Hyènes (1992)


Hyènes (1992) Senegalese : Djibril Diop Mambéty ♥♥♥♥

ภาพยนตร์กึ่งสุขกึ่งโศก (Tragi-Comedy) เมื่อมหาเศรษฐีนีเดินทางกลับบ้านเกิด ณ Colobane, Senegal พร้อมมอบเงินก้อนใหญ่ ให้ใครก็ตามลงมือเข่นฆาตกรรมอดีตชู้รัก เคยข่มขืนตนเองตอนอายุ 17 จนตั้งครรภ์ ระหว่างศีลธรรม ความถูกต้อง หรืออำนาจของเงิน ชาวบ้านแห่งนี้จะตัดสินใจเช่นไร?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เกร็ด: Hyènes หรือ Hyenas สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กินเนื้อ รูปร่างคล้ายสุนัขหรือหมาป่า กระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปแอฟริกา (และบางส่วนของอาหรับ อินเดีย) มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง (เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และเพื่อป้องกันการกินลูกของตนเอง) เป็นสัตว์กินไม่เลือก แม้แต่กระดูก ซากสัตว์ ขึ้นชื่อเรื่องความเจ้าเล่ห์เพทุบาย และมีเสียงร้องเหมือนกับเสียงหัวเราะ

มนุษย์ไฮยีน่า คล้ายๆกับพวกแมงดา คือบุคคลที่ชอบกอบโกย เกาะกิน แสวงหาผลประโยชน์(จากความเดือดร้อน)ของผู้อื่น ในบริบทของหนังก็คือชาวเมือง Colobane ที่พอมหาเศรษฐีนี Linguere Ramatou ผู้ร่ำรวยยิ่งกว่าธนาคารโลกเดินทางกลับมา ก็พร้อมเลียแข้งเลียขา ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เศษเงินทอง นำมาสนองความสุขสำราญ ใช้ข้ออ้างความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ทอดทิ้งหลักศีลธรรม ตกเป็นทาสลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ไม่ต่างจากการถูกล่าอาณานิคม (Neo-Colonialism)

ความประทับใจจาก Touki Bouki (1973) ทำให้ผมขวนขวายมองหาผลงานอื่นของผกก. Djibril Diop Mambéty พอค้นพบว่า Hyènes (1992) ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว จะให้พลาดได้อย่างไร แค่ช็อตแรกๆก็อ้าปากค้าง ภาพสวยชิบหาย พยายามย้อมเหลือง-ทอง เพื่อสร้างความมันวาว เปร่งประกายให้กับสีผิวชาวแอฟริกัน แม้ลีลาการกำกับ ลูกเล่นภาพยนตร์จะไม่แพรวพราวเท่าผลงานก่อน แต่เนื้อเรื่องราวแฝงสาระข้อคิด มีความทรงคุณค่ายิ่งๆนัก


Djibril Diop Mambéty (1945-1998) นักกวี นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Senegalese เกิดที่ Colobane ชานเมืองหลวง Dakar, Senegal ในครอบครัวมุสลิม ชนเผ่า Lebou แม้ฐานะยากจนแต่มักหาโอกาสรับชมภาพยนตร์ฉายกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปข้างใน แค่เพียงฟังเสียงอยู่ข้างนอกก็ยังดี (นั่นคือหนึ่งในอิทธิพลที่ทำให้เสียงในผลงานของ Mambéty มีความสำคัญอย่างมากๆ) โตขึ้นเข้าร่วมคณะการแสดง Théâtre National Daniel-Sorano แต่ไม่ทันไรกลับถูกไล่ออกเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

แม้ไม่เคยร่ำเรียนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้วยความหลงใหลใน Italian Neorealist และ French New Wave เมื่อตอนอายุ 21 ปี ขอหยิบยืมกล้อง 16mm จาก French Cultural Centre ร่วมกับผองเพื่อนถ่ายทำหนังสั้น Badou Boy (1966) [แล้วรีเมค Badou Boy (1970)] บันทึกการเดินทางของชายหนุ่ม Badou Boy ตามท้องถนนหนทางเมือง Dakar [น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Borom Sarret (1963) ของ Ousmane Sembène] เข้าฉายเทศกาลหนัง Mondial des Arts Nègres (จัดที่ Dakar) ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม

หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Touki Bouki (1973) ผกก. Mambéty ก็สูญหายตัวไปอย่างลึกลับกว่า 15+ ปี ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าเอาเวลาไปทำอะไร (คงคล้ายๆ Terrence Malick ที่ก็หายตัวไปเกือบ 20 ปี น่าจะออกค้นหาตัวตนเองกระมัง) บทสัมภาษณ์ที่พบเจอให้คำอธิบายประมาณว่า

I loved pictures when I was a very young boy — but pictures didn’t mean cinema to me then. When I was young, I preferred acting to making pictures. So I decided to study drama, but one day in the theater, I realized that I love pictures. That was how I found myself in this thing called cinema. From time to time, I want to make a film, but I am not a filmmaker; I have never been a filmmaker.

Djibril Diop Mambéty

ผกก. Mambéty หวนกลับมายุ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์อีกครั้ง จากการช่วยงานเพื่อนผกก. Idrissa Ouedraogo ถ่ายทำภาพยนตร์ Yaaba (1989) ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าตัวยังได้ถ่ายทำสารคดีขนาดสั้น บันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำ Parlons Grand-mère (1989)

สำหรับ Hyènes (1992) มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการติดตามหา(จิตวิญญาณ)ตัวละคร Anta จากภาพยนตร์ Touki Bouki (1973) ที่ตอนจบตัดสินใจขึ้นเรือออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส (ไม่ใช่ค้นหานักแสดง Mareme Niang ที่รับบท Anta นะครับ) อยากรับรู้ว่าเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน โชคชะตาของเธอจะปรับเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

I began to make Hyènes when I realized I absolutely had to find one of the characters in Touki Bouki, which I had made twenty years before. This is Anta, the girl who had the courage to leave Africa and cross the Atlantic alone. When I set out to find her again, I had the conviction that I was looking for a character from somewhere in my childhood. I had a vision that I already had encountered this character in a film. Ultimately, I found her in a play called The Visit (1956) by Friedrich Dürrenmatt. I had the freedom and confidence to marry his text with my film and make his story my own.

หลังจากใช้เวลาครุ่นคิดค้นหาอยู่สักพักใหญ่ๆ ผกก. Mambéty ก็ได้ค้นพบ(จิตวิญญาณ)ตัวละคร Anta อยู่ในบทละคอนสามองก์ แนวกึ่งโศกนาฏกรรมกึ่งสุขนาฏกรรม (Tragi-Comedy) เรื่อง The Visit (1956) แต่งโดย Friedrich Dürrenmatt (1921-90) นักเขียนชาว Swiss ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ Schauspielhaus Zürich, Switzerland เมื่อปี ค.ศ. 1956 ประสบความสำเร็จจนมีโอกาสเดินทางไป West-End และ Broadway ในปีถัดๆมา

เกร็ด: ชื่อเต็มๆของบทละคอนนี้คือ (เยอรมัน) Der Besuch der alten Dame, (ฝรั่งเศส) La visite de la vieille dame, (อังกฤษ) The Visit of the Old Lady

เกร็ด 2: ก่อนหน้านี้มีการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ The Visit (1964) กำกับโดย Bernhard Wicki, นำแสดงโดย Ingrid Bergman และ Anthony Quinn เสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่ อาจเพราะมีการปรับเปลี่ยนตอนจบ Happy Ending สไตล์ Hollywood

อธิบายแบบนี้หลายคนคงครุ่นคิดว่า Hyènes (1992) คือภาคต่อ(ทางจิตวิญญาณ)ของ Touki Bouki (1973) แต่ผกก. Mambéty ไม่ได้จำกัดตนเองอยู่ภายในกรอบนั้น รวมถึงการดัดแปลงบทละคอน The Visit ที่ก็มีเพียงพล็อตดราม่าหลวมๆ แต่รายละเอียดอื่นๆล้วนคืออิสรภาพในการสร้างสรรค์ วิสัยทัศน์ของผู้สร้างในการถ่ายทอดเรื่องราวออกมา

I focused on the notion of freedom, which includes the freedom not to know. That implies confidence in your ability to construct images from the bottom of your heart. When artists converge on these images, there is no longer room for ethnic peculiarities; there is only room for talent. You mustn’t expect me to cut the patrimony of the mind into pieces and fragments. A film is a kind of meeting; there is giving and receiving. Now that I have made it, Hyènes belongs as much to the viewer as to me. You must have the freedom and confidence to understand and critique what you see.


เรื่องราวของมหาเศรษฐีนี Linguere Ramatou ผู้มีความร่ำรวยยิ่งกว่าธนาคารโลก ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด ณ Colobane, Senegal ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบรรดาชาวเมือง รวมถึงคนรักเก่า Dramaan Drameh คาดหวังให้เธอช่วยกอบกู้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมืองแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

แต่สิ่งที่ Linguere Ramatou เรียกร้องขอต่อชาวเมือง Colobane คือการเข่นฆาตกรรมอดีตคนรัก Dramaan Drameh เล่าว่าเมื่อตอนอายุ 17 โดนข่มขืนจนตั้งครรภ์ แล้วถูกขับไล่ ผลักไส กลายเป็นโสเภณี แล้วยังต้องเดินทางจากบ้านเกิดไปแสวงโชคยังต่างแดน

ในตอนแรกๆชาวเมืองต่างปฏิเสธเสียงขันแข็ง ด้วยข้ออ้างหลักศีลธรรมที่ยึดถือปฏิบัติมาช้านาน จะให้เข่นฆ่าพวกพ้องมิตรสหายได้อย่างไรกัน นั่นทำให้ Linguere Ramatou ค่อยๆเอาวัตถุ ข้าวของ พัดลม ตู้เย็น ฯ สารพัดสิ่งอำนวยสะดวกสบายมาล่อซื้อใจ รวมถึงเศรษฐกิจของเมือง Colobane กลับมาเฟื่องฟู รุ่งเรือง นั่นทำให้ความครุ่นคิดของชาวเมืองค่อยๆผันแปรเปลี่ยน ก่อนในที่สุดจะตัดสินใจ …


ผกก. Mambéty โอบรับแนวคิดของ Italian Neorealism เลยเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด ไม่เคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์มาก่อน ล้วนคือชาวเมือง Colobane ที่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงภาพลักษณ์ตัวละคร

  • Dramaan Drameh (รับบทโดย Mansour Diouf) เจ้าของร้านขายของชำ ภายนอกเป็นคนอัธยาศัยดี มีไมตรีต่อเพื่อนพ้อง ขณะเดียวกันแอบหวาดกลัวภรรยา พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้องชื่อเสียง ไม่ต้องการถูกตีตรา มีปัญหาเรื่องรักๆใคร่ๆ นั่นเพราะในอดีตเคยตกหลุมรัก แอบสานสัมพันธ์ Linguère Ramatou พลั้งพลาดทำเธอตั้งครรภ์ จ่ายสินบนให้พยานสองคน เพื่อตนเองจะได้รอดพ้นมลทิน
    • ผมไม่สามารถหารายละเอียดใดๆเกี่ยวกับ Mansour Diouf แต่ความน่าสนใจคือภาพลักษณ์ที่ดูไม่เหมือนบุคคลโฉดชั่วร้าย แถมยังอัธยาศัยดี มีมิตรไมตรีต่อเพื่อนพ้อง คำกล่าวอ้างของ Linguère Ramatou หลายคนอาจรู้สึกฟังไม่ขึ้น หลักฐานไม่เพียงพอ เกิดความสงสารเห็นใจ เหมือนถูกกลั่นแกล้ง/ผลกรรมตามทัน ท่าทางห่อเหี่ยว สิ้นหวัง ค่อยๆยินยอมรับสภาพความจริง เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่มีอะไรจะพูดก่อนตาย
  • Linguère Ramatou (รับบทโดย Ami Diakhate) หญิงสูงวัยผู้พานเคยผ่านอะไรมามาก หลังโดนข่มขืน ตั้งครรภ์ ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน กลายเป็นโสเภณี ไต่เต้าจนกลายเป็นเศรษฐีนี หลังเอาตัวรอดจากเหตุการณ์เครื่องบินตก แขน-ขาพิการ ทำให้เธอตัดสินใจหวนกลับบ้านเกิดเพื่อล้างแค้น เอาคืน ไม่มีอะไรให้หวาดกลัวเกรงความตาย
    • ผมอ่านเจอว่าผกก. Mambéty พบเจอ Ami Diakhate เป็นแม่ค้าขายซุป (น่าจะก๋วยเตี๋ยว) อยู่ในตลาดเมือง Daker ด้วยน้ำเสียงหยาบกระด้าง เหมือนคนกร้านโลก พานผ่านอะไรมามาก และท่าทางเริดเชิด เย่อหยิ่งยโสโอหัง เหมาะกับบทนางร้าย มหาเศรษฐีนี จิตใจเลวทราม พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแก้ล้างแค้น โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว อะไรทั้งนั้น
  • ผกก. Mambéty ยังรับบทตัวละครชื่อ Gaana ทีแรกผมนึกว่าคือบอดี้การ์ดของ Linguère Ramatou แต่แท้จริงแล้วคืออดีตผู้นำหมู่บ้าน Colobane ถูกใส่ร้ายป้ายสีหรืออะไรสักอย่าง ทำให้สูญเสียตำแหน่งของตนเอง ซึ่งก็ไม่รู้มีโอกาสไปพบเจอ ต่อรองอะไรถึงยินยอมร่วมมือกับ Ramatou เพื่อทำการยึดครอบครอง Colobane ปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็น …
    • ผมยังครุ่นคิดไม่ตกว่าทำไมผกก. Mambéty ถึงตัดสินใจเลือกรับบทบาทนี้ เหมือนตัวเขามีความเพ้อฝัน อยากจะฟื้นฟูบ้านเกิด Colobane ให้มีความรุ่งเรือง ไม่ใช่เสื่อมโทรมอย่างที่อาจเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น

ผมอ่านเจอว่าต้นฉบับบทละคร The Visitor ตัวละครมหาเศรษฐีนี Claire Zachanassian เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เมื่อหวนกลับบ้านเกิดจึงมีพวกนักข่าว ปาปารัสซี่ ติดสอยห้อยติดตาม ถ่ายภาพทำข่าวไม่ยอมเหินห่าง แต่ภาพยนตร์ของผกก. Mambéty เลือกตัดทิ้งความวุ่นๆวายๆนั้นไป ปรับเปลี่ยนมาเป็นบอดี้การ์ด และสาวรับใช้ 3-4 คน (หรือชู้รักก็ไม่รู้นะ) หนึ่งในนั้นคือหญิงชาวญี่ปุ่น ซึ่งดูผิดแผกแปลกประหลาดมากๆ เหตุผลก็คือ …

The point is not that she is Asian. The point is that everyone in Colobane–everyone everywhere–lives within a system of power that embraces the West, Africa, and the land of the rising sun. There is a scene where this woman comes in and reads: she reads of the vanity of life, the vanity of vengeance; that is totally universal. My goal was to make a continental film, one that crosses boundaries. To make Hyènes even more continental, we borrowed elephants from the Masai of Kenya, hyenas from Uganda, and people from Senegal. And to make it global, we borrowed somebody from Japan, and carnival scenes from the annual Carnival of Humanity of the French Communist Party in Paris. All of these are intended to open the horizons, to make the film universal. The film depicts a human drama. My task was to identify the enemy of humankind: money, the International Monetary Fund, and the World Bank. I think my target is clear.

Djibril Diop Mambéty

ถ่ายภาพโดย Matthias Kälin (1953-2008) ตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์/สารคดี สัญชาติ Swiss ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), สารคดี Lumumba: Death of a Prophet (1991), Hyènes (1992) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้แพราวพราวด้วยลูกเล่น ลีลาภาพยนตร์เหมือนกับ Touki Bouki (1973) แต่มีการย้อมสีเหลือง-ทอง เพื่อสร้างความมันวาว กลมกลืนเข้ากับพื้นหลังดินลูกรัง ทะเลทราย และยังทำให้สีผิวชาวแอฟริกันดูโดดเด่น เปร่งประกาย … กล้องที่ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ผู้ชมสัมผัสเหือดแห้ง อดอยากปากแห้ง ดินแดนขาดความสดชื่น ไร้ชีวิตชีวา

การมาถึงของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou แม้นำพาพัดลม โทนสีฟ้า น้ำทะเล รวมถึงสีสันอื่นๆที่ทำให้ดูร่มเย็น คลายความร้อนจากแสงแดดแผดเผาชาวเมือง Colobane แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างความลุ่มร้อน มอดไหม้ทรวงใน เพราะข้อเรียกร้องของเธอบ่อนทำลายจิตวิญญาณผู้คน กำลังจะสูญสิ้นความเป็นมนุษย์


ทีแรกผมก็แอบงงๆ เพราะหนังชื่อ Hyènes (1992) แต่ภาพช็อตแรกกลับถ่ายให้เห็นฝูงช้างแอฟริกันกำลังอพยพ ก้าวออกเดิน ก่อนตัดมาภาพฝูงชนชาว Colobane ก็กำลังก้าวเดินเช่นกัน นี่เป็นความพยายามเปรียบเทียบคู่ขนานระหว่างมนุษย์ = สัตว์ เป็นภาษาภาพยนตร์ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้ง!

ไฮไลท์คือชื่อหนัง Hyènes ปรากฎขึ้นระหว่างฝูงชนกลุ่มนี้กำลังก้าวเดินขึ้นมา นี่เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาเลยว่ามนุษย์ = ไฮยีน่า

แซว: มันไม่ใช่ว่าภาพสรรพสัตว์เหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปใน Colobane, Senegal แต่ผกก. Mambéty เดินทางไปขอถ่ายทำสัตว์เหล่านี้ทั่วแอฟริกัน Kenya, Uganda ฯ

To make Hyènes even more continental, we borrowed elephants from the Masai of Kenya, hyenas from Uganda, and people from Senegal.

Djibril Diop Mambéty

เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังดำเนินเรื่องยังร้านอาหาร ขายของชำ สถานที่แห่งความวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วน ชวนให้ผมนึกถึงโรงเตี๊ยมของหนังจีน(กำลังภายใน) นี่แสดงให้เห็นว่าแม้วัฒนธรรม ชาติพันธุ์แตกต่างกัน แต่วิถีของมนุษย์ไม่ว่าจะซีกโลกไหน ล้วนมีบางสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึงกัน

ผู้นำหมู่บ้านนักเรียกประชุมแกนนำ สำหรับวางแผนเตรียมการต้อนรับ Linguère Ramatou ยังสถานที่ที่ชื่อว่า “Hyena Hole” แค่ชื่อก็บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง ซึ่งก่อนนำเข้าฉากนี้ยังพบเห็นฝูงอีแร้งบินโฉบลงมา มันคือสัตว์ชอบกินเศษเนื้อที่ตายแล้ว พฤติกรรมไม่แตกต่างจากไฮยีน่าสักเท่าไหร่ (อีแร้งฝูงนี้ = แกนนำหมู่บ้าน)

สถานที่แห่งนี้ “Hyena Hole” ยังมีสภาพปรักหักพัง ซึ่งแสดงถึงความเสื่อมทรามของเมือง Colobane ไม่ใช่แค่สภาพเศรษฐกิจ สังคม ยังผู้คนเหล่านี้ที่ทำตัวลับๆล่อๆ พูดคุยวางแผนที่จะแสวงหา กอบโกยผลประโยชน์จากเศรษฐีนี Ramatou ไม่ต่างจากพวกอีแร้งนี้สักเท่าไหร่

หนึ่งในการตัดต่อคู่ขนานที่งดงามอย่างมากๆ อยู่ระหว่างพิธีต้อนรับ Linguere Ramatou มีการล้อมเชือดวัว และหญิงชุดแดงทำการโยกเต้นเริงระบำ (ทำเหมือนยั่ววัว) ด้วยท่าทางอันสุดเหวี่ยงของเธอ สะท้อนการต่อสู้ดิ้นรนของเจ้าวัวที่ไม่ต้องการถูกเชือด ก่อนท้ายสุดจะดับดิ้น สิ้นชีวิน

ซีเควนซ์นี้ถือเป็นอารัมบท นำเข้าสู่เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ Dramaan Drameh จู่ๆตกเป็นบุคคลเป้าหมายของ Linguère Ramatou และช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ของหนัง บรรดาชาวบ้านทั้งหลายก็ห้อมล้อมเข้าหาชายคนนี้ โชคชะตาไม่ต่างจากเจ้าวัวกระทิง!

ผมเรียกว่า “Citizen Kane style” มุมก้ม-เงย ตำแหน่งสูง-ต่ำ แสดงถึงวิทยฐานะทางสังคมของตัวละคร ซึ่งในบริบทของหนังนี้ Linguère Ramatou พอกลายเป็นมหาเศรษฐีนี ก็ได้รับการยกย่องเทิดทูน ยืนอยู่เบื้องบน ทำตัวสูงส่งกว่าชาวบ้าน Colobane แทบจะไร้สิทธิ์เสียง ทำได้เพียงก้มหัวศิโรราบ แม้ครั้งนี้ศักดิ์ศรียังค้ำคอ แต่อีกไม่นานทุกคนจักถูกซื้อใจ จนไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

หลังจากค้นพบว่าตำรวจ และผู้นำหมู่บ้าน ถูกซื้อใจไปเรียบร้อยแล้ว Dramaan Drameh เดินลงมาชั้นล่าง สถานที่ประกอบพิธีมิสซาศาสนาคริสต์ คาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้คงไม่ได้รับผลกระทบ เงินซื้อไม่ได้ แต่กลับกลายเป็น … กล้องถ่ายผ่านโคมระย้า หรูหรา ราคาแพง พบเห็นใบหน้าของ Drameh สอดแทรกอยู่ตรงกลาง สื่อถึงการถูกห้อมล้อมทุกทิศทาง จนแทบไร้หนทางออก

ยามดึกดื่น Dramaan Drameh ต้องการจะขึ้นรถไฟ หลบหนีไปจากเมืองแห่งนี้ แต่กลับถูกปิดกั้นโดยชาวเมือง กรูเข้ามาห้อมล้อม ทำตัวไม่ต่างจากฝูงไฮยีน่าที่กำลังเฝ้ารอคอยเหยื่ออันโอชา จนกระทั่งรถไฟเคลื่อนออกจากชานชาลา นั่นทำให้เขาเกิดความตระหนักรับรู้ตนเองว่า คงไม่สามารถหลบหนีพ้นโชคชะตา

ซึ่งระหว่างกำลังนั่งเหม่อมองพระอาทิตย์ขึ้น มีการแทรกภาพไฮยีน่าตัวหนึ่งกำลังคาบเหยื่อวิ่งหลบหนี … Dramaan Drameh ตกเป็นเหยื่อของ Linguère Ramatou เรียบร้อยแล้วสินะ!

ก่อนเข้าพิธีละหมาดวันศุกร์ ผู้นำหมู่บ้านและครูสอนหนังสือ เดินทางมาพูดคุยต่อรองกับ Linguère Ramatou ร้องขอให้เปิดโรงงาน เพื่อว่าเศรษฐกิจของเมืองจะได้กลับมาเฟื่องฟู แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ เพราะจุดประสงค์แท้จริงไม่ได้ต้องการแค่จะล้างแค้น Dramaan Drameh แต่ยังต้องการให้ชาวเมือง Colobane ติดหนี้ติดสิน ยากจนตลอดชีวิต!

เมื่อเธอพูดประโยคดังกล่าว มีการฉายภาพพระอาทิตย์ทรงกลด ผมไม่ค่อยแน่ใจความเชื่อของชาวแอฟริกัน เป็นไปได้ว่าอาจจะสื่อถึงลางร้าย หายนะ ภัยพิบัติที่กำลังมาเยี่ยมเยือน หรือก็คือโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นกับชาวเมือง Colobane

ด้วยความที่ครูสอนหนังสือตระหนักรับรู้โชคชะตาของ Dramaan Drameh จึงเดินทางมาดื่มเหล้า มึนเมา โหวกเหวกโวยวาย รับไม่ได้กับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น จากนั้นจิตรกรเอารูปภาพวาด (ของ Dramaan Drameh) ฟาดใส่ศีรษะ ห้อยคอต่องแต่ง แสดงถึงการสูญเสียตัวตน จิตวิญญาณ (ภาพวาดมักคือภาพสะท้อนตัวตน จิตวิญญาณของบุคคลนั้นๆ)

Dramaan Drameh เดินทางมาพูดคุยต่อรองกับ Linguère Ramatou นั่งอยู่บนดาดฟ้า เหม่อมองออกไปยังท้องทะเลกว้างไกล ภาพนี้ชวนให้ผมนึกถึง Le Mépris (1963) ของผกก. Jean-Luc Godard และคุ้นๆว่า Touki Bouki (1973) ก็มีช็อตคล้ายๆกัน งดงามราวกับสรวงสวรรค์ แต่แท้จริงนั้นคือสัญลักษณ์ความตาย กลายเป็นนิจนิรันดร์

และวินาทีที่ Dramaan Drameh ถูกห้อมล้อม เข่นฆาตกรรม Linguère Ramatou ก็ก้าวเดินลงบันได ภายในเงามืด ซึ่งก็สามารถสื่อนัยยะถึงความตาย ลงสู่ขุมนรก ไม่แตกต่างกัน!

สถานที่แห่งนี้ชื่อว่า Elephant Cementery ชาวเมืองต่างสวมใส่วิกผม เสื้อกระสอบ ทาแป้งให้หน้าขาว เลียนแบบผู้พิพากษาของพวกยุโรป/สหรัฐอเมริกา ทำการตัดสินความผิดของ Dramaan Drameh อะไรก็ไม่รู้ละ แต่ลงโทษประหารชีวิตด้วยการห้อมล้อมกันเข้ามา แลดูเหมือนการย้ำเหยียบของฝูงช้าง หรือจะมองว่าคือการกัดแทะของไฮยีน่า (เพราะไม่หลงเหลือแม้เศษซากโครงกระดูก)

The people of Colobane are dressed in rice bags. They are hungry; they are ready to eat Draman Drameh. They are all disguised because no one wants to carry the individual responsibility for murder. So what they have in common is cowardice. For each individual to have clean hands, everybody has to be dirty, to share in the same communal guilt. So the people of Colobane become animals. Their hair makes them buffaloes. The only thing they have that is human is greed.

Djibril Diop Mambéty

หลังถูกกัดกินจากความละโมบโลภมากของชาวเมือง Colobane สิ่งหลงเหลือสำหรับ Dramaan Drameh มีเพียงเศษผ้าขี้ริ้ว ที่จะถูกรถแทรคเตอร์ดันดินลูกรังเข้ามากลบทับ จนราบเรียบ ไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง สัญลักษณ์ของการถูกกลืนกินโดยลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) และอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) และพบเห็นต้นไม้ลิบๆ รากเหง้าชาวแอฟริกันที่กำลังเลือนหาย สูญสลาย หมดสิ้นไป

ตัดต่อโดย Loredana Cristelli (เกิดปี 1957) เกิดที่อิตาลี แล้วไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยัง Zürich ก่อนกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อภาพยนตร์ของ Alain Tanner, Jean-Luc Godard, Nicolas Gessnet, ผลงานเด่นๆ อาทิ Yaaba (1989), Hyènes (1992) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Dramaan Drameh เจ้าของร้านขายของชำในเมือง Colobane, Senegal เมื่อได้ยินข่าวคราวการหวนกลับมาของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou ได้รับมอบหมายจากผู้นำหมู่บ้านให้มาคอยต้อนรับขับสู้ หาวิธีการให้เธอช่วยฟื้นฟูดูแลเมืองแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง แต่ผลลัพท์กลับแลกมาด้วยข้อเรียกร้องที่ทำให้ทุกคนเกิดอาการอ้ำอึ้ง กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

  • อารัมบท
    • เริ่มต้นด้วยคนงาน แวะเวียนมายังร้านขายของชำของ Dramaan Drameh
    • นำเสนอความยากจนข้นแค้นของเมือง Colobane
    • ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมแกนนำ วางแผนเตรียมการต้อนรับ Linguère Ramatou
  • การหวนกลับมาของมหาเศรษฐีนี Linguère Ramatou
    • Linguère Ramatou เดินทางมาถึงพร้อมบอดี้การ์ดและสาวใช้ ได้รับการต้อนรับยังสถานีรถไฟ
    • Linguère Ramatou หวนระลึกความหลังกับ Dramaan Drameh
    • ระหว่างการเชือดวัว Linguère Ramatou ได้ป่าวประกาศข้อเรียกร้อง พร้อมมอบเงินจำนวนมหาศาลให้กับใครก็ตามที่ยินยอมเข่นฆ่า Dramaan Drameh
  • ชีวิตอันน่าเศร้าของ Dramaan Drameh
    • บรรดาชาวเมืองต่างได้รับสินบนจาก Linguère Ramatou แวะเวียนมายังร้านของ Dramaan Drameh จับจ่ายใช้สอยมือเติบโดยขอให้ขึ้นบัญชีเอาไว้
    • Dramaan Drameh พยายามขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ผู้นำชุมชุน แต่ก็ค้นพบว่าทุกคนต่างถูกซื้อตัวไปหมดสิ้น
    • ชาวบ้านเข้าร่วมงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ตรงกันข้ามกับ Dramaan Drameh ต้องการเดินทางไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ แต่กลับถูกยื้อยั้ง หักห้าม ตกอยู่ในความสิ้นหวัง
  • ความจริงเริ่มปรากฎ สันดานธาตุแท้ของผู้คนได้รับการเปิดเผย
    • ผู้นำหมู่บ้านพยายามต่อรองร้องขอ Linguère Ramatou ให้เปิดโรงงาน เศรษฐกิจชุมชนจะได้กลับฟื้นคืน แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ
    • นั่นทำให้ครูสอนหนังสือตระหนักถึงหายนะที่กำลังจะคืบคลานเข้ามา ดื่มสุรามึนเมา เศร้ากับโชคชะตาของ Dramaan Drameh
    • Dramaan Drameh ถูกผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุม ตัดสินโชคชะตา
    • การตัดสินโชคชะตาของ Dramaan Drameh

หนังอาจดำเนินเรื่องไปอย่างเชื่องช้า เพื่อให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศสถานที่ ความลุ่มร้อน แผดเผา จนมอดไหม้ทรวงใน แต่หลายๆครั้งยังมีการแทรกภาพสิงสาราสัตว์ ช้าง ม้า วัว (ไม่มีควาย) สุนัข ลิง ไฮยีนา ฯ เพื่อเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ก็สะท้อนถึงพฤติกรรมมนุษย์ขณะนั้นๆ

ซีเควนซ์ที่ผมชื่นชอบสุดก็คือขณะล้อมเชือดวัว (เพื่อเตรียมงานเลี้ยงฉลอง) มีการนำเสนอคู่ขนานชาวบ้านกำลังไล่ต้อน ห้อมล้อมรอบเจ้าวัว ตัดสลับกับหญิงสาวชุดแดงคนหนึ่ง กำลังโยกเต้นเริงระบำ ท่าทางดิ้นรน ตะเกียกตะกาย (เลียนแบบความตายของเจ้าวัว) จากนั้น Linguère Ramatou ป่าวประกาศข้อเรียกร้อง พร้อมมอบเงินจำนวนมหาศาลให้กับใครก็ตามที่ยินยอมเข่นฆ่า Dramaan Drameh … นัยยะเชิงสัญลักษณ์ของซีเควนซ์นี้ช่างละม้ายคล้ายสำนวนไทย ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’


เพลงประกอบโดย Wasis Diop (เกิดปี 1950) น้องชายผกก. Djibril Diop Mambéty สัญชาติ Senegalese, โตขึ้นเดินทางสู่ฝรั่งเศส ตั้งใจจะร่ำเรียนวิศวกรรม ก่อนหันเหความสนใจมาด้านดนตรี รวมกลุ่มกับ Umbañ U Kset ก่อตั้งวง West African Cosmos ไม่นานก็ออกมาฉายเดี่ยว โดดเด่นจากการผสมผสานดนตรีพื้นบ้าน (Senegalese Folk Song) เข้ากับ Jazz และ Pop Music, ก่อนแจ้งเกิดจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Hyènes (1992)

ทีแรกผมคาดหวังจะได้ยินบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน แต่เริ่มต้นกลับเป็นดนตรี Pop บางบทเพลงก็เป็น Jazz ได้ยินเสียงคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีไฟฟ้า ท่วงทำนองโหยหวน คร่ำครวญ ลากเสียงโน๊ตยาวๆ อาจต้องรับชมจนจบถึงค้นพบว่าหนังนำเสนอเรื่องราวอันน่าเศร้าสลด โศกนาฎกรรมที่สร้างความขัดแย้งภายในจิตใจ จะว่าไปให้ความรู้สึกคล้ายๆ Funeral Song ไว้อาลัยให้กับการสูญสิ้นจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์

ปล. อัลบัมเพลงประกอบของ Wasis Diop ไม่ได้นำจากที่ใช้ในหนังมาใส่ทั้งหมด แต่มักทำการเรียบเรียง ปรับปรุงท่วงทำนองเสียใหม่ บางบทเพลงใส่เนื้อคำร้องเพิ่มเติม ฯ ยกตัวอย่าง Colobane ลองฟังเทียบกับ Opening Credit ในหนัง จะมีสัมผัสทางอารมณ์ที่แตกต่างกันพอสมควร

นอกจากลีลาตัดต่อที่ชอบแทรกภาพสารพัดสรรพสัตว์ บางบทเพลงประกอบยังใส่เสียง(หัวเราะ)ไฮยีน่า สิงสาราสัตว์ อย่างบทเพลง Dune นอกจากบรรเลงกีตาร์อันโหยหวน ทะเลทรายอันเวิ้งว่างเปล่า เหมือนได้ยินเสียงงูหางกระดิ่ง (จริงๆคือเสียงลูกแซก/ไข่เขย่า Maracas) ไม่เพียงเข้ากับบรรยากาศพื้นหลัง ยังสร้างสัมผัสอันตราย หายนะค่อยๆคืบคลานเข้ามา … เพลงนี้ดังขึ้นระหว่าง Dramaan Drameh นำพา Linguère Ramatou ไปหวนระลึกความหลังยังทะเลทราย บริเวณที่ทั้งสองร่วมรัก/ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

เอาจริงๆหนังแทบไม่มีบทเพลงพื้นบ้านแอฟริกัน นอกเสียงจากคำร้องภาษา Wolof และการรัวกลองขณะเชือดวัว อาจเพราะต้องการแสดงให้ถึงการสูญเสียวิถีชีวิต วัฒนธรรม กำลังค่อยๆถูกกลืนกิน ตกเป็นทาสอาณานิคมรูปแบบใหม่ (Neo-Colonialism) ลุ่มหลงใหลการบริโภคนิยม (Consumerism) ในระบอบทุนนิยม (Capitalism)

The hyena is an African animal — you know that. It never kills. The hyena is falsehood, a caricature of man. The hyena comes out only at night; he is afraid of daylight always travels at night. The hyena is a permanent presence in humans, and that is why man will never be perfect. The hyena has no sense of shame, but it represents nudity, which is the shame of human beings.

After I unveiled this very pessimistic picture of human beings and society in their nakedness in Hyènes, I wanted to build up the image of the common people. Why should I magnify the ordinary person after this debauch of defects? The whole society of Colobane is made up of ordinary people. I do not want to remain forever pessimistic. That is why I have fished out cases where man, taken individually, can defeat money.

Djibril Diop Mambéty

แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลัง Colobane, Senegal แต่เราสามารถเหมารวมถึงชาวแอฟริกัน ภายหลังการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ (ในช่วงปี ค.ศ. 1959-60) ถึงอย่างนั้นแทบทุกอดีตประเทศอาณานิคม กลับยังต้องพึ่งพาอาศัย รับความช่วยเหลือจากอดีตจักรวรรดินิยม ซึ่งโดยไม่รู้ตัวซึมซับรับอิทธิพลทางความคิด ทัศนคติสมัยใหม่ ถูกแทรกแซงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมท้องถิ่นค่อยๆสูญสิ้น กลืนกินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม … มีคำเรียกอาณานิคมรูปแบบใหม่ (Neo-Colonialism)

เงิน กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม สิ่งที่ใช้แบ่งแยกผู้คน สถานะรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ รวมถึงความมีอภิสิทธิ์ชน ดูถูกเหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงบุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว หลักคำสอนศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ กินหรูอยู่สบาย ตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนบุคคล

Hyènes (1992) เป็นอีกภาพยนตร์สัญชาติแอฟริกัน พยายามนำเสนอโทษทัณฑ์ของเงิน ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) เหมารวมถึงระบอบทุนนิยม (Capitalism) เพราะการมีเงินทำให้ชีวิตสุขสบาย สามารถจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งข้าวของมาอำนวยความสะดวก ตอบสนองความพึงพอใจ จนท้ายที่สุดยินยอมละทอดทิ้งหลักศีลธรรม ความถูกต้องเหมาะสม สรรหาข้ออ้างเพื่อส่วนรวม แท้จริงแล้วกลับเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลทั้งนั้น!

The film depicts a human drama. My task was to identify the enemy of humankind: money, the International Monetary Fund, and the World Bank. I think my target is clear.

ความร่ำรวยของ Linguère Ramatou ถือว่าได้มาอย่างโชคช่วย พร้อมๆกับการสูญเสียเกือบจะทุกสิ่งอย่าง (ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ) แต่แทนที่เธอจะบังเกิดความสาสำนึก นำมาเป็นบทเรียนชีวิต กลับเลือกโต้ตอบเอาคืน “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป้าหมายแม้คือการเข่นฆาตกรรม Dramaan Drameh แท้จริงแล้วยังพยายามจะล้างแค้นชาวเมือง Colobane ด้วยการทำลายเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน แล้วจะเอาที่ไหนใช้คืนหนี้สิน

ส่วนความตายของ Dramaan Drameh มันอาจฟังดูดี สมเหตุสมผล เสียสละบุคคลเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่นั่นใช่หนทางถูกต้องหรือไม่? สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือเปล่า? หรือเพียงความละโมบโลภมาก จนหน้ามืดตามัว มองไม่เห็นอนาคตที่มืดมิด สิ้นหวัง มันจึงเป็นความตลกร้าย คนที่สามารถทำความเข้าใจย่อมหัวเราะไม่ออกเลยสักนิด!

ภาพยนตร์ในทวีปแอฟริกัน น่าจะเป็นสิ่งหรูหรา ราคาแพง ยุคสมัยนั้นต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย นั่นอาจคือเหตุผลหนึ่งที่ผกก. Mambéty ไม่ได้มีความกระตือรือล้นกับมันมากนัก จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 90s ที่ค่ากล้อง ค่าฟีล์มราคาถูกลง เลยทำให้เขาเล็งเห็นโอกาสที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม แอฟริกันที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างค่านิยมชวนเชื่อรูปแบบใหม่

Africa is rich in cinema, in images. Hollywood could not have made this film, no matter how much money they spent. The future belongs to images. Students, like the children I referred to earlier, are waiting to discover that making a film is a matter of love, not money.


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้เสียงตอบรับจะดีเยี่ยม แต่กลับไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆติดมือกลับมา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆทั่วโลก

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 2K โดย Thelma Film AG ร่วมกับ Cinémathèque suisse และห้องแล็ป Eclair Cinema เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2017 เข้าฉาย 2018 Cannes Classic และสามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Kino Lorber

เกร็ด: ผู้กำกับ Rungano Nyoni เคยกล่าวว่า Hyènes (1992) คือแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ I Am Not a Witch (2017)

อาจเพราะความสำเร็จของ Touki Bouki (1973) ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่มองข้าม Hyènes (1992) ไม่ได้มีลูกเล่นภาพยนตร์น่าตื่นตาตื่นใจเทียบเท่า แต่ถ้าเอาเฉพาะเนื้อหาสาระ ผมคิดเห็นว่า Hyènes (1992) แฝงข้อคิด มีความทรงคุณค่ากว่ามากๆ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ระหว่างจิตสามัญสำนึก หลักศีลธรรม vs. อำนาจของเงิน, ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะสร้างความตระหนักให้กับผู้ชม บทเรียนเกี่ยวกับอำนาจของเงิน สะท้อนอิทธิพลของลัทธิทุนนิยม+บริโภคนิยม คนสมัยใหม่เชื่อว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า ขำไม่ออกเลยสักนิด!

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมไฮยีน่า อดีตชั่วช้า การแก้แค้น และตัดสินด้วยศาลเตี้ย

คำโปรย | Hyènes ภาพยนตร์กึ่งสุขกึ่งโศกของ Djibril Diop Mambéty รสชาดของการแก้แค้นมันช่างหอมหวาน และขื่นขม ทำให้ผู้คนจมอยู่ในลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ตกเป็นทาสอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism)
คุณภาพ | กึ่สุกึ่
ส่วนตัว | ขื่นขม

Parasite (2019)


Parasite

Parasite (2019) Korean : Bong Joon-ho ♥♥♥♥

จริงๆแล้วไม่ใช่แค่คนจนหรือรวยที่เปรียบได้กับชนชั้นปรสิต แต่คือมนุษย์ทุกคนในระบอบทุนนิยม ต่างพยายามกอบโกยกิน แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เต็มไปด้วยความโลภละโมบเห็นแก่ตัว สร้างความ’เหม็น’ฉาวโฉ่ไปทั่วทั้งโลกา รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes อย่างเป็นเอกฉันท์

“The film is such a unique experience, it’s an unexpected film. It took all of us. There’s an unexpected way that the film takes us through different genres, and spoke in a funny way about something so relevant and urgent and global in such a local film with efficiency”.

– Alejandro González Iñárritu ประธานคณะกรรมการสายการประกวด เทศกาลหนังเมือง Cannes

กลิ่น มันไม่มีหรอกนะครับ หอม-เหม็น เพราะจมูกคนเรารับสัมผัสได้แตกต่างกัน บางคนว่าสิ่งนี้หอมแต่อีกคนกลับดอมแล้วบอกเหม็น มาตรฐานที่ไม่เท่ากันนี้เองคือชนวนสร้างอคติ ความขัดแย้งระหว่างสองบุคคล กลุ่มมนุษย์ ชนชั้นฐานะ บานปลายถึงระดับประเทศชาติ และกลายเป็นปัญหาสากลระดับโลก

โลกยุคสมัยทุนนิยม เงินทอง อำนาจ ความสุขสบาย ถือเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ ทำให้มนุษย์จมปลักอยู่กับความเพ้อใฝ่ฝัน หลอกตนเองไปวันๆ ปฏิเสธยินยอมรับความจริงแห่งโลก
– คนรวย เพราะมีชีวิตหรูหราสุขสบาย เลยครุ่นคิดว่าเงินทองสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี อ้างว่ามีมาตรฐานโน่นนี่นั่น แต่ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจอะไรใคร เย่อหยิ่งทะนงในเกียรติเข้าไว้ ชื่นชอบดูถูกเหยียดหยามชนชั้นต่ำต้อยกว่า ไม่นับว่าเป็นมนุษย์เหมือนกันเสียด้วยซ้ำ
– คนจน เพราะมีชีวิตทุกข์ยากลำบากแสนเข็น เลยพยายามกอบโกยกินทุกสิ่งอย่าง ฉกฉวยไขว่คว้าทุกโอกาส ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรมจรรยา มักมากด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน ไร้เกียรติศักดิ์ศรี แต่มีภูมิต้านทานต่อการดูถูกเหยียดหยามย่ำยี เพราะเฝ้ารอคอยสักวันที่จักสามารถโต้ตอบกลับทุกสิ่งอย่าง

‘Hell Joseon’ คือทัศนะ/คำเรียกจากปากคนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ ต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในยุคสมัยปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากยุคสมัยราชวงศ์ Joseon (1392-1897) แบ่งแยกชนชั้นออกเป็น 4 วรรณะ (ก็คล้ายๆอินเดีย) คนที่มีฐานะ เงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจในสังคม มักครุ่นคิดว่าตนเองสามารถกระทำได้ทุกสิ่งอย่างไม่มีถูกผิด ค่านิยมดังกล่าวยังคงได้รับการถ่ายทอดส่งต่อแม้ระบบจะล่มสลายไปนานแล้ว แต่ชนชั้นคนสูงก็ยังคงแสดงออกไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่

Parasite คือภาพยนตร์ Tragi-Comedy ที่ชักชวนผู้ชมให้เกิดความตระหนัก รับรู้ถึงความแตกต่างทางชนชั้น ฐานะ สังคมในโลกยุคสมัยทุนนิยม ครุ่นคิดค้นหาสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ปัจจุบันมันถึงเกิดความเหลื่อมล้ำได้ขนาดนี้ และจะมีวิธีการไหนไหมสามารถลดช่องว่างระหว่าง

แต่ต่อให้คิดจนฟ้าถล่มดินทลาย คงไม่มีใครไหนสามารถขบไขปัญหาดังกล่าวออกได้ เพราะนี่คือวิวัฒนาการ/วัฏจักรแห่งโลก สหัสวรรษที่มนุษย์ผันแปรเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา มาเป็นเทิดบูชาลัทธิวัตถุนิยม ทอดทิ้งความดีงาม คุณธรรมมโนธรรมทางจิตใจ ถ้าคุณเผลอปล่อยตัวให้ล่องลอยไปตามวิถีดังกล่าวเมื่อไหร่ ชีวิตหลังความตายตระหนักได้ก็สายเกินแก้ไข

สิ่งที่คงจะทำให้ Parasite ได้รับการจดจำอย่างยาวนานต่อไปในอนาคต คือการหักมุมที่มากมายหลายตลบ จนผู้ชมส่วนใหญ่ครุ่นคิดตามไม่ทัน แต่จะบอกว่าถ้าคุณรับชมภาพยนตร์มามากๆปริมาณหนึ่ง เข้าใจโครงสร้างการเขียนบท ช่างสังเกตเงื่อนงำรายละเอียดเล็กๆน้อย จักสามารถครุ่นคิดติดตาม และคาดเดาได้เกือบทั้งหมดว่าจะมีอะไรบังเกิดขึ้นบ้าง

บทความนี้มีสปอยแน่นอนนะครับ พยายามหลีกเลี่ยงถ้าไม่อยากเสียอรรถรสในการรับชม


Bong Joon-ho (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu ปู่ทวดคือนักเขียนชื่อดัง บิดาประกอบอาชีพ Graphic Designer ตัวเขาลูกคนกลาง ต้องการจะเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์แต่ครอบครัวไม่อนุญาต เข้าเรียน Yonsei University คณะสังคมวิทยา แต่ก็เอาเวลาไปรับชมภาพยนตร์ ชื่นชอบโปรดปรานผลงานของผู้กำกับ Edward Yang, Hou Hsiao-hsien และ Shohei Imamura

เมื่อเรียนจบมหาลัยก็ไม่จำเป็นต้องง้อใครอีก ทำงานหาเงินเป็นติวเตอร์เพื่อเข้าศึกษาต่อ Korean Academy of Film Arts จากนั้นช่วงงานเบื้องหลัง จนกระทั่งได้เครดิตเขียนบท Seven Reasons Why Beer is Better Than a Lover (1996), ผู้ช่วยผู้กำกับ Motel Cactus (1997), Phantom: The Submarine (1999), และผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Barking Dogs Never Bite (2000) ออกฉายตามเทศกาลหนัง ค่อยๆสะสมชื่อเสียง กระแสปากต่อปาก ใช้เวลากว่าสองปีถึงสามารถคืนทุนสร้าง

ผลงานลำดับที่สอง Memories of Murder (2003) ครั้งแรกร่วมงานกับ Song Kang-ho ประสบความสำเร็จล้นหลาม, ติดตามมาด้วย The Host (2016) ทุบสถิติยอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดตลอดกาลในเกาหลีใต้, Mother (2009), โกอินเตอร์กับ Snowpiercer (2013), Okja (2017)

สำหรับ Parasite ความสนใจแรกของ Bong Joon-ho ต้องการพัฒนาบทสำหรับละครเวที โดยมีสองครอบครัวแตกต่างตรงกันข้าม หนึ่งโคตรรวย สองโคตรจน นำเสนอเรื่องราวชวนหัวของความขัดแย้ง ดำเนินเรื่องในบ้านของพวกเขา (ถ้าได้เป็นละครเวทีก็จักสร้างเพียงสองฉาก บ้านคนรวย, บ้านคนจน) จากนั้นครุ่นคิดต่อยอดว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้ทั้งสองครอบครัวมีโอกาสพานพบเจอ พูดคุย เกิดปฏิสัมพันธ์ ก็นึกถึงเมื่อครั้นตนเองเคยรับงานติวเตอร์สอนลูกคนรวย

“From the start, it was going to be about two opposing families – one rich, one poor. But the plot is derived from my personal experience of tutoring. When I was in college, like Ki-woo in the story, I had experience tutoring a ninth grader, and I remember the first time I entered his home … It was a luxurious villa, and the first thing I saw when I entered the gate was the well-maintained garden. I also remember how quiet the neighborhood was, and meeting his mother, so there are moments in the film that are derived from my personal experience”.

– Bong Joon-ho

เกร็ด: Working Title แรกสุดของหนังคือ The Décalcomanie ได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคงานศิลปะหนึ่ง Decalcomania (ย่อๆว่า Decal) ภาษาไทยมีคำเรียก ‘ภาพทาบสี’ โดยการนำเอากระดาษหรือผ้าใบที่ระบายสีไว้มาประกบกันแล้วดึงออก ผลลัพท์ย่อมคือสิ่งไม่มีใครคาดคิดถึง ซึ่งสะท้อนเข้ากับเรื่องราวของคนรวย vs. คนจน แยกกันอยู่ก็ทางใครทางมัน แต่เมื่อจับพลัดจับพลูมาอยู่ร่วมกัน เรื่องวุ่นๆมิอาจคาดเดาจึงได้บังเกิดขึ้น

เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Kim Ki-woo ได้รับการไหว้วานจากเพื่อนสนิท ให้ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษลูกคนรวย Da-hye ซึ่งเขาก็ได้วางแผนให้สมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว ได้มีโอกาสถูกว่าจ้างเข้าทำงาน
– น้องสาว Ki-jung ปลอมตัวเป็นครูสอนศิลปะชื่อ Jessica ใช้วิธีการอะไรไม่รู้ อ้างจิตวิทยาบำบัด สยบศิโรราบ Da-song ได้อย่างอยู่หมัด
– จากนั้น Ki-jung ใช้มารยาหญิง ทอดทิ้งบางสิ่งสกปรกไว้บนรถ ทำให้พ่อ Ki-taek ได้งานเป็นคนขับรถ Mr. Park
– หาวิธีขับไล่แม่บ้านคนเก่า ด้วยการนำเอาข้ออ้างใส่ซอสพริก จนทำให้แม่ Choong-sook ได้รับการติดต่อมาทำงานใหม่

เมื่อทั้งสี่ได้ทำงานในบ้านสุดหรูไฮโซหลังนี้ พวกเขาก็มีความดื่มด่ำสุขสำราญ ปล่อยตัวกายใจเมื่อ Mr. Park พาภรรยาและลูกๆออกไปท่องเที่ยว ตั้งแคมป์ พักค้างแรมต่างจังหวัด แต่แล้วบางสิ่งอย่างก็เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน อย่างไม่มีใครสามารถคาดคิดถึง!


ครอบครัว Kim อาศัยอยู่บ้านชั้นล่าง สภาพโกโรโกโสไม่ต่างจากรังหนู ชักโครกอยู่สูงเหนือศีรษะ วันๆสนแต่มองหาไวไฟฟรี ชีวิตเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย
– Song Kang-ho นักแสดงขาประจำคนโปรดของผู้กำกับ Bong Joon-ho ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Memories of Murder รับบทพ่อ Kim Ki-taek ดูเป็นคนพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ฝีมือขับรถยอดเยี่ยมใช้ได้ และเก่งกาจเรื่องการแสดง ปั้นสีหน้า เก็บกดทางอารมณ์ ถึงกระนั้นถ้าถูกบีบคั้นกดดันขีดสุดก็มิอาจอดรนทนไหวอีกต่อไป
– Jang Hye-jin รับบทแม่ Choong-sook เป็นนักขว้างค้อน ที่สะท้อนถึงความพยายามปัดสวะออกจากตัว ทั้งชีวิตสนเพียงความสุขครอบครัว และฝีมือการทำอาหารใช้ได้ (แต่ไม่รู้เพราะเปิดอ่านจากเน็ตหรือเปล่านะ)
– Choi Woo-shik นักแสดงหนุ่มหน้าใส แจ้งเกิดกับ Set Me Free (2014) ติดตามมาด้วย Train to Busan (2016) และเพิ่งร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho เรื่อง Okja (2017) รับบท Kim Ki-woo ลูกชายคนโตที่แม้เฉลียวฉลาดหลักแหลม แต่กลับสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยสักที ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสนิทให้เป็นครู Kelvin สอนภาษาอังกฤษ ความรู้คงพอมีจึงสามารถซื้อใจคุณนาย Yeon-kyo ได้โดยทันที ซึ่งหลังจากคาบแรก Da-hye ก็แสดงธาตุแท้ออกมาว่าตกหลุมรัก แต่พยายามยับยั้งยังไม่โตพอให้เกินเลยเถิดไปกว่านั้น และช่วงท้ายจิตใจมัวหมกมุ่นอยู่กับบางสิ่งอย่าง จนไม่สามารถควบคุมสติเลยโดนดีย้อนแย้งเข้ากับตัว
– Park So-dam หลังเรียนจบจาก Korea National University of Arts เข้าตาผู้สร้างภาพยนตร์ โด่งดังคว้ารางวัลกับ The Silenced (2015) มีผลงานติดตามมาเรื่อยๆจนกระทั่ง Parasite (2019) รับบทน้องสาวซึนเดเระ Ki-jung อัจฉริยะด้านศิลปะ เก่งกาจเรื่อง Graphic Design แต่เลือกไม่เรียนต่อ(เพราะไม่มีเงิน) ปลอมตัวเป็นอาจารย์ Jessica จบจาก Illinois ใช้วิธีการอะไรไม่รู้สยบ Da-song จนอยู่หมัด ทำให้คุณนาย Yeon-kyo ติดกับ และใช้มารยาเสน่ห์ดักคนขับรถ ส่งต่อพ่อกลายเป็นโชเฟอร์ Mr. Park

ครอบครัว Park อาศัยอยู่บ้านสุดหรูบนเนินเขา ออกแบบโดยสถาปิกชื่อดัง ช่างมีความโอ่โถง โมเดิร์น สะอาดสะอ้าน แม้แสงสว่างช่างอบอุ่น แต่ช่างเงียบเหงาอ้างว้าง
– Lee Sun-kyun นักแสดงหนุ่มสุดหล่อจากซีรีย์ Coffee Prince (2007) ปัจจุบันก้าวย่างสู่วัยกลางคนก็ยังดูดีไม่เสื่อมคลาย รับบท Mr. Park เจ้าของบริษัททำเกม VR จมปลักอยู่ในโลกมายา ใช้ชีวิตอย่างเลิศหรูหรา จับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยแค่ไหนคงไม่หมดลงง่ายๆ เลือกแต่งงานกับผู้หญิงทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง (อาจจะนอกจากเรื่องบนเตียง) มีทัศนคติดูถูกเหยียดหยามคนชนชั้นกลาง-ล่าง เย่อหยิ่งทะนงตน ยกยอปอปั้นตนเองอย่างสูงส่ง
– Cho Yeo-jeong แม้จะเข้าวงการมาตั้งแต่ปี 1999 แต่เพิ่งมาเริ่มมีชื่อเสียงจาก The Servant (2010), ตามด้วยซีรีย์ I Need Romance (2011), ภาพยนตร์ The Concubine (2012) และ Parasite (2019) รับบท Yeon-kyo ภรรยาที่พยายามทำตัวเฉลียวฉลาด แต่แท้จริงแล้วใสซื่อบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัยต่อโลก ทำอะไรเองไม่เป็นสับปะรดสักอย่าง เลยมักถูกโน้มน้าวจูงจมูก ให้เข้าใจอะไรผิดๆถูกๆ ง่ายต่อการต้มตุ๋นหลอกลวงเสียจริง
– Hyun Seung-min อดีตนักสเกตลีลา กลายมาเป็นนักแสดงเด็กซีรีย์ May Queen (2012) มีผลงานติดตามมาหลายๆเรื่อง กระทั่งภาพยนตร์ Parasite (2019) รับบท Da-hye เด็กหญิงเกรด 9 เพราะถูกเลี้ยงดูอย่างนกในกรง จึงพยายามดิ้นรน เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เมื่อแรกพบเจอตกหลุมรัก Ki-woo แต่ก็ได้แค่กอดจูบ ยังไม่กล้าทำอะไรไปมากกว่านั้น (แต่ดูแล้วเธอคงอยากร่านราคะน่าดู)
– Jung Hyun-joon รับบท Park Da-song เด็กชายผู้มีความลุ่มหลงใหลในชนเผ่าอินเดียแดง ชื่นชอบการผจญภัยไขปริศนา แต่มีปมบางอย่างเป็น Trauma ยังมิอาจลบลืมเลือน ฝังจิตฝังใจจนถึงปัจจุบัน ได้รับการค้นพบโดย Ki-jung สังเกตเห็นจากภาพวาด Abstract สุดแปลกประหลาด

อีกคนหนึ่งที่แอบมาแย่งซีน Lee Jung-eun รับบท Gook Moon-gwang แม่บ้านครอบครัว Mr. Park เธอได้ทำงานนี้มาตั้งแต่เจ้าของบ้านคนก่อน แล้วเก็บซ่อนความลับบางอย่างไว้ เรื่องฝีมือการจัดการถือว่าสมบูรณ์แบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีจุดอ่อนบางอย่าง เลยถูกกลั่นแกล้งและโดนผลักไสออกจากบ้าน ซึ่งเมื่อถึงตอนหวนกลับมาเอาคืน …

สำหรับนักแสดงที่ผมถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเลยก็คือ Cho Yeo-jeong ลุ่มหลงใหลในความอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา แต่เห็นใสซื่อบริสุทธิ์อย่างนั้น ภายในคงเต็มไปด้วยความเร่าร้อนรุนแรง ปากพยายามบอกปัดปฏิเสธ แต่มือกลับล้วงเข้าไปไวกว่าเสียงเสียอีกนะ ก็ว่าละทำไมสามี Mr. Park ถึงตกหลุมรักเมียคนนี้หัวปลักหัวปลำ (คนรวยแล้วไม่นอกใจมีน้อยมากๆ)


ถ่ายภาพโดย Hong Kyung-pyo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติเกาหลี ก่อนหน้านี้ร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho เรื่อง Mother (2009) กับ Snowpiercer (2013) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Il Mare (2000), Tae Guk Gi: The Brotherhood of War (2004), Burning (2018) ฯ

ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ใครๆต่างสอบถาม Bong Joon-ho ว่าไปสรรหาสถานที่ถ่ายทำจากไหน? ยังไง? ในเกาหลีใต้มีบ้านแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า? คำตอบของเขาสร้างความอึ่งทึ่งคาดไม่ถึง บอกว่าแทบทั้งหมดเป็นการเซ็ตฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Goyang Aqua Studio (นอกจากฉากถ่ายตามท้องถนน และโรงยิมเมื่อตอนหลบภัย)

งานภาพของหนังถือว่าไม่โดดเด่นนัก เมื่อเทียบกับการออกแบบและตัดต่อ แต่หลายๆช็อตสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างออกมา ซึ่งสไตล์ของ Bong Joon-ho ไม่จำกัดตนเองอยู่แนวทางใดหนึ่ง ปรับเปลี่ยนแปลงผันไดเรคชั่นไปตามสถานการณ์เรื่องราว (มีคำเรียกว่า no-genre)

ช็อตแรกของหนัง หน้าต่างในห้องเช่าใต้ถุนบ้าน ช่างมีขนาดเล็กกระจิด (เมื่อเทียบกับบ้านของ Mr. Park) เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก แถมด้วยห้อยถุงเท้าไว้เหนือศีรษะ ของต่ำแบบนี้กลับอยู่สูง สะท้อนอะไรหลายๆอย่างมากมาย

ตรงกันข้ามกับบ้านของ Mr. Park ช่างดูหรูหรา สะอาด โมเดิร์น สัมผัสได้ถึงความราคาแพง และแทบจะไม่ได้ยินเสียงโหวกเหวกอะไรจากภายนอก ซึ่งส่วนหนึ่งทำการผสม CGI เข้าไป เพื่อให้ดูงดงามชวนฝันสักหน่อย

จะว่าไปการจัดแสงที่บ้านทั้งสองหลังมีลักษณะแตกต่างกันด้วยนะ
– ห้องเช่าใต้ถุน เพราะแสงจากด้านนอกสาดส่องมาแทบไม่ถึง จึงจำเป็นต้องใช้การจัดแสงไฟอย่างมากทีเดียว
– ขณะที่บ้านสุดหรูของ Mr. Park สามารถใช้แสงธรรมชาติล้วนๆสาดส่องเข้ามา

งานพับกล่องพิซซ่าของครอบครัว Kim นัยยะถึงการประกอบชีวิตให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่เพราะความเร่งรีบร้อน ต้องการปริมาณ แถมพยายามลอกเลียนแบบตามคลิป โดยไม่ดูความเข้ากัน (อาจเพราะโดนรมควันด้วยกระมัง) สุดท้ายก็เละเทะไม่เป็นสับปะรด ใช้งานได้จริงแค่หนึ่งในสาม(หรือสี่)ของทั้งหมด แล้วจะไป Blackmail เจ้าของอีกนะ!

แซว: กล่องพิซซาเคลือบยาฆ่าแมลง เห้ย! แล้วมันไม่มีสารตกค้างหรือไร รู้แบบนี้ใครจะไปกล้าสั่งกลับบ้านอีก

ชีวิตคุณนายของ Yeon-kyo ช่างมีความสุขสบายผ่อนคลายเสียเหลือเกิน ภาพช็อตแรกของเธอกำลังนอนหลับฝันหวานอยู่ในสวน ตะโกนเรียกก็ไม่ยอมตื่น จนแม่บ้านต้องปรบมือเสียงดังค่อยสะดุ้งขึ้น (สะท้อนว่า ถ้าไม่ใช่เกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรงขึ้นจริง ชนชั้นคนเหล่านี้ย่อมไม่ยี่หร่าถึงอะไรทั้งนั้น) สังเกตว่าช็อตนี้ Ki-woo จับมองจากข้างใน พบเห็นร่องกระจกแบ่งแยกโลกของเขาและแม่บ้าน ออกจากจักรวาลคนรวยโดยสิ้นเชิง

หนังมีสองงานศิลปะ Abstract
– หิน Abstract หรือ Landscape ก็ไม่รู้ละ! ในเกาหลีใต้มีคำเรียกว่า Suseok (มาจากภาษาจีน Gongshi) เป็นหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ด้วยรูปร่างน่าสนใจ เหมือนจะมีพลังงานบางอย่างซ่อนเร้น เลยนำมาใช้ประดับตกแต่งภายใน ฮวยจุ้ยชั้นดี ซึ่งตัวละครเชื่อว่าคือเครื่องมงคลแห่งความมั่งมี เงินทองไหลมาเทมา (เหมาะมือสำหรับไปขว้างใส่หัวคนมากกว่า)
– ภาพวาดของ Da-song ส่วนใหญ่ใครๆมองว่าเขาวาดตนเองออกมา แต่ผมครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นผีที่เด็กชายเคยเห็นเสียมากกว่า ส่วนพื้นหลังพอมองออกว่าเป็นท้องฟ้า ทุ่งหญ้า พระอาทิตย์ และเต็นท์ (ที่เด็กชายโหยหา)

บ้านคนจน เพราะความไม่มีอะไรเลยไม่รู้จะหลบซ่อนอะไร (นอกจากเงินที่ Ki-jung ซ่อนไว้บนเพดาน เทิดทูนเหนือเกล้ากระหม่อม) แต่สำหรับคนรวย เพราะต้องสร้างภาพให้ดูดี เลยมักมีบางสิ่งอย่างปกปิดซ่อนเร้นไว้ภายใต้

นักวิจารณ์ฝั่งเกาหลีใต้ พบเห็น Sequence นี้ที่เมื่อเปิดเผยออกมา มักเปรียบเปรยบ้านหลังนี้กับเกาหลีเหนือ (หนังจะมีฉากล้อเลียนท่านผู้นำ คิม จ็อง-อึน อยู่ด้วยนะ) เพราะภายนอกแสดงออกให้นานาชาติประจักษ์เห็นอย่างเลิศหรูหรา แท้จริงเป็นอย่างไรกลับถูกปกปิดบังซ่อนเร้น

หนึ่งใน Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง หลังจากที่ครอบครัว Kim ได้พบเจอกับเรื่องราวไม่คาดคิดถึง จนสามารถหลบหนีออกจากบ้าน Mr. Park พวกเขาออกวิ่งลงบันได ร้อยเรียงปรับเปลี่ยนทิศทางมุมมองไปมาในลักษณะ Montage ไม่รู้จักถึงกาลสิ้นสุดเมื่อไหร่ … คือจะลงต่ำให้ถึงขุมนรกเลยหรือยังไง

ที่น่าทึ่งสุดของฉากนี้คือน้ำท่วมบ้าน มันช่างเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน Sound Effect เสียงสายน้ำไหล และไฮไลท์คือน้ำในชักโครก ‘Shit Altars’ ที่พยายามพุ่งขึ้นมา Ki-jung นั่งทับไว้ด้วยความหมดอาลัย ทำไมเรื่องร้ายๆถึงได้ถาโถมเข้ามารุนแรงพร้อมกันขนาดนี้

จริงๆมีอีกฉากหนึ่งที่ผมชื่นชอบพอๆกัน คือตอนที่ Ki-jung อยู่ในห้องอาบน้ำบ้าน Mr. Park มันคือมุมกล้องและการจัดแสงที่ให้สัมผัสถึงความอบอุ่น ใบหน้าอิ่มเอิบเบิกบาน ซึ่งมันจะสะท้อนย้อนแย้งกับตอนเธอนั่งปิดฝาส้วมที่บ้านจริงๆอย่างหมดสิ้นหวัง

การหลบซ่อนใต้โต๊ะแล้วไม่มีใครสังเกตเห็น (เหมือนแมลงสาปเลยนะ) สะท้อนสิ่งที่อยู่ใต้ชายคาบ้านหลังนี้ แต่เจ้าของกลับไม่เคยรับรู้สึกตัว หรือเทียบกับสิ่งที่ประชาชน ประเทศชาติ ไม่เคยรับรู้เอาใจใส่ว่ามีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นไว้

อินเดียแดง ผมรู้สึกเล็กๆว่าผู้กำกับ Bong Joon-ho อาจได้แรงบันดาลใจจาก The Shining (1980) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ที่ทำการสอดไส้จุดเริ่มต้นชาติอเมริกัน มาจากการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองให้หมดสิ้นไป แล้วชาวผิวขาวก็เข้ามายึดครอบครองผืนแผ่นดินแดนแทนที่ทั้งหมด ยกยอปอปั้นตนเองสูงส่งเหนือใคร

ในบริบทของหนัง เมื่อพ่อสวมหมวกกลายเป็นอินเดียแดง สายตาของเขาเต็มไปด้วยความอึดอัด คับข้อง ขุ่นเคือง จับจ้องมอง Mr. Park ด้วยสายตาหยามเหยียด ต้องการกระทำบางสิ่งอย่างแต่ช่วงแรกๆยังสามารถหยุดยับยั้งชั่งใจ จนกระทั่งเมื่อพบเห็นบางสิ่งอย่างบาดตาบาดใจ ยินยอมรับไม่ได้ แสดงออกด้วยความคลุ้มคลั่งแค้น ราวกับสูญเสียสติสัมปชัญญะไป

ซึ่งหลังจากพ่อได้กระทำบางสิ่งอย่างนั้น กล้องถ่ายจากมุมสูง Bird Eye View ราวกับพระเจ้าเบื้องบนจับจ้องมองลงมา (สะท้อนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาควบคุมตนเองไม่ได้ ฟ้าบันดาล โชคชะตาชี้นำทาง คนเขียนบทจรดไว้) จากนั้นค่อยๆเดินอย่างสโลโมชั่น หลบหนีออกจากสถานที่ก่อเหตุ หายเร้นไปกับ…

ตัดต่อโดย Yang Jin-mo ผลงานเด่นๆ อาทิ Train to Busan (2016), Okja (2017) ฯ

ถ้าพิจารณาจากระยะเวลาดำเนินเรื่อง จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน
– ครึ่งแรกจะดำเนินเรื่องแบบกระโดดไปข้างหน้า ไล่เรียงจากแนะนำตัวละคร, Ki-woo ก้าวสู่รั้วบ้าน Mr. Park ติดตามมาด้วยน้องสาว Ki-jung, พ่อ Ki-taek และแม่ Choong-sook
– ครึ่งหลังจะในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน เริ่มตั้งแต่ครอบครัว Mr. Park ออกเดินทางไปแคมปิ้ง ทำให้ครอบครัว Kim อพยพเข้ามาพักอาศัย ผจญเรื่องวุ่นๆมากมายให้ต้องหลบหนีออกมา จากนั้นอีกวันหนึ่งต้องหวนกลับไปเผชิญหน้ากับบางสิ่งอย่าง
– และปัจฉิมบท ดำเนินเรื่องในมุมมอง Ki-woo ภายหลังเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มจากลืมตาขึ้น ค้นพบความจริง และจินตนาการถึงอนาคต

ผู้กำกับ Bong Joon-ho เก่งกาจทีเดียวในการสร้างสถานการณ์ จัดวางเงื่อนไขให้ผู้ชมค้างคาบางอย่างไว้ในใจ จากนั้นเมื่อเรื่องราวดำเนินไป เจ้าสิ่งนี้จักก่อให้เกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ตัวละครจะสามารถเอาตัวรอดผ่านพ้นไปได้หรือเปล่า, ขอยกตัวอย่างแยกออกมาเป็นเหตุการณ์เลยแล้วกันนะครับ
– เหตุการณ์ลูกโซ่ของช่วงครึ่งแรก ผมเชื่อว่าใครๆน่าจะเริ่มประติดประต่อเรื่องราวได้ตั้งแต่ Ki-woo นำพาน้องสาว Ki-jung เข้ามาสมัครงานครูสอนศิลปะที่บ้าน Mr. Park แค่ว่าพ่อกับแม่จะเข้ามาทำงานอะไร ชวนให้ครุ่นคิดติดตามอยู่ไม่น้อย
– ปาร์ตี้ของครอบครัว Kim ในบ้านของ Mr. Park จะมีขณะหนึ่งที่ใครสักคนพูดเป็นลางสังหรณ์ไว้ (น่าจะเป็นแม่ มั้งนะ) สมมติว่าเจ้านายกลับบ้านมา ทุกคนจะวิ่งวุ่นหาทางหลบซ่อนราวกับแมลงสาป … ก็ได้เป็นจริงสมปรารถนา
– ผู้ชมตระหนักรับรู้ว่า ค่ำคืนก่อนของครอบครัว Kim เพิ่งพานผ่านเหตุการณ์เลวร้ายอะไรมา (น้ำท่วมบ้าน พังเสียหายย่อยยับเยิน) แต่ทุกคนกลับถูกเรียกตัวมาร่วมงานเลี้ยงวันเกิด Da-song ด้วยเหตุนี้เลยรับรู้สึกเข้าใจถึงอารมณ์ พบเห็นสีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น รวดร้าวทุกข์ทรมาน พยายามปั้นใบหน้ากลบเกลื่อนข้อเท็จจริง
ฯลฯ

Parasite เป็นหนังแห่งการต้มตุ๋น ซึ่งปัจจิมบทช่วงท้ายจะมีขณะหนึ่งที่ทำการหลอกผู้ชม ให้ครุ่นคิดว่าคงลงเอยด้วยความสุขสมหวัง Happy Ending แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นจินตนาการอนาคตของตัวละคร เรียกว่าหักมุมเพื่อสร้างรอยยิ้มเล็กๆ อนาคตที่พอจะคาดหวังได้ของครอบครัวนี้


เพลงประกอบโดย Jung Jae-il เคยร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho เรื่อง Okja (2017)

ช่วงต้นของหนังระหว่างขึ้นโลโก้บริษัท จะได้ยินเสียงกระดิ่งล่องลอยไปมารอบทิศทาง ผู้กำกับ Bong Joon-ho ให้เหตุผลของการทำเช่นนี้ตั้งแต่ Okja (2017) ว่าคือการ Sound Check ในโรงภาพยนตร์ ไม่รู้เพราะประเทศเกาหลีไม่ได้มีโฆษณา Hilux Vigo เหมือนบ้านเรา (หรือถ้าโรง SF ใช้เสียงเทโค้กใส่น้ำแข็ง) นี่จึงเป็นการตรวจสอบคุณภาพเครื่องเสียงไปในตัว ไม่ได้มีนัยยะอะไรอื่นใด

ผมสังเกตว่าหนังมีวิวัฒนาการของทางดนตรีพอสมควร กล่าวคือช่วงแรกๆเริ่มต้นด้วยบรรเลงเปียโน (เครื่องดนตรีเดียว) จากนั้นค่อยๆพัฒนาขึ้นเป็นชุดเครื่องสาย ตามด้วย Orchestra และที่สุดพร้อมเสียงร้องคอรัสตอนไปแคมปิ้ง (พร้อมเสียงหลอนๆของ Theremin) ซึ่งถือเป็นการไล่ระดับ สะท้อนไต่เต้าของครอบครัว Kim ทีละคนค่อยๆได้ทำงานยังบ้าน Mr. Park

Bong Joon-ho ชื่นชอบที่จะผสมผสาน Genre ของหนังเข้าด้วยกัน เช่นกันกับเพลงประกอบซึ่งมีหลากหลายมาก อย่างบทเพลง Belt of Faith เลือกใช้ท่วงทำนองดนตรี Baroque (กลิ่นอาย Vivaldi) สะท้อนความเลิศหรูหราอลังการของบ้าน Mr. Park ดูราวกับภาพวาดงานศิลปะสุดไฮโซในยุคสมัย Renaissance

เมื่อบ้าน Mr. Park ได้ถูกพิชิต ดังขึ้นคือบทเพลง/จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน In Ginocchio Da Te (1964) [แปลว่า Kneeling by you] ขับร้องโดย Gianni Morandi ศิลปินป๊อปชื่อดัง สัญชาติอิตาเลี่ยน

หรือตอนเหตุการณ์น้ำท่วม ก็ใส่เสียงฝนตก น้ำไหล ผสมผสานเข้าไปใน Soundtrack ให้ออกมาเป็นเสียงธรรมชาติ ซึ่งก็มีสัมผัสของ Minimalist อยู่เล็กๆ

บทเพลง Blood and Sword เสียงกรีดกรายของเครื่องสาย พบเห็นทั่วไปกับหนัง Horror ซึ่งอิทธิพลเริ่มแรกสุดมาจาก Krzysztof Penderecki คีตกวีสัญชาติ Polish ได้ยินจากทั้ง The Shining (1980) และ The Exorcist (1973)

(ผมหาคลิปใน Youtube ไม่ได้ แต่ใครสนใน Spotify มีทั้งอัลบัมนะครับ)

สุดท้ายกับบทเพลง A glass of Soju ขับร้องโดย Choi Woo-shik ได้ยินตอนต้นและช่วงท้ายของหนัง เนื้อคำร้องเป็นการรำพันคิดถึงคนรักของหนุ่มขี้เมา ท่อนแรกประมาณว่า ‘ในค่ำคืนที่ฉันครุ่นคิดว่ากำลังจะดื่มด่ำ Soju ราวกับผมได้อยู่เคียงค้างคุณ นึกถึงช่วงเวลาแสนสุขเคยอยู่ร่วมกันมา’

นัยยะของหนัง คนรักน่าจะสื่อถึงพ่อมากกว่า เพราะเขาจำต้องสุญหายตัวไปเนื่องจากกระทำบางสิ่งอย่างชั่วร้ายไว้ สักวันในอนาคตถ้าจินตนาการสามารถสำเร็จลุผลขึ้นได้ ครอบครัวที่แสนสุขก็อาจหวนกลับคืนมา

การจะมีชีวิตอยู่รอดในยุคสมัยทุนนิยม เงินทองเท่านั้นคือปัจจัย ใช้ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน มีมากเท่าไหร่ย่อมทำให้ชีวิตสุขสบาย สามารถครุ่นคิดทำอะไรก็ได้ตามใจ ตรงกันข้ามกับคนผู้ยากไร้ มักถูกสังคมตีตราหน้าราวกับเหม็นสาปควาย ว่าเป็นพวกคอยเกาะกิน จับจ้องแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น ปฏิเสธการดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง

ผู้ชมส่วนใหญ่ อาจจะรวมไปถึงผู้กำกับ Bong Joon-ho พยายามชี้ชักนำ จำแนกออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังว่า ครอบครัว Kim ทำตัวราวกับเป็นปรสิต พยายามเข้าไปเกาะแก่งกิน สูบเลือดเนื้อเงินทองจากบ้านของ Mr. Park แถมยังไปสร้างความเดือดร้อน ยุ่งยากวุ่นวาย ไม่ผิดกับแมลงสาปสมควรถูกกำจัดทำลายล้างให้สิ้นซาก (ตั้งแต่ต้นเรื่อง)

แต่ผมมองหนังเรื่องนี้ต่างออกไปพอสมควรเลยนะ เพราะปรสิตคือสิ่งมีชีวิตที่คอยเกาะกิน กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน โดยไม่สนว่าจะสร้างความเดือดร้อนอะไรต่อใคร … ซึ่งจากแนวคิดนี้ มนุษย์ทั้งโลกนะแหละครับไม่ต่างจากปรสิต โดยสิ่งที่เกาะกิน และพยายามกอบโกยคือเงินทอง ของมีค่า ความสุขอันได้จากวัตถุ พึงพอใจส่วนตน และยังบ่อนทำลายโลกใบนี้ ด้วยการสร้างมลพิษมากมาย

พวกคนรวยทั้งหลาย ก็ถือเป็นปรสิตจำพวกที่ตรงกันข้ามกับคนจน
– อย่างหนังเรื่องนี้ ครอบครัว Kim พยายามเกาะแก่งกิน สูบเลือดเนื้อเงินทองจากบ้านของ Mr. Park จนเกิดความอิ่มหนำพึงพอใจ
– Mr. Park ร่ำรวยเงินทองจากไหน? หนังทิ้งคำใบ้เล็กๆว่าทำงานบริษัท IT เห็นเล่นกับเครื่อง VR นั่นก็แปลว่าเขาได้กำไรจากการขายภาพลวงตาให้กับผู้คนมากมาย สูบเลือดสูบเนื้อลูกค้านับพันหมื่นแสนล้าน

ผมเองก็ยอมรับว่าเป็นปรสิตตัวหนึ่ง ใช้ชีวิตกอบโกยกินสังคม แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน แถมยังสร้างมลภาวะให้โลกมากมาย แต่เพราะนั่นเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือแห่งหนทางเดียวจะสามารถเอาตัวรอดในยุคสมัยทุนนิยมนี้

แล้วมันจะมีวิธีการอันใดที่สามารถลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น? ตรงกันข้ามโลกเสรีก็คือเผด็จการ แนวความคิด Marxist คอมมิวนิสต์ดั้งเดิมเท่านั้นกระมัง ที่พยายามสร้างค่านิยมให้ใครๆครุ่นคิดเห็นผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก คนรวยต้องเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม ใช้ชีวิตด้วยวิถีพอเพียง ลดละความโลภละโมบเห็นแก่ตัว … แต่มันเป็นไปได้ในโลกความจริงเสียที่ไหนกัน ดูอย่างประเทศจีนปัจจุบัน แปรสภาพกลายเป็นทุนนิยม-คอมมิวนิสต์ ช่างไม่ต่างกับแนวคิด เผด็จการ-ประชาธิปไตย ที่ใครสักคนในสภาไทยวันก่อนพูดเอ่ยถึง

อย่าหลอกตัวเองเลยนะครับว่าจะมีใครสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภละโมบ มากด้วยกิเลสราคะ แถมบุญกรรมก็ทำมาไม่เท่ากัน ย่อมไม่มีทางที่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจะลดต่ำลง รังแต่จะกว้าง-สูงขึ้นเรื่อยๆแบบ Tower of Babel เมื่อถึงจุดๆหนึ่งไม่พระเจ้าก็มนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ จักทำให้ทุกสิ่งอย่างถล่มพังทลายลงมาเอง

สำหรับคนที่รับชมผลงานของ Bong Joon-ho มาปริมาณหนึ่ง น่าจะสังเกตเห็นความชื่นชอบสนใจ มักนำเสนอภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาสังคม ความขัดแย้งทางชนชั้น จุลภาคเล็กๆสะท้อนมหภาคใหญ่ๆ ก็ไม่ใช่แค่สะท้อนเกาหลีใต้บ้านเกิดเท่านั้น แต่มีความสากลระดับโลกเลยละ เพราะแทบทุกประเทศยุคสมัยนี้ต่างประสบพบเคราะห์ไม่ต่างกัน ถูกครอบงำดำเนินไปด้วยแนวคิดทุนนิยม กลืนกินจนแทบไม่หลงเหลือวิถีชีวิตดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว

“As a film-maker or an artist, we have no choice but to reflect about the times we live in, so we are inspired by what’s happening in the world,”

– Bong Joon-ho

ขณะที่เนื้อหาสาระมักเกี่ยวเนื่องกับครอบครัว มักอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนก็ยังรักและปฏิเสธทอดทิ้งกัน

“My films are family films. In my real life I have lots of anxieties regarding society and the system. You become more obsessed with your family because of the incompetence of the system you are in, so my films are always about people who don’t really fit in the system and who don’t feel happy in the environment that the nation provides”.

ผู้กำกับ Bong Joon-ho เป็นตัวแทนชนชั้นกลางของเกาหลีใต้ พานพบเห็นการกระทำ ‘Gapjil’ ของคนรวย-จน ทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้พูดบอกแสดงความรู้สึกอะไร หรือทำอย่างไรจึงสามารถปรับเปลี่ยนแปลงวิถีดังกล่าว ก็ได้แค่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนความจริงออกมา คาดหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีใครสักคนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาดังกล่าว

เกร็ด: Gapjil เป็นคำเรียกวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในความคิดของคนเกาหลีฯ ชนชั้นผู้นำในสังคม คนรวยมากๆ หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง จะเชื่อว่าตนเองมีอภิสิทธิ์ชน ทำอะไรไม่มีวันผิด

แทบทุกๆบทความวิจารณ์ทั้งไทยเทศ มักเอ่ยถึง Parasite (2019) เปรียบเทียบกับปีก่อน Burning (2018) [และ Shoplifters ด้วยนะ] ต่างนำเสนอภาพสังคม ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้นจนก่อเกิดปัญหา นี่ไม่ใช่แค่ความบังเอิญแน่ๆนะครับ เป็นการสะท้อนสภาพความจริงในปัจจุบัน(นี้จริงๆ) แสดงว่าระบอบทุนนิยมได้ครอบงำ กลืนกิน กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปหมดสิ้นแล้ว


หนังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือนานกว่า 8 นาที (บางสำนักก็ว่า 5-6-7-9 นาที เอาเฉลี่ยเท่านี้ไปแล้วกันนะ) ซึ่งพอๆกับ Once Upon a Time in Hollywood (2019) ที่ออกฉายก่อนหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ถึงอย่างนั้นกลับถูกใจนักวิจารณ์ล้นหลาม คณะกรรมการปีนั้นนำโดย Alejandro González Iñárritu ประกาศชัยชนะ Palme d’Or อย่างเป็นเอกฉันท์ และยังถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศเกาหลีใต้คว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จ

ด้วยทุนสร้าง ₩13.5 พันล้านวอน (=$11-12 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทำเงินในเกาหลีใต้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมกว่า $70+ ล้านเหรียญ แม้จะไม่ทุบสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ในเกาหลี) แต่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทีเดียว

เชื่อว่าช่วงปลายปี Parasite มีแนวโน้มสูงมากๆจะติด 5 เรื่องสุดท้ายเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่จักสามารถคว้ารางวัลได้หรือไม่คงต้องดูกันยาวๆ ยังอีกหลายเดือน

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบประทับใจหนัง เพราะผมดันฉลาดเกินไปที่สามารถคาดเดาอะไรถูกหมด ซึ่งพอครุ่นคิดต่อยอดไปเรื่อยๆก็ค้นพบทางตัน เลยตระหนักว่าผู้กำกับ Bong Joon-ho ไม่ได้สร้างออกมาให้ลึกซึ้งปานนั้น หลายๆอย่างไม่สมเหตุสมผล แค่พลังของภาพยนตร์สามารถกลบเกลื่อนจุดบกพร่องได้หมดสิ้น

Parasite เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคม ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตระหนักถึง แต่ก็เท่านั้นละครับ เพราะมุมมองชนชั้นกลางของผู้สร้างและเราๆ ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ได้แค่ปล่อยวางมันไป ให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินตามครรลอง วิถีชีวิต วิวัฒนาการ วัฎจักรแห่งโลกสืบไป … เช่นกันกับภาพยนตร์เรื่องนี้ สุดท้ายแล้วก็แค่ความบันเทิงชั้นสูง ‘High Art’ ไม่ต่างจากปรสิตตนหนึ่งก็เท่านั้น

จัดเรต 18+ กับการต้มตุ๋น หลอกลวง ใช้ความรุนแรง และเข่นฆาตกรรม

คำโปรย | Parasite ของ Bong Joon-ho คือปรสิตที่ชอนไชเข้าไปเกาะกินจิตวิญญาณผู้ชม
คุณภาพ | 
ส่วนตัว | แค่ชอบ

The Blue Angel (1930)


The Blue Angle

The Blue Angel (1930) German : Josef von Sternberg ♥♥♥♡

หนังพูดเรื่องแรกของประเทศเยอรมัน แจ้งเกิด Marlene Dietrich ด้วยการเป็นนักเต้นยั่วโชว์เรียวสุดเซ็กซี่ ทำให้อาจารย์ผู้หัวโบราณคร่ำครึ Emil Jannings หลงใหลในเสน่ห์จนลาออกมาขอแต่งงาน แต่ภายหลังก็ได้พบความน่าอับอายขายหน้าแทรกแผ่นดินหนี เกิดเป็น Tragicomedy ที่ผู้ชมสมัยนี้อาจไม่ค่อยขำสักเท่าไหร่

Der blaue Engel เป็นภาพยนตร์ที่ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจการแสดง เรื่องราวแฝงนัยยะบางอย่าง แต่รู้สึกเลยว่ากาลเวลาทำให้คุณภาพเสื่อมถอยลงมาก โดยเฉพาะการบันทึกเสียงที่เต็มไปด้วย Noise สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ ตลกคือเปิดประตูเพลงดัง ปิดประตูทุกอย่างเงียบสนิท … มันคงสมจริงดีที่สุดในข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นแล้วสินะ

ในช่วงต้นๆของยุคสมัย Talkie มีเทรนด์อย่างหนึ่งของภาพยนตร์ต่างประเทศ คือการบันทึกเสียงพูดภาษาปาก(เยอรมัน) และอีกครั้งคือภาษาอังกฤษ (เพื่อนำออกฉายต่างประเทศ) ซึ่งหนังเรื่องนี้ผู้กำกับ Josef von Sternberg ก็ตัดสินใจถ่ายทำควบไปพร้อมๆกัน ซึ่งนักแสดงนำแม้สามารถพูดทั้งสองภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว (ติดสำเนียงเหน่อเยอรมันเยอะไปหน่อยก็เถอะ) แต่แนะนำให้หาฉบับเยอรมันมารับชมนะครับ เพราะจะพบเห็นการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านคำพูดได้เด่นชัดเจนกว่า

เกร็ด: เห็นว่าฉบับภาษาอังกฤษได้สูญหายไปหลายทศวรรษ จนกระทั่งได้รับการค้นพบใน German Film Archive บูรณะเรียบร้อยเมื่อปี 2009 ปัจจุบันน่าจะหารับชมได้ไม่ยากนัก

Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพสู่อเมริกาตอนอายุ 14 ปักหลักอยู่ New York City เข้าโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้เลยออกมาเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์ ประมาณปี 1915 ทำงานกับ Word Film Company ได้รับความอนุเคราะห์จาก Emile Chautard ชี้แนะสั่งสอน ว่าจ้างเป็นผู้ช่วย The Mystery of the Yellow Room (1919), สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 สังกัดหน่วยสื่อสารถ่ายทำสารคดีข่าว เดินทางไปยุโรปเพื่อสะสมประสบการณ์ กำกับเรื่องแรก The Salvation Hunters (1925) ** บ้างถือว่าคือหนัง Indy เรื่องแรกของอเมริกา

“Our aim has been to photograph a Thought. It is not conditions, nor is it environment – our faith controls our lives!”

แม้จะรับอิทธิพลของ German Expressionism แต่ Sternberg ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา (มีผลงานหนึ่ง ขุดนรกขึ้นมาในพระราชวังอันโอ่งโถง) ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ยังรวมถึงความคิดอ่าน เป้าหมายอุดมการณ์ แรงผลักดันอันเกิดจากเงื่อนไข โชคชะตาที่พลิกผันแปรเปลี่ยน

“I care nothing about the story, only how it is photographed and presented”.

การมาถึงของยุคสมัยหนังพูด Sternberg ได้รับโอกาสแรกกับ Thunderbolt (1929) หนังแนว Prot-Noir (หนังนัวร์ที่เกิดขึ้นก่อนยุคหนังนัวร์) ทำการทดลองสร้างเสียงที่ไม่สอดคล้องตรงกับภาพหรือคำพูด ด้วยความตั้งใจ ‘uses sound to paint audio images’ แม้ได้รับคำชมเรื่องความกล้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่ได้รับการปฏิเสธต่อต้านโดยสิ้นเชิงจากผู้ชมสมัยนั้น

(ก็แน่ละ โลกทัศน์ของผู้ชมหนัง Talkie ในยุคแรกๆ เห็นอะไรต้องได้ยินเช่นนั้น เสียงไม่ตรงกับภาพก็นึกว่าเครื่องฉายมีปัญหา)

นั่นทำให้ Hollywood ยังไม่สามารถยินยอมรับสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ของ Sternberg โชคยังดีหลังจากหนังถูกนำส่งออกฉายยังต่างประเทศ ที่เยอรมันได้รับคำชมล้นหลามถึงขนาดผู้กำกับ Ludwig Berger อดไม่ได้ต้องส่งโทรเลขบอกว่า

“I saw your film Thunderbolt and congratulate you with all my heart. It is the first fully realized and artistically accomplished Sound film. Bravo!”

ด้วยเหตุนี้ Erich Pommer เจ้าของสตูดิโอ UFA (Universum Film AG) จึงได้ติดต่อชักชวน Sternberg ให้เดินทางมากำกับสร้างหนังพูดเรื่องแรกของประเทศเยอรมัน และมั่นหมายให้ Emil Jannings ที่ต่างเคยรู้จักร่วมงานกับตอน The Last Command (1928) รับบทนำแสดง

(บางแหล่งข่าวอ้างว่า Jannings เป็นคนชักชวน Sternberg ให้สร้างหนังพูดเรื่องแรกของตนเองที่เยอรมัน แล้วค่อยติดต่อได้ Pommer จัดหาออกทุนสร้างให้)

โปรเจคที่ Pommer เสนอมาตอนแรก คือเรื่องราวเกี่ยวกับ Rasputin นักบุญจอมราคะสัญชาติรัสเซีย แต่ Sternberg หาได้มีความใคร่สนใจแม้แต่น้อย จึงเสนอการดัดแปลงนิยาย Professor Unrat (1905) [แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Professor Garbage] แต่งโดย Heinrich Mann (1871 – 1950) ที่มีเรื่องราวเสียดสีล้อเลียนคนชนชั้นกลาง-สูง จอมปลอมของประเทศเยอรมัน ปากอ้างว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูงเคร่งครัดในจารีตประเพณี แต่จิตใจกลับหมกมุ่นตกต่ำไปกับตัณหาราคะ เข้าสำนวน ‘มือถือสาก ปากถือศีล’

Sternberg มีความสนใจเพียงครึ่งแรกของนิยายเท่านั้น พัฒนาตอนจบขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ความต้องการของตนเอง เปลี่ยนชื่อตัวละครจาก
– Professor Unrat เป็น Professor Immanuel Rath (รับบทโดย Emil Jannings)
– Rosa Fröhlich กลายเป็น Lola Lola (นำแสดงโดย Marlene Dietrich)

เรื่องราวของ Professor Immanuel Rath อาจารย์สอนหนังสือในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มักถูกนักเรียนในห้องกลั่นแกล้งเป็นประจำในความหัวโบราณคร่ำครึ วันหนึ่งรับรู้ว่ามีลูกศิษย์แอบหนีเที่ยวกลางคืนยังไนท์คลับ The Blue Angel ตั้งใจจะจับให้ได้คาหนังคาเขา แต่กลายเป็นว่าตนเองกลับค่อยๆหลงเสน่ห์นักแสดงสาวรุ่นลูก Lola Lola จนโงหัวไม่ขึ้น วันหนึ่งตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนแล้วขอเธอแต่งงาน แบบไม่สนฟังคำใครอะไรทั้งนั้น!

นำแสดงโดย Emil Jannings ชื่อเดิม Theodor Friedrich Emil Janenz (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Rorschach, Switzerland ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Leipzig, German Empire สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีไปเที่ยวเล่นจนแม่ยอมให้เป็นนักแสดงในโรงละครประจำเมือง ครั้งหนึ่งออกทัวร์ทั่วประเทศจนเข้าตา Max Reinhardt เข้าร่วม Deutsches Theater, Berlin รู้จักสนิทสนมกับ Karl Vollmöller, Ernst Lubitsch (ขณะนั้นยังเป็นนักแสดง), Frieda Riess ฯ ต่อมาได้แสดงหนังสั้นที่กำกับโดยเพื่อนสนิท Lubitsch อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Madame DuBarry (1919), โด่งดังทั่วโลกจากร่วมงานกับ F. W. Murnau เรื่อง The Last Laugh (1924), Herr Tartüff (1925), Faust (1926) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Way of All Flesh (1927) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Last Command (1928)

ชื่อของ Jannings ถือว่าเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนสมัยนี้ สืบเนื่องจากสองเหตุผล
– อย่างแรกคือสำเนียงของเขาหนามาก ทำให้ไม่สามารถปรับตัวสู่ยุคหนัง Talkie ของ Hollywood จึงต้องเดินทางกลับประเทศเล่นหนังพูดภาษาเยอรมันเท่านั้น
– สองคือความนิยม Nazi สนิทสนมกับ Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อ แสดงนำภาพยนตร์ Propaganda หลายเรื่อง แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นสุด ทำให้ติด Blacklist หมดสิ้นโอกาสรับงานแสดงอีกต่อไป

รับบท Professor Immanuel Rath (ในนิยายอายุ 57 ปี) อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ ผู้มีแบบแผนวิถีการดำเนินชีวิตที่เคร่งครัดคร่ำครึ ไม่ชอบอะไรที่มันนอกรีตนอกรอยหรือสิ่งแปลกใหม่ ด้วยความที่ร่างใหญ่จึงมีความเทอะทะ เฟอะฟ่ะ เกะกะ ไม่สามารถวางตัวเองในตำแหน่งที่ถูกต้องของสังคมได้ ซึ่งเมื่อเหล้าเข้าปากสติปัญญาก็เริ่มสูญหาย เคลิบเคลิ้มหลงใหลตกหลุมรักในเสน่ห์ความงามของหญิงสาว หลังได้รับความสุขสำราญนกเขาขัน ก็เลิกใช้สมองครุ่นคิดตัดสินใจอีกต่อไปแล้ว

บุคคลผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ เรียนจบสูงๆเป็นถึงบัณฑิตอาจารย์สอนหนังสือ ก็ใช่ว่าเขาจะมีความสามารถในการใช้ชีวิตปรับตัวทันโลก หรือควบคุมตนเองเมื่อถูกสิ่งเร้าเย้ายวนอันน่าหลงใหล กลับกลายสภาพเป็นเหมือนเด็กทารก/ลูกแมวน้อย ออดอ้อนทำตาบ้องแบ้วยิ้มแย้มแจ่มใส แรกๆคงดูน่ารักน่าชังดี แต่สักพักเห็นบ่อยใครๆคงเริ่มเบื่อหน่าย ค่อยรู้สำนึกถึงความโง่เขลาเบาปัญญาตอนนั้นทุกอย่างก็สายเกินแก้แล้ว หลงเหลือแต่ความอับอายขายขี้หน้าประชาชี กลายเป็นไก่ขันสดับฟังไม่เป็นภาษา

ตัวละครที่มักถูกทำให้อับอายเสียหน้า ถือเป็นลายเซ็นต์ถนัดของ Jannings นอกเหนือจาก Charisma กษัตริย์ผู้นำ/จอมทัพ/นายพลผู้ยิ่งใหญ่ คงเพราะมันคือขั้วตรงข้ามของตัวละคร และทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องด้านดี-ชั่ว ได้อีกด้วย

ไฮไลท์ของ Jannings ในบทบาทนี้ คือการปั้นแต่งสร้างพฤติกรรมของตัวละครขึ้นมา ช่วงที่ยังเป็นอาจารย์ก็มีอย่าง ท่าทางสวมแว่น, จามใส่ผ้าเช็ดหน้า, หยิบสมุดขึ้นมาจดบันทึก ฯ แสดงถึงความหัวโบราณคร่ำครึของตัวละคร, ครึ่งหลังแม้จะไม่อะไรซ้ำๆให้สังเกตพบเห็น แต่สีหน้าท่าทางสายตา เหมือนคนอาการ Shell Shock/Trauma จิตวิญญาณไม่อยู่ในร่าง มุดแทรกแผ่นดินหนีหายไปแล้วกระมัง

Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งวันหนึ่งไปคัดเลือกนักแสดง The Blue Angel (1930) มาในสภาพเบื่อโลก ‘world-weary attitude’ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับบทแน่ ให้ร้องเพลงก็เลือก “You’re the Cream in My Coffee” แบบไม่เต็มใจนัก กลายเป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Sternberg เป็นอย่างยิ่ง

เกร็ด: นักแสดงที่มาทดสอบหน้ากล้อง เป็นตัวเลือกรับบทนี้ อาทิ Gloria Swanson, Phyllis Haver, Louise Brooks, Brigitte Helm, Lya De Putti, Lucie Mannheim, Trude Hesterberg, Käthe Haack, Lotte Lenya, Leni Riefenstahl ฯ

มีการค้นพบฟุตเทจทดสอบหน้ากล้องของ Dietrich กับหนังเรื่องนี้ นำมาให้รับชมกับว่าเจ๊แกมีสีหน้ากวนตรีนเบื่อโลกขนาดไหน ทั้งหมดเป็นการ Improvise การแสดงขึ้นเอง และนักเปียโนคือ Friedrich Hollaender (ผู้แต่งเพลงประกอบให้กับหนัง)

รับบท Lola Lola นักเต้น Cabaret (ในนิยายอายุ 17 ปี) เต็มไปด้วยเสน่ห์เย้ายวนเซ็กซี่ เป็นคนขี้อ่อนไหวกับผู้ชายจิตใจเหมือนเด็กน้อยให้เกียรติแบบสุภาพบุรุษ รสนิยมคงชอบป๊ะป๋าๆร่างใหญ่ สนคนที่ภายในไม่ใช่หน้าตา เช่นนั้นจะยินยอมแต่งงานกับ Prof. Rath ได้อย่างไร แต่เมื่อพบเห็นภายในของคนรักหมดสิ้นสภาพพึ่งพาไม่ได้ ก็เริ่มมองหาจรวดขัดตาทัพใหม่

ถ้าเปรียบตัวละคร Prof. Rath คือตัวแทนของคนชนชั้นกลาง-สูง มีความรู้สติปัญญาเฉลียวฉลาด, Lola Lola จะถือเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม ใช้ชีวิตเพื่อสนองตัณหาราคะความต้องการพึงพอใจของตนเองเท่านั้น ซึ่งการแต่งงานระหว่างชนชั้นย่อมทำให้ฝ่ายหนึ่งสูญเสียชื่อเสียงหน้าตา และอีกฝ่ายกลายเป็นผู้ดีมีตระกูลขึ้นมา ในยุคสมัยนั้นนี่เป็นสิ่งต้องห้าม Taboo ของประเทศชาตินิยมจัดๆ เยอรมันคือหนึ่งในนั้น

สิ่งที่ทำให้ผู้ชมสมัยนั้นตราติดตรึงกับภาพลักษณ์ของ Dietrich คือส้นสูง ถุงน่อง หมวก Top Hat เสียงร้อง Contralto และท่านั่งยกขา อันทำให้ได้เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Paramount ตั้งแต่ก่อนหนังออกฉายเสียอีก

เกร็ด: Sternberg ได้แรงบันดาลใจภาพลักษณ์ของ Lola Lola จากภาพวาด Pornocrates (1878) [ชื่อภาษาอังกฤษคือ The Lady with the Pig] ของ Félicien Rops ศิลปินสัญชาตื Belgian

(โห! ภาพนี้มีนัยยะตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเปะๆเลยนะ หมูที่เดินนำคือตัวละครของ Janning, หญิงสาวด้านหลังแทนได้ด้วย Dietrich)

ส่วนตัวไม่รู้สึกตราตะลึงนักกับภาพลักษณ์ของ Dietrich แต่หลงใหลในลีลาท่าทางอันยั่วเย้ายวน การเล่นหูเล่นตา และพูดคำปากหวาน ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงเสน่ห์ยิ่งนัก ใครก็ตามเกิดทันสมัยนั้นคงย่อมหลอมละลาย (ทั้งชายหญิง) โด่งดังข้ามทวีปกันเลยทีเดียว

Dietrich กับผู้กำกับ Sternberg ค่อยๆสนิทสนมกันเรื่อยๆจนเริ่มออกหน้าออกตาในกองถ่าย สร้างความอิจฉาริษยาตาร้อนให้กับ Jannings ถึงขนาดพูดขู่ด้วยความเกรี้ยวกราด ถ้ามันมากเกินไปอยากจะบีบคอใครสักคนให้ตาย … ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นข่าวคาวตามหน้าหนังสือพิมพ์ Tabloid ซึ่ง Sternberg ก็รีบจัดฉากแต่งงานกับ Riza Royce แล้วตอนกลับอเมริกาค่อยไปยื่นฟ้องขอหย่า แต่เธอรู้ทันจึงรีบชิงตัดหน้าเดินทางไปก่อน แล้วส่งทนายมาเฝ้ารอคอยพวกเขาขณะลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (นี่ทำให้ Dietrich ไม่เคยคิดแต่งงานกับ Sternberg ทั้งๆเป็นคู่ขากันหลายปี)

ความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ Sternberg กับ Dietrich ทำให้ทั้งคู่สร้างภาพยนตร์ร่วมกันอีก 6 เรื่อง ถึงค่อยแยกย้ายทางใครทางมัน ประกอบด้วย Morocco (1930), Dishonored (1931), Shanghai Express (1932), Blonde Venus (1932), The Scarlet Empress (1934), The Devil is a Woman (1935)

ถ่ายภาพโดย Günther Rittau สัญชาติ German ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Fritz Lang เรื่อง Metropolis (1927)

หนังถ่ายทำในสตูดิโอ Babelsberg Studio, Potsdam จำลองสร้างฉากขนาดใหญ่ด้วยลักษณะของ German Expressionism มีความบิดเบี้ยวไม่ได้สัดส่วน สะท้อนถึงจิตวิญญาณตัวตนแท้จริงภายในของตัวละคร ภายนอกเหมือนจะดูดี แต่แท้จริงแล้วคอรัปชั่นชั่วร้ายนัก

ทางเดินบนท้องถนน สังเกตว่ามันจะบิดเบี้ยว เอียงๆเหมือนหอเอนเมืองปิซ่า ก็แน่ละความคอรัปชั่นในจิตใจคนมันจะทำให้ถนนหนทาง ผนังกำแพง เสาไฟฟ้า ตั้งอยู่ตรงดิ่งได้อย่างไร

หน้าห้องเช่าของ Prof. Rath ก็เช่นกัน อยู่ชั้นสองต้องเดินขึ้นบันไดโค้งบิดเบี้ยว (บันไดโค้งถือเป็นอีกลายเซ็นต์หนึ่งเลยของ German Expressionism) การจัดแสงเห็นเงาก็ให้สัมผัสแปลกๆ ถ่ายมุมก้ม-เงย สะท้อนความหมายบางสิ่งอย่าง

หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ช็อตตรงระเบียงหน้าห้องเรียนก็มีลักษณะของ German Expressionism ด้วยลักษณะคล้ายๆกับสี่-ห้าเหลี่ยมคางหมู ประมาณเศษหนึ่งของภาพปกคลุมด้วยความมืด ก็คือจิตใจของ Prof. Ruth นะแหละ

นี่เป็นช็อตที่ได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญที่สุดของ Dietrich นั่งอยู่บนถังไม้ ยกขาขึ้นโชว์ความล่ำสุดเซ็กซี่ เอียงหมวกอย่างมีสไตล์ สายตาจับจ้องมองว่าที่คนรักไม่คาดสายตา

เอกลักษณ์ German Expressionism ของผู้กำกับ Sternberg คือการใช้รูปปั้นสื่อแทนความหมายบางสิ่งอย่าง ซึ่งช็อตนี้ถือว่าตรงเลยละ สิ่งที่ Prof. Rath มองเห็นกับ Lola Lola มีเพียงเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของหญิงสาว ราวกับนางเงือกใต้มหาสมุทร ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด

สังเกตการจัดแสง จะพบว่าสาดส่องเฉพาะบนเวที กับบนชั้นสองสถานที่รับชมของ Prof. Rath เท่านั้น ที่เหลือดูมืดมิดสนิทไม่จำเป็นต้องให้แสงอะไรเพิ่มเติม

นาฬิกาบอกเวลาเรือนนี้น่าจะตั้งอยู่หน้าโรงเรียน ดังกึกก้องขึ้นเมื่อเวลา 8 โมงตรง (เข้าเรียน) จะมีรูปปั้นเหมือนเคลื่อนตัวออกมาแล้วก็จากไป (นกพิราบเกาะอยู่โดยรอบ) ผมคิดว่าน่าจะคือตัวแทนของคนชนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ ที่เคลื่อนเรียงต่อเนื่องเป็นวงเวียนในสังคม เท่าที่สังเกตได้อาทิ ชายคนแรกถือคนโท, ไม้เท้ากับนกอินทรี, พาน/แจกัน, หนังสือ, โบสถ์, กุญแจ, ดาบ … (หลังจากนี้ดูไม่ออกแล้ว)

นัยยะของนาฬิกา คงสื่อถึงเวลาในอำนาจของคนชนชั้นกลาง-สูง ใกล้ที่จะหมดลงทุกที จากเคยเปะๆตรงต่อเวลา เมื่อใดวอกแวกนอกรีตนอกรอยก็จะเริ่มเลทสาย ไปโรงเรียนไม่ทัน

ภาพวาดบนกระดานดำในห้องเรียนของ Prof. Rath มันเจ๋งมากเลยนะ เสียดสีล้อเลียนได้ตรงเผง
– กระดานซ้ายมือ ร่างกายโป๊เปลือยเปล่า ล่องลอยอยู่เหนือเมฆาราวกับบนสรวงสวรรค์ ขับร้องเล่นพิณส่งเสียงร้องเรียก Lola Lola
– กระดานกลาง รูปของ Prof. Rath ขโมยสองสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Lola Lola คือหมวก Top Hat กับเรียวขาสวมถุงน่อง

ฉากงานแต่งงาน นอกจากพื้นหลังที่ยังพอเห็นเทาๆบ้าง บนโต๊ะจีนกลม แก้ว-ขวดไวน์ เสื้อผ้า-เครื่องประดับ ล้วนเป็นสีขาว-ดำ แทบทั้งหมด จะถือว่าเป็นช่วงเวลากึ่งกลางของหนังที่ทำให้ Prof. Ruth แม้จะเป็นผู้มีความสุขที่สุด แต่หลังจากนี้ก็จะมีแต่ตกต่ำสู่ด้านมืดมิด

จากอาจารย์ผู้มีความรู้ทรงภูมิได้รับการเคารพนับถือ กลับเลือกทางเดินตอบสนองตัณหาราคะความต้องการของตนเอง เมื่อเริ่มรู้ตัวสำนึกว่าตัดสินใจผิด ได้กลายร่างเป็นตัวตลกให้ผู้คนหัวเราะขบขัน (ถือเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร จากนามธรรมแปรสภาพกลายเป็นรูปธรรม พบเห็นจับต้องได้ภายนอก)

ด้วยท่าทางป้ำๆเป๋อๆ มีการแสดงสองชุด
– เสกนกออกจากศีรษะ ราวกับเป็นการปลดปล่อยความเฉลียวฉลาดที่เคยมี ให้โบยบินล่องลายจากหายไปกลายเป็นคนไร้สติ
– เสกไข่แล้วตอกใส่หน้า จากนั้นส่งเสียงขันทำท่าเหมือนไก่ตีปีก, ผมมองไข่-ไก่ เป็นสัญลักษณ์ของความดิบเถื่อน Primitive วิวัฒนาการย้อนกลับของมนุษย์ กล่าวคือ จากเคยเป็นผู้มีความรู้สติปัญญา ‘สัตว์ประเสริฐ’ กลับทำตัวสนองตัณหาสันชาติญาณตนเอง กลายสภาพเป็น ‘สัตว์เดรัจฉาน’ หวนคืนสู่สภาพเซลล์เดียว (ไข่ 1 ฟอง มีขนาดเทียบเท่า 1 เซลล์ของสิ่งมีชีวิต)

ภาพในกระจกช็อตนี้ สะท้อนถึงจิตใจของตัวละครที่แตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ จากเคยมีชีวิตหนักแน่นมั่นคงหนึ่งเดียว ปัจจุบันขณะนั้นไม่หลงเหลือสภาพตััวตนใดๆให้น่านับถืออีกต่อไป (กลายเป็น Trash สมฉายา)

ช็อตสุดท้ายของหนัง มองได้คือการหวนกลับมาตายรังเก่า สป็อตไลท์สาดส่องยังโต๊ะครูในห้องเรียนที่ตนเคยใช้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา จากเคยได้รับความนับหน้าถือตาในสังคม เมื่อละทิ้งทุกอย่างสุดท้ายสำนึกละอายขายหน้าในการกระทำของตนเอง อยากที่จะหวนกลับคืนแต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นก็คือการยึดติด (มือจับไม่ปล่อย) กับอดีต แต่มันกำลังค่อยๆเคลื่อนห่างออกไป

ตัดต่อโดย Walter Klee, Sam Winston ใช้มุมมองการเล่าเรื่องของ Professor Immanuel Rath ซึ่งการออกแบบฉาก/พื้นหลัง German Expressionism ก็ล้วนสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครนี้ออกมา

ข้อเสียรุนแรงของหนังเลยคือความเชื่องช้าชวนสัปหงก ผมก็สะดุ้งไปรอบหนึ่งตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก กว่าจะเข้าเรื่องได้ให้เวลากับอะไรไม่รู้เนิ่นนานเหลือเกิน และกว่า Jannings จะพูดประโยคแรก ก็เกือบ 9 นาที (พูดว่า Sit Down) แต่เราจะได้ยินเสียงผิวปากดังขึ้นก่อนนะ

เพลงประกอบโดย Friedrich Hollaender (ทำนอง), Robert Liebmann (คำร้อง), Franz Waxman (Soundtrack)

เพราะความที่ลูกคอของ Dietrich สูงเพียง Contralto จึงเป็นการกึ่งๆบังคับให้ Hollaender เขียนเพลงในระดับเสียงร้องนั้น กระนั้นด้วยลูกเล่นลีลาและท่วงท่าของเธอ ก็ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นอย่างยิ่งเลยละ

มีสองบทเพลงไฮไลท์ของ Dietrich ในหนังเรื่องนี้ Ich bin die fesche Lola (แปลว่า Naughty Lola) แนวส่อเสียดยั่วเย้ายวน ด้วยจังหวะสนุกสนานครึกครื้นเครง ร้องเล่นเต้นไปด้วย ผู้ชมสมัยนั้นคงเสียวซาบซ่านไม่น้อยเลยละ, นำฉบับภาษาเยอรมันมาให้ฟัง

อีกเพลงหนึ่งชื่อ Ich bin von Kopf bis Fuß auf Liebe eingestellt (แปลว่า Falling In Love Again) ฉบับภาษาอังกฤษจะมีน้ำเสียงเหนื่อยหน่ายเบื่อโลก ทุ้มต่ำเหน่อๆ แต่ฟังกี่ทีก็ไม่น่าเบื่อเลยนะ มีเสน่ห์บางอย่างชวนให้หลงใหลมากๆ

ขณะที่ฉบับคำร้องเยอรมัน เพราะเป็นภาษาปากเลยไม่ต้องกดเสียงปั้นแต่ง จึงสามารถแหลมสูงได้ถึง Contralto ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาไพเราะจับใจกว่ากันเยอะเลยนะ

การทดลอง Soundtrack/Sound Effect ของหนัง ค่อนข้างจะล้ำยุคทีเดียว ถึงผมจะบอกไปตอนต้นว่าดูตลกสิ้นดี เปิดประตูเพลงดัง ปิดประตูทุกอย่างเงียบสนิท แต่ต้องยกย่องว่าคือความสร้างสรรค์ กล้าทดลองอะไรใหม่ๆ เพิ่มความสมจริงกลมกลืนให้เกิดขึ้น แม้มันยังห่างไกลจุดที่เรียกว่ายินยอมรับได้ก็ตามเถอะ

เรื่องราวรสชาติของความรักเป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใครอยู่แล้ว ต่อให้มหาบัณฑิตเฉลียวฉลาดหลักแหลมมีสติปัญญาสูงส่งขนาดไหน เมื่อสันชาติญาณหัวใจมันเรียกร้อง อะไรอย่างอื่นก็ไร้ค่าความหมายไม่อยู่ในความสนใจ

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยชอบใจหนังสักเท่าไหร่ คือความตั้งใจชี้ชักนำทัศนคติผิดๆเกี่ยวกับความรัก ‘มันผิดตรงไหนชายสูงวัยอายุ 50 ตกหลุมรักสาวน้อยอายุ 17’ พวกเขาแต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายด้วยความยินยอมพร้อมใจแท้ๆ แต่หนังเลือกนำเสนอความไม่เหมาะสมเจียมตน ทำให้ตัวละครรู้สึกอับอายเสียหน้าเพราะการตัดสินใจแบบสนองความต้องการมากกว่าขนบธรรมเนียมวิถีที่ควรเป็น ทั้งยังเสี้ยมสอนว่า มันคงมีแต่ตัณหาราคะที่ทำให้คนต่างรุ่นต่างวัยต่างชนชั้นแต่งงานกันได้

แต่ก็เอาเถอะ ประเทศเยอรมันต้นศตวรรษ 20 แม้งชาตินิยมเผ่าพันธุ์ชิบหายเลยเถอะครับ ไม่งั้นนาซีมันจะรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่เกลียดชาวยิวเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไร คือถ้าเรามองเป้าหมายของหนังในอีกมุมหนึ่งคือการนำเสนอบุคคลที่ ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ ภายนอกแสดงออกดั่งสุภาพบุรุษคนดีมีความรู้ทรงภูมิ แต่แท้จริงภายในกลับอัปลักษณ์พิศดารน่ารังเกียจขยะแขยง เช่นนี้ต้องถือว่าหนังตอบโจทย์ผลกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบเลยละ

สำหรับความตั้งใจของผู้กำกับ Sternberg ผมมองเห็นการเปรียบตนเองเข้ากับตัวละครของ Jannings ในทศวรรษเปลี่ยนผ่านของวงการภาพยนตร์ มีสภาพเทอะทะเฟอะฟะ ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ได้ ขณะที่ตัวละครของ Dietrich เทียบได้คือความสวยเซ็กซี่อันเย่ายวนของหนังพูด Talkie ชักชวนให้คนรุ่นเก่าๆอย่างเขาตกหลุมใหลคลั่งไคล้ร่วมรักแต่งงาน ถึงกระนั้นเมื่อร่วมออกเดินทางเคียงข้างไปด้วยกันสักพัก ก็ดั่งขณะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Thunderbolt (1929) ล้ำเกินจนยังไม่มีใครรับได้ทัน ทำให้ตัวเองคงตกอยู่ในสภาพอับอายขายหน้าประชาชี แทรกแผ่นดินหนีมุดมาถึงบ้านเก่า สร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เรื่องแรกเรื่องเดียวนี้ แล้วหาทางหวนกลับคืนสู่ Hollywood บ้านแท้จริงของตนเอง

ในมุมของ Jannings เรายังสามารถเปรียบตัวเขาได้กับสภาพตอนหมดสัญญากับสตูดิโอที่ Hollywood ถึงพูดภาษาอังกฤษพอได้แต่สำเนียงเยอรมันหนักเกินฟังไม่ค่อยออก จำต้องระหกระเหินเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างน่าขายหน้า (แม้จะเอา Oscar: Best Actor ติดตัวมาด้วยก็เถอะ) หลังจากนี้ก็เล่นเพียงหนังพูดภาษาปากตนเองเท่านั้นสบายใจกว่ากันเยอะ

ตอนที่หนังออกฉายได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม ทำเงินถล่มทลายในประเทศเยอรมัน (แต่ไม่มีรายงานรายรับ) แต่การมาถึงของ Nazi ทำให้ถูกแบนห้ามฉายเมื่อปี 1933 (คงเพราะสร้างโดยผู้กำกับเชื้อสาย Jews ด้วยกระมัง)

โดยส่วนตัวประทับใจการแสดงของ Emil Jannings อย่างยิ่งเลยละ สร้างให้ตัวละครมีความมืดหมองหม่นหดหู่ จนตอนจบผู้ชมสามารถสิ้นหมดลมหายใจตายตามไปได้เลย แต่น่าเสียดายที่มักถูกกลบด้วยภาพลักษณ์อันเซ็กซี่เลิศหรูหราของ Marlene Dietrich สามารถยั่วเย้ายวนหนุ่มๆสมัยนั้นเลือดกำเดาไหลได้มากกว่า

แนะนำคอหนัง Tragicomedy นำเสนอมุมมืดของจิตใจมนุษย์, นักร้องเล่นเต้นทำงาน Nightclub, หลงใหลใน German Expressionism, ชื่นชอบผู้กำกับ Josef von Sternberg และแฟนคลับ Emil Jannings, Marlene Dietrich

จัดเรต 13+ กับความยั่วยวนเซ็กซี่ และโศกนาฎกรรมจากความอับอายขายหน้าประชาชี

TAGLINE | “The Blue Angel ถึงกาลเวลาทำให้ Emil Jannings และ Marlene Dietrich ปีกหัก แต่พวกเขายังสามารถโบยบินค้างฟ้าอยู่บนนั้น”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Life Is Beautiful (1997)


Life is Beautiful

Life Is Beautiful (1997) Italian : Roberto Benigni ♥♥♥♥

ครึ่งแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้แทบทุกคนจะหัวเราะจนตกเก้าอี้ แต่ครึ่งหลังจะมีคนสองประเภท 1) ยิ้มทั้งน้ำตา 2) สาปแช่งทั้งหัวใจ, ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของอิตาลี คว้ารางวัล Grand Prix (ที่ 2) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ Oscar: Best Foreign Language Film, Best Actor และ Best Score, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมไม่ใช่คนสองประเภทที่ยกมานะ แต่เป็นกลุ่มที่ 3) ทั้งรักทั้งเกลียด เริ่มต้นจากเบือนหน้าหนีรับไม่ได้รุนแรง แต่พอตอนจบก็เหวออ้าปากค้าง นี่มันลักษณะของการ ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ บอกไม่ถูกว่าจะชอบหรือเกลียดดี เลยเป็นว่าทั้งรักทั้งชังเลยแล้วกัน (คือเห็นตอนจบสวยงามขนาดนั้น แล้วก็ยังรู้สึกไม่ชอบอยู่ดี)

แซว: จริงๆคงมีคนอีกประเภทอยู่ด้วย 4) ไม่รู้สึกอะไร แต่คงมีปริมาณน้อยมากๆ เพราะคนที่ไร้ความรู้สึกคงเป็นพวกตายด้าน หรือไม่ก็ดูหนังไม่เป็น

ทัศนคติของมนุษย์ต่อ’ชีวิต’ ไม่มีใครไหนจะเหมือนกันเปะๆ คล้ายกันได้ ใกล้เคียงกันได้ ขณะเดียวกัน ต่างกันได้ ตรงกันข้ามเลยก็มี มันจึงไม่แปลกสำหรับผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ Life Is Beautiful คนหนึ่งจะพูดว่า โอ้! สวยงามจริงแท้ ขณะเดียวกันอีกคนหนึ่งบอกว่า หนังบัดซบอะไรเนี่ย! ไม่จริงรับไม่ได้, ผมเคยชอบที่จะนั่งอยู่ตรงกลางแล้วมองดูคน Ego สูงสองฝ่ายตบตีต่อยกัน เหมือนการเสพดราม่า แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว รู้สึกเสียเวลาชีวิตเหลือเกิน รับรู้การมีตัวตนของพวกเขาก็เพียงพอ

Roberto Remigio Benigni นักแสดงตลก นักเขียนบทและผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน, เกิดปี 1952 ที่ Manciano La Misericordia ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด (เป็น Altar Boy) มีความหลงใหลในการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเดินทางเข้ากรุง Rome เพื่อเดินตามความฝัน ไม่นานได้เป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงละครเวทีที่ประสบความสำเร็จ ตามมาด้วยภาพยนตร์โทรทัศน์หลายเรื่องมีเรตติ้งสูงมากๆ ส่วนการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Berlinguer, I Love You (1977) หนังตลกของผู้กำกับ Giuseppe Bertolucci ตามมาด้วย Il Minestrone (1981) [คว้ารางวัล Grolla d’Oro: Best Actor], Down by Law (1986) [คว้ารางวัล Nastro d’Argento: Best Actor], The Voice of the Moon (1990) [หนังเรื่องสุดท้ายของ Federico Fellini], กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Tu mi turbi (1983) [แปลว่า You Upset Me] แนวตลกกวีนิพนธ์แบ่งออกเป็น 4 ตอน ตอนแรกสุดนำแสดงโดยภรรยาสุดที่รัก Nicoletta Braschi รับบทพระแม่มารีย์

สำหรับผลงานกำกับ/นำแสดง ภาพยนตร์เรื่องโด่งดังที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุด ก็คือ Life is Beautiful แนว Tragicomedy ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง In the End, I Beat Hitler เขียนโดย Rubino Romeo Salmonì ชาวอิตาเลี่ยนเชื้อสายยิว ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน Auschwitz II–Birkenau น่าจะเพราะพี่ชายได้สละชีพเพื่อตน, นอกจากนี้ Benigni ยังได้นำแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของพ่อตนเอง Luigi Benigni ที่ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิตาเลี่ยน (Italian Army) เดิมอยู่ฝั่ง Nazi แต่ปี 1943 เปลี่ยนฝ่ายไปเข้ากับพันธมิตร ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกัน Nazi ที่ Bergen-Belsen ถึง 2 ปีเต็ม ซึ่งทุกครั้งเวลาพ่อเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอนี้ มักเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เฮฮา เสียงหัวเราะ เมื่อ Benigni โตขึ้น รับรู้ความจริงทั้งหลาย กล่าวว่านี่กลายเป็นปรัชญาชีวิตของเขาเลย

“to laugh and to cry comes from the same point of the soul, no? I’m a storyteller: the crux of the matter is to reach beauty, poetry, it doesn’t matter if that is comedy or tragedy. They’re the same if you reach the beauty.”

ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์กับ Vincenzo Cerami เสร็จแล้วเกิดข้อกังขา เพราะ Benigni ต้องการนำแสดงเอง แต่เขาไม่ใช่ชาวยิว แถมการเล่าเรื่องราวมีพื้นหลังเหตุการณ์ Holocaust แบบนี้ ใช่ว่าจะมีคนยอมรับโดยง่าย กลัวที่จะกลายเป็นแบบหนังของ Charlie Chaplin เรื่อง The Great Dictator (1940), Benigni จึงยอมสละเวลาเตรียมงานส่วนหนึ่งตลอดการถ่ายทำ เข้าไปคำปรึกษาจากองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชาวยิว อาทิ Center for Documentation of Contemporary Judaism สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้รอดชีวิตทั้งหลาน ฯ เพื่อไม่ต้องการให้ภาพของหนังเกิดรอยช้ำเป็น Trauma ต่อครอบครัวและผู้ประสบผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา, ความตั้งใจแท้จริงของ Benigni จึงไม่ใช่การนำเสนอภาพของ Holocaust ในมุมของตลกเสียดสี แต่คือวิธีการมองโลกในมุมที่ต่างออกไป

Guido (รับบทโดย Roberto Benigni) ชาวยิวในอิตาลี มีความฝันต้องการเปิดร้านหนังสือของตัวเอง ย้ายเข้ามากับลุงอยู่ที่เมือง Eliseo พบเจอตกหลุมรักกับ Dora (รับบทโดย Nicoletta Braschi) จนได้แต่งงานกันและมีลูกชายชื่อว่า Giosuè (รับบทโดย Giorgio Cantarini) แต่แล้วเกิดเหตุการณ์กวาดล้างชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนาซีเยอรมนีลุกลามมาถึงอิตาลี Guido จึงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษาโลกอันสวยงามให้กับลูกชาย ได้ยังคงมีรอยยิ้มและความหวัง

นี่น่าจะคือบทบาทแห่งชีวิตของ Benigni แสดงถึงปรัชญา อุดมการณ์ ทัศนะ ความคิด และตัวตนของเขาเลย, ถ้าเปรียบแทน Giosuè คือลูกหลานมนุษย์รุ่นถัดไป ตัวละคร Guido จะเสมือน Guide ผู้แนะนำการมองโลกในมุมที่เรียกว่า Positive Thinking มองโลกแง่ดี/ด้านบวก ด้วยคำโกหกโป้ปดที่เป็นการสร้างภาพลวงตา บิดเบือดความจริง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมเอง จะมองเห็นการกระทำของเขา เป็นความเพ้อเจ้อไร้สาระ หรือศรัทธาอุดมการณ์ที่มาจากใจ

Nicoletta Braschi นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน ภรรยาของ Roberto Benigni, เกิดปี 1960 ที่  Cesena, Braschi เข้าเรียน Academy of Dramatic Arts ณ กรุง Rome ซึ่งได้พบกับ Benigni ที่นั่นเมื่อปี 1980 มีผลงานการแสดงเรื่องแรก ก็จากหนังกำกับโดยสามี Tu mi turbi (1983) และเป็นนักแสดงนำหลักในหนังของเขาเรื่อยมา

บทบาทของ Dora ไม่มีอะไรมาก นอกจากรอยยิ้มและความคับข้องใจของตัวละคร ที่แทบไม่มีอะไรดั่งต้องการสักอย่าง, ครึ่งแรกเพราะถูกครอบครัวพยายามบังคับให้แต่งงานกับคนที่เธอไม่ชอบ ส่วนครึ่งหลังเพราะสามีและลูกถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกัน แต่ด้วยความดื้อด้านหัวรั้นของเธอ ตอนจบจึงได้สมหวังในสิ่งต้องการ

Giorgio Cantarini เด็กชายสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดปี 1992 ตอนรับบทนี้อายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น เรียกว่ายังไม่รู้ประสีประสาใดๆแบบตัวละคร Giosuè ซึ่ง Benigni คงต้องประคบประหงม ปกป้องดูแลเอาใจใส่อย่างมาก เพราะหนังมีความล่อแหลมพอสมควร ซึ่งตอนที่เด็กชายได้พบเห็นรถถัง ดวงตาของเขาเป็นประกายยิ้มร่า (ราวกับคนเพิ่งเคยเห็นรถถังครั้งแรกจริงๆ)

เกร็ด: Cantarini เหมือนจะไม่ได้เป็นนักแสดงแล้ว แต่มีอีกผลงานหนึ่งที่โดดเด่น รับบทลูกชายของ Maximus ใน Gladiator (2000)

ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยนยอดฝีมือ ที่มีผลงานดังกับ Sergio Leone เรื่อง The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) และ Once Upon a Time in America (1984), กับ Roman Polanski เรื่อง Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), รวมถึงหนังของ Federico Fellini สามเรื่องสุดท้าย

อารมณ์ของงานภาพให้สัมผัสแตกต่างกันระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลัง แต่ต้องใช้การสังเกตพอสมควรถึงจะแยกออก
– ครึ่งแรก งานภาพจะมีสีสันสดใสหลากหลาย ตระการตา เน้นโทนสีอุ่นให้สัมผัสนุ่มนวล เคลิบเคลิ้ม เพลิดเพลิน เป็นสุข
– ครึ่งหลัง จะมีสีไม่ค่อยมาก เน้นโทนเย็นให้สัมผัสหดหู่ รวดร้าว เย็นยะเยือก เป็นทุกข์

หนังปักหลักถ่ายทำที่ Arezzo, Tuscany ในบริเวณ Centro Storico (Historic Centre), ส่วนฉากที่จักรยานล้มทับ Dora อยู่ด้านหน้าโบสถ์ยุคกลาง Badia delle Sante Flora e Lucilla (Abbey of Saints Flora e Lucilla)

ตัดต่อโดย Simona Paggi ขาประจำของ Benigni, หนังใช้มุมมองของ Guido แบ่งเรื่องออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน
– ครึ่งแรก เป็นส่วน Rom-Com เริ่มต้นแนะนำตัวละคร Guido ลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความสนใจ เมื่อได้พบกับ Dora ตกหลุมรัก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เธอรู้สึกว่า เป็นโชคชะตาที่ทำให้พวกเขาได้พบเจอกัน
– องก์สอง หลายปีผ่านไป หนังใช้มุมมองของ Guido ที่มีต่อ Giosuè ไม่ว่าขณะไหน โลกทั้งใบก็มีเพียงแค่เขาคนเดียว

ในส่วนขององก์ที่สอง จะเป็นช่วงที่ผู้ชมจะแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม
– มองโลกสวย จะยินยอมรับการกระทำของ Guido ว่าเพื่อ Giosuè จริงๆ มีความตั้งใจให้เด็กชายเติบใหญ่โดยไม่เสียความเป็นเด็ก
– มองโลกร้าย จะรับไม่ได้กับการกระทำของ Guido มีความเห็นแก่ตัว เพ้อเจ้อ ไม่ดูตัวเอง แทนที่จะสอนลูกให้รับสภาพความเป็นจริง กลับสร้างภาพโป้ปดหลอกลวง

ไม่ผิดอะไรนะครับถ้าคุณจะเป็นแบบที่ 1 หรือ 2 เพราะมนุษย์เรามีความคิด ทัศนะ อุดมการณ์ ปรัชญาชีวิตต่างกันอยู่แล้ว ของแบบนี้รับได้รับไม่ได้ ไม่ถือว่าผิดอะไร, แนะนำให้มองทั้งสองโลกให้ออกแล้วคุณจะทึ่งเสียมากกว่า คิดสร้างขึ้นมาได้อย่างไรเรื่องราวที่มีทั้งคนรักคนเกลียด

เพลงประกอบโดย Nicola Piovani นักดนตรีคลาสสิกสัญชาติอิตาเลี่ยน ประพันธ์เพลงประกอบทั้งภาพยนตร์และละครเวที, ผลงานดังๆ อาทิ Intervista (1987), Ginger and Fred (1986), The Voice of the Moon (1990) สามเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Federico Fellini, Leap in the Dark (1980), The Night of the Shooting Stars (1982), Kaos (1984) ฯ

Piovani ถึงจะมีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์กว่า 100 เรื่อง แต่เหมือนจะชื่นชอบทำเพลงให้กับละครเวทีมากกว่า เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘Too many film scores make a composer a hack, but in the theatre music is above all craftsmanship’

ความไพเราะตราตรึงของบทเพลง La Vita è Bella (=Life is Beautiful) คือผู้ฟังสามารถสัมผัสความสนุกสนานและซึมเศร้า สองอารมณ์ร่วมในเพลงเดียวกัน มีไม่เยอะนะครับคีตกวีที่สามารถถ่ายทอดสองอารมณ์ในบทเพลงเดียวกันได้

บทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง Buon Giorno Principessa แปลว่า Good Morning Princess เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นประสานเสียงเป็นทำนองคุกกรุ่นยามเช้า ตื่นขึ้นจากเตียงนอน ราวกับกำลังหลับฝันในเทพนิยาย เพราะโลกใบนี้ช่างสวยงามเหลือเกิน

มีคำถามหนึ่งของหมอ (ตอนครึ่งหลัง) ที่คิดถึงแต่เป็ดที่ร้อง ก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก อะไรก็ไม่รู้แล้วเขาไม่สามารถหาคำตอบได้ (ดูแล้วคงหาคำตอบไม่ได้แน่) แต่หนังได้ใส่คำตอบไว้ให้นะครับ คือตอนที่ Guido หยิบแผ่นเสียงขึ้นมาเปิด ถ้าท่านตั้งใจฟังให้ดีๆ บทเพลงนั้นจะมีเสียงดนตรีเหมือน ก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก นั่นคือบทเพลง Belle nuit หรือ Barcarolle (1881) จาก Opera เรื่อง Les contes d’Hoffmann ประพันธ์โดย Jacques Offenbach ที่เราจะได้เห็นการแสดงนี้ตอนครึ่งแรกของหนังด้วย

แซว: ได้ยินกันไหมเอ่ย ก๊าบ ก๊าบ แคว๊ก แคว๊ก

การที่โลกของเรามีทั้งคนมองโลกสวยในแง่ดี และคนมองโลกชั่วในแง่ร้าย เปรียบได้กับเหรียญสองด้านที่ต้องมีเพื่อความสมดุล หรือกฎสากลจักรวาลข้อ 3 ของเซอร์ไอแซค นิวตัน “ทุกแรงกิริยา (action) ย่อมมีแรงปฏิกิริยา (reaction) ซึ่งมีขนาดเท่ากัน แต่มีทิศตรงข้ามกันเสมอ” นี่รวมถึงความดีความชั่ว, สุขทุกข์, เกิดตาย, เด็กแก่ ฯ ทุกสิ่งทุกอย่าง

แต่ความตรงกันข้ามของโลกทั้งสองด้านนี้ จะมีจุดหนึ่งตำแหน่งบางๆอยู่ตรงกึ่งกลาง ที่จะสามารถมองเห็นทั้งสองฝั่งได้เหมือนกันเท่าเทียม นั่นคือแรงเป็นศูนย์หรือทางสายกลาง นิยามหนึ่งคือความไม่มี อีกหนึ่งคือมีทั้งสองฝั่งโดยเท่ากัน นี่เป็นตำแหน่งน่าพิศวง อัศจรรย์ใจที่สุด ไม่ว่าใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร สามารถสร้างขึ้น หรือพบเจอสองสิ่งตรงข้ามเกิดขึ้นควบคู่พร้อมกันได้ จะมีความสวยงาม-ไพเราะ-ยิ่งใหญ่ เหนือคำบรรยาย

Life is Beautiful ไม่ใช่ชีวิตเป็นสิ่งสวยงาม แต่หนังเรื่องนี้ต่างหากที่มีความอัศจรรย์ใจ เพราะสามารถทำให้เกิดสองอารมณ์ขึ้นพร้อมกันได้ ผู้ชมแบ่งออกเป็นสองประเภทชัดเจน แทบจะหาภาพยนตร์เรื่องไหนไม่ได้อีกแล้ว ที่มีสองสิ่งนี้เกิดเคียงคู่พร้อมเพียงกัน

อัตถิภาวนิยม (Existentialism) มาจากภาษามคธ อัตถิ = เป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพ, ตรงกับคำภาษาอังกฤษ Existence ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Existential (ex = จาก + stare = ยืน ) แปลว่า ความมีอยู่, คือแนวคิดทางปรัชญาที่พิจารณาว่าปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของปัจเจกแต่ละคน มีความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียว, ปรัชญานี้ยึดถือในความเชื่ออิสรภาพ และยอมรับผลสืบเนื่องจากการกระทำ ที่สำคัญคือจะต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้กระทำไว้ด้วย

Guido เชื่อว่า ชีวิตคือเสรีภาพ สามารถคิดทำอะไรให้เกิดขึ้นก็ได้ ไม่มีใครที่จะบังคับบงการชักใยอยู่เบื้องหลัง เชื่อว่ารอยยิ้มและความสุขคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า, เขาทำการส่งต่อความเชื่อนี้สู่ Dora ในครึ่งแรก และ Giosuè ในครึ่งหลัง ทั้งคู่ต่างหลงติดอยู่ในกรอบดั่งนกในกรง แต่เมื่อพบเจอเรียนรู้จักเข้าใจ สุดท้ายจึงมีโอกาสเป็นอิสระโผลบิน
– Dora ตัดสินใจทิ้งคู่หมั้น แต่งงานกับ Guido กลายเป็นอิสระไร้พันธการต่อครอบครัวเธอ
– Giosuè ที่ถูกกักขังอยู่ในความทุกข์ยากลำบากไม่เข้าใจ แต่เมื่อเรียนรู้ตอนจบเป็นจริงดังคำพ่อ ทำให้เขายังคงเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา เป็นอิสระรู้สึกเอาชนะ Nazi ได้โดยไม่รู้ตัว

แน่นอนว่า Guido ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ทั้งสองเรื่องมีผลลัพท์ที่ต่างกัน
– เมื่อแต่งงานกับ Dora สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบคือ การเลี้ยงดูแลเธอ มีลูกกลายเป็นพ่อคน และภาระคือปกป้องดูแลลูกให้เต็มความสามารถ
– กับ Giosuè เพราะครั้งนี้เขาต้องโป้ปดหลอกลวง ปลอมตัว ผลลัพท์คือต้องแลกมาด้วยชีวิตและอิสรภาพ แต่ก็ทำให้ทั้งภรรยาและลูกได้รับอิสระที่แท้จริง

สมัยเรียนผมค่อนข้างชอบแนวคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม อย่างยิ่งเลยนะครับ เพราะมนุษย์เรามีอิสรภาพที่จะคิดทำอะไรก็ได้ดั่งใจ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้เสมอคือ เราต้องรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้กระทำไว้ด้วย นี่กลายเป็นสัจธรรมไปเลยเพราะทำให้ความหมายของอิสรภาพนี้มีน้ำหนักแน่นมาก, ในทางพุทธเมื่อพูดถึงกฎแห่งกรรม หลายคนคงคิดว่ามนุษย์เราถูกกำหนดให้เดินตามผลเวรผลกรรมตั้งแต่ชาติก่อนที่เคยทำมา นี่ใช่แต่ไม่ถูกนะครับ ยังมีหลายอย่างที่ในชาตินี้เราสามารถคิดทำเองได้ กรรมมันไม่ได้ตามหาทวงหนี้เราตลอดเวลา เวลาว่างๆทั้งหลายไม่ได้ทำอะไร นั่นแหละคืออิสรภาพของคุณ ที่จะหาอะไรทำดี ทำกรรมเพิ่ม หรือไม่ทำอะไร

ในโลกความจริงผมว่าหายากนะ กับคนที่จะสามารถคิดได้ หรือบังเอิญเป็นคล้ายแบบ Guido นั่นเพราะศรัทธา อุดมการณ์ของมนุษย์ค่อยๆเจือจางลงไป แต่ผมว่าก็ไม่แน่ คนแบบนี้ย่อมต้องมีอยู่แล้ว (อย่างน้อยก็ Benigni คนหนึ่ง) คนที่มองโลกสวยงามแบบสุดโต่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเขาแบ่งแยกจิตเภทกับคนจิตปกติตรงนี้ยังไง ถ้ายังรู้ตัวได้ว่าโลกความจริงไม่ใช่แบบนั้นคงเป็นคนปกติกระมัง แต่ถ้าไม่…

ด้วยทุนสร้าง $20 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอิตาลีสูงถึง $48.7 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นเวลา 14 ปี ก่อนถูกโค่นโดย What a Beautiful Day (2011), ทำเงินรวมทั่วโลก $229.1 ล้านเหรียญ เป็นหนังภาษาต่างประเทศทำเงินสูงสุดในโลก ก่อนการมาถึงของ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รางวัล Grand Prix (ที่ 2) ซึ่งตอน Benigni ได้รางวัลก็ได้มอบรอยจูบอันแสนหวานให้ Martin Scorsese ที่เป็นประธาน Jury ในปีนั้น

เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Picture [ผู้ชนะปีนี้คือ Shakespeare in Love แต่เรื่องที่ควรได้คือ Saving Private Ryan]
– Best Director
– Best Original Screenplay
– Best Actor (Roberto Benigni) **ได้รางวัล Won
– Best Foreign Language Film **ได้รางวัล
– Best Editing
– Best Music, Original Dramatic Score **ได้รางวัล

เกร็ด:
– ถือว่าเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องที่ 2 ถัดจาก Z (1969) ที่ได้เข้าชิง Best Picture และ Best Foreign Language Film, เรื่องที่ 3 คือ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)
– Roberto Benigni ถือเป็นนักแสดงชายคนแรกที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษคว้ารางวัล Best Actor, แต่เป็นคนที่สองถัดจาก Sophia Loren ที่รับรางวัล Best Actress จากเรื่อง Two Women (1960) และเป็นคนที่ 3 ถัดจาก Robert De Niro พูดแต่ภาษาอิตาเลี่ยนใน The Godfather Part II (1974) ในสาขา Best Supporting Actor
– Roberto Benigni เป็นนักแสดงคนที่ 2 ที่ได้รางวัล Best Actor ด้วยการกำกับตนเอง และยังได้เข้าชิง Best Director คนแรกคือ Laurence Olivier จากเรื่อง Hamlet (1948)
– Roberto Benigni เป็นคนที่ 4 ที่ได้เข้าชิง 3 สาขา Best Actor, Best Director, Best Screenplay อีกสามคนคือ Orson Welles เรื่อง Citizen Kane (1941), Woody Allen เรื่อง Annie Hall (1977) และ Warren Beatty เรื่อง Reds (1981)

ตอนที่ Sophia Loren ประกาศรางวัล Best Foreign Language Film ตกเป็นของ Life is Beautiful, Benigni ยืนขึ้นบนเก้าอี้โบกไม้โบกมือ และตอนขึ้นรับรางวัล เขากระโดดสองขาลงบันไดขึ้นเวที นี่เป็นภาพความดีใจที่น่าจะเว่อสุดตลอดกาลของ Oscar เลยละ

ส่วนตัวถือว่าชอบหนังเรื่องนี้แล้วกันนะครับ มันเป็นอารมณ์บอกไม่ถูกระหว่างชอบไม่ชอบ หลงรักหรือเกลียด คือมีส่วนที่ประทับใจมากๆ และไม่พึงพอใจสุดๆ สองอารมณ์ร่วมทุกอย่าง ก็ให้คะแนนกลางๆค่อนไปทางยกผลประโยชน์ให้จำเลย, แต่ในแง่คุณภาพ ผมถือว่าหนังมีความสวยงามอันตราตรึง ไม่เคยมีเรื่องไหนทำได้มาก่อน และไม่รู้ว่าจะมีใครทำได้อีกไหม

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
กับคอหนังที่ชื่นชอบเรื่องราวสวยๆงามๆ ลึกซึ้งกินใจ หวานเลี่ยน บ่อน้ำตาซึม มองโลกในแง่ดี
กับคนมองโลกในแง่ร้ายก็เช่นกัน คุณอาจไม่ชอบรังเกียจขยะแขยง แต่มองดูด้านสวยงามของโลกบ้างก็ได้นะครับ

คอหนังอิตาเลี่ยน รู้จักชื่นชอบ Roberto Benigni, สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ Nazi Camp, นักปรัชญา นักคิด ถกเถียงเรื่องการมีตัวตน (Existentialism)

จัดเรต 15+ ถ้าจะให้เด็กดูครึ่งแรกก็พอนะครับ ครึ่งหลังนี่ผู้ใหญ่ยังเครียดเลย

TAGLINE | “Life is Beautiful ของ Roberto Benigni สร้างโลกที่เหมือนเหรียญสองด้าน สวยงามหรือรับไม่ได้ อยู่ที่ตัวคุณเอง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE