Mata Hari (1931)


Mata Hari (1931) hollywood : George Fitzmaurice ♥♥

เพื่อโต้ตอบกับ Dishonored (1931) สตูดิโอ M-G-M จึงรีบเร่งสรรค์สร้าง Mata Hari (1931) นำแสดงโดย Greta Garbo ในบทสายลับนักเต้น โดดเด่นในการใช้มารยาหญิง เย้ายวน ยั่วราคะ ล้วงความลับจากบรรดาบุรุษทั้งหลาย แม้หนังจะประสบความสำเร็จทำเงินถล่มทลาย แต่ก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าจดจำสักเท่าไหร่

Dishonored (1931) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความกลมกล่อมนักของผู้กำกับ Josef von Sternberg แต่เมื่อเทียบกับ Mata Hari (1931) ที่สร้างโดยผู้กำกับทั่วๆไป ไม่ได้มีเอกลักษณ์โดดเด่น สไตล์ลายเซ็นต์ของตนเอง ผลลัพท์เลยแตกต่างราวฟ้า-เหว ก็แค่หนังคลาสสิกทั่วๆไป แทบไม่มีอะไรให้น่าจดจำ

ความสำเร็จล้นหลามของหนังเรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้ Greta Garbo และเสี้ยวส่วนหนึ่งในความหล่อเหลาของ Ramon Novarro แม้เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่ร่วมงานกัน แต่ก็มีข่าวลือความสัมพันธ์ … แม้มันมีแนวโน้มไม่เป็นความจริง พวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนสนิทสนมตราบจนวันตาย

ไฮไลท์ของหนังมีอยู่แค่ประมาณสิบกว่านาทีแรก การเริงระบำ ‘exotic dance’ ของ Mata Hari มีความยั่วเย้า เร้าอารมณ์ ราวกับกำลังร่วมรักรูปปั้นพระศิวะ (หนึ่งในตรีมูรติ เทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อศาสนาฮินดู หรือคือเทพแห่งการให้กำเนิด/ศิวลึงค์) มันอาจดูไม่เหมาะสมในมุมชาวตะวันออก แต่ก็แฝงนัยยะที่ตรงไปตรงมา (ถึงการครอบครองบุรุษใต้หล้า)


Mata Hari ชื่อจริง Margaretha Geertruida Zelle (1876-1917) นักเต้นสัญชาติ Dutch เกิดที่ Leeuwarden, Netherlands โตขึ้นใฝ่ฝันเป็นครูสอนโรงเรียนอนุบาล แต่กลับครูใหญ่(ของโรงเรียน)พยายามเกี้ยวพาราสี, เมื่ออายุ 18 ตอบตกลงแต่งงาน Captain Rudolf MacLeod ที่ประกาศรับสมัครภรรยาผ่านโฆษณาหนังสือพิมพ์ ติดตามสามีออกเดินทางไปยัง Malang, Java ศึกษาวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ร่ำเรียนภาษามาเลย์ แม้มีบุตรร่วมกันสองคน ความสัมพันธ์กลับค่อนข้างย่ำแย่ เมื่อเขาประกาศว่าจะมีภรรยาน้อย เธอจึงละทอดทิ้งครอบครัว แล้วเดินทางกลับ Netherlands เมื่อปี 1897

เกร็ด: Mata Hari ภาษามาเลย์แปลว่า eye of the day หรือก็คือพระอาทิตย์

เมื่อปี 1903, ออกเดินทางสู่ Paris เริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็น ‘exotic dancer’ ด้วยการผสมผสานท่าเต้นที่เคยพบเห็นจากอินโดนีเซีย เข้ากับลีลาอันยั่วเย้ายวนของอิยิปต์ ออกแบบชุดมีความโป๊เปลือย สวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ใช้เครื่องประดับปกปิดส่วนล่อแหลม สร้างความลุ่มหลงใหล ใคร่สนใจให้ผู้พบเห็นมากมาย นั่นทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ จนกระแสความนิยมค่อยๆเสื่อมถดถอย การแสดงชุดสุดท้ายของเธอวันที่ 13 มีนาคม 1915 แล้วผันตัวมาเป็นโสเภณี มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้บัญชาการทหารยศสูง ทำให้การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-18) เธอสามารถข้ามพรมแดนไปมาระหว่างฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ฯ สานความสัมพันธ์กับนักบินชาวรัสเซีย Captain Vadim Maslov ถึงขนาดเรียกว่า ‘love of my life’

มีข้อถกเถียงมากมายว่า Mata Hari เป็นสายลับจริงๆหรือแค่แพะรับบาป (Scapegoat) ที่ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างสำหรับความพ่ายแพ้การสงคราม แต่เมื่อตอนเธอถูกไต่สวนพิจารณาคดี ก็ไม่ได้บอกปัดปฏิเสธ ยินยอมรับการตัดสินโทษประหารชีวิต โดยไม่หวาดกลัวเกรงความตายแม้แต่น้อย

My international connections are due of my work as a dancer, nothing else …. Because I really did not spy, it is terrible that I cannot defend myself.

จดหมายของ Mata Hari ส่งให้ทูต Dutch Ambassador ประจำอยู่กรุง Paris เพราะต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

เรื่องราวของ Mata Hari ก่อนหน้านี้เคยได้รับการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์มาแล้วสองครั้ง ฉบับปี 1920 และ 1927 (และอีกนับครั้งไม่ถ้วนหลังจากฉบับปี 1931) แต่ก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของ Hollywood จนกระทั่งผู้กำกับ Josef von Sternberg สรรค์สร้าง Dishonored (1931) ทำให้สตูดิโอ M-G-M ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นวนิยาย Mata Hari: Courtesan and Spy (1930) แต่งโดย Thomas Coulson

เกร็ด: ก่อนหน้านี้ Paramount Pictures ก็เคยครุ่นคิดจะสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ Mata Hari โดยมีนักแสดงนำ Pola Negri ตั้งใจให้หนังพูดเรื่องแรกของตนเอง แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นถึงล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าว

ความสำเร็จล้นหลามของ Anna Christie (1930) ทำให้สตูดิโอ M-G-M บังเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของ Greta Garbo เลยมอบบทบาท Mata Hari ตั้งใจให้เป็น ‘Star vehicle’ ขายความสามารถด้านการแสดงโดยเฉพาะ

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Benjamin Glazer, Leo Birinsky และบทพูดเพิ่มเติม (Additional Dialogue) โดย Doris Anderson, Gilbert Emerysky Doris Anderson Gilbert Emery

และกำกับโดย George Fitzmaurice (1885-1940) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, หลังเรียนจบออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เริ่มจากเป็นนักออกแบบสร้างฉาก ตามด้วยเขียนบท กำกับละครเวที กระทั่งการมาถึงของภาพยนตร์ (Motion Picture) เดินทางสู่ Hollywood ร่วมก่อตั้ง Astra Film Corp.(1916-20) ผลงานเด่นๆดังๆ อาทิ The Son of the Sheik (1926), Raffles (1930), Mata Hari (1931), Suzy (1936) ฯ


เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1917 ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, Lieutenant Alexis Rosanoff (รับบทโดย Ramon Novarro) นักบินในสังกัด Imperial Russian Air Force นำเอาเอกสารลับมาส่งให้กับ General Serge Shubin (รับบทโดย Lionel Barrymore) ขณะกำลังรอคำสั่งส่งกลับ มีโอกาสรับชมการแสดงของ Mata Hari (รับบทโดย Greta Garbo) บังเกิดความลุ่มหลงใหล พยายามเข้าไปตีสนิทสานความสัมพันธ์ แรกเริ่มถูกเธอพยายามผลักไสออกห่าง แต่เมื่อรับรู้ว่าเขาคือผู้ถือครองข้อมูลสำคัญ เลยจำต้องใช้มารยาหญิงลวงล่อหลอกให้ติดกับ เพื่อให้สายลับลักขโมยเอกสารลับนั้น

ระหว่างการบินกลับรัสเซีย Lieutenant Rosanoff ถูกยิงตกได้รับบาดเจ็บสาหัสจนสูญเสียการมองเห็น Mata Hari ตัดสินใจรีบออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนและถูกจับกุมโดยหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง Dubois (รับบทโดย C. Henry Gordon) นำตัวขึ้นศาลไต่สวน แม้หลักฐานจะไม่สามารถชี้นำความผิด แต่เธอกลับยินยอมรับเพราะไม่ต้องการให้ Rosanoff กลายเป็นแพะรับบาป ตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า


Greta Garbo ชื่อจริง Greta Lovisa Gustafsson (1905 – 1990) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Södermalm, Stockholm วัยเด็กเป็นคนเพ้อฝัน ไม่ชอบโรงเรียน แต่มีศักยภาพผู้นำ ตอนอายุ 15 ระหว่างทำงานในห้างสรรพสินค้าชื่อ PUB ได้เป็นนางแบบขายหมวก ถูกแมวมองชักชวนมาถ่ายทำโฆษณาเสื้อผ้าหญิง แล้วเข้าตาผู้กำกับ Erik Arthur Petschler แสดงหนังสั้นเรื่องแรก Peter the Tramp (1922), นั่นเองทำให้เธอตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Royal Dramatic Theatre’s Acting School, Stockholm เริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานของ G. W. Pabst เรื่อง Die freudlose Gasse (1925), เซ็นสัญญากับ Louis B. Mayer มุ่งหน้าสู่ Hollywood ผลงานเด่นๆช่วงหนังเงียบคือ Torrent (1926), The Temptress (1926), Flesh and the Devil (1926), A Woman of Affairs (1928), ก้าวข้ามผ่านยุคหนังพูด Mata Hari (1931), Grand Hotel (1932), Queen Christina (1933), เข้าชิง Oscar: Best Actress ทั้งหมด 3 ครั้ง Anna Christie (1930) กับ Romance (1930)**เข้าชิงปีเดียวกัน, Camille (1936) และ Ninotchka (1939)

เกร็ด: Greta Garbo ติดอันดับ 5 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends

รับบท Mata Hari นักเต้น ‘exotic dance’ ที่มีลีลาเย้ายวน ยั่วราคะ ทำให้บุรุษพบเห็นต่างตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล แต่เธอให้ความสนใจเพียงบุคคลระดับสูง หนึ่งในนั้นคือนายพล General Serge Shubin แท้จริงแล้วมีจุดประสงค์เพื่อล้วงข้อมูลลับทางการทหาร จนกระทั่งการมาถึงของผู้หมวดหนุ่ม Lieutenant Alexis Rosanoff แม้ดูหมกมุ่น มากเกินไป โดยไม่รู้ตัวกลับสร้างความหลงใหล และตกหลุมรักขึ้นมาจริงๆ

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ไม่ใช่นักแสดงหนังเงียบทุกคนจะสามารถพูดออกมาได้ดี สำหรับ Greta Garbo ถือเป็นโชคชะตาที่เธอสามารถผ่านบทพิสูจน์ Anna Christie (1930) จนได้รับโอกาส/ความเชื่อมั่นจากสตูดิโอ M-G-M พร้อมผลักดัน ส่งเสริมสนับสนุน สรรหาบทบาทขายความสามารถ ‘Star vehicle’ ก่อนมาลงเอยที่ Mata Hari ได้ค่าตัวสัปดาห์ละ $7,000 เหรียญ สมัยนั้นถือว่าไม่น้อยเลยนะ!

ภาพจำของ Garbo ตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบก็คือ The Vamp (คำย่อของ Vampire) หรือ Femme Fatale สวยสังหาร! เต็มไปด้วยมารยาร้อยเล่มเกวียน หว่านโปรยเสน่ห์ให้หนุ่มๆลุ่มหลงใหล บทบาทนี้ก็ไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ เพิ่มเติมคือท่าเต้น ‘exotic dance’ อาจไม่ได้ดูลื่นไหล (เหมือนการเต้นปัจจุบัน) แต่เต็มไปด้วยลีลายั่วเย้า เร้าราคะ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการเต้นของ Mata Hari ตัวจริงๆ (รวมไปถึงเสื้อหน้าผม แฟชั่นตัวละครด้วยนะ) และได้นักเต้นจาก Broadway ชื่อ June Knight มาแสดงแทนเมื่อต้องถ่ายมุมกว้าง ระยะไกล (Long Shots)

ยุคสมัยนั้นถ้าพูดถึง Garbo ใครๆย่อมนึกถึง Mata Hari ถือเป็นภาพจำ ‘Iconic’ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จที่สุดในอาชีพการงาน! แต่ผมกลับรู้สึกว่านี่คือบทบาทด้อยค่าสุดๆของเธอ นอกจากลีลาท่าเต้น มารยาหญิง อะไรอื่นก็ธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่ Flesh and the Devil (1927) และ Camille (1936) ยังคือบทบาทที่โดยส่วนตัวครุ่นคิดว่ายอดเยี่ยมที่สุดของเธอ

Marlene Dietrich กับ Greta Garbo มักได้รับการเปรียบเทียบกันตลอดถึงความเป็นสวยสังหาร ‘femme fatale’ โดยเฉพาะบทสายลับ Agent X-27 vs. Mata Hari เอาจริงๆต่างคนก็ต่างสไตล์ Dietrich จะมีความยั่วเย้ายวน เซ็กซี่ สายตาจิกกัด เรียวขาน่าหลงใหล ขณะที่ Garbo จะระเริงรื่น ดูสนุกสนาน ปล่อยตัวกายใจ สายตาหวานแหวว ไม่ค่อยโชว์เนื้อหนังมังสาสักเท่าไหร่ … แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคนนะครับ ผมเองก็เลือกไม่ได้ว่าใครเจิดจรัสกว่า


Ramon Novarro ชื่อจริง José Ramón Gil Samaniego (1899-1968) นักแสดงสัญชาติ Mexican ได้รับการโปรโมท ‘Latin Lover’ กลายเป็น Sex Symbol คู่แข่งของ Rudolph Valentino (แต่ในความเป็นจริงพี่เป็น Homosexual) เกิดที่ Durango City, Durango ครอบครัวอพยพสู่ Los Angeles ช่วงระหว่าง Mexican Revolution (1913), เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1917 เริ่มจากบทสมทบ นักเต้น เริ่มมีชื่อเสียงจาก Scaramouche (1923), โด่งดังสุดๆเรื่อง Ben-Hur (1925), Across to Singapore (1928), เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหนังพูดก็ยังประสบความสำเร็จกับ Mata Hari (1931)

รับบท Lieutenant Alexis Rosanoff นักบินจาก Imperial Russian Air Force นำเอกสารลับมาส่งให้กับผู้บังคับบัญชาที่กรุง Paris แต่เมื่อมีโอกาสพบเห็นการแสดงของ Mata Hari บังเกิดความลุ่มหลงใหล พยายามเข้าไปตีสนิทชิดใกล้ ตกหลุมรักแบบโงหัวไม่ขึ้น แม้ถูกเธอหักอกซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้ แม้กระทั่งขณะขับเครื่องบินกลับรัสเซียถูกยิงตก ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียการมองเห็น แต่ยังคงเพ้อพร่ำว่าจะได้ครอบครองรักกับ Mata Hari ตราบจนวันตาย

แซว: Novarro ตัวเตี้ยกว่า Garbo เลยจำต้องสวมรองเท้าส้นสูง (ที่ทำขี้นมาพิเศษ) เพื่อดูเป็นบุรุษหนุ่มที่สามารถพี่งพักพิ่ง

ผมค่อนข้างรำคาญในความดื้อรั้น เอาแต่ใจ ทำตัวไร้เดียงสา แต่ก็ต้องยินยอมรับในความหล่อเหลา หน้าเด็ก (Baby Face) แม้อายุจะย่างเข้า 30+ ก็ยังทำให้สาวๆลุ่มหลงใหล อยากรับเลี้ยงไว้ในอ้อมอก ไม่ว่าจะทำอะไรผิดพลาดก็พร้อมยกโทษให้อภัย เคมีกับ Garbo ดูเหมือนจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ (แม้เธอจะซุกซ่อนเร้นจุดประสงค์แท้จริงไว้ภายในก็ตามเถอะ)

แต่ตัวละครลักษณะนี้ ผมรู้สึกว่าโคตรเสียของ! เมื่อเทียบกับ Ben-Hur (1925) ที่การแสดงของ Novarro น่าจดจำ ประทับใจสุดๆ มันเหมือนว่า M-G-M เตรียมวางแผนโละทิ้งนักแสดงอายุมาก เลยมอบบทบาทที่เป็น Stereotype รอคอยวันหมดสัญญาเมื่อไหร่ก็พร้อมเขี่ยทิ้งอย่างไร้เยื่อใย … ซึ่งมันก็เป็นเช่นนี้จริงๆหลังจาก Novarro หมดสัญญากับ M-G-M เมื่อปี 1935 ก็ทำให้โอกาสในอาชีพนักแสดงแทบจบสิ้นลง


Lionel Barrymore ชื่อเดิม Lionel Herbert Blythe (1878 – 1954) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน มีศักดิ์เป็นลุงทวดของ Drew Barrymore เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania พ่อ-แม่เป็นจิตรกร แต่ตัวเขาเติบโตขึ้นกับทวดที่เป็นนักแสดง เลยถูกบังคับให้เป็นเล่นละครเวทีตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ D. W. Griffith มีผลงานร่วมกันหลายเรื่อง (ส่วนใหญ่สูญหายไปแล้ว) ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดด้วยความเริ่มมีอายุสูงวัย เลยไม่ต้องดิ้นรนปรับตัวอะไรมาก คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง A Free Soul (1931), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Mysterious Island (1929), Grand Hotel (1932), Captains Courageous (1937), You Can’t Take It with You (1938), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ It’s a Wonderful Life (1946)

รับบท General Serge Shubin ภายนอกพยายามสร้างภาพให้ดูดี แต่แอบสานความสัมพันธ์ชู้สาวกับ Mata Hari ไม่ยินยอมเชื่อว่าเธอคือสายลับ โดยไม่รู้ตัวเวลามึนเมามักพูดบอกข้อมูลออกไปมากมาย กระทั่งเมื่อจับได้ว่าเธอค้างคืนกับผู้ใต้บังคับบัญชา Lieutenant Alexis Rosanoff เกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง เริ่มตระหนักถึงตัวตนแท้จริง อาจมีบางสิ่งอย่างเคลือบแอบแฝง ขณะที่กำลังจะติดต่อขอความช่วยเหลือ …

General Serge Shubin ถือเป็นตัวละครขั้วตรงข้ามกับ Lieutenant Alexis Rosanoff ทั้งอายุ ตำแหน่ง รูปร่างหน้าต่อ (หล่อเหลา-ดูโฉดชั่วร้าย) และความสัมพันธ์กับ Mata Hari ที่แม้ถูกมารยาเสน่ห์ให้หลงติดกับ แต่ได้รับการปฏิบัติ ผลลัพท์คืนสนองที่กลับตารปัตร (ระหว่างสานสัมพันธ์เพราะหน้าที่การงาน-บังเกิดความรักอันบริสุทธิ์แสนหวาน)

Barrymore เป็นอีกนักแสดงที่มีความสามารถโดดเด่น มักเล่นบทตัวร้ายที่มีความโฉดชั่วอันตราย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับค่อนข้างน่าผิดหวัง ดูลุกลี้ลุกรน เหมือนได้รับคำชี้นำจากผู้กำกับให้เล่นบท Comedy (ผิดจากภาพจำของ Barrymore พอสมควรเลยละ) ภายนอกพยายามสร้างภาพให้ดูดี แต่เมื่ออยู่สองต่อสองกับ Mata Hari กลับกลายเป็นลูกแมวน้อย ขี้อ้อน อ่อนไหว พยายามเรียกร้องความสนใจ อยากให้ได้เธอมาครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว


ถ่ายภาพโดย William H. Daniels ตากล้องส่วนตัวของ Greta Garbo และขาประจำผู้กำกับ Erich von Stroheim ผลงานเด่นๆ อาทิ Foolish Wives (1922), Greed (1924), Flesh and the Devil (1926), Queen Kelly (1928), Ninotchka (1939), เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 4 ครั้ง Anna Christie (1930), The Naked City (1949)**คว้ารางวัล, Cat on a Hot Tin Roof (1959), How the West Was Won (1962)

แม้ว่า Daniels จะเป็นตากล้องยอดฝีมือ เลื่องลือชาในการถ่ายใบหน้านักแสดงให้ออกมางดงาม ดูเจิดจรัส (เลยกลายเป็นขาประจำของ Garbo) แต่ภาพรวมของหนังขึ้นอยู่ศักยภาพของผู้กำกับด้วยว่า จะมีวิสัยทัศน์ในการนำเสนอมากน้อยเพียงใด, สำหรับ Mata Hari (1931) มีความโดดเด่นเพียงใบหน้าของ Garbo และบางช็อตที่ดูน่าสนใจ ส่วนใหญ่ก็สไตล์หนังคลาสสิกทั่วไป ไม่มีอะไรให้พูดกล่าวถึงสักเท่าไหร่

อย่างฉากการแสดงเริงระบำของ Mata Hari ถ้าได้ไดเรคชั่นดีๆมันคงมีความน่าสนใจมากๆ แต่หนังใช้การตั้งกล้องไว้เฉยๆ แล้วสลับสับเปลี่ยนมุมมอง เดี๋ยวถ่ายจากด้านหน้า ด้านข้าง ฝั่งผู้ชม โคลสอัพนักแสดง มันดูไร้ระเบียบแบบแผน นอกจากลีลาการเต้น ความยั่วเย้ายวนของ Garbo ก็ไม่มีอะไรอื่นน่าสนใจ

ทุกครั้งที่มีการ Close-Up ใบหน้าของ Greta Garbo มักมีการจัดแสงที่เต็มไปด้วยรายละเอียด จากทิศทางต่างๆ เพื่อขับเน้นความงดงาม ให้ผู้ชมบังเกิดความลุ่มหลงใหล ตราประทับจิตใจไม่รู้ลืมเลือน (แต่ไม่ได้มีความลึกล้ำ ใส่มิติทางอารมณ์ระดับเดียวกับหนังของ Josef von Sternberg)

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Adrian ชื่อจริง Adrian Adolph Greenburg (1903-59) แม้ไม่เคยเข้าชิง Oscar สักครั้งเดียว (เพราะสาขา Costume Design เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 1948 หลังจาก Adrian รีไทร์จากวงการภาพยนตร์เพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว) แต่ได้รับยกย่องว่า ‘greatest Hollywood costume designer’ ชุดของ Mata Hari มีความระยิบระยับราวกับดวงดาวประดับฟากฟ้า เรียกว่าใช้ประโยชน์จากการจัดแสง ช่วยเพิ่มความเจิดจรัสให้นักแสดงที่สวมใส่

When the glamour goes for Garbo, it goes for me as well.

Adrian

นี่เป็นซีนเล็กๆที่เหมือนไม่มีอะไร แต่การสนทนาระหว่าง Mata Hari กับแฟนคลับที่เป็นผู้หญิง แฝงนัยยะถีงความ Queer ของตัวละคร ยุคสมัยนั้นนำเสนอออกมาได้แค่นี้ ขณะที่ปัจจุบันสามารถตีความถีงอิสรภาพทางเพศ ชายก็ได้ หญิงก็ดี #ได้หมดถ้าสดชื่น

เมื่อต้องเลือกระหว่างความเชื่อศรัทธา และข้อเรียกร้องของหญิงคนรัก (แสงสว่างด้านบน vs. ความมิดมิด/สิ่งชั่วร้ายด้านล่าง) นั่นคือสถานการณ์ที่หนังพยายามบีบเค้นคั้นตัวละคร เลือกคำตอบที่ผู้ชมเห็นแล้วรู้สึกโง่เขลา อันนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายๆ ภัยอันตราย สูญเสียบางสิ่งอย่าง (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) คาดหวังให้เป็นบทเรียนสอนใจ (ว่าให้เลือกในสิ่งที่ถูก ไม่ใช่ตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ) แต่มันก็ไม่ได้มีสาระข้อคิดใดๆ

ถ้าไม่นับบรรดาภาพโคลสอัพใบหน้าของ Garbo ช็อตน่าประทับใจสุดของหนังก็คือขณะ Mata Hari ออกจากห้องคุมขัง กำลังเดินลงบันไดเพื่อไปยังลานประหาร นั่นเพราะการใช้แสงสป็อตไลท์สาดส่องจนมองเห็นเงาของบันไดและตัวละคร ทอดยาวบนพื้นฝาผนัง มอบสัมผัสแห่งความตาย (เงาแทนด้วยจิตวิญญาณ เหมือนถูกแยกออกจากร่าง) ก้าวย่าง(จากสรวงสวรรค์)ลงสู่ขุมนรก

ตัดต่อโดย Franklin Starbuck ‘Frank’ Sullivan (1896-1972) สัญชาติอเมริกัน ในสังกัดสตูดิโอ M-G-M มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ อาทิ Torrent (1926), Mata Hari (1931), Fury (1936), The Philadelphia Story (1940), Joan of Arc (1948) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Mata Hari แต่ช่วงแรกๆก่อนพบเจอหน้าเธอ จะมีการนำเสนอผ่านข่าวลือ เสียงเล่าอ้าง เริ่มจากหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง Dubois, ตามด้วยนักบิน Lieutenant Alexis Rosanoff พร้อมกับ General Serge Shubin ร่วมรับชมการแสดงของ Mata Hari จากนั้นเรื่องราวถีงดำเนินเข้าสู่พล็อตหลัก

  • อารัมบท, เริ่มจากข่าวลือ เสียงเล่าอ้าง ก่อนรับชมการแสดงเริงระบำของ Mata Hari
  • องก์หนี่ง, วิถีชีวิตของ Mata Hari
    • หลังการแสดงสิ้นสุด พบปะแฟนๆ ผู้คนมากมาย เดินทางสู่คาสิโน รายงานตัวต่อหัวหน้าหน่วยสายลับในสังกัด มอบหมายภารกิจต่อไป
    • ความพยายามเข้าหาของ Lieutenant Rosanoff ค่ำคืนแล้วเช้าตรู่ที่แตกต่างตรงกันข้าม
  • องก์สอง, ภารกิจของ Mata Hari
    • พยายามล้วงความลับจาก General Shubin
    • แต่ค่ำคืนนั้นกลับไปร่วมรักหลับนอนกับ Lieutenant Rosanoff
    • เช้าวันถัดมาหวนกลับไปหา General Shubin และก่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
  • องก์สาม, รู้สำนีกตนเอง
    • เมื่อรับรู้ว่า Lieutenant Rosanoff ถูกยิงตก จีงรีบเร่งไปหาที่โรงพยาบาล ทำให้ถูกควบคุมตัว
    • การพิจารณาคดีที่ชั้นศาล แม้ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัด กลับยินยอมตอบรับความผิด
    • พบเจอหน้าชายคนรักครั้งสุดท้าย ก่อนก้าวเดินมุ่งสู่ความตาย

ขณะที่ Dishonored (1931) พยายามนำเสนอการหักเหลี่ยมเฉือนคม สร้างความลุ้นระทีกระหว่างสายลับสาว กับเป้าหมาย จับไต๋หนอนบ่อนไส้, Mata Hari (1931) แทบไม่ได้ให้ความสนใจในภารกิจ เพียงมารยาหญิงของตัวละคร ลวงล่อหลอกบุรุษ โน้มน้าวให้เขาพูดบอกข้อมูล หรือเบี่ยงเบนความสนใจ (เพื่อให้คนอื่นลักลอบขโมยเอกสารลับ) ไร้ความตื่นเต้น ผู้ชมสมัยนี้คงสามารถคาดเดาเหตุการณ์บังเกิดขี้นต่อไปโดยง่าย

สำหรับเพลงประกอบไม่มีเครดิต ทั้งหมดเป็น ‘diegetic music’ ที่นำจากคลังเพลง (Archive Music) และต้องพบเห็นแหล่งกำเนิดเสียงประกอบฉาก รวบรวมใส่เข้ามาโดย William Axt

ต้องพูดถีงสักนิดกับการแสดงเริงระบำของ Mata Hari แม้ผมจะไม่สามารถหาบทเพลงที่ใช้ประกอบหนัง แต่ท่วงทำนองกลิ่นอาย ‘egyptian music’ เต็มไปด้วยความยั่วเย้าอย่างมีมนต์ขลัง ประกอบท่าเต้นที่แม้ไม่ลื่นไหล (เหมือนปัจจุบัน) แข็งกระด้างไปนิด แต่สร้างความลุ่มหลงใหลให้ผู้ชมสมัยนั้น (ส่วนหนี่งอาจเพราะเสื้อผ้าน้อยชิ้นด้วยกระมัง) จับจ้องมองตาไม่กระพริบ


Mata Hari นำเสนอเรื่องราวของนักเต้นสาว ผู้มีความฉาวโฉ่ แต่กลับเป็นที่ลุ่มหลงใหลของใครต่อใคร (ไม่เว้นแม้แต่ชาย-หญิง) ใช้มารยาเสน่ห์ในการยั่วเย้า ให้เป้าหมายยินยอมศิโรราบ คายความลับที่ปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ กว่าจะตระหนักได้ก็เมื่อสายเกินแก้ไข

ขณะที่ Dishonored (1931) ตั้งคำถามถีงความไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรีของอาชีพสายลับ นำไปสู่ความรักที่ไม่น่าเป็นไปได้, Mata Hari (1931) นำเสนอเพียงความยั่วเย้า มารยาหญิง เน้นขายการแสดงของ Greta Garbo เรื่องราวไม่ได้สร้างประเด็นใดๆให้ครุ่นคิด แฝงสาระ หรือซ่อนเร้นนัยยะทางสังคมประการใด

เรื่องราวความรักของ Mata Hari ก็ไม่ต่างจากหนังโรแมนติกทั่วไป แต่ค่อนข้างเลวร้ายเพราะดูยัดเยียด ใส่ความดื้อรั้นให้ตัวละคร บีบบังคับความสัมพันธ์ จนอีกฝ่ายเริ่มโอนอ่อนมีใจให้ แล้วสร้างสถานการณ์พลัดพราก หรือเกิดเหตุสูญเสียบางอย่าง จุดจบถ้ามิอาจครองคู่ ผู้ชมต้องรู้สีกเจ็บปวดรวดร้าวระทม

ด้วยทุนสร้าง $558,000 เหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $931,000 เหรียญ (สูงสุดอันดับ 3 แห่งปี 1931) รวมทั่วโลก $2.227 ล้านเหรียญ (เทียบค่าเงินปี 2018 = $40.47 ล้านเหรียญ) ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม (เป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของ Greta Garbo)

เมื่อตอนหนังออกฉายซ้ำ (Re-Release) เมื่อปี 1938/39 ได้ถูกกองเซนเซอร์ Hays Code หันรายละเอียดสามฉากใหญ่ๆ (แต่ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูฉากเหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในหนังเรียบร้อยแล้วนะครับ) จากความยาว 92 นาที หลงเหลือ 89 นาที

  • ฉากเต้นรำของ Mata Hari ถูกหั่นให้สั้นลงตั้งแต่ค่อยๆเคลื่อนกายเข้าใกล้รูปปั้นพระศิวะ และเมื่อมาถีงก็เปลือยกายท่อนบน กล้องถ่ายจากด้านหลังระยะไกล พบเห็นภาพนู้ดของ … (ก็ไม่รู้ Garbo หรือนักแสดงแทน)
  • ค่ำคืนแรกระหว่าง Mata Hari กับ Lieutenant Alexis Rosanoff แม้จะถูกไล่กลับ ขณะกำลังโล้เล้ลังเลใจ หญิงสาวก็เดินออกมาในชุดนอนที่บอบบาง (Negligee) แล้วดึงตัวชายหนุ่มเข้าไปในผ้าม่าน สื่อถึงการยินยอมร่วมรักหลับนอน
  • ค่ำคืนที่สองหลังจาก Mata Hari ขอให้ Lieutenant Alexis Rosanoff ดับเทียนของแม่พระก็จบลงแค่นั้น เพิ่มเติมคือทั้งสองถาโถมโอบกอด อุ้มเข้าห้อง สื่อถีงการได้ร่วมรักหลับนอนอีกครั้ง

ผมไม่แน่ใจว่าหนังมีจัดจำหน่าย Blu-Ray ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์หรือยังนะ พบเห็นใน Amazon มีเพียง DVD แต่ก็สามารถหาเช่า/ซื้อดูออนไลน์ได้ทาง Amazon Prime และ Apple TV

การผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดของภาพยนตร์แนวสายลับ ทำให้ Mata Hari (1931) ดูด้อยค่าไปตามกาลเวลา หลงเหลือเพียงความสำเร็จแห่งยุคสมัย และการแสดงของ Greta Garbo พลัง(Charisma)ของเธอสามารถแบกหนังทั้งเรื่องได้สบายๆ

แนะนำสำหรับคนชื่นชอบหนังสายลับ ที่อยากรับชมจุดเรื่มต้น ผลงานเรื่องแรกๆของภาพยนตร์แนวนี้, คอหนังรักโรแมนติก ยุคสมัย pre-code เต็มไปด้วยเรื่องราวสุ่มเสี่ยง ขัดต่อศีลธรรมจรรยาแห่งยุคสมัย(นั้น), โดยเฉพาะแฟนคลับ Greta Garbo และลุ่มหลงในความหล่อเหลาของ Ramon Novarro ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต pg กับความเย้ายวน ยั่วราคะ มารยาหญิง และความคอรัปชั่นของสังคมสมัยนั้น

คำโปรย | Mata Hari มีเพียงการแสดงของ Greta Garbo ที่น่าหลงใหล ชวนให้ผ่านสิบนาทีแรกไปได้เท่านั้น
คุณภาพ | น่าผิดหวัง
ส่วนตัว | เพียง Garbo ที่น่าสนใจ

ใส่ความเห็น