกรรมสัปดลของ Tom Jones
    • วันๆชอบเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา เพศสัมพันธ์กับ Molly Seagrim
    • เมื่อมีโอกาสหวนกลับมาพบเจอเพื่อนวัยเด็ก Sophie Western ต่างดูมีความชื่นชอบหลงใหล
    • กระทั่งกิจกรรมล่าสัตว์ของ Squire Western ทำให้ Tom Jones และ Sophie ตกหลุมรักกันและกัน
  • การมาถึงของ Miss Western พยายามจับคู่ให้ Sophie
    • อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถม้าของ Squire Allworthy โชคดียังสามารถเอาตัวรอดชีวิต
    • แต่ Tom Jones กลับเฉลิมฉลองเกินกว่าเหตุ มึนเมาจนมีเพศสัมพันธ์กับ Molly Seagrim แล้วถูกจับได้ ตีไข่ใส่สี จนทำให้โดนขับไล่ออกจากบ้าน
    • Miss Western พยายามโน้มน้าวน้องชาย Squire Western ให้จับคู่แต่งงาน Sophie กับ Mr. Blifil แต่เธอกลับไม่ยินยอมพร้อมใจ แล้วแอบลักลอบหนีออกจากบ้านเช่นกัน
  • การผจญภัยของ Tom Jones ระหว่างเดินทางสู่ London
    • ระหว่างทาง Tom Jones พบเจอกับทหารอังกฤษที่กำลังจะเข้าร่วมสู้รบกับกลุ่มกบฎ Jacobite แล้วเกิดความขัดแย้งบางอย่าง
    • หลังจากออกเดินทางต่อ ให้ความช่วยเหลือ Mrs. Waters ระหว่างกำลังโดนข่มขืน
    • เดินทางมาถึงโรงแรมอีกแห่ง Tom Jones สานสัมพันธ์/ร่วมรักกับ Mrs. Waters แล้วเกิดเรื่องวุ่นๆให้เข้าใจผิดกับ Fitzpatrick (ครุ่นคิดว่า Mrs. Waters=Mrs. Fitzpatrick) รวมถึง Sophie (ขึ้นรถม้ามากับเพื่อนสาว Mrs. Fitzpatrick) ที่เพิ่งติดตามมาถึงติดๆ
  • เรื่องวุ่นๆยังกรุง London
    • Tom Jones ได้พบเจอกับช่างตัดผม Mr. Partridge ที่เคยถูกเข้าใจผิดว่าคือบิดา(ของ Jones) แล้วพักอาศัยอยู่กับอดีตแม่ครัว Mrs. Millar
    • ระหว่างนั้น Tom Jones พยายามติดต่อหา Sophie ที่อาศัยอยู่กับ Lady Bellaston แต่เขากลับถูกเธอล่อหลวง ร่วมเพศสัมพันธ์ แต่งองค์ทรงเครื่องให้กลายเป็นผู้ดีมีสกุล
    • วันหนึ่งที่ Tom Jones เดินทางมาขอความช่วยเหลือ Mrs. Fitzpatrick แล้วขากลับพบเจอกับสามีของเธอ ครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าเขาแอบสานสัมพันธ์กันภรรยา เลยเกิดการต่อสู้ ดวลดาบ จนอีกฝ่ายเสียชีวิต
    • Tom Jones ได้รับการใส่ร้ายป้ายสีและกำลังจะถูกแขวนคอประหารชีวิต แต่ระหว่างนั้น Squire Allworthy ก็ได้รับทราบความจริงทั้งหมดจาก Mrs. Millar

ผมรู้สึกว่าหนังมีปัญหากับการลำดับเรื่องราวพอสมควร โดยเฉพาะช่วงระหว่างการเดินทาง รวมถึงเหตุการณ์ชุลมุนในกรุง London เต็มไปด้วยความสับสนมึนงง พยายามแทรกเรื่องราว/คอมเมอดี้ของตัวละครอื่นๆเข้ามาแย่งซีน Tom Jones จนแทบไม่พบเห็นพัฒนาการเปลี่ยนแปลงใดๆ พอเจอหญิงสาวคนใหม่ก็พร้อมถาโถมเข้าใส่ ทำให้เมื่อเฉลยปมปริศนา ทุกสิ่งอย่างมันเลยโคตรเหนือจริง จับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่

และปัญหาใหญ่ก็คือการอารัมบทด้วยสไตล์หนังเงียบ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจมากๆ แต่หลังจากนั้นความตื่นเต้นกลับค่อยๆเลือนลางจางหาย เห็นว่าเกิดจากการสู้รบระหว่างผกก. Richardson กับโปรดิวเซอร์ที่ต้องการให้หนังเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น เทคนิค ลูกเล่นต่างๆจึงลดน้อยลงอย่างมากๆ


เพลงประกอบโดย John Mervyn Addison (1920-98) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chobham, Surrey ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบเครื่องดนตรี Oboe, พออายุสิบหกเข้าเรียนด้านการประพันธ์เพลง Royal College of Music, อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเจ้าหน้าที่ประจำรถถังใน Battle of Normand, หลังสิ้นสุดสงครามกลับมาทำงานครูสอนวิชาแต่งเพลง Royal College of Music แล้วเริ่มมีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ละครเวที ขาประจำผู้กำกับ Tony Richardson อาทิ The Entertainer (1960), A Taste of Honey (1961), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962), Tom Jones (1963), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Torn Curtain (1966), Sleuth (1972), A Bridge Too Far (1977) ฯลฯ

งานเพลงถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง (คว้ารางวัล Oscar และ Grammy Award) เต็มไปด้วยท่วงทำนองที่สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ชวนหัว บางครั้งก็โรแมนติกหวานแหวว ซาบซึ้งกินใจ ยั่วเย้ายวนชวนหลงใหล เต็มไปด้วยอารมณ์มากมาย ส่วนสไตล์เพลงก็มีทั้ง Baroque, ยุคสมัย Romantic, รวมถึง Folk & Traditional Music และ Ballads Song (บทเพลงที่มีเนื้อคำร้อง) พยายามผสมผสานหลายสิ่งอย่างคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน

Main Theme เริ่มต้นด้วยกลิ่นอายสไตล์ Baroque ดนตรีแห่งความขัดแย้ง (มักใช้เครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิดเล่น เปียโน vs. Harpsichord ท่วงทำนองสะท้อนกันและกัน คนละระดับเสียง สลับเสียง หรือย้อนแก่นสาร) รับอิทธิพลไม่น้อยจาก George Frideric Handel ซึ่งเหมาะกับหนังแนวพีเรียตย้อนยุค ที่มีตัวละครไม่ชอบอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ และมีพฤติกรรมต่อต้านวิถีทางสังคม

บทเพลงที่ผมถือว่าคือไฮไลท์ของหนังคือ Swordplay (แนะนำให้หาฟังใน Spotify) ตรงกับฉากต่อสู้ดวลดาบระหว่าง Tom Jones vs. Mr. Fitzpatrick ทั้งๆพวกเขาพยายามเข่นฆ่าอีกฝ่ายให้ตกตาย แต่กลับเต็มไปด้วยความสนุกสนาครึ้นเครง นี่ต้องชมการตัดต่อ ทิศทางมุมกล้อง และออกแบบการต่อสู้ ทำให้ซีเควนซ์นี้เพิ่มความรุกเร้าใจขึ้นอย่างมากๆ

แซว: ผมรู้สึกว่าฉากต่อสู้ซีเควนซ์นี้ มีความน่าตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจกว่าการดวลดาบเจไดของ Star Wars (1977-80-83) สามภาคแรกเสียอีกนะ!

บทเพลงคำร้อง If He Swing by the String แต่งโดย John Addison และ Julian More ผมหาเครดิตไม่ได้ว่าใครขับร้อง ได้ยินตอน Tom Jones ถูกควบคุมขัง และกำลังเดินทางสู่ลานประหาร (และหนังยังพยายามร้อยเรียงชุดภาพ ให้มีความสอดคล้องกับเนื้อคำร้อง)

If he swing by the string
He will hear the bell ring
And then there’s an end to poor Tommy

He must hang by the noose
Where no hand will cut loose
The rope from the neck of poor Tommy

เนื่องจากผมหาบทเพลงที่ใช้ประกอบในหนังไม่ได้ แต่เหมือนว่า Marlene Dietrich มีความชื่นชอบบทเพลงนี้มากๆ จึงติดต่อขอบันทึกเสียง วางจำหน่ายปี ค.ศ. 1964

The History of Tom Jones, a Foundling คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ Henry Fielding เปรียบได้กับจดหมายรักมอบให้ภรรยาผู้ล่วงลับ ขอบคุณในความจงรักภักดี (มีบุตรร่วมกันถึง 5 คน) แม้ว่าตนเองจะเป็นคนหมกมุ่นมักมากในกามคุณ ร่วมเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นไม่ซ้ำหน้า แต่ความรักจากเธอยังทำให้ฉันคงความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางสังคมที่ราวกับหมาล่าเนื้อ คอยไล่ล่า ฉีกกัดกิน พร้อมเข่นฆ่าบุคคลนอกคอกให้ตกตายจากหลังม้า

ขณะเดียวกัน Fielding ยังทำการเสียดสีล้อเลียนวิถีผู้ดีอังกฤษสมัยนั้น ที่มัวแต่ยึดถือมั่นในขนบประเพณี วิถีทางสังคม สรรหาสรรพข้ออ้างในการควบคุมครอบงำ กดขี่ข่มเหงบุคคลชนชั้นต่ำต้อยกว่า ตีตราว่าร้าย Tom Jones เพราะชาติกำหนดเป็นบุตรนอกสมรส (Bastard Son) แต่พอความจริงได้รับการเปิดเผย ความผิดทุกสิ่งอย่างกลับได้รับการยกโทษให้อภัย นั่นคือ ‘อภิสิทธิ์ทางชนชั้น’ ไม่มีทางเกิดขึ้นกับสามัญชน

คาสโนว่า เพลย์บอย เสือผู้หญิง มันผิดอะไรที่มนุษย์จะตกหลุมรัก มีเพศสัมพันธ์ แต่งงานกับหลายบุคคล (Polygamy) ความรู้สึกอคติ ไม่ยินยอมรับ ล้วนเกิดจากการที่เราถูกควบคุมครอบงำโดยบริบททางสังคม บางศาสนาสอนให้มีภรรยาเพียงหนึ่ง (ถึงสี่) อ้างว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ แสดงถึงอารยธรรมสูงส่ง ดูถูกเหยียดหยามบุคคลมักมากในกามคุณ มีภรรยาหลายคนไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน

พุทธศาสนาไม่ได้กำหนดข้อบังคับอะไรเกี่ยวกับจำนวนของภรรยา (คนที่ทำบุญบารมีจนได้ขึ้นสวรรค์ สามารถมีบริวาร/ภรรยานับพันหมื่นแสน) เพียงแต่ศีลข้อสามกาเมสุมิจฉาจาร อย่าไปผิดประเวณี ร่วมเพศสัมพันธ์กับบุคคลมีเจ้าของ เพราะนั่นอาจสร้างความไม่พึงพอใจ (ลองคิดดูว่าถ้าบุตร/ภรรยาของคุณถูกใครอื่นล่วงละเมิดทางเพศ จะยินยอมรับได้งั้นหรือ?) จนกลายเป็นกงเกวียนกรรมเกวียน เวียนวน เราไปเอาเมียเขา เขามาเอาลูกเรา ความขัดแย้งพัฒนาสู่ความเคียดแค้น เมื่อไหร่มันจักจบจักสิ้น

เรื่องราวของ Tom Jones เป็นสิ่งที่สังคม(ตะวันตก)ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนล้วนไม่ให้การยินยอมรับ แต่ในความจริงพวกเขาเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยความโหยหา อิจฉาริษยา เพราะตนเองไม่สามารถทำได้อย่างนั้น มันมีบางสิ่งอย่างมันค้ำคอเอาไว้ จึงต้องแสดงอคติ รังเกียจต่อต้าน พยายามขับไล่ผลักไส ประหัดประหารแขวนคอ … แต่พอตระหนักว่าอีกฝั่งฝ่ายคือเลือดเนื้อเชื้อไข ก็กุลีกุจอ พร้อมยกโทษให้อภัย แสดงถึงความกลับกลอกปอกลอก กะล่อนปลิ้นปลิ้น ออกกฎระเบียบเหล่านั้นเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

ความสำเร็จของภาพยนตร์ Tom Jones (1963) ก็ชัดเจนมากๆถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนรุ่นใหม่ปฏิเสธการถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ ใครจะว่าอะไรฉันไม่สน โหยหาอิสรภาพให้กับตัวตนเอง นั่นรวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ สะท้อนการกำลังมาถึงของยุคสมัย Swinging London ไม่มีใครจะคาดคิดว่าอังกฤษ(ที่เลื่องชื่อเรื่องขนบกฎกรอบ)จะเป็นประเทศแรกๆ นำเทรนด์การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (น่าจะเพราะเป็นประเทศมีสิ่งต่างๆบีบรัดมัดตัวมากที่สุด ผู้คนเลยพยายามหาหนทางดิ้นให้หลุดพ้นอย่างรุนแรงที่สุด)

ผู้กำกับ Richardson หลังจากสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘Kitchen Sink Realism’ สะท้อนสภาพสังคมประเทศอังกฤษ (Contemporary England) ที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด (Look Back in Anger (1959)) โดดเดี่ยวอ้างว้าง (The Loneliness of the Long Distance Runner (1962)) พอมาถึง Tom Jones (1963) คือช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย ระบายความอึดอัดอั้น อิสรภาพแห่งชีวิต ละทอดทิ้งโลกความเป็นจริง เลิกสนใจปัญหาสังคม-การเมือง ผลงานหลังจากนี้จะเน้นสร้างสิ่งตอบสนองตัณหาส่วนตนเป็นที่ตั้ง!

(เนื่องจากผมยังไม่เคยรับชมผลงานก่อนหน้านี้ของผกก. Richardson เลยบอกไม่ได้ว่าเขามีความอึดอัดอั้นอะไรที่ฝังอยู่ภายใน ไว้เขียนถึง ‘Kitchen Sink Realism’ ค่อยว่ากันอีกทีนะครับ)


หลังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในประเทศอังกฤษ เดินทางต่อไปยังเทศกาลหนังเมือง Venice แม้เสียงตอบรับจะกลางๆ (Mixed Review) แต่สามารถคว้ารางวัล Best Actor (Albert Finney) ขณะที่ Golden Lion ปีนั้นตกเป็นของ Hands Over the City (1963) กำกับโดย Francesco Rosi

ด้วยทุนสร้าง £467,000 ปอนด์ (ประมาณ $1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไม่มีรายงานรายรับในอังกฤษ เพียงบอกว่า ‘Popular’ เมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกาสามารถทำเงินได้สูงถึง $17 ล้านเหรียญ (อีกแหล่งข่าวรายงานว่า $37.6 ล้านเหรียญ) ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ยังมีลุ้นรางวัล Oscar, Golden Globe, BAFTA Award และสามารถกวาดรางวัลได้มากมาย (ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งเคียงข้าง Cleopatra (1963))

  • Academy Award
    • Best Picture ** คว้ารางวัล
    • Best Director ** คว้ารางวัล
    • Best Actor (Albert Finney)
    • Best Supporting Actor (Hugh Griffith)
    • Best Supporting Actress (Diane Cilento)
    • Best Supporting Actress (Edith Evans)
    • Best Supporting Actress (Joyce Redman)
    • Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล
    • Best Art Direction – Color
    • Best Original Score ** คว้ารางวัล
  • Golden Globe Award
    • Best Motion Picture – Musical or Comedy ** คว้ารางวัล
    • Best Foreign Film – English-Language
    • Best Director
    • Best Actor – Musical or Comedy (Albert Finney)
    • Most Promising Newcomer – Male (Albert Finney) ** คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (Hugh Griffith)
    • Best Supporting Actress (Joan Greenwood)
  • BAFTA Award
    • Best Film from any Source ** คว้ารางวัล
    • Best British Film ** คว้ารางวัล
    • Best British Actor(Albert Finney)
    • Best British Actor (Hugh Griffith)
    • Best British Actress (Edith Evans)
    • Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล

เกร็ด: เนื่องจากผกก. Tony Richardson ไม่ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Oscar ด้วยเหตุนี้นักแสดง Edith Evans จึงขึ้นรับแทนสาขา Best Director และ David Picker (ตัวแทนของ United Artist) ขึ้นรับ Best Picture

เกร็ด2: นอกจากนี้ Tom Jones (1963) ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวที่มีนักแสดงหญิงถึงสามคนเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress แต่ผู้ชนะกลับคือ Margaret Rutherford จากเรื่อง The V.I.P.s. (1963)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 ซึ่งมีทั้งฉบับดั้งเดิม Original Theatrical Version (129 นาที) และ Director’s Cut (121 นาที) ได้รับการอนุมัติโดยตากล้อง Walter Lassally สามารถหาซื้อ Blu-Ray และรับชมออนไลน์ได้จาก BFI และ Criterion

หรือใครสนใจคอลเลคชั่น Woodfall: A Revolution in British Cinema 1959-1965 รวบรวมผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Tony Richardson จัดจำหน่ายโดย BFI Video มีจำนวน 8 เรื่อง (ได้รับการบูรณะแล้วทั้งหมด)

แม้จะเต็มไปด้วยลีลาภาพยนตร์อันจัดจ้าน รวมถึงสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น Swinging London แต่ผมกลับขื่นขำไม่ออกกับความเหนือจริงของเรื่องราว Sex Fantasy ที่พยายามสร้างมูลค่าให้ความสัปดลของ Tom Jones สมควรได้รับตอนจบ Happy Ending จริงๆนะหรือ?

สิ่งน่าหงุดหงิดใจที่สุดของหนังก็คือ การเป็นภาพสะท้อนสังคมยุคสมัยนั้น มันทำให้ผมเกิดข้อคำถามขึ้นมาว่า เราควรยินยอมรับ ‘เสรีภาพทางเพศ’ ขนาดไหนกัน? คุยเรื่องเพศกับลูกก็เรื่องหนึ่ง อยู่ก่อนแต่งก็เรื่องนึง โสเภณีขายตัวก็อีกเรื่องนึง แต่การไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ‘sex predator’ อะไรคือเส้นแบ่งบางๆระหว่างสำส่อน กามวิปริต จิตวิตถาร

จัดเรต 18+ กับความเจ้าชู้ประตูดิน เพศสัมพันธ์ไม่เลือกหน้า หยามเหยียดชนชั้น คำพูดกักฬระ

คำโปรย | ความชวนหัวที่เกิดจากพฤติกรรมสัปดลของ Tom Jones มีความแปลกประหลาด ตื่นตระการตา แต่อาจสร้างความขื่นขำไม่ออกให้กับผู้ชมส่วนใหญ่
คุณภาพ | สัปดล สับสน
ส่วนตัว | ขื่นขำ

The Lavender Hill Mob (1951)


The Lavender Hill Mob (1951) British : Charles Crichton ♥♥♥♥

นายธนาคาร Alec Guinness นำก๊วนโจรกระจอกปล้นทองจากธนาคารในสไตล์ Ealing Comedy จัดจ้านด้วยลูกเล่นที่กลายเป็นแรงบันดาลใจ Vertigo (1959) และคว้ารางวัล Oscar: Best Original Screenplay

อีกหนึ่งโคตรผลงานจาก Ealing Studios เลื่องชื่อเรื่องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนหัว (Comedy) มอบความบันเทิงแบบไม่ค่อยมีสาระ แต่จัดจ้านด้วยเทคนิค ลูกเล่นภาพยนตร์ ทรงอิทธิพลต่อผลงานยุคถัดมา และยังคงความคลาสสิก ขบขำกลิ้งเหนือกาลเวลา

(สามผลงานชิ้นเอกในสไตล์ Ealing Comedy ประกอบด้วย Kind Hearts and Coronets (1949), The Lavender Hill Mob (1951) และ The Ladykillers (1955))

เมื่อวันก่อนผมเพิ่งรับชม Hobson’s Choice (1954) ของผู้กำกับ David Lean ที่ถือว่าได้รับอิทธิพลจาก Ealing Comedy ก็เลยตั้งใจจะมองหา เขียนถึงสักเรื่อง แล้วก็ค้นพบ The Lavender Hill Mob (1951) ติดอันดับ 17 ชาร์ท BFI: Top 100 British films รวมถึงสำนักวาติกัน Vatican: 45 Great Films จัดอยู่ในส่วนของ Arts Film

นอกจากฝีไม้ลายมือด้านการแสดงของ (Sir) Alec Guinness ยังมีฉากที่จะทำให้ผู้ชมเกิดอาการหมุนติ้วๆ มึนงง เดินลงบันไดวนหอไอเฟล โดยไม่รู้นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจภาพยนตร์ Vertigo (1959) คุ้นๆว่ามีฉากเคลื่อนเลื่อนกล้องด้วยวิธีการคล้ายๆกัน

และอีกไฮไลท์ที่สร้างความประหลาดใจให้ผมเล็กๆ นั่นคือการรับเชิญ (Cameo) ของนักแสดงสาว Andrey Hepburn เห็นว่าดั้งเดิมจะมีบทบาทมากกว่านี้ แต่เพราะติดคิวงานละครเวที เลยไม่มีเวลาว่างสักเท่าไหร่


Charles Ainslie Crichton (1910-99) ผู้กำกับ/นักตัดต่อ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wallasey, Cheshire เข้าศึกษาคณะประวัติศาสตร์ New College ณ University of Oxford แต่ต่อมากลับเลือกทำงานวงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นนักตัดต่อ Things to Come (1936), The Private Life of Henry VIII (1933), Elephant Boy (1937), The Thief of Bagdad (1940), ช่วงทศวรรษ 40s ย้ายมาสังกัด Ealing Studios จึงมีโอกาสกำกับหนัง For Those in Peril (1944), Hue and Cry (1947), ร่วมกำกับ Dead of Night (1945), The Lavender Hill Mob (1951), ผลงานโด่งดังสุดคือ A Fish Called Wanda (1988)

ยุคทองของ Ealing Studios (1947-57) มีจุดเริ่มต้นจาก Crichton สรรค์สร้างภาพยนตร์ Hue and Cry (1947) โดยเอกลักษณ์ของ Ealing Comedy มักมีเรื่องราวการเผชิญหน้า ความขัดแย้งระหว่าง Man vs. Society, บุคคลธรรมดาทั่วไป (Common Man) กับองค์กร/สถาบันทางสังคม (The Establishment/Institutions) ส่วนใหญ่เป็นการปล้น-ฆ่า ลักพาตัว หัวโจ๊กมักมีความเฉลียวฉลาด ครุ่นคิดแผนการสุดลึกล้ำ แต่สุดท้ายกลับไม่เคยเอาตัวรอด เพราะบ้านเมืองมีขื่อมีแป

If you think about Ealing at those times, we were a bundle, we were middle-class people brought up with middle-class backgrounds and rather conventional educations. Though we were radical in our points of view, we did not want to tear down institutions: this was before the days of Marxism or Maoism or Levi-Strauss or Marcuse. We were people of the immediate post-War generation, and we voted Labour for the first time after the war; this was our mild revolution. We had a great affection for British institutions: the comedies were done with affection, and I don’t think we would have thought of tearing down institutions unless we had a blueprint for what we wanted to put in their place. Of course we wanted to improve them, or to use a cliché of today, to look for a more just society in the terms that we knew. The comedies were a mild protest, but not protests at anything more sinister than the regimentation of the times.

โปรดิวเซอร์ Michael Balcon แห่ง Ealing Studios

จุดเริ่มต้นของ The Lavender Hill Mob (1951) เกิดจากความสำเร็จของภาพยนตร์ The Blue Lamp (1950) กำกับโดย Basil Dearden, นำแสดงโดย Jack Warner, เป็นแนวตำรวจสืบสวนสอบสวนคดีความ (มีคำเรียก Police Procedural หรือ Police Show หรือ Police Crime Drama) แต่โปรดิวเซอร์ Michael Balcon ไม่ได้ต้องการทำภาคต่อ (Sequel) ครุ่นคิดอยากเปลี่ยนแนวให้กลายเป็น Comedy

มอบหมายนักเขียนในสังกัด Thomas Ernest Bennett ‘Tibby’ Clarke (1907-89) เล่าว่าได้แรงบันดาลใจเรื่องราวพนักงานธนาคารปล้นทองจากธนาคารที่ตนเองทำงาน ระหว่างค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อพัฒนาบทภาพยนตร์ Pool of London (1951) ซึ่งมีโอกาสพูดคุยปรึกษา Bank of England แล้วเคยแซวกันเล่นๆถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว

เกร็ด: Bank of England ถึงขนาดมีการจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษา เพื่อครุ่นคิดหาวิธีการ ความเป็นไปได้ที่พนักงานธนาคารจะปล้นทองระหว่างการเดินทาง ไม่ใช่แค่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้นนะครับ แต่ยังปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง


เรื่องราวของ Henry ‘Dutch’ Holland (รับบทโดย Alec Guinness) ทำงานธนาคารมากว่ายี่สิบปี เป็นพนักงานขนส่งทองคำแท่ง (Gold Bullion) ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่เคยมีเหตุการณ์ผิดพลาดบังเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

จนกระทั่งค่ำคืนหนึ่ง ณ บ้านพัก Lavender Hill, Henry มีโอกาสพบเจอกับ Alfred ‘Al’ Pendlebury (รับบทโดย Stanley Holloway) นักหลอมเหล็ก ทำของที่ระลึกส่งขายต่างประเทศ สังเกตเห็นความละม้ายคล้ายคลึงระหว่างทองและเหล็ก จึงครุ่นคิดแผนการปล้นทองทำแท่ง แล้วนำมาหลอมเป็นหอไอเฟล ส่งออกประเทศฝรั่งเศส ขายทอดตลาดมืด แล้วใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอยู่สักแห่งหนหนึ่ง


Sir Alec Guinness de Cuffe (1914 – 2000) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากการเล่นบทละคร Shakespeare ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องเป็นสามทหารเสือแห่งอังกฤษ ควบคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติเป็นทหารเรือ Royal Naval Reserve สิ้นสุดสงครามจึงเริ่มรับงานแสดงภาพยนตร์โดยคำชักชวนของ David Lean อาทิ Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), กลายเป็นตำนานกับ Kind Hearts and Coronets (1949), The Ladykillers (1955), The Bridge on the River Kwai (1957) ** คว้า Oscar: Best Actor, Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Star Wars (1977) ฯ

รับบท Henry ‘Dutch’ Holland ชายวัยกลางคนผู้มีความเคร่งขรึม สงบเสงี่ยมเจียมตน เป็นคนขี้หวาดระแวง แต่มีความรอบคอบ ใส่ใจทุกรายละเอียด โหยหาความสมบูรณ์แบบ หลังจากทำงานธนาคารมากว่ายี่สิบปี ไม่เคยต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร กระทั่งวันหนึ่งพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงของการหลอมเหล็ก-หลอมทอง จึงครุ่นคิดวางแผนปล้นธนาคารอันแยบยล

เวลารับชมการแสดงของ Guinness ผมรู้สึกเหมือนกิ้งก่าเปลี่ยนสี คือมีความแนบเนียน กลายเป็นตัวละคร และแตกต่างจากบทบาทอื่นๆเคยพบเห็น (ปู่แกไม่เคยเป็น ‘typecast’ ปรับเปลี่ยนบุคลิก/ภาพลักษณฺ์ไปเรื่อยๆแทบไม่เคยซ้ำแบบ) อย่างตัวละคร Dutch หรือ Holland (มันก็ประเทศเดียวกันนี่หว่า??) ภายนอกดูสงบเสงี่ยม อ่อนน้อมถ่อมตน พยายามสร้างภาพจนได้รับความนับหน้าถือตา แต่เมื่อพบเห็นโอกาสแห่งโชคชะตา ก็แสดงสันดานธาตุแท้ออกทางสีหน้า ดวงตาพองโต ดูหื่นกระหาย โฉดชั่วร้าย กลายเป็นคนมุ่งมั่น เอาจริงจังเอา พูดคำเฉียบคมคาย โหยหาความสมบูรณ์แบบ ‘perfectionist’

แซว: บทบาทนี้ถือเป็นส่วนผสมระหว่างนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง The Man in the White Suit (1951) และหัวโจ๊กโจรกระจอกเรื่อง The Ladykillers (1955) [ทั้งสองเรื่องนี้ล้วนเป็นของ Ealing Comedy] มีความครึ่งเนิร์ด-ครึ่งติ๊งต๊อง เฉลียวฉลาดในเรื่องโง่ๆ กระทำสิ่งผิดกฎหมาย สุดท้ายได้รับผลกรรมติดตามทัน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลายบทบาทเด่นๆของ Guinness อย่าง Oliver Twist (1948), Kind Hearts and Coronets (1949), แต่กลับเป็น The Lavender Hill Mob (1951) ครั้งแรกได้เข้าชิง Oscar: Best Actor จากทั้งหมด 5 ครั้ง (สาขาการแสดง 4 ครั้ง) คว้ารางวัลเรื่อง The Bridge on the River Kwai (1957)


Stanley Augustus Holloway (1890-1982) นักแสดง/ตลก สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manor Park, Essex เมื่ออายุ 14 ออกจากโรงเรียนทำงานเป็นเสมียนโรงงานรองเท้า ใช้เวลาว่างเข้าร่วมคณะการแสดง ขับร้องคอรัส จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานตลก Leslie Henson ให้การสนับสนุนจนมีชื่อเสียง ทำการแสดงร้อง-เล่นเต้น West End, จัดรายการวิทยุ, ภาพยนตร์ส่วนใหญ่บทบาทสมทบ อาทิ Brief Encounter (1945), Hamlet (1948), Passport to Pimlico (1949), The Lavender Hill Mob (1951), แต่โด่งดังที่สุดน่าจะคือโปรดักชั่นละครเวที My Fair Lady เป็นบุคคลแรกรับบท Alfred P. Doolittle

รับบท Alfred ‘Al’ Pendlebury นักหลอมเหล็ก ผู้มีความทึ่มทื่อ เกือบซื่อบื้อ กว่าจะเข้าใจสิ่งที่ Henry พยายามโน้มน้าวให้เขาสมรู้ร่วมคิดปล้นทองแท่งจากธนาคาร แต่ชายคนนี้คือจุดอ่อนที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ขาดความรอบคอบ ทำอะไรๆผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วน

ตัวละครของ Holloway อาจไม่โดดเด่นเทียบเท่า Guinness แต่ถือว่าคือคนตบมุก เติมเต็มกันและกัน เพราะพวกเขามีความแตกต่างขั้วตรงข้าม ซื่อบื้อ ทึ่มทื่อ ขาดความรอบคอบ ชอบทำสิ่งผิดพลาด แถมยังเข้าใจอะไรๆคลาดเคลื่อน จนสร้างปัญหาเบิกบานปลาย และท้ายที่สุดจนมุมตำรวจก็เพราะชายคนนี้

ก่อนเข้าวงการภาพยนตร์ Holloway เคยมีอาชีพเล่นตลก จึงเข้าใจศาสตร์การสร้างเสียงหัวเราะด้วยใบหน้าเคร่งเครียด เอาจริงจังเอาจัง แต่ท่าทางการกระทำกลับแตกต่างตรงกันข้าม มีความเทอะทะ เฟอะฟะ ขี้หลงขี้ลืม แถมนำพาตนเองให้ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะสงสารเห็นใจหรือสมเพศเวทนา


ถ่ายภาพโดย Ralph Douglas Vladimir Slocombe (1913-2016) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Putney, London โตขึ้นตั้งใจทำงานช่างภาพข่าว (Photojournalist) เคยเดินทางไป Danzig, Warsaw ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พบเห็นความเลวร้าวของทหาร Nazi ปฏิบัติต่อชาว Jews โชคดีสามารหลบหนีเอาตัวรอดออกมาได้สำเร็จ, หลังจากนั้นทำงานให้กระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) ถ่ายทำฟุตเทจเครื่องบินรบ ภารกิจมหาสมุทรแอตแลนติก และมีโอกาสสนิทสนมกับ Alberto Cavalcanti ชักชวนมาร่วมงานในสังกัด Ealing Studios มีผลงาน Dead of Night (1945), Kind Hearts and Coronets (1949), The Man in the White Suit (1951), The Lavender Hill Mob (1951), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Italian Job (1969), The Lion in Winter (1969), Travels with My Aunt (1972), Jesus Christ Superstar (1973), Julia (1977), Raiders of the Lost Ark (1981) ฯลฯ

Slocombe เป็นตากล้องที่เลื่องชื่อในสรรค์สร้างเทคนิคภาพยนตร์อันจัดจ้าน ชื่นชอบการทดลองมองหาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสำหรับ The Lavender Hill Mob (1951) ครุ่นคิดวิธีการวิ่งลงบันไดวันที่สร้างความสับสน มึนงง เวียนทั้งศีรษะ-ท้องไส้ แถมเมื่อลงมาถึงชั้นล่างก็ยังคงตุปัดตุเป๋ไปมา ทั้งนักแสดง ตากล้อง รวมถึงผู้ชมด้วยกระมัง

สิ่งหนึ่งที่อาจถือว่าเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของ Ealing Studios คือการผสมผสานสถานที่จริง ร่วมกับฉากถ่ายทำในสตูดิโอ ซึ่งสำหรับ The Lavender Hill Mob (1951) ประกอบด้วย London และ Paris, ฝรั่งเศส

  • Bank of England ตั้งอยู่ที่ Threadneedle Street
  • Bank Underground Station
  • Gunnersbury Park (สถานที่จัดงาน Police Exhibition)
  • สนามบิน RAF Northolt, Ruislip
  • แม่น้ำ Seine
  • Eiffel Tower

สำหรับ Lavender Hill Mob คืออพาร์ทเมนท์สมมติตั้งอยู่ถนน Lavender Hill (ในอดีตเคยเป็นเนินเขา แต่ปัจจุบันเต็มไปด้วยท้องถนน ตึกรามบ้านช่อง และห้างสรรพสินค้า) ใกล้ๆกับสี่แยกและสถานีรถไฟ Clapham Junction ย่าน Battlersea, South London

ฉากแรกของหน้ายังบาร์แห่งหนึ่งที่ Rio de Janeiro แต่แน่นอนว่าคงไม่ไกลขนาดนั้น แค่เพียงสร้างฉากภายใน Ealing Studios ตั้งอยู่ย่าน Ealing, West London

ข้อดีของการถ่ายทำในสตูดิโอ ทำให้สามารถเชื้อเชิญนักแสดงรับเชิญ (Cameo) แวะเวียนมาปรากฎตัว หนึ่งในนั้นคือ Audrey Hepburn ได้รับการพบเจอโดย (Sir) Alec Guinness เห็นว่าวางแผนให้มีบทบาทมากกว่านี้ แต่เพราะเธอติดคิวโปรดักชั่นละครเวที ยังไม่ถึงเวลาแจ้งเกิดวงการภาพยนตร์

วินาทีแห่งการเริ่มต้นเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) กล้องจะเคลื่อนเข้าหาใบหน้าของ Henry Holland จากนั้นมีการ Cross-Cutting ที่ยาวนานกว่าปกติ จนเห็นภาพซ้อนระหว่างใบหน้าตัวละคร กับท้องถนน ผู้คน รถยนต์สัญจรไปมา นี่สามารถสื่อถึง Man vs. Society ซึ่งก็คือลายเซ็นต์สไตล์ Ealing Comedy ก็ว่าได้

แทบทุกสิ่งอย่างในหนังล้วนเข้า ‘สูตรสอง’ มักต้องมีการพูดกล่าวถึง พบเห็นอย่างน้อยสองครั้งเสมอๆ อย่างสองช็อตนี้อยู่คนละซีน แต่มีความละม้ายคล้ายจนแทบแยกแยะไม่ออก เปลี่ยนจากหล่อทองแท่ง มาเป็นหลอมเหล็กของที่ระลึก หอไอเฟล (หอไอเฟลก็จะมีทั้งรูปหล่อจำลอง และถ่ายทำยังสถานที่จริง)

แซว: การที่หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ยังทำให้ผู้ชมไม่สามารถแยกแยะระหว่างทองกับเหล็ก ดูราวกับเป็นสิ่งๆเดียวกัน!

ผมเสียเวลาไปหลายนาทีเพื่อค้นหาหนังสืออาชญากรรม You’d Look Swell in a Shroud แต่ปรากฎว่ามันคือปกปลอม ไม่ได้มีนวนิยายเล่มนี้อยู่จริง! ส่วนข้อความที่ตัวละครอ่านก็เป็นการแต่งขึ้นสำหรับหนัง สำหรับกระตุ้นความครุ่นคิดของ Henry ให้อยากทำบางสิ่งอย่าง แตกต่างจากวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ‘this was the time!

I handed my fedora to a hat-check girl with all that Venus de Milles had got, and then more, and I was admiring the more when I glimpsed something in the back of this frail that set my underwear creeping up on me like it had legs. A guy had soft-shoed out of the door from the gaming room as quite as a snake on tip-belly. And I didn’t need my case history of smiling Ed Montana to know that Sonny Boy was his number-one triggerman, Ricci the Filipino.

If ever I felt like putting up a new high for the mile of the century, ‘this was the time. And then I thought again of those 10,000 smackeroos.

แซว: ชื่อหนังสือ You’d Look Swell in a Shroud พาดพิงถึง Henry Holland ได้ชัดเจนมากๆ

ใครสักคนวางกับดักหนูไว้บนโต๊ะ แล้วจู่ๆ Henry วางหมวกลงมาพอดิบดี นั่นกลายเป็นแรงบันดาลให้เขาครุ่นคิดหาผู้สมรู้ร่วมคิด (ขณะนั้นยังมีแค่ Henry กับ Alfred) ด้วยวิธีการวางเหยื่อล่อ หลอกให้หัวขโมยอาชีพมาติดกัปดัก แล้วชักชวนมาร่วมแผนการปล้นธนาคาร

ระหว่างเฝ้ารอคอยหัวขโมยมืออาชีพให้มาติดกัปดัก Henry มีการละเล่นกับเงา ทำมือรูปสัตว์ ดูคล้ายๆสุนัขจิ้งจอกล่อกำลังหลอกเหยื่อ

ใครรับชมหนังนัวร์มาเยอะ น่าจะมักคุ้นกับช็อตโคตรคลาสสิกนี้! สมาชิกกลุ่มอาชญากรรมห้อมล้อมวง หลอดไฟแขวนอยู่เหนือศีรษะ และบริเวณโดยรอบปกคลุมด้วยความมืดมิด นี่คือช่วงเวลาการวางแผน ตระเตรียมการ มอบหมายหน้าที่ ก่อนเตรียมปฏิบัติภารกิจ

ระหว่างการปล้นทองแท่ง Henry เกาะอยู่ตรงกรงขังหลังประตูรถ (แสร้ง)ส่งเสียงร้องเรียก Help Me! แต่หลายคนน่าจะรับรู้สึกว่าไม่แตกต่างจากเวลาโจรถูกตำรวจจับกุม และกำลังส่งตัวไปเรือนจำ … มันช่างมีความละม้ายคล้าย ในทิศทางกลับตารปัตร หรือจะมองว่าเป็นการพยากรณ์สิ่งบังเกิดขึ้นในอนาคต

ฉากที่ Henry ถูกมัดเชือก ปิดตา กลิ้งเกลือกลงพื้น และพลัดตกแม่น้ำ แม้ทั้งหมดคือการเสแสร้งสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา แต่ล้วนบอกใบ้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเขาต่อไป ได้ความรู้สึกเหมือนผลกรรมตามสนอง

  • อยากฉากมัดเชือกแล้วหมุนๆ ก็ล้อกับตอนลงบันไดวนหอไอเฟล
  • ส่วนการพลัดตกน้ำ ล้อกับซีเควนซ์ขึ้นเรือไม่ทัน

เห็นข้อความ Hue and Cry ไหมเอ่ย? นั่นเป็นการอ้างอิงผลงาน Hue and Cry (1947) ซึ่งได้รับการเชิดชูว่าคือภาพยนตร์สไตล์ Ealing Comedy เรื่องแรกของผู้กำกับ Charles Crichton

ยุคสมัยนั้นคนชั่วได้ดีแบบ Henry Holland มันช่างเป็นเรื่องไร้สาระ (Absurdity) บ้าบอคอแตก เรียกเสียงหัวเราะขบขัน ย้อนกลับมาดูในโลกปัจจุบัน เรื่องพรรค์นี้ช่างมีความธรรมดาสามัญ พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม (ไม่เชิงว่าสังคมให้การยินยอมรับ แต่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจต่างลุ่มหลงระเริง เต็มไปด้วยความบาดใหญ่)

ฉากที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง คือระหว่างวิ่งลงบันไดวนหอไอเฟล ผมเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะตระหนักได้อยู่แล้วว่าถ่ายทำในสตูดิโอ แต่วิธีการนำเสนอ รวมถึงภาพ POV (Point-of-View) จักสร้างความวิงเวียน มึนงง สับสน และพอลงมาถึงชั้นล่าง ทั้งคน ทั้งกล้อง (และผู้ชม) ก็ยังเกิดอาการหน้ามืดตาลาย คล้ายอยากเป็นลม

นัยยะการนำเสนอฉากนี้ เพื่อสื่อถึงความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว จาก R เป็น Ahhh ทำให้ชีวิตของหัวขโมยทั้งสองกำลังค่อยๆตกต่ำลง ราวกับกรรมสนองกรรมที่เคยพยายามปั่นหัวตำรวจ คราวนี้พวกเขาจึงโดนเข้ากับตนเองอย่างสาสม

เรื่องวุ่นๆกับเหตุการณ์ที่ท่าเรือ ต้องติดต่อช่องขายตั๋ว ปั๊มพาสปอร์ต ผ่านด่านศุลกากร จ่ายค่าธรรมเนียม ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่แค่สื่อถึงกระบวนการทำงานราชการ ที่มีลำดับขั้นตอน มีความยุ่งยาก ต้องใช้เวลา ยังสะท้อนการไล่ล่าของตำรวจ จับไม่ได้ไล่ไม่ทันอาชญากรทั้งสอง (เหมือนที่พวกเขาไม่สามารถติดตามขอคืน ของที่ระลึกหอไอเฟลจากเด็กๆได้ทัน)

ไคลน์แม็กซ์ของหนังต้องชมเลยว่า คิดได้ไง! เมื่อสองหัวขโมยไล่ล่าติดตามของที่ระลึกหอไอเฟล มาถึงสถานจัดงานนิทรรศการ Police Exhibition ซึ่งเมื่อพวกเขาตัดสินใจลักขโมยของกลาง ทำการหลบหนีพานผ่านสถานที่จำลอง ถูกรถตำรวจไล่ล่า ปีนป่ายหลังคา มาจนถึงห้องขัง และหลบหนีหายออกจากเรือนจำ … ทั้งหมดทั้งมวล แสดงให้เห็นผลกรรมที่กำลังจะติดตามทันหัวขโมยทั้งสอง

ทิ้งท้ายกับบทเพลงกล่อมเด็ก Old MacDonald Had a Farm ลองไปดูเนื้อร้อง มันเป็นความ Absurdity ที่ผมเอาแต่หัวเราะ จนก็ไม่รู้ว่ามันจะสื่อนัยยะถึงอะไร!

Old MacDonald had a farm
Ee i ee i o
And on his farm he had some cows
Ee i ee i oh
With a moo-moo here
And a moo-moo there
Here a moo, there a moo
Everywhere a moo-moo
Old MacDonald had a farm
Ee i ee i o
Old MacDonald had a farm
Ee i ee i o
And on his farm he had some chicks
Ee i ee i o
With a cluck-cluck here
And a cluck-cluck there
Here a cluck, there a cluck
Everywhere a cluck-cluck
Old MacDonald had a farm
Ee i ee i o
Old MacDonald had a farm
Ee i ee i o
And on his farm he had some pigs
Ee i ee i o
With an oink-oink here
And an oink-oink there
Here an oink, there an oink
Everywhere an oink-oink
Old MacDonald had a farm
Ee i ee i o

แซว: ตอนจบของหนัง ผู้เขียนบท T.E.B. Clarke ครุ่นคิดอยากให้ Henry เอาตัวรอดหลบหนีพ้น แต่ถูกโปรดิวเซอร์ทัดทาน เพราะกลับถูกตำรวจจับ –“

ตัดต่อโดย Seth Holt (1923-71) ผู้กำกับ/นักตัดต่อ เกิดที่ Mandatory Palestine แล้วมาเติบโตยังประเทศอังกฤษ ร่ำเรียนการแสดงที่ Royal Academy of Dramatic Art (RADA) แต่เมื่อเข้าวงการภาพยนตร์เปลี่ยนมาเป็นนักตัดต่อ ร่วมงานขาประจำ Ealing Studios อาทิ Dead of Night (1945), Kind Hearts and Coronets (1949), The Lavender Hill Mob (1951) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านการเล่าย้อนอดีต (Flashback) ของหัวโจ๊ก Henry ‘Dutch’ Holland ขณะหลบลี้หนีภัย อาศัยอยู่ยัง Rio de Janeiro เมืองหลวงของ Brazil กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปีกว่าๆ เมื่อครั้นยังทำงานเป็นนายธนาคาร ครุ่นคิดแผนการโจรกรรมทองแท่ง รวบรวมสมัครพรรคพวก แต่หลังกระทำการสำเร็จ ก็เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ จนความจริงถูกเปิดโปงออกมา

  • อารัมบท เริ่มต้นเล่าเรื่อง ณ Rio de Janerio
  • กิจวัตรประจำวันของพนักงานธนาคาร
    • Henry คือพนักงานธนาคารทำหน้าที่ขนส่งทองคำแท่ง ปฏิบัติภารกิจอย่างซื่อสัตย์ ไม่เคยเกิดความผิดพลาดตลอดระยะเวลา 20 ปี
    • เมื่อเสร็จงานเดินทางกลับบ้านพักที่ Lavender Hill
    • พบเจอกับลูกบ้านคนใหม่ Alfred ‘Al’ Pendlebury ซึ่งเป็นนักหลอมเหล็ก พบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงระหว่างทอง-เหล็ก จึงเกิดความครุ่นคิดแผนการชั่วร้ายบางอย่าง
  • ตระเตรียมแผนการปล้นธนาคาร
    • รวบรวมสมัครพรรคพวกได้อีกสองคน มอบหมายหน้าที่ ซักซ้อมแผนการ
  • การปล้นธนาคาร
    • Henry ได้รับมอบหมายให้ขนทองคำแท่งงวดสุดท้าย
    • เรื่องวุ่นๆระหว่างการปล้นธนาคาร
  • หลอมทองแท่งให้กลายเป็นสิ่งของที่ระลึก
    • หลังจากการปล้นสำเร็จลุล่วง ก็ถึงช่วงเวลาหลอมทองให้กลายเป็นสิ่งของที่ระลึก
    • Henry และ Alfred ออกเดินทางสู่ Paris แต่กลับมีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น
  • ความพยายามแก้ไขข้อผิดพลาด
    • Henry และ Alfred พยายามออกติดตามหาสิ่งของที่ระลึกที่สูญหาย
    • มาจนถึงงานจัดแสดง Police Exhibition
    • เมื่อความแตกพวกเขาจึงถูกตำรวจไล่ล่า
  • ปัจฉิมบท หวนกลับมา Rio de Janerio เพื่อนำเสนอบทสรุปของการก่ออาชญากรรม

หนังมีการดำเนินเรื่องที่กระชับมากๆ ไม่มีส่วนขาดส่วนเกิน นี่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน เกิดแรงดึงดูดให้อยากติดตามต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ พลาดไม่ได้สักวินาทีเดียว … ผมเองก็รู้สึกเหมือนถูกแรงดึงดูดบางอย่าง รอยต่อระหว่างฉากถือว่าแนบเนียน ต่อเนื่อง ลื่นไหลมากๆ

ไฮไลท์การตัดต่อผมยกให้ตอนไคลน์แม็กซ์ ฉากไล่ล่าบนท้องถนน เอาจริงๆมันแทบจะไม่มีอะไรน่าตื่นตาเทียบเท่าหนังบู๊แอ๊คชั่นสมัยนี้ แต่ด้วยลีลาตัดสลับไปสลับมาสไตล์ Dr. Strangelove (1964) [จริงๆเทคนิคดังกล่าวมันมีมาตั้งแต่ยุค Soviet Montage แต่ผมเปรียบเทียบถึง Dr. Strangelove เพื่อให้หลายคนเห็นภาพชัดกว่า] ระหว่างรถผู้ต้องหา รถตำรวจ ศูนย์สื่อสาร และทิวทัศน์ที่รถวิ่งผ่าน เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาแค่นี้ แต่กลับสามารถสร้างตื่นเต้น ลุ้นระทึก และดูมีความเป็นศิลปะ


เพลงประกอบโดย Georges Auric (1899 – 1983) คีตกวีอัจฉริยะชาวฝรั่งเศส เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มีความเชี่ยวชาญเปียโน ชื่นชอบเขียนบัลเล่ต์ กระทั่งการมาถีงของภาพยนตร์ สนิทสนม Erik Satie และ Jean Cocteau ผลงานเด่นๆ อาทิ À nous la liberté (1931), La Belle et la Bête (1946), Moulin Rouge (1952), Roman Holiday (1953), Le Salaire de la peur (1953), Rififi (1955), The Innocents (1961) ฯ

งานเพลงของหนัง คละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Baroque ยุคสมัยแห่งความขัดแย้ง (Tension) มักใช้เครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิดเล่นท่วงทำนองสะท้อนกันและกัน คนละระดับเสียง สลับเสียง หรือย้อนแก่นสาร (Reversing) โดยจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆ ภายนอกดูหรูหรา โอ่อ่า อลังการ แต่วิถีชีวิตผู้คนสมัยนันกลับยากจนข้นแค้น … นี่สะท้อนเข้ากับสไตล์ของ Ealing Comedy ได้อย่างเปะๆเลยนะ Man vs. Society

นอกจากนี้ท่วงทำนองเพลง ยังมักมีความขัดแย้งกับภาพพบเห็น/เรื่องราวบังเกิดขึ้น อย่างการปล้นทอง The Robbery กลับมีท่วงทำนองน่าตื่นเต้น เน้นความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง (ขัดแย้งกับความครุ่นคิดเห็นทางสังคม ว่าคือสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม)

ปล. ฉบับบันทึกเสียงใหม่โดย BBC Philharmonic Orchestra กำกับวงโดย Rumon Gamba ไม่ใช่ว่าไม่ไพเราะนะครับ แต่มันคนละสัมผัสอารมณ์กับที่ได้ยินในหนังโดยสิ้นเชิง

เรื่องราวของ The Lavender Hill Mob (1951) อาจไม่ได้สอดแทรกเนื้อหาสาระ ข้อคิดคติสอนใจอะไร แต่ภาพยนตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (post-Wars) มักมีลักษณะหลบหนีจากโลกความจริง (Escapist) ความบันเทิงแบบสุดโต่ง วิธีนำเสนอเว่อวังอลังการ ความสำเร็จของ Erling Comedy สะท้อนความสนใจผู้ชมสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

แต่ใช่ว่าเรื่องราวของหนังไม่มีข้อคิดอะไรนะครับ การเผชิญหน้าระหว่างบุคคลธรรมดา vs. องค์กร/สถาบัน ในที่นี้ก็คือธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ระบบรักษาความปลอดภัย เงินทองคือสิ่งล่อตาล่อใจ ต่อให้บุคคลซื่อสัตย์ขนาดไหนล้วนมีความน่าจะเป็นไปได้ รวมถึงยังเป็นการย้ำเตือนสติผู้ชม การก่ออาชญากรรมไม่มีทางที่ผู้กระทำผิดกฎหมายจะสามารถดิ้นหลุดรอดพ้น ท้ายสุดก็ต้องชดใช้ผลกรรม

สิ่งที่ทำให้หนังได้รับการยกย่องชื่นชม นั้นคือลวดลีลา วิธีการนำเสนอ เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน เทคนิคภาพยนตร์ และความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด ที่สามารถสร้างอิทธิพล แรงบันดาลใจให้ผลงานถัดๆมา นั่นคือความงดงามทรงคุณค่าทางศิลปะ คลาสสิก ขบขำกลิ้งเหนือกาลเวลา

แม้หนังอาจดูไม่มีความเป็นส่วนตัวของผกก. Crichton แต่ผมอ่านเจอว่าปู่แกเป็นคนเงียบๆ เรียบง่าย อ่อมน้อมถ่อมตน ไม่ชอบคุยโวโอ้อวด เวลาพูดล่อแหลมหรือไม่สุภาพก็มักกล่าวคำขอโทษโดยทันที อีกทั้งผลงานส่วนใหญ่ก็ตามใบสั่งสตูดิโอ ไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงหรือทะเยอทะยานสักเท่าไหร่ … เหล่านี้ช่างละม้ายคล้ายตัวละคร Henry ‘Dutch’ Holland อยู่ไม่น้อยเลยนะ

แซว: ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Charles Crichton นั้นคือ A Fish Called Wanda (1988) ก็เป็นแนว Heist Comedy แบบเดียวกับ The Lavender Hill Mob (1951) มีความน่าดูเหลือเกินนะ!


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Marble Arch Odeon ณ กรุง London ได้เสียงตอบรับดีมากๆ ไม่มีรายงานทุนสร้างหรือรายรับ เพียงบอกว่าได้รับความนิยม ‘popular’ ในประเทศอังกฤษ และเมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ทำเงินได้ $580,000 เหรียญ ก็น่าจะเพียงพอคืนทุนแล้วนะ!

นอกจากนี้หนังยังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice และมีลุ้นรางวัลจาก Academy Award และ BAFTA Award ประกอบด้วย

  • Academy Award
    • Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
    • Best Actor (Alec Guinness)
  • BAFTA Award
    • Best Film from any Source พ่ายให้กับ La ronde (1950)
    • Best British Film ** คว้ารางวัล
  • Venice Film Festival
    • International Award: Best Screenplay ** คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ 2K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2011 (ครบรอบ 60 ปี) สามารถหาซื้อ Blu-Ray จากค่าย Kino Lorber และ Optimum Home Entertainment หรือคอลเลคชั่น The Ealing Studios Rarities Collection: Volume 1 (มีทั้งหมด 14 Volumn) ประกอบด้วย Kind Hearts and Coronets,The Lavender Hill Mob และ The Man in the White Suit

ผมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างมากๆกับ The Lavender Hill Mob (1951) มันเหมือนมีแรงดึงดูดบางอย่าง ชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่รับรู้สึกเบื่อหน่ายเลยสักวินาทีเดียว! (ผิดกับ Hobson’s Choice (1954) ที่แม้เทคนิคจัดจ้าน แต่เต็มไปด้วยความยืดยาด น่าเบื่อหน่าย) ถ้าในคอลเลคชั่น Ealing Comedy ส่วนตัวชื่นชอบพอๆกับ The Ladykillers (1955) เหมาะสำหรับรับชมเวลาเครียดๆ ต้องการพักผ่อนคลาย ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไรสักเท่าไหร่

แนะนำคอหนังตลกคลายเครียด สไตล์ Ealing Comedy แนวปล้นธนาคาร (Heist Film) ด้วยแผนการอันชาญฉลาด แต่ก๊วนโจรกลับมีความกระจอกแดก บ้าๆบอๆ ทำลายเซลล์สมอง ใครเป็นแฟนๆนักแสดง Alec Guinness ไม่ควรพลาดเลยนะ!

จัดเรต pg กับการปล้นธนาคาร

คำโปรย | Alec Guinness นำก๊วนโจรกระจอก The Lavender Hill Mob ปล้นธนาคารสไตล์ Ealing Comedy ขบขำกลิ้งตกเก้าอี้ คลาสสิกเหนือกาลเวลา
คุณภาพ | ขำลิ้
ส่วนตัว | ตกเก้าอี้

Summertime (1955)


Summertime (1955) British : David Lean ♥♥♥♥

ร่วมออกเดินทางพร้อมกับ Katharine Hepburn ขึ้นรถไฟมุ่งสู่ Venice, Italy เมืองแห่งสายน้ำที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ความโรแมนติกน่าหลงใหล พบเจอ-ตกหลุมรัก-พลัดพรากจาก แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ จักตราตรึงอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์

Summertime (1955) ภาพยนตร์ที่แทบไม่ต่างจากโปรโมทการท่องเที่ยว Venice, Italy (หลังออกฉาย เห็นว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว!) ครั้งแรกของผู้กำกับ David Lean ก้าวออกมาทำงานนอกเกาะอังกฤษ ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี (Technicolor) ยังสถานที่ที่เขาตกหลุมรักแรกพบโดยทันที ถึงขนาดยกให้เป็นบ้านหลังที่สอง แถมบอกว่านี่คือผลงานมีความเป็นส่วนตัว และโปรดปรานมากที่สุด

I’ve put more of myself in that film than any other I’ve ever made.

David Lean

และยังรวมถึงนักแสดงคนโปรด Katharine Hepburn ไม่เพียงเป็นตัวตายตัวแทน พวกเขายังมองตารู้ใจ ค้นพบอุปนิสัยละม้ายคล้ายกันหลายๆอย่าง ถึงขนาดว่า Hepburn เอ่ยปากชื่นชม รู้สึกโชคดีที่มีโอกาสร่วมงานครั้งนี้

It made a very deep and definite impression on me, and he was one of the most interesting directors I ever worked with. Wasn’t I lucky to work with him?

Katharine Hepburn

ความทรงจำแรกของผมเกี่ยวกับ Venice คุ้นๆว่าน่าจะเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Summertime (1955) เคยรับชมครั้งแรกๆตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แล้วก็ตกหลุมรักแรกพบโดยไม่รับรู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าเพราะอะไร, หวนกลับมาคราวนี้รู้สึกว่าเรื่องราวคาดเดาง่ายไปนิด แต่ก็ค้นพบความซับซ้อนบางอย่างซุกซ่อนเร้นไว้ ไฮไลท์คือการแสดงของขุ่นแม่ Hepburn น่าประทับใจยิ่งๆกว่าตอน The African Queen (1951) เสียอีกนะ!


Sir David Lean (1908-91) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานจึงออกไปดำเนินตามความฝัน, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากทำงานเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสจาก Noël Coward ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ช่วงทศวรรษ 50s, ผู้กำกับ Lean เกิดความเบื่อหน่ายที่จะสรรค์สร้างภาพยนตร์ภายในสตูดิโอ รู้สึกอึดอัดไม่ต่างจากนกในกรงขัง พยายามมองหาโปรเจคที่สามารถออกเดินทางไปถ่ายทำยังต่างประเทศ/นอกเกาะอังกฤษ

วันหนึ่งได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Ilya Lopert ชักชวนให้ดัดแปลงละครเวที The Time of the Cuckcoo แต่งโดย Arthur Laurents นำแสดงโดย Shirley Booth ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Empire Theater วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1952 จำนวน 263 รอบการแสดง

เกร็ด: ก่อนที่โปรเจคนี้จะมาถึงผกก. Lean โปรดิวเซอร์ Lopert เคยทำการติดต่อ Anatole Litvak (วิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน), Daniel Mann (ดัดแปลงบทโดย Arthur Laurents แต่ผลลัพท์ไม่น่าประทับใจ), Vittorio De Sica (ต้องการกำกับ-แสดงนำ) และ Roberto Rossellini (ต้องการให้ศรีภรรยาแสดงนำ Ingmar Bergman)

ผู้กำกับ Lean ไม่ได้มีความชื่นชอบพล็อตโดยรวมของ The Time of the Cuckcoo แต่สนใจแนวคิดเกี่ยวกับหญิงชาวอเมริกัน เดินทางไปพักร้อนยังทวีปยุโรป แล้วติดกับความโรแมนติกพ่อค้าของเก่าที่เมือง Venice จึงต่อรองโปรดิวเซอร์ Lopert ขอปรับแก้ไขเรื่องราวให้หลงเหลือเพียงเมืองแห่งสายน้ำ Venice, Italy

ในส่วนของบทดัดแปลง ผู้กำกับ Lean พยายามขอความช่วยเหลือจาก Norman Spencer, Donald Ogden Stewart, S.N. Behrman ผลลัพท์กลับยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ก่อนจะว่าจ้างนักเขียนนวนิยาย Herbert Ernest Bates (1905-74) แม้ไม่เคยมีผลงานดัดแปลงภาพยนตร์ แต่โด่งดังจากหนังสือเกี่ยวกับชนบทอังกฤษ (English countryside) มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทาง ท่องเที่ยวพักผ่อน และยังแนะนำตั้งชื่อหนัง Summertime (บางประเทศออกฉายในชื่อ Summer Madness)


เรื่องราวของ Jane Hudson (รับบทโดย Katharine Hepburn) หญิงสาวโสดวัยกลางคน สัญชาติอเมริกัน ทำงานเลขานุการ ตัดสินใจใช้เวลาช่วงวันหยุดฤดูร้อน ออกเดินทางท่องเที่ยวยุโรป โดยมีเป้าหมายปลายทางคือเมืองแห่งสายน้ำ Venice, Italy สถานที่แห่งความเพ้อใฝ่ฝัน เข้าพักยังโรงแรม Pensione Fiorini

ช่วงวันแรกๆของ Jane ก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจที่ได้เดินทางมาถึงเมือง Venice แต่ไม่นานก็เริ่มเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง มองไปทางไหนพบเห็นแต่คนหนุ่ม-สาว กำลังควงแขนพรอดรัก แอบคาดหวังว่าตนเองจะมีโอกาสพบเจอใครสักคนบ้าง จนกระทั่งได้รับการทักทายจาก Renato de Rossi (รับบทโดย Rossano Brazzi) ทีแรกก็เกิดอาการกลัวๆกล้าๆ พะว้าพะวัง แล้วโชคชะตาก็นำพาให้พวกเขามาพบเจอกันอีกครั้งที่สอง-สาม รับรู้ว่าอีกฝ่ายคือเจ้าของร้านขายของเก่า เคยแต่งงานมีบุตร ปัจจุบันยังไม่ได้หย่าร้างแต่แยกกันอยู่ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความขัดแย้งภายใน เพราะยุคสมัยนั้นยังมองว่าขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา


Katharine Houghton Hepburn (1907 – 2003) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Hartford, Connecticut สมัยเด็กตัดผมสั้นเรียกตัวเองว่า Jimmy มีนิสัยทอมบอย ชื่นชอบว่างน้ำ ขี่ม้า ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส แต่ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ สนใจการแสดงเพราะจะได้ไม่ต้องเข้าโรงเรียน กลายเป็นนักแสดงละครเวทีจนไปเข้าตาแมวมองของ Hollywood จับมาเซ็นสัญญากับ RKO ภาพยนตร์เรื่องแรก A Bill of Divorcement (1932), ยังไม่ทันไรก็คว้า Oscar: Best Actress ตัวแรกจากเรื่อง Morning Glory (1933)

สิ่งที่ทำให้ Hepburn กลายเป็นอมตะค้างฟ้า ติดอันดับหนึ่ง AFI’s 100 Years…100 Stars: Female Legends ก็เพราะเธอผ่านช่วงเวลาทั้งประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว ช่วงปี 1934-38 ได้รับฉายา ‘box office poison’ ก็นึกว่าอาชีพการงานคงจบสิ้นแล้ว แต่สามารถหวนกลับมาโด่งดังเรื่อง The Philadelphia Story (1940), ใช้เวลา 34 ปี ถึงคว้า Oscar: Best Actress ตัวที่สอง Guess Who’s Coming to Dinner (1967) และสามในปีถัดไป The Lion in Winter (1968) ก่อนปิดท้ายกลายเป็นสถิติครั้งที่สี่กับ On Golden Pond (1981)

รับบท Jane Hudson หญิงสาวโสดวัยกลางคน สัญชาติอเมริกัน แรกเริ่มเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ระริกระรี้ ดีใจอย่างเอ่อล้นระหว่างกำลังโดยสารรถไฟ เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนยัง Venice, Italy ต้องการบันทึกภาพ จดจำทุกวินาทีขณะอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งความเพ้อใฝ่ฝันแห่งนี้ แต่หลังจากอารมณ์สงบลง สังเกตเห็นผู้คนรอบข้าง บังเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ใครอยากมีใครสักคนเคียงข้างกาย

ความโสดจนถึงวัยกลางคน ทำให้ Jane เต็มไปด้วยอาการหวาดกังวล ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ปฏิเสธบุคคลที่พยายามเข้าหาชิดใกล้ สรรหาสรรพข้ออ้าง จนกระทั่งโชคชะตานำพาเธอให้พบรักที่มิอาจหักห้ามใจ ก่อนจะถึงวันร่ำจากลา จักขอจดจำทุกวินาทีที่มีโอกาสอยู่เคียงข้างเธอตลอดไป

เมื่อตอนที่ Arthur Laurents ขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ พยายามต่อรองให้ Shirley Booth ซึ่งคว้ารางวัล Tony Award: Leading Actress in a Play ได้รับบทแสดงนำ ทีแรกโปรดิวเซอร์ Lopert ก็ตบปากรับคำ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจเพราะอีกครุ่นคิดว่าฝ่ายอายุมากเกินไป ได้รับคำร้องขอจากผกก. Lean อยากร่วมงาน Katharine Hepburn แม้ขณะนั้นไม่ได้รับงานแสดงมาสามปี (เพื่อใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างคู่ขา/สามี Spencer Tracy) ยินยอมตอบตกลงโดยทันที

เกร็ด: เห็นว่า Hepburn เคยพูดคุยสอบถาม Booth ว่าอยากแสดงบทบาทนี้ในภาพยนตร์หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “Not a chance” เพราะขณะนั้นกำลังติดพันละครเวทีเรื่องใหม่ เลยตอบปฏิเสธโปรเจคนี้ไป

แม้เรื่องราวอาจดูธรรมดาๆทั่วไป แต่การแสดงของ Hepburn คือไฮไลท์ที่เต็มไปด้วยมิติอันสลับซับซ้อน ภายนอกที่ดูตื่นเต้น ท่าทางระริกระรี้ อ้างว่ารักอิสระ ‘free spirit’ แท้จริงแล้วเป็นการพยายามปกปิดบังความโดดเดี่ยวอ้างว้างภายใน เพราะยุคสมัยนั้นการเป็นสาวโสด/ขึ้นคานไม่ใช่สิ่งน่าประทับใจ อิทธิพลทางสังคมกดทับจนทำให้เธอสูญเสียความเชื่อมั่นต่อตนเอง กลัวๆกล้าๆ พะว้าพะพัง สรรหาสรรพข้ออ้าง ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนแท้จริงออกไป

นอกจากเรื่องการแสดง ผมยังรู้สึกว่ารูปร่างอันผอมเพียวของ Hepburn สามารถแทรกซึมท่ามกลางฝูงชนได้อย่างแนบเนียล พริ้วไหวดั่งขนนก ปลิดปลิวลอยละล่อง หรือจิตวิญญาณรักอิสระ ‘free spirit’ สะท้อนตัวตนจริงๆของเธอที่แทบไม่แตกต่างจากตัวละคร

Hepburn made a career out of playing vibrant heroines with a vulnerable side and it’s her portrayal of Jane’s insecurity and loneliness that give the film its substance.

นักวิจารณ์ Laura Bushell จาก Channel 4

Hepburn turns in a feverish acting chore of proud loneliness.

นักวิจารณ์จากนิตยสาร Vareity

[Hepburn]’s probably the greatest actress of the sound era.

นักวิจารณ์ Pauline Kael

Hepburn มีความประทับใจอย่างมากๆในการร่วมงานผกก. Lean ไม่ใช่เพราะอีกฝ่ายหน้าตาหล่อเหลา แต่คือความมุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่ใจในทุกรายละเอียด ต่างฝ่ายต่างพยายามท้าทายศักยภาพของกันและกัน

(Summertime) was told with great simplicity in the streets, in the Piazza San Marco. We would shoot in tiny streets only a few feet wide. The sun would come and go in a matter of minutes. It was a very emotional part, and I tell you I had to be on my toes to give David enough of what he wanted practically on call. But it was thrilling… He seemed to me to simply absorb Venice. It was his. He had a real photographic gift. He thought in a descriptive way. His shots tell the story. He was capable of a sort of super concentration. It made a very deep and definite impression on me, and he was one of the most interesting directors I ever worked with.

Wasn’t I lucky to work with him?

Katharine Hepburn เขียนเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติ

Rossano Brazzi (1916-94) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy โตขึ้นร่ำเรียนกฎหมายยัง San Marco University จบออกมาเป็นทนายความ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงเมื่อปี ค.ศ. 1938, หลังสงครามโลกครั้งที่สองอพยพสู่ Hollywood เริ่มมีชื่อเสียงจาก Three Coins in the Fountain (1954), โด่งดังกับ Summertime (1955), South Pacific (1958), The Barefoot Contessa (1954), The Story of Esther Costello (1957), Count Your Blessings (1959), Light in the Piazza (1962), The Italian Job (1969) ฯ

รับบท Renato de Rossi ชายวัยกลางคนชาวอิตาเลี่ยน เจ้าของร้านขายของเก่าใน Venice บังเอิญพบเจอ Jane Hudson เกิดความชื่นชอบประทับใจ แถมโชคชะตายังชี้นำทางพวกเขา จนก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดทางศีลธรรม แต่สุดท้ายกลับต้องพลัดพรากจากเพราะเธอเป็นนักท่องเที่ยว แวะเวียนมาแล้วก็กลับไป ‘Brief Encounter’ หลงเหลือเพียงความทรงจำดีๆที่ได้อยู่เคียงข้างกัน

น่าเสียดายที่บทบาทนี้ไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก เรียกได้ว่าเป็น ‘stereotype’ ของชายอิตาเลี่ยน หล่อเซ็กซี่ ยิ่งอายุมากยิ่งดูดี เลื่องลือเรื่องความโรแมนติก รอยยิ้มชวนฝัน วัตถุทางเพศเติมเต็มแฟนตาซีหญิงชาวอเมริกัน ดินแดนแห่งคาสโนว่า ไม่ยี่หร่าศีลธรรมทางสังคม

แม้ว่า Brazzi อยู่ในวงการภาพยนตร์มานาน แต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงอย่างนั้นการร่วมงานกับ Hepburn ก็สร้างความประทับใจอยู่ไม่น้อย จึงต่อรองโปรดิวเซอร์ให้ขึ้นเครดิตร่วม ‘Top Bill’ นั่นถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้อีกฝ่ายไม่น้อยเลยละ


ถ่ายภาพโดย Jack Hildyard (1908-1990) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการเมื่อปี ค.ศ. 1934 เริ่มจาก Focus Puller มาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ Pygmalion (1938), ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Henry V (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ Caesar and Cleopatra (1945), Hobson’s Choice (1954), The Bridge on the River Kwai (1957)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, The Sundowners (1960), Battle of the Bulge (1965), Casino Royale (1967) ฯลฯ

ครั้งแรกของผู้กำกับ Lean ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี (Technicolor) แต่ก็ไม่ได้ต้องลองผิดลองถูกอะไรมากมาย เพราะ Venice เป็นดินแดนที่มีความหลากหลาย เต็มไปด้วยสีสันสดใส ส่วนใหญ่ใช้เพียงแสงธรรมชาติ บันทึกภาพท่ามกลางฝูงชน เลยไม่ค่อยมีลูกเล่นทางภาพยนตร์มากนัก

หนังมีการละเล่นกับสีแดง ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน ‘passion’ ความต้องการ(ราคะ)ของตัวละคร มักพบเห็นกับสิ่งของสำคัญๆ อาทิ ลิปสติก, แก้วสีแดง, ชุดสีแดง, รองเท้าแดง, แสงอาทิตย์ใกล้ตกดิน ฯลฯ (ยกเว้นเพียงดอกไม้ขาว Gardenia)

ในตอนแรกหนังได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลอิตาลี ไม่ต้องการให้ถ่ายทำในเมือง Venice ช่วงฤดูร้อน/หน้าท่องเที่ยว โดยเฉพาะการขอใช้เรือ Gondola เพราะกลัวสูญเสียรายได้มหาศาล ซึ่งผู้กำกับ Lean ต่อรองด้วยการบริจาคเงินค่าบูรณะซ่อมแซม St Mark’s Basilica และจะมีภาพสถานที่สำคัญๆสำหรับโปรโมทการท่องเที่ยว

เกร็ด: Summertime (1955) คือภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษเรื่องแรกๆ ถ่ายทำนอกประเทศทั้งเรื่อง และด้วยฟีล์มสี (Technicolor)


อาจมีหลายคนสงสัยว่าทำไม Venise สะกดด้วยตัวอักษร s แทนที่จะเป็น c นั่นเพราะขบวนรถไฟสายนี้เป็นของประเทศฝรั่งเศส Paris → Venise ถ้าเป็นภาษาอิตาเลี่ยนจะเรียกว่า Venezia ส่วนภาษาไทยอ่านว่า เวนิส, เวเน็ตเซีย เมืองหลักของแคว้น Veneto ทางตอนเหนือของอิตาลี ถูกสร้างขึ้นจากการเชื่อมเกาะเล็กๆ ในบริเวณทะเลสาบ Venetian Lagoon ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเล Adriatic อาณาบริเวณ 414 ตารางกิโลเมตร ผู้อยู่อาศัยประมาณสองแสนห้าหมื่นคน

เกร็ด: เมือง Venice ได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งทะเลเอเดรียติก (Queen of the Adriatic), เมืองแห่งสายน้ำ (City of Water), เมืองแห่งสะพาน (City of Bridges) และเมืองแห่งแสงสว่าง (The City of Light)

Pensione Fiorini คือโรงแรมสมมติ ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ประกอบขึ้นจากหลากหลายสถานที่ถ่ายทำ อาทิ

  • ฉากภายนอก/ทางเข้าโรงแรม ถ่ายทำยังบริเวณ Rio dei Bareteri
  • ทิวทัศน์ตรงระเบียงนอกหน้าต่าง ถ่ายทำยัง Rio de la Salute มองออกไปพบเห็นโบสถ์ Santa María della Salute (ฝั่งเมือง) และอีกมุมเกาะ San Giorgio Maggiore (กลางทะเลสาป)
  • ลานนั่งเล่นภายนอกและฉากภายใน ก่อสร้างขึ้นกลางลาน Campo San Vio, Dorsoduro

LINK: http://www.aloverofvenice.com/summertime/Summertime.htm

จัตุรัส Piazza San Marco ลานกว้างด้านหน้ามหาวิหาร Saint Mark’s Basilica (โบสถ์หลังแรกสร้างปี ค.ศ. 819-836 จัตุรัสแห่งนี้ก็น่าจะถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆกัน) คนส่วนใหญ่มักเรียกโดยย่อว่า La Piazza ถือเป็นศูนย์ใจกลาง/จิตวิญญาณของเมือง Venice เลยทำให้ Jane ได้มีโอกาสพบเจอ-ตกหลุมรัก-และบอกลากับ Renato (ถือเป็นตัวแทนของ Venice/ชาว Italian)

เกร็ด: จักรพรรดินโปเลียนเคยย่างเหยียบจัตุรัสแห่งนี้ แล้วให้การยกย่องเป็น “the drawing room of Europe” สถานที่ที่เหมาะแก่การสรรค์สร้างงานศิลปะ อย่างภาพวาดที่นำมาเป็นผลงานของ Canaletto (1697-1768) จิตรกรจาก Venetian School ตั้งชื่อว่า Piazza San Marco with the Basilica (1720)

Hepburn เขียนเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ ถึงภารกิจค้นหาแก้วสีแดง ‘Ultimate Glass Goblet’ ของผู้กำกับ Lean ถึงขนาดว่าจ้างนักเป่าแก้ว ทดลองผิดลองถูก ทดลองหลายเฉดสีสัน กว่าจะได้แดงสดๆตรงกับความพึงพอใจ

he finally had a glassblower blow about six in slightly different shades of red to get exactly what he had in mind

Katharine Hepburn

ไม่เชิงว่าแก้วสีแดงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนเมือง Venice (แต่ก็มีคำเรียกในหมู่นักสะสมว่า ‘Summertime Goblet’ ราคา 10,000 Lire สมัยนั้นเทียบเท่า $16 ดอลลาร์) ผมมองว่าคือสิ่งที่ใช้สำหรับตักตวง ในที่นี้ก็คือ Jane กำลังมองหาบางอย่างที่สามารถเติมเต็มความต้องการ ซึ่งเมื่อเธอพบเจอเจ้าของร้าน Renato ไม่คิดต่อรองราคา เท่าไหร่เท่านั้น พอใจในสิ่งที่พึงมี แต่ไม่ใช่สำหรับชาวอิตาเลี่ยน ตั้งมูลค่าสินค้าไว้สูงๆ แต่ราคาแท้จริงนั้นแสนถูก (ลองตีความเข้าใจในเชิงนามธรรมดูนะครับ ภายนอกสร้างภาพให้หรูหรา แต่ตัวตนแท้จริงนั้นราคาแสนถูก)

เกร็ด: ร้านขายของเก่า Antichita De Rossi ถ่ายทำยัง Campo San Barnaba ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกทุบทิ้ง แต่เปิดเป็นร้านขายของทั่วไป

จริงๆภาพนี้ผมอยากอธิบายถึงชุดสีแดง แสดงถึงความต้องการเป็นจุดเด่น เฝ้ารอคอยให้ใครบางคนหาพบเจอ เข้ามาพูดคุยทักทาย (ว่าง่ายๆก็คือ อ่อยเหยื่อ) แต่จู่ๆเขากลับเดินผ่านมาแล้วจากไป ใบหน้าของ Hepburn บิดเบี้ยวเสียจนผู้ชมรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน เสียงไวโอลินยังช่วยบีบเค้นคั้น แทบจะกลั้นหลั่งน้ำตาไม่ไหว และกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกห่าง รักครั้งนี้จบสิ้นลงแล้วใช่ไหม??

หลังความผิดหวังที่ไม่ได้พบเจอชายคนนั้น Jane เปลี่ยนกลับมาสวมใส่ชุดสีขาว แทนจิตใจอันบริสุทธิ์ เวิ้งว่างเปล่า เลิกคาดหวังอะไรอีกต่อไป แค่บังเอิญพานผ่านร้านขายของเก่าแห่งนี้อีกครั้ง เลยต้องการบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำ และขณะกำลังเดินถอยหลังก็พลัดตกคูคลอง … ตรงกับสำนวนไทย ถอยหลังเข้าคลอง หมายถึงการย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่พัฒนาแล้วแถมยังตกต่ำลงเรื่อยๆ

ในตอนแรก Hepburn ไม่ต้องการพลัดตกลงในคลอง เพราะมันโคตรสกปรก! (ก่อนหน้านี้มีภาพที่ชาวบ้านทิ้งขยะลงแม่น้ำ นั่นเหตุการณ์จริงไม่ได้เตี๊ยมใคร) แต่ผู้กำกับ Lean ยืนกรานว่าถ้าใช้นักแสดงแทนผู้ชมย่อมสังเกตได้ จึงมีการเทน้ำยาฆ่าเชื้อ และทาวาสลีนปกป้องผิวหนัง ถ่ายทำอยู่สี่เทค แล้วค่ำคืนนั้นดวงตาข้างหนึ่งของ Hepburn ทั้งคันทั้งแดงกล่ำ ได้รับการวินิจฉัยโรคอะไรสักอย่าง ไม่มีทางรักษาหาย ติดตัวจนวันตาย … แต่เธอไม่ได้โกรธเคืองอะไรผกก. Lean นะครับ เพราะนี่คือการทุ่มเทเสียสละเพื่อศิลปะภาพยนตร์

Renato ล่อหลอก Jane ว่าร้านของตนเองมีแก้วสีแดงแค่เพียงใบเดียว (ล่อหลอกเธอให้รักเดียวใจเดียว) แต่ในความจริงแก้วใบนี้หาซื้อไม่ยาก คำโกหกดังกล่าวสามารถเหมารวมทุกสิ่งอย่างที่เขาพยายามปกปิดบัง (ว่าเคยแต่งงานมีบุตร ปัจจุบันแยกกันอยู่กับภรรยา) … แก้วหลายใบ ช่างดูเหมือนผู้ชายหลายใจ

ผมพยายามจับจ้องมองช็อตนี้อยู่สักพักใหญ่ๆ รู้สึกว่ามันดูแปลกประหลาด เหมือนเกิดจากการซ้อนภาพวาด (จะมีบางส่วนที่ขยับเคลื่อนไหว แต่ส่วนใหญ่หยุดแน่นิ่งเฉยๆ) ซึ่งเหตุผลที่ต้องใช้เทคนิคภาพยนตร์ดังกล่าว อาจเพราะข้อจำกัดของการถ่ายทำตอนกลางคืน ฟีล์มสีต้องใช้ปริมาณแสงค่อนข้างมาก ผลลัพท์อาจไม่เป็นที่พึงพอใจ เลยต้องหาวิธีอื่นทำออกมาใหมันแนบเนียน

Gardenia ดอกไม้ขาว สัญลักษณ์ของความรักที่เป็นความลับ มอบให้คนรักสื่อว่าคุณน่ารักสำหรับฉัน และยังหมายถึงการวิวาห์ ความบริสุทธิ์ และปิติยินดี

ในบริบทของหนัง Jane ได้ครอบครองดอก Gardenia เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นก็ทำมันพลัดตกลงคูคลอง พยายามเอื้อมมือแต่ไม่สามารถไขว่คว้า รวมถึงไคลน์แม็กซ์ที่ Renato ต้องการมอบดอกไม้นี้เป็นของขวัญร่ำลา แต่ก็มาไม่ถึงมือเธออยู่ดี … กลายเป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่ Jane ได้ครอบครองเพียงระยะเวลาสั้นๆ

You are like a hungry child who is given ravioli to eat. ‘No’ you say, ‘I want beefsteak!’ My dear girl, you are hungry. Eat the ravioli.

Renato de Rossi

นี่เป็นประโยคที่มีความโรแมนติก สองแง่สองง่าม เห็นว่าบางประเทศมีการเซนเซอร์คำว่า beefsteak! เพราะมันมีความล่อแหลม … ยังไงผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

ความหมายของคำพูดประโยคนี้ก็คือ เวลาหิว(หื่น)กระหายบางทีมันก็เลือกไม่ได้ มีอะไรก็กินอย่างนั้น ถ้ามัวเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ คนนี้ไม่ใช่เจ้าชายในฝัน (beefsteak?) สุดท้ายก็อาจแห้วรับประทาน อยู่เป็นโสดซิงจนวันตาย

เกร็ด: Ravioli เป็นพาสตาชนิดหนึ่ง มีลักษณะแป้งแผ่นบางประกบห่อไส้ข้างใน คล้ายๆเกี๊ยวของประเทศจีน แต่ไม่จำกัดรูปทรง สามารถใช้แทนเส้นสปาเก็ตตี้ ทำอาหารอิตาเลี่ยนได้หลากหลายเมนู

ยุคสมัยนั้นการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ใช่สามี-ภรรยา ยังเป็นเรื่องต้องห้าม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ จึงมีหลายประเทศสั่งหั่นฉากนี้ออกไป ทั้งๆพบเห็นเพียงรองเท้าแดง ตัดสลับกับภาพการจุดพลุ จินตนาการกันออกหรือเปล่าว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร? … เมื่อถึงจุดสูงสุดก็ปะทุ ระเบิด แตกกระจาย

แซว: เมื่อตอนสรรค์สร้าง Brief Encounter (1945) ผู้กำกับ Lean ยังมีความยึกยัก ไม่สามารถแทรกใส่ฉากที่สื่อถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างชายโฉดหญิงชู้ แต่พออีกทศวรรษถัดมา Summertime (1955) อะไรๆก็เริ่มปรับเปลี่ยนแปลงไป

แซว2: วันก่อนผมเพิ่งรับชมภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) มันเลยเกิดความครุ่นคิดเชื่อมโยงถึงความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล (Obsession) แต่ก็ตระหนักว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน มันจะไปคล้ายๆรองเท้าแก้วของ Cinderella เสียมากกว่า

Renato พา Jane ไปท่องเที่ยวยัง Burano เกาะเล็กๆทางตอนเหนือ ขึ้นเรือห่างออกไป 11 กิโลเมตรจากเมือง Venice เพื่อรับชมพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งสอดคล้องกับความสัมพันธ์ของพวกเขา ดำเนินมาใกล้ถึงจุดจบ โดยไม่รู้ตัวนี่คือค่ำคืนสุดท้ายที่จักได้ครองคู่อยู่ร่วม

ตัดต่อโดย Peter Taylor (1922-97) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Hobson’s Choice (1954), Summertime (1955), The Bridge on the River Kwai (1957), This Sporting Life (1963), La Traviata (1983), Otello (1986) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองตัวละคร Jane Hudson ตั้งแต่โดยสารรถไฟมาถึงยัง Venice, Italy เข้าพักยังโรงแรม Pensione Fiorini แล้วออกเตร็ดเตร่ เร่รอน จนกระทั่งโชคชะตานำพาให้พบเจอกับ Renato de Rossi แม้พยายามปฏิเสธต่อต้าน แต่ก็มิอาจหักห้ามความต้องการของหัวใจ จนกระทั่งครบกำหนดวันหยุดพักผ่อน จำต้องร่ำลาจากยังสถานีรถไฟ

  • อารัมบท, Jane Hudson เดินทางมาถึง Venice
    • Jane Hudson โดยสารขบวนรถไฟมาถึงยัง Venice
    • ขึ้นเรือโดยสาร ออกเดินทางไปยังโรงแรม Pensione Fiorini
    • ระหว่างเข้าพัก สนทนากับเจ้าของ และนักท่องเที่ยวในโรงแรม
  • เตร็ดเตร่เร่รอนในเมือง Venice
    • ระหว่าง Jane กำลังเตร็ดเตร่ในเมือง Venice พบเจอกับเด็กชาย Mauro
    • ยามเย็นมานั่งเล่นยัง Piazza San Marco แรกพบเจอ Renato de Rossi
    • วันถัดมาระหว่างกำลังช้อปปิ้ง เกิดความชื่นชอบแก้วสีแดง บังเอิญเจ้าของร้านคือชายที่พบเจอเมื่อเย็นวาน Renato de Rossi
    • อีกวันถัดมาแวะเวียนมายังร้านขายเก่านี้อีกครั้ง ต้องการบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำ แต่ดันเดินถอยหลังตกลงคูคลอง
    • เมื่อกลับมาถึงโรงแรม พบเจอกับ Renato de Rossi ที่แวะมาเยี่ยมเยียน และชักชวนไปร่วมชมการแสดงยามค่ำคืน
  • ช่วงเวลา(ค่ำคืน)แห่งรัก
    • ยามค่ำคืนรับชมการแสดงดนตรีที่ Piazza San Marco
    • วันถัดมา Jane อุตส่าห์เฝ้ารอคอย Renato แต่กว่าจะว่างมาหาก็ยามค่ำคืน
    • พาไปท่องเที่ยวยามดึกดื่น พร้อมสารภาพความจริงว่าเคยแต่งงาน ปัจจุบันแยกกันอยู่กับภรรยา
    • และหลังจากนี้พวกเขาก็ได้เติมเต็มความต้องการของกันและกัน
    • Renato พา Jane ไปท่องเที่ยวยัง Burano รับชมพระอาทิตย์ตกดิน
  • วันสุดท้ายแห่งการร่ำลา
    • จู่ๆ Jane ก็ตัดสินใจบอกร่ำลา Renato ถึงเวลาเดินทางกลับบ้าน
    • และการร่ำจากลายังสถานีรถไฟ

บ่อยครั้งที่หนังมีการแทรกชุดภาพสถานที่ท่องเที่ยว ร้อยเรียงมุมมองเมือง Venice จากทิศทางต่างๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายทำบนชั้นดาดฟ้า มองลงมาเบื้องล่าง) นี่ไม่ใช่แค่ทำตามคำเรียกร้องขอรัฐบาลอิตาลี แต่ยังเป็นวิธีให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศ ราวกับต้องมนต์ขลัง พบเห็นดินแดนแห่งสายน้ำ(ในมุมมอง)ที่แตกต่างออกไป


เพลงประกอบโดย Alessandro Cicognini (1906-95) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Pescara, สำเร็จการศึกษาด้านการแต่งเพลงจาก Milan Conservatory โด่งดังจากอุปรากร Donna Lombarda (1933), จากนั้นผันตัวมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำ Vittorio de Sica และ Alessandro Blasetti ผลงานเด่นๆ อาทิ Shoeshime (1946), Bicycle Thieve (1948), Miracle in Milan (1951), Umberto D. (1952), Stazione Termini (1953), Summertime (1955) ฯลฯ

งานเพลงของหนังมีความหลากหลายอรรถรส เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองแห่งการผจญภัย (ระหว่างออกเดินทางมุ่งสู่ Venice) ตื่นเต้นสนุกสนาน หวานแหววโรแมนติก รวมถึงเศร้าโศกเสียใจเมื่อต้องพลัดพรากจากลา ส่วนใหญ่เป็น ‘Diegetic Music’ (ได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง) ซึ่งจะมีกลิ่นอายเมืองแห่งสายน้ำ Venice/ดนตรีสไตล์ Italian สำหรับสร้างบรรยากาศพอหอมปากหอมคอ

สำหรับ Title Sequence พื้นหลังรูปภาพวาด เพราะไม่ได้ขึ้นเครดิตจึงกลายเป็นปริศนาว่าผลงานศิลปินใด ทำการร้อยเรียงภาพการออกเดินทางของ Jane Hudson ตั้งแต่ขึ้นเรือสำราญ มาถึงทวีปยุโรป ท่องเที่ยวอังกฤษ ฝรั่งเศส ทิ้งท้ายด้วยภาพขบวนรถไฟจาก Paris สู่ Venice เต็มไปด้วยเสียง ‘Sound Effect’ หวูดรถ หวูดเรือ ผู้คนขวักไขว่ คลุกเคล้าเข้ามาเพื่อสร้างบรรยากาศการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ

ช่วงกลางเรื่อง Renato ชักชวน Jane มารับชมการแสดงคอนเสิร์ต La gazza ladra (1817) (แปลว่า The Thieving Magpie) มีลักษณะเป็น Melodramma หรือ Opera Semiseria ความยาวสององก์ ประพันธ์โดยคีตกวีชาวอิตาเลียน Giovanni Gherardini (1792-1868)

ท่อนโด่งดังและได้ยินในหนังคือ Overtune ไม่เพียงแค่อารัมบทเสียงรัวกลอง (Snare Drums) นำเข้าสู่งานเลี้ยงเฉลิมฉลอง แต่ช่วงกลางๆยังมีความพริ้วไหวของเครื่องเป่าที่ให้ความรู้สึกเหมือนเจ้าสาลิกาขี้ขโมย (Magpie) บินโฉบลงมาเอาบางสิ่งอย่าง สร้างความสูญเสียหายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง!

สำหรับบทเพลงโรแมนติกที่ได้ยินระหว่างเต้นรำชื่อว่า Summertime in Venice ดั้งเดิมมีเพียงท่วงทำนอง แต่เพราะหนังได้รับความนิยมอย่างมากๆ จึงมีการใส่คำร้องภาษาอังกฤษโดย Carl Sigman และแปลอีกหลายภาษา รวมถึงบันทึกเสียงนับครั้งไม่ถ้วน

เท่าที่ผมลองรับฟังบทเพลงนี้จากหลายๆศิลปินชื่อดัง ขอเลือกนำฉบับของ Buddy Greco บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1964 ซึ่งมีทั้งภาษาอิตาเลี่ยนและอังกฤษในบทเพลงเดียว รู้สึกน่าสนใจเลยเอาคลิปมาให้รับฟัง

Un sogno romantico
Venezia e il sole splendido
Dovunque saro, no li potro dimenticar
Di questa estate sul mar non potran morir
In me, i dolce baci ed I sopir

I dream all the winter long
Of mandolins that played our song
The dream is so real, I almost feel your lips on mine
And though I know we have to be an ocean apart
There’s Venice and you and summertime, deep in my heart

แถมให้สำหรับคนไม่อยากรับฟังฉบับคำร้องของบทเพลง Summertime in Venice คลิปที่ผมนำมานี้เป็นของ Mantovani & His Orchestra บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1958 เต็มไปด้วยกลิ่นอาย Venice ดนตรีสไตล์ Italian มีความไพเราะเพราะพริ้งกว่าที่ได้ยินในหนังเสียอีกนะ!

เอาจริงๆเพลงนี้น่าจะถือเป็น Main Theme ของหนังด้วยซ้ำนะ! ท่วงทำนองมีความพริ้วไหวเหมือนดั่ง(เมืองแห่ง)สายน้ำ จิตวิญญาณล่องลอยไป ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง นั่นรวมถึงเรื่องราวความรัก แม้ต้องการครองคู่อยู่เคียงข้าง แต่ก็มิอาจหยุดยับยั้งหักห้ามตนเอง ทำได้เพียงพบเจอ-พรากจาก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จดจำช่วงเวลาที่เราได้พบเจอครั้งนี้ เก็บฝังไว้ในความทรงจำชั่วนิรันดร์

Cuckoo นกชนิดหนึ่งทางยุโรปที่ชอบวางไข่ไว้ในรังนกชนิดอื่น, นี่น่าจะคือความตั้งใจของ Arthur Laurents ผู้เขียนบทละครเวที The Time of the Cuckoo ที่ต้องการสื่อถึงช่วงเวลาคบชู้สู่ชาย หญิงสาวสานสัมพันธ์กับบุรุษมีคู่ครองอยู่แล้ว ยุคสมัยนั้นยังเป็นสิ่งขัดแย้งต่อศีลธรรมอันดีงาม สังคมไม่ให้การยินยอมรับ แม้ด้วยข้อตกลงแยกกันอยู่(ของฝ่ายชายกับอดีตภรรยา)ก็ตามที

แซว: ใครเคยรับชม One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ก็น่าจะเข้าใจอีกความหมายศัพท์แสลงของ Cuckoo ที่แปลว่า คนบ้า วิกลจริต สูญเสียสติแตก

ผู้กำกับ Lean ไม่ได้ใคร่สนใจในเรื่องราวรักต้องห้าม คบชู้นอกใจ กระทำสิ่งขัดแย้งศีลธรรมทางสังคม -เพราะเคยตั้งคำถามนั้นมาแล้วกับ Brief Encounter (1945)- เราสามารถเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ระหว่าง Renato de Rossi กับเมือง Venice ตกหลุมรักชายคนนี้=เมืองแห่งนี้ (แน่นอนว่าต้องมีคนอื่นเคยตกหลุมรัก Renato/Venice เช่นเดียวกัน) แต่เพราะฉันเป็นแค่นักท่องเที่ยว พบเจอ-จากลา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทำได้เพียงจดจำทุกสิ่งอย่างเก็ยฝังไว้ในความทรงจำ/ฟีล์มภาพยนตร์ (ทั้งจากกล้องของตัวละคร และภาพยนตร์เรื่องนี้)

ความสนใจของผู้กำกับ Lean สังเกตจากการแสดงของ Katharine Hepburn พยายามสะท้อนสภาพจิตวิทยาของ(ตนเอง)บุคคลอ้างว่ารักอิสระ ‘free spirit’ แม้ทำให้ชีวิตไม่อยู่ภายใต้กฎกรอบ การควบคุมครอบงำ หรือต้องคอยติดตามงอนง้อใคร แต่มันก็ทำให้เขา/เธอทนอยู่กับความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหงาหงอยเศร้าซึม ขาดที่พึ่งพักพิงทางใจ

What appealed to me in the idea of Summertime? Loneliness. It is a more common emotion than love, but we speak less about it. We are ashamed of it. We think perhaps that it shows a deficiency in ourselves. That if we were more attractive, more entertaining, and less ordinary we would not be lonely.

David Lean

ในเว็บไซด์ Wikipedia เขียนว่าผู้กำกับ Lean แต่งงานถึง 6 ครั้ง เลื่องลือเรื่องความเจ้าชู้ประตูดิน คบหาหญิงสาวนับร้อยพัน นั่นสามารถสะท้อนความรักอิสระ ‘free spirit’ ไม่ชอบความผูกพันธ์ ปฏิเสธยึดติดกับบุคคลใด น้ำแตกแล้วแยกทางไป สนเพียงเรื่องราวและความทรงจำดีๆ แต่มันจะมีสักกี่ครั้งที่เขายังจดจำเธอคนนั้นฝังใจ

เมื่อตอน Brief Encounter (1945) ผมพบเจอเรื่องราวของอดีตแฟนสาว(ของผกก. Lean)ชื่อ Josephine Kirby คบหากันเมื่อปี ค.ศ. 1935 รู้ทั้งรู้ว่าเธอมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่เขากลับยังพาเธอไปออกเดทยังอิตาลี (น่าจะคือ Venice) แล้วปีถัดมาถึงค่อยยุติความสัมพันธ์ … นี่ก็น่าจะคือส่วนหนึ่งของความทรงจำฝังใจไม่รู้ลืมของผู้กำกับ Lean อย่างแน่แท้!

สำหรับ Hepburn เมื่อสมัยยังสาวๆก็เลื่องชื่อในความแก่นแก้ว คบหาผู้คน(ทั้งชาย-หญิง)มากมาย แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานกับ Spencer Tracy ที่ไม่ได้แต่งงานเพราะอีกฝ่ายปฏิเสธหย่าร้างภรรยาเก่า (แต่ก็แยกกันอยู่ถาวร) ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาไม่แตกต่างจาก Jane & Renato เลยสักนิด!

ทั้งผู้กำกับ Lean (ขณะนั้นแต่งงานกับนักแสดง Ann Todd) และ Hepburn (ครองรักกับ Tracy) ต่างฝ่ายต่างยังโหยหาชีวิตอิสระ การสรรค์สร้าง Summertime (1955) ต่างเป็นช่วงเวลาพักร้อน ห่างไกลจากครอบครัว แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขามีความเป็นมืออาชีพ ไม่มีอะไรเกินเลยเถิด ให้ความเคารพ และท้าทายศักยภาพของกันจนถึงขีดสุด!

ความลึกลับต้องมนต์ขลังของเมือง Venice เกิดจากกระแสน้ำเคลื่อนไหล จิตวิญญาณล่องลอยไป ชีวิตที่ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง เฉกเช่นเดียวกับเรื่องความรัก พัดผ่านมาแล้วก็พรากจากไป มิอาจลงหลักปักฐาน อยู่เคียงข้างกันได้ยาวนาน นี่คือดินแดนสำหรับบุคคลแสร้งว่าโสด พร้อมเปลี่ยนคู่ครองไม่ซ้ำหน้า


หนังสร้างที่ Venice ก็ต้องเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Venice’s Palace Theatre (แต่ไม่ใช่ในเทศกาลหนัง Venice นะครับ) ด้วยทุนสร้าง $1.1 ล้านเหรียญ จนถึงสิ้นปีทำเงินในสหรัฐอเมริกา $2 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลกประมาณ $4-5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทวีคูณนักท่องเที่ยวปีถัดๆมา

หนังโดนแบนห้ามฉายในอินเดีย รวมถึงหลายๆฉากถูกตัดออกที่เยอรมัน เพราะความล่อแหลมของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ใช่สามี-ภรรยา แม้เรื่องราวพยายามอธิบายว่าฝ่ายชายไม่ได้อยู่กับอดีตคนรัก แต่ยุคสมัยนั้นยังถือว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว … ผมจัดเรตหนังทั่วไปเพราะความชัดเจนในประเด็นนี้ ทำให้ไม่รู้สึกว่าขัดแย้งต่อหลักศีลธรรมสักเท่าไหร่

ช่วงปลายปีหนังได้เข้าชิง Oscar และ BAFTA Award อย่างละสองสาขา น่าเสียดายไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา ประกอบด้วย

  • Academy Award
    • Best Director
    • Best Actress (Katharine Hepburn)
  • BAFTA Award
    • Best Film from any Source
    • Best Foreign Actress (Katharine Hepburn)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K โดย Criterion Collection วางขายเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2022 ใครชื่นชอบ Venice เป็นของสะสมที่ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด!

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าความชื่นชอบต่อ Summertime (1955) ลดลงกว่าแต่ก่อนพอสมควร อาจเพราะหลังจากรับชมอนิเมะ Aria the Animation (2005-) ทำให้โลกทัศน์ต่อเมืองแห่งสายน้ำ Venice ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! ถึงอย่างนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีลักษณะพิเศษด้วยสไตล์ลายเซ็นต์ ความเป็นส่วนตัวของผู้กำกับ Lean และฝีไม้ลายมือด้านการแสดงของขุ่นแม่ Katharine Hepburn แพรวพราว พริ้วไหว ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ถ้าคุณชื่นชอบ Venice แล้วยังไม่เคยรับชม Summertime (1955) ถือว่าเสียxxxมากๆ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว สามารถใช้เป็นไกด์ เรียนรู้จักจุดเช็คอิน สถานที่สำคัญๆ, แฟนๆผู้กำกับ David Lean และนักแสดง Kathrine Hepburn ก็ไม่ควรพลาดเช่นเดียวกัน

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | ท่องเที่ยวฤดูร้อน ‘Summertime’ ไปกับ David Lean ชื่นชมความงดงาม เพลิดเพลินมนต์เสน่ห์ และความโรแมนติกของ Venice
คุณภาพ | ซ์
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Hobson’s Choice (1954)


Hobson’s Choice (1954) British : David Lean ♥♥♥♡

บิดาร่างท้วม Charles Laughton นิสัยดื้อรั้น-ขี้เมา-เอาแต่ใจ มีบุตรสาวสามคนอยากแต่งงานออกจากบ้าน แต่กลับถูกทัดทานเพราะไม่ต้องการจ่ายสินไหมแต่งงาน เลยโดนพวกเธอเอาคืนอย่างเจ็บแสบกระสันต์ เสียดสีสภาพสังคมอังกฤษสมัยนั้นได้อย่างคันๆ, คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ผู้กำกับ David Lean เป็นคนเลื่องชื่อเรื่องความเจ้าชู้ประตูดิน (ใน Wikipedia เขียนว่าแต่งงานถึง 6 ครั้ง!) แต่เขากลับไม่ค่อยชอบสรรค์สร้างภาพยนตร์โรแมนติก กุ๊กกิ๊ก หวานแหวว มักต้องทำให้มีอุปสรรคขวากหนาม บางสิ่งอย่างกีดกั้นขวาง หรือความสัมพันธ์ขัดแย้งต่อวิถีทางสังคม เพื่อให้ท้ายที่สุดถ้าหนุ่ม-สาวได้ครองคู่รัก จะตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของกันและกัน … นี่ฟังดูขัดแย้งต่อความเป็นจริงมากๆเลยนะ

Hobson’s Choice (1954) เป็นผลงานที่ผมรู้สึกว่าแปลก ครั้งแรกครั้งเดียวที่ผกก. Lean กำกับหนังรอม-คอม (ก่อนหน้านี้เคยกำกับ Blithe Spirit (1945) แนวแฟนตาซี-คอมเมอดี้) พยายามผสมผสานความขบขันเข้ากับการนำเสนอภาษาภาพยนตร์ ผลลัพท์ออกมาถือว่าน่าสนใจ แต่มันมีความเป็นอังกฤษมากเกินไป … ใครเคยรับชม Ealing comedies ก็น่าจะเกิดการเปรียบเทียบอยู่ไม่น้อย

ไฮไลท์คือทีมนักแสดงตั้งแต่ Charles Laughton ชวนให้นึกถึง W.C. Fields แต่เหนือชั้นกว่าเยอะ, John Mills ทึ่มๆทื่อๆ ซื่อๆบื้อๆ แต่โคตรหล่อจากภายใน, และ Brenda de Banzie เรียกได้ว่าขุ่นแม่ Katharine Hepburn แห่งเกาะอังกฤษ ทั้งสามประชันฝีมือกันอย่างได้เข้มข้ม เฉือนคม ขำจนกลิ้งตกเก้าอี้


Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากทำงานเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสจาก Noël Coward ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ผกก. Lean สนิทสนมกับโปรดิวเซอร์/นักเขียนบท Norman Spencer มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 30s (เมื่อครั้น Lean ยังเป็นนักตัดต่อ, Spencer เป็น Gofer ในสังกัด Denham Studios) เมื่อตอนสรรค์สร้าง In Which We Serve (1942) ยังได้รับเครดิตในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ (Assistant Director), หลังจากนั้นก็ร่วมงานขาประจำ ดัดแปลงวรรณกรรม Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), The Sound Barrier (1952) ฯลฯ ครั้งหนึ่ง Lean เล่าให้ฟังถึงความชื่นชอบละครเวทีของ Harold Brighouse (1882-1985)

David Lean: What do we want to make a little Lancashire comedy for?
Norman Spencer: I think it will be damn good.

พวกเขานำแนวคิดไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ Alexander Korda แห่งสตูดิโอ London Films Productions เสนอแนะให้ดัดแปลงบทละครเรื่อง Hobson’s Choice เคยทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Princess Theatre, New York วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 จำนวน 135 รอบการแสดง และเคยได้รับการดัดแปลงเป็นหนังเงียบ Hobson’s Choice (1920) กำกับโดย Percy Nash

เกร็ด: Hobson’s choice ถ้าแปลตรงตัวจะหมายถึงหนทางเลือกของนาย Hobson, แต่ในความเป็นจริงนั้นนี่คือวลี/สำนวนของชาวอังกฤษ แปลว่าการไม่ตัวเลือกแม้แต่น้อย (no choice at all!), โดยจุดเริ่มต้นมาจากชายชื่อ Thomas Hobson (1545–1631) ผู้เป็นเจ้าของคอกม้าย่าน Cambridge สำหรับให้เช่าขับขี่/ขนส่งสินค้า เวลามีลูกค้ามาขอใช้บริการ เขาจะบอกให้เลือกม้าตัวที่อยู่ใกล้ประตูทางออกเท่านั้น ถ้าไม่ชอบใจก็ไม่ต้องเอา “I’ll give you a choice: take it or leave it!” … จุดประสงค์แท้จริงเพื่อสลับการใช้งาน ไม่ให้เลือกแต่ม้าตัวดีๆทำงานหนักเกินไป


พื้นหลัง ค.ศ. 1880 ณ เมือง Salford, Greater Manchester เรื่องราวของ Henry Horatio Hobson (รับบทโดย Charles Laughton) เจ้าของกิจการร้านขายรองเท้า มีบุตรสาวสามคนในวัยกำลังแต่งงาน แต่เขาไม่อยากจะจ่ายค่าสินไหม (Marriage Settlements) เลยปฏิเสธหาคู่ครองให้พวกเธอ

บุตรสาวคนโต Maggie Hobson (รับบทโดย Brenda de Banzie) ด้วยวัยย่างสามสิบใกล้จะขึ้นคาน จึงตัดสินใจหมั้นหมาย ยืนกรานจะแต่งงานกับลูกจ้าง/พนักงานทำรองเท้า Will Mossop (รับบทโดย John Mills) ที่มีทางท่าทึ่มทื่อ ซื่อบื่อ แต่ได้รับการยอมรับในฝีมือด้านการทำรองเท้า ทั้งสองจึงพากันออกมาเปิดกิจการของตนเอง

การจากไปของพี่สาวคนโต Maggie สร้างความวุ่นวายให้กับครอบครัว Hobson เพราะน้องๆทั้งสองต่างก็มีภาระหน้าที่ ไม่สามารถทำงานแทนที่พี่สาว จนเรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้นกับบิดา ดื่มสุรามึนเมาพลัดตกลงทางเท้า ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บังเอิญโจกท์และทนายต่างคือแฟนหนุ่มของน้องๆทั้งสอง พี่สาว Maggie จึงครุ่นคิดแผนการตลบหลังบิดาได้อย่างแสบกระสันต์


Charles Laughton (1899 – 1962) นักแสดงร่างใหญ่ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Scarborough, North Riding of Yorkshire, โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art โดยมีอาจารย์ Claude Rains, เริ่มต้นแสดงละครเวที Barnes Theatre มุ่งสู่สหรัฐอเมริกาเล่น Broadways, สมทบหนังเงียบ ก้าวสู่หนังพูด The Old Dark House (1932), The Sign of the Cross (1932), The Private Life of Henry VIII (1933) ** คว้า Oscar: Best Actor, Mutiny on the Bounty (1935), The Hunchback of Notre Dame (1939), Hobson’s Choice (1954), Witness for the Prosecution (1957) ฯลฯ

รับบท Henry Horatio Hobson นิสัยดื้อรั้น-เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ ชอบใช้อำนาจบาดใหญ่ พูดจาไม่ยี่หร่าอะไรใคร วันๆชอบแวะเวียนไป The Moonraker พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง ดื่มเหล้าจนมึนเมามาย ปล่อยกิจการร้านขายรองเท้าให้บุตรสาวทั้งสามคอยดูแล กระทั่งวันหนึ่ง Maggie ตัดสินใจหมั้นหมายกับลูกจ้าง Will Mossop สร้างความไม่พึงพอใจ ขับไล่ผลักไส ถึงขนาดสาปส่งให้กิจการล้มเหลว แต่การจากไปของบุตรสาวคนโต นำพาหายนะมาให้เขาโดยไม่รับรู้ตัว

ในตอนแรกผู้กำกับ Lean อยากได้นักแสดงขาประจำ Roger Livesey แต่เป็นเพื่อนนักเขียน Spencer เสนอแนะนำ Charles Laughton เพราะรูปลักษณ์อวบอ้วน บุคลิกชอบบงการ และที่สำคัญคือเป็นชาว Yorkshireman สามารถพูดสำเนียงท้องถิ่นอย่างไม่ผิดเพี้ยน

เกร็ด: Charles Laughton เมื่อครั้นเป็นวัยรุ่น เคยทำการแสดงบทบาท Hobson ยังโรงละครแถวบ้านเกิด Scarborough

Laughton เป็นนักแสดงที่เหมาะกับบทบาทยียวน กวนบาทา เฉียบคมในคำพูด แสดงออกทางสีหน้า ขณะเดียวกันรูปร่างอวบอ้วนทำให้ท่าทางขยับเคลื่อนไหวดูน่าขบขัน แวบแรกผมนึกถึงนักแสดงตลกชาวอเมริกัน W. C. Fields แต่ก็ตระหนักว่าระดับของทั้งสองอยู่คนละชนชั้น (Laughton มีความเป็นผู้ดีอังกฤษ, W. C. Fileds คือสถุลของชาวอเมริกัน)

แซว: ฉากเดินซวนเซไปเซมาจนตกท่อ ชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ/สไตล์คอมเมอดี้ของ Charlie Chaplin อยู่ไม่น้อยเลยนะ! (ถ้าผมจะไม่ผิด Deleted Scene ของ City Light (1930) มีฉากที่ Chaplin เดินเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา เกือบตกท่ออยู่หลายครั้งครา)

แม้เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1880 แต่ผมครุ่นคิดไปมา ตัวละครนี้มีรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายนายกรัฐมนตรี Winston Churchill (เป็นนายกสมัยสองระหว่าง ค.ศ. 1951-55) นั่นอาจคือสิ่งที่ผู้กำกับ Lean ต้องการสะท้อนเสียดสี เปรียบเทียบถึงความคร่ำครึ หัวโบราณ เผด็จการ เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ นั่นคือสไตล์การเป็นผู้นำของ Churchill ก็ว่าได้!

เกร็ด: Winston Churchill บางคนอาจยกย่องว่าวีรบุรุษที่สามารถนำพาประเทศอังกฤษพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทัศนคติของชายคนนี้เอาจริงๆแทบไม่ต่างจาก Adolf Hitler เชื่อว่าคนผิวขาวยิ่งใหญ่กว่าชนชาติอื่น โดยเฉพาะกับอินเดีย “ผมเกลียดชาวอินเดีย พวกเขาเป็นพวกป่าเถื่อนที่นับถือศาสนาป่าเถื่อน ออกลูกออกหลานเหมือนกระต่าย” นอกจากนี้ยังสนับสนุนการใช้ความรุนแรง ฆาตกรสังหารหมู่ รวมถึงคือต้นเหตุทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในอินเดีย


Brenda Doreen Mignon de Banzie (1909-81) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manchester, Lancashire เป็นบุตรของวาทยาการ/ผู้กำกับเพลง Edward Thomas de Banzie ทำให้มีความชื่นชอบด้านการขับร้องเพลง เมื่อตอนอายุ 16 มีชื่อเสียงจากเป็นนักร้องคอรัสการแสดง Du Barry Was a Lady (1942), โด่งดังจากละครเวที West End เรื่อง Venus Observed ร่วมกับ Laurence Olivier, สำหรับภาพยนตร์เริ่มจาก The Lond Dark Hall (1951), Hobson’s Choice (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), The Entertainer (1960), The Pink Panther (1963) ฯลฯ

รับบท Maggie Hobson บุตรสาวคนโตในครอบครัว Hobson อายุย่าง 30 แต่ยังถูกบิดาเพิกเฉยใกล้จะขึ้นคาน เลยตัดสินใจมองหาคู่ครองโดยไม่สนฐานะชนชั้น ตัดสินใจเลือกลูกจ้าง Will Mossop เพราะฝีมือในการทำรองเท้าได้รับคำชื่นชม วาดฝันว่าจักร่วมเปิดกิจการร้านค้า จนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง

แซว: แม้ตัวละครอายุ 30 ปี แต่ Brenda de Banzie ขณะนั้นอายุย่าง 44 ปี เอาจริงๆรับบทเป็นภรรยาของ Charles Laughton ก็ยังได้!

ในสังคมผู้ดีอังกฤษที่บุรุษเป็นช้างเท้าหน้า การถูกสตรีชี้นิ้วบงการคือสิ่งยากจะยินยอมรับ ตัวละครนี้ย่อมสร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ชมสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็ยังเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ตั้งคำถามว่าทำไมหญิงสาวถึงจะมีสิทธิ์เสียง แสดงความครุ่นคิดเห็น กระทำเรื่องพรรค์นี้ไม่ได้กันเล่า?

การแสดงของ de Banzie ถือเป็นความตลกร้าย/ขำไม่ออกในยุคสมัยนั้น ทั้งความคิด-คำพูด-การกระทำ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น หนักแน่น สีหน้าเอาจริงเอาจัง เพราะไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำโดยบิดา (ทนมากว่า 30 ปี) จึงวางแผนแต่งงานที่แม้ไม่ได้ด้วยรัก แต่จักทำให้เธอได้รับอิสรภาพ เป็นตัวของตนเอง และแก้เผ็ดอีกฝ่ายให้เข็ดหลากจำ … นี่ถือเป็นตัวละครหญิงเข้มแข็งแกร่งที่สุดในหนังของผกก. Lean เลยก็ว่าได้ ชวนให้นึกถึงการแสดงของ Katharine Hepburn เรื่อง Bringing Up Baby (1938)

ในมุมมองผู้ชมสมัยใหม่ การกระทำของตัวละครอาจดูไม่ค่อยน่ายกย่องนับถือสักเท่าไหร่ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออิสรภาพ แต่ใช้วิธีการควบคุมครอบงำสามี ชี้นิ้วออกคำสั่งแทบทุกสิ่งอย่าง ต่อให้อ้างว่าทำด้วยความปรารถนาดี แต่มันก็ไม่ใช่วิธีการถูกต้องเหมาะสม (ในมุมมองของคนสมัยนี้)


Sir John Mills ชื่อจริง Lewis Ernest Watts Mills (1908-2005) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ North Elmham, Norfolk ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดงตั้งแต่หกขวบ หลังเรียนจบมัธยมเข้าศึกษายัง Zelia Raye’s Dancing School เริ่มจากคาบาเร่ต์ เข้าร่วมคณะการแสดงที่ออกทัวร์เอเชีย ได้รับการค้นพบโดย Noël Coward ระหว่างการแสดงที่สิงคโปร์ จนกลายเป็นหนึ่งในนักแสดงขาประจำ สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก The Midshipmaid (1932), พอมีชื่อเสียงกับ Born for Glory (1935), You’re in the Army Now (1937), โด่งดังกับ In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), Great Expectations (1946), So Well Remembered (1947), Hobson’s Choice (1954), War and Peace (1956), Tunes of Glory (1960), Swiss Family Robinson (1960), The Family Way (1966), Ryan’s Daughter (1970) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actor

รับบท Will Mossop พนักงานทำรองเท้าอยู่ชั้นใต้ดินร้าน Hobson วันหนึ่งได้รับคำชื่นชมจากลูกค้า ทำให้โชคชะตาผันแปรเปลี่ยน ถูกชักจูงจมูกโดย Maggie บีบบังคับให้แต่งงาน แล้วลาออกเพื่อร่วมเปิดกิจการร้านรองเท้า ทีแรกก็กลัวๆกล้าๆ อ้ำๆอึ้งๆ แต่จักค่อยๆบังเกิดความเชื่อมั่น กล้าทำในสิ่งที่ตนเองไม่เคยคิดฝัน

ดั้งเดิมนั้นผู้ได้รับบทบาทนี้คือ Robert Donat แต่ต้องถอนตัวไปเพราะอาการป่วยโรคหอบหืด, ผู้กำกับ Lean จึงจำต้องมองหานักแสดงคนใหม่ ก่อนจะติดต่อได้ขาประจำ John Mills

ใบหน้าตาที่ดูแสนธรรมดาของ Mills ทำให้เขามักเป็นตัวแทนชายใดๆ ‘everyman’ ชอบตีหน้าเซ่อ ทำตัวเอ๋อเหรอ สงบเสงี่ยมเจียมตน เพราะเป็นแค่คนทำรองเท้า ไม่เคยร่ำเรียนหนังสือ หรือเคยครุ่นคิดทะเยอทะยาน จึงมักถูกใครสักคนกดขี่ข่มเหง ชี้นิ้วบงการ ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายกลายเป็นสามีของ Maggie Hobson แต่ก็ทำให้เขาลืมตาอ้าปาก เรียนรู้จักโลกกว้าง มีร้านขายรองเท้าของตนเอง ไต่เต้าขึ้นมาเสมอภาคเท่าเทียมกับอดีตนายจ้าง Henry Hobson

แม้บทบาทจะดูธรรมดาๆ แต่การแสดงของ Mills ถือว่าล้ำเลิศ บุคลิกภาพขั้วตรงข้ามกับ Laughton พูดน้อยแต่ต้องคอยแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางป้ำๆเป๋อๆ ขาดความเชื่อมั่น พร่ำคำอุทาน ‘by gum!’ ถึงอย่างนั้นเมื่อได้รับการชี้แนะนำจากภรรยา ก็ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัวเปลี่ยนแปลง แสดงความเข้มแข็ง กลายเป็นลูกผู้ชายขึ้นมาทีละนิด


ถ่ายภาพโดย Jack Hildyard (1908-1990) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการเมื่อปี ค.ศ. 1934 เริ่มจาก Focus Puller มาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) อาทิ Pygmalion (1938), ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Henry V (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ Caesar and Cleopatra (1945), Hobson’s Choice (1954), The Bridge on the River Kwai (1957)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, The Sundowners (1960), Battle of the Bulge (1965), Casino Royale (1967) ฯลฯ

แม้ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นการพูดคุยสนทนา ต่อล้อต่อเถียง แต่ก็เต็มไปด้วย ‘Mise-en-scène’ ที่สร้างความเพลิดเพลินให้คนช่างสังเกต พร้อมลูกเล่นเล็กๆน้อยๆพอหอมปากหอมคอ เพื่อพยายามผสมผสานความขบขันเข้ากับลีลาภาษาภาพยนตร์

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำยังสตูดิโอ Shepperton Studios ยาวนานถึง 10 สัปดาห์ แล้วออกไปยังสถานที่จริง ท้องถนนเมือง Salford, Greater Manchester ด้วยระยะเวลาเพียง 8 วัน ซึ่งถือว่าโชคดีมากๆเพราะย่านนั้นกำลังจะถูกทุบเพื่อเตรียมสร้างแฟลตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า


ช็อตแรกและสุดท้ายของหนัง พบเห็นป้ายรองเท้าแขวนอยู่เหนือศีรษะหน้าร้าน แต่มีความแตกต่างตรงกันข้ามระหว่างกลางวัน-กลางคืน กล้องเคลื่อนถอยหลัง-เลื่อนลงแนวดิ่ง และสถานะเจ้าของ (จากเดิมคือร้าน Henry Hobson Boot Maker กลายมาเป็น Mossop & Hobson Boot Maker) แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นกับสถานที่แห่งนี้

มันอาจดูสุดตรีนไปสักหน่อย! แต่เราสามารถเปรียบเทียบร้านขายรองเท้าแห่งนี้กับประเทศอังกฤษ ประกอบด้วย

  • เจ้าของ/หัวหน้าครอบครัว Henry Hobson เทียบกับนายกรัฐมนตรีขณะนั้น Winston Churchill ทั้งรูปร่าง แนวคิด อุปนิสัย และมึนเมามายในอำนาจของตนเอง
  • ภายในร้านมีการแบ่งแยกชั้นบน-ล่าง สามารถเปรียบเทียบถึงสถานะทางสังคม Middle Class vs. Working Class

ซีนเล็กๆระหว่างที่บิดา Hobson กำลังจะเดินขึ้นบันได กลับต้องตั้งท่า เล่นลีลา พร้อมเสียงรัวกลอง ราวกับต้องการอวดอ้าง แสดงให้เห็นความสำคัญของตนเอง แต่ขณะเดียวกันมันช่างดูยุ่งยากลำบาก (Struggle) หรือคือการรักษาสถานะหัวหน้าครอบครัวในปัจจุบัน

ใครจะไปครุ่นคิดว่าการกลั่นแกล้งเล่นของบิดา ยกมือถือเชิงเทียนของ Maggie ทำท่าเหมือนอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ซึ่งเรื่องราวต่อๆมา เธอก็จักพยายามทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ตนเองได้รับอิสรภาพ ปลดแอกจากบิดา

นี่อาจดูเป็นช็อตธรรมดาๆทั่วไป แต่รายละเอียด ‘Mise-en-scène’ คือขณะที่บิดา Hobson กำลังกล่าวถึงการเลือกคู่ครองให้บุตรสาวทั้งสองที่ยืนอยู่ฟากฝั่งหนึ่ง แต่กลับไม่ได้พูดถึงบุตรสาวคนโต Maggie ที่ยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง นี่เป็นการใช้ตำแหน่งแบ่งแยกสถานะของพวกเธอทั้งสาม สามสิบแล้วไม่ได้แต่งงานถือว่าขึ้นคาน (ยึดติดกับโลกทัศน์โบร่ำราณ)

การมาถึงของ Mrs Hepworth เธอคือคุณนายชนชั้นสูง (High Class) สังเกตว่าเธอสามารถอยู่ร่วมเฟรมครอบครัว Hobson ได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพอ่อนน้อม ตรงกันข้ามกับลูกจ้าง Will Mossop (ที่ถือเป็นตัวแทน Working Class) ไม่มีช็อตไหน(ในขณะนี้)ร่วมเฟรมเดียวกับคุณนาย Mrs Hepworth ทำได้เพียงโผล่ขึ้นมาชั้นล่าง จับจ้องมองรองเท้า และรับนามบัตรมาเท่านั้น

สถานะทางชนชั้น เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่สังคมอังกฤษ(และมนุษยชาติ)มาช้านาน ต่อให้ยุคสมัยปัจจุบันที่ใครๆต่างพยายามเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียม แต่มันก็ไม่เคยเป็นได้จริงในทางปฏิบัติ หนำซ้ำระยะห่าง/ความแตกต่างกลับยิ่งๆกว้างออกไป

แม่น้ำที่ทั้งสองจับจ้องมองอยู่ขณะนี้คือ River Irwell ในสวนสาธารณะ Peel Park ในอดีตเมื่อช่วงก่อนศตวรรษ 1800s ยังเคยมีสัตว์น้ำชุกชุม กระทั่งการมาถึงของปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ย่านนี้เต็มไปด้วยโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ, ค.ศ. 1862 ถึงค่อยมีการจัดตั้ง River Conservancy Committee ออกกฎหมาย Rivers Pollution Prevention Act เมื่อปี ค.ศ. 1876 แต่มันก็สายเกินไปแล้ว

แซว: จนปัจจุบันน้ำในแม่น้ำ River Irwell ก็ยังคงสกปรก เต็มไปด้วยมลพิษ ไร้สัตว์น้ำดำรงชีวิต

ผมรู้สึกว่าซีเควนซ์ที่ Will Mossop พา Maggie แวะเวียนกลับไปหาแฟนสาว มันไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ นอกเสียจากการแทรกมุก “Beware the Wrath to Come” พบเห็นระหว่างถูกขับไล่ออกมาภายนอก แล้วไม่ทันไรเขาก็ประสบเรื่องร้ายๆ (แค่โดนตบหน้า ก็ไม่ได้เลวร้ายสักเท่าไหร่)

ณ สถานที่ที่ดูเหมือนทางลาดขึ้นสู่สรวงสวรรค์ Maggie ท้าทายให้ Will จุมพิตกับตนเอง แต่เขากลับยื้อๆยักๆ กลัวๆกล้าๆ แล้วตัดสินใจเดินกลับออกมาอีกทาง ปฏิเสธโอกาสขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ซะงั้น!

เมื่อครั้น Maggie พูดบอกกับบิดาว่ากำลังจะแต่งงานกับ Will Mossop รายละเอียด ‘Mise-en-scène’ ของซีนนี้น่าสนใจไม่น้อย เลยนำมาอธิบายให้ฟัง

  • บิดาแสดงอาการไม่พึงพอใจ พูดบอกไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอมรับ ยืนอยู่เหนือศีรษะ Maggie พยายามจะควบคุมครอบงำ บงการโน่นนี่นั่น
  • เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Maggie ลุกขึ้นจากเก้าอี้ ยืนระดับศีรษะเดียวกับบิดา พยายามต่อรอง ต้องการเรียกร้องข้อตกลงบางอย่าง
  • ตัดสลับฝั่งบิดา พยายามปฏิเสธรับฟังคำต่อรองของ Maggie
  • แต่หลังจากเธอจี้แทงใจดำบางอย่าง เขาทรุดนั่งลงบนเก้าอี้ รับฟังข้อเรียกร้องที่ไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่

การขึ้นจากหลุมใต้ดินของ Will Mossop ทำให้เขามีโอกาสอยู่ร่วมเฟรมเดียวกับ Mrs Hepworth ระหว่างพยายามติดต่อรองขอกู้ยืมทุนสำหรับเปิดกิจการร้านขายรองเท้า สังเกตตำแหน่งการนั่งของพวกเขา มีระยะใกล้-ไกล แบ่งแยกสถานะ(ทางสังคม)อย่างชัดเจน

  • Mrs Hepworth อยู่ประชิดใกล้กล้องมากที่สุด แสดงถึงความเป็นบุคคลมีอำนาจ ชนชั้นสูงในสังคม สามารถให้ยืมเงินสำหรับเปิดกิจการร้านขายรองเท้า
  • Will Mossop อยู่ห่างออกไปแต่นั่งหันหน้าเข้าหา สื่อถึงการเผชิญหน้า ต่อรอง บุคคลอยู่ในความสนใจ (ของ Mrs Hepworth)
  • ขณะที่ Maggie แม้อยู่ไกลสุดถัดจาก Will (สะท้อนสถานะของสตรีคือช้างเท้าหลัง) แต่เธอกลับพูดต่อรอง เป็นกระบอกเสียง ให้การสนับสนุนหลัง (แต่รู้สึกเหมือนชักใยบงการอยู่เบื้องหลังมากกว่า)
    • และถ้ามองมุมของภาพ ตำแหน่งของเธออยู่กึ่งกลางซ้าย-ขวา บุคคลเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง Mrs Hepworth และ Will Mossop

ร้านใหม่ของ Will Mossop ตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน นี่คือสัญลักษณ์การเริ่มต้นจากจุดต่ำสุด จากนั้นค่อยๆไต่เต้าจนสามารถลืมตาอ้าปาก ยืนด้วยลำแข้ง ใช้หนี้คืนสิน จากดินสู่ดาว … เป็นสถานที่เหมาะแก่การก่อร่างสร้างตัว เริ่มจากศูนย์ยิ่งนัก!

บาร์ชื่อ The Moonrakers เลยไม่แปลกที่เมื่อดื่มจนมึนเมามาย จะพบเห็นพระจันทร์เต็มดวง ทั้งบนฟากฟ้า (แต่สังเกตดีๆจะมีสลิงห้อยลงมา แสดงว่าถ่ายทำในสตูดิโอ) และภาพสะท้อนแอ่งน้ำบนท้องถนน ซึ่งสามารถสื่อถึงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หัวสูงส่งของ Henry Hobson ครุ่นคิดว่าตนเองเหนือกว่าบุตรสาว Maggie และลูกเขย Will Mossop พูดจาดูถูก ย่ำเหยียดหยาม ไม่มีทางที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จ เอาตัวรอดได้อย่างแน่นอน!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว Henry Hobson เองต่างหากละที่มึนเมามายกับความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ โดยไม่สนท้องถนนหนทางห้ามเดินผ่าน ซึ่งการพลัดตกท่อระบายน้ำ สามารถสื่อถึงความตกต่ำของชีวิต กำลังจะถูกคิดบัญชีจากลูกๆทั้งสาม (ตรงกันข้ามกับ Will Mossop ที่กำลังไต่เต้าสู่ความสำเร็จ)

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมช็อตนี้ถูกดูเหนือจริง ไม่เพียงถ่ายติดพระจันทร์ แต่ตกท่อยังไงท่านั้น แถมยัง Slow-Motion คำตอบคือหนังใช้เทคนิค Rear Projection ฉายภาพที่ถ่ายทำไว้ก่อนแล้วขึ้นฉากหลัก แล้วนักแสดงก็ทำท่าเหมือนกำลังตกท่ออยู่ด้านหน้า ใครกันจะให้นักแสดงหล่นมาจริงๆ … ซึ่งความรู้สึกเหนือจริงของช็อตนี้ ก็เพื่อให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงนัยยะเชิงธรรมของการตกท่อ = ชีวิตที่กำลังตกต่ำของ Henry Hobson

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าทศวรรษนั้น ผลงานของปรมาจารย์ Yasujirô Ozu เดินทางไปถึงประเทศอังกฤษแล้วหรือยัง ช็อตนี้ช่างดูละม้ายคล้ายกันมากๆ แต่นัยยะอาจแตกต่างกันพอสมควร คือการเผชิญหน้าระหว่าง Henry Hobson และคู่กรณีพร้อมทนาย (ที่ต่างเป็นแฟนหนุ่มของบุตรสาว) โดยมี Will Mossop นั่งเป็นตัวแทนอยู่กึ่งกลาง (และภรรยา Maggie บงการอยู่เบื้องหลัง)

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบฉากนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผู้ชมคาดเดาได้อยู่แล้วว่าจะมีอะไรบังเกิดขึ้น ซึ่งผู้กำกับ Lean จงใจใช้ความยื้อยัก ชักช้า เพื่อสร้างความหวาดหวั่น วิตกกังวลให้กับ Will Mossop กลัวๆกล้าๆ เพราะกำลังจะได้ใช้เวลาค่ำคืนแรกหลังแต่งงานกับภรรยา Maggie

ความยื้อยักชักช้า เมื่อไหร่จะเข้าห้องหอสักที จักทำให้ผู้ชมขบครุ่นคิดนัยยะในเชิงนามธรรม ค่ำคืนแรกของการแต่งงาน = จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเมื่อจากตื่นเช้าขึ้นมา ทุกสิ่งอย่างก็จักปรับเปลี่ยนแปลงไป

หนึ่งในภาพหลอนจากโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholic) ของ Henry Hobson คือภาพหนูตัวใหญ่ จะหมายถึงอะไรกัน? ในเมืองใหญ่ๆ หนูมักอาศัยอยู่ตามท่อระบายน้ำ บริเวณชั้นใต้ดิน หากินกับเศษขยะ อาหารเหลือทิ้ง ซึ่งสามารถสื่อถึงความตกต่ำของชีวิต/กิจการร้านค้า บางคนอาจมองว่าจิตใจที่สกปรก (เหมือนหนู) สนแต่กอบโกยกิน เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว

เนื่องจากผมขี้เกียจอธิบาย ‘Mise-en-scène’ ของทั้งซีเควนซ์ไคลน์แม็กซ์นี้ เลยตัดมาเฉพาะช่วงสำคัญๆระหว่างกำลังตั้งชื่อร้านใหม่

  • แรกเริ่ม Will ครุ่นคิดชื่อ “William Mossop, late Hobson” นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อ Maggie ทำให้เธอย้ายข้างยืนจากฝั่งสามีไปเคียงข้างบิดา
  • Maggie พยายามต่อรอง “Hobson and Mossop” ระหว่างยืนเคียงข้างบิดา
  • แต่หลังจาก Will ยืนกรานว่าต้องเป็น “Mossop and Hobson” นั่นทำให้ Maggie เดินกลับหาเผชิญหน้าสามี ด้วยดวงตาหวานฉ่ำ พร้อมบทเพลงสุดแสนโรแมนติก แสดงถึงการยินยอมรับ ตกหลุมรัก ประทับใจ ในที่สุดเขาก็สามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง

และขอทิ้งท้ายกับปฏิกิริยาของ Henry Hobson เมื่อตกอยู่ในสภาพ Hobson’s Choice คือไม่สามารถต่อรองอะไรกับ Will Mossop ทำได้แค่เพียงงอนตุ๊บป่อง เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง สงบสติอารมณ์สักพัก ก่อนยินยอมรับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะกำลังบังเกิดขึ้น … สำหรับคนที่มีความดื้อด้าน หัวรั้น นิสัยเอาแต่ใจ ลองให้เวลาเขาสักพัก อธิบายด้วยเหตุ แสดงให้เห็นผล เมื่อไร้หนทางเลือกลักษณะนี้ ก็จักสามารถยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้เอง

ตัดต่อโดย Peter Taylor (1922-97) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Hobson’s Choice (1954), Summertime (1955), The Bridge on the River Kwai (1957), This Sporting Life (1963), La Traviata (1983), Otello (1986) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้ครอบครัว Hobson เป็นจุดศูนย์กลาง โดยมุมมองหลักๆจะเป็นบิดา Henry และบุตรสาวคนโต Maggie สามารถแบ่งออกเป็น …

  • กิจวัตรประจำวันของ Henry Hobson
    • กลับบ้านดึกดื่น เช้าตื่นขึ้นมาพร่ำบ่นกับลูกๆ ชี้นิ้วสั่งคนงาน จากนั้นเดินทางไป The Moonrakers ดื่มเหล้ากับผองเพื่อนจนมึนเมามาย
  • แผนการของ Maggie Hobson
    • เรียกตัว Will Mossop เล่าความต้องการ พาไปออกเดท หมั้นหมายแต่งงาน
    • หลังจากบิดารับรู้ แสดงความไม่พึงพอใจ ขับไล่ทั้งสองออกจากบ้าน
    • Maggie กู้ยืมทุนจาก Mrs Hepworth เตรียมเปิดกิจการร้านขายรองเท้าของตนเอง
  • คืนวันก่อนแต่งงาน
    • Maggie แวะเวียนกลับมาบ้าน เพื่อมอบชักชวนน้องๆมาร่วมงานแต่งงาน
    • บิดาออกไปดื่มเหล้ายัง The Moonrakers มึนเมามายจนพลัดตกท่อ
  • วันแต่งงานของ Maggie Hobson และ Will Hossop
    • ยามเช้า Maggie ทราบข่าวคราวของบิดา จึงครุ่นคิดวางแผนบางอย่าง
    • ยามบ่ายเข้าพิธิสมรสในโบสถ์, บิดาตื่นขึ้นมาถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
    • ยามค่ำเลี้ยงรับประทานอาหาร จากนั้นบิดาเดินทางมาหา ต่อรองแผนการสำเร็จ
  • การหมดทางเลือกของ Henry Hobson
    • เช้าวันหนึ่งบิดาตื่นขึ้นพบเห็นภาพหลอน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสุราเรื้อรัง
    • บิดาพยายามเรียกร้องให้บุตรสาวดูแลตนเอง แต่กลับมีเพียง Meggie และ Will Hossop ทำการต่อรองควบกิจการร้านขายรองเท้า

ผมรู้สึกว่าหนังดูเยิ่นเย้อ ยืดยาวนานไปนิด หลายๆฉากไม่ค่อยมีความจำเป็นสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เสียงหัวเราะเหือดแห้งลงไป อย่างตอนกำลังจะเข้าห้องหอของ Will Hossop กว่าจะถอดชุด เปลี่ยนเสื้อผ้า ยื้อๆยักๆ รั้งๆรีรออยู่นั่น จริงอยู่ฉากนี้ต้องการสื่อถึงความหวาดกังวล วิตกจริต แต่มันคือสิ่งที่ผู้ชมรับรู้อยู่แล้ว มันจึงไม่ได้สร้างความรู้สึกขบขันสักเท่าไหร่

อีกฉากที่ควรเป็นไฮไลท์ของหนัง คือขณะบิดา Henry Hobson มึนเมาเหยียบเงาจันทร์ แรกๆก็ดูเพลิดเพลินดี แต่ความยื้อๆยักๆ โยกไปโยกมา กลับสร้างความเบื่อหน่ายในไม่ช้า เห็นหลุมบ่อข้างหน้าก็คาดเดาได้ว่าต้องมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น แต่ผิดกับ Slapstick Comedy ของ Charlie Chaplin ที่มีอะไรๆเกิดขึ้นมากมาย Hobson’s Choice (1954) แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักสิ่งอย่าง


เพลงประกอบโดย Sir Malcolm Henry Arnold (1921-2006) คีตกวีชาวอังกฤษ เกิดที่ Northampton, Northamptonshire ในตระกูลช่างทำรองเท้า แต่บิดาเป็นนักเปียโน ปู่ทวดคือนักแต่งเพลงชื่อดัง William Hawes, ตั้งแต่เด็กหลังเกิดความหลงใหลในทรัมเป็ตหลังจากพบเห็นการแสดงของ Louis Armstrong, ตอนอายุ 17 สอบได้ทุนศึกษาต่อ Royal College of Music (R.C.M.) ร่ำเรียนการแต่งเพลงกับ Gordon Jacob, จากนั้นเข้าร่วม London Philharmonic Orchestra (LPO) ในตำแหน่งนักทรัมเป็ต, พออายุ 30 ถึงเริ่มมาเอาจริงเอาจังด้านการแต่งเพลง มีผลงานซิมโฟนี่ ออร์เคสตร้า คอนแชร์โต, Choral Music, Chamber Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Sound Barrier (1952), Hobson’s Choice (1954), The Bridge on the River Kwai (1957)**คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score

Arnold เลือกดัดแปลงบทเพลงจากอุปรากรของตนเอง The Dancing Master มาทำเป็น Main Theme ที่เมื่อใครได้ยิน (ตั้งแต่ Opening Credit) ย่อมเกิดความตระหนักว่าต้องเป็นหนังแนวคอมเมอดี้ มีความหยอกเย้า ยียวน กวนบาทา ซึ่งท่วงทำนองลักษณะนี้จักแทรกแซมอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เพื่อสร้างรอยยิ้ม เรียกเสียงหัวเราะ ตลบอบอวลด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย

แต่ไฮไลท์ไม่ได้เกิดจากบทเพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน ในฉากบิดา Henry Hobson กำลังมึนเมา พบเห็นดวงจันทร์ และภาพหลอนอื่นๆ ทีแรกผมนึกว่าเครื่องสังเคราะห์ Theremin กลับใช้ Musical saw หรือ Singing saw มันคือเลื่อยที่นำมาสีเหมือนไวโอลิน แล้วเกิดเสียงวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน (Theremin เสียงออกทุ้มๆ, Musical saw จะแหลมบาดหูกว่า)

Hobson’s Choice (1954) นำเสนอเรื่องราวที่ไม่มีทางเลือกของนาย Henry Hobson ทั้งๆเป็นหัวหน้าครอบครัว ก่อร่างสร้างกิจการร้านขายรองเท้าจนมั่นคง เลี้ยงดูแลบุตรสาวจนเติบใหญ่ แต่เพราะอุปนิสัยดื้อรั้น-เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เขาจึงจำต้องยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับครอบครัว

ไม่ใช่แค่ Henry Hobson ที่ไร้หนทางเลือก ลูกจ้างช่างทำรองเท้า Will Mossop ก็เฉกเช่นเดียวกัน! ถูกควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง ปรับเปลี่ยนจาก(หัวหน้า) Henry มาเป็น(ภรรยา) Maggie แม้ช่วงแรกๆรู้สึกไม่อยากเต็มใจ แต่ก็ค่อยๆยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผมครุ่นคิดว่ามีจุดเริ่มต้นจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ. 1952 นั่นไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มันเลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศอังกฤษ สังคมที่บุรุษคือช้างเท้าหน้า แต่เมื่อประมุขของชาติคือราชินี นี่อาจเป็นยุคสมัยที่อิสตรีจักสามารถลุกขึ้นมามีสิทธิ์เสียง ความเสมอภาคเท่าเทียมแล้วกระมัง … ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

แต่หนังไม่ได้จะเปรียบเทียบ Queen Elizabeth II กับตัวละคร Maggie Hobson (Mossop) ใกล้เคียงสุดน่าจะคือ Mrs Hepworth ที่กล่าวคำชื่นชมฝีมือตัดเย็บรองเท้าของ Will Mossop และกลายเป็นอิทธิพลให้ Maggie ครุ่นคิดตัดสินใจ ลุกขึ้นมาทำบางอย่างด้วยตัวตนเอง

ขณะที่ Henry Hobson อย่างที่ผมเปรียบเปรยไปแล้วถึง Winston Churchill ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยสอง ค.ศ. 1951-55 (เป็นช่วงคาบเกี่ยว Queen Elizabeth II ขึ้นครองราชย์พอดิบดี) ปกครองประเทศอังกฤษหรือก็คือร้านขายรองเท้า Hobson (เป็นการเปรียบเทียบ เสียดสี ที่สุดตรีนแท้จริง!) ซึ่งดูคร่ำครึ ล้าหลัง ยังมีการแบ่งแยกชนชั้นบน-ล่าง สะท้อนสถานะทางสังคม Middle Class vs. Working Class

วิถีของโลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) การศึกษาสามารถสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเพศหญิง-ชาย ฐานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ ล้วนสามารถประกอบธุรกิจ เริ่มต้นกิจการ ยืนด้วยลำแข้งตนเอง โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมครอบงำของใครอีกต่อไป

การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ เปรียบได้ดั่ง ‘Hobson’s Choice’ คือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหยุดยับยั้ง หรือเลือกไม่ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง! มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องพัฒนาตัวเอง ถ้ามัวเพิกเฉยเฉื่อยชา หยุดนิ่งเฉยๆ สักวันก็อาจถูกแซงหน้า กลายเป็นหมาหัวเน่า ถูกทิ้งขว้างอยู่เบื้องหลัง … เหมือนร้านขายรองเท้า Hobson ที่ค่อยๆเสื่อมโทรมลงหลังการจากไปของ Maggie & Will Mossop กระทั่งวันหนึ่งถูกควบรวมกิจการกลายเป็น Mossop & Hobson

แม้ว่า Hobson’s Choice (1954) อาจดูไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ผกก. Lean เพียงความชื่นชอบหลงใหล Lancashire comedy ต้องการเสียดสีวิถีชาวอังกฤษ vs. การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นผลงานทิ้งทวน เรื่องสุดท้ายถ่ายทำในสตูดิโอ(ที่อังกฤษ) นำเสนอช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ตระเตรียมขึ้นขบวนรถไฟ มุ่งหน้าสู่เวนิสใน Summertime (1955) หลังจากนั้นก็จะออกท่องเที่ยวโลกกว้าง … นั่นคือหนทางเลือกสู่อิสรภาพ David Lean’s Choice


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง สามารถทำเงินในอังกฤษ £206,579 ปอนด์ ได้รับคำนิยม ‘money maker’ น่าจะแปลว่าได้กำไรพอสมควร และนอกจากคว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ยังเข้าชิง BAFTA Award อีกหลายสาขา

  • Berlin International Film Festival
    • Golden Berlin Bear ** คว้ารางวัล
  • BAFTA Award
    • Best Film (from any source) พ่ายให้กับ The Wages of Fear (1953)
    • Best British Film ** คว้ารางวัล
    • Best British Actor (John Mills)
    • Best British Actress (Brenda de Banzie)
    • Best British Screenplay

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย BFI National Archive โดยได้รับทุนจาก David Lean Foundation และ StudioCanal คุณภาพ High-Definition เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 (ในโอกาสครบรอบ 60 ปี) จัดทำเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection และ Vintage Classics

ในตอนแรกผมไม่รับรู้ว่า Hobson’s Choice (1954) คือหนังตลก แต่แค่พอได้ยินบทเพลง Opening Credit ก็สร้างความสนอกสนใจขึ้นโดยทันที ไม่เคยครุ่นคิดมาก่อนว่าผกก. Lean จะสามารถสร้างภาพยนตร์แนวนี้! แม้ผลลัพท์ยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบ แต่ก็บังเกิดความโคตรๆประทับใจ หลายๆฉากสามารถทำให้หัวเราะท้องแข็ง ขำกลิ้งตกเก้าอี้

แนะนำคอหนังที่ชื่นชอบ ‘British Comedy’ ประเทศที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นในความเฉียบคม คำพูดแดกดัน แต่ก็มีการใช้ถ้อยคำที่สระสรวยอย่างมีชั้นเชิง และมักเสียดสีความเป็นผู้ดีอังกฤษ เติมแต่งลายเซ็นต์ผกก. Lean ยิ่งสร้างความลึกล้ำ สะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น/หลังสงครามโลกครั้งที่สอง … จะมองว่าเป็น Feminist Film ก็ได้เช่นกัน

จัดเรต pg กับถ้อยคำหยาบคาย ดื่มเหล้าจนมึนเมา

คำโปรย | Hobson’s Choice ตัวเลือกของผู้กำกับ David Lean ในการทำหนังรอม-คอม ถือว่าประสบความสำเร็จและกลายเป็นคลาสสิก
คุณภาพ | คลาสสิก
ส่วนตัว | ขำกลิ้ง

I Know Where I’m Going! (1945)


I Know Where I’m Going! (1945) British : Powell & Pressburger ♥♥♥♥

Wendy Hiller รับรู้ตัวว่ากำลังจะไปไหนจริงๆนะหรือ? บางครั้งฟากฝั่งฝันอาจไม่ใช่เป้าหมายปลายทางแท้จริง ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นอยู่กับจิตใจของเราเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

I just saw a new masterpiece … I reached the point of thinking there were no more masterpieces to discover, until I saw I Know Where I’m Going.

ผู้กำกับ Martin Scorsese

I’ve never seen a picture which smelled of the wind and rain in quite this way nor one which so beautifully exploited the kind of scenery people actually live with, rather than the kind which is commercialised as a show place.

นักเขียน Raymond Chandler

เมื่อตอนก่อนที่ผมเขียนถึงคอลเลคชั่นของ Powell & Pressburger ไม่เคยเหลียวแลภาพยนตร์เลยนะ จนกระทั่งลองไล่ชาร์ทจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ค้นหาว่ายังขาดเรื่องไหนไม่ได้เขียนถึง จึงพบเจอ I Know Where I’m Going! (1945) ติดอันดับ 183 ลองค้นหาข้อมูลก็บังเกิดความโคตรๆประหลาดใจ ไฉนมองข้ามเรื่องนี้ได้อย่างไร??

I Know Where I’m Going! (1945) แค่ชื่อก็ทำการปักธง บอกใบ้ว่าตัวละครต้องไม่รับรู้ตัวเองแน่ๆว่ากำลังจะไปไหน! แต่พล็อตเรื่องราวที่แม้คาดเดาได้ กลับมีความลงตัว กลมกล่อม สมบูรณ์แบบมากๆ ‘perfect screenplay!’ รวมถึงภาพถ่ายทิวทัศน์สวยๆของ Erwin Hillier, ดนตรีพื้นเมือง Scottish & Irish แต่งโดย Allan Gray และไฮไลท์ล่องเรือออกทะเล เผชิญหน้ากระแสน้ำวน ยุคสมัยนั้นช่างดูสมจริง ยิ่งใหญ่ และแนบเนียนสุดๆ … ชวนให้ผมนึกถึงไคลน์แม็กซ์หนังไทย อุกาฟ้าเหลือง (พ.ศ. ๒๕๒๓)


Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา สำเร็จการศึกษา Dulwich College แล้วทำงานนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926), ต่อด้วยตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) และได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ Universities of Prague and Stuttgart แต่ต้องลาออกเพราะบิดาเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German แล้วอพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ และลักลอบขึ้นเกาะอังกฤษปี ค.ศ. 1935 โดยไม่มีพาสปอร์ตทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี ค.ศ. 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger พัฒนาบทภาพยนตร์, แม้ทั้งสองมีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะทัศนคติ/แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์มีทิศทางเดียวกัน เพียงมองตาก็รับรู้ความต้องการอีกฝั่งฝ่าย, เมื่อปี ค.ศ. 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯลฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางใครทางมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งกำกับและเขียนบท


หลังเสร็จงานสร้าง A Canterbury Tale (1944) โปรเจคที่ Powell & Pressburger ต่างมีความสนใจก็คือ A Matter of Life and Death แต่เพราะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฟีล์มสี (Technicolor) เป็นสิ่งหาได้ยาก มีปริมาณจำกัด เลยจำต้องมองหาโปรเจคอื่นขัดตาทัพไปก่อน

Pressburger ต้องการสานต่อแนวคิดของ A Canterbury Tale (1944) เกี่ยวกับ ‘Crusade against Materialism’ แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เข้าถึงผู้ชมง่ายขึ้นด้วยแนว Romantic-Comedy นำเสนอเรื่องราวหญิงสาวต้องการเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด จนตอนจบเธอก็ไปไม่ถึง และล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด

Michael Powell: Why does she want to go to the island?
Emeric Pressburger: Let’s make the film and find out.

ด้วยความสนใจในวัฒนธรรม Scottish ของผู้กำกับ Powell ร่วมกับ Pressburger และตากล้อง Erwin Hillier ออกเดินทางสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำ ก่อนตัดสินใจเลือกเกาะ Mull, Argyll and Bute ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ Scotland จากนั้นพวกเขาปักหลัก พักอาศัย ใช้ชีวิตอยู่หลายสัปดาห์ เพื่อค้นคว้าประวัติศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีชีวิต และตอนเริ่มพัฒนาบทหนัง Pressburger ใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น!

It just burst out, you couldn’t hold it back. I wrote the full script in four days.

Emeric Pressburger

สำหรับชื่อหนัง ดั้งเดิมนั้นครุ่นคิดว่าจะใช้ The Misty Island เพื่อสื่อถึงเกาะลึกลับที่สุดท้ายไม่มีใครไปถึง จนกระทั่ง Frankie Reidy ภรรยาของผู้กำกับ Powell แนะนำบทเพลงพื้นบ้าน Scottish Folk Song (บางแหล่งว่าเป็น Irish Folk Song) ชื่อว่า I Know Where I’m Going! เกี่ยวกับหญิงสาวหัวรั้น เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ซึ่งโดยไม่รู้ตัวสอดคล้องพล็อตหนังของ Pressburger

I know where I’m going
And I know who goes with me
I know whom I love
But the devil/dear knows who I’ll marry

เกร็ด: ประโยคที่สี่ของบทเพลงนี้ คำอ่านออกเสียงตามภาษา old Scottish คือ ‘deil’ แปลว่า devil มันจึงเป็นความก้ำๆกึ่งๆในการตีความหมาย


เรื่องราวของ Joan Webster (รับบทโดย Wendy Hiller) หมั้นหมายกับมหาเศรษฐี Sir Robert Bellinger กำลังจะเดินทางไปแต่งงานยังเกาะ(สมมติ) Isle of Kiloran แต่ด้วยสภาพอากาศอันย่ำแย่ เธอเลยติดเกาะอยู่ยัง Isle of Mull เฝ้ารอคอยเช้าวันฟ้าใส จักได้ดำเนินสู่เป้าหมายวาดฝันไว้

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกกับเธอ วันแล้ววันเล่าสภาพอากาศก็ยังไม่เป็นใจ ทำให้มีโอกาสรับรู้จัก Torquil MacNeil (รับบทโดย Roger Livesey) นาวาทหารเรือได้รับอนุญาตขึ้นฝั่ง (Shore Leave) กำลังรอคอยขึ้นเรือกลับบ้าน โดยไม่รู้ตัวต่างฝ่ายต่างตกหลุมรัก ขณะที่ฝ่ายชายพยายามเอาอกตามใจ ให้ความช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง แต่ฝ่ายหญิงกลับปฏิเสธต่อต้าน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเป้าหมายปลายทาง ความตั้งใจดั้งเดิมของตนเอง

จนกระทั่งวันหนึ่ง Joan เกิดอาการร้อนรน มิอาจอดทนรอคอยได้อีกต่อไป ตัดสินใจว่าจ้างเด็กชายหนุ่มให้ออกเรือมุ่งสู่เกาะ Kiloran ทั้งรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย Torquil ก็ติดตามขึ้นเรือ เผชิญหน้าฟ้าฝน ลมพายุ และวังน้ำวน โชคล้วนๆสามารถเอาตัวรอดกลับขึ้นฝั่ง … แต่หลังจากนั้น Joan เลยตัดสินใจล้มเลิกแผนแต่งงาน และ Torquil หวนกลับไปรับราชการทหาร


Dame Wendy Margaret Hiller (1912-2003) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bramhall, Cheshire พออายุ 18 เข้าร่วมคณะการแสดง Manchester Repertory Company จนพอมีชื่อเสียงจากละครเวที West End แล้วแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Lancashire Luck (1937), โด่งดังกับ Pygmalion (1938), I Know Where I’m Going! (1945), Separate Tables (1958)**คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Sons and Lovers (1960), Toys in the Attic (1963), A Man for All Seasons (1966), Murder on the Orient Express (1974), The Elephant Man (1980) ฯ

รับบท Joan Webster หญิงสาวชาวอังกฤษ อายุ 25 ปี เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เป็นคนทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เชื่อมั่นในความครุ่นคิดของตนเอง ปากอ้างว่ารับรู้ทิศทาง/ค้นพบเป้าหมายชีวิต ต้องการแต่งงานมหาเศรษฐี เพื่อจะได้มีชีวิตสุขสบาย แค่เพียงเดินทางไปให้ถึงเกาะ Kiloran เท่านั้น! แต่แล้วทุกสิ่งอย่างวาดฝันก็พังทลายลง เพียงเพราะสภาพอากาศ ฟ้าฝนไม่เป็นใจ และการพบเจอ Torquil MacNeil ทำให้เรียนรู้วิถีชีวิตแปลกใหม่ ประทับใจวัฒนธรรม Scottish ตระหนักว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง แม้ยากจนข้นแค้น แต่มนุษย์เราก็ยังมีความสุขได้

ตัวเลือกแรกของหนังคือ Deborah Kerr แต่เพราะไม่สามารถต่อรองสตูดิโอ MGM เลยเปลี่ยนมาเป็น Wendy Hiller ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกือบได้ร่วมงาน Powell & Pressburger ภาพยนตร์ The Life and Death of Colonel Blimp (1943) แต่บังเอิญว่าตอนนั้นเธอกำลังครรภ์ เลยจำต้องขอถอนตัวออกไป

ความเริดเชิดเย่อหยิ่งของ Hiller ในช่วงแรกๆแสดงออกมาได้อย่างน่าหมั่นไส้ ยัยนี่จะดัดจริตไปไหน แต่ระหว่างเรื่องราวดำเนินไป จะเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติอะไรบางอย่าง ท่าทางรุกรี้รุกรน เหมือนคนอยากรู้อยากเห็น ซ่อนเร้นความแก่นแก้วไร้เดียงสา ราวกับว่าทุกสิ่งอย่างเคยแสดงออกมา เพียงการสร้างภาพลวงตา เพราะความคาดหวังจากครอบครัว/ชนชั้นทางสังคม หาใช่ตัวตน ความต้องการแท้จริงจากภายใน

ในตอนแรกผมรู้สึกว่า Hiller เป็นนักแสดงที่ดูตื้นเขิน หน้าตาบ้านๆ ห่างชั้นกับ Deborah Kerr ถ้าได้เธอมาแสดงนำ คงทำให้หนังมีมิติลุ่มลึกล้ำ แต่หลังจากเพิ่งรับชม Black Narcissus (1947) เกิดความตระหนักว่า Kerr เคร่งเครียดจริงจัง อาจสร้างมิติให้ตัวละครสลับซับซ้อนเกินไป!

กลายเป็นผมรู้สึกว่า Hiller มีความพอดิบพอดี เหมาะสมกับบทบาทอย่างมากๆ เพราะเมื่อหวนกลับมาดูผ่านๆรอบสอง การแสดงที่เคยดูจริงๆจังๆ กลับสร้างความตลกขบขัน … มิติการแสดงอาจไม่ได้ซับซ้อน แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสความบริสุทธิ์จริงใจของตัวละคร แค่นั้นก็เพียงพอแล้วละ!


Roger Livesey (1906-76) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Barry, Wales สำเร็จการศึกษา Westminster City School, London โตขึ้นได้เป็น Understudy ของ Italia Conti จนมีโอกาสแสดงละครเวที West End ออกทัวร์แอฟริกา, New York, ขณะที่ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946), The Master of Ballantrae (1953), The League of Gentlemen (1960) ฯ

รับบท Torquil MacNeil นาวาทหารเรือ ช่วงระหว่างวันหยุดพักผ่อนกำลังรอคอยขึ้นเรือกลับบ้าน พบเจอกับ Joan Webster พูดคุยกันอย่างถูกคอ เลยให้คำแนะนำโน่นนี่นั่น พาไปเปิดมุมมองโลกทัศน์เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเกาะ แล้วเปิดเผยตนเองว่าเป็นบุตรชายเจ้าของเกาะ Kiloran แต่นั่นเหมือนจะสร้างความไม่พึงพอใจ จู่ๆเธอแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน พยายามตีตนออกห่าง แถมยังหัวดื้อรั้นจนสร้างความยุ่งยากลำบาก โดยไม่รู้ตัวนั่นคือความหวาดกลัว เพราะถ้าความรู้สึกดังกล่าวยังพัฒนาไปต่อ อาจทำให้พวกเขาไปไม่ถึงเป้าหมายปลายทางวาดฝันไว้

เกร็ด: Torquil มาจากรูปแบบภาษา Anglicised (Norwegian & Swedish) ถ้าเขียนตาม Scottish Gaelic จะคือ Torcall หรือตามปรัมปรา Old Norse จะหมายถึงเทพเจ้าสายฟ้า Thor

ตัวเลือกแรกของหนังคือ James Mason เห็นว่าเซ็นสัญญาไว้แล้วด้วย แต่ก่อนหน้าถ่ายทำหกสัปดาห์ขอถอนตัว เพราะไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง (จริงๆเห็นว่า Powell ไม่ยอมจ่ายค่าเดินทางให้ภรรยาของ Mason ติดตามไปด้วย), สำหรับ Roger Livesey แม้มีความกระตือรือล้นหลังเข้ามาทดสอบหน้ากล้อง แต่ผู้กำกับ Powell มองว่าอีกฝ่ายดูแก่เกินไป น้ำหนักก็เยอะด้วย ปรากฎว่าพี่แกย้อมผมดำ พร้อมลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม (20 ปอนด์) การถอนตัวพลันด่วนของ Mason ทำให้มองหานักแสดงอื่นไม่ได้ด้วยก็เลยจำยอมตอบตกลง … แต่สุดท้าย Livesey ก็ไม่ได้เดินทางไป Scotland เพราะติดคิวการแสดงละครเวที West End –“

ผมรู้สึกว่า Livesey แก่เกินกว่าบทบาทไปมากจริงๆ พี่แกดูเหมือนชายสูงวัย เต็มไปด้วยประสบการณ์ พานผ่านโลกมามาก ไม่มีภาพลักษณ์คนหนุ่มหัวร้อน เคมีกับ Hiller ก็แค่ไม้เบื่อไม้เมา ไม่รู้ไปตกหลุมรักกันตอนไหน และโดยเฉพาะน้ำเสียงอันแหบแห้ง ยิ่งทำให้ตัวละครดูจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา หาความน่าสนใจไม่ได้สักเท่าไหร่!

James Mason ก็ไม่น่าใช่ตัวเลือกที่ดีนัก อายุอานามพอๆกับ Livesey (อ่อนกว่าแค่เพียง 3 ปี) แถมท่าทางเข้มๆ สีหน้าจริงจัง ดูไม่ค่อยเหมาะกับหนังรอม-คอม ที่ต้องต่อล้อต่อเถียงกับ Hiller (แต่ถ้า Mason ประกบ Kerr ก็อาจเข้าขากันได้อยู่นะ) … สรุปแล้วผมรู้สึกว่าตัวละครนี้ ยังหานักแสดงเหมาะสมกับบทบาทไม่ได้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Erwin Hillier (1911-2005) ตากล้องสัญชาติเยอรมัน เชื้อสาย Jews ระหว่างกำลังศึกษาศิลปะในกรุง Berlin บังเอิญมีภาพวาดหนึ่งถูกใจผู้กำกับ F.W. Murnau ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้ช่วยตากล้อง Tabu (1931) แต่ถูกบิดาขัดขวางเพราะรสนิยมทางเพศของอีกฝ่าย เลยแนะนำบอกต่อ Fritz Lang จนมีโอกาสช่วยงาน M (1931) จากนั้นเดินทางสู่เกาะอังกฤษ เข้าทำงานสตูดิโอ Gaumont Pictures ตามด้วย Elstree Studios ทำให้ได้รับรู้จัก Michael Powell ชักชวนมา The Archers ร่วมงาน The Silver Fleet (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945) ฯลฯ

ผมมีความรู้สึกแปลกๆกับหลายช็อตฉากในหนัง บางครั้งทิวทัศน์ดูสวยงามมากๆ แต่ประเดี๋ยวมืด ประเดี๋ยวสว่าง เดี๋ยวเบลอๆ เดี๋ยวลอยๆ มันมีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า? ก่อนพบว่า Hillier ถ่ายทำหนังโดยไม่มีการใช้ Light Meter (สำหรับวัดความสว่างของแสง) และนักแสดงนำ Roger Livesey ติดคิวโปรดักชั่นละครเวที ไม่สามารถเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง เลยต้องใช้ Rear Projection เสียส่วนใหญ่

ถึงงานภาพของหนังจะดูเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ แต่โดยไม่รู้ตัวนั่นเป็นการสร้างบรรยากาศลึกลับ น่าพิศวง ราวกับต้องมนต์ ดินแดนที่ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทั้งสภาพอากาศ ลมฟ้าฝน แสงสว่าง-ความมืดมิด เดี๋ยวเบลอ-เดี๋ยวชัด อารมณ์ตัวละครก็เฉกเช่นเดียวกัน

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังก็คือ Isle of Mull, Argyll and Bute ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของประเทศ Scotland ด้วยอาณาบริเวณ 875.35 ตารางกิโลเมตร (338 ตารางไมล์) มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของเกาะอังกฤษ (Great Britain) จำนวนประชากรเมื่อปี ค.ศ. 2020 ประมาณ 3,000 คน!

  • บ้านพักของ Erraig ถ่ายทำยัง House of Carsaig
  • ท่าเรือ Carsaig Pier บริเวณ Carsaig Bay
  • ปราสาทต้องคำสาป Moy Castle, Lochbuie
  • โรงแรม Western Isles Hotel
  • ปราสาทของตระกูล Sorne ถ่ายทำยัง Duart Castle
  • ปราสาทของตระกูล Achnacroish ถ่ายทำยัง Torosay Castle

ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่สตูดิโอ Denham Film Studios ตั้งอยู่ยัง Denham, Buckinghamshire ภายนอกกรุง London (ปลอดภัยจากการถูกโจมตีทางอากาศ) ซึ่งเคยทำโปรดักชั่นของ The Archers ตั้งแต่ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945) และ A Matter of Life and Death (1946)

โดยปกติแล้วตัวอักษร i ที่หมายถึงฉัน มักจะต้องเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ I แต่เครดิตชื่อหนังกลับใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็ก แม้มันไม่ได้ผิดอะไร แต่ผมรู้สึกตะงิดๆกับเครื่องหมายตกใจ ! (อัศเจรีย์) มันมีลักษณะเหมือนตัวอักษร i กลับหัว ราวกับหนังต้องการสื่อว่า ทิศทางที่หญิงสาวรับรู้ว่ากำลังจะดำเนินไปไหน แท้จริงแล้วมันอาจไม่เป็นเช่นนั้น … ตอนจบของหนังถือว่ากลับตารปัตรตรงกันข้ามเลยก็ว่าได้

ผมว่าบางคนแค่ได้รับชม Opening Credit ก็อาจยกย่องสรรเสริญหนัง ระดับมาสเตอร์พีซแล้วละ! เพราะแค่เสียงบรรยายภาพแรก สามารถสร้างรอยยิ้มกริ่ม อึ้งทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ ย่นย่อชีวประวัติ Joan Webster ผ่าน 3-4 ช่วงเวลา

  • เมื่อครั้นเป็นทารก คลานต้วมเตี้ยมตรงสู่เตียงนอน
    • แต่เหมือนเธอกลับถูกใครบางคนยืนขวางทาง (มารดากระมัง)
  • เมื่อครั้นเป็นเด็กหญิง เขียนจดหมายถึงซานต้า อยากได้ถุงน่องผ้าไหมแท้
    • แต่กลับได้รับเพียงถุงน่องผ้า ราคาถูกๆ
  • โตขึ้นมาหน่อยอยากมีรถหรูมารับหน้าโรงเรียน
    • แต่ก็ได้เพียงรถม้าเทียมเกวียน
  • วัยรุ่นสาวเกี้ยวพาราสีชายคนหนึ่ง
    • แต่ก็คาดเดาไม่ยากว่า ประเดี๋ยวคงเลิกรา
  • และพออายุ 25 ปี บอกกับบิดากว่ากำลังจะแต่งงาน
    • หนังทั้งเรื่องพยายามโน้มน้าวเธอว่า นั่นไม่ใช่ความเป้าหมายปลายทางที่แท้จริง!

ทีแรกผมก็แอบงงๆว่าชายคนนี้คือใคร? นายธนาคาร? บิดาของ Joan? หรือหนึ่งในชู้รัก? แต่รูปปั้นชายโรมันเปลือยกายที่อยู่ระหว่างพวกเขา สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงบุรุษในอุดมคติ (ของ Joan) ซึ่งก็คือภาพลักษณ์แบบชายสูงวัยคนนี้ มั่นคง ร่ำรวย ที่เธอครุ่นคิดอยากจะแต่งงานด้วย (Electra Complex)

ในเครดิตตัวละครนี้ขึ้นชื่อว่า Mr. Webster (รับบทโดย George Carney) ย่อมคือบิดาแท้ๆของ Joan ประกอบอาชีพนายธนาคาร ถือเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง เข้าใจได้ไม่ยากว่าต้องพยายามปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอนบุตรสาว ให้รู้จักมูลค่าความสำคัญของเงิน

ระหว่างโดยสารรถไฟตู้นอน Joan กำลังพร่ำเพ้อฝัน จินตนาการถึงวันแต่งงาน จะมีการซ้อนภาพ …

  • กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาชุดแต่งงาน แต่มันกลับสะท้อนแสงระยิบระยับของถุงพลาสติก (ที่สวมใส่ชุดแต่งงาน)
  • เมื่อตัดไปภาพบาทหลวงระหว่างทำพิธี จะมีการซ้อนภาพเครื่องจักรกล (ในลักษณะ Invert Shot)
  • ในความฝันนี้จะไม่พบเห็นเจ้าบ่าว แต่บาทหลวงจะเงยศีรษะขึ้นท้องฟ้า (ราวกับว่าบุคคลนั้นยืนอยู่เบื้องบนสรวงสวรรค์)
  • และเสียงตอบรับ “I do” ของฝ่ายชาย สิ่งที่ผู้ชมจักได้ยินก็คือหวูดรถไฟ ปู้น!!!

นี่ราวกับว่างานแต่งงานของ Joan เจ้าบ่าวตัวจริงไม่ใช่มหาเศรษฐี Sir Robert Bellinger แต่คือความมั่งคั่งร่ำรวย เครื่องจักรกล โรงงานอุตสาหกรรมคือสัญลักษณ์ของวัตถุนิยม (Materialism)

ใครเป็นแฟนหนังตัวยงของ Powell & Pressburger น่าจะรับรู้จักหนึ่งในสไตล์ลายเซ็นต์ เลื่องชื่อลือชาด้านการถ่ายทำด้วยเทคนิค Rear Projection ระหว่างรับชมผมก็ไม่ได้เอะใจอะไรหรอกนะ แค่ตะหงิดๆว่าทำไมแสงสว่าง-ความมืด มันดูผิดๆเพี้ยนๆ เพราะภาพขาว-ดำมันมีความแนบเนียนกว่าฟีล์มสี อย่างสองช็อตนี้สังเกตความแตกต่างออกไหมเอ่ย?

  • ภาพซ้ายถ่ายทำยังสถานที่จริง ทิวทัศน์ยามตะวันใกล้ตกดิน แต่เพราะ Hiller เข้าฉากกับนักแสดงแทน Livesey (นั่นเพราะ Livesey ไม่ได้เดินทางไปยัง Scotland) จึงต้องพยายามถ่ายภาพย้อนแสง ให้ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด มองเห็นไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไหร่
  • ส่วนภาพขวาถ่ายทำในสตูดิโอ Denham Film Studios พื้นหลังใช้เครื่องฉาย Rear Projection สังเกตใบหน้านักแสดงทั้งสอง มีแสงไฟ(จากการจัดแสงในสตูดิโอ)สาดส่องให้พบเห็นอย่างชัดเจน

รายละเอียดเหล่านี้ต้องใช้ประสบการณ์และความช่างสังเกตพอสมควร แต่สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ดูหนังแบบผ่านๆ โดยไม่รู้ตัวนี่เป็นสร้างบรรยากาศลึกลับ น่าพิศวง ราวกับต้องมนต์ ดินแดนมหัศจรรย์ที่ทุกสิ่งอย่างผันแปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้สร้าง

Isle of Kiloran คือเกาะสมมติ (Fiction Island) แต่ดูจากแผนที่ในหนัง ชาวอังกฤษ/สก็อตแลนด์น่าจะรับรู้ว่าได้คือภาพของ Isle of Colonsay (อยู่ทางตอนใต้ของ Isle of Mull) รวมถึงชื่ออ่าว Kiloran Bay ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ (ส่วนหนึ่งของ Colonsay Bay) และยังเป็นดินแดนบรรพบุรุษตระกูล Macfie และ MacNeil

แซว: เกาะแห่งนี้ให้ความรู้สึกไม่แตกต่างจากช่างไม่ต่างจากแชงกรีล่า (Shangri-La) ดินแดนแห่งอุดมคติที่มีความลึกลับ น่าพิศวง และหญิงสาวเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหล ถึงอย่างนั้นหนังกลับไม่มีฟุตเทจสักช็อตของ Kiloran หรือ Colonsay ค้างๆคาๆไว้ให้เป็น MacGuffin

Cèilidh (ผันมาจาก Cèle ภาษา Old Irish แปลว่า ‘companion’) กิจกรรมเกี่ยวกับการรวมตัว พบปะสังสรรค์ของชาว Scottish & Irish มักมีการดื่ม-กิน ร้อง-เล่น-เต้น ว่าจ้างวงดนตรี ปี่สก็อต มาบรรเลงเพลงพื้นบ้าน Gaelic ซึ่งครานี้เป็นงานเฉลิมฉลองครบรอบแต่งงานปู่-ย่าคู่นี้ ในหนังเหมือนไม่ได้บอกว่ากี่ปี แต่ผมอ่านเจอว่า Diamond Wedding Anniversary คือระยะเวลา 60 ปี!

แซว: หนังของ Powell & Pressburger มักต้องมีตัวละครต่างสัญชาติ พูดคนละภาษา (ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) อาจจะเพราะ Pressburger เป็นชาวเยอรมัน สามารถแฝงนัยยะถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ-ภาษา

ฉากที่มีความซับซ้อนมากสุดของหนังก็คือวังน้ำวน Corryvreckan Whirlpool บริเวณนี้มีอยู่จริงในอ่าว Gulf of Corryvreckan ทางตอนใต้ของ Isle of Mull, ตะวันออกเฉียงเหนือของ Isle of Kilolan ซึ่งจะมีช่องแคบเล็กๆระหว่างเกาะ Jura และ Scarba ทำให้เกิดกระแสน้ำวนขึ้นบ่อยครั้ง

ตามปรัมปรา Scottish Mythology เล่าว่าเทพเจ้าฤดูหนาว Cailleach Bheur มักลงมาสรงน้ำในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจาก Autumn → Winters (ซึ่งก็คือช่วงที่เกิดกระแสน้ำวนขึ้นบ่อยครั้ง) และหลังจากชำระคราบสกปรก เสื้อผ้าที่มีความขาวสะอาด จักกลายเป็นหิมะปกคลุมทั่วเกาะ

อีกปรัมปราที่มีการอ้างอิงถึงในหนัง เล่าเรื่องเจ้าชาย Breacan หรือ Vreckan แห่ง Scandinavian (ในหนังบอกว่าเป็นเจ้าชายจาก Norwegian) ตกหลุมรักหญิงสาวชาวเกาะคนหนึ่ง แต่บิดาของเธอเรียกร้องให้เขาพิสูจน์ความรัก ด้วยการล่องเรือผ่านวังน้ำวน ผลปรากฎว่าเรืออับปาง ไม่สามารถเอาชนะกระแสน้ำ หลงเหลือเพียงร่างไร้จิตวิญญาณเกยตื้นขึ้นฝั่ง … ก็เลยตั้งชื่อกระแสวังน้ำวน CorryVreckan เพื่ออุทิศให้กับเจ้าชายผู้ล่วงลับ

วังน้ำวนที่พบเห็นในหนังคือการผสมผสานระหว่างภาพถ่ายจากสถานที่จริง ซ้อนเข้ากับ Special Effect สร้างขึ้นในแท้งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งได้ทำการผสมเจลาตินเพื่อให้ขึ้นรูป/คงสภาพ (ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ The Ten Commandments (1923) ของผู้กำกับ Cecil B. DeMille) และติดตั้งใบพัดไว้ใต้น้ำ ปล่อยหมุนไปเรื่อยๆจนเห็นเป็นกระแสน้ำวน … มูลค่าเฉพาะฉากนี้สูงถึง £40,000 ปอนด์ (1 ใน 5 ของทุนสร้างตั้งต้น)

myself and the operator went out in a boat and almost got ourselves drowned in the whirlpool collecting that stuff!

ตากล้อง Erwin Hillier เล่าถึงประสบการณ์เฉียดตายในการถ่ายทำวังน้ำวนจากสถานที่จริง

นอกจากนี้ยังมีการใช้โมเดลจำลอง สร้างเรือลำเล็กพบเห็นขณะกำลังเคลื่อนไหลไปตามทิศทางกระแสน้ำวน, ขณะที่ช็อตโคลสอัพตัวละครบนเรือ ล้วนถ่ายทำด้วย Rear Projection ไม่มีนักแสดงคนไหนเสี่ยงอันตราย นอกจากตากล้องไปเก็บภาพยังสถานที่จริง

ผมละขำกลิ้งกับนกอินทรีชื่อ Torquil เดียวกับตัวละครของ Roger Livesey ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราวคู่ขนานกันได้เลย ช่วงแรกๆต่างถูกใส่ร้ายป้ายสี มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ผมจะชี้นำช่วงท้ายให้นิดนึง ระหว่างที่เจ้าตัวนี้โฉบลงมาจับกินเหยื่อ (พบเห็นจิกลำไส้ขึ้นมาเลยนะ!) สื่อถึงการที่ Torquil สามารถสยบ Joan (หลังจากเอาตัวรอดจากวังน้ำวน) ทำให้เธอยินยอมศิโรราบแทบเท้า ล้มเลิกความตั้งใจหลบหนีเอาตัวรอด

Moy Castle เริ่มต้นทำการก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1360 โดย Hector Reaganach Maclean, 1st Laird of Lochbuie ต้นตระกูล Macleans ผู้ปกครอง Lochbuie, Mull ถือเป็นปราสาทที่มีความเก่าแก่ เมื่อเรื่องเล่าปรัมปรามากมาย จนกระทั่งถูกทิ้งขว้างเมื่อปี ค.ศ. 1752

เรื่องเล่าในหนังเชื่อว่า Powell & Pressburger น่าจะได้รับฟังมาจากชาวเกาะ Mull เท่าที่ผมหาข้อมูลก็พอมีเค้าโครงความจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่กับแท่นหินคำสาปนี้นะครับ มันดูสะอาดเอี่ยมอ่องเกินกว่าจะเป็นข้อความแกะสลักเมื่อหลายร้อยปีก่อน … และข้อความคำสาปมันเหมือนเป็นการอำนวยอวยพร เรื่องของความรักเสียมากกว่า

The Curse of Catriona Maclaine of Erraig

My curse on MacNeil of Kiloran and every MacNeil after him. If he shall ever cross the threshold of Moy, never shall he leave it a free man. He shall be chained to a woman till the end of his days and he shall die in his chains.

เกร็ด: เห็นว่าหนังมีอีกตอนจบ (Alternate Ending) ที่ Joan Webster แอบติดตาม Torquil MacNeil เข้ามาในปราสาท Moy Castle แต่ผู้กำกับ Powell ปรับเปลี่ยนเป็น Torquil กลับลงหา Joan (ที่มาพร้อมกับนักดนตรีปี่สก็อต) แค่นั้นแทน … จบแบบหนังดีกว่านะครับ เพราะแสดงให้เห็นว่า Torquil ได้ค้นพบปลายทางของตนเองเช่นกัน (ถ้าจบแบบ Alternate Ending มันเหมือนจะมีแค่ Joan ได้ค้นพบปลายทางของตนเอง)

ตัดต่อโดย John Seabourne Sr. สัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการตั้งแต่ทศวรรษ 30s ด้วยการเป็นนักตัดต่อ Newsreels ให้กับสตูดิโอ Gaumount-British ผลงานเด่นๆ อาทิ Sweeney Todd (1936), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), A King in New York (1957) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Joan Webster เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นทารก เติบโตสาวแรกรุ่น ค้นพบเป้าหมายต้องการแต่งงานกับมหาเศรษฐี แต่ระหว่างออกเดินทางมุ่งสู่เกาะ Koloran เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดมากมาย จนสุดท้ายความฝันพังทลาย ไปไม่ถึงฟากฝั่งฝัน

  • อารัมบท, ตั้งแต่เกิดจนโตเป็นสาว
    • ตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นทารก จนกระทั่งเติบโตเป็นสาว Joan Webster ล้วนรับรู้เป้าหมายที่อยากดำเนินไป
    • พออายุครบ 25 ปี ขอเงินก้อนสุดท้ายจากบิดา เพื่อออกเดินทางขึ้นรถ-เรือไปแต่งงานยังเกาะ Kirolan
  • ค่ำคืนแรกบนเกาะ Mull
    • แต่พอเดินทางมาถึงเกาะ Mull สภาพอากาศที่เคยปลอดโปร่ง จู่ๆมืดครื้ม ทำให้เรือไม่สามารถออกจากฝั่ง
    • นั่นทำให้ Joan ต้องขออาศัยบ้านพักของ Catriona Potts ทำให้รับรู้จักนาวาทหารเรือ Torquil MacNeil กำลังจะเดินทางกลับบ้านที่เกาะ Kirolan เช่นกัน
  • วันที่สองบนเกาะ Mull
    • Joan และ Torquil จับรถโดยสารเดินทางสู่ Tobermory ทำให้รับรู้จักตัวจริงของ Kirolan
    • Joan ได้พูดคุยกับว่าที่สามีผ่านวิทยุสื่อสาร
    • และค่ำคืนนี้เข้าพักยัง Western Isles Hotel
  • วันที่สามบนเกาะ Mull
    • Joan เดินทางไปยัง Achnacroish พบเจอกับเพื่อน/ญาติของว่าที่สามี ร่วมทานอาหาร รับฟังเล่าเรื่อง แต่กลับยังไม่สามารถหลบหนีจาก Torquill
    • Torquill นำพา Joan ไปรับชมการร้อง-เล่น-เต้น ในกิจกรรมพบปะสังสรรค์ Cèilidh
  • วันที่สี่บนเกาะ Mull
    • ด้วยเหตุผลบางอย่าง Joan มิอาจอดรนทน รอคอยให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งอีกต่อไป จึงว่าจ้างเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้ขับเรือไปส่ง
    • Torquill พยายามพูดโน้มน้าว หาหนทางหักห้ามปราม จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ เขาจึงจำต้องร่วมออกเดินทาง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
    • การผจญภัยพายุ ลมมรสุม และวังน้ำวน Corryvreckan whirlpool โชคดีสามารถหวนกลับขึ้นฝั่งได้สำเร็จ
  • ปัจฉิมบท, วันสุดท้ายบนเกาะ Mull
    • เช้าวันนี้อากาศแจ่มใส Torquill เตรียมตัวออกเดินทางกลับไปรับใช้ชาติ
    • ระหว่างทางตัดสินใจเข้าไปยังปราสาทต้องห้าม Moy Castle พบเห็นคำสาปจารึกไว้ และตระหนักถึงอิทธิฤทธิ์ของมัน

โครงสร้างของหนังอาจดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยใช้การแบ่งออกเป็นวันๆ ซึ่งจะมีพัฒนาการเรื่องราวทีละลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน และทุกองก์ยังพบเห็นไคลน์แม็กซ์เล็กๆ เพื่อนำเข้าสู่ไคลน์แม็กซ์หลักของหนัง (เหมือนเปะกับกราฟอารมณ์ที่เป็นสูตรสำเร็จการเขียนบท) นี่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบในวิธีนำเสนอ หรือที่เรียกว่า ‘perfect screenplay’ สามารถใช้เป็นแม่พิมพ์ ต้นแบบอย่างสำหรับการเขียนบทภาพยนตร์ได้เลยละ!

ส่วนไฮไลท์ตัดต่อต้องยกให้การลำดับไคลน์แม็กซ์ ตั้งแต่เรือออกจากท่า เผชิญหน้าลมฝน ซึ่งจะตัดสลับระหว่างตัวละคร ภายใน-นอกเรือ และภาพมุมกว้างสภาพอากาศ ซึ่งจะค่อยๆไล่ระดับความรุนแรง จนมาถึงบริเวณวังน้ำวน ปล่อยเรือแล่นตามกระแสน้ำ จนกระทั่งเครื่องยนต์ซ่อมเสร็จ ขับหนีเอาตัวรอดกลับเกาะ Mull ได้อย่างหวุดหวิด! … เรียกว่าเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจในแบบคลาสสิก (จริงๆผมว่าดูสนุกกว่าหนัง Action บางเรื่องเสียอีกนะ!)


เพลงประกอบโดย Allan Gray ชื่อจริง Józef Żmigrod (1902 – 1973) สัญชาติ Polish เกิดในครอบครัวนักดนตรี บิดาเป็นนักไวโอลินคอนเสิร์ต โตขึ้นร่ำเรียนกับอาจารย์ Arnold Schönberg เริ่มจากแต่งเพลง Jazz ประกอบการแสดงคาบาเร่ต์ แล้วมีโอกาสร่วมงานโปรดักชั่นละครเวทีของ Max Reinhardt, สำหรับภาพยนตร์มีผลงาน อาทิ Emil and the Detectives (1931), The Countess of Monte Cristo (1932), แล้วอพยพสู่อังกฤษในช่วงการเรืองอำนาจของนาซี กลายเป็นขาประจำยุคแรกๆของ The Archer อาทิ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) ฯ

งานเพลงของหนังเป็นการเรียบเรียง/ดัดแปลง I Know Where I’m Going บทเพลงพื้นบ้าน Scottish (แต่บางแห่งก็อ้างว่าเป็นของ Irish) ที่คือแรงบันดาลใจชื่อหนัง โดยท่วงทำนอง Main Theme ยังสะท้อนตัวตนของ Joan Webster ภายนอกเต็มไปด้วยมุ่งมั่น เพ้อฝัน อ้างว่าฉันรับรู้เป้าหมาย/ความต้องการชีวิต แต่ภายในจิตใจกลับมีบางสิ่งอย่างขาดหาย โหยหาที่จะได้รับการเติมเต็ม

ชื่อเสียงของ Gray อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนอกจากการร่วมงาน Powell & Pressburger แต่หลังจากผมรับฟัง Soundtrack ที่มาพร้อมกับเสียง Sound Effect คลื่นลม พายุฝน แอบรู้สึกอึ้งทึ่งว่าสามารถเสริมเติมเต็มกันและกันได้อย่างกลมกล่อม จนเกิดภาพความประทับใจ ‘impressionist’ ขึ้นมาทันที!

ตอนรับชมผมไม่ได้เอะใจอะไรเลยนะ รับรู้สึกแค่ว่า Soundtrack กลมกลืนไปกับเสียง Sound Effect เพิ่งมาตระหนักถึงวิธีการของ Gray พยายามแต่งท่วงทำนองให้มีความละม้ายคล้ายเสียงธรรมชาติ เพื่อว่าเวลาผสมผสานกันแล้วจะเกิดการสอดพ้องจอง นี่คือลักษณะของดนตรีพรรณนา Tone poem (หรือ Symphonic poem) ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวี ภาพวาด หรือตำนานต่างๆ มุ่งใช้เสียงดนตรีบรรยายให้ผู้ฟังจินตนาการเห็นภาพหรือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังเสียงเพลงเหล่านั้น

I Know Where I’m Going ฉบับได้ยินในหนังไม่มีเครดิตขับร้อง คาดกันว่าน่าจะคือ Jean Houston หนึ่งในสมาชิกวง Glasgow Orpheus Choir ที่ร่วมทำการแสดงในหนัง แต่น่าเสียดายตัดจบแบบห้วนๆ เพราะจริงๆมันยังไม่จบเพลงนะครับ ขาดย่อหน้าสุดท้ายไปนิสนึง

I know where I’m going,
And I know who’s going with me,
I know who I love
But the dear knows who I’ll marry!

I have stockings of silk,
Shoes of fine green leather,
Combs to buckle my hair,
And a ring for every finger.

Some say he’s black, (คาดกันว่าคือสีผมนะครับ ไม่ใช่สีผิว)
But I say he’s bonny,
The fairest of them all
My handsome, winsome Johnny.

(ท่อนที่หายไป)
Feather beds are soft
And painted rooms are bonny
But I would leave them all
To go with my love my Johnny.

แต่บทเพลงที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนังคือเพลงพื้นบ้าน Scottish ในซีเควนซ์ Cèilidh เรียบเรียงโดย John Laurie ทำการแสดงโดย Glasgow Orpheus Choir ร่วมกับปี่สก็อต (Pipers หรือ Bagpipes) เท่าที่พอหาข้อมูลได้ อาทิ

  • Macaphee Turn the Cattle
  • The Nut Brown Maiden
  • The Campbells Are Coming
  • Ho ro, mo nighean donn bhòidheach (แปลว่า Ho ro My Nut Brown Maiden)
    • ท่วงทำนองเพลงนี้จะได้ยินอีกครั้งช่วงท้ายของหนัง บรรเลงโดยปี่สก็อต ขณะกำลังเดินผ่าน Moy Castle

สำหรับบทเพลงอะแคปเปลลา (แต่เห็นเรียกว่า Mouth Music) ชื่อว่า Macaphee Turn the Cattle (บางทีก็เขียนว่า Mcafee Turn the Cattle) ดั้งเดิมเป็นเพลงพื้นบ้านภาษา Scottish Gaelic แต่ที่ได้ยินในหนังแปลเป็นภาษาอังกฤษ

Scottish Gaelicแปลอังกฤษ
Mac-a-Phi cnag-shuileach Ceann loch a Feòrain
Mac-a-Phi cnag-shuileach Ceann loch a Feòrain
Mac-a-Phi cnag-shuileach Ceann loch a Feòrain
Goididh e na gobhair air teadhair air a’ mhòine Stad

A Mhàiri bhanarach, gus an gabh mi ‘n t-òran
A Mhàiri bhanarach, gus an gabh mi ‘n t-òran
A Mhàiri bhanarach, gus an gabh mi ‘n t-òran
Chan fhaod mi, chan fhaod mi, ‘s na laoigh a’ dol don erna

Tha air teadhair air a’mhintichh iri bhanarach,
Tha air teadhair air a’mhintichh iri bhanarach,
Tha air teadhair air a’mhintichh iri bhanarach,
Gus an gabh mi chan fhaod mi, ‘s na laoigh a’.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Here and there and everywhere,
The cows are in the corn.

A waiting at the shielin o mhairi ban machree.
Waiting at the shielin, oh far away to sea.
Hame will come the bonny boats,
Mhairi ban machree.
Hame will come the bonny lads, hi ho and hee.

Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macaphee turn the cattle roon loch a forum.
Macafee turn the cattle roon loch a forum.
Here and there and everywhere,
The cows are in the corn.

I Know Where I’m Going! (1945) นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาว อ้างว่ารับรู้ทิศทาง ค้นพบเป้าหมายชีวิต ครุ่นคิดแต่งงานมหาเศรษฐี เพื่อจักมีชีวิตสุขสบาย แต่แล้วทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้กลับพังทลาย เพียงเพราะสภาพอากาศ ลมฟ้าฝนไม่เป็นใจ หรือคือเธอหาได้รับรู้ความต้องการแท้จริงของตนเอง!

Joan Webster เมื่อมีโอกาสพักอาศัย ติดอยู่บนเกาะ Isle of Mull ทำให้เธอพบเห็นโลกกว้าง เปิดมุมมองทางความคิด เรียนรู้จักวิถีชีวิต(ชาวเกาะ)ที่เต็มไปด้วยมิตรไมตรี อัธยาศัยดีงาม แม้มีความยากจนข้นแค้น ไร้เงินติดตัวสักแดง แต่พวกเขาก็ยังคงยิ้มต่อสู้ ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ ชาย-หญิงครองรักจนแก่เถ้า เคารพเรื่องเล่าบรรพบุรุษ นั่นเป็นสิ่งที่หญิงสาวชาวเมือง ผู้ดีอังกฤษ ชนชั้นกลาง ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน

คำกล่าวของผู้ประสบความสำเร็จ ‘เป้าหมายมีไว้พุ่งชน’ แต่ในความจริงไม่ใช่ทุกคนจะได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ดำเนินสู่อีกฟากฝั่งฝัน สำหรับผู้พ่ายแพ้ต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างเลยหรือไร เพราะมันไม่มีทางที่มนุษย์จะมีศักยภาพ/ความสามารถเท่าเทียมกัน

ข้อคิดคติสอนใจของหนัง/คำกล่าวที่ถูกต้องแท้จริง ‘เป้าหมายไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง!’ อุดมคติ ความเพ้อฝัน ชัยชนะจากการแข่งขัน มันอาจไม่ใช่ที่สุดของชีวิต ทิศทางที่อยากดำเนินไปอย่างแท้จริง นั่นเพราะเราอาจถูกครอบงำโดยบริบททางสังคม ค่านิยมผู้คน ชนชั้น ศาสนา หรือคำกล่าวชวนเชื่ออย่าง เงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง, Adolf Hiter คือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ฯลฯ

จริงอยู่ว่ายุคสมัยนี้เงินทองคือสิ่งจำเป็น ปัจจัยที่ห้าต่อการดำรงชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างจะหาซื้อด้วยเงิน โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจอย่างความรัก จนกว่าจะได้เรียนรู้จัก พบเจอบุคคลสามารถเติมเต็มตัวเรา ต่อให้รูปร่างหน้าตาไม่สวย-หล่อ ชนชั้นสูง-ต่ำ ฐานะรวย-จน ล้วนหาได้สลักสำคัญแม้แต่น้อย!

หลายคนอาจมองว่า I Know Where I’m Going! (1945) ดูไม่เหมือนหนังชวนเชื่อ (Propaganda Film) แต่เพราะสร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (แม้ออกฉายภายหลังก็ตามเถอะ) ด้วยเนื้อสาระที่พยายามสร้างแนวคิด ปลูกฝังทัศนคติ Anti-Materialism, Anti-Capitalism ล้วนถือว่ามีลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ ด้วยกันทั้งนั้น

แต่การชวนเชื่อของหนังไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ศัตรู ฝ่ายอักษะ หรือนาซีเยอรมันโดยตรง เป้าหมายคือแนวคิด อุดมการณ์ สิ่งที่ Adolf Hitler พยายามขายฝัน ชัยชนะของชาวอารยัน (ที่จะยึดครองโลก) มันมีความจำเป็นอะไรที่เราต้องดำเนินไปให้ถึงฟากฝันนั้น?

ผู้กำกับ Powell & Pressburger น่าจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างระหว่างสงคราม ทำให้เกิดความตระหนักถึงทิศทางของโลก (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยระบอบทุนนิยม (Capitalism) ผู้คนพบเห็นความสำคัญของเงินๆทองๆ คือสิ่งสามารถสร้างความมั่นคง สะดวกสบาย และได้รับอภิสิทธิ์ชนเหนือกว่าคนอื่น แต่มันใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมจริงๆนะหรือ?

วังน้ำวน คือสัญลักษณ์สำหรับเตือนสติผู้ชม ไม่มีทางที่ใครจะต่อสู้ ฟันฝ่า เอาชนะวิถีแห่งธรรมชาติ ทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น อุดมคติ เป้าหมายปลายทาง ล้วนเป็นเพียงมายา ภาพลวงตา ค่านิยม “ชวนเชื่อ” ล่อหลอกให้ติดกับดัก จนมิอาจดิ้นหลุดพ้น ตกเป็นทาสระบอบทุนนิยม เวียนว่ายตายเกิดวนอยู่ในวัฎฎะสังสาร


จากทุนสร้างที่ประเมินไว้ £200,000 ปอนด์ (เทียบเท่า £9.2 ล้านปอนด์ในปี ค.ศ. 2021) ใช้เงินไป £30,000 ปอนด์ ไม่มีรายงานรายรับ บอกแค่ว่าทำเงินเกินจุดคุ้มทุนในอังกฤษ ฉายต่างประเทศคือกำไรล้วนๆ

Martin Scorsese คือหนึ่งในผู้มีความประทับใจหนังเรื่องนี้มากๆ ใช้องค์กร The Film Foundation ร่วมกับ BFI National Archive ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมบูรณะ ล่าสุดคุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 … ฉบับที่หารับชมได้ทาง Criterion Channel ยังคุณภาพแค่ HD อยู่นะครับ

แม้ผมจะแอบรำคาญแอ๊คติ้งของสองนักแสดงนำ แต่อย่างอื่นของหนังมีความลงตัวกลมกล่อม ภาพสวยเพลงเพราะ ราวกับต้องมนต์ โดยเฉพาะบทของ Pressburger มีความสมบูรณ์แบบดั่งคำร่ำลือ ‘perfect screenplay’ กลายเป็นต้นแบบอย่างให้ผลงานถัดๆไป หรือจะเรียกว่าสไตล์ของ ‘Powell & Pressburger’ เริ่มต้นอย่างแท้จริงจาก I Know Where I’m Going! (1945)

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกำลังมองหาเป้าหมายชีวิต หรือคนที่มีอยู่แล้วก็อาจได้เปิดโลกทัศน์ทางความคิด มันไม่จำเป็นที่เราต้องดำเนินไปให้ถึงอีกฟากฝั่งฝัน ขอแค่เพียงพึงพอใจในสิ่งที่เรามี บางทีเป้าหมายปลายทางอาจค้นพบอยู่ ณ จุดตั้งต้น

และแนะนำอย่างยิ่งสำหรับนักเขียน นวนิยาย บทภาพยนตร์ ฯ สำหรับศึกษาโครงสร้างการนำเสนอ เรียนรู้จักพัฒนาการเรื่องราวที่เป็นขั้นเป็นตอน สามารถใช้เป็นต้นแบบ แม่พิมพ์ สูตรสำเร็จในการรังสรรค์ผลงาน

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | I Know Where I’m Going! แม้ไปไม่ถึงฟากฝั่งฝัน แต่ค้นพบเป้าหมายปลายทางของหัวใจ
คุณภาพ | ถึป้
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

In Which We Serve (1942)


In Which We Serve (1942) British : Noël Coward, David Lean ♥♥♥♥

ภาพยนตร์แนวปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film) แม้เรือพิฆาต HMS Kelly ถูกโจมตีจนอับปางลง แต่ก็ไม่ทำให้จิตวิญญาณผู้คนจมดิ่งสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร, กำกับการแสดงโดย Noël Coward และหน้าที่กำกับอื่นๆโดย David Lean

แม้ในเครดิตจะขึ้นว่า Action Sequence กำกับโดย David Lean แต่จริงๆแล้วเขาทำหน้าที่ทุกสิ่งอย่างยกเว้นการกำกับนักแสดง! นั่นเพราะ Noël Coward มาจากฟากฝั่งละครเวที ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคอะไรใดๆ แถมพอถ่ายทำได้สามสัปดาห์ก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อศาสตร์ภาพยนตร์ เต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวาย เลยตัดสินใจเข้ากองเฉพาะคิวถ่ายของตนเอง ดูแลในส่วนเขียนบท แสดงนำ กำกับการแสดง และแต่งเพลงประกอบ

(In Which We Serve (1942) เป็นเครดิตกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของ Sir Noël Coward แต่ปู่แกโด่งดังกับฟากฝั่งละครเวที ฝีไม้ลายมือด้านการแสดง เขียนบท ทำเพลงประกอบ ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร)

ความน่าสนใจของ In Which We Serve (1942) นอกจากฝีไม้ลายมือการกำกับ/ตัดต่อของ David Lean บทหนังและการแสดงของ Noël Coward ก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อาจดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ให้ความรู้สึกคล้ายๆกำลังรับชม(การแสดง)ละครเวที มีความแม่นเปะที่สะท้อนภาพลักษณ์ผู้ดีอังกฤษได้อย่างน่าอึ้งทึ่ง

แซว: เมื่อตอนหนังออกฉายได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ ประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม เข้าชิง Oscar จำนวนสองสาขา แต่ฟากฝั่งนายพลทหารเรือเห็นว่าไม่ค่อยประทับใจสักเท่าไหร่ ถึงขนาดตั้งชื่อเล่น “In Which We Sink”


Sir Noël Peirce Coward (1899-1973) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับ ภาพยนตร์และละครเวที เกิดที่ Teddington, Middlesex ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการแสดง มารดาส่งไปโรงเรียนสอนเต้นที่ London ขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พออายุ 20 เริ่มหันมาเขียนบทละครเวที ประสบความสำเร็จล้นหลามกับโปรดักชั่น The Vortex (1924), Cavalcade (1931) ฯ

ช่วงระหว่างโปรดักชั่น Blithe Spirit เปิดการแสดงยัง West End เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941, Coward ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Anthony Havelock-Allan ขณะนั้นทำงานอยู่สตูดิโอ Two Cities Films ชักชวนมาร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์ชวนเชื่อ (propaganda film) เพื่อทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองประเทศอังกฤษ

Coward รู้จักสนิทสนมกับ Captain Lord Louis Mountbatten ผู้บัญชาการเรือพิฆาต HMS Kelly เมื่อได้ยินข่าวเรืออับปางวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 สร้างความตื่นตระหนก ตกอกตกใจอยู่ไม่น้อย โชคยังดีที่เพื่อนสนิทเอาตัวรอดกลับมาได้ แต่ลูกเรือหลายร้อยคนต้องจบชีวิตหลังถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด Luftwaffe

เพราะความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวที่ยังติดค้างคาใจ Coward จึงพัฒนาเรื่องราวเกี่ยวกับเรือพิฆาต HMS Kelly ทำออกมาในลักษณะเยี่ยงวีรบุรุษ (Heroic) ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก Lord Mountbatten เล่าประสบการณ์ รวมถึงภารกิจต่างๆ อีกทั้งยังเดินทางไปเยี่ยมเยือนท่าเรือของกองทัพที่ Plymouth, Portsmouth, Scapa Flow และมีโอกาสร่วมออกทะเลไปกับ HMS Nigeria

ช่วงปลายปี ค.ศ. 1941, Coward ส่งบทหนังที่พัฒนาขึ้นให้กับ Havelock-Allan แต่ด้วยปริมาณหลายร้อยหน้ากระดาษ โดนตีกลับว่าถ้าดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คงมีความยาวกว่า 8-9 ชั่วโมง แนะนำให้ตัดรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรือพิฆาตทิ้งไป (เปลี่ยนมาใช้ HMS Torrin แทน HMS Kelly) การเดินทางของ HMS Torrin จึงเริ่มตั้งแต่ก่อร่างสร้างโครงเรือ (Kneel) และอับปางลงภายในอารัมบทหนัง!

แม้ว่า Coward มีความเชี่ยวชาญงานสร้างละครเวที แต่ถือว่าไร้ประสบการณ์ต่อสื่อภาพยนตร์ จึงพยายามมองหาตัวช่วยร่วมกำกับ สอบถามจากเพื่อนสนิท John Mills และผกก. Carol Reed ต่างแนะนำให้รู้จัก ‘best editor in the country’ นั่นคือ David Lean

Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานเป็นนักบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ในตอนแรก Lean มีความลังเลใจที่จะตอบรับโปรเจคนี้ เพราะประสบการณ์จากเคยร่วมกำกับ Major Barbara (1941) แต่ได้รับเครดิตเพียง ‘assistant in direction’ ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในอาชีพการงานไปพอสมควร ด้วยเหตุนี้เมื่อแรกพบเจอ Coward จึงสอบถามว่าจะให้ขึ้นเครดิตเช่นไร ทีแรกได้รับคำตอบ “helped by David Lean” แต่เขายืนกรานว่าควรเป็น “Directed by Noël Coward and David Lean”

(การได้รับเครดิตผู้กำกับหรือร่วมกำกับ ส่งผลต่อความน่าเชื่อในตัวบุคคลมากๆนะครับ โดยเฉพาะบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่ อย่างน้อยการมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสตูดิโอใหญ่ๆ)

การทำงานระหว่าง Coward และ Lean จะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน (ประมาณสามสัปดาห์หลังเริ่มต้นถ่ายทำ Coward ตระหนักถึงศักยภาพของ Lean จึงโยนงานส่วนเทคนิคภาพยนตร์ให้เขาทั้งหมด)

  • Coward เป็นผู้ปรับแก้บทหนัง แสดงนำ กำกับนักแสดง รวมถึงแต่งเพลงประกอบ
  • หน้าที่กำกับอื่นๆตกเป็นของ Lean องค์ประกอบภาพ ทิศทางมุมกล้อง จัดแสงสว่าง เทคนิคภาพยนตร์อื่นๆ รวมถึงแอบเข้าห้องตัดต่อ (จนได้รับเครดิตร่วมตัดต่อ)

เรื่องราวเริ่มต้นที่อู่ต่อเรือ Port of Tyne ณ Newcastle-upon-Tyne, Tyne & Wear กำลังก่อโครงร่าง สร้างเรือพิฆาต RMS Torrin เสร็จแล้วออกปฏิบัติภารกิจ Battle of Crete ณ ประเทศ Greece ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ต่อสู้กับกองทัพเรือนาซีในทะเล Mediterranean แล้วถูกโจมตีจากเครื่องบินทิ้งระเบิดจนอับปางลงวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1941

เรื่องราวต่อจากนั้นนำเสนอในลักษณะเล่าย้อนอดีต (Flashback) ของบรรดาสมาชิกเรือพิฆาต RMS Torrin ที่รอดชีวิตจากการอับปาง ล่องลอยคออยู่กลางทะเล Mediterranean ประกอบด้วย

  • Captain E. V. Kinross (รับบทโดย Noël Coward) หวนระลึกถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1939 เมื่อครั้น RMS Torrin เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นาน แวะเวียนกลับหาภรรยา Alix Kinross (รับบทโดย Celia Johnson) บอกเล่าถึงความวิตกกังวลว่าสงครามกำลังคืบคลานเข้ามา
  • Chief Petty Officer Walter Hardy (รับบทโดย Bernard Miles) ครุ่นคิดถึงภรรยา Kath Hardy (รับบทโดย Joyce Carey) จำต้องจากลาเพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง มาถึงท่าเรือรับฟังสุนทรพจน์ของ Captain Kinross
  • กะลาสีเรือ Ordinary Seaman Shorty Blake (รับบทโดย John Mills) รำพันถึงการสูญเสียระหว่างพบเห็น RMS Torrin กำลังอับปางลง แล้วหวนระลึกช่วงวันหยุดคริสต์มาส มีโอกาสพบเจอ ตกหลุมรัก และแต่งงานกับ Freda Lewis (รับบทโดย Kay Walsh)
  • ลูกเรือนิรนาม (รับบทโดย Richard Attenborough) ระหว่าง RMS Torrin เข้าร่วมยุทธการ Battle of Narvik ณ Ofotfjord, Norway ระหว่าง 9 เมษายน – 8 มิถุนายน ค.ศ. 1940 เรือพิฆาตถูกตอปิโดโจมตี ขณะที่ใครต่อใครพยายามทำหน้าที่ของตนเอง ลูกเรือนิรนามรายนี้กลับหลบหนีหาย ความทราบถึง Captain Kinross ตัดสินใจไม่ลงโทษทัณฑ์ แต่พูดพาดพิง(โดยไม่เอ่ยนาม)ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์
  • กลับมาที่ Chief Petty Officer Walter Hardy ช่วงระหว่างวันหยุดพักผ่อน (รอเรือกำลังซ่อมแซม) เปิดเผยว่าเป็นญาติของ Freda เมื่อเธอตั้งครรภ์กับ Short Blake จึงย้ายมาอยู่อาศัยกับ Kath Hardy, หลังจากปฏิบัติการถอนทัพที่ Dunkirk (25 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1940) ได้รับจดหมายแจ้งเหตุการณ์โศกนาฎกรรม

พอเรือกู้ภัยมาถึง Captain Kinross และผู้รอดชีวิตประมาณ 90 นาย (จากลูกเรือประมาณ 244+ คน) ได้ขึ้นฝั่งเทียบท่า Alexandria, Egypt แล้วกล่าวคำไว้อาลัย ขอบคุณและร่ำลา คาดหวังว่าอนาคตจะมีโอกาสร่วมงานกันอีก … ปัจฉิมบททิ้งท้ายด้วย Captain Kinross ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการเรือรบ (Battleship)


สำหรับนักแสดงขอกล่าวถึงเพียง Noël Coward ในบทบาท Captain E. V. Kinross กัปตันเรือพิฆาต RMS Torrin ภายนอกดูเริดเชิดเย่อหยิ่ง เอาจริงเอาจัง เข้มงวดกวดขัน แต่นั่นแค่เพียงเปลือกภายนอกตามสถานะ/ชนชั้นทางสังคม แท้จริงเป็นคนโอนอ่อนผ่อนปรน ให้ความสำคัญกับลูกเรือทุกคน ต้องการสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ “A happy and efficient ship”.

Coward มุ่งมั่นที่จะรับบท Captain Kinross แต่กลับสร้างความหวาดวิตกให้สตูดิโอ เพราะภาพลักษณ์พี่แกดูไม่ค่อยเหมือน ‘tough navy man’ ถึงอย่างนั้นโปรดิวเซอร์ Havelock-Allan ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ‘always interesting, if not quite convincing’.

การแสดงของ Coward อาจดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ต้องถือว่ามีความน่าสนใจ ผู้ชมสามารถสังเกตได้ตั้งแต่อากัปกิริยา ท่าทางเคลื่อนไหว ล้วนรับอิทธิพลจากละครเวที โดยเฉพาะการพูด คำกล่าวสุนทรพจน์ มีความกระชับ รวดเร็ว และเฉียบคม เรียกว่าเต็มไปด้วยประสิทธิผล สะท้อนบุคลิกภาพตัวละคร พบเห็น Charisma ความเป็นผู้นำได้อย่างเด่นชัด

คงไม่มีฉากไหนตราตรึงเท่า Captain Kinross ขณะกำลังโอบอุ้มลูกเรือใกล้หมดลมหายใจ แม้ใบหน้าดูแน่นิ่ง แทบไม่ขยับไหวติง แต่ภายในยิ่งกว่าคลื่นคลั่ง พยายามอย่างที่สุดจะไม่แสดงปฏิกิริยาอารมณ์ใดๆออกมา รักษาภาพลักษณ์และสถานะ ถึงอย่างนั้นผู้ชมย่อมสามารถจับต้องความรู้สึกอัดอั้นภายใน กลายเป็นพลังใจต่อสู้ศัตรู ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด!


ถ่ายภาพโดย Ronald Neame (1911-2010) ผู้กำกับ/ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาเป็นช่างภาพนิ่ง Elwin Neame มารดาคือนักแสดงยุคหนังเงียบ Ivy Close, โตขึ้นเข้าศึกษายัง University College School ตามด้วย Hurstpierpoint College จบออกมาทำงานบริษัทน้ำมัน Anglo-Persian Oil Company แต่ไม่นานก็พบความเบื่อหน่าย ได้เส้นสายมารดาเข้าทำงานสตูดิโอ Elstree Studios เริ่มจากเป็นเด็กส่งของ ผู้ช่วยตากล้อง Blackmail (1929), เครดิตถ่ายภาพ Major Barbara (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), Blithe Spirit (1945), ร่วมเขียนบท Brief Encounter (1945), Great Expectations (1946), กำกับภาพยนตร์ Take My Life (1947), The Horse’s Mouth (1958), Tunes of Glory (1960), The Prime of Miss Jean Brodie (1969), The Poseidon Adventure (1972) ฯลฯ

ด้วยความที่ Coward ไม่เคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์มาก่อน ในส่วนงานสร้างรวมถึงการถ่ายภาพ จึงโยนภาระรับผิดชอบให้ Lean และ Neame ดูแลจัดการด้านเทคนิค มอบอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่!

หลายคนอาจจดจำงานภาพ ‘สไตล์ Lean’ ต้องมีทิวทัศน์สวยๆ ระยะโคตรๆไกล (Extream-Long Shot) ท้าทายศักยภาพของกล้องถ่ายภาพ, แต่ผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Lean จะเลื่องลือชาด้านลูกเล่น เทคนิค ทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง-ความมืดมิด และโดยเฉพาะลีลาการตัดต่อรับอิทธิพลจาก ‘Soviet Montage’

งานภาพของ In Which We Serve (1942) ผมมองว่ายังเป็นการลองผิดลองถูกของผู้กำกับ Lean ทดลองลูกเล่นอย่างภาพพริ้วไหวเหมือนสายน้ำ (ให้ออกมาดูเหมือนคราบน้ำตาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ) ซ้อนภาพ/ภาพสะท้อน โมเดลจำลอง เครื่องฉาย Rear Projection แต่น่าสนใจที่สุดคือการแทบไม่พบเห็นศัตรู เพียงเรือรบที่ถูกโจมตี และเครื่องบินเฉี่ยวไปเฉี่ยวมาเท่านั้น!

ฉากภายในและแท้งน้ำ ถ่ายทำยัง Denham Studios ณ เมือง Denham, Buckinghamshire สมัยนั้นคือชนบทนอกกรุง London (ที่ต้องออกมานอกกรุง London เพราะขณะนั้นกำลังถูกนาซีโจมตีทางอากาศอย่างหนัก), ส่วนฉากภายนอกเริ่มจากอู่ต่อเรือ Port of Tyne ณ Newcastle-upon-Tyne, Tyne & Wear กำลังก่อร่างสร้าง HMAS Nepal ซึ่งก็ใช้เรือพิฆาตลำนี้เป็นตัวแทน HMS Torrin, ส่วนท่าเรือถ่ายทำฐานทัพที่ Plymouth, Devon

ใครช่างสังเกตคงบอกได้ว่าเรือพิฆาต RMS Torrin ที่อับปางลงคือโมเดลจำลอง (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าอัตราส่วนเท่าไหร่) นอกจากนี้ยังมีการสร้างดาดฟ้าเรือขนาดเท่าของจริงขึ้นที่สตูดิโอ Denham Studios เพื่อให้นักแสดงสามารถขึ้นไปถ่ายทำ (พื้นหลังมีการฉายภาพ Rear Projection) และออกแบบกลไกให้ค่อยๆจมลงในแท้งน้ำ

คนเขาเคียดแค้นกันอยู่! เรื่องมีอยู่ว่าระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ The Daily Express ตีข่าวแสดงความคิดเห็นว่า Noël Coward ไม่เหมาะสมเล่นบทบาท Lord Mountbatten ด้วยเหตุนี้เขาเลยโต้ตอบกลับด้วยการนำเอาหัวข้อข่าวเมื่อปี ค.ศ. 1939 ของหนังสือพิมพ์เล่มนี้ที่เคยกล่าวอ้างว่า “No War This Year” มาเสียดสีประชดประชัน (เพราะสงครามโลกครั้งสองเริ่มต้นวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939)

ผมรู้สึกว่าเราสามารถเปรียบเทียบห่วงยาง เกาะแก่งโดยบรรดาผู้ยังรอดชีวิต ใช้เป็น(สถาน)ที่พึ่งพักพิงหลังจากเรือพิฆาตอับปางลง ก็คือสัญลักษณ์แทนเกาะอังกฤษ (ล่องลอยคออยู่กลางทะเลเช่นเดียวกัน) สิ่งยึดเหนี่ยวทำให้พวกเขายังมีความกระตือรือร้น ต่อสู้ดิ้นรน เพื่อปกป้องครอบครัว พวกพ้อง บุคคลที่เรารัก ไม่ต้องการให้ประเทศชาติล่มสลาย กลายเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม

In Which We Serve

ทีแรกผมนึกว่าหนังต้องการเปรียบเทียบสถานะทางสังคมระหว่าง Ordinary Seaman Shorty Blake vs. Chief Petty Officer Walter Hardy ตัวแทนชนชั้นแรงงาน vs. ผู้บัญชาการ (สังเกตว่าทั้งสองนั่ง-ยืน ตำแหน่งหัวโต๊ะ แต่ทิศทางตรงกันข้าม ประตู-หน้าต่าง)

แต่ช่วงกลางเรื่องเมื่อ Shorty Blake ตกหลุมรัก/แต่งงานกับ Freda Lewis ซึ่งเป็นญาติของ Walter Hardy ทั้งสองครอบครัวนี้เลยรวมตัวกลายเป็นหนึ่ง … เพื่อจะสื่อถึงว่าไม่ว่าเราเป็นใคร สถานะทางสังคมอะไร เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ย่อมคือครอบครัวเดียวกัน!

หลายคนอาจจดจำใบหน้าของนักแสดง/ผู้กำกับ (Sir) Richard Attenborough (1923-2014) ในบทบาทแรกนี้ไม่ได้สักเท่าไหร่ เป็นตัวละครที่เหมือนจะเกิดอาการ ‘shell shock’ หวาดกลัวต่อเสียงระเบิด เลยวิ่งหลบหนี ทอดทิ้งหน้าที่ตนเอง … ดั้งเดิมนั้นหนังไม่ให้เครดิตตัวละครนี้ (เพราะกลัวว่าคนจะจดจำในฐานะผู้หนีทหาร) แต่ภายหลังเมื่อ Attenborough เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็มีการแทรกเครดิตคืนให้กับเขา

เกร็ด: เผื่อใครนึกไม่ออกว่า Lord Attenborough คือใคร? ผลงานการแสดงดังๆอย่าง The Great Escape (1963), The Sand Pebbles (1966), Doctor Dolittle (1967), Jurassic Park (1993), กำกับโคตรภาพยนตร์อย่าง A Bridge Too Far (1977), Gandhi (1982)

มันจะมีช็อตโคตรเทพตรงท่าเรือ (หลังจากถูก Captain Kinross พูดตำหนิในคำกล่าวสุนทรพจน์) ตัวละครนี้ยืนอยู่ท่ามกลางความมืดมิด สะท้อนสภาพจิตใจที่กำลังตกอยู่ในอาการท้อแท้สิ้นหวัง ตัวเขาขณะนี้ก็ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ต้องการดื่มเหล้าให้มึนเมามาย … แล้วก็ฟื้นคืนสติ หวนกลับมาปัจจุบันกำลังล่องลอยคออยู่กลางทะเล

ไคลน์แม็กซ์ของหนังนำเสนอโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัว Hardy ซึ่งมันจะพอดิบพอดีขณะที่เรือพิฆาต RMS Torrin กำลังจมลงสู่ก้นเบื้อง นี่เป็นการพยายามเปรียบเทียบทั้งสองเหตุการณ์ ว่าคือสิ่งหนึ่งเดียวกัน! สูญเสียคนรัก = เรือพิฆาตที่พวกเรารัก

แน่นอนว่าหนังไม่ได้นำเสนอช็อตระเบิดตูมตาม เริ่มจากได้ยินเสียงเครื่องบิน → ระเบิดกำลังลง → ตัดควับมายังเศษซากปรักหักพัง → แต่ยังไม่จบลงแค่นั้น Cross-Cutting ภาพรถพยาบาล Ambulance → และเห็นเพียงเงาของพนักงานดับเพลิง/กู้ชีพ … รายละเอียดเล็กๆแต่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของผกก. Lean ได้อย่างน่าอึ้งทึ่ง!

ระหว่างที่ Captain Kinross กำลังดูใจลูกเรือที่ใกล้เสียชีวิต มันช่างเป็นความพอดิบพอดี (มันคือความจงใจอย่างแน่นอนนะครับ) เรือโคลงเคลงไป-มา สังเกตเงาของเสาที่เคลื่อนพานผ่านใบหน้าลูกเรือ เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง สามารถสื่อถึง ‘ลมหายใจเฮือกสุดท้าย’ หรือบางคนอาจมองว่าคือสิ่งแบ่งแยกระหว่างความเป็น-ตายของตัวละคร

นี่เป็นอีกช็อตที่ต้องเอ่ยปากชมเลยว่า จัดแสงได้อย่างนุ่มนวล ละมุนไม อาบฉาบลงบนใบหน้าของ Freda เมื่อได้รับจดหมายแจ้งข่าวว่า Shorty Blake รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปาง … เชื่อว่าหลายคนอาจร่ำไห้พร้อมกับเธอในช็อตนี้ ด้วยความซาบซึ้ง ดีใจ (ไม่มีใครอยากให้ตัวละครหลักในหนังเสียชีวิตหรอกนะครับ)

ผมสังเกตว่าใบหน้าตัวละครที่ดูเปร่งประกายเป็นพิเศษ เพราะองค์ประกอบอื่นๆของภาพ พยายามทำให้ถูกปกคลุมด้วยมืดมิด และอีกแสงสว่างสาดมาจากเบื้องบนศีรษะ ทำให้เส้นผมและหยาดน้ำตาสะท้อนแสงเข้าหากล้อง! … ลีลาการจัดแสง-ความมืดของผกก. Lean น่าจะรับอิทธิพลจาก Josef von Sternberg ไม่น้อยเลยนะ!

สำหรับคำกล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัยช่วงท้าย นำจากข้อความจริงๆที่ Lord Mountbatten เคยตระเตรียมไว้กล่าวกับลูกเรือผู้รอดชีวิตที่ Alexandria, Egypt

I have come to say goodbye to the few of you who are left. We’ve had so many talks, and this is our last. I’ve always tried to crack a joke or two before, and you’ve all been friendly and laughed at them. But today, I’m afraid I’ve run out of jokes, and I don’t suppose any of us feels much like laughing. The Torrin has been in one scrap after another, but even when we had men killed, the majority survived and brought the old ship back. Now she lies in 1500 fathoms… and with her, more than half our shipmates. If they had to die, what a grand way to go. For now they lie all together with the ship we loved, and they’re in very good company. We’ve lost her, but they’re still with her. There may be less than half the Torrin left, but I feel that we’ll all take up the battle with even stronger heart. Each of us knows twice as much about fighting, and each of us has twice as good a reason to fight. You will all be sent to replace men who have been killed in other ships. And the next time you’re in action, remember the Torrin. I should like to add… that there isn’t one of you that I wouldn’t be proud and honoured to serve with again. Goodbye. Good luck. And thank you all from the bottom of my heart.

หลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ Captain Kinross จับมือร่ำลาลูกเรือทุกคน สังเกตว่าจะมีช็อตถ่ายจากระยะไกล (Long Shot) เพื่อสร้างสัมผัสระยะห่าง ความรู้สึกเวิ้งว้าง จิตใจอันว่างเปล่า เพราะต่อจากนี้พวกเขาจะไม่ได้อยู่ร่วมเรือลำเดียวกันอีก ต่างกำลังแยกย้ายเพื่อเริ่มต้นภารกิจครั้งใหม่

ภาพสุดท้ายของหนังคือ White Ensign ธงราชนาวีแห่งสหราชอาณาจักร (British Royal Navy) เริ่มต้นใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16th มีลักษณะพื้นขาว คาดด้วยไม้กางเขนแดง (Saint George’s Cross) และบริเวณช่องซ้ายบนคือธงชาติอังกฤษ (Union Jack หรือ Union Flag) (ในภาพเห็นธงจากด้านหลัง)

Here ends the story of a ship, but there will always be other ships, for we are an island race. Through all our centuries, the sea has ruled our destiny. There will always be other ships and men to sail in them. It is these men, in peace or war, to whom we owe so much. Above all victories, beyond all loss, in spite of changing values in a changing world, they give, to us, their countrymen, eternal and indomitable pride. God bless our ships, and all who sail in them.

ผู้บรรยาย Leslie Howard

ตัดต่อโดย David Lean ร่วมกับ Thelma Connell/Myers (1912-76) สัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็น ‘continuity girl’ ก่อนกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), ได้รับเครดิตครั้งแรก In Which We Serve (1942), ผลงานเด่นๆ อาทิ Green for Danger (1946), The Deadly Affair (1966), Alfie (1966) ฯลฯ

ดั้งเดิมนั้นโปรดิวเซอร์ว่าจ้างนักตัดต่ออีกคน Reginald Beck (Henry V, The Go-Between) แต่เพราะผู้กำกับ Lean แอบเข้าไปปรับแก้ไขสิ่งที่ Beck ได้ทำการตัดต่อไว้แล้ว สร้างความไม่พึงพอใจจึงขอถอนตัวออกไป ส้มหล่นใส่ Thelma Connell ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยตัดต่อเลยได้รับการผลักดันขึ้นมา … ฟังดูคล้ายๆเครดิตร่วมกำกับเลยนะ!

หนังใช้เรือพิฆาต RMS Torrin คือจุดศูนย์กลางดำเนินเรื่อง ตั้งแต่ก่อโครงร่าง สร้างเสร็จออกเดินทาง จนกระทั่งอับปางลงวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งหลังจาก Captain Kinross สั่งสละเรือ จะมีการแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) ของสมาชิกคนสำคัญๆ ประกอบด้วย

  • อารัมบท, ก่อโครงร่าง สร้างเสร็จออกเดินทาง จนกระทั่งอับปางลง
  • Captain Kinross หวนระลึกถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1939 เมื่อครั้น RMS Torrin เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน
  • Chief Petty Officer Walter Hardy ลาจากครอบครัวเพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง มาถึงท่าเรือรับฟังสุนทรพจน์ของ Captain Kinross
  • กะลาสีเรือ Ordinary Seaman Shorty Blake หวนระลึกช่วงวันหยุดคริสต์มาส มีโอกาสพบเจอ ตกหลุมรัก และแต่งงานกับ Freda Lewis
  • ลูกเรือนิรนาม หัวหดตดหายระหว่างเรือพิฆาต RMS Torrin เข้าร่วมยุทธการ Battle of Narvik
  • กลับมาที่ Walter Hardy และ Shorty Blake ใช้เวลาร่วมกันครอบครัวช่วงวันหยุดพักผ่อน (ระหว่างรอเรือกำลังซ่อมแซม) แต่หลังจากปฏิบัติการถอนทัพที่ Dunkirk ได้รับจดหมายแจ้งเหตุการณ์โศกนาฎกรรม
  • ปัจฉิมบท, เมื่อเรือกู้ภัยมาถึง Captain Kinross กล่าวคำไว้อาลัย ขอบคุณและร่ำลาลูกเรือทั้งหลาย ก่อนทิ้งท้ายด้วยด้วยการได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการเรือรบ (Battleship)

มันมีความจำเป็นอะไรในการตัดต่อย้อนกลับไปกลับมา? เอาจริงๆผมมองว่าไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ ดูเหมือนเป็นการอยากโชว์ ‘show-off’ ของผู้กำกับ Lean แต่จุดประสงค์หลักๆคงเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงสายสัมพันธ์ระหว่างทหารแนวหน้า กับครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง (มีความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน) และสร้างจังหวะราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเรือพิฆาต RMS Torrin … ว่ากันว่าก่อนตาย มนุษย์เรามักครุ่นคิดถึงเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิตปรากฎแวบขึ้นมา ฉันใดฉันนั้นเรือพิฆาต RMS Torrin ระหว่างกำลังอับปาง เลยมีการแทรกภาพความทรงจำของบรรดาลูกเรือทั้งหลาย

ลึกๆผมยังรู้สึกว่า Lean น่าจะไม่เคยพูดคุยกับ Coward ว่าอยากจะนำเสนอด้วยวิธีการเช่นนี้ (เพราะ Coward มาจากฟากฝั่งละครเวที น่าจะพัฒนาเรื่องราวให้ออกมาเป็นเส้นตรง, Linear Narratives) คงเอาฟุตเทจทั้งหมดมาปะติดปะต่อ ทดลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เพราะรู้สึกว่าการดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรงทำให้หนังดูธรรมดาๆ น่าเบื่อหน่าย ยุคสมัยนั้นการลำดับเรื่องราว ‘Non-Linear Narratives’ ถือว่าแปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร (ไม่ถึงขั้นปฏิวัติวงการภาพยนตร์ แต่เพิ่มความซับซ้อน ท้าทาย ให้ออกมาดูน่าตื่นตาตื่นใจ)


เพลงประกอบโดย Noël Coward ร่วมงานกับ Clifton Parker (1905-89) สัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาสาขาเปียโน Royal Academy of Music จากนั้นกลายเป็น Copyist ระหว่างปักหลักอาศัยอยู่ Folkestone เป็นนัก Organist เรียบเรียงบทเพลงให้วงออร์เคสตราท้องถิ่น, เริ่มมีชื่อเสียงจากทำเพลงประกอบรายการโทรทัศน์ In a Twilight Dim with Rose, ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), Night of the Demon (1957) ฯลฯ

หน้าที่ของ Coward ครุ่นคิดทำนองเพลงแล้วส่งมอบให้ Parker ดัดแปลงเป็นออร์เคสตรา แต่ส่วนใหญ่ของหนังจะพบเห็น ‘diegetic music’ การขับร้อง บรรเลง เป่าฮาร์โมนิก้า ได้ยินบทเพลงคุ้นๆหูอย่าง The Blue Danube, Wedding March, Beer Barrel Polka, Underneath the Arches, Run Rabbit Run ฯ ขณะทำพิธีมิสซาบนเรือยังมี Eternal Father, Strong to Save และ Good King Wenceslas

Main Theme เรียกได้ว่าคือ Character Song หรือจะเรียกว่า ‘life cycle’ ชีวิตของเรือพิฆาต RMS Torrin ดังขึ้นตลอดช่วงอารัมบทตั้งแต่ก่อโครงร่าง สร้างเสร็จออกเดินทาง จนกระทั่งอับปางลง มีทั้งท่วงทำนองตื่นเต้นผจญภัย สั่นไหวต่อภารกิจ พิชิตชัยชนะนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนถูกโจมตีอับปางลง ซึ่งจักสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว แต่ผู้ชมฟังแล้วรู้สึกฮึกเหิม เกิดพลังกำลัง และความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสพบเห็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่

(น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาคลิปเพลงประกอบหรือ Opening Credit เลยนำตัวอย่างหนัง, Trailer มาให้รับชมขัดตาทัพ)

ระหว่างขึ้นรถไฟกลับบ้าน Shorty Blake มีโอกาสนั่งอยู่เคียงข้างหญิงสาวคนหนึ่ง Freda Lewis พอเสียงฮาร์โมนิก้าดังขึ้น เกิดความตระหนักว่าเธอคือผู้หญิงคนเดียวในโลกใบนี้ที่ฉันถวิลหา If You Were the Only Girl (In the World) แต่งโดย Nat D. Ayer, คำร้องโดย Clifford Grey, ต้นฉบับประกอบการแสดงละครเพลง The Bing Boys Are Here เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1916 ณ Alhambra Theatre, London

If you were the only girl in the world
and I were the only boy
Nothing else would matter in the world today
We could go on loving in the same old way

นี่เป็นบทเพลงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (รวมถึงสงครามโลกครั้งที่สอง) ฉบับโด่งดังสุดก็คือ ‘Original Cast Recording’ โดย George Robey และ Violet Loraine

เกร็ด: ผู้กำกับ Lean ยังเคยนำบทเพลงนี้มาใช้ในภาพยนตร์ The Bridge on the River Kwai (1957)

ผมเคยกล่าวถึง Beer Barrel Polka เมื่อครั้น Listen to Britain (1942) แต่เรื่องนั้นมีแค่ท่วงทำนองของ Jaromír Vejvoda นักแต่งเพลงชาว Czech ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1927 ภายหลังค่อยมีการเพิ่มคำร้องโดย Vašek Zeman เมื่อปี ค.ศ. 1934 มักได้ยินตามผับบาร์ กิจกรรมเต้นลีลาศ แพร่หลายอย่างกว้างขวางช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ยินถึงสามครั้งครา

  • ระหว่างกำลังล่องลอยคออยู่กลางทะเล ฮาร์โมนิก้าเปลี่ยนบทเพลง Run Rabbit Run มาเป็น Beer Barrel Polka แต่ด้วยทำนองเหงาหงอยเศร้าซึม
  • จากนั้นตัดภาพเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) ระหว่างรอซ่อมเรือ Shorty Blake, Walter Hardy พร้อมกับครอบครัว ต่างร่วมขับร้องพร้อมการแสดงบทเวทีอย่างสนุกสนานครื้นเครง
  • ช่วงท้ายเมื่อเรือกู้ภัยเดินทางมาถึง หลังจากตะโกนโหวกเหวก ได้ยินเสียงฮาร์โมนิก้า ร่วมกันขับร้องด้วยความดีใจเอ่อล้นที่สามารถเอาตัวรอดชีวิต

เกร็ด: Beer Barrel Polka เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ถูกบรรเลงวัน VE Day (Victory in Europe Day) 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทำการแสดงโดย Humphrey Lyttelton หน้าพระราชวัง Buckingham Palace และเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ BBC

Roll out the barrel, we’ll have a barrel of fun
Roll out the barrel, we’ve got the blues on the run
Zing boom tararrel, sing out a song of good cheer
Now’s the time to roll the barrel, for the gang’s all here

ภาพยนตร์แนวปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film) มีความละม้ายคล้าย แต่ก็แตกต่างจากหนังชวนเชื่อ (Propaganda Film) เหตุผลหลักๆคือไม่ได้พยายามชี้นำความครุ่นคิด ให้เกิดความโกรธ รังเกียจ ต่อต้านอุดมการณ์อีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม แต่นำทางอารมณ์ ความรู้สึก ให้เกิดพลังฮึกเหิม ขวัญกำลังจากภายในตัวเราเอง

In Which We Serve (1942) นำเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเรือพิฆาต RMS Torrin ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดจนอับปางลง ทำออกมาให้กลายเป็นภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film) สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ชมและทหารหาญ ไม่ย่นย่อท้อแท้ต่อภัยสงครามก้าวย่างเข้าสู่ปีที่สาม (สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1939)

การอับปางของเรือพิฆาต RMS Torrin ย่อมทำให้ผู้ชมรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจ สามารถเปรียบได้กับความพ่ายแพ้สงคราม ราวกับจิตวิญญาณกำลังจมดิ่งสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร แต่ด้วยสันชาติญาณมนุษย์ ไม่มีใครอยากยินยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเกิดอาการฮึกเหิม พละพลัง ขวัญกำลังใจ ต้องการลุกขึ้นมาต่อสู้ เผชิญหน้าศัตรู พร้อมเสียสละตนเองเพื่อผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

สังเกตว่าหนังแทบไม่พบเห็นภาพศัตรู เพียงเรือรบที่ถูกโจมตี และเครื่องบินเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวทหารอังกฤษ และชีวิตบนบกของพวกเขาเมื่อไม่ได้สวมเครื่องแบบ นี่คือสิ่งทำให้ผู้ชม(ที่ไม่ได้เข้าร่วมสงคราม)สามารถสัมผัสจับต้อง เข้าใจความรู้สึกตัวละคร ราวกับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน

It’s remarkable for a propaganda film to make so little of the enemy. … Coward means to show his countrymen what would be lost if Britain lost the war.

นักวิจารณ์ Terrence Rafferty จาก Criterion

จะว่าไปการเข้าสู่ปีที่สามของสงคราม ก็ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของ In Which We Serve (1942) อยู่ไม่น้อย! เพราะช่วง 1-2 ปีแรกคงเต็มไปด้วยหนังชวนเชื่อที่พยายามอธิบายโน่นนี่นั่น ชี้นำนาซีเลวอย่างโน้น ประชาธิปไตยดีอย่างนี้ ผู้คนสมัยนั้นคงเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย! … ใครกันจะไม่รับรู้ว่าโลกกำลังอยู่ในสภาวะสงคราม

ภาพยนตร์ที่จะประสบความสำเร็จในช่วงกลางๆของสงคราม (ปีที่สามเป็นต้นไป) ต้องสามารถก้าวข้ามผ่านแนวคิดชวนเชื่อ (หรือชวนเชื่อโดยไม่รับรู้ตัวว่ากำลังถูกชวนเชื่อ!) นำเสนอเรื่องราวสะท้อนสภาวะสงคราม (War Drama) หรือสร้างพละพลัง ขวัญกำลังใจ ให้พานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก … นี่ถือเป็นวิวัฒนาการภาพยนตร์ในช่วงสงครามที่น่าสนใจทีเดียว

ขณะที่ความตั้งใจของ Coward ต้องการสร้างหนังที่มี ‘เนื้อหา’ ปลุกใจรักชาติ นำเอาเหตุการณ์ความสูญเสีย โศกนาฎกรรมเรืออับปาง เปลี่ยนมาเป็นพละพลัง สร้างขวัญกำลังใจ ซึ่งผู้กำกับ Lean นำแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอดด้วยการพยายามสร้าง ‘ลมหายใจเฮือกสุดท้าย’ ให้กับเรือพิฆาตลำนี้


หนังได้รับการสนับสนุนทุนสร้างจากกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) จำนวน £240,000 ปอนด์ เสียงตอบรับเมื่อตอนออกฉายถือว่าดีล้นหลาม ทำเงินในอังกฤษสูงสุดอันดับสองแห่งปี (บางแหล่งข่าวว่าอันดับหนึ่ง) £300,000 ปอนด์ และพอเข้าฉายสหรัฐอเมริกาทำเงินได้อีกประมาณ $1.8 ล้านเหรียญ

There have been other pictures which have vividly and movingly conveyed in terms of human emotion the cruel realities of this present war. None has yet done it so sharply and so truly as In Which We Serve.

นักวิจารณ์ Bosley Crowther จากหนังสือพิมพ์ The New York Times

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar สองสาขา Best Picture (พ่ายให้กับ Casablanca (1942)) และ Best Writing, Original Screenplay แม้ไม่ได้เป็นผู้ชนะแต่มีการมอบรางวัลพิเศษ Honorary Award ให้กับ Noël Coward ในฐานะทำประโยชน์เพื่อการสงคราม (For his outstanding production achievement.)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย BFI National Archive และ Granada International คุณภาพ High-Definition เสร็จสิ้นเมื่อปี 2008 จัดทำเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection รวมอยู่ในคอลเลคชั่น David Lean Directs Noël Coward ทั้งหมด 4 เรื่อง (In Which We Serve, This Happy Breed, Blithe Spirit และ Brief Encounter)

ส่วนตัวประทับใจในเทคนิค ลูกเล่นการนำเสนอของหนัง สร้างความเพลิดเพลิน น่าติดตาม เป็นการผสมผสานระหว่าง ‘Coward & Lean’ ได้อย่างเฉพาะตัว! แต่ภาพรวมผมรู้สึกว่าหนังพยายามยัดเยียด บิดเบือน ‘manipulate’ มากเกินไป (ก็แน่ละ นี่คือหนังชวนเชื่อแนวปลุกใจรักชาติ) มันเลยดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ เห็นด้วยกับบรรดานายพลทหารเรือ “In Which We Sink” โศกนาฎกรรมมันใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจตรงไหน??

แนะนำคอหนังประวัติศาสตร์ ชวนเชื่อสงครามโลกครั้งที่สอง (Wars Drama), อาจจะเหมาะกับบรรดาทหารเรือ สำหรับปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film), และโดยเฉพาะนักตัดต่อ ศึกษาโครงสร้าง วิธีการนำเสนอ แฟนๆผู้กำกับ David Lean ไม่ควรพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับสงคราม ความสูญเสีย

คำโปรย | In Which We Serve ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ที่สามารถสร้างความฮึกเหิม พละพลัง ขวัญกำลังใจ ให้ผู้ชมชาวอังกฤษพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
คุณภาพ | ฮืสุท้
ส่วนตัว | ปลุกใจรักชาติ

49th Parallel (1941)


49th Parallel (1941) British, Canadian : Michael Powell ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ชวนเชื่อรวมดารา ผลงานลำดับที่สามของ Powell & Pressburger, ถ่ายภาพโดย Freddie Young, ตัดต่อโดย David Lean, เมื่อกลุ่มทหารนาซีเยอรมันถูกปล่อยเกาะบนผืนแผ่นดินแคนาดา อุดมการณ์ที่ไม่ยอมแปรเปลี่ยน เมื่อต้องเผชิญหน้าแนวคิดเสรีภาพ มันช่างเป็นความคู่ขนานกันโดยสิ้นเชิง

49th Parallel คือเส้นรุ้ง (Latitude) ที่ 49 องศาเหนือ ซึ่งใช้เป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดนระหว่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ระยะทาง 1,260 ไมล์ (=2,030 กิโลเมตร) แต่ในบริบทของหนังสามารถสื่อถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างตรงกันข้าม (หรือจะมองว่าคู่ขนานก็ได้เช่นกัน) ระหว่างเผด็จการ vs. เสรีชน

เรื่องราวของ 49th Parallel (1941) ไม่ได้สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง! ทั้งหมดเป็นการครุ่นคิด ปรุงแต่ง ทำออกมาในลักษณะภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda) โดยมีเป้าหมายคือสหรัฐอเมริกา ที่ขณะนั้นยังคงเพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะทหารนาซีเยอรมันยังเดินทางมาไม่ถึงทวีปแห่งนี้! … แต่หนังออกฉายหลังเหตุการณ์ Pearl Harbour เลยไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อชาวอเมริกันสักเท่าไหร่

ในบรรดาผลงานของคู่หู Power & Pressburger ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่เอ่อล้นด้วยอารมณ์เหมือน A Matter of Life or Death (1946), ดราม่าเข้มเข้นเทียบเท่า Black Narcissus (1947), หรืองดงามวิจิตรศิลป์แบบ The Red Shoes (1948) แต่ต้องเอ่ยปากชมเลยว่า 49 Parallel (1941) เต็มไปด้วยเล่ห์ เพทุบาย บทหนังมีความเฉียบคมคาย (คว้ารางวัล Oscar: Best Story) รวมทีมนักแสดงเก่งๆอย่าง Leslie Howard, Laurence Olivier, Anton Walbrook, Raymond Massey, โดยเฉพาะ Eric Portman, ภาพถ่ายสวยๆของ Freddie Young, ฝีมือตัดต่อโดยว่าที่ผู้กำกับดัง David Lean, และเพลงประกอบสุดอลังการของ Ralph Vaughan Williams


Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา สำเร็จการศึกษา Dulwich College แล้วทำงานนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926), ต่อด้วยตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) และได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ Universities of Prague and Stuttgart แต่ต้องลาออกเพราะบิดาเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German แล้วอพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ และลักลอบขึ้นเกาะอังกฤษปี ค.ศ. 1935 โดยไม่มีพาสปอร์ตทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี ค.ศ. 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger พัฒนาบทภาพยนตร์, แม้ทั้งสองมีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะทัศนคติ/แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์มีทิศทางเดียวกัน เพียงมองตาก็รับรู้ความต้องการอีกฝั่งฝ่าย, เมื่อปี ค.ศ. 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯลฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางใครทางมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งกำกับและเขียนบท


สำหรับ 49th Parallel (1941) มีจุดเริ่มต้นจากผู้อำนวยการกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) Kenneth Clark ติดต่อเข้าหาผู้กำกับ Powell ต้องการให้สรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ เกี่ยวกับเรือกวาดทุ่นระเบิด (Minesweeper)

แต่ความสนใจของผู้กำกับ Powell ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สามารถโน้มน้าวสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นยังวางตัวเป็นกลาง ทำทองไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปฏิเสธเข้าร่วมสงครามในทวีปยุโรป ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับตนเอง

I hoped it might scare the pants off the Americans.

Michel Powell

Goebbels considered himself an expert on propaganda, but I thought I’d show him a thing or two.

Emeric Pressburger

ไม่แน่ใจว่าเป็นแนวคิดของผู้กำกับ Powell หรือนักเขียน Pressburger ในการเลือกสถานที่ถ่ายทำยังแคนาดา ประเทศที่มีพรมแดนติดกับสหรัฐอเมริกา (แบ่งแยกด้วยเส้นรุ้ง 49 องศาเหนือ) กำลังจะถูกรุกรานโดยกองทหารนาซีเยอรมัน แม้เพียงหน่วยเล็กๆไม่ถึงสิบคน กลับสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ!

Pressburger ยังผสมผสานแนวคิดที่ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย And Then There Were None (1939) หรือ Ten Little Indians ผลงานชิ้นเอกยอดขายกว่าร้อยล้านเล่มของ Agathe Christie นักเขียนแนวลึกลับ (Mystery) สัญชาติอังกฤษ เรื่องราวเกี่ยวกับการเสียชีวิตทีละคนของผู้เข้าพักในรีสอร์ทกลางทะเลแห่งหนึ่ง

เกร็ด: ต้นฉบับของ Ten Little Indians มาจากบทเพลงนับเลขสำหรับเด็ก (Nursery Rhyme) แต่งขึ้นตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1868 โดยคำว่า Indians สื่อถึงชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง

One little, two little, three little Indians,
Four little, five little, six little Indians,
Seven little, eight little, nine little Indians,
Ten little Indian boys.

Ten little, nine little, eight little Indians,
Seven little, six little, five little Indians,
Four little, three little, two little Indians,
One little Indian boy.


เรื่องราวเริ่มต้นที่ Gulf of St. Lawrence เมื่อเรือดำน้ำ U-37 ของนาซีเยอรมัน โจมตีเรือขนส่งสินค้าแคนาดา เลยกลายเป็นที่หมายหัวของ RCN (Royal Canadian Navy) และ RCAF (Royal Canadian Air Force) ระหว่างจอดเทียบท่าหาเสบียงยัง Hudson Bay ถูกเครื่องบินโจมตีจนอับปางลง หลงเหลือผู้รอดชีวิตจำนวน 6 คน นำโดย Lieutenant Hirth (รับบทโดย Eric Portman) ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อหาหนทางกลับบ้าน

สถานที่แห่งแรกที่สถานีการค้า (Trading Post) Cape Wolstenholme, Québec ทุกสัปดาห์จะมีเครื่องบินทะเล (Floatplane) ลงมาจอดเทียบท่าเพื่อค้าขายกับชาวพื้นเมือง Inuit นั่นเป็นโอกาสให้ทหารนาซีใช้กำลังเข้ายึดครอง เข่นฆ่านักบิน และทำร้าย Johnnie (รับบทโดย Laurence Olivier) ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ระหว่างขับเครื่องบินหลบหนี มีนายทหารคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต!

ระหว่างกำลังขับเครื่องบินลงใต้ เชื้อเพลิงหมด ลงจอดฉุกเฉินยังทะเลสาปที่ Manitoba ทำให้มีนายทหารอีกคนเสียชีวิต! จากนั้นพบเจอชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ซึ่งเป็นชาวเยอรมันอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแคนาดา Lieutenant Hirth พยายามกล่าวสุนทรพจน์โน้มน้าวอีกฝั่งฝ่าย แต่กลับถูกขับไล่โดยผู้นำกลุ่ม Peter (รับบทโดย Anton Walbrook) และนายทหาร Vogel ที่ไม่ต้องการร่วมออกเดินทางต่อ โดนตัดสินประหารชีวิตโทษฐานก่อกบฎ

สามทหารเยอรมันพอมาถึงเมือง Winnipeg วางแผนมุ่งสู่ตะวันตก Vancouver หวังขึ้นเรือรบญี่ปุ่นกลับประเทศ แต่ด้วยระยะทางเป็นพันๆไมล์ เลยทำการปล้นรถ-ฆ่า โดยสารรถไฟ ระหว่างจอดหยุดพักที่ Banff, Alberta นายทหารอีกคนถูกล้อมจับท่ามกลางฝูงชน

Lieutenant Hirth และ Lieutenant Kuhnecke หลบหนีสู่ Lake O’Hara, Yoho National Park (ทิวเขา Rocky Mountains) พบเจอนักเขียนชาวอังกฤษ Philip Armstrong Scott (รับบทโดย Leslie Howard) ตั้งแคมป์พักแรมริมทะเลสาป ระหว่างอวดอ้างสรรพคุณโน่นนี่นั่น สร้างความรำคาญแก่สองทหารนาซี จึงจับมัดอีกฝ่าย เผาทำลายภาพวาด งานเขียน ระหว่างกำลังหลบหนี Lieutenant Kuhnecke ถูกต้อนจนมุมในถ้ำแห่งหนึ่ง

หลงเหลือเพียง Lieutenant Hirth แอบขึ้นตู้สัมภาระบนรถไฟโดยสารข้ามประเทศ แต่บังเอิญพบเจอ Andy Brock (รับบทโดย Raymond Massey) นายทหาร Canadian ที่กำลังหลบหนีจากกองทัพ จับพลัดจับพลูข้ามผ่านพรมแดนถึงสหรัฐอเมริกา สุดท้ายจะสามารถผ่านด่านศุลกากร หลบหนีเอาตัวรอดสำเร็จหรือไม่?


Eric Harold Portman (1901-69) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Halifax, West Riding of Yorkshire โตขึ้นทำงานเป็นเซลล์ขายชุดชั้นในชายที่ Marshall & Snelgrove ระหว่างนั้นรับงานแสดงสมัครเล่นที่ Halifax Light Opera Society ขึ้นเวทีครั้งแรกปี ค.ศ. 1924 ร่วมกับ Henry Baynton, สู่วงการภาพยนตร์เรื่อง The Girl from Maxim’s (1933), ผลงานเด่นๆ อาทิ 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), A Canterbury Tale (1944), The Whisperers (1967) ฯลฯ

รับบท Lieutenant Hirth ทหารเยอรมันผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ยึดถือมั่นในอุดมการณ์พรรคนาซี และท่านผู้นำ Adolf Hiter โดยไม่ยินยอมโอนอ่อนผ่อนปรน ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด พร้อมจะต่อสู้จนตัวตาย ให้กลายเป็นวีรบุรุษเพื่อชาติ!

เพราะเป็นบทบาททหารนาซี มักทำให้ Portman ถูกมองข้ามจากผู้ชมสมัยนั้น (จริงๆรวมถึงโดนกลบเกลื่อนจากบรรดานักแสดงสมทบยอดฝีมือด้วยนะ!) ตีตราว่าชั่วร้าย อันตราย ต้องตีตนออกให้ห่างไกล แต่การที่เขาทำให้ใครต่อใครหลงเชื่อสนิทใจ นั่นคือความสามารถด้านการแสดง โคตรๆสมจริง ท่าทางเริดเชิดเย่อหยิ่ง โดยเฉพาะลีลาคำพูดระหว่างกล่าวสุนทรพจน์อุดมการณ์พรรคนาซี ทรงพลังไม่ด้อยไปกว่า Adolf Hitler เมื่อครั้น Triumph of the Will (1935)

แซว: จะว่าไปชื่อตัวละคร Hirth ดูละม้ายคล้าย Hitler อยู่ไม่น้อยเลยนะ!


สำหรับรวมดาราสมทบ (Ensemble Cast) ที่อาจเจ้าบทบาท/มีชื่อเสียงกว่านักแสดงนำด้วยซ้ำ! ขอกล่าวถึงเพียงคร่าวๆก็แล้วกัน

  • Laurence Olivier รับบท Johnnie พ่อหนุ่มลูกครึ่ง Canadian-French เป็นคนรักอิสระ ไม่ยี่หร่าอะไรใคร ชอบพูดอังกฤษคำ-ฝรั่งเศสคำ สงครามที่ยุโรปจะไปสนมันทำไม … แต่ไม่ทันไรก็ถูกห้อมล้อมโดยทหารนาซีเยอรมัน เกิดอาการอ้ำๆอึ้งๆ พูดไม่ออกบอกไม่ถูก แถมโดนลูกหลงเข้าอย่างจัง
    • ตัวละครนี้ชัดเจนมากๆว่าต้องการอ้างอิงถึงสหรัฐอเมริกา ประเทศแห่งเสรีชน แต่กลับทำตัวไม่ยี่หร่าอะไรใคร สงครามที่ยุโรปจะไปสนมันทำไม ต้องให้ถูกนาซีประชิดตัวก่อนหรือไง ค่อยตระหนักว่าความเพิกเฉยลอยชายนั้นไม่ถูกต้อง
  • Anton Walbrook รับบท Peter ผู้นำชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ซึ่งเป็นชาวเยอรมันอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแคนาดา แต่หลังจากรับฟังสุนทรพจน์ของ Lieutenant Hirth ก็โต้ตอบกลับด้วยอุดมคติเสรีชน ขับไล่อีกฝั่งฝ่ายให้กลับบ้านไป!
    • นี่เป็นตัวละครที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความตระหนักว่า ไม่ใช่ชาวเยอรมันทุกคน (หรือแม้แต่ทหารนาซี Vogel) จะเห็นพ้องอุดมการณ์ครองโลกของ Adolf Hitler อย่าตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือเชื้อชาติพงศ์พันธุ์
  • Glynis Johns รับบท Anna เด็กสาววัย 15 ย่าง 16 ยังมีความบริสุทธิ์ ร่าเริงสดใส ให้เกียรติทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม จนกระทั่งรับรู้ว่าอีกฝั่งฝ่ายคือทหารนาซี แสดงอาการโกรธ รังเกียจ ไม่พึงพอใจ แม้ความรู้สึกของเธอขัดแย้งกับทุกสิ่งอย่างเคยเรียนรู้มา ก็ยังพยายามหาวิธีการยกโทษให้อภัย ไม่ต้องการให้สิ่งเลวร้ายติดค้างคาใจ
    • เราสามารถมอง Anna คือตัวแทนวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวเยอรมัน หรือจะไม่จำเพาะเจาะจงสัญชาติ แค่เพียงเด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้ประสีประสาต่อวิถีทางของโลก เมื่อพวกเขารับเรียนรู้เกี่ยวกับสงคราม ความสูญเสีย มันก็หาใช่เรื่องน่าอภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่
    • นี่เป็นบทบาทแจ้งเกิดของ Johns ได้รับคำสรรเสริญว่าจักกลายเป็นนักแสดงอนาคตไกล เคยเข้าชิง Oscar เรื่อง The Sundowners (1960) และกลายเป็นดาวดาราดวงท้ายๆ(ที่ยังมีชีวิตอยู่)จากยุคสมัย Golden Age of Hollywood
  • Leslie Howard รับบท Philip Armstrong Scott นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ทั้งยังชื่นชอบสะสมผลงานศิลปะ เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนคลายยังทะเลสาป Lake O’Hara พยายามแสดงอัชฌาศัยอันดีต่อทหารนาซีทั้งสอง แต่กลับถูกอีกฝั่งฝ่ายกระทำร้าย ทำลายสิ่งของมีค่าของตนเอง เมื่อสามารถดิ้นหลุดพ้นพันธนาการ ตรงเข้าไปเผชิญหน้า ชกต่อย น็อคคาที่
    • Wars may come and wars may go but art goes on for ever.
    • ผมรู้สึกว่าตัวละครนี้คืออวตารของผู้กำกับ Powell (และ Pressburger) ใส่ความครุ่นคิดในฐานะศิลปิน ภาพยนตร์=งานศิลปะ แม้เป็นหนังชวนเชื่อก็สามารถสรรค์สร้างให้กลายเป็นอมตะนิรันดร์ได้เช่นกัน!
  • Raymond Massey รับบท Andy Brock นายทหาร Canadian ที่กำลังหลบหนีจากกองทัพ (Desertion) จับพลัดจับพลูระหว่างแอบอยู่ในตู้สัมภาระบนขบวนรถไฟ พบเจอกับทหารนาซีคนสุดท้าย Lieutenant Hirth เกิดการต่อสู้ แก่งแย่งชิงอาวุธ แม้ตอนแรกจะพ่ายแพ้ แต่หลังจากข้ามชายแดน พยายามโน้มน้าวศุลกากรสหรัฐอเมริกา ให้ส่งพัสดุต้องสงสัยกลับแคนาดาได้สำเร็จ!
    • ในบรรดาทีมนักแสดงชุดนี้ Massey มีการแสดงดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด (นักแสดงคนอื่นมักจะปรุงปั้นแต่ง ใส่แอ๊คติ้งพอสมควร) เพราะเป็นคนหนีทหาร ช่วงแรกๆจึงมีอาการขี้ขลาดตาขาว แต่พอตระหนักว่าอีกฝั่งฝ่ายคือทหารนาซีที่ถูกทางการหมายหัว ก็พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ เลิกหวาดกลัวความตาย
    • นัยยะของตัวละครนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน หลบหนีทหาร หรือคนขี้ขลาดตาขาว เมื่อต้องผชิญหน้าศัตรูผู้มารุกราน ควรเลือกทำในสิ่งถูกต้อง กำจัดคนชั่วให้พ้นภัยทาง
    • เกร็ด: Raymond Massey เป็นชาว Canadian แต่ไปแจ้งเกิดโด่งดังยังสหรัฐอเมริกา ทั้งชีวิตรับบทแต่ตัวละครสัญชาติอเมริกัน มีเพียงภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้เล่นตามเชื้อชาติของตนเอง

ด้วยความที่เป็นหนังรวมดาราอย่างคับคั่ง ถ้าจ่ายค่าตัวจริงๆของพวกเขา ทุนสร้างล้านปอนด์คงสู้ไม่ไหว แต่ทุกคนล้วนมาด้วยใจ เพราะเข้าใจเหตุผลการสรรค์สร้าง ต่างรับค่าจ้างแค่เพียงเศษเสี้ยว นักแสดงบางคนอย่าง Anton Walbrook เลือกบริจาคเงินที่ได้ให้กับ International Red Cross

One of the reasons for the movie’s high quality is the superb ensemble cast, most of them major British stars working for drastically reduced wages because they believed in the film.

นักวิจารณ์ Rob Nixon ให้ข้อสังเกตถึงคุณภาพหนัง 49th Parallel (1941)

ถ่ายภาพโดย Frederick A. Young (1902-98) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ มีผลงานเด่นๆ อาทิ Goodbye, Mr Chips (1939), 49th Parallel (1941), Ivanhoe (1952), Lust for Life (1956), You Only Live Twice (1967), Nicholas and Alexandra (1971) ฯ แต่โด่งดังสุดคือสามครั้งร่วมงานผู้กำกับ David Lean ประกอบด้วย Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965) และ Ryan’s Daughter (1970) ต่างคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography

แม้หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ อัตราส่วน Academy Ratio (1.37:1) แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิสัยทัศน์ของ Freddie Young ดูด้อยค่าลง เต็มไปด้วยทิวทัศน์สวยๆ ท้องฟ้า มหาสมุทร ป่าเขาลำเนาไพร นำเสนอภาพความยิ่งใหญ่ของผืนแผ่นดินแคนาดา ไม่มีทางที่ทหารเยอรมันตัวเล็กๆ 6 นาย จะสามารถบุกเข้ามาพิชิต ครอบครองเป็นเจ้าของ

หนังใช้เวลาโปรดักชั่นนานถึง 18 เดือน! กว่าสองในสามถ่ายทำยังสถานที่จริง ณ ประเทศแคนาดา (เสียเวลาอย่างมากกับการเดินทาง สำรวจหาสถานที่ถ่ายทำ) ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดาเป็นอย่างดี อำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่ อุปกรณ์สิ่งข้าวของ งบประมาณส่วนเกิน รวมถึงทหาร-ตำรวจ ยกเว้นเพียงเรือดำน้ำให้หยิบยืมไม่ได้สักลำ

ผมลองวาดแผนที่การเดินทาง เริ่มต้นที่ Gulf of St. Lawrence (Corner Brook, Newfoundland) เมื่อเรือดำน้ำ U-37 ของนาซีเยอรมัน โจมตีเรือขนส่งสินค้าแคนาดา → แวะจอดเติมเสบียงกรังยัง Hudson Bay ออกเดินทางสู่สถานีการค้า Cape Wolstenholme, Québec → เครื่องบินตกทะเลสาป Manitoba พบเจอชุมชนเกษตรกรรม Hutterite → เดินทางมายังเมือง Winnipeg, Manitoba แล้วพยายามมุ่งสู่เป้าหมาย Vancouver → ลักขโมยรถ โดยสารรถไฟ หยุดพักยัง Banff, Alberta → หลบหนีมายัง Lake O’Hara, Yoho National Park (ทิวเขา Rocky Mountain) → แอบขึ้นตู้สัมภาระข้ามชายแดนสหรัฐอเมริกา (ในหนังพบเห็นภาพ Niagara Falls ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่าง Ontario และ New York)

สงครามที่กำลังปะทุอยู่ขณะนั้น RCN (Royal Canadian Navy) จึงไม่อนุญาตให้หยิบยืมใช้งานเรือดำน้ำจริงๆสักลำ ทีมงานจึงว่าจ้างบริษัทต่อเรือที่ Halifax, Nova Scotia เพื่อสร้างเรือดำน้ำจำลองที่ไม่สามารถดำลงใต้น้ำ (เพราะมันไม่จำเป็นต่อการถ่ายทำ) ความยาว 172 ฟุต น้ำหนัก 17.5 ตัน เสร็จสิ้นในระยะเวลา 10 วัน สามารถแยกชิ้นส่วนประกอบเพื่อขนส่งไปยัง Corner Brook, Newfoundland และบรรทุกไดนาไมต์ 1,000 ปอนด์ สำหรับฉากระเบิดทำลาย

แซว: ผู้กำกับ Powell ไม่ได้ตระหนักว่ายุคสมัยนั้น Corner Brook, Newfoundland เป็นส่วนหนึ่งของ Crown Colony (อาณานิคมของสหราชอาณาจักร) ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของแคนาดา เรือดำน้ำจำลองลำนี้เลยถูกยึดไว้ที่กรมศุลกากรเข้าเมือง จำต้องไปต่อรองกับผู้ว่าการ (Governor of Newfoundland) ว่าสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อการสงคราม เลยเอาตัวรอดเลี่ยงภาษีนำเข้าได้อย่างหวุดหวิด

เกร็ด: เรือดำน้ำ U-37 ลำจริงๆของนาซีเยอรมัน ไม่เคยแล่นเฉียดแคนาดา และถูกทำลาย (Scuttled) วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ณ Sonderburg Bay, Denmark

เผื่อเอาไว้สำหรับคนไม่รู้จัก รูปภาพที่ Johnnie แปะติดบนฝาผนังคือ King George VI (1895-1952, ครองราชย์ 1936-52) ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรขณะนั้น (รวมถึงแคนาดาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในเครือจักรภพ, British Commonwealth) ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระชายา Queen Elizabeth Bowes-Lyon (1900-2002)

เกร็ด: King George VI และ Queen Elizabeth ทรงเคยเสด็จมาเยี่ยมเยือนแคนาดาช่วงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน ค.ศ. 1939

หมากรุก เกมกระดานที่ผู้เล่นสองฝ่ายเลือกเดินตัวหมากของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกัน เป้าหมายคือการรุกจนทำให้ตัวขุนของอีกฝ่ายไม่สามารถเดินต่อไปได้ … นี่สามารถเปรียบเทียบได้ตรงๆถึงการสงครามระหว่างเผด็จการ vs. เสรีชน และสังเกตว่าขณะเล่นเกมนี้ ทหารเยอรมันพยายามบีบบังคับให้อีกฝ่ายเดินหมากตามคำสั่งของตน (เพื่อให้ได้ผลแพ้-ชนะไวๆ เกมหมากรุกจักได้จบสิ้น)

หุ่นไล่กา เป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจทีเดียว เกษตรกรมักใช้สำหรับล่อหลอกพวกนกกา ไม่ให้เข้ามาทำลายพืชผลผลิตทางการเกษตร โดยท่าทางปกติจะกางแขนสองข้าง (ท่าตรึงกางเขน) แต่เจ้าตัวนี้มันดันยื่นมือข้างหนึ่งขึ้นเหนือศีรษะ เหมือนกำลังตะเบะ Heil Hitler! … จะว่าไปช็อตจบของซีเควนซ์นี้ก็แช่ค้างภาพ (Freeze Frame) Lieutenant Kuhnecke กำลังทำท่าตะเบะเดียวกัน!

ดั้งเดิมนั้นนักแสดงที่รับบท Anna คือ Elisabeth Bergner เห็นว่าถ่ายทำไปแล้วหลายฉาก แต่หลังจากหญิงสาวในชุมชน Hutterite พบเห็นเธอทาเล็บ สูบบุหรี่ ตรงรี่เข้าไปตบหน้า พูดจาด่าทอ (เพราะชุมชนนี้เคร่งครัดศาสนา ไม่ยินยอมรับบุคคลมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวเช่นนี้) ต่างฝ่ายต่างไม่พึงพอใจกันและกัน Bergner เลยขอถอนตัวออกจากโปรเจค ส้มหล่นใส่ Glynis Johns ปรับแก้ไขบทเล็กน้อย (ดั้งเดิมคือหญิงสาวสวยสะพรั่ง มาเป็นเด็กสาวแรกรุ่น) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที

Banff Indian Days เป็นกิจกรรมที่เคยจัดขึ้นที่ Banff National Park, Alberta ช่วงเดือนมีนาคมระหว่าง ค.ศ. 1910-72 จุดประสงค์เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสพบเจอ ชื่นชมหลงใหล ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ซึ่งเหตุผลที่ล้มเลิกจัดงานเพราะถูกมองว่ามีความ Racism (และปริมาณชาวอินเดียนแดงที่ลดน้อยลงจนแทบไม่หลงเหลือให้รับชมอีกต่อไป)

ผมมองนัยยะซีเควนซ์นี้คือความพยายามเปรียบเทียบ นาซีเยอรมัน==ชาวอินเดียนแดง ต่างเป็นกลุ่มคนป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และถือเป็นศัตรูของมนุษยชาติ

From the earliest age, their small boys were trained in the arts of war, which they considered the only pursuit worthy of a man. But they prefer to attack by night rather than by day, and wherever possible to shoot the enemy in the back. Their smaller neighbours lived in constant danger from them. They also believed in first terrorising their opponent by covering themselves in war paint and beating loudly on their tribal drums.

When a tribal leader really desired to drive a point home. he used that most terrible of all public speakers’ weapons – repetition. Constant and unutterably wearisome repetition.

Philip Armstrong Scott เปรียบเทียบชนพื้นเมืองอินเดียนแดง กับพฤติการณ์ของท่านผู้นำ Adolf Hitler

Wars may come and wars may go but art goes on for ever.

Philip Armstrong Scott

งานศิลปะที่เป็นของสะสมของ Philip Armstrong Scott ประกอบด้วย

  • Pablo Picasso: Mother and Child (1921-23) ภาพวาดภรรยาคนแรก Olga Khokhlova และบุตรชายคนโต Paulo ด้วยสไตล์ Neoclassicism
  • Henri Matisse: The Green Pumpkin (1916)
  • นวนิยาย Der Zauberberg (1924) แปลว่า The Magic Mountain แต่งโดยนักเขียนชาวเยอรมัน Thomas Mann (1875-1955) เจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม และอีกผลงานโด่งดังไม่แพ้กันคือ Death in Venice (1912)
    • นวนิยายเล่มนี้ยังเคยถูกกล่าวถึงในอนิเมชั่น The Wind Rises (2013)

Lieutenant Hirth พยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร มันควรเป็นสิทธิ เสรีภาพ ตามอุดมคติอเมริกันชน ตนเองย่อมมีสิทธิ์เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา! แต่ตอนจบของหนังกลับถูกส่งตัวกลับ (ด้วยข้ออ้างพัสดุนอกบัญชี) พบเห็นรถไฟกำลังเคลื่อนถอยหลัง ข้ามสะพาน แม่น้ำ Niagara River สามารถสื่อถึงการไม่ยินยอมรับอุดมการณ์นาซี(เข้ามาในสหรัฐอเมริกา)

แซว: ท่าตะเบะ Heil Hitler! ถูกล้อเลียนโดยพนักงานรถไฟ ให้กลายเป็นท่าโบกมือบ้ายบาย ร่ำลาจาก ส่งอาชญากรกลับไปรับโทษทัณฑ์

ตัดต่อโดย Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานเป็นนักบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Brief Encounter (1945), The Bridge on the River Kwai (1957), Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), A Passage to India (1984) ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองกองทหารเยอรมัน นำโดย Lieutenant Hirth เริ่มตั้งแต่ระหว่างปฏิบัติภารกิจบนเรือดำน้ำ U-37 จากนั้นได้รับมอบหมายให้ขึ้นบกแสวงหาเสบียงกรัง แต่ระหว่างจอดเทียบ Hudson Bay เรือดำน้ำถูกโจมตีจนอับปาง เลยจำต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ออกเดินทางข้ามฟากแคนาดา เพื่อหาหนทางกลับประเทศ

  • อารัมบท, ภารกิจบนเรือดำน้ำ U-37 จนกระทั่งอับปางระหว่างจอดเทียบ Hudson Bay
  • สถานีการค้า (Trading Post) Cape Wolstenholme, Québec
    • การกลับมาของ Johnnie ไม่รับรู้ร้อนหนาวเกี่ยวกับสงครามที่ยุโรป
    • แล้วจู่ๆทหารเยอรมันบุกเข้ามาในบ้าน จับพวกเขาเป็นตัวประกัน
    • การมาถึงของเครื่องบินทะเล ทำให้มีการยิงต่อสู้ และมีทหารเยอรมันนายหนึ่งเสียชีวิต
  • ชุมชนเกษตรกรรม Hutterite
    • เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉิน ทำให้ทหารเยอรมันนายหนึ่งต้องเสียชีวิต
    • เดินทางมาถึง ชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ทหารเยอรมันที่หลงเหลือทั้งสี่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
    • Lieutenant Hirth กล่าวสุนทรพจน์ชวนเชื่อให้ชาวเยอรมันในชุมชนแห่งนี้
    • แล้วถูกขับไล่โดยคำกล่าวโต้ตอบกลับของ Peter
    • Lieutenant Hirth ลงโทษประหารชีวิตนายทหาร Vogel เพราะต้องการปักหลักใช้ชีวิตยังชุมชนแห่งนี้
  • การเดินทางมุ่งสู่ Vancouver
    • ทหารเยอรมันทั้งสามมาถึงเมือง Winnipeg แล้วครุ่นคิดวางแผนเดินทางไป Vancouver เพื่อขึ้นเรือรบญี่ปุ่นกลับประเทศ
    • ลักขโมยรถ ขึ้นขบวนรถไฟ ระหว่างจอดพักยัง Banff, Alberta นายทหารคนหนึ่งถูกล้อมจับกุม
  • แคมป์พักแรมยัง Lake O’Hara, Yoho National Park (ทิวเขา Rocky Mountains)
    • Lieutenant Hirth และ Lieutenant Kuhnecke หลบหนีการไล่ล่ามาถึงทะเลสาป O’Hara
    • ได้รับคำชักชวนจากนักเขียน Philip Armstrong Scott ให้พักค้างแรม ชวนรับประทานอาหาร พูดคุยสนทนาเรื่องงานศิลปะ
    • แต่แล้วทหารเยอรมันทั้งสองก็แสดงสันดานธาตุแท้ จับมัด เผาทำลายภาพวาด ผลงานเขียน
    • ระหว่างหลบหนี Lieutenant Kuhnecke ถูกต้อนจนมุมในถ้ำแห่งหนึ่ง
  • บนตู้สัมภาระขบวนรถไฟ Canadian National Railway ข้ามชายแดนสหรัฐอเมริกา
    • Lieutenant Hirth แอบขึ้นตู้สัมภาระขบวนรถไฟ พบเจอกับ Andy Brock ที่กำลังหนีทหาร เกิดการต่อสู้ แก่งแย่งชิงอาวุธ
    • พอข้ามชายแดนสู่สหรัฐอเมริกาพบเจอกับนายด่านศุลกากร พยายามต่อรองร้องขอ ก่อนตัดสินใจ …

โครงสร้างการดำเนินเรื่อง อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย And Then There Were None (1939) หรือ Ten Little Indians จากเคยมีสมาชิก/ทหารเยอรมันอยู่ครบ กลับค่อยๆสูญเสียทีละคนสองคน นับถอยหลังจาก 6 → 5 → 4 → 3 → 2 จนไม่หลงเหลือใคร และสุดท้ายก็ไม่สามารถเอาตัวรอดถึงเป้าหมายปลายทาง

ลีลาการตัดต่อของ Lean เต็มไปด้วยลูกเล่น ‘montage’ ร้อยเรียงชุดภาพทิวทัศน์สวยๆ และโดดเด่นมากๆกับฉากแอ๊คชั่น สร้างความตื่นเต้นลุ้นระทึก ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ แต่ผมรู้สึกว่าหลายๆเรื่องราวมีความเยิ้นเย้อยืดยาว ให้ความสำคัญกับตัวประกอบรับเชิญมากเกินไป … ตัวละครหลักๆมีเพียง Lieutenant Hirth และนายทหาร Vogel ที่ผู้ชมน่าจะจดจำได้เท่านั้น

แต่มันอาจเป็นความจงใจ ไม่ต้องการให้ผู้ชมจดจำตัวละครรองๆฟากฝั่งทหารนาซี (Lieutenant Hirth คือตัวตายตัวแทน Hitler, นายทหาร Vogel คือบุคคลเดียวที่สามารถกลับตัวกลับใจ) เพราะนี่คือหนังชวนเชื่อประชาธิปไตย มันเลยต้องจดจ่ออยู่กับแนวคิดฟากฝั่งเสรีชน มีความคู่ขนานกับเผด็จการ


เพลงประกอบโดย Ralph Vaughan Williams (1872-58) คีตกวีชาวอังกฤษ เกิดที่ Down Ampney, Gloucestershire ร่ำเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ, โตขึ้นเข้าเรียน Royal College of Music (RCM) ชื่นชอบหลงใหลใน Tudor music และเพลงพื้นบ้านอังกฤษ (English Folk-Song) จากนั้นประพันธ์ซิมโฟนี อุปรากร บัลเล่ต์ Chamber Music เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ 49th Parallel (1941) ฯลฯ

Williams เคยอาสาสมัคร Royal Army Medical Corps ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประสบการณ์ขับรถรับส่งผู้ป่วย สร้างอิทธิพลต่อผลงานเพลงอย่างมากๆ เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ 49th Parallel (1941) แม้ท่วงทำนองฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ (สามารถสื่อถึงอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะฟากฝั่งเผด็จการหรือเสรีชน) แต่เต็มไปด้วยสัมผัสอันเจ็บปวดรวดร้าว (เพราะการมีอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่นั้น มักก่อให้เกิดความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง แล้วนำไปสู่การสู้รบสงคราม ผู้คนมากมายได้รับบาดเจ็บล้มตายมากมาย)

เอาจริงๆผมว่างานเพลงของ Williams มีแนวคิดที่ลึกล้ำกว่าหนังเสียอีกนะ! (มีเพียงงานภาพของ Freddie Young ที่สามารถเทียบเคียงความยิ่งใหญ่อลังการ) นั่นเพราะเรื่องราวนำเสนอความคู่ขนานระหว่างสองอุดมการณ์ แล้วพยายามชี้นำว่า เสรีชน/ประชาธิปไตย คือคำตอบที่ถูกต้อง! แต่บทเพลงนี้ให้ความรู้สึกว่าการมีอุดมการณ์ ไม่ว่าจะฝั่งฝ่ายไหน ล้วนนำพาโศกนาฎกรรมให้บังเกิดขึ้น (กับฝั่งฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงกันข้าม)

นอกจาก Main Theme บทเพลงอื่นๆในหนังจะความสอดคล้องกับเรื่องราว เหตุการณ์ขณะนั้นๆ สำแดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามีการใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นลงเรื่อยๆ (เพื่อให้สอดคล้องแนวคิด Ten Little Indians) พอถึงแคมป์พักแรมยังทะเลสาป Lake O’Hara ได้ยินเพียงเสียงเปียโน (เพราะเหลือทหารเยอรมันแค่สองคน) และไคลน์แม็กซ์บนตู้สัมภาระขบวนรถไฟ เหมือนจะไม่มีเพลงประกอบใดๆ จนกระทั่ง Closing Credit

เมื่อกลุ่มทหารเยอรมันถูกปล่อยเกาะบนผืนแผ่นดินแคนาดา แทนที่พวกเขาจะแสดงความโอนอ่อนผ่อนปรน ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ กลับยังเย่อหยิ่งทะนงตน ยึดถือมั่นคงต่ออุดมการณ์นาซี ทำให้ไม่มีใครไหนอยากให้การช่วยเหลือ แถมชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ลักขโมย เข่นฆาตกรรม ฯ จึงค่อยๆสูญเสียสมาชิกทีละคนสองคน จนไม่หลงเหลือผู้ใดข้างกาย สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาตัวรอดถึงเป้าหมายปลายทาง

49th Parallel (1941) พยายามนำเสนออุดมการณ์คู่ขนานระหว่าง เผด็จการ vs. เสรีชน ไม่มีทางที่สองฝั่งฝ่ายจะสามารถโอนอ่อนผ่อนปรน ยินยอมรับกันและกัน นั่นก่อให้เกิดความขัดแย้ง ชนวนเหตุสงคราม จนกว่าจะมีใครพ่ายแพ้ไปข้าง โลกถึงบังเกิดความสงบสันติสุข

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป้าหมายของผกก. Powell คือผู้ชมสหรัฐอเมริกา เพราะขณะนั้นยังเป็นประเทศ(เดียว)ที่ทำทองไม่รู้ร้อน เพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ยี่หร่ากับสงครามปะทุขึ้นในยุโรป ถ้ามองในแง่มุมนี้ก็จักพบเห็นหลายๆเหตุการณ์จี้แทงใจดำไม่น้อยเลยละ โดยเฉพาะเรื่องราวของ Johnnie (รับบทโดย Laurence Olivier) ฉันไม่รู้ ฉันไม่สน ฉันเป็นคนรักอิสระ สงครามช่างอยู่ห่างไกล แต่การมาถึงของทหารเยอรมัน เพียงโดนกระสุนถากๆ ก็รับรู้สึกสาแก่ใจ

แต่ถึงแม้จะเข้าฉาย(ในสหรัฐอเมริกา)ภายหลังเหตุการณ์ Pearl Harbour ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังมีอีกหลากหลายใจความ เนื้อหาสาระที่เป็นมากกว่าแค่หนังชวนเชื่อ … ไม่ใช่ชาวเยอรมันทุกคนจะยึดถือมั่นอุดมการณ์ของนาซี อย่างเรื่องราว ณ ชุมชนเกษตรกรรม Hutterite ผู้อพยพหลายคนล้วนมีเชื้อชาติเยอรมัน หรือแม้แต่นายทหาร Vogel ที่พร้อมปักหลักตั้งถิ่นฐาน เริ่มต้นชีวิตใหม่ยังสถานที่แห่งนี้

และที่เป็นไฮไลท์ก็คือ คำกล่าวของ Philip Armstrong Scott (รับบทโดย Leslie Howard) สงครามผ่านมาประเดี๋ยวก็ผ่านไป ศิลปะ/ภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างหากที่จักยั่งยืนยงกระพัน คงอยู่ตราบชั่วนิจนิรันดร์

Wars may come and wars may go but art goes on for ever.

ขณะที่ 49th Parallel (1941) นำเสนอเรื่องราวทหารนาซีเยอรมัน พยายามหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอดในต่างแดน, One of Our Aircraft Is Missing (1942) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Powell & Pressburger ภายใต้สตูดิโอใหม่ The Archers มีลักษณะ ‘reversal plot’ ทหารอังกฤษเครื่องบินตกในดินแดนเยอรมัน ได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนมากมายจนสามารถหลบหนีเอาตัวรอดสำเร็จ!


ด้วยงบประมาณตั้งต้น £68,000 ปอนด์ บานปลายไปถึง £132,000 ปอนด์ แต่เสียงตอบรับดีล้นหลามในประเทศอังกฤษ สามารถทำเงินสูงสุดแห่งปี ค.ศ. 1941 แม้ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับ แต่จำนวนผู้ชมสูงถึง 9.3 ล้านคน! (จากประชากรทั้งหมด 44 ล้านคน)

สำหรับการเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ในตอนแรก Universal Studios ตอบตกลงเป็นผู้จัดจำหน่าย แล้วจู่ๆขอถอนตัวออกไป ทำให้สูญเสียโอกาสในการเข้าฉายช่วงปลายปี ค.ศ. 1941 จึงจำต้องมองหาผู้จัดจำหน่ายใหม่ Columbia Picture จ่ายค่าลิขสิทธิ์ $200,000 เหรียญ เปลี่ยนชื่อหนังเป็น The Invaders แถมเซนเซอร์หลายๆฉากตัดทิ้งไปกว่า 19 นาที (ฉากคำกล่าวสุนทรพจน์นาซี, รวมถึงถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ) เข้าฉาย 15 เมษายน ค.ศ. 1942 (ภายหลังญี่ปุ่นบุกโจมตี Pearl Harbour วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941) ยังทำเงินได้ประมาณ $5 ล้านเหรียญ!

ความสำเร็จล้นหลามของหนัง ยังรวมถึงการได้เข้าชิง Oscar ถึงสามสาขา และคว้ามาหนึ่งรางวัล

  • Best Picture พ่ายให้กับ Mrs. Miniver (1942)
  • Best Writing, Screenplay
  • Best Writing, Original Story ** คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ คุณภาพ High-Definition สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion Collection, Warner Home Vidéo (ของฝรั่งเศส), Carlotta Films (ของฝรั่งเศส) หรือรับชมออนไลน์จาก Criterion Channel, Amazon Prime, iTunes ฯลฯ

(ฉบับคุณภาพดีสุดในปัจจุบันเป็นของ Carlotta Film แต่เหมือนจะไม่มีซับอังกฤษนะครับ หรือถ้าใครชอบเบื้องหลัง Criterion Collection มีให้ชมอย่างจุใจ)

แม้หนังอาจดูยืดยาวและเยิ่นเย้ออยู่มาก แต่ต้องชมในเล่ห์เหลี่ยมเพทุบายของ Pressburger โดยเฉพาะแนวคิด ‘Ten Little Indians’ ไล่เก็บทหารนาซีทีละคนสองคน สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน เฝ้ารอคอยว่าใครจะเป็นคนต่อไป นำเสนออุดมการณ์อะไรที่ขัดแย้งตรงกันข้าม

นอกจากบทที่เฉียบคม ทีมนักแสดงชุดนี้ยังปล่อยของจัดเต็ม! Leslie Howard, Laurence Olivier, Anton Walbrook, Raymond Massey, โดยเฉพาะ Eric Portman, ภาพถ่ายสวยโคตรๆของ Freddie Young, ลีลาตัดต่อพอไปวัดไปวาของ David Lean และเพลงประกอบสุดอลังการของ Ralph Vaughan Williams รวมๆแล้วเกือบจะเป็นหนังชวนเชื่อที่สมบูรณ์แบบ

จัดเรต 13+ กับใจความชวนเชื่อ

คำโปรย | 49th Parallel ภาพยนตร์ชวนเชื่อของ Powell & Pressburger ที่มีความเจ้าเล่ห์เพทุบาย นำเสนออุดมการณ์คู่ขนาน เผด็จการ vs. เสรีชน ได้อย่างเฉียบคมคาย
คุณภาพ | ฉี
ส่วนตัว | เพทุบาย

Fires Were Started (1943)


Fires Were Started (1943) British : Humphrey Jennings ♥♥♥♡

นักผจญเพลิง (Firefighter) ถือเป็นวีรบุรุษของประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คอยดับไฟจากเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่ให้ลุกลามบานปลาย นำเสนอสไตล์สารคดีแต่ผลลัพท์ไม่ต่างจากภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda)

Fires Were Started (1943) หรือ I Was a Fireman ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกเรื่องเดียวของผู้กำกับ Humphrey Jennings ที่หลังจากผมมีโอกาสรับชมโคตรหนังสั้น Listen to Britain (1942) ก็อดใจไม่ไหวต้องรีบลองหาผลงานเรื่องนี้มาเชยชม

การชวนเชื่อที่ดี คือไม่รับรู้สึกว่ากำลังถูกชวนเชื่อ! นั่นเป็นสิ่งที่ผมสัมผัสได้จาก Fires Were Started (1943) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีข้อความชักชวนเชื่อใดๆ แต่กลับสร้างความฮึกเหิม บังเกิดขวัญกำลังใจ เพราะการมีวีรบุรุษนักผจญเพลิง ทำให้ประชาชนไม่ต้องหวาดกลัวภยันตราย … ตึกรามบ้านช่อง สิ่งก่อสร้างอาจพังทลาย แต่ไม่ใช่จิตวิญญาณของชนชาวอังกฤษ

วิธีการนำเสนอ Fires Were Started (1943) ทำออกมาในลักษณะกึ่งสารคดี (DocuDrama) มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา บันทึกภาพกิจวัตรประจำวันของนักผจญเพลิง รวมถึงภารกิจยามค่ำคืน … แค่นั้นแหละครับ! อาจไม่รู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่ แต่งดงามดั่ง ‘กวีภาพยนตร์’


Frank Humphrey Sinkler Jennings (1907-50) จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Walberswick, Suffolk บิดาทำงานสถาปนิก ส่วนมารดาเป็นจิตรกร ส่งต่อความชื่นชอบให้บุตรชาย ใช้เวลาว่างหลังเรียนสาขาภาษาอังกฤษ Pembroke College, Cambridge ในการวาดรูป เขียนแบบ ลุ่มหลงใหล Surrealist ทำงานเป็นนักออกแบบโรงละคร (Theatre Designer) แล้วเข้าร่วม GPO Film Unit สรรค์สร้างหนังสั้น จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง โด่งดังจากการกำกับภาพยนตร์ชวนเชื่อ

Jennings คือหนึ่งในศิลปิน Surrelist เคยเดินทางไปฝรั่งเศส ตีสนิทกับ André Breton, Salvador Dalí แล้วนำกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ในอังกฤษ 1936 Surrealist Exhibition ณ กรุง London, จากนั้นร่วมกับ Charles Madge และ Tom Harrisson ก่อตั้งองค์กรชื่อว่า Mass-Observation เมื่อปี ค.ศ. 1937 จุดประสงค์เพื่อทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมชาวอังกฤษ ด้วยการสังเกต สอดแนม จดบันทึกกิจวัตรประจำวันที่ดูไร้สาระ อย่างผู้คนเดินผ่านไป-มา เวลาข้ามถนนนิยมก้าวเท้าซ้ายหรือขวา? นั่งอยู่ในผับบาร์ มองหาตำแหน่งที่ฝ่ายชายนิยมสัมผัสแตะต้องหญิงสาวระหว่างเต้นรำ ฯลฯ

Mass-Observation อาจฟังดูเป็นกิจกรรมไร้สาระ แต่นั่นทำให้ Jennings ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า Surrealist ในชีวิตประจำวัน! นำมาพัฒนาเป็นหนังสั้นสร้างชื่อ Spare Time (1939), การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็นำเอารายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สังเกตเห็น มาพัฒนาเป็น London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Words for Battle (1941), Listen to Britain (1942) ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีของชาวอังกฤษ เมื่อต้องเผชิญหน้าแรงกดดันจากสงคราม

เกร็ด: ผู้กำกับ Lindsay Anderson ให้การยกย่อง Humphrey Jennings ว่า “the only real poet that British cinema has yet produced”.


ความสำเร็จของ Listen to Britain (1942) ทำให้ผู้กำกับ Jennings ครุ่นคิดว่าตนเองกำลังดำเนินไปในทิศทางถูกต้อง ภาพยนตร์ชวนเชื่อที่ดีไม่ควรมี ‘voice of God’ สำหรับชี้ชักนำทางผู้ชม แค่เพียงการบันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ก็สามารถสร้างความฮึกเหิม ขวัญกำลังใจ ไม่หวาดกลัวเกรงต่อภยันตรายใดๆ

ผมหารายละเอียดที่มาที่ไปของ Fires Were Started (1943) ไม่ได้มากนัก แต่มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อโต้ตอบกลับภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี Baptism of Fire (1940) ที่นำเสนอภาพการสู้รบทางอากาศระหว่าง Germany vs. Poland (ประเทศแรกที่ถูกรุกราน) ทำให้เมืองต่างๆ(ในโปแลนด์)ตกอยู่ในเปลวเพลิง มอดไหม้วอดวาย

เกร็ด: Baptism of Fire การล้างบาปด้วยไฟ เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับวิถีชาวคริสเตียนที่นิยมทำการแบ๊บติสต์/พิธีจุ่มศีลด้วยน้ำ แต่ความหมายของ John the Baptist คือการแผดเผาสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ภายใน ให้หลงเหลือเพียงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง

I indeed baptize you with water unto repentance: but he that cometh after me is mightier than I, whose shoes I am not worthy to bear: he shall baptize you with the Holy Ghost, and with fire.

Matthew 3:11 จาก King James Version 1611

ในทางทหาร Baptism of Fire คือศัพท์แสลงที่ใช้เรียกทหารกำลังเข้าร่วมสู่รบสงครามเป็นครั้งแรก! ซึ่งคำว่า fire ไม่ได้หมายถึงแค่ไฟสงคราม แต่ยังรวมถึงอาวุธปืน (firearm) และเวลาออกคำสั่งยิงก็ตะโกนว่า FIRE!

การทำงานของผู้กำกับ Jennings เริ่มต้นถ่ายทำโดยไม่มีบท ไม่มีสคริป ใช้นักแสดงที่เป็นนักผจญเพลิงมืออาชีพตัวจริง! ถ่ายทำยังสถานที่จริง! (ฉากภายในถ่ายทำยัง Pinewood Studios) และจำลองสถานการณ์ไฟลุกไหม้ขึ้นจริงๆ (แต่ไม่มีใครตายจริงนะครับ!)

เรื่องราวของหนังได้รับการพัฒนาขึ้นระหว่างถ่ายทำ จากความช่างสังเกตของผกก. Jennings (พี่แกเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Mass-Observation เลยไม่แปลกที่จะมองเห็นอะไรหลายๆอย่าง) เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ วิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน มอบอิสระนักแสดงในการพูดคุยสนทนา หลากหลายสำเนียงภาษา บางครั้งเหมือนจะพูดคำหยาบคาย (คำหยาบสมัยนั้นกับสมัยนี้ มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันมากๆ) เหล่านี้เพื่อ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ที่จับต้องได้


ถ่ายภาพโดย Cyril Montague Pennington-Richards (1911-2005) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติอังกฤษ, วัยเด็กมีความเพ้อฝันอยากเป็นวิศวกร แต่ไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ถึงอย่างยังสามารถเปิดร้านซ่อมวิทยุ จนกระทั่งอายุ 19 เข้าร่วมบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำงานเป็นตากล้องให้กับ Crown Film Unit ถ่ายทำสารคดี/หนังชวนเชื่อ Fires Were Startes (1943), A Christmas Carol (1951), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Horse’s Mouth (1953)

งานภาพของหนังอาจไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรหวือหวา ส่วนใหญ่กล้องแทบไม่ขยับเคลื่อนไหว เพียงแพนนิ่งบางครั้งครา แต่โดดเด่นมากๆคือองค์ประกอบภาพ ทิศทางมุมกล้อง พยายามทำออกมาในสไตล์กึ่งสารคดี (Docu-Drama) ให้ดูเป็นธรรมชาติ มีความสมจริง เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน และภารกิจของนักผจญเพลิงประจำกรุง London

เกร็ด: ผู้กำกับ Jennings ให้คำนิยามงานภาพของหนังว่า “camera poems”

สังเกตว่าหนังแทบไม่ค่อยถ่ายภาพกองไฟ หรือตำแหน่งที่กำลังลุกไหม้ตรงๆ (มักพบเห็นจากระยะไกลๆ หรือวัสดุที่สามารถควบคุมเพลิงได้ง่าย) มุมกล้องส่วนใหญ่คือฟากฝั่งนักผจญเพลิง กำลังฉีดพ่น จับสายยาง แต่หมอกควันและความสว่างจากแสงไฟ กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกเร่าร้อนระอุ มอดไหม้ทรวงใน … นี่ต้องชมเสียง ‘Sound Effect’ ที่มีความสมจริงอย่างมากๆด้วยเช่นกัน

วิธีการอันแนบเนียนก็คือการใช้แสงจากสป็อตไลท์ถ่ายย้อนเข้ามา ในบริเวณปกคลุมด้วยหมอกควันฟุ้งๆ ให้ความรู้สึกเหมือนมีกองเพลิงกำลังคุกรุ่นอยู่ด้านหลัง แล้วมีการจุดไฟกองเล็กๆตรงบันได ล่อหลอกผู้ชมให้หลงเชื่อสนิทใจ! นี่เป็นช็อตที่ดูอันตราย แต่ตอนถ่ายทำคงไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร

นี่เป็นอีกช็อตที่มองผ่านๆดูอันตรายมากๆ แต่กองไฟถูกจุดขึ้นในบริเวณที่สามารถควบคุมการลุกลาม แล้วใช้แสงสป็อตไลท์ส่องผ่านหมอกควัน (มันสามารถใช้เชื้อเพลิงที่พอเผาไหม้แล้วมีควันออกมาเยอะๆได้) … นี่คือความมหัศจรรย์/มายากลของสื่อภาพยนตร์โดยแท้!

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าโศกนาฎกรรมของตัวละครหนึ่งในหนัง ไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ แต่บริบทยุคสมัยนั้น ‘การเสียสละ’ คือลักษณะหนึ่งของการชวนเชื่อ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเป็นเกียรติ ภาคภูมิใจ พร้อมต่อสู้ เผชิญหน้าศัตรู ไม่ต้องการให้ความตายของเพื่อนร่วมชาติต้องสูญเสียเปล่า … ความเป็นวีรบุรุษของนักผจญเพลิง ถือว่าเทียบเท่าทหารหาญที่เข้าร่วมสู้รบสงคราม

ตัดต่อโดย Stewart McAllister (1914-62) ทั้งสองร่วมงานกันตั้งแต่ London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Words for Battle (1941), Listen to Britain (1942), Fires Were Started (1943), The Silent Village (1943), A Diary for Timothy (1945) ฯลฯ

หนังไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครใด ทำการร้อยเรียงกิจวัตรของหน่วย Heavy Unit One, Sector C14 ในวันที่มีนักผจญเพลิงคนใหม่เข้ามาประจำการ และเตรียมพร้อมออกปฏิบัติภารกิจยัง Trinidad Street โดยสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง

  • เตรียมความพร้อมตอนกลางวัน
    • เช้าตรู่รถดับเพลิง Heavy Unit One เดินทางมาถึงสำนักงาน รวมถึงบรรดาพนักงาน และสมาชิกใหม่
    • ซ่อมแซม ชะล้าง ทำความสะอาดรถดับเพลิง และซักซ้อมแผนการปฏิบัติงาน
    • ยามบ่ายช่วงเวลาผ่อนคลาย รับประทานอาหาร หลับนอน และพาสมาชิกใหม่ทัวร์รอบกรุง London (อารัมบทสถานที่ที่จะเกิดเหตุไฟไหม้ในค่ำคืนนี้)
  • ภารกิจยามค่ำคืน
    • ยามสนธยา เตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติภารกิจ มีการร้องรำทำเพลง สร้างขวัญกำลังใจ
    • เมื่อได้รับมอบภารกิจ เดินทางมุ่งสู่ Trinidad Street เตรียมการฉีดน้ำ แต่ก็เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ
    • หลังจากเพลิงเริ่มลุกลามบานปลาย ต้องติดต่อขอกำลังเสริม และสูบน้ำขึ้นจากแม่น้ำ
    • เมื่อกองกำลังเสริมมาถึง จึงเริ่มสามารถควบคุมเพลิง
    • ภารกิจเสร็จสิ้น หวนกลับสำนักงาน และพิธีไว้อาลัยแก่ผู้เสียสละชีพ

ทั้งโครงสร้างและทิศทางดำเนินเรื่องของหนัง มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ร้อยเรียงชุดภาพ ‘montage’ ตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย เพื่อสร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์

ไฮไลท์การตัดต่อก็คือเครือข่ายประสานงาน ผมดูไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกว่าใครติดต่ออะไรกับใคร แต่สัมผัสได้ถึงระบบการทำงานที่มีแบบแผน เป็นขั้นเป็นตอน คลอบคลุมทุกองค์กรเกี่ยวข้อง มันอาจดูวุ่นๆวายๆ แต่พวกเขาทั้งหลายล้วนมุ่งมั่นทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อให้ภารกิจดับเพลิงค่ำคืนนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงโดยดี … หน่วยงานที่คอยติดต่อประสานงานเบื้องหลัง สมควรได้รับการสรรเสริญไม่น้อยกว่านักผจญเพลิงเลยนะครับ!


เพลงประกอบโดย William Alwyn (1905-1985) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Northampton วัยเด็กหลงใหลใน Flute และ Piccolo เข้าศึกษาต่อยัง Royal Academy of Music ณ กรุง London จากนั้นเป็น Flautist ให้กับ London Symphony Orchestra ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนทฤษฎีดนตรี แล้วมีโอกาสทำเพลงออร์เคสตรา Concerto, Piano Suite, Chamber Music, ละครเวที และประกอบภาพยนตร์ อาทิ The True Glory (1945), The October Man (1947), Odd Man Out (1947), The Crimson Pirate (1952), A Night to Remember (1958), The Running Man (1963) ฯลฯ

งานเพลงของ Alwyn จะคอยแทรกแซมอยู่ตามช่องว่างของหนัง เมื่อไหร่ไม่มีการพูดคุยสนทนา หรือขณะร้อยเรียงชุดภาพกิจวัตรประจำวัน (ยกเว้นช่วงระหว่างกำลังดับเพลิง จะมีเพียงเสียง ‘Sound Effect’ ที่โคตรสมจริง!) เพื่อสร้างบรรยากาศเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ผู้ชมรู้สึกปลอดภัยไร้กังวล ขณะที่ช่วงท้ายมอบความซาบซึ้งและภาคภูมิใจ ต่อการเสียสละเพื่อชาติและผืนแผ่นดิน

สำหรับสองบทเพลงขับร้อง ต่างมีท่วงทำนองสนุกสนาน ขับขานด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ สามารถมองว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ตระเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติภารกิจเสี่ยงอันตราย!

One Man went to Mow บทเพลงสำหรับเด็ก (Nursery Rhyme) เป็นที่รู้จักโด่งดังในประเทศอังกฤษ … ผมขี้เกียจหาข้อมูล เหมือนจะเอาไว้ให้ฝึกหัดนับตัวเลข จากหนึ่งคนหนึ่งสุนัข เป็นสองคนสองสุนัข ตามเนื้อคำร้องเหมือนจะสิ้นสุดที่แปดคน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป … จะว่าไปพอถึงคนที่แปด มันแอบปัก ‘Death Flag’ ไว้ด้วยนะ!

One man went to mow
Went to mow a meadow
One man and his dog
Went to mow a meadow

Two men went to mow
Went to mow a meadow
Two men, one man and and his dog
Went to mow a meadow

Eight men went to mow
Went to mow a meadow
Eight men, Seven men, Six men, Five men, Four men, Three men, Two men, one man and and his dog
Went to mow a meadow

ส่วนอีกเพลงที่สมาชิก Heavy Unit One, Section C14 ขับร้องก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจชื่อว่า Please Don’t Talk About Me (When I’m Gone) (1930) ต้นฉบับแต่งโดย Sam H. Stept, คำร้องโดย Sidney Clare, ฉบับเก่าแก่สุดที่พบเจอใน Youtube ขับร้องโดย Gene Austin บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1931

นี่ก็เป็นอีกบทเพลง ‘Death Flag’ ไม่ต้องการให้พูดถึงเมื่อฉันจากไป! แต่ถึงอย่างนั้นความเสียสละของนักผจญเพลิง/ทหารหาญที่เข้าร่วมสู้รบสงคราม จักได้รับการจดจำเยี่ยงวีรบุรุษตราบนานเท่านั้น!

Years we’ve been together
Seems we can’t get along
No matter what I do
it don’t appeal to you
Makes No difference wether
I am right or I’m wrong
If we can’t be sweethearts
This much you can do.

Please don’t talk about me when I’m gone,
Oh, honey,
Though our friendship ceases from now on,
And listen,
If you can’t say anything that’s nice,
It’s better not to talk at all, Is my advice,
We’re parting,
You go your way, I’ll go mine,
It’s best that we do,
Here’s a kiss! I hope that this
brings, Lots of luck to you
Makes no difference how I carry on,

Remember,
Please don’t talk about me when I’m gone

เกร็ด: บทเพลงนี้เคยได้รับการขับร้องโดย Norma Shearer ประกอบภาพยนตร์ The Women (1939)

มองผิวเผิน Fires Were Started (1943) คือภาพยนตร์กึ่งสารคดี (DocuDrama) บันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน การทำงานของนักผจญเพลิง (Firefighter) รวมถึงเครือข่ายที่อยู่เบื้องหลัง คอยติดต่อประสานทุกภาคส่วนในการควบคุมเปลวไฟไม่ให้ลุกลามบานปลาย สร้างความเชื่อมั่น การันตีความปลอดภัย แม้ทรัพย์สินอาจเสียหาย ตึกรามบ้านช่องพังทลาย แต่ตราบยังมีชีวิตและลมหายใจ ย่อมสามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

เราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ถึงไฟสงคราม (World Wars 2) ที่กำลังลุกลามบานปลายมาถึงประเทศอังกฤษ ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด ได้รับความเสียหายย่อยยับเยิน ถึงอย่างนั้นไม่มีอะไรให้ต้องหวาดกังวล เพราะเรามีกองกำลังรักษาดินแดน Home Guard (ชื่อเดิมคืออาสาสมัครรักษาดินแดน Local Defence Volunteers, LDV) และกองทัพอากาศ RAF (Royal Air Force) คอยขับไล่ศัตรูผู้มารุกราน และโดยเฉพาะนักผจญเพลิง ทำให้ทุกค่ำคืนพานผ่านไปอย่างราบรื่น

ไม่ใช่แค่นักผจญเพลิง กองกำลังรักษาดินแดน หรือกองทัพอากาศ แต่ยังหน่วยงาน/เครือข่ายที่คอยติดต่อประสานงานอยู่เบื้องหลัง สมควรได้รับเครดิตไม่น้อยหน้ากันนะครับ! ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงอย่างมากๆ เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ใครจะคอยแจ้งเหตุไฟไหม้ ติดต่อกรมชลประทานให้จ่ายน้ำ หรือขอกำลังเสริมช่วยดับเพลิงไม่ให้ลุกลามบานปลาย … กลุ่มคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ ‘ปิดทองหลังพระ’ อย่างแท้จริง!

อย่างที่บอกไปว่าผู้กำกับ Jennings หมดความสนใจในหนังชวนเชื่อที่เต็มไปด้วย ‘voice of God’ คอยชี้ชักนำทางความครุ่นคิดเห็นของผู้ชม, Fires Were Started (1943) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีอะไรเช่นนั้นอยู่เลย แต่กลับสามารถสร้างความฮึกเหิม บังเกิดขวัญกำลัง ผู้ชมรู้สึกภาคภูมิใจ แทบไม่แตกต่างจากหนังชวนเชื่อเลยสักนิด!

ผมเคยกล่าวไว้ว่า Triumph of the Will (1935) เป็นภาพยนตร์ชวนเชื่อที่เอ่อล้นด้วยพลัง ดั่งเปลวเพลิงเร่าร้อนแรง, Listen to Britain (1942) ราวกับน้ำเย็น (calm voice) ที่สร้างความสงบ ผาสุข ผ่อนคลายจิตวิญญาณ … เช่นนั้นแล้ว Fires Were Started (1943) คือการดับไฟด้วยน้ำเย็น ถือเป็นอีกชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฤษต่อนาซีเยอรมัน


แม้ว่าฉากดับเพลิงจะเป็นการสร้างสถานการณ์สมมติ ‘reconstruction scene’ แต่นักวิจารณ์ต่างยกย่องสรรเสริญในความสมจริง และบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ได้รับการโหวตชาร์ท British Film Institute (BFI): Top 100 British films ติดอันดับ 89

ผลงานของผู้กำกับ Humphrey Jennings (น่าจะ)ทุกเรื่องได้รับการบูรณะคุณภาพ 2K โดย British Film Institute (BFI) สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รวมอยู่ในคอลเลคชั่น The Complete Humphrey Jennings มีทั้งหมด 3 Volume หรือจะหารับชมได้ทาง BFI Player (เว็บไซด์สตรีมมิ่งของ BFI)

อาจเพราะผมคาดหวังค่อนข้างสูงกับ Fires Were Started (1943) ดูไปสักครึ่งชั่วโมงเลยเริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่าย ออกอาการเซ็งๆ เอาจริงๆหนังไม่ได้ย่ำแย่ เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ร้อยเรียงให้กลายเป็น ‘กวีภาพยนตร์’ แต่แค่มันไม่น่าประทับใจเทียบเท่า Listen to Britain (1942) อาจเพราะความเป็นหนังสั้น-ยาว (Short Film vs. Feature Length) มีหลายสิ่งอย่างที่ผู้สร้างต้องตระหนักถึงความแตกต่าง

จะว่าไปภาพยนตร์เกี่ยวกับนักผจญเพลิง มีปริมาณน้อยนิด The Towering Inferno (1974), Always (1989), Ladder 49 (2004), Only the Brave (2017) ฯลฯ รวมถึงอนิเมะสองเรื่องที่เบี้ยวๆเกี่ยวกับอาชีพนี้ Ride Your Wave (2019) และซีรีย์ Enen no Shoubouta/Fire Force (2019-)

จัดเรต pg กับความเร่าร้อนรุนแรงของเปลวเพลิง

คำโปรย | Fires Were Started ดับไฟด้วยน้ำเย็น! ชัยชนะของประเทศอังกฤษต่อนาซีเยอรมัน
คุณภาพ | คลาสสิก
ส่วนตัว | น่าประทับใจ

Listen to Britain (1942)


Listen to Britain (1942) British : Humphrey Jennings, Stewart McAllister ♥♥♥♥♥

โดยปกติแล้วภาพยนตร์ชวนเชื่อ (Propaganda) มักพยายามโน้มน้าว เสียดสี ชี้ชักนำ ใส่ร้ายอีกฝั่งฝ่าย ไม่ก็ยกยอปอปั้นตนเอง แต่สำหรับ Listen to Britain (1942) กลับทำออกมาในลักษณะ ‘กวีภาพยนตร์’ งดงามวิจิตรศิลป์

แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงความลุ่มลึกล้ำของ Listen to Britain (1942) เพราะหนังตัดทิ้งเสียงบรรยาย เพียงคำเกริ่นนำที่บอกใบ้อย่างไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ ตลอดทั้งเรื่องเป็นการร้อยเรียงชุดภาพกิจวัตรในรอบหนึ่งวันของชาวอังกฤษ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แค่นั้นเอง!

ทั้งๆไม่มีภาพการต่อสู้ ทำสงคราม คนเป็น-คนตาย ทรัพย์สินเสียหาย หรือการพูดโน้มน้าว เสียดสี ชี้ชักนำ ใส่ร้ายอีกฝั่งฝ่าย ยกยอปอปั้นตนเอง เช่นนั้นแล้วมันจัดเข้าพวกหนังชวนเชื่อได้อย่างไร? นั่นเพราะ Listen to Britain (1942) บันทึกภาพความเข้มแข็งแกร่ง สมัครสมานสามัคคีของชาวอังกฤษ (เหมือนดั่งการบรรเลงออร์เคสตรา) พวกเขาดำเนินชีวิตกันอย่างปกติสุข ทั้งๆการสู้รบสงครามยังคงคุกรุ่น นั่นคือพลังแห่งการชวนเชื่อ แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่ไม่หวาดกลัวเกรงต่อการถูกบุกรุกราน

ให้ตายเถอะ!!! ผมรับชมหนังเรื่องนี้ไปประมาณ 4-5 รอบ กว่าจะมีความเข้าใจเพียงพอในการเขียนบทความนี้ (มันเป็นหนังสั้นความยาว 19 นาที เลยสามารถให้เวลาได้อย่างเต็มที่) คือมันแทบเป็นไปไม่ได้ถ้าจู่ๆหยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดูแล้วจะสามารถทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่าง … จัดความยากระดับ Veteran

ซึ่งวิธีการที่ทำให้ผมเข้าใจหนังได้มากขึ้น ก็คือสรรหาผลงานเรื่องอื่นๆของผู้กำกับ Humphrey Jennings จริงๆมีเป็นสิบๆเรื่องแต่แนะนำไฮไลท์สองหนังสั้นที่หาได้จาก Youtube ประกอบด้วย London Can Take It! (1940) และ Words for Battle (1941) เพิ่มเติมอีกเรื่องคือภาคสี่ของ Why We Fight (1942-45) ที่ชื่อว่า The Battle of Britain (1943) เพราะทั้งสามเรื่องนี้จะทำคุณเข้าใจในศักยภาพของชาวอังกฤษ สภาพจิตวิทยา และวิธีการที่พวกเขาโต้ตอบกลับนาซีเยอรมัน

ระหว่างอ่านบทความนี้แนะนำให้รับฟัง Mozart: Piano Concerto No. 17 in G major, KV. 453 (1784) น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาฉบับบันทึกเสียงของ (Dame) Myra Hess ก็เลยเอาวาทยากร/นักเปียโนระดับ Maestro อย่าง Leonard Bernstein มาให้ลิ้มลองกันดู

Frank Humphrey Sinkler Jennings (1907-50) จิตรกร ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Walberswick, Suffolk บิดาทำงานสถาปนิก ส่วนมารดาเป็นจิตรกร ส่งต่อความชื่นชอบให้บุตรชาย ใช้เวลาว่างหลังเรียนสาขาภาษาอังกฤษ Pembroke College, Cambridge ในการวาดรูป เขียนแบบ ลุ่มหลงใหล Surrealist ทำงานเป็นนักออกแบบโรงละคร (Theatre Designer) แล้วเข้าร่วม GPO Film Unit สรรค์สร้างหนังสั้น จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง โด่งดังจากการกำกับภาพยนตร์ชวนเชื่อ

Jennings คือหนึ่งในศิลปิน Surrelist เคยเดินทางไปฝรั่งเศส ตีสนิทกับ André Breton, Salvador Dalí แล้วนำกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ในอังกฤษ 1936 Surrealist Exhibition ณ กรุง London, จากนั้นร่วมกับ Charles Madge และ Tom Harrisson ก่อตั้งองค์กรชื่อว่า Mass-Observation เมื่อปี ค.ศ. 1937 จุดประสงค์เพื่อทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมชาวอังกฤษ ด้วยการสังเกต สอดแนม จดบันทึกกิจวัตรประจำวันที่ดูไร้สาระ อย่างผู้คนเดินผ่านไป-มา เวลาข้ามถนนนิยมก้าวเท้าซ้ายหรือขวา? นั่งอยู่ในผับบาร์ มองหาตำแหน่งที่ฝ่ายชายนิยมสัมผัสแตะต้องหญิงสาวระหว่างเต้นรำ ฯลฯ

Mass-Observation อาจฟังดูเป็นกิจกรรมไร้สาระ แต่นั่นทำให้ Jennings ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า Surrealist ในชีวิตประจำวัน! นำมาพัฒนาเป็นหนังสั้นสร้างชื่อ Spare Time (1939), การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็นำเอารายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สังเกตเห็น มาพัฒนาเป็น London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Words for Battle (1941), Listen to Britain (1942) ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีของชาวอังกฤษ เมื่อต้องเผชิญหน้าแรงกดดันจากสงคราม

เกร็ด: ผู้กำกับ Lindsay Anderson ให้การยกย่อง Humphrey Jennings ว่า “the only real poet that British cinema has yet produced”.


การมาถึงของสงครามโลกครั้งสอง GPO Film Unit ได้ถูกผนวกรวมกับกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) กลายเป็น Crown Film Unit เมื่อปี ค.ศ. 1940 และมอบหมายให้บรรดาผู้กำกับในสังกัด เริ่มสรรค์สร้างภาพยนตร์/หนังสั้นแนวชวนเชื่อ

ภาพยนตร์ชวนเชื่อที่ใครต่อใครนิยมสรรค์สร้างในยุคสมัยนั้น ล้วนมีลักษณะโน้มน้าว เสียดสี ชี้ชักนำ ใส่ร้ายอีกฝั่งฝ่าย ไม่ก็ยกยอปอปั้นตนเอง พบเห็นเกลื่อนกลาดเต็มตลาดทั่วไป นั่นสร้างความเบื่อหน่ายให้ผู้กำกับ Jennings เลยครุ่นคิดมองหาวิถีทางอื่น ทำในสิ่งที่ใครต่อใครบอกว่าไม่น่าเป็นได้!

Poetry and propaganda come together in the myth of the people’s war.

Humphrey Jennings

จุดขายของผู้กำกับ Jennings คือความช่างสังเกตวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันของผู้คน องค์กร Mass-Observation ทำให้เขาค้นพบว่าชาวอังกฤษดูไม่ค่อยวิตกกังวลต่อสงครามมากนัก ยังคงทำหน้าที่ของตนเอง ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น นั่นแสดงถึงความเข้มแข็งของจิตใจ รวมถึงความสมัครสมานสามัคคี นี่คือ ‘ตำนาน’ ของอังกฤษเลยก็ว่าได้! … กลายมาเป็นหนังสั้น London Can Take It! (1940) บันทึกกิจวัตรหนึ่งวัน บ่าย-ค่ำ-เช้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเหตุการณ์อะไร ชาวอังกฤษย่อมสามารถต่อสู้ฟันฝ่า ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้

Words for Battle (1941) เป็นอีกผลงานชิ้นสำคัญของผู้กำกับ Jennings ที่ทำการทดลองเปลี่ยนเสียงบรรยาย (Voice-Over) แทนที่จะพูดถ้อยคำโน้มน้าว ชี้ชักนำผู้คน กลายมาเป็น(ผู้บรรยาย) Laurence Olivier อ่านออกเสียงร้อยกรอง ให้สอดคล้องจองกับชุดภาพในลักษณะ ‘กวีภาพยนตร์’

และเมื่อมาถึง Listen to Britain (1942) ผู้กำกับ Jennings ตัดสินใจละทอดทิ้ง ‘voice of God’ ที่มักคอยชี้ชักนำทางผู้ชม หลงเหลือเพียงสรรพเสียง ‘Sound Effect’ มอบอิสระในการได้ยินด้วยหู มองเห็นด้วยตา ครุ่นคิดหาคำตอบด้วยตนเองว่า สิ่งที่รับชมอยู่นี้สื่อความหมายถึงอะไรยังไง

เกร็ด: ในเครดิตขึ้นว่า Humphrey Jennings ร่วมกำกับ Stewart McAllister แต่คนหลังจริงๆแล้วคือนักตัดต่อเสียง ซึ่งมีความสำคัญต่อหนังมากๆ พวกเขาร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด โต้ถกเถียงในทุกๆรายละเอียด จนท้ายสุด Jennings ถึงขนาดมอบเครดิตร่วมกำกับให้!


ถ่ายภาพโดย H.E. Fowle (1915-1995) ตากล้องในสังกัด Crown Film Unit ร่วมงานผู้กำกับ Humphrey Jennings ตั้งแต่ Spring Offensive (1940), London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Listen to Britain (1942), The Silent Village (1943) ฯลฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีเทคนิคอะไรหวือหวา ส่วนใหญ่กล้องแทบไม่ขยับเคลื่อนไหว เพียงแพนนิ่งบางครั้งครา แต่โดดเด่นมากๆคือองค์ประกอบภาพ ทิศทางมุมกล้อง ออกเดินทางไปทั่วกรุง London จับเก็บภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันผู้คน ไม่มีใครเป็นนักแสดง พวกเขาเพียงกระทำสิ่งที่กำลังกระทำอยู่เท่านั้นเอง


Leonard Walter Brockington (1888-1966) ทนายความ ข้าราชการพลเรือน ประธานคนแรกของสถานีโทรทัศน์ Canadian Broadcasting Corporation (CBC) เป็นตัวแทนบุคคลผู้เต็มไปด้วยความหวาดกังวล (Nervous Civil Servant) กล่าวด้วยน้ำเสียงกระตือรือล้น เพื่อให้ผู้ชมชาวอเมริกันเข้าใจเนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องนี้

I am a Canadian. I have been listening to Britain. I have heard the sound of her life by day and by night. Many years ago, a great American, speaking of Britain, said that in the storm of battle and conflict, she had a secret rigour and a pulse like a cannon. In the great sound picture that is here presented, you too will hear that heart beating. For blended together in one great symphony is the music of Britain at war. The evening hymn of the lark, the roar of the Spitfires, the dancers in the great ballroom at Blackpool, the clank of machinery and shunting trains. Soldiers of Canada holding in memory, in proud memory, their home on the range. The BBC sending truth on its journey around the world. The trumpet call of freedom, the war song of a great people. The first sure notes of the march of victory, as you, and I, listen to Britain.

Leonard Brockington

ผมไม่เคยตั้งใจรับฟังคำกล่าวของ Brockington เพราะครุ่นคิดว่ามันคงไม่ได้สลักสำคัญอะไร ไม่ได้ตระหนักว่ามันคือคำบอกใบ้สาสน์สาระของหนังด้วยซ้ำ! เพิ่งมารับรู้เอาตอนเริ่มเขียนบทความนี้ก็แบบ WTF แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความไม่จำเป็น ไม่ต้องไปสนใจ ก็สามารถค้นพบเจอข้อสรุปได้เช่นเดียวกัน … ถ้าใครจนปัญญาจริงๆก็ลองตั้งใจฟังดูนะครับ

สำหรับคนที่รู้สึกมักคุ้นแต่นึกไม่ว่าออกว่าใคร บุคคลตรงกลางภาพแรกคือ Queen Elizabeth II ขณะนั้นยังเป็น Princess Elizabeth of York, ซ้ายมือน่าจะพลอากาศเอก Hugh Dowding แห่ง Royal Air Force, ส่วนขวามือไม่แน่ใจว่าคือใคร (แต่ไม่น่าจะใช่ Prince Phillip หรอกนะ), ส่วนภาพสองคือ Princess Margaret พระขนิษฐา(น้องสาว)ของ Queen Elizabeth II

ช่วงยามบ่าย สถานที่สุดท้ายของหนัง ถ่ายทำยังโรงงานผลิตรถถัง คนงานกำลังถลุงเหล็ก พบเห็นเปลวไฟร้อนๆ ปล่องควันโพยพุ่ง สามารถสื่อถึงขวัญกำลังใจของชาวอังกฤษ ยังคงลุกโชติช่วงชัชวาลย์ แม้ถูกศัตรูเข้ามาบุกรุกราน ก็ไม่เคยมอดดับลง

ตัดต่อโดย Humphrey Jennings ร่วมกับ Stewart McAllister (1914-62) ทั้งสองร่วมงานกันตั้งแต่ London Can Take It! (1940), The Heart of Britain (1941), Words for Battle (1941), Listen to Britain (1942), Fires Were Started (1943), The Silent Village (1943), A Diary for Timothy (1945) ฯลฯ

หนังใช้กรุง London เป็นจุดศูนย์กลาง แล้วทำการร้อยเรียงปะติดปะต่อภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันชาวอังกฤษ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มองผิวเผินเหมือนจะมีแค่นั้น แต่ถ้าใครช่างสังเกตลีลาตัดต่อ จะพบเห็นเทคนิค Fade-In และ Fade-Out ซึ่งสามารถใช้แบ่งแยกแยะเรื่องราวออกช่วงเวลาหนึ่งวัน

  • อารัมบท, คำกล่าวของ Leonard Brockington (เฉพาะฉบับออกฉายต่างประเทศ)
  • ยามเย็น
    • ชาวชนบทกำลังเกี่ยวกับพืชผลผลิต พบเห็นเครื่องบินรบ RAF พานผ่านน่านฟ้า
    • ทหารนั่งอยู่ริมชายหาด เหม่อมองพระอาทิตย์กำลังใกล้ตกดิน
    • เข้ามาในเมืองพบเห็นผู้คนกำลังเต้นรำอย่างครื้นเครง
    • ทหารริมชายหาด เตรียมความพร้อมก่อนพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า
  • ค่ำคืน
    • ผู้คนเดินทางไปยังสถานที่หลบภัย
    • รถไฟเคลื่อนเข้ามาจอดเทียบชานชาลา
    • ทหารหาญในขบวนรถไฟ ร้องเพลง เล่นกีตาร์ พูดคุยสนทนา
    • รถไฟเคลื่อนออกจากชานชาลา
  • ดึกดื่น
    • เครื่องบินรบ RAF กำลังเตรียมตัวออกไปเผชิญหน้าศัตรู
    • สาวๆนั่งรับฟังการแสดงขับร้องโซปราโน บรรเลงเปียโน ในสถานีฉุกเฉิน (Ambulance Station)
  • รุ่งอรุณ
    • ร้อยเรียงทิวทัศน์ยามเช้า พระอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นขอบฟ้า
    • ผู้คนเดินทางไปทำงาน
    • เด็กๆวิ่งเล่นสนุกสนาน
    • สาวๆทำงานในโรงงาน
  • พักกลางวัน
    • รับประทานอาหารกลางวัน
    • รับชมการแสดงของ Flanagan and Allen ให้กับชนชั้นทำงาน
    • รับชมการแสดงออร์เคสตรา และเปียโนคอนแชร์โตของ Myra Hess ให้กับ Queen Elizabeth II และชนชั้นสูง ณ National Gallery
    • ร้อยเรียงภาพพิพิธภัณฑ์สงคราม War Exhibition
  • ยามบ่าย
    • หมดเวลาพักก็หวนกลับมาทำงาน โรงถลุงเหล็ก ผลิตรถถัง
    • ภาพการเดินสวนสนาม ทหารอังกฤษกำลังมุ่งหน้าสู่สนามรบ
    • ปิดท้ายด้วยการร้อยเรียงภาพปล่องควัน พืชผลทางการเกษตร และท้องฟากฟ้ากรุง London

ด้วยความที่หนังไม่มีเสียงบรรยาย (Voice-Over) ผู้ชมจึงต้องคอยสังเกตวิธีการนำเสนอ โดยเฉพาะลีลาการตัดต่ออย่าง ‘Montage’ หรือ ‘Match Cut’ เปรียบเทียบสองภาพ สองเหตุการณ์ที่ดูแตกต่าง แต่อาจมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ ยกตัวอย่างที่น่าจะเห็นภาพชัดสุดๆก็คือ หมวกนิรภัยและศีรษะของสาวๆ (ยามดึกดื่น สาวๆกำลังรับฟังการแสดงดนตรีระหว่างรอคอยเหตุการณ์ฉุกเฉิน) พวกเธอไม่หวาดกลัวอันตรายกันเลยหรือไร?

สำหรับเพลงประกอบ ทั้งหมดล้วนเป็น ‘diegetic music’ บันทึกสดจากสถานที่จริงๆ วงดนตรี ร้อง-เล่นกีตาร์ เดี่ยวเปียโน ขับร้องประสานเสียง วงออร์เคสตรา ซึ่งจะผสมผสานเข้ากับเสียงธรรมชาติ และตัดกับเสียงที่ไม่เป็นธรรมชาติ (อย่างรถรา เครื่องจักร โรงงานอุตสาหกรรม ฯ) เพื่อให้ผู้ชมสดับฟังเสียงของประเทศอังกฤษ ‘Listen to Britain’

ระหว่างรับชม ผมไม่ได้รับรู้ถึงความสำคัญของแต่ละบทเพลงในหนัง จนพอเริ่มหาข้อมูลก็ทำให้ตระหนักว่าไม่ใช่การสุ่มเลือก แต่คือบทเพลงที่คนสมัยนั้นรับรู้จัก มักคุ้นเคย ได้รับความนิยม และสามารถสร้างขวัญกำลังใจให้กับทุกคน พานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของสงครามโลก


Beer Barrel Polka (1927) แต่งทำนองโดย Jaromír Vejvoda นักดนตรีชาว Czech เป็นบทเพลงแนว Polka สำหรับการนั่งดื่ม (drinking song) มักได้ยินตามผับบาร์ กิจกรรมเต้นลีลาศ แพร่หลายอย่างกว้างขวางช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในหมู่ทหารชาวอังกฤษ ได้รับการบันทึกเสียงโดย The Andrews Sisters, Glen Miller Orchestra, Benny Goodman, Bobby Vinton, Bille Holiday และโดยเฉพาะ Joe Patek ขายอัลบัมได้กว่าล้านก็อบปี้

เกร็ด: Beer Barrel Polka เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ถูกบรรเลงวัน VE Day (Victory in Europe Day) 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทำการแสดงโดย Humphrey Lyttelton หน้าพระราชวัง Buckingham Palace และเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ BBC

ทหารแคนาดาในขบวนรถไฟ กำลังเล่นกีตาร์ ขับร้องบทเพลง Home on the Range แนว Cowboy Song/Western Folk Song หนึ่งในเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการของ American West นำจากบทกวี My Western Home แต่งโดย Dr. Brewster M. Highley แห่ง Smith Country, Kansas ประมาณปี ค.ศ. 1872-73 (กลายเป็นบทเพลงประจำรัฐ Kansas โดยปริยาย)

ท่วงทำนอง และคำร้องบทเพลงนี้ สร้างความรู้สึกครุ่นคิดถึงบ้าน เหมาะสำหรับทหารหาญที่ต้องออกเดินทางไกล เพื่อเข้าร่วมสู้รบสงคราม ปกป้องผืนแผ่นดินบ้านเกิด ไม่ยินยอมให้ศัตรูไหนมารุกราน

Oh, give me a home where the buffalo roam,
Where the deer and the antelope play,
Where seldom is heard a discouraging word
And the skies are not cloudy all day.

Home, home on the range,
Where the deer and the antelope play;
Where seldom is heard a discouraging word
And the skies are not cloudy all day.

Where the air is so pure, the zephyrs so free,
The breezes so balmy and light,
That I would not exchange my home on the range
For all of the cities so bright.

The red man was pressed from this part of the West,
He’s likely no more to return
To the banks of Red River where seldom if ever
Their flickering camp-fires burn.

How often at night when the heavens are bright
With the light from the glittering stars,
Have I stood here amazed and asked as I gazed
If their glory exceeds that of ours.

Oh, I love these wild flowers in this dear land of ours,
The curlew I love to hear scream,
And I love the white rocks and the antelope flocks
That graze on the mountain-tops green.

Oh, give me a land where the bright diamond sand
Flows leisurely down the stream;
Where the graceful white swan goes gliding along
Like a maid in a heavenly dream.

Then I would not exchange my home on the range,
Where the deer and the antelope play;
Where seldom is heard a discouraging word
And the skies are not cloudy all day.

ปล. ผมลองหาบทเพลงนี้จากหลากหลายศิลปิน แล้วก็พบว่า Roy Rogers ที่ไม่ได้ร้องตามเนื้อร้อง แต่รู้สึกว่ามีความไพเราะที่สุดแล้ว ก็เลยนำเอาคลิปนี้มาให้รับฟัง

Round the Back of the Arches (1932) ขับร้องโดยคู่หูคอมเมเดี้ยน (Singing & Comedy) Flanagan and Allen ประกอบด้วย Bud Flanagan (1896-68) และ Chesney Allen (1894-82) โด่งดังในประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษ 30s-40s โดยเฉพาะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

บทเพลงรำพันถึงความทรงจำในอดีต ซุ้มประตูที่ Sunnyside Lane พบเห็นท้องฟ้าคราม พระอาทิตย์สาดทอแสงสว่าง ขณะที่เนื้อคำร้องกล่าวถึงการออกเดินทางจากบ้านเกิด แต่ผู้ฟังสมัยนั้นสามารถเปรียบเทียบกับการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ทำให้ทุกสิ่งอย่างในประเทศอังกฤษปรับเปลี่ยนแปลงไป

Round the back of the arches, Down in Sunnyside Lane
Where the black of the arches never seems to remain
That’s where I used to be as happy as a multi-millionaire
Everybody there a jolly good pal

Round the back of the grey skies, there’s a lining of blue
There’s a crack in the grey skies for the sun to come through
And when the storm clouds all roll over I shall meet old pals again
Round the back of the arches down in Sunnyside Lane.

I’m a guy who’s never going to roam again
Once I leave the old home town
By and by I’ll see my little home again
Then I’m going to settle down

Round the back of the arches, Down in Sunnyside Lane
Where the black of the arches never seems to remain
That’s where I used to be as happy as a multi-millionaire
Everybody there a jolly good pal

Round the back of the grey skies, there’s a lining of blue
There’s a crack in the grey skies for the sun to come through
And when the storm clouds all roll over I shall meet old pals again
Round the back of the arches down in Sunnyside Lane.

สำหรับ Mozart: Piano Concerto No. 17 in G major, KV. 453 (1784) ทำการแสดงโดย The Orchestra of the Central Band H.M. Royal Air Force ณ The National Gallery, London กำกับวงโดย R. P. O’Donnell และบรรเลงเปียโนโดย (Dame) Myra Hess

ออร์เคสตรา คือวงดนตรีที่ทำการประสานเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถสื่อถึงความสมัครสมานฉันท์ ร่วมแรงร่วมใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาวอังกฤษ ในการเผชิญหน้าช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก

ผมไม่คิดว่าหนังมีโอกาสเลือกบทเพลงนี้หรอกนะ น่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่เตรียมการแสดงไว้อยู่แล้ว แต่ท่วงทำนองสไตล์ Mozart เต็มไปด้วยความสนุกสนานครื้นเครง สามารถสร้างบรรยากาศเบาสบาย ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสงคราม แสดงถึงความเข้มแข็งแกร่งของชาวอังกฤษ ไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายจิตวิญญาณพวกเขาลงได้!

สำหรับคนที่ไม่เคยรับล่วงรู้อะไรสักสิ่งอย่างเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดน่าจะเกิดความหวาดระแวงอยู่นิดๆ เมื่อพบเห็นเครื่องบินลิบๆ ทหารเดินสวนสนาม รถถังวิ่งบนท้องถนน ฯ โดยเฉพาะระหว่างกำลังรับฟังเพลงคลาสสิกเพราะๆ แล้วเสียงเคาะเหล็ก เครื่องจักรทำงาน ดังแทรกขึ้นมาอย่างน่ารำคาญ เหล่านี้แสดงถึงความไม่เป็นปกติ (เสียงที่ไม่เป็นธรรมชาติ) ที่พบเห็นในวิถีประจำวัน แต่ผู้คนกลับยังดำเนินชีวิตราวกับเหมือนไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น … ได้อย่างไรกัน???

Listen to Britain (1942) ทำการร้อยเรียงภาพและเสียงของประเทศอังกฤษ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ไร้ซึ่งความหวาดระแวง วิตกกังวล เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพกองกำลังรักษาดินแดน Home Guard (ชื่อเดิมคืออาสาสมัครรักษาดินแดน Local Defence Volunteers, LDV) และกองทัพอากาศ RAF (Royal Air Force) ว่าจักสามารถขับไล่ศัตรูผู้มารุกราน

ประเทศอังกฤษ มีภูมิทัศน์ที่เป็นเกาะ ห้อมล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงและทะเลลึก การจะบุกรุกรานต้องเริ่มจากโจมตีทางอากาศ เพื่อหาโอกาสเข้ายึดครอบครองเมืองท่าริมชายฝั่ง ถ้าทำไม่สำเร็จก็ไม่มีวันยกพลขึ้นบก! ซึ่งทุกครั้งล้วนถูกตอบโต้โดย Home Guard และ RAF จนทำได้เพียงทิ้งระเบิด และต่อสู้ทางอากาศยาน

เมื่อทหารนาซีไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้สำเร็จสักที จึงพยายามเล่นเกมจิตวิทยา ด้วยการโจมตีเฉพาะตอนกลางคืนไม่ให้ได้หลับได้นอน และทิ้งระเบิดตามหัวเมืองใหญ่ๆทำลายขวัญกำลังใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลกลับไม่ทำให้ชาวอังกฤษเกิดความหวาดวิตกกังวลอะไร … ใครเคยรับชม London Can Take It! (1940) ก็อาจขำกลิ้งกับภาพผู้คนนอนหลับสบาย ท่ามกลางเสียงระเบิดยามค่ำคืน ครุ่นคิดเสียว่ามันคือการบรรเลงของวงดนตรีออร์เคสตรา

ความจริงเป็นเช่นนั้นไหมผมก็ไม่รู้เหมือนกัน? แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามสร้างตำนานลือเล่าขาน (Mythology) ชวนให้ผู้ชมเกิดความเชื่อว่า ชาวอังกฤษมีจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง พร้อมเผชิญหน้านาซีเยอรมันอย่างไม่หวาดกลัวเกรง นี่คือลักษณะของ ‘propaganda’ ที่หลายคนก็อาจยังคงเกาหัวว่ามันชวนเชื่อยังไง?

สำหรับชาวอังกฤษ (ยุคสมัยนั้น) เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะเกิดความตระหนักถึงวิถีชีวิต(ของตนเอง)ภายใต้บรรยากาศสงคราม แม้เต็มไปด้วยแรงกดดันที่ถาโถมลงมา แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเพลิดเพลินผ่อนคลาย เพราะหนังชวนเชื่อว่าทุกคนยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดกำลังสามารถ พร้อมเผชิญหน้าศัตรูผู้มารุกราน ด้วยความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงรวมใจเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดวิตกกังวล

ชาวต่างชาติยุคสมัยนั้นคงเกิดความฉงนกับชนชาวอังกฤษ พวกเขาใช้ชีวิตภายใต้แรงกดดันสงครามเช่นนั้นได้อย่างไร เลยตั้งใจสดับรับฟัง จนบังเกิดความชวนเชื่อมั่น น้อมนำวิถีทางดังกล่าวมาสร้างขวัญกำลังใจ ให้เกิดความเข้มแข็งแกร่งกับตนเอง!

ขณะที่ Triumph of the Will (1935) เป็นภาพยนตร์ชวนเชื่อที่เอ่อล้นด้วยพลัง ดั่งเปลวเพลิงเร่าร้อนแรง, Listen to Britain (1942) ราวกับน้ำเย็น (calm voice) ที่สร้างความสงบ ผาสุข ผ่อนคลายจิตวิญญาณ


เมื่อตอนเข้าฉายในประเทศอังกฤษ แม้ถูกคาดหมายว่าคงไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่กลับได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างล้นหลาม เพราะสามารถเข้าถึงสิ่งที่หนังนำเสนออกมา ขนาดว่ามีการส่งเสียง โยกศีรษะ ปรบมือ กระทืบเท้าตามจังหวะเสียงเพลง

All sorts of audiences felt it to be a distillation and also a magnification of their own experiences on the home front. This was especially true of factory audiences. I remember one show in a factory in the Midlands where about 800 workers clapped and stamped approval.

โปรดิวเซอร์ Helen de Mouilpied

ด้วยความหวาดกังวลว่าผู้ชมต่างชาติ (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) จะไม่สามารถทำความเข้าใจหนัง จึงมีการเพิ่มเติมอารัมบท คำกล่าวของ Leonard Brockington เพื่อเป็นการบอกใบ้สิ่งที่กำลังนำเสนอ แม้นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่จำเป็นนัก ผลลัพท์ทำให้ Listen to Britain (1942) กลายเป็นหนึ่งใน 25 เรื่องที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature Film น่าเสียดายไม่สามารถคว้ารางวัลกลับมา (เพราะเป็นปีแรกของสาขานี้ จึงมีภาพยนตร์ถึง 4 เรื่องที่คว้ารางวัล!)

กาลเวลาอาจทำให้ผลงานของผกก. Jennings ถูกลืมเลือนไป แต่ก็ยังคงอยู่ในใจของนักวิจารณ์/ผู้กำกับมากมาย ได้รับการจัดอันดับ …

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 183 (ร่วม)
  • TIMEOUT: The 100 Best British Films ติดอันดับ 42

ผลงานของผู้กำกับ Humphrey Jennings (น่าจะ)ทุกเรื่องได้รับการบูรณะคุณภาพ 2K โดย British Film Institute (BFI) สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รวมอยู่ในคอลเลคชั่น The Complete Humphrey Jennings มีทั้งหมด 3 Volume หรือจะหารับชมได้ทาง BFI Player (เว็บไซด์สตรีมมิ่งของ BFI)

นอกจากนี้ หลายๆผลงานของผกก. Jennings ยังสามารถหารับชมได้ทาง Youtube, Archive.org แต่เป็นฉบับก่อนการบูรณะ คุณภาพตามมีตามเกิด แต่สำหรับ Listen to Britain (1942) ผมชี้เป้าคุณภาพ HD ให้ที่ Bilibili.com

ตอนรับชมรอบแรกบอกเลยว่าดูไม่รู้เรื่อง แต่ผมมีความประทับใจการแสดงออร์เคสตราอย่างมากๆ, รอบสองเริ่มสังเกตรายละเอียด ครุ่นคิดหาความสัมพันธ์กับสงคราม, ก่อนจะรับชมรอบสาม ตัดสินใจไปหาผลงานเก่าๆของผู้กำกับ Jennings จนเกิดความตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง ค่อยๆเกิดความชื่นชอบหลงใหล, รอบสี่-ห้า กลายเป็นหนังโปรดโดยไม่รับรู้ตัว!

แม้ว่า Listen to Britain (1942) จะสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจให้เป็นหนังชวนเชื่อ แต่ผมค้นพบว่ามันมีความเป็นสากลกว่านั้น นำเสนอจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่น่าหวาดสะพรึงกลัว พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ท่ามกลางความกดดันที่ถาโถมลงมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก … พอตระหนักถึงความเข้าใจนี้ ก็ทำให้ผมโปรดปรานหนังโดยทันที!

ปล. เมื่อสมัยเรียนหนังสือ ผมไม่ค่อยชื่นชอบบทกวีในวิชาภาษาไทยสักเท่าไหร่ ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้คำโบร่ำราณ แต่หลังจากทำบล็อคนี้สักพักใหญ่ๆ เคยลองหวนกลับไปอ่านโคลงโลกนิติ แล้วพบความชื่นชอบหลงใหลอย่างมากๆ มันอาจเพราะเมื่อเราเข้าใจศาสตร์หนึ่ง ย่อมสามารถต่อยอดไปยังอีกศิลป์หนึ่งได้กระมัง

แนะนำคอหนัง Art House ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ กำลังศึกษาประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง และผู้สนใจใน ‘กวีภาพยนตร์’ ท้าทายศักยภาพในการเชยชมผลงานศิลปะขั้นสูง (High-Art)

จัดเรตทั่วไป แต่เด็กๆคงดูไม่รู้เรื่อง

คำโปรย | Listen to Britain สดับเสียงที่มีความไพเราะเพราะพริ้ง งดงามดั่งบทกวี และดังกึกก้องออกมาจากภายใน
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |