Hyènes (1992)


Hyènes (1992) Senegalese : Djibril Diop Mambéty ♥♥♥♥

ภาพยนตร์กึ่งสุขกึ่งโศก (Tragi-Comedy) เมื่อมหาเศรษฐีนีเดินทางกลับบ้านเกิด ณ Colobane, Senegal พร้อมมอบเงินก้อนใหญ่ ให้ใครก็ตามลงมือเข่นฆาตกรรมอดีตชู้รัก เคยข่มขืนตนเองตอนอายุ 17 จนตั้งครรภ์ ระหว่างศีลธรรม ความถูกต้อง หรืออำนาจของเงิน ชาวบ้านแห่งนี้จะตัดสินใจเช่นไร?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เกร็ด: Hyènes หรือ Hyenas สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กินเนื้อ รูปร่างคล้ายสุนัขหรือหมาป่า กระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปแอฟริกา (และบางส่วนของอาหรับ อินเดีย) มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง (เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และเพื่อป้องกันการกินลูกของตนเอง) เป็นสัตว์กินไม่เลือก แม้แต่กระดูก ซากสัตว์ ขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าเล่ห์เพทุบาย และมีเสียงร้องเหมือนกับเสียงหัวเราะ

มนุษย์ไฮยีน่า คล้ายๆกับพวกแมงดา คือบุคคลที่ชอบกอบโกย เกาะกิน แสวงหาผลประโยชน์(จากความเดือดร้อน)ของผู้อื่น ในบริบทของหนังก็คือชาวเมือง Colobane ที่พอมหาเศรษฐีนี Linguere Ramatou ผู้ร่ำรวยยิ่งกว่าธนาคารโลกเดินทางกลับมา ก็พร้อมเลียแข้งเลียขา ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เศษเงินทอง นำมาสนองความสุขสำราญ ใช้ข้ออ้างความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ทอดทิ้งหลักศีลธรรม ตกเป็นทาสลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ไม่ต่างจากการถูกล่าอาณานิคม (Neo-Colonialism)

ความประทับใจจาก Touki Bouki (1973) ทำให้ผมขวนขวายมองหาผลงานอื่นของผกก. Djibril Diop Mambéty พอค้นพบว่า Hyènes (1992) ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว จะให้พลาดได้อย่างไร แค่ช็อตแรกๆก็อ้าปากค้าง ภาพสวยชิบหาย พยายามย้อมเหลือง-ทอง เพื่อสร้างความมันวาว เปร่งประกายให้กับสีผิวชาวแอฟริกัน แม้ลีลาการกำกับ ลูกเล่นภาพยนตร์จะไม่แพรวพราวเท่าผลงานก่อน แต่เนื้อเรื่องราวแฝงสาระข้อคิด มีความทรงคุณค่ายิ่งๆนัก


Djibril Diop Mambéty (1945-1998) นักกวี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Senegalese เกิดที่ Colobane ชานเมืองหลวง Dakar, Senegal ในครอบครัวมุสลิม ชนเผ่า Lebou แม้ฐานะยากจนแต่มักหาโอกาสรับชมภาพยนตร์ฉายกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน แค่เพียงฟังเสียงอยู่ข้างนอกก็ยังดี (นั่นคือหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เสียงในผลงานของ Mambéty มีความสำคัญอย่างมากๆ) โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano แต่ไม่ทันไรกลับถูกไล่ออกเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

แม้ไม่เคยร่ำเรียนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้วยความหลงใหลใน Italian Neorealist และ French New Wave เมื่อตอนอายุ 21 ปี ขอหยิบยืมกล้อง 16mm จาก French Cultural Centre ร่วมกับผองเพื่อนถ่ายทำหนังสั้น Badou Boy (1966) [แล้วรีเมค Badou Boy (1970)] บันทึกการเดินทางของชายหนุ่ม Badou Boy ตามท้องถนนหนทางเมือง Dakar [น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Borom Sarret (1963) ของ Ousmane Sembène] เข้าฉายเทศกาลหนัง Mondial des Arts Nègres (จัดที่ Dakar) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Touki Bouki (1973) ผกก. Mambéty ก็สูญหายตัวไปอย่างลึกลับกว่า 15+ ปี ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าเอาเวลาไปทำอะไร (คงคล้ายๆ Terrence Malick ที่ก็หายตัวไปเกือบ 20 ปี น่าจะออกค้นหาตัวตนเองกระมัง) บทสัมภาษณ์ที่พบเจอให้คำอธิบายประมาณว่า

I loved pictures when I was a very young boy — but pictures didn’t mean cinema to me then. When I was young, I preferred acting to making pictures. So I decided to study drama, but one day in the theater, I realized that I love pictures. That was how I found myself in this thing called cinema. From time to time, I want to make a film, but I am not a filmmaker; I have never been a filmmaker.

Djibril Diop Mambéty

ผกก. Mambéty หวนกลับมายุ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์อีกครั้ง จากการช่วยงานเพื่อนผกก. Idrissa Ouedraogo ถ่ายทำภาพยนตร์ Yaaba (1989) ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าตัวยังได้ถ่ายทำสารคดีขนาดสั้น บันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำ Parlons Grand-mère (1989)

สำหรับ Hyènes (1992) มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการติดตามหา(จิตวิญญาณ)ตัวละคร Anta จากภาพยนตร์ Touki Bouki (1973) ที่ตอนจบตัดสินใจขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส (ไม่ใช่ค้นหานักแสดง Mareme Niang ที่รับบท Anta นะครับ) อยากรับรู้ว่าเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน โชคชะตาของเธอจะปรับเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

I began to make Hyènes when I realized I absolutely had to find one of the characters in Touki Bouki, which I had made twenty years before. This is Anta, the girl who had the courage to leave Africa and cross the Atlantic alone. When I set out to find her again, I had the conviction that I was looking for a character from somewhere in my childhood. I had a vision that I already had encountered this character in a film. Ultimately, I found her in a play called The Visit (1956) by Friedrich Dürrenmatt. I had the freedom and confidence to marry his text with my film and make his story my own.

หลังจากใช้เวลาครุ่นคิดค้นหาอยู่สักพักใหญ่ๆ ผกก. Mambéty ก็ได้ค้นพบ(จิตวิญญาณ)ตัวละคร Anta อยู่ในบทละคอนสามองก์ แนวกึ่งโศกนาฏกรรมกึ่งสุขนาฏกรรม (Tragi-Comedy) เรื่อง The Visit (1956) แต่งโดย Friedrich Dürrenmatt (1921-90) นักเขียนชาว Swiss ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ Schauspielhaus Zürich, Switzerland เมื่อปี ค.ศ. 1956 ประสบความสำเร็จจนมีโอกาสเดินทางไป West-End และ Broadway ในปีถัดๆมา

เกร็ด: ชื่อเต็มๆของบทละคอนนี้คือ (เยอรมัน) Der Besuch der alten Dame, (ฝรั่งเศส) La visite de la vieille dame, (อังกฤษ) The Visit of the Old Lady

เกร็ด 2: ก่อนหน้านี้มีการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ The Visit (1964) กำกับโดย Bernhard Wicki, นำแสดงโดย Ingrid Bergman และ Anthony Quinn เสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่ อาจเพราะมีการปรับเปลี่ยนตอนจบ Happy Ending สไตล์ Hollywood

อธิบายแบบนี้หลายคนคงครุ่นคิดว่า Hyènes (1992) คือภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) แต่ผกก. Mambéty ไม่ได้จำกัดตนเองอยู่ภายในกรอบนั้น รวมถึงการดัดแปลงบทละคอน The Visit ที่ก็มีเพียงพล็อตดราม่าหลวมๆ แต่รายละเอียดอื่นๆล้วนคืออิสรภาพในการสร้างสรรค์ วิสัยทัศน์ของผู้สร้างในการถ่ายทอดเรื่องราวออกมา

I focused on the notion of freedom, which includes the freedom not to know. That implies confidence in your ability to construct images from the bottom of your heart. When artists converge on these images, there is no longer room for ethnic peculiarities; there is only room for talent. You mustn’t expect me to cut the patrimony of the mind into pieces and fragments. A film is a kind of meeting; there is giving and receiving. Now that I have made it, Hyènes belongs as much to the viewer as to me. You must have the freedom and confidence to understand and critique what you see.


เรื่องราวของมหาเศรษฐีนี Linguere Ramatou ผู้มีความร่ำรวยยิ่งกว่าธนาคารโลก ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด ณ Colobane, Senegal ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบรรดาชาวเมือง รวมถึงคนรักเก่า Dramaan Drameh คาดหวังให้เธอช่วยกอบกู้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมืองแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

แต่สิ่งที่ Linguere Ramatou เรียกร้องขอต่อชาวเมือง Colobane คือการเข่นฆาตกรรมอดีตคนรัก Dramaan Drameh เล่าว่าเมื่อตอนอายุ 17 โดนข่มขืนจนตั้งครรภ์ แล้วถูกขับไล่ ผลักไส กลายเป็นโสเภณี แล้วยังต้องเดินทางจากบ้านเกิดไปแสวงโชคยังต่างแดน

ในตอนแรกๆชาวเมืองต่างปฏิเสธเสียงขันแข็ง ด้วยข้ออ้างหลักศีลธรรมที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน จะให้เข่นฆ่าพวกพ้องมิตรสหายได้อย่างไรกัน นั่นทำให้ Linguere Ramatou ค่อยๆเอาวัตถุ ข้าวของ พัดลม ตู้เย็น ฯ สารพัดสิ่งอำนวยสะดวกสบายมาล่อซื้อใจ รวมถึงเศรษฐกิจของเมือง Colobane กลับมาเฟื่องฟู รุ่งเรือง นั่นทำให้ความครุ่นคิดของชาวเมืองค่อยๆผันแปรเปลี่ยน ก่อนในที่สุดจะตัดสินใจ …


ผกก. Mambéty โอบรับแนวคิดของ Italian Neorealism เลยเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์มาก่อน ล้วนคือชาวเมือง Colobane ที่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงภาพลักษณ์ตัวละคร

  • Dramaan Drameh (รับบทโดย Mansour Diouf) เจ้าของร้านขายของชำ ภายนอกเป็นคนอัธยาศัยดี มีไมตรีต่อเพื่อนพ้อง ขณะเดียวกันแอบหวาดกลัวภรรยา พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องชื่อเสียง ไม่ต้องการถูกตีตรา มีปัญหาเรื่องรักๆใคร่ๆ นั่นเพราะในอดีตเคยตกหลุมรัก แอบสานสัมพันธ์ Linguère Ramatou พลั้งพลาดทำเธอตั้งครรภ์ จ่ายสินบนให้พยานสองคน เพื่อตนเองจะได้รอดพ้นมลทิน
    • ผมไม่สามารถหารายละเอียดใดๆเกี่ยวกับ Mansour Diouf แต่ความน่าสนใจคือภาพลักษณ์ที่ดูไม่เหมือนบุคคลโฉดชั่วร้าย แถมยังอัธยาศัยดี มีมิตรไมตรีต่อเพื่อนพ้อง คำกล่าวอ้างของ Linguère Ramatou หลายคนอาจรู้สึกฟังไม่ขึ้น หลักฐานไม่เพียงพอ เกิดความสงสารเห็นใจ เหมือนถูกกลั่นแกล้ง/ผลกรรมตามทัน ท่าทางห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ค่อยๆยินยอมรับสภาพความจริง เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่มีอะไรจะพูดก่อนตาย
  • Linguère Ramatou (รับบทโดย Ami Diakhate) หญิงสูงวัยผู้พานเคยผ่านอะไรมามาก หลังโดนข่มขืน ตั้งครรภ์ ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน กลายเป็นโสเภณี ไต่เต้าจนกลายเป็นเศรษฐีนี หลังเอาตัวรอดจากเหตุการณ์เครื่องบินตก แขน-ขาพิการ ทำให้เธอตัดสินใจหวนกลับบ้านเกิดเพื่อล้างแค้น เอาคืน ไม่มีอะไรให้หวาดกลัวเกรงความตาย
    • ผมอ่านเจอว่าผกก. Mambéty พบเจอ Ami Diakhate เป็นแม่ค้าขายซุป (น่าจะก๋วยเตี๋ยว) อยู่ในตลาดเมือง Daker ด้วยน้ำเสียงหยาบกระด้าง เหมือนคนกร้านโลก พานผ่านอะไรมามาก และท่าทางเริดเชิด เย่อหยิ่งยโสโอหัง เหมาะกับบทนางร้าย มหาเศรษฐีนี จิตใจเลวทราม พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ล้างแค้น โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว อะไรทั้งนั้น
  • ผกก. Mambéty ยังรับบทตัวละครชื่อ Gaana ทีแรกผมนึกว่าคือบอดี้การ์ดของ Linguère Ramatou แต่แท้จริงแล้วคืออดีตผู้นำหมู่บ้าน Colobane ถูกใส่ร้ายป้ายสีหรืออะไรสักอย่าง ทำให้สูญเสียตำแหน่งของตนเอง ซึ่งก็ไม่รู้มีโอกาสไปพบเจอ ต่อรองอะไรถึงยินยอมร่วมมือกับ Ramatou เพื่อทำการยึดครอบครอง Colobane ปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็น …
    • ผมยังครุ่นคิดไม่ตกว่าทำไมผกก. Mambéty ถึงตัดสินใจเลือกรับบทบาทนี้ เหมือนตัวเขามีความเพ้อฝัน อยากจะฟื้นฟูบ้านเกิด Colobane ให้มีความรุ่งเรือง ไม่ใช่เสื่อมโทรมอย่างที่อาจเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น

ผมอ่านเจอว่าต้นฉบับบทละคร The Visitor ตัวละครมหาเศรษฐีนี Claire Zachanassian เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เมื่อหวนกลับบ้านเกิดจึงมีพวกนักข่าว ปาปารัสซี่ ติดสอยห้อยติดตาม ถ่ายภาพทำข่าวไม่ยอมเหินห่าง แต่ภาพยนตร์ของผกก. Mambéty เลือกตัดทิ้งความวุ่นๆวายๆนั้นไป ปรับเปลี่ยนมาเป็นบอดี้การ์ด และสาวรับใช้ 3-4 คน (หรือชู้รักก็ไม่รู้นะ) หนึ่งในนั้นคือหญิงชาวญี่ปุ่น ซึ่งดูผิดแผกแปลกประหลาดมากๆ เหตุผลก็คือ …

The point is not that she is Asian. The point is that everyone in Colobane–everyone everywhere–lives within a system of power that embraces the West, Africa, and the land of the rising sun. There is a scene where this woman comes in and reads: she reads of the vanity of life, the vanity of vengeance; that is totally universal. My goal was to make a continental film, one that crosses boundaries. To make Hyènes even more continental, we borrowed elephants from the Masai of Kenya, hyenas from Uganda, and people from Senegal. And to make it global, we borrowed somebody from Japan, and carnival scenes from the annual Carnival of Humanity of the French Communist Party in Paris. All of these are intended to open the horizons, to make the film universal. The film depicts a human drama. My task was to identify the enemy of humankind: money, the International Monetary Fund, and the World Bank. I think my target is clear.

Djibril Diop Mambéty

ถ่ายภาพโดย Matthias Kälin (1953-2008) ตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์/สารคดี สัญชาติ Swiss ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), สารคดี Lumumba: Death of a Prophet (1991), Hyènes (1992) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้แพราวพราวด้วยลูกเล่น ลีลาภาพยนตร์เหมือนกับ Touki Bouki (1973) แต่มีการย้อมสีเหลือง-ทอง เพื่อสร้างความมันวาว กลมกลืนเข้ากับพื้นหลังดินลูกรัง ทะเลทราย และยังทำให้สีผิวชาวแอฟริกันดูโดดเด่น เปร่งประกาย … กล้องที่ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ผู้ชมสัมผัสเหือดแห้ง อดอยากปากแห้ง ดินแดนขาดความสดชื่น ไร้ชีวิตชีวา

การมาถึงของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou แม้นำพาพัดลม โทนสีฟ้า น้ำทะเล รวมถึงสีสันอื่นๆที่ทำให้ดูร่มเย็น คลายความร้อนจากแสงแดดแผดเผาชาวเมือง Colobane แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างความลุ่มร้อน มอดไหม้ทรวงใน เพราะข้อเรียกร้องของเธอบ่อนทำลายจิตวิญญาณผู้คน กำลังจะสูญสิ้นความเป็นมนุษย์


ทีแรกผมก็แอบงงๆ เพราะหนังชื่อ Hyènes (1992) แต่ภาพช็อตแรกกลับถ่ายให้เห็นฝูงช้างแอฟริกันกำลังอพยพ ก้าวออกเดิน ก่อนตัดมาภาพฝูงชนชาว Colobane ก็กำลังก้าวเดินเช่นกัน นี่เป็นความพยายามเปรียบเทียบคู่ขนานระหว่างมนุษย์ = สัตว์ เป็นภาษาภาพยนตร์ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้ง!

ไฮไลท์คือชื่อหนัง Hyènes ปรากฎขึ้นระหว่างฝูงชนกลุ่มนี้กำลังก้าวเดินขึ้นมา นี่เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาเลยว่ามนุษย์ = ไฮยีน่า

แซว: มันไม่ใช่ว่าภาพสรรพสัตว์เหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปใน Colobane, Senegal แต่ผกก. Mambéty เดินทางไปขอถ่ายทำสัตว์เหล่านี้ทั่วแอฟริกัน Kenya, Uganda ฯ

To make Hyènes even more continental, we borrowed elephants from the Masai of Kenya, hyenas from Uganda, and people from Senegal.

Djibril Diop Mambéty

เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังดำเนินเรื่องยังร้านอาหาร ขายของชำ สถานที่แห่งความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน ชวนให้ผมนึกถึงโรงเตี๊ยมของหนังจีน(กำลังภายใน) นี่แสดงให้เห็นว่าแม้วัฒนธรรม ชาติพันธุ์แตกต่างกัน แต่วิถีของมนุษย์ไม่ว่าจะซีกโลกไหน ล้วนมีบางสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึงกัน

ผู้นำหมู่บ้านนักเรียกประชุมแกนนำ สำหรับวางแผนเตรียมการต้อนรับ Linguère Ramatou ยังสถานที่ที่ชื่อว่า “Hyena Hole” แค่ชื่อก็บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง ซึ่งก่อนนำเข้าฉากนี้ยังพบเห็นฝูงอีแร้งบินโฉบลงมา มันคือสัตว์ชอบกินเศษเนื้อที่ตายแล้ว พฤติกรรมไม่แตกต่างจากไฮยีน่าสักเท่าไหร่ (อีแร้งฝูงนี้ = แกนนำหมู่บ้าน)

สถานที่แห่งนี้ “Hyena Hole” ยังมีสภาพปรักหักพัง ซึ่งแสดงถึงความเสื่อมทรามของเมือง Colobane ไม่ใช่แค่สภาพเศรษฐกิจ สังคม ยังผู้คนเหล่านี้ที่ทำตัวลับๆล่อๆ พูดคุยวางแผนที่จะแสวงหา กอบโกยผลประโยชน์จากเศรษฐีนี Ramatou ไม่ต่างจากพวกอีแร้งนี้สักเท่าไหร่

หนึ่งในการตัดต่อคู่ขนานที่งดงามอย่างมากๆ อยู่ระหว่างพิธีต้อนรับ Linguere Ramatou มีการล้อมเชือดวัว และหญิงชุดแดงทำการโยกเต้นเริงระบำ (ทำเหมือนยั่ววัว) ด้วยท่าทางอันสุดเหวี่ยงของเธอ สะท้อนการต่อสู้ดิ้นรนของเจ้าวัวที่ไม่ต้องการถูกเชือด ก่อนท้ายสุดจะดับดิ้น สิ้นชีวิน

ซีเควนซ์นี้ถือเป็นอารัมบท นำเข้าสู่เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ Dramaan Drameh จู่ๆตกเป็นบุคคลเป้าหมายของ Linguère Ramatou และช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ของหนัง บรรดาชาวบ้านทั้งหลายก็ห้อมล้อมเข้าหาชายคนนี้ โชคชะตาไม่ต่างจากเจ้าวัวกระทิง!

ผมเรียกว่า “Citizen Kane style” มุมก้ม-เงย ตำแหน่งสูง-ต่ำ แสดงถึงวิทยฐานะทางสังคมของตัวละคร ซึ่งในบริบทของหนังนี้ Linguère Ramatou พอกลายเป็นมหาเศรษฐีนี ก็ได้รับการยกย่องเทิดทูน ยืนอยู่เบื้องบน ทำตัวสูงส่งกว่าชาวบ้าน Colobane แทบจะไร้สิทธิ์เสียง ทำได้เพียงก้มหัวศิโรราบ แม้ครั้งนี้ศักดิ์ศรียังค้ำคอ แต่อีกไม่นานทุกคนจักถูกซื้อใจ จนไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

หลังจากค้นพบว่าตำรวจ และผู้นำหมู่บ้าน ถูกซื้อใจไปเรียบร้อยแล้ว Dramaan Drameh เดินลงมาชั้นล่าง สถานที่ประกอบพิธีมิสซาศาสนาคริสต์ คาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้คงไม่ได้รับผลกระทบ เงินซื้อไม่ได้ แต่กลับกลายเป็น … กล้องถ่ายผ่านโคมระย้า หรูหรา ราคาแพง พบเห็นใบหน้าของ Drameh สอดแทรกอยู่ตรงกลาง สื่อถึงการถูกห้อมล้อมทุกทิศทาง จนแทบไร้หนทางออก

ยามดึกดื่น Dramaan Drameh ต้องการจะขึ้นรถไฟ หลบหนีไปจากเมืองแห่งนี้ แต่กลับถูกปิดกั้นโดยชาวเมือง กรูเข้ามาห้อมล้อม ทำตัวไม่ต่างจากฝูงไฮยีน่าที่กำลังเฝ้ารอคอยเหยื่ออันโอชา จนกระทั่งรถไฟเคลื่อนออกจากชานชาลา นั่นทำให้เขาเกิดความตระหนักรับรู้ตนเองว่า คงไม่สามารถหลบหนีพ้นโชคชะตา

ซึ่งระหว่างกำลังนั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ขึ้น มีการแทรกภาพไฮยีน่าตัวหนึ่งกำลังคาบเหยื่อวิ่งหลบหนี … Dramaan Drameh ตกเป็นเหยื่อของ Linguère Ramatou เรียบร้อยแล้วสินะ!

ก่อนเข้าพิธีละหมาดวันศุกร์ ผู้นำหมู่บ้านและครูสอนหนังสือ เดินทางมาพูดคุยต่อรองกับ Linguère Ramatou ร้องขอให้เปิดโรงงาน เพื่อว่าเศรษฐกิจของเมืองจะได้กลับมาเฟื่องฟู แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ เพราะจุดประสงค์แท้จริงไม่ได้ต้องการแค่จะล้างแค้น Dramaan Drameh แต่ยังต้องการให้ชาวเมือง Colobane ติดหนี้ติดสิน ยากจนตลอดชีวิต!

เมื่อเธอพูดประโยคดังกล่าว มีการฉายภาพพระอาทิตย์ทรงกลด ผมไม่ค่อยแน่ใจความเชื่อของชาวแอฟริกัน เป็นไปได้ว่าอาจจะสื่อถึงลางร้าย หายนะ ภัยพิบัติที่กำลังมาเยี่ยมเยือน หรือก็คือโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับชาวเมือง Colobane

ด้วยความที่ครูสอนหนังสือตระหนักรับรู้โชคชะตาของ Dramaan Drameh จึงเดินทางมาดื่มเหล้า มึนเมา โหวกเหวกโวยวาย รับไม่ได้กับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น จากนั้นจิตรกรเอารูปภาพวาด (ของ Dramaan Drameh) ฟาดใส่ศีรษะ ห้อยคอต่องแต่ง แสดงถึงการสูญเสียตัวตน จิตวิญญาณ (ภาพวาดมักคือภาพสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณของบุคคลนั้นๆ)

Dramaan Drameh เดินทางมาพูดคุยต่อรองกับ Linguère Ramatou นั่งอยู่บนดาดฟ้า เหม่อมองออกไปยังท้องทะเลกว้างไกล ภาพนี้ชวนให้ผมนึกถึง Le Mépris (1963) ของผกก. Jean-Luc Godard และคุ้นๆว่า Touki Bouki (1973) ก็มีช็อตคล้ายๆกัน งดงามราวกับสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้นคือสัญลักษณ์ความตาย กลายเป็นนิจนิรันดร์

และวินาทีที่ Dramaan Drameh ถูกห้อมล้อม เข่นฆาตกรรม Linguère Ramatou ก็ก้าวเดินลงบันได ภายในเงามืด ซึ่งก็สามารถสื่อนัยยะถึงความตาย ลงสู่ขุมนรก ไม่แตกต่างกัน!

สถานที่แห่งนี้ชื่อว่า Elephant Cementery ชาวเมืองต่างสวมใส่วิกผม เสื้อกระสอบ ทาแป้งให้หน้าขาว เลียนแบบผู้พิพากษาของพวกยุโรป/สหรัฐอเมริกา ทำการตัดสินความผิดของ Dramaan Drameh อะไรก็ไม่รู้ละ แต่ลงโทษประหารชีวิตด้วยการห้อมล้อมกันเข้ามา แลดูเหมือนการย้ำเหยียบของฝูงช้าง หรือจะมองว่าคือการกัดแทะของไฮยีน่า (เพราะไม่หลงเหลือแม้เศษซากโครงกระดูก)

The people of Colobane are dressed in rice bags. They are hungry; they are ready to eat Draman Drameh. They are all disguised because no one wants to carry the individual responsibility for murder. So what they have in common is cowardice. For each individual to have clean hands, everybody has to be dirty, to share in the same communal guilt. So the people of Colobane become animals. Their hair makes them buffaloes. The only thing they have that is human is greed.

Djibril Diop Mambéty

หลังถูกกัดกินจากความละโมบโลภมากของชาวเมือง Colobane สิ่งหลงเหลือสำหรับ Dramaan Drameh มีเพียงเศษผ้าขี้ริ้ว ที่จะถูกรถแทรคเตอร์ดันดินลูกรังเข้ามากลบทับ จนราบเรียบ ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง สัญลักษณ์ของการถูกกลืนกินโดยลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) และอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) และพบเห็นต้นไม้ลิบๆ รากเหง้าชาวแอฟริกันที่กำลังเลือนหาย สูญสลาย หมดสิ้นไป

ตัดต่อโดย Loredana Cristelli (เกิดปี 1957) เกิดที่อิตาลี แล้วไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง Zürich ก่อนกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อภาพยนตร์ของ Alain Tanner, Jean-Luc Godard, Nicolas Gessnet, ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), Hyènes (1992) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Dramaan Drameh เจ้าของร้านขายของชำในเมือง Colobane, Senegal เมื่อได้ยินข่าวคราวการหวนกลับมาของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou ได้รับมอบหมายจากผู้นำหมู่บ้านให้มาคอยต้อนรับขับสู้ หาวิธีการให้เธอช่วยฟื้นฟูดูแลเมืองแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง แต่ผลลัพท์กลับแลกมาด้วยข้อเรียกร้องที่ทำให้ทุกคนเกิดอาการอ้ำอึ้ง กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

  • อารัมบท
    • เริ่มต้นด้วยคนงาน แวะเวียนมายังร้านขายของชำของ Dramaan Drameh
    • นำเสนอความยากจนข้นแค้นของเมือง Colobane
    • ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมแกนนำ วางแผนเตรียมการต้อนรับ Linguère Ramatou
  • การหวนกลับมาของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou
    • Linguère Ramatou เดินทางมาถึงพร้อมบอดี้การ์ดและสาวใช้ ได้รับการต้อนรับยังสถานีรถไฟ
    • Linguère Ramatou หวนระลึกความหลังกับ Dramaan Drameh
    • ระหว่างการเชือดวัว Linguère Ramatou ได้ป่าวประกาศข้อเรียกร้อง พร้อมมอบเงินจำนวนมหาศาลให้กับใครก็ตามที่ยินยอมเข่นฆ่า Dramaan Drameh
  • ชีวิตอันน่าเศร้าของ Dramaan Drameh
    • บรรดาชาวเมืองต่างได้รับสินบนจาก Linguère Ramatou แวะเวียนมายังร้านของ Dramaan Drameh จับจ่ายใช้สอยมือเติบโดยขอให้ขึ้นบัญชีเอาไว้
    • Dramaan Drameh พยายามขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ผู้นำชุมชุน แต่ก็ค้นพบว่าทุกคนต่างถูกซื้อตัวไปหมดสิ้น
    • ชาวบ้านเข้าร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ตรงกันข้ามกับ Dramaan Drameh ต้องการเดินทางไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ แต่กลับถูกยื้อยั้ง หักห้าม ตกอยู่ในความสิ้นหวัง
  • ความจริงเริ่มปรากฎ สันดานธาตุแท้ของผู้คนได้รับการเปิดเผย
    • ผู้นำหมู่บ้านพยายามต่อรองร้องขอ Linguère Ramatou ให้เปิดโรงงาน เศรษฐกิจชุมชนจะได้กลับฟื้นคืน แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ
    • นั่นทำให้ครูสอนหนังสือตระหนักถึงหายนะที่กำลังจะคืบคลานเข้ามา ดื่มสุรามึนเมา เศร้ากับโชคชะตาของ Dramaan Drameh
    • Dramaan Drameh ถูกผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุม ตัดสินโชคชะตา
    • การตัดสินโชคชะตาของ Dramaan Drameh

หนังอาจดำเนินเรื่องไปอย่างเชื่องช้า เพื่อให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศสถานที่ ความลุ่มร้อน แผดเผา จนมอดไหม้ทรวงใน แต่หลายๆครั้งยังมีการแทรกภาพสิงสาราสัตว์ ช้าง ม้า วัว (ไม่มีควาย) สุนัข ลิง ไฮยีนา ฯ เพื่อเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ก็สะท้อนถึงพฤติกรรมมนุษย์ขณะนั้นๆ

ซีเควนซ์ที่ผมชื่นชอบสุดก็คือขณะล้อมเชือดวัว (เพื่อเตรียมงานเลี้ยงฉลอง) มีการนำเสนอคู่ขนานชาวบ้านกำลังไล่ต้อน ห้อมล้อมรอบเจ้าวัว ตัดสลับกับหญิงสาวชุดแดงคนหนึ่ง กำลังโยกเต้นเริงระบำ ท่าทางดิ้นรน ตะเกียกตะกาย (เลียนแบบความตายของเจ้าวัว) จากนั้น Linguère Ramatou ป่าวประกาศข้อเรียกร้อง พร้อมมอบเงินจำนวนมหาศาลให้กับใครก็ตามที่ยินยอมเข่นฆ่า Dramaan Drameh … นัยยะเชิงสัญลักษณ์ของซีเควนซ์นี้ช่างละม้ายคล้ายสำนวนไทย ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’


เพลงประกอบโดย Wasis Diop (เกิดปี 1950) น้องชายผกก. Djibril Diop Mambéty สัญชาติ Senegalese, โตขึ้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ตั้งใจจะร่ำเรียนวิศวกรรม ก่อนหันเหความสนใจมาด้านดนตรี รวมกลุ่มกับ Umbañ U Kset ก่อตั้งวง West African Cosmos ไม่นานก็ออกมาฉายเดี่ยว โดดเด่นจากการผสมผสานดนตรีพื้นบ้าน (Senegalese Folk Song) เข้ากับ Jazz และ Pop Music, ก่อนแจ้งเกิดจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Hyènes (1992)

ทีแรกผมคาดหวังจะได้ยินบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน แต่เริ่มต้นกลับเป็นดนตรี Pop บางบทเพลงก็เป็น Jazz ได้ยินเสียงคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีไฟฟ้า ท่วงทำนองโหยหวน คร่ำครวญ ลากเสียงโน๊ตยาวๆ อาจต้องรับชมจนจบถึงค้นพบว่าหนังนำเสนอเรื่องราวอันน่าเศร้าสลด โศกนาฎกรรมที่สร้างความขัดแย้งภายในจิตใจ จะว่าไปให้ความรู้สึกคล้ายๆ Funeral Song ไว้อาลัยให้กับการสูญสิ้นจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์

ปล. อัลบัมเพลงประกอบของ Wasis Diop ไม่ได้นำจากที่ใช้ในหนังมาใส่ทั้งหมด แต่มักทำการเรียบเรียง ปรับปรุงท่วงทำนองเสียใหม่ บางบทเพลงใส่เนื้อคำร้องเพิ่มเติม ฯ ยกตัวอย่าง Colobane ลองฟังเทียบกับ Opening Credit ในหนัง จะมีสัมผัสทางอารมณ์ที่แตกต่างกันพอสมควร

นอกจากลีลาตัดต่อที่ชอบแทรกภาพสารพัดสรรพสัตว์ บางบทเพลงประกอบยังใส่เสียง(หัวเราะ)ไฮยีน่า สิงสาราสัตว์ อย่างบทเพลง Dune นอกจากบรรเลงกีตาร์อันโหยหวน ทะเลทรายอันเวิ้งว่างเปล่า เหมือนได้ยินเสียงงูหางกระดิ่ง (จริงๆคือเสียงลูกแซก/ไข่เขย่า Maracas) ไม่เพียงเข้ากับบรรยากาศพื้นหลัง ยังสร้างสัมผัสอันตราย หายนะค่อยๆคืบคลานเข้ามา … เพลงนี้ดังขึ้นระหว่าง Dramaan Drameh นำพา Linguère Ramatou ไปหวนระลึกความหลังยังทะเลทราย บริเวณที่ทั้งสองร่วมรัก/ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

เอาจริงๆหนังแทบไม่มีบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน นอกเสียงจากคำร้องภาษา Wolof และการรัวกลองขณะเชือดวัว อาจเพราะต้องการแสดงให้ถึงการสูญเสียวิถีชีวิต วัฒนธรรม กำลังค่อยๆถูกกลืนกิน ตกเป็นทาสอาณานิคมรูปแบบใหม่ (Neo-Colonialism) ลุ่มหลงใหลการบริโภคนิยม (Consumerism) ในระบอบทุนนิยม (Capitalism)

The hyena is an African animal — you know that. It never kills. The hyena is falsehood, a caricature of man. The hyena comes out only at night; he is afraid of daylight always travels at night. The hyena is a permanent presence in humans, and that is why man will never be perfect. The hyena has no sense of shame, but it represents nudity, which is the shame of human beings.

After I unveiled this very pessimistic picture of human beings and society in their nakedness in Hyènes, I wanted to build up the image of the common people. Why should I magnify the ordinary person after this debauch of defects? The whole society of Colobane is made up of ordinary people. I do not want to remain forever pessimistic. That is why I have fished out cases where man, taken individually, can defeat money.

Djibril Diop Mambéty

แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลัง Colobane, Senegal แต่เราสามารถเหมารวมถึงชาวแอฟริกัน ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ (ในช่วงปี ค.ศ. 1959-60) ถึงอย่างนั้นแทบทุกอดีตประเทศอาณานิคม กลับยังต้องพึ่งพาอาศัย รับความช่วยเหลือจากอดีตจักรวรรดินิยม ซึ่งโดยไม่รู้ตัวซึมซับรับอิทธิพลทางความคิด ทัศนคติสมัยใหม่ ถูกแทรกแซงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมท้องถิ่นค่อยๆสูญสิ้น กลืนกินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม … มีคำเรียกอาณานิคมรูปแบบใหม่ (Neo-Colonialism)

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ กินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนบุคคล

Hyènes (1992) เป็นอีกภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกัน พยายามนำเสนอโทษทัณฑ์ของเงิน ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) เหมารวมถึงระบอบทุนนิยม (Capitalism) เพราะการมีเงินทำให้ชีวิตสุขสบาย สามารถจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งข้าวของมาอำนวยความสะดวก ตอบสนองความพึงพอใจ จนท้ายที่สุดยินยอมละทอดทิ้งหลักศีลธรรม ความถูกต้องเหมาะสม สรรหาข้ออ้างเพื่อส่วนรวม แท้จริงแล้วกลับเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลทั้งนั้น!

The film depicts a human drama. My task was to identify the enemy of humankind: money, the International Monetary Fund, and the World Bank. I think my target is clear.

ความร่ำรวยของ Linguère Ramatou ถือว่าได้มาอย่างโชคช่วย พร้อมๆกับการสูญเสียเกือบจะทุกสิ่งอย่าง (ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ) แต่แทนที่เธอจะบังเกิดความสาสำนึก นำมาเป็นบทเรียนชีวิต กลับเลือกโต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป้าหมายแม้คือการเข่นฆาตกรรม Dramaan Drameh แท้จริงแล้วยังพยายามจะล้างแค้นชาวเมือง Colobane ด้วยการทำลายเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน แล้วจะเอาที่ไหนใช้คืนหนี้สิน

ส่วนความตายของ Dramaan Drameh มันอาจฟังดูดี สมเหตุสมผล เสียสละบุคคลเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่นั่นใช่หนทางถูกต้องหรือไม่? สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือเปล่า? หรือเพียงความละโมบโลภมาก จนหน้ามืดตามัว มองไม่เห็นอนาคตที่มืดมิด สิ้นหวัง มันจึงเป็นความตลกร้าย คนที่สามารถทำความเข้าใจย่อมหัวเราะไม่ออกเลยสักนิด!

ภาพยนตร์ในทวีปแอฟริกัน น่าจะเป็นสิ่งหรูหรา ราคาแพง ยุคสมัยนั้นต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย นั่นอาจคือเหตุผลหนึ่งที่ผกก. Mambéty ไม่ได้มีความกระตือรือล้นกับมันมากนัก จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 90s ที่ค่ากล้อง ค่าฟีล์มราคาถูกลง เลยทำให้เขาเล็งเห็นโอกาสที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม แอฟริกันที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างค่านิยมชวนเชื่อรูปแบบใหม่

Africa is rich in cinema, in images. Hollywood could not have made this film, no matter how much money they spent. The future belongs to images. Students, like the children I referred to earlier, are waiting to discover that making a film is a matter of love, not money.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะดีเยี่ยม แต่กลับไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆติดมือกลับมา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆทั่วโลก

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K โดย Thelma Film AG ร่วมกับ Cinémathèque suisse และห้องแล็ป Eclair Cinema เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 เข้าฉาย 2018 Cannes Classic และสามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber

เกร็ด: ผู้กำกับ Rungano Nyoni เคยกล่าวว่า Hyènes (1992) คือแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ I Am Not a Witch (2017)

อาจเพราะความสำเร็จของ Touki Bouki (1973) ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่มองข้าม Hyènes (1992) ไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์น่าตื่นตาตื่นใจเทียบเท่า แต่ถ้าเอาเฉพาะเนื้อหาสาระ ผมคิดเห็นว่า Hyènes (1992) แฝงข้อคิด มีความทรงคุณค่ากว่ามากๆ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ระหว่างจิตสามัญสำนึก หลักศีลธรรม vs. อำนาจของเงิน, ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะสร้างความตระหนักให้กับผู้ชม บทเรียนเกี่ยวกับอำนาจของเงิน สะท้อนอิทธิพลของลัทธิทุนนิยม+บริโภคนิยม คนสมัยใหม่เชื่อว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า ขำไม่ออกเลยสักนิด!

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมไฮยีน่า อดีตชั่วช้า การแก้แค้น และตัดสินด้วยศาลเตี้ย

คำโปรย | Hyènes ภาพยนตร์กึ่งสุขกึ่งโศกของ Djibril Diop Mambéty รสชาดของการแก้แค้นมันช่างหอมหวาน และขื่นขม ทำให้ผู้คนจมอยู่ในลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ตกเป็นทาสอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism)
คุณภาพ | กึ่สุกึ่
ส่วนตัว | ขื่นขม

Touki Bouki (1973)


Touki Bouki (1973) Senegalese : Djibril Diop Mambéty ♥♥♥♥

การเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนเองของผู้กำกับ Djibril Diop Mambéty ในสไตล์ Bonnie and Clyde ปล้น-ฆ่า(วัว) ก่ออาชญากรรม เป้าหมายปลายทางคือฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ‘The Wizard of Oz’ แต่แท้จริงแล้วปารี่ ปารีส ไม่ต่างอะไรจากปาหี่

Touki Bouki (1973) ไม่ใช่แค่หมุดหมายสำคัญต่อวงการภาพยนตร์แอฟริกัน แต่ยังคือมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์โลก! ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากการลองผิดลองถูกของผกก. Mambéty ไม่เคยร่ำเรียน(ภาพยนตร์)จากแห่งหนไหน ทำการผสมผสานวิถีชีวิต แนวคิด ศิลปะ(แอฟริกัน) พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ในรูปแบบของตนเอง แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร อาจต้องดูหลายครั้งหน่อยถึงสามารถทำความเข้าใจ

Djibril Diop Mambéty’s ‘Touki Bouki’ is a landmark of world cinema, a bold and inventive work that challenges narrative conventions and offers a powerful exploration of cultural identity.

Richard Brody นักวิจารณ์จากนิตยสาร The New Yorker

Touki Bouki is an explosion of filmic energy. It announces the arrival of a new cinema language with its breathless fusion of African, European, and American sensibilities.

ผู้กำกับ Bong Joon-ho

ในขณะที่ผู้กำกับแอฟริกันร่วมรุ่นอย่าง Ousmane Sembène (ฺBlack Girl), Med Hondo (Soleil Ô) มักสรรค์สร้างผลงานต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism), ผกก. Mambéty ได้ทำสิ่งแตกต่างออกไป นั่นคือการเดินทางเพื่อออกค้นหาอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความหมายชีวิต ตอนจบแทนที่ตัวละครจะขึ้นเรือมุ่งสู่ฝรั่งเศส กลับเลือกปักหลักใช้ชีวิตใน Senegal ทำไมฉันต้องดำเนินรอยตามอุดมคติเพ้อฝันที่ถูกปลูกฝัง/ล้างสมองโดยพวกจักรวรรดินิยม

Touki Bouki is an African film made by an African for Africans. It is a call to Africans to take their destiny into their own hands, to stop being the victims of colonization and become masters of their own lives.

Djibril Diop Mambéty

ผมรู้สึกว่าการรับชม Touki Bouki (1973) ต่อเนื่องจาก Black Girl (1966) และ Soleil Ô (1970) มีความจำเป็นอย่างมากๆสำหรับคนที่ไม่รับรู้ประวัติศาสตร์แอฟริกัน เพราะทำให้ตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ฝรั่งเศส เพราะเคยเป็นเจ้าของอาณานิคม Senegal (และอีกหลายๆประเทศในแอฟริกา) จึงพยายามปลูกฝังแนวคิด เสี้ยมสอนอุดมคติ ชวนเชื่อว่าฝรั่งเศสคือสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ไม่ต่างสหรัฐอเมริกาพยายามสร้างค่านิยมชวนเชื่อ ‘American Dream’) แต่ในความเป็นจริงนั้น …

Over the Rainbow ของ Judy Garland ชิดซ้ายไปเลยเมื่อเทียบกับบทเพลง Paris, Paris, Paris ของ Joséphine Baker ถึงรับฟังภาษาฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อไหร่ได้ยินท่อนฮุค ปารี่ ปารี ปารีส มันสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ สัมผัสได้ถึงความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ชวนเชื่อจอมปลอม เต็มไปด้วยคำกลับกลอก ลวงหลอก นั่นคือสภาพเป็นจริง ขุมนรกบนดิน ทำลายภาพจำสวยหรูที่ Amélie (2001) เคยปลูกฝังไว้ในจิตวิญญาณ

Djibril Diop Mambéty (1945-1998) นักกวี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Senegalese เกิดที่ Colobane ชานเมืองหลวง Dakar, Senegal ในครอบครัวมุสลิม ชนเผ่า Lebou แม้ฐานะยากจนแต่มักหาโอกาสรับชมภาพยนตร์ฉายกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน แค่เพียงฟังเสียงอยู่ข้างนอกก็ยังดี (นั่นคือหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เสียงในผลงานของ Mambéty มีความสำคัญอย่างมากๆ) โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano แต่ไม่ทันไรกลับถูกไล่ออกเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

แม้ไม่เคยร่ำเรียนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้วยความหลงใหลใน Italian Neorealist และ French New Wave เมื่อตอนอายุ 21 ปี ขอหยิบยืมกล้อง 16mm จาก French Cultural Centre ร่วมกับผองเพื่อนถ่ายทำหนังสั้น Badou Boy (1966) [แล้วรีเมค Badou Boy (1970)] บันทึกการเดินทางของชายหนุ่ม Badou Boy ตามท้องถนนหนทางเมือง Dakar [น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Borom Sarret (1963) ของ Ousmane Sembène] เข้าฉายเทศกาลหนัง Mondial des Arts Nègres (จัดที่ Dakar) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

โปรเจคถัดไปคือหนังสั้น Contras’ City (1968) แปลว่า City of Contrasts ด้วยลักษณะ “City Symphony” ร้อยเรียงภาพทิวทัศน์ ท้องถนน ตลาด มัสยิดเมือง Dakar เกือบทศวรรษภายหลังการได้รับอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1960 เก็บบันทึกไว้เป็น ‘Time Capsule’

เมื่อเริ่มมีประสบการณ์ทำงาน ก็ถึงเวลาที่ผกก. Mambéty ครุ่นคิดสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Touki Bouki (1973) นำเอาส่วนผสมจากทั้ง Badou Boy และ Contras’ City มาพัฒนาต่อยอด ขยับขยายเรื่องราว นำเสนอการเดินทางของหนุ่ม-สาว ร่วมก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เป้าหมายปลายทางเพื่อหาเงินขึ้นเรือสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน อุดมคติที่ถูกปลูกฝัง

With ‘Touki Bouki,’ I wanted to capture the essence of the youth in Dakar at that time, their desires, their dreams, and their frustrations. It was important for me to portray the struggles and contradictions of post-colonial Africa.

Djibril Diop Mambéty

หนังใช้งบประมาณเพียง $30,000 เหรียญ สนับสนุนจากกระทรวงสารสนเทศ (Senegalese Ministry of Information) และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ (Senegalese Radio and Television) ปฏิเสธความร่วมมือใดๆจาก Bureau du Cinéma และ Centre national du cinema (CNC) องค์กรภาพยนตร์ที่ฝรั่งเศสจัดตั้งทิ้งไว้(ตั้งแต่ก่อนปลดแอก)สำหรับให้ความช่วยเหลือวงการภาพยนตร์ (แต่แท้จริงแล้วคอยตรวจสอบ คัดกรอง เซนเซอร์ ปฏิเสธผลงานที่เป็นภัยคุกคาม)


เรื่องราวของ Mory ไอ้หนุ่มเลี้ยงวัว ขับมอเตอร์ไซค์ฮ่าง แขวนกระโหลกศีรษะกระทิงไว้หน้ารถ (คาราบาวชัดๆเลยนะ) นัดพบเจอ Anta นักศึกษาสาว พรอดรักหลับนอน วาดฝันต้องการออกไปจากถิ่นทุรกันดาร ทวีปแอฟริกาแห่งนี้ มุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

แต่การจะขึ้นเรือไปยังดินแดนหลังสายรุ้ง จำต้องใช้เงินมหาศาล พวกเขาจึงพยายามหาวิธีการ เล่นพนัน ลักขโมย ในที่สุดสามารถล่อหลอกเศรษฐีเกย์ Charlie เปลี่ยนมาแต่งหรู ขับรถเปิดประทุน หลังซื้อตั๋วขึ้นเรือ ใกล้ถึงเวลาออกเดินทาง Mory กลับเกิดอาการโล้เลลังเล ก่อนตัดสินใจทอดทิ้ง Anta เลือกปักหลักอาศัยอยู่เซเนกัล ไม่รู้เหมือนกันอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น


สำหรับสองนักแสดงนำหลัก Magaye Niang (รับบท Mory) และ Mareme Niang (รับบท Anta) ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกันนะครับ ฝ่ายชายคือไอ้หนุ่มเลี้ยงวัว ฝ่ายหญิงเป็นนักศึกษาสาว ตามบทบาทของพวกเขา ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง (Non-Professional) ซึ่งเอาจริงๆก็แทบไม่ได้ต้องใช้ความสามารถใดๆ เพียงขยับเคลื่อนไหว กระทำสิ่งต่างๆตามคำแนะนำผู้กำกับเท่านั้นเอง … ผกก. Mambéty เพียงต้องการความเป็นธรรมชาติ และจับต้องได้ของนักแสดง เพื่อให้ทั้งสองเป็นตัวแทนคนหนุ่ม-สาว ชาวแอฟริกัน ที่ยังถูกครอบงำโดยอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม แต่ก็พยายามหาหนทางดิ้นหลุดพ้น ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวตนเอง

แม้คู่พระนางอาจไม่มีอะไรให้น่าจดจำ แต่ผกก. Mambéty ก็แทรกสองตัวละครสมทบ Aunt Oumy และเศรษฐีเกย์ Charlie สามารถแย่งซีน สร้างสีสันให้หนังได้ไม่น้อย

  • Aunt Oumy (รับบทโดย Aminata Fall) ป้าของ Anta เป็นคนปากเปียกปากแฉะ ไม่ชอบขี้หน้าพบเห็น Mory ทำตัวไม่เอาอ่าวก็ตำหนิต่อว่าต่อขาน แต่หลังจากแต่งตัวโก้ ขับรถหรู พร้อมแจกเงิน เลยเปลี่ยนมาสรรเสริญเยินยอ ขับร้องเพลงเชิดหน้าชูตา มันช่างกลับกลอกปอกลอกเกินเยียวยา
    • Aminata Fall (1930-2002) คือนักร้อง/นักแสดงชาว Senegalese รับรู้จัก Mambéty ตั้งแต่ตอนเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano ประทับใจในความสามารถโดยเฉพาะการขับร้องเพลง เมื่อมีโอกาสเลยชักชวนมาร่วมงานภาพยนตร์ บทบาทที่ต้องถือว่าเต็มไปด้วยสีสัน ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ สะท้อนเสียดสีพฤติกรรมชาวแอฟริกันได้อย่างแสบสันต์
  • Charlie (รับบทโดย Ousseynou Diop) เศรษฐีเกย์ เจ้าของคฤหาสถ์หรู เหมือนจะเคยรับรู้จัก Mory พอสบโอกาสเมื่ออีกฝ่ายมาขอความช่วยเหลือด้านการเงิน จึงฉุดกระชากลากพาเข้าห้อง ระหว่างกำลังอาบน้ำเตรียมพร้อม กลับออกมาตัวเปล่าล่อนจ้อน ทำได้เพียงโทรศัพท์ของความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งล้วนเป็นอดีตคู่ขาของเธอแทบทั้งนั้น
    • ตัวละครนี้แม้เป็นชาว Senegalese/แอฟริกัน แต่กลับมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากฝรั่งเศส/ลัทธิอาณานิคม คือสนเพียงจะครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาได้กระทั่งพวกพ้อง (ร่วมรักกับ)เพศเดียวกัน
    • บางคนอาจตีความตัวละครนี้ สื่อแทนความคอรัปชั่นภายในของแอฟริกัน ที่ยังได้รับอิทธิพล ถูกควบคุมครอบงำโดยอดีตจักรวรรดิอาณานิคม/ฝรั่งเศส ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง

เกร็ด: ใครอยากรับชมความเป็นไปของนักแสดง 40 ปีให้หลัง ลองหารับชมสารคดี Mille Soleils (2013) แปลว่า A Thousand Suns กำกับโดย Mati Diop หลานสาวผกก. Djibril Diop Mambéty จะพบเห็น Magaye Niang ยังคงเป็นคนเลี้ยงวัวอยู่ Dakar, ส่วน Mareme Niang ไม่ได้ปรากฏตัวแต่เห็นว่าอพยพย้ายสู่ยุโรปแบบเดียวกับตัวละคร


ถ่ายภาพโดย Pap Samba Sow, Georges Bracher

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยเทคนิค ลวดลีลา ภาษาภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่เฉดสีสันเหลือง-ส้ม ดูคล้ายสีลูกรัง-ดินแดง แทนผืนแผ่นดินแอฟริกัน, ลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง แพนนิ่ง ซูมมิ่ง มุมก้ม-เงย ดูผิดแผกแตกต่าง แสดงความเป็นวัยสะรุ่น คนหนุ่มสาว เอ่อล้นพลังงาน เต็มเปี่ยมชีวิตชีวา

สิ่งน่าสนใจที่สุดก็คือการร้อยเรียงวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ผู้คนในเมือง Dakar, Senegal รวมถึงภาพเชิงสัญลักษณ์ เกือบๆจะเรียกว่าเหนือจริง (Surrealist) มีทั้งปรากฎพบเห็นซ้ำๆ อาทิ เชือดวัว หัวกระโหลก ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์, หรือใช้แทนเหตุการณ์บังเกิดขึ้นอย่าง คลื่นลมซัดกระแทกเข้าหาฝั่ง (ระหว่างหนุ่ม-สาว กำลังร่วมเพศสัมพันธ์)

นักวิจารณ์แทบทั้งนั้นให้คำชื่นชมงานภาพของหนัง เป็นสิ่งที่ผู้ชม(ชาวตะวันตก)สมัยก่อนแทบไม่เคยพบเห็น [ฟังดูคล้ายๆ The River (1951) ของผกก. Jean Renoir] สามารถแปรสภาพ Dakar ให้กลายเป็นดินแดนลึกลับ แต่มีความโรแมนติก ชวนให้ลุ่มหลงใหล แบบเดียวกับ Casablanca และ Algiers

The dazzling visuals feature a smorgasbord of disorienting, poetic, and symbolic images that look like nothing you’ve ever seen before.

นักวิจารณ์ Jonathan Rosenbaum

แค่ฉากแรกหลายคนก็อาจทนดูไม่ไหวแล้ว! เราสามารถเปรียบเทียบเจ้าวัวเขาแหลมยาวใหญ่ (สายพันธุ์ Ankole-Watusi หรือ Watisu Cow) คือตัวแทนชาวแอฟริกัน ถูกลากเข้าโรงเชือด สามารถสื่อถึงพฤติกรรมจักรวรรดิอาณานิคม /ฝรั่งเศส เลี้ยงเพาะพันธุ์(ชาวแอฟริกัน)ไว้สำหรับทำประโยชน์ใช้สอย

เกร็ด: การมีเขาแหลมยาวใหญ่ (ภายในมีลักษณะกลวงเป็นโพรง แต่มีโครงสร้างแบบรังผึ้ง ไว้สำหรับต่อสู้และระบายความร้อน) ถือเป็นลักษณะเด่นของวัวสายพันธุ์ Watisu พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา มีความทนทรหด สามารถอดน้ำ กินหญ้าคุณภาพต่ำ ชาวอียิปต์โบราณนิยมเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคเนิ้อและนมมาแต่ตั้งแต่โบราณกาล

การนำเสนอฉากเชือดวัว เป็นลักษณะของการยั่วยุ (provocation) ในเชิงสัญลักษณ์ ปลุกเร้าความรู้สึกชาวแอฟริกัน (ที่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจ) ให้เกิดความเกรี้ยวกราด หวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว ตระหนักว่าตนเองมีสภาพไม่ต่างจากเจ้าวัว ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบให้พวก(อดีต)จักรวรรดิอาณานิคมอีกต่อไป

และสังเกตว่าขณะลากจูงวัว จะได้ยินเสียงขลุ่ย Fula flute แทนวิถีธรรมชาติของชาวแอฟริกัน แต่พอตัดเข้ามาในโรงฆ่าสัตว์ กลับเป็นเสียงจักรกล ผู้คน วัวกรีดร้อง อะไรก็ไม่รู้แสบแก้วหูไปหมด มันช่างมีความแตกต่างตรงกันข้าม ราวกับโลกคนละใบ … เหมือนเป็นการบอกใบ้ด้วยว่าโรงเชือดแห่งนี้คือสภาพเป็นจริงของฝรั่งเศส สถานที่ใครๆขวนขวายไขว่คว้า อุดมคติที่ใครๆต่างเพ้อใฝ่ฝัน

ช็อตสวยๆนำเสนอความเหลื่อมล้ำในประเทศเซเนกัล กำลังพบเห็นได้อย่างชัดเจนหลังการประกาศอิสรภาพ (post-independence) ระหว่างสลัมเบื้องล่าง vs. ตึกระฟ้าสูงใหญ่กำลังก่อสร้าง

นอกจากภาพในช็อตเดียว ช่วงกลางเรื่องหลังจาก Mory & Anta ลักขโมยหีบสมบัติ แท็กซี่ขับผ่านคฤหาสถ์หรู สถานที่อยู่ของคนมีเงิน แต่บ้านพักแท้จริงของพวกเขาเมื่อขับเลยมา พบเห็นทุ่งหญ้ารกร้าง อาคารสร้างไม่เสร็จ ถูกทอดทิ้งขว้าง นี่ก็แสดงให้ถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ช่องว่างกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

บางคนอาจมองว่าพฤติกรรมของ Anta คือความเห็นแก่ตัว แต่การซื้อของแล้วไม่จ่ายเงิน นั่นก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นเดียวกัน … ซีนเล็กๆนี้สะท้อนอิทธิพลของลัทธิอาณานิคมได้ชัดเจนทีเดียว กล่าวคือ

  • ชาวแอฟริกันดั้งเดิมนั้นมีมิตรไมตรี หยิบยืม ติดหนี้เล็กๆน้อยๆ ก็ไม่ติดใจอะไรว่าความ
  • Anta คือหญิงสาวที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม เงินทองคือเรื่องสลักสำคัญ (รวมถึงฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน) เล็กๆน้อยๆเลยยินยอมความกันไม่ได้

ลามปามไปถึงฉากถัดมา ผมไม่แน่ใจว่าป้า Oumy ตบตีแย่งน้ำกับเพื่อนคนนี้เลยหรือเปล่า รายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางจิตสามัญสำนึกของชาวเซเนกัล ตั้งแต่หลังประกาศอิสรภาพ (post-independence)

ระหว่างรับชม ผมครุ่นคิดว่าการถูกเชือกคล้องคอของ Mory สามารถเปรียบเทียบเหมือนวัวที่กำลังจะถูกเชือด (แบบเดียวกับฉากโรงเชือดก่อนหน้านี้) รวมถึงการโดนจับมัด พาขึ้นรถ แห่รอบเมือง มีการตัดสลับกับป้า Oumy กำลังเชือดวัวทำอาหารกลางวัน เป็นการนำเสนอคู่ขนานล่อหลอกผู้ชมได้อย่างแนบเนียนฉะมัด!

แต่หลังจากดูหนังจบ ฉากนี้ยังสามารถมองเป็นคำพยากรณ์ ลางสังหรณ์ บอกใบ้อนาคตของ Mory ถ้าตัดสินใจขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส อาจประสบโชคชะตากรรมลักษณะนี้ … ตลอดทั้งเรื่องจะมีหลายๆเหตุการณ์ดูคล้ายนิมิต ลางบางเหตุเกิดขึ้นกับ Mory ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจไม่ขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส

กระโหลกเขาวัวติดตั้งไว้บริเวณหน้ารถมอเตอร์ไซด์ฮ่าง (เพื่อสื่อถึงการเดินทางของ Mory = ชาวแอฟริกัน = วัวสายพันธุ์ Watisu) เบาะด้านหลังมีพนักทำจากเสาอากาศ ลักษณะคล้าย Dogon cross (หรือ Nommo cross) ของชนเผ่าชาว Malian ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ภาวะเจริญพันธุ์ (fertility) ด้วยเหตุนี้การที่ Anta เอื้อมมือจับ ย่อมสื่อถึงกำลังร่วมเพศสัมพันธ์

ไฮไลท์ของซีเควนซ์นี้คือภาพคลื่นซัดชายฝั่ง มันจะมีขณะหนึ่งที่โขดหินดูเหมือนปากอ่าว/ช่องคลอด น้ำทะเล(อสุจิ)กำลังเคลื่อนไหล กระแทกกระทั้นเข้าไป … พอจินตนาการออกไหมว่าสามารถสื่อถึงการร่วมเพศสัมพันธ์!

Mory เตรียมจะโยนบ่วงคล้อง หนังตัดภาพฝูงวัว นั่นทำให้ผู้ชมครุ่นคิดว่าเขาคงกำลังจะลักขโมยวัวไปขาย แต่ที่ไหนได้กลับคล้องคอรถมอเตอร์ไซด์ฮ่าง (ที่มีกระโหลกเขาวัวแขวนอยู่เบื้องหน้า) … หลายต่อหลายครั้งที่หนังพยายามล่อหลอกผู้ชมด้วยลีลาภาษาภาพยนตร์ แต่ความจริงกลับเป็นคนละสิ่งอย่าง ผมครุ่นคิดว่าสามารถเหมารวมถึงการชวนเชื่อปลูกฝังจากจักรวรรดิอาณานิคม ฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ความจริงนั้นมันอาจคือขุมนรก โรงเชือด คำโป้ปดหลอกลวงเท่านั้นเอง)

พนันขันต่อ คือวิธีรวยทางลัด ง่ายที่สุดในการหาเงิน แต่เหมือนว่าโชคชะตาของ Mory จะพยายามบอกใบ้ จงใจให้เขาไม่สามารถเอาชนะ จึงต้องออกวิ่งหลบหนี(เจ้าหนี้)หัวซุกหัวซุน เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด … ฉากนี้สามารถตีความได้ทั้งรูปธรรม-นามธรรม นำเสนอหนึ่งในอุปนิสัยเสียของชาวแอฟริกัน(ทั้งๆไม่มีเงินแต่กลับ)ชื่นชอบพนันขันต่อ ขณะเดียวกันยังแฝงนัยยะถึงการเดินทางสู่ฝรั่งเศส เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง แต่ในความเป็นจริงเพียงการเสี่ยงโชค ไปตายเอาดาบหน้า ไม่ต่างจากการวัดดวง/พนันขันต่อนี้สักเท่าไหร่

แซว: การเปิดไพ่ Queen แล้วหมายถึงผู้แพ้ มันแอบสื่อนัยยะถึง …

เจ้าหน้าที่รับสินบท นี่เป็นสิ่งพบเห็นอยู่สองสามครั้งในหนัง แสดงว่ามันเป็นสิ่งฝังรากลึกในจิตวิญญาณชาว Senegalese/แอฟริกันไปแล้วละ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม ความมีอภิสิทธิ์ชนของพวกฝรั่งเศส เป็นต้นแบบอย่างความคอรัปชั่นได้อย่างชัดเจน

Where’s Wally? หากันพบเจอไหมเอ่ยคู่พระนาง Mory & Anta นั่งอยู่แห่งหนไหนกัน?

นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ Mory & Anta ลักขโมยหีบสมบัติจากสนามมวยปล้ำ Iba Mar Diop Stadium แต่เมื่อเปิดออกมากลับพบเห็นโครงกระดูก กระโหลกศีรษะ พร้อมได้ยินเสียงอีแร้งกา เหล่านี้ล้วนสัญลักษณ์ความตาย ลางบอกเหตุร้าย ให้ทั้งสอดหยุดความพยายามหาเงินออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส … เพราะอาจถูกเชือด และหลงเหลือสภาพเหมือนบุคคลนี้

หนังแอบแทรกคำอธิบายไว้เล็กๆผ่านเสียงอ่านข่าวจากวิทยุ ว่าชนเผ่า Lebou จัดกิจกรรมมวยปล้ำครั้งนี้เพื่อเป็นการระดมทุนสร้างอนุสรณ์สถานให้กับ Charles de Gaulle (1890-1970) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1970 … นี่อาจเป็นกระโหลกศีรษะของ de Gaulle กระมัง??

เกร็ด: เมื่อตอนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี Charles de Gaulle คือบุคคลลงนามมอบอิสรภาพให้เซเนกัล และหลายๆประเทศในทวีปแอฟริกา

วินาทีที่ Mory เหม่อมองเห็นประภาคาร (ใครเคยรับชม The Lighthouse (2019) น่าจะตระหนักถึงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ตั้งตระหง่านโด่เด่เหมือนลึงค์/อวัยวะเพศชาย) จากนั้นฝูงนกโบยบินขึ้นท้องฟ้า (สัญลักษณ์ของการปลดปล่อยอิสรภาพ/น้ำกาม) เสียง Sound Effect ดังระยิบระยับ (ราวกับเสียงสวรรค์ ถึงจุดสูงสุด ไคลน์แม็กซ์)

เหล่านั้นเองทำให้เขาหวนนึกถึงเศรษฐี(เกย์)คนหนึ่ง มีคฤหาสถ์หรูอยู่ไม่ไกล ครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย แต่ก่อนจะออกเดินทางไป ขอแวะถ่ายท้องสักแปป แล้วภาพตัดมาโขดหินท่ามกลางคลื่นซัดพา (ลักษณะของโขดหิน ช่างดูละม้ายคล้ายก้อนอุจจาระ) จากนั้นกล้องค่อยๆซูมถอยหลังออกมา … ทั้งหมดนี้ล้วนบอกใบ้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับประตูหลัง

ท่วงท่าการโยนช่างมีความละม้ายคล้ายกันยิ่งนัก แต่เปลี่ยนจากบ่วงคล้องคอวัว มาทอดแหดักปลา นี่คือลักษณะการแปรสภาพของสิ่งสัญลักษณ์ แต่เคลือบแฝงนัยยะเดียวกัน

  • โยนบ่วงคล้องคอวัว เปรียบดั่งฝรั่งเศสล่าอาณานิคมเซเนกัล/ชาวแอฟริกัน
  • ส่วนการทอดแห สามารถสื่อถึงเศรษฐีเกย์ Charlie พยายามล่อหลอก ดักจับ Mory ร่วมรักประตูหลัง

พฤติกรรมของเศรษฐีเกย์ Charlie อย่างที่ผมเปรียบเทียบไปแล้วว่าไม่แตกต่างจากพวกลัทธิอาณานิคม เป้าหมายคือครอบครอง เป็นเจ้าของ เอาได้กระทั่งพวกพ้อง ฉันท์ใดฉันท์นั้น โยนบ่วง=ทอดแห สังเกตว่าช็อตถัดๆมา Mory ราวกับติดอยู่ในบ่วงแห่

น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดภาพวาดในห้องของ Charlie แต่มีลักษณะของ African Art และสังเกตว่าทั้งหมดล้วนเป็นภาพนู้ด สื่อถึงรสนิยมทางเพศตัวละครได้อย่างชัดเจน

เสื้อผ้าคือสิ่งแสดงวิทยฐานะบุคคล นั่นน่าจะเป็นเหตุผลให้ Mory ตัดสินใจลักขโมยเครื่องแต่งกายของ Charlie ซึ่งมีความหรูหรา เทรนด์แฟชั่น น่าจะราคาแพง ระหว่างเดินทางกลับเข้าเมือง ก็ปลดเปลื้องเปลือยกายล่อนจ้อน ป่าวประกาศให้โลกรับรู้ถึงอิสรภาพชีวิต

พอดิบพอดีกับการตัดสลับเคียงคู่ขนาน Anta ขับรถมอเตอร์ไซด์ฮ้างไปจอดทิ้งไว้ข้างทาง (มีคนป่ามารับช่วงต่อ) ไม่เอาอีกแล้ววิถีแอฟริกัน เตรียมพร้อมออกเดินทางมุ่งสู่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่ามีใครเดินทางมาเยี่ยมเยียนเซเนกัลช่วงปีนั้น เพราะนี่ดูเหมือนขบวนต้อนรับมากกว่าพิธีไว้อาลัย Memorial ให้ประธานาธิบดี Charles de Gaulle และลีลาการตัดต่อที่นำเสนอคู่ขนานกับ Mory & Anta แต่งตัวหรู โบกไม้โบกมือ ทำตัวราวกับพระราชา

นี่ไม่ใช่แค่การเสียดสีนิสัยแย่ๆ สันดานเสียๆ ของชาวแอฟริกันเท่านั้นนะครับ แต่ใครกันละที่เข้ามาปลูกฝังความคิด สร้างค่านิยมอุดมคติ ล้างสมองชวนเชื่อ เงินทองสามารถซื้อความสุขสบาย ร่ำรวยคือทุกสิ่งอย่าง ไม่ต่างจากฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน … มันขำออกเสียที่ไหนกัน

ลวดลายทางขาว-ดำ ของรูปภาพสรรพสัตว์บนฝาผนัง น่าจะสื่อถึงความกลับกลอกสองหน้าของชนชั้นผู้นำแอฟริกัน ซึ่งการที่เศรษฐีเกย์ Charlie โทรศัพท์ติดต่อหาตำรวจ แทนที่จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รับสาย กลับพยายามขอคุยกับหัวหน้า/คนเคยค้าม้าเคยขี่ สารพัดรายชื่อเอ่ยมาน่าจะเคยร่วมเพศสัมพันธ์กัน … แฝงนัยยะอ้อมๆถึงบรรดารัฐบาลบริหารประเทศ ทั้งๆได้รับการปลดแอก กลับยังคอยเลียแข้งเลียขาฝรั่งเศส

แซว: หัวหน้าแผนก Djibril Diop เสียงปลายสายที่ได้ยินก็คือ ผกก. Mambéty

ผมอ่านพบเจอว่าระหว่างโปรดักชั่น ผกก. Mambéty ถูกตำรวจจับกุมที่กรุง Rome ข้อหาเข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านการเหยียดผิว (Anti-Racism) ได้รับการประกันตัวโดยทนายจาก Italian Communist Party ซึ่งมีเพื่อนร่วมวงการอย่าง Bernardo Bertolucci และ Sophia Loren ให้การค้ำประกัน … นี่กระมังคือเหตุผลการกล่าวอ้างถึง Italian Communist Party

จริงๆฉากนี้ชาวฝรั่งเศสทั้งสองถกเถียงกันเรื่องทั่วๆไป ค่าจ้าง ค่าแรง ความล้าหลัง ศิลปะแอฟริกัน ฯ มันมีความจำเป็นอะไรในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเซเนกัล … เป็นวิธีพูดขับไล่พวกฝรั่งเศส โดยคนฝรั่งเศสด้วยกันเอง ได้อย่างแนบเนียนโคตรๆ

วินาทีที่กำลังจะก้าวขึ้นเรือ Mory เกิดอาการหยุดชะงักหลังได้ยินเสียงหวูดเรือ สัญญาณเตือนให้เร่งรีบขึ้นเรือ แต่พอหนังตัดภาพให้เห็นเจ้าวัวกำลังถูกลากเข้าโรงเชือด ผมเกิดความตระหนักว่า เสียงหวูดเรือมันช่างละม้ายเสียงร้องของเจ้าวัว นี่กระมังคือสาเหตุผล/ลางสังหรณ์/สัญญาณเตือนครั้งสุดท้าย ให้เขาเกิดความตระหนักว่า ‘อย่าลงเรือ’ เพราะโชคชะตาหลังจากนี้อาจลงเอยแบบเจ้าวัว ฝรั่งเศส=โรงเชือดสัตว์

Mory ตัดสินใจละทอดทิ้ง Anta แล้วออกวิ่งติดตามหามอเตอร์ไซด์ฮ้างคันโปรด ก่อนพบเจอประสบอุบัติเหตุอยู่กลางถนน กระโหลกเขาวัวแตกละเอียด ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง นั่งลงกึ่งกลางบันได ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรต่อไป … ผมตีความซีเควนซ์นี้ถึงการหวนกลับหารากเหง้า ตัวตนเอง หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เขาพบเจอกลับคือ Senegalese/แอฟริกันที่เกือบจะล่มสลาย (คนป่าประสบอุบัติเหตุปางตาย) เนื่องจากถูกกลืนกินโดยจักรวรรดิอาณานิคม จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นตัวของตนเองสักเท่าไหร่

ช่วงท้ายของหนังโดยเฉพาะช็อตนี้ มันมีความโคตรๆคลุมเคลือ เพราะผู้ชมสามารถวิเคราะห์ว่า

  • หนังต้องการร้อยเรียงชุดภาพที่เป็นการหวนกลับหาจุดเริ่มต้น จึงพบเห็น Mory & Anta พรอดรักริมหน้าผา และเด็กๆต้อนฝูงวัวผ่านหน้ากล้อง (แบบเดียวกับที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้า) … นี่จะทำให้เราสามารถตีความว่า Anta อาจจะออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ขณะเดียวกันยังสามารถมองว่า Anta ตัดสินใจขนของลงจากเรือ หวนกลับหา Mory แล้วมาพรอดรักริมหน้าผา ปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรูหรา ระหว่างจับจ้องมองเรือโดยสารแล่นออกจากท่า

ผู้ชม/นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักชื่นชอบการตีความแบบแรก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงหนทางแยกของ Mory ปักหลังอยู่เซเนกัล ขณะที่ Anta เลือกออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส, แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าความตั้งใจผกก. Mambéty น่าจะเป็นอย่างหลัง หนุ่ม-สาวต่างตัดสินใจละทอดทิ้งความเพ้อฝัน เนื่องจากฝ่ายชายเกิดความตระหนักถึงความจริงบางสิ่งอย่าง ส่วนฝ่ายหญิงก็เลือกติดตามชายคนรัก ไม่รู้จะเดินทางไปตายเอาดาบหน้าทำไม สอดคล้องวัตถุประสงค์ของหนังที่ต้องการหวนหารากเหง้า

แต่ยังไม่จบเท่านั้น ผกก. Mambéty ยังทอดทิ้งอีกปมปริศนากับภาพช็อตนี้ เรือลำเล็กกำลังแล่นออกจากฝั่ง หรือว่า Mory & Anta เกิดการเปลี่ยนใจ แล้วร่วมกันออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง … นี่อาจฟังดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่าผกก. Mambéty ต้องการสร้างความโคตรๆคลุมเคลือ ให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิด ค้นหาบทสรุปหนังด้วยตัวคุณเอง

ตัดต่อโดย Siro Asteni, Emma Mennenti

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสองหนุ่มสาว Mory และ Anta ร่วมกันออกเดินทางผจญภัย ทำตัวเหมือนไฮยีน่า (Hyena) ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เพื่อสรรหาเงินมาซื้อตั๋วลงเรือ มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน

  • Mory และ Anta
    • Mory นำพาฝูงวัวมาขายให้โรงเชือด
    • จากนั้น Mory สร้างความวุ่นวายให้ Aunt Oumy ตบตีลูกค้าขาประจำระหว่างเดินทางไปตักน้ำ
    • ถูกผองเพื่อนกระทำร้ายร่างกาย จับมัดมือ พาขึ้นรถ
    • Anta เดินทางมาหา Mory ถูกป้า Oumy ล่อหลอกว่าหลานชายฆ่าตัวตาย
    • จากนั้น Mory และ Anta ร่วมรักกันบริเวณหน้าผา เพ้อใฝ่ฝันถึงอนาคต
  • การเดินทางโดยมอเตอร์ไซด์ฮ้างของ Mory และ Anta
    • ในตอนแรก Mory เหมือนจะครุ่นคิดลักขโมยฝูงวัว แต่ตัดสินใจทำไม่สำเร็จ
    • พบเห็นคนรับพนัน ลงเงินหลักพัน แพ้แล้ววิ่งหลบหนี
    • วางแผนปล้นสนามมวยปล้ำ แม้ทำสำเร็จแต่ของในกล่องกลับมีเพียงโครงกระดูก
    • Mory เดินทางไปหาเศรษฐีเกย์ Charlie ถูกพาตัวขึ้นห้อง เลยโจรกรรมเสื้อผ้า เงินทอง และรถหรูกลับบ้าน
  • มุ่งสู่เป้าหมายปลายทางของ Mory และ Anta
    • ทั้งสองเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่งตัวโก้หรู แวะกลับหาป้า Oumy
    • จากนั้นซื้อตั๋วเรือโดยสาร เตรียมตัวออกเดินทางขึ้นเรือ
    • แต่แล้ว Mory ตัดสินใจวิ่งกลับมา หวนกลับหามอเตอร์ไซด์ฮ้าง ราวกับตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง

ลีลาการตัดต่อรับอิทธิพลเต็มๆจาก ‘Soviet Montage’ พบเห็นเทคนิคอย่าง Quick Cuts, Dynamic Cut, Jump Cut, นำเสนอคู่ขนาน (Juxtaposition) ตัดสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์, บางครั้งก็พยายามล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิด ด้วยภาพเชิงสัญลักษณ์บางอย่าง

ซีเควนซ์ที่ผมรู้สึกว่าโคตรๆน่าอึ่งทึ่ง คือฉากที่ Mory ถูกผองเพื่อนรุมกระทำร้ายร่างกาย จัดมัดพาขึ้นรถ ตัดสลับคู่ขนานป้า Oumy กำลังเชือดวัว (เหมือนจะสื่อว่า Mory กำลังถูกเข่นฆาตกรรม) จากนั้นพูดบอก Anta กล่าวอ้างว่าหลานชายกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย หญิงสาวจึงรีบวิ่งตรงไปบริเวณริมหน้าผา ทำท่าเหมือนกำลังจะกระโดดลงมา แล้วตัดภาพคลื่นกระทบชายฝั่ง (ชวนให้ครุ่นคิดว่าเธอคงฆ่าตัวตายตาม) สุดท้ายค่อยเฉลยว่าไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไร เป็นภาษาภาพยนตร์ที่ล่อหลอกผู้ชมได้อย่างสนิทใจ! … ล้อกับการชวนเชื่อฝรั่งเศสคือดินแดนแห่งความเพ้อฝัน แท้จริงแล้วหาก็แค่ปาหี่เท่านั้นเอง


ในส่วนของเสียงและเพลงประกอบ ต้องชมเลยว่ามีความละเมียด ละเอียดอ่อน เต็มไปด้วยรายละเอียดที่แทบสามารถหลับตาฟังก็ยังดูหนังรู้เรื่อง! (อย่างที่บอกไปว่าตั้งแต่สมัยเด็ก ผกก. Mambéty บางครั้งไม่มีโอกาสเข้าดูหนังกลางแจ้ง เพียงสดับรับฟังเสียง นั่นคือแรงบันดาลใจให้เขามีความละเอียดอ่อนต่อการใช้เสียงและเพลงประกอบอย่างมากๆ)

I am deeply inspired by the power of music in storytelling. Music has a way of transcending language and connecting people on a universal level. In my films, I carefully select music that not only complements the narrative but also reflects the cultural and emotional landscapes of the characters.

Djibril Diop Mambéty

หนังไม่มีเครดิตเพลงประกอบ เพราะทุกบทเพลงถ้าไม่มาจากศิลปินมีชื่อ (Josephine Baker, Mado Robin, Aminata Fall) ก็ท่วงทำนอง/ดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน (หลักๆคือเครื่องดนตรี Peul flute/Fula flute และกลอง Sabra Drum) ผสมผสานคลุกเคล้าให้เข้ากับ ‘Sound Effect’ เสียงรถรา แร้งกา คลื่นลม ผู้คน โรงฆ่าสัตว์ ฯ เพื่อให้เกิดมิติเกี่ยวกับเสียง สามารถเพิ่มประสบการณ์ กระตุ้นเร้าอารมณ์ ราวกับผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้น

Whether it’s traditional African rhythms, contemporary sounds, or a fusion of both, I believe that music can bring an added dimension to the cinematic experience, evoking emotions and immersing the audience in the world I am creating.

Music has a unique power to evoke emotions, memories, and cultural connections. In my films, I strive to find the right balance between traditional Senegalese music and contemporary sounds, to reflect the complexities of our society and the tensions between the past and the present.


เริ่มต้นขอกล่าวถึงอีกสักครั้ง Paris, Paris, Paris (1949) แต่งทำนองโดย Agustín Lara, คำร้องโดย Georges Tabet, ขับร้อง/กลายเป็น ‘Signature’s Song’ ของ Joséphine Baker ชื่อจริง Freda Josephine Baker (1906-75) เกิดที่สหรัฐอเมริกา บิดา-มารดาต่างเคยเป็นทาสคนดำ/อินเดียนแดง สมัยเด็กเลยโดนดูถูกเหยียดผิวบ่อยครั้ง โตขึ้นเลยตัดสินใจอพยพสู่ Paris กลายเป็นนักร้อง-นักแสดงชาวอเมริกันประสบความสำเร็จสูงสุดในฝรั่งเศส

อ่านจากประวัติก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Baker จะมีมุมมองต่อฝรั่งเศส ประเทศทำให้เธอประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง ราวกับดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์ พาราไดซ์ เหมือนดั่งบทเพลง Paris, Paris, Paris

ต้นฉบับฝรั่งเศสแปลอังกฤษ
Ne me demandez pas si j’aime la grâce
Ne me demandez pas si j’aime Paris
Autant demander à un oiseau dans l’espace
S’il aime le ciel ou s’il aime son nid

Autant demander au marin qui voyage
S’il peut vivre sans la mer et le beau temps
Autant demander à une fleur sauvage
Si l’on peut vraiment se passer de printemps

Paris, Paris, Paris
C’est sur la Terre un coin de paradis
Paris, Paris, Paris,
De mes amours c’est lui le favori
Mais oui, mais oui, pardi
Ce que j’en dis on vous l’a déjà dit
Et c’est Paris, qui fait la parisienne
Qu’importe, qu’elle vienne du nord ou bien du midi
Et c’est aussi le charme et l’élégance
Et l’âme de la France
Tout cela, mais c’est Paris

Madame c’est votre Louvre si joli
(Paris, Paris, Paris)
C’est votre beau bijou d’un goût exquis
Mais oui, mais oui, pardi
C’est aussi votre généreux mari
Mais oui, Paris, c’est votre boucle blonde
Qu’on sait le mieux du monde coiffer avec fantaisie
Mais oui, Paris, c’est votre beau sourire
C’est tout ce qu’on désire
Tout cela, mais c’est Paris

Et c’est aussi le charme et l’élégance
Et l’âme de la France
Tout cela, mais c’est Paris
Don’t ask me if I love grace
Don’t ask me if I love Paris
It’s like asking a bird in space
If it loves the sky or its nest

It’s like asking a traveling sailor
If he can live without the sea and good weather
It’s like asking a wild flower
If one can truly do without spring

Paris, Paris, Paris
On Earth, it’s a corner of paradise
Paris, Paris, Paris
Of my loves, it’s the favorite one
Yes, indeed, of course
What I’m saying has already been said to you
And it’s Paris that makes the Parisian
No matter if she comes from the north or the south
And it’s also the charm and elegance
And the soul of France
All of that, but it’s Paris

Madam, it’s your beautiful Louvre
(Paris, Paris, Paris)
It’s your exquisite jewel
Yes, indeed, of course
It’s also your generous husband
Yes, indeed, Paris, it’s your golden curl
That is known as the best in the world, styled with fantasy
Yes, Paris, it’s your beautiful smile
It’s all that one desires
All of that, but it’s Paris

And it’s also the charm and elegance
And the soul of France
All of that, but it’s Paris

การรับชม Touki Bouki (1973) อาจทำให้มุมมองของคุณต่อ Paris, Paris, Paris ปรับเปลี่ยนแปลงไป เพราะถูกใช้เป็นบทเพลงชวนเชื่อฝรั่งเศสที่ดังขึ้นบ่อยครั้ง จนสร้างความตะหงิดๆ หงุดหงิด รำคาญใจ เหมือนมันมีลับเลศลมคมในอะไรบางอย่าง ซึ่งผมค่อยข้างเชื่อว่าผู้ชมจะเกิดความตระหนัก Paris แท้จริงแล้วเป็นเพียงคำลวงล่อหลอก หาใช่ดินแดนอุดมคติอย่างที่ใครต่อใครวาดฝันไว้

ยิ่งถ้าคุณเคยรับชม Black Girl (1966) จะพบเห็นสภาพความเป็นจริงของฝรั่งเศส ที่หญิงชาว Senegalese เดินทางไปปักหลักอาศัย กลายเป็นสาวรับใช้ มันหาใช่ดินแดนหลังสายรุ้งแบบ ‘The Wizard of Oz’ เลยสักกะนิด!

ระหว่างที่ Mory เดินทางมายังคฤหาสถ์หรูของเศรษฐีเกย์ Charlie ได้ยินบทเพลงคลอประกอบพื้นหลัง Plaisir d’amour (Pleasure of Love) เป็นบทเพลงรักคลาสสิก แต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1784 โดย Jean-Paul-Égide Martini (1741–1816) นำคำร้องจากบทกวี Célestine ของ Jean-Pierre Claris de Florian (1755–1794)

ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Mado Robin ชื่อจริง Madeleine Marie Robin (1918-60) นักร้องเสียงโซปราโน สัญชาติฝรั่งเศส บันทึกเสียงบทเพลงนี้เมื่อปี ค.ศ. 1952

ผมครุ่นคิดว่าการเลือกบทเพลง Plaisir d’amour ไม่ใช่แค่บอกใบ้รสนิยมทางเพศของ Charlie แต่ยังอธิบายเหตุผลที่ Mory ไม่ได้ขึ้นเรือเดินทางสู่ Paris พร้อมกับ Anta เพราะหมดรัก หมดศรัทธา ทำลายคำสัญญาเคยให้ไว้ สายน้ำยังคงเคลื่อนไหล แต่จิตใจกลับผันแปรเปลี่ยนไป

ต้นฉบับฝรั่งเศสแปลอังกฤษ
Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.

J’ai tout quitté pour l’ingrate Sylvie,
Elle me quitte et prend un autre amant.
Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.

“Tant que cette eau coulera doucement
vers ce ruisseau qui borde la prairie,
je t’aimerai”, me répétait Sylvie,
l’eau coule encor, elle a changé pourtant.

Plaisir d’amour ne dure qu’un moment,
chagrin d’amour dure toute la vie.
The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

I gave up everything for ungrateful Sylvia,
She is leaving me for another lover.
The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

“As long as this water will run gently
Towards this brook which borders the meadow,
I will love you”, Sylvia told me repeatedly.
The water still runs, but she has changed.

The pleasure of love lasts only a moment,
The grief of love lasts a lifetime.

ตอนจบของหนังมีการเลือกบทเพลงที่เกินความคาดหมายมากๆๆ น่าเสียดายผมหาชื่อบทเพลงและศิลปินไม่ได้ แต่ครุ่นคิดว่าน่าจะสไตล์ดนตรี Funk เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ ความคิดฟุ้งๆของตัวละคร ร้อยเรียงชุดภาพที่มอบสัมผัสเวิ้งว่างเปล่า ก้าวเดินอย่างเคว้งคว้าง สื่อถึงชีวิตได้สูญเสียเป้าหมายปลายทาง ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายลง (ทอดทิ้ง)คนรักเคยครองคู่กัน ต่อจากนี้เลยยังไม่รู้โชคชะตาจะดำเนินไปเช่นไร

สองหนุ่มสาว Mory และ Anta ต่างมีความเพ้อใฝ่ฝัน ครุ่นคิดอยากไปจากถิ่นทุรกันดาร ทวีปแอฟริกาแห่งนี้ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน (ที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เมื่อครั้น Senegal ยังเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส) จึงร่วมกันผจญภัย ออกเดินทาง ขับมอเตอร์ไซด์ฮ่าง ใช้สารพัดวิธีลักขโมยเงิน ซื้อตั๋วโดยสาร แต่ระหว่างกำลังขึ้นเรือเตรียมออกเดินทาง … กลับแยกย้ายไปตามทิศทางใครทางมัน

หลายคนอาจรับรู้สึกว่ามันช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย อุตส่าห์เปลืองเนื้อเปลืองตัว ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า(วัว) เกือบสูญเสียความบริสุทธิ์ประตูหลัง แล้วเหตุไฉน Mory ถึงไม่ขึ้นเรือออกเดินทาง กลับมาจมปลักสถานที่แห่งนี้ทำไมกัน? นี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความ มันเหมือนตัวละคร (อวตารของผกก. Mambéty) ตระหนักข้อเท็จจริงบางสิ่งอย่าง ฝรั่งเศสอาจไม่ใช่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน สรวงสวรรค์อย่างที่ใครต่อใครเคยวาดฝัน

เป้าหมายของผกก. Mambéty ต้องการให้ชาว Senegalese/แอฟริกัน (โดยเฉพาะบรรดาพวกผู้สร้างภาพยนตร์) ละเลิกทำตัวเหมือนผู้เคราะห์ร้าย ตกเป็นเหยื่อ เอาแต่(สร้างภาพยนตร์)ต่อต้านลัทธิอาณานิคม ทำไมเราไม่หันมาย้อนมองกลับมาดูตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ‘ความเป็นแอฟริกัน’ นั่นต่างหากจักทำให้เรามีตัวตน ความเป็นตัวของตนเอง

I try to demystify and decolonize the image of Africa. We have been the victims of colonization for too long. It’s time for us to become the masters of our own lives, to write our own stories, and to redefine our identities on our own terms.

Djibril Diop Mambéty

ผมมองเหตุผลที่ Mory (และผกก. Mambéty) ตัดสินใจหวนกลับขึ้นฝั่งในมุมสุดโต่งสักนิด คืออาการหวาดระแวง สั่นสะพรึงกลัว ไม่กล้าออกจาก ‘Safe Zone’ นั่นเพราะยุคสมัยนั้นมีภาพยนตร์ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) ผุดขึ้นมากมายยังกะดอกเห็น ทำให้ชาว Senegalese/แอฟริกัน ตระหนักรับรู้ธาตุแท้ตัวตนฝรั่งเศส/จักรวรรดิอาณานิคม สรวงสวรรค์ที่เคยกล่าวอ้างไม่เคยมีอยู่จริง แล้วทำไมเรายังขวนขวายไขว่คว้า ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อออกเดินทางสู่ดินแดนแห่งนั้นอยู่อีก! … การถือกำเนิดขึ้นของ Touki Bouki (1973) และผกก. Mambéty ถือว่าสะท้อนอิทธิพลภาพยนตร์แอฟริกันยุคหลังประกาศอิสรภาพ (post-independence) ได้อย่างชัดเจน

สำหรับ Anta การออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสของเธอนั้น หลายคนอาจมองว่าเป็นการนำเสนอมุมมองตรงกันข้ามกับ Mory ลุ่มหลงงมงาย ยึดถือมั่นในมายาคติ แต่ขณะเดียวกันยังสามารถตีความถึงการปลดแอก ได้รับอิสรภาพ เพราะสถานะสตรีเพศในทวีปแอฟริกา ไม่แตกต่างจากแนวคิดอาณานิคม (มีคำเรียกปิตาธิปไตย, Patriarchy สังคมชายเป็นใหญ่) ยังคงถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ไร้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ … การเดินทางของเธอจึงแม้อาจเป็นการมุ่งสู่ขุมนรก แต่คือการดิ้นหลุดพ้นจากพันธนาการทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์

แนวคิดของผกก. Mambéty ในแง่ศิลปะวัฒนธรรม มันคือการอนุรักษ์ รักษาอัตลักษณ์ ความเป็นชนเผ่า-ชุมชน-ประเทศ-ทวีป แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค สามารถสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สืบสานต่อยอดให้มั่นคงยั่งยืน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยะ

แต่ในแง่มุมอื่นๆผมว่าไม่ใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป จนถึงปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกายังคงล้าหลัง ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ประชาชนอดอยากปากแห้ง ขาดแคลนอาหาร-น้ำดื่ม-ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค-บริโภค ไร้งานไร้เงิน ไร้การเหลียวแลจากนานาอารยะ เฉกเช่นนั้นแล้วการแสวงหาโอกาสต่างแดน ขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส มันอาจเป็นสรวงสวรรค์ที่จับต้องได้มากกว่า!

ชื่อหนัง Touki Bouki เป็นภาษา Wolof แปลว่า The Journey of the Hyena สำหรับคนที่รับรู้จักเจ้าไฮยีน่า มันคือศัตรูตัวฉกาจของฝูงวัว เอาจริงๆควรสื่อถึงฝรั่งเศส/จักรวรรดิอาณานิคม แต่ผกก. Mambéty กลับเปรียบเทียบการผจญภัยของคู่รักหนุ่ม-สาว Mory & Anta พฤติกรรมพวกเขาไม่แตกต่างจากเจ้าหมาล่าเศษเนื้อ มันช่างขัดย้อนแย้งสัญญะที่ปรากฎอยู่ในหนังอย่างสิ้นเชิง! … แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผกก. Mambéty ทำการล่อหลอกผู้ชมนะครับ ตลอดทั้งเรื่องก็มีการใช้ภาษาภาพยนตร์อย่างหนึ่ง แต่นัยยะความหมายอีกอย่างหนึ่ง นับครั้งไม่ถ้วน!

The hyena is an African animal. It never kills. The hyena is falsehood, a caricature of man. The hyena comes out only at night; he is afraid of daylight, like the hero of Touki Bouki-he does not want to see daylight, he does not want to see himself by daylight, so he always travels at night. He is a liar, the hyena. The hyena is a permanent presence in humans, and that is why man will never be perfect. The hyena has no sense of shame, but it represents nudity, which is the shame of human beings.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ Directors’ Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะผสมๆ คงเพราะผู้ชมส่วนใหญ่คงดูไม่รู้เรื่อง แต่หลังจากติดตามต่อด้วยเทศกาล Moscow International Film Festival คว้ารางวัลนักวิจารณ์ FIPRESCI Prize นี่ก็แสดงว่าชาวรัสเซีย สามารถเข้าถึงความลุ่มลึกล้ำ ตระหนักถึงอัจฉริยภาพผกก. Mambéty

(สำหรับหนังที่มีลีลาตัดต่อมึนๆเช่นนี้ ไม่น่าแปลกใจจะสามารถเข้าถึงผู้ชมชาวรัสเซีย ประเทศต้นกำเนิดทฤษฎี ‘Montage’)

  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 90 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ 66
  • Sight & Sound: Director’s Poll 2012 อันดับ 72 (ร่วม)
  • Empire: The 100 Best Films Of World Cinema 2010 ติดอันดับ 52

ปัจจุบัน Contras’city (1968), Badou Boy (1970) และ Touki Bouki (1973) ต่างได้รับการบูรณะด้วยทุนสนับสนุนจาก World Cinema Foundation ของผู้กำกับ Martin Socrsese ทั้งหมดคุณภาพ 2K สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

หลายคนอาจรู้สึกว่าหนังเข้าถึงยาก มีความสลับซับซ้อน แต่ให้มองเป็นความท้าทาย ค่อยๆขบครุ่นคิด ทบทวนสิ่งต่างๆ เมื่อพบเจอคำตอบ ตระหนักเหตุผลที่ตัวละครปฏิเสธขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส นั่นเป็นสิ่งน่ายกย่องสรรเสริญ กล้าท้าทายขนบวิถีที่ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ล้างสมองโดยจักรวรรดิอาณานิคม … เป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่า อันดับหนึ่งของชาวแอฟริกันอย่างไร้ข้อกังขา!

จัดเรต 18+ กับภาพเชือดวัว การลักขโมย

คำโปรย | Touki Bouki การเดินทางค้นหาตัวตนเองของผู้กำกับ Djibril Diop Mambéty ปฏิเสธคล้อยตามอุดมคติชวนเชื่อจักรวรรดิอาณานิคม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ปารี่ ปารีส ปาหี่