Borom Sarret (1963)


The Wagoner (1963) Senegalese : Ousmane Sembène ♥♥♥♥

ถือเป็นโปรดักชั่นภาพยนตร์(ขนาดสั้น)เรื่องแรกๆของชาวแอฟริกัน สร้างโดยชาวแอฟริกัน เพื่อชาวแอฟริกัน ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัยอาณานิคม (Post-Colonialism) พยายามสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดจากการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ คนรุ่นเก่า ขับเกวียนรับจ้าง จะสามารถปรับตัวอย่างไร?

เอาจริงๆคำกล่าวนี้ไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่ เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ Egypt และ Tunisia มีความเก่าแก่ยาวนาน ตั้งแต่การมาถึงของ Auguste and Louis Lumière ก่อนยุคหนังเงียบเสียอีก! แต่ส่วนใหญ่มักถูกมองข้าม ไม่ได้รับการเหมารวมร่วมกับวงการภาพยนตร์แอฟริกัน เพราะนักแสดง/ผู้กำกับล้วนเป็นคนขาวทั้งนั้น!

ก่อนหน้านี้ก็มีสารคดี/หนังสั้นที่สร้างโดยผู้กำกับสัญชาติแอฟริกันอย่าง Mouramani (1953) จากประเทศ Guinea, Song of Khartoum (1955) จากประเทศ Sudan ฯ แต่ยังถูกควบคุมครอบงำโดยพวกจักรวรรดินิยม, ผิดกับ Borom Sarret (1963) สร้างขึ้นภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ภายใต้ลัทธิอาณานิคมอีกต่อไป

ทีแรกผมไม่ได้ครุ่นคิดจะเขียนถึง Borom Sarret (1963) ตั้งใจจะเริ่มต้นที่ Black Girl (1966) ภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) เรื่องแรกที่สร้างโดยชาวแอฟริกัน แต่บังเอิญพบเจอเบื้องหลัง (Special Feature) ของ Criterion Collection มีหนังสั้นเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย เลยลองรับชมแล้วรู้สึกว่าสมควรต้องเขียนถึงสักหน่อย!


Ousmane Sembène (1923-2007) นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ziguinchor, Casamance ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครอง French West Africa (ปัจจุบันคือประเทศ Senegal) ในครอบครัวชาวประมง นับถือ Serer Religion, วัยเด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนฝรั่งเศส แต่ถูกครูใหญ่ไล่ออกเพราะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เคยติดตามบิดาออกทะเลกลับพบว่าเมาเรือ เลยเปลี่ยนมารับจ้างแรงงานทั่วไป, ช่วงสงครามโลกครั้งสองจับใบแดงเข้าร่วม Senegalese Tirailleurs (ส่วนหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส ขณะนั้นอยู่ภายใต้ Vichy France) พบเห็นฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพลเรือนเซเนกัล ทำให้เกิดความสับสนต่อวิถีเคยเชื่อมั่น หันมาสนใจประเด็นการเมือง เปลี่ยนมาเข้าร่วม French Liberation Army ปลดแอกฝรั่งเศสจาก Nazi Germany

เมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัดสินใจแอบขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส ทำงานโรงงานผลิตรถ Citroën ต่อด้วยคนงานท่าเรือ Marseille, ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่ม CGT (General Confederation of Labour) ของพรรคคอมมิวนิสต์ รับรู้จักนักเขียนอย่าง Claude McKay, Jacques Roumain เกิดแรงผลักดันให้มีผลงานนวนิยายเรื่องแรก Le Docker Noir (1956) แปลว่า The Black Docker นำจากประสบการณ์เมื่อครั้นทำงานท่าเรือ Marseille แรงงานผู้อพยพมักได้รับการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม นั่นคือสิ่งที่ Sembène ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

หลังเขียนนวนิยายได้สามสี่เรื่อง Sembène หันเหความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษายัง Gorky Film Studio ระหว่างปี ค.ศ. 1962-63 เป็นลูกศิษย์ของ Mark Donskoy จากนั้นเดินทางกลับเซเนกัล สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Barom Sarret (1963) แปลว่า The Wagoner

นำเสนอเรื่องราวในหนึ่งวันของ Borom Sarret คนขับเกวียนรับจ้าง อาศัยอยู่ย่านสลัม Dakar เมืองหลวงของ Senegal ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1960 แม้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว พบเห็นตึกระฟ้า สิ่งก่อสร้างสูงใหญ่ แต่กลับแบ่งแยกคนรวย-จน อาชญากรมากมายเต็มท้องถนน และเมื่อเกวียนเทียมถูกยึดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาจะหาเลี้ยงชีพ เอาตัวรอดเช่นไร?


ถ่ายภาพโดย Christian Lacoste,

งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Neorealist ถ่ายทำจากสถานที่จริง ด้วยนักแสดงสมัครเล่น และใช้เพียงแสงธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Bicycle Thieves (1948) เนื้อเรื่องราวก็ละม้ายคล้ายกัน เปลี่ยนจากจักรยานถูกลักขโมย มาเป็นเทียมเกวียนโดนตำรวจยึด สะท้อนปัญหาสังคม ความยากจน อาชญากรเต็มท้องถนน

ผมแอบรู้สึกว่าจุดประสงค์หลักๆของผกก. Sembène ในการสรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องนี้ เพราะต้องการเก็บภาพบรรยากาศเมือง Dakar, Senegal ในช่วงทศวรรษ 60s ฝังไว้ในไทม์แคปซูล! ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองคนขับเกวียนรับจ้าง เพราะสามารถเดินทางไปโดยรอบ บันทึกภาพสถานที่ต่างๆ พบเห็นทิวทัศน์สองข้างทาง ถนนลูกรังสู่ราดยาง (ยังใหม่เอี่ยมอยู่เลยนะ) และความแตกต่างระหว่างชุมชนแออัด (วิถีดั้งเดิม) vs. อพาร์ทเมนท์/บ้านจัดสรรหรูหรา (โลกยุคสมัยใหม่)

ภาพช็อตแรกของหนังคือสุเหร่า/มัสยิด ศาสนสถานของชาวมุสลิม รวมถึงภาพแรกตัวละครก็เพิ่งเสร็จจากพิธีละหมาด กล่าวขอบคุณพระอัลเลาะห์ ขอให้ปกป้องตนเองและครอบครัว … นี่แสดงถึงความใกล้ชิด ศรัทธา ยึดถือหลักคำสอนศาสนาอย่างเคร่งครัด (ชาว Senegalese มากกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลาม)

นั่นทำให้เมื่อคนขับเกวียนรับจ้างพบเจอโต๊ะอิหม่าม (หรือคอเต็บ หรือบิหลั่น) ผู้แสดงธรรมให้ชาวมุสลิม เขาจึงไม่สามารถควบคุมตนเอง ยินยอมบริจาคเงินหมดตัว! … ในมุมคนนอกย่อมคิดเห็นว่านี่คือการหลอกลวง แต่ชาวมุสลิมจะบอกว่าคือประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ซึ่งในประเด็นนี้สะท้อนถึงความเชื่อศาสนาที่กำลังค่อยๆเสื่อมศรัทธาในโลกยุคสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหากิน หลอกลวงผู้คน ไม่สนถูก-ผิด ชั่ว-ดี ขอเพียงให้อิ่มท้อง อยู่สบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอย

งานรับจ้างของคนขับเกวียน มีความหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง! นอกจากรับ-ส่งผู้โดยสาร (มีทั้งจ่ายเงิน-ไม่จ่ายเงิน) บางครั้งยังบรรทุกสิ่งข้าวของ หญิงตั้งครรภ์กำลังจะคลอด ทารกน้อยเพิ่งเสียชีวิต (เกิด-ตาย) ฯ เรียกว่าพยายามนำเสนอทุกความเป็นไปได้ที่สามารถประสบพบเจอ

แซว: เรื่องราวตอนที่บิดาไม่สามารถฝังศพทารกน้อย ถูกคนเฝ้าสุสานสั่งให้ไปขอใบอนุญาต หลักฐานอะไรสักอย่าง จะมีการนำไปสานต่อภาพยนตร์ Mandabi (1968) เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชน

นี่ถือเป็นช็อตทรงพลังที่สุดของหนัง ขณะคนขับเกวียนกำลังเอื้อมมือไปหยิบเหรียญเกียรติยศตกลงสู่พื้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการเหยียบย่ำยี แสดงถึงความไม่สนเกียรติ ศักดิ์ศรี ปากอ้างว่าทำหน้าที่ แต่แท้จริงแล้วคือการเลือกปฏิบัติ กดขี่ข่มเหงบุคคลผู้ต่ำต้อยด้อยกว่าตนเอง คนระดับล่างจึงทำได้เพียงกำมัด อดกลั้น ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน

ทั้งซีเควนซ์นี้สะท้อนถึงอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แม้มอบอิสรภาพให้กับประเทศอาณานิคม แต่สิ่งทอดทิ้งไว้คือการเป็นต้นแบบที่ไม่มีอะไรดีสักสิ่งอย่าง ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่เลยทำการลอกเลียนแบบ กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยกว่าตน

ภาพช่วงท้ายของภาพยนตร์ Bicycle Thieves (1948) บิดาและบุตรชายก้าวออกเดินในสภาพสิ้นหวังอาลัย ไม่แตกต่างจาก Borom Sarret (1963) บิดาโอบอุมทารกน้อย สีหน้านิ่วคิ้วขมวด เทียมเกวียนถูกยึด ไม่มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร แล้วต่อจากนี้จะทำอะไรยังไงต่อไปดี?

ตอนจบลักษณะนี้หลายคนอาจมองว่าเป็นปลายเปิด ให้ผู้ชมร่วมด้วยช่วยค้นหาหนทางแก้ปัญหา แต่ผมกลับรู้สึกว่าผกก. Sembène ต้องการให้ชาวแอฟริกันบังเกิดอารมณ์เกรี้ยวกราด รับไม่ได้กับสถานการณ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงสภาพสังคมเต็มไปด้วยความฉ้อฉล กลโกง รวย-จนไม่ละเว้น เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง … ถ้าใครเคยรับชมตอนจบของ Mandabi (1968) น่าจะรับรู้ความตั้งใจแท้จริงของผกก. Sembène

ตัดต่อโดย André Gaudier, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/เสียงบรรยายคนขับเกวียนรับจ้าง เริ่มต้นตื่นเช้าทำพิธีละหมาด จากนั้นขึ้นเกวียนออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รับ-ส่งลูกค้า พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ก่อนโชคชะตาจะทำให้สูญเสียเทียมเกวียน กลับบ้านด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป

  • Opening Credit
  • ตื่นเช้ามาทำพิธีละมาด ตระเตรียมตัวออกไปทำงาน
  • ขึ้นเกวียนออกเดินทาง รับ-ส่งลูกค้าขาประจำ (ที่ไม่เคยจ่ายค่าจ้าง)
  • ระหว่างพักผ่อนข้างทาง มีขอทานมาขอส่วนบุญ แต่เขาก็ไม่เงินสักแดง
  • รับจ้างขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง
  • เดินทางไปส่งหญิงตั้งครรภ์ยังโรงพยาบาล
  • รับฟังคำสอนของโต๊ะอิหม่าม (หรือคอเต็บ หรือบิหลั่น) บริจาคทานหมดตัว
  • เดินทางไปยังสุสาน ส่งทารกน้อยผู้เสียชีวิต
  • ได้รับการว่าจ้างให้ไปส่งยังบริเวณบ้านจัดสรร แอบอ้างว่ามีเส้นสาย แต่พอไปถึงกลับขึ้นรถเผ่นหนี เลยถูกตำรวจยึดเกวียนเทียม
  • เดินทางกลับบ้านกับเจ้าม้าอย่างเหงาหงอย เศร้าซึม
  • มาถึงบ้านด้วยความหมดสิ้นหวังอาลัย

ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีสมัยนั้น จึงทำการบันทึกเสียงภายหลังการถ่ายทำ (Post-Synchronization) กอปรด้วยคำบรรยายความครุ่นคิดของคนขับเกวียนรับจ้าง และได้ยินบทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง คาดว่าดังจากแผ่นเสียงบันทึกพร้อมๆกัน โดยช่วงที่อยู่ในสลัม ถิ่นฐานคนจน จะได้ยินเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน แต่เมื่อเดินทางมาถึงยังบ้านจัดสรร ชุมชนคนรวย ปรับเปลี่ยนมาใช้บทเพลงคลาสสิก ฟังดูหรูหรามีระดับ (ระหว่างทางกลับถึงละแวกบ้าน ก็จะได้ยินเพลงพื้นบ้านแอฟริกันอีกครั้ง)


แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลังกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล (Senegal) แต่เราสามารถเหมารวมถึงทวีปแอฟริกา ในยุคสมัยนั้นไม่ได้มีความผิดแผกแตกต่างมากนัก เพราะหลายๆประเทศเพิ่งได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ ไม่ตกอยู่ภายใต้พวกจักรวรรดินิยมอีกต่อไป

การจากไปของพวกจักรวรรดินิยม ทำให้แอฟริกาได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Post-Colonialism) เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ความเจริญค่อยๆแพร่กระจาย เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ คนร่ำรวยสามารถใช้ชีวิตสุขสบาย ตรงกันข้ามกับคนยากจน อดมื้อกินมื้อ กว่าจะหาเงินได้สักสลึงเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ มีชีวิตกินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนตน

ค่านิยมของชาวแอฟริกันในยุคนี้ แทบไม่ต่างจากพวกจักรวรรดินิยม แสดงถึงอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมที่ได้ถูกฝัง หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณ/ประวัติศาสตร์แอฟริกัน แม้พวกเขาเต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะนำมาเป็นบทเรียน กลับทำการลอกเลียนแบบอย่าง

ผกก. Sembène เล็งเห็นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จึงสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักให้กับชาวแอฟริกัน หรือกล่าวได้ว่าสำแดงคติต่อวิถีสมัยใหม่ หงุดหงิดรำคาญใจต่อเสียงล้อเอี๊ยดๆอ๊าดๆ ไม่อยากยินยอมรับ ไม่ต้องการปรับตัว (คนขับเกวียนรับจ้าง ก็มักแสดงความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยถ้อยคำตำหนิ ต่อว่า ด่าทอ ไม่พึงพอใจอะไรสักสิ่งอย่าง) แต่เพราะไม่รู้จะทำอะไรยังไง ไม่มีใครสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลก มิอาจอดรนทนต่อสังคมมีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเท่า เพียงเก็บกดอารมณ์เกรี้ยวกราดไว้ภายใน

หลายคนอาจมองว่ามุมมองของผกก. Sembène ค่อนข้างคับแคบ หัวโบราณ ไม่ยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ แต่ผมมองว่าหนังพยายามสะท้อนความเป็นจริงที่ไม่มีใครอยากยินยอมรับ เพราะวิถีชีวิตแบบเก่าได้สูญสิ้นไป รวมถึงความเสื่อมถอยของศรัทธาศาสนา เงินทองกลายเป็นปัจจัยห้า ผิดอะไรที่มนุษย์จะโหยหาความสุขสบาย กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ


Borom Sarret (1963) และ Black Girl (1966) ต่างได้รับการบูรณะพร้อมกันเมื่อปี ค.ศ. 2013 โดย The Film Foundation, Institut National de l’Audiovisuel (INA) และ Sembène Estate ด้วยงบประมาณจาก Doha Film Institute เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2013 เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classic สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray คุณภาพ 4K หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion CHannel

ส่วนตัวมีความชื่นชอบ Borom Sarret (1963) >> Black Girl (1966) เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้พบเห็นวิถีชีวิต สภาพสังคม ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับชาวแอฟริกันในช่วงหลังอาณานิคม (Post-Colonialism) ด้วยวิธีการอันเรียบง่าย แต่เคลือบแผงอารมณ์เกรี้ยวกราด เก็บบันทึกภาพประวัติศาสตร์ฝังไว้ในไทม์แคปซูล

เหตุผลที่ผมไม่ค่อยชอบ Black Girl (1966) เพราะนำเสนอมุมมองด้านเดียว ยัดเยียดอารมณ์เกี้ยวกราดของชาวแอฟริกันต่อฝรั่งเศส/ลัทธิอาณานิคม เรื่องราวก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล ว่ากันตามตรง Borom Sarret (1963) สมควรติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound มากกว่าเสียด้วยซ้ำ!

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Wagoner ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆของชาวแอฟริกัน สร้างโดยชาวแอฟริกัน เพื่อชาวแอฟริกัน ภายหลังสิ้นสุดยุคสมัยอาณานิคม
คุณภาพ | ม์ูล
ส่วนตัว | ชื่นชอบ