Touki Bouki (1973)


Touki Bouki (1973) Senegalese : Djibril Diop Mambéty ♥♥♥♥

การเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนเองของผู้กำกับ Djibril Diop Mambéty ในสไตล์ Bonnie and Clyde ปล้น-ฆ่า(วัว) ก่ออาชญากรรม เป้าหมายปลายทางคือฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ‘The Wizard of Oz’ แต่แท้จริงแล้วปารี่ ปารีส ไม่ต่างอะไรจากปาหี่

Touki Bouki (1973) ไม่ใช่แค่หมุดหมายสำคัญต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่ยังคือมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์โลก! ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากการลองผิดลองถูกของผกก. Mambéty ไม่เคยร่ำเรียน(ภาพยนตร์)จากแห่งหนไหน ทำการผสมผสานวิถีชีวิต แนวคิด ศิลปะ(แอฟริกัน) พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ในรูปแบบของตนเอง แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร อาจต้องดูหลายครั้งหน่อยถึงสามารถทำความเข้าใจ

Djibril Diop Mambéty’s ‘Touki Bouki’ is a landmark of world cinema, a bold and inventive work that challenges narrative conventions and offers a powerful exploration of cultural identity.

Richard Brody นักวิจารณ์จากนิตยสาร The New Yorker

Touki Bouki is an explosion of filmic energy. It announces the arrival of a new cinema language with its breathless fusion of African, European, and American sensibilities.

ผู้กำกับ Bong Joon-ho

ในขณะที่ผู้กำกับแอฟริกันร่วมรุ่นอย่าง Ousmane Sembène (ฺBlack Girl), Med Hondo (Soleil Ô) มักสรรค์สร้างผลงานต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism), ผกก. Mambéty ได้ทำสิ่งแตกต่างออกไป นั่นคือการเดินทางเพื่อออกค้นหาอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความหมายชีวิต ตอนจบแทนที่ตัวละครจะขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส กลับเลือกปักหลักใช้ชีวิตใน Senegal ทำไมฉันต้องดำเนินรอยตามอุดมคติเพ้อฝันที่ถูกปลูกฝัง/ล้างสมองโดยพวกจักรวรรดินิยม

Touki Bouki is an African film made by an African for Africans. It is a call to Africans to take their destiny into their own hands, to stop being the victims of colonization and become masters of their own lives.

Djibril Diop Mambéty

ผมรู้สึกว่าการรับชม Touki Bouki (1973) ต่อเนื่องจาก Black Girl (1966) และ Soleil Ô (1970) มีความจำเป็นอย่างมากๆสำหรับคนที่ไม่รับรู้ประวัติศาสตร์แอฟริกัน เพราะทำให้ตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ฝรั่งเศส เพราะเคยเป็นเจ้าของอาณานิคม Senegal (และอีกหลายๆประเทศในแอฟริกา) จึงพยายามปลูกฝังแนวคิด เสี้ยมสอนอุดมคติ ชวนเชื่อว่าฝรั่งเศสคือสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ไม่ต่างสหรัฐอเมริกาพยายามสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ‘American Dream’) แต่ในความเป็นจริงนั้น …

Over the Rainbow ของ Judy Garland ชิดซ้ายไปเลยเมื่อเทียบกับบทเพลง Paris, Paris, Paris ของ Joséphine Baker ถึงรับฟังภาษาฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อไหร่ได้ยินท่อนฮุค ปารี่ ปารี ปารีส มันสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ สัมผัสได้ถึงความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ชวนเชื่อจอมปลอม เต็มไปด้วยคำกลับกลอก ลวงหลอก นั่นคือสภาพเป็นจริง ขุมนรกบนดิน ทำลายภาพจำสวยหรูที่ Amélie (2001) เคยปลูกฝังไว้ในจิตวิญญาณ

Djibril Diop Mambéty (1945-1998) นักกวี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Senegalese เกิดที่ Colobane ชานเมืองหลวง Dakar, Senegal ในครอบครัวมุสลิม ชนเผ่า Lebou แม้ฐานะยากจนแต่มักหาโอกาสรับชมภาพยนตร์ฉายกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน แค่เพียงฟังเสียงอยู่ข้างนอกก็ยังดี (นั่นคือหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เสียงในผลงานของ Mambéty มีความสำคัญอย่างมากๆ) โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano แต่ไม่ทันไรกลับถูกไล่ออกเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

แม้ไม่เคยร่ำเรียนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้วยความหลงใหลใน Italian Neorealist และ French New Wave เมื่อตอนอายุ 21 ปี ขอหยิบยืมกล้อง 16mm จาก French Cultural Centre ร่วมกับผองเพื่อนถ่ายทำหนังสั้น Badou Boy (1966) [แล้วรีเมค Badou Boy (1970)] บันทึกการเดินทางของชายหนุ่ม Badou Boy ตามท้องถนนหนทางเมือง Dakar [น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Borom Sarret (1963) ของ Ousmane Sembène] เข้าฉายเทศกาลหนัง Mondial des Arts Nègres (จัดที่ Dakar) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

โปรเจคถัดไปคือหนังสั้น Contras’ City (1968) แปลว่า City of Contrasts ด้วยลักษณะ “City Symphony” ร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ ท้องถนน ตลาด มัสยิดเมือง Dakar เกือบทศวรรษภายหลังการได้รับอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1960 เก็บบันทึกไว้เป็น ‘Time Capsule’

เมื่อเริ่มมีประสบการณ์ทำงาน ก็ถึงเวลาที่ผกก. Mambéty ครุ่นคิดสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Touki Bouki (1973) นำเอาส่วนผสมจากทั้ง Badou Boy และ Contras’ City มาพัฒนาต่อยอด ขยับขยายเรื่องราว นำเสนอการเดินทางของหนุ่ม-สาว ร่วมก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เป้าหมายปลายทางเพื่อหาเงินขึ้นเรือสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน อุดมคติที่ถูกปลูกฝัง

With ‘Touki Bouki,’ I wanted to capture the essence of the youth in Dakar at that time, their desires, their dreams, and their frustrations. It was important for me to portray the struggles and contradictions of post-colonial Africa.

Djibril Diop Mambéty

หนังใช้งบประมาณเพียง $30,000 เหรียญ สนับสนุนจากกระทรวงสารสนเทศ (Senegalese Ministry of Information) และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ (Senegalese Radio and Television) ปฏิเสธความร่วมมือใดๆจาก Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema (CNC) องค์กรภาพยนตร์ที่ฝรั่งเศสจัดตั้งทิ้งไว้(ตั้งแต่ก่อนปลดแอก)สำหรับให้ความช่วยเหลือวงการภาพยนตร์ (แต่แท้จริงแล้วคอยตรวจสอบ คัดกรอง เซนเซอร์ ปฏิเสธผลงานที่เป็นภัยคุกคาม)


เรื่องราวของ Mory ไอ้หนุ่มเลี้ยงวัว ขับมอเตอร์ไซค์ฮ่าง แขวนกระโหลกศีรษะกระทิงไว้หน้ารถ (คาราบาวชัดๆเลยนะ) นัดพบเจอ Anta นักศึกษาสาว พรอดรักหลับนอน วาดฝันต้องการออกไปจากถิ่นทุรกันดาร ทวีปแอฟริกาแห่งนี้ มุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

แต่การจะขึ้นเรือไปยังดินแดนหลังสายรุ้ง จำต้องใช้เงินมหาศาล พวกเขาจึงพยายามหาวิธีการ เล่นพนัน ลักขโมย ในที่สุดสามารถล่อหลอกเศรษฐีเกย์ Charlie เปลี่ยนมาแต่งหรู ขับรถเปิดประทุน หลังซื้อตั๋วขึ้นเรือ ใกล้ถึงเวลาออกเดินทาง Mory กลับเกิดอาการโล้เลลังเล ก่อนตัดสินใจทอดทิ้ง Anta เลือกปักหลักอาศัยอยู่เซเนกัล ไม่รู้เหมือนกันอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น


สำหรับสองนักแสดงนำหลัก Magaye Niang (รับบท Mory) และ Mareme Niang (รับบท Anta) ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกันนะครับ ฝ่ายชายคือไอ้หนุ่มเลี้ยงวัว ฝ่ายหญิงเป็นนักศึกษาสาว ตามบทบาทของพวกเขา ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง (Non-Professional) ซึ่งเอาจริงๆก็แทบไม่ได้ต้องใช้ความสามารถใดๆ เพียงขยับเคลื่อนไหว กระทำสิ่งต่างๆตามคำแนะนำผู้กำกับเท่านั้นเอง … ผกก. Mambéty เพียงต้องการความเป็นธรรมชาติ และจับต้องได้ของนักแสดง เพื่อให้ทั้งสองเป็นตัวแทนคนหนุ่ม-สาว ชาวแอฟริกัน ที่ยังถูกครอบงำโดยอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม แต่ก็พยายามหาหนทางดิ้นหลุดพ้น ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวตนเอง

แม้คู่พระนางอาจไม่มีอะไรให้น่าจดจำ แต่ผกก. Mambéty ก็แทรกสองตัวละครสมทบ Aunt Oumy และเศรษฐีเกย์ Charlie สามารถแย่งซีน สร้างสีสันให้หนังได้ไม่น้อย

  • Aunt Oumy (รับบทโดย Aminata Fall) ป้าของ Anta เป็นคนปากเปียกปากแฉะ ไม่ชอบขี้หน้าพบเห็น Mory ทำตัวไม่เอาอ่าวก็ตำหนิต่อว่าต่อขาน แต่หลังจากแต่งตัวโก้ ขับรถหรู พร้อมแจกเงิน เลยเปลี่ยนมาสรรเสริญเยินยอ ขับร้องเพลงเชิดหน้าชูตา มันช่างกลับกลอกปอกลอกเกินเยียวยา
    • Aminata Fall (1930-2002) คือนักร้อง/นักแสดงชาว Senegalese รับรู้จัก Mambéty ตั้งแต่ตอนเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano ประทับใจในความสามารถโดยเฉพาะการขับร้องเพลง เมื่อมีโอกาสเลยชักชวนมาร่วมงานภาพยนตร์ บทบาทที่ต้องถือว่าเต็มไปด้วยสีสัน ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ สะท้อนเสียดสีพฤติกรรมชาวแอฟริกันได้อย่างแสบสันต์
  • Charlie (รับบทโดย Ousseynou Diop) เศรษฐีเกย์ เจ้าของคฤหาสถ์หรู เหมือนจะเคยรับรู้จัก Mory พอสบโอกาสเมื่ออีกฝ่ายมาขอความช่วยเหลือด้านการเงิน จึงฉุดกระชากลากพาเข้าห้อง ระหว่างกำลังอาบน้ำเตรียมพร้อม กลับออกมาตัวเปล่าล่อนจ้อน ทำได้เพียงโทรศัพท์ของความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งล้วนเป็นอดีตคู่ขาของเธอแทบทั้งนั้น
    • ตัวละครนี้แม้เป็นชาว Senegalese/แอฟริกัน แต่กลับมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากฝรั่งเศส/ลัทธิอาณานิคม คือสนเพียงจะครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาได้กระทั่งพวกพ้อง (ร่วมรักกับ)เพศเดียวกัน
    • บางคนอาจตีความตัวละครนี้ สื่อแทนความคอรัปชั่นภายในของแอฟริกัน ที่ยังได้รับอิทธิพล ถูกควบคุมครอบงำโดยอดีตจักรวรรดิอาณานิคม/ฝรั่งเศส ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง

เกร็ด: ใครอยากรับชมความเป็นไปของนักแสดง 40 ปีให้หลัง ลองหารับชมสารคดี Mille Soleils (2013) แปลว่า A Thousand Suns กำกับโดย Mati Diop หลานสาวผกก. Djibril Diop Mambéty จะพบเห็น Magaye Niang ยังคงเป็นคนเลี้ยงวัวอยู่ Dakar, ส่วน Mareme Niang ไม่ได้ปรากฏตัวแต่เห็นว่าอพยพย้ายสู่ยุโรปแบบเดียวกับตัวละคร


ถ่ายภาพโดย Pap Samba Sow, Georges Bracher

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยเทคนิค ลวดลีลา ภาษาภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่เฉดสีสันเหลือง-ส้ม ดูคล้ายสีลูกรัง-ดินแดง แทนผืนแผ่นดินแอฟริกัน, ลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง แพนนิ่ง ซูมมิ่ง มุมก้ม-เงย ดูผิดแผกแตกต่าง แสดงความเป็นวัยสะรุ่น คนหนุ่มสาว เอ่อล้นพลังงาน เต็มเปี่ยมชีวิตชีวา

สิ่งน่าสนใจที่สุดก็คือการร้อยเรียงวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ผู้คนในเมือง Dakar, Senegal รวมถึงภาพเชิงสัญลักษณ์ เกือบๆจะเรียกว่าเหนือจริง (Surrealist) มีทั้งปรากฎพบเห็นซ้ำๆ อาทิ เชือดวัว หัวกระโหลก ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์, หรือใช้แทนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่าง คลื่นลมซัดกระแทกเข้าหาฝั่ง (ระหว่างหนุ่ม-สาว กำลังร่วมเพศสัมพันธ์)

นักวิจารณ์แทบทั้งนั้นให้คำชื่นชมงานภาพของหนัง เป็นสิ่งที่ผู้ชม(ชาวตะวันตก)สมัยก่อนแทบไม่เคยพบเห็น [ฟังดูคล้ายๆ The River (1951) ของผกก. Jean Renoir] สามารถแปรสภาพ Dakar ให้กลายเป็นดินแดนลึกลับ แต่มีความโรแมนติก ชวนให้ลุ่มหลงใหล แบบเดียวกับ Casablanca และ Algiers

The dazzling visuals feature a smorgasbord of disorienting, poetic, and symbolic images that look like nothing you’ve ever seen before.

นักวิจารณ์ Jonathan Rosenbaum

แค่ฉากแรกหลายคนก็อาจทนดูไม่ไหวแล้ว! เราสามารถเปรียบเทียบเจ้าวัวเขาแหลมยาวใหญ่ (สายพันธุ์ Ankole-Watusi หรือ Watisu Cow) คือตัวแทนชาวแอฟริกัน ถูกลากเข้าโรงเชือด สามารถสื่อถึงพฤติกรรมจักรวรรดิอาณานิคม /ฝรั่งเศส เลี้ยงเพาะพันธุ์(ชาวแอฟริกัน)ไว้สำหรับทำประโยชน์ใช้สอย

เกร็ด: การมีเขาแหลมยาวใหญ่ (ภายในมีลักษณะกลวงเป็นโพรง แต่มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง ไว้สำหรับต่อสู้และระบายความร้อน) ถือเป็นลักษณะเด่นของวัวสายพันธุ์ Watisu พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา มีความทนทรหด สามารถอดน้ำ กินหญ้าคุณภาพต่ำ ชาวอียิปต์โบราณนิยมเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคเนิ้อและนมมาแต่ตั้งแต่โบราณกาล

การนำเสนอฉากเชือดวัว เป็นลักษณะของการยั่วยุ (provocation) ในเชิงสัญลักษณ์ ปลุกเร้าความรู้สึกชาวแอฟริกัน (ที่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจ) ให้เกิดความเกรี้ยวกราด หวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว ตระหนักว่าตนเองมีสภาพไม่ต่างจากเจ้าวัว ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบให้พวก(อดีต)จักรวรรดิอาณานิคมอีกต่อไป

และสังเกตว่าขณะลากจูงวัว จะได้ยินเสียงขลุ่ย Fula flute แทนวิถีธรรมชาติของชาวแอฟริกัน แต่พอตัดเข้ามาในโรงฆ่าสัตว์ กลับเป็นเสียงจักรกล ผู้คน วัวกรีดร้อง อะไรก็ไม่รู้แสบแก้วหูไปหมด มันช่างมีความแตกต่างตรงกันข้าม ราวกับโลกคนละใบ … เหมือนเป็นการบอกใบ้ด้วยว่าโรงเชือดแห่งนี้คือสภาพเป็นจริงของฝรั่งเศส สถานที่ใครๆขวนขวายไขว่คว้า อุดมคติที่ใครๆต่างเพ้อใฝ่ฝัน

ช็อตสวยๆนำเสนอความเหลื่อมล้ำในประเทศเซเนกัล กำลังพบเห็นได้อย่างชัดเจนหลังการประกาศอิสรภาพ (post-independence) ระหว่างสลัมเบื้องล่าง vs. ตึกระฟ้าสูงใหญ่กำลังก่อสร้าง

นอกจากภาพในช็อตเดียว ช่วงกลางเรื่องหลังจาก Mory & Anta ลักขโมยหีบสมบัติ แท็กซี่ขับผ่านคฤหาสถ์หรู สถานที่อยู่ของคนมีเงิน แต่บ้านพักแท้จริงของพวกเขาเมื่อขับเลยมา พบเห็นทุ่งหญ้ารกร้าง อาคารสร้างไม่เสร็จ ถูกทอดทิ้งขว้าง นี่ก็แสดงให้ถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ช่องว่างกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

บางคนอาจมองว่าพฤติกรรมของ Anta คือความเห็นแก่ตัว แต่การซื้อของแล้วไม่จ่ายเงิน นั่นก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นเดียวกัน … ซีนเล็กๆนี้สะท้อนอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมได้ชัดเจนทีเดียว กล่าวคือ

  • ชาวแอฟริกันดั้งเดิมนั้นมีมิตรไมตรี หยิบยืม ติดหนี้เล็กๆน้อยๆ ก็ไม่ติดใจอะไรว่าความ
  • Anta คือหญิงสาวที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม เงินทองคือเรื่องสลักสำคัญ (รวมถึงฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน) เล็กๆน้อยๆเลยยินยอมความกันไม่ได้

ลามปามไปถึงฉากถัดมา ผมไม่แน่ใจว่าป้า Oumy ตบตีแย่งน้ำกับเพื่อนคนนี้เลยหรือเปล่า รายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางจิตสามัญสำนึกของชาวเซเนกัล ตั้งแต่หลังประกาศอิสรภาพ (post-independence)

ระหว่างรับชม ผมครุ่นคิดว่าการถูกเชือกคล้องคอของ Mory สามารถเปรียบเทียบเหมือนวัวที่กำลังจะถูกเชือด (แบบเดียวกับฉากโรงเชือดก่อนหน้านี้) รวมถึงการโดนจับมัด พาขึ้นรถ แห่รอบเมือง มีการตัดสลับกับป้า Oumy กำลังเชือดวัวทำอาหารกลางวัน เป็นการนำเสนอคู่ขนานล่อหลอกผู้ชมได้อย่างแนบเนียนฉะมัด!

แต่หลังจากดูหนังจบ ฉากนี้ยังสามารถมองเป็นคำพยากรณ์ ลางสังหรณ์ บอกใบ้อนาคตของ Mory ถ้าตัดสินใจขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส อาจประสบโชคชะตากรรมลักษณะนี้ … ตลอดทั้งเรื่องจะมีหลายๆเหตุการณ์ดูคล้ายนิมิต ลางบางเหตุเกิดขึ้นกับ Mory ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจไม่ขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส

กระโหลกเขาวัวติดตั้งไว้บริเวณหน้ารถมอเตอร์ไซด์ฮ่าง (เพื่อสื่อถึงการเดินทางของ Mory = ชาวแอฟริกัน = วัวสายพันธุ์ Watisu) เบาะด้านหลังมีพนักทำจากเสาอากาศ ลักษณะคล้าย Dogon cross (หรือ Nommo cross) ของชนเผ่าชาว Malian ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ภาวะเจริญพันธุ์ (fertility) ด้วยเหตุนี้การที่ Anta เอื้อมมือจับ ย่อมสื่อถึงกำลังร่วมเพศสัมพันธ์

ไฮไลท์ของซีเควนซ์นี้คือภาพคลื่นซัดชายฝั่ง มันจะมีขณะหนึ่งที่โขดหินดูเหมือนปากอ่าว/ช่องคลอด น้ำทะเล(อสุจิ)กำลังเคลื่อนไหล กระแทกกระทั้นเข้าไป … พอจินตนาการออกไหมว่าสามารถสื่อถึงการร่วมเพศสัมพันธ์!

Mory เตรียมจะโยนบ่วงคล้อง หนังตัดภาพฝูงวัว นั่นทำให้ผู้ชมครุ่นคิดว่าเขาคงกำลังจะลักขโมยวัวไปขาย แต่ที่ไหนได้กลับคล้องคอรถมอเตอร์ไซด์ฮ่าง (ที่มีกระโหลกเขาวัวแขวนอยู่เบื้องหน้า) … หลายต่อหลายครั้งที่หนังพยายามล่อหลอกผู้ชมด้วยลีลาภาษาภาพยนตร์ แต่ความจริงกลับเป็นคนละสิ่งอย่าง ผมครุ่นคิดว่าสามารถเหมารวมถึงการชวนเชื่อปลูกฝังจากจักรวรรดิอาณานิคม ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ความจริงนั้นมันอาจคือขุมนรก โรงเชือด คำโป้ปดหลอกลวงเท่านั้นเอง)

พนันขันต่อ คือวิธีรวยทางลัด ง่ายที่สุดในการหาเงิน แต่เหมือนว่าโชคชะตาของ Mory จะพยายามบอกใบ้ จงใจให้เขาไม่สามารถเอาชนะ จึงต้องออกวิ่งหลบหนี(เจ้าหนี้)หัวซุกหัวซุน เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด … ฉากนี้สามารถตีความได้ทั้งรูปธรรม-นามธรรม นำเสนอหนึ่งในอุปนิสัยเสียของชาวแอฟริกัน(ทั้งๆไม่มีเงินแต่กลับ)ชื่นชอบพนันขันต่อ ขณะเดียวกันยังแฝงนัยยะถึงการเดินทางสู่ฝรั่งเศส เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง แต่ในความเป็นจริงเพียงการเสี่ยงโชค ไปตายเอาดาบหน้า ไม่ต่างจากการวัดดวง/พนันขันต่อนี้สักเท่าไหร่

แซว: การเปิดไพ่ Queen แล้วหมายถึงผู้แพ้ มันแอบสื่อนัยยะถึง …

เจ้าหน้าที่รับสินบท นี่เป็นสิ่งพบเห็นอยู่สองสามครั้งในหนัง แสดงว่ามันเป็นสิ่งฝังรากลึกในจิตวิญญาณชาว Senegalese/แอฟริกันไปแล้วละ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม ความมีอภิสิทธิ์ชนของพวกฝรั่งเศส เป็นต้นแบบอย่างความคอรัปชั่นได้อย่างชัดเจน

Where’s Wally? หากันพบเจอไหมเอ่ยคู่พระนาง Mory & Anta นั่งอยู่แห่งหนไหนกัน?

นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ Mory & Anta ลักขโมยหีบสมบัติจากสนามมวยปล้ำ Iba Mar Diop Stadium แต่เมื่อเปิดออกมากลับพบเห็นโครงกระดูก กระโหลกศีรษะ พร้อมได้ยินเสียงอีแร้งกา เหล่านี้ล้วนสัญลักษณ์ความตาย ลางบอกเหตุร้าย ให้ทั้งสอดหยุดความพยายามหาเงินออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส … เพราะอาจถูกเชือด และหลงเหลือสภาพเหมือนบุคคลนี้

หนังแอบแทรกคำอธิบายไว้เล็กๆผ่านเสียงอ่านข่าวจากวิทยุ ว่าชนเผ่า Lebou จัดกิจกรรมมวยปล้ำครั้งนี้เพื่อเป็นการระดมทุนสร้างอนุสรณ์สถานให้กับ Charles de Gaulle (1890-1970) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1970 … นี่อาจเป็นกระโหลกศีรษะของ de Gaulle กระมัง??

เกร็ด: เมื่อตอนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Charles de Gaulle คือบุคคลลงนามมอบอิสรภาพให้เซเนกัล และหลายๆประเทศในทวีปแอฟริกา

วินาทีที่ Mory เหม่อมองเห็นประภาคาร (ใครเคยรับชม The Lighthouse (2019) น่าจะตระหนักถึงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ตั้งตระหง่านโด่เด่เหมือนลึงค์/อวัยวะเพศชาย) จากนั้นฝูงนกโบยบินขึ้นท้องฟ้า (สัญลักษณ์ของการปลดปล่อยอิสรภาพ/น้ำกาม) เสียง Sound Effect ดังระยิบระยับ (ราวกับเสียงสวรรค์ ถึงจุดสูงสุด ไคลน์แม็กซ์)

เหล่านั้นเองทำให้เขาหวนนึกถึงเศรษฐี(เกย์)คนหนึ่ง มีคฤหาสถ์หรูอยู่ไม่ไกล ครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย แต่ก่อนจะออกเดินทางไป ขอแวะถ่ายท้องสักแปป แล้วภาพตัดมาโขดหินท่ามกลางคลื่นซัดพา (ลักษณะของโขดหิน ช่างดูละม้ายคล้ายก้อนอุจจาระ) จากนั้นกล้องค่อยๆซูมถอยหลังออกมา … ทั้งหมดนี้ล้วนบอกใบ้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับประตูหลัง

ท่วงท่าการโยนช่างมีความละม้ายคล้ายกันยิ่งนัก แต่เปลี่ยนจากบ่วงคล้องคอวัว มาทอดแหดักปลา นี่คือลักษณะการแปรสภาพของสิ่งสัญลักษณ์ แต่เคลือบแฝงนัยยะเดียวกัน

  • โยนบ่วงคล้องคอวัว เปรียบดั่งฝรั่งเศสล่าอาณานิคมเซเนกัล/ชาวแอฟริกัน
  • ส่วนการทอดแห สามารถสื่อถึงเศรษฐีเกย์ Charlie พยายามล่อหลอก ดักจับ Mory ร่วมรักประตูหลัง

พฤติกรรมของเศรษฐีเกย์ Charlie อย่างที่ผมเปรียบเทียบไปแล้วว่าไม่แตกต่างจากพวกลัทธิอาณานิคม เป้าหมายคือครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาได้กระทั่งพวกพ้อง ฉันท์ใดฉันท์นั้น โยนบ่วง=ทอดแห สังเกตว่าช็อตถัดๆมา Mory ราวกับติดอยู่ในบ่วงแห่

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดภาพวาดในห้องของ Charlie แต่มีลักษณะของ African Art และสังเกตว่าทั้งหมดล้วนเป็นภาพนู้ด สื่อถึงรสนิยมทางเพศตัวละครได้อย่างชัดเจน

เสื้อผ้าคือสิ่งแสดงวิทยฐานะบุคคล นั่นน่าจะเป็นเหตุผลให้ Mory ตัดสินใจลักขโมยเครื่องแต่งกายของ Charlie ซึ่งมีความหรูหรา เทรนด์แฟชั่น น่าจะราคาแพง ระหว่างเดินทางกลับเข้าเมือง ก็ปลดเปลื้องเปลือยกายล่อนจ้อน ป่าวประกาศให้โลกรับรู้ถึงอิสรภาพชีวิต

พอดิบพอดีกับการตัดสลับเคียงคู่ขนาน Anta ขับรถมอเตอร์ไซด์ฮ้างไปจอดทิ้งไว้ข้างทาง (มีคนป่ามารับช่วงต่อ) ไม่เอาอีกแล้ววิถีแอฟริกัน เตรียมพร้อมออกเดินทางมุ่งสู่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่ามีใครเดินทางมาเยี่ยมเยียนเซเนกัลช่วงปีนั้น เพราะนี่ดูเหมือนขบวนต้อนรับมากกว่าพิธีไว้อาลัย Memorial ให้ประธานาธิบดี Charles de Gaulle และลีลาการตัดต่อที่นำเสนอคู่ขนานกับ Mory & Anta แต่งตัวหรู โบกไม้โบกมือ ทำตัวราวกับพระราชา

นี่ไม่ใช่แค่การเสียดสีนิสัยแย่ๆ สันดานเสียๆ ของชาวแอฟริกันเท่านั้นนะครับ แต่ใครกันละที่เข้ามาปลูกฝังความคิด สร้างค่านิยมอุดมคติ ล้างสมองชวนเชื่อ เงินทองสามารถซื้อความสุขสบาย ร่ำรวยคือทุกสิ่งอย่าง ไม่ต่างจากฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน … มันขำออกเสียที่ไหนกัน

ลวดลายทางขาว-ดำ ของรูปภาพสรรพสัตว์บนฝาผนัง น่าจะสื่อถึงความกลับกลอกสองหน้าของชนชั้นผู้นำแอฟริกัน ซึ่งการที่เศรษฐีเกย์ Charlie โทรศัพท์ติดต่อหาตำรวจ แทนที่จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รับสาย กลับพยายามขอคุยกับหัวหน้า/คนเคยค้าม้าเคยขี่ สารพัดรายชื่อเอ่ยมาน่าจะเคยร่วมเพศสัมพันธ์กัน … แฝงนัยยะอ้อมๆถึงบรรดารัฐบาลบริหารประเทศ ทั้งๆได้รับการปลดแอก กลับยังคอยเลียแข้งเลียขาฝรั่งเศส

แซว: หัวหน้าแผนก Djibril Diop เสียงปลายสายที่ได้ยินก็คือ ผกก. Mambéty

ผมอ่านพบเจอว่าระหว่างโปรดักชั่น ผกก. Mambéty ถูกตำรวจจับกุมที่กรุง Rome ข้อหาเข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านการเหยียดผิว (Anti-Racism) ได้รับการประกันตัวโดยทนายจาก Italian Communist Party ซึ่งมีเพื่อนร่วมวงการอย่าง Bernardo Bertolucci และ Sophia Loren ให้การค้ำประกัน … นี่กระมังคือเหตุผลการกล่าวอ้างถึง Italian Communist Party

จริงๆฉากนี้ชาวฝรั่งเศสทั้งสองถกเถียงกันเรื่องทั่วๆไป ค่าจ้าง ค่าแรง ความล้าหลัง ศิลปะแอฟริกัน ฯ มันมีความจำเป็นอะไรในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเซเนกัล … เป็นวิธีพูดขับไล่พวกฝรั่งเศส โดยคนฝรั่งเศสด้วยกันเอง ได้อย่างแนบเนียนโคตรๆ

วินาทีที่กำลังจะก้าวขึ้นเรือ Mory เกิดอาการหยุดชะงักหลังได้ยินเสียงหวูดเรือ สัญญาณเตือนให้เร่งรีบขึ้นเรือ แต่พอหนังตัดภาพให้เห็นเจ้าวัวกำลังถูกลากเข้าโรงเชือด ผมเกิดความตระหนักว่า เสียงหวูดเรือมันช่างละม้ายเสียงร้องของเจ้าวัว นี่กระมังคือสาเหตุผล/ลางสังหรณ์/สัญญาณเตือนครั้งสุดท้าย ให้เขาเกิดความตระหนักว่า ‘อย่าลงเรือ’ เพราะโชคชะตาหลังจากนี้อาจลงเอยแบบเจ้าวัว ฝรั่งเศส=โรงเชือดสัตว์

Mory ตัดสินใจละทอดทิ้ง Anta แล้วออกวิ่งติดตามหามอเตอร์ไซด์ฮ้างคันโปรด ก่อนพบเจอประสบอุบัติเหตุอยู่กลางถนน กระโหลกเขาวัวแตกละเอียด ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง นั่งลงกึ่งกลางบันได ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรต่อไป … ผมตีความซีเควนซ์นี้ถึงการหวนกลับหารากเหง้า ตัวตนเอง หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เขาพบเจอกลับคือ Senegalese/แอฟริกันที่เกือบจะล่มสลาย (คนป่าประสบอุบัติเหตุปางตาย) เนื่องจากถูกกลืนกินโดยจักรวรรดิอาณานิคม จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นตัวของตนเองสักเท่าไหร่

ช่วงท้ายของหนังโดยเฉพาะช็อตนี้ มันมีความโคตรๆคลุมเคลือ เพราะผู้ชมสามารถวิเคราะห์ว่า

  • หนังต้องการร้อยเรียงชุดภาพที่เป็นการหวนกลับหาจุดเริ่มต้น จึงพบเห็น Mory & Anta พรอดรักริมหน้าผา และเด็กๆต้อนฝูงวัวผ่านหน้ากล้อง (แบบเดียวกับที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้า) … นี่จะทำให้เราสามารถตีความว่า Anta อาจจะออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ขณะเดียวกันยังสามารถมองว่า Anta ตัดสินใจขนของลงจากเรือ หวนกลับหา Mory แล้วมาพรอดรักริมหน้าผา ปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรูหรา ระหว่างจับจ้องมองเรือโดยสารแล่นออกจากท่า

ผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักชื่นชอบการตีความแบบแรก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงหนทางแยกของ Mory ปักหลังอยู่เซเนกัล ขณะที่ Anta เลือกออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส, แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าความตั้งใจผกก. Mambéty น่าจะเป็นอย่างหลัง หนุ่ม-สาวต่างตัดสินใจละทอดทิ้งความเพ้อฝัน เนื่องจากฝ่ายชายเกิดความตระหนักถึงความจริงบางสิ่งอย่าง ส่วนฝ่ายหญิงก็เลือกติดตามชายคนรัก ไม่รู้จะเดินทางไปตายเอาดาบหน้าทำไม สอดคล้องวัตถุประสงค์ของหนังที่ต้องการหวนหารากเหง้า

แต่ยังไม่จบเท่านั้น ผกก. Mambéty ยังทอดทิ้งอีกปมปริศนากับภาพช็อตนี้ เรือลำเล็กกำลังแล่นออกจากฝั่ง หรือว่า Mory & Anta เกิดการเปลี่ยนใจ แล้วร่วมกันออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง … นี่อาจฟังดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่าผกก. Mambéty ต้องการสร้างความโคตรๆคลุมเคลือ ให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิด ค้นหาบทสรุปหนังด้วยตัวคุณเอง

ตัดต่อโดย Siro Asteni, Emma Mennenti

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสองหนุ่มสาว Mory และ Anta ร่วมกันออกเดินทางผจญภัย ทำตัวเหมือนไฮยีน่า (Hyena) ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เพื่อสรรหาเงินมาซื้อตั๋วลงเรือ มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

  • Mory และ Anta
    • Mory นำพาฝูงวัวมาขายให้โรงเชือด
    • จากนั้น Mory สร้างความวุ่นวายให้ Aunt Oumy ตบตีลูกค้าขาประจำระหว่างเดินทางไปตักน้ำ
    • ถูกผองเพื่อนกระทำร้ายร่างกาย จับมัดมือ พาขึ้นรถ
    • Anta เดินทางมาหา Mory ถูกป้า Oumy ล่อหลอกว่าหลานชายฆ่าตัวตาย
    • จากนั้น Mory และ Anta ร่วมรักกันบริเวณหน้าผา เพ้อใฝ่ฝันถึงอนาคต
  • การเดินทางโดยมอเตอร์ไซด์ฮ้างของ Mory และ Anta
    • ในตอนแรก Mory เหมือนจะครุ่นคิดลักขโมยฝูงวัว แต่ตัดสินใจทำไม่สำเร็จ
    • พบเห็นคนรับพนัน ลงเงินหลักพัน แพ้แล้ววิ่งหลบหนี
    • วางแผนปล้นสนามมวยปล้ำ แม้ทำสำเร็จแต่ของในกล่องกลับมีเพียงโครงกระดูก
    • Mory เดินทางไปหาเศรษฐีเกย์ Charlie ถูกพาตัวขึ้นห้อง เลยโจรกรรมเสื้อผ้า เงินทอง และรถหรูกลับบ้าน
  • มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางของ Mory และ Anta
    • ทั้งสองเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่งตัวโก้หรู แวะกลับหาป้า Oumy
    • จากนั้นซื้อตั๋วเรือโดยสาร เตรียมตัวออกเดินทางขึ้นเรือ
    • แต่แล้ว Mory ตัดสินใจวิ่งกลับมา หวนกลับหามอเตอร์ไซด์ฮ้าง ราวกับตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง

ลีลาการตัดต่อรับอิทธิพลเต็มๆจาก ‘Soviet Montage’ พบเห็นเทคนิคอย่าง Quick Cuts, Dynamic Cut, Jump Cut, นำเสนอคู่ขนาน (Juxtaposition) ตัดสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์, บางครั้งก็พยายามล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิด ด้วยภาพเชิงสัญลักษณ์บางอย่าง

ซีเควนซ์ที่ผมรู้สึกว่าโคตรๆน่าอึ่งทึ่ง คือฉากที่ Mory ถูกผองเพื่อนรุมกระทำร้ายร่างกาย จัดมัดพาขึ้นรถ ตัดสลับคู่ขนานป้า Oumy กำลังเชือดวัว (เหมือนจะสื่อว่า Mory กำลังถูกเข่นฆาตกรรม) จากนั้นพูดบอก Anta กล่าวอ้างว่าหลานชายกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย หญิงสาวจึงรีบวิ่งตรงไปบริเวณริมหน้าผา ทำท่าเหมือนกำลังจะกระโดดลงมา แล้วตัดภาพคลื่นกระทบชายฝั่ง (ชวนให้ครุ่นคิดว่าเธอคงฆ่าตัวตายตาม) สุดท้ายค่อยเฉลยว่าไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไร เป็นภาษาภาพยนตร์ที่ล่อหลอกผู้ชมได้อย่างสนิทใจ! … ล้อกับการชวนเชื่อฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน แท้จริงแล้วหาก็แค่ปาหี่เท่านั้นเอง


ในส่วนของเสียงและเพลงประกอบ ต้องชมเลยว่ามีความละเมียด ละเอียดอ่อน เต็มไปด้วยรายละเอียดที่แทบสามารถหลับตาฟังก็ยังดูหนังรู้เรื่อง! (อย่างที่บอกไปว่าตั้งแต่สมัยเด็ก ผกก. Mambéty บางครั้งไม่มีโอกาสเข้าดูหนังกลางแจ้ง เพียงสดับรับฟังเสียง นั่นคือแรงบันดาลใจให้เขามีความละเอียดอ่อนต่อการใช้เสียงและเพลงประกอบอย่างมากๆ)

I am deeply inspired by the power of music in storytelling. Music has a way of transcending language and connecting people on a universal level. In my films, I carefully select music that not only complements the narrative but also reflects the cultural and emotional landscapes of the characters.

Djibril Diop Mambéty

หนังไม่มีเครดิตเพลงประกอบ เพราะทุกบทเพลงถ้าไม่มาจากศิลปินมีชื่อ (Josephine Baker, Mado Robin, Aminata Fall) ก็ท่วงทำนอง/ดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน (หลักๆคือเครื่องดนตรี Peul flute/Fula flute และกลอง Sabra Drum) ผสมผสานคลุกเคล้าให้เข้ากับ ‘Sound Effect’ เสียงรถรา แร้งกา คลื่นลม ผู้คน โรงฆ่าสัตว์ ฯ เพื่อให้เกิดมิติเกี่ยวกับเสียง สามารถเพิ่มประสบการณ์ กระตุ้นเร้าอารมณ์ ราวกับผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้น

Whether it’s traditional African rhythms, contemporary sounds, or a fusion of both, I believe that music can bring an added dimension to the cinematic experience, evoking emotions and immersing the audience in the world I am creating.

Music has a unique power to evoke emotions, memories, and cultural connections. In my films, I strive to find the right balance between traditional Senegalese music and contemporary sounds, to reflect the complexities of our society and the tensions between the past and the present.


เริ่มต้นขอกล่าวถึงอีกสักครั้ง Paris, Paris, Paris (1949) แต่งทำนองโดย Agustín Lara, คำร้องโดย Georges Tabet, ขับร้อง/กลายเป็น ‘Signature’s Song’ ของ Joséphine Baker ชื่อจริง Freda Josephine Baker (1906-75) เกิดที่สหรัฐอเมริกา บิดา-มารดาต่างเคยเป็นทาสคนดำ/อินเดียนแดง สมัยเด็กเลยโดนดูถูกเหยียดผิวบ่อยครั้ง โตขึ้นเลยตัดสินใจอพยพสู่ Paris กลายเป็นนักร้อง-นักแสดงชาวอเมริกันประสบความสำเร็จสูงสุดในฝรั่งเศส

อ่านจากประวัติก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Baker จะมีมุมมองต่อฝรั่งเศส ประเทศทำให้เธอประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง ราวกับดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์ พาราไดซ์ เหมือนดั่งบทเพลง Paris, Paris, Paris

ต้นฉบับฝรั่งเศสแปลอังกฤษ
Ne me demandez pas si j’aime la grâce
Ne me demandez pas si j’aime Paris
Autant demander à un oiseau dans l’espace
S’il aime le ciel ou s’il aime son nid

Autant demander au marin qui voyage
S’il peut vivre sans la mer et le beau temps
Autant demander à une fleur sauvage
Si l’on peut vraiment se passer de printemps

Paris, Paris, Paris
C’est sur la Terre un coin de paradis
Paris, Paris, Paris,
De mes amours c’est lui le favori
Mais oui, mais oui, pardi
Ce que j’en dis on vous l’a déjà dit
Et c’est Paris, qui fait la parisienne
Qu’importe, qu’elle vienne du nord ou bien du midi
Et c’est aussi le charme et l’élégance
Et l’âme de la France
Tout cela, mais c’est Paris

Madame c’est votre Louvre si joli
(Paris, Paris, Paris)
C’est votre beau bijou d’un goût exquis
Mais oui, mais oui, pardi
C’est aussi votre généreux mari
Mais oui, Paris, c’est votre boucle blonde
Qu’on sait le mieux du monde coiffer avec fantaisie
Mais oui, Paris, c’est votre beau sourire
C’est tout ce qu’on désire
Tout cela, mais c’est Paris

Et c’est aussi le charme et l’élégance
Et l’âme de la France
Tout cela, mais c’est Paris
Don’t ask me if I love grace
Don’t ask me if I love Paris
It’s like asking a bird in space
If it loves the sky or its nest

It’s like asking a traveling sailor
If he can live without the sea and good weather
It’s like asking a wild flower
If one can truly do without spring

Paris, Paris, Paris
On Earth, it’s a corner of paradise
Paris, Paris, Paris
Of my loves, it’s the favorite one
Yes, indeed, of course
What I’m saying has already been said to you
And it’s Paris that makes the Parisian
No matter if she comes from the north or the south
And it’s also the charm and elegance
And the soul of France
All of that, but it’s Paris

Madam, it’s your beautiful Louvre
(Paris, Paris, Paris)
It’s your exquisite jewel
Yes, indeed, of course
It’s also your generous husband
Yes, indeed, Paris, it’s your golden curl
That is known as the best in the world, styled with fantasy
Yes, Paris, it’s your beautiful smile
It’s all that one desires
All of that, but it’s Paris

And it’s also the charm and elegance
And the soul of France
All of that, but it’s Paris

การรับชม Touki Bouki (1973) อาจทำให้มุมมองของคุณต่อ Paris, Paris, Paris ปรับเปลี่ยนแปลงไป เพราะถูกใช้เป็นบทเพลงชวนเชื่อฝรั่งเศสที่ดังขึ้นบ่อยครั้ง จนสร้างความตะหงิดๆ หงุดหงิด รำคาญใจ เหมือนมันมีลับเลศลมคมในอะไรบางอย่าง ซึ่งผมค่อยข้างเชื่อว่าผู้ชมจะเกิดความตระหนัก Paris แท้จริงแล้วเป็นเพียงคำลวงล่อหลอก หาใช่ดินแดนอุดมคติอย่างที่ใครต่อใครวาดฝันไว้

ยิ่งถ้าคุณเคยรับชม Black Girl (1966) จะพบเห็นสภาพความเป็นจริงของฝรั่งเศส ที่หญิงชาว Senegalese เดินทางไปปักหลักอาศัย กลายเป็นสาวรับใช้ มันหาใช่ดินแดนหลังสายรุ้งแบบ ‘The Wizard of Oz’ เลยสักกะนิด!

ระหว่างที่ Mory เดินทางมายังคฤหาสถ์หรูของเศรษฐีเกย์ Charlie ได้ยินบทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง Plaisir d’amour (Pleasure of Love) เป็นบทเพลงรักคลาสสิก แต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1784 โดย Jean-Paul-Égide Martini (1741–1816) นำคำร้องจากบทกวี Célestine ของ Jean-Pierre Claris de Florian (1755–1794)

ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Mado Robin ชื่อจริง Madeleine Marie Robin (1918-60) นักร้องเสียงโซปราโน สัญชาติฝรั่งเศส บันทึกเสียงบทเพลงนี้เมื่อปี ค.ศ. 1952

ผมครุ่นคิดว่าการเลือกบทเพลง Plaisir d’amour ไม่ใช่แค่บอกใบ้รสนิยมทางเพศของ Charlie แต่ยังอธิบายเหตุผลที่ Mory ไม่ได้ขึ้นเรือเดินทางสู่ Paris พร้อมกับ Anta เพราะหมดรัก หมดศรัทธา ทำลายคำสัญญาเคยให้ไว้ สายน้ำยังคงเคลื่อนไหล แต่จิตใจกลับผันแปรเปลี่ยนไป

ต้นฉบับฝรั่งเศสแปลอังกฤษ
Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.

J’ai tout quitté pour l’ingrate Sylvie,
Elle me quitte et prend un autre amant.
Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.

“Tant que cette eau coulera doucement
vers ce ruisseau qui borde la prairie,
je t’aimerai”, me répétait Sylvie,
l’eau coule encor, elle a changé pourtant.

Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.
The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

I gave up everything for ungrateful Sylvia,
She is leaving me for another lover.
The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

“As long as this water will run gently
Towards this brook which borders the meadow,
I will love you”, Sylvia told me repeatedly.
The water still runs, but she has changed.

The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

ตอนจบของหนังมีการเลือกบทเพลงที่เกินความคาดหมายมากๆๆ น่าเสียดายผมหาชื่อบทเพลงและศิลปินไม่ได้ แต่ครุ่นคิดว่าน่าจะสไตล์ดนตรี Funk เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ ความคิดฟุ้งๆของตัวละคร ร้อยเรียงชุดภาพที่มอบสัมผัสเวิ้งว่างเปล่า ก้าวเดินอย่างเคว้งคว้าง สื่อถึงชีวิตได้สูญเสียเป้าหมายปลายทาง ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายลง (ทอดทิ้ง)คนรักเคยครองคู่กัน ต่อจากนี้เลยยังไม่รู้โชคชะตาจะดำเนินไปเช่นไร

สองหนุ่มสาว Mory และ Anta ต่างมีความเพ้อใฝ่ฝัน ครุ่นคิดอยากไปจากถิ่นทุรกันดาร ทวีปแอฟริกาแห่งนี้ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เมื่อครั้น Senegal ยังเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) จึงร่วมกันผจญภัย ออกเดินทาง ขับมอเตอร์ไซด์ฮ่าง ใช้สารพัดวิธีลักขโมยเงิน ซื้อตั๋วโดยสาร แต่ระหว่างกำลังขึ้นเรือเตรียมออกเดินทาง … กลับแยกย้ายไปตามทิศทางใครทางมัน

หลายคนอาจรับรู้สึกว่ามันช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย อุตส่าห์เปลืองเนื้อเปลืองตัว ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เกือบสูญเสียความบริสุทธิ์ประตูหลัง แล้วเหตุไฉน Mory ถึงไม่ขึ้นเรือออกเดินทาง กลับมาจมปลักสถานที่แห่งนี้ทำไมกัน? นี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความ มันเหมือนตัวละคร (อวตารของผกก. Mambéty) ตระหนักข้อเท็จจริงบางสิ่งอย่าง ฝรั่งเศสอาจไม่ใช่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์อย่างที่ใครต่อใครเคยวาดฝัน

เป้าหมายของผกก. Mambéty ต้องการให้ชาว Senegalese/แอฟริกัน (โดยเฉพาะบรรดาพวกผู้สร้างภาพยนตร์) ละเลิกทำตัวเหมือนผู้เคราะห์ร้าย ตกเป็นเหยื่อ เอาแต่(สร้างภาพยนตร์)ต่อต้านลัทธิอาณานิคม ทำไมเราไม่หันมาย้อนมองกลับมาดูตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ‘ความเป็นแอฟริกัน’ นั่นต่างหากจักทำให้เรามีตัวตน ความเป็นตัวของตนเอง

I try to demystify and decolonize the image of Africa. We have been the victims of colonization for too long. It’s time for us to become the masters of our own lives, to write our own stories, and to redefine our identities on our own terms.

Djibril Diop Mambéty

ผมมองเหตุผลที่ Mory (และผกก. Mambéty) ตัดสินใจหวนกลับขึ้นฝั่งในมุมสุดโต่งสักนิด คืออาการหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว ไม่กล้าออกจาก ‘Safe Zone’ นั่นเพราะยุคสมัยนั้นมีภาพยนตร์ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) ผุดขึ้นมากมายยังกะดอกเห็น ทำให้ชาว Senegalese/แอฟริกัน ตระหนักรับรู้ธาตุแท้ตัวตนฝรั่งเศส/จักรวรรดิอาณานิคม สรวงสวรรค์ที่เคยกล่าวอ้างไม่เคยมีอยู่จริง แล้วทำไมเรายังขวนขวายไขว่คว้า ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อออกเดินทางสู่ดินแดนแห่งนั้นอยู่อีก! … การถือกำเนิดขึ้นของ Touki Bouki (1973) และผกก. Mambéty ถือว่าสะท้อนอิทธิพลภาพยนตร์แอฟริกันยุคหลังประกาศอิสรภาพ (post-independence) ได้อย่างชัดเจน

สำหรับ Anta การออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสของเธอนั้น หลายคนอาจมองว่าเป็นการนำเสนอมุมมองตรงกันข้ามกับ Mory ลุ่มหลงงมงาย ยึดถือมั่นในมายาคติ แต่ขณะเดียวกันยังสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ เพราะสถานะสตรีเพศในทวีปแอฟริกา ไม่แตกต่างจากแนวคิดอาณานิคม (มีคำเรียกปิตาธิปไตย, Patriarchy สังคมชายเป็นใหญ่) ยังคงถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ไร้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ … การเดินทางของเธอจึงแม้อาจเป็นการมุ่งสู่ขุมนรก แต่คือการดิ้นหลุดพ้นจากพันธนาการทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์

แนวคิดของผกก. Mambéty ในแง่ศิลปะวัฒนธรรม มันคือการอนุรักษ์ รักษาอัตลักษณ์ ความเป็นชนเผ่า-ชุมชน-ประเทศ-ทวีป แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค สามารถสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สืบสานต่อยอดให้มั่นคงยั่งยืน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยะ

แต่ในแง่มุมอื่นๆผมว่าไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป จนถึงปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกายังคงล้าหลัง ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ประชาชนอดอยากปากแห้ง ขาดแคลนอาหาร-น้ำดื่ม-ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค-บริโภค ไร้งานไร้เงิน ไร้การเหลียวแลจากนานาอารยะ เฉกเช่นนั้นแล้วการแสวงหาโอกาสต่างแดน ขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส มันอาจเป็นสรวงสวรรค์ที่จับต้องได้มากกว่า!

ชื่อหนัง Touki Bouki เป็นภาษา Wolof แปลว่า The Journey of the Hyena สำหรับคนที่รับรู้จักเจ้าไฮยีน่า มันคือศัตรูตัวฉกาจของฝูงวัว เอาจริงๆควรสื่อถึงฝรั่งเศส/จักรวรรดิอาณานิคม แต่ผกก. Mambéty กลับเปรียบเทียบการผจญภัยของคู่รักหนุ่ม-สาว Mory & Anta พฤติกรรมพวกเขาไม่แตกต่างจากเจ้าหมาล่าเศษเนื้อ มันช่างขัดย้อนแย้งสัญญะที่ปรากฎอยู่ในหนังอย่างสิ้นเชิง! … แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผกก. Mambéty ทำการล่อหลอกผู้ชมนะครับ ตลอดทั้งเรื่องก็มีการใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างหนึ่ง แต่นัยยะความหมายอีกอย่างหนึ่ง นับครั้งไม่ถ้วน!

The hyena is an African animal. It never kills. The hyena is falsehood, a caricature of man. The hyena comes out only at night; he is afraid of daylight, like the hero of Touki Bouki-he does not want to see daylight, he does not want to see himself by daylight, so he always travels at night. He is a liar, the hyena. The hyena is a permanent presence in humans, and that is why man will never be perfect. The hyena has no sense of shame, but it represents nudity, which is the shame of human beings.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะผสมๆ คงเพราะผู้ชมส่วนใหญ่คงดูไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากติดตามต่อด้วยเทศกาล Moscow International Film Festival คว้ารางวัลนักวิจารณ์ FIPRESCI Prize นี่ก็แสดงว่าชาวรัสเซีย สามารถเข้าถึงความลุ่มลึกล้ำ ตระหนักถึงอัจฉริยภาพผกก. Mambéty

(สำหรับหนังที่มีลีลาตัดต่อมึนๆเช่นนี้ ไม่น่าแปลกใจจะสามารถเข้าถึงผู้ชมชาวรัสเซีย ประเทศต้นกำเนิดทฤษฎี ‘Montage’)

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 90 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ 66
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2012 อันดับ 72 (ร่วม)
  • Empire: The 100 Best Films Of World Cinema 2010 ติดอันดับ 52

ปัจจุบัน Contras’city (1968), Badou Boy (1970) และ Touki Bouki (1973) ต่างได้รับการบูรณะด้วยทุนสนับสนุนจาก World Cinema Foundation ของผู้กำกับ Martin Socrsese ทั้งหมดคุณภาพ 2K สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

หลายคนอาจรู้สึกว่าหนังเข้าถึงยาก มีความสลับซับซ้อน แต่ให้มองเป็นความท้าทาย ค่อยๆขบครุ่นคิด ทบทวนสิ่งต่างๆ เมื่อพบเจอคำตอบ ตระหนักเหตุผลที่ตัวละครปฏิเสธขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส นั่นเป็นสิ่งน่ายกย่องสรรเสริญ กล้าท้าทายขนบวิถีที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ล้างสมองโดยจักรวรรดิอาณานิคม … เป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่า อันดับหนึ่งของชาวแอฟริกันอย่างไร้ข้อกังขา!

จัดเรต 18+ กับภาพเชือดวัว การลักขโมย

คำโปรย | Touki Bouki การเดินทางค้นหาตัวตนเองของผู้กำกับ Djibril Diop Mambéty ปฏิเสธคล้อยตามอุดมคติชวนเชื่อจักรวรรดิอาณานิคม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ปารี่ ปารีส ปาหี่

Soleil Ô (1970)


Oh, Sun (1970) French, Mauritanian  : Med Hondo ♥♥♥♥

กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหาทำงาน ถูกปฏิเสธต่อต้าน ขับไล่ ผลักไส หวาดกลัวการรุกรานของ ‘Black Invasion’ นำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลาย ท้าทาย คล้ายศิลปะภาพแปะติด (Collage)

Hondo offers a stylistic collage to reflect the protagonist’s extremes of experience, from docudrama and musical numbers to slapstick absurdity, from dream sequences and bourgeois melodrama to political analyses.

Richard Brody นักวิจารณ์จาก The New Yorker

ขณะที่ Ousmane Sembène คือบุคคลแรกที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์แอฟริกัน จนได้รับฉายา “Father of African Cinema” แต่ลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์ ไม่ได้มีความแปลกใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นอะไรให้โลกตกตะลึง, Med Hondo ถือเป็นผู้กำกับคนแรกๆ(ของแอฟริกา) ที่พยายามรังสรรค์สร้างภาษาภาพยนตร์ในสไตล์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยได้รับคำยกย่อง “Founding Father of African Cinema” … แค่เพิ่มคำว่า Founding ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Hondo ถือว่ามีความสุดโต่ง บ้าระห่ำ ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย มากมายแนวทาง (Genre) อย่างที่นักวิจารณ์ Richard Brody ให้คำเรียกศิลปะภาพแปะติด (Collage) ยกตัวอย่าง

  • เริ่มต้นด้วยภาพอนิเมชั่นเคลื่อนไหว
  • ให้นักแสดงเล่นละคอนสมมติ ที่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์
  • บางครั้งทำออกมาในเชิงสารคดี มีการพูดคุย สัมภาษณ์ สอบถามความคิดเห็นบุคคลต่างๆ (มีการสบตาหน้ากล้อง)
  • ตัวละครนอนหลับฝัน จินตนาการเหตุการณ์ที่อาจบังเกิดขึ้น
  • เข้าห้องเรียน อาจารย์สอนทฤษฎี อธิบายแนวคิด วิเคราะห์การเมืองโน่นนี่นั่น
  • ระหว่างนั่งดื่ม ก็มีการร้องรำทำเพลง โดยเนื้อเพลงมักมีเนื้อหาที่สอดคล้อง เข้ากับหัวข้อขณะนั้นๆ

เอาจริงๆผมไม่รู้จะให้คำนิยาม เรียกสไตล์ผกก. Honda ว่ากระไรดี? เป็นความพยายามครุ่นคิดค้นหา พัฒนาภาษาสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน ซึ่งจะว่าไปสารพัดวิธีการดำเนินเรื่อง ดูสอดคล้องเข้าความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ในการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 มีผลงานของผกก. Hondo ติดอันดับถึงสองเรื่อง ประกอบด้วย

  • Soleil Ô (1970) ติดอันดับ 243 (ร่วม)
  • West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) ติดอันดับ 179 (ร่วม)

นี่การันตีถึงอิทธิพล ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ชมทั่วโลก แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า Soleil Ô (1970) มีความยากในการรับชมระดับสูงสุด (Veteran) ถ้าครึ่งชั่วโมงแรกคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจอะไร ก็อย่าเพิ่งเร่งรีบร้อน รอสะสมประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก

Soleil Ô แปลว่า Oh, Sun นำเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง กึ่งๆอัตชีวประวัติของผกก. Hondo ตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศส พบเห็นความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนผู้อพยพชาวแอฟริกัน เดินทางมาไล่ล่าความฝัน แต่กลับถูกพวกคนขาวกดขี่ข่มเหงสารพัด ไร้งาน ไร้เงิน แล้วจะชวนเชื่อให้พวกฉันมายังสรวงสวรรค์ขุมนรกแห่งนี้ทำไมกัน??

เกร็ด: Soleil Ô คือชื่อบทเพลงของชาว West Africa (หรือ West Indian) รำพันความทุกข์ทรมานจากการถูกจับ พาตัวขึ้นเรือ ออกเดินทางจาก Dahomey (ปัจจุบันคือประเทศ Benin) มุ่งสู่หมู่เกาะ Caribbean เพื่อขายต่อให้เป็นทาส


นำแสดงโดย Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélemy, French West Indies (หมู่เกาะในทะเล Caribbean ที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) โตขึ้นอพยพย้ายสู่กรุง Paris ทำงานตัวประกอบละคอนเวที/ภาพยนตร์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 ร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Compagnie des Griots (ถือเป็นคณะของชาวแอฟริกันกลุ่มแรกในฝรั่งเศส) จนกระทั่งควบรวมกับคณะของ Med Hondo เมื่อปี ค.ศ. 1972 เปลี่ยนชื่อเป็น Griot-Shango Company

รับบทชาวชาว Mauritanian หลังเข้าพิธีศีลจุ่ม เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหางานทำ แถมยังถูกพวกคนขาวมองด้วยสายตาดูถูก แสดงความหมิ่นแคลน ใช้คำพูดเหยียดหยาม (Racism) เลวร้ายสุดคือโดนล่อหลอกโดยหญิงผิวขาว ครุ่นคิดว่าคนดำมีขนาดยาวใหญ่ สามารถเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’ พอเสร็จสรรพก็แยกทางไป นั่นคือฟางสุดท้าย แทบอยากระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง

เกร็ด: ทุกตัวละครในหนังจะไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เพียงคำเรียกขานอย่าง Visitor, Afro Girl, White Girl ฯ เพื่อเป็นการเหมารวม ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล

บทบาทของ Liensol ก็คือตัวตายตัวแทนผกก. Hondo เหมารวมผู้อพยพชาวแอฟริกัน เริ่มต้นเดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย เอ่อล้นด้วยพลังใจ คาดหวังจะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่หลังจากอาศัยอยู่สักพัก ประสบพบเห็น เรียนรู้สภาพเป็นจริง ค่อยๆตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้หาใช่สรวงสวรรค์ ตรงกันข้ามราวกับขุมนรก แสดงสีหน้าเคร่งขรึม บึ้งตึ้ง เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด ก่อนแหกปากตะโกน กรีดร้องลั่น ไม่สามารถอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป

ในบรรดากลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritanian ตัวละครของ Liensol ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า ร่างกายกำยำ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าหล่อเหลา กิริยาท่าทาง วางตัวเหมือนผู้มีการศึกษาสูง หลังพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในฝรั่งเศส บังเกิดแรงกระตุ้น ผลักดัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

ผกก. Hondo เก็บหอมรอมริดได้ประมาณ $30,000 เหรียญ เพียงพอสำหรับซื้อกล้อง 16mm ส่วนค่าจ้างนักแสดง-ทีมงาน ทั้งหมดคือผองเพื่อนคณะนักแสดง Compagnie des Griots และ La compagnie Shango มาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ (แถมยังต้องหยิบยืม ซื้อเสื้อผ้า สิ่งข้าวของเครื่องใช้ด้วยเงินส่วนตัว)

เห็นว่าทีมงานมีอยู่แค่ 5 คน ผกก. Hondo, ผู้ช่วยกำกับ Yane Barry, ตากล้อง François Catonné, ผู้ควบคุมกล้อง Denis Bertrand และผู้บันทึกเสียง (Sound Engineer) การทำงานจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งรีบ ให้นักแสดงฝึกซ้อมจนเชี่ยวชำนาญ สำหรับถ่ายทำน้อยเทค (ประหยัดฟีล์ม) รวมระยะเวลาโปรดักชั่นยาวนานถึง 3 ปี

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำมากมาย แต่งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยลูกเล่น หลากหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ปรับเปลี่ยนภาษาภาพยนตร์ไปเรื่อยๆจนไม่สามารถคาดเดา ผู้ชมต้องคอยสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาจุดประสงค์? เคลือบแฝงนัยยะความหมายอะไร? ไม่ใช่เรื่องง่าย เต็มไปด้วยความท้าทาย


ช่วงระหว่าง Opening Credit มีการใช้อนิเมชั่นสองมิติในการเล่าประวัติ ความเป็นมาของชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาว ในตอนแรกยืนค้ำศีรษะ (การกดขี่ข่มเหงในช่วงอาณานิคม) จากนั้นเข้ามาโอบกอด พยุงขึ้นยืน มอบหมวกให้สวมใส่ จากนั้นท้าวไหล่ กลายเป็นพวกพ้องเดียวกัน … จากเสียงหัวเราะกลายเป็นกรีดร้องลั่น

การสวมหมวกสีขาวให้กับชาวผิวสี ดูไม่ต่างจากการล้างสมอง ฟอกขาว (Whitewashing) ถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ตกเป็นเหยื่อพวกฝรั่งเศส ชักนำทางไปไหนก็คล้อยตามไป ค่อยๆถูกกลืนกิน จนสูญสิ้นจิตวิญญาณแอฟริกัน

พิธีศีลล้างบาป (Baptism) หรือพิธีศีลจุ่ม เป็นพิธีกรรมแรกที่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้องรับเพื่อเป็นการล้างบาปมลทิน เพราะชาวคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมา เป็นการล้างบาปกำเนิด และบาปทุกอย่างที่ติดตัวมาก่อนหน้า เพื่อให้กลับไปเป็นบุตรของพระเจ้าและสมาชิกของคริสตจักร

โดยปกติแล้วพิธีศีลจุ่ม จะแฝงนัยยะถึงการถือกำเนิด เกิดใหม่ หรือในบริบทนี้ก็คือกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กำลังจะละทอดทิ้งตัวตนแอฟริกัน ตระเตรียมอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส หรือก็คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่

แต่การอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ดินแดนที่ควรเป็นดั่งสรวงสวรรค์ แท้จริงแล้วนั้นกลับคือขุมนรก ต้องตกอยู่ในความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน เราจึงต้องมองซีเควนซ์นี้ใหม่ในทิศทางลบ ใจความประชดประชัน ต่อต้านศาสนาคริสต์ (Anti-Christ) พระเจ้าจอมปลอม (Anti-God)

ผมมองทั้งซีเควนซ์นี้คือการเล่นละคอน ที่สามารถขบครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์ เริ่มต้นจากกลุ่มชายฉกรรจ์แบกไม้กางเขน ก้าวเดินเข้ามาอย่างสะเปะสะปะ (สามารถสื่อถึงแอฟริกันยุคก่อนหน้าอาณานิคม) จนกระทั่งได้ยินเสียงออกคำสั่ง “French-American-English” จึงเปลี่ยนมาสวมใส่เครื่องแบบ เรียงแถว หน้าตั้ง (กลับหัวไม้กางเขน) ก้าวเดินอย่างเป็นระเบียบ (การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม เข้ามาควบคุม ครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น)

ผู้บังคับบัญชาผิวขาว ยืนอยู่บนแท่นทำตัวสูงส่งกว่าใคร แม้ไม่ได้พูดบอกอะไร เพียงส่งสัญญาณสายตา บรรดานายทหารจึงทำการรบพุ่ง ต่อสู้ เข่นฆ่าศัตรูให้ตกตาย แม้ทั้งหมดคือการเล่นละคอน แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อำนาจบาดใหญ่ เอาเงินมาเป็นสิ่งล่อหลอก ตอบแทน พอการแสดงจบสิ้นก็เก็บเข้ากระเป๋า … เหล่านี้คือสิ่งที่พวกฝรั่งเศสทำกับประเทศอาณานิคม เข้ามาควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น สนองความพึงพอใจ ให้ค่าตอบแทนน้อยนิด แล้วกอบโกยทุกสิ่งอย่างกลับไป

แม้ว่าตอนเข้าพิธีศีลจุ่มจะได้พบเห็นตัวละครของ Robert Liensol แต่หลังจบจากอารัมบท เรื่องราวจะโฟกัสที่ชายคนนี้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพหน้าตรง (Mug Shot) ระหว่างยืนเก๊กหล่อ แสยะยิ้มปลอมๆ โดยรอบทิศทาง … ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพถ่ายกายวิภาคใบหน้าตัวละครลักษณะนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก Vivre sa vie (1962) ของ Jean-Luc Godard

ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย แต่หลังจากเริ่มออกหางาน กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ โดนขับไล่ ไม่ใครว่าจ้าง ภาพช็อตนี้ระหว่างเดินเลียบกำแพงสูงใหญ่ ราวกับหนทางตัน ถูกปิดกั้น มีบางสิ่งอย่างกั้นขวางระหว่างคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน

ตลอดทั้งซีเควนซ์ระหว่างการหางานทำ สังเกตว่ามีการดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า แถมยังไร้เพลงประกอบ ซึ่งสร้างความหงุดหงิด กระวนกระวาย บรรยากาศอัดอั้น ตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องเข้ากับความรู้สึกตัวละคร ผิดหวังอย่างรุนแรง นี่นะหรือสรวงสวรรค์ที่ฉันใฝ่ฝัน

วันหนึ่งพอกลับมาถึงห้องพัก เคาะประตูเพื่อนข้างห้อง เหมือนตั้งใจจะขอคำปรึกษาอะไรบางอย่าง แต่พอเปิดประตูเข้ามาพบเห็นสามี-ภรรยา ต่างคนต่างนั่งดูโทรทัศน์เครื่องของตนเอง ไม่ได้สนใจใยดี แถมยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ กล้องส่ายไปส่ายมา ฟังอะไรไม่ได้สดับ เลยขอปิดประตูดีกว่า … นี่เป็นการสะท้อนสภาพสังคมชาวยุโรป ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้สนใจกันและกัน เหมือนมีกำแพงบางๆกีดขวางกั้น แตกต่างจากวิถีแอฟริกันที่เพื่อนบ้านต่างรับรู้จัก ชอบช่วยเหลือกันและกัน

คาดเดาไม่ยากว่า สิ่งที่ตัวละครของ Liensol ต้องการขอคำปรึกษา ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็เรื่องหางาน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจใยดี ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง ศรัทธาสั่นคลอน ซึ่งหนังใช้การเทศนาสั่งสอนของบาทหลวงจากโทรทัศน์ (ของคู่สามี-ภรรยาที่กำลังถกเถียงกันนั้น) พูดแทนความรู้สึกตัวละครออกมา

หนังไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเลยนะ จู่ๆตัวละครของ Liensol ก็กลายเป็นนักสัมภาษณ์ พูดคุยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานแอฟริกัน ผมเลยคาดเดาว่าชายคนนี้อาจคือรัฐมนตรีแรงงาน (หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง) ซึ่งระหว่างอธิบายแนวคิด เป้าหมายของหน่วยงานรัฐ จะมีการซูมเข้า เบลอใบหน้า ให้สอดคล้องประโยคคำพูดว่า “อีกไม่นานพวกคนดำจะกลายเป็นคนขาว” เลือนลางระหว่างสีผิว/ชาติพันธุ์

ทางกายภาพ แน่นอนว่าคนผิวดำไม่มีทางกลายเป็นผิวขาว (ถ้าไม่นับการศัลยกรรม) แต่คำพูดดังกล่าวต้องการสื่อถึงชาวแอฟริกันที่จะถูกเสี้ยมสอน ผ่านการล้างสมอง เรียนรู้จักแนวคิด ซึมซับวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา รวมถึงอุดมการณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้น บุคคลดังกล่าวย่อมกลายสภาพเป็น(หุ่นเชิดชักของ)ฝรั่งเศสโดยปริยาย

ระหว่างการสัมภาษณ์ดำเนินไป หลายครั้งจะมีแทรกภาพสำหรับขยับขยายหัวข้อการสนทนา ฉายให้เห็นว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ยกตัวอย่าง

  • ระหว่างกำลังอธิบายถึงวิธีการล้างสมองชาวแอฟริกัน ก็แทรกภาพการศึกษาในห้องเรียน กำลังเสี้ยมสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสง่ายๆ
  • พอเล่าถึงชาวแอฟริกันที่อพยพเข้ามาในฝรั่งเศสมากขึ้น ก็ปรากฎภาพบรรดาชายฉกรรจ์ยืนเรียงรายหลายสิบคน เพื่อจะสื่อว่าพวกนี้แหละที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน
  • ระหว่างให้คำแนะนำว่าชาวแอฟริกันควรได้รับการตรวจสอบ คัดเลือก ว่าจ้างงานก่อนเดินทางสู่ฝรั่งเศส ฉายให้เห็นภาพความพยายาม(ของตัวละครของ Liensol)มาตายเอาดาบหน้า เลยไม่สามารถหางานทำได้สักที!
  • และเมื่อพูดถึงวิวัฒนาการที่ไม่สามารถหยุดยับยั้ง ยังไงชาวแอฟริกันย่อมแห่กันอพยพเข้าสู่ฝรั่งเศส แทรกภาพตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาต่อรอง ขอจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้หยุดยั้งการชุมนุมประท้วง แต่กลับถูกโต้ตอบกลับว่ามันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อบทสัมภาษณ์กล่าวถึง ‘Black Invasion’ จะมีการร้อยเรียงภาพบรรดาผู้อพยพชาวแอฟริกัน แทรกซึมไปยังสถานที่ต่างๆทุกแห่งหนในฝรั่งเศส คลอประกอบบทเพลงชื่อ Apollo เนื้อคำร้องเกี่ยวกับยานอวกาศอพอลโล่ที่ถูกส่งไปสำรวจ/ยึดครองดวงจันทร์ (=ชาวแอฟริกันเข้ายึดครองฝรั่งเศส)

  • ชายคนหนึ่งพบเห็นเล่น Pinball นี่ถือเป็นการเคารพคารวะ French New Wave และแฝงนัยยะสะท้อนถึงผู้อพยพชาวแอฟริกันในฝรั่งเศส ดำเนินชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้เป้าหมาย เพียงเอาตัวรอดไปวันๆ
  • ระหว่างร้อยเรียงภาพบนท้องถนน มีกลุ่มชายฉกรรจ์จับจ้องมองเครื่องประดับ สร้อยคอหรูหรา ทำราวกับว่ากำลังตระเตรียมวางแผนโจรกรรม (คล้ายๆแบบพวกจักรวรรดินิยมที่เข้าไปกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอาณานิคม)
  • และอีกกลุ่มชายฉกรรจ์ ทำเหมือนบุกรุกเข้าไปยังคฤหาสถ์หรูหลังหนึ่ง (นี่ก็สอดคล้องเข้ากับแนวคิด ‘black invasion’ ตรงๆเลยนะ)

พ่อ-แม่ต่างผิวขาว แต่กลับมีบุตรผิวสี? หลายคนอาจครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงคบชู้นอกใจ สงสัยแอบร่วมเพศสัมพันธ์กับชาวแอฟริกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนะครับ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้อยู่ … แต่นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นอาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจ

ยีนที่ควบคุมลักษณะผิวขาวเป็นแอลลีลด้อย (Recessive Allele) ส่วนยีนที่ควบคุมผิวดำเป็นแอลลีลเด่น (Dominant Allele) หมายความว่า ผิวขาวจะปรากฏออกมาได้ก็ต่อเมื่อแอลลีลด้อยจากทั้งฝ่ายบิดาและมารดาจับคู่กันหรือเป็นพันธุ์แท้ (Homozygous), ขณะที่ผิวดำปรากฏได้ทั้งในกรณีที่แอลลีลเด่นจับคู่กัน และแอลลีลเด่นจับคู่กับแอลลีลด้อยหรือพันธุ์ทาง (Heterozygous) หากเป็นการข่มสมบูรณ์ (Complete Dominance) ทว่ายีนที่ควบคุมลักษณะทางสีผิวยังมีการข่มไม่สมบูรณ์ (Incomplete dominance) ซึ่งทำให้มีการแสดงลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ส่งผลให้มนุษย์มีสีผิวเข้ม-อ่อน แตกต่างกันไป

จริงอยู่ว่าชายชาวแอฟริกันมักมีอวัยวะเพศ(โดยเฉลี่ย)ขนาดใหญ่ยาวกว่าคนปกติ แต่มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีลีลารสรักอันโดดเด่น ความสนใจใน “Sexual Fantasy” ของหญิงชาวฝรั่งเศสคนนี้มีคำเรียกว่า “Sexual Objectification” มองชายชาวแอฟริกันไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ พึ่งใจส่วนบุคคล

แซว: ผมว่าคนไทยน่าจะสังเกตได้ว่ารูปภาพด้านหลัง มันคือลวดลายไทย หาใช่ศิลปะแอฟริกัน ส่วนลำตัวสีดำเกิดจากการถูหิน (Stone Rubbing)

ชาวแอฟริกันชื่นชอบการร้องรำทำเพลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ระหว่างเฮฮาสังสรรค์ สังเกตว่าชายคนนี้ทำการแยกเขี้ยวเหมือนแวมไพร์ดูดเลือด ชวนให้นึกถึงพวกลัทธิอาณานิคม ที่สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ดูดเลือดดูดเนื้อชาวแอฟริกัน ไม่แตกต่างกัน!

ปล. แทบทุกบทเพลงในหนังจะมีการขึ้นคำแปลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อคำร้อง มีความสอดคล้องเรื่องราว/ตัวละครขณะนั้นๆ แต่จะมีบทเพลงหนึ่งที่ชายผิวสีบรรเลงพร้อมกีตาร์เบาๆ อาจไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสเลยไม่มีคำแปล แต่ผมพยายามเงี่ยหูฟัง เหมือนจะได้ยินคำร้อง Soleil Ô อาจจะแค่หูแว่วกระมัง … ชื่อหนังมาจากบทเพลงนี้ มันคงแปลกถ้าไม่มีการแทรกใส่เข้ามา

ภายหลังการสังสรรค์ปาร์ตี้ ตัวละครของ Liensol ในสภาพมึนเมา กลับมาถึงห้องทิ้งตัวลงนอน กลิ้งไปกลิ้งมา จากนั้นแทรกภาพความฝัน อันประกอบด้วย …

ในห้องเรียนที่เคยเสี้ยมสอนภาษาฝรั่งเศสวันละคำ คราวนี้อาจารย์นำรูปปั้นคนขาวมาตั้งวางเบื้องหน้านักเรียนผิวสี จากนั้นเหมือนพยายามทำการสะกดจิต ล้างสมอง ปลูกฝังแนวคิดโน่นนี่นั่น เพื่อให้พวกเขาทอดทิ้งจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน แล้วเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็นคนขาว … กระมังนะ

ความฝันถัดมา ตามความเข้าใจของผมก็คือ หนึ่งในชายฉกรรจ์ได้รับเลือกตั้’เป็นประธานาธิบดี Mauritania แต่แท้จริงแล้วก็แค่หุ่นเชิดฝรั่งเศส บอกว่าจะรับฟังคำแนะนำรัฐบาล(ฝรั่งเศส) รวมถึงนำเอาแผนการ ข้อกฎหมายที่ได้รับไปประกาศใช้ ไม่ได้มีความสนใจใยดีประชาชนในชาติแม้แต่น้อย … พอได้ยินสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยพลัน!

แต่ถึงแม้สะดุ้งตื่นขึ้น หนังยังคงแทรกภาพความฝันถัดๆมา ราวกับว่ามันคือภาพติดตราฝังใจ ยังคงจดจำได้ไม่รู้ลืม

  • อนิเมชั่นแผนที่ทวีปแอฟริกา ทำสัญลักษณ์การอพยพย้ายถิ่นฐานจากทางตอนใต้ขึ้นเบื้องบน
  • กล้องเคลื่อนลงจากรูปปั้นสีขาว จากนั้นชายชาวฝรั่งเศส(ที่กำลังจูงสุนัข)กล่าวถ้อยคำ “You are branded by Western civilization. You think white.”
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง (น่าจะสื่อถือความเป็นแอฟริกันที่พังทลาย) ร่างกายแปะติดด้วยธนบัตร ล้อกับคำกล่าวของชายฝรั่งเศสก่อนหน้า คุณได้ถูกตีตราจากอารยธรรมตะวันตก
  • ระหว่างวิ่งเล่นกับสุนัข ตัวละครของ Liensol กำหมัด ยกมือขึ้น เป็นสัญญาณให้กระโดด นี่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกันที่ถูกล้างสมอง (ให้กลายเป็นคนขาว) เชื่องเหมือนสุนัข พร้อมปฏิบัติทำตามคำสั่ง
    • แม้เป็นสุนัขคนละตัวกับของชายชาวฝรั่งเศส แต่ถือว่าแฝงนัยยะเดียวกัน

พอฟื้นคืนสติขึ้นมา ตัวละครของ Liensol ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง จัดการเขวี้ยงขว้างสิ่งข้าวของในห้องพัก พยายามระบายอารมณ์อัดอั้น พอสามารถสงบสติอารมณ์ ก้าวออกเดินอย่างเร่งรีบ เลียบทางรถไฟ มาถึงยังบริเวณชานเมืองที่ยังเป็นผืนป่า พบเจอสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชักชวนมาร่วมรับประทานอาหารกับบุตรชาย

หลายคนอาจรู้สึกว่าซีเควนซ์นี้ดูผิดที่ผิดทาง แต่นั่นคือความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการนำเสนอความผิดที่ผิดทางของชาวแอฟริกันที่อพยพย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ผืนแผ่นดิน/บ้านเกินของตนเอง เลยถูกเด็กๆกลั่นแกล้งสารพัด (มองเผินๆเหมือนการเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แต่เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงพฤติกรรมหมิ่นแคลน ดูถูกเหยียดหยามของชาวฝรั่งเศส) ท้ายสุดเลยไม่สามารถอดรนทน ก้าวออกวิ่งหนีอีกครั้ง … กล่าวคือเป็นซีเควนซ์ที่ทำการสรุปโดยย่อเรื่องราวทั้งหมดของหนัง (ในเชิงจุลภาค)

ผมตั้งชื่อซีเควนซ์นี้ว่า ป่าแห่งการกรีดร้อง (Forest of Scream) เมื่อตัวละครของ Liensol วิ่งเข้ามาในผืนป่าแห่งนี้ ราวกับหูแว่ว ได้ยินเสียง(กรีดร้อง)ดังกึกก้องจากทั่วทุกสารทิศ ไม่นานนักเขาก็ส่งเสียงโต้ตอบ ระบายความอัดอั้นที่อยู่ภายในออกมา

และเมื่อมาทรุดนั่งยังโขดหิน/ขอนไม้ใหญ่ ดูราวกับรากฐานชาวแอฟริกัน แต่ละกิ่งก้านมีรูปภาพวาดนักปฏิบัติ (ที่เหมือนจะถูกลอบสังหาร) ซึ่งระหว่างกล้องถ่ายให้เห็นใบหน้าบุคคลสำคัญเหล่านั้น บางครั้งซ้อนภาพเปลวไปกำลังเผาไหม้ และบางครั้งแทรกภาพถ่ายแบบชัดๆ ผมพอดูออกแค่ Patrice Lumumba (Congo) และ Mehdi Ben Barka (Morroco) … นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลากหลายประเทศในแอฟริกัน ต่างประสบปัญหา(การเมือง)คล้ายๆกัน เก็บกดอารมณ์อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสมอภาค และภารดรภาพ ปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคมอย่างแท้จริง

ตัดต่อโดย Michèle Masnier, Clément Menuet

หนังนำเสนอเรื่องราวกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania (ประมาณ 9-10 คน) หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศส แต่โดยส่วนใหญ่เล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครของ Robert Liensol (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นด้วยด้วยรอยยิ้ม ความคาดหวัง ก่อนค่อยๆตระหนักถึงสภาพเป็นจริง เลยตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง

  • อารัมบท
    • Opening Credit ทำออกมาในลักษณะอนิเมชั่นสองมิติ เล่าอธิบายปรัมปรา ต้นกำเนิดชาวแอฟริกา
    • ชายฉกรรจ์ชาว Mauritania เข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์
    • ชายฉกรรจ์ทำการแสดงละคอน ต่อสู้ด้วยไม้กางเขน
  • เดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส
    • พยายามมองหางานทำ แต่ไปที่ไหนกลับไม่ใครยินยอมรับเข้าทำงาน
    • พบเห็นเพื่อนข้างห้องต่างคนต่างดูโทรทัศน์ แล้วเกิดการโต้ถกเถียงอย่างรุนแรง
    • มีการพูดคุยสัมภาษณ์ถึงแรงงานแอฟริกัน
      • ตัดสลับกับห้องเรียนสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
      • ตัวละครของ Liensol ไม่สามารถหางานทำได้สักที ถึงขีดสุดแห่งความสิ้นหวัง
      • พบเห็นตัวละครของ Liensol ทำงานในสหภาพแรงงาน พบเห็นชายคนหนึ่งต้องการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการยุติชุมนุมประท้วง
  • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กับความฝันที่พังทลาย
    • ร้อยเรียงภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ที่ต่างตกงาน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน
    • ตัวละครของ Liensol รวมกลุ่มชายกรรจ์ชาว Mauritania เพื่อพูดคุย หาข้อเรียกร้องต่อทางการ
    • ร้อยเรียงสารพัดอคติ (Racism) ของชาวฝรั่งเศส ต่อพวกแอฟริกัน
    • หญิงผิวขาวชาวแอฟริกัน ทำการเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Liensol ร่วมรักหลับนอน เพื่อเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’
    • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ระหว่างนั่งดื่มในบาร์ ร่วมกันร้องทำเพลง Soleil Ô
  • ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด
    • ค่ำคืนนั้นกลับมายังห้องพัก ตัวละครของ Liensol นอนหลับฝัน
      • คาบเรียนที่อาจารย์คนขาว พยายามล้างสมองชาวแอฟริกัน
      • หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าว
      • ภาพกราฟฟิกการอพยพของชาวแอฟริกัน
      • ราวกับเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ในเศษซากปรักหักพัง ร่างกายถูกแปะด้วยเงิน
      • วิ่งเล่นกับสุนัข สั่งให้มันนั่งลง
    • เมื่อตื่นขึ้นมา ระบายอารมณ์อัดอั้น ทำลายสิ่งข้าวของในห้อง
    • ก้าวออกเดิน ไปถึงยังผืนป่า ได้รับชักชวนจากชาวบ้าน รับประทานอาหารกับครอบครัว
    • วิ่งกลับเข้าป่าอีกครั้ง ตะโกนโหวกเหวก กรีดร้องลั่น ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง

วิธีการดำเนินเรื่องที่ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เอาจริงๆไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ (ยกตัวอย่าง Citizen Kane (1941) ก็มีทั้ง Newsreel, บทสัมภาษณ์นักข่าว, หวนระลึกความทรงจำ ฯ) แค่ว่ามันไม่มากมายแทบจะทุกซีเควนซ์เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างความท้าทายในการรับชมอย่างมากๆ แต่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการกระทำ ย่อมตระหนักถึงอัจฉริยภาพของผกก. Hondo สมฉายา “Founding Father of African Cinema” สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนชาวแอฟริกัน


สำหรับเพลงประกอบก็เต็มไปด้วยความหลากหลายเช่นเดียวกับวิธีการดำเนินเรื่อง อาทิ เพลงพื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคำร้องฝรั่งเศส, บรรเลงกีตาร์ Folk Song ฯ ทั้งหมดเรียบเรียงโดย George Anderson ศิลปินสัญชาติ Cameroonian และเนื้อร้องมักมีความสอดคล้องเรื่องราว หรือเคลือบแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดเพลงประกอบไม่ค่อยจะได้ ค้นพบเพียง Apollo บทเพลงเกี่ยวกับยานอวกาศที่ส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ จุดประสงค์เพื่อทำการยึดครอบครอง ‘Colonization’ ร้อยเรียงเข้ากับภาพชาวแอฟริกันเดินทางไปยังสถานที่สำคัญๆในฝรั่งเศส ดูเหมือนการบุกรุกราน ‘Black Invasion’ … เราสามารถเปรียบเทียบเนื้อคำร้อง มนุษย์ส่งยานอวกาศไปยึดครองดวงจันทร์ = ชาวแอฟริกันอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส

Some men went
Apollo, to the Moon to look for summer
Apollo, they challenged the cosmos
Apollo, they sang without echo
Apollo, leaving the Earth and its misery

I don’t know why
Apollo, they went round in circles
Apollo, did they want to discover
Apollo, diamonds or sapphires?
Apollo, leaving the Earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

They left without passports
Apollo, for the unknown, the infinite
Apollo, they could not resist
Apollo, within our limited frontiers
Apollo, leaving the earth and its misery

But the wars continue
Apollo, on the earth between tribes
Apollo, and hunger already has a hold
Apollo, in towns far and wide
Apollo, on this earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

ไม่ใช่แค่บทเพลงที่โดดเด่น แต่หลายๆครั้งความเงียบงัน รวมถึงการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ก็แฝงนัยยะอย่างลุ่มลึกล้ำ ยกตัวอย่าง

  • เมื่อตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส พยายามออกหางานทำ ช่วงนี้แทบจะไม่มีเพลงประกอบ สถานที่แห่งนี้มีเพียงความเงียบงัน สร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน หาใช่สรวงสวรรค์ดั่งที่ใครต่อใครว่ากล่าวไว้
  • สามี-ภรรยา จากขึ้นเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง ค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นกรีดร้อง ฟังไม่ได้สดับ ตามด้วยเสียงเทศนาของบาทหลวงในโทรทัศน์ สามารถสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร
  • ระหว่างที่หญิงชาวฝรั่งเศสทำการเกี้ยวพาราสี ล่อหลอกให้ตัวละครของ Liensol ตกหลุมรัก ผู้ชมจะได้ยินเสียงสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ เรียกร้องหาคู่ผสมพันธุ์
  • หลังถูกหญิงชาวฝรั่งเศสหลอกให้รัก ซีนถัดมาตัวละครของ Liensol ระหว่างยืนรอรถไฟ เสียงเครื่องยนต์ช่างบาดหู เจ็บปวดใจยิ่งนัก!
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง แต่ได้ยินผู้คนกรีดร้อง ตะโกนโหวกเหวก เสียงปืน ระเบิด ตึกรามบ้านช่องถล่มทลาย
  • ช่วงท้ายระหว่างออกวิ่งเข้าไปในป่า (Forest of Scream) ได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาโดยรอบ จนตนเองต้องเลียนแบบตาม

ตั้งแต่โบราณกาล ชาวแอฟริกันให้ความเคารพนับถือสุริยเทพ หรือเทพแห่งพระอาทิตย์ เชื่อว่าอวตารลงมาเป็นผู้นำชนเผ่าปกครองชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาวในช่วงศตวรรษ 16-17 ทำการยึดครอบครอง แล้วทำการ ‘Colonization’ พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ บีบบังคับให้ล้มเลิกนับถือเทพเจ้า เข้าพีธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์ แต่งตั้งตนเองให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่

ผมมองความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการเปรียบเทียบฝรั่งเศส = สุริยเทพองค์ใหม่ ที่แม้ชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Neo-Colonialism ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง ปรับเปลี่ยนมาแทรกแซงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

หนึ่งในนั้นคือการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งโอกาส สถานที่สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 60s มีชาวแอฟริกันจำนวนมหาศาลตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทำทุกวิถีทางเพื่อข้ามน้ำข้ามทะเล เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

แต่พอมาถึงดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ แทบทั้งนั้นจะค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้แม้งไม่มีอะไรเหมือนดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ ไร้งาน ไร้เงิน แถมยังถูกชาวฝรั่งเศสมองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม (Racism) พยายามขับไล่ ผลักไส อยากจะเดินทางกลับบ้านเกิดแต่ไม่รู้ทำยังไง จำต้องอดกลั้นฝืนทน รวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และภารดรภาพ

แซว: Soleil Ô (1970) ราวกับภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน อธิบายความพยายามชวนเชื่อ สร้างภาพให้ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้น … ไม่ต่างจากขุมนรกบนดินสำหรับชาวแอฟริกัน!

สำหรับผกก. Hondo ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ลุ่มหลงคำชวนเชื่อ อพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส โชคยังดีพอหาทำงาน สะสมเงินทอง เก็บหอมรอมริด สรรค์สร้าง Soleil Ô (1970) เพื่อเป็นบทเรียน/คำตักเตือนแก่ชาวแอฟริกันที่ครุ่นคิดจะเดินทางมาแสวงโชค รวมถึงพยายามให้คำแนะแนวทางว่าควรหางานให้ได้ก่อนย้ายมา (ผ่านพวกบริษัทจัดหาแรงงาน) อย่าคาดหวังมาตายเอาดาบหน้า เพราะอาจจะได้ดับดิ้นสิ้นชีวินเข้าจริงๆ


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในสาย International Critics’ Week เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม เลยมีโอกาสเดินทางไปฉายยังประเทศต่างๆมากมาย รวมถึง Quintette Theater ณ กรุง Paris ยาวนานถึงสามเดือนเต็ม! ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ผกก. Hondo มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆไป

Soleil Ô (1970) คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ได้รับการบูรณะในโครงการ African Film Heritage Project ริเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย The Film Foundation (ของผกก. Martin Scorsese) ร่วมกับ Pan African Federation of Filmmakers และองค์การ UNESCO เพื่อซ่อมแซมฟีล์มหนังเก่าจากทวีปแอฟริกันสู่สายตาชาวโลก

ฟีล์มต้นฉบับ 16 mm ของหนังมีความเสียหายหนักมากๆ จนต้องนำเอาฟีล์มออกฉาย 35mm มาแปะติดปะต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วทำการบูรณะ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Hondo สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 3 ประกอบด้วย Dos monjes (1934), Soleil Ô (1970) และ Downpour (1972)

ระหว่างรับชม ผมมีความก้ำๆกึ่งๆว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ฉงนสงสัยว่าจะทำออกมาให้สลับซับซ้อน ท้าทายผู้ชมไปถึงไหน จนกระทั่งซีเควนซ์ที่ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) นั่นสร้างความสยดสยอง ขนลุกขนพอง แผดเผาทรวงใน เข้าใจอารมณ์เกรี้ยวกราดของชาวแอฟริกัน อยากแหกปากกรีดร้องลั่น ไม่ต่างจากตอนจบของหนัง

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศเหนือจริง (Surrealism) คำอธิบายแนวคิดจักรวรรดินิยม (Colonialism) สารพัดการดูถูกเหยียดหยาม (Racism) ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification)

คำโปรย | Soleil Ô แปะติดปะต่อวิธีการดำเนินเรื่องอันหลากหลาย สไตล์ผู้กำกับ Med Hondo เมื่อฝรั่งเศสกลายเป็นสุริยันดวงใหม่ แต่กลับแผดเผา มอดไหม้ทรวงในชาวแอฟริกัน
คุณภาพ | โอ้ สุริยั
ส่วนตัว | แผดเผาทรวงใน

Mandabi (1968)


Mandabi (1968) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥♥

Mandabi ภาษา Wolof แปลว่าธนาณัติ (Money Order) ส่งมาจากหลานชายทำงานอยู่ฝรั่งเศส แต่การจะขอขึ้นเงินกลับเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆ ต้องทำบัตรประชาชน ต้องถ่ายรูป ต้องมีสูติบัตร (ใบเกิด) แถมชาวบ้านละแวกนั้นเมื่อได้ยินเรื่องเงินก็หูผึ่ง มาขอหยิบยืม ทวงหนี้ อ้างโน่นนี่นั่น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

ถ้าไม่นับ Egypt และ Tunisia วงการภาพยนตร์ของทวีปแอฟริกัน เพิ่งเริ่มต้นภายหลังได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลุดพ้นจากสถานะอาณานิคมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959-60 แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อให้บุคคลผู้มีความสนใจในศาสตร์ภาพยนตร์ ได้ศึกษา ร่ำเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูก ทดลองทำโน่นนี่นั่น

Mandabi (1968) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) ลำดับที่สองของ Ousmane Sembène แต่ถือเป็นเรื่องแรกของ West African ที่ตลอดทั้งเรื่องสนทนาด้วยภาษา Wolof (ภาษาท้องถิ่น Senegal, Mauritania และ Gambia) นั่นเพราะก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ในแอฟริกา ยังต้องพึ่งพาเงินทุน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ถ่ายทำจากอดีตเจ้าของอาณานิคม ในกรณีของ Senegal คือประเทศฝรั่งเศส มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยังต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร

แต่จุดประสงค์การสรรค์สร้างภาพยนตร์ของผกก. Sembène แน่นอนว่าไม่ใช่พวกฝรั่งเศส เป้าหมายคือชาว Senegalese ยินยอมประณีประณอมกับ Black Girl (1966) เพื่อว่าชื่อเสียง ความสำเร็จ จะทำให้สามารถติดต่อหานายทุนสำหรับโปรเจคถัดไป จนนำมาสู่ Mandabi (1968) น่าจะถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์แอฟริกันแท้จริงเรื่องแรก!

ในตอนแรกผมไม่ได้มีความสนใจอยากเขียนถึงหนังเรื่องนี้เลยนะครับ จนกระทั่งพบเห็นหอภาพยนตร์เคยนำมาฉาย ผ่านการบูรณะเรียบร้อยแล้ว หน้าปกของ Criterion สวยงามมากๆ ก็เลยต้องลองหามารับชม รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานภาพสีสันสวยสดใส บทเพลง Sunu Mandat Bi ติดหูติดใจ แม้เรื่องราวตกยุคสมัย แต่ยังแฝงสาระข้อคิด บทเรียนให้กับชีวิต สะท้อนปัญหาสังคมที่จนถึงปัจจุบันเรื่องพรรค์นี้(ทั้งการฉ้อฉล และความคอรัปชั่นของคน)ก็ยังไม่หมดสิ้นเสียที


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) และภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) สัญชาติแอฟริกันแท้ๆเรื่องแรก Black Girl (1966)

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สอง Mandabi (1968) ดัดแปลงจากนวนิยายของตนเอง Le mandat แปลว่า The Money-Order รวบรวมอยู่ในหนังสือ Vehi-Ciosane ou Blanche-Genèse: Suivi du Mandat (1965) แปลตรงตัว Vehi-Ciosane or Blanche-Genèse: Monitoring of the Mandate ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Money-Order with White Genesis … หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสองเรื่องราวที่ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน The Money-Order และ White Genesis

เกร็ด: Sembène มองว่านวนิยายเป็นสื่อของชนชั้นสูง ต้องมีความรู้ ความสามารถในการอ่าน (รวมถึงมีเงินซื้อด้วยนะ) ยุคสมัยนั้นจึงเป็นสิ่งหรูหรา ฟุ่มเฟือย เกินอาจเอื้อมของชาวแอฟริกันจนๆ จึงเลือกเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วฉบับภาพยนตร์เปลี่ยนมาใช้ภาษา Wolof เพื่อให้เข้าถึงชาว Senegalese ในวงกว้างได้ง่ายกว่า


Ibrahima Dieng นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่กับภรรยาสองคน และบุตรอีกเจ็ดคน ในย่านสลัม Dakar, Senegal ขณะนั้นกำลังตกงาน ติดหนี้ติดสิน แทบไม่มีอันจะกิน จนกระทั่งได้รับจดหมายจากหลานชาย Abdou ไปทำงานอยู่กรุง Paris ฝากส่งธนาณัติจำนวน 25,000 ฟรังก์

เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Ibrahima ต้องเผชิญหน้าสารพัดปัญหาในการขึ้นเงิน เพราะต้องใช้บัตรประชาชน แต่การจะทำบัตรประชาชนต้องมีรูปถ่าย สูติบัตร (ใบเกิด) รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกปริมาณหนึ่ง แถมบรรดาชาวบ้านละแวกนั้น เมื่อได้ยินเรื่องเงินก็ทำหูผึ่ง มาขอหยิบยืม ทวงหนี้ อ้างโน่นนี่นั่น แม้แต่ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทนาย Mbaye ก็ไม่ละเว้น เต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เงินทอง แลกกับการกินหรูอยู่สบาย


ด้วยความที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใน Senegal ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก จึงเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ สมัครเล่น ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์ Makhourédia Guèye (1924-2008) ผู้รับบท Ibrahima Dieng อาชีพเดิมคือนักดนตรี เป่าแซกโซโฟน แต่บุคลิกภาพถือว่าตรงตามตัวละคร ท่าทางเย่อหยิ่ง อวดดี เก่งกับภรรยา เวลาออกจากบ้านต้องสวมใส่ชุดหรูหรา แท้จริงแล้วก็แค่กบในกะลา ไม่รับรู้ ไม่ทันคน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ เลยถูกล่อหลอกลวง จนสูญเสียทุกสิ่งอย่าง พระเป็นเจ้าก็ไม่ช่วยอะไร

แสบสุดคงหนีไม่พ้น Farba Sarr รับบทลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทนาย Mbaye ชอบขับรถมาเยี่ยมเยียน Ibrahima แต่แท้จริงแล้ววางแผนจะฮุบบ้านและที่ดินแห่งนี้ ขายต่อให้นายหน้า นำเงินมาปรนเปรอความสุขสำราญ กินหรูอยู่สบาย เปลี่ยนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า พอสบโอกาสก็ตบหัวลูบหลัง ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ … แทนที่จะเอาความรู้ความสามารถไปใช้ในทางให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ กลับเต็มไปด้วยความฉ้อฉล สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน

และในบรรดานักแสดงทั้งหมด Mouss Diouf (1964-2012) ผู้รับบทหลานชาย Abdou ที่ไปทำงานอยู่กรุง Paris แม้เพียงบทบาทสมทบเล็กๆ ปรากฎตัวแค่ไม่กี่นาที กลับได้รับโอกาสมากมายในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส เครดิตตัวประกอบใน IMDB มากถึง 51 เรื่อง! … ชีวิตจริงทำได้เหมือนข้อความในจดหมายที่ตัวละครเขียนถึง

เกร็ด: ผกก. Ousmane Sembène มารับเชิญเป็นคนอ่านจดหมายที่ไปรษณีย์ แฝงนัยยะถึงการดัดแปลงนวนิยาย(ของตนเอง)ให้กลายเป็นสื่อภาพยนตร์ … ภาพบนโต๊ะคือ Che Guevara (1928-67) นักปฏิวัติชาว Argentine แต่โด่งดังจาก Cuban Revolution (1953-59) ตอนนั้นน่าจะเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน

ถ่ายภาพโดย Paul Soulignac สัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานเด่นๆ อาทิ La Pointe Courte (1955), La verte moisson (1959), Mandabi (1968) ฯ

งานภาพของหนังไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์ที่หวือหวา เพียงตั้งกล้องถ่ายภาพระดับสายตา แต่โดดเด่นกับการละเล่นเฉดสีสัน (ด้วยเทคโนโลยีสี Eastmancolor) ตัวละครสวมใส่ผ้าที่มีความฉูดฉาด ลวดลายพื้นบ้าน Senegalese ซึ่งสามารถใช้สำแดงวิทยฐานะ อวดอ้างบารมี แบ่งแยกชนชั้น รวมถึงความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่า vs. โลกยุคสมัยใหม่ (Ibrahima และภรรยาต่างสวมใส่ชุดพื้นบ้าน Senegalese ตรงกันข้ามกับลูกพี่ลูกน้อง Mbaye สวมใส่สูทผูกไทด์)

หนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำยัง Dakar, Senegal ในช่วงหน้าร้อน อากาศอบอุ่น แสงแดดส่องสว่าง แต่จะมีซีเควนซ์หนึ่งระหว่างอ่านจดหมายของหลานชาย มีการฉายให้เห็นภาพกรุง Paris, France ซึ่งมีความหรูหรา ท้องถนนเต็มไปด้วยรถรา คาคลั่งไปด้วยผู้คน สิ่งก่อสร้างทันสมัยใหม่ ซึ่งการถ่ายภาพยังมีความแตกต่างออกไป ใช้กล้อง Hand-Held ทำให้ดูสั่นๆ เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว ทั้งยังมีการปรับโฟกัสพื้นหลัง เบลอ-ชัด ระยะภาพใกล้-ไกล โทนสีเย็นๆ (เหมือนจะถ่ายทำช่วงฤดูหนาว) ดูจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา

เสื้อคลุมแขนกว้างที่ชาว West Africa (Senegal, Mauritania, Niger, Mali, Djibouti) นิยมสวมใส่มีชื่อเรียกว่า Boubou หรือ Grand Boubou สำหรับผู้ชายมักมีสีพื้น ไม่เน้นลวดลาย แต่ผู้หญิงจะเต็มไปด้วยลูกไม้ ลวดลาย และสีสันฉูดฉาดสะดุดตา, ส่วนหมวก/ผ้าคลุมศีรษะมีคำเรียกว่า Moussor

โดยปกติแล้วการสวมชุด Boubou มักในงานพิธีสำคัญๆทางศาสนา อาทิ งานแต่งงาน, งานศพ, วันอิด (วันอีดิ้ลฟิตริ และ วันอีดิ้ลอัฎฮา) รวมถึงเข้ามัสยิด ละมาดทุกวันศุกร์ ฯ

ภรรยาของ Ibrahima เมื่อได้รับจดหมายธนาณัติจากบุรุษไปรณีย์ ป่าวประกาศไปทั่วถึงเงินหลายหมื่นฟรังก์ ซื้อข้าวปลามาเลี้ยงฉลองจนอิ่มจุก ตรงกับสำนวนไทย ชิงสุกก่อนห่าม (ไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งเท่านั้นนะครับ แต่ยังทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัยหรือยังไม่ถึงเวลา) โดยไม่รู้ตัวนี่คือความอิ่มครั้งสุดท้าย ก่อนค่อยๆสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างไป

ซึ่งการรับประทานจนอิ่มหนำ แล้วหลับนอนจนเกินเลยเวลาละหมาด สามารถสะท้อนแนวคิดบริโภคนิยม (Consumerism) สังคมยุคสมัยใหม่ที่ผู้คนเอาแต่กอบโกย แสวงหาความสุขใส่ตน คนรวยมีเงินล้นฟ้า กระยาจกทำได้เพียงหาเช้ากินค่ำ ต่อสู้ดิ้นรนไปวันๆ

หลังจากพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย Ibrahima ก็ได้ข้อสรุปว่าโลกยุคสมัยใหม่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง ใครๆต่างมีพฤติกรรมคอรัปชั่น ไม่มีทางที่คนดีจะมีที่ยืนในสังคม (หยิบรองเท้าขึ้นมาชี้หน้า) มุมกล้องนี้ทำราวกับว่าเขากำลังสนทนากับพระเจ้า (จริงๆคือบุรุษไปรษณีย์) ซึ่งพยายามให้คำแนะนำ ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราทุกคน จะเลือกวิถีปฏิบัติ ใช้ชีวิตอย่างเพียงพอดี หรือศิโรราบต่อความชั่วร้าย

ตัดต่อโดย Gilou Kikoïne, Max Saldinger

หนังดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองตัวละคร Ibrahima Dieng เริ่มจากโกนผม โกนหนวดเครา สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ จากนั้นได้รับธนาณัติจากหลานชาย เพ้อใฝ่ฝันว่าเงินก้อนนี้จักทำให้ชีวิตกินหรูอยู่สบาย แต่ที่ไหนได้กลับนำพาหายนะ ติดหนี้ติดสิน แถมถูกฉ้อฉล ตกเป็นเหยื่อสารพัดกลโกง จนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว

  • Opening Credit
  • เรื่องวุ่นๆของการขึ้นเงินธนาณัติ
    • ภรรยาของ Ibrahima ได้รับจดหมายธนาณัติ ป่าวประกาศไปทั่ว ซื้อข้าวปลามาเลี้ยงฉลองจนอิ่มจุก
    • Ibrahima เดินทางไปขึ้นเงินยังไปรษณีย์
    • (ย้อนอดีต) อ่านจดหมายของหลานชาย Abdou ทำงานอยู่ฝรั่งเศส
    • ขึ้นเงินไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน เลยต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจ แต่ก็ถูกเรียกร้องสูติบัตร
    • วันถัดมาเดินทางไปยังศาลากลาง แต่ก็ยังไม่สามารถออกสูติบัตร เพราะไม่รับรู้วัน-เดือน-ปีเกิด
    • วันถัดมาเดินทางไปหาลูกพี่ลูกน้อง Mbaye รับรู้จักเส้นสายในศาลากลาง ให้มาติดต่อรับวันถัดไป
    • เดินทางไปธนาคารเพื่อขอขึ้นเช็ค (หยิบยืมมาจาก Mbaye) แต่เพราะไม่มีบัตรประชาชนเลยทำไม่ได้ บังเอิญมีเจ้าหน้าที่อาสาขึ้นเงินให้ แลกกับค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อย
    • จากนั้นแวะหาร้านรับจ้างถ่ายรูป
  • เรื่องราวขาลงของ Ibrahima
    • มารดาของ Abdou เดินทางมาทวงเงินที่บุตรชายส่งมาให้
    • Ibrahima เอาสร้อยทองภรรยาไปจำนำ ได้เงินก้อนหนึ่งมาจ่ายให้มารดาของ Abdou
    • เดินทางไปรับรูปถ่าย แต่กลับถูกหลอก เกิดการทะเลาะวิวาท เลือดตกยางออก
    • เมื่อกลับมาบ้านในสภาพเลือดตกยางออก ภรรยาทั้งสองเลยป่าวประกาศว่าสามีถูกทำร้าย สูญสิ้นเงินทอง
    • Ibrahima มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเจ้าของร้านขายของชำ จนถูกขับไล่
    • ได้รับอาสาช่วยเหลือจาก Mbaye ให้เซ็นชื่อ แล้วจะใช้คำสั่งทนายขึ้นเงิน
    • แต่วันถัดมา Mbaye กลับอ้างว่าเงินดังกล่าวถูกโจรกรรม หมดสิ้นเนื้อประดาตัว
  • ปัจฉิมบท, Ibrahima กลับมาบ้านด้วยความสิ้นหวัง พร่ำรำพัน มองหาหนทางออกชีวิต

การลำดับเรื่องราวถือว่าทำออกมาได้เป็นขั้นเป็นตอน จากสถานที่หนึ่งสู่อีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งถ้าดูแล้วสับสนก็จะมีคำอธิบายให้สามารถไล่เรียง จากไปรณีย์ → สถานีตำรวจ → ศาลากลาง → ธนาคารขึ้นเงิน → ร้านถ่ายรูป แสดงให้เห็นถึงความเรื่องมาก ยุ่งยาก สลับซับซ้อน รวมถึงพฤติกรรมคอรัปชั่นของระบบราชการ


ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น จึงทำการบันทึกเสียงพากย์ภายหลังถ่ายทำ (Post-Synchronization) พร้อมๆกับเสียงประกอบ (Sound Effect) และเพลงประกอบ (Soundtrack) ใครเคยรับชม Borom Sarret (1963) ก็น่าจะมักคุ้นกับหลายๆบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน (หรือ Senegalese) ไม่ได้มีนัยยะไปมากกว่าคลอประกอบพื้นหลัง สร้างบรรยากาศความเป็นแอฟริกัน

และที่มีความไพเราะ น่าจดจำอย่างมากๆ คือบทเพลงคำร้อง Sunu Mandat Bi มีความโหยหวน คร่ำครวญ พร่ำรำพันถึงหายนะของเงิน ได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้งจนลืมไม่ลง ขับร้องโดย Isseu Niang (1938-2000) รับบท Aram ภรรยาคนที่สอง

การจากไปของพวกจักรวรรดินิยม ทำให้แอฟริกาก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Post-Colonialism) เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ความเจริญค่อยๆแพร่กระจาย เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ คนร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตสุขสบาย ตรงกันข้ามกับคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กว่าจะหาเงินได้สักสลึงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีชีวิตกินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

Mandabi (1968) นำเสนอหลากปัญหาสังคมที่กำลังเกิดขึ้นใน Senegal เหมารวมถึงแอฟริกันยุคสมัยนั้น ซึ่งล้วนมีต้นสาเหตุมาจาก “เงิน” ทำให้มนุษย์สำแดงธาตุแท้ตัวตน กระทำการฉ้อฉล หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ทำลายความสัมพันธ์ญาติพี่น้อง ผองเพื่อน ค่อยๆถูกระบอบทุนนิยมกลืนกิน อีกไม่นานคงสูญเสียสิ้นจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์

หน่วยงานรัฐก็เฉกเช่นเดียวกัน แม้อาจเป็นงานมั่นคง สวัสดิการดี มีเงินใช้ตอนเกษียณ แต่การต้องทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ ให้บริการประชาชนไม่เว้นวัน สร้างความเอื่อยเฉื่อย เหนื่อยหน่าย ขาดความกระตือรือล้น จึงพยายามมองหาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสร้างรายได้ กอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋า นั่นคือพฤติกรรมคอรัปชั่นที่ค่อยๆบ่อนทำลายองค์กร ประเทศชาติ ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา

ค่านิยมของชาวแอฟริกันในยุคนี้ แทบไม่ต่างจากพวกจักรวรรดินิยม แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ได้ถูกฝัง หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณ/ประวัติศาสตร์แอฟริกัน แม้พวกเขาเต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะนำมาเป็นบทเรียน กลับทำการลอกเลียนแบบอย่าง

ไม่ใช่ว่าผมขี้เกียจเขียน ถึงทำการคัทลอกข้อความจาก Borom Sarret (1963) แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงใจความที่ละม้ายคล้ายคลึง ผลกระทบทางสังคมที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกันคือพวกจักรวรรดินิยม นำเสนอความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นก่อน vs. โลกยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง และแทนที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า กลับถดถอยหลังลงคลอง ราวกับกำลังถูกยึดครอบครองโดย Neo-Colonialism

เกร็ด: Neo-Colonialism แนวปฏิบัติเกี่ยวกับอาณานิคมรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง แต่ใช้วิธีแพร่ขยายอิทธิพล แทรกแซงเศรษฐกิจ การเงิน เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

เมื่อตอน Borom Sarret (1963) ผมสัมผัสได้ว่าผกก. Sembène เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ไม่อยากยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เขาคงรับรู้ตนเองว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกระแสแห่งกาลเวลา ช่วงท้ายของ Mandabi (1968) จึงใช้คำพูดในเชิงชักชวน โน้มน้าวร้องขอให้ผู้ชมช่วยครุ่นคิดหาหนทางออก เราควรร่วมพัฒนาประเทศชาติ ไม่ใช่เอาแต่กอบโกย สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ทำตัวเยี่ยงแร้งกา ไม่ต่างจากพวก(อดีต)จักรวรรดินิยม


ในหน้า Wikipedia บอกว่าหนังได้เข้าฉาย Venice International Film Festival และสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize เทียบเท่ากับ Grand Jury Prize (ที่สอง) แต่ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะตัวหนังไม่ได้มีโลโก้เทศกาล รวมถึงบ่งบอกว่าได้รับรางวัลใดๆ (นั่นเป็นธรรมเนียมของภาพยนตร์ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนัง Big 3 เพื่อป่าวประกาศให้ผู้ชมรับรู้ถึงความสำเร็จ)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ โดย StudioCanal คุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 ออกฉายยัง Lumière Festival สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

แม้พล็อตเรื่องราวของหนังไม่ได้มีความแปลกใหม่ เรียกว่าเฉิ่มเชยล้าหลังเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งน่ามหัศจรรย์ใจคือสถานที่พื้นหลัง นำเสนอวิถีชาวแอฟริกัน นั่นคือสิ่งที่ยุโรป-อเมริกัน หรือแม้แต่เอเชียอย่างเราๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสรับรู้ มันจึงเป็นการเปิดโลก พบเห็นแนวคิดที่แตกต่าง เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน อัดอั้นอารมณ์เกรี้ยวกราด

พบเห็นการทำงานของระบบราชการใน Mandabi (1968) ชวนให้ผมนึกถึง Ikiru (1952), The Trial (1962), Brazil (1985), The Story of Qiu Ju (1992), The Death of Mr. Lazarescu (2005), I, Daniel Blake (2016) ฯ ถ้ามันไม่ย่ำแย่เลวร้ายขนาดนั้น ใครไหนจะเสียเวลามาครุ่นคิดสร้างเป็นภาพยนตร์กันเล่า!

จัดเรต pg กับสารพัดการฉ้อฉล จนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

คำโปรย | Mandabi ภาพยนตร์ชวนหัวที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสัน ตื่นตากับวิถีแอฟริกัน สะท้อนปัญหาสังคมเพื่อสร้างบทเรียนให้กับชีวิต
คุณภาพ | เต็มเปี่ยมด้วยสีสั
ส่วนตัว | ตื่นตา

La noire de… (1966)


Black Girl (1966) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥

หญิงสาวผิวดำชาว Senegalese ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส วาดฝันดินแดน ‘The Wizard of Oz’ แต่กลับถูกเจ้านายชี้นิ้วออกคำสั่ง กลายเป็นขี้ข้ารับใช้ เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism)

ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส La noire de… ใครเคยรับชม The Earrings of Madame de… น่าจะมักคุ้นกับการใช้คำว่า de… เพื่อจะสื่อถึงใครก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจง ระบุชื่อ-สกุล, แต่ชื่อภาษาอังกฤษ Black Girl มันช่างธรรมดาสามัญ ไร้ระดับ เหมือนคนแปล/ค่ายหนังไม่ต้องการให้ค่าอะไรใดๆภาพยนตร์เรื่องนี้!

If Africans do not tell their own stories, Africa will soon disappear.

Ousmane Sembène

สาธารณรัฐเซเนกัล (Republic of Senegal) แม้ได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากอาณานิคมฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1960 แต่ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะหวนกลับสู่สภาวะปกติ ยังคงรับอิทธิพล แนวคิด วิถีดำรงชีวิต … ประชาชนที่ถูกล้างสมองไปแล้ว ยากยิ่งนักจักมีความครุ่นคิดอ่านเป็นตัวของตนเอง

Black Girl (1966) ถือเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกๆ ไม่ใช่แค่ของประเทศเซเนกัล แต่ยังทั้งทวีปแอฟริกา! สร้างขึ้นในยุค Post-Colonialism นำเสนอผ่านมุมมองหญิงชาวแอฟริกัน ใจความต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) และยังสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติ Prix Jean Vigo นั่นทำให้ผู้กำกับ Ousmane Sembène ได้รับการยกย่อง “Father of African cinema”

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันมีเพียงอารมณ์เกรี้ยวกราดของผู้สร้าง ก็พอเข้าใจอยู่ว่าการเป็นประเทศอาณานิคม มันคงไม่น่าอภิรมณ์ สะสมความอัดอั้น แต่การนำเสนอเรื่องราวเพียงแง่มุมเดียว พยายามชี้นำความรู้สึกนึกคิดผู้ชม ผลลัพท์ไม่ต่างจากหนังชวนเชื่อ (Propaganda) สักเท่าไหร่


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) แปลว่า The Wagoner

ขอกล่าวถึง Borom Sarret (1963) สักหน่อยก่อนแล้วกัน! ต้องถือว่าคือภาพยนตร์เรื่องแรกอย่างแท้จริง สร้างโดยชาวแอฟริกัน บนผืนแผ่นดินแอฟริกา ภายหลังจาก Post-independence ร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันของคนขับเกวียน/รถลาก (ชนชั้นทำงาน/Working Class) ในกรุง Dakar พบเห็นความยากจนค้นแค้น หาเช้ากินค่ำอย่างยากลำบาก ท้องถนนเต็มไปด้วยมิจฉาชีพ แม้แต่คนรวย/พวกฝรั่งเศส อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หรูหรา ยังมีความฉ้อฉล แบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน … นี่เป็นเรื่องที่ผมอยากแนะนำให้หารับชม คุณภาพน่าประทับใจกว่า Black Girl (1966) ด้วยซ้ำนะ! ร้อยเรียงภาพเซเนกัลในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’ ได้อย่างงดงาม และน่าเศร้าสลดใจ

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Black Girl (1966) นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อครั้นผกก. Sembène พบเจอหญิงสาวชาว Senegalese เล่าว่าตนเองได้รับการว่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก แต่พอเดินทางถึงฝรั่งเศสกลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส จึงตัดสินใจหลบหนีขึ้นเรือกลับบ้าน

In Senegal, I met a girl who had worked as a domestic servant for a French family in Antibes. She had been promised a job as a nanny, but she was treated like a slave. I was struck by her story, and I decided to make a film about it.

“Black Girl” is based on a real incident that I witnessed, but it is also a story that is familiar to many Africans who have experienced the exploitation and mistreatment of colonialism.

Ousmane Sembène

แม้เคยมีประสบการณ์สร้างหนังสั้น Borom Sarret (1963) แต่ภาพยนตร์ขนาดยาวนั้นแตกต่างออกไป นั่นทำให้ Sembène ค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เซเนกัล โดยไม่รู้ตัวเรียกได้ว่าถูกยึดครอง ‘colonized’ โดยฝรั่งเศสไปตั้งแต่ก่อนหน้าการปลดแอก!

กล่าวคือเมื่อตอนยังเป็นประเทศอาณานิคม ฝรั่งเศสมีการจัดตั้งสถาบัน Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema (CNC) สำหรับควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนชาว Senegalese ให้รู้จักวิธีสร้างภาพยนตร์ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ ขณะเดียวกันก็แอบสอดแทรกแนวคิด วัฒนธรรม ปลูกฝังทัศนคติหลายๆอย่างใน ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ … ภายหลังจากเซเนกัลได้รับการปลดแอก สองสถาบันดังกล่าวกลับยังมีรากฐานมั่นคง ใครครุ่นคิดสร้างภาพยนตร์ก็จำต้องผ่านการพิจารณา ตรวจสอบเนื้อหา ถึงได้รับอนุมัติงบประมาณ

แน่นอนว่า Black Girl (1966) ไม่มีทางผ่านการพิจารณาของ Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Sembène จึงก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง Filmi Domirev (จริงๆก็ตั้งแต่สร้างหนังสั้น Borom Sarret (1963)) และแสวงหางบประมาณเพิ่มเติมจาก Les Actualités Françaises

และการจะถ่ายทำภาพยนตร์ในฝรั่งเศส กฎหมายระบุว่าต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Professional Card คล้ายๆกับ Green Card) แต่ผู้กำกับ Sembène ไม่เคยอยู่ภายใต้ระบบสตูดิโอ แถมมาจากอดีตประเทศอาณานิคม ต้องขอหนังสือจากต้นทางซึ่งก็คือ Bureau du Cinéma หรือ CNC เท่านั้น! … วิธีการหลบหลีกก็คือทำโปรดักชั่น Black Girl (1966) ให้ความยาวไม่เกิน 60 นาที (ปรับเปลี่ยนจากแผนการเดิม 70-90 นาที) ยุคสมัยนั้นในฝรั่งเศส น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงถือเป็นหนังสั้น ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน


เรื่องราวของ Gomis Diouana (รับบทโดย Mbissine Thérèse Diop) หญิงสาวชาว Senegalese ฐานะยากจน ระหว่างกำลังมองหางาน ได้รับเลือกจาก Madame พูดคุยกันว่าจะให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ดูแลลูกๆของเธอทั้งสาม พบเห็นความขยันขันแข็ง เลยชักชวนเดินทางขึ้นเรือสู่ฝรั่งเศส

แต่พอมาถึงฝรั่งเศส เธอกลับอาศัยอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์ ถูกบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น กลายเป็นหญิงรับใช้ หาใช่พี่เลี้ยงเด็กอย่างเคยตกลงกันไว้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งแสดงความไม่พึงพอใจ อารยะขัดขืน ปฏิเสธพูดคุย กระทำอะไรใดๆ จากนั้นโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ก่อนตัดสินใจอัตวินิบาต


Mbissine Thérèse Diop (เกิดปี 1949) นักแสดงสาวชาว Senegalese เกิดที่ Dakar บิดาเป็นมุสลิม มารดานับถือคาทอลิก โตขึ้นทำงานช่างตัดเย็บเสื้อผ้า วันหนึ่งได้รับคำท้าทายจากเพื่อนสนิท เลยตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนสอนการแสดง Ecole des Arts de Dakar (กลางวันทำงานเย็บผ้า, กลางคืนร่ำเรียนการแสดง) เป็นลูกศิษย์ของ Robert Fontaine (ที่ก็ร่วมแสดงภาพยนตร์ Black Girl) โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้พบเจอโดยผู้กำกับ Ousmane Sembène สร้างความประทับใจตั้งแต่ทดสอบหน้ากล้องครั้งแรก แม้จะถูกต่อต้านจากครอบครัว แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจ

รับบท Gomis Diouana หญิงสาวชาว Senegalese ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสด้วยความมุ่งมั่น คาดหวัง เพ้อใฝ่ฝัน แต่เมื่อมาถึงกลับถูกบีบบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นได้รับการว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไฉนทุกสิ่งอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง

I think Mbissine Thérèse Diop was extraordinary in the film. She was not a professional actress, but she was intelligent and had an innate understanding of the character. I didn’t give her any instructions for the role, but just let her develop it naturally. She was able to convey the character’s emotions and struggles in a very authentic way. I think she was the perfect choice for the role.

Ousmane Sembène

ภาพลักษณ์ของ Diop รวมถึงสไตล์การแต่งตัว ทำให้เธอดูเหมือนไฮโซ สูงศักดิ์ แถมมีความเริดเชิด น้ำเสียงเย่อหยิ่ง นั่นไม่ใช่ลักษณะของสาวรับใช้เลยสักนิด! กอปรกับทัศนคติ ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ยอมพูดเอ่ยความใน (อาจจะมองว่าสื่อสารไม่เข้า) จู่ๆแสดงอารยะขัดขืน แล้วกระทำอัตวินิบาต ปฏิเสธก้มหัว ถูกควบคุมครอบงำ เป็นขี้ข้าทาสผู้ใด … ไม่แปลกที่ผู้ชมชาวยุโรป & อเมริกัน จะจับต้องความรู้สึกตัวละครไม่ได้สักเท่าไหร่

ผมเองก็รู้สึกว่าตัวละครค่อนข้างแบนราบ นำเสนอมุมมองฝั่งของเธอเพียงด้านเดียว เอาแต่เก็บกดความรู้สึกนึกคิด แทนที่พูดบอกปัญหา แสดงความต้องการแท้จริงออกมา อาชีพคนรับใช้มันผิดอะไร? นั่นเพราะผกก. Sembène ต้องการให้เธอเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศอาณานิคม ถูกกดขี่ข่มเหงเยี่ยงทาสจากฝรั่งเศส … แต่เอาจริงๆนั่นก็ไม่สมจริงเลยสักนิด งานรับใช้ก็แค่ทำอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู มันคือกิจวัตรทั่วๆไป ไม่สามารถสร้างความรู้สึกอัดอั้น ทุกข์ทรมาน ถึงขนาดต้องลุกฮือขึ้นมาแสดงอารยะขัดขืน

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Diop ยังพอมีผลงานการแสดงอื่นๆประปราย แต่อาชีพหลักของเธอคือตัดเย็บเสื้อผ้า พออยู่พอกิน เก็บหอมรอมริด จนสามารถเปิดกิจการร้านของตนเอง


ถ่ายภาพโดย Christian Lacoste ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผกก. Ousmane Sembène มาตั้งแต่ Borom Sarret (1963),

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย (minimalist) ต้องการให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติ (Naturalistic) ไม่ได้ใช้เทคนิคภาพยนตร์หวือหวา แต่เหมือนจะมีการปรับความคมเข้มสีขาว-ดำ ให้ดูโดดเด่นชัดเจนขึ้นกว่าปกติ

  • ซีเควนซ์ที่ Dakar, Senegal มักถ่ายทำฉากภายนอก ท้องถนนหนทาง ทำให้พบเห็นความกลมกลืนระหว่างสีขาว-ดำ แทบไม่มีความแตกต่าง
    • เสื้อผ้าหน้าผมของชาว Senegalese มีการออกแบบลวดลายให้ดูละลานตา นั่นคือชุดพื้นเมือง Boubou และสวมผ้าโพกศีรษะ Moussor
  • ผิดกับ Antibes, France อาศัยอยู่แต่ภายในอพาร์ทเม้นท์ สาวใช้(ผิวดำ)ห้อมล้อมด้วยผนังกำแพงสีขาว สามารถสื่อถึงอิทธิพลของคนขาวที่มีมากกว่าคนดำ
    • ชาวฝรั่งเศสมักสวมสูท ไม่ก็ชุดสีพื้น ดูธรรมดาๆ ไม่ได้มีชีวาสักเท่าไหร่
    • ขณะที่ Gomis Diouana ถูกบังคับให้สวมผ้ากันเปลื้อน ชุดแม่บ้าน บางครั้งก็ผ้าคลุมอาบน้ำ แสดงถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง

เกร็ด: Special Feature ของ Criterion จะมี ‘Alternate Color Sequence’ เมื่อครั้น Gomis Diouana เดินทางถึงฝรั่งเศส จะถ่ายทำทิวทัศน์สองข้างทางด้วยฟีล์มสี เพื่อมอบสัมผัสคล้ายๆดินแดนหลังสายรุ้ง The Wizard of Oz (1939) แต่ทั้งหมดถูกตัดออกเพื่อให้ได้ความยาวต่ำกว่า 60 นาที

หน้ากาก (African Masks) ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน พบเจอในแถบตะวันตก-กลาง-ใต้ของทวีป สำหรับแสดงวิทยฐานะ, ประกอบพิธีกรรม เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่งงาน เฉลิมฉลอง สังสรรค์ทั่วไป, บ้างใช้เป็นสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณ สิ่งเหนือธรรมชาติ ฯลฯ ส่วนรูปลักษณะมีทั้งมนุษย์-สัตว์-ปีศาจ แล้วแต่วิถีความเชื่อของแต่ละชนเผ่า ชาติพันธุ์

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าหน้ากากของ Diouana มีชื่อเรียกหรือนัยยะสื่อความอะไร แต่ในบริบทของหนังสามารถตีความได้หลากหลาย

  • Diouana เคยอธิบายไว้ว่าหน้ากากคือสัญลักษณ์แทนตนเอง มอบให้ครอบครัวของ Madame แทนคำขอบคุณในการว่าจ้างงาน
    • ตอนแรกตั้งไว้บนชั้นวาง ล้อมรอบด้วยผลงานศิลปะ African Art และหน้ากากชิ้นอื่นๆ สามารถสื่อถึงตัวเธอขณะนี้ที่ยังอยู่เซเนกัล รายล้อมด้วยพรรคพวกพ้องชนชาติเดียวกัน
    • อพาร์ทเม้นท์ที่ฝรั่งเศส หน้ากากแขวนอยู่กึ่งกลางผนังห้อง ไม่มีผลงานศิลปะอื่นห้อมล้อมรอบ สื่อความถึงหญิงสาวตัวคนเดียว ล้อมรอบด้วยคนขาว
    • Diouana พยายามทวงคืนหน้ากาก สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการเรียกร้องอิสรภาพ ทวงคืนความเป็นแอฟริกันจากจักรวรรดิอาณานิคม
  • ช่วงท้ายของหนังเด็กชายสวมหน้ากาก (อันเดียวกับของ Diouana) สามารถสื่อถึงจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน ที่จักติดตามมาหลอกหลอกบรรดาจักรวรรดิอาณานิคม เคยกระทำอะไรไว้กับพวกตน สักวันหนึ่งต้องได้รับการตอบแทนอย่างสาสม

แซว: ในปัจจุบันหน้ากากของชาวแอฟริกัน ได้กลายสภาพเป็นเพียงของฝาก ของที่ระลึก (Souvenir) สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้นเอง

ชายผิวดำกำลังดูดไปป์ก็คือผกก. Ousmane Sembène เป็นคนนำทางชายชาวฝรั่งเศส สู่บ้านของครอบครัว Diouana ซึ่งแฝงนัยยะถึงการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ชักชวนให้ชาวยุโรปพบเห็นวิถีชีวิต ความเป็นไปของชาวแอฟริกัน

ตัดต่อโดย André Gaudier,

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง ความทรงจำ เสียงบรรยายของ Gomis Diouana ตั้งแต่เดินทางมาถึง Antibes, France ทำงานเป็นสาวรับใช้ ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงเด็กอย่างเคยเข้าใจ จึงเริ่มหวนระลึกความหลัง (Flashback) ตั้งแต่แรกพบเจอนายจ้าง ตกหลุมรักแฟนหนุ่ม ชีวิตเคยเอ่อล้นด้วยความหวัง ปัจจุบันทุกสิ่งอย่างกลับพังทลายลง

  • การเดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • Diouana โดยสารเรือมาถึงฝรั่งเศส มีนายจ้างมารอรับ ขับรถชมวิวสองข้างทาง จนกระทั่งมาถึงอพาร์ทเม้นท์
    • กิจวัตรของ Diouana ปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดบ้าน ปรุงอาหารพื้นเมือง ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากคนรับใช้
  • (Flashback) หวนรำลึกความทรงจำที่เซเนกัล
    • Diouana อาศัยอยู่ในสลัม ฐานะยากจน พยายามออกหางานทำ
    • จนกระทั่งพบเจอ Madame ได้รับการว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก
  • ตัดกลับมาปัจจุบัน Diouana เริ่มแสดงอารยะขัดขืน
    • Diouana เริ่มรู้สึกไม่พอใจนายจ้าง
    • ยามเช้าถูกปลุกตื่นอย่างไม่เต็มใจ จึงเริ่มแสดงอารยะขัดขืน ปฏิเสธทำตามคำสั่ง กักขังตนเองอยู่ในห้องนอน
    • Diouana ได้รับจดหมายจากทางบ้าน นายจ้างอาสาเขียนตอบกลับ แต่เธอแสดงอาการไม่พึงพอใจ
  • ความรัก vs. ความสูญเสีย
    • (Flashback) Diouana หวนระลึกถึงแฟนหนุ่มที่เซเนกัล ค่ำคืนร่วมรักหลับนอน ก่อนแยกจากกัน
    • กลับมาปัจจุบัน Diouana พยายามยื้อยักหน้ากาก ปฏิเสธรับเงินนายจ้าง แพ็กเก็บกระเป๋า ก่อนตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต
  • อดีตติดตามมาหลอกหลอน
    • ครอบครัวของ Madame ไม่สามารถอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังนี้ได้อีกต่อไป
    • สามีของ Madame เดินทางไปเซเนกัล เพื่อติดตามหาญาติพี่น้องของ Diouana แต่กลับถูกติดตามโดยเด็กชายสวมหน้ากาก (เดียวกันที่เคยได้รับจาก Diouana) จนต้องรีบเผ่นขึ้นรถหลบหนี

ความที่ผกก. Sembène ร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์จากฟากฝั่งสหภาพโซเวียต ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องการตัดต่อ Black Girl (1966) จึงมีลวดลีลา วิธีดำเนินเรื่อง ตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน หวนระลึกความทรงจำ (Flashback) เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงคำมั่นสัญญา(ที่ฝรั่งเศส)เคยให้ไว้ แต่กลับไม่มีอะไรเป็นไปตามความเอ่ยกล่าวสักสิ่งอย่าง!


สำหรับเพลงประกอบไม่มีขึ้นเครดิต แทบทั้งหมดน่าจะคือ ‘diegetic music’ ได้ยินจากเครื่องเล่น วิทยุ ประกอบด้วยดนตรีคลาสสิกกลิ่นอาย French Riviera (เมื่อตอน Diouana เดินทางมาถึงฝรั่งเศสจะได้ยินจากวิทยุบนรถ) และบทเพลงพื้นเมือง Senegalese เวลาเดินตามท้องถนนเซเนกัล มักดังล่องลอยมาจากสักแห่งหนไหน

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดศิลปิน เนื้อคำร้อง ผู้แต่งบทเพลง Ending Song รับรู้แค่ว่าคือภาษา Wolof (ท้องถิ่นของชาว Senegalese) แต่ให้ความรู้สึกเหมือนบทเพลงขับไล่ผี พิธีศพ ส่งวิญญาณคนตายสู่สุขคติ

Black Girl (1966) นำเสนอเรื่องราวหญิงสาวผิวดำชาว Senegalese เดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สถานที่อุดมคติหลังสายรุ้ง ‘The Wizard of Oz’ (ได้รับการปลูกฝังมาเช่นนั้น) แต่สภาพความเป็นจริงได้ประสบพบเจอ กลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ไม่ต่างจากคุกคุมขัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง สูญสิ้นอิสรภาพ จึงพยายามแสดงอารยะขัดขืน โต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ปฏิเสธก้มหัวให้เผด็จการ/ลัทธิอาณานิคม

บางคนอาจตีความสิ่งเกิดขึ้นกับ Gomis Diouana คืออาการ ‘cultural shock’ ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม เมื่อบุคคลหนึ่งอพยพย้ายไปอยู่ยังประเทศ/สภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สังคม การดำเนินชีวิตผิดจากบ้านเกิดเมืองนอน อาจสร้างความสับสน รู้สึกไม่คุ้นเคย ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ ปรับตัว แต่ก็มีบางคนที่ไม่สามารถยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง … ในกรณีของ Diouana ยังมองว่าเกิดจากอุปนิสัยเย่อหยิ่งผยอง หลอกตัวเอง ไร้ความอดทน จึงไม่สามารถเปิดใจเข้ากับวิถีโลกสมัยใหม่

ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Sembène ต้องการโจมตีลัทธิอาณานิคมทั้งเก่า-ใหม่ (Colonialism & Neo-Colonialism) โดยให้หญิงสาวผิวดำ Gomis Diouana คือตัวแทน Senegalese เหมารวมถึงชาวแอฟริกัน! เคยได้รับคำมั่นสัญญา(เมื่อตอนประกาศอิสรภาพ)จากฝรั่งเศส/ประเทศเจ้าของอาณานิคม แต่ในความเป็นจริงกลับมีพฤติกรรม ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ เต็มไปด้วยความกลับกลอก ปอกลอก ล่อหลอกมาใช้แรงงาน แล้วกดหัวบีบบังคับเยี่ยงทาส ด้วยคำพูด-สีหน้า-ท่าทางดูถูกเหยียดยาม (Racism)

การแสดงออกที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนักของ Diouana จุดประสงค์เพื่อจำลองสภาพจิตวิทยาบุคคล/ประเทศตกเป็นอาณานิคม ที่จักค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน จากเคยสามารถแต่งกายในสไตล์ตนเอง เปลี่ยนมาสวมใส่ผ้ากันเปื้อน ชุดคนรับใช้ที่ไร้สีสัน จนกระทั่งเหลือเพียงผ้าคลุมอาบน้ำ นอกจากนี้ยังรวมถึงภาษาพูด-อ่าน-เขียนจดหมาย (เซเนกัลใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ) แม้ประเทศได้รับการปลดแอก แต่อะไรอย่างอื่นกลับยังต้องพึ่งพาศัย โดยไม่รู้ตัวถูกยึดครองครอบ (Neo-Colonialism) ด้วยวิธีการอื่นแตกต่างออกไป

อัตวินิบาตของ Diouana คือสัญลักษณ์ความเกรี้ยวกราดของผกก. Sembène ประกาศกร้าวว่าต่อจากนี้ชาว Senegalese รวมถึงแอฟริกันทั้งทวีป! จะไม่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบให้พวกคนขาว ต่อจากนี้เราต้องได้รับอิสรภาพทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ ปลดแอกไม่เพียงผืนแผ่นดิน ยังต้องอิทธิพลอื่นๆ รวมถึงลัทธิอาณานิคมใหม่

หน้ากากก็เป็นอีกตัวแทน(ไสยศาสตร์)ของชาวแอฟริกัน จากเคยมอบให้ในฐานะสหาย มิตรแท้ แต่เมื่อถูกทรยศหักหลัง มันจึงกลายสภาพสู่คำสาป คอยติดตามหลอกหลอน สืบทอดต่อรุ่นหลาน-เหลน-โหลน ไม่หลงลืมเหตุการณ์บังเกิดขึ้น และสักวันหนึ่งจักสามารถทวงคืนความยุติธรรม


แม้หนังได้เสียงตอบรับอย่างดีในเซเนกัล และทวีปแอฟริกา แต่เมื่อเข้าฉายยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา กลับเต็มไปด้วยข้อตำหนิ ติเตียน การดำเนินเรื่องที่เชื่องช้า ไร้มิติ เพียงมุมมองด้านเดียว และพยายามชี้นำความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมมากเกินไป

The narration… treats the audience as a group of addlepated schoolchildren. It says what we can see, and then it says it again. It tells us what we are supposed to think and feel, in case we were too dense to get the point.

[Black Girl] has an important point to make, but it is not made with intelligence, with grace, or even with much coherence.

Renata Adler นักวิจารณ์จาก The New York Times

The white couple is one-dimensional, without depth or complexity, and the movie suffers because of their lack of interest… the white couple is not made human in the way, say, the white characters were in ‘The Battle of Algiers.’ They are simply shallow, selfish and uncomprehending, and the one-dimensional nature of their roles weakens the entire movie.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2.5/4

แต่กาลเวลาก็ทำให้ Black Girl (1966) ได้รับการยินยอมรับในวงกว้างมากขึ้น นั่นเพราะกลายเป็นหมุดหมาย ภาพยนตร์เรื่องสำคัญของประเทศเซเนกัล และทวีปแอฟริกา ทำให้การจัดอันดับ “The Greatest Film of All-Times” ครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับสูงถึง 95 (ร่วม)

ปัจจุบันทั้ง Borom sarret (1963) และ Black Girl (1966) ต่างได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ด้วยทุนสนับสนุนจาก The Film Foundation ของผู้กำกับ Martin Scorsese เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่น World Cinema Project สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รับชมออนไลน์ทั้งสองเรื่องทาง Criterion Channel

ว่ากันตามตรง คุณภาพของ Black Girl (1966) ไม่ได้เลิศเลอขนาดนั้น แค่เทียบกับผลงานก่อนหน้า Borom Sarret (1963) ยังยอดเยี่ยมกว่าหลายเท่าตัว! แถมลักษณะการยัดเยียด ชี้นำความรู้สึกนึกคิด ผลลัพท์ไม่ต่างจากหนังชวนเชื่อ แต่ผมพอจะเข้าใจอิทธิพลต่อชาวแอฟริกัน(ทั้งทวีป) เลยไม่แปลกจะติดอันดับภาพยนตร์ค่อนข้างสูงลิบๆ

จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม โลกทัศน์ด้านเดียว บรรยากาศ Colonialism

คำโปรย | Black Girl คือการระบายความเกรี้ยวกราดต่อลัทธิอาณานิคม ไม่ใช่แค่ผู้กำกับ Ousmane Sembène แต่ยังชาวแอฟริกันทั้งทวีป
คุณภาพ | เกรี้ยวกราด
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Borom Sarret (1963)


The Wagoner (1963) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥♥

ถือเป็นโปรดักชั่นภาพยนตร์(ขนาดสั้น)เรื่องแรกๆของชาวแอฟริกัน สร้างโดยชาวแอฟริกัน เพื่อชาวแอฟริกัน ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัยอาณานิคม (Post-Colonialism) พยายามสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดจากการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ คนรุ่นเก่า ขับเกวียนรับจ้าง จะสามารถปรับตัวอย่างไร?

เอาจริงๆคำกล่าวนี้ไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ Egypt และ Tunisia มีความเก่าแก่ยาวนาน ตั้งแต่การมาถึงของ Auguste and Louis Lumière ก่อนยุคหนังเงียบเสียอีก! แต่ส่วนใหญ่มักถูกมองข้าม ไม่ได้รับการเหมารวมร่วมกับวงการภาพยนตร์แอฟริกัน เพราะนักแสดง/ผู้กำกับล้วนเป็นคนขาวทั้งนั้น!

ก่อนหน้านี้ก็มีสารคดี/หนังสั้นที่สร้างโดยผู้กำกับสัญชาติแอฟริกันอย่าง Mouramani (1953) จากประเทศ Guinea, Song of Khartoum (1955) จากประเทศ Sudan ฯ แต่ยังถูกควบคุมครอบงำโดยพวกจักรวรรดินิยม, ผิดกับ Borom Sarret (1963) สร้างขึ้นภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ภายใต้ลัทธิอาณานิคมอีกต่อไป

ทีแรกผมไม่ได้ครุ่นคิดจะเขียนถึง Borom Sarret (1963) ตั้งใจจะเริ่มต้นที่ Black Girl (1966) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกที่สร้างโดยชาวแอฟริกัน แต่บังเอิญพบเจอเบื้องหลัง (Special Feature) ของ Criterion Collection มีหนังสั้นเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย เลยลองรับชมแล้วรู้สึกว่าสมควรต้องเขียนถึงสักหน่อย!


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) แปลว่า The Wagoner

นำเสนอเรื่องราวในหนึ่งวันของ Borom Sarret คนขับเกวียนรับจ้าง อาศัยอยู่ย่านสลัม Dakar เมืองหลวงของ Senegal ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1960 แม้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว พบเห็นตึกระฟ้า สิ่งก่อสร้างสูงใหญ่ แต่กลับแบ่งแยกคนรวย-จน อาชญากรมากมายเต็มท้องถนน และเมื่อเกวียนเทียมถูกยึดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาจะหาเลี้ยงชีพ เอาตัวรอดเช่นไร?


ถ่ายภาพโดย Christian Lacoste,

งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Neorealist ถ่ายทำจากสถานที่จริง ด้วยนักแสดงสมัครเล่น และใช้เพียงแสงธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Bicycle Thieves (1948) เนื้อเรื่องราวก็ละม้ายคล้ายกัน เปลี่ยนจากจักรยานถูกลักขโมย มาเป็นเทียมเกวียนโดนตำรวจยึด สะท้อนปัญหาสังคม ความยากจน อาชญากรเต็มท้องถนน

ผมแอบรู้สึกว่าจุดประสงค์หลักๆของผกก. Sembène ในการสรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องนี้ เพราะต้องการเก็บภาพบรรยากาศเมือง Dakar, Senegal ในช่วงทศวรรษ 60s ฝังไว้ในไทม์แคปซูล! ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองคนขับเกวียนรับจ้าง เพราะสามารถเดินทางไปโดยรอบ บันทึกภาพสถานที่ต่างๆ พบเห็นทิวทัศน์สองข้างทาง ถนนลูกรังสู่ราดยาง (ยังใหม่เอี่ยมอยู่เลยนะ) และความแตกต่างระหว่างชุมชนแออัด (วิถีดั้งเดิม) vs. อพาร์ทเมนท์/บ้านจัดสรรหรูหรา (โลกยุคสมัยใหม่)

ภาพช็อตแรกของหนังคือสุเหร่า/มัสยิด ศาสนสถานของชาวมุสลิม รวมถึงภาพแรกตัวละครก็เพิ่งเสร็จจากพิธีละหมาด กล่าวขอบคุณพระอัลเลาะห์ ขอให้ปกป้องตนเองและครอบครัว … นี่แสดงถึงความใกล้ชิด ศรัทธา ยึดถือหลักคำสอนศาสนาอย่างเคร่งครัด (ชาว Senegalese มากกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลาม)

นั่นทำให้เมื่อคนขับเกวียนรับจ้างพบเจอโต๊ะอิหม่าม (หรือคอเต็บ หรือบิหลั่น) ผู้แสดงธรรมให้ชาวมุสลิม เขาจึงไม่สามารถควบคุมตนเอง ยินยอมบริจาคเงินหมดตัว! … ในมุมคนนอกย่อมคิดเห็นว่านี่คือการหลอกลวง แต่ชาวมุสลิมจะบอกว่าคือประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ซึ่งในประเด็นนี้สะท้อนถึงความเชื่อศาสนาที่กำลังค่อยๆเสื่อมศรัทธาในโลกยุคสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหากิน หลอกลวงผู้คน ไม่สนถูก-ผิด ชั่ว-ดี ขอเพียงให้อิ่มท้อง อยู่สบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอย

งานรับจ้างของคนขับเกวียน มีความหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง! นอกจากรับ-ส่งผู้โดยสาร (มีทั้งจ่ายเงิน-ไม่จ่ายเงิน) บางครั้งยังบรรทุกสิ่งข้าวของ หญิงตั้งครรภ์กำลังจะคลอด ทารกน้อยเพิ่งเสียชีวิต (เกิด-ตาย) ฯ เรียกว่าพยายามนำเสนอทุกความเป็นไปได้ที่สามารถประสบพบเจอ

แซว: เรื่องราวตอนที่บิดาไม่สามารถฝังศพทารกน้อย ถูกคนเฝ้าสุสานสั่งให้ไปขอใบอนุญาต หลักฐานอะไรสักอย่าง จะมีการนำไปสานต่อภาพยนตร์ Mandabi (1968) เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชน

นี่ถือเป็นช็อตทรงพลังที่สุดของหนัง ขณะคนขับเกวียนกำลังเอื้อมมือไปหยิบเหรียญเกียรติยศตกลงสู่พื้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการเหยียบย่ำยี แสดงถึงความไม่สนเกียรติ ศักดิ์ศรี ปากอ้างว่าทำหน้าที่ แต่แท้จริงแล้วคือการเลือกปฏิบัติ กดขี่ข่มเหงบุคคลผู้ต่ำต้อยด้อยกว่าตนเอง คนระดับล่างจึงทำได้เพียงกำมัด อดกลั้น ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน

ทั้งซีเควนซ์นี้สะท้อนถึงอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แม้มอบอิสรภาพให้กับประเทศอาณานิคม แต่สิ่งทอดทิ้งไว้คือการเป็นต้นแบบที่ไม่มีอะไรดีสักสิ่งอย่าง ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่เลยทำการลอกเลียนแบบ กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยกว่าตน

ภาพช่วงท้ายของภาพยนตร์ Bicycle Thieves (1948) บิดาและบุตรชายก้าวออกเดินในสภาพสิ้นหวังอาลัย ไม่แตกต่างจาก Borom Sarret (1963) บิดาโอบอุมทารกน้อย สีหน้านิ่วคิ้วขมวด เทียมเกวียนถูกยึด ไม่มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร แล้วต่อจากนี้จะทำอะไรยังไงต่อไปดี?

ตอนจบลักษณะนี้หลายคนอาจมองว่าเป็นปลายเปิด ให้ผู้ชมร่วมด้วยช่วยค้นหาหนทางแก้ปัญหา แต่ผมกลับรู้สึกว่าผกก. Sembène ต้องการให้ชาวแอฟริกันบังเกิดอารมณ์เกรี้ยวกราด รับไม่ได้กับสถานการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงสภาพสังคมเต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง รวย-จนไม่ละเว้น เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง … ถ้าใครเคยรับชมตอนจบของ Mandabi (1968) น่าจะรับรู้ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Sembène

ตัดต่อโดย André Gaudier, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/เสียงบรรยายคนขับเกวียนรับจ้าง เริ่มต้นตื่นเช้าทำพิธีละหมาด จากนั้นขึ้นเกวียนออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รับ-ส่งลูกค้า พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ก่อนโชคชะตาจะทำให้สูญเสียเทียมเกวียน กลับบ้านด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป

  • Opening Credit
  • ตื่นเช้ามาทำพิธีละมาด ตระเตรียมตัวออกไปทำงาน
  • ขึ้นเกวียนออกเดินทาง รับ-ส่งลูกค้าขาประจำ (ที่ไม่เคยจ่ายค่าจ้าง)
  • ระหว่างพักผ่อนข้างทาง มีขอทานมาขอส่วนบุญ แต่เขาก็ไม่เงินสักแดง
  • รับจ้างขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง
  • เดินทางไปส่งหญิงตั้งครรภ์ยังโรงพยาบาล
  • รับฟังคำสอนของโต๊ะอิหม่าม (หรือคอเต็บ หรือบิหลั่น) บริจาคทานหมดตัว
  • เดินทางไปยังสุสาน ส่งทารกน้อยผู้เสียชีวิต
  • ได้รับการว่าจ้างให้ไปส่งยังบริเวณบ้านจัดสรร แอบอ้างว่ามีเส้นสาย แต่พอไปถึงกลับขึ้นรถเผ่นหนี เลยถูกตำรวจยึดเกวียนเทียม
  • เดินทางกลับบ้านกับเจ้าม้าอย่างเหงาหงอย เศร้าซึม
  • มาถึงบ้านด้วยความหมดสิ้นหวังอาลัย

ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น จึงทำการบันทึกเสียงภายหลังการถ่ายทำ (Post-Synchronization) กอปรด้วยคำบรรยายความครุ่นคิดของคนขับเกวียนรับจ้าง และได้ยินบทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง คาดว่าดังจากแผ่นเสียงบันทึกพร้อมๆกัน โดยช่วงที่อยู่ในสลัม ถิ่นฐานคนจน จะได้ยินเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน แต่เมื่อเดินทางมาถึงยังบ้านจัดสรร ชุมชนคนรวย ปรับเปลี่ยนมาใช้บทเพลงคลาสสิก ฟังดูหรูหรามีระดับ (ระหว่างทางกลับถึงละแวกบ้าน ก็จะได้ยินเพลงพื้นบ้านแอฟริกันอีกครั้ง)


แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลังกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล (Senegal) แต่เราสามารถเหมารวมถึงทวีปแอฟริกา ในยุคสมัยนั้นไม่ได้มีความผิดแผกแตกต่างมากนัก เพราะหลายๆประเทศเพิ่งได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ภายใต้พวกจักรวรรดินิยมอีกต่อไป

การจากไปของพวกจักรวรรดินิยม ทำให้แอฟริกาได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Post-Colonialism) เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ความเจริญค่อยๆแพร่กระจาย เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ คนร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตสุขสบาย ตรงกันข้ามกับคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กว่าจะหาเงินได้สักสลึงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีชีวิตกินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

ค่านิยมของชาวแอฟริกันในยุคนี้ แทบไม่ต่างจากพวกจักรวรรดินิยม แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ได้ถูกฝัง หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณ/ประวัติศาสตร์แอฟริกัน แม้พวกเขาเต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะนำมาเป็นบทเรียน กลับทำการลอกเลียนแบบอย่าง

ผกก. Sembène เล็งเห็นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จึงสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักให้กับชาวแอฟริกัน หรือกล่าวได้ว่าสำแดงคติต่อวิถีสมัยใหม่ หงุดหงิดรำคาญใจต่อเสียงล้อเอี๊ยดๆอ๊าดๆ ไม่อยากยินยอมรับ ไม่ต้องการปรับตัว (คนขับเกวียนรับจ้าง ก็มักแสดงความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยถ้อยคำตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ ไม่พึงพอใจอะไรสักสิ่งอย่าง) แต่เพราะไม่รู้จะทำอะไรยังไง ไม่มีใครสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลก มิอาจอดรนทนต่อสังคมมีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเท่า เพียงเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราดไว้ภายใน

หลายคนอาจมองว่ามุมมองของผกก. Sembène ค่อนข้างคับแคบ หัวโบราณ ไม่ยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ แต่ผมมองว่าหนังพยายามสะท้อนความเป็นจริงที่ไม่มีใครอยากยินยอมรับ เพราะวิถีชีวิตแบบเก่าได้สูญสิ้นไป รวมถึงความเสื่อมถอยของศรัทธาศาสนา เงินทองกลายเป็นปัจจัยห้า ผิดอะไรที่มนุษย์จะโหยหาความสุขสบาย กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ


Borom Sarret (1963) และ Black Girl (1966) ต่างได้รับการบูรณะพร้อมกันเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดย The Film Foundation, Institut National de l’Audiovisuel (INA) และ Sembène Estate ด้วยงบประมาณจาก Doha Film Institute เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2013 เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classic สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray คุณภาพ 4K หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion CHannel

ส่วนตัวมีความชื่นชอบ Borom Sarret (1963) >> Black Girl (1966) เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้พบเห็นวิถีชีวิต สภาพสังคม ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับชาวแอฟริกันในช่วงหลังอาณานิคม (Post-Colonialism) ด้วยวิธีการอันเรียบง่าย แต่เคลือบแผงอารมณ์เกรี้ยวกราด เก็บบันทึกภาพประวัติศาสตร์ฝังไว้ในไทม์แคปซูล

เหตุผลที่ผมไม่ค่อยชอบ Black Girl (1966) เพราะนำเสนอมุมมองด้านเดียว ยัดเยียดอารมณ์เกี้ยวกราดของชาวแอฟริกันต่อฝรั่งเศส/ลัทธิอาณานิคม เรื่องราวก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล ว่ากันตามตรง Borom Sarret (1963) สมควรติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound มากกว่าเสียด้วยซ้ำ!

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Wagoner ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆของชาวแอฟริกัน สร้างโดยชาวแอฟริกัน เพื่อชาวแอฟริกัน ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัยอาณานิคม
คุณภาพ | ม์ูล
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Moi, un noir (1958)


I, a Negro (1958) French : Jean Rouch ♥♥♥♡

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดยุคสมัย แต่ผู้กำกับ Jean Rouch ยังสามารถรังสรรค์สร้างสารคดีบันทึกวิถีชีวิตผู้อพยพชาว Nigerien เดินทางมาปักหลักใช้แรงงานอยู่ยัง Treichville, Abidjan เมืองหลวงประเทศ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ใกล้จะได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส

Moi, un noir is, in effect, the most daring of films and the humblest. It may look like a scarecrow, but its logic is foolproof, because it is the film of a free man in the same way as Chaplin’s A King in New York. Moi, un Noir is a free Frenchman freely taking a free look at a free world.

Jean-Luc Godard

One of the first films, ethnographic or otherwise, that depicted the pathos of life in changing Africa…MOI, UN NOIR is a film that obliterates the boundaries between fact and fiction, documentary and story, observation and participation, objectivity and subjectivity.

Paul Stoller

นอกจาก Egypt และ Tunisia วงการภาพยนตร์ในทวีปแอฟริกาช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20th ช่างมีความเงียบเหงา เป่าสาก เพราะแทบทุกประเทศ(ในแอฟริกา)ล้วนตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยม (Colonial Era) และเห็นว่าฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพ สรรค์สร้างภาพยนตร์ในประเทศอาณานิคม เพราะกลัวการแสดงออกทางการเมือง วัฒนธรรม อันจะนำไปสู่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยม

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นสูง ปัญญาชนแอฟริกันจึงรวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากสถานะอาณานิคม ทำให้พวกจักรวรรดินิยมจำต้องผ่อนปรนมาตรการหลายๆอย่าง จึงเริ่มมีผู้สร้างภาพยนตร์เดินทางสู่ทวีปแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น อาทิ

  • Afrique 50 (1950) กำกับโดย René Vautier ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของฝรั่งเศสที่นำเสนอแนวคิด Anti-Colonialism ผลลัพท์ทำให้ Vautier ถูกจับขังคุกนานหนึ่งปี และหน้งโดนแบนห้ามฉายกว่า 40 ปี
  • Les statues meurent aussi (1953) แปลว่า Statues Also Die กำกับโดย Alain Resnais, Chris Marker, Ghislain Cloquet สามารถคว้ารางวัลหนังสั้น Prix Jean Vigo แต่ครึ่งหลังที่ทำการวิพากย์วิจารณ์ Colonialism ถูกแบนห้ามฉายนานกว่าสิบปี

Jean Rouch ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสนใจในวิถีแอฟริกัน สรรค์สร้างสารคดีที่ไม่ได้มุ่งเน้นการ Anti-Colonialism แต่พยายามนำเสนอวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ กระบอกเสียงเล็กๆให้ได้ยินกึกก้อง เป็นที่รับรู้ของนานาอารยะ ซึ่งนั่นสร้างความขัดแย้ง (Controversial) ครุ่นคิดเห็นต่างให้ทั้งชาวฝรั่งเศสและแอฟริกัน


ว่ากันตามตรงระหว่างที่ผมรับชม Mon, un noir (1958) ดูไปก็หงุดหงิดไป นี่มันสารคดียังไง? ทั้งมุมกล้อง ลีลาตัดต่อ รวมถึงการพากย์เสียงทับภายหลัง (Post-Synchronization) มันช่างดูไม่สมจริง ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นการจัดฉาก ลวงหลอกผู้ชม! แต่พอครุ่นคิดไปมาก็พลันนึกถึง Nanook of the North (1922) ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก ภายหลังมีคำเรียกสารคดีประเภทนี้ว่า Docu+Fiction (ส่วนผสมของ Documentary+Fictional) เลยบังเกิดความตระหนัก เข้าถึงแนวทางของผกก. Rouch ที่ทำการประดิษฐ์คิดค้น สรรค์สร้างแนวทางภาพยนตร์ของตนเองขึ้นมา

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะให้การยินยอมรับ แม้สารคดีของ Rouch จะให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด ครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวอย่างอิสระ แต่ถึงอย่างนั้นมุมกล้อง ลีลาตัดต่อ รวมถึงการพากย์เสียงทับภายหลัง นั่นคือข้อขัดแย้งที่ทำให้เกิดการถกเถียง (Controversial) ทำลายความสมจริง ฝืนธรรมชาติ แถมยังถูกตีตราจากบิดาแห่งวงการภาพยนตร์แอฟริกัน Ousmane Sembène

Ethnographic films have often done us harm. Because something is being shown, a certain kind of reality is being constructed, but we don’t see any kind of evolution. What I have against these films, and what I reproach Africanists for, is that you are looking at us like insects.

Ousmane Sembène

ปล. นี่ไม่ได้แปลว่า Sembène มีอคติใดๆต่อผกก. Rouch นะครับ เพราะบทสัมภาษณ์นี้มาจากการพูดคุยระหว่างทั้งสอง (Sembène กับ Rouch) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา และเห็นว่า Sembène ชื่นชอบประทับใจ Moi, un noir (1958) อย่างมากๆเสียด้วยนะ

One film that you made which I really like – which I have defended and which I will continue to defend – is Moi, un Noir (1958). In principle, an African could have made it, but none of us were in a position to do so at the time.

Ousmane Sembène กล่าวชื่นชม Mon, un noir (1958)

Jean Rouch (1917-2004) นักมานุษยวิทยา (Anthropologist) และผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นนักสำรวจ ทหารเรือ(ในช่วง WW1) พบเจอว่าที่ภรรยาระหว่างภารกิจขั้วโลกใต้ Antarctica, สำหรับบุตรชาย โตขึ้นร่ำเรียนวิศวกรรม École nationale des ponts et chaussées (National School of Bridges and Roads) จากนั้นได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมงานก่อสร้างถนนหนทางยังประเทศ Niger ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่า มีแรงงานหลายสิบเสียชีวิต พบเห็นพิธีกรรมไล่ผีสาง ปัดเป่าความชั่วร้าย นั่นทำให้เขาเกิดความสนใจในชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางกลับฝรั่งเศส เข้าคอร์สเกี่ยวกับมานุษยวิทยา (Anthropologist) รวมถึงการถ่ายภาพยนตร์ ก่อนหวนกลับสู่ทวีปแอฟริกา ถ่ายทำสารคดีสั้นเรื่องแรกๆ Au pays des mages noirs (1947) แปลว่า In the Land of the Black Magi ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ “father of Nigerien cinema”

ปล. ถึงสารคดีสั้นเรื่องนี้จะไม่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ แต่ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ

ผลงานในยุคแรกๆของผกก. Rouch เพียงการบันทึกภาพวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม นำเสนอออกมาในลักษณะ Ethnographic Film อาทิ In the Land of the Black Magi (1947), Initiation into Possession Dance (1949), จากนั้นจึงเริ่มครุ่นคิดมองหาแนวคิดอะไรใหม่ๆ ทำการผสมผสานเรื่องราวปรุงแต่งสร้างขึ้น Docu+Drama พัฒนากลายมาเป็น Ethno+Fiction (ส่วนผสมของ Ethnographic+Fiction) เริ่มต้นกับ The Mad Masters (1955), Mon, un noir (1958), La pyramide humaine (1961) ฯ

สำหรับ Mon, un noir (1958) แปลตรงตัว Me, a Black (people) ใช้ชื่ออังกฤษ I, a Negro จุดเริ่มต้นเกิดจากผกก. Rouch มีโอกาสพบเจอ Oumarou Ganda ชายหนุ่มชาว Nigerian ที่เพิ่งเสร็จภารกิจทหาร เดินทางกลับจากสงคราม First Indochina War (1946-54) แล้วอพยพย้ายสู่ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) เพื่อมองหางานทำ

I followed a small group of young Nigerian émigrés to Treichville, a suburb of Abidjan, and suggested they make a film where they could do and say anything. So we improvised a film.

Jean Rouch

Oumarou Ganda (1935-81) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Nigerien เกิดที่ Niamey, Niger ชาติพันธุ์ Djerma, หลังเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พออายุ 16 อาสาสมัครทหาร French Far East Expeditionary Corps เข้าร่วมสงคราม First Indochina War (1946-54) พอปลดประจำการกลับมาอาศัยอยู่ Niamey แต่กลับหางานทำไม่ได้ เลยอพยพย้ายสู่ Côte d’Ivoire ทำงานเป็นคนขนของ (Longshoreman) ท่าเรือ Abidjan ทำให้มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Jean Rouch กลายเป็นตัวประกอบสารคดี Zazouman de Treichville (1957) และแจ้งเกิดภาพยนตร์ Moi, un Noir (1958)

เรื่องราวของสารคดี Mon, un noir (1958) เกาะติดหนึ่งสัปดาห์ของ Ganda เรียกตัวเองว่า Edward G. Robinson (ตามชื่อนักแสดง Hollywood คนโปรด) และพวกพ้องผู้อพยพชาว Nigerien ที่อาศัยอยู่ชุมชนสลัม Treichville, Abidjan วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานเหน็ดเหนื่อย เช้าชามเย็นยาม สวมใส่เสื้อผ้าขาดๆ หลับนอนข้างถนน เฝ้ารอคอยการมาถึงของเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย ดื่มด่ำ ร่ำนารี มองหาคู่ชีวี

เกร็ด: ทุกตัวละครจะมีชื่อเล่นอย่าง Edward G. Robinson, Eddie Constantine, Tarzan, Petit Jules, Dorothy Lamour ฯ เพื่อแสดงถึงความเพ้อใฝ่ฝัน อยากได้อยากมี อยากเป็นอย่างบุคคลที่โปรดปราน

หลังเสร็จจาก Mon, un noir (1958) ทำให้ Ganda ตัดสินใจหวนกลับ Niamey (ตามคำรำพันที่เพ้อไว้ตอนจบ) แล้วมีโอกาสเข้าร่วม Franco-Nigerien Cultural Center ฝึกฝนเรียนรู้งานภาพยนตร์ กลายเป็นผู้ช่วยฝ่ายเทคนิค ตามด้วยเขียนบท กำกับหนังเรื่องแรก Cabascabo (1968), โด่งดังกับ Le Wazzou Polygame (1970), Saïtane (1972), L’Exilé (1980) ฯ


ถ่ายภาพโดย Jean Rouch ใช้กล้องขนาดเบา Kodachrome ฟีล์ม 16mm เทคโนโลยีสี Eastmancolor ที่สามารถแบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ‘unchained camera’ ไม่มีอุปกรณ์บันทึกเสียง เมื่อได้ฟุตเทจเพียงพอเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ (Post-Production) ถึงให้นักแสดงพากย์เสียงทับ พร้อมกับบันทึกเสียงเพลงประกอบ (Post-Synchronization)

ถึงผกก. Rouch จะกล่าวอ้างว่าไม่ได้ครุ่นคิด สร้างเรื่องราวใดๆขึ้นมา ทั้งหมดเกิดจากการสังเกต ติดตาม ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลในความสนใจยาวนาน 6 เดือน! (ต่อเนื่องมาจากโปรเจคก่อนหน้า Zazouman de Treichville (1957)) แต่เวลาถ่ายทำจริงนั้นกลับพบเห็นทิศทาง มุมกล้อง องค์ประกอบภาพ โดยเฉพาะโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ล้วนมีการวางแผนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นมืออาชีพ บทพูดสนทนาก็เฉกเช่นเดียวกัน!

คนที่มีความเข้าใจในศาสตร์สารคดี น่าจะสังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าวไม่ยากเย็น แต่สำหรับผู้ชมทั่วไปอาจเพลิดเพลินกับเรื่องราวจนหลงลืมว่านี่ควรเป็น ‘สารคดี’ มันจัดวางองค์ประกอบ ถ่ายมุมกล้องแบบนั้นนี้ได้อย่างไรกัน?? ลักษณะดังกล่าวมีคำเรียก Docu+Fiction หรือ Docu+Drama หรือจะ Ethno+Fiction เป็นการผสมผสานการนำเสนอสไตล์สารคดี+ปรุงแต่งสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ … ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าสไตล์ภาพยนตร์ลักษณะนี้ควรเรียกสารคดีจริงๆนะหรือ??


ตัดต่อโดย Marie-Josèphe Yoyotte (Love in Jamaica, The 400 Blows, Testament of Orpheus, Léon Morin, Priest) และ Catherine Dourgnon

ทำการเกาะติดเรื่องราวชีวิตของ Oumarou Ganda เรียกตัวเองว่า Edward G. Robinson และผองเพื่อนผู้อพยพชาว Nigerian ที่ปักหลักอาศัยอยู่ชุมชนสลัม Treichville, Abidjan เมืองหลวงประเทศ Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ในรอบสัปดาห์ โดยจะมีปรากฎข้อความคั่นแบ่งเมื่อเข้าสู่เสาร์-อาทิตย์

  • อารัมบท, เสียงบรรยายผกก. Rouch แนะนำตัวละคร อธิบายวัตถุประสงค์ของสารคดี ก่อนส่งต่อให้กับ Oumarou Ganda
  • วันทำงานของ Edward G. Robinson
    • ยามเช้าเดินทางไปทำงาน พานผ่านสถานที่ต่างๆ ตลาด ชุมชน สลัม ฯ
    • ทำงานเป็นคนขนของ (Longshoreman) ยังท่าเรือ
    • พักเที่ยงรับประทานอาหาร นอนกลางวัน ก่อนเข้างานกะบ่าย
    • กิจวัตรยามค่ำคืน ฝึกฝนต่อยมวย ใฝ่ฝันอยากเป็นแชมป์โลก
  • วันเสาร์
    • แต่งตัวหล่อ ขึ้นรถแท็กซี่ เดินทางไปเล่นน้ำทะเล
    • จินตนาการตนเองขึ้นชกชิงแชมป์โลก (ถ่ายในเวที) ก่อนตัดให้พบเห็นการชกชิงแชมป์โลกจริงๆ (ถ่ายจากนอกเวที)
    • ค่ำคืนไปดื่มด่ำ เต้นรำ ค่ำคืนนี้หลับนอนตัวคนเดียว ไม่มีใครเคียงข้างกาย
  • วันอาทิตย์
    • ตื่นเช้ารีบไปเหล่สาวยังโบสถ์ศาสนาคริสต์ (แต่ตัวเองเป็นมุสลิม)
    • หลังแวะร้านตัดผม ถึงค่อยไปละหมาดยังมัสยึด
    • รับชมการแข่งขันฟุตบอล
    • ล้อมวงรับชมการแสดงความสามารถต่างๆ เล่นดนตรี ปั่นจักรยานผาดโผน ฯ
    • หัวค่ำมีกิจกรรมประกวดเต้นรำเพื่อค้นหา King & Queen แห่ง Treichville
    • ดึกดื่นดื่มด่ำ มึนเมามาย สูญเสียแฟนสาวให้กับคนขาว
  • เช้าวันจันทร์
    • ตื่นขึ้นมายังไม่สร่างเมา เคาะประตูห้องแฟนสาว มีเรื่องชกต่อยกับชายคนขาว
    • พร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย เบื่อหน่ายกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ก่อนตัดสินใจจะเดินทางกลับบ้านเกิด

ลีลาการตัดต่อถือว่ามีความแพรวพราวอย่างมากๆ ถือเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องราว และช่วยให้สารคดีมีความลึกล้ำ ศิลปะขั้นสูง ท้าทายผู้ชมให้เกิดข้อคำถาม การถกเถียง ยกตัวอย่างระหว่าง Edward G. Robinson พร่ำเพ้อว่าเคยขึ้นเรือออกเดินทางไปทำงานยังประเทศต่างๆ ครอบครองหญิงผิวขาวทั่วยุโรป ขณะนั้นมีการแทรกภาพเรือขนส่งหลายๆลำ แต่นั่นไม่ใช่จะสื่อถึงเรือที่อาจจะเคยประจำการ ยังสร้างความรู้สึกว่าตัวละครก็แค่คุยโวโอ้อวดเก่งไปวันๆ

(เวลาที่ตัวละครพร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อย ก็มักมีการร้อยเรียงชุดภาพ ตัดสลับมุมกล้องไปมา เพื่อสร้างสัมผัสว่าหมอนี่กำลังคุยโวโอ้อวดเก่ง ไม่ต่างจากเด็กเลี้ยงแกะ)

The editing decisions themselves also proved quite controversial. For instance, in the scene where Edward G. Robinson brags about his conquests with white women in Europe to Élite, the film cuts to shots of the sterns of ships registered in the ports that he name-checks (such as Oslo), corresponding to the shipments of sacks that they have just loaded in their menial jobs, suggesting that the character is being untruthful.

ในส่วนของ Post-Production มีการบันทึกเสียงพากย์ เพลงประกอบ และเสียงประกอบ (Sound Effect) ไปพร้อมๆกันยังสตูดิโอที่กรุง Paris ด้วยข้อจำกัดของยุคสมัยนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เสียงพูดตรงกับปากขยับ แต่นั่นคือความจงใจของผกก. Rouch เพื่อสร้างบรรยากาศ ‘dream-like’ ราวกับเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝัน จินตนาการล่องลอย จับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่ … แน่นอนว่านี่เป็นอีกสาเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สารคดีถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าทำให้เรื่องราวที่ควรมีลักษณะ Neo-Realist กลายมาเป็นเรื่องเล่าปรับปรา เทพนิยายแอฟริกา นิทานก่อนนอน

สำหรับเพลงประกอบ ก็มีทั้งที่เชิญศิลปินมาขับร้อง เล่นสด (ระหว่างบันทึกเสียง) รวมถึงเปิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ทั้งหมดถือเป็น ‘diegetic music’ ต้องได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง (ยกเว้นระหว่าง Opening & Closing Credit) และสำหรับเสียงประกอบ (Ambient) อย่างผู้คนในผับบาร์ รถราบนท้องถนน ฯ เห็นว่าทำการบันทึกเสียงจาก(ท้องถนน)กรุง Paris สถานที่แห่งไหนก็เหมือนๆกันทั้งนั้น


ทวีปแอฟริกาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แม้การสู้รบยังพอพบเห็นอยู่บ้าง มีสลับสับเปลี่ยนประเทศผู้ครอบครองอาณานิคม แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายรุนแรงเมื่อเทียบกับยุโรปและญี่ปุ่น, ภายหลังสิ้นสุดสงคราม ประเทศอาณานิคมเหล่านี้จึงได้รับการปรับปรุงพัฒนา ให้ความเจริญก้าวหน้า ทันสมัยเทียบเท่านานาอารยะ พบเห็นอาคารบ้านเรือน ตึกระฟ้าสูงใหญ่ ทำให้ผู้คนแห่กันอพยพเข้าเมือง เผื่อว่าจะมีอาชีพ ทำงานหาเงิน เลี้ยงดูแลตนเองและครอบครัว

นอกจากความเจริญทางวัตถุที่เผยแพร่เข้ามา ยังพร้อมกับแนวคิดสมัยใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยได้รับการเสี้ยมสอน ปลูกฝังถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม เรียกร้องหาประชาธิปไตย ต้องการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบ ตกเป็นทาสจักรวรรดินิยมอีกต่อไป

เกร็ด: Côte d’Ivoire (Ivory Coast) ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1960

แม้ว่าสารคดี Moi, un noir (1958) จะไม่ได้มีการกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองโดยตรง (แต่พบเห็นภาพชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องอิสรภาพ) ถึงอย่างนั้นผู้ชมสามารถสัมผัสบรรยากาศ(การเมือง)ที่ยังคุกรุ่น ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม การดำรงชีวิต พบเห็นการแบ่งแยกสถานะ ชนชั้น รวย-จน ขาว-ดำ ถ้อยคำพร่ำรำพัน เพ้อใฝ่ฝัน อยากได้อยากมี อยากทำโน่นนี่นั่น โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง (แฟนสาวเลือกเอาคนขาว)

เอาจริงๆถ้าสารคดีเรื่องนี้ไม่เอาประเด็นชาติพันธุ์ (Ethnographic) มาเป็นจุดขาย มันก็คือภาพยนตร์ดราม่าสังคม Neorealist แบบทั่วๆไป คล้ายๆหนังไทยที่มีเรื่องราวบ้านนอกเข้ากรุงอย่าง เทพธิดาโรงแรม (พ.ศ. ๒๕๑๗), ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (พ.ศ. ๒๕๒๐), มุ่งเน้นการสะท้อนปัญหาอาชญากรรม ความแตกต่างระหว่างชนบท-สังคมเมือง แบ่งแยกชนชั้นรวย-จน และการปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่

แต่สิ่งที่กล่าวมาหาใช่ความสนใจของผกก. Rouch ต้องการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คน สภาพสังคม แนวคิดของชาวแอฟริกันที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ได้รับอิทธิพลจากลัทธิจักรวรรดินิยม โหยหาเงินทอง ร่ำรวยสุขสบาย ใฝ่ฝันความสำเร็จ กลายเป็นคนมีชื่อเสียง เลียนแบบดารา นักร้อง-นักแสดง ฯ พวกเขากำลังค่อยๆถูกกลืนกิน สูญเสียอุดมการณ์แท้จริงของชนชาวแอฟริกัน

จะว่าไปตอนจบที่ Oumarou Ganda/Edward G. Robinson ไม่ยินยอมอดรนทนต่อความอยุติธรรมทางสังคม (หลังแฟนสาวถูกคนขาวแก่งแย่งไปครอบครอง) ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่ Niamey, Niger นั่นราวกับเป็นการประกาศอิสรภาพ ปลดแอกตนเองจากการตกเป็นเบี้ยล่างทางสังคม/ลัทธิอาณานิคม


Moi, un noir (1958) นอกจากคว้ารางวัล Prix Louis-Delluc ยังถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์/สารคดีที่สร้างอิทธิพลให้ยุคสมัย French New Wave โดยเฉพาะผกก. Jean-Luc Godard ยกย่องสรรเสริญ “unprecedented levels of truth captured on film” และเลือกติดอันดับ 4 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของตนเอง

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย Centre National du Cinema และ Les Films de la Pleidade สามารถหาซื้อ DVD (ไม่มี Blu-Ray) คอลเลคชั่น Eight Films by Jean Rouch ของค่าย Icarus Films ประกอบด้วย

  • Mammy Water (1955)
  • The Mad Masters (1956)
  • I, a Negro (1958)
  • The Human Pyramid (1961)
  • The Punishment (1962
  • The Lion Hunters (1965)
  • Jaguar (1967)
  • Little by Little (1969)

แม้ระหว่างรับชม ผมไม่ค่อยชอบวิธีการนำเสนอสักเท่าไหร่ รู้สึกล่องลอย จอมปลอม มันคือสารคดียังไง? แต่หลังผ่านการครุ่นคิด ค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Rouch เข้าใจข้อจำกัดยุคสมัย ก็เพียงพอรับได้ประมาณหนึ่ง บังเกิดความชื่นชอบ ประทับใจ และตระหนักถึงความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน

สำหรับคนที่ยังรู้สึกอคติต่อสารคดีเรื่องนี้ ไม่ชื่นชอบวิธีการนำเสนอ แนะนำให้ลองหา Chronique d’un été (1961) แปลว่า Chronicle of a Summer ผลงานชิ้นเอกของผกก. Rouch (ร่วมกำกับ Edgar Morin) ก็อาจสามารถทำความเข้าใจอะไรๆเพิ่มขึ้นได้อีกพอสมควร

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | I, a Negro คือเรื่องเล่าปรัมปรา เทพนิยายแอฟริกา นิทานก่อนนอน สารคดีบันทึกวิถีชีวิตชาวแอฟริกันในช่วงก่อนการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ
คุณภาพ | ปรัมปราแอฟริกัน
ส่วนตัว | ประทับใจ

White Material (2009)


White Material (2009) French : Claire Denis ♥♥♥♡

ณ ประเทศสมมติในทวีปแอฟริกา กำลังเกิดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เจ้าของไร่กาแฟรับบทโดย Isabelle Huppert กลับปฏิเสธจะทอดทิ้งสิ่งที่เป็นของตนเอง หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material”

ผลงานลำดับที่ 9 ของผกก. Claire Denis แต่เพิ่งเป็นครั้งที่สาม (ทั้งสามเรื่องห่างกันเกือบๆ 10 ปี) เดินทางกลับบ้านเกิด ถ่ายทำในทวีปแอฟริกา นักวิจารณ์หลายคนมองว่าราวกับภาคต่อ Chocolat (1988) เพราะนักแสดง Isaach de Bankolé จากคนรับใช้ (Protée) กลายมาเป็นนักปฏิวัติ (The Boxer) ถึงอย่างนั้นเนื้อหาของทั้งสองเรื่อง ไม่ได้มีความต่อเนื่องสัมพันธ์อะไร

No, White Material is not related to Chocolat. There is no connection at all. They are entirely different visions of Africa and the cinema. Chocolat is about friendship and family, and maybe sex and longing, and White Material is about remaining strong in the face of danger.

Claire Denis

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ Isabelle Huppert รูปร่างผอมเพียวช่างมีความพริ้วไหว (ชวนให้นึกถึง Katharine Hepburn จากภาพยนตร์ Summertime (1955)) ทั้งสีหน้า ท่วงท่า ลีลาของเธอเอ่อล้นด้วยความเชื่อมั่น เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ใครบอกอะไรไม่สน ฉันสามารถทำทุกสิ่งอย่าง ไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย สุดท้ายเมื่อตระหนักถึงความเป็นจริง เลยสูญเสียสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

Isabelle Huppert is an immoveable object surrounded by unstoppable forces.

คำนิยมจาก RottenTomatoes

…small and slender, [she] embodies the strength of a fighter. In so many films, she is an indomitable force, yet you can’t see how she does it. She rarely acts broadly. The ferocity lives within. Sometimes she is mysteriously impassive; we see what she’s determined to do, but she sends no signals with voice or eyes to explain it.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 3.5/4

จริงๆยังมีอีกหลายผลงานของผกก. Denis ที่ผมอยากเขียนถึง แต่ตัดสินใจเลือก White Material (2009) เพราะเรื่องราวมีพื้นหลังถ่ายทำยังทวีปแอฟริกา และถือว่าปิดไตรภาค ‘African Film’ จะได้เขียนถึงหนังจากแอฟริกันเรื่องอื่นสักที!


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Chocolat (1988), Nénette and Boni (1996), Beau Travail (1999), The Intruder (2004), 35 Shots of Rum (2008) ฯ

หลังเสร็จงานสร้างภาพยนตร์ Vendredi soir (2002) หรือ Friday Night, ผกก. Danis มีโอกาสพบเจอ Isabelle Huppert พูดคุยสอบถาม ชักชวนมาร่วมงานกัน ในตอนแรกแนะนำให้ดัดแปลง The Grass Is Singing (1950) นวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนชาวอังกฤษ Doris Lessing (1919-2013) ซึ่งมีพื้นหลัง Southern Rhodesia (ปัจจุบันคือประเทศ Zimbabwe) ทางตอนใต้ทวีปแอฟริกา ช่วงทศวรรษ 40s

ผกก. Denis มีความชื่นชอบหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะคือหนึ่งในแรงบันดาลใจภาพยนตร์ Chocolat (1988) แต่เหตุผลที่บอกปฏิเสธเพราะเธอไม่เคยอาศัยใช้ชีวิต รับรู้อะไรเกี่ยวกับ South Africa (สมัยวัยเด็ก ผกก. Denis ใช้ชีวิตอยู่แถบ East & West Africa ไม่เคยลงใต้ไปถึง South Africa ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ) ถึงอย่างนั้นก็เสนอแนะว่าจะครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่จากวิสัยทัศน์ของตนเอง

after I made Friday Night, Isabelle [Huppert] asked me if I would like to work with her, to which I said “yes!” She wondered if I wanted to adapt a Doris Lessing novel called The Grass Is Singing, which is the story of her parents in the ‘30s in South Africa. It’s about a couple of originated English people trying to farm—although they are not farmers, know nothing about farming—and the fight to farm land they don’t know. It ends with…cows. It’s more or less what Doris Lessing described of her own family. Later, she wrote a novel about her brother who stayed in South Africa, actually in old Rhodesia—Zimbabwe now—who’s a farmer and it’s a disaster.

So I was thinking, and I told Isabelle that although I like the book very much—actually it’s a very important book for me because it was one of the sources of inspiration for Chocolat (1988)—I told her that to go back to that period in Africa, especially in South Africa—I’m not a South African, and for me, I don’t know how to say it, for me to imagine us to go somewhere in South Africa together and do a period movie in a country that has changed so much, after Mandela has been elected and apartheid is finished, I thought I’m going to make a wrong move. So I said if you want, I have a story, I’ll think about a story of today. I was reading many books about the Liberia and Sierra Leone. I told Isabelle I was trying to do my own…to say “vision” is a bit too much, but to describe something I feel, it could be a very good story for her, and I would be interested.

เรื่องราวของ White Material (ไม่มีชื่อฝรั่งเศส อ่านทับศัพท์ไปเลย) ได้แรงบันดาลใจจากสารพัดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) ที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกันช่วงหลายๆทศวรรษนั้น อาทิ Ethiopian Civil War (1974-91), Rwandan Civil War (1990-94), Djiboutian Civil War (1991-94), Algerian Civil War (1991-2002), Somali Civil War (1991-), Burundi Civil War (1993-2005), Republic of the Congo Civil War (1997-99), First Ivorian Civil War (2002-07) ฯลฯ นี่แค่ตัวอย่างผิวเผินเท่านั้นเองนะครับ ผมเห็นปริมาณรายการความขัดแย้ง/สงครามกลางเมืองจากวิกิพีเดียแล้วรู้สึกสั่นสยองขึ้นมาทันที [List of conflicts in Africa]

สงครามกลางเมืองเหล่านี้ ถ้าขบครุ่นคิดดีๆจะพบว่าล้วนเป็นผลกระทบภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากการเป็นประเทศอาณานิคม สิ่งที่พวกจักรวรรดินิยมทอดทิ้งไว้ให้นั้น สร้างความลุ่มหลง งมงาย ประชาชนยึดติดในอำนาจ วัตถุนิยม สิ่งข้าวของเครื่องใช้ “White Material” โหยหาเงินทอง ความสะดวกสบาย ใช้ความรุนแรง โต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

ผกก. Denis ร่วมงานกับนักเขียนนวนิยาย Marie NDiaye (เกิดปี 1967) สัญชาติ French-Senegalese เคยได้รับรางวัล Prix Femina จากนวนิยาย Rosie Carpe (2001) และ Prix Goncourt (เทียบเท่า Nobel Prize สาขาวรรณกรรมของฝรั่งเศส) ผลงาน Trois femmes puissantes (2009) … หลังจาก White Material (2009) ยังโด่งดังกับการร่วมพัฒนาบท Saint Omer (2022)

ด้วยความที่ NDiaye ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนบทภาพยนตร์มาก่อน จึงต้องปรับตัวไม่น้อยระหว่างร่วมงานผกก. Denis ทั้งสองออกเดินทางสู่แอฟริกาเพื่อค้นคว้าข้อมูล และร่วมกันพัฒนาบท White Material จนแล้วเสร็จสรรพ

There were circumstances at the beginning of our relationship that we had to sort out. Marie is a writer and she is used to spending a lot of time on her own, but I always work with people and when I do that I have to spend time with them. I know that Marie found this difficult at first. She was used to working and thinking without a partner. But we travelled together to Africa and that’s when the work came together. I had an African childhood, which Marie did not have, and we discussed that, and what it meant to be white in Africa, and it was from that contradiction that we began to put together White Material.


ณ ประเทศสมมติในทวีปแอฟริกา กำลังเกิดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เจ้าของไร่กาแฟ Maria Vial (รับบทโดย Isabelle Huppert) กลับปฏิเสธทอดทิ้งเมล็ดกาแฟที่กำลังออกผลผลิต แม้คนงานหลบลี้หนีหาย ก็ยังพยายามใช้เงินซื้อหา ว่าจ้างคนท้องถิ่นมาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่แล้วสงครามกลางเมืองก็ค่อยๆคืบคลานเข้าหา กลุ่มผู้ก่อการร้ายเด็ก (Child Soldiers) บุกรุกเข้ามาในไร่กาแฟ เป็นเหตุให้บุตรชาย Manuel ถูกจี้ปล้น โดนบังคับให้ถอดเสื้อผ้า นั่นทำให้จากเคยเป็นคนเฉื่อยชา ตัดสินใจโกนศีรษะ เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ด้วยความที่รัฐบาลครุ่นคิดว่าพวกคนขาวให้ที่หลบซ่อนผู้ก่อการร้าย ทหารกลุ่มหนึ่งจึงบุกเข้ามาในไร่กาแฟของ Maria (โชคดีว่าขณะนั้นเธอไม่อยู่บ้าน) ทำการเชือดคอทหารเด็ก กราดยิง เผาทั้งเป็น เมื่อเธอหวนกลับมาเห็น ก็ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง


Isabelle Anne Madeleine Huppert (เกิดปี 1953) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Jews ส่วนมารดาทำงานครูสอนภาษาอังกฤษ ผลักดันให้ลูกๆเป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าเรียน Conservatoire à rayonnement régional de Versailles ติดตามด้วย Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) เริ่มต้นมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์ Le Prussien (1971), ตามด้วยภาพยนตร์ Faustine et le Bel Été (1972), Les Valseuses (1974), La Dentelliere (1977) คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Aloïse (1975), Violette Nozière (1978), Une affaire de femmes (1988), La Cérémonie (1995), The Piano Teacher (2001), Gabrielle (2005), Amour (2012), Elle (2016) ฯ

รับบท Maria Vial สืบทอดกิจการไร่กาแฟจากบิดา Henri ของอดีตสามี Andre (คาดว่าหย่าร้างเพราะจับได้ว่าเขาแอบมีความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี) จึงมีความหมกมุ่น ยึดติดกับสถานที่แห่งนี้ แม้ได้รับคำตักเตือนจากกองทัพฝรั่งเศสที่กำลังถอยร่นระหว่างสงครามกลางเมือง กลับแสดงความดื้อรั้น ปฏิเสธรับฟัง เชื่อมั่นว่าตนเองจักสามารถเอาตัวรอด เงินทองซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง

ภาพจำของ Huppert แม้ร่างกายผอมบาง แต่มีจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง เอ่อล้นด้วยพลัง ความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่หวาดกลัวเกรงภยันตรายใดๆ ล้มแล้วลุก ปฏิเสธยินยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้กับทุกสิ่งอย่าง!

การเดินทางสู่แอฟริกาของ Huppert ทำให้เธอต้องใช้ศักยภาพทางร่างกายค่อนข้างมาก ฝึกฝนขับรถ ขับมอเตอร์ไซด์ ห้อยโหยท้ายรถโดยสาร รวมถึงเรียนรู้วิธีการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่เต็มไปด้วยขั้นตอนหลากหลาย แต่ทุกท่วงท่า อากัปกิริยาของเธอ เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น จริงจัง ฉันสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง นั่นแสดงถึงความลุ่มหลง งมงาย ยึดติดกับ White Material แม้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ทวีปแอฟริกา แต่ไม่มีทางจะได้รับการยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวแอฟริกัน!

สำหรับความสิ้นหวังของตัวละคร สังเกตว่าไม่ได้มีการร่ำร้องไห้ หรือเรียกหาความสนใจ แต่ยังแสดงความดื้อรั้น ดึงดัน ไม่สนคำทัดทานผู้ใด พยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อหวนกลับไป แล้วกระทำสิ่งไม่มีใครคาดคิดถึง … บางคนอาจรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่ผมสมเพศเวทนากับความลุ่มหลง งมงาย หมกมุ่นยึดติดใน White Material


สำหรับสมาชิกครอบครัวแตกแยก (Dysfunctional Family) ของ Maria Vial ประกอบด้วย

  • อดีตสามี André (รับบทโดย Christopher Lambert) คาดว่าสาเหตุที่หย่าร้างเพราะแอบคบชู้นอกใจ สานสัมพันธ์กับหญิงผิวสีชาวแอฟริกัน จนมีบุตรชายลูกครึ่ง Jose 
    • André พยายามเกลี้ยกล่อมบิดาให้ยกไร่กาแฟให้กับตนเอง เพื่อจะนำไปขายต่อให้กับชาวแอฟริกัน แล้วหาทางหลบหนีออกจากประเทศแห่งนี้ พยายามเกลี้ยกล่อมบิดา จนแล้วจนรอด ท้ายสุดถูกฆาตกรรมโดยกองทัพรัฐบาล
  • บิดาของ André (รับบทโดย Michel Subor) เกิด-เติบโตยังทวีปแอฟริกา เป็นเจ้าของไร่กาแฟสืบทอดจากบิดา ตั้งใจจะมอบทุกสิ่งอย่างให้กับลูกสะใภ้ Maria ส่วนตนเองใช้ชีวิตวัยเกษียณ เดินไปเดินมา เฝ้ารอคอยความตาย แต่สุดท้ายกลับถูกฆาตกรรม/ทรยศหักหลังโดย Maria
  • Manuel (รับบทโดย Nicolas Duvauchelle) บุตรชายของ Maria และ André อายุประมาณ 17-18 มีความเกียจคร้าน ขี้เกียจสันหลังยาว แต่หลังจากถูกกลั่นแกล้ง ทำให้อับอายโดยพวกทหารเด็ก กลับมาบ้านตัดสินใจโกนศีรษะ อาสาสมัครเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนถูกเผาตายทั้งเป็นโดยกองทัพรัฐบาล
    • เมื่อตอนที่ Manuel โกนศีรษะ ชวนให้ผมนึกถึง Travis Bickle จากภาพยนตร์ Taxi Driver (1976) ทำผมทรงโมฮอกแสดงอาการน็อตหลุด ใกล้จะคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง เรียกร้องความสนใจ ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์การมีตัวตน ฉันก็เป็นลูกผู้ชาย (นั่นอาจคือเหตุผลที่หนังจงใจถ่ายให้เห็นไอ้จ้อน ระหว่างถูกทำให้เปลือยกายล่อนจ้อน)
  • Jose อายุ 12 ปี แม้เป็นบุตรชายของ André กับชู้รัก คนรับใช้ชาวแอฟริกัน แต่ยังได้รับความรักจาก Maria คอยไปรับไปส่ง ดูแลเหมือนลูกแท้ๆ ตอนจบไม่รับรู้โชคชะตา (แต่ก็คาดเดาไม่ยากเท่าไหร่)

ถ่ายภาพโดย Yves Cape (เกิดปี 1960) ตากล้องสัญชาติ Belgian โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการถ่ายภาพยัง Institut national supérieur des arts du spectacle et des techniques de diffusion (INSAS) จากนั้นเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วย แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Ma vie en rose (1997), Humanity (1999), Buffalo Boy (2004), White Material (2009), Holy Motors (2012) ฯ

ปล. เหตุผลที่ผกก. Denis ไม่ได้ร่วมงานตากล้องขาประจำ Agnès Godard เพราะอีกฝ่ายกำลังตั้งครรภ์ และมารดายังล้มป่วยหนัก เห็นว่าเสียชีวิตใกล้ๆกับตอนโปรดักชั่น เลยตัดสินใจมองหาตากล้องคนอื่นขัดตาทัพไปก่อน

แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Denis ที่มักพยายามรังสรรค์งานภาพให้ออกมาเสมือนภาพนิ่ง บรรยากาศโหยหา คร่ำครวญ หวนรำลึกนึกถึงอดีต, อาจเพราะ White Material (2009) มีพื้นหลังในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง จึงเลือกใช้กล้อง Hand-Held แบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ซึ่งสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร อาการสั่นไหว หวาดกังวล โดยไม่รับรู้ตัวว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้าหา

ในหลายๆบทสัมภาษณ์ของผกก. Denis มักกล่าวพาดพิงถึง First Ivorian Civil War (2002-07) สงครามกลางเมืองในประเทศ Ivory Coast (หรือ Côte d’Ivoire) แม้เมื่อตอนเริ่มต้นโปรดักชั่น สงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองยังถือว่าไม่น่าปลอดภัย [Second Ivorian Civil War เกิดขึ้นติดตามมาระหว่าง ค.ศ. 2010-11] ด้วยเหตุนี้เลยต้องมองหาสถานที่อื่น ถ่ายทำยังประเทศ Cameroon ติดชายแดน Nigeria

It’s not my intention to be vague. The film is inspired by real events in the Ivory Coast. Of course, it was impossible to shoot the film there because a near-civil war is still going on there. I thought it was better to shoot in a country at peace. Also, I wanted the child soldiers to be played by normal children who go to school. I think it’s necessary for a film containing certain violence. I didn’t want to write, “This story takes place in 2003 in the Ivory Coast” over the credits. Anyone who knows Cameroon could recognize that’s where I shot it. The border of Nigeria and Cameroon is very visible. Many times at screenings in France, people recognized the locations. If I had claimed it was set in the Ivory Coast, it would have been a lie. Otherwise, I would take the risk to shoot there.

Claire Denis

เกร็ด: ผกก. Denis เลื่องชื่อในการทำงาน “shooting fast, editing slowly” เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำ White Material (2009) แค่เพียงสิบวันเท่านั้น!


จริงๆมันมีสถานที่มากมายที่จะให้ตัวละคร Maria หวนระลึกเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แต่การให้เธอปีนป่ายหลังรถโดยสาร นั่งอยู่ท่ามกลางชาวผิวสี เพื่อสื่อถึงการเดินทาง/สถานการณ์ที่ตนเองไม่สามารถควบคุม กำหนดทิศทางชีวิต แม้แต่จะขอให้หยุดจอด หรือเรียกร้องขอโน่นนี่นั่น (คือสิ่งที่คนขาว หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material”) เพียงสงบสติอารมณ์ แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปตามครรลองของมัน

ผมไม่ได้มีความสนใจในเครื่องแต่งกายตัวละครมากนัก บังเอิญพบเห็นบทสัมภาษณ์ของผกก. Denis เปรียบเทียบชุดเดรสสีชมพู (พร้อมกับทาลิปสติก) ดูราวกับเกราะคุ้มกันภัย นั่นทำให้ตัวละครมีความเป็นเพศหญิง … บางคนอาจมองพฤติกรรมห้าวเป้งของตัวละคร ดูเหมือนทอมบอย เพศที่สาม แต่การเลือกใส่ชุดกระโปรง ถือว่าตัดประเด็นนั้นทิ้งไปได้เลย (สวมใส่กางเกง รองเท้าบูท เฉพาะระหว่างทำงานในไร)

It’s very feminine. We used color to speak about the character without psychology. There is a yellow dress at the beginning, and the second dress is pink. We tried a turquoise dress, but it didn’t seem to belong to the story. The others fit it. The camera lingers on the pink dress because she puts it on to seem strong. It’s like armor.

Claire Denis

ตัวละคร The Boxer (รับบทโดย Isaach de Bankolé) เหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มต่อต้าน/ผู้ก่อการร้าย (สังเกตจากสวมหมกสีแดง) ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล ถูกยิงบาดเจ็บ จึงมาหลบซ่อนตัวในไร่กาแฟของ Maria โดยอ้างว่าเป็นญาติกับคนงาน เลยได้รับความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายเหมือนว่าทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตก่อนการมาถึงของกองทัพรัฐบาล

เพราะเคยมีบทบาทเด่นในภาพยนตร์ Chocolat (1988) ผมก็นึกว่าบทบาทของ Bankolé จะมีความสลักสำคัญต่อเรื่องราว แต่ตลอดทั้งเรื่องได้รับบาดเจ็บ นั่งๆนอนๆอยู่บนเตียง ถึงอย่างนั้นภาพวาดฝาผนัง แสดงให้ถึงการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ … นำพาหายนะมาให้กับครอบครัวของ Maria

ไร่กาแฟ (Coffee Plantation) เป็นผลิตภัณฑ์พบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจอะไรจนกระทั่งพบเห็นช็อตนี้ จากเมล็ดที่เคยเป็นสีดำ ถูกนำไปผ่านกรรมวิธีอะไรสักอย่าง ขัดสีฉวีวรรณจนกลายเป็นเมล็ดขาว นี่แฝงนัยยะถึงการฟอกขาว (Whitewashing) วิธีการของลิทธิจักรวรรดินิยม เมื่อเข้ายึดครอบครอง พยายามปรับเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างของประเทศอาณานิคมให้กลายเป็นแบบของตนเอง

หลายคนอาจมองว่า Maria คงคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตกไปแล้วกระมัง ถึงกระทำการ !@#$% แต่มุมมองคิดเห็นของ Huppert ถือว่าน่าสนใจทีเดียว มองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการทำลาย ‘ความเป็นคนขาว’ ของตนเอง!

For me, is very metaphorical. It’s not like she’s committing an act of revenge like in a thriller, but she’s symbolically murdering the white part of herself by killing the ultimate white man — who just happens to be her step-father. She’s almost taking a Swiss-like side in the matter —  having gone through her own son’s death, and her ex-husband’s death, she comes to realize that no matter how trustful she is of other people, she still have to face this internal antagonist in her herself.

Isabelle Huppert

ตัดต่อโดย Yann Dedet (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Bride Wore Black (1968), แล้วกลายเป็นขาประจำ François Truffaut, Maurice Pialat และ Nicole Garcia, ผลงานเด่นๆ อาทิ Day for Night (1973), Under the Sun of Satan (1987), Van Gogh (1991), Nénette and Boni (1996), White Material (2009), I Am Not a Witch (2017) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Maria Vial หญิงผิวขาว ชาวฝรั่งเศส เจ้าของไร่กาแฟแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกัน (ไม่มีการระบุประเทศ) ระหว่างสงครามกลางเมือง กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เธอกลับดื้อรั้น ดึงดัน ปฏิเสธรับฟัง จนสถานการณ์ลุกลามบานปลาย พยายามหาหนทางกลับบ้าน ระหว่างนั่งอยู่ในรถโดยสาร หวนระลึกนึกย้อน ทบทวนเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น

  • อารัมบท, (อนาคต) ร้อยเรียงภาพหายนะของไร่กาแฟ ทุกสิ่งอย่างกำลังมอดไหม้ ฝุ่นควันฟุ้งกระจาย
  • ความดื้อรั้นของ Maria
    • (ปัจจุบัน) Maria หลบซ่อนจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนโบกรถหาทางกลับบ้าน ห้อยโหยตรงบันไดด้านหลัง
    • ครุ่นคิดถึงตอนที่เฮลิคอปเตอร์พยายามตะโกนบอก Maria ให้ออกไปจากประเทศแห่งนี้ แต่เธอกลับทำหูทวนลม
    • The Boxer หลบหนีจากกองทัพรัฐบาล หลบซ่อนตัวในไร่กาแฟของ Maria
    • Maria ระหว่างทางกลับบ้าน พบเห็นคนงานต่างอพยพหลบหนี ไม่ต้องการเสี่ยงชีวิตเพื่อ White Material
    • เมื่อกลับมาถึงบ้านก็เตรียมตัวออกหาคนงานใหม่ ไม่ต้องการให้ไร่กาแฟเสียหาย
    • พอขับรถมาถึงกลางทางถูกรีดไถเงิน แวะเข้าเมืองซื้อของ แล้วเดินทางไปว่าจ้างคนงาน
    • ขากลับแวะเวียนไปรับหลานชายลูกครึ่ง Jose (บุตรของอดีตสามี มีความสัมพันธ์กับคนใช้ผิวสี)
  • สถานการณ์ตึงเครียด
    • ยามเช้า Maria ปลุกตื่นบุตรชาย Manuel ระหว่างกำลังเล่นน้ำ เกือบถูกลอบฆ่าโดยทหารเด็ก
    • ทหารเด็กแอบเข้ามาในไร่กาแฟ ทำการประจาน Manuel จนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง โกนศีรษะ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • Maria เก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ
    • ค่ำคืนนี้แบ่งปันเสบียงกรังกับคนงาน
  • เหตุการณ์เลวร้าย หายนะบังเกิดขึ้น
    • รายงานข่าวแจ้งว่ากองทัพรัฐบาลมีความเคลือบแคลงสงสัย ว่าพวกคนขาวเจ้าของไร่กาแฟ ให้สถานที่หลบภัยต่อกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • คนงานเรียกร้องขอค่าจ้าง ต้องการไปจากสถานที่แห่งนี้ แต่เงินในตู้เซฟกลับถูกลักขโมย สูญหายหมดสิ้น
    • ระหว่างขับรถเข้าเมือง ถูกพวกผู้ก่อการร้ายดักปล้น เข่นฆ่าผู้คน
    • กองทัพรัฐบาลบุกเข้าในไร่กาแฟ เชือดคอทหารเด็ก เผาทำลายทุกสิ่งอย่าง
    • (ปัจจุบัน) Maria พยายามหาหนทางกลับบ้าน ก่อนพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ และตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

ผกก. Denis ดูมีความชื่นชอบการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) หวนระลึกความทรงจำ ทำแบบนี้เพื่อให้ตัวละครเกิดความตระหนัก รับรู้ตัว และสาสำนึกผิด ถ้าฉันไม่หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material” ก็คงไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ช่วยตนเองไม่ได้แบบนี้ แต่ปัญหาเล็กๆคือมันไม่จำเป็นต้องกระโดดไปกระโดดมาบ่อยครั้งก็ได้

เมื่อตอน Beau Travail (1999) แม้ใช้วิธีเล่าเรื่องกระโดดไปกระโดดมา อดีต-ปัจจุบัน คล้ายๆเดียวกัน แต่ตัวละคร Galoup ในปัจจุบันยังเดินทางไปไหนมาไหนทั่วกรุง Marseille ไม่ซ้ำซากจำเจอยู่แต่ในห้อง, ผิดกับ White Material (2009) พบเห็นเพียง Maria Vial นั่งหง่าวอยู่ในรถโดยสาร ไม่สามารถทำอะไร ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย … เหตุผลการทำแบบนี้ก็อย่างที่อธิบายไป แต่การเน้นๆย้ำๆหลายครั้ง มันสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ


เพลงประกอบโดย Stuart Ashton Staples (เกิดปี 1965) นักร้อง นักกีตาร์ สัญชาติอังกฤษ, ร่วมก่อตั้งวง Tindersticks แนว Alternative Rock มีโอกาสร่วมงานผกก. Claire Denis ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Nénette et Boni (1996), Trouble Every Day (2001), The Intruder (2004), White Material (2009), High Life (2018) ฯ

งานเพลงของหนังมีลักษณะของ Ambient Music (หรืออาจจะเรียกว่า Rock Ambient เพราะใช้เบส กีตาร์ เครื่องดนตรีไฟฟ้า ในการสร้างเสียง) แนวเพลงที่เน้นเรื่องของเสียงมากกว่าตัวโน้ต พยายามสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องเข้ากับสภาพแวดล้อม คลอประกอบพื้นหลังเบาๆจนบางครั้งเหมือนไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่ผู้ฟังกลับรู้สึกปั่นป่วนมวนท้องไส้ มึนๆตึงๆ สัมผัสอันตราย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา

ปล. ในอัลบัม Soundtrack เรียกสไตล์เพลงลักษณะนี้ว่า Art Rock ก็แล้วแต่จะเรียกแล้วกันนะครับ

การเลือกใช้วงดนตรีร็อค แทนที่จะเป็นออร์เคสตรา ทำให้หนังมีกลิ่นอายร่วมสมัย (Contemporary) ใกล้ตัว จับต้องได้ อย่างบทเพลง Attack on the Pharmacy มีลีลาลีดกีตาร์อย่างโหยหวน ท้องไส้ปั่นป่วน (จากพบเห็นภาพความตาย) จังหวะกลองทำให้เจ็บปวดรวดร้าว หัวใจแทบแตกสลาย

[White Material]’s could mean two things, an object or person. In pidgin English, when ivory smugglers were very efficient they were called white material. Ivory and ebony instead of white and black. And in some slang they call white people “whitie” or “the white stuff,” you know? So I mixed it.

White Material แปลตรงตัว วัสดุสีขาว แต่ในบริบทของหนังสื่อถึง สิ่งข้าวของ(ของ)พวกคนผิวขาว อะไรก็ตามที่นำเข้าจากต่างประเทศ “สร้างโดยคนขาว เป็นของคนขาว ใช้โดยคนขาว” เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ทำสิ่งต่างๆโดยง่าย ล้ำยุคทันสมัย ไม่ใช่ของชนชาวแอฟริกัน

การมาถึงของคนขาวในทวีปแอฟริกัน ตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยมล้วนเพื่อยึดครอบครอง เสาะแสวงหาทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติ โดยใช้ข้ออ้างนำความเจริญทางอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนคือ “White Material” สำหรับกอบโกยผลประโยชน์ ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเอง

เรื่องราวของ White Material (2009) เกี่ยวกับหญิงผิวขาว ชาวฝรั่งเศส ผู้มีความหมกมุ่นยึดติดใน “White Material” ไม่ยินยอมพลัดพราก แยกจาก ปฏิเสธรับฟังคำทัดทาน เชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยในสงครามกลางเมือง ฉันคือส่วนหนึ่งของแอฟริกัน แต่ความเป็นจริงนั้นกลับเพียงภาพลวงหลอกตา

I wanted to show in this film how being white in Africa gives you a special status, almost a kind of magical aura. It protects you from misery and starvation. But although it can protect you, it is dangerous too. This is what Maria has to learn. The danger for Maria is that she thinks she belongs in Africa because she is close to the land and the people. She cannot return to France because she thinks that it will weaken her. But she learns that she doesn’t belong in Africa as much as she thinks. For many white people in Africa this is the reality.

Claire Denis

ในบทสัมภาษณ์ของ Hoppert มองเห็น Maria ในมุมที่แตกต่างออกไป จริงอยู่ว่าตัวละครหมกมุ่นยึดติดใน “White Material” แต่ขณะเดียวกันเธอไม่เคยครุ่นคิดถึงความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ ฉันอาศัยอยู่สถานที่แห่งนี้มานานหลายปี มีลูก รับเลี้ยงหลานลูกครึ่ง(แอฟริกัน) ไม่เคยแสดงอคติ รังเกียจเหยียดยาม แอฟริกาคือบ้านของฉัน แต่สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง ตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถยินยอมรับความจริง (State of Denial)

Therefore, I think that my character Maria carries this hope or illusion that all these differences between people should be abolished and not exist. She believes this so strongly that she has blinders on to what’s happening around her, and is in a state of denial.

Isabelle Huppert

ความคิดเห็นที่แตกต่างของ Huppert ทำให้ผมมองว่าผกก. Denis ก็ไม่แตกต่างจากตัวละคร Maria แม้เคยอาศัยใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดเรียกตนเองว่า “Daughter of African” แต่นั่นคือความลุ่มหลง ทะนงตน ยึดติดมโนคติ ภาพลวงตา คงเพิ่งตระหนักได้ว่าไม่มีวันที่ฉันจะเป็นชาวแอฟริกัน … เส้นแบ่งระหว่างสีผิว ชาติพันธุ์ เป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง แต่ขณะเดียวกันกลับมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า!

จะว่าไป White Material ไม่ได้สื่อถึงแค่วัสดุ สิ่งข้าวของ ในเชิงรูปธรรมเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงแนวคิด วิถีชีวิต เป้าหมาย อุดมการณ์ของคนขาว ล้วนมีความแตกต่างจากชาวผิวสี (เหมารวมเอเชีย แอฟริกัน อเมริกาใต้ ฯ) ผลกระทบจากการตกเป็นอาณานิคม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เลือนหาย ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลายๆประเทศในแอฟริกันก็ยังคงหาความสงบสุขไม่ได้จนถึงปัจจุบัน


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับกลางๆ เลยไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา ทำให้ทุนสร้าง $6.3 ล้านเหรียญ (ในวิกิฝรั่งเศสบอกว่า €6.3 ล้านยูโร) ทำเงินได้เพียง $1.9 ล้านเหรียญ ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียง 147,295 ใบ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน!

หนังได้รับการจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ซึ่งมีการสแกนดิจิตอล (digital transfer) ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Denis และตากล้อง Yves Cape

ถึงส่วนตัวจะหลงใหลสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis และการแสดงอันโดดเด่นของ Isabelle Huppert แต่เนื้อเรื่องราวของ White Material (2009) สร้างความหงุดหงิด รำคาญใจ รู้สึกสมเพศเวทนาพวกคนขาว/จักรวรรดินิยม เลยไม่สามารถชื่นชอบประทับใจหนังได้เท่าที่ควร … เป็นแนวไม่ค่อยถูกจริตสักเท่าไหร่

และผมยังรู้สึกว่าหนังขาดมนต์เสน่ห์หลายๆอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับ Chocolat (1988) และ Beau Travail (1999) ที่อย่างน้อยภาพสวย เพลงไพเราะ, White Material (2009) นอกจากการแสดงของ Huppert ก็แทบไม่มีอะไรอย่างอื่นให้น่าจดจำ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศสงครามกลางเมือง ความรุนแรง อคติต่อชาติพันธุ์ และทหารเด็กก่อการร้าย

คำโปรย | ความลุ่มหลง ทะนงตน หมกมุ่นยึดติดใน White Material ของ Isabelle Huppert (รวมถึงพวกจักรวรรดินิยม) ทำให้สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
คุณภาพ | สูญเสียสิ้น
ส่วนตัว | สมเพศเวทนา

Chocolat (1988)


Chocolat (1988) French : Claire Denis ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Claire Denis เดินทางกลับบ้านเกิดยัง West Africa แม้จากมาหลายปี แต่หลายๆความทรงจำดีๆ ยังคงติดตราฝังใจ ทำออกมาในลักษณะบันทึกความทรงจำ (memoir) อาจดูเรื่อยๆเปื่อยๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนใช้ผิวสี ช่างมีความตึงเครียด(ทางเพศ)ยิ่งนัก!

แซว: ชื่อหนัง Chocolat หลายคนอาจเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเกี่ยวกับโกโก้ ช็อกโกแล็ต แต่นั่นมันอีกภาพยนตร์ Chocolat (2000) กำกับโดย Lasse Hallström, นำแสดงโดย Juliette Binoche, Judi Dench, Johnny Depp ฯ เรื่องนี้ก็น่าสนใจ ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

เมื่อตอนที่ผมเขียนถึง Beau Travail (1999) แม้พอสังเกตเห็น ‘female gaze’ ที่สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน แต่ยังเข้าไม่ถึงสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis กระทั่งครานี้เมื่อได้รับชม Chocolat (1988) ค่อยตระหนักความสนใจของเธอคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Sexual Tension’ ความตึงเครียดทางเพศ ไม่จำเพาะเจาะจงชาย-หญิง บางครั้งชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือระหว่างพี่-น้อง พ่อ-แม่-ลูก ฯ นี่เป็นสิ่งมองไม่เห็นด้วยตา เพียงสัมผัสได้ด้วยอารมณ์

ซึ่งความตึงเครียดทางเพศระหว่างหญิงชาวฝรั่งเศส กับคนรับใช้ผิวสี(ชาวแคเมอรูน) สามารถสะท้อนความสัมพันธ์กับประเทศอาณานิคม (French Cameroon) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ และที่ต้องเอ่ยปากชมคือการแสดงของ Isaach de Bankolé สง่างามไม่ด้อยไปกว่า Sidney Poitier

ระหว่างรับชม Chocolat (1988) ช่วงแรกๆผมนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Black Narcissus (1947), The River (1951), Out of Africa (1985) ฯ ที่เกี่ยวกับคนขาวเดินทางไปปักหลักอาศัยยังประเทศอาณานิคม และพอเริ่มสังเกตเห็น ‘Sexual Tension’ ก็ชวนให้นึกถึงอีกเรื่อง A Passage to India (1984) … เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้ลองหารับชมดูนะครับ


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ

ระหว่างทำงานเป็นผู้ช่วย Wim Wenders ทำให้ผกก. Denis เกิดความตระหนักว่าถึงเวลามองหาโปรเจคในความสนใจ ริเริ่มต้นสรรค์สร้างผลงานของตนเองเสียที! หลังจากครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ๆ ขึ้นเครื่องบินออกเดินทางสู่ Senegal (หนึ่งในประเทศที่เคยอยู่อาศัยวัยเด็ก) ค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แทบไม่มีอะไรหลงเหลือจากความทรงจำ

เมื่อเดินทางกลับฝรั่งเศส ร่วมงานเพื่อนนักเขียนขาประจำ Jean-Pol Fargeau นำแรงบันดาลใจจากทริปล่าสุดนี้ พัฒนาบทหนังออกมาในลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) หวนระลึกความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับอดีตคนรับใช้ผิวสี ระหว่างอาศัยอยู่ที่ Cameroon

เกร็ด: ชื่อหนัง Chocolat มาจากคำว่า Être Chocolat แปลว่า To be Cheated เป็นคำเรียกในเกมไพ่ เพื่อใช้ล่อหลอก ให้อีกฝ่ายหลงเชื่อ เลยตกเป็นเหยื่อกลโกง ขณะเดียวกันยังคือศัพท์สแลง คำหยาบคายที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกคนผิวสี/ทาสแอฟริกัน นั่นเพราะโกโก้ ช็อกโกแลต สมัยก่อนเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากแอฟริกาสู่ยุโรปผ่านระบบทาส (Slave System)


หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างออกเดินเรื่อยเปื่อยอยู่บนท้องถนน ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)ที่สามารถพูดฝรั่งเศส แท้จริงแล้วเป็นชาว African-American อพยพมาปักหลักอาศัยอยู่ Douala, Cameroon อาสาพาขับรถไปส่งยังเป้าหมาย

ระหว่างการเดินทาง France หวนระลึกนึกถึงอดีต ค.ศ. 1957 เมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง สนิทสนมกับคนรับใช้ผิวสี อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวที่ Mindif, French Cameroon

  • บิดา Marc Dalens (รับบทโดย François Cluzet) ทำงานเป็นผู้ดูแลอาณานิคม (Colonial Administrator) มักไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ต่างๆ
  • มารดา Aimée Dalens (รับบทโดย Giulia Boschi) เพราะสามีไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงเกิดความโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หวาดกลัวต่อความเงียบงันของทวีปแอฟริกา จึงโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย
  • คนรับใช้ผิวสี Protée (รับบทโดย Isaach de Bankolé) ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบวางตัวหัวสูงส่ง แม้ตั้งใจทำงานตามคำสั่งนายจ้าง แต่ภายในเหมือนจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พยายามเก็บกด อดกลั้น ขีดเส้นแบ่งความถูกต้องเหมาะสมระหว่างชาติพันธุ์

Isaach de Bankolé ชื่อจริง Zachari Bankolé (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติ Ivorian เกิดที่ Abidjan, Ivory Coast ในครอบครัวเชื้อสาย Yoruba อพยพมาจาก Benin และ Nigeria, โตขึ้นเดินทางสู่กรุง Paris สำเร็จการศึกษาปริญญาโทฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ University of Paris, ระหว่างเข้าโรงเรียนสอนการบิน มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Gérard Vergez แนะนำให้สมัครเข้าโรงเรียนการแสดง Cours Simon, แจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Black Mic Mac (1986), Chocolat (1988), A Soldier’s Daughter Never Cries (1998), Manderlay (2005), Casino Royale (2006), Black Panther (2018) ฯ

รับบทคนรับใช้ผิวสี Protée มองผิวเหมือนเหมือนเป็นคนจงรักภักดี ปฏิบัติตามคำสั่งนายจ้างโดยไม่เคยต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นปฏิกิริยาท่าทางมักมีความกล้ำกลืน พยายามอดกลั้นฝืนทน เพราะไม่เคยมองตนเองต่ำต้อยด้อยค่ากว่าใคร พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ แต่เมื่อถูกกระทำร้ายก็พร้อมโต้ตอบเอาคืน เขาเลยต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Protée หรือ Proteus ในปรัมปรากรีกคือชื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลรุ่นเก่า หนึ่งในสมาชิก Old Man of the Sea ฟังดูอาจไม่ได้มีความเกี่ยวกับข้องอะไรกับหนัง แต่ผมอ่านเจอว่าผกก. Denis เคยทำการเปรียบเทียบทวีปแอฟริกันดั่งมหาสมุทร

I always thought of Herman Melville (ผู้แต่งนิยาย Moby Dick) as a brother in the sense of sharing his feelings of sadness, nostalgia and disappointment, the sense of having lost something. For me Africa is like the seas Melville missed so much.

Claire Denis

เกร็ด2: ผมยังเจออีกบทความหนึ่งว่าผกก. Denis ไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า Protégé (ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ ได้รับการคุ้มครอง ในวงการบันเทิงหมายถึงลูกศิษย์ เด็กฝึกงาน) มองเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม เลยตั้งชื่อตัวละคร Protée (จริงๆมันก็ไม่ได้มีความละม้ายคล้าย Protégé สักเท่าไหร่) คำเรียกของคนขาวในเชิงดูแคลนชาวผิวสี

หน้าตาอาจไม่ละม้ายคล้าย แต่หลายๆสิ่งอย่างของ Bankolé ชวนให้ผมนึกถึงโคตรนักแสดง Sidney Poitier ทั้งบุคลิกภาพ วางมาดเหมือนผู้ดี มีการศึกษา ทำตัวสุภาพบุรุษ ขณะเดียวกันยังเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด เต็มไปด้วยความอัดอั้น ขัดแย้งภายใน ใกล้ถึงเวลาปะทุระเบิดออกมา

สายตาของ Protée เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่าย สมเพศเวทนา Aimée ไม่เข้าใจความอ่อนแอ หวาดกลัวโน่นนี่นั่น พึ่งพาตนเองไม่ค่อยจะได้ แม้ถูกเธออ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสี กลับไม่มีความรู้สึกอะไรใดๆ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ปฏิเสธทำตามคำสั่ง พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ ไม่ต้องการให้ใครก้าวเลยเถิด (ยกเว้นเพียงเด็กหญิงที่ยังไร้เดียงสา) แต่ถ้าใครล่วงมาก็พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน ปฏิเสธยินยอมศิโรราบต่อผู้อื่นใด


Giulia Boschi (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Rome เป็นบุตรของพิธีกรรายการโทรทัศน์ Aba Cercato, โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละคอนเวที เข้าสู่วงการจากภาพยนตร์ Pianoforte (1984), Secrets Secrets (1985), The Sicilian (1987), Chocolat (1988), ตั้งแต่ปี 2001 เกษียณตัวจากการแสดงเพื่อทำงานแพทย์แผนจีน เขียนตำรา กลายเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ฯ

รับบท Aimée Dalens ภรรยาผู้อ่อนแอ ขลาดเขลา ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่อยู่ใหม่ เพราะรักจึงยินยอมติดตามสามีมายังดินแดนทุรกันดารห่างไกล ถึงอย่างนั้นกลับถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง(กับบุตรสาว)บ่อยครั้ง โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว กลัวความตาย เลยพยายามโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย ใกล้ตัวสุดคือคนรับใช้ผิวสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับไม่เคยแสดงความสนใจ

ตัวละครของ Boschi คือตัวแทนประเทศอาณานิคม ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง ชอบชี้นิ้วออกคำสั่ง ไม่พึงพอใจอะไรก็ใส่อารมณ์เกรี้ยวกราด แต่ทุกการแสดงออกของเธอเป็นความพยายามปกปิดด้านอ่อนแอ ขลาดเขลา หวาดกลัวความตาย ทำไมฉันต้องมาทุกข์ทรมานอยู่ยังดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้?

ไฮไลท์การแสดงก็คือปฏิกิริยาสีหน้า ท่าทาง สำหรับอ่อยเหยื่อคนใช้ผิวสี Protée นี่อาจต้องจับจ้องกันสักหน่อย เพราะเธอพยายามทำให้ไม่ประเจิดประเจ้อ เด่นชัดเจนเกินไป แต่ภาษาภาพยนตร์จะช่วยให้ผู้ชมสังเกตเห็นรายละเอียดเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น (ถ้าอ่านออกนะ) … เป็นการซ่อนเร้นที่แนบเนียน ซับซ้อน และน่าค้นหา


ถ่ายภาพโดย Robert Alazraki (เกิดปี 1944) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Casablanca, French Morocco โตขึ้นเดินทางสู่ London เข้าเรียนการถ่ายภาพ Royal College of Art หลังสำเร็จการศึกษาเดินทางสู่ฝรั่งเศส เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตภาพยนตร์ Les petites fugues (1979), Chocolat (1988), And Then There Was Light (1989), My Father’s Glory (1990), My Mother’s Castle (1990) ฯ

ผกก. Denis ไม่ได้ใคร่สนใจในทฤษฎีภาพยนตร์นัก “Film theory is just a pain in the ass!” สไตล์ของเธอให้ความสำคัญกับภาพและเสียง สำหรับสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ “I want to share something that is a vision, or a feeling.” โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราด และเศร้าโทมนัส ทำออกมาในลักษณะกวีนิพนธ์ จดบันทึกความทรงจำ (Memoir)

Anger is part of my relation to the world I’m filled with anger, I’m filled with regret, I’m filled with great memories, also poetic memories.

Claire Denis

ด้วยเหตุนี้งานภาพของหนังจึงมักตั้งกล้องบันทึกภาพ นานๆครั้งถึงมีการขยับเคลื่อนไหว ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย (แลดูคล้ายๆการถ่ายภาพนิ่ง) ถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศโดยรอบของสถานที่นั้นๆ

การตั้งกล้องบันทึกภาพ มักเลือกใช้ระยะกลาง-ไกล (Middle/Long Shot) พบเห็นอากัปกิริยา ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ไม่เน้นถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดระหว่างตัวละคร เหมือนมีช่องว่าง กำแพงที่มองไม่เห็น แบ่งแยกพวกเขาออกจากกัน


ภาพแรกของหนังตั้งกล้องถ่ายทำริมชายหาด หันออกไปทางท้องทะเล พบเห็นพ่อ-ลูกผิวสีกำลังเล่นน้ำกันอย่างสุดสนาน หลังจากจบ Opening Credit กล้องทำการแพนนิ่ง หมุนประมาณครึ่งโลก 180 องศา พบเห็นหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศส กำลังนั่งเหม่อล่องลอยอยู่ริมหาดทราย

เนื่องจากผมขี้เกียจทำไฟล์เคลื่อนไหว (GIF) ก็เลยนำสองภาพเริ่มต้น-สิ้นสุด กล้องถ่ายท้องทะเล-หันหน้าเข้าฝั่ง พ่อลูกผิวสี-หญิงสาวผิวขาว ถือเป็นสองช็อตที่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม! แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างกลาง เพียงช่องว่าง ความเหินห่าง เพราะพวกเขาต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน

นอกจากเรื่องมิตรภาพ น้ำใจไมตรี ยังสามารถสื่อถึงชนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก แทบทุกประเทศได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิอาณานิคม พวกเขาสามารถขับเคลื่อน กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง โดยไม่มีใครควบคุมครอบงำ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป!

จะว่าไปเด็กชาย (ที่มากับบิดา) ยังถือเป็นภาพสะท้อนวัยเด็กของ France สำหรับคนช่างสังเกตน่าจะพบเห็นถ้อยคำพูด กิริยาท่าทาง หลายสิ่งอย่างมีความละม้ายคล้ายคลึง

Pic de Mindif หรือ Mindif Peak หรือ Mindif Tooth ภูเขาในย่าน Maya-Kani ทางตอนเหนือสุด (Far North) ของประเทศ Cameroon ความสูงประมาณ 769 เมตร มีความโดดเด่นเป็นสง่า แต่การจะปีนป่ายถึงยอดไม่เรื่อง่าย เพราะเป็นโขดหินและมีความลาดชัน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท้าทายของนักปีนเขาใน Central และ West Africa

ละม้ายคล้ายๆ Mount Fuji ของประเทศญี่ปุ่น ยอดเขา Mindif ถือเป็นจุดศูนย์กลาง/ที่พึ่งพักพิงทางจิตใจของผู้คนละแวกนี้ มีความสูงใหญ่ ตั้งตระหง่าน จึงพบเห็นแทรกแซมหลายๆช็อตฉาก สามารถสื่อถึงผืนแผ่นดินแอฟริกาที่แม้ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดินิยม แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน ที่มีความเข้มแข็งแกร่งประดุจภูผา

ขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ Cameroon สักหน่อยก็แล้วกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) กลายเป็น German Kamerun จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18) ความพ่ายแพ้ทำให้เยอรมันล่มสลาย จักรวรรดิฝรั่งเศส (French Empire) และสหราชอาณาจักร (British Empire) แบ่งเค้กออกเป็นสองก้อนฟากฝั่งตะวันออก (French Cameroons) และฟากฝั่งตะวันตก (British Cameroons)

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1946 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาติให้ Cameroon จัดตั้งรัฐบาลปกครองกันเอง แล้วได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1960 กลายมาเป็น Republic of Cameroon จากนั้นค่อยๆกลืนกินดินแดนในส่วนสหราชอาณาจักร จนสามารถรวมประเทศได้สำเร็จวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1961

เกร็ด: แม้ชาว Cameroonese ส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่น African แต่กลับเลือกใช้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาสื่อสารทางการ

การต้องมาอาศัยอยู่ต่างที่ต่างถิ่น ต่างวิถีชีวิต ต่างวัฒนธรรม มักทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘cultural shock’ ไม่สามารถปรับตัวยินยอมรับ แสดงอาการหวาดกังวล มารดา Aimée ยามค่ำคืนหวาดกลัวเสียงไฮยีน่า ถึงขนาดต้องเรียก Protée มาเฝ้ายามในห้องนอน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัวอะไร เพราะมันคือเหตุการณ์ปกติทั่วไป อยู่ไปอยู่มาเดี๋ยวก็มักคุ้นเคยชิน

เช่นเดียวกับความตายของสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพียงยินยอมรับแล้วดำเนินชีวิตต่อไป แต่พวกคนขาวกลับเรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามหนทางของตนเอง … นี่คือลักษณะของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

เรื่องอาหารการกินของมารดา นี่ก็ชัดเจนมากๆถึงการไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามความต้องการ ฉันคือชาวฝรั่งเศสก็ต้องกินอาหารฝรั่งเศส! พอประณีประณอมได้กับอาหารอังกฤษ แต่ไม่เคยกล่าวถึงอาหารของชาวแอฟริกัน นี่เป็นการแบ่งแยกสถานะของตนเองอย่างชัดเจน

จะว่าไปขนมปังมดที่ Protée ทำให้กับเด็กหญิง France นั่นแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กยังสามารถเรียนรู้ ปรับตัว เปิดใจให้กับสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักการสร้างเส้นแบ่ง/กำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น แต่ตรงกันข้ามกับ Protée ซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนมารดา Aimée จึงพบเห็นการปฏิเสธมื้ออาหาร ทานผลไม้ได้คำหนึ่งแล้วโยนทิ้ง

Aimée ออกคำสั่งให้ Protée รูดซิปชุดเดรสด้านหลัง มองผิวเผินก็แค่การกระทำทั่วๆไป แต่ลีลาการนำเสนอของผกก. Denis ใช้กล้องแทนกระจกเงา ทำให้ดูเหมือนตัวละครหันมาสบตา (Breaking the Fourth Wall) ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน ซึ่งสามารถเทียบแทนความรู้สึกระหว่างทั้งสองขณะนี้ นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่?

ปล. เห็นภาพช็อตนี้ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Persona (1966) บุคคลสองราวกับจะกลืนกินกันและกัน

การมาถึงของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan ในขณะที่สามีออกสำรวจ ไม่อยู่บ้าน นี่แสดงถึงนัยยะเคลือบแฝง ลับลมคมใน สังเกตจากถ้อยคำพูด “I have that same felling with you Aimée” ชัดเจนว่าต้องการเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน อาศัยอยู่ดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้ มันช่างโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว โหยหาใครสักคนมาเติมเต็มความต้องการหัวใจ

ซึ่งช็อตที่ Jonathan พูดกล่าวประโยคนี้ เดิมที Aimée เหมือนกำลังเล่นหูเล่นตากับ Protée จากนั้นเขาเดินเข้ามาบดบังมิดชิด เรียกร้องความสนใจ ทำไมไม่เอาพวกเดียวกัน?

สภาพอากาศร้อนระอุ คงสร้างความลุ่มร้อนรน กระวนกระวายให้กับ Aimée เพราะยุโรปอากาศเย็นสบาย เมื่อต้องมาพบเจอแดดร้อนๆ เหงื่อไคลไหลย้อย ร่างกายจึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแอฟริกา

Aimée เป็นคนที่มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตนในชาติพันธุ์ ซึ่งความรู้สึกบางอย่างที่มีต่อกับ Protée ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ไม่ต้องการยินยอมรับ ไม่ต้องการอีกฝ่ายอยู่เคียงชิดใกล้ (เลยสั่งไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามก้าวก่ายในห้องนอน) แต่หลายๆครั้งกลับเริ่มไม่สามารถหักห้ามใจตนเอง

การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม มักนำเอาสิ่งต่างๆที่สร้างความสะดวกสบาย อย่างการอาบน้ำด้วยฝักบัว พบเห็นโดย Protée จึงทำการลอกเลียนแบบ ประดิษฐ์คิดค้นด้วยวิธีการของตนเอง … นี่แสดงถึงอิทธิพลของจักรวรรดินิยม บางสิ่งอย่างอาจไม่ได้ต้องการเผยแพร่ สงวนไว้กับตน แต่ถ้ามันก่อให้เกิดประโยชน์ ย่อมเกิดการคัทลอกเลียนแบบ

ปฏิกิริยาสีหน้าของ Protée หลังได้ยินเสียง Aimée และ France เดินผ่านมาขณะกำลังอาบน้ำ นั่นดูไม่ใช่ความอับอาย แต่รู้สึกเหมือนเสียหน้า ราวกับว่าไม่ต้องการให้นายจ้างรับรู้ว่าตนเองทำการลอกเลียนแบบฝักบัวอาบน้ำ … คงเป็นศักดิ์ศรี ทะนงตนของชาวแอฟริกัน ไม่ต้องการยินยอมรับพวกจักรวรรดินิยม แต่กลับได้รับอิทธิพล แอบทำตามหลายๆสิ่งอย่าง

จะว่าไปผมไม่เคยได้ยินตัวละครชาวฝรั่งเศสพูดภาษาแอฟริกันในหนัง! (แต่ตัวละครชาวแอฟริกันได้ยินพูดฝรั่งเศส อังกฤษ และแอฟริกัน) นั่นก็แสดงถึงความไม่สนใจใยดีที่จะเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่น ผิดกับเด็กหญิง France เล่นเกมกับ Protée ชี้นิ้วทายคำเรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งยังล้อกับตอนต้นเรื่องที่เด็กชายผิวสีเล่นทายคำแบบเดียวกันนี้กับบิดาระหว่างขับรถไปส่งหญิงสาว France

สมาชิกเครื่องบินโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ จำต้องลงจอดฉุกเฉิน ณ Mindif ประกอบด้วย

  • กัปตัน Captain Védrine
  • ต้นหน Courbassol
  • สามี Machinard เจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาประจำการยัง M’Banga และภรรยา Mireille ออกเดินทางมาแอฟริกาครั้งแรก เลยพามาท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา
    • แต่ภายหลังภรรยามีอาการปวดท้องไส้ (คาดว่าน่าจะท้องร่วง) ต้องรอคอยตอนเช้าถึงสามารถพาไปส่งโรงพยาบาล
  • Joseph Delpich เจ้าของไร่กาแฟ มาพร้อมกับแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse
    • แท้จริงแล้วเธอคนนั้นคือชู้รัก (หรือภรรยาก็ไม่รู้) ภายนอกแสดงออกแบบนาย-บ่าว แต่พออยู่ในห้องนอนก็ปรนปรนิบัติเธออย่างดี

ท่าทางลับๆล่อๆ ลุกรี้ร้อนรนของ Joseph Delpich เต็มไปด้วยลับลมคมใน พยายามใช้เงินซื้อใจชาวแอฟริกัน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่มีใครสนใจ … เอาจริงๆถ้าพูดคุยอย่างสุภาพ ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม ก็อาจได้รับความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น แต่พฤติกรรมตัวละคร ครุ่นคิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง เลยถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

และสิ่งน่าตกใจที่สุดก็คือแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse ท่าทางลับๆล่อๆในห้องครัว และพอเข้ามาห้องพักก็ยังปิดไฟมิดชิด นี่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ต้องการปกปิด แต่ไม่ว่าจะในฐานะภรรยาหรือชู้รัก การแสดงออกของ Joseph ดูไม่ให้การเคารพ เหมือนทำการบีบบังคับ ใช้อำนาจ(ทางเพศ)ควบคุมครอบงำ จำต้องทำตามคำสั่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เมื่อตอนกลางวันถูกสั่งให้ทำสนามเปตอง พบว่ามีความสนุกสนาน แปลกใหม่ ยามค่ำคืนบรรดาคนใช้จึงโยนเล่นกันอย่างสนุกสนาน … นี่คือวิธีการของลัทธิอาณานิคม นำสิ่งต่างๆมาเผยแพร่ให้กับคนท้องถิ่น บางเรื่องอาจเป็นสิ่งดี บางเรื่องก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใด ทำให้เกิดการผสมผสาน กลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรม ค่อยๆถูกกลืนกินโดยไม่รับรู้ตัว

ทั้งๆแสดงความรังเกียจ พูดคำเหยียดหยาม แต่ทว่า Luc Segalen กลับเลือกใช้ชีวิตแบบเดียวกับชาวแอฟริกัน ตั้งแต่ขุดดินทำถนน อาบน้ำนอกบ้าน รับประทานอาหารร่วมกับคนใช้ ในสายตาของ Protée เหล่านี้คือพฤติกรรมดูถูกหมิ่นแคลน บังเกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด จนในที่สุดก็มีเรื่องทะเลาะวิวาท กระทำร้ายร่างกาย สู้ไม่ได้เลยต้องหลบหนีจากไป

พฤติกรรมขัดย้อนแย้งของ Segalen น่าจะต้องการสื่อถือคนขาวไม่มีทางกลายเป็นคนผิวสี ต่อให้พยายามลอกเลียนแบบ กระทำตามทุกสิ่งอย่าง แต่สิ่งแตกต่างคือความรู้สึกนึกคิด ถ้าจิตใจยังคงปิดกั้น ไม่เปิดใจยินยอมรับ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

ขณะเดียวกันเหมือนว่า Segalen จะมีความสนใจในตัว Aimée สังเกตเห็นแววตาของเธอที่มีต่อ Protée หลายต่อหลายครั้งจึงพยายามขโมยนซีน ทำตนเองให้โดดเด่น พูดง่ายๆก็คือเรียกร้องความสนใจ … กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์เพื่อแก่งแย่งชิงหญิงสาว

Aimée นั่งหลบมุมอยู่ข้างๆประตูระหว่าง Protée กำลังปิดผ้าม่าน ทำเหมือนกำลังเฝ้ารอคอย อ่อยเหยื่อ เสร็จเมื่อไหร่ช่วยพาฉันเข้าห้องนอน แต่เขากลับฉุดกระชากให้เธอลุกขึ้นอย่างรุนแรง ปลุกตื่นจากความฝัน แล้วเดินจากไปอย่างไร้เยื่อใย ยังคงหงุดหงิดไม่พึงพอใจ เหมารวมพวกฝรั่งเศสไม่แตกต่างจาก Segalen 

จากเหตุการณ์เมื่อค่ำคืน ทำให้ Aimée เกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อ Protée ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ(ทางเพศ) จึงขอให้สามีขับไล่ ผลักไส มุมกล้องถ่ายจากภายในบ้าน ประตูทางเข้าเปิดออกพบเห็นทิวเขา Mindif Peak (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) และ Protée กำลังปัดกวาดเช็ดถู รดน้ำต้นไม้อยู่เบื้องหลัง … นี่เป็นช็อตสไตล์ Citizen Kane บุคคลผู้อยู่ภายนอก เบื้องหลัง ระยะห่างไกลออกไป ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงในการตัดสินใจใดๆ (นั่นรวมถึงช็อต Close-Up ใบหน้าสามีที่บดบังทิวทัศน์ด้านหลังมิดชิด)

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ระหว่างมารดายืนกรานว่าจะขับไล่ Protée คงสร้างความไม่พึงพอใจให้กับเด็กหญิง France ลุกขึ้นจากตัก แล้วเดินออกทางประตูหน้าบ้าน … หนังจงใจทำให้รายละเอียดตรงนี้ไม่เด่นชัดนัก เพราะให้ผู้ชมค้นพบความรู้สึกของตัวละครด้วยตนเอง

การถูกไล่ออกจากงานของ Protée ฟังดูอาจเป็นสิ่งเลวร้าย แต่เราสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำ ทำตามคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป ซึ่งเขายังมานั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ รุ่งอรุณ เช้าวันใหม่ และบทเพลงชื่อ Earth Bird (จริงๆมันควรจะ Early Bird หรือเปล่า?)

รอมฎอน คือการถือศีลอดของชาวมุสลิม (เดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม หรือระหว่างมีนาคม-เมษายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งสามารถสื่อถึงช่วงเวลาที่ชาวแอฟริกันต้องอดทน อดกลั้น จากการถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกจักรวรรดินิยม จนกระทั่ง Protée ถูกไล่ออกจากงาน เช้าวันนี้เหมือนจะสิ้นสุดเดือนรอมฏอนพอดิบดี!

มันอาจเป็นการกระทำชั่วร้ายของ Protée ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดหลังถูกนายจ้างขับไล่ออกจากงาน ด้วยการล่อหลอกเด็กสาวผู้ไม่รู้ประสีประสา จับท่อน้ำร้อน เกิดรอยไหม้บนฝ่ายมือที่ไม่มีวันเลือนหาย แต่นัยยะของแผลเป็นนี้สื่อถึงตราบาปที่จะตราฝังชั่วนิรันดร์อยู่ในความทรงจำ จิตวิญญาณชาวฝรั่งเศส รวมถึงบรรดาประเทศอาณานิคม เข้ามายึดครอบครอง เรียกร้องเอาโน่นนี่นั่น จากนั้นก็สะบัดตูดหนีหาย ใครกันแน่ที่โฉดชั่วร้าย?

เครื่องบินขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ยังต้องการจะนำเปียโนหลังใหญ่ยัดเยียดกลับไปด้วย นี่ไม่ใช่แค่ไม่รู้จักพอ ไม่ประมาณตนเอง ยังแสดงถึงพฤติกรรมกอบโกยของจักรวรรดินิยม แสวงหาผลประโยชน์ต่อประเทศอาณานิคม และพอถึงเวลาจากไป (ภายหลังการประกาศอิสรภาพ) ยังไม่ยินยอมทอดทิ้งอะไรสักสิ่งอย่างไว้

“I’m nothing here. If I died now, I’d completely disappear.”

William J. Park รับบทโดย Emmet Judson Williamson

คำกล่าวนี้อาจฟังดูหดหู่ เศร้าสร้อย น่าผิดหวัง แต่นั่นคือทัศนคติพวกชาวยุโรป+อเมริกัน โหยหาการมีตัวตน ได้รับการยินยอมรับ ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจบารมี ยศศักดิ์ศรี ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ฝากรอยเท้าไว้ในประวัติศาสตร์ กลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา

แต่สำหรับชาวแอฟริกัน ทุกคนล้วนมีความเป็นพี่น้องหนึ่งเดียวกัน เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียง เงินทอง หรือพิสูจน์การมีตัวตนว่าฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร เพราะมนุษย์ล้วนเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วัฏจักรชีวิต พบเห็นได้โดยปกติทั่วไป

สำหรับคนช่างสังเกตจะพบว่าซับไตเติ้ลมักไม่ค่อยแปลภาษาแอฟริกัน นั่นทำให้ตอนชายผิวสีอ่านลายมือของ France เหมือนจะพูดบอกอะไรสักอย่าง (เป็นภาษาแอฟริกัน) แต่กลับไม่ปรากฎคำแปล เลยไม่รู้ให้คำแนะนำอะไร แถมหนังก็ยังตัดข้าม กระโดดไปตอนเตรียมขึ้นเครื่องบินกลับฝรั่งเศส สร้างความคลุมเคลือ แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิด สรุปแล้วหญิงสาวได้เดินทางไปแวะเวียนบ้านหลังเก่าที่ Mindif หรือไม่?? นอกจากนี้การไม่สามารถอ่านลายมือ ไม่รับรู้อนาคต (ไม่ใช่ไม่มีอนาคตนะครับ) สื่อถึงอะไรก็เกิดขึ้นได้ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น เพราะหนังถ่ายภาพระยะกลาง-ไกล และจงใจไม่ให้เห็นใบหน้านักแสดงอย่างชัดเจน นั่นคือ France เหมือนจะคลาดแคล้วกับ Protée ทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร ดูออกไหมเอ่ยว่าคือคนไหน? เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพื่อสื่อถึงการปลดแอก/แยกจากระหว่าง France (สื่อได้ทั้งหญิงสาวและประเทศฝรั่งเศส) และ Protée (ที่เป็นตัวแทนชาวแอฟริกัน) ไม่ได้เป็นของกันและกันอีกต่อไป

สามพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร เข้ามาหลบฝนใต้อาคาร พูดคุยสนทนากันอย่างออกรส แต่ผู้ชมจะได้ยินเพียงสายฝนและบทเพลง African Market นี่เป็นตอนจบที่อาจขัดใจใครหลายคน ทว่าสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตน ชนชาวแอฟริกัน พวกเขาโหยหาความเรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เมื่อได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากพวกอาณานิคม จึงหวนกลับหารากเหง้า ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย

ตัดต่อโดย Monica Coleman, Claudine Merlin, Sylvie Quester

หนังเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิด Cameroon (ไม่ได้ระบุปี แต่คาดเดาไม่ยากว่าคือปัจจุบันนั้น ค.ศ. 1987-88) เคยพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง ค.ศ. 1957 ยังคงจดจำความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี Protée ตั้งแต่แรกพบเจอ และร่ำลาจากกัน

เรื่องราวในความทรงจำของ France นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึก ‘Memoir’ เพียงร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบ พบเห็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมารดา Aimée และคนรับใช้ผิวสี Protée เหมือนมีอะไรบางอย่างที่เด็กหญิงยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่

  • อารัมบท, หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)อาสาขับรถพาไปส่งยังที่หมายปลายทาง
  • France, มารดา Aimée และ Protée
    • France นั่งหลังรถกับ Protée กำลังเดินทางไปยังบ้านที่ Mindif, French Cameroon
    • บิดาเตรียมออกสำรวจ หลงเหลือเพียง France, มารดา Aimée และบรรดาคนรับใช้ผิวสี
    • กิจวัตรประจำวันเรื่อยเปื่อยของ France, มารดา Aimée และ Protée
    • ยามค่ำคืนได้ยินเสียงไฮยีน่า มารดา Aimée จึงขอให้ Protée เฝ้ายามอยู่ในห้องนอน
  • การมาเยี่ยมเยียนของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan
    • หลังกลับจากเยี่ยมเยียนบาทหลวง Aimée ร้องขอพ่อครัวให้ทำอาหารฝรั่งเศส
    • แต่แล้วก็มีแขกมาเยือนโดยไม่ได้นัดหมาย Aimée จึงต้องร้องขอให้พ่อครัวทำอาหารอังกฤษ
    • ดินเนอร์ เต้นรำ ดื่มด่ำ พอหลับนอนก็ปิดเครื่องปั่นไฟ
    • หลังผู้ว่าการชาวอังกฤษเดินทางจากไป France, มารดา Aimée และ Protée ก็หวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เฝ้ารอคอยวันที่สามีกลับบ้าน
  • การมาถึงของเครื่องบินท่องเที่ยว ลงจอดฉุกเฉิน
    • ยามเย็นพบเห็นเครื่องบินลำหนึ่งผ่านบ้านไป
    • วันถัดมาบิดาต้อนรับสมาชิกเครื่องบินลำนั้น ลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากเครื่อยนต์ขัดข้อง
    • รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
  • เรื่องวุ่นๆของ Luc Segalen
    • วันถัดมาคนงานทำถนน ซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบิน
    • ภรรยาของผู้โดยสาร ล้มป่วยอะไรสักอย่าง แต่หมอไม่สามารถรักษา ต้องรอเช้าวันถัดมาถึงสามารถเดินทางเข้าเมือง
    • หนึ่งในผู้โดยสาร Luc Segalen มีความขัดแย้งกับ Protée จนมีเรื่องทะเลาะวิวาท จนกระทั่งชกต่อย
  • การจากไปของ Protée
    • Aimée พยายามเกี้ยวพาราสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับปฏิเสธ
    • Aimée จึงขอให้สามีขับไล่ Protée
    • เครื่องบินซ่อมเสร็จ ผู้สารขึ้นเครื่องออกเดินทางกลับ
  • ปัจฉิมบท, ตัดกลับมาปัจจุบัน France เดินทางมาถึงสนามบิน เตรียมขึ้นเครื่องกลับฝรั่งเศส

การดำเนินเรื่องของหนังถือว่ามีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า (ในมุมมองของผู้ชมสมัยใหม่) แต่จุดประสงค์ของผกก. Denis ชัดเจนว่าต้องการให้ซึมซับบรรยากาศ ความสวยงามของสถานที่ วิถีชีวิตชาวแอฟริกัน (ที่ไม่ได้มีความเร่งรีบร้อนเหมือนยุโรป+อเมริกัน) รวมถึงสัมผัสความตึงเครียดระหว่างตัวละคร สร้างความปั่นป่วนมวนท้องไส้โดยไม่รู้ตัว


เพลงประกอบโดย Abdullah Ibrahim ชื่อจริง Adolph Johannes Brand (เกิดปี 1934) นักเปียโน แต่งเพลงสัญชาติ South African เกิดที่ Cape Town, South Africa มารดาเป็นนักเปียโน ทำการแสดงในโบสถ์ระหว่างพิธีมิสซา บุตรชายเลยมีความชื่นชอบ ประทับใจ ฝึกฝนร่ำเรียนดนตรีตั้งแต่ 7 ขวบ กลายเป็นมืออาชีพตอนอายุ 15 ซึมซับรับสไตล์ดนตรี Marabi, Mbaqanga และ American Jazz, อพยพย้ายสู่ยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ออกอัลบัม ทำการแสดงทัวร์ เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Chocolat (1988), No Fear, No Die (1990) ฯ

แม้ว่าผกก. Denis จะนิยมชมชอบการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ในการสร้างบรรยากาศคลอประกอบพื้นหลัง (ทั้งกลางวัน-กลางคืน จะได้ยินเสียงจิ้งหรีดเรไรอยู่ตลอดเวลา) แต่ทว่าเพลงประกอบจะช่วยเสริมกลิ่นอายความเป็นแอฟริกัน บทเพลงของ Ibrahim มีส่วนผสมของท่วงทำนองพื้นบ้าน(แอฟริกัน) + American Jazz แม้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกแทบทั้งหมด แต่กลับยังมีความเฉพาะตัวในสไตล์ดนตรีแอฟริกัน

เกร็ด: Abdullah Ibrahim ไม่ได้แค่ประพันธ์เพลงประกอบ แต่ยังเล่นเปียโน เป่าฟลุต และส่งเสียงเอื้อยแจ้ว ร่วมกับวงดนตรี Dollar Brand

บทเพลงชื่อ Pule [แปลว่า มั่งคั่ง, อุดมสมบูรณ์, เจริญรุ่งเรือง] แต่ภาพทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างเด็กหญิง France และครอบครัวขับรถพานผ่าน กลับพบเห็นแต่ความเหือดแห้งแล้ง ทุรกันดาร ถนนลูกรัง ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ … แต่นั่นอาจเฉพาะมุมมองคนขาว ชาวยุโรป ผิดกับคนแอฟริกันผิวสี ผืนแผ่นดินแห่งนี้คือบ้านเกิดเมืองนอน ย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ กระมัง?

บทเพลงชื่อ Earth Bird แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าควรจะเป็น Early Bird ที่หมายถึงอรุณรุ่ง นกที่ตื่นเช้า หลังจาก Protée ถูกไล่ออกจากงาน นั่งเหม่อมองพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนขึ้นริมขอบฟ้า เสียงขลุ่ยอาจฟังดูเศร้าสร้อย เหงาหงอย ผิดหวัง เกรี้ยวกราด แต่ขณะเดียวกันมันคือประกายความหวังสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่

African Market ดังขึ้นช่วงท้ายของหนัง ตั้งแต่หญิงสาวผิวขาวชาวฝรั่งเศสเดินทางถึงสนามบิน ดังต่อเนื่องไปจนสิ้นสุด Closing Credit ผมถือว่าบทเพลงนี้คือตัวแทนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากประทศอาณานิคม พวกเขาไม่ได้มุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยะยุโรป/อเมริกัน แต่หวนกลับหารากเหง้า เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามวิถีบรรพบุรุษ

เกร็ด: เผื่อใครอยากหารับฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ Abdullah Ibrahim ออกอัลบัมชื่อว่า Mindif (1988) มีทั้งหมด 8 บทเพลง แต่นำมาใช้จริงน่าจะไม่ถึงครึ่ง

มองอย่างผิวเผิน Chocolat (1988) คือการหวนระลึกความหลัง เรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) ช่วงเวลาวัยเด็กของผกก. Denis ระหว่างพักอาศัยอยู่ French Cameroon นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึกความทรงจำ ‘Memoir’ ร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบพบเห็น ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนรับใช้ผิวสี

แต่ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Denis ต้องการสะท้อนความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension) ระหว่างมารดา (ตัวแทนฝรั่งเศส) และคนรับใช้ผิวสี (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) กับบรรยากาศขัดแย้งระหว่างประเทศอาณานิคม (Colonialism) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ … ร่วมรักหลับนอน

When you look at the hills, beyond the houses and beyond the trees, where the earth touches the sky, that’s the horizon. Tomorrow, in the daytime, I’ll show you something. The closer you get to that line, the farther it moves. If you walk towards it, it moves away. It flees from you. I must also explain this to you. You see the line. You see it, but it doesn’t exist.

Marc Dalens

คำกล่าวของบิดาเกี่ยวกับเส้นขอบฟ้าที่ไม่มีอยู่จริง เป็นความพยายามสื่อถึงความแตกต่างระหว่างสีผิวขาว-ดำ ชาติพันธุ์ยุโรป-แอฟริกัน แต่ความจริงแล้วทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องแบ่งแยก ขีดเส้นแบ่ง สร้างกำแพงที่ไม่มีอยู่จริง เพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครอง เป็นเจ้าของ (Colonialism) นำเอาทรัพยากรมาใช้ … สุดท้ายแล้วพวกประเทศหมาอำนาจเหล่านั้น สักวันย่อมต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป (ใจความ Anti-Colonialism)

ในบรรดาผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด ผมค่อนข้างรู้สึกว่า Chocolat (1988) มีความใกล้ตัว ใกล้หัวใจ และใกล้จิตวิญญาณผกก. Denis มากที่สุดแล้ว! ถ้าไม่นับรวม Beau Travail (1999) ก็อาจจะคือ Chocolat (1988) คือผลงานยอดเยี่ยมรองลงมา … เป็นเรื่องที่น่าติดอันดับ Sight & Sound มากกว่า Je tu il elle (1975) ของ Chantal Akerman เสียอีกนะ!


ผกก. Denis ต่อรองค่าจ้าง 200,000 ฟรังก์ (จากทุน 1.3 ล้านฟรังก์) โดยไม่เรียกร้องขอส่วนแบ่งใดๆ เพราะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องแรกมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำกำไร แต่ด้วยยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 793,738 ใบ ประมาณการรายรับ $2.3 ล้านเหรียญ เห็นว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน! … จนกระทั่ง Let the Sunshine In (2017) ทำเงินได้ $4.2 ล้านเหรียญ (แต่กำไรน่าจะน้อยกว่านะ)

เมื่อปี ค.ศ. 2022 หนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K โดย Éclair labs ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Claire Denis และตากล้อง Robert Alazraki สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง BFI Video (ผมพบเห็นใน Criterion Channel แต่เหมือนคุณภาพแค่ HD และยังไม่มีจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray)

ในตอนแรกมีความหวาดหวั่นต่อผลงานของผกก. Claire Denis เพราะความทรงจำต่อ Beau Travail (1999) เป็นหนังดูยากฉะมัด! แต่พอได้รับชม Chocolat (1988) ก็ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง พบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ ลูกเล่นความสนใจ ลุ่มลึก ท้าทาย เอร็ดอร่อย รสชาดถูกปากมากๆ

เอาจริงๆผมก็อยากหาผลงานอื่นๆของผกก. Denis มารับเชยชมอีก แต่น่าเสียดายค่อนข้างจะหาดูยากพอสมควร เลยเลือกเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจอีกแค่สองสามเรื่อง แล้วจะได้แวะเวียนสู่ African Film ที่หลายคนเรียกร้องเสียเหลือเกิน

จัดเรต pg กับบรรยากาศเหงาๆ วังเวง ความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension)

คำโปรย | Chocolat ของผู้กำกับ Claire Denis มีความงดงาม ตึงเครียด รสชาดเอร็ดอร่อยสำหรับผู้ที่สามารถลิ้มลองชิม
คุณภาพ | ช็
ส่วนตัว | เอร็ดอร่อย

Honō to Onna (1967)


Flame and Women (1967) Japanese : Yoshishige Yoshida ♥♥♥♡

ผลงานจากหนึ่งในผู้กำกับรุ่น Shōchiku Nouvelle Vague (หรือ Japanese New Wave) ที่แพรวพราวไปด้วย ‘Mise-en-scène’ แต่ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเด็กหลอดแก้วคือลูกของใคร? มันช่างเฉิ่มเฉย ตกยุคสมัย

มันอาจเพราะยุคสมัยนั้น เทคโนโลยีการผสมเทียม (Artificial Insemination) เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertillization, IVF) เพิ่งได้รับการประดิษฐ์คิดค้นมาไม่นาน ทำให้เกิดการถกเถียงถึงความถูกต้องเหมาะสม หลายคนยังไม่สามารถยินยอมรับ ถ้าทารกในครรภ์ไม่ได้มาจากอสุจิของตน เช่นนั้นแล้วใครคือพ่อเด็ก? ชายที่เป็นเจ้าของน้ำเชื้อ? หรือบุคคลที่ให้การเลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่?

กาลเวลาทำให้ประเด็นดังกล่าวฟังดูเพ้อเจ้อไร้สาระ ถกเถียงทำไมให้เสียเวล่ำเวลา การผสมเทียมไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ผู้คนส่วนใหญ่ให้การยินยอมรับ (อาจยังมีคนกลุ่มน้อยที่อคติอยู่บ้าง) ต่อให้บุตรหน้าตาไม่เหมือนบิดา-มารดา แต่ถ้าเขาคือบุคคลเลี้ยงเรามาจนเติบใหญ่ ให้ที่พักพิงทางจิตใจ ล้วนถือว่ามีความสำคัญทั้งนั้น พ่อแท้ๆ พ่อเทียมๆ หรือพ่อสองคน ก็พ่อเหมือนกัน! … ประเด็นเรื่องพ่อแท้ๆ พ่อเทียมๆ Like Father, Like Son (2013) ของผกก. Hirokazu Kore-eda ทำออกมาได้ดีกว่ามากๆ

แม้เรื่องราวอาจฟังดูไม่ค่อยน่าสนอกสนใจ แต่ลีลาการกำกับของ Yoshishige Yoshida แม้งบ้าระห่ำชิบหาย! ทุกช็อตฉากเต็มไปด้วยรายละเอียด (Mise-en-scène), นักแสดงปะทะฝีมือกันสุดเหวี่ยง, ตัดต่อสไตล์ Fellini กระโดดไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน (non-Chronological Order), และเพลงประกอบ Avant-Garde ฟังดู ‘artificial’ เหนือจริงจนจับต้องไม่ค่อยได้

จัดความยากในการรับชมที่ระดับสูงสุด Flame and Women (1967) ไม่ใช่ภาพยนตร์เหมาะสำหรับผู้ชมทั่วๆไป ผมเองก็ไม่เข้าใจภาษาหนังทั้งหมด แต่ลึกๆกลับทำให้เกิดความกระตือรือล้น อยากลองหาผลงานอื่นของผกก. Yoshida เลยตั้งใจว่าจะเขียนอีกเรื่องที่ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ!

เกร็ด: Flame and Women (1967) คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของผกก. Hayao Miyazaki … ได้อย่างไรกัน??


Yoshishige Yoshida, 吉田 喜重 (1933-2022) หรือบางครั้งใช้ชื่อ Kijū Yoshida ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukui หลังจากบ้านถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งทั้งสอง ครอบครัวอพยพมาปักหลักอาศัยในกรุง Tokyo, ด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ฝรั่งเศส จึงเข้าศึกษาวรรณกรรมฝรั่งเศส University of Tokyo จบออกมาสมัครทำงานสตูดิโอ Shōchiku เริ่มจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Keisuke Kinoshita, จนกระทั่งมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Good-for-Nothing (1960) กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่น Shōchiku Nouvelle Vague รุ่นเดียวกับ Nagisa Oshima และ Masahiro Shinoda ก่อนจะถูกเหมารวมเรียก Japanese New Wave

Yoshida เหมือนจะไม่ค่อยชอบฉายา New Wave เพราะมองว่าผลงานของตนเองในยุคแรก ถูกจำกัด ครอบงำโดยสตูดิโอ แต่หลังเสร็จสิ้น Escape from Japan (1964) จึงลาออกจาก Shōchiku แล้วก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง Gendai Eigasha ร่วมงานขาประจำกับศรีภรรยา Mariko Okada ผลงานเด่นๆ อาทิ A Story Written with Water (1965), Woman of the Lake (1966), The Affair (1967), Eros + Massacre (1969), A Promise (1986) ฯ

เพราะเคยพานผ่านหายนะจากสงครามโลกครั้งที่สอง ความสนใจของผกก. Yoshida จึกมักเกี่ยวกับปัญหาสังคม จิตวิทยา การมีตัวตน ตั้งคำถามถึงความถูกต้องเหมาะสม (ปรัชญา) และความหลงใหลในภาพยนตร์ฝรั่งเศส จึงรับอิทธิพลเกี่ยวกับการทดลอง (Experimental) มองหาวิธีการดำเนินเรื่องที่ผิดแผกแตกต่าง (Avant-Garde) ไม่ยึดติดกับรูปแบบ โครงสร้าง (non-Narrative) และเนื้อหามักท้าทายแนวคิด ขนบกฎกรอบทางสังคม เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับผู้ชม(สมัยนั้น)

สำหรับ 炎と女 อ่านว่า Honō to Onna แปลตรงตัว Flame and Women แต่บางครั้งอาจใช้ชื่อ Flame and Women and Flame of Feeling หรือ Impasse (แปลว่า การจนมุม, การจนตรอก, การเข้าตาจน, การหมดหนทาง) ร่วมพัฒนาบทกับ Tsutomu Tamura และ Masahiro Yamada ตั้งคำถามเกี่ยวกับการผสมเทียม เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในยุคสมัยนั้น บุตรที่เกิดออกจากจากหลอดทดลอง จะรับรู้ตัวเองหรือไม่ว่าใครคือบิดา-มารดาแท้จริง?


เรื่องราวของวิศวกรหนุ่ม Shingo Ibuki (รับบทโดย Isao Kimura) และภรรยา Ritsuko (รับบทโดย Mariko Okada) มีบุตรชาย Takachi อายุ 1 ปี 7 เดือน มองภายนอกดูเป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่น สมาชิกอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า แต่แท้จริงแล้วเด็กคนนี้เกิดจากการผสมเทียม โดยเจ้าของน้ำเชื้ออสุจิคือเพื่อนสนิท Ken Sakaguchi (รับบทโดย Takeshi Kusaka) ที่แม้แต่งงานกับ Shina (รับบทโดย Ogawa Mayumi) แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลับไม่ได้ตั้งอยู่บนความโรแมนติก

วันหนึ่งบุตรชาย Takachi สูญหายตัวอย่างไปอย่างลึกลับ Shingo จึงกล่าวโทษภรรยา Ritsuko ที่ไม่เคยสนใจใยดี ก่อนพบว่า Shina เป็นคน(ลัก)พาตัวไปทำอะไรบางอย่าง นั่นเพราะเธอตระหนักว่าเด็กคนนี้คือลูกของ Ken (สังเกตจากใบหน้ามีความละม้ายคล้ายคลึง) เลยครุ่นคิดว่าสามีคบชู้กับ Ritsuko … เหตุการณ์วุ่นๆนี้จะลงเอยเช่นไร?


Isao Kimura, 功 木村 (1923-81) บางครั้งใช้ชื่อ Kō Kimura นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางมาร่ำเรียน Bunka Gakuin ณ กรุง Tokyo จึงรอดชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณู แต่ก็สูญเสียครอบครัวทั้งหมด, หลังสงครามเข้าร่วมคณะการแสดง Haiyuza Theatre Company ก่อนย้ายมา Youth Actor Club (Gekidan Seihai) สนิทสนมกับ Eiji Okada และ Nobuo Kaneko, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Seven Samurai (1954), Jun’ai monogatari (1957), Summer Clouds (1958), High and Low (1963), The Affair (1967), Affair In The Snow (1968) ฯ

รับบทวิศวกร Shingo Ibuki ภายนอกดูเป็นคนอบอุ่น แข็งแกร่ง แต่ตั้งแต่แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าไม่สามารถมีบุตร กลายเป็นปมด้อยที่ทำให้หมดสิ้นอารมณ์ทางเพศ ค่อยๆเกิดความตระหนักเคยว่าถูกแฟนเก่าทรยศหักหลัง (แฟนเก่าเคยตั้งครรภ์แล้วแท้ง แต่แท้จริงแล้วนั่นไม่ใช่บุตรของตน) เลยเรียกร้องขอภรรยาให้ทำการผสมเทียม โดยไม่สนคำทัดทานใดๆ

ภายหลังบุตรชายเติบโตได้ปีกว่าๆ ค่ำคืนหนึ่งฝันว่าภรรยาคบชู้นอกใจ พยายามซักไซร้ไล่เรียง แล้วเมื่อเขาสูญหาย/ถูกลักพาตัว เต็มไปด้วยความร้อนรน กระวนกระวาย สำแดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ก่อนท้ายที่สุดเลิกสนใจปัญหา ไม่ว่าใครจะว่ายังไง ภรรยาคบชู้นอกใจ แต่ Takachi ก็ยังคงเป็นบุตรของฉัน!

ใบหน้าของ Kimura ดูเคร่งขรึม บึ้งตึงแทบตลอดเวลา (ใครเคยรับชม Seven Samurai น่าจะจดจำได้ว่าคือซามูไรที่ไม่เคยยิ้ม แต่ฝีมือดาบเป็นเลิศ) นั่นเพราะตัวละครเต็มไปด้วยความเก็บกด อัดอั้น พยายามปกปิดด้านอ่อนแอ ปมด้อยเรื่องความไร้ประสิทธิภาพทางเพศ ไม่ต้องการยินยอมรับ จึงพยายามสร้างภาพให้ใครอื่นเห็นว่าตนเองมีครอบครัวอบอุ่น พ่อ-แม่-ลูกอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า

เกร็ด: อาชีพวิศวกร(สร้างเรือ?)ของ Shingo สามารถสื่อถึงการออกแบบชีวิตให้ตัวตนเอง แม้ไม่สามารถมีบุตร ก็สามารถสร้างบุตร

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี(ซามูไร) ผู้ชายต้องมีความเข้มแข็งแกร่ง ช้างเท้าหน้าครอบครัว แต่ถ้าค้นพบว่าตนเองไร้น้ำยา ไม่สามารถมีบุตร นั่นคือเรื่องน่าอับอายขายขี้หน้า ตัวละครจึงพยายามปกปิด สร้างภาพ ลวงหลอกตนเอง ซึ่งนั่นจักนำสู่ความแตกแยก ร้าวฉาน อีกไม่นานก็คงเลิกราหย่าร้าง ใครจะไปอดรนทนอยู่ในกรงนกได้นาน


Mariko Okada, 茉莉子 岡田 (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Shibuya-ku, Tokyo เป็นบุตรของนักแสดงหนังเงียบ Tokihiko Okada แต่บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เธออายุหนึ่งขวบ เลยต้องอพยพสู่ Kyoto วัยเด็กมีนิสัยขี้อาย ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร ช่วงเรียนมัธยมปลายได้เข้าร่วมชมรมการแสดง เกิดความหลงใหลในสื่อภาพยนตร์จากการรับชมหนังเงียบ The Water Magician (1933) [นั่นทำให้เธอเพิ่งรับรู้ว่าบิดาคือนักแสดงหนังเงียบ] หลังเรียนจบเดินทางสู่ Tokyo ได้รับการฝากฝังจากลุงฝึกฝนการแสดง Toho Gakuen College of Drama and Music ยังไม่ถึงเดือนเข้าตาผกก. Mikio Naruse ได้รับบทนางรอง Dancing Girl (1951), ติดตามด้วย Husband and Wife (1953), Floating Clouds (1955), หลังหมดสัญญา Toho ย้ายมาอยู่สตูดิโอ Shochiku ร่วมงานผกก. Yasujirō Ozu เรื่อง Late Autumn (1960), An Autumn Afternoon (1962), จนกระทั่งผลงานเรื่องที่หนึ่งร้อย Akitsu Springs (1962) แต่เป็นครั้งแรกร่วมงานกับสามี Yoshishige Yoshida

รับบทภรรยา Ritsuko Ibuki ในตอนแรกก็มีความจงรักภักดีต่อ Shingo แต่หลังจากถูกบีบบังคับให้ทำการผสมเทียม จึงรู้สึกไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ปฏิเสธมอบความรักต่อบุตรชาย ปล่อยปละละเลยจนสูญหาย/ลักพาตัว แล้วยังไม่รู้สึกหนาวร้อนอะไร

ต่อมาค่อยๆตระหนักว่า Ken คือพ่อแท้ๆของเด็ก จึงเริ่มตีตนออกห่างสามี พยายามเกี้ยวพาราสี คบชู้นอกใจ (เป็นการแก้แค้นสามีไปในตัว) และภายหลังค้นพบคำตอบของตนเองว่า Takachi ยังไงก็คือเลือดเนื้อเชื้อไข บังเกิดเยื่อใยความสัมพันธ์แม่-ลูกขึ้นเป็นครั้งแรก

ในบรรดา 4-5 ตัวละครหลักของหนัง ผมรู้สึกว่าบทบาทของ Okada มีวิวัฒนาการ และความสลับซับซ้อนมากที่สุด! เริ่มต้นด้วยรอยยิ้มที่ดูบริสุทธิ์ ก่อนค่อยๆแสดงสีหน้าตึงเครียด บิดเบี้ยว บูดบื้ง รังเกียจขยะแขยงสามีและบุตรชาย พยายามโหยหาอิสรภาพ ต้องการดิ้นหลบหนีไปจากกรงขัง และเมื่อถาโถมตนเองเข้าใส่ชู้รัก ก็ไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงอะไรอีกต่อไป ต่อจากนี้สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ

ผมเคยรับชมผลงานยุคแรกๆของ Okada ภาพลักษณ์ของเธอดูเหมือนกุลสตรี เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ แต่หลังจากร่วมงานสามี Yoshida มักได้เล่นบทบาทที่มีความท้าทาย ซับซ้อน ย้อนแย้งจารีตสังคม เริ่มต้นจากต้องเก็บกด อดรนทน สะสมความอัดอั้น จากนั้นระบายอารมณ์คลุ้มคลั่ง ก่อนได้รับการปลดปล่อยสู่อิสรภาพ … กลายเป็นตัวแทนผู้ใหญ่วัยกลางคนที่ปลดปล่อยตนเองจากสังคมชายเป็นใหญ่


Takeshi Kusaka, 日下 武史 (1931-2017) นักแสดง นักพากย์เสียง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Toshima, Tokyo โตขึ้นเข้าศึกษาสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส Keio University แต่ด้วยปัญหาเรื่องการเงินจึงต้องลาออกกลางคัน ก่อตั้งคณะการแสดง Shiki Theatre Company มีผลงานแสดงทั้งละคอนเวที ภาพยนตร์ อาทิ Antarctica (1983), Deaths in Tokimeki (1983), Madadayo (1993) ฯ

รับบท Ken Sakaguchi เพื่อนสนิทของ Shingo รับรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ปัจจุบันทำงานสูตินารี แต่งงานกับ Shina ทั้งๆไม่ได้มีความรู้สึกใดๆต่อกัน จึงดูเหน็ดเหนื่อย เฉื่อยชา ขาดความกระตือรือล้น ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า Takachi คือเลือดเนื้อเชื้อไขตน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ แล้วถูก Ritsuko เกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจ …

แซว: อาชีพสูตินารีของ Ken แม้สามารถทำความเข้าใจกายภาพมนุษย์ แต่ไม่ได้หมายถึงความรู้สึก หรือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ (ไม่เคยสนใจใยดีผู้อื่นด้วยซ้ำไป) มองทุกสิ่งอย่างไม่ต่างจากวัตถุ สิ่งข้าวของ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมถึงภรรยา และคลินิก/โรงพยาบาลที่ได้รับมา

หน้าตาของ Kusaka ก็ดูเคร่งเครียด เคร่งขรึม ไม่แตกต่างจาก Isao Kimura แต่แม้ตัวละครไม่มีปัญหาทางร่างกาย จิตใจกลับขาดความกระตือรือล้น หาได้สนอกสนใจในตัวภรรยา แต่งงานเพียงเพราะจะได้เป็นเจ้าของคลินิก/โรงพยาบาล มองมนุษย์ไม่ต่างจากวัตถุ สิ่งข้าวของ ค่อยๆสูญเสียศรัทธาในชีวิต ไม่เคยครุ่นคิดอยากมีบุตร แต่พอรับรู้ว่า Takachi คือเลือดเนื้อเชื้อไข (เคยบริจาคอสุจิเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย) ทุกสิ่งอย่างเลยกำลังจะปรับเปลี่ยนแปลงไป

ตัวละครนี้ไม่เชิงว่ามีอาการ ‘Shell Shock’ แต่สะท้อนประสบการณ์จากสงครามเมื่อครั้นยังเป็นเด็ก พบเห็นผู้คนมากมายที่ต้องตกตาย ทำให้สูญสิ้นความกระตือลือร้น ทำงานสูตินารี ให้คำแนะนำผู้อื่นอย่างดี แต่ตนเองกลับไม่สามารถก้าวผ่านความเจ็บปวด เอาชนะใจตนเอง จมปลักอยู่กับความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน


Mayumi Ogawa, 小川眞由美 (เกิดปี 1939) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo บิดาเป็นนักแสดงประจำโรงละคอน Shin-Tokyo Theater Company, วัยเด็กชื่นชอบการเต้น ฝึกฝนบัลเล่ต์ตั้งแต่อายุห้าขวบ โตขึ้นเปลี่ยนมาหลงใหลการแสดง Kabuki เข้าศึกษาต่อวรรณกรรมญี่ปุ่น Wayo Women’s University แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Mother (1963) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ผลงานเด่นๆ อาทิ Zatoichi’s Vengeance (1966), Clouds at Sunset (1967), The Demon (1978), The Fossil (1975), Vengeance Is Mine (1979), The Go Masters (1983), Farewell to the Ark (1984), Family Without a Dinner Table (1985) ฯ

รับบท Shina Sakaguchi หญิงสาวผู้มีความระริกระรี้ ส่งเสียงเอื้อยแจ้ว ชื่นชอบชมนกชมไม้ ถ่ายภาพสิ่งข้าวของต่างๆ ทำให้สังเกตเห็น Takachi รูปร่างหน้าตาถอดแบบพิมพ์มาจากสามี Ken เลยเกิดความครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคบชู้นอกใจ วันหนึ่งบังเอิญพบเจอเด็กชายนั่งเล่นกลางถนน จึงอุ้มพาไปเที่ยวเล่น เพ้อใฝ่ฝันอยากมีบุตรของตนเอง พยายามล่อหลอก เกี้ยวพาราสี Shingo (เพื่อแก้แค้นสามี) แต่พอพบว่าอีกฝ่ายไร้น้ำยา ก็ทำได้แค่หัวเราะออกมาอย่างคลุ้มคลั่ง

การแสดงของ Ogawa ถือเป็นสีสันของหนัง มีความเบิกบาน ร่าเริงแจ่มใส รอยยิ้มทำให้สดชื่นหฤทัย เต็มไปด้วยความกระตือลือร้น ทำโน่นนี่นั่นแทบไม่เห็นหยุดอยู่หย่อน แม้ทั้งหมดอาจเป็นเพียงการสร้างภาพ (ไม่แตกต่างจาก Shingo ที่พยายามรักษาสถานภาพบุรุษคือหัวหน้าครอบครัว) พยายามปกปิดความอิจฉาริษยา Ritsuko แต่ก็ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดได้มาก

ผมมอง Shina คือตัวแทนหญิงสาวผู้รักอิสระ ไม่ได้ต้องการแต่งงาน แต่บริบททางสังคมญี่ปุ่น สตรีต้องอยู่เคียงข้างบุรุษ เธอจึงเปรียบชีวิตดั่งนกในกรง พยายามดิ้นรน หาหนทางหลุดพ้น โหยหาอิสรภาพ ขณะเดียวกันเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา ลักพาตัว Takachi เพราะสันชาตญาณเพศแม่ (อยากมีบุตร) สุดท้ายเมื่อไม่มีอะไรได้ดั่งใจ เลยระบายออกด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนร่ำลาจากไป


ถ่ายภาพโดย Yûji Okumura ร่วมงานผกก. Yoshishige Yoshida ตั้งแต่ Flame and Women (1967), Affair in the Snow (1968), Farewell to the Summer Light (1968) ฯ

งานภาพของหนังจัดจ้านด้วยลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์ แพรวพราว ‘Mise-en-scène’ ทั้งทิศทาง มุมกล้อง การเคลื่อนไหว (แพนนิ่ง, ซูมมิ่ง, แทร็คกิ้ง ฯ) ตำแหน่งนักแสดง บ่อยครั้งมักเดินไปเดินมา หันซ้ายหันขวา จัดแสงสว่าง-มืด ระยะใกล้-กลาง-ไกล ใช้ประโยชน์จาก Anamorphic Widescreen (2.35:1) และความคมเข้มของภาพขาว-ดำ (Monochrome) ได้อย่างงดงาม วิจิตรศิลป์

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกอึ่งทึ่ง คือความพยายามสรรหามุมกล้องที่เต็มไปด้วย(เล่ห์)เหลี่ยม มุม ใช้ประโยชน์สถานที่ ดูมีความสมัยใหม่ (Modern) หลายครั้งถ่ายลอดผ่านช่องแคบๆ มีอะไรบางอย่างมาบดบังการมองเห็น โดดเด่นที่สุดคือการเปลี่ยนตำแหน่ง นักแสดงเดินไปเดินมา ทำให้รายละเอียดภาพเกิดการเปลี่ยนแปลง แทบไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง นี่เป็นการกำกับที่โคตรๆบ้าระห่ำ ทุกช็อตฉากล้วนแฝงนัยยะซ่อนเร้น … ทำเอาผมขี้เกียจวิเคราะห์โดยละเอียด เลยพยายามเลือกเอาเฉพาะที่น่าสนใจจริงๆเท่านั้น


ภาพแรกของหนังนำเสนอผ่านสายตาทารกน้อย กำลังลืมตา พบเห็นบิดา-มารดาเป็นครั้งแรก แต่ภาพพบเห็นจะเริ่มต้นจากขุ่นมัว เบลอหลุดโฟกัส ก่อนค่อยๆปรับภาพให้คมชัด แต่แทนที่จะพบเห็นพ่อ-แม่หน้าตรง พวกเขากลับยืนกลับหัว นี่แฝงนัยยะถึงความจริงอาจกลับตารปัตร บิดาไม่ใช่บิดาแท้ๆ(ทางสายเลือด) และมารดาก็ไม่เคยอยากให้กำเนิดเด็กขึ้นมา

Shingo ฝันเห็นภรรยา Ritsuko กำลังโอบกอดจูบกับชายแปลกหน้า กล้องเริ่มจากภาพระยะไกล จากนั้นเคลื่อนหมุนรอบตัวชู้ทั้งสอง ราวกับพวกเขาคือศูนย์กลางจักรวาล จากนั้นตัดมาภาพ Takachi หลับอยู่ในห้อง นอนกลับหัว (สื่อถึงการครุ่นคิดเพ้อฝันไปเอง ภรรยาขณะนี้ยังไม่ได้คบชู้กับใคร) และแสงภายนอกสาดส่องบานเกล็ดอาบฉาบลงบนใบหน้า (บอกใบ้ว่ามีบางสิ่งอย่างเคลือบแคลง ปกปิด ซุกซ่อนอยู่ภายใน)

ประโยคคำพูดนี้ของ Shina มีความน่าสนใจอย่างมากๆ บอกว่าเด็กชาย Takachi ใบหน้าถอดแบบพิมพ์เดียวกับบิดา นั่นอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ชมรอบแรก แต่ใครดูจบแล้วย่อมรับรู้ว่า Shingo ไม่สามารถมีบุตร เด็กคนนี้จึงไม่ใช่ลูกแท้ๆ จะถอดแบบพิมพ์เดียวกันได้อย่างไร บังเอิญขนาดนั้นเชียวหรือ??

คำกล่าวของ Shina ไม่ได้ตรงบอกว่าเด็กชายถอดแบบมาจาก Shingo เพียงใช้คำว่า ‘บิดา’ นั่นหมายถึงเธอตระหนักรับรู้ว่าใครคือพ่อตัวจริงของเด็ก ไม่มีทางเป็นอื่นใด คือสามีของตนเอง Ken ใบหน้าถอดแบบพิมพ์เดียวกันเป๊ะ!

ทั้งสองครั้งที่อาจารย์แพทย์ตอบคำถาม Shingo & Ritsuko สังเกตว่าจะนำพาพวกเขาเดินผ่านชั้นวางหนังสือ (น่าจะในห้องสมุด) นั่นแสดงถึงคำตอบอ้างอิงวิทยาศาสตร์ (ตรวจพบว่า Shingo ไม่สามารถเป็นพ่อคน) และยึดหลักจรรยาบรรณแพทย์ (เลยไม่เปิดเผยต่อ Ritsuko ว่าใครคือพ่อแท้ๆเด็ก)

ระหว่างที่ Ritsuko ก้าวเดินไปส่ง Ken อีกฝ่ายเล่าเรื่องประสบการณ์วัยเด็ก หายนะจากสงครามที่ยังคงติดตา ฝังอยู่ภายในความทรงจำ สังเกตว่าหลายๆครั้งฝ่ายหญิงมักขยับร่มมาบดบังใบหน้า เหมือนไม่อยากรับรู้ ไม่อยากรับฟัง ต้องการปกปิดความรู้สึกบางอย่างบังเกิดขึ้นภายใน ช่วงท้ายก็ขับไล่ ผลักไส ไม่ต้องการพบเจออีกฝ่ายอีกต่อไป … แต่เขาก็แวะเวียนกลับมาอยู่ดี คำขอของเธอไม่มีอำนาจสั่งการใดๆทั้งนั้น

หลังจาก Shingo รับรู้ผลการวินิจฉัยจากอาจารย์แพทย์ ค่ำคืนนั่นมานั่งดื่มในบาร์แห่งหนึ่ง ตลอดทั้งซีเควนซ์ปกคลุมด้วยความมืด Low Key โต๊ะข้างๆพบเห็นนักศึกษาแพทย์กำลังดื่มด่ำเมามาย หนึ่งในนั้นก็คือ Ken สังเกตว่าภาพแรกโคมไฟบดบังใบหน้า ทำราวกับไม่มีตัวตน นั่งห่อตัวอยู่กึ่งกลาง ไร้สาวๆเคียงข้าง และภาพหลังกล้องวางบนพื้นโต๊ะ สื่อถึงชีวิตที่ตกต่ำ ไร้ราคา

ระหว่างการสนทนาในวงเหล้า มีกล่าวถึงการบริจาคอสุจิ สามารถนำไปขายได้ราคา แต่นี่ไม่ได้หมายถึงชายคนที่พูดคือบิดาของ Takachi นะครับ (เพราะตัวละครนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องราว) สังเกตจากภาษากายของ Ken ก็พอบอกได้ว่านั่นคือแรงบันดาลใจให้ขายน้ำอสุจิ นำเงินมาประทังชีวิต

คำพูดประโยคนี้ของ Shina ก็เพื่อจะเปรียบเทียบนก=มนุษย์ การแต่งงานไม่แตกต่างจากจับนกสองตัวมาอยู่ในกรงเดียวกัน สร้างพันธนาการเหนี่ยวรั้ง กักขัง ไม่สามารถดิ้นหลบหนีไปไหน

ตลอดซีเควนซ์นี้ยังถ่ายทำจากอีกฟากฝั่งของกรงนก ทำให้พบเห็นตาข่าย/ตะแกงเหล็กบดบังใบหน้าตัวละครทั้งสอง พวกเขาเดินเลียบๆเคียงๆ โต้ตอบสนทนา จากนั้นโอบกอด ร่วมรัก ไม่สามารถดิ้นหลบหนีกันและกัน (อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ = กรงขัง)

เมื่อตอนที่ Shingo บีบบังคับภรรยา Ritsuko ให้ทำการผสมเทียม เริ่มต้นถ่ายด้านหลังกระจก บดบังฝ่ายหญิงมิดชิด (หมายถึงเธอไม่มีสิทธิ์เสียง ไม่สามารถเรียกร้องอะไร) และหลายๆช็อตต่อจากนี้มักพบเห็นภาพสะท้อน(กระจก) ไม่ก็บางสิ่งอย่างกีดกั้นขวางระหว่างทั้งสอง เพราะขณะนี้พวกเขายังไม่สามารถเผชิญหน้า สบตากันตรงๆ เลยพยายามใช้บางสิ่งเบี่ยงเบน หลีกเลี่ยงการอธิบาย … จะว่าไป Shingo ก็ไม่เคยพูดบอกเหตุผลตรงๆที่ต้องการมีบุตร นี่คือความท้าทายให้ผู้ชมต้องลองครุ่นคิดหาคำตอบด้วยตนเอง

คำอธิบายแบบเบียวๆของ Shingo ถึงเหตุผลที่ต้องการมีบุตร แม้เขาอ้างว่าได้พบเห็น แต่ผมดูยังไงก็เป็นความเพ้อฝัน เพราะการจัดวางองค์ประกอบภาพ หลายช็อตถ่ายจากระยะไกล เด็กชายประสบอุบัติเหตุน่าจะถูกรถชน นอนราบลงกับพื้น (นี่แอบพยากรณ์อนาคตอยู่เล็กๆ) มารดาพยายามวิ่งเข้ามา แต่รถพยาบาลกลับเคลื่อนออกไปไกล

การจะทำความเข้าใจซีเควนซ์นี้ ผมว่าน่าจะต้องมองในเชิงจิตวิเคราะห์ความฝัน เด็กชายที่นอนอยู่น่าจะคือภาพตั้งฉากกับตัวของ Shingo ที่ถ้าไม่สามารถมีทายาท บุตรหลาน ก็เท่ากับเป็นการสูญเสีย ตายเปล่า อนาคตย่อมไม่หลงเหลือใครเคียงข้างกาย จึงเกิดอาการตื่นตระหนัก ตกใจกลัว เรียกร้องขอภรรยาให้ทำการผสมเทียม เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด สิ้นหวัง

ยามค่ำคืนเมื่อ Shingo & Ritsuko สามารถมองหน้าสบตาโดยไม่มีอะไรมากีดขวางกั้น แต่สังเกตว่าหนังพยายามจัดองค์ประกอบพื้นหลัง แสงสว่าง-เงามืด ที่มีลักษณะแบ่งแยกทั้งสองฟากฝั่งออกจากกัน เพื่อสื่อถึงทัศนคติที่แตกต่างตรงกันข้าม ไม่สามารถคิดเห็นลงรอยร่วมกันได้อีก

ช่วงระหว่างที่ Ritsuko เล่าถึงเหตุการณ์ถูกชายแปลกหน้าข่มขืน สังเกตว่ามีการละเล่นกับความมืดที่น่าตื่นตื่นใจ หญิงสาวมักเดินไปเดินมาท่ามกลางความมืดมิด บางครั้งแสงสว่างลอดผ่านมาอาบฉาบใบหน้า ไม่ก็ถ่ายย้อนแสง สาดสป็อตไลท์จากด้านหลัง ฯ พยายามนำเสนอทุกความเป็นไปได้ของแสง-เงา เพื่อสะท้อนความทรงจำอันเลวร้าย มืดมิดที่สุดออกมา

ในตอนแรก Ritsuko ก็พยายามดิ้นรนขัดขืนแค่พอเป็นพิธี ไม่นานจึงยินยอมศิโรราบ สังเกตว่าขณะกอดจูบร่วมรักบนเตียงนอน ไม่ได้มีอะไรสักสิ่งอย่างบดบังทั้งสอง นั่นแสดงว่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นนี้ แม้ผิดต่อหลักศีลธรรม แต่กลับฝังอยู่ในความทรงจำ บังเกิดความพึงพอใจไม่รู้ลืมเลือน … หรือจะมองว่าเป็นเรื่องราวที่ Ritsuko ปรุงแต่ง เพ้อฝัน สำหรับล่อหลอกสามีให้ล้มเลิกความตั้งใจ

แม้จะใช้นักแสดงคนเดียวกัน แต่ทว่า Ritsuko กลับบอกว่าไม่ใช่คนเดียวกัน! (ฝ่ายชายก็ยังพูดย้ำอีกว่าไม่ใช่ตนเอง) นั่นอาจหมายความถึงเรื่องราวที่เธอพูดเล่าก่อนหน้านี้ แท้จริงแล้วอาจเพียงการพร่ำเพ้อเจ้อ จินตนาการขึ้นมา (ตามความครุ่นคิดของ Shingo ที่ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง)

เช่นนั้นแล้วชายแปลกหน้าคนนี้คือใคร?? บอกตามตรงผมก็ครุ่นคิดไม่ออกเหมือนกัน ปรากฎตัวฉากนี้ บุกเข้ามาในบ้าน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วร่ำลาจากไป แค่นั้นนะฤา??

ทำไม Ritsuko ถึงยินยอมเข้ารับการผสมเทียม? ผมมองว่าเธออาจเกิดความหวาดกลัว อดีตติดตามมาหลอกหลอน (หรือจะมองว่าเลือนลางระหว่างโลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน) เลยไม่ต้องการให้สามีรับรู้ว่าตนเองแอบคบชู้นอกใจ จึงยินยอมผสมเทียมเสียก็จบเรื่อง ไม่หลงเหลือปัญหาติดค้างคาใจ … แต่เอาจริงผมรู้สึกว่าเหตุผลดังกล่าวฟังไม่ค่อยขึ้นสักเท่าไหร่ มันควรจะมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้ จิตใจผู้หญิงหยั่งยากยิ่งนัก!

สรุปแล้วการมีตัวตนของชายแปลกหน้า ที่ก็ไม่รู้มีตัวตนจริงๆหรือแค่จินตนาการเพ้อฝันของ Ritsuko แต่เขาคือแรงผลักดันให้เธอตัดสินใจเข้ารับการผสมเทียม เข้าใจประมาณนี้ก็แล้วกัน!

หลังจากที่ Takachi สูญหายตัวไป สังเกตว่ามุมกล้องจะเริ่มถ่ายติดเหลี่ยมมุม เสา-คาน พบเห็นพื้น-เพดาน (มุมก้ม-เงย) สร้างสัมผัสทิ่มแทง หนามแหลม ความขัดแย้งระหว่าง Shingo & Ritsuko ต่างฝ่ายต่างแสดงเล่ห์เหลี่ยม เพื่อปกปิดบังความจริงบางอย่าง

ในฉากย้อนอดีตที่ Shingo & Ritsuko และ Ken & Shina เดินทางไปปิคนิค รับประทานอาหารกลางวัน Shina เหมือนพูดทีเล่นทีจริงเกี่ยวกับการอยากมีบุตร แถมยังเรียกร้องขอ Ritsuko ถ้ามีลูกคนที่สองขอรับเลี้ยงได้ไหม นั่นอธิบายเหตุผลที่ทำไมเธอถึงอุ้มพาตัว Takachi อยากมีเวลาอยู่ร่วมกันสองต่อสอง ได้เติมเต็มความต้องการอยากมีบุตรของตนเอง

แม้ว่า Shina จะเป็นผู้หญิงรักอิสระ ไม่ได้มีความรู้สึกอันใดกับ Ken แต่สันชาตญาณเพศแม่ ทำให้เธอกระตือรือล้น ใคร่อยากมีบุตรของตนเอง แต่สามีไม่ค่อยยินยอมทำหน้าที่ เลยบังเกิดความอิจฉาริษยา Shingo & Ritsuko

ย้อนอดีตระหว่างที่ Ritsuko กำลังตั้งครรภ์ เธอตัดสินใจปลีกวิเวก ต้องการอยู่คนเดียว อาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศ แต่แล้ววันหนึ่งสามี Shingo เดินทางเยี่ยมเยียน แสดงออกความต้องการทางเพศ แต่ฝ่ายหญิงพยายามขับไล่ ผลักไส แต่ก็ไม่สามารถหลบหนี ราวกับติดอยู่ในกรงขัง และสังเกตว่าฉากบนเตียงพบเห็นหลอดไฟบดบัง นี่ไม่ใช่แค่ปกปิดเรือนร่างเปลือยเปล่า แต่ยังสื่อถึงช่วงเวลาที่ไม่อยากจดจำ (แตกต่างจากตอนร่วมรักกับชายแปลกหน้า ที่ไม่มีอะไรมาบดบัง)

ความหวาดกลัวของ Ritsuko สะท้อนความเชื่อผิดๆของคนสมัยก่อน ครุ่นคิดว่าการร่วมเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสจะทำให้แท้งบุตร นั่นมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลยนะ หญิงมีครรภ์สามารถมีกิจกรรมทางเพศได้ตามปกติ แค่ว่าอย่าโลดโผนรุนแรงเกินไปเท่านั้นเอง

น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าภาพวาดที่ดูเหมือน Primitive Art คือผลงานจากศิลปินใด แต่การปรากฎพบเห็นเคียงข้าง Shingo (ขณะย้อนอดีตพบเจอแฟนเก่า แล้วสอบถามถึงใครคือพ่อแท้จริงของเด็กที่แท้ง) สามารถใช้เปรียบเทียบตัวละครอย่างตรงไปตรงมา

แต่บอกตามตรง ผมดูไม่ค่อยออกว่ามันคือภาพอะไร? นักรบ? ซามูไร? เหมือนแต่งตัวเต็มยศ และถือดาบ จริงๆถ้ารับรู้ว่าคือบุคคลในภาพคือใคร ก็น่าจะเชื่อมโยงเข้ากับ Shingo ได้กระมัง

เมื่อตัดกลับมาปัจจุบัน สังเกตว่าเหลี่ยมมุมระหว่าง Shingo & Ritsuko จะมีความลึกเพิ่มขึ้น กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพ แถมยังบดบังทั้งสองจนเหลือแค่ใบหน้า สื่อถึงความขัดแย้งทวีความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างปิดกั้น ไม่ยินยอมรับฟังความคิดเห็น โลกทัศน์คับแคบลงเรื่อยๆ

จะมีขณะหนึ่งที่ทั้งสองเผชิญหน้าตรงข้างบันได กล้องถ่ายผ่านช่องแคบเล็กๆ พบเห็นเพียงใบหน้า รายละเอียดอื่นๆถูกบดบังมิดชิด สร้างสัมผัสคับแคบ อึดอัด จนฝ่ายหญิงไม่สามารถอดกลั้น จู่ๆจึงเดินออกมาภายนอก สังเกตจากภาพสอง Shingo ยังอยู่ในบริเวณช่องแคบๆนั้น ขณะที่ Ritsuko ก้าวออกมายังบริเวณพื้นที่กว้าง ไม่ยินยอมถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำอีกต่อไป

ทำไม Shina ถึงพา Takachi มาเดินเล่นยังสะพานขาด? โดยปกติแล้วสะพานคือสัญลักษณ์การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคล สองฟากฝั่ง แต่ในบริบทนี้สามารถสื่อถึงความขัดแย้ง แตกแยกภายในครอบครัว (ทั้งคู่ของ Shingo & Ritsuko และ Ken & Shina) สามี-ภรรยาไม่สามารถทำอะไรๆร่วมกัน สุดท้ายแล้วบุตรที่ถือกำเนิด ก็จักเดินวนเวียนอยู่กลางสะพานขาด

เมื่อตอน Shina นำพา Takachi กลับมาถึงบ้าน ทุกคนต่างยืนสงบนิ่ง จับจ้องมอง ปล่อยให้เธอเดินวกไปวนมา กล้องเคลื่อนเลื่อนติดตาม คาดว่าทุกคนคงตกอยู่ในสภาวะอ้ำอึ่ง ตกตะลึง พูดไม่ออกบอกไม่ถูก จึงไม่รู้จะแสดงปฏิกิริยาใดๆออกมา จนกระทั่ง Shina พูดสอบถามมีอะไรติดหน้าฉันหรือเปล่า? พร้อมส่งมอบเด็กชายคืนสู่อ้อมอกครอบครัว

นี่ถือเป็นช็อตน่าสนใจที่สุดของหนัง ตัวละครหลักทั้งสี่อยู่ร่วมกันในเฟรม พวกเขาต่างยืน-นั่ง ตำแหน่งสูง-ต่ำ หันหน้าคนละทิศทาง เพื่อสื่อถึงต่างคนต่างมุมมอง ต่างความคิดเห็น ต่างความเข้าใจต่อความหมายของครอบครัว สัมพันธ์สามี-ภรรยา บิดา-มารดา และบุตร ที่แตกต่างกันออกไป … ผมขี้เกียจลงรายละเอียดว่าใครมีความคิดเห็นเช่นไร ลองไปรับชมในหนังเอาเองนะครับ ทุกคนในช็อตนี้จะมีบทพูดของตนเองที่อธิบายทุกสิ่งอย่าง

Shina พูดระบายความรู้สึกอัดอั้น อธิบายเหตุผลการแต่งงานกับชายไม่ได้รัก เลยถูก Ken ขึ้นเสียง ตบหน้า ปฏิเสธยินยอมรับฟังความจริง และช็อตนี้ยังมีเงาพาดทับเรือนร่างหญิงสาว สื่อถึงการควบคุม ครอบงำ สำแดงอิทธิพลของตนเอง ยึดถือมั่นระบบชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย

นี่เป็นอีกช็อตที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยก จุดแตกหักระหว่าง Shingo & Ritsuko ทั้งสองหันหน้าคนละทิศทาง ยืนอยู่คนละเหลี่ยมมุม ไม่มีทางที่พวกเขาจะหันมาเผชิญหน้า ปรับความเข้าใจ หวนกลับมาคืนดีกันได้อีก ต่างคนต่างกำลังจะแยกย้ายไปตามทางของตนเอง

ล้อกับช็อตแรกของหนัง Shingo & Ritsuko ยื่นหน้าเข้ามาจับจ้องมอง พูดเสี้ยมสอนอะไรบางอย่างทารกแรกเกิด, พานผ่านมา 1 ปี 7 เดือน เมื่อครอบครัวแตกแยก หลงเหลือเพียงมารดา Ritsuko ยื่นหน้าเข้ามาจับจ้อง เดินวนรอบ เสี้ยมสอนบุตรชาย พูดบอกให้ลบเลือนภาพความทรงจำเกี่ยวกับบิดา แล้วหลงเหลือเพียงตนเอง มารดาจักอยู่เคียงข้าง ไม่มีวันเหินห่างไปไหน

Ritsuko ขึ้นรถไฟออกเดินทางไปยังบ้านพักตากอากาศ และยังได้ชักชวน Ken ซึ่งกำลังติดตามค้นหาจากตู้รถไฟหนึ่งสู่อีกขบวนหนึ่ง ก่อนมาพบเจอ Takachi กำลังเล่นอยู่กลางทางเดิน แต่แล้วกล้องกลับถ่ายเคลื่อนเลื่อนเข้าหา ซ้ำไปซ้ำมาถึงสามครั้ง! ราวกับ Déjà-Vu เหมือนเป็นการเน้นย้ำ สร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ เด็กชายคนนี้น่าจะต้องมีอะไรบางอย่างกันตนเอง

Shingo แวะเวียนมายังอพาร์ทเม้นท์ของ Ken กลับพบเจอแต่ Shina ท่าทางระริกระรี้ ถาโถมเข้ามาโอบกอด เกี้ยวพาราสี แต่ปรากฎว่าอีกฝ่ายนกเขาไม่ขัน (แต่นกในกรงส่งเสียงร้องลั่น) พอตระหนักว่าเขาไร้น้ำ เธอจึงลุกขึ้นมาหัวเราะลั่น … แบบเดียวกับอดีตแฟนสาวของ Shingo ที่พอรับรู้ก็หัวร่อออกมาเช่นกัน

อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่า Shina มีความเข้าใจผิดล้วนๆที่ครุ่นคิดว่า(อดีต)สามี Ken คบชู้นอกใจกับ Ritsuko แม้ได้รับฟังข้อเท็จจริง กลับยังไม่สามารถยกโทษให้อภัย Shingo หลังจากเสียงหัวเราะเยาะเย้ย (ท่ามกลางแสงสว่าง) ก็โถมตัวเข้าไปร่ำไห้ยังกรงนก ระบายความอัดอั้น สิ้นหวัง (ปกคลุมด้วยความมืดมิด)

ฉากร่วมเพศสัมพันธ์ก่อนหน้า Ritsuko ล้วนนอนแผ่พังพาบอยู่บนเตียง กล้องถ่ายลงมาจากเพดาน (แทนความสูงส่ง อิทธิพลบุรุษเหนือกว่าสตรี) ถูกข่มขืน ใช้ความรุนแรงบีบบังคับ ไม่เคยสมยินยอมพร้อมใจ

แต่คราวนี้กับ Ken เชื่อว่าเขาคือบิดาแท้ๆของบุตรชาย พบเห็นเขานั่งคุกเข่า โอบกอดอยู่ภายในอ้อมอก (แสดงถึงอิทธิพลของหญิงสาวที่สามารถโน้มน้าว ครอบงำ ทำให้ฝ่ายชายยินยอมศิโรราบ) และกล้องเคลื่อนเลื่อนหมุนรอบตัว 360 องศา (ทั้งสองราวกับศูนย์กลางจักรวาล)

Shingo เดินทางมายังบ้านพักตากอากาศเพื่อเยี่ยมเยียนอดีตภรรยาและบุตร แม้รับรู้ว่าต่อจากนี้คงไม่มีโอกาสอยู่เคียงข้าง (ภาพช็อตนี้ใช้ต้นไม้แบ่งแยกระหว่างบิดาเทียม vs. บิดาตัวจริง) แต่ก็ยังคงพูดหลอกตนเอง เชื่อมั่นว่า Takachi ยังคงเป็นบุตรของฉัน … จริงๆนะหรือ?

ก่อนที่ Ritsuko จะขึ้นรถจากไป เหมือนเธอหันมามองอดีตสามี Shingo ด้วยใบหน้ากระยิ่มยิ้ม เริดเชิดหยิ่ง ราวกับการประกาศอิสรภาพ ได้รับชัยชนะ ต่อจากนี้จะไม่ถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ สามารถกำหนดทิศทางชีวิตตนเอง กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ

ตัดต่อโดย Kazuo Ôta ผลงานเด่นๆ อาทิ Three Outlaw Samurai (1964), The Affair (1967), Flame and Women (1967), Affair in the Snow (1968), The Castle of Sand (1974), The Demon (1978) ฯ

ลีลาการดำเนินเรื่องของหนังมีความละม้ายคล้าย 8½ (1963) ของผกก. Federico Fellini กระโดดไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน ต้องใช้การสังเกต มองหาจุดเชื่อมโยง (ทุกครั้งที่มีการแทรกเรื่องราวจากช่วงเวลาอื่นเข้ามา มันต้องมีเหตุผลรองรับ หรืออะไรสักสิ่งอย่างเชื่อมโยงถึงกัน) ถือว่าท้าทายไม่น้อยสำหรับคนที่ยังขาดประสบการณ์รับชมภาพยนตร์

วิธีการสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะอดีต-ปัจจุบัน โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน คือต้องมองหาเนื้อเรื่องราว โครงสร้างหลัก แกนกลางของหนังให้พบเจอเสียก่อน (หรือคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งหมด) รายละเอียดอื่นๆที่ไม่ใช่ปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นส่วนขยาย อธิบายเนื้อหา ดูหนังจบแล้วค่อยไปแยกแยะว่าคือเหตุการณ์จริง หรือเพียงจินตนาการเพ้อฝัน

  • อารัมบท, ครอบครัวสุขสันต์ แต่เบื้องหลังมีลับลมคมในบางอย่าง
    • (ย้อนอดีต) ทารกน้อยลืมตาขึ้นมาพบเห็นบิดา-มารดา Shingo & Ritsuko
    • (ความฝัน) Shingo ฝันเห็นภรรยากอดจูบกับชายแปลกหน้า
    • Ken & Shina แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน
    • ระหว่างที่ Ritsuko ออกเดินไปส่ง Ken
      • (ย้อนอดีต) Ritsuko พยายามสอบถามหมอ ว่าใครคือบิดาแท้จริงของ Takachi
    • (ย้อนอดีต) Shingo รับฟังคำวินิจฉัยของหมอ ค้นพบว่าตนเองไม่สามารถมีบุตร ระหว่างนั่งในบาร์ พบเห็น Ken สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ (นี่เป็นการบอกใบ้ว่า Ken คือผู้บริจาคน้ำเชื้ออสุจิ)
      • (ย้อนอดีต) แฟนเก่าของ Shingo เพิ่งจะแท้งลูก
    • ณ อพาร์ทเม้นท์ของ Ken & Shina ร่วมรักท่ามกลางกรงนก
  • การผสมเทียม
    • เช้าวันถัดๆมา Shingo ประชุมงานวิศวกร
    • Ken เดินทางมาที่บ้านตามนัดของ Shingo แต่เพียงพบเจอ พูดคุยกับ Ritsuko
      • (ย้อนอดีต) Shingo โน้มน้าวให้ Ritsuko ทำการผสมเทียม แต่เธอบอกปฏิเสธ
        • (ย้อนอดีต) Shingo เล่าว่าพบเห็นเด็กชายถูกรถชน
        • (ย้อนอดีตเลือนลางความฝัน) Ritsuko เล่าให้สามีฟังว่าเคยถูกข่มขืนโดยชายแปลกหน้า ระหว่างอาศัยอยู่บ้านพักตากอากาศ
      • (ย้อนอดีต) ชายแปลกหน้าคนนั้นเดินทางมาเยี่ยมเยียน Ritsuko ขณะสามีไม่อยู่บ้าน
      • (ย้อนอดีต) Ritsuko ยินยอมทำการผสมเทียม
    • หลังรับฟังเรื่องเล่าทั้งหมด Ken จึงบอกร่ำลา ถึงเวลาเดินทางกลับ
  • การหายตัวไปของ Takachi
    • Ritsuko พบเห็น Takachi ออกไปวิ่งเล่นกลางท้องถนน ทีแรกก็แสดงความร้อนรน แต่กลับเพิกเฉย ไม่สนใจใยดี
    • Shingo แสดงความไม่พึงพอใจที่ Ritsuko ปล่อยบุตรชายให้สูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย พยายามซักไซร้ไล่เรียง
      • (จินตนาการ) Shingo จินตนาการภาพของ Ken กับ Ritsuko
      • (ย้อนอดีต) Ritsuko จินตนาการถึง Shina เรียกร้องให้เธอมีบุตรอีกคนแล้วมอบให้กับตนเอง
      • (ย้อนอดีต) Shingo เดินทางมาเยี่ยมเยียน Ritsuko ระหว่างตั้งครรภ์ แล้วทำการข่มขืนใจ
      • (ย้อนอดีต) Shingo นึกถึงอดีตแฟนสาวที่แท้งบุตร หลายปีให้หลังพบเจอกันจึงสอบถามว่าใครคือพ่อของลูก
      • (ความฝัน) Shingo เคยฝันเห็นภรรยา Ritsuko ทอดทิ้งบุตรชายลงมาจากดาดฟ้า
    • เปิดเผยว่า Shina เป็นคนอุ้มพา Takachi ไปเดินเล่นบนสะพาน
  • ครอบครัวคืออะไร?
    • พอกลับมาถึงบ้าน Shina ต้องเผชิญหน้ากับทุกคนที่เฝ้ารอคอย
    • Shina ตั้งตนเองเป็นจำเลย สอบถามความผิดของตนเอง
    • หมอให้คำอธิบายความหมายครอบครัว บิดา-มารดาในเชิงวิทยาศาสตร์
    • แต่ละคนก็แสดงความคิดเห็นของตนเองที่แตกต่างกันไป
    • Shina ระบายอารมณ์อัดอั้นต่อพฤติกรรมปิดกั้น/เห็นแก่ตัวของ Ken
    • Ritsuko พยายามพูดบอกบุตรชาย ไม่ต้องไปสนว่าใครคือบิดา แต่ฉันนี่แหละมารดาแท้ๆ เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง
  • บทสรุปใครคือบิดาของ Takachi
    • Ritsuko ขึ้นรถไฟออกเดินทางไปยังบ้านพักตากอากาศ แล้วชักชวน Ken ไปร่วมอยู่อาศัย
    • Shingo แวะเวียนไปที่อพาร์ทเม้นท์ของ Shina ถูกเธอเกี้ยวพาราสี แต่กลับไม่สามารถร่วมเพศสัมพันธ์
    • Ritsuko ร่วมรักกับ Ken และเชื่อว่าเขาคือบิดาแท้ๆของ Takachi
    • Shingo เดินทางมาถึงยังบ้านพักตากอากาศ พูดบอกความต้องการกับ(อดีต)ภรรยา และยังคงเชื่อมั่นว่า Takachi คือบุตรของตนเอง
    • Ritsuko จากไปกับ Ken และ Takachi

สังเกตว่าจะมีเฉพาะครึ่งแรกที่เรื่องราวกระโดดไป-มา แต่ถ้าสามารถผ่านความวุ่นๆวายๆช่วงนั้นไปได้ ครึ่งหลังคือจุดเปลี่ยน เหลือเพียงดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง (ตัวละครค้นพบความหมายครอบครัว/เป้าหมายของตนเอง) แค่สลับสับเปลี่ยนมุมมองนิดๆหน่อยๆ ไม่น่าจะยุ่งยากเกินทำความเข้าใจ


เพลงประกอบโดย Teizô Matsumura, 禎三 松村 (1929-2007) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto ในครอบครัวพ่อค้าขายกิโมโน บิดาชื่นชอบเล่นดนตรี Shakuhachi ส่วนมารดาบรรเลง Koto ทำให้บุตรชายค้นพบความชื่นชอบด้านดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่งเพลงได้ตั้งแต่เรียนอนุบาล หลังสงครามเดินทางสู่ Tokyo ได้เข้าศึกษา Tokyo University of the Arts เป็นลูกศิษย์ของ Tomojiro Ikenouchi, ช่วงต้นทศวรรษ 50s ล้มป่วยปอดบวม ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานห้าปี ใช้เวลาช่วงดังกล่าวเขียนเพลง แต่งบทกวี Haiku พอรักษาหายก็นำบทเพลง Introduction and Concert Allegro คว้ารางวัลอันดับหนึ่ง NHK Mainichi Music Competition เข้าตาคณะกรรมการ Akira Ifukube จึงมีโอกาสร่ำเรียนตัวต่อตัว, จากนั้นมีผลงานประพันธ์เพลงออร์เคสตรา อุปรากร เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Apart from Life (1970), The Long Darkness (1972), Death of a Tea Master (1989), My Son (1991) ฯ

งานเพลงถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง แต่เชื่อว่าหลายอาจส่ายหัว กุมขมับ สัมผัสไม่ได้ถึงความไพเราะเพราะพริ้ง เนื่องจากสไตล์เพลงเป็นแนวทดลอง (Experimental) ในลักษณะ ‘Avant-Garde’ เครื่องดนตรีเดี๋ยวดัง-เดี๋ยวหยุด บรรเลงตัวโน๊ตกระโดดไปมา บางครั้งก็ฟังไม่ได้สดับ สับสนวุ่นวาย และเสียงร้องโหยหวน สร้างความกรีดกราย สั่นสะท้านทรวงใน

จุดประสงค์การเลือกใช้สไตล์เพลงประเภทนี้ เพื่อให้สอดคล้องเนื้อหาการผสมเทียม เป็นสิ่งที่ดูเหนือจริง ‘artificial’ จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และวิธีการใช้ก็ไม่ใช่สร้างบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลัง (ความเงียบงันช่วยสร้างบรรยากาศตึงเครียดได้ทรงพลังกว่า) มักดังขึ้นในลักษณะ ‘สร้อยบทกวี’ เฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ บังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บรรยายความรู้สึกตัวละครขณะนั้นๆ

เสียงประกอบ (Sound Effect) ถือเป็นอีกไฮไลท์ที่หลายครั้งมีความโดดเด่นขึ้นมา แฝงความหมาย และช่วยสร้างความเข้าใจบางอย่างให้กับเรื่องราว อาทิ

  • เสียงนกร้อง จิ้งหรีดเรไร มีทั้งได้ยินจากธรรมชาติ ผืนป่า และเปิดจากเครื่องเล่นเทปในอพาร์ทเม้นท์ของ Shina (เสียงเทียม ‘artificial’)
  • เสียงรถยนต์เคลื่อนผ่านระหว่างที่มารดา Ritsuko ปล่อยบุตรชายวิ่งเล่นกลางท้องถนน ปฏิกิริยาของเธอแม้ดูกลัวๆกล้า แต่ทำเหมือนอยากให้ถูกชน หรือมีอะไรบางอย่างบังเกิดขึ้น
  • ระหว่างที่ Ken เดินติดตามหา Ritsuko (และบุตรชาย) บนขบวนรถไฟ จะได้ยินเสียงกระฉึกกระฉักตลอดทาง แต่พอพวกเขาเริ่มสนทนา เสียงดังกล่าวจะค่อยๆเงียบหาย และเมื่อพูดคุยกันจบสิ้น พอดิบพอดีพุ่งเข้าอุโมงค์ เสียงรถไฟจะกลับมาดังขึ้นอีกครั้ง
    • นี่อาจเป็นข้อจำกัดในการบันทึกเสียงสมัยนั้น แต่ขณะเดียวกันเสียงรถไฟยังสื่อถึงความสนใจต่อโลกภายนอก (ช่วงระหว่างที่คนสองพูดคุยกันไม่ได้ยินเสียงรถไฟ เพราะไม่ได้มีความสนใจอะไรใครอื่น)

Flame and Women (1967) นำเสนอข้อถกเถียงของการผสมเทียม เด็กหลอดแก้ว เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเริ่มแพร่หลายในทศวรรษนั้น ตั้งคำถามถึงความถูกต้องเหมาะสม ทางศีลธรรม ทางสังคม ทารกที่ถือกำเนิดเป็นบุตรของใคร? บิดาแท้ บิดาเทียม ความหมายของครอบครัวคืออะไร?

ประเด็นคำถามดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนประเด็นโลกแตก ขึ้นอยู่กับมุมมองครุ่นคิดเห็นส่วนบุคคล แต่สิ่งแน่นอนไม่มีวันเปลี่ยนแปลงก็คือ …

  • บุตรที่เกิดจากรังไข่ + อสุจิของใคร บุคคลนั้นย่อมคือบิดา-มารดาที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ส่งต่อผ่านแม่พิมพ์ชีวิต (DNA)
  • ขณะที่บุตรเกิดจากอสุจิของใครไม่รู้ รังไข่ของใครไม่รู้ รวมถึงฝากครรภ์แม่อุ้มบุญ กรรมสิทธิ์ในตัวเด็กย่อมคือบุคคลที่แสดงเจตจำนงค์ ต้องการรับเลี้ยงดูแล หรือที่เรียกบิดา-มารดาบุญธรรม! แม้ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข แต่ถือว่ามีความสัมพันธ์ทางจิตใจ

ความวุ่นๆวายๆที่พบเห็นในหนัง อาจเกิดจากตัวละครยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้อกฎหมายไม่ชัดเจน และอคติจากทัศนคติทางสังคมที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง ญี่ปุ่นยังยึดถือมั่นแนวคิดชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย บุรุษคือช้างเท้าหน้า ต้องมีความเข้มแข็ง ไม่ยินยอมรับผู้อ่อนแอ

สังคมยุคก่อน ชายผู้ไร้น้ำยา ไม่สามารถทำให้ภรรยาตั้งครรภ์ มักถูกตีตราว่าบุรุษชั้นสอง ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ได้รับสายตาดูถูกเหยียดหยาม เพราะการมีบุตรถือเป็นหน้าที่ ศักดิ์ศรี ความรับผิดชอบในการสืบต่อพงศ์เผ่าพันธุ์ (แนวคิดของ Alpha Male) แต่ในปัจจุบันค่านิยมทางสังคมได้ปรับเปลี่ยนไปมาก เพศสภาพไม่มีแค่ชาย-หญิง หรือความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยา แรงกดดันเรื่องการมีบุตรจึงลดน้อยถอยลง หลายๆคนเลือกครองตัวเป็นโสด คู่รักไม่ต้องการแบกภาระรับผิดชอบลูกหลาน ฯ

ประเด็นการผสมเทียม เด็กหลอดแก้ว กลายเป็นทางเลือกที่ผู้คนให้การยินยอมรับ ไม่ใช่แค่ชายหรือหญิงที่มีปัญหาอสุจิหรือรังไข่ แต่ยังแม่อุ้มบุญ รวมถึงการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม มนุษย์ไม่จำต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ก็สามารถเป็นครอบครัวเดียวกัน พ่อ-แม่-ลูก, พ่อ-พ่อ-ลูก, แม่-แม่-ลูก, พ่อเลี้ยงเดี่ยว, แม่เลี้ยงเดี่ยว, เราสองสามคน ฯ ข้อถกเถียงของหนังจึงเฉิ่มเชย ล้าหลัง เหลือแค่คนรุ่นเก่า (พวกเบบี้บูม) ยังคงต่อต้านขัดขืน ไม่อยากยินยอมรับความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น

สำหรับผกก. Yoshida และภรรยา Mariko Okada ผมไม่สามารถหารายละเอียดใดๆเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว มีความใกล้เคียงกับเรื่องราวของหนังมากน้อยเพียงใด พบเจอเพียงบทสัมภาษณ์หนึ่งกล่าวถึงเวลาทำงาน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องแว้ง มอบอิสรภาพให้กันและกัน

Q: How was it for you working with your wife?

First thing I can say is that, during the shoot, my wife was Okada-san, the same way as it had been before we got married. Moreover, I never told her anything about my work while on set or even prior to the actual shooting, when I was writing the script. When I thought of her as an actress, it was strictly professional.

Q: You mean that from the moment you are on set, in a way, she was no longer your wife but the actress Mariko Okada?

That is right. We were not even eating together there, as I had my own working schedule and things I needed to take care of with the other members of the crew, and she was with the other actresses and actors.

Yoshishige Yoshida

ชื่อหนัง Honō to Onna หรือ Flame and Women ผมคาดว่าน่าจะสื่อถึงเพลิงราคะ ไฟริษยาของผู้หญิง สัญชาติญาณเพศแม่ที่ต้องการบุตรจากเลือดเนื้อเชื้อไข สามีที่สามารถเติมเต็มตัณหาความใคร่ ไม่ใช่การผสมเทียม เด็กหลอดแก้ว น้ำเชื้ออสุจิใครก็ไม่รู้ฉีดพ่นเข้ามาในร่างกาย มีลูกกับชายไร้น้ำยา มันช่างน่าอับอายขายขี้หน้า

จะว่าไปเรื่องราวของสองชายผู้ไร้ศักยภาพทางเพศ ยังคือภาพสะท้อนญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้เป็นเรื่องน่าอับอายขายขี้หน้า หลายคนสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา ล้มป่วยอาการซึมเศร้า (Depression) ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกสมัยใหม่

ตรงกันข้ามกับบรรดาหญิงสาว เมื่อบุรุษกลายเป็นผู้ไร้ประสิทธิภาพ(ทางเพศ) พวกเธอจึงก้าวขึ้นมามีบทบาท กล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ไม่ยินยอมถูกกักขัง ควบคุมครอบงำ โหยหาอิสรภาพ ต้องการสิทธิ์เสียงครุ่นคิดตัดสินใจ และโบยบินสู่ท้องฟ้าไกล

แซว: ฤาว่าชื่อหนัง Flame and Women จะหมายถึงภาพช็อตนี้?? Ritsuko ขณะอยู่ไฟ? ถูกสามีข่มขืนขณะกำลังตั้งครรภ์?

ผมไม่แน่ใจว่าหนังผ่านการบูรณะแล้วหรือยัง แต่คุณภาพฉบับที่ได้รับชมมีความคมชัด ไร้ริ้วรอยขีดข่วน (ถ้ายังไม่บูรณะ ก็คงสแกนฟีล์มใหม่) เป็นไฟล์ WEBRip ที่ไม่รู้ดูดมาจากไหน ลองพยายามหาออนไลน์ก็ไม่พบเจอสักแห่งหน

Flame and Women (1967) เป็นภาพยนตร์ที่มีความงดงาม ‘innovative’ เต็มไปด้วยไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด แพรวพราวด้วยลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์ แต่ว่ากันตามตรงแทบไม่มีความบันเทิงสักเท่าไหร่ ยิ่งดูยิ่งปวดหัว กุมขมับ สลับซับซ้อน วุ่นๆวายๆเกินไป และที่สำคัญคือประเด็นถกเถียง เนื้อหาตกยุคสมัย มันจึงไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดความสนใจต่อผู้ชมสมัยใหม่

เอาว่าถ้าใครชอบความท้าทาย หนังขายแนวคิด โดยเฉพาะภาพถ่ายสวยๆ ลีลาตัดต่อจัดจ้าน ลองหาผลงานผกก. Yoshida แล้วจะบังเกิดความตระหนักว่า Shōchiku Nouvelle Vague (หรือ Japanese New Wave) แม้งโคตรดิบ บ้าระห่ำ กล้าลองผิดลองถูก ‘Avant-Garde’ ไม่ด้อยไปกว่า French New Wave

จัดเรต 18+ การสนทนาเรื่องเพศ คบชู้นอกใจ

คำโปรย | Flame and Women แม้แพรวพราวด้วยลูกเล่นภาพยนตร์ แต่ประเด็นถกเถียง เนื้อหาตกยุคสมัยตามกาลเวลา
คุณภาพ | ตกยุคสมัย
ส่วนตัว | ดูวุ่นๆวายๆ

Ninjō kami fūsen (1937)


Humanity and Paper Balloons (1937) Japanese : Sadao Yamanaka ♥♥♥♥

ผลงานสวอนซองของผู้กำกับ Sadao Yamanaka นำเสนอความเปราะบางชีวิต มุมมืดจักรวรรดิญี่ปุ่น พยากรณ์หายนะกำลังจะบังเกิดขึ้น หรือก็คือการมาถึงของ Second Sino-Japanese War (1937-45) และ World War II (1939-45)

ทั้งๆพื้นหลังของ Jidaigeki คือยุคสมัย Edo Period (1603-1868) และไม่ได้มีการกล่าวถึงสงครามอะไรใดๆ แต่เนื้อเรื่องราวของ Humanity and Paper Balloons (1937) พาดพึงพฤติกรรมคอรัปชั่นขุนนาง/ซามูไรระดับสูง (สามารถเปรียบเทียบได้ตรงๆถึงรัฐบาลญี่ปุ่นสมัยนั้น) ใช้อำนาจบาดใหญ่ กดขี่ข่มเหงประชาชน จนหมดสิ้นหวังทุกสิ่งอย่างในชีวิต หลงเหลือเพียงหนทางออกหนึ่งเดียวเท่านั้น

ช่วงปี ค.ศ. 1937 ความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่น (Empire of Japan) และสาธารณรัฐจีน (Republic of China) กำลังทวีความรุนแรง ใกล้ถึงจุดแตกหัก โดยปกติแล้วผู้สร้างภาพยนตร์มักได้รับการละเว้นเกณฑ์ทหาร แต่ผลงาน Humanity and Paper Balloons (1937) [จริงๆอาจเหมารวมอีกหลายๆเรื่องก่อนหน้า ที่นำเสนอด้านมืดของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน] พาดพิงพฤติกรรมคอรัปชั่นขุนนางระดับสูง (สื่อตรงๆถึงหน่วยงานของรัฐ) และตอนจบ Double/Triple Suicide นี่ไม่ใช่เรื่องที่สมควรนำเสนอยามศึกสงคราม

อาจจะด้วยเหตุผลนี้ ทางการญี่ปุ่นจึงเรียกเกณฑ์ทหารของผกก. Yamanaka (ว่ากันว่าใบแดงเรียกเกณฑ์ทหารมาถึงวันเดียวกับที่หนังเรื่องนี้ออกฉายรอบปฐมทัศน์) และเพียงปีกว่าๆถัดมา เสียชีวิตระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทหาร สิริอายุเพียง 28 ปีเท่านั้น!

การจากไปก่อนวัยอันควรของผกก. Yamanaka ทำให้ผลงานหลายสิบเรื่อง ถูกปล่อยปละ ทอดทิ้งขว้าง บางส่วนสูญเสียหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงแค่ 3 เรื่องเต็มๆ The Million Ryo Pot (1935), Priest of Darkness (1936) และ Humanity and Paper Balloons (1937) เวลารับชมแนะนำให้ไล่เรียงจากปีที่สร้าง จะพบเห็นวิวัฒนาการ สไตล์ลายเซ็นต์ และความสิ้นหวังของผกก. Yamanaka ตามลำดับ!


Sadao Yamanaka, 貞雄山中 (1909-1938) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto, ตั้งแต่เด็กชอบโดดโรงเรียนไปรับชมภาพยนตร์ โตขึ้นเข้าศึกษา Kyoto Daiichi Commercial High School (ปัจจุบันคือ Saikyō Junior & Senior High School) สนิทสนมกับเพื่อนนักเขียน Shigeji Fujii, พออายุ 20 สมัครเข้าทำงาน Makino Productions เริ่มต้นจากเขียนบท ก่อนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yotsuya kaidan: kôhen (1927) แต่เลื่องชื่อในฐานะ “Bad-Assistant Director” เพราะทำงานเชื่องช้า ขาดความกระตือรือล้น แถมชอบยืนหลังกล้อง ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ได้รับมอบหมาย

ความเลื่องชื่อลือชาของ Yamanaka ทำให้ไม่ใครใน Makino Productions อยากร่วมงานด้วย เลยจำใจต้องอพยพย้ายสู่ Arashi Kanjuro Productions เพราะขาดคนทำงาน เลยได้รับโอกาสกำกับหนังเงียบทุนต่ำแนว Jidaigeki (時代劇, คำเรียกแนวหนังย้อนยุคของญี่ปุ่น ที่มักมีพื้นหลัง Edo Period ค.ศ. 1603-1868) โด่งดังจากสไตล์การทำงานที่เรียบง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ผิดแผกตรงกันข้าใจากตอนเรียนรู้งานผู้ช่วยผู้กำกับโดยสิ้นเชิง! และการมาถึงของหนังพูด (Talkie) ตัดสินใจลงหลักปักฐานยัง Kyoto ตอบตกลงเข้าร่วมสตูดิโอ Nikkatsu

ความล้มเหลวของ Priest of Darkness (1936), Uminari kaidô (1936) และ Mori no Ishimatsu (1937) ทำให้ผกก. Yamanaka เกิดความท้อแท้ เหนื่อยหน่าย รับรู้สึกว่าแนวทางภาพยนตร์ของตนเองอาจไม่ใช่ทิศทางถูกต้องเหมาะสม จึงตัดสินใจลาออกจากสตูดิโอ Nikkatsu ออกเดินทางสู่ Tokyo ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ได้ทำสิ่งต่างๆที่เคยเพ้อใฝ่ฝัน

ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมสตูดิโอ P.C.L. Film Studio (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Toho Studio) มอบหมายงานให้เพื่อนนักเขียน Shintarō Mimura ดัดแปลงบทละคอน Kabuki เรื่อง 梅雨小袖昔八丈 อ่านว่า Tsuyu Kosode Mukashi Hachijo แปลตรงตัว Rainy Season Kimono, Old-Fashioned Hachijo [หรืออีกชื่อ 髪結新三 อ่านว่า Kamiyui Shinza แปลว่า The New Hairdresser Shinza] ต้นฉบับประพันธ์โดย Kawatake Mokuami (1816-93) ทำการแสดงครั้งแรก ณ Nakamuraza Theater, Tokyo เมื่อปี ค.ศ. 1853

เกร็ด: ชื่อบทละคอน Rainy Season Kimono, Old-Fashioned Hachijo หมายถึงชุดกิโมโนที่เหมาะสำหรับสวมใส่ในฤดูฝน ทำมาจากผ้าผลิตจาก Hachijojima (Hachijo Island) เกาะทางตอนใต้ญี่ปุ่น เลื่องชื่อมากๆกับการผลิตผ้า 本場黄八丈 อ่านว่า Honba Kihachijo แปลว่า Hachijojima Silk Fabric

Mokuami ได้แรงบันดาลใจการแสดงดังกล่าวจากเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นจริง 白子屋事件 แปลว่า Shirakoya Incident เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1726 หญิงสาวชื่อ Shirakoya Okuma (1703-27) ร่วมกับสาวรับใช้ วางแผนฆาตกรรมสามี Matashirō แต่ถูกจับได้ ตัดสินโทษประหารชีวิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1727 ศพถูกแห่ประจานรอบเมือง ศีรษะแขวนอยู่หน้าประตูทางเข้า Asakusa ภายหลังถึงนำมาลงฝังศพยัง Jōshō-in Temple

เหตุการณ์อื้อฉาวดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่โตในญี่ปุ่นยุคสมัยนั้น ได้รับการจดบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม ก่อนหน้านี้ยังถูกดัดแปลงเป็นละคอนหุ่นเชิด 恋娘昔八丈 (1775) อ่านว่า Koi-musume Mukashi Hachijo แปลว่า Girl in Love Old Eight Inch [Bard ให้คำแปล Love-struck Daughter, Old-Fashioned Hachijo, ChatGPT ให้คำแปล Beloved Maiden of Old Hachijō]

โดยปกติแล้วผกก. Yamanaka จะพยายามครุ่นคิดหาวิธีสร้างความสดใหม่ให้กับตัวละคร แต่สำหรับ 人情紙風船 อ่านว่า Ninjō kami fūsen แปลว่า Humanity and Paper Balloons ใช้การปรับเปลี่ยนมุมมองนำเสนอ แทนที่จะเล่าเรื่องผ่าน(มุมมอง)ฆาตกร กลายมาเป็นสามี โรนินตกงาน (คู่ขนานกับช่างตัดผม อาศัยอยู่ห้องพักข้างๆ) ให้อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง คือแรงกระตุ้น ผลักดันให้ภรรยากระทำการ ‘Double Suicide’


เรื่องราวของโรนินหนุ่ม Matajuro Unno (รับบทโดย Chôjûrô Kawarasaki) ตั้งแต่บิดาเสียชีวิต ยังไม่สามารถมองหางานใหม่ พร่ำบอกกับภรรยา พยายามติดต่อนายเก่าบิดา Mouri Sanzaemon แต่อีกฝ่ายกลับจงใจหลบลี้หนีหน้า ไม่ต้องการคบค้าสมาคม, ทางฝั่งช่างตัดผมเพื่อนข้างห้อง Shinza (รับบทโดย Kan’emon Nakamura) ก็ถูกก่อกวน กระทำร้ายโดยมาเฟีย/เจ้าของร้านรับจำนำ Shirokoya เพราะแอบเปิดบ่อนการพนันโดยไม่จ่ายค่าสินไหมใต้โต๊ะ

ค่ำคืนหนึ่งระหว่างฝนตกหนัก Shinza บังเอิญพบเจอ Okoma บุตรสาวของ Shirokoya ที่ได้รับการหมั้นหมายแต่งงานกับขุนนางระดับสูง เลยทำการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ฝากเธอไว้กับ Matajuro ผลลัพท์ทำให้ Mouri Sanzaemon (ที่เป็นพ่อสื่อ) ยินยอมจ่ายเงินมหาศาล … แต่เงินก้อนนั้นกลับนำพาหายนะให้บังเกิดกับพวกเขาทั้งสอง


Chôjûrô Kawarasaki (1903-81) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น สมาชิกคณะ Kabuki ชื่อว่า Zenshin-za Group เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด Nikkatsu ผลงานเด่นๆ อาทิ Priest of Darkness (1936), Humanity and Paper Balloons (1937), The 47 Ronin (1941), Miyamoto Musashi (1944) ฯ

รับบท Unno Matajuro โรนินหนุ่มหน้าใส จิตใจซื่อบริสุทธิ์ ยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี วิถีทางซามูไร แต่นั่นทำให้เขาไม่ทันเล่ห์เหลี่ยม กลโกง พฤติกรรมฉ้อฉล เลยถูกล่อหลอกลวง ได้รับบาดเจ็บทั้งร้ายร่างกาย-จิตใจ ไม่รู้จะพูดบอกอะไรกับภรรยา พยายามสรรหาข้ออ้าง คำอธิบาย จนเธอเริ่มรู้สึกผิดสังเกต และเหตุการณ์บางอย่างทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธา กัดกลืน ทำลายตัวตนเองอย่างช้าๆ

Kawarasaki สลับบทบาทกับ Kan’emon Nakamura ครานี้รับบทซามูไร/โรนินหนุ่ม จากเคยมาดนักเลง หัวใจแกร่ง หลงเหลือเพียงอุดมการณ์อันเข้มแข็ง แต่ขาดเรี่ยวแรง พละกำลังกาย-ใจ ปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปอย่างไร้เป้าหมาย ถ้อยคำพูดก็ยังเอื่อยเฉื่อย ขาดความกระตือรือล้น จนภรรยามิอาจอดรนทนรับสภาพตกต่ำ ตายไปเสียยังจะดีกว่า

ผมมองตัวละครนี้คือตัวตายตัวแทนผกก. Yamanaka ผู้มีความเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ผิดหวังต่อชีวิต ไม่ได้รับยินยอมรับจากเบื้องบน รวมถึงผู้ชมที่ไม่เห็นคุณค่าผลงานของตน แม้ยังพยายามมองหาโอกาสก้าวหน้า แต่โดยไม่รู้ตัวกลับเป็นพยากรณ์โชคชะตาตนเอง ว่าสุดท้ายจักถูกทรยศหักหลัง สูญสิ้นชีวิตและจิตวิญญาณ


Kan’emon Nakamura (1901-82) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น สมาชิกคณะ Kabuki ชื่อว่า Zenshin-za Group เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด Nikkatsu ผลงานเด่นๆ อาทิ Priest of Darkness (1936), Humanity and Paper Balloons (1937), The 47 Ronin (1941), Samurai Banners (1969), Inn of Evil (1971) ฯ

รับบทช่างทำผม Shinza แต่เนื่องจากฝนฟ้าไม่เต็มใจ หาลูกค้าไม่ค่อยจะได้ เลยแอบเปิดบ่อนการพนัน พยายามหลบเลี่ยงไม่จ่ายค่าสินไหม เลยถูกละลาน รังควาญ กระทำร้ายร่างกาย สบโอกาสเลยลักพาตัว Okoma มาร้องเรียกค่าไถ่ วางมาดสุขุม เยือกเย็น เล่นกับไฟ แต่ก็รับรู้โชคชะตาตนเอง สุดท้ายแล้วคงไม่สามารถหนีเอาตัวรอดจากเจ้าพ่อมาเฟีย

Nakamura สลับบทบาทกับ Chôjûrô Kawarasaki คราวนี้รับบทเจ้าของบ่อนการพนัน แต่เพราะเป็นเพียงบุคคลชนชั้นล่าง จึงต้องก้มหัวศิโรราบให้เจ้าพ่อมาเฟีย เต็มไปด้วยความเก็บกด อดกลั้น เจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ นั่นจึงทำให้เขากระทำบางสิ่งอย่างเพื่อโต้ตอบ เอาคืน ไม่ถึงขั้นล้างแค้น แค่ตอบสนองความพึงพอใจ กระหยิ่มยิ้มด้วยชัยชนะ แม้แค่เพียงชั่วข้ามคืน ก็คงคุ้มค่าแล้ว…กระมัง

ตัวละครนี้ถือเป็นตัวแทนสามัญชน บุคคลธรรมดาๆทั่วไป ที่ไร้เส้นสาย พวกพ้อง ทำให้โดนกดขี่ข่มเหง ไม่ใช่แค่จากพวกมาเฟีย/นักเลงท้องถิ่น ยังหน่วยงานภาครัฐไม่เคยสนใจใยดี สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตน ประชาชนตกเป็นเบี้ยล่าง ขี้ข้าทาส ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก


ถ่ายภาพโดย Akira Mimura, 三村 明 (1901-85) ตากล้องสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Etajima, Hiroshima บิดาเป็นทหารเรือยศพลตรี ส่งบุตรชายไปร่ำเรียนสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้นกระแสต่อต้านชาวญี่ปุ่นกำลังรุนแรง จึงมีความฝันอยากเป็นตากล้องเพื่อถ่ายภาพความเป็นจริงให้ใครต่อใครพบเห็น เข้าศึกษาด้านการถ่ายภาพที่ New York Institute of Photography เคยเป็นผู้ช่วยตากล้อง Greg Toland, George Burns ฯ เดินทางกลับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1934 เข้าร่วมสตูดิโอ P.C.L. Film Studio (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Toho Studio) มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ Humanity and Paper Balloons (1937), Composition Class (1938), Sanshiro Sugata (1943), Desertion at Dawn (1950), Kieta Chutai (1955) ฯ ฯ

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย (Minimalist) อาจไม่ได้สไตลิสต์เหมือน Yasujirō Ozu แต่มีหลายสิ่งละม้ายคล้ายคลึงกัน อาทิ กล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว ตั้งอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา (เกือบๆจะ Tatami Shot) และส่วนใหญ่ถ่ายจากระยะไกล (Long Shot) เพื่อให้เห็นเต็มตัวนักแสดงกระทำสิ่งต่างๆ นานๆครั้งถึงพบเห็นระยะกลางใกล้ (Medium Shot)

หลายคนอาจรับรู้สึกว่าลีลาการนำเสนอของผกก. Yamanaka ดูเฉิ่มเชย ล้าหลัง ขาดสีสันทางภาพยนตร์! แต่ผมกลับมองว่าเป็นการให้อิสรภาพผู้ชมในการสังเกต จับจ้องมอง พบเห็นท่าทางแสดงออก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ดูเป็นธรรมชาติ และนักแสดงต้องมีความเข้าขา ถึงสามารถรับ-ส่ง สนทนา โต้ตอบมุกไปมา


เอาจริงๆผมว่าเรื่องราวของ Humanity and Paper Balloons (1937) มีความมืดหม่นยิ่งกว่า Priest of Darkness (1936) แต่แทนที่จะถ่ายทำตอนกลางคืน ใช้ความมืดเข้าปกคลุม เปลี่ยนมาใช้สภาพอากาศที่ผันแปรเปลี่ยน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดออก ท้องฟ้ามืดครึ้ม สำหรับเทียบแทนสภาวะทางอารมณ์ตัวละคร

อย่างช็อตแรกของหนังถ่ายทำตอนกลางคืน ฝนตกหนักมาหลายวัน (เป็นการบอกใบ้ว่ามีบางสิ่งอย่างเลวร้ายเกิดขึ้น) พอรุ่งเช้าฟ้าสว่าง พื้นถนนยังเปียกแฉะ พบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังเดินเข้ามาตรวจสอบความผิดปกติ เพราะเมื่อคืนมีซามูไรคิดสั้นแขวนคอตายในสลัม

นี่น่าจะคือ お通夜 อ่านว่า Tsuya แปลว่า Wake Ceremony เป็นการรวมตัวของญาติพี่น้อง ผองเพื่อน คนรู้จัก เพื่อทำการเคารพศพผู้เสียชีวิต เอาจริงๆมันไม่จำต้องมีการร้องรำทำเพลง แต่คงคล้ายแบบไทยที่บางครั้งอาจมีกิจกรรมรื่นเริง มหรสพ เพื่อให้คลายความทุกข์โศก วิญญาณไปผุดไปเกิดด้วยความร่าเริงเบิกบาน

เกร็ด: มีสำนวนญี่ปุ่น 起死回生 หรือ きしかいせい อ่านว่า Kishikaisei แปลว่า Wake from death and return to life ฟังดูหลอกหลอน น่าสะพรึง แต่ไม่จำเป็นต้องคนตายฟื้นคืพชีพ หมายถึงการล้มแล้วลุก เอาตัวรอดจากสถานการณ์สิ้นหวัง (Resuscitation)

ชายตาบอด ตาบอดจริงหรือไม่? นั่นคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่พี่แกกลับสามารถรับรู้ว่าใคร(แอบ)ทำอะไร หมอนี่ลักขโมยไปป์สูบบุหรี่ นั่นแสดงว่าตัวละครนี้อาจแฝงนัยยะถึงการรับรู้ทุกสิ่งอย่าง แต่เลือกที่จะปิดหูปิดตา แสร้งว่ามองไม่เห็นพฤติกรรมคอรัปชั่นผู้อื่น สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น … นี่คงสะท้อนบรรยากาศการเมืองญี่ปุ่นยุคสมัยนั้นได้ชัดเจนเลยละ!

Okoma กับ Chushichi ค่อนข้างชัดเจนว่าฝ่ายหญิงพยายามชวนคุย เกี้ยวพาราสี สอบถามความเห็นโน่นนี่นั่น แต่ฝ่ายชายกลับยื้อๆยักๆ ทำตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา ไม่กล้าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า ขนาดว่ากล้องตัดไปภาพตุ๊กตาเกอิชา (แต่งตัวเหมือน Okoma) มันช่างน่าอับอายขายขี้หน้า ราวกับสนทนากับสิ่งของไร้จิตวิญญาณ

แต่ผมว่าการแทรกภาพตุ๊กตาเกอิชา ต้องการสื่อถึง Okoma ว่ามีสภาพไม่ต่างจากหุ่นเชิกชัก เพียงตุ๊กตาประดับชั้นวาง (A Doll House) ขณะนั้นถูกหมั้นหมายให้แต่งงานกับชายไม่รู้จัก ไม่ได้ตกหลุมรัก ไร้สิทธิ์เสียงจะต่อต้านทาน … นี่ไม่ใช่แค่สะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) แต่ยังเหมารวมถึงการใช้อำนาจรัฐ ประชาชนไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง เพียงเบี้ยล่าง หมากกระดานสำหรับการสงคราม

เมื่อตอนที่ Unno Matajuro ถูกขับไล่ ผลักไสออกจากบ้านพักของ Mouri Sanzaemon ไม่ได้รับอนุญาตให้พบเจอ ระหว่างการเปลี่ยนภาพ (film transition) จงใจทำให้เกิดความล่าช้า เยิ่นยาวนานกว่าปกติ เพื่อให้ผู้ชมสังเกตเห็นภาพซ้อน สะท้อนถึงสภาพจิตใจตัวละคร ตกอยู่ในความหดหู่ สิ้นหวัง ราวกับโดนกักขัง ไร้หนทางออก

ยามค่ำคืนฝนตกหนัก Okoma กับ Chushichi ไม่ได้พกร่มติดมาด้วย สังเกตจากคำพูด ภาษากาย ฝ่ายหญิงไม่อยากให้เขาเร่งรีบหาร่ม เดินทางกลับบ้าน อยากใช้เวลาอยู่ร่วมกันสองต่อสองให้นานที่สุด แต่ฝ่ายชายกลับไม่รู้ไม่สน ไม่เข้าใจความรู้สึกของเธอ แถมยังปล่อยทอดทิ้งอยู่ตัวคนเดียว

การมาถึงของ Shinza ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไรไกล ยินดีจะแบ่งปันร่มพากลับบ้าน แต่พอเธอบอกปัดปฏิเสธ นั่นทำให้เขาเกิดความครุ่นคิดบางอย่าง หนังไม่ได้นำเสนอว่าหมอนี่ทำอะไรยังไง เพียงก้าวเหยียบลูกบอลปอมปอม แล้วให้อิสระผู้ชมจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล

แม้ว่า Okoma จะแสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ ก้มหน้าก้มตาร่ำร้องไห้ (หยดน้ำฝนที่หยดลงมา สร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน เหมือนเสียงติก-ติกนาฬิกา) แต่ลึกๆผมรู้สึกว่าเธอแอบยินดีเสียด้วยซ้ำที่ถูกลักพากตัว คาดหวังว่าโจรจะพาหนีไปให้ไกล จักได้ไม่ต้องแต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก … แต่สุดท้ายแล้วชีวิตก็ไม่เป็นดั่งความฝัน

ระหว่างที่ Shinza ต่อรองกับพวกมาเฟีย สังเกตว่าเขามีการเล่นกับมีด โยนไปโยนมา (คล้ายๆสำนวนเล่นกับไฟ ลองดีเสี่ยงกับสิ่งที่รู้ว่าจะเป็นอันตราย) รับรู้ว่าตนเองถือไพ่เหนือกว่า จึงมีความสงบ เยือกเย็น ไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงอันตราย ขอเพียงได้กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจครั้งสุดท้าย … น่าจะรับรู้ตัวอยู่แล้วว่าหลังเหตุการณ์นี้ ชีวิตตนคงจบสิ้นลงอย่างแน่นอน

จะว่าไปไม่ใช่แค่ลูกบอลปอมปอม แต่ยังมีอีกหลายครั้งที่ผกก. Yamanaka จงใจไม่นำเสนอภาพเหตุการณ์อันเลวร้าย แค่เพียงนำเสนอการกระทำ หรือบางสิ่งในเชิงสัญลักษณ์ แล้วให้อิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ … ใครเคยรับชมผลงานของผกก. Yasujirō Ozu ก็น่าจะมักคุ้นลีลา ชั้นเชิงในการดำเนินเรื่องลักษณะนี้ บอกว่าจะออกไปรับประอาหารนอกบ้าน ซีนถัดมาปรากฎว่าทุกคนกลับถึงบ้าน พร่ำเพ้อถึงมื้ออาหารที่เพิ่งรับประทาน (แล้วฉากรับประทานอาหารหายไปไหน??)

  • ซีนแรกของหนัง มีกล่าวว่าซามูไรผูกคอตาย แต่ก็ไม่พบเห็นภาพว่าบังเกิดอะไรขึ้น
  • ช่วงท้าย Shinza ต่อสู้กับเจ้าพ่อมาเฟียกลางสะพาน ไม่รู้โชคชะตากรรม แต่ก็คาดเดาไม่ยาก
  • ภรรยาของ Unno ฆ่าตัวตายคู่กับสามี (Double Suicide) ไม่ถ่ายให้เห็นเหมือนกันว่าทำอะไรยังไง แค่เพียงปิดโคมไฟ (เงามืดด้านหลัง ช่างดูหลอกหลอน น่าหวาดสะพรึงยิ่งนัก)

ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต

เรื่องราวของหนังไม่ได้จำเพาะเจาะจงนำเสนอผ่านมุมมองตัวละครใด แต่มีจุดศูนย์กลางคือโรนิน Unno Matajuro และช่างทำผม Shinza ทั้งสองอาศัยอยู่ห้องพักติดกันในชุมชมสลัมแห่งหนึ่ง แม้แตกต่างคนละชนชั้น แต่ทั้งสองกลับถูกกดขี่ข่มเหง โดนกระทำร้ายร่างกายโดยลูกน้องมาเฟีย/เจ้าของร้านรับจำนำ Shirokoya

  • อารัมบท, การฆ่าตัวตายที่น่าอัปยศของซามูไร
    • แนะนำชุมชนสลัมแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบการฆ่าตัวตายของซามูไรด้วยการแขวนคอ
    • สมาชิกในสลัมแนะนำเจ้าของห้องเช่า ให้จัดงานเลี้ยงปลุกคนตาย มีการดื่มด่ำ ร้องรำทำเพลง
  • วันวุ่นวายของโรนิน Unno Matajuro และช่างทำผม Shinza
    • ยามเช้ายังคงไม่สร่างเมา ลูกน้องเจ้าพ่อมาเฟียมาดักรอช่างทำผม Shinza แอบเข้ามาหลบในห้องพักของโรนิน Unno
    • โรนิน Unno ออกไปเฝ้ารอคอยพบเจอซามูไร Mouri Sanzaemon เฝ้ารอคอยหน้าร้านรับจำนำ
    • Mouri แสดงความไม่พึงพอใจเลยขอให้เจ้าของร้านรับจำนำ Shirokoya ช่วยจัดการสั่งสอนโรนิน Unno แล้วทำให้ Shinza โดนลูกหลงไปเต็มๆ
    • โรนิน Unno กลับมาบ้าน พยายามปกปิดรอยแผล สรรหาข้ออ้างกับภรรยา
    • Shinza ถูกควบคุมตัวเข้าพบมาเฟีย/เจ้าของร้านรับจำนำ Shirokoya ได้รับการสั่งสอนให้รู้จักที่สูงที่ต่ำ
    • แต่ค่ำคืนนั้น Shinza ก็ยังแอบเปิดบ่อนการพนัน ก่อนถูกลูกน้องของ Shirokoya จับได้ไล่ทัน
  • ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้ความหวัง
    • โรนิน Unno ยังคงพยายามขอโอกาสจากซามูไร Mouri แต่กลับถูกปฏิเสธขันแข็ง
    • Shinza ต้องการนำอุปกรณ์ตัดผมไปจำนำ ทำให้ได้พบเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง Okoma กับ Chushichi แต่แล้วเจ้าของร้านกลับมา เลยถูกรุมโทรมได้รับบาดเจ็บ
    • ยามค่ำคืน Okoma ติดฝนอยู่กับ Chushichi บังเอิญพบเจอโดย Shinza จึงครุ่นคิดแผนการบางอย่าง
    • โรนิน Unno ยังพยายามขอโอกาสจากซามูไร Mouri ท่ามกลางฝนพรำ คราวนี้ถูกขับไล่ พูดจากผลักไสส่ง
  • การลักพาตัว Okama
    • ยามเช้า พวกมาเฟียพยายามมาต่อรองกับ Shinza แต่เจ้าตัวกล้าหือรือ ไม่ยินยอมจำนน
    • จนยามบ่ายหัวหน้าห้องเช่า เดินทางไปต่อรองยังโรงรับจำนำ ได้เงินมาจำนวนมาก
    • ค่ำคืนจัดงานเลี้ยง ทุกคนต่างดื่มด่ำเมามาย
    • Shinza เผชิญหน้ากับหัวหน้ามาเฟีย
    • ภรรยาของโรนิน Unno กลับมาพบเห็นสภาพสามี มิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป

ผมรู้สึกว่าผกก. Yamanaka ได้ปรับปรุงบทเรียนจาก Priest of Darkness (1936) ตระหนักว่าปัญหาคือตัวละครมากไป สลับสับเปลี่ยนมุมมองจนทำให้เรื่องราวสลับซับซ้อนเกินความจำเป็น ซึ่งสำหรับ Humanity and Paper Balloons (1937) ทำให้หลงเหลือเพียงแค่โรนินและช่างทำผม ปริมาณไม่มาก กำลังดี และผู้ชมสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง


เพลงประกอบโดย Tadashi Ota, 太田 忠 (1901-) นักเปียโน คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตั้งแต่แปดขวบฝึกฝนเล่นออร์แกน ตามด้วยเปียโนและการแต่งเพลงตอนอายุ 15 ปี หลังสำเร็จการศึกษา ทำงานแต่งเพลงสำหรับเด็ก ก่อนเข้าร่วมวงออร์เคสตรา The New Symphony Orchestra ในฐานะนักเปียโนคอนเสิร์ต, ตั้งแต่ปี 1937 ทำงานเป็น Music Director ให้กับสตูดิโอ P.C.L. Film Studio (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Toho Studio) จึงมีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Humanity and Paper Balloons (1937), Composition Class (1938) ฯ

ค่อนข้างเสียดายที่หนังทำการบูรณะเสียงไม่ดีสักเท่าไหร่ ผมเลยรู้สึกว่าบทเพลงของ Ota ไม่ค่อยมีความน่าจดจำมากนัก เพียงสร้างสัมผัสอันตราย เหมือนมีบางสิ่งชั่วร้าย ความตายกำลังคืบคลานเข้ามา … เหตุผลหนึ่งอาจเพราะผกก. Yamanaka ได้ทำการลดบทบาทเพลงประกอบ เพื่อใช้ความเงียบงัน และบางครั้ง Sound Effect เสียงฝนพรำ สำหรับสร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง

แต่ก็มีซีเควนซ์ที่น่าจดจำมากๆ บทเพลงระหว่างพิธีปลุกคนตาย บรรดาชายขี้เมาทั้งหลายต่างลุกขึ้นมาร้องร่ำทำเพลง บรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น ถือเป็นการบันทึกภาพประเพณีท้องถิ่น ที่พบเห็นได้ยากยิ่งในปัจจุบัน!

แซว: พบเห็นชายขี้เมาร้องรำทำเพลง ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ The Lower Depths (1957) ของผกก. Akira Kurosawa ที่ก็เต็มไปด้วยคนยากคนจนลุกขึ้นมาขับร้องอะแคปเปล่า

แม้ว่าบิดาของ Unno Matajuro จะเป็นซามูไรที่มีชื่อเสียง ได้รับนับหน้าถือตา แต่หลังจากเสียชีวิตทำให้ครอบครัวต้องตกอับ อดมื้อกินมื้อ บุตรชายไม่สามารถหาทำงาน ทั้งยังถูกขับไล่ ผลักไส คนรู้จักตีตนห่างไกล ว่าจ้างมาเฟียมารุมกระทำร้าย เจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ

ไม่แตกต่างจากช่างตัดผม Shinza เป็นแค่บุคคลธรรมดาๆ หาเช้ากินค่ำ ครุ่นคิดเปิดกิจการบ่อนการพนัน แต่กลับถูกพวกมาเฟียเรียกร้องค่าสินไหม ใช้กำลังรุนแรง กดขี่ข่มเหง บีบบังคับโน่นนี่นั่น ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ ถูกกระทำร้าย เจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ

สิ่งที่ทั้ง Unno และ Shinza ประสบพบเจอในชีวิต สามารถสะท้อนถึงสภาวะทางอารมณ์ สภาพพจิตใจผกก. Yamanaka เริ่มตั้งแต่การสูญเสียมารดาสุดที่รัก (เปรียบเทียบความตายซามูไรต้นเรื่อง หรือจะบิดาของ Unno ที่จากไปก่อนหน้า) ตามด้วยความล้มเหลวภาพยนตร์ 2-3 เรื่องถัดๆมา (ไม่สามารถโน้มน้าว Mouri Sanzaemon จนสูญเสียโอกาสทำงาน) รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า หมดสิ้นเรี่ยวแรงกายใจ ไม่หลงเหลือใครเป็นที่พึ่งพังพิก … ผิดกับ Priest of Darkness (1936) ที่แม้ปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่ตอนจบเด็กชายออกวิ่งสู่แสงสว่าง, Humanity and Paper Balloons (1937) ตอนจบกลับไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง!

และที่สุดคือเรื่องราวของหนัง สะท้อนถึงสภาพสังคม วิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงคราม (Pre-War) รัฐบาลที่มุ่งมั่นจะขยับขยายดินแดน โดยไม่สนความเดือดร้อน แร้งแค้นของประชาชน แถมยังกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ บีบบังคับโน่นนี่นั่น สั่งเกณฑ์ทหารเพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี ความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ นั่นทำให้ประชาชน คนธรรมดาสามัญ ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ตกอยู่ในความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ราวกับโดนกักขัง ไร้หนทางออก หลงเหลือเพียงเส้นทางหนึ่งเดียวเท่านั้น!

มันไม่ใช่ว่าผกก. Yamanaka ทำการสรรค์สร้างภาพยนตร์อัตชีวประวัติ แต่ใครจะไปคาดคิดถึงว่าแทบทุกสิ่งอย่างในหนังเรื่องนี้ได้วิวัฒนาการ กลายเป็นอัตชีวประวัติ นั่นหมายถึงการพยากรณ์อนาคต จุดจบของตนเอง และการล่มสลายของจักรวรรดิญี่ปุ่น


紙風船 อ่านว่า Kamifūsen แปลว่า Paper Balloons, ลูกโป่งกระดาษ โดยทั่วไปคือของเล่นเด็ก สำหรับโยนไปโยนมา แก่งแย่งแข่งขัน บางครั้งเป็นของฝาก ของที่ระลึก ประดับตกแต่งสถานที่ หรืออาจทำเป็นโคมกระดาษลอยฟ้า (ยี่เป็ง) สัญลักษณ์แทนความคาดหวัง เพ้อฝัน โหยหาชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน

ขณะเดียวกันลูกโป่งกระดาษยังมีความเปราะบาง โยนเล่นไม่นานก็ฉีกขาด แม้สามารถลอยน้ำได้สักพัก แต่อีกไม่นานก็จมลงสู่ก้นเบื้องล่าง สูญสิ้นความหวัง แสงสว่าง ชีวิตและจิตวิญญาณ

ช่วงระหว่างที่หนังกำลังถ่ายทำ เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่าง National Revolutionary Army vs. Imperial Japanese Army ขึ้นที่ Marco Polo Bridge incident ณ Beijing ระหว่าง 7-9 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45)

วันที่หนังออกฉาย 25 สิงหาคม ค.ศ. 1937 มีซองจดหมายสีแดงส่งหาผกก. Yamanaka (ก็เหมือนใบแดงบ้านเรา คือสัญลักษณ์การถูกเกณฑ์ทหาร) รับมามือไม้สั่น ถึงขนาดไม่สามารถจุดซิการ์ได้หลังจากนั้น, ต่อมาบรรดาผองเพื่อนร่วมกันจัดเลี้ยงอำลา ณ Heian Shrine อำนวยอวยพรขอให้โชคดี, วันที่ 31 สิงหาคม จึงได้เข้าร่วม 9th Infantry Regiment of the 16th Division ณ Fushimi

เกร็ด: Yasujirō Ozu ก็เป็นอีกคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร ได้รับใบแดงทีหลังแต่ขึ้นเรือสู่ประเทศจีนก่อน เห็นว่ามีโอกาสพบเจอผกก. Yamanaka ที่ Nanjing แล้วยังอำนวยอวยพร “The next time we meet, we will meet in Tokyo.” แต่ครั้งนั้นกลับคือครั้งสุดท้ายพบเจอกัน

ผมไม่ค่อยอยากเขียนเส้นทางสู่ความตายของผกก. Yamanaka อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจ ใครอยากรับรู้แบบเต็มๆแนะนำ Wikipedia ภาษาญี่ปุ่น แล้วพึ่งพา Google Translate (หรือพวก AI อย่าง ChatGPT, Bard ฯ) แปลภาษาเอาเองนะครับ

การเสียชีวิตของผกก. Yamanaka ไม่ได้เกิดจากถูกยิงหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่คือสภาพแวดล้อมสนามรบ ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค-บริโภค จำต้องดื่มจากโคลนเลน ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย ถูกส่งมาโรงพยาบาลสนามก็ไม่มีความพร้อมอะไร ทานอาหารไม่ได้ สุดท้ายอาการทรุดหนัก เสียชีวิตวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1938 สิริอายุเพียง 28 ปี!


เมื่อตอนหนังออกฉาย ได้เสียงตอบรับดีล้นหลามจากนักวิจารณ์ ติดอันดับ #7 ภาพยนตร์แห่งปีของนิตยสาร Kinema Junpo แถมยังติดเรื่อยๆมาในแทบทุกชาร์ทจัดอันดับภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นยอดเยี่ยมตลอดกาล

  • Kinema Junpo: Top 100 Japanese Films of the 20th Century (1995) อันดับ #4
  • Kinema Junpo: Top 100 best Japanese movies ever made (1999) อันดับ #18
  • Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made (2009) อันดับ #23
  • Busan: Asian Cinema 100 Ranking (2015) อันดับ #67

ภาพยนตร์ที่หลงเหลือทั้งสามเรื่องของผกก. Yamanaka ได้รับการบูรณะ 4K ในโอกาสครบรอบ 110 ปี สตูดิโอ Nikkatsu เมื่อ ค.ศ. 2020 ใครอยากหาซื้อ Blu-Ray ต้องสั่งจากญี่ปุ่น (เหมือนจะไม่มีซับไตเติ้ล) หรือ DVD ของค่าย Eureka! รวบรวมอยู่ใน Masters of Cinema … แต่หาดูออนไลน์ง่ายสุด เพราะหนังไม่ติดลิขสิทธิ์ใดๆ (ระยะเวลาลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นแค่ 50 ปีเท่านั้น!)

เมื่อตอนรับชม The Million Ryo Pot (1935) ผมแอบคาดหวังว่าผลงานของผกก. Yamanaka จะออกมาในสไตล์ตลกร้าย (Dark Comedy) มีความเย้ายียวน รัญจวนใจ เอาจริงๆทุกเรื่องก็มีความขบขันของมันอยู่ แต่ผลงานหลังๆยากจะหัวเราะออกมา เพราะโลกที่เขาสร้างขึ้นมันช่างดำมืด สิ้นหวัง จุดจบตัวละครเลยสามารถพยากรณ์หายนะจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆกับความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Humanity and Paper Balloons (1937) โดดเด่นเหนือกว่าผลงานอื่นใดของผกก. Yamanaka นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นที่ได้จากประสบการณ์ทำงาน อาทิ เชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับสภาพอากาศ ใช้วัตถุแฝงนัยยะบางอย่าง ดำเนินเรื่องคู่ขนานในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งยังผสมผสานประเพณี ความเชื่อ (เรื่องคนตาย) ฯลฯ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีความทรงคุณค่ายิ่งๆขึ้นไป

จัดเรต 13+ กับโลกใต้ดิน ลักพาตัว และอัตวินิบาต

คำโปรย | Humanity and Paper Balloons ผลงานสุดท้ายของผู้กำกับ Sadao Yamanaka นำเสนอความเปราะบางของชีวิต พยากรณ์หายนะกำลังบังเกิดขึ้นกับจักรวรรดิญี่ปุ่น
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ปวดร้าวทรวงใน