West Indies ou les Nègres marrons de la liberté (1979)


West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) , Mauritanian : Med Hondo ♥♥♥♥

West Indies ชื่อเรียกหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean ดินแดนที่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา ต่อมากลายเป็นอาณานิคมยุโรป นำเข้าทาสผิวสีแอฟริกัน มาใช้แรงงานปลูกอ้อย แปรรูปน้ำตาล ทำออกมาในสไตล์หนังเพลง (Musical) ผสมผสานการละคอน+ภาพยนตร์ คลุกเคล้าอดีต+ปัจจุบัน เล่าประวัติศาสตร์ทาสเป็นไทได้อย่างมหัศจรรย์

เกร็ด: เหตุผลที่ตั้งชื่อหมู่เกาะย่านนี้ว่า West Indies เพราะอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้ามกับ East Indies (หรือ East India) เมื่อเอายุโรปเป็นจุดศูนย์กลางโลก!

แม้หนังจะชื่อ West Indies (1979) แต่เหมือนจะไม่มีสักฉาก (ยกเว้นภาพจาก Archive Footage) เดินทางไปถ่ายทำยังภูมิภาคนี้ เรื่องราวแทบทั้งหมดเกิดขึ้นบนเรือโดยสาร Slave Ship (ทำการก่อสร้างเรือ ถ่ายทำในโกดังร้างที่ฝรั่งเศส) ระหว่างบรรทุกทาสชาวแอฟริกันเดินทางไปๆกลับๆ ยุโรป-แอฟริกา-อเมริกัน เล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ถูกยึดครองโดย Spanish Empire มาจนถึง French West Indies (1628-1946)

เมื่อตอนรับชม Soleil Ô (1970) ผมรู้สึกว่าผกก. Hondo สรรค์สร้างภาพยนตร์ได้บ้าระห่ำมากๆ ซึ่งพอมารับชม West Indies (1979) สัมผัสถึงวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกระดับ! อาจไม่ได้แพรวพราวลูกเล่นภาพยนตร์เทียบเท่า แต่ความพยายามผสมผสาน Theatrical+Cinematic (ละคอนเวที+ลูกเล่นภาพยนตร์) แล้วคลุกเคล้าอดีต+ปัจจุบัน โดยใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน เพียงแค่นักแสดงเดินสวนกัน แบบนี้ก็ได้เหรอเนี่ย??

(โดยปกติแล้วการสลับเปลี่ยนช่วงเวลาดำเนินเรื่อง ง่ายสุดคือตัดต่อเปลี่ยนฉาก เท่ห์หน่อยถึงเพิ่มลูกเล่นภาพยนตร์ ล้ำสุดๆก็ใช้คอมพิวเตอร์ทำอนิเมชั่นเปลี่ยนผ่าน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กล้องเคลื่อนเลื่อนไหล นักแสดงจากสองช่วงเวลาเดินเข้า-ออก สวนทางกัน)

วัตถุประสงค์ของผกก. Hondo ต้องการปลดแอกตนเองออกจากวิถี(ภาพยนตร์)ยุโรป+อเมริกัน พยายามครุ่นคิด ประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ มองหาแนวทางสรรค์สร้างผลงานที่แตกต่างออกไป

I wanted to free the very concept of musical comedy from its American trade mark. I wanted to show that each people on earth has its own musical comedy, its own musical tragedy and its own thought shaped through its own history.

Med Hondo

หลายคนอาจไม่ชอบวิธีการของผกก. Hondo เพราะมันมีความผิดแผกแปลกประหลาด แตกต่างจากแนวทางภาพยนตร์ทั่วๆไป เหมือนกำลังรับชมโปรดักชั่นละคอนเวที (Theatrical) หาความสมจริงแทบไม่ได้ … ผมแนะนำให้ลองครุ่นคิดในมุมกลับตารปัตร ว่าหนังเป็นการบันทึกภาพ ถ่ายทำละคอนเวที แล้วสังเกตรายละเอียดงานสร้างภาพยนตร์ (สิ่งที่ละคอนเวทีทำไม่ได้ แต่สื่อภาพยนตร์ทำได้) แล้วคุณอาจค้นพบความมหัศจรรย์ของหนังอย่างคาดไม่ถึง


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970)

สำหรับ West Indies ou les Nègres marrons de la liberté ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง Les Négriers (1971) แปลว่า The Slavers แต่งโดย Daniel Boukman (เกิดปี 1936) นักเขียนชาว Martinican เกิดที่ Fort-de-France, Martinique (เกาะทางตะวันออกของทะเล Caribbean ปัจจุบันคือจังหวัดโพ้นทะเลของ French West Indies)

เกร็ด: แม้เรื่องราวไม่มีการระบุชื่อเกาะตรงๆ (เหมารวมว่าคือ West Indies) แต่แน่นอนว่า Daniel Boukman อ้างอิงถึง Martinique ได้รับการค้นพบโดย Christopher Columbus เมื่อปี ค.ศ. 1502, ต่อมาชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน ค.ศ. 1635 ก่อนกลายเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ค.ศ. 1674, ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์และอังกฤษเคยเข้าโจมตี สลับสับเปลี่ยนการยึดครอง (ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1794-1802 และ ค.ศ. 1809-1814) จนกระทั่ง ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสประกาศเกาะนี้เป็นจังหวัดโพ้นทะเล (Département d’outre-mer แปลว่า Overseas Department)

ผกก. Hondo ได้เคยดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้เป็นการแสดงละครเวทีเมื่อปี ค.ศ. 1972 เพื่อเตรียมความพร้อม ทดลองผิดลองถูก ตั้งใจจะดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าที่จะเก็บหอมรอมริดเงินส่วนตัว จึงต้องนำโปรเจคนี้ไปพูดคุยกับสตูดิโอต่างๆ

เห็นว่าผกก. Hondo เคยเดินทางไปพูดคุยโปรเจคนี้กับสตูดิโอ Warner Bros. และ MGM ซึ่งต่างก็แสดงความสนใจ แต่เรียกร้องขอให้ปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น

I told them: Fuck it. If it’s not the same subject, why ask me to do it? Do it yourself.

Med Hondo

สุดท้ายแล้วงบประมาณได้จากการรวบรวมเงินทุนหลากหลายแหล่ง (Private Funding) มีทั้งจาก Mauritania, Senegal, Algeria และ France จำนวน $1.3 ล้านเหรียญ มากเป็นประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกัน


นับตั้งแต่ Jean Aubert ค้นพบไร่อ้อยในภูมิภาค Caribbean เมื่อปี ค.ศ. 1640 ทำการแปรรูปน้ำตาล กลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกสร้างรายได้มหาศาล ทำให้จักรวรรดิฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามายึดครอบครองอาณานิคม French West Indies ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1674 วางแผนเพิ่มผลผลิตด้วยการนำเข้าแรงงานทาสจากแอฟริกัน ซึ่งราคาถูก สามารถทำงานหนัก และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาค Caribbean ได้โดยง่าย

เรื่องราวเริ่มต้นที่ห้าผู้นำ French West Indies (ประกอบด้วยสี่คนขาว+หนึ่งชาวแอฟริกันผิวสี) กำลังพูดคุยหาหนทางลดจำนวนประชากรชาวแอฟริกันที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ครุ่นคิดแผนการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสราวกับสรวงสวรรค์ ใครอาสาสมัครจักได้รับโบนัสสำหรับใช้ชีวิต แต่แท้จริงแล้วนั่นคือคำโป้ปดหลอกลวง เพื่อสามารถควบคุมครอบงำ จัดการชนกลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลือให้อยู่หมัด

ถึงอย่างนั้นชาวแอฟริกันกลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ใน French West Indies ต่างลุกฮือขึ้นมาชุมนุม ประท้วงหยุดงาน เรียกร้องต่อรองโน่นนี่นั่น จนห้าผู้นำครุ่นคิดอีกแผนการให้หนึ่งในสมาชิกที่เป็นชาวผิวสี ลงสมัครรับเลือกตั้ง กลายเป็นผู้นำประชาชน แต่แท้จริงแล้วหมอนี่ก็แค่หุ่นเชิดชักของพวกฝรั่งเศสเท่านั้นเอง!


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

มันไม่ใช่ว่าผกก. Hondo ไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำสถานที่จริง French West Indies แต่คงรับรู้ตัวเองตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่มีทางสรรหางบประมาณเพียงพอ อย่างน้อยก็น่าจะ $10-20 ล้านเหรียญ … ถ้าได้ทุนสนับสนุนจาก Hollywood อาจเพียงพอแน่ แต่ต้องแลกกับข้อเรียกร้องโน่นนี่นั่น ย่อมไม่มีทางเห็นพ้องต้องกัน!

ด้วยงบประมาณหาได้จำกัด ผกก. Hondo จึงเลือกลงทุนกับการก่อสร้างเรือโดยสาร Slave Ship ภายในโกดัง/โรงงานร้างของบริษัทผลิตรถยนต์ Citroën ณ Quai de Javel, Paris (โรงงานปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 1975) ผลลัพท์อาจทำให้หนังขาดความสมจริง แต่ภาพยนตร์มันจำเป็นต้องทำออกมาให้มีความสมจริงด้วยฤา??

ถ้าเราสามารถมองหนังเรื่องนี้คือการบันทึกภาพการแสดงละคอนเวที (Theatrical) มันจะช่วยลดอคติเกี่ยวกับความสมจริง-ไม่สมจริงได้อย่างมากๆ ลีลาการถ่ายภาพจะพบความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เต็มไปด้วยโคตรๆ Long Take และ(เมื่อถ่ายบนดาดฟ้าเรือ)กล้องมักขยับเคลื่อนไหลแทบตลอดเวลา นั่นแสดงให้ถึงการซักซ้อม ต้องตระเตรียมความพร้อม นักแสดงกว่าร้อยคน เตรียมงานสร้างมากว่า 7 ปี!

นอกจากลีลาการเคลื่อนกล้อง พยายามทำออกมาให้ดูโคลงเคลง ราวกับกำลังล่องลอยคออยู่บนท้องทะเล อีกความโดดเด่นคือการจัดวางองค์ประกอบภาพ ใช้ประโยชน์จากการออกแบบเรือโดยสาร Slave Ship ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสูง-ต่ำ สำหรับแบ่งแยกสถานะชนชั้น ผู้นำ-ฝรั่งเศส-ทาสแอฟริกัน

  • ห้าผู้นำ French West Indies อาศัยอยู่ในห้องบัญชาการ (Captain’s Cabin) ดูโอ่โถง หรูหรา มีหน้าที่ครุ่นคิดวางแผน บริหารจัดการ ซึ่งก็ยังแบ่งแยกผู้นำ ที่ปรึกษา บาทหลวง ฯ ไล่เลียงตามขั้นบันได
  • ชั้นดาดฟ้า คือสถานที่สำหรับคนขาว ชาวฝรั่งเศส (รวมถึงคนดำที่ถูกล้างสมองให้กลายเป็นฝรั่งเศส) มีความไฮโซ แต่งตัวหรูหรา มักพบเห็นร้องรำทำเพลงด้วยความสนุกสนานครื้นเครงไม่ว่าจะยุคสมัยไหน
  • ชั้นล่าง คือสถานที่สำหรับชาวแอฟริกัน ในอดีตเคยตกเป็นทาส ถูกบีบบังคับให้ต้องใช้แรงงานหนัก หลังได้รับอิสรภาพ กลายเป็นชุมชนแออัด เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

หนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำบนเรือโดยสาร Slave Ship ที่สร้างขึ้นภายในโกดัง/โรงงานร้าง ยกเว้นการฉายภาพ Archive Footage ด้วยฟีล์ม 16mm คุณภาพสีดูซีดๆ เบลอๆ พบเห็นชุมชน บ้านเรือน ผู้คนบนเกาะแห่งหนึ่งในเขตทะเล Caribbean และอาชีพหลักทำไร่อ้อย แปรรูปน้ำตาล

ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ยังได้ยินเสียงรัวกลอง ฟังดูราวกับพิธีกรรม ทำเหมือนอารัมบทถึงบางสิ่งอย่าง … จะว่าไปจังหวะรัวกลอง มีความสอดคล้องกับการตัดต้นอ้อย แต่ความหมายแท้จริงเดี๋ยวจะอธิบายต่อไป

ช่วงระหว่าง Opening Credit เป็นการถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ พบเห็นกล้องเคลื่อนจากภายนอกโกดัง/โรงงานร้าง ได้ยินเสียงเครื่องจักรกลล่องลอยมา (ในอดีตเคยเป็นโรงงานผลิตรถยนต์) แต่พอเลื่อนมาถึงบริเวณกองไฟ จู่ๆเสียงพื้นหลังปรับเปลี่ยน (ในสไตล์ Godardian) มาเป็นผู้คนตะโกนโหวกเหวกโวยวาย กล้องหันจากขวาสู่ซ้าย เข้าหาเรือโดยสาร Slave Ship สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นฉากประกอบภาพยนตร์

ผมมองการนำเสนอลักษณะนี้เพื่อเลือนรางระหว่างโลกความจริง(ภายนอก) vs. เหตุการณ์(ภายใน)ภาพยนตร์ เคลื่อนเลื่อนจากปัจจุบันสู่อดีต (ถือเป็นอารัมบทวิธีการดำเนินเรื่องที่มักใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน นักแสดงจากสองช่วงเวลาเดินสวนทางกัน) ให้ผู้ชมเกิดการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆเคยบังเกิดขึ้น มีความละม้ายคล้าย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในปัจจุบัน

การเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำ ณ (อดีต)โรงงานบริษัทผลิตรถยนต์ ก็ยังสามารถตีความถึงการใช้แรงงาน ระบอบทุนนิยม ปัจจุบันถูกทอดทิ้งร้าง ไม่แตกต่างจากเรื่องราวของหนัง!

ในเรือโดยสาร Slave Ship มักมีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยหลบมุม ซ่อนตัวในความมืดมิด คอยแสดงความคิดเห็นต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับสิ่งต่างๆที่พวกเบื้องบนพยายามนำเสนอ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล พวกเขาก็ปฏิเสธลงเสียง แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

สังเกตว่าหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้าน/คณะปฏิวัติ จะมีคนหนึ่งที่คอยตีกลองเบาๆ นั่นชวนให้ผมนึกถึง “Drum of Liberation” ใครตามอ่านวันพีซก็น่าจะมักคุ้นเป็นอย่างดี ในบริบทนี้สื่อถึงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ชนกลุ่มน้อย เลยได้ยินคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ

การเลือกตั้งครั้งนี้มันช่างไม่มีความโปร่งใสเลยสักนิด! พยายามถ่วงเวลาด้วยการเอ่ยขานชื่อ พร้อมพรรณาความสำคัญ ยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งพอพวกเขาเหล่านั้นหย่อนบัตรลงคะแนน ก็มีการสอดไส้กระดาษเข้าด้านหลัง … มันคืออะไรก็ช่างหัวมันเถอะครับ ให้มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เพียงพอแล้วละ

และเมื่อถึงคิวของบุคคลจากชั้นล่างกำลังจะลงคะแนนเสียง ก็ถูกปิดกั้นโดยทันที (พร้อมเสียงฉาบใหญ่) ด้วยข้ออ้างพระอาทิตย์กำลังตกดิน (แสงไฟดวงใหญ่ด้านหลังก็เคลื่อนคล้อยลงมา) นี่แสดงให้ว่า ประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์เสียงใดๆในระบอบประชาธิปไตย

ปล. หลายคนอาจมองซีเควนซ์นี้ว่ามีความไกลตัว เรื่องราวของคนขาวกับชาวแอฟริกัน แต่ผมไม่รู้สึกถึงความแตกต่างจากประเทศสารขัณฑ์ การเลือกตั้งไม่ต่างจากเล่นละคอน รัฐบาลไม่เคยสนหัวประชาชน

วิธีการที่หนังใช้เล่าเรื่องย้อนอดีต เมื่อหนึ่งในห้าผู้นำ French West Indies เล่าถึงประวัติศาสตร์เกาะแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1640 กล้องทำการเคลื่อนเลื่อนผ่านฝูงชน จนพบเห็นทาสแอฟริกันกำลังโยกเต้น เริงระบำ สังเกตจากเสื้อผ้าสวมใส่ก็เพียงพอบอกได้ว่าคือช่วงศตวรรษที่ 17th

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจใช้เป็นจุดสังเกต แยกแยะระหว่างอดีต-ปัจจุบัน คือคำขวัญ (Motto) ที่ปรากฎอยู่บนดาดฟ้าเรือ

  • Dieu et le Roi Protègent le Royaume แปลว่า God and The King Protect The Kingdom นี่คือคำขวัญของ Ancien Régime (Old Regime) เริ่มใช้มาตั้งแต่ King Louis XIII (1601-43) ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1610
  • Liberté égalitégent le Royaume แปลว่า Freedom Equality People the Kingdom คาดว่าใช้ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1789-1848
  • Liberté égalité Fraternité แปลว่า Liberty Equality Fraternity (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ) เริ่มต้นจากเป็นคำขวัญของ National Guards ในช่วงการปฏิวัติ French Revolution (1789-99) และ Revolution of 1848 ก่อนได้รับการบัญญัติเป็นหลักการพื้นฐาน/คำขวัญฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1848

แค่ท่านั่งของผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล หนึ่งในผู้นำ French West Indies ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ก็บ่งบอกถึงสันดานธาตุแท้ ทั้งๆมีเชื้อสายแอฟริกัน ผิวดำเหมือนกัน กลับไม่เคยสนหัวประชาชน เป็นเพียงหุ่นเชิดชักฝรั่งเศส กระทำสิ่งตอบสนองตัณหาส่วนตน

หลังจากการโฆษณาชวนเชื่อเสร็จสิ้น หนังทำการเคลื่อนเลื่อนกล้อง (ถ่ายทำแบบ Long Take) เก็บภาพบรรยากาศโดยรอบ พบเห็นผู้คนพูดคุย แสดงความคิดเห็น บางคนเห็นชอบ บางคนไม่เห็นด้วย พยายามหาข้ออ้าง โน้มน้าวกล่อมเกลา อธิบายเหตุผลการเดินทาง พรอดคำหวานเพราะกำลังจะร่ำลาจากกัน … ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องคงใช้การตัดต่อ ร้องเรียงชุดภาพ ไม่ก็ในลักษณะพูดคุยสัมภาษณ์ แต่สำหรับ West Indies (1979) พยายามแหกธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว ใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน ถ่ายทำแบบ Long Take เพียงหยุดฟังความคิดเห็น เสร็จแล้วก็ดำเนินต่อไป

นี่ถือเป็นอีกช็อตมหัศจรรย์ของหนัง! กล้องเริ่มถ่ายจากกลุ่มชาวแอฟริกัน(ช่วงทศวรรษ 1960-70s)ที่ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ตามคำชวนเชื่อรัฐบาล ระหว่างกำลังก้าวเดินผ่านดวงไฟขนาดใหญ่ยักษ์ น่าจะคือพระอาทิตย์ สวนทางกับบรรดาทาสชาวแอฟริกัน ล่ามโซ่ตรวน เดินเรียงเป็นขบวน กำลังถูกส่งตัวไปยัง West Indies ในช่วงศตวรรษที่ 17-18th … นี่เป็นอีกครั้งที่ใช้การเคลื่อนเลื่อนกล้อง แล้วเกิดการผันแปรเปลี่ยนยุคสมัย

ผมรู้สึกว่าท่าเต้นของทาสชาวแอฟริกัน ดูกรีดกรายด้วยความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน มือและเท้าต่างถูกพันธนาการ ไม่สามารถปลดปล่อยตนเอง กระโดดโลดเต้นได้อย่างสุดเหวี่ยง

ชายสูงวัยคนนี้ที่หันมาสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ทำเหมือนพยายามพูดคุยสนทนากับผู้ชม

Africa, my mother…
A great distance of water,
a great distance of days between you and me.

Africa, my mother,
face of a million wounds…
My strength is slowly ebbing.

ถือเป็นตัวละครเชื่อมต่อระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ตัวแทนจิตวิญญาณชาวแอฟริกันที่สร้างขวัญ กำลังใจ เรียกร้องให้ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องเสรีภาพ … ชวนให้ผมนึกถึง The Eternal Motherhood จากโคตรภาพยนตร์ Intolerance (1916)

จากคำโฆษณาชวนเชื่อ (ป้ายโฆษณาแปะเต็มพื้นหลัง) ฝรั่งเศสในอุดมคติ ราวกับสรวงสวรรค์! แต่พอบรรดาผู้อพยพเดินทางมาถึง (ฉากนี้ก็ยังถ่ายทำบนเรือโดยสาร) ราวกับถูกปล่อยเกาะ ทอดทิ้งขว้าง ไม่มีใครมารอต้อนรับ หน่วยงานรัฐไม่เคยเหลียวแลสนใจ ต้องมองหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน เอาตัวรอดด้วยตนเอง

ล้อกับตอนที่ชาว French West Indies ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส กล้องทำการเคลื่อนเลื่อน เก็บภาพบรรยากาศโดยรอบ พบเห็นผู้คนพูดคุยสนทนา แต่จากเคยสรรหาข้ออ้าง แสดงความคิดเห็น ว่าทำไมถึงอยากอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส เปลี่ยนมาเป็นพูดเล่าความรู้สึก เคยพานผ่านอะไร ทำงานอะไร หาเงินได้มากน้อยเพียงไหน และหลังจากกระโดดโลดเต้น (ได้ยินบทเพลง Mother France ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี ประชดประชัน) พวกเขาก็เดินตรงเข้าหากล้อง จ้องหน้าสบตา (Breaking the Fourth Wall) ราวกับมองหน้าหาเรื่อง

ประเด็นคือระหว่างซีเควนซ์นี้ไม่ได้มีการพูดบอกว่าเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร แต่คำอธิบายของห้าผู้นำ French West Indies พร้อมกับภาพอนิเมชั่น นั่นหมายถึงคนกลุ่มนี้น่าจะกำลังเดินทางกลับบ้าน (ที่ French West Indies) พูดเล่าความรู้สึกผิดหวัง เกรี้ยวกราด แสดงความไม่พึงพอใจต่อพวกฝรั่งเศสที่ทำการล่อหลอก กลับกลอก ผิดคำสัญญา

เป็นเรื่องปกติของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง สักวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน โค่นล้มพวกผู้มีอำนาจบาดใหญ่ สังเกตจากเสื้อผ้าสวมใส่ และคำขวัญบนดาดฟ้าเรือ ซีเควนซ์นี้น่าจะประมาณช่วงศตวรรษ 17-18th (ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส) เพราะทหารฝรั่งเศสถือปืนห้อมล้อมทาสแอฟริกัน สัญลักษณ์ของการกวาดล้าง ประหารชีวิต ยังคือช่วงเรืองอำนาจของเผด็จการ

สี่ภาพนี้นำเสนอประวัติศาสตร์โดยย่อ (นาง-นายแบบจะแสดงท่าทาง ภาษากาย แฝงนัยยะความหมายบางอย่าง) ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งเศสคือประเทศเดียวในโลกเลยหรือเปล่าที่มีการเลิกทาสถึงสองครั้ง!

  • First Abolition: วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1794 ในช่วงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส French Revolution (1789-99)
  • Reinstatement: ภายหลังจาก Napoleon Bonaparte ก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจ ในปี ค.ศ. 1802 มีการนำระบบทาสกลับมาใช้โดยเฉพาะกับอาณานิคม French West Indies จุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตแปรรูปน้ำตาล
    • King Louis Philippe I (1773-1850, ครองราชย์ 1830-48) เมื่อขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1830 เลือกที่จะวางตัวเป็นกลาง รักษาสถานะทาส ขณะเดียวกันแอบให้การสนับสนุนกลุ่ม Anti-Slavery
  • Second and Permanent Abolition: เริ่มต้นจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ The French Revolution of 1848 นำไปสู่การออกกฎหมายเลิกทาสวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1848 ก่อนค่อยๆทะยอยประกาศใช้ตามอาณานิคมต่างๆ เริ่มต้นจาก Martinique วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1848

แซว: ให้ลองสังเกต Napoleon จะมีการขยับหมวก 180 องศา (จากหลังหันสู่หน้า) สามารถสื่อถึงการ ‘Reinstatement’ นำระบบทาสที่ล้มเลิกไปแล้ว หวนกลับมาประกาศใช้ใหม่

François Arago (1786-1853) นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ สมาชิกองค์กร Freemason เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Minister of the Navy) เมื่อปี ค.ศ. 1848 และเป็นผู้นำกฎหมายเลิกทาส (Second Abolition) ไปประกาศใช้ยังอาณานิคม French West Indies

ตรงกันข้ามกับตอนที่ถูกล่ามโซ่ตรวน เมื่อชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ไม่ต้องตกเป็นทาสอีกต่อไป ท่าทางเต้นรำของพวกเขาช่างมีความสุดเหวี่ยง กระโดดลอยตัว เพื่อสื่อถึงอิสรภาพแห่งชีวิต

ในอดีตทหารฝรั่งเศสเคยถือปืน ห้อมล้อม จ่อยิงทาสแอฟริกันที่ลุกฮือขึ้นมาจะโค่นล้มรัฐบาล (ช่วงศตวรรษ 17-18th) พอกาลเวลาเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน(นั้น) ทศวรรษ 1960-70s แม้บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่มุมกล้อง อะไรหลายๆอย่างกลับยังคงเหมือนเดิม แรงงานแอฟริกันรวมกลุ่มกันเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากอาณานิยม ยังคงถูกห้อมล้อมโดยตำรวจฝรั่งเศส

ความแตกต่างคือแต่ก่อนมีเพียงการต่อสู้ระหว่างทาสแอฟริกัน vs. ชนชั้นผู้นำฝรั่งเศส, แต่โลกยุคสมัยใหม่ได้เพิ่มเติมชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ซึ่งมีทั้งคนขาวและชาวแอฟริกัน(ที่ถูกย้อมขาว, Whitewashing) อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เสมอภาคเท่าเทียม

ในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยกษัตริย์ จนมาถึงห้าผู้นำ French West Indies ต่างใช้อำนาจบาดใหญ่ในการปกครองอาณาประชาราษฎร์ จนกระทั่งการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) นี่น่าจะถือเป็นครั้งแรกที่ยินยอมเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่สังเกตบรรดาตัวแทนทั้งหลาย ต่างคือพวกชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) เต็มไปด้วยถ้อยคำสรรเสริญเยินยอ ข้อเรียกร้องที่ตอบสนองผลประโยชน์ ความพึงพอใจส่วนบุคคล … พวกชนชั้นผู้นำเองก็ได้ประโยชน์ เลยไม่ได้ปฏิเสธต่อต้านประการใด

ในอดีตตัวละครของ Robert Liensol เคยเป็นกษัตริย์ของชาวแอฟริกัน ค้าขายทาสให้กับพวกฝรั่งเศส (ส่งมาใช้แรงงานยังจังหวัดโพ้นทะเล) ต่อมาถือกำเนิดใหม่เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกผู้นำ French West Indies ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล และเมื่อรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนชั้นกลาง หลับฝันจินตนาการว่าตนเองสวมใส่มงกุฎ กลายเป็นกษัตริย์ปกครองหมู่เกาะ Caribbean (โดยมีพวกฝรั่งเศสชักใย ยืนอยู่เบื้องหลัง)

เกร็ด: Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélémy บนเกาะ Leeward Islands ซึ่งคือหนึ่งในจังหวัดโพ้นทะเล French West Indies ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูภูมิฐาน เหมือนคนมีการศึกษาสูง แถมชอบทำเริดเชิด แสดงความเย่อหยิ่ง ต้องถือว่าเกิดมาเพื่อรับบทบาทนี้

แต่เมื่อฟื้นตื่นจากความฝัน ภาพสะท้อนโลกความจริง ใบหน้าของ Liensol ซ้อนทับภาพชุมนุมประท้วงของพวกแรงงานแอฟริกัน นั่นคือสิ่งขัดขวางไม่ให้ความฝันของเขากลับกลายเป็นจริง!

หนังไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าสถานการณ์การเมืองของ French West Indies จะยุติลงเช่นไร ได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสหรือไม่ … แต่จนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2024 บรรดาจังหวัดโพ้นทะเลก็ยังคงเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ถึงอย่างนั้นหนังจบลงด้วยการเฉลิมฉลอง เริงระบำ ขับร้องเพลงเกี่ยวกับแอฟริกัน+อเมริกัน นี่ไม่ได้จะสื่อถึงชัยชนะ แต่นัยยะถึงการปลดปล่อย เสียงรัวกลองแห่งอิสรภาพ (Drum of Liberation) กล้องเคลื่อนหมุนรอบโลก 360 องศา สักวันหนึ่งการกดขี่ข่มเหงต้องหมดสูญสิ้นไป

ตัดต่อโดย Youcef Tobni มีผลงานเด่นๆ อาทิ Chronicle of the Years of Fire (1975), West Indies (1979) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครไหนเป็นพิเศษ แต่มีจุดศูนย์กลางคือเรือโดยสาร Slave Ship สลับสับเปลี่ยน เคลื่อนเลื่อนไหลจากห้าผู้นำ French West Indies มายังชาวฝรั่งเศสบนชั้นดาดฟ้า และชาวแอฟริกันที่อยู่ชั้นล่าง พานผ่านประวัติศาสตร์ตั้งแต่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา มาจนถึงปัจจุบัน(นั้น) ค.ศ. 1970

  • อารัมบท, ห้าผู้นำ French West Indies หลังจากรับชม Archive Footage อธิบายวัตถุประสงค์(ของหนัง) แผนการลดจำนวนประชากรชาวแอฟริกัน
  • การเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล
    • เริ่มต้นระหว่าง Opening คือการเดินขบวนหาเสียง
    • จากนั้นลงคะแนนเลือกตั้ง
    • หลังประกาศผลผู้ชนะ มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเต้นรำ
  • (ย้อนอดีต) (ร้องรำทำเพลง) เล่าประวัติศาสตร์ French West Indies
    • ตั้งแต่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา
    • Jean Aubert ค้นพบไร่อ้อย แปรรูปน้ำตาล
    • ฝรั่งเศสเข้ายึดครอง French West Indies
    • นำเข้าทาสแอฟริกันมาทำงานยัง French West Indies
  • แผนการชวนเชื่อ ส่งออกชาวแอฟริกัน
    • ห้าผู้นำ French West Indies ประชุมวางแผน หาวิธีการส่งออกชาวแอฟริกัน
    • (ร้องรำทำเพลง) โฆษณาชวนเชื่อ ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์
    • ผู้ว่าการ Justin กล่าวคำชวนเชื่อ เรียกร้องให้ชาวแอฟริกันอพยพสู่ฝรั่งเศส
    • มีชาวแอฟริกันทั้งที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นพ้อง ตัดสินใจออกเดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศส
  • (ย้อนอดีต) ฝรั่งเศสนำเข้าแรงงานทาสแอฟริกัน
    • สวนทางกับทาสแอฟริกันถูกล่ามโซ่ตรวน กำลังก้าวเดินขึ้นเรือ ออกเดินทางสู่ French West Indies
    • ผู้นำฝรั่งเศส พบเจอกษัตริย์ชาวแอฟริกัน
    • พบเห็นภาพทาสแอฟริกัน ต่อสู้ดิ้นรน (เต้นรำอย่างทุกข์ทรมาน) จากการถูกกดขี่ข่มเหงสารพัด
    • ระหว่างนั้นมีการสู้รบสงคราม สลับสับเปลี่ยนผู้ปกครองแคว้นอาณานิคม
  • ผู้อพยพมาถึงฝรั่งเศสฝรั่งเศส
    • บรรดาผู้อพยพเดินทางมาถึงฝรั่งเศส แต่กลับไม่ใครให้การต้อนรับ
    • พวกฝรั่งเศสรวมกลุ่มกันประท้วงต่อต้าน
    • เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฝรั่งเศส กับกลุ่มผู้อพยพ
    • ร้อยเรียงคำรำพันของผู้อพยพในฝรั่งเศส
  • การลุกฮือของชาวแอฟริกัน
    • ห้าผู้นำ French West Indies ประชุมวางแผน หาวิธีเร่งส่งออกพวกแอฟริกัน แต่กลับ…
    • (ย้อนอดีต) ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการเลิกทาสของฝรั่งเศส
    • พอดำเนินมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ทวีความรุนแรง ชนชั้นล่างแสดงความไม่พึงพอใจ แต่เมื่อห้าผู้นำ French West Indies เปิดโอกาสให้พวกเขายื่นข้อเรียกร้อง มีแต่ชนชั้นกลางเยินยอปอปั้น
    • (ความฝัน) ผู้ว่าการ Justin จินตนาการเพ้อฝันว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นประมุขปกครองหมู่เกาะ Caribbean
    • แต่เหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงก็คือ การชุมนุมเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกสับสน เพราะหนังใช้นักแสดงชุดเดิมทั้งในอดีต-ปัจจุบัน ยกตัวอย่าง Robert Liensol (ชายผิวสีที่เคยแสดงนำภาพยนตร์ Soleil Ô (1970)) อดีตเคยเป็นกษัตริย์ชาวแอฟริกัน → ต่อมากลายเป็นหนึ่งในห้าสมาชิก French West Indies → ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล … ไม่เชิงว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ถือเป็นการเวียนว่ายตายเกิดในหลายภพชาติ คล้ายๆภาพยนตร์ Cloud Atlas (2012)


เพลงประกอบโดย Georges Raymond Rabol (1937-2006) นักเปียโน นักแต่งเพลง สัญชาติ Martinican, วัยเด็กเริ่มสนใจด้านดนตรีหลังจากรับฟังบทเพลงของ Louis Moreau Gottschalk จากนั้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ไม่มีรายละเอียดว่าเข้าศึกษาต่อที่ไหน แต่ถนัดด้าน Jazz Pianist เคยเป็นนักเปียโนประจำรายการวิทยุ Le Tribunal des flagrants délires, โด่งดังสุดคือเพลงประกอบภาพยนตร์ West Indies (1979)

ในส่วนของเพลงประกอบถือว่ามีความหลากหลาย ทั้งบทเพลงสไตล์ Caribbean, พื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคลาสสิกยุโรป, French Pop/Rock, รวมถึง American Jazz ซึ่งจะผันเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์-ช่วงเวลา มีคำร้อง-เพียงท่วงทำนอง หรือบางครั้งอาจเป็นการพูดคุยประกอบจังหวะดนตรี (ผมเรียกว่า ‘พูดร้องเพลง’)

โดยหนังจะมี Main Theme ท่วงทำนองคล้ายๆ Mission: Impossible บางครั้งบรรเลงด้วยกีตาร์, ออร์เคสตรา, เสียงเป่าขลุ่ย, ดนตรีร็อค ฯ สร้างความรู้สึกเหมือนการต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางออกไปจากดินแดนแห่งนี้

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาคลิปหรือรายละเอียดบทเพลงประกอบหนัง แต่หนึ่งในนั้นที่มีความชื่นชอบเป็นการพิเศษ คาดเดาว่าน่าจะชื่อเพลง Mother France ขับร้องโดย Frank Valmont ดังขึ้นหลังจากการปะทะระหว่างผู้อพยพ vs. ชาวฝรั่งเศสที่รวมกลุ่มต่อต้าน เนื้อคำร้องออกไปในเชิงเสียดสี ประชดประชัน และกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำ เหมือนกำลังเดินทางกลับ French West Indies กระมังนะ (ถ่ายทำยังชั้นล่างของเรือ)

Mother France,
against your big breasts,
blue, white and red breasts,
I snuggle up without a worry.

For you, I agree to waste my life.
The good God protects you.
You eat to your heart’s content.
Please don’t forget me!

Mother France,
deprive me of freedom,
but please keep my fridge
and my stomach full!


West Indies (1979) นำเสนอประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกันกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกพวกจักรวรรดินิยมจับเป็นทาส ส่งมาใช้แรงงานยังหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean ปลูกอ้อย แปรรูปน้ำตาล สร้างรายได้มากมายมหาศาล แต่เมื่อปริมาณประชากร(ชาวแอฟริกัน)เพิ่มมากขึ้น มักเกิดการรวมกลุ่มต่อต้าน ชุมนุมประท้วง ลุกขึ้นมาเรียกร้องโน่นนี่นั่น

ในยุคแรกๆกลุ่มต่อต้านคงถูกพวกจักรวรรดินิยมปราบปรามจนหมดสิ้น! แต่ไม่นานพวกแอฟริกันก็รวมกลุ่มกันขึ้นมาใหม่ หลายครั้งเข้าจึงต้องประณีประณอม ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องหลายๆอย่าง มีการเลือกตั้งผู้ว่าการ จัดตั้งระบบสวัสดิการ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์คริสต์ ฯ ถึงอย่างนั้นได้คืบจะเอาศอก เรียกร้องโน่นนี่นั่นไม่หยุดหย่อน ชนชั้นผู้นำจึงครุ่นคิดแผนการใหม่ สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ พร้อมจ่ายโบนัสให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน จากนั้นก็ตัดหางปล่อยวัด ชนกลุ่มน้อยที่หลงเหลือจึงอยู่ในการควบคุมโดยง่ายดาย

West Indies is not a film more Caribbean than African. It summons all people whose past is made of oppression, whose present is made of failed promises and whose future remains to be conquered.

Med Hondo

แม้หนังจะมีพื้นหลังยังหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean แต่กลับสร้างฉากถ่ายทำในโกดัง/อดีตโรงงานผลิตรถยนต์ Citroën ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งยังทำการกระโดดไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน นั่นแสดงถึงความไม่จำเพาะเจาะจงสถานที่ วัน-เวลา (Space & Time) และอาจรวมถึงชนชาติพันธุ์ (ไม่จำเป็นต้องแค่เรื่องราวของชาวแอฟริกัน) นั่นเพราะผกก. Hondo ต้องการเหมารวมทุกสิ่งอย่าง เพื่อนำเสนอเรื่องราวการถูกกดขี่ข่มเหง คำสัญญาลวงหลอก และอนาคตของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเฉลียวฉลาด ซึ่งมักทำให้เกิดความเย่อหยิ่ง หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง แบ่งแยกสถานะทางสังคม ชนชั้นสูง-ต่ำ สีผิวดำ-ขาว บุคคลผู้มีอำนาจ-บริวารอยู่ภายใต้ นำไปสู่การกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ คำสัญญาหลอกลวง … แนวคิดของลัทธิอาณานิคม จึงเป็นสิ่งไม่มีวันหมดสูญสิ้นไปจากโลก

ใครเคยรับชม Soleil Ô (1970) และอาจรวมถึงผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Hondo ย่อมมักคุ้นกับเนื้อหาสาระ ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) โดยเฉพาะการชวนเชื่อ สร้างค่านิยม “ฝรั่งเศสคือดินแดนราวกับสรวงสวรรค์” ซึ่งเขาคือหนึ่งในบุคคลผู้หลงเชื่อ แอบขึ้นเรือ มาตายเอาดาบหน้า โชคดีว่าสามารถเอาตัวรอด ตระหนักถึงข้อเท็จจริง จึงพยายามนำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมารังสรรค์สร้างภาพยนตร์ บทเรียนเตือนสติพวกพ้องชาวแอฟริกัน

ภาพยนตร์ ว่ากันตามตรงเป็นสื่อที่ถูก ‘colonised’ โดยมหาอำนาจอย่าง Hollywood, ฝรั่งเศส, รัสเซีย ฯ ความสนใจของผกก. Hondo ยังต้องการปลดแอกผลงานของตนเอง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำ ซึมซับรับอิทธิพล จึงพยายามประดิษฐ์คิดค้น รังสรรค์ภาษาภาพยนตร์ ค้นหาวิธีการที่ไม่ซ้ำแบบใคร … คนที่ได้รับชม West Indies (1979) ก็น่าจะสัมผัสได้ถึงอิสรภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ หรือก็คือการประกาศอิสรภาพของผกก. Hondo นั่นเองละครับ!

ปล. ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจแนวคิด “การประกาศอิสรภาพของสื่อภาพยนตร์” ก็อาจตระหนักว่านี่คือโคตรผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ยืนเคียงข้าง Touki Bouki (1973) ได้อย่างสบายๆ


หนังใช้ทุนสร้าง $1.3 ล้านเหรียญ อาจดูไม่เยอะเท่าไหร่ แต่สำหรับชาวแอฟริกันยุคสมัยนั้นถือว่ามากมายมหาศาล ว่ากันว่าคือหนึ่งในโปรดักชั่นทุนสร้างสูงสุด(ของทวีปแอฟริกา)ตลอดกาล!

แต่เมื่อเข้าฉายในฝรั่งเศส เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เลยถูกเก็บเงียบเข้ากรุ จนกระทั่งมีโอกาสฉายยังสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1985 ปรากฎว่าได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม “revolutionary”, “witty”, “imaginative staging”, “very fluid visual style”

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Doriane Films (ฝรั่งเศส) รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น 3 Films de Med Hondo ประกอบด้วย Soleil Ô (1970), West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) และ Sarraounia (1986)

เพราะความประทับใจจาก Soleil Ô (1970) ทำให้ผมเต็มไปด้วยคาดหวังต่อ West Indies (1979) แต่ระหว่างรับชมกลับรู้สึกไม่ชมชอบแนวทางการนำเสนอสักเท่าไหร่ ดูเป็นละคอนเวทีมากเกินไป แต่พอสังเกตเห็นความเลือนลางระหว่างอดีต+ปัจจุบัน จึงเริ่มค้นพบความมหัศจรรย์ ประทับใจต่อโปรดักชั่น และสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Hondo โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำแบบใคร และคงไม่มีใครเลียนแบบอย่าง

ถ้าว่ากันด้วยเทคนิคภาพยนตร์ Soleil Ô (1970) ถือว่ามีความแพรวพราว ดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ทว่า West Indies (1979) จัดเต็มโปรดักชั่น อลังการงานสร้าง เรื่องราวระดับมหากาพย์ และวิธีการของผกก. Hondo ทำการประกาศอิสรภาพให้กับวงการภาพยนตร์

จัดเรต 13+ กับเรื่องทาส เผด็จการ ลัทธิอาณานิคม

คำโปรย | West Indies โคตรหนังเพลงของผู้กำกับ Med Hondo เล่าประวัติศาสตร์การตกเป็นทาส เพื่อทำการประกาศอิสรภาพให้กับวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | มหัศจรรย์ใจ

Soleil Ô (1970)


Oh, Sun (1970) French, Mauritanian  : Med Hondo ♥♥♥♥

กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหาทำงาน ถูกปฏิเสธต่อต้าน ขับไล่ ผลักไส หวาดกลัวการรุกรานของ ‘Black Invasion’ นำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลาย ท้าทาย คล้ายศิลปะภาพแปะติด (Collage)

Hondo offers a stylistic collage to reflect the protagonist’s extremes of experience, from docudrama and musical numbers to slapstick absurdity, from dream sequences and bourgeois melodrama to political analyses.

Richard Brody นักวิจารณ์จาก The New Yorker

ขณะที่ Ousmane Sembène คือบุคคลแรกที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์แอฟริกัน จนได้รับฉายา “Father of African Cinema” แต่ลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์ ไม่ได้มีความแปลกใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นอะไรให้โลกตกตะลึง, Med Hondo ถือเป็นผู้กำกับคนแรกๆ(ของแอฟริกา) ที่พยายามรังสรรค์สร้างภาษาภาพยนตร์ในสไตล์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยได้รับคำยกย่อง “Founding Father of African Cinema” … แค่เพิ่มคำว่า Founding ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Hondo ถือว่ามีความสุดโต่ง บ้าระห่ำ ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย มากมายแนวทาง (Genre) อย่างที่นักวิจารณ์ Richard Brody ให้คำเรียกศิลปะภาพแปะติด (Collage) ยกตัวอย่าง

  • เริ่มต้นด้วยภาพอนิเมชั่นเคลื่อนไหว
  • ให้นักแสดงเล่นละคอนสมมติ ที่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์
  • บางครั้งทำออกมาในเชิงสารคดี มีการพูดคุย สัมภาษณ์ สอบถามความคิดเห็นบุคคลต่างๆ (มีการสบตาหน้ากล้อง)
  • ตัวละครนอนหลับฝัน จินตนาการเหตุการณ์ที่อาจบังเกิดขึ้น
  • เข้าห้องเรียน อาจารย์สอนทฤษฎี อธิบายแนวคิด วิเคราะห์การเมืองโน่นนี่นั่น
  • ระหว่างนั่งดื่ม ก็มีการร้องรำทำเพลง โดยเนื้อเพลงมักมีเนื้อหาที่สอดคล้อง เข้ากับหัวข้อขณะนั้นๆ

เอาจริงๆผมไม่รู้จะให้คำนิยาม เรียกสไตล์ผกก. Honda ว่ากระไรดี? เป็นความพยายามครุ่นคิดค้นหา พัฒนาภาษาสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน ซึ่งจะว่าไปสารพัดวิธีการดำเนินเรื่อง ดูสอดคล้องเข้าความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ในการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 มีผลงานของผกก. Hondo ติดอันดับถึงสองเรื่อง ประกอบด้วย

  • Soleil Ô (1970) ติดอันดับ 243 (ร่วม)
  • West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) ติดอันดับ 179 (ร่วม)

นี่การันตีถึงอิทธิพล ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ชมทั่วโลก แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า Soleil Ô (1970) มีความยากในการรับชมระดับสูงสุด (Veteran) ถ้าครึ่งชั่วโมงแรกคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจอะไร ก็อย่าเพิ่งเร่งรีบร้อน รอสะสมประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก

Soleil Ô แปลว่า Oh, Sun นำเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง กึ่งๆอัตชีวประวัติของผกก. Hondo ตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศส พบเห็นความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนผู้อพยพชาวแอฟริกัน เดินทางมาไล่ล่าความฝัน แต่กลับถูกพวกคนขาวกดขี่ข่มเหงสารพัด ไร้งาน ไร้เงิน แล้วจะชวนเชื่อให้พวกฉันมายังสรวงสวรรค์ขุมนรกแห่งนี้ทำไมกัน??

เกร็ด: Soleil Ô คือชื่อบทเพลงของชาว West Africa (หรือ West Indian) รำพันความทุกข์ทรมานจากการถูกจับ พาตัวขึ้นเรือ ออกเดินทางจาก Dahomey (ปัจจุบันคือประเทศ Benin) มุ่งสู่หมู่เกาะ Caribbean เพื่อขายต่อให้เป็นทาส


นำแสดงโดย Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélemy, French West Indies (หมู่เกาะในทะเล Caribbean ที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) โตขึ้นอพยพย้ายสู่กรุง Paris ทำงานตัวประกอบละคอนเวที/ภาพยนตร์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 ร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Compagnie des Griots (ถือเป็นคณะของชาวแอฟริกันกลุ่มแรกในฝรั่งเศส) จนกระทั่งควบรวมกับคณะของ Med Hondo เมื่อปี ค.ศ. 1972 เปลี่ยนชื่อเป็น Griot-Shango Company

รับบทชาวชาว Mauritanian หลังเข้าพิธีศีลจุ่ม เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหางานทำ แถมยังถูกพวกคนขาวมองด้วยสายตาดูถูก แสดงความหมิ่นแคลน ใช้คำพูดเหยียดหยาม (Racism) เลวร้ายสุดคือโดนล่อหลอกโดยหญิงผิวขาว ครุ่นคิดว่าคนดำมีขนาดยาวใหญ่ สามารถเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’ พอเสร็จสรรพก็แยกทางไป นั่นคือฟางสุดท้าย แทบอยากระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง

เกร็ด: ทุกตัวละครในหนังจะไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เพียงคำเรียกขานอย่าง Visitor, Afro Girl, White Girl ฯ เพื่อเป็นการเหมารวม ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล

บทบาทของ Liensol ก็คือตัวตายตัวแทนผกก. Hondo เหมารวมผู้อพยพชาวแอฟริกัน เริ่มต้นเดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย เอ่อล้นด้วยพลังใจ คาดหวังจะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่หลังจากอาศัยอยู่สักพัก ประสบพบเห็น เรียนรู้สภาพเป็นจริง ค่อยๆตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้หาใช่สรวงสวรรค์ ตรงกันข้ามราวกับขุมนรก แสดงสีหน้าเคร่งขรึม บึ้งตึ้ง เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด ก่อนแหกปากตะโกน กรีดร้องลั่น ไม่สามารถอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป

ในบรรดากลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritanian ตัวละครของ Liensol ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า ร่างกายกำยำ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าหล่อเหลา กิริยาท่าทาง วางตัวเหมือนผู้มีการศึกษาสูง หลังพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในฝรั่งเศส บังเกิดแรงกระตุ้น ผลักดัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

ผกก. Hondo เก็บหอมรอมริดได้ประมาณ $30,000 เหรียญ เพียงพอสำหรับซื้อกล้อง 16mm ส่วนค่าจ้างนักแสดง-ทีมงาน ทั้งหมดคือผองเพื่อนคณะนักแสดง Compagnie des Griots และ La compagnie Shango มาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ (แถมยังต้องหยิบยืม ซื้อเสื้อผ้า สิ่งข้าวของเครื่องใช้ด้วยเงินส่วนตัว)

เห็นว่าทีมงานมีอยู่แค่ 5 คน ผกก. Hondo, ผู้ช่วยกำกับ Yane Barry, ตากล้อง François Catonné, ผู้ควบคุมกล้อง Denis Bertrand และผู้บันทึกเสียง (Sound Engineer) การทำงานจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งรีบ ให้นักแสดงฝึกซ้อมจนเชี่ยวชำนาญ สำหรับถ่ายทำน้อยเทค (ประหยัดฟีล์ม) รวมระยะเวลาโปรดักชั่นยาวนานถึง 3 ปี

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำมากมาย แต่งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยลูกเล่น หลากหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ปรับเปลี่ยนภาษาภาพยนตร์ไปเรื่อยๆจนไม่สามารถคาดเดา ผู้ชมต้องคอยสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาจุดประสงค์? เคลือบแฝงนัยยะความหมายอะไร? ไม่ใช่เรื่องง่าย เต็มไปด้วยความท้าทาย


ช่วงระหว่าง Opening Credit มีการใช้อนิเมชั่นสองมิติในการเล่าประวัติ ความเป็นมาของชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาว ในตอนแรกยืนค้ำศีรษะ (การกดขี่ข่มเหงในช่วงอาณานิคม) จากนั้นเข้ามาโอบกอด พยุงขึ้นยืน มอบหมวกให้สวมใส่ จากนั้นท้าวไหล่ กลายเป็นพวกพ้องเดียวกัน … จากเสียงหัวเราะกลายเป็นกรีดร้องลั่น

การสวมหมวกสีขาวให้กับชาวผิวสี ดูไม่ต่างจากการล้างสมอง ฟอกขาว (Whitewashing) ถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ตกเป็นเหยื่อพวกฝรั่งเศส ชักนำทางไปไหนก็คล้อยตามไป ค่อยๆถูกกลืนกิน จนสูญสิ้นจิตวิญญาณแอฟริกัน

พิธีศีลล้างบาป (Baptism) หรือพิธีศีลจุ่ม เป็นพิธีกรรมแรกที่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้องรับเพื่อเป็นการล้างบาปมลทิน เพราะชาวคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมา เป็นการล้างบาปกำเนิด และบาปทุกอย่างที่ติดตัวมาก่อนหน้า เพื่อให้กลับไปเป็นบุตรของพระเจ้าและสมาชิกของคริสตจักร

โดยปกติแล้วพิธีศีลจุ่ม จะแฝงนัยยะถึงการถือกำเนิด เกิดใหม่ หรือในบริบทนี้ก็คือกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กำลังจะละทอดทิ้งตัวตนแอฟริกัน ตระเตรียมอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส หรือก็คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่

แต่การอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ดินแดนที่ควรเป็นดั่งสรวงสวรรค์ แท้จริงแล้วนั้นกลับคือขุมนรก ต้องตกอยู่ในความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน เราจึงต้องมองซีเควนซ์นี้ใหม่ในทิศทางลบ ใจความประชดประชัน ต่อต้านศาสนาคริสต์ (Anti-Christ) พระเจ้าจอมปลอม (Anti-God)

ผมมองทั้งซีเควนซ์นี้คือการเล่นละคอน ที่สามารถขบครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์ เริ่มต้นจากกลุ่มชายฉกรรจ์แบกไม้กางเขน ก้าวเดินเข้ามาอย่างสะเปะสะปะ (สามารถสื่อถึงแอฟริกันยุคก่อนหน้าอาณานิคม) จนกระทั่งได้ยินเสียงออกคำสั่ง “French-American-English” จึงเปลี่ยนมาสวมใส่เครื่องแบบ เรียงแถว หน้าตั้ง (กลับหัวไม้กางเขน) ก้าวเดินอย่างเป็นระเบียบ (การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม เข้ามาควบคุม ครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น)

ผู้บังคับบัญชาผิวขาว ยืนอยู่บนแท่นทำตัวสูงส่งกว่าใคร แม้ไม่ได้พูดบอกอะไร เพียงส่งสัญญาณสายตา บรรดานายทหารจึงทำการรบพุ่ง ต่อสู้ เข่นฆ่าศัตรูให้ตกตาย แม้ทั้งหมดคือการเล่นละคอน แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อำนาจบาดใหญ่ เอาเงินมาเป็นสิ่งล่อหลอก ตอบแทน พอการแสดงจบสิ้นก็เก็บเข้ากระเป๋า … เหล่านี้คือสิ่งที่พวกฝรั่งเศสทำกับประเทศอาณานิคม เข้ามาควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น สนองความพึงพอใจ ให้ค่าตอบแทนน้อยนิด แล้วกอบโกยทุกสิ่งอย่างกลับไป

แม้ว่าตอนเข้าพิธีศีลจุ่มจะได้พบเห็นตัวละครของ Robert Liensol แต่หลังจบจากอารัมบท เรื่องราวจะโฟกัสที่ชายคนนี้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพหน้าตรง (Mug Shot) ระหว่างยืนเก๊กหล่อ แสยะยิ้มปลอมๆ โดยรอบทิศทาง … ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพถ่ายกายวิภาคใบหน้าตัวละครลักษณะนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก Vivre sa vie (1962) ของ Jean-Luc Godard

ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย แต่หลังจากเริ่มออกหางาน กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ โดนขับไล่ ไม่ใครว่าจ้าง ภาพช็อตนี้ระหว่างเดินเลียบกำแพงสูงใหญ่ ราวกับหนทางตัน ถูกปิดกั้น มีบางสิ่งอย่างกั้นขวางระหว่างคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน

ตลอดทั้งซีเควนซ์ระหว่างการหางานทำ สังเกตว่ามีการดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า แถมยังไร้เพลงประกอบ ซึ่งสร้างความหงุดหงิด กระวนกระวาย บรรยากาศอัดอั้น ตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องเข้ากับความรู้สึกตัวละคร ผิดหวังอย่างรุนแรง นี่นะหรือสรวงสวรรค์ที่ฉันใฝ่ฝัน

วันหนึ่งพอกลับมาถึงห้องพัก เคาะประตูเพื่อนข้างห้อง เหมือนตั้งใจจะขอคำปรึกษาอะไรบางอย่าง แต่พอเปิดประตูเข้ามาพบเห็นสามี-ภรรยา ต่างคนต่างนั่งดูโทรทัศน์เครื่องของตนเอง ไม่ได้สนใจใยดี แถมยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ กล้องส่ายไปส่ายมา ฟังอะไรไม่ได้สดับ เลยขอปิดประตูดีกว่า … นี่เป็นการสะท้อนสภาพสังคมชาวยุโรป ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้สนใจกันและกัน เหมือนมีกำแพงบางๆกีดขวางกั้น แตกต่างจากวิถีแอฟริกันที่เพื่อนบ้านต่างรับรู้จัก ชอบช่วยเหลือกันและกัน

คาดเดาไม่ยากว่า สิ่งที่ตัวละครของ Liensol ต้องการขอคำปรึกษา ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็เรื่องหางาน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจใยดี ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง ศรัทธาสั่นคลอน ซึ่งหนังใช้การเทศนาสั่งสอนของบาทหลวงจากโทรทัศน์ (ของคู่สามี-ภรรยาที่กำลังถกเถียงกันนั้น) พูดแทนความรู้สึกตัวละครออกมา

หนังไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเลยนะ จู่ๆตัวละครของ Liensol ก็กลายเป็นนักสัมภาษณ์ พูดคุยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานแอฟริกัน ผมเลยคาดเดาว่าชายคนนี้อาจคือรัฐมนตรีแรงงาน (หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง) ซึ่งระหว่างอธิบายแนวคิด เป้าหมายของหน่วยงานรัฐ จะมีการซูมเข้า เบลอใบหน้า ให้สอดคล้องประโยคคำพูดว่า “อีกไม่นานพวกคนดำจะกลายเป็นคนขาว” เลือนลางระหว่างสีผิว/ชาติพันธุ์

ทางกายภาพ แน่นอนว่าคนผิวดำไม่มีทางกลายเป็นผิวขาว (ถ้าไม่นับการศัลยกรรม) แต่คำพูดดังกล่าวต้องการสื่อถึงชาวแอฟริกันที่จะถูกเสี้ยมสอน ผ่านการล้างสมอง เรียนรู้จักแนวคิด ซึมซับวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา รวมถึงอุดมการณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้น บุคคลดังกล่าวย่อมกลายสภาพเป็น(หุ่นเชิดชักของ)ฝรั่งเศสโดยปริยาย

ระหว่างการสัมภาษณ์ดำเนินไป หลายครั้งจะมีแทรกภาพสำหรับขยับขยายหัวข้อการสนทนา ฉายให้เห็นว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ยกตัวอย่าง

  • ระหว่างกำลังอธิบายถึงวิธีการล้างสมองชาวแอฟริกัน ก็แทรกภาพการศึกษาในห้องเรียน กำลังเสี้ยมสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสง่ายๆ
  • พอเล่าถึงชาวแอฟริกันที่อพยพเข้ามาในฝรั่งเศสมากขึ้น ก็ปรากฎภาพบรรดาชายฉกรรจ์ยืนเรียงรายหลายสิบคน เพื่อจะสื่อว่าพวกนี้แหละที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน
  • ระหว่างให้คำแนะนำว่าชาวแอฟริกันควรได้รับการตรวจสอบ คัดเลือก ว่าจ้างงานก่อนเดินทางสู่ฝรั่งเศส ฉายให้เห็นภาพความพยายาม(ของตัวละครของ Liensol)มาตายเอาดาบหน้า เลยไม่สามารถหางานทำได้สักที!
  • และเมื่อพูดถึงวิวัฒนาการที่ไม่สามารถหยุดยับยั้ง ยังไงชาวแอฟริกันย่อมแห่กันอพยพเข้าสู่ฝรั่งเศส แทรกภาพตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาต่อรอง ขอจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้หยุดยั้งการชุมนุมประท้วง แต่กลับถูกโต้ตอบกลับว่ามันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อบทสัมภาษณ์กล่าวถึง ‘Black Invasion’ จะมีการร้อยเรียงภาพบรรดาผู้อพยพชาวแอฟริกัน แทรกซึมไปยังสถานที่ต่างๆทุกแห่งหนในฝรั่งเศส คลอประกอบบทเพลงชื่อ Apollo เนื้อคำร้องเกี่ยวกับยานอวกาศอพอลโล่ที่ถูกส่งไปสำรวจ/ยึดครองดวงจันทร์ (=ชาวแอฟริกันเข้ายึดครองฝรั่งเศส)

  • ชายคนหนึ่งพบเห็นเล่น Pinball นี่ถือเป็นการเคารพคารวะ French New Wave และแฝงนัยยะสะท้อนถึงผู้อพยพชาวแอฟริกันในฝรั่งเศส ดำเนินชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้เป้าหมาย เพียงเอาตัวรอดไปวันๆ
  • ระหว่างร้อยเรียงภาพบนท้องถนน มีกลุ่มชายฉกรรจ์จับจ้องมองเครื่องประดับ สร้อยคอหรูหรา ทำราวกับว่ากำลังตระเตรียมวางแผนโจรกรรม (คล้ายๆแบบพวกจักรวรรดินิยมที่เข้าไปกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอาณานิคม)
  • และอีกกลุ่มชายฉกรรจ์ ทำเหมือนบุกรุกเข้าไปยังคฤหาสถ์หรูหลังหนึ่ง (นี่ก็สอดคล้องเข้ากับแนวคิด ‘black invasion’ ตรงๆเลยนะ)

พ่อ-แม่ต่างผิวขาว แต่กลับมีบุตรผิวสี? หลายคนอาจครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงคบชู้นอกใจ สงสัยแอบร่วมเพศสัมพันธ์กับชาวแอฟริกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนะครับ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้อยู่ … แต่นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นอาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจ

ยีนที่ควบคุมลักษณะผิวขาวเป็นแอลลีลด้อย (Recessive Allele) ส่วนยีนที่ควบคุมผิวดำเป็นแอลลีลเด่น (Dominant Allele) หมายความว่า ผิวขาวจะปรากฏออกมาได้ก็ต่อเมื่อแอลลีลด้อยจากทั้งฝ่ายบิดาและมารดาจับคู่กันหรือเป็นพันธุ์แท้ (Homozygous), ขณะที่ผิวดำปรากฏได้ทั้งในกรณีที่แอลลีลเด่นจับคู่กัน และแอลลีลเด่นจับคู่กับแอลลีลด้อยหรือพันธุ์ทาง (Heterozygous) หากเป็นการข่มสมบูรณ์ (Complete Dominance) ทว่ายีนที่ควบคุมลักษณะทางสีผิวยังมีการข่มไม่สมบูรณ์ (Incomplete dominance) ซึ่งทำให้มีการแสดงลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ส่งผลให้มนุษย์มีสีผิวเข้ม-อ่อน แตกต่างกันไป

จริงอยู่ว่าชายชาวแอฟริกันมักมีอวัยวะเพศ(โดยเฉลี่ย)ขนาดใหญ่ยาวกว่าคนปกติ แต่มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีลีลารสรักอันโดดเด่น ความสนใจใน “Sexual Fantasy” ของหญิงชาวฝรั่งเศสคนนี้มีคำเรียกว่า “Sexual Objectification” มองชายชาวแอฟริกันไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ พึ่งใจส่วนบุคคล

แซว: ผมว่าคนไทยน่าจะสังเกตได้ว่ารูปภาพด้านหลัง มันคือลวดลายไทย หาใช่ศิลปะแอฟริกัน ส่วนลำตัวสีดำเกิดจากการถูหิน (Stone Rubbing)

ชาวแอฟริกันชื่นชอบการร้องรำทำเพลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ระหว่างเฮฮาสังสรรค์ สังเกตว่าชายคนนี้ทำการแยกเขี้ยวเหมือนแวมไพร์ดูดเลือด ชวนให้นึกถึงพวกลัทธิอาณานิคม ที่สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ดูดเลือดดูดเนื้อชาวแอฟริกัน ไม่แตกต่างกัน!

ปล. แทบทุกบทเพลงในหนังจะมีการขึ้นคำแปลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อคำร้อง มีความสอดคล้องเรื่องราว/ตัวละครขณะนั้นๆ แต่จะมีบทเพลงหนึ่งที่ชายผิวสีบรรเลงพร้อมกีตาร์เบาๆ อาจไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสเลยไม่มีคำแปล แต่ผมพยายามเงี่ยหูฟัง เหมือนจะได้ยินคำร้อง Soleil Ô อาจจะแค่หูแว่วกระมัง … ชื่อหนังมาจากบทเพลงนี้ มันคงแปลกถ้าไม่มีการแทรกใส่เข้ามา

ภายหลังการสังสรรค์ปาร์ตี้ ตัวละครของ Liensol ในสภาพมึนเมา กลับมาถึงห้องทิ้งตัวลงนอน กลิ้งไปกลิ้งมา จากนั้นแทรกภาพความฝัน อันประกอบด้วย …

ในห้องเรียนที่เคยเสี้ยมสอนภาษาฝรั่งเศสวันละคำ คราวนี้อาจารย์นำรูปปั้นคนขาวมาตั้งวางเบื้องหน้านักเรียนผิวสี จากนั้นเหมือนพยายามทำการสะกดจิต ล้างสมอง ปลูกฝังแนวคิดโน่นนี่นั่น เพื่อให้พวกเขาทอดทิ้งจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน แล้วเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็นคนขาว … กระมังนะ

ความฝันถัดมา ตามความเข้าใจของผมก็คือ หนึ่งในชายฉกรรจ์ได้รับเลือกตั้’เป็นประธานาธิบดี Mauritania แต่แท้จริงแล้วก็แค่หุ่นเชิดฝรั่งเศส บอกว่าจะรับฟังคำแนะนำรัฐบาล(ฝรั่งเศส) รวมถึงนำเอาแผนการ ข้อกฎหมายที่ได้รับไปประกาศใช้ ไม่ได้มีความสนใจใยดีประชาชนในชาติแม้แต่น้อย … พอได้ยินสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยพลัน!

แต่ถึงแม้สะดุ้งตื่นขึ้น หนังยังคงแทรกภาพความฝันถัดๆมา ราวกับว่ามันคือภาพติดตราฝังใจ ยังคงจดจำได้ไม่รู้ลืม

  • อนิเมชั่นแผนที่ทวีปแอฟริกา ทำสัญลักษณ์การอพยพย้ายถิ่นฐานจากทางตอนใต้ขึ้นเบื้องบน
  • กล้องเคลื่อนลงจากรูปปั้นสีขาว จากนั้นชายชาวฝรั่งเศส(ที่กำลังจูงสุนัข)กล่าวถ้อยคำ “You are branded by Western civilization. You think white.”
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง (น่าจะสื่อถือความเป็นแอฟริกันที่พังทลาย) ร่างกายแปะติดด้วยธนบัตร ล้อกับคำกล่าวของชายฝรั่งเศสก่อนหน้า คุณได้ถูกตีตราจากอารยธรรมตะวันตก
  • ระหว่างวิ่งเล่นกับสุนัข ตัวละครของ Liensol กำหมัด ยกมือขึ้น เป็นสัญญาณให้กระโดด นี่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกันที่ถูกล้างสมอง (ให้กลายเป็นคนขาว) เชื่องเหมือนสุนัข พร้อมปฏิบัติทำตามคำสั่ง
    • แม้เป็นสุนัขคนละตัวกับของชายชาวฝรั่งเศส แต่ถือว่าแฝงนัยยะเดียวกัน

พอฟื้นคืนสติขึ้นมา ตัวละครของ Liensol ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง จัดการเขวี้ยงขว้างสิ่งข้าวของในห้องพัก พยายามระบายอารมณ์อัดอั้น พอสามารถสงบสติอารมณ์ ก้าวออกเดินอย่างเร่งรีบ เลียบทางรถไฟ มาถึงยังบริเวณชานเมืองที่ยังเป็นผืนป่า พบเจอสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชักชวนมาร่วมรับประทานอาหารกับบุตรชาย

หลายคนอาจรู้สึกว่าซีเควนซ์นี้ดูผิดที่ผิดทาง แต่นั่นคือความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการนำเสนอความผิดที่ผิดทางของชาวแอฟริกันที่อพยพย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ผืนแผ่นดิน/บ้านเกินของตนเอง เลยถูกเด็กๆกลั่นแกล้งสารพัด (มองเผินๆเหมือนการเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แต่เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงพฤติกรรมหมิ่นแคลน ดูถูกเหยียดหยามของชาวฝรั่งเศส) ท้ายสุดเลยไม่สามารถอดรนทน ก้าวออกวิ่งหนีอีกครั้ง … กล่าวคือเป็นซีเควนซ์ที่ทำการสรุปโดยย่อเรื่องราวทั้งหมดของหนัง (ในเชิงจุลภาค)

ผมตั้งชื่อซีเควนซ์นี้ว่า ป่าแห่งการกรีดร้อง (Forest of Scream) เมื่อตัวละครของ Liensol วิ่งเข้ามาในผืนป่าแห่งนี้ ราวกับหูแว่ว ได้ยินเสียง(กรีดร้อง)ดังกึกก้องจากทั่วทุกสารทิศ ไม่นานนักเขาก็ส่งเสียงโต้ตอบ ระบายความอัดอั้นที่อยู่ภายในออกมา

และเมื่อมาทรุดนั่งยังโขดหิน/ขอนไม้ใหญ่ ดูราวกับรากฐานชาวแอฟริกัน แต่ละกิ่งก้านมีรูปภาพวาดนักปฏิบัติ (ที่เหมือนจะถูกลอบสังหาร) ซึ่งระหว่างกล้องถ่ายให้เห็นใบหน้าบุคคลสำคัญเหล่านั้น บางครั้งซ้อนภาพเปลวไปกำลังเผาไหม้ และบางครั้งแทรกภาพถ่ายแบบชัดๆ ผมพอดูออกแค่ Patrice Lumumba (Congo) และ Mehdi Ben Barka (Morroco) … นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลากหลายประเทศในแอฟริกัน ต่างประสบปัญหา(การเมือง)คล้ายๆกัน เก็บกดอารมณ์อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสมอภาค และภารดรภาพ ปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคมอย่างแท้จริง

ตัดต่อโดย Michèle Masnier, Clément Menuet

หนังนำเสนอเรื่องราวกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania (ประมาณ 9-10 คน) หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศส แต่โดยส่วนใหญ่เล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครของ Robert Liensol (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นด้วยด้วยรอยยิ้ม ความคาดหวัง ก่อนค่อยๆตระหนักถึงสภาพเป็นจริง เลยตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง

  • อารัมบท
    • Opening Credit ทำออกมาในลักษณะอนิเมชั่นสองมิติ เล่าอธิบายปรัมปรา ต้นกำเนิดชาวแอฟริกา
    • ชายฉกรรจ์ชาว Mauritania เข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์
    • ชายฉกรรจ์ทำการแสดงละคอน ต่อสู้ด้วยไม้กางเขน
  • เดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส
    • พยายามมองหางานทำ แต่ไปที่ไหนกลับไม่ใครยินยอมรับเข้าทำงาน
    • พบเห็นเพื่อนข้างห้องต่างคนต่างดูโทรทัศน์ แล้วเกิดการโต้ถกเถียงอย่างรุนแรง
    • มีการพูดคุยสัมภาษณ์ถึงแรงงานแอฟริกัน
      • ตัดสลับกับห้องเรียนสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
      • ตัวละครของ Liensol ไม่สามารถหางานทำได้สักที ถึงขีดสุดแห่งความสิ้นหวัง
      • พบเห็นตัวละครของ Liensol ทำงานในสหภาพแรงงาน พบเห็นชายคนหนึ่งต้องการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการยุติชุมนุมประท้วง
  • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กับความฝันที่พังทลาย
    • ร้อยเรียงภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ที่ต่างตกงาน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน
    • ตัวละครของ Liensol รวมกลุ่มชายกรรจ์ชาว Mauritania เพื่อพูดคุย หาข้อเรียกร้องต่อทางการ
    • ร้อยเรียงสารพัดอคติ (Racism) ของชาวฝรั่งเศส ต่อพวกแอฟริกัน
    • หญิงผิวขาวชาวแอฟริกัน ทำการเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Liensol ร่วมรักหลับนอน เพื่อเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’
    • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ระหว่างนั่งดื่มในบาร์ ร่วมกันร้องทำเพลง Soleil Ô
  • ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด
    • ค่ำคืนนั้นกลับมายังห้องพัก ตัวละครของ Liensol นอนหลับฝัน
      • คาบเรียนที่อาจารย์คนขาว พยายามล้างสมองชาวแอฟริกัน
      • หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าว
      • ภาพกราฟฟิกการอพยพของชาวแอฟริกัน
      • ราวกับเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ในเศษซากปรักหักพัง ร่างกายถูกแปะด้วยเงิน
      • วิ่งเล่นกับสุนัข สั่งให้มันนั่งลง
    • เมื่อตื่นขึ้นมา ระบายอารมณ์อัดอั้น ทำลายสิ่งข้าวของในห้อง
    • ก้าวออกเดิน ไปถึงยังผืนป่า ได้รับชักชวนจากชาวบ้าน รับประทานอาหารกับครอบครัว
    • วิ่งกลับเข้าป่าอีกครั้ง ตะโกนโหวกเหวก กรีดร้องลั่น ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง

วิธีการดำเนินเรื่องที่ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เอาจริงๆไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ (ยกตัวอย่าง Citizen Kane (1941) ก็มีทั้ง Newsreel, บทสัมภาษณ์นักข่าว, หวนระลึกความทรงจำ ฯ) แค่ว่ามันไม่มากมายแทบจะทุกซีเควนซ์เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างความท้าทายในการรับชมอย่างมากๆ แต่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการกระทำ ย่อมตระหนักถึงอัจฉริยภาพของผกก. Hondo สมฉายา “Founding Father of African Cinema” สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนชาวแอฟริกัน


สำหรับเพลงประกอบก็เต็มไปด้วยความหลากหลายเช่นเดียวกับวิธีการดำเนินเรื่อง อาทิ เพลงพื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคำร้องฝรั่งเศส, บรรเลงกีตาร์ Folk Song ฯ ทั้งหมดเรียบเรียงโดย George Anderson ศิลปินสัญชาติ Cameroonian และเนื้อร้องมักมีความสอดคล้องเรื่องราว หรือเคลือบแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดเพลงประกอบไม่ค่อยจะได้ ค้นพบเพียง Apollo บทเพลงเกี่ยวกับยานอวกาศที่ส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ จุดประสงค์เพื่อทำการยึดครอบครอง ‘Colonization’ ร้อยเรียงเข้ากับภาพชาวแอฟริกันเดินทางไปยังสถานที่สำคัญๆในฝรั่งเศส ดูเหมือนการบุกรุกราน ‘Black Invasion’ … เราสามารถเปรียบเทียบเนื้อคำร้อง มนุษย์ส่งยานอวกาศไปยึดครองดวงจันทร์ = ชาวแอฟริกันอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส

Some men went
Apollo, to the Moon to look for summer
Apollo, they challenged the cosmos
Apollo, they sang without echo
Apollo, leaving the Earth and its misery

I don’t know why
Apollo, they went round in circles
Apollo, did they want to discover
Apollo, diamonds or sapphires?
Apollo, leaving the Earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

They left without passports
Apollo, for the unknown, the infinite
Apollo, they could not resist
Apollo, within our limited frontiers
Apollo, leaving the earth and its misery

But the wars continue
Apollo, on the earth between tribes
Apollo, and hunger already has a hold
Apollo, in towns far and wide
Apollo, on this earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

ไม่ใช่แค่บทเพลงที่โดดเด่น แต่หลายๆครั้งความเงียบงัน รวมถึงการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ก็แฝงนัยยะอย่างลุ่มลึกล้ำ ยกตัวอย่าง

  • เมื่อตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส พยายามออกหางานทำ ช่วงนี้แทบจะไม่มีเพลงประกอบ สถานที่แห่งนี้มีเพียงความเงียบงัน สร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน หาใช่สรวงสวรรค์ดั่งที่ใครต่อใครว่ากล่าวไว้
  • สามี-ภรรยา จากขึ้นเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง ค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นกรีดร้อง ฟังไม่ได้สดับ ตามด้วยเสียงเทศนาของบาทหลวงในโทรทัศน์ สามารถสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร
  • ระหว่างที่หญิงชาวฝรั่งเศสทำการเกี้ยวพาราสี ล่อหลอกให้ตัวละครของ Liensol ตกหลุมรัก ผู้ชมจะได้ยินเสียงสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ เรียกร้องหาคู่ผสมพันธุ์
  • หลังถูกหญิงชาวฝรั่งเศสหลอกให้รัก ซีนถัดมาตัวละครของ Liensol ระหว่างยืนรอรถไฟ เสียงเครื่องยนต์ช่างบาดหู เจ็บปวดใจยิ่งนัก!
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง แต่ได้ยินผู้คนกรีดร้อง ตะโกนโหวกเหวก เสียงปืน ระเบิด ตึกรามบ้านช่องถล่มทลาย
  • ช่วงท้ายระหว่างออกวิ่งเข้าไปในป่า (Forest of Scream) ได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาโดยรอบ จนตนเองต้องเลียนแบบตาม

ตั้งแต่โบราณกาล ชาวแอฟริกันให้ความเคารพนับถือสุริยเทพ หรือเทพแห่งพระอาทิตย์ เชื่อว่าอวตารลงมาเป็นผู้นำชนเผ่าปกครองชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาวในช่วงศตวรรษ 16-17 ทำการยึดครอบครอง แล้วทำการ ‘Colonization’ พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ บีบบังคับให้ล้มเลิกนับถือเทพเจ้า เข้าพีธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์ แต่งตั้งตนเองให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่

ผมมองความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการเปรียบเทียบฝรั่งเศส = สุริยเทพองค์ใหม่ ที่แม้ชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Neo-Colonialism ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง ปรับเปลี่ยนมาแทรกแซงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

หนึ่งในนั้นคือการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งโอกาส สถานที่สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 60s มีชาวแอฟริกันจำนวนมหาศาลตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทำทุกวิถีทางเพื่อข้ามน้ำข้ามทะเล เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

แต่พอมาถึงดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ แทบทั้งนั้นจะค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้แม้งไม่มีอะไรเหมือนดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ ไร้งาน ไร้เงิน แถมยังถูกชาวฝรั่งเศสมองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม (Racism) พยายามขับไล่ ผลักไส อยากจะเดินทางกลับบ้านเกิดแต่ไม่รู้ทำยังไง จำต้องอดกลั้นฝืนทน รวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และภารดรภาพ

แซว: Soleil Ô (1970) ราวกับภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน อธิบายความพยายามชวนเชื่อ สร้างภาพให้ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้น … ไม่ต่างจากขุมนรกบนดินสำหรับชาวแอฟริกัน!

สำหรับผกก. Hondo ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ลุ่มหลงคำชวนเชื่อ อพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส โชคยังดีพอหาทำงาน สะสมเงินทอง เก็บหอมรอมริด สรรค์สร้าง Soleil Ô (1970) เพื่อเป็นบทเรียน/คำตักเตือนแก่ชาวแอฟริกันที่ครุ่นคิดจะเดินทางมาแสวงโชค รวมถึงพยายามให้คำแนะแนวทางว่าควรหางานให้ได้ก่อนย้ายมา (ผ่านพวกบริษัทจัดหาแรงงาน) อย่าคาดหวังมาตายเอาดาบหน้า เพราะอาจจะได้ดับดิ้นสิ้นชีวินเข้าจริงๆ


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในสาย International Critics’ Week เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม เลยมีโอกาสเดินทางไปฉายยังประเทศต่างๆมากมาย รวมถึง Quintette Theater ณ กรุง Paris ยาวนานถึงสามเดือนเต็ม! ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ผกก. Hondo มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆไป

Soleil Ô (1970) คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ได้รับการบูรณะในโครงการ African Film Heritage Project ริเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย The Film Foundation (ของผกก. Martin Scorsese) ร่วมกับ Pan African Federation of Filmmakers และองค์การ UNESCO เพื่อซ่อมแซมฟีล์มหนังเก่าจากทวีปแอฟริกันสู่สายตาชาวโลก

ฟีล์มต้นฉบับ 16 mm ของหนังมีความเสียหายหนักมากๆ จนต้องนำเอาฟีล์มออกฉาย 35mm มาแปะติดปะต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วทำการบูรณะ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Hondo สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 3 ประกอบด้วย Dos monjes (1934), Soleil Ô (1970) และ Downpour (1972)

ระหว่างรับชม ผมมีความก้ำๆกึ่งๆว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ฉงนสงสัยว่าจะทำออกมาให้สลับซับซ้อน ท้าทายผู้ชมไปถึงไหน จนกระทั่งซีเควนซ์ที่ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) นั่นสร้างความสยดสยอง ขนลุกขนพอง แผดเผาทรวงใน เข้าใจอารมณ์เกรี้ยวกราดของชาวแอฟริกัน อยากแหกปากกรีดร้องลั่น ไม่ต่างจากตอนจบของหนัง

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศเหนือจริง (Surrealism) คำอธิบายแนวคิดจักรวรรดินิยม (Colonialism) สารพัดการดูถูกเหยียดหยาม (Racism) ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification)

คำโปรย | Soleil Ô แปะติดปะต่อวิธีการดำเนินเรื่องอันหลากหลาย สไตล์ผู้กำกับ Med Hondo เมื่อฝรั่งเศสกลายเป็นสุริยันดวงใหม่ แต่กลับแผดเผา มอดไหม้ทรวงในชาวแอฟริกัน
คุณภาพ | โอ้ สุริยั
ส่วนตัว | แผดเผาทรวงใน

La noire de… (1966)


Black Girl (1966) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥

หญิงสาวผิวดำชาว Senegalese ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส วาดฝันดินแดน ‘The Wizard of Oz’ แต่กลับถูกเจ้านายชี้นิ้วออกคำสั่ง กลายเป็นขี้ข้ารับใช้ เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism)

ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส La noire de… ใครเคยรับชม The Earrings of Madame de… น่าจะมักคุ้นกับการใช้คำว่า de… เพื่อจะสื่อถึงใครก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจง ระบุชื่อ-สกุล, แต่ชื่อภาษาอังกฤษ Black Girl มันช่างธรรมดาสามัญ ไร้ระดับ เหมือนคนแปล/ค่ายหนังไม่ต้องการให้ค่าอะไรใดๆภาพยนตร์เรื่องนี้!

If Africans do not tell their own stories, Africa will soon disappear.

Ousmane Sembène

สาธารณรัฐเซเนกัล (Republic of Senegal) แม้ได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากอาณานิคมฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1960 แต่ใช่ว่าทุกสิ่งอย่างจะหวนกลับสู่สภาวะปกติ ยังคงรับอิทธิพล แนวคิด วิถีดำรงชีวิต … ประชาชนที่ถูกล้างสมองไปแล้ว ยากยิ่งนักจักมีความครุ่นคิดอ่านเป็นตัวของตนเอง

Black Girl (1966) ถือเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกๆ ไม่ใช่แค่ของประเทศเซเนกัล แต่ยังทั้งทวีปแอฟริกา! สร้างขึ้นในยุค Post-Colonialism นำเสนอผ่านมุมมองหญิงชาวแอฟริกัน ใจความต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) และยังสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติ Prix Jean Vigo นั่นทำให้ผู้กำกับ Ousmane Sembène ได้รับการยกย่อง “Father of African cinema”

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันมีเพียงอารมณ์เกรี้ยวกราดของผู้สร้าง ก็พอเข้าใจอยู่ว่าการเป็นประเทศอาณานิคม มันคงไม่น่าอภิรมณ์ สะสมความอัดอั้น แต่การนำเสนอเรื่องราวเพียงแง่มุมเดียว พยายามชี้นำความรู้สึกนึกคิดผู้ชม ผลลัพท์ไม่ต่างจากหนังชวนเชื่อ (Propaganda) สักเท่าไหร่


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) แปลว่า The Wagoner

ขอกล่าวถึง Borom Sarret (1963) สักหน่อยก่อนแล้วกัน! ต้องถือว่าคือภาพยนตร์เรื่องแรกอย่างแท้จริง สร้างโดยชาวแอฟริกัน บนผืนแผ่นดินแอฟริกา ภายหลังจาก Post-independence ร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันของคนขับเกวียน/รถลาก (ชนชั้นทำงาน/Working Class) ในกรุง Dakar พบเห็นความยากจนค้นแค้น หาเช้ากินค่ำอย่างยากลำบาก ท้องถนนเต็มไปด้วยมิจฉาชีพ แม้แต่คนรวย/พวกฝรั่งเศส อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หรูหรา ยังมีความฉ้อฉล แบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน … นี่เป็นเรื่องที่ผมอยากแนะนำให้หารับชม คุณภาพน่าประทับใจกว่า Black Girl (1966) ด้วยซ้ำนะ! ร้อยเรียงภาพเซเนกัลในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’ ได้อย่างงดงาม และน่าเศร้าสลดใจ

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Black Girl (1966) นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อครั้นผกก. Sembène พบเจอหญิงสาวชาว Senegalese เล่าว่าตนเองได้รับการว่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก แต่พอเดินทางถึงฝรั่งเศสกลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส จึงตัดสินใจหลบหนีขึ้นเรือกลับบ้าน

In Senegal, I met a girl who had worked as a domestic servant for a French family in Antibes. She had been promised a job as a nanny, but she was treated like a slave. I was struck by her story, and I decided to make a film about it.

“Black Girl” is based on a real incident that I witnessed, but it is also a story that is familiar to many Africans who have experienced the exploitation and mistreatment of colonialism.

Ousmane Sembène

แม้เคยมีประสบการณ์สร้างหนังสั้น Borom Sarret (1963) แต่ภาพยนตร์ขนาดยาวนั้นแตกต่างออกไป นั่นทำให้ Sembène ค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เซเนกัล โดยไม่รู้ตัวเรียกได้ว่าถูกยึดครอง ‘colonized’ โดยฝรั่งเศสไปตั้งแต่ก่อนหน้าการปลดแอก!

กล่าวคือเมื่อตอนยังเป็นประเทศอาณานิคม ฝรั่งเศสมีการจัดตั้งสถาบัน Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema (CNC) สำหรับควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนชาว Senegalese ให้รู้จักวิธีสร้างภาพยนตร์ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ ขณะเดียวกันก็แอบสอดแทรกแนวคิด วัฒนธรรม ปลูกฝังทัศนคติหลายๆอย่างใน ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ … ภายหลังจากเซเนกัลได้รับการปลดแอก สองสถาบันดังกล่าวกลับยังมีรากฐานมั่นคง ใครครุ่นคิดสร้างภาพยนตร์ก็จำต้องผ่านการพิจารณา ตรวจสอบเนื้อหา ถึงได้รับอนุมัติงบประมาณ

แน่นอนว่า Black Girl (1966) ไม่มีทางผ่านการพิจารณาของ Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Sembène จึงก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง Filmi Domirev (จริงๆก็ตั้งแต่สร้างหนังสั้น Borom Sarret (1963)) และแสวงหางบประมาณเพิ่มเติมจาก Les Actualités Françaises

และการจะถ่ายทำภาพยนตร์ในฝรั่งเศส กฎหมายระบุว่าต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Professional Card คล้ายๆกับ Green Card) แต่ผู้กำกับ Sembène ไม่เคยอยู่ภายใต้ระบบสตูดิโอ แถมมาจากอดีตประเทศอาณานิคม ต้องขอหนังสือจากต้นทางซึ่งก็คือ Bureau du Cinéma หรือ CNC เท่านั้น! … วิธีการหลบหลีกก็คือทำโปรดักชั่น Black Girl (1966) ให้ความยาวไม่เกิน 60 นาที (ปรับเปลี่ยนจากแผนการเดิม 70-90 นาที) ยุคสมัยนั้นในฝรั่งเศส น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงถือเป็นหนังสั้น ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน


เรื่องราวของ Gomis Diouana (รับบทโดย Mbissine Thérèse Diop) หญิงสาวชาว Senegalese ฐานะยากจน ระหว่างกำลังมองหางาน ได้รับเลือกจาก Madame พูดคุยกันว่าจะให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ดูแลลูกๆของเธอทั้งสาม พบเห็นความขยันขันแข็ง เลยชักชวนเดินทางขึ้นเรือสู่ฝรั่งเศส

แต่พอมาถึงฝรั่งเศส เธอกลับอาศัยอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์ ถูกบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น กลายเป็นหญิงรับใช้ หาใช่พี่เลี้ยงเด็กอย่างเคยตกลงกันไว้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งแสดงความไม่พึงพอใจ อารยะขัดขืน ปฏิเสธพูดคุย กระทำอะไรใดๆ จากนั้นโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ก่อนตัดสินใจอัตวินิบาต


Mbissine Thérèse Diop (เกิดปี 1949) นักแสดงสาวชาว Senegalese เกิดที่ Dakar บิดาเป็นมุสลิม มารดานับถือคาทอลิก โตขึ้นทำงานช่างตัดเย็บเสื้อผ้า วันหนึ่งได้รับคำท้าทายจากเพื่อนสนิท เลยตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนสอนการแสดง Ecole des Arts de Dakar (กลางวันทำงานเย็บผ้า, กลางคืนร่ำเรียนการแสดง) เป็นลูกศิษย์ของ Robert Fontaine (ที่ก็ร่วมแสดงภาพยนตร์ Black Girl) โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้พบเจอโดยผู้กำกับ Ousmane Sembène สร้างความประทับใจตั้งแต่ทดสอบหน้ากล้องครั้งแรก แม้จะถูกต่อต้านจากครอบครัว แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจ

รับบท Gomis Diouana หญิงสาวชาว Senegalese ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสด้วยความมุ่งมั่น คาดหวัง เพ้อใฝ่ฝัน แต่เมื่อมาถึงกลับถูกบีบบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นได้รับการว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไฉนทุกสิ่งอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง

I think Mbissine Thérèse Diop was extraordinary in the film. She was not a professional actress, but she was intelligent and had an innate understanding of the character. I didn’t give her any instructions for the role, but just let her develop it naturally. She was able to convey the character’s emotions and struggles in a very authentic way. I think she was the perfect choice for the role.

Ousmane Sembène

ภาพลักษณ์ของ Diop รวมถึงสไตล์การแต่งตัว ทำให้เธอดูเหมือนไฮโซ สูงศักดิ์ แถมมีความเริดเชิด น้ำเสียงเย่อหยิ่ง นั่นไม่ใช่ลักษณะของสาวรับใช้เลยสักนิด! กอปรกับทัศนคติ ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ไม่ยอมพูดเอ่ยความใน (อาจจะมองว่าสื่อสารไม่เข้า) จู่ๆแสดงอารยะขัดขืน แล้วกระทำอัตวินิบาต ปฏิเสธก้มหัว ถูกควบคุมครอบงำ เป็นขี้ข้าทาสผู้ใด … ไม่แปลกที่ผู้ชมชาวยุโรป & อเมริกัน จะจับต้องความรู้สึกตัวละครไม่ได้สักเท่าไหร่

ผมเองก็รู้สึกว่าตัวละครค่อนข้างแบนราบ นำเสนอมุมมองฝั่งของเธอเพียงด้านเดียว เอาแต่เก็บกดความรู้สึกนึกคิด แทนที่พูดบอกปัญหา แสดงความต้องการแท้จริงออกมา อาชีพคนรับใช้มันผิดอะไร? นั่นเพราะผกก. Sembène ต้องการให้เธอเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศอาณานิคม ถูกกดขี่ข่มเหงเยี่ยงทาสจากฝรั่งเศส … แต่เอาจริงๆนั่นก็ไม่สมจริงเลยสักนิด งานรับใช้ก็แค่ทำอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู มันคือกิจวัตรทั่วๆไป ไม่สามารถสร้างความรู้สึกอัดอั้น ทุกข์ทรมาน ถึงขนาดต้องลุกฮือขึ้นมาแสดงอารยะขัดขืน

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Diop ยังพอมีผลงานการแสดงอื่นๆประปราย แต่อาชีพหลักของเธอคือตัดเย็บเสื้อผ้า พออยู่พอกิน เก็บหอมรอมริด จนสามารถเปิดกิจการร้านของตนเอง


ถ่ายภาพโดย Christian Lacoste ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผกก. Ousmane Sembène มาตั้งแต่ Borom Sarret (1963),

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย (minimalist) ต้องการให้ออกมาดูเป็นธรรมชาติ (Naturalistic) ไม่ได้ใช้เทคนิคภาพยนตร์หวือหวา แต่เหมือนจะมีการปรับความคมเข้มสีขาว-ดำ ให้ดูโดดเด่นชัดเจนขึ้นกว่าปกติ

  • ซีเควนซ์ที่ Dakar, Senegal มักถ่ายทำฉากภายนอก ท้องถนนหนทาง ทำให้พบเห็นความกลมกลืนระหว่างสีขาว-ดำ แทบไม่มีความแตกต่าง
    • เสื้อผ้าหน้าผมของชาว Senegalese มีการออกแบบลวดลายให้ดูละลานตา นั่นคือชุดพื้นเมือง Boubou และสวมผ้าโพกศีรษะ Moussor
  • ผิดกับ Antibes, France อาศัยอยู่แต่ภายในอพาร์ทเม้นท์ สาวใช้(ผิวดำ)ห้อมล้อมด้วยผนังกำแพงสีขาว สามารถสื่อถึงอิทธิพลของคนขาวที่มีมากกว่าคนดำ
    • ชาวฝรั่งเศสมักสวมสูท ไม่ก็ชุดสีพื้น ดูธรรมดาๆ ไม่ได้มีชีวาสักเท่าไหร่
    • ขณะที่ Gomis Diouana ถูกบังคับให้สวมผ้ากันเปลื้อน ชุดแม่บ้าน บางครั้งก็ผ้าคลุมอาบน้ำ แสดงถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเอง

เกร็ด: Special Feature ของ Criterion จะมี ‘Alternate Color Sequence’ เมื่อครั้น Gomis Diouana เดินทางถึงฝรั่งเศส จะถ่ายทำทิวทัศน์สองข้างทางด้วยฟีล์มสี เพื่อมอบสัมผัสคล้ายๆดินแดนหลังสายรุ้ง The Wizard of Oz (1939) แต่ทั้งหมดถูกตัดออกเพื่อให้ได้ความยาวต่ำกว่า 60 นาที

หน้ากาก (African Masks) ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน พบเจอในแถบตะวันตก-กลาง-ใต้ของทวีป สำหรับแสดงวิทยฐานะ, ประกอบพิธีกรรม เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่งงาน เฉลิมฉลอง สังสรรค์ทั่วไป, บ้างใช้เป็นสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณ สิ่งเหนือธรรมชาติ ฯลฯ ส่วนรูปลักษณะมีทั้งมนุษย์-สัตว์-ปีศาจ แล้วแต่วิถีความเชื่อของแต่ละชนเผ่า ชาติพันธุ์

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าหน้ากากของ Diouana มีชื่อเรียกหรือนัยยะสื่อความอะไร แต่ในบริบทของหนังสามารถตีความได้หลากหลาย

  • Diouana เคยอธิบายไว้ว่าหน้ากากคือสัญลักษณ์แทนตนเอง มอบให้ครอบครัวของ Madame แทนคำขอบคุณในการว่าจ้างงาน
    • ตอนแรกตั้งไว้บนชั้นวาง ล้อมรอบด้วยผลงานศิลปะ African Art และหน้ากากชิ้นอื่นๆ สามารถสื่อถึงตัวเธอขณะนี้ที่ยังอยู่เซเนกัล รายล้อมด้วยพรรคพวกพ้องชนชาติเดียวกัน
    • อพาร์ทเม้นท์ที่ฝรั่งเศส หน้ากากแขวนอยู่กึ่งกลางผนังห้อง ไม่มีผลงานศิลปะอื่นห้อมล้อมรอบ สื่อความถึงหญิงสาวตัวคนเดียว ล้อมรอบด้วยคนขาว
    • Diouana พยายามทวงคืนหน้ากาก สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการเรียกร้องอิสรภาพ ทวงคืนความเป็นแอฟริกันจากจักรวรรดิอาณานิคม
  • ช่วงท้ายของหนังเด็กชายสวมหน้ากาก (อันเดียวกับของ Diouana) สามารถสื่อถึงจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน ที่จักติดตามมาหลอกหลอกบรรดาจักรวรรดิอาณานิคม เคยกระทำอะไรไว้กับพวกตน สักวันหนึ่งต้องได้รับการตอบแทนอย่างสาสม

แซว: ในปัจจุบันหน้ากากของชาวแอฟริกัน ได้กลายสภาพเป็นเพียงของฝาก ของที่ระลึก (Souvenir) สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้นเอง

ชายผิวดำกำลังดูดไปป์ก็คือผกก. Ousmane Sembène เป็นคนนำทางชายชาวฝรั่งเศส สู่บ้านของครอบครัว Diouana ซึ่งแฝงนัยยะถึงการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ชักชวนให้ชาวยุโรปพบเห็นวิถีชีวิต ความเป็นไปของชาวแอฟริกัน

ตัดต่อโดย André Gaudier,

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง ความทรงจำ เสียงบรรยายของ Gomis Diouana ตั้งแต่เดินทางมาถึง Antibes, France ทำงานเป็นสาวรับใช้ ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงเด็กอย่างเคยเข้าใจ จึงเริ่มหวนระลึกความหลัง (Flashback) ตั้งแต่แรกพบเจอนายจ้าง ตกหลุมรักแฟนหนุ่ม ชีวิตเคยเอ่อล้นด้วยความหวัง ปัจจุบันทุกสิ่งอย่างกลับพังทลายลง

  • การเดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • Diouana โดยสารเรือมาถึงฝรั่งเศส มีนายจ้างมารอรับ ขับรถชมวิวสองข้างทาง จนกระทั่งมาถึงอพาร์ทเม้นท์
    • กิจวัตรของ Diouana ปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดบ้าน ปรุงอาหารพื้นเมือง ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากคนรับใช้
  • (Flashback) หวนรำลึกความทรงจำที่เซเนกัล
    • Diouana อาศัยอยู่ในสลัม ฐานะยากจน พยายามออกหางานทำ
    • จนกระทั่งพบเจอ Madame ได้รับการว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก
  • ตัดกลับมาปัจจุบัน Diouana เริ่มแสดงอารยะขัดขืน
    • Diouana เริ่มรู้สึกไม่พอใจนายจ้าง
    • ยามเช้าถูกปลุกตื่นอย่างไม่เต็มใจ จึงเริ่มแสดงอารยะขัดขืน ปฏิเสธทำตามคำสั่ง กักขังตนเองอยู่ในห้องนอน
    • Diouana ได้รับจดหมายจากทางบ้าน นายจ้างอาสาเขียนตอบกลับ แต่เธอแสดงอาการไม่พึงพอใจ
  • ความรัก vs. ความสูญเสีย
    • (Flashback) Diouana หวนระลึกถึงแฟนหนุ่มที่เซเนกัล ค่ำคืนร่วมรักหลับนอน ก่อนแยกจากกัน
    • กลับมาปัจจุบัน Diouana พยายามยื้อยักหน้ากาก ปฏิเสธรับเงินนายจ้าง แพ็กเก็บกระเป๋า ก่อนตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต
  • อดีตติดตามมาหลอกหลอน
    • ครอบครัวของ Madame ไม่สามารถอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์หลังนี้ได้อีกต่อไป
    • สามีของ Madame เดินทางไปเซเนกัล เพื่อติดตามหาญาติพี่น้องของ Diouana แต่กลับถูกติดตามโดยเด็กชายสวมหน้ากาก (เดียวกันที่เคยได้รับจาก Diouana) จนต้องรีบเผ่นขึ้นรถหลบหนี

ความที่ผกก. Sembène ร่ำเรียนวิชาภาพยนตร์จากฟากฝั่งสหภาพโซเวียต ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องการตัดต่อ Black Girl (1966) จึงมีลวดลีลา วิธีดำเนินเรื่อง ตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน หวนระลึกความทรงจำ (Flashback) เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงคำมั่นสัญญา(ที่ฝรั่งเศส)เคยให้ไว้ แต่กลับไม่มีอะไรเป็นไปตามความเอ่ยกล่าวสักสิ่งอย่าง!


สำหรับเพลงประกอบไม่มีขึ้นเครดิต แทบทั้งหมดน่าจะคือ ‘diegetic music’ ได้ยินจากเครื่องเล่น วิทยุ ประกอบด้วยดนตรีคลาสสิกกลิ่นอาย French Riviera (เมื่อตอน Diouana เดินทางมาถึงฝรั่งเศสจะได้ยินจากวิทยุบนรถ) และบทเพลงพื้นเมือง Senegalese เวลาเดินตามท้องถนนเซเนกัล มักดังล่องลอยมาจากสักแห่งหนไหน

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดศิลปิน เนื้อคำร้อง ผู้แต่งบทเพลง Ending Song รับรู้แค่ว่าคือภาษา Wolof (ท้องถิ่นของชาว Senegalese) แต่ให้ความรู้สึกเหมือนบทเพลงขับไล่ผี พิธีศพ ส่งวิญญาณคนตายสู่สุขคติ

Black Girl (1966) นำเสนอเรื่องราวหญิงสาวผิวดำชาว Senegalese เดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สถานที่อุดมคติหลังสายรุ้ง ‘The Wizard of Oz’ (ได้รับการปลูกฝังมาเช่นนั้น) แต่สภาพความเป็นจริงได้ประสบพบเจอ กลับถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ไม่ต่างจากคุกคุมขัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง สูญสิ้นอิสรภาพ จึงพยายามแสดงอารยะขัดขืน โต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ปฏิเสธก้มหัวให้เผด็จการ/ลัทธิอาณานิคม

บางคนอาจตีความสิ่งเกิดขึ้นกับ Gomis Diouana คืออาการ ‘cultural shock’ ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม เมื่อบุคคลหนึ่งอพยพย้ายไปอยู่ยังประเทศ/สภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สังคม การดำเนินชีวิตผิดจากบ้านเกิดเมืองนอน อาจสร้างความสับสน รู้สึกไม่คุ้นเคย ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ ปรับตัว แต่ก็มีบางคนที่ไม่สามารถยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง … ในกรณีของ Diouana ยังมองว่าเกิดจากอุปนิสัยเย่อหยิ่งผยอง หลอกตัวเอง ไร้ความอดทน จึงไม่สามารถเปิดใจเข้ากับวิถีโลกสมัยใหม่

ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Sembène ต้องการโจมตีลัทธิอาณานิคมทั้งเก่า-ใหม่ (Colonialism & Neo-Colonialism) โดยให้หญิงสาวผิวดำ Gomis Diouana คือตัวแทน Senegalese เหมารวมถึงชาวแอฟริกัน! เคยได้รับคำมั่นสัญญา(เมื่อตอนประกาศอิสรภาพ)จากฝรั่งเศส/ประเทศเจ้าของอาณานิคม แต่ในความเป็นจริงกลับมีพฤติกรรม ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ เต็มไปด้วยความกลับกลอก ปอกลอก ล่อหลอกมาใช้แรงงาน แล้วกดหัวบีบบังคับเยี่ยงทาส ด้วยคำพูด-สีหน้า-ท่าทางดูถูกเหยียดยาม (Racism)

การแสดงออกที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนักของ Diouana จุดประสงค์เพื่อจำลองสภาพจิตวิทยาบุคคล/ประเทศตกเป็นอาณานิคม ที่จักค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน จากเคยสามารถแต่งกายในสไตล์ตนเอง เปลี่ยนมาสวมใส่ผ้ากันเปื้อน ชุดคนรับใช้ที่ไร้สีสัน จนกระทั่งเหลือเพียงผ้าคลุมอาบน้ำ นอกจากนี้ยังรวมถึงภาษาพูด-อ่าน-เขียนจดหมาย (เซเนกัลใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ) แม้ประเทศได้รับการปลดแอก แต่อะไรอย่างอื่นกลับยังต้องพึ่งพาศัย โดยไม่รู้ตัวถูกยึดครองครอบ (Neo-Colonialism) ด้วยวิธีการอื่นแตกต่างออกไป

อัตวินิบาตของ Diouana คือสัญลักษณ์ความเกรี้ยวกราดของผกก. Sembène ประกาศกร้าวว่าต่อจากนี้ชาว Senegalese รวมถึงแอฟริกันทั้งทวีป! จะไม่ยินยอมก้มหัว ศิโรราบให้พวกคนขาว ต่อจากนี้เราต้องได้รับอิสรภาพทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ ปลดแอกไม่เพียงผืนแผ่นดิน ยังต้องอิทธิพลอื่นๆ รวมถึงลัทธิอาณานิคมใหม่

หน้ากากก็เป็นอีกตัวแทน(ไสยศาสตร์)ของชาวแอฟริกัน จากเคยมอบให้ในฐานะสหาย มิตรแท้ แต่เมื่อถูกทรยศหักหลัง มันจึงกลายสภาพสู่คำสาป คอยติดตามหลอกหลอน สืบทอดต่อรุ่นหลาน-เหลน-โหลน ไม่หลงลืมเหตุการณ์บังเกิดขึ้น และสักวันหนึ่งจักสามารถทวงคืนความยุติธรรม


แม้หนังได้เสียงตอบรับอย่างดีในเซเนกัล และทวีปแอฟริกา แต่เมื่อเข้าฉายยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา กลับเต็มไปด้วยข้อตำหนิ ติเตียน การดำเนินเรื่องที่เชื่องช้า ไร้มิติ เพียงมุมมองด้านเดียว และพยายามชี้นำความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมมากเกินไป

The narration… treats the audience as a group of addlepated schoolchildren. It says what we can see, and then it says it again. It tells us what we are supposed to think and feel, in case we were too dense to get the point.

[Black Girl] has an important point to make, but it is not made with intelligence, with grace, or even with much coherence.

Renata Adler นักวิจารณ์จาก The New York Times

The white couple is one-dimensional, without depth or complexity, and the movie suffers because of their lack of interest… the white couple is not made human in the way, say, the white characters were in ‘The Battle of Algiers.’ They are simply shallow, selfish and uncomprehending, and the one-dimensional nature of their roles weakens the entire movie.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2.5/4

แต่กาลเวลาก็ทำให้ Black Girl (1966) ได้รับการยินยอมรับในวงกว้างมากขึ้น นั่นเพราะกลายเป็นหมุดหมาย ภาพยนตร์เรื่องสำคัญของประเทศเซเนกัล และทวีปแอฟริกา ทำให้การจัดอันดับ “The Greatest Film of All-Times” ครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับสูงถึง 95 (ร่วม)

ปัจจุบันทั้ง Borom sarret (1963) และ Black Girl (1966) ต่างได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ด้วยทุนสนับสนุนจาก The Film Foundation ของผู้กำกับ Martin Scorsese เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่น World Cinema Project สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray รับชมออนไลน์ทั้งสองเรื่องทาง Criterion Channel

ว่ากันตามตรง คุณภาพของ Black Girl (1966) ไม่ได้เลิศเลอขนาดนั้น แค่เทียบกับผลงานก่อนหน้า Borom Sarret (1963) ยังยอดเยี่ยมกว่าหลายเท่าตัว! แถมลักษณะการยัดเยียด ชี้นำความรู้สึกนึกคิด ผลลัพท์ไม่ต่างจากหนังชวนเชื่อ แต่ผมพอจะเข้าใจอิทธิพลต่อชาวแอฟริกัน(ทั้งทวีป) เลยไม่แปลกจะติดอันดับภาพยนตร์ค่อนข้างสูงลิบๆ

จัดเรต 13+ กับโศกนาฎกรรม โลกทัศน์ด้านเดียว บรรยากาศ Colonialism

คำโปรย | Black Girl คือการระบายความเกรี้ยวกราดต่อลัทธิอาณานิคม ไม่ใช่แค่ผู้กำกับ Ousmane Sembène แต่ยังชาวแอฟริกันทั้งทวีป
คุณภาพ | เกรี้ยวกราด
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

White Material (2009)


White Material (2009) French : Claire Denis ♥♥♥♡

ณ ประเทศสมมติในทวีปแอฟริกา กำลังเกิดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เจ้าของไร่กาแฟรับบทโดย Isabelle Huppert กลับปฏิเสธจะทอดทิ้งสิ่งที่เป็นของตนเอง หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material”

ผลงานลำดับที่ 9 ของผกก. Claire Denis แต่เพิ่งเป็นครั้งที่สาม (ทั้งสามเรื่องห่างกันเกือบๆ 10 ปี) เดินทางกลับบ้านเกิด ถ่ายทำในทวีปแอฟริกา นักวิจารณ์หลายคนมองว่าราวกับภาคต่อ Chocolat (1988) เพราะนักแสดง Isaach de Bankolé จากคนรับใช้ (Protée) กลายมาเป็นนักปฏิวัติ (The Boxer) ถึงอย่างนั้นเนื้อหาของทั้งสองเรื่อง ไม่ได้มีความต่อเนื่องสัมพันธ์อะไร

No, White Material is not related to Chocolat. There is no connection at all. They are entirely different visions of Africa and the cinema. Chocolat is about friendship and family, and maybe sex and longing, and White Material is about remaining strong in the face of danger.

Claire Denis

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ Isabelle Huppert รูปร่างผอมเพียวช่างมีความพริ้วไหว (ชวนให้นึกถึง Katharine Hepburn จากภาพยนตร์ Summertime (1955)) ทั้งสีหน้า ท่วงท่า ลีลาของเธอเอ่อล้นด้วยความเชื่อมั่น เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ใครบอกอะไรไม่สน ฉันสามารถทำทุกสิ่งอย่าง ไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย สุดท้ายเมื่อตระหนักถึงความเป็นจริง เลยสูญเสียสิ้น ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

Isabelle Huppert is an immoveable object surrounded by unstoppable forces.

คำนิยมจาก RottenTomatoes

…small and slender, [she] embodies the strength of a fighter. In so many films, she is an indomitable force, yet you can’t see how she does it. She rarely acts broadly. The ferocity lives within. Sometimes she is mysteriously impassive; we see what she’s determined to do, but she sends no signals with voice or eyes to explain it.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 3.5/4

จริงๆยังมีอีกหลายผลงานของผกก. Denis ที่ผมอยากเขียนถึง แต่ตัดสินใจเลือก White Material (2009) เพราะเรื่องราวมีพื้นหลังถ่ายทำยังทวีปแอฟริกา และถือว่าปิดไตรภาค ‘African Film’ จะได้เขียนถึงหนังจากแอฟริกันเรื่องอื่นสักที!


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Chocolat (1988), Nénette and Boni (1996), Beau Travail (1999), The Intruder (2004), 35 Shots of Rum (2008) ฯ

หลังเสร็จงานสร้างภาพยนตร์ Vendredi soir (2002) หรือ Friday Night, ผกก. Danis มีโอกาสพบเจอ Isabelle Huppert พูดคุยสอบถาม ชักชวนมาร่วมงานกัน ในตอนแรกแนะนำให้ดัดแปลง The Grass Is Singing (1950) นวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนชาวอังกฤษ Doris Lessing (1919-2013) ซึ่งมีพื้นหลัง Southern Rhodesia (ปัจจุบันคือประเทศ Zimbabwe) ทางตอนใต้ทวีปแอฟริกา ช่วงทศวรรษ 40s

ผกก. Denis มีความชื่นชอบหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะคือหนึ่งในแรงบันดาลใจภาพยนตร์ Chocolat (1988) แต่เหตุผลที่บอกปฏิเสธเพราะเธอไม่เคยอาศัยใช้ชีวิต รับรู้อะไรเกี่ยวกับ South Africa (สมัยวัยเด็ก ผกก. Denis ใช้ชีวิตอยู่แถบ East & West Africa ไม่เคยลงใต้ไปถึง South Africa ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ) ถึงอย่างนั้นก็เสนอแนะว่าจะครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่จากวิสัยทัศน์ของตนเอง

after I made Friday Night, Isabelle [Huppert] asked me if I would like to work with her, to which I said “yes!” She wondered if I wanted to adapt a Doris Lessing novel called The Grass Is Singing, which is the story of her parents in the ‘30s in South Africa. It’s about a couple of originated English people trying to farm—although they are not farmers, know nothing about farming—and the fight to farm land they don’t know. It ends with…cows. It’s more or less what Doris Lessing described of her own family. Later, she wrote a novel about her brother who stayed in South Africa, actually in old Rhodesia—Zimbabwe now—who’s a farmer and it’s a disaster.

So I was thinking, and I told Isabelle that although I like the book very much—actually it’s a very important book for me because it was one of the sources of inspiration for Chocolat (1988)—I told her that to go back to that period in Africa, especially in South Africa—I’m not a South African, and for me, I don’t know how to say it, for me to imagine us to go somewhere in South Africa together and do a period movie in a country that has changed so much, after Mandela has been elected and apartheid is finished, I thought I’m going to make a wrong move. So I said if you want, I have a story, I’ll think about a story of today. I was reading many books about the Liberia and Sierra Leone. I told Isabelle I was trying to do my own…to say “vision” is a bit too much, but to describe something I feel, it could be a very good story for her, and I would be interested.

เรื่องราวของ White Material (ไม่มีชื่อฝรั่งเศส อ่านทับศัพท์ไปเลย) ได้แรงบันดาลใจจากสารพัดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) ที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกันช่วงหลายๆทศวรรษนั้น อาทิ Ethiopian Civil War (1974-91), Rwandan Civil War (1990-94), Djiboutian Civil War (1991-94), Algerian Civil War (1991-2002), Somali Civil War (1991-), Burundi Civil War (1993-2005), Republic of the Congo Civil War (1997-99), First Ivorian Civil War (2002-07) ฯลฯ นี่แค่ตัวอย่างผิวเผินเท่านั้นเองนะครับ ผมเห็นปริมาณรายการความขัดแย้ง/สงครามกลางเมืองจากวิกิพีเดียแล้วรู้สึกสั่นสยองขึ้นมาทันที [List of conflicts in Africa]

สงครามกลางเมืองเหล่านี้ ถ้าขบครุ่นคิดดีๆจะพบว่าล้วนเป็นผลกระทบภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากการเป็นประเทศอาณานิคม สิ่งที่พวกจักรวรรดินิยมทอดทิ้งไว้ให้นั้น สร้างความลุ่มหลง งมงาย ประชาชนยึดติดในอำนาจ วัตถุนิยม สิ่งข้าวของเครื่องใช้ “White Material” โหยหาเงินทอง ความสะดวกสบาย ใช้ความรุนแรง โต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

ผกก. Denis ร่วมงานกับนักเขียนนวนิยาย Marie NDiaye (เกิดปี 1967) สัญชาติ French-Senegalese เคยได้รับรางวัล Prix Femina จากนวนิยาย Rosie Carpe (2001) และ Prix Goncourt (เทียบเท่า Nobel Prize สาขาวรรณกรรมของฝรั่งเศส) ผลงาน Trois femmes puissantes (2009) … หลังจาก White Material (2009) ยังโด่งดังกับการร่วมพัฒนาบท Saint Omer (2022)

ด้วยความที่ NDiaye ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนบทภาพยนตร์มาก่อน จึงต้องปรับตัวไม่น้อยระหว่างร่วมงานผกก. Denis ทั้งสองออกเดินทางสู่แอฟริกาเพื่อค้นคว้าข้อมูล และร่วมกันพัฒนาบท White Material จนแล้วเสร็จสรรพ

There were circumstances at the beginning of our relationship that we had to sort out. Marie is a writer and she is used to spending a lot of time on her own, but I always work with people and when I do that I have to spend time with them. I know that Marie found this difficult at first. She was used to working and thinking without a partner. But we travelled together to Africa and that’s when the work came together. I had an African childhood, which Marie did not have, and we discussed that, and what it meant to be white in Africa, and it was from that contradiction that we began to put together White Material.


ณ ประเทศสมมติในทวีปแอฟริกา กำลังเกิดสงครามกลางเมือง (Civil Wars) กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เจ้าของไร่กาแฟ Maria Vial (รับบทโดย Isabelle Huppert) กลับปฏิเสธทอดทิ้งเมล็ดกาแฟที่กำลังออกผลผลิต แม้คนงานหลบลี้หนีหาย ก็ยังพยายามใช้เงินซื้อหา ว่าจ้างคนท้องถิ่นมาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่แล้วสงครามกลางเมืองก็ค่อยๆคืบคลานเข้าหา กลุ่มผู้ก่อการร้ายเด็ก (Child Soldiers) บุกรุกเข้ามาในไร่กาแฟ เป็นเหตุให้บุตรชาย Manuel ถูกจี้ปล้น โดนบังคับให้ถอดเสื้อผ้า นั่นทำให้จากเคยเป็นคนเฉื่อยชา ตัดสินใจโกนศีรษะ เข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ด้วยความที่รัฐบาลครุ่นคิดว่าพวกคนขาวให้ที่หลบซ่อนผู้ก่อการร้าย ทหารกลุ่มหนึ่งจึงบุกเข้ามาในไร่กาแฟของ Maria (โชคดีว่าขณะนั้นเธอไม่อยู่บ้าน) ทำการเชือดคอทหารเด็ก กราดยิง เผาทั้งเป็น เมื่อเธอหวนกลับมาเห็น ก็ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง


Isabelle Anne Madeleine Huppert (เกิดปี 1953) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นชาว Jews ส่วนมารดาทำงานครูสอนภาษาอังกฤษ ผลักดันให้ลูกๆเป็นนักแสดงตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าเรียน Conservatoire à rayonnement régional de Versailles ติดตามด้วย Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) เริ่มต้นมีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์ Le Prussien (1971), ตามด้วยภาพยนตร์ Faustine et le Bel Été (1972), Les Valseuses (1974), La Dentelliere (1977) คว้ารางวัล BAFTA Award: Most Promising Newcomer, ผลงานเด่นๆ อาทิ Aloïse (1975), Violette Nozière (1978), Une affaire de femmes (1988), La Cérémonie (1995), The Piano Teacher (2001), Gabrielle (2005), Amour (2012), Elle (2016) ฯ

รับบท Maria Vial สืบทอดกิจการไร่กาแฟจากบิดา Henri ของอดีตสามี Andre (คาดว่าหย่าร้างเพราะจับได้ว่าเขาแอบมีความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี) จึงมีความหมกมุ่น ยึดติดกับสถานที่แห่งนี้ แม้ได้รับคำตักเตือนจากกองทัพฝรั่งเศสที่กำลังถอยร่นระหว่างสงครามกลางเมือง กลับแสดงความดื้อรั้น ปฏิเสธรับฟัง เชื่อมั่นว่าตนเองจักสามารถเอาตัวรอด เงินทองซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง

ภาพจำของ Huppert แม้ร่างกายผอมบาง แต่มีจิตวิญญาณอันเข้มแข็งแกร่ง เอ่อล้นด้วยพลัง ความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่หวาดกลัวเกรงภยันตรายใดๆ ล้มแล้วลุก ปฏิเสธยินยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้กับทุกสิ่งอย่าง!

การเดินทางสู่แอฟริกาของ Huppert ทำให้เธอต้องใช้ศักยภาพทางร่างกายค่อนข้างมาก ฝึกฝนขับรถ ขับมอเตอร์ไซด์ ห้อยโหยท้ายรถโดยสาร รวมถึงเรียนรู้วิธีการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่เต็มไปด้วยขั้นตอนหลากหลาย แต่ทุกท่วงท่า อากัปกิริยาของเธอ เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น จริงจัง ฉันสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง นั่นแสดงถึงความลุ่มหลง งมงาย ยึดติดกับ White Material แม้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ทวีปแอฟริกา แต่ไม่มีทางจะได้รับการยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวแอฟริกัน!

สำหรับความสิ้นหวังของตัวละคร สังเกตว่าไม่ได้มีการร่ำร้องไห้ หรือเรียกหาความสนใจ แต่ยังแสดงความดื้อรั้น ดึงดัน ไม่สนคำทัดทานผู้ใด พยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อหวนกลับไป แล้วกระทำสิ่งไม่มีใครคาดคิดถึง … บางคนอาจรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่ผมสมเพศเวทนากับความลุ่มหลง งมงาย หมกมุ่นยึดติดใน White Material


สำหรับสมาชิกครอบครัวแตกแยก (Dysfunctional Family) ของ Maria Vial ประกอบด้วย

  • อดีตสามี André (รับบทโดย Christopher Lambert) คาดว่าสาเหตุที่หย่าร้างเพราะแอบคบชู้นอกใจ สานสัมพันธ์กับหญิงผิวสีชาวแอฟริกัน จนมีบุตรชายลูกครึ่ง Jose 
    • André พยายามเกลี้ยกล่อมบิดาให้ยกไร่กาแฟให้กับตนเอง เพื่อจะนำไปขายต่อให้กับชาวแอฟริกัน แล้วหาทางหลบหนีออกจากประเทศแห่งนี้ พยายามเกลี้ยกล่อมบิดา จนแล้วจนรอด ท้ายสุดถูกฆาตกรรมโดยกองทัพรัฐบาล
  • บิดาของ André (รับบทโดย Michel Subor) เกิด-เติบโตยังทวีปแอฟริกา เป็นเจ้าของไร่กาแฟสืบทอดจากบิดา ตั้งใจจะมอบทุกสิ่งอย่างให้กับลูกสะใภ้ Maria ส่วนตนเองใช้ชีวิตวัยเกษียณ เดินไปเดินมา เฝ้ารอคอยความตาย แต่สุดท้ายกลับถูกฆาตกรรม/ทรยศหักหลังโดย Maria
  • Manuel (รับบทโดย Nicolas Duvauchelle) บุตรชายของ Maria และ André อายุประมาณ 17-18 มีความเกียจคร้าน ขี้เกียจสันหลังยาว แต่หลังจากถูกกลั่นแกล้ง ทำให้อับอายโดยพวกทหารเด็ก กลับมาบ้านตัดสินใจโกนศีรษะ อาสาสมัครเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนถูกเผาตายทั้งเป็นโดยกองทัพรัฐบาล
    • เมื่อตอนที่ Manuel โกนศีรษะ ชวนให้ผมนึกถึง Travis Bickle จากภาพยนตร์ Taxi Driver (1976) ทำผมทรงโมฮอกแสดงอาการน็อตหลุด ใกล้จะคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง เรียกร้องความสนใจ ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์การมีตัวตน ฉันก็เป็นลูกผู้ชาย (นั่นอาจคือเหตุผลที่หนังจงใจถ่ายให้เห็นไอ้จ้อน ระหว่างถูกทำให้เปลือยกายล่อนจ้อน)
  • Jose อายุ 12 ปี แม้เป็นบุตรชายของ André กับชู้รัก คนรับใช้ชาวแอฟริกัน แต่ยังได้รับความรักจาก Maria คอยไปรับไปส่ง ดูแลเหมือนลูกแท้ๆ ตอนจบไม่รับรู้โชคชะตา (แต่ก็คาดเดาไม่ยากเท่าไหร่)

ถ่ายภาพโดย Yves Cape (เกิดปี 1960) ตากล้องสัญชาติ Belgian โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการถ่ายภาพยัง Institut national supérieur des arts du spectacle et des techniques de diffusion (INSAS) จากนั้นเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วย แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Ma vie en rose (1997), Humanity (1999), Buffalo Boy (2004), White Material (2009), Holy Motors (2012) ฯ

ปล. เหตุผลที่ผกก. Denis ไม่ได้ร่วมงานตากล้องขาประจำ Agnès Godard เพราะอีกฝ่ายกำลังตั้งครรภ์ และมารดายังล้มป่วยหนัก เห็นว่าเสียชีวิตใกล้ๆกับตอนโปรดักชั่น เลยตัดสินใจมองหาตากล้องคนอื่นขัดตาทัพไปก่อน

แตกต่างจากผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Denis ที่มักพยายามรังสรรค์งานภาพให้ออกมาเสมือนภาพนิ่ง บรรยากาศโหยหา คร่ำครวญ หวนรำลึกนึกถึงอดีต, อาจเพราะ White Material (2009) มีพื้นหลังในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง จึงเลือกใช้กล้อง Hand-Held แบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ซึ่งสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร อาการสั่นไหว หวาดกังวล โดยไม่รับรู้ตัวว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้าหา

ในหลายๆบทสัมภาษณ์ของผกก. Denis มักกล่าวพาดพิงถึง First Ivorian Civil War (2002-07) สงครามกลางเมืองในประเทศ Ivory Coast (หรือ Côte d’Ivoire) แม้เมื่อตอนเริ่มต้นโปรดักชั่น สงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองยังถือว่าไม่น่าปลอดภัย [Second Ivorian Civil War เกิดขึ้นติดตามมาระหว่าง ค.ศ. 2010-11] ด้วยเหตุนี้เลยต้องมองหาสถานที่อื่น ถ่ายทำยังประเทศ Cameroon ติดชายแดน Nigeria

It’s not my intention to be vague. The film is inspired by real events in the Ivory Coast. Of course, it was impossible to shoot the film there because a near-civil war is still going on there. I thought it was better to shoot in a country at peace. Also, I wanted the child soldiers to be played by normal children who go to school. I think it’s necessary for a film containing certain violence. I didn’t want to write, “This story takes place in 2003 in the Ivory Coast” over the credits. Anyone who knows Cameroon could recognize that’s where I shot it. The border of Nigeria and Cameroon is very visible. Many times at screenings in France, people recognized the locations. If I had claimed it was set in the Ivory Coast, it would have been a lie. Otherwise, I would take the risk to shoot there.

Claire Denis

เกร็ด: ผกก. Denis เลื่องชื่อในการทำงาน “shooting fast, editing slowly” เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำ White Material (2009) แค่เพียงสิบวันเท่านั้น!


จริงๆมันมีสถานที่มากมายที่จะให้ตัวละคร Maria หวนระลึกเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แต่การให้เธอปีนป่ายหลังรถโดยสาร นั่งอยู่ท่ามกลางชาวผิวสี เพื่อสื่อถึงการเดินทาง/สถานการณ์ที่ตนเองไม่สามารถควบคุม กำหนดทิศทางชีวิต แม้แต่จะขอให้หยุดจอด หรือเรียกร้องขอโน่นนี่นั่น (คือสิ่งที่คนขาว หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material”) เพียงสงบสติอารมณ์ แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปตามครรลองของมัน

ผมไม่ได้มีความสนใจในเครื่องแต่งกายตัวละครมากนัก บังเอิญพบเห็นบทสัมภาษณ์ของผกก. Denis เปรียบเทียบชุดเดรสสีชมพู (พร้อมกับทาลิปสติก) ดูราวกับเกราะคุ้มกันภัย นั่นทำให้ตัวละครมีความเป็นเพศหญิง … บางคนอาจมองพฤติกรรมห้าวเป้งของตัวละคร ดูเหมือนทอมบอย เพศที่สาม แต่การเลือกใส่ชุดกระโปรง ถือว่าตัดประเด็นนั้นทิ้งไปได้เลย (สวมใส่กางเกง รองเท้าบูท เฉพาะระหว่างทำงานในไร)

It’s very feminine. We used color to speak about the character without psychology. There is a yellow dress at the beginning, and the second dress is pink. We tried a turquoise dress, but it didn’t seem to belong to the story. The others fit it. The camera lingers on the pink dress because she puts it on to seem strong. It’s like armor.

Claire Denis

ตัวละคร The Boxer (รับบทโดย Isaach de Bankolé) เหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มต่อต้าน/ผู้ก่อการร้าย (สังเกตจากสวมหมกสีแดง) ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล ถูกยิงบาดเจ็บ จึงมาหลบซ่อนตัวในไร่กาแฟของ Maria โดยอ้างว่าเป็นญาติกับคนงาน เลยได้รับความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายเหมือนว่าทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตก่อนการมาถึงของกองทัพรัฐบาล

เพราะเคยมีบทบาทเด่นในภาพยนตร์ Chocolat (1988) ผมก็นึกว่าบทบาทของ Bankolé จะมีความสลักสำคัญต่อเรื่องราว แต่ตลอดทั้งเรื่องได้รับบาดเจ็บ นั่งๆนอนๆอยู่บนเตียง ถึงอย่างนั้นภาพวาดฝาผนัง แสดงให้ถึงการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ … นำพาหายนะมาให้กับครอบครัวของ Maria

ไร่กาแฟ (Coffee Plantation) เป็นผลิตภัณฑ์พบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา ทีแรกผมก็ไม่ได้เอะใจอะไรจนกระทั่งพบเห็นช็อตนี้ จากเมล็ดที่เคยเป็นสีดำ ถูกนำไปผ่านกรรมวิธีอะไรสักอย่าง ขัดสีฉวีวรรณจนกลายเป็นเมล็ดขาว นี่แฝงนัยยะถึงการฟอกขาว (Whitewashing) วิธีการของลิทธิจักรวรรดินิยม เมื่อเข้ายึดครอบครอง พยายามปรับเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างของประเทศอาณานิคมให้กลายเป็นแบบของตนเอง

หลายคนอาจมองว่า Maria คงคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตกไปแล้วกระมัง ถึงกระทำการ !@#$% แต่มุมมองคิดเห็นของ Huppert ถือว่าน่าสนใจทีเดียว มองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการทำลาย ‘ความเป็นคนขาว’ ของตนเอง!

For me, is very metaphorical. It’s not like she’s committing an act of revenge like in a thriller, but she’s symbolically murdering the white part of herself by killing the ultimate white man — who just happens to be her step-father. She’s almost taking a Swiss-like side in the matter —  having gone through her own son’s death, and her ex-husband’s death, she comes to realize that no matter how trustful she is of other people, she still have to face this internal antagonist in her herself.

Isabelle Huppert

ตัดต่อโดย Yann Dedet (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Bride Wore Black (1968), แล้วกลายเป็นขาประจำ François Truffaut, Maurice Pialat และ Nicole Garcia, ผลงานเด่นๆ อาทิ Day for Night (1973), Under the Sun of Satan (1987), Van Gogh (1991), Nénette and Boni (1996), White Material (2009), I Am Not a Witch (2017) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Maria Vial หญิงผิวขาว ชาวฝรั่งเศส เจ้าของไร่กาแฟแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกัน (ไม่มีการระบุประเทศ) ระหว่างสงครามกลางเมือง กองทัพฝรั่งเศสตัดสินใจล่าถอย แต่เธอกลับดื้อรั้น ดึงดัน ปฏิเสธรับฟัง จนสถานการณ์ลุกลามบานปลาย พยายามหาหนทางกลับบ้าน ระหว่างนั่งอยู่ในรถโดยสาร หวนระลึกนึกย้อน ทบทวนเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น

  • อารัมบท, (อนาคต) ร้อยเรียงภาพหายนะของไร่กาแฟ ทุกสิ่งอย่างกำลังมอดไหม้ ฝุ่นควันฟุ้งกระจาย
  • ความดื้อรั้นของ Maria
    • (ปัจจุบัน) Maria หลบซ่อนจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก่อนโบกรถหาทางกลับบ้าน ห้อยโหยตรงบันไดด้านหลัง
    • ครุ่นคิดถึงตอนที่เฮลิคอปเตอร์พยายามตะโกนบอก Maria ให้ออกไปจากประเทศแห่งนี้ แต่เธอกลับทำหูทวนลม
    • The Boxer หลบหนีจากกองทัพรัฐบาล หลบซ่อนตัวในไร่กาแฟของ Maria
    • Maria ระหว่างทางกลับบ้าน พบเห็นคนงานต่างอพยพหลบหนี ไม่ต้องการเสี่ยงชีวิตเพื่อ White Material
    • เมื่อกลับมาถึงบ้านก็เตรียมตัวออกหาคนงานใหม่ ไม่ต้องการให้ไร่กาแฟเสียหาย
    • พอขับรถมาถึงกลางทางถูกรีดไถเงิน แวะเข้าเมืองซื้อของ แล้วเดินทางไปว่าจ้างคนงาน
    • ขากลับแวะเวียนไปรับหลานชายลูกครึ่ง Jose (บุตรของอดีตสามี มีความสัมพันธ์กับคนใช้ผิวสี)
  • สถานการณ์ตึงเครียด
    • ยามเช้า Maria ปลุกตื่นบุตรชาย Manuel ระหว่างกำลังเล่นน้ำ เกือบถูกลอบฆ่าโดยทหารเด็ก
    • ทหารเด็กแอบเข้ามาในไร่กาแฟ ทำการประจาน Manuel จนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง โกนศีรษะ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • Maria เก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ
    • ค่ำคืนนี้แบ่งปันเสบียงกรังกับคนงาน
  • เหตุการณ์เลวร้าย หายนะบังเกิดขึ้น
    • รายงานข่าวแจ้งว่ากองทัพรัฐบาลมีความเคลือบแคลงสงสัย ว่าพวกคนขาวเจ้าของไร่กาแฟ ให้สถานที่หลบภัยต่อกลุ่มผู้ก่อการร้าย
    • คนงานเรียกร้องขอค่าจ้าง ต้องการไปจากสถานที่แห่งนี้ แต่เงินในตู้เซฟกลับถูกลักขโมย สูญหายหมดสิ้น
    • ระหว่างขับรถเข้าเมือง ถูกพวกผู้ก่อการร้ายดักปล้น เข่นฆ่าผู้คน
    • กองทัพรัฐบาลบุกเข้าในไร่กาแฟ เชือดคอทหารเด็ก เผาทำลายทุกสิ่งอย่าง
    • (ปัจจุบัน) Maria พยายามหาหนทางกลับบ้าน ก่อนพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ และตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

ผกก. Denis ดูมีความชื่นชอบการเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) หวนระลึกความทรงจำ ทำแบบนี้เพื่อให้ตัวละครเกิดความตระหนัก รับรู้ตัว และสาสำนึกผิด ถ้าฉันไม่หมกมุ่นยึดติดกับ “White Material” ก็คงไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ช่วยตนเองไม่ได้แบบนี้ แต่ปัญหาเล็กๆคือมันไม่จำเป็นต้องกระโดดไปกระโดดมาบ่อยครั้งก็ได้

เมื่อตอน Beau Travail (1999) แม้ใช้วิธีเล่าเรื่องกระโดดไปกระโดดมา อดีต-ปัจจุบัน คล้ายๆเดียวกัน แต่ตัวละคร Galoup ในปัจจุบันยังเดินทางไปไหนมาไหนทั่วกรุง Marseille ไม่ซ้ำซากจำเจอยู่แต่ในห้อง, ผิดกับ White Material (2009) พบเห็นเพียง Maria Vial นั่งหง่าวอยู่ในรถโดยสาร ไม่สามารถทำอะไร ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย … เหตุผลการทำแบบนี้ก็อย่างที่อธิบายไป แต่การเน้นๆย้ำๆหลายครั้ง มันสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ


เพลงประกอบโดย Stuart Ashton Staples (เกิดปี 1965) นักร้อง นักกีตาร์ สัญชาติอังกฤษ, ร่วมก่อตั้งวง Tindersticks แนว Alternative Rock มีโอกาสร่วมงานผกก. Claire Denis ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Nénette et Boni (1996), Trouble Every Day (2001), The Intruder (2004), White Material (2009), High Life (2018) ฯ

งานเพลงของหนังมีลักษณะของ Ambient Music (หรืออาจจะเรียกว่า Rock Ambient เพราะใช้เบส กีตาร์ เครื่องดนตรีไฟฟ้า ในการสร้างเสียง) แนวเพลงที่เน้นเรื่องของเสียงมากกว่าตัวโน้ต พยายามสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องเข้ากับสภาพแวดล้อม คลอประกอบพื้นหลังเบาๆจนบางครั้งเหมือนไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่ผู้ฟังกลับรู้สึกปั่นป่วนมวนท้องไส้ มึนๆตึงๆ สัมผัสอันตราย หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา

ปล. ในอัลบัม Soundtrack เรียกสไตล์เพลงลักษณะนี้ว่า Art Rock ก็แล้วแต่จะเรียกแล้วกันนะครับ

การเลือกใช้วงดนตรีร็อค แทนที่จะเป็นออร์เคสตรา ทำให้หนังมีกลิ่นอายร่วมสมัย (Contemporary) ใกล้ตัว จับต้องได้ อย่างบทเพลง Attack on the Pharmacy มีลีลาลีดกีตาร์อย่างโหยหวน ท้องไส้ปั่นป่วน (จากพบเห็นภาพความตาย) จังหวะกลองทำให้เจ็บปวดรวดร้าว หัวใจแทบแตกสลาย

[White Material]’s could mean two things, an object or person. In pidgin English, when ivory smugglers were very efficient they were called white material. Ivory and ebony instead of white and black. And in some slang they call white people “whitie” or “the white stuff,” you know? So I mixed it.

White Material แปลตรงตัว วัสดุสีขาว แต่ในบริบทของหนังสื่อถึง สิ่งข้าวของ(ของ)พวกคนผิวขาว อะไรก็ตามที่นำเข้าจากต่างประเทศ “สร้างโดยคนขาว เป็นของคนขาว ใช้โดยคนขาว” เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ทำสิ่งต่างๆโดยง่าย ล้ำยุคทันสมัย ไม่ใช่ของชนชาวแอฟริกัน

การมาถึงของคนขาวในทวีปแอฟริกัน ตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยมล้วนเพื่อยึดครอบครอง เสาะแสวงหาทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติ โดยใช้ข้ออ้างนำความเจริญทางอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนคือ “White Material” สำหรับกอบโกยผลประโยชน์ ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเอง

เรื่องราวของ White Material (2009) เกี่ยวกับหญิงผิวขาว ชาวฝรั่งเศส ผู้มีความหมกมุ่นยึดติดใน “White Material” ไม่ยินยอมพลัดพราก แยกจาก ปฏิเสธรับฟังคำทัดทาน เชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยในสงครามกลางเมือง ฉันคือส่วนหนึ่งของแอฟริกัน แต่ความเป็นจริงนั้นกลับเพียงภาพลวงหลอกตา

I wanted to show in this film how being white in Africa gives you a special status, almost a kind of magical aura. It protects you from misery and starvation. But although it can protect you, it is dangerous too. This is what Maria has to learn. The danger for Maria is that she thinks she belongs in Africa because she is close to the land and the people. She cannot return to France because she thinks that it will weaken her. But she learns that she doesn’t belong in Africa as much as she thinks. For many white people in Africa this is the reality.

Claire Denis

ในบทสัมภาษณ์ของ Hoppert มองเห็น Maria ในมุมที่แตกต่างออกไป จริงอยู่ว่าตัวละครหมกมุ่นยึดติดใน “White Material” แต่ขณะเดียวกันเธอไม่เคยครุ่นคิดถึงความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ ฉันอาศัยอยู่สถานที่แห่งนี้มานานหลายปี มีลูก รับเลี้ยงหลานลูกครึ่ง(แอฟริกัน) ไม่เคยแสดงอคติ รังเกียจเหยียดยาม แอฟริกาคือบ้านของฉัน แต่สุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง ตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถยินยอมรับความจริง (State of Denial)

Therefore, I think that my character Maria carries this hope or illusion that all these differences between people should be abolished and not exist. She believes this so strongly that she has blinders on to what’s happening around her, and is in a state of denial.

Isabelle Huppert

ความคิดเห็นที่แตกต่างของ Huppert ทำให้ผมมองว่าผกก. Denis ก็ไม่แตกต่างจากตัวละคร Maria แม้เคยอาศัยใช้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดเรียกตนเองว่า “Daughter of African” แต่นั่นคือความลุ่มหลง ทะนงตน ยึดติดมโนคติ ภาพลวงตา คงเพิ่งตระหนักได้ว่าไม่มีวันที่ฉันจะเป็นชาวแอฟริกัน … เส้นแบ่งระหว่างสีผิว ชาติพันธุ์ เป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง แต่ขณะเดียวกันกลับมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า!

จะว่าไป White Material ไม่ได้สื่อถึงแค่วัสดุ สิ่งข้าวของ ในเชิงรูปธรรมเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมถึงแนวคิด วิถีชีวิต เป้าหมาย อุดมการณ์ของคนขาว ล้วนมีความแตกต่างจากชาวผิวสี (เหมารวมเอเชีย แอฟริกัน อเมริกาใต้ ฯ) ผลกระทบจากการตกเป็นอาณานิคม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เลือนหาย ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ หลายๆประเทศในแอฟริกันก็ยังคงหาความสงบสุขไม่ได้จนถึงปัจจุบัน


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับกลางๆ เลยไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา ทำให้ทุนสร้าง $6.3 ล้านเหรียญ (ในวิกิฝรั่งเศสบอกว่า €6.3 ล้านยูโร) ทำเงินได้เพียง $1.9 ล้านเหรียญ ยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียง 147,295 ใบ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน!

หนังได้รับการจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ซึ่งมีการสแกนดิจิตอล (digital transfer) ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Denis และตากล้อง Yves Cape

ถึงส่วนตัวจะหลงใหลสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis และการแสดงอันโดดเด่นของ Isabelle Huppert แต่เนื้อเรื่องราวของ White Material (2009) สร้างความหงุดหงิด รำคาญใจ รู้สึกสมเพศเวทนาพวกคนขาว/จักรวรรดินิยม เลยไม่สามารถชื่นชอบประทับใจหนังได้เท่าที่ควร … เป็นแนวไม่ค่อยถูกจริตสักเท่าไหร่

และผมยังรู้สึกว่าหนังขาดมนต์เสน่ห์หลายๆอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับ Chocolat (1988) และ Beau Travail (1999) ที่อย่างน้อยภาพสวย เพลงไพเราะ, White Material (2009) นอกจากการแสดงของ Huppert ก็แทบไม่มีอะไรอย่างอื่นให้น่าจดจำ

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศสงครามกลางเมือง ความรุนแรง อคติต่อชาติพันธุ์ และทหารเด็กก่อการร้าย

คำโปรย | ความลุ่มหลง ทะนงตน หมกมุ่นยึดติดใน White Material ของ Isabelle Huppert (รวมถึงพวกจักรวรรดินิยม) ทำให้สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
คุณภาพ | สูญเสียสิ้น
ส่วนตัว | สมเพศเวทนา

Chocolat (1988)


Chocolat (1988) French : Claire Denis ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Claire Denis เดินทางกลับบ้านเกิดยัง West Africa แม้จากมาหลายปี แต่หลายๆความทรงจำดีๆ ยังคงติดตราฝังใจ ทำออกมาในลักษณะบันทึกความทรงจำ (memoir) อาจดูเรื่อยๆเปื่อยๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนใช้ผิวสี ช่างมีความตึงเครียด(ทางเพศ)ยิ่งนัก!

แซว: ชื่อหนัง Chocolat หลายคนอาจเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าเกี่ยวกับโกโก้ ช็อกโกแล็ต แต่นั่นมันอีกภาพยนตร์ Chocolat (2000) กำกับโดย Lasse Hallström, นำแสดงโดย Juliette Binoche, Judi Dench, Johnny Depp ฯ เรื่องนี้ก็น่าสนใจ ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

เมื่อตอนที่ผมเขียนถึง Beau Travail (1999) แม้พอสังเกตเห็น ‘female gaze’ ที่สร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน แต่ยังเข้าไม่ถึงสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Denis กระทั่งครานี้เมื่อได้รับชม Chocolat (1988) ค่อยตระหนักความสนใจของเธอคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Sexual Tension’ ความตึงเครียดทางเพศ ไม่จำเพาะเจาะจงชาย-หญิง บางครั้งชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือระหว่างพี่-น้อง พ่อ-แม่-ลูก ฯ นี่เป็นสิ่งมองไม่เห็นด้วยตา เพียงสัมผัสได้ด้วยอารมณ์

ซึ่งความตึงเครียดทางเพศระหว่างหญิงชาวฝรั่งเศส กับคนรับใช้ผิวสี(ชาวแคเมอรูน) สามารถสะท้อนความสัมพันธ์กับประเทศอาณานิคม (French Cameroon) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ และที่ต้องเอ่ยปากชมคือการแสดงของ Isaach de Bankolé สง่างามไม่ด้อยไปกว่า Sidney Poitier

ระหว่างรับชม Chocolat (1988) ช่วงแรกๆผมนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Black Narcissus (1947), The River (1951), Out of Africa (1985) ฯ ที่เกี่ยวกับคนขาวเดินทางไปปักหลักอาศัยยังประเทศอาณานิคม และพอเริ่มสังเกตเห็น ‘Sexual Tension’ ก็ชวนให้นึกถึงอีกเรื่อง A Passage to India (1984) … เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้ลองหารับชมดูนะครับ


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตยังประเทศอาณานิคม French Africa ติดตามบิดาทำงานข้าราชการพลเรือน (Civil Servant) เคยอาศัยอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland และ Senegal, วันว่างๆชอบอ่านหนังสือ พออายุ 12 ล้มป่วยโปลิโอ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส ปักหลักอยู่ชานเมือง Sceaux, โตขึ้นเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ก่อนค้นพบว่าไม่ได้มีความชื่นชอบสักเท่าไหร่ เลยย้ายคณะภาษาต่างประเทศ แล้วเข้าศึกษาภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC)

I’m not French but a daughter of Africa. I grew up in Africa where there were no cinemas so I discovered cinema late, at 14 or 15 years old, all at once and indiscriminately. Cinephilia, in the classic sense of the Cinemathèque and Cahiers du cinéma, was something I came to much later, perhaps when I was 25 years old.

Claire Denis

หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ อาทิ Jacques Rivette เรื่อง Out 1 (1971), Costa-Gavras เรื่อง Hanna K. (1983), Wim Wenders เรื่อง Paris, Texas (1984), Wings of Desire (1987) ฯ

ระหว่างทำงานเป็นผู้ช่วย Wim Wenders ทำให้ผกก. Denis เกิดความตระหนักว่าถึงเวลามองหาโปรเจคในความสนใจ ริเริ่มต้นสรรค์สร้างผลงานของตนเองเสียที! หลังจากครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ๆ ขึ้นเครื่องบินออกเดินทางสู่ Senegal (หนึ่งในประเทศที่เคยอยู่อาศัยวัยเด็ก) ค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แทบไม่มีอะไรหลงเหลือจากความทรงจำ

เมื่อเดินทางกลับฝรั่งเศส ร่วมงานเพื่อนนักเขียนขาประจำ Jean-Pol Fargeau นำแรงบันดาลใจจากทริปล่าสุดนี้ พัฒนาบทหนังออกมาในลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) หวนระลึกความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับอดีตคนรับใช้ผิวสี ระหว่างอาศัยอยู่ที่ Cameroon

เกร็ด: ชื่อหนัง Chocolat มาจากคำว่า Être Chocolat แปลว่า To be Cheated เป็นคำเรียกในเกมไพ่ เพื่อใช้ล่อหลอก ให้อีกฝ่ายหลงเชื่อ เลยตกเป็นเหยื่อกลโกง ขณะเดียวกันยังคือศัพท์สแลง คำหยาบคายที่ชาวฝรั่งเศสใช้เรียกคนผิวสี/ทาสแอฟริกัน นั่นเพราะโกโก้ ช็อกโกแลต สมัยก่อนเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากแอฟริกาสู่ยุโรปผ่านระบบทาส (Slave System)


หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างออกเดินเรื่อยเปื่อยอยู่บนท้องถนน ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)ที่สามารถพูดฝรั่งเศส แท้จริงแล้วเป็นชาว African-American อพยพมาปักหลักอาศัยอยู่ Douala, Cameroon อาสาพาขับรถไปส่งยังเป้าหมาย

ระหว่างการเดินทาง France หวนระลึกนึกถึงอดีต ค.ศ. 1957 เมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง สนิทสนมกับคนรับใช้ผิวสี อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวที่ Mindif, French Cameroon

  • บิดา Marc Dalens (รับบทโดย François Cluzet) ทำงานเป็นผู้ดูแลอาณานิคม (Colonial Administrator) มักไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ต่างๆ
  • มารดา Aimée Dalens (รับบทโดย Giulia Boschi) เพราะสามีไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงเกิดความโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หวาดกลัวต่อความเงียบงันของทวีปแอฟริกา จึงโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย
  • คนรับใช้ผิวสี Protée (รับบทโดย Isaach de Bankolé) ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบวางตัวหัวสูงส่ง แม้ตั้งใจทำงานตามคำสั่งนายจ้าง แต่ภายในเหมือนจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พยายามเก็บกด อดกลั้น ขีดเส้นแบ่งความถูกต้องเหมาะสมระหว่างชาติพันธุ์

Isaach de Bankolé ชื่อจริง Zachari Bankolé (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติ Ivorian เกิดที่ Abidjan, Ivory Coast ในครอบครัวเชื้อสาย Yoruba อพยพมาจาก Benin และ Nigeria, โตขึ้นเดินทางสู่กรุง Paris สำเร็จการศึกษาปริญญาโทฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ University of Paris, ระหว่างเข้าโรงเรียนสอนการบิน มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Gérard Vergez แนะนำให้สมัครเข้าโรงเรียนการแสดง Cours Simon, แจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Black Mic Mac (1986), Chocolat (1988), A Soldier’s Daughter Never Cries (1998), Manderlay (2005), Casino Royale (2006), Black Panther (2018) ฯ

รับบทคนรับใช้ผิวสี Protée มองผิวเหมือนเหมือนเป็นคนจงรักภักดี ปฏิบัติตามคำสั่งนายจ้างโดยไม่เคยต่อต้านขัดขืน ถึงอย่างนั้นปฏิกิริยาท่าทางมักมีความกล้ำกลืน พยายามอดกลั้นฝืนทน เพราะไม่เคยมองตนเองต่ำต้อยด้อยค่ากว่าใคร พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ แต่เมื่อถูกกระทำร้ายก็พร้อมโต้ตอบเอาคืน เขาเลยต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Protée หรือ Proteus ในปรัมปรากรีกคือชื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลรุ่นเก่า หนึ่งในสมาชิก Old Man of the Sea ฟังดูอาจไม่ได้มีความเกี่ยวกับข้องอะไรกับหนัง แต่ผมอ่านเจอว่าผกก. Denis เคยทำการเปรียบเทียบทวีปแอฟริกันดั่งมหาสมุทร

I always thought of Herman Melville (ผู้แต่งนิยาย Moby Dick) as a brother in the sense of sharing his feelings of sadness, nostalgia and disappointment, the sense of having lost something. For me Africa is like the seas Melville missed so much.

Claire Denis

เกร็ด2: ผมยังเจออีกบทความหนึ่งว่าผกก. Denis ไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่า Protégé (ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ ได้รับการคุ้มครอง ในวงการบันเทิงหมายถึงลูกศิษย์ เด็กฝึกงาน) มองเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม เลยตั้งชื่อตัวละคร Protée (จริงๆมันก็ไม่ได้มีความละม้ายคล้าย Protégé สักเท่าไหร่) คำเรียกของคนขาวในเชิงดูแคลนชาวผิวสี

หน้าตาอาจไม่ละม้ายคล้าย แต่หลายๆสิ่งอย่างของ Bankolé ชวนให้ผมนึกถึงโคตรนักแสดง Sidney Poitier ทั้งบุคลิกภาพ วางมาดเหมือนผู้ดี มีการศึกษา ทำตัวสุภาพบุรุษ ขณะเดียวกันยังเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด เต็มไปด้วยความอัดอั้น ขัดแย้งภายใน ใกล้ถึงเวลาปะทุระเบิดออกมา

สายตาของ Protée เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่าย สมเพศเวทนา Aimée ไม่เข้าใจความอ่อนแอ หวาดกลัวโน่นนี่นั่น พึ่งพาตนเองไม่ค่อยจะได้ แม้ถูกเธออ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสี กลับไม่มีความรู้สึกอะไรใดๆ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ปฏิเสธทำตามคำสั่ง พยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างชาติพันธุ์ ไม่ต้องการให้ใครก้าวเลยเถิด (ยกเว้นเพียงเด็กหญิงที่ยังไร้เดียงสา) แต่ถ้าใครล่วงมาก็พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน ปฏิเสธยินยอมศิโรราบต่อผู้อื่นใด


Giulia Boschi (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Rome เป็นบุตรของพิธีกรรายการโทรทัศน์ Aba Cercato, โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละคอนเวที เข้าสู่วงการจากภาพยนตร์ Pianoforte (1984), Secrets Secrets (1985), The Sicilian (1987), Chocolat (1988), ตั้งแต่ปี 2001 เกษียณตัวจากการแสดงเพื่อทำงานแพทย์แผนจีน เขียนตำรา กลายเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ฯ

รับบท Aimée Dalens ภรรยาผู้อ่อนแอ ขลาดเขลา ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่อยู่ใหม่ เพราะรักจึงยินยอมติดตามสามีมายังดินแดนทุรกันดารห่างไกล ถึงอย่างนั้นกลับถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง(กับบุตรสาว)บ่อยครั้ง โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว กลัวความตาย เลยพยายามโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย ใกล้ตัวสุดคือคนรับใช้ผิวสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับไม่เคยแสดงความสนใจ

ตัวละครของ Boschi คือตัวแทนประเทศอาณานิคม ผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูงส่ง ชอบชี้นิ้วออกคำสั่ง ไม่พึงพอใจอะไรก็ใส่อารมณ์เกรี้ยวกราด แต่ทุกการแสดงออกของเธอเป็นความพยายามปกปิดด้านอ่อนแอ ขลาดเขลา หวาดกลัวความตาย ทำไมฉันต้องมาทุกข์ทรมานอยู่ยังดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้?

ไฮไลท์การแสดงก็คือปฏิกิริยาสีหน้า ท่าทาง สำหรับอ่อยเหยื่อคนใช้ผิวสี Protée นี่อาจต้องจับจ้องกันสักหน่อย เพราะเธอพยายามทำให้ไม่ประเจิดประเจ้อ เด่นชัดเจนเกินไป แต่ภาษาภาพยนตร์จะช่วยให้ผู้ชมสังเกตเห็นรายละเอียดเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น (ถ้าอ่านออกนะ) … เป็นการซ่อนเร้นที่แนบเนียน ซับซ้อน และน่าค้นหา


ถ่ายภาพโดย Robert Alazraki (เกิดปี 1944) ตากล้องสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Casablanca, French Morocco โตขึ้นเดินทางสู่ London เข้าเรียนการถ่ายภาพ Royal College of Art หลังสำเร็จการศึกษาเดินทางสู่ฝรั่งเศส เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตภาพยนตร์ Les petites fugues (1979), Chocolat (1988), And Then There Was Light (1989), My Father’s Glory (1990), My Mother’s Castle (1990) ฯ

ผกก. Denis ไม่ได้ใคร่สนใจในทฤษฎีภาพยนตร์นัก “Film theory is just a pain in the ass!” สไตล์ของเธอให้ความสำคัญกับภาพและเสียง สำหรับสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ “I want to share something that is a vision, or a feeling.” โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราด และเศร้าโทมนัส ทำออกมาในลักษณะกวีนิพนธ์ จดบันทึกความทรงจำ (Memoir)

Anger is part of my relation to the world I’m filled with anger, I’m filled with regret, I’m filled with great memories, also poetic memories.

Claire Denis

ด้วยเหตุนี้งานภาพของหนังจึงมักตั้งกล้องบันทึกภาพ นานๆครั้งถึงมีการขยับเคลื่อนไหว ดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย (แลดูคล้ายๆการถ่ายภาพนิ่ง) ถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศโดยรอบของสถานที่นั้นๆ

การตั้งกล้องบันทึกภาพ มักเลือกใช้ระยะกลาง-ไกล (Middle/Long Shot) พบเห็นอากัปกิริยา ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ไม่เน้นถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดระหว่างตัวละคร เหมือนมีช่องว่าง กำแพงที่มองไม่เห็น แบ่งแยกพวกเขาออกจากกัน


ภาพแรกของหนังตั้งกล้องถ่ายทำริมชายหาด หันออกไปทางท้องทะเล พบเห็นพ่อ-ลูกผิวสีกำลังเล่นน้ำกันอย่างสุดสนาน หลังจากจบ Opening Credit กล้องทำการแพนนิ่ง หมุนประมาณครึ่งโลก 180 องศา พบเห็นหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศส กำลังนั่งเหม่อล่องลอยอยู่ริมหาดทราย

เนื่องจากผมขี้เกียจทำไฟล์เคลื่อนไหว (GIF) ก็เลยนำสองภาพเริ่มต้น-สิ้นสุด กล้องถ่ายท้องทะเล-หันหน้าเข้าฝั่ง พ่อลูกผิวสี-หญิงสาวผิวขาว ถือเป็นสองช็อตที่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม! แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างกลาง เพียงช่องว่าง ความเหินห่าง เพราะพวกเขาต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน

นอกจากเรื่องมิตรภาพ น้ำใจไมตรี ยังสามารถสื่อถึงชนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก แทบทุกประเทศได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิอาณานิคม พวกเขาสามารถขับเคลื่อน กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง โดยไม่มีใครควบคุมครอบงำ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป!

จะว่าไปเด็กชาย (ที่มากับบิดา) ยังถือเป็นภาพสะท้อนวัยเด็กของ France สำหรับคนช่างสังเกตน่าจะพบเห็นถ้อยคำพูด กิริยาท่าทาง หลายสิ่งอย่างมีความละม้ายคล้ายคลึง

Pic de Mindif หรือ Mindif Peak หรือ Mindif Tooth ภูเขาในย่าน Maya-Kani ทางตอนเหนือสุด (Far North) ของประเทศ Cameroon ความสูงประมาณ 769 เมตร มีความโดดเด่นเป็นสง่า แต่การจะปีนป่ายถึงยอดไม่เรื่อง่าย เพราะเป็นโขดหินและมีความลาดชัน ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท้าทายของนักปีนเขาใน Central และ West Africa

ละม้ายคล้ายๆ Mount Fuji ของประเทศญี่ปุ่น ยอดเขา Mindif ถือเป็นจุดศูนย์กลาง/ที่พึ่งพักพิงทางจิตใจของผู้คนละแวกนี้ มีความสูงใหญ่ ตั้งตระหง่าน จึงพบเห็นแทรกแซมหลายๆช็อตฉาก สามารถสื่อถึงผืนแผ่นดินแอฟริกาที่แม้ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดินิยม แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน ที่มีความเข้มแข็งแกร่งประดุจภูผา

ขอเล่าถึงประวัติศาสตร์ Cameroon สักหน่อยก็แล้วกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 ถูกยึดครอบครองโดยจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) กลายเป็น German Kamerun จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18) ความพ่ายแพ้ทำให้เยอรมันล่มสลาย จักรวรรดิฝรั่งเศส (French Empire) และสหราชอาณาจักร (British Empire) แบ่งเค้กออกเป็นสองก้อนฟากฝั่งตะวันออก (French Cameroons) และฟากฝั่งตะวันตก (British Cameroons)

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1946 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาติให้ Cameroon จัดตั้งรัฐบาลปกครองกันเอง แล้วได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1960 กลายมาเป็น Republic of Cameroon จากนั้นค่อยๆกลืนกินดินแดนในส่วนสหราชอาณาจักร จนสามารถรวมประเทศได้สำเร็จวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1961

เกร็ด: แม้ชาว Cameroonese ส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่น African แต่กลับเลือกใช้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาสื่อสารทางการ

การต้องมาอาศัยอยู่ต่างที่ต่างถิ่น ต่างวิถีชีวิต ต่างวัฒนธรรม มักทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘cultural shock’ ไม่สามารถปรับตัวยินยอมรับ แสดงอาการหวาดกังวล มารดา Aimée ยามค่ำคืนหวาดกลัวเสียงไฮยีน่า ถึงขนาดต้องเรียก Protée มาเฝ้ายามในห้องนอน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัวอะไร เพราะมันคือเหตุการณ์ปกติทั่วไป อยู่ไปอยู่มาเดี๋ยวก็มักคุ้นเคยชิน

เช่นเดียวกับความตายของสัตว์เลี้ยง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพียงยินยอมรับแล้วดำเนินชีวิตต่อไป แต่พวกคนขาวกลับเรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามหนทางของตนเอง … นี่คือลักษณะของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

เรื่องอาหารการกินของมารดา นี่ก็ชัดเจนมากๆถึงการไม่พยายามเรียนรู้ ปรับตัว ทุกสิ่งอย่างต้องดำเนินไปตามความต้องการ ฉันคือชาวฝรั่งเศสก็ต้องกินอาหารฝรั่งเศส! พอประณีประณอมได้กับอาหารอังกฤษ แต่ไม่เคยกล่าวถึงอาหารของชาวแอฟริกัน นี่เป็นการแบ่งแยกสถานะของตนเองอย่างชัดเจน

จะว่าไปขนมปังมดที่ Protée ทำให้กับเด็กหญิง France นั่นแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กยังสามารถเรียนรู้ ปรับตัว เปิดใจให้กับสิ่งต่างๆ ไม่รู้จักการสร้างเส้นแบ่ง/กำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น แต่ตรงกันข้ามกับ Protée ซึ่งก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนมารดา Aimée จึงพบเห็นการปฏิเสธมื้ออาหาร ทานผลไม้ได้คำหนึ่งแล้วโยนทิ้ง

Aimée ออกคำสั่งให้ Protée รูดซิปชุดเดรสด้านหลัง มองผิวเผินก็แค่การกระทำทั่วๆไป แต่ลีลาการนำเสนอของผกก. Denis ใช้กล้องแทนกระจกเงา ทำให้ดูเหมือนตัวละครหันมาสบตา (Breaking the Fourth Wall) ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน ซึ่งสามารถเทียบแทนความรู้สึกระหว่างทั้งสองขณะนี้ นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่?

ปล. เห็นภาพช็อตนี้ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Persona (1966) บุคคลสองราวกับจะกลืนกินกันและกัน

การมาถึงของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan ในขณะที่สามีออกสำรวจ ไม่อยู่บ้าน นี่แสดงถึงนัยยะเคลือบแฝง ลับลมคมใน สังเกตจากถ้อยคำพูด “I have that same felling with you Aimée” ชัดเจนว่าต้องการเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน อาศัยอยู่ดินแดนทุรกันดารห่างไกลแห่งนี้ มันช่างโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว โหยหาใครสักคนมาเติมเต็มความต้องการหัวใจ

ซึ่งช็อตที่ Jonathan พูดกล่าวประโยคนี้ เดิมที Aimée เหมือนกำลังเล่นหูเล่นตากับ Protée จากนั้นเขาเดินเข้ามาบดบังมิดชิด เรียกร้องความสนใจ ทำไมไม่เอาพวกเดียวกัน?

สภาพอากาศร้อนระอุ คงสร้างความลุ่มร้อนรน กระวนกระวายให้กับ Aimée เพราะยุโรปอากาศเย็นสบาย เมื่อต้องมาพบเจอแดดร้อนๆ เหงื่อไคลไหลย้อย ร่างกายจึงไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแอฟริกา

Aimée เป็นคนที่มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตนในชาติพันธุ์ ซึ่งความรู้สึกบางอย่างที่มีต่อกับ Protée ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ไม่ต้องการยินยอมรับ ไม่ต้องการอีกฝ่ายอยู่เคียงชิดใกล้ (เลยสั่งไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามก้าวก่ายในห้องนอน) แต่หลายๆครั้งกลับเริ่มไม่สามารถหักห้ามใจตนเอง

การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม มักนำเอาสิ่งต่างๆที่สร้างความสะดวกสบาย อย่างการอาบน้ำด้วยฝักบัว พบเห็นโดย Protée จึงทำการลอกเลียนแบบ ประดิษฐ์คิดค้นด้วยวิธีการของตนเอง … นี่แสดงถึงอิทธิพลของจักรวรรดินิยม บางสิ่งอย่างอาจไม่ได้ต้องการเผยแพร่ สงวนไว้กับตน แต่ถ้ามันก่อให้เกิดประโยชน์ ย่อมเกิดการคัทลอกเลียนแบบ

ปฏิกิริยาสีหน้าของ Protée หลังได้ยินเสียง Aimée และ France เดินผ่านมาขณะกำลังอาบน้ำ นั่นดูไม่ใช่ความอับอาย แต่รู้สึกเหมือนเสียหน้า ราวกับว่าไม่ต้องการให้นายจ้างรับรู้ว่าตนเองทำการลอกเลียนแบบฝักบัวอาบน้ำ … คงเป็นศักดิ์ศรี ทะนงตนของชาวแอฟริกัน ไม่ต้องการยินยอมรับพวกจักรวรรดินิยม แต่กลับได้รับอิทธิพล แอบทำตามหลายๆสิ่งอย่าง

จะว่าไปผมไม่เคยได้ยินตัวละครชาวฝรั่งเศสพูดภาษาแอฟริกันในหนัง! (แต่ตัวละครชาวแอฟริกันได้ยินพูดฝรั่งเศส อังกฤษ และแอฟริกัน) นั่นก็แสดงถึงความไม่สนใจใยดีที่จะเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่น ผิดกับเด็กหญิง France เล่นเกมกับ Protée ชี้นิ้วทายคำเรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งยังล้อกับตอนต้นเรื่องที่เด็กชายผิวสีเล่นทายคำแบบเดียวกันนี้กับบิดาระหว่างขับรถไปส่งหญิงสาว France

สมาชิกเครื่องบินโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ จำต้องลงจอดฉุกเฉิน ณ Mindif ประกอบด้วย

  • กัปตัน Captain Védrine
  • ต้นหน Courbassol
  • สามี Machinard เจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาประจำการยัง M’Banga และภรรยา Mireille ออกเดินทางมาแอฟริกาครั้งแรก เลยพามาท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา
    • แต่ภายหลังภรรยามีอาการปวดท้องไส้ (คาดว่าน่าจะท้องร่วง) ต้องรอคอยตอนเช้าถึงสามารถพาไปส่งโรงพยาบาล
  • Joseph Delpich เจ้าของไร่กาแฟ มาพร้อมกับแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse
    • แท้จริงแล้วเธอคนนั้นคือชู้รัก (หรือภรรยาก็ไม่รู้) ภายนอกแสดงออกแบบนาย-บ่าว แต่พออยู่ในห้องนอนก็ปรนปรนิบัติเธออย่างดี

ท่าทางลับๆล่อๆ ลุกรี้ร้อนรนของ Joseph Delpich เต็มไปด้วยลับลมคมใน พยายามใช้เงินซื้อใจชาวแอฟริกัน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่มีใครสนใจ … เอาจริงๆถ้าพูดคุยอย่างสุภาพ ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม ก็อาจได้รับความช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น แต่พฤติกรรมตัวละคร ครุ่นคิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง เลยถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

และสิ่งน่าตกใจที่สุดก็คือแม่บ้าน/คนใช้ผิวสี Thérèse ท่าทางลับๆล่อๆในห้องครัว และพอเข้ามาห้องพักก็ยังปิดไฟมิดชิด นี่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ต้องการปกปิด แต่ไม่ว่าจะในฐานะภรรยาหรือชู้รัก การแสดงออกของ Joseph ดูไม่ให้การเคารพ เหมือนทำการบีบบังคับ ใช้อำนาจ(ทางเพศ)ควบคุมครอบงำ จำต้องทำตามคำสั่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เมื่อตอนกลางวันถูกสั่งให้ทำสนามเปตอง พบว่ามีความสนุกสนาน แปลกใหม่ ยามค่ำคืนบรรดาคนใช้จึงโยนเล่นกันอย่างสนุกสนาน … นี่คือวิธีการของลัทธิอาณานิคม นำสิ่งต่างๆมาเผยแพร่ให้กับคนท้องถิ่น บางเรื่องอาจเป็นสิ่งดี บางเรื่องก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใด ทำให้เกิดการผสมผสาน กลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรม ค่อยๆถูกกลืนกินโดยไม่รับรู้ตัว

ทั้งๆแสดงความรังเกียจ พูดคำเหยียดหยาม แต่ทว่า Luc Segalen กลับเลือกใช้ชีวิตแบบเดียวกับชาวแอฟริกัน ตั้งแต่ขุดดินทำถนน อาบน้ำนอกบ้าน รับประทานอาหารร่วมกับคนใช้ ในสายตาของ Protée เหล่านี้คือพฤติกรรมดูถูกหมิ่นแคลน บังเกิดความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด จนในที่สุดก็มีเรื่องทะเลาะวิวาท กระทำร้ายร่างกาย สู้ไม่ได้เลยต้องหลบหนีจากไป

พฤติกรรมขัดย้อนแย้งของ Segalen น่าจะต้องการสื่อถือคนขาวไม่มีทางกลายเป็นคนผิวสี ต่อให้พยายามลอกเลียนแบบ กระทำตามทุกสิ่งอย่าง แต่สิ่งแตกต่างคือความรู้สึกนึกคิด ถ้าจิตใจยังคงปิดกั้น ไม่เปิดใจยินยอมรับ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

ขณะเดียวกันเหมือนว่า Segalen จะมีความสนใจในตัว Aimée สังเกตเห็นแววตาของเธอที่มีต่อ Protée หลายต่อหลายครั้งจึงพยายามขโมยนซีน ทำตนเองให้โดดเด่น พูดง่ายๆก็คือเรียกร้องความสนใจ … กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์เพื่อแก่งแย่งชิงหญิงสาว

Aimée นั่งหลบมุมอยู่ข้างๆประตูระหว่าง Protée กำลังปิดผ้าม่าน ทำเหมือนกำลังเฝ้ารอคอย อ่อยเหยื่อ เสร็จเมื่อไหร่ช่วยพาฉันเข้าห้องนอน แต่เขากลับฉุดกระชากให้เธอลุกขึ้นอย่างรุนแรง ปลุกตื่นจากความฝัน แล้วเดินจากไปอย่างไร้เยื่อใย ยังคงหงุดหงิดไม่พึงพอใจ เหมารวมพวกฝรั่งเศสไม่แตกต่างจาก Segalen 

จากเหตุการณ์เมื่อค่ำคืน ทำให้ Aimée เกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อ Protée ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ(ทางเพศ) จึงขอให้สามีขับไล่ ผลักไส มุมกล้องถ่ายจากภายในบ้าน ประตูทางเข้าเปิดออกพบเห็นทิวเขา Mindif Peak (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) และ Protée กำลังปัดกวาดเช็ดถู รดน้ำต้นไม้อยู่เบื้องหลัง … นี่เป็นช็อตสไตล์ Citizen Kane บุคคลผู้อยู่ภายนอก เบื้องหลัง ระยะห่างไกลออกไป ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงในการตัดสินใจใดๆ (นั่นรวมถึงช็อต Close-Up ใบหน้าสามีที่บดบังทิวทัศน์ด้านหลังมิดชิด)

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ระหว่างมารดายืนกรานว่าจะขับไล่ Protée คงสร้างความไม่พึงพอใจให้กับเด็กหญิง France ลุกขึ้นจากตัก แล้วเดินออกทางประตูหน้าบ้าน … หนังจงใจทำให้รายละเอียดตรงนี้ไม่เด่นชัดนัก เพราะให้ผู้ชมค้นพบความรู้สึกของตัวละครด้วยตนเอง

การถูกไล่ออกจากงานของ Protée ฟังดูอาจเป็นสิ่งเลวร้าย แต่เราสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำ ทำตามคำสั่งโน่นนี่นั่นอีกต่อไป ซึ่งเขายังมานั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ รุ่งอรุณ เช้าวันใหม่ และบทเพลงชื่อ Earth Bird (จริงๆมันควรจะ Early Bird หรือเปล่า?)

รอมฎอน คือการถือศีลอดของชาวมุสลิม (เดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม หรือระหว่างมีนาคม-เมษายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งสามารถสื่อถึงช่วงเวลาที่ชาวแอฟริกันต้องอดทน อดกลั้น จากการถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกจักรวรรดินิยม จนกระทั่ง Protée ถูกไล่ออกจากงาน เช้าวันนี้เหมือนจะสิ้นสุดเดือนรอมฏอนพอดิบดี!

มันอาจเป็นการกระทำชั่วร้ายของ Protée ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดหลังถูกนายจ้างขับไล่ออกจากงาน ด้วยการล่อหลอกเด็กสาวผู้ไม่รู้ประสีประสา จับท่อน้ำร้อน เกิดรอยไหม้บนฝ่ายมือที่ไม่มีวันเลือนหาย แต่นัยยะของแผลเป็นนี้สื่อถึงตราบาปที่จะตราฝังชั่วนิรันดร์อยู่ในความทรงจำ จิตวิญญาณชาวฝรั่งเศส รวมถึงบรรดาประเทศอาณานิคม เข้ามายึดครอบครอง เรียกร้องเอาโน่นนี่นั่น จากนั้นก็สะบัดตูดหนีหาย ใครกันแน่ที่โฉดชั่วร้าย?

เครื่องบินขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ยังต้องการจะนำเปียโนหลังใหญ่ยัดเยียดกลับไปด้วย นี่ไม่ใช่แค่ไม่รู้จักพอ ไม่ประมาณตนเอง ยังแสดงถึงพฤติกรรมกอบโกยของจักรวรรดินิยม แสวงหาผลประโยชน์ต่อประเทศอาณานิคม และพอถึงเวลาจากไป (ภายหลังการประกาศอิสรภาพ) ยังไม่ยินยอมทอดทิ้งอะไรสักสิ่งอย่างไว้

“I’m nothing here. If I died now, I’d completely disappear.”

William J. Park รับบทโดย Emmet Judson Williamson

คำกล่าวนี้อาจฟังดูหดหู่ เศร้าสร้อย น่าผิดหวัง แต่นั่นคือทัศนคติพวกชาวยุโรป+อเมริกัน โหยหาการมีตัวตน ได้รับการยินยอมรับ ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจบารมี ยศศักดิ์ศรี ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ฝากรอยเท้าไว้ในประวัติศาสตร์ กลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา

แต่สำหรับชาวแอฟริกัน ทุกคนล้วนมีความเป็นพี่น้องหนึ่งเดียวกัน เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียง เงินทอง หรือพิสูจน์การมีตัวตนว่าฉันยิ่งใหญ่เหนือใคร เพราะมนุษย์ล้วนเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วัฏจักรชีวิต พบเห็นได้โดยปกติทั่วไป

สำหรับคนช่างสังเกตจะพบว่าซับไตเติ้ลมักไม่ค่อยแปลภาษาแอฟริกัน นั่นทำให้ตอนชายผิวสีอ่านลายมือของ France เหมือนจะพูดบอกอะไรสักอย่าง (เป็นภาษาแอฟริกัน) แต่กลับไม่ปรากฎคำแปล เลยไม่รู้ให้คำแนะนำอะไร แถมหนังก็ยังตัดข้าม กระโดดไปตอนเตรียมขึ้นเครื่องบินกลับฝรั่งเศส สร้างความคลุมเคลือ แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิด สรุปแล้วหญิงสาวได้เดินทางไปแวะเวียนบ้านหลังเก่าที่ Mindif หรือไม่?? นอกจากนี้การไม่สามารถอ่านลายมือ ไม่รับรู้อนาคต (ไม่ใช่ไม่มีอนาคตนะครับ) สื่อถึงอะไรก็เกิดขึ้นได้ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น เพราะหนังถ่ายภาพระยะกลาง-ไกล และจงใจไม่ให้เห็นใบหน้านักแสดงอย่างชัดเจน นั่นคือ France เหมือนจะคลาดแคล้วกับ Protée ทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร ดูออกไหมเอ่ยว่าคือคนไหน? เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพื่อสื่อถึงการปลดแอก/แยกจากระหว่าง France (สื่อได้ทั้งหญิงสาวและประเทศฝรั่งเศส) และ Protée (ที่เป็นตัวแทนชาวแอฟริกัน) ไม่ได้เป็นของกันและกันอีกต่อไป

สามพนักงานขนกระเป๋าโดยสาร เข้ามาหลบฝนใต้อาคาร พูดคุยสนทนากันอย่างออกรส แต่ผู้ชมจะได้ยินเพียงสายฝนและบทเพลง African Market นี่เป็นตอนจบที่อาจขัดใจใครหลายคน ทว่าสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตน ชนชาวแอฟริกัน พวกเขาโหยหาความเรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เมื่อได้รับการปลดแอก อิสรภาพจากพวกอาณานิคม จึงหวนกลับหารากเหง้า ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย

ตัดต่อโดย Monica Coleman, Claudine Merlin, Sylvie Quester

หนังเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของหญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ระหว่างเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิด Cameroon (ไม่ได้ระบุปี แต่คาดเดาไม่ยากว่าคือปัจจุบันนั้น ค.ศ. 1987-88) เคยพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง ค.ศ. 1957 ยังคงจดจำความสัมพันธ์กับคนรับใช้ผิวสี Protée ตั้งแต่แรกพบเจอ และร่ำลาจากกัน

เรื่องราวในความทรงจำของ France นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึก ‘Memoir’ เพียงร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบ พบเห็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมารดา Aimée และคนรับใช้ผิวสี Protée เหมือนมีอะไรบางอย่างที่เด็กหญิงยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่

  • อารัมบท, หญิงผิวขาวชาวฝรั่งเศสชื่อ France ได้รับชักชวนจากชายผิวสี(พร้อมบุตรชาย)อาสาขับรถพาไปส่งยังที่หมายปลายทาง
  • France, มารดา Aimée และ Protée
    • France นั่งหลังรถกับ Protée กำลังเดินทางไปยังบ้านที่ Mindif, French Cameroon
    • บิดาเตรียมออกสำรวจ หลงเหลือเพียง France, มารดา Aimée และบรรดาคนรับใช้ผิวสี
    • กิจวัตรประจำวันเรื่อยเปื่อยของ France, มารดา Aimée และ Protée
    • ยามค่ำคืนได้ยินเสียงไฮยีน่า มารดา Aimée จึงขอให้ Protée เฝ้ายามอยู่ในห้องนอน
  • การมาเยี่ยมเยียนของผู้ว่าการชาวอังกฤษ Jonathan
    • หลังกลับจากเยี่ยมเยียนบาทหลวง Aimée ร้องขอพ่อครัวให้ทำอาหารฝรั่งเศส
    • แต่แล้วก็มีแขกมาเยือนโดยไม่ได้นัดหมาย Aimée จึงต้องร้องขอให้พ่อครัวทำอาหารอังกฤษ
    • ดินเนอร์ เต้นรำ ดื่มด่ำ พอหลับนอนก็ปิดเครื่องปั่นไฟ
    • หลังผู้ว่าการชาวอังกฤษเดินทางจากไป France, มารดา Aimée และ Protée ก็หวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย เฝ้ารอคอยวันที่สามีกลับบ้าน
  • การมาถึงของเครื่องบินท่องเที่ยว ลงจอดฉุกเฉิน
    • ยามเย็นพบเห็นเครื่องบินลำหนึ่งผ่านบ้านไป
    • วันถัดมาบิดาต้อนรับสมาชิกเครื่องบินลำนั้น ลงจอดฉุกเฉินเนื่องจากเครื่อยนต์ขัดข้อง
    • รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
  • เรื่องวุ่นๆของ Luc Segalen
    • วันถัดมาคนงานทำถนน ซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบิน
    • ภรรยาของผู้โดยสาร ล้มป่วยอะไรสักอย่าง แต่หมอไม่สามารถรักษา ต้องรอเช้าวันถัดมาถึงสามารถเดินทางเข้าเมือง
    • หนึ่งในผู้โดยสาร Luc Segalen มีความขัดแย้งกับ Protée จนมีเรื่องทะเลาะวิวาท จนกระทั่งชกต่อย
  • การจากไปของ Protée
    • Aimée พยายามเกี้ยวพาราสี Protée แต่อีกฝ่ายกลับปฏิเสธ
    • Aimée จึงขอให้สามีขับไล่ Protée
    • เครื่องบินซ่อมเสร็จ ผู้สารขึ้นเครื่องออกเดินทางกลับ
  • ปัจฉิมบท, ตัดกลับมาปัจจุบัน France เดินทางมาถึงสนามบิน เตรียมขึ้นเครื่องกลับฝรั่งเศส

การดำเนินเรื่องของหนังถือว่ามีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า (ในมุมมองของผู้ชมสมัยใหม่) แต่จุดประสงค์ของผกก. Denis ชัดเจนว่าต้องการให้ซึมซับบรรยากาศ ความสวยงามของสถานที่ วิถีชีวิตชาวแอฟริกัน (ที่ไม่ได้มีความเร่งรีบร้อนเหมือนยุโรป+อเมริกัน) รวมถึงสัมผัสความตึงเครียดระหว่างตัวละคร สร้างความปั่นป่วนมวนท้องไส้โดยไม่รู้ตัว


เพลงประกอบโดย Abdullah Ibrahim ชื่อจริง Adolph Johannes Brand (เกิดปี 1934) นักเปียโน แต่งเพลงสัญชาติ South African เกิดที่ Cape Town, South Africa มารดาเป็นนักเปียโน ทำการแสดงในโบสถ์ระหว่างพิธีมิสซา บุตรชายเลยมีความชื่นชอบ ประทับใจ ฝึกฝนร่ำเรียนดนตรีตั้งแต่ 7 ขวบ กลายเป็นมืออาชีพตอนอายุ 15 ซึมซับรับสไตล์ดนตรี Marabi, Mbaqanga และ American Jazz, อพยพย้ายสู่ยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ออกอัลบัม ทำการแสดงทัวร์ เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Chocolat (1988), No Fear, No Die (1990) ฯ

แม้ว่าผกก. Denis จะนิยมชมชอบการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ในการสร้างบรรยากาศคลอประกอบพื้นหลัง (ทั้งกลางวัน-กลางคืน จะได้ยินเสียงจิ้งหรีดเรไรอยู่ตลอดเวลา) แต่ทว่าเพลงประกอบจะช่วยเสริมกลิ่นอายความเป็นแอฟริกัน บทเพลงของ Ibrahim มีส่วนผสมของท่วงทำนองพื้นบ้าน(แอฟริกัน) + American Jazz แม้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกแทบทั้งหมด แต่กลับยังมีความเฉพาะตัวในสไตล์ดนตรีแอฟริกัน

เกร็ด: Abdullah Ibrahim ไม่ได้แค่ประพันธ์เพลงประกอบ แต่ยังเล่นเปียโน เป่าฟลุต และส่งเสียงเอื้อยแจ้ว ร่วมกับวงดนตรี Dollar Brand

บทเพลงชื่อ Pule [แปลว่า มั่งคั่ง, อุดมสมบูรณ์, เจริญรุ่งเรือง] แต่ภาพทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างเด็กหญิง France และครอบครัวขับรถพานผ่าน กลับพบเห็นแต่ความเหือดแห้งแล้ง ทุรกันดาร ถนนลูกรัง ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ … แต่นั่นอาจเฉพาะมุมมองคนขาว ชาวยุโรป ผิดกับคนแอฟริกันผิวสี ผืนแผ่นดินแห่งนี้คือบ้านเกิดเมืองนอน ย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ กระมัง?

บทเพลงชื่อ Earth Bird แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าควรจะเป็น Early Bird ที่หมายถึงอรุณรุ่ง นกที่ตื่นเช้า หลังจาก Protée ถูกไล่ออกจากงาน นั่งเหม่อมองพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนขึ้นริมขอบฟ้า เสียงขลุ่ยอาจฟังดูเศร้าสร้อย เหงาหงอย ผิดหวัง เกรี้ยวกราด แต่ขณะเดียวกันมันคือประกายความหวังสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่

African Market ดังขึ้นช่วงท้ายของหนัง ตั้งแต่หญิงสาวผิวขาวชาวฝรั่งเศสเดินทางถึงสนามบิน ดังต่อเนื่องไปจนสิ้นสุด Closing Credit ผมถือว่าบทเพลงนี้คือตัวแทนชาวแอฟริกันภายหลังการปลดแอก ได้รับอิสรภาพจากประทศอาณานิคม พวกเขาไม่ได้มุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยะยุโรป/อเมริกัน แต่หวนกลับหารากเหง้า เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามวิถีบรรพบุรุษ

เกร็ด: เผื่อใครอยากหารับฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ Abdullah Ibrahim ออกอัลบัมชื่อว่า Mindif (1988) มีทั้งหมด 8 บทเพลง แต่นำมาใช้จริงน่าจะไม่ถึงครึ่ง

มองอย่างผิวเผิน Chocolat (1988) คือการหวนระลึกความหลัง เรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) ช่วงเวลาวัยเด็กของผกก. Denis ระหว่างพักอาศัยอยู่ French Cameroon นำเสนอด้วยวิธีการคล้ายๆจดบันทึกความทรงจำ ‘Memoir’ ร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆเคยประสบพบเห็น ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับคนรับใช้ผิวสี

แต่ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Denis ต้องการสะท้อนความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension) ระหว่างมารดา (ตัวแทนฝรั่งเศส) และคนรับใช้ผิวสี (ตัวแทนชาวแอฟริกัน) กับบรรยากาศขัดแย้งระหว่างประเทศอาณานิคม (Colonialism) แม้สามารถครอบครอง ใช้อำนาจควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ … ร่วมรักหลับนอน

When you look at the hills, beyond the houses and beyond the trees, where the earth touches the sky, that’s the horizon. Tomorrow, in the daytime, I’ll show you something. The closer you get to that line, the farther it moves. If you walk towards it, it moves away. It flees from you. I must also explain this to you. You see the line. You see it, but it doesn’t exist.

Marc Dalens

คำกล่าวของบิดาเกี่ยวกับเส้นขอบฟ้าที่ไม่มีอยู่จริง เป็นความพยายามสื่อถึงความแตกต่างระหว่างสีผิวขาว-ดำ ชาติพันธุ์ยุโรป-แอฟริกัน แต่ความจริงแล้วทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องแบ่งแยก ขีดเส้นแบ่ง สร้างกำแพงที่ไม่มีอยู่จริง เพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครอง เป็นเจ้าของ (Colonialism) นำเอาทรัพยากรมาใช้ … สุดท้ายแล้วพวกประเทศหมาอำนาจเหล่านั้น สักวันย่อมต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป (ใจความ Anti-Colonialism)

ในบรรดาผลงานภาพยนตร์ทั้งหมด ผมค่อนข้างรู้สึกว่า Chocolat (1988) มีความใกล้ตัว ใกล้หัวใจ และใกล้จิตวิญญาณผกก. Denis มากที่สุดแล้ว! ถ้าไม่นับรวม Beau Travail (1999) ก็อาจจะคือ Chocolat (1988) คือผลงานยอดเยี่ยมรองลงมา … เป็นเรื่องที่น่าติดอันดับ Sight & Sound มากกว่า Je tu il elle (1975) ของ Chantal Akerman เสียอีกนะ!


ผกก. Denis ต่อรองค่าจ้าง 200,000 ฟรังก์ (จากทุน 1.3 ล้านฟรังก์) โดยไม่เรียกร้องขอส่วนแบ่งใดๆ เพราะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องแรกมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำกำไร แต่ด้วยยอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศส 793,738 ใบ ประมาณการรายรับ $2.3 ล้านเหรียญ เห็นว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน! … จนกระทั่ง Let the Sunshine In (2017) ทำเงินได้ $4.2 ล้านเหรียญ (แต่กำไรน่าจะน้อยกว่านะ)

เมื่อปี ค.ศ. 2022 หนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K โดย Éclair labs ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Claire Denis และตากล้อง Robert Alazraki สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง BFI Video (ผมพบเห็นใน Criterion Channel แต่เหมือนคุณภาพแค่ HD และยังไม่มีจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray)

ในตอนแรกมีความหวาดหวั่นต่อผลงานของผกก. Claire Denis เพราะความทรงจำต่อ Beau Travail (1999) เป็นหนังดูยากฉะมัด! แต่พอได้รับชม Chocolat (1988) ก็ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง พบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ ลูกเล่นความสนใจ ลุ่มลึก ท้าทาย เอร็ดอร่อย รสชาดถูกปากมากๆ

เอาจริงๆผมก็อยากหาผลงานอื่นๆของผกก. Denis มารับเชยชมอีก แต่น่าเสียดายค่อนข้างจะหาดูยากพอสมควร เลยเลือกเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจอีกแค่สองสามเรื่อง แล้วจะได้แวะเวียนสู่ African Film ที่หลายคนเรียกร้องเสียเหลือเกิน

จัดเรต pg กับบรรยากาศเหงาๆ วังเวง ความตึงเครียดทางเพศ (Sexual Tension)

คำโปรย | Chocolat ของผู้กำกับ Claire Denis มีความงดงาม ตึงเครียด รสชาดเอร็ดอร่อยสำหรับผู้ที่สามารถลิ้มลองชิม
คุณภาพ | ช็
ส่วนตัว | เอร็ดอร่อย

Chronicle of the Years of Fire (1975)


Chronicle of the Years of Fire (1975)  : Mohammed Lakhdar-Hamina ♥♥♥♥

จากความเหือดแห้งแล้งของทะเลทราย เดินทางเข้าเมืองยังถูกกดขี่เหงจากพวกฝรั่งเศส นั่นคือชนวนสาเหตุให้ชาว Algerian โหยหาอิสรภาพ ต้องการปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคม, ภาพยนตร์จากทวีปแอฟริกาเรื่องแรก(เรื่องเดียว)ที่คว้ารางวัล Palme d’Or

ไม่ใช่แบบ The Battle of Algiers (1966) ที่นำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) vs. กองทัพทหารฝรั่งเศส, Chronicle of the Years of Fire (1975) มีลักษณะ ‘Cinema Poem’ บทกวีพรรณาถึงสาเหตุผล จุดเริ่มต้น ที่มาที่ไปก่อนชาว Algerian ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ขับไล่ เรียกร้องอิสรภาพ ต้องการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ระหว่างปรับปรุงบทความ The Battle of Algiers (1966) ผมดันไปชำเลืองเห็นภาพยนตร์ Chronicle of the Years of Fire (1975) นำเสนอประวัติศาสตร์สงคราม Algerian War of Independence (1954-62) ทั้งยังคว้ารางวัล Palme d’Or รวมถึงได้รับการโหวตติดอันดับ 3 ชาร์ท Top 100 Arabic Films จากเทศกาลหนัง Dubai International Film Festival เมื่อปี ค.ศ. 2013 เช่นนั้นแล้วจะให้มองข้ามไปได้อย่างไร

แม้คุณภาพหนังจะย่ำแย่ แถมระยะเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมง แต่ถ้าสามารถอดรนทน ซึมซับความลุ่มร้อนสุมอก ตอนจบคุณอาจรู้สึกเหมือนชาว Algerian อยากระเบิดความคลุ้มคลั่ง โต้ตอบกลับจักรวรรดินิยม ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน … เป็นภาพยนตร์สมควรค่าแก่การบูรณะ (ภาพถ่ายทะเลทรายสุดลูกหูลูกน่า มีความงดงามอย่างมากๆ) แต่ก็ไม่รู้จะมีโอกาสนั้นหรือเปล่านะ


Mohammed Lakhdar-Hamina (เกิดปี 1934), محمد الأخضر حمينة ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Algerian เกิดที่ M’Sila โตขึ้นเดินทางไปร่ำเรียนกฎหมายและกสิกรรมยังฝรั่งเศส ปฏิเสธเข้าร่วม Franch Army ก่อนอาสาสมัคร Algerian Resistance ในประเทศ Tunisia เมื่อเข้าร่วมกองกำลัง Algerian Maquis ทำงานงานเป็นตากล้อง ต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก National Liberation Front (FLN) ส่งไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง Filmová a televizní fakulta Akademie múzických umění v Praze (FAMU) ณ กรุง Prague ฝึกงานสตูดิโอ Barrandov Studios แล้วกลับมาเข้าร่วม Service Cinema (ของรัฐบาลพลัดถิ่น Algerian) สรรค์สร้างภาพยนตร์ต่อต้านอาณานิคม (Anti-Colonialism) อาทิ The Winds of the Aures (1966), Hassan, Terrorist (1968), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

สำหรับ وقائع سنين الجمر, ชื่อฝรั่งเศส Chronique des Années de Braise แปลว่า Chronicle of the Years of Fire ถือเป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของผกก. Lakhdar-Hamina นำเสนอผ่านมุมมองเกษตรกร/บิดาที่ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบาก จากทั้งสภาพอากาศเหือดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันมานาน ทำให้ต้องพาครอบครัวออกเดินทางสู่ชุมชนเมือง แต่ก็ถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้างฝรั่งเศส พานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-45), เหตุการณ์โรคระบาดไข้ไทฟอยด์, สังหารหมู่ผู้ชุมนุมประท้วง, จนที่สุดก็มิอาจอดรนทน รวบรวมสมัครพรรคพวก ลุกฮือขึ้นต่อต้าน ขับไล่ จุดเริ่มต้นของ Algerian War of Independence (1954-62)

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลา

  • The Years of Ashes ช่วงเวลาแห่งความเหือดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันมานาน ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อทำพิธีขอฝน พอลำคลองเริ่มมีสายน้ำไหล กลับถูกแก่งแย่งโดยฟากฝั่งขั้วตรงข้าม โชคยังดีปีนี้ฝนตกเพียงพอต่อผลผลิต แต่ปีถัดมาก็ไม่หลงเหลืออะไรอีกครั้ง นั่นทำให้ Ahmed เดินทางสู่ชุมชนเมือง รับรู้จักคนบ้า พาแนะนำสถานที่ต่างๆ ทำงานให้นายจ้างฝรั่งเศส ถูกกดขี่ข่มเหง แอบเป็นกำลังใจให้ Adolf Hitler เข้ายึดครองฝรั่งเศสได้สำเร็จ
  • The Year of the Cart เกิดโรคระบาดไข้ไทฟอยด์ (รากสาดน้อย) ทำให้แทบทั้งครอบครัวของ Ahmed ล้มป่วยเสียชีวิต หลงเหลือเพียงทารกน้อย พาเดินทางกลับบ้านชนบท จำใจต้องทำงานกับนายจ้างฝรั่งเศสอีกครั้ง
  • The Smoldering Years ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Ahmed ถูกบีบบังคับให้เกณฑ์ทหาร เข้าร่วมสู้รบ ถูกจับกุม ทัณฑ์ทรมาน หวนกลับมาบ้านในสภาพเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า รวมกลุ่มกับผองเพื่อนพูดคุยเรื่องการเมือง
  • The Year of the Massacre พวกนักการเมืองพยายามหาเสียงให้กับการเลือกตั้ง แต่ Ahmed และผองพวกแสดงความเห็นว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ต่อมาเกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวเมืองกับทหารฝรั่งเศส นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่
  • The Year of Fire เปลี่ยนมานำเสนอมุมมองบุตรชายของ Ahmed ติดตามหาบิดาที่สูญหายตัว แต่เขากลับเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิบัติ และกลายเป็นวีรบุรุษหลังเสียสละชีพเพื่ออุดมการณ์
    • 1 November 1954 ความตายของคนบ้า และจุดเริ่มต้นสงคราม Algerian War of Independence

ในส่วนของนักแสดง จะมีอยู่สองคนที่โดดเด่นกว่าใคร

  • Yorgo Voyagis, Γιώργος Βογιατζής (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติ Greek เกิดที่กรุง Athens เข้าสู่วงการจากบทบาทสมทบ Zorba the Greek (1964), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Chronicle of the Years of Fire (1975), สมทบซีรีย์โทรทัศน์ Jesus of Nazareth (1977) ฯ
    • รับบท Ahmed ชายชาวนา ผู้มีความดื้อรั้น ดึงดัน มิอาจอดกลั้นฝืนทนต่อทั้งความเหือดแห้งแล้ง รวมถึงการถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกฝรั่งเศส แสดงสีหน้าบึ้งตึง เคร่งเครียด พร้อมโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง โหยหาโอกาสจะได้มีชีวิต กินดีอยู่ดี แต่กลับต้องสูญเสียภรรยาและบุตร จนไม่สามารถเผชิญหน้าทารกน้อย จำยินยอมอาสาสมัครทหาร เคยถูกจับกุม ทัณฑ์ทรมาน เมื่อกลับบ้านปฏิเสธการประณีประณอม รวบรวมสมัครพรรคพวกพ้อง ตระเตรียมการต่อสู้ เผชิญหน้า ปลดแอกอาณานิคม น่าเสียดายที่เขามีชีวิตไม่ถึงวันนั้น แต่ก็เลือกความตายเยี่ยงวีรบุรุษ
    • หลายคนน่าจะรู้สึกประหลาดใจอยู่เล็กๆ แทนที่จะเลือกนักแสดงนำชาว Algerian กลับใช้บริการ Yorgo Voyagis สัญชาติกรีก น่าเสียดายที่ผมก็หาคำตอบให้ไม่ได้ หน้าตาถือว่ากลมกลืมเข้ากับชาวอาหรับ ส่วนความรู้สึกผิดที่ผิดทาง (ที่ไม่ใช่ชาว Algerian) จะว่าไปสอดคล้องพฤติกรรมนอกรีต หัวขบถ ชอบกระทำสิ่งแหกนอกคอก
  • อีกหนึ่งนักแสดงคนสำคัญไม่ใช่ใครอื่นไกล ก็คือผกก. Lakhdar-Hamina
    • รับบทชายคนบ้า (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นเป็นคนพา Ahmed แนะนำสถานที่โดยรอบเมือง ขณะเดียวกันปากพูดพร่ำไม่เคยหยุด ฟังผิวเผินเหมือนจะไร้สาระ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนระบายความอึดอัดอั้น แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ขณะนั้นๆอย่างตรงไปตรงมา เลยมักถูกกลั่นแกล้ง กระทำร้ายร่างกาย ไม่สามารถโต้ตอบขัดขืนอันใด และช่วงครึ่งหลังยังเป็นผู้ดูแลบุตรชายของ Ahmed (ตั้งแต่บิดาออกไปรบ ก็ไม่เคยหวนกลับมาหา) จนกระทั่งชีพวางวาย
    • นี่เป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจ ใครต่อใครอาจมองว่าเป็นคนบ้า แต่แท้จริงแล้วอาจแสร้งบ้า เพราะทุกคำเอ่ยกล่าวออกมา แสดงถึงสติปัญญา ความรอบรู้ เฉลียดฉลาด (ทุกคำกล่าวของคนบ้า สำหรับอธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริง) เหมือนคนมิอาจอดกลั้นฝืนทนต่อวิถีชีวิตขณะนั้น เลยระบายออกมาด้วยคำพูดและการกระทำ (ให้ดูว่าแกล้งบ้า)

ถ่ายภาพโดย Marcello Gatti (1924-2013) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุง Rome เริ่มต้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ก่อนถูกจับติดคุกห้าปีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะทำลายภาพถ่ายท่านผู้นำ Benito Mussolini ในสตูดิโอ Cinecittà, หลังได้รับอิสรภาพกลายเป็นตากล้องเต็มตัว มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Four Days of Naples (1962), The Battle of Algiers (1966), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

ด้วยความทะเยอทะยานของผกก. Lakhdar-Hamina ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ (Epic) ด้วยการเลือกใช้ฟีล์ม Panavision 35mm (เวลาฉายมีการ ‘blow-up’ เพื่อให้ได้ฟีล์ม 70mm) อัตราส่วน Anamorphic (2.35:1) กระบวนการสี Eastmancolor

แม้ใช้บริการตากล้องคนเดียวกัน แต่งานภาพของ The Battle of Algiers (1966) ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ เน้นความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน แพนนิ่ง-ซูมมิ่ง-แทร็กกิ้ง ยังสถานที่ห้อมล้อมรอบด้วยผนังกำแพงย่าน Casbah ภายในเมืองหลวง Algiers, ตรงกันข้ามกับ Chronicle of the Years of Fire (1975) ถ่ายทำกลางท้องทะเลทราย มองออกไปไกลสุดลูกหูลูกตา (อาจไม่ตราตะลึงระดับ Lawrence of Arabia (1962) แต่น่าจะมีความงดงามพอสมควรเลยละ) ปล่อยกล้องให้ค่อยๆขยับเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศ สัมผัสถึงความเหือดแห้งแล้ง บังเกิดอารมณ์ลุ่มร้อนสุมทรวงอก … เป็นการใช้ภาพถ่ายบรรยายเรื่องราว มีคำเรียกว่า ‘Cinema Poem’

สิ่งหนึ่งที่ต้องเอ่ยปากชม คือการกำกับตัวประกอบจำนวนมาก (น่าจะมากกว่า The Battle of Algiers (1966) เสียอีกนะ!) ซึ่งไม่ได้แค่ฉากสองฉาก แต่มีมากมายเต็มไปหมดหลักสิบ-ร้อย-พัน นั่นเพราะผกก. Lakhdar-Hamina ต้องการนำเสนออิทธิพล ผลกระทบบังเกิดขึ้นกับคนหมู่มาก … การนำเสนอเรื่องราวจึงแทบไม่ลงรายละเอียดตัวละคร เพียงให้ Ahmed และครอบครัว ประสบพบเห็น พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆเท่านั้นเอง


ตัดต่อโดย Youcef Tobni, แม้หนังดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองของ Ahmed (ยกเว้น The Year of Fire สลับเปลี่ยนมาเป็นบุตรชาย) แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดตัวละครสักเท่าไหร่ ทำเหมือนว่าเขาดำเนินชีวิต ล่องลอยพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ต้องการให้ผู้ชมพบเห็นอิทธิพล ผลกระทบ สิ่งบังเกิดขึ้นกับผู้คนรอบข้างเสียมากกว่า

การดำเนินเรื่องของหนังในช่วงแรกๆ มีความค่อยเป็นค่อยไป ตัดต่ออย่างไม่เร่งรีบ (จึงได้ระยะเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมง) จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศ สัมผัสถึงความลุ่มร้อน เหือดแห้งแล้ง, ซึ่งพอตัวละครเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนเมือง จะมีการถ่ายภาพที่โฉบเฉี่ยวขึ้นนิด ตัดต่อฉับไวอีกหน่อย เพื่อเพิ่มอารมณ์ลุ่มร้อนทรวงอก … แต่ภาพรวมยังถือว่าหนังมีการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างช้าอยู่ดีนะครับ


เพลงประกอบโดย Philippe Arthuys (1928-2010) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ India: Matri Bhumi (1959), Le Trou (1960), Paris Belongs to Us (1961), The Glass Cage (1965), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

ในส่วนของเพลงประกอบ ผมสังเกตว่าซีเควนซ์ไหนที่เกี่ยวกับ Algeria มักใช้บทเพลงพื้นบ้านอาหรับ มีทั้งท่วงทำนองสนุกสนาน แฝงความทุกข์ทรมาน สะท้อนห้วงอารมณ์ตัวละครขณะนั้นๆ แต่ถ้าเป็นฉากเกี่ยวกับฝรั่งเศส (ในชุมชนเมือง) มักได้ยินดนตรีสากล บทเพลงคลาสสิก ฟังดูสูงส่ง หรูหรา ขัดกับวิถีชีวิตเคยมีมา


Chronicle of the Years of Fire (1975) ไม่ใช่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่นำเสนอจุดเริ่มต้น การก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) แต่พยายามแสดงให้เห็นถึงสาเหตุผล อิทธิพลจากการเป็นประเทศอาณานิคม ทำให้ Algeria ได้รับผลกระทบเช่นไร? เพราะเหตุใด ทำไมองค์กร FLN จึงได้ถือกำเนิดขึ้น?

เพราะสภาพทุรกันดาร ทะเลทรายเหือดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันมาหลายปี ทำให้ผู้คนต้องอพยพสู่ชุมชนเมือง แต่เมื่อเข้ามาแล้วกลับยังไร้งาน ไร้เงิน ถูกกดขี่ข่มเหงโดยนายจ้าง แถมเจ้าหน้าที่รัฐยังชอบใช้อำนาจในทางมิชอบ บีบบังคับให้ประชาชนทำโน่นนี่นั่น พูดคำดูถูกเหยียดหยาม เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาว Algeria จะให้การสนับสนุน Adolf Hitler (เพราะถ้า Nazi Germany ได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศส พวกเขาก็เชื่อว่าตนเองได้รับอิสรภาพไปด้วย)

เหตุการณ์ต่างๆที่หนังนำเสนอมานั้น เพื่อสร้างความรู้สึกอัดอั้น เกรี้ยวกราด ผู้ชมเกิดอาการแค้นเคืองโกรธลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism ) เพราะฝรั่งเศสเอาแต่กดขี่ข่มเหงชาว Algerian สนเพียงผลประโยชน์พวกเดียวกันเอง มอบความหวังลมๆแล้งๆ นั่นทำให้เมื่อถึงจุดแตกหัก พวกเขาจึงมิอาจอดรนทน กลายเป็นชนวนเหตุเริ่มต้นสงคราม Algerian War of Independence (1954-62)

สำหรับผกก. Lakhdar-Hamina เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Chronicle of the Years of Fire (1975) ไม่ได้ต้องการสรรค์สร้างให้ออกมาในเชิงบันทึกประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นสงคราม Algeria War แต่เป็นภาพยนตร์ค้นหารากเหง้า ที่มีความเป็นส่วนตัว (Personal) โดยสามารถเปรียบเทียบตัวละคร Ahmed ก็คือบิดาของผู้กำกับ (หรือจะมองว่าคือตัวแทนผกก. Lakhdar-Hamina เองเลยก็ยังได้) ส่วนเด็กน้อยไร้เดียงสา ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อแทนจิตวิญญาณชาว Algerian กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง พร้อมสานต่ออุดมการณ์ เพื่ออิสรภาพของชนชาวเรา

(คล้ายๆกับ The Battle of Algiers (1966) ที่การเสียสละ/ความตายของตัวละคร ทำให้กลายเป็นวีรบุรุษ สร้างพละพลัง กำลังหึกเหิม ปลุกระดมผู้ชม ก่อเกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด)

สำหรับบทบาทคนบ้าที่ผกก. Lakhdar-Hamina รับเล่นด้วยตนเอง ผมมองจากถ้อยคำกล่าวของตัวละครนี้ เป็นการแสดงทัศนคติ ความคิดเห็น ระบายความรู้สึกอัดอั้น อารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง ต่อเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น … มันอาจฟังดูเพ้อเจ้อไร้สาระ แต่สามารถเติมเต็มเนื้อหาสาระ ระบายทุกสิ่งอย่างที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กำกับออกมา


ระหว่างเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes คงเพราะใจความต่อต้านฝรั่งเศส ผู้กำกับ Lakhdar-Hamina เลยได้รับจดหมายขู่ฆ่าจากกลุ่มหัวรุนแรงใต้ดิน ทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยขณะนั้น Michel Poniatowski ต้องส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยมาคอยปกป้องดูแล จนกระทั่งขึ้นรับรางวัล Palme d’Or จากประธานคณะกรรมการ Jeanne Moreau

ปล. รางวัล Palme d’Or ของ Chronicle of the Years of Fire (1975) เป็นอะไรที่เกินความคาดหมายอย่างมากๆ (เพราะได้รางวัลจากประเทศที่เคยเป็นเจ้าของอาณานิคม แถมในประเด็นต่อต้านลัทธิอาณานิคม) และชัยชนะเหนือภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง The Passenger, The Enigma of Kaspar Hauser, Lenny, Scent of a Woman, A Touch of Zen ต้องถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว

เห็นคุณภาพของหนังในตอนแรกจากคลิปใน Youtube (VHS แปลงเป็น DVD) ผมก็โล้เล้ลังเลใจว่าจะเสียเวลาสามชั่วโมงดีไหม หรือเก็บขึ้นหิ้งดองไว้รอฉบับบูรณะที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ เห็นเวลายังเหลือก่อนโปรแกรมฉาย John Waters ก็เลยจัดไปสักหน่อย

แม้คุณภาพหนังจะย่ำแย่เหลือทน แต่ผมยังพบเห็นความงดงามอันน่าอึ้งทึ่ง ทิวทัศน์ทะเลทรายกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เรื่องราวอาจไม่ได้สลับซับซ้อน ในสามชั่วโมงเหมือนแทบไม่มีอะไร แต่ใช้ภาษาภาพ ‘Cinema Poem’ พรรณาจุดเริ่มต้น สาเหตุผล … ทะเลทรายที่เหือดแห้งแล้ง ยังไม่เทียบเท่าจิตใจอันลุ่มร้อน แผดเผาถึงทรวงใน

และโดยเฉพาะตัวละครคนบ้าของ Lakhdar-Hamina พร่ำพรรณาความครุ่นคิด สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ มันอาจฟังดูไร้สาระ แต่ล้วนคือความสัจจริง ตรงไปตรงมา (พูดอธิบายเรื่องราว สำหรับคนที่ไม่สามารถจับใจความ)

จัดเรต 15+ กับความแห้งแล้ง ทุรกันดาร คิดเห็นต่างทางการเมือง

คำโปรย | Chronicle of the Years of Fire ทะเลทราย Algeria มีความลุ่มร้อน เหือดแห้งแล้ง แผดเผาถึงทรวงใน
คุณภาพ | หืห้
ส่วนตัว | แผดเผา

Robinson Crusoe (1954)


Robinson Crusoe (1954) hollywood, Mexican : Luis Buñuel ♥♥♥♥

หนึ่งในสองภาพยนตร์ของ Luis Buñuel ได้ทุนสร้างจาก Hollywood พูดภาษาอังกฤษ แล้วประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา (ก่อนการมาถึงของ Belle de Jour (1969)) แม้เป็นหนังตลาด แต่ก็ยังคง ‘สไตล์ Buñuel’ ซึ่งทำให้กลายเป็นฉบับดัดแปลง Robinson Crusoe ยอดเยี่ยมที่สุด

คนที่อาจเคยรับรู้จักวรรณกรรม Robinson Crusoe น่าจะเกิดความฉงนสงสัย Luis Buñuel ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กลายเป็น ‘สไตล์ Buñuel’ ได้อย่างไร? แต่สักยี่สิบนาทีผ่านไป ผู้ชมก็น่าจะสามารถค้นพบคำตอบที่เด่นชัดเจนมากๆ ชายคนนี้ติดเกาะยาวนานกว่า 28 ปี สภาพจิตใจของเขาจะมีพัฒนาการเป็นเช่นไร? ฝันร้าย วิตกจริต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน หันหน้าพึ่งพิงพระเจ้า ก่อนจะกลายเป็น…พระเจ้า(ในหมู่ชนพื้นเมือง)

ด้วยความที่พื้นหลังเรื่องราวมีเพียงเกาะร้างห่างไกล จึงสามารถใช้ชายฝั่งสักแห่งหนใน Mexico เป็นสถานที่ปักหลักถ่ายทำ แค่ต้องระวังการบริโภคอาหาร น้ำดื่ม (โรคบิด) และมาลาเรีย โชคดีไม่ใครล้มป่วยเป็นอันตราย เพราะโปรดักชั่นกินเวลาพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น

ผมไม่เคยรับชม Robinson Crusoe ฉบับอื่นที่ขยับสร้างแทบทุกทศวรรษ แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีเรื่องไหนสามารถเทียบเคียงคุณภาพ และความลุ่มลึกซับซ้อนไปกว่าหนังตลาดของ Luis Buñuel เรื่องนี้อย่างแน่นอน … คงมีเพียง Cast Away (2000) น่าจะเป็นเรื่องที่มีความเฉพาะตัว คุณภาพใกล้เคียง Robinson Crusoe (1954) มากที่สุดแล้วละ


Luis Buñuel Portolés (1900 – 1983) สัญชาติ Spanish เกิดที่ Calanda, Aragon เป็นบุตรคนโตมีน้อง 6 คน, เมื่อตอนอายุได้ 4 ขวบครี่ง ครอบครัวอพยพย้ายสู่ Zaragoza ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะ ชนชั้นกลาง ถูกส่งไปศีกษาร่ำเรียนเป็นบาทหลวงยัง Colegio del Salvador แต่หลังจากได้พานพบเห็นอะไรบางอย่าง จึงหมดสิ้นเสื่อมศรัทธาในศาสนา, อายุ 16 เข้าเรียนต่อยัง University of Madrid แรกเริ่มคณะเกษตร เปลี่ยนมาวิศวะ สุดท้ายคือปรัชญา, ความสนใจในภาพยนตร์เมื่อโอกาสรับชม Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang, เมื่อปี 1925 มุ่งสู่กรุง Paris ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jean Epstein, สรรค์สร้างผลงานเรื่องแรก Un Chien Andalou (1929), L’Age d’Or (1930)

การมาถึงของจอมพล Francisco สงครามกลางเมือง Spanish Civil War (1936-39) และภาพยนตร์/สารคดี Las Hurdes (1933) ถูกแบนห้ามฉายในสเปน ทำให้ Buñuel ตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่ Hollywood ครุ่นคิดพัฒนาหลากหลายโปรเจคแต่ก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งได้รับชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Oscar Dancigers อพยพย้ายมาประเทศ Mexico ตั้งแต่ปี 1946 เริ่มต้นสรรค์สร้าง Gran Casino (1947) ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ยังได้รับโอกาสอีกครั้ง El Gran Calavera (1949) คราวนี้สามารถทำเงินถล่มทลาย

ตั้งแต่ปี 1950, โปรดิวเซอร์ George Pepper และนักเขียน Hugo Butler (ที่พูดภาษา Spanish ได้อย่างคล่องแคล่ว) นำเสนอโปรเจคดัดแปลง Robinson Crusoe ให้กับ Buñuel ช่วงแรกๆก็ไม่ได้กระตือรือล้นเท่าไหร่ แต่ระหว่างพัฒนาบทร่วมกันก็เริ่มเกิดความสนใจในเรื่องราว สามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อาทิ ‘sex life’ ความฝันถึงบิดา ภาพหลอนถึงลูกเรือ เพื่อนฝูงที่เสียชีวิตจากไป ฯลฯ

In the beginning I wasn’t very enthusiastic, but gradually, as I worked, I became interested in the story, adding some real and some imaginary elements to Crusoe’s sex life, as well as the delirium scene when he sees his father’s spirit.

Luis Buñuel

Hugo Dansey Butler (1914-68) นักเขียนสัญชาติ Canadian เกิดที่ Calgary, Alberta ทำงานเป็นนักข่าว เขียนบทละครเวที ก่อนย้ายมา Hollywood เมื่อปี 1937 แจ้งเกิดจากบทดั้งเดิม Edison the Man (1940) ได้เข้าชิง Oscar: Best Writing, Original Story, ผลงานเด่นๆ อาทิ Lassie Come Home (1943), The Southerner (1945) ฯ กระทั่งการมาถึงของ House Un-American Activities Committee (HUAC) ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เลยอพยพย้ายครอบครัวมุ่งสู่ Mexico จึงมีโอกาสร่วมงาน Luis Buñuel ถึงสองครั้ง Robinson Crusoe (1954) และ The Young One (1960)

ความที่หนังเป็นการร่วมทุนสร้าง American-Mexican บทหนังจึงมีทั้งฉบับภาษาอังกฤษ (โดย Hugo Butler) และภาษาสเปน (โดย Luis Alcoriza นักเขียนขาประจำของ Buñuel)


Robinson Crusoe ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ The Life and Strange Surprizing Adventures of Robinson Crusoe of York, Mariner: Who lived Eight and Twenty Years, all alone in an un-inhabited Island on the coast of America, near the Mouth of the Great River of Oroonoque; Having been cast on Shore by Shipwreck, where-in all the Men perished but himself. With An Account how he was at last as strangely deliver’d by Pyrates. Written by Himself เป็นนวนิยายของ Daniel Defoe (1660-1731) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1719 บ้างถือกันว่าคือ ‘นวนิยายเรื่องแรกของประเทศอังกฤษ’ และเป็นจุดเริ่มต้น ‘realistic fiction’ อ้างอิงจากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง

เรื่องราวเกี่ยวกับอัตชีวประวัติที่แต่งขึ้นโดยตัวละคร Robinson Crusoe ติดเกาะร้างอยู่นานถึง 28 ปี บริเวณเขตร้อนชื้นอันไกลโพ้น ใกล้กับ Venezuela และ Trinidad (ปัจจุบันเหมือนจะเป็นเกาะ Tobago) ต้องเผชิญชาวพื้นเมือง เคยถูกกักขัง ต่อสู้ขัดขืน และหาหนทางหลบหนีเอาชีวิตรอดออกมาได้

เนื้อหานวนิยาย ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ Alexander Selkirk (1676-1721) นักล่องเรือ Royal Navy ชาว Scottish ระหว่างอออกเดินทางสำรวจดินแดนแห่งใหม่ เรือล่ม ลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิต มีเพียงเขารอดชีวิตติดเกาะอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกนานถึง 4 ปี (ดั้งเดิมตั้งชื่อเกาะว่า Más a Tierra ก่อนเปลี่ยนเป็น Robinson Crusoe Island เมื่อปี 1966 ปัจจุบันอยู่อาณาบริเวณประเทศ Chilie)

แม้จะพานผ่านมาหลายศตวรรษ แต่ความนิยมของ Robinson Crusoe ก็ยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน มีการดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆมากมาย นวนิยาย, ภาพยนตร์, เกม, เพลง ฯลฯ ถึงขนาดมีคำเรียก Robinsonade สำหรับเรื่องราวคนติดเกาะ ต้องหาหนทางต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดเพียงลำพัง

สำหรับภาพยนตร์ เท่าที่สามารถรวบรวมได้ทั้งดัดแปลงตรงๆจากนิยาย ล้อเลียน ปรับเปลี่ยน และได้แรงบันดาลใจ ประกอบด้วย

  • หนังเงียบเรื่องแรก Robinson Crusoe (1902)
  • หนังเงียบ The Adventures of Robinson Crusoe (1922)
  • หนังเงียบ Robinson Crusoe (1927)
  • Mr. Robinson Crusoe (1932) หนังพูด (Talkie) สร้างขึ้นในช่วง pre-code นำแสดงโดย Douglas Fairbanks
  • Robinson Crusoe (1947) ภาพยนตร์สามมิติ สัญชาติรัสเซีย (เป็นหนังสามมิติเรื่องแรกของรัสเซียเช่นกัน)
  • Robinson Crusoe (1954) กำกับโดย Luis Buñuel
  • Miss Robin Crusoe (1954) สลับเพศ เปลี่ยนเป็นผู้หญิงติดเกาะ
  • Lt. Robin Crusoe, U.S.N. (1966) ภาพยนตร์ของ Walt Disney ให้เสียงโดย Dick Van Dyke แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนแปลงเรื่องราวพอสมควร เปลี่ยนชื่อ Friday เป็น Wednesday และให้กลายเป็นตัวละครเพศหญิง
  • Robinson Crusoe on Mars (1964) กำกับโดย Byron Haskin เปลี่ยนจากติดเกาะมาเป็นเรื่องราว Sci-Fi (ตามค่านิยมยุคสมัยนั้น) แล้วไปติดเกาะบนดาวอังคาร
  • Man Friday (1975) หนังตลกล้อเลียน สลับร่างให้ Crusoe เป็นคนผิวสี นำแสดงโดย Peter O’Toole กับ Richard Roundtree
  • Crusoe (1988) กำกับโดย Caleb Deschanel, นำแสดงโดย Aidan Quinn
  • Robinson Crusoe (1997) นำแสดงโดย Pierce Brosnan
  • Cast Away (2000) กำกับโดย Robert Zemeckis, นำแสดงโดย Tom Hanks
  • ซีรีย์ Crusoe (2008-09) จำนวน 13 ตอน ฉายช่อง NBC นำแสดงโดย Philip Winchester
  • อนิเมชั่นสามมิติ The Wild Life (2016)

(ผมทำตัวหนาเฉพาะเรื่องที่มีความน่าสนใจจริงๆ)


Daniel Peter O’Herlihy (1919-2005) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Wexford, County Wexford ก่อนย้ายมา Dublin ระหว่างเรียนสถาปนิก University College Dublin เข้าร่วมคณะ Abbey Theatre ทำงานออกแบบสร้างฉาก แล้วเลยกลายเป็นนักแสดง ภาพยนตร์เรื่องแรก Odd Man Out (1947), รับบท Macduff เรื่อง Macbeth (1948), และโด่งดังกับ Robinson Crusoe (1954)

รับบท Robinson Crusoe หลังจากติดเกาะ ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยความหวาดระแหง สะพรึงกลัว ค่อยๆออกสำรวจ ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ใช้องค์ความรู้ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้มีอารยะ ปลอดภัยสำหรับตนเอง แต่ด้วยความเหงาหงอย โดดเดี่ยวเดียวดาย จึงเพียงสรรพสัตว์เป็นเพื่อนคอยเคียงข้าง

กระทั่งวันหนึ่งพบเห็นรอยเท้าลึกลับบนชายหาด ค้นพบว่าคือชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เกาะข้างๆ จึงพยายามสังเกตการณ์ จับพลัดจับพลูให้ความช่วยเหลือชายพื้นเมืองคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า Friday (รับบทโดย Jaime Fernández) สอนพูด-อ่าน-เขียน เรียนรู้วัฒนธรรม จากคนรับใช้ต้อยต่ำกลายเป็นเพื่อนสนิท และการมาถึงของคนขาว นั่นคือหนทางกลับบ้าน รวมระยะเวลาติดเกาะ 28 ปี 2 เดือน 19 วัน

แรกเริ่มสำหรับบทนำ มีคัดเลือกนักแสดงกว่า 300 คน แต่ทั้งหมดยังไม่เป็นที่พึงพอใจ โปรดิวเซอร์ George Pepper เลยพยายามบีบบังคับให้เลือก Orson Welles ด้วยการฉายภาพยนตร์ Macbeth (1944) [ว่ากันว่า Pepper ชื่นชอบหนวดของ Welles เลยอยากให้มารับบทนำ] แต่กลับกลายเป็น Daniel O’Herlihy ในบท Macduff ที่สร้างความประทับใจให้ผู้กำกับ Buñuel และพูดบอกว่า Welles อ้วนเกินไป!

เกร็ด: Daniel O’Herlihy ยังเล่นเป็นพ่อของตนเอง ในฉากความฝันด้วยนะครับ

แม้ว่า Buñuel จะเป็นคนเข้มงวด เผด็จการในกองถ่าย แถมต้องถ่ายซ้ำสองครั้งทุกฉาก (ฉบับพูดอังกฤษ และสเปน พากย์ทัพโดย Claudio Brook) แต่ O’Herlihy ก็ประทับใจที่ได้ร่วมงาน ทุกยามเช้านั่งพูดคุยรายละเอียดที่จะถ่ายทำ แทบไม่ได้อ้างอิงเรื่องราวจากบท คงเพียงสร้างเอาไว้เฉยๆเท่านั้น

นักแสดงที่สามารถโดดเด่นในหนังของ Buñuel ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะโดยปกติจะถูกควบคุมครอบงำดั่งตุ๊กตา หุ่นเชิดชัก ขยับซ้าย-ขวา เงย-ก้มศีรษะ เดินหน้า-หลัง หลงเหลือเพียงการแสดงออกทางใบหน้า ปฏิกิริยาความรู้สึก ซึ่งในกรณีของ O’Herlihy นอกจากหนวดเคราสวยๆ ตลอดระยะเวลา 90 นาที มีหลากหลายอารมณ์เหลือเกินที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ราวกับขึ้นรถไฟเหาะ (roller coaster) สมแล้วที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิต

โดยส่วนตัวชื่นชอบการแสดงออกทางอารมณ์ในช่วงแรกๆมากกว่า หวาดระแวง วิตกจริง รู้สึกผิด คิดถึงพ่อ-แม่ โหยหาพรรคเพื่อนฝูง เพราะครึ่งหลังตั้งแต่การมาถึงของ Friday จึงเริ่มวางมาดผู้ดี เย่อหยิ่ง หัวสูง ทำตัวราวกับเป็นพระเจ้า สามารถชี้นิ้วสั่ง ควบคุมครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงอีกฝั่งฝ่าย ซึ่งเป็นลักษณะของ Colonialism ทำให้ชนพื้นเมืองป่าเถื่อน กลับกลายเป็นอารยชนตามแบบของตนเอง

Jaime Fernández Reyes (1937-2005) นักแสดงสัญชาติ Mexican น้องชายต่างมารดาของนักแสดง/ผู้กำกับ Emilio Fernández เข้าสู่วงการแสดงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ร่วมงานกับพี่ชายอยู่เป็นประจำ เริ่มมีชื่อเสียงจาก Soledad’s Shawl (1952), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Robinson Crusoe (1954)

รับบท Friday ชายพื้นเมืองที่ไม่รู้ทำผิดกฎอะไรของชนเผ่า เลยกำลังจะถูกเผา จับกิน ตายทั้งเป็น แต่สามารถหลบหนีเอาตัวรอด ได้รับความช่วยเหลือจาก Robinson Crusoe ช่วงแรกๆยกย่องดั่งเทพเจ้า ถึงขนาดเอาศีรษะแนบเท้า (ของ Crusoe) หลังจากค่อยๆเรียนรู้จนสามารถพูดคุยสื่อสาร เข้าใจวัฒนธรรม ตั้งคำถามถึงสิ่งต่างมากมาย กลายเป็นทั้งคนรับใช้ เพื่อนสนิท และยินยอมติดตามกลับประเทศอังกฤษ

แม้เพิ่งจะอายุ 16-17 ปี แต่ Reyes ก็มีความโดดเด่นด้านการแสดงไม่น้อย แรกๆเต็มไปด้วยความหวาดกลัวผ่านสีหน้าท่าทาง แต่หลังจากเริ่มสามารถพูดคุย สื่อสารสนทนา ก็เหมือนเด็กน้อยอยากรู้อยากเห็น เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น แต่น่าเสียดายท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครนี้ก็เป็นเพียง ‘stereotype’ ของชนพื้นเมือง/คนผิวสี หลังจากถูกควบคุมครอบงำ ก็ค่อยๆสูญเสียตัวตน วัฒนธรรม แปรสภาพกลายเป็นคนขาว มิอาจหวนกลับสู่รากเหง้าแท้จริงของตนเอง

เกร็ด: Reyes พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ก็เหมือนตัวละครที่ค่อยๆเรียนรู้ไปพร้อมๆการถ่ายทำ


ถ่ายภาพโดย Alex Phillips ชื่อจริง Alexander Pelepiock (1900-77) สัญชาติ Canadian ระหว่างอาสาสมัครทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีโอกาสพบเจอ Mary Pickford ชักชวนมุ่งสู่ Hollywood ต้องการเป็นนักแสดงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้งานเป็นช่างภาพ/ตัดต่อ Christie Film Company ตามด้วย M-G-M, อพยพสู่ Mexico ตั้งแต่ปี 1931 ผลงานเด่นๆ อาทิ Santa (1931) [หนังพูดเรื่องแรกของ Mexico], La otra (1946), En La Palma de Tu Mano (1951), La Red (1953), Robinson Crusoe (1954), Sombra verde (1954) ฯ

สถานที่ถ่ายทำ ริมชายหาดใกล้ๆเมือง Manzanillo, รัฐ Colima ฝั่งตะวันตกของประเทศ Mexico ทีมงานจำนวน 60 คน (ฉีดวัคซีนป้องกันมาลาเรียและโรคบิดไว้ล่วงหน้า) ซึ่งแต่ละวันเมื่อถ่ายทำเสร็จ ฟีล์ม Negative จะถูกส่งตรงไปสหรัฐอเมริกาโดยทันที แล้วจะบินกลับมาทุกๆ 2-3 วันเพื่อให้ Buñuel ตรวจสอบยังโรงฉายภาพยนตร์ท้องถิ่นว่าใช้งานได้หรือไม่ … ยุ่งยากลำบากน่าดู

Philips เป็นตากล้องที่มีความเชี่ยวชาญในการถ่าย Close-Up Shot อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นครั้งแรกๆที่ทดลองใช้ฟีล์มสี Eastmancolor โปรดักชั่นจึงมีความล่าช้าพอสมควร (ในช่วง ‘Mexican Period’ ของ Buñuel โดยเฉลี่ยถ่ายทำไม่เกินเดือน แต่เรื่องนี้กินเวลาถึง 7 สัปดาห์ และถ้ารวม post-production ก็เกือบๆ 3 เดือน เป็นสถิติสูงสุดขณะนั้น)

สัตว์ตัวแรกที่ Crusoe พบเห็นตัวเป็นๆบนเกาะแห่งนี้ ตั้งใจจะกินไข่แต่เปิดออกมากลายเป็นลูกนกซะงั้น ซี่งสามารถเปรียบเทียบกับตัวเขาขณะนี้เพิ่งติดเกาะ ยังมีความละอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสาต่อสถานที่แห่งนี้ มีอะไรๆอีกมากที่ต้องเรียนรู้ ประสบพบเจอ

ระหว่างป่วยไข้มาลาเรีย Crusoe เพ้อฝันละเมอถีงบิดา (Daniel O’Herlihy เล่นเป็นทั้งพ่อ-ลูก) คุณภาพไม่ค่อยชัดนักแต่ก็เพียงพอเห็นความฟุ้งๆ เบลอๆ สังเกตได้ว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์จริง และสิ่งที่เขากระทำอยู่นั้น อาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้ลูกหมู (ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่ออนาคต เพราะลูกหมูเติบโตขี้นสามารถนำมาทำอาหารรับประทาน) ปฏิเสธมอบน้ำดื่มให้บุตรชาย (เพราะการออกเดินทางครั้งนี้ของ Crusoe ขัดต่อความประสงค์ของครอบครัว เขาจีงถูกตัดออกจากกองมรดก ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนแบ่งปันใดๆ)

ฉากนี้คือหนี่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Buñuel’ ที่ถ้าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ ย่อมตระหนักมักคุ้นได้โดยทันที ชาติเสือไม่ทอดทิ้งลาย และขณะเดียวกันเรายังสามารถตีความ ชายคนนี้คือบิดาในจิตใต้สำนีกของ Buñuel ก็ได้เช่นกัน!

บอกตามตรงว่าผมไม่ได้ครุ่นคิดอะไรกับการมัดเท้าลูกแกะ อุ้มมายังจุดสูงสุดบนเกาะ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ท้องทะเลห่างไกล อยู่ข้างๆกองไม้สำหรับสุมไฟ แต่ให้ตายเถอะ! ในบันทีกของ Alexander Selkirk (บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจนวนิยาย Robinson Crusoe) เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ตนเองใช้แกะสำหรับ ‘used goats for sexual gratification’

หลังจากฉากนี้เจ้าแมวจะสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีการพบเจอพูดกล่าวถีงอีกในหนัง แต่ถ้าใครเคยอ่านต้นฉบับนวนิยายจะรับรู้ว่า Crusoe ไม่พีงพอใจเจ้าแมวสำส่อนตัวนี้อย่างมาก ในย่อหน้าดังกล่าวเขียนด้วยถ้อยคำเลิศหรู ฟังดูมีคุณธรรม แต่แท้จริงแล้วคือมันข้ออ้างการเข่นฆ่า ขับไล่ กำจัดทิ้งสิ่งที่สร้างความน่ารำคาญเหมือนสัตว์ป่า

“In this season I was much surprised with the increase of my family; I had been concerned for the loss of one of my cats, who ran away from me, or, as I thought, had been dead, and I heard no more tidings of her till, to my astonishment, she came home about the end of August with three kittens. This was the more strange to me because, though I had killed a wild cat, as I called it, with my gun, yet I thought it was quite a different kind from our European cats; but the young cats were the same kind of house-breed as the old one; and both my cats being females, I thought it very strange. But from these three cats I afterwards came to be so pestered with cats that I was forced to kill them like vermin or wild beasts, and to drive them from my house as much as possible”.

Robinson Crusoe

นี่ก็เป็นอีกซีนเล็กๆที่เหมือนจะไม่มีอะไร Crusoe นำชุดหญิงสาวสวมใส่หุ่นไล่กา แต่พอเขาหันมามองกลับบังเกิดความรู้สีกภายในบางอย่าง โหยหา หรือตัณหา ก็เป็นอิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการสิ่งบังเกิดขี้นต่อไป

ครบรอบสี่ปีตั้งแต่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ Crusoe เฉลิมฉลองด้วยการดื่มด่ำสุราที่เก็บเอาไว้ ได้ยินเสียงผองเพื่อนกะลาสี กำลังร้องขับขาน ส่งเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน แต่ทุกสิ่งอย่างเป็นเพียงหูแว่ว ภาพหลอน จินตนาการ (เคียงข้างนกแก้ว ส่งเสียงแจ้วๆอยู่เคียงข้าง) ก่อนกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง เผชิญหน้าโลกความจริงที่มีเพียงความเวิ้งว่างเปล่า โดดเดี่ยวเดียวดาย หลงเหลือเพียงฉันมีชีวิตอยู่ตามลำพัง

หลังจากดื่มด่ำไวน์ (เลือดของพระเยซู) Crusoe มีความกระตือรือล้นที่จะเก็บเกี่ยว ทำขนมปัง (กายของพระเยซู) แค่นี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วนะครับว่า เขามองอาหารทั้งสองอย่างนีคือสัญลักษณ์ของความมีอารยะ ชนชั้นสูง หรือคือของขวัญจากพระเจ้าผู้สร้าง

นี่ก็ตีความสัญลักษณ์ทางเพศได้เช่นกันนะ

หลังการสูญเสียสุนัขเพื่อนยาก Crusoe หลงเหลือเพียงตัวคนเดียว ตะโกนร้องเรียกหาพระผู้เป็นเจ้า (ตะโกนเฉพาะตัวหนานะครับ ที่เหลือคือประโยคเต็มๆ)

The LORD is my shepherd; I shall not want. He makes me lie down in green pastures. He leads me beside still waters. He restores my soul. He leads me in paths of righteousness for his name’s sake. Even though I walk through the valley of the shadow of death, I will fear no evil, for you are with me; your rod and your staff, they comfort me. You prepare a table before me in the presence of my enemies; you anoint my head with oil; my cup overflows. Surely goodness and mercy shall follow me all the days of my life, and I shall dwell in the house of the LORD forever.

Psalm 23:1-6

Crusoe พยายามต่อสู้กับความโดดเดี่ยวอ้างว้างในตนเอง ร้องเรียกหาพระเจ้าให้พูดคุยกับเขา จนที่สุดช็อตนี้วิ่งทะเล จุ่มคบเพลิงลงผืนน้ำดับมอดลง (ให้ความรู้สีกคล้ายๆพิธีจุ่มศีล แบปทิสต์) จากนั้นก็เดินหวนกลับเข้ามา ถือกำเนิดกลายเป็นบุคคลใหม่ … จะมองว่านี่คือช็อตที่ทำให้ Crusoe เปลี่ยนแปรสภาพกลายเป็นฤษี/พระเจ้า ก็ได้เหมือนกัน

การแสดงออกของ Friday ผมว่ามันก็ชัดเจนมากๆถีงการยินยอมศิโรราบ เอาเท้าลูบศีรษะ เป็นการแสดงถีงความเคารพยกย่องต่อบุคคลที่เขาเชื่อว่าคือพระเป็นเจ้า เหนือหัว ใต้พระบาท … นี่อาจจะคือเหตุผลหนี่งที่ทำให้คนขาวมีความหลงระเริง ใช้ประโยชน์จากความเชื่อศรัทธาของชนพื้นเมือง แล้วแอบอ้างตนเองว่าคือบุคคลผู้เหนือกว่า ควบคุมครอบงำ เผยแผ่ขยายอาณานิคม

การแต่งตัวเป็นผู้หญิงของ Friday ไม่ได้จะสื่อถีงแค่ Homosexual (รักร่วมเพศ) แต่ยังรวม Miscegenation (ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติพันธุ์) ซี่งแม้ว่า Crusoe แสดงปฏิกิริยาไม่พีงพอใจ (สะท้อนถีงการมองตนเองสูงส่ง เหนือกว่าชนพื้นเมือง) แต่ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความกันไปเองว่ามันอาจบังเกิดอะไรขี้นได้บ้างระหว่างทั้งสอง

นี่เป็นฉากที่สะท้อนความละโมบโลภของมนุษย์ได้น่าอย่างน่าที่ง บรรดาผู้ก่อการกบฏเหล่านี้ เมื่อพบเห็นสร้อยคอเงินของ Friday ก็หน้ามืดตามัว ไร้สติครุ่นคิดว่าอาจเป็นแผนการอะไรบางอย่าง สั่งให้ออกนำทางไปสู่ป้อมปราการของ Crusoe ซี่งเตรียมงานเลี้ยงต้อนรับเขาเหล่านี้ไว้เป็นอย่าง

ซี่งพอกบฎเหล่านี้เดินทางมาถีงป้อม ก็ยังคงแสดงธาตุแท้คนขาว ทำลายสิ่งข้าวของเครื่องใช้ทุกสิ่งอย่าง พยายามมองค้นหาเพียงของมีค่า เงินๆทองๆ ไม่สนสิ่งของอะไรอื่น … นี่คือพฤติกรรมของนักล่าอาณานิคมอย่างชัดเจน คนขาวออกเดินทางสู่ทุกมุมโลกเพื่อกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แล้วทอดทิ้งไว้เพียงเศษซากปรักหักพัง

หลังแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ พร้อมแล้วสำหรับเดินทางกลับบ้าน จับจ้องมองภาพสะท้อนในกระจก พบเห็นตนเองเมื่อครั้งเพิ่งติดเกาะใหม่ๆ สะท้อนถีงการหวนระลีกความทรงจำ วันเวลาเคลื่อนพานผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งอย่างช่างดูเหมือนฝัน (จริงๆคือมันนานมากๆ แต่เมื่อถีงวันที่ได้เดินทางกลับบ้าน ความรู้สีกหวนระลีกถีงจะทำให้ทุกสิ่งอย่างดูเคลื่อนพานผ่านไปอย่างรวดเร็ว)

ให้ตายเถอะ! เสียงหมาเห่ามันช่างกีกก้อง สั่นสะท้านขั้วหัวใจ Crusoe (และผู้ชม) ถีงขนาดต้องหยิบหมวกมาสวมใส่ ไม่ให้ตนเองรู้สีกเศร้าโศกเสียใจในการร่ำลาจากสถานที่แห่งความทรงจำนี้ไปชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย Carlos Savage (1919-2000) สัญชาติ Mexican ขาประจำของ Luis Buñuel ตั้งแต่ Los Olvidados (1950), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ La guerra santa (1979), El principio (1973) ฯ

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา ในความเพ้อฝัน และเสียงบรรยายของ Robinson Crusoe ขณะเรือล่มติดเกาะ หลงเหลือเพียงตนเองต้องต่อสู้ดิ้นรน เอาตัวรอดชีวิต ทั้งภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ ด้วยความคาดหวัง 28 ปี 2 เดือน 19 วัน ให้หลัง จะมีโอกาสหวนกลับสู่ประเทศอังกฤษ ถิ่นฐานบ้านเกิดอีกสักครั้ง

ผมขอแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 ส่วน

  • 30 กันยายน ค.ศ. 1659 เริ่มต้นติดเกาะ หาหนทางดิ้นรนเอาชีวิตรอด, ขนข้าวของเสบียงกรังจากซากเรืออัปปาง ก่อร่างสร้างฐานที่มั่น เตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์
  • ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหงาหงอยเศร้าซึม ค้นหาที่พึ่งทางใจ, ตั้งแต่ป่วยมาลาเรีย ฝันถึงบิดา พบเห็นภาพหลอนของผองเพื่อน กระทั่งสุนัขเพื่อนยากตายจากไป (ค.ศ. 1673)
  • ค.ศ. 1677, ระหว่างเดินเที่ยวเล่นบนชายหาด Crusoe พบเจอรอยเท้าลึกลับ จับจ้องสังเกตการณ์จนเห็นชนเผ่าพื้นเมืองกินคน แล้วได้ช่วยเหลือเด็กหนุ่มคนหนึ่งตั้งชื่อว่า Friday สอนพูด-อ่าน-เขียน จนสามารถสื่อสารสนทนา
  • ค.ศ. 1687, Crusoe ให้ความช่วยเหลือ Captan Oberzo ที่ถูกลูกเรือก่อการกบฎ ให้คำมั่นสัญญาจะนำพากลับประเทศอังกฤษ ถ้าสามารถยึดครองเรือกลับคืนมาสำเร็จ

หนังมีการ Time Skip บ่อยครั้งมากๆแต่ในลักษณะที่ผู้ชมไม่ทันรับรู้ สังเกตเห็น นอกจากภาพลักษณ์ตัวละครที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความจงใจที่ไม่พูดบอกการดำเนินไปของเวลา เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนวัน-เดือน-ปี เคลื่อนพานผ่านไปอย่างรวดเร็ว


เพลงประกอบโดย Anthony Vincent Benedictus Collins (1893-1963) สัญชาติอังกฤษ มีความชื่นชอบไวโอลินตั้งเด็ก เป็นลูกศิษย์ของ Achille Rivarde และ Gustav Holst ระหว่างศึกษาอยู่ Royal College of Music, จบออกมาเริ่มต้นเป็นนักวิโอล่าที่ London Symphony Orchestra, ตามด้วยกำกับวงดนตรี Royal Opera House, มุ่งสู่สหรัฐอเมริกาปี 1939 ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ในสังกัด RKO Picture เข้าชิง Oscar: Best Original Score สามครั้ง Nurse Edith Cavell (1939), Irene (1940) และ Sunny (1941)

งานเพลงแนวถนัดของ Collins คือ ‘light music’ ทำนองง่ายๆ ฟังสบาย ไม่สลับซับซ้อน เน้นสร้างบรรยากาศ หรือเรียกว่า mood music (ไม่ได้แปลว่าต้องใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น หรือท่วงทำนองเบาๆนะครับ) ซึ่งสามารถคลอประกอบพื้นหลัง Robinson Crusoe (1954) เทียบแทนอารมณ์ความรู้สึกตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ใช้เครื่องสายแทนอารมณ์ความรู้สึกภายใน(ของตัวละคร) ส่วนเครื่องเป่าแทนการเผชิญหน้าธรรมชาติยิ่งใหญ่ มิอาจเอาชนะ ต่อต้านทาน

ถึงบทเพลงจะมีความไพเราะ ฟังสบาย พักผ่อนคลายหัวใจ แต่มันก็ทำให้หนังขาดความสมจริง ‘realist’ ผู้ชมแทบจับต้องไม่ได้ถึงภยันตรายสถานที่แห่งนี้ ล่องลอยไปพร้อมเสียงบรรยายตัวละคร ให้ความรู้สึกว่าเรื่องราวที่ขึ้นทั้งหมด คือการผจญภัยในความเพ้อฝันจินตนาการ

การใช้เพลงประกอบของหนังอาจดูไม่เหมือน ‘สไตล์ Buñuel’ ที่นิยมใช้ Sound Effect และ diegetic music แต่เหตุการณ์ทั้งหมดดำเนินเรื่องยังดินแดนห่างไกลผู้คน มันจะหาการบรรเลงดนตรีจากแห่งหนไหน ซึ่งเป้าหมายการใช้(เพลงประกอบ)ก็เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีลักษณะ ‘เหมือนฝัน’ อันนี้ผมยังถือว่ามีความเป็น ‘สไตล์ Buñuel’ ได้เหมือนกัน

Robinson Crusoe ฉบับของ Luis Buñuel มุ่งเน้นนำเสนอสภาวะจิตวิทยาตัวละคร ที่ได้รับอิทธิพลจากทุกสรรพสิ่งอย่างหลังติดเกาะ ภยันตรายของธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ศัตรูผู้มารุกราน และกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกาย-จิตใจ มนุษย์จำต้องมีบางสิ่งอย่างสำหรับยีดเหนี่ยวรั้ง ให้สามารถต่อสู้ดิ้นรน ธำรงชีพรอด โดยไม่กลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตกไปก่อน

โดยปกติแล้วหนังของ Buñuel จะนิยมแทะเล็มคริสตจักร แต่เรื่องนี้ไม่มีบาทหลวงสักรูปแล้วจะไปแซะใคร คำตอบก็คือ Robinson Crusoe เองนะแหละที่ค่อยๆเกิดพัฒนาการ ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า เพราะความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่มีใคร/สิ่งใดพี่งพักพิง ทุกครั้งเมื่อสภาพจิตใจเจ็บปวดทุกข์ทรมาน มักเปิดอ่านคัมภีร์ไบเบิล เพื่อบังเกิดความหวังในการดำรงชีวิต แต่การมาถีงของ Friday เมื่อสามารถพูดคุยสื่อสาร ถูกตั้งคำถามง่ายๆกลับมิอาจครุ่นคิดหาคำตอบ นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเกิดข้อกังขาต่อสิ่งที่(เคย)เชื่อมั่นศรัทธา(ต่อเนื้อหาในคัมภีร์ไบเบิล ว่ามีความถูก-ผิด มากน้อยเพียงใด)

เช่นเดียวกับตอนที่ Crusoe แรกเริ่มให้ความช่วยเหลือ Friday แล้วยินยอมศิโรราบโดยใช้เท้าสัมผัสศีรษะ ทั้งยังเรียกเกาะแห่งนี้ว่าสวนสวรรค์ นั่นแปลว่ามุมมองของชนพื้นเมืองต่อคนขาว, Friday ต่อ Crusoe (รวมทั้งรูปร่างหน้าตา ไว้หนวดเคราจนดูเหมือนผู้เฒ่า/ฤษี) ก็เพื่อจะสื่อถีงการเปลี่ยนแปรสภาพจากมนุษย์สู่พระเจ้า

Buñuel เป็นคนเชื่อมั่นศรัทธาแรงกล้าว่าพระเจ้ามีอยู่จริง! แต่อคติศาสนาฉุดคร่าพระองค์ลงมาปู้ยี้ปู้ยำ โดยเฉพาะคริสตจักรอ้างคำสอนสั่งเพื่อตอบสนองผลประโยชน์พีงพอใจส่วนตน เหมือนดั่งที่ Crusoe ถูกมองว่าเป็นพระเจ้าทั้งๆเขาก็คือมนุษย์ธรรมดาๆคนหนี่ง แค่มีองค์ความรู้/พลังอำนาจเหนือกว่าชนพื้นเมือง จีงสามารถควบคุมครอบงำให้ศิโรราบ อยู่ภายใต้อาณัตินิคมของตนเอง

การเผยแผ่ศาสนาก็คือการล่าอาณานิคม (Colonialism) เป็นสิ่งแยกไม่ออกเหมือนร่างกาย (นำเอาความเจริญทางวัตถุเข้าไปเผยแพร่) และจิตใจ (ความเชื่อศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า) เพราะคนขาวเชื่อว่าตนเองนั้นดีเด่น เฉลียวฉลาดกว่า เป็นผู้สูงส่ง มีอารยะ จีงดูถูกทุกสิ่งอย่างที่ต่ำต้อยด้อยค่า ไม่ว่าชนพื้นเมือง หรือสัตว์เลี้ยง มีลักษณะเพียงเดรัจฉานเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ ความต้องการ พีงพอใจส่วนตนเท่านั้น

แรกเริ่มต้นกับ Friday เพราะมิอาจพูดคุยจีงไม่สามารถสื่อสารเข้าใจ แม้ค่อยๆสอนสั่งองค์ความรู้จนเริ่มต้นการสนทนา แต่ก็ยังขาดความเชื่อมั่นใจอีกฝั่งฝ่าย (หวาดระแวง กลัวการประทุษร้าย) ล่ามโซ่ตรวน พูดคำถากถาง กระทั่งเขาแสดงความสุจริตจากภายใน ถีงได้ยินยอมรับกลายเป็นคนรับใช้ และเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน พิสูจน์คุณค่าตนเอง ถีงพัฒนาสู่เพื่อนแท้ สหายสนิท พี่งพากันและกันตราบจนวันตาย

ประเด็นสุดท้ายก็คือสรรพสัตว์ น่าเสียดายที่หนังนำเสนอเพียงในเชิงสัญลักษณ์ เพราะนวนิยายมีความโหดเหี้ยมรุนแรงสุดๆไปเลย ทั้งเข่นฆ่าหนู, ลูกแมว (ที่ไม่รู้แม่ไปติดตัวผู้จากไหน), ยิงนก, ตกปลา, ข่มขืนแกะ ระบายความใคร่, มีเพียงสุนัขเพื่อนยาก อาศัยอยู่ด้วยกันนานกว่าสิบปี ยังคงตราฝังอยู่ในใจ ดังกีกก้องเสียงเห่าหอนตอนกำลังจะจากเกาะนี้ไป

แม้ว่า Buñuel จะไม่เคยติดเกาะ แต่ช่วงชีวิตหนี่งขณะปักหลักอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา (1938-45) ช่างมีความเคว้งคว้างล่องลอย โดดเดี่ยวเดียวดาย สภาพจิตใจหวาดระแวง วิตกจริต แทบไม่แตกต่างจาก Robinson Crusoe สิบกว่าปีที่ไม่มีผลงานภาพยนตร์เป็นรูปเป็นร่างสักเรื่อง! เช่นนั้นแล้ว Hollywood จะไม่กลายเป็น Trauma ฝังจิตฝังใจได้อย่างไร

มันอาจเป็นความบังเอิญ จับพลัดจับพลู ที่ภาพยนตร์ Hollywood (หนี่งในสอง)เรื่องแรกของ Buñuel นั้นคือ Robinson Crusoe (1954) [อีกเรื่องคือ The Young One (1960)] สามารถสะท้อนมุมมอง ความรู้สีกส่วนตนในช่วงชีวิตอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา ถ่ายทอดนำเสนอออกมาได้อย่างสวยงาม คลาสสิก และมีความเฉพาะตัวตนเอง


หนังใช้ทุนสร้างสูงถึง $350,000 เหรียญ แม้ไม่มีรายงานรายรับ แต่กลายเป็นผลงานประสบความสำเร็จที่สุดของ Luis Buñuel ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก จนกระทั่งการมาถึงของ Belle de Jour (1969)

แซว: Buñuel เล่าว่าได้ค่าจ้างเพียง $10,000 ดอลลาร์ เพราะตนเองไม่มีนายหน้าช่วยต่อรองค่าตัว แถมรำคาญคนจากแผนกการเงินที่พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เลยเซ็นสัญญาส่งๆโดยไม่สนผลตอบแทนสักเท่าไหร่, พอความไปเข้าหูโปรดิวเซอร์ ยื่นข้อเสนอมอบเงินเพิ่มให้ 20% แต่ Buñuel บอกปัดปฏิเสธ ฉันไม่ได้สร้างภาพยนตร์เพื่อเงิน!

ช่วงปลายปี Dan O’Herlihy มีโอกาสได้เข้าชิง Oscar: Best Actor แต่พ่ายให้กับ Marlon Brando เรื่อง On the Waterfront (1954) แบบไม่ได้ลุ้นอะไรทั้งนั้น

น่าเสียดายที่หนังยังไม่ได้รับการบูรณะ (ไม่รู้เหมือนกันว่ามีแผนหรือเปล่า) คุณภาพจึงเสื่อมถดถอยไปตามกาลเวลา สามารถหาซื้อ DVD ฉบับครบรอบ 50 ปี (วางขายปี 2004) หรือรับชมได้ทาง Criterion Channel

สิ่งน่าทึ่งสุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องราวหรือโปรดักชั่นของ Robinson Crusoe แต่คือ Luis Buñuel ยินยอมสร้างหนังตลาดให้ Hollywood แล้วยังคงสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเองอย่างเด่นชัดเจน นี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับดังหลายๆคนไม่สามารถทำได้ และประสบความสำเร็จเพียงนี้

แนะนำแฟนๆวรรณกรรม Robinson Crusoe นี่น่าจะเป็นฉบับดัดแปลงยอดเยี่ยมที่สุด, คอหนังผจญภัย (Adventure) ติดเกาะ แนวเอาตัวรอด (Survival) เผชิญหน้าชนเผ่าพื้นเมืองกินคน, นักประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา ศึกษาพฤติกรรมคนขาวต่อการล่าอาณานิคม (Colonialism)

จัดเรต pg กับเผ่ากินคน ยิงนกตกปลา ความพยายามควบคุมครอบงำชนพื้นเมือง

คำโปรย | Robinson Crusoe แม้ติดเกาะแต่เพียงผู้เดียว ก็ยังคง ‘สไตล์ Buñuel’ และเป็นหนังตลาดไปพร้อมๆกัน
คุณภาพ | ติ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

White Shadows in the South Seas (1928)


White Shadows in the South Seas (1928) hollywood : W. S. Van Dyke ♥♥♥♡

การมาถึงของคนขาว (White Shadows) ยังท้องทะเลตอนใต้ (South Seas) พยายามควบคุมครอบงำ บ่อนทำลายสรวงสวรรค์ ปรับเปลี่ยนแปลงสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นอาณานิคมของตนเอง (Colonialism), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography ในงานประกาศรางวัลครั้งที่สอง

Nanook of the North (1922), Grass (1925), Moana (1926), Chang: A Drama of the Wilderness (1927) ฯลฯ ต่างคือภาพยนตร์ที่ทำให้ Hollywood มีความลุ่มหลงใหลในดินแดนห่างไกล คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง มีความแปลกใหม่ ‘Exotic’ ราวกับสรวงสวรรค์ ดินแดนเพ้อฝันเหนือจินตนาการ เหมาะสำหรับเป็นสถานที่หลบหลีกหนี (Escapist) จากความทุกข์ยากลำบากในทศวรรษ Great Depression

แต่ขณะเดียวกันทุกสถานที่ที่คนขาวเดินทางไป ล้วนมีความต้องการจะควบคุมครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น ให้สอดคล้องวิถึชีวิต ความเจริญก้าวหน้า อารยะ ศิวิไลซ์ นั่นคือการล่าอาณานิคม (Colonialism) อันจะส่งผลกระทบทำให้สวรรค์ลา ‘Paradise Lost’ ไปชั่วนิรันดร์

เป็นความโชคดีเล็กๆที่ผมบังเอิญค้นเจอหนังเรื่องนี้จาก Youtube แม้คุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอให้พบเห็นความงดงาม น่าประทับใจ โดยเฉพาะเนื้อหาสาระ Anti-Colonialism แม้ว่าตัวผู้กำกับ W. S. Van Dyke จะเต็มไปด้วยอคติต่อชนพื้นเมือง สถานที่ที่เขาไปถ่ายทำก็ตามที

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องนี้คือครั้งแรกที่ Leo the Lion (ตัวนี้ชื่อ Jackie) โลโก้สตูดิโอ M-G-M ส่งเสียงคำรามออกมาให้ได้ยิน (แต่ตัวหนังยังคงเป็นหนังเงียบส่วนใหญ่ เพิ่มเติมคือ Sound Effect และเพลงประกอบ)

Frederick O’Brien (1869-1932) นักข่าวผันตัวมาเป็นนักเขียน สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Baltimore, Maryland เชื้อสาย Irish Catholic ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเดินทางผจญภัย โตขี้นเลือกใช้ชีวิตอย่าง hobo ออกท่องทั่วทวีปอเมริกา จนกระทั่งได้งานนักหนังสือพิมพ์ จึงมีโอกาสไปยุโรป แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงชีวิตหนึ่งเคยอาศัยอยู่ Polynesia (ภูมิภาคในเขต Oceanian) โดยเฉพาะหมู่เกาะ Marquesas ระหว่างปี 1913-14 กลายเป็นแรงบันดาลใจเขียนนวนิยายสามเรื่อง ต่างติดอันดับหนังสือขายดี (Best-Selling)

  • White Shadows in the South Seas (1919)
  • Mystic Isles of the South Seas (1920)
  • Atolls of the Sun (1922)

ช่วงปี 1927, Irving Thalberg ขณะนั้นเป็น Head of production ให้สตูดิโอ M-G-M ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล มีโอกาสอ่านนวนิยายของ O’Brien เกิดความชื่นชอบหลงใหล ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง มอบหมายให้ Jack Cunningham กับ Ray Doyle ดัดแปลงบทภาพยนตร์ และเลือกผู้กำกับ Robert J. Flaherty จากความประทับใจ Moana (1926) และส่งผู้ช่วย W. S. Van Dyke ร่วมออกเดินทางสู่ Papeete, Tahiti

แต่อีกแหล่งข่าวที่ผมพบเจอเล่าว่า David O. Selznick (ขณะนั้นยังทำงานอยู่ M-G-M) เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเพื่อมอบหมายให้ W. S. Van Dyke แต่หนี่งในโปรดิวเซอร์ Hunt Stromberg ยืนกรานจะต้องส่ง Robert J. Flaherty ที่มีประสบการณ์สื่อสารชนพื้นเมืองร่วมออกเดินทางไปด้วย … และเหตุการณ์ดังกล่าวคือชวนบาดหมางให้ Selznick ลาออกจาก M-G-M ย้ายไปอยู่ Paramount Pictures เมื่อปี 1928

และอีกแหล่งข่าวบอกว่า Robert J. Flaherty เป็นคนผลักดันโปรเจคนี้ด้วยตนเอง แรกเริ่มยื่นข้อเสนอดัดแปลงนวนิยาย Typee: A Peep at Polynesian Life (1846) แต่งโดย Herman Melville (1819-1891) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เจ้าของผลงานอมตะ Moby-Dick (1851), แต่โปรดิวเซอร์ Irving Thalberg กลับให้ความสนใจ White Shadows in the South Seas ซึ่งในขั้นตอนพัฒนาบทตั้งชื่อ Working Title ว่า Southern Skies และคู่หูคนแรกคือ John McCarthy ก่อนเปลี่ยนมาเป็น W. S. Van Dyke

(ผมไม่สามารถบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นไหนที่เป็นความจริงนะครับ แต่รับรู้ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย)

Woodbridge Strong Van Dyke II (1889 – 1943) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘One-Take Woody’ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Diego, California บิดาเสียชีวิตในวันที่เขาเกิด ส่วนมารดาเป็นนักแสดง vaudeville ช่วงชีวิตวัยเด็กออกเดินทางติดตามคณะการแสดง จนได้ขี้นเวทีตั้งแต่อายุห้าขวบ, พออายุ 14 ปักหลักอยู่ Seattle ร่วมกับคุณยาย เริ่มทำงานภารโรง พนักงานเสิร์ฟ เซลล์แมน แต่งงานกับภรรยานักแสดง ร่วมออกเดินทางมาถีง Hollywood, ได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith เรื่อง The Birth of a Nation (1915), Intolerance (1916), กำกับเรื่องแรก The Land of Long Shadows (1917), โดยรวมประสบความสำเร็จไม่น้อยในยุคหนังเงียบ กระทั่งเซ็นสัญญา M-G-M ผลงานเด่นๆ อาทิ White Shadows in the South Seas (1928), Tarzan the Ape Man (1932), Eskimo (1933), The Thin Man (1934), San Francisco (1936), Marie Antoinette (1938) ฯ

ประเด็นคือ Van Dyke เป็นผู้กำกับที่มีความสามารถ ประสบการณ์ทำงานสูง แต่กลับถูกสั่งให้ร่วมงาน Flaherty เพียงเพราะสามารถสื่อสารชาวพื้นเมือง เคยอาศัยอยู่ Samoa (ระหว่างถ่ายทำ Moana) มันช่างเป็นการดูถูกไม่น้อย แต่เขาก็ไม่หือรือ เว้นเพียงระบายความอีดอัดคับข้องในจดหมาย/สมุดบันทีก

“If we ever see Moana (1926) running again anywhere I want to take you, just to show you how much of it is real and unreal. Almost all of it is staged. Natives doing things that they never do or did. And he knew no more about the camera than he did natives. Think his wife and brother must be responsible for his other films. I know very damn little about natives, but I bet I know more than he does. I know too damn much about them anyway”.

W. S. Van Dyke กล่าวถีง Robert J. Flaherty

หน้าที่ของ Van Dyke ในฐานะ ‘associate director’ คือดูแลงานสร้างทั่วๆไป ขณะที่ Flaherty เป็นผู้จัดการในส่วนรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ‘delicate stuff’ แต่วิธีการทำงานของเขาละเอียดอ่อนเกินไป เรื่องมากอย่างไร้ความจำเป็น ฉากที่ควรถ่ายทำ 3 ชั่วโมง กลับใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆแบบไม่ทำอะไรด้วยนะ แม้แต่ผู้กำกับภาพ Clyde De Vinn ยังรู้สีกว่าชายคนนี้ ‘too visionary’ ในระดับที่ใช้งานไม่ได้ (impractical)

“This Flaherty is as big a false alarm as I ever saw—so utterly ignorant of pictures and everything connected with them that it has exhausted the patience of everyone in the troupe and most of the time we go around flaring at each other like a pack of strange bulldogs”.

Clyde De Vinn กล่าวถีง Robert J. Flaherty

หลังมีการโต้ถกเถียง ขี้นเสียง ขัดแย้งกันรุนแรงหลายครั้ง ปรับปราเล่าว่า Flaherty ถอนตัวออกจากกองถ่ายด้วยตนเอง แต่บ้างก็ว่าถูกโปรดิวเซอร์ขับไล่ออก ส่วนนิตยสาร Variety รายงานด้วยเหตุผลสุดคลาสิก ‘ความคิดเห็นแตกต่าง’

เมื่อหลงเหลือเพียง Van Dyke ในที่สุดก็ได้รับอิสระในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มตระหนักถีงบางสิ่งอย่าง ดินแดนแห่งนี้หาได้เป็นสรวงสวรรค์ดังคาดคิดไว้ เต็มไปด้วยภยันตรายซ่อนเร้นคลื่นใต้น้ำ

“When you get in and on the island, the vegetation is very beautiful at first sight, . . . but when you have seen it for a few days you begin to notice the ugly features also; such as the dead and dried foliage that clings to the green; the worm holes and the damp rot on the barks.

The bay is beautiful and I would like to swim in it but I am reminded of the constant danger of sharks.

The natives are plentiful and I would like to get out and ‘play’ with them but I am told that the great majority of them are full of syphilis”.

W. S. Van Dyke

โดยไม่รู้ตัว Van Dyke บังเกิดความหวาดระแวง รังเกลียด เหยียด ‘Racism’ ทุกสิ่งอย่างของสถานที่แห่งนี้ ไม่แม้แต่อยากจะสัมผัส จับต้องกับผู้ใด (ถีงขนาดปฏิเสธโกนหนวดเคราจนกว่าจะถ่ายทำเสร็จ)

“Just a nasty loathing for everything here including the picture. Even hate to touch things. One of the best things they do down here is to shake hands. You can do it a hundred times a day. . . . I want to run and wash every time I shake hands with anyone.

This place is sure a degenerate’s paradise. Some of our gang are wallowing in it. . . . These natives represent a very little different strata to me than the negro. And they smell about as bad except when they are all daubed with perfume”.

พฤติกรรมของผู้กำกับ Van Dyke ชัดเจนว่าคืออาการเหยียดเผ่าพันธุ์ ครุ่นคิดว่าฉันผิวขาว มีอารยะธรรม ‘สะอาด’ เหนือใครอื่นใด แต่เนื้อเรื่องราวภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นการต่อต้านอาณานิคม (Anti-Colonialism) ให้ค่าชนชาวพื้นเมืองว่ามีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมใครต่อใคร … มันช่างน่าสนใจจริงๆว่าพี่แกสามารถฝืนธรรมชาติ ทำในสิ่งตรงกันข้ามสันดานธาตุแท้ของตนเองได้เช่นไร


เรื่องราวของ Dr. Matthew Lloyd (รับบทโดย Monte Blue) หมอขี้เมาร่วมคณะสำรวจของ Sebastian (รับบทโดย Robert Anderson) ล่องเรือมาถึงภูมิภาค Polynesian เริ่มอดรนทนเห็นการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงชนพื้นเมือง งมไข่มุกเสี่ยงตายแลกกับสิ่งของไม่มีมูลค่าสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เขาถูกทอดทิ้งล่องลอยกลางทะเล คลื่นซัดเรือล่มโชคดีสามารถเกยตื้นขึ้นฝั่ง

บังเอิญพบเจอชาวพื้นเมืองอีกเกาะหนึ่ง ไม่เคยเห็นชายผิวขาวมาก่อน ถึงขนาดยกย่องเชิดชูเรียกว่า ‘white god’ ร่วมงานเฉลิมฉลอง ขณะกำลังจะได้ครองรักหญิงสาว คณะสำรวจของ Sebastian ก็เดินทางมาถึงหมู่เกาะบริเวณนี้ เขาจึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องสรวงสวรรค์แห่งสุดท้าย


Gerard Montgomery ‘Monte’ Blue (1887-1963) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indianapolis, Indiana มีพี่น้องสี่คน หลังจากบิดาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ถูกส่งไปเติบโตสถานรับเลี้ยง Indiana Soldiers’ and Sailors’ Children’s Home ตั้งใจร่ำเรียน สะสมเงินทอง จนได้เข้าเรียนต่อ Purdue University, จบออกมารับจ้างทำงานทั่วไป เหมืองถ่านหิน ดูแลปศุสัตว์ ช่างตัดไม้ กระทั่งได้เป็นตัวประกอบ/สตั๊นแมน The Birth of a Nation (1915), Intolerance (1916) แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่หน้าตาหล่อเหลาเลยได้รับการผลักดัน Orphans of the Storm (1921), กลายเป็นพระเอกหนังโรแมนติก ประกบนักแสดงดังๆอย่าง Clara Bow, Gloria Swanson, Norma Shearer, ส่วนบทบาทได้รับการจดจำสูงสุด White Shadows in the South Seas (1928)

รับบท Dr. Matthew Lloyd หมอขี้เมาที่มองมนุษย์เท่าเทียมกัน อดรนทนเห็นพฤติกรรมเพื่อนร่วมชาติเผ่าพันธุ์ไม่ไหว พยายามต่อสู้ขัดขืน เลยก็ถูกขับไล่ผลักไสส่ง จับพลัดจับพลูล่องเรือมาถึงสรวงสวรรค์แห่งใหม่ แต่ไปๆมาๆตัวเขาก็แทบไม่ต่างจากพรรคพวกที่เคยอคติ พยายามเสี้ยมสอน ปลูกฝังแนวความคิด โลกทัศนคติของตนเอง และการมาถึงของ Sebastian มันจึงสวรรค์ลา อีกไม่นานก็จักสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

แม้ว่าขณะนั้น Blue จะอยู่ภายใต้สัญญาของ Warner Bros. แต่ถูกหยิบยืมตัวจาก M-G-M เพราะไม่ต้องการให้นักแสดงในสังกัดเสียเวลาเดินทางไป-กลับ Tahiti แถมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถ่ายทำเสร็จสิ้น (แต่หนังก็สร้างเสร็จตามกำหนดเวลาเพราะ ‘One-Take Woody’ เลื่องลือชาในความโคตรเร็วในการทำงาน)

การแสดงของ Blue ถือว่าน่าประทับใจทีเดียว โดยเฉพาะขณะโกรธเกลียด แสดงอาการไม่พึงพอใจพฤติกรรมเพื่อนร่วมชาติเผ่าพันธุ์ “I am ashamed of being white!” ราวกับว่ามันคือความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากภายในจริงๆ ซึ่งสะท้อนตรงกันข้ามผู้กำกับ Van Dyke ที่ต้องการกรีดร้องให้กึกก้อง “I hate everything in this place!”


ถ่ายภาพโดย Clyde De Vinna (1890-1953) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Sedalia, Missouri หลังเรียนจบ University of Arkansas ได้เข้าร่วม Inceville Studio ถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรก The Raiders (1916), ต่อมากลายเป็นขาประจำผู้กำกับ W. S. Van Dyke ผลงานเด่นๆ อาทิ White Shadows in the South Seas (1928), Tarzan the Ape Man (1932), Eskimo (1933) ฯ

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Moana (1926) ทำให้ฟีล์ม panchromatic ได้รับความนิยมอย่างสูง (โดยเฉพาะกับหนังที่ต้องเดินทางไปถ่ายทำยังดินแดนห่างไกล) แต่ผู้กำกับ Van Dyke ก็ค้นพบสิ่งที่เป็นปัญหาคือ ฟีล์มชนิดดังกล่าวทำให้คนพื้นเมืองผิวสีเข้มเจือจางลง จนดูไม่แตกต่างจากคนขาวมากนัก … นี่อาจไม่ปัญหาต่อผู้กำกับคนอื่นๆ แต่ Van Dyke จู้จี้จุกจิกเรื่องสีผิวไม่น้อย วิธีการของเขาก็คือ แต่งหน้าแต่งผิวให้ตัวประกอบพื้นเมืองมีความมืดมากกว่านักแสดงผิวขาว

ในบันทึกของ Van Dyke อ้างว่าตนเองถ่ายทำหนังในส่วนของ Flaherty ที่ทอดทิ้งโปรเจคไปใหม่ทั้งหมดหมด แต่ความเป็นจริงยังมีฟุตเทจ(ของ Flaherty) หลงเหลือในหนังพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์, ทะเลสาปบนเกาะ (Lagoon), งานเลี้ยงต้อนรับ ฯลฯ

สิ่งที่ต้องชมสำหรับการถ่ายภาพ คือความงดงามของทิวทัศน์ ผืนป่า ชายหาด ท้องทะเล ปะการังสวยๆ (ฉากพายุและใต้ผืนน้ำ น่าฉงนจริงๆว่าถ่ายทำด้วยข้อจำกัดของสถานที่ได้อย่างไร) ทั้งหมดล้วนใช้แสงธรรมชาติ ตอนกลางคืนก็จากพระจันทร์ และกองไฟเท่านั้น มันเป็นความท้าทายยากยิ่งกว่าถ่ายทำในสตูดิโอที่มีอุปกรณ์เพรียบพร้อมทุกสิ่งอย่าง … แม้ฉบับที่ผมดูจะมีคุณภาพไม่ดีนัก แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงความตระการตา

ซีนที่น่าสนใจสุดของหนังก็คือ Dr. Matthew Lloyd หลังว่ายข้ามแม่น้ำ ส่งเสียงตะโกน ‘Hello’ มาจนถึงช็อตนี้ แทรกตัวออกจากใบไม้ขนาดใหญ่ (ราวกับร่างย่อส่วนของ Alice in Wonderland) ขณะเดียวกันสามารถตีความถึงการถ้ำมอง ‘peeping’ ไม่ใช่แค่หญิงสาวกำลังเปลือยกายเล่นน้ำ แต่คือการพบเห็นสรวงสวรรค์ใหม่ ‘Paradise’ ดินแดนเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ ไม่เคยเปิดเผยสูโลกภายนอก … มีนักภาพยนตร์เรียกช็อตนี้ว่า ‘ethnopornographic gaze’

ตัดต่อโดย Ben Lewis (1894–1970) ทำงานในสังกัด M-G-M อีกหนึ่งขาประจำของผู้กำกับ W. S. Van Dyke

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Dr. Matthew Lloyd ตั้งแต่เริ่มสร้างปัญหาให้คณะสำรวจ ถูกล่องลอยคอ ปล่อยเกาะ มาจนถึงสรวงสวรรค์ ได้รับความช่วยเหลือจากชนพื้นเมือง ตกหลุมรัก กำลังจะได้ครองคู่หญิงสาว หายนะก็เดินทางมาถึง และนำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม

  • องก์หนึ่ง Lost Paradise, แนะนำคณะสำรวจ พฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบชาวพื้นเมือง สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Dr. Lloyd ทำให้ถูกล่องลอยคอ ปล่อยเกาะ
  • องก์สอง Paradise, พายุทำให้เรือล่ม Dr. Lloyd ซัดเกยตื้นหาดแห่งหนึ่ง ได้รับการช่วยเหลือจากชาวพื้นเมือง มีงานเลี้ยงต้อนรับ และกำลังจะได้ครองคู่หญิงสาว
  • องก์สาม Paradise Lost, การมาถึงของคณะสำรวจ ทำให Dr. Lloyd พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องรักษาสรวงสวรรค์แห่งสุดท้ายนี้ไว้ให้นานที่สุด

แซว: ลึกๆผมก็แอบฉงน Dr. Lloyd จู่ๆสามารถสื่อสารกับชาวพื้นเมืองได้อย่างไร (ทั้งๆตอนแรกเหมือนจะสนทนาไม่เข้าใจกัน) เอาเวลาตอนไหนไปศึกษาเรียนรู้กัน


เพลงประกอบโดย William Axt (1888-1959) สัญชาติอเมริกัน ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์เป็นผู้ช่วยวาทยากร Hammerstein Grand Opera Company และผู้กำกับละครเพลง (Musical Director) อยู่ที่ Capitol Theatre ต่อมาเซ็นสัญญาสตูดิโอ M-G-M เริ่มมีผลงานตั้งแต่หนังเงียบ Greed (1924), The Big Parade (1925), Ben-Hur (1925), ติดตามมายังยุคหนังพูด (Talkie) อาทิ White Shadows in the South Seas (1928), Grand Hotel (1932), The Thin Man (1934), David Copperfield (1935) ฯ

White Shadows in the South Seas (1928) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ M-G-M ที่ทำการบันทึกเพลงประกอบล่วงหน้า (pre-recorded soundtrack) แม้ยังในลักษณะของหนังเงียบ มุ้งเน้นสร้างบรรยากาศเรื่องราว มีทั้งสนุกสนาน พักผ่อนคลาย รุกเร้า ตึงเครียด เพียงไม่ให้หนังเงียบจนเกินไปเท่านั้น

แต่ไฮไลท์อยู่ที่การใส่ Sound Effect เสียงสายลม พายุ สายน้ำไหล กระซิบกระซาบ และถ้อยคำพูด “Hello” เมื่อครั้น Dr. Lloyd เดินทางมาถึงสรวงสวรรค์แห่งใหม่ นี่ไม่แค่คำทักทายชนพื้นเมืองเท่านั้นนะครับ แต่ยังกับผู้ชมสมัยนั้น เพราะนี่คือประโยคแรกของภาพยนตร์จากสตูดิโอ M-G-M ด้วยเช่นกัน

แซว: ประโยคแรกจริงๆของหนังพูด (Talkie) มาจากภาพยนตร์ The Jazz Singer (1927) โดยนักแสดง Al Jolson เอ่ยว่า “Wait a minute, wait a minute, you ain’t heard nothin’ yet”


มันคงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชื่นชอบการเปรียบเทียบ ยกยอปอปั้นตนเองให้เหนือกว่าผู้อื่น เพื่อความรู้สึกภาคภูมิใจในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้นำความเจริญก้าวหน้า อารยธรรม สิ่งศิวิไลซ์ เข้ามาเผยแพร่ให้ชนพื้นเมืองเหล่านั้น คือสิ่งถูกต้องเหมาะสม มนุษยธรรม

แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆ คนขาวเหล่านี้ล้วนทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ปากว่าตาขยิบ อ้างเสมอภาคเท่าเทียม กลับกอบโกยอย่างละโมบโลภ พอหมดผลประโยชน์ สิ้นสิ่งตอบแทนนั้น ก็พร้อมสะบัดตูดหนีหาย ปล่อยให้กลายเป็นหายนะติดตามมาภายหลัง

การที่มนุษย์ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องความต้องการของตน ล้วนสามารถสื่อถึงการ Colonialism ไม่ใช่แค่ประเทศมหาอำนาจเข้ายึดครอบครองชนเผ่าพื้นเมือง แต่ในระดับจุลภาคเล็กๆ ครูเสี้ยมสั่งสอนนักเรียน สามีควบคุมครอบงำภรรยา-บุตร หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนจะเป็นสิ่งที่ดี

แต่เพราะไม่ใครสามารถหยุดยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของโลก ต่อให้พยายามปกป้อง ทำนุรักษาสักเท่าไหร่ สักวันหนึ่งชนพื้นเมืองย่อมถูกกลืนกิน สูญสิ้นวัฒนธรรม สวรรค์ลา (Paradise Lost) ซึ่งก็คือความตายของ Dr. Matthew Lloyd ไม่มีประโยชน์อันใดจะต่อสู้ดิ้นรน ใช้เวลาคงเหลืออยู่ให้คุ้มค่า และจดจำช่วงเวลาดังกล่าวให้ยาวนานที่สุด (ไม่ก็ปล่อยอุเบกขาไปเลยนะ)

พฤติกรรมเหยียด (Racism) ของผู้กำกับ W. S. Van Dyke เป็นสิ่งที่ถ้าคุณเพิ่งรับชม White Shadows in the South Seas (1928) หรือผลงานอื่นๆของเขาครั้งแรก ย่อมยังไม่สามารถตระหนักถึงได้อย่างแน่นอน ปกปิดซ่อนเร้นได้อย่างมิดชิด และสามารถสอดแทรกทัศนคติในทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม (ตนเองเหยียดชนพื้นเมือง แต่กลับให้ตัวละครละอายจากการเป็นคนผิวขาว) ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่ามีบุคคลที่สามารถฝืนธรรมชาติตนเองได้ขนาดนี้

“I did a job for which I was paid. I took excellent stories and great box office names and put them together. The result was inevitable. I would have had to have been a pretty punk director to make flops out of sure-fire material like that”.

W. S. Van Dyke

หลังจากอ่านความเห็นดังกล่าวยิ่งทำให้ผมรู้สึกอึ้งทึ่ง เราอาจมองว่าเขาสามารถแยกงานกับเรื่องส่วนตัว หรือไม่ก็สนเพียงค่าจ้าง ได้รับเงินมาก็ต้องทำตามหน้าที่มอบหมาย … โดยปกติแล้วไม่น่ามีใครฝืนธรรมชาติ หลอกตนเองได้นานหรอกนะ สักวันความจริงย่อเปิดเผยออกมา และย่อมทำให้มุมมองทัศนคติของผู้ชมต่อ White Shadows in the South Seas (1928) เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง


หนังเตรียมทุนสร้างไว้ $150,000 เหรียญ แต่ความยุ่งยากลำบากในการถ่ายทำ ทำให้งบประมาณทะยานไปถึง $365,000 เหรียญ ฉายปฐมทัศน์ที่ Grauman’s Chinese Theatre, Los Angeles ทำเงินทั่วโลก $1.6 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ได้รับคำชมในการถ่ายภาพอย่างมากจนคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography ในงานประกาศรางวัลครั้งที่สอง

ระหว่างรับชมผมก็ไม่ได้เอะใจหรอกนะว่า W. S. Van Dyke จะเต็มไปด้วยอคติต่อ South Seas แต่พออ่านเจอแล้วค่อยๆครุ่นคิดทบทวนเรื่องราวทั้งหมด ก็รู้สึกอึ้งทึ่งในสิ่งที่เขากลับตารปัตรนำเสนอออกมา ฝืนธรรมชาติตนเองได้น่าประทับใจไม่น้อยเลยละ

น่าเสียดายที่หนังคุณภาพดีกว่านี้ยังหารับชมไม่ได้ ข่าวการบูรณะก็เงียบกริบ แถมสตูดิโอ M-G-M ก็เซ้งกิจการให้ Amazon ไปเรียบร้อยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ยากเกินจะคาดเดา ถ้าคุณไม่ได้รีบร้อนก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลานะครับ

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | White Shadows in the South Seas ชัยชนะต่ออคติของ W. S. Van Dyke ช่างน่าประทับใจไม่น้อย
คุณภาพ | สวรรค์ลา
ส่วนตัว | พอใช้ได้

The Mission (1986)


The Mission

The Mission (1986) British : Roland Joffé ♥♥

เรื่องราวของ Missionary คณะ Jesuit เดินทางเข้าไปเผยแพร่ศาสนายังทวีปอเมริกาใต้ ให้กับชนเผ่าพื้นเมืองแห่ง Amazon แต่พอศรัทธาเริ่มบังเกิด กลับถูกสั่งให้ล้มเลิกภารกิจ นี่นะหรือลัทธิอาณานิคม, น่าจะเป็นภาพยนตร์รางวัล Palme d’Or ยอดแย่ที่สุด

นอกจากบทเพลงที่โคตรไพเราะเพราะพริ้งของ Ennio Morricone (ผมยกให้ระดับ Top5 ของปู่เลยละ) และงานภาพสวยๆคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography ของ Chris Menges ที่เหลือแม้งอะไรก็ไม่รู้ละ! ขนาดได้นักแสดงยอดฝีมืออย่าง Robert De Niro, Jeremy Irons ยังไม่สามารถแบกลากภาพยนตร์เรื่องนี้ให้มีความน่าสนใจขึ้นมา

ความผิดทั้งหมดผมโยนขี้ให้ผู้กำกับ Roland Joffé คงถูกกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของน้ำตก Iguazú พัดพาตกลงมาจากที่สูง ฟุ้งละอองน้ำกระเจิง จนไม่หลงเหลือเศษซากชิ้นดี

แต่ผมพอจะรับรู้ความตั้งใจของผู้กำกับ Joffé ที่ต้องการใช้เรื่องราวนี้สะท้อนถึงสหราชอาณาจักร ขณะนั้นกำลังใกล้หมดสูญสิ้นประเทศอาณานิคม (ต่างเรียกร้องอิสรภาพ ได้รับการปลดแอกจนแทบหมดสิ้นแล้ว) แต่การที่อยู่ดีๆก็ตัดสินใจจากไป ก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ มักก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในติดตามมา

ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย หลังได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1947 ชาวภารตะต่างยินดีปรีดากันได้แค่ไม่กี่วัน ความขัดแย้ง/สงครามแบ่งแยกดินแดนก็บังเกิดขึ้น เพราะอังกฤษขีดเส้นแบ่งสองประเทศ อินเดีย-ปากีสถาน จากความแตกต่างทางศาสนา ฮินดู-มุสลิม เช่นนั้นแล้ว ชาวฮินดูที่อยู่ในปากีสถาน หรือมุสลิมในอินเดีย จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร … ความขัดแย้งดังกล่าวประมาณการผู้เสียชีวิต 5 แสนถึง 1 ล้านคน!


Roland Joffé (เกิดปี 1945) ผู้กำกับ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่กรุง London โตขึ้นเข้าเรียนต่อ University of Manchester จบออกมาได้งานที่ Granada Television กลายเป็นผู้กำกับซีรีย์ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Killing Fields (1984) ติดตามมาด้วย The Mission (1986) เป็นสองผลงานเท่านั้นที่ได้รับการจดจำสูงสุด

แซว: Roland Joffé เป็นผู้กำกับประเภทเดียวกับ Michael Cimino ทั้งชีวิตมีโคตรผลงานเพียง 1-2 เรื่อง ที่เหลือคือเลวร้ายระดับบัดซบ! คงต้องเรียกว่า ‘ฟลุ๊ก’ สินะ

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากโปรดิวเซอร์ชาวอิตาเลี่ยน Fernando Ghia เมื่อปี 1975 เข้าหานักเขียนบท Robert Bolt (Lawrence of Arabia, Doctor Zhivago, A Man for All Seasons) ให้พัฒนาเรื่องราวของสองนักบวชคณะ Jesuit เมื่อช่วงศตวรรษที่ 18 เดินทางเข้าไปเผยแพร่ศาสนาให้ชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní ยังทวีปละตินอเมริกา

เห็นว่าโปรดิวเซอร์ Ghia ได้แรงบันดาลใจจากบทละครเวที The Strong Are Lonely (1956) แต่งโดยนักเขียนชาวเยอรมัน Fritz Hochwalder แต่บทที่พัฒนาขึ้นของ Bolt ไม่ได้อ้างอิงอะไรมา นำจากเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อพัฒนาเสร็จนำไปยื่นข้อเสนอหาทุนสร้าง ผ่านมากว่าทศวรรษก็ไม่มีใครสนใจ

กระทั่งความประทับใจต่อภาพยนตร์เรื่อง The Killing Fields (1984) ทำให้ Bolt ติดต่อเข้าหาผู้กำกับ Joffé มาพูดคุยโปรเจคดังกล่าว ส่งบทให้อ่าน พิจารณาแล้วรู้สึกสนใจ แต่เพราะไม่เคยล่วงรับรู้อะไรใดๆแบบนี้มาก่อน เลยตัดสินใจออกเดินทางมุ่งสู่ Latin America

พอเดินทางไปถึงเกิดผิดหวังอย่างใหญ่หลวง เพราะแทบไม่หลงเหลือร่องรอยอารยธรรมใดๆของชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní อยู่อีกแล้ว! นั่นสร้างความโศกเสียใจให้เขามากยิ่ง

“They were once a very proud nation really and that touched me emotionally so much that I decided I wanted their story to be told. It was like meeting someone in the street and they tell you something about them and you think that they have a story and life experience that people should know about”.

– Roland Joffé

เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1740s, บาทหลวงคณะ Jesuit จากประเทศสเปน นำโดย Father Gabriel (รับบทโดย Jeremy Irons) ปีนป่ายขึ้นน้ำตก Iguazu Falls เพื่อไปเผยแพร่ศาสนาให้กับชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní แรกเริ่มก็ไม่ใคร่ยินยอมรับ แต่หลังจากรับฟังเสียง Oboe จึงเกิดความลุ่มหลงใหล

Captain Rodrigo Mendoza (รับบทโดย Robert De Niro) คือนายหน้าค้าทาส ด้วยการซุ่มดักจับชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní นำไปขายทอดตลาดให้ Don Cabeza (รับบทโดย Chuck Low) แต่แล้ววันหนึ่ง หึงหวงที่น้องชายแก่งแย่งชิงแฟนสาวไปจากตน พลาดพลั้งเข่นฆาตกรรมด้วยมือตนเอง จิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์เศร้าโศก ไม่เป็นอันกินอันนอน พยายามทรมานตนเองถึงขีดสุด จนกระทั่ง Father Gabriel เข้ามาช่วยเหลือไว้ นำพาเขาปีนป่ายขึ้นน้ำตกสูง แบกสัมภาระเต็มหลัง กระทั่งไปถึงยอดพบเห็นโดยชาว Guaraní ปลดปล่อยเขาให้ได้รับอิสรภาพ จากนั้นเลยตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวง ทำงานรับใช้ศาสนาอย่างเคร่งครัด

แต่เรื่องวุ่นๆก็บังเกิดขึ้นเมื่อการมาถึงของ Cardinal Altamirano (รับบทโดย Ray McAnally) ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนให้คณะ Jesuit ถอนตัวจากการเผยแพร่ศาสนาให้ชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní แต่นั่นเท่ากับเป็นการเข่นฆาตกรรมพวกเขาทางอ้อม เพราะดินแดนดังกล่าวจะตกเป็นของโปรตุเกส ที่ยังอนุญาตให้มีการค้าทาส ใช้ความรุนแรงกับผู้ต่อต้าน นั่นจึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ จักทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้อง หรือยืนเคียงข้างเพื่อนมนุษย์เพื่อต่อสู้ความชั่วร้าย


Robert Anthony De Niro Jr. (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York พ่อมีเชื้อสาย Irish-Italian ประกาศตนว่าเป็นเกย์หย่าขาดกับแม่ตอน De Niro อายุได้ 2 ขวบ เติบโตขึ้นในบริเวณ Little Italy เคยแสดงละครเวทีงานโรงเรียน รับบทเป็น Cowardly Lion เรื่อง The Wizard of Oz ทำให้เริ่มมีความสนใจด้านนี้ พออายุ 16 มุ่งสู่ HB Studio, Stella Adler Conservatory และ Actors Studio กลายเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Lee Strasberg, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Wedding Party (1963) ของผู้กำกับ Brian De Palma แนะนำให้รู้จักจนกลายเป็นขาประจำกับ Martin Scorsese ร่วมงานครั้งแรก Mean Streets (1973) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Godfather: Part II (1974) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor, Taxi Driver (1976), The Deer Hunter (1978), Raging Bull (1980) ** คว้า Oscar: Best Actor, Cape Fear (1991), Silver Linings Playbook (2012) ฯ

รับบท Captain Rodrigo Mendoza จากเป็นพ่อค้าทาส เมื่อได้กระทำความผิดพลาดครั้งใหญ่ เกิดจิตสำนึกอันดีต้องการกลับตัวกลับใจ ทรมานตนเองถึงขีดสุดจนได้รับการให้อภัย สามารถเริ่มต้นใหม่บวชเป็นบาทหลวง ทุ่มเทชีวิตให้กับศรัทธาศาสนา ถึงอย่างนั้นเมื่อบังเกิดเหตุการณ์บางอย่างยินยอมรับไม่ได้ พยายามอย่างยิ่งจะช่วยเหลือปกป้องผู้บริสุทธิ์ ไม้สนแม้อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวตน

เช็คลิสของผมต่อ De Niro
– รับบทพ่อค้าทาส อันนี้เหมาะสมกับภาพลักษณ์อย่างยิ่ง
– ทรมานตนเองเพราะความรู้สึกผิด ก็ยังพอยินยอมรับไหว
– แต่พอสำนึกได้กลายเป็นบาทหลวง เห้ย! ไม่ใช่แล้ว ภาพลักษณ์มาเฟีย/นักเลงหัวไม้อย่าง De Niro ไม่น่ากลับกลายเป็นคนดีได้ขนาดนั้น

เอาจริงๆศักยภาพของ De Niro สามารถแบกหนังทั้งเรื่องได้สบายๆ (แบกมาแล้วหลายเรื่อง) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับทำให้เขาแทบไม่มีคุณค่าความหมายอะไร ด้วยการเล่าเรื่องแบบผ่านๆ ตัวละครค่อยๆเลือนลางจางหาย จนแทบไร้ตัวตนไปชั่วขณะหนึ่ง และสงครามตอนท้ายเหมือนว่าจะสามารถทำบางสิ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรบังเกิดขึ้นสักอย่าง!

เกร็ด: ขณะที่นักแสดงคนอื่นๆ เจ็บป่วย ถูกแมลงสัตว์กัดต่อ Robert De Niro เป็นคนเดียวที่ไม่เป็นอะไรเลยสักอย่าง (สงสัยมีเคล็ดลับประสบการณ์จากตอนถ่ายทำ The Deer Hunter อยู่กระมัง)


Jeremy John Irons (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Cowes, Isle of Wight สมัยเรียนร่วมกับเพื่อนๆตั้งวงดนตรี เป็นมือกลอง และเล่น Harmonica, หลังเรียนจบฝึกการแสดงยัง Bristol Old Vic Theatre School, ติดตามมาด้วยซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Nijinsky (1980), โด่งดังกับ The Mission (1986), Dead Ringers (1988), Reversal of Fortune (1990) ** คว้า Oscar: Best Actor, ให้เสียง Scar อนิเมชั่น The Lion King (1994)

รับบท Father Gabriel บาทหลวงผู้มีความตั้งใจอันดี เก่งในการพูดจาโน้มน้าว สามารถเข้าถึงหัวจิตใจผู้อื่น จนได้รับการเคารพยกย่องจากทุกคนรอบข้าง ก็ถึงขนาดเกลี้ยกล่อมเกลา Captain Rodrigo Mendoza ให้กลับกลายเป็นคนดีได้ นั่นไม่ใช่สิ่งใครสามารถกระทำได้โดยง่าย แต่กระนั้นชีวิตก็พลันจบสิ้น เพียงเพราะพระราชาคณะ Cardinal Altamirano ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนมาให้ล้มเลิกภารกิจ นั่นเป็นสิ่งที่เขายินยอมรับไม่ได้ในความเป็นคริสเตียน

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Saint Roque González de Santa Cruz ผู้เป็น Missionary คณะ Jesuit สัญชาติ Paraguayan ที่ทุ่มเทเสียสละชีวิตตนเองให้กับชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní

ผมว่า Jeremy Irons เหมาะกับบทบาทพ่อพระมากๆเลยนะ น้ำเสียงนุ่มๆมอบความรู้สึกที่อบอุ่น (แต่เขาก็สามารถใส่อารมณ์เกรี้ยวกราด กลายเป็น Scar ใน The Lion King ได้ทรงพลังเช่นกัน) สะท้อนจิตใจอันบริสุทธิ์ ดีงาม เต็มไปด้วยความนอบน้อม ขยันขันแข็ง ยึดถือมั่นในศรัทธาพระเจ้า ผู้คนรอบๆข้างต่างให้ความเคารพนับถือ ไว้เนื้อเชื่อวางใจ ไม่มีวันคิดคนทรยศใคร


ถ่ายภาพโดย Chris Menges (เกิดปี 1940) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Kes (1969), The Killing Fields (1984), The Mission (1986), Michael Collins (1996), The Reader (2008) ฯ

หนังตระเวนถ่ายทำยัง Colombia, Argentina, Brazil และ Paraguay ตราตรึงที่สุดคงเป็นน้ำตก Iguazú Falls อยู่ระหว่างประเทศ Argentina กับ Brazil

ความงดงาม ตื่นตราตะลึง คงต้องยกนิ้วให้ เพราะยุคสมัยนั้นยังถือเป็นเรื่องยุ่งยาก ท้าทาย ไม่ใช่ง่ายๆจะบุกป่าฝ่าดง ถ่ายทำภาพยนตร์ท่ามกลางลำเนาไพร

หนังใช้สัญลักษณ์ ‘บทเพลง’ คือการมาถึงของอารยธรรม เสียงเป่า Oboe ของ Father Gabriel ทำให้ชนชาวพื้นเมืองที่ใครๆมองว่าป่าเถื่อน ยุติความรุนแรง เกิดความใคร่สนใจ อยากรับรู้จัก

ตรงกันข้ามกับชาวสเปนและโปรตุเกส อ้างว่าตนเองเป็นผู้มีอารยธรรมสูงส่งเหนือกว่า เมื่อได้ยินเสียงขับร้องเพลง ร้องคอรัส แล้วยังไง?? ยังคงใช้ความรุนแรง การต่อสู้รบ เพื่อเข้ายึดครอบครองเป็นเจ้าของ ล่าอาณานิคมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเอง

ผมไม่รู้เหมือนกันว่านี่มันเกมอะไร แต่สังเกตว่า Captain Rodrigo Mendoza จับม้าของน้องชายให้เคลื่อนหมุนไปรอบตัว นั่นสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัว ‘โลกหมุนรอบตนเอง’ นั่นทำให้เขากระทำบางสิ่งอย่าง เลวร้ายจนชีวิตนี้แทบมิอาจอดรนทนอยู่ได้

การผูกติด ลากสัมภาระของ Captain Rodrigo Mendoza เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนตราบาป/ความผิดที่ฝังรากลึกอยู่ภายใน แบกรับมันไว้ ลงโทษทัณฑ์ด้วยวิธีการของตนเอง ปีนป่ายขึ้นสู่สรวงสวรรค์อีเดน สถานที่ที่แม้มนุษย์ไร้ความเจริญ แต่เอ่อล้นด้วยความเชื่อศรัทธา บริสุทธิ์จากภายใน

ฉากเรียกน้ำตาหลายๆคน เพราะบุคคลเป็นผู้ตัดเชือก ปลดปล่อย Captain Rodrigo Mendoza ให้กลายเป็นอิสระจากพันธการของตนเอง นั้นคือชนชาวเผ่า Guaraní ที่เขาเคยลักพาตัวไปขายทอดเป็นทาส … คือเราสามารถมองโลกทั้งในแง่ดี-แง่ร้าย
– ก็แค่ชาว Guaraní จดจำ Captain Rodrigo Mendoza ไม่ได้
– หรือจดจำได้ แต่เมื่อเรียนรู้จักศาสนา เกิดศรัทธา จึงสามารถให้อภัยผู้อื่น Captain Rodrigo Mendoza เลยได้รับการไว้ชีวิต

การมาถึงของ Cardinal Altamirano นั่งอยู่หัวโต๊ะยาว ทำหน้านิ่งๆคอยพูดออกคำสั่ง แสดงความต้องการของตนเองต่อชาว Guaraní ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม ความยาวของโต๊ะสะท้อนถึงการไม่สามารถเรียนรู้จัก เข้าใจอะไรๆได้ตรงกัน เพราะทุกถ้อยคำพูดของพระราชาคณะ ล้วนเต็มไปด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ สนเพียงสนองผลประโยชน์ ตามหน้าที่คำสั่ง ไร้ซึ่งจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่

ขณะที่ Captain Rodrigo Mendoza เลือกใช้กำลังเข้ารบรา ต่อสู้ศัตรูที่มารุกราน, Father Gabriel ตรงกันข้ามคือ เชื่อในปาฏิหารย์ ศรัทธาพระเจ้า ปฏิเสธจับอาวุธใช้ความรุนแรงเข้าโต้ตอบ ขับร้องประสานเสียงกับหญิงสาวและเด็ก คาดหวังจะปลุกจิตสำนึกศัตรูให้รู้จักการให้อภัย

แต่ไม่ว่าจะวิธีการไหน ทั้ง Captain Rodrigo Mendoza และ Father Gabriel ต่างพ่ายแพ้ให้กับความเห็นแก่ตัว โลภละโมบของมนุษย์ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของอาณานิคม ศรัทธาศาสนาหาใช่สิ่งที่พวกเขาจะยินยอมรับ ต้องการในผืนแผ่นดินแดนนี้

ช็อตสุดท้ายของหนัง เด็กหญิงสาวชาว Guaraní ผู้รอดชีวิต ก่อนที่จะล่องเรือออกเดินทางต่อ เธอเดินมาหยิบไวโอลิน ซึ่งคือสัญลักษณ์ของอารยธรรมมนุษย์ ติดตัวกลับไปด้วย … นี่เป็นการสะท้อนว่า ชนเผ่าพื้นเมือง Amazon อาจจะมีความศิวิไลซ์ มากยิ่งกว่าคนขาว ชาวตะวันตก นักล่าอาณานิคมเสียอีกนะ!

ตัดต่อโดย Jim Clark (1931 – 2016) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Innocents (1961), Charade (1963), Marathon Man (1976), The Killing Fields (1984), The Mission (1986), The World Is Not Enough (1999), Vera Drake (2004), Happy-Go-Lucky (2008) ฯ

ดำเนินเรื่องผ่านจดหมายของ Cardinal Altamirano ส่งไปถึง King of Spain เนื้อหาเล่าถึงการทำงานของ Father Gabriel พานพบเจอให้ความช่วยเหลือ Captain Rodrigo Mendoza และทั้งสองร่วมกันต่อสู้เพื่อช่วยเหลือชนเผ่าพื้นเมือง Guaraní แต่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

หนังขับเคลื่อนด้วยเทคนิค Cross-Cutting ซึ่งคงแทนด้วยคำบรรยายในจดหมาย (ของ Cardinal Altamirano) ทำให้ผู้ชมรู้สึกล่องลอยเหมือนฝัน เหตุการณ์ดำเนินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วไว จนแทบจับต้องเนื้อเรื่องราวไม่ได้สักเท่าไหร่

ปัญหาใหญ่ๆของหนังคือการตัดต่อช่วงสู้รบสงคราม ผมรู้สึกว่ามันเละตุ้มเปะมากๆ กระจัดกระจาย สะเปะสะปะไปทั่ว ขาดการวางแผน จุดศูนย์กลาง แค่ร้อยเรียงความตายให้มันดูยุ่งๆเยิงๆ สับสนอลม่าน แค่นั้นเองนะหรือ?

เพลงประกอบโดย Ennio Morricone (เกิดปี 1928) ตำนานนักแต่งเพลง สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Dollars Trilogy, The Battle of Algiers (1966), 1900 (1976), Days of Heaven (1978), The Mission (1986), The Untouchables (1987), Bugsy (1991), และคว้า Oscar: Best Original Score จากเรื่อง The Hateful Eight (2016)

เสียง Oboe (บางครั้งจะขับร้องคอรัส) มอบสัมผัสแห่ง ‘จิตวิญญาณ’ เริ่มจากการกระทำอันชั่วร้ายกาจ ทำให้จมปลักอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก ค่อยๆเรียนรู้จักเผชิญหน้า ยินยอมรับผิดทีละนิด จนสามารถกลับตัวกลับใจ และค้นพบเป้าหมาย ‘ภารกิจ’ พร้อมเสียสละตนเอง เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษย์

เกร็ด: บทเพลงของ The Mission (1986) ได้รับการจัดอันดับ 23 ชาร์ท AFI’s 100 Years of Film Scores

“My film is about the individuals who struggle to save other individuals against the broader interests of the Church, which is trying to defend its bureaucratic structures, in this case, the Jesuit order”.

– Roland Joffé

ภารกิจของ The Mission คือการเผชิญหน้าระหว่างอุดมการณ์ ความเชื่อ ศรัทธาศาสนา กับโครงสร้างทางสังคม ผลประโยชน์ชาติ และการใช้อำนาจของผู้นำ โดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสมทางคุณธรรมศีลธรรม … เป็นคุณถ้าตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะดังกล่าว จะเลือกเข้าข้าง หันหาฝั่งฝ่ายใด?

หนังพยายามชี้ชักนำว่า การเข้ามาถึงของ Missionary ยังดินแดนอันป่าเถื่อน ดงพงไพร จักสร้างความเจริญ/อารยธรรมให้บังเกิดขึ้นจนเป็นสรวงสวรรค์แห่งอีเดน แต่แนวความคิดนี้ สะท้อนถึงลัทธิอาณานิคม ‘Colonialism’ ไม่ว่าจะด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ หรือเคลือบแอบแฝงประการใด เพราะนั่นจักทำให้ชนชาวพื้นเมือง ละทอดทิ้งวิถีชีวิต ค่านิยม วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยมีมา จนสูญสิ้นอัตลักษณ์ ไม่สามารถพึ่งพาตนเอง เอาตัวรอดได้เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป

ผมมองภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นความขัดย้อนแย้งกันเองของผู้กำกับ Roland Joffé และนักเขียนบท Robert Bolt พยายามสร้างเนื้อหาต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม แต่กลับมองไม่เห็นว่าการเผยแพร่ศาสนาของ Missionary คือหนึ่งในแนวคิดของ Colonialism ที่พยายามควบคุม ครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างของชนชาวพื้นเมือง ให้มีความเจริญก้าวหน้า อารยธรรมแบบชาติตะวันตก … แถมยังยกยอปอปั้น เทิดทูนการเสียสละของบาทหลวง Jesuit เหนือสิ่งอื่นใดอีก

จริงอยู่ถ้าไม่เพราะการมาถึงของยุคสมัยอาณานิคม ความเจริญคงไม่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างยุคสมัยปัจจุบัน แต่ข้อแลกเปลี่ยนซึ่งคือการสูญเสียอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม หลายๆอย่างถูกกลืนกิน แนวความคิด/ค่านิยมทางสังคมปรับเปลี่ยนแปลงไป นั่นเป็นสิ่งน่าสูญเสียดายอยู่ไม่น้อย

ลองครุ่นคิดในมุมกลับตารปัตร ชนเผ่า Guaraní จากเคยอยู่อย่างสุขสันโดษในป่า ได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวง Jesuit จนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าก่อน เกิดความเชื่อมั่นใจ มอบกายถวายจิตวิญญาณให้ แล้วต่อมาถูกทรยศหักหลัง บีบบังคับให้ต้องต่อสู้ หวนกลับสู่ความไร้อารยะ นั่นยังจะมีอะไรหลงเหลือในตัวพวกเขาอยู่อีก?

เรื่องราวของชนเผ่า Guaraní ยังสามารถเปรียบเทียบกับตัวละครของ Robert De Niro เริ่มต้นจากพ่อค้าทาส กระทำสิ่งชั่วร้ายกาจ ได้รับการปลุกตื่น หวนคืนกลับสู่ความมีอารยธรรม แล้วสุดท้ายกลับถูกทรยศหักหลัง จิตใจของเขาจะยังหลงเหลืออะไร สู้ในสงครามไม่มีวันได้รับชัยชนะ ความตายเท่านั้นคือจุดสิ้นสุด


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีที่ Sydney Pollack เป็นประธานกรรมการ สามารถคว้ามา 2 รางวัล
– Palme d’Or
– Technical Grand Prize

แซว: เทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนี้ มีภาพยนตร์ถึง 3 เรื่องที่เกี่ยวกับศรัทธาพระเจ้า การเสียสละเพื่อผู้อื่น แถมคว้าสามรางวัลใหญ่ ไล่เรียงลำดับกันมาเลยนะ
– Offret (The Sacrifice) (1986) ของ Andrei Tarkovsky คว้ารางวัล Grand Prix (ที่สอง)
– Thérèse (1986) ของ Alain Cavalier คว้ารางวัล Jury Prize (ที่สาม)

ด้วยทุนสร้าง £16.5 ล้านปอนด์ ($25.4 ล้านเหรียญ) ทำเงินทั่วโลก $17.2 ล้านเหรียญ เรียกได้ว่าขาดทุนย่อยยับเยิน แต่ก็ได้เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Original Score

นี่เป็นปีที่ Ennio Morricone ถือว่าถูก SNUB รางวัล Best Original Score อย่างเลวร้ายที่สุด เพราะผู้ชนะคือ ‘Round Midnight (1986) แทบไม่มีใครจดจำในปัจจุบัน

เกร็ด: คุ้นๆว่าผู้กำกับ Martin Scorsese ได้แรงบันดาลจากภาพยนตร์เรื่องนี้ในการสรรค์สร้าง Silence (2016) ตัวละครของ Andrew Garfield ละม้ายคล้ายคลึง Jeremy Irons และยังได้ Liam Neeson มาสมทบอีกบทบาท

อย่างที่บอกไป นอกจากบทเพลงของ Ennio Morricone ที่โคตรไพเราะ กับงานภาพสวยๆของ Chris Menges ส่วนอื่นๆของหนังถือว่าน่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง รู้สึกเสียเวลาอารมณ์อย่างมากในการรับชม ขึ้นทำเนียบหนังรางวัล Palme d’Or ยอดแย่ตลอดกาลของผมเลยละ

ผมรู้สึกขบขันเล็กๆที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดอันดับ 1 ชาร์ท Top 50 Religious Films ของนิตสาร Church Times คือถ้ามองการเสียสละของบาทหลวงคณะ Jesuit เลือกต่อสู้เคียงข้างชนเผ่าพื้นเมือง Amazon นั่นก็พอน่ายกย่องอยู่หรอก แต่ในความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ไม่เคยจดบันทึกรายละเอียดนี้ไว้ (เป็นส่วนที่หนังปรุงปั้นแต่งขึ้น) และการเข้าไปเผยแพร่ศาสนา นำพาความเจริญ ปลูกฝังทัศนคติคนขาว ปรับเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนพื้นเมือง ทำให้พวกเขาค่อยๆถูกกลืนกิน สูญเสียวัฒนธรรมของตนเอง นั่นเรียกว่าลัทธิอาณานิคม (Colonialism) คือความชั่วเลวร้ายยิ่งกว่าพวกพ่อค้าทาสเสียอีกนะ!

จัดเรต 13+ กับความป่าเถื่อน ค้าทาส คอรัปชั่น สงครามย่อมๆ และความตายอันไร้ค่า

คำโปรย | Roland Joffé ได้ทำให้ภารกิจ The Mission ของคณะ Jesuit กลิ้งตกเขาไปพร้อมสัมภาระที่ Robert De Niro แบกลากมา
คุณภาพ | แค่ภาพสวย เพลงเพราะ
ส่วนตัว | เสียเวลา

El abrazo de la serpiente (2015)


Embrace of the Serpent

El abrazo de la serpiente (2015) Colombian  : Ciro Guerra ♥♥♥♥

วิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่สามารถทำความเข้าใจเพียง ‘เปลือกนอก’ ของโลกและจักรวาลเท่านั้น ซึ่งการจะเข้าให้ถึงซึ่งสัจธรรมความจริง แรกเริ่มต้นคือต้องทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง โอบรับวิถีแห่งธรรมชาติ ‘Embrace of the Serpent’ ให้เวลาศึกษาเรียนรู้จักตัวตนเอง และเมื่อเข้าถึงสภาวะสงบนิ่งทางจิต คำตอบของทุกสรรพสิ่งจักกระจ่างแจ้ง

Embrace of the Serpent เป็นภาพยนตร์ที่ผมโคตรอยากดูตั้งแต่เมื่อตอนออกฉาย (ใครได้ดูในโรงหนังถือว่าโชคดีมากๆเลยนะ) แต่เพราะหาเวลาไม่ได้จนกระทั่งช่วงนี้ บังเอิญมีเหตุการณ์ไฟป่า Amazon ลุกลามแพร่ขยายวงกว้าง กลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ ฉุกครุ่นคิดว่าคือโอกาสอันเหมาะสมเลยเร่งรีบสรรหามารับชม

จะว่าไปเรื่องราวของ Embrace of the Serpent สะท้อนบางสิ่งอย่างที่กำลังสูญหายไปจากอารยธรรมโลก เฉกเช่นเดียวกับอัคคีภัยครั้งนี้ที่ได้มอดไหม้ถังออกซิเจนโลกไปไม่น้อย อยากรู้เหมือนกันว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษย์ในระยะยาวบ้างหรือเปล่า?

เท่าที่ผมสรรหาข้อมูล พบว่ามีภาพยนตร์เพียงสิบกว่าเรื่องเท่านั้น ริหาญกล้าบุกป่าฝ่าดงไปถ่ายทำในป่า Amazon
– Aguirre, the Wrath of God (1972), Fitzcarraldo (1982) สองผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Werner Herzog
– The Mission (1986) กำกับโดย Roland Joffé, คว้ารางวัล Palme d’Or
– โด่งดังสุดน่าจะเป็น Anaconda (1997)
– The Lost City of Z (2016)
ฯลฯ

ซึ่งส่วนใหญ่แทบทั้งนั้นนำเสนอมุมมองชาวยุโรป/อเมริกัน พยายามเข้าไปกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ กระทำบางสิ่งอย่างต่อผืนป่า/ชาวพื้นเมือง ในลักษณะของ Colonialism ควบคุม ครอบงำ ทำให้กลายเป็นอาณานิคมของตนเอง

Embrace of the Serpent ถือเป็นครั้งแรกๆเลยกระมัง นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองชนชาวพื้นเมือง Amazon แถมยังดำเนินเรื่องคู่ขนานสองช่วงเวลาห่างกันกว่า 30 ปี พานพบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งดีขึ้น-ย่ำแย่ลง จุดเริ่มต้น=สิ้นสุด


Ciro Guerra (เกิดปี 1981) ผู้กำกับ/เขียนบท สัญชาติ Columbian เกิดที่ Río de Oro, Cesar โตขึ้นเข้าเรียนภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ National University of Colombia จบออกมากำกับผลงานเรื่องแรก La sombra del caminante (2004), ติดตามด้วย Los viajes del viento (2009)

ความสนใจของ Guerra คงได้รับอิทธิพลจาก Werner Herzog ชื่นชอบการสำรวจ ผจญภัย ท่องโลก ภาพยนตร์แต่ละเรื่องล้วนท้าทายศักยภาพร่างกาย-จิตใจ ถ่ายทำในสถานที่ยุ่งยากลำบาก ให้เวลาสำหรับการศึกษา เรียนรู้จัก ทำความเข้าใจเนื้อหาให้ถึงระดับถ่องแท้

สำหรับ Embrace of the Serpent จุดเริ่มต้นเกิดจากความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับป่า Amazon เพราะเมื่อมองแผนที่ประเทศ เกินกว่าครึ่งยังคงลึกลับ ซ่อนเร้น ไม่ได้รับการสำรวจค้นพบ

“It came from a personal interest in learning about the world of the Colombian Amazon, which is half the country, and yet it remains hidden and unknown, even though I’ve lived in Colombia all my life”.

– Ciro Guerra

เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากบันทึกของสองนักสำรวจ
– Theodor Koch-Grunberg (1872 – 1924) นักสำรวจ ชาติพันธุ์วิทยา สัญชาติเยอรมัน เลื่องลือชาในการศึกษาเรื่องราวชนพื้นเมือง Amazon ซึ่งการสำรวจครั้งสุดท้ายโชคร้ายป่วยเป็นไข้มาลาเลีย (ไม่ได้ฉีดยาป้องกันไว้ล่วงหน้า) เสียชีวิตเพราะไร้ยารักษา
– Richard Evans Schultes (1915 – 2001) นักชีววิทยา/พฤกษศาสตร์ สัญชาติอเมริกัน เรียนจบจาก Harvard University มีความสนใจในการใช้พืชสมุนไพรของชนชาวพื้นเมือง Amazon นำไปสู่การค้นพบยาเสพติด/สร้างภาพหลอนชื่อดัง LSD (Lysergic Acid Diethylamide)

ผู้กำกับ Guerra ใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่ง เดินทางเข้าไปปักหลักอาศัย ศึกษาเรียนรู้ ทำความรู้จักมักคุ้นชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่างๆของ Amazon สืบเสาะค้นหานักแสดง สำรวจสถานที่ถ่ายทำ และพัฒนาบทหนังอ้างอิงจากสิ่งต่างๆค้นพบเจอ เมื่อเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ดึงตัวนักเขียน Jacques Toulemonde Vidal เข้ามาช่วยขัดเกลาบทร่างสุดท้าย

หนังประกอบด้วยสองเรื่องราวคู่ขนาน โดยมี Karamakate ผู้เป็น Shaman คนสุดท้ายของเผ่าหนึ่งใน Amazon เป็นผู้ช่วยเหลือ/นำทางคนผิวขาว ออกเดินทางสู่สถานที่แห่งหนึ่ง
– ปี 1909, Theo von Martius (รับบทโดย Jan Bijvoet) นักสำรวจ/ชาติพันธุ์ ชาวเยอรมัน เพราะป่วยหนักเป็นมาลาเลีย เลยขอความช่วยเหลือ Karamakate (รับบทโดย Nilbio Torres) ซึ่งก็ได้รักษาอาการโดยเป่าผงขาวเข้าจมูก ‘the sun’s semen’ (คาดกันว่าเป็นยาหลอนประสาทชนิดหนึ่ง) แต่ด้วยข้อแลกเปลี่ยนไม่ทำผิดกฎธรรมชาติมากมาย และให้นำทางไปพบเจอสมาชิกคนอื่นของชนเผ่าที่ยังเหลือรอดชีวิต
– ปี 1940, Evan (รับบทโดย Brionne Davis) นักพฤกษาศาสตร์ ชาวอเมริกัน ปากอ้างว่าออกเดินทางมาเพื่อศึกษาสมุนไพรชื่อ Yakruna ร้องขอความช่วยเหลือ Karamakate วัยชรา (รับบทโดย Antonio Bolivar) ที่เริ่มหลงๆลืมๆ อ้างว่าจดจำอะไรไม่ค่อยได้เช่นกัน, แต่แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของ Evan คือออกค้นหาต้นยาง เพื่อส่งออกเป็นวัตถุดิบให้ประเทศตนเองในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นกันกับ Karamakate ล่วงรู้จักสมุนไพร Yakruna เป็นอย่างดี และได้ทำลายทิ้งทุกต้นที่รับรู้จัก จนหลงเหลือเพียงหนึ่งเดียวสุดท้ายเท่านั้น


Jan Bijvoet (เกิดปี 1966) นักแสดงสัญชาติ Flemish เกิดที่ Antwerp, Belgium หลังเรียนจบจาก Herman Teirlinck Studio เริ่มต้นเป็นนักแสดงละครเวทีจนมีชื่อเสียงโด่งดัง แสดงภาพยนตร์/โทรทัศน์บ้างประปราย อาทิ The Broken Circle Breakdown (2012), Borgman (2013) ฯ

รับบท Theo von Martius นักสำรวจ/ชาติพันธุ์ แม้เดินทางมาศึกษาชนพื้นเมือง Amazon แต่กลับยังมีความครุ่นคิดอย่างชาวตะวันตก แบกสิ่งข้าวของหนักอึ้ง ยึดถือมั่นในความรัก มิอาจตัดขาดความสัมพันธ์ ทั้งยังหวาดสะพรึงกลัวความตาย สูญเสียดายถ้าทุกสิ่งอย่างจะไม่หลงเหลืออะไร

การแสดงให้เหมือนคนป่วยใกล้ตาย แบกภาระหนักอึ้งมากมาย ผมว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ! เพราะมันจะสูบเรี่ยวแรง จิตวิญญาณ ต้องใช้พลังอย่างมากในการแสดง จนผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ทรมาน ทำไมไม่รู้จักปลดปล่อยวาง ทอดทิ้งอะไรๆไปบ้างนะ! … แต่นี่คือตัวแทนชาวตะวันตกจริงๆนะครับ และปัจจุบันถือว่าแพร่ขยายไปทั่วทั้งโลกแล้วละ


Brionne Davis (เกิดปี 1976) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dallas, Texas หลังเรียนจบเริ่มจากทำงานละครเวที แสดงโทรทัศน์ ผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นแนว Indy เกรดบี ทุนสร้างต่ำ แต่ก็พอมีเรื่องดังๆ อาทิ Narcissist (2014), Embrace of the Serpent (2015) ฯ

รับบท Evan นักพฤกษาศาสตร์ เดินทางมา Amazon อ้างว่าเพื่อศึกษาพืชหายาก Yakruna แต่แท้จริงแล้วมีจุดประสงค์อื่นแอบซ่อนเร้น ซึ่งพอพบเห็นความบ้าคลั่งบางอย่าง และความลับของตนเองได้รับการเปิดเผย เลยสามารถทอดทิ้งสิ่งข้าวของทุกสิ่งอย่าง ออกติดตาม Karamakate มุ่งสู่เทือกเขา Cerros de Mavecure เพื่อเรียนรู้จักจุดกำเนิดเริ่มต้นทุกสรรพสิ่ง

เห็นว่า Davis มีเวลาค่อนข้างมากในการสร้างความคุ้นเคยกับ Antonio Bolivar ผู้รับบท Karamakate วัยชรา (ผิดกับ Bijvoet และ Jan Bijvoet ที่ผู้กำกับจงใจทำให้พวกเขาไม่ค่อยชอบขี้หน้ากันสักเท่าไหร่) จึงสามารถเรียนรู้จักวิถีชีวิต เข้าใจอะไรหลายๆอย่าง จึงสามารถค่อยๆปรับตัวได้เหมือนตัวละคร ก็ยังพอมีความดื้อรั้นอยู่บ้าง แต่เพราะไม่มีภาระเบื้องหลัง เลยสามารถปล่อยกายใจให้ล่องไหลไปตามกระแสธารา


Antonio Bolívar Salvador (ผู้รับบท Karamakate วัยชรา) คือผู้รอดชีวิตกลุ่มสุดท้ายของชนเผ่า Ocaina สามารถพูดได้หลายภาษา Tikuna, Cubeo, Huitoto และอังกฤษ ซึ่งเขายังเป็นล่าม ไกด์ทัวร์ สอนอะไรๆมากมายให้ทีมงาน/นักแสดงต่างชาติ, สำหรับบทบาท Karamakate ส่วนหนึ่งนำจากประสบการณ์ส่วนตนเมื่อครั้นยังเด็ก มีบรรพบุรุษที่เป็น Shaman (ขณะนั้นไม่หลงเหลืออยู่แล้ว) คอยเสี้ยมสอนอะไรๆมากมาย ซึ่งตัวเขาก็ไม่ต่างจากตัวละคร องค์ความรู้ต่างๆถูกหลงลืมเลือนไปตามกาลเวลา

“It is a film that shows the Amazon, the lungs of the world, the greater purifying filter and the most valuable of indigenous cultures. That is its greatest achievement”.

– Antonio Bolívar Salvador ให้คำนิยมภาพยนตร์เรื่องนี้

Nilbio Torrens (ผู้รับบท Karamakate วัยหนุ่ม) ขณะนั้นอายุ 30 กว่าปี ไม่เคยออกไปนอกป่า Amazon ทำงานด้านเกษตรกรรม จนมีร่างกายอันบึกบึนเข้มแข็งแกร่ง ปกติแล้วพูดแต่ภาษา Cubeo จำต้องเรียนรู้ภาษาสเปนเพิ่มเติม มีความยากลำบากสักนิดในการเข้าถึงอารมณ์ตัวละคร แต่ก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ, บทบาท Karamakate วัยหนุ่ม ดูเต็มไปด้วยความหนักแน่น เชื่อมั่นใจในตนเองสูง มากด้วยอคติต่อคนผิวขาว แต่เพราะลึกๆก็อยากพบเจอชนเผ่าเดียว เลยยินยอมให้ความช่วยเหลือ ออกเดินทางเผชิญหน้ากับโลกไปด้วยกัน

“What Ciro is doing with this film is an homage to the memory of our elders, in the time before: the way the white men treated the natives, the rubber exploitation. I’ve asked the elders how it was and it is as seen in the film, that’s why we decided to support it. For the elders and myself it is a memory of the ancestors and their knowledge”.

– Nilbio Torrens

Yauenkü Migue เกิดและเติบโตที่ Nazareth, ชนเผ่า Tikuna ขณะนั้นอายุ 26 ปี กำลังร่ำเรียนพลศึกษาอยู่ที่ Bogotá จับพลัดจับพลูพบเจอโดยผู้กำกับ Guerra ชักชวนมาแสดงบทบาท Manduca ซึ่งเป็นตัวละครอยู่กึ่งกลางระหว่างชาวพื้นเมือง-คนผิวขาว ถือกำเนิดในป่า Amazon ถูกจับกุมกลายเป็นทาส ได้รับความช่วยเหลือติดหนี้ชีวิตโดย Theo พยายามทำทุกสิ่งอย่างให้เขารอดตาย แม้นั่นจะเป็นการทรยศเชื้อชาติพันธุ์ตนเองก็ตามที

“I believes this film should be shared not only with the people of the locations, but all across the country, with all the indigenous peoples in Leticia and the Amazon, with the leaders, in schools and universities”.

– Yauenkü Migue


ถ่ายภาพโดย David Gallego ผลงานเด่นๆ อาทิ Embrace of the Serpent (2015), I Am Not a Witch (2017), Birds of Passage (2018) ฯ

เพราะความที่ผู้กำกับ Guerra ได้ตระเตรียมการ สำรวจ คัดเลือกสถานที่ไว้เสร็จสรรพ การถ่ายทำจึงใช้เวลาเพียง 8 สัปดาห์เท่านั้น!
– เทือกเขา Cerros de Mavicure หรือ Mavicure เทือกเขาหัวโล้นสามลูก อยู่ทางตะวันออกของประเทศ Columbia ติดแม่น้ำ Inírida River เห็นว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้รับความนิยมอย่างสูงทีเดียว
– Fluvial Star Inírida ถูกทำให้กลายเป็นโบสถ์ และศูนย์รวมความคลุ้มคลั่ง
– Vaupés River แม่น้ำที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่าง Colombia และ Brazil
ฯลฯ

หนังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล Arricam LT ซึ่งบันทึกด้วยภาพขาว-ดำ ตั้งแต่แรก (ไม่ใช่มาแปลงเอาทีหลัง) นั่นสร้างความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ราวกับมหานครลับแล ดินแดนที่ไม่พานพบเจอยังแห่งหนใดบนโลก (เพราะมันได้หมดสูญสิ้นไปแล้ว) ขณะเดียวกันผู้ชมก็จะไม่หลงระเริงไปกับสีสัน ดื่มด่ำไปกับธรรมชาติชีวิตอย่างเต็มอิ่ม

ภาพสะท้อนผืนผิวน้ำ และช็อตถัดมากล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าจากด้านหลัง Karamakate ก็เพื่อสะท้อน ‘มุมมอง’ ของหนังที่จะเล่าผ่านชนพื้นเมือง Amazon

ภาพวาดของ Karamakate วัยชรา สะท้อนความทรงจำของเขาที่ค่อยๆสูญหาย หลงๆลืมเลือนไปตามกาลเวลา (เหมือนช่วงเวลา 30 ปีที่หนังกระโดดข้ามมา) จนกระทั่งการมาถึงของ Evan ปลุกตื่น/รื้อฟื้นอะไรหลายๆอย่าง

สังเกตว่าการมาถึงของสองตัวละครคนขาว จะมีความแตกต่างตรงกันข้าม
– Theo มาถึงในสภาพเจ็บป่วยทางกาย มีความมุ่งมั่นไม่อยากตาย พูดบอกความจริงแค่ว่ามิใช่ทั้งหมด
– Evan มาถึงในสภาพร่างกายแข็งแรง แต่เจ็บป่วยทางใจ เพราะได้โป้ปดหลอกลวง Karamakate ถึงเหตุผลแท้จริงของการเดินทางครั้งนี้

ช่วงต้นจะมีขณะที่ Karamakate วัยชรา ยืนอยู่ตรงโขดหินแล้วมีผีเสื้อโบยบินล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นการล้อกับช็อตสุดท้ายของหนัง นัยยะสื่อถึงการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์สามารถเข้าใจสภาวะทางจิตของเราเอง ก็จะรับรู้ถึงทุกสิ่งอย่างในสากลจักรวาล

จะว่าไปความครุ่นคิดของผู้กำกับ Guerra ก็เหมือนตัวละคร Theo ฉากนี้ ไม่ต้องการให้เข็มทิศแก่หัวหน้าเผ่า เพราะครุ่นคิดว่าถ้าพวกเขาเรียนรู้จักวิธีการใช้งาน ก็จักหลงลืม/ทอดทิ้งองค์ความรู้ดั้งเดิมไป … แต่ความครุ่นคิดดังกล่าว ไม่ใช่ทั้งตัวละครและผู้กำกับหรอกหรือที่กำลังหลงทาง??

มองในเชิงรูปธรรมก็คงแค่รู้สึกหนักอึ้งในสัมภาระมากมาย แต่ฉากนี้สะท้อนนัยยะเชิงนามธรรม คือภาระแห่งชีวิตที่มนุษย์ชาวเมืองแบกหามไว้ เสื้อผ้า สิ่งข้าวของ เงินทอง บ้าน รถยนต์ รวมไปถึงวิถีชีวิตประจำวัน ค่านิยม ทัศนคติหลายๆอย่างอีกด้วยนะ!

การเดินทางของหนังจะเล่าเรื่องคู่ขนาน Theo กับ Evan ห่างกันสามสิบปี สถานที่แห่งหนึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปเช่นไร ขณะที่ต้นยางฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติ แต่จิตใจของมนุษย์เมื่อขาดสิ่งยึดเหนี่ยว หรือผู้คอยชี้ชักนำความเชื่อมั่นศรัทธา ก็จักแปรสภาพสู่ความคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้อีกต่อไป

เมื่อตอนที่ Karamakate เดินทางมายัง Spanish Catholic Mission ครั้งแรกกับ Theo จะมีเด็กชายคนหนึ่งที่คิดคดทรยศหักหลังพรรคเพื่อนฝูง หมอนั่นคงกลายมาเป็นหัวหน้า/อ้างว่าคือพระผู้มาไถ่ เมื่อ Karamakate เดินทางหวนกลับมาอีกครั้งพร้อม Evan สามสิบปีให้หลัง

สำหรับ Theo เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง กระทำสิ่งผิดกฎข้อตกลงที่ให้กับ Karamakate จับปลากินก่อนหน้าฝน นั่นทำให้เขาเกิดอาการชักกระตุก ทนทุกข์ทรมาน (และ Karamakate ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือใดๆอีก)

ตรงกันข้ามกับ Evan เพราะเริ่มต้นไม่ได้ออกเดินทางด้วยกฎข้อบังคับ แต่ค่อยๆรับเรียนรู้จักสิ่งต่างๆด้วยตนเอง จึงสามารถทอดทิ้งสัมภาระ เรียนรู้ที่จะทำตามกฎธรรมชาติทีละเล็กละน้อย

เป้าหมาย Theo คือหวนกลับสู่ชุมชนเมือง เพื่อหายารักษามาลาเลีย ขณะที่ Karamakate ก็เพื่อมีโอกาสพานพบเจอสมาชิกชนเผ่าของตนเอง … จริงอยู่ทั้งสองมาถึงเป้าหมาย แต่ก็ต่างผิดคาดไม่ถึง
– เพราะเมืองแห่งนี้กำลังถูกชาว Colombian หัวรุนแรงบุกเข้าโจมตี ทำให้ Theo (และ Manduca) ต้องหลบหนีขึ้นเรือ และจบสิ้นอายุขัยของตนเอง
– สำหรับ Karamakate คาดไม่ถึงกับสภาพสมาชิกชนเผ่า ที่ทอดทิ้งวิถี วัฒนธรรม องค์ความรู้ ทุกสิ่งอย่าง! เลยตัดสินใจเผาทำลาย Yakruna ให้ทุกสิ่งอย่างดับสิ้นสูญไปพร้อมกับตนเอง

ช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสุดท้ายจากเรื่องราวของ Theo สู่ Evan จะปรากฎภาพเสือจากัวร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเอ่ยถึงในความฝันของ Karamakate อยู่หลายครั้ง เป็นผู้แนะนำเขาให้ช่วยเหลือ/รักษา Theo, สำหรับครั้งนี้พบเห็นกำลังค่อยๆย่อง ตระเตรียมตัวล่าสัตว์ น่าจะสื่อได้ถึง Evan จะสามารถก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตนเอง

บนยอดเขาหัวโล้นสามลูก Cerros de Mavicure คือจุดสูงสุดของป่า Amazon สามารถมองไปไกลสุดลูกหูลูกตา ในที่นี้สื่อนัยยะถึงจุดสูงสุดของร่างกายที่สามารถก้าวเดินมาถึง และเมื่อดื่มด่ำ Yakruna ดอกสุดท้าย ทำให้สามารถล่องลอยไปไกล จนพบเห็นข้อเท็จจริงของสากลจักรวาล

ผมครุ่นคิดว่า Yakruna คงจะคล้ายๆฝิ่น/กัญชา พอเสพเข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกล่องลอย วิญญาณออกจากร่าง เลยครุ่นคิดว่าตนเองเข้าถึงซึ่งทุกสิ่งอย่างของสากลจักรวาล

ภาพหลอนของ Evan เริ่มจากการล่องลอย Helicopter Shot บินไปรอบป่า Amazon จากนั้นเงยหน้าขึ้นฟ้า พบเห็นจักรวาล จากภาพขาว-ดำ กลายเป็นสีสันเหนือจินตนาการ … ลักษณะดังกล่าวเคารพคารวะ 2001: A Space Odyssey (1968) อยู่เล็กๆแต่นัยยะนั้นตรงกันข้าม คือการเดินทางของจิตวิญญาณล่องลอยไปสู่จักรวาลอันไกล

ผมว่ามันแล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความนะครับ
– คือจะมองว่า Yakruna คือยาหลอนประสาทชนิดหนึ่ง ทำให้มนุษย์รู้สึกเหมือนกำลังล่องลอยโบกโบยบินไป
– หรือจะมองตามความความเชื่อเลยก็ได้ว่า คือสมุนไพรที่ทำให้มนุษย์สามารถสื่อการกับพระเจ้า เข้าใจทุกสิ่งอย่างของสากลจักรวาล

หลังจาก Evan กลับฟื้นคืนสติขึ้นมา พบเห็นว่า Karamakate ได้สูญหายตัวไปแล้ว (สามารถมองว่า เขาแปรสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล) ขากลับช็อตนี้ ตรงตำแหน่งมีผีเสื้อลุมโบยบินขึ้นมาห้อมล้อม นั่นแปลว่า Evan เริ่มที่จะเข้าใจวิถีแห่งธรรมชาติ สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งในเบื้องต้น

ตัดต่อโดย Etienne Boussac, หนังดำเนินเรื่องคู่ขนาน โดยมี Karamakate คือจุดเชื่อมโยงระหว่างสองช่วงเวลา
– ปี 1909 พานพบเจอ Theo von Martius นำพาออกเดินทางสู่ต้นลำน้ำ Yari River
– ปี 1940 พานพบเจอ Evan นำพาออกเดินทางสู่ Cerros de Mavicure

การนำเสนอสองช่วงเวลาคู่ขนาน ก็เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องจากกาลเวลา
– การเดินทางมาถึงของ Theo และ Evan
– ดินแดนเคยถูกใช้เป็นสถานที่กรีดยาง, ปัจจุบันร่องรอยดังกล่าวได้สูญหายไปหมดแล้ว
– Theo ไม่สามารถทอดทิ้งสิ่งข้าวของได้สักสิ่งอย่าง, เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Evan สามารถทอดทิ้งสัมภาระและทุกสิ่งอย่าง
– สภาพของ Spanish Catholic Mission จากเคยมีบาทหลวงให้เลื่อมใสศรัทธา, กลายมาเป็นลัทธิคนบ้า เชิดชูคนหลงผิด
– ปลายทางของ Theo คือความล้มเหลวนำพาสู่การสูญเสียชีวิต, Evan ได้เริ่มเข้าใจวิถีโลก และ Karamakate สูญหายตัวไป

เพลงประกอบโดย Nascuy Linares, งานเพลงของหนังจะมีความกลืนไปกับ Sound Effect เสียงจากธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร สายน้ำเอื่อยไหล มอบสัมผัสอันลึกลับ เต็มไปด้วยความพิศวง เอ็กโซติก

บทเพลงที่ Evan รับฟังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง Pornographer คือ Die Schöpfung (1797-98) แปลว่า The Creation ประพันธ์โดย Joseph Haydn (1732 – 1809) คีตกวีสัญชาติ Austrian ยุคสมัย Classical

The Creation เป็นบทเพลงแนว Oratorio โดยได้แรงบันดาลใจจากพระคัมภีร์ Book of Genesis ถึงจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่งอย่าง

เมื่อจิตวิญญาณของ Evan ล่องลอยออกจากร่าง ท่องไปตามผืนป่า Amazon งานเพลงใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ คุมระดับเสียงให้ทุ่มต่ำ มอบสัมผัสที่เต็มไปด้วยความลึกลับ เต็มไปด้วยภยันตราย ราวกับฝันร้าย ความตาย ไม่อาจครุ่นคิดทำความเข้าใจได้ จักรวาลช่างยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะอาจเอื้อมมือไขว่คว้า

บทเพลง Closing Credit ชื่อ Buynayma แต่งโดย Teto Ocampo บรรเลงโดย Mucho Indio, มอบสัมผัสที่ล่องลอย ไร้ตัวตน รูปร่างจับต้องได้ ซึ่งคงเปรียบได้กับจิตวิญญาณ หรืออาจจะ Chullachaki สิ่งมีชีวิตลึกลับในป่า Amazon

ตามความเชื่อของ Karamakate งูยักษ์ Anaconda เลื้อยลงมาจากทางช้างเผือก ให้กำเนิดผืนป่า Amazon ที่เต็มไปด้วยพิษสง ภยันตราย และชนเผ่ามนุษย์แรกสุด Karipulakena นั่นเองทำให้เขาถือปฏิบัติตามขนบวิถีอย่างเคร่งครัด เข้มงวด เพื่อให้ยังสามารถสื่อสารกับบรรพบุรุษ ผู้ใหำกำเนิด (พระเจ้า) และจักรวาล

มันไม่ใช่ประเด็นที่เราจะมาถกเถียงกันว่า ความเชื่อดังกล่าวเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ แต่จากเหตุผลเริ่มต้น/อุปนัยนั้น ทำให้ผู้ชมสามารถพบเห็นวิถีชีวิตของ Karamakate ล้วนมีความเกี่ยวเนื่อง สอดคล้อง เป็นไปตามครรลองแห่งศรัทธา

การเดินทางของ Karamakate ในสองช่วงอายุ สามารถสะท้อนได้ถึง ความพยายามหวนกลับไปหารากเหง้าของตนเอง
– ครั้งแรกในเชิงรูปธรรม คือชนเผ่า ผองพี่น้อง ที่ขณะนั้นเหมือนว่าจะอาศัยอยู่ต้นลำน้ำ Yari River นำทางโดย Theo ผู้เต็มไปด้วยสัมภาระหนักอึ้ง ไม่สามารถปลดเปลื้องสิ่งข้าวของใดๆลงได้
– ครั้งหลังในเชิงนามธรรม เดินทางไปหาผู้ให้กำเนิดจิตวิญญาณ มุ่งสู่ Cerros de Mavicure ร่วมกับ Evan ที่สามารถทอดทิ้งอะไรหลายๆอย่าง แล้วลอยละล่องสูญหายไปในความเวิ้งว่างเปล่าของจักรวาล

ในมุมของนักประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา ย่อมเกิดความสูญเสียดายเมื่อค้นพบว่า องค์ความรู้ต่างๆทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ค่อยๆถูกลืมเลือน ละทอดทิ้ง ล่มสลายหายไป ไร้ผู้สืบสานต่อยอด เพราะสิ่งๆนั้นอาจรังสรรค์สร้างผลประโยชน์มากมายมหาศาลให้กับมวลมนุษยชาติ

แต่การครุ่นคิดเช่นนั้นก็เหมือนตัวละคร Theo แบกสัมภาระหนักอึ้งไว้บนบ่า มันจำเป็นจริงๆนะหรือที่มนุษยชาติต้องการองค์ความรู้เหล่านั้น มีใครไหนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบแล้ว ตั้งใจจริง ออกเดินทางไปอาศัยอยู่ป่า ไม่สวมใส่เสื้อผ้า ใช้ชีวิตแบบ Karamakate บ้างไหมละ?

Embrace of the Serpent การโอบรัดของอสรพิษ ในบริบทนี้หมายถึง วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง Amazon ถ้าคนขาวต้องการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ต้องเริ่มต้นจากทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เรียนรู้จักธรรมชาติ และปลดปล่อยจิตวิญญาณล่องลอยไปให้ถึงสุดขอบจักรวาล

สำหรับผู้กำกับ Ciro Guerra แนวความสนใจของเขา คือบันทึกสิ่งที่(กำลัง)สิ้นสูญ ให้หวนกลับมาชีวิตอีกครั้งด้วยสื่อ ‘ภาพยนตร์’ ไม่ใช่เพียงแค่ Embrace of the Serpent (2015) เรื่องนี้เท่านั้นนะครับ ผลงานอื่นๆก็ด้วยความเชื่อแบบเดียวกัน มันอาจเสียเวลาแต่ละครั้งไปไม่น้อย (สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ 4-5 ปี) ถึงอย่างนั้นผลลัพท์ได้มามันคงคุ้มค่า และตนเองได้เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้จักชีวิตในแง่มุมแตกต่างออกไป

That Amazon is lost now.
In the cinema, it can live again.

– Ciro Guerra


เข้าฉาย Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถคว้ารางวัล Art Cinema Award ทำให้รัฐบาลของ Colombia ตัดสินใจส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศเข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย แต่พ่ายให้กับ Son of Saul (2015) จากประเทศ Hungary

ผู้กำกับ Ciro Guerra ยังนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายรอบพิเศษให้ชาว Amazonia รับชมกันในป่าใหญ่ ผู้คนมากมายจากหลายชนเผ่าต่างแห่แหนกันมาจนที่นั่งไม่เพียงพอ ซึ่งหลังหนังจบก็มีเสียงเรียกร้องให้ฉายอีกรอบ ถือว่าได้เสียงตอบรับดียอดเยี่ยมสุดๆเลยละ

ถึงส่วนตัวยังมองว่า ภาพยนตร์ถ่ายทำยังป่า Amazon ยอดเยี่ยมที่สุดคือ Aguirre, the Wrath of God (1972) และ Fitzcarraldo (1982) แต่ความงดงามทั้งภายนอก-ในของ Embrace of the Serpent ถือว่าตราตรึงถึงจิตวิญญาณ เนื้อเรื่องราวชวนให้ครุ่นคิดต่อไม่รู้จักจบสิ้น

จัดเรต 18+ กับความเห็นแก่ตัว แปรสภาพสู่ความคลุ้มคลั่งเสียสติแตก

คำโปรย | El abrazo de la serpiente คือสัมผัสการโอบรัดของธรรมชาติแห่งชีวิต
คุณภาพ | รึ-ถึงจิตวิญญาณ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ