Soleil Ô (1970)


Oh, Sun (1970) French, Mauritanian  : Med Hondo ♥♥♥♥

กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหาทำงาน ถูกปฏิเสธต่อต้าน ขับไล่ ผลักไส หวาดกลัวการรุกรานของ ‘Black Invasion’ นำเสนอด้วยวิธีการที่หลากหลาย ท้าทาย คล้ายศิลปะภาพแปะติด (Collage)

Hondo offers a stylistic collage to reflect the protagonist’s extremes of experience, from docudrama and musical numbers to slapstick absurdity, from dream sequences and bourgeois melodrama to political analyses.

Richard Brody นักวิจารณ์จาก The New Yorker

ขณะที่ Ousmane Sembène คือบุคคลแรกที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์แอฟริกัน จนได้รับฉายา “Father of African Cinema” แต่ลูกเล่น ลีลา ภาษาภาพยนตร์ ไม่ได้มีความแปลกใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นอะไรให้โลกตกตะลึง, Med Hondo ถือเป็นผู้กำกับคนแรกๆ(ของแอฟริกา) ที่พยายามรังสรรค์สร้างภาษาภาพยนตร์ในสไตล์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยได้รับคำยกย่อง “Founding Father of African Cinema” … แค่เพิ่มคำว่า Founding ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

สไตล์ภาพยนตร์ของผกก. Hondo ถือว่ามีความสุดโต่ง บ้าระห่ำ ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่หลากหลาย มากมายแนวทาง (Genre) อย่างที่นักวิจารณ์ Richard Brody ให้คำเรียกศิลปะภาพแปะติด (Collage) ยกตัวอย่าง

  • เริ่มต้นด้วยภาพอนิเมชั่นเคลื่อนไหว
  • ให้นักแสดงเล่นละคอนสมมติ ที่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์
  • บางครั้งทำออกมาในเชิงสารคดี มีการพูดคุย สัมภาษณ์ สอบถามความคิดเห็นบุคคลต่างๆ (มีการสบตาหน้ากล้อง)
  • ตัวละครนอนหลับฝัน จินตนาการเหตุการณ์ที่อาจบังเกิดขึ้น
  • เข้าห้องเรียน อาจารย์สอนทฤษฎี อธิบายแนวคิด วิเคราะห์การเมืองโน่นนี่นั่น
  • ระหว่างนั่งดื่ม ก็มีการร้องรำทำเพลง โดยเนื้อเพลงมักมีเนื้อหาที่สอดคล้อง เข้ากับหัวข้อขณะนั้นๆ

เอาจริงๆผมไม่รู้จะให้คำนิยาม เรียกสไตล์ผกก. Honda ว่ากระไรดี? เป็นความพยายามครุ่นคิดค้นหา พัฒนาภาษาสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ภาพยนตร์แอฟริกัน ซึ่งจะว่าไปสารพัดวิธีการดำเนินเรื่อง ดูสอดคล้องเข้าความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ในการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุดของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 มีผลงานของผกก. Hondo ติดอันดับถึงสองเรื่อง ประกอบด้วย

  • Soleil Ô (1970) ติดอันดับ 243 (ร่วม)
  • West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) ติดอันดับ 179 (ร่วม)

นี่การันตีถึงอิทธิพล ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ชมทั่วโลก แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า Soleil Ô (1970) มีความยากในการรับชมระดับสูงสุด (Veteran) ถ้าครึ่งชั่วโมงแรกคุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจอะไร ก็อย่าเพิ่งเร่งรีบร้อน รอสะสมประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก

Soleil Ô แปลว่า Oh, Sun นำเรื่องราวจากประสบการณ์ตรง กึ่งๆอัตชีวประวัติของผกก. Hondo ตั้งแต่มาถึงฝรั่งเศส พบเห็นความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนผู้อพยพชาวแอฟริกัน เดินทางมาไล่ล่าความฝัน แต่กลับถูกพวกคนขาวกดขี่ข่มเหงสารพัด ไร้งาน ไร้เงิน แล้วจะชวนเชื่อให้พวกฉันมายังสรวงสวรรค์ขุมนรกแห่งนี้ทำไมกัน??

เกร็ด: Soleil Ô คือชื่อบทเพลงของชาว West Africa (หรือ West Indian) รำพันความทุกข์ทรมานจากการถูกจับ พาตัวขึ้นเรือ ออกเดินทางจาก Dahomey (ปัจจุบันคือประเทศ Benin) มุ่งสู่หมู่เกาะ Caribbean เพื่อขายต่อให้เป็นทาส


นำแสดงโดย Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélemy, French West Indies (หมู่เกาะในทะเล Caribbean ที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) โตขึ้นอพยพย้ายสู่กรุง Paris ทำงานตัวประกอบละคอนเวที/ภาพยนตร์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 ร่วมก่อตั้งคณะการแสดง Compagnie des Griots (ถือเป็นคณะของชาวแอฟริกันกลุ่มแรกในฝรั่งเศส) จนกระทั่งควบรวมกับคณะของ Med Hondo เมื่อปี ค.ศ. 1972 เปลี่ยนชื่อเป็น Griot-Shango Company

รับบทชาวชาว Mauritanian หลังเข้าพิธีศีลจุ่ม เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่พอมาถึงกลับไม่สามารถหางานทำ แถมยังถูกพวกคนขาวมองด้วยสายตาดูถูก แสดงความหมิ่นแคลน ใช้คำพูดเหยียดหยาม (Racism) เลวร้ายสุดคือโดนล่อหลอกโดยหญิงผิวขาว ครุ่นคิดว่าคนดำมีขนาดยาวใหญ่ สามารถเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’ พอเสร็จสรรพก็แยกทางไป นั่นคือฟางสุดท้าย แทบอยากระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง

เกร็ด: ทุกตัวละครในหนังจะไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม เพียงคำเรียกขานอย่าง Visitor, Afro Girl, White Girl ฯ เพื่อเป็นการเหมารวม ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล

บทบาทของ Liensol ก็คือตัวตายตัวแทนผกก. Hondo เหมารวมผู้อพยพชาวแอฟริกัน เริ่มต้นเดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มหฤทัย เอ่อล้นด้วยพลังใจ คาดหวังจะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่หลังจากอาศัยอยู่สักพัก ประสบพบเห็น เรียนรู้สภาพเป็นจริง ค่อยๆตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้หาใช่สรวงสวรรค์ ตรงกันข้ามราวกับขุมนรก แสดงสีหน้าเคร่งขรึม บึ้งตึ้ง เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด ก่อนแหกปากตะโกน กรีดร้องลั่น ไม่สามารถอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป

ในบรรดากลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritanian ตัวละครของ Liensol ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่า ร่างกายกำยำ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าหล่อเหลา กิริยาท่าทาง วางตัวเหมือนผู้มีการศึกษาสูง หลังพานผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในฝรั่งเศส บังเกิดแรงกระตุ้น ผลักดัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

ผกก. Hondo เก็บหอมรอมริดได้ประมาณ $30,000 เหรียญ เพียงพอสำหรับซื้อกล้อง 16mm ส่วนค่าจ้างนักแสดง-ทีมงาน ทั้งหมดคือผองเพื่อนคณะนักแสดง Compagnie des Griots และ La compagnie Shango มาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ (แถมยังต้องหยิบยืม ซื้อเสื้อผ้า สิ่งข้าวของเครื่องใช้ด้วยเงินส่วนตัว)

เห็นว่าทีมงานมีอยู่แค่ 5 คน ผกก. Hondo, ผู้ช่วยกำกับ Yane Barry, ตากล้อง François Catonné, ผู้ควบคุมกล้อง Denis Bertrand และผู้บันทึกเสียง (Sound Engineer) การทำงานจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ไม่เร่งรีบ ให้นักแสดงฝึกซ้อมจนเชี่ยวชำนาญ สำหรับถ่ายทำน้อยเทค (ประหยัดฟีล์ม) รวมระยะเวลาโปรดักชั่นยาวนานถึง 3 ปี

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัดในการถ่ายทำมากมาย แต่งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยลูกเล่น หลากหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ปรับเปลี่ยนภาษาภาพยนตร์ไปเรื่อยๆจนไม่สามารถคาดเดา ผู้ชมต้องคอยสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาจุดประสงค์? เคลือบแฝงนัยยะความหมายอะไร? ไม่ใช่เรื่องง่าย เต็มไปด้วยความท้าทาย


ช่วงระหว่าง Opening Credit มีการใช้อนิเมชั่นสองมิติในการเล่าประวัติ ความเป็นมาของชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาว ในตอนแรกยืนค้ำศีรษะ (การกดขี่ข่มเหงในช่วงอาณานิคม) จากนั้นเข้ามาโอบกอด พยุงขึ้นยืน มอบหมวกให้สวมใส่ จากนั้นท้าวไหล่ กลายเป็นพวกพ้องเดียวกัน … จากเสียงหัวเราะกลายเป็นกรีดร้องลั่น

การสวมหมวกสีขาวให้กับชาวผิวสี ดูไม่ต่างจากการล้างสมอง ฟอกขาว (Whitewashing) ถูกบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ตกเป็นเหยื่อพวกฝรั่งเศส ชักนำทางไปไหนก็คล้อยตามไป ค่อยๆถูกกลืนกิน จนสูญสิ้นจิตวิญญาณแอฟริกัน

พิธีศีลล้างบาป (Baptism) หรือพิธีศีลจุ่ม เป็นพิธีกรรมแรกที่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้องรับเพื่อเป็นการล้างบาปมลทิน เพราะชาวคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมา เป็นการล้างบาปกำเนิด และบาปทุกอย่างที่ติดตัวมาก่อนหน้า เพื่อให้กลับไปเป็นบุตรของพระเจ้าและสมาชิกของคริสตจักร

โดยปกติแล้วพิธีศีลจุ่ม จะแฝงนัยยะถึงการถือกำเนิด เกิดใหม่ หรือในบริบทนี้ก็คือกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กำลังจะละทอดทิ้งตัวตนแอฟริกัน ตระเตรียมอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส หรือก็คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่

แต่การอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ดินแดนที่ควรเป็นดั่งสรวงสวรรค์ แท้จริงแล้วนั้นกลับคือขุมนรก ต้องตกอยู่ในความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน เราจึงต้องมองซีเควนซ์นี้ใหม่ในทิศทางลบ ใจความประชดประชัน ต่อต้านศาสนาคริสต์ (Anti-Christ) พระเจ้าจอมปลอม (Anti-God)

ผมมองทั้งซีเควนซ์นี้คือการเล่นละคอน ที่สามารถขบครุ่นคิดตีความในเชิงสัญลักษณ์ เริ่มต้นจากกลุ่มชายฉกรรจ์แบกไม้กางเขน ก้าวเดินเข้ามาอย่างสะเปะสะปะ (สามารถสื่อถึงแอฟริกันยุคก่อนหน้าอาณานิคม) จนกระทั่งได้ยินเสียงออกคำสั่ง “French-American-English” จึงเปลี่ยนมาสวมใส่เครื่องแบบ เรียงแถว หน้าตั้ง (กลับหัวไม้กางเขน) ก้าวเดินอย่างเป็นระเบียบ (การมาถึงของพวกจักรวรรดินิยม เข้ามาควบคุม ครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น)

ผู้บังคับบัญชาผิวขาว ยืนอยู่บนแท่นทำตัวสูงส่งกว่าใคร แม้ไม่ได้พูดบอกอะไร เพียงส่งสัญญาณสายตา บรรดานายทหารจึงทำการรบพุ่ง ต่อสู้ เข่นฆ่าศัตรูให้ตกตาย แม้ทั้งหมดคือการเล่นละคอน แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อำนาจบาดใหญ่ เอาเงินมาเป็นสิ่งล่อหลอก ตอบแทน พอการแสดงจบสิ้นก็เก็บเข้ากระเป๋า … เหล่านี้คือสิ่งที่พวกฝรั่งเศสทำกับประเทศอาณานิคม เข้ามาควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น สนองความพึงพอใจ ให้ค่าตอบแทนน้อยนิด แล้วกอบโกยทุกสิ่งอย่างกลับไป

แม้ว่าตอนเข้าพิธีศีลจุ่มจะได้พบเห็นตัวละครของ Robert Liensol แต่หลังจบจากอารัมบท เรื่องราวจะโฟกัสที่ชายคนนี้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพหน้าตรง (Mug Shot) ระหว่างยืนเก๊กหล่อ แสยะยิ้มปลอมๆ โดยรอบทิศทาง … ถ้าผมจำไม่ผิด ภาพถ่ายกายวิภาคใบหน้าตัวละครลักษณะนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก Vivre sa vie (1962) ของ Jean-Luc Godard

ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศสด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย แต่หลังจากเริ่มออกหางาน กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ โดนขับไล่ ไม่ใครว่าจ้าง ภาพช็อตนี้ระหว่างเดินเลียบกำแพงสูงใหญ่ ราวกับหนทางตัน ถูกปิดกั้น มีบางสิ่งอย่างกั้นขวางระหว่างคนขาว vs. ชาวแอฟริกัน

ตลอดทั้งซีเควนซ์ระหว่างการหางานทำ สังเกตว่ามีการดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า แถมยังไร้เพลงประกอบ ซึ่งสร้างความหงุดหงิด กระวนกระวาย บรรยากาศอัดอั้น ตึงเครียด ซึ่งสอดคล้องเข้ากับความรู้สึกตัวละคร ผิดหวังอย่างรุนแรง นี่นะหรือสรวงสวรรค์ที่ฉันใฝ่ฝัน

วันหนึ่งพอกลับมาถึงห้องพัก เคาะประตูเพื่อนข้างห้อง เหมือนตั้งใจจะขอคำปรึกษาอะไรบางอย่าง แต่พอเปิดประตูเข้ามาพบเห็นสามี-ภรรยา ต่างคนต่างนั่งดูโทรทัศน์เครื่องของตนเอง ไม่ได้สนใจใยดี แถมยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ขึ้นเสียงใส่อารมณ์ กล้องส่ายไปส่ายมา ฟังอะไรไม่ได้สดับ เลยขอปิดประตูดีกว่า … นี่เป็นการสะท้อนสภาพสังคมชาวยุโรป ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้สนใจกันและกัน เหมือนมีกำแพงบางๆกีดขวางกั้น แตกต่างจากวิถีแอฟริกันที่เพื่อนบ้านต่างรับรู้จัก ชอบช่วยเหลือกันและกัน

คาดเดาไม่ยากว่า สิ่งที่ตัวละครของ Liensol ต้องการขอคำปรึกษา ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็เรื่องหางาน แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจใยดี ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง ศรัทธาสั่นคลอน ซึ่งหนังใช้การเทศนาสั่งสอนของบาทหลวงจากโทรทัศน์ (ของคู่สามี-ภรรยาที่กำลังถกเถียงกันนั้น) พูดแทนความรู้สึกตัวละครออกมา

หนังไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเลยนะ จู่ๆตัวละครของ Liensol ก็กลายเป็นนักสัมภาษณ์ พูดคุยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานแอฟริกัน ผมเลยคาดเดาว่าชายคนนี้อาจคือรัฐมนตรีแรงงาน (หรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง) ซึ่งระหว่างอธิบายแนวคิด เป้าหมายของหน่วยงานรัฐ จะมีการซูมเข้า เบลอใบหน้า ให้สอดคล้องประโยคคำพูดว่า “อีกไม่นานพวกคนดำจะกลายเป็นคนขาว” เลือนลางระหว่างสีผิว/ชาติพันธุ์

ทางกายภาพ แน่นอนว่าคนผิวดำไม่มีทางกลายเป็นผิวขาว (ถ้าไม่นับการศัลยกรรม) แต่คำพูดดังกล่าวต้องการสื่อถึงชาวแอฟริกันที่จะถูกเสี้ยมสอน ผ่านการล้างสมอง เรียนรู้จักแนวคิด ซึมซับวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา รวมถึงอุดมการณ์ชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้น บุคคลดังกล่าวย่อมกลายสภาพเป็น(หุ่นเชิดชักของ)ฝรั่งเศสโดยปริยาย

ระหว่างการสัมภาษณ์ดำเนินไป หลายครั้งจะมีแทรกภาพสำหรับขยับขยายหัวข้อการสนทนา ฉายให้เห็นว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ยกตัวอย่าง

  • ระหว่างกำลังอธิบายถึงวิธีการล้างสมองชาวแอฟริกัน ก็แทรกภาพการศึกษาในห้องเรียน กำลังเสี้ยมสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสง่ายๆ
  • พอเล่าถึงชาวแอฟริกันที่อพยพเข้ามาในฝรั่งเศสมากขึ้น ก็ปรากฎภาพบรรดาชายฉกรรจ์ยืนเรียงรายหลายสิบคน เพื่อจะสื่อว่าพวกนี้แหละที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน
  • ระหว่างให้คำแนะนำว่าชาวแอฟริกันควรได้รับการตรวจสอบ คัดเลือก ว่าจ้างงานก่อนเดินทางสู่ฝรั่งเศส ฉายให้เห็นภาพความพยายาม(ของตัวละครของ Liensol)มาตายเอาดาบหน้า เลยไม่สามารถหางานทำได้สักที!
  • และเมื่อพูดถึงวิวัฒนาการที่ไม่สามารถหยุดยับยั้ง ยังไงชาวแอฟริกันย่อมแห่กันอพยพเข้าสู่ฝรั่งเศส แทรกภาพตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาต่อรอง ขอจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้หยุดยั้งการชุมนุมประท้วง แต่กลับถูกโต้ตอบกลับว่ามันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อบทสัมภาษณ์กล่าวถึง ‘Black Invasion’ จะมีการร้อยเรียงภาพบรรดาผู้อพยพชาวแอฟริกัน แทรกซึมไปยังสถานที่ต่างๆทุกแห่งหนในฝรั่งเศส คลอประกอบบทเพลงชื่อ Apollo เนื้อคำร้องเกี่ยวกับยานอวกาศอพอลโล่ที่ถูกส่งไปสำรวจ/ยึดครองดวงจันทร์ (=ชาวแอฟริกันเข้ายึดครองฝรั่งเศส)

  • ชายคนหนึ่งพบเห็นเล่น Pinball นี่ถือเป็นการเคารพคารวะ French New Wave และแฝงนัยยะสะท้อนถึงผู้อพยพชาวแอฟริกันในฝรั่งเศส ดำเนินชีวิตไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้เป้าหมาย เพียงเอาตัวรอดไปวันๆ
  • ระหว่างร้อยเรียงภาพบนท้องถนน มีกลุ่มชายฉกรรจ์จับจ้องมองเครื่องประดับ สร้อยคอหรูหรา ทำราวกับว่ากำลังตระเตรียมวางแผนโจรกรรม (คล้ายๆแบบพวกจักรวรรดินิยมที่เข้าไปกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอาณานิคม)
  • และอีกกลุ่มชายฉกรรจ์ ทำเหมือนบุกรุกเข้าไปยังคฤหาสถ์หรูหลังหนึ่ง (นี่ก็สอดคล้องเข้ากับแนวคิด ‘black invasion’ ตรงๆเลยนะ)

พ่อ-แม่ต่างผิวขาว แต่กลับมีบุตรผิวสี? หลายคนอาจครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงคบชู้นอกใจ สงสัยแอบร่วมเพศสัมพันธ์กับชาวแอฟริกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนะครับ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้อยู่ … แต่นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นอาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจ

ยีนที่ควบคุมลักษณะผิวขาวเป็นแอลลีลด้อย (Recessive Allele) ส่วนยีนที่ควบคุมผิวดำเป็นแอลลีลเด่น (Dominant Allele) หมายความว่า ผิวขาวจะปรากฏออกมาได้ก็ต่อเมื่อแอลลีลด้อยจากทั้งฝ่ายบิดาและมารดาจับคู่กันหรือเป็นพันธุ์แท้ (Homozygous), ขณะที่ผิวดำปรากฏได้ทั้งในกรณีที่แอลลีลเด่นจับคู่กัน และแอลลีลเด่นจับคู่กับแอลลีลด้อยหรือพันธุ์ทาง (Heterozygous) หากเป็นการข่มสมบูรณ์ (Complete Dominance) ทว่ายีนที่ควบคุมลักษณะทางสีผิวยังมีการข่มไม่สมบูรณ์ (Incomplete dominance) ซึ่งทำให้มีการแสดงลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ส่งผลให้มนุษย์มีสีผิวเข้ม-อ่อน แตกต่างกันไป

จริงอยู่ว่าชายชาวแอฟริกันมักมีอวัยวะเพศ(โดยเฉลี่ย)ขนาดใหญ่ยาวกว่าคนปกติ แต่มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีลีลารสรักอันโดดเด่น ความสนใจใน “Sexual Fantasy” ของหญิงชาวฝรั่งเศสคนนี้มีคำเรียกว่า “Sexual Objectification” มองชายชาวแอฟริกันไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ พึ่งใจส่วนบุคคล

แซว: ผมว่าคนไทยน่าจะสังเกตได้ว่ารูปภาพด้านหลัง มันคือลวดลายไทย หาใช่ศิลปะแอฟริกัน ส่วนลำตัวสีดำเกิดจากการถูหิน (Stone Rubbing)

ชาวแอฟริกันชื่นชอบการร้องรำทำเพลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ระหว่างเฮฮาสังสรรค์ สังเกตว่าชายคนนี้ทำการแยกเขี้ยวเหมือนแวมไพร์ดูดเลือด ชวนให้นึกถึงพวกลัทธิอาณานิคม ที่สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ดูดเลือดดูดเนื้อชาวแอฟริกัน ไม่แตกต่างกัน!

ปล. แทบทุกบทเพลงในหนังจะมีการขึ้นคำแปลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อคำร้อง มีความสอดคล้องเรื่องราว/ตัวละครขณะนั้นๆ แต่จะมีบทเพลงหนึ่งที่ชายผิวสีบรรเลงพร้อมกีตาร์เบาๆ อาจไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสเลยไม่มีคำแปล แต่ผมพยายามเงี่ยหูฟัง เหมือนจะได้ยินคำร้อง Soleil Ô อาจจะแค่หูแว่วกระมัง … ชื่อหนังมาจากบทเพลงนี้ มันคงแปลกถ้าไม่มีการแทรกใส่เข้ามา

ภายหลังการสังสรรค์ปาร์ตี้ ตัวละครของ Liensol ในสภาพมึนเมา กลับมาถึงห้องทิ้งตัวลงนอน กลิ้งไปกลิ้งมา จากนั้นแทรกภาพความฝัน อันประกอบด้วย …

ในห้องเรียนที่เคยเสี้ยมสอนภาษาฝรั่งเศสวันละคำ คราวนี้อาจารย์นำรูปปั้นคนขาวมาตั้งวางเบื้องหน้านักเรียนผิวสี จากนั้นเหมือนพยายามทำการสะกดจิต ล้างสมอง ปลูกฝังแนวคิดโน่นนี่นั่น เพื่อให้พวกเขาทอดทิ้งจิตวิญญาณชาวแอฟริกัน แล้วเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็นคนขาว … กระมังนะ

ความฝันถัดมา ตามความเข้าใจของผมก็คือ หนึ่งในชายฉกรรจ์ได้รับเลือกตั้’เป็นประธานาธิบดี Mauritania แต่แท้จริงแล้วก็แค่หุ่นเชิดฝรั่งเศส บอกว่าจะรับฟังคำแนะนำรัฐบาล(ฝรั่งเศส) รวมถึงนำเอาแผนการ ข้อกฎหมายที่ได้รับไปประกาศใช้ ไม่ได้มีความสนใจใยดีประชาชนในชาติแม้แต่น้อย … พอได้ยินสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยพลัน!

แต่ถึงแม้สะดุ้งตื่นขึ้น หนังยังคงแทรกภาพความฝันถัดๆมา ราวกับว่ามันคือภาพติดตราฝังใจ ยังคงจดจำได้ไม่รู้ลืม

  • อนิเมชั่นแผนที่ทวีปแอฟริกา ทำสัญลักษณ์การอพยพย้ายถิ่นฐานจากทางตอนใต้ขึ้นเบื้องบน
  • กล้องเคลื่อนลงจากรูปปั้นสีขาว จากนั้นชายชาวฝรั่งเศส(ที่กำลังจูงสุนัข)กล่าวถ้อยคำ “You are branded by Western civilization. You think white.”
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง (น่าจะสื่อถือความเป็นแอฟริกันที่พังทลาย) ร่างกายแปะติดด้วยธนบัตร ล้อกับคำกล่าวของชายฝรั่งเศสก่อนหน้า คุณได้ถูกตีตราจากอารยธรรมตะวันตก
  • ระหว่างวิ่งเล่นกับสุนัข ตัวละครของ Liensol กำหมัด ยกมือขึ้น เป็นสัญญาณให้กระโดด นี่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับชาวแอฟริกันที่ถูกล้างสมอง (ให้กลายเป็นคนขาว) เชื่องเหมือนสุนัข พร้อมปฏิบัติทำตามคำสั่ง
    • แม้เป็นสุนัขคนละตัวกับของชายชาวฝรั่งเศส แต่ถือว่าแฝงนัยยะเดียวกัน

พอฟื้นคืนสติขึ้นมา ตัวละครของ Liensol ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง จัดการเขวี้ยงขว้างสิ่งข้าวของในห้องพัก พยายามระบายอารมณ์อัดอั้น พอสามารถสงบสติอารมณ์ ก้าวออกเดินอย่างเร่งรีบ เลียบทางรถไฟ มาถึงยังบริเวณชานเมืองที่ยังเป็นผืนป่า พบเจอสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชักชวนมาร่วมรับประทานอาหารกับบุตรชาย

หลายคนอาจรู้สึกว่าซีเควนซ์นี้ดูผิดที่ผิดทาง แต่นั่นคือความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการนำเสนอความผิดที่ผิดทางของชาวแอฟริกันที่อพยพย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ผืนแผ่นดิน/บ้านเกินของตนเอง เลยถูกเด็กๆกลั่นแกล้งสารพัด (มองเผินๆเหมือนการเล่นสนุกสนานของเด็กๆ แต่เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงพฤติกรรมหมิ่นแคลน ดูถูกเหยียดหยามของชาวฝรั่งเศส) ท้ายสุดเลยไม่สามารถอดรนทน ก้าวออกวิ่งหนีอีกครั้ง … กล่าวคือเป็นซีเควนซ์ที่ทำการสรุปโดยย่อเรื่องราวทั้งหมดของหนัง (ในเชิงจุลภาค)

ผมตั้งชื่อซีเควนซ์นี้ว่า ป่าแห่งการกรีดร้อง (Forest of Scream) เมื่อตัวละครของ Liensol วิ่งเข้ามาในผืนป่าแห่งนี้ ราวกับหูแว่ว ได้ยินเสียง(กรีดร้อง)ดังกึกก้องจากทั่วทุกสารทิศ ไม่นานนักเขาก็ส่งเสียงโต้ตอบ ระบายความอัดอั้นที่อยู่ภายในออกมา

และเมื่อมาทรุดนั่งยังโขดหิน/ขอนไม้ใหญ่ ดูราวกับรากฐานชาวแอฟริกัน แต่ละกิ่งก้านมีรูปภาพวาดนักปฏิบัติ (ที่เหมือนจะถูกลอบสังหาร) ซึ่งระหว่างกล้องถ่ายให้เห็นใบหน้าบุคคลสำคัญเหล่านั้น บางครั้งซ้อนภาพเปลวไปกำลังเผาไหม้ และบางครั้งแทรกภาพถ่ายแบบชัดๆ ผมพอดูออกแค่ Patrice Lumumba (Congo) และ Mehdi Ben Barka (Morroco) … นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลากหลายประเทศในแอฟริกัน ต่างประสบปัญหา(การเมือง)คล้ายๆกัน เก็บกดอารมณ์อัดอั้น อยากจะกรีดร้องลั่น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสมอภาค และภารดรภาพ ปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคมอย่างแท้จริง

ตัดต่อโดย Michèle Masnier, Clément Menuet

หนังนำเสนอเรื่องราวกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania (ประมาณ 9-10 คน) หลังเข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม อพยพเดินทางสู่ฝรั่งเศส แต่โดยส่วนใหญ่เล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครของ Robert Liensol (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นด้วยด้วยรอยยิ้ม ความคาดหวัง ก่อนค่อยๆตระหนักถึงสภาพเป็นจริง เลยตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง

  • อารัมบท
    • Opening Credit ทำออกมาในลักษณะอนิเมชั่นสองมิติ เล่าอธิบายปรัมปรา ต้นกำเนิดชาวแอฟริกา
    • ชายฉกรรจ์ชาว Mauritania เข้าร่วมพิธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์
    • ชายฉกรรจ์ทำการแสดงละคอน ต่อสู้ด้วยไม้กางเขน
  • เดินทางสู่ฝรั่งเศส
    • ตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส
    • พยายามมองหางานทำ แต่ไปที่ไหนกลับไม่ใครยินยอมรับเข้าทำงาน
    • พบเห็นเพื่อนข้างห้องต่างคนต่างดูโทรทัศน์ แล้วเกิดการโต้ถกเถียงอย่างรุนแรง
    • มีการพูดคุยสัมภาษณ์ถึงแรงงานแอฟริกัน
      • ตัดสลับกับห้องเรียนสอนคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
      • ตัวละครของ Liensol ไม่สามารถหางานทำได้สักที ถึงขีดสุดแห่งความสิ้นหวัง
      • พบเห็นตัวละครของ Liensol ทำงานในสหภาพแรงงาน พบเห็นชายคนหนึ่งต้องการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการยุติชุมนุมประท้วง
  • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania กับความฝันที่พังทลาย
    • ร้อยเรียงภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ที่ต่างตกงาน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้แก่นสาน
    • ตัวละครของ Liensol รวมกลุ่มชายกรรจ์ชาว Mauritania เพื่อพูดคุย หาข้อเรียกร้องต่อทางการ
    • ร้อยเรียงสารพัดอคติ (Racism) ของชาวฝรั่งเศส ต่อพวกแอฟริกัน
    • หญิงผิวขาวชาวแอฟริกัน ทำการเกี้ยวพาราสีตัวละครของ Liensol ร่วมรักหลับนอน เพื่อเติมเต็ม ‘Sexual Fantasy’
    • กลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ระหว่างนั่งดื่มในบาร์ ร่วมกันร้องทำเพลง Soleil Ô
  • ระบายอารมณ์เกรี้ยวกราด
    • ค่ำคืนนั้นกลับมายังห้องพัก ตัวละครของ Liensol นอนหลับฝัน
      • คาบเรียนที่อาจารย์คนขาว พยายามล้างสมองชาวแอฟริกัน
      • หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์ชาว Mauritania ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าว
      • ภาพกราฟฟิกการอพยพของชาวแอฟริกัน
      • ราวกับเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ในเศษซากปรักหักพัง ร่างกายถูกแปะด้วยเงิน
      • วิ่งเล่นกับสุนัข สั่งให้มันนั่งลง
    • เมื่อตื่นขึ้นมา ระบายอารมณ์อัดอั้น ทำลายสิ่งข้าวของในห้อง
    • ก้าวออกเดิน ไปถึงยังผืนป่า ได้รับชักชวนจากชาวบ้าน รับประทานอาหารกับครอบครัว
    • วิ่งกลับเข้าป่าอีกครั้ง ตะโกนโหวกเหวก กรีดร้องลั่น ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง

วิธีการดำเนินเรื่องที่ผันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เอาจริงๆไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ (ยกตัวอย่าง Citizen Kane (1941) ก็มีทั้ง Newsreel, บทสัมภาษณ์นักข่าว, หวนระลึกความทรงจำ ฯ) แค่ว่ามันไม่มากมายแทบจะทุกซีเควนซ์เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างความท้าทายในการรับชมอย่างมากๆ แต่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการกระทำ ย่อมตระหนักถึงอัจฉริยภาพของผกก. Hondo สมฉายา “Founding Father of African Cinema” สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนชาวแอฟริกัน


สำหรับเพลงประกอบก็เต็มไปด้วยความหลากหลายเช่นเดียวกับวิธีการดำเนินเรื่อง อาทิ เพลงพื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคำร้องฝรั่งเศส, บรรเลงกีตาร์ Folk Song ฯ ทั้งหมดเรียบเรียงโดย George Anderson ศิลปินสัญชาติ Cameroonian และเนื้อร้องมักมีความสอดคล้องเรื่องราว หรือเคลือบแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง

น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดเพลงประกอบไม่ค่อยจะได้ ค้นพบเพียง Apollo บทเพลงเกี่ยวกับยานอวกาศที่ส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ จุดประสงค์เพื่อทำการยึดครอบครอง ‘Colonization’ ร้อยเรียงเข้ากับภาพชาวแอฟริกันเดินทางไปยังสถานที่สำคัญๆในฝรั่งเศส ดูเหมือนการบุกรุกราน ‘Black Invasion’ … เราสามารถเปรียบเทียบเนื้อคำร้อง มนุษย์ส่งยานอวกาศไปยึดครองดวงจันทร์ = ชาวแอฟริกันอพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส

Some men went
Apollo, to the Moon to look for summer
Apollo, they challenged the cosmos
Apollo, they sang without echo
Apollo, leaving the Earth and its misery

I don’t know why
Apollo, they went round in circles
Apollo, did they want to discover
Apollo, diamonds or sapphires?
Apollo, leaving the Earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

They left without passports
Apollo, for the unknown, the infinite
Apollo, they could not resist
Apollo, within our limited frontiers
Apollo, leaving the earth and its misery

But the wars continue
Apollo, on the earth between tribes
Apollo, and hunger already has a hold
Apollo, in towns far and wide
Apollo, on this earth and its misery

Love is there, open-armed
Why leave if you can’t cure it?
Towards the immensity that dazzles us
Day and night
We are all crazy
We are all crazy
We are all crazy

ไม่ใช่แค่บทเพลงที่โดดเด่น แต่หลายๆครั้งความเงียบงัน รวมถึงการใช้เสียงประกอบ (Sound Effect) ก็แฝงนัยยะอย่างลุ่มลึกล้ำ ยกตัวอย่าง

  • เมื่อตัวละครของ Liensol เดินทางมาถึงฝรั่งเศส พยายามออกหางานทำ ช่วงนี้แทบจะไม่มีเพลงประกอบ สถานที่แห่งนี้มีเพียงความเงียบงัน สร้างบรรยากาศตึงเครียด กดดัน หาใช่สรวงสวรรค์ดั่งที่ใครต่อใครว่ากล่าวไว้
  • สามี-ภรรยา จากขึ้นเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง ค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นกรีดร้อง ฟังไม่ได้สดับ ตามด้วยเสียงเทศนาของบาทหลวงในโทรทัศน์ สามารถสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจตัวละคร
  • ระหว่างที่หญิงชาวฝรั่งเศสทำการเกี้ยวพาราสี ล่อหลอกให้ตัวละครของ Liensol ตกหลุมรัก ผู้ชมจะได้ยินเสียงสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ เรียกร้องหาคู่ผสมพันธุ์
  • หลังถูกหญิงชาวฝรั่งเศสหลอกให้รัก ซีนถัดมาตัวละครของ Liensol ระหว่างยืนรอรถไฟ เสียงเครื่องยนต์ช่างบาดหู เจ็บปวดใจยิ่งนัก!
  • ตัวละครของ Liensol นั่งอยู่ท่ามกลางเศษซากปรักหักพัง แต่ได้ยินผู้คนกรีดร้อง ตะโกนโหวกเหวก เสียงปืน ระเบิด ตึกรามบ้านช่องถล่มทลาย
  • ช่วงท้ายระหว่างออกวิ่งเข้าไปในป่า (Forest of Scream) ได้ยินเสียงกรีดร้องดังมาโดยรอบ จนตนเองต้องเลียนแบบตาม

ตั้งแต่โบราณกาล ชาวแอฟริกันให้ความเคารพนับถือสุริยเทพ หรือเทพแห่งพระอาทิตย์ เชื่อว่าอวตารลงมาเป็นผู้นำชนเผ่าปกครองชาวแอฟริกัน จนกระทั่งการมาถึงของพวกคนขาวในช่วงศตวรรษ 16-17 ทำการยึดครอบครอง แล้วทำการ ‘Colonization’ พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปลูกฝังแนวคิด สร้างค่านิยมชวนเชื่อ บีบบังคับให้ล้มเลิกนับถือเทพเจ้า เข้าพีธีศีลจุ่ม ถือกำเนิดใหม่ในศาสนาคริสต์ แต่งตั้งตนเองให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่

ผมมองความตั้งใจของผกก. Hondo ต้องการเปรียบเทียบฝรั่งเศส = สุริยเทพองค์ใหม่ ที่แม้ชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Neo-Colonialism ไม่ใช่การเข้าไปยึดครองพื้นที่ชาวพื้นเมือง ปรับเปลี่ยนมาแทรกแซงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เข้าไปลงทุนค้าขายในรูปแบบบริษัทข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้ได้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก

หนึ่งในนั้นคือการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งโอกาส สถานที่สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 60s มีชาวแอฟริกันจำนวนมหาศาลตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐาน ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทำทุกวิถีทางเพื่อข้ามน้ำข้ามทะเล เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

แต่พอมาถึงดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ แทบทั้งนั้นจะค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้แม้งไม่มีอะไรเหมือนดั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ ไร้งาน ไร้เงิน แถมยังถูกชาวฝรั่งเศสมองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม (Racism) พยายามขับไล่ ผลักไส อยากจะเดินทางกลับบ้านเกิดแต่ไม่รู้ทำยังไง จำต้องอดกลั้นฝืนทน รวมกลุ่มกันลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และภารดรภาพ

แซว: Soleil Ô (1970) ราวกับภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน อธิบายความพยายามชวนเชื่อ สร้างภาพให้ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้น … ไม่ต่างจากขุมนรกบนดินสำหรับชาวแอฟริกัน!

สำหรับผกก. Hondo ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะกึ่งๆอัตชีวประวัติ เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ลุ่มหลงคำชวนเชื่อ อพยพย้ายถิ่นฐานสู่ฝรั่งเศส โชคยังดีพอหาทำงาน สะสมเงินทอง เก็บหอมรอมริด สรรค์สร้าง Soleil Ô (1970) เพื่อเป็นบทเรียน/คำตักเตือนแก่ชาวแอฟริกันที่ครุ่นคิดจะเดินทางมาแสวงโชค รวมถึงพยายามให้คำแนะแนวทางว่าควรหางานให้ได้ก่อนย้ายมา (ผ่านพวกบริษัทจัดหาแรงงาน) อย่าคาดหวังมาตายเอาดาบหน้า เพราะอาจจะได้ดับดิ้นสิ้นชีวินเข้าจริงๆ


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในสาย International Critics’ Week เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม เลยมีโอกาสเดินทางไปฉายยังประเทศต่างๆมากมาย รวมถึง Quintette Theater ณ กรุง Paris ยาวนานถึงสามเดือนเต็ม! ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ผกก. Hondo มีโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆไป

Soleil Ô (1970) คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ได้รับการบูรณะในโครงการ African Film Heritage Project ริเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 โดย The Film Foundation (ของผกก. Martin Scorsese) ร่วมกับ Pan African Federation of Filmmakers และองค์การ UNESCO เพื่อซ่อมแซมฟีล์มหนังเก่าจากทวีปแอฟริกันสู่สายตาชาวโลก

ฟีล์มต้นฉบับ 16 mm ของหนังมีความเสียหายหนักมากๆ จนต้องนำเอาฟีล์มออกฉาย 35mm มาแปะติดปะต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วทำการบูรณะ 4K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Hondo สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Criterion รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese’s World Cinema Project No. 3 ประกอบด้วย Dos monjes (1934), Soleil Ô (1970) และ Downpour (1972)

ระหว่างรับชม ผมมีความก้ำๆกึ่งๆว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ฉงนสงสัยว่าจะทำออกมาให้สลับซับซ้อน ท้าทายผู้ชมไปถึงไหน จนกระทั่งซีเควนซ์ที่ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) นั่นสร้างความสยดสยอง ขนลุกขนพอง แผดเผาทรวงใน เข้าใจอารมณ์เกรี้ยวกราดของชาวแอฟริกัน อยากแหกปากกรีดร้องลั่น ไม่ต่างจากตอนจบของหนัง

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศเหนือจริง (Surrealism) คำอธิบายแนวคิดจักรวรรดินิยม (Colonialism) สารพัดการดูถูกเหยียดหยาม (Racism) ชายชาวแอฟริกันตกเป็นเหยื่อวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification)

คำโปรย | Soleil Ô แปะติดปะต่อวิธีการดำเนินเรื่องอันหลากหลาย สไตล์ผู้กำกับ Med Hondo เมื่อฝรั่งเศสกลายเป็นสุริยันดวงใหม่ แต่กลับแผดเผา มอดไหม้ทรวงในชาวแอฟริกัน
คุณภาพ | โอ้ สุริยั
ส่วนตัว | แผดเผาทรวงใน

Valerie a týden divů (1970)


Valerie and Her Week of Wonders

Valerie and Her Week of Wonders (1970) Czech : Jaromil Jireš ♥♥♥♥♡

Valerie เด็กสาวอายุ 13 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีประจำเดือน เกิดความระริกระรี้ สนอกสนใจเรื่องเพศ แต่กลับได้พบเห็นสิ่งชั่วร้ายมากมาย แวมไพร์ดูดเลือด บาทหลวงหื่นกาม เอาตัวรอดจากการถูกล่าแม่มด ฯลฯ ช่างเป็นสุดสัปดาห์เหนือจริง (Surreal) ความฝันที่น่าหวาดสะพรึงกลัวยิ่งนัก

A visual rondo of free-floating symbols, shape-shifting vampires and erotic high jinks, set in the fertile imagination of a newly nubile teenager, Jaromil Jires’s phantasmagoric Valerie and Her Week of Wonders (1970) may be the most exotic flower to bloom on the grave of the Prague Spring, but it’s one with deep roots in 20th-century Czech culture.

นักวิจารณ์ J. Hoberman จากนิตยสาร The New York Times

ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดยผู้กำกับหญิง ผมเชื่อว่าต้องได้รับการโหวตจากนิตยสาร Sight & Sound ติดอันดับ The Greatest Film of All-Time และ(อันดับ)อาจสูงกว่า Daisies (1966) ด้วยซ้ำไป! แต่เพราะ Valerie and Her Week of Wonders (1970) สร้างโดยผู้กำกับชาย นำเสนอช่วงเวลา ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาวอายุ 13 ปี ผู้ชมสมัยนี้บางคนอาจส่ายศีรษะ เบือนหน้าหนีโดยพลัน

Valerie and Her Week of Wonders (1970) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายแห่งยุคสมัย Czechoslovak New Wave เพราะบทหนังได้รับการอนุมัติระหว่าง Prague Spring ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะบุกรุกราน เข้ามายึดอำนาจในกลุ่มประเทศ Warsaw Pact จากนั้นก่อตั้งกองเซนเซอร์เพื่อควบคุมครอบงำ ตรวจสอบภาพยนตร์ไม่ให้มีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อพรรคคอมมิวนิสต์ (และสหภาพโซเวียต) นั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัยเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่าเนื้อสาระเกี่ยวกับ ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาวอายุ 13 ปี สามารถสื่อถึง ‘Political Awakening’ (หรือ ‘Political Woke’) การตื่นรู้ทางการเมือง หรือก็คือการมาถึงของ Prague Spring (5 มกราคม – 21 สิงหาคม ค.ศ. 1968) ช่วงเวลาสั้นๆที่ได้การเปิดเสรีทางการเมืองในประเทศ Czechoslovak

รับชม Valerie and Her Week of Wonders (1970) ทำให้ผมนึกถึงโคตรหนังอาร์ทญี่ปุ่น House (1977) จริงๆมันก็ไม่ได้ละม้ายคล้ายกันเท่าไหร่หรอก แต่การที่ตัวละครไม่ยี่หร่าต่อสิ่งชั่วร้ายรอบข้าง ล่องลอยราวกับอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน มันช่างโลกสวย เหนือจริง (Surreal) เต็มไปด้วยเรื่องราวสุดมหัศจรรย์! … ไว้ปีหน้าว่าจะกลับไปเขียนถึง J-Horror อีกสักรอบนะครับ


Jaromil Jireš (1935-2001) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Slovak เกิดที่ Bratislava, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Slovakia) ก่อนย้ายมาปักหลักอาศัยกับมารดาที่ Prague, ร่ำเรียนการถ่ายภาพและกำกับภาพยนตร์ยัง Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU) เริ่มจากถ่ายทำสารคดีสั้น Fever (1959), หนังสั้น Uncle (1959), Footprints (1960), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Cry (1964) ถูกเลือกให้เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัย Czechoslovak New Wave [เพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกถ่ายทำในสตูดิโอ Barrandov Studios]

เกร็ด: Czechoslovak New Wave แม้คือการรวมกลุ่มของผู้สร้างภาพยนตร์หัวขบถคล้ายๆแบบ French New Wave แต่ถ้าลงในรายละเอียดจะพบความแตกต่างอยู่มาก นั่นเพราะอิทธิพลรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่คอยควบคุม ครอบงำ เข้ามาแทรกแซงบ่อยครั้ง ไร้อิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานอย่างประเทศฟากฝั่งประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จุดโด่นเด่นของ Czechoslovak New Wave มักมีลักษณะตลกร้าย (Dark Humor) บรรยากาศเหนือจริง (Surrealist) เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ซุกซ่อนเร้น ผู้กำกับส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาจาก FAMU และทำงานกับสตูดิโอ Barrandov Studios

ผลงานเด่นๆของกลุ่มเคลื่อนไหว Czechoslovak New Wave ประกอบด้วย Diamonds of the Night (1964), Loves of a Blonde (1965), Intimate Lighting (1965), The Shop On Main Street (1965), Daisies (1966), Closely Watched Trains (1966), The Firemen’s Ball (1967), The Cremator (1969) และ Valerie and Her Week of Wonders (1970)

สำหรับภาพยนตร์ลำดับที่สองของผกก. Jireš คือ The Joke (1969) สร้างขึ้นระหว่าง Prague Spring จัดเต็มการเสียดสีล้อเลียน วิพากย์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์ โชคร้ายออกฉายภายหลังสหภาพโซเวียตบุกรุกรานกลุ่มประเทศ Warsaw Pact เข้าโรงได้ไม่กี่วันก็ถูกแบน เก็บเข้ากรุนานกว่า 20 ปี (ได้ออกฉายอีกครั้งก็เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย)


Valerie a týden divů (เขียนเสร็จเมื่อปี 1935 แต่ได้ตีพิมพ์ ค.ศ. 1945) แปลว่า Valerie and Her Week of Wonders นวนิยายแนว Surrealist แต่งโดย Vítězslav Nezval (1900-58) นักกวี นักเขียนแนว Avant-Garde สมาชิกกลุ่ม Devetsil (แปลว่า Nine Forces) และร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Surrealist ในประเทศ Czechoslovakia (เป็นกลุ่ม Surrealist แรกนอกประเทศฝรั่งเศส)

นวนิยายเรื่องนี้ของ Nezval ได้ทำการสำรวจแนวคิด Gothic fiction หรือ Gothic Horror งานเขียนมุ่งเน้นสร้างความหวาดกลัว อ่านแล้วรู้สึกขนหัวลุก และมักมีพื้นหลังยุโรปยุคกลาง (Middle Ages หรือ Medieval period) ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย The Monk (1796), Frankenstein (1818), รวมถึงภาพยนตร์ Nosferatu (1922) [ซึ่งก็ดัดแปลงจากนวนิยาย Dracula (1897)]

I wrote this novel out of a love of the mystique in those ancient tales, superstitions and romances, printed in Gothic script, which used to flit before my eyes and declined to convey to me their content. It strikes me that the poetic art is no more and no less than the repayment of old debts to life and to the mystery of life. Not wishing to lead anyone astray by my “Gothic novel” (least of all those who are afraid to look beyond the boundaries of “the present”), I am appealing to those who, like myself, gladly pause at times over the secrets of certain old courtyards, vaults, summer houses and those mental loops which gyrate around the mysterious. If, with this book, I will have given them an evocation of the rare and tenuous sensations which compelled me to write a story that borders on the ridiculous and trite, I shall be satisfied.

คำปรารถในหนังสือ Valerie and Her Week of Wonders โดย Vítězslav Nezval

ปล. นักวิจารณ์หลายๆสำนัก ให้ข้อสังเกตเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับ Valerie มีความละม้ายคล้าย Alice in Wonderland

ดั้งเดิมนั้น Valerie and Her Week of Wonders ดัดแปลงบทโดย Ester Krumbachová (1923-96) ให้กับสามีขณะนั้น ผกก. Jan Němec โปรเจคได้รับการอนุมัติปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1968 แต่หลังจากสหภาพโซเวียตบุกรุกรานสู่กลุ่มประเทศ Warsaw Pact ช่วงกลางเดือนสิงหาคม Němec ลักลอบแอบบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว แล้วขนฟุตเทจไปต่างประเทศ ตัดต่อสารคดี Oratorio for Prague (1968) สร้างความไม่พึงพอใจแก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ เลยถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ปฏิเสธกลับมารับโทษทัณฑ์ เลยจำต้องอพยพหลบลี้ภัย หมดสิทธิ์สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ทันใด!

เอาจริงๆ Jireš ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน เพราะเพิ่งจัดหนักกับ The Joke (1969) เลยถูกหมายหัวจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่เพราะเขาไม่ได้หลบหนีออกนอกประเทศ จึงยังได้รับโอกาสสานต่อโปรเจค Valerie and Her Week of Wonders โดยสิ่งหลักๆที่ทำการปรับเปลี่ยนจากต้นฉบับนวนิยาย อาทิ ลดอายุของ Valerie จากเดิม 17 ปี เหลือเพียง 13 ปี แล้วให้เรื่องราวเริ่มต้นจากการมีประจำเดือนครั้งแรก และสร้างความคลุมเคลือให้เรื่องราวทั้งหมด ว่าบังเกิดขึ้นจริง หรือแค่เพียงภายในจินตนาการเพ้อฝัน


Valerie (รับบทโดย Jaroslava Schallerová) เด็กสาวอายุ 13 ปี อาศัยอยู่กับย่ายังสวย Elsa เมื่อค่ำคืนก่อนถูกโจรบุกเข้ามาลักขโมยต่างหู แต่วันถัดมาก็ได้รับกลับคืน ค้นพบว่าชายหนุ่มคนนั้นคือ Orlík (บางซับไตเติ้ลแปลว่า Eaglet) มีผ้าคลุมล่องหน กำลังหลบซ่อนตัวจากบิดา Constable/Richard ชายสูงวัยสวมหน้ากากปกปิดใบหน้าสุดอัปลักษณ์ อดีตคนรักของย่า Elsa เดินทางมาเรียกร้องทวงคืนกรรมสิทธิ์บ้านหลังนี้ของตนเอง

แท้จริงแล้ว Constable/Richard คือผู้เปลี่ยนรูปร่าง (Shapeshifter) ดั้งเดิมเป็น Polecat ล่วงรู้วิธีการเป็นอมตะด้วยการดื่มเลือดเด็กสาวบริสุทธิ์ ทำการโน้มน้าวอดีตคนรัก Elsa ให้ยินยอมมอบ Valerie ซึ่งก็คือบุตรสาวแท้ๆของตนเอง แต่หลายครั้งถูกขัดขวางโดย Orlík (มีศักดิ์เป็นพี่ชายแท้ๆของ Valerie) จนเกิดเรื่องวุ่นๆวายๆ … มันช่างเป็นเหตุการณ์สัปดล อลม่าน สัปดาห์แรกหลังการมีประจำเดือน ทำให้โลกทัศน์ของ Valerie ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!


Jaroslava Schallerová (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, วัยเด็กได้รับการฝึกฝนบัลเล่ต์ เล่นกีฬายิมนาสติก เมื่ออายุ 13 ได้รับเลือกจากนักแสดงกว่า 1,500 คน แจ้งเกิดรับบทนำภาพยนตร์ Valerie and Her Week of Wonders (1970) จากนั้นเวียนวนอยู่ในวงการช่วงทศวรรษ 70s-80s จนพบความอิ่มตัวเลยรีไทร์ออกมาทำธุรกิจ เปิดบริษัทเสริมสวยความงาม

รับบท Valerie เด็กสาววัย 13 ปี ตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก เต็มไปด้วยระริกระรี้ สนอกสนใจเรื่องเพศ สังเกตเห็นทั้งสิ่งสวยๆงามๆ และพฤติกรรมอัปลักษณ์เลวทรามของผู้คนรอบข้าง ต่างพยายามฉกฉวย มองหาโอกาส เพื่อครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกายเธอ แต่โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดได้อย่างมหัศจรรย์ทุกครั้งครา

ทั้งใบหน้า ดวงตา ท่าทางแสดงออกของ Schallerová ช่างมีความบริสุทธิ์ เยาว์วัย สวยใส เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น เมื่อเกิดการตื่นรู้ทางเพศ บางครั้งตื่นเต้น บางครั้งหวาดกลัว แต่เพราะมีต่างหูวิเศษช่วยเหลือเลยสามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้งครา แรกๆทำได้แค่หลบหนี ต่อมาเมื่อเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ จึงสามารถปรับตัว พร้อมเผชิญหน้า และโต้ตอบกลับอย่างสาสม ไม่ตกเป็นเหยื่อของบรรดาสิงสาราสัตว์ เติบใหญ่กลายเป็นสาวแรกรุ่นที่เพรียบพร้อมบริบูรณ์

ต้องชมทีมคัดเลือกนักแสดงที่สามารถค้นพบ Schallerová แม้ไม่มีประสบการณ์ภาพยนตร์ แต่สามารถแบกหนังทั้งเรื่อง ผู้ชมใจจดใจจ่ออยู่กับความน่ารัก สดใส ดอกไม้แรกแย้ม ผลิบาน ความงดงามอันบริสุทธิ์ เกิดความรักใคร่เอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม อยากครอบครองเป็นเจ้าของ … ผมไม่ค่อยแน่ใจมุมมองสตรีเพศกับตัวละครนี้จะแตกต่างออกไปแค่ไหน แต่สำหรับบุรุษย่อมรู้สึกชุ่มชื่นหฤทัย ปลุกตื่นบางสิ่งอย่างภายใน

แซว: ทั้งที่มารดาของ Schallerová อยู่ในกองถ่ายร่วมกับบุตรสาวแทบตลอดเวลา แต่เธอก็ตกหลุมรักและได้แต่งงานกับ Petr Kopřiva นักแสดงรับบท Orlík


ถ่ายภาพโดย Jan Čuřík (1924-96) ตากล้องสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, โตขึ้นทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Krátký film Praha, ช่วงระหว่างอาสาสมัครทหาร มีโอกาสถ่ายทำหนังสั้น/สารคดีให้กับ Czechoslovak Army Film, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Suburban Romance (1958), The White Dove (1960), Something Different (1963), The Joke (1969), Valerie and her Week of Wonders (1970), Lovers in the Year One (1973), Love Between the Raindrops (1979) ฯ

งานภาพของหนังมีความฟุ้งๆ สว่างสดใส ใช้โทนขาวเป็นหลัก เพื่อแทนความบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาของเด็กสาว นั่นทำให้เมื่อไหร่ปกคลุมด้วยความดำมืด (หรือโทนสีเข้มๆ) ย่อมสามารถสื่อถึงสิ่งชั่วร้าย อันตราย ความตายอย่างตรงไปตรงมา … หนังแทบจะไม่มีเฉดสีอื่นนอกจากขาว-เทา-ดำ นั่นทำให้เมื่อปรากฎรอยเลือดประจำเดือน หรือเปลวไฟสีแดง มันจึงมีความโดดเด่นชัดขึ้นมา

บ่อยครั้งที่พบเห็นมุมกล้องแปลกๆ มักแทนสายตา (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ของเด็กสาว Velerie กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น ถ้ำแอบมอง (voyeur) ลอดผ่านรูเล็กๆ แต่หลายๆครั้งผมแอบรู้สึกเหมือน ‘male gaze’ เต็มไปด้วยภาพวับๆแวมๆ เสื้อผ้าน้อยชิ้น จับจ้องมองเรือนร่างหญิงสาว … นักวิจารณ์หลายคนเลยตีตราภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะเหมือน ‘soft porn’ หยอกเย้า ปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศบุรุษ

หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ยัง Slavonice เมืองเล็กๆในจังหวัด Jindřichův Hradec แคว้นทางตอนใต้ South Bohemian มีประชากรอาศัยเพียงสองพันคนเท่านั้น (แทบจะไม่เพิ่มไม่ลดจากทศวรรษ 60s-70s) เพราะถือเป็นเมืองเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12th ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 16th กลายเป็นเมืองทางผ่านระหว่าง Pargue และ Vienna สร้างความเจริญ มั่งคั่ง จึงเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรม Renaissance และสามารถเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการยกธงขาวให้กับ Nazi Germany เมืองแห่งนี้เลยไม่ถูกโจมตี อยู่รอดปลอดภัยจนถึงปัจจุบัน


Valerie กำลังนอนหลับฝัน โดยไม่รู้ตัวถูกโจรเข้ามาลักขโมยต่างหู ก่อนนำมาส่งคืนวันถัดไป, เหตุการณ์อารัมบทนี้เป็นการบอกใบ้เรื่องราวทั้งหมด ใครต่อใครที่เด็กสาวกำลังจะได้ประสบพบเจอ ต่างมีความต้องการที่จะครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาบางสิ่งอย่างไปจากเธอ

ต่างหู มรดกได้รับจากมารดา (ของขวัญจากบิดา) เหมือนว่ามีพลังวิเศษ เวทย์มนต์คาถา เครื่องรางของขลัง ที่จะช่วยเหลือ ปกป้อง Valerie ให้สามารถเอาตัวรอดพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ, ขณะเดียวกันเราสามารถในเชิงสัญลักษณ์ ถึงสิ่งช่วยสร้างความตระหนักกับเด็กสาว ไม่ให้นำพาตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้น

เมื่อรับรู้ตัวว่าต่างหูถูกขโมย Valerie ระหว่างกำลังออกค้นหา จู่ๆครุ่นคิดว่าพบเจอชายแปลกหน้าสวมใส่หน้ากาก (จริงๆน่าจะครุ่นคิดชายคนนี้คือโจร) แต่แท้จริงแล้วเป็นเจ้า Polecat สัตว์ในเทพนิยาย Czech folklore ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ดั่งใจ (Shapeshifter) สร้างความตกอกตกใจ เข้าใจผิด จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล … ล้อกับช่วงท้ายของหนังที่เมื่อชายคนหนึ่งยิงเจ้า Polecat มีการแทรกภาพชายคนนี้ล้มลงสิ้นลมหายใจ

เหตุผลที่ Orlík ลักขโมยต่างหูของ Valerie เพราะได้รับมอบหมายจากลุง/บิดา Constable/Richard (ชายหน้าตาอัปลักษณ์สวมหน้ากากคนนี้นี่แหละ) เป็นสิ่งอันตรายสำหรับ Polecat และแวมไพร์ (มีพลังเหมือนไม้กางเขนขับไล่สิ่งชั่วร้าย กระมัง) แต่ชายหนุ่มกลับแสร้งว่าทำหายแล้วส่งคือเด็กสาว บอกให้นำติดตัวตลอดเวลา จะสามารถช่วยปกป้อง คุ้มครอง กันภยันตรายที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต

ตอนรับชมผมไม่รู้หรอกว่าเลือดหยดลงดอก Daisies หมายถึงอะไร? แต่พออ่านบทความวิจารณ์จากหลายๆสำนักก็ค่อยตระหนักว่ามันคือเลือดประจำเดือนของ Valerie นี่ไม่ได้แฝงนัยยะ deflower หรือ defloration แต่เป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ (purity) ไร้เดียงสา (innocence) รวมถึงการเริ่มต้นใหม่ (new beginnings) ด้วยความร่าเริง (cheerful) สนุกสนาน (joyful)

ค่ำคืนนั้นเมื่อ Valerie กลับมาถึงห้องนอน (ทุกสิ่งอย่างมีความขาว สะอาด บริสุทธิ์) ทิ้งตัวลงบนเตียงด้วยท่วงท่าทารกน้อยในครรภ์ (นอนหันข้าง งอมืองอเท้า) ต่อจากนั้นยกมือซ้าย บิดลำตัว แล้ววางด้านข้าง นี่แสดงถึงความเติบโต กลายเป็นสาว พร้อมแล้วที่จะอ้าแขนเปิดรับ เรียนรู้จักโลกกว้าง

หลายคนอาจตีความว่าเรื่องราวหลังจากนี้ (จนกระทั่งตื่นขึ้นมาช่วงท้าย) ทั้งหมดเกิดขึ้นในจินตนาการ ความเพ้อฝันของเด็กสาว มันจึงมีเหตุการณ์สุดมหัศจรรย์ เหนือจริง เกี่ยวกับแวมไพร์ ตายแล้วฟื้น ล่าแม่มด ฯ ก็แล้วแต่ผู้ชมจะทำความเข้าใจด้วยตนเองนะครับ

ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนไหน เมื่อไหร่ หรือในความเพ้อฝันของ Valerie แอบจับจ้องมองสาวๆ/กินรีกำลังเล่นน้ำ (แต่มุมกล้องดูมีลักษณะของ ‘male gaze’ ให้ความสนใจเรือนร่างหญิงสาว) นำปลามายัดใส่เสื้อผ้าบางๆ สร้างความระริกระรี้ กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ … ลุงบุญมีระลึกเรื่องเจ้าหญิงกับปลาดุก!

นัยยะของซีเควนซ์นี้ คือความอยากรู้อยากเห็นของเด็กสาวแรกรุ่น อยากรับรู้ว่าพวกผู้ใหญ่เขาทำอะไรกันสนุกสนาน เธออาจยังไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงจินตนาการได้อยู่แล้วว่าจะบังเกิดอารมณ์อะไร

แซว: นี่เป็นซีเควนซ์ที่โดนโจมตีเรื่องใช้ความรุนแรงกับสัตว์ (animal cruelty) เอิ่ม???

แทนที่หนังจะเลือกนักแสดงอาวุโส หรือแต่งหน้าตัวละครให้ดูแก่ชราภาพ คุณย่า Elsa (รับบทโดย Helena Anýžová) เพียงโบ๊ะหน้าให้ขาวโพลน ซีดเผือก เหมือนซอมบี้/แวมไพร์ นี่แสดงถึงความผิดปกติบางอย่าง ดูมีลับเล่ห์ลมคมใน คำพูดฟังแล้วเชื่อถือไม่น่าจะได้ สร้างความหวาบหวิว สั่นสยิวกายให้กับผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ

เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นขบวนพาเรดงานแต่งงาน เข้ามาสู่ขอเพื่อนสาวข้างบ้าน Hedvika แต่สังเกตจากปฏิกิริยาสีหน้าของเธอ ดูไม่มีความสุข อมทุกข์ทรมาน นั่นน่าจะเพราะนี่คือการคลุมถุงชน กับชายสูงวัยที่ไม่ได้ตกหลุมรัก ก็เท่ากับกำลังจะสูญเสียอิสรภาพชีวิต … ทั้งๆงานแต่งงานควรเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่สีหน้าหญิงสาวกลับอมทุกข์ นี่สะท้อนเข้ากับบรรยากาศของหนังที่มีความสว่างสดใส ใครต่อใครแสดงออกด้วยอัธยาศัยดีงาม แท้จริงแล้วกลับซุกซ่อนเร้นสิ่งชั่วร้าย อันตราย สนเพียงแต่จะครอบครองเป็นเจ้าของ

ดอกเดซี่ในมือของ Hedvika ทำให้ Valerie เกิดความตระหนักถึงตัวเธอเองว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน สักวันอาจถูกจับคลุมถุงชนแต่งงาน สูญเสียความบริสุทธิ์ให้กับคนที่ไม่ได้ตกหลุมรัก

ท่ามกลางฝูงชนในขบวนพาเรด Valerie ได้พบเห็นชายสวมหน้ากาก จากเคยมีใบหน้าอัปลักษณ์ Constable จู่ๆเปลี่ยนเป็นบุรุษรูปงาม Richard (ต่างรับบทโดย Jiří Prýmek) นี่เป็นการบอกใบ้อย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสองคือบุคคลเดียวกัน เป็นทั้งปู่และบิดาของเด็กสาว รวมถึงแวมไพร์และ Polecat นี่อาจสร้างความสับสนระหว่างการชมครั้งแรกๆ แต่ถ้าดูจบแล้วก็อาจตระหนักว่าหนังพยายามเลือนลาง ผสมผสานทุกสรรพสิ่งเข้าด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ทีแรกผมก็สงสัยว่าชายคนนี้คือใคร มีการเปิดหมวกทักทาย น่าจะเป็นบุคคลสำคัญกระมัง? ก่อนค้นพบว่าคือ Robert Nezval บุตรชายของผู้แต่งนวนิยาย Vítězslav Nezval (บิดาเสียชีวิตไปแล้ว ก็เลยมาปรากฎตัวแทน)

ระหว่างทางที่คณะบาทหลวง แม่ชี (และ Valerie) เดินผ่านท้องทุ่งตรงไปยังโบสถ์ในเมือง Kostelní Vydří ระหว่างทางมีหญิงสาวคนหนึ่งนอนอยู่บนต้นไม้ ถ่ายกลับหัว ท่าทางเหมือนถูกกระตุ้นด้วยยาปลุกเซ็กส์ (Aphrodisiac) มันช่างเป็นภาพบาดตาบาดใจ บางคนแสดงสีหน้าขยะแขยง ยินยอมรับไม่ได้ … แต่นัยยะการนำเสนอคู่ขนานนี้ บอกใบ้ถึงตัวตนแท้จริงของบาทหลวง Gracián ที่แอบสานสัมพันธ์ย่า Elas และยังพยายามจะข่มขืน Valerie ใครกันแน่ที่เหี้ยมโหดโฉดชั่วร้ายกว่า? (ระหว่างบุคคลเปิดเผยความต้องการทางเพศออกมาตรงๆ vs. บุคคลอ้างว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ลับหลับกลับหมกมุ่นมักมากในกามคุณ)

โดยปกติแล้วบุคคลที่ทำการเทศนาสั่งสอนในโบสถ์ ควรจะเป็นบาทหลวงสวมชุดขาว แต่ชายคนนี้ Constable กลับโบ๊ะหน้าดำ สวมชุดคลุมดูราวกับซาตาน นี่ไม่ใช่การ Blackwashing ต้องการสื่อถึงสิ่งชั่วร้ายที่ซุกซ่อนเร้น บุคคลอ้างว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม (สวมถุงมือสีขาวด้วยนะ) แต่ลับหลับกลับทำตัวสกปรกโสมม หมกมุ่นมักมากในกามคุณ

เช่นเดียวกับบรรดานักบวช แม่ชีฝึกหัดทั้งหลาย ก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยผู้เข้าร่วมมากมายรายล้อมรอบ Valerie แล้วจู่ๆหนังตัดภาพหลงเหลือเพียงเธอคนเดียว ท่ามกลางเชิงเทียน ดอกไม้ทิ้งๆขว้างๆ ช่างเป็นความโดดเดี่ยวลำพัง ไม่มีใครข้างกายที่จิตใจบริสุทธิ์ขาวสะอาด ต่างมีสิ่งชั่วร้ายปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ด้วยกันทั้งนั้น!

Rosemary พืชสมุนไพรในวงศ์กะเพรา ถือเป็นพืชพื้นเมืองแถม Mediterranean ใบมีรูปร่างคล้ายเข็ม มีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก มึนเมา วิงเวียน แก้ปวดศีรษะ ดับกลิ่นคาวปลา เพิ่มความหอมอาหาร ฯ ขณะที่ความหมายเชิงสัญลักษณ์คือ ความจงรักภักดี (fidelity), การรำลึกถึง (remembrance) มักถูกนำมาใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสเตียน อาทิ งานแต่งงาน และงานศพ

ไม่ใช่แค่ Orlík ที่คอยช่วยเหลือ Valerie แต่หลายๆครั้งที่เขาถูกลุง/บิดา Constable ลงโทษทัณฑ์ด้วยการล่ามโซ่ ปล่อยให้จมน้ำ โชคดีได้เธอมาช่วยเหลือไว้ได้ทัน เหมือนเป็นการตอบแทนความปรารถนาดี นั่นทำให้พวกเขาสนิทสนม ตกหลุมรัก ชายหนุ่มในความฝันของเด็กสาว

เมื่อตอนต้นเรื่องพบเห็นสาวๆ/กินรีเล่นน้ำ มาคราวนี้เปลี่ยนเป็นบุรุษถอดเสื้อเปลือยอก ใช้แส่เฆี่ยนตี ตรงเข้ามาจะทำร้ายร่างกาย Orlík ทำไปเพื่ออะไรกัน?

สำหรับชาวคริสต์ (บางลัทธิ) มีความเชื่อเรื่องการลงโทษ ทรมานตัวเอง ด้วยการใช้แส่เฆี่ยนตีแผ่นหลังให้เลือดไหล ได้รับความเจ็บปวด โดยถือเป็นการอุทิศตนรูปแบบหนึ่ง เพื่อรำลึกถึง Jesus Christ (ที่เคยถูกทรมานก่อนการตรึงกางเขน) จะช่วยไถ่บาป รักษาอาการป่วย รวมถึงทำให้ความต้องการสมปรารถนา

ในบริบทของหนัง ชายฉกรรจ์เหล่านี้เหมือนถูกปีศาจร้ายเข้าสิง (จะมองว่าเป็นฝีมือของ Constable ก็ได้กระมัง) จู่ๆตรงเข้าหา Orlík เพื่อทำการลงโทษ ทัณฑ์ทรมานที่เคยขัดขืนคำสั่ง จนกระทั่งสามารถหลบหนีเข้าบ้าน พวกเขาเลยยินยอมจากไปโดยดี (อย่างงงๆ)

ฉากที่ผมรู้สึกน่าหวาดสะพรึงกลัวที่สุดของหนัง ระหว่างทางกลับบ้าน Constable เข้ามาโอบกอด Valerie ให้อยู่ภายในอ้อมอก แต่แทนที่เธอจะดิ้นรนขัดขืน กลับเพิกเฉยเพราะยังอ่อนวัย ไร้เดียงสา ไม่รับรู้ว่าอีกฝ่ายมาดีหรือมาร้าย (อาจเพราะเคยเห็นเทศนาในโบสถ์ จึงไม่คิดว่าจะมาร้าย)

แค่นั้นยังไม่จบ Constable ยังนำพามายังห้องลับใต้ดิน สถานที่เปล่าเปลี่ยว มืดมิด วังเวง เต็มไปด้วยหยากไย่ เมื่อผู้ชมพบเห็นย่อมรู้สึกสั่นไหว สัมผัสถึงอันตราย ทำไมเด็กสาวถึงยังไม่รับรู้ตัวอีกว่าถูกล่อหลอก หมอนี่ต้องวางแผนกระทำบางสิ่งชั่วร้ายอย่างแน่นอน!

นี่เป็นอีกครั้งที่หลายคน(รวมถึงผมเอง)ตกอยู่ในความสิ้นหวัง Valerie ไม่น่าจะสามารถเอาตัวรอดจากบาทหลวง Gracián ดูมีลับลมคมในตั้งแต่ตอนรับประทานอาหาร ค่ำคืนถึงขนาดบุกเข้ามาในห้องเด็กสาว ยามที่ย่า Elsa ไม่อยู่บ้านด้วยนะ! แต่ด้วยความมหัศจรรย์ พิลึกพิลั่น ได้ต่างหูอันนั้นช่วยชีวิตไว้ด้วยการแสร้งตาย/หายตัว (หรืออะไรสักอย่างก็ไม่รู้นะ) สร้างความตกอกตกใจ หมดอารมณ์จะกระทำการใดๆ หลบหนีออกจากห้องหัวซุกหัวซุน เครียดจัดจนครุ่นคิดสั้น ผูกคอตายวันถัดมา

ผมครุ่นคิดว่า Valerie น่าจะหายตัวจากห้องนอน แล้วมาตื่นขึ้นยังงานเลี้ยงแต่งงานของ Hedvika หลังจากแขกเหรื่อแยกย้ายกลับบ้านไปหมด พบเห็นเพียงเพื่อนหญิงและสามี (มีการแทรกภาพ Hedvika ในท่วงท่าตรึงกางเขน แฝงนัยยะถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานในการแต่งงานครั้งนี้) ลุกขึ้นมาเต้นรำน้ำตาคลอ ก่อนที่ Constable และย่า Elsa จะเข้ามาโอบกอดในผ้าคลุ้ม (แต่ Hedvika และสามีทำเหมือนจะมองไม่เห็นพวกเขา) เล่นมายากลเล็กน้อยเหมือนเพื่อให้ย่า Elsa เข้าสิงสถิตร่างของ Hedvika (หรือจะมองว่าทำการดูดเลือดบริสุทธิ์ (ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะสูญเสียความบริสุทธิ์))

คำอธิบายของผมอาจงงๆ แต่ครุ่นคิดว่าซีเควนซ์นี้สื่อถึงการสูญเสียจิตวิญญาณของ Hedvika ภายหลังการแต่งงาน จำต้องศิโรราบต่อสามีที่ไม่ได้รัก แม้ต่อจากนี้จะมีชีวิตสุขสบาย (เพราะสามีมีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง) แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอเกิดความสุขสงบขึ้นภายใน

ในขณะที่ย่า Elsa การได้เข้าสิงสถิตหรือดูดเลือดบริสุทธิ์ของ Hedvika ทำให้เธอคงความสวย กลายเป็นสาวแรกรุ่นอีกครั้ง ฉากถัดๆมาปลอมตัวเป็นญาติห่างๆของ Valerie (รับบทโดยนักแสดงคนเดียวกัน Helena Anýžová) สีหน้าท่าทางเต็มไปด้วยลับเลศลมคมใน พยายามต้อนเด็กสาวให้จนมุม พอสบโอกาสระหว่างนอนกลางวัน จึงจับมัดพันธนาการ กักขังอยู่ในโรงนา เฝ้ารอคอยเมื่อถึงเวลาดูดเลือดหลานสาวเมื่อไหร่ ฉักจักได้กลายเป็นอมตะ!

จะว่าไปแวมไพร์ดูดเลือด สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ กว่าจะได้สิ่งนั้นๆมาต้องสูญเสียหยาดเหงื่อ แรงกาย แต่กลับถูกลักขโมย ฉ้อฉล กลโกง เอาไปหมดหมดสิ้นเนื้อประดาตัว

ภาพนี้น่าจะไม่ต้องใช้คำอธิบายมากกระมัง บริเวณอวัยวะเพศของรูปแกะสลักไม้ ทำเป็นช่องสำหรับฝูงผึ้งไว้ใช้เข้า-ออก สร้างรัง ผลิตน้ำหวาน รสชาติหวานฉ่ำ

เอาจริงๆผมไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมย่า Elsa ถึงทำเหมือนทรยศหักหลัง Constable จับมาทัณฑ์ทรมาน ซาดิสต์ เค้นความลับวิธีการเป็นอมตะ? มันไม่ใช่ว่า Constable เปิดเผยวิธีการดื่มเลือดของ Valerie ไปแล้วหรอกหรือ? แต่เอาเป็นว่าซีเควนซ์นี้น่าจะแฝงนัยยะถึงการทรยศหักหลัง ไม่เว้นแม้แต่พวกพ้อง เครือญาติพี่น้อง เชื้อสายเลือดเดียวกันเอง

นี่เป็นครั้งแรกของ Valerie ที่ตัดสินใจไม่วิ่งหลบหนี แต่พร้อมเผชิญหน้าปัญหา ต้องการให้ความช่วยเหลือ Constable/Richard ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของย่า Elsa ด้วยการนำไก่ซื้อมาจากตลาด มาให้ดูดเลือดประทังชีวิต ถึงอย่างนั้นเขากลับยังไม่เพียงพอสักเท่าไหร่ จึงยินยอมให้ดูดเลือดตนเอง ไปๆมาๆอีกฝ่ายพยายามล่วงเกินเลยเถิด (แล้วแต่ผู้ชมจะจินตนาการเอาเองว่าดูดเลือด/ข่มขืน หรือกระทำอะไร) เรียกว่าถูกทรยศหักหลังจากบิดาแท้ๆ โชคยังดีที่เด็กสาวสามารถเอาตัวรอดด้วยการกลืนต่างหู ทำให้จู่ๆเหมือนวิญญาณล่องลอยออกจากร่าง ภาพสโลโมชั่น ก่อนทิ้งตัวลงนอน หมดสิ้นลมหายใจ ใครๆต่างครุ่นคิดว่าคงอัตวินิบาต ฆ่าตัวตาย … เลยนำพามาวางบนโลงศพ ปูพื้นด้วยแอปเปิ้ลเขียว (ผลไม้ต้องห้ามจากสวนอีเดน)

แต่หลังจากบิดาและย่า Elsa ออกจากห้องลับใต้ดินนี้ไป เธอก็ฟื้นคืนชีพพร้อมๆกับบาทหลวง Gracián อย่างน่ามหัศจรรย์ใจ เอาตัวรอดครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้

ค่ำคืนหลับนอนบนเตียงเดียวกันระหว่าง Valerie และ Hedvika พวกเธออาจแค่นอนกลิ้งไปกลิ้งมา หรือล่วงเกินเลยเถิดก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความพิลึกพิลั่น สุดมหัศจรรย์ ทำให้รอยแผลถูกกัดต้นคอของ Hedvika สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย คลายคำสาปแวมไพร์ กลายเป็นหญิงสาวมีความสดใสร่าเริงขึ้นอีกครั้ง

นี่เป็นอีกครั้งที่ Valerie ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ Hedvika เป็นที่พึ่งพักพิงทาง(กาย)ใจ ในตอนแรกคงไม่รับรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อมั่นว่ามันต้องทำให้เพื่อนข้างบ้านพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้!

แม้สามารถฟื้นคืนชีพจากความตาย บาทหลวง Gracián กลับไม่รู้สึกสาสำนึกประการไหน หนำซ้ำยังตีตรา Valerie ว่าเป็นนางแม่มด ล้อมจับกุมตัว มาจุดไฟเผามอดไหม้ แต่ด้วยความมหัศจรรย์ของต่างหูวิเศษ ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นทำให้เธอเอาตัวรอดชีวิตมาได้

เราสามารถตีความแม่มด (Witch) ในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมนอกคอก หัวขบถ กระทำสิ่งต่อต้านขนบกฎกรอบสังคม ซึ่งนั้นเป็นสิ่งสังคมยุคก่อนที่ชายเป็นใหญ่ไม่ให้การยินยอมรับ พยายามจำกัดสิทธิ เสรีภาพสตรี จึงใช้วิธีการอันชั่วร้ายเพื่อกำจัดภัยคุกคาม สรรหาข้ออ้างอิงศาสนา ปลูกสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความหวาดกลัวให้ประชาชน

เมื่อครุ่นคิดว่าสามารถกำจัดภัยพาล Constable และย่า Elsa จึงทำการปลดปล่อยอิสรภาพ ปรับเปลี่ยนห้องลับใต้ดินให้กลายเป็นซ่องโสเภณี จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้สังสรรค์เฮฮา ต่อจากนี้พวกเขากำลังจะมีชีวิตอมตะ ยืนยาว ไม่ต้องหวาดกลัวเกรงสิ่งใด … แต่โดยไม่รู้ตัว Valerie ได้ทำการโต้ตอบกลับ จากมุมกล้องเงยขึ้นเห็นเพดาน กลับกลายร่างเป็น Polecat ถ่ายมุมก้มต่ำลง ย่ำเหยียด สูญเสียทุกสิ่งอย่าง

หลังจากจัดการปัญหาของ Constable ค่ำคืนนี้ Valerie ทำการถอดเสื้อผ้า ทิ้งตัวลงนอนบนเตียง หลายคนอาจตีความควบคู่กับช็อตถัดมา หญิงสาวคนหนึ่งนอนอยู่บนต้นไม้ (ที่เคยพบเห็นก่อนหน้านี้) ถ่ายกลับหัว ท่าทางเหมือนถูกกระตุ้นด้วยยาปลุกเซ็กส์ (Aphrodisiac) … หลายคนตีความช็อตนี้ Valerie กำลังช่วยตนเอง (Masturbation) บังเกิดอารมณ์ทางเพศ เข้าใจความรู้สึกแตกเนื้อสาว

ขณะเดียวกันนี่อาจคือจุดจบความฝันของ Valerie กำลังจะตื่นขึ้นหลังจากหมดประจำเดือนครั้งแรก (ถือว่าเติบโตเป็นสาวเต็มตัว) เรื่องราวหลังจากนี้คือเช้าวันใหม่ ที่ราวกับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ใดๆบังเกิดขึ้น ใครต่อใครล้วนไม่สามารถจดจำเรื่องหลายวันก่อนได้ทั้งนั้น … นี่เป็นแนวคิดที่ผมมองว่าเข้าใจง่ายสุดแล้ว บางคนอาจตีความถึงพลังวิเศษต่างหูได้ทำการลบล้างเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมด เรื่องราวต่อจากนี้คืออีกโลกคู่ขนาน (ผมว่ามันซับซ้อนไปนะ แต่ก็แล้วแต่จะสามารถขบครุ่นคิดจินตนาการ)

ซีเควนซ์ต่อจากนี้จะเป็นการย้อนรอยกับตอนต้นเรื่อง เริ่มจาก Valerie กำลังจะรับประทานอาหารเช้ากับย่า Elsa สังเกตว่าทั้งสองสวมใส่เสื้อผ้าสีตรงกันข้าม (ภาพซ้ายคือตอนต้นเรื่อง | ภาพขวาคือขณะปัจจุบันนี้) แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างกำลังกลับตารปัตร แตกต่างจากที่เคยรับชมมา

ไม่ใช่แค่ระหว่างรับประทานอาหารเช้า ขบวนพาเรดแต่งงานที่เคยแห่มาสู่ขอ Hedvika กลับหลงเพียงชายหนุ่มนักแสดงที่ชื่อ Orlík กำลังจะมาพร้อมเซอร์ไพรส์ให้กับ Valerie (ตอนต้นเรื่อง Valerie อ่านจดหมายของ Orlík มาขณะนี้ก็กลับตารปัตรเช่นเดียวกัน)

แบบเดียวกับตอนต้นเรื่องที่ Valerie สะดุ้งตกใจเพราะครุ่นคิดว่า Polecat คือปีศาจร้าย/ชายหน้าตาอัปลักษณ์ Constable, ขณะนี้นักล่าคนหนึ่งต้องการแยกเจ้า Polecat กำลังต่อสู้กับไก่ จึงใช้ปืนยิงมันจนเสียชีวิต (Valerie จินตนาการภาพชายแปลกหน้าชุดดำ ทรุดล้มลงสิ้นใจ)

นี่คือภาพที่ล้อกับเลือดหยดลงดอกเดซี่ (ที่หมายถึงประจำเดือนหญิงสาว) ผมขอไม่วิเคราะห์ เพราะอย่างให้ลองจินตนาการเองว่าผึ้งตอมดอกไม้ น้ำใสๆไหลพุ่งขึ้นมา มันจะแฝงนัยยะ 18+ หลังการมีประจำเดือนเช่นไร??

ตอนต้นเรื่องบิดา-มารดาของ Valerie ในคราบของ Constable/Richard มาด้วยความอัปลักษณ์ ฉ้อฉล เต็มไปด้วยเล่ห์กล พร้อมทรยศหักหลัง กระทำสิ่งโฉดชั่วร้าย เพื่อครอบครองเป็นเจ้าของบุตรสาวตนเอง! แต่ตอนท้ายของหนังนี้กลับมาอย่างหลอเหลา ตลบอบอวลด้วยความรัก ความเอ็นดู … แต่จะว่าไปมันก็ดูปลอมๆ กอดจูบอย่างเร่าร้อน เหมือนมีลับลมคมในอะไรหรือเปล่า?

ความสัปดลอลเวงของหนังทั้งเรื่อง ก็ผันแปรเปลี่ยนมาเป็นความสนุกสนาน เฮฮาปาร์ตี้ ทุกตัวละครต่างล้อมวงกันเข้ามา เริงระบำรายรอบเตียงนอนของ Valerie และเมื่อเธอทิ้งตัวลงนอน ณ จุดศูนย์กลาง ทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้างก็พลันสูญหายไปอย่างไร้ร่องลอย

แวบแรกที่ผมเห็นซีเควนซ์นี้นึกถึงตอนจบโคตรภาพยนตร์ 8½ (1963) ขึ้นมาโดยพลัน แต่มันก็คนละนัยยะกันโดยสิ้นเชิง! ผมมองการเริงระบำรอบเตียงนอน Valerie สื่อถึงการที่เธอจากเคยไม่รับรู้เดียงสา สามารถเรียนรู้ เข้าใจสารพัดปัญหา พร้อมเผชิญหน้า ต่อสู้กับความชั่วร้ายบนโลกใบนี้ สามารถให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น กลายมาเป็นศูนย์กลางผู้คน/จักรวาล โลกหมุนรอบตัวฉัน (สังเกตว่ามีการสลับชุดขาว-ดำ โลกใบนี้มีทั้งสิ่งดีๆและโฉดชั่วร้าย)

แต่ทุกสิ่งอย่างยังแค่ในจินตนาการเพ้อฝันของเด็กสาว หลังจากนี้ต่างหากเมื่อถูกปลุกตื่น กลับคืนสู่โลกความจริง ทุกสิ่งอย่างจึงจักเริ่มนับหนึ่ง ทุกคนรอบข้างจึงสูญหายตัวไปในช็อตสุดท้ายของหนัง

ตัดต่อโดย Josef Valušiak, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Valerie (บางครั้งก็เป็นการแอบถ้ำมอง) ช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ได้พบเห็นทั้งสิ่งงดงาม และพฤติกรรมอัปลักษณ์เลวทรามของผู้คนรอบข้าง ช่วงแรกๆทำได้แค่วิ่งหลบหนี แต่หลังจากค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว จนสามารถเผชิญหน้า แก้ไขปัญหา โต้ตอบกลับ ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ เติบใหญ่กลายเป็นสาวแรกรุ่นที่เพรียบพร้อมบริบูรณ์

  • อารัมบท,
    • Valerie ถูกลักขโมยต่างหู แล้วโจรนำกลับคืนวันถัดมา
    • หลังจากเลือดประจำเดือนหยดลงดอก Daisies นอนหลับฝันถึงกินรีเล่นน้ำ (จะมองว่าเหตุการณ์หลังจากนี้เกิดขึ้นในความฝันของ Valerie ทั้งหมดเลยก็ยังได้)
  • โลกใบใหม่ของ Valerie
    • ระหว่างรับประทานอาหารเช้ากับย่า Elsa ด้านนอกพบเห็นขบวนพาเรดงานแต่งงานของเพื่อนบ้าน Hedvika และชายหน้าตาอัปลักษณ์ปกปิดบังด้วยหน้ากาก Constable เงยหน้าขึ้นมาสบตา
    • Valerie เดินทางมาเข้าร่วมพิธีแต่งงานในโบสถ์ รับฟังคำเทศนาจาก Constable
    • ระหว่างทางกลับบ้าน Valerie ถูก Constable ลากพามายังห้องลับใต้ดิน พบเห็นภาพบาดตาบาดใจของย่า Elsa ก่อนได้รับการช่วยเหลือจาก Orlík
    • Valerie และ Orlík ระหว่างหลบซ่อนตัวในโรงนา พบเห็น Constable มาเยี่ยมเยือนย่า Elas ทำการโอบกอด ดูดเลือด โน้มน้าวให้เธอส่งมอบกรรมสิทธิ์บ้านหลังนี้คืนแก่ตน
    • บาทหลวง Gracián พยายามล่อลวง ต้องการจะข่มขืน Valerie โชคดีได้ต่างหูช่วยชีวิตไว้
    • ค่ำคืนแต่งงานของ Hedvika เต็มไปด้วยเหตุการณ์คาดไม่ถึง
  • ความลึกลับที่ค่อยๆได้รับการเปิดเผย
    • เช้าวันต่อมา Valerie ให้ความช่วยเหลือ Orlík ที่ถูกจับถ่วงน้ำ มีการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี พบเห็นศพของ บาทหลวง Gracián แขวนคอฆ่าตัวตาย
    • ย่า Elsa แม้พบเห็นนอนอยู่ในโลงศพ แต่กลับปลอมตัวเป็นญาติของ Valerie เข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้
    • ย่ายังยาว Elsa ทำการลักพาตัว Valerie ตื่นขึ้นมา แอบพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ก่อนได้รับการช่วยเหลือจาก Orlík อีกเช่นเคย
    • Valerie ให้ความช่วยเหลือ Constable (ที่ถูกย่า Elsa จับกุมตัว) ทำให้ได้รับรู้ความจริงเกี่ยวกับ Orlík เลยแสร้งทำเป็นตาย
    • Valerie และบาทหลวง Gracián ฟื้นคืนชีพจากโลงศพ
  • การโต้ตอบกลับของ Valerie
    • Valerie หลับนอนกับ Hedvika ทำให้อีกฝ่ายคลายคำสาปแวมไพร์
    • บาทหลวง Gracián ป่าวประกาศตีตรา Valerie ว่าคือนางแม่มด จับเผาไหม้ แต่เธอกลับไม่เป็นอะไร
    • Valerie แอบเข้าไปในห้องลับใต้ดินซึ่งแปรสภาพกลายเป็นซ่องโสเภณีของ Constable ลอบใส่ต่างหูในเครื่องดื่ม ทำให้อีกฝ่ายกลายร่างกลับเป็น Polecat
    • ค่ำคืน Valerie นอนเปลือยกายบนเตียง
  • ฤาว่าทุกสิ่งอย่างคือความเพ้อฝัน (ราวกับไม่เคยมีเหตุการใดๆบังเกิดขึ้น)
    • เช้าตื่นขึ้นมา Valerie รับประทานอาหารกับย่า Elsa ก่อนพบเห็น Orlík คือนักแสดงละครเวที
    • Polecat ถูกฆ่าเสียชีวิต นั่นทำให้ Valerie จินตนาการ/ครุ่นคิดถึง Constable
    • ย่า Elsa ล้มป่วยติดเตียง รำพันถึงคนรักและบุตร (บิดา-มารดาของ Valerie)
    • บิดา-มารดาของ Valerie เดินทางกลับมาหา
    • งานเลี้ยงสังสรรค์เฮฮา ห้อมล้อมรอบเตียง Valerie ปลุกตื่นขึ้นจากความฝัน

แม้ทิศทางดำเนินเรื่องจะเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ แต่ความดูยากของหนังเกิดจากการไม่รับรู้วันคืน เรื่องราวมีการผันแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวตาย-เดี๋ยวฟื้น กระโดดไป-กระโดดมา (แต่กระโดดไปข้างหน้าทั้งหมดนะครับ) ราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในความเพ้อฝัน ทุกสิ่งอย่างช่างดูเหนือจริงยิ่งนัก!


เพลงประกอบโดย Luboš Fišer (1935-99) คีตกวีสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, ร่ำเรียนการแต่งเพลงจาก Prague Conservatory ต่อด้วยสถาบัน Academy of Performing Arts in Prague (AMU) มีผลงานออร์เคสตรา, Concerto, Sonata, Chamber Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Valerie and Her Week of Wonders (1970), Morgiana (1972) ฯ

งานเพลงของหนังมีคำเรียก Psychedelic folk คือส่วนผสมระหว่าง(เครื่อง)ดนตรีพื้นบ้าน Folksong กลิ่นอายยุโรปยุคกลาง (Medieval Period) ผสมผสานเข้ากับสไตล์เพลง Psychedelic ราวกับคนเสพยา มึนเมา พบเห็นภาพหลอน ล่องลอยอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน … เป็นสองสไตล์เพลงที่ดูไม่น่าจะเข้ากัน แต่โคตรลงตัวกลมกล่อมกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างน่าอัศจรรย์

บทเพลง The Magic Yard มอบสัมผัสราวกับต้องมนต์ (เสียงคอรัส)เด็กสาวดูกระตือรือร้น พร้อมค้นหาตัวตน เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้จักสิ่งใหม่ๆ พบเห็นทั้งความงดงาม-อัปลักษณ์เลวทราม สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก ชีวิตเต็มไปด้วยความอลเวง แต่ไม่เคยปิดกั้นตนเอง สามารถปรับตัว เผชิญหน้า แก้ปัญหา ฟันฝ่าทุกอุปสรรคขวากหนาม

ผมรับชมภาพยนตร์จาก Czechoskovakia มาหลายต่อหลายเรื่อง แต่น้อยนักจะได้ยินบทเพลงพื้นบ้าน/ยุโรปกลาง ท่วงทำนองสนุกสนาน ฟังเพลิดเพลิน ผ่อนคลายกังวล และมีความมักคุ้นหูยังไงชอบกล ยกตัวอย่าง Talk With Grandmother พอได้ยินเสียงไซโลโฟน นึกว่ากำลังกล่อมเด็กเข้านอน แสดงถึงวัยวุฒิ และช่วงเวลาสุดพิเศษของ Valerie ในชั่วโมงต้องมนต์ (วง Friday)

ช่วงแรกๆยังไม่รับรู้ว่า Orlík คือพี่ชายแท้ๆของ Valerie การได้อยู่เคียงชิดใกล้ มันช่างมีความปลอดภัย สุขหฤทัย แม้ตอนนี้พวกเขายังเด็กนัก อนาคตก็อาจพัฒนากลายเป็นความรัก แต่พอความจริงได้รับการเปิดเผย บทเพลง Brothaer and Sister เลยฟังดูเศร้าๆ เหงาๆ แทนความรู้สึกผิดหวังในใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

หลายต่อหลายครั้งที่ Valerie ตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เสี่ยงจะสูญเสียความบริสุทธิ์ทางกาย เพลงประกอบเน้นสร้างบรรยากาศเย็นๆ สั่นสยิวผิวกาย แต่ไม่เคยถึงขั้นตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย เพราะเด็กสาวสามารถเอาตัวรอดได้ทุกวิกฤตการ สิ่งเลวร้ายเหล่านั้นไม่ต่างจากสายลม เคลื่อนผ่านมาแล้วก็พัดผ่านไป

ผมพยายามนั่งฟังซ้ำๆอยู่หลายรอบ เพราะรู้สึกมักคุ้นท่วงทำนอง/คำร้องเสียเหลือเกิน (ถึงคำร้องภาษา Czech แต่ก็มีความมักคุ้นเสียเหลือเกิน) ก่อนมาระลึกได้ว่ามาจากบทเพลงระหว่างทำพิธีมิสซา มิน่าฟังแล้วสัมผัสถึงความศักดิ์สิทธิ์ ราวกับต้องมนต์ขลัง และสำหรับบทเพลงสุดท้าย And the Last เปรียบดั่งงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ก่อนร่ำลา ปลุกตื่นขึ้นจากความเพ้อฝัน ทุกคนล้อมวงเข้ามาอำนวยอวยพรให้ Valerie ประสบโชคดีมีชัย เติบใหญ่เป็นสาวแรกรุ่นที่เพรียบพร้อมบริบูรณ์

Valerie and Her Week of Wonders นำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิง ในวันที่ร่างกายมีประจำเดือนครั้งแรก ย่อมถือว่าถึงวัยเจริญพันธุ์ (พร้อมที่จะสืบพันธุ์) เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงได้เวลาเรียนรู้จักโลกกว้าง ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง พบเห็นทั้งความงดงาม และพฤติกรรมอัปลักษณ์เลวทรามของผู้คนในสังคม

แทบทุกตัวละคร(ทั้งชาย-หญิง)ที่ Valerie ได้พบเจอ(ในความฝัน) ล้วนแล้วแต่มีความสนอกสนใจในความบริสุทธิ์ นงเยาว์ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ทั้งเรือนร่างกายและจิตวิญญาณ

  • ย่า Elsa แม้อาศัยอยู่ร่วมกันมานาน แต่แท้จริงคือแวมไพร์ดูดเลือด โหยหาความสวยสาว (eternal youth) และครอบครองรักสามี Richard
  • ปู่/บิดา Constable/Richard แปลงกายจาก Polecat เป็นแวมไพร์เฉกเช่นเดียวกับย่า Elsa แต่ไม่ได้ต้องการแค่ความหนุ่มแน่น หล่อเหลา ยังอยากจะเอาเธอมาเป็นภรรยา
  • บาทหลวง Gracián ชู้รักของย่า Elsa ต้องการครอบครองความบริสุทธิ์ของสาวแรกรุ่น
  • หรือแม้แต่ Orlík/Eaglet ตกหลุมรัก Valerie แม้แสดงออกด้วยจิตใจบริสุทธิ์ แต่พวกเขากลับเป็นพี่น้อง เลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน

สิ่งต่างๆที่ Valerie ได้เรียนรู้ ประสบพบเจอนั้น ล้วนเวียนวนอยู่กับเรื่องรักๆใคร่ๆ หมกมุ่นมักมากในกามคุณ โลกหมุนรอบอวัยวะเพศชาย-หญิง เมื่อมนุษย์ถึงวัยเจริญพันธุ์ (ชายมีอสุจิ, หญิงตกไข่ มีประจำเดือน) ก็พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตอบสนองสันชาตญาณพื้นฐาน นั่นก็คือการสืบเผ่าพันธุ์

โลกที่ Valerie อาศัยอยู่นั้น (หรือจะตีความว่าทั้งหมดเกิดในจินตนาการเพ้อฝัน) ถือว่ามีความเลวร้าย ตกต่ำทราม เต็มไปด้วยภยันตรายรอบข้าง แต่นั่นคือภาพสะท้อนสังคมประเทศ Czechoskovakia ในยุคสมัยที่ปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และยังมีสหภาพโซเวียตคอยให้การสนับสนุนหลัง (มองในเชิงสัญลักษณ์ประมาณว่า ย่า Elsa คือตัวแทนผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ และยังมีปู่/บิดา Constable/Richard คอยให้การหนุนหลัง)

การมีประจำเดือน ตื่นรู้ทางเพศ ‘Sexual Awakening’ ของ Valerie สามารถเทียบแทนการมาถึงของฤดู Prague Spring (5 มกราคม – 21 สิงหาคม ค.ศ. 1968) ช่วงเวลาสั้นๆของการเปิดเสรีทางการเมืองใน Czechoskovakia ให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ ‘Political Awakening’ พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้ เผชิญหน้า ไม่หวาดกลัวเกรงรัฐบาลคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต … แต่ก็แค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนการบุกรุกรานของกองทัพสหภาพโซเวียตเข้าสู่กลุ่มประเทศ Warsaw Pact ตั้งแต่วันที่ 20-21 สิงหาคม ค.ศ. 1968 ประชาชนมือเปล่าจะไปต่อสู้ทหารติดอาวุธเรือนแสนได้อย่างไรกัน

เมื่อตอนที่โปรเจค Valerie and Her Week of Wonders ได้รับการอนุมัติจาก Barrandov Studio ยังอยู่ในช่วงระหว่าง Prague Spring คงเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่จะใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้คือหมุดหมาย บันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอช่วงเวลาที่ชาว Czech ได้ปลุกตื่นจากฝันร้ายภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต แต่น่าเสียดายที่มันเป็นได้แค่ฝันซ้อนฝัน ตรงกันข้ามกลายเป็นจุดจบยุคสมัยแห่งความมหัศจรรย์ Czechoskovakia New Wave (กลุ่มเคลื่อนไหวนี้มีชื่อเล่น Czechoslovak Film Miracle) นำเข้าสู่ด้านมืด หนังใต้ดิน Czech Underground Films ในช่วงทศวรรษ 80s

เรื่องราวของ Valerie แม้สร้างโดยผู้กำกับชาย เต็มไปด้วย ‘male gaze’ แถมหลายคนตีตรา ‘soft porn’ แต่ผมมองว่าหนังมีความเป็น Feminist สูงมากๆ นั่นเพราะการเติบโตของเด็กสาวในลักษณะ ‘coming-of-age’ เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้า ต่อสู้ ไม่หวาดกลัวเกรงอันตรายใดๆ (ไม่ได้เอาแต่วิ่งหลบหนี หรือทำตัวเป็น ‘damsel in distress’ ตั้งแต่ต้นจนจบ) น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ยุคสมัยนี้การเป็นแม่มด (สัญลักษณ์ของความนอกคอก หัวขบถ กระทำสิ่งต่อต้านขนบสังคม) ไม่ได้ถูกไล่ล่า จับเผาทั้งเป็นอีกต่อไป


เสียงตอบรับตอนเข้าฉายออกไปทางกลางๆ โดนโจมตีเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ (animal cruelty) ภาพวับๆแวมๆ (obscurity) ไม่ต่างจาก ‘soft porn’ รวมถึงประเด็นรักๆใคร่ๆในครอบครัว (incest) ไม่รู้เอาตัวรอดผ่านกองเซนเซอร์มาได้อย่างไร

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K พร้อมกับหนังสั้นสามเรื่องของผกก. Jireš ประกอบด้วย Uncle (1959), Footprints (1960) และ The Hall of Lost Steps (1960), เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 สามารถหาซื้อ/รับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

ผมรู้สึกเหมือนตาแก่ตัณหากลับชอบกล เวลารับชมภาพยนตร์เกี่ยวกับ ‘Sexual Awakening’ ของเด็กสาวแรกรุ่นอย่าง Valerie and Her Week of Wonders (1970), À Nos Amours (1983), Naissance des Pieuvres (2007) ฯ แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง เปรียบเหมือนการได้เชยชมดอกไม้แรกแย้ม ผลิบาน ความงดงามอันบริสุทธิ์ เกิดความรักใคร่เอ็นดู ทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม อยากครอบครองเป็นเจ้าของ … อารมณ์คนโสดมันก็ประมาณนี้แล

สิ่งที่ทำให้ผมคลั่งไคล้หนังอย่างมากๆคือการปรับตัวของ Valerie แรกๆทำได้แค่หลบหนี เอาตัวรอด รอคอยใครสักคนมาช่วยเหลือ ‘damsel in distress’ แต่ต่อมาก็ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว เข้าใจวิถีชีวิต พร้อมเผชิญหน้าปัญหา จนในที่สุดจากเคยอยู่ปลายขอบ สามารถทำให้โลกหมุนรอบเธอเอง กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจ และปลุกตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย

จัดเรต 18+ กับความวับๆแวบๆ ระริกระรี้เรื่องเพศ แวมไพร์ บรรยากาศหลอกหลอน เหนือจริง

คำโปรย | สัปดาห์สุดมหัศจรรย์ของ Valeria and Her Week of Wonders ช่างมีความหลอกหลอน เหนือจริง เบ่งบานท่ามกลางโคลนตม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก

L’aveu (1970)


The Confession (1970) French : Costa-Gavras ♥♥♥♡

สมาชิกระดับสูงผู้จงรักภักดีของพรรคคอมมิวนิสต์ (รับบทโดย Yves Montand) วันหนึ่งถูกจับกุม คุมขัง โดนทัณฑ์ทรมาน บีบบังคับให้สารภาพความจริง แต่เขาไม่เคยกระทำอะไรผิด กลับต้องก้มหน้าก้มตา เดินวนไปวนมา ยินยอมรับโชคชะตา ทุกข์ทรมานทั้งร่างกาย-จิตใจ

Confession is the highest form of self-criticism.

คล้ายกับศาสนาคริสต์ที่มีการสารภาพบาป แต่วิธีของพรรคคอมมิวนิสต์ กลับใช้การบีบบังคับ จับทรมาน ประจานต่อหน้าสาธารณะ ให้รู้สึกอับอาย มีชีวิตไม่ต่างจากตกตาย เจ็บปวดรวดร้าวทั้งร่างกาย-จิตใจ ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวังอาลัย

รับชมจนจบผมก็ยังไม่เข้าใจว่า พระเอกถูกจับกุม คุมขัง ทัณฑ์ทรมาน เพราะอะไร? ทำไปทำไม? มันช่างไร้เหตุผล ไร้หลักฐาน เพียงต้องการอวดอ้างอำนาจ สร้างเหตุการณ์สำหรับเป็นต้นแบบอย่าง คำสั่งพรรคคอมมิวนิสต์ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่สนถูกผิด-ดีชั่ว หลักมนุษยธรรม เต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวคอรัปชั่น!

หลายคนอาจมองว่า The Confession (1970) เป็นภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Communist) นำเสนอด้านมืดองค์กร การใช้อำนาจในทางมิชอบ ไร้เหตุผล ไร้มนุษยธรรม แต่เป้าหมายของผกก. Costa-Gavras เหมารวมถึงระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) และโดยเฉพาะลัทธิ Stalinism

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบ The Confession (1970) อาจเพราะความคาดหวังจาก Z (1969) ครุ่นคิดว่าจะได้รับชมหนัง Political Thriller ที่มีความน่าตื่นเต้น รุกเร้าใจ แต่กลับเป็น ‘Torture Porn’ เต็มไปด้วยความอัดอั้น ทุกข์ทรมานทรวงใน … ผมอยากเรียกว่า ‘Political Turture’ เสียมากกว่านะ


Costa-Gavras ชื่อเต็ม Konstantinos Gavras หรือ Κωνσταντίνος “Κώστας” Γαβράς (เกิดปี ค.ศ. 1933) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติกรีก เกิดที่ Loutra Iraias, Arcadia ประเทศกรีซ, บิดาเข้าร่วมกลุ่ม Greek Resistance ต่อต้าน Nazi ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ภายหลังสงครามรัฐบาลกลับตีตราว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ทำให้ถูกควบคุมขังในช่วง Greek Civil War (1946-49) ครอบครัวจึงจำต้องอพยพหลบลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา โตขึ้นถึงสามารถกลับมาศึกษาต่อวรรณกรรม Université de Paris ตามด้วยภาพยนตร์ L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC), แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jean Giono, René Clair, Henri Verneuil, Jacques Demy, René Clément, Jean Becker, จนมีโอกาสกำกับหนังเรื่องแรก The Sleeping Car Murder (1965) คดีฆาตกรรมบนรถไฟสไตล์ Hitchcock แต่ผสมผสานประเด็นการเมือง

สไตล์ของ Costa-Gavras เป็นส่วนผสม/วิวัฒนาการของ ‘political cinema’ ในช่วงทศวรรษ 60s-70s รับอิทธิพลจาก Francesco Rosi (Salvatore Giuliano, Hands over the City, The Moment of Truth), Gillo Pontecorvo (The Battle of Algiers) และ Elio Petri (The Tenth Victim, We Still Kill the Old Way, Investigation of a Citizen Above Suspicion)

Thriller is a way to tell a story about society. Political thrillers are movies about people in a particular situation. We call them thrillers because they are thrilling. It’s a spectacle in a different way. It gives us another possibility. Everything is political.

Costa-Gavras

สำหรับ L’aveu แปลว่า The Confession ดัดแปลงจากหนังสือ Memoir วางจำหน่ายเมื่อมี ค.ศ. 1968 ของ Artur London (1915-86) นักการเมืองเชื้อสาย Jewish สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง Czechoslovakia โดยนำจากประสบการณ์จริง เมื่อครั้นถูกจับกุม โดนทัณฑ์ทรมาน ขึ้นศาลไต่สวน Slánský Trial เมื่อปี ค.ศ. 1952 ข้อหาก่อการกบฎ ก่อนได้รับการปล่อยตัว ค.ศ. 1955 (แล้วเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตใจระหว่าง ค.ศ. 1956-63)

ขออธิบายถึง Slánský trial (1952) สักหน่อยก็แล้วกัน ชื่อเต็มๆแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Trial of the Leadership of the Anti-State Conspiracy Centre Headed by Rudolf Slánský” การพิจารณาคดี 14 สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง Czechoslovakia (Komunistická strana Československa, KSČ)) ที่ต่างมีเชื้อสาย Jewish นำโดย Rudolf Slánský ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ KSČ ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นไส้ศึก คิดคดทรยศองค์กร โดนจับกุม ทัณฑ์ทรมาน ขึ้นศาลไต่สวน ส่วนใหญ่ตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ก็ยังมีสามคนจำคุกตลอดชีวิต (แต่ไม่นานก็ถูกปล่อยตัวออกมา)

ในความเป็นจริงนั้น Slánský trial คือการจัดฉาก ‘show trial’ ที่ไร้ซึ่งหลักฐาน ประจักษ์พยาน แค่ทั้ง 14 ถูกจับมาล้างสมอง ทัณฑ์ทรมาน ไม่ได้กินได้นอน จึงจำต้องยินยอมรับสารภาพผิดไม่ได้ก่อ เพียงเพื่ออวดอ้างอำนาจบารมีพรรคคอมมิวนิสต์ สำหรับเป็นต้นแบบอย่าง สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน (และสมาชิกระดับสูงของพรรค) ไม่ให้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน แสดงอารยะขัดขืน … การพิจารณ์คดีลักษณะดังกล่าว ไม่ได้มีแค่ใน Czechoslovakia แต่ทุกประเทศในสังกัด ‘Communist Bloc’ ภายหลังความขัดแย้งระหว่าง Joseph Stalin และ Josip Broz Tito ก่อให้เกิด Anti-Cosmopolitan Campaign (1948) สำหรับกำจัดชนชาวยิวจากการเป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์!

หนังสือ L’aveu (1968) ของ Artur London สร้างความตกตะลึงให้ผู้อ่านยุคสมัยนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์พิจารณาคดีความจะเป็นเพียงการจัดฉาก ‘show trial’ แม้กาลเวลาพานผ่านกว่าทศวรรษ แต่ช่วงทศวรรษ 60s-70s สงครามเย็นยังคงคุกรุ่น ตีแผ่ความจริงอันน่าหวาดสะพรึง หนังสือเล่มนี้จึงถูกตีตรา ‘Anti-Communist’

บทภาพยนตร์โดย Jorge Semprún (1923-2011) นักเขียน/นักการเมือง สัญชาติ Spanish อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สเปน อาศัยอยู่ฝรั่งเศสช่วงการปกครองของจอมพลเผด็จการ Francisco Franco เคยร่วมงานผกก. Costa-Gavras ดัดแปลงบท Z (1969) และ The Confession (1970)

ในส่วนของบทดัดแปลงนั้น ผกก. Costa-Gavras ใส่รายละเอียดระหว่างการถูกทัณฑ์ทรมานเยอะมากๆ (จนผมยังรู้สึกว่ามากเกินไป) นั่นอาจเพราะต้องการนำเสนอสิ่งเคยบังเกิดขึ้นกับบิดาตนเอง เคยโดนรัฐบาลกรีกจับกุมตัว ควบคุมขัง ทัณฑ์ทรมานไม่แตกต่างกัน … ถือเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติของบิดา ภาคต่อของ Z (1969)


เรื่องราวของ Artur Ludvik หรือ Gerard (รับบทโดย Yves Montand) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ Czechoslovakia ผู้มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี กระทำหน้าที่อย่างสุจริต ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (Foreign Affairs) แต่แล้ววันหนึ่งสังเกตพบว่าตนเองกำลังถูกองค์กรลึกลับติดตามตัว นัดพบผองเพื่อนชาวยิวที่เป็นสมาชิกระดับสูง ทุกคนล้วนตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

แล้วจู่ๆวันหนึ่ง Gerard ถูกลักพาตัว ควบคุมขัง ทัณฑ์ทรมาน ไม่ให้กินให้นอน สอบเค้นหาความจริง บีบบังคับให้ยินยอมรับสารภาพผิด แต่ก็ไม่รับรู้ข้อกล่าวหาอะไร จนกระทั่งหลายวันเดือนพานผ่าน จำยินยอมสารภาพในสิ่งไม่เคยก่อ ขึ้นศาลไต่สวน พิจารณาคดีความต่อหน้าสาธารณะ สมาชิกส่วนใหญ่รับตัดสินโทษประหา เหลือเพียงสามคนถูกคุมขังตลอดชีวิต


Yves Montand หรือ Ivo Livi (1921-91) นักร้อง นักแสดง สัญชาติ Italian-French เกิดที่ Monsummano Terme, Italy ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 ถูกขับไล่จากรัฐบาล Italian Fascist ครอบครัวจึงอพยพมาปักหลักอยู่ Marseilles, เริ่มต้นจากการเป็นนักร้องในผันบาร์ ก่อนได้รับการค้นพบโดย Édith Piaf เมื่อปี ค.ศ. 1944 ชักชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง พอเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์ อาทิ The Wages of Fear (1953), Let’s Make Love (1960), Is Paris Burning? (1966), Grand Prix (1966), Z (1969) Le Cercle Rouge (1970), Le sauvage (1975), Jean de Florette (1986) ฯ

รับบท Artur Ludvik หรือ Gerard สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ Czechoslovakia ผู้มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่เคยคิดการทุจริต แต่กลับถูกจับกุมตัว ควบคุมขัง ใส่ร้ายป้ายสี บีบบังคับให้สารภาพโน่นนี่ ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยกระทำ จำยินยอมรับผิดตามคำสั่ง ด้วยความเชื่อมั่นในอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ก้มหัวศิโรราบต่อโชคชะตากรรม โชคดีละเว้นโทษประหารชีวิต ภายหลังเขียนหนังสือตีแผ่ความจริงให้โลกประจักษ์

เกร็ด: ภรรยาของตัวละคร Artur Ludvik ชื่อว่า Lise Ludvik รับบทโดย Simone Signoret ซึ่งก็เป็นภรรยาในชีวิตจริงของ Yves Montand ด้วยเช่นเดียวกัน

ต้องถือว่า Montand คือขาประจำผกก. Costa-Gavras ร่วมงานกันมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก The Sleeping Car Murders (1965) เมื่ออ่านหนังสือ L’aveu (1968) ก็สร้างความตื่นตะหนก ตกตะลึง เพราะตัวเขาเคยให้การสนับสนุน (ไม่แน่ใจว่าเคยเป็นสมาชิกด้วยหรือเปล่านะ) รับรู้จักเพื่อนหลายคนที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส

ระหว่างการถ่ายทำ Montand น้ำหนักตัวลดลงถึง 15 กิโลกรัม รูปลักษณ์ดูซูบผอม ใบหน้าซีดเซียวลงอย่างชัดเจน (ยุคสมัยนั้นหาได้ยากที่นักแสดงจะทุ่มเทเพื่อบทบาทขนาดนี้) เป็นความตั้งใจที่ต้องการสะท้อนความรู้สึกจากภายใน เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความท้อแท้สิ้นหวัง ตัวละครทำผิดอะไรถึงต้องมารับกรรม

There was in what I inflicted upon myself [for this role] something of an act of expiation.

Yves Montand

เพราะความทุ่มเทกาย-ใจ กลั่นเอาความรู้สึกออกมาจากภายใน (แทบจะเป็น ‘method acting’ ก็ว่าได้) ถือเป็นอีกบทบาทไฮไลท์ในอาชีพการงานของ Montand ช่วงแรกๆเต็มไปด้วยวิตกกังวล ลุกรี้ลุกรน พอถูกจับกุมคุมขัง สีหน้าหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว นานวันถูกทัณฑ์ทรมาน สายตาเลื่อนลอย ก้าวย่างอย่างไร้จิตวิญญาณ ไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น หุ่นเชิดชักพรรคคอมมิวนิส์ หลายปีให้หลังถึงค่อยกลับมามีชีวิตอีกครั้ง!


ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard (1924-2016) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของบรรดาผู้กำกับ French New Wave, สมัยเด็กตั้งใจร่ำเรียนเคมี แต่ไม่มีทุนการศึกษาเลยหันมาเป็นช่างภาพ เข้าร่วมสงคราม French Indichina War (1946-54) ในฐานะ ‘war photographer’ อาศัยอยู่เวียดนามถึง 11 ปี กลับมาฝรั่งเศสกลายเป็นฟรีแลนซ์ให้นิตยสาร Paris Match และ Look กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Pierre Schoendoerffer ทั้งๆไม่เคยมีประสบการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่กลับได้เสียงชื่นชม The Devil’s Pass (1958), ติดตามมาด้วยผลงานแจ้งเกิดโด่งดัง Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), Vivre sa Vie (1962), Jules et Jim (1962), Le Mépris (1963), Bande à part (1964), Pierrot le Fou (1965), Z (1969), The Confession (1970) ฯลฯ

งานภาพของหนังแทบจะตรงกันข้ามกับ Z (1969) มีฉากภายนอกน้อยมากๆ ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งถ่ายทำในเรือนจำ ห้องสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีการสลับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ (เพื่อสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครขณะนั้นๆ) แต่ก็ยังสามารถขยับเคลื่อนไหวอย่างโฉบเฉี่ยว ฉวัดเวียน ซูมมิ่ง-แพนนิ่ง-แทร็กกิ้ง แทบไม่พบเห็นหยุดอยู่นิ่ง (นอกจาก Freeze Frame)

ตามสไตล์หนังการเมือง ที่แทบจะไม่พบเห็นแสงสว่างจากธรรมชาติ หรือสีสันที่ดูสวยสดใส ส่วนใหญ่ใช้โทนสีน้ำเงิน มอบสัมผัสอึมครึม ตึงเครียด รู้สึกหนาวเหน็บ เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น และสิ่งเลวร้ายสุดคือหลอดไฟสว่างจร้า สาดส่องใบหน้านักโทษ (เข้าหากล้อง) นั่นทำให้ผู้ชม/ตัวละคร จิตใจสั่นคลอน ตกอยู่ในความมืดหมองหม่น

ตากล้อง Coutard บ่นอุบถึงความยุ่งยากในการจัดแสง เพราะพื้นที่คับแคบ เปียกชื้นแฉะ แถมยังต้องไม่ให้มีเงามืดปรากฎบนใบหน้า ถือว่าท้าทายไม่น้อยกว่า ‘bedroom scene’ ที่ได้รับความนิยมยุค French New Wave

ดั้งเดิมนั้นหนังวางแผนถ่ายทำยัง Prague, Czechoslovakia โดยได้รับการสนับสนุนจาก Alois Poledňák อดีตผู้บริหารสตูดิโอ Czechoslovak State Film ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา แต่ก่อนเริ่มถ่ายทำเพียงเดือนเดียว Poledňák ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง เลยจำต้องเปลี่ยนสถานที่มายังเมือง Lille ตอนเหนือฝรั่งเศส, ส่วนภายในห้องพิพากษา ก่อสร้างฉากขึ้นยัง Boulogne-Billancourt Studio ณ กรุง Pars


รูปซ้ายมือหลายคนน่าจะรู้จักกันดี Joseph Stalin, ส่วนขวามือ Klement Gottwald (1896-1953) หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ (Komunistická strana Československa, KSČ) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (President of Czechoslovakia) ระหว่างปี ค.ศ. 1948-53

หลังจากถูกจับกุมตัว Gerard ถูกผู้คุมบังคับให้ก้าวเดินไปเรื่อยๆในห้องขัง ชวนให้ผมนึกถึงภาพวาดศิลปะ Prisoners Exercising (1890) ผลงานของ Vincent van Gogh ทั้งๆควรเป็นการออกกำลังกาย (ตามชื่อภาพ) แต่นี่คือวิธีการทรมานนักโทษ ไม่ให้หยุดพักผ่อน ไม่ให้หลับให้นอน เพื่อให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ไร้เรี่ยวแรงพละกำลัง สติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว มิอาจต่อต้านขัดขืน ความทรงจำเลอะลืมเลือน จนมิอาจควบคุมตนเอง จากนั้นถึงเริ่มทำการล้างสมอง (Brainwashing) ปลูกฝังแนวความคิดใหม่ๆ ให้ทำอะไรก็ยินยอมตาม สูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน และหมดสิ้นความเป็นมนุษย์

ห้องคุมขังของ Gerard (เหมารวมถึงห้องสืบสวนสอบสวน, หรือแม้แต่บ้านพัก/อพาร์ทเม้นท์ของภรรยา) สังเกตว่าจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงแรกๆสภาพโกโรโกโส ชำรุดทรุดโทรม น้ำรั่วไหลซึมจากภายนอก เพียงผ้านวมผืนเดียว แถมต้องก้าวออกเดินตามคำสั่งผู้คุม แต่หลังจากเริ่มยินยอมรับโชคชะตากรรม ถูกล้างสมอง ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง แม้ห้องขังคับแคบลง แต่เพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก ได้รับอนุญาตพักผ่อนคลาย หลับสบาย สูบบุหรี่ควันฉุย เหลือเวลาครุ่นคิดถึงเหตุการณ์บังเกิดขึ้น

ตรงกันข้ามกับบ้านพัก ตอนแรกพวกเขาอยู่บ้านหรูหรา แต่หลังจากสามีสูญเสียอำนาจหน้าที่ ถูกตีตราคนทรยศขายชาติ ภรรยาและบุตรถูกส่งไปอยู่อพาร์ทเล็กๆ สภาพโกโรโกโส (จากเคยมีคนขับรถรับส่ง จัดรายการวิทยุสบายๆ ช่วงท้ายต้องโบกรถโดยสารไปทำงานโรงงาน เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด)

โดยปกติแล้ว สรรพชีวิตล้วนได้รับแสงจากพระอาทิตย์ส่องนำทาง แต่สำหรับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ Gerard ถูกล้างสมองด้วยการยึดถือมั่นในหลอดไฟกลม อุดมการณ์ของพรรค ส่องนำทางท่ามกลางความมืดมิด และเมื่อออกไปภายนออกต้องสวมแว่นตาดำ ตกอยู่ในความมืดบอด มองไม่เห็นอนาคต ตัวตนเอง อะไรทั้งนั้น

สำหรับคนที่อาจไม่ทันสังเกต ตั้งแต่ครึ่งหลังจะเริ่มมีการแทรก ‘Flashforward’ เหตุการณ์(เกิดขึ้นจริง)ในอนาคต หลังจาก Gerard ได้รับการปล่อยตัว เมื่อปี ค.ศ. 1965 ถูกผองเพื่อนโน้มน้าว แล้วบรรจบเข้ากับปัจฉิมบท ค.ศ. 1965 ตีพิมพ์หนังสือ L’aveu (1968)

ตากล้อง Raoul Coutard รับเชิญในบทตากล้อง บันทึกภาพเหตุการณ์ Slánský trial

หนึ่งใน Flashfoward ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ไม่เข้าใจว่าชายสองคนนี้กำลังทำอะไร? เสียงบรรยายก่อนหน้านั้นกล่าวไว้ว่า ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ขี้เถ้าของพวกเขาจะถูกโปรยสำหรับทำท้องถนน … เมื่อตระหนักได้เช่นนี้ ก็เกิดความขนลุกขนพองขึ้นมาทันที!

ระหว่างวันที่ 5 มกราคม – 21 สิงหาคม ค.ศ. 1968 ในประเทศ Czechoslovakia เกิดเหตุการณ์ชื่อว่า Pražské jaro (Prague Spring) ช่วงเวลาการเปิดเสรีทางการเมืองของ Czechoslovak Socialist Republic นำโดยนักปฏิรูป Alexander Dubček ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการเอกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง Czechoslovak ทำให้ประชาชนกล้าออกมารณรงค์ เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เผาไหม้ธงชาติสหภาพโซเวียต เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่ทันไรวันที่ 21 สิงหาคม กองทัพรัสเซียพร้อมกับกองกำลังจากสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) ยกพลนับแสนบุกรุกราน เข้ามายึดครอง Czechoslovakia ทำให้ความฝันฤดูร้อนของชาว Czech พลันจบสิ้นลง

ปัจฉิมบทของหนัง ทำการร้อยเรียงภาพนิ่งสลับกับภาพเคลื่อนไหว (มีทั้งจากที่ถ่ายทำ และนำจาก Archive Footage) ปฏิกิริยาสีหน้าของ Yves Montand ก็ไม่รู้ดีใจหรือสิ้นหวัง แต่ถ้ามองในมุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ คงรู้สึกรับไม่ได้ ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง กระมังนะ!

ตัดต่อโดย Françoise Bonnot (1939-2018) สัญชาติฝรั่งเศส บุตรสาวของนักตัดต่อ Monique Bonnot ขาประจำผู้กำกับ Jean-Pierre Melville, เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยมารดาตัดต่อภาพยนตร์ Two Men in Manhattan (1959), ฉายเดี่ยวกับ Army of Shadows (1969), จากนั้นกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Costa-Gavras ตั้งแต่ Z (1969), The Confession (1970), State of Siege (1972), Special Section (1975), Missing (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Tenant (1976), 1492: Conquest of Paradise (1992), Frida (2002), Across the Universe (2007) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Artur Ludvik หรือ Gerard (รับบทโดย Yves Montand) เริ่มต้นปี ค.ศ. 1951 ในวันที่สังเกตเห็นบุคคลลึกลับแอบติดตามตนเอง จากที่ทำงาน ขับรถกลับบ้าน นัดพบปะเพื่อนฝูง แล้วจู่ๆวันหนึ่งถูกจับกุม คุมขัง ทัณฑ์ทรมาน สารภาพผิดในสิ่งที่ไม่ได้กระทำ แล้วขึ้นให้การ Slánský trial

  • ความหวาดระแวงของ Gerard
    • วันหนึ่งระหว่างกำลังจะกลับบ้าน สังเกตเห็นบุคคลลึกลับแอบติดตามตัว
    • นัดพบปะเพื่อนฝูง พูดคุยถึงปัญหา ปรากฎว่าทุกคนต่างถูกติดตามตัวเช่นกัน
    • จนกระทั่งวันหนึ่งถูกล้อมรถ ลักพาตัว เข้ามาในห้องคุมขัง
  • ความหวาดกลัวของ Gerard
    • Gerard ถูกบังคับให้เปลี่ยนเสื้อผ้า สวมกุญแจมือ เมื่อเข้าห้องขังก็ต้องเดินวนไปวนมา ห้ามนั่ง-นอน จะถูกทำร้ายร่างกาย
    • ภรรยาพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น
    • ช่วงเดือนแรกของการสืบสวนสอบสวน Gerard ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกระทำผิดอะไร ถูกบีบบังคับให้สารภาพความผิดที่ไม่เคยก่อ ไม่ได้กินไม่ได้นอน ห้องขังเปียกชื้นแฉะ
  • Gerard ถูกล้างสมอง
    • หลังจากถูกเกลี้ยกล่อม บรรดาผองเพื่อนทั้งหลายต่างรับสารภาพ ทั้งๆก็ไม่รู้ว่าตนเองทำความผิดอะไรก็จำต้องยินยอมรับไป จากนั้นถึงเริ่มได้ทานอาหาร นอนห้องพักปกติ
    • ภรรยาของ Gerard ถูกบีบบังคับให้ต้องขนข้าวของออกจากบ้าน ทำงานเป็นพนักงานโรงงาน
    • (Flashforward) Gerard พูดคุยกับผองเพื่อนผู้รอดชีวิต ได้รับการโน้มน้าวให้เขียนหนังสือเล่าประสบการณ์บังเกิดขึ้น
    • หลังจาก Gerard ยินยอมรับชะตากรรม จึงเริ่มได้รับการฟื้นฟู สูบบุหรี่ ทานวิตามิน ท่องบทพูดสำหรับการพิจารณาคดี
  • การพิจารณาคดีความ Slánský trial
    • เริ่มต้นการพิจารณาคดีความ Slánský trial
    • หลังจาก Gerard ยินยอมรับสารภาพผิด ภรรยาจึงเขียนจดหมายประณาม ถูกนำอ่านออกอากาศทางวิทยุ
    • การตัดสินคดีความ เกือบทั้งหมดถูกลงโทษประหารชีวิต แล้วนำขี้เถ้าโปรยลงพื้นถนน ยกเว้นเพียงสามคนรวมถึง Gerard เพียงจำคุกตลอดชีวิต
  • ปัจฉิมบท ค.ศ. 1968
    • Gerard ได้พบเจอเจ้าหน้าที่ที่เคยทัณฑ์ทรมานตนเอง ปัจจุบันมีสภาพตกอับ รับสารภาพว่าทำไปเพราะคำสั่งเบื้องบน
    • Gerard ตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือ L’aveu (1968)
    • แต่ระหว่างขึ้นเครื่องบินกลับมายัง Czechoslovakia พอดิบพอดีเกิดเหตุการณ์ Prague Spring

ช่วงระหว่างการถูกสืบสวนสอบสวน จะพบเห็น Flashback (บางครั้งก็เป็น Archive Footage) ปรากฎแวบๆขึ้นมาบ่อยครั้ง สำหรับเติมเต็มคำพูดอธิบายเหล่านั้น แต่สิ่งน่าสนใจยิ่งกว่าคือ Flashforward หนังจงใจแทรกภาพอนาคต ค.ศ. 1965 เมื่อครั้น Gerard ครุ่นคิดเขียนหนังสือเล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมด … ซีนที่เป็น Flashforward อาจต้องใช้การสังเกตสักหน่อย เริ่มพบเห็นตั้งแต่ครึ่งหลัง Gerard พูดคุยกับผองเพื่อนยังบ้านพักตากอากาศ Monte Carlo จนกระทั่งมาบรรจบกันตอนปัจฉิมบท

ปล. การมีทั้ง Flashback และ Flashforward น่าจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์ The Go-Between (1971)


หนังไม่มีการใช้บทเพลงประกอบ เพราะความเงียบงันก็สามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดัน ไม่จำเป็นต้องบีบเค้นคั้นทางอารมณ์ไปมากกว่านี้ ยกเว้นเพียง Epilogue & Closing Credit ติดต่อคีตกวีชาวอิตาเลี่ยน Giovanni Fusco (Hiroshima mon amour, L’avventura Trilogy, Red Desert) มาทำเพลงที่ปกคลุมด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง เจ็บปวดอัดอั้น ฉันทำอะไรผิดถึงต้องทนทุกข์ทรมานเพียงนี้

ในขณะที่ Z (1969) นำเสนอเรื่องราวสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการทหาร กลั่นแกล้ง ใช้ความรุนแรง อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ลอบสังหาร, The Confession (1970) เปิดโปงความจริงเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความ Slánský trial ที่บรรดาสมาชิกระดับสูงเชื้อสาย Jewish ของพรรคคอมมิวนิสต์ Czechoslovakia ทั้งๆไม่เคยกระทำความผิดอะไร แต่กลับถูกจับกุม ควบคุมขัง ทัณฑ์ทรมาน ประจานต่อสาธารณะ ทั้งหมดเพียงการจัดฉาก ‘show trial’ แต่ตัดสินโทษประหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลักสิบคน!

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องช่างมีความย้อนแย้ง นำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างตรงกันข้าม เมื่อตอนเสร็จสร้าง Z (1969) คนส่วนใหญ่ตราผกก. Costa-Gavras ว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่หลังจาก The Confession (1970) กลับกลายเป็นฝั่งต่อต้านซะงั้น! สุดท้ายแล้วเขาอยู่ฟากฝั่งไหนกัน?

อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสิ่งที่สามารถผันแปรเปลี่ยน แต่สิ่งผิดเพี้ยนคือความสุดโต่งของสมาชิกทั้งสองฟากฝั่ง ใครไม่ใช่มิตรย่อมถือเป็นศัตรู คนที่เขาอยู่ทางสายกลางก็มีเหมือนกัน ทำไมไม่รู้จัก ‘เอาใจเขา มาใส่ใจเรา’ อนุรักษ์นิยม, เสรีนิยม ล้วนมีดี-ชั่วในตนเอง

ใจความภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องของผกก. Costa-Gavras ล้วนไม่ได้ยกย่องสรรเสริญการเมืองฟากฝั่งไหน แต่นำเสนอการใช้อำนาจในทางมิชอบ กดขี่ข่มเหงประชาชน/สมาชิกพรรค ให้ไม่ได้รับความถูกต้อง ไร้หลักมนุษยธรรม ลอบสังหาร ทัณฑ์ทรมาน อวดอ้างบารมี เรียกร้องให้ทุกคนต้องก้มหัวศิโรราบ … ใจความแท้จริงคือต่อต้านเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Anti-Totalitarianism)

The Confession (1970) เพิ่มเติมก็คือ Anti-Stalinism เพราะการพิจารณาคดีความ Slánský trial บังเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่าง Joseph Stalin และ Josip Broz Tito ก่อให้เกิด Anti-Cosmopolitan Campaign (1948) สำหรับกำจัดชนชาวยิว (Anti-Semitic) จากการเป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ พฤติกรรมดังกล่าวไม่แตกต่างจากพวก Nazi เลยสักนิด!

ผมมอง Z (1969) และ The Confession (1970) คือภาคต่อทางจิตวิญญาณของผกก. Costa-Gavras ต่างสะท้อนเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้นกับบิดาตนเอง (ถือเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติก็ว่าได้) สำหรับเรื่องนี้ก็คือการถูกรัฐบาลกรีกจับกุม คุมขัง ทัณฑ์ทรมาน ช่วงระหว่าง Greek Civil War (1946-49) เจ็บปวดทรมานทั้งร่างกาย-จิตใจ ครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยต่างประเทศ

ผกก. Costa-Gavras แม้ไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว แต่เขาสามารถสัมผัสความรู้สึก ครุ่นคิดถึงหัวอกบิดา ในขณะที่ Z (1969) ระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่งออกมา, The Confession (1970) พรรณาความท้อแท้สิ้นหวัง (ร้อยเรียงสารพัดการถูกทัณฑ์ทรมาน) จนถูกล้างสมอง สูญเสียความเชื่อมั่น ความเป็นตัวของตนเอง … การตื่นรู้ทางการเมืองในยุคสมัยสงครามเย็น เลวร้ายยิ่งกว่าการสู้รบสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีกนะ!


ผิดกับ Z (1969) ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แถมได้รับโอกาสเข้าฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก, The Confession (1970) เพราะใจความเหมือนจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Communist) ทำให้แม้แต่ในฝรั่งเศสยังสร้างความกระอักกระอ่วน นักวิจารณ์ไม่ค่อยอยากแสดงความคิดเห็น ถึงอย่างนั้นช่วงปลายปียังพอมีลุ้นรางวัล

  • Golden Globe Award: Best Foreign-Language Foreign Film พ่ายให้กับ Rider on the Rain (1970)
  • BAFTA Award: UN Award พ่ายให้กับ M*A*S*H (1970)

เกร็ด: แน่นอนว่าหนังถูกแบนห้ามฉายใน Czechoslovakia และทุกๆประเทศฟากฝั่ง ‘Communist bloc’ จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถึงมีโอกาสเข้าฉายครั้งแรกปี ค.ศ. 1990

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Costa-Gavras เมื่อปี ค.ศ. 2014 (น่าจะพร้อมๆกับ Z (1969)) สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

ผมรู้สึกว่าฉากทัณฑ์ทรมานของ The Confession (1970) มีปริมาณมากล้นเกินไป แม้ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดปฏิกิริยาอารมณ์ ตีแผ่ความชั่วร้าย ต่อต้านเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่ทำให้บังเกิดขวัญกำลังใจ เพียงความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง สงสารเห็นใจ … อารมณ์เกรี้ยวกราดของ Z (1969) ยังปลุกระดมผู้คนได้มากกว่า

เมื่อปีก่อนผมเคยเขียนถึงหนังฮังกาเรียน The Round-Up (1966) และเช็คโกสโลวาเกีย Witchhammer (1970) ทั้งสองเรื่องนำเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มาอ้างอิงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนั้น มีฉากทัณฑ์ทรมานที่รุนแรง แต่กลมกล่อม เพียงพอดี ดูแล้วเพลิดเพลินยิ่งเสียกว่า The Confession (1970)

แต่ก็ต้องยอมรับว่า The Confession (1970) ถือเป็นอีกหมุดไมล์ของหนังการเมือง (Political) นำเสนอเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมา (สมัยนั้นแทบจะไม่มีใครกล้า) ตีแผ่ความคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางมิชอบ ภาคต่อทางจิตวิญญาณกับ Z (1969) สมควรรับชมเคียงคู่กันยิ่งนัก!

จัดเรต 18+ กับทัณฑ์ทรมาน การโกหกหลอกลวงของพรรคคอมมิวนิสต์

คำโปรย | The Confession คำสารภาพของคนที่ไม่มีอะไรจะสารภาพ มันจึงคือคำโกหกหลอกลวง อุดมการณ์จอมปลอม ทุกข์ทรมานทั้งร่างกาย-จิตใจ
คุณภาพ | ทุข์
ส่วนตัว | ทรมานใจ

Wanda (1970)


Wanda (1970) hollywood : Barbara Loden ♥♥♥♥

ยัยเฉื่อย Wanda เป็นคนเชื่องชักช้า ขาดความกระตือรือร้น ตัวแทนชนชั้นแรงงาน (Working Class) โชคชะตานำพาให้กลายเป็นโจรปล้นธนาคาร ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี พูดขอบคุณผู้พิพากษา ทำให้ตนเองมีที่ซุกหัวนอนเสียที

(เรื่องราวในหนัง Wanda ไม่ได้ถูกจับติดคุกนะครับ แต่เหตุการณ์จริงที่ผกก. Loden ได้แรงบันดาลใจ เธอคนนั้นพูดขอบคุณผู้พิพากษา ทำให้ตนเองมีที่ซุกหัวนอน อาหารอิ่มท้อง ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความทุกข์ยากลำบาก)

Barbara Loden’s Wanda is anti-Bonnie and Clyde. It’s about a woman who doesn’t want anything, who hasn’t found anything to want, and who can accept life only on a day-to-day basis, without hope or plans, without fear or hatred. Wanda is a small, skinny, slovenly woman with bad teeth and straggly hair, who looks as if she’s never been loved, and never expected to be. She’s a real loser. But what the movie gets from her is something that we almost never get from a movie character—the feeling that Wanda could be any woman who ever lived.

นักวิจารณ์ Pauline Kael

การรับชม Wanda (1970) โดยไม่รู้ตัวทำให้ผมเกิดอคติต่อ Bonnie and Clyde (1967) [รวมถึง Breathless(1960) ที่ก็ไม่ได้ชอบสักเท่าไหร่อยู่แล้ว] เพราะรู้สึกว่าหนังทำการ ‘romanticize’ การเป็นอาชญากรให้เลิศหรูดูดี ชวนเพ้อฝัน แม้พยายามนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ (ถึงความหัวขบถ แหกนอกคอก ต้องการดิ้นหลุดพ้นจากขนบกฎกรอบ โหยหาอิสรภาพชีวิต) หรือตกตายหยังเขียดก็ตามเถอะ

เพราะถ้าคุณได้รับชม Wanda (1970) จะเกิดการเปรียบเทียบที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำลายอุดมคติ/ความงดงามของการเป็นอาชญากร ผ่านตัวละครหญิงสาวที่ไม่มีความน่าหลงใหล ส่วนฝ่ายชายแม้งก็โคตรเxย เผด็จการ ชอบบงการ เย่อหยิ่งทะนงตน เรื่องราวสะท้อนความเป็นจริงของชีวิต กว่าจะก้าวเดินจากฟากฝั่งหนึ่งสู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง แม้งเยิ่นยาวนานชิบหาย!

เพราะความโคตรๆสมจริงนั้นเอง เป็นสิ่งที่ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ใคร่อยากดู รับรู้พบเห็น ภาพยนตร์ควรเป็นสื่อบันเทิง สร้างความผ่อนคลาย ไม่ใช่นำเสนอโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย แม้สามารถคว้ารางวัล Pasinetti Award: Best Foreign Film จากเทศกาลหนังเมือง Venice กลับถูกหลงลืม “มาสเตอร์พีซที่เลือนหาย”


Barbara Ann Loden (1932-80) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Asheville, North Carolina บิดาเป็นช่างตัดผม หลังหย่าร้างส่งบุตรสาวไปอาศัยอยู่กับย่าผู้เคร่งศาสนา ณ Marion, North Carolina วัยเด็กเป็นคนเหนียงอาย ไม่ชอบพูดคุยกับใคร จนกระทั่งอายุ 16 เดินทางสู่ New York City ทำงานนางแบบ, นักเต้นไนท์คลับ, แม้ไม่ค่อยชื่นชอบภาพยนตร์ แต่กลับเลือกร่ำเรียนการแสดง Actors Studio เพราะครุ่นคิดอยากมีชื่อเสียงโด่งดัง

People on the screen were perfect and they made me feel inferior.

Barbara Loden

จากนั้นเริ่มมีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ เข้าตาผู้กำกับ Elia Kazan ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Wind River (1960), Splendor in the Grass (1961), แล้วทั้งสองแต่งงานกันเมื่อปี ค.ศ. 1967

Barbara Loden was born anti-respectable … [She] was feisty with men, fearless on the streets, dubious of all ethical principles. [She]’s a bitch, bold, fearless, a sexual adventurer, maybe a gold-digger.

Elia Kazan กล่าวถึงอดีตภรรยา Barbara Loden

จุดเริ่มต้นของ Wanda (1970) เกิดขึ้นน่าจะช่วงต้นทศวรรษ 60s เมื่อ Loden อ่านข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่ง ถูกจับกุมข้อหาสมรู้ร่วมปล้นธนาคาร ได้รับตัดสินโทษจำคุก 20 ปี แต่เธอกลับพูดขอบคุณผู้พิพากษา ต่อจากนี้จะได้มีที่ซุกหัวนอน อาหารรับประทานอิ่มท้อง ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทนทุกข์ยากลำบากอีกต่อไป

ผกก. Kazan เล่าว่าตนเองคือผู้เขียนบทร่างแรกให้ Loden จากนั้นเธอทำการปรับแก้ไขนับครั้งไม่ถ้วน (“rewrote it many times, and it became hers”.) ผสมผสานเข้ากับตัวตนเอง จนกลายเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiography) ในอดีตก็เคยเป็นแบบตัวละคร Wanda ล่องลอยไปมา ไร้จุดมุ่งหมายอะไรใดๆในชีวิต

It was sort of based on my own personality … A sort of passive, wandering around, passing from one person to another, no direction—I spent many years of my life that way and I felt that … well, I think that a lot of people are that way. And not just women, but men too. They don’t know why they exist.

I wanted to create a character who was not traditionally likable, but who was still sympathetic. Wanda is not a hero, but she is someone who we can relate to and care about. She’s flawed, but so are we all.

Barbara Loden

ในตอนแรก Loden ไม่ได้ครุ่นคิดอยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่หลังจากปรับแก้ไขบทอยู่หลายครั้ง คงทำให้เริ่มค้นพบเป้าหมายของตนเอง “to be an artist … is to justify her own existence” และยังได้รับการผลักดัน(ฟังดูกึ่งๆบีบบังคับ)จากสามี “You’re going to be a director”.

Loden ใช้เวลาถึง 7 ปี ในการมองหาทุนสร้าง แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่มีใคร/สตูดิโอไหนให้ความสนใจ เคยตัดพ้อว่าอาจเพราะตนเองคือผู้หญิง โชคดีที่ได้สามี Kazan โน้มน้าวโปรดิวเซอร์เคยร่วมงาน Harry Shuster ยินยอมออกเงินให้ประมาณหนึ่งในสาม (น่าจะประมาณ $30,000 เหรียญ) อีกสองส่วนที่เหลือคือเงินเก็บของ Loden & Kazan และผองเพื่อน

I feel that I’ve had a lot of things against me, aside from the fact that I’m a woman. I’m not part of a group, like the film schools, where a lot of people work together and help each other. I’ve had to do everything myself, and it’s much harder that way. When I was trying to raise money for the film, people were reluctant to give me any because they thought it was a woman’s lib thing, or something like that.


พื้นหลังเหมืองถ่านหิน Pennsylvania, เรื่องราวของ Wanda Goronski (รับบทโดย Barbara Loden) หญิงสาวผู้มีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า ใช้ชีวิตด้วยความน่าเบื่อหน่าย จึงตอบตกลงหย่าร้างสามี แล้วออกเดินทางเตร็ดเตร่ เร่ร่อน ร่วมหลับนอนผู้ชาย One-Night Stand (ONS) ไร้งาน ไร้เงิน จับพลัดจับพลูพบเจอ Norman Dennis (รับบทโดย Norman Dennis) โจรกระจอกกำลังปล้นบาร์แห่งหนึ่ง

Norman เป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ ท่าทางลุกลี้ร้อนรน รับประทานยาแก้ปวดหัวอยู่ตลอดเวลา ช่วงแรกๆก็เต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่อ Wanda แต่ทั้งสองก็ร่วมออกเดินทาง ดักปล้นร้านรวงข้างทาง จนกระทั่งเขาครุ่นคิดวางแผนโจรกรรมธนาคาร ด้วยการให้เธอเป็นคนขับรถพาหลบหนี แล้วเรื่องวุ่นๆวายๆกลายเป็นหายนะก็บังเกิดขึ้น


ยัยเฉื่อย Wanda เป็นหญิงสาวไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนัก เลยมักถูกเอารัดเอาเปรียบ บุรุษทั้งหลายสนเพียงเพศสัมพันธ์ข้ามคืน (One-Night Stand) ภายในจึงเต็มไปด้วยความอดกลั้น ขมขื่น แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรยังไง ไร้งาน ไร้เงิน ไร้การศึกษา ถูกสามีฟ้องหย่าร้าง ออกเดินทางร่อนเร่ เตร็ดเตร่ จนกระทั่งพบเจอ Norman Dennis แม้ถูกบีบบังคับ กระทำสิ่งขัดแย้งสามัญสำนึก กลับรู้สึกชีวิตเหมือนมีคุณค่า พบเจอใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง

I created Wanda as a woman who is very passive, and very accepting of the conditions of her life. She’s a woman who was born into a situation that she couldn’t escape from. And yet, I think there’s a strength in her, a certain resilience. She’s very much in touch with her own feelings and her own needs, and she’s very much a woman of the moment. She has an ability to find pleasure in small things, like the sun shining on her face, or a good cup of coffee. She’s very human, very real, and very much a product of her circumstances.

Barbara Loden

การปรับแก้ไขบทภาพยนตร์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ Loden กลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับตัวละคร Wanda เวลาทำการแสดงเลยดูเหมือนไม่ต้องปรุงแต่งอะไร เพียงเล่นเป็นตนเอง ท่าทางทึ่มๆทื่อๆ สีหน้าเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย สายตาเหม่อล่องลอย สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราดไว้ภายใน แต่ใครเคยรับชมผลงานอื่นๆของเธอ อาจรู้สึกเหมือนพลิกบทบาท ราวกับเป็นคนละคน (บทบาทอื่นๆต่างหากละที่เกิดจากปรุงแต่งการแสดง)

ตัวละคร Wanda ไม่ได้มีความสวยสาว ‘zombie-like beauty’ อุปนิสัยยังหาความน่าชื่นชอบไม่ได้ นักวิจารณ์บางคนเรียกว่า “Wanda is a totally loser”. แต่นั่นคือเป้าหมายของผกก. Loden เพราะเชื่อว่าผู้ชม/หญิงสาวสมัยนั้นจะสามารถจับต้อง เชื่อมโยงสัมพันธ์ รู้สึกสงสารเห็นใจ ตระหนักถึงสิ่งเลวร้ายบังเกิดขึ้น

Loden’s performance is one of the treasures of American cinema. She was the wife of the director, Kazan, and here shows the feeling of a person who is simply not making the grade in life, and who is too passive, or uncertain, or defeated, or whatever, to take steps to change things. The mystery of Wanda is that she is not unhappy. She accepts her lot, such as it is, and seems resigned to it. This acceptance is the key to the film’s greatness; Wanda is not a victim, but a woman who simply isn’t able to do better. Loden does not even seem to be acting; she seems to have made herself invisible and let the character come through.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

ต้องถือว่า Wanda เป็นตัวแทนหญิงอเมริกัน ชนชั้นทำงาน (Working Class) ช่วงทศวรรษ 60s-70s มีความยากจน ต้องต่อสู้ดิ้นรน ไร้งาน ไร้เงิน ใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย ถูกกดขี่ข่มเหงโดยเพศชาย ไม่รู้จะทำอะไรยังไงกับตนเอง เพียงยินยอมรับโชคชะตากรรม ทอดถอนลมหายใจไปวันๆ


Michael Patrick Higgins Jr. (1920-2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบหลงใหล Shakespeare, หลังได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากสงคราม มีโอกาสแสดงละครเวที Broadway, ตามด้วยซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ The Arrangement (1969), Wanda (1970), The Conversation (1974), Angel Heart (1987) ฯ

รับบท Norman Dennis ชายผู้มีความเก็บกด อึดอัดอั้น เต็มไปด้วยอารมณ์เกี้ยวกราดกับชีวิต อาจเพราะไม่สามารถหางานทำ เลยจำใจกลายเป็นโจร จับพลัดจับพลูพบเจอ Wanda ในตอนแรกก็เต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต ไม่พึงพอใจที่อีกฝ่ายทึ่มทื่อ ซื่อบื้อ เชื่องชักชา ถึงอย่างนั้นกลับยินยอมให้ติดสอยห้อยตาม ออกคำสั่ง บีบบังคับโน่นนี่นั่น รู้สึกผ่อนคลายเล็กๆเมื่อได้อยู่เคียงข้าง

ตัวละคร Norman ถือเป็นขั้วตรงข้ามกับ Wanda แต่แม้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกต่าง คนหนึ่งชอบบงการ อีกคนเพียงก้มหัวทำตามคำสั่ง ทั้งสองกลับสามารถเติมเต็มสิ่งขาดหาย กลายเป็นที่พึงพักพิงของกันและกัน

มีนักแสดงหลายคนที่ Loden & Kazan พยายามติดต่อหา ชักชวนมารับบท แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นว่าผู้หญิงสามารถกำกับภาพยนตร์ Higgins ในตอนแรกก็เฉกเช่นเดียวกัน เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ จนกระทั่งมีโอกาสพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายหลังให้สัมภาษณ์ชื่นชมการร่วมงานครั้งนี้อย่างออกนอกหน้า

I knew that Barbara was a gifted writer and actress, but I was really surprised at how gifted she was as a director. She had a real vision for the film and was able to create an atmosphere on set that was both supportive and challenging. She had a great eye for detail and was always looking for ways to make the scenes more authentic and true to life.

I was also really impressed by the way Barbara worked with the actors. She was very collaborative and always open to our ideas and suggestions. She had a real gift for bringing out the best in people and creating a sense of trust and camaraderie on set.

Michael Higgins

การแสดงของ Higgins ถือว่าน่าประทับใจอย่างมากๆ ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความตึงเครียด เกรี้ยวกราด หวาดกังวล บ่อยครั้งแสดงอาการรุกลี้รุกรน กระวนกระวาย ไม่เชื่อวางใจใครง่ายๆ คำพูดจาก็มักดูถูกเหยียดหยาม ออกคำสั่งในเชิงบีบบังคับ เหล่านี้คงไม่ใช่บุรุษในอุดมคติที่หญิงสาวจะชื่นชอบหลงใหล

ฉากที่ถือว่าน่าประทับใจสุดๆ คือขณะพบเห็นเครื่องบินของเล่นร่อนไปร่อนมา แล้วจู่ๆทำตัวเหมือนเด็กน้อย ตะโกนโหวกเหวก ส่งเสียงเรียกหา ปีนป่ายขึ้นไปบนหลังคารถ ขัดแย้งภาพลักษณ์/พฤติกรรมแสดงออกก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง … เป็นการแสดงให้เห็นถึงด้านอ่อนแอ เปราะบางที่อยู่ภายใน

Michael Higgins, an actor I had not seen before, is unforgettable as Norman, conveying a complex mixture of anger, bitterness, and vulnerability that is both raw and deeply affecting. Loden is not afraid of showing us characters who are not particularly likable, and Higgins’ performance is a case in point – his Norman is often angry and even abusive, but we also see the hurt and fear that underlie his behavior.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

ถ่ายภาพ/ตัดต่อโดย Nicholas T. Proferes (เกิดปี 1936) ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผกก. D. A. Pennebaker เป็นผู้ช่วยถ่ายภาพ/ตัดต่อสารคดี Primary (1960), แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ (Feature Film) แต่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้กำกับ Barbara Loden ชักชวนมาร่วมงาน Wanda (1970)

I was very reluctant. I had never shot any feature… Also, working with a woman, an actress – [that] didn’t seem a good idea, or even an interesting idea. I don’t know what made me do it

Nicholas Proferes

นั่นเพราะสิ่งที่ผกก. Loden ต้องการจาก Proferes คือความเรียบง่าย รวดเร็ว คนเดียวทำได้หลายอย่าง (jack-of-all-trade) เพราะงบประมาณจำกัด ในกองถ่ายจึงมีสมาชิกเพียง 4 คน (ผกก. Loden, ตากล้อง/ตัดต่อ Proferes, จัดแสง/บันทึกเสียง Lars Hedman, และผู้ช่วยกองถ่าย Christopher Cromin) ถ่ายทำโดยใช้กล้อง 16mm ด้วยแสงธรรมชาติ ยังสถานที่จริงทั้งหมด ในระยะเวลาประมาณ 10 สัปดาห์

งานภาพของหนังพยายามทำออกมาให้มีความเป็นธรรมชาติ (Naturalistic) นิยมถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ โดยกล้องมักขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องๆช้าๆ (ให้เข้ากับความเอื่อยเฉื่อยของ Wanda) บางครั้งดูสั่นๆจากกล้อง Hand-Held & Steadicam (เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจตัวละคร) และถ่ายภาพระยะไกล Extreme-Long Shot (ให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง มนุษย์ตัวเล็กๆท่ามกลางโลกกว้างใหญ่)

I wanted to capture the barrenness and ugliness of the landscape, and also the interior lives of the characters. I wanted the camera to be unobtrusive, to let the actors be the focus, and to give the viewer a sense of being there with them. We used natural light and minimal lighting, and shot on 16mm film, which gave the images a grainy, raw quality that I think suited the story and the characters.

Barbara Loden

ตามบทหนังดั้งเดิม วางแผนจะเดินทางไปถ่ายทำยังรัฐทางตอนใต้ แต่ด้วยงบประมาณจำกัด จึงปักหลักอยู่ Pennsylvania และ Connecticut ประกอบด้วย

  • เหมืองถ่านหิน (Coal Mining) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Olyphant, Pennsylvania ปัจจุบันเหมือนจะปิดกิจการไปแล้ว
  • Trumbull Shopping Park ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Trumbull Mall ห้างสรรพสินค้าแบบปิดแห่งแรกในรัฐ Connecticut เปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 1964
  • Holy Land USA Theme Park ตั้งอยู่ Waterbury, Connecticut สถานที่ที่ Norman พบเจอบิดา
  • ธนาคาร Third National Bank ตั้งอยู่ 120 Wyoming Ave. ณ Scranton, Pennsylvania
  • ตอนจบของหนังถ่ายทำยัง Sandy Hook, Connecticut

มันช่างเป็นการก้าวเดินที่เยิ่นยาวนานยิ่งนัก Wanda ออกจากบ้านของพี่สาว เพื่อติดตามหา ต้องการขอหยิบยืมเงินบิดา หนังจงใจถ่าย ‘Long Take’ จากระยะไกลโคตรๆ Extreme-Long Shot ซึ่งจะมีทั้งการซูม และแพนนิ่งติดตาม … จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า และชีวิตที่ดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมายของตัวละคร Wanda

The walking sequence -it’s my favorite sequence in the film- was, for me, an affirmation of her life. Even though she’s walking toward something that’s not very hopeful, she’s walking and she’s alive and she’s looking around. She’s living in the present, not in the future, not in the past, but in the present. And I think that’s the way she lives her whole life.

Barbara Loden

ภาพยนตร์ที่ Wanda ซื้อตั๋วเข้าไปรับชมคือ El golfo (1969) ภาพยนตร์สัญชาติ Spanish & Mexican กำกับโดย Vicente Escrivá ในเว็บ IMDB ไม่มีรายละเอียดใดๆ

ผมเพิ่งรับชม Je Tu Il Elle (1974) เมื่อไม่กี่วันก่อน เลยตระหนักถึงอัตราส่วน/การมีตัวตนของหญิงสาวในเฟรมนี้ สังเกตว่าเตียงนอนออกจะกว้างใหญ่ แต่ฝ่ายชาย Norman กลับยึดครองสองในสาม หลงเหลือเพียงบริเวณอันคับแคบให้กับ Wanda ดิ้นสักนิดก็อาจตกเตียง

หลายๆเหตุการณ์ในหนังเห็นว่าเกิดจากการ ‘improvised’ พบเจออะไรน่าสนใจก็ปรับเปลี่ยนแก้ไขตามสถานการณ์ อย่างซีเควนซ์นี้บังเอิญพบเจอกลุ่มวัยรุ่นกำลังควบคุมรีโมท ขับเครื่องบินของเล่น ผกก. Loden เลยเสนอแนะ Higgins เห็นชอบด้วยเลยทำการดั้นสดคำพูดตรงนั้น

On the other side of the open field, there was a man with his son, playing with a toy plane guided by remote control. And Barbara said ‘Can you do something with that?’ I loved the idea and said ‘Yes, I can.’ So, while it was flying around, I was saying ‘Come back,’ waving my hand at the plane. Then I jumped on the [top of the] car, and raised my arms toward the sky.

Michael Higgins

ซีเควนซ์นี้ไม่ใช่แค่นำเสนอด้านอ่อนแอ เปราะบาง ทำตัวเหมือนเด็กน้อยของ Norman เท่านั้นนะครับ ก่อนหน้านี้เขาพูดคุยสอบถาม Wanda ว่ามีเป้าหมายอะไรในชีวิต? จากนั้นเปลี่ยนหัวข้อเกี่ยวกับทรงผมยุ่งๆของเธอ แล้วถึงพบเห็นเครื่องบินบนท้องฟ้า ทั้งสอง-สามสิ่งนี้ล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างคาดไม่ถึง! (เครื่องบิน=ทรงผม=เป้าหมายชีวิต)

แฟชั่นหมวก ทรงผม และเครื่องแต่งกายของ Wanda สะท้อนบุคลิก ตัวตนของเธอได้อย่างชัดเจน

  • เสื้อลายดอก กางเกงสีพื้นขายาว ศีรษะยังมีโรลม้วนผม ดูเฉิ่มเชย บ้านนอก หรือจะมองว่าไม่ยี่หร่ากับภาพลักษณ์ของตนเอง
  • หลังจาก Norman สั่งให้ Wanda ไปหาหมวกใส่
    • ในตอนแรกสวมเสื้อแขนกุด ลายดอกไม้ กางเกงขายาว โทนเขียว-เหลือง และหมวกลวดลายดอกไม้ … นี่คือชุดที่มีความสดใส ความต้องการเลือกเองของ Wanda
    • แต่กลับถูก Norman บีบบังคับไม่ให้สวมใส่กางเกง ต้องชุดเดรส กระโปรงสั้น รองเท้าส้นสูง … เป็นชุดที่ดูไฮโซ สร้างภาพให้หรูหรา

หนึ่งในความเฉื่อยของ Wanda หลังได้ยินข่าวการเสียชีวิตของ Norman คงยังมิอาจทำใจ สายตาเหม่อล่องลอยไป ไม่รับรู้ตัวด้วยซ้ำว่าถูกล่อลวงโดยทหารนายหนึ่ง ขับรถจะพาไปข่มขืน จนกระทั่งอีกฝ่ายเริ่มใช้กำลังถึงค่อยฟื้นคืนสติ ต่อสู้ดิ้นรน วิ่งหลบหนีหายเข้าไปในป่าใหญ่

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือข่าวในโทรทัศน์ พูดถึงระเบิดปลอมที่ Norman ตระเตรียมไว้ แต่เสียงบรรยาย(ทางโทรทัศน์)ดังต่อเนื่องมาจนขณะ Wanda กำลังถูกข่มขืน แสดงว่ายังสามารถสื่อถึงความเกรี้ยวกราดที่สะสมอยู่ภายในจิตใจ ทำไมฉันถึงประสบพบเจอแต่เหตุการณ์ร้ายๆ

ภาพสุดท้ายของ Wanda รายล้อมรอบด้วยบุคคลที่กำลังสังสรรค์ เฮฮาปาร์ตี้ ดนตรีบรรเลงอย่างสนุกสนานครื้นเครง แต่เธอกลับนั่งเหงาหงอย เศร้าซึม ไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งใดๆ ทำไมโลกใบนี้ช่างเหี้ยมโหดร้ายกับฉัน หลงเหลือตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวจิตวิญญาณ

นี่เป็นช็อตที่สะท้อนตัวตน/ประสบการณ์ชีวิตของผกก. Loden เต็มไปด้วยความเก็บกด เกรี้ยวกราด ต่อโชคชะตาและโลกใบนี้ มันช่างไม่ยุติธรรมต่อฉันเอาเสียเลย

I have a lot of pain and suppressed anger in me, just like Wanda

Barbara Loden

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Wanda Goronski ในวันที่ต้องไปขึ้นศาลเซ็นใบหย่าร้างสามี จากนั้นเตร็ดเตร่ เร่ร่อน ออกเดินทางอย่างไร้จุดหมาย จนกระทั่งได้พบเจอ Norman Dennis จับพลัดจับพลูกลายเป็นโจรปล้นธนาคาร แต่แล้วโชคชะตาก็นำพาเธอให้ตกอยู่ในความหมดสิ้นหวังอีกครั้ง

  • วันแห่งความสิ้นหวังของ Wanda Goronski
    • ตื่นเช้ายังบ้านของพี่สาว สามีของเธอแสดงความไม่พึงพอใจ Wanda
    • ก้าวออกเดินไปขอเงินจากบิดา
    • มุ่งหน้าสู่ศาลเพื่อเซ็นใบหย่าสามี
    • ไปที่ทำงานก็ถูกปฏิเสธว่าจ้าง
    • ค่ำคืนนี้ยังถูกล่อหลอก One-Night Stand (ONS) แล้วโดนทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย
  • การพบเจอ Norman Dennis
    • Wanda จับพลัดจับพลูเข้าไปในบาร์แห่งหนึ่ง โดยไม่รับรู้ว่ากำลังถูกปล้นโดย Norman
    • ทั้งสองใช้เวลาค่ำคืนร่วมกันด้วยความหวาดระแวง
    • เช้าวันถัดมา Norman ลักขโมยรถ ออกเดินทางหลบหนี จนกระทั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ Wanda ถึงรับรู้ความจริง
    • ด้วยความดื้อรั้นของ Wanda ทำให้ Norman ตัดสินใจยินยอมรับเข้าพวก บีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น สวมเสื้อผ้าตามใจฉัน
  • เรื่องวุ่นๆของการปล้นธนาคาร
    • หลังจากดูลาดเลาที่ธนาคาร Norman เดินทางไปเยี่ยมเยียนบิดา แล้วซักซ้อมแผนการกับ Wanda
    • เริ่มจากลักพาตัวนายธนาคารที่บ้านพักตากอากาศ
    • ขับรถออกเดินทางสู่ธนาคาร แต่แล้วเรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้นกับ Wanda
    • แม้ไร้หนทางหลบหนี Norman ยังคงตัดสินใจปล้นธนาคาร ก่อนถูกตำรวจห้อมล้อมจับกุมตัว
  • เหตุการณ์หลังจากนั้น
    • Wanda ในสภาพล่องลอย หมดอาลัยตายอยาก ถูกล่อลวงโดยชายคนหนึ่ง พยายามจะข่มขืนแต่สามารถดิ้นหลบหนี
    • เดินเตร็ดเตร่ไปถึงยัง Sandy Hook, Connecticut ถูกลากพามายังงานเลี้ยงปาร์ตี้ ทุกคนช่างมีความสุขสันต์ แต่เธอกลับตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง

ลีลาการตัดต่อของหนังมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีเทคนิคอะไรหวือหวา มุ่งเน้นนำเสนอความต่อเนื่องด้านการแสดง ให้ผู้ชมติดตามตัวละคร พบเห็นทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับตัวเธอโดยไม่มีลับลมคมในอะไร

I wanted the film to be simple, direct, and uncluttered, and to avoid any unnecessary camera movements. It’s an extremely simple film, actually; there are long takes and very few camera movements. We edited very closely to the camera work, not just for rhythm but for the continuity of the actors’ performances.

I didn’t want to do the kind of editing that’s done in Hollywood, where you show somebody driving up to a house and then cut to them coming out of the car and going into the house. I wanted the camera to follow her and the audience to follow her, and to feel what she felt.

Barbara Loden

เพื่อสัมผัสความสมจริงของหนัง จึงไม่มีการใช้บทเพลงประกอบนอกเสียจาก ‘diegetic music’ ได้ยินจากวิทยุ ผับบาร์ และช่วงท้ายแสดงดนตรีสด ณ Sandy Hook, Connecticut


ยัยเฉื่อย Wanda แม้เป็นผู้หญิงพึ่งพาตัวเองไม่ค่อยได้ แต่สิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าคือสภาพสังคม ผู้คนรอบข้าง ต่างพยายามฉกฉวยโอกาส เอารัดเอาเปรียบ One-Night Stand (ONS) ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากตัวเธอ (ทั้งๆก็ไม่มีอะไรจะให้อยู่แล้ว) รับชมภาพยนตร์หลายคนอาจรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่ในชีวิตจริงเรากลับไม่เคยเหลียวแลคนประเภทนี้ด้วยซ้ำไป

ทศวรรษ 60s คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่คลื่นลูกใหม่ในวงการภาพยนตร์ แต่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ผู้คนรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม โค่นล้มล้างขนบประเพณี รูปแบบวิถีทางสังคม รวมถึงระบอบการเมือง(เผด็จการ)ที่พยายามควบคุมครอบงำ กดขี่ข่มเหงประชาชนให้จมอยู่แทบเท้า

แม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือสิ่งถูกต้องเหมาะสม แต่ใช่ว่าผู้คนจะสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีทางรูปแบบใหม่ได้โดยทันที ผมครุ่นคิดว่าผกก. Barbara Loden สรรค์สร้างภาพยนตร์ Wanda (1970) เพื่อสะท้อนสภาพเป็นจริงของหญิงสาวยุคสมัยนั้น ล่องลอยเคว้งคว้าง ยังไม่รู้จะทำอะไรยังไงกับเสรีภาพได้รับมา

เพราะอิสรภาพที่ Wanda ได้รับหลังจากเซ็นใบหย่า ทำให้เธอกลายเป็นคนเตร็ดเตร่ เร่รอน ไร้หลักแหล่งพึ่งพักพิง นั่นนะหรือสิทธิสตรี/เสรีภาพที่ใครต่อใครพยายามเรียกร้องหา อุดมคติดังกล่าวยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน กว่าคนส่วนใหญ่จะเรียนรู้จัก ยินยอมรับ เข้าใจแนวคิดเสมอภาคเท่าเทียม

สำหรับ Wanda ผู้ชายร้ายๆ ทรงอย่าง Norman (พฤติกรรมชายคนนี้ถือเป็นศัตรูของ Feminist) แต่กลับสามารถเติมเต็ม เข้าใจความต้องการ ที่พึ่งพักพิงของกันและกัน … นี่ไม่ใช่ลักษณะ Anti-Feminist แต่เป็นการสะท้อนสภาพความเป็นจริงของชีวิต ไม่ได้สวยเลิศหรูอย่างพวกสตรีนิยม(ยุคสมัยนั้น)เรียกร้องกัน

I didn’t think of it as a woman’s liberation film, but it is. I think I was more interested in the existential dilemma that Wanda found herself in.

Barbara Loden

วัยเด็กของ Loden เติบโตขึ้นด้วยความยากลำบาก ถูกบิดา-มารดาทอดทิ้ง มีชีวิตล่องลอยเคว้งคว้าง ไร้เป้าหมายความต้องการใดๆ จนกระทั่งจุดๆหนึ่งโหยหาการมีตัวตน ต้องการพิสูจน์ตัวเอง ออกเดินทางสู่ New York ร่ำเรียนการแสดงทั้งๆไม่ชอบสื่อภาพยนตร์ เกี้ยวพาราสี ตอบตกลงแต่งงานสามีคนแรก Laurence Joachim เพียงเพราะ “I want to be famous…” มีบุตรด้วยกันสองคน ก่อนตัดสินใจเลิกราหย่าร้างเมื่อมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ของ Elia Kazan ​

ผมครุ่นคิดว่าเราสามารถเปรียบเทียบตัวละคร Norman ได้ตรงๆกับ Elia Kazan ต่างเป็นจอมบงการ เลื่องลือเรื่องความเผด็จการในกองถ่าย เมื่อครั้นเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ The Arrangement (1969) ให้คำนิยามว่า “an autobiographical study of him and his wife”. ตั้งใจจะให้ Loden รับบทนางเอกประกบ Marlon Brando แต่พอเปลี่ยนมานักแสดงฝ่ายชายมาเป็น Kirk Douglas เลยต้องเลือกนางเอกใหม่ Faye Dunaway นั่นสร้างความไม่พึงพอใจ อย่างไม่ให้อภัย

(เราสามารถเปรียบเทียบภาพยนตร์ The Arrangement (1969) กับการปล้นธนาคารของ Norman ที่หลังจากทอดทิ้ง Loden/Wanda พวกเขาต่างประสบความล้มเหลวระดับหายนะ)

ภายหลังจาก Wanda (1970) ไปคว้ารางวัลเทศกาลหนังเมือง Venice โดยไม่รู้ตัวทำให้ Loden ปรับเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน

When I first met her, she had little choice but to depend on her sexual appeal. But after Wanda she no longer needed to be that way, no longer wore clothes that dramatised her lure, no longer came on as a frail, uncertain woman who depended on men who had the power… I realised I was losing her, but I was also losing interest in her struggle… She was careless about managing the house, let it fall apart, and I am an old-fashioned man

She had succeeded completely in making a life independent.

Elia Kazan เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของ Barbara Loden ภายหลัง Wanda (1970)

ผมหารายละเอียดไม่ได้ว่า Kazan หย่าร้าง Loden ตอนไหน? แต่ทั้งสองยังคงไปมาหาสู่ เพราะเขารับรู้ว่าเธอล้มป่วยมะเร็งเต้านม พยายามให้กำลังใจพัฒนาโปรเจคเรื่องถัดไป ถึงอย่างนั้นเธอก็ทำได้เพียงกำกับละครเวที หนังสั้นการศึกษา และสอนวิชาการแสดงกับเด็กๆที่เทิดทูนราวกับนักบุญ ก่อนจะสิ้นลมหายใจด้วยความเกรี้ยวกราด “Shit! Shit! Shit!” สิริอายุเพียง 48 ปี


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice น่าเสียดายที่ช่วงทศวรรษนั้นไม่มีการจัดประกวดแข่งขัน ถึงอย่างนั้น Wanda (1970) กลับยังสามารถคว้ารางวัล Pasinetti Award: Best Foreign Film เอาจริงๆก็ถือว่าไม่ต่างจาก Golden Lion เป็นที่หลงใหลคลั่งไคล้จากผู้ชม/นักวิจารณ์ฟากฝั่งยุโรป

ผิดกับเมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ต่างมองข้าม ถูกต่อต้าน พยายามเปรียบเทียบกับ Bonnie and Clyde (1967) แม้ด้วยทุนสร้างเพียง $100,000 เหรียญ แต่ก็ไม่เคยทำกำไรคืนกลับมา

Wanda is not just dull and uninteresting, she is ungraspable. She is so insipid, so almost deliberately inarticulate, that one cannot even pity her, much less comprehend her.

Stanley Kauffmann นักวิจารณ์จาก The New Republic

The picture’s not much good, but it’s just slow enough and boring enough to make you think it’s supposed to be great… There’s no humor, no wit, no tension, no suspense, and no drama, and nothing happens that isn’t obvious from the start.

Rex Reed นักวิจารณ์จาก The New York Observer

แต่กระแสนิยมอย่างต่อเนื่องในยุโรป ทำให้ผู้ชมในสหรัฐอเมริกาค่อยๆตระหนักถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อหนัง ปัจจุบันได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างมากๆ ถึงขนาดติดอันดับ “Greatest Film of All-Times” ของนิตยสาร Sight & Sound โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ค.ศ. 2022 เกาะกระแส Feminist ไต่ขึ้นถึง Top50

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 202 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ 45 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2022 อันดับ 93 (ร่วม)

Barbara Loden’s Wanda is a gem of a film, with a touch of John Cassavetes and a hint of early Terrence Malick, yet a movie that is completely its own thing. Loden makes Wanda’s unvarnished world absolutely authentic: this is America, working-class America, the America of the gas station and the diner, the drab streets and the rundown hotel rooms, the one that has so often been neglected.

Peter Bradshaw นักวิจารณ์จาก The Guardian

Wanda (1970) is one of the great independent films of the nineteen-seventies, a landmark work of American realism. Loden’s direction, with its spare, observational style, is rigorous in its unpretentiousness; the camera remains, as it were, a respectful and empathetic but unyielding distance from Wanda, recording her with a vividness that, paradoxically, imparts a subtle sense of the inscrutability of her character. Loden’s performance, too, is a masterpiece of its kind: from her clothes to her posture to her way of speaking, she conveys the trapped and helpless condition of a woman who doesn’t know what she wants and is too battered and too resigned to try to find out.

Richard Brody นักวิจารณ์จาก The New Yorker

ความที่ต้นฉบับถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm แถมยังเป็นหนัง Indy (ไม่มีสตูดิโอจัดจำหน่าย) การบูรณะจึงเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก โชคดีได้รับการสนับสนุนจาก The Film Foundation ร่วมกับ Gucci เข้าโครงการของ UCLA Film & Television Archive เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2010 คุณภาพ 2K, ปัจจุบันสามารถหาซื้อ Blu-Ray และรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังอย่างมากๆยิ่งกว่า Breathless (1960), Bonnie and Clyde (1967) สร้างความตระหนักถึงการเป็นอาชญากร ปัญหาสังคม สิทธิสตรีได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการแสดง/กำกับของ Barbara Loden ชวนให้รู้สึกสมเพศเวทนาแบบเดียวกับ Dog Day Afternoon (1975)

ในบรรดาภาพยนตร์แนว Feminist นอกจาก Jeanne Dielman (1975) ก็มี Wanda (1970) ทำให้ผมตระหนักถึงแนวคิดสิทธิสตรีที่จับต้องได้ เรียบง่ายแต่ทรงพลัง สร้างความเข้าใจ สั่นสะท้านทรวงใน

จัดเรต 15+ กับความเอื่อยเฉื่อย บรรยากาศตึงเครียด ก่ออาชญากรรม ปล้นธนาคาร

คำโปรย | ยัยเฉื่อย Wanda อาจดูน่าเบื่อหน่าย แต่ถ้าใครสามารถทำความเข้าใจ จะพบเห็นความมหัศจรรย์ของชีวิต
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Kladivo na čarodějnice (1970)


Witchhammer (1970) Czech : Otakar Vávra ♥♥♥♥

การล่าแม่มดตามคัมภีร์ Malleus Maleficarum (ค.ศ. 1487) หรือ Witchhammer คือวิธีการของพวกผู้มีอำนาจ ใช้ความกลัวเป็นเหยื่อล่อ เมื่อถูกทัณฑ์ทรมาน ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส ไม่ว่าใครก็ต้องยินยอมรับสารภาพผิด (ที่ไม่ได้ก่อ) … นั่นคือสถานการณ์การเมืองใน Czechoslovakia ช่วงทศวรรษ 60s

“ล่าแม่มด” คือกิจกรรมของพวกอ้างตนว่ามีความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า แล้วปฏิบัติต่อบุคคลครุ่นคิดเห็นต่างด้วยการใส่ร้ายป้ายสี อ้างว่าอีกฝั่งฝ่ายฝักใฝ่ลัทธิซาตาน กระทำการนอกรีต สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ถึงขนาดเขียนคัมภีร์ชื่อว่า Malleus Maleficarum (ค.ศ. 1487) หรือ Witchhammer เรียบเรียงโดยเสมียนชาวเยอรมัน Heinrich Kramer (1430-1505) สำหรับใช้พิจารณาตัดสินคดีความผิด (Trial) เค้นหาตัวแม่มดมาลงโทษถูกเผาทั้งเป็น!

แม่มดมีอยู่จริงหรือไม่นั้น ไม่ใครให้คำตอบได้นะครับ เช่นเดียวกับพระเจ้าผู้สร้างก็ไร้หนทางพิสูจน์ มันเป็นเรื่องของ ‘ศรัทธา’ แต่ใครเชื่ออย่างแรงกล้าว่ามีอยู่จริง ก็มักปฏิเสธความคิดเห็นของอีกฝั่งฝ่ายหัวชนฝา ไม่ต่างจากขั้วการเมืองซ้าย-ขวา ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ นั่นคือต้นสาเหตุความขัดแย้งทั้งปวง ไม่มีทางที่บุคคลสุดโต่งสองฟากฝั่งจะสามารถประณีประณอมเข้าหากัน

ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา “ล่าแม่มด” กลายเป็นศัพท์แสลงที่ใช้กล่าวถึงสมาชิกคอมมิวนิสต์ที่หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศประชาธิปไตย …vice versa… ต่างเรียกคนครุ่นคิดต่างเหล่านั้นว่ากบฎ สายลับ พยายามสรรหาสรรพวิธีเปิดโปง จับกุมตัว เพื่อที่จะขับไล่ ผลักไส ทำให้สูญเสียชื่อเสียงต่อหน้าสาธารณะ

โด่งดังที่สุดทางฝั่งโลกตะวันตกน่าจะเป็น Hollywood Blacklist ช่วงทศวรรษ 50s คนในวงการบันเทิงที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกบีบบังคับให้ออกมาชี้ตัวสมาชิก ใครมีหลักฐานชัดเจนก็จักสูญเสียโอกาสในหน้าที่การงาน ไม่ได้รับการยินยอมรับจากสาธารณชน

ขณะที่ทางฝั่งยุโรปตะวันออก (Eastern Bloc) ขอกล่าวถึงเมื่อครั้น Czechoslovakia ถูกรุกรานโดยสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1968 เพื่อเข้ามาควบคุมจัดการความขัดแย้งภายใน ใครไหนที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพ ต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จักถูกไล่ล่าติดตามตัว นำมาทัณฑ์ทรมานเพื่อให้ชี้หาตัวผู้ร่วมขบวนการ แทบไม่แตกต่างจากพฤติการ “ล่าแม่มด”

ผมตั้งใจจะเริ่มเทศกาล Halloween (ที่เลยมาแล้ว) ด้วยหนังแนว Horror เน้นสร้างความเขย่าขวัญ สั่นประสาท จิตวิทยา (Psychological Horror) ทีแรกแอบคาดหวัง Witchhammer (1970) จะมีบรรยากาศแฟนตาซีคล้ายๆ Häxan (1922) แต่กลับออกเป็น The Passion of Joan of Arc (1928) ผสมกับ Day of Wrath (1943) (ทั้งสองเรื่องกำกับโดย Carl Theodor Dreyer) ที่สามารถเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองยุคสมัยนั้น

ความโคตรหลอกหลอก ทำเอาผมนอนไม่หลับเป็นชั่วโมงๆ เกิดจากบรรยากาศตึงเครียด สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด ภายในลุกไหม้ยิ่งกว่าเปลวเพลิง (ที่ใช้แผดเผาแม่มด) จะมีใครเอาตัวรอดจากทัณฑ์ทรมาน ถูกพิพากษาตัดสินโดยผู้ไต่สวน (inquisitor) ที่โคตรคอรัปชั่น ไร้ซึ่งความยุติธรรม แถมได้รับการสนับสนุนหลังจากผู้มีอำนาจบาดใหญ่ … เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกประวัติศาสตร์/การเมือง Czechoslovakia และมีความทรงพลังทางอารมณ์อย่างยิ่ง!


Otakar Vávra (1911-2011) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Czech เกิดที่ Hradec Králové, Austria-Hungary เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ Prague เลือกสาขาสถาปัตยกรรม แต่ระหว่างนั้นเองมีโอกาสเขียนบทหนัง ถ่ายทำสารคดีสั้น เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาเอาจริงเอาจังด้านนี้

  • ผลงานในยุคแรกๆจะเป็นแนวทดลอง มองหาความท้าทายใหม่ๆในการสร้างภาพยนตร์ อาทิ Panenstvi (1937), The Merry Wives (1938) ฯ
  • ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้การยึดครองของ Nazi พยายามสร้างภาพยนตร์ที่เป็นกลางทางการเมือง แต่สะท้อนสภาพจิตวิทยาของผู้คนยุคสมัยนั้น
  • หลังสงครามเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อโอกาสในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ อาทิ Hussite Trilogy, Romance for Bugle (1966), Witchhammer (1969), Days of Betrayal (1973) ฯลฯ

Vávra เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองในประเทศ Czechoslovak เพื่อโอกาสในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ แม้นั่นอาจทำให้พวก(การเมือง)หัวรุนแรงไม่ยินยอมรับ ตีตรา ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ แต่ก็ต้องถือว่าคือผู้กำกับคนสำคัญที่อุทิศตนให้วงการ เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงาน ผู้กำกับรุ่นน้อง แม้ต้องถูกควบคุมครอบงำจากเบื้องบน ถ้าเรายังคงทำงานหนักต่อไป สักวันย่อมต้องพบเห็นแสงสว่างรำไร

He always said a director must make films and uses a phrase that a director without a camera is like a shoemaker without shoes.

What Vávra did he did because he knew what he had to do. His work at the Barrandov film studios raised the professional level of all technical staff and other people involved. And was not alone, you know. Other directors made the same things. But because Vávra is older, and he worked under all the regimes, he became a target of other people’s envy and jealousy. But he didn’t do it for himself; he did it to make Czech cinema better.

Jan Richter บทความจาก Czech Radio

สำหรับ Witchhammer ดัดแปลงจากนวนิยาย Kladivo na čarodějnice (1963) แต่งโดย Václav Kaplický (1895-1982) นักเขียนอิงประวัติศาสตร์ สัญชาติ Czech ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง การพิจารณาตัดสินคดีความแม่มด ณ Northern Moravia (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ Czech Republic) เมื่อช่วงศตวรรษ 1670s นำโดยผู้พิพากษา (inquisitor) ชื่อว่า Jindřich František Boblig of Edelstadt (1612-98) ตัดสินโทษ(อ้างว่าเป็น)แม่มด ถูกเผาตายจำนวนกว่า 100 คน

นำเสนอเรื่องราวของบาทหลวง Kryštof Alois Lautner (รับบทโดย Elo Romančík) พยายามให้การช่วยเหลือบุคคลถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด แต่นั้นสร้างความไม่พึงพอใจต่อ Boblig of Edelstadt (รับบทโดย Vladimír Šmeral) ภายหลังเลยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเสียเอง ได้รับทัณฑ์ทรมานจนท้ายสุดยินยอมรับสารภาพความผิดที่ไม่เคยได้ก่อ

บทภาพยนตร์โดย Otakar Vávra และ Ester Krumbachová พยายามดัดแปลงให้ซื่อตรงต่อต้นฉบับนวนิยายมากที่สุด และเพิ่มเติมหญิงสาว Zuzana Voglicková (รับบทโดย Soňa Valentová) ทำงานเป็นสาวใช้/แม่ครัวของ Kryštof Alois Lautner เพื่อให้ตัวละครนี้มีลักษณะของ ‘Sexual Repression’ (สำหรับเป็นตัวแทน ‘Political Repression’) แอบตกหลุมรักบาทหลวง แต่ไม่สามารถแสดงความต้องการนั้นออกมา


Emanuel ‘Elo’ Romančík (1922-2012) นักแสดงสัญชาติ Slovak เกิดที่ Ružomberok, Czechoslovakia บิดาเป็นนักแสดงละครเวที เลยค้นพบความชื่นชอบด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าร่วมโรงละคร Slovenského národního divadla (Slovak National Theatre) จากนั้นมีผลงานโทรทัศน์ ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Witchhammer (1970), The Assistant (1982) ฯลฯ

รับบท Kryštof Alois Lautner บาทหลวงผู้นอบน้อม บริสุทธิ์จริงใจ ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆ แต่ใครต่อใครกลับมองด้วยสายตาอิจฉาริษยา โดยเฉพาะการมีสาวใช้/แม่ครัวสุดสวยอยู่ข้างกาย เลยตกเป็นเป้าหมายของ Boblig of Edelstadt ครุ่นคิดวางแผนกำจัดให้พ้นภัยทาง อดรนทนต่อทัณฑ์ทรมาน แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ให้กับจอมมาร สูญเสียศรัทธาต่อทุกสรรพสิ่งอย่าง

ความดีพร้อมของตัวละครนี้ทำให้ผมนึกถึงบาทหลวง Padre Nazario จากภาพยนตร์ Nazarín (1959) กำกับโดย Luis Buñuel เลยพอคาดเดาไม่ยากว่าจะต้องถูกทรยศหักหลัง ตกเป็นเหยื่อล่าแม่มด ได้รับทัณฑ์ทรมาน เจ็บปวดแสนสาหัส แต่ก็ผิดหวังเล็กๆที่เขาสูญเสียศรัทธาตอนจบ พลาดโอกาสการเป็นนักบุญไปอย่างน่าเสียดาย

ภาพลักษณ์ของ Romančík ผมรู้สึกว่าเหมาะสำหรับบทบาท ‘Tragic Hero’ ใบหน้าหล่อเหลา แลดูภูมิฐาน มาดชนชั้นสูง ผู้ดีมีสกุล แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนอมทุกข์อะไรบางอย่าง สามารถสร้างความสงสารเห็นใจ โดยเฉพาะถ้าในหนังโรแมนติกพระเอกตายตอนจบ น่าจะทำให้สาวๆร่ำไห้จนสลบไสล

สำหรับบทบาทหลวง Lautner ความท้าทายน่าจะคือพัฒนาการทางอารมณ์ เป็นบุคคลแรกๆที่สามารถสังเกตความผิดปกติของ Boblig of Edelstadt พยายามจะขอความช่วยเหลือใครต่อใคร แต่นั่นทำให้เขาได้ค้นพบธาตุแท้ของผู้คน จนเมื่อถึงคราวของตนเองถูกใส่ร้ายป้ายสี แรกๆยังมีความเชื่อมั่นต่อเพื่อนมนุษย์ ก่อนสุดท้ายเมื่อตระหนักถึงความอยุติธรรม เลยตกอยู่ในความท้อแท้หมดสิ้นหวัง


Vladimír Šmeral (1903-82) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Drásov, Austria-Hungary โตขึ้นเดินทางสู่ Prague เข้าร่วมโรงละคร Osvobozené divadlo (Liberated Theatre), ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไปค่ายกักกัน Wroclaw โชคดีสามารถหลบหนีเอาตัวรอดมาได้ หลังสงครามสมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ Czechoslovak กลายเป็นนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Otakar Vávra มีผลงานภาพยนตร์ อาทิ The World Is Ours (1937) Silent Barricade (1949), Hotel for Strangers (1966), Larks on a String (1970), Witchhammer (1970) ฯลฯ

รับบท Jindřich František Boblig of Edelstadt อดีตผู้พิพากษาที่ถูกตีตราถึงความคอรัปชั่น แต่โชคชะตานำพาให้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวน (inquisitor) คดีความเกี่ยวกับแม่มด โดยใช้คัมภีร์ Malleus Maleficarum สำหรับอ้างอิงการไต่สวน จับผู้ต้องสงสัยมาทำทัณฑ์ทรมาน บีบบังคับให้สารภาพความผิดที่ไม่ได้ก่อ นั่นสร้างความพึงพอใจให้เบื้องบน มอบอำนาจที่แทบจะล้นฟ้า สามารถแบล็กเมล์ กำจัดผู้ครุ่นคิดเห็นแตกต่างให้พ้นภัยทาง

ผมรู้สึกว่า Šmeral ต้องเป็นนักแสดงระดับแนวหน้าของประเทศ Czech อย่างแน่ๆ ฝีไม้ลายมือมีความจัดจ้าน ไม่ใช่แค่ลีลาคำพูด แต่การแสดงออกสีหน้า ท่าทางขยับเคลื่อนไหว มีความกักฬระ สันดานโจร แต่งองค์ทรงเครื่องก็ดูสกปรก รกรุงรัง ล้วนตรงกันข้ามกับความสง่างามของ Romančík สามารถเรียกว่า พระเจ้า-ซาตาน ได้เลยกระมัง

นี่เป็นตัวละครที่เพียงแรกพบเห็น ใครต่อใครก็น่าจะตระหนักได้ว่าหมอนี่ไม่ใช่คนดีแน่ๆ แล้วยังได้รับการสนับสนุนหลังจากเบื้องบน จนกลายมามีอำนาจแทบจะล้นฟ้า นั่นสร้างความน่ารังเกียจ ขยะแขยง ตอกย้ำด้วยพฤติกรรมสุดแสนชั่วช้าสามานย์ และตอนจบขึ้นข้อความว่ามีชีวิตอยู่จนแก่เฒ่า ทำให้จิตใจของผู้ชมห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดสิ้นหวัง … รัฐบาลคอมมิวนิสต์/เผด็จการ มันช่างเหลือทน เกินเยียวยา


ถ่ายภาพโดย Josef Illík (1919-2006) ตากล้องสัญชาติ Czech ชื่นชอบการถ่ายภาพนิ่งตั้งแต่สมัยเรียน จนกระทั่งได้ทำงาน Barrandov Studios เลยผันมาเป็นตากล้องภาพยนตร์ เริ่มจากถ่ายทำสารคดี ทำงานผู้ช่วย ผลงานเด่นๆ อาทิ Smugglers of Death (1959), Coach to Vienna (1966), Witchhammer (1970) ฯลฯ

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ เน้นการจัดวางตำแหน่ง ขยับเคลื่อนไหว ทิศทางมุมกล้อง แสงสว่าง-มืดมิด และที่น่าประหลาดก็คือใช้ CinemaScope (อัตราส่วน 2.35:1) ถ่ายทำภาพขาว-ดำ เพื่อสร้างบรรยากาศอันมืดหมองหม่น หมดสิ้นหวัง และแบ่งแยกแยะดี-ชั่ว ออกจากกันอย่างชัดเจน!

ผมแอบทึ่งในความหรูหรา อลังการของโปรดักชั่นงานสร้าง จัดเต็มรายละเอียดด้วยสถาปัตยกรรม Baroque (บาโรกเป็นยุคสมัยเป็นคำที่สำแดงความมีอำนาจของสถาบันคริสต์ศาสนาและการปกครอง) เพื่อสะท้อนอิทธิพลของคริสตจักรต่อวิถีชีวิต ความเชื่อศรัทธา ก่อให้เกิดลัทธิการไล่ล่าแม่มด เพราะกระทำสิ่งนอกรีต ขัดแย้งต่อข้ออ้างศีลธรรมอันดีงาม


ตลอดทั้งเรื่องจะมีการแทรกภาพชายคนหนึ่งที่แลดูเหมือนบาทหลวง พยายามพูดพร่ำคำสอนที่เต็มไปด้วยอคติต่อหญิงสาว ว่าคือจุดกำเนิดแห่งบาปทั้งปวง มันช่างเป็นคำกล่าวเพ้อเจ้อไร้สาระ (Fantasist) แลดูไม่ต่างจากคนบ้าวิกลจริต คลุ้มคลั่งเสียสติแตก! แต่นั่นคือวิถีความเชื่อของคนยุคสมัยก่อนเกี่ยวกับแม่มด ใช้ข้ออ้างศรัทธาศาสนา หลักศีลธรรมจรรยา สำหรับควบคุมครอบงำ ไม่ต้องการให้ใครประพฤตินอกรีต และกำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นแตกต่าง

สังเกตว่าการปรากฎตัวของชายคนนี้ มักปกคลุมด้วยความมืด ถ่ายทำเพียงใบหน้า บางครั้งโคลสอัพดวงตา ริมฝีปาก เต็มไปด้วยหนวดกรัง สกปรกรุงรัง ทั้งร่างกายและจิตใจ (เทียบไม่ได้กับเรือนร่างอันนวลเนียนของหญิงสาว)

การอาบน้ำของสาวๆ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นจุดขายของหนังนะครับ (แต่หนังก็น่าจะขายได้ดิบได้ดี ก็อาจเพราะฉากนี้ด้วยกระมัง!) ในอารัมบทของหนังนี้ จะมีการตัดสลับคำบรรยายของบาทหลวงคนนั้น สำหรับการอธิบายด้วยภาพ(ประกอบคำพูด) อิสตรีมีความโฉดชั่วร้ายอย่างไร ไม่ใช่ด้วยเวทย์หรือมนต์ แต่คือเรือนร่างกายอันยั่วเย้ายวน ทำให้บุรุษกระทำสิ่งนอกรีต ขัดแย้งต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม ตามความเชื่อศรัทธาพระเป็นเจ้า … นั่นมันไม่ใช่ความผิดของบุรุษเองหรอกหรือ???

ในทิศทางตรงกันข้าม การนำเสนอภาพของสาวๆ(และเด็กๆ)กำลังชำละล้างร่างกาย พวกเธอไม่ได้รู้สึกเหนียงละอาย เพราะมันคือวิถีชีวิตประจำวัน มีใครไหนไม่อาบน้ำกัน? ซึ่งสามารถสื่อถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียง ผิวพรรณนวลผ่อง สะอาดสะอ้านจากการอาบน้ำ (ตรงกันข้ามกับบาทหลวงคนนั้นที่ดูสกปรกรุงรัง)

ในพิธีมิสซาจะมีการร้อยเรียงภาพ ‘Montage’ เริ่มจากรูปปั้นหญิงสาว เทพเทวดา นางฟ้าบนสรวงสวรรค์ ก่อนตัดมายังมนุษย์โลก สาวๆสวยๆ ภรรยาและสาวใช้ เหล่านี้เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมา ก่อนที่โชคชะตาจะนำให้พวกเธอเหล่านี้ต้องถูกตีตราว่าเป็นแม่มด พวกฉันทำผิดอะไรถึงโดนแผดเผาให้ตกตายทั้งเป็น

เกร็ด: โบสถ์แห่งนี้คือ Kostel svatého Jakuba Většího แปลว่า Church of St. Jakub Větší (Saint James the Greater, อัครทูตของพระเยซู) ตั้งอยู่ที่ Prague-Kunratice เป็นวิหารเก่าแก่ของ Roman Catholic ในสไตล์ high Czech Baroque สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1730-36

ขณะที่มุมกล้องในโบสถ์มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ (ถ่ายมุมเงยขึ้นเบื้องบน) ฉากถัดมาคือการประชุมของเหล่าขุนนาง ผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ของหมู่บ้านแห่งนี้ สังเกตว่าจะไม่มีก้มๆเงยๆ (เพื่อจะสื่อถึงความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ มิอาจเปรียบเทียบกับพระเป็นเจ้า) เพียงการจัดวางตำแหน่งให้เห็นว่าใครมีอำนาจสูงสุดนั่งหัวโต๊ะ ที่ปรึกษาอยู่เคียงชิดใกล้ ผิดกับบาทหลวง Kryštof Alois Lautner อยู่ตำแหน่งห่างไกลจาก Countess (เลยไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจสักเท่าไหร่) ขณะที่นางแม่มด/หญิงชราชาวบ้าน ถูกแยกออกมาคนละเฟรม ไม่สามารถอยู่ร่วมกับชนชั้นสูงเหล่านั้น

คฤหาสถ์ของ Countess มีความเลิศหรูราวกับพระราชวัง คาคลั่งไปด้วยงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม ยุคสมัย Baroque (ค.ศ. 1600-1750) ที่สะท้อนอิทธิพลของศาสนา เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิต ความเชื่อศรัทธา … มันก็เลยเป็นช่วงเวลาการล่าแม่มด ได้รับความนิยมทางฝั่งยุโรปตะวันออก

ไม่รู้ทำไมเห็นการออกแบบคฤหาสถ์ พระราชวังลักษณะนี้ ชวนให้ระลึกถึงภาพยนตร์ The Scarlet Empress (1934) ของผู้กำกับ Josef von Sternberg แม้มันไม่ได้มีความอัปลักษณ์พิศดาร แต่มอบสัมผัสอันน่าหวาดสะพรึงกลัว (เพราะทุกสิ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนกลับตารปัตรจากสิ่งพบเห็น คนชั่วได้ดี คนบริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่า สวรรค์กลายเป็นนรก)

แค่พบเห็นอุปกรณ์ทัณฑ์ทรมาน ก็แทบจะขี้เยี่ยวเร็ดราด วิธีการที่หนังนำเสนอคือพบเห็นเพียงครั้งเดียว เสียวตลอดกาล! … กล่าวคือหนังจะถ่ายทำฉากทรมานเหล่านี้ ส่วนใหญ่แค่ครั้งเดียวเท่านั้น (เพื่อให้เห็นว่าอุปกรณ์เหล่านั้นทำงานยังไง แล้วตัดไปปฏิกิริยาใบหน้านักแสดง) ส่วนครั้งต่อๆมาจะเพียงพบเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ ไม่มีการเน้นย้ำซ้ำๆซากๆ แต่ผู้ชมสามารถตระหนักว่าสิ่งเหล่านั้นใช้ทำอะไร โดยไม่รู้ตัวบังเกิดอาการเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน

การแผดเผาแม่มดก็เฉกเช่นเดียวกัน นำเสนอให้เห็นการจุดไฟเผาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น! หลังจากนั้นปรากฎเพียงภาพเสาไม้ตั้งโด่เด่ (เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ) ก็เพียงพอให้ผู้ชมรับรู้ว่าหนังต้องการสื่อถึงอะไร

แซว: เห็นอุปกรณ์ทัณฑ์ทรมาน รวมถึงการแผดเผาในกองเพลิง ก็ชวนให้นึกถึงโคตรหนังเงียบ The Passion of Joan of Arc (1928) มีความละม้ายคล้ายกันหลายๆส่วนทีเดียว

รายละเอียดเล็กๆที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น คือกรงนกที่อยู่ด้านหลัง (หลบซ่อนได้อย่างแนบเนียนมากๆ) สามารถสื่อถึงสาวใช้/แม่ครัว Zuzana Voglicková เพราะทำงานอยู่กับบาทหลวง Kryštof Alois Lautner เลยไม่สามารถแต่งงาน หรือออกไปทำงานอะไรอย่างอื่น (เหมือนเป็นข้อต้องห้ามอะไรสักอย่าง) นั่นทำให้เธอมักมองเขาด้วยสายตาอันลุ่มหลงใหล ตกหลุมรัก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรมากกว่านี้ เพียงเก็บกดซ่อนเร้น ‘Sexual Repression’

จะว่าไปเจ้ากรงนกนี่ก็แอบบอกใบ้สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับหญิงสาวช่วงครึ่งหลัง เมื่อโดนชี้ตัว จับกุม คุมขังในเรือนจำ ถูกทัณฑ์ทรมานจนไม่สามารถอดกลั้นฝืนทน จนต้องยินยอมรับสารภาพ แต่สิ่งที่เธอพูดออกมานั้นคือกลับความต้องการแท้จริงๆ

ฉากงานเลี้ยงรับประทานอาหาร นี่ก็ชวนให้ผมครุ่นคิดถึง The Scarlet Empress (1934) แต่แทนที่จะเลียนแบบช็อตอมตะด้วยการถ่ายจากเบื้องบนมองลงมา กลับใช้การเคลื่อนไถลไปข้างๆเพื่อสื่อถึงความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ เช่นเดียวกับมื้ออาหารที่ก็ไม่ได้มีความอัปลักษณ์พิศดารอะไร แต่กลับสร้างความขยะแขยง ชวนอ๊วกแตกอ๊วกแตนในทัศนคติอันบิดเบี้ยวของ Boblig of Edelstadt

เรื่องราวของ Witchhammer (1970) มีความกลับหัวกลับหาง คนชั่วได้ดี คนบริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่า เลยไม่แปลกที่จะมีฉากส้นตีนสูงกว่าศีรษะ! หรือการเสียชีวิตของชายคนนี้ กลิ้งล้มตกบันได แต่ไม่รู้อีท่าไหนหัวถึงอยู่ด้านล่าง ส่วนขาสองข้างอยู่ด้านบน

ระหว่างที่บาทหลวง Kryštof Alois Lautner ถูกควบคุมขัง อาศัยอยู่ในเรือนจำ จะมีภาพที่แลดูเหมือนความเพ้อฝัน พบเห็นทิวทัศน์ท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล แต่เต็มไปด้วยฝูงแร้งกา (เอาจริงๆไม่รู้ว่าใช่อีกาหรือเปล่านะครับ แต่เพราะหนังเป็นภาพขาว-ดำ จึงสามารถเหมานกเหล่านี้ว่าตัวสีดำ) ราวกับว่าสถานที่นี้กำลังจะกลายเป็นดินแดนแห่งความตาย เพราะถูกปีศาจร้ายเข้ามาเยี่ยมเยือน

หลังจากยินยอมรับสารภาพผิดที่ไม่ได้ก่อ Kryštof Alois Lautner เพียงนอนเฝ้ารอคอยความตาย ปฏิเสธการสนทนากับบาทหลวงจอมปลอม แต่ตัวเขายังคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า ก่อนจะหันหลังให้กับทุกสรรพสิ่งอย่าง

ผมรู้สึกว่าฉากนี้สะท้อนตัวตนของผู้กำกับ Otakar Vávra ที่ได้พบเห็นสิ่งชั่วร้ายมากมายใน Czechoslovak แต่เพราะไม่สามารถทำอะไรได้สักสิ่งอย่าง จึงต้องหันหลัง ก้มหัว ยินยอมศิโรราบต่อเผด็จการ ทำในสิ่งที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ(และวงการภาพยนตร์) แม้จะถูกตีตรา ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ แต่ก็ยังดีกว่าดื้อรั้นจนตัวตาย หรือทอดทิ้งชาติบ้านเกิดเมืองนอน

งานเลี้ยงสังสรรค์ที่เคยคาคลั่งด้วยผู้คน สุดท้ายหลงเหลือเพียง Boblig of Edelstadt (และลูกน้อง) ได้ดื่มกิน อิ่มหนำ เสพสุขสำราญ เพราะใครต่อใครล้วนถูกกำจัดให้พ้นภัยทาง … แต่มันจะมีประโยชน์อะไรที่ได้ครอบครองทุกสิ่งอย่าง แล้วไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง?

นี่เป็นช็อตที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง! ทั้งความมืดที่เข้าปกคลุม และถ่ายมุมเงยขึ้นเห็นเพดาน เพื่อสื่อถึงอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้าของ Boblig of Edelstadt สามารถกำหนดโชคชะตามนุษย์ ใครไม่ใช่พวกพ้องจะถูกชี้ตัวว่าฝักใฝ่ลัทธิแม่มด โดนทัณฑ์ทรมาน ก่อนรับโทษประหารแผดเผาในกองเพลิง

ตัดต่อโดย Antonín Zelenka,

หนังดำเนินเรื่องในลักษณะเคียงคู่ขนาน/ตัดสลับไปมาระหว่างบาทหลวง Kryštof Alois Lautner และผู้พิพากษา Jindřich František Boblig of Edelstadt ฝั่งหนึ่งทำการพิจารณาคดีความเกี่ยวกับแม่มด อีกฝั่งหนึ่งพยายามหาหนทางแก้ไข ทำบางสิ่งอย่างต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น

  • จุดเริ่มต้นการพิจารณาไต่สวนคดีความแม่มด
    • หญิงชราคนหนึ่งมีพฤติกรรมนอกรีต ถูกกล่าวหาว่าคือแม่มด จึงต้องมีการพิจารณาไต่สวน
    • การมาถึงของผู้พิพากษา Jindřich František Boblig of Edelstadt ได้รับอำนาจสิทธิ์ขาดในการพิจารณาคดี
  • การพิจารณาคดีความของ Jindřich František Boblig of Edelstadt
    • Boblig of Edelstadt ใช้วิธีทัณฑ์ทรมานจนหญิงสาวทั้งสามไม่สามารถอดรนทน ยินยอมสารภาพผิด ชี้ตัวบุคคลต่าง และถูกตัดสินโทษเผาทั้งเป็น
    • เพื่อไม่ให้คดีความจบสิ้นจึงมีการแบล็กเมล์ ใครเคยทำอะไรไม่พึงพอใจก็จะถูกชี้ตัว กล่าวหาว่าเป็นเข้าร่วมลัทธิแม่มด
    • บาทหลวง Kryštof Alois Lautner เมื่อตระหนักถึงสิ่งบังเกิดขึ้น พยายามร้องเรียนต่อผู้นำคริสจักร แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ
  • เป้าหมายถัดไปคือสาวใช้/แม่ครัว Zuzana Voglicková
    • ทั้งๆไม่ได้ทำอะไรผิดแต่เธอก็ถูกควบคุมตัว โดนทัณฑ์ทรมาน จนที่สุดยินยอมสารภาพผิด และชี้ตัวบาทหลวง Kryštof Alois Lautner
  • และเป้าหมายหลักคือบาทหลวง Kryštof Alois Lautner
    • บาทหลวง Kryštof Alois Lautner ถูกควบคุมตัว โดนทัณฑ์ทรมาน จนในที่สุดยินยอมสารภาพผิด แต่ปฏิเสธที่จะชี้ตัวผู้อื่นใด

บ่อยครั้งจะมีการแทรกภาพชายคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนบาทหลวง พูดพร่ำคำสอนความเชื่อเกี่ยวกับแม่มด ด้วยสีหน้าจริงจัง ดวงตาพองโต น้ำเสียงหนักแน่นแต่สั่นเครือ แรกๆก็ฟังดูหลอกหลอน แต่ไม่นักผู้ชมก็น่าจะตระหนักได้ว่า ต้องการสื่อถึงความเพ้อเจ้อไร้สาระ (Fantasist) แลดูไม่ต่างจากคนบ้าวิกลจริต คลุ้มคลั่งเสียสติแตก!

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากๆคือการไม่นำเสนอภาพทัณฑ์ทรมานซ้ำๆหลายครั้ง (เห็นแค่ครั้งเดียวก็จดจำฝังจิตวิญญาณ) อย่างการเผาแม่มดจะมีแค่ครั้งแรกครั้งเดียว (หญิงชราสามคนแรก) หลังจากนั้นปรากฎเพียงภาพเสาไม้และกองฟาง (แทนสัญลักษณ์ของการถูกแผดเผา) แค่นั้นผู้ชมก็สามารถเข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่าง

ต้องกล่าวชมเลยว่าการลำดับเรื่องราว และตัดสลับไปมาระหว่างสองตัวละคร นำเสนอออกมาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีความต่อเนื่องลื่นไหล จนสร้างความรู้สึกเหมือนเปลวเพลิงกำลังลุกไหม้ แผดเผาจนวอดวาย ท้ายสุดหลงเหลือเพียงขี้เถ้าถ่าน


เพลงประกอบโดย Jiří Srnka (1907-82) สัญชาติ Czech ได้ศึกษาร่ำเรียนยัง Pražská konzervatoř (Prague Conservatory) เป็นลูกศิษย์ของ Otakar Ševčík จากนั้นเข้าสู่วงการบันเทิง เป็นนักแต่งเพลงขาประจำผู้กำกับ Otakar Vávra และ František Čáp อาทิ Mist on the Moors (1943), Sign of the Anchor (1947), Silent Barricade (1949), Hussite Trilogy, Witchhammer (1970) ฯลฯ

เครดิตของ Srnka มีเพียงบทเพลงเดียวเท่านั้นคือ Main Theme (Title Song) คำร้องโดย Ester Krumbachová, ได้ยินตอน Opening Credit และเมื่อปรากฎภาพเสาไม้สำหรับตระเตรียมจุดไฟเผาแม่มด ด้วยลักษณะแนวเพลงมาร์ช (March) ฟังแล้วรู้สึกหึกเหิม กระตือรือล้น เกิดความภาคภูมิใจ เพราะเหตุการณ์ต่อจากนี้กำลังจะได้กำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง … นี่เป็นลักษณะของการล้อเลียน เสียดสีประชดประชัน เพราะทุกครั้งที่ได้ยินบทเพลงนี้ (รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้) มันคือการก้าวเดินสู่หายนะ โศกนาฎกรรม

ต้นฉบับ Czechคำแปลจาก Google Translate
Jak černý mrak, už táhne smrťák zabiják,
už táhne smrťák zabiják,
už zabiják táhne na hrbatém koni
a na tom koni kosti jenom zvoní
a vlá a vlá mu hříva plesnivá,
a kosti a kosti a těma on nás hostí,

jak černý mrak, už táhne smrťák zabiják,
už táhne smrťák zabiják
a krev a krev, není čas na rakev
a krví a krví on pustá pole mrví,
nám je už hej, už s námi táhne zubatej,
už s námi táhne zubatej,

už zubatec táhne na svém černém koni
a na tom koni jenom kosti zvoní,
a láká a láká každého vojáka
ta dávivá kosa smrti zabijáka,

a černý host, už ohryzává bílou kost,
už ohryzává bílou kost
a černý host už ohryzává kost,
a kosti a kosti a těma on nás hostí,
nám je už hej, už s náma táhne zubatej,
už s námi táhne zubatej.
Like a black cloud, the dead killer is already dragging,
the dead man is already dragging,
the killer is already pulling on a humpbacked horse
and the bones just ring on that horse
and his moldy mane sways and sways,
and bones and bones and with these he hosts us,

like a black cloud, the dead killer is already dragging,
the dead man is already pulling the killer
and blood and blood, no time for a coffin
and with blood and blood he wastes the field of carrion,
we’re fine now, he’s already dragging the toothy with us,
the toothy one is already dragging with us,

already the cog pulls on his black horse
and on that horse only the bones ring,
and entices and tempts every soldier
that slaying scythe of death,

and the black guest, already gnawing at the white bone,
already gnawing at the white bone
and the black guest is already gnawing the bone
and bones and bones and with these he hosts us,
we’re fine now, we’re already being dragged along,
the toothy one is already with us.

นอกจากนี้ระหว่างงานเลี้ยง ยังมีการบรรเลงบทเพลงคลาสสิก ของคตีกวีชาวอิตาเลี่ยน Antonio Vivaldi: Violin Concerto in A Minor, Op. 3, No. 6, RV356 (1711) ท่อน I. Allegro มีชื่อเรียกว่า L’estro armonico (The Harmonic Inspiration) ให้ความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม เหมือนกำลังล่องลอยอยู่ในปุยเมฆ รับฟังเสียงนกน้อยใหญ่กำลังขับขาน สุขสำราญ เกษมเปรมปรีดา

In our younger days, the fifth concerto of Vivaldi, composed of rattling passages in perpetual semiquavers, was the making of every player on the violin, who could mount into the clouds, and imitate not only the flight, but the whistling notes of birds.

นักประวัติศาสตร์ดนตรี Charles Burney (1726–1814) กล่าวถึงในหนังสือ Rees’s Cyclopædia

ถ้าดูจนปีที่ Vivaldi ประพันธ์บทเพลงนี้ ค.ศ. 1711 จะคลาดเคลื่อนกับพื้นหลังของหนังพอสมควร แต่กลิ่นอายสไตล์ Baroque ยังถือว่าอยู่ในยุคสมัยใกล้ๆเคียงกันอยู่ และแสดงถึงรสนิยมด้านดนตรีของผู้กำกับ Otakar Vávra ได้เป็นอย่างดี!

ผมนำคลิปการบรรเลงของ Itzhak Perlman นักไวโอลินชาว Israeli ร่วมกับ Israel Philharmonic Orchestra ออกอัลบัมเมื่อปี ค.ศ. 1984 ดูจากปกอัลบัมยังหนุ่มๆอยู่เลยนะ

การล่าแม่มด (Witch-hunt) คือการแสวงบุคคลซึ่งโดนตีตราหน้าว่าเป็น “แม่มด” โดยอ้างหลักฐาน หรือบุคคลชี้ตัว โดยหลายประเทศมีกฎหมายให้ความเห็นชอบเกี่ยวข้องกับการพิจารณาล่าแม่มดอย่างเป็นทางการ ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1480 ถึง 1750 ส่งผลให้มีการประหารชีวิตระหว่าง 40,000 ถึง 60,000 คน

ส่วนใหญ่ของกิจกรรมล่าแม่มด มักเกี่ยวข้องกับความแตกตื่นทางศีลธรรม หรืออุปทานหมู่ จากพฤติกรรมนอกรีตของบุคคลนั้น ทำให้สังคมแตกตื่น เกิดความหวาดสะพรึงกลัว ไม่อาจยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่พิพากษาไต่สวน (inquisitor) ทำการแบล็กเมล์ จับผู้ต้องสงสัยมาทัณฑ์ทรมาน ล่อหลอกให้กล่าวคำโป้ปด เพื่อกำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง

ผู้กำกับ Otakar Vávra ชื่นชอบการสรรค์สร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่สามารถเปรียบเทียบถึง/สะท้อนช่วงเวลาขณะนั้นๆของประเทศ Czechoslovakia (คล้ายๆผู้กำกับ Miklós Jancsó ทางฟากฝั่งประเทศฮังการี) ซึ่งเรื่องราวการล่าแม่มดของ Witchhammer (1970) ต้องการพาดพิงเหตุการณ์หลังจากพันธมิตรสหภาพโซเวียต ‘Warsaw Pact’ (ประกอบโดย Soviet Union, Polish People’s Republic, People’s Republic of Bulgaria และ Hungarian People’s Republic) ได้ใช้กำลังทหารกว่า 250,000 คน (สมทบภายหลังอีกรวมเป็นเกือบๆ 500,000 คน) บุกยึดครอง Czechoslovakia ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม ค.ศ. 1968 ด้วยจุดประสงค์หยุดยับยั้งขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ Prague Spring ของ Alexander Dubček

ชัยชนะที่แทบไม่ต้องออกแรงของ Warsaw Pact (แต่ก็มีผู้เสียชีวิต 137 คน, บาดเจ็บสาหัส 500+ คน) หยุดยับยั้งการเปลี่ยนแปลง/ปฏิรูปภายในของ Czechoslovakia โดยสหภาพโซเวียตได้เข้ามาบริหารจัดการ ไล่ล่าค้นหาบุคคลผู้เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำทัณฑ์ทรมาน เข่นฆ่าให้ตกตาย จักได้หมดโอกาสก่อสร้างปัญหาครั้งใหม่

ผมค่อนข้างเชื่อว่าผู้กำกับ Vávra ไม่ได้มีลักษณะของ ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ อย่างที่ใครต่อใครเข้าใจกัน แต่เป็นบุคคลผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่เพราะไม่สามารถทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เลยพยายามประณีประณอม/วางตัวเป็นกลางเพื่อโอกาสในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ ยินยอมศิโรราบต่อนาซี รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต แล้วใช้งานศิลปะถ่ายทอดอารมณ์อันเกรี้ยวกราดของตนเองออกมา

ตัวละครบาทหลวง Kryštof Alois Lautner จึงไม่ใช่แค่ตัวแทนของชาว Czechoslovakia แต่ยังเหมารวมถึงผู้กำกับ Vávra ด้วยนะแหละ รับล่วงรู้เห็นทุกสิ่งอย่าง พยายามจะต่อต้านขัดขืน แต่ก็มิอาจฝืนทนต่อทัณฑ์ทรมาน สุดท้ายเลยต้องยินยอมศิโรราบ สารภาพความผิดที่ไม่ได้กระทำ จำถูกแผดเผาลุกมอดไหม้ทั้งร่างกาย-จิตใจ … นี่เป็นการระบายอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่งผ่านสื่อศิลปะภาพยนตร์

สิ่งที่ทำให้หนังโคตรๆทรงพลัง ทรงคุณค่า ยิ่งใหญ่ระดับ Masterpiece คือความรู้สึกมอดไหม้ทรวงในของผู้ชม ไม่แตกต่างจากการที่แม่มดทั้งหลายถูกแผดเผาอย่างไร้ความยุติธรรม ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่พื้นหลังศตวรรษที่ 17 สะท้อนถึง Czechoslovakia ช่วงทศวรรษ 60s แต่ยังลามปามเหนือกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันนี้ ผมไม่อยากยกตัวอย่างประเทศสารขัณฑ์ เชื่อว่าถ้าใครได้รับชมก็คงตระหนักถึงเหมือนกัน


กองเซนเซอร์ของ Czechoslovakia ปล่อยผ่านหนังเข้าฉายเดือนมกราคม ค.ศ. 1970 ด้วยกระแสปากต่อปากทำให้มีผู้ชมกว่า 1.5 ล้านคน! ถึงค่อยถูกถอดถอน สั่งแบน กระทั่ง 20 ปีให้หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถึงสามารถหวนกลับเข้าฉายโรงภาพยนตร์ได้อีกครั้ง

การที่ Witchhammer (1970) รอดพ้นการถูกแบนในช่วงแรกๆ เชื่อเลยว่ากองเซนเซอร์มองหนังเพียงแง่มุมประวัติศาสตร์ ต่อต้านแนวคิดการล่าแม่มดที่เฉิ่มเฉยล้าหลัง ไม่สามารถเข้าถึงความสัมพันธ์กับเหตุการณ์เกิดขึ้นยุคสมัยนั้น จนกระทั่งเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ กระแสปากต่อปากถึงค่อยตระหนักได้เมื่อสายไปพอสมควร

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะคุณภาพ 2K โดยนำฟีล์มต้นฉบับมาจาก Czech National Film Archive สามารถหาซื้อ Blu-Ray ลิขสิทธิ์ของ Severin Films และ Second Run (ของค่าย Second Run จะมี Special Feature ที่น่าสนใจเยอะกว่า)

หรือถ้าใครสนใจ Boxset รวมโคตรหนัง Horror แห่งทวีปยุโรปทั้งหมด 20 เรื่อง (ได้รับการบูรณะ 2K) แนะนำให้ค้นหา All the Haunts Be Ours: A Compendium of Folk Horror ของค่าย Severin Films เพิ่งจัดจำหน่ายเมื่อปลายปี 2021

รับชมหนังเรื่องนี้แม้งเลวร้ายพอๆกับการโดนทัณฑ์ทรมาน! ไม่ต่างจากถูกแผดเผา ภายในลุกมอดไหม้ ยากที่จะสงบจิตสงบใจ นี่ต้องชมลีลาการนำเสนอของผู้กำกับ Otakar Vávra แม้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่ค่อยๆสร้างบรรยากาศ สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด ลำดับเรื่องราวไปจนถึงจุดไม่สามารถแก้ไข ไร้หนทางออก เพียงหมาจนตรอก และชัยชนะของฝ่ายอธรรม

ทีแรกผมแอบคาดหวังว่าตอนจบจะมีอะไรที่ทำให้ภายในชุ่มฉ่ำ ดับความลุ่มร้อนสุมอก แต่ก็ดันหลงลืมไปว่าภาพยนตร์ทางฝั่ง Eastern Bloc (นึกถึงหนังของ Krzysztof Kieślowski, Bela Tarr ฯลฯ) ไม่มีหรอกจบแบบ Happy Ending สิ่งหลงเหลือจากเพลิงลุกมอดไหม้ เพียงขี้เถ่าถ่านเท่านั้นแล

แนะนำคอหนังประวัติศาสตร์ (Historical) การเมือง (Political) สนใจการล่าแม่มด ช่วงศตวรรษที่ 17, นักออกแบบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม แฟชั่นดีไซน์เนอร์ สนใจยุคสมัย Baroque, โดยเฉพาะทนายความ ผู้พิพากษา ทำงานเกี่ยวกับศาล หวังว่าพวกท่านจะตระหนัก และรับรู้สึกอะไรขึ้นมาบ้าง

จัดเรต 18+ กับความคอรัปชั่น เหี้ยมโหดร้าย จนตกอยู่ในสถานการณ์หมดสิ้นหวัง

คำโปรย | การล่าแม่มดของ Witchhammer สะท้อนสถานการณ์ความสิ้นหวังของประเทศ Czechoslovakia ได้อย่างทรวงพลัง
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | กรีดกรายทรวงใน

Peau d’âne (1970)


Donkey Skin (1970) French : Jacques Demy ♥♥♥♡

พระราชาให้คำมั่นสัญญาต่อราชินีผู้ล่วงลับ จะอภิเสกสมรสใหม่เฉพาะกับหญิงสาวเลิศเลอโฉมกว่า แต่ทั่วหล้ากลับมีเพียงพระธิดาของพระองค์เอง เจ้าหญิงจึงต้องปรึกษานางฟ้าแม่ทูนหัว แนะนำให้ปลอมตัวสวมหนังลา (Donkey Skin) แล้วหาหนทางหลบหนีออกจากพระราชวัง

ภาพยนตร์แฟนตาซี Fairy Tail Tale ที่มีเนื้อเรื่องราวสร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ใหญ่ แต่เด็กๆกลับสามารถเพลิดเพลิน บันเทิงใจ ได้ข้อคิด (มั้งนะ) เกี่ยวกับทำไมเจ้าหญิงไม่ควรแต่งงานกับพระบิดา? … เพราะสักวันจะได้มีโอกาสพบเจอเจ้าชายที่หล่อกว่า

ใครเคยอ่านเทพนิยายของ Charles Perrault, Grim Brothers หรือ Hans Christian Andersen ฉบับดั้งเดิมแท้ๆ น่าจะตระหนักว่าเรื่องราว Fairy Tale มักซ่อนเร้นความเหี้ยมโหดร้ายที่สามารถเป็นบทเรียนตราฝังในความทรงจำ! เช่นว่า หนูน้อยหมวกแดงระบำเปลือยให้หมาป่า ก่อนถูกข่มขืนแล้วจับกิน, ฮันเทลกับเกรเทล โดนหญิงแก่จับขังเพราะไปล้วงความลับสูตรขนมปัง ฯลฯ

แต่เอาจริงๆประเด็น incest ในภาพยนตร์ Donkey Skin (1970) เป็นความพยายามท้าทายขนบต้องห้าม ‘sexual taboo’ ซี่งความสนใจของผู้กำกับ Jacques Demy มีเพียงรักสีรุ้ง (Homo/Bisexual) มันต่างอะไรจากการแต่งงานของคนในครอบครัวเดียวกัน? (incest=Homosexual)

ผมไปอ่านเจอบทความของนักวิจารณ์ต่างประเทศ กล่าวถีงความหมกมุ่นในประเด็น Incest ของผู้กำกับ Demy ไม่ได้จบลงแค่ภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ยังผลงานเรื่องสุดท้าย Three Seats for the 26th (1988) ก็นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-บุตรสาว ที่ได้กระทำสำเร็จ เติมเต็มความต้องการของกันและกัน (น่าเสียดายที่ผมหาหนังเรื่องนั้นมารับชมไม่ได้ T_T)


Jacques Demy (1931-90) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontchâteau, Loire-Atlantique เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศส ครอบครัวเปิดกิจการร้านซ่อมรถ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดจอดท่าเรือรบ มีทหารพันธมิตรขึ้นฝั่งมากมาย ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีทิ้งระเบิด แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราบเรียบหน้ากลอง, ช่วงหลังสงคราม Demy ถูกส่งไปโรงเรียนมัธยมยังเมือง Nantes ค้นพบความหลงใหลในภาพยนตร์ พออายุ 18 ออกเดินทางสู่กรุง Paris ได้เป็นลูกศิษย์ของ Georges Rouquier (ผู้กำกับสารคดี) และ Paul Grimault (นักทำอนิเมเตอร์ชื่อดัง), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Dead Horizons (1951), ตามด้วยสารคดีขนาดสั้น The clog maker of the Loire Valley (1956)

ตั้งแต่วัยเด็ก Demy มีความหลงใหลในเทพนิยายแฟนตาซี คลั่งไคล้วรรณกรรมของ Charles Perrault และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1946) ของผู้กำกับคนโปรด Jean Cocteau ซึ่งหลังจากเดินทางมาร่ำเรียนภาพยนตร์ยังกรุง Paris ช่วงกลางทศวรรษ 50s เคยพัฒนาดัดแปลงบท The Sleeping Beauty แต่หลังจาก Walt Diseny สรรค์สร้างอนิเมชั่น Sleeping Beauty (1959) ก็ล้มละเลิกความตั้งใจดังกล่าว

หลังเสร็จจากกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Lola (1961) ระหว่างกำลังมองหาโปรเจคถัดไป หนึ่งในนั้นคือดัดแปลงวรรณกรรม Donkey Skin โดยมีภาพของนักแสดง Brigitte Bardot และ Anthony Perkins แต่ขณะนั้นยังขาดประสบการณ์ และต้นทุนความสำเร็จ เลยเก็บขึ้นหิ้งเอาไว้ก่อน

In the past, before, when I was a child, I particularly liked Donkey Skin. I tried to make the film in this perspective, through my eyes, like that, when I was seven or eight years old.

Jacques Demy

หลังความสำเร็จของ The Young Girls of Rochefort (1967) ผู้กำกับ Demy ก็ได้โอกาสเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างภาพยนตร์ Model Shop (1969) ที่ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เขาสองจิตสองใจ จะยังอยู่สหรัฐอเมริกาต่อไปดีไหม หรือกลับฝรั่งเศสดีกว่า? ระหว่างสร้างหนังตามใบสั่งสตูดิโอ หรืออิสรภาพในการเลือกโปรเจคที่อยากทำ?

I especially wanted to return to France to make Peau d’ânethat I had in mind for a while. Mag Bodard came to see me in Hollywood to tell me that she had the funding, that Catherine [Deneuve] wanted to do it. I hesitated a bit and told myself that if I continued on this path, it was not the one I had chosen since I prefer to write the subjects that I produce. If I entered the Hollywood system, it might suit me, but I wasn’t sure.

เกร็ด: โปรเจคที่ Columbia Pictures ยื่นข้อเสนอให้ Jacques Demy คือกำกับภาพยนตร์ A Walk in the Spring Rain (1970) นำแสดงโดย Ingrid Berman และ Anthony Quinn ซึ่งหลังจากเจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธ ส้มหล่นใส่ผู้กำกับ Guy Green แต่ก็ไม่สามารถทำออกมาให้น่าสนใจ

การตัดสินใจกลับฝรั่งเศสของ Demy เพื่อสรรค์สร้าง Donkey Skin (1970) ทำให้ Columbia Pictures บอกปัดที่จะให้ทุนภาพยนตร์เรื่องใหม่ (คงเพราะความล่อแหลมของเนื้อหาด้วยกระมัง) แต่โปรดิวเซอร์ Mag Bodard ก็สามารถระดมทุน หางบประมาณให้ได้สูงถึง 5 ล้านฟรังก์ ยุคสมัยนั้นถือว่าไม่น้อยเลยละ


Peau d’Âne (1695) หรือ Donkey Skin ประพันธ์โดย Charles Perrault (1628-1703) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานเทพนิยายดังๆอย่าง Le Petit Chaperon Rouge (หนูน้อยหมวกแดง), Cendrillon (Cinderella), Le Maître chat ou le Chat botté (Puss in Boots), La Belle au bois dormant (Sleeping Beauty) ฯ

ขอกล่าวถึง Charles Perrault สักเล็กน้อย, เกิดที่กรุง Paris ครอบครัวชนชั้นกลาง ฐานะมั่งคั่ง ร่ำเรียนกฎหมาย ทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อมาได้เข้าร่วม Academy of Inscriptions and Belles-Lettres กลายเป็นเลขานุการ Jean Baptiste Colbert (รัฐมนตรีการคลังของ King Louis XIV), ไต่เต้าจนกลายเป็นสมาชิกบัณฑิตยสถาน Académie française, พออายุมากขึ้นหลังจากเกษียณจากการทำงาน หันมาเขียนวรรณกรรมเยาวชน ตีพิมพ์ผลงานเรื่องแรกปี 1965 (ขณะอายุ 67 ปี)

แนวความคิดของ Perrault ต้องการพัฒนานิทานพื้นบ้าน (folk tales) ให้มีรูปแบบที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน ตั้งคำถามศีลธรรม ให้ผู้อ่านตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์นั้นๆ สามารถใช้เป็นข้อคิด ย้ำเตือนสติให้ผู้อ่าน เกิดการระแวดระภัย ไม่ปล่อยตัวให้ผิดพลาดพลั้งแบบเรื่องราวดังกล่าว

ขณะที่ผลงานเรื่องอื่นๆของ Perrault ถูกสตูดิโอ Walt Disney นำไปสรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นจนแทบหมดเกลี้ยง แต่ Donkey Skin กลับไม่เคยได้รับการพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนหน้านี้มีเพียงผู้กำกับ Albert Capellani เคยสร้างหนังเงียบเมื่อปี 1908 แต่เห็นว่าตัดประเด็น Incest พระราชาต้องการอภิเสกสมรสกับพระธิดา เปลี่ยนไปอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง

ฉบับดัดแปลงของผู้กำกับ Demy พยายามซื่อตรงต่อต้นฉบับของ Perrault ด้วยการนำเสนอประเด็น Incest ออกมาตรงๆแบบไม่อ้อมค้อม เพิ่มเติมให้เจ้าหญิงแสดงออกปม Electra Complex ตกหลุมรัก อยากแต่งงานกับพระบิดา (ไม่ได้ปฏิเสธหัวชนฝาเพียงอย่างเดียว) แต่ถูกห้ามปรามโดยนางฟ้าแม่ทูนหัว ซึ่งมีแผนการบางอย่างเคลื่อบแอบแฝง (ดั้งเดิมนั้น พระราชาจะอภิเสกสมรสพระชายาองค์ใหม่ ไม่ใช่ตอนจบลงเอยแบบในหนัง)


พระราชา (รับบทโดย Jean Marais) ให้คำมั่นสัญญากับพระราชาผู้ล่วงลับ ว่าจะอภิเสกสมรสครั้งใหม่เฉพาะกับพระชายาที่มีสิริรูปโฉมงดงามกว่าเท่านั้น แต่หลังจากสืบเสาะออกค้นหาก็ไม่พบเจอหญิงสาวคนใด จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีนำภาพพระธิดา (รับบทโดย Catherine Deneuve) จึงตัดสินใจขอเธอแต่งงาน

ด้วยความหวาดกลัวที่จะอภิเสกสมรสกับพระบิดา เจ้าหญิงเลยขอความช่วยเหลือจากนางฟ้าแม่ทูนหัว (รับบทโดย Delphine Seyrig) แนะนำให้ร้องขอสิ่งเป็นไปไม่ได้ อาทิ ชุดสภาพอากาศ, ชุดพระจันทร์, ชุดพระอาทิตย์ แม้แต่ชุดหนังลา ซึ่งเป็นทรัพย์สินมีค่าที่สุดในแผ่นดิน พระบิดาก็กลับสรรหามามอบให้ สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากพระราชวัง ปลอมตัวเป็น Donkey Skin ทำงานแม่ครัว/คนเลี้ยงหมู อาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ ณ ประเทศเพื่อนบ้าน

วันหนึ่งเจ้าชายจากประเทศเพื่อนบ้าน (รับบทโดย Jacques Perrin) เดินทางมาท่องเที่ยวในป่าใหญ่ แอบพบเห็นความงดงามของหญิงสาวในกระท่อมหลังหนึ่ง ล้มป่วยเพราะอาการตกหลุมรัก (Love-Struck) ไม่เป็นอันกินอันนอน ร่ำร้องขออยากรับประทานเค้กของ Donkey Skin ซึ่งเธอก็บังเอิญจงใจทำแหวนตกหล่น เมื่อเจ้าชายพบเห็นจึงป่าวประกาศจะแต่งงานกับหญิงสาว สามารถสวมใส่แหวนดังกล่าวได้พอดี


Catherine Deneuve ชื่อจริง Catherine Fabienne Dorléac (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรของนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Maurice Dorléac และ Renée Simonot เลยไม่แปลกที่เธอจะมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากตัวประกอบเล็กๆ Les Collégiennes (1957), ซึ่งการแสดงของเธอใน L’Homme à femmes (1960) ไปเข้าตาผู้กำกับ Jacques Demy เรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้อง เลือกให้รับบทนำ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แจ้งเกิดโด่งดังในทันที!

รับบทอดีตพระชายา ขณะลมหายใจเฮือกสุดท้าย โน้มน้าวให้พระราชาสัญญาว่าจะอภิเสกสมรสใหม่ เฉพาะกับพระชายาผู้มีสิริรูปโฉมงามกว่าตนเอง!

รับบทเจ้าหญิง ด้วยความยังสวยสาว ผิวพรรณเปร่งประกาย ถอดแบบพิมพ์เดียวกับพระมารดา จึงเป็นหญิงเพียงคนเดียวมีสิริรูปโฉมงดงามกว่า เมื่อจู่ๆถูกพระบิดาสั่งให้อภิเสกสมรสกับพระองค์ บังเกิดความสับสน ไม่เข้าใจ จึงไปปรึกษานางฟ้าแม่ทูนหัว แนะนำให้เรียกร้องขอชุดที่ดูไม่น่าสรรหามาได้ แต่แม้แต่เจ้าลานำโชคของอาณาจักร ยังพร้อมถลกหนังนำมามอบให้ นั่นทำให้เธอรู้สึกมีใจ ยินยอมพร้อมแต่งงาน … แต่ก็ถูกนางฟ้าแม่ทูนหัวคัดค้านหัวชนฝา บีบบังคับให้หลบหนีออกจากพระราชวัง ปลอมตัวกลายเป็น Donkey Skin อาศัยอยู่ยังกระท่อมหลังเล็กๆ ณ ประเทศเพื่อนบ้าน

ครานี้เมื่อไม่มีนางฟ้าแม่ทูนหัวอยู่เคียงชิดใกล้ ทำให้เจ้าหญิงได้รับอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ วันหนึ่งได้ยินข่าวเจ้าชายจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางมาท่องเที่ยวในป่าใหญ่ ก็ไม่รู้ใช้เวทมนตร์อะไรให้เขาพลัดหลงเข้ามา แอบพบเห็นความงดงามของเธอในกระท่อม ล้มป่วยเพราะอาการตกหลุมรัก มีเพียงได้แต่งงานกันเธอเท่านั้นถึงสามารถรักษาหาย

แม้ว่าผู้กำกับ Demy จะเคยมีภาพของ Brigitte Bardot ในบทบาทเจ้าหญิง แต่หลังจากได้ร่วมงานกับ Deneuve ตั้งแต่ The Umbrellas of Cherbourg (1964) และ The Young Girls of Rochefort (1967) ก็เลยมีโอกาสพูดคุย ชักชวน นำบทให้อ่าน ซึ่งเธอก็ตอบตกลงด้วยความเชื่อมั่นแบบไม่ต้องเสียเวลาครุ่นคิดตัดสินใจ

Like the other girls, I liked stories of fairies and witches, kings and princesses, pearls and toads. When I read the script for Peau d’Âne, I rediscovered the emotions of my childhood reading, the same simplicity, the same humour, and, why not say it, a certain cruelty which generally wells up under the quiet snow from the most magical tales.

Catherine Deneuve

ไดเรคชั่นการแสดงของหนังเรื่องนี้ จะมีความแตกต่างจากผลงานอื่นๆ (ของผู้กำกับ Demy) ทุกท่วงท่า การขยับเคลื่อนไหว ล้วนปรุงปั้นแต่งให้ดูเว่อวังอลังการ (แลดูคล้ายๆ Beauty and the Beast (1946)) เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง (Surreal) หลุดเข้าไปในโลกแฟนตาซี แห่งความเพ้อฝันจินตนาการ

Jacques [Demy] asked us to exaggerate everything: our gazes at the ceiling, our gestures overplaying despondency or emotion, as in a pious image. This earned us giggles whose traces can be detected in a few scenes of the film. But it was mostly covertly, an injunction to surreality in the aesthetic and literary sense.

ความเว่อๆในการแสดงนั้นเอง ทำให้ผมมองไม่ค่อยออกว่า Deneuve เล่นดี/แย่ประการใด ครึ่งแรกยังมีความสาว สวยใส ไร้เดียงสา ความรักที่แสดงออกต่อพระราชา มันช่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง (สัมผัสไม่ได้ถึงตัณหาราคะแม้แต่น้อย), ส่วนครึ่งหลังจากได้รับอิสรภาพ ตัวละครมีความแรดร่าน ระริกระรี้ โดยเฉพาะวินาทีใส่แหวนเข้าไปในแป้งขนมเค้ก พร้อมคำอธิษฐานเจ้าชายต้องกลายเป็นของฉัน นี่มันภาพยนตร์เรื่องเดียวกันหรือเปล่าเนี่ย!

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากการแสดงของ Deneuve คือดูเธอสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับบทบาทนี้ อาจเพราะสภาพแวดล้อม การร่วมงานกับ Jacques Demy แม้ว่าในกองถ่ายจะเต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่เขาก็ราวกับนางฟ้าแม่ทูนหัวของเธอ … เอิ่ม

If Donkey Skin is a fairy tale, Jacques Demy has the patience of an angel


Jean-Alfred Villain-Marais (1913 – 1988) นักแสดง ศิลปินสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cherbourg ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Marcel L’Herbier จากการเป็นลูกค้าซื้อภาพวาด เลือกมาแสดงหนังสองเรื่อง L’Épervier (1933), L’Aventurier (1934) ต่อมามีโอกาสรู้จัก กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่ขาของ Jean Cocteau (Marais เป็น BiSexual แต่งงานกับผู้หญิงและมีคู่ขาเป็นผู้ชาย) ในผลงานเด่น Beauty and the Beast (1946), Orphée (1949) ฯ

รับบทพระราชา หลังจากพระชายาพลันด่วนเสียชีวิต แม้ไม่ได้ครุ่นคิดอยากแต่งงานกับใคร แต่ถูกเร่งเร้าโดยข้าราชบริพาร นำภาพวาดหญิงสาวมาให้คัดเลือกสรรมากมาย แต่ก็ไม่มีใครสวยบาดใจจนสุดท้ายภาพเจ้าหญิง พระธิดาของพระองค์เอง ไม่ได้สนความถูกต้องเหมาะสม ศีลธรรม มโนธรรม ตัดสินใจของเธอแต่งงาน ยินยอมรับข้อแม้ทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่สุดท้าย…

ผู้กำกับ Demy เจาะจงเลือก Marais เพราะความประทับใจในบทบาท The Beast จากภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1946) เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึง Charisma ใบหน้าอันเหี้ยมโหด การแสดงออกที่ดุร้าย ไม่ต่างจากเผด็จการเอ่อล้นด้วยอำนาจ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างสนองความพึงพอใจ … และเพื่อเป็นการเคารพคารวะผลงานของผู้กำกับคนโปรด Jean Cocteau

นอกจากภาพลักษณ์และ Charisma ผมรู้สึกว่าหนังใช้งาน Marais ไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไหร่ เพียงอิทธิพลที่สามารถควบคุมครอบงำ และแสดงอาการหมกมุ่นในเรื่องแต่งงาน ก็แค่นั่นแหละ! … เอาจริงๆน่าจะนำเสนอความขัดแย้งในใจตัวละครออกมาบ้าง ทำเหมือนการแต่งงานกับพระธิดา เป็นเรื่องปกติธรรมดาๆทั่วไป (นี่อาจสะท้อนทัศนคติของผู้กำกับ Demy ด้วยนะครับว่า Incest มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร)


Jacques Perrin ชื่อจริง Jacques André Simonet (เกิดปี 1941) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาทำงานผู้จัดการโรงละคร ส่วนมารดาก็เป็นนักแสดง(ประจำโรงละคร) แน่นอนว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เข้าฝีกฝนการแสดงยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique, จากนั้นขี้นแสดงละครเวที, สมทบภาพยนตร์ Girl with a Suitcase (1960), โด่งดังกับ La busca (1966), Un uomo a metà (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), แต่หลังจากนั้นก็เปิดสตูดิโอ กลายเป็นโปรดิวเซอร์หนังรางวัลอย่าง Z (1969), Home Sweet Home (1973), Black and White in Color (1976), Himalaya (1996) ฯ

รับบทเจ้าชาย หลังจากได้แอบถ้ำมองกระท่อมกลางป่า ล้มป่วยจากอาการตกหลุมรักแรกพบ ไม่เป็นอันกินอันนอน จนกว่าจะได้รับประทานขนมเค้ก และแต่งงานกับหญิงสาวคนนั้น แต่เธอหลบซ่อนตัวอยู่แห่งหนไหนกัน?

ภาพลักษณ์ baby face ของ Perrin ถือว่าเหมาะสมกับบทบาท เจ้าชายมีความใสซื่อบริสุทธิ์ ขี้เหงาเอาแต่ใจ พร้อมแต่งงานกับใครที่สามารถทำตามเงื่อนไข(สวมแหวนได้พอดิบดี) มุมหนี่งเหมือนตัวละครมองความงดงามผู้อื่นจากภายใน แต่ขณะเดียวกันชายคนนี้หมกมุ่น ระริกระรี้ สนเพียงการแต่งงาน ต่อให้อัปลักษณ์แค่ไหนถ้าสวมแหวนวงนี้ได้ก็พร้อมเอาหมด … ฟังดูพิลีกพิลั่นยิ่งกว่าการ Incest เสียอีกน่ะ!

จะว่าไปบทบาทของ Perrin แทบไม่แตกต่างจาก The Young Girls of Rochefort (1967) ตัวละครมีความโหยหารักแท้จนไม่เป็นอันกินอันนอน สายตาเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จนกว่าจะได้รับการตอบสนอง แต่แค่เพียงรับประทานเค้ก เกือบจะกลืนกินแหวนวงนั้น ก็สามารถลุกขึ้นจากเตียง ดูมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง


Delphine Claire Beltiane Seyrig (1932-90) นักแสดงสัญชาติ Lebanese เกิดที่ Beirut, Greater Lebanon บิดาเป็นชาวฝรั่งเศส มารดาเชื้อสาย Swiss, ตั้งแต่เด็กมีโอกาสฝึกฝนการแสดงยัง Comédie de Saint-Étienne จากนั้นเดินทางสู่ New York เข้าร่วม Actors Studio ตั้งแต่ปี 1956, ภาพยนตร์เรื่องแรก Pull My Daisy (1958) แล้วได้พบเจอผู้กำกับ Alain Resnais ชักชวนมาเล่น Last Year at Marienbad (1961) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Muriel ou Le temps d’un retour (1963), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), The Day of the Jackal (1973), India Song (1975), Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ฯ

รับบทนางฟ้าแม่ทูนหัว (Lilac Fairy) คอยให้คำปรีกษาแก่เจ้าหญิง แนะนำข้อเรียกร้องที่ไม่น่าเป็นไปได้ คาดหวังให้พระราชาล้มเลิกพระทัย แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่สำเร็จผลเลยสักครั้ง จนต้องชี้นำเจ้าหญิงให้หลบหนีจากพระราชวัง เพื่อตนเองจะได้เสนอตัวเข้ามา และอภิเสกสมรสกับพระราชา

นี่เป็นตัวละครสุดคลาสสิกที่มักพบเห็นประจำในวรรณกรรมเทพนิยาย จุดประสงค์เพื่อเสี้ยมสอนแนวคิดบางอย่างให้ผู้อ่าน/ผู้ชม แต่บางครั้งก็อาจไม่ได้อธิบายเหตุผล ทำไมเจ้าหญิงไม่ควรแต่งงานกับพระบิดา ถีงอย่างนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้มอบคำตอบที่ สุดตรีนจริงๆ (สะท้อนความสนใจของผู้กำกับ Demy อย่างตรงไปตรงมา)

ซึ่งรูปลักษณะของตัวละคร ดูเหมือนว่าเธอหลุดจากโลกปัจจุบันเข้าไปในในหนัง ทั้งแนวความคิด เสื้อผ้าหน้าผม (ดูเหมือน Hollywood Glamor ที่นิยมกันช่วงทศวรรษ 20s-40s) รวมไปถึงของเล่นไฮเทค โทรศัพท์ เฮลิคอปเตอร์ ฯ เหล่านี้อาจดูแปลกๆ ไม่เข้าพวก แต่เวทย์มนต์ในเทพนิยาย ส่วนใหญ่สามารถกลายเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน

แม้อายุยังไม่ถีง 40 ปี แต่ Seyrig มีภาพลักษณ์ของหญิงวัยกลางคน เหมือนนางฟ้า และมารดาเอ็นดูบุตร สามารถให้คำแนะนำ (ที่บางครั้งก็รู้สึกแปลกๆ) ฟังแล้วมีความน่าเชื่อถือ แต่ตัวละครปกปิดซ่อนวัตถุประสงค์แท้จริง ซึ่งก็ซุกไว้อย่างมิดชิด ตีหน้าเซ่อ รักษาภาพลักษณ์แนบเนียนสุดๆ


ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet (1924-81) สัญชาติ Belgian เกิดที่ Antwerp, Belgium ย้ายมาเรียนต่อ Paris แล้วได้สัญชาติเมื่อปี 1940, เริ่มต้นถ่ายทำหนังสั้น มีชื่อเสียงจาก Le Trou (1960), Classe Tous Risques (1960), The Fire Within (1963), Au hasard Balthazar (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), Mouchette (1967), Love and Death (1975), Tess (1979) ** คว้า Oscar: Best Cinematography

ผู้กำกับ Demy ต้องการอุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ Jean Cocteau ผู้ล่วงลับ ซึ่งหลายๆสิ่งอย่างล้วนเคารพคารวะ Beauty and the Beast (1946) ตั้งแต่เจาะจงนักแสดง Jean Marais เสื้อผ้าหน้าผม การออกแบบฉาก (ที่ใช้มนุษย์เป็นเฟอร์นิเจอร์) รวมไปถึงการถ่ายภาพ Trick Shot อาทิ Slow-Motion, Reverse Shot ฯ เพื่อสร้างสัมผัสราวกับเวทย์มนต์ ในดินแดนแฟนตาซี เหนือจินตนาการ

แต่ความแตกต่างระหว่าง Donkey Skin และ Beauty and the Beast คือการถ่ายทำด้วย Eastmancolor ซึ่งสามารถละเลงสีสัน ใส่ความระยิบระยับ ให้มีความตื่นตระการตา และใช้ปราสาทจริงๆเป็นพื้นหลัง หนังจึงมอบความรู้สึกจับต้องได้มากกว่า

ขอเริ่มจากสถานที่ถ่ายทำก่อนแล้วกัน ปราสาทพบเห็นในหนังประกอบด้วย

  • Château de Chambord ตั้งอยู่ที่ Chambord, Centre-Val de Loire เริ่มต้นก่อสร้าง ค.ศ. 1519 ในรัชสมัย King Francis I (ครองราชย์ 1515-47) แล้วเสร็จสิ้น ค.ศ. 1954, ออกแบบโดย Domenico da Cortona ด้วยสถาปัตยกรรม French Renaissance
    • พระราชวังของประเทศสีแดง
  • Château du Plessis-Bourré ตั้งอยู่ที่ Loire Valley, Maine-et-Loire เริ่มต้นก่อสร้าง ค.ศ. 1468 แล้วเสร็จสิ้น ค.ศ. 1472 ด้วยสถาปัตยกรรม Renaissance
    • พระราชวังของประเทศสีน้ำเงิน
  • Château de Neuville ตั้งอยู่ Gambais, Yvelines ก่อสร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16 ออกแบบโดยสถาปนิก Jacques I Androuet du Cerceau
    • ใช้เป็นหมู่บ้านที่ Donkey Skin หลบหนีออกจากพระราชวัง
  • Château de Pierrefonds ตั้งอยู่ Pierrefonds, Oise ก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1393-1407 ในลักษณะ Medieval Castle
    • ฉากสุดท้ายที่พระราชาจากประเทศสีน้ำเงิน เดินทางมาร่วมงานแต่งงานของพระธิดายังประเทศสีแดง

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Gitt Magrini (1914–77) สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Bernardo Bertolucci แต่ก็มักร่วมงานผู้กำกับยุค French New Wave อาทิ The Fire Within (1963), The Nun (1966), Two English Girls (1971), La Grande Bouffe (1973) ฯ

สำหรับแฟชั่นการออกแบบ จะแตกต่างออกไปตามแต่ตัวละคร อาทิ

  • พระราชาประเทศสีน้ำเงิน อ้างอิงจากภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1946)
  • พระราชาประเทศสีแดง ได้แรงบันดาลใจจักรพรรดิโรมัน Charlemagne (ครองราชย์ ค.ศ. 800-814) โดยเฉพาะหนวดประดับด้วยดอกไม้
  • ชุดเจ้าหญิงได้แรงบันดาลใจจากแฟชั้นในรัชสมัยของ King Louis XV (ครองราชย์ 1715-74)
  • ชุดนางฟ้าแม่ทูนหัว คือส่วนผสมของ Hollywood Glamor ที่นิยมกันช่วงทศวรรษ 1920s-40s

สำหรับสี่ชุดนางเอกของหนัง แฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเจ้าหญิงไว้ด้วยเช่นกัน

  • ชุดสภาพอากาศ ออกแบบจากเนื้อผ้าที่ใช้ทำเป็นฉากฉายโปรเจคเตอร์ (projection screen fabric) ส่วนก้อนเมฆถ่ายทำไว้ล่วงหน้าด้วยฟีล์ม 16mm โดยทีมงานคนหนึ่งจะเดินติดตามนักแสดงฉายภาพลงชุดดังกล่าว
    • “technician walked around with a 16 mm projector, following Catherine Deneuve so that the cloud was still on her dress, even if sometimes it overflowed a little”.
    • นัยยะถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของเจ้าหญิง เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวชอบ-เดี๋ยวเกลียด การเรียกร้องของเธอเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
  • ชุดพระจันทร์
    • นัยยะถึงความงดงามดั่งพระจันทร์ แม้ยามค่ำคืนมืดก็สามารถสาดส่องสว่าง กลายเป็นแสงแห่งความหวังให้สรรพชีวิต
  • ชุดพระอาทิตย์
    • นัยยะถึงความงดงามดั่งพระอาทิตย์ ยังคงเจิดจรัสแม้รายล้อมรอบด้วยความสว่างจร้า สามารถเปร่งประกายโดดเด่นยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
  • ชุดหนังลา ก็มาจากลาจริงๆนะแหละ นำจากโรงฆ่าสัตว์ แล้วต้องทำความสะอาดจนหมดกลิ่น (มีเพียง Deneuve สวมใส่โดยไม่รู้ว่ามาจากหนังลาจริงๆ/เพราะถ้าเธอรู้ อาจไม่ยินยอมสวมใส่ก็ได้)
    • ภายนอกดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง แต่ซุกซ่อนเร้นภายในด้วยความงดงามของเจ้าหญิง … นัยยะเดียวกับ Beauty and the Beast

ในส่วนของ Production Design เพราะขาประจำ Bernard Evein และ (ออกแบบฉาก) Agostino Pace ต่างติดพันโปรเจคอื่น ทำให้ผู้กำกับ Demy ต้องมองหาสมาชิกใหม่ Jim Leon แต่หลังร่วมงานไปได้สักพัก หมอนี่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง จำต้องเปลี่ยนตัวกลางคันมาเป็น Jacques Dugied แล้วหาทางแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ แต่ก็สิ้นเปลืองงบประมาณกว่าเท่าตัว (ในส่วนของ Production Design จากเตรียมงบไว้ 350,000 ฟรังก์ เพิ่มมาเป็น 770,000 ฟรังก์)

At seven o’clock in the evening, the decorator comes to tell me: ‘It’s a disaster. The Princess’s bed is completely ruined; we didn’t have it done where it should have been. It was a very large, very pretty flower, in pink flocked velvet, which opened when the Princess approached and closed when she was lying in it. I went to see the machine in question and it was a terrible mechanism, which worked in jerks; the flocking had not been done; they had glued a fabric on it and you could see the glue. It was horrible, unusable. We fired that and spent the night trying to come up with a set. I had seen two stags, downstairs, in the entrance to Chambord, we brought them up and made the bed with that, improvising the rest.

Jacques Demy

กลุ่มเป้าหมายของหนังเรื่องนี้คือเด็กๆ ผู้กำกับ Demy จึงครุ่นคิดจุดสังเกตที่สร้างความแตกต่าง ผู้ชมพบเห็นแล้วสามารถแยกแยะได้โดยทันที ตั้งแต่สถาปัตยกรรม การตกแต่งปราสาท ภายนอก-ใน เสื้อผ้าหน้าผมตัวละคร และชัดเจนมากๆก็คือสีสัน ประเทศแดง vs. ประเทศน้ำเงิน

  • ประเทศสีน้ำเงิน ใช้ปราสาท Château du Plessis-Bourré ดูมึความเรียบง่าย สถาปัตยกรรมไม่ได้ดูซับซ้อนอะไร ส่วนการตกแต่งภายในทำออกมาละม้ายคล้าย Beauty and the Beast (1946) เต็มไปด้วยดอกไม้ เถาวัลย์ เฟอร์นิเจอร์สิ่งมีชีวิต (มนุษย์และสัตว์)
  • ประเทศสีแดง ใช้ปราสาท Château de Chambord ภายนอกมีความหรูหรา วิจิตรตระการตา ภายในก็ดูโอ่งโถง รโหฐาน ทำจากอิฐปูน มีความมั่นคง สะอาดสะอ้าน ไม่รกหูรกตา

เริ่มต้นหนังนำเสนอว่า เจ้าลาคือสัตว์นำโชคที่สามารถถ่ายออกมาเป็นแก้วแหวนเงินทอง แต่เราสามารถตีความเจ้าลาโง่ (Fools) ก็คือประชาชน คนทั่วไปๆ พวกเขาต้องทำงานหนักด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย แล้วถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้เจ้าขุนมูลนาย ข้าราชบริพาร และพระราชาได้จับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่าย สุขสบาย แทบไม่ต้องลำบากยากเข็นอันใด

ซึ่งการถลกหนังเจ้าลาเพื่อมอบเป็นของขวัญต่อเจ้าหญิง สะท้อนว่าพระราชาไม่ได้ใคร่สนความเป็นอยู่ของราษฎร พร้อมกำจัด ทำลายล้าง เพื่อสนองผลประโยชน์ ความต้องการส่วนตน

ส่วนการที่เจ้าหญิงหลบซ่อน/ปลอมตัวสวมใส่หนังลา (Donkey Skin) สามารถตีความถึงการละทอดทิ้งยศ ศักดินา วิทยฐานะ แล้วกลายส่วนหนึ่งของปวงประชา สามัญชน โดยเป้าหมายใหม่คือครองใจเจ้าชายหนุ่ม สอนให้เขารู้จักความเสมอภาคเท่าเทียม (ใครก็ตามสวมใส่แหวนวงนี้ ไม่ว่าจะสวย-รวย-จน-อัปลักษณ์ ล้วนจักได้รับความรัก และการแต่งงาน)

หนังใช้เวลาเตรียมงานสร้าง (pre-production) ประมาณ 6-8 เดือน แล้วถ่ายทำจริงช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน-กรกฎาคม 1970) ในระยะเวลาเพียง 8 สัปดาห์ เช่นนั้นแล้วไปบันทึกภาพหิมะตกตอนไหน?? คำตอบคือใช้เทคนิค matte painting ถ่ายภาพผ่านกระจกที่วาดหิมะปกคลุมปราสาท แล้วหลงเหลือพื้นที่ว่างด้านหน้าสักนิดหน่อย สำหรับโปรยเศษหิมะปลอมผ่านหน้ากล้อง (ส่วนฉากที่นักแสดงเดินฝ่าหิมะ นั่นก็จะหิมะปลอมล้วนๆนะครับ)

นอกจากนี้หนังยังเต็มไปด้วยทริก เทคนิค ลูกเล่น เพื่อสร้างสัมผัสเวทย์มนต์ให้กับหนัง อาทิ

  • Reverse Shot ถ่ายทำแบบปกติ แต่ฉายแบบย้อนกลับหลังมาหน้า นิยมใช้ขณะย้อนเวลา ต้องการทำให้สิ่งของตกแตก หวนกลับมาเป็นปกติ ราวกับไม่มีอะไรเคยบังเกิดขึ้น
  • ตัดภาพ (Cut) หรือค่อยๆคมชัดขึ้นมา (Fade-In) สำหรับเสกสิ่งของ ปรากฎ-หายตัว เป็นเทคนิคง่ายๆที่แค่วางกล้องไว้ตำแหน่งทิศทางเดิม แล้วสลับสับเปลี่ยนคน-สัตว์-สิ่งของที่อยู่หน้ากล้อง แล้วไปตัดต่อ หรือใส่เทคนิคหลังการถ่ายทำ
  • Slow Motion นำเข้าสู่ปราสาท Château de Neuville สถานที่อยู่ใหม่ของเจ้าหญิง ซึ่งการต้องใช้ชีวิตแบบสามัญชน ราวกับโลกแฟนตาซี สิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการของเธอ (แต่ฉากนี้ทุกคนยืนหยุดนิ่ง ปล่อยให้เจ้าหญิงวิ่งอยู่ตัวคนเดียว)
  • ซ้อนภาพ (Double Exposure) ให้วิญญาณของเจ้าชายล่องลอยออกจากร่าง เพื่อท่องเที่ยว สนุกสนานไปกับจินตนาการ (ที่ได้พานพบตกหลุมรักเจ้าหญิง)
  • Iris Shot (ถือเป็น Signature Shot ของผู้กำกับ Demy) สำหรับจับจ้องสังเกตมองใครบางคน อะไรบางอย่าง
    ฯลฯ

ในวรรณกรรมต้นฉบับ เจ้าชายประเทศเพื่อนบ้านจะแค่จับพลัดจับพลูมาถึงกระท่อมกลางป่า แอบถ้ำมองแล้วพบเห็นมืออันงดงามของเจ้าหญิง จึงเก็บไปเพ้อคลั่ง ป่วยอาการตกหลุมรัก แต่หนังปรับเปลี่ยนฉากนี้ให้ดูเหมือนเจ้าหญิงใช้เวทย์มนต์ชี้นำทางเจ้าชาย มาถึงกระท่อมหลังนี้ก็เข้าไม่ได้ (ติดกำแพงอะไรสักอย่าง) เพียงแค่ถ้ำมองจากหน้าต่าง พบเห็นเธอสวมใส่ชุดพระอาทิตย์ แล้วเกิดอาการรักคลั่ง

ไดเรคชั่นดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกว่า เจ้าหญิงมีความระริกระรี้ แรดร่าน อยากได้เจ้าชายใจจะขาด แต่จำต้องครุ่นคิดวางแผนการให้เขาตกหลุมรัก ป่วยหนักอาการเพ้อคลั่ง ใจจะขาดถ้าขาดตนไม่ได้

ฉากที่ผมรู้สึกว่ามีความ Charming น่าหลงใหลมากๆ คือขณะเจ้าหญิงทำขนมเค้กให้เจ้าชาย ไม่ใช่แค่บทเพลง Recipe for a Love Cake ที่เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตอกไข่ได้ลูกไก่ (เอาลูกไก่ใส่ไข่ไว้ก่อน แล้วแสร้งทำเป็นตอกออกมา) ช่างมีความน่ารักน่าชังยิ่งนัก

แต่บอกตามตรงฉากนี้แฝงนัยยะที่โคตรจะระริกระรี้ เหมือนปรุงยาเสน่ห์ … เริ่มต้นจากใช้คฑาถอดร่างกาย-จิตใจ พบเห็น Donkey Skin นั่งอยู่เฉยๆด้านหลัง ขณะที่เจ้าหญิงสวมชุดพระอาทิตย์กำลังเตรียมทำขนมปัง (สื่อนัยยะว่าเป็นการ(ตั้งใจ)ทำจากใจ) ซึ่งสูตรประกอบด้วยเทแป้ง ตอกไข่ ใส่แหวน และโน่นนี่นั่น จากนั้นนำมาคลุกเคล้า แล้วเอาเข้าเตาอบ สำเร็จแผนการไปอีกขั้น

ฉากติดตามหาเจ้าหญิง สวมรองเท้าแก้วแหวน ผมพยายามมองให้เป็นความบันเทิง ตลกขบขัน ไร้เดียงสาแบบเด็กๆ แต่บอกตามตรงว่าทำไม่ได้! เพราะแต่ละตัวละครที่ผู้กำกับ Demy จงใจนำใส่เข้ามา สาวแก่ แม่หม้าย โดยเฉพาะเด็กหญิงตัวกระเปี๊ยก แสดงอาการระริกระรี้อยากสวมแหวน แต่งงาน กลายเป็นเจ้าหญิง มันช่างแฝงแนวคิดที่ไม่สนศีลธรรม มโนธรรม ห่าเหวอะไรทั้งนั้น!

รุ้งกินน้ำ เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรักไร้พรมแดน การแต่งงานระหว่างเจ้าชายประเทศสีแดง กับเจ้าหญิงประเทศสีน้ำเงิน ทำให้ทั้งสองประเทศกลายเป็นพันธมิตร บังเกิดความสงบสันติสุข … แต่ผู้ชมสมัยนี้เห็นรุ้งกินน้ำ จะครุ่นคิดเช่นนั้นจริงๆนะหรือ

และที่น่าสนใจมากๆของฉากนี้คือสีหน้าเจ้าหญิง เมื่อได้พบเห็นพระบิดาแต่งงานกับนางฟ้าแม่ทูนหัว มันเหมือนการถูกทรยศหักหลังจากบุคคลที่ตนเคยเชื่อใจ ยินยอมปฏิบัติตามคำแนะนำ ถึงขนาดละทอดทิ้งชีวิตสุขสบาย แม้จะได้แต่งงานกับเจ้าชายหนุ่ม แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ทั้งหมดล้วนคือแผนการอันโฉดชั่วร้าย(ของนางฟ้าแม่ทูนหัว)ใช่หรือไม่?

ตัดต่อโดย Anne-Marie Cotret (เกิดปี 1930) ขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961),

หนังดำเนินไปโดยมีเจ้าหญิง/Donkey Skin คือศูนย์กลางเรื่องราว แต่ไม่จำเป็นว่าต้องนำเสนอผ่านมุมมองของเธอโดยเฉพาะ สามารถแบ่งแยกออกเป็นครี่งแรก-ครี่งหลัง

  • เจ้าหญิง-พระราชา (เมืองสีน้ำเงิน)
    • เริ่มต้นด้วยการจากไปของพระมารดา
    • พระราชามองหาหญิงสาวสำหรับอภิเสกสมรส จนตัดสินใจเลือกเจ้าหญิง
    • เจ้าหญิงขอคำปรีกษาจากนางฟ้าแม่ทูนหัว
      • เรียกร้องขอชุดสภาพอากาศ
      • ชุดพระจันทร์
      • ชุดพระอาทิตย์
      • และชุดหนังลา
    • การหลบหนีของเจ้าหญิง ปลอมตัวเป็น Donkey Skin
  • Donkey Skin-เจ้าชายประเทศเพื่อนบ้าน (เมืองสีแดง)
    • Donkey Skin ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่
    • เจ้าชายประเทศเพื่อนบ้าน บังเอิญผ่านไปกระท่อมกลางป่า ตกหลุมรักใครบางคนที่อาศัยอยู่ในนั้น
    • เจ้าชายล้มป่วยจากความรัก อาการจะขี้นเมื่อได้รับประทานเค้กจาก Donkey Skin
    • การติดตามหาเจ้าของแหวน ที่ทำตกหล่นในก้อนเค้ก
    • เปิดเผยตัวตนแท้จริงของ Donkey Skin แต่งงานกับเจ้าชาย และได้พบเจอพระบิดา (แต่งงานใหม่กับนางฟ้าแม่ทูนหัว)

ครี่งแรกของหนังมีการลำดับเรื่องราวที่พอใช้ได้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของเจ้าหญิงทั้ง 3-4 ครั้ง นำเสนอรายละเอียดที่แทบไม่ซ้ำกัน แต่ครี่งหลังกลับดูเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้าลง เรื่องราวก็ขาดความน่าสนใจ แถมตอนจบรวบรัดตัดสอนไปนิด ทำให้ภาพรวมของหนังยังไม่น่าพีงพอใจสักเท่าไหร่


เพลงประกอบโดย Michel Jean Legrand (1932-2019) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง/วาทยากรชื่อดัง Raymond Legrand มีอัจฉริยภาพด้านเปียโนตั้งแต่เด็ก พออายุ 10-11 ขวบ เข้าศึกษา Conservatoire de Paris ค้นพบความสนใจดนตรีแจ๊สและการประพันธ์เพลง จบออกร่วมทัวร์การแสดงของ Maurice Chevalier (เป็นนักเปียโน) จากนั้นออกอัลบัมแรก I Love Paris (1954) ได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นจาก Les Amants Du Tage (1954), โด่งดังกับ L’Amérique insolite (1958), A Woman Is a Woman (1960), ร่วมงานกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961), The Umbrellas of Cherbourg (1964), The Young Girls of Rochefort (1966), กระทั่งคว้า Oscar: Best Score จาก Summer of ’42 (1971), The Thomas Crown Affair (1968) และ Yentl (1983)

Legrand คงมองภาพยนตร์เรื่องนี้คือความท้าทายที่จะได้ทดลองสรรค์สร้างแนวเพลงใหม่ๆ ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Demy คือการผสมผสานดนตรี Baroque เข้ากับ Jazz และ Pop เพื่อสร้างสัมผัสยุคกลาง (Medieval) คลุกเคล้าโลกแฟนตาซี (Fantasy) ให้มีกลิ่นอายราวกับเวทย์มนต์ขลัง

แนวทางของ Legrand ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Les Visiteurs du Soir (1942) ของผู้กำกับ Marcel Carné ประพันธ์เพลงด้วยวิธีการ Fugue ที่เคยได้รับความนิยมในยุค Baroque (ค.ศ. 1600-1725) เริ่มจากเขียนท่วงทำนองหลัก (subject) บรรเลงต่อเนื่องไปเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นพัฒนาท่วงทำนองรอง (imitation) ให้สอดประสาน มีความคล้องจอง ลื่นไหลไปเหมือนธารน้ำแต่ละสายค่อยๆเคลื่อนมาบรรจบ

From the outset, I give Peau d’Âne a kind of symmetry, framing it with two great fugues, one opening, the other closing: the first on the theme of the search for love (Amour, Amour), the second on that of found love (Rêves secrets)

Michel Legrand

วิธีการดังกล่าวดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ผมมานั่งฟังทีละบทเพลงในอัลบัมก็รู้สึกว่ามีความไพเราะ เคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่พอนำไปประกอบภาพยนตร์กลับไม่ค่อยน่าจดจำสักเท่าไหร่ มันดูกลมกลืน ลื่นไหล ธรรมดาเกินไป ผิดความคาดหวังผู้ชม เพราะนึกว่าจะได้ยินดนตรีที่เต็มไปด้วยสีสัน ฉูดฉาดจัดจ้าน แบบที่เคยทำกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) และ The Young Girls of Rochefort (1966)

Générique (แปลว่า Generic) น่าจะถือเป็น Main Theme ของหนัง เต็มไปด้วยกลิ่นอายสไตล์ Baroque มอบสัมผัสทะมึนๆ พยากรณ์ความมืดมิดที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาปกคลุม ให้เจ้าหญิงผู้มีความน่ารักสดใส จำต้องซุกซ่อนตัวตน กลายสภาพเป็นบางสิ่งอย่างที่ดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ หลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

Amour… Amour แปลว่า Love…Love ขับร้องโดย Anne Germain (ผู้ให้เสียงพากย์ Catherine Deneuve), ดังขึ้นขณะเจ้าหญิงกำลังบรรเลงออร์แกน (แต่จะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีอื่นคลอประกอบ) และรำพันถึงความรัก มันช่างรุนแรงดังพายุ ทำให้จิตใจคลุ้มคลั่ง ร่างกายล้มป่วย ตลอดทั้งวันฉันคิดถึงเธอ

Fugue du Prince เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นโดยใช้วิธีการ Fugue เริ่มต้นด้วยเสียงเชลโล่บรรเลงท่วงทำนองซ้ำไปซ้ำมาตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นจะตามด้วยเสียงไวโอลินสอดประสานเข้ามา แล้วช่วงท้ายก็จะมีเครื่องสายอื่นๆร่วมด้วยช่วยกัน

นี่เป็นบทเพลงแนะนำเจ้าชาย ซึ่งมีกลิ่นอาย Baroque (แต่จะเรียกว่าเจ้าชายในสไตล์คลาสสิก ก็ไม่ต่างกันมาก) รูปหล่อ นิสัยดี ขี้เหงาเอาใจ อยากได้อะไรต้องได้ ตกหลุมรักหญิงสาวไม่ได้จากรูปลักษณ์ภายนอก แต่ความงดงามของจิตใจ

นำบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดของหนังมาเลยก็แล้วกัน Recette pour un cake d’amour (แปลว่า Recipe for a Love Cake) ผมเรียกว่า ‘เค้กเจ้าหญิง’ ต่อให้ฟังภาษาฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง แค่ได้ยินเสียง Anne Germain (ขับร้องแทน Catherine Deneuve) เพียงท่อนแรกก็ชวนให้อมยิ้มหวาน เต็มไปด้วยลูกเล่น หยอกล้อกับผู้ฟัง เข้าจังหวะขณะเจ้าหญิงกำลังคลุกเคล้าส่วนผสมขนมเค้ก ตอกไข่ ใส่น้ำตาล มีความน่ารัก หวานแหวว รู้สึกเพลิดเพลิน อิ่มเอิบหัวใจ

Donkey Skin นำเสนอเรื่องราวความรักในสองรูปแบบ

  • ความรักของพระราชาต่อพระธิดา ที่สนเพียงสิริรูปโฉมงดงามกว่าอดีตพระชายา พยายามตอบสนองมอบสิ่งของโน่นนี่นั่น แต่กลับไม่เคยครุ่นคิดถึงความต้องการแท้จริงของเธอเลยสักครั้ง
  • ความรักของเจ้าชายต่อ Donkey Skin ไม่สนรูปโฉมที่มีความอัปลักษณ์ แต่หลงใหลในขนมเค้กที่รับประทาน … เอาว่าสนในความงดงามที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจของหญิงสาว

หลายคนน่าจะรู้สึกมักคุ้นเคยเรื่องราว ที่มีความละม้ายคล้าย Beauty and the Beast คลุกเคล้า Cinderella แฝงข้อคิดเกี่ยวกับความรักควรเกิดจากความรู้สึกภายใน ไม่ใช่ลุ่มหลงใหลรูปร่างหน้าตา แม้เปลือกภายนอกอัปลักษณ์พิศดาร แต่จิตใจอาจซุกซ่อนเร้นความงดงาม หรือเจ้าหญิงปลอมตัวมา

ความพยายามของนางฟ้าแม่ทูนหัว มองผิวเผินเหมือนต้องการเสี้ยมสอนข้อคิดอะไรบางสิ่งอย่างต่อผู้ชม/เจ้าหญิง (ว่าบุตรสาวไม่ควรแต่งงานกับบิดา) แต่กลับซุกซ่อนเร้นตัณหาของตนเอง โดยไม่สนศีลธรรม มโนธรรม ผิดชอบชั่วดี เพียงต้องการครองคู่แต่งงานพระราชา แบบนี้ผมรู้สึกว่าแม้งโคตร Ugly Ending เลยนะ!

คำแนะนำของนางฟ้าแม่ทูนหัว ยังสะท้อนถึงอิทธิพลของผู้ใหญ่ที่มีต่อคนรุ่นหลัง ครอบครัวต่อลูกหลาน รัฐบาลต่อประชาชน ที่พยายามควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำทาง (ว่าไปก็คล้ายๆตัวละครของแม่ใน The Umbrellas of Cherbourg (1964)) ซึ่งคนหนุ่ม-สาว ยังไม่เติบโตพอจะครุ่นคิด เรียนรู้การโต้ตอบ ขัดขืนกลับ จึงจำเป็นต้องน้อมรับ ปฏิบัติตามคำสั่ง แม้ขัดต่อความต้องการของหัวใจ

หลังจากเจ้าหญิงได้กลายเป็น Donkey Skin ราวกับเธอได้อิสรภาพของชีวิต สามารถครุ่นคิด ตัดสินใจ ทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง ไม่ถูกควบคุมครอบงำจากใคร ซึ่งหนังจงใจทำเหมือนเธอเป็นผู้บงการ วางแผนทุกสิ่งอย่าง (เหมือนที่นางฟ้าแม่ทูนหัว เคยกระทำต่อตน) ตั้งแต่ล่อลวงให้เจ้าชายมายังกระท่อมกลางป่า พบเห็นความงดงามของตน หรือจงใจใส่แหวนลงก้อนเค้ก จุดประสงค์เพื่อให้เขาตกหลุมรัก ป่าวประกาศแต่งงานกับหญิงสาวเจ้าของแหวนวงนั้น … ไดเรคชั่นดังกล่าวอาจต้องการสื่อว่า หญิงสาวควรมีสิทธิ์เท่าเทียมในการตกหลุมรัก เลือกคู่ครองของตนเอง ไม่ใช่เหมือนพระบิดาที่พยายามบีบบังคับให้เธอต้องแต่งงาน (กับพระองค์เอง)

กลับมาที่ประเด็น Incest จากผลลัพท์สุดท้ายของหนัง (ที่นางฟ้าแม่ทูนหัวได้ครอบครองพระราชา) สะท้อนทัศนคติของผู้กำกับ Demy มองว่า ‘sexual taboo’ หาใช่ข้ออ้างทางศีลธรรม มโนธรรม แค่เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง (ของนางฟ้าแม่ทูนหัว) เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น (เมื่อไม่สามารถแต่งงานกับเจ้าหญิง ตนเองก็จะได้สวมรอยเข้าแทนที่)

แต่ผู้กำกับ Demy ก็ไม่เห็นด้วยกับ Incest ในเชิงรูปธรรมนะครับ เพราะเขาเข้าใจเหตุผลทางพันธุกรรม มีโอกาสทำให้ลูกหลานผิดปกติทางร่างกาย/จิตใจ … ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่เคยเกินเลยเถิดกับลูกๆของตนเองเลยนะ!

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ผู้กำกับ Demy ให้ความสนใจคืออีก ‘sexual taboo’ ในประเด็นรักร่วมเพศ ชาย-ชาย หญิง-หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคม(สมัยนั้น)ก็ยังยินยอมรับไม่ได้ ด้วยคำถามเดียวกันมันผิดอะไร? นั่นเพราะคำกล่าวอ้างของบุคคลผู้มีอิทธิพล สังคม ศาสนา ขัดแย้งต่อสามัญสำนักของมนุษย์ เท่านั้นเองหรือ?

ความรักสีรุ้งของผู้กำกับ Demy ชัดเจนมากๆกับฉากสุดท้าย แม้เจ้าหญิงจะได้อภิเสกสมรสกับเจ้าชาย แต่ก็ยังส่งสายตาแสดงความผิดหวังต่อนางฟ้าแม่ทูนหัวที่ได้ครองรักกับพระราชา เพราะเธอกลายเป็นยัยร่านที่พร้อมเอาหมด ทั้งเจ้าชายและพระราชา (จะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ Bisexual ก็ไม่ผิดอะไร)


หนังเข้าฉายในฝรั่งเศสช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปลายปี 1970 มีเด็กๆพร้อมผู้ปกครองออกมารับชมมากมาย แม้เสียงตอบรับจะกลางๆ แต่ยอดจำหน่ายตั๋วพุ่งสูงกว่า 2 ล้านใบ! (สูงสุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของผู้กำกับ Demy นับเฉพาะในฝรั่งเศส) แต่เมื่อส่งออกต่างประเทศกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่

ปล. แม้ว่า The Umbrellas of Cherbourg (1964) จะได้รับความนิยมในฝรั่งเศสน้อยกว่า Donkey Skin (1970) แต่รายรับทั่วโลกเหมือนจะมากกว่า/สูงที่สุดของผู้กำกับ Jacques Demy

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 2K พร้อมเสียง 5.1ch surround จัดจำหน่าย DVD โดย Koch-Lorber Films และสามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel

ปล. Donkey Skin (1970) เคยได้เข้าฉายเมืองไทยระหว่าง 22 ม.ค. – 7 ก.พ. 2564 ณ Bangkok Screening Room

โดยส่วนตัวชื่นชอบครี่งแรกของหนังมากๆ สร้างความกระอักกระอ่วน กระวนกระวาย เปิดประเด็นต้องห้าม นำเสนอผ่านตัวละครได้อย่างสนใจ แต่ครี่งหลังราวกับภาพยนตร์คนละเรื่อง เอื่อยเฉื่อย น่าเบื่อหน่าย ถ้าไม่เพราะบทเพลงทำขนมเค้กที่ทำให้ผมตื่นขี้นมาอมยิ้ม แล้วก็เซ็งเป็ด หน้าบูดเล็กๆ(แบบเจ้าหญิง) เพราะรวบรัดตัดตอนจบ ซะงั้น!

บอกตามตรง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับเด็กเล็กหรือไม่ แต่สำหรับผู้ใหญ่น่าจะมีสาระประโยชน์อยู่บ้าง ให้รู้จักการควบคุม’ตัณหา’ของตนเอง ตั้งคำถามถีงความถูกต้องเหมาะสม ศีลธรรม มโนธรรม เสมอภาคเท่าเทียมของคนในสังคม และการแสดงออกความรักที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร

จัดเรต 15+ จากความพยายาม Incest ของพระราชา ต้องการอภิเสพสมรสกับเจ้าหญิง

คำโปรย | Donkey Skin เทพนิยายที่เต็มไปด้วยตัณหาของ Jacques Demy ดูน่าสนใจ และคงความคลาสสิก
คุณภาพ | คลาสสิก
ส่วนตัว | พอชื่นชอบ

L’Enfant sauvage (1970)


The Wild Child (1970) French : François Truffaut ♥♥♥♥

ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของเด็กชายใช้ชีวิต 11-12 ขวบปีแรกยังป่าเขาลำเนาไพร ไม่เคยพบปะมนุษย์ พูดคุยสื่อสารกับใคร กระทั่งได้รับการพบตัว เลยถูกจับมาศึกษา และสอนให้รู้จักความศิวิไลซ์

กว่าที่มนุษย์จะเรียนรู้จักอารยธรรม ค้นพบความศิวิไลซ์ในชีวิตนั้น ล้วนต้องเริ่มจากการต่อสู้ดิ้นรน สะสมประสบการณ์ สืบสานส่งต่อองค์ความรู้ จนค่อยๆบังเกิดวิวัฒนาการทั้งร่างกาย-จิตใจ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พัฒนาจากเดรัจฉานสู่สัตว์ประเสริฐ ก็ไม่รู้หลายกี่พันหมื่นแสน หรืออาจนับล้านๆปี

The Wild Child (1970) คือภาพยนตร์ที่ย่นย่อประวัติศาสตร์ นำเสนอวิวัฒนาการมนุษย์ผ่านเด็กชายที่เคยใช้ชีวิตยังป่าเขาลำไนไพร ถูกจับมาสอนพูด-อ่าน-เขียน เรียนรู้การเข้าสังคม กว่าจะสามารถละทอดทิ้งสันชาตญาณ(สัตว์ป่า) จนมี’ความเป็นมนุษย์’ได้นั้น จำต้องใช้การฝึกฝน อดรนทน ค่อยเป็นค่อยไป แม้หนังความยาว 85 นาที แต่ก็คุ้มค่าทุกวินาทีในการรับชม

ผมเพิ่งมีโอกาสรับรู้จัก The Wild Child (1970) หลังการรับชม The Enigma of Kaspar Hauser (1974) ของผู้กำกับ Werner Herzog เพราะทั้งสองเรื่องมักถูกเปรียบเทียบ อ้างอิงถึงลักษณะ ‘feral child’ หรือ ‘wild child’ บุคคลที่มีช่วงชีวิตวัยเด็กไม่ได้เติบโตในหมู่มนุษย์ จีงมิอาจพูดคุยสื่อสาร ขาดพฤติกรรมการเข้าสังคม, พอดิบดีกำลังเขียนถึงผลงานของ François Truffaut และใกล้ถึงวันเด็ก จะพลาดโอกาสนี้ได้อย่างไร

ระหว่างรับชมหนังเพียงไม่ถึง 5 นาที ผมก็เกิดความรู้สึกประทับใจทั้งไดเรคชั่นที่ผิดแผกจาก ‘สไตล์ Truffaut’ แต่มีความบริสุทธิ์ใกล้เคียง ‘pure cinema’ และโดยเฉพาะการถ่ายภาพของ Néstor Almendros งดงามระดับวิจิตรศิลป์ (เป็นที่ถูกอกถูกใจ Terrence Malick เรียกตัวมาถ่ายทำ Days of Heaven (1978) และคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography โดยทันที!)


François Roland Truffaut (1932-84) นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ไม่รู้บิดาเป็นใคร มารดาแต่งงานสามีใหม่ Roland Truffaut แม้อนุญาตให้ใช้นามสกุลแต่ก็ไม่ได้รักเอ็นดูเหมือนลูกแท้ๆ ถูกปล่อยปละละเลย เคยอาศัยอยู่กับย่าสอนให้อ่านหนังสือ ฟังเพลง รับชมภาพยนตร์เรื่องแรก Paradis Perdu (1939) ของผู้กำกับ Abel Gance เริ่มเกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเข้าสู่วัยรุ่นก็มักโดดเรียนแอบเข้าโรงหนัง (เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋ว) ตั้งใจดูให้ได้วันละ 3 เรื่อง และอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 3 เล่ม, ครั้งหนึ่งเคยลักขโมยเครื่องพิมพ์ดีดของพ่อเลี้ยง เลยถูกส่งไปสถานดัดสันดาน, ประมาณปี 1948 มีโอกาสพบเจอ André Bazin (1918 – 1958) ราวกับพ่อบุญธรรมคนที่สอง ให้ความช่วยเหลืออะไรหลายๆอย่าง ทั้งยังว่าจ้างทำงานนักวิจารณ์ นิตยสาร Cahiers du cinéma (ที่ Bazin ก่อตั้งขึ้น) ร่วมกันพัฒนาทฤษฎี Auteur Theory ส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างหนังสั้น Une Visite (1955), และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกแจ้งเกิด The 400 Blows (1959) กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่น French New Wave

Truffaut มีวัยเด็กขาดความรัก ความอบอุ่น เต็มไปด้วยอคติต่อมารดา ไม่เคยเหลียวแลหาเวลาดูแลเอาใจใส่ (สนเพียงเอาอกเอาใจสามีใหม่) ด้วยเหตุนี้จึงนิสัยเกเร เสเพล ต่อต้านสังคม ไม่ชมชอบอยู่ภายใต้กฎกรอบ ถูกควบคุมครอบงำของใคร ซึ่งหลังจากได้รับโอกาสเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ก็พยายามมองหาเรื่องราวที่สามารถสะท้อนตัวตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว

ช่วงต้นทศวรรษ 60s, Truffaut เคยแสดงความสนใจอยากดัดแปลงบทละครเวที The Miracle Worker ของ William Gibson แต่สตูดิโอ United Artists เซ็นสัญญาผู้กำกับ Arthur Penn กลายเป็นภาพยนตร์ The Miracle Worker (1962) ได้เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 2 รางวัล Best Actress (Anne Bancroft) และ Best Supporting Actress (Patty Duke ครอบครองสถิตินักแสดงหญิงอายุน้อยสุดคว้ารางวัลนี้ยาวนานถึง 11 ปี จนการมาถึงของ Tatum O’Neal เรื่อง Paper Moon (1973))

ช่วงปี 1966, Truffaut ได้อ่านบทความของ Lucien Malson ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Le Monde นำเสนอเรื่องราวของ ‘feral child’ จำนวน 52 คน ที่ถูกพบเจอ/จดบันทึกในประวัติศาสตร์ช่วงปี ค.ศ. 1344-1968 หนึ่งในนั้น Victor of Aveyron หรือ The Wild Boy of Aveyron ดึงดูดความสนใจเขาเป็นพิเศษ

เรื่องราวของ Victor of Aveyron มีการจดบันทึกในรายงานสองฉบับ

  • An Historical Account of the Discovery and Education of a Savage Man, Or of the First Developments, Physical and Moral, of the Young Savage Caught in the Woods Near Aveyron, in the Year 1798 (1802)
    • บันทึกการทดลอง/ศึกษาโดย Dr. Jean Marc Gaspard Itard (1774-1838) อายุรแพทย์ชาวฝรั่งเศส ทำงานอยู่ Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris สำหรับคนหูหนวก/มีปัญหาด้านการได้ยิน ซึ่งเขาได้พยายามสร้างพัฒนาการเรียนรู้ให้ Victor of Aveyron แต่กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า จนผ่านมา 5 ปี ถือว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
    • https://archive.org/details/anhistoricalacc00itargoog/page/n6/mode/2up
  • อีกฉบับคือรายงานเขียนโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (French Minister of the Interior) เมื่อปี ค.ศ. 1806 เพื่อของบประมาณรายปีเป็นทุนค่าเลี้ยงดูแล Victor ให้กับ Madame Guérin (แม่บ้านของ Dr. Itard) อาสารับดูแลแทน Dr. Itard ตลอดชีวิตที่เหลือ

พัฒนาบทร่วมกับ Jean Gruault  (1924-2015) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Fontenay-sous-Bois, เป็นอีกสมาชิก French New Wave รู้จักสนิทสนม Truffaut ตั้งแต่เข้าร่วมกลุ่ม Cinémathèque Française เริ่มมีชื่อเสียงจากพัฒนาบท Paris Belongs to Us (1960), และยังเป็นผู้ดัดแปลง Jules and Jim (1962) กับ Two English Girls (1971)

เรื่องราวเริ่มต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1798, เด็กชายอายุ 11-12 ปี ได้รับการค้นพบบริเวณผืนป่า Aveyron ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หลังจากสามารถจับกุม ถูกส่งตัวไปยัง Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris แต่เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ Dr. Jean Itard (รับบทโดย François Truffaut) จึงอาสารับเลี้ยงดูแล พยายามสอนการพูด-อ่าน-เขียน เรียนรู้จักการเข้าสังคม ซึ่งต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงกว่าจะสามารถสื่อสาร เกิดความเข้าใจ


หลังไม่สามารถหาบุคคลเหมาะสม Truffaut เลยตัดสินใจเล่นเป็น Dr. Jean Itard ด้วยตนเอง! (เป็นการแสดงหน้ากล้องครั้งแรกในชีวิต) เพราะครุ่นคิดว่าจะสามารถกำกับนักแสดงเด็กได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องเสียเวลาสื่อสารผ่านนักแสดง(ที่จะมารับบท Dr. Itard) ซึ่งบทบาทนี้เขายังมองว่าแตกต่างจากการแสดงทั่วไป ให้ความรู้สึกเหมือนการกำกับ(นักแสดง)จาก ‘หน้ากล้อง’ เสียมากกว่า

the impression not of having acted a role, but simply of having directed the film in front of the camera and not, as usual, from behind it.

François Truffaut

การเล่นเป็น Dr. Itard ทำให้ Truffaut เรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจหัวอกความเป็นบิดาที่คอยเป็นห่วงเป็นใย ดูแลเอาใจใส่บุตรของตนเอง ซึ่งก็คือนักแสดงเด็กที่เลือกมารับบท พบเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง นั่นเองทำให้เขาอุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่ Jean-Pierre Léaud ระลึกถึงตอนสรรค์สร้าง The 400 Blows (1959) ตระหนักว่าตนเองได้ทำให้ชีวิตเด็กคนหนึ่งปรับเปลี่ยนแปลงไป

the decision to play Dr. Itard myself is a more complex choice than I believed at the time … this was the first time I identified myself with the adult, the father, to the extent that at the end of the editing, I dedicated the film to Jean-Pierre Léaud because this passage, this shift became perfectly clear to me.

เกร็ด: ก่อนหน้านี้ไม่นาน ค.ศ. 1968 นักสืบเอกชนได้ติดตามหาจนพบบิดาแท้ๆของ François Truffaut คือหมอฟันชาวยิวชื่อ Roland Levy แต่เขาตัดสินใจไม่ขอพบเจอหน้า ทั้งหมดนี้็ก็แค่สนองความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวเท่านั้น

ในหนังสืออัตชีวประวัติของ Truffaut วิเคราะห์เปรียบเทียบตัวละครในหนัง Dr. Itard (ที่ตนเองรับบท) สามารถเทียบแทนด้วย(พ่อบุญธรรม) André Bazin และเด็กชาย Victor ก็คือตัวเขาเองที่ในอดีตนิสัยดื้อรัน หัวขบถ เอาแต่ใจ ไม่ต่างจากสัตว์ป่า กว่าจะเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ ต้องพานผ่านอะไรๆมาไม่น้อยทีเดียว!


ส่วนการสรรหาหานักแสดงรับบท Victor ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด! Truffaut เคยพิจารณาเด็กปัญญาเลิศ (gifted child) หรือบุตรของคนมีชื่อเสียง (เพราะจะสามารถสื่อสารกับครอบครัวพวกเขาโดยง่าย) จนกระทั่งมาพบเจอ Jean-Pierre Cargol เด็กชายเร่ร่อน อาศัยอยู่กับกลุ่มชาวยิปซี มีศักดิ์เป็นหลานของนักกีตาร์ชื่อดัง Manitas de Plata

เนื่องจากตัวละคร Victor ไม่สามารถพูดออกเสียง มีเพียงปฏิกิริยาแสดงออก ร่างกายขยับเคลื่อนไหวตามสันชาตญาณ ซึ่งวิธีการกำกับของ Truffaut เพียงพูดบอกออกคำสั่งให้ทำโน่นนี่นั่น เดินเหมือนลิง วิ่งเหมือนสุนัข กระโดดโลดเต้น นอนกลิ้งเกลือกไปมา ฯลฯ ไม่จำเป็นที่เด็กชายต้องอ่าน/ท่องบท แต่งหน้าแต่งตัวเสร็จก็พร้อมเข้าฉาก ส่วนการบันทึกเสียงของ Dr. Itard ค่อยไปพากย์ทับเอาภายหลังถ่ายทำ

ที่ต้องชื่นชมเลยก็คือ ความเป็นธรรมชาติในการแสดงของ Cargol จริงอยู่บทบาทไม่ได้มีความสลับซ้อนอะไร แสดงออกตามอารมณ์ สันชาตญาณ แต่แค่การยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นหุ่นเชิดชักของผู้กำกับ Truffaut แล้วผลลัพท์ออกมาดูสมจริงจังขนาดนี้ มันน่าเหลือเชื่อ ไปค้นพบเจอเด็กคนนี้ได้อย่างไรกัน!

น่าเสียดายที่ Cargol ไม่ได้มีความสนใจด้านการแสดงเหมือน Jean-Pierre Léaud หลังเสร็จจาก The Wild Child (1970) มีผลงานอีกเพียงเรื่องเดียว Caravan to Vaccares (1974) แล้วก็ออกไปทำอย่างอื่นที่เจ้าตัวชื่นชอบหลงใหล


ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงาน François Truffaut ตั้งแต่ The Wild Child (1970), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ

งานภาพของ Almendros งดงามตราตรึงมากๆในช่วงแรกๆที่ถ่ายทำยังป่าเขาลำเนาไพร (ยังแว่นแคว้น Auvergne) ใช้เพียงแสงธรรมชาติระยิบระยับส่องผ่านใบไม้ ที่มีลำต้นสูงใหญ่, ซึ่งหลังจาก Victor ถูกจับนำกลับมากรุง Paris แทบทั้งนั้นล้วนเป็นฉากภายใน ขยับ-เคลื่อน-หมุน ให้ตัวละครอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางภาพก็เพียงพอใช้ได้

ปล. ช็อตสวยๆเหล่านี้คือเหตุผลที่ผู้กำกับ Terrence Malick ต้องการตัว Néstor Almendros มาเป็นตากล้องถ่ายทำ Days of Heaven (1978)

ระหว่างการนำพาเด็กชายพบเจอจากป่า ขึ้นรถม้ามุ่งสู่ Paris ต้องพานผ่านธารน้ำเล็กๆสายนี้ ซึ่งจำต้องให้ผู้โดยสารลงจากรถ แล้วเดินข้ามสะพาน ส่วนขบวนรถก็จะวิ่งด้านล่างผ่านผืนน้ำ ซึ่งในบริบทของหนังเป็นการแบ่งชนชั้น มนุษย์(สัตว์ประเสริฐ)-สัตว์(เดรัจฉาน) อย่างชัดเจน!

แต่จู่ๆหลังจากรถม้าและทุกคนข้ามเสร็จ เด็กชายกลับวิ่งลงมาดื่มเลียน้ำตรงลำธาร สื่อถึงตัวตนที่มี ‘ความเป็นสัตว์’ แสดงออกเพียงเพื่อตอบสนองสันชาตญาณร่างกายเท่านั้น

เมื่อเด็กชายเดินทางมาถึง Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris ก็ได้ถูกตรวจสอบโน่นนี่นั่น บันทึกรายละเอียดอย่างชี้ชัด ราวกับเขาเป็นวัตถุสิ่งข้าวของ แต่ช็อตน่าสนใจสุดคือขณะส่องกระจก ภาพสะท้อนตัวตน (ของ Truffaut) ทั้งยังสื่อได้ถึงมนุษย์ทุกคนล้วนต้องเคยเป็นแบบเด็กคนนี้ มีความป่าเถื่อนอย่างไร้เดียงสา จนกว่าจะได้ฝึกฝน เข้าใจวิถีชีวิต เรียนรู้จักความเป็นมนุษย์ ถึงสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม

หนึ่งในเทคนิคที่พบเห็นบ่อยครั้ง Iris Shot ห้อมล้อมภาพด้วยกรอบวงกลม ซึ่งจะมีทั้งขยาย-ย่อขนาด ถ้าเป็นหนังยุคก่อนหน้านี้มักเพื่อสร้างจุดสนใจ มุมมองที่อยากให้ผู้ชมจับจ้องสังเกตเห็น แต่ผู้กำกับ Truffaut ไม่แน่ใจว่าเป็นครั้งแรกๆเลยหรือเปล่า แฝงนัยยะถึงการค่อยๆถูกควบคุมครอบงำ บุคคลในภาพกำลังสูญเสียบางสิ่งอย่างไปชั่วนิรันดร์

ซึ่งหนังเรื่องนี้มักมีการใช้ Iris Shot กับภาพของเด็กชาย Victor ทุกๆครั้งที่จบแต่ละ Sequence เขาจะสูญเสียอิสรภาพ, ความเป็นตัวของตนเอง, สันชาตญาณ(ความเป็น)สัตว์, รวมถึงโอกาสที่จะได้หวนกลับไปอาศัยอยู่ตามป่าดงพงไพร

ทุกครั้งที่ได้ดื่มน้ำ Victor จะเหม่อมองออกนอกหน้าต่าง จับจ้องทิวทัศน์ เทือกเขา ป่าพงไพร นั่นคือสถานที่ที่เขาเคยอาศัยใช้ชีวิต จนกระทั่งถูกจับกุมคุมขังอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ ในใจย่อมโหยหาอยากหวนกลับไป แต่หลังจากเรียนรู้อะไรๆมากมาย สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิต สุดท้ายก็มิอาจละทอดทิ้งความสุขสบาย กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือสิ่งที่คนเราเรียกว่ามี’ความเป็นมนุษย์’

เช่นเดียวกับทุกครั้งวันฝนตก (และค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง) Victor จะสูญเสียความเป็นมนุษย์ ออกไปกระโดดโลดเต้น ก้าวเดินสี่เท้าเหมือนสัตว์ป่า นั่นอาจเพราะธาราคือจิตวิญญาณแห่งชีวิต ความสุขสูงสุดที่เขาได้รับระหว่างยังอาศัยอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร

ฉากที่ถือเป็นไคลน์แม็กซ์ของหนัง คือการตั้งคำถามว่า Victor สามารถแยกแยะถูก-ผิด ชั่ว-ดี จากการกระทำที่ไร้ซี่งเหตุผลได้หรือไม่ ซี่งปฏิกิริยาต่อต้านหลังถูก Dr. Itard กำลังจะลงโทษจับขังห้องใต้บันไดโดยที่ตนเองไม่กระทำผิดใดๆ ผมถือว่ามีความยิ่งใหญ่เทียบเท่าลิงทุบกะโหลกศีรษะจาก 2001: A Space Odyssey (1968) และไดโนเสาร์มีเมตตาธรรม เรื่อง The Tree of Life (2011) เพราะสามารถสื่อถีงพัฒนาการ(ของ Victor)มาจนถีงจุดที่ค้นพบว่ามี ‘ความเป็นมนุษย์’

ช็อตสุดท้ายของหนัง หลังจาก Victor ตัดสินใจหวนกลับมาบ้าน Dr. Itard ขอให้ Madame Guérin พาเด็กชายขึ้นไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า จบลงที่ขณะก้าวเดินขึ้นบันได ซึ่งสะท้อนถึงการเลื่อนวิทยฐานะ เด็กชายจากเคยเป็นเหมือนสัตวป่า/เดรัจฉาน ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดห่วงโซ่อาหาร มีความเป็นมนุษย์/สัตว์ประเสริฐผู้สูงส่ง

จะว่าไปทิศทางเรื่องราวของ The 400 Blows (1959) ตรงกันข้ามกับ The Wild Child (1970), เรื่องแรกเด็กชายสูญเสียครอบครัว ไม่รู้จะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไร เรื่องหลังจากคนป่าได้พบเจอครอบครัวใหม่ และอาจมีอนาคตที่สดใส

ตัดต่อโดย Agnès Guillemot (1931-2005) สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำผู้กำกับ Jean-Luc Godard ตั้งแต่ A Woman Is a Woman (1961), และร่วมงาน François Truffaut ถีงสี่ครั้งเริ่มจาก The Wild Child (1970)

หนังดำเนินเรื่องโดยมี Victor คือจุดศูนย์กลาง เริ่มตั้งแต่การถูกพบเจอ จับกุมตัว ส่งมาสถาบันคนหูหนวก และได้รับการเลี้ยงดูแลจาก Dr. Jean Itard ให้ค่อยๆเรียนรู้ สามารถสื่อสาร และค้นพบว่ามีสามัญสำนึก ความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

  • องก์หนึ่ง พบเจอตัวเด็กชายอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ถูกไล่ล่า และจับกุมตัว
  • องก์สอง ช่วงระหว่างอาศัยอยู่ Institution Nationale des Sourds-Muets à Paris กลายเป็นหนูทดลอง และสิ่งใคร่รู้ใคร่เห็นของชาวฝรั่งเศส
  • องก์สาม ย้ายมาอาศัยอยู่กับ Dr. Itard
    • เรียนรู้พื้นฐานชีวิต การยืน เดิน แต่งตัว รับประทานอาหาร
    • พบปะผู้อื่น เรียนรู้จักความบันเทิง การเล่นสนุกสนาม และสิ่งสามารถตอบสนองความพึงพอใจ
    • ฝึกฝนการแยกแยะเสียง สิ่งของ ตัวอักษร
    • การทดสอบ ‘ความเป็นมนุษย์’ ด้วยการกระทำสิ่งไม่ถูกต้อง ไร้เหตุผล
  • องก์สี่ การตัดสินใจของ Victor จะหนีกลับป่าหรือหวนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์

เอาจริงๆ ถ้าตัดทิ้งเสียงสนทนาและคำบรรยาย(สำหรับจดบันทึกการทดลอง)ของ Dr. Jean Itard (ซึ่งถือเป็นลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Truffaut’) ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถดูเป็นหนังเงียบ ด้วยการเทียบแทนตนเองเป็น Victor ที่ไม่มีความเข้าใจในการพูดคุยของใครๆ แต่เขาจักค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว จนในที่สุดก็สื่อสารทำความเข้าใจ(ด้วยภาษากาย) … แต่จะสามารถธำรงชีพรอดในสังคมได้ด้วยตนเองไหม นั่นเป็นอีกประเด็นนึง!


ระหว่างที่ Victor ยังอาศัยอยู่ในผืนป่าใหญ่ ก็จะได้ยินเพียงเสียงสายลม นกร้อง Sound Effect ของธรรมชาติ แต่เมื่อถูกจับนำเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง จักได้ยินบทเพลงของ Antonio Vivaldi เท่าที่ผมคุ้นหูมีอยู่สองบทเพลง เริ่มจาก Concerto in C Major for Mandolin, Strings and Continuo, RV 425 ซึ่งโดดเด่นจากการใช้เครื่องดนตรี Mandolin โดยปกตินั้นมี 3 ท่อน แต่ผมได้ยินในหนังแค่เพียง 2 ท่อนเท่านั้น

I. Allegro เป็นท่อนที่เน้นความร่าเริง สนุกหรรษา มักได้ยินขณะ Victor ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนแปลง เกิดความเข้าใจบางสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง

II. Largo ท่วงทำนองอันเชื่องช้า วาบหวิว แสดงถึงความเจ็บปวดรวดร้าว นั่นคือ Victor ยังไม่สามารถทำบางสิ่งอย่างได้สำเร็จ กำลังถูกลงโทษทัณฑ์ ไม่พึงพอใจสิ่งบังเกิดขึ้นขณะนั้น

และทุกครั้งเวลา Victor เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่างระหว่างกำลังดื่มน้ำ ราวกับเขาโหยหาถึงป่าพงไพร สถานที่เคยอาศัยใช้ชีวิต ซึ่งจะได้ยินเสียง Piccolo อันโหยหวยจากบทเพลง Concerto for Piccolo and Strings in C Major RV 443 เต็มไปด้วยความห่วงหาอาลัย อยากหวนกลับไปแต่ไม่รู้จะทำได้อย่างไร ผืนป่าแห่งนั้นมันช่างไกลเสียเหลือเกิน

ความสนใจของ Truffaut ต่อเรื่องราวของ Victor of Aveyron สามารถเปรียบเทียบแทนถีงตัวตน/ช่วงเวลาวัยเด็ก(ของ Truffaut)ที่มีนิสัยก้าวร้าว หัวขบถ ไม่ชอบทำตัวอยู่ในกฎกรอบ หรือถูกบีบบังคับ เหมือนสัตว์ป่าโหยหาอิสรภาพ แต่หลังจากเรียนรู้จักชีวิต เข้าถีงอารยธรรม สิ่งศิวิไลซ์ทั้งหลายในสังคม จีงค่อยๆยินยอมรับ ปรับตัว เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และค้นพบ’ความเป็นมนุษย์’เพิ่มขี้นมา

สิ่งที่เป็นประเด็นคำถามของหนัง ระหว่างใช้ชีวิตตามสันชาตญาณ ด้วยการอาศัยอยู่กับธรรมชาติ vs. เรียนรู้ ฝีกฝน ปรับตัวเข้าสังคม ใช้ชีวิตบนความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ แบบไหนคือสิ่งเหมาะสมกับตัวเรามากกว่า?

คำตอบของ Truffaut คือการที่ Victor หลังหลบหนีออกจากบ้าน ตัดสินใจหวนกลับคืนมาด้วยตนเอง นั่นถือเป็นการละทอดทิ้งสันชาตญาณ (ของสัตว์เดรัจฉาน) ตระหนักว่าการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (ของสัตว์ประเสริฐ) ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ความศิวิไลซ์เป็นสิ่งสามารถสร้างความพีงพอใจได้มากกว่า

น่าเสียดายที่เหตุการณ์จริงหลังจากนี้ Victor of Aveyron แม้ได้รับการดูแลจาก Dr. Jean Itard ยาวนานถีง 5 ปี กลับไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ค้นพบความก้าวหน้าทางสติปัญญา สร้างความท้อแท้ผิดหวัง หมดสิ้นความสนใจ Madame Guérin เลยอาสารับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ว่ากันว่าก็อยู่แค่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปทำงาน หรือแต่งงานกับใคร กระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1828 (อายุประมาณ 40 ขวบปี)

The Wild Child (1970) สร้างขี้นในยุคสมัยบุปผาชน (flower child) คนรุ่นใหม่/ชาวฮิปปี้ ต่างมีค่านิยมชมชอบแนวคิดคนเถื่อนใจธรรม (noble savage) มากกว่าการมีอารยธรรมแล้วต้องถูกควบคุมครอบงำ จำกัดอิสรภาพโดยบริบททางสังคม ซี่งคำตอบของหนังเรื่องนี้สะท้อนความคิดเห็น ทัศนคติส่วนตัวของ Truffaut ไม่เห็นด้วยกับอิสรภาพอันไร้ขอบเขต เฉกเช่นนั้นแล้วมนุษย์แตกต่างจากเดรัจฉานเช่นไรกัน?


เมื่อตอนออกฉาย The Wild Child (1970) ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและเสียงวิจารณ์ กลายเป็นหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของ Truffaut โดยเฉพาะนักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็มสี่ดาว พร้อมชื่นชมในความเป็นขั้นเป็นตอน ของการนำเสนอกระบวนการเรียนรู้ในระดับพื้นฐาน (education at its most fundamental level)

it is an intellectually cleansing experience to watch this intelligent and hopeful film.

Roger Ebert

อิทธิพลของ The Wild Child (1970) จุดกระแสสังคมในฝรั่งเศส โดยเฉพาะด้านการศึกษา และการดูแลเด็กพิเศษ/คนพิการของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการเชื้อเชิญ Truffaut ออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ สัมภาษณ์สอบถามความคิดเห็น ได้รับจดหมายจากแฟนๆ ล้วนต้องการแลกเปลี่ยน/เล่าประสบการณ์ที่พวกเขาเคยประสบพบเจอกับตนเอง

แม้ผมจะเต็มไปด้วยอคติกับผลงานส่วนใหญ่ของ François Truffaut แต่ไม่ใช่กับ The Wild Child (1970) ที่นำเสนอความใคร่อยากรู้อยากเห็น วิวัฒนาการเติบโต และวินาทีแห่ง ‘ความเป็นมนุษย์’ มันช่างมีความบริสุทธิ์ทั้งวิธีนำเสนอ และความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของหนังออกมา

ในบรรดาภาพยนตร์แนว ‘feral child’ หรือ ‘wild child’ เรื่องทรงคุณค่าจริงๆจะมีเพียง The Wild Child (1970) และ The Enigma of Kaspar Hauser (1974) ที่ถือว่ายอดเยี่ยมเหนือกาลเวลา ส่วน Tarzan และ The Jungle Book กลายเป็นความบันเทิงตลาดๆ สูญเสียพลังในเนื้อหาสาระไปหมดสิ้นแล้ว

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Wild Child เป็นผลงานที่มีความเป็นศิวิไลซ์ บริสุทธิ์ที่สุดของ François Truffaut
คุณภาพ | ศิวิซ์
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

El Topo (1970)


El Topo (1970) Mexican : Alejandro Jodorowsky ♥♥♥♥

ชายชุดดำควบขี่ม้าอยู่กลางทะเลทราย ด้านหลังมีเด็กชายเปลือยเปล่าไม่สวมใส่เสื้อผ้า พอมาถึงเสาไม้แห่งหนึ่งสั่งให้ขุดกลบฝังตุ๊กตาหมีและรูปถ่ายมารดา, ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจนัยยะเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ ค่อยลองหาโคตรหนัง Surrealist เรต NC-17 เรื่องนี้มารับชมนะครับ

“You are 7 years old. You are a man. Bury your first toy and your mother’s picture”.

El Topo พูดกับบุตรชาย

ในบรรดาผู้กำกับหนัง Surrealist ชื่อของ Alejandro Jodorowsky โด่งดัง/สุดโต่งไม่น้อยไปกว่า Luis Buñuel หรือ David Lynch แต่ผลงานกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะถูกหมักหมมโดยโปรดิวเซอร์ผู้สร้าง ไม่ยินยอมนำออกฉายเพราะต้องการเก็บไว้เหมือนไวน์ บ่มเพาะด้วยกาลเวลา ตั้งใจว่าหลัง Jodorowsky เสียชีวิตจากไปค่อยนำออกฉาย ตักตวงผลประโยชน์กำไรน่าจะมากกว่าตอนเพิ่งสร้างสำเร็จเสร็จ

“He’s awaiting my death. He believes he can make more money from the film after I am dead. He says my film is like wine — it grows better with age. He is waiting like a vulture for me to die. For 15 years, I’ve tried to talk to him by telephone, and he’s always busy. He eats the smoking meat. Smoking meat … you know? From the delicatessen?

Yes. When I call him by telephone they say to me he’s eating the smoking meat. I cannot speak with him because he is eating the smoking meat. He’s eating for 15 years the smoking meat”.

Alejandro Jodorowsky พูดถึงโปรดิวเซอร์ Allen Klein

แซว: นักวิจารณ์ Roger Ebert ที่สัมภาษณ์ Jodorowsky เมื่อปี 1989 ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘smoking meat’ มันคืออะไรกันแน่? รูปธรรม? นามธรรม? เนื้อรมควัน? สูบกัญชา? หรือจะสื่อพฤติกรรมทำตัวเรื่อยเปื่อยไม่สนใจอะไร? และกว่า Klein จะยินยอมสงบศึกก็อีก 15 ปีให้หลัง รวมแล้วหมักดองหนังไว้ในถังเก็บไวน์กว่า 30 ปี

El Topo เป็นภาพยนตร์คาคลั่งด้วยสัญลักษณ์ นัยยะนามธรรม ผสมผสานทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ comedy, tragedy, ครอบครัว, การเมือง, ปรัชญา, ศาสนา และที่สุดคือมรรคผลนิพพาน เราสามารถพยามครุ่นคิดตีความ หรือจะช่างพ่อช่างแม้ง ก็ยังเพลิดเพลินประสบการณ์ เรื่องราวดำเนินไปได้เหมือนกัน

เกร็ด: มีคำเรียก Sub-Genre ของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า Acid Western คือแนว Western ที่ดูเหมือนผู้กำกับเสพกัญชาขณะสรรค์สร้าง ทำให้มีความสลับซับซ้อน ซ่อนเร้นนัยยะ สังคม การเมือง ปรัชญา ศาสนา ฯ ให้ความรู้สีกมีนเมา จับต้องเชิงรูปธรรมไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

ปัญหาคือความรุนแรง (นับศพ 166-177) ทรมานสัตว์ (ถูกฆ่าให้ตายจริงๆ) คนพิการ (ดาวน์ซินโดรม) ภาพโป๊เปลือย (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ปู้ยี้ปู้ยำศาสนา (no comment) รวมไปถึงการข่มขืนนักแสดงหญิงจริงๆของผู้กำกับ Jodorowsky เรียกว่าแทบทุกความบัดซบในสันดานมนุษย์ถูกนำเสนออกมา เพื่อสะท้อนความบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ของผู้คนบนโลกใบนี้ จนมิอาจอดรนทนอยู่ได้อีกต่อไป มีหนทางออกเดียวเท่านั้น … คือดูหรือไม่ดู!

Alejandro Jodorowsky รับบทชายชุดดำ (El Topo) ส่วนเด็กชายเปลือยเปล่าไม่สวมใส่เสื้อผ้าคือบุตรชาย Brontis Jodorowsky ขณะนั้นอายุ 6-7 ขวบ ยังไม่ค่อยรู้ประสีประสา ถูกสั่งให้ขุดกลบฝังตุ๊กตา (เลิกเป็นเด็กได้แล้ว) และภาพถ่ายมารดา Bernadette Landru (น่าจะเพิ่งเลิกรากับ Jodorowsky เป็นการบอกให้ลูกชายหลงลืม’แม่’ของตนเอง ซี่งยังตีความต่อได้ถีงทุกสรรพสิ่งอย่างให้กำเนิดกลายมาเป็นตัวเรา กลบฝังมันไว้ก่อนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้) แต่หลังจากถ่ายทำหนังเสร็จสิ้นตัวเขาก็เปลี่ยนแปลงไม่ต่างจากตัวละคร เริ่มบังเกิดสำนีกชอบชั่วดี รู้สีกผิดต่อลูกชายที่บีบบังคับให้ทำอย่างนั้น วันหนึ่งเรียกมาหลังบ้านสั่งให้ขุดดินค้นพบตุ๊กตาหมีและภาพถ่ายมารดา แล้วพูดบอกว่า

“Now you are 8 years old, and you have the right to be a kid”.

Alejandro Jodorowsky
El Topo

Alejandro Jodorowsky Prullansky (เกิดปี 1929) ศิลปินสัญชาติ Chilean-French เกิดที่ Tocopilla ครอบครัวเป็นชาว Ukrainian เชื้อสาย Jews อพยพย้ายมาปักหลักอาศัยอยู่ประเทศ Chile, บิดาชอบใช้ชอบกำลัง ความรุนแรง ข่มขืนมารดาจนท้องบุตรชาย Alejandro ด้วยเหตุนี้จีงไม่ได้รับความรักจากทั้งคู่ รวมถีงพี่สาวเอาแต่เรียกร้องความสนใจ เลยหมกตัวอยู่ในห้องสมุดอ่านหนังสือแทบทุกเล่มที่มี ชื่นชอบปรัชญา ศาสนา เริ่มหัดเขียนบทกวี ร่ำเรียนจิตวิทยาและปรัชญา University of Chile เพียงสองปียื่นใบลาออกเดินทางสู่ Paris ด้วยความหลงใหลการแสดง Mime เล่นเป็นตัวตลก ไต่เต้าสู่ผู้กำกับละครเวที จากนั้นก่อตั้งคณะการแสดง Teatro Mimico เขียนบทละครเรื่องแรก El Minotaura (แปลว่า The Minotaur) กระทั่งค้นพบความน่าสนใจด้านภาพยนตร์ สรรค์สร้างหนังสั้นละครใบ้ Les têtes interverties (1957) [แปลว่า The Severed Heads] ร่วมกับ Saul Gilbert, Ruth Michelly ถูกอกถูกใจผู้กำกับ Jean Cocteau ถีงขนาดขอเขียนคำนิยมชื่นชมผลงาน

ปี 1960, ออกเดินทางสู่ Mexico City ร่วมก่อตั้ง Panic Movement (ร่วมกับ Fernando Arrabal และ Roland Topor) ด้วยจุดมุ่งหมายพัฒนาการ Surrealist สู่ Absurdism มุ่งเน้นนำเสนอภาพความรุนแรงที่สมจริง/เหนือจริง เพื่อสร้างความตกตะลีก ให้ผู้ชมตื่นตระหนักถีงสาสน์สาระซ่อนเร้นในเนื้อหานั้นๆ ด้วยหนังสือการ์ตูน, การแสดง Performance Art, ละครเวที และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Fando y Lis (1967) [จากบทละครเวทีของ Arrabal] เมื่อตอนออกฉายก่อให้การจราจลบนท้องถนนจนถูกแบนใน Mexico

“Most directors make films with their eyes, I make them with my testicles. [ฺBecause] human being is not only intellect, it’s also muscle. Material, sexual, emotional, intellectual – we need to act with all four parts of ourselves, like a complete being”.

Alejandro Jodorowsky

แม้ว่า Fando y Lis (1967) จะออกฉายเพียงระยะเวลาสั้นๆ 3 วันเท่านั้น แต่กลับสามารถทำเงินถล่มทลาย (ผู้ชมคงสงสัยว่าทำไมหนังถีงเป็นต้นเหตุให้เกิดการจราจล เลยรีบเร่งออกไปดูก่อนถูกห้ามฉาย) ด้วยเหตุนี้ Jodorowsky เลยได้รับทุนสนับสนุนโปรเจคถัดมาสูงถีง $200,000 เหรียญ และประกาศว่าจะสรรค์สร้าง Cowboy Western ที่ใครๆสามารถรับชมได้

“The next picture I make will be a cowboy picture – then everyone will come and see it”.

ช่วงระหว่างปี 1967, Jodorowsky มีโอกาสพบเจอ Ejo Takata (1928–1997) พระสงฆ์นิกาย Zen เดินทางจากญี่ปุ่นเพื่อเผยแพร่ศาสนายังสหรัฐอเมริกา มาจนถีง Mexico เลยฝากฝังตัวเป็นลูกศิษย์ ปรับเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นสถานที่ฝีกฝน นั่งสมาธิ ดีงดูดผู้คนมากมายเข้าร่วมสนทนาธรรม [Takata ยังเป็นที่ปรีกษา Jodorowsky ระหว่างสรรค์สร้าง The Holy Mountain (1973)]

แต่ความสนใจจริงๆของ Jodorowsky หลังจากศีกษาหลักคำสอนของหลายๆศาสนา ต้องการไปให้ไกลกว่าการบรรลุของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าความเป็นมนุษย์ (Humanity) สำคัญกว่ามรรคผลนิพพาน

Jodorowsky: Humanity is better than Buddha and Christ. I start in the darkness. Then Buddha. Then humanity.

นักข่าว: What do you see beyond Buddha?

Jodorowsky: I see mortality. Humanity is in mortality.


เรื่องราวของ El Topo สามารถแบ่งออกเป็น 4 เรื่องราว

เรื่องแรก ความเหี้ยมโหดร้ายของโลกใบนี้, หลังสั่งให้ลูกชายกลบฝังตุ๊กตาหมีและภาพถ่ายมารดา ควบขี่ม้าพานผ่านเมืองแห่งหนี่ง พบว่าทุกสิ่งมีชีวิตถูกเข่นฆ่าล้างหมดสูญสิ้น นั่นทำให้ El Topo ตัดสินใจล้างแค้นเอาคืนชายศีรษะล้านเรียกตนเองว่า Colonel ขณะนั้นกำลังปักหลักอยู่ยังโบสถ์คริสต์ ครอบครองหญิงสาวสวย ซี่งหลังจากได้รับชัยชนะกลับถูกลวงล่อโดยเธอคนนั้น ถีงขนาดทอดทิ้ง/แลกเปลี่ยนกับบุตรชาย แล้วเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่(กับเธอ)

เรื่องสอง การเดินทางเพื่อพิสูจน์ตนเองจนถีงสู่จุดสูงสุด, หญิงสาวคนนั้นเรียกร้องให้ El Topo พิสูจน์ตนเองว่ามีความพิเศษเหนือใคร ท้าทายให้ต่อสู้เอาชนะปรมาจารย์ 4 คน ประกอบด้วย

  • ชายตาบอด ฝีกฝนตนเองจนสามารถควบคุมลูกปืนให้เคลื่อนผ่านรูขุมขนร่างกาย ไม่ได้รับอันตรายแม้จากการถูกยิงระยะเผาขน El Topo รับรู้ว่าไม่มีทางเอาชนะซี่งๆหน้า จีงวางแผนด้วยเล่ห์กล แอบขุดหลุมบริเวณสถานที่ท้าประลอง แล้วใช้จังหวะคู่ต่อสู้พลัดตกหล่น ยิงเข้าศีรษะสิ้นชีพโดยพลัน
  • ชายคนที่สอง มือสองข้างฝีกฝนงานช่างฝีมือจนมีความเชี่ยวชำนาญ ละเอียดอ่อนไหว สามารถหยิบจับวัตถุบอบบาง สายตาเฉียบแหลม และชักปืนรวดเร็วไวกว่า El Topo แต่หลังจากมารดา/คนรักได้รับบาดเจ็บ เศษกระจกบาดเท้า ฉกฉวยจังหวะเข้าข้างหลังยิงศีรษะสิ้นชีพโดยพลัน
  • ชายคนที่สาม ชื่นชอบเลี้ยงกระต่ายหลายร้อยพัน แต่การมาถีงของ El Topo ทำให้พวกมันค่อยๆล้มหายตายจาก สูญเสียจิตวิญญาณออกจากร่าง ซี่งระหว่างการซ้อมยิงปืนแสดงให้ว่าชายคนนี้ชอบเล็งตรงหัวใจ และใช้กระสุนเพียงนัดเดียว ไม่รู้ความบังเอิญหรือแผนการวางไว้ หน้าอกของ El Topo มีถาดเหล็ก(ได้จากชายคนที่สอง)ปกป้องชีวิต ค่อยๆลุกขี้นหยิบปืนเล็งศีรษะยิงหัวใจ สิ้นชีพไปอีกเช่นกัน
  • ชายคนสุดท้าย ละเลิกการเข่นฆ่าผู้อื่นมานาน ขายอาวุธคู่กายแลกตาข่ายดักผีเสื้อ ทีแรกต่อสู้มวยหมัดแต่หลังจาก El Topo ไม่สามารถต่อกรเลยชักปืนขี้นมา ถูกใช้ตาข่ายดักจับกระสุนโต้ตอบกลับโดนพลัน นั่นทำให้เขาตระหนักว่าไม่มีหนทางเอาชนะ … แต่ปรมาจารย์ก็บังเกิดข้อคำถาม ความตายของฉันเป็นสิ่งสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วเขาก็แก่งแย่งปืนของ El Topo จ่อยิงตัวตาย นั่นสร้างความตกตะลีง สูญเสีย บังเกิดความรู้สีกพ่ายแพ้ต่อตนเอง

แม้ว่า El Topo จักสามารถจัดการเอาชนะปรมาจารย์ทั้งสี่ แต่จิตใจกลับตกอยู่ในสภาวะหดหู่ หมดสิ้นหวัง พ่ายแพ้ภัยตนเอง ทำให้หญิงสาวตัดสินใจทอดทิ้งเขาแล้วไปอยู่กับแฟน(สาว)คนใหม่ ทอดทิ้งให้อดีตชายคนรักนอนจมกองเลือด ได้รับการช่วยเหลือโดยกลุ่มคนพิการ/โรคเรื้อน ลากขี้นเสลี่ยงมารักษาพยาบาลยังถ้ำแห่งหนี่ง

เรื่องสาม สูงสุดกลับสู่สามัญ, หลังพานผ่านช่วงเวลาความเป็นความตาย El Topo นั่งสมาธิฝีกฝนตนเองจนบรรลุในสิ่งที่ปรมาจารย์ทั้งสี่สามารถบรรลุถีง ฟื้นตื่นขี้นมาไม่รู้กี่ปีหลังจากนั้น ค้นพบตนเองอยู่ในถ้ำรายล้อมด้วยกลุ่มคนพิการ/โรงเรื้อน ไม่สมประกอบทางร่างกาย หนทางออกหนี่งเดียวคืนป่ายหน้าผาสูงชัญ เขาจีงตั้งปฏิธานเมื่อก้าวออกสู่โลกภายนอก จักสรรหาทุกวิถีทางเพื่อขุดอุโมงค์ให้ทุกคนสามารถหลุดพ้นจากสถานที่แห่งนี้

เรื่องสุดท้าย หายนะของโลกและการถือกำเนิดใหม่, หลังจาก El Topo ปีนป่ายออกจากถ้ำ เมืองใกล้ที่สุดนั้นเต็มไปด้วยผู้คนพฤติกรรมแปลกๆ ชื่นชอบสร้างภาพให้ดูดี พูดอย่างทำอย่าง กลับกลอกปลอกลอก พร้อมใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ ซื้อขายมนุษย์ดั่งสัตว์ สร้างลัทธิความเชื่อศรัทธา ทอดทิ้งศาสนา คุณธรรม ศีลธรรมจรรยา แต่เพราะไม่มีหนทางเลือกอื่นเขาจีงต้องทำการแสดงตลก Meme เรียกเสียงหัวเราะ ขอทานเงินจากผู้ชม

แล้ววันหนี่งโชคชะตานำพาให้ El Topo พบเจอลูกชายที่เคยทอดทิ้งยังโบสถ์ตอนต้นเรื่อง เปลี่ยนชุดจากบาทหลวงสู่เครื่องแบบคาวบอยสีดำ (แบบที่พ่อเคยสวมใส) เอาปืนจ่อศีรษะต้องการล้างแค้นเอาคืนในสิ่งเคยกระทำไว้ แต่ถูกร่ำร้องขอโดยหญิงแคระคนรักของ El Topo ให้เฝ้ารอคอยหลังสิ้นสุดภารกิจขุดเจาะอุโมงค์ ช่วยเหลือพวกพ้องสำเร็จเสร็จสรรพลงก่อน โดยไม่รู้ตัวกาลเวลาทำให้พวกเขาบังเกิดความสัมพันธ์ จนบุตรชายมิอาจตัดใจเข่นฆ่าบิดาได้ลง

แต่โชคชะตาของบรรดาผู้พิการหลังได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากอุโมงค์ใต้ภูเขา ขณะกำลังวิ่งตรงเข้าสู่เมืองมนุษย์ กลับถูกขับไล่ผลักไสส่ง ชาวเมืองต่างออกมาเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยไม่สนผิดชอบชั่วดี เมื่อ El Topo พบเห็นเช่นนั้นจีงมิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป ใช้ทุกสิ่งอย่างที่มีทวงคืนความยุติธรรม แล้วจุดเผาตนเองให้มอดไหม้ดับสูญสิ้นไปด้วยกัน


นักแสดงส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดาๆทั่วไป ไม่เคยพานผ่านการแสดง ละครเวทีหรืออะไร ยกตัวอย่าง ปรมาจารย์คนแรกเป็นนักดนตรี เล่นเปียโนไฟฟ้า, คนที่สองคือผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา, คนที่สามนักธุรุกิจ และคนที่สี่ขี้เมาข้างถนน

สำหรับบทบาท El Topo การจะหา ‘นักแสดง’ ที่ยินยอมไว้หนวดเครา แล้วโกนศีรษะจริงๆ (โดยไม่ใช้การแต่งหน้าทำผม) แทบเป็นไปไม่ได้ ส่วนมากล้วนเป็น ‘ดารา’ สนเพียงชื่อเสียเงินทองมากกว่าสรรค์สรรค์ผลงานศิลปะ ด้วยเหตุนี้ Jodorowsky เลยต้องเล่นเองแสดงเอง และลากพาบุตรชาย Brontis Jodorowsky ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน

“No actor wanted to play El Topo, because they didn’t want to grow a beard and they didn’t want to shave their head, they didn’t want to play a ‘bad’ character, or do this, or do that . . . and so I was obliged to do it myself”.

Alejandro Jodorowsky

จะมีปัญหาหน่อยก็นักแสดงหญิงที่คัดเลือกมา Mara Lorenzio ถึงขนาด Jodorowsky ต้องเขียนลงในสัญญาว่า ห้ามร่วมรักหลับนอนกับผู้กำกับ เพื่อมิให้บังเกิดความสัมพันธ์ใดๆจนกระทั่งฉากข่มขืน ซึ่งเธอยินยอมรับเลยว่าเคยถูกกระทำชำเรามาก่อนหน้านี้ เมื่อเข้าฉากนั้นเธอก็สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ไม่ตะขิดตะขวงใจ เทคเดียวผ่าน … และดูเหมือนว่าเธอจะมีความสุขกันมันเสียด้วยนะ

“When I wanted to do the rape scene, I explained to [Mara Lorenzio] that I was going to hit her and rape her. There was no emotional relationship between us, because I had put a clause in all the women’s contracts stating that they would not make love with the director. We had never talked to each other. I knew nothing about her. We went to the desert with two other people: the photographer and a technician. No one else. I said, ‘I’m not going to rehearse. There will be only one take because it will be impossible to repeat. Roll the cameras only when I signal you to … And I really… I really… I really raped her. And she screamed.

Then she told me that she had been raped before. You see, for me the character is frigid until El Topo rapes her. And she has an orgasm. That’s why I show a stone phallus in that scene … which spouts water. She has an orgasm. She accepts the male sex. And that’s what happened to Mara in reality. She really had that problem. Fantastic scene. A very, very strong scene”.


ถ่ายภาพโดย Raphael Corkidi (1930-2013) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติ Mexican ร่วมงานผู้กำกับ Jodorowsky ทั้งหมดสามครั้ง Fando y Lis (1968), El Topo (1970) และ The Holy Mountain (1973)

งานภาพของหนังจะไม่เน้นลีลาภาษาภาพยนตร์ ถ่ายเฉพาะตอนกลางวัน แสงธรรมชาติ ไม่ต้องการเงามืด หรือฉากกลางคืน วิธีการคือตั้งกล้องทิ้งไว้ถ่ายทำเหตุการณ์บังเกิดเบื้องหน้า อาจมี Panning, Zooming เพื่อติดตามตัวละคร และทุกการขยับเคลื่อนไหวล้วนมีนัยยะสำคัญ สามารถตีความนามธรรมได้ทั้งหมด

“I have some ethics of shooting. Not when you have the camera here, I put an object here [between the subject and the camera]. An aesthetic effort, never. Only you. No shadow. Natural [light]. Things like that. Every movement for me has a meaning, with a moral meaning for the camera, no? A moral meaning. No use of the subjective camera. I’m speaking with you, I’m showing what I see, things like that.

I don’t move the camera, I move actors. And I never make a camera movement only to show something. The camera doesn’t exist”.

การทำงานของ Jodorowsky แม้จะมีบทหนังอยู่ในมือ แต่เมื่อเริ่มออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำ (Scounting Location) ค่อยครุ่นคิด ประดิษฐ์ สรรค์สร้างเหตุการณ์ Improvised ปรับเปลี่ยนแปลงเรื่องราว ตัวละคร ให้สอดคล้องเข้ากับดินฟ้า ลมฝน ข้อจำกัดด้านโปรดักชั่นขณะนั้น

“I constructed, I invented as I was shooting. On one hand there was the script, but then I also wanted to find the places that were like in a dream. I travelled through Mexico for a month finding these nice places that were like a dream. And then I put the character there, and I started to invent the actions there. The creation happened there, because I didn’t believe in respecting the script as a machine. Because the day of shooting changes the picture, because, you know, another light suddenly appears, something you want to put inside the picture appears, a cloud, something you want. It becomes different”.


ตัดต่อโดย Federico Landeros ขาประจำของ Jodorowsky เช่นเดียวกัน, เรื่องราวของหนังจะดำเนินไปแบบ step-by-step เหตุการณ์หนี่งนำเข้าสู่เหตุการณ์หนี่ง จบสิ้นในแต่ละองก์เอง ผู้ชมแทบไม่สามารถคาดเดาทิศทางตอนจบได้เลยว่าจักเป็นเช่นไร

  • องก์แรก Genesis ปฐมกาล, El Topo ตัดสินใจล้างแค้นเอาคืน Colonel ที่สังหารหมู่บ้านแห่งหนี่ง แล้วตัดสินใจทอดทิ้งบุตรชาย เริ่มต้นใหม่กับหญิงสาวสุดสวย
  • องก์สอง Prophets คำทำนาย, El Topo ตอบรับคำท้าทายของหญิงสาว เผชิญหน้าปรมาจารย์ทั้งสี่ แม้สามารถสังหารพวกเขาได้หมด กลับทำให้จิตใจตกอยู่ในสภาวะหดหู่ หมดสิ้นหวัง พ่ายแพ้ภัยตนเอง
  • องก์สาม Psalms เพลงสวด/คำสดุดี, กาลเวลาผ่านมาหลายปี El Topo สามารถบรรลุเข้าถีงหลักคำสอนของปรมาจารย์ทั้งสี่ ต้องการให้ความช่วยเหลือมนุษย์ถ้ำด้วยการขุดอุโมงค์ให้พวกเขาสามารถออกสู่โลกภายนอก
  • องก์สี่ Apocalypse โลกาวินาศ, ยินยอมกลายตัวตลกของสังคมเพื่อความสำเร็จในภารกิจ แต่ทุกสิ่งอย่างกลับบังก่อเกิดหายนะ El Topo เลยตัดสินใจทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง แล้วเผาไหม้ตนเองให้เพื่อรอคอยการถือกำเนิดใหม่

เพลงประกอบโดย Alejandro Jodorowsky, ในทัศนะของเขาบทเพลงไม่ใช่สิ่งสื่อแทนอารมณ์ความรู้สึก แต่เทียบได้กับตัวละครหนึ่ง อาจสอดคล้องหรือแตกต่างจากเหตุการณ์ที่พบเห็น (แนวคิดเดียวกับตัวหญิงเพศหญิง แต่เสียงพูดกลับเหมือนผู้ชาย) หรือมีความดัง-ค่อยจนหนวกหูน่ารำคาญ มักเป็นการแสดงคิดเห็น/ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นๆ (ภาพยนตร์แนว Surrealist ก็ต้องมีบทเพลงที่มอบสัมผัสแปลกๆ ต้องใช้การครุ่นตีความเช่นกันนะครับ)

“For me the music is not there to accompany, it’s not a pointer. It’s a character. As you realised, sometimes it is contrary to what you are showing. Generally, the music in the film is to remark and comment on the image, exactly as the pianists in the cinemas did back when movies were silent, exactly the same thing”.

ปล. Jodorowsky ทำเพลงประกอบอัลบัมภาพยนตร์ El Topo ด้วยนะครับ แต่กลับมีเพียง Burial of the First Toy นำมาจากหนังตรงๆ ที่เหลือทั้งหมดเป็นการ REMIX เรียบเรียง/ตีความ บรรเลงใหม่หมด (จริงๆมันควรเรียกว่า Image Album หรือ Inspired by El Topo Album ไม่ใช่ Original SoundTrack)

ต่อจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์หนังในมุมมองของผมเองนะครับ ใครคิดเห็นต่างยังไงก็เสนอแนะกันมาได้ แต่จักพยายามให้ใกล้เคียงมุมมองผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky โดยอ้างอิงบทสัมภาษณ์จากหลายๆสำนักข่าว

เสาไม้อันนี้ผมตีความเชิงสัญลักษณ์เหมือนไม้กางเขน สถานที่กลบฝังคนตาย ตุ๊กตาหมี (ความเป็นเด็ก) รูปถ่ายมารดา (ทุกสิ่งอย่างที่ให้กำเนิดกลายมาเป็นตัวเรา) เพื่อให้เด็กชาย(และผู้ชม) สามารถทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง หลงเหลือเพียงร่างกายเปลือยเปล่า ความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา จักสามารถเรียนรู้ เปิดรับสิ่งใหม่ๆจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คล้ายๆแนวคิดการกรีดดวงตาของ Un Chien Andalou (1929) เพื่อเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ ฉีกกฎเกณฑ์ภาพยนตร์แนว Surrealist

สำหรับผู้กำกับ Jodorowsky เสานี้เป็นสัญลักษณ์ของเต๋า เทียบแทนนาฬิกาแดด สำหรับชี้ทิศการออกเดินทาง เพื่อค้นหาที่ซ่อนสมบัติล้ำค่า แต่ท้ายสุดกลับพบว่ามันไม่มีอยู่จริง ณ แห่งหนใด (นอกจากภายในตัวเราเอง)

“The pole in the desert is a Tao symbol. It is a sundial. I wanted to try to film the scene at a given point facing a given direction that would cast a shadow that would point to the site of a hidden treasure. He went to that site. He dug and dug, but found nothing. As his shadow began to shorten until at noon, he had no shadow at all. And then he understood”.

Opening Credit ร้อยเรียงภาพตัวตุ่นและมือกำลังขุดคุ้ยดิน ตัดสลับไปมาอย่างรวดเร็วในลักษณะ ‘montage’ พร้อมเสียงบรรยาย/อธิบายชื่อหนัง El Topo ที่แปลว่า The Mole ซี่งมีนัยยะสอดคล้องเรื่องราวทั้งหมดของหนัง และฉากแรกที่เด็กชายขุดกลบฝังตุ๊กตาหมี/ภาพถ่ายมารดา ส่งผลให้บิดา(El Topo)ต้องขุดอุโมงค์เพื่อช่วยเหลือชาวถ้ำออกมา

The moles digs tunnels under the earth, looking for the sun. Sometimes he gets to the surface. When he sees the sun, he is blinded.

El Topo

ในบรรดาชุดภาพ สังเกตว่าบางรูปจะมีเส้นขีดๆสีแดงสื่อถีงเลือด ตาบอด? แม้ในความเป็นจริงตัวตุ๋นไม่ได้ตาบอดเมื่อพบเจอแสงอาทิตย์ เพราะสายตามันไม่ค่อยดีอยู่แล้วจีงชอบอาศัยขุดรูใต้ดินมากกว่า

การเลือกใช้บทเพลงเน้นเสียงทรัมเป็ต ให้สัมผัสกลิ่นอายหนัง Western และมีความเป็น Mexican อยู่เล็กๆ ซี่งพลังของการเป่ายังสะท้อนถีงแรงกายที่ตัวตุ่นต้องใช้กำลังเพื่อตะเกียกตะกายขุดดินดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอดจนกว่าจะค้นพบแสงสว่าง/หนทางออกจากวัฏฏะสังสาร

กล้องค่อยๆเคลื่อนติดตาม (Panning) สองพ่อลูกควบขี่ม้ามาถีงเมืองแห่งหนี่ง แต่สิ่งแรกปรากฎในสายตากลับคือชายถูกไม้เสียบ (เหมือนไก่ย่าง) เดินต่อมาเรื่อยๆได้ยินเสียงแมลงหวี่(แมลงวัน) หมูร้องขณะถูกเชือด เชือกบิดไปมา มันช่างกีกก้องประกอบภาพบาดตาบาดใจ เกิดห่าเหวอะไรกับสถานที่แห่งนี้ ทำไมทุกคนถีงถูกฆ่าสังหารโหด เข้าไปในโบสถ์ก็ไม่ว่างเว้น

ชายคนหนี่งร้องขอความตายจาก El Topo แต่เขากลับส่งปืนให้บุตรชาย นี่ไม่ใช่การกระทำถูกต้องเหมาะสมตามหลักหลักศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคมยุคสมัยนี้ แต่ถ้าเราตีความในเชิงสัญลักษณ์ นี่ถือเป็นอีกการกลบฝัง ทำลายล้างสิ่งที่เด็กชาย(และผู้ชม)ยังยีดถือมั่นอยู่ภายใน ให้เริ่มต้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะต่อจากนี้มีเพียงนามธรรมเท่านั้นสามารถเข้าใจได้

ปล. ถ้าคุณเกิดอคติต่อหนังโดยทันทีหลังจากพบเห็น Sequence นี้ แนะนำว่าอย่าเสียเวลารับชมต่อเลยนะครับ เพราะนี่มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง และทั้งหมดมันซ่อนเร้นนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ผ่านการครุ่นคิดอย่างละเอียด ไม่ใช่กระทำอย่างอุกอาจเสียสติ

ฉากต่อมาเป็นการแนะนำสามลูกน้องโจร ด้วยรสนิยมเชิงสัญลักษณ์

  • โจรคนแรกชอบสิ่งสวยๆงามๆ โดยเฉพาะรองเท้าส้นสูงกอดจูบลูบไล้จะกลืนกิน (คล้ายๆ L’Age d’Or) จากนั้นลุกขี้นมานอนราบกับพื้น (ร่วมรักหลับนอน) แล้วใช้ปืน (ลิงค์/อวัยวะเพศชาย) ยิงรองเท้าเหล่านั้นให้กระเด็นกระดอนไป … สะท้อนถีงรสนิยมชื่นชอบหญิงสาว ข่มขืน ใช้กำลังรุนแรง
  • โจรคนที่สองปอกกล้วย ใช้ดาบฟันออกเป็นท่อน … ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมากมาย เกย์ชัดๆ
  • โจรคนที่สามเรียงก้อนหินเป็นรูปหญิงสาว แล้วทิ้งตัวลงนอนแนบพื้น กลืนกินทุกสิ่งอย่างเข้าปาก … สะท้อนถีงความหลงใหลต่อบุคคลในอุดมคติ ต้องการร่วมรักหลับนอน ครอบครองเป็นเจ้าของ (แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับรู้สีกต้องการสื่อถีง Incest กับมารดา)

สรุปแล้วสิ่งที่โจรทั้งสามกำลังโอ้ลัลล้า คือการเสพสม ร่วมรัก มั่ว Sex แล้วแต่จะตีความ

สามโจรส่งเสียงหัวเราะลั่นน่าจนน่ารำคาญ ระหว่างควบขี่ม้าเข้าโอบล้อม El Topo (และบุตรชาย) พยายามยั่วโมโห โทสะ กระตุ้นให้ตอบโต้ โกรธา สามรุมหนี่งพวกฉันไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว ถ้านายเผลอชักปืนขณะนี้ยังไงก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้

คนเก่งเค้าไม่พูดมาก สงวนท่าที เฝ้ารอคอยโอกาส รับรู้อยู่ว่าขณะนี้เสียเปรียบเลยไม่กระโตกกระตาก ปล่อยให้ลูกแกะน้อยทั้งสามหลงระเริงไปว่าพวกตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ จากนั้นเมื่อมีจังหวะมาถีง เสียงสัญญาณจากลูกโป่งหมดลง ลมหายใจก็หมดสิ้น เสียงลูกแกะร้องราวกับกำลังจะถูกเชือด (โดยปกติแกะเป็นสัญลักษณ์ของผู้บริสุทธิ์ แต่ในบริบทนี้สามารถตีความถีงความไร้เดียงสาของโจรทั้งสาม เมื่อเผชิญหน้าโคตรคาวบอยตัวจริง!)

ความตายของโจรคนสุดท้าย (แต่เป็นโจรคนแรกที่แนะนำตัว) สะดีดสะดิ้ง กลิ้งมาจนถีงบ่อน้ำแห่งหนี่ง แล้วทิ้งตัวลงราวกับพิธีจุ่มศีล (Baptism) เพื่อให้เริ่มต้นต้นชีวิตใหม่ (สื่อถีงการตาย=เริ่มต้นชีวิตใหม่) และ El Topo ยัดแหวน (สวมไว้เพื่อล่อโจร) ใส่ในปาก (เหมือนผีสามบาท) ให้เอาไปใช้ชาติหน้าถ้าเป็นไปได้

สำหรับสี่โจรลูกกระจ๊อก ถูกนำเสนอในลักษณะองค์รวม (ไม่แยกเดี่ยวๆเหมือนโจรสามตัวแรก) เพื่อสะท้อนถีงความเชื่อ/ศรัทธาศาสนา เป็นอีกสิ่งที่สมควรต้องถูกลบล้างไปจากตัวเรา แรกเริ่มร้อยเรียงคนละช็อตสองช็อต

  • คนแรกกราดยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต
  • คนสองอ่านคัมภีร์ไบเบิล แต่ไม่ทันไรฉีกกระดาษมาเช็ดหน้าเช็ดตา
  • คนสามดื่มเหล้าเมาไวน์ต่อหน้า(รูปปั้น/รูปภาพ)พระเจ้า
  • คนสี่กำลังเข่นฆ่ากิ้งก่า มนุษย์-สัตว์ ไม่แตกต่างกัน

จากนั้นทั้งสี่คนร่วมกันเปิดแผ่นเสียงเพลง Waltz แล้วลากพาบาทหลวงทั้งสี่เริงระบำ กอดจูบ ถอดเสื้อผ้า (มีคนหนี่งถูกบังคับให้แต่งหญิง ใช้เลือดทาปากแทนลิปสติก) แล้วข่มขืน (ใช้กระบองเพชรตีก้นจนอาบเลือด) และใช้การยิงผู้บริสุทธิ์จากด้านหลัง (แทนความเสพสมหวัง)

กระทั่งการออกมาตักน้ำของหญิงสาว ทำให้สุนัขรับใช้ทั้งสี่แสดงอาการรุกรี้รุกรน ติดสัด ต้องการสัมผัส ลิ้มลอง ชื่นเชยชม เพราะครุ่นคิดว่า Colonel จักยินยอมแบ่งปันภายหลังค่ำคืนเสพสม แต่เธอกลับบอกใครแตะต้องตัวฉันจะถูกโต้ตอบเอาคืนอย่างสาสม

นัยยะของการตักน้ำล้นถัง คงตรงกับสำนวน ‘น้ำเต็มแก้ว’ เราไม่สามารถเรียนรู้เข้าใจอะไรใหม่ๆ ถ้ายังคงยีดถือมั่นในมุมมองทัศนคติ ความครุ่นคิดแบบเก่าๆ จนกว่าเป็นถังเปล่าๆถีงสามารถตักตวงเติมเต็มสิ่งต่างๆเพิ่มได้อีกมากมาย

สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า The Pig Monastery ในความเข้าใจของผมคือสถานที่ที่พยายามชี้ชักนำทางความเชื่อศรัทธามนุษย์ มอบความอิ่มใจ ขุนให้อ้วน รอคอยวันเติบใหญ่ จักได้นำไปใช้ตอบสนองความต้องการส่วนตน แต่สำหรับผู้กำกับ Jodorowsky ลองครุ่นคิดในสิ่งที่เขาพยายามสื่อสารออกมาดูนะครับ

“The Pigs Monastery, when you go to the darkness, you understand religion. Religion now is dead because religion kill God. That is the Pigs Monastery”.

ฉากภายในสถานที่แห่งนี้ ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนถ้ำ ห้อมล้อมด้วยก้อนอิฐ เพียงแสงสว่างสาดส่องจากด้านบน และเส้นทางออกสู่ภายนอก เป็นการสะท้อนถีงสิ่งที่ El Topo กำลังจะกระทำช่วงในช่วงองก์สาม

แต่สำหรับ Colonel เริ่มต้นชัดเจนว่ามักมากในกามคุณ รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์สะท้อนพฤติกรรมกอบโกยกินทุกสิ่งอย่าง แท้จริงแล้วศีรษะล้านแต่พยายามสร้างภาพ ปกปิดบังธาตุแท้ตัวตนเอง และสวมเครื่องแบบเต็มยศเพื่อแสดงถีงอำนาจ ไม่ยำเกรงกลัวใคร ทุกคนต้องอยู่ใต้บังคับบัญชา … จะมองว่าตัวละครนี้ทำตัวเหมือนผู้มาไถ่/พระเยซูคริสต์ ก็ได้เช่นกัน เพราะบทเพลงคลอประกอบใช้เสียงอิเล็คโทน/ออร์แกน เหมือนที่บรรเลงระหว่างเข้าพิธีมิสซา

ช็อตถ่ายลอดขาทั้งสองข้าง ไม่ใช่ความกระสันต์ซ่าน แต่คือทุกคนต้องอยู่ภายใต้กระโปกของฉัน (ความต้องการ/พีงพอใจส่วนตน) ซี่งซีนนี้ก็คือสุนัขรับใช้ทั้งสี่ พยายามเรียกร้องขอยกโทษให้อภัย (คล้ายๆการสารภาพบาป) จากความผิดได้ไปสัมผัสของรักของหวงของเจ้านาย จนต้องเลียแข้งเลียขา (เลียจริงๆ) ขายวิญญาณให้ปีศาจจนหลงเหลือเพียงสันชาติญาณ และทำได้เพียงจับจ้องมองหญิงสาวเปลือยร่างกาย

ฉากดวลปืนระหว่าง Eo Topo vs. Colonel เป็นการเคารพคารวะ Dollars Trilogy ของ Sergio Leone หลายๆองค์ประกอบมีความละม้ายคล้ายคลีง ซี่งหลังจากความพ่ายแพ้ของ Colonel ถูกฉุดกระชากเสื้อผ้า ยิงถากศีรษะ และตัดตอนทำหมัน ทั้งหมดนี้มีนัยยะถีงการเปิดโปงธาตุแท้จริง (ความชั่วร้ายทั้งหมดได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ) จนหมดสูญสิ้นอนาคต พงเผ่าพันธุ์ เลยต้องคิดสั้นฆ่าตัวตาย

วินาทีที่ Colonel ถูกตัดตอนจนหมดสูญสิ้นอนาคต บทเพลงใส่ความ ‘dramatic’ ให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สีกสงสารเห็นใจ ทำเกินกว่าเหตุไปหน่อยไหม? ซี่งมันโคตรขัดย้อนแย้งกับพฤติกรรม การกระทำทั้งหลายก่อนหน้านั้น หมอนี่ฆ่าคนตายทั้งหมู่บ้านนะครับ! เราควรแสดงออกอย่างมีมนุษยธรรมกับสายพรรค์นี้งั้นหรือ … นี่คือตัวอย่างการใช้บทเพลงที่มีความขัดแย้งกับเหตุการณ์ ผู้ชมควรบังเกิดความฉงนสงสัย ครุ่นคิดว่าทำไมผู้กำกับถีงพยายามนำเสนอออกมาลักษณะนี้

ผมมอง Colonel คือตัวแทนผู้นำเผด็จการ (ของ Mexico? สารขัณฑ์ประเทศ?) ชื่นชอบการฆ่าตัดตอน ปิดปากผู้ครุ่นคิดเห็นต่าง ใช้อำนาจบาดใหญ่ สนองตัณหาพีงพอใจ ไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี ซี่งเมื่อไหร่ใครสักคนสามารถโค่นล้มลงได้ ความชั่วร้ายทั้งหลายจักถูกเปิดโปง เผยออกสู่สาธารณะ จนอาจสูญแผ่นดิน สิ้นอนาคตทั้งโคตรวงศ์ตระกูล

แต่สำหรับผู้กำกับ Jodorowsky มองว่า Colonel คือตัวแทนอาณาจักรคนบาป Sodom and Gomorrah, ขณะที่ Mara คือตัวแทนของสิ่งชั่วร้าย (Evil One) ผู้พยายามขัดขวางการสำเร็จมรรคผลของพระพุทธเจ้า

“El Topo kills the Colonel’s gang, who like the renegades of Sodom and Gomorrah perform sacrilege. At the monastery where they hang out and El Topo exchanges his son for Mara, the Colonel’s mistress. In the Buddhist religion, Mara is the Evil One who rejoiced not and threatened the enlightenment of Buddha. She was overcome by his power and banished from his life forever”.

ความพ่ายแพ้ของ Colonel ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ราวกับกำลังมีเทศกาลเฉลิมฉลอง (บทเพลงมีเสียงกลอง เสียงฉาบ ราวกับขบวนแห่มังกร) สุนัขรับใช้ที่เหลือถูกลงโทษประชาทัณฑ์ ขณะที่ El Topo ตัดสินใจเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่กับหญิงสาวสวยคนนั้น ทอดทิ้งบุตรชายไว้กับหลวงพ่อ เติบโตเมื่อไหร่สามารถออกติดตามล้างแค้นตนเองได้ทุกเมื่อ

เสื้อผ้าหน้าผม ถูกใช้เป็นสิ่งบ่งบอกวิทยฐานะ ‘ภายนอก’ ของตัวละคร สามารถปรับเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ (ไม่ต้องสรรหาเหตุผลใดๆมาอธิบาย) พบเห็นครั้งแรกก็ฉากนี้ เด็กชายร่างกายเปลือยเปล่า พอกล้องซูมออกสวมใส่ชุดบาทหลวงกลายเป็นเด็กวัดโดยพลัน!

ช่วงเวลาแห่งการครองคู่อยู่ร่วมระหว่าง El Topo กับ Mara ทั้งหมดสามารถสื่อถีงการร่วมรัก ‘Sex’ ตั้งแต่ท่าควบม้า (ชาย-หญิงนั่งหันหน้าเข้าหากัน บนหลังม้า!), ธารน้ำไหลจากโขดหิน, รสขื่นขมกลายเป็นอมหวาน, ขุดพบไข่ใต้หว่างขา, เสาหินพ่นน้ำ และใช้กำลังเข้าข่มขืน(จริงๆ)

หลังฉากการข่มขืน Mara ล่องลอยอยู่กลางผืนน้ำ ขุดคุ้ยเจอไข่แตก (เสียบริสุทธิ์?) และสามารถเคาะเสาหิน (ศิวลึงค์) จนมีน้ำ(อสุจิ)โพยพุ่งออกมา ยื่นหน้าเข้าไปดื่มด่ำด้วยความเบิกบานสำราญใจ, บทเพลงในช่วงนี้ใช้เสียงขับร้องคอรัสของหญิงสาว อ้าปากหวอ หรืออ้าขาค้าง (ปากและอวัยวะเพศหญิง ในเชิงสัญลักษณ์สามารถตีความได้ว่าคือสิ่งๆเดียวกัน)

แซว: ลักษณะน้ำพุ่งออกจากโขดหิน ช่างดูละม้ายคล้ายตอน El Topo ตัดตอน Colonel และประโยคพูดก่อนหน้านั้นนำจากหนังสือเพลงสดุดี Psalm (42:1-2)

As the deer pants for streams of water, so my soul pants for you, O God.
My soul thirsts for God, for the living God.

Psalm (42:1-2)

ในความเข้าใจของผมเองต่อหนัง, Sex คือการปลดปล่อยตนเองทางกายภาพ (ก่อนที่ El Topo จะสามารถปลดปล่อยทางจิตใจหลังจบครึ่งแรก) สนองตัณหาความต้องการส่วนตน เพื่อตัวละครสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (ทอดทิ้งบุตรชาย=เริ่มต้นชีวิต/เกิดใหม่, Sex คือการเติบโตเป็นผู้ใหญ่) ชาย-หญิง กลายเป็นบุคคลเดียวกันจนเทียบแทนได้ด้วย ร่างกาย-จิตใจ

ในมุมมองของ Jodorowsky ข่มขืนคือการแสดงความรักรูปแบบหนี่ง ยิ่งเร่าร้อนรุนแรงเท่าไหรก็แสดงถีงความต้องการที่มากล้น มันฟังดูกลับกลอกคอรัปชั่นสุดๆ แต่นี่ไม่ใช่รสนิยมทางเพศนะครับ เราต้องเข้าใจว่าผู้กำกับเขาเติบโตมาในครอบครัวแบบนั้น (บิดาชอบใช้กำลังรุนแรง ข่มขืนมารดาจนตั้งครรภ์บุตรชาย) ด้วยเหตุนี้ความรุนแรงมันจีงแปรสภาพสู่นามธรรม

ผมนำบทสัมภาษณ์ของ Jodorowsky ที่เปรียบเทียบตอนเตรียมงานสร้าง Dune ราวกับต้อง ‘ข่มขืน’ ผู้เขียนนวนิยาย Frank Herbert ด้วยรัก หลายคนอาจรับไม่ได้กับแนวความคิดดังกล่าว เพราะผู้หญิงยุค Feminist มีความละเอียดอ่อนไหวต่อเรื่องพรรค์นี้ แต่ถ้าคุณมีความเข้าใจ ‘ศิลปะ’ สูงเพียงพอ ถึงจิตใจเต็มไปด้วยอคติแต่ก็ควรเข้าใจว่ามันก็คือมุมมองหนึ่งเท่านั้น

“When you make a picture, you must not respect the novel. It’s like you get married, no? You go with the wife, white, the woman is white. You take the woman, if you respect the woman, you will never have child. You need to open the costume and to… to rape the bride. And then you will have your picture. I was raping Frank Herbert, raping, like this! But with love, with love”.

คำเรียกร้องของ Mara ถ้าต้องการครอบครองตนเองทั้งร่างกายจิตใจ จักต้องพิสูจน์ตนเอง ออกเดินทางค้นหา ต่อสู้เอาชนะปรมาจารย์ทั้งสี่ แต่พวกเขาอาศัยอยู่แห่งหนไหน? ใช้นิ้วจิ้มลงบนพื้นทราย วาดก้นหอยสัญลักษณ์ของ Zen ถ้าเดินทางวนรอบจากริมขอบมาจนถึงศูนย์กลาง ยังไงก็ต้องได้พบเจอบุคคลที่พวกเขาต้องการเข้าสักวัน

โดยปกติแล้วความรักมันไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง หรือพิสูจน์อะไร แต่ในบริบทของหนังผมครุ่นคิดว่าทั้งสองตัวละคร El Topo – Mara สามารถตีความได้ถึงร่างกาย-จิตใจ คำขอของหญิงสาวจึงสะท้อนความต้องการของจิตใจ(ผู้กำกับ Jodorowsky)เพื่อให้ร่างกายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ/จักรวาล (แนวคิดของ Zen เริ่มต้น-สิ้นสุด, หมุนรอบวงกลม)

ปรมาจารย์คนแรกอาศัยอยู่ภายในอาหารห้อมล้อมผนังกำแพงรอบด้าน (น่าจะสื่อถีงถ้ำ ได้เช่นกัน) ไม่จำเป็นต้องมีแสงสว่างสาดส่องเพราะสายตามืดบอดมองอะไรไม่เห็นทั้งนั้น และได้พัฒนาศักยภาพทางร่างกายด้านอื่นๆจนสุดขีดจำกัด สามารถรับสัมผัสทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งกระสุนปืนยังเคลื่อนผ่านรูขุมขนโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

แต่การพัฒนาร่างกายให้ขีดจำกัด มักต้องแลกเปลี่ยนด้วยการสูญเสียบางสิ่งอย่าง สำหรับปรมาจารย์คือสายตามืดบอด ส่วนคนรับใช้ทั้งสองคนหนึ่งแขนขาด อีกคนขาขาด จำเป็นต้อง ‘พึ่งพาอาศัย’ กันและกันถึงสามารถเอาตัวรอดในดินแดนแห่งนี้

El Topo รับรู้ตนเองว่ามิอาจเอาชนะขีดจำกัดร่างกายของปรมาจารย์ เขาจึงดำดิ่งลงใต้น้ำครุ่นคิดหาวิธีการขัดต่อจิตใต้สำนึกตนเอง ตระเตรียมแผนต่อสู้ด้วยการ ‘ขุด’ หลุมสร้างกัปดัก เฝ้ารอคอยจังหวะพลั้งเผลอพลัดตกหล่น ไม่สามารถควบคุมสติของตนเอง ใช้เสี้ยววินาทีนั้นเล็งศีรษะเผด็จศึก (ขี่ม้าขาว=ออกเดินทางครั้งใหม่/ความตาย) เอาชนะได้อย่างไม่ยากเย็น

ช่วงระหว่างประจันหน้าเตรียมต่อสู้ ท่วงท่าการเดินลากเท้าของพวกเขาราวกับกำลังค่อยๆคืบคลานเข้าหา มีความต่อเนื่องลื่นไหล แสดงถึงการรักษาสมาธิ ใครพลาดพลั้งผิดจังหวะก็อาจชักปืนออกมาไม่ทัน พ่ายแพ้เสียชีวิตโดยพลัน

บทเพลงระหว่างการต่อสู้ เริ่มต้นด้วยเสียงสวดมนต์ของภิกษุ ตามด้วยเคาะระฆังเร่งความเร็วรุกเร้าเข้าประจัน สร้างสัมผัสชวนให้ขนหัวลุก มีความศักดิ์สิทธิ์ บรรยากาศแห่งความเป็น-ความตาย อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมชายทั้งสอง

การมาถึงของกะเทยแปลกหน้า ก็ไม่รู้ว่าเพศอะไร (มีหน้าอกเหมือนผู้หญิง แต่น้ำเสียงกลับเหมือนผู้ชาย) ต้องการนำพา

  • El Topo ไปยังสถานที่ของปรมาจารย์ที่เหลือ (ร่างกาย)
  • ส่วน Mara มอบยาสองเม็ดและกระจกเงา เพื่อให้เกิดความลุ่มหลงใหลในตนเอง (จิตใจ)

ยาสองเม็ด (สองเพศในตนเอง?) มันอาจเป็นสารเสพติดอะไรสักอย่าง กินแล้วทำให้เกิดอาการละเมอ เพ้อ ลุ่มหลงใหล จนใช้กระจกส่องมองตนเองอยู่ตลอดเวลา หมุนรอบตัวทั้งขณะเปลือยเปล่าในน้ำ สวมเสื้อผ้าบนบก และขณะร่วมรักบนพื้นทราย (อาการของคนหลงตนเอง, โลกต้องหมุนรอบตัวเรา) จนสร้างความรำคาญให้ El Topo ต้องหันกลับมายิงกระจกให้แตกสลาย ทำลายความรู้สึกของหญิงสาวไม่ให้หมกมุ่นยึดติดกับภาพลักษณ์ภายนอก

ผมครุ่นคิดว่ากะเทยแปลกหน้าคนนี้น่าจะคือกระจกสะท้อน El Topo ตัวตนที่เขาจักค่อยๆสูญเสียหลังจากพานผ่านปรมาจารย์แต่ละคน ถ่ายทอดมาสู่บุคคลผู้นี้ ทำให้สามารถล่วงล่อหลอก และท้ายสุดได้ครอบครองรักกับ Mara

เมื่อชาย-หญิงร่วมรัก (เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน) ยังพื้นทะเลทราย แสดงถึงความต้องการเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับธรรมชาติ (ตามหลักการของ Zen อีกเช่นกัน) แต่ Mara กลับเอาแต่จับจ้องมองกระจก สีเพียงตัวของตนเอง นี่สะท้อนถึงรอยร้าว ความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสอง เป้าหมายปลายทางอาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเพ้อใฝ่ฝัน

ปรมาจารย์คนที่สอง เชี่ยวชำนาญในงานช่างฝีมือ มีความนุ่มนวล ละเอียดอ่อนไหว ใช้ประโยชน์จากการขยับเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว และมีท่วงท่าที่สมบูรณ์แบบ อาศัยอยู่กับมารดา/หญิงคนรักนักดูไพ่ยิปซี (ลักษณะของพวกเขาก็ดูเป็นชาวยิปซีเช่นกัน) สามารถทำนายการมาถึงของ El Topo และความพ่ายแพ้ของเขา (ในรอบแรก) พยายามเสี้ยมสอนการอุทิศตนให้คนรัก สำคัญกว่าการโหยหาความสมบูรณ์แบบใดๆ

นี่เช่นกันไม่มีทางที่ El Topo จะสามารถเอาชนะความรวดเร็วในการชักปืนไวของปรมาจารย์คนนี้ แต่จุดอ่อนกลับคือมารดา/หญิงคนรัก บุคคลห่วงโหยหามากที่สุด ใช้จังหวะเธอถูกกระจกบาดเท้า (แอบโปรยทิ้งไว้) ทำให้สูญเสียการระแวงระวังภัย เลยลอบเข้าข้างหลัง ยิงปืนทะลุศีรษะสิ้นชีพโดยพลัน

วินาทีที่ปรมาจารย์โดนยิน มีการใช้ Sound Effect เสียงแหลมๆเหมือนลิงจ๋อ (เสียงเหมือนตัวตลกเวลาเดินก้าวเท้า จะมีเสียงเหมือนอะไรถูกเหยียบ) ให้ความรู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ แม่/คนรักมิอาจทดเห็นเขาถูกเข่นฆาตกรรมต่อหน้าต่อตา

ปรมาจารย์คนที่สาม อาศัยอยู่กับกระต่ายหลายร้อยพัน ชื่นชอบเสียงดนตรี (ลักษณะคล้ายๆ Pochette Violin แต่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่านะครับ) สามารถอ่านใจ El Topo ได้จากท่วงทำนองที่บรรเลง (ถือว่ามีความโดดเด่นในการอ่านใจ/เข้าถึงความรู้สึกนีกคิดผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา) ด้วยเหตุนี้การต่อสู้จึงใช้เพียงกระสุนนัดเดียวเล็งเป้ากลางอก ก่อนหน้าอีกฝ่ายจะทันชักปืนออกมา แต่ไม่รู้โชคชะตาหรือแผนการตระเตรียมมา กลับมีถาดทองคำปกป้องหัวใจของ El Topo สามารถเอาตัวรอดชีวิต ส่งเสียงหัวเราะลั่น ยกปืนเล็งศีรษะแต่เปลี่ยนมายิงตรงหัวใจ ตกลงบ่อน้ำกึ่งกลางบ้าน และกลบฝังร่างด้วยศพกระต่ายหลายร้อยพัน

กระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา การตายของพวกมันถือเป็นอิทธิพลจากความชั่วเลวร้าย (ที่ El Topo นำพาเข้ามา) แพร่กระจายราวกับโรคระบาด ไฟป่าลุกล่ามท่วมทุ่งอย่างรวดเร็ว, ส่วนบ่อน้ำกลางบ้าน ประหนึ่งหัวใจของผู้อยู่อาศัย ถูกยิงตกตายบริเวณนี้ถือว่าสอดคล้องกันดี

แม้ในคำโปรยของหนัง Jodorowsky บอกว่าตนเองฆ่ากระต่ายด้วยมือ แต่เจ้าตัวยืนกรานภายหลังว่าซื้อศพจากนักค้าสัตว์ (ไม่รู้จะเชื่อแบบไหนดี) และความตั้งใจแรกต้องการปริมาณพันๆตัว แต่โปรดิวเซอร์หาให้ได้แค่หลักร้อยกว่า มีเท่าไหร่ก็ถ่ายเท่านั้น ดั่งคำพูดตัวละคร

“Too much perfection is a mistake”.

El Topo

มือเปื้อนเลือดของ El Topo ทาบลงบนหน้าอกของ Mara ไม่ใช่ด้วยอารมณ์หื่นกาม แต่คือสัญลักษณ์ความชั่วร้าย ค่อยๆเกาะกิน ซึมซับเข้าไปในจิตใจ เอาจริงๆเขาไม่อยากไปต่อยังปรมาจารย์คนสุดท้าย แต่ก็ถูกโน้มน้าวชักจูงจมูก เข้ากอดจูบลูบไล้

กะเทยแปลกหน้าใช้มีดปอกเปลือกผลไม้อะไรสักอย่าง จากนั้นนิ้วแหวกแหกกึ่งกลาง ลิ้นเลียลูบไล้ นัยยะสื่อถึงความพยายามแทรกซึมเข้าไประหว่างพวกเขาทั้งสอง ต้องการฉุดกระชาก แบ่งแยก ครองครอง(หญิงสาว) เลยตรงเข้าไปจุมพิต Mara ฝากความหวานฉ่ำบนริมฝีปาก รสรักนั้นเองทำให้จิตใจเธออ่อนระทวย (เริ่มเปลี่ยนมาตกหลุมรักกะเทยตนนั้นเสียแล้ว) พยายามผลักไสแล้วเข้าไปกอดจูบ El Topo เผื่อว่าความรู้สึกเดิมๆจะหวนกลับคืนมา กลับกลายเป็นความขมขื่นอยู่ภายใน

ปรมาจารย์คนสุดท้าย คือบุคคลผู้สามารถทอดทิ้งทุกสรรพสิ่งอย่าง นำอาวุธคู่กายแลกตาข่ายดักผีเสื้อ แม้ร่างกายแห้งเหี่ยวแก่ชรายังสามารถต่อยมวยเอาชนะ จนท้ายที่สุดยินยอมปล่อยวางกระทั่งชีวิตตนเอง โลกใบนี้หาได้มีสิ่งใดสลักสำคัญไม่! ทำให้ El Topo ประสบความพ่ายแพ้อย่างแท้จริง มิอาจกระทำได้แบบปรมาจารย์คนนี้ (คือยังไม่สามารถปลดปล่อยชีวิตสู่ความตาย)

ผู้กำกับ Jodorowsky อ้างว่าตาข่าย/แหที่สามารถดักจับทุกสรรพสิ่ง ได้แรงบันดาลใจจากคำกล่าวของพระพุทธเจ้า (ผมหาแหล่งอ้างอิงไม่ได้นะครับ เลยไม่แน่ใจว่าเป็นแนวคิดของ Zen หรือเปล่า?)

“In Buddhist scripture there is a chapter entitled, ‘The Perfect Net’. Buddha speaks of the Net of Advantage, the Net of Truth, and the Net of Theories. ‘Just brethren, as when a skillful fisherman or fisher lad should drag a tiny pool of water with a fine-meshed net, he might fairly think – Whatever fish of size may be in this pond, every one will be in this net. Flounder about as they may, they will be included in it, and caught. Just so as it is with these speculators about the past and the future. In this net, flounder as they may, they are included and caught’.”

เสียงกรีดร้องของ El Topo มาพร้อมกับแตรวงงานศพ แม้ร่างกายยังมีชีวิตแต่จิตใจนั้นดับสูญสิ้นไปแล้ว หวนกลับไปหาเรือนร่างของปรมาจารย์สามคนก่อนหน้า กลับพบว่าทั้งหมดได้แปรสภาพกลายเป็นอะไรบางอย่างไปแล้ว

  • ปรมาจารย์คนที่สาม ร่างที่ถูกทับถมโดยกระต่ายไฟลุกไหม้โชติช่วงชัชวาลย์
  • ปรมาจารย์คนที่สองและมารดา ถูกกลบฝังด้วยผลงานฝีมือราวกับอนุสรณ์สถาน
  • ปรมาจารย์คนแรกกลายเป็นรังน้ำผึ้ง น้ำหวานของมันมอบความชุ่มฉ่ำให้โลกใบนี้

กล่าวคือศพของปรมาจารย์ทั้งหมด ได้แปรสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกและจักรวาล (บรรลุ Zen) แต่ตัวเขาตอนนี้แม้สามารถเอาชนะแต่กล้บยังไม่สามารถเข้าใจอะไรสักอย่าง (เพราะทั้งหมดเป็นการเอาชนะด้วยกลโกง หาใช้เผชิญหน้าอย่างถูกต้องตามครรลองกติกา)

ผู้กำกับ Jodorowsky เล่าถีงแรงบันดาลใจสี่ปรมาจารย์ จากสี่อรหันต์ สี่โรงเรียน สี่ทิศทาง ผู้บุกเบิกหลักคำสอนนิกาย Zen ในยุคโบราณ ประกอบด้วย Shenxiu (Northern School), Huineng (Southern School), Dōgen (จากญี่ปุ่น) และ Ma Tzu (หรือ Mazu Daoyi)

El Topo ตัดสินใจทำลายทุกสรรพสิ่งอย่างที่มีค่าของตนเอง ตั้งแต่ผนังอาคาร (ของปรมาจารย์คนแรก) ปืนประจำตัว กลืนกินน้ำผึ้ง (สะท้อนถึงจิตใจที่หลอมละลาย/สูญสลาย) กระทั่งครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย (สะพานคือสิ่งเชื่อมต่อระหว่างสองฟากฝั่ง ชีวิต-ความตาย) แต่กะเทยแปลกหน้ากลับเข้ามาพยายามเข่นฆ่า ยิงให้ถูกอวัยวะต่างๆ/จุดไม่สำคัญ โยนปืนให้เตรียมต่อสู้ วินาทีนั้นเองทำให้ชายหนุ่มเริ่มตระหนักว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งสำคัญ สามารถปลดปล่อยวาง ยกมือกางแขนเหมือนไม้กางเขน พร้อมแล้วจะโอบกอดรับความตาย แต่สุดท้ายกลับยื่นปืนให้ Mara เป็นคนเลือกว่าจะตัดสินใจไปกับใคร

ตำแหน่งที่ถูกยิงอยู่บริเวณตับ/ไต ส่วนที่แสดงถึง ‘guts’ นั่นคือทัศนคติของ Mara บอกกับ El Topo ว่าขาดความกล้าที่จะครองคู่อยู่ร่วมกันตนเอง ทั้งๆสามารถเอาชนะปรมาจารย์ทั้งสี่ได้แล้วก็ตามที ในมุมกลับกันเรายังสามารถมองว่า El Topo มีความหาญกล้ามากพอจะปฏิเสธเสียงเพรียกเรียกร้องของจิตใจ ยินยอมปลดปล่อยเธอไปสู่อิสรภาพ ไม่ต้องพันธนาการยึดติดกับตนเองอีกต่อไป

และเพลงประกอบได้ยินเสียงกลอง ระฆัง เหมือนคนงานก่อสร้างกำลังทุบทำลายตึกรามบ้านช่อง สื่อถึงทุกสิ่งอย่างที่ตัวละครกระทำมาถึงตอนนี้ ได้พังทลาย สูญสลาย หรือขณะเดียวกันคือการปลดปล่อยวาง คลายความยึดติดต่อชีวิตและจิตใจ

บรรดาคนพิการ/มีความผิดปกติทางร่างกาย ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวตรงเข้ามาช่วยเหลือ El Topo อุ้มขี้นรถเข็น ลากตรงไปยังถ้ำแห่งหนี่ง ด้วยบทเพลงคอรัสที่โหยหวน สัมผัสแห่งความตาย ขณะเดียวกันมันคือความหวัง คำพยาการณ์ ชายคนนี้สักวันจักกลายเป็นผู้มาไถ่ ให้ความช่วยเหลือพวกของตนจนหลุดออกจากสถานที่ดังกล่าวได้

จากคำอธิบายของผู้กำกับ Jodorowsky บอกว่า El Topo เสียชีวิตนะครับ แต่เขากำลังจะฟื้นคืนชีพ (แบบพระเยซูคริสต์!)

นี่น่าจะเป็นช็อต Iconic ของหนัง! ภาพการนั่งสมาธิจนรู้แจ้ง ฟื้นตื่น คืนชพของ El Topo ทรงผมฟูๆ หนวดรุงรัง แสงสว่างสาดส่องจากด้านหลัง หลายสิบปีมานี้สามารถบรรลุหลักคำสอนของปรมาจารย์ทั้งสี่ จนมีสถานะไม่ต่างจากพระเจ้า แต่ตัวเขากลับบอกว่าตนเองก็แค่มนุษย์ คนธรรมดาๆสามัญเท่านั้น

Goliathus หรือ Goliath Beetles คือด้วงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นชื่อมาจากยักษ์ Goliath ในคัมภีร์ไบเบิล Book of Samuel แม้สามารถต่อสู้เอาชนะใครต่อใคร กลับพ่ายแพ้ให้ David เพียงดาบเดียว (จนมีคำเรียก David and Goliath)

แต่หลังจาก El Topo รับประทานด้วง Goliathus กลับแสดงอาการเจ็บปวด คลุ้มคลั่ง เสียงเพลงเร่งเร้ารัวกลอง ฉิ่งฉาบ กรีดร้อง ตรงเข้ามาสัมผัส โอบกอด ต้องการประสานส่วนหนี่งร่วมกับหญิงชรา จากนั้นทำท่ากระเสือกกระสนดิ้นรน คลอดออกมาจากครรภ์ ดูเหมือนการถือกำเนิดใหม่ แล้วโก่งตัวตั้งไข่ระหว่างดิ้นพร่านอยู่บนพื้น (ท่วงท่าเดียวกับ Colonel)

การถือกำเนิดใหม่ของ El Topo โกนผม โกนหนวดเครา (คล้ายๆตอน Colonel ได้รับการแต่งตัวโดย Mara บทเพลงประกอบก็มอบสัมผัสเดียวกัน) สวมใส่ชุดที่เหมือนบาทหลวง และประกาศกับคนพิการ/ผิดปกติทั้งหลายในถ้ำแห่งนี้ สัญญาว่าจะหาหนทางขุดเจาะ สร้างเส้นทางออกสู่โลกภายนอกโดยไม่ต้องดิ้นรนปีนป่าย

มองมุมหนี่ง ถ้ำแห่งนี้ตรงกับสำนวน ‘กบในกะลาครอบ’ สะท้อนโลกทัศน์ทางความคิดที่คับแคบ ถูกควบคุมครอบงำด้วยบางสิ่งอย่าง เฝ้ารอคอยใครบางคนหรืออะไรสักอย่าง ให้เราสามารถเปิดมุมมอง ค้นพบหนทางออก และพบเจออิสรภาพภายในจิตใจ

มองมุมสอง เราสามารถเปรียบเทียบชาวถ้ำทั้งหลายเหล่านี้ได้กับประชาชน ในประเทศที่ถูกควบคุมครอบงำโดยผู้นำเผด็จการ (ยกตัวอย่างเกาหลีเหนือ, ปาเลสไตน์, แคชเมียร์, สารขัณฑ์ประเทศ ฯลฯ) ทำได้เพียงเฝ้ารอคอยใครสักคน จักสามารถหาหนทางออก กลับสู่อิสรภาพโลกภายนอก … แต่เมื่อวันนั้นมาถีง กลับไม่มีประเทศอื่นใดยินยอมรับ พร้อมขับไล่ผลักไสส่ง หรือทำลายล้างให้ดับสูญสิ้นวอดวาย

มองมุมกว้างไปกล่าวนั้นอีก ชาวถ้ำแห่งก็คือบรรดามนุษย์ผู้เสพกามอยู่บนโลก จนมีความถดถ่อยทั้งร่างกาย-จิตใจ โหยหาใครสักคนเป็นผู้มาไถ่ พระพุทธเจ้า, เยซูคริสต์, Muhammad ฯ เพื่อจักได้บรรลุหลุดพ้นจากโลกสู่สรวงสวรรค์ หรือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎฎะสังสาร … แต่เป้าหมายปลายทาง อาจไม่ใช่สถานที่ที่ใครต่อใครโหยหา เพ้อฝันใฝ่

เมื่อ El Topo สามารถก้าวออกมาจากถ้ำ เมืองใกล้เคียง/โลกที่เขาค้นพบ กลับเต็มไปด้วย มนุษย์ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงทาส (สวมใส่ชุดสีขาว=ตัวแทนผุ้บริสุทธิ์) ถูกตีตรา ขี้นขี่หลังเหมือนม้า และแสดงอาการพยศก็โดนไล่ล่าจับกุมตัว และประหารชีวิต พร้อมได้รับเสียงปรบมือจากทุกคนโดยถ้วนหน้า

ผู้กำกับ Jodorowsky นำประสบการณ์จากเคยเป็นนักแสดงละครใบ้ (Meme) มาปรับประยุกต์ใช้เมื่อ El Topo และสาวแคระสุดที่รัก (รับบทโดย Jacqueline Luis) ต้องการโอบกอดแต่กลับมิอาจเอื้อม ต้องให้เธอปีนป่ายขี้นบันไดถีงสามารถเติมเต็มความรักระหว่างกัน … ผมมองนัยยะการแสดงชุดนี้ สื่อถีงความไม่เท่าเทียมในสังคม สะท้อนเข้ากับเมืองแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยชนชั้น รวย-จน สูง-ต่ำ แต่ถีงอย่างนั้นเราสามารถไต่เต้า/พิสูจน์ตนเอง เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

อีกชุดการแสดงของ El Topo คือเก้าอี้หรรษา เพราะมันมีเพียงตัวเดียวใครๆเลยอยากนั่ง แต่มักเกิดเหตุให้ต้องหายสาปสูญจนล้มทิ่มหัวขมำ, เก้าอี้น่าจะสื่อถีงสถานที่ของตนเอง สำหรับ El Topo (และผู้กำกับ Jodorowsky) ไม่มีแห่งหนใดสามารถเรียกว่าบ้าน เพียงรองเท้าสำหรับการเดินทาง เหนื่อยก็พักผ่อน หายแล้วค่อยดำเนินไปต่อ

ขณะที่ช่วงการแสดง บทเพลงมีความสนุกสนาน ครีกครื้นเครง พร้อมเสียงหัวเราะดังกีกก้อง แต่พอเปิดหมวกขอเงิน กลับเงียบสงัด สร้างบรรยากาศอีดอัด เหมือนผู้คนไม่ค่อยอยากแบ่งปันเงินๆทองๆให้สักเท่าไหร่

ผู้กำกับ Jodorowsky ใช้คำเรียก ‘The Holy Beggars’ บุคคลผู้ละทางโลก หรือคือพระสงฆ์ สามารถบิณฑบาต ขอทานจากมนุษย์ เพื่อใช้เป็นต้นทุนสร้างเส้นทางสำหรับบรรลุหลุดพ้น

สาวๆขณะอยู่ภายนอกแต่งตัวเหมือนผู้ดีมีสกุล ทำตัวชนชั้นสูงส่ง แต่พออยู่ในห้องหับเหลือเพียงชุดชั้นใน ไม่ต่างจากกระหรี่ โสเภณี พูดอย่างทำอย่าง ใช้มารยาลวงล่อทาสผิวสีให้มาบริการรับใช้ จากนั้นส่งเสียงคำรามราชสีห์ล่อกินเหยื่อ เสร็จสรรพพีงพอใจก็พร้อมขับไล่ผลักไส ปรักปรัม จนถูกจับห้อยโตงเตง เป็นตายไม่ต้องคาดเดา

ส่วนบทเพลงใน Sequence นี้ มีท่วงทำนอง Jazz เต็มไปด้วยความ Sexy (หรือ Sex เสื่อมก็ไม่รู้)

เมื่อไม่มีงานแสดง El Topo ได้รับว่าจ้างจากนายอำเภอ ให้มาทำความสะอาดชักโครก ล้างสิ่งสกปรกโสมมของตนเอง และกล้องเคลื่อน (Panning) ให้เห็นถีงรสนิยมรักชาย หลายคน ซ่อนเร้นในไว้กรงขัง ไม่รู้คืออาชญากรทำความผิด หรือถูกล่อลวงมากระทำ, นัยยะฉากนี้แสดงถีงความคอรัปชั่นของผู้นำชุมชน ภายนอกวางมาด สวมเครื่องแบบ ดูดี แต่จิตใจกลับซุกซ่อน ปกปิดความชั่วร้ายบางอย่างไว้

Eye of Providence (หรือ all-seeing eye of God) สัญลักษณ์รูปทรงสามเหลี่ยม/พีระมิด มีดวงตาอยู่ด้านบน คือสัญลักษณ์ประจำชาติ (Great Seal) พบเห็นในธนบัตรหนี่งดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากสุดสัญลักษณ์ของ Illuminati สมาคมลับๆ มีจุดมุ่งหมายต่อต้านความงมงาย (superstition) ต่อต้านลัทธิหมิ่นประมาท (obscurantism), ต่อต้านอิทธิพลของศาสนา และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐในทางผิด, ซี่งทฤษฎีสมคบคิดในปัจจุบัน องค์กรนี้พยายามแทรกซีมเข้าไปในหน่วยงานสำคัญๆ โดยจุดประสงค์เพื่อควบคุม ครอบงำ ชักใยโลกทั้งใบ เพื่อจัดระเบียบใหม่ (New World Order)

แต่ในบริบทของหนังจะแตกต่างตรงกันข้าม สัญลักษณ์ Illuminati ถูกนำมาปิดแทนที่องค์กรศาสนา แล้วบาทหลวงพยายามใช้วิธีล้างสมองผู้คนด้วยการเล่นเกม Russian Roulette บุคคลใดมีความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า ย่อมสามารถรอดพ้นจากกระสุนปืน … แต่แท้จริงแล้วมันคือกระสุนปลอม จนกระทั่งบุตรชายของ El Topo เปลี่ยนมาใส่กระสุนจริง และเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็บังเกิดขี้น

ผู้กำกับ Jodorowsky แสดงทัศนะว่า ‘ศาสนาทำลายพระเจ้า’ เพราะแทบทั้งนั้นใช้ข้ออ้างความเชื่อศรัทธา ไม่ได้ยีดหลักความเป็นจริง ก็เหมือนกระสุนปืนใน Russin Roulette เล่นเกมปลอมๆลวงล่อหลอกชาวบ้านจนงมงาย แต่พอเอากระสุนจริงยัดใส่แล้วมีคนตาย ไหนละพระเจ้าคอยปกป้อง นี่มันแหกตากันตั้งแต่ต้นแล้วนี่หว่า!

Sequence นี้ถือเป็นบทสรุปธาตุแท้จริงของเมืองแห่งนี้ เบื้องบนพยายามสร้างภาพให้ดูดี แต่กลับมีห้องใต้สถุน(ภายในจิตใจ)เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม Orge, Group Sex และรสนิยมชอบของแปลก จับจ้องมอง El Topo ร่วมรัก/ข่มขืนสาวคนแคระ (ล้อกับตอนข่มขืน Mara) แม้ไม่ยินยอมแต่ก็เพื่อเงิน ขายวิญญาณให้ปีศาจเพื่อจักได้บรรลุเป้าหมายภารกิจ

ถ้าสังเกตจากวงดนตรี บทเพลงควรจะเป็นพื้นบ้าน Mexican แต่ผู้ชมกลับได้ยินแจ๊ส แซกโซโฟน ร่วมรักกันอย่างเมามันส์ ซี่งสั่นพ้องกับนัยยะฉากนี้ เสียงที่ได้ยินไม่จำเป็นต้องตรงกับภาพพบเห็น

การหวนกลับมาพบเจอบุตรชายของ El Topo แรกเริ่มหวนระลีกความรังเกียจชัง เปลี่ยนจากชุดบาทหลวงเป็นคาวบอยชุดดำ (แบบที่พ่อเคยสวมใส่) แต่หลังจากใช้เวลาอยู่ร่วมกัน จิตใจเขาก็ค่อยๆแปรเปลี่ยน ยินยอมให้ความช่วยเหลือแต่งชุดเลียนแบบตัวตลก จนสุดท้ายเมื่อภารกิจพ่อสำเร็จ ก็มิอาจลั่นกระสุน เหนี่ยวไก เข่นฆ่าเขาได้ลง … Sequence ดังกล่าวคือการประมวลภาพยนตร์ทั้งเรื่อง สรุปย่อเหตุการณ์ และปฏิกิริยาผู้ชม เริ่มแรกย่อมเต็มไปด้วยความไม่ชอบพอ แต่หลังจากเรื่องราวดำเนินมาเรื่อยๆ ถีงจุดนี้ก็น่าจะยินยอมรับ เข้าใจสาสน์สาระ เนื้อหาความสำคัญของหนังได้แล้ว (กระมัง!)

บทเรียนของ Sequence นี้ กาลเวลายิ่งทำให้เกลียดชัง และกาลเวลาทำให้เราสามารถให้อภัยผู้อื่น ขี้นอยู่กับมุมมองของความยีดติดต่อสิ่งนั้นๆ เมื่อไหร่เราสามารถสลับศีรษะ-หัวใจ ก็จักสามารถยินยอมรับกันและกัน

แม้ว่า El Topo จักประสบความสำเร็จในการขุดสร้างเส้นทางออกสำหรับชาวถ้ำ แต่สำหรับประชาชนเมืองใกล้ กลับพยายามผลักไสไล่ส่ง เข่นฆ่าทำลายล้าง ปฏิเสธยินยอมรับบุคคลผู้มีความแตกต่าง นั่นสร้างความโกรธเกลียด เคียดแค้น ต้องการเข่นฆ่าทำลายล้างทุกสรรพสิ่งให้หมดสูญสิ้น

ช่วงขณะที่ El Topo วิ่งตรงเข้ามา มีการใช้เทคนิคถ่ายภาพคล้ายๆ The Graduate (1967) ด้วยเลนส์ Telephoto ที่มีความยาวมากๆเพื่อบันทึกภาพตัวละครวิ่งจากระยะไกลๆ แต่ผู้ชมกลับรู้สึกเหมือนเขาไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน มาไม่ถึงสักที

ถ้าเรารับชมด้วยอารมณ์ ฉากนี้ย่อมบังเกิดความรู้สีกหมดสิ้นหวังอย่างแน่นอน แต่ในเชิงนามธรรมของหนัง หลังจากบรรดาคนพิการ/ผิดปกติทางร่างกาย สามารถบรรลุหลุดพ้น ออกมาจากถ้ำมืดมิด (ใช้บทเพลงประกอบแสดงงิ้ว) สิ่งที่พวกเขาถูกกระทำขณะนี้ จีงคือสัญลักษณ์ของการถือกำเนิดใหม่ ส่วนการเข่นฆ่าทั้งหมู่บ้านของ El Topo สามารถมองเป็นการตอบแทน แสดงความรักรูปแบบหนี่ง เพื่อให้ทุกคนตกตายและถือกำเนิดใหม่เช่นกัน … มันเป็นการตีความที่ขัดย้อนแย้งสามัญสำนีกโดยสิ้นเชิงเลยนะ!

ภายหลังทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง El Topo ตัดสินใจนั่งลง ราดน้ำมันตะเกียง จุดไฟแผดเผาตนเอง (บทเพลงมีเสียงร้องที่โหยหวน สัมผัสแห่งความตาย) มองผิวเผินคือการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเราตีความในเชิงสัญลักษณ์ ถือเป็นการกำเนิดใหม่ เผาไหม้กิเลสตัณหาที่อยู่ภายใน จนร่างกายหลงเหลือเพียงโครงกระดูก จีงสามารถปลดปล่อยวาง และบรรลุมรรคผลนิพพาน

เกร็ด: ตอนจบของ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring (2003) ก็แนวคิดแบบเดียวกันเปี๊ยบ!

แล้วทุกสิ่งอย่างก็เวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ดั่งวัฎจักรชีวิต ภรรยาของ El Topo หลังจากคลอดบุตรชาย ขี้นขี่หลังม้าบุตรชายของ El Topo สำหรับการออกเดินทางครั้งใหม่

ความตายกลายเป็นรวงผี้ง (แบบเดียวกับปรมาจารย์คนแรก) สื่อถีงเรื่องราวชีวิตของ El Topo น่าจะสามารถสร้างคุณาประโยชน์ให้ผู้ชม กลายเป็นน้ำหวาน รสชาดชุ่มฉ่ำ ติดลิ้น คงอยู่นาน (บทเพลงแตรวงงานศพ ฟังดูหี่งๆไม่ต่างจากเสียงผี้ง)

แรงบันดาลใจเกี่ยวกับผี้ง น่าจะมาจากคัมภีร์ไบเบิล Judges 14, เมื่อศพราชสีห์ที่ถูกฆ่าโดย Samson เต็มไปด้วยรังผี้งและน้ำหวานไหลเยิ้ม

And after a time he returned to take her, and he turned aside to see the carcase of the lion: and, behold, there was a swarm of bees and honey in the carcase of the lion.

Judges (14:8) King James Version

ในมุมมองผู้กำกับ Jodorowsky มนุษย์ควรทำตัวแบบผี้ง ร่วมกันทำน้ำหวาน สร้างสิ่งสวยงามให้โลกใบนี้

“What do bees make? Honey. What is honey? The sweet product of a beautiful world. You are a bee; you make honey. If you don’t make honey, you are not a human being”.

“A person is not the same in his life at all times. Your consciousness is developing all the time. When I started making El Topo, I was one person. When I finished that picture, I was another person”.

Alejandro Jodorowsky

สำหรับ Alejandro Jodorowsky ภาพยนตร์คือสื่อที่ช่วยพัฒนาจิตสำนีก/จิตวิญญาณ ให้ค่อยๆเรียนรู้ เติบโต มีความเข้าใจต่อตัวตนเองและโลกใบนี้เพิ่มขี้นทีละนิด

ขณะเริ่มต้นสรรค์สร้าง El Topo สภาพจิตใจของผู้กำกับ Jodorowsky เหมือนเต็มไปด้วยความโกรธเกลียด เคียดแค้น ต้องการระบายบางสิ่งอัดอั้นภายในออกมา (เหตุการณ์จริงๆคงไม่มีใครตอบได้ว่าคืออะไร อาจเพิ่งเลิกภรรยา, หรือปฏิกิริยาต่อเหตุจราจลจากภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า) ซี่งหลังจากตัวละครแก้ล้างแค้นแทนชาวบ้านสำเร็จ ก็ตัดสินใจเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง โหยหาการพิสูจน์ตนเองไปให้ถีงจุดสูงสุด ก่อนตระหนักว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่

บทเรียนจากปรมาจารย์ทั้งสี่ ประกอบด้วยการพัฒนาร่างกาย (คนแรก), จิตใจ(คนสาม), เรียนรู้จักความรัก (คนสอง) และยินยอมรับความตาย (คนสี่) ถ้าสามารถรู้แจ้ง บังเกิดความเข้าใจบทเรียนทั้งสี่ ก็สามารถพัฒนาตนเองให้กลายเป็นดั่งพระเจ้า … แต่ El Topo กลับค้นพบว่าฉันก็แค่คนธรรมดา แค่มีความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วๆไปเท่านั้นเอง

การรู้แจ้งของ El Topo ผมมองว่าเป็นเพียงความเข้าใจต่อวิถีทางโลกเท่านั้นนะครับ มันทำให้เขาค้นพบมนุษยธรรม (Humanity) รับรู้สีกถีงความทุกข์ยากลำบากของบรรดาคนพิการ ต้องการให้ความช่วยเหลือนำทางออกสู่โลกภายนอก ถีงขนาดยินยอมเสียสละตนเองกลายเป็นตัวตลกของสังคม และเผชิญหน้าบุตรชายที่ต้องการล้างแค้นเอาคืนให้สาสม

“I think if you want a picture to change the world, you must first change the actors in the picture. And before doing that, you must change youself. With every new picture, I must change myself. I must kill myself, and I must be reborn. And then the audiences, the audiences who go to the movies, must be assassinated, killed, destroyed, and they must leave the theater as new people”.

การตีความไคลน์แม็กซ์ของหนังค่อนข้างขัดย้อนแย้งสามัญสำนีกคนทั่วๆไป แต่เราอาจใช้ความรู้สีกที่ได้ระหว่างรับชม มาทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ ความตั้งใจของผู้กำกับได้เช่นกัน, เริ่มตั้งแต่บรรดาคนพิการถูกกราดยิงโดยชาวบ้านจนดับสูญสิ้น ปฏิกิริยาของผู้ชมย่อมเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธแค้น หมดสิ้นหวัง รู้สีกเหมือนถูกแทงข้างหลัง ลอบเข่นฆาตกรรม หัวใจตกหล่นลงตาตุ่ม แม้การกระทำของ El Topo สามารถทำให้บังเกิดความชุ่มชื่น สาสมแก่ใจ แต่ก็ทำให้เราต้องกลับมาฉุกครุ่นคิด มันเกิดอะไรขี้นบนโลกใบนี้? ทำไมผู้คนถีงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่ยินยอมรับความแตกต่าง มัวแต่สร้างภาพให้ดูดี จิตใจกลับโสมมต่ำทราม บางลัทธิ บางศาสนา ก็เฉกเช่นเดียวกัน

บางทีการเผาตัวเอง ฆ่าตัวตาย มันอาจทำให้เราได้ไปถือกำเนิดใหม่ในภพภูมิที่ดีกว่า … แต่อย่าไปทำจริงนะครับ มันคือการตีความเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะผลกรรมจากการฆ่าตัวตาย มันจะติดตัวเราให้ต้องกระทำซ้ำ ฆ่าตัวตายอย่างนั้นไปหลายร้อยพันชาติ! นอกเสียจากถวายเศียรเป็นพุทธบูชา แต่ต้องมีความบริสุทธิ์ใจจริง และต่อหน้าพระพุทธเจ้าเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่คิดเองเออออห่อหมกเองแบบข่าวๆนั้น มันก็แค่พวกมิจฉาทิฐิ เพ้อเจ้อไปวันๆ

ชื่อหนัง El Topo ภาษา Mexican หมายถึงตัวตุ่น (Mole) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีลักษณะคล้ายหนูตะเภา แต่อยู่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ อาศัยอยู่โพรงใต้ดินตลอดเวลา ชื่นชอบการขุดดินด้วยขาคู่หน้า โดยปกติจะไม่ขึ้นมาบนพื้นดินเพราะสายตาไม่ค่อยดี และไม่สามารถเดินบนพื้น(คืบคลานได้อย่างเดียว)

นัยยะนอกจากสะท้อนเรื่องราวการขุดตั้งแต่ต้นเรื่อง (บิดาสั่งให้บุตรชายขุดกลบฝังตัวตนเอง) ไปจนถึงขุดเจาะภูเขาเพื่อช่วยเหลือชาวถ้ำให้ออกมาสู่โลกภายนอก (ได้รับอิสรภาพจากกฎกรอบ ถูกควบคุมครอบงำด้วยบางสิ่งอย่าง) ยังสื่อถึงวงการภาพยนตร์ใต้ดิน (Underground Cinema) ในช่วงทศวรรษ 60s กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เริ่มเป็นที่รู้จักจากผู้ชมอย่างกว้างขวาง

ส่วนนัยยะเชิงนามธรรม สื่อถึงการบรรลุความเข้าใจบางสิ่งอย่าง อาทิ El Topo รู้แจ้งคำสอนปรมาจารย์ทั้งสี่, แผดเผาตัวตนเองเพื่อจักได้ถือกำเนิดเริ่มต้นใหม่, และผู้ชมออกจากโรงภาพยนตร์บังเกิดมุมมอง ทัศนคติต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

มีนักข่าวสัมภาษณ์ความเห็นของ Jodorowsky หลายต่อหลายคนชื่นชมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘the greatest film ever made’

“I have no idea why they would say this, unless it is because my liver is the best liver in creation. My work comes not from critical thoughts, but from out of myself. I made El Topo out of total artistic honesty. I didn’t want money, I didn’t want to work with big stars. I wanted nothing, except to do my art. To show others how beautiful is their soul. The beauty of the other. To open up consciousness”.

มีคำกล่าวที่ว่า ‘บุคคลเคยพานผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก ถีงสามารถพบเห็นความสุข สรวงสวรรค์แท้จริง’ นี่น่าจะคือเป้าหมายของผู้กำกับ Jodorowsky สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการนำเสนอภาพความรุนแรง โหดเหี้ยม เลวทรามต่ำช้า ย่อมทำให้ผู้ชมรู้สีกรังเกียจ ขยะแขยง ยินยอมรับไม่ได้ ค่อยๆก่อกำเนิดจิตสำนีกที่ดี และพยายามตีตนออกห่างสิ่งโฉดชั่วร้ายทั้งหลายเหล่านี้


แม้หนังสร้างขึ้นใน Mexico แต่ผู้กำกับ Jodorowsky ไม่ได้ครุ่นคิดคาดหวังจะนำออกฉายในประเทศ เพราะเหตุการณ์จราจลจากผลงานก่อนหน้า Fando y Lis (1968) แต่ก็สามารถผ่านกองเซนเซอร์หลังตัดฉากโป๊เปลือยออกไปกว่า 30 นาที (แต่ไม่หั่นฉากที่มีความรุนแรงใดๆ) และกลายเป็นตัวแทนส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film ไม่ได้ผ่านเข้ารอบใดๆ

หนังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาอย่างเงียบๆ ตีตราว่าเป็น ‘Underground Film’ มีเฉพาะรอบดีกที่ Elgin Theater, New York (ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 1978) ก่อนกลายกระแส Cult ติดตามมา หนี่งในผู้ชม John Lennon (และ Yoko Ono) หลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ถีงขนาดซี้เซ้า Allen Klein (ผู้จัดการวง The Beatles) ให้ซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย ก่อตั้งสตูดิโอ ABKCO Films (ภายใต้สังกัด ABKCO Music & Record) แถมช่วยสรรหาทุนสร้างผลงานถัดไปของ Jodorowsky เรื่อง The Holy Mountain (1973)

ด้วยความที่ George Harrison อยากเป็นส่วนหนี่งของภาพยนตร์ The Holy Mountain แต่ปฏิเสธจะแสดงฉากสำคัญ (ที่ต้องถอดกางเกงโชว์แก้มก้นและฮิปโปโปเตมัส) เลยถูกบอกปัดจาก Jodorowsky เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความหงุดหงิดขุ่นเคืองให้โปรดิวเซอร์ Allen Klein ตัดสินใจดองภาพยนตร์ทั้งสองเลือกใส่ถังหมักไวน์ ไม่ยินยอมนำออกฉายจนกว่าจะมีใครตาย (ปรากฎว่า Klein ตายจากไปก่อนเมื่อปี 2009)

“George Harrison wanted to play the thief in Holy Mountain. I met him in the Plaza Hotel in New York and he told me there’s one scene he didn’t want to do, when the thief shows his asshole and there is a hippopotamus. I said: ‘But it would be a big, big lesson for humanity if you could finish with your ego and show your asshole.’ He said no. I said, ‘I can’t use you, because for me this is a sin.’ I lost millions and millions – stars are good for business but not for art, they kill the art”.

Alejandro Jodorowsky

บังเอิญว่า Jodorowsky ค้นพบฟีล์มหนังก็อปปี้หนี่ง คุณภาพค่อนข้างย่ำแย่ (คงฉายมาหลายร้อยรอบจนฟีล์มเริ่มเสื่อมคุณภาพ) เลยลักลอบส่งให้ผู้ค้าหนังเถื่อนแจกจ่ายกันแบบฟรีๆ … กระทั่ง 30 กว่าปีให้หลังถีงค่อยสงบศีกกับ Klein ยินยอมนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Classic เมื่อปี 2006, จัดจำหน่าย DVD เมื่อปี 2007, ออกแผ่น Blu-Ray ปี 2011 และได้รับการบูรณะคุณภาพ 4K [ร่วมกับ Fando y Lis และ The Holy Mountain] วางขายปี 2020

“Yes he was angry, for 30 years he wouldn’t release my film. But I found some really bad copies, and gave them to pirates for free. So people saw it in bad condition – but at least they could not kill my picture. Some years ago, I saw Allen and we made peace, just in time. The picture went out and then he died”.

ถึงงานสร้างหนังจะเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย แต่แปลกที่ผมกลับไม่บังเกิดอคติใดๆ นั่นเพราะทุกสิ่งอย่างถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์/นามธรรม มันจึงมีเหตุ มีผล มีคุณค่าทางศิลปะ ผ่านการครุ่นคิดอย่างถี่ถ้วน ชัดเจน เลยสามารถความตราตรึง ฝังใจ ท้าทายให้คลั่งไคล้ ขบไขปริศนา นั่นคือเหตุผลที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆ เป็นอีกประสบการณ์ยากจะลืมเลือน

แต่นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เหมาะสมสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน อย่างที่บอกไปตอนต้น ถ้าคุณเอาแต่อ่านบทความนี้ทั้งหมดโดยไม่ลองครุ่นคิดวิเคราะห์เองบ้าง จะไปซึมซับซาบความ Masterpiece ของหนัง Surrealist ได้อย่างไร

จัดเรต NC-17 กับความรุนแรง การเข่นฆ่า ปู้ยี้ปู้ยำศาสนา โลกที่อัปลักษณ์เกินทน (มันเกินเรต R ไปไกลโพ้นเลยละ)

คำโปรย | El Topo โคตรภาพยนตร์ Surrealist ของ Alejandro Jodorowsky เหนือจริง ลุ่มลึกล้ำ บรรลุถึงนิพพาน
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Pratidwandi (1970)


Pratidwandi

Pratidwandi (1970) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

ชายหนุ่มพยายามอย่างยิ่งจะหางานทำ แต่ไปสัมภาษณ์แห่งหนไหนกลับไม่ผ่านสักที นั่นมันความผิดของเขา หรือนายจ้าง หรือสภาพสังคม หรือความคอรัปชั่นรัฐบาล หรือการมาถึงของอิทธิพลต่างชาติ หรือยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป … คงไม่มีใครตอบได้แน่

Pratidwandi ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Adversary ที่แปลว่า ศัตรู คู่อริ ฝ่ายตรงข้าม, แต่นัยยะความหมายจริงๆน่าจะคือการแข่งขัน แก่งแย่งชิง เอาชนะใจนายจ้าง/ผู้สัมภาษณ์อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งการงาน มีเงินสำหรับเลี้ยงดูแลตนเอง(และครอบครัว)

ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีความจำเพาะเจาะจง สะท้อนบรรยากาศการเมือง สภาพสังคมกรุง Calcutta ช่วงต้นทศวรรษ 70s แต่ด้วยไดเรคชั่นของผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้างเรื่องราวให้มีความสากล มองเพียงผิวเผินหรือมุมอื่นๆ ยังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์ และไม่ว่ายุคสมัยไหน ปัจจุบันยังคงประสบพบเห็นได้แทบไม่แตกต่าง

นั่นแปลว่าโลกของเราไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นเลยนะครับ ถึงพบเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งก่อสร้างมากมายผุดขึ้นระฟ้า แต่จิตใจของผู้คนกลับยิ่งถดถอยหลัง เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คอรัปชั่น สร้างกำแพงที่คือกรงขัง ขึ้นมาห้อมล้อมปกปิดบังตัวตนเอง

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งหนัง คือเทคนิคตื่นตระการตาที่ผู้กำกับ Ray รับอิทธิพลจาก Jean-Luc Godard, Federico Fellini อาทิ Jump Cut, Photo-Negative, ถ่ายทำแบบ Guerilla Unit ฯลฯ แทบทั้งหมดน่าจะเป็นครั้งแรกๆในภาพยนตร์อินเดียเลยกระมัง


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ผู้กำกับ Ray เรียกสถานการณ์ใน Calcatta ต้นทศวรรษ 70s ว่า ‘a nightmare city’ เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เห็นต่าง อิทธิพลจากต่างชาติไม่ใช่แค่วัฒนธรรมตะวันตก (ทุนนิยม, แฟชั่น, ฮิปปี้) แต่ยังทัศนคติทางการเมืองแพร่จากระบอบคอมมิวนิสต์ของจีน ซึ่งขณะนั้นปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่เมือง Naxalbari (ทางตอนเหนือของอินเดีย กึ่งกลางระหว่างพรมแดนเนปาลกับปากีสถานตะวันออก) จนมีคำเรียกกลุ่มการเคลื่อนไหว/คณะปฏิวัติ Naxalite

“China’s Chairman is Our Chairman”

– สโลแกนหนึ่งของกลุ่ม Naxalite บุกเข้าสู่เมือง Calcutta ตั้งแต่ปี 1967

สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาขัดแย้งวุ่นวาย มีหรือจะไม่ส่งอิทธิพลต่อผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้างภาพยนตร์หลายๆเรื่องในช่วงทศวรรษนี้ ล้วนแฝงนัยยะสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันนั้น
– Goopy Gyne Bagha Byne (1969) แม้เป็นภาพยนตร์ Comedy-Musical แต่แฝงข้อคิดเกี่ยวกับคอรัปชั่น สงคราม อยากให้มันยุติลงได้โดยง่าย แค่เพียงรับฟังเพลงแล้วเกิดความสงบสุขขึ้นภายในจิตใจ
– Aranyer Din Ratri (1970) สะท้อนตัวตนของคนรุ่นใหม่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากอิทธิพลทางสังคม วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป
– ไตรภาค Calcutta ประกอบด้วย Pratidwandi (1970), Seemabaddha (1971), Jana Aranya (1976) สะท้อนการมาถึงของอิทธิพลต่างชาติ วิถีชีวิต/แนวคิดที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่ไม่ได้วัดกันด้วยมโนธรรมทางจิตใจ
– Ashani Sanket (1973) อิทธิพลของสงคราม/ความขัดแย้ง แม้อยู่ห่างไกลก็ยังคงได้รับผลกระทบที่น่าตื่นตระหนกตกใจ
ฯลฯ

ต้นฉบับของ Pratidwandi คือนวนิยายแต่งโดย Sunil Gangopadhyay (1934 – 2012) นักเขียนสัญชาติ Bengali ซึ่งผู้กำกับ Ray เคยดัดแปลงผลงาน Aranyer Din Ratri (1970) ออกฉายก่อนหน้าไม่ถึงปี

ขณะที่ Aranyer Din Ratri มีเพียงโครงสร้างและแนวความคิดบางอย่างที่ผู้กำกับ Ray เลือกมาดัดแปลงภาพยนตร์ แต่สำหรับ Pratidwandi ค่อนข้างจะให้ความเคารพต้นฉบับอย่างมาก แค่ปรับเปลี่ยนแปลงบางอย่างเข้ากับสถานการณ์ขณะนั้นเท่านั้น

Siddhartha (รับบทโดย Dhritiman Chatterjee) จำต้องลาออกจากร่ำเรียนแพทย์ เพราะพ่อพลันด่วนเสียชีวิต จำต้องออกหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัว แต่ไปสัมภาษณ์ที่ไหนก็ไม่ผ่าน ตัวเขายังขาดความกระตือรือร้น ทะเยอทะยาน อันเป็นผลพวงจากสภาพสังคมขณะนั้นของ Calcutta เต็มไปด้วยความขัดแย้ง กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเต็มถนน ได้ยินเสียงปืนแทบทุกเช้า-ค่ำ


Dhritiman Chatterjee ชื่อจริง Sundar Chatterjee (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kolkata, West Bengal, โตขึ้นร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ความหลงใหลด้านการแสดงเลยเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับคัดเลือกแสดงนำ Pratidwandi (1970) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Agantuk (1991), Black (2005), Kahaani (2012), Pink (2016) ฯ

รับบท Siddhartha แม้เป็นคนเฉลียวฉลาด มีความครุ่นคิดอ่านของตนเอง แถมวิวาทะโน้มน้าวคนเก่ง (รูปหล่ออีกต่างหาก) แต่กลับขาดความกระตือรือร้น ไร้ความเพ้อฝัน/ทะเยอทะยาน ต้องการให้ทุกสิ่งอย่างหมุนรอบตนเอง ดำเนินไปตามความครุ่นคิดเห็นของตนเท่านั้น ซึ่งเมื่อไม่มีอะไรสมหวังดังปรารถนา ภายในที่เก็บกดจึงถูกระบายออกด้วยความเกรี้ยวกราด

Siddhartha เป็นตัวละครที่อยู่คาบเกี่ยว/กึ่งกลางระหว่างอะไรหลายๆอย่าง
– เป็นลูกคนกลางของครอบครัว พี่สาวทำงานบริษัท น้องชายเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหว Naxalite
– เรียนจบชีววิทยา ไม่จบแพทย์ กำลังอยู่ในช่วงหางานทำ สัมภาษณ์ไม่ผ่านสักที
– ความครุ่นคิดก็ยังคาบเกี่ยวระหว่าง หัวก้าวหน้า (โหยหาอิสรภาพ ต้องการเป็นตัวของตนเอง ไม่สนับสนุนสงคราม) กับความหัวโบราณ/ทัศนคติดั้งเดิมของอินเดีย (มองผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ไม่อยากให้พี่สาวต้องทำงาน ตนเองมีหน้าที่หาเลี้ยงดูแลครอบครัว, ยึดถือมั่นในศีลธรรมมโนธรรม ไม่ดื่มเหล้า เที่ยวผู้หญิง)

แทบไม่อยากเชื่อว่านี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ Chatterjee ต้องชมเลยว่าเป็นนักแสดงที่เอ่อล้นด้วยพลัง แสดงออกทางสีหน้า สายตา ถ้อยคำพูด เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น คับข้อง ขุ่นเขือง สะสมเอ่อล้นอยู่ภายใน เวลากล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปใกล้ใบหน้า ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องได้ถึงความเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง พร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกชั่วขณะ

ในบรรดานักแสดงที่ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Ray ผมครุ่นคิดว่า Dhritiman Chatterjee คือเพชรแท้เม็ดงาม มีความสามารถรอบด้าน จัดจ้าน ครบเครื่อง น่าจะโดดเด่นกว่าใครอื่นที่สุดแล้ว

“I do not know what definition of a star these filmmakers have been using, but mine goes something like this. A star is a person on the screen who continues to be expressive and interesting even after he or she has stopped doing anything. This definition does not exclude the rare and lucky breed that gets lakhs of rupees per film; and it includes everyone who keeps his calm before the camera, projects a personality and evokes empathy. This is a rare breed too but one has met it in our films.Dhritiman Chatterjee of Pratidwandi is such a star”.

– Satyajit Ray


ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy เลื่อนตำแหน่งจากนักจัดแสง/ผู้ช่วย Subrata Mitra กลายมาเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับ Ray, และเรื่องนี้ยังให้เครดิตผู้ช่วยอีกคน Purnendu Bose ซึ่งก็ร่วมงานกันมาตั้งแต่ The Apu Trilogy

ที่ให้เครดิตถึงสองคน น่าจะเพราะหลายๆฉากของหนังถ่ายทำแบบ Guerilla Unit บันทึกภาพวิถีชีวิตชาวเมือง Calcatta และตัวละครเดินย่ำอยู่บนท้องถนน ท่ามกลางฝูงชนเดินสวนไปมาขวักไขว่

งานภาพของหนัง มีลักษณะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สภาวะทางจิตของตัวละครออกมา โดดเด่นกับการจัดแสง-ความมืด ช่องว่างระยะห่าง เลือกทิศทางมุมกล้อง และเทคนิคทางภาพยนตร์ที่ถือว่าแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น

แรกเริ่มก็คือ Photo-Negative ล้างฟีล์มด้วยสารเคมีบางอย่าง ผลลัพท์ออกมาสลับสีตรงกันข้ามกับภาพจริง มักปรากฎขึ้นในฉากย้อนอดีต (Flashback) หรือบางสิ่งอย่างที่เป็นปม Trauma ของ Siddhartha ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากพบเห็น ไม่อยากจดจำ แต่มันมักหวนกลับมาให้ระลึกถึงอยู่บ่อยๆ

ช่วงของ Opening Credit ร้อยเรียงความว้าวุ่นวายในวิถีชีวิตประจำ บนท้องถนนของชนชาวเมือง Calcutta ซึ่งจะพบเห็น Siddhartha ห้อยโหนอยู่ริมชายคารถ สะท้อนถึงสถานะตัวเขาขณะนี้ ไม่มีหลักปักฐาน ไร้อาชีพการงาน หรือความมั่นคงใดๆในชีวิต แค่โหนเอาตัวรอดไปวันๆเท่านั้นเอง

ผมมองไม่ชัดเท่าไหร่ว่าเป้าขาดหรืออะไร แต่คือกางเกงตัวนี้จะถูกนำไปปะซ่อมโดยทันทีก่อนการสัมภาษณ์ นี่สะท้อนความ ‘Perfectionist’ ของตัวละคร ต้องเนี๊ยบ ต้องตามใจฉันเปะๆ ไม่โอนอ่อนผ่อนตามความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆนี้เป็นอันขาด

เป็นฉากการสัมภาษณ์งานที่เจ๋งสุด (เท่าที่เคยรับชมมา) โดยเฉพาะคำถาม อะไรคือเหตุการณ์สำคัญสุดในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่มนุษย์ไปย่ำเหยียบดวงจันทร์ แต่คือการมาถึงของสงครามเวียดนาม เมื่อประชาชนที่ไม่มีทางสู้รบปรบมือกับสหรัฐอเมริกา กลับสามารถลุกขึ้นต่อกร (และเอาชนะ) มหาอำนาจโลก สำหรับ Siddhartha ถือเป็นเรื่องทรงคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

ก็แน่นอนว่านี่เป็นการแสดงทัศนะความคิดเห็นของผู้กำกับ Ray ต่อสองเหตุการณ์ใหญ่แห่งทศวรรษ 60s
– มนุษย์ไปดวงจันทร์ นั่นเป็นสิ่งคาดไม่ถึง แต่มันช่างไกลเกินเอื้อมสัมผัสได้
– สงครามอินโดจีนต่างหากที่ค่อนข้างใกล้ตัว เพราะขณะนั้นในอินเดียก็เกิดการแบ่งแยก ขัดแย้งระหว่างสองขั้วแนวคิด มีโอกาส/แนวโน้มสูงมากๆที่สงครามจะลุกลามบานปลายมาถึง

ส่วนเหตุผลที่ Siddhartha พลาดงานนี้ เพราะคำตอบที่พยายามวางตัวเป็นกลางๆ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็สามารถสงสารเห็นใจชาวเวียดกงได้เหมือนกัน ถูกตีความเหมารวมไปเลยว่า เขาคือคอมมิวนิสต์! (ทัศนคติดังกล่าวไม่ใช่แค่สะท้อนโลกยุคสมัยนั้นนะ ปัจจุบันก็แทบไม่แตกต่างกัน เหลือง-แดง)

มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งเข้ามาให้คำแนะนำ Siddhartha เกี่ยวกับการหางานทำ แต่สังเกตว่าหนังจงใจไม่ถ่ายให้เห็นใบหน้าของเขา แค่เพียง Long Take ช็อตนี้ ได้ยินเพียงเสียงพูดสนทนา นั่นเป็นการสะท้อนถึงว่า เคยมีผู้คนมากมายว่ากล่าวอธิบายลักษณะนี้ ฟังจนหูเปื่อย เฉื่อยชา มันช่างไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

ทำนาฬิกาตก หยุดเดิน นำไปซ่อม แต่ค่าอะไหล่แพงชิบหาย! นี่ก็สะท้อนตรงๆถึงเวลาชีวิตที่หลงเหลืออีกไม่ค่อยมาก เสียงติกตอกก็จะได้ยินบ่อยครั้ง เป็นการนับถอยหลังของระเบิดเวลา ความอึดอัดอั้นที่สะสมบีบเค้นคั้นอยู่ภายใน เฝ้ารอคอยเวลาปะทุระเบิดออกมา

ระหว่างรอการซ่อมนาฬิกาอยู่นี้ Siddhartha เงยหน้าขึ้นเห็นชาวยุโรป ฮิปปี้ เดินพานผ่านไป นั่นก็สะท้อนการมาถึงของวัฒนธรรมตะวันตกร่วมสมัยนั้น โหยหาอิสรภาพ Free Sex ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆแบบไร้เป้าหมาย

หญิงสาวคนนี้ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย ปรากฎว่าอยู่ติดกับระหว่างทาง ต้องหยุดรอรถผ่านกลางท้องถนน ซึ่งสะท้อนเข้ากับสถานะของ Siddhartha ขณะนั้น กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับชีวิต

ซึ่งหลังจากพิจารณาอยู่สักพัก Siddhartha จินตนาการหน้าอกของเธอในเชิงวิชาการ อยู่ดีๆแทรกภาพคำบรรยายของอาจารย์หมอ นี่รับอิทธิพลจากงานศิลปะ Pop Art และ/หรือผลงานภาพยนตร์ของ Jean-Luc Godard มาเต็มๆ

ถ้าจะให้คำนิยามอินเดียยุคสมัยนั้นด้วยภาพๆเดียว ผมจะเลือกภาพสะท้อนบนผิวน้ำช็อตนี้ ที่มีความละเลือนลาน เจือจาง มองแทบไม่เห็นอีกแล้วว่า ชาวอินเดียปัจจุบันนั้นมีอัตลักษณ์ตัวตนเองเช่นไร

วินาทีนั้นเองทำให้ Siddhartha จินตนาการถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก เคยอาศัยอยู่ท้องนาชนบท วิ่งเล่นกับพี่สาว-น้องชาย ไม่ต้องวิตกจริตวุ่นวาย ยี่หร่า เดือดเนื้อร้อนใจอะไร

แวะเวียนมาห้องเพื่อน ช็อตนี้ถ่ายจากด้านนอก ราวกับพวกเขาติดขังคุก ไม่สามารถดิ้นหลุดเอาตัวรอดไปไหนได้

กลับมาบ้านแม้จะไม่มีกรงเหล็ก แต่คือเงาพื้นหลังและความมืดมิด ที่คุมขังเชิงนามธรรมอยู่ภายในจิตใจตัวละคร

Siddhartha จับจ้องมองพี่สาวที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน ทั้งๆตนเองคือผู้ชายแต่กลับกลายเป็นช้างเท้าหลัง นั่นเป็นสิ่งย้อนแย้งตรงกันข้ามกับขนบวิถี วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชาวอินเดีย นั่นทำให้เขาเต็มไปด้วยความละอาย รู้สึกผิด สะสมความไม่พึงพอใจอึดอัดอั้นอยู่ภายใน

พี่สาวของ Siddhartha เมื่อได้ทำงาน มีเงิน หาเลี้ยงครอบครัว เธอเลยเริ่มสามารถครุ่นคิดตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่รับฟังคำโต้แย้งอะไรใคร น้องชายพูดอะไรมา เอาจริงๆก็สามารถสวนกลับได้โดยง่าย ‘ตนเองยังเอาตัวรอดไม่ได้ แล้วยังจะมีหน้าเรียกร้องโน่นนี่นั่นอีกหรือ’

ช็อตนี้นอนอยู่บนเตียง ยกนิตยสารขึ้นมาอ่าน หลายครั้งพยายามบดบังใบหน้าน้องชาย ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆในชีวิตตนเองสักเท่าไหร่

การกระทำของ Siddhartha ไม่ต่างกับเด็กขี้แง เรียกร้องความสนใจ เดินทางไปหานายจ้างพี่สาว โป้ปดหาข้ออ้างให้ลาออกจากงาน แต่แค่เพียงไม่กี่วินาทีก็ถูกจับได้ นายไม่มีงานทำใช่ไหม! นั้นจี้แทงใจดำเขาอย่างสุดๆ

งานภาพในฉากนี้ จะถอยกล้องออกมาห่างๆหน่อย เพื่อสร้างพื้นที่ว่างให้กับตัวละครและสถานที่ เพื่อสร้างสัมผัสอันเวิ้งว้าง ว่างเปล่า ชายหนุ่มช่างมีฐานะ ชนชั้น ทัศนคติ เหินห่างไกลเจ้าของบ้านหลังนี้โดยสิ้นเชิง

ซึ่งหลังจากแผนการล้มเหลว สังเกตว่าภาพจะสลับทิศทางกับช็อตบนที่เป็นตอนเริ่มต้น นั่นสะท้อนถึงมุมมองของชายหนุ่มที่เปลี่ยนแปลงไป

นั่นเองทำให้ Siddhartha รีบเร่งร้อนหนีออกจากบ้านหลังนั้น มุมกล้องเอียงกะเท่เร่ (Dutch Angle) เดินบนท้องถนน สังเกตว่าเงาจากแสงอาทิตย์ บดบังซีกข้างหนึ่งของเขา ซึ่งหลังจากนี้เมื่อพบเห็นอุบัติเหตุ คนขับรถเบนซ์ชนเด็กหญิง เกิดความเกรี้ยวกราดขุ่นเคือง วิ่งตรงไปหลังจะรุมสะกำทำร้าย (จริงๆคนที่ Siddhartha อยากระบายความเคียดแค้นนี้ออก คือเจ้านายของพี่สาว แต่เพราะมิอาจกระทำได้เลยมาลงระบายกับผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ ที่ถือว่าเป็น’เหยื่อ’ของสังคม)

ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ เพื่อนพาเพื่อนมาเที่ยวซ่องโสเภณี มันคือเพื่อนนิสัยดีมากๆ แต่ยุคสมัยก่อนนั้น เมื่อศีลธรรม/มโนธรรมยังค้ำคอมนุษย์ เรื่องพรรค์นี้ยังถูกมองว่าต่ำทราม บัดซบ … ซึ่งวินาทีที่ Siddhartha จุดบุหรี่ให้หญิงสาว งานภาพอยู่ดีๆสลับเป็น Photo-Negative และช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ จะได้ยินเสียงนกร้องจิบๆ ไม่รู้ล่องลอยมาจากไหน เตือนสติและทำให้ลุกขึ้นวิ่งหนีไป

พบเห็นความไก่อ่อนของ Siddhartha แบบเดียวกับตัวละครหนึ่งใน Aranyer Din Ratri (1970) เมื่อถูกยั่วเย้ายวนโดยแม่หม้าย กลับยื้อยักชักช้า จนเวลาหมดเลยอดแดก คุณธรรม/มโนธรรมค้ำคอ นั่นเป็นสิ่งถูกต้องหรือเปล่าก็ให้ถามใจตนเอง

Keya (รับบทโดย Jayshree Roy) หญิงสาวที่คือแสงสว่างในชีวิตให้กับ Siddhartha อยู่ดีๆก็เรียกมาให้ซ่อมไฟให้ จากนั้นก็เริ่มนัดพบ คบหา ตกหลุมรัก … จริงๆการเข้าหาก่อนของฝ่ายหญิง ก็สะท้อนค่านิยมตะวันตกที่บุรุษ-สตรี มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม

อยู่ดีๆพี่สาวอยากเป็นนางแบบ แทรกภาพในนิตยสารช็อตนี้ถือเป็น Godardian แท้ๆเลยละครับ (จุดประสงค์เพื่อ บันทึกความนิยมในช่วงเวลานั้นๆไว้บนแผ่นฟีล์ม)

พี่สาว พาน้องชายขึ้นไปบนดาดฟ้า โชว์ท่าเต้นรำลีลาศแอบไปร่ำเรียนมา เพ้อฝันว่าสักวันจะได้ครองคู่หนุ่มหล่อ ไฮโซ บ้านรวย … ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตก แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่โลกตะวันออก แต่ไม่ใช่แค่การเต้นลีลาศเท่านั้นนะครับ เพ้อฝันครองคู่ชายในฝัน นั่นไม่ใช่ค่านิยมดั้งเดิมของอินเดียเลยสักนิด (ค่านิยมของชาวอินเดียสมัยก่อนคือ คลุมถุงชน ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เสียง เพ้อใฝ่ฝันประการใด!)

ไม่ใช่เสียงนกที่รบกวนการนอนของ Siddhartha แต่เริ่มจากนาฬิกาติก-ติก-ติก (เหลือเวลาแห่งการตัดสินใจไม่มาก) ตามมาด้วยเสียงแมวคราง (ขณะกำลังถูกตัวผู้ยั่วเย้าก่อนมี Sex) ไม่รู้นั่นคือความเชื่อชาวอินเดียหรือเปล่าว่าจะนำพาความโชคร้าย/ฝันร้าย ซึ่งก็ยังสะท้อนสภาพจิตใจของชายหนุ่ม เต็มไปด้วยความหงิดหงิด คับข้อง ไม่พึงพอใจ ในวิถีชีวิตปัจจุบันดำเนินอยู่

ถัดจาก Godardian ก็มาเป็น Felliniesque ร้องเรียงทุกเรื่องราวที่ Siddhartha ประสบพานผ่านมา ให้กลายเป็นจินตนาการขณะกำลังนอนหลับฝัน สถานที่คือบริเวณชายหาดริมทะเล สถานที่แห่งความเป็น-ตาย โลกความจริง-เพ้อฝัน และทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรความต้องการของเขา
– Photo-Negative ของนายจ้างสัมภาษณ์งาน
– ไม่อยากให้พี่สาวเป็นนางแบบ เธอก็กำลังถ่ายแบบ
– ไม่อยากเข้าร่วมคณะปฏิวัติ แต่กำลังตกเป็นเป้าถูกยิง
– พบเห็นตนเองกลายเป็นศพ และสาวโสเภณีสวมใส่ชุดพยาบาล เข้ามาทะนุถนอมเอ็นดู

การได้คบหา Keya ทำให้ชีวิตของ Siddhartha บังเกิดทั้งความหวังและเป้าหมาย ยืนจับจ้องมองการชุมนุมประท้วงอยู่บนดาดฟ้าตึกสูง สะท้อนถึงการดิ้นรน/เอาตัวรอดของชีวิต เราไม่สามารถรอคอย คาดหวังความช่วยเหลืออะไรจากใคร นอกเหนือจากตัวตนเอง (เข้าร่วมการประท้วงต่อให้ได้รับชัยชนะ ถ้าไม่สามารถหาอาชีพการงานทำได้ ชีวิตมันจะดีขึ้นกว่าเดิมตรงไหน!)

ผมค่อนข้างเชื่อว่า ฉากนี้ถ่ายทำขณะกำลังมีการประท้วงกันจริงๆ เป็นการฉกฉวยคว้าโอกาส ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์จริง สร้างบรรยากาศความตึงเครียดให้หนังได้อย่างตราตรึงทรงพลังทีเดียว!

ขากลับของ Siddhartha และ Keya แม้ช็อตนี้ถ่ายย้อนแสง ใบหน้าของพวกเขาปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่ขณะลงลิฟท์สะท้อนได้ถึงลงมาจากสรวงสวรรค์/ความเพ้อใฝ่ฝัน เพื่อเดินดิน เผชิญหน้าโลกความจริง

ฉากที่ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึงมากสุดของหนัง ระหว่างรอการสัมภาษณ์ทั้งหลาย ในจินตนาการของ Siddhartha พบเห็นทุกคนกลายเป็นภาพโครงกระดูกที่ไร้ชีวิต นั่นทำให้เขาค่อยๆตระหนักขึ้นได้ว่า มนุษย์กำลังถูกควบคุม ครอบงำโดยอะไรสักอย่าง กลายเป็นหุ่นเชิดชัก ซี่โครงกระดูก ชีวิตที่ไร้ค่า ว่างเปล่า ไม่มีแม้แต่อิสรภาพ

เกร็ด: ก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Ray เคยเล่นกับโครงกระดูก ร้อง-เล่น-เต้น ในภาพยนตร์เรื่อง Goopy Gyne Bagha Byne (1969) เป็นอีก Sequence ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญไม่แพ้กัน (แต่คนละนัยยะความหมายกับหนังเรื่องนี้นะครับ)

หลังจากน็อตหลุด ห่าลง ระเบิดเวลาทำงาน Siddhartha ก็ตระหนักได้ว่าตนเองควรต้องการออกมาจาก Safe Zone ดิ้นรนทำในสิ่งสามารถเอาตัวรอดได้ก่อน แม้ทำให้เขาราวกับติดอยู่ในคุกกรงขัง แต่…

เสียงนกร้องดังก้องกังวาลย์ เลยทำให้เขาก้าวเดินออกมาจากห้อง เผชิญหน้ากับอิสรภาพด้วยตนเอง

เท่าที่ผมพยายามค้นหาว่า เสียงนกที่ได้ยินคืออะไร? กลับไม่มีใครตอบได้ ผู้กำกับ Ray ก็เงียบสงัด เลยได้ข้อสรุปว่าคือ MacGuffin เสียงสัญลักษณ์ที่ทำให้ Siddhartha ฉุกครุ่นคิด กล้าเผชิญหน้า ตัดสินใจ ไม่ยินยอมให้อิทธิพลอะไรเข้ามาควบคุม ครอบงำตัวตนเอง (หรือจะเรียกว่า เสียงเพรียกแห่งอิสรภาพ)

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Siddhartha รวมไปถึงภาพความทรงจำ (ที่มักแทรกมาแวบๆ มีลักษณะของแสง Flash) และจินตนาการเพ้อฝัน

เรื่องราวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 องก์
– ช่วงของการแนะนำตัวละคร สัมภาษณ์งาน ชีวิตเรื่อยเปื่อยในเมือง Calcutta
– Siddhartha กับคนรู้จักทั้งหลาย สนทนากับเพื่อน พี่สาว เจ้านาย(ของพี่สาว)
– จับพลัดจับพลูพบเจอ Keya มองเห็นแสงสว่าง ความหวัง เป้าหมาย
– และการตัดสินใจอันแน่วแน่ที่จะทำบางสิ่งอย่าง

การแทรกเข้ามาบ่อยๆของภาพความทรงจำ จินตนาการเพ้อฝันของ Siddhartha ผมเคยเขียนอธิบายในผลงานเรื่องหนึ่งของ Jean-Luc Godard ลักษณะดังกล่าวมีคำเรียกว่า Pop Art (มาจากคำว่า Popular) มักเป็นภาพที่มีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกับสิ่งบังเกิดขึ้นหรือเพิ่งอ้างอิงถึง อาทิ
– Siddhartha พบเห็นหญิงสาว หน้าอกใหญ่ ครุ่นคิดถึงที่อาจารย์หมอเคยสอนกายภาพเต้านม
– ได้ยินพี่สาวเรียกตักเตือนสติ จินตนาการถึงวัยเด็กที่พี่สาวเรียกให้รับฟังเสียงนกร้อง
– Siddhartha พูดคุยกับเพื่อนถึงเสียงนกไม่ใช่ไก่ ฉากถัดไปพวกเขาไปเดินตลาด พบเห็นไก่และนกเต็มเล้า
– พี่สาวกำลังเต้นลีลาศอยู่คนเดียว จินตนาการเห็นเธอกำลังเต้นกับชายใส่สูท ลายล้อมด้วยผู้คนมากมาย
– ยืนรอคิวสัมภาษณ์จนเมื่อ จินตนาการเห็นทุกคนกลางเป็นโครงกระดูก

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, มักดังขึ้นช่วงขณะตัวละครกำลังเพ้อใฝ่ฝันจินตนาการ ย้อนอดีต หรือบางสิ่งอย่างกลับตารปัตรกับโลกความจริง ซึ่งมักสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึก มีทั้งไพเราะงดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ และอมทุกข์เศร้าโศก เจ็บปวดรวดร้าวใจ


“the most provocative film I have made yet. I could feel the impact on the audience. All of which surprises and pleases me a great deal, because the film is deadly serious, and much of the style is elliptical and modern. People either loved the film or hated it”.

– Satyajit Ray

ผู้กำกับ Ray สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อตั้งคำถาม ‘อัตลักษณ์’ ของสังคมอินเดีย นี่มันเกิดบ้าบอคอแตกอะไรขึ้น ทำไมผู้คนถึงเต็มไปด้วยอคติ ความขัดแย้ง เพิ่งได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรไม่กี่ทศวรรษก่อนแท้ๆ วันนี้กลับแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้งกันเองภายใน เลวร้าวยิ่งกว่าตอนเป็นอาณานิคมชาติตะวันตกเสียอีกหรือ?

สำหรับประเทศอินเดีย ผมว่าการเอาแต่โทษจักรวรรดิอังกฤษเพียงอย่างเดียวคงไม่ถูกสักเท่าไหร่ เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปตามกลไก วิวัฒนาการแห่งชีวิต เมื่อมนุษย์พบเห็นอะไรล่อตาล่อใจ ความสะดวกสบาย ท้องอิ่มหนำ สนองตัณหา กามารมณ์ มีหรือจะไม่ขวนขวายไขว่คว้า คอรัปชั่นเล็กๆน้อยๆ แล้วกอบโกยผลประโยชน์มาใส่ตน

สิ่งเกิดขึ้นกับ Siddhartha สะท้อนถึงมุมมองทัศนคติของผู้กำกับ Ray พยายามวางตัวเป็นกลางในทุกสถานการณ์การเมือง แต่กลับถูกสังคมบีบบังคับให้ต้องเลือกข้าง ฝั่งฝ่ายใดหนึ่ง ถ้ามิใช่พรรคพวกตนย่อมต้องตรงกันข้ามศัตรู นั่นสร้างความคับข้อง ขุ่นเคือง สะสมอัดแน่นไว้ภายใน นานวันเข้าเริ่มแปรสภาพเป็นความเกรี้ยวกราด รอคอยวันปะทุระเบิดอาการคลุ้มคลั่งเสียสติแตกออกมา

ผู้กำกับ Ray เคยครุ่นคิดเหมือนกันว่าจะอพยพย้ายหนีจาก Calcutta แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขามิอาจกระทำได้

“For me Calcutta is the place to work, the place to live, so you take what comes – you accept the fact of change”.

– Satyajit Ray

ถึงอย่างนั้นเขาเลือกที่จะมอบอิสรภาพให้กับตัวละคร Siddhartha สามารถหลบหนี ทอดทิ้งปัญหา แล้วเริ่มต้นก้าวย่างนับหนึ่งใหม่ แม้ยังดินแดนทุรกันดารห่างไกล แต่จิตใจจักพบพานความสงบสันติสุข


เมื่อตอนหนังเข้าฉายในอินเดีย เสียงวิจารณ์แตกแยกออกเป็นสองฝั่งฝ่ายชัดเจน ถ้าไม่ชอบมากๆก็เกลียดโคตรๆ ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นอยู่ฝั่งฝ่ายไหนในความปัญหาความขัดแย้งที่บังเกิดขึ้นขณะนั้น, ส่วนนักวิจารณ์ต่างประเทศต่างยกย่องสรรเสริญกันถ้วนหน้า ชื่นชมการนำเสนอปัญหาสังคม ถ่ายทอดบรรยากาศยุคสมัยที่จับต้องได้ (แม้ไม่เคยอาศัยอยู่อินเดียก็ตามที) และเทคนิคร่วมสมัยตื่นตระการตา

ผู้กำกับ Ray ไม่ได้ครุ่นคิดต้องการสร้างเป็นไตรภาคตั้งแต่แรก แต่หลังจากเรื่องสอง-สาม พบเห็นความคล้ายคลึงเลยรวมเรียก Calcutta trilogy
– Pratidwandi (The Adversary) (1970)
– Seemabaddha (Company Limited) (1971)
– Jana Aranya (The Middleman) (1976)

แต่ก็ไม่ใช่แค่ผู้กำกับ Ray ที่ตั้งชื่อ Calcutta trilogy ยังมีอีกสามผลงานของ Mrinal Sen ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย
– Interview (1971)
– Calcutta 71 (1972)
– Padatik (The Guerilla Fighter) (1973)

ส่วนตัวชื่นชอบหนังพอสมควร ทำให้ผมเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายอย่าง เกี่ยวกับอินเดียยุคสมัยนั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนประทับใจสุดคือการมาถึงของหญิงสาว ผู้สร้างโอกาสและความหวังเล็กๆ แม้สุดท้ายทุกสิ่งอย่างจะไม่สำเร็จสมหวังดั่งใจ แต่การเริ่มต้นก้าวออกมาจากความขัดแย้ง นั่นคือการนับหนึ่งที่จับต้องได้เสียที

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด ชีวิตสะสมความเกรี้ยวกราดรุนแรง

คำโปรย | Pratidwandi คือทัศนคติต่อยุคสมัยของผู้กำกับ Satyajit Ray ถ่ายทอดผ่านความเกรี้ยวกราดของ Dhritiman Chatterjee
คุณภาพ | รี้
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Aranyer Din Ratri (1970)


Aranyer Din Ratri

Aranyer Din Ratri (1970) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

Days and Nights in the Forest เรื่องราวของสี่หนุ่มเดินทางไปพักผ่อนวันหยุดริมชายป่า ปลดปล่อยชีวิตให้ได้รับอิสรภาพเสรี พยายามอย่างยิ่งจะแหกแหวกกฎ ประเพณี ทุกสิ่งอย่าง กระทั่งพานพบเจอหญิงสาวสวยสองคนอาศัยอยู่บ้านข้างๆ ความมีอารยะถึงค่อยๆหวนคืนสติกลับมาทีละนิด

ปกติแล้วผลงานภาพยนตร์ของ Satyajit Ray จะไม่อึมครึม มืดหมอง หม่นขนาดนี้ (แต่ผมยังรับชมไม่ครบทั้งหมดนะครับ เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องนี้ดาร์กสุดๆแล้วหรือยัง) ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อค้นพบ เผชิญหน้า สิ่งชั่วร้ายที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ ปลดปล่อยสันชาติญาณสัตว์ออกสู่ธรรมชาติป่าดงพงไพร

สี่หนุ่มมีความแตกต่างคนละมุม ดูยังไงก็ไม่น่าสมัครคบหาเป็นเพื่อนพึงพาอาศัยกันได้ แต่นั่นน่าจะคือการเปรียบเทียบถึงชนชั้น วรรณะทางสังคมอินเดีย เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละคนจะมีวิธีแก้ปัญหา จัดการ ปฏิกิริยาโต้ตอบสนอง(ด้วยสันชาติญาณ)เช่นไร

นั่นคือความลุ่มลึกล้ำในระดับปราชญ์ รับชม Days and Nights in the Forest เพียงผ่านๆย่อมไม่สามารถพบเห็นความงดงามที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Ray ต้องการสะท้อนเสียดสีสภาพสังคมอินเดียยุคสมัยนั้น (ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก คอรัปชั่น และกำลังห้ำหั่นแบ่งแยกประเทศเพราะความแตกต่างทางศาสนา) ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ โหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการถูกจำกัดอยู่ในกฎกรอบ ขณะเดียวกันถือได้ว่าเป็นการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนเอง (ของผู้กำกับ และความเป็นอินเดีย) เผชิญหน้าด้านมืด โอบรับสิ่งชั่วร้ายภายใน เมื่อสามารถเรียนรู้เข้าใจ ก็จักทำให้ชีวิตสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ผลงานในยุคที่สามของผู้กำกับ Ray มักเป็นการสำรวจตัวตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ เผชิญหน้าด้านมืดที่อยู่ภายในจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เขามองหาสำหรับ Aranyer Din Ratri เริ่มต้นครุ่นคิดถึง 4 ตัวละคร
– Asim (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) ร่ำรวยสุดในกลุ่ม อาชีพการงานมั่นคง เอ่อล้นด้วยความมั่นใจ(ในตนเอง) ลุ่มหลงใหลในบทกวี สวมใส่เสื้อผ้าดูหรูหรา สูบบุหรี่ราคาแพง เหตุผลการเดินทางครั้งนี้เพื่อทดลองรถใหม่ และพยายามทำตัวนอกคอกนอกรอย ไม่ต้องการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ใดๆ
– Sanjoy (รับบทโดย Subhendu Chatterjee) เป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ เหนียงอาย จีบสาวไม่ค่อยเก่ง ยึดถือมั่นในศีลธรรมมโนธรรม มีสติสามารถหยุดยับยั้งชั่วใจอะไรๆ เหตุผลของการเดินทางครั้งนี้ เพราะชื่นชอบสถานที่ (เหมือนจะเคยมาท่องเที่ยวก่อนหน้า) และต้องการพักผ่อนคลายจากหน้าที่การงาน
– Hari (รับบทโดย Samit Bhanja) ร่างกายบึกบึนกำยำ ‘Sportman’ เป็นคนง่ายๆ ทึ่มๆ ซื่อตรง อยากได้อะไรก็พูดบอกออกมา ถ้าไม่ได้ด้วยเงินก็คิดแต่จะใช้กำลังควบคุมครอบงำ เหตุผลการเดินทางครั้งนี้ เพื่อหลงลืมสาวที่ตนเพิ่งเลิกรา
– Sekhar (รับบทโดย Rabi Ghosh) เป็นคนเฮฮาปาร์ตี้ ‘Happy-go-Lucky’ ขี้หลีแต่ไร้เสน่ห์ ชอบพูดจาโผงผาง สามารถตีสนิทเข้าหาคนอื่นได้ง่าย มีความต้องการตรงไปตรงมา หลงใหลการเล่นพนัน เหตุผลการเดินทางครั้งนี้ เพราะเพื่อนๆเรียกร้องมาเลยไม่คิดปฏิเสธแต่อย่างใด

จากนั้นมองหาสถานที่สำหรับการผจญภัย ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Palamau (1880) แต่งโดย Sanjib Chandra Chattopadhyay (1834 – 1889) ซึ่งชาวเบงกาลีเป็นที่รู้จักมักคุ้นอย่างดี สมัยนั้นยังคงเป็นดินแดนรกร้าง ป่าดงพงไพร อยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตก สามารถพานพบเจอชนเผ่าพื้นเมือง Santhal สาวๆที่นั้นผิวดำ แต่งตัวโป๊เปลือย ดื่มเหล้าเมามายไม่ต่างจากบุรุษ ซึ่งราวกับสรวงสวรรค์ของชาวเมืองเลยก็ว่าได้

“Bengalis are so accustomed to the plains that even a mere hillock delights them. Men and women drink together in Palamau, but I’ve never seen a local woman drunk, although the men are often completely intoxicated. The woman are dark-skinned, and all young. They are scantily dressed and naked from the waist up”.

– Sanjoy อ่านจากหนังสือ Palamau เมื่อตอนเริ่มต้นออกเดินทาง

เมื่อเริ่มพัฒนาบทไปได้สักพักยังไม่มีชื่อหนัง หวนระลึกนึกถึงนวนิยาย Aranyer Din Ratri (1968) แต่งโดย Sunil Gangopadhyay (1934 – 2012) นักเขียน/นักกวีชื่อดังสัญชาติ Bengali เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และนำเพียงโครงสร้าง แนวคิด ไม่ใช่เนื้อเรื่องราวทั้งหมดมาปรับใช้ในภาพยนตร์

เกร็ด: ปีเดียวกันนี้ผู้กำกับ Ray ยังได้ดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ Sunil Gangopadhyay กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Pratidwandi (1970) ซึ่งมีเนื้อหาตรงต่อ/เคารพต้นฉบับมากกว่า


Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935) นักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Apur Sansar (1959) ปกติแล้วมักรับบทตัวละครที่มีความใสซื่อ ไร้เดียงสา มาครานี้พลิกบทบาทกลายเป็นชายหนุ่มผู้มีความเย่อหยิ่งทะนง แต่งองค์หรูหรา มารยาเป็นเลิศ เชื่อมั่นในความคอรัปชั่นของมนุษย์ แต่ก็พ่ายรักให้กับ Aparna (รับบทโดย Sharmila Tagore) คู่ขวัญเจอะเจอกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ยินยอมใจอ่อนศิโรราบ หมดสิ้นความอหังการกลายเป็นลูกแมวน้อยโดยทันที

Subhendu Chatterjee (1936-2007) ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรกับ Soumitra นะครับ เพิ่งเริ่มเข้าวงการจากผลงานแจ้งเกิด Akash Kusum (1965) และโด่งดังระดับนานาชาติกับ Aranyer Din Ratri (1969), รับบท Sanjoy มักประกบคู่หู Ashim แต่งตัวดูดี มีความเฉลียวฉลาด รสนิยมคล้ายๆกัน เพิ่มเติมคือจิตสำนึกมโนธรรม มักหาเรื่องรั้งรีรอ สติปัญญายับยั้งสันชาตญาณตนเอง ไม่ให้ครุ่นคิดกล้าตัดสินใจกระทำอะไร จะเรียกว่าไก่อ่อนคงไม่ผิดเท่าไหร่ แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นคงตอบยากว่าควรทำเช่นไร

Samit Bhanja (1944 – 2003) นักแสดงหนุ่มร่างบึกบึน ผลงานเด่นๆอย่าง Surer Agun (1965), Hatey Bazarey (1967), Guddi (1971), รับบท Hari เป็นคนขี้เหนียงอาย ทึ่มทื่อ ตรงไปตรงมา ชอบใช้กำลัง/สันชาติญาณมากกว่าสติปัญญาแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้พอกระเป๋าสตางค์หาย โทษทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่สอบถามไตร่ตรองให้รอบคอบดูเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ผลกรรมเลยตอบสนองย้อนแย้ง น่าจะได้รับบทเรียนแห่งความเจ็บปวดอย่างสาสม

Rabi Ghosh (1931 – 1997) หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Abhijan (1962), โด่งดังสุดก็ Goopy Gyne Bagha Byne (1968) และภาคต่อ Hirak Rajar Deshe (1980), รับบท Shekhar แม้เป็นคนสนุกสนานร่าเริง สร้างสีสันให้ทริปนี้ แต่ไร้รสนิยม ความครุ่นคิดอ่านของตนเอง เพื่อนชวนมาก็ไป ลุ่มหลงใหลในการพนันขันต่อชีวิต หมกมุ่นยึดติดจนหมดตัวไม่หลงเหลืออะไร

Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงหญิงขาประจำผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Apur Sansar (1959) ซึ่งเรื่องนั้นรับบท Aparna ภรรยาผู้โชคร้ายของ Apu นำแสดงโดย Soumitra Chatterjee, มาเรื่องนี้ตัวละครชื่อ Aparna อีกเช่นกัน ยังคงเต็มไปด้วยมารยาหญิง เล่นหูเล่นตายั่วหยอกเย้า เพิ่มเติมคือความเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง สามารถเข้าใจกลเกมของหนุ่มๆ จึงแสร้งทำเป็นยินยอมพ่ายแพ้ แล้วตลบแตลงย้อนกลับ ทำเอา Asim สูญเสียขายขี้หน้า ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง ส่วนเธอเพราะถือไพ่เหนือกว่า เลยทอดทิ้งความหวังเล็กๆให้เขา แต่อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นคงไม่มีใครคาดเดา

Kaberi Bose (1938 – 1977) นักแสดงหญิงชาวเบงกาลี ไม่ค่อยได้รับงานแสดงสักเท่าไหร่, รับบทแม่หม้ายลูกติด Jaya สูญเสียสามีจากการฆ่าตัวตาย (สามีจริงๆของ Bose ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไม่นานก่อนหน้า) สร้างความเปล่าเปลี่ยว ระทมทุกข์ ทีแรกเหมือนจะไม่ได้ใคร่สนใจหนุ่มๆ แต่ลึกๆกลับใคร่ครวญโหยหา เหตุที่เลือก Sanjoy เพราะคงพบเห็นความใกล้เคียงกับตนเอง แต่เขากลับมิอาจหาญกล้า กระทำสิ่งนอกเหนือสามัญสำนึกของตนเอง

Simi Garewal (เกิดปี 1947) นักแสดง, พิธีกร, Talk Show เกิดที่ Ludhiana, East Punjab แล้วไปเติบโตยังประเทศอังกฤษ หวนกลับมาอินเดียกลายเป็นนักแสดง Son of India (1962), Tarzan Goes to India (1962), ปกติแสดงหนัง Bollywood มักได้รับบทสมทบ อาทิ Mera Naam Joker (1970), Andaz (1971), Kabhi Kabhie (1976), สำหรับ Aranyer Din Ratri (1970) รับบท Duli หญิงสาวชนเผ่า Santhal ผิวสีเข้ม ผู้มีความขี้เล่น ซุกซน มักมาก ร่านสวาท เห็นเงินคือพระเจ้า พร้อมยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มา นำไปใช้ดื่มด่ำแต่ไม่เห็นเมามาย ถือว่าเข้าขากับ Hari ใช้เงินเพื่อสนองตัณหา อย่างอื่นนอกเหนือสันชาตญาณไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ


ปกติแล้วตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Ray จะคือ Subrata Mitra แต่หลังจาก Teen Kanya (1961) เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา บางทีก็ติดโปรเจคอื่นไม่ว่างมาช่วยงาน เลยผลักดัน Soumendu Roy (เกิดปี 1933) จากเคยเป็นผู้ช่วย จัดแสง ตั้งแต่ Pather Panchali (1955) ขึ้นมารับเครดิตถ่ายภาพ

ความโดดเด่นของหนัง คือการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม แสง-ความมืดจากธรรมชาติ สามารถสะท้อนถึงสภาพจิตวิทยาของตัวละครออกมา (ก่อนหน้านี้ Ray เคยทดลองแนวคิดดังกล่าวกับ Kanchenjungha ใช้เมฆ หมอก แสงอาทิตย์ แทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร)

หนังไม่ได้เริ่มต้นที่ผองเพื่อนทั้งสี่อยู่ร่วมช็อตเดียวกัน แต่คือตัวใครตัวมัน ตัดสลับไปมาตามตำแหน่งที่นั่งบนรถเก๋ง
– คนขับ Ashim เป็นหัวหน้ากลุ่ม นำพาเพื่อนๆออกเดินทาง ทดลองรถใหม่
– Sanjoy นั่งด้านหลัง น่าจะคือคนเลือกสถานที่ กำลังอ่านเกร็ดที่น่าสนใจให้รับฟัง
– Hari อยู่เบาะหน้า เพราะครุ่นคิดว่าตนเองจะสามารถบงการโน่นนี่นั่น แต่ก็เป็นได้แค่ตัวตลกขบขัน
– Shekhar นอนหลับอยู่ด้านหลัง ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรสักเท่าไหร่

ที่ต้องแวะปั๊มน้ำมัน สงสัยจะเพราะภาพสวยๆช็อตนี้ สะท้อนถึงการเดินทางของสี่หนุ่ม เพื่อเติมเต็มพลังให้ชีวิต หวนกลับมามีเรี่ยวแรง กระชุ่มกระชวย เกิดกำลังใจในการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยยากลำบาก

Opening Credit ทีแรกจะเป็นตัวอักษรสีดำ ปรากฎท่ามกลางทิวทัศน์สองข้างทางเคลื่อนผ่านไป แต่นับตั้งแต่ชื่อหนังช็อตนี้ปรากฎขึ้น กลับมีลักษณะตารปัตรตรงกันข้าม พื้นหลังกลับกลายเป็นสีดำ เฉพาะส่วนของตัวอักษรถึงพบเห็นภาพข้างทางเคลื่อนผ่านไป, นัยยะคงสื่อถึงกลางวัน-กลางคืน (ตามชื่อหนัง Days and Nights in the Forest ) ซึ่งทุกสิ่งอย่างจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามระหว่างเริ่มต้น-สิ้นสุด ด้วยเช่นกัน

ฉากย้อนอดีต (Flashback) ครั้งเดียวของหนัง Hari ครุ่นนึกถึงแฟนสาวที่เพิ่งเลิกรา เอาจริงๆผมว่าไม่จำเป็นต้องใส่มาเลยนะ เพราะผู้ชมสามารถคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา และพอไม่มีตัวละครอื่นที่มีฉากย้อนอดีต นั่นทำให้หนังขาดความสมดุลแบบแปลกๆ

ซึ่งเหตุผลที่ผมครุ่นคิดว่า ผู้กำกับ Ray ใส่ฉากย้อนอดีตนี้เข้ามา ก็เพื่อแนะนำตัวละครที่มัวแต่นอนหลับฝัน ให้ผู้ชมได้เกิดความเข้าใจโดยทันทีว่าเป็นบุคคลเช่นไร (ตัวละครอื่นไม่ได้นอนหลับระหว่างเดินทาง เลยไม่จำเป็นต้องฉากย้อนอดีตหวนระลึกความทรงจำ)

มันอาจเป็นช็อตมองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่สังเกตว่าเงาของ Hari ปกคลุมใบหน้าหญิงสาว นั่นสะท้อนถึงความต้องการควบคุม ครอบงำ เป็นเจ้าของในตัวเธอ … แต่หญิงสาวส่วนใหญ่(สมัยนี้) ไม่มีใครชื่นชอบผู้ชายบ้าพลัง วางอำนาจ ปากดีแบบนี้แน่

สภาพถนนหนทางมุ่งสู่ Palamau สังเกตว่าสองฟากฝั่งรายล้อมด้วยต้นไม้ที่แลดูแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ซึ่งสะท้อนสภาพจิตใจของหนุ่มๆ ขาดความสดชื่น กระชุ่มกระชวย หมดสิ้นเรี่ยวแรงจากการทำงาน (กำลังออกเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อเติมเต็มพลังงาน)

“Thank God for corruption”.

– Ashim

เป็นเสียงล่องลอยที่สะท้อนค่านิยมยุคสมัยนั้น คนส่วนใหญ่เลิกที่จะยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี อุดมการณ์ ความถูกต้องเหมาะสม … แต่มองอีกมุมหนึ่ง เหตุผลที่คนเฝ้าประตูยินยอมรับเงินก้อนนี้ เพราะภรรยากำลังป่วยหนัก ไม่มีค่ารักษาพยาบาล นี่อาจจะช่วยแบ่งเบาอะไรๆให้เขาได้มากทีเดียว

แม้สี่หนุ่มจะเดินทางมาปลดปล่อยอิสรภาพให้กับตนเอง แต่พวกเขาก็ราวกับถูกคุมขังอยู่ด้านหลังเหล็กดัด ซึ่งสามารถเรียกได้ว่า ‘คุกแห่งอิสรภาพ’

เป็นนวัตกรรมการตักน้ำจากบ่อที่ช่างคิดจริงๆ ไม่รู้เป็นความบังเอิญของสถานที่ หรือก่อสร้างขึ้นเพื่อแฝงนัยยะถึง ไม่ว่ามนุษย์จะทำตัวหัวสูงขนาดไหน ถ้าต้องการตักน้ำ/ดำรงชีวิต ก็ต้องถูกชักดึงลงมาติดพื้นดิน ไม่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

ครั้งแรกจะมีเพียง Shekhar มาถึงแล้วอาบน้ำอาบท่า โกนหนวดเครา แต่งตัวหล่อเหลา ทั้งๆไม่รู้จะไปอวดอะไรใคร ส่วนคนอื่นเพราะมาปลดปล่อย อิสรภาพ เลยไม่ครุ่นคิดที่จะเสียเวลามาทำอะไรแบบนี้

เผาหนังสือพิมพ์ เป็นสัญลักษณ์ ตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่ต้องการรับล่วงรู้ข่าวสาร ความวุ่นวายอะไรทั้งนั้น ช่วงเวลานี้ขอแค่เพียงสนุกสนาน หรรษาไปกับวันหยุดพักผ่อนก็เพียงพอแล้ว

น่าเสียดายที่ผมหารับชมฉบับบูรณะไม่ได้ ฉากถ่ายทำขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน เลยพบเห็นเป็นความมืดมิดเสียส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนถึงสภาพจิตใจตัวละครทั้งสี่ ขณะนี้ต้องการการพักผ่อนคลาย กำลังออกเดินทางไปดื่มเหล้า เฉลิมฉลอง เมามาย

วันที่สองหลังกลับจากตลาด สี่หนุ่มยืนจับจ้องเห็นสองสาวกำลังเล่นแบดมินตัน สังเกตว่า
– Shekhar ยืนเสนอหน้าใกล้รั้วที่สุด เขาจะคือบุคคลทำให้เพื่อนๆได้เข้าไปร่วมวงใน
– Ashim กับ Sanjoy ยืนอยู่ระหว่างกลาง สวมแว่นดำ เว้นว่างระยะห่าง
– Hari อยู่ไกลสุด หลังเสา ซึ่งเขาจะขอปลีกตัวไปก่อน ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรพวกนี้สักเท่าไหร่ (ยกเว้นตอนเล่นแบดมินตัน)

แบดมินตัน เป็นกีฬาใช้การตีโต้ระหว่างสองฝั่ง ซึ่งก็คือชาย-หญิง หนุ่ม-สาว สะท้อนการจับคู่ตัวละคร
– Ashim มักไปไหนมาไหนกับ Sanjoy
– Shekhar คือคู่แว้งกัด Hari
– Aparna เป็นญาติกับ Jaya
– Ashim จีบ Aparna
– Sanjoy เกี้ยวพา Jaya
– Hari ร่วมรัก Duli
– หลงเหลือทอดทิ้ง Shekhar ช่วยตัวเองไปกับการเล่นพนัน

ฉากที่บ้านของ Aparna เหมือนว่าผู้กำกับ Ray จะรับอิทธิพลเต็มๆจาก Jean-Luc Godard ทิ้งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ชื่อหนังสือ ปกแผ่นเสียง เพื่อเป็นการอ้างอิงความสนใจของตัวละคร (สะท้อนรสนิยมความชื่นชอบของผู้กำกับเองด้วย)

ระหว่างการสนทนาบนระเบียง มีการกล่าวถึง Romeo and Juliet น่าจะฉบับปี 1968 ของผู้กำกับ Franco Zeffirelli ซึ่งมีฉากเกี้ยวพาระหว่าง Romeo & Juliet คลาสสิกมากๆตรงระเบียง

“…this is the east and Juliet is my sun”.

ขณะนั้น Aparna ยืนฝั่งซ้ายมือ(ตะวันตก)ของ Ashim เป็นคารมจีบสาวที่คมคายไม่เบา

การมาถึงของสาวๆระหว่างสามหนุ่มกำลังอาบน้ำ มีเพียง Ashim และ Hari ไม่มีอะไรต้องอับอาย แต่สำหรับ Sanjoy ผู้มีความเหนียงอาย เร่งรีบทิ้งตัวลงนอนราบ ไม่ต้องการเปิดเผยเรือนร่างให้พวกเธอพบเห็น

แซว: Hari เป็นคนที่เล่นแบดมินตันสุดตัวจนกระเป๋าสตางค์หล่น แต่กลับไม่พบเห็นอาบน้ำชะล้างร่างกาย

สองสาวเมื่อพบเห็นสภาพขี้เมาสุดกู่ของหนุ่มๆ
– Aparna หัวเราะยิ้มร่า เบิกตายิ้ม จดจำทุกสิ่งอย่าง
– Jaya เกิดความเหนียงอาย ยกมือขึ้นปิดตา ไม่อยากจดจำภาพอุจาดฝังใจ

มาดของหัวหน้ารีสอร์ทคนนี้ เคร่งขรึม หวีผมเนี๊ยบ สวมแว่นปกปิดบังตนเอง มุมกล้องเงยขึ้นท้องฟ้า พวกเอ็งหาข้ออ้างอะไรมาข้าไม่ฟังทั้งนั้น … จนกระทั่งสองสาวเข้ามาช่วยเหลือไว้ บอกว่าเป็นเพื่อนรู้จัก พี่แกเลยถอดแว่น ทำท่านอบน้อม ประณีประณอม ยินยอมอนุญาตให้อยู่ต่อเฉยเลย

ความคอรัปชั่น บางครั้งไม่ได้ซื้อกันด้วยเงิน แต่อำนาจ ยศฐา อิทธิพล ความเกรงอกเกรงใจผู้มีพระคุณ


ผู้กำกับ Ray ถือว่าฉากเล่นเกมความทรงจำนี้ คือ Sequence ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตตนเอง ซึ่งชื่อบุคคลตัวละครเอ่ยมา ล้วนสะท้อนถึงรสนิยม ความชื่นชอบ สนใจของพวกเขาทั้งหมด
– Jaya เอ่ยถึง Rabindranath Tagore (1861 – 1941) นักปราชญ์ นักเขียน นักกวี สัญชาติเบงกาลี ยังเป็นปู่ของ Sharmila Tagore (และไอดอลผู้กำกับ Ray)
– Sanjoy เอ่ยถึง Karl Marx และเหมาเจ๋อตุง ต่างเป็นผู้นำระบอบสังคมนิยม เน้นความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น
– Aparna เอ่ยถึง Cleopatra (คงจะเปรียบเทียบความงาม และเล่ห์เหลี่ยมเข้ากับตนเอง), Don Brandman (นักกีฬาคริกเก็ตชาวออสเตรเลีย ได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่ตลอดกาล), Robert F. Kennedy น้องชายของปธน. John F. Kennedy ถูกลอบสังหารเหมือนพี่ 5 ปีถัดมา, และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส
– Shekhar เอ่ยถึง Atulya Ghosh (1904 – 1968) นักการเมืองชาวเบงกาลี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด ซื่อสัตย์ ผู้จัดงานทางการเมืองยอดเยี่ยมที่สุด
– Hari เอ่ยถึง Helen of Troy เลื่องลือชาเรื่องงาม หญิงสาวผู้เป็นชนวนศึกในสงครามเมืองทรอย
– Ashim เอ่ยถึง Shakespere (วินาทีนั้นทำให้ Aparna เงยหน้าขึ้นมอง เพราะเขาเคยเอ่ยถึง Rome & Juliet), Rani Rashmoni (1793 – 1861) ผู้ก่อตั้งวิหาร Dakshineswar Kali Temple, Teckchand Thakur (1818 – 1883) นักเขียนสัญชาติชาวเบงกาลี, Mumtaz Mahal จักรพรรดินีแห่งอินเดีย ราชวงศ์โมกุล หลังจากสวรรคต พระสวามี Shah Jahan สร้าง Taj Maha ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งรัก

พูดถึงฉากปิคนิค มักทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Partie de campagne (1936) ของผู้กำกับ Jean Renoir ที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้ รวมไปถึง Kapurush (1965) ด้วยนะ

หลังเกมจบ ทั้งหกก็ได้ผลัดกันเล่นชิงช้าสวรรค์ หมุนเวียนวนไปดั่งวัฏจักรชีวิต
– Ashim คู่กับ Aparna
– Sanjoy คู่กับ Jaya
– และ Hari คู่กับ Shekhar

กำไลข้อมือ มักเป็นสัญลักษณ์ที่ชายหนุ่มใช้คล้องใจหญิงสาว (หนึ่งในของหมั้นแต่งงาน) ซึ่งแน่นอนว่าฉากนี้ Ashim ต้องการจ่ายให้ Aparna แต่สุดท้ายกลับถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด Shekhar ยืมเงินไปเล่นพนันหมดตัวซะงั้น!

ความชื่นชอบพนันขันต่อของ Shekhar แฝงนัยยะของการปล่อยปละให้ชีวิตล่องลอย ดำเนินไปกับโชคชะตา ไม่ครุ่นคิดหาความมั่นคง หรือตัดสินใจทำอะไรด้วยเงื้อมมือตัวตนเอง

ผิดกับ Aparna เธอลงพนันแค่เกมสองเกม ได้กำไรแล้วหยุดเลิกเล่น กล่าวคือแรกเริ่มต้นปล่อยให้โชคชะตานำพา จากนั้นตัดสินใจเลือกหนทางเดินชีวิตด้วยตัวตนเอง

สำหรับ Hari เลือกใช้ชีวิตดำเนินไปด้วยสันชาตญาณสัตว์ ชักลากพา Duli เข้ามากลางป่า เอาเงินมาหลอกล่อ แล้วเสพสุขสมหวัง ได้รับความอิ่มหนำแล้วจากไป แลกมาด้วยการถูกดักตีหัว เลือดอาบไหล เงินทองถูกขโมยหมดกระเป๋า (ได้เงินหายสมใจอยาก)

เรื่องราวทางฝั่ง Ashim กับ Aparna แรกเริ่มเดินสวนทางกับใครอื่น สะดีดสะดิ้งด้วยเล่ห์มารยา ค่อยๆพูดบอกเปิดเผยความจริงหลายๆอย่างเกี่ยวกันตนเอง ให้เขารู้สึกอับอายสูญเสียหน้า แต่ขณะเดียวกันแปรสภาพเป็นตกหลุมรัก ต้องการศิโรราบทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เธอมาครอบครอง

สำหรับ Sanjoy ถูก Jaya ลากพาตัวกลับมาบ้าน ท่ามกลางความมืดมิดที่ค่อยๆคืบคลานยามเย็น มองอะไรแทบไม่เห็น แต่เด่นชัดเจนในความยั่วหยอกเย้า เรียกร้องให้เขาตอบสนองตัณหาความต้องการ … แต่ชายหนุ่มกลับยื้อยักลังเล บางสิ่งอย่างค้ำคอไว้ ไม่สามารถตอบสนองเสียงเพรียกเรียกร้องของเธอได้

ช็อตนี้แอบล้อกับความฝันของ Hari ที่เงาปกคลุมใบหน้าของหญิงสาว, คราวนี้เงาของ Aparna ปกคลุมในหน้า Ashim ขณะจับจ้องมองดูกวางน้อยในป่าใหญ่วิ่งผ่านไป มันช่างเป็นน่ารัก ไร้เดียงสา คือธรรมชาติแห่งชีวิต ผู้หญิงสามารถเป็นช้างเท้าหน้า ก้าวเดินนำ ชักนำบุรุษให้ติดตามหลัง

เพราะไม่มีกระดาษเลยจดที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์? เขียนไว้บนธนบัตร … ผมมองนัยยะดังกล่าว ความรักคือการซื้อขายแลกเปลี่ยน เสมอภาคเท่าเทียม ถ้าอยากได้ฉันมาครอบครอง ก็จำต้องหายินยอมศิโรราบ ให้อิสรภาพตามที่ฉันร้องขอต้องการ

โชคชะตาของสี่หนุ่ม พวกเขาหวนกลับมาเป็นคู่ๆ
– Hari ในสภาพเลือดอาบ
– Shekhar เงินหมดตัว

ขณะที่ Ashim และ Sanjoy ต่างสูบบุหรี่ เสพความสุขอันเกิดจากความผิดหวังเล็กๆ
– Ashim ยังมีความหวัง เพราะได้ที่อยู่ของ Aparna
– Sanjoy ก็ไม่รู้เสียดาย หรือดีใจ ได้พลัดพรากจาก Jaya เสียที

มันเป็นความรู้สึกโดยส่วนตัวลึกๆ อยากให้ Ashim ได้เผลอมอบทิป คือธนบัตรใบที่ Aparna เขียนที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ให้ไป แต่ดูแล้วตัวละครคงไม่น่าเผลอเรอเช่นนั้นแน่ ถึงอย่างนั้นถ้าเป็นจริง มันคงสร้างความน่าอับอาย สูญเสียดายไม่เบา เมื่อตระหนักถึงผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตดังกล่าว

ไข่ เป็นการตบมุกช่วงท้าย คือสัญลักษณ์สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสี่หนุ่มกับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งราวกับทำให้พวกเขาเกิดใหม่ ฟักไข่ ออกมาเป็นตัวตน มีความเป็นคนเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าก่อน

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสี่หนุ่ม ออกเดินทางจาก Calcutta มุ่งสู่ Palamau โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 องก์
– การเดินทางมาถึง Palamau ทำความคุ้นเคยสถานที่ และจบคืนแรกด้วยสภาพเมามาย
– เช้าวันใหม่ พานพบเจอสาวๆ พบปะเริ่มต้นสานสร้างความสัมพันธ์
– บ่ายและค่ำคืนนั้น พานพบเจอเรื่องน่าอับอายขายหน้าสารพัด กำลังถูกไล่ที่, ขณะอาบน้ำสาวๆขับรถผ่านมาพอดี, ดึกดื่นเมามายหัวราน้ำ, ตื่นสายโด่งไม่ทันรับประทานอาหารเช้า ฯ
– สาย-บ่ายวันที่สาม การปิคนิคใต้ร่มไม้ เล่นเกมจำชื่อ
– ยามเย็นท่องเที่ยวงานเทศกาล ทั้งสี่จะแยกย้ายกันไปตามคู่ขา/ความสนใจ แล้วตัดสลับสับไปมา

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray เป็นส่วนเล็กๆที่คอยเติมเต็มสัมผัสทางจิตวิญญาณของตัวละคร ซึ่ง Opening Credit ทำการผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ากับดนตรีพื้นบ้านอินเดีย (และเสียงคอรัส) สะท้อนถึงการเดินทางของคนรุ่นใหม่ รับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในวิถีชีวิต ความครุ่นคิด และอะไรหลายๆอย่างมากมาย

ส่วนใหญ่ของบทเพลงคือ Diegetic Music ดังขึ้นขณะอยู่ในร้านเหล้า ตัวละครขับร้อง หรือเทศกาลช่วงท้าย ซึ่งเมื่อหนุ่มๆทั้งสี่แยกย้าย บทเพลงที่เติมเต็มความเพ้อฝัน/ต้องการของพวกเขาจะดังขึ้นคลอประกอบ
– Shekhar หลังจากเสพสมกับ Duli ท่วงทำนองดนตรีราวกับพวกเขาอยู่บนสรวงสวรรค์
– Aparna ขณะเล่าเบื้องหลังชีวิตให้ Ashim ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง แต่พอพบเห็นกวางน้อยเดินผ่าน แปรเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองแห่งความหวัง
– Sanjoy กับ Jaya ได้ยินบทเพลงที่มีความอ้อยอิ่ง ยั่วเย้ายวน สร้างความมึนตึง ฉันจะครุ่นคิดตัดสินใจเช่นไรดี เสียงนาฬิกาดังติกๆ นับถอยหลังจนกระทั่งเวลาแห่งความรักหมดสิ้น


แม้ว่าประเทศอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1947 แต่ก็ถูกวางกัปดัก ถ่วงความเจริญ เพราะดินแดนตอนเหนือทั้งฝั่งตะวันออก-ตก ไม่มีการขีดเส้นแบ่งแยกดินแดนผู้นับถือศาสนาฮินดู-อิสลาม ความขัดแย้งลุกลามบานปลายใหญ่จนเกิดเป็นสงครามขนาดย่อมๆ Kashmir War ก่อกำเนิดสองประเทศอินเดีย-ปากีสถาน แต่ความรุนแรงกลับไม่เคยสงบสิ้นสุดลงมาจนยุคสมัยปัจจุบัน

Days and Nights in the Forest นำเสนอเรื่องราวของสี่หนุ่มชาวเมือง เติบโตขึ้น/เริ่มต้นทำงานในช่วงเวลาคาบเกี่ยว ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ดินแดนถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งฝ่าย กิจการภายใน/รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน เมื่อประชาชนระดับรากหญ้าพานพบเห็นเช่นนั้น มีหรือจะไม่ซึมซับ รับทราบ และด้วยสภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่อันทุกข์ยากลำบาก ไร้เงินทอง ท้องอิ่ม รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้มิอยากกระทำความผิด/สูญเสียอุดมการณ์ แต่นั่นคือโอกาสที่เป็นประโยชน์สุขต่อตนเอง มีหรือจะไม่ไขว่คว้าไว้

กลางวัน-กลางคืน ไม่ใช่แค่ท้องฟ้าธรรมชาติสว่าง-มืด ยังสะท้อนได้กับจิตใจมนุษย์มีทั้งดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ หัวเราะ-ร้องไห้ ตกหลุมรัก-โกรธเกลียดชัง ฯลฯ ซึ่งทั้งสี่ตัวละครของหนัง สามารถสะท้อนความแตกต่างทางชนชั้น วรรณะ สังคมอินเดีย(ยุคสมัยนั้น)
– Ashim วรรณะกษัตริย์ ผู้นำกลุ่ม ร่ำรวยด้วยเงินทอง รสนิยม ความสนใจ เป็นคนเชื่อมั่นในตนเองสูง เย่อหยิ่งทะนอง และเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นกัดกร่อนกินอยู่ภายใน
– Sanjoy วรรณะพราหมณ์ ผู้มีจิตสำนึกอันดีของกลุ่ม ฐานะใช้ได้ มีการศึกษาสูง แลดูเฉลียวฉลาด แต่ขณะเดียวกันเพราะยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมากเกินไป จนมิอาจขยับเขยื้อนตัวไปไหน
– Shekhar ไวศยะ (แพศย์) ผู้มีฝีปากเป็นเลิศ เก่งการค้าขาย ชื่นชอบพนันขันต่อ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายกับชีวิต
– Hari ไพร่ ศูทร หรือชนชั้นกรรมแรงงาน เก่งในเรื่องใช้กำลังวังชา สนเพียงสิ่งสนองตัณหา กำลังกาย ไร้ซึ่งสติปัญญาครุ่นคิดไตร่ตรองใดๆ

ขณะที่สามสาว ถือเป็นตัวแทนระดับจิตสำนึกและสันชาตญาณมนุษย์
– Aparna ภาพลักษณ์สวยบริสุทธิ์ ทั้งยังสติปัญญาเฉลียวฉลาด มากด้วยจิตสำนึก คุณธรรม/ศีลธรรม ใช้สติควบคุมตนเอง โหยหาอิสรภาพเสมอภาคเท่าเทียม
– Jaya เปลือกนอกทำเป็นเสแสร้ง เล่นตัว สร้างภาพเป็นคนดี แต่ภายในเร่าร้อนรุนแรง มีความต้องการตอบสนองสันชาตญาณตนเอง
– Duli ทั้งภายนอกและภายใน ต่างแสดงออกด้วยสันชาตญาณ ความต้องการ พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น

นี่เองทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า
– Days and Nights ก็คือจิตใจมนุษย์ที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
– Forest ดินแดนเปรียบเสมือนจิตสำนึก สันชาติญาณ สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในทุกคน

Days and Nights in the Forest จึงคือเรื่องราวการผจญภัย เพื่อเผชิญหน้ากับด้านมืด-ด้านสว่าง จิตสำนึก-สันชาตญาณ ของตัวตนเอง เพื่อเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจ ถ้าค้นพบสิ่งผิดพลาด น่าอับอายขายขี้หน้า ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ตนเองสามารถแสดงออกในสิ่งถูกต้องเหมาะสมควร ในกาลต่อไปได้

สำหรับผู้กำกับ Ray ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนการ ‘ค้นหาอัตลักษณ์’ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวละคร ตัวเขาเอง ยังรวมไปถึงชนชาวอินเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นพานผ่านช่วงเวลาแห่งการแบ่งแยก ได้รับอิทธิพลมากมายจากชาติตะวันตก แล้วเราจะหลงเหลืออะไรธำรงไว้ซึ่งความเป็นภารตะ


เมื่อออกฉายในอินเดีย แน่นอนว่าหนังไม่ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ

“People in India kept saying: What is it about, where is the story, the theme?. . . . And the film is about so many things, that’s the trouble. People want just one theme, which they can hold in their hands”.

– Satyajit Ray

แต่พอส่งออกฉายต่างประเทศยังเทศกาลหนังเมือง Berlin แม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจนักวิจารณ์ ถึงขนาดติด Top 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma

สิ่งที่ผมชื่นชอบอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการครุ่นคิดค้นหาคำตอบ ทำไมชายหนุ่มทั้งสี่ถึงออกเดินทางมายังป่าดงพงไพร ดินแดนไกลปืนเที่ยงขนาดนี้ มันช่างลุ่มลึกลับ สลับซับซ้อน ซ่อนนัยยะความหมายไว้มากมาย และคำตอบสนองสันชาตญาณส่วนตัว เมื่อพวกเขาพบเจอสาวๆ Sharmila Tagore, Kaberi Bose และ Simi Garewal ไม่เพียงโดดเด่น สง่างามกว่า ยังมีความเป็น ‘มนุษย์’ มากกว่าบุรุษไหนๆ

สำหรับผู้ชมประเทศต่างประเทศอย่างเราๆ เบื้องต้นแนะนำให้มองสาสน์สาระหนังที่บทเรียนของแต่ละตัวละคร
– Ashim เริ่มต้นเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ค่อยๆถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นจาก Aparna ได้รับความอับอายขายขี้หน้า ท้ายสุดเริ่มสำนึกตัวได้ พอมีความหวังจะแก้ไขปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิตใหม่
– Sanjoy เป็นคนขาดความเชื่อมั่น กระตือรือร้น กล้าครุ่นคิดทำอะไร เมื่อเผชิญหน้ากับ Jaya พบเห็นการแสดงออกที่คาดไม่ถึง ซึ่งคงจะตราฝังลึกภายในจิตใจ ให้ค่อยๆเกิดความอาจหาญ ตัดสินใจอะไรขึ้นเองได้บ้าง
– Shekhar ติดเล่นการพนันจนหมดตัว ขากลับเลยไม่หลงเหลืออะไร แต่จะสำนึกตัวบ้างไหม … น่าจะเป็นไปได้ยาก!
– Hari เพราะชื่นชอบการใช้กำลังตัดสิน/แก้ไขปัญหา เลยโดนดีเข้ากันตนเองน่าจะรู้สำนึกตัวขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็เช่นเดียวกับ Shekhar น่าจะเป็นไปได้ยากยิ่ง!

จัดเรต 15+ ต่อการแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว คอรัปชั่น

คำโปรย | Aranyer Din Ratri คือการเดินทางเพื่อเผชิญหน้าด้านมืด-สว่าง ภายในจิตวิญญาณของผู้กำกับ Satyajit Ray
คุณภาพ | ลุ่ลึล้ำ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ