West Indies ou les Nègres marrons de la liberté (1979)


West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) , Mauritanian : Med Hondo ♥♥♥♥

West Indies ชื่อเรียกหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean ดินแดนที่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา ต่อมากลายเป็นอาณานิคมยุโรป นำเข้าทาสผิวสีแอฟริกัน มาใช้แรงงานปลูกอ้อย แปรรูปน้ำตาล ทำออกมาในสไตล์หนังเพลง (Musical) ผสมผสานการละคอน+ภาพยนตร์ คลุกเคล้าอดีต+ปัจจุบัน เล่าประวัติศาสตร์ทาสเป็นไทได้อย่างมหัศจรรย์

เกร็ด: เหตุผลที่ตั้งชื่อหมู่เกาะย่านนี้ว่า West Indies เพราะอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้ามกับ East Indies (หรือ East India) เมื่อเอายุโรปเป็นจุดศูนย์กลางโลก!

แม้หนังจะชื่อ West Indies (1979) แต่เหมือนจะไม่มีสักฉาก (ยกเว้นภาพจาก Archive Footage) เดินทางไปถ่ายทำยังภูมิภาคนี้ เรื่องราวแทบทั้งหมดเกิดขึ้นบนเรือโดยสาร Slave Ship (ทำการก่อสร้างเรือ ถ่ายทำในโกดังร้างที่ฝรั่งเศส) ระหว่างบรรทุกทาสชาวแอฟริกันเดินทางไปๆกลับๆ ยุโรป-แอฟริกา-อเมริกัน เล่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ถูกยึดครองโดย Spanish Empire มาจนถึง French West Indies (1628-1946)

เมื่อตอนรับชม Soleil Ô (1970) ผมรู้สึกว่าผกก. Hondo สรรค์สร้างภาพยนตร์ได้บ้าระห่ำมากๆ ซึ่งพอมารับชม West Indies (1979) สัมผัสถึงวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกระดับ! อาจไม่ได้แพรวพราวลูกเล่นภาพยนตร์เทียบเท่า แต่ความพยายามผสมผสาน Theatrical+Cinematic (ละคอนเวที+ลูกเล่นภาพยนตร์) แล้วคลุกเคล้าอดีต+ปัจจุบัน โดยใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน เพียงแค่นักแสดงเดินสวนกัน แบบนี้ก็ได้เหรอเนี่ย??

(โดยปกติแล้วการสลับเปลี่ยนช่วงเวลาดำเนินเรื่อง ง่ายสุดคือตัดต่อเปลี่ยนฉาก เท่ห์หน่อยถึงเพิ่มลูกเล่นภาพยนตร์ ล้ำสุดๆก็ใช้คอมพิวเตอร์ทำอนิเมชั่นเปลี่ยนผ่าน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กล้องเคลื่อนเลื่อนไหล นักแสดงจากสองช่วงเวลาเดินเข้า-ออก สวนทางกัน)

วัตถุประสงค์ของผกก. Hondo ต้องการปลดแอกตนเองออกจากวิถี(ภาพยนตร์)ยุโรป+อเมริกัน พยายามครุ่นคิด ประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ มองหาแนวทางสรรค์สร้างผลงานที่แตกต่างออกไป

I wanted to free the very concept of musical comedy from its American trade mark. I wanted to show that each people on earth has its own musical comedy, its own musical tragedy and its own thought shaped through its own history.

Med Hondo

หลายคนอาจไม่ชอบวิธีการของผกก. Hondo เพราะมันมีความผิดแผกแปลกประหลาด แตกต่างจากแนวทางภาพยนตร์ทั่วๆไป เหมือนกำลังรับชมโปรดักชั่นละคอนเวที (Theatrical) หาความสมจริงแทบไม่ได้ … ผมแนะนำให้ลองครุ่นคิดในมุมกลับตารปัตร ว่าหนังเป็นการบันทึกภาพ ถ่ายทำละคอนเวที แล้วสังเกตรายละเอียดงานสร้างภาพยนตร์ (สิ่งที่ละคอนเวทีทำไม่ได้ แต่สื่อภาพยนตร์ทำได้) แล้วคุณอาจค้นพบความมหัศจรรย์ของหนังอย่างคาดไม่ถึง


Med Hondo ชื่อเกิด Mohamed Abid (1935-2019) นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ Ain Bni Mathar, French Morocco (ในวิกิพีเดียฝรั่งเศสบอกว่าเกิดปี 1936 ที่ Atar, Colonial Mauritania) บิดาสัญชาติ Senegalese แต่งงานกับมารดาชาว Mauritanian พอเติบใหญ่เดินทางสู่ Rabat (Morrocco) ฝึกฝนการเป็นเชฟ ก่อนแอบขึ้นเรืออพยพสู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 รับจ้างทำงานสารพัด (Jack of all trades) พ่อครัว แรงงาน พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งของ ฯ

ระหว่างนั้น Hondo ก็หาโอกาสเข้าเรียนการแสดง กลายเป็นลูกศิษย์ของ Françoise Rosay ได้ทำการแสดงละคอนเวทีหลายเรื่อง จนเมื่อปี ค.ศ. 1966 รวบรวมผองเพื่อนชาวแอฟริกัน ก่อตั้งคณะการแสดงของตนเอง Shango Company ระหว่างนั้นก็เริ่มเก็บหอมรอมริด ครุ่นคิดวางแผนสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970)

สำหรับ West Indies ou les Nègres marrons de la liberté ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง Les Négriers (1971) แปลว่า The Slavers แต่งโดย Daniel Boukman (เกิดปี 1936) นักเขียนชาว Martinican เกิดที่ Fort-de-France, Martinique (เกาะทางตะวันออกของทะเล Caribbean ปัจจุบันคือจังหวัดโพ้นทะเลของ French West Indies)

เกร็ด: แม้เรื่องราวไม่มีการระบุชื่อเกาะตรงๆ (เหมารวมว่าคือ West Indies) แต่แน่นอนว่า Daniel Boukman อ้างอิงถึง Martinique ได้รับการค้นพบโดย Christopher Columbus เมื่อปี ค.ศ. 1502, ต่อมาชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐาน ค.ศ. 1635 ก่อนกลายเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ค.ศ. 1674, ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์และอังกฤษเคยเข้าโจมตี สลับสับเปลี่ยนการยึดครอง (ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1794-1802 และ ค.ศ. 1809-1814) จนกระทั่ง ค.ศ. 1946 ฝรั่งเศสประกาศเกาะนี้เป็นจังหวัดโพ้นทะเล (Département d’outre-mer แปลว่า Overseas Department)

ผกก. Hondo ได้เคยดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้เป็นการแสดงละครเวทีเมื่อปี ค.ศ. 1972 เพื่อเตรียมความพร้อม ทดลองผิดลองถูก ตั้งใจจะดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าที่จะเก็บหอมรอมริดเงินส่วนตัว จึงต้องนำโปรเจคนี้ไปพูดคุยกับสตูดิโอต่างๆ

เห็นว่าผกก. Hondo เคยเดินทางไปพูดคุยโปรเจคนี้กับสตูดิโอ Warner Bros. และ MGM ซึ่งต่างก็แสดงความสนใจ แต่เรียกร้องขอให้ปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น

I told them: Fuck it. If it’s not the same subject, why ask me to do it? Do it yourself.

Med Hondo

สุดท้ายแล้วงบประมาณได้จากการรวบรวมเงินทุนหลากหลายแหล่ง (Private Funding) มีทั้งจาก Mauritania, Senegal, Algeria และ France จำนวน $1.3 ล้านเหรียญ มากเป็นประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกัน


นับตั้งแต่ Jean Aubert ค้นพบไร่อ้อยในภูมิภาค Caribbean เมื่อปี ค.ศ. 1640 ทำการแปรรูปน้ำตาล กลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกสร้างรายได้มหาศาล ทำให้จักรวรรดิฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามายึดครอบครองอาณานิคม French West Indies ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1674 วางแผนเพิ่มผลผลิตด้วยการนำเข้าแรงงานทาสจากแอฟริกัน ซึ่งราคาถูก สามารถทำงานหนัก และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาค Caribbean ได้โดยง่าย

เรื่องราวเริ่มต้นที่ห้าผู้นำ French West Indies (ประกอบด้วยสี่คนขาว+หนึ่งชาวแอฟริกันผิวสี) กำลังพูดคุยหาหนทางลดจำนวนประชากรชาวแอฟริกันที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ครุ่นคิดแผนการสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสราวกับสรวงสวรรค์ ใครอาสาสมัครจักได้รับโบนัสสำหรับใช้ชีวิต แต่แท้จริงแล้วนั่นคือคำโป้ปดหลอกลวง เพื่อสามารถควบคุมครอบงำ จัดการชนกลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลือให้อยู่หมัด

ถึงอย่างนั้นชาวแอฟริกันกลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ใน French West Indies ต่างลุกฮือขึ้นมาชุมนุม ประท้วงหยุดงาน เรียกร้องต่อรองโน่นนี่นั่น จนห้าผู้นำครุ่นคิดอีกแผนการให้หนึ่งในสมาชิกที่เป็นชาวผิวสี ลงสมัครรับเลือกตั้ง กลายเป็นผู้นำประชาชน แต่แท้จริงแล้วหมอนี่ก็แค่หุ่นเชิดชักของพวกฝรั่งเศสเท่านั้นเอง!


ถ่ายภาพโดย François Catonné (เกิดปี 1944) สัญชาติฝรั่งเศส ในตอนแรกเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนเปลี่ยนไปเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นช่างภาพในกองทัพ ปลดประจำการออกมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก Soleil Ô (1970), West Indies (1979), Indochine (1992) ฯ

มันไม่ใช่ว่าผกก. Hondo ไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำสถานที่จริง French West Indies แต่คงรับรู้ตัวเองตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่มีทางสรรหางบประมาณเพียงพอ อย่างน้อยก็น่าจะ $10-20 ล้านเหรียญ … ถ้าได้ทุนสนับสนุนจาก Hollywood อาจเพียงพอแน่ แต่ต้องแลกกับข้อเรียกร้องโน่นนี่นั่น ย่อมไม่มีทางเห็นพ้องต้องกัน!

ด้วยงบประมาณหาได้จำกัด ผกก. Hondo จึงเลือกลงทุนกับการก่อสร้างเรือโดยสาร Slave Ship ภายในโกดัง/โรงงานร้างของบริษัทผลิตรถยนต์ Citroën ณ Quai de Javel, Paris (โรงงานปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 1975) ผลลัพท์อาจทำให้หนังขาดความสมจริง แต่ภาพยนตร์มันจำเป็นต้องทำออกมาให้มีความสมจริงด้วยฤา??

ถ้าเราสามารถมองหนังเรื่องนี้คือการบันทึกภาพการแสดงละคอนเวที (Theatrical) มันจะช่วยลดอคติเกี่ยวกับความสมจริง-ไม่สมจริงได้อย่างมากๆ ลีลาการถ่ายภาพจะพบความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เต็มไปด้วยโคตรๆ Long Take และ(เมื่อถ่ายบนดาดฟ้าเรือ)กล้องมักขยับเคลื่อนไหลแทบตลอดเวลา นั่นแสดงให้ถึงการซักซ้อม ต้องตระเตรียมความพร้อม นักแสดงกว่าร้อยคน เตรียมงานสร้างมากว่า 7 ปี!

นอกจากลีลาการเคลื่อนกล้อง พยายามทำออกมาให้ดูโคลงเคลง ราวกับกำลังล่องลอยคออยู่บนท้องทะเล อีกความโดดเด่นคือการจัดวางองค์ประกอบภาพ ใช้ประโยชน์จากการออกแบบเรือโดยสาร Slave Ship ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสูง-ต่ำ สำหรับแบ่งแยกสถานะชนชั้น ผู้นำ-ฝรั่งเศส-ทาสแอฟริกัน

  • ห้าผู้นำ French West Indies อาศัยอยู่ในห้องบัญชาการ (Captain’s Cabin) ดูโอ่โถง หรูหรา มีหน้าที่ครุ่นคิดวางแผน บริหารจัดการ ซึ่งก็ยังแบ่งแยกผู้นำ ที่ปรึกษา บาทหลวง ฯ ไล่เลียงตามขั้นบันได
  • ชั้นดาดฟ้า คือสถานที่สำหรับคนขาว ชาวฝรั่งเศส (รวมถึงคนดำที่ถูกล้างสมองให้กลายเป็นฝรั่งเศส) มีความไฮโซ แต่งตัวหรูหรา มักพบเห็นร้องรำทำเพลงด้วยความสนุกสนานครื้นเครงไม่ว่าจะยุคสมัยไหน
  • ชั้นล่าง คือสถานที่สำหรับชาวแอฟริกัน ในอดีตเคยตกเป็นทาส ถูกบีบบังคับให้ต้องใช้แรงงานหนัก หลังได้รับอิสรภาพ กลายเป็นชุมชนแออัด เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

หนังเกือบทั้งเรื่องถ่ายทำบนเรือโดยสาร Slave Ship ที่สร้างขึ้นภายในโกดัง/โรงงานร้าง ยกเว้นการฉายภาพ Archive Footage ด้วยฟีล์ม 16mm คุณภาพสีดูซีดๆ เบลอๆ พบเห็นชุมชน บ้านเรือน ผู้คนบนเกาะแห่งหนึ่งในเขตทะเล Caribbean และอาชีพหลักทำไร่อ้อย แปรรูปน้ำตาล

ตลอดทั้งซีเควนซ์นี้ยังได้ยินเสียงรัวกลอง ฟังดูราวกับพิธีกรรม ทำเหมือนอารัมบทถึงบางสิ่งอย่าง … จะว่าไปจังหวะรัวกลอง มีความสอดคล้องกับการตัดต้นอ้อย แต่ความหมายแท้จริงเดี๋ยวจะอธิบายต่อไป

ช่วงระหว่าง Opening Credit เป็นการถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ พบเห็นกล้องเคลื่อนจากภายนอกโกดัง/โรงงานร้าง ได้ยินเสียงเครื่องจักรกลล่องลอยมา (ในอดีตเคยเป็นโรงงานผลิตรถยนต์) แต่พอเลื่อนมาถึงบริเวณกองไฟ จู่ๆเสียงพื้นหลังปรับเปลี่ยน (ในสไตล์ Godardian) มาเป็นผู้คนตะโกนโหวกเหวกโวยวาย กล้องหันจากขวาสู่ซ้าย เข้าหาเรือโดยสาร Slave Ship สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นฉากประกอบภาพยนตร์

ผมมองการนำเสนอลักษณะนี้เพื่อเลือนรางระหว่างโลกความจริง(ภายนอก) vs. เหตุการณ์(ภายใน)ภาพยนตร์ เคลื่อนเลื่อนจากปัจจุบันสู่อดีต (ถือเป็นอารัมบทวิธีการดำเนินเรื่องที่มักใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน นักแสดงจากสองช่วงเวลาเดินสวนทางกัน) ให้ผู้ชมเกิดการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆเคยบังเกิดขึ้น มีความละม้ายคล้าย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในปัจจุบัน

การเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำ ณ (อดีต)โรงงานบริษัทผลิตรถยนต์ ก็ยังสามารถตีความถึงการใช้แรงงาน ระบอบทุนนิยม ปัจจุบันถูกทอดทิ้งร้าง ไม่แตกต่างจากเรื่องราวของหนัง!

ในเรือโดยสาร Slave Ship มักมีคนกลุ่มหนึ่งที่คอยหลบมุม ซ่อนตัวในความมืดมิด คอยแสดงความคิดเห็นต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับสิ่งต่างๆที่พวกเบื้องบนพยายามนำเสนอ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล พวกเขาก็ปฏิเสธลงเสียง แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

สังเกตว่าหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้าน/คณะปฏิวัติ จะมีคนหนึ่งที่คอยตีกลองเบาๆ นั่นชวนให้ผมนึกถึง “Drum of Liberation” ใครตามอ่านวันพีซก็น่าจะมักคุ้นเป็นอย่างดี ในบริบทนี้สื่อถึงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ชนกลุ่มน้อย เลยได้ยินคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ

การเลือกตั้งครั้งนี้มันช่างไม่มีความโปร่งใสเลยสักนิด! พยายามถ่วงเวลาด้วยการเอ่ยขานชื่อ พร้อมพรรณาความสำคัญ ยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งพอพวกเขาเหล่านั้นหย่อนบัตรลงคะแนน ก็มีการสอดไส้กระดาษเข้าด้านหลัง … มันคืออะไรก็ช่างหัวมันเถอะครับ ให้มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เพียงพอแล้วละ

และเมื่อถึงคิวของบุคคลจากชั้นล่างกำลังจะลงคะแนนเสียง ก็ถูกปิดกั้นโดยทันที (พร้อมเสียงฉาบใหญ่) ด้วยข้ออ้างพระอาทิตย์กำลังตกดิน (แสงไฟดวงใหญ่ด้านหลังก็เคลื่อนคล้อยลงมา) นี่แสดงให้ว่า ประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์เสียงใดๆในระบอบประชาธิปไตย

ปล. หลายคนอาจมองซีเควนซ์นี้ว่ามีความไกลตัว เรื่องราวของคนขาวกับชาวแอฟริกัน แต่ผมไม่รู้สึกถึงความแตกต่างจากประเทศสารขัณฑ์ การเลือกตั้งไม่ต่างจากเล่นละคอน รัฐบาลไม่เคยสนหัวประชาชน

วิธีการที่หนังใช้เล่าเรื่องย้อนอดีต เมื่อหนึ่งในห้าผู้นำ French West Indies เล่าถึงประวัติศาสตร์เกาะแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1640 กล้องทำการเคลื่อนเลื่อนผ่านฝูงชน จนพบเห็นทาสแอฟริกันกำลังโยกเต้น เริงระบำ สังเกตจากเสื้อผ้าสวมใส่ก็เพียงพอบอกได้ว่าคือช่วงศตวรรษที่ 17th

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจใช้เป็นจุดสังเกต แยกแยะระหว่างอดีต-ปัจจุบัน คือคำขวัญ (Motto) ที่ปรากฎอยู่บนดาดฟ้าเรือ

  • Dieu et le Roi Protègent le Royaume แปลว่า God and The King Protect The Kingdom นี่คือคำขวัญของ Ancien Régime (Old Regime) เริ่มใช้มาตั้งแต่ King Louis XIII (1601-43) ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1610
  • Liberté égalitégent le Royaume แปลว่า Freedom Equality People the Kingdom คาดว่าใช้ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1789-1848
  • Liberté égalité Fraternité แปลว่า Liberty Equality Fraternity (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ) เริ่มต้นจากเป็นคำขวัญของ National Guards ในช่วงการปฏิวัติ French Revolution (1789-99) และ Revolution of 1848 ก่อนได้รับการบัญญัติเป็นหลักการพื้นฐาน/คำขวัญฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1848

แค่ท่านั่งของผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล หนึ่งในผู้นำ French West Indies ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ก็บ่งบอกถึงสันดานธาตุแท้ ทั้งๆมีเชื้อสายแอฟริกัน ผิวดำเหมือนกัน กลับไม่เคยสนหัวประชาชน เป็นเพียงหุ่นเชิดชักฝรั่งเศส กระทำสิ่งตอบสนองตัณหาส่วนตน

หลังจากการโฆษณาชวนเชื่อเสร็จสิ้น หนังทำการเคลื่อนเลื่อนกล้อง (ถ่ายทำแบบ Long Take) เก็บภาพบรรยากาศโดยรอบ พบเห็นผู้คนพูดคุย แสดงความคิดเห็น บางคนเห็นชอบ บางคนไม่เห็นด้วย พยายามหาข้ออ้าง โน้มน้าวกล่อมเกลา อธิบายเหตุผลการเดินทาง พรอดคำหวานเพราะกำลังจะร่ำลาจากกัน … ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องคงใช้การตัดต่อ ร้องเรียงชุดภาพ ไม่ก็ในลักษณะพูดคุยสัมภาษณ์ แต่สำหรับ West Indies (1979) พยายามแหกธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว ใช้กล้องเคลื่อนเลื่อน ถ่ายทำแบบ Long Take เพียงหยุดฟังความคิดเห็น เสร็จแล้วก็ดำเนินต่อไป

นี่ถือเป็นอีกช็อตมหัศจรรย์ของหนัง! กล้องเริ่มถ่ายจากกลุ่มชาวแอฟริกัน(ช่วงทศวรรษ 1960-70s)ที่ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ตามคำชวนเชื่อรัฐบาล ระหว่างกำลังก้าวเดินผ่านดวงไฟขนาดใหญ่ยักษ์ น่าจะคือพระอาทิตย์ สวนทางกับบรรดาทาสชาวแอฟริกัน ล่ามโซ่ตรวน เดินเรียงเป็นขบวน กำลังถูกส่งตัวไปยัง West Indies ในช่วงศตวรรษที่ 17-18th … นี่เป็นอีกครั้งที่ใช้การเคลื่อนเลื่อนกล้อง แล้วเกิดการผันแปรเปลี่ยนยุคสมัย

ผมรู้สึกว่าท่าเต้นของทาสชาวแอฟริกัน ดูกรีดกรายด้วยความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน มือและเท้าต่างถูกพันธนาการ ไม่สามารถปลดปล่อยตนเอง กระโดดโลดเต้นได้อย่างสุดเหวี่ยง

ชายสูงวัยคนนี้ที่หันมาสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ทำเหมือนพยายามพูดคุยสนทนากับผู้ชม

Africa, my mother…
A great distance of water,
a great distance of days between you and me.

Africa, my mother,
face of a million wounds…
My strength is slowly ebbing.

ถือเป็นตัวละครเชื่อมต่อระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ตัวแทนจิตวิญญาณชาวแอฟริกันที่สร้างขวัญ กำลังใจ เรียกร้องให้ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องเสรีภาพ … ชวนให้ผมนึกถึง The Eternal Motherhood จากโคตรภาพยนตร์ Intolerance (1916)

จากคำโฆษณาชวนเชื่อ (ป้ายโฆษณาแปะเต็มพื้นหลัง) ฝรั่งเศสในอุดมคติ ราวกับสรวงสวรรค์! แต่พอบรรดาผู้อพยพเดินทางมาถึง (ฉากนี้ก็ยังถ่ายทำบนเรือโดยสาร) ราวกับถูกปล่อยเกาะ ทอดทิ้งขว้าง ไม่มีใครมารอต้อนรับ หน่วยงานรัฐไม่เคยเหลียวแลสนใจ ต้องมองหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน เอาตัวรอดด้วยตนเอง

ล้อกับตอนที่ชาว French West Indies ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส กล้องทำการเคลื่อนเลื่อน เก็บภาพบรรยากาศโดยรอบ พบเห็นผู้คนพูดคุยสนทนา แต่จากเคยสรรหาข้ออ้าง แสดงความคิดเห็น ว่าทำไมถึงอยากอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส เปลี่ยนมาเป็นพูดเล่าความรู้สึก เคยพานผ่านอะไร ทำงานอะไร หาเงินได้มากน้อยเพียงไหน และหลังจากกระโดดโลดเต้น (ได้ยินบทเพลง Mother France ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี ประชดประชัน) พวกเขาก็เดินตรงเข้าหากล้อง จ้องหน้าสบตา (Breaking the Fourth Wall) ราวกับมองหน้าหาเรื่อง

ประเด็นคือระหว่างซีเควนซ์นี้ไม่ได้มีการพูดบอกว่าเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร แต่คำอธิบายของห้าผู้นำ French West Indies พร้อมกับภาพอนิเมชั่น นั่นหมายถึงคนกลุ่มนี้น่าจะกำลังเดินทางกลับบ้าน (ที่ French West Indies) พูดเล่าความรู้สึกผิดหวัง เกรี้ยวกราด แสดงความไม่พึงพอใจต่อพวกฝรั่งเศสที่ทำการล่อหลอก กลับกลอก ผิดคำสัญญา

เป็นเรื่องปกติของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง สักวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ โต้ตอบเอาคืน โค่นล้มพวกผู้มีอำนาจบาดใหญ่ สังเกตจากเสื้อผ้าสวมใส่ และคำขวัญบนดาดฟ้าเรือ ซีเควนซ์นี้น่าจะประมาณช่วงศตวรรษ 17-18th (ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส) เพราะทหารฝรั่งเศสถือปืนห้อมล้อมทาสแอฟริกัน สัญลักษณ์ของการกวาดล้าง ประหารชีวิต ยังคือช่วงเรืองอำนาจของเผด็จการ

สี่ภาพนี้นำเสนอประวัติศาสตร์โดยย่อ (นาง-นายแบบจะแสดงท่าทาง ภาษากาย แฝงนัยยะความหมายบางอย่าง) ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งเศสคือประเทศเดียวในโลกเลยหรือเปล่าที่มีการเลิกทาสถึงสองครั้ง!

  • First Abolition: วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1794 ในช่วงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส French Revolution (1789-99)
  • Reinstatement: ภายหลังจาก Napoleon Bonaparte ก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจ ในปี ค.ศ. 1802 มีการนำระบบทาสกลับมาใช้โดยเฉพาะกับอาณานิคม French West Indies จุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตแปรรูปน้ำตาล
    • King Louis Philippe I (1773-1850, ครองราชย์ 1830-48) เมื่อขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1830 เลือกที่จะวางตัวเป็นกลาง รักษาสถานะทาส ขณะเดียวกันแอบให้การสนับสนุนกลุ่ม Anti-Slavery
  • Second and Permanent Abolition: เริ่มต้นจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ The French Revolution of 1848 นำไปสู่การออกกฎหมายเลิกทาสวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1848 ก่อนค่อยๆทะยอยประกาศใช้ตามอาณานิคมต่างๆ เริ่มต้นจาก Martinique วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1848

แซว: ให้ลองสังเกต Napoleon จะมีการขยับหมวก 180 องศา (จากหลังหันสู่หน้า) สามารถสื่อถึงการ ‘Reinstatement’ นำระบบทาสที่ล้มเลิกไปแล้ว หวนกลับมาประกาศใช้ใหม่

François Arago (1786-1853) นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ สมาชิกองค์กร Freemason เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Minister of the Navy) เมื่อปี ค.ศ. 1848 และเป็นผู้นำกฎหมายเลิกทาส (Second Abolition) ไปประกาศใช้ยังอาณานิคม French West Indies

ตรงกันข้ามกับตอนที่ถูกล่ามโซ่ตรวน เมื่อชาวแอฟริกันได้รับการปลดแอก ไม่ต้องตกเป็นทาสอีกต่อไป ท่าทางเต้นรำของพวกเขาช่างมีความสุดเหวี่ยง กระโดดลอยตัว เพื่อสื่อถึงอิสรภาพแห่งชีวิต

ในอดีตทหารฝรั่งเศสเคยถือปืน ห้อมล้อม จ่อยิงทาสแอฟริกันที่ลุกฮือขึ้นมาจะโค่นล้มรัฐบาล (ช่วงศตวรรษ 17-18th) พอกาลเวลาเคลื่อนผ่านมาถึงปัจจุบัน(นั้น) ทศวรรษ 1960-70s แม้บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่มุมกล้อง อะไรหลายๆอย่างกลับยังคงเหมือนเดิม แรงงานแอฟริกันรวมกลุ่มกันเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากอาณานิยม ยังคงถูกห้อมล้อมโดยตำรวจฝรั่งเศส

ความแตกต่างคือแต่ก่อนมีเพียงการต่อสู้ระหว่างทาสแอฟริกัน vs. ชนชั้นผู้นำฝรั่งเศส, แต่โลกยุคสมัยใหม่ได้เพิ่มเติมชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ซึ่งมีทั้งคนขาวและชาวแอฟริกัน(ที่ถูกย้อมขาว, Whitewashing) อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เสมอภาคเท่าเทียม

ในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยกษัตริย์ จนมาถึงห้าผู้นำ French West Indies ต่างใช้อำนาจบาดใหญ่ในการปกครองอาณาประชาราษฎร์ จนกระทั่งการมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) นี่น่าจะถือเป็นครั้งแรกที่ยินยอมเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่สังเกตบรรดาตัวแทนทั้งหลาย ต่างคือพวกชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) เต็มไปด้วยถ้อยคำสรรเสริญเยินยอ ข้อเรียกร้องที่ตอบสนองผลประโยชน์ ความพึงพอใจส่วนบุคคล … พวกชนชั้นผู้นำเองก็ได้ประโยชน์ เลยไม่ได้ปฏิเสธต่อต้านประการใด

ในอดีตตัวละครของ Robert Liensol เคยเป็นกษัตริย์ของชาวแอฟริกัน ค้าขายทาสให้กับพวกฝรั่งเศส (ส่งมาใช้แรงงานยังจังหวัดโพ้นทะเล) ต่อมาถือกำเนิดใหม่เป็นหนึ่งในห้าสมาชิกผู้นำ French West Indies ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล และเมื่อรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนชั้นกลาง หลับฝันจินตนาการว่าตนเองสวมใส่มงกุฎ กลายเป็นกษัตริย์ปกครองหมู่เกาะ Caribbean (โดยมีพวกฝรั่งเศสชักใย ยืนอยู่เบื้องหลัง)

เกร็ด: Robert Liensol (1922-2011) เกิดที่ Saint-Barthélémy บนเกาะ Leeward Islands ซึ่งคือหนึ่งในจังหวัดโพ้นทะเล French West Indies ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูภูมิฐาน เหมือนคนมีการศึกษาสูง แถมชอบทำเริดเชิด แสดงความเย่อหยิ่ง ต้องถือว่าเกิดมาเพื่อรับบทบาทนี้

แต่เมื่อฟื้นตื่นจากความฝัน ภาพสะท้อนโลกความจริง ใบหน้าของ Liensol ซ้อนทับภาพชุมนุมประท้วงของพวกแรงงานแอฟริกัน นั่นคือสิ่งขัดขวางไม่ให้ความฝันของเขากลับกลายเป็นจริง!

หนังไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าสถานการณ์การเมืองของ French West Indies จะยุติลงเช่นไร ได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสหรือไม่ … แต่จนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2024 บรรดาจังหวัดโพ้นทะเลก็ยังคงเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ถึงอย่างนั้นหนังจบลงด้วยการเฉลิมฉลอง เริงระบำ ขับร้องเพลงเกี่ยวกับแอฟริกัน+อเมริกัน นี่ไม่ได้จะสื่อถึงชัยชนะ แต่นัยยะถึงการปลดปล่อย เสียงรัวกลองแห่งอิสรภาพ (Drum of Liberation) กล้องเคลื่อนหมุนรอบโลก 360 องศา สักวันหนึ่งการกดขี่ข่มเหงต้องหมดสูญสิ้นไป

ตัดต่อโดย Youcef Tobni มีผลงานเด่นๆ อาทิ Chronicle of the Years of Fire (1975), West Indies (1979) ฯ

หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครไหนเป็นพิเศษ แต่มีจุดศูนย์กลางคือเรือโดยสาร Slave Ship สลับสับเปลี่ยน เคลื่อนเลื่อนไหลจากห้าผู้นำ French West Indies มายังชาวฝรั่งเศสบนชั้นดาดฟ้า และชาวแอฟริกันที่อยู่ชั้นล่าง พานผ่านประวัติศาสตร์ตั้งแต่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา มาจนถึงปัจจุบัน(นั้น) ค.ศ. 1970

  • อารัมบท, ห้าผู้นำ French West Indies หลังจากรับชม Archive Footage อธิบายวัตถุประสงค์(ของหนัง) แผนการลดจำนวนประชากรชาวแอฟริกัน
  • การเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล
    • เริ่มต้นระหว่าง Opening คือการเดินขบวนหาเสียง
    • จากนั้นลงคะแนนเลือกตั้ง
    • หลังประกาศผลผู้ชนะ มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเต้นรำ
  • (ย้อนอดีต) (ร้องรำทำเพลง) เล่าประวัติศาสตร์ French West Indies
    • ตั้งแต่ Christopher Columbus ค้นพบทวีปอเมริกา
    • Jean Aubert ค้นพบไร่อ้อย แปรรูปน้ำตาล
    • ฝรั่งเศสเข้ายึดครอง French West Indies
    • นำเข้าทาสแอฟริกันมาทำงานยัง French West Indies
  • แผนการชวนเชื่อ ส่งออกชาวแอฟริกัน
    • ห้าผู้นำ French West Indies ประชุมวางแผน หาวิธีการส่งออกชาวแอฟริกัน
    • (ร้องรำทำเพลง) โฆษณาชวนเชื่อ ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์
    • ผู้ว่าการ Justin กล่าวคำชวนเชื่อ เรียกร้องให้ชาวแอฟริกันอพยพสู่ฝรั่งเศส
    • มีชาวแอฟริกันทั้งที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นพ้อง ตัดสินใจออกเดินทางมุ่งสู่ฝรั่งเศส
  • (ย้อนอดีต) ฝรั่งเศสนำเข้าแรงงานทาสแอฟริกัน
    • สวนทางกับทาสแอฟริกันถูกล่ามโซ่ตรวน กำลังก้าวเดินขึ้นเรือ ออกเดินทางสู่ French West Indies
    • ผู้นำฝรั่งเศส พบเจอกษัตริย์ชาวแอฟริกัน
    • พบเห็นภาพทาสแอฟริกัน ต่อสู้ดิ้นรน (เต้นรำอย่างทุกข์ทรมาน) จากการถูกกดขี่ข่มเหงสารพัด
    • ระหว่างนั้นมีการสู้รบสงคราม สลับสับเปลี่ยนผู้ปกครองแคว้นอาณานิคม
  • ผู้อพยพมาถึงฝรั่งเศสฝรั่งเศส
    • บรรดาผู้อพยพเดินทางมาถึงฝรั่งเศส แต่กลับไม่ใครให้การต้อนรับ
    • พวกฝรั่งเศสรวมกลุ่มกันประท้วงต่อต้าน
    • เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฝรั่งเศส กับกลุ่มผู้อพยพ
    • ร้อยเรียงคำรำพันของผู้อพยพในฝรั่งเศส
  • การลุกฮือของชาวแอฟริกัน
    • ห้าผู้นำ French West Indies ประชุมวางแผน หาวิธีเร่งส่งออกพวกแอฟริกัน แต่กลับ…
    • (ย้อนอดีต) ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการเลิกทาสของฝรั่งเศส
    • พอดำเนินมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ทวีความรุนแรง ชนชั้นล่างแสดงความไม่พึงพอใจ แต่เมื่อห้าผู้นำ French West Indies เปิดโอกาสให้พวกเขายื่นข้อเรียกร้อง มีแต่ชนชั้นกลางเยินยอปอปั้น
    • (ความฝัน) ผู้ว่าการ Justin จินตนาการเพ้อฝันว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นประมุขปกครองหมู่เกาะ Caribbean
    • แต่เหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงก็คือ การชุมนุมเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศส

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกสับสน เพราะหนังใช้นักแสดงชุดเดิมทั้งในอดีต-ปัจจุบัน ยกตัวอย่าง Robert Liensol (ชายผิวสีที่เคยแสดงนำภาพยนตร์ Soleil Ô (1970)) อดีตเคยเป็นกษัตริย์ชาวแอฟริกัน → ต่อมากลายเป็นหนึ่งในห้าสมาชิก French West Indies → ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดโพ้นทะเล … ไม่เชิงว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ถือเป็นการเวียนว่ายตายเกิดในหลายภพชาติ คล้ายๆภาพยนตร์ Cloud Atlas (2012)


เพลงประกอบโดย Georges Raymond Rabol (1937-2006) นักเปียโน นักแต่งเพลง สัญชาติ Martinican, วัยเด็กเริ่มสนใจด้านดนตรีหลังจากรับฟังบทเพลงของ Louis Moreau Gottschalk จากนั้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ไม่มีรายละเอียดว่าเข้าศึกษาต่อที่ไหน แต่ถนัดด้าน Jazz Pianist เคยเป็นนักเปียโนประจำรายการวิทยุ Le Tribunal des flagrants délires, โด่งดังสุดคือเพลงประกอบภาพยนตร์ West Indies (1979)

ในส่วนของเพลงประกอบถือว่ามีความหลากหลาย ทั้งบทเพลงสไตล์ Caribbean, พื้นบ้านแอฟริกัน, ดนตรีคลาสสิกยุโรป, French Pop/Rock, รวมถึง American Jazz ซึ่งจะผันเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์-ช่วงเวลา มีคำร้อง-เพียงท่วงทำนอง หรือบางครั้งอาจเป็นการพูดคุยประกอบจังหวะดนตรี (ผมเรียกว่า ‘พูดร้องเพลง’)

โดยหนังจะมี Main Theme ท่วงทำนองคล้ายๆ Mission: Impossible บางครั้งบรรเลงด้วยกีตาร์, ออร์เคสตรา, เสียงเป่าขลุ่ย, ดนตรีร็อค ฯ สร้างความรู้สึกเหมือนการต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางออกไปจากดินแดนแห่งนี้

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาคลิปหรือรายละเอียดบทเพลงประกอบหนัง แต่หนึ่งในนั้นที่มีความชื่นชอบเป็นการพิเศษ คาดเดาว่าน่าจะชื่อเพลง Mother France ขับร้องโดย Frank Valmont ดังขึ้นหลังจากการปะทะระหว่างผู้อพยพ vs. ชาวฝรั่งเศสที่รวมกลุ่มต่อต้าน เนื้อคำร้องออกไปในเชิงเสียดสี ประชดประชัน และกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำ เหมือนกำลังเดินทางกลับ French West Indies กระมังนะ (ถ่ายทำยังชั้นล่างของเรือ)

Mother France,
against your big breasts,
blue, white and red breasts,
I snuggle up without a worry.

For you, I agree to waste my life.
The good God protects you.
You eat to your heart’s content.
Please don’t forget me!

Mother France,
deprive me of freedom,
but please keep my fridge
and my stomach full!


West Indies (1979) นำเสนอประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกันกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกพวกจักรวรรดินิยมจับเป็นทาส ส่งมาใช้แรงงานยังหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean ปลูกอ้อย แปรรูปน้ำตาล สร้างรายได้มากมายมหาศาล แต่เมื่อปริมาณประชากร(ชาวแอฟริกัน)เพิ่มมากขึ้น มักเกิดการรวมกลุ่มต่อต้าน ชุมนุมประท้วง ลุกขึ้นมาเรียกร้องโน่นนี่นั่น

ในยุคแรกๆกลุ่มต่อต้านคงถูกพวกจักรวรรดินิยมปราบปรามจนหมดสิ้น! แต่ไม่นานพวกแอฟริกันก็รวมกลุ่มกันขึ้นมาใหม่ หลายครั้งเข้าจึงต้องประณีประณอม ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องหลายๆอย่าง มีการเลือกตั้งผู้ว่าการ จัดตั้งระบบสวัสดิการ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์คริสต์ ฯ ถึงอย่างนั้นได้คืบจะเอาศอก เรียกร้องโน่นนี่นั่นไม่หยุดหย่อน ชนชั้นผู้นำจึงครุ่นคิดแผนการใหม่ สร้างค่านิยมชวนเชื่อ ฝรั่งเศสเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ พร้อมจ่ายโบนัสให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน จากนั้นก็ตัดหางปล่อยวัด ชนกลุ่มน้อยที่หลงเหลือจึงอยู่ในการควบคุมโดยง่ายดาย

West Indies is not a film more Caribbean than African. It summons all people whose past is made of oppression, whose present is made of failed promises and whose future remains to be conquered.

Med Hondo

แม้หนังจะมีพื้นหลังยังหมู่เกาะในเขตทะเล Caribbean แต่กลับสร้างฉากถ่ายทำในโกดัง/อดีตโรงงานผลิตรถยนต์ Citroën ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งยังทำการกระโดดไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน นั่นแสดงถึงความไม่จำเพาะเจาะจงสถานที่ วัน-เวลา (Space & Time) และอาจรวมถึงชนชาติพันธุ์ (ไม่จำเป็นต้องแค่เรื่องราวของชาวแอฟริกัน) นั่นเพราะผกก. Hondo ต้องการเหมารวมทุกสิ่งอย่าง เพื่อนำเสนอเรื่องราวการถูกกดขี่ข่มเหง คำสัญญาลวงหลอก และอนาคตของลัทธิอาณานิคม (Colonialism)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเฉลียวฉลาด ซึ่งมักทำให้เกิดความเย่อหยิ่ง หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง แบ่งแยกสถานะทางสังคม ชนชั้นสูง-ต่ำ สีผิวดำ-ขาว บุคคลผู้มีอำนาจ-บริวารอยู่ภายใต้ นำไปสู่การกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ คำสัญญาหลอกลวง … แนวคิดของลัทธิอาณานิคม จึงเป็นสิ่งไม่มีวันหมดสูญสิ้นไปจากโลก

ใครเคยรับชม Soleil Ô (1970) และอาจรวมถึงผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Hondo ย่อมมักคุ้นกับเนื้อหาสาระ ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) โดยเฉพาะการชวนเชื่อ สร้างค่านิยม “ฝรั่งเศสคือดินแดนราวกับสรวงสวรรค์” ซึ่งเขาคือหนึ่งในบุคคลผู้หลงเชื่อ แอบขึ้นเรือ มาตายเอาดาบหน้า โชคดีว่าสามารถเอาตัวรอด ตระหนักถึงข้อเท็จจริง จึงพยายามนำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมารังสรรค์สร้างภาพยนตร์ บทเรียนเตือนสติพวกพ้องชาวแอฟริกัน

ภาพยนตร์ ว่ากันตามตรงเป็นสื่อที่ถูก ‘colonised’ โดยมหาอำนาจอย่าง Hollywood, ฝรั่งเศส, รัสเซีย ฯ ความสนใจของผกก. Hondo ยังต้องการปลดแอกผลงานของตนเอง ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำ ซึมซับรับอิทธิพล จึงพยายามประดิษฐ์คิดค้น รังสรรค์ภาษาภาพยนตร์ ค้นหาวิธีการที่ไม่ซ้ำแบบใคร … คนที่ได้รับชม West Indies (1979) ก็น่าจะสัมผัสได้ถึงอิสรภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ หรือก็คือการประกาศอิสรภาพของผกก. Hondo นั่นเองละครับ!

ปล. ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจแนวคิด “การประกาศอิสรภาพของสื่อภาพยนตร์” ก็อาจตระหนักว่านี่คือโคตรผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ยืนเคียงข้าง Touki Bouki (1973) ได้อย่างสบายๆ


หนังใช้ทุนสร้าง $1.3 ล้านเหรียญ อาจดูไม่เยอะเท่าไหร่ แต่สำหรับชาวแอฟริกันยุคสมัยนั้นถือว่ามากมายมหาศาล ว่ากันว่าคือหนึ่งในโปรดักชั่นทุนสร้างสูงสุด(ของทวีปแอฟริกา)ตลอดกาล!

แต่เมื่อเข้าฉายในฝรั่งเศส เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เลยถูกเก็บเงียบเข้ากรุ จนกระทั่งมีโอกาสฉายยังสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1985 ปรากฎว่าได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม “revolutionary”, “witty”, “imaginative staging”, “very fluid visual style”

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Doriane Films (ฝรั่งเศส) รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น 3 Films de Med Hondo ประกอบด้วย Soleil Ô (1970), West Indies: The Fugitive Slaves of Liberty (1979) และ Sarraounia (1986)

เพราะความประทับใจจาก Soleil Ô (1970) ทำให้ผมเต็มไปด้วยคาดหวังต่อ West Indies (1979) แต่ระหว่างรับชมกลับรู้สึกไม่ชมชอบแนวทางการนำเสนอสักเท่าไหร่ ดูเป็นละคอนเวทีมากเกินไป แต่พอสังเกตเห็นความเลือนลางระหว่างอดีต+ปัจจุบัน จึงเริ่มค้นพบความมหัศจรรย์ ประทับใจต่อโปรดักชั่น และสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Hondo โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำแบบใคร และคงไม่มีใครเลียนแบบอย่าง

ถ้าว่ากันด้วยเทคนิคภาพยนตร์ Soleil Ô (1970) ถือว่ามีความแพรวพราว ดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ทว่า West Indies (1979) จัดเต็มโปรดักชั่น อลังการงานสร้าง เรื่องราวระดับมหากาพย์ และวิธีการของผกก. Hondo ทำการประกาศอิสรภาพให้กับวงการภาพยนตร์

จัดเรต 13+ กับเรื่องทาส เผด็จการ ลัทธิอาณานิคม

คำโปรย | West Indies โคตรหนังเพลงของผู้กำกับ Med Hondo เล่าประวัติศาสตร์การตกเป็นทาส เพื่อทำการประกาศอิสรภาพให้กับวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | มหัศจรรย์ใจ

Chronicle of the Years of Fire (1975)


Chronicle of the Years of Fire (1975)  : Mohammed Lakhdar-Hamina ♥♥♥♥

จากความเหือดแห้งแล้งของทะเลทราย เดินทางเข้าเมืองยังถูกกดขี่เหงจากพวกฝรั่งเศส นั่นคือชนวนสาเหตุให้ชาว Algerian โหยหาอิสรภาพ ต้องการปลดแอกจากการเป็นประเทศอาณานิคม, ภาพยนตร์จากทวีปแอฟริกาเรื่องแรก(เรื่องเดียว)ที่คว้ารางวัล Palme d’Or

ไม่ใช่แบบ The Battle of Algiers (1966) ที่นำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) vs. กองทัพทหารฝรั่งเศส, Chronicle of the Years of Fire (1975) มีลักษณะ ‘Cinema Poem’ บทกวีพรรณาถึงสาเหตุผล จุดเริ่มต้น ที่มาที่ไปก่อนชาว Algerian ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ขับไล่ เรียกร้องอิสรภาพ ต้องการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ระหว่างปรับปรุงบทความ The Battle of Algiers (1966) ผมดันไปชำเลืองเห็นภาพยนตร์ Chronicle of the Years of Fire (1975) นำเสนอประวัติศาสตร์สงคราม Algerian War of Independence (1954-62) ทั้งยังคว้ารางวัล Palme d’Or รวมถึงได้รับการโหวตติดอันดับ 3 ชาร์ท Top 100 Arabic Films จากเทศกาลหนัง Dubai International Film Festival เมื่อปี ค.ศ. 2013 เช่นนั้นแล้วจะให้มองข้ามไปได้อย่างไร

แม้คุณภาพหนังจะย่ำแย่ แถมระยะเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมง แต่ถ้าสามารถอดรนทน ซึมซับความลุ่มร้อนสุมอก ตอนจบคุณอาจรู้สึกเหมือนชาว Algerian อยากระเบิดความคลุ้มคลั่ง โต้ตอบกลับจักรวรรดินิยม ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน … เป็นภาพยนตร์สมควรค่าแก่การบูรณะ (ภาพถ่ายทะเลทรายสุดลูกหูลูกน่า มีความงดงามอย่างมากๆ) แต่ก็ไม่รู้จะมีโอกาสนั้นหรือเปล่านะ


Mohammed Lakhdar-Hamina (เกิดปี 1934), محمد الأخضر حمينة ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Algerian เกิดที่ M’Sila โตขึ้นเดินทางไปร่ำเรียนกฎหมายและกสิกรรมยังฝรั่งเศส ปฏิเสธเข้าร่วม Franch Army ก่อนอาสาสมัคร Algerian Resistance ในประเทศ Tunisia เมื่อเข้าร่วมกองกำลัง Algerian Maquis ทำงานงานเป็นตากล้อง ต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก National Liberation Front (FLN) ส่งไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง Filmová a televizní fakulta Akademie múzických umění v Praze (FAMU) ณ กรุง Prague ฝึกงานสตูดิโอ Barrandov Studios แล้วกลับมาเข้าร่วม Service Cinema (ของรัฐบาลพลัดถิ่น Algerian) สรรค์สร้างภาพยนตร์ต่อต้านอาณานิคม (Anti-Colonialism) อาทิ The Winds of the Aures (1966), Hassan, Terrorist (1968), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

สำหรับ وقائع سنين الجمر, ชื่อฝรั่งเศส Chronique des Années de Braise แปลว่า Chronicle of the Years of Fire ถือเป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของผกก. Lakhdar-Hamina นำเสนอผ่านมุมมองเกษตรกร/บิดาที่ต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบาก จากทั้งสภาพอากาศเหือดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันมานาน ทำให้ต้องพาครอบครัวออกเดินทางสู่ชุมชนเมือง แต่ก็ถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้างฝรั่งเศส พานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-45), เหตุการณ์โรคระบาดไข้ไทฟอยด์, สังหารหมู่ผู้ชุมนุมประท้วง, จนที่สุดก็มิอาจอดรนทน รวบรวมสมัครพรรคพวก ลุกฮือขึ้นต่อต้าน ขับไล่ จุดเริ่มต้นของ Algerian War of Independence (1954-62)

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลา

  • The Years of Ashes ช่วงเวลาแห่งความเหือดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันมานาน ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อทำพิธีขอฝน พอลำคลองเริ่มมีสายน้ำไหล กลับถูกแก่งแย่งโดยฟากฝั่งขั้วตรงข้าม โชคยังดีปีนี้ฝนตกเพียงพอต่อผลผลิต แต่ปีถัดมาก็ไม่หลงเหลืออะไรอีกครั้ง นั่นทำให้ Ahmed เดินทางสู่ชุมชนเมือง รับรู้จักคนบ้า พาแนะนำสถานที่ต่างๆ ทำงานให้นายจ้างฝรั่งเศส ถูกกดขี่ข่มเหง แอบเป็นกำลังใจให้ Adolf Hitler เข้ายึดครองฝรั่งเศสได้สำเร็จ
  • The Year of the Cart เกิดโรคระบาดไข้ไทฟอยด์ (รากสาดน้อย) ทำให้แทบทั้งครอบครัวของ Ahmed ล้มป่วยเสียชีวิต หลงเหลือเพียงทารกน้อย พาเดินทางกลับบ้านชนบท จำใจต้องทำงานกับนายจ้างฝรั่งเศสอีกครั้ง
  • The Smoldering Years ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Ahmed ถูกบีบบังคับให้เกณฑ์ทหาร เข้าร่วมสู้รบ ถูกจับกุม ทัณฑ์ทรมาน หวนกลับมาบ้านในสภาพเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า รวมกลุ่มกับผองเพื่อนพูดคุยเรื่องการเมือง
  • The Year of the Massacre พวกนักการเมืองพยายามหาเสียงให้กับการเลือกตั้ง แต่ Ahmed และผองพวกแสดงความเห็นว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ต่อมาเกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวเมืองกับทหารฝรั่งเศส นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่
  • The Year of Fire เปลี่ยนมานำเสนอมุมมองบุตรชายของ Ahmed ติดตามหาบิดาที่สูญหายตัว แต่เขากลับเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิบัติ และกลายเป็นวีรบุรุษหลังเสียสละชีพเพื่ออุดมการณ์
    • 1 November 1954 ความตายของคนบ้า และจุดเริ่มต้นสงคราม Algerian War of Independence

ในส่วนของนักแสดง จะมีอยู่สองคนที่โดดเด่นกว่าใคร

  • Yorgo Voyagis, Γιώργος Βογιατζής (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติ Greek เกิดที่กรุง Athens เข้าสู่วงการจากบทบาทสมทบ Zorba the Greek (1964), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Chronicle of the Years of Fire (1975), สมทบซีรีย์โทรทัศน์ Jesus of Nazareth (1977) ฯ
    • รับบท Ahmed ชายชาวนา ผู้มีความดื้อรั้น ดึงดัน มิอาจอดกลั้นฝืนทนต่อทั้งความเหือดแห้งแล้ง รวมถึงการถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกฝรั่งเศส แสดงสีหน้าบึ้งตึง เคร่งเครียด พร้อมโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง โหยหาโอกาสจะได้มีชีวิต กินดีอยู่ดี แต่กลับต้องสูญเสียภรรยาและบุตร จนไม่สามารถเผชิญหน้าทารกน้อย จำยินยอมอาสาสมัครทหาร เคยถูกจับกุม ทัณฑ์ทรมาน เมื่อกลับบ้านปฏิเสธการประณีประณอม รวบรวมสมัครพรรคพวกพ้อง ตระเตรียมการต่อสู้ เผชิญหน้า ปลดแอกอาณานิคม น่าเสียดายที่เขามีชีวิตไม่ถึงวันนั้น แต่ก็เลือกความตายเยี่ยงวีรบุรุษ
    • หลายคนน่าจะรู้สึกประหลาดใจอยู่เล็กๆ แทนที่จะเลือกนักแสดงนำชาว Algerian กลับใช้บริการ Yorgo Voyagis สัญชาติกรีก น่าเสียดายที่ผมก็หาคำตอบให้ไม่ได้ หน้าตาถือว่ากลมกลืมเข้ากับชาวอาหรับ ส่วนความรู้สึกผิดที่ผิดทาง (ที่ไม่ใช่ชาว Algerian) จะว่าไปสอดคล้องพฤติกรรมนอกรีต หัวขบถ ชอบกระทำสิ่งแหกนอกคอก
  • อีกหนึ่งนักแสดงคนสำคัญไม่ใช่ใครอื่นไกล ก็คือผกก. Lakhdar-Hamina
    • รับบทชายคนบ้า (ไม่มีชื่อ) เริ่มต้นเป็นคนพา Ahmed แนะนำสถานที่โดยรอบเมือง ขณะเดียวกันปากพูดพร่ำไม่เคยหยุด ฟังผิวเผินเหมือนจะไร้สาระ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนระบายความอึดอัดอั้น แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ขณะนั้นๆอย่างตรงไปตรงมา เลยมักถูกกลั่นแกล้ง กระทำร้ายร่างกาย ไม่สามารถโต้ตอบขัดขืนอันใด และช่วงครึ่งหลังยังเป็นผู้ดูแลบุตรชายของ Ahmed (ตั้งแต่บิดาออกไปรบ ก็ไม่เคยหวนกลับมาหา) จนกระทั่งชีพวางวาย
    • นี่เป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจ ใครต่อใครอาจมองว่าเป็นคนบ้า แต่แท้จริงแล้วอาจแสร้งบ้า เพราะทุกคำเอ่ยกล่าวออกมา แสดงถึงสติปัญญา ความรอบรู้ เฉลียดฉลาด (ทุกคำกล่าวของคนบ้า สำหรับอธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริง) เหมือนคนมิอาจอดกลั้นฝืนทนต่อวิถีชีวิตขณะนั้น เลยระบายออกมาด้วยคำพูดและการกระทำ (ให้ดูว่าแกล้งบ้า)

ถ่ายภาพโดย Marcello Gatti (1924-2013) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุง Rome เริ่มต้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ก่อนถูกจับติดคุกห้าปีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะทำลายภาพถ่ายท่านผู้นำ Benito Mussolini ในสตูดิโอ Cinecittà, หลังได้รับอิสรภาพกลายเป็นตากล้องเต็มตัว มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Four Days of Naples (1962), The Battle of Algiers (1966), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

ด้วยความทะเยอทะยานของผกก. Lakhdar-Hamina ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ (Epic) ด้วยการเลือกใช้ฟีล์ม Panavision 35mm (เวลาฉายมีการ ‘blow-up’ เพื่อให้ได้ฟีล์ม 70mm) อัตราส่วน Anamorphic (2.35:1) กระบวนการสี Eastmancolor

แม้ใช้บริการตากล้องคนเดียวกัน แต่งานภาพของ The Battle of Algiers (1966) ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ เน้นความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน แพนนิ่ง-ซูมมิ่ง-แทร็กกิ้ง ยังสถานที่ห้อมล้อมรอบด้วยผนังกำแพงย่าน Casbah ภายในเมืองหลวง Algiers, ตรงกันข้ามกับ Chronicle of the Years of Fire (1975) ถ่ายทำกลางท้องทะเลทราย มองออกไปไกลสุดลูกหูลูกตา (อาจไม่ตราตะลึงระดับ Lawrence of Arabia (1962) แต่น่าจะมีความงดงามพอสมควรเลยละ) ปล่อยกล้องให้ค่อยๆขยับเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศ สัมผัสถึงความเหือดแห้งแล้ง บังเกิดอารมณ์ลุ่มร้อนสุมทรวงอก … เป็นการใช้ภาพถ่ายบรรยายเรื่องราว มีคำเรียกว่า ‘Cinema Poem’

สิ่งหนึ่งที่ต้องเอ่ยปากชม คือการกำกับตัวประกอบจำนวนมาก (น่าจะมากกว่า The Battle of Algiers (1966) เสียอีกนะ!) ซึ่งไม่ได้แค่ฉากสองฉาก แต่มีมากมายเต็มไปหมดหลักสิบ-ร้อย-พัน นั่นเพราะผกก. Lakhdar-Hamina ต้องการนำเสนออิทธิพล ผลกระทบบังเกิดขึ้นกับคนหมู่มาก … การนำเสนอเรื่องราวจึงแทบไม่ลงรายละเอียดตัวละคร เพียงให้ Ahmed และครอบครัว ประสบพบเห็น พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆเท่านั้นเอง


ตัดต่อโดย Youcef Tobni, แม้หนังดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองของ Ahmed (ยกเว้น The Year of Fire สลับเปลี่ยนมาเป็นบุตรชาย) แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดตัวละครสักเท่าไหร่ ทำเหมือนว่าเขาดำเนินชีวิต ล่องลอยพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ต้องการให้ผู้ชมพบเห็นอิทธิพล ผลกระทบ สิ่งบังเกิดขึ้นกับผู้คนรอบข้างเสียมากกว่า

การดำเนินเรื่องของหนังในช่วงแรกๆ มีความค่อยเป็นค่อยไป ตัดต่ออย่างไม่เร่งรีบ (จึงได้ระยะเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมง) จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศ สัมผัสถึงความลุ่มร้อน เหือดแห้งแล้ง, ซึ่งพอตัวละครเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนเมือง จะมีการถ่ายภาพที่โฉบเฉี่ยวขึ้นนิด ตัดต่อฉับไวอีกหน่อย เพื่อเพิ่มอารมณ์ลุ่มร้อนทรวงอก … แต่ภาพรวมยังถือว่าหนังมีการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างช้าอยู่ดีนะครับ


เพลงประกอบโดย Philippe Arthuys (1928-2010) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ India: Matri Bhumi (1959), Le Trou (1960), Paris Belongs to Us (1961), The Glass Cage (1965), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

ในส่วนของเพลงประกอบ ผมสังเกตว่าซีเควนซ์ไหนที่เกี่ยวกับ Algeria มักใช้บทเพลงพื้นบ้านอาหรับ มีทั้งท่วงทำนองสนุกสนาน แฝงความทุกข์ทรมาน สะท้อนห้วงอารมณ์ตัวละครขณะนั้นๆ แต่ถ้าเป็นฉากเกี่ยวกับฝรั่งเศส (ในชุมชนเมือง) มักได้ยินดนตรีสากล บทเพลงคลาสสิก ฟังดูสูงส่ง หรูหรา ขัดกับวิถีชีวิตเคยมีมา


Chronicle of the Years of Fire (1975) ไม่ใช่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่นำเสนอจุดเริ่มต้น การก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) แต่พยายามแสดงให้เห็นถึงสาเหตุผล อิทธิพลจากการเป็นประเทศอาณานิคม ทำให้ Algeria ได้รับผลกระทบเช่นไร? เพราะเหตุใด ทำไมองค์กร FLN จึงได้ถือกำเนิดขึ้น?

เพราะสภาพทุรกันดาร ทะเลทรายเหือดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันมาหลายปี ทำให้ผู้คนต้องอพยพสู่ชุมชนเมือง แต่เมื่อเข้ามาแล้วกลับยังไร้งาน ไร้เงิน ถูกกดขี่ข่มเหงโดยนายจ้าง แถมเจ้าหน้าที่รัฐยังชอบใช้อำนาจในทางมิชอบ บีบบังคับให้ประชาชนทำโน่นนี่นั่น พูดคำดูถูกเหยียดหยาม เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาว Algeria จะให้การสนับสนุน Adolf Hitler (เพราะถ้า Nazi Germany ได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศส พวกเขาก็เชื่อว่าตนเองได้รับอิสรภาพไปด้วย)

เหตุการณ์ต่างๆที่หนังนำเสนอมานั้น เพื่อสร้างความรู้สึกอัดอั้น เกรี้ยวกราด ผู้ชมเกิดอาการแค้นเคืองโกรธลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism ) เพราะฝรั่งเศสเอาแต่กดขี่ข่มเหงชาว Algerian สนเพียงผลประโยชน์พวกเดียวกันเอง มอบความหวังลมๆแล้งๆ นั่นทำให้เมื่อถึงจุดแตกหัก พวกเขาจึงมิอาจอดรนทน กลายเป็นชนวนเหตุเริ่มต้นสงคราม Algerian War of Independence (1954-62)

สำหรับผกก. Lakhdar-Hamina เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า Chronicle of the Years of Fire (1975) ไม่ได้ต้องการสรรค์สร้างให้ออกมาในเชิงบันทึกประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นสงคราม Algeria War แต่เป็นภาพยนตร์ค้นหารากเหง้า ที่มีความเป็นส่วนตัว (Personal) โดยสามารถเปรียบเทียบตัวละคร Ahmed ก็คือบิดาของผู้กำกับ (หรือจะมองว่าคือตัวแทนผกก. Lakhdar-Hamina เองเลยก็ยังได้) ส่วนเด็กน้อยไร้เดียงสา ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อแทนจิตวิญญาณชาว Algerian กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆรอบข้าง พร้อมสานต่ออุดมการณ์ เพื่ออิสรภาพของชนชาวเรา

(คล้ายๆกับ The Battle of Algiers (1966) ที่การเสียสละ/ความตายของตัวละคร ทำให้กลายเป็นวีรบุรุษ สร้างพละพลัง กำลังหึกเหิม ปลุกระดมผู้ชม ก่อเกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด)

สำหรับบทบาทคนบ้าที่ผกก. Lakhdar-Hamina รับเล่นด้วยตนเอง ผมมองจากถ้อยคำกล่าวของตัวละครนี้ เป็นการแสดงทัศนคติ ความคิดเห็น ระบายความรู้สึกอัดอั้น อารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง ต่อเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น … มันอาจฟังดูเพ้อเจ้อไร้สาระ แต่สามารถเติมเต็มเนื้อหาสาระ ระบายทุกสิ่งอย่างที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กำกับออกมา


ระหว่างเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes คงเพราะใจความต่อต้านฝรั่งเศส ผู้กำกับ Lakhdar-Hamina เลยได้รับจดหมายขู่ฆ่าจากกลุ่มหัวรุนแรงใต้ดิน ทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยขณะนั้น Michel Poniatowski ต้องส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยมาคอยปกป้องดูแล จนกระทั่งขึ้นรับรางวัล Palme d’Or จากประธานคณะกรรมการ Jeanne Moreau

ปล. รางวัล Palme d’Or ของ Chronicle of the Years of Fire (1975) เป็นอะไรที่เกินความคาดหมายอย่างมากๆ (เพราะได้รางวัลจากประเทศที่เคยเป็นเจ้าของอาณานิคม แถมในประเด็นต่อต้านลัทธิอาณานิคม) และชัยชนะเหนือภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง The Passenger, The Enigma of Kaspar Hauser, Lenny, Scent of a Woman, A Touch of Zen ต้องถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว

เห็นคุณภาพของหนังในตอนแรกจากคลิปใน Youtube (VHS แปลงเป็น DVD) ผมก็โล้เล้ลังเลใจว่าจะเสียเวลาสามชั่วโมงดีไหม หรือเก็บขึ้นหิ้งดองไว้รอฉบับบูรณะที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ เห็นเวลายังเหลือก่อนโปรแกรมฉาย John Waters ก็เลยจัดไปสักหน่อย

แม้คุณภาพหนังจะย่ำแย่เหลือทน แต่ผมยังพบเห็นความงดงามอันน่าอึ้งทึ่ง ทิวทัศน์ทะเลทรายกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เรื่องราวอาจไม่ได้สลับซับซ้อน ในสามชั่วโมงเหมือนแทบไม่มีอะไร แต่ใช้ภาษาภาพ ‘Cinema Poem’ พรรณาจุดเริ่มต้น สาเหตุผล … ทะเลทรายที่เหือดแห้งแล้ง ยังไม่เทียบเท่าจิตใจอันลุ่มร้อน แผดเผาถึงทรวงใน

และโดยเฉพาะตัวละครคนบ้าของ Lakhdar-Hamina พร่ำพรรณาความครุ่นคิด สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ มันอาจฟังดูไร้สาระ แต่ล้วนคือความสัจจริง ตรงไปตรงมา (พูดอธิบายเรื่องราว สำหรับคนที่ไม่สามารถจับใจความ)

จัดเรต 15+ กับความแห้งแล้ง ทุรกันดาร คิดเห็นต่างทางการเมือง

คำโปรย | Chronicle of the Years of Fire ทะเลทราย Algeria มีความลุ่มร้อน เหือดแห้งแล้ง แผดเผาถึงทรวงใน
คุณภาพ | หืห้
ส่วนตัว | แผดเผา