The Wind That Shakes the Barley (2006)


The Wind That Shakes the Barley

The Wind That Shakes the Barley (2006) Irish : Ken Loach ♥♥♥

ในปีที่ Wong Kar-wai เป็นประธานกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes เลือกมอบรางวัล Palme d’Or ให้กับ The Wind That Shakes the Barley ตัดหน้าภาพยนตร์โดดเดนกว่าอย่าง Babel, Pan’s Labyrinth, Volver ทำไมกันนะ?

ใครเคยรับชมผลงานของ Wong Kar-wai ผู้กำกับหัวใจเหงาๆ ที่มักสร้างภาพยนตร์สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะฮ่องกง ทั้งๆก็ชนชาติพันธุ์เดียวกัน ห่างแค่ข้ามสะพานแต่ไกลเกินลิบโลก! … เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ อังกฤษ-ไอร์แลนด์ ต่างอยู่ในเครือสหราชอาณาจักรเดียวกันแท้ๆ กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ลุกลามบานปลายเป็นสงครามเรียกร้องอิสรภาพ

ประเด็นคือเมื่อตอนประกาศรางวัล Palme d’Or ปีนั้นออกมา ผู้ชม/นักวิจารณ์ ต่างเกาหัว มึนตึบ ผู้กำกับระดับโคตรอาร์ทอย่าง Wong Kar-wai เนี่ยนะ! กลับเลือกผู้ชนะคือ The Wind That Shakes the Barley (2006) ที่ไม่ได้ดูยาก ซับซ้อน หรือนำเสนอเทคนิคตื่นตระการตาใด มันเลยเป็นความโคตรฉงนสงสัยที่คนส่วนใหญ่ใคร่อยากรับรู้คำตอบ สมมติฐานที่ผมยกมา น่าจะถือว่าใกล้เคียงสุดแล้วกระมัง

บอกไว้ก่อนว่า ส่วนตัวไม่ค่อยประทับใจ The Wind That Shakes the Barley (2006) สักเท่าไหร่! รำคาญดราม่าสุดโต่ง ขยี้อารมณ์แบบไม่ยับยั้งชั่งใจ และเนื้อหาประวัติศาสตร์ชาตินิยม ต่างชาติอย่างเราๆอาจเข้าไม่ถึงความใน


Kenneth Charles Loach (เกิดปี 1939) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Nuneaton, Warwickshire บรรพบุรุษเป็นคนงานเหมือง พ่อทำงานช่างไฟ ตัวเขาร่ำเรียนกฎหมายยัง St Peter’s College, Oxford จบออกมาสมัครทหารอากาศสังกัด Royal Air Force แต่กลับเลือกทำงานเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยฝึกงานกำกับสถานีโทรทัศน์ BBC กำกับเรื่องแรก Catherine (1964) สูญหายไปแล้ว ผลงานเด่นๆช่วงนี้อาทิ Up the Junction (1965), Cathy Come Home (1966), In Two Minds (1967) ฯ หลงใหลประเด็นปัญหาสังคม สะท้อนความยากจน คนไร้บ้าน สิทธิ์แรงงาน จากนั้นมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ Poor Cow (1967), Kes (1969), Riff-Raff (1991), The Navigators (2001), สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or ได้ถึงสองครั้งจาก The Wind That Shakes the Barley (2006) และ I, Daniel Blake (2016)

Loach เป็นผู้กำกับที่มีมุมมองทัศนคติด้านการเมืองสุดโต่งคนหนึ่ง ชอบวิพากย์วิจารณ์ แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงถ่ายทอดความครุ่นคิดเห็นสู่เนื้อหาภาพยนตร์ ทำให้บ่อยครั้งถูกกองเซ็นเซอร์(ที่มีความหัวโบราณ/อนุรักษ์นิยม)กีดกันห้ามฉาย แต่ต้องยินยอมรับว่าคือบุคคลสำคัญแห่งวงการหนังอังกฤษ

สำหรับ The Wind That Shakes the Barley พัฒนาบทโดย Paul Laverty นักเขียนขาประจำของ Loach ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Carla’s Song (1996) รวบรวมแรงบันดาลใจจากหลากหลายแหล่ง
– หลักๆคือนวนิยาย The Scorching Wind (1964) แต่งโดย Walter Macken (1915 – 1967) นักเขียนสัญชาติ Irish เรื่องราวของสองพี่น้องอาศัยอยู่เมือง Dublin พานพบเห็น Anglo-Irish War (1919 – 1921) สงครามเรียกร้องอิสรภาพของ Irish Republican Army (IRA) กับสหราชอาณาจักร เมื่อได้รับชัยชนะติดตามด้วย Irish Civil War (1922 – 23) ระหว่างฝ่ายสนับสนุนสนธิสัญญาสันติภาพ (Irish Free State/Pro-Treaty) ปะทะฝั่งต่อต้าน (Irish Republic/Anti-Treaty) ซึ่งผู้ชนะรอบหลังคือ Irish Free State
– ตัวละคร Damien O’Donovan ได้แรงบันดาลใจจาก Ernie O’Malley (1897 – 1957) สมาชิก IRA ช่วงระหว่าง Anglo-Irish War ต่อมากลายเป็นผู้บัญชาการฝ่ายต่อต้าน (Anti-Treaty) ใน Irish Civil War
– สำหรับชื่อหนัง ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง The Wind That Shakes the Barley แต่งโดย Robert Dwyer Joyce (1836–1883) นักกวีสัญชาติ Irish อุทิศให้หนุ่มๆชาว Wexford ตัดสินใจเลือกทอดทิ้งคนรัก เพื่อเข้าร่วมฝ่ายกบฎเหตุการณ์ Irish Rebellion (1798) ต่อสู้รบสหราชอาณาจักร ผลลัพท์คือพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน

But blood for blood without remorse,
I’ve ta’en at Oulart Hollow
And placed my true love’s clay-cold corpse
Where I full soon will follow;
And round her grave I wander drear,
Noon, night and morning early,
With breaking heart whene’er I hear
The wind that shakes the barley!

พื้นหลัง County Cork, Ireland ค.ศ. 1920, เรื่องราวของ Damien O’Donovan (รับบทโดย Cillian Murphy) หมอหนุ่มกำลังเตรียมตัวออกเดินทางไปทำงานยังกรุง London แต่พานพบเห็นการกระทำอันเหี้ยมโหดร้ายต่อประชาชน ของกองทัพทหารอังกฤษ Black and Tans ช่วงระหว่าง Anglo-Irish War ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม IRA ของพี่ชาย Teddy O’Donovan (รับบทโดย Pádraic Delaney) ปฏิบัติภารกิจมากมาย ดักปล้นสะดมกลางทาง เอาตัวรอดจากคุกคุมขัง เข่นฆ่าคนทรยศหักหลัง ในที่สุดประเทศก็ได้รับสนธิสัญญาสันติภาพจากสหราชอาณาจักร แต่แล้วความขัดแย้งภายใน Irish Civil War ก็บังเกิดติดตามมา ซึ่งสองพี่น้องต่างมีมุมมองทัศนคติคนละฝั่งฝ่าย
– Damien เข้าร่วมฝ่ายต่อต้าน (Anti-Treaty) ต้องการเรียกร้องอิสรภาพแท้จริงให้กับประเทศ
– Teddy ส่งเสริมสนับสนุน (Pro-Treaty) แค่ต่อรองได้รับสนธิสัญญาสันติภาพเท่านี้ก่อนก็เพียงพอแล้ว

สุดท้ายหนทางออกของปัญหา กลับมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น!


Cillian Murphy (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Douglas, County Cork ทั้งพ่อแม่เป็นครูสอนหนังสือ แต่ตัวเขากลับเรียนไม่เก่งเท่าไหร่ ชื่นชอบการแสดงและเล่นดนตรี เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที แสดงในภาพยนตร์อินดี้หลายเรื่อง อาทิ Sunburn (1999), The Trench (1999), On the Edge (2001), 28 Days Later … (2002), เริ่มโด่งดังระดับนานาชาติกับ Batman Begins (2005), The Wind That Shakes the Barley (2006), Sunshine (2007) ฯ

รับบท Damien O’Donovan เพิ่งเรียนจบแพทย์กำลังตระเตรียมออกเดินทางไปทำงานยังกรุงลอนดอน แต่พานพบเห็นการกระทำอันเหี้ยมโหดร้ายของกองทัพทหารอังกฤษ ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม IRA แม้ร่างกายไม่เข้มแข็งแรงเท่าไหร่ แต่คือสติปัญญาของกลุ่มที่สามารถนำพาให้เพื่อนๆสามารถเอาตัวรอด ขณะเดียวกันเขาก็ต้องพิสูจน์ตนเองต่ออุดมการณ์ ทั้งๆสองมือนี้สำหรับช่วยเหลือผู้อื่นก็จำต้องเข่นฆ่าคนทรยศ เมื่อสงครามเรียกร้องอิสรภาพสิ้นสุด พานพบเห็นความตกทุกข์ยากลำบากของประชาชน กลายเป็นสมาชิกฝ่ายต่อต้าน ไม่ยินยอมรับสนธิสัญญาสันติภาพชั่วคราว ก็แค่ฉากบังหน้าเพื่อลดมูลค่าความขัดแย้งลง

ขณะนั้น Murphy กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เมื่อได้ยินว่าจะมีหนังมาถ่ายทำยัง Country Cork พยายามแสวงหาหนทาง เข้าร่วมคัดเลือกนักแสดงถึงหกครั้ง พูดคุยผู้กำกับอยู่หลายครา กระทั่งได้เซ็นสัญญาโดยที่ Loach อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นคนพื้นเพจากแถวนั้น

“It was during the summer months; I was living at home with my folks; my wife was pregnant with our son; and we were running around the hills of west Cork shooting up Black and Tans. Fantastic!”

– Cillian Murphy

Murphy เป็นนักแสดงประเภทสันชาตญาณ สามารถแสดงออกทุกปฏิกิริยาอารมณ์ได้โดยอัตโนมัติ แค่เทคแรกก็ยอดเยี่ยมแล้ว ซึ่งสอดคล้องรับไดเรคชั่นผู้กำกับ Loach ที่ไม่ชอบให้นักแสดงอ่านบททำการบ้านก่อนล่วงหน้า วันจริงพบเจอยังกองถ่าย เล่นอะไรก็ค่อยบอกกล่าวตรงนั้น

ฉากตราตรึงมากๆคือขณะตัวละครต้องเข่นฆ่าคนทรยศ, Murphy ให้สัมภาษณ์ว่า ก็เพิ่งรู้สดๆตรงนั้นว่าต้องเข้าฉากทำอะไร นำเอาความตื่นตกใจ อกสั่นขวัญหาย ถ่ายทอดออกมาพร้อมๆตัวละครได้อย่างเจ็บปวดรวดร้าวราน

“It was a beautiful shoot, absolutely beautiful. Easily my best experience in terms of the process of acting”.


Pádraic Delaney (เกิดปี 1977) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Adamstown, County Wexford, โตขึ้นตั้งใจเรียนวิศวกรรม แต่ตัดสินใจดรอปเรียนสี่เดือนหลังจากนั้น เปลี่ยนมาสาขาการแสดงและละครเวทีศึกษายัง Beckett Centre, Trinity College จบปริญญาโทออกมาเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ได้รับคัดเลือกแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Wind That Shakes the Barley (2006) แจ้งเกิดโด่งดังพลุแตกทันที

รับบท Teddy O’Donovan พี่ชายผู้มีร่างกายบึกบึนกำยำ สมกับได้สมัครเข้าร่วม IRA สร้างชื่อให้ตนเองจนกลายเป็นที่หวาดสะพรึงกลัวต่อทหารอังกฤษ Black and Tans ครั้งหนึ่งโดนจับกุมคุมขัง ถูกถอด(เขี้ยว)เล็บแต่ได้รับความช่วยเหลือจากน้องชาย ส่งเสริมกันและกันอย่างดีจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด กลายเป็นความบาดหมางเพราะครุ่นคิดเห็นแตกต่าง จำต้องกระทำบางสิ่งอย่างที่เขาจะสูญเสียใจไปตลอดชีวิต

สไตล์การแสดงของ Delaney รับอิทธิพลจากละครเวทีมาเต็มๆ (ก็แน่ละมาจากสายนั้น) และยังรูปลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามกับ Cillian Murphy ราวกับไม่ใช่พี่น้อง แต่ถือว่าถูกต้องแล้วละ เพราะครึ่งค่อนหลังเมื่อพวกเขาเผชิญหน้าขัดแย้งกันเอง จักสามารถอยู่คนละขั้วฝั่งฝ่าย

ขณะที่ไฮไลท์การแสดง อยู่เกือบนาทีสุดท้ายของหนังเมื่อต้องตะโกนออกคำสั่งด้วยน้ำตาไหลพรากๆ … คือผมชมชอบในการแสดงนะ แต่ไม่ชอบไดเรคชั่นที่พยายามบีบเค้นคะยั้น ปั้นอารมณ์ดราม่านี้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Barry Ackroyd สัญชาติอังกฤษ ขาประจำผู้กำกับ Ken Loach และ Paul Greengrass ผลงานเด่นๆ อาทิ The Wind That Shakes the Barley (2006), United 93 (2006), The Hurt Locker (2008), Captain Phillips (2013)

สถานที่ถ่ายทำอยู่บริเวณโดยรอบ Country Cork ทั้งหมด อาทิ Ballyvourney, Timoleague,  Bandon, เทือกเขา Ballyvourney, บ้านฟาร์ม Coolea, ฉากเข่นฆ่าคนทรยศ Kilmainham Gaol, Dublin

ลักษณะของงานภาพมอบสัมผัสคลาสสิก (ยุค 60s) กล้องจะตั้งอยู่กับที่แล้วขยับหมุน Panning, Tilt Up ไปมาโดยรอบ ไม่มีเคลื่อนติดตาม Tracking Shot ใช้การตัดต่อสำหรับปรับเปลี่ยนมุมมองเท่านั้น ซึ่งเทคนิคนี้แลดูคล้ายการตวัดพู่กันไปมาลงบนฉากตั้งอยู่กับที่ หรือเปรียบกับสายลมพัดโบกโชยไปมา (ตามชื่อหนัง)

เริ่มต้นฉากแรกของหนัง Hurling หรือ Gaelic football กีฬาพื้นบ้านเก่าแก่ของชาว Irish ว่ากันว่าถือกำเนิดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 4,000 ปีที่แล้ว อุปกรณ์ไม้มีคำเรียกว่า Hurl สำหรับตีลูกบอลเล็กๆ Sliotar เพื่อให้เข้าประตูฝั่งตรงข้าม ผู้เล่นฝั่งละ 15 คน, การเริ่มต้นหนังด้วยกีฬาเก่าแก่ขนาดนี้ สะท้อนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม สองฝั่งฝ่ายต่อสู้ ห่ำหั่น เข่นฆ่าแกงกัน นอก-ในกติกา เพื่อให้ฝั่งฝ่ายตนเองได้รับชัยชนะ

การเลือกโทนสี Color Palette ต้องชมเลยว่ามีความสดชื่นสบายตา แลดูเก่าๆสักนิดเพื่อสร้างสัมผัสหนังแนว Period มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบกับภาพ The Potato Eaters (1885) ของ Vincent Van Gogh เน้นสีเทา น้ำตาล เขียว แทบจะไม่เห็นน้ำเงินปรากฎนอกจากแสงสาดส่องยามค่ำคืน

การจัดแสง-ความมืด ก็พอพบเห็นมีนัยยะสำคัญอยู่บ้าง อย่างช็อตนี้ที่เด็กชายคนหนึ่งกำลังจะกระทำการทรยศหักหลังพรรคพวกพ้อง ถ่ายย้อนแสงพบเห็นเรือนร่างกายปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท!

บ้าน สามารถเทียบแทนสัญลักษณ์ของประเทศชาติ, ประมาณกลางๆเรื่องๆ เมื่อกองกำลัง IRA และสองพี่น้อง O’Donovan หลังปล้นสะดมแวะกลับมาบ้านของ Sinéad Ní Shúilleabháin (รับบทโดย Orla Fitzgerald) พบเห็นทหารอังกฤษกำลังจุดไปเผาบ้าน (ถูกต่างชาติเข้ามาทำลายประเทศไอร์แลนด์) หญิงสาวถูกจับโกนศีรษะ (ครอบงำ/ล้างสมอง) ได้แต่จับจ้องมองไม่สามารถกระทำอะไรได้ หลงเหลือเพียงปรักหักพัง (สภาพประเทศไอร์แลนด์ หลังทหารอังกฤษจากไป)

เมื่อสงครามกับสหราชอาณาจักรสิ้นสุดลง จะมีช็อตนี้ที่ทหารอังกฤษเดินทางกลับ พบเห็นสองกลุ่มคน
– ฝั่ง Damien นั่งอยู่ในเงาของตึก พูดพร่ำ ล้อเลียน ด่ากราด
– ขณะที่ Teddy สวมเครื่องแบบ National Army เดินอยู่ท่ามกลางแสงส่องสว่างด้านหลัง (แบบเดียวกับกองทหารอังกฤษเดินทางกลับไป)

นัยยะของฉากนี้คือการแบ่งแยกระหว่าง กลุ่มต่อต้าน-ส่งเสริมสนับสนุน, พวกแรกเคลื่อนไหวอยู่ในเงามืดมิด ขณะที่ฝ่ายหลังอยู่ที่แจ้ง ได้รับการหนุนหลังโดยสหราชอาณาจักร (จักรวรรดิที่ได้รับฉายา ‘พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน’)

ตัดต่อโดย Jonathan Morris ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Loach,

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Damien O’Donovan (และบางครั้ง Teddy O’Donovan) ซึ่งเป็นตัวละครที่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปมากสุด จากไม่เคยต้องการเป็นทหาร -> ฝึกซ้อมรบ ปฏิบัติภารกิจ เข่นฆ่าคนทรยศ -> พอสงครามสิ้นสุดพบเห็นวิถีชีวิตผู้คนยากลำบาก เลือกฝั่งฝ่าย ต่อต้าน (Anti-Treaty) ต้องการเรียกร้องอิสรภาพแท้จริงให้กับประเทศ

หลายครั้งของหนังมีการ Fade-In Black และ Fade-Out Black (ต่อเนื่องกันไป) มักในช่วงขณะอารมณ์วูบวาบใจหาย หลังจากเข่นฆ่าคนทรยศตาย, กำลังจะ Love Scene, หรือเมื่อต้องการ Time Skip เวลาเคลื่อนผ่านไป


เพลงประกอบโดย George Fenton สัญชาติอังกฤษ ขาประจำผู้กำกับ Loach ตั้งแต่ Ladybird, Ladybird (1994) ผลงานเด่นๆ อาทิ Gandhi (1982), Cry Freedom (1987), Dangerous Liaisons (1989), The Fisher King (1992), แต่โด่งดังสุดคือสารคดี The Blue Planet (2001) และ Planet Earth (2006)

นอกจากสามสี่บทเพลงพื้นบ้าน Irish ที่ได้ยินขับร้องเล่นเต้นในหนัง, Soundtrack จะเน้นสร้างสัมผัสบรรยากาศ มีทั้งซึมเศร้าหดหู่ รายล้อมด้วยภยันตราย ขณะเดียวกันก็แฝงเร้นด้วยประกายความหวัง สักวันความสงบสุขจะหวนกลับคืนมาสู่บ้านของเรา

Sound Effect ก็ถือว่าแต่งแต้มสร้างบรรยากาศ แฝงนัยยะได้อย่างลุ่มลึก อาทิ
– ฉากที่สถานีรถไฟ ใช้เสียงหม้อน้ำเดือดสะท้อนจุดแตกหักของ Damien O’Donovan อดรนทนไม่ได้อีกต่อไป
– สายลมพัด คือสภาพจิตใจที่ Damien ต้องเข่นฆ่าคนทรยศ เพื่ออุดมการณ์อิสรภาพของประเทศชาติ
– ไฟไหม้บ้าน จิตใจของตัวละครก็กำลังมอดไหม้ไปด้วยเช่นกัน
– ตอนยิงเป้าประหารชีวิต ถัดจากเสียงหัวใจ ปืนดัง ก็คือแร้งกา จ้องคอยกัดกินซากศพคนตาย
ฯลฯ


สายลมที่พัดพาต้นข้าวบาร์เลย์ให้สั่นไหว เป็นคำเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์/การกระทำ อันทำให้อารมณ์ความรู้สึก สภาพจิตใจของมนุษย์นั้น ตกอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก เจ็บปวดรวดร้าว สั่นสะท้านถึงขั้วหัวใจ

เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันสังเกต ‘เสียงสายลม’ ที่แม้ดังขึ้นหลายครั้งเมื่อตัวละครอยู่ท่ามกลางทุ่งกว้าง เนินเขาสูง แต่เพียงหนึ่งที่โคตรตราตรึง และตรงนัยยะชื่อหนัง เมื่อครั้น Damien O’Donovan ต้องเข่นฆ่าคนทรยศด้วยเงื้อมมือตนเอง แสดงออกด้วยอาการสั่นสะท้านทั้งร่างกายและจิตใจ

สองสงครามที่หนังนำเสนอ Anglo-Irish War ตามด้วย Irish Civil War มีลักษณะสะท้อน สอดคล้อง ผูกมัดกับความสัมพันธ์ตัวละครพี่น้อง
– Anglo-Irish War เป็นสงครามต่อสู้คนนอก/สหราชอาณาจักร, Irish Civil War คือสงครามภายใน/กับชาวไอริชด้วยกันแต่มีความครุ่นคิดเห็นต่าง
– Damien กับ Teddy เริ่มต้นด้วยความสมัครสมานฉันท์ พร้อมสู้รบศัตรูตายแทนกัน, แต่เมื่อสงครามสงบ พี่น้องกลับมองโลกในมุมแตกต่าง ก่อเกิดการขัดแย้ง จนเป็นให้…

แซว: ว่าไปวิถีเมืองไทยก็คล้ายกันนะ เวลาสู้รบศัตรูภายนอกต่างสมัครสมานฉันท์ กลมกลืนน้ำหนึ่งใจเดียว แต่พอยุคสมัยสันติสุขกลับทะเลาะเบาะแว้ง กัดกันเองภายใน … สงสัยมันจะคือสัจธรรมสากล มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหาความขัดแย้ง

“Every time a colony wants independence, the questions on the agenda are:
a) how do you get the imperialists out,
b) what kind of society do you build?

There are usually the bourgeois nationalists who say, ‘Let’s just change the flag and keep everything as it was.’ Then there are the revolutionaries who say, ‘Let’s change the property laws.’ It’s always a critical moment”.

– Ken Loach

ผู้กำกับ Ken Loach ขณะนำเสนอ Anglo-Irish War ทำให้กองทัพทหารอังกฤษ/สหราชอาณาจักร ดูยังไงก็เป็นตัวร้ายโคตรโหดโฉดชั่วอย่างไม่บันยะบันยัง แต่พอพี่-น้องชาวไอริช แบ่งฝั่งฝ่ายขัดแย้งกันเองภายใน Irish Civil War กลับวางตัวเป็นกลาง ไม่ชี้ชักนำเข้าข้าง แสดงความครุ่นคิดเห็นฝั่งฝ่ายไหนถูก-ผิด

นั่นสร้างข้อคำถามให้ใครหลายๆคน ทำไมผู้กำกับ Loach ถึงสร้างภาพยนตร์ราวกับโกรธเกลียดประเทศบ้านเกิดตนเองขนาดนั้น?

“And what does that even mean? Am I supposed to hate my town, am I supposed to hate all English people, or my government? And if I do hate my government, does that mean I hate my country? It’s a democratic duty to criticise the government.

วิธีการของผู้กำกับ Loach ถือว่าสุดโต่งไปสักหน่อย ถึงขนาดมีบทความ “Why does Ken Loach loathe his country so much?” ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Daily Mail

LINK: https://www.dailymail.co.uk/news/article-388256/Why-does-Ken-Loach-loathe-country-much.html

คำโต้ตอบกลับของ Loach ก็รุนแรงใช่เล่น เรียกคนเขียนว่าเป็นพวก Fascism นิยมการควบคุมครอบงำ กุมอำนาจไว้ในมือ ใช้มันในทางเผด็จการ ไม่ยินยอมรับสภาพเป็นจริง/โลกเสรีในปัจจุบัน ปฏิเสธจะพูด ‘ขอโทษ’ ต่อประวัติศาสตร์อันโฉดชั่วร้ายของชาติตนเอง

“I know from these attacks that we’ve really hit home. It is personally abusive, but I know where these people are coming from. It shows that if you attack their notion of the British empire as a charitable institution, then they foam at the mouth and bite the carpet.”

จุดประสงค์หลักๆของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการตอบโต้ Iraq War (2003 – 2011) ที่กำลังปะทุระเบิดกราดยิงกันอย่างมัวเมามัน หนึ่งในพันธมิตรสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ใครอื่น ประเทศอังกฤษ (ออสเตรเลีย, โปแลนด์, และ Peshmerga) ได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วม 45,000 นาย … มันใช่เรื่องไหมที่จะไปยึดครอบครองเป็นเจ้าของ ทำตัวเป็นจักรวรรดินิยมในโลกยุคสมัยนี้อยู่อีกหรือ?

ผู้กำกับ Loach คงคาดหวังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบดั่งสายลม ที่สามารถสั่นคลอนจิตใจผู้ชม ให้เกิดสำนึกต่อสงคราม/ความขัดแย้ง นั่นเป็นสิ่งไม่ควรถือกำเนิดขึ้นอีกแล้วในยุคสมัยนี้ เจ็บปวดรวดร้าวไหมเมื่อพบเห็นพี่น้องต้องเข่นฆ่าฟัน โศกนาฎกรรมเท่านั้นคือผลลัพท์สุดท้าย


เพราะใจความต่อต้าน anti-Brit ผู้จัดจำหน่ายเลยไม่คิดนำฉายวงกว้างในประเทศอังกฤษ แต่พอไปคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes จาก 30 ก็อปปี้เพิ่มขึ้นมาหลักร้อย ทำเงินไปไม่น้อยถึง $7.5 ล้านเหรียญ

ด้วยทุนสร้าง €6.5 ล้านปอนด์ (=$8.3 ล้านเหรียญ) รวมรายรับทั่วโลก $25.7 ล้านเหรียญ กลายเป็นผลงานประสบความสำเร็จสุดขณะนั้นของผู้กำกับ Ken Loach โดยปริยาย

ส่วนตัวไม่ชอบหนังสักเท่าไหร่ แม้เนื้อเรื่องราวสะท้อนนัยยะสองสงครามได้ลุ่มลึกตรึงใจ แต่ความดราม่าสุดโต่งหลายๆด้าน ขยี้บีบคั้นอารมณ์เกินไป หาความเหมาะสมเพียงพอดีไม่ได้สักเท่าไหร่

แนะนำคอหนัง Wars Drama ชื่นชอบเรื่องราวโศกนาฎกรรม เสียดบาดแทงหัวใจ, บุคคลกำลังศึกษาประวัติศาสตร์ ยุคสมัยล่าอาณานิคมของสหราชอาณาจักร สงครามอังกฤษ-ไอร์แลนด์, แฟนๆผู้กำกับ Ken Loach และนักแสดงนำ Cillian Murphy ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความสุดโต่ง สงคราม ขัดแย้งภายใน

คำโปรย | สายลมใน The Wind That Shakes the Barley พัดพาทุกสิ่งอย่างกระจุยกระจาย จนแทบไม่หลงเหลืออะไรทรงคุณค่าให้กล่าวถึง
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม-แต่สุดโต่งเกินไป
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

28 Days Later … (2002)


28 Days Later

28 Days Later … (2002) British : Danny Boyle ♥♥♥

ผมเข้าใจผิดมาตลอด คิดว่า ‘rage virus’ ของหนังเรื่องคือสัญลักษณ์แทนโรคเอดส์ (AIDS) เพราะฉากแรกของหนัง การเริ่มแพร่เชื้อมีต้นกำเนิดจากลิง แต่ผู้กำกับ Danny Boyle ให้สัมภาษณ์บอกว่า นำแรงบันดาลใจจากโรคไวรัสอีโบลา (Ebola) ที่มีพื้นหลังจุดเริ่มต้นถิ่นกำเนิดเดียวกัน แต่ความรุนแรงอันตรายกว่ามาก โชคดีที่เมืองไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้

“You can’t help thinking of that. Obviously, it’s not based on AIDS; it’s more like Ebola. And the manifestation of the disease in the film, the sickness, is all based on Ebola with a bit of rabies, so there is a bit of medical background there. But you can’t help thinking about it—ever since AIDS appeared, people have had this sensitivity about the smallest drop of blood.”

– Danny Boyle ให้สัมภาษณ์ที่ Sundance Film Festival ปี 2003

โรคระบาดทั่ว (Pandemic) หมายถึง การระบาดของโรคติดเชื้อที่แพร่กระจายในประชากรมนุษย์ในบริเวณกว้าง หลายประเทศ ทวีปหรือทั่วโลก ในประวัติศาสตร์มีการเกิดขึ้นของโรคระบาดทั่วนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ โรคห่า/อหิวาตกโรค (Cholera), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), ไข้รากสาด (Typhus), ฝีดาษ/ไข้ทรพิษ (Smallpox), โรคหัด (Measles), วัณโรค (Tuberculosis), โรคเรื้อน (Leprosy), มาลาเรีย (Malaria), อีโบลา (Ebola), ไข้เหลือง (Yellow fever), ไวรัสซิกา (Zika), ไข้หวัดนก (Avian influenza) ฯ ถือเป็นภัยพิบัติประเภทหนึ่งของมวลมนุษย์ชาติ เฉกเช่นเดียวกับน้ำท่วม สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯ แต่โรคระบาดเป็นภัยที่คร่าชีวิตผู้คนจากภายในร่างกายของเราเอง

โรคไวรัสอีโบลา (Ebola Virus Disease) หรือไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola Hemorrhagic Fever) เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา แพร่ระบาดมาจากสัตว์ที่ติดเชื้อ อาทิ ลิงชิมแปนซี, ค้างคาวผลไม้ ฯ จากการกินดิบ สัมผัสเลือด/อุจจาระ ฯ ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1976 (พ.ศ. ๒๕๑๙) ที่บริเวณแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ทางเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศซูดาน, หลังติดเชื้อประมาณ 2-3 วันจะเริ่มแสดงอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะกล้ามเนื้อ ข้อกระดูก เจ็บคอ อ่อนเพลีย ท้องร่วง เมื่ออาการหนักจะตาแดงกล่ำ ถ่ายเป็นเลือด เจ็บแน่นหน้าอก เลือดออกในกระเพาะอาหาร จมูก ปาก ทวาร หู ตา บวมอวัยวะเพศ ฯ ไม่มีการรักษาไวรัสอย่างจำเพาะ ความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยมีการบำบัดคืนน้ำ (Rehydration Therapy) ทางปากหรือหลอดเลือดดำ อัตราตายสูงระหว่าง 50% ถึง 90%

การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 (พ.ศ. ๒๕๕๗) ไม่นานมานี้เองแถบแอฟริกาตะวันตก ประเทศกินี เซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย ใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ มีรายงานผู้ป่วย 28,638 คน เสียชีวิต 11,315 คน,

มีนักวิทยาศาสตร์ความพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สำเร็จลุล่วงไปได้

Danny Boyle (เกิดปี 1956) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Oscar จาก Slumdog Millionaire (2008) เกิดที่ Radcliffe, Lancashire ในครอบครัว Irish Catholic ที่เคร่งครัด เคยเป็นเด็ก altar boy ครอบครัวคาดหวังให้โตขึ้นกลายเป็นบาทหลวง แต่พออายุ 14 หลวงพ่อแนะนำว่าอย่างเป็นพระเลย

“Whether he was saving me from the priesthood or the priesthood from me, I don’t know. But quite soon after, I started doing drama. And there’s a real connection, I think. All these directors – Martin Scorsese, John Woo, M. Night Shyamalan – they were all meant to be priests. There’s something very theatrical about it. It’s basically the same job – poncing around, telling people what to think.”

เข้าเรียน Thornleigh Salesian College ที่ Bolton ตามด้วย Bangor University สาขาภาษาอังกฤษและการแสดง จบมาเริ่มต้นจากทำงานละครเวที Joint Stock Theatre Company ก่อนย้ายไป Royal Court Theatre จากนั้นเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ เริ่มมีความสนใจภาพยนตร์จากการรับชม Apocalypse Now (1979) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Shallow Grave (1955) ประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดแห่งปีในเกาะอังกฤษ ตามด้วย Trainspotting (1996) และ The Beach (2000) นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio

จากการดัดแปลงนิยาย The Beach ทำให้ได้รู้จักกับ Alexander ‘Alex’ Medawar Garland (เกิดปี 1970) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีความสนใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ นำแนวคิดเกี่ยวกับ Horror/Zombie Project มาเสนอกับ Boyle ได้อย่างน่าสนใจ จึงได้ร่วมกันพัฒนา 28 Days Later ขึ้นมา

เกร็ด: Alex Garland จากนักเขียนบท ต่อมาได้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Ex Machina (2015)

สี่สัปดาห์หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลึกลับทั่วเกาะอังกฤษ ชายหนุ่มคนหนึ่ง Jim (รับบทโดย Cillian Murphy) ตื่นขึ้นในโรงพยาบาล St Thomas’ Hospital หลังจากอาการโคม่า ราวกับความฝัน พบว่าทุกสิ่งอย่างรอบตัวไร้ซึ่งผู้คน กลายเป็นเมืองร้าง เดินไปเรื่อยๆจนได้พบกับซอมบี้กลุ่มหนึ่ง อยู่ดีๆวิ่งจู่โจมเข้าหาอย่างบ้าคลั่ง ได้รับการช่วยเหลือจาก Selena (รับบทโดย Naomie Harris) และ Mark (Noah Huntley) ถึงได้รู้ว่ามีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นในระหว่างที่เขาหลับอยู่

Cillian Murphy (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Douglas, County Cork ทั้งพ่อแม่เป็นครูสอนหนังสือ แต่ตัวเขากลับเรียนไม่เก่งเท่าไหร่ ชื่นชอบการแสดงและเล่นดนตรี เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที แสดงในภาพยนตร์อินดี้หลายเรื่อง อาทิ Sunburn (1999), The Trench (1999), On the Edge (2001), หลังจากได้รับชม Disco Pigs (2001) ผู้กำกับ Danny Boyle จึงเลือกให้มารับบทนำในหนังเรื่องนี้

รับบท Jim ชายหนุ่มผู้ฟื้นคืนชีพ ตื่นขึ้นจากการหลับใหล ตื่นตะหนกกับโลกที่เปลี่ยนไป คิดไม่ออกบอกไม่ถูกจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร, ด้วยความที่มีจิตใจดีงามเป็นพื้นฐาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวสู่โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย แต่ก็ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัย คงเพราะได้เพื่อนร่วมทางที่แสนดี สามารถช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันได้

ฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่เหตุผลที่ Murphy ได้รับบทนี้ เพราะ Boyle ชื่นชอบในหุ่นเปลือยของเขา (Boyle นี่รสนิยมเกย์มากเลยนะ ตั้งแต่ Trainspotting แล้ว นักแสดงแต่ละคนขี้ก้างทั้งนั้น) ช่วงท้ายของหนังจะเห็นว่าตัวละครนี้ไม่ใส่เสื้อ และหนังมีฉากที่ต้องเปลือยทั้งตัวอยู่ด้วย *-*

การแสดงของ Murphy เรื่องนี้ ถือว่าได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวเลยละ โดยเฉพาะสายตาที่มีความใสซื่อบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็ราวกับถูกหลอนหลอนด้วยอดีตอะไรบางอย่าง ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่ชื่นชอบของ Christopher Nolan มักนำพาให้มาแสดงในหนังของตนร่ำไป

Naomie Melanie Harris (เกิดปี 1976) นักแสดงหญิงผิวสีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London พ่อเป็นชาว Trinidad ส่วนแม่สัญชาติ Jamaica ที่ทำงานเป็นนักเขียนบทละครที่ EastEnders ทำให้ Naomie ได้เป็นนักแสดงเด็กในละครซีรีย์เรื่อง Simon and the Witch (1987) หลังจบจาก Pembroke College, Cambridge สาขา Social and Political Sciences เรียนต่อการแสดงที่ Bristol Old Vic Theatre School ทำงานเป็นนักแสดงเวที รับบทนำในภาพยนตร์ครั้งแรกจาก 28 Days Later มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกับบทบาท Tia Dalma เรื่อง Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest (2006), Miami Vice (2006), Eve Moneypenny ใน Skyfall (2012), Spectre (2016) ล่าสุดเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง Moonlight (2016)

รับบท Selena หญิงแกร่งที่สามารถเอาตัวรอดผ่านวันสิ้นโลกมาได้ ด้วยความเห็นแก่ตัว สนแต่ตัวเอง ฆ่าพ่อแม่พี่น้องที่กลายเป็นซอมบี้เพื่อตัวเองยังชีวิตอยู่ได้, ก็ไม่รู้จักพบเจอกับ Mark ได้อย่างไร แต่พอเพื่อนคนนี้ถูกกัดติดเชื้อ ก็ไม่ลังเลที่จะฆ่าสังหาร แต่หลังจากได้พบกับ Jim จิตใจของเธอค่อยๆอ่อนนุ่มนวลลง ตกหลุมรักเพราะความสุภาพมองโลกในแง่ดี นี่เป็นสิ่งที่หญิงสาวไม่คาดคิดมาก่อนจะพบผู้ชายแบบนี้ในวันสิ้นโลก

นี่เป็นการแสดงแจ้งเกิดของ Harris เช่นกัน แม้ผมจะรู้สึกเคมีและบทโรแมนติกของเธอจะไม่ค่อนเข้ากับ Murphy เสียเท่าไหร่ แต่ความกร้าวกระด้าง หยาบคาย แข็งนอกอ่อนใน นี่ถือเป็นจุดเด่นของ Harris เลยละ

ถ่ายภาพโดย Anthony Dod Mantle ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ที่หลังจากหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นขาประจำของ Boyle และคว้า Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Slumdog Millionaire (2008)

นี่เป็นหนัง Mainstream เรื่องแรกที่ใช้กล้อง Digital Photography (DP) รุ่น Canon XL1 ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง คุณภาพไม่ถึงขั้นดีเลิศ แต่ให้สัมผัสดิบเถื่อน สมจริง เป็นธรรมชาติที่สับสนวุ่นวาย (อารมณ์ประมาณ Cloverfield) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการถ่ายทำฉากกรุง London ที่ว่างเปล่า มีความสะดวกรวดเร็ว เพราะต้องถ่ายทำอย่างเร่งรีบในช่วงเช้าตรู่ก่อนรถเริ่มติด

ความอิสระของกล้อง DP ทำให้หนังมีมุมกล้องแปลกๆ เขย่าสั่นๆ กวัดแกว่งไปมา (Whip) ได้รวดเร็วกว่าปกติ และความที่ภาพไม่ค่อยคมชัดมากนัก เมื่อใส่การกระพริบของแสงสี สายฝน มันจะยิ่งดูสับสนอลม่านบ้าคลั่ง และโทนสีของภาพให้สัมผัสราวกับโลกอีกใบ (เหมือนโลกในยุค Post-Apocalyptic)

แต่ข้อเสียที่ Boyle ค้นพบกับกล้อง DP คือการถ่ายวิวทิวทัศน์ระยะไกล (wide shots) มันจะความเบลอแตก ไม่คมชัด รายละเอียดไม่แนบเนียนเหมือนกับถ่ายด้วยฟีล์ม แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าเทคโนโลยีกล้องดิจิตอลสมัยนั้นอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ซึ่งกล้องดิจิตอลสมัยใหม่นี้ต้องบอกเลยว่าคมชัดละเอียดเกินไปด้วยซ้ำ!

จริงอยู่ที่ผลลัพท์ของหนังกับงานภาพลักษณะนี้ ให้สัมผัสที่สมจริงจับต้องได้ ราวกับโลก Post-Apocalyptic แต่ก็ทำให้คุณภาพโดยรวมของหนังลดลงมาก เทียบก็คล้ายหนังเกรด B ในยุคสมัยหนึ่ง ขาดความหรูรามีระดับ แบบนี้ยากนักจะคลาสสิกเหนือกาลเวลา คงได้เพียงกระแส Cult ตามมา

ตัดต่อโดย Chris Gill ขาประจำของ Boyle แต่กลับไม่ได้ร่วมงาน Slumdog Millionaire (2008) เสียอย่างนั้น, นอกจาก Prologue กับ Epilogue หนังใช้มุมมองของ Jim ตั้งแต่ฟื้นขึ้นจากโรงพยาบาล ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ มีครั้งหนึ่งที่เป็นภาพจากความฝัน และช่วงท้ายตัดสลับไปมากับสิ่งที่สองสาวได้พบเจอ

ถึงการดำเนินเรื่องจะเป็นไปอย่างเอื่อยๆไร้จุดหมาย แต่เมื่อใดที่พบเจอฝูงซอมบี้หรือผู้ติดเชื้อ ความสับสนวุ่นวายอลม่านจะเกิดขึ้นทันที นี่เป็นผลลัพท์จากงานภาพที่เขย่าๆไปมา และการตัดต่อเปลี่ยนมุมกล้องอย่างฉับไว ดูไปไม่ค่อยรู้เรื่องนี้แหละ สร้างความระทึก สะพรึง หวาดหวั่นใจ และเชื่อว่าหลายคนมักนับถอยหลัง 20 วินาทีไปด้วยในใจ

เพลงประกอบโดย John Murphy นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ได้รับการจดจำจากการร่วมงานกับ Guy Ritchie เรื่อง Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) กับ Snatch (2000) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Miami Vice (2006), Sunshine (2007), Kick-Ass (2010) ฯ

สำหรับ Soundtrack ของหนังมีหลากหลายทางอารมณ์เพลงมาก(เกินไปสักนิด) ตั้งแต่ Horror สยองขวัญสั่นประสาท, สนุกสนานผจญภัย (ใน Supermarket), แอ๊คชั่นตื่นเต้น, ช่วงท้าย Happy Ending เต็มไปด้วยความหวัง ฯ ซึ่งมีบทเพลงหนึ่งได้กลายเป็นไฮไลท์และตำนานไปแล้วคือ In The House – In A Heartbeat ในหนังจะได้ยินช่วงท้ายที่ Jim หวนกลับมาอาละวาด แก้แค้นเอาคืนกลุ่มทหารในบ้านหลังหนึ่ง เสียงหัวใจของเขามันค่อยๆทวีความรุนแรง บ้าคลั่ง พร้อมจะทำมันได้ทุกสิ่งอย่าง ไม่สนอีกแล้วความถูกผิด เพื่อทวงสิ่งที่เป็นของตนคืนมา

หลายครั้งจะมีการนำบทเพลงมีชื่อ ซิงเกิ้ลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงประกอบเข้าไป อาทิ East Hastings (1997) ของวงดนตรี Rock สัญชาติแคนาเดียน Godspeed You! Black Emperor ความยาวจริงๆของเพลงนี้เกือบ 18 นาที ซึ่ง Murphy ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เหลือเพียง 4 นาทีกว่าๆเท่านั้น ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ ผมชอบ Short Version นี้กว่ามาก

ในฉากที่ Jim ค้นพบว่าตัวเองตื่นขึ้นบนโลกที่ไม่มีใคร ไม่หลงเหลืออะไร เสียงดนตรีค่อยๆดังกระหึ่ม จังหวะเร่งรัดกระชับ เร้าอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความฉงนสงสัย ตื่นตระหนก หวาดสะพรึง ทวีความเร้าร้อนหวาดกลัว เสียงกรีดร้องที่อยู่ภายใน มันเกิดบ้าอะไรขึ้นเนี่ย! นี่ถ้าเขาไม่พบเจอกับใครสักคน อาจได้กลายเป็นบ้าเสียสติแน่

บทเพลง Ava Maria ขณะที่ Jim, Selena ออกเดินทางร่วมกับ Frank กับ Hannah สู่สถานที่แห่งความหวังที่เมือง Manchester, ขับร้องโดย Perri Alleyne น้ำเสียงของเธอช่างมีความทรงพลัง ให้สัมผัสที่หลอนๆ แต่สั่นสะท้าน เต็มเปี่ยมด้วยความหวังขับออกมาจากภายใน

บทเพลงช่วงท้าย/Ending Credit ชื่อว่า Season Song ของวงดนตรีสัญชาติอังกฤษ Blue States แต่งโดย Andy Dragazis กับ Tahita Bulmer เป็นเพลงที่เปลี่ยนอารมณ์หนังโดยสิ้นเชิง จากที่ค่อนข้างเครียดหดหู่ มาเป็นผ่อนคลาย ฟังสบาย ฤดูกาลเคลื่อนผ่าน

ซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คนตายฟื้นคืนชีพ แต่คือผู้ที่กลายสภาพจากการติดเชื้อในเวลา 20 วินาที ดวงตาแดงกล่ำ มีความกระหายเลือด เมื่อพบเห็นมนุษย์/สิ่งมีชีวิต ก็จะรีบวิ่งแจ้นตรงไปหา ถ้าเผลอสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำลาย ก็จะมีโอกาสติดเชื้อกลายร่างในทันที, กระนั้นซอมบี้ในหนังเรื่องนี้สามารถถูกยิง บาดเจ็บ เสียชีวิตได้ เพราะยังมีสถานะเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนมนุษย์อยู่ (มีโอกาสที่จะรักษาหายได้) ไม่ได้มีข้อแม้ว่าต้องยิงหัวแบบหนังของ George A. Romero เท่านั้น

เปรียบซอมบี้ได้กับโรคระบาด ที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น นัยยะแฝงถึงเชื้ออีโบล่า (ผสมโรคพิษสุนัขบ้า) นี่เป็นการสะท้อนความน่ากลัวของโรคระบาด ที่สามารถนำพามนุษยชาติไปสู่จุดจบวันโลกาวินาศ ถ้าไม่ได้รับการควบคุมรักษา แต่อย่างน้อยเชื้อโรคพวกนี้ มันก็ไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดขนาดสามารถว่ายน้ำหรือออกจากเกาะอังกฤษได้ นี่จึงเป็นสถานที่กักกันโรคชั้นดี แต่ความสูญเสียคงประเมินค่ามิได้

โรคระบาดทั่ว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กัดกร่อนกิน ทำลายล้างมนุษย์จากภายในร่างกาย แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของวิวัฒนาการ ก็มักมีนักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นพบวัคซีน ยารักษา แต่ก็เช่นกันกับเชื้อโรคที่พัฒนากลายพันธุ์ผ่าเหล่า เฉลียวฉลาดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น, กระนั้นยังมีสิ่งที่ร้ายแรงและน่ากลัวกว่าโรคระบาดทั่ว นั่นคือความเห็นแก่ตัวและความชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ด้วยกันเอง

ใจความของหนัง ได้ตั้งคำถามเชิงปรัชญาที่น่าสนใจ ‘โลกยุคหลังโลกาวินาศ Post-Apocalypse เมื่อทุกสิ่งอย่างแทบสิ้นสูญสลาย มนุษย์เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร?’ องก์ 3 ของหนังได้ให้คำตอบจากกลุ่มทหารชายล้วน ที่สะท้อนถึงสันดานดิบ สันชาติญาณ ความต้องการพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่ปัจจัย 4 แต่คือการธำรงรักษาเผ่าพันธุ์ให้สืบทอดคงอยู่,

Selena ผู้หญิงคนเดียวของหนัง (จริงๆควรจะทำให้เธอเป็นจุดศูนย์กลางเสียด้วยซ้ำ) ได้พบเจอกับผู้ชาย 3-4 รูปแบบ
– Mark เพื่อนคนแรกที่สนแต่เอาชีวิตรอด (ดูแล้วคงไม่มีอะไรเกินเลย)
– Jim ชายผู้เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม จิตใจดีงาม แม้จะไม่ได้เข้มแข็งแกร่ง แต่ก็สามารถแสดงความเป็นลูกผู้ชาย สุภาพบุรุษออกมาได้
– Frank ชายวัยกลางคนที่มีภาพลักษณ์ของพ่อ อบอุ่น เหมือนจะพึ่งพาได้
– Major Henry West และกลุ่มนายทหารช่วงท้าย คือสัตว์ที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ ดำรงชีพด้วยสันชาติญาณ ไร้ซึ่งพื้นฐานทางมโนธรรม

มันก็ชัดเจนนะครับว่า Selena จะเลือกใคร หนังไม่ได้มีตัวเลือกมากมาย ซึ่งคำตอบของเธอเป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ ต่อความเป็น’มนุษย์’ และเป้าหมายของชีวิต ที่ต่อให้ในยุคสมัยโลกาวินาศ ไม่มีอะไรหลงเหลือแล้วก็ตามเถอะ แต่ศีลธรรม มโนธรรม ยังคือสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ธำรงอยู่ได้ ไม่ใช่แค่การสืบสายเลือดเผ่าพันธุ์และ Sex

หนังมี Alternate Ending ใส่ไว้ในฉบับ DVD Extra ขึ้นข้อความว่า “What if…” หลังจากที่ Jim ถูกยิง Selena และ Hannah พาเขาไปถึงโรงพยาบาลร้างแห่งหนึ่ง พยายามช่วยเหลือแต่ก็ไม่เป็นช้าไปเสียแล้ว ด้วยความสิ้นหวังหมดอาลัย ทั้งสองตัดสินใจไปต่อ หยิบปืนแล้วเดินออกจากโรงพยาบาล, นี่เป็นฉากจบที่ถ่ายทำไว้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อนำไปฉายรอบ Preview ปรากฎว่าผู้ชมเหมือนจะสิ้นหวังตามไปด้วย เพราะเข้าใจว่าคือความสิ้นหวัง จุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ ผู้กำกับ Boyld จึงตัดสินใจเปลี่ยนใหม่ให้กลายเป็น อย่างน้อยที่สุดคือมีความหวัง แต่เขาก็เรียกตอนจบนี้ของหนังว่า ‘true ending’s, “what if…”

ยังมีตอนจบอื่นอีกที่ Boyle บอกว่ามีในต้นฉบับบทภาพยนตร์ ใช้ชื่อว่า Hospital Dream เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในความฝันของ Jim ที่ไม่เคยตื่นขึ้นมาหลังจากถูกรถชน และเขาเสียชีวิตในขณะรับการผ่าตัด (รู้สึกว่าจะเป็นตอนจบที่ไร้สาระไปเสียหน่อย)

ตอนจบอีกแบบหนึ่งชื่อว่า Radical Alternative Ending มีการคิดวาดภาพร่าง Storyboard เอาไว้คร่าวๆ ปรากฎอยู่ใน DVD Extra เช่นกัน, หลังจากที่ Frank กลายร่างเป็นซอมบี้ โชคดีที่สามารถหาอะไรบางอย่างจับมัดตัวไว้ได้ ไม่มีหน่วยทหารเxยๆปรากฎตัวออกมา แต่ Jim ได้เดินเข้าไปสำรวจต่อในเมือง Manchester พบเจอหลุมหลบภัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ยังเหลือชีวิตจากเหตุการณ์ต้นเรื่อง ในตอนแรกไม่ยินยอมให้เข้าภายใน แต่ก็โน้มน้าวจนสำเร็จ เพราะต้องการค้นหาวิธีการรักษา Frank ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่า มีวิธีการเดียวเท่านั้นคือเปลี่ยนถ่ายเลือดทั้งตัว ปรากฎว่าเพียง Jim เท่านั้นที่กรุ๊ปเลือดตรง เขาจึงตัดสินใจเสียสละชีวิตของตัวเอง, เหตุที่ Boyle ไม่เลือกเรื่องราวนี้ เพราะเขามองว่า ‘It didn’t make much sense.’

เพราะความที่อเมริกาเพิ่งเกิด 9/11 เมื่อปี 2001 ทำให้ Boyld ไม่รีบเร่งเข็นหนังออกมา ในอังกฤษออกฉายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2002 ส่วนอเมริกาต้องรอกว่าครึ่งปี วันที่ 27 มิถุนายน 2003

ด้วยทุนสร้าง £5 ล้านปอนด์ (ประมาณ $8 ล้านเหรียญ) ทำเงินในอังกฤษ £6.1 ล้านปอนด์ แต่กลับ ‘sleeper hit’ ในอเมริกา ทำเงินสูงถึง $45 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $84.7 ล้านเหรียญ กำไรหายห่วง นี่ส่งผลให้เกิดการต่อยอดตามมามากมาย อาทิ เกม, หนังสือการ์ตูน, นิยาย และภาคต่อ 28 Weeks Later (2007) กำกับโดย Juan Carlos Fresnadillo ดูแล้วอาจมีแนวโน้มภาค 3-4 (28 Months Later, 28 Years Later) ต่อไปได้แน่

เกร็ด: Stephen King เป็นแฟนตัวยงของหนังเรื่องนี้เลยละ

จำได้ว่าตอนรับชมในโรงภาพยนตร์ ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนะ จดจำเหตุผลไม่ได้ว่าทำไม แต่กลับมาดูครั้งนี้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นช่วงท้าย คือถ้าต้องการเล่นกับไฟ อนาคตของมวลมนุษยชาติ มันควรจะขยี้ความรู้สึกให้สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากไปเลย Ending แบบอื่นผมชอบหมดนะ ยกเว้นที่เลือกใส่มานี่แหละ ทั้งๆเป็นหนังจากประเทศอังกฤษแท้ๆ แต่ผู้กำกับ Boyle ดันเลือกสูตรสำเร็จ Happy Ending แบบ Hollywood ไปเสียอย่างนั้น

แนะนำกับคอหนัง Horror, Suspense, Zombie (ก็ไม่เชิงเป็นซอมบี้เท่าไหร่นะ เรียกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกัน), นักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดปริศนาปัญหาโลกแตก ในยุคหลังโลกาวินาศ Post-Apocalyptic, แฟนๆผู้กำกับ Danny Boyle นักแสดง Cillian Murphy และ Naomie Harris

จัดเรต 18+ เลือด ผู้ติดเชื้อ และความต้องการ Sex

TAGLINE | “28 Days Later หลังวันสิ้นโลก Danny Boyle ได้ทำให้ความรักเบ่งบานขึ้นอีกครั้งในสถานที่ไม่สมควรแม้แต่น้อย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Dunkirk (2017)


Dunkirk

Dunkirk (2017) hollywood : Christopher Nolan ♥♥♥♥

หนังสงครามที่ไม่ใช่หนังสงคราม เรื่องราวของกลุ่มคนที่ต้องการหนี(กลับบ้าน) และกลุ่มคนที่ต้องการช่วยเหลือ ความสำเร็จไม่ได้มาจากชัยชนะ แต่เป็นปริมาณของผู้รอดชีวิต และสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่, น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า Christopher Nolan มีความต้องการหนีจากอะไรหรือเปล่า?

ผมรับชมหนังมาปริมาณหนึ่งจนเริ่มมีความเข้าใจว่า Genre (แนวหนัง) เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์/ผู้ชม กำหนดขึ้นเพื่อจำกัดกรอบ ทัศนะ แนวคิด มุมมองของตนเอง กับเรื่องราวที่มีพื้นหลังเป็นสงคราม ก็มักจะเหมารวมเรียกว่า หนังแนวสงคราม, หนังที่มีการดำเนินเรื่องนอกโลก ส่วนมากก็จะเป็น ไซไฟ, แฟนตาซี ฯ แต่ในความตั้งใจของผู้กำกับ/ผู้สร้างภาพยนตร์ ระดับปรมาจารย์ พวกเขาไม่นำพาตัวเองเข้าสู่กรอบข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ใช้การค้นหาเรื่องราวที่สนใจ สามารถสะท้อนตัวตน ความต้องการภายในออกมา ซึ่งแค่มันบังเอิญสามารถจัดเข้ากลุ่มหนังแนวใดแนวหนึ่งได้ก็เท่านั้น

เมื่อช่วงประมาณปลายปี 2015 ที่ประกาศโปรเจคนี้ ผมเกาหัวหนักๆเกิดคำถาม ‘Nolan เนี่ยนะกำกับหนังสงคราม!’ มันไม่ใช่เรื่องของความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้กำกับความสามารถระดับนี้ ทำหนังแนวไหนย่อมไม่มีปัญหาทั้งนั้น มองเป็นความท้าทายได้ด้วยซ้ำ แต่ประเด็นข้อสงสัยคือ อยู่ดีๆทำไมถึงสนใจทำหนัง’แนว’นี้?

ก็อย่างที่บอกไปในย่อหน้าก่อน มันไม่ใช่’แนว’หนังที่ Nolan สนใจ แต่คือเรื่องราวที่เขาอยากเล่า แค่มันบังเอิญมีพื้นหลังดำเนินเรื่องในสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์ที่ทหารอังกฤษรวมพลที่เมือง Dunkirk, ประเทศฝรั่งเศส เตรียมขึ้นเรือกลับบ้าน แต่ด้วยประมาณมากถึง 338,000 คน มันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย จำต้องนำเรือท่องเที่ยวหาปลาของชาวประมงเข้าร่วมด้วยช่วยเหลือ, ทีแรกผมตั้งใจเขียนเนื้อหาประวัติศาสตร์พื้นหลังของเหตุการณ์นี้ด้วย แต่พอครุ่นคิดถึงสาระใจความชั่งหัวมันดีกว่า ไม่ได้มีความสำคัญอะไรต่อหนังเท่าไหร่

ย้อนไปเมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ตอนสมัย Nolan ยังหนุ่มๆ เข้าเรียนที่ University College London คงกำลังจีบอยู่กับ Emma Thomas ว่าที่ภรรยาและโปรดิวเซอร์คู่ใจ ร่วมเดินทางท่องเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนสมัยเรียน ล่องเรือ Yacht จากเกาะอังกฤษ ข้ามผ่านช่องแคบสู่เมือง Dunkirk ประเทศฝรั่งเศส

“It was around Easter, and they expected a day trip, but the seas were incredible rough, and the wind cruelly cold. It ended up taking a numbing 19 hours. It was a very intense experience, and no one was dropping bombs on us. I think that really planted the seeds for me.”

ประสบการณ์เลวร้ายจากสภาพอากาศที่ Nolan ได้พบกับตัวเอง มันคงลุ้นระทึกเสี่ยงตายไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกมากนัก จุดประสงค์เป้าหมายเดียวกันคือกลับสู่ประเทศชาติบ้านเกิด แต่ทุกวินาทีฉันจะยังสามารถมีชีวิตเอาตัวรอดอยู่ได้หรือเปล่า, เป้าหมายของ Nolan ต่อหนังเรื่องนี้ มองได้คือต้องการให้ผู้ชมเกิดสัมผัสทางอารมณ์ ความรู้สึก หรือที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์ร่วม’ ไปกับเรื่องราว (ไม่ใช่แค่กับตัวละครนะครับ) และความรู้สึกของผู้กำกับ Nolan ต่อเหตุการณ์นี้ที่เขาได้เคยพบเจอมากับตัวเอง

บทภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวเพียง 76 หน้ากระดาษ (น้อยกว่าบทหนังปกติของ Nolan ครึ่งต่อครึ่ง) นำเสนอเรื่องราวในลักษณะเล่าผ่านสามมุมมอง ของสามกลุ่มตัวละคร หนึ่งสถานที่หลัก (มีชื่อเรียกว่า Triptych) ประกอบด้วย
– The Mole (Mole ไม่ได้แปลว่าตัวตุ่นอย่างเดียวนะครับ ยังหมายถึง กำแพงหินกันคลื่นทะเล) กองทัพบกของอังกฤษได้รับคำสั่งให้อพยพพลทหารทั้งหลาย ออกจากชายหาดที่เมือง Dunkirk เล่าเรื่องผ่านพลทหาร Tommy พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้กลับบ้าน
– The Sea กองทัพเรือ (Royal Navy) ขอความช่วยเหลือจากชาวประมงและเรือท่องเที่ยว เพื่อเดินทางผ่านช่องแคบอังกฤษไปช่วยเหลือรับทหารจาก Dunkirk กลับสู่ผืนแผ่นดินบ้านเกิด
– The Air สามเครื่องบินของอังกฤษ Supermarine Spitfire (พ่นไฟ) เพื่อปกป้องช่วงเหลือให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องเผชิญหน้ากับทัพอากาศของเยอรมัน Luftwaffe (Luft แปลว่า อากาศ, Waffe แปลว่า อาวุธ รวมแล้วก็คือ ทัพอากาศ)

แต่ความตั้งใจที่จะสามารถสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย Nolan ตัดสินใจเก็บบทหนังขึ้นหิ้งไว้ก่อน วางแผนเก็บเกี่ยวประสบการณ์สร้างภาพยนตร์ขนาดใหญ่ให้มากพอ และจนกว่าได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากสตูดิโอของ Hollywood ให้ทุนสร้างแบบหลับหูหลับตา อยากเอาเงินไปผลาญเผาเล่นแบบ Joker ก็ตามสบาย, ก็ลองคิดดูนะครับว่า หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับประเทศอังกฤษ ถ่ายทำที่ยุโรป/เกาะอังกฤษ ผู้กำกับ/นักแสดง/ทีมงานล้วนเป็นชาวอังกฤษ คนอเมริกันทั่วไปที่ไหนจะมาสนใจ

“I didn’t want to try and take on this subject until I had enough trust from a studio that they would let me make it as a British film, but with an American budget. That’s the opportunity that I’ve earned and the one I’ve taken.”

ว่าไปในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีหนังจากประเทศอังกฤษน้อยมากที่จะมีสเกลงานสร้างขนาดใหญ่เท่านี้ และไม่ใช่หนังแฟนไชร์อย่าง James Bond, Harry Potter ฯ

สำหรับนักแสดงถือว่าเป็นกลุ่มรวมดารา Ensemble Cast ประกอบด้วยนักแสดงขาประจำของผู้กำกับ อาทิ Tom Hardy, Cillian Murphy ฯ นักแสดงมากประสบการณ์อย่าง Kenneth Branage, Mark Rylance และนักแสดงหนุ่มหน้าใหม่อย่าง Fionn Whitehead, Tom Glynn-Carney, Jack Lowden, Harry Styles

การเลือก Tom Hardy ที่ทั้งเรื่องเห็นแค่ดวงตา การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยใน Cockpit และบทพูดไม่กี่ประโยค เป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่าตัวเสียเลย กระนั้นการมีตัวตนของ Hardy ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกชื้นใจ ปลอดภัย พึ่งพาได้ ถือเป็นคนที่มี Charisma สูงมากๆ ราวกับนางฟ้า/เทวดาอารักษ์ที่โบยบิน สอดส่อง ดูแลปกป้อง มวลมนุษย์ทั้งหลายจากบนสรวงสวรรค์

Mark Rylance นักแสดงเจ้าของรางวัล Oscar จาก Bridge of Spies (2015) ผู้กำลังเป็นที่ต้องการตัวอย่างมากของ Hollywood ในขณะนี้ (เป็นนักแสดงที่ยิ่งแก่ยิ่งดัง), Rylance เป็นนักแสดงสไตล์ Method Acting ที่ทุกการสวมบทบาท ทำความเข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง เห็นว่าในกองถ่ายลุงแกหัดขับเรือจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ชอบออกล่องช่วงเวลาว่างเพื่อเรียนรู้เทคนิคสะสมประสบการณ์, ฟังรายงานข่าววิทยุในช่วงเวลาสงคราม (นำมาจาก Imperial War Museum) แถมระหว่างการถ่ายทำ ยังมีความต้องการปรับปรุงบทพูด การแสดงออกของตัวละครนี้ให้มีมิติลึกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ, Nolan พูดชื่นชม Rylance ว่าเป็นนักแสดงที่ ‘deepened the characterizations’ (มีความเข้าใจตัวละครอย่างลึกซึ้ง)

Fionn Whitehead นักแสดงหนุ่มสัญชาติอังกฤษหน้าใหม่ในวงการ ได้รับการคัดเลือกจาก Audition ถือเป็นคนที่น่าจับตามองจริงๆ โดดเด่นด้วยสายตาที่ทั้งใสบริสุทธิ์และทนทุกข์ทรมาน การแสดงออกเหมือนไม่สนใจอะไร แต่รับรู้ทุกสิ่งอย่าง พบเห็น เข้าใจทุกสิ่งอย่าง ตอนนี้ต้องการเพียงขอแค่ให้ได้กลับบ้านปลอดภัย จะได้หลับสบายหายห่วงสักที

Harry Styles ผมไม่รู้จักนะว่าชายหนุ่มหน้าใสผู้นี้คือใคร (เคยฟังเพลงของวง One Direction อยู่นะ แค่ไม่รู้จักนักร้อง) แต่สามารถผ่านด่านอรหันต์จากการ Audition จนได้เล่นหนังเรื่องนี้ ถือว่าธรรมดาที่ไหน, การแสดงถือว่าน่าประทับใจทีเดียว โดยเฉพาะช่วงวินาทีเป็นตายที่ต้องหาคนเสียสละ เป็นคนขายเพื่อนเอาหน้ารอด ทั้งๆที่หมอนั่นเป็นคนช่วยชีวิตตนไว้แท้ๆตอนเรือจมครั้งก่อน กับนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดการแสดงแบบนี้ได้สมจริง ตัวตนของเขาก็มักเคยเป็นคนลักษณะนิสัยแบบนี้ด้วยนะ

ความกลัวของมนุษย์มีมากมายหลายรูปแบบ เท่าที่ไล่ได้จากหนังเรื่องนี้ อาทิ กลัวความสูง, กลัวไฟไหม้, กลัวจมน้ำ, กลัวที่แคบ, กลัวความมืด, กลัวการถูกทอดทิ้ง ฯ สารพัดความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นกับตัวละคร แต่ทั้งหมดนี้ยังเทียบไม่ได้กับ ‘กลัวตาย’ ถือเป็นที่สุดของความกลัว ทำให้มนุษย์กล้าที่จะต่อสู้ ดิ้นรน ทำทุกสิ่งอย่าง แม้ในสิ่งอัปยศ ผิดหลักศีลธรรม มีความชั่วร้าย เหยียบย่ำผู้อื่น ฯ ไม่ใช่สงครามนะครับที่ทำให้คนแสดงความอัปลักษณ์ในจิตใจของตนเองออกมา แต่คือความ’กลัวตาย’นี่แหละ ที่ขี่เยี่ยวเร็ดราดที่สุดแล้ว

Cillian Murphy รับบทตัวพลอากาศไร้ชื่อ ที่มีอาการ Shell Shock หรือ Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) ถ้าคุณรับชมหนังสงครามมาหลายเรื่องน่าจะคุ้นเคยกับลักษณะอาการของคนประเภทนี้เป็นอย่างดี เป็นโรคทางจิตเวชของคนที่ได้ประสบพบกับเหตุการณ์เฉียดตายแล้วรอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด (โดยเฉพาะสงคราม) ทำให้เกิดภาพหลอนจดจำติดตา ตัวสั่นเทา จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว (ชื่อเล่นของตัวละครนี้คือ Shivering Soldier) เหมือนว่าในหนังของ Nolan พี่ Murphy มักได้รับบทตัวละครที่มีผลปัญหาทางจิตรุนแรงบ่อยครั้งเสียจริง (นึกถึง Scarecrow หน้าจิตๆของพี่แกโคตรหลอน)

โดยรวมแล้วนักแสดงในหนังเรื่องนี้มีลักษณะเป็นเพียง’วัตถุ’ ประกอบฉากของหนังเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องอะไรที่เราจะไปรู้สึกสงสาร เห็นใจ ทุกข์ทรมาน เจ็บปวดแทนตัวละคร นี่เป็นสิ่งที่ Nolan ก็ออกมาพูดเอง ว่าไม่ใช่สาระสำคัญในหนังของเขา, ความต้องการของผู้กำกับคือ ให้ความสนใจว่า พวกเขาจะหนีพ้น รอดกลับบ้านหรือเปล่า? จะถูกฆ่าเมื่อระเบิดระลอกถัดไปลงไหม? หรือเรือโดยสารถึงฝั่งสำเร็จหรือเปล่า?

“The empathy for the characters has nothing to do with their story. I did not want to go through the dialogue, tell the story of my characters… The problem is not who they are, who they pretend to be or where they come from. The only question I was interested in was: Will they get out of it? Will they be killed by the next bomb while trying to join the mole? Or will they be crushed by a boat while crossing?”

ถ่ายภาพด้วยกล้อง IMAX ฟีล์ม 65 mm ระบบ Panavision System 65 รุ่นเดียวกับที่ Nolan เคยใช้มาตั้งแต่หนังเรื่อง The Dark Knight โดยผู้กำกับภาพ Hoyte van Hoytema ชาว Dutch-Swedish ที่เคยร่วมงานกันตอน Interstellar (2014) ผลงานเด่นเรื่องอื่น อาทิ Let the Right One In (2008), Tinker Tailor Soldier Spy (2011), Spectre (2015) ฯ เห็นว่านี่เป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ที่มีการใช้กล้อง IMAX แบบ Hand Held ยกถือเดิน (ปกติกล้อง IMAX ขนาดมันใหญ่โตมากเลยนะครับ แค่ฟีล์มอย่างเดียวก็โคตรอลังการแล้ว นี่ยกเดินเลยนะ)

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฯ, หาดในเมือง Dunkirk ถ่ายจากสถานที่จริง สะพานหินเก่ายังคงหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่เพื่อหนังเรื่องนี้ (คงได้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวใหม่ของฝรั่งเศสไปโดยปริยาย) ส่วนฉากเรือจม ถ่ายทำในอ่าง Falls Lake Studio ของ Universal ที่ Los Angeles, อเมริกา

โดยปกติแล้วงานภาพทั่วไปของหนังมักเน้นแนวยาว (Widescreen) คือเห็นภาพมุมกว้างในระยะสุดขอบซ้าย-ขวา แต่ถ้าคุณได้รับชมหนังเรื่องนี้ในโรง IMAX จะสามารถรับสัมผัสแนวลึกดิ่ง บน-ล่าง ที่มีประมาณ 75% ของหนังได้เต็มอิ่ม ยิ่งในฉากล่องลอยบนท้องฟ้า มันช่างอภิมหาใหญ่อลังการ เต็มตาเต็มใจเสียจริง (ถึงขั้นอ้าปากหวอ) ราวกลับบินได้ ถือเป็นประสบการณ์การรับชมที่ต้อง IMAX เท่านั้น

เราจะเห็นอิทธิพลงานภาพจากหนังเรื่อง Ryan’s Daughter (1970) ของผู้กำกับ David Lean โดดเด่นชัดมากในหลายๆช็อต รวมถึงนัยยะสำคัญของการถ่ายแบบนี้ด้วย, หนังบอกกล่าวกับเราว่า ทหาร 338,000 นาย อพยพจาก Dunkirk แต่เหมือนว่าเราจะเห็นประชากรในหนังมีแค่ประมาณ 5-6 พันคนเท่านั้น แถมยืนเรียงต่อแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสับสนวุ่นวายอลม่านก็แทบไม่มี ทหารเยอรมันที่กดดันอยู่เบื้องหลังไม่เคยปรากฎตัวให้เห็น, นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่าได้อิทธิพลมาจาก Ryan’s Daughter นะครับ กล่าวคือ หนังไม่ได้จำเป็นต้องนำเสนอภาพ’คน’ทั้งหมด เพื่อบ่งบอกว่ามีปริมาณเยอะขนาดนั้น (สมัยนี้คงเป็นไปได้ยากด้วย ถ้าจะเกณฑ์นักแสดงเป็นหมื่นเป็นแสนคนมาเข้าฉาก, จริงๆจะใช้ CG ได้นะ แต่ Nolan คงไม่ยอม) จะเรียกว่านี่เป็นความอาร์ทของผู้กำกับก็ได้ แต่นัยยะความหมายของการถ่ายทำแค่นี้ คือการแทนธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล ด้วยหน่วยปริมาณมหาศาลของมนุษย์ (มนุษย์ที่มีปริมาณมากมายมหาศาล = ปริมาณเม็ดทราย/ธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล) ซึ่งกับฉากไกลๆ ก็มีการใช้ Cut-Out กระดาษตัดเป็นรูปคน มองไกลๆ ยังไงก็ไม่เห็นอีกแล้ว ลดปริมาณตัวประกอบได้อีกมาก

ฉากการต่อสู้กลางเวหา ดูแล้วมีความคลาสสิกสมจริงมากกว่าเน้นความเว่อ (ถ้าหนังสมัยนี้ที่ ยิงโดนศัตรูปุ๊ประเบิดตูมตาม) และพลทหารอากาศทั้งหลายต่างก็มี’มนุษยธรรม’กันอย่างยิ่ง คือถ้ายิงโดนแล้วเห็นไอพ่นควันสีขาวล่องลอย ก็จะปลดปล่อยพวกเขาให้ไปตามยถากรรม ไม่ค่อยติดตามไปซ้ำเติมกันเท่าไหร่, ให้ข้อสังเกตนิดนึง ตอนที่ไอพ่นควันสีขาวพุ่งโพยออกจากเครื่องบิน นี่มีลักษณะเหมือน reference จุดสังเกตให้กับผู้ชม กล่าวคือ ภาพผืนน้ำ ท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล มักทำให้เราเคว้งคว้าง เห็นแล้ววิวๆล่องลอย จับทิศทางไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อเห็นควันโพยพุ่งออกมานี้ ภาพถ่ายจากกล้องที่ติดหน้าเครื่องบิน จะตามติดควันนั้นไปอีกสักระยะ นี่เป็นภาพที่น่าจะยังไม่เคยมีหนังเรื่องไหนนำเสนอมาก่อน (ส่วนใหญ่พอศัตรูถูกยิงตกแล้ว ก็โบกมือบ้ายบาย เลิกสนใจโดยทันที) นี่ถ้าเป็น IMAX 3D ด้วยนะ จะยิ่งอลังการไปขนาดไหน

ด้วยความสวยงาม-อลังการ-ยิ่งใหญ่ ของงานภาพระดับนี้ ถ้าปลายปีไม่ได้อย่างน้อยเข้าชิง Oscar: Best Cinematography ละก็ ถือว่าสถาบันนี้ใจร้ายเกินไปมากๆเลย

ตัดต่อโดย Lee Smith นักตัดต่อสัญชาติ Australian ขาประจำของ Nolan ตั้งแต่ Batman Begins (2005), สามเรื่องราวใช้การตัดต่อสลับไปมาแบบไม่สนเรียงตามช่วงเวลา Timeline ซึ่งมีความน่าสนใจคือ
– The Mole ใช้เวลาดำเนินเรื่อง 1 สัปดาห์ (ที่หาด Dunkirk จะมีทั้งกลางวัน/กลางคืน)
– The Sea ใช้เวลาดำเนินเรื่อง 1 วัน
– The Air ใช้เวลาดำเนินเรื่อง 1 ชั่วโมง

ถือเป็นการท้าทายความเข้าใจของผู้ชมอย่างยิ่ง เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสับสนกับเส้นเวลาที่มิได้เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือพร้อมเพียงกันแม้แต่น้อย ซึ่งหนังก็ไม่ได้พยายามทำให้คุณเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นตอนไหนเมื่อไหร่ แค่เอาเรื่องราวที่มีความคล้ายๆกัน จัดหมวดหมู่รวบรวมไว้นำเสนอพร้อมกัน อาทิ ฉากกำลังจะจมน้ำ ก็จะมีทั้งขณะ The Air: เครื่องบินกำลังตก, The Sea: เข้าช่วยเหลือ, The Mole: เรือกำลังจะจม, ด้วยความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์ ย่อมสร้างความรู้สึกลุ้นระทึกได้แบบเดียวกัน ก็เลยจัดกลุ่มรวมไว้ขณะเดียวกันเสียเลย (จะได้ไม่ต้องให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำๆหลายรอบ)

แซว: สามเวลาที่ไม่เท่ากันนี้ ทำความเข้าใจทฤษฎีสัมพันธภาพยากยิ่งกว่า Interstellar (2014) [ที่มีแค่ 2 ช่วงเวลา] เสียอีกนะครับ

การตัดต่อแบบนี้ชวนให้หวนระลึกถึง Memento (2000) ผลงาน Masterpiece ชิ้นแรกของ Nolan ที่ใช้การตัดต่อย้อนกลับถอยหลัง ซึ่งกับ Dunkirk จะมีอยู่ 2-3 ฉากที่ลักษณะเหมือน Déjà Vu เหตุการณ์มุมมองหนึ่งได้เกิดขึ้นผ่านไปแล้ว แต่อีกมุมมองหนึ่งยังเดินทางมาไม่ถึงช่วงเวลานั้น ต้องรอให้ผ่านไปอีกสักระยะ เราถึงค่อยเห็นเหตุการณ์เดียวกันในอีกมุมมองหนึ่ง, กับฉากเครื่องบินตก มุมมองของ The Air ได้จบสิ้นผ่านไปก่อนใครเพื่อน (เพราะใช้เวลาดำเนินเรื่องน้อยสุด) หนังดำเนินเรื่องผ่านไปอีกสักพัก เรือจาก The Sea ค่อยมาถึงจุดนัดพบ เห็นเหตุการณ์การต่อสู้กลางเวลา แล้วล่องตามติดเครื่องบินลำที่ตกเพื่อให้การช่วยเหลือ

นี่ทำให้ผมได้ข้อสรุป การเล่าเรื่องของหนังไม่ได้ดำเนินไปตามเรื่องราวหรือเส้นของเวลา แต่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นี่มีความคล้ายกับหนังเรื่อง Pierrot le Fou (1965) ของ Jean-Luc Godard ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการทดลองดำเนินเรื่องด้วย ‘อารมณ์’ ของตัวละคร ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการดำเนินเรื่องด้วย ‘อารมณ์’ ของผู้กำกับ Nolan ก็แล้วกัน

ซึ่งลักษณะของอารมณ์ที่ว่านี้ มีนักวิจารณ์แสดงความเห็นว่า คล้ายกับหนังมีแต่’องก์ที่ 3’เท่านั้น (องก์ที่ 3 มักเป็นคำเรียกช่วงไคลน์แม็กซ์ ฉากตื่นเต้นสำคัญของเรื่องราว) ถือว่าเปรียบเทียบไม่ผิดเลย เพราะหนังไม่ทำการเสียเวลาแนะนำพื้นหลังเรื่องราวของตัวละคร ต้นสายปลายเหตุ ที่มาที่ไป (องก์ 1) หรือการดำเนินเรื่องราวมาสู่ (องก์ 2) เริ่มต้นก็จับให้ตัวละครต้องวิ่งหนีเอาตัวรอดมาถึง Dunkirk ซึ่งความตื่นเต้นลุ้นระทึกจะทวีขึ้นเรื่อยๆ แบบเทคนิคที่มีชื่อเรียกว่า Snowball Effect

เกร็ด: เทคนิคการเล่าเรื่อง Snowball Effect เปรียบความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจที่ค่อยๆทวีความใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลพลอยมาจากสิ่งเล็กๆรอบข้างที่สะสมทับถมพอกพูนจนกลายมามีขนาดใหญ่, เปรียบเทียบกับ ก้อนหิมะกลมๆเล็กๆขนาดเท่ากำปั้น ที่พอปล่อยกลิ้งลงจากยอดภูเขาสูง ไถลลงมาจะค่อยๆได้รับการทับถม หิมะเกาะติด จนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พอถึงพื้นคงมีขนาดใหญ่โตเท่าบ้านทั้งหลังเลยได้เลยกระมัง

เพลงประกอบโดย Hans Zimmer นักแต่งเพลงสัญชาติ German ที่ใครๆคงรู้จักดี แต่ว่าไปพี่แกเพิ่งคว้า Oscar: Best Original Score ได้เพียงครั้งเดียวจากเข้าชิง 10 ครั้ง กับ The Lion King (1995), ส่วน Golden Globe Award คว้าได้อีกเรื่องจาก Gladiator (2001)

เสียงนาฬิกา ติก-ติก (ไม่ใช่ ติก-ต๊อก) และจังหวะของเสียงเครื่องดนตรีที่คล้ายกับเสียงนาฬิกา สร้างความอึดอัดให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนทุกสิ่งอย่างกำลังรีบเร่งแข่งขันกับเวลา และทวีความตื่นเต้นลุ้นระทึกขึ้นทุกๆวินาทีที่ดำเนินผ่านไป (ราวกับระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกเมื่อ)

เกร็ด: เสียงนาฬิกาที่ได้ยิน เห็นเป็นนาฬิกาประจำตัวของ Nolan เอง บันทึกแล้วส่งให้ Zimmer เข้าเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizer)

เพื่อเพิ่มความเข้มข้นลุ้นระทึก Zimmer ได้ใส่เสียงสังเคราะห์ที่มีชื่อเรียกว่า Shepard Tone [ตั้งชื่อตามผู้คิดค้น Roger Shepard] เป็นเสียงที่ให้สัมผัสความหลอกหลอน มีชื่อเรียกว่า Auditory Illusion (คล้ายๆภาพหลอน-Illusion แต่เป็นเสียงหลอน-Sound Illusion) คุ้นๆว่าเคยใช้ครั้งแรกตอน The Prestige (2006)

สำหรับคนที่จินตนาการไม่ออกว่า Shepard Tone มีลักษณะอย่างไร ลองฟังคลิปนี้นะครับ มันเหมือนว่าเราจะได้ยินเสียงที่ทะยานขึ้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่จริงๆแล้วมันเป็นการหลอกหูเท่านั้น วนไปวนมาซ้ำๆ

ถึงบทเพลงประกอบของ Dunkirk จะไม่ติดหูเท่ากับหนังเรื่องอื่นๆของ Zimmer แต่ถือว่ามีความสมบูรณ์แบบเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการผสมผสานที่ลงตัวกับ Sound Effect คลุกเคล้าร่วมสร้างบรรยากาศความตึงเครียด ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกว่าที่ได้ยินอยู่คือบทเพลงหรือเสียงประกอบ นี่ถือเป็นความลงตัวที่เหนือชั้น ซึ่งก็ได้เคยมีทำการทดลองกับหนังของ Nolan มาแล้วหลายๆเรื่อง ตอน Interstellar ถือว่าเกือบสมบูรณ์แล้ว แต่นี่คือผลลัพท์ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบที่สุด

บทเพลงช่วงท้ายของหนังนำมาจาก Enigma Variations (1898 – 1899) Variation IX ‘Nimrod’ ประพันธ์โดย Edward Elgar (1857 – 1934) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ, นี่เป็นได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศอังกฤษ มักบรรเลงในงานศพของทหารหาญอังกฤษ พิธีรำลึกถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตสำคัญๆ และยังเป็นหนึ่งในเพลงพิธีเปิด London 2012 Olympic Games ฯ

การเลือกบทเพลงนี้ ถือเป็นความชาตินิยมแบบจงใจของ Nolan ดังขึ้นพร้อมเสียงอ่านข้อความข่าวจากหนังสือพิมพ์ ‘อันชัยชนะที่ Dunkirk แม้ไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ แต่ถือว่ามีความสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะทำให้บรรดาลูกหลานของพวกเราได้เดินทางปลอดภัยกลับสู่ดินแดนบ้านเกิด’

เกร็ด: Nimrod คือ นักล่าสัตว์ในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์

นำเอาฉบับที่วาทยากร Daniel Barenboim กำกับวง Chicago Symphony Orchestra เมื่อปี 1997 มาให้ฟังนะครับ รู้สึกว่าไพเราะกว่าบทเพลงที่ได้ยินในหนังเสียอีก

เริ่มต้นแบบไม่มีที่มาที่ไป เรื่องราวของกลุ่มคนที่ต้องการกลับบ้าน (The Mole) ทิ้งความเจ็บปวดรวดร้าว ความทรงจำ ภาพสงครามอันโหดร้ายไว้เบื้องหลัง ซึ่งการจะเดินทางนี้ จำเป็นต้องมีกลุ่มผู้ช่วยเหลือ (The Sea) และผู้ปกป้อง (The Air) ประสานความร่วมมือเพื่อให้การ ‘หนี’ ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ แต่เราก็จะไม่ได้เห็นขณะของการอพยพ ย้ายคนเรือนแสนขึ้นเรือเดินทาง แค่กลุ่มคนเล็กๆน่าจะกลุ่มแรกเท่านั้นที่เห็นไปจนถึงอีกฝั่ง และตัดไปอีกทีภารกิจสำเร็จลุล่วงเสร็จแล้ว

ผมจะขอพูดถึง’ความกลัว’ เหมารวมคืออารมณ์เดียวของหนัง, เมื่อมนุษย์เราได้พบเจอ เห็นภาพสงครามอันโหดร้าย หรือความชั่วร้ายมวลรวมของโลก ย่อมเกิดความหลอกหลอน หวาดกลัว ตัวสั่น ต้องการที่จะหนีจากออกไปให้ไกลแสนไกล แต่ความพยายามดิ้นรนด้วยตัวของตนเอง ไม่เพียงพอสามารถทำให้หลุดพ้นจากความรู้สึกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการช่วยเหลือปกป้อง ชี้ชักนำทางจากผู้อื่น นำพาสู่สถานที่ที่ทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกชื้นอกโล่งใจ ผ่อนคลายความกังวล และคิดว่าตนปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงแล้ว ก็จะกลับคืนสู่สันติ

มันคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ต่อมนุษย์ผู้สามารถหลบหนีหลุดพ้นจาก’ความกลัว’ เป็นอิสระต่อพันธนาการเหนี่ยวรั้งยึดติดความรู้สึกนึกคิดของตนเอง, การเอาชนะความกลัว ถือเป็นสิ่งลึกล้ำเลอค่าในทางปฏิบัติของแนวคิดปรัชญาตะวันตก เพราะเมื่อใดที่มนุษย์ไม่กลัวตาย จิตวิญญาณของพวกเขาจะเข้าใกล้พระเจ้า พอสิ้นลมย่อมได้ขึ้นไปอยู่บนสรวงสวรรค์(ร่วมกับพระผู้สร้าง) … ซึ่งสำหรับชาวพุทธ การเอาชนะความกลัว คือหนึ่งใน ‘มรณานุสติ’ ผู้ใดหวนระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก อาจถึงขั้นทำให้หลุดพ้นวัฏสังสารนี้ไปได้เลย แต่ไม่ใช่แค่ความคิดความรู้สึกบอกว่าเข้าใจเท่านั้นนะครับ มันอยู่ที่ดวงจิตของคุณจะเข้าถึงกระแสธรรมนี้ได้หรือเปล่าด้วย

สำหรับชาวโลกทั้งหลายที่ยังวนเวียนว่ายตายเกิด ‘ความกลัว’ ถือเป็นอารมณ์ปกติพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน วิธีการเอาชนะที่พูดง่ายแต่ทำยากเสียเหลือเกินคือ มี’สติ’อยู่กับตัว, กับวินาทีที่เกิดความกลัวขึ้น จิตของคุณจะวอกแวกไปมา หาได้อยู่กับเนื้อกับตัวสงบนิ่งไม่ เกิดการครุ่นคิด ฉันจะทำยังไงต่อไปดี, จะมีชีวิตเอาตัวรอดได้ไหม, ครอบครัวจะอยู่ยังไง ฯ การเรียกสติกลับคืนมาง่ายที่สุดคือการกำหนดลมหายใจ เข้าลึกๆออกแรงๆ จับสังเกตอยู่ที่ปลายจมูก, ลำคอ หรือท้องน้อย แล้วพยายามอย่าครุ่นคิดอะไรให้ฟุ้งซ่าน ไม่นานความหวาดกลัวจะค่อยๆบรรเทาลง แต่คงไม่หายไปในทันทีหรอกนะ แค่เพียงพอให้คุณสามารถกระทำอะไรบางอย่าง หลีกหนีจากความกลัว ณ ขณะนั้นได้

นี่เป็นวิธีที่ใช้ได้จริงนะครับ แต่อาจต้องฝึกปฏิบัติกันบ่อยๆ ด้วยการนั่งสมาธิจะเห็นผลชัดเจนที่สุด

ใน Interstellar กลุ่มของพระเอกเดินทางออกนอกระบบสุริยะ พบเจอกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิอาศัยอยู่มิติที่ 5 เราสามารถมองสิ่งที่ Nolan ต้องการค้นพบ คือการเอาชนะขีดจำกัดทางอารมณ์/ความคิด/ตัวตน ของมนุษย์, สำหรับ Dunkirk เป็นเรื่องราวของการหนีออกจากสงคราม/ความชั่วร้ายมวลรวมของโลก หรือจะมองว่าขีดจำกัดทางอารมณ์/ความคิด/ตัวตน ของมนุษย์ได้เช่นกัน

คิดแบบนั้นอาจยากเกินไปหน่อย Interstellar ยังมีอีกใจความหนึ่ง คือสัญญาระหว่างพ่อลูก และความพยายามหาทางกลับ’บ้าน’ของพระเอก เขาได้รับการช่วยเหลือจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิอาศัยอยู่มิติที่ 5 แม้สุดท้ายจะล้าช้าไปเกือบๆกว่าร้อยปี แต่สุดท้ายพ่อลูกก็ได้พบเจอกัน, Dunkirk ก็เป็นเรื่องราวของกลุ่มทหารที่ต้องการกลับ’บ้าน’ และจำเป็นต้องมีผู้ให้การช่วยเหลือ

หนังสองเรื่องนี้คนละแนวกันเลยนะครับ หนึ่งคือ Sci-Fi อีกหนึ่งคือสงคราม ไม่น่าเชื่อสามารถมองได้ตีความในลักษณะคล้ายๆกัน

น่าลุ้นทีเดียวกับช่วงปลายปี Dunkirk จะมีโอกาสแค่ไหนในงานประกาศรางวัล Oscar เพราะเท่าที่ผมรู้สึก มีอย่างน้อย 4-5 สาขาสมควรต้องได้เข้าชิงแน่ๆ คือ ถ่ายภาพ, ตัดต่อ, เพลงประกอบ, บันทึกเสียง, ตัดต่อเสียง ฯ สาขาการแสดงคงไม่มีลุ้น แต่ไฮไลท์อยู่ที่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับ จะเป็นครั้งแรกได้หรือไม่ที่ Nolan ได้เข้าชิง Oscar คงต้องลุ้นกันยาวๆ (แต่ถึงได้เข้าชิง โอกาสคว้ารางวัลน่าจะยากพอสมควร)

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้ เป็นไปได้ยากที่จะตกหลุมรัก เพราะความตึงเครียดกดดัน เหมือนกำลังถูกกดหัวให้อยู่ใต้น้ำ หายใจไม่ออก ดิ้นรนทุกข์ทรมาน นี่ไม่สิ่งที่ผมมองว่าคือความอภิรมย์ในการรับชมแม้แต่น้อย

ในบรรดาหนังของ Nolan ความชอบส่วนตัวกับหนังเรื่องนี้ ไม่ติด Top 5 ด้วยซ้ำนะครับ The Dark Knight > Inception > Interstellar > Batman Begin > The Prestige > The Dark Knight Rises > Dunkirk > Following > Insomnia

แนะนำกับคอหนังสงคราม โปรดักชั่นอลังการ ชื่นชอบงานภาพสวยๆ ตัดต่อลึกล้ำ เพลงประกอบลุ้นระทึก, แฟนๆผู้กำกับ Christopher Nolan และนักแสดงนำอย่าง Tom Hardy, Mark Rylance, Cillian Murphy ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความลุ้นระทึก ตึงเครียด กดดัน และความตาย

TAGLINE | “Dunkirk คือความกดดัน ลุ้นระทึก เหมือนได้พบประสบการณ์ชีวิตของ Christopher Nolan”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Girl with a Pearl Earring (2003)


girl with a pearl earring

Girl with a Pearl Earring (2003) British : Peter Webber ♥♥♥

(mini Review) หนึ่งในภาพวาดที่ได้รับการยกย่องเทียบเท่า Mona Lisa และมีความพิศวงไม่แพ้กัน ภาพนั้นคือ Girl with a Peral Earring ของ Johannes Vermeer จิตรกรชาว Dutch ที่สไตล์ของเขามักจะวาดภาพภายใน (Interior Scenes), หญิงสาวที่สวมตุ้มหูมุกคือ Scarlett Johansson ในวัย 18 และ Colin Firth รับบท Johannes Vermeer

ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ เพราะมันมีบรรยากาศของความพิศวงน่าค้นหา เหมือนกับภาพวาด Girl with a Pearl Earring, ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน เขียนโดย Tracy Chevalier โดย Peter Webber ผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่เพิ่งมีโอกาสกำกับหนังใหญ่เรื่องแรก (โด่งดังมาจาก TV-mini Series) บทภาพยนตร์โดย Olivia Hetreed, โทนของหนังเรื่องนี้จะออกอึมครึมโดยเฉพาะงานภาพของ Eduardo Serra (Blood Diamond, Harry Potter 7) ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนชั้นกลางใน Holland ช่วงทศวรรษที่ 17 ให้จับต้องได้, และเพลงประกอบของ Alexandre Desplat (The King’s Speech ,The Grand Budapest Hotel) แม้จะไม่มีกลิ่นอายของ dutch เท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าคล้องจอง เข้ากับภาพ ร่วมสร้างบรรยากาศที่มีความพิศวง น่าค้นหายิ่งขึ้นไปอีก

คงเพราะหญิงสาวที่เป็นแบบให้กับ Johannes Vermeer ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเธอเป็นใคร แม้มีข้อสันนิษฐานมากมายว่าอาจเป็นลูกสาวของ Vermeer แต่บ้างก็ว่าอาจเป็นคนใช้แบบในหนัง (Johansson รับบท Griet ที่เป็นคนใช้ของ Vermeer) นี่คือความพิศวงของภาพนี้ แบบเดียวกับ Mona Lisa ที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นแบบ และเมื่อมองลึกเข้าไปในภาพวาด จะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของเธอ, ผมคงไม่ขอวิเคราะห์ว่า ภาพนี้ให้ความรู้สึกยังไงนะครับ มันแล้วแต่คุณจะมองเลย บางคนจะรู้สึกเธอเป็นหญิงสาวที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา, ใคร่รู้ใครสงสัย, บางคนมองเห็น เธอกำลังอมทุกข์ เศร้าหมอง, บางคนเห็น ยิ้มกริ่มอย่างมีเลศนัย ฯ เพราะความที่รู้สึก สัมผัสได้หลายอย่างนี่แหละที่ทำให้ภาพนี้กลายเป็นตำนาน

ปัญหาที่รุนแรงมากๆของหนังที่ใครๆก็พูดกัน คือมันช้ามากและขาดพลังงานที่จะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความดึงดูดหรือสนใจ, กับคนที่ชอบหนังบรรยากาศ นี่เป็นหนังที่ใช่สำหรับคุณ แต่ถ้าไม่อย่าเสี่ยง เพราะคุณจะหลับสบายเลยละ นอกเสียจากคุณอยากรู้จักกับภาพวาดชื่อดังนี้ หนังจะทำให้คุณเข้าถึงเหตุผล เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังภาพวาดที่น่าสนใจไม่น้อย, การแสดง Johansson ถือว่าเลือกรับบทที่น่าสนใจมาก ขณะนั้นเธอกำลังจะกลายเป็นสาวสะพรั่ง (อายุ 18 ย่างเข้า 19) ความใคร่รู้ใครเห็นเป็นสิ่งที่ทำให้การแสดงโดดเด่น (ได้เข้าชิง Golden Globe สาขา Best Actress) แต่เคมีของเธอกับ Firth ผมรู้สึกจูนกันไม่ติดเลย มันเหมือนมีกำแพงบางๆระหว่างทั้งสองคนที่ไม่เข้ากัน ซึ่งการจะวาดภาพนี้ได้ กำแพงนี้จักต้องทลายลง เพราะภาพวาดมันส่องลึกเข้าไปในจิตใจของผู้เป็นแบบ หนังแทบไม่ให้เราเห็นช่วงเวลาขณะวาดเลย (เผยภาพให้ดูตอนวาดเสร็จแล้ว) นี่คือข้อเสียที่ทำให้หนังเสียคะแนนไปเยอะเลย

แนะนำหนังเรื่องนี้กับ คนชื่นชอบงานศิลปะ ศิลปิน นักเรียนสายศิลป์ที่อยากรู้จักหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในโลก, ไม่แนะนำกับคนใจร้อน หรืออยากดูหนังเพราะความ sexy ของ Johansson (ไม่ได้เห็นแน่นอน) จัดเรต PG มีฉากที่ดูรุนแรงทางคำพูด เกือบมีการข่มขืนครั้งหนึ่ง แต่ยังพอรับได้

TAGLINE | “Girl with a Pearl Earring เป็นหนังที่เหมาะกับคนอยากรู้จักหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในโลก …เท่านั้น”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE